บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา => ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มกราคม, 2566, 11:06:36 PM



หัวข้อ: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มกราคม, 2566, 11:06:36 PM
(https://i.ibb.co/LJG5T34/9nt-Ipw9-OPl-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เนื่องจากกระทู้ - คำให้การของนักบวช - คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)
ก่อนหน้านี้ดำเนินมาถึง ๑๐๐ ตอนแล้ว
ตั้งแต่ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐
ผู้โพสต์จึงขอยกมาไว้ในกระทู้นี้แทนครับ

 
<<< ตอนก่อนหน้า (ตอนที่ ๑๐๐) (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53759#msg53759)                                                             .

 • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)
 • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๒๐๑ - ตอนสุดท้าย คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)


เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
ตอนที่  - ๑๐๑ -
          เข้าพรรษามาหลายวันแล้ว  พระประเสริฐปรารภในวันหนึ่งว่า  ท่านอภินันท์มาอยู่สงขลาควรจะศึกษาเรื่องเมืองสงขลาเป็นความรู้ไว้บ้างนะ  ตอนนี้อยู่ว่าง ๆ ผมจะพาเที่ยวชมวัดต่าง ๆ ในเมืองสงขลาดีไหม  ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับข้อเสนอของพระประเสริฐ  ตกลงกันว่าจะเที่ยววัดสำคัญ ๆ ที่อยู่ใกล้วัดชัยมงคลก่อน  วัดใกล้วัดชัยมงคลก็มีวัดโรงวาสซึ่งอยู่ด้านตะวันตก  แต่ความสำคัญไม่มากนัก  วัดสำคัญกว่านั้นคือวัดมัชฌิมาวาส  และวัดโพธิปฐมาวาส  ข้าพเจ้าตกลงใจเข้าชมวัดโพธิปฐมาวาสเป็นอันดับแรก  วัดนี้มีเรื่องราวที่ขอสรุปข้อความจากบันทึกสาธารณะมาเสนอดังต่อไปนี้......

           “วัดโพธิ์ปฐมาวาส พระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ถนนไทรบุรี ตําบลบ่อยาง อําเภอเมืองสงขลา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๒๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๒๑๐ อาณาเขตวัดกว้าง ๑๐๕ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร มีกําแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีประตูเข้าออก ๔ ประตู มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ ๓ ด้าน คือด้านทิศ ตะวันตก ตะวันออก และทิศเหนือ ส่วนทางทิศใต้จดถนนกําแพงเพชร  

          วัดนี้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา  ตามประวัติกล่าวว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา  สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๐  แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง  บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเรียกว่าสถานที่ค้าโภค์ (หมายถึงตลาดนัด) แต่เดิมจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดโภค์  ต่อมาได้เพี้ยนเป็นวัดโพธิ์ และในสมัยพระครูสังฆโศภน (อดีตเจ้าอาวาส) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “วัดโพธิ์ปฐมาวาส”  ต่อมาได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์โดยผู้สำเร็จราชการสงขลาในขณะนั้นคือเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์)  วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ ๓ องค์  องค์แรกบรรจุพระธาตุพระอรหันต์  องค์ที่สองบรรจุพระธรรม  และองค์ที่สามบรรจุพระพุทธรูป  และนอกจากเจดีย์แล้วยังมีหอระฆัง  ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป  และภายในอุโบสถมีพระพุทธประธานประดิษฐานอยู่  พร้อมจิตรกรรมฝาผนังที่มีความวิจิตรงดงามมาก  ตลอดถึงปริศนาธรรมที่เล่าเรื่องราวและวิถีความเป็นอยู่ของชาวสงขลาตั้งแต่สมัยโบราณ   ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาสัย มีหลักฐานพงศาวดารเมืองสงขลาว่าพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ผู้ตรวจราชการพิเศษเมืองสงขลา  ได้สร้างอุโบสถและโรงธรรมไว้  กาลต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์  ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ซึ่งเป็นบุตรของพระยาศรีสมบัติจางวาง (ผู้สร้าง)  ได้ทําการบูรณปฏิสังขรณ์  และสร้างศาสนสถานเพิ่มเติม  ปรากฎจนถึงปัจจุบันนี้

          วัดโพธิ์ปฐมาวาสขึ้นชื่อเกี่ยวกับศึกษา  เพราะทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๔ ในสมัยเจ้าอาวาสคือพระครูวิจิตรคณานุรักษ์  นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากในระยะแรก ๆ  ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดคือ  ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ  ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์  ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระอาทิตย์ทรงรถ  ผนังด้านเหนือหน้าต่างซ้ายขวาเขียนภาพเทพชุมนุม  พนมมือถือดอกบัว  ตรงกลางเจาะซุ้มพระและเทพชุมนุมแต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน  กระทำนมัสการพระพุทธรูปในซุ้ม  เทพชุมนุมมีแถวเดียว  เหนือขึ้นไปเขียนลายดอกไม้ร่วง  ผนังตอนล่างระหว่างประตูด้านหน้าเป็นภาพปริศนาธรรม  ด้านหลังพระประธานเป็นภาพนรกภูมิ   ผนังระหว่างช่วงหน้าต่างทั้งด้านซ้ายและขวาของพระประธานเป็นภาพปริศนาธรรม   ที่ผนังส่วนนี้มีการสร้างเสาหลอกเป็นลำไผ่ครึ่งซีกนูนแทรกอยู่ตรงกลางผนัง  ที่บานประตูด้านหน้ายังมีภาพเขียนพิเศษที่แตกต่างไปจากภาพเขียนที่อื่น ๆ  คือภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาเป็นภาพบ้านเรือนแบบภาคใต้  และมีภาพการลักลอบส่งเพลงยาวของหนุ่มสาว ตามแบบอย่างการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสมัยโบราณของไทย  ลวดลายหน้าบันพระอุโบสถหน้าจั่วส่วนบนสุดมีลักษณะคล้ายหัวพญานาค  แทนช่อฟ้า รูปประธานของหน้าบันเป็นรูปพานซ้อนกันสองชั้นอยู่บนพระธรรมปิฎกเขียนว่า  “พระพุทธศักราช ๒๔๖๑”  ล้อมรอบด้วยใบโพธิ์ผูกกันเป็นสามช่อรวมกัน   ลวดลายทั้งหมดเป็นปูนปั้นลงสีทอง”

          ได้เห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจมาก  โดยเฉพาะภาพขบวนแห่เจ้าเซ็น  เคยได้ยินแต่ชื่อเพลงไทยว่า  แขกเจ้าเซ็นเต้นตำบุด  ไม่เคยเห็นการเต้นตำบุดมาก่อน  เพิ่งมาเห็นในภาพนี้เอง  อีกภาพหนึ่งที่ถูกใจมากคือ  หนุ่มสาวลักลอบส่งเพลงยาวเกี้ยวพาราศีกัน  ภาพนี้คิดว่าน่าจะเป็นวัฒนธรรมหนุ่มสาวในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา  คือยุคสมัยพระนารายณ์เรื่อยมาถึงพระเจ้าบรมโกศนั่นเชียว  เพราะยุคนั้นคนไทยเริ่มแต่งกลอนเพลงยาวเกี้ยวกันแล้ว  จากนี้ไปดูโบราณวัตถุสถานของวัดที่ดูน่าศึกษากันต่อไป

           “วัดโพธิ์ปฐมาวาส  มีโบราณสถานโบราณวัถตุ  และเสนาสนะต่าง ๆ มากมาย  ซึ่งที่มีความสําคัญทางประวัติศาสตร์และทรงคุณค่าดังนี้

          เจดีย์ ๓ องค์  ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ  ไม่ปรากฏหลักฐานนามผู้สร้าง  องค์ประธานคือองค์กลาง  มีการก่อฐานประทักษิณซึ่งแตกต่างกับเจดีย์อีก ๒ องค์ที่ไม่มี  ลักษณะของเจดีย์ประธานฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานประทักษิณ ๒ ชั้น  แนวพนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุอย่างจีน  องค์เจดีย์ประธานด้านบนส่วนฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง  ฐานชั้นล่างเป็นฐานเขียงไล่ระดับกัน  ถัดขึ้นมาเป็นส่วนแถบลวดบัวคล้ายอกไก่ซ้อนกัน ๒ ชั้น  ระบบชุดฐานดังกล่าวเป็นระบบที่ไม่ใช่ระบบชุดฐานเดิมในอดีต  ซึ่งคงเป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นเฉพาะท้องถิ่น  ต่อมาเป็นฐานบัวคลุ่มในผังย่อมุมไม้สิบสองเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์  องค์ระฆังในผังกลมไม่มีบัลลังก์  ต่อขึ้นไปเป็นก้านฉัตรประดับเสาหารและมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ระหว่างเสา  ต่อด้วยบัวคลุ่มเถาซ้อนกัน ๓ ชั้น  และมีปลียอด  เจดีย์ที่อยู่ขนาบข้างมีลักษณะเหมือนกัน  ส่วนฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง  เริ่มต้นด้วยฐานเขียงชั้นฐานสิงห์  ขาสิงห์เป็นรูปสามเหลี่ยม  ส่วนท้องสิงห์เป็นเส้นหยักโค้ง  ถัดขึ้นมาเป็นเส้นลวดแก้ว  บัวคลุ่ม องค์ระฆังและบัลลังก์อยู่ในผังกลม  ต่อขึ้นไปเป็นบัวคลุ่มเถา  ปลี  ลูกแก้ว  และปลียอด

          จากลักษณะของเจดีย์ทั้ง ๓ องค์  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์  หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕  เพราะพิจารณาจากระบบฐานรองรับองค์ระฆังไม่เป็นระบบอย่างในอดีต  แสดงให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะถิ่น  มีกําแพงแก้วสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ๒ ชั้น  เป็น ๒ ระดับ  กําแพงแก้วชั้นในสูงกว่า ชั้นนอก มีประตูเข้าทั้ง ๔ ด้าน  แต่ละด้านมีบันไดขึ้นลง ๕ ขั้น  ใช้กระเบื้องสี่เหลี่ยมสีแดง  ส่วนที่ประดับในซองกําแพงนั้นใช้ช่องลมเคลือบลายโปร่งสีเขียวศิลปะแบบจีน  ประดับในช่องกําแพง  บันไดทุกด้านขึ้นถึงฐานเจดีย์ได้  รูปทรงเจดีย์เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง  ซึ่งเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  องค์เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ําบนฐานบัวกลุ่มเหนือองค์ระฆังมีบัลลังก์  เสาและซุ้มมี ๑๒ ช่อง  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ๑๒ องค์  เหนือบัลลังก์ขึ้นไป  มีบัวกลุ่มซ้อนกัน ๓ ชั้น  ทําเป็นปล้องไฉนถึงปลียอด  และหยาดน้ําค้างหรือลูกแก้ว  ส่วนฐานทําเป็นย่อมุมสิบสอง  ลดหลั่นกันลงมา ๓ ชั้น  ส่วนกําแพงแก้วทําเป็นสี่เหลี่ยมทั้ง ๒ ระดับ  ไม่มีการย่อมุม  จากลักษณะของเจดีย์ทั้ง ๓ องค์  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์  หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕  เพราะพิจารณาจากระบบฐานรองรับองค์ระฆังไม่เป็นระบบอย่างในอดีต แสดงให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะถิ่นสำหรับประวัติการสร้างเจดีย์ ๓ องค์นั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด......
  
          วันนี้นำชมวัดโพธิ์ปฐมาวาสเพียงเท่านี้ก่อน  พรุ่งนี้มาต่อกันครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มกราคม, 2566, 10:47:21 PM
(https://i.ibb.co/brdmrSD/DSC-1563-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๒ -
          เมื่อวันวานนี้พาเที่ยวชมวัดโพธิ์ปฐมาวาสพระอารามหลวง วัดสำคัญในเมืองสงขลา กล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ และพระเจดีย์ไปแล้ว ขอทำความเข้าใจในการเรียก โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ภายในวัดทั่วไปให้ทราบสักเล็กน้อย ถ้าเป็นวัดราษฎร์ทั่วไป จะเรียกโบสถ์ว่า อุโบสถ วิหารว่า วิหาร เจดีย์ว่าเจดีย์ แต่ถ้าเป็นวัดหลวงหรือพระอารามหลวง จะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ และแม้ วัดหรืออารามก็จะเรียกว่า พระอาราม กล่าวคือมีคำว่า “พระ” นำหน้าเสมอ ถ้าได้ยินคำว่า พระอุโบสถก็ให้รู้ได้ทันทีว่า โบสถ์นั้นเป็นของพระอารามหลวง ขอให้เข้าใจกันตามนี้นะครับ จากนี้ไปเที่ยวชมศาสนวัตถุในวัดโพธิ์ปฐมาวาสพระอารามหลวงในเมืองสงขลาต่อจากเมื่อวันวานนี้อีกหน่อยนะครับ

           “พระอุโบสถวัดโพธิ์ปฐมาวาส มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ขนาดกว้าง ๑๓. ๑๙ เมตร ยาว ๒๐.๔๙ เมตร หลังคาทรงไทยชั้นเดียว มุงกระเบื้องเคลือบดินเผาสีแดง ไม่มีช่อฟ้า-ใบระกา มีเพียงชั่วและเหงาปั้นลม มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่าง ๑๐ ช่อง หน้าบันพระอุโบสถตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพานวางซ้อนกัน ๒ ชั้น รองรับพระอภิธรรมปิฎก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพดังได้กล่าวมาแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ โดยพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๒) โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งมีการบันทึกปีพุทธศักราชไว้เป็นลายปูนปั้นที่หน้าบันพระอุโบสถ มีลวดลายหน้าบัน หน้าจั่วส่วนบนสุดมีลักษณะคล้ายหัวพญานาค แทนช่อฟ้า รูปประธานของหน้าบันเป็นรูปพานซ้อนกันสองชั้นอยู่บนพระธรรมปิฎก เขียนว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ล้อมรอบด้วยใบโพธิ์ผูกเป็นสามช่อรวมกัน  ลวดลายทั้งหมดเป็นปูนปั้นลงสีทอง

          ผนังด้านสกัดหน้าในพระอุโบสถเหนือกรอบประตูมีแผ่นรูปสามเหลี่ยมเขียนสีรูปต้นไม้ใหญ่เกาะอยู่บนโขดหิน ในระดับเดียวกันนี้มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ขนาบข้าง ฐานชุกชีตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษาและลายหินอ่อนซึ่งพบได้ในสมัยรัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา ซุ้มทางด้านทิศเหนือด้านล่างกรอบเขียนรูปยักษ์กำลังแบกฐานพระพุทธรูป ส่วนซุ้มทางด้านทิศใต้เขียนรูปลิง ๒ ตัว กำลังแบกฐาน ถัดขึ้นไปด้านบนเขียนด้วยลายดอกไม้ร่วงซึ่งต่อเนื่องมาจากผนังแปร จากลักษณะดังกล่าวคงเป็นงานที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยน่าจะสร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่นเนื่องจากลักษณะการสร้างที่ผิดสัดส่วน

          ภาพกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากสีผิวและการแต่งกายที่แตกต่างกัน มีทั้งแบบผมสั้น ผมยาว บางคนมีหนวดเครา บางคนผ้าแบบลายตรง บางคนนุ่งผ้าลายตาราง หน้าตามีความหลากหลายไม่ได้เขียนแบบหุ่น ผู้รู้ได้ตีความไว้ ๒ ประการ คือประการแรก อาจเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของพระมาลัยที่ต่อเนื่องมาจากช่องภาพด้านซ้าย โดยช่องภาพนี้เป็นส่วนที่กล่าวถึงช่วงกลียุคอันเป็นยุคที่ผู้คนจะไม่ละลายต่อบาปและมีการรบราฆ่าฟันกันจนตาย โลกจะเหลือเพียงผู้อยู่ในศีลธรรมที่หลบหนีจากการสู้รบไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเขาที่จะรอดพ้นจนทันยุคพระศรีอาริย์  ประการที่ ๒ ภาพนี้อาจะเป็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาช่วงหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบจากผู้ร้ายและโจรสลัด

          เสาติดผนังรูปต้นไผ่ ถือเป็นงานศิลปะพื้นถิ่นและถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ ลักษณะตัวเสาทำเป็นเสานูนโค้งเป็นลำปล้องของต้นไผ่ พร้อมกับการเขียนลายให้คล้ายกับธรรมชาติ ตัวเสานี้ติดอยู่ตรงกลางของผนังระหว่างช่องหน้าต่าง และมีหน้าที่เป็นกรอบกั้นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป รูปแบบและเทคนิคการเขียนนี้คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕

          ศาลาการเปรียญประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ผู้ตรวจราชการพิเศษเมือสงขลา และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๒) โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งน่าจะพร้อม ๆ กับพระอุโบสถ หน้าบันศาลาการเปรียญเป็นรูปปูนปั้นพระพุทธเจ้า

          พระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์ใหญ่ยาว ลักษณะอย่างหุ่น พระขนงโก่งโค้ง มุมพระโอษฐ์ยกขึ้นเล็กน้อย พระกรรณใหญ่ เม็ดพระเกศามีขนาดเล็ก รัศมีเป็นเปลวสูง พระอังสาทั้ง ๒ ข้างยกตั้งขึ้นระนาบกับพื้น ครองจีวรห่มเฉียง เรียบ มีชายสังฆาฏิขนาดใหญ่พาดอยู่ที่พระอังสาข้างซ้ายตกลงมาตรงกลางพระวรกาย ลงมาถึงพระนาภีปลายตัดตรง พระชงฆ์มีขนาดใหญ่หนา จากลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงงานช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการสร้างวัด และเป็นศิลปะของช่างท้องถิ่น”

          สิ่งที่น่าดูน่าชมภายในวัดโพธิ์ปฐมาวาสยังมีอีกมาก แต่ขอนำชมแต่เพียงย่อ ๆ เท่านี้นะครับ เพราะยังมีวัดที่น่าดูน่าชมอยู่ไม่ไกลกันนัก จะหาเวลาไปชมต่อ ตามแต่พระประเสริฐจะเลือกพาไป/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, มกราคม, 2566, 11:44:14 PM
(https://i.ibb.co/dttX9fR/n20181213094416-3112-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๓ -
          วันนี้พระประเสริฐพาไปชมวัดอีกวัดหนึ่งคือวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) ตั้งอยู่ที่ถนนไทรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ถนนสายเดียวกันกับวัดโพธิ์ปฐมาวาส นัยว่าเป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมีเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ทิศเหนือติดกับที่ธรณีสงฆ์ของวัด ทิศใต้ติดกับถนนมัชฌิมวิถี ทิศตะวันตกติดกับถนนไทรบุรี เป็นวัดโบราณอายุประมาณ ๔๐๐ ปี เดิมเรียกชื่อว่า วัดยายศรีจันทน์ เพราะยายศรี–จันทน์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทน์ว่า “วัดกลาง” ต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสคราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงเปลี่ยนชื่อจากภาษาไทยเป็นบาลีว่า “วัดมัชฌิมาวาส” วัดนี้มีพิพิธภัณฑ์ชื่อภัทรศิลป์ เป็นที่เก็บวัตถุโบราณต่าง ๆ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด และอื่น ๆ อันเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา มีรายละเอียดที่พอจะสรุปมาให้ทราบดังต่อไปนี้

           “ วัดมัชฌิมาวาสหรือวัดกลาง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๒๒ หมู่ที่ ๑๑ ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง อยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบสงขลา สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ทิศเหนือติดกับที่ธรณีสงฆ์ของวัด ทิศใต้ติดกับถนนมัชฌิมวิถี ทิศตะวันตกติดกับถนนไทรบุรี เป็นวัดใหญ่และสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดสงขลา ตามประวัติกล่าวว่าวัดมัชฌิมาวาสสร้างมาแล้วประมาณ ๔๐๐ ปี ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมวัดมัชฌิมาวาสเป็นวัดราษฎร์สร้างโดยยายศรีจันทร์คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดยายศรีจันทน์ ต่อมาประชาชนพากันเรียกว่า "วัดกลาง" เนื่องจากมีผู้สร้างวัดขึ้นทางทิศเหนือขึ้นอีกหนึ่งวัดคือวัดเลียบ และทางทิศใต้อีกหนึ่งวัดคือวัดโพธิ์ วัดยายศรีจันทน์ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทน์ว่า “วัดกลาง” ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระอิสริยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส) ได้เสด็จเมืองสงขลาทรงเปลี่ยนชื่อวัดกลางเป็นวัดมัชฌิมาวาส และเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีชื่อทางราชการว่าวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร มีอาณาเขตด้านทิศเหนือจรดโรงเรียนสงเคราะห์ประชา ทิศใต้จรดวัดโพธิ์ปฐมาวาส ทิศตะวันออกจรดถนนรามวิถี (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา) และทิศตะวันตกจรดถนนไทรบุรี

          ดังได้กล่าวแล้วว่าวัดมัชฌิมาวาสนี้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเจ้าอาวาส และปูชนียบุคคลหลาย ๆ ท่านที่ช่วยดูแลปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดหายท่าน จะขอกล่าวเฉพาะบางท่านดังต่อไปนี้ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๓๘ ถึง–๒๓๔๒) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมสน) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ เช่น สร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ในรัชกาลที่ ๒–๓ พ.ศ. ๒๓๖๐ –๒๓๗๕ พระยาวิเชียรคีรี (เถียนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้สร้างหนังสือผูกลาน คือพระวินัย ๖๖ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๘๗ คัมภีร์ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ๘ ตู้ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (รักษ์) (พ.ศ. ๒๓๕๘–๒๓๗๙) เมื่อเมืองสงขลาย้ายจากฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ (หัวเขาแดง) มาอยู่ฝั่งตะวันออก (แหลมสน) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาก็กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่พระอุโบสถนี้เป็นประจำปีสืบต่อมา ในรัชกาลที่ ๓–๔ พ.ศ. ๒๓๗๙ ถึง ๒๓๘๙ มีเจ้าอาวาสชื่อพระปลัดทอง และ พ.ศ. ๒๓๘๙ ถึง–๒๓๙๔ มีเจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (พูน) ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ ถึง–๒๔๐๘ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แบบศิลปะไทยและจีน และสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิเป็นคณะ หอไตรพระจอม ศาลาฤๅษี ก่อกำแพงแก้ว สร้างซุ้มประตูวัด ๔ ซุ้ม โดยออกแบบเป็นรูปทรงพระพิชัยมหามงกุฎ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดีและกตัญญูกตเวทีสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) กำลังก่อสร้างพระอุโบสถแห่งใหม่ในสมัยที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองสงขลาใน พ.ศ. ๒๔๐๒ ถึง ๒๔๐๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดนี้ด้วยฯลฯ”

          ศิลปวัตถุต่างภายในวัดคือ “ซุ้มประตูหน้าวัดได้สร้างใหม่เป็นซุ้มประตูฝรั่งผสมจีน, ซุ้มประตูเป็นรูปทรงมงกุฎที่กลางกำแพงวัดด้านละประตูรวม ๔ ประตู, บริเวณรอบ ๆ วัดทั้ง ๔ ทิศมีรูปปั้นยักษ์ (ท้าวจตุมหาราช) ตั้งอยู่บนกำแพงซึ่งยักษ์แต่ละตนจะมีชื่อแตกต่างกันไปตามคติความเชื่อ ซึ่งยักษ์แต่ละตนจะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกทั้งหลาย ประกอบด้วย ท้าววิรุฬหกเป็นจอมเทวดา หรือจอมกุมภัณฑ์ ผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดาทั้งหมดอยู่ทิศใต้ ท้าวธตรฐ เป็นจอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ ผู้ปกครองคันธัพพเทวดาทั้งหมด อยู่ทิศตะวันออก ท้าวกุเวรเป็นเจ้าแห่งยักษ์ทั้งปวงผู้ดูแลปกครองยักขะเทวดาทั้งหมด อยู่ทางทิศเหนือ ท้าววิรูปักษ์ เป็นจอมนาค เป็นผู้ปกครองนาคะเทวดาทั้งหมด อยู่ทิศตะวันตก วัดนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายโบสถ์วัดพรศรีรัตนศาสดาราม แต่ขนาดเล็กกว่า สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่ร่วมกับช่างประจำเมืองสงขลา ส่วนประดับของเครื่องบนหรือหลังคามีช่อฟ้า แต่ไม่มีนาคสะดุ้ง หน้าบันด้านหน้าเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร ด้านหลังเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ รอบโบสถ์มีเสารองรับชายคาโดยรอบ ระหว่างช่องเสาด้านนอกเป็นรูปจำหลักบนหินเรื่องสามก๊ก/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มกราคม, 2566, 10:30:54 PM
(https://i.ibb.co/X2yHTQY/9-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๔ -
          เมื่อวันวานนี้นำชมวัดมัชฌิมาวาสยังไม่หมด วันนี้มาชมกันต่อนะครับ กล่าวย้อนไปถึงเมืองสงขลาในอดีตว่า “เมืองสงขลาก็เป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นศูนย์กลางติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ จึงมีกลุ่มพ่อค้าจากต่างชาติที่มีความเลื่อมใสศรัทธาถวายปัจจัยหลากหลายเพื่อบำรุงวัดส่งผลให้วัดมัชฌิมาวาส มีสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานทั้งวัฒนธรรมไทย จีน และยูโรป สถาปัตยกรรมในวัดที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พระอุโบสถ (ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔),  ศาลาการเปรียญ, หอไตร, กุฏิทรงเก๋งจีน, หอระฆัง, เสาธง, เจดีย์, ตุ๊กตาหินสลักแบบจีน, ศาลาฤๅษีดัดตน เป็นต้น

           “วัดมัชฌิมาวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เกี่ยวกับการศึกษาหนังสือไทยนั้น สมัยเมื่อรัฐบาลยังไม่จัดการศึกษาประชาบาลเป็นทางการทั่วราชอาณาจักร การเรียนหนังสือไทยเรียกกันว่าหนังสือวัดพวกเด็กที่เข้าไปอยู่เป็นศิษย์ของพระภิกษุรูปใด พระภิกษุรูปนั้นก็สอนให้เป็นการส่วนตัวคือศิษย์ใครใครก็สอน วิธีนี้มีอยู่ทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น

          ครั้นต่อมาพระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) จากวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ท่าน ได้เปิดสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงธรรม (ศาลาการเปรียญเก่า) โดยให้เด็กวัดทุกคน (อาจมีเด็กบ้านมาสมทบเรียนด้วย) มาเรียนรวมกันตามแผนการนโยบายการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นครั้งแรกที่การศึกษาแผนใหม่อุบัติขึ้น แต่ภายหลังโรงเรียนนี้ได้ย้ายไปทำการสอนที่ศาลชำระความ ริมจวนพระยาวิเชียรคีรี (ชม) แล้วก็กลายมาเป็นโรงเรียนมหาวชิราวุธในปัจจุบัน

          สถาปัตยกรรมเด่นๆองวัดนี้ ได้แก่พระวิหาร พระเจดีย์แบบจีน เสาตะเกียบคู่ของเสาธง ใบเสมา ๘ ทิศ กําแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ศาลาฤาษี หอพระไตรปิฎก กุฏิแบบเก๋งจีน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส เป็นต้น พระอุโบสถที่ปรากฎในปัจจุบันนี้เป็นหลังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๕ ในตระกูล ณ สงขลา เป็นผู้สร้างระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๐–๒๔๐๘ เป็นทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดยมีเสาหารรับหลังคาสามารถเดินได้รอบ ซึ่งเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ โดยย่อส่วนและปรับปรุงจากแบบพระอุโบสถของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ

          ส่วนประกอบของช่อฟ้ามีแต่ตัวลำยองไม่มีนาคสะดุ้ง เสารองพระอุโบสถเป็นสี่เหลี่ยมไม่มีย่อมุม หน้าบันพระอุโบสถภายนอกเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ ส่วนหน้าบันภายนอกด้านทิศตะวันตกเป็นปูนปั้น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระอุโบสถหลังนี้ มีซุ้มหน้าต่างเป็นรูป มงกุฎอยู่ ๒ แถว ๆ ละ ๗ ซุ้ม และมีซุ้มประตูเป็นรูปทรงมงกุฎอยู่ด้าน ๆ ละ ๒ ซุ้ม

          ที่หน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรง ส่วนหน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรง พระอุโบสถหลังนี้ไม่มีฝ้าเพดานเพราะต้องการแสดงขื่อไม้ ที่ผนังพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถหลังนี้เขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายนอกพระอุโบสถระหว่างช่วงเสาโดยรอบนั้นมีภาพจำหลักหินเป็นเรื่องราวฝีมือช่างจีน ที่หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก มีรูปจำหลักหินเป็นรูปขุนนางฝ่ายทหาร ๔ คน ในนิยายปรัมปราของจีนเรื่องลิซิบิ้น ดูได้รอบด้าน

          ทางด้านหน้าซุ้มประตูเข้าพระอุโบสถ ด้านทิศตะวันตกมีรูปจำหลักหินเป็นรูปโลกบาลทั้ง ๔ แบบ ประดิษฐานเสมาศิลาทั้ง ๘ ทิศ โดยใบเสมาเหล่านี้ประดิษฐานอยู่บนฐานศิลาไม่มีซุ้มประกอบ ลักษณะเช่นนี้มักเรียกกันว่า “เสมานั่งแท่น” ทั้งนี้ใบเสมาขนาดเล็กเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของใบเสมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้สังเกตได้ว่าลวดลายบนใบเสมาสลักฐานด้านล่างมีลักษณะคล้ายฐานสิงห์ที่รองรับบัวคลุ่มอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งฐานชุดดังกล่าวดูผิดสัดส่วนที่นิยมตามระเบียบไทยประเพณี แสดงให้เห็นว่าช่างจีนมิค่อยเข้าใจนัก อีกทั้งลักษณะเนื้อหินที่มีสีออกเทาอมเขียวมีจุดสีดำทั่วเนื้อหินชวนให้นึกถึงศิลาที่ใช้ในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ดังนั้นพอสันนิษฐานได้ว่าเสมาพร้อมฐานดังกล่าวอาจสั่งให้แกะสลักจากเมืองจีนและส่งเข้ามา

          พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๕๕ ซม. ประดิษฐานในบุษบก มีพุทธลักษณะแบบไทยผสมจีนเป็นพระประติมากรรมหินอ่อนขาว (alabaster) ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สั่งให้สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ปั้นแบบโดยช่างไทยแล้วส่งไปแกะสลักที่ประเทศจีน สำหรับเม็ดพระศก และเกตุมาลาทำจากทองคำครอบลงบนพระเศียรอีกทอดหนึ่ง น่าสังเกตว่าส่วนครอบพระเศียรไม่มีการทำอุษณีษะ(เกศเปลวเพลิง ?) ซึ่งชวนให้นึกถึงความนิยมสัจนิยมที่ริเริ่มโดยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านให้ตัดการทำอุษณีษะแก่พระพุทธรูปเนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นลักษณะที่ไม่มีอยู่จริง

          ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรม ตอนบนเป็นภาพคนธรรพ์ ถัดลงมาเป็นเทพชุมชน ผนังด้านทิศเหนือใต้ตอนกลางเป็นเรืื่องปฐมสมโพธิ ด้านทิศเหนือตอนล่างว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก ด้านทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติ ส่วนผนังทางทิศตะวันตกเป็นเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผม  เพื่อให้น้ำท่วมบรรดาพญามาร (มารวิชัย)  ส่วนทางด้านทิศตะวันออกหลังพระประธานเป็นตอนที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า เป็นเสมือนหนึ่งเข้าไปอยู่อดีตกาล ภาพที่สะท้อนเรื่องราวต่าง  ๆ ทั้งคติธรรมความเป็นอยู่ ตลอดถึงวิถีชีวิตและพฤติกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ ความเชื่อ ประเพณีหรือการละเล่นต่าง ๆ”

          สถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วย จิตรกรรมและประติมากรรมของวัดกลาง มัชฌิมาวาส นี้เป็นแบบผสมผสานที่น่าดูน่าชมมาก ข้าพเจ้าดูเพลิดเพลินเจริญใจมาจนถึงตรงนี้แล้วยังไม่จบสิ้น ขอยกยอดไปชมกันต่อในวันพรุ่งนี้ดีกว่านะครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มกราคม, 2566, 10:25:15 PM
(https://i.ibb.co/qjHk84k/92-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๕ -
          วันนี้จะพาชมภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสเป็นลำดับไป โดยขอเริ่มต้นที่ภาพมหาชนกชาดกก่อน ภาพนี้ท่านผู้รู้ได้ให้คำธธิบายไว้ดังต่อไปนี้

           “ภาพชาดกในเรื่องมหาชนกชาดกมีการเขียนภาพโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนิยมตั้งแต่สมัยรักาลที่ ๓ เป็นต้นมา อีกทั้งช่างพยายามเขียนภาพอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหลายหลังให้มีมิติมากขึ้นโดยใช้การลากเส้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่รัชกาลดังกล่าวลงมาเช่นกัน โดยเกี่ยวข้องกับการเขียนภาพแบบเน้นสัจนิยมแบบตะวันตก การเขียนภาพทะเลและแม่น้ำมิได้เขียนเป็นลายเกล็ดปลาตัดเส้นดังแต่ก่อน หากแต่เขียนให้เห็นภาพคลื่นน้ำแบบสมจริง ลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่กลางห้องภาพมีอักษรจารึกว่า “ห้องนี้เมื่อราชาภิเศกพระมหาชนกกับพระสิมพลี” ทำให้ทราบว่าห้องภาพดังกล่าวเขียนเรื่องราวของมหาชนกชาดกซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก

          ตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาบันทึกถึงเรื่องดังกล่าวว่า กษัตริย์กรุงมิถิลามีพระราชโอรส ๒ พระองค์นามว่าพระอริฏฐชนกและโปลชนก เมื่อกษัตริย์กรุงมิถิลาสวรรคตพระอริฏฐชนกได้ขึ้นครองราชย์ ต่อต่อมาโปลชนกสามารถยึดราชสมบัติจากอริฏฐชนกได้ ครานั้นพระเทวีของพระอริฏฐชนกหลบหนีรอดไปได้ ต่อมาได้มีประสูติกาล และตั้งพระนามพระโอรสว่า “พระมหาชนก” เมื่อพระมหาชนกเติบใหญ่และทราบความจริงจึงคิดไปค้าขายยังสุวรรณภูมิหาทรัพย์ตั้งตัวเพื่อกอบกู้ราชสมบัติระหว่างเดินทางด้วยเรือสำเภา เรือต้องพายุล่มลง พระองค์อดทนว่ายน้ำกลางมหาสมุทรจนในท้ายสุดนางมณเมขลาเห็นใจ จึงช่วยพระองค์ โดยการอุ้มพระองค์ไปส่งที่มิถิลา ซึ่งในขณะนั้นพระโปลชนกได้สวรรคตแล้ว เหลือแต่พระราชธิดานามว่า “สีวลีเทวี” (สิมพลีตามจารึกบนจิตรกรรม) ก่อนพระโปลชนกสวรรคตได้ตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ไว้ หากใครแก้ไขได้ จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดพระมหาชนกสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด อำมาตย์จึงพร้อมใจเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ และอภิเษกกับสีวลีเทวี”

          ชาดกเรื่องพระมหาชนกมีความพิสดารอย่างไร ใครอยากรู้ลึกกว่านี้ขอให้ไปอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชนิพนธ์ไว้เถิด เลื่อนจากภาพพระมหาชนกเลยไปชมภาพเนมิยราชชาดกอีกเรื่องหนี่ง ผู้รู้ท่านให้คำอธิบายไว้ดังนี้....

           “ภาพชาดกในเรื่อง เนมียราชชาดก เขียนภาพเป็นโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้เชนเดียวกับภาพมหาชนกชาดก ภาพแสดงฉากสวรรค์มีการเขียนภาพก้อนเมฆคล้ายแบบจีนแทรกอยู่ ซึ่งอิทธิพลจีนปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องในศิลปะไทย ที่ด้านล่างของห้องภาพนี้มีจารึกเขียนว่า “ห้วงภาพนี้พระมาตลีสารถีภาพระเนมิยะไปดูนรก” จึงทำให้ทราบว่าฉากต่าง ๆ ในห้องภาพนี้มาจากเนมียราชชาดก โดยเป็นพระชาติที่พระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมียราช (เนมิยะ) ด้วยบุญกุศลที่พระองค์ได้บำเพ็ญมาอย่างต่อเนื่องทำให้พระอินทร์ได้ส่งราชรถพร้อมพระมาตุลี (มาตลี)ซึ่งเป็นสารถี มาเชิญพระองค์เสด็จไปยังเทวโลก แต่ก่อนเสด็จไปยังพระเทวโลกนั้น พระองค์ได้ตรัสกับมาตุลีว่าอยากทอดพระเนตรนรก พระมาตุลีจึงพาพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรนรก หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังเทวโลก ทั้งนี้ช่างได้แบ่งห้องภาพออกเป็นสองส่วนคือ ด้านบน และด้านล่าง โดยด้านบนเป็นฉากสวรรค์หรือเทวโลกแสดงด้วยภาพวิมาน และเทวดาบนก้อนเมฆ ส่วนด้านล่างคือ ฉากนรกซึ่งแสดงออกมาในรูปการทรมานผู้ประพฤติชั่วในรูปแบบต่างๆ ใน
ฉากนรกปรากฏราชรถโดยมีพระเนมียราชประทับอยู่พร้อมกับมาตุลีสารถี”

          ภาพนี้เพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความเกรงกลัวบาปที่จะนำพาไปสู่นรก ยินดีในการทำบุญด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาอันจะนำพาไปสู่สรวงสวรรค์ เลยจากภาพเนมิยราชชาดก ไปถึงภาพพระเวสสันดรชาดกอันเป็นชาติสุดท้ายในการบำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ภาพห้องนี้ท่านผู้รู้ให้คำอธิบายไว้ว่าดังนี้

           “ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์สักกบรรพ และกัณฑ์มหาราช โดยเลือกฉากสำคัญเฉพาะบางฉาก มีการเขียนภาพโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้ เช่นเดียวกับภาพก่อนๆ อีกทั้งเห็นได้ชัดว่าช่างพยายามเขียนภาพอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหลายหลังให้มีมิติมากขึ้นโดยใช้การลากเส้น นอกจากนี้น่าสังเกตว่า ช่างเลือกใช้การปิดทองกับตัวละครเอกที่เป็นกษัตริย์ ชนชั้นสูง ซึ่งแสดงถึงการสืบทอดงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ด้านล่างของห้องภาพมีการเขียนกำกับไว้ว่า “ห้วงนี้ข้างบนกันสักบัพ ใต้กันมหาราช” ซึ่งหมายถึงกัณฑ์สักกบรรพและกัณฑ์มหาราชในพระเวสสันดรชาดกรนั่นเอง

          ด้านบนของห้องภาพซึ่งเขียนเล่าเรื่องกัณฑ์สักกบรรพนั้น ด้านซ้ายเป็นภาพพระเวสสันดรประทับในอาศรมพร้อมกับพระนางมัทรีประทับอยู่ทางด้านขวาของพระองค์ ด้านหน้าเรือนเขียนเป็นภาพพราหมณ์ชราซึ่งตามเนื้อเรื่องคือพระอินทร์ที่แปลงร่างมา ทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร ด้วยพระอินทร์ทรงเกรงว่าหากมีผู้ขอพระนางมัทรีไปพระเวสสันดรไม่มีผู้ปรนนิบัติ อาจเป็นอันตรายต่อพระโพธิญาณของพระองค์เมื่อพระเวสสันดรประทานให้แล้ว พราหมณ์ชรา (พระอินทร์) คืนพระนางมัทรีแก่พระเวสสันดร และห้ามไม่ให้ประทานนางแก่ผู้ใดอีก ด้านขวาบนของภาพประกอบด้วยพระเวสสันดร และพระนางมัทรีประทับนั่ง พนมมือเพื่อรับพรจากพระอินทร์ ๘ ประการ ก่อนพระอินทร์จะเสด็จกลับสู่สวรรค์ ด้านล่างซึ่งเขียนภาพเล่าเรื่องกัณฑ์มหาราชนั้นที่ด้านซ้ายปรากฏภาพชูชกกำลังพา ๒ กุมารกลับเมืองระหว่างเดินทางได้หลงเข้าไปในเมืองของพระเจ้าสญชัย ฉากพระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารก็จำได้และได้ขอไถ่ตัวจากชูชกส่วนกลางภาพนั้นเป็นภาพขบวนทหารที่จะเดินทางไปรับพระเวสสันดร และพระนางมัทรีกลับพระราชวัง”

          ชมภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชนกชาดก เนมิยราชชาดก เวสสันดรชาดก เพียง ๓ ห้องก็อิ่มใจแล้ว พรุ่งยังมีสิ่งให้ชมกันอีก ติดตามไปชมกันนะครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มกราคม, 2566, 10:39:03 PM
(https://i.ibb.co/xj5C5nc/DSC-4486-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๖ -
          จะพาชมวัดมัชฌิมาวาสที่ยังไม่ได้ชมและควรชมกันต่อไป เช่น  “ภาพจิตรกรรมงานออกพระเมรุพระบรมศพพระพุทธเจ้า,ซุ้มประตูและหน้าต่างปูนปั้นประดับกระจก ประดับรูปวานรแบกทวารบาล ซุ้มประตูมีตุ๊กตาหินจีนตั้งประดับ” อันงดงามเกินคำบรรยาย และ พระอุโบสถของวัดที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปบุคคลขนาบประตูทางเข้าทุกประตู”

           “ประติมากรรมรูปบุคคลนี้แต่งกายชุดเกราะทหารจีนใบหน้าถมึงทึง มิใช่แสดงถึงภาพบุคคลธรรมดาทั่วไป หากแต่หมายถึงเทวดา เนื่องจากปรากฏริบบิ้นคล้องแขนทั้งสองข้างและริบบิ้นเหมือนต้องลมปลิวขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า ประติมากรรมองค์นี้น่าจะหมายถึงท้าววิรูปักษ์ซึ่งเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ประติมากรรมแกะสลักจากศิลากลุ่มนี้คงเป็นของนำเข้าจากจีน สังเกตได้จากการแกะสลักเครื่องทรงแบบจีนและใบหน้าที่ดูได้สัดส่วน แสดงให้เห็นว่าช่างชำนาญเป็นอย่างดี ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา สวรรค์ที่มีนามว่าจตุมหาราชิกา เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ โดยเป็นเทพผู้ปกป้องทิศทั้งสี่ แต่ละองค์มีลักษณะแตกต่างกัน สำหรับทิศตะวันตก ผู้ดูแลคือเทพวิรูปักษ์โดยมีสัญลักษณ์สำคัญคืองู

          ที่เสาประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถมีจารึกภาษาจีน เป็นจารึกที่สลักลงบนเสาหินแกรนิตที่ทำเป็นเสาประตูกำแพงแก้ว แต่ละเสามีขนาดด้านสูง ๑๗๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๘ เซนติเมตร หนา ๖๓ เซนติเมตร มีสี่ประตู รวมแปดเสาแต่ละเสาจารึกด้วยอักษรจีนเป็นภาษาจีนเก้าคำ รวมแปดเสาเป็นคำโคลงหนึ่งบาท แปลเป็นภาษาไทยตามประตูตั้งแต่ประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงประตูด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ทวนเข็มนาฬิกาได้ความว่าดังนี้ ...

          ..."เจ้าพระยาผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูลวู (ตระกูล ณ สงขลา) หมั่นบำเพ็ญพระคุณธรรมมุ่งจรรโลงสิ่งที่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ด้วยศรัทธา เพื่อเกียรติคุณปรากฏสืบไปภาคหน้า (เจ้าพระยา) ปฏิบัติทางที่ชอบอย่างองอาจ วางตนในทางที่ชอบ ไม่มุสาผู้อื่น  ดำริ (สิ่งใด) ไม่ต้องละอายต่อฟ้า ครองตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาทางอย่างเคร่งครัด เมืองสงขลามีเชิงเทินเกินกว่าร้อยเชิงเทิน เป็นเมืองที่แข็งแรงมั่นคงเมืองหนึ่งแห่งภูมิภาคนี้ กำเหน็จของเจ้าเมืองสูงกว่าหมื่นเจื่อง (มาตราของจีน)  เกียรติคุณกำจายทั่วทิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมา ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ (วัด) นี้พระบรมโพธิสมภารที่ทรงแผ่คือเมตตา การเสด็จมาประทับ ณ เมืองสงขลา พระมหากรุณาธิคุณที่แผ่กว้างประหนึ่งน้ำฟ้าประโลมดิน"....

          ได้ความชัดแล้วว่า ตระกูล ณ สงขลา เป็นคนเชื้อชาติจีนสายตระกูล(แซ่) “วู” ตระกูลนี้สร้างความเจริญให้แก่สงขลาและเมืองไทยไม่น้อยเลย โดยเฉพาะวัดกลางมัชฌิมาวาสนื้ถือได้ว่าเป็นวัดของตระกูลวูเลยทีเดียว ชมผลงานของตระกูลวู ( สงขลา) กันต่อไปครับ

           “พระวิหารวัดมัชฌิมาวาสเป็นตึกก่ออิฐถือปูนแต่ภายหลังได้มีการติดตั้งประตู-หน้าต่างเพิ่มเติมเข้าไปตรงช่องเปิด เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) สร้างทับที่เดิมซึ่งเคยเป็นพระอุโบสถตั้งอยู่ในแนวกำแพงแก้วหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเป็นโถง หน้าบันเป็นไม้จำหลักลวดลายที่สวยงาม ทางด้านตะวันตกเป็นรูปปัญจวัคคีย์ ด้านตะวันออกสืบไม่ได้ว่าเป็นรูปอะไร ฐานรอบระเบียงทำเป็นฐานปัทม์หรือชุดบัวคว่ำบัวหงาย พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุ แบบจีน ตัวอาคารมีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ตรงแนวเสาพาไลก่อเป็นวงโค้งเพื่อรับหลังคาปีกนกรอบอาคาร หลังคาเป็นผืนเดียวมีปีกนกรอบ ตรงหน้าบันก่ออิฐทึบ ไม่มีไขลาหน้าจั่วและไม่ประดับเครื่องลำยอง หน้าพระวิหารในกำแพงแก้วมีสิงโตหิน ๑ คู่ ซึ่งเจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างบูรณะปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๔๒๘ และบูรณะครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๗๒–๒๔๗๗

          ศาลาการเปรียญเป็นตึกก่ออิฐถือปูนเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ มีหน้าบัน ๒ ด้านเป็นไม้แกะสลักสวยงามมาก ด้านตะวันออกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระนางพิมพาประสูติพระราชโอรสก่อนผนวช ด้านตะวันตกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จออกผนวช บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เสร็จเมื่อ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖  เป็นตึกคอนกรีต หลังคาทรงจั่ว หน้าบันก่ออิฐถือปูน มีลายปูนปั้น ๒ ด้าน ด้านตะวันออกจำหลักเรื่องพุทธประวัติตอนตรัสรู้ด้านตะวันตกจำหลักเรื่องพระพุทธประวัติตอนเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมวัตถุโบราณซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด เป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา

          พระเจดีย์แบบจีนหรือถะ เป็นพระเจดีย์แบบศิลปะจีน ๑ องค์ ๗ ชั้น ย่อมุม ๖ เหลี่ยมทำด้วยหินแกรนิต เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๒ เป็นผู้สร้าง มีอักษรทั้งภาษาไทยและจีนจารึกไว้ที่พระเจดีย์บอกถึงผู้สร้าง เวลาสร้าง (จุลศักราช ๑๑๖๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๑) ตรงกับปีที่ ๑๗ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ความในภาษาไทย) และความในภาษาจีนว่า "สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๔ (ค.ศ. ๑๗๙๙ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๒)..........

          เสาตะเกียบคู่ของเสาธงก่อสร้างด้วยหินอยู่ใกล้หอระฆังในวัดมีอยู่  ๒ แห่ง คือหน้าพระวิหารและหน้าพระอุโบสถ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเสาจำหลักลวดลายศิลปะจีนสวยงาม ฐานล่างจำหลักเป็นรูปสัตว์คู่ทั้ง ๔  ด้าน ฐานบนล่างจำหลักเป็นลายนกและเมฆ มีคำจารึกภาษาจีนความว่า “สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๗ (ปี ค.ศ. ๑๘๐๒, ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๕) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๔๕”

          ยังไม่หมดครับ พักสายตาไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งนี้มาชมกันต่อ ก็แล้วกัน/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มกราคม, 2566, 10:43:23 PM
(https://i.ibb.co/LvqDXg0/20120307150523kx-V6-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๗ -
          วันนี้มาชมวัดมัชฌิมาวาส ที่ยังไม่ได้นำชมต่อไปนะครับ ที่จะพาไปชมวันนี้เริ่มที่ ศาลาฤๅษี หรือศาลาฤๅษีดัดตน มีคำบรรยายจากท่านผู้รู้ไว้ดังต่อไปนี้...

           “ศาลาฤๅษีหรือศาลาฤๅษีดัดตนเป็นศาลาทรงไทยที่สวยงามมากลักษณะศาลาจะเป็นแบบโถงทรงไทย มีสัดส่วนถูกต้องทรวดทรงหลังคาอ่อนช้อย เปิดโล่งก่อด้วยอิฐเผาสอปูนแต่ไม่โบกปูนปิดทับพื้นผิว มีช่วงเสาแบบซุ้มโค้งรอบอาคาร มีลักษณะคล้ายกันกับศาลาฤๅษีที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ สร้างสมัยพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๐–๒๔๐๘ พร้อมกับหอระฆัง หน้าบันเป็นรูปปั้นเรื่องพุทธประวัติ ด้านตะวันออกเป็นภาพตอนพระสิทธัตถะทรงลอยถาด ด้านตะวันตกเป็นภาพนางสุชาดาถวายมธุปายาส ภายในศาลาฤๅษีที่หน้าบันทั้ง ๒ ด้านจารึกเรื่องตำรายา และจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปฤๅษีดัดตนจำนวน ๔๐ ตน แต่ละตนมีคำโคลงบรรยายประกอบรูปเขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖

          ที่ฝาผนังศาลาฤๅษีดัดตนมีจิตรกรรมที่เขียนตำราแพทย์แผนโบราณ และภาพฤๅษีดัดตน รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีจารึกเป็นคำโคลงสี่สุภาพอธิบาย คำโคลงเหล่านี้เลือกคัดลอกมาจากเรื่องโคลงภาพฤๅษีดัดตนที่จารึกไว้บนผนังศาลารายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ ด้านในหน้าบันของศาลาทั้งสองข้างเขียนภาพเครื่องยาไทย ตอนล่างเขียนบรรยายตัวยา สรรพคุณและวิธีใช้ และมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนผนัง มีรองพื้นเป็นภาพฤๅษีดัดตนตามตำราแพทย์แผนโบราณ บางตอนเหมือนกับภาพฤๅษีดัดตนที่พระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)  แต่มีการเรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่น ที่หน้าบันด้านในทั้งสองข้างเขียนภาพเครื่องยาไทย และโต๊ะหมู่บูชาของจีน ตอนล่างเขียนตัวอักษรบรรยายตัวยา และสรรพคุณตลอดจนวิธีใช้ยาเหล่านั้น ที่ผนังด้านข้างมีภาพฤๅษีดัดตนข้างละ ๒๐ ท่า รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีโคลงสี่สุภาพอธิบายประกอบอยู่ใต้ภาพ

          หอพระไตรปิฎกหรือหอพระจอมไตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ เป็นตึกก่ออิฐปูนฐานสูงหลังคาจั่วประดับช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นตัวอย่างในการสร้างพระอุโบสถใหม่เนื่องจากฐานพระอุโบสถทำต่ำและอยู่ในที่ลุ่ม ส่วนฐานพระวิหารและศาลาการเปรียญทำสูง ที่หน้าบันของหอพระไตรปิฎกทางด้านหน้า (ทิศตะวันตก) ประดับประติมากรรมลวดลายปูนปั้น มีรูปตราจันทรมณฑล ส่วนด้านหลัง (ทิศตะวันออก) มีรูปตราสุริยะมณฑล ด้านละตรา

          การเที่ยวชมวัดกลาง “มัชฌิมาวาส” พระอารามหลวงเมืองสงขลาสิ้นสุดลงตรงนี้  ต่อไปจะพาไปเที่ยวชมอะไรในเมืองสงขลาอีกบ้าง ค่อยว่ากันนะครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มกราคม, 2566, 10:47:10 PM
(https://i.ibb.co/yYcgmKL/12640585377812-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๘ -
          การลงอุโบสถ  เป็นภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในวงการพระภิกษุ  คำนี้หมายถึงการที่พระภิกษุประชุมกันในเขตสีมา (คือโรงอุโบสถ) เพื่อฟังการสวดพระปาฏิโมกข์ทุกวันพระกึ่งเดือน (คือวันกลางเดือนและวันสิ้นเดือน) พระปาฏิโมกข์กับพระโอวาทปาติโมกข์แตกต่างกัน  กล่าวคือพระโอวาทปาติโมกข์นั้น  ได้แก่พระพุทธวจนะที่ทรงแสดงในวันมาฆปุรณมี เป็นคำสอนทื่อกันว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา  ส่วนพระปาฏิโมกข์ได้แก่พระวินัยที่พระพุทธองค์บัญญัติห้ามมิให้ภิกษุกระทำ เช่น เสพเมถุน ๑  ลักทรัพย์ ๑  ฆ่ามนุษย์ ๑  พูดอวดอุตริมนุสธรรม ๑  เป็นต้น  ข้อห้ามเหล่านี้เรียกว่าสิกขาบทเก็บรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่  ได้แก่ปาราชิกสังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ทุกกฎ ทุพพาสิต.....รวมไว้เป็นพระปาฏิโมกข์ได้ ๒๒๗ สิกขาบท  ซึ่งเรียกกันว่าคือ  “ศีลพระ”  เป็นธรรมเนียมให้พระประชุมกันในอุโบสถเพื่อฟังการสวดพระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติในพระปาฏิโมกข์นี้ทุกวันพระกึ่งเดือน  คำสวดนั้นสวดเป็นภาษาบาลี  มีคำสวดเริ่มต้นคำหรือคำประกาศว่าดังนี้

           “สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ , อัชชุโปสะโถ ปัณณะระโส  , ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง ,สังโฆ อุโปสะถัง กะเรยยะ , ปาฏิโมกขัง อุททิเสยยะ.กิง สังฆัสสะ ปุพพะกิจจัง , ปาริสุทธิง อายัส๎มันโต อาโรเจถะ , ปาฏิโมกขัง อุททิสิสสามิ.ตัง สัพเพวะ สันตา สาธุกัง สุโณมะ มะนะสิกะโรมะ. ยัสสะ สิยา อาปัตติ , โส อาวิกะเรยยะ ,อะสันติยา อาปัตติยา ตุณ๎หี ภะวิตัพพัง. ตุณ๎หี ภาเวนะ โข ปะนายัส๎มันเต ปะริสุทธาติเวทิสสามิ. ยะถา โข ปะนะ ปัจเจกะปุฏฐัสสะ เวยยากะระณัง โหติ , เอวะเมวัง เอวะ รูปายะปะริสายะ ยาวะตะติยัง อะนุสสาวิตัง โหติ. โย ปะนะ ภิกขุ ยาวะตะติยัง อะนุสสาวิยะมาเนสะระมาโน สันติง อาปัตติง นาวิกะเรยยะ ,สัมปะชานะมุสาวาทัสสะ โหติ , สัมปะชานะ มุสาวาโท โข ปะนายัส๎มันโต อันตะรายิโก ธัมโม วุตโต ภะคะวะตา , ตัส๎มา สะระมาเนนะภิกขุนา อาปันเนนะ วิสุทธา เปกเขนะ สันตี อาปัตติ อาวิกาตัพพา. อาวิกะตา หิสสะ ผาสุ โหติ.”

          จบคำนำหรือคำปรารภแล้วก็จะต่อด้วยข้อวินัยที่เป็นพุทธบัญญัติ คือปาราชิก ๔ สิกขาบท จะขอยกมาให้เห็นรูปคำสวดดังนี้.....

          ๑. โย ปะนะ ภิกขุ ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันโน สิกขัง อัปปัจจักขายะ ทุพพัล๎ยัง อะนาวิกัต๎วา เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสเวยยะ อันตะมะโส ติรัจฉานะคะตายะปิ , ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.

          ๒. โย ปะนะ ภิกขุ คามา วา อะรัญญา วา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิเยยยะ , ยะถารูเป อะทินนาทาเน ราชาโน โจรัง คะเหต๎วา หะเนยยุง วา พันเธยยุง วา ปัพพาเชยยุง วา " โจโรสิ พาโลสิ มุฬ๎โหสิ เถโนสีติ,” ตะถารูปัง ภิกขุ อะทินนัง อาทิยะมาโน , อะยัมปิ ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.

          ๓. โย ปะนะ ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปยยะ , สัตถะหาระกัง วาสสะ ปะริเยเสยยะ , มะระณะ วัณณัง วา สังวัณเณยยะ , มะระณายะ วา สะมาทะเปยยะ “ " อัมโภ ปุริสะ กิง ตุยหิมินา ปาปะเกนะ ทุชชีวิเตนะ , มะตันเต ชีวิตา เสยโยติ , ” อิติ จิตตะมะโน จิตตะสังกัปโป อะเนกะปะริยาเยนะ มะระณะวัณณัง วา สังวัณเณยยะ , มะระณายะ วา สะมาทะเปยยะ , อะยัมปิ ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.

          ๔. โย ปะนะ ภิกขุ อะนะภิชานัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อัตตูปะนายิกัง อะละมะริยะญาณะทัสสะนัง สะมุทาจะเรยยะ " อิติ ชานามิ , อิติ ปัสสามีติ , ตะโต อะปะเรนะ สะมะเยนะ สะมะนุคคาหิยะมาโน วา อะสะมะนุคคาหิยะมาโน วา อาปันโน วิสุทธาเปกโข เอวัง วะเทยยะ อะชานะเมวัง อาวุโส อะวะจัง ชานามิ" อะปัสสัง "ปัสสามิ " ตุจฉัง มุสา วิละปินติ , อัญญัต๎ระ อะธิมานา , อะยัมปิ ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.

          อุททิฏฐา โข อายัส๎มันโต จัตตาโร ปาราชิกา ธัมมา , เยสัง ภิกขุ อัญญะตะรัง วา อัญญะตะรัง วา อาปัชชิต๎วา นะ ละภะติ ภิกขูหิ สัทธิง สังวาสัง , ยะถา ปุเร , ตะถา ปัจฉา , ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.

          ตัตถายัส๎มันเต ปุจฉามิ. กัจจิตถะ ปะริสุทธา ?
          ทุติยัมปิ ปุจฉามิ. กัจจิตถะ ปะริสุทธา ?
          ตะติยัมปิ ปุจฉามิ. กัจจิตถะ ปะริสุทธา ?
          ปะริสุทเธตถายัส๎มันโต , ตัส๎มา ตุณ๎หี , เอวะเมตัง ธาระยามิ.”

          คัดลอกคำสวดพระปาฏิโมกข์คำบาลีมาให้อ่านพอเป็นตัวอย่างเท่านี้นะครับ  พระผู้ทำหน้าที่สวดพระปาฏิโมกข์บางองค์ท่านลิ้นอ่อนขากรรไกรดี  สวดคล่องว่องไวมาก  ท่านสามารถสวดจบภายในเวลา ๓๐ นาที  บ้างออกลิ้นแข็งขากรรไกรไม่คล่องสวดยานคางกว่าจะจบก็ใช้เวลานานเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว พระผู้ฟังนั่งพับเพียบพนมมือจนปวดเมื่อยไปหมด  บางองค์สวดเร็วก็จริงแต่ไม่ชัดถ้อยชัดคำ  บางองค์สวดทั้งเร็วทั้งชัดถ้อยชัดคำน่าฟังมาก  การสวดพระปาฏิโมกข์นี้ภาษาชาววัดเราเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า  “ปั่นปาฏิโมกข์”  ที่เรียกคำนี้ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า  น่าจะหมายถึงการสวดด้วยถ้อยคำเร็ว ๆ น่ะแหละ

          วันโกนแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๘ นั้น  ขณะนั่งล้อมวงฉันอาหารเช้ากันอยู่นั้น  ท่านเจ้าอาวาสวัดชัยมงคลถามข้าพเจ้าว่า

           “คุณอภินันท์สวดพระปาฏิโมกข์ได้ไหม ?”

          ข้าพเจ้านั่งอึ้งคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า

           “ผมท่องได้ตั้งแต่เป็นเณรเรียน น.ธ.โท ตอนนั้นมีพระองค์หนึ่งพิการทางสายตาอ่านหนังสือไม่เห็น  ท่านให้ผมช่วยต่อคำสวดพระปาฏิโมกข์วันละอย่างน้อยหนึ่งวรรค  บางวันท่านท่องได้ถึง ๑๐ วรรค  ผมก็ท่องไปพร้อมกับท่านพอท่านท่องจบผมก็จบไปด้วย  ตั้งแต่บวชเป็นพระนี่ผมยังไม่เคยสวดพระปาฏิโมกข์  ได้แต่ฟังผู้อื่นสวด  เพราะพระสวดพระปาฏิโมกข์ในภาคกลางมีมาก  จนผมไม่มีโอกาสได้สวดกับเขาครับ”

           “ถ้าจะให้สวดพรุ่งนี้จะได้ไหม  บังเอิญพระขันธ์ที่สวดประจำเกิดป่วยเป็นไข้หวัด  ไม่กล้าฝืนใจให้ท่านสวด  ถ้าคุณอภินันท์สวดได้ก็จะดี”

          ข้าพเจ้ารับปากว่าจะสวดแทนพระขันธ์  แต่ขอยืมคัมภีร์พระปาฏิโมกข์ไปท่องทบทวนสักวันหนึ่งก็น่าจะสวดได้  ท่านเจ้าอาวาสก็ตกลงตามที่ข้าพเจ้ารับปาก  วันและคืนนั้นข้าพเจ้าอ่านคัมภีร์พระปาฏิโมกข์  ทบทวนความจำจบไป ๕ เที่ยว  รุ่งเช้าลงศาลาทำบุญก็นำคัมภีร์ไปคืนท่านเจ้าอาวาส  บอกท่านว่ามั่นใจว่าจะต้องสวดได้แน่นอน

          บ่ายโมงวันนั้นหลังจากเคาะระฆังสัญญาณลงโบสถ์เพื่อฟังสวดพระปาฏิโมกข์  พระภิกษุในวัดก็ร่วมประชุมพร้อมกัน  ก่อนฟังสวดพระปาฏิโมกข์  พระทุกองค์ก็แสดงอาบัติ (ปลงอาบัติ) กันตามธรรมเนียม  โดยข้าพเจ้าขอปลงกับท่านเจ้าอาวาสผู้มีอาวุโสสูงสุด  คำแสดงอาบัติว่าเป็นภาษาบาลีดังนี้  “(พรรษาอ่อนว่า) สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ ( ว่า ๓ หน)  สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ ( ว่า ๓ หน) อะหัง ภันเต สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย อาปัชชิง ตา ตุม๎หะ มูเล ปะฏิเทเสมิ”  นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งครับ

          จากนั้นข้าพเจ้าเข้านั่งในที่สวดพระปาฏิโมกข์เรียบร้อยแล้วเริ่มสวด  เป็นครั้งแรกในชีวิตรู้สึกตื่นเต้นใจสั่นนิด ๆ เหมือนขึ้นเทศน์ครั้งแรกเลยเชียว  พอว่านะโมจบ  ใจหายสั่น  เริ่มสวดคำปรารภว่า   “สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ.......”  ลากเสียงช้า ๆ ก่อนแล้วเริ่มว่าเสียงกระชั้นขึ้นอันเป็นลีลาที่ข้าพเจ้าคิดว่าการสวดควรจะเป็นเช่นนั้น  ข้าพเจ้าใช้โทนเสียงระดับกลาง  ไม่ทุ้มไม่แหลม  เน้นความดังฟังชัดเป็นสำคัญ  จบคำประกาศแล้วเข้าสู่พระวินัยบัญญัติตั้งแต่ปาราชิก ๔ สิกขาบทต่อไป   “โย ปะนะ ภิกขุ ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันโน....”  ขณะสวดก็ส่งสายตาตรวจดูอากัปกิริยาพระผู้ฟังไปด้วย  ครั้นสวดไปถึงสิกขาบทที่ ๔ อันว่าด้วยการห้ามพูดอวดอุตริมนุสสธรรมถึงตรงความว่า  “สะมะนุคคาหิยะมาโน วา อะสะมะนุคคาหิยะมาโน วา”   ก็เกิดอาการสะดุด  เพราะนึกถึงเมื่อวันลงอุโบสถ์คราวก่อน  พระขันธ์สวดล่มตรงนี้เพราะตาไปมองเห็นตะกวด (แลน) นอนอยู่บนขื่อโบสถ์  แทนที่ท่านจะสวดว่า  “อะสะมะนุคคาหิยะมาโน วา”  ท่านเปลี่ยนคำสุดท้ายคือ  วา  เป็น  แลน  ข้าพเจ้านึกถึงตรงนี้จึงหยุดสะอึกหยิบแก้วน้ำขึ้นมาดื่มก่อนที่จะสวดต่อไปตามปกติ  จนกรระทั่งไปจบลงบริบูรณ์ด้วยเวลาประมาณ ๔๕ นาที  ท่านเจ้าอาวาสและพระลูกวัดต่างก็พอใจไปตาม ๆ กัน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มกราคม, 2566, 10:43:48 PM
(https://i.ibb.co/8Y4jVqb/Untitseled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๙ -
          การสวดพระปาฏิโมกข์ครั้งแรกของข้าพเจ้าถือได้ว่าประสบความสำเร็จด้วยดี  จบในเวลา ๔๕ นาที  เป็นเวลาที่ไม่ช้าเกินไป  พระขันธ์ที่สวดประจำอยู่นั้นท่านสวดจบในเวลาไม่น้อยกว่า ๖๐ นาที  ข้าพเจ้าจึงสวดจบเร็วกว่า  จากวันนั้นมา  ท่านเจ้าอาวาสจึงกำหนดตั้งพระขันธ์ ผู้มีอายุพรรษาแก่กว่าข้าพเจ้า  ให้สวดพระปาฏิโมกข์ทุกวันพระกลางเดือน  พระอภินันท์ให้สวดพระปาฏิโมกข์ทุกวันพระสิ้นเดือน  เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์

          การสวดพระปาฏิโมกข์มิได้สวดแบบเหนื่อยเปล่าดอก  หากแต่มีการตั้งขันกัณฑ์พระปาฏิโมกข์ใส่ปัจจัยถวายพระผู้สวดเป็นค่าเหนื่อยด้วย  มากบ้างน้อยบ้างตามแต่อุบาสกอุบาสิกาที่มารักษาอุโบสถจะถวายกันตามกำลังศรัทธาของตน  ข้าพเจ้าจึงมีเงินรายได้จากการเทศน์ทุกวันพระ  และได้เพิ่มจากการสวดพระปาฏิโมกข์อีกด้วย  การมาอยู่วัดชัยมงคลของข้าพเจ้าจึงมีรายได้ดีกว่าอยู่ภาคกลางด้วยประการฉะนี้

          เด็ก ๓ คนที่อยู่กุฏิเดียวกันแม้ไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงก็เหมือนเป็นศิษย์  ข้าพเจ้าให้การดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี  กล่าวคือ ให้เงินซื้อข้าวปลาอาหารมิได้ขาด  พวกเขาหุงข้าวต้มแกงกินกันเองที่กุฏิโดยมิได้ไปยุ่งเกี่ยวกับครัวของวัด  กุฏิที่ข้าพเจ้าอยู่เป็นอาคารไว้ชั้นเดียว  ใต้ถุนสูงแบบบ้านโบราณ  พวกเขาจึงใช้ใต้ถุนเป็นที่ทำครัวหุงหาอาหารกันได้เป็นอย่างดี  ตอนเย็นกลับจากโรงเรียนเขาจะหุงข้าวด้วยหม้อดิน  ต้มแกงนานาด้วยหม้อดิน  กับข้าวส่วนใหญ่เขาจะทำแกงส้มปลาข้างเหลืองที่ได้มาจากทะเลสาบ  ผักส่วนมากจะใช้สับปะรดและผักบุ้งที่ซื้อหามาจากตลาด  พริกแกงเขาตำกันเอง  พริกทุกครกเขาต้องใส่ขมิ้นโขลกรวมกับข่ากระชายตามแบบฉบับของชาวใต้
 
          ถามว่าแกงทุกอย่างทำไมต้องใส่ขมิ้น  เขาตอบว่า  ขมิ้นเป็นสมุนไพรอย่างดีที่ใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์  ปลาข้างเหลืองดูเหมือนจะเป็นที่โปรดของพวกเขา  เขาหุงข้าวและแกงตอนเย็น  แต่ไม่ได้กินข้าว-แกงนั้น  หากแต่เก็บค้างคืนไว้ในหม้อดินนั่นเอง  ตอนเช้าเขาตื่นนอนแล้วจึงกินข้าว-แกงที่ปรุงไว้แล้ว  ข้าว แกง ไม่มีกลิ่นบูดด้วยสรรพคุณหม้อดินนั่นเอง

          ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มาก  พระประเสริฐคุยโอ้อวดข้าพเจ้าว่า   “เนื้อปลาจาระเม็ดขาวของทะเลสาบสงขลามีรสอร่อยที่สุด”  ข้าพเจ้าได้พิสูจน์แล้วเห็นว่าจริงของเขา  นอกจากปลาจาระเม็ดแล้วสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา  ทั้งกุ้ง กั้ง หอย ปู ปลาอื่น ๆ ก็อร่อยเลิศทั้งนั้น  เพราะทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลน้ำกร่อย  ที่ทำให้เนื้อสัตว์นานาในทะแลนี้มีรสอร่อยกว่าที่อื่น

          เย็นวันหนึ่งเป็นวันเสาร์  เด็ก ๆ เตรียมเครื่องทำอาหารกัน  โดยเฉพาะมะพร้าวเขาไม่ต้องซื้อจากตลาด  เพราะในวัดนี้มีมะพร้าวปลูกไว้มาก  วันนั้น ณรงค์ขึ้นมะพร้าวต้นหน้ากุฏิ  ทวน ตั้งก้อนเส้าติดไฟหุงข้าวอยู่ใต้ต้นมะพร้าว  เชื้อ ยืนชี้มือสั่งให้ณรงค์ปลิดผลมะพร้าวจากทะลายให้หลุดหล่นลง

           “ลูกนั้น  ลูกโน้น  นั่นไม่ใช่  ลูกทางซ้ายนั่นน่ะ  นั่นแหละปลิดเลย  โน่นอีก  ทางขวาน่ะ”

          เชื้อตะโกนเสียงสั่ง  ณรงค์ก็ปลิดลูกมะพร้าวจากขั้วตามสั่ง  มะพร้าวตกลงดินดังตุ้บตั้บ ๆ  แล้วก็มีเสียงทวนที่นั่งเฝ้าหม้อข้าวตะโกนแทรกขึ้นมา

           “มด  เม็ดแล้ว”
           “ยังไม่หมด”  ณรงค์ตะโกนตอบ

           “เม็ดแล่วจริง ๆ ดูนี่ซี่”  ทวนตะโกนตอบพร้อมชี้มือไปที่หม้อข้าว

           “เหวอ.....”  เชื้อ ส่งเสียอุทาน  เมื่อมองไปเห็นหม้อข้าวเตาไฟกระจาย  เพราะลูกมะพร้าวตกลงใส่หม้อข้าวแตกคาก้อนเส้า  ข้าวยังไม่ทันจะสุกดีกระจายขาวเกลื่อนพื้น  ณรงค์รีบลงจากต้นมะพร้าวมายืนดูสภาพหม้อข้าวก้อนเส้าเตาไฟด้วยสีหน้าสลด

          ข้าพเจ้าเห็นเหตุการณ์โดยตลอด  พูดปลอบใจพวกเขาว่า  ไม่เป็นไรนะ  เสียแล้วก็ให้มันเสียไป  เชื้อ ไปซื้อหม้อใหม่มาเถอะ  พูดแล้วก็ควักเงินในกระเป๋าอังสะให้เขาไปซื้อหม้อใหม่  ตั้งเตาหุงข้าวกันใหม่

          ณรงค์เก็บรวบรวมมะพร้าวเข้าไปกองไว้ใต้ถุนกุฏิด้วยอาการสงบ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มกราคม, 2566, 10:42:27 PM
(https://i.ibb.co/vXdk45q/97a6976-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๐ -
          อาหารที่ขึ้นชื่อลือชาอันเป็นเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้คือ  “ข้าวยำปักษ์ใต้”  ซึ่งเป็นอาหารจานเดียว  ที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ  ทานแล้วไม่อ้วน  จากรายงานการวิจัยพบว่าข้าวยำปักษ์ใต้เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและเป็นสมุนไพร  เพราะประกอบไปด้วยผักหลายชนิด  มีไขมันอิ่มตัวจากมะพร้าวเป็นส่วนผสมด้วย (การแพทย์แผนปัจจุปันเตือนว่าต้องระมัดระวังในการรับประทาน)  มีรสชาติ  กลิ่น  สีสัน  ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง  สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้  และเป็นที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย

          ข้าพเจ้าได้รู้รสข้าวยำปักษ์ใต้ที่สงขลาเมื่อวันหนึ่งมีคนนำข้าวยำห่อใส่บาตร  แม่ครัววัดจัดการคลุกเคล้าใส่จานถวายพระ  เห็นเป็นข้าวคลุกเคล้าอะไรแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็น  จึงถามพระในวงฉันอาหารว่า  นี่คืออะไร  พระประเสริฐให้คำตอบว่านี่คือข้าวยำสงขลา  ซึ่งเป็นข้าวยำอร่อยที่สุดของปักษ์ใต้  สิ่งนี้ไม่ใช่กับข้าว  แต่เป็นข้าวประเภทอาหารจานเดียว  มีข้าว ผสมเครื่องปรุงเสร็จแล้ว  ฉันได้เลย  ก็เหมือนข้าวราดแกงในภาคกลางนั่นแหละครับ  ข้าพเจ้าลองใช้ช้อนตักเข้าปากเคี้ยวจำแนกรส  ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า  ต้องกินผักไปพร้อมกันด้วยจึงจะอร่อยดี  ข้าพเจ้าก็ทำตาม  รู้สึกว่ารสชาติ “ หรอยจ้าน”  อย่างบอกไม่ถูกเลย

          หลังจากได้ลิ้มรสข้าวยำสงขลาแล้ว  รสชาติก็ติดอยู่ในความรู้สึก  อยากจะกินอีกหลาย ๆ ครั้ง  เด็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกันบอกว่ามีขายในตลาดหลายร้าน  ถ้าพี่หลวงอยากฉันอีกเมื่อไรก็จะไปซื้อมาให้  จนเช้าวันหนึ่งเป็นวันเสาร์  เด็กสาวร้านกาแฟหน้าวัดนำข้าวยำมาถวายบอกว่า

           “ณรงค์บอกแม่ว่าพี่หลวงอยากฉันข้าวยำ  แม่จึงให้นำมาถวายค่ะ”

          เธอไม่พูดอะไรมากไปกว่านั้นก่อนจากไป  ซักถามณรงค์ได้ความว่า  เขาไปกินกาแฟกันที่ร้านนั้น  แล้วถามแม่ค้าเจ้าของร้านว่า  ข้าวยำร้านไหนอร่อยที่สุด  พี่หลวงอยากฉันข้าวยำสงขลา  เท่านั้นเองเจ้าของร้านกาแฟจัดการให้ลูกสาวเอามาถวายแต่เช้าเลย  จากนั้นเธอก็เอาข้าวยำมาถวายสัปดาห์ละสองสามครั้ง  ข้าพเจ้าจึงศีกษาเรื่องข้าวยำจนได้ความมาว่าดังต่อไปนี้

           “ข้าวยำมีส่วนประกอบด้วย ข้าวสวย มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งหรือปลาป่น พริกขี้หนูแห้งคั่วแล้วนำมาป่น และผักชนิดต่าง ๆ ผักที่นิยมใช้ประกอบในข้าวยำ  ได้แก่  สะตอหั่นฝอย  ถั่วงอก  ถั่วฝักยาวหั่นฝอย  แตงกวา  ตะไคร้หั่นฝอย  ใบมะกรูดอ่อนหั่นฝอย  ใบชะพลูหั่นฝอย  ส้มโอฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ  ถั่วงอกเด็ดหาง  มะนาว  มะม่วงดิบสับเป็นเส้น  ไข่ไก่ต้มหั่นชิ้น  บางที่อาจใส่ข้าวตังทอดหรือเส้นหมี่ทอด และน้ำบูดูปรุงรส  ถ้าไม่มีสะตอก็ใช้เมล็ดกระถิ่นอ่อน  ฝักกระถิ่นอ่อน  ยอดกระถินอ่อนแทนสะตอ (แต่ละท้องถิ่นอาจจะใส่ส่วนผสมไม่เหมือนกัน)“

          น้ำบูดูเป็นตัวชูรสสำคัญของข้าวยำที่ขาดไม่ได้  น้ำบูดูนี้ได้มาจากการหมักปลาตัวเล็ก ๆ กับเกลือเม็ด  โดยหมักไว้ในโอ่งหรือไห  แล้วปิดผนึกอย่างดี  ตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย ๒-๓ เดือน  หรืออาจจะเป็นปี  จึงจะนำมาใช้ได้  น้ำบูดูมีทั้งชนิดหวานและเค็ม  ชนิดหวานใช้คลุกกับข้าวยำ  ชนิดเค็มใช้ปรุงอาหารประเภทน้ำพริกเครื่องจิ้ม  ข้าวยำปักษ์ใต้มีมากมายหลายสูตร  ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงแต่ง

          สูตรการทำข้าวยำแบบครบเครื่องเต็มสูตรนั้นพอที่จะประมวลมาได้ดังนี้คือส่วนผสม  ประกอบด้วยกุ้งแห้งป่น (หรือปลาป่นก็ได้), เส้นหมี่ขาว,ซีอิ๊วดำ, ข้าวตังทอด, มะพร้าวคั่ว, มะนาว หรือ มะม่วงเปรี้ยว, พริกป่น, น้ำบูดู (น้ำข้าวยำสำเร็จรูป)  ข้าวสวย, ผักต่าง ๆ คือ ถั่วฝักยาว, ถั่วพู, ตะไคร้, ใบมะกรูด, ใบบัวบก, ใบชะพลู, ถั่วงอก, ส้มโอ, ดอกไม้พวงชมพู หรือ ดอกอัญชัน, ดอกดาหลา หรือ ดอกชมพู่ม่าเหมี่ยว, แตงกวา, ผักกาดขาว  และผักกินดิบอื่นตามชอบ  รายละเอียดวิธีการปรุงนั้นอย่างไรไม่ขอกล่าวถึงให้มากความ

          มีคำกล่าวอยู่ว่า  “ข้าวยำสงขลา ขนมลานคร”  หมายความว่าข้าวยำอันเป็นเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้นั้น  อร่อยเป็นเลิศหรืออร่อยที่สุดคือข้าวยำของจังหวัดสงขลา  ส่วนขนมลาที่นิยมทำกันในเทศกาลเดือนสิบนั้น  ว่ากันว่าขนมลาของนครศรีธรรมราชอร่อยมากกว่าเพื่อน  เจาะลึกลงไปอีกว่า  ถิ่นที่ทำขนมลาอร่อยที่สุดของเมืองนครคือ  คนในอำเภอปากพนัง  แต่ขนมชนิดนี้ก็อยู่ในวงแคบ ๆ  ไม่เหมือนข้าวยำซึ่งมีทั่วทุกจังหวัดของปักษ์ใต้  และในทุกจังหวัดนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่า  ข้าวยำสงขลาอร่อยกว่าเพื่อน  ไม่เชื่อก็ลองไปกินดูแล้วจะติดใจเหมือนพระเต็ม /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, มกราคม, 2566, 10:26:59 PM
(https://i.ibb.co/m54RHC0/01-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๑ -
          กีฬายอดนิยมของปักษ์ใต้คือการชนโค  จังหวัดสงขลามีสนามชนโคมากที่สุดของภาคใต้  จากกาสำรวจของสื่อพบว่า  สนามชนโคใหญ่ ๆ ที่  “บูม”  ในภาคใต้มี ๒๘ แห่ง  จังหวัดสงขลามีมากที่สุด  ความเป็นมาของกีฬาชนโคมีอย่างไร  ขอนำความรู้เรื่องการชนโคจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี มาแนะนำพอสังเขปดังต่อไปนี้

           “ชนวัว  หรือ  กีฬาชนโค  เป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคใต้  สำหรับในประเทศไทยอาจเป็นความนิยมที่เริ่มมาจากการเลี้ยงวัวไว้บริโภคของชาวมุสลิม แต่พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ปรากฏความนิยมอยู่บ้างเช่นกัน ซึ่งการแข่งเพื่อความสนุกสนานนี้อาจมีให้พบเห็นได้จนถึงประเทศลาว การแข่งขันกระทำโดยการปล่อยวัวหนุ่มที่แข็งแรงให้พ้นจากคอก ให้วัวผู้ทั้งสองฝ่ายตรงรี่เข้าปะทะกัน ใช้พละกำลังและอาวุธคือเขาเข้าต่อสู้ สัตว์ทั้งสองต้องใช้กำลังยืนหยัดต่อสู้ไม่ยอมถอยเพื่อชัยชนะ ส่วนใหญ่ของผู้ชมที่รายรอบรอชมการชนวัวนั้น ล้อมรอบกันแน่นขนัดก็เพื่อต้องการเห็นชัยชนะและกำลังความแข็งแกร่งของวัวผู้ตัวที่ชนะ บางคนก็เลือกที่จะชมร่างกายที่สวยงามของวัวซึ่งเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่มักเพิ่มการพนันขันต่อ เพื่อเพิ่มการลุ้นและการเชียร์วัวตัวที่ชอบได้มากยิ่งขึ้น วัวที่นิยมใช้แข่งขันเป็นวัวที่มีรูปร่างบึกบึนกำยำ เขา ส่วนหัว ลำตัว และขาหน้า ต้องแข็งแรง เมื่อวิ่งเข้าปะทะหัวชนกัน เสียงดังสนั่น เมื่อตัวใดตัวหนึ่งไม่ยอมถอยหรือวิ่งหนี ก็ต้องชนกันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดแรงหรือได้รับบาดเจ็บจนพ่ายแพ้ไป ลานชนโคนิยมใช้ลานดินที่กว้างและทำคอกล้อมหรือทำให้มีคันดินล้อมรอบไว้เป็นสนาม การชนวัวมักเล่นเป็นการพนันเช่นเดียวกับการเล่นการแข่งขันกีฬาไก่ชน”

          เรื่องราวข่าวสารการชนโคทางภาคใต้ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาเสมอแต่ไม่เคยได้ดูได้ชม  คิดว่าไม่น่าจะสนุกสนานอะไร  เพราะเติบโตมากับวัวควายในไร่นา  ระหว่างวัวกับควายข้าพเจ้ารักควายมากกว่า  และคุ้นเคยกับควายมากกว่าวัว  เพื่อน ๆ เขาขี่วัวกัน  แต่ข้าพเจ้าไม่เคยขี่  เพราะไม่ชอบที่ขนหนังวัวมันลื่น  ไม่เหมือนควาย  วัวทางบ้านข้าพเจ้าเขานิยมใช้เทียมล้อเทียมเกวียนลากเลื่อน  ไม่นิยมใช้ไถนาเหมือนควาย  ข้าพเจ้าไม่ชอบวัวอีกอย่างหนึ่งคือ  วัวมันดื้อ  หากมันไม่ยอมทำงานมันจะนอนนิ่งใช้ไม้เรียวตีให้ลุกมันก็ไม่ลุก  เขาว่ากันว่าบางตัวมันดื้อขนาดเอาฟางสุมตัวมันแล้วเอาไฟจุดลุกโพลงจนหนังมันไหม้ก็ไม่ยอมลุก  เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ข้าพเจ้ายังไม่ได้พิสูจน์  แต่ความดื้อของมันนั้นเชื่อได้เลย  เคยเห็นมันชน (ขวิด) กันบ่อย ๆ  แต่ก็ไม่ดุเดือดรุนแรงอะไรนัก

          ที่สงขลา  วันหนึ่งข้าพเจ้าได้ชมการชนโคของปักษ์ใต้  หลังเที่ยงวันของวันนั้นเป็นวันเสาร์  ข้าพเจ้าเห็นผู้คนหลายสิบคนมายืนเกะกะอยู่ใกล้กำแพงวัดชัยมงคลด้านทิศเหนือ  เด็กของข้าพเจ้าก็ไปอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย  จึงเดินไปดูเพื่อให้รู้ว่าเขาไปทำอะไรกัน  เดินถึงกุฏิพ่อหลวงเซ่ง  เห็นพระประเสริฐยืนชะเง้ออยู่ที่หน้าต่างกุฏิ  ถามพ่อหลวงเซ่งก็ได้ความว่าวันนี้เขานัดชนโคกันที่สนามเหนือวัดเราเวลาประมาณบ่ายโมง  คนพวกนี้ไม่มีตังค์ซื้อตั๋วเขาชมในสนาม  หรือมี แต่อยากดูฟรี  จึงมายืนรออยู่ข้างกำแพงวัดนี่แหละ  เดี๋ยวพอได้เวลาชนโคเขาก็จะปีนกำแพงวัดขึ้นไปดูบ้าง  ขึ้นต้นไม้ดูบ้าง  คุณเคยดูการชนโคไหม  อยากดูก็ลองปีนต้นไม้ขึ้นดูซี  สนามชนโคด้านใต้อยู่ติดกำแพงวัดเละแหละ  ขึ้นดูบนต้นไม้จะเห็นชัดเจน

          ฟังพ่อหลวงเซ่งว่าอย่างนั้นก็มีความอยากดูขึ้นมาทันที  จึงเลือกต้นไม้หลังกุฏิพ่อหลวงเซ่งแล้วปีนขึ้นไปนั่งบนคาคบที่เหมาะ ๆ  พอนั่งเข้าที่พระประเสริฐก็ปีนต้นไม้ตามขึ้นมาพูดว่า  “ขอดูด้วยนะต้น”  สนุกละ  ได้เพื่อนดูด้วยแล้ว  มองไปในสนามเห็นอัฒจันทร์ด้านเหนือสนามมีคนนั่งเต็มแน่นขนัดเลย  แสดงว่าคนชาวใต้นิยมชมชอบในกีฬาชนโคมากทีเดียว  พระประเสริฐบอกว่าวันนี้เขากำหนดขนโคกัน ๓ คู่  โดยคู่แรกกับคู่สุดท้ายมีเดิมพันกันในหลักแสน  ส่วนคู่ที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่เอกมีเดิมพันกัน ๕ ล้านบาท

          เสียงกลองสัญญาณ ตุ้ม ตุ้ม ตุ้ม ดังขึ้น  วันชนคู่แรกนำเข้าสู่สนามแข่งขัน  ข้าพเจ้าตั้งตาดูตามความตั้งใจ  เมื่อพี่เลี้ยงนำวัวเข้าเผชิญหน้ากันแล้วปล่อยทั้งคู่ให้เป็นอิสระ  ทั้งคู่ไม่มีการยืนเบิ่งดูเชิงอะไรกันเลย  พอพี่เลี้ยงปล่อยมือมันก็ปรี่เขข้าชนกันเหมือนโกรธแค้นกันเป็นแรมปี  หัวชนแล้วดันกันไปดันกันมา  ส่ายหัวชิงการได้เปรียบในการงัดเสยจากล่างให้คู่ต่อสู้พลาดท่าเสียที  การชนกันอย่างนี้เห็นได้ว่าแรงใครดีก็ชนะไปในที่สุด  คู่แรกผ่านไปด้วยความมันในอารมณ์ของคนดูรอบสนาม  คู่ที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่เอกถูกนำเข้าสนาม  ท่ามกลางเสียงเชียร์ลั่นสนาม  เป็นวัวสีแดงกับสีดำ  รูปร่างบึกบึนทะมัดทะแมง  เห็นกล้ามเนื้อขาหน้าขาหลังเป็นมัด ๆ  โหนกคอสวยงาม  เงินเดิมพันห้าล้านสมัยนั้นมิใช่น้อย  บวกกับเงินเสมอนอก คือนักพนันทั้งหลายใช้พนันขันต่อกันอีกก็หลายล้านทีเดียว  เมื่อวัวประเขากันกลองก็ตีให้จังหวะเร่งเร้าให้คนชมระทึกใจ

          ผลการชนของคู่เอกคือฝ่ายแดงชนะ  ข้าพเจ้าดูแล้วไม่นึกสนุกอย่างที่เขาสนุกกัน  หากแต่รู้สึกสลดใจที่เห็นโคชนกันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนอาฆาตแค้นกันมาแต่ชาติปางก่อน  พยายามทำความรู้สึกว่ามันเป็นกีฬา  แต่การต่อสู้ที่ใช้กำลังความรุนแรงอย่างไม่มีศิลปะ  ใจข้าพเจ้าไม่ยอมรับว่ามันเป็นกีฬา  รู้สงสารนักกีฬามากครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, มกราคม, 2566, 10:29:31 PM
(https://i.ibb.co/kJsdMKK/ch415-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- ๑๑๒ -
          การเล่นที่ให้ความบันเทิงแก่คนไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือการร้องรำทำเพลง  เช่นในภาคกลางก็มีเพลงเรือ  เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด ลิเก และ รำโทน หรือรำวง  เวลาล่วงเลยพ้นกึ่งพุทธกาลคือ พ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้วปรากฏว่า  รำวง เป็นการบันเทิงที่ได้รับความนิยมชมชอบคู่กันกับลิเก  งานวัดใดมีลิเกมาแสดงก็ต้องมีเวทีรำวงมาตั้งประชันด้วยเสมอ  ข้าพเจ้าลงไปอยู่เมืองสงขลาปี ๒๕๐๖ ก็พบว่าที่สงขลามีรำวงเป็นมหรสพยอดนิยมเหมือนกัน  ลองย้อนไปดูความเป็นมาของการรำวงหน่อยนะครับ

           “รำวง เดิมเรียกกันว่า “รำโทน”  เกิดขึ้นจากชาวบ้านในชนบทที่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่  ไม่รู้จะทำอะไรก็หาความสนุกรื่นเริงกัน  โดยเอาครกตำข้าวมาคว่ำกลางลานบ้าน  จุดใต้หรือตะเกียงน้ำตั้งวางบนก้นครก  มีโทนหรือกลองโทนสำหรับตีให้จังหวะ  แล้วชักชวนชายหญิงมาเดินรำเวียนรอบครกนั้น  ท่ารำใครจะรำอย่างไรก็ว่ากันไปตามใจชอบ ไม่มีมาตรฐานอะไร  ความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยมีอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว  จึงมีบางคนคิดคำคล้องจองกันขึ้นเป็นบทเพลงประกอบท่ารำขึ้นหลายเพลง  ไม่พิถีพิถันในเรื่องถ้อยคำและสัมผัสวรรคตอนแต่อย่างใด  เนื้อหาของเพลงจะออกมาในลักษณะกระเซ้าเย้าแหย่การหยอกล้อของหนุ่มสาวเชิญชวน  ตลอดจนการชมโฉมความงามของหญิงสาวเป็นต้น  ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนานในการเล่นเท่านั้น   ต่อมามีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการรำคือ ฉิ่ง ฉาบ และโทน ใช้ตีประกอบจังหวะ  การฟ้อนรำจะมีเสียงโทนเป็นหลักตีตามจังหวะหน้าทับ  จึงเรียกการฟ้อนรำชนิดนี้ว่า  “รำโทน”

          เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๓ ชาวบ้านนิยมเล่นรำโทนอย่างแพร่หลาย  ศิลปะชนิดนี้จึงมีอยู่ตามท้องถิ่นและพบเห็นได้ตามเทศกาลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น  ด้วยเหตุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากนี้เอง  จึงได้มีผู้คิดแต่งบทร้องและทำนองเพลงขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก  แต่ทั้งนี้ก็ยังคงจังหวะหน้าทับของโทนไว้เช่นเดิม  บทร้องและทำนองแปลก ๆ ที่มีเกิดขึ้นมาใหม่โดยปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นบทเพลงที่ขาดการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน  ไม่ปรากฏว่า  ใครเป็นผู้แต่งบทร้องและทำนอง

          เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยถูกญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง  ประเทศพันธมิตรใช้เครื่องบินมาโจมตี  กลางคืนต้องปิดแสงไฟไม่ให้พันธมิตรเห็นแสงแล้วจะทิ้งระเบิดลงมา  การรำโทนจึงต้องงดเว้นการเล่นไว้   ต่อเมื่อสงครามสิ้นสุดลงจึงฟิ้นคืนกลับมาใหม่  เพลงที่นิยมสมัยแรก ๆ นั้นได้แก่เพลง  ใกล้เข้าไปอีกนิด  ช่อมาลี  ตามองตา  ยวนยาเหล่ เป็นต้น  ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำ  “รำโทน”  ขึ้นใหม่ให้มีระเบียบแบบแผนมีความประณีตงดงามมากขึ้น  ทั้งทางด้านเนื้อร้อง  ทำนอง  ตลอดจนเรื่องการแต่งกาย  เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ กรมศิลปากรได้ประพันธ์บทร้องขึ้นใหม่ ๔ เพลง  คืองามแสงเดือน, ชาวไทย, รำซิมารำ, คืนเดือนหงาย  และได้กำหนดวิธีการเล่น  ตลอดจนท่ารำและการแต่งกายให้มีความเรียบร้อยสวยงามอย่างศิลปะของไทย

          วิธีการเล่นนั้นจะเล่นรวมกันเป็นวง  และเคลื่อนย้ายเวียนกันไปเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา  และด้วยเหตุนี้เองจึงได้เปลี่ยนชื่อ  “รำโทน”  เสียใหม่มาเป็น  “รำวง”  ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่อีก ๖ เพลง คือ  ดวงจันทร์วันเพ็ญ, ดอกไม้ของชาติ, หญิงไทยใจงาม, ดวงจันทร์ขวัญฟ้า, ยอดชายใจหาญ, บูชานักรบ  มอบให้กรมศิลปากรบรรจุท่ารำไว้เป็นแบบมาตรฐาน  ส่วนทำนองนั้นรับผิดชอบแต่งโดยกรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์  เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องสุภาพ  ใช้คำง่าย  ทำนองเพลงง่าย  มุ่งให้เห็นวัฒนธรรมของชาติเป็นส่วนใหญ่  การแสดงจะใช้ผู้แสดงหญิงชายไม่น้อยกว่า ๕ คู่  เรียกรำวงนี้ว่า  “รำวงมาตรฐาน”  สืบมาจนถึงปัจจุบัน”

          บนเวทีรำวงที่จัดกันตามวัดและบ้านในชนบทยุคหลังกึ่งพุทธกาล  แม้ทางรัฐบาลจะให้กรมศิลปากรออกแบบท่ารำ  เนื้อร้อง  และทำนองรำวงออกมา  แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้าน  ช่วงนั้นอารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย  คนไทยก็รับเอามาใช้ทั้งดุ้นบ้าง  เอามาดัดแปลงใช้บ้าง  โดยเฉพาะเรื่องจังหวะลีลาเพลงนั้นเป็นที่นิยมกันมากคือ  คาลิปโซ่, ช่าช่าช่า หรือ สามช่า, ออฟบิท, เป็นต้น  อีกเพลงหนึ่งเป็นเพลงไทยเดิม  ชื่ออัศวลีลา  หรือม้าย่อง  จังหวะนี้ไอ้หนุ่มทั้งหลายชอบเต้นกันมาก  นัยว่ามันเร้าใจน่ะ

          สำหรับการแต่งกายของนางรำ  เรียกได้ว่าล้ำยุคมาก  ทุกนางนุ่งกระโปรงสั้นบานจ้าให้เห็นขาอ่อนถนัดตา  จะเรียกว่าเป็นชุด  “ปลุกใจเสือป่า”  ก็ได้  ถ้าแต่งกายเรียบร้อยนางรำก็ขายไม่ออก  เพราะในยุคที่กล่าวถึงนี้  เป็นยุคที่การรำวงมิใช่การเล่นเพื่อสนุกเหมือนยุคปู่ตาย่ายายแล้ว  เป็นยุคของธุรกิจการค้า  นางรำต้องหัดเต้นให้เป็นทุกจังหวะ  แล้วจึงออกงานรับจ้างมารำ  ดนตรีประกอบการรำก็ต้องจ้างมา  คนที่จะขึ้นไปรำเต้นกับนางบนเวทีต้องซื้อบัตรตามราคาที่กำหนด  รำเพลงเดียวจบรอบ  ใครจะเต้นรำต่อก็ต้องซื้อบัตรใหม่  หรือไม่ก็เหมารำเป็นรอบ ๆ ไป  นางรำกับวงดนตรีได้เพียงค้าจ้าง  เงินรายได้จากการขายบัตร  พวงมาลัย  ที่เหลือจากค่าจ้างเท่าไรก็เป็นของผู้จัดการแสดงทั้งหมด

          งานรำวงในภาคกลางสมัยนั้นมักจะมีเรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างชายด้วยกัน  เหตุเพราะแย่งนางรำนั่นเอง  มีไม่น้อยผู้ชายที่ไปรำวงนั้นต้องดื่มสุราเมรัยเพื่อย้อมใจให้เกิดความกล้า  ถือกันว่า พอเมาแล้วหน้ามันด้านไม่อายใคร  เต้นแร้งเต้นกาได้ทุกท่าทาง  บางงานผู้จัดคิดแผลง ๆ จัดเป็น  “รำวงเข้าถ้ำ”  คือด้านหลังเวทีจะทำทางเดินเป็นทางลับมืดสลัว  เข้าทางขวาออกทางซ้าย  พอเต้นรำไปใกล้จะจบรอบแล้ว  นางรำก็จะเต้นนำเข้าถ้ำ  เจ้าหนุ่มก็รำป้อตามเข้าไป  ได้กอดนางบ้างไม่ได้กอดบ้าง  สนุกไปตามประสาของเขา

          ข้าพเจ้าเล่าเรื่องรำวงให้พ่อหลวงเซ่งฟังโดยมีพระประเสริฐนั่งร่วมสนทนาอยู่ด้วย  พ่อหลวงเซ่งกล่าวหลังจากฟังข้าพเจ้าเล่าจบแล้วว่า

           “ทางภาคกลางเก็บเงินเฉพาะคนที่จะขึ้นเวทีเต้นกับนางรำเท่านั้น  แต่ที่นี่เขาปิดล้อมสถานที่มีรำวง  เก็บเงินค่าผ่านประตูเข้าไปชมกันเลย  ส่วนใครจะขึ้นเวทีเต้นกับนางรำต้องเสียเงินอีกทอดหนึ่ง  ใช่มั้ยคุณประเสริฐ”

          พระประเสริฐรับว่าใช่  และกล่าวต่อไปว่า  ที่หาดใหญ่มีเจ้าของกิจการรำวง (หัวหน้าคณะ) อยู่หลายวง  รู้จักเจ๊คนหนึ่งเป็นหัวหน้าคณะรำวง  วงใหญ่มาก  เธอมากู้เงินโยมแม่ไปทำทุนจึงรู้จักชอบพอกันอยู่  พ่อหลวงเซ่งจึงบอกว่าพาคุณอภินันท์ท่านไปรู้จักบ้างซี่  ได้ครับ พระประเสริฐรับคำทันที

          พระประเสริฐพาข้าพเจ้านั่งรถโดยสารไปหาดใหญ่ในวันต่อมา  ลงรถเมล์แล้วเดินข้ามทางรถไฟไปบ้านเจ๊หัวหน้าคณะรำวง  อยู่ทางตอนใต้วัดโคกสมานคุณ  อาเจ๊ดีใจที่พระประเสริฐไปเยี่ยมเยือน  หลังจากแนะนำตัวให้รู้จักกันแล้ว  ข้าพเจ้าก็ซักถามเรื่องการทำธุรกิจรำวงของอาเจ๊  ได้ความว่าเธอตั้งคณะรำวงมาได้ประมาณ ๖ ปี  กิจการดีพอสมควร  ปัจจุบันสาวนางรำอยู่ประมาณ ๑๐๐ คน นางรำมาจากภาคเหนือบ้าง  อีสานบ้าง  ภาคกลางบ้าง  มีคนพื้นที่เป็นส่วนน้อย  เธอต้องติดต่อหานางรำมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัญหาใหญ่ที่เธอพบคือ  นางรำของเธอมักจะถูกอาเสี่ยหิ้วไปเลี้ยงอยู่เรื่อยเลย  ต้องคอยหาเพิ่มเติม....

           “ถูกหมาคาบไปกิน” ?  /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มกราคม, 2566, 10:31:21 PM
(https://i.ibb.co/y50x5sF/ary66-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๓ -
          สมัยนั้นสื่ออย่างดีที่สุดของสังคมไทยคือคลื่นเสียงจากสถานีวิทยุต่าง ๆ และหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์และรายอื่น ๆ  ข้าพเจ้าอยู่สงขลาไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพิมพ์  เพราะเป็นของหายากสักหน่อย  ที่ได้อ่านมากก็เห็นจะเป็นหนังสือนิยายกำลังภายใน  เรื่องมังกรหยกที่กิมย้งแต่ง  ป.พิศนาคะ แปล  กับเรื่องกระบี่จอมภพ จำชื่อคนแต่งไม่ได้  จำได้แต่ ว. ณ เมืองลุง แปล  พระประเสริฐอ่านนิยายจีนดังกล่าวนี้และหาเช่ามาจากร้านหนังสือในตลาด  ข้าพเจ้าพลอยได้อ่านไปด้วย  อันที่จริงเรื่องมังกรหยกนี่ข้าพเจ้าอ่านตั้งแต่อยู่วัดจันทร์นอกดังที่ให้การไปแล้ว  แต่เรื่องนี้ยาวมากไม่จบง่าย ๆ จึงอ่านต่อที่เมืองสงขลาอีก  เรื่องกระบี่จอมภพ ที่ ว. ณ เมืองลุง แปล  นั้นเป็นคนละแนวกับมังกรหยก  ผู้แต่งจินตนาการล้วน ๆ  ไม่อิงประวิศาสตร์เหมือนมังกรหยก  กำลังภายในลึกล้ำพิสดาร  ปรัชญาธรรมลึกซึ่ง  ข้าพเจ้าชอบคำโศลกของหลวงจีนและนักพรตที่กล่าวกันในเรื่อง  เช่นว่า  “พฤกษาสูงร้อยวาพันวา  ใบของมันก็ร่วงหล่นลงโคนต้น”  ท่านอุปมาชีวิตคนแม้จะสูงด้วยยศศักดิ์  ตำแน่ง  ทรัพย์สินเพียงไร  สุดท้ายก็ต้องตกลงสู่ดินกลายเป็นปุ๋ยไป  อย่างนี้เป็นต้น

          สื่อด้านคลื่นเสียงนั้นนอกจากรายการกวีสวรรค์ของวิทยุ จ.ท.ล. ลพบุรีแล้ว  ที่สงขลาก็มีเพียงสถานีวิทยุประจำถิ่น (ว.ป.ถ.) หาดใหญ่ ของทหาร  ดูเหมือนสถานีเขาจะตั้งอยู่ที่  คอหงส์  รายการอะไร ๆ ก็ไม่น่าฟังสำหรับข้าพเจ้าเลย  มีรายการเดียวที่ฟังประจำทุกเช้าวันเสาร์  คือถ่ายทอดเสียงการแสดงธรรมแบบ  ปุจฉา-วิสัชนา  ทางคลื่นเสียง ว.ป.ถ. ทหารสิ่อสารกรุงเทพฯ  การเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา (ถาม-ตอบ) ออกกาศทางสถานีวิทยุนี้  เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการแสดงธรรมของพระสงฆ์ไทย  จัดโดยสภาธรรมกถึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ประธานสภาพระธรรมกถึกคือท่านเจ้าคุณ พระรัตนเวที  เจ้าคุณองค์นี้เป็นใคร  มาจากไหน ดูประวัติย่อ ๆ ของท่านหน่อยนะ

          ท่านมีนามเดิมว่า  หวอยฮั้ว  ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น  กมล  เกิดเมื่อวันที่ ๗ พ.ค.๒๔๖๗ ลูกชาวไร่ชาวนา ต.บางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม  บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดห้วยจรเข้เมืองนครปฐม เมื่อปีพศ.๒๔๘๐  มีพระครูอุตตรการบดี (สุข) เป็นพระอุปัชฌาย์  แล้วมาจำพรรษาที่วัดพระงาม  สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก  จากนั้นเอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในปกครองของสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตตเถร)  ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เพื่อเรียนบาลีต่อ พ.ศ.๒๔๘๖  สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้วกลับไปอุปสมบทที่วัดพระงาม  เมื่อพ.ศ.๒๔๘๗ โดยมี สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) วัดพระเชตุพนฯ  เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอมรเวที (ปุ่น ปุณณสิริ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (กมล กมโล) เป็นพระอาจารย์ให้ศีล ได้รับฉายาว่า โกวิโท

          อุปสมบทแล้วเรียนบาลีต่อในวัดพระเชตุพนฯจนสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค  สอบเทียบวิชาการทางโลกได้ ม.๘ และวุฒิครู พม. ท่านเป็นผู้ริเริ่มเปิดการเรียนการสอนการเรียนทางโลกในวัดโพธิ์  เปิดโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ  โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ  เป็นการเพิ่มเติมจากการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและบาลี  ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ พระอารามหลวง  เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวัดพระเชตุพนฯ ให้เจริญทันสมัยในทุกด้าน  เท่านั้นยังไม่พอ  ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกวัดไทยในต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  คือ  วัดไทยในลอสแองเจลิส  ว่ากันว่าฉายา  หลวงเตี่ย  ที่เรียกขานกันติดปากนั้น  ผู้ที่เรียกคนแรก  คือ ปราโมทย์ ดิลกมนกุล หรือ  โกยี  เจ้าของตลาดบางกอกมาร์เก็ต  ตลาดไทยใหญ่ที่สุดในนครลอสแองเจลิสนั่นเอง

           “หลวงเตี่ย” ที่เรียกกันจนติดปากเป็นพระนักเทศน์ฝีปากดีองค์หนึ่งในยุคนั้น  เป็นคนมีหัวคิดก้าวหน้า  จึงจัดตั้งสภาพระธรรมกถึกขึ้น  เพื่อรวบรวมพระนักเทศน์ไว้เป็นกลุ่มก้อน  มีการประชุมวิจัยวิจารณ์ธรรมะข้อธรรมต่าง ๆ วางหลักแบบแผนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  ไม่ต่างคนต่างคิดต่างแสดงให้เกิดความสับสนแก่ผู้ฟัง  สมัยนั้นข้าพเจ้าเป็นพระเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสเข้าร่วมในสภานี้  ก็มีแต่ระดับครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้านั่นแหละร่วมอยู่ในสภานี้  แม้กระนั้นข้าพเจ้าก็ทำตัวเป็น  “ครูพักลักจำ”  องค์ใดลีลาการเทศน์ดีก็จำไว้  ถามอย่างไร  ตอบอย่างไรดี  ก็จำไว้  เมื่อถึงเวลาก็จะนำไปใช้ตามแบบอย่างของท่าน

          ปีนั้นทางวัดโรงวาสซึ่งอยู่ใกล้กับวัดชัยมงคลจัดงานใหญ่  มีโนราห์เติมเป็นโนราห์ชื่อดังมาแสดง  และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ  มีเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์  โดยนิมนต์พระจากสภาพระธรรมกถึกวัดพระเชตุพนฯลงไปแสดงด้วย  งานนี้ข้าพเจ้าพลาดไม่ได้เด็ดขาด  ไม่ใช่อยากไปดูโนราห์ชื่อดังดอก  แต่อยากไปพบปะพระธรรมกถึกที่มาจากกรุงเทพฯ น่ะ  พระประเสริฐถามว่าพระเทศน์มาจากกรุงเทพฯ ในพรรษาอย่างนี้พรรษามิขาดหรือ  ข้าพเจ้าก็อธิบายให้เขาฟังตามหลักพระวินัยว่า  ในพระวินัยมีหลักปฏิบัติขิงภิกษุอยู่จำพรรษาจะไปแรมคืนที่อื่นได้ไม่เกิน ๗ วัน โดยการทำสัตตาหะ  เรียกว่า  “สัตตาหกรณียะ”  คือธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดในระหว่างพรรษาได้ ๗ วัน ได้แก่

          ๑. ไปเพื่อพยาบาลสหธรรมิกหรือมารดาบิดาผู้เจ็บไข้
          ๒. ไปเพื่อระงับสหธรรมิกที่กระสันจะสึก
          ๓. ไปเพื่อกิจสงฆ์ เช่น ไปหาทัพพสัมภาระมาซ่อมวิหารที่ชำรุดลงในเวลานั้น
          ๔. ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของทายกซึ่งส่งมานิมนต์เพื่อการบำเพ็ญกุศลของเขา  และธุระอื่นจากนี้ที่เป็นกิจจะลักษณะอนุโลมตามนี้ได้

          พระเทศน์จากกรุงเทพฯมาสงขลาเพื่อบำรุงศรัทธาของญาติโยมจากวัดมาไม่เกิน ๗ วัน  จึงไม่ผิด พรรษาไม่ขาด

          ข้าพเจ้าไปวัดโรงวาสยามค่ำคืนนั้นเพื่อดูว่าพระเทศน์ที่มาเป็นใครบ้าง  ก็ได้พบพระครูบุศย์ (พระครูโสภณธรรมาจารย์) วัดดาวดึงษาราม  คู่เทศน์องค์หนึ่งของหลวงพ่อไวย์  พระอุปัชฌายาจารย์ของข้าพเจ้า  ท่านจำได้ร้องทักว่า  “เณรเต็มมาได้ยังไงเนี่ย”  ข้าพเจ้ากราบท่านแล้วบอกเล่าความเป็นมาให้ท่านทราบ  ที่ท่านเรียกข้าพเจ้าว่า  “เณรเต็ม”  เพราะท่านไปเทศน์แถวบางซ้าย เสนา บ่อย ๆ  ข้าพเจ้าเป็นเณรขับเรือรับส่งท่านเป็นประจำจนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี  พระอีกองค์หนึ่งที่มาเป็นคู่เทศน์ของท่านวันนั้นเป็นพระครูเหมือนกัน  ชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว  เพราะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  ท่านพระครูบุศย์ (ต่อมาเป็นพระราชาคณะชั้นเทพก่อนมรณภาพ) ท่านเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาเก่ง  ถนัดในหน้าที่การเป็นผู้ถาม  ถามซอกแซกน่าฟัง  คนฟังชอบใจมาก ข้าพเจ้าลักจำลูกเล่นท่านไว้ไม่น้อยเหมือนกัน  หลังจากคุยฟื้นความหลังกันพอสมควรแล้ว  ข้าพเจ้ากราบลาให้ท่านพักผ่อนเพื่อเตรียมเทศน์ในวันรุ่งขึ้น

          ออกจากที่พักพระนักเทศน์แล้ว  แวะดูโนราห์ที่เริ่มการแสดงพอดี  โนราห์เติมในยุคนั้นเขาว่าเป็นโนราห์ชั้นดีที่สุด  ดังคำกลอนที่ว่า  “แลโนราห์สาวสวย  แลหลวยกระบี่  แลโนราห์ชั้นดี  ต้องโนราห์เติม”   บ้านโนราห์เติมอยู่จังหวัดตรัง  รูปหล่อ  ร้องดี  รำดี  ข้าพเจ้าได้เห็นครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว  ส่วนโนราห์หลวยสาวสวยนั้น  เขาว่าสวยนักหนาบ้านอยู่จังหวัดกระบี่  เสียดายที่ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ดูเลย

          วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าไปวัดโรงวาสอีกเพื่อฟังเทศน์โดยมีพระประเสริฐไปด้วย  เทศน์วันนั้นคนฟังเขาว่าเทศน์ดี  แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าเทศน์กร่อย ๆ อย่างไรไม่รู้  พระคู่เทศน์ของพระครูบุศย์อ่อนไปหน่อย  ตอบไม่ตรงคำถามเท่าที่ควร  จนพระครูบุศย์ต้องประคองด้วยวิธีการถามนำอยู่ตลอดเวลา  ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้ตอบจะตอบได้ดีกว่านั้นซะอีก  วันนั้นเทศน์จบแล้วทางวัดจัดการส่งท่านนั่งรถด่วนกลับกรุงเทพฯ เลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มกราคม, 2566, 10:56:00 PM
(https://i.ibb.co/hVL2669/f3-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๔ -
          เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ของไทยเป็นพืชผักผลไม้ชนิดหนึ่งคือ  “สะตอ”  ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปอยู่เมืองสงขลาไม่เคยรู้จักสะตอเลย  พอไปอยู่สงขลาจึงรู้จักชื่อและรสชาติของสะตออันเป็นอาหารเลิศรสของคนชาวปักษ์ใต้  ก่อนจะคุยกันถึงเรื่องสะตอ  ขอทำความรู้จักกับสะตอสักหน่อยเป็นไร  ความต่อไปนี้ขอคัดย่อจากหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน  และขอขอบคุณเจ้าของเรื่องคือผู้เขียนประจำกอง บก. เทคโนโลยีชาวบ้านไว้ที่นี้ด้วย

           “สะตอ พืชท้องถิ่นที่อยู่คู่ภาคใต้มาช้านาน ด้วยความอร่อยล้ำมีกลิ่นเฉพาะตัว ใครกินแล้วกลิ่นติดปากอยู่นาน ผนวกกับปัจจุบันสะตอสามารถปลูกได้ในภาคอื่นนอกจากภาคใต้ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจปลูกกันไว้รอบรั้วบ้าน สะตอมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดชุมพร หรือสุราษฎร์ธานี เรียกว่า “สะตอ” หรือ “กะตอ” หรือตามแต่ละท้องถิ่นในภาคใต้ สายพันธุ์สะตอที่ปลูกอยู่ในภาคใต้คือ พันธุ์สะตอข้าว สะตอดาน ลำต้นค่อนข้างสูง ประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร เปลือกหนาสีน้ำตาล ผิวเรียบ มีรากแก้วช่วยพยุงลำต้น เมล็ดสะตอเกิดจากรังไข่ที่ผสมแล้ว เมล็ดมีสีเขียวเรียงตามแนวขวางกับฝักเมล็ดมีรูปร่างรี สะตอหนึ่งฝักมีเมล็ดประมาณ ๗-๒๐ เมล็ด ลักษณะใบของต้นสะตอก้านทางใบมีลักษณะเป็นคู่ บริเวณส่วนของก้านทางใบมีใบขนาดเล็กเป็นรูปพาย ผลดิบของสะตอนำมารับประทานเป็นอาหารได้ โดยต้องสังเกตสะตอที่มีฝักแก่ซึ่งเมล็ดจะไม่อ่อนมากเมื่อนำมารับประทานแล้วมีรสชาติที่อร่อยกว่าสะตออ่อน นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น เป็นผักเหนาะ (ผักทานคู่กับแกง) สะตอผัดกุ้ง สะตอผัดหมู หรือสะตอดอง นอกจากสะตอสามารถนำมาประกอบอาหารได้แล้ว ภายในเมล็ดของสะตอยังให้คุณค่าทางสารอาหารมากมาย เช่น ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ปัญหาโรคไต ช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หากรับประทานสะตอแล้ว ผู้รับประทานมีกลิ่นปากสามารถแก้ได้ด้วยการรับประทานมะเขือเปราะตามลงไปจะสามารถดับกลิ่นของสะตอลงได้”

          ไม่มีจังหวัดไหนของภาคใต้ที่ไร้สะตอ  เพราะสะตอได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง  ไม่เสื่อมคลายในทุกเวลาและสถานที่ของภาคใต้  พ่อหลวงเซ่งกับพระประเสริฐกล่าวยืนยันตรงกันว่า  สะตอของอำเภอรัตภูมิจังหวัดสงขลารสชาติอร่อยที่สุด  ข้าพเจ้าไม่โต้แย้ง  เพราะยังกินสะตอไม่ครบทุกพื้นที่ของปักษ์ใต้  และเพิ่งจะรู้จักสะตออย่างงู ๆ ปลา ๆ เท่านั้น  ที่สำคัญก็คือยังไม่ชอบรสสะตออย่างที่คนใต้เขาชอบกัน

          พ่อหลวงเซ่งให้ความรู้เรื่องสะตอว่า  “การกินสะตอนั้น ยอดอ่อนและเมล็ดกินเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือแกล้มกับอาหารรสจัดได้ และยังนำมาปรุงเป็นอาหารได้อีกหลายชนิด แกงกะทิ  ผัดเห็ดใส่กุ้ง ผัดเปรี้ยวหวาน แล้วยังนำมาดองเก็บไว้กินนาน ๆ ได้”

          ได้ความรู้เรื่องสะตอพอสมควรละ  ลักษณะของฝักจะไม่จำ  ขอจำแต่เพียงกลิ่นก็พอ  ถ้ากลิ่นฉุนจัดก็คือสะตอดาน  กลิ่นฉุนน้อยคือสะตอข้าว  ในระยะแรก ๆ ข้าพเจ้าจะเลือกกินสะตอข้าวที่มีกลิ่นฉุนน้อยไปก่อน  นาน ๆ จึงกินสะตอดานที่มีกลิ่นฉุนแรง  นานวันเข้ารสสะตอก็เริ่มติดลิ้น  รู้สึกชอบขึ้นมาละ  กินสด ๆ ที่ผสมข้าวยำบ้าง  จิ้มน้ำพริกกะปิบ้าง  กินสุกที่เขาผัดใส่กุ้ง  ใส่ไก่  ใส่หมู บ้าง  ใส่แกงเหลืองบ้าง ก็อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง

          ออกจะเชื่อที่ท่านว่า  คุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาของสะตอคือ  เมล็ดสะตอ กินป้องกันโรคเบาหวาน  ขับปัสสาวะ  ช่วยให้เจริญอาหาร  คุณค่าทางอาหารของเมล็ดสะตอ ๑๐๐ กรัมประกอบด้วย พลังงาน แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส Vitamin B ๑ Vitamin A Vitamin C Advertisements.......

          ข้าพเจ้าเห็นว่าผลเสียของสะตออยู่ที่กลิ่น  คือเมื่อกินสะตอแล้วกลิ่นของเขาจะติดปากติดคอเป็นเครื่องยืนยันให้คนอื่นรู้ว่ากินสะตอมาแล้ว  และไม่เท่านั้น  กลิ่นอุจจาระปัสสาวะก็มีกลิ่นสะตอด้วย.../

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มกราคม, 2566, 12:01:39 AM
(https://i.ibb.co/nRf7xJW/28-R-1-s-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๕ -
          เมื่อวันวานได้กล่าวถึง “สะตอ” เอกลักษณ์หนึ่งของปักษ์ใต้  วันนี้จะขอกล่าวถึงผลไม้ของปักษ์ใต้อีกชนิดหนึ่งซึ่งมีไม่มากนัก  ข้าพเจ้าลงไปอยู่เมืองสงขลานานเกือบ ๑ ปี  ได้กินผลไม้ชนิดนี้ไม่เกิน ๓ ครั้ง  เขาว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นคู่แฝดกับขนุน  แต่ไม่ใช่ขนุน  มีชื่อว่า  “จำปาดะ”  กลิ่นแรง  รสหวานจัด  เป็นทั้งอาหารและยาด้วย  “จำปาดะ”  คืออะไร  ลองค้นคว้าเรื่องของเขาดูนะครับ

           “จำปาดะ เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของภาคใต้อีกชนิดหนึ่ง มีปลูกกันทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ของไทย และยังเลยเข้าไปในมาเลเซียด้วย ในไทยทราบว่าจังหวัดสตูลปลูกมากถึง ๑,๐๐๐ ไร่ มีทั้งหมด ๗ สายพันธุ์ ส่งขายทั่วไทย ไปไกลถึงต่างประเทศ ด้วยรสชาติที่ดี มีเอกลักษณ์ หวานฉ่ำชื่นใจ มัดใจคนไทยจนถึงรัฐเปอร์ลิส เพื่อนบ้านจากมาเลเซีย ซื้อขายกินกันทุกปีไม่เคยขาด ถูกอกถูกจนไม่พอส่งขาย จำปาดะจะออกผลผลิตมากในช่วงหน้าฝน ผลสามารถทำอาหารได้หลากหลาย มีกลิ่นเฉพาะตัว ทั้งกินเป็นผลไม้สด ชุบแป้งแล้วทอดซึ่งเป็นที่นิยมในภาคใต้ของไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย เมล็ดอย่างเดียวนำไปต้มให้สุก หรือใส่ในกับข้าวเช่นแกงไตปลา ผลอ่อนต้มกับกะทิใช้เป็นผัก และแกงได้ ต้นเป็นไม้เนื้อสีเหลืองหรือน้ำตาลใช้ทำเครื่องเรือนและต่อเรือ เปลือกของลำต้นใช้ฟั่นเชือก

          ขนุนกับจําปาดะมองเผิน ๆ อาจมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ความจริงเป็นคนละสายพันธุ์กัน มีวิธีสังเกตที่เห็นได้ชัดคือ ผิวของผลจำปาดะจะเรียบกว่าขนุน ส่วนขนุนผิวจะมีหนามเล็กน้อย  มาดูข้อแตกต่างอื่น ๆ อีกนะครับ  ขนาดของผลจำปาดะจะเล็กกว่าขนุน  ลักษณะของเปลือกนอกเมื่อสุกจะไม่สวยเหมือนขนุน  เปลือกจะบางและปอกง่ายกว่าขนุน  และไม่มียวงมีใยเหนียวหนืดเป็นยางมาคั่นระหว่างเมล็ดเหมือนขนุน  เนื้อจะนิ่มเละ ไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน  และจะเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด  ไม่เหมือนขนุนที่เคี้ยวง่าย  รสชาติจะมีรสหวานจัด  มีน้ำเยอะและหวานกว่าขนุน  กลิ่นจะแรงกว่าขนุน (น้อง ๆ ทุเรียนเลยทีเดียว)  คุณค่าทางโภชนาการคือเป็นผลไม้ที่เนื้อมีรสหวานกินแล้วรู้สึกสดชื่น  มีวิตามินเอที่บำรุงสายตา  เส้นใยของเนื้อจะช่วยขับไขมันออกจากร่างกายได้  เมื่อนำมาชุบแป้งทอดที่ใส่มะพร้าวขูดรวมไปด้วย  จะได้ไขมันมากทั้งจากมะพร้าวและน้ำมันที่ใช้ทอด  ถ้ากินเกินประมาณอาจทำให้เจ็บคอและร้อนในได้  วิธีการปอกง่ายมาก  แค่ใช้มีดกรีดจากขั้วลงมาจนสุดผล  แล้วก็ใช้มือแบะออก  เนื้อจำปาดะก็จะปลิ้นหลุดออกมาทั้งพวงเลย  และให้จับที่ขั้วดึงทีเดียวให้เปลือกหลุดออก  จะได้ยวงติดกันออกมาเป็นพวงอย่างง่ายดาย

          สรรพคุณจำปาดะท่านว่า ช่วยบำรุงร่างกาย (เนื้อผลสุก), มีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี, เปลือกไม้มีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยรักษาโรคมาลาเรียได้, เส้นใยของผลสามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกไปจากร่างกายได้, ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เนื้อผลสุก), ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เนื้อผลอ่อน), ช่วยฝาดสมาน (เนื้อผลอ่อน), เมล็ดช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้ (เมล็ด), ในมาเลเซียมีการใช้รากเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร”

          จำปาดะ มีถิ่นกำเนิดในแหลมมลายูนี่เอง  จึงมีชื่อในภาษามลายูว่า cempedak (เจิมเปอดะก์) เมื่อพูดถึงจำปาดะ ๑ ลูก  นั่นหมายถึงผลใหญ่ทั้งผล  เมล็ดนำไปต้มให้สุก  แล้วใส่ในอาหารต่าง ๆ เช่น แกงไตปลา  ยุม (เนื้อที่หุ้ม ๑ เมล็ด) อ่อนต้มกะทิเป็นผักเกล็ดหรือนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทแกง  นอกจากเนื้อจำปาดะทอดที่หอมหวานแล้ว  เมล็ดจำปาดะด้านในก็อร่อยไม่แพ้กัน  กลิ่นของจำปาดะทอดสุกนั้น  ช่างยั่วยวนจิตใจยิ่งนัก  การเลือกซื้อจำปาดะนั้นเขาขึ้นอยู่กับดวงล้วน ๆ  คือผ่าออกมาแล้วด้านในจะมีกี่ยุม (ยวง) จึงมีคำกล่าวว่า  “ซื้อจำปาดะก็เหมือนกับซื้อหวย”  เพราะบางครั้งผ่าออกมาเจอเนื้อจำปาดะแค่สามยุม (ยวง) ดีที่ราคาไม่แพงมากนัก /
 
           ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53879#msg53879)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มกราคม, 2566, 11:53:01 PM
(https://i.ibb.co/FbHNbnY/1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54106#msg54106)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๖ -
          ไม้ผลหรือผลไม้ชนิดหนึ่งสมัยเมื่อ ๕-๖๐ ปีก่อนเป็นที่นิยมกันอยู่ในภาคใต้ของไทย  ซึ่งถือว่าเป็นของดีที่หายาก ต่อมาแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักมักคุ้น  และปลูกกันทั่วประเทศไทยแล้ว นั่นคือ  มะม่วงหิมพานต์  ปัจจุบันเป็นเครื่องปรุงประกอบหาอาหารหลายอย่าง เช่น ผัด ยำ อาหารว่าง และเป็นขบเคี้ยวเล่นเพลิน ๆ ด้วย  มะม่วงนี้มีชื่อหลายชื่อตามท้องถิ่นต่าง ๆ  ประวัติความเป็นมาอย่างไรตามไปดูกันครับ

           “มะม่วงหิมพานต์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะม่วงสิโห (เชียงใหม่), มะโห (แม่ฮ่องสอน), มะม่วงกาสอ (อุตรดิตถ์), มะม่วงเล็ดล่อ มะม่วงยางหุบ (ระนอง), กายี (ตรัง), ส้มม่วงทูนหน่วย มะม่วงทูนหน่วย (สุราษฎร์ธานี), กะแตแก (นราธิวาส), นายอ (ยะลา), ยาโงย ยาร่วง (ปัตตานี), มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงไม่รู้หาว (ภาคกลาง), มะม่วงกุลา มะม่วงลังกา มะม่วงหยอด มะม่วงสินหน (ภาคเหนือ), กาหยู กาหยี ม่วงเม็ดล่อ ม่วงเล็ดล่อ หัวครก ท้ายล่อ ตำหนาว ส้มม่วงชูหน่วย (ภาคใต้) เป็นต้น

          มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงโดยเฉลี่ย ๖ เมตร (สามารถสูงได้ถึง ๑๒ เมตร) ลำต้นเนื้อไม้แข็ง มีกิ่งแขนงแตกออกเป็นพุ่มแน่นทรงกลมถึงกระจาย เปลือกหนาผิวเรียบมีสีน้ำตาลเทา ในบ้านเราสามารถพบมะม่วงหิมพานต์ได้ทั่วไปในภาคใต้ ดอกออกเป็นช่อกระจาย มีสีขาวหรือสีเหลืองนวล และจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพู ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกหนึ่งมีปลายแยกเป็นกลีบ ๕ กลีบ ปลายแหลมเรียว ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ ๘-๑๐ อัน หลังจากดอกร่วงจะติดผล ซึ่งมีลักษณะคล้ายผลชมพู่หรือลูกแพร์ ผลเป็นพวงห้อยลงมา ขนาดผลยาวประมาณ ๕-๘เซนติเมตร เนื้อผลฉ่ำน้ำมีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียวหรือเหลืองอมชมพู แต่เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง ที่ปลายผลมีเมล็ดอยู่ ๑ เมล็ด มีลักษณะคล้ายรูปไต เปลือกนอกแข็งและยาวประมาณ ๒-๔ เซนติเมตร สีน้ำตาลอมเทา แพทย์ในอินเดียใช้เมล็ดเลี้ยงเด็กทารกที่อายุเกิน ๖ ขวบ เพื่อช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรง ในเม็ดมะม่วงหิมพานต์อุดมไปด้วยธาตุทองแดง จึงช่วยบำรุงเส้นผมและผิวหนังได้เป็นอย่างดี ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มีธาตุแมกนีเซียมในปริมาณมาก จึงช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก สุขภาพฟันและกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้ ช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้”

          คัดย่อจากความเรียงเชิงวิชาการมาให้รู้จักมะม่วงหิมพานต์กันพอสมควร ชื่อนี้เป็นชื่อทางการที่ต้องแปลศัพท์กันอีกที “หิมพานต์” หากแปลตรงๆก็คือ “ป่าน้ำค้าง” หรือ “ป่าน้ำแข็ง”  ป่าเย็น  อะไรทำนองนั้น เห็นชื่อแล้วก็ทำให้นึกถึงเทพนิทานในตำนานพราหมณ์ผสมพุทธเรื่องป่าหิมพานต์นั่นเลย  บางท่านอาจคิดว่า  มะม่วงชนิดนี้มาจากป่าหิมพานต์เป็นแน่  แต่ตามประวัติระบุว่า  “มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชพื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล  ซึ่งเรียกเป็นภาษาโปรตุเกสว่า ผล" กาฌู" (caju ) หรือ ต้น "กาฌูเอย์รู" (cajueiro ) ปัจจุบันเติบโตแพร่หลายทั่วไปในภูมิภาคเขตร้อน  เพื่อใช้ประโยชน์จากเมล็ด และผล  มีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกที่ภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) แล้วแพร่ไปทั่วจังหวัดภาคใต้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปว่า มะม่วงหิมพานต์ กาหยู กาหยี (เข้าใจว่าเป็นคำยืมจากภาษามลายู ซึ่งยืมจากภาษาโปรตุเกสอีกทอดหนึ่ง) เม็ดล่อ ยาร่วง หัวครก ยาโห้ย เป็นต้น

          ชาวสงขลาเรียกมะม่วงหิมพานต์ว่า  “หัวครก”  ตามตำนานที่บอกเล่ากันสืบมาว่า

           “ครั้งหนึ่งมีเรไรกับจักจั่นบังเกิดแข่งกัน  เรไรว่าฉันเสียงเพราะกว่า  ต่างคนต่างเบ่งกันว่าตนร้องได้เพราะกว่า  ก็ร้องแข่งกันถ้าเสียงไหนขาดก่อนฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายแพ้  เรไรทำสัญญาณ  พอได้เวลาก็ หริ่ง ๆ หริ่ง ๆ  จักจั่นก็ แร้ง ๆ แรง ๆ  หริ่ง ๆ หริ่ง ๆ  แร้ง ๆ แรง ๆ  หริ่ง ๆ หริ่ง ๆ แร้ง ๆ แร้ง ๆ  ร้องกันตามภาษาสัตว์เสียงดังกังวานทั่วป่า  สัตว์ทั้งหลายได้ยินก็ประหลาดใจ  ผลไม้ทั้งหลายได้ยินต่างก็ชื่นบานตามธรรมชาตินั้น  ผลของไม้หัวครกอยู่ใกล้ ๆ ที่สนามแข่งก็ล่อ (โผล่) ออกมาฟังเรไรกับจักจั่นแข่งขันกันต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้  ผลไม้หัวครกฟังเพลินจนเกินไปและจนลืมตั ว ลืมกลับเข้าไปข้างในเต้าล่อออกมาหลุบ  หุบไม่เข้าจนกระทั่งทุกวันนี้”

          ปัจจุบัน “หัวครก” ของชาวสงขลา หรือมะม่วงหินพานต์ที่รู้จักกันทั่วไป เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่คนไทยมากทีเดียว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, มกราคม, 2566, 11:22:15 PM
(https://i.ibb.co/PxzT0MM/518757-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๗ -
          วัฒนธรรมประเพณีไทยส่วนมากเกิดจากคติพราหมณ์ผสมพุทธศาสนา  มีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น  อย่างเช่นประเพณีสารทไทยเดือน ๑๐ ในภาคกลางมีกำหนดจัดทำกันในวันสิ้นเดือน ๑๐  แต่ในภาคใต้จัดทำกันโดยเริ่มแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ไปสิ้นสุดในวันสิ้นเดือน ๑๐  จุดประสงค์ตรงกันที่การทำบุญอุทิศให้ผู้วายชนม์ทั้งที่เป็นญาติและมิใช่ญาติ  ทางปักษ์ใต้มีการจัดงานนี้อย่างใหญ่โตเรียกว่า  ประเพณีสารทเดือนสิบ ที่นครศรีธรรรมราช  ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้รวมทั้งจังหวัดสงขลาด้วยก็จัดงานนี้เช่นเดียวกัน  แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่าที่นครศรีธรรมราชอันเป็นเมืองหลวงของปักษ์ใต้  ที่มาของงานนี้มีอย่างไร  เราไปค้นหาดูกันครับ

           “ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว มีต้นกำเนิดมาจากพิธีของพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ต่อมาเมื่อคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติด้วย เรื่องนี้ พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหล่นลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น”

           ความที่ท่านพระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้นั้น  เป็นภาพรวมของประเพณีสารทเดือน ๑๐  จากนี้เราไปดูประเพณีสารทเดือน ๑๐ ของภาคใต้กันซึ่งพอจะสรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้

          งานบุญประเพณีของคนภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อกันว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ขึ้นมายังโลกมนุษย์ เพื่อให้มาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (วันสิ้นเดือน ๑๐)

          วันสารทนี้เป็นวันที่ตรงกันข้ามกับวันสงกรานต์ วันสงกรานต์ถือว่าเป็นวันที่โลกเข้าสู่ราศีเมษวันแรก และราศีเมษเป็นราศีที่โลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่วนวันสารทเป็นช่วงที่โลกออกห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยถ้านับจากวันสงกรานต์จนถึงวันสารทจะเป็นเวลาประมาณหกเดือนพอดี ท่านจะเอาช่วงเวลาทางจันทรคติคือแรม ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันเดือนดับ ซึ่งเป็นเวลาที่โลกมืดมิดที่สุด ความเชื่อของคนโบราณในแถบภูมิภาคนี้ จึงถือว่าเป็นเวลาที่วิญญาณกลับจากนรก ญาติพี่น้องจึงควรทำบุญ เพื่อแผ่ส่วนกุศลผลบุญไปให้ ถ้าผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญได้อิ่มท้องก็จะให้พร ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจโกรธและสาปแช่ง วันนี้จึงถือเป็นวันรวมญาติ วันบูชาบรรพบุรุษ ใครไม่ร่วมจะโดนดูถูกว่าอกตัญญู

          เมื่อถึงวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า  "วันหลองหฺมฺรับ" แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ การจัดหฺมฺรับนั้น ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาดหรือกะละมังมาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยกระเทียม พริก เกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม ผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น ลางสาด เงาะ ลองกอง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม-ด้าย และเครื่องเชี่ยนหมาก สุดท้ายใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหฺมฺรับ คือ ขนม ๕ อย่าง ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายที่แต่งต่างกันได้แก่

          ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
          ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่ม
          ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ
          ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย
          ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น

          ในกรณีที่มีขนม ๖ อย่าง จะเพิ่มขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน

          ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือการยกหฺมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุก วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวด หฺมฺรับ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นจะจัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาทุกปี โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และร่วมการประกวด ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชมากยิ่งขึ้น เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "หลาเปรต" หรือร้านเปรต โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนมดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชื่นชอบ เมื่อตั้งเปรตเสร็จพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน "ชิงเปรต" โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว”

          หฺมฺรับ คำนี้อ่านออกเสียงยากหน่อย ฟังคล้ายเสียงว่า  ”หมับ”  หมายถึงสำรับกับข้าวเครื่องครัว  มีทั้งอาหารคาวหวานผลไม้นานา  ทางภาคกลางใช้กระยาสารท  กล้วยไข่  แต่ขนมทางปักษ์เขาไม่มีกระยาสารท  มีแต่ขนมดังกล่าวข้างต้น  พิธีกรรมต่อจากนี้พวกเด็กชอบกันมาก  เขาทำกันอย่างไรพรุ่งนี้จะเล่าให้ฟังครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มกราคม, 2566, 10:41:31 PM
(https://i.ibb.co/12km0Zd/ching-prat-016-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๘ -
          เมื่อจะเข้าสู่พิธีการรับเปรตส่งเปรตในงานบุญเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ให้ทำความรู้จักกับ “เปรต” เสียก่อนนะครับ  คำว่าเปรตเป็นคำสันสกฤต (คำบาลีว่าเปต) หมายถึงผี ตามความเชื่อในหลายศาสนาทั้ง ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และศาสนาเชน ในความเชื่อนั้นเปรตเป็นผีที่ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มาก โดยต้องทรมานกับความหิวโหยและความเจ็บปวดทางกาย เป็นสัตว์ประเภทโอปปาติกะ คือเกิดผุดขึ้นเช่นเดียวกับสัตว์นรกและเทวดา การจะหลุดพ้นจากการเป็นเปรตนั้นต้องอาศัยเวลานานชั่วกัปชั่วกัลป์ เหตุให้เกิดเป็นเปรตนั้น ท่านว่าทำบาปไว้ เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การทำร้ายผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และ ใจ การพูดปด พูดส่อเสียด การลักทรัพย์ รวมถึงความโลภ เป็นต้น , เกิดขึ้นจากการเคยเป็นสัตว์นรกที่เวียนว่ายอยู่ในนรกนานนับโกฏิปี พันจากนรกแล้วดวงวิญญาณยังไม่บริสุทธิ์พอที่จะไปเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้น ต้องชดใช้กรรมต่อด้วยการเกิดเป็นเปรต

          เปรตมีในคัมภีร์ต่าง ๆ ท่านแบ่งประเภทไว้คือ  แบ่งตามเปตวัตถุอรรถกถาได้ ๔ ประเภท  แบ่งตามคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และฉคติทีปนีปกรณ์ได้ ๑๒ ประเภท  แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลีได้ ๒๑ ประเภท  แต่ละประเภท ขออย่าให้พรรณนารูปลักษณ์ของเขาเลย  เปรตที่เราอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้  และเขาจะได้รับนั้นดูเหมือนจะมีประเภทเดียวได้แก่  “ปรทัตตูปชีวิเปรต  คือ เปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้  หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้  ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร”  นอกนั้นท่านว่าไม่อาจรับได้  เปรตที่มาขอส่วนบุญในงานเดือนสิบก็คือ  “ปรทัตตูปชีวีเปรต”  นี่เอง

          ด้วยความเชื่อที่ว่าวันแรม ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันเดือนดับ  ซึ่งเป็นเวลาที่โลกมืดมิดที่สุด  บรรดาเปรตทั้งหลายจะถูกปล่อยตัวให้มาแสวงหาอาหารจากกุศลผลบุญที่มนุษย์พากันทำอุทิศให้  ดังนั้นชาวใต้จึงจัดงานประเพณีสารทเดือนสิบ  กำหนดตั้งแต่วันกลางเดือน ๑๐ เป็นต้นไป วันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันรับเปรต  วันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบเป็นวันส่งเปรตกลับอบายภูมิ  การรับเปรต  ส่งเปรต  มีการชิงเปรตกันด้วย  เขาทำอย่างไรไปดูกันครับ

           “ประเพณีชิงเปรตเป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีเมืองมนุษย์ ๑๕ วัน โดยมาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นั้นคือวัน " ส่งเปรต" กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่ อาหารที่ใช้ตั้งเปรต ส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดละหน่อย ขนมที่ไม่ค่อยขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู (ขนมเมซำ เบซำ หรือดีซำ) ขนมไข่ปลา ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย ธูปเทียน นำลงจัดใน หฺมฺรับ โดยเอาของแห้งดังกล่าวรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอกปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นใดแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนั้นนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำหฺมฺรับที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บนร้านเปรต ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียกว่า "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "ชิงเปรต" ผู้ที่มาร่วมทำบุญ ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตนั้นด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่าการแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่งนัก และขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนาจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อจะให้มีผลดก

          ร้านเปรต อีกลักษณะหนึ่ง คือจัดสร้างขึ้นในบริเวณวัด ไม่ห่างไกลจากร้านเปรตกลางวัดเท่าใดนักโดยใช้ลำต้นของไม้หมาก หรือไม้ไผ่ หรือไม้หลาโอน (เหลาชะโอน) ยาวประมาณ 3 เมตร เอาเปลือกหยาบภายนอกตบแต่งให้ลื่น ถ้าเป็นไม้ไผ่มักใช้ไม้ไผ่ตงเพราะลำใหญ่ ไม่ต้องเอาผิวออก เพียงแต่เกลาข้อออกแล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมจนทั่วเพื่อเพิ่มความลื่นให้มากขึ้น เอาโคนเสาฝังดิน ปลายเสาใช้ไม้ทำแผงติดไว้ พร้อมกับผูกเชือกไว้ใต้แผงปลายเชือกผูกขนมต่าง ๆ ของเปรตห้อยไว้ จัดให้บุตรหลานของเปรตปีนขึ้นไปชิงขนมเหล่านั้นแทนเปรต ใครปีนขึ้นไปชิงได้มากก็ให้รางวัลมาก ได้น้อยให้รางวัลน้อยลดลงตามส่วน จัดผู้ปีนให้ขึ้นไปทีละคนโดยให้นุ่งแต่ผ้า ห้ามสวมเสื้อ ห้ามสวมร้องเท้า ทั้งนี้เกรงเสื้อและรองเท้าจะเช็ดน้ำมันออกเสียเมื่อปีนขึ้นไปจะทำให้ความลื่นลดลง ก็จัดเป็นการเล่นที่สนุกสนานได้มาก น้อยคนที่จะปีนขึ้นไปได้ ส่วนใหญ่จะลื่นตกลงมา การปีนเสาขึ้นชิงเปรตนี้ จะกระทำหลังจากร่วมชิงกันที่ร้านเปรตแล้วเสาที่ทำดังกล่าวก็ถือกันว่าเป็นร้านเปรตอีกชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีเสาเดียวและอยู่สูง ขึ้นชิงได้เพียงครั้งละคน ไม่เหมือนกับร้านเปรตเตี้ย ๆ ซึ่งไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปและเข้าชิงได้พร้อมกันหลังจากนั้นก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทานโดยใช้เหรียญสตางค์โยนไปทีละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชนที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างสนุกสนาน”

          ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงความย่อ ๆ ความพิสดารมีมากเกินพรรณนา ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ข้าพเจ้าได้พบเห็นเพียงภาพข่าวก็ได้แต่นึกสนุกไปด้วย ส่วนที่สงขลานี่ข้าพเจ้าสัมผัสด้วยตนเอง พูดได้คำเดียวว่า “สนุกนัก” ในวันรับเปรตคือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๐ นั้นไม่ตรงกีบวันพระ ข้าพเจ้าไม่ต้องเทศน์ แต่ก่อนวันรับเปรตเป็นวันพระ ภาคเช้าข้าพเจ้าเทศน์ตามปกติ ตอนบ่ายลงอุโบสถ ภาคกลางคืนจึงเทศน์เรื่องเปรตที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ต่างๆ และเน้นเรื่องเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารที่เป็นปรทัตตูปชีวีเปรต มีรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ขอแสดงในที่นี้นะครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มกราคม, 2566, 10:35:12 PM
(https://i.ibb.co/x2Y5XMP/2-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑๙ -
          เกาะของจังหวัดสงขลาที่คนส่วนมากรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันก็คือ เกาะหนู เกาะแมว ในทะเลอ่าวไทย และเกาะยอ ในทะเลสาบสงขลา วันนี้จะขอกล่าวถึงเกาะยอในทะเลสาบ ซึ่งเป็นเกาะหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบตอนล่าง มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตัวเกาะมีพื้นที่ทั้งหมด ๑๕ ตารางกิโลเมตร ประชากรเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีผลิตภัณฑ์จากหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงคือ ผ้าทอเกาะยอ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะลาย "ราชวัตถ์" ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อลายผ้าดังกล่าว หลังจากสร้างสะพานติณสูลานนท์แล้ว เกาะยอกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสงขลาอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นอย่างไรขอละไว้ ในที่นี้จะพาท่านดูอดีตถอยหลังไปเป็นร้อยปี ก่อนจะเข้าถึงเกาะยอขอแวะวัดสำคัญตรงปากทางหน่อย วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคือวัดพะโคะของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มีบันทึกเกี่ยวกับวัดนี้ไว้คือ

           “วัดพะโคะ หรือ วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่บนเขาพะโคะ หรือเขาพัทธสิงค์ หมู่ที่ ๖ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระเมาลักเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมทางใต้ สมัยกรุงศรีอยุธยา แบบอย่างศิลปะลังกา และเกี่ยวข้องกับตำนานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ตามพงศาวดาร เล่ากันว่า วันหนึ่งมีโจรสลัดแล่นเรือเลียบมาตามฝั่ง เห็นสมเด็จพะโคะเดินอยู่มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลายจึงใคร่จะลองดี โจรสลัดจอดเรือและจับสมเด็จพะโคะไป เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่เกิดเหตุเรือแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องจอดอยู่หลายวัน จนในที่สุดน้ำจืดในเรือหมดลงโจรสลัดเดือดร้อนมาก สมเด็จพะโคะสงสาร จึงเอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเลเกิดเป็นประกายโชติช่วง น้ำทะเลที่เค็มนั้นกลายเป็นน้ำจืด โจรสลัดเกิดความเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ขอขมา และนำสมเด็จพะโคะขึ้นฝั่ง ตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงพากันไปกราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก”

          เรื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเป็นตำนานที่เล่าไม่รู้จบ ใครอยากรู้ความพิสดารก็ไปหาอ่านกันเองเถิด หวนกลับเข้าเรื่องของเกาะยอตามความเรียงของท่านผู้รู้กันต่อไปดังนี้

           “ประวัติเกาะยอ ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ครั้งแรกจากแผนภาพการกัลปนาวัดพะโคะ ที่เขียนขึ้นช่วงปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ถึง พ.ศ. ๒๒๔๒ ระบุชื่อว่า "เข้าก้อะญอ" ปรากฏอยู่ปลายสุดของแผนที่ เป็นภาพเขาเกาะยอที่มีพรรณไม้บนภูเขาแต่ไม่ปรากฏรูปสัตว์ป่า และปรากฏอีกครั้งในแผนที่เมืองสงขลาที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยมองเดียร์ เดอลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ในแผนที่นี้ปรากฏชุมชนบนเกาะ ๙ แห่งบริเวณที่ราบเชิงเขารอบเกาะ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านนาถิน, บ้านท้ายเสาะ, บ้านท่าไทร, บ้านสวนทุเรียน และบ้านนอก  ในพระนิพนธ์เรื่อง ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๗ โดยสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พ.ศ. ๒๔๒๗ เขียนเกี่ยวกับเกาะยอว่า "เกาะยอ มี เขาเป็นสามเหลี่ยม เรียกว่าแหลมภอ ช่องเขาเขียว และแหลมหัวการัง มีตำบลบ้าน 3 หลังได้แก่ บ้านท่าไทร บ้านอ่าวทราย และ บ้านสวนใหม่ ในเกาะยอมีสวนเรียงรายอยู่ในเกาะ รอบเกาะเป็นสวนผลไม้ หมาก มะพร้าว จำปาดะ ขนุน สะตอ พุมเรียง ละมุด ทุเรียน และมีสวนผัก มีบ้านราษฎรเรียงรายอยู่รอบเกาะ มีบ่อน้ำจืดสนิทหลายหลัง บ่อหินเป็นบ่อเก่า มีคราบโสโครก มีศาลาเล็กที่นั้นหลังหนึ่ง ในเกาะนั้นมีวัด ๒ วัด ชื่อวัดแหลมภอวัดหนึ่ง วัดทายเสาะวัดหนึ่ง"

          ประชากรชนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ ว่ากันว่าเป็นชาวจีนจากบ้านน้ำจากระจาย, บ้านน้ำน้อย และบ้านทุ่งหวัง ซึ่งตั้งถิ่นฐานกันมาอย่างน้อยก็ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมีวัดในพุทธศาสนา ๔ แห่ง มีสำนักสงฆ์, ศาลเจ้าจีน และสถานปฏิบัติธรรมอย่างละหนึ่งแห่ง ทั้งนี้เกาะยอมีประเพณีโบราณสืบทอดกันมาคือ ประเพณีแห่เดือนสิบ และประเพณีขึ้นเขากุฎ  มีโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะยอสองแห่ง คือ โรงเรียนวัดแหลมพ้อ และโรงเรียนวัดท้ายยอ  มีสถานีอนามัยสองแห่งที่บ้านสวนทุเรียนและบ้านท่าไทร

          เกาะยอตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีเนื้อที่รวมทั้งพื้นน้ำ ๑๗.๙๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๑,๒๒๐ ไร่ และมีเนื้อที่เฉพาะพื้นดินเพียง ๑๕ ตารางกิโลเมตร หรือ ๙,๓๗๕ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเขา สูง ๑๐ ถึง ๑๕๑ เมตร มีที่ราบขนาดน้อยโดยเป็นที่ราบเนินเขาริมชายฝั่ง บนเกาะมีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยต้องขุดบ่อน้ำโดยใช้น้ำจากใต้ดิน จากที่นี่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา ๒๐  กิโลเมตรทางบก และ ๖ กิโลเมตรหากเป็นทางเรือ”

          มีคำถามอยู่เหมือนกันว่า น้ำทะเลที่หลวงพ่อทวดเหยียบจนจืดนั้นคือทะเลสาบสงขลาไหม? คำตอบคือไม่ใช่ดอก เพราะทะเลสาบสงขลามีมาก่อนยุคหลวงพ่อทวดแล้ว เรื่องหลวงพ่อทวดนี้เชื่อได้ว่าเกิดขึ้น ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยานี่เอง อย่างไรก็ตามทีเถิด น้ำในทะเลสาบสงขลามิใช่ว่าจะมีรสจืดจนดื่มกินได้ หากแต่เป็นน้ำกร่อยน่ะ ดังนั้นคนที่อยู่บนเกาะยอจึงต้องขุดดินเพื่อมีบ่อน้ำจืดสนิทไว้ใช้บริโภค ด้วยน้ำใต้ดินบนเกาะนั้นเป็นน้ำจืดสนิทใช้ดื่มอาบซักล้างได้ดีเหมือนน้ำบนแผ่นดินใหญ่นั่นเทียว

          ไม้ผลในเกาะยอจากบันทึกข้างต้นมี “หมาก มะพร้าว จำปาดะ ขนุน สะตอ พุมเรียง ละมุด ทุเรียน”  ผลไม้ส่วนใหญ่เรารู้จักกันค่อนข้างดีอยู่แล้ว พุมเรียงจะไม่ค่อยคุ้นกันนัก "พุมเรียง" นี้มีชื่ออื่นคือ ชำมะเลียง พุเรียง หมากหวด หวดข่าใหญ่ มีสรรพคุณทางยา รากแก้ปวดศีรษะ ผื่นคัน เปลือกแก้บิด ผลบำรุงกำลัง เมล็ดแก้ไอหอบ เป็นต้น อีกทั้งเนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำฟืนได้ด้วย ในสมัยที่ข้าพเจ้าไปอยู่สงขลานั้น เขาว่ากันว่าทุเรียนของเกาะยอเป็นทุเรียนดีที่สุด เนื้อหนา (เหมือนหมอนทอง) รสหวานมันอร่อยมาก พระประเสริฐให้ความหวังว่า ออกพรรษาแล้วต้องได้กินทุเรียนเกาะยอแน่นอน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มกราคม, 2566, 10:31:22 PM
(https://i.ibb.co/QKsGjY0/293268134-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๐ –
          มีประเพณีงานบุญของชาวพุทธในเมืองไทยอย่างหนึ่งกระทำกันในวันออกพรรษา ทางภาคกลางเรียกว่าวันเทโวซึ่งมีคำเต็มว่า "เทโวโรหณะ” หรือ วันพระเจ้าเปิดโลก ความเป็นมาของวันนี้มีอยู่ว่า พระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ แล้วเสด็จขึ้นไปประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดโปรด พระพุทธมารดาซึ่งอุบัติเป็นสันตุสิตเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต และลงมาเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ดาวดึงส์ ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาเป็นเวลา ๓ เดือนจนพระพุทธมารดาบรรลุธรรมวิเศษเป็นพระโสดาบันแล้ว ในวันออกพรรษา คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจากสวรรค์มาสู่มนุษยโลก ณ เมืองสังกัสสะนคร ทรงเปิดโลกทั้งสามให้สัตว์ทั้งหลายในจักรวาลได้แลเห็นกัน คือมนุษย์เห็นสวรรค์ นรก สวรรค์เห็นมนุษย์ นรก และ นรกเห็นมนุษย์ สวรรค์ โบราณไทยจึงเรียกวันนี้ว่า วันพระเจ้าเปิดโลก  ในวันดังกล่าวนี้มีการใส่บาตรหรือตักบาตรกันมากเป็นกรณีพิเศษจนเป็นที่มาของประเพณีตักบาตรเทโวฯแพร่หลายไปทั่วไทย และเรียกชื่อประเพณี พิธีกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น

          เหตุให้ใส่บาตรหรือตักบาตรกันเป็นกรณีพิเศษนั้นท่านกล่าวว่า เพราะพระพุทธองค์เสด็จประทับบนสวรรค์นานถึง ๓ เดือน ชาวพุทธทั้งปวงในมนุษยโลกล้วนพากันคิดถึงมาก เมื่อทราบจากพระโมคคัลลานะว่าจะเสด็จกลับคืนมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสนครในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ พุทธบริษัททั้งหลายจึงพากันชุมนุม ณ ที่นั้นจนล้นเมือง ผู้คนมากมายที่ไปชุมนุมกันนานเป็นเดือน สิ่งสำคัญที่ต้องมีคืออาหารการกิน คนสมัยสองพันห้าร้อยปีก่อนโน้นเขารู้จักการถนอมอาหารไว้กินนานๆแล้ว จึงทำอาหารชนิดหนึ่งเรียกว่า “สัตตุ คือข้าวคั่วผง, ขนมผง ขนมแห้งที่ไม่บูด เช่น ขนมที่เรียกว่า จันอับและขนมปัง เป็นต้น หรือที่เรียกกันว่า สัตตุผง สัตตุก้อน อันได้แก่ข้าวตู เสบียงเดินทางที่ ๒ พ่อค้า คือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ขณะที่ประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะนั้น  อาหารชนิดนี้ ‘สัตตุผง’ บาลีเรียกว่า “มันถะ” คือข้าวตากที่ตำละเอียด ส่วน ‘สัตตุก้อน’ บาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ”  พวกเขาทำไปกินเองบ้าง ถวายพระภิกษุบ้าง กาลเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ถึงพื้นดิน พวกเขาปรารถนาจะใส่บาตรพระพุทธองค์ แต่เบียดคนเข้าไปไม่ไหว จึงโยนก้อนข้าวตูใส่พระพุทธองค์ นี้เป็นที่มาของการทำขนมข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระในงานเทโวโรหณะทั่วไป

          จังหวัดภาคกลางนั้น สถานที่จัดงานเทโวฯยิ่งใหญ่ที่สุดคือ วัดสังกัสรัตนคีรี เขาสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี มีพิธีตักบาตรเทโว ข้าวสารอาหารแห้ง ข้าวต้มลูกโยน การแสดงโต๊ะหมู่บูชาประดับงาช้าง ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด และจัดได้สอดคล้องกับตำนานมาก โดยสมมติ ให้มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง เป็น "สิริมหามายากุฎาคาร” มีบันไดทอดยาวจากมณฑปลงสู่บริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง เปรียบเสมือนบันไดทิพย์ที่ทอดยาวจากสวรรค์ดาวดึงส์ สู่เมืองสังกัสสนคร  รุ่งอรุณของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่อุ้มบาตรเดินลงตามบันไดจากยอดเขาสะแกกรังสู่พื้นดิน เป็นภาพที่สวยงามมาก

          งานประเพณีตักบาตรเทโวฯดังกล่าวของต้น ทางปักษ์ใต้เรียกว่างาน “ชักพระ” บ้าง “ลากพระ” บ้าง มีวิธีการแตกต่างกันไปตามความคิดของคนแต่ละท้องถิ่น อย่างที่สุราษฎร์ธานี เป็นงานใหญ่ที่รู้จักกันทั่วไป เขามีวิธีการจัดกันดังบันทึกเรื่องต่อไปนี้

           “เมื่อถึงวันออกพรรษาของทุกปี จ.สุราษฎร์ธานี จะมีงานบุญที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ได้แก่ ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ซึ่งอนุรักษ์สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี จนนับได้ว่าเป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของจังหวัด โดยเฉพาะ "การชักพระ" ทางวัดจะถือเอาวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อัญเชิญพระพุทธรูปให้พุทธศาสนิกชนชักลากแห่ไปบำเพ็ญกุศล และสมโภชเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกว่า "ชักพระทางบก" และ "ชักพระทางน้ำ" เป็นการจำลองเหตุการณ์ตามเรื่องราวในเทโวโรหนสูตร สุราษฎร์ธานี มีประเพณีชักพระทั้ง ทางบกและทางน้ำ โดยก่อนถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านจะ ช่วยกันจัดเตรียม รถ เรือ ประดับประดาตกแต่งสวยงาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก เมื่อถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรอาหารคาวหวาน ที่ขาดไม่ได้คือ ขนมต้ม ต่อจากนั้นจะเริ่มชักเรือพระ-รถพระ ออกจากวัดไปสมโภช พร้อมกับตีกลองโพนไปตลอดทาง พร้อมกันนั้นก็มีการ “ทอดผ้าป่าหน้าบ้าน”  นอกเหนือจากประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความสนุกสนานและสีสันให้ลำน้ำตาปี คือ "การแข่งขันเรือยาว" ซึ่งจัดขึ้นพร้อมๆ กับการแข่งขันเรือพายและการประกวดเรือแต่งด้วย

          งานประเพณีชักพระหรือลากพระของจังหวัดสงขลา   มีความเป็นมาตามคติความเชื่อของเขาว่า

           “ประเพณีชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีที่พราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ สันนิฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรก ในประเทศอินเดียตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่นิยมนำเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การแห่เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระนารายณ์ เป็นต้น ต่อมาพราหมณ์ในวรรณะทั้งหลายหันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น และได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวติดตนมา แล้วดัดแปลงปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา และเมื่อพุทธศาสนาได้เผยแพร่ถึงภาคใต้ของประเทศไทย จึงได้นำประเพณีชักพระเข้ามาด้วย”

          ก่อนวันเทโวโรหณะอันเป็นวันชักพระลากพระนั้นเป็นวันมหาปวารณา(ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑) ชาวบ้านชาววัดช่วยกันจัดแต่งรถเทโวฯ ภาคเช้าข้าพเจ้าเทศน์อุโบสถตามปกติ ภาคบ่ายร่วมทำสังฆกรรมในอุโบสถ ภิกษุสงฆ์ทำการปวารณาตนให้เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ ภาคค่ำข้าพเจ้าจึงแสดงธรรมเรื่องเทโวโรหณสูตร ให้ทราบความเป็นมาของวันดังกล่าว เพื่อประกอบบุญพิธีในการตักบาตรเทโวและชักพระลากพระตามประเพณีในวันรุ่งขึ้นต่อไป/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มกราคม, 2566, 11:20:11 PM
(https://i.ibb.co/QQFhM6d/117339660-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๑ -
          ได้กล่าวถึงประเพณีการจัดงานวันเทโวโรหนะมาแล้ว ว่าเขาจัดทำอะไรกันบ้าง วันนี้จะไม่กล่าวซ้ำอีก จะกล่าวเฉพาะงานชักพระที่เมืองสงขลาเท่านั้น คือ การเตรียมการลากพระมีคำกล่าวกันว่า

           “เมื่อเดือน ๙ ผ่านไปแล้ว หลายวัดที่ตั้งใจว่าจะร่วมประเพณีลากพระในเดือน ๑๑ ก็จะเริ่มเตรียมการหุ้มโพนเพื่อใช้ "คุมโพน" (ประโคมล่วงหน้า) และใช้ประโคมในวันพิธีรวมทั้งให้ชาวบ้านนำประชัน หรือแข่งขันกับของวัดอื่น ๆ การหุ้มโพนมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนทั้งในการขุดและขึงหนังให้ตึงเต็ม ให้ใช้เวลานานแรมเดือน บางวัดมีพิธีไสยศาสตร์ประกอบด้วย ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการนี้โดยตรง แต่ละวัดจะต้องมีโพน ๒ ใบ ให้เสียงทุ้ม ๑ ใบ เสียงแหลม ๑ ใบ วัดไหนโพนเสียงดีแข่งขันชนะ ชาวบ้านก็พลอยได้หน้าชื่นชมยินดีกันไปนานเป็นแรมปี เมื่อใกล้วันลากพระประมาณ ๗ หรือ ๓ วัน ทุกวัดที่จะลากพระในปีนั้นก็จะเริ่มคุมโพน (ตีประโคม)เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และอาจนำไปท้าทายแข่งขันกับวัดใกล้เคียง พร้อมกันนั้นทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาที่มีฝีมือทางช่างก็จะช่วยกันจัดตกแต่งเรือพระและ "บุษบก" ซึ่งต้องทำกันอย่างสุดฝีมือ เพราะถ้าของวัดใดไม่สวยเท่าที่ควร บรรดาทายกทายิกา แม้ศิษย์วัดและพระภิกษุสามเณรก็จะรู้สึกน้อยหน้าวัดอื่นที่ตกแต่งดีกว่า สิ่งที่ทุกครอบครัวจะต้องกระทำอีกอย่างก็คือ การเตรียม "แทงต้ม" โดยหาใบกะพ้อ และ ข้าวสารข้าวเหนียว เพื่อนำไปทำขนมต้ม "แขวนเรือ-รถพระ"

          ในตัวเมืองสงขลาไม่มีแม่น้ำลำคลองมีแต่ถนนหลวง จึงไม่มีการชักพระทางน้ำมีแต่การลากพระทางบกเรียกว่า "ลากพระบก" ซึ่งโบราณนิยมใช้ล้อเลื่อนแต่งเป็นรูปเรือ เรือพระจึงหนักต้องอาศัยคนลากเป็นจำนวนมาก โดยมีเชือกลากเป็น ๒ สาย สายหนึ่งสำหรับผู้หญิงอีกสายหนึ่งสำหรับผู้ชาย เรือหรือรถ หรือล้อเลื่อนที่ประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบกซึ่งเรียกตามภาษาพื้นเมืองภาคใต้ว่า "นม" หรือ "นมพระ" (คือพนม) ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปประดิษฐานแล้วชักลากในวันออกพรรษา เรียกว่า "เรือพระบก" ที่ใช้รถหรือล้อเลื่อนมาประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือ

          การทำเรือพระบก สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือให้คล้ายเรือจริงมากที่สุด และจะต้องพยายามให้มีน้ำหนักน้อยที่สุด จึงมักใช้ไม้ไผ่สานหรือเสื่อกระจูดมาตกแต่ง ตรงส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือคงทำให้แน่นหนา เฉพาะส่วนพื้นเพื่อนั่งและวางบุษบกกับส่วนที่จะผูกเชือกชักลากเท่านั้น แล้วใส่ล้อหรือเลื่อนที่ทำขึ้นจากไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อนรองรับข้างล่างเพื่อให้ชักลากเรือพระไปได้สะดวก ไม้สองท่อนนี้ทางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือแล้วตกแต่งเป็นรูปตัวพญานาค อาจทำเป็น ๑ ตัว หรือมากกว่าก็ได้ ใช้กระดาษสีเงินสีทองหรือกระดาษสีสะท้อนแสงทำเป็นเกล็ดนาค ซึ่งจะทำให้สะท้อนแสงระยิบระยับไปทั้งลำ เมื่อขณะชักลาก กลางลำตัวพญานาคทำเป็นร้านสูงราว ๑.๕๐ เมตร เรียกว่า "ร้านม้า" สำหรับวางส่วนสำคัญที่สุดของเรือพระ คือ บุษบก หรือ นมพระ ซึ่งนายช่างแต่ละท้องถิ่นจะมีเทคนิคในการออกแบบบุษบกเพื่อให้เหมาะสมทั้งลวดลาย และรูปร่าง มีการประดิดประดอยอย่างสุดฝีมือ หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจัตุรมุข หรือทำเป็นจัตุรมุขซ้อน รูปทรงชะลูด งามสง่าสะดุดตา ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจังฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เป็นต้น”

          เรือเทียมที่ประดิษฐานพระพุทธรูปตามภาพพจน์ข้างต้นช่างงดงามนัก วัดใหญ่ ๆ ในเมืองสงขลาประดับตกแต่งกันอย่างสวยงาม แต่วัดชัยมงคลที่ข้าพเจ้าไปอยู่จำพรรษานั้นมิได้จัดทำเรือพระบกกับเขา ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าวัดเราเป็นวัดเล็กไม่มีกำลังพอที่จะจัดทำเรือลากพระบกเหมือนเขาได้ แต่ชาววัดชัยมงคลก็ไปร่วมกับวัดโรงวาสบ้าง วัดเพชรมงคลบ้าง วัดเลียบบ้าง วัดดอนแย้บ้าง ตามแต่ศรัทธาของแต่ละคน อุปกรณ์ที่ต้องทำล่วงหน้านานเป็นเดือนก็คือการทำ “โพน” มีคำอธิบายชื่อนี้ไว้ว่า

           “โพน หรือตะโพน คือกลองหรือกลองเพลของภาคกลาง รูปร่างคล้ายกลองทัด มีขาตั้ง จำนวน ๓ ขา ตีด้วยไม้แข็ง ๒ มือ ตัวโพนทำด้วยการขุดเจาะจากไม้เนื้อแข็ง เช่น จากไม้ต้นตาล ไม้ขนุน ฯลฯ มีขนาดรูปทรงต่าง ๆ กัน ส่วนมากมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๕ – ๘๐ เซนติเมตร หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายทั้ง ๒ หน้า ไม้ตีโพน กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สาวดำไม้หลุมพอ เป็นดนตรี ประเภทเครื่องตี ในภาคใต้มีไว้ประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือชักพระ เรียกว่า “คุมโพน” ใช้ตีประชันเสียงเป็นกีฬาอย่างหนึ่งเรียกว่า “แข่งโพน” และนำไปเล่น “หลักโพน” โพนจะมีค่าเพียงใดขึ้นอยู่กับความนุ่มนวลและความดังของเสียง ซึ่งขึ้นอยู่กับการทำตัวโพน (หรือหน่วยโพน) กับวิธีหุ้มโพน”

          การกลึง ขุด เจาะ กลอง (โพน) แต่ละใบไม่ใช่เรื่องง่าย ขุดเจาะกลึงเป็นรูปกลองเสร็จแล้ว ยังต้องเหนื่อยในการหุ้มโพนอีก สมัยเป็นเด็กวัดข้าพเจ้าเคยถูกใช้ให้ตีหนังหน้ากลอง คนทำกลองเอาหนังควายแช่น้ำเกลือจนอ่อนแล้วปะหน้ากลอง ขึงให้ตึงแล้วให้คนตีหนังหน้ากลอง ตีไปดึงหนังไปจนกว่าจะได้ที่ บางใบใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๗ วันทีเดียว  เสียงกลองจะดังทุ้ม แหลม ก็ขึ้นอยู่กับการขึงหนังหน้ากลองนี่และครับ

          วันนั้นข้าพเจ้าออกจากวัดแต่เช้าไปยืนอยู่ริมถนนหน้าวัดโรงวาสเพื่อดูขบวนแห่ชักลากเรือพระบก มีหลายขบวนที่ชักลากเรือจำลองที่ประดิษฐานองค์พระผ่านไปตามถนนสายนี้มุ่งสู่แหลมสมิหลา เรือพระบกแต่ละลำตกแต่งงดงามตระการตายิ่งนัก คนชักลากแต่งกายสวยงามหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสร่าเริงดูเหมือนไม่เหน็ดเหนื่อยกันเลย เด็ก ๆ ของข้าพเจ้าชวนให้เดินตามขบวนไปจนสุดทาง แต่ข้าพเจ้าไม่ไป (ระยะทางยาวปราณ ๖ กม.) กลัวเดินไม่ไหว  จึงเดินตามไปแค่วัดดอนแย้ก็กลับวัด ได้รู้ได้เห็นเท่านี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, มกราคม, 2566, 11:21:43 PM
(https://i.ibb.co/kg2hZb4/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๒ -
          ออกพรรษาและรับกฐินแล้ว พระประเสริฐซึ่งลาราชการบวชเอาพรรษาครบกำหนด จึงลาสิกขากลับไปเป็นปลัดอำเภอตามเดิม ข้าพเจ้าไม่คิดจะอยู่สงขลาต่อไป เพราะคิดถึงเพื่อน ๆ และวัฒนธรรมประเพณีในภาคกลาง สงขลาแม้จะให้ความสะดวกสบายแก่ข้าพเจ้า แต่ไม่ได้ให้ความสนุกเพลิดเพลินเท่าที่ควร วัฒนธรรมประเพณีของภาคใต้ไม่คุ้นเคยสำหรับข้าพเจ้า จะว่าไม่ชอบวัฒนธรรมประเพณีของภาคใต้ก็ได้ จึงคิดจะกลับกรุงเทพฯ ไปอยู่วัดจันทร์นอกตามเดิม และทราบข่าวว่าพระมหาปานที่อยู่กุฏิของข้าพเจ้านั้น ท่านได้สำนักอยู่ใหม่ทางฝั่งธน นัยว่าดีว่าวัดจันทร์นอก กำลังจะย้ายออกไปอยู่สำนักใหม่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านเจ้าอาวาสวัดชัยมงคลว่าสิ้นเดือน ๑๑ นี้จะกลับกรุงเทพฯ ท่านบอกว่าอย่าเพิ่งรีบกลับ ขอให้อยู่อีกหน่อย เพราะทางวัดเรากำหนดจะจัดงานบุญทุเรียน คือว่าตอนนี้ทุเรียนของภาคใต้กำลังออกมาก ชาวบ้านจัดงานทุเรียนที่วัดเรา โดยนำทุเรียนมากองเป็นกัณฑ์เทศน์ถวายพระและจำหน่ายแก่ประชาชนหารายได้เข้าวัด ทางวัดกำหนดให้คุณอภินันท์เป็นองค์แสดงธรรม “เทศน์เรียน” คุณเทศน์งานทุเรียนก่อนแล้วค่อยกลับกรุงเทพฯ นะ

          คัมภีร์เทศน์เรื่องทุเรียนและเรื่องผลไม้ใด ๆ ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านมาก่อนเลย มีคัมภีร์เทศน์เรี่องนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เรียนท่านเจ้าอาวาสไปว่าไม่มีคัมภีร์เทศน์เรื่องนี้ผมคงเทศน์ไม่ได้หรอกครับ ท่านหัวเราะแล้วบอกว่า คุณจะเทศน์เรื่องอะไรก็ได้ ไม่มีคัมภีร์ก็เทศน์ปากเปล่าซี่ เชื่อว่าคุณต้องเทศน์ได้ จนใจจริง ๆ จึงหาข้อมูลจากพ่อหลวงเซ่งขอให้ท่านบอกเล่าเรื่องทุเรียนตามที่รู้มา จึงได้ข้อมูลมาบ้างดังนี้

           “ทุเรียน เป็นไม้ผลที่มีแหล่งดั้งเดิมในคาบสมุทรมลายู ก่อนจะกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยคาดว่า ได้รับสายพันธุ์ทุเรียนมาจากประเทศมาเลเซีย โดยเริ่มปลูกครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมาปลูกในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จังหวัดนนทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา
ประวัติทุเรียนประเทศไทยในหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยสมัยอยุธยา ที่เขียนขึ้นโดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้น ตอนหนึ่งได้ระบุเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า "ดูเรียน (Durion) หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้..." จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง

          สมัยรัตนโกสินทร์ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมายังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๘ ในอดีตไทยปลูกทุเรียนพื้นบ้านหลายร้อยสายพันธุ์ โดยนำมาปลูกเชิงการค้า ประมาณ ๖๐-๘๐ พันธุ์ เท่านั้น ในปัจจุบันทุเรียนพื้นบ้านซึ่งเป็นสายพันธุ์โบราณเหล่านั้นปลูกน้อยลงและหายาก บางสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ ทุเรียนสายพันธุ์โบราณ โดดเด่นเรื่องความทนทาน โรค-แมลง และการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งตามลักษณะของผลจะสามารถแบ่งออกได้เป็น ๖ กลุ่ม ดังนี้

          ๑. กลุ่มกบ มีลักษณะใบรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบแหลมโค้ง ฐานใบกลมมน ทรงผลมี ๓ ลักษณะคือ กลม กลมรี และกลมแป้น หนามผลมีลักษณะโค้งงอ จำแนกพันธุ์ได้ ๔๖ พันธุ์ เช่น กบตาดำ กบทองคำ กบวัดเพลง กบก้านยาว
          ๒. กลุ่มลวง มีลักษณะใบแบบป้อมกลางใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลมและมน ทรงผลมี ๒ ลักษณะ คือ ทรงกระบอก และรูปรี หนามผลมีลักษณะเว้า จำแนกพันธุ์ได้ ๑๒ พันธุ์ เช่น ลวงทอง ชะนี สายหยุด ชะนีก้านยาว
          ๓. กลุ่มก้านยาว มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเรียว ทรงผลเป็นรูปไข่กลับและกลม หนามผลมีลักษณะนูน จำแนกพันธุ์ได้ ๘ พันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง
          ๔. กลุ่มกำปั่น มีลักษณะใบยาวเรียว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ทรงผลเป็นทรงขอบขนาน หนามผลมีลักษณะแหลมตรง จำแนกพันธุ์ได้ ๑๓ พันธุ์ เช่น กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง ปิ่นทอง หมอนทอง
          ๕. กลุ่มทองย้อย มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ทรงผลเป็นรูปไข่ หนามผลมีลักษณะนูนปลายแหลม จำแนกพันธุ์ได้ ๑๔ พันธุ์ เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร ทองใหม่
          ๖. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นทุเรียนที่จำแนกลักษณะพันธุ์ได้ไม่แน่ชัด มีอยู่ถึง ๘๓ พันธุ์ เช่น กะเทยเนื้อขาว กะเทยเนื้อแดง กะเทยเนื้อเหลือง”

          พ่อหลวงเซ่ง ท่านรู้เรื่องทุเรียนมาก ข้าพเจ้าจดจำไม่ไหวจึงจดย่อไว้ได้แค่นี้ งานบุญทุเรียนวัดชัยมงคลตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นวันพระสิ้นเดือนพอดี เช้าวันนั้นมีผู้คนนำทุเรียนมากกองรวมกันในศาลารายรอบพระธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก (เรียกได้ว่าเป็นภูเขาเลากา) หลังจากทำพิธีบุญตามปกติแล้วประมาณ ๙ โมงเศษข้าพเจ้าก็แสดงธรรมตามแบบของข้าพเจ้า กล่าวถึงการทำบุญที่เรียกว่า บูญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง คือให้ทาน ๑ รักษาศีล ๑ เจริญภวนา(ฟังธรรม) ๑ แล้วอธิบายถึงทาน คือการให้ในส่วนที่เป็นอามิสทาน การให้สิ่งของมีอาหารเป็นต้น

          ได้แจกแจงคำว่าอาหารออกไปเป็นชนิดต่าง คือข้าวน้ำ ผลไม้ ยกตัวอย่างว่า ทุเรียนที่นำมาบูชากัณฑ์เทศน์วันนี้เป็นอาหารหายากมีเฉพาะฤดูกาล ถ้าพ้นฤดูแล้วก็หารับประทานกันไม่ได้ จากนั้นก็พูดถึงความเป็นมาของทุเรียนและชนิดของทุเรียนอย่างยืดยาว แล้วสรุปว่าการนำทุเรียนมาเป็นอามิสทานวันนี้จัดเป็นทานอันเลิศกว่าข้าวน้ำและอย่างอื่นที่หาได้ไม่ยาก บทสรุปดังกล่าวเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ฟังทั้งพระและอุบาสกอุบาสิกาในที่นั้นมากทีเดียว หลังจบเทศนาแล้ว ทางวัดจัดทุเรียนส่วนหนึ่งถวายพระทั้งวัด ที่เหลือจากถวายพระก็จำหน่ายให้แก่ทุกคนเพื่อนำเงินเข้าวัดต่อไป

          ส่วนที่ถวายพระคณะเจ้าอาวาสนั้น นำไปกองรวมใต้ซุ้มกระดังงาหน้ากุฏิเจ้าอาวาส แล้วพระในคณะนี้ก็นั่งล้อมวงฉีกทุเรียนฉันกัน ทุเรียนที่กล่าวถึงนี้เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองผลไม่โตนัก เมล็ดใหญ่เนื้อน้อย ส่วนมากเมล็ดออกนอกเนื้อ รสชาติแตกต่างกันไป เจ้าอาวาสบอกว่าลูกไหนฉีกออกฉันแล้วถ้ารสไม่ถูกปากก็ทิ้งไป เลือกฉันเฉพาะลูกที่เนื้อถูกปากก็แล้วกัน วันนั้นมีผู้นำทุเรียนเกาะยอมาถวายหลายลูก เขาฉีกเอาเฉพาะเนื้อพูงาม ๆ ใส่จานมาถวาย เป็นทุเรียนเนื้อหนารสชาติหวานมันอร่อยมาก เสียดายว่าข้าพเจ้าจำชื่อเฉพาะของทุเรียนเหล่านั้นมิได้เลย จำได้แต่ว่าเงินติดกัณฑ์วันนั้นหลายหมื่นบาท ท่านเจ้าอาวาสบอกทายกให้แบ่งถวายพระเทศน์ ๑ หมื่นบาท ที่เหลือนั้นเข้าบัญชีวัดไปพร้อมกับเงินที่ได้จากขายทุเรียน

          วันขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นกำหนดเวลาเดินทางกลับกรุงเทพฯ ของข้าพเจ้า กราบลาเจ้าอาวาสท่านกล่าวว่า เบื่อกรุงเทพฯ ก็กลับมาอยู่ที่นี่อีกนะยินดีต้อนรับทุกเวลาเลย  กราบลาหลวงพี่พระมหาแฉล้ม พระชวน ผู้อาวุโสในวัด และพ่อหลวงเซ่ง กับพระทุกองค์ก่อนเดินทางจากสงขลาไปขึ้นรถไฟที่หาดใหญ่ โดยมีพระเชือนและเด็ก ๆ ตามไปส่งด้วย  แวะร้านกาแฟหน้าวัดเพื่อบอกลาเจ๊เจ้าของร้านกาแฟ เธอบอกว่าเสียดายต้นจังเลย หมวยน้อย (ข้าพเจ้าเรียกเธออย่างนั้น) ผู้นำน้ำชากาแฟไปถวายตอนเย็นบ่อย ๆ พูดกับข้าพเจ้าเป็นประโยคสุดท้ายว่า  “พี่หลวงอย่าลืมสงขลา แล้วกลับมาอีกนะ”  ข้าพเจ้ามองหน้าเธอเห็นตาแดง ๆ แล้วอดสะท้อนใจไม่ได้

          ลาก่อนสงขลา /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มีนาคม, 2566, 11:04:07 PM
(https://i.ibb.co/Dp317jr/293701752-347-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๓ -

          กลับจากสงขลาเข้าอยู่วัดจันทร์นอกบางคอแหลมตามเดิม เพื่อนฝูงต้อนรับการกลับมาอย่างอบอุ่น พระมหาปานที่อยู่กุฏิข้าพเจ้าออกไปอยู่ในสำนักใหม่ทางฝั่งธนแล้วจึงไม่ได้พบกัน สภาพวัดจันทร์นอกยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้ายังไม่กล่าวถึงคือเรื่อง “กระหรี่เรือใหญ่” (ขออภัยที่ใช้คำนี้) เขาเรียกกันอย่างนั้นจริง ๆ
ที่
          มาของเรื่องนี้ก็คือ บ้านไม้ชั้นเดียวที่ปลูกสร้างเรียงรายริมคลองบางคอแหลมฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับวัดจันทร์นอกนั้น เป็นบ้านเช่าบ้างบ้านส่วนตัวบ้าง คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายกับเรือสินค้า ซึ่งเรียกกันว่า “เรือใหญ่” เรือดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเรือรับส่งสินค้าต่างประเทศ นำสินค้าจากไทยไปขายบ้าง นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายบ้าง ลูกเรือในเรือนี้เป็นชายล้วน ๆ นอกจากจะจอดอยู่แถวท่าเรือคลองเคยแล้ว ก็เข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาจากพระประแดงถึงถนนตกจำนวนไม่น้อย แถว ๆ หน้าวัดจันทร์นอก วัดอินทร์บรรจงฯ ก็มีหลายลำ เรือสินค้านี้จะมาจอดทอดสมอลอยอยู่ครั้งละหลาย ๆ วัน

          เมื่อเรือใหญ่มาจอดลอยลำอยู่ ผู้หญิงสาวโสดและไม่โสดที่อยู่ตามบ้านริมคลองบางคอแหลมย่านย่านวัดจันทร์นอก ก็จะพากันนำสินค้าประเภทของกินขึ้นไปขายในเรือ ซึ่งลูกเรือเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย พวกหญิงไทยนำของกินขึ้นไปขายแล้วนำสินค้า (หนีภาษี) กลับมาขายในกันหลายอย่าง เท่าที่รู้เห็นก็มีสุราต่างประเทศหลายยี่ห้อ บุหรี่ต่างประเทศก็หลายยี่ห้อ ผลไม้ต่างประเทศเช่น แอปเปิ้ล องุ่น เป็นต้น เป็นการซื้อ ขายกันอย่างผิดกฎหมายนั่นแหละ

          วิธีการนำสินค้าหนีภาษีลงจากเรือสินค้ามาขายกันนั้นหลายรูปแบบ เช่นเอาสุราบุหรี่และสินค้าต่าง ๆ ผูกติดหน้าท้องท่อนขาเป็นต้น มีหลายคนที่รู้จักมักคุ้นกับข้าพเจ้าและพระในวัดเปิดเผยเรื่องนี้ให้ฟัง บางคนก็นำบุหรี่ผลไม้มาถวายพระในวัดองค์ที่ชอบพอกันด้วย ข้าพเจ้าก็เคยรับของเหล่านั้น ครั้นมารู้วิธีการลักลอบของลงมาขากเรือแล้ว ไม่ยอมรับอีกเลย

          หญิงสาวโสดคนหนึ่งชื่อเล่นว่า เป้า รูปร่างหน้าตาสวยงามมาก เธอบอกว่าเป็นชาวญวนแถว ๆ สามเสน เป็นเด็กเรียนดีมาตลอดจนถึงชั้น ม.๘ ถูกอาจารย์ปล้ำข่มขืน เสียใจมาก จึงเลิกเรียน แล้วประพฤติตัวเหลวแหลกจนที่สุดก็กลายมาเป็น “กระหรี่เรือใหญ่”  ตอนนั้นเธอมีอายุ ๒๐ ปีเศษเท่านั้น เป้าชอบมาที่กุฏิข้าพเจ้า เอาบุหรี่ซาเล็ม ลักกี้ มาถวายด้วย ข้าพเจ้าไม่รับบุหรี่เธอ เพราะซาเล็มรสจืดไป ลักกี้ ก็แรง (ฉุน) เกินไป  และยิ่งมารู้ว่าเธอเอาผูกติดท่อนขาหนีภาษีมาด้วยก็ยิ่งกระอักกระอ่วน จึงให้เธอนำไปขายในตลาดมืด สมัยนั้นสินค้าหนีภาษีที่นำไปขายกันในตลาดมืดซึ่งทางการเหมือนไม่รู้เห็นก็คือสินค้าจากเรือใหญ่ย่านหน้าวัดจันทร์นอกนี่เอง

           “เป้า” ขายของได้แล้วก็มักนำเงินมาฝากข้าพเจ้าไว้ เธออ้างว่าปลอดภัยดีกว่าเก็บไว้เอง เคยแนะนำให้เธอกลับไปเรียนต่อ หรือสมัครสอบให้ได้ ม.๘ แล้วเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เธอไม่ยอมทำตามคำแนะนำ อ้างว่า “เสียผู้เสียคนไปแล้ว” ทำอย่างไรก็ให้กลับเป็นคนดีไม่ได้หรอก นำข้อธรรมมาสอนเธอก็ไม่ฟัง อ้างว่าเธอนับถือพระคริสต์ไม่ใช่พุทธ อ้อ ใช่สิ ก็ชาวไทยเชื้อสายญวน (เวียดนาม) ย่านสามเสน บางโพ แถวริมน้ำเจ้าพระยานั้นเขานับถือศาสนาคริสต์ทั้งนั้น

          สินค้าขายดีที่สุดของแม่ค้าตลาดมืดคลองบางคอแหลมก็คือ “บริการทางเพศ” ยามเย็นย่ำสนธยาพวกเธอจะลงอาบน้ำในคลองบางคอแหลมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับกุฏิแถวของข้าพเจ้า ลำคลองกว้างประมาณ ๑๐ เมตรเศษ บางวันพระเณรก็ลงอาบน้ำในคลองคนละฟากฝั่งกับพวกเธอ ก็มีการพูดจากหยอกล้อกันบ้างตามประสาหนุ่มสาว พออาบน้ำเสร็จพวกเธอก็แต่งตัวพอกหน้าทาแป้งจนเห็นว่าสวยงามที่สุด เสื้อผาที่สวมใส่นั้นเลือกแบบหลวม ๆ เพื่อเตรียมซ่อนสินค้าเถื่อนกลับลงมาจากเรือ ครั้นตะวันลับฟ้าพวกเธอก็ลงเรือเล็กออกลำน้ำเจ้าพระยาไปขึ้นเรือใหญ่ตามเป้าหมาย

          ลูกเรือในเรือสินค้านั้น เขาอยู่ในเรือเดินทางกลางทะเลเหว่ว้ามานานวัน “อดอยากปากแห้ง” ในกามคุณด้วยกันทุกคน ครั้นแม่ค้าตลาดมืดไทยขึ้นไปบนเรือต่างก็จ้องมองกันด้วยตาเป็นมันด้วยความหื่นกระหายในกามรส ดังนั้นจึงไม่เป็นการยากที่พวกเธอจะขายบริการทางเพศให้พวกเขา ซื้อขายกันอย่างไรข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็น และไม่ขอชี้/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มีนาคม, 2566, 10:50:28 PM
(https://i.ibb.co/LCGd0YT/pi897rh7cp-TJ9el-Uj-MJ-o-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๔ -
          กลับมาอยู่วัดจันทร์นอกตามเดิมได้ไม่กี่วัน  โยมใจ-โยมสุ สองสามีภรรยาที่นับถือคุ้นเคยกันก็ชักชวนให้ไปร่วมทอดกฐินที่บ้านโป่ง ราชบุรี  โดยพระมหาบุญจันทร์เจ้าอาวาสวัดจันทร์ในเป็นประธานคณะจัดกฐินไปทอด ณ วัดตาลปากลัด ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  โดยมีกำหนดทอดกฐินวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒  เดินทางตอนบ่ายวันขึ้น ๑๓ ค่ำ โดยรถบัสเช่าเหมาไป-กลับจากบริษัทขนส่ง เพราะเคยได้ยินคำกล่าวขานกันมานานแล้วว่า  “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง”  แต่ยังไม่เคยไปพบเห็นเลย  จึงตอบตกลงไปกับคณะกฐินสามัคคีของพระมหาบุญจันทร์ตามคำชักชวนของโยมใจ

          การทอดถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน คือบุญที่ทำได้เฉพาะในเวลาที่กำหนด เพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล  คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน  ถวายผ้าหรือทอดผ้านอกเวลานี้ไม่เป็นกฐิน  ดังนั้นก่อนจะไปทอดกฐินมาทำความรู้จักความเป็นมาของกฐินกันหน่อยก็แล้วกัน เรื่องมีอยู่ว่า

           “ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์คณะนั้นจึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว จึงได้เดินทางเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ ๕ ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔) คือไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน, ฉันคณโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ, จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว”

          อานิสงส์คือผลที่จะได้รับจากกฐินทานนั้น ผู้ที่จะได้รับโดยตรงก็คือ พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดหนึ่งดังความข้างต้นเท่านั้น ส่วนผู้ที่ถวายผ้ากฐินจะได้อานิสงส์ เป็นบุญอย่างไร เท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของแต่ละคน ย่อมรู้เองเห็นเอง คนอื่นรู้เห็นด้วยไม่ได้ เพราะบุญเป็นเหมือนของทิพย์ที่ไม่อาจจะจับต้องได้ด้วย ตาหู จมูก ลิ้น กาย ของใครๆเลย

          บ่ายของวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ นั้น  มีรถบัสของบริษัทขนส่งที่รับส่งผู้โดยสารประจำสายตะวันตกจำนวน ๕ คัน  มาจอดเต็มลานวัดจันทร์ใน  ทั้งพระเณรและญาติโยมมากกว่าร้อยคนพากันขึ้นรถจนเต็มทุกคน  มีหลายคนมาช้าจึงอดเดินทางไปทอดกฐินด้วยกัน เพราะรถ ๕ คันมีคนเต็มหมดแล้ว  ตามปกติรถที่พาคนไปทอดกฐินมักจะไปกันอย่างสนุกครึกครื้น  มีการตีกลองฉิ่งฉาบกรับโหม่งร้องรำกันไปตลอดทาง  แต่รถกฐินของวัดจันทร์ในไปกันอย่างเงียบ ๆ  เพราะพระมหาบุญจันทร์ท่านขอร้องให้เดินทางไปกันอย่างสงบสมกับที่ไปทำบุญกุศลกัน  ไปถึงวัดตาลปากลัดยามเย็นวันนั้น

          วัดตาลปากลัด มีประวัติย่อ ๆ ว่า ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓ เหตุที่ตั้งชื่อวัดว่าวัดตาล เพราะบริเวณที่ตั้งวัดมีต้นตาลขึ้นมากมาย และอยู่ใกล้ปากลัดแม่น้ำแม่กลอง แต่เดิมขึ้นอยู่กับตำบลนครชุมน์ ได้มีการย้ายวัดเมื่อใดไม่ทราบ แต่เหตุที่ย้ายเพราะตลิ่งพังจึงย้ายมาอยู่ในเขตดงตาล มีอาณาเขต ทิศเหนือจดแม่น้ำแม่กลอง ทิศใต้จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันออกจดทางหลวงเก่า ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน ได้รับพระราชวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๙ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

          ว่ากันว่าวัดนี้เป็นวัดหนึ่งในประเทศไทยที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า (ส่วนพระอุระข้างซ้าย) จากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานไว้เพื่อให้ชาวบ้านสักการะ มีรูปปั้นหงส์มอญหลายตัว เพราะชาวบ้านที่เป็นมอญทำมาถวาย บริเวณนี้จะมีคลองกั้นระหว่างหมู่บ้านชาวมอญ และหมู่บ้านชาวไทย ซุ้มประตูหน้าโบสถ์ก็เป็นศิลปะการก่อสร้างที่สวยงามแบบรามัญ มีต้นตะเคียนหรือแม่ตะเคียน ต้นใหญ่ อายุกว่า ๗๐๐ ปี ซึ่งเป็นที่เคารพนักถือของชาวบ้านและคนทั่วไปที่มาวัดนี้

          ก็ได้รู้กันละว่าวัดตาลปากลัดเป็นวัดของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “คนมอญ”  ชาวมอญมีเมืองเดิมอยู่ในหงสาวดี เมาะตะมะ พุกาม มัณฑเลย์ ทวาย และอีกหลายเมืองในประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน  สงครามทำให้เขาอพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่กาญจนบุรี ราชบุรี ปทุมธานี พระประแดง และอีกหลายแห่ง  จนกลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว ที่ จ.ราชบุรี  โดยเฉพาะอำเภอบ้านโป่งมีชุมชนมอญใหญ่และเก่าแก่ที่สุดคือวัดม่วง และวัดนครชุมน์  ส่วนวัดตาลปากลัดนี้เป็นชุมชนมอญไม่ใหญ่นัก  แต่พวกเขาก็ยังรักษาศาสนาวัฒนธรรมประเพณีมอญไว้ได้เป็นอย่างดี คืนนั้นได้เห็นการแสดงต้อนรับและฉลององค์กฐินแบบมอญ  มีการประโคมหรือบรรเลงปี่พาทย์มอญ ฟ้อนรำแบบมอญ อันสวยงาม เกือบเที่ยงคืนจึงยุติการแสดง

          รุ่งขึ้นทำบุญเลี้ยงพระแล้วทำพิธีถวายผ้ากฐิน  เมื่อเสร็จพิธีพวกเราก็ข้ามลำน้ำแม่กลองจากฝั่งวัดตาลปากลัด (ตะวันตก) มาฝั่งตลาดอำเภอบ้านโป่ง (ตะวันออก)  พวกเราพบความผิดหวังมาก  เพราะรถบัสที่ไปส่งเรานั้นไม่กลับมารับตามนัดหมาย  ทราบว่าเขาไปวิ่งรับ-ส่งคนเที่ยวงานลอยกระทงที่นครปฐมกันหมด  ท่านพระมหาบุญจันทร์บอกว่าจ่ายค่ารถเขาไปหมดแล้ว  เขาไม่มารับก็ต้องเสียค่าปรับให้เราตามสัญญา  ดูสัญญาแล้วเห็นว่าถ้าเขาจะเสียค่าปรับก็ไม่มากนัก  วิ่งรับคนเที่ยวงานลอยกระทงได้มากกว่า  เขาก็เลยเลือกทิ้งพวกเราโดยยอมเสียค่าปรับอย่างยินดี

          สมัยนั้นงานลอยกระทงในภาคกลางยิ่งใหญ่ที่สุดคือที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ในเมืองนครปฐม  คนกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางจะพากันไปเที่ยวงานลอยกระทงกันที่นครปฐมเป็นหลัก  ทางภาคเหนือก็ที่เชียงใหม่เป็นงานใหญ่ที่สุด  ตอนนั้นสุโขทัยมีเพียงชื่อในตำนานเท่านั้น  การจัดงานก็จัดกันตามวัดเหมือนกับจังหวัดทั่ว ๆ ไป  ไม่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเหมือนที่นครปฐมและเชียงใหม่

          วันนั้นพระมหาบุญจันทร์ท่านรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าคณะ  จึงจัดหาว่าจ้างรถใหญ่บ้างเล็กบ้าง  ขนพวกเราจากบ้านโป่งกลับถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างทุลักทุเลเต็มที  บทเรียนนี้จำได้จนตายเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มีนาคม, 2566, 10:55:38 PM
(https://i.ibb.co/KbyTVDX/20220713-134758-1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
CR. Photo By บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๕ -
          จากการไปเที่ยวอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ดังที่ให้การไปแล้วนั้น  ข้าพเจ้าได้แรงบันดาลใจจากพระใบฎีกาจ้วน เจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อยที่ท่านเข้ากรุงเทพฯ แล้วเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจากวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) นำความรู้ไปสงเคราะห์ชาวบ้านที่สะบ้าย้อยและยังช่วยรักษาไข้ให้ข้าพเจ้าด้วยนั้น  เมื่อกลับมากรุงเทพฯแล้ว  ข้าพเจ้าไม่เรียนบาลีต่อ  จึงคิดจะเอาอย่างพระใบฎีกาจ้วน  คือเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณของไทยที่วัดโพธิ์บ้าง  จึงไปสมัครเรียนตามความคิดนั้น

          ทางสมาคมแพทย์แผนไทยที่เปิดสอนอยู่ในวัดโพธิ์รับข้าพเจ้าเข้าเรียน  โดยให้เรียนวิชาเภสัชโบราณเป็นอันดับแรก  คือให้เรียนรู้ต้นตอของยาแผนโบราณที่ได้จาก  พืช (พืชวัตถุ)  สัตว์ (สัตววัตถุ)  และแร่ธาตุ (ธาตุวัตถุ)  อันมีอยู่ตามธรรมชาติ  ซึ่งได้มีการใช้แบบบอกเล่าต่อ ๆ กันมา  ไม่มีการค้นคว้าวิจัยเหมือนอย่างยาแผนปัจจุบัน  โดยพืชที่ใช้เป็นยาอาจเป็นพืชยืนต้น พืชล้มลุก หรือพืชผักสวนครัว รวมทั้งผลไม้  ใช้พืชทั้งต้นหรือส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น เปลือก แก่น ดอก เกสร ใบ ผัก ผล ฯลฯ

          * ในตำราวิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ มีหัวข้อเภสัชวัตถุกล่าวไว้ว่า เภสัชวัตถุประเภทพืชได้จาก ต้น แก่น ใบ หัว เหง้า รากกระพี้ เนื้อไม้ ยางไม้ เปลือกต้น เปลือกลูก เปลือกเมล็ด ดอกเกสร กิ่ง ก้าน ฯลฯ ที่แบ่งเป็นจำพวกต้น เช่น กระเจี๊ยบ กระถินไทย กระดังงาไทย กระท่อม กานพลู ฯลฯ
          จำพวกเถา-เครือเช่นกระทกรก หนอนตายหยาก ชะเอมไทย ตำลึง ฯลฯ จำพวกหัว-เหง้า เช่น กระชาย กระเทียม กระวาน กลอย ขิงบ้าน ฯลฯ
          จำพวกผัก เช่น ผักกะเฉด ผักบุ้งจีน ผักหวานบ้าน ผักกาด ผักเบี้ย ฯลฯ
          จำพวกหญ้า เช่น หญ้ากระต่ายจาม หญ้าคา หญ้างวงช้าง หญ้าแห้วหมู ฯลฯ
          จำพวกเห็ด แบ่งเป็นเห็ดที่เป็นอาหารและประกอบเป็นยาได้ และเห็ดเบื่อเมา เห็ดที่เป็นอาหารและเป็นยา เช่น เห็ดหูหนู เห็ดฟาง เห็ดโคน ฯลฯ เห็ดที่เบื่อเมา เช่น เห็ดงูเห่า เห็ดตาล เห็ดมะขาม ฯลฯ เป็นต้น

          * ยาที่ได้จากสัตว์อาจใช้สัตว์ทั้งตัวส่วนหรืออวัยวะของร่างกายสัตว์ รวมทั้งมูล เลือด น้ำดีของสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์พวกนก เช่น ตับ ดี เลือดเขา นอ กระดูก ฯลฯ
          ตามคัมภีร์แผนโบราณไทยท่านกล่าวไว้ว่า เภสัชวัตถุประเภทสัตว์ได้จากสัตว์ทุกชนิด และอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย เช่น ขน หนัง เขา นอ เขี้ยว งา ฟัน กราม ดี หัว เล็บ กีบ กระดูก เนื้อ เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ      สัตววัตถุแบ่งออกเป็น

          จำพวกสัตว์บกเช่น กวาง (เขาแก่ เขาอ่อน)  งูเห่า (หัว กระดูก ดี)  แรด (เลือดหนังนอ กีบเท้า)  คางคก (ทั้งตัว)  แมลงสาบ (มูล)  แมงมุม (ตายซาก) ฯลฯ
          จำพวกสัตว์น้ำ เช่น ปลาช่อน (ดี หาง เกล็ด)  ปลาไหล (หาง หัว)  ปลาหมึก (กระดอง หรือลิ้นทะเล)  ปูม้า (ก้าม กระดอง) ฯลฯ
          จำพวกสัตว์อากาศ เช่น อีกา หรือ นกกา (หัวกระดูก ขน)  นกยูง (กระดูกแววหางขนหาง)  ผึ้ง(น้ำผึ้ง)  นกนางแอ่น (รัง)  นกกระจอก (ใช้ทั้งตัวถอนขนออก) ฯลฯ
          จำพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น หอยโข่ง (เปลือก)  เต่านา (หัว กระดองอก)  จระเข้ (ดี)  ปูทะเล (ก้าม) ปูนา (ทั้งตัว) กบ (น้ำมัน กระดูก) ฯลฯ เป็นต้น

          * สำหรับแร่ธาตุที่ใช้เป็นยา ได้แก่ ดินสอพอง ดีเกลือ จุนสี ฯลฯ จากตำราแพทย์แผนโบราณตอนที่ว่าด้วยเรื่องเภสัชวัตถุ กล่าวว่า เภสัชวัตถุประเภทธาตุได้แก่ แร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่-ธาตุ  ธาตุวัตถุแบ่งได้เป็นจำพวกสลายตัวง่าย (หรือสลายตัวอยู่แล้ว) เช่น กำมะถันเหลือง สารส้ม กำมะถันแดง ดีเกลือ จุนสี พิมเสน ฝรั่ง น้ำซาวข้าว ปรอท การบูร ฯลฯ  จำพวกสลายตัวยาก เช่น เหล็ก (สนิม) ทองแดง ทองเหลือง ทองคำ เงิน ฯลฯ  จำพวกที่แตกตัวเช่น ดินสอพอง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลกรวด ดินเหนียว ฯลฯ

          * ยาแผนโบราณ ยังอาจแบ่งเป็น ยาตำรับลับ คือ ยาที่มิได้แจ้งส่วนประกอบหรือ มิได้แจ้งปริมาณของส่วนประกอบเป็นการเปิดเผย  มักเป็นยาประจำครอบครัวของแพทย์แผนโบราณ,   ยาผีบอกคือ ยาที่ได้จากการฝัน หรือ เข้าทรงโดยผู้มาเข้าฝันหรือผู้เข้าทรงบอกตำรับยา เพื่อให้ผู้ใช้หายจากโรคเป็นการเอาบุญ เมื่อหายแล้วผู้ใช้ยาต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของตำรับด้วย,   ยาสำเร็จรูป คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับหรือประกาศให้ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้,   ยากลางบ้านคือ ยาที่ได้จากสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน ในครัวหรือในสวนครัว เช่น ใบพลู หมาก ปูน (ที่กินกับหมาก) ขิง ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา มะกรูด มะนาว สับปะรด ฯลฯ

          * ในตำราวิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ ยังแบ่งประเภทของยาตามรสได้ดังต่อไปนี้ ยารสฝาด เช่น เปลือกมังคุด เปลือกต้นข่อย ใบฝรั่ง ใบชา ฯลฯ     ยารสหวาน เช่น น้ำตาลกรวด น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ชะเอมเทศ ข้าวงอก ฯลฯ     ยารสเบื่อเมา เช่น กัญชา ลำโพง (เมล็ด ราก ดอก) มะเกลือ (ลูก ราก) ฯลฯ     ยารสขม เช่น เถาบอระเพ็ด รากระย่อมลูกมะแว้ง หญ้าใต้ใบ แก่นขี้เหล็ก ฯลฯ     ยารสเผ็ดร้อน เช่น เมล็ดพริกไทย ดอกกานพลู กะเพรา (ใบ ราก) ฯลฯ     ยารสมันเช่น เมล็ดถั่วลิสง หัวแห้ว ไข่แดง เมล็ดบัวหลวง น้ำมัน เนย ฯลฯ     ยารสหอมเย็น เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล เกสรบัวหลวง ใบเตยหอม ฯลฯ     ยารสเค็ม เช่น เกลือสมุทรหรือเกลือทะเล ดีเกลือไทย ดินโป่ง ใบหอม ฯลฯ     ยารสเปรี้ยว เช่น น้ำในลูกมะนาว ลูกมะดัน ส้มมะขามเปียก สารส้ม มดแดง ฯลฯ     ยารสจืด เช่น ใบผักบุ้ง ใบตำลึง เถารางจืด ดินสอพอง น้ำฝน ฯลฯ”

          ความข้างบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของตำรายาที่นักเรียนแพทย์แผนไทยต้องท่องจำให้ขึ้นใจ  เหมือนพระเรียนนักธรรม บาลี ท่องแบบเรียนนั่นเทียว  ถ้าท่องจำไม่ได้ก็เรียนไม่รู้เรื่อง  วิชาแพทย์แผนไทยนี้มีพระภิกษุสามเณรมาเรียนกันไม่น้อย  หมอแผนไทยที่ปรุงยาจำหน่ายมีไม่น้อยที่เป็นพระเรียนจบแล้วลาสิกขาไปทำการงานต่าง ๆ แล้วใช้เวลาว่างปรุงยา มียาลม ยาหม่อง ยาหอม เป็นต้น  เมื่อยานั้นขายดีก็หันมายึดเป็นอาชีพตั้งร้าน ตั้งห้างฯ ทำยาขายร่ำรวยไปหลายราย  ข้าพเจ้าท่องจำได้ไม่น้อย  แต่พอเรียนถึงพืชสมุนไพรนี่ชักรวนเร  เพราะจำชื่อได้แต่เห็นต้นยาแล้วจำไม่ได้ว่ามันคือต้นอะไร  ชื่อเดียวกันแต่ลักษณะไม่เหมือน  เช่นเหงือกปลาหมอเนี่ย  พอขึ้นต่างที่ต่างถิ่น  ทั้งต้นทั้งใบไม่เหมือนกัน  บางอย่างแม้ลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง  แต่ชื่อเรียกไม่เหมือนกัน  อย่างนี้เป็นต้น  เป็นสาเหตุให้ข้าพเจ้าเริ่มไม่แน่ใจว่าเรียนไปได้ตลอดรอดฝั่ง

          ในช่วงเวลานั้นข้าพเจ้ามักออกจากกรุงเทพฯ ไปวัดหัวเวียง วัดบางจักร ที่คุ้นเคยนั้นบ่อย ๆ  ไปทำไม เห็นว่าไม่จำเป็นต้องบอกดอกนะ  นอกจากจะเรียนแพทย์แผนไทย และไปเที่ยวดั้งกล่าวแล้ว  ข้าพเจ้ายังเริ่มสนใจเรื่องสังคมการเมืองบ้างแล้ว  สมัครเป็นสมาชิกหนังสือวารสารเสรีภาพของสถานทูตอเมริกา  สหภาพโซเวียต  ข่าวสารญี่ปุ่น  ซึ่งเขาส่งให้อ่านฟรี  และยังไปสมัครเรียนศาสนาคริสต์ที่คริสตจักรสาธร อีกด้วย  ทั้งนี้ก็เพราะอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวนานาของประเทศนั้น ๆ

          เวลานั้นฝ่ายโลกเสรีทำการ  “ปลุกผีคอมมิวนิสต์”  จนคนไทยส่วนมากพากันเกลียดกลัวมาก  ข้าพเจ้าไม่กลัวผีคอมมิวนิสต์  เพราะอ่านข่าวสารจากสถานทูตโชเวียตที่ส่งมาให้อ่านเปรียบเทียบ  กับฝ่ายที่ปลุกผีคอมมิวนิสต์  คือสารเสรีภาพของสถานทูตอเมริกานี่แหละ  ตอนนั้นพระเพื่อน ๆ พากันล้อข้าพเจ้าว่าจะเข้าคริสต์บ้างละ  จะเป็นคอมมิวนิสต์บ้างละ  ก็ปล่อยให้เขาว่ากันไป  ป่วยการไปโต้เถียงให้เหนื่อยเปล่า /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มีนาคม, 2566, 11:39:25 PM
(https://i.ibb.co/DryT3Jp/294088798-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๖ -  

          สถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ยุคนั้นแห่งหนึ่ง  เป็นที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ และทั่วไป  นั้นคือ  “เขาดินวนา”  หรือ  สวนสัตว์ดุสิต  สถานที่แห่งนี้มีความเป็นมาพอสรุปได้ว่า

           “สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา เป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ ๗๑ ถนนพระรามที่ ๕ แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเนื้อที่ ๑๑๘ ไร่  อยู่ในอาณาบริเวณของ "วังสวนดุสิต" มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๑ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนและนาในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงคลองสามเสน ด้านตะวันออกถึงทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยพระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า "สวนดุสิต" (ปัจจุบันเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)  
 
          ต่อมาถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เทศบาลนครกรุงเทพ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ดัดแปลงบริเวณสวนสัตว์กรุงเทพ เป็นสวนสาธารณะเปิดให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยมิต้องมีค่าเช่า และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ และยังพระราชทานลูกหลานกวางดาวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากอินโดนีเซีย ที่เมืองบุยเตนซอค (Buitenzurg) เมื่อการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๔๔ (ร.ศ. ๑๒๐) และสัตว์อื่นอีก ๒-๓ ชนิด จากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน มาเลี้ยงแล้วโอนกิจการสวนสัตว์ดุสิตของเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกระทรวงมหาดไทย มาอยู่กับองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับองค์การสวนสัตว์เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๖ จากการขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ของพลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการ และผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์”

          ในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงรับสวนสัตว์ดุสิตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น  ข้าพเจ้ากลับจากสงขลาพอดี  จึงอยากจะไปเข้าชมอีกครั้งหนึ่งหลังเคยเข้าชมมาแล้ว  วันหนึ่งชักชวนได้เพื่อนพระอีก ๒ องค์  นั่งรถเมล์สาย ๑๗ ซึ่งวิ่งผ่านเขาดินวนาไปเที่ยวชมสวนสัตว์กัน  สัตว์ที่มีให้ชมในสวนนี้มีทั้งสัตว์บก  สัตว์น้ำ  สัตว์ปีกที่บินในอากาศ  และเป็นทั้งสัตว์ที่มีกฎหมายคุ้มครอง  ไม่คุมครอง  เป็นสัตว์ในไทยและต่างประเทศมากมาย  พวกเราเลือกชมสัตว์ที่ไม่เคยเห็นตัวจริง เช่น หมีควาย แมวน้ำ นกเงือก และนานานก  สัตว์ต่างประเทศเช่นยีราฟ  แมวน้ำ  ลิงอุรังอัง  เสือดาว  เก้ง  กวาง  กวางดาว  เป็นต้น

          สัตว์บางชนิดขังไว้ในกรง  บางชนิดก็ล่ามไว้  เช่น ช้าง  พวกเราเดินดูไปทุกที่เท่าที่จะไปได้  ในสวนนี้มีต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่น  ทางเดินที่คดเคี้ยวไปมาเป็นถนนที่เดินได้สะดวกสบาย  มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งพักผ่อนหลายที่หลายมุม  ผู้คนที่เข้าไปเที่ยววันนั้นมีทั้งเด็ก ๆ หนุ่มสาว เฒ่า ฉกรรจ์ จำนวนมาก  เพราะเป็นวันหยุด  เห็นพวกเด็ก ๆ สนุกสนานตื่นเต้นเมื่อได้เห็นและเล่นกับสัตว์ (บางชนิด)  เห็นหนุ่มสาวนั่งจู๋จี๋กันในมุมสงบ  เห็นอะไร ๆ หลายอย่างในสวนนี้แล้วก็อิ่มอกอิ่มใจ

          เดินชมกันจนเหนื่อยเมื่อยล้า  เป็นเวลาบ่ายโขแล้วจึงชวนกันกลับ  โดยออกทางประตูทิศตะวันตกคือด้านพระที่นั่งอนันตสมาคม  พระที่นั่งนี้มีความเป็นมาอย่างไรเปิดตำนานดูหน่อยนะครับ

          พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต ชื่อของพระที่นั่งนี้ นำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคมสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สร้างไม่ทันเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต จึงสร้างต่อแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด ๘ ปี พระที่นั่งนี้ อาคารทรงยุโรปล้วน เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย ซึ่งก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวชั้นหนึ่งจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนามว่า มาริโอ ตามานโญ มีแรงบันดาลใจมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร งานก่อสร้างทั้งหมดมาจากแรงงานทั้งคนไทยและจีน ส่วนงานภายในที่มีการตกแต่งด้วยศิลปะเฟรสโก เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่าง ๆ มาจากฝีมือช่างจากอิตาลีเป็นส่วนใหญ่ มีจุดเด่นที่โดมใหญ่ตรงกลางซึ่งทำจากทองแดงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เมตร และรวมไปถึงโดมย่อยอีก ๖ โดม แต่เนื่องจากสนิมทำให้เปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอมน้ำเงินในปัจจุบัน”

          พวกเรายืนดูพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยความชื่นชมพอสมควรแล้วก็เดินจากไปทางพระบรมรูปทรงม้า  ขณะที่เดินอยู่ในลานพระบรมรูปฯ นั้น  มีหญิงสาว ๓ คนนุ่งกางที่นิยมกันสมัยนั้น  คือรัดรูปที่เรียกว่า  กางเกงจิ๊กกี๋  น่ะ    พวกหล่อนเดินอ้อยอิ่งคุยกันกระหนุงกระหนิงอยู่ข้างหน้า  คนเดินทางขวามือดูเจ้าเนื้อหน่อย  ที่สำคัญคือแก้มกันใหญ่ เดินก้นกระเพื่อมเลย  ข้าพเจ้ากำลังคิดเปรียบเทียบว่า  เธอเดินเหมือนช้าง  ยามนั้นพระเกตุเดินลิ่วจากกลุมเพื่อน  รี่เข้าหาสามสาวนั้นแล้วยกมือตบก้นคนเจ้าเนื้อนั้นฉาดใหญ่  ข้าพเจ้าตกใจมาก  เธอคนนั้นแทนที่จะตกใจร้องตามประสาหญิง  แต่กลับหันมามองแล้วกล่าวว่า  “หลวงพี่เล่นอะไร  มันเจ็บนะ”  พระสุจินต์หันมาบอกข้าพเจ้าว่า  “ท่านเกตุเป็นอาบัติสังฆาทิเสสแล้วใช่มั้ย”  ข้าพเจ้าไม่ตอบต่อความ  ส่วนพระเกตุเดินคุยกัน “สาวอ้วน” และสาวกลุ่มนั้นไปจนเลยลานพระบรมรูปไป  เลี้ยวเข้าถนนศรีอยุธยาเพื่อรอขึ้นรถเมล์สาย ๑๗ กลับวัด  สามสาวนั้นก็แยกไปอีกทางหนึ่ง  เมื่อกลับถึงวัดข้าพเจ้าถามพระเกตุว่า  ผู้หญิงนั้นรู้จักกันมานานแล้วเหรอ  เขาบอกว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย  วันนั้นเห็นเธอเดินก้นกระเพื่อม ๆ น่าตีเล่น  ก็เลยอดหมั่นไส้ไม่ได้ จึงตบก้นเธอไป  หลวงพี่ไม่ต้องห่วง  เดี๋ยวสอบแล้วผมจะไปอยู่กรรมล้างโทษอาบัติสังฆาทิเสสครับ

          ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ  จากนั้นไม่ถึง ๑๐ วัน  สาวอ้วนกับเพื่อนอีกคนหนึ่งก็ลงเรือจากถนนตกไปหาพระตุที่วัดจันทร์นอก  เป็นเพราะติดใจจรสมือพระเกตุที่ตบกันเธอ  หรือเป็นเพราะบุพเพสันนิวาสก็ไม่รู้เหมือนกัน  หญิงคนนั้นกับพระเกตุคบกันอย่างสนิทสนม  ข้าพเจ้าจากวัดจันทร์นอกไปแล้วรู้ข่าวภายหลังว่า  พระเกตุเรียนจบและสึกออกไปหางานทำ  และแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากับหญิงคนนั้น  และจนบัดนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องราวของเขาอีกเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มีนาคม, 2566, 11:18:16 PM
(https://i.ibb.co/b3YDLrW/06062d07-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๗ -
          ปลายหนาวปี ๒๕๐๖ นั้นมีพระภิกษุญาติของพระสอนองค์หนึ่งแห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านออกเดินธุดงค์ไปทางเหนือตั้งแต่เดือนสิบสองสิ้นกาลฝน แล้วกลับมาแวะพักอยู่กับพระสอนที่วัดจันทร์นอก พระองค์นี้ท่านบวชเมื่อพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้ว เรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นโท ขณะเรียนนักธรรมชั้นโทนั้นวิชาที่ท่านท่านสนใจเป็นพิเศษคือการประพฤติธุดงค์ และการออกเดินทางประพฤติธุดงค์ไปยังที่ต่าง ๆ  ดังนั้นเมื่อบวชได้ ๓ พรรษา ท่านจึงออกเดินธุดงค์ ปีแรกไปแค่พระพุทธบาทสระบุรี ปีที่ ๒ ไปไกลถึงพิษณุโลก จากพิษณุโลกจึงนั่งรถไฟล่องลงมากรุงเทพฯ

          ข้าพเจ้าเป็นพระธุดงค์เก่า หลวงน้าไหวก็เป็นพระธุดงค์ เมื่อได้พบปะกับพระธุดงค์ที่เป็นญาติพระสอนจึงคุยกันถูกคอ พระองค์นี้ท่านชื่อสมาน มีชื่อเล่นว่า “ไฮ้” ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าหลวงพี่เพราะอายุมากกว่าข้าพเจ้า ๕-๖ ปี หลวงพี่ไฮ้เล่าประสบการณ์ที่ไปนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ให้ฟังอย่างน่าตื่นเต้น  พิจิตร พิษณุโลกเป็นเมืองที่ข้าพเจ้าไม่เคยไป จึงฟังท่านเล่าถึงสภาพภูมิประเทศและประชากรอย่างเพลิดเพลิน ท่านเล่าว่าไปได้วิชามาจากเมืองเหนือวิชาหนึ่งคือ  “วิชาเปิดโลก”  วิชานี้ผู้เข้าร่วมพิธีจะสามารถเห็นเรื่องราว บุคคล ในอดีตได้อย่างชัดเจน หลวงน้าไหวถามว่า ทำพิธีเปิดโลดได้ผลแล้วไหม หลวงพี่ไฮ้บอกว่าทำได้ผลมาแล้ว พวกเราที่ฟังอยู่ก็ขอให้ท่านทำพิธีเปิดโลกที่วัดจันทร์นอกให้เราดูบ้าง

          ตกลงจะทำพิธีเปิดโลกกันที่ศาลาการเปรียญของวัดจันทร์นอกคืนวันหนึ่ง มีพระในวัด คนรอบ ๆ วัด รวมทั้งตำรวจ เมียตำรวจ สถานีตำรวจบางคอแหลมที่ตั้งอยู่ในวัดด้วย ขอเข้าร่วมพิธี ประมาณ ๒๐ คนเห็นจะได้ ข้าพเจ้าอยากรู้อยากเห็นและอยากลอง จึงไปรอร่วมพิธีแต่หัวค่ำเลย

          พอได้เวลาประมาณ ๒ ทุ่ม หลวงพี่ไฮ้เริ่มทำพิธี ท่านอธิบายก่อนว่า ทุกคนที่เข้าพิธีต้องเอาผ้าสีดำหรือสีทึบ ๆ ปิดตาคาดเคียนหัวไว้ให้แน่น แล้วภาวนาว่า “พุทโธ ๆๆๆๆ” ตามจังหวะเสียงที่อาจารย์เคาะจากช้าไปหาเร็วตามลำดับ ถ้าของขึ้นแล้วจะได้เห็นภาพต่าง ๆ เช่น นรก สวรรค์ ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วแม้นานปี..... หลังจากอธิบายแล้วท่านก็ให้ทุกคนเอาผ้าปิดตา นั่งพนมมือภาวนา “พุทโธ ๆๆๆ”  หลวงพี่ไฮ้เริ่มเคาะพื้นกระดานดังป้อก ป้อก ป้อก ช้า ๆ แล้วค่อยเร่งจังหวะเร็วขึ้นเร็วขึ้น ข้าพเจ้าไม่ได้เอาผ้าปิดตาทำพิธีด้วย แต่นั่งดูเหตุการณ์ด้วยใจจดจ่อ

          เมื่อหลวงพี่ไฮ้เร่งจังหวะการเคาะพื้นขึ้นถี่ ๆ สักครู่หนึ่งก็เห็นหลายคนที่นั่งภาวนานั้นตัวเริ่มสั่นโยกโงนเงน ล้มลงนอนแล้วลุกขึ้นทำท่าตะกุยตะกาย บางคนร้องโวยวาย บางคนร้องไห้ บางคนก็ยังนั่งเฉยไม่มีอาการใด ๆ หลังจากหลวงพี่ไฮ้หยุดเคาะจังหวะ เลิกพิธีแล้ว คนที่มีอาการดังกล่าวก็นิ่งสงบ หลวงพี่ท่านพูดคุยซักถามคนที่มีอาการดังกล่าวว่า พบเห็นอะไรบ้าง คนที่แสดงท่าตะกุยตะกายบอกว่า เห็นคนจะมาทำร้ายบ้าง เห็นสัตว์จะมาทำร้ายบ้างจึงวิ่งหนี บางคนว่าเห็นบ้านเรือนเหมือนวิมานสวยงามจึงตะกายขึ้นไป คนที่ร้องไห้บอกว่า เห็น พ่อ แม่ ที่ตายไปแล้ว ทนทุกขเวทนาอยู่บ้าง อยู่กันอย่างสุขสบายบ้าง บางคนว่าเป็นปู่ย่าตายาย พวกญาติก็พากันถามว่า ปู่ย่าตายายนั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร สวมใส่เสื้อผ้าอะไร เขาก็ตอบได้ถูกต้องหมด แสดงว่าได้เห็นจริง ๆ

          ข่าวการทำพิธีเปิดโลกแพร่ไปทำให้มีคนมาร่วมพิธีมากขึ้นเรื่อย ๆ  ข้าพเจ้ารู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ดังนั้นการทำพิธีครั้งที่ ๔ ทำกันในโรงอุโบสถ จึงขอเข้าร่วมพิธีด้วย พระสอนเป็นคนเอาผ้าดำผูกปิดตาให้ การเคาะจังหวะให้ภาวนาในอุโบสถเสียงดังก้องกว่าในศาลาการเปรียญ เพราะความสงบเงียบในอุโบสถมีมากกว่า หลวงพี่ไฮ้เคาะจังหวะพุทโธ ๆๆๆๆๆ  ข้าพเจ้าก็ส่งกระแสจิตจับจังหวะการภาวนาเช่นเดียวกับคนอื่น  สักครู่หนึ่งก็รู้สึกว่าคนในพิธีนั้นหลายคน  “ของขึ้น”  กันแล้ว บ้างก็ตะกายผนังโบสถ์ บ้างก็คลาน ข้าพเจ้าคิดว่าทำไมของไม่ขึ้นเราสักที เราอยากเห็นพ่อและญาติ ๆ ที่ตายไปแล้ว  อยากเห็นอะไร ๆ ที่เขาเห็นกัน  ก็ได้แต่คิดอยากอยู่อย่างนั้น จนจบพิธีการเปิดโลก ข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย หลวงพี่ไฮ้กล่าวว่า

           “ทั่นเต็มใจแข็งเกินไป”

          ข้าเจ้าคิดทบทวนคำพูดของหลวงพี่ไฮ้ที่ว่า  “ใจแข็งเกินไป”  แล้วคิดย้อนไปถึงคำของพระเกจิอาจารย์หลายองค์ที่ท่านพูดสมัยที่เป็นสามเณรไปเรียนวิชาอาคมจากท่านแล้วท่านพูดว่า  “เณรเป็นคนใจแข็ง เล่นของไม่ขึ้นหรอก”  คิดย้อนไปถึงคราวที่เป็นสามเณรไปธุดงค์อยู่ป่าช้าจีนภูเก็ต ปลุกผีไม่ขึ้น น้ำมันเสน่ห์ของโต๊ะดำก็ทำอะไรข้าพเจ้าไม่ได้ มาเข้าพิธีเปิดโลกของหลวงพี่ไฮ้ก็เปิดโลกกะเขาไม่ได้ เป็นเพราะใจข้าพเจ้าแข็งเกินไปนี่เอง เรื่องไสยศาสตร์เหมาะสำหรับคนใจอ่อน เชื่อง่ายงมงาย ข้าพเจ้าไม่มีคุณสมบัติสำหรับไสยศาสตร์จริง ๆ

          กาลใกล้สิ้นเหมันต์กรายเข้าคิมหันต์ปีนั้น หลวงพี่ไฮ้จะกลับขึ้นไปพิษณุโลกตามที่รับปากญาติโยมชาวอำเภอวังทองไว้ ท่านชักชวนข้าเจ้าขึ้นไปเที่ยวด้วยกัน จึงพร้อมกับพระสอน พระลิขิต เตรียมตัวเดินทางขึ้นเหนือกัน ก่อนออกเดินทาง ๓ วัน ข้าพเจ้าเอากล่องผมเปียของน้องเปียบุรีรัมย์ที่เก็บไว้แรมปีนั้นออกมาเปิดดูอีกครั้ง แล้วนำไปคืนให้เธอที่ยามนั้นได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นพนักงานโรงงานยาสูบ  มีบ้านพักอยู่ตรอกวัดจันทร์ใน (ตามจดหมายที่เธอบอกไว้) เสียดายเราไม่ได้พบกัน เพราะวันนั้นเธอไปทำงานตามปกติ จึงเอากล่องผมเปียฝากญาติเธอไว้  บอกเล่าเรื่องราวให้ญาติเธอทราบไว้ด้วย จากนั้นจึงพากันนั่งรถไฟเดินทางขึ้นไปจังหวัดพิษณุโลก

          คิดไม่ถึงว่า  ทางชีวิตจะเปลี่ยนไปตั้งแต่วันนั้น /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มีนาคม, 2566, 11:40:34 PM
(https://i.ibb.co/VYCMDwg/1-77-1.jpg) (https://imgbb.com/)
รอยพระพุทธบาทตะแคงที่วัดพระพุทธบาทเขาสมอแคลง
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๘ -  
                  วัดเขาสมอแครง

          หลวงพี่ไฮ้พานั่งรถไฟขบวนรถธรรมดาออกจากกรุงเทพฯมุ่งสู่เมืองพิษณุโลก รถไฟขบวนธรรมดาจอดทุกสถานีตั้งแต่สถานีสามเสนเป็นต้นไป ข้าพเจ้าเพลินกับการชมทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟจากสถานีรังสิตเรื่อยไปถึงอยุธยา เลยไปบ้านม้า ภาชี แยกทางซ้ายขึ้นไปลพบุรีจันทร์เสน ตาคลี นครสวรรค์ ปากน้ำโพ ชุมแสง ตะพานหิน พิจิตร จนถึงพิษณุโลกยามบ่ายโขแล้ว  ลงจากรถไฟ ขึ้นรถสองแถวสายพิษณุโลก-วังทอง ไปตามถนน “มิตรภาพ ๒”  ถนนสายนี้เชื่อมต่อพิษณุโลก-หล่มสัก เขาชื่นชมกันว่าเป็นถนนสวยงามที่สุดในเวลานั้น   ว่ากันว่า อเมริกาสนับสนุนให้สร้างถนนอย่างดีนี้สายแรกคือสาย โคราช-อุดร ให้ชื่อว่า  “ถนนมิตรภาพ”  เสร็จจากนั้นไม่นานก็มาสร้างสาย ๒ นี้  บริษัทที่ทำการก่อสร้างถนนนี้คือ  อิตาเลียนไทย หรืออะไรนี่แหละ  ผิวถนนไม่ได้ราดยางมะตอยอย่างถนนไทยทั่วไป  สิ่งที่ราดดูเหมือนจะเรียกว่า  “แอสฟัลติกคอนกรีต”  อะไรนี่แหละ  ตอนที่ข้าพเจ้าไปนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่เปิดใช้ได้ไม่เกินปี รถแล่นไปอย่างราบเรียบไม่กระเทือนเลย ถึงเชิงเขาสมอแครง (เดิมเขียนอย่างนี้ ไม่ใช่สมอแคลง อย่างที่เขียนกันในปัจจุบัน) ลงจากรถเดินเลียบภูเขาเข้าไปวัดเขาสมอแครงระยะทางไม่ไกลนัก วัดนี้ตั้งอยู่เชิงเขาด้านทิศตะวันออก เป็นวัดสร้างใหม่ไม่นานปี

          สภาพวัดเวลานั้น มีกุฏิใหญ่เป็นประธาน ๑ หลัง กุฏิบริวาร ๓ หลัง ตั้งล้อมศาลาใหญ่ที่ใช้เป็นศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอฉัน จะเรียกว่าศาลาอเนกประสงค์ก็ได้ กุฏิใหญ่อยู่ด้านใต้ กุฏิบริวารอยู่ด้านตะวันออก ๒ หลัง ด้านเหนือ ๑ หลัง ด้านตะวันตกเปิดโล่งใช้เป็นทางขึ้นลง ทางทิศเหนือหมู่กุฏิศาลามีอุโบสถ ซึ่งสร้างเสร็จไม่เรียบร้อยแต่ทำพิธีผูกพัทธสีมาเรียบร้อยใช้ทำสังฆกรรมได้แล้ว ทางด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขาลูกเดียว (เขาทอก) มีโบราณสถานบนภูเขาตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไป คือ รอยพระพุทธบาทตะแคงหนึ่งเดียวในโลก ขึ้นไปถึงยอดเขามีวัดเก่า เจดีย์เก่า โรงเจ... .มีข้อมูลเกี่ยวกับวัดเขสมอแครงนี้ว่า

          # “ประกาศตั้งวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗๘ เดิมมีชื่อว่า “วัดพระพุทธบาท” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระพุทธบาทเขาสมอแครง” พื้นที่ตั้งวัดอยู่บริเวณเชิงเขา ตามตำนานพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสร็จไปบิณฑบาตที่บ้านพราหมณ์ และเสด็จไปฉันจังหันใต้ต้นสมอ ณ บริเวณเขาสมอแครง พระอุบาลีเถระ พระศิริมานนท์เถระ ได้นิพานที่เขาสมอแครง ท่านพระยาวิจิตรไวย  ผู้สร้างเจดีย์บนยอดเขาสมอแครง ได้บรรจุพระธาตุ พระอรหันต์ ทั้ง ๒ พระองค์ไว้ในเจดีย์บนยอดเขาสมอแครงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๖ สิหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร

           “เขาสมอแครง” ซึ่งเดิมเรียกว่า “พนมสมอ” ตั้งอยู่ริมถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๔ ก่อนถึงตัวอำเภอวังทอง ประมาณ ๓ – ๔ กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ ๑๗ กิโลเมตร เป็นภูเขาขนาดย่อม วัดความสูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐๐ เมตร  ลักษณะทางภูมิประเทศ เป็นภูเขาเล็ก ๆ ในแนว เหนือ-ใต้ มีความสำคัญในด้านโบราณคดี โดยพบโบราณสถาน เจดีย์บนยอดเขา และโบราณวัตถุมากมาย มีซากวัดอยู่ในบริเวณเขาสมอแคลงมากถึง ๘ แห่ง”

          วันที่ข้าพเจ้าไปถึงนั้นในวัดนี้ไม่มีพระอยู่เลย มีแต่คนเฝ้าวัดอยู่สองสามคนเท่านั้น พวกเขารีบไปส่งข่าวให้ชาวบ้านรู้ว่า   “พระอาจารย์ธุดงค์กลับมาแล้ว”   ข้าพเจ้าจึงรู้ว่าหลวงพี่ไฮ้เดินธุดงค์มาปักกลดที่เชิงเขาสมอแครงแล้วให้เลขหวย ชาวบ้านถูกหวย (ใต้ดิน) กันหลายคน จึงนิมนต์ให้มาอยู่วัดเขาสมอแครงซึ่งตอนนั้นหาพระอยู่ประจำไม่ได้ หลวงพี่รับปากชาวบ้านว่าจะมาอยู่วัดนี้  กลับไปแล้วได้รู้จักกับข้าพเจ้าที่วัดจันทร์นอก ไม่เคยบอกเล่าเลยว่าเคยมาเป็นอาจารย์ให้หวยและรับปากชาวบ้านว่าจะมาอยู่วัดเขาสมอแครง  พอกลับมาพร้อมกับข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันมาหาในค่ำวันนั้นเลย

          รุ่งเช้าพวกเราไม่ได้ออกเดินบิณฑบาตตามกิจของภิกษุ เพราะชาวบ้านพากันนำสำรับกับข้าวมาถวายกันมากมาย ก็ด้วยบารมีชองหลวงพี่ไฮ้นั่นแหละ

          ย่ำสนธยาวันนั้นมีรถสองแถวที่วิ่งสายวังทอง-พิษณุโลก เข้าไปรับหลวงพี่ไฮ้กับพวกข้าพเจ้าไปบ้านของเขาที่ใกล้ตลาดวังทอง คนบ้านนี้ทั้งบ้านเคยถูกหวยใต้ดินจากเลขของหลวงพี่ไฮ้ทุกคนจึงเคารพนับถือท่านมาก โยมพุ่มเจ้าของบ้านนี้เป็นหญิงม่ายอายุประมาณ ๖๐ ปี มีลูกคนโตเป็นชายชื่อพ่วง อาชีพขับรถสองแถวรับส่งผู้โดยสารสายวังทอง-พิษณุโลก ลูกสาวคนหนึ่งยังเป็นสาวโสด มีบ้านที่ปลูกอยู่ในกลุ่มบ้านโยมพุ่มสามสี่หลัง แต่ละบ้านมีลูกสาวหลานสาวหลายคน นายพ่วงพาคณะพวกเราเข้าบ้านครู่เดียวก็มีคนมาชุมนุมกันที่บ้านโยมพุ่มจำนวนมา ก็พวกหวังได้เลขเด็ดจากหลวงพี่ไฮ้นั่นแหละ

          บ้านโยมพุ่มกลายเป็นเหมือนสำนักของพวกข้าพเจ้า ตอนเย็นแทบทุกวันพวกข้าพเจ้าจะไปพบปะสนทนาปราศรัยกับชาววังทองที่บ้านนี้ บางคืนก็คุยกันอยู่จนดึกโยมพุ่มจัดที่นอนให้จำวัดที่บ้าน ไม่ต้องกลับไปวัด คนที่นี่ล้วนมีอัธยาศัยไมตรีดียิ่ง จึงมีคนรู้จักมักคุ้นกับพวกข้าพเจ้าหลายคน ในกลุ่มคนเหล่านั้นมีครูสาวสามสี่คนที่คุ้นเคยกับข้าพเจ้าในเวลาไม่นานนัก ไม่รู้เอาเรื่องอะไรมาคุยกันไม่รู้เบื่อ จนพระสอนกับพระลิขิต พูดว่า  “ท่านเต็มคงต้องเอาบาตรมาทิ้งที่วังทองเสียแล้วแหละ ดูท่าครูน้อยชอบท่านจริง ๆ”  ข้าพเจ้าตอบว่า  “เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด ใครจะชอบผมอย่างไร ผมก็ไม่ยอมทิ้งบาตรหรอก ครูน้อย ครูน้ำ ครูกุล สามสาวคู่หูกันนี่ก็ดูเป็นคนดีน่ารักทุกคน แต่ผมยังไม่คิดรักเธออย่างที่ชายหนุ่มหญิงสาวรักกัน รักกันอย่างพี่อย่างน้องดีกว่านะ”

          นอกจากบ้านโยมพุ่มแล้วยังมีอีกบ้านหนึ่งอยู่ในตลาดวังทอง คือบ้านโยมสายบัว เป็นร้านค้าที่ดูไม่ใหญ่โตนัก แต่เจ้าของคือโยมสายบัวเป็นเศรษฐินีอันดับหนึ่งของวังทอง นัยว่ามีที่ดินเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ จนจำไม่ได้ว่ามีที่ดินอยู่ตรงไหนบ้าง โยมสายบัวบอกข้าพเจ้าว่า ไม่คิดจะสะสมที่ดินเลย แต่ลูกค้าของโยมนั่นแหละกู้ยืมเงินไปลงทุนในการเกษตรแล้วไม่มีเงินมาใช้หนี้  ก็เอาที่โฉนดดินมายัดเยียดขายฝากบ้าง ขายขาดบ้าง โยมก็จำใจต้องรับไว้ ด้วยคิดว่าดีกว่าไม่ได้อะไรเลย โยมสายบัวเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพี่ไฮ้มากอีกคนหนึ่ง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มีนาคม, 2566, 11:19:44 PM
(https://i.ibb.co/sPdhYvr/174-1.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ยอดด้วน (เขาสมอแคลง)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒๙ -
          เขาสมอแครงเป็นคำที่ใช้กันมาแต่เดิม  ภายหลังมีการวิพากย์วิเคราะห์ชื่อนี้แล้วตกลงเรียกกันว่า  สมอแคลง  แต่ข้าพเจ้าไม่แล้วใจ  จึงหาที่มาของศัพท์สองคำนี้  ได้จากหนังสือภาษาไทยของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร  ซึ่งข้าพเจ้าถือเป็นอาจารย์ภาษาไทยและกลอนท่านหนึ่ง เคยไปพบตัวจริงท่านที่สำนักงานหนังสือพิมพ์วิทยาสาร  และนับถือเป็นอาจารย์เรื่อยมา  ดูคำศัพท์แครง-แคลง  ของท่านแล้วได้ความว่าดังนี้  “แครง น. ชื่อหอยทะเลชนิดหนึ่ง, ภาชนะสานสำหรับตักน้ำ มีด้ามยาว, ชื่อขิงชนิดหนึ่ง. ว. อึกทึก, กึกก้อง, พราวงาม. แคลง ก. ระแวง, สงสัย เอียง, ไม่ตรง.”

          ดูตามคำศัพท์แล้ว  “แครง”  หากใช้เป็นคำวิเศษก็แปลได้ว่า  “อึกทึก,กึกก้อง,พราวงาม.

          ส่วน  “แคลง”  เป็นคำกริยาแปลว่า  “ระแวง สงสัย, เอียง ไม่ตรง”  คำกริยาที่แปลว่า  เอียง  คือไม่ตรงนี้เองที่นักวิชาการท่านถือเอาเป็นรูปลักษณ์ของรอยพระพุทธบาทตะแคง  ที่อยู่หน้าผาของภูเขาลูกนี้เป็นชื่อของภูเขาว่า  เขาสมอแคลง  แต่ข้าพเจ้ายังติดใจที่จะเรียกว่า  เขาสมอแครง  ที่แปลว่า อึกทึก,กึกก้อง.  ต่อไปตามที่คนโบราณท่านเรียกกันสืบมา

          อยู่ที่วัดเขาสมอแครงกลางวันก็เงียบเหงา  มีญาติโยมไปมาหาสู่หลวงพี่ไฮ้หลายราย  แต่ข้าพเจ้าไม่สนใจจะพูดคุยกับพวกเขานัก  กลางวันจึงมักจะเดินขึ้นตามบันไดไปไหว้รอยพระพุทธบาทตะแคง  แล้วเลยขึ้นไปบนโรงเจ  ซึ่งตอนนั้นอยู่ในสภาพโทรม ๆ  มีคนแก่เฝ้าดูแลอยู่สองสามคน  ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก  บนยอดเขาตอนนั้นเป็นป่าไม้กับวัดร้าง  นอกจากโรงเจแล้วไม่มีสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ อะไรเลย  จะว่าเป็นป่าดิบก็ว่าได้

          กลางวันเปิดวิทยุฟัง  คลื่นเสียงของวิทยุในจังหวัดพิษณุโลกเวลานั้นก็มีวิทยุพล ๔ (ว.พล ๔) เป็นหลัก  มีผู้จัดรายการต่าง ๆ หลายรายการ  รายการธรรมะมีรายการหนึ่งคือเทศน์ทุกวันพระ  แสดงโดยพระศรีรัตนมุนี  หรือเจ้าคุณแช่ม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  ท่านเทศน์แบบบรรยายองค์เดียว  เวลานั้นมีสถานีวิทยุของกองบินยุทธการคลื่นหนึ่งเปิดใหม่  ไม่มีรายการอะไร  เขาเปิดเพลงให้ฟังทั้งวัน  เสียงดังฟังชัดมาก  ข้าพเจ้าเปิดฟังมาหลายวันแล้วเกิดความคิดว่า  น่าจะไปขอจัดทำรายการเทศน์แบบ  ถาม-ตอบ (ปุจฉา-วิสัชนา)  ตามแบบอย่างที่สภาธรรมกถึกวัดพระเชตุพนฯจัดเทศน์กันทางสถานีวิทยุ วปถ.  ปรึกษาพระเพื่อน ๆ คือ พระลิขิต พระสอน  ชวนเขาให้ร่วมเทศน์กันในรายการที่จะจัดนี้  แต่เพื่อนบอกว่าไม่ถนัด  พอดีในเวลานั้นมีพระองค์หนึ่งจากโคกสำโรง ลพบุรี  อายุรุ่นราวคราวเดียวกับชข้าพเจ้า เดินทางขึ้นไปเที่ยวที่วัดเขาสมอแครง  ได้รู้จักกันไม่นาน  ข้าพเจ้าเห็นว่าการพูดจาของเขาเป็นหลักเป็นฐาน  มีเหตุผลดี  จึงชวนให้ร่วมจัดรายการเทศน์ทางวิทยุดังกล่าว  เขายินดีร่วมด้วย  จึงพากันเดินทางไปที่สถานีวิทยุนั้น

          ที่ตั้งสถานีวิทยุ ๐๑๐ กองบินยุทธการหายากสักหน่อย ข้าพเจ้า พระเกรียงศักดิ์ กตฺติวณฺโณ  เข้าไปที่สนามบินพิษณุโลก  ถามหาสถานีวิทยุนี้ได้ความว่าตั้งอยู่ท้ายสนามบินโน้น  ต้องเดินเลียบเลาะขอบสนามบินไปไกลมากทีเดียว  พอไปถึงก็พบว่าห้องส่งวิทยุอยู่มุมหนึ่งของโรงอาหารของทหารสื่อสารทหารอากาศกองบินยุทธการ  เป็นห้องเล็กแคบ  มีเจ้าหน้าที่ทำการอยู่สองสามคน  จ่าอากาศเอกเชิด สุวรรณวงศ์ เป็นหัวหน้าสถานี  ข้าพเจ้าแจ้งความประสงค์ว่าจะขอเวลาจัดรายการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ทุกวันอาทิตย์ในช่วงเวลา ๑๐-๑๑ น.  หน.สถานียินดีมาก  จึงทำผังรายการออกอากาศของสถานี  มีรายการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา  แสดงโดย อภินันทะ ภิกขุ  กับ  กิตติวัณณะ ภิกขุ ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๐-๑๑ น.  เป็นผังรายการแรกของสถานี  นอกเวลานั้นเป็นรายการเพลงล้วน ๆ  ข้าพเจ้านัดแนะฝึกซ้อมทหารเจ้าหน้าที่ของสถานีให้รู้วิธีการอาราธนาศีล อาราธนาธรรม เป็นอย่างดี

          รูปแบบการเทศน์ที่วางไว้ตายตัวคือ  เริ่มด้วยมรรคนายกกล่าคำอาราธนาศีล ๕ พระผู้เทศน์ให้ศีล  เจ้าหน้าที่ในห้องส่งกล่าวคำรับศีล  จบแล้วมรรคนายกกล่าวคำอาราธนาธรรม  พระเทศน์องค์ที่เป็นหลักตั้งนะโม  และกล่าวธรรมิกถา  ซึ่งพระนักเทศน์เราเรียกกันว่า  “อานิสงส์หน้าธรรมาสน์”  เป็นการปรารภเรื่องของการแสดงธรรมในวันนั้น

          วันแรกที่เปิดรายการเทศน์  จ่าเชิดกล่าวคำอาราธนาศีลด้วยเสียงสั่น ๆ  เพราะไม่เคยมาก่อน  รับศีลแล้วอาราธนาธรรมด้วยเสียงตะกุกตะกัก  เพราะคำอาราธนาเป็นภาษาบาลีนั้นยากหน่อย  ข้าพเจ้าทำหน้าที่ในการเทศน์เป็นผู้ถาม (ปุจฉา)  จึงเทศนาอานิสงส์หน้าธรรมาสน์  กล่าวอภิปรายในพุทธภาษิตที่ว่า  “การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา”  ปรารภถึงที่มาของการจัดแสดงพระธรรมเทศนาออกอากาศทางวิทยุ ๐๑๐ กองบินยุทธการพิษณุโลก  เพื่อเป็นการให้ธรรมเป็นทานแก่ชนทั่วไป  ผู้ฟังไม่ต้องนั่งพับเพียบพนมมือฟัง  จะยืนฟังก็ได้  เดินฟังก็ได้  นั่งฟังก็ได้  นอนฟังก็ได้  ไม่ต้องตั้งขันกัณฑ์เทศน์  ไม่ต้องถวายจตุปัจจัยแก่พระเทศน์  ขอเพียงให้ตั้งใจฟังอย่างเดียวเท่านั้นก็พอ  การตั้งใจฟังชื่อว่าเป็นการฟังด้วยดี  อานิสงส์ของการฟังด้วยดี  คือการได้ปัญญาความรู้  ไม่โง่เขลาเบาปัญญา....  เมื่อกล่าวอารัมภบทจบแล้ว  ก็กล่าวสมมุติตัวอาจารย์ผู้ปุจฉา-วิสัชนา  โดยให้พระกิตติวัณโณ เป็นผู้วิสัชนา อาตมภาพพระอภินันทะ เป็นผู้ปุจฉา.....

          เทศน์วันแรกข้าพเจ้าเลือกเอาเรื่องพระจักขุบาลในพระธรรมบทบั้นต้นมาให้พระกิตติวัณโณเล่าเรื่อง  โดยข้าพเจ้าเป็นผู้ซักถาม  วันนั้นเป็นการเทศน์ครั้งแรกของพระเกรียงศักดิ์  จึงเสียงสั่นพูดติดขัดตะกุกตะกัก  ข้าพเจ้าต้องช่วยประคับประคองไปจนจบ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มีนาคม, 2566, 11:35:01 PM
(https://i.ibb.co/YbrBznk/294010422-3482537661969775-8918726364715642074-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๐ -  
          จบจากการเทศน์ข้าพเจ้ารีบออกจากห้องส่งกระจายเสียงด้วยเนื้อตัวชุ่มโชกด้วยเหงื่อ  พระเกรียงศักดิ์ดูเหมือนจะมีเหงื่อออกมากกว่าข้าพเจ้า  จ่าเชิดกับคณะนิมนต์ให้นั่งที่โต๊ะอาหารในโรงเลี้ยงของพวกเขา  บนโต๊ะมีข้าวปลาอาหารชุดหนึ่งเพื่อถวายเป็นอาหารเพล  ผู้อยู่ในโรงอาหารหลายคนมายกมือไหว้แล้วกล่าวชมว่าท่านอาจารย์เทศน์น่าฟัง  อย่างนี้ฟังได้รู้เรื่องดีกว่าเทศน์องค์เดียวโดยการอ่านตามคัมภีร์  อย่างนั้นฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง  เพราะใช้ศัพท์แสงมากเกินไป  ข้าพเจ้าก็ได้แต่พยักหน้ารับคำกล่าวของพวกเขาเท่านั้น

          ในขณะฉันอาหารเพล  ข้าพเจ้าก็ถามจ่าเชิดผู้ทำหน้าที่หัวหน้าหรือนายสถานีวิทยุว่า  ทำไมไม่ติดแอร์ห้องส่งกระจายเสียง  อย่างนี้ร้อนมาก  ถ้าอยู่ในห้องนั้นนานกว่าคงตับแตกตายแน่ ๆ  เขาก็บอกว่ายังไม่มีเงินซื้อแอร์มาติดครับ  แล้วเขาก็บอกเล่าความเป็นมาของการตั้งสถานีวิทยุว่า

           “ทางกองบินไม่มีเงินงบประมาณจัดตั้งสถานี  แต่พวกผมซึ่งเป็นทหารช่างสื่อสารเกิดคันไม้คันมืออยากสร้างเครื่องส่งกระจายเสียงบ้าง  จึงประกอบเครื่องส่งขึ้นด้วยทุนส่วนตัวของกลุ่มผม  เมื่อสร้างเครื่องส่งกระจายเสียงได้แล้ว  ก็ขออนุญาตเจ้านายใช้ส่วนหนึ่งของโรงเลี้ยงอาหารนี้เป็นห้องส่งกระจายเสียง  เริ่มเปิดทำการทดลองส่งกระจายเสียงมาได้ ๓ เดือนแล้ว  ยังไม่มีรายการอะไร  จึงเปิดเพลงทั้งวันทั้งคืนดังที่ท่านอาจารย์ได้ฟังอยู่นั่นแหละ  เจ้านายเห็นชอบให้ชื่อสถานีวิทยุกระจายเสียง ๐๑๐ กองบินยุทธการไปพลางก่อน  ต่อไปจะมีข่าวสารต่าง ๆ และมีผู้ประกาศข่าวเหมือนสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วไป  ทุกวันนี้เรายังไม่ได้ใช้ห้องส่งกระจายเสียงอย่างเป็นงานเป็นการ  เจ้าหน้าที่เข้าไปเปิดเพลงแล้วก็ออกมา  ไม่ได้นั่งประจำอยู่ในห้องนั้น  และไม่ต้องปิดห้องป้องกันเสียงใด ๆ รบกวน  เพราะไม่ได้เปิดไมค์ใช้เสียง  วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดใช้ห้องส่งกระจายเสียงเต็มรูปแบบให้ท่านอาจารย์เทศน์กัน  ต่อไปจะต้องรายงานเจ้านายขอติดแอร์ละครับ”   ข้าพเจ้าฟังจ่ากล่าวถึงความเป็นมาดังนั้นก็ต้องร้อง   “อ้อ เป็นอย่างนี้นี่เอง”

          ใกล้ค่ำวันนั้นพวกเราไปบ้านโยมพุ่ม ถนนโค้งวังทองเช่นเคย  ปรากฏว่ามีคนคุ้นเคยพวกเดิมมาชุมนุมกันพร้อมหน้าพร้อมตา  หลายคนกล่าวชื่นชมว่าอาจารย์เทศน์เก่งจัง  ฟังสนุกตั้งแต่ต้นจนจบเลย  มีหลายคนบอกว่าเสียดายที่ไม่ได้ฟัง  เพราะไม่รู้ว่าจะมีเทศน์ทางวิทยุนั้น  ครูน้อยหนึ่งในคนงามของคณะกล่าวกระเซ้าข้าพเจ้าว่า

           “หลวงพี่เทศน์เก่งอย่างนี้น่ากลัวนะ”  ครูน้ำค้างพูดต่อว่า “น่ากลัวหลวงพี่จะต้องเอาบาตรมาทิ้งที่วังทองนี่แหละ”

          ทุกคนได้ฟังก็พากันหัวเราะครื้นเครง  ข้าพเจ้านิ่งเสีย  ไม่ยอมโต้ตอบใด ๆ

          การจัดเทศน์ทางวิทยุเป็นก้าวแรกของงานทางศาสนาซึ่งข้าพเจ้าทำที่วังทอง  คืนนั้นกลับจากบ้านโยมพุ่มแล้วพวกเรานั่งปรึกษากันว่า  ควรจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่วัดเขาสมอแครงบ้าง  ชิ้นแรกคือ  ให้หลวงพี่ไฮ้รับเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาสมอแครงเพื่อเป็นหลักของพวกเรา   ชิ้นสองตั้งสภาธรรมวิจารณ์ขึ้นที่วัดเขาสมอแครง  รับพระภิกษุที่สนใจในการเผยแผ่ธรรมะมารวมกันหัดเทศน์เพื่ออบรมสั่งสอนประชาชนไปในแนวทางเดียวกัน  โดยใช้สถานีวิทยุ ๐๑๐ เป็นสื่อ  และต่อไปจะขอเวลาเผยแผ่ธรรมะทางสถานีวิทยุ ว.พล ๔ เพิ่มขึ้นอีก
 
          วันรุ่งขึ้นหลวงพ่อพันธ์ (พระครูประพันธศีลคุณ) วัดบางสะพาน  เจ้าคณะอำเภอวังทองเดินทางมาฉันอาหารเพลที่วัดเขาสมอแครง  หลวงพี่ไฮ้เคยรู้จักหลวงพ่อพันธ์แล้ว  แต่พวกเราเป็นพระใหม่ยังไม่เคยพบปะตัวท่าน  เคยได้ยินแต่ชื่อเท่านั้น  จึงพากันกราบแนะนำตัวต่อท่าน  หลวงพ่อพันธ์เป็นพระสมถะ  ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง  ทำตัวเหมือนหลวงตาแก่ ๆ องค์หนึ่งเท่านั้น  เป็นคนน่ารักน่าเคารพสำหรับพวกเรามาก  พระองค์นี้แหละคือผู้บุกเบิกสร้างวัดขึ้นที่เชิงเขาสมอแครงด้านตะวันออก  และทำทางขึ้นไปไหว้รอยพระพุทธบาท  จัดงานนมัสการวันกลางเดือน ๓ ของทุกปี  ท่านพยายามสร้างโรงอุโบสถจนสำเร็จ  และขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าไปวัดนี้ไม่นานนัก

          หลวงพ่อพันธ์รับทราบแผนการของพวกเราและยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่  และท่านปรารภเรื่องพระพุทธรูปประธานในอุโบสถยังไม่มี  ควรจะทำอย่างไรกันดี  ข้าพเจ้าคิดถึงพระพุทธชินราชขึ้นมาทันที  ตอนที่อยู่อยุธยานั้น  เจ้าอาวาสวัดสามกอ อำเภอเสนา ได้ขออนุญาตจำลองพระพุทธชินราชวัดใหญ่พิษณุโลกเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสามกอ  ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเราควรขออนุญาตจำลองพระพุทธชินราชประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดเขาสมอแครงบ้าง  ทุกเห็นชอบเป็นเอกฉันท์  จากนั้นหลวงพ่อพันธ์ปรารภอีกเรื่องหนึ่ง  คือวัดวังทองตั้งอยู่ในตลาดวังทองปัจจุบันไม่มีเจ้าอาวาส  เจ้าอาวาสองค์เดิมต้องคดีถูกถอดถอน  ตั้งองค์ใหม่แทนก็ต้องคดีถูกถอดถอนอีก  ทั้งสององค์ยังคาวัดอยู่  อยากตั้งให้พระอภินันท์เป็นพระปลัดเข้าไปอยู่จัดการเรื่องให้เรียบร้อยจะได้ไหม  ข้าพเจ้าไม่กล้ารับปาก  กราบเรียนท่านว่า  ขอดำเนินการสร้างพระพุทธชินราชจำลองก่อนดีกว่าครับ /

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54106#msg54106)
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, เมษายน, 2566, 10:39:25 PM
(https://i.ibb.co/NTyQTFG/295933908-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53879#msg53879)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54217#msg54217)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๑ -
          เราปรึกษากันว่าจะหาช่างปั้นที่ไหนมาปั้นองค์พระพุทธชินราชจำลองกันดี  หลวงพี่ไฮ้มีคนที่รู้จักมากจึงปรึกษาผู้คนที่รู้กันนั้น ๆ  มีผู้แนะนำว่าทหารในกองทัพภาค ๓ คนหนึ่งมียศเป็นจ่า  น่าจะเป็นช่างปั้นพระพุทธชินราชจำลองได้  เพราะเขาปั้นรูปทหารไว้หลายแห่ง  จ่าคนดังกล่าวชื่อ  ทวี บูรณเขตต์   จึงสืบดูประวัติของจ่าท่านนี้ได้ความว่า     “จ่าสิบเอกทวี บูรรณเขตต์ เกิดเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕ ที่บ้านคลองเตาไห ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก  เนื่องจากครอบครัวมีฐานะไม่ดีนัก  และมีพี่น้องมากท่านจึงจบการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วต้องช่วยพ่อแม่ทำงานต่าง ๆ  ต่อมาสมัครเข้ารับราชการทหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับยศสิบตรี  ตำแหน่งช่างเขียนฝ่ายยุทธโยธา ภาคทหารบกที่ ๓ จ.พิษณุโลก  ในระหว่างรับราชการทหาร  ท่านได้มีโอกาสไปฝึกงานการหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร  ทำให้ท่านได้รับความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น  และรับราชการทหารเรื่อยมา”     เมื่อได้ความดังนั้นจึงพากันไปพบจ่าทวีในค่ายสมเด็จพระนเรศวรฯ  บอกเล่าความประสงค์ให้พี่จ่าทราบ  และขอร้องให้รับทำการปั้นพระพุทธชินราชจำลอง  พี่จ่าบ่ายเบี่ยงว่า  ปั้นรูปพระพุทธรูปไม่เป็น  เป็นแต่ปั้นรูปคน (ทหาร) เท่านั้น

          เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเราก็ถอยมาตั้งหลักหาทางให้จ่าทวีรับปั้นพระพุทธชินราชให้จงได้  มีผู้แนะนำให้ไปหาครูทิวเจ้าของ รร.ราษฎร์แห่งหนึ่งในเมืองพิษณุโลก  ผู้เป็นบิดาของจ่าทวีให้ช่วยขอร้องจ่ารับงานนี้  พวกเราก็รีบไปหาครูทิว แนะนำตัวและแจ้งความประสงค์ให้ครูทราบ  ครูทิวท่านก็ยินดีมาก  รับปากช่วยพูดกับจ่าให้  โดยขอให้มาฟังข่าวดีในวันพรุ่ง  ความสมหวังของพวกเราเริ่มเห็นรำไรขึ้นแล้ว  เวลาเย็นของวันรุ่งขึ้นเราไปพบครูทิวตามนัด  พบจ่าทวีมานั่งรออยู่ด้วย  จ่าเป็นคนไม่พูดมาก  พอเห็นหน้าพวกเราก็ยกมือไหว้แล้วกล่าวว่า  ถ้าท่านไปขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดใหญ่ให้จ่าทำการวัดสัดส่วนหลวงพ่อพระพุทธชินราชองค์จริงทุกส่วนได้  ผมยินดีจะทำการปั้นพระให้เป็นองค์แรก  พวกเรากลับไปปรึกษาหารือกันที่วัดอีกครั้ง

          ปัญหาการไปขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดใหญ่เป็นเรื่องยากยิ่ง  เพราะรู้กันทั่วไปว่าท่านเจ้าอาวาสรูปนั้นคือท่านเจ้าคุณ พระพิษณุบุราจารย์  เป็นคนประเภทเถรตรงและดุมาก  ใครจะกล้าไปเข้าขออนุญาตได้เล่า  ผลที่สุดข้าพเจ้าขออาสาไปเข้าพบขออนุญาตด้วยตนเอง  แล้วข้าพเจ้าก็ทำใจดีสู้เสือเข้าไปขอพบท่าน  เมื่อกราบและแนะนำตัวแล้ว  ท่านทักว่า

           “อ้อ ปลัดอภินันท์จากวังทองหรือ”

     ข้าพเจ้านั่งงงไม่รู้จะตอบอย่างไร  ท่านกล่าวต่อไปว่า

           “เรื่องปลัดวัดวังทองนี้พระครูประพันธ์เจ้าคณะอำเภอมาปรึกษาผมแล้ว  เห็นชอบด้วย  ขอให้ช่วยงานพระศาสนาแบ่งเบาภาระผู้ปกครองด้วยนะ”

          ข้าพเจ้าถึงบางอ้อ  เข้าใจทันทีว่าหลวงพ่อพันธ์คงต้องมากราบเรียนเรื่องของข้าพเจ้าต่อเจ้าคณะจังหวัดแล้ว  จึงกราบเรียนท่านว่า  เรื่องวัดวังทองเป็นเรื่องยุ่งยากมาก  ต้องค่อย ๆ สะสางไป  แต่ตอนนี้เกล้ากระผมมีเรื่องสำคัญเร่งด่วน  คือการสร้างพระประธานในอุโบสถวัดเขาสมอแครง  พวกกระผมลงมติเป็นเอกฉันท์ให้สร้างพระพุทธชินราชจำลอง  แต่ติดขัดเงื่อนไขของช่างว่า  จะต้องทำการวัดสัดส่วนพระพุทธชินราชองค์จริงโดยละเอียด  เพื่อปั้นจำลองให้เท่าและเหมือนองค์จริง  ทราบว่าการวัดสัดส่วนองค์พระพุทธชินราชนั้น  จะต้องได้รับการอนุญาตจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาสเสียก่อนจึงจะทำการวัดได้  กระผมจึงมากราบเรียนขออนุญาตจากพระเดชพระคุณ ขอรับ

          ท่านเจ้าคุณพิษณุบุราจารย์ฟังข้าพเจ้ากราบเรียนเรื่องอย่างรวบรัดดังนั้น  ก็นิ่งคิดอยู่ครูหนึ่งแล้วกล่าวว่า

           “เป็นการดีไม่น้อยที่จะจำลององค์พระพุทธชินราชเป็นพระประธานในอุโบสถวัดเขาสมอแครง  เพื่อให้เป็นคู่กันกับรอยพระพุทธบาทของวัดนั้น  เอานะ  ผมอนุญาตให้จ่าทวีเข้าทำการวัดสัดส่วนองค์หลวงพ่อชินราชได้  แต่ต้องเข้าทำการวัดตอนค่ำ  หกโมงเย็นวัดจะปิดพระวิหารขอให้จ่ามาเข้าทำการวัดในเวลานั้น  จนถึงเวลาประมาณสี่ทุ่มทุกวันจนกว่าจะวัดเสร็จ  ให้เขามาทำการวัดได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปเลย”

          ได้รับคำอนุญาตดังนั้นข้าพเจ้าคลานเข้าไปกาบแทบเท้าท่านแล้วลากลับไปที่บ้านครูทิวเพื่อแจ้งข่าวดีแก่พรรคพวกรวมทั้งจ่าทวีที่รอฟังอยู่  พวกเราต่างดีใจเหมือนได้แก้ว  หลวงพี่ไฮ้ถามจ่าทวีว่า  จะคิดค่าปั้นเท่าไร  จ่าบอกว่าค่าแรงผมไม่คิด  แต่ค่าวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดนั้นคิดว่าอย่างมากไม่เกินห้าหมื่น  ท่านอาจารย์เตรียมหาเงินไว้สักห้าหมื่นก็แล้วกัน

          เป็นอันว่าการสร้างพระพุทธชินราชจำลองของวัดเขาสมอแครงได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว  หลวงพี่ไฮ้เป็นประธานการหาเงินทุนสร้างพระพุทธชินราชจำลอง  ท่านเริ่มจากการบอกบุญแก่ผู้ที่เคารพนับถือท่านก่อน  แล้ววางงานให้พวกข้าพเจ้าจัดรถเดินสายบอกบุญ (เรี่ยไร) ไปตามสถานที่ต่าง ๆ  โดยว่าจ้างรถสองแถวของพี่พ่วงวังทองออกวิ่งตะลอน ๆ ไปทั่ว  ในขณะที่จ่าทวีเข้ากราบท่านเจ้าคุณพิษณุบุราจารย์แล้วเริ่มทำการวัดสัดส่วนองค์พระพุทธชินราช  เวลานั้นข้าพเจ้าทำงานพร้อมกันสองงานคือ  งานเทศน์ทางวิทยุ  กับงานออกบอกบุญหาเงินสร้างพระพุทธชินราชจำลอง

          วันหนึ่งที่บ้านโยมพุ่ม  พวกสาว ๆ พูดกันหลายเสียงว่าหลวงพี่ทำงานใหญ่คือการสร้างพระพุทธชินราชจำลองคงต้องใช้เวลานานแรมปี  อย่างนี้ก็กลับกรุงเทพฯ ไม่ได้แล้ว  เห็นว่าต้องอยู่วังทองต่อไปอีกนานและต้องเอาบาตรมาทิ้งเหมือนคนอื่น ๆ  แล้วพวกเธอก็ยกตัวอย่างบุคคลต่างถิ่นที่เป็นพระมาเที่ยววังทองเพลิดเพลินจนลืมกลับบ้าน  ที่สุดก็ต้องทิ้งบาตรสึกออกมามีครอบครัว  ข้าพเจ้าโต้แย้งว่า  หลวงพี่ต้องไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน  ครูน้อยถามว่า  หลวงพี่ไปหาหลวงพ่อพันธ์วัดบางสะพานน่ะเดินลอดผ่านต้นมะขามใหญ่ริมแม่น้ำวังทองหรือเปล่า  ข้าพเจ้าตอบตามจริงว่าก็เดินลอดผ่านไปมาหลายครั้งแล้ว  เป็นไรหรือ  ครูน้ำค้าตบมือฉาดร้องว่า   “อยู่แน่นอน  หลวงพี่กลายเป็นคนวังทองไปแล้ว”    ข้าพเจ้ายื่งงงใหญ่เลย  โยมพุ่มกล่าวเสริมว่า   “มะขามใหญ่ต้นนั้นมีอายุเป็นร้อยปีศักดิ์สิทธิ์นัก  มีคนเห็นว่าบนต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขายาวใหญ่นั้น  วันดีคืนดีก็มีหญิงสาวสวยยืนถ่างขาบ้าง  นั่งห้อยขาบ้าง  นอนเอกเขนกบ้าง  อยู่ตามกิ่งใหญ่ของมะขามนั้น  คนต่างถิ่นที่มาเดินลอดผ่านกิ่งมะขามใหญ่มักจะกลลับบ้านเดิมไม่ได้  ต้องอยู่วังทองตลอดไป  อย่างหลวงพันธ์นั้นท่านเป็นคนนครไทย  เดิมเป็นตำรวจมาวังทองและลอดผ่านต้นมะขามใหญ่  กลับนครไทยไม่ได้  จึงลาออกจากตำรวจแล้วบวชเป็นพระอยู่ขนทุกวันนี้”    พวกเราฟังแล้วรู้สึกทึ่ง  แต่ไม่เชื่อ  วันรุ่งขึ้นจึงชวนกันไปพิจารณาดูต้นมะขามใหญ่นั้น  เห็นอยู่ริมแม่น้ำวังทองในสภาพ   “เป็นไม้ใกล้ฝั่ง”   จึงลองวัดขนาดด้วยการจับมือสี่องค์วงรอบต้น  ได้สี่คนโอบพอดี  เดินเลยไปวัดบางสะพาน  สนทนากับหลวงพ่อพันธ์แล้วถามถึงเรื่องที่โยมพุ่มเล่าให้ฟังนั้นเป็นเรื่องจริงไหม  ท่านรับว่าจริง  คืนวันหนึ่งเคยเห็นผู้หญิงอยู่บนต้นมะขามนั้น  ว้าว.... /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, เมษายน, 2566, 11:00:13 PM
(https://i.ibb.co/mRZ1nGN/1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดราชธานี สุโขทัย

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๒ -
          คำว่า  “เอาบาตรไปทิ้ง”  เป็นคำที่ไทยภาคกลางพูดกันมาแต่โบราณแล้ว  แสดงให้เห็นภาพวัฒนธรรมไทยเกี่ยวกับเรื่องราวของนักบวช  คือเมื่อก่อนนี้บ้านเมืองยังไม่เจริญด้านวัตถุมากนัก  พระภิกษุทุกรูปทุกองค์จะเดินทางไปไหน ๆ ก็ต้องนำบาตรของตนติดตัวไปด้วย  เพราะบาตรเป็นสิ่งของสำคัญประจำตัวเช่นเดียวกับไตรจีวร  ทุกเช้าต้องอุ้มหรือสะพายบาตรออกเดินรับอาหารบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของพระภิกษุ  ถ้าไปถึงที่บ้านตำบลใดพระภิกษุนั้นเกิดความรักใคร่ชอบพอหญิง (สีกา) คนใดแล้วลาสิกขาสึกออกไปอยู่กินเป็นสามีภรรยากับหญิงนั้น  เขาเรียกกันว่า  “ทิ้งบาตร”  คือเลิกใช้บาตรอีกต่อไปแล้ว  แต่พระภิกษุในสมัยข้าพเจ้าไปไหน ๆ ไม่ต้องเอาบาตรติดตัวไปด้วยแล้ว  เพราะเป็นสมัยที่บ้านเมืองเราเจริญในด้านวัตถุแล้ว  มีบาตรใช้มากมาย  พระบวชใหม่ทุกองค์เมื่อลาสิกขาแล้วก็ทิ้งบาตรของตนไว้ตามวัด  ไม่เอากลับไปบ้าน  พระอาคันตุกะไปถึงวัดใดก็ขอใช้บาตรในวัดนั้น ๆ ได้  ดังนั้นคำว่า  “ทิ้งบาตร”  ก็นำมาใช้กับพระสมัยข้าพเจ้ามิได้  ความคิดของสาว ๆ วังทองที่ว่าข้าพเจ้าจะต้องทิ้งบาตรเสียที่วังทองนั้น  คงไม่สมความคิดของพวกเธอ

          พีจ่าทวีทำการวัดสัดส่วนองค์พระพุทธชินราชแล้วเสร็จในเวลาไม่ถึงเดือน  เริ่มทำการปั้นองค์พระที่บริเวณมุมนอกกำแพงด้านเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) พิษณุโลกนั่นเอง  ข้าพเจ้าแวะเวียนไปดูความคืบหน้าในการปั้นองค์พระของท่านบ่อย ๆ  ท่านบอกว่าจะปั้นแบบแยกส่วน  คือ พระเศียร แขน องค์ ขา  เมื่อเสร็จแล้วจึงจะประกอบเป็นองค์สมบูรณ์  ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้  ก็ได้แต่พยักหน้ารับรู้ไว้เท่านั้นเอง

          ในขณะที่พี่จ่าทวีเริ่มปั้นองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองนั้น  พวกเราก็ออกตะเวนบอกบุญเรี่ยไรหาทุนมาเป็นค่าสร้างองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองต่อไป  วันหนึ่งไปถึงตัวเมืองสุโขทัยเป็นเวลาเย็นแล้ว  จึงเข้าไปในวัดราชธานีซึ่งตั้งอยู่กลางตลาดเมือง  ตั้งใจจะขออาศัยพักแรมคืน  จึงเข้าไปกราบท่านเจ้าอาวาส  คือท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) ที่คนทั่วไปเรียกท่านว่า  “เจ้าคุณโบราณ”  เพราะท่านครองพระราชทินนามพระราชาคณะชั้นสามัญที่  “พระโบราณวัตถาจารย์”  อยู่เป็นเวลานาน  จนคุ้นปากคุ้นหูชาวบ้าน  ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน  เมื่อเข้าไปกราบท่านแล้วบอกเล่าถึงเหตุที่มาเที่ยวบอกบุญเรี่ยไรแล้ว  ท่านก็บอกยินดีด้วย  คืนนั้นท่านให้นอนที่กุฏิท่านซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เก่า  ก่อนนอนก็ได้สนทนาวิสาสะกัน  พอทราบว่าข้าพเจ้าเป็นพระจากอยุธยา  มีบ้านเกิดบิดาอยู่อำเภอผักไห่  ใกล้บ้านเดิมของท่านที่อยู่บ้านมหาดไทย อำเภอเมืองอ่างทองเขตติดต่อผักไห่อยุธยา  ท่านก็ว่าเราคนบ้านเดียวกัน  ถ้าไม่กลับกรุงเทพฯ และไม่ได้เรียนอะไรต่อแล้วก็มาอยู่ด้วยกันเถิด  อยากจะจัดตั้งห้องสมุด  แต่หาคนจัดการไม่ได้พอดีเลย  ข้าพเจ้าก็ได้แต่รับปากท่านว่า   ”ขอรับกระผม”

          กลับจากไปบอกบุญเรี่ยไรในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย  ดูยอดเงินในบัญชีที่ได้จากคนใจบุญมาห้าหมื่นบาทเศษ  เห็นว่าพอให้ค่าจ้างจ่าทวีแล้ว  จึงยุติการออกเที่ยวบอกบุญเรี่ยไร  และก็เป็นเวลาใกล้จะสิ้นเดือน ๗ แล้วด้วย  จึงมอบให้หลวงพี่ไฮ้กับพระสอนสองน้าหลานเป็นผู้เก็บรักษาเงินทั้งหมดเพื่อจ่ายให้จ่าทวีต่อไป  ตอนนั้นพระลิขิตขอกลับกรุงเทพฯ ก่อนเพื่อไปเรียนต่อ  ยังเหลือเพียงข้าพเจ้า  พระเกรียงศักดิ์  และพระสอน  หลวงพี่ไฮ้เท่านั้น

          ข้าพเจ้ายังมีปัญหาที่แก้ไม่หลุดคือการเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐  ที่ยังเทศน์กันอยู่กับพระเกรียงศักดิ์สององค์  หาพระมาเสริมเพื่อสืบต่อยังไม่ได้  เวลาก็ใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว  จะทำอย่างไรกันดี  ถ้ากลับกรุงเทพฯ ตามเจตนาเดิม  หาคนเทศน์แทนไม่ได้  รายการนี้ก็ต้องยกเลิกไป  ปรารภเรื่องนี้กับเจ้าหน้าทางสถานี  ทุกคนเห็นต้องกันว่ารายการนี้ไม่ควรเลิก  เพราะมีคนฟังมากมายจนสถานีนี้ก้าวขึ้นอยู่แนวหน้าของคลื่นเสียงในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์แล้ว  ขอให้อาจารย์อยู่ทำรายการต่ออย่ากลับกรุงเทพฯ เลย

          พวกสาว ๆ วังทองที่เคยปรามาสข้าพเจ้าไว้  ส่วนมากดีใจที่ข้าพเจ้าจะต้องอยู่วัดเขาสมอแครงต่อไปเพื่อจัดทำรายการเทศน์ทางวิทยุนั้น  ข้าพเจ้าคิดหนักต้องการเอาชนะคำปรามาสของพวกเธอ  ได้สอบถามถึงรถโดยสารประจำทางสายสุโขทัย-พิษณุโลกแล้ว  ทราบว่าใช้เวลาการเดินทางไม่เกิน ๑ ชั่วโมง (ระยะทาง ๕๐ กม.เศษ)  จึงคิดว่าหากเราไปอยู่กับท่านเจ้าคุณโบราณวัดราชธานี  แล้วเดินทางมาเทศน์วิทยุที่พิษณุโลกไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  กะว่าทุกวันอาทิตย์ฉันอาหารเช้าแล้วเวลา ๐๘,๐๐ น,เศษ  ก็นั่งรถโดยสารประจำทาง  อย่างช้าถึงพิษณุโลกเวลา ๐๙.๐๐ น.เศษ  ก็ทันเวลาเทศน์ตอน ๑๐.๐๐ น.  จึงตกลงใจไปอยู่วัดราชธานี เมืองสุโขทัย  โดยไม่บอกให้คนวังทองและเพื่อน ๆ พระรู้ล่วงหน้า

          พวกสาว ๆ วังทองพากันถามอย่างเยาะ ๆ ว่า

           “ใกล้เข้าพรรษาแล้ว  หลวงพี่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ วันไหนคะ  พวกเราจะไปส่งที่สถานีรถไฟค่ะ”

          ข้าพเจ้าก็ได้ยิ้มแทนคำตอบ ใจก็คิดว่า

           “คอยดูไปเถิดแม่สาวหน้าเป็นทั้งหลาย  ฉันไม่อยู่วังทองให้สมใจเธอหรอกย่ะ”

          คิดดังนั้นแล้วก็ทำตนเป็นปกติ ไม่อนาทรร้อนใจอันใดเลย

          วันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๘ ปี ๒๖๐๗ นั้น  ข้าพเจ้าเดินทางจากวัดเขาสมอแครงเข้าอยู่วัดราชธานีเมืองสุโขทัยอย่างเงียบ ๆ  โดยไม่บอกลาชาววังทองให้รู้เลย  พระสอน  หลวงพี่ไฮ้  พระเกรียงศักดิ์ ก็รู้ในวันเดินทางจากพวกเขาไปนั่นเอง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, เมษายน, 2566, 10:30:35 PM
(https://i.ibb.co/BC0sRz7/295174860-1.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๓ -
          ท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) ที่คนทั่วไปเรียกท่านว่า  “เจ้าคุณโบราณ”  จัดที่ให้ข้าพเจ้าอยู่นั้นคือ  กุฏิไม้โบราณ ๒ ชั้นหลังใหญ่ที่เคยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์  ก่อนนั้นเป็นเรือนที่คุณหลวงสกลพลากรถวายให้เป็นกุฏิสงฆ์วัดราชธานี  ท่านเจ้าคุณ (ซึ่งต่อมาข้าพเจ้าเรียกท่านว่าหลวงพ่อ) อาศัยอยู่ชั้นล่าง  ให้ข้าพเจ้าอยู่ชั้นบน  มีอาคารไม้ ๒ ชั้นใหญ่อีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน  หลังนี้เป็นอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมชื่อ  โรงเรียนวินัยสาร  มีหมู่กุฏิสงฆ์ตั้งอยู่เป็นวงหลังโรงเรียนวินัยสารและกุฎีสกลพลากรที่ข้าพเจ้าอยู่  ด้านหน้ากุฏิเป็นบ่อหรือสระน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยผักตบชวา  ในบ่อมีปลาดุกปลาช่อนปลาสวายขนาดใหญ่อยู่รวมกับปลานานาอีกมากมาย  เรียกกันว่า  “บ่อปลา”  มีคนไปดูปลาและให้อาหารปลากันวันละไม่น้อย  ใต้ถุนกุฏิและโรงเรียนมีน้ำขังอยู่และเป็นที่อาศัยของเต่า-ตะพาบเป็นจำนวนมาก  ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือกุฏิเป็นที่ตั้งโรงอุโบสถหลังใหญ่  ริมบ่อปลาทางตะวันตกมีวิหารหลวงพ่อเป่าหรือหลวงพ่อเป๋า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด   ด้านวิหารหลวงพ่อเป่ามีวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่เรียกชื่อว่า  หลวงพ่อโต  จากนั้นเป็นถนนที่ตัดผ่านวัดจากด้านใต้ไปทางเหนือ  เลียบแม่น้ำยมไปถึงบางแก้วชื่อถนนราชธานี  ตรงข้ามกับโบสถ์ริมถนนด้านตะวันตกมีพระพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่นั่งห้อยพระบาท  มือยกซ้ายขึ้นดูเหมือนกวัก  หงายมือขวา  เรียกกันว่าพระประทานพร  ด้านหลังพระประทานพรมีหอระฆัง  ศาลาการเปรียญ  และหมู่กุฏิสงฆ์วงรอบศาลานั้นซึ่งตั้งติดริมแม่น้ำยม  บริเวณด้านใต้ศาลาการเปรียญมีอาคารร้านค้าเรือนไม้  เป็นตลาดธานีเดิมก่อนที่จะขยายออกไปรายรอบเป็นเหมือนกำแพงวัดราชธานี  ด้านใต้วัดเป็นถนนหลวงชื่อจรดวิถีถ่อง  ทอดสายข้ามแม่น้ำยมด้วยสะพานพระร่วง  ยาวไปจนถึงจังหวัดตาก  นี่คือสภาพของวัดราชธานีในกาลที่ข้าพเจ้าไปอยู่เมื่อปี ๒๕๐๗

          ดูสภาพวัดราชธานีดังกล่าวแล้ว  วัดนี้เหมือน  “อกแตก”  เพราะมีถนนผ่าผ่านกลางวัดไป  จนดูเหมือนเป็นสองวัด  ทางฝั่งฟากตะวันออกที่ข้าพเจ้าอยู่มีหอฉันหลังย่อมเป็นที่รวมฉันอาหารของพระเณรที่อยู่ทางฝั่งนี้  ทางฝั่งฟากตะวันตกมีโรงครัวและหอฉันสำหรับพระเณรฉันอาหารอีกคณะหนึ่ง  ส่วนข้าพเจ้านั้น  หลวงพ่อเจ้าคุณฉันอาหารรวมกับท่านที่มุมหนึ่งของอาคารโรงเรียน  โดยมีแม่ครัวนำอาหารจากโรงครัวมาถวายทุกมื้อ อาหารที่แม่ครัวปรุงนั้นจัดซื้อหาผักปลาเครื่องครัวนานาโดยเงินที่ได้จากผู้ที่มากราบไหว้หลวงพ่อเป่าพระศักดิ์สิทธิ์ในวิหาร  ใส่เงินลงรวมไว้ตู้รับบริจาค  หลวงพ่อเจ้าคุณให้เปิดตู้นั้นเดือนละครั้ง  แต่ละครั้งได้เงินบริจาคไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ บาท  จะเรียกว่าหลวงพ่อเป่าเลี้ยงพระเณรวัดราชธานีก็ได้  ก่อนเข้าพรรษา ๑ วัน มีพระชาวจังหวัดอ่างทองบ้านเดียวกับหลวงพ่อเจ้าคุณ  ชื่อพระไพฑูรย์ โฆสิตธมฺโม มาขออยู่ด้วยอีกองค์หนึ่ง  พระองค์นี้อายุน้อยกว่าข้าพเจ้า ๑ ปี  เป็นศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ  แต่ท่านไม่คล่องแคล่วเหมือนพระอาจารย์  ดูเหมือนประสาทท่านจะเฉื่อยชาอยู่สักหน่อย

          เข้าพรรษาแรกที่วัดราชธานีของข้าพเจ้าฐานะพระใหม่ของวัดจึงไม่มีงานอะไรทำ  หลวงพ่อเจ้าคุณมอบหมายให้คัดเลือกหนังสือจัดทำห้องสมุดของวัด  โดยใช้ชั้นล่างของกุฏิสกลพลานั่นแหละ  หลวงพ่อเจ้าคุณย้ายไปอยู่ตรงมุขหน้าชั้นล่างของโรงเรียน  ท่านเกรงว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ไหว  จึงขอให้ พระมหาทองสุข พระมหาวีรศักดิ์ พระมหาประสิทธิ์ จากวัดไทยชุมพล มาช่วยคัดเลือกหนังสือด้วย  แต่พวกเราก็จนปัญญา  เพราะหนังสือที่ท่านให้คัดเลือกนั้นไม่ใช่หนังสือไทยธรรมดา  แต่ส่วนมากเป็นคัมภีร์สมุดข่อย  ใบลาน  ที่เป็นอักษรขอมบ้าง  อักษรไทยที่เขียนแบบโบราณบ้าง  อย่างตำรายาที่เขียนว่า  “นำพิง นำตาลิง กินกได ทาก่ได ไมหายตายแล”  อ่านแล้วต้องหาความ  กว่าได้ชัดๆ ว่า  “น้ำผึ้ง น้ำตำลึง กินก็ได้ ทาก็ได้ ไม่หายตายแล”  พวกเราพยายามทำกันอยู่เดือนกว่าก็ต้องบอกลา   พระมหา ๓ รูปนั้นอ้างว่าต้องสอนนักเรียนมาก  ไม่มีเวลามาช่วย  ข้าพเจ้าก็บอกท่านตรง ๆ ว่าทำไม่ได้  และเวลานั้นต้องค้นคว้าวิชาการด้านศาสนาเพิ่มเติมเพื่อนำไปแสดงทางสถานีวิทยุด้วย  ดังนั้นจึงขอเพลางานด้านการคัดเลือกหนังสือเก่าของหลวงพ่อไปพลางก่อน

          วันอาทิตย์แรกของพรรษานั้น  ข้าพเจ้านั่งรถโดยสารไปพิษณุโลกแต่เช้า  หลังเทศน์ทางวิทยุเสร็จแล้ว  จ่าเจ้าหน้าสถานีวิทยุก็อาสาขับรถจิ๊บไปส่งที่สุโขทัย  ส่วนพระเกรียงศักดิ์ขอนั่งรถสองแถวกลับวัดสมอแครงเอง  การจัดรายการวิทยุของข้าพเจ้าจึงไม่มีปัญหา  วันต่อ ๆ มามีเจ้าของร้านอาหารใหญ่ใกล้วงเวียนหอนาฬิกาเมืองพิษณุโลกแจ้งแก่ทางสถานีวิทยุว่า  จะขอเป็นเจ้าภาพถวายอาหารเพลแก่พระเทศน์ทุกวันอาทิตย์  พอเทศน์จบขอให้เจ้าหน้าที่นำพระไปฉันอาหารที่ร้านได้เลย  เรื่องอาหารก็หมดห่วงไปอีกเปลาะหนึ่ง

          วันเสาร์หนึ่งหลังเข้าพรรษาได้ประมาณครึ่งเดือน  จู่ ๆ สามครูสาวจากวังทองก็โผล่หน้าเข้าไปที่กุฏิของข้าพเจ้า  ทำเอาตกใจมากเลย  ถามเธอว่ามาได้ยังไงเนี่ย  เธอก็ว่านั่งรถเมล์มาน่ะซี  หลวงพี่ทำไมหนีพวกหนูมาเฉย ๆ จะบอกลาซักคำก็ไม่มี  ใจดำจังเลยนะ  เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วฟังวิทยุบอกว่าอยู่วัดราชธานี เมืองสุโขทัย  หนูก็พากันมาหาจนพบนี่แหละ  ดูซิว่าจะหนีไปไหนได้อีก  พวกเธอต่อว่าฉอด ๆ  ข้าพเจ้าก็ได้แต่นั่งฟังเฉย ๆ  เมื่อพวกเธอหยุดเจื้อยแจ้วกันแล้ว  ข้าพเจ้าก็อธิบายเหตุผลที่จากมาให้เธอฟังจนหมดความข้องใจ  แล้วฝากคำคิดถึงไปให้ญาติโยมชาววังทองทุกคนด้วย  ในพรรษานี้คงไม่ได้ไปพบญาติโยมที่วังทองหรอก  รอไว้ออกพรรษาแล้วจึงจะไปพบกัน  หลังจากพวกเธอลากลับไปแล้วพระไพฑูรย์ถามว่าพวกเธอเป็นใคร  มาจากไหน  ก็บอกเล่าความเป็นมาให้ฟัง  พระไพฑูรย์บอกว่า  สังเกตเห็นว่าคนชื่อน้อยผู้สวยที่สุดในหมู่พวกนั้น  เขาจะชอบคุณมากนะ  ข้าพเจ้าก็ตอบว่า  ผมไม่เคยสังเกตนะ  และก็ไม่ได้คิดอะไรในเรื่องชู้สาวด้วย  พระไพฑูรย์ก็หัวเราะหึ ๆ แล้วเงียบไป /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, เมษายน, 2566, 11:00:36 PM
(https://i.ibb.co/rFYgn12/295015731-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๔ -
          ในพรรษานั้นมีพระเณรจำอยู่ในวัดราชธานีทั้งหมด (ถ้าจำไม่ผิด) ประมาณ ๓๐   เป็นพระหนุ่มไม่เกิน ๑๐ รูป  สามเณร ๔   นอกนั้นเป็นพระหลวงตาทั้งหมด  ทางฝั่งที่ข้าพเจ้าอยู่มีพระอาวุโสสูงสุดคือหลวงพ่อเจ้าคุณ  รองลงไปคือเจ้าอธิการบุญมี (เจ้าคณะตำบลธานี)  พระครูสมุห์แถวผู้ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ หลวงพ่อเจ้าคุณ  พระมหาคำสิงห์  และหลวงตาอีกหลายรูป  ทางฝั่งศาลาการเปรียญ มีพระครูใบฎีกาเทศน์  พระธูป  พระชวน  พระชู  พระเจริญ  และหลวงตาอีกหลายรูป  ข้าพเจ้าเที่ยวไปทำความรู้จักกับพระทุกองค์  พบว่ามีหลวงตาองค์หนึ่งมีความเป็นมาน่าสนใจ  เขาเรียกท่านว่า  พระครูเปลี่ยน  สอบถามถึงปูมหลังของท่านทราบว่าหลวงตาองค์นี้เคยบวชสมัยหนุ่ม  อยู่นานจนมียศตำแหน่ง เป็นเจ้าอาวาส  เจ้าคณะอำเภอศรีสำโรง  มีสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในพระราชทินนามที่ พระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ (ถ้าจำไม่ผิด)  ต่อมาท่านเกิดความเบื่อหน่ายในการบริหารงานปกครอง  จึงลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส  ไม่มีภรรยา  เพราะท่านไม่ได้ตั้งใจสึกออกไปเพื่อมีเมียมีลูกเหมือนคนอื่น แต่สึกเพราะเบื่อหน่ายในการปกครอง  จึงได้แต่อาศัยญาติบ้าง  บรรดาศิษย์ของท่านบ้าง  ในขณะที่เป็นฆราวาสนั้นท่านนุ่งขาวห่มขาวรักษาศีล ๕ อยู่เป็นนิจ  ถึงวันพระก็รักษาอุโบสถศีลเป็นประจำ  ท่านตัดสินใจกลับมาบวชเป็นพระอีกได้ ๒ พรรษาแล้ว  พระครูเปลี่ยนเป็นคนสุภาพเรียบร้อย  อ่อนน้อมถ่อมคนอย่างน่ารักเคารพนับถือมาก

          ย้อนกลับไปดูปูมหลังของวัดราชธานีจากเอกสารเก่าได้ความมาว่า  “วัดราชธานี แต่เดิม ชื่อว่า วัดป่าละเมาะ เพราะสภาพที่ตั้งล้อมรอบด้วยป่าละเมาะ ต่อมาเปลี่ยนชื่อตามสภาพที่ตั้งเป็น  “วัดท่านี้”  อันเนื่องด้วยมีท่าเรือข้ามฟาก  ที่ใช้เป็นจุดเชื่อมค้าขายระหว่างคลองแม่รำพันจากด้านเหนือคือ เมืองเชลียง  จนกระทั่งต่อมาได้กร่อนคำเป็น  "วัดธานี "  สืบมาจนกระทั่งสมัย  “พระราชธานี”  เจ้าเมืองสุโขทัยในขณะนั้น  ได้ให้มีการบูรณะวัด พร้อมเปลี่ยนชื่อว่า  “วัดราชธานี"  สืบมาจนปัจจุบัน  เป็นวัดที่มีตำนานเล่ากันมาว่า  "พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อครั้งเป็นเด็กเคยมาอาศัยอยู่กับบิดา"  พร้อมกันนั้นวัดราชธานีแห่งนี้ยังเคยเป็นสาขาพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗  เนื่องจากวัดแห่งนี้มีการรวบรวมโบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุ ไว้เป็นจำนวนมาก  ทั้งในอดีตประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  เคยเสด็จฯ มานมัสการพระโบราณวัตถาจารย์ (ทิม ยสทินโน) เจ้าอาวาสในขณะนั้นด้วย”

          สรุปได้ว่าวัดราชธานีเดิมเรียกกว่าวัดป่าละเมาะ  ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่าท่านี้  เพี้ยน ธานี เจ้าเมืองสุโขทัยได้ทำการบูรณะวัดแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น  “ราชธานี”  ตามนามของท่าน  วัดนี้เริ่มเจริญขึ้นเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงพอใจพระสมุห์ทิม ยสทินโน วัดอนงคาราม  จึงให้ส่งมาเป็นเจ้าอาวาสวัดราชธานี  และตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวง (อำเภอ) เมือง ควบอำเภอกงไกรลาศและตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระครูวินัยสาร  พระครูทิมได้จัดตั้งโรงเรียนสอนนักธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดสุโขทัยที่วัดนี้  ดังความในเอกสารที่บันทึกไว้ว่า   “ในพรรษานั้นได้จัดตั้งโรงเรียนนักธรรมชั้นตรีขึ้น  มีพระเข้าเรียน ๑๘ องค์  ต่อมาเข้าสอบที่สนามหลวงได้ ๑๐ องค์  ในปีต่อมาก็มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี  จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น ๑ หลัง มี ๒ ชั้น ชื่อว่า  “โรงเรียนวินัยสารวิทยา”

          หลวงพ่อเจ้าคุณเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  สมัยก่อนนี้วัดราชธานีเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมมีความเจริญมาก นักเรียนในสำนักนี้ก้าวหน้าในการศึกษาเป็นพระนักธรรมพระเปรียญ พระมหาหลายองค์สึกออกไปรับราชการเป็นใหญ่เป็นโตหลายคน ต่อมาสำนักเรียนเสื่อมโทรมลงจนไม่มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมที่วัดราชธานีอย่างที่ข้าพเจ้าเห็นอยู่ กาลนั้นพระเณรเรียนนักธรรมกันที่วัดคูหาสุวรรณซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดราชธานี และเรียนนักธรรมบาลีที่วัดไทยชุมพลที่อยู่ตอนเหนือตลาดเมืองสุโขทัย ข้าพเจ้ารับทราบข้อมูลดังนั้นแล้วรู้สึกสะท้อนใจ จึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูสภาพโรงวินัยสารวิทยาของหลวงพ่อเจ้าคุณให้กลับคืนมาอีกได้หนอ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, เมษายน, 2566, 11:29:41 PM
(https://i.ibb.co/4ZTP4zt/71494014-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๕ -
          จะทำงานอะไรให้แก่วัดราชธานี  เห็นทีต้องย้อนกลับไปดูประวัติของท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) ก่อน  เพราะท่านมีความสำคัญต่อวัดราชธานีและเมืองสุโขทัยมาก  เปิดปูมหลังของท่านดูพบความเป็นมาของท่านดังต่อไปนี้

          ท่านเจ้าคุณ พระราชประสิทธิคุณ (ทิม) หรือ พระโบราณวัตถาจารย์ เดิม ชื่อ “ขาว” ชื่อสกุล มุ่งผล เกิดวันที่ เท่าไรไม่ปรากฏ ทราบเพียงว่า เกิดวันเสาร์ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ที่บ้านไผ่ดำ ตำบลไผ่ดำ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง (ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น ตำบลบางจัก ขึ้นกับ อำเภอวิเศษไชยชาญ) โยมบิดาของท่านชื่อ นายแป้น โยม มารดาของท่านชื่อ ทองอยู่ มีอาชีพทำนา มีพี่น้องรวมท้องเดียวกัน ๔ คน คือ ๑. นายปาน  ๒. นางลับ  ๓. นายขาว หรือ ทิม (พระราชประสิทธิคุณ)  ๔. นางบุญรอด  โยมมารดานั้นคลอดบุตรคนสุดท้องแล้วก็ได้ถึงแก่กรรม  ต่อมาไม่ช้านาน  บิดาได้นำเด็กชายขาวไปฝากพระอาจารย์อ่ำไว้ที่วัดมหาดไทย  ตามคำสั่งภรรยาก่อนตายว่าให้นำเด็กชายขาวไปฝากกับพระอาจารย์อ่ำให้จงได้  เด็กชายขาวจึงอยู่วัดแต่นั้นมา

          เหตุที่เด็กชายขาวจะเปลี่ยนชื่อเป็นเด็กชายทิมนั้น  ก็เพราะเมื่อมารดาถึงแก่กรรมใหม่ ๆ  ปู่ทวดได้อุปการะอยู่  วันหนึ่งนั่งอยู่กับปู่ทวด  เด็กชายขาวซึ่งพอรู้ความแล้ว  เห็นไฝเม็ดหนึ่งอยู่ที่ใต้คางของปู่  เขาจึงเอามือจับดู  แล้วถามว่านี่คืออะไร?  ปู่ตอบว่า  “เม็ดทับทิม”  เด็กชายขาวบอกว่าอยากได้  ปู่จึงยกให้  แล้วปู่ทวดจึงบอกแก่คนทั่วไปว่า  ต่อไปอย่าให้ใครเรียกว่าเด็กชายขาวอีก  ให้เรียกว่า  เด็กชาย  “ทิม”  นับแต่นั้นมาเด็กชายขาว  จึงมีนามใหม่ตามที่ปู่ทวดตั้งให้

          ส่วน นายปาน พี่ชายนั้น  โยมบิดาเอาไปฝากไว้กับ หลวงพ่อพูล พระอุปัชฌาย์ วัดประสาทบ้านแพ ตำบล ตะพุ่น (ปัจจุบันคือ ตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) และเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี เมื่อบวชเป็นพระแล้ว  ไปจำพรรษาที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ  ได้เล่าเรียนหนังสือขอม สำหรับเด็กชายทิมนั้น  เมื่อมาอยู่วัดมหาดไทย  ก็ได้เล่าเรียนหนังสือไทย  หนังสือขอม  จนพออ่านออกเขียนได้  ต่อมาพระอาจารย์อ่ำได้ย้ายไปอยู่ที่วัดท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอวิเศษไชยชาญ  เด็กชายทิมก็ได้ตามพระอาจารย์อ่ำไปอยู่ที่วัดนั้นด้วย  พอออกพรรษาแล้วพระอาจารย์อ่ำก็ล่องเรือลงมาที่กรุงเทพฯ  เด็กชายทิมก็ได้ติดตามอาจารย์ลงมาเยี่ยมญาติที่คลองราชบูรณะ  และไปอยู่ที่วัดเสือรอด ( วัดสารอด ? )  และเข้าเรียนหนังสือ  ต่อมาสอบได้ชั้น ๒ ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ คลองบางหลวงแล้ว  พระพี่ชายก็มารับไปไว้ที่วัดสุทัศเทพวรารามด้วยกัน  และได้บวชเณรเรียนหนังสือไทยชั้น ๓  มีพระครูเงิน เป็นครูใหญ่  เมื่อสอบไล่ชั้น ๓ แล้วก็จำต้องสึกจากเณรเพื่อกลับบ้านไผ่ดำ ที่อ่างทอง  ช่วยโยมบิดาทำนาจนอายุได้ ๒๐ ปี  จึงไปบวชที่วัดประสาท กับพระอุปัชฌาย์พูล, พระอาจารย์หร่ำ วัดประสาท กับพระอาจารย์แพ วัดมหาดไทย เป็นพระคู่สวด  ได้ฉายาว่า ยสทินฺโน พอบวชเสร็จแล้วก็ล่องเรือลงมาอยู่วัดสุทัศน์เทพวราราม กับ พระปานผู้เป็นพี่ชายอีก  พอดีใกล้เข้าพรรษาที่วัดสุทัศน์ฯ ปิดบัญชีรับพระเสียแล้ว  ไม่รับอีกต่อไป  พระพี่ชายจึงพาไปฝากไว้ที่วัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต กรุงเทพฯ กับพระประสิทธิคุณ (แดง) เจ้าอาวาสวัดสมอแคลง (คือ วัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพฯ) ๑ พรรษา  พอออกพรรษาแล้วบรรดาพวกญาติ ๆ ได้นิมนต์ให้มาจำพรรษาที่วัดราชสิทธาราม หรือ วัดพลับ (เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี)  ได้เรียนบาลีกับพระอาจารย์คง อยู่ ๒ ปี  จากนั้นย้ายมาอยู่วัดอนงคาราม (เขต คลองสาน ธนบุรี) เรียนมูลกับ พระอาจารย์ดิสส์ ลูกศิษย์พระอาจารย์ช้าง แล้วเรียนบาลีธรรมบทกับพระอาจารย์ชวด และพระอาจารย์หนู  จบ ๒ บั้นต้น บั้นปลาย  หลังจากนั้นช่วยบอกหนังสือขอมแก่นักเรียน และนักธรรมบ้าง เป็นครั้งคราว

          ต่อมาท่านเจ้าคุณพระธรรมโกษาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) เจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ได้ตั้งเป็นฐานานุกรมที่พระสมุห์  แล้วให้ไปคอยรับเสด็จสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ที่คลองบางปะกอก  บางปะแก้ว  ธนบุรี  เมื่อสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ เสด็จถึงวัดทุ่ง (ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน) ได้มีโอกาสในการเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด สมเด็จฯ  ท่านโปรดในข้อวัตรปฏิบัติของพระสมุห์ทิมเป็นอันมาก  จึงได้ส่งขึ้นไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราชธานี  และเป็นเจ้าคณะแขวงเมือง จังหวัดสุโขทัย  และเมื่อสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ภาคเหนือครั้งใด  พระสมุห์ทิมก็ได้ไปรับเสด็จทุกคราวไป  ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนนักธรรมชั้นตรีขึ้น  มีพระเข้าเรียน ๑๘ องค์  ต่อมาเข้าสอบที่สนามหลวงได้ ๑๐ องค์  ในปีต่อมาก็มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี  จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น ๑ หลัง มี ๒ ชั้น ชื่อว่า “โรงเรียนวินัยสารวิทยา”

          ในระยะจัดตั้งโรงเรียนนี้ พระสมุห์ทิมได้เป็นพระครูชั้นประทวนอยู่ ๘ เดือน  ก็ได้รับตราตั้งเป็นอุปัชฌาย์  แล้วได้เป็นพระครูสัญญาบัตรในพระราชทินนามว่าพระครูวินัยสาร เจ้าคณะแขวงเมืองสุโขทัย  และพร้อมกับรักษาการเจ้าคณะแขวง อำเภอกงไกรลาศ (เดิมเป็นเมือง แล้วยุบเป็น อำเภอบ้านไกร จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกงไกรลาศ) อีก ๑ แขวง รวมเป็น ๒ แขวงด้วยกัน

          ในปีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ได้เสด็จมาที่วัดราชธานี เห็นพระพุทธ-รูปศิลาประทับยืนสมัยทวารวดี ซึ่งมีขนาดใหญ่โต งดงาม มีพระประสงค์จะใคร่ได้ไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ  พระครูวินัยสาร (ทิม) จึงถวายให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไป  สมเด็จฯ จึงสั่งให้พระยาวิชัย ประกาศ ข้าหลวงจังหวัดสุโขทัยในสมัยนั้น นำส่งกรุงเทพฯ ทางน้ำ  โดยต่อแพขนาดใหญ่  แต่เดิมพระพุทธรูปศิลาองค์นี้ ได้เคยอยู่ที่วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัยมาก่อน นับเป็นโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีที่ชัดเจนชิ้นแรก ที่พบในเมืองเก่าสุโขทัย  หลังจากพระครูวินัยสาร (ทิม) มอบพระพุทธรูปศิลาแก่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว  ทรงเห็นว่า พระครูวินัยสารเป็นผู้ใฝ่ใจเก็บรักษาวัตถุโบราณเป็นอันดียิ่ง  จึงทรงโปรดให้ดูแลรักษาวัดต่าง ๆ ในเขตสุโขทัย ตลอดจนสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) ด้วย
 
          ท่านเป็นผู้ที่สนใจในโบราณวัตถุ และ โบราณสถานต่าง ๆ ที่เมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) เป็นอันมาก  เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้จัดการขุดลอกสระตระพังทอง ซึ่งเป็นสระใหญ่ที่สำคัญ  มีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า   “....ตระพังโพยสีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง”   เป็นครั้งแรก  จากนั้นเมื่อมีทุนทรัพย์คราวใด  ท่านก็พยายามลอกให้ลึกอยู่เสมอ  ทำให้ราษฎรที่เมืองเก่าได้มีน้ำที่สะอาดใช้สอยตลอดมา  นอกจากนี้ท่านยังได้จัดการซ่อมแซม อุดรอยที่ผู้ร้ายลักลอบขุดค้นตามเจดีย์ วัด ต่าง ๆ ทั้งในและนอกเขตเมืองเก่าสุโขทัย  เช่น  วัดพระบาทน้อย, วัดมหาธาตุ, วัดตระพังทอง, วัดศรีชุม, วัด-สะพานหิน เป็นต้น  ในการนี้กรมศิลปากรได้ถวายเงินให้แก่ท่าน  ในการดูแลรักษาโบราณสถานต่าง ๆ เป็นเงิน ปี ละ ๒๐๐ บาทด้วย  ต่อมาท่านได้มอบโบราณวัตถุที่ท่านได้รวบรวมไว้ตามพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ  ครั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้แก่กรมศิลปากร และ กรมศิลปากรได้ประกาศรับพิพิธภัณฑ์วัดราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙   และต่อมาได้ย้ายโบราณวัตถุต่าง ๆ ไปไว้ในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง  ปรากฏโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พระราชประสิทธิคุณมอบให้ถึง ๑,๙๓๐ รายการ  และในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้มอบเพิ่มเติมอีกจำนวน ๒ รายการ  ซึ่งอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง นี้ ได้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗

          จากวัดอนงคาราม ธนบุรี พระสมุห์ทิม ยสทินฺโน มาอยู่ที่วัดราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ พ.ศ. ๒๔๖๑  ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับสัญญาบัตรเป็นพระครูวินัยสาร เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะแขวงเมืองสุโขทัย พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด สุโขทัย พ.ศ. ๒๔๙๐  ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีพระราชทินนามว่า “พระโบราณวัตถาจารย์” เป็นกรรมการสงฆ์จังหวัด ตำแหน่งสาธารณูปการ และตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) อำเภอศรีสัชนาลัย ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชประสิทธิคุณ พิบูลวิริยาธิกร บุราณเจติยาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

          ประวัติชีวิตและงานของท่านมีมากมากเกินกว่าจะกล่าวให้หมดสิ้นในเวลาอันสั้นได้  จึงขอยกมาเพียงย่อ ๆ เท่านี้ก่อนครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, เมษายน, 2566, 11:09:00 PM
(https://i.ibb.co/hmxVzZg/DSCN9486c1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๖ -
          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านเป็นคนโบราณสมนามสมณะศักดิ์ของท่าน  ชอบใช้สรรพนามกับคนคุ้นเคยของท่านว่า  “แก-ข้า”  กับข้าพเจ้าท่านก็ใช้สรรพนามนั้น  ท่านบอกเล่าให้ฟังถึงการฟื้นฟูบูรณะเมืองเก่าสุโขทัยว่า  สมัยที่ท่านมาอยู่สุโขทัยใหม่ ๆ นั้น  เมืองเก่าสุโขทัยเป็นป่าดงไผ่รกทึบ  เจดีย์และพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ๆ ถูกคนร้ายขุดเจาะหาสมบัตินานาในองค์เจดีย์และองค์พระจนหาดีไม่ได้  ท่านเห็นแล้วสลดใจจึงทำการซ่อมแซมตามแต่จะทำได้  และขนย้ายพระพุทธรูปน้อยใหญ่มาไว้ที่วัดราชธานี  เอาใส่ระแทะลากมาตามทางเกวียน  เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนน  ทางไปมาไม่สะดวกสบายนัก  เมื่อลากมาถึงแม่น้ำยมก็ต้องลงแพข้ามขึ้นวัดราชธานี เสร็จแล้วก็ขุดบ่อตรงหลังวิหารหลวงพ่อโต  เอาพระเหล่านั้นจำนวนหนึ่งลงฝังดินแล้วสร้างเจดีย์ทับไว้  อีกส่วนหนึ่งฝังไว้ในวิหารหลวงพ่อโตตรงหน้าองค์พระไม่น้อยเหมือนกัน

          เมืองเก่าสุโขทัยเป็นแดนกันดาร  ลำน้ำแม่ลำพันในฤดูแล้งตื้นเขิน  บางตอนแห้งขอด  บางตอนมีน้ำเป็นห้วง ๆ พอให้ผู้คนและสัตว์บริโภคได้บ้าง  ส่วนสระหรือตระพังในกำแพงเมืองนั้นตื้นเขินทั้งหมด  ท่านจึงตัดสินในทำการขุดลอกตระพังทอง (ตระพังเป็นภาษาเขมรแปลว่าสระหรือบ่อขนาดใหญ่)  ตระพังนี้ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ว่า  “น้ำในตระพังโพยสีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง”  ท่านเขียนติดกันเป็นพืด  นักอ่านจารึกสมัยแรกๆแบ่งวรรคว่า  “น้ำในตระพังโพยสี ใสกินกินดี”  คนสมัยนั้นจึงเรียกตระพังนี้ว่า  “ตระพังโพยสี”  ต่อมามีการชำระใหม่อ่านกันว่า  “ตระพังโพย สีใส กินดี”  แต่คนทั่วไปเรียกกันว่า  ตระพังทอง  เป็นคู่กันกับตระพังเงิน  ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของวัดมหาธาตุ

          หลวงพ่อเจ้าคุณเล่าว่าท่านไปเกณฑ์คนจากบ้านเกิดที่อ่างทองขึ้นมาช่วยตัดโค่นถางป่าไผ่  ทำการขุดลอกตระพังทอง  ในยามนั้นมีคนป่วยตายด้วยไข้ป่าเป็นหลายคน  ช่วงเลานั้นเป็นปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง  หลวงพ่อเจ้าคุณจึงมีอำนาจกะเกณฑ์ไพร่มาทำงานให้ได้  ชาวบ้านในเมืองเก่าได้น้ำกินน้ำใช้จากตระพังทองก็เพราะหลวงพ่อคุณนี่เอง

          เรียนถามท่านว่า  ในหลวงเคยเสด็จมานมัสการหล่อเจ้าคุณที่วัดราชธานีจริงไหม  ท่านรับว่าจริง  เหตุที่ท่านเสด็จมาก็เพราะสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลสั่งว่า  “ไปสุโขทัยอย่าลืมแวะเยี่ยมหลวงพี่ทิมด้วยนะ”  ถามท่านอีกว่าสมเด็จพระราชชนนีทรงรู้จักกับหลวงพ่อเจ้าคุณได้อย่างไร  ท่านก็เล่าว่า สมัยเป็นพระอยู่วัดอนงคาราม  มีหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือด้วย  สมเด็จพระราชชนนียังเป็นเด็กหญิงสังวาล บ้านอยู่ติดกับวัดอนงคฯ ได้สมัครเข้าเรียนหนังสือกับท่าน  และเรียกท่านว่า  “หลวงพี่ทิม”  ตลอดมา  “แม้จะมีฐานันดรศักดิ์สูงขึ้นอย่างไรก็ยังไม่ทรงลืม  จึงสั่งให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแวะเยี่ยมข้า”  หลวงพ่อเจ้าคุณบอกเล่าด้วยความสุขใจในอดีตอันดีงามของท่าน

          อยู่วัดราชธานีได้ครึ่งพรรษารู้จักผู้คนมากขึ้น  เพราะคนในสุโขทัยส่วนหนึ่งก็เปิดวิทยุ ๐๑๐ รับฟังการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาของข้าพเจ้า  พอตั้งหลักได้แล้วข้าพเจ้าก็ข้ามฟากไปวัดคูหาสุวรรณซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดราชธานี  ไปหาพระองค์หนึ่งเคยรูจักกันตั้งแต่เป็นสามเณรอยู่อยุธยา  ท่านชื่อพระมหาบุญเหลือ เป็นชาวจังหวัดสุโขทัย  สำนักท่านอยู่วัดเศวตรฉัตร บางลำพูล่าง คลองสาน ธนบุรี  ภายหลังทราบว่าท่านจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาอยู่วัดคูหาสุวรรณ  เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัยเสียด้วย  เมื่อข้ามไปหาก็พบกัน  หลวงพี่มหาบุญเหลือดีที่ได้พบกันและมาอยู่วัดใกล้กัน  เราคุยกันอยู่นานพอสมควรแล้ว หลวงพี่มหาก็พาเข้าพบท่านพระครูเจ้าคณะอำเภอ  เพื่อทำความรู้จักและปวารณาตัวให้ท่านเรียกใช้  พระครูเจ้าคณะอำเภอมีนามสมณะศักดิ์ว่า  “พระครูสุขวโรทัย”  ชื่อเดิมว่า  “ห้อม”  คนทั่วไปเรียกท่านว่าหลวงพ่อห้อม  เป็นหนึ่งในศิษย์ของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  คู่กันกับพระครูสุวิชาญวรวุฒิ หรือ หลวงพ่อปี้ วัดลานหอย  ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้ไปทำความรู้จักกับท่าน

          พบหลวงพี่มหาบุญเหลือแล้ว  ข้าพเจ้าก็อุ่นใจที่ได้เพื่อนคู่คิด  จากวันนั้นมาท่านก็พาข้าพเจ้าไปทำความรู้จักกับเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสอีกหลายตำบลหลายวัดในเขตปกครองของอำเภอเมืองสุโขทัย  ได้เรียนรู้ขนบประเพณีต่าง ๆ ของสุโขทัยมากขึ้น  บอกได้ว่าข้าพเจ้าเริ่มสนุกขึ้นมากแล้ว

          กลางพรรษานั้น  คุณนายคนหนึ่งชื่อเรณู  มาพบข้าพเจ้าขณะกำลังฉันเพลอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณ  คุณนายแจ้งความประสงค์ว่าขอนิมนต์พระอภินันท์เทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกในวันอออกพรรษาที่จะถึงนี้  ข้าพเจ้าตกใจนั่งอึ้งอยู่  คุณนายถามย้ำว่าจะรับได้ไหมคะ  ข้าพเจ้าตอบตามจริงว่า  ไม่ได้หรอกโยม  ฉันไม่เคยเทศน์ทำนองใด ๆ เลย  เทศน์แต่ธรรมะอย่างที่พระทั่วไปเทศน์กันนั่นแหละ  คุณนายก็ย้อนว่า  ท่านจะเทศน์อย่างไรก็ได้ขอให้เป็นเรื่องของชูชกก็แล้วกัน  หลวงพ่อเจ้าคุณบอกว่า  เมื่อเขามีศรัทธาเจาะจงมาอย่างนั้นก็รับปากเขาไปเถอะ  อย่าขัดศรัทธาเขาเลย  ข้าพเจ้าก็ต้องรับด้วยอาการนิ่ง (ดุษณีภาพ) เท่านั้นเอง /๑๓๖

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, เมษายน, 2566, 10:44:04 PM
(https://i.ibb.co/m592Gtn/e0b89be0b8a3-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๗ –  
          การถูกนิมนต์ให้เทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกเป็นเรื่องใหญ่สำหรับข้าพเจ้ามากเลย  เพราะไม่เคยเทศน์มหาชาติไม่ว่ากัณฑ์ใด ๆ  ไม่กล้าร้องทำนองอย่างที่เขาร้องกัน  มันรู้สึกกระดากปากกระดากใจอย่างไรไม่รู้  เมื่อคุณนายจากไปแล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณแนะนำให้ไปหัดเทศน์กัณฑ์ชูชกกับ  “มหามงคล”  ซึ่งอยู่ห้องแถวในตลาดวัดราชธานี  ท่านบอกว่าคนนี้เทศน์ชูชกได้ดีไม่แพ้ใคร  “มหามงคล”  เป็นใคร  เป็นศิษย์อีกคนหนึ่งของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณนั่นเอง  เคยบวชเรียนในสำนักวัดราชธานีจนสอบได้เป็นพระมหาแล้วสึกออกไปมีครอบครัว  หลวงพ่อเจ้าคุณฝากให้ทำงานกับกรมศิลปากร  เป็นเจ้าหน้าที่รักษาดูแลวัตถุโบราณประจำพิพิธภัณฑ์ฯเมืองเก่าสุโขทัย  อีกสองวันต่อมาหลวงพ่อเจ้าคุณให้คนไปตามมหามงคลมาพบ  แล้วให้ช่วยสอนเทศนมหาชาติกัณฑ์ชูชกแก่ข้าพเจ้า  โดยให้เริ่มสอนกันที่กุฏิของข้าพเจ้านั่นเอง  มหามงคลมาวันเว้นวัน  นานเข้าก็ให้ข้าพเจ้าไปหัดที่ร้านของเขาในตลาดวัดราชธานี

          มหามงคลบอกเล่าให้ทราบว่า   “ลูกศิษย์สำนักเรียนวัดราชธานีที่สึกออกไปมีจำนวนมาก  ที่ยังอยู่ในวัดและรอบวัดก็มี มหาชิน ปลัดนวล ปลัดพริ้ง ใบฎีกาผาด เป็นต้น  มหาชินนั้นเคยเป็นผู้บริหารงานเทศบาลตำบลธานี  มีร้านค้าอยู่ในตลาดวัดเราทางแถบสะพานพระร่วง   ปลัดนวล ปลัดพริ้ง มีร้านค้าอยู้ในอาคารสองชั้นตลาดวัดบริเวณหลังวิหารหลวงพ่อโต   ส่วนใบฎีกาผาดนั้น ทำงานอยู่พิพิธภัณฑ์เมืองเก่า  บ้านอยู่ถนนประพนธ์  ทุกคนไม่ใช่คนสุโขทัยธานี  แต่  “เอาบาตรมาทิ้ง” ที่นี่  เขาว่าพระจากต่างถิ่นมาเดินข้ามสะพานพระร่วงที่วัดราชธานีแล้ว  ส่วนมากเอาบาตรมาทิ้งแล้วตั้งรกรากที่นี่เลย  ท่านอภินันท์ก็คงจะไม่รอดหรอกนะ  คุณนายที่นิมนต์ท่านเทศน์กันชูชกเนี่ยมีหลานสาวกำลังรุ่นอยู่  น่าจะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ท่านก็ได้นะ  เขาว่าพระนักเทศน์เป็นชูชกน่ะเวลาสึกไปจะได้เมียทั้งน้าน”  พูดจบโยมมหาก็หัวเราะเอิ๊กอ้าก  ทำเสียงเหมือนชูกเลย

          ขณะหัดเทศน์มหาชาติทำนองกัณฑ์ชูชกกับโยมมหามงคลอยู่นั้น  ข้าพเจ้าก็ถูกหลวงพี่มหาบุญเหลือพาไปรู้จักสมภารวัดบ้านกล้วย  บ้านสวน  ซึ่งต่อมาพระสมภารเหล่านี้สนิทชิดชอบกับข้าพเจ้ามาก จากอำเภอเมืองก็พาไปวัดศรีนิโครธาราม (กุฎีจีน) อ. ศรีสำโรง  ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอศรีสำโรง  รู้จักพระมหาบุญเรืองเจ้าอาวาสวัด  และเจ้าคณะอำเภอ  รู้จักพระมหาเรียบ พระมหาสมบูรณ์ วัดเดียวกันนี้  ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักพระผู้ใหญ่ในจังหวัดสุโขทัยมากขึ้นเรื่อย ๆ

          หันกลับมากล่าวถึงเรื่องการเทศน์อีกที  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้ให้ความรู้เรื่องประเพณีการเทศน์ในท้องถิ่นสุโขทัย-พิษณุโลกว่า  ที่สุโขทัยมิใช่แต่จะมีเทศน์เฉพาะในวัดเท่านั้น  มีเทศน์ตามบ้านด้วย  กล่าวคือ  ในช่วงฤดูการบวชนาคเขานิยมนิมนต์พระไปเทศน์ฉลองงานบวชกันที่บ้าน  เทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์บ้าง  เทศน์แบบที่เรียกว่า  “คาบลูกคาบดอก”  คือ  พูดธรรมะหรือพูดอะไร ๆ ก็ได้  แล้วร้องแหล่สลับการพูด  และที่นิยมกันคือการร้องแหล่กลอนสากล

          ส่วนที่เทศน์กันเป็นประเพณีคือเทศน์มหาชาติในช่วงพรรษา  มักจะจัดกันในวันศารท  และออกพรรษา  ก่อนการเทศน์มหาชาติก็จะมีเทศน์มาลัยธรรมาสน์เดียวบ้าง  ๓ ธรรมาสน์บ้าง  การเทศน์ ๓ ธรรมาสน์ก็ให้พระที่เทศน์สมมุติตนเป็นพระมาลัยองค์หนึ่ง  พระอินทร์องค์หนึ่ง  พระศรีอาริย์ องค์หนึ่ง  ในเรื่องนี้พระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรก  แล้วนำข่าวนรกมาบอกมนุษย์  ขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  พบกับพระอินทร์และพระศรีอาริยเมตไตรโพธิสัตว์  พระโพธิสัตว์บอกพระมาลัยว่าใครอยากไปเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ให้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรให้จบ ๑๓ กัณฑ์ ๑ พันพระคาถา  เทศน์มาลัยสูตรจึงเป็นที่มาของการเทศน์มหาชาติเรื่องพระเวสสันดรชาดก  เรื่องนี้จะเทศน์กันในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ รุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำจึงมีเทศน์มหาชาติ  บางวัดจะเทศน์คาถาในช่วงเช้าให้จบก่อนเที่ยง  หลังเที่ยงวันก็เป็นเทศน์มหาชาติทำนองไปจนกว่าจะจบ ๑๓ กัณฑ์  บางวัดเทศน์ไม่จบก็ต่อในวันแรม ๑ ค่ำอีกวันหนึ่ง

          การเทศน์เรื่องมาลัยสูตรแบบสมมุติเป็นตัวละคร ๓ ธรรมาสน์นี้  ข้าพเจ้าเคยฟังสมัยเป็นสามเณรขับเรือให้หลวงพ่อไวย์ไปเทศน์  เวลาเทศน์เขาจะติดเครื่องกระจายเสียง ถ่ายทอดเสียงให้คนนอกศาลาการเปรียญได้ยินได้ฟังด้วย  ข้าพเจ้าก็นอนฟังในเรือที่จอดอยู่ศาลาท่าน้ำนั่นเอง  วันหนึ่งมีเทศน์เรื่องพระมาลัย ๓ ธรรมาสน์  ผู้เทศน์มีหลวงพ่อไวย์ของผม กับ พระมหาไววัดตองปุซึ่งเป็นเพื่อนกับหลวงพ่อไว  และอีกองค์หนึ่งคือพระครูพิสิษฐ์วัดบางกระทิง  พระครูพิสิษฐ์สมมุติตนเป็นพระมาลัย  หลวงพ่อไวย์ เป็นพญายมควบกับพระอินทร์  พระมหาไว เป็นกระทาชายที่จะถวายดอกบัว ควบกับพระศรีอาริย์โพธิสัตว์  เทศน์ถึงตอนที่พระมาลัยจะขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  พบกระทาชายผู้ยากจนเที่ยวเก็บดอกบัวขาย  พอรู้ว่าพระมาลัยจะขึ้นไปสวรรค์จึงอยากถวายดอกบัวไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในจุฬามณีด้วย  จึงกล่าวว่าเป็นคนยากจน  มีดอกบัวดอกเดียวนี้จะถวายให้นำไปบูชาพระจุฬามณีได้ไหม  พระครูพิสิษฐ์เข้าใจผิดคิดว่า  พระมหาไวบอกให้อวัยวะเพศก็โกรธ  ตอบว่าบัวดอกเดียวนี้เอาไปถวายโยมมารดาท่านเถิด  เท่านั้นเองเรื่องก็กร่อยไปจนจบ  พระเทศน์คู่นี้หมางไจกันจนนานเป็นปี ๆ เลย

          ข้าพเจ้าหัดทำนองเทศน์กัณฑ์ชูชกตั้งแต่ต้นไปจนถึงตอน “ทวงทอง” แล้วก็ไม่หัดด่อ  เพราะคิดว่าจะเทศน์แบบใหม่ไม่ต้องว่าตามตัวหนังสือที่เป็นคำร่ายยาวแบบโบราณ  จะเทศน์แบบการบรรยายเล่าเรื่องชูชกตั้งแต่ต้นไปจนจบความในกัณฑ์นี้  คิดแผนการเทศน์ไว้อย่างนี้โดยไม่บอกโยมมหามงคลและใคร ๆ ให้รู้เลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, เมษายน, 2566, 10:27:08 PM
(https://i.ibb.co/QC5SvZQ/1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดไทยชุมพล (วัดบางแก้ว)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๘ -
          ข้าพเจ้าห่างเหินวงการกลอน  เว้นวรรคการเขียนกลอนไปนานเดือน  เพราะวุ่นอยู่กับงานทางวิทยุและปรับตัวเองเพื่อทำงานด้านศาสนา  ที่สุโขทัยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งออกเป็นรายล๊อตเตอรี่  วางจำหน่ายในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดตากชื่อหนังสือพิมพ์เสียงชนบท  เจ้าของบรรณาธิการเป็นอดีตพระมหาเปรียญธรรม ๕ ประโยค  ชื่อ  สุเทพ เสาวแสง  ข้าพเจ้าอ่านข่าวและคอลัมน์ในฉบับแล้วสนใจคอลัมน์บัญชรกลอนของเขา  จึงเขียนกลอนสำนวนหนึ่งให้เด็กนำไปมอบ บก.หนังสือพิมพ์นี้ซึ่งตั้งอยู่ติดกำแพงวัดคูหาสุวรรณ ด้านถนนจรดวิถีถ่อง  วันหนังสือพิมพ์ออกพบว่ากลอนของข้าพเจ้าได้รับการตีพิมพ์  รู้สึกดีใจมาก  จึงเริ่มหันมาเขียนกลอนอีก

          เย็นวันหนึ่งข้าพเจ้าเอาบทกลอนใส่ย่ามเดินข้ามสะพานพระร่วงไปโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์เสียงชนบท  ที่นี่ได้พบและรู้จักมหาสุเทพ บก.เสียงชนบท  จึงทราบว่าเป็นชาวจังหวัดอุทัยธานี  แล้วยังได้พบรู้จักกับนักกลอนอีกสองคนคือ  เหรียญชัย จอมสืบ  และ  ประเสริฐ นุตาลัย  คนชื่อเหรียญชัย จอมสืบ เป็นชาวอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มาเป็นครูประชาบาล ช่วยราชการบนศาลากลางจังหวัดสุโขทัยในหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด (สมัยนั้นยังไม่มีตำแหน่งประชาสัมพันธ์จังหวัดอย่างเป็นทางการ)  คนชื่อประเสริฐ นุตาลัย มีอดีตเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๕ ประโยค ชาวกรุงเทพฯ มาเป็นข้าราชการประจำสำนักงานสรรพากรจังหวัดสุโขทัย  คนรักกลอนเมื่อพบกันก็คุยกันสนุกถูกคอ  ทั้งสองคนนี้มีอายุมากกว่า  ข้าพเจ้าจึงเรียกเขาว่าพี่  นับถือเขาเหมือนพี่ชายแต่นั้นมา

          เหรียญชัย จอมสืบ นอกจากจะเป็นข้าราชการครูประชาบาลแล้ว  ยังเป็นนักข่าวส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์รายวันส่วนกลางหลายฉบับ  เป็นคนไม่อยู่นิ่ง  จึงคิดทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา  เมื่อรู้จักกันแล้วพี่เหรียญชัยก็มาเป็นแขกประจำที่กุฏิของข้าพเจ้า  เอาหนังสือวิทยาสารซึ่งเป็นหนังสือที่เสนอข่าวบทความเกี่ยวกับเรื่องการศึกษามาให้ข้าพเจ้าอ่านเพิ่มพูนความรู้ด้วย  หนังสือวิทยาสารเป็นวารสารที่ออกเป็นรายปักษ์ (หรือรายเดือนจำไม่ได้แล้ว) มีคอลัมน์เกี่ยวกับ กลอน โคลง ฉันท์ กาพย์ ให้คนรักการกวีเขียนส่งไปลงพิมพ์กันตามสนุกใจสบายอารมณ์  อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เป็นบรรณาธิการ  ครูอาจารย์เป็นสมาชิกอ่านกันทั่วประเทศ  เรียกได้ว่าหนังสือวิทยาสารมีอิทธิพลในวงการครูอาจารย์มากทีเดียว  ข้าพเจ้าเริ่มเขียนกลอนส่งไปลงในหนังสือพิมพ์วิทยาทั้งแต่นั้นเรื่อยมา

          เวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยชื่อ นายเชื่อม ศิริสนธิ ท่านคือคนที่เรียกเหรียญชัย จอมสืบ จากโรงเรียนประชาบาลขึ้นมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด  ด้วยท่านเห็นว่าจังหวัดจะทำอะไรที่ไหน  เมื่อไร  ผลเป็นอย่างไร  ถ้าทำไปโดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้  การทำและผลของการทำก็จะไร้คุณค่า นอกจากจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารของจังหวัดแล้ว  ยังให้ติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการต่างของจังหวัดอีกด้วย  พี่เหรียญชัยเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้จริง ๆ  เพราะเขาเป็นคนชอบสอดรู้สอดเห็น  และอาสาทำโน่นทำนี่อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  เรื่องบางอย่างไปรับปากเขามาแล้วแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร  ก็เข้ามาหาข้าพเจ้าให้ช่วยคิดแก้ปัญหาให้  เป็นอย่างนี้บ่อย ๆ  คำว่า “พ่อเมือง” เกิดขึ้นจากความคิดของเหรียญชัย จอมสืบ  เขาเรียกท่านผู้ว่าเชื่อมว่า “พ่อเมือง”  เพราะท่านทำตัวเป็นพ่อของชาวบ้านชาวเมืองมากกว่าจะเป็นเจ้านาย  เขาส่งข่าวไปลง น.ส.พ.ส่วนกลางทุกข่าวที่มีชื่อท่านเจ้าเมืองเชื่อม จะใช้คำว่า “พ่อเมือง”  ไม่ใช่คำว่า  เจ้าเมือง  หรือ  ผู้ว่าราชการจังหวัด  นักข่าวทั่วไปเห็นนามนี้แล้วก็ชอบใจพากันเรียกเจ้าเมืองของตนว่า  “พ่อเมือง”  กันเกร่อไปเลย

          ระบบระเบียบราชการใด ๆ ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย  ยอมรับว่าข้าพเจ้าอ่อนด้อยในความรู้เรื่องราชการและสังคมชาวบ้านมาก  พี่เหรียญชัยคนนี้แหละทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้ในระบบระเบียบราชการและสังคมชาวบ้านมากขึ้น  ในเวลานั้นวัดราชธานีเสื่อมโทรมในทุกด้าน  เฉพาะความสัมพันธ์กับส่วนราชการผู้ใหญ่บนศาลากลางจังหวัด หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านไม่ชอบด้วยสาเหตุที่ข้าพเจ้าทราบจากปากของท่าน  ประการแรกคือทางศึกษาธิการจะทำโฉนดที่ดินของวัดด้านทิศใต้ถนนจรดวิถีถ่องให้เป็นที่ดินของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้สืบเนื่องมาแต่เดิมที่ทางวัดจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในที่ดินของวัดตรงนั้น ต่อมาโรงเรียนนั้นเจริญเติบโตขึ้นเป็นโรงเรียนมัธยมในการควบคุมดูแลของศึกษาธิการจังหวัด  แล้วศึกษาฯก็จะออกโฉนดเป็นของศึกษาฯ  หลวงพ่อเจ้าคุณไม่ยินยอมจึงมีการฟ้องร้องกันยังโรงศาล  วัดชนะคดี  โรงเรียนต้องย้ายไปตั้งอยู่ที่ รร.อุดมดรุณีในปัจจุบัน  นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่วัดราชธานีกับทางจังหวัดเมินหมางต่อกัน  อีกประเด็นหนึ่งคือการตัดขยายถนนจรดวิถีถ่องจากเมืองสุโขทัย  เชื่อมต่อกับถนนสาย ๙ (สิงหวัฒน์) ไปพิษณุโลก หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าเมือง เชื่อม ศิริสนธิ เป็นตัวการฮุบที่ดินบางส่วนของวัด  จึงโกรธแค้นไม่ยอมดีด้วย  ข้าพเจ้ามาอยู่ภายหลังสืบรู้เรื่องประเด็นหลังแล้ว  เห็นว่าหลวงคุณเข้าใจผิดไป  พยามอธิบายให้ท่านเข้าใจและหายโกรธเคืองเจ้าเมืองเชื่อม  ท่านก็เฉยเสีย

          ยังไม่ได้กล่าวถึงพระสำคัญสำหรับข้าพเจ้าองค์หนึ่งคือ  พระมหาดำรง เจ้าอาวาสวัดไทยชุมพล (บางแก้ว)  ซึ่งสมัยนั้นเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมดีที่สุด  พระองค์นี้เป็นชาวบ้านสวนบวชแล้วเข้าไปอยู่สำนักวัดอนงคาราม ธนบุรี สอบเปรียญธรรมได้ ๓ ประโยค  ไม่เรียนต่อจึงกลับมาอยู่วัดไทยชุมพล  ท่านสนใจในการศึกษาจึงปรับปรุงโรงเรียนปริยัติธรรมของวัดให้เจริญขึ้น  ทั้งยังปรับปรุงโรงเรียนประชาบาลของวัดให้เจริญขึ้นด้วย  หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยชุมพลแล้วไม่นาน  ท่านได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ประเทศอินเดียเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมเป็นเวลา ๓ ปี จึงกลับมา  ท่านเป็นพระที่ทันสมัย  เป็นนักเทศน์ที่มีคนนิยมชมชอบมาก  พระมหาทองสุข วีรศักดิ์  และประสิทธิ์ ผู้ไปช่วยข้าพเจ้าคัดเลือกหนังสือที่วัดราชธานีนั้นเป็นศิษย์ของท่านอยู่วัดนี้  ตอนนั้นพระมหาดำรงค์ได้รับการตั้งสมณะศักดิ์แล้วมีพระราชทินนามว่า  พระครูสุภัทรธีรคุณ  ข้าพเจ้ากับท่านถูกอัธยาศัยกัน  จึงไปสนทนากับท่านแบบวันเว้นวัน  ได้รู้เรื่องเจ้าคุณโบราณและเรื่องเก่า ๆ ในสุโขทัยจากท่านมากมาย  จึงเรียกท่านว่าหลวงพี่ด้วยความนับถือตลอดมา/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, พฤษภาคม, 2566, 10:52:23 PM
(https://i.ibb.co/XZN7NVp/13-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓๙ –
          หลวงพี่มหาดำรงค์เป็นพระที่ข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยให้ความเคารพนับถือกันมาก  ข้าพเจ้าเข้าไปรู้จักมักคุ้นกับท่านจึงพลอยให้ได้รู้จักข้าราชการผู้ใหญ่ในจังหวัดสุโขทัยตามท่านไปด้วย  ในจำนวนข้าราชการผู้ใหญ่นั้น  มีท่านหนึ่งที่หลวงพี่มหาดำรงนำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือกันมาจนท่านละจากโลกนี้ไป  ท่านคือคนที่พี่เหรียญชัย จอมสืบ เรียกว่า  “พ่อเมือง”  คือ เชื่อม ศิริสนธิ นั่นเอง  ท่านผู้นี้มีชาติภูมิเป็นชาวเมืองใดไม่ทราบ  เท่าที่รู้คือ  แขนขวาท่านขาดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะเป็นนายอำเภอบางพลี จ.ฉะเชิงเทรา  ลงไปตรวจค้นเรือลักลอบขนอาวุธเกิดระเบิดขึ้นจนแขนขวาขาด  จากนั้นท่านเป็นนายอำเภอใ ด ปลัดจังหวัดใดไม่ปรากฏ  ทราบแต่ว่าระหว่างปี ๒๔๙๓-๒๔๙๕ นั้น  ท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  และในปี ๒๔๙๕ นั้นเองท่านย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย  ถึงปี ๒๕๐๐ จึงย้ายจากจังหวัดสุโขทัย  ไม่ทราบว่าไปดำรงตำแหน่งอะไรที่ไหน  จนถึงปี ๒๕๐๕ จึงกลับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยอยู่จนเกษียณอายุราชการ  ท่านเป็นผู้ว่าฯ ที่คนสุโขทัยให้ความเคารพนับถือมากทีเดียว

          พ่อเมืองสุโขทัย เชื่อม ศิริสนธิ ริเริ่มให้มีการเผยแพร่ข่าวกิจกรรมต่าง ๆ ของจังหวัดสู่ประชาชนให้มากที่สุดด้วยการให้ เหรียญชัย จอมสืบ จัดทำวารสารเผยแผ่งานของจังหวัดเป็นนิตยสารรูปเล่มหนังสือยกชื่อหนังสือว่า  สุโขทัยสาร  ออกเป็นรายเดือน  ข้าพเจ้าจึงได้รู้จักนักวิชาการที่เหรียญชัยเชิญมาเขียนเรื่องลงในนิตยสารนี้หลายคน  เช่นทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์  อยู่ในกลุ่มประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นต้น  ข้าพเจ้าช่วยดูแลเรื่องในกลุ่มศาสนาวัฒนธรรมรวมทั้งบทกวีด้วย

          ในกลุ่มการศึกษานั้น  พี่เหรียญชัยรวบรวมครูและคณะศีกษานิเทศน์เข้ามร่วมเขียนกันหลายคน  เช่นครูนิมิต ภูมิถาวร เป็นต้น  สำหรับครูนิมิตคนนี้อยู่อำเภอศรีสำโรง  เป็นเพื่อนรักของพี่เหรียญชัย  กุฏิของข้าพเจ้าเป็นเสมือนกองบก.ย่อยเพราะเป็นที่รวมของนักเขียน  คนที่มักมาพบปะกันที่กุฏิสกลพลากรซึ่งมีพี่เหรียญเป็นตัวยืนนั้นก็คือ ครูนิมิต  พี่มหาประเสริฐ  ทนายอุปถัมภ์  ไป ๆ มา ๆ กุฏิข้าพเจ้าดูจะกลายเป็นที่ชุมนุมประวัติศาสตร์โบราณคดีไปแล้ว  เพราะอาจารย์อุปถัมภ์จะชวนสนทนาแต่เรื่องประวัติศาสตร์  และก็เป็นเรื่องที่ถูกใจพี่มหาประเสริฐมากด้วย  ข้าพเจ้าไม่มีความรู้เรื่องประวัติโบราณคดีมาก่อนก็ได้เริ่มเรียนรู้คราวนี้เอง  หนังสือเกี่ยวกับประวิศาสตร์โบราณคดีและศิลาจารึกที่กุฏิข้าพเจ้ามีพร้อมให้เปิดอ่านวิพากย์วิจารณ์กัน  ทีนี้ก็สนุกกันเลย

          ใกล้จะถึงกาลออกพรรษาซึ่งก็ใกล้เวลาที่ข้าพเจ้าจะต้องเทศน์มหาชาติแล้ว  พี่มหามงคลก็ติวทำนองการเทศน์กัณฑ์กันชูชกให้ทุกวัน  การพูดยานคางทำเสียงสั่น ๆ อย่างคนแก่ของชูชกนั้นข้าพเจ้ายังทำไม่ได้  อารย์ทนายอุปถัมภ์ก็แนะนำว่า   “ท่านลองเลียนเสียงท่านเจ้าคุณโบราณดูซี”   ทุกคนฟังแล้วหัวเราะครืน  แล้วร้องว่า  “ใช่เลย”  พี่มหามงคลก็เห็นด้วย เ พราะโดยปกติแล้วหลวงพ่อเจ้าคุณท่านพูดเสียงสั่น ๆ อย่างคนแก่อยู่แล้ว  ข้าพเจ้าจึงพยายามเลียนเสียงของท่านในบทที่ชูชกเจรจา  คนหนุ่มวัยเบญจเพศอย่างข้าพเจ้านี่  ทำเสียงพูดให้เป็นสำเนียงคนแก่วัยเจ็ดสิบแปดสิบปีไม่ใช่ของง่ายเลย

          ครูนิมิตพูดกระเซ้าข้าพเจ้าว่า

           “เขาว่าพระนักเทศน์ชูชกนี่สึกแล้วมักได้เมียเด็ก  ถ้าจะจริงนะ  ดูตัวอย่างมหามงคลซี  เมียยังเด็กอยู่เลย  สวยด้วยหละ”

          คำพูดครูนิมิตเรียกเสียฮาได้อย่างดัง ๆ เลย  จริงของครูนิมิตด้วย  ภรรยาพี่มหามงคลดูวัยน่าจะเด็กกว่าสามีไม่น้อยกว่า ๑๕ ปีทีเดียว  ข้าพเจ้าจึงถามขึ้นลอยๆว่า

           “ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น”

          พี่มหาประเสริฐกล่าวว่า “อ้าว...ท่านก็ดูอีตาชกตามเรื่องซี  ได้อมิตดาเด็กสาวคราวหลานเป็นเมีย”

          อ้อ...เป็นอย่างนี้นนี่เอง  ทุกคนลงความเห็นพร้อมกันตรงคำว่า  “อ้อ”...

          มหาชาติแปลว่าชาติใหญ่  ชาติสุดท้ายในการบำเพ็ญบารมีของโคตมพระพุทธเจ้า  เป็นการบำเพ็ญ  “ทานปรมัตถบารมี”  เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร  ทรงบริจาคทานตั้งแต่วันประสูติเลยทีเดียว  เรื่องนี้แต่เดิมแต่งเป็นคำร้อยกรองภาษาบาลีเรียกว่า  “คาถาพัน”  ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปประทับ ณ เมืองพิษณุโลกเพื่อทำศึกสงครากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาเชียงใหม่  ยามว่างการรบพระองค์ทรงแปลคาถาพันบาลีเป็นคำร่ายภาษาไทยให้ชื่อว่า ”มหาชาติคำหลวง”  จัดเป็นกัณฑ์ ๆ ได้ ๑๓ กัณฑ์  มีชื่อเรียกเรียงกันดังนี้คือ   “กัณฑ์ทศพร; กัณฑ์หิมพานต์; กัณฑ์ทานกัณฑ์; กัณฑ์วนปเวศน์; กัณฑ์ชูชก; กัณฑ์จุลพน; กัณฑ์มหาพน; กัณฑ์กุมาร; กัณฑ์มัทรี; กัณฑ์สักกบรรพ; กัณฑ์มหาราช; กัณฑ์ฉกษัตริย์; กัณฑ์นครกัณฑ์”

          กัณฑ์ใหญ่ ๆ ที่คนนิยมฟังกัน ก็คือ  “ทานกัณฑ์”  ว่าด้วยการบริจาคทานของพระเวสสันดร  จนชาวเมืองเคืองแค้นพากันขับไล่ให้ออกจากเมือง  “กัณฑ์ชูก” ที่กล่าวถึงชูชกนักขอทาน  ที่ขอจนมีเงินทองมากมาย  เอาไปฝากกับเพื่อนพราหมณ์ไว้นานแล้วกลับมาทวงคืน แต่เพื่อนไม่มีให้  เพราะเอาไปใช้จ่ายหมดไปกับการกินและเล่นการพนัน  ถึงยกลูกสาววัยรุ่นให้เป็นค่าทอง  “กัณฑ์กุมาร, กันมัทรี, กํณฑ์มหาราช”  ก็ล้วนเป็นกัณฑ์ใหญ่ที่คนชอบฟังกัน  พระเทศน์กัณฑ์อื่นๆยกวันกัณฑ์ชูชกต้องเป็นคนเสียงดี  แต่ชูชกไม่ต้องเสียงดีนัก  เป็นกัณฑ์ที่ให้ความสนุก “ ตลกโปกฮา”  เสียมากกว่า/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, พฤษภาคม, 2566, 10:58:56 PM
(https://i.ibb.co/Kb4rL6V/maxresdefault-2.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๐ –
          วัดราชธานีมีงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่  และสำคัญงานหนึ่งที่จัดเป็นงานของจังหวัดเลยทีเดียว  นั่นคืองานเทโวฯ วันออกพรรษา  กิจกรรมที่สำคัญของงานนี้คือการแข่งเรือยาวในแม่น้ำยมช่วงตอนจากสะพานพระร่วงไปถึงหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย  ส่วนกิจกรรมทางศาสนาคือการตักบาตรเทโวฯ ที่มีขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ  ทางบกนั้นเริ่มตั้งแต่บ้านลานลานหอย (สมัยนั้นเป็นกิ่งของอำเภอเมืองสุโขทัย)  ส่วนทางน้ำเริ่มตั้งแต่บ้านเตว็ดในเขตอำเภอศรีสำโรง  ทั้งสองขบวนแห่มารวมกันที่วัดราชธานีเมืองสุโขทัย  งานนี้เริ่มจัดขึ้นโดยหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  เฉพาะการแข่งเรือยาวนั้นท่านบอกว่าเอาแบบอย่างมาจากภาคกลาง  โดยจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยานั้น มีการแข่งขันเรือยาวกันเป็นประจำทุกปี  ท่านจึงเอาแบบอย่างนั้นมาเริ่มจัดขึ้นที่วัดราชธานี  นำเรือยาวใหญ่ขนาด ๖๐ ฝีพายลำหนึ่งขึ้นมาจากจังหวัดอ่างทอง  ให้ชื่อเรือลำนี้ว่า  “ขุนพลเฒ่า”  ตอนที่ข้าพเจ้ามาอยู่วัดราชธานีเรือลำนี้ปลดระวางแล้ว  ขึ้นคานอยู่ใต้ถุนศาลาการเปรียญของวัดนี่เอง

          ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัยนั้น  การคมนาคมทางบกมีเพียงถนนสิงหวัฒน์ (ชาวบ้านเรียกว่าสายเก้า) เชื่อมต่อสองจังหวัดคือสุโขทัย-พิษณุโลก กับ ถนนจรดวิถีถ่อง  ต้นทางจากจังหวัดตากเข้าจังหวัดสุโขทัย  ผ่านบ้านด่านลานหอย เมืองเก่า เมืองสุโขทัยธานี วกขึ้นเหนือผ่านอำเภอศรีสำโรงไปสิ้นสุดที่อำเภอสวรรคโลก  ทางน้ำนั้นแม้มีแม่น้ำลำพันผ่านเมืองเก่าลงมาลงน้ำยมที่เมืองธานีก็ไม่ได้ใช้กันแล้ว  คงมีแต่แม่น้ำยมสายเดียว  แม่น้ำยมมีต้นกำเนิดที่เทือกเขาอิงกันในเขตจังหวัดพะเยา  ไหลผ่านจังหวัดแพร่ลงมาศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย ลงไปกงไกรลาศ บางระกำผ่านเขตพิษณุโลก พิจิตรไปลงรวมกับลำน้ำน่านในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์  หน้าน้ำทุกปีน้ำจะไหลหลากจากเหนือลงมาเต็มล้นลำน้ำแม่ยม  แล้วหลากนองเข้าท่วมท้องทุ่ง  หล่อเลี้ยงนาข้าวให้งอกงามไพบูลย์  ปลานานาชนิดในท้องที่จังหวัดสุโขทัยตั้งแต่ศรีสัชนาลัยลงมาถึงบางระกำพิษณุโลก  อุดมสมบูรณ์มาก  จึงสมกับคำในศิลาจารึกว่า  “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”  สมัยนั้นข้าวของตำบลบ้านสวนอร่อยที่สุดในสุโขทัย  ในกาลออกพรรษานั้นน้ำในลำน้ำยมเต็มตลิ่ง  ดังนั้นการแข่งขันเรือยาวของงานเทโวฯเมืองสุโขทัยจึงสนุกที่สุด

          ก่อนจะถึงงานเทโวฯ วันออกพรรษาก็มีวันพระใหญ่อยู่ ๑ วัน  คือวันศารทไทยแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐  วันเช่นนี้มีขนมสำคัญอย่างหนึ่งที่คนไทยในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง (หรือภาคกลางตอนบน) จะต้องทำกันคือกระยาสารท  ทำขึ้นจาก ข้าวตอก ถั่วลิสง งาขาว ข้าวเม่า แบะแซ น้ำตาล กะทิ ที่สุโขทัยนิยมใช้ น้ำอ้อย หรือน้ำผึ้ง แทนน้ำตาล  ข้าพเจ้าเห็นว่า กระยาสารทสุโขทัยทำอร่อยกว่าทุกแห่งที่เคยกินมา

          วันศารทที่วัดราชธานีปีนั้นจัดให้มีเทศน์พิเศษตามภาษาชาวบ้านเรียกวา  เทศน์มิลินท์  ชื่อที่ถูกต้องคือ  มิลินทปัญหา  เป็นการโต้ตอบปัญหาธรรมระหว่างพระยามิลินท์กับพระนาคเสน  มีที่มาของเรื่องอยู่ว่า

           “มิลินทปัญหา, นาคเสนภิกษุสูตร หรือ ปัญหาพระยามิลินท์ เป็นเอกสารทางศาสนาพุทธช่วง ๑๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึงคริสต์ศักราช ๒๐๐  อ้างถึงบทบันทึกการสนทนาระหว่างพระนาคเสน นักบวชทางพุทธศาสนา  กับพระยามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ แห่งแบ็กเตรีย กษัตริย์ชาวโยนก (คือชาวกรีก) ผู้ครองกรุงสาคละ (ปัจจุบันคือเมืองซีอัลโกต ประเทศปากีสถาน)  โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงการปุจฉาวิสัชนาเกี่ยวกับปัญหาหลักธรรมต่าง ๆ ตั้งแต่หลักธรรมพื้นฐานไปจนถึงหลักธรรมชั้นสูงคือการบรรลุนิพพาน  มิลินทปัญหาได้รับการยกย่องอย่างมากในประเทศพม่า  โดยถูกรวมไว้ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีหมวดขุททกนิกาย  ส่วนฉบับย่อถูกรวมไว้ในพระคัมภีร์ของนิกายมหายานฉบับภาษาจีน  ในประเทศไทยเพิ่งมีการแปลมิลินทปัญหา จากภาษาสิงหลเป็นไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล”

          การเทศน์มิลินท์ต้องเทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์  ปีนั้นทางวัดมอบหมายให้พระเจ้าอธิการบุญมี กับ ข้าพเจ้า เป็นคู่เทศน์  หลวงพ่อเจ้าคุณกำชับให้เทศน์ถามตอบกันตามแบบในเรื่องนั้น  ห้ามออกนอกเรื่อง  พวกเราคือเจ้าอธิการบุญมีกับข้าพเจ้าจึงต้องถือหนังสือเรื่องมิลินทปัญหาขึ้นไปอ่านโต้ตอบกันบนธรรมาสน์  นักเทศน์ทั้งหลายว่าการเทศน์แบบนี้จืดชืดไปหน่อย  ผู้ฟังก็ฟังยากด้วย  เพราะภาษาเขียนไม่เหมือนภาษาพูด  การเทศน์จบลงด้วยความเรียบร้อย  ทางวัดถวายเงินพระเทศน์องค์ละ ๑๐๐ บาท ที่เหลือจากกัณฑ์เทศน์นอกนั้นมอบสมทบเป็นทุนโรงครัวของวัดทั้งหมด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, พฤษภาคม, 2566, 11:21:18 PM
(https://i.ibb.co/26tLBbd/65657145-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๑ -
          งานเทโวฯ ออกพรรษาปีนั้นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น  ก่อนถึงวันงานมีหัวหน้าคณะลิเกต่าง ๆ มาติดต่อขอเช่าโรงลิเกในตลาดวัดราชธานี  เพื่อเปิดการแสดงแบบเก็บค่าผ่านประตูเข้าชม  โรงลิเกมีโรงเดียวเมื่อมีหลายคณะมาขอเช่าแสดง  จึงต้องมีการประมูลแข่งกัน  ข้าพเจ้าเป็นคนใหม่จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนี้  เพียงแต่รับรู้ด้วยการดูอยู่ไม่ห่าง  เขาว่าลิเกที่มาปิดวิกแสดงในตลาดวัดได้กำไรปีละไม่น้อย  เพราะคนมาเที่ยวงานกันมาก  นอกกำแพงวัดทางด้านเหนือมีโรงหนังของขุนประพนธ์  ตั้งเวทีรำวงไว้หน้าโรงหนัง  ข้ามสะพานพระร่วงไปฝั่งตะวันตก ก็มีโรงหนังไตรรัตน์อยู่ด้านหลังวัดคูหาสุวรรณ  เขาว่าโรงหนังทั้งสองแห่งนี้จะฉายหนังคืนละหลายรอบจนตลอดคืน  รำวงก็ว่ารำกันจนค่อนแจ้งเลยทีเดียว

          วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นวัดแรกของงานเทโวฯ และเป็นวันแรกของการเทศน์มหาชาติ  วันนั้นทางวัดราชธานีจัดให้มีการเทศน์คาถาพันทั้งวันเพื่อไม่ให้ไปกินเวลาการเทศน์มหาชาติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำอันเป็นวันมหาปวารณา  ค่ำวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้นปรากฏว่ามีผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวงานเทโวฯ เดินในตลาดเมืองสุโขทัยเข้าวัดราชธานี กราบไหว้หลวงพ่อเป่าในวิหารแล้วเดินชมร้านค้าในบริเวณวัด  ก่อนเดินเลยออกไปทางโรงหนังประพนธ์บ้างโรงหนังไตรรัตน์บ้าง  บางส่วนก็เข้าวิกลิเก  ทางวัดไม่ได้จัดกิจกรรมบันเทิงใด ๆ เลย  รายได้ของวัดก็มีเพียงค่าประมูลโรงลิเก  กับการปิดทองหลวงพ่อเป่าและค่าเช่าที่ร้านค้าเท่านั้นเอง  คนมาเที่ยวกันมากมาย  เอาเงินไปให้โรงหนังประพนธ์กับไตรรัตน์จากการดูหนังและเล่นรำวงนอกวัดนั่นเอง  ข้าพเจ้าเห็นจุดด้อยของวัดตรงนี้แล้วจดจำไว้

          วันรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ ประชาชนทำบุญกันตามประเพณี  พระสงฆ์ลงศาลาแล้วทายกนำไหว้พระรับศีล  พระสงฆ์สวดถวายพรพระ  ชาวบ้านใส่บาตรที่ตั้งเรียงไว้บนโต๊ะระเบียงศาลา  นำสำรับปิ่นโตอาหารคาวหวานตั้งวางหน้าพระภิกษุสามเณรบนอาสนสงฆ์  เสร็จแล้วทายยกกล่าวนำถวายภัตตาหาร  ขณะที่พระภิกษุสงฆ์เริ่มฉันภัตตาหารนั้น  พระผู้ที่รับนิมนต์เทศมหาชาติกัณฑ์แรกคือ  ทศพร  ก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ทันที  พระฉันอาหารเช้าเสร็จพระเทศน์มหาชาติกัณฑ์แรกก็จบลงด้วย  ครั้นพระสงฆ์อนุโมทนา (ยะถา สัพพี..) ลงจากศาลาไป  ชาวบ้านที่ไม่ประสงค์จะฟังเทศน์ต่อก็กลับบ้าน  ที่จะฟังเทศน์ก็อยู่เพื่อฟังมหาชาติจนจบ ๑๓ กัณฑ์  เวลาประมาณ ๔ โมงเช้า  การเทศน์มหาชาติก็เริ่มต่อด้วยกัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศ   ๓ กัณฑ์นี้ใช้เวลาเทศน์ยาวไปถึงบ่าย ๒ โมง

          ข้าพเจ้าขึ้นเทศน์กัณฑ์ชูชกอันเป็นกัณฑ์ที่ ๕ เมื่อเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ  ก็รู้สึกใจสั่น ๆ อยู่เหมือนกันแหละ  พอทายกกล่าวคำอาราธนาจบ  ข้าพเจ้าก็ตั้งนะโมด้วยเสียงสั่น ๆ แบบเสียงหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  แล้วเดินคาถาคำร่ายมหาชาติคำหลวงของห้องสมุดวชิรญาณว่า   “๏ ตทา กลิงฺครฏฺเฐ ทุนฺนวิฏฺฐพฺราหฺมณคามวาสี ชูชโก นาม พฺราหฺมโณ ดูกรสงฆ์ในกาลนั้น ยังมีพราหมณผู้หนึ่งชื่อชูชก อยู่ในบ้านนอกซอกซอน เป็นพฺราหมณ์จร ในบ้านพราหมณ์ทั้งหลาย อันธะหมายชื่อทุนวิฐ ชิดเมืองกาลิงคราษฎร์นั้น ภิกฺขาจริยาย กหาปณสตํ ลภิตฺวา แลพราหมณ์นั้นได้ทองร้อย กระสาปน เป็นลาภด้วยเดินขอทาน ทุกวันวารแก่มหาชนทั้งหลาย บมิขาดเลย เอกสฺมึ พฺราหฺมณกุเล ฐเปตฺวา ก็ฝากทองนั้นไว้แก่ประยูรพราหมณฺผู้หนึ่งนั้น ปุน ธนํ ปริเยสนตฺถาย คโต พราหมณ์ขี้ไร้ ย่ามได้จึงจะไปแสวงหาสิน ด้วยขืนขีนขอ เอาเล่าแล ตสฺมึ จิรายนฺเต ในเมื่อชีชูชกเฒ่ามหัลกอการ ไปแวนนานจรลํ่าแล พฺราหฺมณกุลํ กหาปณํ วลญฺเชตฺวา อันว่าตระกูลพราหมณ์จำหน่ายจ่ายทอง เฒ่าทั้งผองร้อยกระสาปน ร้ายกว่าพราหมณ์ประดาบนั้นโสดแล ปจฺฉา อิตเรน อาคนฺตฺวา โจทิยมาโน ภายหลังมาจึงพราหมณ์ชูชก พกมาทวงทอง ตนทั้งผองร้อยกระสาปน แก่พราหมณนั้น กหาปเณ ทาตุํ อสกฺโกนฺโต พราหมณ์สับปลับสับปลี้ บมิอาจที่จะใช้หนี้ทอง พราหมณ์ทั้งผองร้อยกระสาปนนั้นได้ โสดเลย อมิตฺตตาปนํ นาม ธีตรํ ตสฺส อทาสิ จึ่งจะให้ลูกสาวศรีมีนามอมิตตดา แก่พราหมณ์ชรานั้นเปนเมีย เพราะว่าจ่ายสินเขาเสีย หาจะจำนำจะใช้ให้บมิได้นั้น โสดเลย โส ตํ อาทาย กลิงฺครฏฺเฐ ทุนฺนวิฏฺฐ นาม พฺราหฺมณคามํ คนฺตฺวา วสิ ชูชกก็พาอมิตตดานั้นไป อยู่ในบ้านหมู่พราหมณ์ อันชื่อทุนวิษฐติดตรมวล หมู่มหาชนชาวกาลิงคราษฎร์นั้น อมิตฺตตาปนา สมฺมา พฺราหฺมณํ ปฏิชคฺคติ อันว่าอมิตดาก็อยู่บำเรอเชอภักดิ์ งานพราหมณ์หนักมันก็เอา งานพราหมณ์เบามันก็สู้ บมิอาจเยียชู้ ทำคดคู้แก่พราหมณ์ ผดุงโดยตามทุกเมื่อเลย.....”

          จบคำร่ายยาวในตอนนี้แล้ว  ข้าพเจ้าก็กลับเป็นตัวของตัวเอง  เล่าความตามท้องเรื่องว่า  บรรดาพราหมณา พราหมณี คือพราหมณ์ชายหญิงในหมู่บ้านทุนวิษฐ์ก็เกิดการทะเลาะกันด้วยเหตุที่  “ชูชกพานางอมิตตดาไปอยู่บ้านทนวิษฐะ นางอมิตตดาได้ปฏิบัติชูชกในหน้าที่ภรรยาที่ดีทุกประการ  เมื่อชายในบ้านนั้นเห็นเข้า  ก็พากันสรรเสริญ  แล้วดุว่าภรรยาของตนที่เกียจคร้าน  เอาแต่เที่ยวเล่น  สู้นางอมิตตดาเป็นเด็กกว่าก็ไม่ได้  ครั้นหญิงทั้งหลายในบ้านนั้นถูกสามีตำหนิแทนที่จะรู้สึกตัว  กลับพากันเคียดแค้นชิงชังนางอมิตตดาชักชวนกันไปด่าว่านางอมิตตดาที่ท่าน้ำอย่างสาดเสียเทเสีย  หมายจะให้นางอมิตตดาหนีไปเสีย  หรือไม่ก็ควรประพฤติตนเข้าแบบของตน  นางอมิตตดาเสียใจ  จะเอาแบบชาวบ้านนั้นก็ไม่ชอบ  เพราะไม่เคยอบรมมา  คับอกคับใจ  ในที่สุดเทวดาดลใจให้บอกชูชกไปขอชาลีกัณหาสองกุมาร  พระโอรสของพระเวสสันดรมาเป็นทาสช่วงใช้  เมื่อถูกเมียสาวขอแกมบังคับเช่นนั้น  ก็ต้องฝืนใจไปพระนครสีพี  เมืองของพระเวสสันดร  เพราะความลุกลี้ลุกลนใคร่จะเดินทางไปให้ถึงพระเวสสันดรโดยเร็ว  ทำให้ชูชกขาดความรอบคอบไม่เหมือนคราวก่อน ๆ  ที่เดินทางมาขอทาน  เห็นกลุ่มชนที่ใดเป็นถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดรพร้อมทั้งแนวทางที่จะเดินไปให้ถึงที่หมาย

          ชาวเมืองสีพีเกลียดหน้านักขอทานเป็นทุนอยู่แล้ว  ดังนั้นก็พาโลรี่เข้าใส่ชูชก  ด่าว่าเจ้ามาเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยให้ท้าวเธอพระราชทานจนเกินไป  ถึงลูกขับไล่พระชายาและพระโอรสให้ออกไปอยู่วงกต  แล้วเจ้ายังจะกลับมาเอาอะไรอีก  พากันถือไม้ค้อนก้อนดินขับไล่ชูชกเข้าป่าไป  ชูชกหนีชาวเมืองสีพีขับไล่ไปทางเขาวงกตขณะเดินเลาะลัดไป  ถูกสุนัขของเจตบุตรไล่ล้อม  ได้หนีขึ้นต้นไม้  นั่งบนคาคบร้องไห้รำพันถึงคุณพระเวสสันดร

          ฝ่ายเจตบุตร เจ้าของสุนัขติดตามมา  เห็นชูชกอยู่บนต้นไม้ก็แน่ใจว่าชูชกจะมาร้าย  คงจะไปขอพระนางมัทรีหรือพระโอรสเป็นแน่  ก็คิดฆ่าเสีย  จึงเดินเข้าไปใกล้พลางน้าวหน้าไม้ขึ้น  พร้อมกับร้องสันทับว่า  แน่พราหมณ์พวกแกเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยพระราชทานเกินไป  ฉะนั้น ข้าจะไม่ไว้ชีวิตแก  จะยิงแกให้ตายด้วยหน้าไม้นี้  ชูชกตกใจกลัวตาย  จึงได้อุบายหลอกเจตบุตรพร้อมด้วยการขู่ว่าช้าก่อนเจตบุตร  ข้าเป็นพราหมณ์เป็นราชทูต  ซึ่งใคร ๆ ไม่ควรจะฆ่า  ดูก่อนเจตบุตร บัดนี้ชาวเมืองสีพีหายขัดเคืองแล้ว  พระชนกก็ปรารถนาจะพบพระเวสสันดรปิโยรส  ท้าวเธอให้ข้าฯ เป็นราชทูตมาเชิญพระเวสสันดรกลับ  ฉะนั้นเจ้าจงบอกแก่ข้าว่า  พระเวสสันดรอยู่ที่ไหน  เจตบุตรหลงเชื่อในคำลวงชูชก  จึงผูกสุนัขทั้งหลายแล้วให้ชูชกลงจากต้นไม้ให้นั่งที่มีใบไม้ลาดให้โภชนาหารกิน  แล้วก็บอกทางให้ไปพบพระเวสสันดร

          ข้าพเจ้าเล่าความในกัณฑ์ชูชกแล้วเลยเข้าไปในกัณฑ์จุลพน  เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความต่อเนื่องกันแล้วก็จบลงในเวลาไม่เกิน ๑ ชั่วโมง  ในการเล่าเรื่องนั้นได้แทรกคติธรรม และอารมณ์ขันบางอย่างด้วย  เช่นว่า  คนแก่มีเมียสาวก็เป็นอย่างนี้และ  สาว ๆ ทั้งหลายอยากสบายก็ควรหาสามีแก่อย่างชูชกนะ  อย่างนี้เป็นต้น/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, พฤษภาคม, 2566, 10:49:50 PM
(https://i.ibb.co/wgPZvHM/0001-124-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๒ -
          วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันเทโวโรหณะ  ขบวนแห่บกแห่น้ำของหลวงเจ้าคุณที่จัดเตรียมไว้พร้อมตั้งแต่เมื่อคืน  ก็พากันเคลื่อนออกจากที่  ขบวนแห่ทางบกจากเมืองเก่า ผ่าน บ้านนา บ้านขวาง บ้านกล้วย เข้าเมืองสุโขทัยธานี  ขบวนแห่ทางน้ำเคลื่อนจากบ้านเตว็ดลงมาท่าช้าง บางคลอง ปากแคว บางแก้ว ถึงวัดราชธานี  ในขบวนมีพระภิกษุสามเณรอุ้มบาตรรับอาหารบิณฑบาต  ประชาชนสองข้างทางทั้งทางบกทางน้ำนำอาหาร  ข้าวสุกของคาวหวาน  ข้าวต้มมัดใต้  ข้าวต้มลูกโยน  ผลไม้นานา  ใส่บาตรกันตามรายทางที่ขบวนแห่ผ่าน  มีศิษย์พระคอยถ่ายของที่เขาใสบาตรจนเต็มแล้วนั้นลงในกระบุงตะกร้าที่เตรียมไปเป็นอันมาก  ในขบวนแห่ทางบกนั้น  มีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรเนื้อสีเงินสูงประมาณ ๓-๔ ศอก  เป็นประธานของขบวนนี้  ข้าพเจ้ามิได้ไปในขบวนดังกล่าว  ด้วยคอยจัดการรับอยู่ที่ศาลาการเปรียญ  ซึ่งก็มีญาติโยมมาร่วมงานบุญใส่บาตรเทโวฯจนเต็มวัดเช่นกัน

          ของที่ประชาชนใส่บาตรในขบวนแห่ทางบกทางน้ำและรวมทั้งที่วัดราชธานี  กรรมการวัดเอามากองบนศาลาการเปรียญด้านหลังอาสนสงฆ์   “แม่เจ้าโวย กองเป็นภูเขาเลากาเลย”   หลวงพ่อเจ้าคุณสั่งให้คัดแยกข้าวสุก ข้าวต้มมัด ผลไม้ ออกเป็นส่วน ๆ  แล้วให้นำไปมอบผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสุโขทัย  กับเรือนจำสวรรคโลก  เพื่อแจกจ่ายนักโทษในเรือนจำกินโดยทั่วหน้ากัน  ดูท่าทีหลวงพ่อเจ้าคุณท่านมีความสุขมากเลย  ข้าพเจ้ามองดูด้วยความเสียดาย  ไม่ใช่เสียดายที่หลวงพ่อเจ้าคุณนำไปแจกจ่ายผู้ต้องขังในเรือนจำ  แต่เสียดายที่ชาวบ้านเสียของโดยไม่ควรจะเสีย  เสียดายเศรษฐกิจชาวบ้านที่เสียไปอย่างไม่คุ้มค่า  เพราะทราบว่าอาหารที่นำไปแจกจ่ายผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น  พวกเขากินกันไม่หวาดไหว  เหลือทิ้งขว้างไปไม่น้อย  ส่วนเหลือจากการแจกจ่ายที่วัดนี่ก็บูดเน่าทิ้งไปมากมาย  จนข้าพเจ้าแอบนินทาเงียบ ๆ ว่า  งานนี้ชื่อว่า  “ตักบาตรเททิ้ง”  หาใช่ตักบาตรเทโวฯ ไม่

          ถึงเวลาน้องเพลวันนั้น  ในลาดเมืองสุโขทัยธานีคลาคล่ำไปด้วยผู้คน  เด็กผู้ใหญ่ชายหญิงพากันมาเพื่อดูการแข่งเรือในลำน้ำยม  ร้านอาหารเครื่องดื่มขายดิบขายดี  ส่วนสินค้าอื่น ๆ ก็มีผลพลอยได้  ถามว่าทำไมคนจึงมาเที่ยวงานเทโวฯ กันมากนัก  คำตอบอยู่ที่ว่า  เพราะตลอดเวลาสามสี่เดือนที่ผ่านมาไม่มีการจัดงานเทศกาลใด ๆ เลย  งานเทโวฯ จึงเป็นงานแรกที่ให้ความสนุกสนานรื่นเริงกัน  จากงานนี้ก็จะมีงานกฐินกันทุกวัดแล้ว  กว่าจะถึงงานกฐินผ้าป่าก็ขอสนุกกับงานเทโวฯ ก่อน

          ถึงเที่ยงวันริมตลิ่งสองฟากฝั่งแม่น้ำยมตั้งแต่สะพานพระร่วงไปถึงบริเวณหน้าศาลพระแม่ย่าแน่นขนัดไปด้วยผู้คน  พวกเขามารอดูการแข่งขันเรือยาวที่จะเริ่มทำการแข่งขันกันในเวลาประมาณบ่ายโมง  ข้าพเจ้าไม่คิดสนุกพอที่จะไปดูกับเขาดอก  เพราะคุ้นกับการใช้เรือ  พายเรือ  มาตั้งแต่อยู่วัดบางซ้ายใน  วัดหัวเวียง  ลุ่มน้ำเจ้าพระยามามากพอแล้ว

          งานเทโวฯ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  กรรมการวัดสรุปผลอันเป็นเงินรายได้ของวัดราชธานี  ได้จากการให้เช่าโรงลิเก  การให้เช่าที่ตั้งร้านค้าภายในวัด  และการจำหน่าย
ดอกไม้ธูปเทียนทองสักการะปิดทองหลวงพ่อเป่า  รวมทั้งสิ้นเป็นเงินเก้าพันสี่ร้อยบาทเศษ  ผิดคาดมาก  ข้าพเจ้าเห็นคนมาเที่ยวกันเป็นแสนแน่นถนนทุกสายในตัวเมือง  คิดว่าจะได้เงินเข้าวัดอย่างน้อยก็หลายหมื่นบาท  ทราบว่าโรงหนังทั้งสองโรงโกยเงินเข้ากระเป๋าเป็นแสน  หักเป็นกำไรได้หลายหมื่นบาท  จึงรำพึงอยู่ว่า  “วัดเราตีงูให้กากินแท้ ๆ” /                                          

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, พฤษภาคม, 2566, 09:52:37 PM
(https://i.ibb.co/k6xFK76/728x400-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๓ –
          ออกพรรษาแล้วเป็นช่วงเวลาของ  “กาลทาน”  คือการทอดกฐิน  มีกำหนอดเวลาให้ทอดกฐินได้ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ถ้าทอดก่อนและหลังกำหนดนี้ไม่เป็นกฐิน (แต่เป็นผ้าป่า)  และวัดทุกวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น  อันที่จริงการทำผ้ากฐินเดิมทีนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุกระทำกันเอง  ต่อมาพวกอุบาสกอุบาสิกาจัดหาผ้าถวายเป็นกฐินทาน  ด้วยถือว่าได้บุญมหาศาล  เป็นความเชื่อที่ไม่มีใครคัดค้าน  จึงทำกันเรื่อยจนเป็นวัฒนธรรมประเพณีสืบมาจนถึงวันนี้  ผลดีของกฐินคือพระภิกษุได้รับอานิสงส์ตามพระพุทธานุญาตแล้วยังได้เอกลาภจตุปัจจัยไทยทานจากญาติโยมอีกด้วย  พระภิกษุนักเทศน์ในเมืองไทยก็ได้เอกลาภพิเศษจากการรับนิมนต์เทศน์เรื่องกฐินทานจากญาติโยมที่เป็นเจ้าภาพจัดทอดกฐิน  ได้จตุปัจจัยไทยทานที่เป็นกัณฑ์เทศน์  มากบ้างน้อยบ้างตามฐานศรัทธาของเจ้าภาพนั้น ๆ

          ข้าพเจ้าได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์เต็มตัวก็เมื่อมาอยู่วัดราชธานีนี่เอง  รับเทศน์งานกฐินในวัดบ้างในหมู่บ้านบ้าง  เป็นการเทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์  สถานที่เทศน์ส่วนใหญ่เป็นในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก  เพราะคนนิมนต์เทศน์ส่วนมากฟังรายการเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐ ไปนิมนต์ที่วัดเขาสมอแครงอันเป็นที่ตั้งสภาธรรมวิจารณ์  พระเกรียงศักดิ์กับพระสอนเป็นผู้รับไว้บ้าง  เดินทางมานิมนต์ที่วัดราชธานีบ้าง  บางรายบอกว่าให้เทศน์คู่กับพระกิตติวัณณะ ภิกขุ วัดเขาสมอแครง  บางรายให้เทศน์คู่กับพระนักเทศน์ในจังหวัดพิษณุโลก  การนิมนต์สองแห่งนี่ออกจะยุ่งหน่อย  เพราะเป็นคนละที่  ถ้าเกิดเทศน์ในวันเดียวกัน  ก็แบ่งภาคไปไม่ได้  สมัยนั้นการสื่อสารด้วยโทรศัพท์ยังไม่มี  จึงยากที่จะเคลียวันเวลาเทศน์  ส่วนใหญ่ถ้าวันซ้ำกันข้าพเจ้าก็ต้องสละคู่เทศน์ที่วัดเขาสมอแครงให้พระเกรียงศักดิ์เทศน์คู่กับพระสอน  ทำให้โยมผิดหวัง  เพราะพระสอนท่านอ่อนหัดไปหน่อย

          พระนักเทศน์ธรรมะล้วน ๆ เวลานั้นในจังหวัดสุโขทัยที่ข้าพเจ้ารู้จักก็มี  พระครูสุขวโรทัย (หลวงพ่อห้อม) วัดคูหาสุวรรณ   เจ้าคุณมุนินทรานุวัตร์ วัดพระปรางค์   สององค์นี้เป็นรุ่นใหญ่  รองลงมาก็มีพระครูปลัดสวง (พระครูอุทัยสุขวัฒน์) วัดบางคลอง   พระมหาดำรง (ครูสุภัทรธีรคุณ) วัดไทยชุมพล   เจ้าอธิการบุญมี วัดราชธานี   พระใบฎีการวง วัดคูหาสุวรรณ   พระมหาประคอง วัดคลองกระจง   พระมหาธีรพงษ์ วัดเบญจมบพิตร (วัดไทยชุมพล)  นอกนั้นเป็นนักเทศน์ประเภท “คาบลูกคาบดอก”  คือเทศน์ธรรมะไปร้องแหล่ไป  ชาวบ้านส่วนมากชอบแบบนี้  ส่วนในจังหวัดพิษณุโลกที่ข้าพเจ้ารู้จักก็มี  พระราชรัตนมุนี (แช่ม) วัดพระศรีรัตยมหาธาตุ   พระพิศาลธรรมภาณี วัดลาดกระบัง  เจ้าคุณสององค์นี้เป็นรุ่นใหญ่  รองลงมาก็มีพระปลัดวัลลพ วัดราษฎร์บูรณะ   พระครูธรรมจักรสุนทร วัดธรรมจักร   พระครูนิยมสีลาจารย์ (เอียง) วัดทามะปรางค์   พระครูวิธานเรขกิจ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  พระมหาเกษม พระมหาสุรศักดิ์ พระมหาสว่าง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  นอกนั้นก็เป็นนักเทศน์ประเภท  “คาบลูกคาบดอก”  เช่นกัน

          พระนักเทศน์ระดับอาวุโสองค์แรกของพิษณุโลกที่ข้าพเจ้าเข้าไปทำความรู้จักคือท่านเจ้าคุณพระราชรัตนมุนี  พระองค์นี้ทราบมาว่าท่านมาจากสำนักวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) กรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นสำนักเดียวกันกับหลวงพ่อไวย์ของข้าพเจ้า  ครั้นเข้าพบแล้วกราบรายงานตัวว่าเป็นใครมาจากไหน  ท่านสนใจถามว่าก่อนจากกรุงเทพฯ มานี่เคยอยู่ที่ไหน  ใครเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์  ก็เรียนท่านไปตามความเป็นจริง  ท่านตบเข่าผางร้องว่า

           “เฮ้ย  เป็นลูกศิษย์มหาไวย์เหรอ  รู้มั้ยฉันกับมหาไวย์เป็นเพื่อนรักกันมาก  “เจ้านี่มันลิงล้างกัน”  ตอนเรียนอยู่ด้วยกันที่วัดสระเกศน่ะ  มหาไวย์ซนเป็นลิงเลย  ตอนสอบประโยค ๕ ได้แล้วจะกลับบ้านที่วัดขนมจีน อยุธยา  ไม่ขอเรียนต่อแล้ว  ฉันต้องเอาหมากรุกล่อให้อยู่เรียนต่อจนจบประโยค ๖”

          ท่านเล่าความหลังของหลวงพ่อไวย์กับท่านให้ฟังอย่างยืดยาว  หลังจากบอกเล่าเบื้องหลังจบแล้วข้าพเจ้าก็กล่าวว่า  เมื่อเป็นเพื่อนรักของหลวงพ่อไวย์กระผมขอเรียกท่านว่าหลวงพ่อนะครับ ท่านร้อง “เฮ้ย ! ไม่ได้ เรียกหลวงพ่อมันแก่เกินไป  เรียกหลวงอาก็แล้วกันนะ ฟังดูหนุ่มหน่อย”   จากนั้นข้าพเจ้าก็กลายเป็นหลานหลวงอาแช่ม  ไปมาหาสู่จนเป็นคนคุ้นเคยกันเรื่อยมา  มีงานเทศน์บางงานของท่าน  ท่านก็ให้ข้าพเจ้าไปเทศน์แทนอยู่บ่อย ๆ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, พฤษภาคม, 2566, 11:02:41 PM
(https://i.ibb.co/0fSNmQg/1518233158-67594-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๔ -
          เหรียญชัย จอมสืบ เป็นตัวการวิ่งเต้นประสานงานรวบรวมนักกลอนในจังหวัดสุโขทัย  ซึ่งส่วนมากเป็นครูบาอาจารย์ให้รวมกลุ่มกันจัดตั้งชมรมนักกลอนขึ้น  ใช้ชื่อว่าชมรมกวี  “ศาลาลายสือไท”  มีนายสุธรรม วงศ์โดยหวัง  ปลัดจังหวัดเป็นประธานชมรม  ทานสุธรรมเป็นชาวสวรรคโลก  อดีตเป็นพระมหาเปรียญ  ลาสิกขาไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธก.)  จบแล้วสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย  เจริญก้าวหน้าในชีวิตข้าราชการจนสุดท้ายดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสุโขทัย  เป็นคนพูดง่ายใจดี  แม่นยำในตัวบทกฎหมายมาก  และที่สำคัญคือท่านเป็นนักกลอนฝีมือดีคนหนึ่งด้วย  นักกลอนที่รวมกลุ่มตั้งชมรมนี้เท่าที่ยังจำได้ก็มี  ทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์   ประเสริฐ นุตาลัย   เหรียญชัย จอมสืบ   ครูนิมิต ภูมิถาวร   ครูทองเจือ สืบชมพู   ครูสมศรี ภูมิประพัฒน์ เป็นต้น  ข้าพเจ้าเข้าร่วมชมรมนี้ด้วย  ถามว่า ทำไมจึงใช้ชื่อว่า  ศาลาลายสือไท  ได้คำตอบว่า  “ลายสือไท”  เป็นคำในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ท่านจารึกไว้ว่า   “เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มีพ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทนี้ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้”   ความจารึกที่ตัวอักษรติดกันเป็นพืดนี้อ่านแยกวรรคตอนแล้วได้ความว่า   เมื่อก่อนนี้ลายสือคืออักษรหรือหนังสือไทยยังไม่มี  พ่อขุนรามคำแห่งทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ในสมัยของพระองค์  หนังสือไทยจึงมีเพราะพ่อขุนฯทรงคิดประดิษฐ์ไว้ให้ใช้กัน ดังนั้นจึงใช้คำว่า  “ลายสือไท”  เป็นชื่อชมรมกลอนของเรา

          กิจกรรมของชมกวีศาลาลายสือไท  นอกจากการแต่งบทกวีเป็น ร่าย กาพย์ โคลง ฉันท์ กลอน แล้ว  ก็มีการวิเคราะห์ วิพากย์ วิจารณ์ และค้นคว้าเรื่องราวของวรรณคดีประวัติศาสตร์โบราณคดี  วัฒนธรรมประเพณีไทยอีกด้วย  นำเอาความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑  และอีกหลายหลักที่มีการอ่าน แปล โดยนักวิชาการของกรมศิลปากรมาพูดถึงกันในเชิงวิเคราะห์  เช่นความว่า   “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์  แม่กูชื่อนางเสือง  พี่กูชื่อบานเมือง ....”   เป็นต้น  พี่มหาประเสริฐได้นำความในศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุมมาประกอบเรื่องให้รู้ความเป็นมาของนาม  “ศรีอินทราทิตย์”  ว่า  เดิมทีท่านผู้นี้มีนามว่า  “บางกลางท่าว”  เจ้าเมืองบางยาง (นครไทย)  ได้ร่วมกับขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (ยังไม่ทราบแน่ชัดคือเมืองใด)   ยกพลมาขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงที่ยึดครองเมืองสุโขทัยอยู่   ครั้นขอมสบาดฯ พ่ายหนีไป  ขุนผาเมืองเข้าเมืองสุโขทัยได้แล้วมอบให้ขุนบางกลางท่าวครอง  พร้อมมอบนามศรีอินทรปตินทราทิตย์ของตนให้สหายด้วย  ความที่พี่มหาประเสริฐนำมาประกอบเรื่องดังกล่าวนี้เป็นความในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งพบ ณ วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย  อ่านความแล้วน่าจะถือว่าเป็นเรื่องเริ่มต้นประวัติศาสตร์ไทย

          ข้าพเจ้าเป็นคนมีความรู้น้อย  เรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยนี่ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย  เวลาเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการก็ได้แต่ฟังท่านผู้รู้อภิปรายกัน  แล้วจดจำเก็บเกี่ยวความรู้นั้นมากองสุมไว้ในตน  โดยปกตินิสัยของข้าพเจ้าเป็นคนชอบฟังชอบคิดมากกว่าพูดเพ้อเจ้อ (เหมือนบางคน)  ถือตามปราชญ์ที่ท่านกล่าวว่า  “คนพูดมากเสียเปรียบ คนฟังมากได้เปรียบ”  เห็นจริงด้วยว่าคนพูดมากเสียความรู้  คนฟังมากได้ความรู้  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงชอบฟังเพื่อเอาความรู้จากผู้พูด

          เกี่ยวกับพระนามเดิมของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้น  ข้าพเจ้าถามในที่เสวนาว่า  “บางกลางท่าว”  แปลว่า หรือหมายความอะไร  ได้ฟังคำอภิปรายจากท่านผู้รู้ว่า  คำว่า บางกลาง เป็นคำไทยปัจจุบันชัดเจนแล้ว  คำว่า  “ท่าว”  คำนี้บางทีก็ว่า  “ท้าว”  เป็นคำไทยโบราณ  มีใช้มาก่อนยุคพ่อขุนรามคำแหงเสียอีก  คำนี้แปลว่า  “ใหญ่”  และพูดเพี้ยนเป็น ท้าวบ้าง  เท้าบ้าง  เฒ่าบ้าง  เถ้าบ้าง  ถ่าวบ้าง  เช่นพูดถึงปลาตัวใหญ่ว่าปลาหยางท่าว (ปลาอย่างใหญ่)  คนเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าก็เรียกว่า  เฒ่าเถ้า  เช่น  ผู้เฒ่า  เถ้าแก่  เป็นต้น   ข้าพเจ้าฟังดังนั้นก็แปลความเอาเองว่า  บางกลางท่าว  คือเป็นใหญ่ท่ามกลางหมู่ชน  นั่นแล

          เมืองบางยางรู้แน่นอนแล้วว่า  คือนครไทย  อำเภอหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน  ส่วนเมืองราดของขุนผาเมืองนั้นยังชี้ชัดลงไปไม่ได้ว่าคือเมืองอะไร  ผู้รู้ในชมรมกวีศาลาลายสือไทเชื่อตามนักวิชาการเดิมว่า คือเมืองศรีเทพในจังหวัดเพชรบูรณ์  ที่มีบางกลุ่มชนว่าเมืองราดคือหล่มสักนั้นเห็นจะผิดไปถนัดเลย  เพราะในจารึกหลักที่ ๑ นั้นระบุว่า  เมืองที่เลยไปจากสรลวงสองแฅว (พิษณุโลก) คือเมืองลุมบาจายสคา  อยู่ตรงตำแหน่งหล่มเก่า หล่มสักพอดีเลย  ข้าพเจ้าเริ่มสนุกกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยจากความในศิลาจารึกสุโขทัยเสียแล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤษภาคม, 2566, 10:56:29 PM
(https://i.ibb.co/QbJjrbf/298337532-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๕ -
          เป็นความคิดของท่านเอง  หรือมีใครไปแนะนำก็ไม่ทราบ  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู ๒๕๐๔) สำราญ สุดจิตต์  มานิมนต์ข้าพเจ้าให้เข้าไปช่วยสอนวิชาศีลธรรมแก่นักเรียนชั้นประถมฯ ตอนปลายสัปดาห์ละครั้ง  โรงเรียนนี้สมัยนั้นเป็นโรงเรียนใหญ่มีเด็กนักเรียนหลายพันคน  เป็นเด็กนอกเขตเทศบาลเมืองเสียสวนมาก  มีเด็กจากโตนด ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จากเมืองเก่า บ้านนา บ้านขวาง บ้านกล้วย นั่งรถสองแถว (มักเรียกกันว่ารถคอกหมู) เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก  ข้าพเจ้ารับนิมนต์แล้วก็ปรึกษาพี่เหรียญชัย กับครูนิมิต  เพื่อวางแนวการสอนให้  เพราะไม่เคยสอนเด็กมาก่อน  เขาก็บอกว่าท่านเคยสอนพระเณรอย่างไรก็ควรสอนเด็กอย่างนั้นแหละ

          ข้าพเจ้าคิดค้านคำของครูนิมิกับครูเหรียญชัย  เพราะการสอนพระเณรนั้นสอนามหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก  แต่จะเอาหลักสูตรนักธรรมนั้นมาสอนเด็กไม่ควรเลย  เคยอ่านหนังสือวิชาครูเพื่อสอบเอาวุฒิครูมาบ้าง  จึงคิดใช้หลักการสอนในวิชาครูนั้นมาดัดแปลงใช้ในการสอนศีลธรรมแก่เด็ก  ตกลงใจว่าจะนำธรรมะในหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีที่ว่าด้วย  “คิหิปฏิบัติ”  คือธรรมะสำหรับคฤหัตถ์ (ชาวบ้านทั่วไป) กับธรรมะในมงคลสูตร  มาสอนเด็กจึงจะสมควร  และแทนที่จะสอนตามลำดับหมวดธรรม  คือเริ่มตั้งแต่หมวด ๔  ก็จะนำเอาเอาเรื่องทิศในหมวด ๖ มาสอนเป็นการชิมลางก่อน

          วันแรกที่เริ่มสอนข้าพเจ้าขอสอนเฉพาะนักเรียนชั้น ป.๗ ก่อน  และให้นำนักเรียนทุกห้องมารวมกันในห้องประชุม  เพราะหากจะให้ไปสอนทุกห้องในวันเดียวกันคงไม่ไหวแน่  แต่ทางอาจารย์บอกว่าถ้าอย่างนั้นขอให้นักเรียนชั้นประถมปลายทั้งหมดมารวมกันในห้องประชุมเลย  พระอาจารย์สอนแบบอบรมนักเรียนเป็นการเริ่มต้นก็ได้  ข้าพเจ้าก็ตกลงตามนั้น  เด็กชั้นประถมปลายชายหญิงมีจำนวนรวมกันเป็นร้อย  เข้าห้องประชุมแล้วข้าพเจ้าก็เริ่มทำการสอนตามแบบที่คิดไว้

           “สวัสดีนักเรียนทั้งหลาย  วันนี้เป็นวันแรกที่อาจารย์จะเริ่มสอนวิชาศีลธรรมแก่พวกเธอ  ขอให้นั่งฟังกันอย่างสบาย ๆ  ขอเพียงอย่าคุยกัน  และอย่านั่งหลับก็แล้วกันนะ”

          จากนั้นก็เริ่มนำเข้าสู่บทเรียน

           “นักเรียนทั้งหลายรู้จักทิศมั้ย  ทิศที่หมายถึงทางน่ะ  ไม่ใช่พี่ทิดที่สึกไปจากพระนะ  ใครรู้จักทิศทางบ้างยกมือขึ้น“

          นักเรียนยกมือพรึบทั้งห้อง

          “อ้อ รู้จักกันทุกคนแล้วนะ ขอถามอีกทีว่ามีกี่ทิศ“     นักเรียนตอบว่า ๔ ทิศพร้อมกัน  ถามต่อว่าทิศอะไรบ้าง นั กเรียนตอบว่าทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก  ดีมาก  นักเรียนทุกคนเก่ง  กล่าวชมนักเรียนแล้วก็เข้าเรื่อง  ทิศที่นักเรียนรู้จักนั้นเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ทุกคนต้องรู้ไม่งั้นจะเดินหลงทิศทางจนกลับบ้านไม่ถูก  แต่ในทางพุทธศาสนาเรามีทิศมากกว่านั้น  อยากรู้มั้ยว่า  มีทิศอะไรบ้าง   “อยากรู้”   นักเรียนตอบเป็นเสียงเดียวกัน

          อยากรู้ก็ตั้งใจฟังและจดจำนะ  จะเล่านิทานให้ฟัง  ในสมัยพุทธกาลมีคนในวรรณะพราหมณ์ครอบครัวหนึ่ง  มีลูกคนเดียวเป็นชาย  ชื่อว่าสิงคาลมาณพ  อยู่มานางพราหมณีภรรยาตายลง  พราหมณ์หัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูลูกชายจนเติบใหญ่  ไม่นานนักเขาป่วยใกล้ตายจึงเรียกลูกชายไปนั่งใกล้ ๆ แล้วสั่งว่ า เมื่อพ่อตายไปแล้วขอให้ลูกทำตามคำสั่งพ่อเพื่อความสุขความเจริญของลูก  คือขอให้ทำการไหว้ทิศทั้งหลายเป็นประจำทุกวัน   ครั้นพราหมณ์นั้นสิ้นชีวิตแล้ว  สิงคาลหนุ่มก็ทามคำสั่งพ่ออย่างเคร่งครัด  ทุกเช้าเขาตื่นนอนก็ลงจากเรือนไปทำการกราบไหว้ทิศทั้งสี่เป็นประจำ  วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินบิณฑบาตโปรดสัตว์ผ่านไปเห็นเขากำลังไหว้ทิศอยู่  ทรงหยุดดูแล้วถามว่าพ่อหนุ่มทำอะไรหรือ  เขาก็ตอบว่ากำลังไหว้ทิศตามคำสั่งพ่อ  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  ไหว้ทิศทั้งสี่อย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร  เรามีทิศที่ไหว้แล้วได้ประโยชน์มากกว่า  ทิศของเรามี ๖ ทิศที่ไหว้แล้วได้ประโยชน์คือ

           “๑. ปุรัตถิมทิส คือ ทิศเบื้องหน้า  มารดาบิดา  มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อบุตร ๕ ประการ   ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว   ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี   ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา   ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้   ๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย.    บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดาด้วยสถาน ๕ ดังนี้  ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ   ๒. ช่วยทำกิจของท่าน   ๓. ดำรงวงศ์สกุล   ๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก   ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน.

           ๒. ทักขิณทิส คือ ทิศเบื้องขวา ครูอาจารย์  มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อศิษย์ ๕ ประการ  ๑. แนะนำดี   ๒. ให้เรียนดี  ๓. บอกศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง  ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง  ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย.     ศิษย์พึงบำรุง ครูอาจารย์ด้วยสถาน ๕ ดังนี้  ๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ  ๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้  ๓. ด้วยเชื่อฟัง  ๔. ด้วยอุปัฏฐาก  ๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ.

           ๓. ปัจฉิมทิส คือ ทิศเบื้องหลัง  บุตรภรรยา  มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อสามี ๕ ประการ  ๑. จัดการงานดี  ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี  ๓. ไม่ประพฤตินอกใจสามี  ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้  ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง.      สามีพึงบำรุงภรรยาด้วยสถาน ๕ ดังนี้  ๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา  ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น  ๓. ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ  ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้  ๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว.

           ๔. อุตตรทิส คือ ทิศเบื้องซ้าย  มิตรสหาย  มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อเพื่อน ๕ ประการ  ๑. รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว  ๒. รักษาทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว  ๓. เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้  ๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ  ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร.     กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายด้วยสถาน ๕ ดังนี้  ๑. ด้วยให้ปัน  ๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ  ๓. ด้วยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์  ๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ  ๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง

           ๕. เหฏฐิมทิส คือ ทิศเบื้องต่ำ  บ่าวไพร่  มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อนาย ๕ ประการ  ๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย  ๒. เลิกทำการงานทีหลังนาย  ๓. ถือเอาแต่สิ่งของที่นายให้  ๔. ทำการงานให้ดีขึ้น  ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้นๆ.      นายพึงบำรุงบ่าวไพร่ด้วยสถาน ๕ ดังนี้  ๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง  ๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล  ๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้  ๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน  ๕. ด้วยปล่อยในสมัย

           ๖. อุปริมทิส คือ ทิศเบื้องบน  สมณพราหมณ์  มีหน้าที่จะต้องอนุเคราะห์ต่อกุลบุตร ๖ ประการ  ๑. ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว  ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี  ๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม  ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง  ๕. ทำสิ่งที่เคยได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง  ๖. บอกทางสวรรค์ให้.      กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยสถาน ๕ ดังนี้  ๑. ด้วยกายกรรม คือ ทำอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา  ๒. ด้วยวจีกรรม คือ พูดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา  ๓. ด้วยมโนกรรม คือ คิดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา  ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือ ไม่ได้ห้ามเข้าบ้านเรือน  ๕. ด้วยให้อามิสทาน”

          สิงคาลมาณพฟังแล้วเห็นด้วยเกิดความเลื่อมใสศรัทธา  จึงกราบแทบเท้าพระพุทธองค์แล้วกล่าวคำแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง  เรื่องสิงคาลมาณพจบแล้ว  นักเรียนสงสัยอะไรในเรื่องนี้บ้างไหม  สงสัยก็ถามได้เลย  อาจารย์ขอให้หลักการฟังไว้อย่างหนึ่งว่า  “ฟังแล้วคิด คิดแล้วถ้าสงสัยให้ไต่ถาม”  มีนักเรียนหลายคนถามเรื่องพระพุทธเจ้าว่า  เป็นถึงพระพุทธเจ้าแล้วทำไมต้องเดินบิณฑบาตด้วย  เป็นคำถามซื่อ ๆ ที่น่ารักมาก  ก็เลยตอบอธิบายถึงเรื่องพุทธกิจเสียยืดยาว  เท้าความไปถึงพระเจ้าสุทโธทนะ  พระพุทธบิดาที่ถามพระพุทธองค์  ทำนองเดียวกันนี้  เด็ก ๆ ซักถามกันจนสิ้นสงสัยแล้ว  ก็ปิดชั่วโมงสอนด้วยความพอใจของพวกเขา /

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53879#msg53879)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54217#msg54217)
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, พฤษภาคม, 2566, 01:13:31 AM
(https://i.ibb.co/NW7BLCh/298454527-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54106#msg54106)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54302#msg54302)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๖ -
          ตลอดพรรษากาลปีนั้น  ข้าพเจ้าไม่ได้ติดตามดูความคืบหน้าในการปั้นองค์พระพุทธชินราชจำลองของจ่าทวีเลย  เมื่อไปอยู่ประจำที่วัดราชธานีเมืองสุโขทัยแล้ว  เรื่องราวทางวัดเขาสมอแครงก็ให้หลวงพี่ไฮ้กับพระสอน สองน้าหลานเป็นผู้รับผิดชอบดูแลไป  เพราะเรื่องทางสุโขทัยที่เกี่ยวพันกับข้าพเจ้ามีมากจนยากที่จะปลีกตัวไปช่วยงานทางวัดเขาสมอแครงได้  ครั้นออกพรรษาพอมีเวลาว่างแล้ว  ก็ไปนอนค้างที่วัดเขาสมอแครงบ้าง  มิใช่ตั้งใจจะไปนอนค้างที่วัดนี้โดยตรง  หากแต่มีงานเทศน์ที่พระเกรียงศักดิ์รับนิมนต์ให้เทศน์คู่กับข้าพเจ้าไว้หลายแห่ง  ก่อนถึงวันเทศน์ก็ไปนอนรอเวลาที่วัดเขาสมอแครงบ้าง  เทศน์เสร็จแล้วก็ไปนอนพักที่วัดนี้เพื่อจะต้องไปเทศน์วัดอื่นอีกบ้าง  บางคืนก็ไม่ได้ไปนอนที่วัด  เพราะโยมพุ่มบ้านถนนโค้งวังทองนิมนต์ให้ไปบ้าน  คุยกับชาววังทองจนดึกดื่นแล้วนอนเสียที่บ้านโยมพุ่มเลย  พวกสาว ๆ วังทองก็มานั่งล้อมวงคุยทุกคืนที่ข้าพเจ้าไป

          หลวงพี่ไฮ้เล่าให้ฟังว่าไปติดตามงานการปั้นองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองหลายครั้ง  เป็นเรื่องแปลกมาก  จ่าทวีปั้นพระพักตร์เสร็จแล้ว  ดูด้วยตาเราและทุกคนเห็นว่าเหมือนองค์จริงอย่างไม่มีที่ติ  แต่พอถ่ายรูปเอาภาพมาเทียบดูแล้วกลับไม่เหมือนองค์จริง  จ่าต้องทุบทิ้งแล้วปั้นใหม่  ครั้นปั้นเสร็จแล้วถ่ายรูปเอาภาพไปให้ดูที่วัดเทียบกับภาพองค์จริงดู  เห็นว่าเหมือนมากจนไม่มีที่ติ  ไปดูของจริงที่ปั้นกลับเห็นว่าไม่เหมือนองค์จริง  จ่าทวีต้องทุบปั้นใหม่อีก  จนถึงวันนี้ยังปั้นได้ไม่เหมือนองค์จริงเลย  ฟังคำบอกเล่าอย่างนั้นข้าพเจ้าจึงไปดูการปั้นของจ่าทวีซึ่งตั้งโรงปั้นอยู่มุมกำแพงวัดด้านเหนือติดแม่น้ำน่าน  พี่จ่าก็เล่าให้ฟังอย่างที่หลวงไฮ้บอกเล่า  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าแปลกมาก  หลังจากกล่าวให้กำลังใจพี่จ่าทวีแล้ว  ก็เข้าวัดไปกราบคารวะหลวงพ่อเจ้าคุณพระพิษณุบุราจารย์เรียนให้ท่านทราบว่า  ไม่ได้เข้าอยู่วัดวังทองตามประสงค์ของหลวงพ่อพระครูประพันธ์ศีลคุณ  เพราะหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณวัดราชธานีขอร้องให้ไปช่วยงานท่านที่สุโขทัย  หลวงพ่อเจ้าคุณพิษณุฯ ก็ได้แต่พูดว่าเสียดาย  เมื่อพูดถึงการปั้นพระพุทธชินราชจำลอง  ท่านก็บอกว่าแปลกมาก  ได้รู้ได้เห็นเรื่องนี้มาตลอด  เพราะทวีนิมนต์ให้ไปดูที่โรงปั้นและเอาภาพมาให้ดูด้วยหลายครั้งแล้ว

          การเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐ ของข้าพเจ้ายังเป็นไปโดยปกติ  ทุกวันอาทิตย์จะนั่งรถเมล์โดยสารจากสุโขทัยแต่เช้าทันเวลาเทศน์  เมื่อเทศน์จบจ่าทหารอากาศก็ให้นั่งรถจิ๊ปไปส่งที่ร้านอาหารผู้ปวารณาถวายอาหารเพลไว้  ฉันหารเสร็จบางวันก็ไปส่งที่วัดราชธานี  บางวันก็ส่งที่วัดเขาสมอแครง  บางวันก็ส่งที่วัดใหญ่ (พระศรีรัตนมหาธาตุ)  เพื่อพบหลวงอาแช่ม (พระราชรัตนมุนี) ตามที่ท่านสั่งไว้ว่าขอให้ไปพบท่านอย่างน้อยเดือนละครั้ง  ไปแต่ละครั้งท่านจะให้รายการเทศน์แทนท่าน  หนึ่งแห่งบ้างสองแห่งบ้าง  รายการที่ไปแทนท่านนั้นมีแต่เทศน์อย่างเดียว  ไม่มีกิจนิมนต์อื่นเลย

          พระนักเทศน์ทุกองค์จะต้องมีสมุดจดรายการรับนิมนต์เทศน์และงานทำบุญอื่น ๆ ประจำตัวไว้คนละ ๑ เล่ม  ส่วนใหญ่เป็นปฏิทินประจำปีนั้น ๆ  ข้าพเจ้ายังไม่มีปฏิทิน  มีแต่สมุดพกเล่มเล็ก ๆ  เพราะเป็นผู้น้อยและใหม่ในวงการ  เวลาพบพระนักเทศน์ด้วยกันก็จะเปิดสมุดพกดูว่ามีรายการเทศน์วันใดที่ไหนบ้าง  บางท่านก็จดรายละเอียดลงไปด้วยว่าเป็นงานอะไร  ใครเป็นเจ้าภาพ  ใครเป็นคนนิมนต์  เดินทางไปถึงที่ได้อย่างไร  บางองค์สมุดปฏิทินแทบจะไม่มีวันว่างเลย  อย่างหลวงอาแช่มของข้าพเจ้านี่  บางวันมีกิจนิมนต์เทศน์ตั้ง ๓ รายการ  ดังนั้นเมื่อไปพบท่านแล้ว  ท่านก็ให้เปิดสมุดดูรายการนิมนต์  วันใดที่ข้าพเจ้าว่าง  ท่านก็ให้รับเทศน์แทนท่านที่รับไว้ ๒-๓ แห่ง  เลือกเอาว่าจะไปเทศน์แห่งใด  เป็นอย่างนี้เองรายการเทศน์ของข้าพเจ้าจึงมีที่พิษณุโลกมากกว่าที่สุโขทัย

          พระนักเทศน์มีชื่อเสียงดังในพิษณุโลก-สุโขทัยหลายองค์ที่ข้าพเจ้าเคยเทศน์คู่กับท่าน  บางองค์เทศน์แบบ  “น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง”  มีแต่น้ำแทบไม่มีเนื้อเลย  กล่าวคือ  ท่านเทศน์นอกเรื่อง  เช่นพอเริ่มเทศน์  ท่านในฐานะเป็นนักเทศน์เก่าและชื่อดัง  อาวุโสมากกว่าข้าพเจ้า  ท่านจึงถืออภิสิทธิ์นี้เป็นผู้เริ่มนำในการเทศน์  ซึ่งผิดแบบแผนที่ครูอาจารย์ของข้าพเจ้าถือปฏิบัติกันมา  คือผู้ทำหน้าที่วิสัชนา (ตอบ) จะเป็นผู้เริ่มต้นว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์จบแล้วจะสมมุติตำแหน่งให้ใครเป็นผู้ถาม  ใครเป็นผู้ตอบ  นี่ท่านเป็นผู้ถามโดยที่ยังไม่ได้รับสมมุติให้เป็น  “พระสักรวาที” (ผู้ถาม) เลย  ท่านว่านำดุ่ยไป  คำเทศน์ของท่านก็ไม่มีสารธรรมอะไร  ล้วนกล่าวยกย่องชมเชยเจ้าภาพที่จัดให้มีเทศน์ ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้  ใช้เวลาเยินยออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง  แล้วตั้งคำถามให้เพียงคำเดียวให้ข้าพเจ้าตอบ  ท้ายคำถามท่านบอกให้อธิบายโดยพิสดารจนจบด้วย  แล้วท่านก็นั่งเคี้ยวหมากบ้าง  สูบบุหรี่บ้าง  ฟังข้าพเจ้าอภิปรายขยายความไปจนจบ  ท่านยะถาสัพพีแล้วลงจากธรรมาสน์ไปรับขันกัณฑ์เทศน์พร้อมกับข้าพเจ้า  สภาพการณ์อย่างนี้ข้าพเจ้าพบหลายครั้งจนไม่อยากเทศน์ด้วยเลย  เวลารับนิมนต์เทศน์จะถามว่า  เทศน์กับใคร  เขาบอกว่าเทศน์กับองค์นั้น  ข้าพเจ้าจะบอกว่าไม่ว่างทันที /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, พฤษภาคม, 2566, 11:00:41 PM
(https://i.ibb.co/Ks9ymDM/1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๗ -
          หลวงพี่พระมหาบุญเหลือ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย  ขอให้ข้าพเจ้าไปเป็นเพื่อนติดต่องานราชการคณะสงฆ์กับเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  ซึ่งอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก  ก็นึกแปลกใจว่าทำไมเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยจึงอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก  เรียนถามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้ความว่า  เมืองสุโขทัยกับเมืองสวรรคโลกมีปัญหาในการเป็นเมืองซ้ำซ้อนกัน  สวรรคโลกเคยเป็นจังหวัด  สุโขทัยเป็นอำเภอในปกครองของจังหวัดสวรรคโลก  เมืองสุโขทัยเคยเป็นจังหวัดโดยยุบจังหวัดสวรรคโลกลง  เป็นอำเภอในปกครองของจังหวัดสุโขทัย  ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจึงเปลี่ยนแปลงไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน (ปี ๒๕๐๗) เจ้าคุณพระสวรรควรนายก เคยเป็นเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก  เมื่อจังหวัดถูกยุบเป็นอำเภอ  ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลกของท่านจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  ปกครองดูแลการคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดสืบมา  ได้ความดังนั้นข้าพเจ้าจึงพลิกปูมความเป็นมาของจังหวัดนี้ได้ความดังต่อไปนี้ .....

           “เมืองสวรรคโลก” เดิมตั้งอยู่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยยังเป็นราชธานี มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงในนาม “เมืองศรีสัชนาลัย” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ. ๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ได้ยกทัพมายึดเมืองศรีสัชนาลัย และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เมืองเชียงชื่น” ต่อมา พ.ศ. ๒๐๑๗ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตีเมืองเชียงชื่นคืนได้สำเร็จ และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เมืองสวรรคโลก” นับแต่นั้นมา

          ในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสวรรคโลกเคยถูกพม่าเข้าตีบ่อยครั้ง เจ้าเมืองสวรรคโลกจึงตัดสินใจย้ายที่ตั้งเมืองมาตั้งอยู่ที่บ้านท่าชัย (ในเขตตำบลศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน) ต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๗๙ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  เมืองสวรรคโลกมีปลัดปกครองนามว่า “นาค” ได้นำงาช้างเนียมไปถวายพระเจ้าอยู่หัวจนเกิดความดีความชอบขึ้น จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระยาสวรรคโลก” มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิชิตภักดี  ซึ่งก็คือต้นตระกูลวิชิตนาคในปัจจุบัน ได้ใช้บ้านพักหรือจวนที่บ้านวังไม้ขอนเป็นที่ว่าการเมืองสวรรคโลก ดังนั้นเมืองสวรรคโลกจึงย้ายมาจากบ้านท่าชัย มาตั้งรกรากที่เมืองสวรรคโลกใหม่ (สวรรคโลกปัจจุบัน) นับแต่นั้นมา

          วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบจังหวัดสุโขทัย ให้อยู่ในความปกครองของจังหวัดสวรรคโลก มีอำเภออยู่ในความปกครอง ๕ อำเภอ และ ๒ กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอสุโขทัยธานี อำเภอหาดเสี้ยว (อำเภอศรีสัชนาลัย) อำเภอสวรรคโลก อำเภอบ้านไกร (อำเภอกงไกรลาศ) อำเภอคลองตาล (อำเภอศรีสำโรง) กิ่งอำเภอลานหอย (อำเภอบ้านด่านลานหอย) กิ่งอำเภอโตนด (อำเภอคีรีมาศ) และต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนชื่อ “จังหวัดสวรรคโลก” ให้เป็น “จังหวัดสุโขทัย” ฐานะของจังหวัดสวรรคโลกจึงถูกลดให้เป็นอำเภอสวรรคโลกนับแต่นั้นมา

        เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยในขณะนั้นมีนามและประวัติเท่าที่ข้าพเจ้าหาได้คือ “พระสวรรควรนายก นามเดิมว่า ทองคำ จิตรธร  เกิดปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ที่หลังวัดสวรรคาราม ตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย  โยมบิดาชื่อ กำนันหนุน  โยมมารดาชื่อ นางสายบัว จิตรธร   บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อเข้ารับการศึกษาตามระบบการศึกษาดั้งเดิมพร้อมทั้งได้มีโอกาสไปศึกษาและจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ  อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ  โดยมี พระเทพโมลี (แพ ติสฺสเทโว) สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "โสโณ" จบการศึกษานักธรรมชั้นเอกแล้วกลับมาอยู่วัดที่บ้านเกิด เป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง (สวรรคาราม) สมณศักดิ์ที่ได้รับคือ พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสวรรค์วรนายก ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสวรรควรนายก ธรรมสาธกวินัยวาที สังฆปาโมกข์ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น พระราชาคณะเสมอชั้นราช ในราชทินนามเดิม  ตำแหน่งที่ได้รับคือ พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็น เจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก  พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย” นับได้ว่าท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด ๒ จังหวัดคือ สวรรคโลก-สุโขทัย ดำรงตำแหน่งอยู่ยาวนานมากทีเดียว

          ในวันที่ข้าพเจ้าไปเข้าพบนั้นท่านมาอายุ ๘๗ ปีแล้ว  ร่างกายดูทรุดโทรมมาก  ที่ชำรุดมากคือหู  เวลาพูดกับท่านต้องส่งเสียงดัง ๆ  ข้าพเจ้าไม่ทราบความนี้จึงพูดกับท่านด้วยเสียงปานกลาง  ท่านเอียงหูเข้ามาใกล้ ๆ พร้อมพูดว่า  “ว่าอะไรนะ พูดดัง ๆ หน่อยซิ  ฉันหูไม่ค่อยจะดี”   ดังนั้นจึงต้องพูดกับท่านด้วยเสียงตะโกน  อย่างคนไม่มีสัมมาคารวะกระนั้นแหละ

          ท่านเจ้าคุณทองคำ (สวรรควรนายก) เป็นผู้ใส่ใจในโบราณวัตถุเช่นเดียวกับเจ้าคุณโบราณ  จึงเก็บรวบรวมพระพุทธรูปและเครื่องปั้นดินเผาไว้มาก  และจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่วัดท่านนั้นเอง  ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้รับการยกขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยกิตติมศักดิ์ (ปัจจุบันตำแหน่งนี้เรียกว่าที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด) และในเดือนตุลาคม ๒๕๐๘ นั้นท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยวัยชรา /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, พฤษภาคม, 2566, 10:52:10 PM
(https://i.ibb.co/163srCg/466105d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๘ -
          วันหนึ่งรับนิมนต์ไปเทศน์ ๒ ธรรมาสน์งานวันมาฆบูชา ที่วัดท่าเกษมในเขตอำเภอสวรรคโลก  คู่เทศน์เป็นพระมหาเจ้าอาวาสวัดคลองกระจง  ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  ถึงวันเทศน์ก็ไปพบและทำความรู้จักกันที่วัดท่าเกษม  ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดคลองกระจงนั่นเอง  ท่านชื่อพระมหาประคอง  อายุมากกว่าข้าพเจ้าประมาณ ๕ ปี  จึงเรียกท่านว่าหลวงพี่ตามวัฒนธรรมประเพณีไทย  ขณะฉันอาหารเพลเราก็คุยกันถึงแนวทางที่จะเทศน์ไปด้วย  พี่มหาประคองอาวุโสสูงกว่าก็ให้ทำหน้าที่เป็นพระสกรวาที (ผู้ถาม)  ข้าพเจ้าอาวุโสต่ำกว่าก็รับหน้าที่เป็นพระปรวาที (ผู้ตอบ)  การเทศน์แบบถาม-ตอบ (ปุจฉา-วิสัชนา)  ถ้าเป็นคู่ที่รู้ใจกันหรือรู้แนวทางกันก็จะเทศน์ได้สนุก  ผู้ฟังก็จะได้ความรู้มาก  ถ้าคู่เทศน์ไม่รู้ใจกันก็เทศน์ไม่สนุก  หรือถ้าคู่เทศน์องค์หนึ่งมีความคิดต้องการจะข่มคู่เทศน์เพื่อเอาตนดีเด่นกว่าคู่เทศน์  ก็ไม่สนุก  คู่เทศน์องค์หนึ่งเก่งองค์หนึ่งไม่เก่งก็ไม่สนุก  ดังนั้นก่อนเทศน์พระเทศน์ที่ดีจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน  บอกแนวทางของกันและกันจนเข้าใจกันดีแล้วจึงขึ้นธรรมาสน์เทศน์ตอไป

          การเทศน์ที่สุโขทัยสมัยนั้นจำแนกได้เป็น ๔ อย่างคือ เทศน์เดี่ยวด้วยการอ่านคัมภีร์ใบลาน, เทศน์คู่แบบคาบลูกคาบดอก, เทศน์คู่แบบ ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง (บุคลาธิษฐาน) เทศน์คู่แบบธรรมะล้วน ๆ (ธรรมาธิษฐาน)  เทศน์แบบยกบุคคลเป็นที่ตั้งเป็นที่นิยมกันมาก  บางทีก็ให้เทศเรื่องสมมุติเป็นตัวบุคคล (เหมือนลิเกละคร) เช่นเทศน์เรื่องมฆมาณพ  เป็นต้น  ถ้าพระเทศน์เก่งด้วยกันจะสนุกทั้งผู้เทศน์และผู้ฟัง

          วันนั้นข้าพเจ้ากับหลวงพี่มหาประคองเทศน์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย  เพราะเป็นการเทศน์ด้วยกันครั้งแรก  สังเกตดูเห็นว่าพระองค์นี้  “เก่งธรรมาสน์เตี้ย”  คือคุยเก่ง  เป็นนักเทศน์แบบประจบประแจงคนฟัง  ยกยอญาติโยม และคู่เทศน์   หลังจากที่ข้าพเจ้าว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์สมมุติตำแหน่งหน้าที่ในการเทศน์จบแล้ว  ท่านก็กล่าวอารัมภบทซ้ำความที่ข้าพเจ้ากล่าวไปแล้ว  และชมว่าข้าพเจ้าเป็นพระเก่งอย่างนั้นดีอย่างนี้  ข้าพเจ้าอายจนอยากจะลงธรรมาสน์หนีไปเลย  เสียเวลากล่าวคำเยินยอญาติโยมและคู่เทศน์ไปมากมายแล้วจึงเข้าเรื่องถามความเป็นมาของวันมาฆบูชาให้ข้าพเจ้าอธิบายโดยพิสดาร

          ดูท่าทีของคู่เทศน์แล้วเห็นว่าเป็นพวก “น้ำท่วมทุ่ง” จึงกล่าวสาระของเรื่องให้มากที่สุด  โดยเริ่มเล่าความตั้งแต่  ความในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี  อรรถกถามหาปทานสูตร ระบุว่าหลังจากพระพุทธเจ้าเทศนา  "เวทนาปริคคหสูตร" (หรือทีฆนขสูตร)  โปรดทีฆนขอัคคิเวสสนโคตร ณ ถ้ำสูกรขาตา เชิงเขาคิชฌกูฎ จบแล้ว  ทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล จากนั้นพระองค์ได้เสด็จทางอากาศไปปรากฏ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยจำนวนนี้เป็นบริวารของชฏิลสามพี่น้อง ๑,๐๐๐ รูป  และบริวารของพระอัครสาวก ๒๕๐ รูป  และความในคัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่า  การประชุมสาวกครั้งนั้นเป็น "องค์ประกอบอัศจรรย์ ๔ ประการ"  คือ  วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ พระภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ องค์นั้น  ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย  พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๖ พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน  เพราะพระพุทธเจ้าประทาน  "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"  ด้วยพระองค์เอง  ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า  "วันจาตุรงคสันนิบาต"  หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ดังกล่าวแล้ว  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน

          ข้าพเจ้าแสดงเรื่องราวมาถึงตรงนี้ก็หยุดเพื่อเปิดจังหวะให้คู่เทศน์ซักถาม  มีหลายประเด็นที่น่าซักถาม เช่น เขาคิชฌกูฏ ถ้ำสูกรขาตา พระสารีบุตรบรรลุอรหันต์ จำนวนพระอรหันต์ จาตุรงคสันนิบาต เป็นต้น  แต่ท่านไม่ซักถาม  กลับไปกล่าวชมข้าพเจ้าว่า  “เทศน์ได้ดีมาก  โยมนิมนต์พระมาถูกแล้ว  อย่างนี้ไม่เสียกัณฑ์เทศน์เปล่า  แล้วจากนั้นเรื่องราวเป็นอย่างไร  เทศนาต่อไปอีกทีครับ”  ข้าพเจ้ารู้สึกเซ็งเลย  จึงเทศนาต่อไปอีกว่า

           “พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว เป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาติโมกข์" หลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย จึงตรัสพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น ใจความพระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น คาถาที่สองทรงกล่าวถึง  "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ"  คือ การไม่ทำบาปความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้ของโอวาทปาติโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาติโมกข์เท่านั้น คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ๖ ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาติโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ,การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด และบำเพ็ญเพียรในอธิจิต”

          ถึงตรงนี้ก็หยุดรอคำถาม  ท่านไม่ซักถามอะไรเลย  คงกล่าวชมเชยอีกครั้ง  ข้าพเจ้าหมดปัญญาที่จะให้ท่านซักถามอะไรในเรื่องโอวาทปาติโมกข์  เทศน์วันนั้นจบลงด้วยความจืดชืด  กลับจากเทศน์แล้ว  ค่ำวันนั้นนั่งคุยกับหลวงพ่อเจ้าคุโบราณ  เล่าให้ท่านฟังว่าไปเทศน์คู่กับพระมหาประคองมา  ท่านหัวเราะแล้วบอกว่า  “มหาคองมันเทศน์ธรรมะไม่เป็น  ตีกระทู้ธรรมไม่แตก  แกไปเทศน์กับมันได้ยังไง  คนนี้เป็นคนไม่ดีอย่าไปคอบค้าสมาคมนะ”

          คำว่า  “ตีกระทู้ธรรมไม่แตก”  ของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  เป็นคำที่ดีมาก  ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าหลวงพี่มหาประคองและพระนักธรรมนักเทศน์อีกหลายองค์  “ตีกระทู้ธรรมไม่แตก”  เช่นคำว่า “ สังขาร”  ถามคืออะไร ก็จะตอบง่าย ๆ ว่าคือร่างกายเท่านั้น  ความหมายที่มากกว่านี้ตอบไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้ง  ถ้าตีกระทู้แตกจะอธิบายคำว่าสังขาร แยกแยะออกไปได้อย่างพิสดาร เช่นว่า สังขารที่มีใจครอง สังขารที่ไม่มีใจครอง สังขารคือบาปบุญ เป็นต้น  การจะตีกระทู้ธรรมให้แตก ต้องเป็นคนชอบฟัง ชอบคิด หาเหตุผล ค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ สำคัญคือต้องเป็นคน  “ละเอียดลออ รอบคอบ คงที่คงทาง แม่นยำ มั่นคง“ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤษภาคม, 2566, 10:51:30 PM
(https://i.ibb.co/qY89z12/10134213-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔๙ -
          ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นั้น  ทางการคณะสงฆ์ได้ยกฐานะท่านเจ้าคุณพระสวรรควรนายก (ทองคำ) จากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์  แล้วแต่งตั้งท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) วัดราชธานี ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยจึงต้องย้ายจากวัดสวรรคาราม อ.สวรรคโลกมาตั้งที่วัดราชธานีตามตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด  พระเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดก็ต้องมีการแต่งตั้งองค์ใหม่แทนองค์เก่า  ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปตรวจรับเอกสารทางราชการคณะสงฆ์  แล้วขนย้ายมาวัดราชธานีพร้อมนำตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมาด้วย  เอกสารทั้งหมดข้าพเจ้าให้เก็บไว้ในกุฏิหลวงพี่พระครูสมุห์แถว  ผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารงานปกครองวัดราชธานีตามคำสั่งหลวงพ่อเจ้าคุณมาโดยตลอด

          ในการแต่งตั้งพระเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยนั้น  ทั้งพระและกรรมการวัดหลายท่านเสนอให้ตั้งข้าพเจ้าเป็นเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัด  แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธ  อ้างว่ายังเป็นพระผู้น้อยอยู่ (ตอนนั้นบวชได้ ๖ พรรษาแล้ว)  และอีกอย่างหนึ่งข้าพเจ้าอ้างว่ามีงานอื่น ๆ ที่ต้องเดินทางไปโน่นไปนี่  ไม่สะดวกในการอยู่ประจำทำงานในตำแหน่งเลขาฯ  เมื่อปฏิเสธไปอย่างนี้ก็มีบางท่านเสนอให้ตั้งพระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์) วัดไทยชุมพลเป็นเลขาฯ  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไม่เห็นด้วย  ท่านอ้างว่าจะให้มหาดำรงทำหน้าที่อื่นที่คิดไว้แล้ว  ข้าพเจ้าจึงเสนอให้ตั้งพระครูสมุห์แถวเป็นเลขาฯ  หลวงพี่พระครูสมุห์ก็ปฏิเสธ  อ้างว่าไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะทำหน้าที่นี้  ข้าพเจ้าก็ขอให้ท่านรับตำแหน่งไว้  ส่วนการงานด้านเอกสารและการติดต่อประสานงานใด ๆ นั้นข้าพเจ้าจะช่วยทำให้จนสุดความสามารถ  ที่สุดพระครูสมุห์แถวก็ยอมรับเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  ทนายกระจ่าง  ทนายสันต์ ผู้สนับสนุนข้าพเจ้า  กล่าวว่า

           “ถ้าอย่างนั้น พระครูสมุห์แถวเป็นเลขาฯ พระอภินันท์เป็นเลแขนก็แล้วกัน”

          เรียกเสียงฮาจากที่ประชุมไม่น้อย คำว่า  “เลแขน”  ไม่รู้โยมทนายคิดขึ้นมาได้อย่างไร  และจากนั้นข้าพเจ้าก็เป็นเลแขนของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณตลอดมา

          แม้อายุหลวงพ่อเจ้าคุณขึ้นเลขแปดแล้ว  ท่านก็ไม่ยอมแพ้วัยชรา  พอรับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยได้ไม่ทันถึงเดือน  ก็สั่งให้ข้าพเจ้าทำกำหนดการตรวจเยี่ยมวัดทั้งจังหวัด  ข้าพเจ้าทำกำหนดตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยมเป็นอำเภอแรก  อำเภอนี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุโขทัย  ด้านตะวันตกติดเขตอำเภอเถิน  จังหวัดลำปาง ด้านเหนือติดเขตอำเภอศรีสัชนาลัย ด้านตะวันออกติดเขตอำเภอสวรรคโลก ด้านใต้ติดเขตอำเภอบ้านด่านลานหอยและอำเภอเมือง  มีพระครูสุจิตสีลาจารย์ (ต๊วน) วัดต้นหัด (สวัสดิการาม) อ.สวรรคโลก เป็นเจ้าคณะอำเภอ  เหตุที่ต้องแต่งตั้งพระนอกเขตเป็นเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยมนั้นนัยว่า  หาพระที่เหมาะสมในอำเภอทุ่งเสลี่ยมไม่ได้  พระครูสุจิตสีลาจารย์ (หลวงพ่อต๊วน) เป็นคนใจดีและไม่ค่อยสนใจในระเบียบการปกครองนัก  วันที่ข้าพเจ้าพาหลวงพ่อเจ้าคุณไปตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยมนั้น  ไปแวะที่วัดต้นหัดก่อน  เพื่อบอกให้เจ้าคณะอำเภอทราบว่าเจ้าคณะจังหวัดจะไปตรวจเยี่ยมวัดในทุ่งเสลี่ยม  เมื่อเข้าไปในวัดต้นหัดได้ยินเสียงระนาดดังอยู่ทางกุฏิเจ้าอาวาส  เดินเข้าใกล้เห็นพระครูต๊วนใส่อังสะตัวเดียวกำลังนั่งตีระนาดเล่นอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ  หลวงพ่อเจ้าคุณยังนั่งอยู่ในรถจิ๊ปไม่ยอมลง  ข้าพเจ้าเดินไปใกล้ ๆ เรียกชื่อท่านพระครูดัง ๆ  ท่านหยุดตีระนาด  หันมามองอย่างคนแปลกหน้า  เพราะเรายังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

          ข้าพเจ้ารายงานตัวว่ามากับเจ้าคณะจังหวัดองค์ใหม่  จะไปตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยม  ขณะนี้ท่านนั่งอยู่ในรถนั่น  ท่านพระครูต๊วนรีบลุกขึ้นคว้าจีวรห่มแล้วลงจากกุฏิไหว้หลวงพ่อเจ้าคุณแล้วนิมนต์ให้ขึ้นกุฏิ  แต่หลวงพ่อเจ้าคุณไม่ไม่รับนิมนต์  บอกว่าจะรีบไป  วันหลังค่อยมาใหม่  ท่านพระครูเล่นระนาดต่อไปตามสบายเถิด  แล้วเรียกข้าพเจ้าขึ้นรถเดินทางไปโดยไม่สนใจท่านพระครูเจ้าคณะอำเภอเลย  พอรถเคลื่อนออกจากวัดหลวงพ่อเจ้าคุณหัวเราะด้วยความขบขัน  แล้วกล่าวว่า  “มีพระแบบนี้เป็นเจ้าคณะอำเภอท่านจะปกครองหัววัดได้ยังไง”  ก็น่าคิดครับ

          วัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยมสมัยนั้นมีไม่มากนัก  เพราะเป็นอำเภอใหม่  คนจากต่างถิ่นเริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาปักหลักทำมาหากิน  ส่วนใหญ่จะมาจากอำเภอเถิน  และอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดลำปาง  วัดที่ข้าพเจ้ากำหนดจะพาหลวงพ่อเจ้าคุณไปตรวจเยี่ยมก็มี  วัดกลางดง ตำบลกลางดง  วัดหัวฝาย ตำบลกลางดง  วัดม่อนศรีสมบุรณาราม ตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์  วัดท่าชุม ตำบลทุ่งเสลี่ยม  วัดทุ่งเสลี่ยม ตำบลทุ่งเสลี่ยม  วัดวังธาร ตำบลทุ่งเสลี่ยม  วัดเหมืองนา ตำบลทุ่งเสลี่ยม  วัดท่าต้นธงชัย ตำบลไทยชนะศึก  วัดแม่ทุเลา ตำบลไทยชนะศึก  วัดเขาแก้วชัยมงคล ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล  วัดสามหลัง ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล  วันแรกก็แวะวัดเขาแก้วชัยมงคลวัดสามหลัง วัดแม่ทุเลา วัดท่าต้นธงไชย วัดเหมืองนา ไปพักที่วัดทุ่งเสลี่ยม

          วัดทุ่งเสลี่ยมกาลนั้นมีพระสมุห์ธนิต เป็นเจ้าอาวาส  วัดนี้เป็นเป้าหมายที่หลวงพ่อเจ้าคุณตั้งใจมา  เพราะมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งเป็นพระนาคปรกแกะสลักด้วยหินทรายอายุเก่าแก่มาก  เรียกกันว่า  “หลวงพ่อศิลา”  บ้าง  “หลวงพ่อค้างคาวบ้าง”  หลวงพ่อเจ้าคุณเคยจะนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของท่าน (วัดราชธานี)  แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้เอาไป  วันนั้นไปค้างแรมคืนที่วัดทุ่งเสลี่ยม  ชาวบ้านรู้ว่าท่านไปก็บอกข่าวให้ชาวทุ่งเสลี่ยมรู้ว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณจะมาเอาหลวงพ่อค้างคาวอีกแล้ว  จึงพากันมารวมตัวอยู่ในวัดทุ่งเสลี่ยมจำนวนมาก   พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวอยู่บนศาลาการเปรียญ  ทางวัดทำห้องลูกกรงเหล็กล้อมไว้อย่างแข็งแรง  ข้าพเจ้าขอเปิดประตูห้องเข้าไปดูใกล้ ๆ และถ่ายรูปภาพไว้  ได้พูดคุยกับกรรมการวัดและชาวบ้านผู้เฒ่าที่รู้เรื่องความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้  ได้ความว่า

          เดิมหลวงพ่อศิลาประดิษฐานอยู่ในถ้ำเจ้าราม (ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เรียกว่าถ้ำพระราม) เขตติดต่อ อ.บ้านด่านลอนหอย ศรีสำโรง ทุ่งเสลี่ยม  มีพระธุดงค์เข้าไปพบจึงนำความมาบอกชาวบ้าน  คูบาวัดแม่ปะหลวง อ.เถินรู้ความ จึงมาชวนคูบาวัดทุ่งเสลี่ยม  พาชาวบ้านจำนวนมากไปอัญเชิญออกมาจากถ้ำที่เต็มไปด้วยมูลค้างคาวและค้างคาวเป็นล้าน ๆ ตัว  ในระหว่างทางที่อัญเชิญหลวงพ่อศิลาใส่เกวียนเดินทางมาทุ่งเสลี่ยมนั้นหยุดพักแรมเป็นทอด ๆ  ค่ำลงจะมีค้างค้าวเป็นฝูงบินมาวนเวียนรอบองค์พระเป็นเวลานานแล้วจากไป  คูบาวัดแม่ปะหลวงต้องการเอาหลวงพ่อองค์นี้ไปไว้วัดแม่ปะหลวง  แต่เมื่อมาถึงทุ่งเสลี่ยมเกวียนเกิดชำรุดเดินทางต่อไปไม่ได้  ท่านจึงให้คูบาวัดทุ่งเสลี่ยมรักษาดูแลไว้ที่วัดนี้  ด้วยเชื่อกันว่าหลวงพ่อศิลาต้องการอยู่วัดทุ่งเสลี่ยม  ทุกวันโกนวันพระจะมีค้างคาวเป็นฝูงใหญ่บินมาวนเวียนรอบองค์ท่านแล้วจากไป  เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก  ชาวบ้านจึงเรียกหลวงพ่อศิลาว่า  หลวงพ่อค้างคาว อีกนามหนึ่ง  อิทธิปาฏิหาริย์หลวงพ่อศิลาที่ชาวบ้านบอกเล่านั้นมีมากมายจนบรรยายไม่หมดสิ้น

          ชาวบ้านพากันมาชุมนุมขอร้องไม่ให้หลวงพ่อเจ้าเอาหลวงพ่อศิลาของเขาไป  หลวงพ่อเจ้าคุณบอกชาวบ้านว่าอยากจะเอาไปเก็บรักษาไว้  เพราะกลัวโจรขโมยจะมาเอาไปเสีย  ชาวบ้านยืนยันว่าจะตั้งเวรยามป้องกันรักษาดูแลหลวงพ่อศิลาไว้เป็นอย่างดี  รับรองไม่สูญหายแน่ ๆ  ข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างไรเสียชาวบ้านก็ไม่ยอมให้เอาหลวงพ่อศิลาไปแน่นอน  จึงบอกหลวงพ่อเจ้าคุณว่า  อย่าเอาของเขาไปเลย  กระผมถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานแล้ว  ท่านนิ่งคิดอยู่นานก่อนจะพะยักหน้ารับอย่างเนือย ๆ /๑๔๙

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, พฤษภาคม, 2566, 10:48:34 PM
(https://i.ibb.co/5YZyMYW/batch-IMG-3235-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๐ -
          ออกจากวัดทุ่งเสลี่ยมไปวัดกลางดงและอีกหลายวัดแล้วย้อนกลับมาพักแรมคืนที่วัดเหมืองนา  เจ้าอาวาสวัดนี้สมัยนั้นท่านมีนามเดิมว่า  “แก้ว”  ต่อเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรจึงได้นามว่า  พระครูรัตตนโชติคุณ (แก้ว โชติโก)  เป็นพระที่ข้าพเจ้าหมายตาไว้ว่าจะให้เป็นเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม แทนพระครูสุจิตสีลาจารย์ที่ไม่เอาธุระดูแลงานปกครองคณะสงฆ์เลย  และหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็ไม่พอใจ  ดูท่าว่าท่านคงจะปลดพระครูต๊วนออกจากตำแหน่งเป็นแน่  วัดเหมืองนานี้มีความเป็นมาอย่างไร  อ่านความตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่มีบันทึกไว้ดังต่อไปนี้นะครับ

           “เหมืองนา”  มาจากการทำฝายทดน้ำและทำลำเหมืองส่งน้ำไปยังนาของตนเอง จึงได้เกิดเป็นชื่อหมู่บ้าน “บ้านเหมืองนา” ตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๖๓ เป็นต้นมา ที่มาของเรื่องนี้เกิดจากนายแสน อุดม มีแนวความคิดที่จะตั้งหมู่บ้านขึ้น ซึ่งเดิมนายแสน  อุดม ผู้นี้เป็นชาวบ้านแม่วะ อ. เถิน  จ. ลำปาง ได้มาพบพื้นที่แห่งนี้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างหมู่บ้านทำนา จึงได้กลับไปยังบ้านแม่วะ  และชักชวนชาวบ้านมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ครั้งแรกมาอาศัยอยู่บริเวณทุ่งปู่พื้น ต่อมาเห็นว่าบ้านนี้ขาดแคลนน้ำในการทำนาจึงพากันไปสร้างฝายทดน้ำที่บ้านหัวฝาย และทำเหมืองส่งน้ำมายังนาของตน   ต่อมาได้ขยายหมู่บ้านและได้สร้างวัดขึ้น ให้ชื่อว่า  วัดเหมืองนา เดิมตั้งอยู่ที่บ้านพักครูในปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้สร้างศาลาที่พักสงฆ์ไว้ให้ เพื่อให้พระสงฆ์ที่เดินสัญจรได้พักอาศัย และเป็นที่ทำบุญของชาวบ้าน  ปี ๒๔๗๐ ชาวบ้านได้สร้างกุฏิชั่วคราวและได้นิมนต์พระพรหมเสน จากอำเภอเถิน มาเป็นเจ้าอาวาส   ปี ๒๔๗๖ พระพรหมเสน ลาสิกขา พระกันทาเป็นเจ้าอาวาสแทน  ปี ๒๔๗๘ คณะศรัทธาได้ย้ายวัดมาอยู่ในบริเวณวัดเหมืองนาปัจจุบัน  ได้ทำการเปิดสอนโรงเรียนนักธรรมขึ้น  และในปีเดียวกัน พระกันทาได้มรณภาพ  พระบุญชู ธมฺมจาโร ได้เป็นเจ้าอาวาสแทน  และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด ชื่อหมวดบุญชู ท่านได้มรณภาพ ปี ๒๔๘๖  และพระจันทร์ จนฺทโร เป็นเจ้าอาวาสแทน  ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งเสลี่ยม และเป็นฐานานุกรม นามว่า พระใบฏีกาจันทร์  ท่านได้ลาสิกขาในปี ๒๔๙๓ ในปีเดียวกัน  เจ้าคณะจังหวัดได้แต่งตั้งพระแก้ว โชติโก (ปัจจุบันคือพระครูรัตนโชติคุณ) เป็นเจ้าอาวาส  ต่อมาวัดเหมืองนารับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๐๔”

          ทุ่งเสลี่ยมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลนาทุ่ง อำเภอสวรรคโลก จัดตั้งเป็นตำบลทุ่งเสลี่ยมในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ และจัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอทุ่งเสลี่ยมใน พ.ศ. ๒๕๐๐  และยกฐานะเป็นอำเภอทุ่งเสลี่ยม ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ อำเภอนี้เป็นประตูสู่อารยธรรมล้านนา คำว่า "ทุ่งเสลี่ยม" เป็นภาษาล้านนา หมายถึง ทุ่งสะเดา คนพื้นบ้านออกเสียงว่า  โต้ง – สะ – เหลี่ยม   “โต้ง”  คือ “ทุ่ง”  “เสลี่ยม” มาจากคำว่า “สะเลียม” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป  มีรสขม ดอกและใบรับประทานได้ ก็คือสะเดานั่นเอง   อำเภอทุ่งเสลี่ยมเคยมีต้นสะเดามากมาย  ต่อมามีคนเขียนผิดจากสะเลียม  เป็น “เสลียม” จึงต้องอ่านว่า สะ – เหลียม  ซึ่งเป็นวิธีอ่านอักษรนำ  บ้านโต้งสะเลียมจึงเป็นบ้านโต้งเสลียม (สะเหลียม)  ทุ่งเสลี่ยมขณะนั้นอยู่ในเขตการปกครองของตำบลนาทุ่ง  อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสวรรคโลก  คนบ้านทุ่งเสลี่ยมส่วนใหญ่มาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ใช้ภาษาล้านนา  ครั้นเข้าอยู่ในปกครองของสุโขทัย จึงพยายามพูดเหมือนคนไทยภาคกลางและสุโขทัย  เมื่อเขียนตามคำบอกออกเสียง สะ – เหลี่ยม จึงเขียนว่า “เสลี่ยม”  ตามสำเนียงไทยภาคกลาง  แต่ชาวสุโขทัยก็ออกเสียงว่า   “ทุ่งซะเหลียม”  เรื่องสำเนียงภาษานี่ข้าพเจ้าออกจะสับสนมาก  สำเนียงภาษาสุโขทัยแท้ ๆ ข้าพเจ้ายังฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย  มาเจอภาษาล้านนาที่ทุ่งเสลี่ยมก็ยิ่งยุ่งยากกันใหญ่

          ท่านพระครูแก้ว (พระครูรัตนโชติคุณ) มีรายการรับนิมนต์งานทำบุญบ้านรายหนึ่ง  เมื่อเจ้าคณะจังหวัดไปตรวจวัดและพักที่วัดเหมืองนา  ท่านจึงขอนิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณกับข้าพเจ้าไปเจริญพระพุทธมนต์ฉันเช้าในงานนั้นด้วย  ข้าพเจ้าได้รู้เห็นบุญพิธีของชาวล้านาเป็นครั้งแรกแปลกไปจากพิธีบุญของไทยภาคกลาง   กล่าวคือ เมื่อพระเข้านั่งประจำที่เรียบร้อยและญาติโยมพร้อมแล้ว  หัวหน้าทายกก็จุดธูปเทียนแล้วกล่าวนำไหว้ กราบพระ อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญพระพุทธมนต์  จบแล้วถวายภัตตาหาร  พระสงฆ์ฉันภัตตาหารอิ่มแล้ว ถวายจตุปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนา (ยะถา สัพพี) เป็นอันเสร็จพิธีบุญ  ของล้านนาก็คล้าย ๆ กันนั่นแหละ  แต่พิธีการเขาเยิ่นเย้อมาก  กล่าวคำบาลีในสำเนียงล้านนาแล้วไม่พอ  ยังกล่าวคำแปลเป็นสำเนียงภาษาล้านนาอีกด้วย  กว่าจะจบก็นานมาก  เจริญพระพุทธมนต์จบก็เป็นเวลา ๙ โมงกว่า  ยกอาหารมาตั้งหน้าพระให้พระเห็นแล้วท้องร้องจ๊อก (เพราะหิวจัดเลย)  แทนที่จะประเคนให้พระฉัน  ทายกกลับกล่าวคำถวายอาหารแบบของเขา  เริ่มด้วยการชุมนุมเทวดา  ว่าสัคเคแปลในสำเนียงล้านนา  ถวายอาหารก็แปลในทำนองเดียวกันอีก  พระจะเป็นลมตายเพราะหิว  ข้าพเจ้าตั้งใจไว้ว่าจะไม่ยอมรับนิมนต์ไปในงานพิธีบุญของชาวล้านนาอีกเลย  เข็ดจริง ๆ

          วันนั้นออกจากวัดเหมืองนา แวะวัดเล็ก ๆ อีก ๒ วัด หลวงพ่อเจ้าคุณท่านมีอารมณ์ขัน  เรียกพระที่มีอยู่เพียงองค์เดียวในวัดมาพบ แล้วเอ่าคัมภีร์เทศน์ที่เป็นอักษรล้านนา (คำเมือง) บอกพระนั้นอ่านเทศน์ให้ฟัง  ท่านก็เทศน์แบบล้านนา  “นะโม ตัสซะ ภะคะวะโต๋ อาระฮะโต๋....”  หลวงพ่อเจ้าคุณนั่งฟังด้วยอาการแย้มยิ้มจนกระทั่งท่านอ่านจบด้วยคำว่า  “สะเด๊ด”  หลวงพ่อเจ้าคุณถามข้าพเจ้าว่า มันว่าอะไรตอนจบน่ะ  ข้าพเจ้าบอกว่า “สะเด๊ด”  คือจบแล้ว  หรือ “นั่นแล”  ไงล่ะครับ  ท่านก็หัวเราะด้วยความขบขัน  บ่ายมากแล้วขึ้นไปบนวัดเขาแก้วชัยมงคล  พบพระครูนิตย์ (บรรพตรัตนคุณ) เจ้าอาวาส  ทราบว่าจะทำพิธีผูกพัทธสีมาอีก ๒ เดือนข้างหน้า  หลวงพ่อเจ้าคุณบอกว่าจะมาทำพิธีผูกพัทธสีมาด้วยตนเอง  ให้ข้าพเจ้าจดไว้  ข้าพเจ้าถามว่าเพราะอะไรหรือครับ  ท่านว่าไม่ไว้วางใจ  กลัวเขาจะทำไม่ถูกวิธีตามพระวินัย...  วันนั้นจบการตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยม  แล้วเดินทางกลับวัดราชธานีด้วยประสบการณ์ที่ดีมาก /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, พฤษภาคม, 2566, 11:27:56 PM
(https://i.ibb.co/SKPqFv3/299492179-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๑ -
          ช่วงเวลาที่ชาวพุทธในท้องถิ่นต่าง ๆ จะจัดงานบุญพิธีมีพระธรรมเทศนาประกอบงานบุญนั้น ๆ  คือระยะตั้งแต่ออกพรรษาเป็นต้นไปจนถึงใกล้เข้าพรรษาอีกปีหนึ่ง  และจะมีจัดกันมากคือในช่วงเดือน ๓-๗  งานบุญระยะนี้ส่วนมากเป็นงานบวช  นิยมจัดงานที่บ้าน  นอกจากจะมีการทำขวัญนาคโดยหมอทำขวัญที่เป็นฆราวาสแล้ว  ก็ยังมีการ  “เทศน์สอนนาค”  โดยพระนักเทศน์ที่เทศน์แบบคาบลูกคาบดอก (เทศน์ไปร้องไป) บ้าง  เทศน์ธรรมะบ้าง  ส่วนมากจะเป็นการเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ (ปุจฉา-วิสัชนา) นี้อย่างหนึ่ง  อีกอย่างหนึ่งคือการเทศน์ฉลองพระบวชใหม่  เป็นการแจงถึงอานิสงส์ของการบวช  นิยมเทศน์ ๒ ธรรมาสน์  อย่างหลังนี้ไม่นิยมนิมนต์พระเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก  เพราะเจ้าภาพต้องการฟังธรรมะเนื้อ ๆ  นอกจากเทศน์งานบวชแล้วก็มีเทศน์งานทำบุญอุทิศผู้วายชนม์  ทำบุญบ้านอีกด้วย

          การทำบุญอุทิศแก่ผู้วายชนม์นั้น นิยมนิมนต์พระมาเทศน์แจง  คำว่า  “แจง  คือขยายความ กระจายความ”  โดยทั่วไปหมายถึงการเทศน์เรื่องปฐมสังคายนาย มีแจง ๒ ธรรมาสน์บ้าง  ๓ ธรรมาสน์บ้าง  เทศน์แจง ๒ ธรรมาสน์เป็นการเทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา  คือองค์ถามจะถามเรื่องความเป็นมาของการสังคายนายครั้งแรกเกิดขึ้นที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร  แล้วจะซักถามเรื่องในพระวินัย  พระสูตร  พระอภิธรรม  การเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์นั้น  สมมุติองค์หนึ่งเป็นพระกัสสป  มีหน้าที่ในการซักถาม  องค์หนึ่งเป็นพระอุบาลี  มีหน้าที่ในการตอบเรื่องพระวินัย  องค์หนึ่งเป็นพระอานนท์  มีหน้าที่ในการตอบเรื่องพระสูตร พระอภิธรรม  การเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์นี้ พระทั่วไปเทศน์ได้  เพราะมีคัมภีร์ใบลานที่พระนักเทศน์เก่าท่านแต่งและทางโรงพิมพ์คัดลอกลงพิมพ์ไว้โดยละเอียด  ข้าพเจ้าเคยอ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร  จำความได้ดีทีเดียว

          วันตรุษปีนั้น (๒๕๐๘) ข้าพเจ้าได้รับการนิมนต์เทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์ในงาน  “แจงรวมญาติ”  วัดคุ้งยางใหญ่  บ้านสวนซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่อันดับหนึ่งของอำเภอเมืองสุโขทัย  คำว่าแจงรวมญาติคือคนที่ประสงค์จะทำบุญอุทิศให้ญาติพี่น้องผู้วายชนม์ จะนำกระดูกและชื่อมาตั้งรวมกันที่วัดจัดพิธีสวดอภิธรรม  มีมหรสพสมโภช  รุ่งขึ้นถวายอาหารบิณฑบาต แล้วมีเทศน์แจง  พระที่เทศน์แจงกับข้าพเจ้าในวันนั้นเป็นพระนักเทศน์ระดับแนวหน้าของสุโขทัย  คือพระครูปลัดสวง  วัดบางคลอง  พระครูสุภัทรธีรคุณ( มหาดำรง) วัดไทยชุมพล  ข้าพเจ้ารูจักกับท่านค่อนข้างดีก็จริง  แต่ยังไม่เคยเทศน์คู่กับท่านเลย  ก่อนเทศน์ก็มีการพูดคุยตกลงกันว่า  พระครูสุภัทรธีรคุณ รับหน้าที่เป็นพระมหากัสสป  พระครูปลัดสวง รับหน้าที่เป็นพระอุบาลี  ข้าพเจ้าอาวุโสอ่อนกว่าเพื่อนรับหน้าที่เป็นพระอานนท์  และว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์  อันนี้เป็นไปตามธรรมเนียมของการเทศน์ทั่วไป

          งานบุญพิธีใหญ่ ๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้ประการหนึ่งคือ ดนตรีไทย  ในที่ทั่วไปก็ใช้เครื่องปี่พาทย์  มีน้อยครั้งที่ใช้มโหรี  เครื่องสาย  ดนตรีไทยจะบรรเลงเป็นระยะ ๆ  ถ้าเป็นเทศน์มหาชาติเขาก็กำหนดเพลงไว้ว่ากัณฑ์ทศพรให้บรรเลงเพลงอะไร  จำได้ว่ากัณฑ์ชูชกให้ให้บรรเลงเพลงเซ่นเหล้า  ส่วนเทศน์ทั่วไปไม่กำหนดชื่อเพลง  ที่จำจนคุ้นคือ  รับพระ ส่งพระ เวลาพระจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็บรรเลงเพลงรับพระ  เทศน์จบลงธรรมสาสน์ก็บรรเลงเพลงเพลงส่งพระ  วันนั้นไม่เหมือนวันไหนที่ข้าพเจ้าเคยประสบมา  กล่าวคือ  พอได้เวลาเทศน์  พวกเราลงจากกุฏิขึ้นศาลาการเปรียญ  ได้ยินเสียงดนตรีที่แปลกหูมาก  ไม่เคยได้ยินไม่เคยเห็นมาก่อน  เสียงปี่ดังเจื้อยแจ้วกับเสียงคล้ายเคาะกระบอกไม้เคล้าเสียงฉาบ กรับ โหม่ง ในจังหวะเร้าใจ  กราบพระบนอาสน์สงฆ์แล้วนั่งคอยความพร้อมอยู่  เมื่อพร้อมแล้วลงจากอาสน์สงฆ์เดินขึ้นธรรมาสน์  ดนตรีวงนั้นก็บรรเลงขึ้น  ข้าพเจ้าเดินแทบไม่เป็นเลย  เพราะใจไปจับจังหวะเสียงดนตรีนั่น  มาทราบภายหลังจากเทศน์จบแล้วว่าเครื่องดนตรีนั้นชื่อว่า  วงมังคละ  เครื่องดนตรีประกอบด้วย “ปี่  กลองโกร๊ก  กลองยืน  กลองหลอน  ฆ้อง ๓ ใบ  ฉาบกรอ  ฉาบใหญ่  ฉิ่ง  และกรับ”  เป็นเครื่องดนตรีโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราธานีโน้นแล้ว

          การเทศน์วันนั้นข้าพเจ้าไม่เกร็ง  ไม่กลัวคู่เทศน์  เพราะนึกถึงครูนักเทศน์คือหลวงพ่อมหาไวย์และนักเทศน์ระดับแนวหน้าในภาคกลางที่ข้าพเจ้าลักจำลีลาลูกเล่นของพวกท่านไว้มากพอที่จะนำมาใช้อวดคู่เทศน์ได้  จึงเริ่มการเทศน์ตามแนวคัมภีร์ใบลานที่อ่านมาจนช่ำชอง  ดัดแปลงลีลาถ้อยคำทำนองเป็นของตัวเอง  กล่าวอานิสงส์การเป็นเจ้าภาพจัดให้มีเทศน์แจงพอสมควรแล้ว  ก็สมมุติองค์แสดงตามแบบเป็นไปด้วยความราบรื่น  หยุดรอโอกาสที่จะแสดงในหน้าที่พระอานนท์ต่อไป

          หลวงพี่พระครูสุภัทรธีรคุณผู้รับหน้าที่เป็นพระมหากัสสปดำเนินเรื่องกล่าวความเป็นมาของการทำปฐมสังคายนายแล้วซักถามเรื่องพระวินัยเริ่มตั้งแต่ปฐมปาราชิกสิกขาบทไปจนจบ  หลวงพี่พระครูปลัดสวง  ก็ตอบตามแบบ  การถามตอบก็มีลูกล้อลูกเล่นแก้ง่วงคนฟังบ้างตามสมควร  พระนักเทศน์คู่นี้เป็นคู่เทศน์กันมานานจนรู้ทางหนีทีไล่กันอยู่ ข้าพเจ้านั่งฟังเก็บเกี่ยวความรู้จากท่านไว้ได้ไม่น้อย  เมื่อจบจากการถามเรื่องพระวินัยอันเป็นพระพุทธบัญญัติแล้ว  หลวงพี่พระครูสุภัทรธีรคุณก็หันมาถามเรื่องพระสูตรกับพระอานนท์  ถึงความเป็นมาของพรหมชาลสูตร  ข้าพเจ้าชี้แจงว่า  พรหมชาลสูตร  สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ (หรือข่ายแห่งพรหมม) มีที่มาว่า  พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  เดินทางอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา  มีปริพพาชก ( นักบวชนอกศาสนา) ชื่อสุปปิยะ  พร้อมด้วยศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพ  เดินทางมาข้างหลัง   สุปปิยะ ปริพพาชก ติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  แต่ศิษย์กล่าวสรรเสริญ    เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันเรื่องสรรเสริญ  ติเตียนพระรัตนตรัย  พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงตรัสเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย  มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ  แล้วตรัสว่า  คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล ๓ ชั้น  คือศีลอย่างเล็กน้อย  ศีลอย่างกลาง  ศีลอย่างใหญ่..

          หลวงพี่พระครูฯ ถามว่า  “มีศีลเล็ก ศีลกลาง ศีลใหญ่ด้วยหรือ ไหนลองว่ามาซิ”  ข้าพเจ้าก็ตอบตามแบบที่ว่าด้วย จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล โดยละเอียด  ท่านก็ซักเป็นข้อ ๆ ไปจนจบ  มีความยืดยาวมาก  ไม่อาจนำมาแสดงในที่นี้ได้  สรุปลงตรงที่ว่า   “ความจริงซึ่งมีอยู่คู่กับหมู่สัตว์เรียกว่า  “โลกธรรม”  มีอยู่ ๘ ประการคือ ๑. มีลาภ  ๒. เสื่อมลาภ  ๓. มียศ  ๔. เสื่อมยศ  ๕. สรรเสริญ  ๖. นินทา  ๗. สุข  ๘.  ทุกข์”   พระพุทธองค์ตรัสว่าไม่ควรยินดี เมื่อมีลาภ มียศ ได้รับคำสรรเสริญ มีสุข และมิควรเสียใจ เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และมีทุกข์ โดยให้พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา  มันเป็นของไม่เที่ยง  ย่อมสลายไปในที่สุด

          จบการเทศน์แล้วหลวงพี่พระครูปลัดสวง กล่าวชมว่า   “ทั่นนันท์นี่เทศน์เก่ง  สมกับที่เป็นนักเทศน์ภาคกลางที่มาจากดงนักเทศน์”   ข้าพเจ้าก็ได้แต่กล่าวขอบคุณเท่านั้นเอง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, พฤษภาคม, 2566, 11:08:53 PM
(https://i.ibb.co/JrhdnFb/299677052-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๒ –
          วัดราชธานีเป็นวัดเปิด  กล่าวคือมีถนนตัดผ่านกลางวัดดังได้กล่าวไปแล้ว  ดังนั้นทั้งคนทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน สามล้อ  คนเดินเท้าผ่านเข้าออกทั้งวันทั้งคืน  รอบวัดมีอาคารร้านค้าเป็นอาคารไม้เก่าแก่มีอายุหลายสิบปี  ตั้งเรียงรายเป็นเสมือนกำแพงวัด  อาคารร้านค้าดังกล่าวตั้งอยู่ในที่ดินของวัด  จึงเป็นของวัดโดยนิตินัย  วัดจัดเก็บค่าเช่าได้จากอาคารร้านค้านั้นปีละไม่น้อย

          ภายในวัดฟากฝั่งตะวันออกของถนนราชธานี  มีบ่อปลาที่ประชาชนเข้าไปดูปลาและให้อาหารปลากันวันละไม่น้อยเช่นกัน  ด้านเหนือของบ่อปลามีทางเดินเป็นถนนคอนกรีตเล็ก ๆ จากวิหารหลวงพ่อเป่าไปหมู่กุฏิสงฆ์ด้านตะวันออก  ซึ่งรวมทั้งกุฏิของข้าพเจ้าและโรงเรียนวินัยสารที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณพักรับแขก  ใกล้กุฏิของข้าพเจ้ามีต้นกระดังงาจีนหรือการเวกเลื้อยเป็นพุ่มใหญ่ร่มรื่น  ใต้ซุ้มกระดังงานั้น หลวงพ่อเจ้าคุณท่านให้วางตั้งโต๊ะเป็นม้ายาวไว้สองข้างทางเดิน  สถานที่ตรงนี้จึงกลายเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนในของคนที่มาดูปลา  และมาติดต่อพระสงฆ์องค์เจ้า  กับเป็นที่นั่งเล่นของพระเณร  ข้าพเจ้าใช้เป็นที่รับแขกคนที่ไม่คุ้นเคย  และนั่งเล่นยามว่างทั้งกลางวันและกลางคืน

          ส่วนฟากฝั่งตะวันตกของถนนราชธานีด้านหลังองค์พระพุทธประทานพร  เป็นศาลาการเปรียญหลังใหญ่แวดล้อมด้วยกุฏิสงฆ์  และเป็นที่พักอาศัยของคนไร้บ้าน  ขี้เหล้าขี้ยาและคนวิกลจริต (คนบ้า) นอนกันอยู่ใต้ถุนศาลานี้ไม่น้อยเลย  ข้าพเจ้าเห็นหญิงวิกลจริตวัยประมาณสามสิบปีเศษที่มานอนอยู่ใต้ถุนศาลาการเปรียญบ้าง  นอนให้คอสะพานพระร่วงฝั่งวัดราชธานีบ้าง  ได้ทราบว่าเธอถูกคนขี้เหล้าขี้ยาและคนถีบรถสามล้อ “กลัดมัน” ชำเราจนตั้งครรภ์  ยามท้องเธอหายจากวิกลจริตกลับเป็นคนปกติ  ครั้นคลอดลูกแล้วเธอก็วิกลจริตอีก  เป็นอย่างนี้อยู่อย่างซ้ำซาก  จึงปรึกษาท่านสุธรรม วงศ์โดยหวัง  ปลัดจังหวัดสุโขทัย  ว่าจะช่วยหญิงคนนี้ได้อย่างไรบ้าง  ท่านปลัดสุธรรมจึงปรึกษาในกรมการจังหวัด แล้วตกลงให้ฝ่ายประชาสงเคราะห์รับไปดูแลในที่สุด

          มีชายคนหนึ่ง  “บ้าเหมือนไม่บ้า”  เขาเป็นชายร่างใหญ่ลักษณะดี  มีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  อาศัยนอนอยู่แถวศาลาการเปรียญ  คนในเมืองสุโขทัยรู้จักเขาเพียง  “ตาฟุ้งบ้า”  น้อยคนที่จะรู้ความเป็นมาของเขา  การแต่งตัวของเขาดูเผิน ๆ ก็เหมือนพระหลวงตาองค์หนึ่ง  เพราะเขานุ่งผ้าสบงของพระเป็นประจำ  ข้าพเจ้าถามหลวงพ่อเจ้าคุณถึงความเป็นมาของตาฟุ้ง  หลวงพ่อเจ้าคุณเล่าว่า  เดิมทีสมัยยังหนุ่ม  ตาฟุ้งเป็นพระนักเทศน์มหาชาติ  รูปงาม  เทศน์เก่งที่สุดคือกัณฑ์กุมาร  หาตัวจับยาก  อยู่มาเขานิมนต์ไปเทศน์ทางกำแพงเพชร  กลับมาแล้วกลายเป็นคนเหม่อลอยแล้ววิกลจริตไป  เขาว่ากันว่าตาฟุ้งถูกคู่เทศน์กระทำคุณไสย์ใส่ให้เป็นคนบ้าไปตั้งแต่หนุ่มจนแก่เขาเป็นอยู่ในสภาพนี้  ก็แสดงว่าตาฟุ้งยังเป็นพระอยู่ใช่ไหม  ข้าพเจ้าถามด้วยความสงสัย  หลวงพ่อเจ้าคุณหัวเราหึ ๆ ก่อนตอบว่า   “ก็มันบ้า ใครจะสึกให้มันได้เล่า”  ใช่เลย  ตาฟุ้งยังเป็นพระ  แต่เป็นพระบ้า  พอผมยาวมาก ช่างตัดผมในตลาดก็จัดการเอาปัตตาเลี่ยนไถผมจนเลี่ยนโล้นดูเหมือนพระ  มีคนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักตาฟุ้งมาในวัดราชธานีพบเห็นก็ยกมือไหว้ด้วยเข้าใจว่าเป็นพระบ่อยมาก

          เป็นเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งว่ายุงไม่กัดกินเลือดตาฟุ้ง  ในวัดราชธานีมียุงชุมมาก  เพราะน้ำขังอยู่ในบ่อปลาและใต้ถุนกุฏิพระ  เป็นที่เพาะลูกน้ำกำเนิดยุง  ซุ้มกระดังงาใกล้กุฏิข้าพเจ้าก็มียุงมากทั้งกลางวันและกลางคืน  เวลาไปนั่งพักผ่อนและพูดคุยกันต้องคอยปัดยุงที่มันมาตอมกินเลือด  ตาฟุ้งแกชอบไปนั่งใต้ซุ้มกระดังงานี้  ข้าพเจ้าก็ชอบไปนั่งคุยกับแก  บางวันก็ขอให้แกร้องแหล่เทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมาร  แกแหล่เพราะมากทีเดียว  บอกให้แกลองแหล่กัณฑ์อื่น ๆ บ้าง  แกก็ร้องให้ฟังนิด ๆ หน่อย ๆ  แต่พอให้ร้องกัณฑ์ชูชกบ้างแกโบกมือไม่ยอมแหล่  แสดงว่าแกไม่ชอบชูชก  ขณะคุยกันนั้นข้าพเจ้าต้องคอยปัดยุงที่มันมาตอดนิดตอดหน่อยจนอยู่ไม่สุข  แต่ตาฟุ้งนั่งเฉย  ถามแกว่ายุงไม่ตอมไม่กัดแกเหรอ  แกก็ว่า  ไม่มีเลย  สังเกตดูก็จริงของแก  ไม่เห็นยุงมาตอมเนื้อตัวของแกเลย  ยุงมันไม่กินเลือดคนบ้า  แปลกจริง ๆ  พับผ่าซี่

          เย็นวันหนึ่งข้าพเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นกระดังงาที่เก่า  ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องโหวกเหวกโวยวายอยู่ทางเหนือโบสถ์  จึงเดินไปดู  เห็นตาฟุ้งยืนเซ่ออยู่ข้างห้องน้ำที่ล้อมด้วยสังกะสีหลังร้านช่างไม้  เมียสาวช่างไม้ยืนชี้หน้าตาฟุ้งร้องว่า   “บ้า ๆๆๆ ตาฟุ้งบ้า  ไปให้พ้นนะ”   จึงเดินไปใกล้ถามว่าอะไรกันล่ะ  ก็ตาฟุ้งบ้านี่ซิ  ฉันเข้าห้องน้ำอยู่  พอเปิดประตูออกมา  ตาฟุ้งยืนที่หน้าประตูแล้วบอกฉันว่า  “ขอล่อทีนะ”  บ้าแท้ ๆ  ข้าพเจ้ารู้สึกขำขันมาก รีบจับมือแกจูงจากมาท่ามกลางเสียงด่าของเธอ  เมื่อพาแกกลับมานั่งใต้ซุ้มกระดังงาแล้วถามว่า  ทำไมแกไปขอเอาเขาดื้อ ๆ อย่างนั้นล่ะ  แกบอกว่า  “ก็มันเพลินดี”  แสดงว่าแกเคยไปเที่ยวผู้หญิงมาบ้างแล้ว  คิดรำพึงในใจว่า  “เป็นพระบ้านี่ก็ดีนะ ทำผิดวินัยก็ไม่เป็นอาบัติ”

          มีเรื่องขำขันเกี่ยวกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  คือเวลาบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่ง  ข้าพเจ้านั่งอยู่กับตาฟุ้งใต้ซุ้มกระดังงา  วันนั้นหลวงพ่อเจ้าคุณนุ่งสบงใส่อังสะเหมือนหลวงตาทั่วไปที่อยู่ในวัดไม่ต้องห่มจีวร  ท่านถือไม้กวาดไปกวาดลานพระพุทธประทาพรและถนนบริเวณนั้น  ตามปกติท่านจะทำอย่างนั้นแบบวันเว้นวัน  ขณะที่ท่านกำลังกวาดลานอยู่นั้น ก็มีชายวัยใกล้เคียงกับท่านคนหนึ่งเดินเข้ามา  แสดงอาการอ่อนน้อมแล้วถามว่า  “ท่านเจ้าคุณโบราณอยู่กุฏิไหนครับ”  ท่านหยุดกวาดลานมองหน้าชายคนนั้นครู่หนึ่งแล้วชี้มือมาทางที่ข้าพเจ้ากับตาฟุ้งนั่งยู่  คล้ายจะบอกว่าอยู่กุฏิโน้น  ชายคนนั้นทำท่าคำนับแล้วเดิน  มาทางกุฏิหรือโรงเรียนวินัยสารที่หลวงพ่อเจ้าคุณพักอยู่  พอเดินมาถึงซุ้มกระดังงา  เห็นตาฟุ้งนั่งอยู่กับข้าพเจ้า  เขาเข้าใจว่าตาฟุ้งคือเจ้าคุณโบราณ  จึงนั่งคุกเข่ากราบอย่างงาม  ตาฟุ้งเห็นเช่นนั้นแทนที่จะห้าม  กลับยกขาขึ้นนั่งไขว่ห้างวางท่าใหญ่โต  ชายคนนั้นกราบแล้วกล่าวว่าท่านเจ้าคุณสยายดีหรือขอรับ  ไม่เจอกันนานจนจำเกือบไม่ได้แน่ะ  หลังจากหายตกตะลึงแล้ว  ข้าพเจ้าถามว่า  โยมมาจากไหนเนี่ย  เขาว่ามาจากกรุงเทพแถบฝั่งธน  เคยอยู่กับท่านเจ้าคุณโบราณ  หลังจากท่านขึ้นมาสุโขทัยแล้วไม่ได้เจอกันเลย  แต่ก็ติดตามข่าวคราวท่านอยู่ตลอดเวลา  ตอนนี้มีเวลาว่างจึงขึ้นมาเยี่ยมเยือนท่าน  ข้าพเจ้าจึงบอกความจริงว่า  พระองค์ที่กวาดลานวัดอยู่นั่นและคือท่านเจ้าคุณโบราณ  คนนี้ไม่ใช่หรอกโยม  เขารู้เช่นนั้นก็ตบอกผาง  ปัดโธ่  เล่นตลกกับเพื่อนจนได้แหละนะ   จากนั้นก็รีบลุกขึ้นเดินไปหาหลวงพ่อเจ้าคุณ  ต่อว่าต่อขานกันอยู่ครู่หนึ่ง  ก็พากันเดินกลับมาที่พักของหลวงพ่อเจ้าคุณ  ทราบต่อมาว่าชายคนนั้นเป็นเพื่อนพระอยู่วัดอนงคารามด้วยกัน  ลาสิกขาออกไปรับราชการ  มีความชอบจนได้บรรดาศักดิ์เป็นท่านขุน  นับว่าตาฟุ้งมีวาสนาดี  แม้จะเป็นคนครึ่งดีครึ่งบ้าก็มีท่านขุนมากราบไหว้ /    

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, พฤษภาคม, 2566, 10:48:10 PM
(https://i.ibb.co/8MyjNB7/condition1-18.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๓ –
          การคมนาคมในสมัยเมื่อปี ๒๕๐๗ ถนนหนทางที่ยังไม่ดีมีมากนัก  ชนบทของจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกมีความคล้ายกันมาก  บางแห่งข้าพเจ้าเดินทางไปเทศน์ด้วยความลำบาก  เพราะไม่ใช่คนพื้นที่  ไม่รู้จักบ้านและถนนหนทางที่จะไป  รับนิมนต์แล้วก็ต้องไป  อย่างเช่นไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก  พระเกรียงศักดิ์คู่เทศน์ทางวิทยุของข้าพเจ้าเป็นผู้รับนิมนต์โดยที่เขาเองก็ไม่รู้จักสถานที่  ผู้ไปนิมนต์ที่วัดเขาสมอแครงนั้นบอกว่า  หมู่บ้านนี้อยู่เลยอำเภอบางระกำไปหน่อยเดียว  เป็นหมู่บ้านที่ตั้งใหม่  ชาวบ้านเป็นคนที่เคลื่อนย้ายมาจากหลายังหวัดในภาคอีสาน  ตั้งหลักฐานกันมั่นคงดีแล้วก็อยากมีวัดประจำหมู่บ้าน (จำไม่ผิด) คือหนองกุลาของพวกเขา  สร้างกุฎีสงฆ์และศาลาที่บำเพ็ญบุญขึ้นแล้ว  กำลังทำเรื่องขอตั้งวัดให้ถูกต้องเป็นทางการ  ยังขาดทุนทรัพย์ที่จะดำเนินการต่อไป  คณะกรรมการหมู่บ้านจึงจัดให้มีเทศน์รวบรวมเงินเป็นทุนสร้างวัดต่อไป  เขาว่าอย่างนั้น  พระเกรียงจึงรับนิมนต์และยืนยันว่าอภินันทภิกขุ  ไปเทศน์ได้แน่นอน

          วันนั้นนัดพระเกรียงศักดิ์พบกันที่ท่ารถบางระกำในเมืองพิษณุโลก  แล้วนั่งรถเมล์ไปด้วยกัน  ถึงวัดบางระกำเวลา ๑๐.๓๐ น.  ลงจากรถถามทางที่จะไปบ้านหนองกุลาสถานที่เทศน์จนได้ความชัดแล้ว  เดินเท้าไปตามถนนดินลูกรังออกจากตลาดบางระกำไปทางทิศตะวันตก  เดินไปไม่นานถนนลูกรังก็หมด  กลายเป็นทางล้อเกวียนเป็นหลุมเป็นบ่อ  เดิน ๆ ไปบางตอนเป็นห้วงน้ำตื้น ๆ ต้องถอดรองเท้าเดินลุยน้ำลุยโคลน  ทางเป็นดังกล่าวหลายช่วงตอน  ทนเจ็บฝ่าเท้าเดินไปจนถึงบ้านหนองกุลาในเวลาเที่ยงวันเศษ  พบว่ามีชาวบ้านมาชุมนุมกันอยู่ในวัดสร้างใหม่นั้นไม่น้อยกว่าร้อยคน  พวกเขาดีใจที่เห็นว่าพระเทศน์มาแล้ว  แต่ข้าพเจ้าไม่ดีใจ เพราะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปหมดทั้งกาย  นั่งลงแล้วเขาเอาน้ำมาล้างเท้าและเช็ดเท้าให้  บางคนก็นวดเฟ้นเท้าอย่างเอาอกเอาใจ  ให้พวกเรานอนพักสักครู่แล้วค่อยว่ากัน

          ครั้นหายเหนื่อยแล้วลุกขึ้นพร้อมที่จะเทศน์  เขาจัดสำรับกับข้าวคาวหวานมาวางเพียบ  หัวหน้าทายกกล่าวว่านิมนต์ฉันอาหารก่อนนะครับจะได้มีแรงเทศน์  ข้าพเจ้าควักนาฬิกาพกในย่ามออกมาดู  เห็นเวลาแล้วบอกเขาว่า  ฉันไม่ได้หรอก  เลยเวลาเพลมาจนจะถึงบ่ายโมงแล้ว  หลายคนในที่นั้นประสานเสียงกันว่า  “ฉันได้ครับ”  หัวหน้าทายกกล่าวอย่างผู้รู้ดีว่า  “อาบัติปาจิตตีย์มันเล็กน้อยครับ  บี้มดตาย  ตบยุงตาย  ก็เป็นอาบัติตัวเดียวกับฉันอาหารในเวลาวิกาลนี่แหละ  คนที่นี่เขาไม่ถือสาหาความกันหรอกครับ”  ข้าพเจ้ามองหน้าพระเกรียงศักดิ์เชิงปรึกษา  เขาพะยักหน้ารับ  จึงต้องฉันอาหารตามความประสงค์ของพวกเขา  วันนั้นอาหารของเขาอร่อยมาก  อาจเป็นเพราะเหนื่อยและหิวนั่นแหละ  ทำให้อาหารอร่อย

          ข้าพเจ้าเริ่มเทศน์ปุจฉา-วิสัชนากันเมื่อเวลาบ่ายเกือบสองโมงแล้ว  วันนี้เราเทศน์ถามตอบกันเรื่องสวรรค์  ว่าสวรรค์คืออะไร  อยู่ที่ไหน  ดีอย่างไร  ทำอย่างไรจึงจะได้ไปเกิดในสวรรค์  คำถามหัวข้อใหญ่มีเท่านี้  แต่คำตอบและคำซักแทรกมีมากมาย  เราถามตอบ  ขัดแย้งกันอย่างสนุกถูกอกถูกใจคนฟัง  ว่ากันเพลินไปจบเอาตอนบ่ายเกือบห้าโมงเย็นเลยทีเดียว  จบการเทศน์แล้วกรรมการวัดเขาตรวจนับจำนวนเงินที่ติดกัณฑ์เทศน์ได้ห้าหมื่นบาทเศษ  ส่วนใหญ่มาจากซองฎีกาที่เขาแจกไปทั่วหมู่บ้านนั้นและหมู่บ้านใกล้เคียง  เงินทั้งหมดนั้นข้าพเจ้ากับพระเกรียงศักดิ์ไม่รับใส่ตน  ให้เขาเก็บสมทบทุนสร้างวัดต่อไป  แต่ทายกก็ขอเจียดมาถวายเป็นค่าเดินทางของพวกเราองค์ละ ๑๐๐ บาท

          เทศน์เสร็จสิ้นแล้วเดินทางกลับยังไม่ได้  เพราะเวลาใกล้ค่ำเสียแล้ว  จึงนอนค้างคืนที่วัดหรือสำนักสงฆ์บ้านหนองกุลานั้นคืนหนึ่ง  คุยกับทายกและกรรมการวัดก่อนนอนแล้วทราบว่าหัวหน้าทายกและกรรมการหลายคนเป็นนักบวช  ทายกเป็นอดีตพระมหาเปรียญ ๕ ประโยค  คนอื่น ๆ เป็นอดีตพระมหาบ้าง  พระนักธรรมบ้าง  มิน่าล่ะเขาจึงรู้ระเบียบวินัยพระเป็นอย่างดี  รุ่งขึ้นฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วเดินเท้ากลับในทางเดิมจนถึงวัดบางระกำ  ขออนุญาตพระที่วัดนั้นล้างเท้าที่เปื้อนโคลน  แล้วก็รอเวลารถเมล์ออกจากบางระกำเข้าเมืองพิษณุโลก  และต่อไปวัดเขาสมอแครง  วังทอง  การเดินทางมหาวิบากไปเทศน์ที่หนองกุลาครั้งนี้  ข้าพเจ้าจำได้จนตายเลยก็แล้วกัน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤษภาคม, 2566, 10:56:19 PM
(https://i.ibb.co/LYNqNL9/01-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๔ -
          ผู้บริหารงานปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง  หลังจากพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยแล้ว  พระครูสุขวโรทัย (ห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  พระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์ พทฺธญาโณ) เจ้าอาวาสวัดไทยชุมพล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย  สำหรับหลวงพ่อห้อม อมโร องค์นี้ท่านเป็นชาวบ้านสวน อ.เมืองสุโขทัย  และเป็นศิษย์หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณคู่กับหลวงพ่อปี้ (พระครูสุวิชาญวรวุฒิ) วัดลานหอย  ต่างกันที่กาลนั้นหลวงพ่อปี้เป็นพระเกจิอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดัง  ส่วนหลวงพ่อห้อมเป็นนักปกครองและนักเทศน์  ไม่สนใจเรื่องไสยศาสตร์มากนัก  ซ้ำยังตำหนิหลวงพ่อปี้ว่าสร้างเหรียญรูปตัวเองแจกคนทั่วไป  เป็นเรื่องไม่ดี  ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเกินกว่าที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้  ก็ได้แต่ฟังไว้เท่านั้น

          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยังตรวจเยี่ยมวัดในจังหวัดสุโขทัยไม่ครบถ้วน  ยามนายสมเจ้าของและคนขับรถว่าง  และข้าพเจ้าว่างวันใด  ท่านก็จะชวนไปตรวจเยี่ยมวัดต่อ  วัดที่ท่านต้องการไปตรวจเยี่ยมนั้นจะเลือกวัดที่อยู่นอกเมืองซึ่งห่างไกลความเจริญ  ส่วนวัดในเมืองจะละเว้นไว้   วันหนึ่งไปตรวจวัดในท้องที่อำเภอสวรรคโลก  ออกพ้นตลาดเมืองสวรรคโลกไปไม่ไกลนักเป็นบริเวณไร่อันกว้างใหญ่ที่เขาเรียกกันว่าไร่ขุนเพ่ง  หลวงพ่อคุณโบราณต้องการไปที่นั้น  ท่านบอกว่าในพื้นที่แถบนั้นเป็นเมืองโบราณ  มีอายุสมัยทวาราวดีเลยทีเดียว  ท่านอยากไปดูวัดที่ทราบว่ามีอยู่บ้าง  ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เรื่องโบราณจึงได้แต่ตามท่านไป  ดูซากวัดร้างหลายแห่งจนไปถึงวัดแห่งหนึ่งเป็นวัดเก่า  แต่ไม่มีเจดีย์ โบสถ์เก่าแก่อะไรเหลืออยู่แล้ว  มีแต่กุฏิสงฆ์สมัยใหม่อยู่สามหลัง  ศาลาหลังหนึ่ง  มีพระหลวงตาเฝ้าวัดอยู่องค์เดียว

          จำชื่อวัดได้เลา ๆ ว่า  “ไม้แดง”  หรือ  “แม่น้ำเก่า”  อะไรนี่แหละ  ที่จำได้แม่น ๆ คือพระหลวงตาองค์นั้นชื่อหลวงตา “กรอ”  เราไปถึงวัดนี้เวลาประมาณบ่าย ๔ โมงเห็นจะได้  หลวงตากรอเห็นรถจิ๊ปพาพระหลวงตากับพระหนุ่มเข้าไปจอดในวัดดังนั้น  ก็ลงจากกุฏิมาต้อนรับ  หลวงพ่อเจ้าคุณยังไม่ขึ้นกุฏิ  แต่เดินดูบริเวณวัดนั้น  แลเห็นร่องรอยความเก่าแก่ของสถานที่นั้นอย่างชัดเจน  ท่านเล่าว่าบริเวณนี้เป็นเมืองโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว  สมัยเมื่อประมาณเกือบพันปีมาแล้วมีแม่น้ำยมไหลผ่านพื้นที่นี้  ซึ่งเป็นเมืองยุคก่อนสุโขทัย  ดูเหมือนสายน้ำจะเลี้ยวตรงบริเวณบ้านป่ากุมเกาะ  ไหลผ่านตัวเมืองทางนี้ไปทางคลองมะพลับ  แล้วเลี้ยวคดโค้งไปมาผ่านเขตแดนพิษณุโลกไปถึงบางระกำโน้น  ต่อมาแม่น้ำยมเปลี่ยนทางไหลลงไปวังไม้ขอนผ่านคลองตาลลงไปธานี  แล้วไปรวมกับแม่ยมสายเก่าที่บางระกำ  แม่น้ำยมสายเก่าจึงตื้นเขินเหลือแต่เพียงชื่อว่า “ แม่น้ำเก่า”  อย่างที่เห็นนี่แหละ

          เดินดูบริเวณวัดจนทั่วแล้วก็ขึ้นกุฏิ  หลวงตากรอที่กำลังต้มน้ำร้อนด้วยเตาฟืนแล้วใส่กาชง  เอาเถาวัลย์เปรียงย่างไฟจนหอมแล้วใส่กาชงแทนใบชาจีน  ชงน้ำชาไปท่านบ่นไปว่าอยู่บ้านนอกหาชาจีนกินเหมือนในเมือง  ไม่ได้ต้องใช้เถาวัลย์เปรียงบ้าง  รางแดงบ้าง  ใบไม้อื่น ๆ บ้าง  จัดการเรื่องน้ำชาเสร็จหลวงตาก็เข้ามานั่งคุย  ถามหลวงพ่อเจ้าคุณว่า มาจากไหนหรือครับ  ข้าพเจ้าตอบแทนว่ามาจากเมืองสุโขทัย  ท่านร้องอ้อ  แล้วถามต่อว่าอยู่วัดอะไรล่ะ  “วัดราชธานี”  ข้าพเจ้าตอบแทนหลวงพ่อเจ้าคุณอีก  หลวงตาร้องอ๋อ  วัดนี้ผมรู้จัก  เคยไปบ่อย ๆ  มีบ่อปลาใหญ่มาก  เจ้าอาวาสวัดนี้ชื่อเจ้าคุณโบราณ  ท่านเป็นคนดุมาก  ผมเคยเข้าไปกราบท่านหลายครั้งแล้ว  ข้าพเจ้าถามท่านว่า  หลวงตาจำท่านเจ้าคุณโบราณได้ไหม  ท่านว่าจำได้ซี  เข้าไปกราบท่านตั้งหลายครั้งแล้วทำไมจะจำไม่ได้ล่ะ  หลวงพ่อเจ้าคุณฟังแล้วก็หัวเราะหึ ๆ  ข้าพเจ้ากลั้นหัวเราะไม่อยู่จนปล่อยก้ากออกมา  ท่านหันมามองข้าพเจ้าเหมือนจะถามว่าขำอะไรเหรอ  ข้าพเจ้าจึงบอกความจริงให้หลวงตาทราบว่า  องค์ที่นั่งอยู่นี่แหละคือเจ้าคุณโบราณ  ท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชชื่อ พระราชประสิทธิคุณ  ปีนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยแทนเจ้าคุณสวรรควรนายกแล้ว  วันนี้มาตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอสวรรคโลก  หลวงตากรอทราบดังนั้นก็ตกใจที่ “จุดไต้ตำตอ”  รีบลุกขึ้นเข้าไปในห้องห่มจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อย  ออกมากราบหลวงพ่อเจ้าคุณพร้อมกล่าวขออภัยที่ไม่ทราบ  หลวงพ่อเจ้าคุณก็มิได้ถือสาหาความอะไร  คืนนั้นนอนค้างแรมที่วัดหลวงตากรอ  ฟังหลวงตาเล่าเรื่องคนที่เป็นเสือร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเสือแมว  ข้าพเจ้าฟังจนหลับไปเลย

          รุ่งเช้าฉันอาหารแบบ  “ตามมีตามเกิด”  แล้วลาหลวงตากรอ  หลวงตาเอาพระเครื่องเนื้อดินเผาองค์เล็ก ๆ ขนาดนิ้วหัวแม่มือที่ได้จากซากวัดเก่า ๆ ในย่านนั้น  โดยชาวบ้านที่ขุดถางที่ทำไร่ทำนากัน  พระอะไรบ้างจำได้ไม่หมด  ที่ยังจำได้คือพระดอนลาน  โป่งมะขาม  ไม่มีหน้าไม่มีตาเลยสักองค์เดียว  ท่านเอามาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณที่ข้าพเจ้าประมาณดูในห่อผ้านั้นคงไม่น้อยกว่าร้อยองค์ทีเดียว  จากหลวงตากรอแล้วก็เลยไปวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม ตำบลศรีนคร  ที่นี้เป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนี่งตามความที่บันทึกกันไว้ว่า  “ศรีนครมีอายุทางโบราณคดีสมัยยุคประวัติศาสตร์ตอนปลาย  ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการตั้งชุมชนอยู่บริเวณเขาเขน เขากา ชุมชนบ้านบึงเหนือ  เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว  พื้นที่ดังกล่าวได้มีการส่งผ่านอารยธรรมของอินเดีย  ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น  ร่วมกาลสมัยท่ามกลางนครหรือเมืองที่เลื่องชื่ออันเป็นที่รู้จักทั่วไป เช่น  เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย)  เมืองบางขลัง  เมืองพิชัย เป็นต้น  เดิมศรีนครเป็นเพียงหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลนครเดิฐซึ่งขึ้นตรงกับอำเภอสวรรคโลก  และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้แบ่งพื้นที่ตำบลนครเดิฐตั้งเป็น ตำบลศรีนคร  จากนาม  "นครเดิฐ"  สู่นาม  "คลองมะพลับ"  และมาเป็นนาม  "ศรีนคร " ในที่สุด”

          ข้าพเจ้าได้รู้จักเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี อีกเมืองหนึ่งคือ  นครเดิมหรือนครเดิฐ  ในบริเวณเขาเขน เขากา นี่เอง  นอนค้างแรมที่วัดราษฎร์ศรัทธาธรรมคืนหนึ่ง  รุ่งเช้าฉันอาหารแล้วไปดูที่ตั้งเมืองนครเดิฐ เขาเขน เขากา   แล้วเดินทางกลับวัดราชธานีในที่สุด /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, พฤษภาคม, 2566, 10:46:21 PM
(https://i.ibb.co/p1p7vLJ/hqdefault-2.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๕ -
          ข้าพเจ้าเตรียมเปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมที่วัดราชธานี  เป็นการพลิกฟื้นการเรียนการสอนที่สลบซบไปนานหลายปีให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง  สำรวจดูพระที่มีภูมินักธรรมหลายองค์ที่คิดว่าพอจะสอนนักธรรมได้  ทางฟากฝั่งตะวันตกที่ข้าพเจ้าเรียกว่าคณะศาลาการเปรียญมีพระนักธรรมชั้นเอก ๑ องค์  นักธรรมชั้นโท ๑ องค์  นักธรรมชั้นตรี ๒ องค์  ถามท่านว่าจะสอนนักธรรมชั้นตรีได้ไหม  ทุกองค์ปฏิเสธว่าสอนไม่ได้  เพราะไม่เคยสอน  ทางฟากฝั่งตะวันออกมีพระนักธรรมชั้นเอก ๔ องค์  พระมหาเปรียญธรรม ๔ ประโยค ๑ องค์  ทุกองค์รับว่าสอนนักธรรมได้  ยกเว้นพระครูสมุห์แถว  เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด  ท่านขอตัวไม่สอน  จึงเป็นอันว่ามีพระที่จะสอนนักธรรมได้ ๔ องค์  คือเจ้าอธิการบุญมี  พระมหาคำสิงห์  พระไพฑูรย์  และข้าพเจ้า ๔ องค์  ก็พอดีกับวิชาตามหลักสูตรนักธรรม  เราแบ่งหน้าที่กันสอนคนละวิชา  เจ้าอธิการบุญมีขอสอนวิชาวินัย  พระไพทูรย์ขอสอนวิชาพุทธประวัติ  พระมหาคำสิงห์ขอสอนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม  เหลือวิชาธรรมวิภาค ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้สอน

          พระเจ้าอธิการบุญมี เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา  ได้มาอยู่วัดราชธานีตั้งแต่สมัยยังหนุ่มจนถึงปีนั้น (๒๕๐๘) อายุท่านประมาณ ๗๐ ปีแล้ว  ทางการคณะสงฆ์แต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้าคณะตำบลธานี  ตำแหน่งเจ้าคณะตำบล  เมื่อเทียบกับทางบ้านเมืองก็เท่ากับกำนัน  ถ้าไม่มีสมณศักดิ์จะเรียกว่า “เจ้าอธิการ”  ส่วนเจ้าอาวาสนั้นเทียบทางฝ่ายบ้านเมืองก็คือผู้ใหญ่บ้าน  ถ้าไม่มีสมณศักดิ์จะเรียกว่า “เจ้าอาวาส”  ดังนั้นพระบุญมีไม่มีสมณศักดิ์  เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลจึงต้องเรียกท่านว่า “เจ้าอธิการบุญมี”  ทางเจ้าคณะจังหวัดเคยเสนอขอสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรหลายครั้งแล้วยังไม่ได้  เคยถามพลวงพ่อห้อมซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองอยู่สมัยนั้นว่า  ทำไมเจ้าอธิการบุญมีจึงไม่ได้เป็นพระครูสัญญาบัตรเช่นเจ้าคณะตำบลอื่น ๆ  ท่านบอกว่าอาจารย์บุญมีเป็นคนแข็งกร้าว ดื้อรั้น เข้ากับใครไม่ค่อยได้  จึงต้องอยู่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

          เจ้าอธิการบุญมีเป็นพระที่มีความจำดีมากองค์หนึ่ง  ท่านเป็นนักเทศน์ที่ชอบเอาชนะคู่เทศน์ด้วยหลักฐานตามตำรา  ไม่มีสำนวนโวหารไหวพริบปฏิภาณอย่างนักเทศน์ที่ดีทั่วไป  จึงไม่ค่อยมีใครนิมนต์ท่านเทศน์  ว่ากันว่าสมัยนั้นมีพระมหาเปรียญ ๘ ประโยคองค์หนึ่งอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นนักเทศชื่อดังมาเทศน์ในสุโขทัย  และเทศน์คู่ปุจฉา-วิสัชนากับเจ้าอธิการบุญมี  ถูกเจ้าอธิการบุญมีงัดตำราขึ้นมาถามจนพระมหารูปนั้นตอบไม่ได้  ลงธรรมาสน์หนีไปเลย  ที่เป็นจุดด้อยของท่านอีกอย่างหนึ่งคือเป็นคนหูค่อนข้างตึง  เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้นิสัยของท่านดีขึ้นอีกหน่อย  วิตกอยู่เหมือนกันว่าท่านจะสอนวิชาวินัยแก่พระนักเรียนได้อย่างไรหนอ?   ปกติของเจ้าอธิการบุญมีอย่างหนึ่งคือ  ทุกยามค่ำของวันโกนและเช้ามืดของวันพระ  ท่านจะขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ ให้เจ้าหน้าที่คุมเครื่องเสียงของวัดเปิดเครื่องกระจายเสียง  แล้วท่านก็จะพูดโฆษณาชักชวนให้คนมาทำบุญ  คำที่ท่านพูดเริ่มต้นจนทุกคนจำกันได้หมดคือ   “เสียงที่ลอยเวียนวนอยู่ในอากาศขณะนี้เป็นเสียงบุญจากวัดราชธานี......”   แล้วก็พูดพล่ามไปตามใจคิดของท่านจนน่ารำคาญ  บางวันหลวงพ่อเจ้าคุณต้องให้คนไปปิดเครื่องกระจายเสียงเลยก็มี

          ข้าพเจ้านึกแปลกใจอยู่ว่า  พระในจังหวัดสุโขทัยเรียนนักธรรมและสอบความรู้ได้ชั้นตรี โท เอก หลายองค์  แต่ส่วนมากท่านสอบได้วุฒินักธรรมแล้วสอนนักธรรมไม่ได้  วัดคูหาสุวรรณมีพระนักธรรมเอก ๒ เป็นฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอที่พระสมุห์องค์หนึ่ง  พระใบฎีกาองค์หนึ่ง  แต่ท่านก็ไม่ยอมสอนนักธรรม  แม้หลวงพี่มหาบุญเหลือท่านก็ไม่ยอมสอนนักธรรม  อ้างว่าไม่เคยสอน  หลวงพ่อห้อมท่านเคยสอนมาก่อน  แต่เลิกสอนไปเมื่อมีตำแหน่งบริหารงานปกครองคณะสงฆ์มากขึ้น  ในปีที่ข้าพเจ้าจะเปิดสอนนักธรรมที่วัดราชธานีนั้น  หลวงพ่อห้อมสนับสนุนเต็มที่โดยการจะให้พระเณรวัดคูหาสุวรรณมาร่วมเรียนที่วัดราชธานีด้วย  กำหนดเปิดการเรียนการสอนก่อนวันเข้าพรรษา ๑ สัปดาห์  ทั้งนี้เพื่อให้พระบวชใหม่ปีนั้นได้เข้าเรียนโดยทั่วกัน

          เมื่อมีการเตรียมเปิดโรงเรียนนักธรรมล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือนอย่างนั้น  ทำให้มีญาติโยมนำเด็ก ๆ มาบวชเณรเพื่อนเรียนนักธรรมที่วัดราชธานีจำนวนหนึ่ง  นาคที่จะบวชพระเอาพรรษาปีนั้นมาขอบวชอยู่วัดราชธานีอีกจำนวนหนึ่ง  พระครูสมุห์แถวเลขาฯ วัดและเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัดต้องรับภาระในการดูแลด้านสวัสดิการและปกครองพระเณรของวัดเพิ่มมากขึ้น  ข้าพเจ้ารับผิดชอบเฉพาะบริหารการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น  ไม่หนักหนาอะไร  จึงทำงานตามปกติคือเทศน์ทางวิทยุ  สอนศีลธรรมนักเรียนวัดคูหาสุวรรณ และรับนิมนต์เทศน์ทั่วไป

          การสอนศีลธรรมนักเรียนนั้น  ข้าพเจ้าขอให้พระไพฑูรย์ช่วยสอนอีกคนหนึ่ง  พระไพฑูรย์องค์นี้มีความรู้ดี  เป็นชาวจังหวัดอ่างทองบ้านเดียวกับหลวงพ่อเจ้าคุณ  ก่อนจะขึ้นมาอยู่สุโขทัยท่านอยู่กับหลวงพ่อปัญญานันทะ  วัดชลประทานฯหัดแสดงปาฐกถาอยู่นานปี  แต่ท่านเป็นค่อนข้าง “ทึ่ม” ไปหน่อย  ไม่มีไหวพริบปฏิภาณมากนัก  จึงลาหลวงพ่อปัญญานันทะขึ้นมาอยู่วัดราชธานีในปีเดียวกับข้าพเจ้า  มาถึงวัดนี้หลังข้าพเจ้า ๕ วัน  หลวงพ่อเจ้าคุณให้อยู่กุฏิเดียวกับข้าพเจ้า  อยู่ร่วมกันจนคุ้นเคยแล้วเห็นว่าน่าจะช่วยงานสอนได้  จึงขอให้ไปช่วยสอนศีลธรรมนักเรียน  วันหนึ่งเขากลับมาจากการสอนนักเรียนแล้วพูดกับข้าพเจ้าว่า  ไม่อยากสอนนักเรียนแล้ว  ถามว่า ทำไมละ  เขาก็เล่าให้ฟังว่า  เล่านิทานชาดกเรื่อง สามสหาย ช้าง ลิง นกกระทา ในติตติรชาดก  ว่าด้วยความเคารพอ่อนน้อม  จบแล้วนักเรียนหญิงถามว่า  สมัยก่อนสัตว์ต่าง ๆ ทำไมมันพูดกันรู้เรื่อง  แม้คนกับสัตว์ก็พูดกันรู้เรื่อง  สมัยนี้ทำไมพูดกันไม่รู้เรื่องเลย  ถามบ้า ๆ  เราเทศน์ให้คนฟังมาเยอะแล้วไม่เห็นมีใครสงสัยอย่างนี้เลย  จึงถามเขาว่า  แล้วท่านตอบเด็กว่าไงล่ะ  ไม่ตอบหรอก  บอกเด็กว่าเอาเรื่องนี้ไว้ถามอาจารย์อภินันท์เถอะ  เป็นอย่างนั้นไปได้นี่เพื่อนเรา  ถามห้องเรียนที่เขาทิ้งปัญหาไว้นั้น  แล้ววันต่อ ๆ มาข้าพเจ้าจึงเข้าไปสอน  ถามเด็กว่ามีนักเรียนสงสัยเรื่องสัตว์ คน พูดกันได้รู้เรื่องอย่างไรใช่ไหม  นักเรียนขานรับพร้อมกันว่าใช่แล้ว  อาจารย์ไพฑูรย์ไม่ยอมตอบคำถามนี้  บอกให้รอถามอาจารย์อภินันท์ค่ะ

          ข้าพเจ้าจึงอธิบายถึงเรื่องภาษาที่สื่อสารให้รู้กัน  เริ่มจากสายตาที่มองดูกันแล้วรู้ความหมายของกันและกัน  ว่าชอบหรือไม่ชอบ  รักใครเกลียดโกรธ  สายตาจะบอกให้รู้หมด  อาการกิริยาแสดงออกให้รู้ เช่น พยักหน้า  สั่นหัว  เมินหน้า  หน้ายิ้มแย้มแจ่มใส  หน้าบึ้งขึงเคียด  แสดงออกเป็นเสียงต่าง ๆ  และขีดเขียนเป็นลายเส้น (ลายสือ)  เหล่านี้เรียกว่าภาษาที่แสดงออกทางกาย และวาจา  แล้วพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ   สัตว์เดรัจฉาน แปลว่าผู้ไปขวาง ๆ คือเดินสี่เท้าบ้าง  เลื้อยคลานบ้าง  บินบ้าง  ว่ายน้ำบ้าง  สัตว์มนุษย์คือคน เดินด้วยสองเท้ายืนตัวตรง  สัตว์ทั้งสองหมู่นี้เดิมพูดภาษาเดียวกัน  เริ่มจากสายตา  อาการกิริยา  แล้วเสียง  สมัยดึกดำบรรพ์นานมาเป็นล้าน ๆ ปีนั้น สัตว์มีจำนวนมากนักและรวมกันอยู่  พูดคุยกันรู้เรื่องด้วยภาษาเดียวกันดังกล่าวแล้ว  ต่อมาโลกเจริญขึ้น  สัตว์ประเภทมนุษย์ (แปลว่าผู้มีใจสูง) ฉลาดกว่าสัตว์เดรัจฉาน  จึงพัฒนาภาษาของตนขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง  ในแต่ละกลุ่มก็สร้างภาษาขึ้นมาใช้ในกลุ่มของตน  เช่น  ลาว เขมร  มอญ  จีน  ฝรั่งเป็นต้น   สัตว์เดรัจฉานพัฒนาภาษาตามไม่ทัน  ปัจจุบันจึงพูดภาษาเสียงกับคนไม่รู้  แต่อาการกิริยา  สายตายังใช้สื่อสารกันได้อยู่  นักเรียนสามารถพูดกับหมา แมว ด้วยสายอาการกิริยา รู้เรื่องไหม  สาเหตุที่สัตว์กับคนพูดกันไม่ได้  อาจารย์คิดว่า  คนรังแกสัตว์มากไป  มันก็เลยไม่อยากพูดด้วย  เมื่อไม่พูดด้วยนาน ๆ  ก็เลยพูดไม่ได้  คิดอย่างนี้ถูกผิดอย่างไร  พวกเธอก็ลองไปคิดดูเองก็แล้วกันนะ   ข้าพเจ้าอธิบายรายละเอียดมากกว่าที่นำมาเขียนนี้มากนัก  เปิดโอกาส  ให้พวกเขาซักถามกันจนพอใจแล้วจบรายการ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, พฤษภาคม, 2566, 10:49:25 PM
(https://i.ibb.co/0FXfVz2/50208-n-1.jpg) (https://imgbb.com/)

ีเรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๖ –
          พระเกรียงศักดิ์คู่ (หู) เทศน์ทางวิทยุของข้าพเจ้ารับเทศน์ในที่ทุรกันดารอีกครั้งที่บ้านท่าหมื่นราม อำเภอวังทอง  คนที่มานิมนต์บอกว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านใหญ่อยู่ใกล้ถ้ำหินสวยงาม  มีหินงอกหินย้อยดูพรายพราวเหมือนเพชรพลอยหลากสี  มีธารธารน้ำไหลใสสวย  ป่าไม้ร่มรื่นชื่นเย็น  พระเกรียงศักดิ์อยากไปชมความงามตามที่เขาพรรณนาจึงรับนิมนต์ไปเทศน์ก่อนสงกรานต์ ๓ วัน  เดินทางโดยรถประจำทาง (สองแถว) วังทอง-ท่าหมื่นราม  ออกจากตลาดวังทองบ่ายมากโขแล้ว  เขาบอกให้ไปนอนค้างคืนก่อนถึงวันเทศน์  ไปตามเส้นทางสายวังทอง-สากเหล็ก  เป็นถนนดินลูกรัง  บางตอนเป็นหลุมเป็นบ่อ  ผ่านดงดินทอง หนองคล้า ถึงวัดตายม  เลี้ยวซ้ายไปบ้านท่าหมื่นราม  ทางช่วงตอนนี้น่าจะเป็นทางเกวียนมากกว่าถนน  ผู้โดยสารรถทั้งพระและฆราวาสเนื้อตัวมอมแมมด้วยฝุ่นดินลูกรัง  เมื่อไปถึงวัดท่าหมื่นรามแล้วต้องรีบเปลื้องจีวรให้เขาสะบัดฝุ่นออกผึ่งแดดลมไว้  อาบน้ำล้างคราบฝุ่นให้เรียบร้อยแล้วพักผ่อนคลายความอ่อนเพลีย

          บ้านท่าหมื่นรามยามนั้นมีสภาพเป็น “บ้านป่าขาดอน” อันบริสุทธิ์ที่ยังไม่ถูกอารยธรรมสมัยใหม่เข้าไปทำลายมากนัก  ชาวบ้านล้วนมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง  มีบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือน  ประชากรมีประมาณหมื่นคนทีเดียว  แม้จะเป็นหมู่บ้านเก่าและใหญ่  แต่ความเจริญด้านเครื่องอุปโภคบริโภคยังเข้าไปไม่ถึงเท่าที่ควร  วัดวาอารามยังรอการอุปถัมภ์บำรุงอยู่อย่างค่อนขัดสน  ข้าพเจ้าฟังชาวบ้านบอกเล่าเรื่องของถ้ำท่าหมื่นรามอันน่าอัศจรรย์พันลึก  คิดอยากรู้อยากเห็นแล้วนอนหลับไป

          รุ่งขึ้นเช้าตื่นนอนด้วยความสดชื่น  ฉันอาหารแบบบ้าน ๆ แล้วเตรียมเรื่องที่จะเทศน์ในบ่ายวันนั้น  ตกลงกันว่าจะเทศน์ปุจฉา-วิสัชนากันในเรื่องที่มาของสงกรานต์ตามตำนาน  โดยข้าพเจ้าเป็นผู้ซักถาม  พระเกรียงศักดิ์เป็นผู้ตอบ  เล่าเรื่องตามตำนานที่ว่า

          “เศรษฐีฐานะร่ำรวยคนหนึ่ง  ไม่มีบุตร  จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์  และพระจันทร์  แต่รอหลายปีก็ไม่มีบุตรสักที  จนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหนึ่ง  เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ ๗ สี  หุงบูชารุกขพระไทร  พร้อมเครื่องถวาย  และการประโคมดนตรี  โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร  พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ  จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี  ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย  และตั้งชื่อว่า  "ธรรมบาลกุมาร"   ธรรมบาลกุมารเป็นคนฉลาดหลักแหลม  จนมีชื่อเสียงร่ำลือไปไกล  ทำให้ท้าวกบิลพรหมทราบเรื่องจึงลงมาท้าทายปัญญ า โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร  ให้เวลา ๗ วัน  หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา  ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้  ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ

          วางโครงเรื่องที่จะเทศน์กันเสร็จแล้วก็พักผ่อนตามสบาย  บ่ายโมงถึงเวลาเทศน์เราก็ขึ้นเทศน์กัน  วันนั้นมีคนฟังมานั่งฟังเทศน์กันเต็มศาลาเลยทีเดียว  อาจจะเป็นเพราะเขาอยากเห็นหน้าค่าตาของพระเทศน์ที่ได้ฟังเสียงทางวิทยุเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ก็ได้  เห็นคนมานั่งฟังกันมากอย่างนั้น  พวกเราก็มีกำลังใจจึงเทศน์ถามตอบกันอย่างสนุก  ข้าพเจ้าซักถามตั้งแต่เศรษฐีไม่มีบุตรเพราะทำเวรกรรมอะไรไว้  พระเกรียงฉลาดตอบ โดยเลี่ยงกรรมเก่าแต่เอากรรมใหม่ คือ หลักวิทยาศาสตร์มาตอบอธิบายจนเอาตัวรอดได้  มาถึงเรื่องธรรมบาลกุมารก็ให้พระเกรียงศักดิ์กล่าวตามตำนานที่ปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ  โดยย่อว่า  ธรรมบาลกุมาร  เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว  เรียนไตรเพทจบ  เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ  ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง  ซึ่งในขณะนั้น  โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า  เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง  ข่าวธรรมบาลกุมารแสดงมงคลแก่มนุษย์ได้ทราบไปถึงกบิลพรหม  จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ  สัญญาไว้ว่ า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา  ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย  ปัญหานั้นว่า    ข้อ ๑.เช้าราศีอยู่แห่งใด    ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด    ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด    ธรรมบาลขอผลัด ๗ วัน  ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน  ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้  จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น  มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น  ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า  พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด  สามีบอกว่า  จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร  ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย  เพราะทายปัญหาไม่ออก  นางนกถามว่า  ปัญหานั้นอย่างไร  สามีจึงบอกว่า  ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด  เที่ยงราศีอยู่แห่งใด  ค่ำราศีอยู่แห่งใด  นางนกถามว่า  จะแก้อย่างไร  สามีบอกว่า  เช้าราศีอยู่หน้า  มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า  เวลาเที่ยงราศีอยู่อก  มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก  เวลาค่ำราศีอยู่เท้า  มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า  ธรรมบาลเรียนรู้ภาษานกดียู่แล้วได้ฟังดังนั้นก็จดจำไว้

          ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา  ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา  ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗   อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน  แล้วบอกว่า  เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร  ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดิน  ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก  ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ  ฝนก็จะแล้ง  ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง  จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ  แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่  นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว  แห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที  แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ  บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ  พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการชื่อภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา  เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง  แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์  ครั้นถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน  โลกสมมติว่า  ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์  จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี  แล้วกลับไปเทวโลก  ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น  เราสมมติเรียกว่า  นางสงกรานต์  มีชื่อต่าง ๆ  ดังนี้  ทุงษ,  โคราค,  รากษส,  มัณฑา,  กิริณี,  กิมิทา  และ มโหทร”

          ปล่อยให้พระเกรียงศักดิ์เล่าความตามตำนานยืดยาวแล้ว  มาถามเรื่องนางสงกรานต์ว่า  วันสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์นางสงกรานต์จะชื่ออะไร  พระเกรียงศักดิ์ก็ตอบเรียงไปได้ไม่ตกหล่น  จากนั้นก็ถามเรื่องกำหนดเวลาของสงกรานต์  ถามเรื่องข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับสงกรานต์  และอื่น ๆ อีกพอสมควร  แล้วสรุปความโดยผู้ถาม  พอสมควรแก่เวลาก็ เอวัง..... จบการเทศน์เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเพื่อเอาเวลาที่เหลือไปเที่ยวชมถ้ำอันสวยงามต่อไป

          เขาพาไปชมถ้ำหินงอกกหินย้อยสีชมพู  และดูอะไร ๆ ที่เขาอยากจะอวดเราและเท่าที่เราจะเดินดูไหว  กลับเข้าวัดจนเวลาโพล้เพล้แล้ว  คืนนี้ต้องนอนค้างแรมที่วัดท่าหมื่นรามคืออีกหนึ่ง  เพราะรถเข้าออกที่นี่มีสองสามคัน  เช้าจะออกไปตลาดอำเภอวังทอง  บ่ายสามสี่โมงจึงกลับเข้าหมู่บ้านนี้  สรุปว่าพระที่จะไปเทศน์ที่วัดท่าหมื่นรามต้องไปนอนค้างคืนก่อนเทศน์ ๑ คืน  เทศน์จบแล้วต้องนอนค้างที่วัดอีก ๑ คืน  จึงจะมีรถกลับ  ข้าพเจ้าไปเทศน์ที่วัดนี้ครั้งแรกและครั้งเดียว  แล้วไม่ได้ไปอีกเลย  ทราบข่าวว่าต่อมาวัดนี้เจริญสวยงามมาก  เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, พฤษภาคม, 2566, 11:06:02 PM
(https://i.ibb.co/0QfthdT/91a92d292a3f41c4835334b7a68a0e91-sticky-rice-basket-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๗ –
          โดยปกติแล้ว  ข้าพเจ้าชอบเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นธรรมชาติ  วัฒนธรรมประเพณีสังคมชุมชนต่าง ๆ  ดังนั้นการรับนิมนต์ไปเทศน์ในที่ต่าง ๆ จึงเป็นความพอใจ  บอกพระเกรียงศักดิ์ที่ประจำอยู่สภาธรรมวิจารณ์วัดเขาสมอแครงว่า  ถ้ามีคนมานิมนต์ไปเทศน์ในที่ไกลให้รับไว้เลย  แม้จะเดินทางไปมาลำบากหน่อย  อย่างที่ไปท่าหมื่นราม  หนองกุลา อะไรนั่นก็ไม่ว่ากัน  เพราะว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี  เมื่อเปิดไฟเขียวให้อย่างนั้น  พระเกรียงศักดิ์ก็รับนิมนต์โดยไม่เลือกที่ซึ่งจะไป

          เป็นครั้งแรกที่เดินทางไปอำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์  เมื่อพระเกรียงศักดิ์รับนิมนต์เทศน์ที่บ้านวังบาล  อำเภอหล่มเก่าอันเป็นสถานที่ไม่รู้จักไม่เคยไป  รู้แต่ว่าให้นั่งรถโดยสารประจำทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก  เมื่อถึงหล่มสักแล้วให้ต่อรถไปหล่มเก่าและบ้านวังบาน  คนนิมนต์บอกว่าเป็นหมู่บ้านตำบลใหญ่มาก  มีวัดในตำบลนี้หลายวัด  วัดที่จะไปเทศน์ชื่อวัดศรีฐานปิยาราม  ขอให้เดินทางไปนอนค้างแรมที่วัดก่อนเทศน์ ๑ คืน

          ก่อนถึงเวลาเทศน์ ๑ วัน  ข้าพเจ้ากับพระเกรียงศักดิ์ก็นั่งรถประจำทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก  เป็นรถบัสขนาดใหญ่บรรทุกคนโดยสารได้ ๓๐-๔๐ คน  พวกเราไม่มีอภิสิทธิ์ในการเลือกที่นั่ง  จึงได้เก้าอี้ด้านขวามือค่อนไปข้างท้ายรถ  เพราะอยากดูวิวทิวทัศน์ข้างทาง  จึงขอนั่งชิดหน้ต่างทางขวามือ  แต่พระเกรียงศักดิ์ไม่ยอม  เขาบอกว่าอยากดูเหมือนกัน  ข้าพเจ้าจึงต้องยอมตามใจเพื่อน  เก้าอี้ข้างหน้าสามแถวมีชนชาวเขา (เราเรียกเขาว่าแม้ว) เป็นหญิงล้วนนั่งอยู่ ๕ คน  ดูหน้าตาพวกเขาแล้วประมาณอายุได้ว่าเกิน ๕๐ ปีไปแล้วทั้งนั้น  รถออกจากพิษณุโลกเลยวังทองแล้วทางเริ่มขึ้นเขาตั้งแต่วังนกแอ่นไป แก่งซอง ทรัพย์ไพรวัลย์ สามแยกบ้านแยง  พอเลยสามแยกบ้านแยงไปก็เกิดเรื่องที่คาดไม่ถึง  กล่าวคือหญิงชาวเขาที่นั่งชิดหน้าต่างข้างหน้าพระเกรียงศักดิ์นั้นเธอมีอาการเมารถอย่างหนัก  โผล่หน้าออกหน้าต่างแล้วอ้วกออกมา  รากของเธอกระจายตามสายลมหวนเข้าหน้าต่างรถข้างหลัง  สาดสายเต็มหน้าพระเกรียงศักดิ์เลย  เสียงคนร้องวี้ดว้าย  คนขับรถชะลอรถแล้วหยุดดูเหตุการณ์  พระเกรียงศักดิ์ถูกอ้วกใส่เต็มหน้าอย่างนั้นก็ทนไม่ได้ต้องอ้วกออกมาบ้าง  ดีที่รถหยุดแล้วเขาจึงชะโงกหน้าออกไปอ้วกนอกรถ  ไม่อย่างนั้นข้าพเจ้าคงเปียกเปื้อนอ้วกของเขาแน่ ๆ เลย  เสียเวลาเช็ดล้างอ้วกเป็นเวลานานจึงเดินทางต่อไปได้

          รถเดินหน้าขึ้นเขาสูงตามทางขึ้นลงโค้งคดน่าหวาดเสียวมาก  ดีที่ชาวเขานั้นหายเมารถแล้ว  ไม่อย่างนั้นคงอ้วกใส่เพื่อนอีก  เทือกเขาสูงที่ต้องผ่านไปนั้นเรียกว่าแค้มป์สน-เขาค้อ  ทิวทัศน์สวยงาม  ข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจมาก  ไปถึงหล่มสักได้โดยสวัสดิภาพแล้วจับรถต่อไปหล่มเก่าซึ่งก็อยู่ไม่ไกลกันนัก  เข้าหมู่บ้านตำบลวังบาลไปถึงวัดศรีฐานเวลาประมาณบ่ายสี่โมงเห็นจะได้  มีกรรมการวัดผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนมาต้อนรับและสนทนาปราศรัยด้วยตั้งแต่ยามเย็นไปจนถึงประมาณ ๓ ทุ่ม  ข้าพเจ้าฟังสำเนียงภาษาของเขาไม่ค่อยรู้เรื่องนัก  เขาพูดไม่เหมือนชาวอีสานที่ข้าพเจ้าค่อนข้างจะคุ้นอยู่  โยมที่เป็นหัวหน้าบอกว่าสำเนียงภาษาของคนที่นี่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพวกเขา  คือ  “ลาวหล่ม-เลย”  หมายถึงชาวหล่มสัก  หล่มเก่า  ด่านซ้าย  เมืองเลย จะพูดสำเนียงภาษาเดียวกัน  ได้ข้อมูลบ้านวังบาลจากพวกเขาพอสรุปได้คือ

           “ที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า ๑๐๐ ปี  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำน้ำพุงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก  มีการอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเล่าเรื่องวิถีชีวิตประวัติความเป็นมาของชุมชน  ผ้าซิ่นมัดหมี่  หัวแดงตีนก่าน  มีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นชุมชนคุณธรรม  ผู้สูงวัยในละแวกนี้จะมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น  กิจกรรมทอผ้าพื้นเมือง  ซึ่งปกติชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นชาวไร่ชาวนาและทอผ้าเป็นอาชีพเสริม  โดยสืบสานการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษ  และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ  ขั้นตอนการทอผ้า  จะเริ่มจากการอิ้วฝ้าย  เอาเม็ดออก  นำมาดีดฝ้าย  ล้อฝ้าย  เข็นฝ้าย  ให้เป็นเปียฝ้ายเก็บไว้เป็นระเบียบ  และนำมาใส่กรงเพื่อกวักฝ้าย  ทำเป็นเส้นยืน  หรือทำเป็นหลอดด้าย  เพื่อให้เป็นเส้นพุ่งในการทอ  โดยผ้า ๑ ผืนจะใช้เวลาในการทอราว ๓ วัน  บริเวณแห่งนี้เป็นที่ตั้งบ้านเมืองดั้งเดิม  เป็นชุมชนมั่นคงมาช้านาน  โดยมีชื่อว่า  เมืองลุ่มหรือเมืองหล่มและเมืองหล่มสัก  เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์  เชื้อสายเดียวกันกับคนลาวหลวงพระบางที่ได้มาอยู่อาศัยแผ่ขยายครอบคลุมต่อเนื่องลงมาในพื้นที่ทางใต้ทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทย  รวมถึงแถบแม่น้ำป่าสักตอนบน  คนหล่มมีวัฒนธรรม  ประเพณี  และภาษาของตนเอง  ที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมล้านช้าง  คนหล่มคือคนที่คนไทยเคยเรียกว่า  ลาวพุงขาว  ภาษาที่ใช้พูดกันก็เป็นแบบลาวหลวงพระบาง  แม้จะมีสำเนียงหางเสียงต่างกันไปบ้างในแต่ละสถานที่  ภาษาหล่มนี้มีเอกลักษณ์ที่ฟังไพเราะ  มีโทนเสียงงดงาม  นุ่มนวลเหมือนภาษาล้านนา  แต่ศัพท์จะเป็นแบบภาษาอีสาน  ชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ในหล่มเก่าก็มีความแปลกและน่าสนใจถึงความหมายและที่มา  เช่น  หินกลิ้ง  หินฮาว  โจะโหวะ  วังเวิน  วังบาล  ท่าผู  ภูผักไซ่  ปาผา ทับเบิก นาแซง นาเกาะ แก่งโตน สงเปลือย ศิลา ตาดกลอย เป็นต้น”  คำขวัญของบ้านวังบาลที่ข้าพเจ้าจำได้คือ  “วังบาล  ข้าวสารขาว  สาวงาม  มะขามหวาน”

          พระเกรียงศักดิ์ขอยืมสบง จีวร พระที่วัดนั้นใช้ก่อน  เพราะชุดของท่านเปรอะเปื้อนอ้วกของชาวเขา  ต้องซักตากไว้ทั้งคืน  วันรุ่งขึ้นพวกเราฉันอาหารเช้า-กลางวัน  เป็นอาหารแบบชาวบ้านทั่วไป คือ  ข้าวเหนียว  ซุปหน่อไม้  ลาบ  ก้อย  ฉันอาหารแล้วพักผ่อนรอเวลาขึ้นเทศน์ตอนบ่ายโมง  ข้าพเจ้ารู้สึกง่วงอย่างผิดปกติ  จึงหลับไปนานเท่าไรไม่รู้  ใกล้เวลาบ่ายโมงแล้วพระเกรียงศักดิ์ปลุกให้ตื่น  จึงตื่นขึ้นแบบงัวเงียสะลึมสะลือ  เขามองดูหน้าเห็นหน้าข้าพเจ้าบวม  ก็ตกใจถามว่าเป็นอะไรไป  ข้าพเจ้าบอกว่าไม่รู้  โยมหัวหน้าทายกเข้ามาดู  เห็นอาการอย่างนั้นก็รู้ว่าข้าพเจ้าเมาข้าวเหนียวเสียแล้ว  เรื่องเมาเข้าเหนียวนี่ข้าพเจ้าเคยได้ยินเขาพูดกัน  ตัวเองไม่เคยเมา  ตอนอยู่กรุงเทพฯ เพื่อนพระทางอีสานพาไปเที่ยวบ้า  นก็กินข้าวเหนียวแบบพวกเขากินหลายครั้งครา  ไม่เคยเมาเลย  แต่ทำไมจึงมาเมาข้าวเหนียววังบาลได้ก็ไม่รู้

          ทายกประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าพระเทศน์เมาข้าวเหนียว  ยังขึ้นเทศน์ตามเวลาไม่ได้  พวกโยมผู้หญิงพากันหัวเราะพร้อมพูดว่า  “พระบักไทย”  ตกลงบ่ายวันนั้นเทศน์ไม่ได้ ต้องเลื่อนเวลาไปเทศน์ตอนเย็นถึงกลางคืน  อาการเมาข้าวเหนียวของข้าพเจ้าไปหายเป็นปกติเอาตอนบ่ายสามโมงกว่า ๆ  วันนั้นเราเทศน์กันแบบสนุก ๆ  พูดหยอกล้อกันบ้าง  ตอนหนึ่งข้าพเจ้ากล่าวถึงคำขวัญของบ้านวังบาล  พระเกรียงศักดิ์ก็หยอกว่า

           “พระคุณเจ้าคงจะติดใจตรง  “ข้าวสารขาวสาวงาม”  นี่เอง  ก็เลยเมาข้าวเหนียวน่ะ“

          คนฟังพากันหัวเราครืนเลย  ข้าพเจ้าก็ตอบว่าติดใจตรงข้าวสารขาวนี่แหละ  ไปอีสานฉันข้าวเหนียวไม่รู้กี่เมืองไม่เคยเมา  ทำไมมาเมาข้าวสารวังบาลได้นะ  พระเกรียงศักดิ์ก็หยอกเย้าต่อว่า

           “คงเพราะสาวงามวังบาลทำเสน่ห์ใส่ให้เอาบาตรมาทิ้งที่วังบาลละซี”

          เรียกเสียงฮาได้อีก  ข้าพเจ้าก็กล่าวด้วยความจริงใจว่า

           “ท่านปรววาทีครับ  ขอบอกด้วยความจริงใจนะ  ทุกวันนี้ผมมองดูผู้หญิงเหมือนมองดูดอกไม้  เห็นพวกเธอเป็นสิ่งสวยงามสำหรับประดับโลก  เช่นเดียวกับดอกไม้เป็นสิ่งสวยงามประดับหล้า  ไม่เคยคิดจะเด็ดมาดอมดมเลย”   จากนั้นก็กล่าวสรุปพระธรรมเทศนาจบเทศน์ในเวลาสามทุ่มเศษ/๑๕๗

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤษภาคม, 2566, 10:42:22 PM
(https://i.ibb.co/g9zHdSN/05.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๘ -
          หลวงพี่ไฮ้ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเขาสมอแครงปรึกษาว่า  อยากจัดเทศน์หาเงินสมทบทุนสร้างหลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองเพิ่มเติม  เพราะที่เก็บรวบรวมไว้นั้นดูท่าจะไม่พอ  ขอให้ข้าพเจ้าจัดเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก ๖ ธรรมาสน์  ซึ่งเรียกกันว่า “หกกษัตริย์”  ข้าพเจ้าไม่เคยเทศน์เรื่องอย่างนี้จึงรับว่าจะขอปรึกษาพระนักเทศน์เรื่องทำนองนี้ในจังหวัดสุโขทัยก่อน  หลวงพี่มหาบุญเหลือจึงพาไปพบหลวงพี่พระครูใบฎีกาประคองวัดกำแพงงาม (บ้านกล้วย) ผู้ที่เคยเทศน์เรื่องทำนองนี้  ท่านบอกว่าไม่ยากหรอก  จัดหน้าที่ให้พระเทศน์เป็นพระเจ้ากรุงสัญชัย ๑  พระนางผุสดี ๑  พระเวสสันดร ๑  พระนางมัทรี ๑  ชาลี ๑  กัณหา ๑  ส่วนอื่นเช่น ชูชก อมิตตดา พรานเจตบุตร พระอินทร์ นั้นก็แบ่งหน้าที่จากตัวหลัก คือ  พระนางผุสดีนั้น  หมดหน้าที่แล้วให้รับหน้าที่เป็นชูชกอีกตำแหน่งหนึ่ง  ตัวอื่น ๆ ก็แบ่งหน้าที่กันไปตามความเหมาะสม  ข้าพเจ้าว่างานเทศน์นี้จะหาเงินเข้าวัด  พระเทศน์นั้นจะถวายเฉพาะค่ารถเดินทางเท่านั้น  ท่านจึงแนะนำว่า  ตัวท่านจะรับหน้าที่เป็นเจ้ากรุงสัญชัย กับพระอินทร์  ขอให้ข้าพเจ้ารับหน้าที่พระนางผุสดีกับชูชก  และให้ไปนิมนต์พระมหาธวัชวัดตระพังทองที่เขาถนัดเทศน์เป็นตัวมัทรีมาร่วมเป็นมัทรีกับอมิตดาด้วย  ส่วนพระเวสสันดรนั้นควรให้พระเกรียงศักดิ์รับหน้าที่ไป  ตัวสำคัญก็มีเท่านี้  ส่วนที่ไม่สำคัญก็ให้พระมหาบุญเหลือรับหน้าที่เป็นชาลี  พระไพฑูรย์เป็นกัณหา  ก่อนเทศน์ก็ให้ซักซ้อมทำความเข้าใจกันเสียหน่อย  ถามว่าทำไมจึงให้ข้าพเจ้าเป็นตัวผุสดี/ชูชก  ท่านว่า  เพราะเป็นตัวเอกของเรื่อง  ต้องเอาคนที่จำแม่นและดำเนินเรื่องได้ไม่สับสน  คุณอภินันท์ดูจะคล่องตัวกว่าเพื่อ น คำตอบนี้ทำให้คิดถึงคำของพี่มหามงคลที่หัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกให้  ท่านว่าเป็นเป็นชูชกแล้วต้องเป็นตลอดไป  ตกว่าลงเราจะเทศน์  “หกกษัตริย์”  กันตามที่หลวงพี่พระครูใบฎีกาประคองเสนอแนะนั้น  หลวงพี่ไฮ้จัดพิมพ์ใบฎีกาใส่ซองกัณฑ์แจกจ่ายไปทั่วในวังทองและในเมืองพิษณุโลก  ทั้งยังให้ออกข่าวการเทศน์หกกษัตริย์ทางสถานีวิทยุด้วย

          พระเทศน์เรื่องคือสมมุติเป็นตัวบุคคลตามเรื่องที่เทศน์คราวนี้มีสององค์ที่เคยเทศน์บ่อย ๆ คือ  พระครูใบฎีกาประคองวัดกำพงงาม  ท่านไม่ถนัดในการปุจฉา-วิสัชนา  แต่ถนัดในการเทศน์เรื่อง   พระมหาธวัชวัดตระพังทอง เมืองเก่า องค์นี้ข้าพเจ้าไม่รู้จักมาก่อน  ทราบว่าท่านเคยเป็นพระนักเทศน์มหาชาติเก่งในกัณฑ์มัทรี ถนัดในการเทศน์เรื่องและปุจฉา-วิสัชนาก็ไม่เป็นรองใคร  ต่อมาท่านลาสิกขา  ออกไปมีครอบครัวอยู่หลายปีแล้วกลับมาบวชใหม่ได้ ๔ พรรษาแล้ว  จึงมีอาวุโสทางพรรษาอ่อนกว่าข้าพเจ้า ๒ ปี  ในปีนั้นท่านรักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง  และจะได้เทศน์ร่วมกับข้าพเจ้าเป็นครั้งแรก

          ถึงวันเทศน์ปรากฏว่าวัดเขาสมอแครงมีผู้คนเดินทางมารวมกันจนล้นศาลา  ต้องอาศัยตามหน้ากุฏิและร่มไม้ชายคารอบ ๆ ศาลา  ทางวัดจัดตั้งเครื่องกระจายเสียอย่างดีให้คนที่อยู่ในบริเวณวัดฟังเทศน์กันได้อย่างทั่วถึง  ฉันอาหารเพลเสร็จแล้ว  เรา ๖ องค์เข้าประชุมกันในห้องเจ้าอาวาส  แบ่งหน้าที่กัน  ปกติแล้วผู้รับตำแหน่งพระนางกัณหาควรจะกล่าวอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้วสมมุติตำแหน่งหน้าที่ผู้เทศน์  แต่พระไพฑูรย์บอกว่าเป็นผู้ใหม่หัดเทศน์จึงไม่รับหน้าที่นี้  เกี่ยงกันไปมาก็มาตกที่ข้าพเจ้า  เราวาพล็อตเรื่องกันว่า เริ่มที่พระอินทร์ประทานพรสิบประการประแก่นางผุสดีแล้วว่าตามลำดับกัณฑ์จนจบนครกัณฑ์  นัดแนะกันเรียบร้อยก็ถึงเวลาขึ้นเทศน์

          ข้าพเจ้าออกจากห้องเป็นคนสุดท้าย  เพื่อน ๆ ที่ออกไปก่อนก็ขึ้นนั่งธรรมมาสน์ก่อน  ธรรมาสน์ที่นั่งเทศน์มีสำเร็จรูปตัวเดียว  พระเกรียงศักดิ์ผู้รับหน้าเป็นพระเวสสันดรขึ้นนั่งธรรมาสน์นั้น  อีก ๕ ที่  เป็นโต๊ะเขียนหนังสือนักเรียนเอามาเรียงติดกันแล้วปูลาดด้วยเสื่อสาดทับด้วยพรม  มีหมอนขวานและกระโถน  พานหมากพลูบุหรี่พร้อมสรรพ  ข้าพเจ้าเดินแหวกญาติโยมตรงไปขึ้นธรรมาสน์ที่ยังเหลืออยู่ตัวเดียวทางด้านตะวันตกของศาลา  พอขึ้นไปแล้วก็หมุนตัวเพื่อนั่งให้เรียบร้อย  มือท้าวลงตรงริมโต๊ะแล้วพลาดตกลงจากธรรมาสน์ถูกสำรับเปล่าของโยมดังโครม  โยมหญิงร้องกันวี้ดว้ายด้วยความตกใจ  ข้าพเจ้าเด้งดีดตัวกลับขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ได้อย่างปาฏิหาริย์ที่ไม่น่าเชื่อ

          เป็นความสะเพร่าของคนจัดตั้งธรรมาสน์ที่ใช้เสื่อผืนใหญ่ไม่พับให้พอดีกับพื้นโต๊ะแต่ปูเลยขอบโต๊ะออกไปมาก  เป็นความไม่รอบคอบของข้าพเจ้าที่ไม่ลองกดพื้นดูก่อน  กรรมการชายมาขอให้ลงจากธรรมาสน์ก่อน  แล้วเขาจัดปูลาดอาสนะใหม่  จึงให้ขึ้นนั่งอย่างปลอดภัย  ไม่เผลอท้าวพื้นพลาดตกลงไปอีก  ข้าพเจ้าว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์  เมื่อกล่าวสมมุติใครเป็นตัวอะไรแล้ววกมากล่าวสมมุติตัวเองว่า   “ส่วนอาตมภาพเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย  ไม่เชี่ยวชาญชำนาญในการเทศน์เรื่อง  มาขึ้นเทศน์ครั้งแรกก็ตกธรรมาสน์เกือบคอหักตาย.... (ถึงตรงนี้ญาติโยมส่งเสียงหัวเราะฮา)...... จึงขอรับตำแหน่งหน้าที่เป็นพระนางผุสดีมารดาพระบรมโพธิสัตว์  กับอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งสำคัญคือพราหมณ์เฒ่าชูขกยอดอัจฉริยะทางขอทาน.... (มีเสียงหัวเราะฮาอีก)......  อันที่จริงก็ไม่อยากเป็นเฒ่าชูชกหรอกนะ  แต่ตำแหน่งดี ๆ ที่เป็นตัวพระเอกนั้นเพื่อนเขาครองหมดแล้ว....(เสียงหัวเราะฮาอีก)....  ดังนั้นขอญาติโยมทั้งหลายพึ่งตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก  เพื่อสั่งสมบุญไว้นำพาไปเกิดให้ทันในศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยตามกำลังศรัทธา  ซึ่งพระคุณเจ้าที่รับหน้าที่เป็นพระอินทร์จะได้ประทานพรสิบประการแก่ผุสดีเทพธิดาให้ไปเกิดในเมืองมนุษย์ต่อไปก็มี ณ กาละบัดนี้....

          พระครูใบฎีกาประคองวางตำแหน่งเจ้ากรุงสญชัยไว้  มาทำหน้าที่เป็นพระอินทร์ทราบว่าผุสดีเทพธิดาหมดอายุบนสวรรค์จะต้องจุติ (เคลื่อน) ไปจากสวรรค์  จึงตรัสเรียกให้มาพบแล้วแจ้งให้ทราบ  และว่าต้องการพรอะไรจะประทานให้  นางเทพธิดาจึงขอพร ๑๐ ประการคือ

           “ขอให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีวีราช แห่งนครสีพี   ขอให้มีจักษุอันดำสนิท ดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ   ขอให้มีคิ้วดำสนิท  ขอให้มีนามว่า ผุสดี  ขอให้มีพระโอรสทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลาย  และมีใจบุญ  ในเวลาทรงครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์นูนปรากฏอย่างสตรีสามัญ  ขอให้มีถันอันงาม ในเวลาทรงครรภ์ก็อย่ารู้ดำ  และต่อไปก็อย่าให้หย่อนยาน  ขอให้มีเกศาดำสนิท  ขอให้มีผิวงาม  ขอให้ทรงอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้  ท้าวสักกเทวราชก็ทรงประสามพรให้เป็นที่สมประสงค์แห่งพระนาง”

          จากนั้นพระครูใบฎีกาผู้รับตำแหน่งพระเจ้ากรุงสญชัยก็ดำเนินเรื่องไปตามท้องเรื่องในกัณฑ์หิมพานต์  ทานกัณฑ์  วนประเวศ  หลวงพี่มหาธวัชซึ่งแสดงเป็นตัวมัทรีร้องแหล่หญิงม่ายได้ไพเราะมาก  เรื่องดำเนินไปจนพระเวสสันดรเข้าสู่เขาวงกต  จึงกล่าวถึงชูชก  ข้าพเจ้าเริ่มด้วยคาถา   “ตทา กลิงครัฐเฐ....ตามแบบที่ พี่มหามงคลสอนให้  จบแล้วแล้วพูดเสียงสั่น ๆ เหมือนเสียงหลวงพ่อคุณโบราณว่า

           “ทีนี้แหละจะกล่าวถึงพราหมณ์ขอทานเฒ่านามชูชกทที่เกิดมาพร้อมด้วยลักษณะบุรุษโทษ ๑๘ ประการคือ.. มีข้อเท้าทั้งสองใหญ่และคด  เล็บมือและเล็บเท้าทั้งหมดคุคหงิกงอ  นมทั้งคู่หย่อนยานลงไปไม่เท่ากัน  ริมฝีปากบนยาวยื่นกว่าริมฝีปากล่าง  น้ำลายไหลอยู่ตลอดเวลา  ฟันเขี้ยวงอกดุจเขี้ยวหมูป่า  จมูกหักและแฟบลง  ท้องป่องเป็นกระเพาะดุจหม้อน้ำ  เส้นหลังไหล่คดโง้งงอ  กระบอกตาลึกข้างหนึ่ง  หนวดเคราเป็นเส้นแข็งดุจเส้นลวด  ผมสีเหลืองดังใบลานแห้ง  ตามร่างกายมีเส้นเอ็นขึ้นทั่วไปเห็นได้ชัดเจน  มีจุด ไฝ ฝ้า ปานดำด่างทั่วร่างกาย  มีลูกนัยน์ตาเหลืองเหล่ เหลืองดุจแมวกราว  มีร่างกายคดโค้งทั้งเอวทั้งไหล่  มีเท้าโกง ๑ ข้าง  และไม่เท่ากัน  ตามร่างกายมีขนขึ้นแข็งดุจแปลงขนหลังหมูป่า” .......บอกลักษณะดังกล่าวแล้วถามผู้ว่าฟังว่า  “รูปหล่อมากไหมล่ะโยม”  ก็มีเสียงฮาขึ้นมาทั้งศาลา  มีเสียงหญิงบางคนร้องว่า  “ไม่เหมือนตัวจริงเลยค้า....”

          แล้วข้าพเจ้าก็เล่าเรื่องชูชกเที่ยวออกขอท่านได้เงินมากมายไม่กล้าเก็บไว้กับตัวกลัวถูกปล้น  จึงเอาไปฝากพราหมณ์ฉิมผู้เป็นเพื่อนไว้  แล้วเดินเที่ยวขอทานเรื่อยไป  แล้วอยู่ ๆ ก็คิดถึงทองที่ฝากเพื่อน  จึงย้อนกลับมาทวงทอง  ตรงนี้กลับไปพูดเสียงสั่น ๆ อีก  พระครูใบฎีกากลับมารับหน้าที่เป็นพราหมณ์ฉิมพระมหาธวัชมาเป็นพรามหณี  เจรจาเรื่องทองร้อยกษาปน์กันอยู่ครู่หนึ่ง  พราหมณ์ผัวเมียไม่มีทองใช้คืนจึงเรืยกอมิตตดาลูกสาวออกมา  แล้วยกให้ชูชกเป็นค่าทอง  ชูชกก็พาอมิตตดาไปบ้านทุนวิฐ  ตอนนี้มหาธวัชมารับหน้าที่เป็นอมิตตดาอีกตำแหน่งหนึ่ง  ก็ร้องแหล่ชูชกพานางอมิตดา.....และพราหมณ์ตีเมีย  นางอมิตตดาขอให้ชูชกไปขอสองกุมารมาคนรับใช้  ชูชกกิดินทางไปจนถึงเขาวงกต เรื่องไปจบลงตรงนครกัณฑ์

          ขอสรุปเอาว่าการเทศน์วันนี้จบลงด้วยดี  พระเทศน์ด้วยกันบอกว่าไม่น่าเชื่อว่าข้าพเจ้าแสดงบทบาทของชูชกได้เหมือนมาก  หลวงพี่มหาธวัชบอกว่าเคยเทศน์หกกษัตริย์มากนับเป็นสิบครั้งแล้ว  ยังไม่เห็นใครเทศน์เป็นตัวชูชกได้ดีเท่านี้เลย  วันนั้นได้เงินรวมขันกัณฑ์เทศน์ให้หลวงพี่ไฮ้หลายหมื่นทีเดียว

          กลับไปถึงวัดราชธานีแล้ว  สุขภาพร่างกายของข้าพเจ้าก็ยังเป็นปกติ  แต่พอตกกลางคืนเวลานอนรู้สึกปวดแขนขวา  รุ่งเช้าเกลียวหลังด้านขวาและแขนขวาเจ็บปวดระบมมาก  คงจะเป็นเพราะตอนตกจากธรรมาสน์ที่ข้าพเจ้าเอาแขนขวาลงยันพื้นแล้วสะปริงตัวเด้งขึ้นบนธรรมาสน์นั่นเอง  จึงเดินข้ามฟากไปหาหลวงพี่มหาบุญเหลือที่วัดคูหาสุวรรณ  เล่าอาการให้ฟัง  ท่านบอกว่าอย่างนี้ต้องไปหาหมอ  จึงพากันไปโรงพยาบาลสุโขทัย  พบหมอใหญ่พงศ์ชัย สุคันธวยัคฆ์ เล่าเรื่องให้ฟัง  หมอหัวเราะบอกว่าไม่เป็นไร  ฉีดยาให้เข็มหนึ่งพร้อมยากินอีกหนึ่งชุด  พักผ่อนอยู่วัด ๓ วันก็หายเป็นปกติ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, พฤษภาคม, 2566, 10:54:55 PM
(https://i.ibb.co/s5JHWsj/0ww4v1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕๙ -
          การตกธรรมาสน์ในการเทศน์ที่วัดเขาสมอแครงของข้าพเจ้า  เป็นข่าวดังในวงการนักเทศน์จังหวัดพิษณุโลก-สุโขทัย  ทำให้พระเทศน์ต่างก็ระวังตัวในการขึ้นธรรมาสน์เทศน์  ถ้าเป็นธรรมาสน์ที่จัดทำขึ้นชั่วคราวต้องระวังเป็นพิเศษ  เวลาขึ้นต้องเอามือจับขอบที่นั่งดูว่า  เขาปูอาสนะเลยขอบโต๊ะหรือไม่  ถ้าเป็นธรรมาสน์สูงที่มีบันไดนาคพาดขึ้นก็จะจับบันไดเขย่าดูก่อนขึ้นไป  ว่ามีความมั่นคงหรือไม่  ข้าพเจ้านี่แหละที่ต้องระวังตัวมากกว่าใคร ๆ  ตกเพียงครั้งเดียวจำจนตายเลยก็แล้วกัน

          ปีนั้นหลวงพ่อห้อมวัดคูหาสุวรรณท่านจัดงานมุงหลังคากระเบื้องอุโบสถของวัดใหม่  เนื่องจากกระเบื้องหลังคาเก่าซึ่งเป็นกระเบื้องดินเผามีอายุมาก  ที่ชำรุดร่วงหล่นแล้วหากระเบื้องชนิดเดียวกันมุงแทนไม่ได้  ท่านจึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบแบบใหม่  หลวงพี่มหาบุญเหลือขอให้ข้าพเจ้าที่หายจากอาการเจ็บปวดร่างกายไปช่วยงานในแผนกโฆษณาประชาสัมพันธ์ในงานนี้  พร้อมกันนั้นก็นิมนต์พระเพื่อน ๆ จากวัดเศวตรฉัตรที่ท่านเคยอยู่จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาช่วยอีกหลายองค์  ที่รู้จักและจำได้คือหลวงพี่เยี่ยม  องค์นี้เป็นพระที่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์มีคนเคารพนับถือมากองค์หนึ่ง  หลวงพี่มหาวิชัย องค์นี้เป็นพระโหร  ผูกดวงดูดวงเก่ง  เวลาดูดวงทำนายโชคเคราะห์แล้วจะแนะนำให้ทำพิธีรับ-ส่งโชคเคราะห์  หรือรับพระส่งพระ  โดยจะให้หลวงพี่เยี่ยมรับจัดให้  ทั้งคู่จึงอยู่ในฐานะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ข้าพเจ้าไม่ชอบวิธีการอย่างนี้แต่ก็จำนิ่งไว้  โดยถือว่า  “ธุระมิใช่”

          การจัดงานมุงกระเบื้องหลังคาโบสถ์ท่านจัด ๓ วัน  วิธีการที่ทำคือมีรูปหุ่นเทวดาอุ้มกระบุงหรือตะกร้าเหมือนพระอุ้มบาตร ๓ องค์  เอาเชือกผูกโยงใช้รอกชักขึ้นไปบนหลังคาโบสถ์  ตรงกลาง ๑  หัว ๑  ท้าย ๑   ผู้บริจาคเงินซื้อกระเบื้องแล้วใส่กระบุงหรือตะกร้าของเทวดานั้น  ชักรอกขึ้นไปให้ช่างรับแล้วมุงหลังคา  อันนี้ไม่ยุ่งยากอะไรนัก

          พิธีการที่ทำเพื่อจูงศรัทธาใจของผู้คนคือ  เอาแผ่นกระเบื้องเคลือบนั้นให้หลวงพี่มหาวิชัยเขียนดวงชะตาของผู้บริจาคเงินซื้อกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์นั้นลงในแผ่นกระเบื้อง  เมื่อซื้อแผ่นกระเบื้องแล้วก็แจ้งชื่อนามสกุล  วันเดือนปีเกิด  หลวงพี่มหาก็ทำการผูกดวงเขียนลงในแผ่นกระเบื้องนั้น  ให้เจ้าของดวงนำไปใส่กระบุงหรือตะกร้าที่เทวดาทีอุ้มซึ่งมีด้ายสายสิญจน์ผูกโยงติดอยู่  แล้วถือต้นด้ายสายสิญจน์นั้นไว้จนแผ่นกระเบื้องนั้นจะถูกชักรอกขึ้นไปบนหลังคาโบสถ์และมุงจนเสร็จ  ได้ชื่อว่าผู้บริจาคเงินซื้อแผ่นกระเบื้องนั้นได้มุงหลังคาอุโบสถ์ด้วยตนเองแล้ว  พิธีการอย่างนี้หลวงพี่เยี่ยมเป็นผู้คิดทำขึ้น  ปรากฏว่ามีประชาชนร่วมพิธีกรรมนี้เป็นจำนวนมาก  หลวงพี่มหาบุญเหลือให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อตลอดงาน

          ในการซื้อแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์นั้น  ยังจำได้ว่า  มีของที่เหมือนจะเป็นของแถมอย่างหนึ่ง  คือ พระพิมพ์สมเด็จเนื้อดินเผา  ที่หลวงพ่อห้อมทำขึ้นมาจากแผ่นกระเบื้องเก่าที่แตกหัก  ทุกคนที่บริจาคเงินซื้อแผ่นกระเบื้องล้วนได้รับพระสมเด็จองค์หนึ่ง  จะเก็บไว้กับตัวหรือใส่ตะกร้าขึ้นไปไว้บนเพดานโบสถ์ก็ได้  การพูดโฆษณาชักชวนให้คนทำบุญส่วนมากผู้พูดมักจะพูดคำเพราะ ๆ ให้คนฟังฟังกันเพลิน ๆ  บอกว่าทำบุญอย่างนี้จะได้บุญอย่างนั้น  ได้ไปอยู่บนสวรรค์มีวิมานแก้ววิมานทองมีนางฟ้านางสวรรค์เป็นบริวารเท่านั้นเท่านี้ เป็นต้น  ส่วนข้าพเจ้าไม่พูดโฆษณาอย่างนั้น  เพราะเห็นเป็นเรื่องเพ้อฝันแบบลมๆแล้ง ๆ เหมือนการโกหกหลอกลวงพวกศรัทธาจริตให้หลงเชื่อจนยอมเสียเงินเสียทองไป

          ข้าพเจ้าจะพูดในสิ่งที่เห็น  เช่นการซื้อกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์  จะพูดอธิบายให้คนฟังรู้ความเป็นมาว่า  โบสถ์คืออะไร  มีความสำคัญอย่างไร  ขยายความว่าโบสถ์คือสถานที่ภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีชื่อตามภาษาพระวินัยว่า  สีมา  มีสองประเภทได้แก่  พัทธสีมา คือ ลักษณะหนึ่งของสีมาหรือเขตแดนที่สำหรับภิกษุทำสังฆกรรม  โดยสีมาหรือเขตแดนสำหรับกำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์  อีกประเภทคือ  "อพัทธสีมา"  คือ  เขตที่กำหนดไว้ตามปกติของบ้านเมือง เช่น เขตตำบล ในการกำหนดเขตพัทธสีมานั้น  ในเขตนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารก็ได้  เพราะเป็นเขตสำหรับการประชุมสังฆกรรม  แต่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้มีตัวอาคารสำหรับประชุมได้  เรียกว่า  อุโปสถัคคะ หรือ โบสถ์  ซึ่งต่อมาการสร้างโบสถ์จะสร้างภายในสีมาหรือเท่ากับสีมา การผูกสีมาจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างโบสถ์  การกำหนดเขตพื้นที่ผูกนั้น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สงฆ์กำหนดเขตเอาเอง  แต่กำหนดให้สมมติสีมาไม่เล็กกว่าการจุภิกษุ ๒๑ รูป  ให้นั่งหัตถบาสกันได้  เพราะสังฆกรรมที่ต้องการสงฆ์มีจำนวนมากที่สุด ๒๐ รูป  และห้ามมิให้สมมติสีมาใหญ่เกินกว่าสามโยชน์   พัททธสีมานี้มีอยู่ ๓ ชนิด  ได้แก่  ขัณฑสีมา คือ สีมาผูกเฉพาะโรงอุโบสถ  มหาสีมา คือ สีมาผูกรอบวัด  สีมาสองชั้น คือ สีมาที่มีขัณฑสีมาอยู่ภายในมหาสีมา   นทีปารสีมา คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำ

          สังฆกรรมที่พระสงฆ์ต้องทำในสีมามีหลายอย่าง  เช่นให้การอุปสมบทกุลบุตร  พระจะบวชนอกสีมาไม่ได้  โบราณท่านเรียกโรงอุโบสถว่า  สังฆมาตา  คือที่ให้เกิดภิกษุสงฆ์  สมัยก่อนสีมาไม่มีโรงอุโบสถก็ได้  แต่สมัยนี้โรงอุโบสถมีความจำเป็นมาก  ฝนตกแดดออกพระสงฆ์ก็ทำสังฆกรรมกันได้  โรงอุโบสถที่คลุมสีมาของวัดคูหาสุวรรณนี้สร้างกันมานานปีแล้ว  กระเบื้องมุงหลังคาเก่าและแตกชำรุดจนหลังคากันฝนไม่ได้  ทางวัดจำเป็นต้องซ่อมแซมใหม่  ดังนั้นจึงต้องจัดหากระเบื้องอย่างดีมาเปลี่ยนเอากระเบื้องเก่าออก แล้วใช้กระเบื้องใหม่นี้แทน  กระเบื้องเคลือบอย่างดีนี้ราคาแพง  จึงต้องขอบอกบุญญาติโยมช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์ซื้อกระเบื้องมุงหลังคาใหม่  เสมือนเป็นการซ่อมสร้างโรงอุโบสถให้เป็นสังฆมาตาที่สมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์สืบอายุพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป  ข้าพเจ้าจะพูดโฆษณาในทำนองนี้ตามแต่สถานการณ์  ถ้าเป็นงานสร้างกุฏิ  สร้างศาลา  ก็จะพูดถึงความสำคัญและความจำเป็นของสิ่งก่อสร้างนั้น ๆ  โดยมิต้องอ้างเอาสวรรค์วิมานนางฟ้าอะไรมาล่อให้หลงเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, พฤษภาคม, 2566, 11:47:39 PM
(https://i.ibb.co/nwkKScv/299534077-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๐ -
          จากการที่ข้าพเจ้าเข้าไปสอนศีลธรรมแก่นักเรียนชั้นประถมปลายโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณนั่นเอง  ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดสุโขทัยจึงดำริที่จะเปิดสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น  บุคคลที่เป็นตัวตั้งตัวตีคือนายสำราญ พร้อมภูล  เศรษฐการจังหวัดสุโขทัย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นพาณิชย์จังหวัด) เป็นเลขาธิการ มหาสุธรรม วงศ์โดยหวัง  ปลัดจังหวัดสุโขทัย เป็นนายกฯ  ตั้งคณะกรรมการบริหารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น  ใช้อาคารเรียนวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) เป็นห้องเรียน  ครูอาจารย์ผู้สอนประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านพุทธศาสนาที่เป็นฆราวาสและพระภิกษุ  ซึ่งมีพระครูสุภัทธรธีรคุณ (มหาดำรงค์) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย และข้าพเจ้าเป็นหลัก  ครั้นทางจังหวัดเปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นดังนั้น  ข้าพเจ้าจึงงดการไปสอนศีลธรรมในโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณเสีย  หันมาทำงานให้แก่ยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดสุโขทัยอย่างจริงจัง

          เปิดสอนนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีสภาพเหมือน  “ตาบอดคลำช้าง”  กล่าวคือทางยุวพุทธิกสมาคมไม่มีหลักสูตรแบบเรียนใด ๆ  ทางพระก็ไม่มีหลักสูตรแบบเรียนใด ๆ เช่นกัน   มีนักเรียนซึ่งส่วนมากเป็นนักเรียนชั้นม.๔ - ม.๘  เรียนรวมในห้องเดียวกันเหมือนเปิดประชุมอบรม  ที่ดูเป็นหลักเป็นฐานหน่อยก็คือมีบัญชีรายชื่อนักเรียน  มีการเรียกชื่อนักเรียนตามบัญชีให้นักเรียนขาน  “มาครับ มาค่ะ”  จากนั้นผู้สอนก็พูดเรื่องพุทธศาสนาไปตามความรู้ความคิดของตน  ซึ่งเป็นการผิดหลักการเรียนการสอนในโรงเรียน  ข้าพเจ้าเคยรู้เห็นการเรียนการสอนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ  ซึ่งมหาจุฬาลงกรณ์ฯ เปิดสอน  แต่ก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยนัก  เพราะเป็นของใหม่ในเวลานั้น  จึงนำมาปรึกษาหารือว่าเราควรจะเอาแบบอย่างเขามาใช้กัน

          ทางคณะกรรมการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของเรามอบหมายให้ท่านสำราญ พร้อมภูล เลาขาฯ ไปศึกษาโครงสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่เขามีอยู่แล้วในกรุงเทพฯหลายแห่งมาปรับใช้  ท่านเลขาฯ รับปากแล้วก็มัวโอ้เอ้อยู่อ้างว่างานราชการของตนมีมาก  ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป  พระครูสุภัทรธีรคุณกับข้าพเจ้าก็คิดทำกันเองโดยนำธรรมะในส่วนคิหิปฏิบัติมาสอนนักเรียนไปพลาง ๆ  นักเรียนของเราเข้าเรียนโดยไม่มีเครื่องแบบ  ให้แต่งตัวกันตามสบาย  ผู้ปกครองนักเรียนไม่รู้ว่าลูกหลานของตนไปเรียนหรือไปเที่ยวที่ไหน  เรื่องนี้เป็นปัญหามากทีเดียว  จึงเสนอให้กำหนดเครื่องแบบการแต่งกายนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น  ท่านเลขาฯสำราญค้านอย่างหัวชนฝา  อ้างว่าเป็นการสร้างภาระสิ้นเปลืองแก่ผู้ปกครองเพิ่มขึ้น  ฝ่ายพระเราก็หมดกำลังใจจะทำงาน  ปล่อยให้ฝ่ายยุวพุทธิกสมาคมทำกันไปแบบไม่มีเป้าหมายอะไร

          ข้าพเจ้าวางแผนสอนนักธรรมในสำนักเรียนวัดราชธานีต่อไป  โดยหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณสั่งเลขาฯ ให้ออกใบตราตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมจังหวัดสุโขทัย และ ใบตราตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) นาคที่เข้ามาบวชในวัดราชธานีทุกนาคปีนั้นข้าพเจ้าเป็นพระกรรมวาจาจารย์  เพื่อเป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมในพรรษานั้นด้วย  ก่อนถึงวันเข้าพรรษานับดูแล้วจะมีพระบวชใหม่ที่ข้าพเจ้าเป็นคู่สวดอยู่วัดราชธานีไม่น้อยกว่า ๑๐ องค์  ที่บวชก่อนข้าพเจ้าเป็นพระกรรมวาจาจารย์อีก ๖ องค์  สามเณรมาบวชเรียนนักธรรมไม่น้อยกว่า ๑๕ องค์   รวมพระเณรวัดคู่หาสุวรรณที่จะเดินข้ามฟากมาร่วมเรียนอีกไม่น้อยกว่า ๑๐ องค์  จึงมีนักเรียนไมน้อยกว่า ๓๑ องค์

          พระหลวงตาอีกหลายองค์ในวัดนี้ข้าพเจ้าบอกให้เข้าไปนั่งฟังการสอนในห้องเรียนด้วยก็ได้  แต่ตอนค่ำเวลาประมาณ ๑ ทุ่มทุกคืน  ขอให้เข้าประชุมกันในโรงอุโบสถเพื่อเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน  ข้าพเจ้าจะสอนกรรมฐานตามแบบเรียนนักธรรมชั้นโทเป็นหลัก  โดยกล่าวนำเรื่องว่ากรรมฐาน  แปลว่า  ที่ตั้งแห่งการงาน  หรือ  อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงาน  หมายถึง  อุบายวิธีสำหรับการฝึกจิตเพื่อให้เหมาะแก่การงาน  คำว่าการงานในที่นี้หมายถึงงานคือการกำจัดกิเลสเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของงานคือความพ้นทุกข์  แบ่งตามวิธีการฝึกออกเป็น ๒ ประเภท  คือ  สมถกรรมฐาน  กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ  ได้แก่การฝึกจิตโดยการตั้งสติให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  เช่น  ลมหายใจ  ด้วยการบริกรรมจนจิตสงบนิ่งอยู่กับสิ่งนั้น  ไม่ฟุ้งซ่าน  จนเกิดเป็นสมาธิตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง  เมื่อจิตสงบแนบแน่นจนเกิดเป็นฌาน  ก็จะสามารถกำจัดนิวรณ์อันเป็นตัวปิดกั้นคุณงามความดีเสียได้  ผลสูงสุดที่จะได้จากการฝึกสมถกรรมฐานก็คือสมาบัติ ๘  ซึ่งถือเป็นผลระดับโลกิยธรรม  ผู้สำเร็จกรรมฐานนี้สาทารถแสดงฤทธิ์เดชนานาได้ตามต้องการ

          วิปัสสนากรรมฐาน  กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา  คือการฝึกจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง  เพื่อให้จิตคลายอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย  และหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส  ผลสูงสุดที่พึงหวังได้จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ  การบรรลุอรหัตตผล  สำเร็จเป็นพระอรหันต์  กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้  ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

          เมื่อกล่าวนำให้รู้เรื่องกรรมฐานแล้ว  จึงสอนเรื่องการนั่งสมาธิภาวนาในส่วนสมถกรรมฐานก่อน  โดยให้เอาพุทธคุณองค์ที่ว่า “พุทโธ” มาเป็นองค์ภาวนา  หายใจเข้าว่า “พุธ” หายใจออกว่า “โธ”  พุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ....... ให้ความรู้สึกจับอยู่ที่คำว่าพุทโธนี้ไม่คิดซ่านไปในเรื่องอื่น  อันที่จริงอารมณ์ (เครื่องยึดหน่วงของจิต) ที่จะเอามาเป็นองค์ภาวนานั้นมีหลายอย่าง  เช่น  พุทธคุณ ๑๐  กสิณ ๑๐  อสุภะ ๑๐  อนุสสติ ๑๐  รวมเป็น ๔๐ องค์  เท่าที่เอาพุทธคุณองค์  “พุทโธ”  มาให้พระหลวงตาภาวนากันนั้นด้วยเห็นว่าน่าจะถูกจริตมากที่สุด  หลวงตาหลายองค์ชอบมาก  งานนี้เห็นว่าจะไปด้วยดีทีเดียว /๑๖๐

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54106#msg54106)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54302#msg54302)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, พฤษภาคม, 2566, 12:30:46 AM
(https://i.ibb.co/kJQjzQv/299999031-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54217#msg54217)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54386#msg54386)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๑ -
          หลังวันวิสาขบูชาปีนั้น  พี่เหรียญชัย จอมสืบ มาปรึกษาข้าพเจ้าว่าไปทำข่าวที่โรงพักอำเภอกงไกรลาศ  พบเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเรื่องหนึ่งกล่าวคือ  ตำรวจจับอดีตนายทหารชั้นประทวนคนหนึ่งในข้อหายาเสพติดและพกพาอาวุธปืนเถื่อน  เอาตัวขังไว้ในห้องขังโรงพักเป็นเวลาหลายเดือนแล้วยังไม่ได้ดำเนินคดีฟ้องร้องใด ๆ เลย  ถามตำรวจก็โบ้ยกันไปมาไม่รู้ใครเป็นเจ้าของคดี  มีจ่าตำรวจแก่ ๆ คนหนึ่งคอยดูแลให้ข้าวให้น้ำอยู่ไปวัน ๆ  ข้าพเจ้าสนใจมากจึงให้พี่เขาพาไปดูที่โรงพักด้วยหวังจะหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้

          ไปถึงโรงพักวันนั้นยามบ่ายแล้ว  เห็นมีตำรวจบนโรงพักไม่กี่คน  พบจ่านายสิบตำรวจ (จ.ส.ต.) เกษม สุทธาจารเกษม คนที่ให้ข่าวแก่พี่เหรียญชัย  จึงซักถามความเป็นมาของผู้ต้องหารายนี้ทราบว่าชื่อ คารพ ศิริวัฒน์  มียศเป็นพันจ่าอากาศเอก  เขาเป็นคนพิการ  คือหลังค่อม  เขาเล่าว่าเป็นทหารนักบินขณะฝึกบินในแถบจังหวัดในภาคอีสาน  เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก  เขารอดชีวิตได้แต่พิการจนหลังค่อม  ออกจากราชการทหารท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ จนมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวพิษณุโลก สุโขทัย  และถูกตำรวจจับมาขังไว้ในที่สุด  คำบอกเล่าของเขาเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบเหมือนกัน  จ่าเกษมเล่าว่าเขาถูกขังในสภาพ “ขังลืม”  ไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีใด ๆ  จ่าได้เอาหนังสือธรรมะให้เขาอ่านเพื่อแก้เหงาไปวัน ๆ

          ข้าพเจ้าขอเข้าเยี่ยมและคุยกับผู้ต้องหา  จ่าก็พาไปที่ห้องขัง  เอาเก้าอี้ตั้งตรงประตูห้องขังให้ข้าพเจ้านั่งคุยกับเขา  พันจ่าเอกคารพเป็นคนหน้าตาผิวพรรณดี  กิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย  เขาบอกว่าบิดามีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวงและเป็นนายทหารอากาศยศนาวาอากาศโท  เขาเป็นนักเรียนจ่าอากาศ  จบจากโรงเรียนแล้วบรรจุเข้ารับราชการเป็นทหารนักบินจนมียศพันจ่าอากาศเอก  แล้วจึงประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกจนร่างกายพิการ (หลังค่อม) อย่างที่เห็น  เขายอมรับว่าออกจะเป็นคนเกเรอยู่สักหน่อย  ดื่มสุราสูบกัญชาและฝิ่น  ทำตัวแบบนักเลงแต่ไม่ข่มเหงรังแกใคร  ไม่เคยลักขโมยคดโกงใคร  ที่ถูกจับครั้งนี้เพราะมีฝิ่นกัญชาไว้เสพและมีปืนเถื่อนพกพาไว้ป้องกันตัวเท่านั้น

          ฟังเรื่องที่เขาบอกเล่าแล้วข้าพเจ้าก็กล่าวเชิงปลอบใจเขา

           “เท่าที่ถูกขังลืมอยู่นี่  ถือว่าเป็นเวรกรรมเก่าของเรามันตามมาทันก็แล้วกันนะ”

          เขากราบแล้วกล่าวว่า

           “กระผมสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนที่ผ่านมาได้มากแล้วครับ”

          ข้าพเจ้าหันมามองจ่าเกษมและพี่เหรียญชัย  ทุกคนพะยักหน้า  หันไปถามเขาว่า

           “ถ้าออกจากห้องคุมขังแล้วคุณจะไปทำอะไรที่ไหนหรือ”

          เขาตอบด้วยเสียงหนักแน่นว่า      “อยากบวชเป็นพระครับ”
          จ่าเกษมถามย้ำว่า  “แน่นะ”

          เขาตอบยืนยันว่าอยากบวชจริง ๆ  ขอบคุณลุงจ่ามากที่เอาหนังสือธรรมะมาให้ผมอ่านหลายเล่ม  อ่านจนเกิดศรัทธาที่จะบวชเป็นพระจริง ๆ ครับ  จ่าเกษมหันมาถามข้าพเจ้าว่าท่านช่วยหาไตรจีวรเครื่องบวชให้ได้มั้ย   ผมจะเป็นเจ้าภาพบวชให้เขาเอง  คิดอยู่ครู่หนึ่งก็บอกจ่าเกษมว่า

           “ฉันขอไปปรึกษาหลวงพ่อห้อมหน่อย  อย่างไรพรุ่งนี้ตอนสาย ๆ จะมาบอก  โยมจ่าช่วยดำเนินการให้เขาพ้นจากการถูกคุมขังก็แล้วกันนะ”

          เขากราบข้าพเจ้าและไหว้จ่าเกษมด้วยความดีใจ  ข้าพเจ้ากับพี่เหรียญชัยจึงเดินทางกลับ

          ค่ำวันนั้นข้าพเจ้าพาพี่เหรียญชัยเข้ากราบหลวงพ่อห้อม  บอกเล่าเรื่องราวของพันจ่าคารพให้ท่านทราบ  ท่านฟังเรื่องจบแล้วไม่คิดอะไรมาก  บอกว่า

           “พรุ่งนี้พาตัวมันมาบวชได้  ฉันจะเตรียมเครื่องบวชไว้ให้พร้อมเลย”

          วันรุ่งขึ้นพี่เหรียญชัยรับข้าพเจ้าจากวัดราชธานีไปโรงพักกงไกรลาศ เวลา ๐๘.๓๐ น.  ไปถึงโรงพักก็พบจ่าเกษมนำตัวพันจ่าคารพออกมารออยู่นอกห้องขังแล้ว  ทางตำรวจเขาทำอย่างไรให้คารพพ้นโทษก็ไม่รู้เหมือนกัน  ถามร้อยเวรว่าไม่ต้องเซ็นชื่อในเอกสารอะไรหรือ  ร้อยเวรตอบยิ้ม ๆ ว่า

           “ยังไม่เคยตั้งข้อหาอะไรมันเลยครับหลวงพี่”    อ้อ  อย่างนี้ก็มีด้วยนะคุณตำรวจ

          ข้าพเจ้าพาคารพมาเข้าพบหลวงพ่อห้อมก่อนเที่ยงวันนั้น  ท่านเอาคำขานนาคและคำขออุปสมบทให้ท่องทันที  บอกว่าท่องได้วันนี้ก็จะบวชให้ในวันนี้เลย  นาคคารพก็รีบท่องขานนาคและคำขออุปสมบททันที  คนมีการศึกษามาดีอย่างเขาก็ไม่เป็นการยากที่จะท่องคำขานนาคและคำขออุปสมบทในเวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น  เย็นวันนั้นหลวงพ่อห้อมใช้เวลาการทำวัตรเย็นจบแล้วให้เณรออกจากโบสถ์ไป  ส่วนพระทั้งหมดให้อยู่ในโบสถ์เพื่อทำอุปสมบทกรรมแก่นาคคารพ  โดยหลวงพ่อห้อมเป็นพระอุปัชฌาย์  พระสมุห์วรรณา กับข้าพเจ้าเป็นพระคู่สวด (พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์)  เสร็จสิ้นการให้อุปสมบทเมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. พันจาอากาศเอกคารพเป็นพระภิกษุได้นามฉายาว่า  “คารโว”

          เหตุที่ข้าพเจ้าเลือกเอาหลวงพ่อห้อมเป็นพระอุปัชฌาย์  ไม่เอาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเป็นพระอุปัชฌาย์ก็เพราะคิดว่า  หลวงพ่อห้อมมีความคล่องตัวในการดูแลสัทธิวิหาริก (ผู้อยู่ร่วมพระอุปัชฌาย์) ได้ดีกว่า  พระคารพบวชแล้วอยู่กับหลวงพ่อห้อมที่วัดคูหาสุวรรณจนอีก ๓ วันจะเข้าพรรษา  ทางวัดศรีสังวร (ท่าช้าง) อ.ศรีสำโรง (เขตติดต่ออำเภอเมืองฯ) ซึ่งมีพระอยู่จำพรรษาน้อย  ทายกจึงมาขอพระจากหลวงพ่อห้อมไปอยู่วัดนี้บ้าง  หลวงพ่อห้อมจึงให้พระคารพ คารโว ไปอยู่ฉลองศรัทธาญาติโยม ณ วัดนี้  จ่าเกษม  พี่เหรียญชัยก็ไม่ทอดทิ้งพระคารพ  จึงไปมาหาสู่อุปฐากอยู่ตลอดเวลา  ข้าพเจ้าเองก็หมดห่วงไปเหมือนกัน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, พฤษภาคม, 2566, 11:05:12 PM
(https://i.ibb.co/Rhqv4xZ/book-detail-large.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/1fBcnYj/zn-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๒ -
          แม้จะมีงานด้านศาสนามากแต่ข้าพเจ้าก็มิได้ทอดทิ้งงานกลอนที่รักและผูกพันมานานปี  ยังเขียนกลอนอยู่เรื่อย ๆ  ลงพิมพ์ใน น.ส.พ. สียงชนบทสุโขทัยบ้าง น.ส.พ.ประชากรจังหวัดพิษณุโลกบ้าง  นิตยสารวิทยาสารของไทยวัฒนาพาณิชย์ที่อาจารย์เปลื้อง ณ นคร บริหารงานอยู่บ้าง  ส่วนมากจะใช้นามปากกา  ไม่กล้าใช้นามจริง  เพราะกลอนส่วนมากที่เขียนเป็นเรื่องของรัก ๆ ใคร่ ๆ ไม่เหมาะกับภิกขุภาวะของตน  ถ้าเป็นกลอนธรรมะจึงใช้นามจริง  สนามกลอนในวิทยาสารของอาจารย์เปลื้องสมัยนั้นสนุกนัก  อาจารย์เปลื้องเปิดหน้ากลอนให้เล่นกันอย่างกว้างขวาง  นักกลอนเขียนกลอนเกี้ยวพาราศีตอบโต้กันอย่างอิสรเสรี  เหรียญชัย จอมสืบ กับข้าพเจ้าเขียนลงในสนามกลอนนี้ไม่เว้นแต่ละเดือน

          นักกลอนหญิงที่เขียนเก่งและโดดเด่นมากในสนามวิทยาสารเห็นจะไม่มีใครเกินเจ้าของนามว่า ใจปอง ผ่องพิลาส - แอ๊ตต้า ตุราแห  แห่งเมืองเชียงราย  เขียนกลอนโต้ตอบด้วยคารมคมคายร้ายเหลือ   เหรียญชัย จอมสืบ อดใจไม่ไหวที่จะได้รู้จักหน้าค่าตาเจ้าของนามปากกานี้  ช่วงวันหยุดราชการจึงเดินทางไปเชียงราย  ตั้งใจไปขอพบ ใจปอง ผ่องพิลาส โดยตรง  ข้าพเจ้ากับครูนิมิตก็รอฟังข่าวจากเขาอยู่ที่วัดราชธานีนี่แหละ  ยามนั้นทั้งครูนิมิตรและข้าพเจ้าวาดภาพในจินตนาการว่า ใจปอง ผ่องพิลาส เป็นครูสาวสวยน่ารักเหมือนนางเอกในวรรณคดีไทยเลยทีเดียว

          ครูนิมิตร ภูมิถาวร เป็นเพื่อนรักกับครูเหรียญชัย จอมสืบ เกิดก่อนข้าพเจ้า ๓-๔ ปี  เมื่อเรียงลำดับอาวุโสแล้ว  ข้าพเจ้าจึงเรียกครูทั้งสองว่า “พี่” ตามระบบระเบียบวัฒนธรรมประเพณีไทย  ครูนิมิตรมีประวัติว่า  เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย  มีนามสกุลเดิมว่า “ภักดี”  บิดา มารดา มีอาชีพทำนา  เขาเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๓ คน  การศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านไร่  อำเภอศรีสำโรง  ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียน สวรรควิทยา อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย  แล้วไปศึกษาที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์  ภายหลังสอบได้วุฒิครู พ.ม.  เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว  เข้าทำงานครั้งแรกที่สหกรณ์ที่ดิน อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่  ต่อมาไปเป็นเสมียนที่กรุงเทพฯ อีก ๑ ปี  จากนั้นก็กลับมาสมัครเป็นครูในโรงเรียนชนบท  สอนอยู่หลายโรงเรียน  จนได้เป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย  นัยว่าได้รู้จักกับ เหรียญชัย จอมสืบ สมัยที่ไปศึกษาที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์อันเป็นบ้านเดิมของเหรียญชัยนั่นเอง

          ครูนิมิตร บอกกับข้าพเจ้าว่า  เขารักงานเขียนหนังสือมากกว่าการสอนหนังสือ  แต่ก็มิได้หมายถึงว่าไม่รักการสอนหนังสือ  น้ำหนักความรักการสอนกับการเขียนนั้นไปอยู่ข้างการเขียนมากกว่าเท่านั้นเอง  ความเหมือนของครูนิตรกับเหรียญชัยอย่างหนึ่งคือ  ครูนิมิตนามสกุลเดิมว่า  “ภักดี”  เปลี่ยนเป็น  “ภูมิถาวร”  เพราะเหตุใดข้าพเจ้าไม่ได้ถาม  ส่วนครูเหรียญชัยนั้นเขาบอกเล่าโดยที่ข้าพเจ้าไม่ได้ถามว่า  นามสกุลเดิมของเขาคือ  ”สุวรรณรัต”  เหตุเพราะเขาเป็นคนซุกซนอยากรู้อยากเห็นชอบเข้าไปยุ่งกับเรื่องคนอื่นแบบที่เรียกว่า  “สอดรู้สอดเห็น”  คนทั้งหมู่บ้านจึงเรียกเขาว่า  “เจ้าจอมสืบ”  พอโตขึ้นจนรู้นิติภาวะจึงขอเปลี่ยนนามสกุลเดิมมาเป็น  “จอมสืบ”  พวกญาติพี่น้องเห็นดีเห็นงามก็มาขอใช้ตาม ๆ กัน  เท็จจริงอย่างไม่ไม่รู้  เขาเล่าอย่างนี้ก็ได้แต่จำไว้เท่านั้น

          หายไปวันกับคืน ครูเหรียญชัยก็กลับจากเชียงรายมาบอกพวกเราว่า  “ผิดหวังมาก ใจปอง ผ่องพิลาส  ตัวจริงแก่กว่าแม่เราอีก”  ครูนิมิตร้อง  ฮ้า..ไม่น่าเชื่อ  ข้าพเจ้าซักถามว่าไปพบตัวจริงของเขาหรือเปล่า  ที่พบน่ะอาจจะเป็นตัวปลอมก็ได้นะ  เขายืนยันว่าตัวจริงแท้แน่นอน  และยังเป็นคนเดียวกันกับ  “แอ๊ตต้า ตุราแห” อีกด้วย  กำลังคิดจะเขียนกลอนถึงใจปองตัวจริงยิ่งกว่าที่คิด  ข้าพเจ้าจึงห้ามเขาไว้ว่า  อย่าเอาความลับของเขามาเปิดเผยเลย  มันเสียมรรยาท  ผิดจรรยาบรรณนะ  ครูนิมิตก็สนับสนุนคำพูดของข้าพเจ้า  “รู้แล้วก็เฉยไว้เถิดเพื่อนเอ๋ย”   “อันที่จริงเขาก็ไม่ได้ตั้งใจโกหกหลอกลวงเราหรอกนะ  เป็นเพราะเราไปสอดรู้สอดเห็นเขาเอง”   จึงเป็นอันยุติเรื่องของนักกลอนสาวแก่คราวแม่เจ้าเสน่ห์รายนี้ไปในที่สุด

          วันว่าง ๆ ครูนิมิตกับเหรียญชัยมักจะมาขลุกอยู่กุฏิชั้นบนของข้าพเจ้า  คิดพล็อตเรื่องและถ้อยคำในการเขียนเรื่องสั้นกะเทาะสังคม  นิยายเสียดสีสังคม  เขามีแนวเดียวกันคือสร้างสรรค์สังคม  ครูนิมิตจะคิดเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเสียเป็นส่วนใหญ่  โรงเรียนชั้นประถมศึกษาสมัยนั้น  เป็นโรงเรียนประชาบาลทั้งสิ้น  ยังจำได้ว่าสมัยนั้นทางตอนใต้เมืองสุโขทัยธานีมีหมู่บ้านกันดารหมู่หนึ่งชื่อวังกะบาล  หรือบางกะบาล นี่แหละ  เด็ก ๆ ที่นี่ไม่มีโรงเรียนให้เรียน  ครูนิมิต-เหรียญชัย จึงฝันจะตั้งโรงเรียนแล้วพัฒนาขึ้นเป็นวิทยาลัยวังกะบาล  อีกแห่งหนึ่งคือบ้านคอลงปลายนา  หมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่เลยบ้านสวนไปทางโค้งตานก  ใกล้ถนนสายสุโขทับ-พิษณุโลก  มีโรงเรียนขนาดเล็กอาคารเรียนเหมือนกระท่อมปลายนา  พวกเขาก็ตั้งชื่อใหม่ว่า  วิทยาลัยบ้านปลายนา  เป็นความฝันที่พวกเขาทำให้เป็นจริงได้ในโลกของหนังสือเท่านั้นเอง  หลังจากนั้นมาอีก ๒ ปี  เรื่องสั้นของครูนิมิตรได้ลงพิมพ์ในหนังสือนิตยสารไทยโทรทัศน์  ครูเหรียญชัยกับข้าพเจ้าและเพื่อนฝูงพากันดีอกดีใจมาก  มันเป็นก้าวแรกที่ครูนิมิตได้ก้าวเข้าสู่บรรณพิภพ (โลกหนังสือ) สมความปรารถนาของเขาแล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤษภาคม, 2566, 10:56:56 PM
(https://i.ibb.co/bWVRnqj/Dtbezn3n-N-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๓ -
          สื่อสารมวลชนยุคหลังกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.๒๕๐๐) นั้น  ที่อยู่ในความนิยมของคนทั่วไปยังคงเป็นคลื่นเสียงวิทยุกับหน้าหนังสือพิมพ์  คลื่นเสียงวิทยุที่คนนิยมฟังคือเพลงลูกทุ่งลูกกรุง  ซึ่งตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจว่าเขาแบ่งประเภทเพลงลูกทุ่งลูกกรุงกันอย่างไร  ก็ฟังไปอย่างนั้นแหละ  นอกจากเพลงก็เป็นการแสดงละครวิทยุที่มีตัวแสดงให้เสียงตามเรื่องที่นักประพันธ์เขียนกันไว้แล้วเอามาเรียบเรียงเป็นบทละคร  จากละครก็เป็นลิเก  ซึ่งต่างจากละครตรงที่มีการร้องในทำนองต่าง ๆ ปนกันไปกับการเจรจา  ส่วนละครไม่มีการร้อง  มีแต่บทเจรจา  แต่คนฟังก็ได้รับความบันเทิงใจกันอย่างเต็มอิ่ม  ส่วนสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งมีลายลักษณ์อักษรประกอบภาพพิมพ์ลงในหน้ากระดาษ มีหนังสือพิมพ์ที่ออกวางขายตามแผงหนังสือในตลาดเป็นรายวัน  รายสัปดาห์  ราย ๑๕ วัน  รายเดือน  ราย ๓ เดือน  ตามแต่ความสะดวกของผู้จัดทำเต็มกำลังความสามารถ  สื่อทั้ง ๒ ประเภทนี้ หนังสือพิมพ์จะมีอิทธิพลมากกว่าสื่อวิทยุ  เพราะคลื่นเสียงฟังแล้วก็หายไป  แต่หนังสือพิมพ์นั้นพิมพ์แล้วไม่หาย  สามารถเปิดอ่านได้ตลอดเวลา

          หนังสือพิมพ์รายวันยุคนั้นเท่าที่จำได้คือ  พิมพ์ไทย  ชาวไทย  สยามนิกร  สยามรัฐ  ส่วนใหญ่เสนอข่าวและบทความหนักไปในทางการเมือง  การศึกษา  เศรษฐกิจและสังคม  ต่อมาก็มี  เดลินิวส์  ไทยรัฐ  สองฉบับนี้เสนอข่าวและบทความเน้นในเรื่องอาชญากรรม  เป็นข่าวแบบชาวบ้าน  แนวนี้ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปสูงมาก ทางกองบรรณาธิการจึงขยายพื้นที่ข่าวให้มากขึ้น  ตั้งผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ นักข่าวของแต่ละฉบับหาข่าวจากชาวบ้านด้วยตนเอง  ไม่ขอข่าวจากตำรวจและหน่วยงานราชการใด ๆ  ได้ข่าวจากแหล่งข่าวแล้วกลั่นกรองจนเห็นว่าถูกต้องมากที่สุดจึงส่งเข้าสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์เผยแผ่ต่อไป  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ-เดลินิวส์กลายเป็น  “ยักษ์ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์”  มียอดจำหน่ายสูงคู่คี่กัน  นักข่าวภูธร (ข.ต.ว.) ของจังหวัดก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลไปด้วยโดยปริยาย

          นักข่าวหนังสือพิมพ์ประจำจังหวัดสุโขทัยยุคนั้น นอกจากเหรียญชัย จอมสืบ แล้วก็มี  ชัยวัฒน์ ลิมปะพันธุ์,  โพยม จันทรเดช (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ดิลกคุณธรรม)  ทั้งสองคนนี้มีอายุอยู่ในรุ่นเดียวกับเหรียญชัย  ทุกคนทำข่าวให้หนังสือพิมพ์รายวันส่วนกลางคนละหลายฉบับ  แต่มีฉบับที่เป็นหลักอยู่เพียงหนึ่ง เหรียญชัย จอมสืบ  กับ  ชัยวัฒน์ ลิมปะพันธุ์ มีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นหลัก  โพยม จันทรเดช มีหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นหลัก  ข้าพเจ้าได้รู้จักนักข่าวทุกคนที่สำนักพิมพ์เสียงชนบทซึ่งเป็นศูนย์ข่าว  นักข่าวได้ข่าวมาแล้วก็เอามารวมกันที่สำงานหนังสือพิมพ์เสียงชนบทก่อน  แล้วจึงส่งเข้าไปส่วนกลาง  ข้าพเจ้าได้เรียนรู้วิธีหาข่าว  เขียนข่าว  จากนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้  น้ำหมึกจึงซึมเข้าสู่สายเลือดข้าพเจ้าโดยไม่รู้ตัว  ข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวกับวัด (พุทธศาสนา) หลายข่าว  นักข่าวได้ข่าวมาแล้วนั่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเพื่อให้ข้าพเจ้าเขียนเป็นข่าว  ด้วยเขาเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นพระจึงน่าจะเขียนภาษาวัดได้ดีกว่าพวกนั่นเอง   อ้อ ขอหน่อยบอกว่า  นักข่าวทั้งสองคนนั้นมีความรู้สามัญเรียนจบเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๔ เท่านั้น  แต่ผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยม ปริญญาอะไรก็หาข่าว เขียนข่าวสู้พวกเขาไม่ได้หรอก

          ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาวิถีทางของการเป็นนักข่าวจากตำราที่เหรียญชัย จอมสืบ เอามาให้อ่าน  ได้หัวใจของการเขียนข่าวว่า  “ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมือไร ผลเป็นอย่างไร”  คำว่า  “ใคร”  ระบุ เพศ ยศ นาม นามสกุล อายุ ตำแหน่ง ที่อยู่ บ้านเลขที่ หมู่ที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด ให้ชัดเจน   คำว่า  “ทำอะไร”  ระบุพฤติกรรมของเขา  เป็นผู้กระทำ  หรือ ถูกกระทำ  เช่นถูกปล้น ถูกฆ่า ถูกขโมย ถูกข่มขืน หรือ เป็นผู้ปล้น ผู้ฆ่า ผู้ลักขโมย ผู้ข่มขืน เป็นต้น  คำว่า  ”ที่ไหน”  ระบุสถานที่เกิดเหตุนั้น ๆ ให้ชัดเจน   คำว่า  “เมื่อไร” ระบุวันเดือนปีเวลาที่เกิดเหตุนั้น ๆ ให้ชัดเจน   คำว่า  ”ผลเป็นอย่างไร”  จะไม่ระบุก็ได้

          ก่อนเสนอข่าวควรไตร่ตรองให้รอบคอบถึงผลกระทบของข่าวว่า  จะเกิดผลเสียหายแก่ใครหรือไม่  เช่น  เด็กหญิงถูกข่มขื่น กระทำชำเรา  หากเสนอเป็นข่าวสารธารณะไปแล้ว  เด็กสาวและพ่อแม่พี่น้องจะอับอายเสียชื่อเสียงหรือไม่,  ข่าวฆ่ากันตาย แหล่งข่าวผู้รู้เห็นแล้วให้ข่าวแก่นักข่าว  ควรไตร่ตรองให้ดีว่า  ในข่าวควรเผยชื่อแหล่งข่าวคนนั้นหรือไม่  ถ้าเปิดเผยแหล่งข่าว  เขาจะถูกฆ่าปิดปากหรือไม่  เรื่องแหล่งข่าวนี้ในระบอบจรรยาบรรณหนังสือพิมพ์ให้นักข่าวถือเป็นความลับอย่างเคร่งครัด  และให้ยึดหลักว่า “ ทำสิ่งที่ควรทำ  เว้นสิ่งที่ควรเว้น”   คือข่าวใดควรปิด  ข่าวใดควรเปิด  มิใช่เปิดหมดทุกข่าวใครเสียหายอย่างไรก็ช่างใคร

          ทำสื่อทางหนังสือพิมพ์แล้วยังไม่พอ  พี่เหรียญชัยแกยังอยากทำรายการวิทยุอีกด้วย  ตอนนั้นเพื่อเขาเป็นนายสถานีวิทยุ ปชส.ตาก จังหวัดตาก  จึงไปขอเวลาจัดรายการกลอนสัปดาห์ละครั้ง  นายสถานีคนนั้นชื่อ สุขุม ศรียะวงศ์  มอบเวลาให้จัดรายการกลอนทุกคืนวันอาทิตย์หลังข่าว  ใช้ชื่อรายการว่า  “สายธารใจ”  เมื่อได้เวลาแล้วก็มาขอให้ข้าพเจ้าช่วยจัดทำรายการ  ให้ไปขอคนอื่นช่วยเขาก็ว่าหาใครช่วยทำไม่ได้   “ท่านนี่แหละดีมี่สุด  เพราะจัดรายการเทศน์ทางวิทยุอยู่แล้ว”   ที่สุดข้าพเจ้าก็ต้องร่วมจัดทำรายการกับเขา  ตอนแรกข้าพเจ้าจะเป็นผู้รวบรวมบทกลอนจากเพื่อนนักกลอน  คัดเลือกสำนวนที่ควรออกอากาศให้พี่เหรียญชัยนำไปอ่านที่สถานีวิทยุ  วิธีดำเนินรายการคือเปิดเพลงไทยเดิม บรรเลงเพลงเขมรไทรโยกดังขึ้นแล้วเบาลงคลอบทกลอนนำรายการ  และเปิดเพลงบรรเลงอื่น ๆ สลับคลอบทกลอนที่อ่านทุกสำนวน  รายการสายธารใจเป็นรายการกลอนภูธรรายการแรกในภาคเหนือตอนล่าง  คลื่นเสียงของ ปชส. ตากแรงมาก  คนในจังหวัดตาก ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร  รับฟังได้ชัดเจนจึงมีคนรับฟังรายการนี้มากพอสมควร/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, พฤษภาคม, 2566, 10:49:37 PM
(https://i.ibb.co/XCthK2x/gh-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๔ -
          มีความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า  “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขไทนี้ดีในน้ำมีปลาในนามีเข้า.......”  ข้อความนี้ทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์  สมาชิกอาวุโสของชมรมกวีศาลาลายสือไทยมักนำมากล่าวในที่ชุมนุมเสมอ  ท่านภูมิใจในอดีตอันอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัยมาก  พวกเรานำความในจารึกดังกล่าวมาอภิปรายกันได้ความว่า  “เมื่อชั่ว”  คือสมัยหรือในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง  เมืองสุโขทัยนี้ดีอย่างไรบ้าง  ในน้ำมีปลาอะไรอย่างไร  ทนายอุปถัมภ์ว่า  ในแม่น้ำยม แม่น้ำลำพัน แม่น้ำฝากระดาน มีปลานานาชนิด  อย่างแม่นำลำพันที่มีต้นน้ำอยู่เหนือบริเวณถ้ำเจ้าราม  เขตติดต่อจังหวัดตากและอำเภอเถินจังหวัดลำปางนั้น  ไหลหลากผ่านวังหาดซึ่งเป็นเมืองโบราณลงมาลงแม่น้ำยมที่ธานี  แม่น้ำสายนี้ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เรียกว่า  แม่น้ำสำพาย  ที่เรียกต่อมาว่า  แม่ลำพันเพราะมีปลาชนิดหนึ่งเหมือนปลาดุกแต่มิใช่ปลาดุก  เขาเรียกว่าปลาลำพัน (ไม่ใช่รำพัน)  มีอยู่ในแม่น้ำสายนี้มาก  แล้วหายไปเรื่อย ๆ จนสูญพันธุ์ไปแล้ว  ปลาทั่ว ๆ ไปจากแม่น้ำฝากระดาน (ตำนานเมืองเหนือเรียกปานามนที) ที่มีต้นน้ำอยู่แม่มอกเมืองเถินไหลผ่านทุ่งเสลี่ยม  เมืองบางขลัง  คลองข้างคลองแห้งมาลงแม่นำยมแถว ๆ บางคลอง  แม่น้ำยมที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาอิงกันไหลลงผ่านเมืองแพร่มาพร้อมด้วยปลานานาชนิด

          ปลาที่ขึ้นชื่อของลุ่มน้ำยมเมืองสุโขทัยคือ  ปลาเค้า ปลาเนื้ออ่อน ปลากด ปลารากกล้วย ปลาหมู ปลาเงินปลาทอง ปลาสร้อย ปลาหลด ปลาตะเพียน ปลาสลิด ประหมอ ปลาช่อน ปลาดุก และอีกหลายปลาทีจาระไนไมสิ้น  เฉพาะปลาเค้านั้น  สมัยก่อนคนสุโขทัยจะจับกินเป็นอาหารเอาแต่ตัวใหญ่โตขนาดร้อยเหงือกด้วยเชือกยกขึ้นพาดบ่าแล้วหางลากดินเลย

          คำว่า  “ในนามีเข้า”  หมายถึงในนามีข้าว  สำเนียงสุโขทัยสั้นกระชับ ไม่ลากเสียงว่า  ข้าว เหมือนปัจจุบัน  ผู้รู้ให้ที่มาของคำว่า  “เข้า”  อันเป็นคำนามว่า  หมายถึงข้าว  ในจารึกสุโขทัยนอกจากจะแปลคำ  “เข้า”  ว่าข้าวแล้ว  ยังแปลว่า  “ปี”  อีกด้วย  เช่นในจารึกนี้ว่า  “เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า”  แปลว่าเมื่อข้าพเจ้าเจริญวัยใหญ่ขึ้นได้สิบเก้าปี  หมายถึงอายุ ๑๙ ปี  ที่มาของคำนี้ท่านว่า  การทำนาของคนไทยโบราณก่อนสุโขทัยมาแล้ว  ทำกันปีละครั้งเท่านั้น  และมักจะทำกันในฤดูฝน  เรียกกันว่า  “เข้านาปี”  ทำนาเข้าได้ครั้งหนึ่งก็เรียก  ได้เข้า  คำว่าเข้าจึงกลายเป็นปีไปด้วยประการฉะนี้  เขาว่าอย่างนี้ข้าพเจ้าก็ได้แต่ฟังและจำมาบอกเล่าอีกที  สำเนียงไทยสมัยสุโขทัยที่ปัจจุบันพูดเยื้องคือไม่ตรงสำเนียงเดิมมีหลายคำเช่น  น้ำ  เสียงสั้น  เดี๋ยวนี้พูดเยื้องเป็น  น้าม  เสียงยาว   มิด  เสียงสั้นเป็น  มีด  เสียงยาว  พิสัง  พูดว่า ผีสาง เป็นต้น

          แม่น้ำยมสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นพระมาอยู่วัดราชธานีนั้น  หน้าแล้งน้ำไม่แห้งขอดคลอง  ตลิ่งไม่มีคันดินและพนังคอนกรีตกั้น  ทุกฤดูฝนเมื่อน้ำหลากไหลลงมาจากเหนือ  กระน้ำไหลเชี่ยวมีกอหญ้ากิ่งไม้ลอยมาตามกระแสน้ำ  เมื่อน้ำเต็มลำคลองก็จะล้นตลิ่งไหลหลากออกท่วมท้องทุ่งนาทั่วไปจนมีสภาพ  “ในน้ำมีปลา ในนามีเข้า” สมตามความในศิลาจารึก  เดือนหกเดือนเจ็ดที่ฝนตกหนักข้าพเจ้าเห็นปลาดุกตัวใหญ่ขนาดเท่าแขน  เพ่นพ่านขึ้นจากบ่อปลาของวัดราชธานี  กระเสือกกระสนดุ๊กดิ๊กเล่นน้ำฝนอยู่ตามถนนราชธานี  ถนนจรดวิถีถ่อง  และถนนนิกรเกษม  ไม่มีใครจับไปฆ่าไปแกง  มีบ้างที่บางคนเมตตาจับมาใส่บ่อตามเดิม  หรือไม่ก็จับไปปล่อยในแม่น้ำยม  นอกจากปลาแล้วยังมีเต่า  ตะพาบน้ำในบ่อและใต้ถุนกุฏิ  ใต้ถุนอาคารร้านค้ารอบวัดเพ่นพ่านออกมาเล่นน้ำฝนกันด้วย

          ทางด้านตะวันออกเมืองสุโขทัยธานีในพื้นที่บ้านหลุมตรงระหว่างรอยต่อบ้านหลุมบ้านสวนนั้น  มีบึงน้ำค่อนข้างใหญ่เรียกชื่อว่า  “บึงน้อย”  เป็นนามคู่กับ  “บึงใหญ่”  ที่อยู่ด้านตะวันออกหมู่บ้านตำบลบ้านสวน  บึงน้อยนี้มีถนนหลวงสาย ๙ (สิงหวัฒน์) ตัดผ่านไปจังหวัดพิษณุโลก  ปีที่ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัย (๒๕๐๗) นั้น  บึงนี้ยังดูลึกและกว้าง  เป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด  อาจจะเป็นเพราะถนนตัดผ่าบึงไปนี้เองทำให้บึงนี้ตื้นเขินขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดสภาพความเป็นบึงไปในที่สุด

          ข้าวในจังหวัดสุโขทัยนี้ปลูกและออกรวงเก็บเกี่ยวได้ในเวลาประมาณ ๓ เดือน  ซึ่งทางบ้านข้าพเจ้า  คือสุพรรณ อยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี นครชัยศรี  เรียกว่า  “ข้าวเบา”  เป็นข้าวไม่ขึ้น (ทะลึ่ง) น้ำ  ส่วนข้าวนาปีของภาคกลางนั้นเข้าเรียกว่า  “ข้าวหนัก”  เป็นข้าวขึ้นน้ำ  กล่าวคือเมื่อน้ำหลากมาท่วมทุ่ง  ข้าวนาปีนี้ก็จะเติบโตสูงขึ้นตามน้ำ  ไม่ถูกน้ำท่วมตายง่าย ๆ  จะใช้เวลานานประมาณ ๔ เดือนจึงเก็บเกี่ยวได้  ดังนั้นในภาคกลางสมัยก่อนจึงทำนาสองประเภท  คือประเภทนาข้าวเบาจะทำในที่เป็นนาดอนน้ำตื่นและแห้งเร็ว  ประเภทนาข้าวหนักจะทำในที่นาลุ่มน้ำลึก  ข้าวสุโขทัยสมัยที่ข้าพเจ้ามาอยู่ใหม่ ๆ นั้นเขาว่ากันว่า  ข้าวบ้านสวนอร่อยและดีที่สุด   ก็ไม่รู้เหมือนนะครับว่า “ในนามีเข้า” ตามจารึกสุโขทัยดังกล่าวข้างต้นนั้น  เป็นเข้าเบาหรือเข้าหนัก /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤษภาคม, 2566, 11:07:01 PM
(https://i.ibb.co/yNS53rr/tungloang-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๕ -
          ใกล้กาลเข้าพรรษาแล้ว  ได้รู้จักพระผู้ใหญ่อีกสององค์ คือ หลวงพ่อภุชงค์ พระครูคีรีมาศธรรมคุณ (หลวงพ่อใหญ่)  หลวงพ่อโถม พระครูพิลาสธรรมคุณ(หลวงพ่อเล็ก) วัดวาลุการาม (โตนด) อ.คีรีมาศ  หลวงพ่อภุชงค์เป็นเจ้าคณะอำเภอคีรีมาศ  หลวงพ่อโถมเป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งหลวง  ทั้งสองอยู่วัดเดียวกัน  ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า  “หลวงพ่อใหญ่หลวงพ่อเล็ก”  ท่านทั้งสองมีฝีมือทางช่างไม้  ต่อโต๊ะเก้าอี้ได้อย่างสวยงาม  วันนั้นท่านนำโต๊ะเก้าอี้ที่ต่อเป็นชุดรับแขกมาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณผู้เป็นอาจารย์ ๑ ชุด  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกข้าพเจ้าไปให้พบทำความรู้จักกันไว้  ตอนลากลับท่านแวะเข้าในกุฏิข้าพเจ้าแล้วเห็นว่าไม่มีชุดรับแขกหลวงพ่อโถมพูดว่า  “ไม่เหมาะสมฐานะเลย”  หลังจากกลับไปวัดได้ ๓ วัน  หลวงพ่อโถมกลับมาวัดราชธานีอีกพร้อมน้ำชุดรับแขกที่ต่อไว้อย่างดีมาให้ข้าพเจ้าอีกชุดหนึ่ง  พร้อมน้ำผึ้งเขาหลวง ๙ ขวด  น้ำผึ้งนั้นท่านบอกว่า  คนคีรีมาศเขามีประเพณีบวชนาคในช่วงหลังสงกรานต์ถึงวันเข้าพรรษา  ของถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด ที่ขาดไม่ได้คือ  “กรวยอุปัชฌาย์”  โดยทั่วไปเขาใช้ดอกไม้ธูปเทียน  แต่ชาวคีรีมาศจะใช้น้ำผึ้งป่าจากเทือกเขาหลวงประดับตกแต่งขวดทำเป็นกรวยวายอุปัชฌาย์และคู่สวด  ที่วัดมีเยอะเพราะไม่ค่อยได้ฉัน  จึงเก็บไว้  นาน ๆ ก็เอามาถวายพระผู้ใหญ่บ้าง  น้ำผึ้งเขาหลวงนี้มีชื่อเสียงมาก  ในอดีตสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ ๗ มีจดหมายเหตุระบุเรื่องการส่งส่วยของหัวเมืองต่าง ๆ ว่า  ให้ชาวคีรีมาศส่งส่วยน้ำผึ้งเป็นประจำทุกปี  แสดงให้เห็นว่าน้ำผึ้งเทือกเขาหลวงนี้ดีที่สุดจนพระราชาโปรดเสวยเป็นประจำเลยทีเดียว

          อำเภอคีรีมาศตั้งเป็นกิ่งอำเภอครั้งแรกชื่อกิ่งอำเภอศรีครีมาศ สำนักงานที่ว่าการอยู่ที่หมู่ ๑ .ต.ศรีคีรีมาศ (ท่าดินแดง)  ต่อมาย้ายที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อเป็นคีรีมาศ  อยู่ทางตอนใต้ของ อ.เมืองสุโขทัย  ด้านตะวันออกติดเขต อ.กงไกรลาศ  และ  บางระกำ (พิษณุโลก)  ด้านทิศใต้ติดเขต อ.พรานกระต่าย (กำแพงเพชร)  ด้านทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาหลวงติดเขต อ.บ้านด่านลานหอย  สมัยเมื่อปี ๒๕๐๗ นั้น  ถนนหนทางไปมาทางบกไม่สะดวกสบายเลย  มีถนนดินผสมทางล้อเกวียนแยกจากถนนหลวงสายสุโขทัย-ตาก  จากบ้านกล้วยไปทุ่งหลวง  โตนด  ท่าดินแดง  หลวงพ่อองค์เล็กบอกเล่าสภาพถนนหนทางให้ฟังแล้วข้าพเจ้ารู้สึกท้อที่จะไปวัดท่านในยามนั้น  รับปากว่าออกพรรษาถึงหน้าแล้งแล้วจะไปหาท่านที่วัดให้จงได้เลย

          บ้านโตนดเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  รองลงไปจากบ้านทุ่งหลวงที่อยู่ตอนเหนือบ้านโตนด  บ้านทุ่งหลวงนั้นมีวัดประจำหมู่บ้าน ๓ วัด  คือวัดบึงอยู่เหนือสุด  วัดกลาง (ดุสิตาราม) อยู่ตรงกลาง  และวัดลาย อยู่ใต้สุดติดเขตบ้านโตนด  บ้านทุ่งหลวงเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาใหญ่ที่สุดของสุโขทัยในสมัยนั้น  ดินที่เอามาทำเครื่องปั้นดินเผานั้นอยู่ในบริเวณหลังวัดบึงนั่นเอง  และบึงที่ขุดเอาดินไปปั้นหม้อโอ่งและอื่น ๆ นั้น  เห็นทีจะได้ไปจากทุ่งใหญ่หลังวัดบึง และทุ่งนี้น่าจะชื่อว่าทุ่งหลวงและกลายเป็นชื่อหมู่บ้านไปในที่สุด (นี่ข้าพเจ้าคิดเอาเอง)  ส่วนบ้านโตนดนั้น  เห็นจะเป็นเพราะมีต้นโตนด (ตาล) เป็นดงใหญ่  หมู่บ้านในดงโตนด (ตาล) จึงมีชื่อเรียกว่า บ้านโตนด  สมัยที่ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัยนั้น มีคนเอาน้ำตาลปึก (เป็นงบ) ขนาดถ้วยตะไลไปถวายให้ฉันกับน้ำชาตอนเย็น ๆ  เขาบอกว่าเป็นตาลของบ้านโตนด ทุ่งหลวง  รสชาติกลมกล่อม  ไม่หวานจัด  มีกลิ่นหอมต่างจากตาลทั่วไป

          วัดประจำหมู่บ้านโตนดมีชื่อเป็นทางการในทะเบียนว่าวัดวาลุการาม  ข้าพเจ้าถามหลวงพ่อใหญ่ (ภุชงค์) ว่า ที่นี่มีหาดทราย กองทรายหรือ  ท่านถามย้อนว่า  รู้ได้อย่างไรหรือ  ก็ตอบท่านว่า  รู้จากชื่อวัดนี่แหละครับ  วาลุกา  แปลว่าทรายนี่ครับ  ท่านก็ตอบแบบไม่แน่ใจว่า  ท่านเกิดไม่ทัน  เพราะเท่าที่จำความได้  เดิมมีลำคลองเล็กไหลผ่านหมู่บ้านนี้  สมัยโบราณน่าจะมีแม่น้ำไหลมาจากเทือกเขาหลวงผ่านมาทางท่าดินแดง  โตนด  ไปลงแม่น้ำยมก็ได้  ถามว่าวัดนี้ตั้งมานานหรือยัง  ท่านก็ชี้ให้ดูโบสถ์แล้วว่า  ก็คงนานเท่าอายุโบสถ์นั้นแหละ  ข้าพเจ้ามองดูอุโบสถหลังเก่าที่ทรุดโทรมมากแล้ว  คะเนดูว่าอายุคงไม่น้อยกว่าร้อยปี  หรืออาจถึงสองร้อยปี   แสดงว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก  หลวงพ่อใหญ่ยังอ้างนามบุคคลประกอบอายุของวัดว่า  วัดนี้คหบดีบ้านโตนดคือ  ขุนโนดเนาวเขตต์  เป็นกำนันเก่าให้การอุปถัมภ์บำรุงวัดนี้สืบต่อจากบรรพชนของท่านมาไม่รู้นานเท่าไร  ข้าพเจ้ามิอาจสืบประวัติวัดได้ก็ยุติไว้เพียงนั้น

          หลวงพ่อภุชงค์กับหลวงโถมพระสองพี่น้องคู่นี้  องค์พี่นิสัยออกจะกระเดียดไปข้างนักเลง  องค์น้องนิสัยอ่อนโยนลักษณะเปี่ยมไปด้วยเมตตาปรานี  องค์พี่ชอบดื่มน้ำชาที่ไม่ใช่ชาจีน  แต่เป็นชาที่เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งคือ  ว่านสังกรณี  ท่านว่าว่านนี้บำรุงกำลังร่างกายดีนักแล  ส่วนองค์น้องนั้นชอบเคี้ยวหมากไม่ขาดปาก  ข้าพเจ้าคบค้าสมาคมคุ้นเคยกับท่านทั้งสองมาก  มีเวลาว่างก็มักจะนั่งรถสองแถว (รถคอกหมู) ลุยฝุ่นไปนอนคุยจิบน้ำชาสังกรณีกับท่านที่วัดโตนดเสมอ  พระสององค์นี้ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเป็นพระราชาคณะ  และมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  โดยองค์พี่ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดต่อจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก่อน  องค์น้องเป็นเจ้าคณะจังหวัดต่อจากพระสุธรรมธีรคุณ (มหาดำรงค์)  ภายหลังจากที่ข้าพเจ้าลาสิกขาแล้ว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, มิถุนายน, 2566, 11:05:52 PM
(https://i.ibb.co/2kSyWDL/1598203920450-1.png) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๖ -
          โรงเรียนปริยัติธรรมแผนกนักธรรมเปิดเรียนแล้วปรากฏว่ามีนักเรียนทั้งพระภิกษุสามเณรวัดราชธานีและวัดคูหาสุวรรณรวมกันเป็นจำนวน ๓๒ องค์  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยในฐานะเจ้าสำนักเรียนเป็นประธานทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ  ท่านกล่าวถึงความเป็นมาของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดราชธานีที่ท่านเป็นผู้ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดสุโขทัย  นักเรียนในสำนักเรียนนี้เรียนจบหลักสูตรได้ดิบได้ดีเป็นจำนวนมาก  นานมาก็เสื่อมลงตามหลักธรรมที่ว่า  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  แปรปรวนไป  นักเรียนลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนหมดไป  โรงเรียนเราสลบไปหลายปี  เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้โรงเรียนนี้กำลังฟื้นขึ้นมาแล้ว  ขอให้ครูอาจารย์และนักเรียนช่วยกันทะนุบำรุงโดยผู้สอนตั้งใจสอนพระธรรมวินัยแก่ผู้เรียนเป็นอย่างดี  นักเรียนก็ขอให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างดี  เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวารสืบไปนานเท่านาน  คำกล่าวเปิดเรียนของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงย่นย่อพอได้ใจความ  ที่ท่านกล่าวนั้นมีมากกว่านี้  เช่น ยกบุคคลที่เป็นศิษย์สำนักเรียนวัดราชธานีลาสิกขาออกไปรับราชการมีตำแหน่งเป็นเจ้านายใหญ่โตหลายท่าน  นักเรียนใหม่ฟังโอวาทของท่านแล้วเกิดความฮึกเหิมในอันที่จะศึกษาเล่าเรียนกันมากทีเดียว

          จบคำให้โอวาทในการเปิดเรียนแล้วหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็มอบหมายให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแทนท่านต่อไป  ข้าพเจ้ากล่าวปฐมนิเทศเริ่มด้วยการแนะนำให้นักเรียนรู้จักอาจารย์ของโรงเรียน  คือ  พระเจ้าอธิการบุญมีเป็นอาจารย์สอนวิชาวินัย  พระมหาคำสิงห์เป็นอาจารย์สอนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม  พระไพฑูรย์เป็นอาจารย์สอนวิชาพุทธประวัติ  และข้าพเจ้าเป็นอาจารย์สอนวิชาธรรมวิภาค  วิชานักธรรมทุกขั้นมีอยู่ ๔ วิชา  คือ  กระทู้ ธรรมะ พุทธะ วินัย  ทุกวิชาที่นักเรียนเรียนกันนั้นจำเป็นต้องท่องจำแบบเรียนมากบ้างน้อยบ้าง  ถ้าไม่ท่องจำแบบเรียนแล้วจะเรียนไม่รู้เรื่อง  เหมือนคนเดินทางถ้าจำทางไม่ได้ก็จะไปไม่ถูก  กลับบ้านไม่ถูก  อะไรทำนองนั้น

          วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นสิ่งที่ต้องท่องจำ เช่น อตฺตานํ  นาติวตฺเตยฺย.บุคคลไม่ควรลืมตน  อปฺปมาโท  อมตํ  ปทํ  ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย   อปฺปมตฺตา น มียนฺติ  ผู้ไม่ประมาท  ย่อมไม่ตาย  กลฺยาณการี  กลฺยาณํ  ปาปการี จ ปาปกํ  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว   น หิ สาธุ โกโธ ความโกรธไม่ดีเลย   อกฺโกเธน  ชิเน โกธํ.พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ  อสาธุ สาธุนา  ชิเน  พึงชนะคนไม่ดี  ด้วยความดี   ชิเน กทริยํ ทาเนน.พึงชนะคนตระหนี่  ด้วยการให้   สจฺเจนาลิกวาทินํ  พึงชนะคนพูดปด ด้วยคำจริง   วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ   การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญ   ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้   ธมฺโม หเว  รกฺขติ ธมฺมจาริ  ธรรมแล  ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เย ปมตฺตา ยถา มตา  ผู้ประมาทแล้ว เหมือนคนตายแล้ว  ทุกฺโข พาเลหิ  สงฺคโม  สมาคมกับคนพาล นำทุกข์มาให้.”  อย่างนี้เป็นต้น  พุทธภาษิตเหล่านี้ท่องจำได้มากยิ่งดี

          วิชาพุทธประวัติ  มีประเด็นที่จะต้องจดจำให้แม่นมั่นคือสักกชนบท  และ  ศากยวงศ์ ชื่อนครกบิลพัสดุ์ และเทวทหะ  อันเป็นเมืองพี่เมืองน้องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า นามบุคคลสำคัญทางฝ่ายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ เช่น สีหหนุ สุทโธทนะ เป็นต้น  จำวันประสูติ สถานที่บำเพ็ญความเพียร ชื่ออาจารย์ ชื่อปัญจวัคคีย์ วันและสถานที่ตรัสรู้ ตรัสรู้ การแสดงปฐมเทศนา ที่ใด เมื่อไร วันวิสาขบูชาอาสาฬหบูชา มาฆบูชา ชื่อพระอัครสาวก สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน และปฐมสังคายนาย เป็นต้น สำคัญคือต้องจำเรื่องราว ลำดับความให้ดี

          วิชาธรรมวิภาค  วิชานี้นักเรียนต้องท่องจำให้มากโดยเริ่มตั้งแต่หมวด ๒ ไปจนจบ คิหิปฏิบัติ เช่น ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง  ๑. สติ  ความระลึกได้   ๒ . สัมปชัญญะ  ความรู้ตัว.  ธรรมเป็นโลกบาล  คือคุ้มครองโลก ๒ อย่าง   ๑. หิริ  ความละอายแก่ใจ   ๒. โอตตัปปะ  ความเกรงกลัว    ธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง   ๑. ขันติ  ความอดทน   ๒.  โสรัจจะ  ความเสงี่ยม    บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง   ๑. บุพพการี  บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน   ๒.  กตัญญูกตเวที  บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว  และตอบแทน เป็นต้น  ท่องจำตัวบทคือหัวข้อนี้ไว้ให้แม่นยำ  คำอธิบายไม่ต้องท่อง  เพียงแต่ทำความเข้าใจก็พอแล้ว

          วิชาวินัย  นักเรียนต้องท่องจำให้แม่นยำเริ่มตั้งแต่   “อนุศาสน์ ๘ อย่าง  นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกนิสสัย มี ๔ อย่าง คือ  เที่ยวบิณฑบาต ๑  นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๑  อยู่โคนไม้ ๑  ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑   กิจที่ไม่ควรทำ เรียกอกรณียกิจ มี ๔ อย่าง คือ เสพเมถุน ๑  ลักของเขา ๑  ฆ่าสัตว์ ๑  พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ๑   กิจ ๔ อย่างนี้  บรรพชิตทำไม่ได้  สิกขาของภิกษุมี ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ความสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย ชื่อว่า ศีล ความรักษาใจมั่น ชื่อว่าสมาธิ ความรอบรู้ในกองสังขาร ชื่อว่าปัญญา   อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม เรียกว่า อาบัติ อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก ๑  สังฆาทิเสส ๑  ถุลลัจจัย ๑  ปาจิตตีย์ ๑  ปาฏิเทสนียะ ๑  ทุกกฎ ๑  ทุพภาสิต ๑”  แล้วท่องจำศีล ๒๒๗ ข้อตั้งแต่ปาราชิก ๔ ไปจนจบเสขิยวัตร

          จบการปฐมนิเทศ นักเรียนหลายองค์บอกว่าไม่มีหนังสือแบบเรียน  ข้าพเจ้าจึงแจ้งโยมมหากระจ่าง ลพเกิด  ทนายสันต์ อัมพวะศิริ  ทนายพร สุทธิประดิษฐ์  ให้ท่านทราบ  ผู้อุปถัมภ์ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็ได้เงินไปซื้อหนังสือแบบเรียนนักธรรมชั้นตรีจากร้านโยมหาเลื่อน อินทรโชติ (โรงพิมพ์สกุลไทย) มาถวายพระเณรนักเรียนได้ครบถ้วน  ข้าพเจ้าเริ่มให้มีการสอนวันแรกด้วยวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม  วันที่ ๒ วิชาพุทธประวัติ  วันที่ ๓ วิชาธรรมวิภาค  วันที่ ๔ วิชาวินัย  จบแล้วเริ่มต้นใหม่  เวียนไปอย่างนี้  เพื่อมิให้นักเรียนเบื่อหน้าผู้สอนและวิชาที่เรียน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มิถุนายน, 2566, 10:59:34 PM
(https://i.ibb.co/kyD7S51/Arpatti-Karma-Still01-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๗ -
          การเรียนการสอนนักธรรมชั้นตรีเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง  เพราะว่านักเรียนในห้องเดียวกันมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน  บางคนเรียนทางโลกมาไม่จบชั้น ป.๔  อ่านออกเขียนได้ในระดับ “งู ๆ ปลา ๆ”  บางคนเรียนจบชั้นประถมศึกษา  บางคนจบชั้นมัธยมศึกษา  บางคนอยู่ในเมือง  บางคนมาจากชนบท  สำเนียงภาษาพูดไม่เหมือนกัน  เมื่อมาเรียนร่วมกันก็ทำให้ครูผู้สอนยุ่งยากในการใช้สำนวนภาษาธรรมวินัยสอนพวกเขา  คนที่มีการศึกษาสูงหน่อยพูดไปเขาเข้าใจง่าย  คนพื้นฐานการเรียนต่ำไม่เข้าใจ  ต้องจ้ำจี้จ้ำใจอธิบายซ้ำซากจนคนที่มีพื้นฐานการศึกษาสูงกว่าเกิดความหงุดหงิดรำคาญ  ครูอาจารย์ต้องพยายามหาทางประนีประนอมให้พวกเขาเรียนร่วมกันได้เป็นอย่างดี

          พระองค์หนึ่งอายุใกล้ ๔๐ ปีแล้ว  บวชเมื่ออายุ ๓๐ ปีเศษ  ชื่อพระหลา เป็นคนซื่อจนค่อนไปข้างเซ่อ  ข้าพเจ้ามอบหมายให้คอยปฏิบัติดูแลรับใช้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  ท่านสมัครเข้าเรียนนักธรรมชั้นตรีด้วย  พื้นฐานการเรียนทางโลกท่านต่ำอยู่ในขั้นพออ่านออกเขียนได้เท่านั้น  ความป้ำ ๆ เป๋อ ๆ เซ่อซ่าของท่านสร้างความขบขันแก่นักเรียนในห้องเสมอมา  อายุพระหลามากกว่าข้าพเจ้าสิบกว่าปีจึงต้องเรียกท่านว่า “หลวงพี่” ตามวัฒนธรรมประเพณีไทย  มิใช่หลวงพี่หลาพูดสำเนียงภาษาสุโขทัยเท่านั้น  แม้แต่การเขียนหนังสือของท่านก็เขียนตามสำเนียงสุโขทัยและเขียนสะกดการันต์ใส่วรรณยุกต์ไม่ถูกต้องด้วย  อาจารย์บุญมี พระมหาคำสิงห์ พระไพฑูรย์  ดุท่านเรื่องการเขียนหนังสือเป็นประจำ  แต่ข้าพเจ้าไม่ดุเพราะสงสารและเห็นใจท่าน  นึกย้อนไปถึงสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นสามเณรบ้านป่าขาดอน  เขียนหนังสือลายมือเหมือนไก่เขี่ย  สะกดการันต์ไม่ถูกต้อง  สอบนักธรรมชั้นตรีครั้งแรกตกไม่เป็นท่าเลย  ดังนั้นเมื่อเห็นหลวงพี่หลาเขียนหนังสือผิดก็จะสอนท่านทุกครั้งไป  แม้จะผิดซ้ำซากก็ทนสอนซ้ำซาก  หลวงพี่หลาจึงรักและนับถือข้าพเจ้ามาก

          วันหนึ่งเป็นวิชาวินัย  เจ้าอธิการบุญมีเข้าสอนเป็นปกติ  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกพระสมุห์แถวเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัดและข้าพเจ้าไปนั่งปรึกษางานคณะสงฆ์ที่ห้องพักของท่านซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องเรียนนั้นเอง  ขณะปรึกษาหาทางออกคดีพระผู้ใหญ่สองรูปที่ค้างคาอยู่ตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัดองค์ก่อน  ได้ยินเสียงเจ้าอธิการบุญมีเอะอะโวยวายด่าว่าหลวงพี่หลาดังออกมาจากห้องเรียน  หลวงพ่อเจ้าคุณบอกให้ข้าพเจ้าเข้าไปดู  เห็นหลวงพี่หล้านั่งก้มหน้านิ่งอยู่  ถามอาจารย์บุญมีได้ความว่า  หลวงพี่หลาเขียนหนังสือตอบคำถามอ่านไม่รู้เรื่อง  จึงขอดูสมุดตอบปัญหาวินัย  ที่ถามว่า  สเตกิจฉา อเตกิจฉา คืออะไร อธิบาย  หลวงพี่หลาเขียนตอบว่า

           “ซะเตกี๊ดฉ่า  อาบั๊ดที๋แก๊ไข่ได๋  อ๊ะเตกั๊ดฉ่า  อาบั๊ดที๋แก๊ไข่ไม๊ได๋  ซะเตกี๊ดฉ่าได๋แก๋สั่งคาทิเส๊ด  ปาจี๊ดตี  เป็นต๋น  อะเตกี๊ดฉ่า ได๋แก๋อาบั๊ดปาลาชิก.....”

          ข้าพเจ้าอ่านไปหัวเราะไป  อ่านไม่จบ  บอกอาจารย์บุญมีว่า  หลวงพี่หลาก็ตอบถูกความแล้วนี่ครับ

          “ถูกบ้าบออะไรผมอ่านไม่รู้เรื่องเลย”  อาจารย์บุญมีว่างั้น

          ข้าพเจ้าก็บอกให้หลวงพี่หลาอ่านความที่ท่านเขียนตอบนั้น ให้ฟัง  ท่านก็อ่านในสำเนียงสุโขทัย

          อาจารย์บุญมีฟังแล้วยิ้มออกมาได้  ร้อง  “เออ ถูกแล้ว  แกต้องเขียนภาษาไทยกลางซี่  เขียนอย่างนี้ต่อให้สอบเป็นร้อยครั้งก็ไม่ได้”

          ข้าพเจ้าออกจากห้องเรียนกลับไปเล่าให้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณฟัง  ท่านหัวอย่างขำขันเสียเต็มประดา

          มีพระหนุ่มองค์หนึ่งชื่อสมยศ  เป็นลูกคนเดียวของหญิงม่าย  บ้านเนินกระชายอำเภอกงไกรลาศเขตติดต่ออำเภอเมืองสุโขทัย  ตั้งใจมาบวชเพื่อเรียนนักธรรมโดยเฉพาะ  เขาเคยเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ เรียนแก้และประกอบเครื่องรับวิทยุย่านปากคลองตลาด  และทำงานเป็นลูกจ้างอยู่กรุงเทพฯ จนอายุครบบวชจึงกลับบ้าน  แม่ของเขาเป็นคนเข้าทำบุญประจำที่วัดราชธานี  จึงนำมาฝากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเพื่อบวชเรียน  ข้าพเจ้าเป็นพระอนุสาวนาจารย์ในวันบวช  เมื่อบวชแล้วเขาขออยู่กุฏิเดียวกับข้าพเจ้าเพื่อปฏิบัติดูแลอาจารย์อย่างใกล้ชิด  ชั้นบนกุฏิสกลพลากรที่ข้าพเจ้าครองอยู่นั้น  แบ่งที่นอนเป็น ๓ ส่วน  คือข้าพเจ้านอนอยู่ส่วนริมด้านตะวันตก  ตรงกลางพระสมยศนอน  ริมด้านตะวันออกพระไพฑูรย์นอน  ส่วนชั้นล่างมีสามเณรอยู่ ๔ องค์

          ทุกเช้าพระเณรนักเรียนจะต้องตื่นแต่มืด  ท่องและทวนหนังสือแบบเรียนนักธรรมก่อนออกเดินบิณฑบาตยามได้อรุณ  พระสมยศตื่นแล้วลุกเก็บที่นอนลงไปนั่งท่องหนังสือกับเณรที่ชั้นล่างบ้าง  ที่ใต้ซุ้มกระดังงาริมบ่อปลาบ้าง  พอข้าพเจ้าตื่นลุกจากที่นอนลงไปเข้าห้องน้ำชั้นล่างด้านหลังของกุฏิ  พระสมยศจะรีบขึ้นชั้นบนเก็บมุ้งและที่นอนของข้าพเจ้าไว้เรียบร้อย  เอาบาตรของข้าพเจ้ามาเตรียมไว้  ได้เวลาออกเดินบิณฑบาตเขาส่งบาตรให้ข้าพเจ้า  แล้วอุ้มบาตรของตัวเองเดินตามหลังในแถวข้าพเจ้าไป  ตอนค่ำลงเขาจะปูที่นอนและกางมุ้งที่นอนให้ข้าพเจ้า  ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน

          พระสมยศมีความขยันหมั่นเพียรในการเรียนมากกว่านักเรียนทุกองค์  เขาท่องหนังสือแบบเรียนนวโกวาทใกล้จะจบเล่มแล้ว  ภายหลังมีพระเก่าในวัดบางองค์แนะนำให้ท่องบทสวดมนต์ในหนังสือเจ็ดตำนานให้ได้มาก ๆ  เพื่อจะได้รับนิมนต์ไปสวดมนต์ตามงานต่าง ๆ อย่างพวกเขาบ้าง  ข้าพเจ้าเห็นเขาท่องสวดมนต์เจ็ดตำนานก็ถามเย้าหยอกเขาว่า  คิดจะหากินทางสวดมนต์เหรอ  เขาปฏิเสธ  จึงให้ข้อคิดแก่เขาว่า  บทสวดมนต์ไม่เหมาะแก่การเรียนนักธรรม  ท่องสวดมนต์ได้มากก็ไม่เป็นความรู้เรื่องพระธรรมวินัย  เหมาะสำหรับพวกศรัทธาจริตที่ยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตงมงายในเรื่องไสยศาสตร์  ไม่ใช่แนวทางพุทธ  ส่วนบทแบบเรียนนักธรรมเป็นตัวบทพระธรรมวินัยอันเป็นพุทธวจนะโดยตรง  เมื่อท่องจำตัวบทได้ตีความตัวบทแตกแล้วสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งยามเป็นพระและฆราวาส  เขาเชื่อฟังข้าพเจ้าแล้วหันมาท่องแบบเรียนอย่างจริงจังต่อไป/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มิถุนายน, 2566, 10:52:17 PM
(https://i.ibb.co/nfnKhkd/0dsc03941-1.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อบาง (พระครูประศาสน์พุทธิคุณ)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๘ -
          มีคดีทางการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยค้างคาจากเจ้าคณะจังหวัดองค์ก่อนรอการชำระอยู่ ๒ เรื่อง  ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่หนักหนาสาหัสมาก  กล่าวคือมีพระครูเจ้าคณะตำบลองค์หนึ่งถูกกล่าวหายักยอกฉ้อโกงทรัพย์  องค์หนึ่งเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะอำเภอถูกกล่าวหาเป็นปฐมปาราชิก  ทั้งสองท่านนี้ถูกพักตำแหน่งไว้ในระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง  คณะกรรมการสอบสวนกันอย่างยืดเยื้อยาวนาน  จนกรรมการบางองค์มรณภาพไปแล้วบ้าง  ลาสิกขาไปบ้าง  คดีทั้งสองท่านนั้นยังหาข้อยุติไม่ได้  ตำแน่งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอจึงว่างลงโดยปริยาย  ครั้นเปลี่ยนเจ้าคณะจังหวัดใหม่  พระอดีตเจ้าคณะตำบล  อดีตเจ้าคณะอำเภอ  จึงร้องเรียนขอให้รื้อฟื้นคดีใหม่  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกทนายความที่รับใช้งานอยู่คือ  ทนายกระจ่าง ลพเกิด (อดีตพระมหาเปรียญ ๕ ประโยค)  ทนายสันต์ (บุญมี) อัมพวะศิริ  ทนายบุญธรรม (พร) สุทธิประดิษฐ์  มาปรึกษาหารือทางด้านคดีความตามกฎหมายทางบ้านเมือง  พระครูสุขวโรทัย (ห้อม) รองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  พระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย  และข้าพเจ้า  ปรึกษาหารือในด้านพระธรรมวินัยและกฎหมาย (พรบ.) คณะสงฆ์  ด้วยหมายจะให้คคีนี้สิ้นสุดลงเสียที

          คดีแรกพระครูประศาสน์พุทธิคุณ (บาง) วัดคุ้งวารี ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก  ในขณะที่เกิดคดีท่านเป็นเจ้าคณะตำบลเมืองบางขลัง  ยามนั้นวัดคลองแห้งตั้งอยู่หมู่ ๑ ตำบลเมืองบางคลังที่ท่านปกครองดูแลอยู่มีสภาพทรุดโทรม  ท่านจึงเข้าไปบูรณะบำรุงดำเนินการก่อสร้างโรงอุโบสถขึ้น  ในการนี้ท่านได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อหาเงินมาเป็นทุนก่อสร้าง  ภายหลังเกิดการขัดแย้งกับเจ้าอาวาสจนถึงกับมีการฟ้องร้องกันขึ้น  เจ้าอาวาสกล่าวหาว่าท่านยักยอกเงินของวัดคลองแห้งไป   ทางเจ้าคณะจังหวัด (พระสวรรควรนายก) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและสั่งพักงานในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลของท่านไว้  คณะสงฆ์ที่เป็นกรรมการสอบท่านตัดสินให้ท่านเป็นฝ่ายผิด  ท่านไม่ยอมรับ  เรื่องคาราคาซังอยู่หลายปีจนเปลี่ยนเจ้าคณะจังหวัดองค์ใหม่  เจ้าอาวาสวัดคลองแห้งได้เข้าร้องเรียนเจ้าคณะจังหวัดองค์ใหม่ให้บังคับพระครูประศาสน์พุทธิคุณยอมรับผิด  เป็นคดีแรกที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกประชุมปรึกษาหารือกัน  พวกเราอ่านสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการชุดเก่าแล้ว  เห็นว่าการสอบสวนยังไม่รอบด้าน  มีจุดบกพร่องหลายอย่าง  คณะที่ปรึกษาจึงมอบหมายให้ข้าพเจ้าไปดำเนินการรวบรวมข้อมูลมาให้มากที่สุดเพื่อร่วมกันพิจารณาดำเนินการต่อไป

          ข้าพเจ้าเป็นพระเด็กไม่มีใครรู้จัก  ทนายสันต์บอกว่าเหมาะมาก  หากให้ไปสืบเสาะหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ที่วัดคลองแห้ง  การเดินทางไปวัดคลองแห้งสมัยนั้นเป็นเรื่องลำบากมาก  เพราะไม่ทีถนน  ไม่มีรถยนต์  ต้องเดินเท้าลัดทุ่งจากสวรรคโลกไปบางขลัง  ออกเดินทางแต่เที่ยงวันไปถึงวัดคลองแห้งจนเวลาใกล้ค่ำ  ที่วัดมีพระองค์เดียวคือองค์ที่เป็นเจ้าอาวาสกับสามเณรองค์หนึ่ง  เด็กวัดอีกสองสามคน  เจ้าอาวาสชื่อ ปทุม อายุ ๔๐ เศษ  เป็นคนผิวคล้ำร่างเตี้ยล่ำสันบึกบึน  ข้าพเจ้าบอกท่านว่ามาเที่ยวดูบ้านดูเมือง  ไม่พูดถึงเรื่องที่มาสืบหาข้อมูลเลย  คืนนั้นนอนในกุฏิว่างหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย

          รุ่งขึ้นหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว  ข้าพเจ้าไปเที่ยวเดินดูรอบ ๆ วัดและอุโบสถที่ยังสร้างไม่เสร็จ  กลับขึ้นกุฏิพบญาติโยมหลายคนมานั่งคุยอยู่กับพระอาจารย์ปทุม  จึงนั่งร่วมวงสนทนากับเขาด้วย  พูดเปรย ๆ ว่า  วัดนี้อาณาบริเวณกว้างขวางดีจังเลยนะ  เสียดายเสนาสนสงฆ์ดูทรุดโทรมคร่ำคร่าไปหน่อย  โยมผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า

           “ชาวบ้านที่นี่ฐานะยากจนครับ  ทำนาได้ข้าวไม่พอขาย  หาเงินสร้างวัดก็ยาก  ท่านก็เห็นแล้ว่าโบสถ์เราสร้างคาราคาซังไว้หลายปีแล้ว”

          พอโยมชายพูดอย่างนั้นก็เข้าทางข้าพเจ้าเลย   “อ้อ... ดูท่าโบสถ์หลังนี้หากสร้างเสร็จคงสวยงามมากเลยโยม”

          พระอาจารย์ปทุมกล่าวโพล่งขึ้นมาว่า   “ ถ้ามหาบาง (พระครูประศาสน์พุทธิคุณ) ไม่เชิดเงินไปป่านนี้ก็เสร็จไปแล้ว”

        ข้าพเจ้าแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องมาก่อน  “อ้าว...มหาบางเป็นใคร  มาเอาเงินวัดนี้ไปได้อย่างไรล่ะ”

        คราวนั้นทั้งพระอาจารย์ปทุมและโยมทั้งหลายก็กล่าวถึงเรื่องการสร้างโบสถ์คาราคาซังหลังนี้เป็นฉาก ๆ

          พระอาจารย์ปทุมนำเอกสารมาให้ดูมากมาย  ข้าพเจ้าก็ซักไซ้ไล่เลียงตั้งแต่ต้นที่พระครูประศาสน์พุทธิคุณเข้ามาเกี่ยวข้อง  เป็นประธานสร้างอุโบสถจนถึงจัดทำวัตถุมงคลเหรียญรูปของท่านให้ประชาชนเช่าบูชารวบรวมเงินเป็นทุนก่อสร้างโบสถ์  ครั้นเกิดความขัดแย้งกับสมภารและกรรมการวัด  ท่านไม่พอใจจึงนำวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นทั้งหมดไปไว้ที่วัดคุ้งวารีของท่าน  การสร้างโบสถ์ก็หยุดชะงักแต่นั้นมา  ได้ความอีกว่า  เงินลงทุนในการสร้างวัตถุมงคลนั้น  พระครูประศาสน์ฯ เป็นคนออกสำรองทั้งหมด  ข้าพเจ้ากล่าวกับพวกเขาว่าพระครูบางทำไม่ถูก  ขอเอกสารบางอย่างไปเป็นหลักฐานร้องเรียนเจ้าคณะจังหวัดต่อไป

          อยู่วัดคลองแห้ง ๔ วันเพื่อเก็บข้อมูลจากชาวบ้านจนเป็นที่พอใจแล้ว  ข้าพเจ้าก็กลับวัดราชธานี  นำเรื่องที่ได้ไปประสบพบมาและเอกสารบางอย่างมอบให้คณะที่ปรึกษาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  ทนายสันต์ชมว่าข้าพเจ้าทำงานได้รอบคอบรัดกุมดีมาก  แล้วเราก็ถกกันในประเด็นที่ว่า  พระครูประศาสน์ฯ นำวัตถุมงคลและเงินค่าวัตถุมงคลจากวัดคลองแห้งมาไว้วัดคุ้งวารี  ถือว่าท่านยักยอก  ฉ้อโกง  ขโมย  ชิงทรัพย์  เป็นอาบัติปาราชิกตามคำฟ้องหรือไม่  ข้อเท็จจริงที่ได้คือ  พระครูประศาสน์ฯ เป็นผู้ออกเงินทุนทำวัตถุมงคลเองทั้งหมด  เพียงแต่ใช้สถานที่และชื่อวัดคลองแห้งเท่านั้น  ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า  วัตถุมงคลและเงินที่ได้จากการเช่าซื้อวัตถุมงคลนั้น  ควรเป็นของพระครูประศาสน์ฯ โดยชอบธรรม  จึงไม่ควรปรับอาบัติปาราชิก

          หลังจากมีคำตัดสินออกมาว่าพระครูประศาสน์ฯ ไม่ผิด จึงมีคำสั่งให้กลับเข้าตำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลตามเดิม  ข้าพเจ้านำคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดไปมอบให้พระครูประศาสน์ฯ ที่วัดคุ้งวารี  และขอร้องให้ท่านกลับไปดำเนินการก่อสร้างอุโบสถวัดคลองแห้ง  นำวัตถุมงคลและเงินรายได้ทั้งหมดไปไว้ที่วัดคลองแห้ง  ท่านยอมทำตามคำขอของข้าพเจ้า  จึงเป็นที่พอใจของสมภารและคณะกรรมการวัดคลองแห้ง  เมื่อทั้งสองฝ่ายปรองดองกันได้แล้ว  งานนี้ก็เสร็จสิ้นไปด้วยดี/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, มิถุนายน, 2566, 10:53:35 PM
(https://i.ibb.co/YdjfH0N/174350-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖๙ -
          วันสารทไทยปีนั้น  ทางวัดราชธานีจัดให้มีเทศน์เรื่องมาลัยสูตรเทศนา ๓ ธรรมาสน์  โดย พระวัดราชธานี ๒ องค์คือ พระเจ้าอธิการบุญมี กับข้าพเจ้า  นิมนต์มาจากวัดคูหรสุวรรณ ๑ องค์  คือพระใบฎีการวง  ก่อนขึ้นธรรมาสน์เทศน์เราคุยตกลงกันว่า  เจ้าอธิการบุญมีรับตำแหน่งเป็นพระมาลัย  เพราะท่านมีอาวุโสสูงสุด  ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นพญายมราชและพระอินทร์  พระใบฎีการวงรับตำแหน่งเป็นพระศรีอาริย์โพธิสัตว์และกระทาชายที่ถวายดอกบัวแก่พระมาลัย  หลวงพี่พระครูสมุห์แถวเตือนข้าพเจ้าล่วงหน้าว่าอาจารย์บุญมีชอบเทศน์ข่มคู่เทศน์  ควรระวังไว้ให้ดี  ข้าพเจ้าจึงโน้ตย่อชื่อนรกขุมใหญ่และบริวาร  กับชื่อวสี ๕ ใส่กระดาษซ่อนในหลืบสังฆาฏิขึ้นไปบนธรรมาสน์ด้วย  เพราะจำชื่อได้ไม่แม่นยำนัก  เผื่ออาจารย์บุญมีถามก็จะตอบได้ถูกต้องทั้งหมด

          ตามปกติการเทศน์กลางคืนพระจะเริ่มขึ้นธรรมาสน์ตอนสองทุ่ม  แต่วันนั้นพวกเราขึ้นธรรมาสน์กันตั้งแต่เวลาทุ่มครึ่ง  โยมสุข พลาวงศ์  หัวหน้าทายกบอกว่าวันนี้มีคนมาฟังเทศน์มากและพร้อมเพรียงกันแล้ว  ขอนิมนต์พระเทศน์ขึ้นเทศน์ก่อนสองทุ่มเลยเถอะ  พวกเราก็ตามใจโยม  เมื่อหัวหน้าทายกจุดเทียนบูชาธรรม  และอาราธนาธรรมจบ  พระใบฎีการวงก็เริ่มเทศน์อานิสงส์หน้าธรรมาสน์  แล้วสมมุติตัวแสดงตามธรรมเนียม  เจ้าอธิการบุญมีผู้รับตำแหน่งพระมาลัยก็ดำเนินเรื่องตามประวัติพระมาลัยเถระ  ว่าจะลงไปโปรดสัตว์นรก  นำข่าวจากนรกขึ้นมาบอกเล่าให้ชาวโลกมนุษย์ทราบ  และขึ้นไปบนสวรรค์  นำข่าวจากสวรรค์ลงมาบอกชาวบ้าน  มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับพระโมคคัลาน์  วันนั้นพระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรก  และพบสนทนาธรรมกับพญายมราช

          ข้าพเจ้าผู้รับหน้าที่เป็นพญายมก็กล่าวทักทายตามธรรมเนียมว่า  ท่านเป็นใครมาจากไหน  มาทำไมในนรกนี้  ในบทปฏิสันถารคือการต้อนรับนี้  โดยปกติที่พระนักเทศน์รุ่นครูอาจารย์ท่านใช้เล่นกันเป็นที่สนุก  คือเมื่อพญายมถามดังกล่าวข้างต้น  พระมาลัยจะตอบว่าชื่อพระมาลัย  จะมาโปรดสัตว์นรก  พญายมจะร้อง  อ้อ.. นึกว่าจะมาให้ตัดสินคดี  แล้วก็หยอกล้อกันก่อนจะเข้าเรื่อง  แต่เทศน์วันนั้นพระอาจารย์บุญมีท่านทื่อเกินไป  ไม่มีลูกเล่นอะไรเลย  ข้าพเจ้าพยายามให้ท่านเล่นนอกเรื่อง  ท่านก็ไม่ยอม  มิหนำซ้ำยังว่าข้าพเจ้าเป็นนักเทศน์วิทยุอะไรไม่เข้าท่าเสียเลย  มาถามนอกเรื่องไม่สมภูมินักเทศน์วิทยุ  แล้วท่านก็พล่ามของท่านไปโดยไม่ยอมฟังเสียงข้าพเจ้า  จนโยมริ้วแม่ครัวของวัดทนไม่ได้  ลุกขึ้นไปยืนตรงหน้าบันไดธรรมาสน์ส่งเสียงตะโกนว่า  “หลวงตามีหยุดก่อน ๆๆ  ให้ท่านมหาองค์โน่นเทศน์บ้าง”  นั่นแหละท่านจึงหยุดพูด

          ข้าพเจ้าจึงรู้ละว่าพระอาจารย์บุญมีอยากเทศน์ทางวิทยุเหมือนข้าพเจ้าบ้าง  เมื่อถูกโยมริ้วห้ามอย่างนั้นท่านได้สติ  หันมาเข้าเรื่องถามว่า  นรกมีเท่าไร  อะไรบ้าง  ถามตามแบบเรียนนักธรรมเลย  ข้าพเจ้าจึงตอบว่า  ตั้งใจจะมาถามเพียงเท่านี้เอง  ไม่คิดจะสนทนาปราศรัยอะไรกับโยมบ้างเลยหรือ  เอาเถอะไม่คุยก็ไม่เป็นไร  ฟังและจำไว้ให้ดีนะครับพระคุณเจ้า  นรกในปกครองดูแลของโยมน่ะ  ที่จัดเป็นขุมใหญ่มีทั้งหมด ๘ ขุม  มีบริวารขุมละ ๔  รวมเป็น ๑๖ ขุม  จะเอาชื่อนรกทั้งหมดก็ได้  โยมจะบอกให้ดังต่อไปนี้    นรกขุมใหญ่ คือ ๑. สัญชีวะ แปลว่า คืนชีวิตขึ้นเอง คือ สัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่  แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมาเองอีก  รับการทรมานอยู่ร่ำไป   ๒. กาฬสุตตะ แปลว่า เส้นดำ คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกขีดเป็นเส้นดำที่ร่างกาย เหมือนอย่างตีเส้นที่ต้นซุงเพื่อจะเลื่อย แล้วถูกผ่าด้วยขวานเป็น ๘ เสี่ยง ๑๖ เสี่ยง. ๓. สังฆาฏะ แปลว่า กระทบกัน  คือ มีภูเขาเหล็กคราวละ ๒ ลูก จากทิศที่ตรงกันข้าม เลื่อนเข้ามากระทบกันเอง บดสัตว์นรกให้ร่างแหลกละเอียดจาก ๔ ทิศ ก็เป็นภูเขา ๔ ลูกเลื่อนเข้ามากระทบกันตลอดเวลา, ๔. โรรุวะ แปลว่า ร้องครวญคราง คือ มีเปลวไฟเข้าไปทางทวารทั้ง ๙ เผาไหม้ในสรีระ จึงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ (ชาลโรรุวะ) บางพวกถูกหมอกควันด่าง (กรด) เข้าไปละลายสรีระ จนละเอียดเหมือนแป้ง จึงร้องครวญครางเพราะหมอกควัน (ธูมโรรุวะ), ๕. มหาโรรุวะ แปลว่า ร้องครวญครางมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าขุม ๔, ๖. ตาปนะ แปลว่า ร้อน ได้แก่ให้นั่งเสียบตรึงไว้ด้วยหลาวเหล็กบนแผ่นดินเหล็กแดงลุกเป็นไฟร้อนแรง บ้างก็ถูกต้อนขึ้นไปบนภูเขาเหล็กแดงเป็นไฟลุกโพลง ถูกพัดตกลงมาถูกเสียบด้วยหลาวเหล็กที่โผล่ขึ้นมาจากแผ่นดินเหล็กแดง, ๗. ปตาปนะ แปลว่า ร้อนสูงมาก คือ เป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าตาปนะ ๘. อวีจิ แปลว่า ไม่มีระหว่าง คือ ไม่เว้นว่าง บางทีเรียก มหาอวีจิ แปลว่า อเวจีใหญ่ เปลวไฟนรกในนรกขุมนี้ลุกโพลงเต็มทั่วไปหมด ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง สัตว์นรกในขุมนี้ก็แน่นขนัดเหมือนยัดทะนาน ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง แต่ก็ไม่เบียดเสียดกันอย่างวัตถุ ต่างถูกไฟไหม้อยู่ที่เฉพาะตนๆ และความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกขุมนี้ ก็บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง ฉะนั้น จึงเรียกว่า อวีจิ หรือ อเวจี ซึ่งมีคำแปลดังกล่าว เครื่องทรมานในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ มีเหล็ก เช่น พื้นแผ่นดินเหล็กและเครื่องอาวุธเหล็กต่างๆ มีไฟ คือ เหล็กนั่นแหละลุกเป็นไฟร้อนแรง มีภูเขาเหล็กที่กลิ้งมาบด และมีหมอกควันชนิดเป็นกรด หรือด่าง ในขุมนรกที่ ๑ และที่ ๒ มีนายนิรยบาล หรือยมบาล คือ ผู้รักษานรก เป็นผู้ทำการทรมานสัตว์นรกแต่นรกขุมที่ลึกลงไปกว่านั้น ในอรรถกถาสังกิจจชาดก กล่าวว่าไฟ เหล็ก  เช่น เครื่องอาวุธต่าง ๆ เป็นต้น บังเกิดขึ้นทรมานสัตว์นรกเอง

          นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม  มีนรกเล็กบริวารใน ๔ ด้าน  ด้านละ ๔ ขุม เป็น ๑๖ ขุม  รวมนรกบริวารของนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม ได้ ๑๒๘ ขุม  รวมนรกใหญ่อีก ๘ ขุมเป็น ๑๓๖ ขุม  นรกบริวารเหล่านี้มีชื่อบอกไว้ชัดเจนทุกขุม  โยมขออนุญาตไม่บอกชื่อทั้งหมดให้เยิ่นเย้อยืดยาวไปหรอกนะ  ขอให้พระคุณเจ้าจดจำชื่อแต่ขุมใหญ่ ๆ นำไปบอกชาวโลกให้รู้ไว้  เตือนพวกเขาว่าอย่าทำบาปจนตกลงมาอยู่ในนรกเหล่านี้เลย  เอาละ  นิมนต์พระคุณเจ้ากลับขึ้นไปเมืองมนุษย์เถิดขอรับ  ข้าพเจ้าหมดสนุกก็เลยไล่พระอาจารย์บุญมีกลับไป  ท่านก็เดินเรื่องกลับมนุษยโลก  นำข่าวจากเมืองนรกขึ้นมาบอกแก่ชาวมนุษย์แล้วจะขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อไปตามเรื่องนี้

          พระอาจารย์บุญมีดำเนินเรื่องขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ระหว่างทางพบกระทาชายผู้ยากจนเที่ยวเก็บดอกบัวไปขาย  รู้ว่าพระมาลัยจะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  จึงฝากดอกบัวขึ้นไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในพระจุฬามณีเจดีย์ด้วย  ตอนนี้ข้าพเจ้ามารับหน้าที่เป็นพระอินทร์  ครั้นพระมาลัยขึ้นไปพบพระอินทร์จึงทำการปฏิสันถารเช่นเดียวกับพญายมราชที่ต้อนรับพระมาลัย  นิมนต์ให้พระเถระนั่งแล้ว  กล่าวว่า

           “ตั้งแต่โยมเป็นพระอินทร์สืบต่อจากสมพรเทพบุตรเป็นต้นมา  เคยมีพระเถระขึ้นมาที่นี่องค์แรกคือพระมหาโมคคัลลานเถระ  องค์ที่สองก็คือพระคุณเจ้านี้และ  ขอเรียนถามว่าพระคุณเจ้าขึ้นมาได้อย่างไร“

          อาจารย์บุญมีได้ฟังคำถามแล้วนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง  จึงถามย้ำว่า  ตอบโยมได้ไหมว่าพระคุณเจ้าขึ้นมาได้อย่างไร  สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ไกลจากโลกมนุษย์มากนะ  พระคุณเจ้าต้องผ่านสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาขึ้นมาไกลโขเลยเชียว

          ท่านตอบไม่ค่อยเต็มเสียงว่า   “อาตมาเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสแล้วก็เหาะเหินเดินอากาศขึ้นมาบนสวรรค์ได้นะมหาบพิตร”

          อ้อ  อย่างนั้นเหรอ  พระสารีบุตร  พระโกณฑัญญะ  พระมหากัสสปะ  พระอุบาลี  พระอานนนท์  พระอสีติมหาสาวกทั้งหลายนั้นเป็นพระอรหันต์ไหม”

          ข้าพเจ้าถามลองเชิง  ท่านก็ตอบว่า  ล้วนเป็นพระอรหันต์  จึงถามแบบรุกฆาตว่า

           “แล้วทำไมพระอรหันต์เหล่านั้นจึงไม่เห็นขึ้นมาบนสวรรค์ของโยมเลย  ก็มีแต่พระมหาโมคคาลานะกับพระคุณเจ้าเท่านั้นเอง  พระคุณเจ้าขึ้นมาได้ด้วยอะไรกันแน่”

          ถูกคำถามนี้เข้า  ท่านนั่งนิ่งงัน  ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าท่านตอบไม่ได้จึงสำทับไปว่า

           “จนแต้มแล้วใช่ไหมอาจารย์  อย่างนี้ภาษาหมากรุกของโยมน้อยเรียกว่า  จนกลางกระดาน” (ข้าพเจ้ากล่าวหยอกเย้าโดยพาดพิงคนช่วยงานวัดที่ชื่อน้อย  ว่างงานก็นั่งเฝ้ากระดานหมากรุก)  คนฟังที่รู้ความนัยก็หัวเราะกันคิกคัก

          ครั้นท่านไม่ตอบข้าพเจ้าก็ถือโอกาสสำทับให้รู้จักหลาบจำว่า  “เป็นนักเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา  ไม่ควรคิดเอาชนะคะคานคู่เทศน์  ที่ควรคือมุ่งถามตอบกันให้ได้ความถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นสำคัญ  อันที่จริงผมไม่ได้ตั้งใจถามให้อาจารย์จนคำตอบ  คำถามนี้เป็นแบบเรียนนักธรรม  อาจารย์เรียนผ่านมาแล้วคงจะลืม  ไม่เป็นไรนะ  ผมจะเฉลยเอง  คือ  พระที่จะเข้าฌานแล้วขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้นั้น  จะต้องชำนาญในวสี ๕ ประการ คือ  “๑. อาวัชชนวสี ความชำนาญในการนึกถึงปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา  ๒. สมาปัชชนวสี ความชำนาญในการเข้าฌาน คือให้ฌานจิตเกิดได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา  ๓. อธิษฐานวสี ความชำนาญในการให้ฌานจิตเกิดดับสืบต่อนานมากน้อย ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา  ๔. วุฎฐานวสี ความชำนาญในการออกจากฌานได้ ณ สถานที่ และขณะตามที่ปรารถนา  ๕. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญในการนึกถึงองค์ฌานแต่ละองค์ได้ ณ สถานที่และขณะ ตามที่ปรารถนา”  พระอรหันต์องค์ใดได้ฌานและชำนาญในวสี ๕ ประการนี้ย่อมสามารถขึ้นสวรรค์ดาวดึงส์ได้ ดังเช่นพระมหาโมคคัลลานะ และพระมาลัย

          เมื่อสำทับพระอาจารย์บุญมีแล้วก็แก้เก้อให้ท่านว่า

           “เอาละ  โยมไม่กล่าวอะไรมากกว่านี้ดอก  โน่นพระศรีอาริย์โพธิสัตว์ลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว  นิมนต์พระคุณเจ้าสนทนากับท่านตามสบายเถิด”

          จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพระใบฎีการวงในตำแหน่งพระศรีอาริย์สนทนากับพระมาลัย  ฝากพระมาลัยให้บอกแก่ชาวมนุษย์ว่าหากอยากเกิดทันศาสนาพระศรีอาริยเมตไตยขอให้หมั่นทำบุญกุศลสั่งสมไว้  และให้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์ ๑ พันคาถา ให้จบในวันเดียว  พระมาลัยก็รับปากพระศรีอาริย์โพธิสัตว์แล้วลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นำข่าวมาบอกลาวมนุษยโลก

          หลังจบการเทศน์วันนั้น  พระใบฎีการวงไปเที่ยวคุยกับเพื่อนพระทั่วไปว่า “ท่านนันท์เทศน์เก่งมากจำแบบแม่นยำ  นรกขุมใหญ่ขุมเล็กมีเท่าไรบอกชื่อได้หมด  และที่ร้ายกว่านั้นยังถามต้อนอาจารย์บุญมีจนคำตอบคาธรรมาสน์เลย”  ข้าพเจ้าจึงกลายเป็นพระนักเทศน์ที่น่าเกรงขามในการเทศน์คู่เพราะข่าวการถามไล่อาจารย์บุญมีจนคำตอบคาธรรมาสน์นั่นเอง  พระองค์นี้ปกติเป็นคนแม่นแบบ  ชอบถามให้คู่เทศน์จนมาเสียนักต่อนักแล้ว  ขนาดพระมหาแปดประโยคท่านยังถามเสียจนลงธรรมาสน์หนีไปเลย /๑๖๙

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มิถุนายน, 2566, 10:57:45 PM
(https://i.ibb.co/Yc4QMhm/03-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๐ -
          มีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง  ถ้าท่านอ่านคำให้การของข้าพเจ้านี้มาทั้งแต่ต้นจนมาถึงตอนที่ข้าพเจ้าจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาพักอยู่วัดเสมอแครงอำเภอวังทอง  คงจำได้ว่า  พวกสาว ๆ ชาววังทองปรามาสข้าพเจ้าว่าจะต้อง  “เอาบาตรมาทิ้งที่วังทอง”  สาเหตุหนึ่งที่พวกเธอเชื่ออย่างนั้นเพราะเคยเดินลอดซุ้มต้นมะขามใหญ่ริมแม่น้ำวังทอง  ข้าพเจ้าไม่เชื่อ  จึงพาเพื่อน ๆ สี่องค์ไปจับมือกันเป็นวงโอบรอบลำต้นมะขามใหญ่นั้น  เรื่องนี้ข้าพเจ้าลืมไปแล้วเพราะมีงานให้ทำที่สุโขทัยมากไปนั่นเอง

          กลางพรรษาปีนั้น  ครูน้อย  ครูน้ำค้าง  จากวังทองไปเยี่ยมเยียนข้าพเจ้าที่วัดราชธานี  แจ้งข่าวร้ายสำหรับชาววังทองให้ข้าพเจ้าทราบพร้อมกล่าวโทษพวกข้าพเจ้า คือกล่าวหาว่าไปโอบรอบต้นมะขามใหญ่เมื่อปีที่แล้ว  เป็นเหตุให้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์สำคัญของชาวบ้านวังทองล้มลงไปแล้ว

          ซักถามเธอก็ได้ความว่า

           “เมื่อก่อนวันสารทนี้มีฝนตกใหญ่  ลมพายุพัดแรงต้นมะขามใหญ่ทนแรงลมไม่ไหวจึงโค่นล้มลง  ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านวังทองหลายคนพากันร้องห่มร้องไห้ด้วยความเสียดาย  บางคนก็กล่าวโทษหลวงพี่กับเพื่อนที่ไปโอบรอบต้นมะขาม  ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมไปจนต้านลมฝนไม่ได้เหมือนก่อน  ไม้ต้นนี้อยู่มานานเป็นร้อยปีไม่เคยเป็นไร  พอหลวงพี่กับเพื่อน ๆ ไปโอบรอบแล้วจึงมีอันเป็นไป”

          ฟังเธอบอกเล่าแล้วก็อึ้งอยู่

           “หลวงพี่คงดีใจละซี  ที่ไม่ต้องเอาบาตรไปทิ้งที่วังทอง  เพราะต้นมะขามใหญ่ล้มลงไปแล้ว”  ครูน้อยเธอว่างั้น

           “เรื่องนี้โทษหลวงพี่ไม่ได้หรอกนะ  ต้องโทษลมฝนนั่นแหละจ้ะ”  ข้าเจ้าตอบแบบไม่เต็มเสียง

           “หนูก็เชื่อว่า  หลวงพี่นี่แหละคือตัวการณ์ที่ทำให้ต้นมะขามใหญ่ของเราล้มลง”  ครูน้ำค้างเสริมครูน้อยอีกเสียงหนึ่ง

           “แล้วหลวงพ่อพันธ์ว่าไงล่ะ”  ข้าพเจ้าถามถึงพระครูประพันธ์ศีลคุณเพื่อเบี่ยงประเด็น

           “หลวงพ่อท่านให้คนตัดรากตัดกิ่งมะขามไปไว้ที่วัด  ส่วนต้นใหญ่ยังไม่เห็นมีใครจัดการอย่างไร”  ครูน้อยตอบอู้อี้

           “อ้อ  งั้นก็ดีแล้ว  กลับไปนี่น้อยไปหาหลวงพ่อพันธ์ขอรากมะขามมาให้หลวงพี่บ้างนะ”  ข้าพเจ้าคิดว่าหลวงพ่อพันธ์คงเอารากและกิ่งมะขามไปทำอะไรทางสายไสยศาสตร์เป็นแน่  จึงคิดว่าจะขอรากมะขามมาแกะทำเป็นปลัดขิกบ้าง  แต่ไม่ยอมบอกพวกเธอว่าจะเอารากมะขามใหญ่มาทำอะไร

          # ในช่วงเวลานั้นปรากฏว่าพระสมภารเจ้าวัดต่าง ๆ หลายวัดไปมาหาสู่กับข้าพเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างเช่นหลวงพี่มหาประคอง วัดคลองกระจง  หลวงพี่มหาธวัธ วัดตระพังทอง  หลวงพี่พระครูใบฎีกาประคอง วัดกำแพงงาม (บ้านกล้วย)  เฉพาะมหาประคองกับมหาธวัชนั้น  ข้าพเจ้าดูทางออกว่าท่านอยากจะขอร่วมเทศน์ในรายการวิทยุของข้าพเจ้า  เพียงแต่ท่านยังไม่กล้าพูดขอเท่านั้นเอง  แต่ถ้าพูดขอข้าพเจ้าก็จะบ่ายเบี่ยงเสีย  เพราะรู้แนวทางเทศน์ของท่านแล้ว  เห็นว่าไม่เหมาะที่จะเทศน์ในกำหนดเวลาที่จำกัดได้  เพราะท่านเป็นนักเทศน์ประเภท  “ไม่รู้เวลา”  เช่นเดียวกันกับเจ้าอธิการบุญมีนั่นแหละ  การเทศน์ทางวิทยุนั้นต้องตั้งกำหนดเวลา  คือไม่เทศน์เกินเวลาที่กำหนด  พระบางองค์เทศน์ตามใจชอบ  พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง  คือมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ  หรือที่เรียกว่า “ไร้สาระ” นั้นเอง  ดังที่มีเรื่องเล่าว่า

           “มีพระองค์หนึ่งเป็นนักเทศน์ประเภท  ไม่รู้เวลา  ท่านเป็นพระที่มีความรู้มาก  ท่องจำแบบธรรมะได้แม่นยำจนสามารถนำไปเทศน์ปากเปล่าได้โดยไม่ต้องอ่านคัมภีร์  วันหนึ่งรับนิมนต์เทศน์ในงานศพ  ซึ่งเขามีกำหนดการว่าจะต้องเผาศพในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง  พระองค์นั้นเริ่มเทศน์ตั้งแต่เวลาบ่ายโมง  เวลาเทศน์ท่านนั่งหลับตาเพื่อให้มีสมาธิในการนำคำและความที่จำมาเทศน์นั้น  การหลับตาเทศน์เป็นโทษของนักเทศน์ที่ร้ายแรง  นักเทศน์ที่ดีต้องลืมตามองดูผู้ฟังโดยรอบ  ให้รู้อากัปกิริยาผู้ฟังว่าพอใจไม่พอใจอย่างไร  ถ้าเห็นว่าคนฟังพอใจก็ว่าเรื่อยไป  หากเห็นว่าคนฟังไม่พอใจ  จะเปลี่ยนแนวเทศน์หรือ  “เอวัง”  คือจบการเทศน์ก็แล้วแต่จะตัดสินใจ

          วันนั้นพระเทศน์ท่านหลับตาว่าไปตามใจชอบ  จนเวลาบ่าย ๓ โมงแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ  เจ้าภาพกระซิบปรึกษากันแล้วตกลงให้ยกศพออกจากศาลาไปตั้งที่เชิงตะกอนเรียบร้อย  แล้วให้เด็กไปเคาะเสาศาลาดัง ๆ  ท่านลืมตาขึ้นมองไม่เห็นคนฟังเลยสักคนจึงรู้สึกตัว  กระแอมเสียงแล้วพูดว่า   “แหม..โยมคนสุดท้ายจะไปแล้ว  ส่งเสียงกระแอมสักคำก็ไม่ได้”

          เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่นักเทศน์รุ่นครูบาอาจารย์นำมาสอนพระรุ่นน้อง ๆ ให้จำไว้ว่า  “เป็นนักเทศน์ต้องรู้เวลา”  ให้ถือคำนี้เป็นจรรยาบรรณของนักเทศน์นักพูดเลยทีเดียว  อาจารย์ของข้าพเจ้าย้ำเสมอว่า  พระธรรมกถึก คือ ผู้กล่าวสอนธรรม ผู้แสดงธรรม นักเทศน์ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการคือ

          ๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ   ๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ   ๓ ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง   ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ   ๕ ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น   การเทศน์หรือการสอนนั้นให้ใช้รูปแบบการสอนครบทั้ง ๔ ประการได้แก่

          ๑. สันทัสสนา คือ การอธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง   ๒. สมาทปนา คือ การชักจูงใจให้เห็นจริง   ๓. สมุตเตชนา คือ การเร้าใจให้แกล้วกล้าบังเกิดกำลังใจ   ๔ สัมปหังสนา คือ การชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง   แบบที่ ๔. นี้ พระนักเทศน์นิยมใช้มากกว่าแบบอื่น  เพราะง่ายกว่าแบบที่ ๑-๓ ที่ต้องใช้ศิลปะในการพูด  ส่วนแบบที่ ๔ นี้จะใช้นิทานตลก  คำพูดเป็นมุขตลก  ให้คนฟังขำขันสนุกสนานรื่นเริง  เช่นเรื่องที่เล่าว่า  พระนั่งหลับตาเทศน์นั้นแล/๑๗๐

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มิถุนายน, 2566, 10:50:03 PM
(https://i.ibb.co/cyLZWDH/562000010193401-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๑ -
          วันสารทไทยผ่านพ้นไปแล้ว  วัดราชธานีมีงานใหญ่ใกล้จะถึงงานหนึ่งคือเทโวโรหณะ  ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการจัดงานของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  ค่ำวันหนึ่งจึงพร้อมด้วยพระครูสมุห์แถวเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัด  เข้าไปนั่งปรึกษาหารือกับหลวงพ่อเจ้าคุณในการที่จะจัดงานเทโวฯ  ข้าพเจ้าขอให้เปลี่ยนรูปแบบการแห่น้ำแห่บกที่เคยทำมาเสียเถิดเพราะเกิดประโยชน์น้อยนัก  หลวงพ่อเจ้าคุณถามว่า

           “แกจะให้ทำอย่างไรลองว่ามาซิ”

          ข้าพเจ้าก็กล่าวถึงรูปแบบวิธีการที่คิดไว้ว่า  ขบวนแห่ยังคงมีเหมือนเดิม  แต่เปลี่ยนมาจัดขบวนแห่กันในตลาดเมืองสุโขทัย  โดยขอเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชายหญิงจากโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม  โรงเรียนอุดมดรุณี  วิทยาลัยอาชีวะ  แต่งตัวเป็นเทพบุตรเทพธิดา  และเนรยิกสัตว์  เดินเป็นขบวนตามถนนสายสำคัญในตลาดธานี  ให้ชาวบ้านเห็นภาพมนุษย์สวรรค์และนรกตามตำนาน  “พระเจ้าเปิดโลก” ในวันเทโวฯ  หลังขบวนแห่ก็เป็นพระภิกษุสามเณรอุ้มบาตรเดินรับบิณฑบาต  ของที่ใส่บาตรให้งดอาหารคาวหวานเสีย  ประกาศให้ประชาลนนำข้าวสารอาหารแห้งและผลไม้มาใส่บาตรกัน  ส่วนอาหารคาวหวานที่ทำบุญกันตามปกตินั้น  ให้นำสำหรับกับข้าวขึ้นศาลาการเปรียญ  เมื่อกล่าวโครงงานดังนั้น  หลวงพ่อเจ้าคุณค้านว่า

           “ข้าไม่เห็นด้วย  เพราะการแห่น้ำแห่บกเป็นประเพณีเก่าที่ทำกันมานานแล้ว”

          จึงเรียนถามท่านว่า  “ประเพณีนี้ใครเป็นคนคิดทำขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร”

          ท่านก็ว่า  “ข้าคิดทำมานานกว่าสามสิบปีแล้ว”

          จึงถามท่านอีกว่า  “ตามตำนานกล่าวว่า  วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่ประตูเมืองสังกัสสนครนั้น  ชาวเมืองถวายการต้อนรับพระพุทธองค์ด้วยการจัดขบวนแห่ทางน้ำทางบกหรือครับ”

          ท่านนิ่งอึ้งไปครู่หนึ่งแล้วตอบว่า  “ไม่มี”

          จึงกล่าวต่อความอีกว่า  “ประเพณีแห่น้ำแห่บกของหลวงพ่อเป็นการทำผิดตำนาน  หลวงพ่อคิดทำขึ้นเองก็ควรจะแก้ไขเองนะครับ”

          ท่านหันไปถามพระครูสมุห์แถวว่า  “พระครูแถวว่าไงล่ะ”

          พระครูสมุห์แถวก็ตอบว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของข้าพเจ้า  ท่านจึงตกลงให้เปลี่ยนรูปแบบตามทีเสนอไป  และมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด  ด้วยเกรงว่าท่านจะเปลี่ยนใจจึงขอให้ท่านเขียนคำมอบอำนาจให้ข้าพเจ้าจัดงานเทโวฯ แทนท่าน  โดยมีพระครูสมุห์แถวลงชื่อเป็นพยาน

          ที่เกรงว่าท่านจะเปลี่ยนใจก็เพราะมีแผนจะเชิญข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัดสุโขทัย  อันมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกรมการจังหวัดเข้ามาร่วมเป็นกรรมการจัดงานนี้  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านไม่ชอบข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัด  โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด  เพราะเคยทะเลาะกันถึงขั้นฟ้องร้องถึงขั้นโรงศาลมาแล้ว  และบาดหมางกันเรื่อยมา  แม้จะเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งไปหลายคนแล้วก็ตามทีเถิด

          ปีนั้น  พ่อเมืองเชื่อม ศิริสนธิ  เกษียณอายุราชการแล้วทางการได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่มาแทน ชื่อ  สมาส อมาตยกุล  แต่ปลัดจังหวัดยังเป็นคนเดิม  คือ(มหา) สุธรรม วงศ์โดยหวัง  ข้าพเจ้าพอจะคุ้นเคยกับท่านปลัดสุธรรมอยู่แล้ว  จึงไปปรึกษาเรื่องการจัดงานเทโวฯ กับท่านที่บ้านพัก  เล่าความให้ท่านฟังแล้วท่านเห็นด้วย  จึงร่างแผนงานขึ้นโดยให้งานนี้เป็นใหญ่ของจังหวัด  คณะกรรมการจัดงานมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  ปลัดจังหวัดเป็นรองประธาน  กรมการจังหวัดทุกหน่วยงาน  นายอำเภอเมือง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม อุดมดรุณี อาชีวะเป็นกรรมการ  เมื่อร่างแผนงานขึ้นแล้วก็ทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ  ในนามผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย

          เมื่อเป็นคำสั่งแต่งตั้งของผู้ว่าราชการจังหวัด  กรรมการทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งมอบหมายให้   ปลัดสุธรรมจึงเรียกประชุมคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้งร่วมกับกรรมการวัดที่ศาลาการเปรียญวัดราชธานี  ข้าพเจ้ากล่าวความเป็นมาของวันเทโวโรหณะตามตำนาน (เพราะไม่มีในพระสูตร) ที่มีอยู่ในปกรณ์พระอภิธรรมว่า  ในพรรษาที่ ๗ หลังการตรัสรู้นั้น  พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปประทับจำพรรษา ณ ดาวดึงส์สวรรค์เพื่อโปรดพระพุทธมารดา (สันตุสิตเทพบุตร) แสดงพระอภิธรรมเป็นเวลา ๓ เดือน  พระพุทธมารดาได้บรรลุพระโสดาบัน  เป็นการแทนคุณค่าน้ำนมได้หมดสิ้นแล้ว  ถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑  เสด็จจากดาวดึงส์ลงสู่มนุษยโลก ณ ประตูเมืองสังกัสส์ แขวงพาราณสี  มีพระและประชาชนไปรอเฝ้ารับเสด็จอยู่อย่างเนืองแน่น  พระพุทธองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์  “เปิดโลก”  ให้มนุษย์ สวรรค์ นรก ได้แลเห็นกัน  นี้เป็นที่มาของ โวโรหณะ

          วันเทโวฯ นี้วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมักจัดงานเป็นที่ระลึกกันจนเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทย  สำหรับจังหวัดสุโขทัยเรานี้  วัดราชธานีจัดงานเป็นประจำทุกปี  ด้วยการจัดขบวนแห่ทางบกทางน้ำดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น  มาถึงปีนี้จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดขบวนแห่เสียใหม่โดยยกเลิกการแห่ทางบกทางน้ำ  มาแห่ขบวนกันทางบกในเมือง  รูปขบวนแห่นั้นจะขอใช้นักเรียนระดับมัธยมแต่งตัวเป็นเทพบุตร  เทพธิดา  เหมือนเทวดานางฟ้าจากสวรรค์  แวดล้อมลงมาส่งพระพุทธองค์  พร้อมกันนั้นก็ให้อีกหมู่หนึ่งแต่งกายเป็นเปรต  สัตว์นรก  แสดงภาพสัตว์นรกที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดให้เห็น  เรื่องนี้ต้องขอความร่วมมือจากท่านอาจารย์ใหญ่รับจัดตกแต่งขบวนตามที่เห็นสมควร  เมือกล่าวความเป็นมาของวันเทโวฯ และรูปแบบการจัดงานแล้ว  ก็มีการแบ่งหน้าที่กัน  รร.สุโขทัยวิทยาคมให้แต่งเป็นเทพบุตร  รร.อุดมดรุณีให้แต่งเป็นเทพธิดา  รร.อาชีวะฯให้แต่งเป็นเปรตรูปสัตว์ต่าง ๆ  ให้แต่ละโรงเรียนไปคิดแบบการแต่งกายตามที่เห็นสมควร

          เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ยังไม่ทันที่ประธานจะกล่าวปิดประชุม  กรรมการวัดบางคนกล่าวถามขึ้นมาว่า

           “ทางวัดจะปิดถนนราชธานีที่ผ่านวัด  เก็บค่าผ่านประตูเข้าชมงานนี้ได้ไหม”

          ท่านปลัดสุธรรมตอบว่า  ถนนเป็นของวัดทางวัดย่อมมีสิทธิ์ปิดได้อยู่แล้ว  คำตอบนี้เองที่สร้างความปวดเศียรเวียนหัวแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก  เหตุเพราะว่า  โรงลิเกในตลาดวัดที่เคยให้ประมูลปิดวิกกันมาทุกปีนั้น  ปีนี้ก็ได้ผู้ประมูลและทำสัญญากันไปแล้ว  ถ้าทางวัดปิดถนนเก็บค่าผ่านประตู  ทางคณะลิเกเขาไม่ยอมแน่นอน  ทางกรรมการวัดขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เจรจาบอกเลิกสัญญาเช่า  เปลี่ยนเป็นทางวัดว่าจ้างลิเกมาแสดงไม่ปิดวิก  หัวหน้าคณะยอมแล้วแต่หุ่นส่วนเขาไม่ยอ ม ตั้งเงื่อนไขว่า  ถ้าจ้างคณะนั้นมาแสดง  ก็ต้องจ้างเขามาแสดงอีกคณะหนึ่ง  กรรมการวัดอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าลิเกสองคณะที่วัดจะจ้างนั้นเป็นลิเกไม่ดัง  เรียกคนเข้าวัดไม่ได้  ขอให้เอาลิเกที่กำลังดังมากคือ  คณะถวัลย์ถาวร มาแสดงดีกว่า  เราถกเถียงกันอยู่เป็นนาน  ผลสุดท้ายก็ต้องว่าจ้างลิเกมาแสดงประชันกันถึง ๓ คณะเลยทีเดียว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มิถุนายน, 2566, 10:42:55 PM
(https://i.ibb.co/47v58Hr/ebedb0aa8b4-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๒ -
          ขณะที่ข้าพเจ้ามัวยุ่งอยู่กับการจัดงานเทโวฯ นั้น  มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไม่น่าจะเกิด  คือพระสมยศ “ศิษย์ก้นกุฏิ” ของข้าพเจ้า  อยู่ ๆ ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย  เช้าวันนั้นเขาไม่ได้ถือบาตรมาคอยส่งให้ข้าพเจ้าแล้วออกเดินบิณฑบาตไปด้วยกัน  หากแต่เอาบาตรตั้งวางไว้บนโต๊ะข้างประตู  ซึ่งเขาเคยทำในบางวันที่เขาจะเดินบิณฑบาตไปกับหมู่พระเพื่อนอีกสายหนึ่ง  โดยปกติพระวัดราชธานีจะเดินรับบิณฑบาตเป็น ๔ สาย  คือสายเหนือเดินออกทางประตูเหนือไปตามถนนราชธานีเลียบริมแม่น้ำยมไปถึงโรงสีแล้วเลี้ยวขวาเข้าตลาดวนกลับเข้าวัด  อีกสายหนึ่งออกทางประตูเหนือเช่นกัน  แต่พ้นประตูแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนถึงวงเวียนหอนาฬิกาแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนจรดวิถีถ่อง  ถึงหน้าสำนักงานเทศบาลแล้วเลี้ยวขวากลับ  อีกสายหนึ่งออกทางประตูทิศใต้ไปตามถนนจรดวิถีถ่อง  ถึงวงเวียนหอนาฬิกาเลี้ยวขวาไปตามถนนสิงหวัฒน์เลยโค้งอินทรีย์แล้วเลี้ยวกลับ  สายสุดท้ายออกทางประตูทิศใต้ข้ามถนนจรดวิถีถ่องไปตามถนนนิกรเกษมเลียบลำน้ำแม่ยม  เดินไปถึงหน้าบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วเลี้ยวกลับ  พวกเราจะเดินเรียงแถวตามระบบอาวุโสเป็นระเบียบเรียบร้อย

          พระเณรจะเดินหนรับบิณฑบาตไม่ประจำทางเสมอไป  ด้วยบางองค์มีความคิดว่าจะโปรดญาติโยมให้ทั่วถึงจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินบ่อย ๆ  ข้าพเจ้าเองก็เคยเปลี่ยนเส้นทางตามความคิดนั้น  แต่จะเดินสายถนนนิกรเกษมมากกว่าทุกสาย  เพราะเดินสบายและไม่ไกลนัก  วันนั้นคิดว่าพระสมยศคงจะเดินสายถนนสิงหวัฒน์  ส่วนข้าพเจ้าเดินสายถนนนิกรเกษม  กลับจากบิณฑบาตขึ้นไปชั้นบนกุฏิ  เห็นมุ้งข้าพเจ้ายังกางอยู่ก็นึกแปลกใจว่าทำไมพระสมยศไม่เก็บที่นอนหมอนมุ้งข้าพเจ้าอย่างที่เคยทำ  ลงไปดูที่หอฉันก็ไม่เห็นเขามาร่วมฉันข้าวตามปกติ  ถามใคร ๆ ก็บอกว่าไม่รู้ไม่เห็น  ขึ้นไปหาดูบนคณะศาลาการเปรียญก็ไม่พบ  ถามใคร ๆ ก็บอกไม่รู่ไม่เห็น  ฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วข้าพเจ้าก็ให้พระเณรออกตามหาไปตามวัดต่าง ๆ ที่เขาเคยไป  คือวัดคูหาสุวรรณ วั ดไทยชุมพล  วัดพระพายหลวง  ส่วนข้าพเจ้าไปวัดคลองกระจง  ด้วยคิดว่าเขาจะไปที่นั่น  เพราะระยะหลัง ๆ นี้พระมหาประคองไปหาข้าพเจ้าที่กุฏิบ่อย ๆ  และคุ้นเคยกับพระสมยศด้วย  แต่ทุกวัดที่ไปตามหานั้นไม่พบร่องรอย

          คราวนี้ก็วุ่นวายกันไปทั้งวัดทั้งบ้านเลยทีเดียว  หลวงพี่มหาประคองเย้าหยอกข้าพเจ้าว่  าดูแลลูกศิษย์ก้นกุฏิอย่างไรให้เขาหายไปได้  คงจะมัววุ่นวายอยู่กับการจัดงานเทโวฯ ละซี  ข้าพเจ้ารู้สึกเครียดจึงไม่ตอบโต้อะไร  กลับวัดแล้วมาคิดทบทวนพฤติกรรมที่ผ่านมาของพระสมยศ  ระยะหลัง ๆ ดูเขาเคร่งขรึมไม่ค่อยพูดจา  ท่องทวนหนังสือ อ่านหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง  เวลาข้าพเจ้าสอนธรรมะ  อธิบายความหมายของหัวข้อธรรมต่าง ๆ เขาจะนั่งจ้องปากข้าพเจ้า  เคยถามเขาว่าทำไมต้องนั่งจ้องดูปากอาจารย์  เขาบอกว่าต้องการจะจำทุกคำพูดของอาจารย์ไว้พูดให้ได้เหมือนอาจารย์  ต้องห้ามไม่ให้เขาคิดทำอย่างนั้น  ขอให้ฟังแล้วคิดทำความเข้าใจ  สงสัยก็ให้ไต่ถามจนได้คำตอบที่สิ้นสงสัย  เมื่อเข้าใจดีแล้วก็สามารถพูดได้ตามความเข้าใจนั้น  อาจจะพูดได้ดีกว่าอาจารย์เสียอีก  การท่องหรือจดจำคำพูดของใคร ๆ โดยที่ตนเองไม่เข้าใจคำพูดนั้น ๆ  แม้จะนำไปพูดได้ก็เหมือน “นกแก้วนกขุนทอง”  คือพูดได้แต่ไม่เข้าใจความหมายของคำพูดนั้น  ครั้นไม่ได้พูดนาน ๆ ก็ลืม  แต่ถ้าเข้าใจคำพูดนั้น ๆ แล้วจะไม่ลืมเลย  ที่อาจารย์พูดสอนนักเรียนได้นี้เพราะเข้าใจความหมายของข้อธรรมที่พูดดีแล้ว  พูดอีกกี่ครั้งก็ไม่ผิดความหมาย  แม้คำพูดอาจจะแตกต่างไปบ้างก็อยู่ในความหมายเดียวกัน  “หัวใจในการศึกษาเล่าเรียนคือ พยายามทำความเข้าใจในเรื่องที่เรียน”  ไม่ใช่มุ่งจำแบบเรียน   ข้าพเจ้าหันไปมองนักเรียนทุกองค์ในห้องแล้วกล่าวย้ำว่าขอนักเรียนทุกองค์จำคำที่กล่าวแก่พระสมยศนี้ไว้  เพื่อใช้เป็นแนวทางการเรียนเรียนต่อไป

          หลังจากพระสมยศหายตัวไป ๒ วัน  โยมแม่และญาติ ๆ พาคนทรงเจ้ามาที่วัดราชธานี  ทำพิธีเข้าทรงในวิหารหลวงพ่อเป่า เพื่อให้ตรวจดูว่าพระสมยศไปอยู่ที่ไหน  หลังจากเจ้าเข้าประทับทรงแล้วก็ซักถามกัน  เจ้าในร่างทรงบอกว่าท่านไม่ได้หายไปไหนหรอก  อยู่ในวัดนี้แหละ  พวกแกเดินข้ามหัวไปมาอยู่ทุกวัน  พอเจ้าบอกอย่างนั้น  พวกเราก็ช่วยกันค้นดูทุกซอกทุกมุมของกุฏิข้าพเจ้าและโรงเรียนปริยัติธรรม  โดยเฉพาะใต้บันไดขึ้นชั้นบนซึ่งเป็นห้องเก็บของนั้นค้นกันละเอียดเลย  ค้นหาเท่าไรก็ไม่พบแม้แต่เงา  แม้กระนั้นก็ค้นหาต่อไปไม่สิ้นความหวัง  เพราะคำพูดของเจ้าองค์นี้เขาว่าเชื่อถือได้แน่

          ตอนบ่ายของวันที่สี่ในการหายตัวไปของพระสมยศ  ก็พบว่าร่างเขาลอยอืดขึ้นมาจากบ่อปลาที่มีดงผักตบชวาหนาแน่น  หลังจากตำรวจรับแจ้งความแล้วก็รีบมานำศพขึ้นจากบ่อ  พ.ต.ต. สุภรณ์ ผดุงชีวิตร์  ผู้กองเมืองสุโขทัยทำการชันสูตรพลิกศพ  พบว่าพระสมยศห่มผ้าจีวรเรียบร้อยแบบห่มดอง  คือห่มจีวรเฉวียงบ่าพาดผ้าสังฆาฏิรัดประคตอกแน่น  ใช้ผ้าอาบน้ำฝนผูกแขนตรงข้อมือติดกัน  ในมือมีร่มกันแดดด้วย  ตรวจดูทั่วร่างกายไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย  ไร้รอยฟกช้ำและบาดแผลใด ๆ  ผู้กองสุภรณ์ลงความเห็นว่าเขาฆ่าตัวตายด้วยการผูกข้อมือติดกันแล้วเดินลงบ่อปลาให้จมน้ำตาย  ข้าพเจ้าข้องใจว่าเขาผูกข้อมือตัวเองได้อย่างไร  ผู้กองจึงทำให้ดูว่าผูกได้อย่างไร ขณะนั้นพระไพฑูรย์นำสมุดเรียนของพระสมยศที่อยู่ในที่นอนเขามาให้อ่าน  ข้อความที่เขาเขียนไว้หลายหน้ากระดาษในข้อความเดียวกันคือ  “เสียใจในการเรียน  น้อยใจในการศึกษา”  ผู้กองสุภรณ์อ่านดูแล้วกล่าวว่า  สาเหตุการตายอยู่นี่เอง  เขาฆ่าตัวตายเพราะเรื่องการเรียนนี่เอง

          ข่าวการลงไปตายในบ่อปลาของพระสมยศ  พี่เหรียญชัย จอมสืบ  หัวหน้านักข่าวหนังสือพิมพ์ถามข้าพเจ้าว่าข่าวนี้เอาลง ไทยรัฐ เดลินิวส์ พิมพ์ไทย ดีไหม  ข้าพเจ้าตอบว่าแล้วแต่พวกพี่ ๆ เถิด  สำหรับฉันแล้วไม่อยากให้เป็นข่าวใหญ่เลย  และแล้วข่าวนี้ก็ไม่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์  เพราะพวกพี่ ๆ นักข่าวเขาเห็นใจข้าพเจ้านั่นเอง  คิดถึงเรื่องนี้แล้วข้าพเจ้ายังรู้สึกเสียใจไม่หาย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มิถุนายน, 2566, 11:28:46 PM
(https://i.ibb.co/JB6GsVf/5fa15d9211125-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๓ -
          การทำงานร่วมกับคนหมู่มากมันยากยุ่งนุงนังสร้างความปวดหัวแกคนเป็นหัวหน้างาน  เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าจัดงานใหญ่เกินตัว  คณะกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการที่จังหวัดแต่งตั้งไม่มีปัญหาอะไร  เพราะทุกคนทำตามระเบียบแบบแผนที่กำหนด  แต่กรรมการวัดที่เป็นขาวบ้านนี้มากเรื่อง  ไม่ยึดระเบียบแบบแผนอะไร  คิดว่าอะไรดีที่คนชอบก็จะเอาอย่างนั้น  เราตกลงกันว่าให้ปิดถนนราชธานีเก็บค่าผ่านประตูเข้าเที่ยวชมงานเทโวฯ ในบริเวณวัด  ลิเกคณะที่ประมูลปิดวิกนั้นให้ยกเลิก เปลี่ยนเป็นว่าจ้างเขาแสดง  และให้ว่าจ้างลิเกคณะถวัลย์ถาวรที่กำลังเป็นที่นิยมตามคำเรียกร้องจากกรรมการวัดกลุ่มหนึ่ง  แต่นายนุ่มซึ่งเป็นหุ้นส่วนลิเกคณะที่ประมูลปิดวิกนั้นไม่ยินยอม  จึงจำต้องว่าจ้างเขาแสดงอีกคณะหนึ่ง  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีโรงให้นายนุ่มแสดง  เขาก็รั้นจะแสดงให้ได้  โดยขอสร้างโรงเองตรงลานว่างเหนือองค์พระประธานพร  ที่ตรงนั้นเป็นกองไม้ไผ่ป่าที่หลวงพ่อเจ้าคุณสั่งซื้อมากองไว้จะทำอะไรของท่านก็ไม่รู้  นายนุ่มขอซื้อไม้ไผ่นั้นสร้างโรงลิเก  มีข้อแม้ว่าหลังจบการแสดงแล้วจะจ่ายเงินค่าไม่ไผ่ให้  ตกลงมหรสพในงานปีนั้นมีเพียงลิเกแสดงประชันกัน ๓ คณะ  สำหรับการเทศน์มหาชาติในงานนี้ตกลงกันว่าเงินกัณฑ์เทศน์ทั้งหมดเอาเข้าเป็นเงินกองกลางของวัด  กว่าจะเคลียร์ให้จบกันได้ข้าพเจ้ากินยาแก้ปวดหัวไปหลายขนานเลย

          งาน ๓ คืนมีคนเที่ยวกันคึกคักตั้งแต่คืนแรก  คนเที่ยวสนุกกันที่โรงหนังทั้งสองโรงซึ่งอยู่นอกวัด  เพราะมีภาพยนตร์ไทยและรำวงโต้รุ่ง  ส่วนภายในวัดมีลิเก ๓ โรงประชันคนซื้อบัตรผ่านประตูเข้าชมกันไม่มากเท่าที่ควร  ที่ผิดคาดของกรรมการวัดที่ว่าลิเกคณะถวัลยถาวรวัยรุ่นนั้นจะมีคนดูมาก  กลับสู้คณะนายนุ่มไม่ได้  เปิดการแสดงวันแรกนายนุ่มนำนักแสดงรำถวายมือหน้าวิหารหลวงพ่อเป่าก่อน  ในเรื่องของเขาที่แสดงนั้นพระเอกแสดงบทร้ายตบตีนางเอกจริง ๆ  คนดูชอบใจยิ่งนัก  คณะที่แสดงในวิกเก่ามีคนดูโหรงเหรง  ส่วนคณะถวัลย์ถาวรแสดงในโรงเยื้อง ๆ หน้าโบสถ์เหนือกุฏิข้าพเจ้านั้น  ก็มีคนชมกันพอประมาณ  คนวิพากย์กันว่าวัดจัดงานสู้โรงหนังไม่ได้เลย  น่าจะมีภาพยนตร์กลางแปลงสักจอก็ไม่มี  คืนที่ ๒ คนเข้าเที่ยวในวัดมากหน่อยเพราะตอนกลางวันมีการแข่งเรือยาว  รอบแรกตอนบ่ายถึงเวลาเย็น  คนส่วนหนึ่งชมการแข่งขันเรือยาวแล้วไม่กลับบ้าน  อยู่เที่ยวงานกลางคืนต่อเลย  คืนนั้นจบการแสดงลิเกนายนุ่มแอบไปขอเบิกเงินจากพระครูสมุห์แถวเป็นค่าจ้างการแสดงไปส่วนหนึ่งก่อน

          รุ่งเช้าวันแรม ๑ ค่ำอันเป็นวันเทโวฯ ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของงาน  พระเณรฉันข้าวต้มบนศาลาการเปรียญแต่ยามรุ่งอรุณ  นักเรียนที่แต่งตัวเป็นเทพบุตรเทพธิดาและสัตว์นรกเข้ามารวมตัวเต็มพร้อมอยู่ในวัด  ครั้นพระเณรฉันอาหารเสร็จแล้ว  ขบวนแห่เทโวฯ ก็เริ่มขึ้น  นำโดยแตร (วงดุริยางค์ของโนรงเรียน) ตามด้วยกลองยาว  เทพบุตรเทพธิดาคละกัน  เปรต  สัตว์นรก  พระเณรอุ้มบาตร  พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร  เคลื่อนออกจากประตูวัดทางทิศเหนือ  ไปตามถนนที่มีประชาชนถือข้าวสารอาหารแห้งผลไม้ยืนรอคอยใส่บาตร  ขบวนเทพบุตรเทพธิดานั้นมีขันเงินขันทองขาดใหญ่เพื่อรับบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคด้วย  ที่สร้างความฮือฮาแก่ผู้ชมขบวนแห่คือขบวนโลกนรก  ที่นักเรียนแต่งตัวเป็นเปรตรูปสัตว์ต่าง ๆ (เหมือนผีตาโขนในปัจจุบัน) ขบวนแห่เทโวฯ เดินเวียนเป็นประทักษิณรอบตลาดกลับเข้าวัดทางประตูด้านทิศใต้  ตลอดทางมีคนใส่บาตรมากมาย  กรรมการวัดจัดคนคอยถ่ายของในบาตรออกใส่กระบุงตะกร้าลำเลียงเข้าวัดอย่างไม่หวาดไหว

          ขบวนแห่เทโวฯ ผ่านไปด้วยดีเป็นที่พออกพอใจองคนทั่วไป  ของที่ได้จากขบวนแห่ก็มีข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้  อาหารแห้งนั้นมีปลากระป๋อง  ผักดอกกระป๋อง  ปลาย่างปลาเค็มเนื้อเค็ม เป็นต้น  ที่ขาดไม่ได้คือข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยน  ข้าพเจ้าดูของที่ได้จากการตักบาตรเทโวฯ แล้วลงจากศาลาการเปรียญกลับกุฏิ  พบตัวแสดงลิเกคณะนายนุ่มมานั่งรอพบอยู่เกือบ ๑๐ คน  พอเห็นข้าพเจ้าเข้าห้องโถงแล้วพวกเขาคลานเข้าหา  บางคนก็ร้องไห้  ถามว่าเป็นอะไรไปหรือ  ตัวนางลิเกคนมีอายุหน่อยกล่าวแทนพวกเขาว่า  นายนุ่มเอาเงินค่าตัวแสดงลิเกหนีไปแล้ว  ข้าพเจ้าตกใจมาก  เมื่อซักไซ้ดูแล้วก็ได้ความว่า  พวกเขารับว่าจ้างจากนายนุ่มแสดงลิเกงานนี้มาจากหลายที่ด้วย  มาจากกำแพงเพชรก็มี  พิจิตร  พิษณุโลกก็มี  เมื่อคืนนี้หลังลาโรงแล้วนายนุ่มกล่าวว่าจะเบิกเงินวัดมาจ่ายค่าตัวให้สักส่วนหนึ่งก่อน  แล้วเขาก็หายหน้าหายตาไปเลย  พวกเราเชื่อว่าเขาต้องหลบหนีไปแล้ว  เพราะทราบมาว่าเขาเคยทำอย่างนี้บ่อย ๆ  ฟังดังนั้นแล้วจึงไปหาหลวงพี่พระครูสมุห์แถวผู้รักษาเงินวัด  ถามแล้วได้ความว่า  ตอนหลังเที่ยงคืนนายนุ่มมาหา บอกว่าขอความกรุณาจ่ายค่าตัวแสดงล่วงหน้าด้วย  เพราะนักแสดงทุกคนไม่มีเงินใช้กันเลย  เขามาอ้อนวอนขอเบิกแค่ ๗๐%  พรุ่งนี้จึงค่อยขอเบิกทั้งหมด ตัวลิเกเหล่านั้นบอกว่าคืนสุดท้ายนี้ไม่แสดงแล้ว  เพราะนายนุ่มผู้เป็นนายโรงคงจะไม่กลับมาแน่นอน  พวกดิฉันจะกลับบ้านแต่ไม่มีเงินค่าเดินทาง แม้ค่ากินก็ไม่มี  ขอความกรุณาหลวงพี่ช่วยด้วย  ถามเขาว่านายนุ่มตกลงว่าจ้ามาแสดงคนละเท่าไหร่  เมื่อเขาบอกค่าตัว  จึงปรึกษากับหลวงพี่พระครูสมุห์แถวแล้วจ่ายค่าตัวเขาไปคนละ ๒ คืน  เป็นการฟาดเคราะห์ไปที  ค่าไม้ไผ่ของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณที่นายนุ่มขอซื้อทำโรงลิเกก็สูญไปด้วย  คืนที่ ๒ เหลือลิเกแสดงเพียง ๒ โรงก็แล้วกันไป

          สรุปผลที่ได้จากการจัดงานเทโวฯ ปีนั้น  อาหารแห้งเข้าโรงครัวเก็บสะสมไว้เลี้ยงพระทั้งวัดได้เกือบตลอดปี  ข้าวสารแบ่งเข้าโรงครัวไว้ครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งขายทอดตลาดได้เงินเข้าวัด ๗,๐๐๐ บาท  ได้เงินจากบาตรเทพบุตรเทพธิดาสองพันบาทเศษ  ส่วนรายได้จากการเก็บค่าผ่านประตูนั้นได้ไม่พอจ่ายค่าจ้างลิเก  รวมรายได้อื่น ๆ แล้วเป็นผลกำไรเข้าวัดหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่ร้อยบาทเศษ  เป็นปีแรกที่วัดจัดงานแล้วมีกำไร  ไม่ขาดทุนเหมือนทุกปีที่จัดมา  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณฟังรายงานสรุปผลได้ดังกล่าวแล้วพอใจมาก  ประกาศให้กรรมการวัดรับรู้และว่าในปีต่อ ๆ ไปให้จัดรูปแบบนี้

          การใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งที่ข้าพเจ้านำมาใช้กับงานนี้ก็ได้จากความคิดของหลวงพ่อไวย์พระอุปัชฌยาจารย์ของข้าพเจ้า  ซึ่งท่านริเริ่มจัดขึ้นที่วัดบางซ้ายใน พระนครศรีอยุธยา  ทราบว่าทางเหนือนี้ยังไม่มีวัดใดจัดอย่างนี้มาก่อน  หลังจากที่ข้าพเจ้าจัดที่วัดราชธานีแล้ว  วัดต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัยก็ถือเป็นแบบอย่างนำไปปรับปรุงใช้กับสืบมา  งานชิ้นนี้เป็นงานที่ข้าพเจ้าภูมิใจมาก /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มิถุนายน, 2566, 11:07:08 PM
(https://i.ibb.co/6rPqZW9/E76-8161-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๔ -
          ปีนั้นพระมหาประคองวัดคลองกระจงจัดงานจุลกฐินขึ้นที่วัดของท่าน  มาขอให้ข้าพเจ้าไปช่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ (เป็นโฆษก) ในงาน  งานจุลกฐินเขาจัดทำกันอย่างไรไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อนเลย  เป็นแต่รู้เรื่องในตำราเท่านั้นเอง  อยากรู้อยากเห็นสัมผัสงานด้วยตนเองจึงรับปากไปช่วยงานนี้  ก่อนถึงงานก็เตรียมตัวฟื้นความรู้เรื่องจุลกฐินตามตำราเพื่อจะได้ทำการประชาสัมพันธ์ได้ถูกต้อง  ความจริงเรื่องผ้ากฐินคือผ้าที่สำเร็จด้วยไม้สะดึง (คือกรอบไม้)  เป็นเรื่องของพระภิกษุโดยตรง  กล่าวคือภิกษุต้องแสวงหาผ้ามาทำการ กะ ตัด เย็บ ย้อม เป็นจีวร  คำว่าจีวรคือผ้านุ่ง (อันตรวาสก) หรือสบง  ผ้าห่ม (อุตราสงค์)  และสังฆาฏิ (ผ้าพาด)  รวมเรียกว่าไตรจีวร  ผ้ากฐินนี้เป็นผืนใดผืนหนึ่งก็ได้  ไม่จำเป็นต้องมีครบ ๓ ผืน  ต่อมาชาวบ้านเห็นพระภิกษุทำผ้ากฐินกันด้วยความลำยาก  จึงจัดทำเป็นผ้ากฐินแล้วนำมาถวายเป็นสังฆทานในหมู่สงฆ์  เรียกกันว่า  “ทอดกฐินทาน”  จำเนียรกาลผ่านมาเป็นเวลานานนับพันปี  พระภิกษุทำผ้ากฐินกันเองไม่เป็นแล้ว  เพราะญาติโยมทำสำเร็จรูปแล้วนำมาถวายจนเป็นประเพณีสืบมา

          ตามตำนานกล่าวถึงการทำ “จุลกฐิน”  คำนี้เรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน  โดยอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก  เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว  กล่าวคือ  ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง  ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก  เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด  โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่  มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว  ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น  สำหรับประเทศไทย  มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา  ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า  "ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โปรดให้ทำจุลกฐิน"  เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียว  ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา  กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว  โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่  ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย  โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย

          สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน  เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด  และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ (เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย)  ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน)  มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ  เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน  จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด  ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว  จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชนในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน  การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

          พิธีการจัดงานจุลกฐินเขาว่าแต่ละวัดมีรายละเอียดต่างกันไปตามความนิยมองแต่ละแห่ง  คณะบุคคลที่จัดทำผ้าจุลกฐินในจังหวัดสุโขทัยมีแห่งเดียวคือชาวบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย  ปี่นั้นพระมหาประคองได้เชิญ (หรือว่าจ้าง) ชาวบ้านหาดเสี้ยวมาจัดทำผ้าจุลกฐิน  หัวหน้าคณะชื่อนางสาวน้ำเชื่อม วงศ์วิเศษ (ลูกสาว พล.ท.ปุ่น วงศ์วิเศษ) พร้อมลูกทีม  มีทั้งสาวแก่แม่ม่ายเกือบร้อยคน  ล้วนแต่เป็นคนมีฝีมือในการดีดฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า  ชาวบ้านหาดเสี้ยวนี้เป็นไทยพวนซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองพวนประเทศลาว  ชาวบ้านหาดเสี้ยวปลูกเรือนใต้ถุนสูงเพื่อตั้งเครื่องทอผ้า  อุปกรณ์การทอผ้าของเขาประกอบด้วย หูก ฟืม กง อัก หลักตีนกง หลา กระสวย หลอดใส่ด้าย หลอดด้ายค้น   อิ้ว  เครื่องสำหรับแยกฝ้าย   ตะลุ้ม ใช้สำหรับดีดฝ้ายหรือยิงฝ้ายให้เป็นปุย โดยใช้ไม้กง ดีดฝ้ายหรือยิงฝ้ายในตะลุ้มให้เป็นปุย    ไม้ล้อมฝ้าย ใช้พันฝ้ายกับไม้บนพื้นไม้เรียบเพื่อนำไปเข็นด้วยหลา   หลา (ไม้ปั่นด้าย)  ใช้เข็นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย  หลังจากดีดหรือยิงให้เป็นปุยและล้อมให้เป็นแท่งกลมแล้วนั้น  นำไปเข็นใส่หลอดเหล็กแหลมเพื่อนำไปม้วนใส่เปียให้เป็นไจ  จึงนำไปกวักเพื่อขึ้นด้ายยืนหรือย้อมสีตามธรรมชาติ  หรือสำหรับใส่หลอดไม้ไผ่ขนาดเล็กเพื่อกรอเส้นด้ายใส่ในกระสวยเพื่อทอผ้า   เปีย เครื่องมือสำหรับพันด้ายหลังจากเข็นแล้วให้เป็นไจ  เพื่อนำไปกวักหรือนำไจด้ายไปใส่กับกง (ระวิง) กรอกับหลอดไม้ไผ่เพื่อนำไปใส่กับกระสวยทอผ้า   กง (ระวิง) เครื่องมือสำหรับใส่ไจฝ้ายเพื่อนำไปกวักและขึ้นไจฝ้าย หรือใช้กรอเส้นด้ายกับหลอดไม้ไผ่  ใช้ประกอบกับกวัก ๒ ใบตั้งคู่กัน  รวมกับใช้ในปั่นด้าย    บ๊าเหง็น โครงไม้ที่ตั้งได้สำหรับใส่กวักฝ้าย และนำฝ้ายที่เป็นไจใส่ไว้ในระวิง โดยวิธีการนั่งหมุนกวักโดยใช้ไม้หมุนที่กวัก มือจับเส้นด้ายที่ออกมาจากระวิงพันกับกวัก    กวัก อุปกรณ์สำหรับกวักเส้นด้ายที่เป็นไจแล้วเพื่อไปขึ้นด้ายยืน โดยสอดใส่กับบะเหง็น แล้วใช้ไม้ไผ่ขนาดเล็กพอกำได้เป็นอุปกรณ์สำหรับหมุนกวักรับเส้นด้าย ให้รับกับกวักหรือเป็นเครื่องมือสำหรับติดระวิง   เฝือ (ม้าเดินด้าย) สำหรับนำไปโยงเส้นด้ายขึ้นด้ายยืนโดยความยาวของเฝือแต่ละช่วงทอผ้าได้ ๑ ผืน เฝือ ๑ อัน สามารถโยงเส้นด้ายได้ความยาวประมาณ ๔๕ เซนติเมตร    ฟืม เครื่องมือสำหรับทอผ้าเป็นซี่ๆคล้ายหวี สำหรับสอดเส้นด้ายยืนหรือไหมยืนใช้กระทกทำให้ด้ายสอดแน่น ความยาวของฟืมจะเป็นตัวกำหนดความกว้างของผ้าทอ   กี่ โครงสร้างหลักเป็นรูปทรงไม้สี่เหลี่ยม มีส่วนประกอบให้การทอผ้าตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จหลายอย่าง  ยังมีอีกหลายอย่าง แต่ขอกล่าวเพียงเท่านี้นะ

          พี่น้ำเชื่อมพร้อมผู้ร่วมงานนำอุปกรณ์การปั่นฝ้ายทอผ้าไปตั้งที่วัดคลองกระจงอย่างครบครัน  งานเริ่มตั้งแต่เช้าโดยทางวัดจัดจำหน่ายปุยฝ้าย ให้ประชานทั่วไปซื้อติดตามกิ่งไม้ที่ตั้งไว้ในวัดทำประหนึ่งว่าเป็นดอกฝ้ายพร้อมให้เก็บไปทำด้ายทอผ้า  ข้าพเจ้าทำหน้าที่โฆษณา (ชวนเชื่อ) ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านซื้อปุยฝ้าย  คนของคณะทอผ้าก็เก็บปุยฝ้ายที่ติดตามกิ่งไม้ไปทำการปั่นดีดเพื่อทอเป็นผ้าตามกรรมวิธีของเขา  ปุยฝ้ายที่นำมาขายให้คนซื้อติดกิ่งไม้ขายหมดก็พอดีกับที่ถูกเก็บไปทำเป็นด้ายทอผ้า  ข้าพเจ้าหยุดโฆษณา  เข้าไปดูเขาปั่นด้ายทอผ้าแล้วพักผ่อนออกมแรงไว้ทำงานต่อตอนค่ำ  หลวงพี่มหาประคองให้ทำหน้าเป็นโฆษกที่ร้านสอยดาวอยู่จนดึกดื่นค่อนคืนไปแล้ว  ทนง่วงไม่ไหวจึงหลบหนีขึ้นไปเข้านอนในห้องโถงใหญ่  อากาศค่อนข้างหนาวเย็นจึงเอาผ้านวมคลุมโปงหลับไปโดยไม่รู้เลยว่าเขาทอผ้ากันเสร็จตอนใด

          หลับไปนานเท่าไรไม่รู้  ตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงวีดว้ายของผู้หญิงที่ดึงผ้านวมออกไปแล้วเห็นพระนอนอยู่กับเพื่อนหญิงของเธอ  รีบลุกพรวดขึ้นถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือ  หญิงที่นอนนั้นก็รีบลุกขึ้นอย่างงง ๆ  ถามกันไปมาก็ได้ความว่า  ตอนที่ข้าพเจ้าขึ้นมานอนนั้นในห้องไม่มีใคร  และไม่รู้ว่าเขาจัดไว้ให้พวกช่างทอผ้านอน  หญิงคนนั้นบอกว่าใกล้สว่างแล้วหนูหมดหน้าที่ก็ขึ้นมานอนด้วยความง่วง  ล้มตัวลงนอนแล้วนึกว่านอนกับเพื่อน  จึงดึงผ้านวมมาห่มและหลับไปไม่รู้หรอกว่านอนกะใคร  ที่แท้ก็เป็นหลวงพี่น่ะเอง  หนู่กราบขอขมาด้วยค่ะ  เธอพูดจบก็กราบปลก ๆ

           “เอาละ มันเป็นบาปเป็นกรรมองหลวงพี่เอง  เซ่อซ่ามานอนผิดที่  ขออย่าให้เป็นบาปเป็นกรรมต่อกันเลยนะ”

          ข้าพเจ้าพูดจบก็รีบเดินจากพวกเธอไปกุฏิเจ้าอาวาส  เล่าเรื่องให้หลวงพี่อมหาประคองฟัง  พระสุบินถามว่า “ท่านกอดเขาหรือเปล่าล่ะ”

          นั่งคิดอยู่ครู่หนึ่งเป็นการทบทวนความจำ  “ไม่รู้เรื่องเลย  มารู้สึกตัวเอาตอนที่อีกคนหนึ่งมาดึงผ้านวมแล้วร้องขึ้นนั่นแหละ  คงไม่ได้กอดได้จับเพราะหลับสนิทไปเลย”

          ข้าพเจ้าอบด้วยความเชื่อมั่น

           “งั้นก็แล้วกันไป”   หลวงพี่อมหาประคองว่า

          การทอผ้าจุลกฐินสำเร็จเรียบร้อยก่อนรุ่งอรุณตามกำหนด  งานจุลกฐินก็ผ่านไปด้วยดี  จากวันนั้นเป็นต้นมา  พี่มหาประคองก็พาข้าพเจ้าไปเที่ยวเยี่ยมเยือนโยมน้า  โยมพี่ โยมน้องชาวบ้านหาดเสียวบ่อย ๆ  น.ส.น้ำเชื่อม พี่สาวที่น่ารักนับถือของข้าพเจ้ามีน้องชายบวชเป็นพระ  สอบได้เป็นมหาเปรียญองค์หนึ่ง ชื่อสาย  พระมหาสายเกิดปีเดียวกับข้าพเจ้า  จึงเป็นอันว่าพี่น้ำเชื่อมมีพระน้องชายสององค์เลย  บางครั้งไปเที่ยวหาดเสี้ยวก็นอนค้างคืนบ้านพี่น้ำเชื่อม  แต่ถ้าไปองค์เดียวก็ไปนอนค้างคืนที่กุฏิพระครูบวรธรรมานุศาสน์ เจ้าอาวาส  จนพวกเรากลายเป็นคนคุ้นเคย (ญาติ) กันไปในที่สุด /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มิถุนายน, 2566, 10:55:23 PM
(https://i.ibb.co/q1cbn9n/305305462-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๕ -
          เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกลงในความรู้สึกองคนไทย  ตั้งแต่กลางสมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  คือเชื่อถือกันว่าประเพณีการลอยกระทงของไทยกำเนิดที่กรุงสุโขทัยตามความในตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ  แต่เดิมมาข้าพเจ้าก็เชื่อถือเช่นนั้น  ด้วยความเชื่อถือตามคตินี้เอง  ชาวชมรมกวีศาลาลายสือไทยจึงรวมหัวคิดฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงขึ้น  สมัยนั้นมีการจัดงานลอยกระทงเป็นงานใหญ่ที่วัดตระพังทอง เมืองเก่า  ส่วนตามวัดวาอารามทั่วไปก็จัดกันพอเป็นกิริยาบุญ  ไม่ค่อยใหญ่โตอะไรนัก  เพราะความเชื่อที่ว่ากำเนิดพิธีลอยกระทงอยู่ที่กรุงสุโขทัยของพระร่วงเจ้า  จึงควรจัดงานกันที่เมืองเก่าสุโขทัย  ซึ่งในสมัยนั้นวัดตระพังทองมีสระขนาดใหญ่ที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณทำการขุดลอกไว้  ส่วนสระอื่น ๆ เช่นตระพังเงิน  ตระพังตะกวน  ตระพังช้างเผือก  ล้วนตื้นเขินไม่มีน้ำให้จัดพิธีลอยกระทงได้  ทางชมรมกวีศาลาลายสือไทยจึงตกลงจัดงานลอยกระทงกันที่ตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย

          รูปแบบการจัดงานไม่มีอะไรต่างจากที่ทางวัดจัดกันมาแต่เดิม  เพียงแต่เพิ่มการแสดงตำนานเรื่องนางนพมาศเข้าไป  ปีนั้นทางชมรมฯ ขอยืมเรือยาวของวัดราชธานีสองลำไปประกอบการแสดง  มีการเล่นสักวาเรื่องนางนพมาศ  เห่เรือเรื่องลอยกระทง  ผู้เล่นสักวา เห่เรือ ประกอบด้วย อุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์   สุธรรม วงศ์โดยหวัง   เหรียญชัย จอมสืบ   ทองเจือ สืบชมพู   สมศรี ภูมิประพัทธ์  และอีกหลายคนที่จำชื่อไม่ได้  เพราะข้าพเจ้าเป็นภิกษุมีสภาพเป็น  “คนวงนอก”  และในวันนั้นไม่ได้อยู่สุโขทัย  หากแต่ไปเทศน์งานลอยกระทงในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก  และพักอยู่วัดเขาสมอแครงนานถึง ๔ วัน  กลับสุโขทัยก็ได้ฟังข่าวจากเหรียญชัย จอมสืบ  ว่างานสนุกและผ่านไปได้ด้วยดี

          กาลนั้นข้าพเจ้ายังไม่เคยอ่านตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  หรือตำนานนางนพมาศฉบับหอสมุดแห่งชาติ (ของกรมศิลปากร) มาก่อน  ได้ยินได้ฟังเขาบอกเล่าอย่างไรก็จำไว้เท่านั้น  เวลารับนิมนต์เทศน์เรื่องลอยกระทงก็จะกล่าวถึงแต่ว่าเป็นการลอยกระทงไปสักการะรอยพระพุทธบาท ณ ริมฝั่งน้ำนัมทานที  ซึ่งก็มิได้ระบุว่าอยู่แห่งหนตำบลใด บ้าง  และกล่าวถึงการลอยกระทงเกิดจากตำนานพื้นบ้านเรื่องพญากาเผือกหรือพระเจ้า ๕ พระองค์ บ้าง  นัยว่าเรื่องพญากาเผือก หรือพระเจ้า ๕ พระองค์เป็นตำนานของชาวรามัญ (มอญ) เล่ากันสืบมาจนแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคของไทย  เรื่องนี้มีความพิสดารซึ่งพอจะย่นย่อมาบอกเล่าได้ดังต่อไปนี้

          # “ในสมัยต้นปฐมกัป  มีพญากาเผือก ๒ ตัวผัวเมียทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา  อันเป็นธรรมชาติสถานที่รื่นรมย์  ในเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิสนธิเกิดในครรภ์แม่พญากาเผือกพร้อมกันถึง ๕ พระองค์  เมื่อครบทศมาสแม่กาเผือกก็เกิดออกไข่ ณ ที่รังต้นมะเดื่อจำนวน ๕ ฟอง  แม่กาเผือกคอยเฝ้าฟักดูแลรักษาไข่ด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างดี  ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพญากาเผือกได้ออกไปหากินถิ่นแดนไกลถึงสถานที่หนึ่งอันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร  จึงเพลินหากินอาหาร  จนมืดค่ำ  พอดีฝนตกฟ้าคะนองพายุใหญ่พัดกระหน่ำจนทำให้มืดครึ้มทั่วไปหมด  พญากาเผือกหาหนทางออกไม่ถูก  จึงหลงในบริเวณสถานที่นั้น  แล้วพักอยู่คืนหนึ่ง  รุ่งอรุณจึงรีบบินกลับสถานที่พัก  ปรากฏว่ากิ่งไม้มะเดื่อที่ทำรังอยู่ได้ถูกลมพายุใหญ่  พัดหักหล่นลงไปในแม่น้ำ  แม่กาเผือกตกใจรีบบินถลาหาลูกไข่ทั้ง ๕ ในแม่น้ำ  แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ  พยามหาไปในทุกสถานที่จนเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้า  ด้วยความโศกเศร้าเสียใจในความรักลูกอย่างสุดซึ้ง  จึงไม่สามารถระงับความอาลัยทุกข์ได้  ในที่สุดก็สิ้นใจไป  ด้วยอานิสงส์ที่มีความเมตตารักลูกอันบริสุทธิ์จึงไปเกิดอยู่แดนพรหมโลก  ชั้นสุธาวาสมีนามชื่อว่า  “ฆฏิกาพรหม”  จักได้เป็นผู้ถวายอัฏฐะบริขารบวชแก่ลูกทั้ง ๕ พระองค์เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          ส่วนไข่ทั้ง ๕ ได้ถูกลมพัดตกน้ำไหลไปในสถานที่ต่าง ๆ คือ  ไข่ฟองที่ ๑ มีไก่เก็บไปดูแลรักษา  ฟองที่ ๒ แม่นาคราชเก็บไปดูแลรักษา  ฟองที่ ๓ แม่เต่าเก็บไปดูแลรักษา  ฟองที่ ๔ แม่โคเก็บไปดูแลรักษา  ฟองที่ ๕ แม่ราชสีห์เก็บไปดูแลรักษา   ในกาลเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ ก็ประสูติออกจากไข่ปรากฏเป็นมนุษย์  รูปร่างสวยสดงดงามทั้ง ๕ พระองค์ในเวลาเดียวกันตามลำดับของแม่เลี้ยงทั้ง ๕ ที่นำไข่ไปเก็บดูแลรักษา  ครั้นเจริญเติบโตอยู่กับแม่เลี้ยงดัวยความกตัญญู  จึงรู้ทำหน้าที่ทุกอย่างทดแทนบุญคุณแม่เลี้ยงเป็นอย่างดีจนถึงอายุได้ ๑๒ ปี  ด้วยบุญกุศลเก่าหนุนส่ง  ก็มีจิตคิดที่จะออกบวชบำเพ็ญเนกขัมบารมีเป็นฤๅษีอยู่ในป่า  จึงได้อำลาแม่เลี้ยงของตนเหมือนกันทั่ง ๕ พระองค์

          ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์  เมื่อออกบวชเป็นฤๅษีได้บำเพ็ญเพียรพระกัมมัฏฐานจนสำเร็จฌาน อภิญญาสมบัติ  จึงสามารถเหาะไปหาอาหารผลไม้ด้วยฤทธิ์ทุกพระองค์  อยู่มาวันหนึ่งได้เหาะไปหาอาหารผลไม้  และบำเพ็ญเพียรธรรมที่ป่าดอยสิงกุตตระ ณ ใต้ต้นนิโครธอันร่มเย็นด้วยกิ่งไม้สาขาใหญ่ด้วยเหตุปัจจัยในกุศลบารมีธรรม  ฤๅษีทั้ง ๕ ได้มาพบกัน ณ ที่นี้โดยไม่ได้นัดหมายรู้จักกันมาก่อน  จึงสอบถามความเป็นมาของกันและกัน  จึงได้รู้แต่ว่า  แต่ละองค์มีแต่แม่เลี้ยง  แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้  ฤๅษีทั้ง ๕ จึงได้ร่วมกันตั้งสัจจะอธิฐาน  ขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง  ด้วยอำนาจสัจจะอธิฐานธรรมอันบริสุทธิ์ของฤๅษีทั้ง ๕ จนดังก้องไปถึงพรหมโลก  เป็นเหตุให้ท้าวฆฏิกาพรหมซึ่งเป็นแม่กาเผือกทราบเหตุการณ์ทั้งหมด  จึงจำแลงเพศเป็นแม่กาเผือก  มาปรากฏอยู่เบื้องหน้า  ฝ่ายฤๅษีทั้ง ๕ ก็รู้ด้วยญาณทัศนะทันทีว่าเป็นแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง  จึงสอบถามแม่กาเผือกถึงความเป็นมาตั้งแต่ต้นว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร  แม่กาเผือกจึงเล่าความเป็นมาเรื่องหนหลังตั้งแต่ต้นจนตายมาเป็นพรหมลูกฤๅษีทั้ง ๕ ได้ทราบ  เมื่อลูกฤๅษีได้ทราบเหตุเช่นนั้นแล้้ว  ก็รู้สึกสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่ง  และสำนึกในบุญสร้างคุณอันใหญ่หลวงของแม่กาเผือก  จึงน้อมกราบแทบเท้าฆฏิกาพรหมผู้เป็นแม่ที่ให้กำเนิดชีวิตลูก ได้สร้างบุญบารมีพระโพธิญาณ  และกราบขอสัญลักษณ์อนุสรณ์ของแม่กาเผือกผู้เอาไว้บูชา  แม่กาเผือกจึงประทานผ้าฝ้ายเป็นด้ายฟั่นรูปตีนกาสัญญลักษณ์อนุสรณ์ของแม่กาเผือกให้ลูกฤๅษีทั้ง ๕ ไว้ใช้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระ  และต่อมาเป็นประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือก  ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ลอยกระทง  เป็นตำนานสืบไว้ในโลกตลอดกาลนาน  เมื่อแม่กาเผือกฆฏิกาพรหมประทานสัญลักษณ์ไว้ให้ลูกฤๅษีโพธิสัตว์ทั้ง ๕ แล้ว  ก็อาลูกกลับวิมานของตนบนพรหมโลก ตามเดิม”

          นี่คือที่มาของของประเพณีการลอยกระทงตามตำนานพระเจ้า ๕ พระองค์ที่ข้าพเจ้าจำมาเทศน์ในงานลอยกระทง  ซึ่งต่างไปจากตำนานนางนพมาศของสุโขทัย  พระเจ้า ๕ พระองค์ตามตำนานนี้คือ  พระกกุสันโธพุทธเจ้า,  พระโกนาคมโนพุทธเจ้า,   พระกัสสโปพุทธเจ้า,  พระศากยมุนีโคดโมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน),  พระอริยเมตตริโยพุทธเจ้า (ในอนาคต)

          ตามตำนานนี้บอกชัดเจนว่า  ลอยกระทงเพื่อบูชาคุณนางพญากาเผือกพระมารดาของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์  ซึ่งปัจจุบันเป็นพรหมนามว่าฆฏิกา  อยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมสุทธาวาส  รอที่จะถวายอัฏฐบริขารพระเจ้าองค์ที่ ๕   นี่เป็นเพียงคติหนึ่งของประเพณีการลอยลอยกระทง/

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54217#msg54217)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54386#msg54386)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มิถุนายน, 2566, 11:05:15 PM
(https://i.ibb.co/XZwDf4V/mj020e52-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54302#msg54302)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54493#msg54493)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๖ -
          ปีนั้น (๒๕๐๘) หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้รับหนังสือจากเอาวาสวัดกลาง เมืองนครพนม  แจ้งว่า

           “เจดีย์เก่าแก่ของวัดที่สร้างตั้งยุคสมัยศรีโคตรบูรได้ปรักหักพังลง ทางวัดได้ทำการขุดรื้อซากเพื่อบูรณะใหม่  พบว่าภายใต้เจดีย์นั้นมีโบราณวัตถุเป็นอันมาก  โดยเฉพาะพระพุทธารูปทองศิลปะล้านช้างหลายองค์  จึงดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดขึ้น  และกำหนดจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์  ในการนี้ขอความกรุณาท่านเจ้าคุณช่วยจัดผ้าป่าไปร่วมทอดตามกำหนดการที่แนบมากับหนังสือนี้”

          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้รับหนังสือของเจ้าอาวาสวัดกลางดังกล่าวเมื่อเวลาใกล้จะถึงวันทอดผ้าป่าแล้ว  ท่านบอกว่าไม่มีเวลาจัดกองผ้าป่าหาเงินไปช่วยให้มากได้  แต่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดนี้เป็นความดีที่ควรสนับสนุนมาก  จึงมอบหมายให้ข้าพเจ้าจัดกองผ้าป่าไปร่วมงานนี้  ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น  แต่ไม่ควรจะน้อยกว่า ๕ พันบาท  ภาระหนักก็ตกมาลงที่ข้าพเจ้าอีกจนได้

          ดีที่หลวงพ่อคุณโบราณท่านบอกบุญแก่บรรดาคนมีฐานะดีที่เคารพนับถือท่าน  ให้บริจาคเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ในนามผ้าป่าวัดราชธานี  ได้เงินรวม ๖,๗๐๐ บาทเศษเป็นกองทุนไว้ก่อน  ข้าพเจ้าประกาศบอกบุญบนศาลาการเปรียญของวัดทุกวันพระรวมเงินบริจาคได้อีก ๔,๐๐๐ บาทเศษ  ไปปรึกษาหลวงพี่มหาประคองวัดคลองกระจงถึงวิธีการที่จะนำกองผ้าป่าไปทอดที่นครพนม  ท่านแนะนำว่าควรชักชวนญาติโยมร่วมเป็นคณะผ้าป่าเหมารถบัสโดยสารไปแบบ  “นำเที่ยว”  เก็บเงินผู้ร่วมคณะสักคนละสองสามร้อยพอเป็นค่าเช่ารถ  เรื่องการทำแบบนี้หลวงพี่แกจัดจนชำนาญแล้ว  จากนั้นจึงวางแผนนำเที่ยวตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ  เริ่มด้วยการวางเส้นทาง  ออกจากสุโขทัยผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตากฟ้า คลี ลพบุรี สระบุรี โคราช  พักแรมคืนที่อำเภอบ้านไผ่  รุ่งเช้าทอดผ้าป่าแก่วัดที่พักแรมกองหนึ่ง  แล้วเดินทางต่อไปผ่านมหาสารคาม  ร้อยเอ็ด ข้ามเทือกเขาภูพานไปนครพนม  หลังทอดผ้าป่าแล้วจะขึ้นไปหนองคาย  ข้ามไปเที่ยวเวียงจันทน์ประเทศลาวแล้วกลับสุโขทัย  วางเส้นทางแล้วก็จัดหารถที่จะไป  ได้รถเมล์สายที่วิ่งประจำทางสวรรคโลก-พิษณุโลก  เจ้าของชื่อบุญมี  ชื่อรถว่า  “บุญมีบริการ”  บอกเล่าวันเวลาและเส้นทางสถานที่ให้พี่บุญมีทราบแล้ว  เขาคิดค่าจ้างเห็นว่าไม่พอแพงนัก  คิดเก็บค่าโดยสารของญาติโยมคนละ ๓๐๐ บาท  พอให้ค่าจ้างรถที่จ้างไป

          เส้นทางและสถานที่ซึ่งจะไปนั้นข้าพเจ้าไม่รู้จักไม่เคยไปเลย  ก็ได้แต่สอบถามจากผู้รู้เท่านั้น  กะว่าจะพาญาติโยมไปประมาณ ๕๐ คนเท่านั้น  แต่เอาเข้าจริงมีไปเกินจำนวนเป็น ๖๘ คน  ชาวพิษณุโลกโดยเฉพาะพวกสาววังทอง  พอรู้ว่าจะไปดังนั้นก็มาอ้อนขอไปด้วย  บอกว่าจะเก็บเงิน ๕๐๐ บาทก็ยอม  เพราะอยากไปเที่ยวลาวน่ะ  เอากะแม่ซี

          วันเดินทางเราออกจากสุโขทัยเวลาประมาณ ๙.๐๐ น.  คนในคณะเราส่วนมากเป็นโยมหญิงมีอายุมากแล้ว  โยมผู้ชายมีประมาณ ๑๐ คน  พระ ๓ องค์  คือพระกนกศักดิ์  พระไพฑูรย์  และข้าพเจ้า  ผ่านจังหวัดตากข้ามสะพานกิตติขจรไปไม่ไกลนัก  รถเราก็เกิดอุบัติเหตุ  ยางรถล้อหลังเกิดรั่วแฟบ  ต้องเสียเวลาเปลี่ยนยางกันอยู่นาน  กะว่าจะไปฉันเพลที่กำแพงเพชรก็อดฉันเพล  เพราะไปไม่ทัน  ถนนสายนี้ยังไม่เรียบร้อย  บางตอนเป็นดินลูกรังฝุ่นตลบเลย

          เลยนครสวรรค์ถึงตาคลีเป็นเวลาบ่ายโขแล้ว  พวกเราปะสบเรื่องร้ายอีก  เปล่า  รถไม่เสียหรอก  แต่รถสมัยนั้นไม่มีแอร์  เวลาวิ่งไปก็ต้องเปิดกระจกหน้าต่าง  ผ่านป่าเขาลำนำไพรย่านตากฟ้าคลีไป  ปรากฏว่ามีขนหมามุ่ยปลิวลมเข้ามาในรถถูกเนื้อตัวพวกเราคันคะเยอไปตาม ๆ กัน

          กำหนดว่าจะไปถึงวัดจันทรประสิทธิ์ บ้านไผ่ไม่เกินเวลา ๕ ทุ่ม  แต่ไปถึงจริงเวลาประมาณตี ๕  ชาวบ้านชาววัดรอต้อนรับพวกเราหลับไปตั้งหลายตื่นแล้ว  อาหารที่เขาจัดรอเลี้ยงตอนกลางคืนก็ต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงตอนเช้า  บอกเล่าเรื่องการเดินทางแบบวิบากของเราให้เขาฟัง  ทุกคนเห็นใจพวกเรา  คนเฒ่าชาวบ้านไผ่บอกว่า  ขนหมามุ่ยต้องถอนมันด้วยข้าวเหนียว  คือเอาขาวเหนี่ยวนึ่งนี่แหละ  คลึงตามเนื้อตัวที่ถูกขนหมามุ่ย  โยมหญิงเราหลายคนที่ยังไม่หายคันก็พากันเอาข้าวเหนียวนึ่งคลึงแขน คอ ใบหน้า ขาแข้ง กันเป็นการใหญ่  ไม่นานก็หายเป็นปลิดทิ้ง

          ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองของวันนั้น  ชาวบ้านไผ่ก็เลี้ยงหารเช้าแก่พวกเรา  เสร็จแล้วเราก็ตั้งองค์ผ้าป่าทอดถวายวัด  ก่อนอำลาเดินทางไปนครพนม ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ดขึ้นเขาภูพานจะลงทางอำเภอนาแก  ขึ้นไปยังไม่ทันถึงยอดเขารถเราก็เกิดอุบติเหตุร้ายแรงอีก  คราวนี้   “แหนบหัก”  ดีที่ตัวรถไม่ลื่นไถลลงเขา  พวกโยมหญิงตกอกตกใจกันมาก  ไม่ได้กลัวรถตกเขาดอก  แต่โยมกลัว  “คอมมิวนิสต์”  ซึ่งตอนนั้นผีคอมมิวนิสต์ถูกอเมริกาปลุกขึ้นมาหลอกหลอนชาวโลก  คนไทยหวาดกลัวกันไปทั่วประเทศ  “ผ.ก.ค.”  เป็นชื่อที่เรียกกันในไทยเวลานั้นกำลังลุกฮือก่อการ้ายอยูในภาคอีสานอย่างหนัก  เขาใช้เทือกเขาภูพานเป็นศูนย์กลางสู้รบกับรัฐบาลไทย  โยมหญิงหลายคนพอรู้ว่ารถเรามาเกิดแหนบหักอยู่บนเขาภูพาน  ก็กลัวว่าพวกคอมมิวนิสต์จะมาจับตัว  บางคนเอามีดเจียนหมากมือมั่น  บอกว่ามันขึ้นมาบนรถจะแทงมันด้วยมีดนี้  ข้าพเจ้าหัวเราะแล้วพูดปลอบว่า  “โยมอย่ากลัวเลย  คอมมิวนิสต์มันไม่มาทำอะไรคนดีอย่างพวกเราหรอก”  โยมบุญมีกับลูกน้องช่วยกันถอดแหนบที่หักออกแล้วใส่แหนบใหม่ได้สำเร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลาบ่ายโขแล้ว

          รถเราคลานขึ้นยอดเขาและลงจากภูพานผ่าน  อำเภอนาแกแดน ผ.ค.ก.ได้อย่างปลอดภัย  ไปถึงจุดหมายปลายทางคือวัดกลางนครพนม  เวลาประมาณ ๖ โมงเย็น  ท่านเจ้าอาวาส (พระมหาวิจิตร) ต้อนรับพวกเราด้วยความยินดียิ่ง  ยามนั้นญาติโยมกำลังเอาแบ๊งค์ติดไม้เป็นธงปักองค์ผ้าป่ากันอยู่  ข้าพเจ้ามอบเงินจำนวน ๑๒,๐๐๐ บาทให้ท่านติดองค์ผ้าป่าด้วย  เรียนว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกว่าเสียดายที่ได้รับหนังสือจากท่านมหาช้าไป  จึงรวบรวมเงินได้เท่านี้เอง  ท่านก็ว่าเท่านี้ก็ดีมากแล้ว  ฝากกราบพระคุณมาก  ท่านให้จัดอาหารเลี้ยงญาติโยมคณะของเรา  เป็นอาหารไทยภาคกลางอย่างดี  ในขณะที่ญาติโยมทานอาหารกันนั้น  ข้าพเจ้าก็พูดคุยกับท่านเจ้าอาวาส  พอได้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดนี้ว่า

           “วัดกลางเป็นวัดทีมีอายุเก่าแก่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๒๐๐ อยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นวัดที่สวยงาม  และเด่นที่สุดเมื่อมองมาจากฝั่งท่าแขกของประเทศลาว ภายในอุโบสถ  เป็นที่ประดิษฐาน  “หลวงพ่อองค์ตื้อ”  ซึ่งจากคำบอกเล่า  มีความเชื่อว่า  ผู้ใดได้กราบไหว้หลวงพ่อองค์ตื้อแล้วเชื่อกันว่าหากมีของหาย  ถูกใส่ความ  ใส่ร้าย  จะได้รับความเป็นกลางเป็นธรรม  ทำให้ชีวิตครอบครัว  ตลอดจนการทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองมั่นคง   “ตื้อ”  คำนี้แปลว่าหนักมาก  พระพุทธรูปองค์ตื้อที่ทราบมีหลายองค์  คือ  “พระเจ้าเก้าตื้อ”  วัดสวนดอกเชียงใหม่    “หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ” วัดศรีชมพู อ.ท่าบ่อ หนองคาย   “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ”อยู่ที่วัดใต้ ในเมืองอุบลราชธานี  อีกองค์อยู่ที่
วัดองค์ตื้อวรวิหาร  นครหลวงเวียงจันทน์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   และหลวงพ่อองค์ตื้อ วัดกลาง เมืองนครพนมนี้   หนักตื้อคือหนักขนาดไหนหรือ  ท่านว่าน้ำหนัก ๑ พันกิโลกรัม  อย่างองค์ที่อยู่วัดสวนดอกเชียงใหม่นั้น  เรียกพระเจ้าเก้าตื้อ คือหนัก ๙,๐๐๐ กก.ครับ

          คืนนั้นห้องกุฏิไม่พอให้พวกเรานอนแรมคืน  เพราะมีผู้ใจบุญจากทุกสารทิศเดินทางไปร่วมงานบุญผ้าป่ากันมาก  เขาจึงให้พวกเราไปนอนตามบ้านที่ไม่ห่างไกลวัดนัก  อากาศหนาวเย็นมาก  ญาติโยมส่วนใหญ่ไม่ยอมอาบน้ำเพียงแต่เอาผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวกันก็พอ  รุ่งขึ้นทานอาหารเช้ากันแล้วได้รับการอำนวยความสะดวกให้ข้ามไปเที่ยวท่าแขกของลาวที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับนครพนม  เป็นการแก้กำหนดการที่ว่าจะข้ามไปลาวตรงเวียงจันทน์  มาเป็นข้ามที่ท่าแขกแทน  เพราะท่าแขกก็คือลาวเช่นเดียวกับเวียงจันทน์

           “เมืองท่าแขก เป็นเมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน  เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลาวมายาวนาน  เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน (พนม)  และ อาณาจักรเจนละ  โดยมีเมืองหลวงชื่อว่า  ศรีโคตรบูร  หรือ  ศรีโคตรบอง  ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองบริเวณปากห้วยศรีมังค์  ปัจจุบันคือวัดพระธาตุสีโคดตะบูน  และปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์  เช่น  รอยเท้าไดโนเสาร์บ้านนาไก่เขี่ย  ตลอดจนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยศรีโคตรบูร (ทวารวดีลาว) และสมัยขอม เช่น พระธาตุศรีโคตรบอง  ใบเสมาโบราณ  ชิ้นส่วนแกะสลักของประติมากรรมขอม  แนวกำแพงหินยักษ์บ้านนาไก่เขี่ย  ตลอดจนซากปรักหักพังของเจดีย์โบราณ  และซากพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง เป็นต้น  นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นซากเมืองโบราณ อาทิ  เมืองอรันรัตจานา  และเมืองเวียงสุรินทร์  ทางตอนเหนือของเมืองท่าแขกด้วย  หลังยุคขอมเสื่อมอำนาจแล้วเมืองแห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง  จากนั้นได้รกร้างไปแล้วพัฒนากลายมาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ขึ้นกับอาณาเขตของเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง (นครพนม)”

          พวกเราไม่ได้ไปเที่ยวชมโบราณสถานใด ๆ ของท่าแขก  เพราะเวลาไม่มีพอ  เพียงแต่เดินชมตลาดและซื้อสิ่งของเป็นที่ระลึกกัน  ได้เวลาพอสมควรแล้วข้ามฟากกลับมานครพนม  เจ้าของรถบุญมีบริการรับสารภาพว่าเขา   “คาดการณ์ผิดแต่แรก  ใช้ยางรถยนต์เก่าใส่มาด้วยหวังว่าเมื่อข้ามไปเวียงจันทน์แล้วจะเปลี่ยนยางใหม่  เพราะยางรถยนต์ที่เวียงจันทน์ราคาถูกมาก  ขออภัยที่ทำให้ท่านผิดหวังที่ไม่มีเวลาข้ามไปเวียงจันทน์  และผมเองก็ผิดหวังเช่นกันครับ  เรื่องนี้ผมขอยอมรับผิด”

          ในการเดินทางเดินกลับสุโขทัย  ผ่านทางนครราชสีมา  พอมีเวลาเหลืออยู่บ้างก็แวะชมปราสาทหินพิมาย  และ ไทรงาม  แล้วกลับถึงสุโขทัยโดยได้สวัสดิภาพ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, มิถุนายน, 2566, 11:25:33 PM
(https://i.ibb.co/85gYjSk/566000002537804-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๗ -
          งานทางสุโขทัยมีมากจนทำให้ข้าพเจ้าห่างเหินวัดเขาสมอแครงวังทองมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทางวัดเขาสมอแครงก็มีการเปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ  หลวงพี่ไฮ้รักษาการเจ้าอาวาสวัดนั้นรับมอบที่ดินแปลงใหญ่ของคุณโยมสายบัว  เศรษฐินีชาววังทองให้สร้างวัดใหม่  ที่หนองคล้าทางไปใกล้วัดตายม  ท่าหมื่นรามโน้น  พระเกรียงศักดิ์ก็รับถวายที่ดินจากชาวบ้านทรัพย์ไพรวัลย์ให้สร้างวัดใหม่  ใกล้ตลาดทรัพย์ไพรวัลย์ หลวงพ่อพันธ์เจ้าคณะอำเภอวังทองจึงตั้งให้พระสอนรักษาการเจ้าอาวาสวัดเขาสมอแครงต่อไป  ส่วนรายการเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐ นั้น  ข้าพเจ้าให้พระเกรียงศักดิ์เป็นหลัก  พระสอนก็จำต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อเป็นคู่เทศน์ของพระเกรียงศักดิ์  ข้าพเจ้าไปบ้างไม่ไปบ้าง  แล้วแต่ว่าจะว่างหรือไม่ว่าง  และในที่สุดก็มีเหตุให้เลิกจัดรายการเทศน์ทางวิทยุไปเลย

          กลับจากการนำคณะผ้าป่าไปทอดที่วัดกลางเมืองนครพนมแล้วไม่นาน  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้รับหนังสือจากมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย  วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ ลงนามโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตประธานกรรมการมูลนิธิ  ซึ่งมีไปถึงเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ให้คัดเลือกพระภิกษุจังหวัดละ ๓ องค์ส่งไปเข้ารับการอบรม  “พัฒนาการทางจิต”  เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาตามแนวทางของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย  ซึ่งมีพระกิตฺติวุฑฺโฒ ภิกขุ เป็นผู้ดำเนินงาน  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ตกลงใจส่งข้าพเจ้า  พระไพฑูรย์  พระมหาคำสิงห์   ๓ ครูปริยัติธรรมวัดราชธานีไปเข้ารับการอบรม  ข้าพเจ้าขอให้ท่านส่งองค์อื่นไปท่านก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจ

          ข้าพเจ้าจำต้องไปเข้ารับการอบรมในโครงการนี้  เพราะประธานโครงการหน่วยพัฒนาการทางจิตคือ  ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตน์ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) หรือที่เรียกกันว่า  “สมเด็จป๋า”  ซึ่งยามนั้นเป็นพระมหาเถระผู้มีอำนาจอิทธิพลสูงสุดในวงการสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  ท่านเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เมืองเดียวกับข้าพเจ้า  ที่สำคัญสมัยที่ท่านเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ  ข้าพเจ้าเป็นสามเณรเคยพบท่านที่วัดใหม่สุพรรณภูมิในเมืองสุพรรณ  ถูกเรียกใช้ให้นวดท่านหลายครั้ง  ท่านเคยชวนให้เข้ากรุงเทพฯอยู่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิท่าเตียน) กับท่าน  ข้าพเจ้าไม่ยอมเข้าอยู่กรุงเทพฯ ในตอนนั้น  ครั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณส่งเข้าอบรมตามคำขอของสมเด็จพระวันรัต  แม่กองงานพระธรรมทูต  จึงจำต้องเข้าร่วมงานนี้

          สถานที่เข้าร่วมรับการอบรมคือวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์  อันเป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย  โดยมีพระกิตฺติวุฑฺโฒ เป็นผู้อำนวยการ  พระองค์นี้มีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า  ยามนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก  ท่านบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุยานเกราะ บางกระบือ  มีคนฟังจนติดกันงอมแงม  เป็นพระหนุ่ม  รูปหล่อ  เสียงพูดนุ่มนวลชวนฟัง  ทราบประวัติของท่านเพียงเล็กน้อยว่าเป็นคนไทยเชื้อสายจีน  เกิดและโตที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม   “หลังอุปสมบทแล้วได้ศึกษาปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอก  จากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ  เป็นศิษย์หลวงพ่อสดองค์หนึ่ง  ต่อมาไปเรียนอภิธรรมที่โรงเรียนพระอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนอภิธรรมเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓  จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุฯ  และได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มูลกัจจายน์ วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น กับพระเตชินทะ ธัมมาจริยะ อภิธัมมกถิกาจริยะชาวพม่า   และพระครูประกาศสมาธิคุณ (สังเวียน ญาณเสวี)  และเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะชาวพม่า  จนมีผลงานทางด้านการพัฒนาการศึกษาของสงฆ์  การประพันธ์  และแต่งหนังสือเป็นจำนวนมาก”

          ก่อนที่จะทำหนังสือให้เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตลงนามหนังสือเวียน  ขอให้เจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศส่งพระภิกษุเข้ารับการอบรมดังกล่าว  พระกิตฺติวุฑโฒ ได้ทดลองเปิดการอบรม (เป็นการภายใน) พระจบไปรุ่นหนึ่งแล้ว  เห็นว่าประสบความสำเร็จด้วยดี  จึงขอเปิดอบรบอย่างเป็นทางการในนามของ  “หน่วยพัฒนาการทางจิต”  โดยมีเป้าหมายว่าเมื่อฝึกอบรมเสร็จแล้วในเวลา ๖ เดือน  จะให้ผู้รับการอบรมทั้งหมดกลับไปตั้งหน่วยเผยแผ่ธรรมตามแนวของมูลนิธิฯ ประจำจังหวัดของตน  จังหวัดใดไม่มีพระมาเข้ารับการอบรมก็จะส่งพระกองกลางออกไปตั้งหน่วยพัฒนาการทางจิตประจำจังหวัดนั้น  พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้านี้เรียกว่า  “พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นที่ ๒”  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจากจังหวัดทั่วประเทศ  และที่รับสมัครในส่วนกลางรวมจำนวนได้ ๓๐๐ องค์

          พระภิกษุสามเณร ๓๐๐ องค์  หาที่พักค่อนข้างยากหน่อย  กุฏิวัดมหาธาตุย่อมไม่พอให้พักอาศัยแน่  บางองค์มีเพื่อนอยู่ตามวัดไม่ไกลจากวัดมหาธาตุนักก็ไปขอพักพาอาศัยเพื่อน  ข้าพเจ้าจะไปพักวัดจันทร์นอกก็ได้ แต่ไม่ไป  มีเพื่อนพระที่มาร่วมอบรมขอพักอาศัยในพระวิหารวัดมหาธาตุบ้าง  วิหารคดรอบพระอุโบสถบ้าง  ข้าพเจ้าเลือกที่จะขออยู่ในพระวิหารรวมกับพระมหาคำสิงห์ พระไพฑูรย์ และเพื่อนพระอีกประมาณ ๒๐ องค์  กลางคืนก็กางมุ้งนอนเรียงกัน  ไม่มีมุ้งรับรองว่านอนไม่ได้  เพราะยุงชุมมากเลย  ห้องน้ำไม่มีให้ใช้  มีแต่บ่อโบกปูนเทพื้นคอนกรีตรอบบ่อ  พวกเราตักน้ำในบ่อขึ้นมาอาบกันเอง  เครื่องใช้ไม้สอยอะไรก็ไม่มีอะไรมาก  ขันน้ำ สบู่ แปรงและยาสีฟัน รองเท้าฟองน้ำ จีวร ๒ ผืน สบง ๒ ผืนผ้าอาบ ๑ ผืน ย่าม ๑ ถุง  เท่านี้เพียงพอแล้ว  เป็นพระนี่อยู่ง่ายกินง่ายสบายมาก

          ห้องเรียนของพวกเราคือพระตำหนักสมเด็จที่จุนักเรียนได้ถึง ๕๐๐ คนทีเดียว  กิจวัตรของพวกเราคือ  ประมาณ ตี ๕ ตื่นท่องทบทวนแบบเรียน  ประมาณ ๐๗.๓๐ น. ฉันอาหารที่วิหารคดซึ่งเขาจัดตั้งสำรับเรียงรายไว้  มีญาติโยมนำมาถวายกันมากมาย  เพราะแรงโฆษณาทางวิทยุยานเกราะของพระกิตฺติวุฑฺโฒนั่นแหละ  เวลา ๐๒.๓๐ น. ขึ้นห้องเรียน  วิชาหลักที่ต้องเรียนคือ  พระอภิธรรม, การเทศนา. พระไตรปิฎก, ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา, สังคมศึกษา, เป็นต้น  อาจารย์ที่มาสอนมีทั้งพระละฆราวาสระดับแนวหน้าทั้งนั้น  พวกเราต้องท่องแบบเรียนพระอภิธรรมกันอย่างหนัก  ถ้าไม่ท่องจำก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง  หนักกว่าตอนเรียนนักธรรมและบาลีมากนักเชียว/          

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มิถุนายน, 2566, 12:05:39 AM
(https://i.ibb.co/TkkCY36/302141314-1.jpg) (https://imgbb.com/)
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๘ -

          วิชาพระอภิธรรม  อภิธัมมัตถสังคหะ  เรียนเรื่อง จิต, เจตสิก,รูป, นิพพาน  ต้องท่องจำจำนวนจิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ, วิญญาณ มี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง  ท่องจำเจตสิกคือองค์ประกอบของจิต  อาการหรือการแสดงออกของจิต  จัดเป็นสมรรถนะหรือคุณสมบัติของจิต  มีลักษณะที่เกิดดับพร้อมกับจิต  เป็นอารมณ์ของจิต  มีวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต  เป็นกฎเกณฑ์ให้ประกอบเป็นจิต มี  ๕๒ ดวง  ท่องจำรูป คือ สภาวะที่แปรปรวนแตกสลายเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, ร่างกายและส่วนประกอบฝ่ายวัตถุพร้อมทั้งพฤติกรรมและคุณสมบัติของมัน  ที่เป็นมหาภูต รูป และ อุปาทายรูป รวม ๒๘ รูป    ท่องจำนิพพาน คือ ธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด  พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด โดยปริยายมี ๒ ลักษณะคือ ๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึงยังมีชีวิตอยู่    ๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ๔ เรื่องนี้มีความวิจิตรพิสดารที่ต้องศึกษาเล่าเรียนกันอย่างหนัก

          อาจารย์ที่สอนวิชาพระอภิธรรมมีพระครูประกาศสมาธิคุณเป็นหัวหน้า  ผู้ช่วยเท่าที่จำได้ก็มี  พระกิตฺติวุฑฺโฒ  อาจารย์บุญมี เมธังกูร  อาจารย์ (นางสาว) สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นต้น  พระครูประกาศสมาธิคุณผู้นี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว  ท่านมีนามเดิมว่าสังเวียน บัวสุวรรณ  เป็นชาวบ้านงิ้วราย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี  จบการเรียนชั้นประถมศึกษาแล้ว บรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดป่าธรรมโสภณ  เรียนนักธรรมชั้นตรี  สอบสนามหลวง ๒ ครั้งไม่ได้  เจ้าอธิการฉายจึงนำเข้ากรุงเทพฯ ฝากเป็นศิษย์เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี (หลวงปู่โต๊ะ) บางกอกใหญ่  เรียนนักธรรมและบาลีควบคู่กัน  ในสำนักเรียนวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์  จนสอบได้นักธรรมชั้นโทแล้ว  หลวงปู่โต๊ะจึงนำตัวไปมอบเป็นศิษย์เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ(พระธรรมไฅรโลกาจารย์ ช้อย ฐานทตฺโต ป.ธ. ๖) และบรรพชาเป็นสามเณรใหม่ (ปี ๒๔๘๗) อยู่ประจำที่คณะ ๖ และสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในปีนั้น ย้ายจากคณะ ๖ ไปอยู่คณะ ๑๖ และ ๒๕ ในที่สุด  เมื่ออายุครบอุปสมบทท่านก็บวชเป็นภิกษุที่วัดมหาธาตุโดยมีพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถระ ป.ธ ๖) เป็นพระอุปัชฌาย์  ได้ฉายานามว่า ญาณเสวี เมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๙๐

          วาสนาพระสังเวียน ญาณเสวี ไม่มีพอที่จะได้เป็น “พระมหา ”กับเขา  ทั้ง ๆ ที่เรียนบาลีอย่างหนัก  สอบกี่ครั้งก็ไม่ได้สักที  แม้กระนั้นท่านก็ไม่ละความพยายาม  ค้นคว้าคัมภีร์บาลีและปกรณต่าง ๆ ด้วยตนเองบ้าง  ศึกษาจากผู้ชำนาญการคัมภีร์บาลีเบ็นพิเศษบ้าง  ว่ากันว่าท่านสามารถแปลบาลีได้คล่องแคล่วเก่งกว่าพระมหาเปรียญเอกบางองค์เสียอีก  สามารถพูดภาษาบาลีกับชาวอินเดียที่พูดภาษาบาลีได้รู้เรื่องเป็นอย่างดี  นอกจากนั้นท่านยังศึกษาเล่าเรียนอภิธรรมมัตถะสังคหะธรรม- สังคินีวิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมกัมมัฏฐาน กับพระอาจารย์สำคัญ ๆ ในยุคนั้น  และได้เข้าวิปัสสนากัมมัฎฐานทีพระอุโบสถวัดมหาธาตุ  มีอาจารย์เตชินทธรรมาจริยะ และอาจารย์อินทวังสะเถระ
เป็นผู้สอนและควบคุมการปฏิบัติ  ว่ากันว่าการเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐานดังกล่าว  ในเวลาต่อมาท่านเกิดกัมมัฏฐานแตกในการเล่นเตโชกสิณ  แต่พระอาจารย์ก็ช่วยแก้ให้ท่านปลอดภัยในที่สุด

          อาจารย์พระครูประกาศสมาธิคุณเป็นคนประเภท  “ปากร้ายใจดี”  เวลาสอนอภิธรรมพวกเรา  ท่ามักจะดุด่าคนที่ท่องแบบเรียนไม่ได้  ด่าแล้วก็หัวเราะ  “เหอๆๆๆๆ (๙ ชั้น) ตามแบบของท่านที่ไม่มีใครเหมือน  ในสมัยนั้นท่านจัดรายการบรรยายทางสถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดน  ชื่อรายการว่า  “วิญญาณพเนจร”   เป็นรายการที่มีคนฟังกันมาก  ไม่แพ้รายการบรรยายธรรมของพระอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ ที่เป็นคนละแนวทางกัน

          นอกจากอาจารย์พระครูประกาศสมาธิคุณและพระอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ เป็นตัวหลักในการสอนวิชาอภิธรรมในภาคเช้าแล้ว  บางวันอาจารย์บุญมี เมธังกูร ผู้สอนอภิธรรมแบบประยุกต์วิทยาศาสตร์  ก็มาบรรยายและตอบคำถามพวกเรา  บางวันอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็มาบรรยายตอบคำถามพวกเราเช่นกัน  อาจารย์สุจินต์ เป็นนางสาวรูปงามเสียงพูดไพเราะมาก  ท่านเป็นธิดาของคุณหลวงบริหารวนเขตต์ อายุดูแล้วไม่เกิน ๔๐ ปี  เขาว่ากันว่าเป็นนักเรียนจบปริญญาโทมาจากต่างประเทศ (จริงหรือเปล่าไม่รู้) แต่มีความรู้เรื่องพระอภิธรรมในระดับเชี่ยวชาญมาก  ท่านฉลาดในการตอบโต้คำถามแบบ  “ปฏิปุจฉา”  กล่าวคือเมื่อถูกถามปัญหาที่ตอบยากก็จะไม่ตอบทันที  จะถามย้อนว่า  “แล้วในความคิดเห็นของท่านว่าอย่างไรคะ”  เมื่อผู้ถามตอบไปถูกแล้วท่านก็รับรองว่าใช่แล้ว  หากไม่ถูกต้องท่านจึงให้คำตอบที่ถูกต้องแก่ผู้ถาม  พวกพระหนุ่มนักเรียนรุ่นข้าพเจ้าพยายามหาคำถามยาก ๆ มาถามต้อนท่านมากมาย  ท่านไม่เคยจนปัญหา

          ยังไม่ได้บอกให้รู้ว่า  พระนักเรียนรุ่นข้าพเจ้านี้แต่ละองค์มีพื้นฐานความรู้ทางปริยัติธรรมขั้นต่ำคือ นักธรรมชั้นเอก  เปรียญธรรมสูงสุดคือ ๘ ประโยค  มีสมณะศักดิ์เป็นพระมหาบ้าง  พระฐานานุกรมบ้าง  พระครูประทวนบ้าง  พระครูสัญญาบัตรบ้าง  ส่วนใหญ่เป็นพระนักเทศน์ด้วย  อาจารย์สุจินต์มาบรรยายเรื่องอภิธรรมคราวไรพระก็จะรุมถามกันคราวนั้น  แต่มิเคยปรากฏว่าอาจารย์ท่านจะตอบไม่ได้เลย  อาการกิริยาของท่านในการบรรยายและตอบคำถามท่านนิ่มนวล  สุภาพอ่อนโยน  จนพวกเราพากันรัก-นับถือท่านเป็นยิ่งนัก/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มิถุนายน, 2566, 11:19:04 PM
(https://i.ibb.co/YR43d2t/1-499x300-1.png) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗๙ -
          วิชาเทศนา  ทางมูลนิธิอภิธรรมถือว่าเป็นสำคัญอีกวิชาหนึ่งที่นักเรียนของหน่วยพัฒนาทางจิตต้องศึกษาเล่าเรียน  คำว่าเทศนาหมายถึงการแสดงธรรมสั่งสอนอบรม  มีหลายรูปแบบ  เช่นการเทศน์  การปาฐกถา  แม้การที่บิดามารดาผู้หลักผู้ใหญ่ด่าว่า  ก็เรียกรวมในคำว่าเทศนา ด้วยเช่นกัน  ดังนั้นทางมูลนิธิอภิธรรมจึงบรรจุเป็นหลักสูตรอบรมพระหน่วยพัฒนาการทางจิตอีกวิชาหนึ่ง  ผู้ทำหน้าที่ให้การสอนและอบรมมีทั้งพระนักเทศน์และฆราวาสที่เป็นอดีตนักเทศน์  พระนักเทศน์ที่เป็นตัวหลักคือท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (สนิธ เมจารี ป.ธ.๙) วัดเพชรสมุทร (ต่อมาย้ายเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคารามและได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนี)  พระองค์นี้เป็นนักเทศน์เก่งที่สุดในสมัยนั้น  ความเป็นมาของท่านพอที่จะกล่าวถึงโดยย่อได้คือท่าน มีนามเดิมว่า สนิธ ทั่งจันทร์ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ บ้านเบิกไพร ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี  โยมบิดาชื่อผล ทั่งจันทร์  เป็นชาวเบิกไพร  โยมมารดาชื่อหลวน นามสกุลเดิมผลาภิรมย์ เป็นชาวตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา แต่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนบุรคามบำรุง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑  ต่อมาคุณยายได้นำท่านมาฝากกับพระวิเชียรธรรมคุณาธาร (ยัง ปุญฺญวฑฺฒโน) ขณะยังเป็นมหาเปรียญ  เพื่อให้ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร  ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีพระเทพมุนี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์  ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่าเขมจารี

          ท่านสอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก เปรียญธรรมประโยค ๓-๘ ได้ในนามสำนักเรียนวัดพระเชตุพนฯ  สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ในนามสำนักเรียนวัดเพชรสมุทร  เมื่อสอบเปรียญธรรม ๗ ประโยคได้แล้ว  ทางการคณะสงฆ์แต่งตั้งให้ท่านไปเป็นเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโป่งและเจ้าคณะอำเภอบ้านโป่งแทนรูปเดิมที่ขอลาสิกขาและลาออกจากตำแหน่ง  หลังจากนั้นมาอีก ๑๒ ปี  พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) เจ้าคณะภาค ๑ ได้ย้ายให้ท่านไปอยู่วัดเพชรสมุทรเพื่อจัดการคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย  และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงครามในปี พ.ศ. ๒๔๙๑

          อาจารย์ฝ่ายฆราวาสล้วนเป็นอดีตพระมหาเปรียญนักเทศน์หลายท่าน เช่น นท.อ่อน บุญญพันธุ์ (ภายหลังเลื่อนยศขึ้นเป็นนาวาเอก พิเศษ) อนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ   นอ.แย้ม ประพัฒน์ทอง  อนุศาสนาจารย์ ทหารอากาศ   พอ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนา (อดีตอนุศาสนาจารย์ทหารบก) เป็นต้น  อาจารย์มหาแย้มกับมหาปิ่นไม่ค่อยได้มาสอนมากนัก  แต่อาจารย์มหาอ่อน จะมาสอนมากกว่าเพื่อน  เพราะพวกเราเรียกร้องให้ท่านมาสอนบ่อย ๆ  วันไหนอาจารย์มหาอ่อนมาสอนพวกเราจะรู้สึกครึกครื้นกันมาก

          อาจารย์มหาอ่อนเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี  บวชเรียนอยู่ที่สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร จนสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค  ท่านเล่าว่าตอนเป็นพระมหาหนุ่มมีไฟแรง  เจ้าอาวาสวัดเบญจฯ ไม่ชอบหน้า  จึงหาวิธีไล่ให้ออกจากวัดด้วยการส่งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปรินายก  และได้สมณะศักดิ์เป็นเจ้าคุณที่ พระวิสุทธินายก (อ่อน ฐิตสุทธิ ป.ธ.๗)  เจ้าคุณอ่อนเป็นคนพูดเสียงดังโผงผางตามลักษณะนิสัยของคนสุพรรณ  สมัยที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปรินายกท่านเป็นพระนักเทศน์ชื่อเสียงโด่งดังมากองค์หนึ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  เป็นเจ้าอาวาสและนักเทศน์อยู่นานพอสมควรแล้ว  ท่านตัดสินใจลาสมณะศักดิ์และตำแหน่งเจ้าอาวาส  ลาเพศภิกษุออกมาสมัครเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ  เจริญก้าวหน้าในชีวิตข้าราชการเรื่อยมาจนถึงกาลที่มาเป็นอาจารย์สอนเทศนาพวกข้าพเจ้าในปีนั้น

          อาจารย์มหาอ่อนเป็นอาจารย์ที่พวกข้าพเจ้ารัก-นับถือมาก  ท่านสอนสนุกทุกเรื่องทุกแนว  นิทานที่ท่านนำมาเล่าประกอบเรื่องให้เห็นง่าย ๆ เช่น  ท่านพูดถึงว่าการเทศน์เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ให้คนฟังรู้สึกง่วงนอนก็ได้  โดยนำนิทานเรื่องอนิจจังคือความไม่แน่นอน  มันมีขึ้นมีลงไม่คงที่  อย่างเรื่องความรักความความใคร่นี่แหละ  นิทานอาจารย์อ่อนเรื่องนี้พวกเราจำกันได้แม่นยำเลย  ท่านเล่าว่า

           “ครอบครัวหนึ่งมีลูก ๓ คน  เป็นหญิงล้วน  ไม่มีชายปนเลย  ลูกหญิงสามใบเถาเจริญวัยขึ้นเป็นสาวไล่เลี่ยกัน  คนโตมีสามีก่อนตามธรรมเนียมไทยโบราณ

          อยู่มาลูกสาวคนโตที่มีสามีนั้นก็ตั้งครรภ์คลอดลูกออกมา  แรก ๆ เจ้าลูกเขยก็รักเมียรักลูกดีอยู่  ครั้นได้ลูกคนที่ ๒  รักของเขาเริ่มเป็นอนิจจังเลื่อนลง  เห็นเมียปล่อยเนื้อปล่อยตัวสกปรกมอมแมมด้วยขี้เยี่ยวลูก  เขาหันไปเล็งแลน้องเมียคนรองที่กำลังเป็นสาวเต็มตัวดูเปล่งปลั่งน่าเชยชม  คิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้น้องคนนี้เป็นเมียอีกสักคนหนอ  เขาใช่เล่ห์เพทุบายให้น้องเมียอุ้มหลานหยอกล้อลูกกระทบไปถึงน้องเมียบ่อย ๆ  ในที่สุดก็เสร็จสมอารมณ์หมาย  ได้น้องเมียออีกคน  พ่อตาแม่ยายพูดไม่ออกบอกไม่ถูก  เพราะข้าวสารมันกลายเป็นข้าวสุกไปแล้ว  ก็ยอมให้มันอยู่ร่วมกันไป  เมียที่สองมีลูกอีกคน  ความรักเจ้าเขยนั้นมันเป็นอนิจจังเลื่อนลงไปที่น้องเมียคนสุดท้าย  เรื่องความรักความใคร่นี่เขาว่าหญิงมีมารยาห้าร้อยเล่มเกวียนก็อาจจะจริง  แต่ชายมีมารยาเท่าไหร่ไม่รู้  เจ้าเขยตัวแสบนั่นใช้มารยาผูกมัดเอาน้องเมียคนสุดท้องมาเป็นเมียเสียจนได้  พ่อตาแม่ยายโกรธมากขับไล่ออกจากบ้านไปกับเมียคนเล็ก  เขาก็พาเมียเล็กไปอยู่บ้านเดิมกับพ่อแม่ตน  มีลูกกับเมียเล็กอีกตามธรรมดาของสัตว์มันจะเกิดก็ต้องให้มันเกิด  เมื่อลูกใหม่เติบโตจนเดินได้เตาะแตะพูดได้อ้อแอ้  ก็ให้เมียเล็กพาไปเยี่ยมตายาย  ความรักความผูกพันในสายเลือดนี่มันมีอำนาจอิทธิพลมากนักเชียว  ตายายเห็นหลานกำลังน่ารักน่าเอ็นดูก็ลืมความโกรธเกลียดลูกเขยลูกสาวเสียสิ้น  ปรึกษากันว่าว่าไหน ๆ มันก็ได้กันมาถึงขั้นนี้แล้ว  เรียกมันกลับมาอยู่ร่วมกันเถิด

          ในที่สุดลูกเขยก็ได้กลับมาอยู่ร่วมกับเมียทั้งสามในบ้านเดียวกัน  อยู่มาไม่นานนักความรักเจ้าลูกเขยมันก็เป็นอนิจจังเลื่อนขึ้น  คราวนี้มันคิดว่า  “รักกับสาว ๆ กูก็รู้รสหมดแล้วว่ามันเป็นฉันใด  แต่คนแก่นี่ซีชักอยากรู้เสียแล้ว”  จากนั้นเขาก็ใช้เล่ห์มารยาให้แม่ยายป้อนข้าวอาบน้ำหลานโดยมีเขาคอยช่วยจับโน่นฉวยนี่ถูกเนื้อต้องตัวแม่ยาย  บางทีก็จูบลูกที่แม่ยายอุ้มอยู่ไพล่ไปแขนแม่ยายบ้าง  แม่ยายอายุยังไม่เกินหกสิบปี  “ไม่แก่เกินแกง”  เมื่อลูกเขยหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวบ่อย ๆ ก็เกิดอารมณ์กำหนัดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา  และในที่สุดของที่สุดแม่ยายก็เสร็จลูกเขยอีกคน  คราวนี้พ่อตาเดือดร้อนทนอยู่ไม่ได้  หนีออกจากบ้านหายไปเป็นแรมเดือน

          อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนคนในหมู่บ้านนั้นเดินทางไปเยี่ยมเยือนพระเพื่อนเก่าอยู่วัดในตำบลหนึ่ง  ได้พบเพื่อนที่เป็นพ่อตาเจ้าเขยเทครัวนั้นบวชเป็นพระอยู่กับพระที่วัดนี้  เมื่อโอภาปราศรัยกันพอสมควรแล้วกามเพื่อนว่า

           “ทำไมท่านหนีมาบวชอยู่ที่นี่ล่ะ”
           “มึงไม่รู้หรือไอ้เขยระยำของกูน่ะ”

           “รู้  มันเอาลูกสาวท่านหมดทั้งสามคน”
           “อ้าว เมียกูอีกคนล่ะ”

           “อ้อ  นี่ก็รู้  แล้วก็แล้วกันไปซี  ทำไมต้องหนีมาบวชเงียบ ๆ ด้วย”
           “ไอ้นี่  มึงไม่รู้อะไร”

           “มีอะไรอีกล่ะ”
           “อ้าว...มึงไม่รู้อะไร  ถ้ากูไม่หนีมาบวช  มันก็เอากูอีกคนละซี...”

          จบนิทานท่านก็สรุปว่า  เทศน์เรื่องความรักเป็นอนิจจังอย่างนี้รับรองคนฟังไม่ง่วงนอนแน่ ๆ  ขอให้พระคุณเจ้าจำไว้ใช้เป็นมุกในการแสดงธรรมต่อไป/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มิถุนายน, 2566, 01:42:51 AM
(https://i.ibb.co/rxhBF5n/Undtitled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๐ -
          อาจารย์มหาปิ่น มุทุกันต์ กับ อาจารย์มหาแย้ม ประพัฒน์ทอง  ท่านก็สอนดี  ให้หลักการและแนวทางการเทศนาแก่พวกเราไว้มาก  โดยเฉพาะพันเอกปิ่น มุทุกันต์  ผู้นี้เป็นนักรบลูกอีสานได้ชื่อว่าเป็นนักรบผู้ปกป้องศาสนาพุทธ  ไม่ว่าจะเป็นโครงการพระธรรมทูตที่ท่านรื้อฟื้นขึ้นมา  ดำเนินการโดยรับสมัครพระนักเปรียญธรรมจากกรุงเทพฯ เดินทางไปเผยแผ่ศาสนายังพื้นที่หุบเขาที่ห่างไกลทางภาคเหนือ และอีสาน  พระธรรมทูตเหล่านี้ยังเป็นตัวนำความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปยังชนบทเพื่อจุดประสงค์หลักคือต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์  ท่านมีประวัติย่อ ๆ ว่า  บวชในสังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย  วัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานี  และได้เข้ามาจำวัดอยู่ที่วัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร   ต่อมา ลาสิกขาเพื่อสอบเข้ารับราชการตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ทหารบก  เป็นข้าราชการกระทรวงกลาโหม  ท่านใช้ความสามารถในการเทศน์ปากเปล่าที่ฝึกฝนมาตั้งแต่ตอนที่อยู่สำนักวัดสัมพันธวงศ์  จนทำให้อนุศาสนาจารย์เป็นที่รู้จักในที่สาธารณะในฐานะนักพูดผู้บรรยายธรรมะ ระหว่างพ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา   “ในปีพุทธชยันตีหรือปีกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.๒๕๐๐)  ขณะนั้นมียศเป็นพันโท  ได้มีส่วนร่วมสร้างปรากฏการณ์เพื่อฉลองวาระสำคัญทางศาสนานี้  โดยชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมศึกษาธรรมะผ่านรายการวิทยุธรรมนิเทศ  ออกอากาศทางสถานีวิทยุของกรมทหารสื่อสาร  แรกเริ่มจัดรายการวิทยุเพื่ออบรมทหาร  แต่ได้กลายมาเป็นช่องทางในการเชื่อมประชาชนให้เข้าถึงธรรมะโดยการชักชวนให้ผู้ฟังทั่วไปให้ร่วมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษกับทางราชการซึ่งจัดเป็นพิธีใหญ่โต  การบรรยายเริ่มตอนที่หนึ่งเมื่อวันพุธที่ ๒๔ พฤษภาคม ปี พ.ศ.๒๔๙๙   “พ.ศ.๒๕๐๖ ท่านรับตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา  ทำงานเผยแผ่ธรรมะร่วมกับงานพัฒนาวัดทั่วประเทศ   และปี พ.ศ. ๒๕๐๙  ท่านได้มาเป็นอาจารย์พิเศษอบรมวิชาเทศนาแก่พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้านี้

          ทั้งพระและฆราวาสที่มาอบรมสั่งสอนวิชาเทศนาแก่พวกข้าพเจ้า  แล้วแต่เน้นในหลักคุณสมบัติหรือหัวใจนักเทศน์  ได้แก่  นักเทศน์จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการคือ   ๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับไม่ตัดลัดให้ขาดความ   ๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ   ๓ ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง   ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ   ๕ ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น.   การเทศน์หรือการสอนนั้นให้ใช้รูปแบบการสอนครบทั้ง ๔ ประการได้แก่  ๑. สันทัสสนา คือ การอธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง   ๒. สมาทปนา คือ การชักจูงใจให้เห็นจริง   ๓. สมุตเตชนา คือ การเร้าใจให้แกล้วกล้าบังเกิดกำลังใจ   ๔ สัมปหังสนา คือ การชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง

          ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปิฎก (สนิธ) บอกให้พวกเราเทศน์และปาฐกถาอยู่ในกรอบ ๔ นา  หรือนา ๔ แปลง  คือ สันทัสสนา  สมาทปนา  สมุตเตชนา  สัมปหังสนา  อาจารย์มหาอ่อน  ก็บอกให้แสดงอยู่กรอบ ๔ โก  คือสันทัสสโก  สมาทปโก  สมุตเตโก  สัมปหังสโก  ซึ่งก็แปลได้ความหมายเดียวกัน  สันทัสสนา หรือสันทัสสโก  มีความหมายว่า “การกล่าวให้เห็นชัดแจ้ง  หรือชี้ให้ชัด  คือ  ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน  มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่าง ๆ แจ่มแจ้ง  เหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา”  เช่นกล่าวคำว่า  “ขันธ์ห้า”  แล้วต้องอธิบายว่า  ขันธ์คือ อะไร   ห้า คืออะไรบ้าง   รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างที่รวมกันเข้าเป็นกองนี้แต่ละอย่างมีความหมายว่าอย่างไร  มิใช่สักแต่ว่าพูดๆไปโดยไม่อธิบายความหมายให้คนฟังรู้และเข้าใจ  พระบางองค์พูดเก่งจำคำภาษาพระได้มาก  เทศน์ให้คนฟังจ้อยๆอย่างนกแก้วนกขุนทอง  แต่พอถูกถามว่าขันธ์ห้าคืออะไรก็ตอบไม่ได้  รูปคืออะไร  มีเท่าไร  อะไรบ้าง  ก็ตอบไม่ได้  อย่างนี้เรียกว่า  ไม่มีสันทัสสนาหรือสันทัสสโก  คนฟังก็สักแต่ว่าฟังไปหวังเพียงได้บุญ  ได้ฟังคำพระบาลีก็ยกมือสาธุ ถือว่าได้บุญแล้ว  อาจารย์มหาอ่อน  เล่านิทานประกอบเรื่องนี้แก้ง่วงว่าดังนี้

          ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีก่อน  คนไทยส่วนมากไม่รู้หนังสือ  ตามชนบทบ้านนอกอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย  ณ หมู่บ้านใหญ่ตำบลหนึ่งมีประชากรหลายร้อยครัวเรือน  ทุกคนไม่มีใครอ่านออกเขียนได้เลย  พวกเขากล่าวคำไหว้พระสมาทานศีลได้ด้วยการท่องจำกันมาอย่างผิด ๆ เพี้ยน ๆ  อยู่มามีชายวัยกลางคนคนหนึ่งชื่อ  โฉม  อายุเฉียด ๆ หกสิบปีแล้ว  เกิดมีความคิดอยากบวชเรียน  ยามนั้นภรรยาก็ย่างเข้าวัยชรา  ลูกเต้าโตเป็นหนุ่มสาวหมดแล้ว  เป็นอันหมดห่วง  จึงลาลูกเมียญาติมิตรเดินทางเข้าตัวเมืองไปกราบถวายตัวแก่พระอุปัชฌาย์เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมือง  แจ้งความประสงค์ว่าจะขอบวชเรียน  หลวงพ่อท่านก็เมตตาจัดการบวชให้ตามประสงค์  บวชเป็นพระแล้วก็ร่วมเรียนหนังสือไทยกับพระหนุ่มเณรน้อย  เริ่มเรียนจำสระ  พยัญชนะ  แจกรูป  ไปตามแบบเรียนโบราณ (ประถม ก.กา  จินดามณี)  พระโฉมอายุมากแล้วความคิดความจำสู้เด็กไม่ได้  ท่านก็ไม่ท้อ  พระเณรเรียนจบไปเกือบหมดแล้วท่านก็ยัง  “ย่ำต๊อก”  อยู่ที่เดิม  ผ่านไปสามปีเศษก็อดทนต่อไปไม่ไหว  เพราะเจ้าเณรที่เรียนผ่านไปแล้วพากันพูดเยาะเย้ยกันว่า   “เฮ้ย...คอยดูสากกะเบือออกดอกเน้อ”   คำนี้มีความหมายว่าคนมีอายุมากหากเรียนสำเร็จก็เหมือนสากกะเบือที่ตำพริกนั้นออกดอก  คือเป็นไม่ไม่ได้นั่นเอง

          พระโฉมเลิกเรียนกราบลาพระอุปัชฌาย์กลับไปอยู่วัดบ้านเดิม  ครั้นกลับมาอยู่บ้านเดิมแล้วท่านก็กลายเป็นพระที่มีความสำคัญมาก  เพราะไปบวชเรียนอยู่ในเมืองมาหลายปี  ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังกันในฐานะผู้มีความรู้ดี  มีงานบุญอะไร ๆ ก็นิมนต์ท่านเทศน์  ทั้ง ๆ ที่อ่านคัมภีร์เทศน์ไม่ได้นั่นแหละ  ท่านก็รักษาเชิง  เทศน์ปากเปล่า คือ นำเอาแบบเรียนที่ท่องจำได้มาเทศน์   “อะอาอิอีอุอูเอะเอแอะแอโอไอเอาอำ....อะ/ กะขะคะฆะงะ จะฉะชะฌะญะ....”   เรือยไปจนจบ  ตอนจบก็จะลากเสียงยาว  คนฟังก็ยกมือพนมท่วมหัวกล่าวคำว่า  สาธุ...  แล้วกล่าวชมว่าพลวงพ่อโฉมเทศน์เก่งมาก

          อยู่มาวันหนึ่งพ้นฤดูการเก็บเกี่ยวแล้ว  พระอุปัชฌาย์ท่านออกเดินธุดงค์ไปถึงหมูบ้านวัดพระโฉม  ปักกลดอยู่ริมหมู่บ้าน  ญาติโยมพากันไปต้อนรับดูแลด้วยความยินดีที่เห็นพระธุดงค์มา  ในการสนทนากันนั้นตอนหนึ่ง  โยมชายถามว่าหลวงพ่อเทศน์เป็นไหม  ท่านตอบว่าก็พอได้  คนหนึ่งบอกว่าหลวงพ่อที่วัดนี้ท่านเทศน์เก่งมาก  อยากนิมนต์หลวงพ่อเทศน์กับท่านจะได้ไหม  คนที่นี่ยังไม่เคยฟังพระเทศน์คู่กันเลย  ท่านอุปัชฌาย์ก็รับปากแล้วนัดกันว่าวันมะรืนเป็นวันพระ  ขอให้จัดเทศน์วันพระนี้เลย  เทศน์แล้วก็จะเดินทางต่อไป  พวกเขาก็นำข่าวนี้ไปบอกหลวงพ่อโฉมของเขาให้เตรียมตัวเทศน์กับพระธุดงค์  พระโฉมกินไม่ได้นอนไม่หลับ  คิดแผนที่จะเทศน์ในวันพระนี้

          ถึงวันเทศน์  พระอุปัชฌาย์เข้าวัดและขึ้นศาลาการเปรียญก่อน  ได้เวลาเทศน์แล้วพระโฉมยังไม่ลงจากกุฏิ  อุปัชฌาย์จึงขึ้นไปนั่งรออยู่บนธรรมาสน์เทศน์  เพราะไม่เคยฟังพระเทศน์คู่กันวันนั้นจึงมีคนพากันไปรอฟังเทศน์เต็มศาลาเลย  บ้างก็กระซิบถามกันว่าแกว่าเทศน์วันนี้ใครจะเป็นผู้ชนะ  สักครู่หนึ่งพระหลวงตาโฉมก็เดินลงจากุฏิขึ้นศาลาการเปรียญ  มือซ้ายถือตาลปัตรบังหน้า  ขึ้นศาลาแล้วแทนที่จะขึ้นอาสนสงฆ์กราบพระพุทธประธานก่อนขึ้นธรรมาสน์เทศน์ตามธรรมเนียม  ท่านกลับเดินก้มหน้าตรงขึ้นธรรมาสน์เทศน์   พระอุปัชฌาย์นั่งมองดูอยู่ด้วยความสงสัย  จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็นพระโฉมศิษย์ของท่าน  ครั้นพระโฉมนั่งเรียบร้อยแล้ว  เอาตาลปัตรตั้งบังหน้านิ่ง  พระอุปปัชฌาย์ส่งเสียงกระแอม  ก็สะดุ้ง  เพราะจำได้แล้วว่าพระองค์นี้คืออุปัชฌายาจารย์ตนเอง  ก่อนดุด่ามักจะกระแอมเสียงอย่างนี้  พระอุปัชฌาย์ถามว่า  “ใครน่ะ โฉมเรอะ”  เท่านั้นเองพระโฉมก็ว่าแบบเรียนที่ท่องได้ว่า  “ฉมฉัมฉามฉิมฉีมฉึมฉืมฉุมฉูมเฉมแฉมโฉมไฉเฉาฉำ...ฉะ”  แจกรูปในแม่กมจบ  คนฟังทั้งศาลายกมือพนมท่วมหัวเปล่งเสียง  สา..ธุ  พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า  “จะบ้าเรอะ”  พระโฉมก็แจกรูปแม่ ก.ก่า ว่า  “บอบะบาบี..........เบาบำบะ”  คนฟังก็ยกมือสาธุอีก  ถึงตรงนี้รู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร  พระอุปัชฌาย์จึงลงจากธรรมาสน์กลับไปเก็บกลดออกเดินธุดงค์ไปทันที

          พวกลูกศิษย์พระโฉมเห็นดังนั้นก็ว่า  ข้าว่าแล้วหลวงพ่อเราต้องชนะ  อีกคนย้ำว่าจะไม่ชนะได้ยังไง  องค์นั้นถามคำเดียว  หลวงพ่อเราตอบยาวเป็นวาเล้ย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มิถุนายน, 2566, 11:00:56 PM
(https://i.ibb.co/R0ryR9R/1.jpg) (https://imgbb.com/)
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๑ -
          การเป็นนักเทศน์  นักบรรยายธรรมหรือนักพูดที่ดีนั้น  มิใช่พูดคล่องตามบทที่ท่องจำมา (เหมือนหลวงตาโฉม) แต่พูดให้คนฟังเข้าใจในเรื่องที่พูด  ชี้ให้คนฟังเห็นชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร  เรื่องใดควรพูดเรื่องใดไม่ควรพูด  คิดก่อนว่าเรื่องนั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ฟัง  และที่สำคัญคือต้องพูดในเรื่องที่ตนรู้และเข้าใจถูกต้องแล้วเท่านั้น  เรื่องที่ยังไม่รู้ไม่ควรพูด  จึงจะได้ชื่อว่ามี  “สันทัสสโก” หรือที่เรียกว่าเป็นผู้มีความสันทัด ถนัด ชัดเจน ชำนาญ  นี้เป็นรูปแบบแรกที่พระนักเทศน์ต้องมี  รูปแบบที่ ๒ นั้นคือ สมาทปนา หรือ สมาทปโก ได้แก่การพูดชักจูงใจให้เห็นจริง  รูปแบบนี้ในอดีตกาลพระมหาเถระที่แสดงได้ดีที่สุดคือ  พระมหาโมคคัลลานเถระอัครสาวก  เวลาท่านพูดถึงนรกก็สามารถอธิบายเปรียบเทียบให้คนฟังเห็นภาพพจน์ได้อย่างชัดเจนจนคนไม่กล้าทำบาปด้วยกลัวตกนรก  พูดถึงสวรรค์ก็อธิบายเปรียบเทียบให้คนฟังเห็นภาพพจน์ได้อย่างชัดเจนจนคนมุ่งแต่จะทำบุญเพื่อไปเกิดบนสวรรค์  พระนักเทศน์รุ่นต่อ ๆ มาแสดงอย่างท่านไม่ได้แล้ว

          รูปแบบสมาทปโกนี้  อาจารย์มหาแย้ม ประพัฒน์ทอง  ท่านพูดจูงใจคนฟังด้วยคำอุปมาอุปไมยได้ดีมากคนหนึ่ง  เพราะท่านเป็นนักภาษาผู้สามารถทั้งโบราณและปัจจุบัน  คำอุปมาอุปไมยนี้มีความสำคัญในการพูดสื่อความหมายให้คนฟังเข้าใจและคล้อยตามได้ง่าย  คนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยใช้กันนัก  ขอนำตัวอย่างการใช้คำอุปมาอุปไมยมาแสดงย่อ ๆ ดังนี้  “คำอุปมาอุปไมย  การพูดการเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิดให้ผู้อื่นได้รับรู้ได้เข้าใจ  ในบางครั้งต้องยกข้อความมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นจริงและเป็นที่เข้าใจได้ง่าย  คำที่ยกมาเปรียบนั้นเรียกว่า  คำอุปมา  แปลว่า การเปรียบหรือสิ่งที่นำมาเปรียบ  คำอุปมาจึงถือเป็นถ้อยคำที่เกี่ยวกับการเปรียบเทียบ  หรือถ้อยคำที่ใช้ในการเปรียบเทียบให้ผู้ฟังผู้อ่านเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง  สำหรับสิ่งที่รับเอามาเปรียบเทียบเรียกว่า อุปไมย เช่น อุปไมยว่า ดำ  อุปมาว่า อย่างสำลีเม็ดใน   อุปไมยว่า เงียบ  อุปมาว่าเหมือนเป่าสาก   อุปไมยว่า สวย  อุปมาว่าราวเทพธิดา   อุปไมยว่า คอย  อุปมาว่า เหมือนข้าวคอยฝน   อุปไมยว่า สมกัน  อุปมาว่า ราวกิ่งทองใบหยก  อุปไมยว่า นิ้วเรียว  อุปมาว่า เหมือนลำเทียน.  บางครั้งการยกอุปมาก็นำมาจากวรรณคดีหรือตำนานนิทาน เช่น อุปไมว่า พูดจาวกวน  อุปมาว่า เหมือนเขาวงกต   อุปไมว่า ทำท่าจองหอง อุปมาว่าเหมือนกิ้งก่าได้ทอง

          วิธีอุปมา  อาจทำได้ดังนี้  ๑. ใช้คำที่บอกอุปมา คือ  จะมีคำที่บอกอุปมาคั่นระหว่างคำอุปมาและคำอุปไมย คือ  “ราว, เสมอ, เหมือน, อย่าง, เพียง, ดุจ, เสมือน, เหมือน, เหมือนกับ, ประหนึ่งว่า, เปรียบ คล้าย, แบบ   ๒. แสดงอุปมาโดยอรรถ คือ เป็นข้อความที่แสดงอุปมาอยู่ในตัวของมันเอง คือ คำพังเพย หรือสำนวน เช่น  กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้  เกลือเป็นหนอน  จุดไต้ตำตอ  เขียนเสือให้วัวกลัว   ๓. แสดงอุปมาโดยใช้สัญลักษณ์ คื อ การเอาสัญลักษณ์ที่มีความหมายโดยนัยมากล่าวอ้าง  ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะตีความว่าอย่างไร   ๔. ใช้สำนวนหรือคำที่มีความหมายโดยนัย  เช่นผู้ดีแปลกสาแหรก  ทันควัน  ถอยหลังเข้าคลอง  ใจไม้ไส้ระกำ  กินน้ำใต้ศอก  ปากหอยปากปู  เป็นต้น

          ขอยกตัวอย่างหนังสือคัมภีร์สุโพธาลังกา  เป็นคัมภีร์คาถาบาลีเขียนอธิบายวิธีการแต่งหนังสือ  ซึ่งนาวาเอกแย้ม ประพัฒน์ทอง ได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยกล่าวถึงลักษณ์ของการใช้อุปมา ๑๑ ลักษณะซึ่ง ประภาศรี สีหอำไพ ได้สรุปไว้ดังนี้คือ   ๑) ธมฺโมปมา เปรียบธรรม   ๒) ธมฺมหิโนปมา เปรียบทรามจากธรรม   ๓) วิปริโตปมา เปรียบวิปริต   ๔) อญฺญมญฺโญปมา เปรียบกันและกัน   ๕) อพฺภูโตปมา เปรียบด้วยสิ่งน่าอัศจรรย์   ๖) สิเลโสปมา เปรียบด้วยบทสละสลวย   ๗) สนฺตาโนปมา เปรียบต่อกัน   ๘) นินฺโทปมา เปรียบเชิงตำหนิ   ๙) ปฏิเสโธปมา เปรียบเชิงปฏิเสธ   ๑๐) อาสาธารโณปมา เปรียบไม่ทั่วไป   ๑๑) อภููโตปมา เปรียบด้วยวัตถุที่ไม่มี

          อุปมาพึงรู้ด้วยศัพท์ที่เชื่อมมีความหมายว่า  เพียงดัง  หรือเท่าเทียมกับ  หรือเปรียบได้กับ  พระองค์มีพระพักตร์เพียงดังดวงจันทร์  ดวงจันทร์เป็นอุปมา  พระพักตร์เป็นอุปไมย”

          สำหรับประวัติอาจารย์มหาแย้ม ประพัฒน์ทอง นั้น  ท่านเป็นชาวตำบลบางพลัด เขตบางกอกน้อย  เกิดเมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๕๒  ศึกษาเล่าเรียนที่วัดภคินีนาถตั้งแต่เป็นเด็ก  แล้วบรรพชาเป็นสามเณร  และอุปสมบทเป็นภิกษุ  เรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและบาลี สอบ น.ธ.เอกได้ปี พ.ศ. ๒๔๔๗๓ สอบเปรียญธรรม ประโยค ๙ ได้ปี พ.ศ. ๒๔๗๗  ลาสิกขาพ.ศ. ๒๔๗๙  หลังจากลาสิกขาแล้วได้สมัครเข้ารับราชการในหน้าที่พนักงานจัดทําอักขรานุกรมอยู่ประมาณ ๖ เดือน  ได้ลาออกไปอยู่กับพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ซึ่งทรงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประมวญสาร (รายสัปดาห์)  ประมวญวัน (รายวัน)  พ.ศ. ๒๔๘๑ สมัครเข้ารับราชการในแผนกอนุศาสนาจารย์กรมยุทธศึกษาทหารบก  หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ท่านย้ายไปเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารอากาศอยู่จนเกษียณอายุราชการ  ผลงานทางวิชาการของท่าน เช่น  มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานครภาคที่ ๑,   คัมภีร์สุโพธาลังกา,  ปาฐกฐาเรื่องพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญาและสัทธรรมปฏิรูป,  ปาฐกฐาเรื่องค่าของคน,  รวมเรื่องชาดก,  อภิธรรมมัตถสังคหะ พระคัมภีร์สัจจสังเขป,  พระสัทธรรมโฆษเถระ,  โลกบัญญัติ,  โลกทีปสาร, พระสังฆราชเมธังกรแต่ง แย้ม ประพัฒน์ทองแปล. เป็นต้น   ท่านเป็นปูชนีบุคคลหนึ่งในวงวิชาการ

          สมาทปโก  รูปแบบการแสดงชักจูงใจให้เห็นจริง  ท่านอาจารย์มหาแย้มกล่าวว่าไม่ต้องใช้นิทานอะไรประกอบก็ได้  ขอให้ใช้คำอุปมาอุปมาไมยตามคัมภีร์สุโพธาลังกาซึ่งเป็นคัมภีร์คาถาบาลีเขียนอธิบายวิธีการแต่งหนังสือ  ที่ท่านอาจารย์ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้นั้นก็ใช้ได้แล้ว  เพราะคำอุปมาอุปไมยจะพูดให้เห็นภาพได้ชัดเจน เช่นว่า  “ดำเหมือนนิล ,ขาวเหมือนปุยนุ่น  กรอบเป็นข้าวเกรียบ”  เป็นต้น  ข้าพเจ้าฟังอาจารย์มหาแย้มบรรยายแล้วไม่ง่วง  แต่เพื่อนหลายคนบอกว่าง่วง  เป็นงั้นไปได้นี่/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มิถุนายน, 2566, 11:15:40 PM
(https://i.ibb.co/R4RzqJj/Untuuitled-1-01.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๒ –
          รูปแบบการเทศน์ที่พระนักเทศน์ต้องมีคือ  สันทัสสนา  สมาทปนา  ดังกล่าวแล้วนั้นยังไม่พอ  ต้องมี สมุตเตชนา  คือ  การเร้าใจให้แกล้วกล้า  บังเกิดกำลังใจอีกรูปแบบหนึ่ง  ความหมายของแบบที่ ๓ นี้  สมัยใหม่เขาเรียกกันว่า  “ปลุกระดม”  แต่ความหมายของ  สมุตเตชนา  หรือสมุตเตชโก นี้  เป็นการปลุกระดมให้ใจเกิดความหวัง  แกล้วกล้าในการทำความดีเท่านั้น  มิได้หมายถึงการปลุกระดมให้ฮึกเหิมในการรบราฆ่าฟันกัน  นักเทศน์นักปาฐกถาบรรยายธรรมต้องมีจิตวิทยาในการพูดให้คนฟังที่ห่อเหี่ยวเหนื่อยหน่ายไร้ความกระตือรือร้นในการทำความดี หรือเกียจคร้านในการงาน  ให้เขาเกิดความรู้สึกอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น  มีกำลังใจแกล้วกล้าขยันหมั่นเพียรขึ้นเมื่อได้ฟังคำพูดของเราแล้ว  หลักสำคัญของหัวข้อนี้  อาจารย์มหาแย้มกับมหาอ่อนให้ไว้ตรงกันว่า  ให้ยกพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า  “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ = ตนแลเป็นที่พึ่งของตน”

          โดยกล่าวถึงการพึ่งตนนั้นอย่างไร  ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตลงสู่ครรภ์มารดา  แล้วคลอดออกมา  หายใจด้วยตนเอง  กระดุกกระดิกร่างกายด้วยตนเอง  กินอาหารด้วยตนเอง  คลาน  เดิน  ด้วยตนเอง  ส่งเสียงร้อง  พูดด้วยตนเอง  ขับถ่ายด้วยตนเอง  กินนอน นั่ง ยืน เดิน ด้วยตนเอง  ศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างได้ด้วยตนเอง  สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครทำแทนเราได้  ในการประกอบอาชีพการงานแม้จะมีคนคนช่วยบ้างก็ต้องอาศัยตนเองเป็นหลัก  คนที่ไม่ยอมพึ่งตนเอง  มัวแต่คอยให้คนอื่นช่วย  เช่นพ่อแม่พี่น้องญาติกาและเพื่อนฝูงเขาอาจช่วยได้บ้างในยามที่เขารัก  สงสารเรา  ยามสิ้นรัก สงสาร  เขาก็จะทิ้งเรา  หรือยามเขาล้มหายตายจากไป  เราก็ไร้ที่พึ่งทันที  หากจะอ้อนวอนของเทวดาอารักษ์เทพเจ้าทั้งหลายให้ช่วยเหลือ  ก็เหมือนกับนอนใต้ต้นส้ม  อ้าปากรอให้ผลส้มหล่นลงปาก  เป็นความหวังที่เปล่าดาย  การพึ่งตนนั้นต้องทำอะไรที่อยากได้อยากมีด้วยตนเอง  อยากกินผลส้มต้องเด็ดผลมันมากินเอง  อย่านอนอ้าปากรอให้ผลส้มหล่นใส่ปาก  อยากกินข้าวก็อย่าอ้าปากรอข้าวลอยมาเข้าปาก  อยากได้ดีต้องทำดี  อยากได้ทรัพย์สมบัติต้องทำการงาน  นี่คือหลักการพึ่งตนที่ถูกต้อง

          รูปแบบสุดท้ายที่นักเทศน์ต้องมีได้แก่  สัมปหังสนา  หรือ สัมปหังสโก คือ  การชโลมใจให้แช่มชื่น  ร่าเริง  รูปแบบนี้สำคัญ  เพราะทำให้คนฟังไม่เบื่อ  ไม่ง่วง  อาจารย์มหาอ่อนกล่าวว่า  คนไทยมักฟังเทศน์ด้วยหวังได้บุญเป็นส่วนมาก  เราจะเห็นว่าคนมีอายุหน่อยมักจะนั่งพับเพียบพนมมือ  แล้วค่อย ๆ หมอบตัวลงกับพื้นเพราะความเมื่อย  บางคนก็หลับไปเลย  ถามว่าได้อะไรจากการฟังเทศน์บ้าง  ก็มักได้คำตอบว่า  “ได้บุญ”  อย่าถามเลยว่า  บุญคืออะไร  รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร  แกตอบไม่ได้หรอก  แต่แกจะรู้ตามที่พระบอกว่า  ผลของบุญจะได้ตอนที่ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์  อย่างสัตว์เดรัจฉานจำนวนมากที่ฟังพระสวดธรรมตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์นั่นและ  คนไทยจึงฟังเทศน์กันตามประเพณีมากกว่าจะฟังเพื่อเอาความรู้จากพระเทศนาธรรม

          เรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทยนี้  อาจารย์มหาอ่อนท่านว่ามีทั้งคุณและโทษ  โดยท่านเล่านิทานพื้นบ้านประกอบเรื่องว่า ....

          สมัยเมื่อร้อยปีก่อนนี้  มีหมู่บ้านใหญ่ในชนบทแห่งหนึ่งอยู่ในสภาพที่เรียกว่า  “ด้อยพัฒนา”  โยมทายกวัดกลางหมู่บ้านมีลูกชายคนหนึ่ง  ครั้นเจริญวัยขึ้นสมควรแก่การศึกษาเล่าเรียนแล้ว  หวังให้ลูกได้ดีจึงพาเข้ากรุงเทพฯ ฝากเป็นศิษย์พระวัดใหญ่แห่งหนึ่ง  เด็กชายคนนั้นชื่อว่า  “เนียน”  เขาเรียนหนังสือไทยจนจบแล้วเจ้าอาวาสให้เรียนนักธรรม-บาลีต่อ  โดยให้บรรพชาเป็นสามเณร  สามเณรเนียนเรียนนักธรรม บาลีจนสอบนักธรรมชั้นโท  อุปสมบทเป็นภิกษุต่อแล้วสอบบาลีได้เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยค  เป็นพระมหาเนียน  โก้ไปเลย

          พระมหาเนียนสอบเปรียญธรรม ๖ ประโยค  ตกถึง ๓ ครั้ง  ก็หมดกำลังใจจะเรียนต่อ  จึงกลับไปอยู่วัดที่บ้านเดิม  พระมหาจากกรุงเทพฯ ออกไปอยู่บ้านนอกก็เหมือนเทวดาลงมาจากสวรรค์กระนั้นเทียว  พระมหาเนียนได้รับการยกย่องเคารพยำเกรงจากพระเณรและชาวบ้านเป็นอย่างมาก  อยู่วัดบ้านตนไม่นานนักสมภารวัดซึ่งชราภาพมากแล้วก็มรณะ  พระมหาเนียนจึงได้เป็นสมภารแทน  ท่านสั่งสอนอบรมพระเณรและชาวบ้านให้รู้รักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทยอย่างเคร่งครัด  ชาววัดชาวบ้านก็เชื่อฟังทำตามท่านเป็นอันดี  เป็นพระดี  ดัง  เด่น  อยู่ได้ประมาณ ๕ ปี  ท่านก็พ่ายแพ้แก่ธิดาพญามาร  ลาสิกขาออกไปมีภรรยาตามวิสัยแห่งโลกิยชน  แม้มหาเนียนจะสึกออกไปมีครอบครัวแล้ว  แต่ก็ยังเป็นเหมือนสมภารวัด  พระเณรและชาวบ้านยังให้ความเคารพนับถือท่านอยู่เหมือนเดิม  ทุกวันพระท่านจะเข้าวัดทำหน้าที่เป็นมรรคนายกและรักษาอุโบสถศีลไม่ว่างเว้น  มีงานบุญทั้งในวัดและตามบ้านมหาเนียนจะต้องได้รับเชิญไปเป็นหัวหน้ามรรคนายกทุกงาน

          อายุมหาเนียนมากขึ้นจนเฉียด ๆ ๖๐ ปีแล้ว  ร่างกายผิวคล้ำต่ำเตี้ยก็เริ่มอ้วนท้วนพุงพลุ้ย  แถมศีร์ษะล้านให้อีกด้วย  สงกรานต์ปีนั้น  ลูก ๆ ออกเงินร่วมกันซื้อผ้าไหมหางกระรอกสีม่วงอันเป็นสีประจำวันเกิดให้ผืนหนึ่ง  สมัยนั้นคนไทยชายหญิงนิยมแต่งตัวด้วยการนุ่งผ้าโจงกระเบน  มหาเนียนนุ่งผ้าไหมที่ลูกซื้อให้เข้าวัดทำบุญตามปกติ  พอเดินขึ้นบันไดศาลาการเปรียญไป  ชาวบ้านก็พากันมองท่านมหาเนียนของเขาด้วยความชื่นชม  บางคนใจกล้าหน่อยก็ทักว่า   แหม..พ่อมหา  วันนี้แต่งตัวภูมิฐานจัง  มหาเนียนยิ้มอย่างพอใจ  กล่าวตอบว่า  ไหมม่วงหางกระรอกผืนนี้ลูกเขาซื้อมาไหว้พ่อเนื่องในวันสงกรานต์น่ะ

          พระลงศาลานั่งบนอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว  มหาเนียนก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม  จุดเทียนธูปบูชาพระแล้ว  หันหน้าหาประชาชนประกาศว่า   “ต่อไปนี้ตั้งใจไหว้กราบพระรับศีลพร้อมกันทุกคนเจ้าข้า”   แล้วก็หันหน้าเข้าหาพระกล่าวคำ   “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ”   ตอนกราบนี่แหละเกิดปัญหาขึ้นแก่มหาเนียน  กล่าวคือแกกราบไม่ลง  เพราะตัวอ้วนพุงพลุ้ยอยู่แล้ว  ผ้าม่วงผืนใหม่ของแกเห็นทีว่าจะมีหน้าสั้นแคบไปหน่อย  พอกราบหางกระเบนก็รั้งไว้ให้กราบไม่ลง  มหาเนียนจึงต้องปลดหากระเบนออกแล้วกราบ  ประสกสีกาที่นั่งข้างหลังเห็นเช่นนั้นก็พากันปลดหางกระเบนของตนออกแล้วกราบพระตามอย่างมหาเนียน  กราบครบ ๓ ครั้งแล้ว  ก็อาราธนาศีล  รับศีลจบแล้วแล้วจึงจับหางกระเบนเหน็บไว้ตามเดิม  ประสีกาในศาลาก็ทำตามมหาเนียนพร้อมกันทั้งหมดเลย  เมื่อประกาศเชิญให้ทุกคนไหว้กราบพระรับศีลแล้ว  มหาเนียนไม่ได้หันมามองข้างหลัง  จึงไม่รู้ว่าคนข้างหลังทำอะไรกันบ้าง  ตั้งแต่วันนั้นมามหาเนียนไปเป็นมรรคนายกงานบุญไหนก็จะนุ่งผู้ม่วงผืนนั้นและปลดหางกระเบนออกก่อนไหวักราบพระทุกครั้ง  คนทั้งตำบลก็ถือเป็นระเบียบประเพณีการไหว้กราบพระต้องปลดหางกระเบนออกก่อน  ไม่มีใครกล้าถามมหาเนียนว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น  ด้วยเชื่อมั่นว่าท่านเป็นคนมีความรู้มากกว่าทุกคนในตำบลนั้น  ทำอะไรย่อมถูกต้องไม่ผิดพลาดเป็นแน่

          มหาเนียนสิ้นชีวิตไปนานแล้ว  มรรคนายกคนต่อ ๆ มาก็รับมรดกทำตามแบบย่างมหาเนียนสืบมาจนกระทั่ง  มีไอ้ทิดคนหนึ่งเป็นคนต่างบ้านต่างเมืองมาได้สาวตำบลนั้นเป็นภรรยา  และวันหนึ่งเขาเข้าวัดทำบุญกับภรรยาและแม่ยาย  พอบุญพิธีเริ่มขึ้นมรรคนายกประกาศให้ไหว้กราบพระรับศีล  เขาเห็นทุกคนปลดหางกระเบนออกก็นั่งงงอยู่  แม่ยายเห็นเช่นนั้นก็เอาศอกกระแทกกระทุ้งลูกเขย  บุ้ยปากให้ดูชาวบ้านในศาลานั้น  เป็นเชิงบอกให้เขาทำตาม  เขาก็จำต้องทำตาม  เพราะ ”เข้าเมืองตาหลิ่ว” เสียแล้วต้อง “หลิ่วตาตาม”   ครั้นเลิกทำบุญแล้วกลับมาบ้านเขาทนพกความสงสัยไว้ไม่ได้  จึงถามแม่ยายว่า

          “ตอนไหว้พระรับศีลทำไมทุกคนจึงต้องปลดหางกระเบน”

          แม่ยายถามว่า  ไอ้ทิดเองเคยบวชเรียนมาแล้วใช่ไหม
          เขาตอบว่า  ใช่จ้ะ

          แม่ยายกล่าวว่า  ”ไอ้ทิดเอ้ย  เอ็งบวชก็เสียผ้าเหลือง  สึกมาก็เปลืองผ้าลาย”
          เขาก็ว่า   “อ้าว....เป็นไงอย่างงั้นล่ะแม่”

          เอ็งบวชเรียนแล้วทำไมไม่รู้เรื่องอย่างนี้ล่ะ
          ไม่รู้จริง ๆ แม่  วัดที่บ้านฉันไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้เลย

          อืมม...วัดที่บ้านแกคงยังไม่เจริญด้านการศึกษานักหรอกนะ  เอาเถอะ  ไม่รู้แม่ก็จะบอกให้  จำไว้นะไอ้เซ่อ ...  ไม่ปลดหางกระเบนออกแล้วศีลมันจะเข้าทางไหนเล่า !!!!”

          อาจารย์มหาอ่อนจบนิทานด้วยคำถามว่า  ประเพณีนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษ  พระคุณเจ้าทั้งหลายคิดเอาเองก็แล้วกันครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, มิถุนายน, 2566, 11:28:10 PM
(https://i.ibb.co/BPPvKtx/1.jpg) (https://imgbb.com/)
อ.เสถียร โพธินันทะ

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๓ -
          เหตุที่ทางหน่วยพัฒนาการทางจิตนำอดีตพระนักเทศน์ดัง ๆ มาให้การอบรมสั่งสอนพวกเราหลายท่าน  ก็เพื่อให้พวกเรากลับไปเทศนา  บรรยายธรรม  แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี  นอกจากที่กล่าวมาแล้วก็มี  มหาปัน นกแก้ว  และอีกหลายท่านที่จำนามท่านไม่ได้  เพราะท่านมาอบรมพวกเราน้อยกว่าอาจารย์มหาอ่อน  มหาแย้ม  มหาปิ่น  ดังกล่าวแล้ว  พร้อมกันนั้นก็เชิญผู้มีความรู้ในวิชาการแขนงต่าง ๆ มาถวายความรู้แก่พวกเราด้วย  ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา-พระไตรปิฎก  ก็เป็นความสำคัญที่พวกเราต้องเรียนรู้  จึงนิมนต์ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ ป.ธ. ๙) จังหวัดนครสวรรค์  มาบรรยายให้ความรู้เรื่องพระไตรปิฎกแก่พวกเรา  เชิญอาจารย์เสถียร โพธินันทะ มาบรรยายเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาแก่พวกเรา  ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์นั้น อาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ ว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่เก่งเรื่องพระไตรปิฎกมากที่สุด  ขอพักเรื่องของท่านไว้ก่อน  ในที่นี้จะขอกล่าวถึงอาจารย์เสถียร โพธินันทะ  บุคคลผู้นี้มีประวัติที่น่าสนใจยิ่งนัก  ขอประมวลย่อประวัติของท่านมาให้ทราบดังต่อไปนี้

          อ.เสถียร โพธินันทะ  ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาคนหนึ่งของไทย  ผู้บุกเบิกการศึกษาพระพุทธศาสนามหายาน  และอดีตเลขาธิการคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย  ท่านเกิดที่กรุงเทพมหานคร  เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่บ้านในตรอกอิศรานุภาพ  บริเวณตลาดเก่าเยาวราช  ใกล้ ๆ กับวัดกันมาตุยาราม  บิดาเป็นชาวจีนชื่อนายตั้งเป็งท้ง  มารดาชื่อนางมาลัย กมลมาลย์  มีพี่สาวสองคน  ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อมารดาตั้งครรภ์อาจารย์เสถียร  บิดาก็มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางกลับไปประเทศจีนและได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา  ในวัยเด็ก เด็กชายเสถียรใช้นามสกุลว่า  “กมลมาลย์”  ตามมารดา  จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๑  เมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี จึงได้เปลี่ยนนามสกุลตนเองเป็น “โพธินันทะ”  อันหมายถึงผู้ยินดีในความรู้แจ้ง  ด้วยประสงค์จะให้ใกล้ชิดกับพระศาสนาและได้ใช้นามสกุลนี้ตลอดมาจนถึงแก่กรรม ด้วยอายุ ๓๗ ปี

          ย้อนไปดูชีวิตของท่าน  เมื่อมีอายุพอจะรับการศึกษาได้  มารดาจึงได้นำไปฝากให้เรียนในโรงเรียนราษฎรเจริญของครูชม เปาโรหิตย์  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับวัดจักรวรรดิราชาวาส  หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุขจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๕  จึงได้ลาออก  ด้วยประสงค์ความเป็นอิสระ  และปรารถนาจะมีเวลาทำการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ที่ต้องการด้วยตนเอง  โดยเฉพาะความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่  นายแพทย์ตันม่อเซี้ยงได้เล่าว่า  “คุณเสถียรเริ่มรู้จักกับข้าพเจ้าเมื่ออายุ ๑๕ ปี  ครั้งนั้นคุณเสถียรกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข  เป็นเด็กฉลาดเฉียบแหลม  มีปฏิภาณดีมาก  และมีความจำยอดเยี่ยมด้วย  ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่คุณเสถียรได้รู้จักคุ้นเคยกับอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แต่ครั้งยังอุปสมบทอยู่ที่วัดกันมาตุยาราม  ซึ่งคุณเสถียรได้ศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทจากอาจารย์ท่านนี้  เพียงระยะเวลาไม่นานก็มีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี  ทั้งนี้ได้จากอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเป็นเยี่ยมท่านหนึ่ง  ประกอบกับสติปัญญาอันเฉียบแหลมของคุณเสถียรเองด้วย”  ในเรื่องนี้มารดาของอาจารย์เสถียร โพธินันทะก็ได้เล่าว่า  อาจารย์เสถียรสนใจทางพระศาสนามาตั้งแต่เล็ก  เมื่ออายุประมาณได้ ๓ ขวบก็เริ่มนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้พระแล้ว

          ในสมัยเด็ก  เมื่ออยู่ในที่แวดล้อมเป็นคนจีน  เด็กชายเสถียรก็ชอบเล่นแต่งกายเป็นพระจีน  การวาดเขียนที่ชอบมากคือเขียนรูปพระพุทธเจ้าและรูปบุคคลประกอบเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา  เมื่ออายุได้ ๑๓-๑๔ ปีก็ชอบท่องเที่ยวไปตามวัดต่าง ๆ ทั้งวัดจีน วัดญวน และวัดไทย  วัดไทยที่ชอบไปคือวัดจักรวรรดิราชาวาส  เพื่อไปสนทนาไต่ถามเรื่องราวต่าง ๆ ทางศาสนากับพระสงฆ์  โดยเฉพาะวัดจีนและวัดญวนนั้นชอบไปดูพิธีทิ้งกระจาด  การทำกงเต๊ก  และการสวดมนต์  ส่วนในด้านความรู้นั้นก็ได้ศึกษาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนามหายานจากหนังสือลัทธิของเพื่อนของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป  แต่ก็รู้จักใช้ถ้อยคำสำนวนได้ถูกต้องตามหลักวิชา  ประกอบกับมีความจำเป็นเลิศจึงจดจำเรื่องราวที่อ่านไว้ได้มาก  สามารถอธิบายรูปปฏิมาต่าง ๆ ในวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ได้ถูกต้องและถี่ถ้วน  ยิ่งกว่านั้นการซักถามพระจีนพระญวนที่มีความรู้โดยละเอียดก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความรู้ในเรื่องของจีนและญวนแตกฉานขึ้น

          ภายหลังจบชั้นมัธยมปีที่ห้าแล้ว  จึงได้เข้าศึกษาภาษาจีนที่โรงเรียนเผยอิง  ชั่วเวลาเพียงสองปีก็มีความรู้ภาษาจีนแตกฉาน  สามารถใช้ศัพท์สูง ๆ ยาก ๆ ในภาษาจีนกลางได้ดี  สามารถอ่านพระไตรปิฎกจีนซึ่งอุดมไปด้วยสำนวนโวหารโบราณที่ลึกซึ้งได้อย่างเข้าใจ  ทักษะทางด้านภาษาจีนนี้ถือเป็นอัจฉริยภาพอีกประการหนึ่งของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ  ซึ่งนายแพทย์ตันม่อเซี้ยงได้เล่าว่า  "เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  คุณเสถียรได้ทำหน้าที่ล่ามให้ถึง ๓ ครั้ง  ครั้งแรกคุณเสถียรมีอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น  แต่ก็สามารถถ่ายทอดคำปาฐกถาจากภาษาจีนสู่พากย์ไทยได้อย่างดียิ่ง  สามารถแปลได้ถูกต้องและครบถ้วนตามเจตจำนงของข้าพเจ้าทุกกระบวนความ  คุณเสถียรได้แสดงความเป็นปราชญ์ให้เป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายแต่เยาว์วัยทีเดียว  และได้แสดงปาฐกถาด้วยตนเองครั้งแรกที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเมื่ออายุ ๑๘ ปี"  นายแพทย์ตันม่อเซี้ยงซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านเสถียรคนหนึ่งจึงรู้เรื่องท่านเสถียรเป็นอย่างดี

          อ.เสถียรคนนี้คือผู้ให้กำเนิด  “ยุวพุทธิกสมาคม”  ดังมีเรื่องเล่าว่า  “เมื่ออาจารย์เสถียร โพธินันทะ มีอายุราว ๑๗ ปี  ท่านสุชีโว ภิกขุ หรืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้เชิญให้อาจารย์เสถียร โพธินันทะซึ่งเป็นศิษย์ในวัดกันมาตุยารามไปบรรยายธรรมะให้พุทธศาสนิกชนฟัง  ที่ตึกมหามกุฏราชวิทยาลัย  หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร (ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง)  อาจารย์เสถียรไปถึงที่บรรยายทั้ง ๆ ที่ใส่ชุดนักเรียน  โดยที่ท่านสุชีโว ภิกขุได้ตามไปเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย  การบรรยายในวันนั้น  สร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างมาก  ที่เห็นวัยรุ่นอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีสามารถบรรยายธรรมได้อย่างแตกฉาน  ทำให้เกิดกระแสความต้องการของประชาชนที่จะก่อตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนพุทธขึ้นมา  เพื่อสร้างศาสนทายาทในฝ่ายฆราวาสขึ้น  ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีอีกคนในยุคนั้น คือ นายบุญยง ว่องวาณิช  นายห้างอังกฤษตรางู  ซึ่งสมัยนั้น  ติดตามฟังปาฐกถาของสุชีโว ภิกขุ และอาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นประจำ  ต่อมา สุชีโว ภิกขุก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษาพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร  เมื่ออาจารย์เสถียร โพธินันทะอายุได้ ๒๐ ปีเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสมาคม  พระพรหมมุนี จึงตั้งชื่อให้ว่ายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย  ตั้งแต่บัดนั้น อาจารย์เสถียร ก็ทำหน้าที่ระดมชาวพุทธวัยหนุ่มสาวให้มาทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาร่วมกัน  ผลการก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคม  ปรากฏว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัย พ่อค้า ข้าราชการ ที่มีความเห็นตรงกันจำนวนมากสนใจในพระพุทธศาสนา  ต่อมา ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศและมีชื่อเสียงไปถึงระดับนานาชาติ”

          เกียรติคุณด้านความรอบรู้ในทางวิชาการพระพุทธศาสนาของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้แผ่ขยายออกไปสู่สังคม  เมื่ออายุได้ ๒๓ ปีจึงได้รับเชิญจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย  ให้ไปเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนา  และวิชาพุทธศาสนามหายาน เป็นอาจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาการศึกษา ฯ  แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง  และในระหว่างที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้  อาจารย์เสถียรได้เขียนบทความและหนังสือไว้เป็นอันมาก  ซึ่งผลงานเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาพุทธศาสนา  ที่ใช้เป็นตำราประกอบการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงมาจนทุกวันนี้  หนังสือเล่มสำคัญ ๆ ได้แก่  ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา , พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย , ปรัชญามหายาน , พุทธศาสนาในอาเซียกลาง  และบทความทั้งสั้นและยาวรวมเล่มอีกเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังสือเมธีตะวันออกของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ก็ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)  และมีการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  และผลงานสำคัญที่สุดที่ถือได้ว่าเป็นผลงานอมตะคืองานแปลพระสูตรฝ่ายมหายาน จากภาษาจีน คือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร และ วิมลเกียรตินิทเทศสูตร  นอกจากหน้าที่ในการเป็นอาจารย์แล้ว  อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ยังเป็นนักปาฐกถาอีกด้วย  งานสำคัญที่ปฏิบัติตลอดมาคือการแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา ปรัชญา และประวัติศาสตร์  และก็เป็นนักปาฐกถาชั้นเยี่ยมที่มีคนนิยมมาก  เพราะเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง  มีความจำดี  ชอบค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  ทั้งยังชอบขบคิดหรือค้นคว้าเรื่องยาก ๆ  เรื่องอะไรที่เห็นว่าสำคัญพอจะท่องจำไว้ได้ก็ท่องจำไว้ทีเดียว  และด้วยมีความรู้หลายภาษาจึงสามารถศึกษาได้กว้างขวางลุ่มลึก  เป็นที่ถูกอกถูกใจแก่บรรดาปัญญาชนผู้ใฝ่หาความรู้  เมื่อมีประกาศทางหนังสือพิมพ์ว่าอาจารย์เสถียรจะไปพูด ณ ที่ใด  ก็จะมีคนติดตามไปฟังแน่นขนัดเสมอ  งานแสดงปาฐกถานี้เป็นงานที่กระทำต่อเนื่องกว่าสิบปี  ทั้งที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย และที่พุทธสมาคมอื่น ๆ หลายแห่ง  รวมถึงตามมหาวิทยาลัยและตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าเด็กและเยาวชนให้ความสนใจกันมาก

          วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๙ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้กลับมาบ้านในเวลา ๒๑.๐๐ น.  แล้วอาบน้ำชำระร่างกาย  จากนั้นเมื่อเลยเที่ยงคืนไปแล้วจึงได้เข้านอน  ถึงวันรุ่งขึ้นในเวลาเช้า  เด็กรับใช้ขึ้นไปเรียกเห็นเงียบก็ลงมาบอก  มารดาเข้าใจว่ายังหลับอยู่จึงออกไปซื้อของนอกบ้าน  จนสายราว ๘.๐๐ น. กลับมาเห็นยังไม่ตื่นจึงได้ขึ้นไปดูเห็นอาการนอนนิ่ง  เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็ตกใจ  จึงให้หลานชายไปตามแพทย์มาตรวจ  แพทย์สันนิษฐานว่าสิ้นลมมาราว ๖-๗ ชั่วโมงแล้ว  ลักษณะการถึงแก่กรรมของท่านเหมือนคนนอนหลับธรรมดา  หน้าตาเปล่งปลั่งมีรอยยิ้มน้อย ๆ  ไม่มีร่องรอยว่ามีทุกขเวทนาใด ๆ  แม้เมื่อนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจักรวรรดิราชาวาสแล้วและยังมิได้ปิดฝา  ในหัวค่ำวันที่ ๑๐ ธันวาคมนั้น  ใคร ๆ ไปเยี่ยมศพก็จะเห็นว่าร่างท่านสมบูรณ์  ยังมีหน้าตาเปล่งปลั่งมีเลือดฝาดเหมือนกับคนนอนหลับ  นับได้ว่าจากไปด้วยอาการอันสงบ  ต่อมาได้มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพขึ้น ณ วัดเทพศิรินทราวาส  รวมสิริอายุได้ ๓๗ ปี  ตลอดมาได้ดำรงตนเป็นฆราวาสมุนี ถือพรหมจรรย์ และประพฤติธรรมตราบจนสิ้นอายุขัย”

          ให้อ่านประวัติย่อของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ พอสมควรแก่เวลา  ในปีท่านถึงกาลกิริยานั้นเป็นปีเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าเข้าอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  อาจารย์เสถึยรไปสอนวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานแก่พวกเราจนจบการอบรมเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๙  หลังจากนั้นอีก ๗ เดือนเศษท่านก็ขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดุสิตตามเจตนารมณ์ของท่าน/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มิถุนายน, 2566, 10:51:08 PM
(https://i.ibb.co/44JpbsH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สุชีพ ปุญญานุภาพ

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๔ -
          หลายสิบปากว่า เสถียร โพธินันทะ เป็นเด็กอัจฉริยะมีความจำเป็นเลิศ  ความในพระไตรปิฎกไทยทั้งหมดจำได้ไม่มีตกหล่น  เคยมีคนลองภูมิว่า  พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๑๐ ความว่าอย่างไร  ก็ตอบได้ถูกต้อง  ลองถามหน้าที่  บรรทัดที่ต่อไป  ก็ตอบได้หมดอย่างน่าอัศจรรย์  เคยนุ่งกางเกงขาสั้นในชุดนักเรียนขึ้นโต้วาทีกับนักสอนศาสนาคริสต์จนชนะมาแล้ว  และยังว่ากันว่าอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับท่านผู้นี้  ขณะที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการนักพูดปาฐกถา  โต้วาที  นั้น   อ.เสถียร โพธินันทะ  รับเชิญจากมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยมาบรรยาย (สอน) วิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท-มหายาน  ให้ความรู้แก่พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้า  พวกเราล้วนรู้สึกตื่นเต้นยินดีที่มีอาจารย์เสถียร โพธินันทะ  รับเชิญมาสอนพวกเรา

          อาจารย์ที่เป็นฆราวาสทุกท่านที่มาสอนพวกเราจะแต่งตัวตามสากลนิยม  คือผูกเนกไทใส่เสื้อนอก  หรือใส่เสื้อแขนยาวผูกเนกไท  หรือไม่ก็แต่งเครื่องแบบข้าราชการตามสังกัดของท่าน  มีบ้างที่ใส่เสื้อแขนยาวให้ดูสุภาพ  เมื่อยืนตรงแท่นบรรยาย (โพเดียม) ก็ดูมีสง่าราศี  แต่อาจารย์เสถียร โพธินันทะ แต่งตัวไม่เหมือนใคร  กล่าวคือท่านไม่แต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูหรูหราเหมือนใคร ๆ  นุ่งกางเกงขายาว  ใส่เสื้อแขนสั้น  สวมรองเท้าผ้าใบ  เสื้อแขนสั้นของท่านบางวันก็เป็นเสื้อลายดอกจนพวกเราบางคนเรียกท่านว่า  “อาจารย์จิ๊กโก๋”  บนแท่นบรรยายยืนพูดนั้นจะมีน้ำดื่มใส่แก้วบ้างน้ำอัดลมบ้าง ตั้งวางไว้  เพื่อว่าผู้บรรยายพูดมาก ๆ แล้วคอแห้งจะได้จิบดื่มตามอัธยาศัย  ทุกท่านมักจะจิบดื่มกัน  แต่อาจารย์เสถียรไม่เคยแตะต้อง  ท่านพูด ๆๆๆ จนหมดชั่วโมงลงจากโพเดียม  เดินทางไปออกนอกวัดแล้วบางวันท่านจะแวะร้านเครื่องดื่มเปิดตู้เย็นหยิบน้ำขวดมาเปิดยืนดื่มตรงนั้น  แล้วเดินไปยืนรอรถเมล์ตรงป้ายจอดรถ  ขึ้นรถเมล์นั่งไปตามจุดหมายของท่าน  คนเก็บค่าโดยสารมาเก็บเงินท่านก็ยืนกระเป๋าสตางค์ให้เปิดหยิบเอาเอง  พฤติกรรมดังกล่าวนี้มีคนติดตามดูแล้วมาบอกเล่าให้เราฟังกัน

          การบรรยายทุกวิชาและทุกท่านจะเปิดโอกาสให้พวกเราถามข้อสงสัยทุกครั้งที่ท่านบรรยายกันนั้น  โดยมีไมค์ใส่ขาตั้งไว้กลางห้องเรียนเป็นประจำ  ในการบรรยายของอาจารย์เสถึยร  วันหนึ่งข้าพเจ้าถูกเพื่อน ๆ ยุให้ถามท่านว่า

           “อาจารย์ไม่หยิบจับเงินทอง  เพราะอาจารย์เป็นศิษย์พระธรรมยุติ  จึงถือวินัยตามอาจารย์ใช่ไหม ?”

          เท่านั้นเองท่านตอบแจกแจงเสียยืดยาวเลยว่า

           “เรื่องนี้อย่าเข้าใจผิด  บ้านผมอยู่ใกล้วัดพระนิกายธรรมยุติ  ผมเป็นเด็กศิษย์พระธรรมยุติก็จริง  แต่ผมไม่ยึดนิกาย  เช่นเดียวกัน  ผมเติบโตในนิกายเถรวาท  แต่ก็ไม่ยึดติดในนิกายเถรวาท  ผมเป็นชาวพุทธของนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน  พูดง่าย ๆ ว่าเป็นชาวพุทธทุกนิกาย  โดยไม่ยึดติดนิกายใด  แต่ยึดติดธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคง  ส่วนเรื่องที่ไม่หยิบจับเงินทองนั้น  ไม่ใช่เคร่งครัดในพระวินัยบัญญัติ  แต่เคร่งครัดในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ  ท่านรู้ไหม  เงินธนบัตรละเงินเหรียญทั้งหลายนั้น  ก่อนจะมาถึงมือเรามันผ่านมือคนที่เป็นโรคอะไรบ้าง  โรคร้ายติดเงินมาหากเราหยิบจับมัน  เชื้อโรคที่ติดเงินมาก็จะเข้าตัวเรา  เพราะเหตุนี้ผมจึงไม่หยิบจับเงิน”

          ฟังเหตุผลของท่านแล้วข้าพเจ้าก็หมดข้อโต้แย้ง  พระปลัดวิชัยจากวัดตูมอยุธยาเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าที่เพื่อน ๆ ให้คำถามไว้ถามต่อจากข้าพเจ้าก็ถามต่อทันที

           “อาตมาขอถามว่า  เขาพูดกันว่าอาจารย์เสถียรเกลียดผู้หญิงจึงยังไม่ยอมมีภรรยา  แสดงว่าอาจารย์เคยถูกผู้หญิงหักอกใช่ไหม “

          คำถามนี้เรียกเสียงหัวเราะฮาทั้งห้องเรียน  สิ้นเสียงหัวเราะของพวกเรา  อาจารย์เสถียรก็หัวเราะต่อ  ก่อนตอบอธิบายความในใจของท่านว่า

           “จะมีผู้หญิงคนไหนมาหักอกผมได้เล่าพระคุณเจ้าที่เคารพ  เพราะผมไม่เคยยื่นอกให้นางใดเลย (ท่านพูดติดลกเป็นครั้งแรก) จริง ๆ แล้วผมรักผู้หญิงทุกคน  เริ่มตั้งรักแม่  รักพี่สาวทั้งสอง  รักผู้หญิงทั่วไป  แต่ไม่คิดจะเชยชม  เพราะมองเห็น  “เป็นปฏิกูลสัญญาความสำคัญว่าน่าเกลียด  เนื่องจากเคยพบเห็นคนตายมีร่างกายน่าเกลียดมาแล้ว  ครั้นเห็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มองเห็นไปว่าเป็นร่างที่น่าเกลียด”  ผมตั้งความปรารถนาไว้ว่าจะประพฤติพรหมจรรย์  รักษาพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต  ละจากโลกนี้แล้วขอบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตอันเป็นที่อยู่แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า  จุติจากชั้นดุสิตแล้วบังเกิดในมนุษย์อีกเพียงครั้งเดียวสำเร็จอรหันต์แล้วนิพพานเลย”

          คำตอบของท่านพวกเราฟังแล้วพากันอึ้งไปเลย

          ที่ตั้งคำถามดังกล่าวข้างต้นนั้น  เพราะอาจารย์เสถียรเป็นศิษย์รักของพระสุชีโว ภิกขุ (บุญรอด) วัดกันมาตุยาราม  พระมหาบุญรอด สุชีโว เป็นพระเปรียญธรรม ๙ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางแสดงธรรม  เป็นนักคิดนักเขียนที่หาตัวจับได้ยากในยุคนั้น  อ.เสถียรเติบโตในวงวิชาการพระพุทธศาสนาด้วยพระสุชีโวผู้นี้  หลังจากท่านลาสิกขาแล้วก็สร้างผลงานทางวิชาการมากมายในนามของท่านคือสุชีพ ปุญญานุภาพ  สมัยเป็นพระภิกษุนั้นท่านเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้ตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นที่วัดบวรนิเวศน์  ให้ชื่อว่า  สภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย  ซึ่งรัฐบาลได้ตรากฎมายรับรองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗

          อ.เสถียรบอกว่าไม่ยึดติดนิกายเห็นจะจริงของท่าน  แม้นิกายใหญ่อย่าง เถรวาท (หินยาน) กับ  อาจาริยวาท (มหายาน) ท่านก็ไม่ยึดติด  แต่ดูเหมือนท่านจะเอียงไปทางมหายานหน่อย ๆ  ต่อมาท่านประกาศตนเป็น “ฆราสมุนี”  ฟังชื่อแล้วก็เหมือนจะเป็นฝ่ายมหายานมาก  ท่านแปล  "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร"  ซึ่งเป็นพระสูตรชั้นหลักอันสำคัญยิ่งสูตรหนึ่งของพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน  พุทธมามกชนฝ่ายมหายานทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี ฯลฯ ย่อมรู้จักคุ้นเคยกับพระสูตรนี้ดี  โดยเฉพาะในวงการพุทธบริษัทจีน  ได้จัดพระสูตรนี้เป็นปาฐะที่จะต้องสวดสาธยายในงานพิธีศราทธพรต  ดุจเดียวกับการสวดอธิธรรมของบ้านเรา  ข้าพเจ้าเคยได้อ่านฉบับแปลของท่านเหมือนกัน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, มิถุนายน, 2566, 10:30:23 PM
(https://i.ibb.co/y49kfgv/IMG-1-1-80.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๕ -
          การเรียนประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเริ่มต้นหลังจากพุทธปรินิพพาน  เมื่อถวายเพลิงพระบรมศพแล้ว  มีการทำสังคายนาคือการรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ในหมู่ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทแล้วนั้น  ความจริงความเป็นมาของการสังคายนาเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่  สมัยนั้นพระพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญ  โดยเฉพาะพระสารีบุตร  ได้คำนึงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว  หากไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้  พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น  ดังนั้น  แม้พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้การริเริ่มเป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า  ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์  เรียกว่าสังคายนา  ขณะนั้นล่วงปลายพุทธกาลแล้ว  พระมหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง  สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่  และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน  ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว  เหล่าสาวกก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า  ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร  ครั้งนั้นพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า  และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวง  ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน

          เวลานั้น  พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่  ท่านปรารภเรื่องนี้แล้วกล่าวว่า  ปัญหาของศาสนาเชนเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้  เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า  ควรจะได้ทำการสังคายนา  คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน  เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง  โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่าง ๆ มาแสดงตามลำดับหมวด  ตั้งแต่หมวดหนึ่ง  ไปจนถึงหมวดสิบ  คือเป็นธรรมหมวด ๑  ธรรมหมวด ๒  ธรรมหมวด ๓  ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐  เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว  พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ  หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้  จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร (พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ) เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกคือพระสารีบุตรได้กระทำไว้  แต่ท่านพระสารีบุตรเองได้ปรินิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า  ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  ภาระจึงตกอยู่กับพระมหากัสสปเถระ  ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น  เป็นพระสาวกผู้มีอายุพรรษามากที่สุด

          ความในพระไตรปิฎกคัมภีร์พุทธศาสนาสำคัญที่สุดของฝ่ายเถรวาทกล่าวว่า   “พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน  ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก  เมื่อได้ทราบข่าวนั้น  เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่  ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น  จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง  ชื่อว่าสุภัททะวุฒฑบรรพชิต ( ผู้บวชเมื่อวัยแก่) ได้กล่าวขึ้นว่า

          "หยุดเถิด หยุดเถิด  ท่านอย่าร่ำไรไปเลย  พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว  เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ  ไม่ต้องเกรงบัญชาใคร"

          พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน  และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน  ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน  หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้  จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย  ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า  ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง  เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า  และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ  รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  ให้มาประชุมกัน  เพื่อช่วยกันแสดง  ถ่ายทอด  รวบรวม  ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วตกลงวางมติไว้  จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

          เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว  พระมหากัสสปะได้ปรารภเรื่องการทำสังคายนาขึ้นท่ามกลางหมู่สงฆ์  คณะสงฆ์จึงมีมติให้จัดทำสังคายนาขึ้นโดยมอบหมายให้พระมหากัสสปะเป็นประธานดำเนินการจัดทำขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหาเชิงเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ  โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์  ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ  ในครั้งนั้น  พระมหากัสสปเถระเป็นประธานซักถาม พระอุบาลีเถระ เป็นองค์วิสัชนา (ตอบ) พระวินัยปิฎก  วางระเบียบพระธรรมวินัย  ทั้งที่เป็นพุทธบัญญัติและอภิสมาจาริกาสิกขา   พระอานนท์เป็นองค์วิสัชนา (ตอบ) ในหมวดพระสุตตันตปิฎก  และ ยกพระพุทธวจนะก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า   “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา   แปลว่า   ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย  ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย  ในเมื่อเราล่วงลับไป”

          เมื่อมีการถาม-ตอบสอบทานพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยเห็นว่าถูกต้องดีแล้ว  ก็ให้สงฆ์องค์อรหันต์ทั้งห้าร้อยองค์ในที่ประชุมนั้นสวดสังวัธยาย  คือออกเสียงดัง ๆ ให้ได้ยินกันทั่วจนไม่มีผิดเพี้ยนแล้ว  ถือว่าจบการทำสังคายนา  มอบภาระพระเถระทั้งหลายนำไปสอนให้ศิษย์ของคนท่องจำและสังวัธยายเผยแผ่ต่อไป  การทำสังคายนาดังกล่าวนี้เรียกกันในฝ่ายสงฆ์เถรวาทว่า  “ปฐมสังคีติ" หรือปฐมสังคายนา  ความในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเรียนรู้รายละเอีดมาเพียงเท่านี้  เมื่อมาเข้าอบรมในพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  ได้รับความรู้เรื่องนี้จากอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ที่ให้รายละเอียดมากขึ้นไปอีกว่า

           หลังจากการสังคายนาผ่านไปได้ไม่นาน  พระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า ปุราณะ พร้อมด้วยบริวารประมาณ ๕๐๐  พำนักจำพรรษาอยู่ที่ทักขิณาคิรีชนบท  เมื่อทราบว่าสังคายนาทำเสร็จแล้ว  ท่านและบริวารจึงได้เข้าสู่กรุงราชคฤห์  พระสังคีติกาจารย์ได้เข้าไปแจ้งให้ท่านทราบว่าพระสงฆ์ได้ทำการสังคายนากันแล้ว  ขอให้ท่านยอมรับด้วย  พระปุราณะกลับกล่าวว่า  เมื่อทำสังคีติเสร็จแล้ว  "ท่านทั้งหลาย  พระเถระทั้งหลายได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยก็ดีแล้ว  แต่ผมได้ฟังได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์ว่าอย่างไร  จักถือปฏิบัติตามนั้น"

          เมื่อได้ชี้แจงกันพอสมควรแล้ว  ปรากฏว่าพระปุราณะมีความเห็นตรงกับพระสังคีติกาจารย์ส่วนมาก  แต่มีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องวัตถุ ๘ ประการ  ซึ่งเป็นพุทธานุญาตพิเศษที่ทรงอนุญาตให้พระทำได้ในคราวเกิดทุพภิกขภัย  แต่เมื่อภัยเหล่านั้นระงับ  ก็ทรงบัญญัติห้ามมิให้กระทำอีก  เรื่องทั้ง ๘ นั้น คือ   ๑ อันโตวุฏฐะ เก็บของที่เป็นยาวกาลิก คืออาหารไว้ในที่อยู่ของตน   ๒. อันโตปักกะ ให้มีการหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตน   ๓. สามปักกะ พระลงมือหุงต้มด้วยตนเอง   ๔. อุคคหิตะ คือการหยิบของเคี้ยวของฉันที่ยังไม่ได้ประเคน   ๕. ตโตนีเหตะ ของที่นำมาจากที่นิมนต์ ซึ่งเป็นพวกอาหาร   ๖. ปุเรภัตตะ การฉันของก่อนเวลาภัตตาหาร  กรณีที่รับนิมนต์ไว้ในที่อื่นแต่ฉันอาหารอื่นก่อนอาหารที่ตนจะต้องฉันในที่นิมนต์   ๗. วนัฏฐะ ของที่เกิดและตกอยู่ในป่า  ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ   ๘. โปกขรัฏฐะ ของที่เกิดอยู่ในสระ เช่น ดอกบัว เหง้าบัว
          วัตถุทั้ง ๘ นี้เป็นพุทธานุญาตพิเศษในคราวทุพภิกขภัย ๒ คราว  คือ  ที่เมืองเวสาลีและเมืองราชคฤห์  แต่เมื่อทุพภิกขภัยหายไปแล้ว  ทรงห้ามมิให้พระภิกษุกระทำ  พระปุราณะและพวกของท่านคงจะได้ทราบเฉพาะเวลาที่ทรงอนุญาต  จึงทรงจำไว้อย่างนั้น  เนื่องจากการอยู่กระจัดกระจายกัน  การติดต่อบอกกล่าวกันบางเรื่องทำไม่ได้  จะถือว่าท่านดื้อรั้นเกินไปก็ไม่ถนัดนัก  เพราะท่านถือตามที่ได้สดับมาจากพุทธสำนักเหมือนกัน  เมื่อฝ่ายพระสังคีติกาจารย์ชี้แจงให้ท่านฟัง  ท่านกลับมีความเห็นว่า

          "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญุตญาณ  มิควรที่จะบัญญัติห้ามแล้วอนุญาต  อนุญาตแล้วกลับบัญญัติห้ามมิใช่หรือ"

          "เพราะพระองค์ทรงมีพระสัพพัญุตญาณนั่นเอง  จึงทรงรู้ว่ากาลใดควรห้ามกาลใดควรอนุญาต"  พระมหากัสสปเถระกล่าว และได้กล่าวเน้นให้พระปุราณะทราบว่าสมติของที่ประชุมได้ตกลงกันว่า  "จักไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติ  จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้วจักสมาทานศึกษาสำเหนียกในสิกขาบททั้งหลาย  ตามที่ทรงบัญญัติไว้"   พระปุราณะยืนยันว่าท่านจักปฏิบัติตามมติของท่านที่ได้สดับฟังมา

          หลักฐานฝ่ายมหายานบอกว่า  พระปุราณะไม่ยอมรับเรื่องวัตถุ ๘ ประการนี้  แล้วนำพวกของตนไปจัดการสังคายนาขึ้นอีกต่างหากซึ่งแน่นอนว่า  วัตถุ ๘ ประการนี้  ซึ่งตามพระวินัยห้ามมิให้ทำและปรับอาบัติปาจิตตีย์บ้าง  ทุกกฎบ้างนั้น  ฝ่ายพระปุราณะถือว่ากระทำได้  จึงเป็นอันว่าความแตกแยกในข้อปฏิบัติ  คือ  ความเสียแห่งสีลสามัญญตา ได้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาหลังจากพุทธปรินิพพานผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น  ความไม่เสมอกันในด้านการปฏิบัติอย่างน้อยได้แตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ   ฝ่ายที่ยอมรับนับถือมติของพระสังคีติกาจารย์ ในคราวปฐมสังคายนา    และฝ่ายที่สนับสนุนคล้อยตามมติของพระปุราณะกับพวก  อย่างน้อยฝ่ายนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ รูป  ซึ่งในที่สุดฝ่ายพระปุราณะจะต้องได้พวกเพิ่มขึ้น

          พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเริ่มแตกออกเป็นสองฝ่าย  สองนิกาย  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  แต่ยังมิได้ชื่อว่า  ฝ่ายเถรวาท (หินยาน)   อาจาริยวาท (มหายาน) /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มิถุนายน, 2566, 10:42:43 PM
(https://i.ibb.co/846f68f/101-560-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๖ -
          ความแตกแยกของพุทธศาสนาในความจริงมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล  กล่าวคือพระเทวทัตเสนอให้พระพุทธเจ้าออกพุทธบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุฉันเนื้อสัตว์  พระพุทธองค์มิทรงเห็นด้วย  ตรัสว่าภิกษุควรทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย  ชาวบ้านเขาบริโภคอาหารอย่างไรก็ควรฉันอย่างนั้น  มีผู้เห็นตามพระเทวทัตจำนวนไม่น้อย  พระเทวทัตต้องการโค่นล้มพระพุทธเจ้าจึงใช้วิธีการนานาเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า  จนในที่สุดถูกแผ่นดินสูบลงนรกขุมอเวจีไปแล้ว  ผู้ที่เห็นด้วยกับพระเทวทัตที่ไม่ให้พระภิกษุฉันเนื้อสัตว์ก็ยังคงมีอยู่  และมีมาจนถึงกาลนี้  นั่นเป็นความแตกแยกรอยใหญ่ในพุทธศาสนารอยแรก

          การที่พระปุราณเถระไม่ยอมรับการทำปฐมสังคายนา  เป็นรอยแตกแยกของพุทธศาสนาอีกรอยหนึ่ง  พระปุราณเถระองค์นี้เป็นใคร  ไม่มีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกไทยหลังจากการทำสังคายครั้งแรกแล้ว  แต่เชื่อได้ว่าท่านจะต้องเป็นพระเถระที่มีความสำคัญมากองค์หนึ่ง  มิเช่นนั้นคงไม่มีบริวารมากถึง ๕๐๐ เป็นแน่  เมื่อท่านไม่ยอมรับพระไตรปิฎกที่คณะสงฆ์ฝ่ายพระมหากัสสปะทำกันนั้น  ท่านก็ไปทำทำสังคายนากันต่างหาก  ซึ่งฝ่ายพระมหากัสสปะก็ไม่ยอมรับการสังคายนาของพระปุราณเถระเช่นกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงไม่รู้ว่าพระพุทธวจนะที่พระปุราณเถรกับพวกรวบรวมเป็นปิฎกนั้นมีความว่าอย่างไรบ้าง  อาจารย์เสถียรกล่าวว่า  การทำสังคายนาของพระปุราณะนั้น  น่าจะเป็นการเริ่มต้นของนิกายอาจาริยวาท  คือมหายานในกาลต่อมา

          หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ ๑๐๐ ปี  ก็เกิดความแตกแยกของคณะสงฆ์ในฝ่ายเถรวาทขึ้น  เป็นเหตุให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี  โดยปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ  นอกธรรม  นอกวินัย  พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป  ประชุมทำสังคายนา  พระเรวตะเป็นผู้ถาม  พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา  โดยมีพระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปภัมภก์  สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ  เรื่องที่พระภิกษุในเมืองเวสาลี (ไพสาลี) ได้ประพฤติผิดวินัย ๑๐ ประการเรียกว่าวัตถุ ๑๐ ประการคือ

         “๑. ภิกษุจะเก็บเกลือไว้ในเขนง (ภาชนะที่ทำด้วยเขาสัตว์) แล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้
          ๒. ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง ๒ องคุลีได้
          ๓. ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว  ห้ามภัตแล้วเข้าไปสู่บ้านจะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมตามพระวินัยได้
          ๔. ในอาวาสเดียวมีสีมาใหญ่  ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถได้
          ๕. ในเวลาทำอุโบสถ  แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกันจะทำอุโบสถไปก่อน โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้
          ๖. การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌายะอาจารย์  ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม  ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ
          ๗. นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (นมเปรี้ยว)  ภิกษุฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว  จะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรม  หรือทำให้เดน  ตามพระวินัยก็ได้
          ๘. สุราที่ทำใหม่ ๆ ยังมีสีแดง  เหมือนสีเท้านกพิราบ  ยังไม่เป็นสุราเต็มที่  ภิกษุจะฉันก็ได้
          ๙. ผ้าปูนั่งคือนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภค ใช้สอยก็ได้
          ๑๐. ภิกษุรับและยินดีในทองเงินที่เขาถวายหาเป็นอาบัติไม่”

          วัตถุ ๑๐ ประการดังกล่าวนี้  ภิกษุชาวเมืองเวสาลีเห็นว่าควรทำได้ไม่เป็นอาบัติ  ย้อนกลับไปต้นเรื่องนี้มีพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อพระยสกากัณฑกบุตร  จากเมืองโกสัมพีได้ไปที่เมืองเวสาลี  ได้พบเห็นพระภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี  นำถาดทองสำริดเต็มด้วยน้ำ  นำมาวางไว้ที่โรงอุโบสถ  แล้วประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านบริจาคเงินใส่ลงในถาดนั้น  โดยบอกว่าพระมีความต้องการด้วยเงินทอง  แม้พระยสเถระ จะห้ามปรามไม่ให้มีการถวายเงินทองในทำนองนั้น  พระภิกษุวัชชีบุตรก็ไม่เชื่อฟัง  ชาวบ้านเองก็คงถวายตามที่เคยปฏิบัติมา  พระเถระจึงตำหนิทั้งพระวัชชีบุตรและชาวบ้าน  ที่ถวายเงินทองและรับเงินทองในลักษณะนั้น  เมื่อพระภิกษุวัชชีบุตรได้รับเงินแล้ว  นำมาแจกกันตามลำดับพรรษา  นำส่วนของพระยสกากัณฑบุตรมาถวายท่าน  พระเถระไม่ยอมรับและตำหนิอีก  ภิกษุวัชชีบุตรไม่พอใจที่พระเถระไม่ยอมรับและตำหนิ  จึงประชุมกันฉวยโอกาสลงปฏิสาราณียกรรม  คือการลงโทษให้ไปขอขมาคฤหัสถ์โดยกล่าวว่าพระเถระรุกรานชาวบ้าน  ซึ่งพระเถระก็ยินยอมไปขอขมา  โดยนำภิกษุอนุฑูตไปเป็นพยานด้วย  เมื่อไปถึงสำนักของอุบาสก  พระเถระได้ชี้แจงพระวินัยให้ฟัง  และบอกให้ชาวบ้านเหล่านั้นทราบว่า  การกระทำของพระภิกษุวัชชีบุตรเป็นความผิด  โดยยกเอาพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงไว้ความว่า

          "พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่ได้ร้อนแรงและรุ่งเรืองด้วยรัศมีเพราะโทษมลทิน ๔ ประการ คือ หมอก ควัน ธุลี และอสุรินทราหู กำบังฉันใด  ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้  จะไม่มีตบะรุ่งเรืองด้วยศีล เพราะโทษมลทิน ๔ ประการปิดบังไว้ คือ ดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม ยินดีรับเงินและทองอันเป็นเหมือนภิกษุนั้นยินดีบริโภคซึ่งกามคุณ  และภิกษุเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วย เวชช กรรม กุลทูสกะ (ประจบเอาใจคฤหัสถ์ด้วยอาการอันผิดวินัย)   อเนสนา (การหาลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรภิกษุ)  และวิญญัติ (ขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ที่ไม่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา) พร้อมด้วยกล่าวอวดอุตตริมนุษย์ธรรม อันไม่มีจริง"

          เมื่อพระยสกากัณฑกบุตรชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาเข้าใจแล้ว  คนเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใสพระเถระ  อาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษา ณ วาลิการาม  โดยพวกเขาจะอุปฐากบำรุงและได้อาศัยท่านบำเพ็ญกุศลต่อไป  ฝ่ายภิกษุที่เป็นอนุฑูตไปกับพระเถระ  ได้กลับมาแจ้งเรื่องทั้งปวงให้ภิกษุวัชชีบุตรทราบ  ภิกษุวัชชีบุตรจะใช้พวกมากบีบบังคับพระเถระด้วยการลงอุปเขปนียกรรม (ตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว) แก่ท่าน  ได้พากันยกพวกไปล้อมกุฏิของพระเถระ  แต่พระเถระทราบล่วงหน้าเสียก่อนจึงได้หลบออกไปจากที่นั้น

          พระยสกากัณฑกบุตรพิจารณาเห็นว่า  เรื่องนี้หากปล่อยไว้เนิ่นนานไป  พระธรรมวินัยจะเสื่อมถอยลง  พวกอธรรมวาทีอวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญขึ้น  จึงได้ไปเมืองปาฐา  เมืองอวันตี  และทักขิณาบถแจ้งให้พระที่อยู่ในเมืองนั้น ๆ ทราบ  เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข  และได้ไปเรียนให้พระสาณสัมภูตวาสี  ซึ่งพำนักอยู่ ณ อโหคังคบบรรพตทราบ  และขอการวินิจฉัยจากพระเถระ  พระสาณสัมภูตวาสีมีความเห็นเช่นเดียวกับพระยาสกากัณฑกบุตรทุกประการ  ในที่สุดพระเถระอรหันต์จากเมืองปาฐา ๖๐ รูป  จากแคว้นอวัตีและทักขิณาบถ ๘๐ รูป  ได้ประชุมร่วมกับพระสาณสัมภูตวาสีและพระยส กากัณฑกบุตร ณ อโหคังคบรรพต  และกระทำสังคายนา ณ วาลิการามดังกล่าวช้างต้น

          กลุ่มภิกษุกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในการทำสังคายนาครั้งนี้  ในเรื่องที่ลงมติว่าวัตถุ ๑๐ ประการผิด  จึงเป็นผลให้ภิกษุชาววัชชีประมาณ ๗๐๐ รูป แยกตัวออกไป  ไม่ยอมปฏิบัติตามหลักพระวินัยเดิมที่พระเถระผู้ใหญ่กำหนดในการทำสังคายนา   และมีภิกษุอื่น ๆ ที่เห็นด้วยกับพวกภิกษุวัชชีบุตรอีก  รวมแล้วประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป  พากันจัดทำสังคายนาขึ้นใหม่  เรียกว่า  “มหาสังคีติ”  ประกาศชื่อของพวกตน  ว่าเป็น  “มหาสังฆิกะ”  ซึ่งแปลว่า  พวกมากหรือหมู่ใหญ่  และนี่เป็นการซ้ำรอยปฐมสังคายนา ที่พระมหากัสสปะทำและ พระปุราณเถระไม่ยอมรับ  แล้วไปทำสังคายนาใหม่ในกลุ่มของพวกตน  แต่คราวนี้ชัดเจนว่าภิกษุชาววัชชีตั้งกลุมของพวกตนว่า  “มหาสังฆิกะ”  นั่นก็คือการกำเนิดขึ้นของ มหายาน/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มิถุนายน, 2566, 10:52:23 PM
(https://i.ibb.co/T0b8wK1/o7djfl3gkge3-NYDQQz8-o-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๗ -
          ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในฝ่ายสงฆ์เถรวาทที่ถือความตามสังคายนาครั้งที่ ๑ สืบมาถึงการสังคายนาครั้งที่ ๒ ดังกล่าวแล้วนั้น  ต่อมามีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด  มีการส่งพระสมณทูตไปประกาศพระศาสนาในนานาประเทศรวมทั้งสุวรรณภูมิที่ตั้งประเทศไทยด้วย  ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่พระอาจารย์เจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์บรรยายให้พวกเราฟังว่า    การทำสังคายนาครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔ ที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย  โดยมี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน  การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน ๑,๐๐๐ รูป  ดำเนินการอยู่เป็นเวลา ๙ เดือน จึงเสร็จสิ้น  ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช  แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา  พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ จึงได้ขอรับอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อกำจัดความเห็นของพวกเดียรถีย์ออกไป

          ความเรื่องนี้ปรากฎในอรรถกถา มหาวิภังค์ ว่า ณ เมืองปาฏลีบุตรมีพวกเดียรถีย์ขาดลาภสักการะ  นุ่งห่มผ้าเหมือนภิกษุ  ปลอมบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก  มาแสดงลัทธิที่ผิดพุทธบัญญัติ  ทำสังฆฑลให้แตกสามัคคี  ทำให้สงฆ์ไม่ทำสังฆกรรมร่วมด้วยถึง ๗ ปี  พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงโปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่งไประงับอธิกรณ์นี้  แต่อำมาตย์ทำเกินเลย  บังคับสงฆ์ให้ลงสังฆกรรมร่วมกับเหล่าเดียรถีย์  พวกภิกษุไม่ยอม  อำมาตย์จึงได้ฆ่าฟันภิกษุที่ขัดขืนเสีย ๒-๓ รูป  พระเจ้าอโศกทราบเรื่องเกิดความไม่สบายใจ  จึงสอบถามพวกภิกษุว่าบาปนี้จะถึงแก่พระองค์หรือไม่  ก็ไม่มีภิกษุรูปใดตอบได้  พวกภิกษุจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระให้วิสัชชนา  พระเถระได้แก้ข้อกังขาว่าบาปเป็นเฉพาะของอำมาตย์เท่านั้น  เพราะทำเกินรับสั่ง  พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสอาราธนาพระเถระให้เป็นผู้ชำระสงฆ์ให้บริสุทธิ์  แล้วโปรดให้ชุมนุมสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ทรงสอบถามพระภิกษุ  เช่นว่า  พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร  ภิกษุที่ปลอมบวชตอบเป็นทำนอง สัสสตทิฏฐิบ้าง  อุจเฉททิฏฐิบ้าง  พระเจ้าอโศกก็ให้สึกไปสวมชุดขาวเป็นจำนวนมากถึง ๖๐,๐๐๐ รูป  ส่วนภิกษุฝ่ายธรรมวาทีพากันตอบว่า  "วิภัชวาท"  ครั้นกำจัดภิกษุปลอมบวชได้แล้ว  พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้สงฆ์ทำอุโบสถกรรม  และพระโมคคัลลีบุตรจึงถือโอกาสทำสังคายนาครั้งที่  ๓  โดยเลือกพระอรหันต์จำนวน ๑,๐๐๐ รูปเข้าร่วมทำสังคายนา ณ อโศการาม  ทำอยู่ ๙ เดือนจึงเสร็จ  เมื่อพระเจ้าอโศกเสวยราชย์ได้ ๘ ปี  พระโมคคัลลีบุตรได้รจนาคัมภีร์อภิธรรม กถาวัตถุ เพื่อไว้โต้แย้งกับพระพุทธศาสนานิกายอื่น  รักษาพระพุทธมติอันบริสุทธิ์ไว้

          ส่วนในอรรถกถาพระวินัยได้กล่าวไว้คร่าว ๆ  เนื้อหาข้างต้นมีรายละเอียดครอบคลุมแล้ว   อาจารย์เสถียรยังได้ชี้ประเด็นต่ออีกว่า  ในคัมภีร์อโศกอวทานและในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกไม่ได้มีกล่าวถึงการสังคายนาครั้งนี้  นักวิชาการตะวันตกเชื่อว่า  การสังคายนาเป็นเรื่องสำคัญมาก  น่าจะมีกล่าวไว้ในศิลาจารึกบ้าง  แต่ศิลาจารึกก็ไม่ได้กล่าวถึงเลย  จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ชาวลังกาแต่งขึ้นมาภายหลัง  และแท้จริงแล้วเดียรถีย์ ๖๐,๐๐๐ คน นั่นก็คือ  พระภิกษุในนิกายมหาสังฆิกะ  เพราะจากสิลาจารึกพระเจ้าอโศกทรงให้การอุปถัมภ์ในทุก ๆ ลัทธิศาสนา  แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน   ไม่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  และยุคนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก  การที่มีคนปลอมบวช ๖๐,๐๐๐ คน  โดยที่ทางคณะสงฆ์เองไม่สามารถหาทางป้องกันได้เลยเป็นเวลา ๗ ปี  ทั้งที่มีกษัตริย์และอำมาตย์คอยให้การพิทักษ์พระพุทธศาสนาไว้  บวกกับในคัมภีร์ลังกาชอบเขียนกล่าวว่าภิกษุฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น อธรรมวาทีบ้าง  เดียรถีย์บ้าง  อลัชชีบ้าง  นั่นก็พอจะสรุปได้ว่า  เดียรถีย์ที่ปลอมบวชตามความในพระไตรปิฎกลังกา-ไทย ก็คือ  พระในนิกายมหาสังฆิกะนั่นเอง

          พระไตรปิฎกลังกา-ไทยระบุว่า   “เสร็จจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้ว  พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทราบโดยอนาคตังสญาณว่า  ภายภาคหน้า พระพุทธศาสนาจะไม่รุ่งเรืองอยู่ในชมพูทวีป  แต่จะไปตั้งมั่นอยู่ในประเทศแว่นแคว้นอื่น ๆ  จึงขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอโศก  จัดส่งคณะสมณทูตออกเป็น ๙ สาย  คือ

          สายที่ ๑ คณะพระมัชฌันติกะ  ไปที่แคว้นกัสมิระ และคันธาระ  ปัจจุบันคือ แคชเมียร์
          สายที่ ๒ คณะพระมหาเทวะ  ไปมหิสมณฑล คือรัฐการ์นาตกะหรือไมซอร์  ภาคใต้ของอินเดียฝั่งตะวันตก
          สายที่ ๓ คณะพระรักขิตะ  ไปที่แคว้นวนวาสีประเทศ  อยู่ตอนเหนือของรัฐไมซอร์ภาคใต้ของอินเดีย
          สายที่ ๔ คณะพระธรรมรักขิตะ  ไปที่แถบอปรันตกชนบทตอนเหนือของบอมเบย์
          สายที่ ๕ คณะพระมหาธรรมรักขิตะ  ไปแคว้นมหาราษฎร์  แถบปูนาในปัจจุบัน
          สายที่ ๖ คณะพระมหารักขิตะ  ไปที่โยนกประเทศ  หรือตอนเหนือของอิหร่าน
          สายที่ ๗ คณะพระมัชฌิมะ และพระมหาเถระอีก ๔ รูป  ไปยังดินแดนหิมวันตะ  หรือเชิงเขาหิมาลัย  ประเทศเนปาลปัจจุบัน
          สายที่ ๘ คณะพระโสณะ กับพระอุตตระ  ไปที่สุวรรณภูมิ  คือเอเชียอาคเนย์ปัจจุบัน
          สายที่ ๙ พระมหินทเถระ  ไปยังประเทศศรีลังกา  ในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ จนพระพุทธศาสนาได้ปักหลักมั่นคงที่เกาะนี้จนถึงปัจจุบัน”

          อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เชื่อว่าอธรรมวาที  เดียรถีย์  อลัชชี  ที่ระบุในพระไตรปิฎกลังกา-ไทยนี้  พอจะสรุปได้ว่า  เดียรถีย์ที่ปลอมบวชก็คือ  ภิกษุที่เรียกตัวเองว่า มหาสังฆิกะ  ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๒ นั่นเอง  มิใช่เดียรถีย์อะไรมาปลอมบวชเลย  หากแต่สงฆ์ฝ่ายเถรวาท (เชื้อสายพระมหากัสสปะ) ไม่ยอมรับและยังกล่าวประณามว่า  เป็นพวกอธรรมวาทีบ้าง  อลัชชีบ้าง  เดียรถีย์บ้าง  และพระภิกษุคณะมหาสังฆิกะนี้เองต่อมาได้ชื่อว่า  “มหายาน”  ได้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามคติของตนให้เจริญรุ่งเรืองใน พม่า ธิเบต จีน มองโกล เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม  ซึ่งจะติดตามเรื่องมากล่าวเพื่อการศึกษากันต่อไป /๑๘๗

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, มิถุนายน, 2566, 11:09:57 PM
(https://i.ibb.co/ZS77L0h/308149906-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๘ -
          มีข้อน่าสังเกตว่าในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ นั้นมิได้กล่าวสรุปว่ารวบรวมพระธรรมวินัยเป็นหมวดได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ความมาปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับลังกา-ไทย และในการสังคายนาครั้งที่ ๓ มีการเพิ่มเติมความในสังคายนาครั้งที่ ๑,๒ กล่าวคือ  “ในการทำสังคายนาครั้งนี้  พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ  ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ  ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมไว้ด้วย”  แสดงว่า ในการสังคายนาครั้งที่ ๑,๒ นั้น  มีปิฎกเพียง ๒ คือ วินัยปิฎก  สุตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎกเพิ่งมีในการสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้เอง และในอินเดียไม่เรียก “ไตรปิฎก” มาเรียกกันในลังกา-ไทย เท่านั้น

          ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทโดยมีพระไตรปิฎกเป็นแนวทางจากลังกาเข้าสู่ไทย  กล่าวว่า  เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็มีการส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ มีดังนี้ พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกา  และพระโสณเถระ,พระอุตตรเถระ นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ (เมืองอู่ทอง) มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ในอินเดียเกิดที่ชาลันธร  หรือบางหลักฐานคือกัษมีร์ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ  ซึ่งเป็นการสังคายนาของนิกายมหายาน  ฝ่ายเถรวาทจึงไม่ยอมรับว่าเป็นการสังคายนา  แต่ยอมรับว่าพระมหินทเถระทำในลังกาโดยปรารภเพื่อให้พระพุทธศาสนามั่นคงในลังกา

          และมีการทำสังคายนาที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ ที่อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา  ว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๕  โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน  การทำสังคายนาครั้งนี้เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษร  เป็นครั้งแรกที่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษร  แต่เดิมนั้นเมื่อสังคายนาเสร็จก็ให้สวดสังวัธยา  ท่องจำกันไว้ถ่ายทอดด้วยปากต่อปาก  จนผิดเพี้ยนไปมาก  พระรักขิตมหาเถระจึงให้มีการจารึกเป็นลายลักอักษรไว้เพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนไป  แต่ภาษาลายสือที่จารึกนั้นเป็นภาษาสิงหลทั้งหมด

          มีปัญหาในการนับครั้งการสังคายนาในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันเองก็ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน  ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

          ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย  และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก ๓ ครั้ง  โดยครั้งสุดท้ายกระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยการสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น,  ประเทศพม่า นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย  และนับการสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่ลังกาเป็นครั้งที่ ๔ และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก ๒ ครั้ง  โดยครั้งสุดท้ายหรือครั้งที่ ๖ ในพม่ า มีชื่อเรียกว่าฉัฏฐสังคายนา  เริ่มกระทำเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗  เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙  การทำสังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรร ษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า  โดยได้เชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี  โดยเฉพาะจากประเทศ พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา, ประเทศไทย  นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ ๑-๒ ที่ลังกา

          แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์  หรือประวัติแห่งการสังคายนาของสมเด็จพระพนรัตน์  วัดพระเชตุพน  ได้นับเพิ่มอีก ๔ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ในลังกา  โดยพระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา  ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา  ไม่ใช่พระไตรปิฎก  ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา  ครั้งที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ ในลังกา  โดยพระกัสสปเถระเป็นประธานรจนาอรรถกถาต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา  ไม่ใช่พระไตรปิฎก  ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนาเช่นกัน  ครั้งที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ในประเทศไทย  โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา  ครั้งที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ในประเทศไทย  โดยการอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          การทำสังคายนาครั้งที่ ๕ ในลังกา ซึ่งมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน  ได้ทำการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยภาษาสิงหลนั้น  ต่อมา พระพุทธโฆสะ ในประเทศไทยมักเรียกว่า พระพุทธโฆษาจารย์  เป็นพระคันถรจนาจารย์เถรวาทผู้มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐  ผู้เป็นศิษย์พระเรวตเถระ  ได้รับคำสั่งอาจารย์ให้ไปแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาสิงหลเป็นภาษาลี  ทำให้พระไตรปิฎกภาษาบาลีในลายลักษณ์อักษรแพร่หลายกาลต่อมา  พระพุทธโฆสะองค์นี้ในเมืองไทยรู้จักกันดีในนามว่า  พระพุทธโฆษาจารย์ /๑๘๘

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, มิถุนายน, 2566, 11:01:15 PM
(https://i.ibb.co/8crfBFL/308347943-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘๙ -
          เรียนรู้พระพุทธศาสนาตามคัมภีร์พระไตรปิฎกของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทกันพอสมควรแล้ว  คราวนี้ไปเรียนรู้พุทธศาสนาในฝ่ายอาจาริยวาทหรือมหายานกันบ้าง  เริ่มที่แผ่นดินจีนก่อน คือ  “พระพุทธศาสนาในประเทศจีนส่วนใหญ่เป็นนิกายมหายาน  ซึ่งมีประเพณี คำสอน และหลักความเชื่อที่แตกต่างจากนิกายเถรวาท  เช่น  เถรวาทเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว  แต่มหายานเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้ามากมายมหาศาลเปรียบเสมือนเม็ดทรายบนชายหาด  หรือการปรับกฎระเบียบต่าง ๆ และความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์  แต่โดยเนื้อแท้แล้วทั้งสองนิกายก็มุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน  คือ  แสวงหาการหลุดพ้น  ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ (พ.ศ. ๖๐๐) ได้มีการก่อตั้งนิกายมหายาน (ในอินเดีย) อย่างเห็นได้ชัด  ก่อนที่จะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ธิเบต ฯลฯ

          มีหลักฐานว่าพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ตั้งแต่ ๒๑๗ ปีก่อน ค.ศ. (คือราว พ.ศ. ๓๒๖)  แต่ตามที่ปรากฏหลักฐานในทางราชการ  ค้นได้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๖๐๘ พระจักรพรรดิมิ่งตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่น  ทรงส่งคณะทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนา ณ เมืองโขตาน (ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซินเกียงประเทศจีน  ในสมัยโบราณ  โขตานเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย  เมื่อคณะฑูดจำนวน ๑๘ คนเดินทางกลับได้พาพระกาศยปมาตังคะ และพระธรรมรักษ์  รวมทั้งคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งกลับมาด้วย  ครั้นมาถึงจักรพรรดิมิ่งตี่ (เม่งเต้) ได้สถาปนาวัดแป๊ะเป้ยี่หรือวัดม้าขาวขึ้น  เพื่อเป็นที่อาศัยของพระทั้งสองรูป  โดยตั้งชื่อวัดว่าม้าขาว  เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม้าขาวที่บรรทุกพระคัมภีร์มา  ในช่วงแรกยังเป็นการนับถือกันในวงแคบ  มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้น  ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงนับถือตามลัทธิขงจื้อหรือลัทธิเต๋าอยู่ จนเมื่อโม่งจื้อ นักปราชญ์ผู้มีความสามารถได้แสดงให้เห็นถึงความจริงของพระพุทธศาสนา  จึงทำให้มีผู้คนเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก  การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในยุคนั้นยังเป็นไปอย่างไม่มากนัก  ขึ้นอยู่กับพระจักรพรรดิว่าให้ความนับถือศาสนาใด  เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์เหนือ-ราชวงศ์ใต้  พระโพธิธรรมหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อของ หลวงจีนตั๊กม้อ  ซึ่งเป็นพระสังฆปรินายก องค์ที่ ๒๘  ที่เชื่อกันว่าสืบต่อมาจากพระมหากัสสปะในสมัยพุทธกาล  ได้จาริกมายังประเทศจีน  และได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิเหลียงหวู่ตี้  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่สำคัญของจีน  แต่ภายหลังที่ท่านได้แสดงธรรมและสนทนาธรรมแล้ว  ก็รู้ว่าองค์จักรพรรดิมิอาจที่จะเข้าใจธรรมขั้นสูงได้  เพราะความเชื่อในสมัยนั้นเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นเพียงการทำบุญ  สร้างวัดวาอาราม  และการพิมพ์พระคัมภีร์เผยแพร่เท่านั้น   จึงเดินทางจากมาจนถึงวัดเส้าหลิน ณ ภูเขาซงซาน  เขตแดนของราชวงศ์เว่ยเหนือ  และสถาปนาแนวคิดทางฌานขึ้น (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซน)  นอกจากนี้มีตำนานเล่าว่าเมื่อท่านนั่งสมาธินาน ๆ จึงรู้สึกปวดเมื่อยและทำให้การทำสมาธิไม่ต่อเนื่อง  จึงสังเกตท่าทางของสัตว์ต่าง ๆ เช่น  นกกระเรียน  เสือ  และนำมาฝึกเป็นวิชาต่อสู้   ภายหลังจึงเกิดแนวคิดการถ่ายทอดตำแหน่งผ่านทางจีวรและบาตร

          ครั้นถึงสมัยราชวงศ์เว (หรือ วุยก๊ก ในสมัยสามก๊ก)  พระพุทธศาสนาก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจีนตั้งแต่รัชกาลของพระจักรพรรดิพระองค์แรกนี่เอง  พระภิกษุผู้ทรงเกียรติคุณเป็นปราชญ์หลายท่าน เช่น กุมารชีวะ เป็นต้น  ได้เดินทางเข้ามาจากอาเซียกลางและอินเดีย  ช่วยแปลพระคัมภีร์  รจนาอรรถกถา  และเผยแพร่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนอย่างแพร่หลายกว้างขวาง  ลัทธิอมิตาภะ ก็ได้เข้ามาเผยแพร่ในสมัยนี้ด้วย  เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ  พระโพธิธรรม ได้นำพระพุทธศาสนานิกาย ฉาน (บาลีว่า ฌาน, สํสกฤตว่า ธยาน, ญี่ปุ่นว่า เซน) เข้ามาเผยแพร่ในจีนจนพระพุทธศาสนาในประเทศจีนได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก  โดยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชวงศ์ถังและราชวงศ์ต่อ ๆ มาโดยลำดับ  ต่อมาได้มีผู้นำลัทธิลามะ (พระพุทธศาสนานิกายหนึ่งแบบในทิเบต) เข้ามาเผยแพร่ในจีนเหนือ  และทางฝ่ายอาณาจักรได้สนับสนุนลัทธินั้น  พิธีกรรมต่าง ๆ ก็เจริญแพร่หลายออกหน้า  ส่วนศาสนธรรมที่แท้ก็เลือนรางจืดจางไปจากความสนใจ

          ลำดับเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน

          ๑. สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. ๓๔๒ - ๗๖๓),

          พ.ศ. ๔๒๓ พระเจ้าบู่ตี่  ทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอาณาจักรกุษาณ (อินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ),
          พ.ศ. ๖๐๘ พระเจ้ามิ่งตี่ หรือ เม่งตี่  ทรงส่งทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนาในปัจจิมทิศ  ทูตกลับมาพร้อมด้วยพระกาศยปะมาตังคะ  ใน พ.ศ. ๖๑๐ ทรงสร้างวัดถวายชื่อวัดแปะเบ๊ยี่ (วัดม้าขาว) พระกาศยปะมาตังคะ แปล “พระสูตรพุทธวจนะ ๔๒ บท” เป็นสูตรแรก,
          พ.ศ. ๖๙๘ พระเจ้าฮ่วงตี่  โปรดให้หล่อพระพุทธรูปครั้งแรก (เป็นพระพุทธรูปทองแดง),
          พ.ศ. ๗๓๔ ในสมัย พระเจ้าเฮี่ยนตี่  พระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ภาคใต้ของจีน  และมีปราชญ์ชื่อ โม่วจื้อ เขียนคำบรรยายแสดงหลักธรรมเปรียบเทียบกับลัทธิเต๋า เป็นข้อเขียนแสดงหลักธรรมเรื่องแรกของชาวจีน

          ๒. สมัยสามก๊ก (พ.ศ. ๗๖๓ - ๘๐๘)

          พ.ศ. ๘๐๐ ในรัชกาล พระเจ้าฮุ่ยตี่  มีการแปลคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ในปีต่อมา (๘๐๑) มีการอุปสมบทพระภิกษุจีนรูปแรก (ก่อนหน้านี้ราชการห้ามชาวจีนอุปสมบท พระเจ้าโจผี เป็นผู้ทรงยกเลิกข้อห้ามนี้),

          ๓. สมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ. ๘๐๘ - ๙๖๓)

          พ.ศ. ๘๕๓ ในรัชกาล พระเจ้าไว่ตี่  มีพระภิกษุชาวอาเซียกลางชื่อโฟเถอเตง จาริกมายังนครโลยาง  นำหลักธรรมนิกายมนตรยานเข้ามาเผยแพร่  และมีการบวชภิกษุณีรูปแรกของจีน,
          พ.ศ. ๙๑๕ ในรัชกาล พระเจ้าเฮาบูตี่  ประเทศเกาหลีส่งทูตมาขอพระพุทธรูปและพระคัมภีร์  เป็นแรกเริ่มที่พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่เกาหลี,
          พ.ศ. ๙๓๔ มีพระภิกษุชื่อ ฮุ่ยเอี้ยง  เริ่มประกาศหลักธรรมในนิกายสุขาวดี ณ ภูเขาโลซาน,
          พ.ศ. ๙๔๒ ในรัชกาล พระเจ้าอ่านตี่  หลวงจีนฟาเหียน (ฮวบเฮี้ยน) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป,
          พ.ศ. ๙๔๔ พระกุมารชีวะ จากแคว้นกุฉะหรือกูจา มาถึงนครเชียงอาน  ปฏิบัติศาสนกิจอยู่จนถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๙๕๖,

          ๔. สมัยราชวงศ์เหนือและใต้ (พ.ศ. ๙๖๓ - ๑๑๒๔) ประกอบด้วยราชวงศ์ สุง หรือ ส่อง ชี้ เลี้ยง และ ตั้น ในภาคใต้ กับเผ่าทั้ง ๕ ในภาคเหนือ,

          พ.ศ. ๙๖๒ – ๙๙๐ ในระหว่างการรุกรบโจมตีระหว่างแคว้น  ได้มีการประหารพระสงฆ์  ทำลายพระพุทธรูปและพระคัมภีร์อย่างร้ายแรงหลายครั้ง  เริ่มแต่ที่นครเชียงอานเป็นต้นไป” ฯลฯ

          * พระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่พระภิกษุจีนนำจากอินเดียสู่จีนนั้น  ก็น่าจะเป็นพระไตรปิฎกที่คณะสงฆ์ “มหาสังฆิกะ” ได้ทำสังคายนารวบรวมพุทธวจนะตามที่พวกตนจำไว้  แล้วถ่ายทอดสู่ศิษย์และบริพารของตน  ซึ่งทางฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับนั่นเอง  อ่านบันทึกย่อเรื่องพุทธศาสนา (มหายาน) ในเมืองจีนแล้ว  เห็นได้ว่าดำรงอยู่ในสังคมคนจีนได้อย่างยากเย็นไม่น้อย  เรื่องยังไม่หมดแค่นี้ครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มิถุนายน, 2566, 10:48:56 PM
(https://i.ibb.co/b3Mmc1j/308675910-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๐ -
          วันนี้ให้ดูบันทึกย่อเรื่องพระพุทธศาสนาในจีนกันต่อนะครับ  ท่านบันทึกเรื่องราวเรียงปีพุทธศักราชและราชวงศ์จีนไว้ดีมาก ดังต่อไปนี้

           “พ.ศ. ๙๘๔ มีอุบาสกเผาตนเป็นพุทธบูชาครั้งแรก  อนึ่ง นับแต่ พ.ศ. ๙๔๕ เป็นต้นมา  ได้มีการตั้งพระสงฆ์ให้มีตำแหน่งในทางราชการ เป็นเหตุให้พระสงฆ์เข้ายุ่งเกี่ยวพัวพันกับกิจการบ้านเมืองไปด้วย

           พ.ศ. ๑๐๓๘ รัชกาลพระเจ้าเม่งตี่  มีการสร้างถ้ำพระพุทธรูป  โดยสลักภูเขาทั้งลูกเป็นถ้ำ  ทำเป็นพระพุทธรูปและเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา  เป็นแบบฉบับของพุทธศิลป์ต่อมา

           พ.ศ. ๑๐๕๓ ในรัชกาล พระเจ้าบู่ตี่  ได้สถิติดตามการสำรวจว่ามีวัด ๑๓,๐๐๐ วัดเศษ ในนครโลยาง (ลั่วหยาง) มีภิกษุและภิกษุณี ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูปเศษ  พระชาวต่างประเทศ ๓,๐๐๐ รูปเศษ

           พ.ศ. ๑๐๕๕ พระเจ้าบู่ตี่  ทรงเสวยเจ  และขอให้พระสงฆ์เลิกฉันเนื้อสัตว์  ทำให้เกิดประเพณีพระสงฆ์จีนถือมังสวิรัติจนถึงทุกวันนี้  พระเจ้าบู่ตี่ ซึ่งครองราชย์แต่ พ.ศ. ๑๐๔๖ ถึง ๑๐๙๒ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า  และทรงพยายามดำเนินนโยบายทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า  มีการก่อสร้างวัดวาอารามที่สวยงามใหญ่โต  และเกิดประเพณีทางพุทธศาสนาแบบจีนหลายอย่าง

           พ.ศ. ๑๐๖๓ หรือ ๑๐๖๙ พระโพธิธรรม จาริกจากอินเดีย  ถึงนครโลยางแล้วขึ้นไปอยู่จำพรรษาในภาคเหนือ  ตั้งพุทธศาสนานิกาย ฉาน หรือ ธยาน (ญี่ปุ่นเรียก เซน) และเป็นปฐมประมุขแห่งนิกายนั้น

           พ.ศ. ๑๐๙๖ ในรัชกาลพระเจ้าง่วนตี่  พระภิกษุอินเดียชื่อปรมิตร  จาริกมาเผยแพร่นิกายธรรมลักษณ์  และในระยะเดียวกัน  พระพุทธศาสนาได้แพร่จากเกาหลีเข้าสู่ญี่ปุ่น

           พ.ศ. ๑๑๑๘ – ๑๑๒๓ รัชกาลพระเจ้าซวนตี่  เป็นระยะเวลาแห่งการทำลายล้างพระพุทธศาสนา  เริ่มแต่ในแคว้นจิว  ให้ยกเลิกพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า  ต่อมาแคว้นจิวยกทัพเข้ามาโจมตีแคว้นชี้ได้  แล้วทำลายพระพุทธศาสนา  ด้วยการบังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป  ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด  ทำลายพระพุทธรูป  เอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์  ท้ายสุดจึงอนุญาตให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าใหม่อีก  แต่ให้ถือภิกษุเป็นโพธิสัตว์แต่งตัวอย่างสามัญชน  ไม่ต้องครองจีวร

       กล่าวโดยสรุป  ระยะเวลาประมาณ ๓๖๐ ปีที่ประเทศมีแต่ความแตกแยกระส่ำระสาย  รบราฆ่าฟันกัน  นับแต่สิ้นราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมานี้  กลับเป็นระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ  และเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมของจีน  ตลอดจนคงเป็นพลังช่วยให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในที่สุด  ดังจะเห็นได้ในสมัยต่อไป

           * สมัยราชวงศ์ซุย (พ.ศ. ๑๑๒๔ – ๑๑๖๑)

           พ.ศ. ๑๑๒๔ พระเจ้าบุ่นตี่  ทรงรวบรวมประเทศจีนทั้งภาคเหนือและภาคใต้ทั้งหมดเข้าได้เป็นอันเดียวกัน  พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า  ครั้นขึ้นครองราชย์แล้ว  ก็ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา  โปรดให้พระสงฆ์กลับครองจีวรตามเดิม  ทรงแต่งตั้งประมุขสงฆ์  และโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่ทั่วประเทศโดยเฉพาะ ณ ภูเขาแห่งที่สวยงาม  กับให้มีที่นาประจำสำหรับบำรุงวัด  ให้ทำสารบาญรายชื่อพระสูตรรวบรวมพระไตรปิฎกขึ้นให้เรียบร้อย


           สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๕๐)

           พ.ศ. ๑๑๖๓ พระเจ้าเกาโจ  มีพระบรมราชโองการกำหนดเดือน ๑ เดือน ๕ เดือน ๙ ตลอดเดือนและวันที่ ๑, ๘, ๑๔-๑๕, ๑๘, ๒๓-๒๔, ๒๘-๒๙-๓๐ ของทุกเดือนเป็นวันอุโบสถ  ห้ามการประหารชีวิต  ตกปลา  ล่าสัตว์  ตามวินัยของมหายาน  ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติธรรมของชาวพุทธจีนมาจนปัจจุบัน  และในปีต่อมาก็ได้ทรงสละพระราชวังเดิมให้เป็นวัด

           พ.ศ. ๑๑๗๒ ในรัชกาลพระเจ้าถังไทจง  พระถังซัมจั๋ง (บางทีเรียก หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือยวนฉาง)  ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป  กลับมาถึงจีนใน พ.ศ. ๑๑๘๘ ทรงอาราธนาให้สถิต ณ เมืองโลยาง  ทรงอุปถัมภ์ในการแปลพระสูตรมากมายที่นำมาจากอินเดีย  พระถังซัมจั๋งได้เขียนบันทึกการเดินทางชื่อ  “บันทึกแคว้นตะวันตก”  ไว้  อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย  และได้ปฏิบัติศาสนกิจต่อมาจนถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๐๘ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง

           พ.ศ. ๑๑๘๕ พระเจ้าถังไทจง โปรดเกล้าฯ ยกพระราชธิดาบุ่นเซ้ง  ให้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ทิเบต  เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ประเทศทิเบต  พระนางบุ่นเซ้งทรงริเริ่มสร้างอักษรทิเบตขึ้นตามแบบอักษรอินเดียที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤต  และทรงสร้างสรรค์ความเจริญแก่ทิเบตเป็นอันมาก  จนชาวทิเบตยกย่องเป็นพระแม่เจ้าตราบถึงปัจจุบัน

           พ.ศ. ๑๒๑๔ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง  หลวงจีนเต่าซวนผู้ริเริ่มนิกายวินัย  ได้ถึงมรณภาพและในปีเดียวกัน  หลวงจีนอี้จิง (งี่เจ๋ง) ออกจาริกไปอินเดีย  และพักที่สุมาตราหลายปี  กลับถึงจีนใน พ.ศ. ๑๒๓๘  พระนางบูเจ็กเทียน เสด็จไปรับถึงนอกประตูวัง  หลวงจีนอี้จิงพูดได้หลายภาษา  แปลคัมภีร์พระวินัยและพระสูตร  และประพันธ์หนังสือเรื่อง  “ประวัติสงฆ์จีนจาริกไปอินเดีย”  และ  “พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในเกาะแถบทะเลใต้”  ท่านถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕

           พ.ศ. ๑๒๑๘ หลวงจีนเว่ยหล่างหรือฮุยเหนิง  ได้รับตำแหน่งเป็นประมุของค์ที่ ๖ ของนิกายเซน  และถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕ (ปีเดียวกับหลวงจีนอี้จิง)

           พ.ศ. ๑๒๕๒ พระเจ้าตงจง โปรดให้มีการสอบคัดเลือกผู้ที่จะบวชเป็นครั้งแรก  และต่อมาใน พ.ศ. ๑๒๕๘ พระเจ้าเฮี่ยนจงก็โปรดให้พระที่ไม่ศึกษาปริยัติธรรมลาสิกขา ๑๒,๐๐๐ รูป  เพราะมีผู้บวชเพื่อหลีกเลี่ยงการงานมาก  และทรงห้ามการสร้างวัดหล่อพระพุทธรูปและคัดพิมพ์พระสูตรโดยไม่ได้รับอนุญาต (ต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๐๒ ผู้จะบวชจะต้องสวดพระสูตรได้ ๑,๐๐๐ หน้า  หรือเสียค่าบวชให้หลวง ๑๐๐,๐๐๐ อีแปะ)

           พ.ศ. ๑๒๖๐ โปรดให้ต้อนรับพระศุภกรสิงห์ แห่งนิกายมนตรยาน  ซึ่งจาริกมาจากอินเดีย เข้ามาพำนักในพระราชวัง ทรงแต่งตั้งเป็นประมุขสงฆ์ หลังจากนี้ก็มีพระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ เป็นกำลังสืบงานเผยแพร่ต่อมาอีก เป็นเหตุให้นิกายมนตรยานเริ่มเจริญแพร่หลาย

           พ.ศ. ๑๓๗๔ ในรัชกาลพระเจ้าบุ่นจง มีเหตุการณ์น่าสนใจคือ มีรับสั่งให้ภิกษุและภิกษุณีที่บวชโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชการยื่นคำขอใหม่ ในการนั้นมีผู้ยื่นคำขอถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูปเศษ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๘๑ โปรดให้ทุกวัดมีโบสถ์บูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นประเพณีมาจนบัดนี้

           พ.ศ. ๑๓๘๕ ได้เริ่มมีการทำลายล้างพระพุทธศาสนา โดย พระเจ้าบู่จง ผู้ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้ววางแผนทำลาย โดยเริ่มให้มีการโต้วาทะหน้าพระที่นั่งระหว่างพระภิกษุกับนักบวชเต๋า ใน พ.ศ. ๑๓๘๙  แต่ฝ่ายเต๋าปราชัย  ไม่สมพระทัยจึงทรงจัดการเองโดยพลการ  คือ  ให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา ๒๖๐,๐๐๐ รูป  ริบที่ดินของสงฆ์  ยุบวัด  หลอมพระพุทธรูป  เผาคัมภีร์ เป็นต้น  เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมแต่นั้นมาอีกหลายร้อยปี (การทำลายล้างหยุดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน โดยใน พ.ศ. ๑๓๙๑ พระเจ้าซวนจงทรงห้ามการทำลายวัด นำประมุขลัทธิเต๋ากับพวกก่อการไปประหารชีวิต และให้มีการบวชพระได้อีกโดยสอบความรู้ ออกบัตรอนุญาตอุปสมบทให้ และให้มีการปฏิสังขรณ์วัดเฉพาะวัดใหญ่ ๆ)


           สมัยห้าราชวงศ์ หรือ หงอโต้ว (พ.ศ. ๑๔๕๐ – ๑๕๐๓)

           พ.ศ. ๑๔๕๙ มีพระรูปหนึ่ง ลักษณะอ้วนร่าเริง  จาริกเผยแพร่พระศาสนา  ครั้นถึงมรณภาพมีผู้เชื่อว่าท่านเป็น  พระเมตไตรย์โพธิสัตว์  ทำให้เกิดความนิยมสร้างรูปของท่านเป็น พระอ้วน สมบูรณ์ ร่าเริง ถือถุงย่ามใบหนึ่ง ไว้ที่หน้าวัดจีน ถือเป็นพระที่ให้ความสุข ความมั่งมี และให้บุตร

           พ.ศ. ๑๔๙๙ มีการทำลายพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่อีก โดย พระเจ้าซีจง แห่งแคว้นจิว  ทรงกวดขันการบวช  ยึดและยุบวัดที่ไม่มีพระบรมราชโองการให้สร้าง  หลอมพระพุทธรูปตามวัดเอาไปทำเงินตรา  และบังคับราษฎรให้ขายพระพุทธรูปและเครื่องบูชาที่เป็นทองแดงให้แก่ราชการทั้งหมด


           สมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๓)

           พ.ศ. ๑๕๐๔ พระเจ้าเกาโจ้ว เริ่มทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้สร้างวัด ณ สถานที่ที่เคยมีการรบใหญ่ ทรงส่งราชทูตไปอาราธนาพระสูตรจากเกาหลีและอินเดีย และใน พ.ศ. ๑๕๑๖ โปรดให้แกะไม้แผ่นพิมพ์พระไตรปิฎกรวม ๑๓๐,๐๐๐ แผ่น หลังจากนั้นมาได้มีผู้มีคุณสมบัติบวชมากขึ้น การศึกษาธรรมวินัยเจริญขึ้น มีพระจาริกมาจากอินเดีย และพระจีนจาริกไปอินเดียมากขึ้น ปรับปรุงประเพณีพิธีกรรม และส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๑๕๗๘ (รัชกาลพระเจ้ายินจง) มีภิกษุ ๓๘๐,๐๐๐ รูป ภิกษุณี ๔๘,๐๐๐ รูป

           พ.ศ. ๑๖๑๒ ราชการเริ่มหารายได้จากการบวชพระ โดยการขายบัตรอุปสมบท ทำให้การบวชเป็นการซื้อขาย คนมีศรัทธาแต่ไม่มีเงินไม่มีโอกาสบวช เป็นเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมของการศึกษาธรรมวินัย ต่อมาใน พ.ศ. ๑๖๘๙ ถึงกับให้พระภิกษุต้องเสียภาษีทุกรูป เว้นแต่อายุครบ ๖๐ ปีหรือพิการ และใน พ.ศ. ๑๖๙๕ ก็ให้นำผลประโยชน์จากที่นาสวนของวัดไปบำรุงโรงเรียนหลวงแทน

           พ.ศ. ๑๖๖๑ พระเจ้าฮุยจง ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และทรงบีบคั้นพระพุทธศาสนา โปรดให้ทุกอำเภอมีศาลเจ้าของเต๋า เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เข้าลัทธิเต๋า เช่น เรียกพระนามพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ เป็น  "เซียน”  เปลี่ยนชื่อวัดเป็นศาลเจ้า ถวายเครื่องครองพระพุทธรูปเป็นแบบเต๋า เป็นต้น จนถึง พ.ศ. ๑๖๖๕ จึงโปรดให้พระพุทธศาสนาคืนสู่ฐานะเดิม คืนนาสวนที่ยึดไปให้แก่วัด และในที่สุด พ.ศ. ๑๖๖๘ ก็ให้เลิกนับถือลัทธิเต๋า

           พ.ศ. ๑๖๘๗ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง พระฮวบฮุ้น เรียบเรียงหนังสือ "ศัพท์พุทธศาสนา” ขึ้น  เป็นประโยชน์ในการศึกษามาก  และใช้กันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน (ก่อนหน้านี้เคยมีพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิเรียบเรียงหนังสือสำคัญคล้ายกันขึ้นมาแล้วหลายคราว เรียกชื่อว่า  “การออกเสียงและความหมายของศัพท์ในพระไตรปิฎก”  คือ ใน พ.ศ. ๑๓๕๑ จำนวน ๑๐๓ เล่ม  ใน พ.ศ. ๑๔๘๓ จำนวน ๔๘๐ เล่ม  และใน พ.ศ. ๑๕๑๒ เรียก “ศัพท์ในพระไตรปิฎก”  ๖๖๐ เล่ม)

           โดยสรุป ในราชวงศ์นี้ กษัตริย์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีศรัทธาในพระศาสนาดี พระพุทธศาสนาฟื้นฟูขึ้นมาพอสมควร แต่เพราะราชการมัวพะวงกับการหารายได้แม้จากวัด เพื่อใช้ในการป้องกันราชวงศ์จากอริราชศัตรู ความเจริญจึงไม่มีเท่าที่ควร”

           # จากบันทึกย่อซึ่งเป็นจอดหมายเหตุพระพุทธศาสนาในจีนข้างต้น  ให้เราได้ทราบเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น การตั้งพระภิกษุมีตำแหน่งทางการเมือง ,การสลักภูเขาทั้งลูกเป็นถ้ำพระพุทธรูป, พระเจ้าบู่ตี่เสวยเจ ขอให้พระฉันเจ เลิกกินเนื้อสัตว์ (มังสวิรัติ) เป็นครั้งแรกและสืบมาจนถึงวันนี้, พระโพธิธรรมจากอินเดียเข้าไปตั้งนิกาย ฉาน ฌาน ธยาน เซน ในจีน, พุทธศาสนามหายานแพร่เข้าสู่เกาหลี ญี่ปุ่น, เรื่องพระถังซัมจั๋งไปสืบศาสนาในอินเดีย บันทึกถึงเรื่องราวไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์โลก, พระนางบุ่นเช้งนำพุทธมหายานเข้าไปตั้งในทิเบต, พ.ศ. ๑๒๑๔ ในรัชกาลพระเจ้าถังเกาจง หลวงจีนอี้จิง (งี่เจ๋ง) ออกจาริกไปอินเดีย และพักที่สุมาตราหลายปี  มีหลักฐานในไทยเราว่าหลวงจีนรูปนี้มาพักอยู่ที่ไชยาและบันทึกเรื่องราวของไทยไว้มาก  น่าจะเป็นผู้นำนิกายมหายานมาเผยแผ่ในไทย  อินโดฯ และกัมพูชาด้วย  แต่ไม่มีในบันทึกย่อของจีนฉบับนี้ /๑๙๐

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54302#msg54302)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54493#msg54493)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, มิถุนายน, 2566, 11:14:09 PM
(https://i.ibb.co/C2Fpby0/308104938-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54386#msg54386)                                                             .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๑ -   
           พุทธศาสนาในจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นมหายานขนานแท้  มีสภาพล้มลุกตามเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีกษัตริย์ (ฮ่องเต้ )ปกครองหลายราชวงศ์ ในช่วงปี พ.ศ. ๑๘๒๓ - ๑๙๑๑ นั้น  เป็นเป็นราชวงศ์หงวน  รัชกาลพระเจ้าซีโจ้ว หรือ กุบไลข่าน  ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่  ยกเลิกเก็บภาษีวัด เป็นต้น  โดยเฉพาะทรงส่งเสริมพระลามะเป็นพิเศษ  โดยมุ่งผลทางการปกครองเป็นสำคัญ  จึงไม่สู้เป็นผลดีแก่พระศาสนาเท่าใดนัก  แม้กษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มาในราชวงศ์หงวน  ก็ยึดถือนโยบายอย่างนี้,  ตกมาถึงราชวงศ์หมิงหรือเหม็ง พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๒๑๘๗ รัชกาลพระเจ้าซีจง  กษัตริย์องค์นี้เลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก  และเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา  พระพุทธศาสนาจึงถูกทำลายครั้งใหญ่อีก  เริ่มแต่ทำลายพระพุทธรูป  ทำลายวัด  ให้นักบวชเต๋าเข้าอยู่ในวัด  วัดถูกแปลงเป็นสำนักเต๋า  ภิกษุครองจีวรแบบเต๋า  พิธีกรรมพุทธกับเต๋าปะปนกันไปหมด  สมัยราชวงศ์ชิง หรือ เช็ง ซึ่งเป็นเผ่าแมนจู ขึ้นครองมหาอาณาจักรจีน  ก็ได้บังคับให้ประชาชนไว้ผมเปีย  แทนไว้ผมยาว  และให้แต่งกายแบบแมนจู  มีชาวจีนที่ขัดขืนถูกประหารชีวิตไปนับล้าน  ในครึ่งแรกของราชวงศ์นี้  มีกษัตริย์ยิ่งด้วยบุญญาธิการ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าคังฮี และ พระเจ้าเคียงล้ง  ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ  เป็นนักปกครองที่สามารถ  ส่งเสริมวรรณกรรมการศึกษา  วิชาการต่าง ๆ  แต่ในทางพระพุทธศาสนา  กลับทรงกวดขันการบวช  ต้องให้ได้รับอนุญาตจากทางการก่อน  ห้ามสร้างวัดใหม่หรือขยายเขตวัดเก่า  ส่วนในทางวิชาการทรงช่วยสนับสนุนบ้าง  เช่น  ให้รวบรวมพระไตรปิฎกถวายวัดทุกวัด  ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาแมนจูเรีย  ทรงอุปถัมภ์บำรุงเฉพาะพระลามะเท่านั้น

           โดยสรุป  พระพุทธศาสนาในจีนเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง  หลังจากนั้นก็เสื่อมโทรมลง  กลับฟื้นฟูทรงตัวขึ้นได้ในสมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง  แล้วก็เสื่อมโทรมลงอีกนับแต่สมัยราชวงศ์หงวนของมงโกลเป็นต้นมา  มีแต่พระเจ้าไท่โจ้ว  ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหม็งองค์เดียว  ที่บำรุงพระพุทธศาสนาจริงจัง  เพราะเคยผนวชมาก่อน  นอกนั้น ยกย่องพระพุทธศาสนาบางคราวเพียงเพื่อผลในการปกครอง  โดยเฉพาะเอาใจพระลามะเพื่อครอบครองทิเบตไว้โดยง่าย  เป็นเหตุให้การศึกษาธรรมวินัยเสื่อมโทรมอย่างยิ่ง  มีแต่ความเชื่อถือทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมอ้อนวอน  หนำซ้ำกษัตริย์บางองค์ยังเลื่อมใสลัทธิเต๋าแล้วทำลายพระพุทธศาสนาอีก  พระพุทธศาสนาเสื่อมถึงขั้นที่วัดใหญ่พระต้องทำนาและอาศัยค่าเช่านาเป็นอยู่  ส่วนวัดเล็กก็อาศัยการให้เช่ากุฏิบ้าง  ประกอบพิธีกงเต๊กบ้าง  ไม่มีกำลังบำรุงให้ศึกษาธรรมวินัยได้  จนถึงปลายราชวงศ์เช็ง จึงมีข้าราชการบางท่านช่วยฟื้นฟูประคับประคองไว้บางส่วน

           นิกายมนตรยานที่เข้าสู่จีนสมัยราชวงศ์ถัง โดยพระศุภกรสิงห์ ซึ่งจาริกมาจากอินเดีย เข้ามาพำนักในพระราชวัง ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขสงฆ์ หลังจากนี้ก็มีพระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ เป็นกำลังสืบงานเผยแพร่ต่อมาอีก เป็นเหตุให้นิกายมนตรยานเริ่มเจริญแพร่หลายตั้งแต่ พ.ศ. ๑๓๗๔   นิกายนี้เกิดขึ้นจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในอินเดียราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐  โดยการนำสิ่งใหม่เข้ามาสู่พุทธศาสนามีพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เพื่อการบรรลุธรรม  โดยนำเอา มันตระ มุทรา มัณฑละ และเทพเจ้าเข้ามาในพุทธศาสนาอย่างไม่เป็นระบบ  เช่น  การท่องบ่นมนต์ หรือ ธารณีแตกต่างกัน บูชาเทพเจ้า หรือพระโพธิสัตว์องค์ใดก็ได้ แล้วทำเครื่องหมาย มุทรา หรือนิ้วมือให้ถูกต้องก็จะศักดิ์สิทธิ์หรือสำเร็จผลได้  ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าชาวพุทธในประเทศไทยจะนิยมชมชอบปฏิบัติตามวิธีการของนิกายนี้ไม่น้อย

           พุทธศาสนาในจีนยังมีเรื่องให้เรียนรู้อีกมาก  แต่ขอพักไว้ก่อน  จะขอพาไปดูพุทธศาสนาในพม่าหรือเมียนมาร์บ้าง

            “ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายุคแรกในพม่ายังเลือนลางอยู่  ตามตํานานฝ่ายลังกาและคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ เล่าว่า  พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระโสณะ กับ พระอุตตระ มาประกาศพระศาสนาในสุวรรณภูมิ  ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า  สุวรรณภูมิได้แก่ นครปฐม ในประเทศไทย  แต่บางท่านว่า ได้แก่ เมืองสะเทิม ในพม่าตอนใต้  อย่างไรก็ตาม  ไม่ปรากฏว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายในพม่ายุคแรกนี้

           ยุคที่พอจะแน่ใจได้ว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในพม่าแล้ว  ก็คือในพุทธศตวรรษที่ ๖  เพราะได้พบคําจารึกเป็นภาษาบาลีในพม่าภาคใต้  และ ตารนาถ นักประวัติศาสตร์ทิเบตก็ได้เล่าว่า  มีการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในพะโค พม่า และ อินโดจีน มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก  ต่อมาไม่นานศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นําพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแพร่  ทําให้มหายานกับเถรวาทมีเคียงคู่กันมาในพม่าเป็นเวลาหลายศตวรรษ  พระพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่เข้ามาในระยะที่ผ่านมานี้  คงเข้ามาโดยเส้นทางเดินเรือพาณิชย์  และปรากฏว่ารุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรโบราณของพวก Pyus ที่เรียกว่าอาณาจักร ศรีเกษตร

           เหตุการณ์สําคัญครั้งต่อมาคือ  ใน พ.ศ. ๙๔๖  พระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อแปลอรรถกถาจากสิงหลเป็นมคธแล้ว  ได้เดินทางออกจากลังกาและได้มาแวะที่เมืองสะเทิมของพม่า  พร้อมกับนําเอาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ มาที่นั่นด้วย  เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็งขึ้น  หลังจากนั้นก็มีปราชญ์ภาษาบาลีเกิดในพม่าหลายคนเขียนตําราไวยากรณ์บาลีบ้างอภิธรรมบ้าง”

           นามสุวรรณภูมิ = แผ่นดินทอง  ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหลายครั้ง  นักวิชาการทางภูมิประวัติศาสตร์ชี้ตรงกันว่า  เมืองหลวงของสุวรรณภูมิได้แก่อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน  แต่ทางพม่าก็ยังเชื่อว่า  สุวรรณภูมคือเมืองสะเทิมของเขาอยู่  พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทคงจะเข้าสู่พม่าในเวลาไล่เลี่ยกับไทย  ถ้าไม่นับเรื่องสองพี่น้องชาวมอญที่แสดงตนเป็นอุบาสกคนแรกในสมัยต้นพุทธกาล  ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าสู่พม่าในราวพ.ศ. ๖๐๐ เศษ ตามคำกล่าวของชาวทิเบต นั่นเอง  เรื่องนี้ไว้ดูกันต่อวันพรุ่งครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, มิถุนายน, 2566, 10:53:45 PM
(https://i.ibb.co/2vRZ2r4/37016167-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๒ -
           มีคำกล่าวสืบทอดกันแบบ “ปากต่อปาก” (มุขปาฐะ) ที่ชาวมอญเชื่อว่า  “มุขปาฐะคำพระเถระท่านว่า สุวรรณภูมินี้มี ๒ เมือง เมืองหนึ่งเบื้องอุดร เรียกว่า ทวารวดี  มีนครอยู่นครปฐมทุกวันนี้  อีกเมืองหนึ่งอยู่เบื้องปัจจิม เรียกว่า สุธรรมวดี มีนครชื่อสุธรรม นครสุธรรม คือ เมืองสะเทิม รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ทุกวันนี้  คนมอญคนเมียนมาร์เชื่อว่า พระโสณะ พระอุตตระ นำพระศาสนามาประกาศที่สุวรรณภูมิ ณ เมืองสะเทิมแห่งนี้  จึงเชื่อถือกันว่า สะเทิม คือ สุวรรณภูมิที่แท้จริง  และพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองอย่างมาก  แต่เมืองนี้สูญสิ้นไปเมื่อพระเจ้าอนิรุธแห่งพุกาม  ยกทัพมาตีแล้วอัญเชิญพระไตรปิฎก ๓๐ ชุด  พระสงฆ์รู้ธรรม ๑,๐๐๐ รูป  กับพระบรมธาตุ  แล้วจับพระเจ้ามนูหะ  กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรสะเทิมไปอยู่ด้วยกันที่พุกาม”

           ชื่อเมืองสุธรรมวดี สุธรรมนคร  จะปรากฏในตำนานของไทยอยู่หลายตำนาน  บางตำนานว่าตั้งอยู่ที่เมืองตาก บางตำนานว่าตั้งอยู่เมืองมอญ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบยืนยันแน่นอนแล้วว่าได้แก่เมืองสะเทิม  ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชนชาติมอญหรือรามัญ  มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าเมือง-ประเทศใด ๆ ในภูมิภาคแหลมทอง (สุวรรณภูมิ) นี้  ในความเชื่อของชาวมอญที่ว่า  พระเจ้าอโศกส่งพระโสณะ-อุตตรเถระนำพระไตรปิฎกที่ได้จากการสังคายนาครั้งที่ ๓ มายังสุวรรณภูมิโดยทางเรือนั้น  คณะพระโสณะเดินทางโดยเรือพาณิชย์จากอินเดียมาขึ้นฝั่งสุวรรณพภูมิที่เมืองสะเทิม  แล้วเริ่มประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายไปทั่วสุวรรณภูมิ

           แต่ทางไทยเราเชื่อว่าคณะพระโสณะเดินทางจากอินเดียโดยเรือมาขึ้นฝั่งที่สามรัฐ (สมเรส คือนครไชยศรี) เมืองท่าของอู่ทอง (สุวรรณภูมิ) แล้วปักหลักประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายไปทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ  ความเป็นข้อขัดแย้งกันนี้คงติดอยู่ในชาตินิยมต่อไป  ยากจะลบล้างให้หมดได้  อย่างไรก็ดี  เรื่องราวของพระพุทธศาสนาในพม่าที่มีการเรียบเรียงเผยแผ่ไว้ก็น่าศึกษาดังความเรียงต่อไปนี้

            “มีหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่า ชาวมอญฮินดู หรือ ตะเลง ในเมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม (สุธรรมวดี) และถิ่นใกล้เคียงที่เรียกรวม ๆ ว่า  รามัญประเทศ  ได้นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองมาเป็นเวลานานพอสมควร  พอถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖  ก็ปรากฏว่า  เมืองสะเทิมได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สําคัญยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว  ส่วนชนอีกเผ่าหนึ่ง คือ มรัมมะ หรือ พม่า (เผ่าทิเบต-ดราวิเดียน)  ก็ได้มาตั้งอาณาจักรอันเรืองอํานาจของตนขึ้น  มีเมืองหลวงอยู่ที่พุกามและเรียกชื่อประเทศของตนว่าพุกาม  พวกมรัมมะนี้กักขฬะ  ไร้การศึกษา  นับถือพระพุทธศาสนาแบบ ตันตระ  ที่เสื่อมทรามสืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นั้นเอง  พระเจ้าอนุรุทธ หรือ  อโนรธามังช่อ  ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งมรัมมะ (พ.ศ. ๑๕๘๘ - ๑๖๒๑)  ได้มีพระตะเลงแห่งเมืองสะเทิมรูปหนึ่งชื่อ พระอรหัน หรือ ธรรมทรรศี (ธรรมทัสสี ?) สามารถเปลี่ยนพระทัยพระเจ้าอนุรุทธให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทอันบริสุทธิ์ได้  พระเจ้าอนุรุทธได้ทรงร่วมกับพระธรรมทรรศีรอนลัทธิตันตระลง  ทําพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพุกามประเทศ

           รัชกาลพระเจ้าอนุรุทธนี้  เป็นยุคสําคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชาติพม่า  เมื่อพระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว  ก็ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้า  ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปขอคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากกษัตริย์แห่งสะเทิม  แต่กษัตริย์สะเทิมไม่ยินยอม  พระองค์จึงกรีฑาทัพไปตีเมืองสะเทิมได้  ทรงนําพระไตรปิฎก ๓๐ จบ  วัตถุเคารพบูชาอันศักดิ์สิทธิ์  กับพระภิกษุชาวตะเลงผู้รู้ธรรมแตกฉาน  บรรทุก ๓๒ หลังช้างกลับมานครพุกาม  เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้พม่ารวมเข้าเป็นอาณาจักรอันเดียว  และพุกามผู้ชนะก็รับเอาวัฒนธรรมตะเลงเกือบทั้งหมดมาเป็นของตน  ตั้งแต่ตัวอักษร ภาษา วรรณคดี และศาสนาเป็นต้นไป  พระเจ้าอนุรุทธทรงแลกเปลี่ยนศาสนทูตกับลังกา  ทรงนําพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกา ๓ จบ  และนํามาชําระสอบทานกับฉบับที่ได้จากเมืองสะเทิม  ทรงอุปถัมภ์ศิลปกรรมต่าง ๆ  การบําเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์  ทําให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชนชาวพม่าทั่วทั้งประเทศ  กษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มา ก็ได้เจริญรอยพระปฏิปทาในการทํานุบํารุงพระศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์  ส่วนศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูก็เสื่อมหมดไป  และในระหว่างสมัยที่พุกามรุ่งเรื่องนี้  พระภิกษุจํานวนมากได้เดินทางไปศึกษาในลังกาทวีป  บางท่านไปศึกษาแล้วรับอุปสมบทใหม่กลับมาตั้งคณะสงฆ์เถรวาทคณะใหม่ ๆ สายลังกา  แยกออกไปก็มี เช่น พระจปฏะ ใน พ.ศ. ๑๗๒๕  ซึ่งทําให้มีการแข่งขันกันระหว่างสงฆ์ต่างคณะมาเป็นเวลาประมาณ ๓ ศตวรรษ

           อาณาจักรพุกามได้สลายลงเพราะถูกทอดทิ้งหลังจากการรุกรานของ  กุบไลข่าน  ใน พ.ศ. ๑๘๓๑  หลังจากนี้แม้บ้านเมืองจะระส่ำระสายแต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบมา  จนถึงรัชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. ๒๐๐๔ - ๒๐๓๕)  สมัยนั้นในพม่ามีคณะสงฆ์เถรวาท ๖ คณะ (จากเขมร ๑ จากลังกา ๕)  พระองค์ได้อาราธนาพระสงฆ์มาจากลังกา แล้วให้พระสงฆ์พม่าทั้งหมดอุปสมบทใหม่รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกันแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคง  และการศึกษาพระอภิธรรมได้รุ่งเรืองขึ้น  สองศตวรรษต่อมา  ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องการครองจีวรออกนอกวัด  ทําให้พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ พวก คือ ฝ่ายห่มคลุมพวกหนึ่ง  กับฝ่ายลดไหล่ขวาพวกหนึ่ง  พระมหากษัตริย์โปรดฝ่ายห่มคลุม  และได้ทรงสถาปนา  สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นปกครองสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทางพระวินัย  ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พระพุทธศาสนาในพม่ามั่นคงแข็งแรงดี  จนมีพระสงฆ์จากลังกามารับอุปสมบทกรรมใหม่ไปตั้งคณะสงฆ์แบบพม่าขึ้นในประเทศของตน  มีการแปลพระไตรปิฎกครั้งใหญ่  มีการสังคายนาครั้งที่ ๕ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้ามิน ดง  ณ กรุงมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕  และจารึกพุทธพจน์ทั้ง ๓ ปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น  ในระยะตั้งแต่นี้มีการเลือกตั้งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ชั่วสมัยหนึ่ง

           อังกฤษได้เข้ามาแสวงอาณานิคมและมีอํานาจในพม่าเริ่มแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘  กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ  พระเจ้าธีบอ แห่งราชวงศ์อลองพญาได้สิ้นวงศ์ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙  ประเทศพม่าได้คืนสู่เอกราช เกิดเป็นสหภาพพม่าเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๒ (เซ็นสัญญาอิสรภาพ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๑) เมื่อพม่าเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว  ตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็เลิกล้มไป  รัฐบาลได้แต่งตั้งประมุขขึ้นใหม่สําหรับนิกายสงฆ์ทั้งสามของพม่านิกายละ ๑ รูป  ตลอดระยะเวลาเหล่านี้  มีพระภิกษุพม่าที่เป็นปราชญ์มีความรู้แตกฉาน  รจนาหรือนิพนธ์ตํารับตําราพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจํานวนมาก  รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการ  ฉัฏฐสังคีติ  คือสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงร่างกุ้ง  เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐  ได้อาราธนาพระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ ไปร่วมศาสนกิจครั้งนี้เป็นจํานวนมาก  และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกพร้อมด้วยคัมภีร์อรรถกถา  และปกรณ์พิเศษต่าง ๆ ขึ้นใหม่  ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทําได้”

           กษัตริย์พม่า (มรัมมะ)ผู้ เกรียงไกรนามว่า  “พระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธามังช่อ”  มีนามและเรื่องพ้องกับกษัตริย์ไทยพระององค์หนึ่ง  คือพระเจ้ากากวัณดิสราช  หรืออนุรุทธธรรมิกราช แห่งตักสิลามหานคร (นครไชยศรี)  พระองค์เสด็จขึ้นไปแคว้นโยนกแล้วตั้งวงศ์กษัตริย์ขึ้นใหม่พร้อมประกาศให้ใช้ปีจุลศักราชเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๑ นับรอบปีตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ถึง ๑๕ เมษายน เดิมเข้าใจกันว่าเป็นศักราชของพม่า  ปรากฏอยู่ตามตำราโหราศาสตร์  แต่ทว่าเมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าปีที่ตั้งจุลศักราชนั้น  เป็นเวลาก่อนปีที่พระเจ้าอโนรธามังช่อประสูติ  กล่าวคือตั้งจุลศักราชเมื่อพ.ศ. ๑๑๘๑  อโนรธา เกิด-ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐  กาลเวลาห่างไกลกันถึง ๔๓๙ ปีทีเดียว ก็หมายถึงว่าพระเจ้าอโนรธาเกิดหลังการตั้งจุลศักราช ๔๐๐ ปีเศษ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กรกฎาคม, 2566, 11:00:51 PM
(https://i.ibb.co/DVjCyVW/293-307377196.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๓ -
           ดูเหมือนข้าพเจ้าจะเข้าตำราที่ว่า  “ยิ่งเรียนยิ่งโง่”  พวกข้าพเจ้าถูกอัดวิชาการเช้าสมองอย่างหนักมาสองเดือนกว่าแล้ว  วิชาอภิธรรมเอย วิชาเทศนาเอย ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเอย  เฉพาะข้าพเจ้ารู้สึกสับสนในเรื่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา  ตำราของวิชานี้คือพระไตรปิฎกทั้งฝ่ายเถรวาทและอาจาริยวาท (หินยาน มหายาน) ล้วนมีการปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามกาลเทศะจนจดจำกันไม่หวาดไหว  พระไตรปิฎกของไทยที่พระโสณเถระและคณะนำมาหลังจากสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น เป็นฉบับ “มุขปาฐะ”  คือท่องจำกันมาด้วยปากต่อปาก  ฉบับขององลังกาที่พระมหินทเถระนำจากอินเดียไปลังกาพร้อมกับพระโสณะก็เป็นฉบับมุขปาฐะเช่นกัน

           ตามประวัติว่ามีการจารึกพระไตรปิฏกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทำกันเมื่อปี พ.ศ. ๔๓๓ ที่ประเทศลังกานั้น  จารึกเป็นอักษรภาษาสิงหล  ต่อมาพระพุทธโฆสะจากอินเดียไปแปลจากภาษาสิงหลเป็นบาลี  ฉบับนี้เองที่ไทยยึดถือไว้มั่นและเชื่อว่าถูกต้องที่สุดดีที่สุด  เป็นพระธรรมวินัยที่เป็นพรพุทธวจนะแท้จริง  พระไตรปิฎกของลังกาเขาก็ว่าเป็นของแท้จริง  พม่าเขาก็ว่าเป็นของแท้จริง  ในฝ่ายมหายานเขาก็ว่าของเขาเป็นพุทธวจนะแท้จริง   แต่ในความเป็นจริงแล้วตามประวัติที่เรียนกันนั้นพบว่า  ไทยขอพระไรปิฎกจากลังกาบ้าง  ลังกาขอพระไตรปิฎกจากไทยบ้าง  พม่าขอพระไตรปิฎกจากลังกาบ้า ง ขอกันไปมาเป็นหลายครั้ง  จนไม่รู้ได้ว่าของใครเป็นของใคร

           ข้าพเจ้าเกิดความสับสนจนสงสัยว่าพระไตรปิฎกฉบับของใครเป็นพุทธวจนะจริงกันแน่  ในห้องเรียนวันหนึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า) บรรยายใกล้จบแล้วก็เปิดโอกาสให้พวกเราถามความสงสัยในเรื่องที่บรรยายตามปกติ  ข้าพเจ้าจึงเรียนถามท่านว่า

            “ก่อนจะเป็นลายลักษณ์อักษรมีการสืบทอดพระพุทธวจนะกันด้วยปากต่อปาก  ท่องจำกันสืบมา  จะเชื่อได้อย่างไรว่าพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกนี้ถูกต้องจริงแท้แน่แล้ว”

           ท่านตอบว่า  “เชื่อได้แน่  เพราะพระที่ท่องจำสืบทอดกันมานั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำพุทธวจนะไม่ผิดพลาดแน่นอน”

           ข้าพเจ้าแย้งว่า  “พระอรหันต์ก็เชื่อได้ว่าไม่ผิดพลาด  แต่ศิษย์พระอรหันต์ที่เป็นพระกัลยาณชนปุถุชนเล่าจะจำคำอาจารย์ได้แม่นยำไม่ผิดเพี้ยนบ้างเลยหรือ”

           ท่านก็ตอบว่า  ไม่ผิดดอก  เพราะภาษาที่ใช้เป็นภาษาบาลีที่ชัดเจน”

           ข้าพเจ้าแย้งอีกว่า  “ภาษาบาลี  แต่สำเนียงของผู้พูดไม่เหมือนกัน  พระไทยมีสำเนียงอย่างหนึ่ง  พระลาว  เขมร  พม่ามอญ ก็มีสำเนียงอย่างหนึ่ง (ยกตัวอย่างออกเสียงสวดมนต์แบบล้านนา อีสาน ให้ท่านฟังด้วย)”

           ท่านก็ตอบว่า  “สำเนียงที่ออกไม่ตรงกันก็จริง  แต่รากศัพท์ก็เป็นอันเดียวกัน”

           ข้าพเจ้าไม่ซักถามในเรื่องสำเนียงภาษาต่อ  แต่กลับไปถามเรื่องลายลักษณ์อักษรว่า

            “การสังคายนาครั้งที่ ๕ ในลังกาทราบว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรลงในเปลือกไม้ ใบลาน อักษรภาษาเป็นแบบสิงหลใช่ไหม”

           ท่านรับว่า  ”เป็นอย่างนั้น”

           จึงถามต่อว่า   “พระพุทธโฆสะ เป็นพระอรหันต์ที่บรรลุ นิรุตติปฏิสัมภิทา ไหมขอรับ”

           ท่านตอบว่า  “ไม่บรรลุ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์”

           ถามต่อว่า   “ถ้าอย่างนั้นท่านทำไมจึงเก่งถึงขนาดแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลีได้เล่า  แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าภาษาสิงหลที่ท่านแปลมาแต่งเป็นภาษาบาลีนั้นจะเป็นพุทธวจนะอย่างแท้จริง  เพราะท่านมิใช่พระอรหันต์ที่บรรลุนิรุติปฏิสัมภิทา  มีปัญญา แตกฉานในภาษา”

           ท่านนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง  ยังไม่ทันตอบ  เสียงออดสัญญาณบอกหมดเวลาชั่วโมงบรรยายก็ดังขึ้น  ท่านจึงลงจากโพเดียมบรรยายไป  ทิ้งความสงสัยให้ค้างคาใจข้าพเจ้าไว้อย่างนั้น

           ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนจบการอบรม  ไมค์ที่ตั้งไว้กลางห้องเรียนถูกเก็บไป  พวกเราไม่สามารยืนหน้าไมค์ถามผู้บรรยายได้เหมือนก่อน  ทราบภายหลังว่าอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ สั่งเก็บไมค์โดยไม่ห้ามซักถามผู้บรรยาย  ใครอยากถามอะไรก็เข้าไปยืนใกล้ ๆ ผู้บรรยายแล้วส่งเสียงถามกันดัง ๆ   จริง ๆ แล้วข้าพเจ้ามิได้เจตนาจะถามให้พระอาจารย์จนคำตอบ  หากแต่ถามด้วยความสงสัยจริง ๆ  หลังเลิกเรียนเย็นวันนั้นข้าพเจ้าไปหาท่านอาจารย์เจ้าคุณในที่พัก  แล้วกราบขอขมาท่านด้วยความเคารพ

           นอกจากวิชาหลักดังกล่าวที่ทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุให้ความรู้พระหน่วยพัฒนาการทางจิตแล้ว  ยังมีวิชาทางด้านสังคม-การเมืองอีกด้วย  ข้าพเจ้ามาทราบหลังจากเข้ารับการอบรมไปได้ ๓ เดือนแล้วว่า  พระอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ เกลียดชังและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์  หลังจากให้ความรู้ในวิชาอภิธรรม  วิชาการเทศนา  และประวิศาสตร์พุทธศาสนาพอสมควรแล้ว  ผู้บรรยายถวายความรู้พวกเราก็เปลี่ยนหน้ามาเป็น ทหารตำรวจนักวิชาการที่เรียกกันว่า  “ขวาจัด”  เช่น พล.ต.ท.สมควร หริกุล ผู้ก่อกำเกิดลูกเสือชาวบ้าน วัฒนา เขียววิมล เป็นต้น  และท่านให้ความรู้เรื่องคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามสถาบันหลักของไทย  และแนะวิธีการแก้ไข  ต่อต้านหลายรูปแบบ เรื่องที่ท่านนำมาเปิดเผยนั้นมีเรื่องเหลือเชื่อในความรู้สึกของข้าพเจ้า  แต่ก็ฟังไว้เป็นความรู้เพื่อนำไปพูดคุยกับชาวบ้านชาวเมืองได้  ดีกว่าไม่รับรู้อะไรเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ กันยายน ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, กรกฎาคม, 2566, 11:01:46 PM
(https://i.ibb.co/cXpMWfH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ประเพณีการทำขวัญผึ้ง - จังหวัดสุโขทัย

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๔ -
           ในบรรดาอาจารย์พิเศษที่ทางอภิธรรมหาธาตุวิทยาลัยเชิญมาถวายความรู้แก่พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้านั้น  มีท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบมากท่านคือคุณหลวงบุเรศบำรุงการ (เจริญ วงศ์ตลาดขวัญ) ไม่ทราบประวัติความเป็นมาของท่าน  ดูนามสกุลเดิมว่าวงศ์ตลาดขวัญแล้วน่าจะเป็นชาวเมืองนนท์  คุณหลวงขณะนั้นมีอายุมากแล้วและดูท่านกระฉับกระเฉงเหมือนคนอายุไม่เกินหกสิบปี  ท่านมีความรู้เรื่องป่าไม้  ต้นไม้  ดอกไม้  และอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับป่าไม้  พืชพันธุ์ธัญญามากมาย  จึงบรรยายให้ความรู้เรื่องป่าไม้  การอนุรักษ์ป่าไม้  การปลูกป่า  ปลูกดอกไม้นานาได้ดีมาก  มิใช่แต่จะบรรยาย (ปาฐกถา) ได้ดีเท่านั้น  ท่านยังเขียนเรื่องต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย  ข้อเขียนของท่านใช้เป็นตำรา อ้างอิงทางวิชาการได้ทุกเรื่อง เช่น  “ต้นไม้ผลในเมืองไทยบางชนิด, ต้นไม้สำคัญในพระพุทธประวัติ  หลักการใหม่ ๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, ต้นไม้ในวรรณคดี, น้ำผึ้งและประโยชน์ของแมลงผึ้ง ชีวิตและงานของแมลงผึ้ง   และ  การถนอมอาหาร, วิธีปลูกต้นไม้นอกอาคาร (การจัดสวน) และสวนญี่ปุ่น, วิธีปลูกและบำรุงรักษาไม้ผลบางชนิด และ  “เรามาดื่มน้ำผึ้งกันเถิด”  เป็นต้น

           ข้าพเจ้าคิดและเชื่อว่าไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องน้ำผึ้งมากไปกว่าคุณหลวงบุเรศบำรุงการท่านนี้เป็นแน่  จากการฟังที่ท่านบรรยายเรื่องผึ้งและน้ำผึ้งแล้ว  เห็นว่าท่านรู้ลึกและแท้จริงมาก  สามารถชี้ได้ว่าน้ำผึ้งจากป่าไหน  พื้นที่จังหวัดไหน  ภาคใด  มีสรรพคุณทางยามากน้อยเพียงใด  ท่านว่าน้ำผึ้งมีสรรพคุณมากและดีที่สุดคือ  น้ำผึ้งจากเขาหลวงสุโขทัย  รองลงไปคือจากแม่สอดจังหวัดตาก  แม่ฮ่องสอน  เชียงราย  เชียงใหม่  และหลายจังหวัดในภาคเหนือ  รองจากภาคเหนือคือภาคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้   เหตุผลที่ว่าน้ำผึ้งดีที่สุดซึ่งได้จากผลการวิจัยจากเครื่องมือทางการแพทย์  พบว่าน้ำผึ้งจากเขาเหลวงสุโขทัยมีสารว่านยาสมุนไพรมากเป็นอันดับหนึ่ง  เพราะสารสมุนไพรของว่านยาบนเทือกเขาหลวงเป็นว่านยาสมุนไพรดีมาก (ข้าพเจ้าเคยถามท่านว่า เป็นว่านยาจากสวนขวัญที่เรียกว่าสวนสมุนไพรพระร่วงใช่ไหม ท่านว่าน่าจะใช่)  อย่างไรก็ตามทีเถิด  น้ำผึ้งเป็นยาสมุนไพรในตำรายาไทยเรียกว่า  “เกสรร้อยแปด”  ใช้เป็นกระสายยาดีเยี่ยม  มีสรรพคุณมากเกินพรรณนา  สีน้ำผึ้งจะบอกให้เรารู้ได้ว่าเป็นนำผึ้งจากป่าไม้อะไร  เช่น  ป่าไม้แดง  เต็ง  รัง  น้ำจะเป็นสีแดงสีเหลืองจะเป็นป่าว่านสมุนไพร  บทสรุปของท่านว่า  “เรามาดื่มน้ำผึ้งกันเถิด”

           เรื่องน้ำผึ้งเขาหลวงสุโขทัยนี้มีตำนานสืบมายาวนานแล้วว่า  ชาวคีรีมาศจังหวัดสุโขทัยมีประเพณีการทำขวัญผึ้ง  สืบเนื่องมาจากการส่งส่วยผึ้งแทนแรงงานราษฎรของชาวศรีคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย  ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราธานี  กล่าวคือ  ชายไทยที่เป็นไพร่หลวงต้องเข้ารับราชการ ในช่วงอายุ ๑๘-๖๐ ปี  โดยการเข้ารับราชการปีละ ๖ เดือน  เข้าเดือนเว้นเดือนสลับกันไป  หรือที่เรียกว่า  “เข้าเดือนออกเดือน”  ครั้นมาถึงอยุธยาตอนปลาย  ได้ลดหย่อนให้ไพร่หลวงที่เกินความต้องการ  การใช้แรงงานซึ่งไม่ต้องการรับราชการก็ให้เสียส่วยแทนแรงงานในการรับราชการได้  ในหัวเมืองที่ห่างไกลเมืองหลวง ศรีคีรีมาศ อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาหลวง  ซึ่งอุดมด้วยป่าไม้และรังผึ้งมากมาย  จึงถูกกำหนดให้มีการส่งส่วยน้ำผึ้งแทนแรงงาน  ดังนั้นชาวคีรีมาศจึงอนุรักษ์เลี้ยงดูผึ้งเพื่อส่งส่วยน้ำผึ้งติดต่อกันมาเป็นเวลานาน  การหารังผึ้ง การตีผึ้ง การทำขี้ผึ้ง จึงเป็นสิ่งที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวศรีคีรีมาศตลอดมา

           ด้วยเหตุที่ต้องการให้มีผึ้งมาทำรังตามต้นไม้มาก ๆ เพื่อจะได้มีน้ำผึ้งเพียงพอแก่การส่งส่วยตามจำนวนที่เมืองหลวงกำหนด  จึงได้เกิดประเพณีการทำขวัญผึ้งขึ้น  ซึ่งเป็นการอัญเชิญผึ้งให้มาทำรวงรังตามต้นไม้ที่ผึ้งเคยเกาะอยู่  ประเพณีการทำขวัญผึ้งจึงได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  แล้วสูญหายไปชั่วระยะหนึ่ง  ต่อมาจึงได้มีการฟื้นฟูประเพณีทำขวัญผึ้งขึ้นในตำบลศรีคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยขึ้นมาอีก  วิธีการทำขวัญผึ้งคือ  ทำรั้วเตี้ย ๆ รอบโคนต้นไม้ที่จะทำพิธี  ตรงโคนต้นไม้มีนั่งร้านวางของ, ตั้งศาลตีนเดียวตามประตูรั้วไม้ทั้งแปดประตู  ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อเรื่องเทวดาประจำทิศทั้งแปด  ต้องอัญเชิญมาร่วมในพิธีกรรมการทำขวัญผึ้งด้วย  โดยเทวดาจากทุกทิศจะชักนำหรือเบิกทางให้ผึ้งมาลงยังต้นไม้ต้นนี้จากทุกทิศทุกทางได้  ศาลตีนเดียวศาลใหญ่ตรงกลางติดกับโคนต้นไม้ที่ทำพิธี  ทั้งนี้เป็นไปตามแนวคิดที่ว่ารูปแบบการปกครองสังคมต้องมีผู้นำที่เป็นใหญ่สูงสุด  และผู้ได้ปกครอง  เทวดาผู้เป็นใหญ่สูงสุดก็ถูกเชิญมาประทับศาลใหญ่  เสมือนเป็นประธานของพิธีกรรม  คาดผ้าเขียว ผ้าแดง รอบโคนต้นไม้ที่จะทำพิธี, แขวนพวงเงินพวงทอง นับเป็นสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจของสังคมว่าถ้ามีเป็นพวงแสดงว่าเศรษฐกิจดี, พันด้ายขาวแดงรอบโคนต้นไม้นั้น ๙ รอบ, วางเครื่องเซ่นบนร้านข้างศาลใหญ่ที่โคนต้นไม้ ประกอบด้วย บายศรี ๑ ปาก หัวหมู ๑ หัว ตีนหมู ๘ ตีน หางหมู ๑ หาง เหล้า ไก่ต้ม ๑ ตัว ผักหญ้าปลายำ ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวแดง ขนมต้มแดง ข้าวสุกจากปากหม้อ มะพร้าวอ่อน ๑ ผล หมากพลู อย่างละ ๓ คำ ธูป ๓ ดอก เทียน ๓ แท่ง เครื่องเซ่นเหล่านี้จะแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ  วางเครื่องสังเวยตามศาลตีนเดียวทั้งแปดศาล  รอบต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็กในบริเวณใกล้ ๆ ที่ทำพิธี  ติดด้วยรังผึ้งปลอม  ซึ่งทำด้วยขนมแดกงา  ทำจากข้าวเหนียว น้ำอ้อย และงา  หลังจากเสร็จพิธีแล้ว  รังผึ้งปลอมเหล่านั้นจะใช้บริโภคร่วมกัน

           การทำขวัญผึ้งดังกล่าวชาวศรีคีรีมาศถือเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน  แต่ผึ้งมาทำรวงรังน้อยลงเรื่อย ๆ  อาจจะเป็นเพราะดอกหญ้าดอกไม้บริเวณเทือกเขาหลวงมีน้อยลง และที่มีอยู่ก็มีสารยาฆ่าแมลงเจือปนจนผึ้งไม่อาจดูดเกสรนำน้ำหวานมาใส่รวงรังได้  ไม่ทราบเหมือนกันว่า  น้ำผึ้งเขาหลวงสุโขทัยจะยังมีคุณภาพสรรพคุณเป็นที่ ๑ ของประเทศดังที่คุณหลวงบุเรศบำรุงการกล่าวหรือไม่/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, กรกฎาคม, 2566, 10:51:37 PM
(https://i.ibb.co/JcYfTxh/7d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๕ -   
           ยุคสมัยนั้นสื่อที่ชาวบ้านชาวเมืองนิยมชมชอบคือ  วิทยุ-หนังสือพิมพ์  มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุฯมีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นสื่อเผยแผ่ธรรมและกิจกรรมองมูลนิธิฯ นำเงินรายได้ที่ประชาชนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนำมาบริจาคเข้ามูลนิธิฯ ทุกวันไม่ขาดสาย  พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้า ๓๐๐ องค์  มีอาหารขบฉันอย่างอุดมสมบูรณ์ก็มาจากสื่อวิทยุยานเกราะนี้เอง  ทางมูลนิธิฯ มีสื่อทางวิทยุแล้วยังไม่เป็นที่พอใจอยากมีสื่อทางสิ่งพิมพ์ด้วย  จึงออกหนังสือนิตยสารอีกฉบับหนึ่งชื่อว่า  “ช่อฟ้า”  ฟังเพียงชื่อก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นหนังสือของวัด  เพราะ ช่อฟ้า คือตัวไม้ที่ติดอยู่บริเวณหน้าจั่วรูปเหมือนหัวนาคชูขึ้นเบื้องบน  เป็นเครื่องประดับหลังคาโบสถ์  วิหาร  ศาลาการเปรียญของวัดทั่วไป

           ช่อฟ้า นิตยสารรายเดือน  มีบรรณาธิการชื่อ  สำราญ ทรัพย์นิรันดร์  ท่านให้มอบวัยรุ่น ๓ คนทำทั้งหมดอย่างเสรีโดยไม่มีแทรกแซงใด ๆ  เท่ากับเปิดประตูเริ่มแรกสุดเข้าสู่โลกของคนทำหนังสือ  แล้วคืบคลานต่อไปสู่โลกของหนังสือพิมพ์อันไพศาล  บก.สำราญมีประวัติย่อ ๆ ว่า

            “สำราญ ทรัพย์นิรันดร์  เกิดที่ย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี  กำพร้ามารดาตั้งแต่เด็ก  และอาศัยอยู่กับบิดาสองคน  จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ  และเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔  รุ่นเดียวกับสมบูรณ์ วรพงษ์  และสุรชัย ดิลกวิลาศ  เริ่มงานเขียนในเครือ ไทยพาณิชยการ  ใน "กะดึงทอง รายเดือน"  กับ สาทิส อินทรกำแหง  ต่อมาจึงออกมาทำหนังสือ  "สัปดาห์สาส์น"  กับ นิลวรรณ ปิ่นทอง  แล้วไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายรายการที่วิทยุเสียงสามยอด  แล้วลาออกไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์  "เจ้าพระยารายสัปดาห์"  และทำหน้าที่เป็นผู้เขียนบทรายการ  "ข่าวสารทางอากาศ"  ทางสถานีวิทยุ ททท. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๒๗  ทำงานกับหนังสือพิมพ์สยามนิกร  สยามสมัย  และพิมพ์ไทย  งานเขียนที่มีชื่อเสียงคือเรื่องชุด  "นาฏกรรมเมืองหลวง"  ใช้นามปากกา  "หลวงเมือง"  ต่อมาได้เป็นนักเขียนให้กับสยามรัฐ  และเริ่มใช้นามปากกา  "หมอทรัพย์ สวนพลู"  เขียนคอลัมน์  "ดวงใครดวงมัน"  ทำนายโชคชะตา จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เสียชีวิต  จึงลาออกจากสยามรัฐ  ไปเป็นนักเขียนประจำที่  มติชน  และข่าวสด”

           วัยรุ่น ๓ คนที่บก.สำราญให้ทำหนังสือช่อฟ้าอย่างเสรีไม่มีการแทรกแซงใดนั้นคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ  ขรรค์ชัย บุญปาน  เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  ทั้ง ๓ วัยรุ่นร่วมกันทำช่อฟ้าอยู่ ๓-๔ ปี   “ทำให้คับคั่งด้วยพี่น้องญาติมิตรสนิทสนมทางงานวรรณกรรมกับศิลปกรรม รวมกลุ่มเป็น  “หนุ่มเหน้าสาวสวย”  หลังจากนั้นก็ต้องคืนช่อฟ้าให้ทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ  เอาไปทำเองในแนวเผยแพร่อภิธรรมตรง ๆ  ซึ่งเขา ๓ คนบอกว่าไม่สันทัดทางธรรมอย่างนั้น  เลยต้องถอนตัวออกไปโลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพ (ข้าพเจ้าเคยส่งกลอนลงพิมพ์ในนิตยสารช่อฟ้าหลายสำนวนเหมือนกัน)  บก.สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ท่านเก่งทางด้านโหราศาสตร์อีกด้วย  ใช้นามปากกา  “หมอทรัพย์ สวนพลู”  เขียนคอลัมน์ทำนายโชคชะตาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ  และเมื่อออกจากสยามรัฐหลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แล้วไปเขียนต่อในมติชน จวบจนลาโลกไป

           ทางด้านสื่อวิทยุยุคนั้นมีนักจัดรายการดัง ๆ หลายท่าน เช่น  “วุฒิ เวณุจันทร์”  จัดรายการข่าวสี่มุมเมือง  ข่าวชาวบ้าน  ที่คนติดตามรับฟังกันมากที่สุด  อีกท่านหนึ่งคือ  “ปรีชา ทรัพย์โสภา”  จัดรายการข่าวหกโมงเช้า  ท่านนี้มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง  พูดเร็วรัวเป็นเสียงปืนกลจนคนเป็นโรคหัวใจไม่กล้าฟังเลย  แม้จะพูดเร็วรัวแต่ก็ชัดเจนมาก  อีกท่านหนึ่ง คือ  “อาคม ทันนิเทศ”  ท่านนี้มีประวัติย่อ ๆ ว่า   “เรืออากาศตรีอาคม ทันนิเทศ เดิมชื่อ “คมบาง”  มีชื่อเล่น  “หรั่ง”  เป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายวินัยและนางบุญช่วย ทันนิเทศ  ในจำนวนพี่น้อง ๑๔ คน  ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่กรุงเทพมหานคร  ต่อมาย้ายไปอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก  จบโรงเรียนจ่าทหารอากาศ รับราชการที่สถานีวิทยุทหารอากาศ AM ๐๑ บางซื่อ (สถานีวิทยุทหารอากาศ AM ๐๑ มีนบุรี)  ท่านจัดรายการและนำเรื่องต่าง ๆ มาเล่าออกอากาศทางวิทยุ เช่น กฎแห่งกรรมของ ท.เลียงพิบูลย์ ,  สามก๊ก ฉบับ เจ้าพระยาพระคลังหน ,  ผู้ชนะสิบทิศ – ยาขอบ ,  พม่าเสียเมือง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  และ ประวัติพระสงฆ์ เช่น ประวัติหลวงพ่อชา สุภัทโท , หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ฯลฯ เป็นต้น”

           นายทหารอากาศ (ไม่ขาดรัก) ท่านนี้มีเสียงทุ้มนุมนวลชวนฟัง  จัดรายการประจำอยู่ทางสถานีวิทยุทหารอากาศบางซื่อ  เรื่องที่ท่านอ่านให้คนติดกันอย่างงอมแงมคือเรื่อง  ผู้ชนะสิบทิศ  ของยาขอบ  ข้าพเจ้าชอบฟังและจำลีลาการทอดเสียงหนักเบา  วางจังหวะจะโคน  เรื่องที่คนติดกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ  “กฎแห่งกรรม” ของ ท.เลียงพิบูลย์  ส่วนเรื่องสามก๊กในสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่อ่านค่อนข้างยาก  แต่ท่านอาคมก็อ่านให้คนฟังเข้าใจได้ไม่ยากด้วยลีลาการอ่านอันยอดเยี่ยมของท่านนั้นเอง

           พวกเรารับความรู้ในวิชาการต่าง ๆ ด้านทฤษฎีมาได้ ๔ เดือนเศษ  ทางมูลนิธิฯ ก็จะปิดการอบรมด้านทฤษฎี  โดยให้เข้ารับการอบรมด้านปฏิบัติบ้าง  จะต้องย้ายจากวัดมหาธาตุไปที่ริมทะเลย่านบางละมุงจังหวัดชลบุรี  ตอนนี้เกิดปัญหากับข้าพเจ้าคือ  พระมหาคำสิงห์วัดราชธานีปรารภกับข้าพเจ้าว่าไม่อยากไปอบรมด้านปฏิบัติแล้ว  ซักถามแล้วได้ความว่าเขาได้รับจดหมายจากสีกาสาวผู้คุ้นเคยกันที่สุโขทัย  เขียนมาว่า   “หลวงพี่คิดจะไม่กลับมาสุโขทัยแล้วใช่ไหม.......”   ข้อความตัดพ้อต่อว่ามากมาย  ทำให้พระมหาคำสิงห์อยากกลับสุโขทัยทั้ง ๆ ที่อบรมยังไม่เสร็จสิ้น  ข้าพเจ้ากับพระไพฑูรย์ต้องห้ามปราม  เกลี้ยกล่อมกันอยู่นานจึงยอมอยู่รับการอบรมจนกว่าจะจบโครงการ  “หญิงเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์”  อย่างนี้นี่เอง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, กรกฎาคม, 2566, 11:02:24 PM
(https://i.ibb.co/wc9B5YG/800px-pariwat-04-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๖ -
          การไปเข้ารับการอบรมภาคปฏิบัติที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีนั้น  มีการเตรียมการด้านสถานที่รองรับงานนี้ไว้ ณ บริเวณริมทะเลหาดกระทิงลาย หนองปลาไหล  ทราบว่าเป็นที่ดินของคุณหญิงเชิญ พิศลยบุตร  และ  นาวสาวเล็ก ล่ำซำ  ผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของมูลนิธิอภิธรรมฯ และการอบรมพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  ส่วนทางพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตนั้น  ให้ท่องคำขอคำมานัตต์ อัพภาน  เพราะการเรียนภาคปฏิบัตินั้นจะต้องเข้ากรรม  คืออยู่ปริวาสกรรมพร้อมปฏิบัติวิปัสสนา  นอนกลางดินกินกลางทราย  มีกลดเป็นที่อาศัยหลับนอน  พอไดทราบว่าจะต้อง  “อยู่ปริวาสกรรม”  มีพวกเราหลายองค์คัดค้าน  ไม่เห็นด้วยที่จะต้องอยู่ปริวาสกรรม  เพราะไม่เคยต้องอาบัติสังฆาทิเสสเลยแม้แต่ข้อเดียว  ทำไมจึงต้องให้เข้ากรรมเป็นพระนักโทษด้วยเล่า

          อาบัติสังฆาทิเสส เมื่อภิกษุต้องเข้าแล้วต้องอยู่กรรมนั้นมี ๑๓ ข้อ คือ

          ๑. ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน
          ๒. เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ
          ๓. พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี
          ๔. การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน
          ๕. ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ
          ๖. สร้างกุฏิด้วยการขอ
          ๗. สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น
          ๘. แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
          ๙. แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
          ๑๐ ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน
          ๑๑. เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
          ๑๒. เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง ๓ ครั้ง
          ๑๓. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์

          ท่านเจ้าคุณอาจารย์ฝ่ายวินัยอธิบายให้พวกเราเข้าใจว่า  การอยู่ปริวาสกรรมเป็นการ  “รวบยอด”  ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส  กล่าวคือพระบางองค์ต้องสังฆาทิเสสโดยรู้ตัวอยู่ว่าเป็นอาบัติแล้ว  ปกปิดไว้ เช่น มีความกำหนัดมากจนระงับไม่ได้ต้องทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนเพื่อความคลายกำหนัดนั้น เป็นต้น   บางองค์ต้องอาบัติโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นอาบัติ  เช่น  สร้างกุฏิหลังใหญ่โดยสงฆ์มิได้กำหนดที่ให้ เป็นต้น  บางองค์สงสัยว่าตนเองเป็นอาบัติหรือไม่ เช่น  พูดเป็นสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกันสำเร็จหรือไม่ก็ตาม  อย่างนี้เป็นต้น  การอยู่ปริวาสกรรมก็เพื่อแก้ไขโทษดังกล่าว  ในคำกล่าวขอมานัตต์จะมีคำว่า  “รู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม”  เมื่อเข้าอยู่กรรมและขออัพภานออกจากรรมแล้วก็เป็นอันหมดโทษ  หมดความสงสัยว่าตนบริสุทธิ์หรือไม่  ท่านได้ให้เหตุผลว่าทำไมพวกเราจึงต้องเข้าอยู่ปริวาสกรรมอีกมากมาย  เช่น  เล่าที่มาของเรื่องการอยู่ปริวาสกรรมว่ามีตำนานเล่าสืบกันมาว่า

          "ในสมัยพุทธกาล  ในช่วงที่พระภิกษุสงฆ์จะเข้าปริวาสกรรมมีพระสงฆ์รูปหนึ่ง  ล่องเรือไปตามแม่น้าคงคา  ได้เอามือไปจับใบตะไคร่น้ำขาดเพียงเล็กน้อย  การทำลายชีวิตในครั้งนั้นเข้าใจว่าเป็นเพียงบาปเล็กน้อย  เป็นอาบัติอย่างเบา  จึงไม่แสดงอาบัติ  แต่เหตุในครั้งนั้นก็ยังคงค้างคาอยู่ในใจของภิกษุรูปนั้นอยู่เสมอตลอดระยะเวลาในช่วงเวลาที่ปฏิบัติธรรมในป่าและคงอยู่เป็นเวลานาน  แต่เมื่ออยากแสดงอาบัติในการทำใบตะไคร่น้ำขาดในครั้งนั้นก็ไม่มีภิกษุรูปใดรับฟัง  เมื่อภิกษุรูปนี้ได้มรณภาพลง  บาปกรรมก็ยังติดตัวไปยังภพใหม่ด้วย"

          ที่สุดพวกเราก็ยอมรับโดยดุษฎีภาพ

          ทางมูลนิธินำกลดอันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเข้าอยู่ปริวาสกรรมมาให้พวกเราครบทุกองค์  เปลี่ยนสีจีวรเป็นสีกรัก (เหลืองคล้ำจนดูดำ)  ข้าพเจ้าเคยออกเดินธุดงค์มาแล้วจึงไม่คิดอะไรมากไปกว่า ”ได้เวลาออกธุดงค์อีกแล้ว”  การอยู่ปริวาสกรรมข้อปฏิบัติคล้ายการประพฤติธุดงค์  กล่าวคือพิธีกรรม ในหนังสือวินัยมุขกล่าวว่า พระสงฆ์ผู้เข้ากรรมต้องประพฤติมานัตต์แปลว่า  "นับราตรี"  ครบหกราตรี  แล้วสงฆ์จึงจะสวดระงับอาบัติเรียกว่า  "อัพภาน"  แปลว่า  "เรียกเข้าหมู่"  แต่พระต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ล่วงเลยนานวันเท่าใดต้องอยู่ปริวาส ซึ่งแปลว่า  "อยู่ใช้ให้ครบวัน เท่านั้น"  ก่อนจึงควรประพฤติมานัตต์ได้ต่อไป  ถ้าในระหว่างอยู่ปริวาสต้องบัติอีก  จะต้องกลับอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ใหม่ เรียกว่า  "ปฏิกัสสนา"  แปลว่า  กิริยาชักเข้าหาอาบัติเดิม เรียกว่า  "อยู่ปริวาส"

          เมื่อจะเข้าปริวาสให้กล่าวคำสมาทานต่อสงฆ์  โดยกราบพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่าซึ่งสามารถสวดให้ปริวาสได้รูปหนึ่งว่า  “ปริวาสัง สมาทิยามิ หรือ วัตตัง สมาธิยามิ” ๓ หนก็ได้  และถ้าไม่อาจอยู่ปริวาสต่อไปได้จะเก็บปริวาสก็กล่าวว่า  ”ปริวาสัง นิกขิปามิ หรือวัตตังนิกขิปามิ” ๓ หน  ต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  และตอนหกราตรีต่อมาเรียกว่า  “อยู่มานัตต์” ซึ่งมีคาถาสวดเพื่อเข้ามานัตต์ต่อหน้าสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้แก่พรรษา ซึ่งสามารถสวดให้มานัตต์ได้ โดยกล่าวขอสมาทานมานัตต์ก่อน แล้วจึงสมาทานวัตตังดังนี้  “มานัตตัง สมาทิยามิ วัตตัง สมาทิยามิ” ๓ หน  แล้วประพฤติให้ครบหกราตรี  แต่ถ้ามีเหตุอันจำเป็นต้องพักเก็บมานัตต์  จะกล่าวคำเก็บมานัตต์ต่อหน้าพระภิกษุผู้แก่พรรษา โดยว่าวัตต์ก่อนแล้วจึงว่าเก็บมานัตต์ ดังนี้  “วัตตัง นิกขิปามิ มานัตตัง นิกขิปามิ” ๓ หน  ถ้าต้องการเข้ามานัตต์ต่ออีก ก็ขอสมาทานมานัตต์ดังกล่าวแล้ว  เมื่อเข้ากรรมครบกำหนดคืออยู่มานัตต์ครบหกราตรีแล้ว จึงอัพภาน  คือออกจากรรมได้แก่การออกจากอาบัติสังฆาทิเสส  กลับเป็นพระปกติปราศจากอาบัติ

          การประพฤติธุดงค์ก็มีการสมาทานธุดงค์  เก็บธุดงค์  เช่นเดียวกับการเข้าปริวาส  เก็บปริวาส  ต่างกันแต่เพียงสมาทานธุดงค์เก็บธุดงค์  ไม่ต้องทำต่อหน้าพระภิกษุเหมือนเข้าและเก็บปริวาสเท่านั้น  ที่พระหน่วยพัฒนาทางจิตพวกข้าพเจ้าค้านการเข้าอยู่ปริวาสก็เพราะ  พระที่เข้ากรรมหรืออยู่ปริวาสกรรมนี้จะต้องถูกลดฐานะของตนเองลงไม่มีสังวาสเสมอสงฆ์  นั่งเสมอพระภิกษุปกติไม่ได้  เดินนำหน้าพระปกติก็ไม่  ทำอะไร ๆ ที่เคยทำเหมือนพระปกติไม่ได้  กลายเป็นพระนักโทษไปเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ กันยายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, กรกฎาคม, 2566, 11:21:45 PM
(https://i.ibb.co/9hx4pVf/304291856-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๗ -
          วันนั้นรถบัสหลายคันบรรทุกพวกเราพระภิกษุ “หน่วยพัฒนาการทางจิต” ๓๐๐ องค์  จากวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ไปเข้าค่ายอบรมด้านปฏิบัติที่กระทิงลาย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  เป็นขบวนยาว  มีรถตำรวจนำหน้าและปิดท้ายขบวน  ตามรายทางถนนสุขุมวิทก็มีตำตรวจคอยดูแลรักษาการณ์ระวังเหตุเป็นระยะ ๆ ไป  ชาวบ้านร้านตลาดที่พบเห็นจะชื่นชมอนุโมทนาบุญหรือก่นด่าอย่างไรบ้าง  พวกเราไม่รู้เลย

          ไปถึงสถานที่ภาคปฏิบัติตามโครงการแล้ว  เข้าห้องประชุมที่กางเต็นท์ทำเป็นโรงปรำขนาดใหญ่  รับฟังกฎกติกาข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในการอยู่ค่ายอบรมภาคปฏิบัติที่นี่  หลังจากฉันอาหารเพลแล้วรับเสื่อกกสำหรับปูนั่งนอนคนละผืน  แบกกลดเดินหาทำเลที่ชอบเพื่อปักกลด  ข้าพเจ้าเลือกที่ถูกใจได้ใกล้ต้นกระทิงลายซึ่งยืนต้นโดดเดี่ยวกลางสนามหญ้าบนผืนดินปนทราย  บริเวณที่พวกเราปักกลดนั้นนัยว่าเป็นป่าระกำที่ดินของนางสาวเล็ก ล่ำซำ  ซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์อะไร
 
          อุปกรณ์หรือสัมภาระของพวกเราไม่มีอะไรมาก  มีเพียงแปรงและยาสีฟันเป็นสำคัญ  สบง จีวร สังฆาฎิ ผ้าอาบ อย่างละผืน  ย่ามที่ใส่ของใช้จุกจิกเช่นปากกากระดาษสมุดสำหรับขีดเขียนอะไร ๆ ที่อยากจะเขียน  รวมทั้งโน้ตข้อความที่อาจารย์กล่าวในการอบรมเท่านั้น

          บ่ายวันนั้นในพื้นที่ปาระกำสิบไร่เศษริมทะเลย่านกระทิงลาย  เต็มไปด้วยกลดขาวของพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  ปักกางขาวพรึดแลดูราวดอกเห็ด  เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น

          พวกเราได้รับการอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัยสี่จากญาติโยมทั่วไป  พระเถระเจ้าคณะตำบล  เจ้าคณะอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดชลบุรี  เป็นผู้นำคณะญาติโยมในกลุ่มศรัทธาของตนมาจองคิวขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเช้า-กลางวัน  และน้ำปานะ (เครื่องดื่ม) เวลาเย็นกันมากมาย  มิใช่แต่ชาวจังหวัดชลบุรีเท่านั้น  แม้ในจังหวัดใกล้เคียงคือระยอง  ฉะเชิงเทรา  และชาวกรุงเทพฯ ก็ตามไปขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารพวกเราด้วย

          ค่ำวันนั้นมีการประชุมชี้แจงระเบียบปฏิบัติ  แนะนำให้รู้จักพระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าฝึกอบรมเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน  คือ  พระครูใบฎีกาพยนต์ เขมเทโว  วัดเกตุมดีศรีวราราม ตำบลบางโทรัด อำเภอเมืองสมุทรสาคร (ภายหลังได้เป็นพระครูภาวนาวรคุณ)  ท่านมีประวัติว่า เกิดเมื่อ ๑๙ กพ. ๒๔๗๖ ที่บางโทรัค อ.เมืองสมุทรสาคร  เมื่อเจริญวัยได้สมัครเข้าเรียนวิชาเครื่องยนต์และวิชาเดินเรือ  จบแล้วประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือ  เป็นผู้ควบคุมเรือชื่อศรีสมุทร  คุณแม่เห็นมีนิสัยชอบเดินทะเล  จึงได้ซื้อเรือเดินทะเลให้ ๑ ลำ  ชื่อเรือศรีบุญล้อม  โดยให้เป็นผู้ควบคุมเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ ไปจังหวัดชายทะเลต่าง ๆ ทิศใต้ไปถึงสงขลา  ทิศตะวันออกไปถึงจันทบุรี และตราด  เมื่ออายุ ๒๐ ปีไปสมัครเรียนโรงเรียนนายสิบ  เป็นตำรวจน้ำนอกเกณฑ์ในกองบัญชาการตำรวจน้ำ  จบแล้วบรรจุเป็นตำรวจน้ำ  ได้ไปปราบโจรสลัดจีนในทะเลร่วมกับพลตำรวจตรีนิจ  สุขุม  ผู้บังคับการตำรวจน้ำ  โดยเรือตำรวจชาติตระการโกศล  สู้รบกับโจรจีนในทะเล  สามารถจับโจรจีนและได้เรือโจร ๔ ลำ  นำเข้าไปควบคุมไว้ดำเนินคดีที่ปากน้ำชุมพร  แล้วกลับมาประจำที่แผนก ๑ กอง  เมื่อมียศเป็น สิบตำรวจเอก  ได้ลาบวชตามประเพณี ลาบวชได้ ๑๒๐ วัน  ลาสิกขาไปรับราชการตามเดิม  แล้วลาออกจากราชการกลับมาบวชใหม่  ได้เรียนพระกรรมฐานจากท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ (เจิม  คุณาบุตร) พ.ศ.๒๕๐๑  ท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ นิมนต์ให้เข้าไปอยู่ในสำนักเกตุมดีย์ฯ  ขณะนั้นเรียกว่า  พุทธเจดีย์กลางทุ่ง  เริ่มจัดปริวาสกรรมและดิถีปริวาสของคฤหัสถ์  โดยการอุปถัมภ์ของท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์  จนกระทั่งท่านมรณกรรม  จึงได้จัดการขอยกสำนักเกตุมวดีย์ขึ้นเป็นวัด  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในที่สุด

          วันรุ่งขึ้นพวกเราถูกจัดเป็นกลุ่มแยกย้ายกันไปทำพิธีกรรมขอมานัตต์ต่อสงฆ์ในอุโบสถวัดต่าง ๆ ที่ใกล้บริเวณนั้น  เปลี่ยนฐานะของตนจากพระภิกษุปกติ  เป็น  “พระอยู่กรรม” (นักโทษ) โดยทั่วถึงกัน  ค่ำลงก็ประชุมทำวัตรสวดมนต์ที่ลานกลางแจ้งซึ่งจัดทำไว้อย่างดี  ที่ตรงนี้เป็นศูนย์กลางของพวกเรา  ในวันต่อ ๆ มาหลังทำวัดสวดมนต์แล้วก็จะนั่งกรรมฐานเจริญภาวนา

          วันที่ ๓ จึงเริ่มเรียนพระกรรมฐานที่พระครูใบฎีกาพยนต์บรรยายทฤษฎีตามแนวของท่าน  ตอนท้ายให้นั่งเจริญภาวนา  แนวทางปฏิบัติกรรมฐานที่ท่านบรรยายไม่ตรงกับหลักปริยัติที่พวกเราเรียนกันมาจากตำราเรียน  หลายคนจึงคัดค้าน  ซักถามกันวุ่นวายไปหมด  ส่วนมากลงความเห็นว่าพระอาจารย์องค์นี้ไม่มีความรู้พอที่จะสอนพวกเราได้  เพราะคำสอนท่านผิดเพี้ยนไปจากแบบเรียนตามหลักสูตรปริยัติธรรม  บางองค์ถึงกับขอร้องให้อาจารย์กิตติวุฑโฒ เปลี่ยนตัวผู้สอนเป็นองค์อื่น  เช่นขอท่านเจ้าคุณโชดก หรือพระครูประกาศสมาคุณ วัดมหาธาตุฯมาแทน  แต่อาจารย์กิตติไม่ยอม  บอกว่าองค์นี้แหละดีแล้ว  ขอให้อดทนรับฟังท่านต่อไปเถิด  แล้วเตือนสติพวกเราว่า

           “อย่าลืมว่าขณะนี้พวกท่านเป็นพระอยู่กรรม  มิใช่พระปกติแล้ว”

          ฟังคำเตือนสติดังกล่าวพวกเราก็ได้คิด  รู้ตัวเองว่าไม่ใช่พระปกติ  ตอนนี้จะไปอยู่ที่ไหน ๆ ก็ไม่มีฐานะเป็นพระภิกษุที่มีสิทธิเสมอภิกษุปกติทั่วไป  จนกว่าจะขออัพภานออกพ้นกรรม  จึงอดทนรับการอบรมจากท่านพระครูใบฎีกาพยนต์ต่อไป

          ตอนนั้นวิทยุปักกิ่งส่งกระจายเสียงมาจากประเทศจีนประกาศข่าวว่า   “พวกโจรห้าร้อย  สุนัขตามก้นรับใช้อเมริกา  ย้ายสถานที่ส้องสุมไปชุมนุมอยู่ชายทะเลในเมืองชลแล้ว”   หลายคนได้ฟังข่าวนี้แล้วพากันเป็นเดือดเป็นแค้น  แต่ข้าพเจ้าฟังแล้วกลับรู้สึกขำขัน  ที่ตนเองกลายเป็นพวกโจรห้าร้อยในสายตาของพวกคอมมิวนิสต์ไปเสียแล้ว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ กันยายน ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, กรกฎาคม, 2566, 01:00:14 AM
(https://i.ibb.co/qmTd80c/308934594-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๘ -
           “ลานธรรมกระทิงลาย”  พวกเราเรียกชื่อสถานที่ซึ่งเราไปนอนกลางดินปฏิบัติธรรมในฐานะพระนักโทษนั้นอย่างเพราะพริ้ง  ที่ตรงนั้นเวลากลางวันแดดร้อนมาก  ดีที่พวกเราไม่ได้นั่งนอนอยู่ในกลดกลางแดด  แต่ไปอยู่ในเต็นท์ฟังคำบรรยายเรื่องการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน  และวิปัสสนากรรมฐานที่มีผู้รู้หลายท่านมาบรรยายสลับกับพระครูใบฎีกาพยนต์ตั้งแต่เช้ายันเพล  พักฉันอาหารกลางกันแล้วก็หาที่พักผ่อนตามร่มไม้ชายคาที่มีอยู่ในพื้นที่ของโยมคุณหญิงเชิญ พิศลยบุตร  ร่มไม้ที่ข้าพเจ้ากับพวกยึดเป็นร่มเงาคือต้นขนุนกับสาเกที่แผ่ร่มเงาใหญ่พอสมควร  ร่มไม้แห่งนี้ถูกเรียกชื่อว่า  “ขนุนสาเกไขว้”  เพราะกิ่งก้านสาขาไขว้กัน  ดังนั้นกลุ่มของข้าพเจ้าก็พลอยถูกเรียกว่า  กลุ่มขนุนสาเกไขว้ไปด้วย

          กลุ่มขนุนสาเกไขว้มี  พระครูปิยธรรมภาณี(บุญมา)  เป็นประธานกลุ่ม  พระครูสาครสังวรกิจ (ชุบ) เป็นรองประธาน  พระมหาอุดม เป็นเลขาฯ  สมาชิกกลุ่มประกอบด้วย ข้าพเจ้า, พระปลัดวิชัย, พระธรรมธรสำลี,พระดำรง, พระสมุห์ประจวบ, พระใบฎีกาสวง, พระมหาสุเมธ, พระมหาน้ำเงิน. พระวิเชียร, พระมหาบุญช่วย, พระมหาคำสิงห์. พระไพฑูรย์, สามเณรประสิทธิ์  และที่จำชื่อไม่ได้อีกนับสิบองค์ซึ่งเป็นขาประจำ  และยังมีขาจรอีกหลายสิบองค์  ท่านพระครูปิยธรรมภาณี นามเดิมว่าบุญมา มาจากวัดดอนชัย อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  พระครูสาครสังวรกิจ นามเดิมว่าชุบ มาจากวัดยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร  ท่านทั้งสองนี้ลักษณะนิสัยตรงกันข้าม  พระครูปิยธรรมภาณี มีนิสัยอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อยมีเมตตาธรรมสูง  พวกเราให้ความเคารพนับถือท่านมาก  พระครูสาครสังวรกิจ มีนิสัยค่อนไปทางนักเลง  พูดจากโผงผางตรงไปตรงมาซื่อสัตย์จริงใจ  พวกเราก็เคารพรักท่าน

          กลุ่มขนุนสาเกไขว้ของเราพูดคุยกันหลากหลายเรื่องความรู้  บางวันก็นำเอาคำสอนคำบรรยายองอาจารย์มาวิเคราะห์  วิพากย์  วิจารณ์ กันอย่างสนุก  ส่วนมากเพื่อน ๆ จะตั้งประเด็นให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำในการอภิปราย  โดยมีเพื่อน ๆ ช่วยกันเสริมต่อ  เฉพาะเรื่องที่พระครูใบฎีกาพยนต์บรรยายเรื่องวิปัสสนาตามแนวของท่านนั้น  ข้าพเจ้าไม่คิดค้าน  และอภิปรายให้เพื่อน ๆ ยอมรับฟังด้วยเหตุผลที่ว่า  คำสอนในแบบเรียนพระปริยัตินั้นเป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น  การปฏิบัติกรรมฐานก็วางแนวไว้กว้าง ๆ  เช่น  สมถะ  ที่ให้อารมณ์หรือองค์ภาวนาไว้ถึง ๔๐ อย่าง  ให้เลือกใช้กันตามจริตของแต่ละคน คือ กสิณ ๑๐ มี ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เป็นต้น  อสุภ ๑๐ มี อุทธุมาตกะ วินีลกะ เป็นต้น  อนุสสติ ๑๐ มี พุทธานุสสติ ธรรมมานุสสติ เป็นต้น  อาหาเรปฎิกูลสัญญา ๑ คือ  การพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร จตุธาตุววัฎฐาน ๑ คือ พิจารณา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น  เฉพาะอนุสติ ๑๐ นั้น นิยมเลือกคำในพุทธานุสสิ ที่ว่า พุทโธ บ้าง อะระหัง บ้าง อะระหังสัมมา บางท่านก็ว่า  สัมมาอะระหัง  ถือว่าเป็นพุทธานุสสติได้เช่นกัน

          ทราบมาว่าบางท่านใช้กสิณ ๑๐ ข้อใดข้อหนึ่งเป็นอารมณ์  และนิยมใช้เตโชกสิณ  จุดเทียนหรือตะเกียงน้ำมัน  นั่งเพ่งเปลวไฟภานาว่าไฟ ๆๆๆ  จนบางท่านถึงกับสติวิปลาสไปเลยก็มี  บางท่านใช้ อสุภะ เป็นองค์ภาวนา  เพ่งซากศพน้ำเลือดน้ำหนองเห็นเป็นปฏิกูล  จนถึงกับเอามูตรคูถมาถูทาตัวก็มี  อาการเหล่านี้ท่านเรียกว่ากรรมฐานแตก  สมัยเป็นเณรออกเดินธุดงค์ได้พบปะพระอาจารย์กรรมฐานมากมาย  สอบถามองค์ภาวนาและวิธีการปฏิบัติแล้วพบว่าแนวทางขอ่งแต่ละท่านไม่ค่อยเหมือนกัน  อย่างพระอาจารย์พยนต์ของเรานี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง

          พระเพื่อน ๆ ต่างก็ซักถามและต่อเติมกันตามความคิดเห็นของตน ๆ  ข้าพเจ้าจึงกลายเป็นวิทยากรประจำกลุ่มไปโดยปริยาย  การตั้งกลุ่มและมีพฤติกรรมดังกล่าว  ท่านอาจารย์กิตติวุฑโฒทราบแล้วก็มิได้ห้ามปราม  กลุ่มของข้าพเจ้าจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทุกครั้งที่  “ธรรมสากัจฉา”  กันแล้ว  ก็จะพร้อมกันนั่งเจริญภาวนาก่อนแยกย้ายกันไป

          วันหนึ่ง  พระมหาอุดมเสนอความคิดว่า

           “พวกเราสิ้นสุดการอบรมแล้วก็ต้องแยกย้ายกันไปตั้งหน่วยพัฒนาการทางจิตประจำจังหวัดของตนเพื่อเผยแผ่ธรรมตามโครงการของหน่วยพัฒนาการทางจิต  คงไม่มีโอกาสกลับมารวมกันที่นี่อีก  จึงควรทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคม  และเป็นอนุสรณ์ของพวกเรา  ใครเห็นว่าเราควรทะอะไรกันดี”

          มีหลายคนเสนอให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้หลายโครงการ  ข้าพเจ้าไม่คัดค้าน  แต่เสนอโครงการตามความคิดของตนว่า

           “เราควรเสนอให้มูลนิธิอภิธรรมเราจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสามเณรขึ้น  โดยพวกเราที่กลับไปจังหวัดของตนแล้วคัดเลือกเด็กชายที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาเพราะฐานะยากจน  ชักชวนให้เขาบรรพชาเป็นสามเณร  แล้วส่งเข้าเรียนในโรงเรียนของมูลนิธิฯ  เป็นการสงเคราะห์ชาวบ้านผู้ยากจนอีกทางหนึ่ง”

          ข้อเสนอของข้าพเจ้า  พระครูปิยธรรมภาณี  พระครูสาครสังวรกิจ  พระมหาอุดมและเพื่อนหลายคนเห็นด้วยทันที

          เมื่อข้อเสนอของข้าพเจ้าได้รับการสนับสนุนเป็นเอกฉันท์หลังการอภิปรายของเพื่อน ๆ จบลงแล้ว  พระมหาอุดม จึงนำพระครูปิยะพระครูสาครและข้าพเจ้าเข้าพบอาจารย์กิตติวุฑโฒ  เรียนให้ท่านทราบข้อเสนอของพวกเรา  ท่านเห็นด้วยและรับว่าจะเร่งทำรายละเอียดการจัดตั้งโรงเรียนคามโครงการไปกราบเรียนเสนอสมเด็จป๋า (สมเด็จพระวันรัต ) ประธานหน่วยพัฒนาการทางจิตให้ทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ ตุลาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, กรกฎาคม, 2566, 11:02:08 PM
(https://i.ibb.co/BKv0Cfv/309655389-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙๙ -
          อากาศชายทะเลที่พวกเราไปอยู่ค่ายอบรมภาคปฏิบัติกันนั้นไม่เป็นดั่งใจปรารถนาของพวกเราเลย  กลางวันร้อนอบอ้าวมาก  แม้จะหลบแดดเข้าอยู่ตามร่มไม้ชายคาก็หนีร้อนไม่พ้น  ลมทะเลที่พัดมาแทนที่จะเป็นลมเย็น ก็เป็นลมร้อน  อากาศจะเริ่มร้อนตั้งแต่เวลาประมาณ ๙ โมงเช้า  ทวีความแรงขึ้นแล้วผ่อนลงเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น เวลา ๑ ทุ่มอันเป็นเวลาที่พวกเราร่วมกันทำวัตรสวดมนต์และนั่งเจริญกรรมฐาน  เดินจงกรม  อากาศจะเย็นสบาย  ลมที่เคยร้อนก็กลายเป็นลมเย็นและทวีความเย็นขึ้นเรื่อย ๆ จนรูสึกหนาวมากในเวลาเที่ยงคืน  ความเปลี่ยนแปลงของอากาศดังกล่าวทำให้พระพวกเราหลายองค์ปรับสภาพร่างกายไม่ทัน  จึงเกิดการเจ็บป่วยกันหลายองค์  ดีที่ทางโรงพยาบาลสมเด็จฯ ส่งแพทย์พยาบาลมาอยู่ดูแลพวกเราเป็นประจำทั้งวันทั้งคืน

          # โรงพยาบาลสมเด็จฯมีความเป็นมาที่ควรรู้ดังนี้

          โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา  เป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดในสังกัดสภากาชาดไทย เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากพระองค์เสด็จประพาสและประทับพักฟื้น ณ พระตำหนัก ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ในการนี้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้จัดสร้างเรือนไม้ยื่นลงในทะเลตำบลศรีราชา เพื่อเป็นพระตำหนักแห่งใหม่และเชิญเสด็จจากตำบลบางพระมาประทับที่นี่ แต่พระตำหนักเรือนไม้ดังกล่าวอยู่ในน้ำ คับแคบและไม่แข็งแรง  ราว ๑ ปีหลังสร้างเสร็จ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงทรงพระดำริเลือกหาพื้นที่บนชายฝั่งตำบลศรีราชาสำหรับสร้างพระตำหนัก จนกระทั่งพระองค์พอพระทัยพื้นที่บริเวณเนินเขาชายทะเลด้านทิศใต้ของพระตำหนักไม้เดิม ตามที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีถวายความเห็น  ต่อมามีพระกระแสรับสั่งให้จัดสร้างพระตำหนักใหญ่ ๓ ชั้นขึ้นหลังหนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ  และเรือนหลังย่อม ๆ อีก ๔-๕ หลัง  ระหว่างที่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีประทับอยู่ที่ตำหนักแห่งนี้ มีข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่รักษาพระองค์เป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วย  ประชาชนในเขตตำบลนี้ย่อมต้องเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน  ด้วยพระทัยเต็มไปด้วยการกุศลสาธารณะจึงทรงมีดำริให้สร้างสถานพยาบาลขึ้นในบริเวณใกล้เคียงพระตำหนักของพระองค์  ในช่วงก่อตั้งมีพระบำบัดสรรพโรค (หมอเอช. อาดัมสัน) เป็นผู้ช่วยในการวางแผนผังการก่อสร้าง  โดยสร้างเป็นเรือนหลังคามุงจาก ๒ ชั้นขึ้นก่อน ๑ หลัง  แล้วเพิ่มขึ้นอีก ๔ หลังเป็นกลุ่มอาคารเดียวกันยื่นลงไปในทะเล  การก่อสร้างสถานพยาบาลใหม่นี้แล้วเสร็จในต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ เสด็จประกอบพิธีเปิดสถานพยาบาลนี้ในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕  มีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า  “โรงพยาบาลศรีมหาราชา”  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า  “โรงพยาบาลสมเด็จ”

          วันหนึ่งช่วงเช้าฟังคำบรรยายเรื่องสติปัฏฐานของพระครูใบฏีกาพยนต์  ท่านร่ายยาวจนถึงเวลาฉันเพลเลย  ภาคบ่ายไม่มีการบรรยายพวกเราในกลุ่มขนุนสาเกไขว้ ๕ องค์จึงถือโอกาสหนีเที่ยวนั่งรถเมล์ไปศรีราชา  ช่วงเวลานั้นน้ำทะเลลดลงจนแห้งตั้งแต่ชายฝั่งไปถึงเกาะลอย  จึงพากันเดินจากหาดทรายไปเที่ยวเกาะลอยได้สะดวกสบาย  บนเกาะลอยอากาศเย็นสบาย  ไม่ร้อนเหมือนที่หาดกระทิงลาย  พวกเราจึงพักผ่อนกัน  ข้าพเจ้ากันสามเณรประสิทธิ์ขึ้นไปนั่งทำสมาธิเจริญอานาปานสติกำหนดลมหาบใจเข้าออกกันบนฐานเจดีย์เรียงหิน  อยู่บนเกาะลอยจนตะวันชายลงบ่ายโข  น้ำทะเลกำลังเริ่มขึ้น  จึงพากันจากเกาะลอยกลับกระทิงลาย

          คืนนั้น  ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนอนหลับสบายในสายลมอันเยือกเย็นต้องสะดุ้งตื่น  เมื่อพระดำรงมาปลุกให้ไปดูเณรประสิทธิ์ที่กลดห่างจากข้าพเจ้าประมาณ ๑๐ เมตร  ไปถึงก็พบว่ามีเพื่อนพระ ๓-๔ องค์พร้อมแพทย์พยาบาลกำลังจะนำตัวเณรไปโรงพยาบาล  ทราบคร่าว ๆ ว่าเณรประสิทธิ์มีอาการ น้ำอสุจิเคลื่อนไหลไม่หยุด  หมอต้องรีบนำตัวไปโรงพยาบาลสมเด็จฯ  พระดำรงขอให้ข้าพเจ้านั่งรถโรงพยาบาลไปกับเณรด้วยในฐานะเจ้าของไข้  เพราะสามเณรประสิทธิ์ไปเข้ารับการอบรมในนามของจังหวัดพิตรซึ่งเป็นจังหวัดกลุ่มเดียวกันกับสุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก  พระในกลุ่มจังหวัดนี้ตกลงให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้ากลุ่ม  ดังนั้นจึงต้องไปในฐานะเจ้าของไข้ของน้องเณรอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

          พระดำรงเล่าให้ฟังว่า  ใกล้เที่ยงคืนวันนั้นเขานอนไม่หลับก็คิดจะไปชวนเณรคุยกัน  พอไปถึงกลดได้ยินเสียงเณรร้องคราง  เปิดมุ้งกลดดูก็ได้กลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง  เณรประสิทธิ์ส่งเสียงครางเบา ๆ  รู้สึกตกใจมาก รีบไปแจ้งแพทย์ที่กองอำนวยการให้มาดูพบว่าน้ำอสุจิเณรไหลนองไม่หยุดจึงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล  เมื่อหมอทำการรักษาพยาบาลจนปลอดภัยแล้ว  ข้าพเจ้าถามหมอว่าเณรเป็นโรคอะไร  ท่านบอกว่าน้ำกามไหลไม่หยุด  หากมาช้ากว่านี้สัก ๑๐ นาทีคนไข้ไม่รอดแน่เลย  เมื่อถามถึงสาเหตุ  หมอตอบในเชิงสันนิษฐานว่า  คนไข้นอนบนพื้นดินทรายที่เก็บความร้อนในตอนกลางวันไว้  กลางคืนจึงคายความร้อนในขณะที่ลมหนาวเย็นพัดมา  ร่างกายคนไข้ต้องรับความร้อนกับความเย็นพร้อมกันจึงปรับสภาพร่างกายไม่ทัน  เป็นเหตุให้ถุงน้ำกามเปิดอ้าจนน้ำไหลออกไม่หยุด  หมอคิดว่าเป็นดังกล่าวนี้นะ  ไม่รู้ว่าจะถูกหรือเปล่า  เพราะเพิ่งพบคนไข้มีอาการอย่างนี้เป็นรายแรก  ฟังคำตอบของหมอแล้วก็รู้สึกมีนงงไปเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ ตุลาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, กรกฎาคม, 2566, 11:06:11 PM
(https://i.ibb.co/HqsTzTn/images-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐๐ -
          จบการอบรมภาคปฏิบัติตามกำหนด  พวกเราแยกย้ายกันไปเข้าพิธีสังฆกรรมขออัพภานตามวัดต่าง ๆ ใกล้บริเวณนั้น  กลับเป็น  “พระปกตัตตะภิกษุ”  คือเป็นภิกษุตามเดิม ซึ่งเขาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนพระบวชใหม่  ค่ำวันนั้นทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยจัดงานใหญ่รับการกลับเป็นภิกษุปกติของพวกเรา  ก่อนปิดการอบรมแลอำลาสะถานที่กระทิงลาย  งานใหญ่นั้นมิใช่งานลี้ยง  แต่เป็นงานพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นที่ระลึก

          ตามปกติแล้วมูลนิธิอภิธรรมไม่เคยจัดสร้างพระพุทธรูปและวัตถุมงคลใด ๆ ให้ประชาชนเช่าบูชาหาเงินเข้ามูลนิธิเลย  เงินเป็นร้อยล้านที่เข้าสู่มูลนิธินั้นได้มาจากการพูดของพระอาจารย์กิตติวุฑโฒอย่างเดียวเท่านั้น  สมัยนั้นวัดต่าง ๆ จัดทำวัตถุมงคล  ปลุกเสกวัตถุมงคลให้เช่าบูชาหาเงินเข้าวัดกันเกร่อไป  มีมูลนิธิอภิธรรมนี้แห่งเดียวที่ใช้ธรรมะจากปากพระกิตติวุฑโฒหาเงินเข้ามูลนิธิฯ  คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ทางมูลนิธิฯ สร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญพระพุทธรูปศิลปะคุปตะกะไหล่ทอง  มิได้มีความประสงค์สร้างให้คนเช่าบูชาหาเงินเข้ามูลนิธิฯ  หากแต่สร้างให้เป็นที่ระลึกของพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิต  และมอบแก่ญาติโยมที่ให้การสนับสนุนงานของมูลนิธิฯ เท่านั้น

          สถานที่ทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลก็คือลานธรรมกระทิงลายที่พวกเราใช้นั่งทำวัตรสวดมนต์และเจริญกรรมฐานกันนั่นเอง  พระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกวัตถุมงคลนั้นก็คือ  พวกเราทุกองค์ที่ออกจากปริวาสกรรมเป็นพระภิกษุบริสุทธิ์แล้ว  ในหมู่พวกเรานั้นมีพระผู้ใหญ่ที่มีวิทยาคมอยู่หลายองค์  เช่น  พระครูปิยธรรมภาณี  หรือหลวงพ่อบุญมา วัดดอนชัย อ.สันป่าตอง เชียงใหม่  พระครูสาครสังวรกิจ หรือหลวงพ่อชุบ วัดยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว สมุทรสาคร  และ  พระครูใบฎีการพยนต์ วัดเกตุมวดีย์  อาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาของพวกเราเป็นต้น  สำหรับเจ้าพิธีคืออาจารย์สังเวียน พระครูประกาศสมาธิคุณ  เจ้าของรายการวิญญาณพเนจรอันโด่งดัง  ผู้เป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมของพวกเรานั่นเอง

          ในขณะที่พวกเราแยกย้ายกันไปขออัพภานตามวัดต่าง ๆ นั้น  ทางกระทิงลายก็มีการจัดสถานที่ประดับตกแต่งลานธรรม  ปักราชวัตรฉัตรธงรายรอบบริเวณ  ปูลาดอาสนะเรียบร้อย  ขออัพภานเสร็จแล้วพวกเราก็กลับเข้าประชุมในโรงปรำที่นั่งรับการอบรมประจำวันนั้น  เพื่อฟังปัจฉิมนิเทศตามทำเนียมการอบรม  อาจารย์พระใบฎีกายนต์น่ารักมากกล่าวขอโทษพวกเราที่เป็นพระผู้ใหญ่ผู้น้อ ย ถ้าหากว่ามีการล่วงเกินไปบ้างในขณะให้การอบรมสั่งสอน  อาจารย์พระครูประกาศสมาธิคุณกล่าวชี้แจงวิธีการทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล  โดยทางมูลนิธิฯจะแจกเหรียญรูปพระศิลปะคุปตะคนละ ๑ เหรียญให้ทุกคน  ถือเป็นเหรียญประจำตัวตลอดไป  เวลานั่งภาวนาให้กำไว้ในมือจนกว่าจะเสร็จพิธี  องค์ภาวนาขอให้ใช้พระพุทธคุณบทใดบทหนึ่งตามที่ตนถนัด  เช่น  ภควา, พุทโธ  เป็นต้น  วันนี้ได้นิมนต์พระวัดมหาธาตุมาสวดพุทธาภิเศก  นิมนต์หลวงพ่อโด่มาเป็นประธานนั่งปรกปลุกเสก  พวกเราฮือฮาเมื่อได้ยืนชื่อองค์ประธานนั่งปรกปลุกเสกว่าหลวงพ่อโด่ซึ่งเป็นชื่อแปลก  ไม่เคยได้ยินมาก่อน

          สอบถามจากผู้รู้แล้วพอได้ทราบประวัติเจ้าของนามนี้อย่างคร่าวๆว่าท่านมีนามสณะศักดิ์ที่  “พระครูพินิจสมาจาร”  ตามประวัติท่าน “เกิดในสกุล ชัยเสมอ  ที่บ้านเนินมะกอก ต.นามะตูม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี บิดาชื่อแพ มารดาชื่อจีน  ยามเยาว์บิดา-มารดาได้ให้ไปอยู่ในความอุปการะของนายฮวดและนางแตงกวา  คหบดีบ้านหัวสะพาน  เรียนหนังสือขอมและหนังสือไทยจนแตกฉาน  กระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดนามะตูม  โดยมีพระอาจารย์เพ็ง วัดหน้าพระธาตุ เป็นพระอุปัชฌาจารย์,  พระอาจารย์ปั้น วัดนามะตูม เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระอาจารย์คง วัดประชาระบือธรรม (วัดบางกระบือ) กรุงเทพฯ  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้นามฉายาว่า อินฺทโชโต  ภายหลังอุปสมบท  พระภิกษุโด่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยตามควรแก่พระนวกะสมัยนั้น  ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนามะตูม  เป็นเจ้าคณะตำบลนามะตูม  เป็นพระอุปัชฌาย์ และ  เป็นเจ้าคณะอำเภอพนัสนิคม   ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่  พระครูพินิจสมาจาร  แล้วได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม  ท่านได้ศึกษาวิทยาคมอีกหลายแขนงจากหลวงพ่อเอี่ยม วัดนอก จ.ชลบุรี  ส่วนด้านการแพทย์แผนโบราณนั้นท่านก็ได้ศึกษาจากหลวงพ่อปั้นและโยมจอกอย่างรอบรู้   เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีศิษยานุศิษย์มากมาย”

          ฟังชื่อเดิมของท่านพวกเราก็นึกขำขันกันแล้ว  พอฟังนามนามสกุลท่านผสมชื่อ  พวกเราก็ฮาเลย  ใครไม่รู้อยู่ข้างหลังข้าพเจ้าร้องว่า  “โด่ ไชเสมอ”  ผู้บอกเล่าแย้งว่า ไม่ใช่  ไช  นะครับ  แต่เป็น  ชัย  ที่แปลว่า ชนะนั่นแหละ  พระมหาอุดม กล่าวเสริมว่า โด่ ชัยเสมอ  น่าจะหมายถึง ธงชัย ก็ได้นะ  วันนี้พวกเราได้อาจารย์ดีแล้วหละ

          ใกล้จะเริ่มทำพิธีปลุกเสก  ปรากฏว่ามีฝนตั้งเค้ามืดครึ้มมาในทะเลด้านตะวันตก  ทุกคนพากันหวั่นวิตกกลัวฝนจะเทลงมาในงานพิธีเรา  พระครูประกาศฯ ปรึกษาว่าเราจะเลื่อนกำหนดทำพิธีไปก่อนดีไหม  หลวงพ่อโด่บอกว่าไม่ต้องเลื่อนหรอก  ทำพิธีกลางฝนน่ะดีนัก   ดังนั้นพิธีของเราจึงดำเนินไปตามกำหนดการ  พอเริ่มกล่าวชุมนุมเทวดา สัคเค กาเม..... ลมก็พัดมาอย่างแรงประมาณ ๒ นาทีก็สงบเงียบไป  พระสวดพุทธาภิเศกเริ่มสวดพวกเราก็เริ่มนั่งเจริญภาวนา  ใครใช้บทอะไรเป็นองค์ภาวนาบ้างก็ไม่รู้  ส่วนข้าพเจ้าใช้  “อรหัง”  ที่หลวงพ่อโบ้ยวัดมะนาวอาจารย์ธุดงค์สอนมา  พิธีพุทธาภิเศกเริ่มตั้งแต่ ๑ ทุ่ม ไปจบตอน ๕ ทุ่มครึ่ง  เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ไม่มีฝนโปรยปรายลงมาแม้แต่หยดเดียว  พวกเรานั่งภาวนากันอย่างสงบเหมือนเข้าฌานสมาบัติกระนั้นเทียว

          หลังเสร็จพิธีแล้วมีคนมาแจ้งว่า  ที่หมู่บ้านโรงโป๊ะและใกล้เดียงซึ่งอยู่เหนือกระทิงลายขึ้นไปทางศรีราชานั้น  ถูกพายุฝนถล่มเสียหายยับเยิน  ใต้กระทิงลายลงไปทางพัทยา  ก็ถูกพายุฝนถล่มเช่นกัน  พระมหาอุดม กล่าวว่า   “เราไม่ถูกฝนเพราะอานุภาพหลวงพ่อโด่ของเราแท้ ๆ เหรียญที่เราปลุกเสกกันกับมือต้องขลังแน่ ๆ เก็บไว้ให้ดีนะเพื่อน ๆ”/

  - อ่านต่อ ตอนที่ ๒๐๑ -   คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)


          สำหรับเรื่องราวแวดวงในดงขมิ้น  “คำให้การของนักบวช”  ได้ดำเนินมาถึง ๒๐๐ ตอนแล้ว  ในตอนต่อไปที่ ๒๐๑ ถึงตอนสุดท้ายของเรื่องนี้ ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง  โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ   คลิก >> ที่นี่ << (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)    เข้าอ่านต่อได้ครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต

• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๒๐๑ - ตอนสุดท้าย คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)