บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => ห้องนั่งเล่นพักผ่อน => ข้อความที่เริ่มโดย: นักเลงกลอน ที่ 23, มิถุนายน, 2561, 01:36:02 PM



หัวข้อ: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: นักเลงกลอน ที่ 23, มิถุนายน, 2561, 01:36:02 PM


คือกลอนสุนทรภู่ ??  (จากแม่ เป็นแม้)


เมื่อปี ๒๕๓๕   ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเล็กน้อย

ผมได้ไปอบรมสัมมนา ที่วัดอัมพวัน  จ.สิงห์บุรี   ในยามว่างจากการอบรม

ก็ไม่มีอะไรทำ เลยได้แต่เข้าห้องสมุดของทางวัด แล้วขอยืม หนังสือนิทานคำกลอน

พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ มาอ่านฆ่าเวลายามว่าง

สิ่งที่ผมสนใจที่สุดก็คือ อยากหาอ่าน กลอน ตอนที่ว่า "ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร"

เนื่องจากรู้มาว่า กลอนตอนช่วงนี้ ถูกนักแต่งเพลง นำไปทำเพลง

ซึ่งบทกลอนที่ผมอ่านในหนังสือตอนนั้น จำได้ว่า

"ถึงม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร   ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร         ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม่เนื้อเย็นห้วงมหรรณพ        พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา         เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่         เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง   เป็นคู่ครองครองพิศวาสทุกชาติไป"


หลังจากที่อ่านทวนหลายเที่ยวแล้ว ก็พบว่า เนื้อเพลง มีการแก้ไขคำกลอนหลายแห่ง
เช่นคำกลอน ในหนังสือพิมพ์ว่า  ถึงม้วยดิ้น(ความหมายคงคล้าย ให้ตายดิ้น)
แต่เนื้อเพลงแก้เป็น  ถึงม้วยดิน
แก้ไข แม่เนื้อเย็น  เป็น แม้เนื้อเย็น
แก้ไข  แม่เป็นบัว   เป็น  แม้เป็นบัว
คือคำว่า แม่ ในสมัยโบราณ  เป็นคำสุภาพที่ใช้เรียกหญิงสาวที่อายุอ่อนกว่าด้วย
เช่น  แม่มณี(ทวีภพ)  แม่การะเกด(บุพเพสันนิวาส)
ในบกกวีนี้  แม่เป็นบัว ตัวพี่เป็นภุมรา  เป็นคำที่พระอภัยมณีใช้เรียกนางละเวง

อีกเรื่องที่น่าคิดคือ เมื่อสี่ปีก่อน  ผมมีโอกาสไปเดินที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์   จึงได้ซื้อหนังสือสองเล่มคือ   ๑.หนังสือนิทานคำกลอน
พระอภัยมณี   ๒. หนังสือเสภา เรื่อง ขุนช้างขุนแผน
ภายหลังจึงได้เปิดหนังสืออ่านดู เพื่อจะย้ำว่า ตกลง สุนทรภู่เขียนไว้ยังไงกันแน่
แต่สิ่งที่พบคือ คำกลอนในหนังได้ถูกเปลี่ยนไปให้เหมือนเนื้อเพลงแล้ว
คือ เปลี่ยนจาก  ถึงม้วยดิ้น  เป็นม้วยดิน
เปลี่ยนจาก แม่  เป็น แม้ ทั้งหมด
เป็นอันว่า ในการพิมพ์ครั้งใหม่ๆนั้น ได้มีการแก้ไขบทประพันธ์ ให้เหมือนกับในเนื้อเพลง
ซึ่งก็ไม่รู้ว่า มีการแก้ไขเพียงแค่นี้  หรือยังมีส่วนอื่นๆที่มีการแก้ไขอีก แต่เราไม่ทราบ
แล้วการแก้ไขนี้ เป็นการกระทำของใครที่สั่งให้แก้ไข  หรือว่า เป็นแค่ความหวังดี
ของฝ่ายพิสูจน์อักษร ที่เห็นว่า มันไม่ตรงกับเนื้อเพลง ก็เลยจัดการแก้ไขให้ตรงซะ

คำว่า แม่เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ   แม่เนื้อเย็นคำนี้  เป็นสรรพนามเรียกนางละเวง
ถ้าเปลี่ยนจาก แม่ เป็นแม้  มันก็กลายเป็นข้อแม้ไป  ความหมายมันเปลี่ยน

หรือคำว่า แม่เป็นบัว  ตัวพี่ เป็นภุมภรา  ก็หมายว่า ถ้านางละเวง เป็นดอกบัว
ตัวพระอภัย จะยอมเป็นแมลง
แต่พอเปลี่ยนเป็นแม้ มันก็กลายเป็นข้อแม้ไป  ความหมายเปลี่ยนเหมือนกัน
เพราะในบทกลอน คำว่าแม่ ใช้เป็นสรรพนามเรียกหญิงสาว คือนางละเวง

ผมอ่านตรงนี้แล้ว ก็ให้สึกเป็นห่วงงานวรรณกรรมที่พิมพ์ครั้งหลังๆ  เกรงจะมีการไปแก้ไข
ตามใจชอบ  โดยเฉพาะ พวกบ้าฉันทลักษณ์ยุคใหม่  อาจไปเห็นงานกลอนบางส่วน
ที่อาจจะไม่ตรงกับความนิยมในยุคนี้ ก็อาจจะไปแก้ไขตามใจชอบ เพราะคิดว่าที่ทำนั้นถูกต้อง
แล้วแบบนี้ หนังสือที่พิมพ์ในรุ่นใหม่ๆ จะเป็นที่วางใจสำหรับการใช้อ้างอิงได้อย่างไร
ก็คงต้องอาศัย หนังสือที่พิมพ์ครั้งเก่าๆ ซึ่ง ก็คงหายากขึ้นทุกวัน....  น่าเป็นห่วง

ริ  สิริรั





หัวข้อ: Re: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: นักเลงกลอน ที่ 23, มิถุนายน, 2561, 01:55:20 PM
นอกจากนี้ ยังมีคำกลอนที่เป็นคติสอดแทรกในหนังสือพระอภัยมณี
เท่าที่จำได้ (เพราะผมอ่านแค่บางส่วน)

"ด้วยวิสัยในประเทศทุกเขตแคว้น    ถึงโรธแค้นความรักย่อมหักหาย
อันความจริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย    ชายก็ตายด้วยหญิงจริงดังนี้"

"ถึงแสนรู้ผู้หญิงเข้าสิงสู่       ก็เสียรู้แสนร้อนเหมือนศรปัก
จะรบศึกนึกไม่เห็นเป็นไรนัก   แต่รบรักเรานี้คิดอึดอิดใจ"

(ซึ่งตรงคำว่า อึดอิดใจ  นี้ ผมก็งง  จึงได้ถามครูทางภาษาไทย  ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า
หมายถึง อิดหนาระอาใจ)

"แต่โบราณท่านว่าจะค้าขาย   อย่ามักง่ายเงินก็ลองทองก็ฝน
เกิดเป็นคนอย่าไว้ใจแก่คน   ค่อยผ่อนปรนปรองดองให้ต้องความ"



ในตัวที่ผมเน้นสีแดงไว้นั้น  ถ้าเป็นนักกลอนสมัยนี้แต่ง  ผู้รอบรู้ทางฉันทลักษณ์ เขาก็จะบอกว่า
เป็นกลอนผิดๆ  เพราะว่า ไม่ตรงกับฉันทลักษณ์ของกลอนแปดในยุคนี้
แสดงว่า ถ้าสุนทรภู่ มาเกิดในยุคนี้ แล้วแต่งกลอนส่งเข้าประกวด จะต้องไม่ผ่านเข้ารอบแน่นอน
นักกลอนบางคน มั่นใจถึงขั้นออกมาบอกว่า ถ้าสุนทรภู่อยู่มาจนถึงยุคนี้ จะต้องแก้งานของท่านแน่นอน
ผมก็เลยถามยันไปว่า คุณเป็นใคร ถึงกล้ามาพูดแทนสุนทรภู่ว่า ท่านจะต้องแก้ไขงานของท่าน
(ตนเองยังดีไม่ถึงเสี้ยว ยังกล้าไปวิพากย์วิจารณ์ของท่านผู้อืน)

และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ประเภทที่ไม่ยอมรับการแต่งกลอนแปดที่มีเก้าคำในบางวรรค
ซึ่งผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คนพวกนี้ เคยอ่านพระอภัยมณีบ้างหรือเปล่า
เพราะสิ่งที่พวกเขาพากันระบุว่าผิด มันมีอยู่ในบทกลอนของบุคคลที่เขาบอกว่า
นับถือเป็นครูกลอนทั้งหมด....


ริ  สิริรั


 :a016:


หัวข้อ: Re: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 24, มิถุนายน, 2561, 01:25:33 AM
ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ
ด้วยเห็นกระทู้นี้แล้วสนใจ ถึงกับต้องวิ่งไปหยิบรื้อหนังสือในห้องที่ฝุ่นจับเขรอะมาเปิดดู
ในเรื่องของเนื้อเพลงนั้น อย่างที่คุณสริญว่าไว้ ว่ามีการเปลี่ยนไปจากคำกลอนในหนังสือ
อันเนื่องจากเป็นการดัดแปลงจากกลอนไปเป็นเพลง ตรงนี้สามารถเข้าใจได้
ว่าเป็นการ "ดัดแปลง" ดังกล่าวให้เหมาะกับเสียงและคีย์ร้องของเพลง หรืออาจด้วยเหตุผลอื่นก็แล้วแต่
(เพลง "คำมั่นสัญญา" ดัดแปลงแต่งโดยครูสุรพล แสงเอก
และต่อมาคุณปรีชา บุณยเกียรติ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก เมื่อ ปี พ.ศ. 2493)

แต่ที่สนใจจริง ๆ คือ ตรงที่บอกว่า

ถึงม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร   เป็น  ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
 
และ

แม่เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ   เป็น  แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ

และ

แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา   เป็น  แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา


ในความจำของผม ผมจำได้ว่าเป็นคำว่า "ถึงม้วยดิน" มาตลอด ไม่เคยเห็น "ถึงม้วยดิ้น" ครับ
โดยผมแปลความหมายของวรรคนี้คนละอย่างกับคุณสริญ คือ

"ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร   ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน"  นั้น

ผมเข้าใจเนื้อความว่า คำว่า ม้วย นี้ แทนความดับสูญ คือ ถึงแม้โลกจะสิ้นดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร หรือ ถึงดินดับฟ้าสูญมหาสมุทรมลาย ก็ไม่สิ้นสุดความรักที่มี นั่นเองครับ

แต่ว่าคำว่า "แม้" กับ "แม่" นั้น ไม่แน่ใจ  

หนังสือพระอภัยมณีที่ผมมีอยู่นั้น มีสองรุ่น
คือสองเล่มนี้ สีน้ำเงินพิมพ์ในปี 2517 (สำนักพิมพ์บรรณาคาร) เล่มเขียวปี 2555 (สำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้บุคส์)

(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/ytJ.jpg) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=821) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/U.jpg) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=822)


หลังสอบทานแล้ว ทั้งสองเล่มนี้เนื้อความเดียวกัน คือ

(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/6Q.jpg) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=823)

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
แม้เนื้อเย็นห้วงมหรรณพ
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา

ตรง "แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา"  ตรงนี้ ยังพิมพ์เป็นคำว่า "แม่" อยู่ครับ ยังไม่ได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าฉบับเก่าหรือใหม่

ประเด็นจึงอยู่ที่สองคำที่เหลือ คือคำว่า  ถึงม้วยดิน กับ แม้เนื้อเย็น จึงลองหาข้อมูลสอบทานดูอีก โดยเอาปี พ.ศ. ที่บันทึกเสียงเพลงเป็นหลัก คือปี 2493 นั่นเอง ว่า ฉบับที่พิมพ์ก่อนที่เพลงนี้จะกำเนิดขึ้นนั้น เขาพิมพ์ว่าอย่างไร

จึงพบว่า พระอภัยมณีที่พิมพ์ในปี 2433 โดยโรงพิมพ์วัดเกาะ หรือ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งตอนนั้นพิมพ์แยกเป็นเล่ม ๆ ต่อเนื่องกัน ในราคาเล่มละ 0.25 สตางค์ (ซึ่งแน่นอน เมื่อพิมพ์ก่อนที่จะมีเพลง "คำมั่นสัญญา" นี้เกิดขึ้น 60 ปี ฉะนั้น คำในเนื้อเพลงที่ดัดแปลงจึงไม่มีผลแน่ ๆ)

(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/3I.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=824)

(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/vh.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=825)(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/E.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=826)

ในฉบับวัดเกาะนี้ ก็ปรากฏพิมพ์ว่า เป็น  ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุท เช่นกันครับ
ส่วนคำว่า  "แม้เนื้อเย็น"  นั้น พิมพ์ว่า "แม้นเนื้อเย็น"  (ซึ่ง แม้ กับ แม้น ก็มีเสียงและความหมายเดียวกัน)

     เห็นได้ว่า ทั้งสองคำนี้ น่าจะเป็นเช่นนี้จริง ๆ นับแต่ครั้งก่อนจะมีเพลงเกิดขึ้น และเมื่อถอดความหมายในกลอนแล้ว คำว่า แม้เนื้อเย็น เป็นการเปิดการเปรียบเทียบ (หลังจากฟ้าดินสิ้นสูญ) ว่าหากแม้เจ้าเป็นน้ำ พี่ก็ขอเป็นปลา เจ้าเป็นบัวตัวพี่เป็นแมลง ฯลฯ ไปเรื่อย ๆ ครับ

     ฉะนั้น คำว่า ถึงม้วยดิ้น กับ แม่เนื้อเย็น ที่คุณสริญพบนั้น  อาจเป็นการพิมพ์ผิดพลาดก็ได้
ส่วนที่ว่าปัจจุบันที่พิมพ์เป็น "ถึงม้วยดิน" กับ "แม้เนื้อเย็น" นั้น ไม่ใช่อิทธิพลจากเนื้อเพลงแน่ครับ
เพราะก่อนเพลงเกิดมา ก็เป็นเช่นนั้นแล้ว

     ส่วนคำว่า "แม้เป็นบัว"  ในหนังสือที่คุณสริญมีอยู่นั้น ที่ว่าซื้อมาจากงานหนังสือ ผมละไว้ไม่ออกความเห็นครับ เพราะยังไม่เห็นเช่นกันว่าเป็นของสำนักพิมพ์ไหน  พิมพ์ในปีใด
 

    ส่วนประเด็นในเรื่องกลอนผิด ๆ ที่ใคร ๆ ว่านั้นผมก็มีความเห็นว่า มันไม่ผิด ครับ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน
ว่ากันถึงปัจจุบันก่อน ที่บอกว่ามันไม่ผิดนั้น เพราะผมเห็นว่า มันเป็นแค่ ข้อควรระวัง มากกว่า ไม่ใช่ว่าผิดฉันทลักษณ์
เพราะฉันลักษณ์ของกลอน ผมเห็นว่ามันอยู่ที่สัมผัสนอกต่างหาก แต่ว่าส่วนอื่นนั้น เป็นเพียงส่วนเสริมหรือข้อควรระวัง ว่าถ้าไม่ให้มีมันก็ดี เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าต้องมี จะเพราะเนื้อหาหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็คือต้องมี มันไม่ได้ผิดครับ มันเป็นเพียงลักษณะนิยมในปัจจุบัน  ซึ่งเพิ่งจะมีขึ้นไม่กี่สิบปีย้อนหลังไปนี่เอง ไม่น่าจะเกินสี่สิบปีด้วยซ้ำ บวกลบนิดหน่อย คนที่บอกว่าผิดหรือพลาด ต้องแยกแยะให้ออก ว่า ฉันทลักษณ์ กับ ข้อควรระวัง ต่างกันอย่างไร ไม่เอามารวมกัน แม้แต่ในกองประกวดกลอนแต่ละที่ บางทีสำนวนที่มีชิงสัมผัส ก็ชนะสำนวนที่บอกว่าถูกหลักเป๊ะ ๆ ก็มีให้เห็นมากมาย
ผมว่ากลอนที่ดีมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นบริบทโดยรอบ ทั้งความคมคาย เนื้อหา เสียง การเดินความ ฯลฯ  

   ส่วนที่เรื่องที่คุณสริญบอก ไม่ว่าใครก็ตาม ที่ยกกลอนในสมัยก่อนมาเปรียบเทียบกับหลักนิยมในสมัยนี้ แล้วบอกว่าพลาดหรือผิดฉันทลักษณ์ ผมคิดว่าเป็นการขยายขี้เท่ออย่างแรงเลย เพราะอย่างที่ผมบอกเรื่องข้อควรระวังนั้น (ผมใช้คำนี้) มันเพิ่งมีมา ฉะนั้น การที่จะนำกลอนสมัยก่อนหน้านั้น ไม่ว่าของใครก็ตาม ไม่จำเป็นต้องถึงท่านสุนทรภู่หรอก เอามาเปรียบโดยยึดลักษณะนิยมที่ในสมัยนี้ ถือว่าจบความคิดเลยครับ ถ้าแยกแยะไม่ออกขนาดนั้น มันก็คล้ายกับว่า เราไปบอกว่า คนสมัยก่อนอยุธยานั้น ไม่ฉลาดเลยที่ใช้ม้าหรือวัวเทียมเกวียนในการเดินทาง  แทนที่จะขับรถยนต์ หรือขึ้นเครื่องบินไป แบบสมัยนี้น่ะครับผม

- หมู มยุรธุชบูรพา -      



หัวข้อ: Re: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: นักเลงกลอน ที่ 24, มิถุนายน, 2561, 01:57:36 AM


คงต้องขอยอมแพ้ จนปัญญาด้วยเกล้าจริงๆ  สุดที่จะไปหาหลักฐานมาอ้างอิงได้
ด้วยว่า เรื่องมันผ่านมานานถึง 25 ปี แล้ว
ครั้นจะให้เดินทางไปที่เมืองสิงห์อีกครั้ง  ก็ไม่ทราบว่า หนังสืือเล่มดังกล่าว
จะยังคงอยู่ หรือกลายเป็นเล่มใหมแล้วก็ไม่  อีกทั้งบรรณารักษ์คนเก่า ป่านนี้ก็คงจะลาออก
ไปแต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว  สุดปัญญาจะหาหลักฐานมายืนยันได้

สำหรับประการที่จำเนื้อกลอนได้ โดย เฉพาะตรงคำว่า "ถึงม้วยดิ้น"  "แม่เนื้อเย็น" "แม่เป็นบัว"
ก็สาบานได้ว่า  จำมาจากหนังสือเล่มนั้นจริง และไม่ผิดพลาดในสามจุดนี้
เนื่องจากตอนนั้น มีความอยากรู้ อยากจะเปรียบเทียบ ระหว่างเนื้อเพลงที่เคยฟัง
คำกับกลอนต้นฉบับ  ดังนั้น จึงได้สังเกตจดจำสิ่งที่แตกต่างกันเป็นพิเศษ ว่าจำไม่ผิดพลาด
ส่วนที่ว่า คำนั้น จะเป็นคำพิมพ์ผิด  แต่มีหมายเหตุ แก้คำผิดพิมพ์ อีกที่หนึ่งในส่วนใดของหนังสือ
ข้อนี้ไม่อาจรับรองได้  ตามที่บอกไว้แต่ต้นว่า ผมมีโอกาสอ่านหนังสือนี้ เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
ดังนั้น ในใจก็คงถือว่า นั้น เป็นคำกลอนที่ถูกต้อง ตามต้นฉบับสุนทรภู่เสมอมา
ถ้าเป็นการเข้าใจผิด เพราะความโง่เขลา รู้น้อย  ก็ต้องขออภัย ผู้รู้ทั้งหลาย ด้วย

ริ  สิริรั



หัวข้อ: Re: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: นักเลงกลอน ที่ 24, มิถุนายน, 2561, 02:28:12 AM


ขออนุญาต แสดงความคิดเห็น เรื่อง ลักษณะการใช้ภาษา

คำว่า ม้วย ก็แปลว่า ตาย  ซึ่งปกตินั้น ใช้กับคน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิต
ปกติ ใช้กับ สิ่งไม่มีชีวิต เช่น แผ่น ดิน ภูเขา  ท้อง ฟ้า มหาสมุทร
โดย จะให้หมายความว่า แผ่นดินตาย ภู้ขาตาย ท้องฟ้าตาย  โลกตาย  โดยใช้คำว่า ม้วยดิน ม้วยขุนเขา
ม้วยท้องฟ้า  ไม่น่าจะใช้กัน  ฟังดูแล้วไม่เข้ากันเลย
แต่ถ้าใช้คำว่า สิ้น  เช่น สิ้นฟ้ามหาสมุทร  สิ้นแผ่นดิน  สิ้นโลก สิ้นจักรวาล  อย่างนี้เข้ากัน

การใช้คำว่า ม้วยดิน  เพื่อให้หมายความว่า สิ้นสุดแผ่นดิน แผ่นดินถูกทำลายนั้น ไม่สมกัน

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นม้วย(คือตายสิ้น)  ซึ่งน่าจะหมายถึง
พระอภัยมณี ให้สัตย์ กับนางละเวงว่า ต่อให้ตนเองต้องตายดิ้นไป ก็จะยังคงรักนางละเวงอยู่
ผมว่า ความ เหมาะสมกัน เพราะคำว่าม้วย หรือตาย นั้น ควรใช้กับสิ่งมีชีวิต

ดังนั้น คำว่า ม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร   นั้นจะฟังดูมีความหมายดีกว่า ม้วยดิ้น  แต่ผมว่า  ความไม่เข้ากัน
ผิดหลักธรรมชาติของการใช้ภาษา
อีกประการหนึ่ง ธรรมชาติของชาติชายเกี้ยวหญิงนั้น ย่อมมีความกะล่อนอยู่
ฉะนั้น การพูดติดปากในทำนองว่า ให้ตายดิ้น  ก็จะยังรักเธอนั้น ผมว่า เป็นคำพูดที่เข้ากัน และเหมาะสม
สุนทรภู่เอง ตามประวัติเท่าที่ทราบนั้น ก็มีเมียสาม-สี่คน  ดังนั้น สำนวนโวหาร ความคล่องในการพูด
ทำนองนี้น่าจะมี จนกระทั่งถึงมีอิทธิพลในการแต่งกลอนตอนที่พระอภัยเกี้ยวนางละเวงด้วย(ความคิดเห็นส่วนัว)
ดังนั้น ผมมีความคิดเห็นว่า ม้วยดิ้น น่าจะเหมาะสม (สังเกตได้จากที่เขียนกลอนวรรคตต่อๆมา เช่น
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา  เชยผกาโกสุมปทุมทอง ซึ่งมีความหมายสองแง่สองง่าม
และตอนที่ว่า เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่  เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง  ก็ใช้คำว่า สมสู่ไปตรงๆ
ดังนั้น  กลอนบทนี้ ใช่มีแต่ความโรแมนติกหรือสวยงามอย่างเดียว มันยังมีอะไรที่ซ่อนเร้นในความงามอยู่
ดังนั้น คำว่า ม้วยดิ้น นี้ ผมว่า มีสิทธิ์เป็นไปได้มาก)
ถ้าการวิเคราะห์นี้ ไปล่วงเกิน บรมครูกลอนสุนทรภู่เข้า ก็ต้องขอขมาด้วยใจ
แต่เป็นวิเคราะห์ด้วยคำพูดในเนื้อกลอนจริงๆ

ริ  สิริรั



หัวข้อ: Re: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: YUMTOK ที่ 24, มิถุนายน, 2561, 09:16:59 AM
เอาคำแปลคำว่าม้วยมาฝากครับ

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
ม้วย ก. ตาย สิ้นสุด วายวอด มักใช้เข้าคู่กับคำ มอด เป็น ม้วยมอด หรือ มอดม้วย.

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร
ม้วย  ก. ตาย, สิ้นสุด, ไม่มีเหลือ.

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-อังกฤษ
ม้วย    ตาย,สิ้นสุด,มอดหมด,สิ้น,เสียชีวิต,ล่วงลับ,ม้วยมรณาข้าวต้ม

จากสามที่ แล้วพิจารณาตามคำว่าม้วยดีๆ ม้วยดิน แปลว่าอะไร น่าจะจบได้ครับ
สิ้นสุด วายวอด สิ้นสุด ไม่มีเหลือ มอดหมด สิ้น ข้าวตัม...เหล่านี้ไม่เกี่ยวกับตายเลย




หัวข้อ: Re: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: นักเลงกลอน ที่ 24, มิถุนายน, 2561, 09:44:10 AM



พจนานุกรมทั้งหลายแหล่  เขียนหลังกลอนครับ การตีความหมาย ขยายความเกิดหลังกลอน

บางครั้ง  ศัพท์ บางศัพท์ ที่ไม่มีการใช้พูด แต่มีเขียนในบทร้อยกรองบางชนิด

ก็ยังมีการขยายความว่า เป็นคำที่ใช้ในร้อยกรอง มีความหมายยังงั้นๆๆๆ


หัวข้อ: Re: คือกลอนสุนทรภู่ ?? (จากแม่ เป็นแม้)
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 24, มิถุนายน, 2561, 05:53:09 PM

     ไม่มีใครโง่ใครฉลาดหรอกครับ เราต่างเป็นผู้ไม่รู้ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างเพียงแสดงความคิดออกมาเท่านั้น ไม่มีแพ้ชนะครับ
เรื่องหนังสือเมื่อ 25 ปีก่อนนั้น ไม่ติดใจอะไรหรอกครับ ถือเป็นการเล่าสู่กันฟัง และความคิดเห็นก็อย่างที่เขียนไปนั่นแหละครับ

     ส่วนเรื่องพูดถึงคำว่า ม้วย อย่างคุณสริญว่าก็ไม่ผิดครับ แต่ในทัศนะของผม ยังคิดว่าเป็น "ถึงม้วยดิน" อยู่ดีครับ
เพราะ ฟ้าและดิน มักเป็นคำกล่าวที่ใช้คู่กันเสมอ เช่น ตราบดินสิ้นฟ้า ฟ้าถล่มดินทลาย น่ะครับ
และโดยบริบทของกลอนวรรคนั้น กล่าวถึงมหาสมุทรและฟ้าแล้ว ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงดินด้วยก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ส่วนที่ว่า คำว่า ม้วย ที่ว่าใช้กับสิ่งมีชีวิตนั้น ก็ใช่ครับ
แต่ในการประพันธ์ คำว่า ม้วย นั้น ใช้แทนการดับสูญของสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกันครับ เช่น

       นทีสี่สมุทรม้วย..............หมดสาย
       ติมิงคล์มังกรนาคผาย.......ผาดส้อน
       หยาดเหมพิรุณหาย.........เหือดโลก แล้งแม่
       แรมราคแสนร้อยร้อน.........ฤ เถ้าเรียมทน ฯ
                                            (นิราศนรินทร์)

       จิตประเล่ห์ปิ้ม.............ปานใด เปรียบเอย
       เหมหยาดพิรุณธาร.......สมุทรม้วย
       หนาวสวาดิอาศัย..........อื่นชวน หายแฮ
       จิตต่อจิตล้ำผ้วย...........ผ่อนหนาว ฯ
                                            (ทวาทศราศี)

       หวังจะเป็นทองแผ่นเดียวกัน....ร่วมชีพชีวันไปวันหน้า
       กว่าจะม้วยดินสิ้นฟ้า...............เป็นมหามงคลสวัสดี
                                                     (รามเกียรติ์)

       ครั้งหนึ่งกลางแสงจันทร์ เราสองพลอดเพ้อรำพัน
       รักมั่นไม่ผันแปรตราบฟ้าดินม้วยแลเราสองดับสลายดวงแด
                                    (เพลงพระราชนิพนธ์ เมื่อโสมส่องแสง)

       ใดนางเรียมร่ำสิ้น..........ในนุช
       ดาลกำเดาดลรา...........ร่ำด้วย
       สรรพางค์วรางสุด..........เจียรเจต
       แม้แผ่นไตรภพม้วย.......ไป่วาย ฯ

เสวยรมย์ชมมหามไหศวรรย์ ตราบสิ้นจันทร์สุริยศรี ม้วยปถพีแผ่นฟ้า เกษมสมบูรณ์ถ้วนหน้า
                                                         (ทวาทศมาศ)

ทั้งสิ้นนี้ ม้วย เป็นการใช้โดยเทียบนัยยะครับ เช่น  "นทีสี่สมุทรม้วย.....หมดสาย" นั้น ไม่ได้แปลโดยตรงตัวว่ามหาสมุทรทั้งสี่ตายลง แต่หมายถึง เหือดแห้งลง นั่นเอง

ฉะนั้น ถึงม้วยดินสิ้นฟ้า  ตรงนี้หากจะหมายถึง ถึงฟ้าสิ้นดินสูญ น่าจะสมกันอยู่ทั้งคำและความหมาย เป็นเรื่องไม่ผิดปกติน่ะครับ

อีกนิดนึงครับ ตรงที่ว่า

เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่  เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง

แท้จริงต้องเป็น เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่  เป็นราชสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง

เพราะโดยเนื้อหาแล้ว ราชสีห์สมสู่กับถ้ำไม่ได้ แต่เป็น สิงสู่ ที่มีนัยหมายถึงอาศัยอยู่คู่ถ้ำ อย่างปลาอยู่คู่น้ำน่ะครับ

คาดว่า ในหนังสือที่คุณสริญมีอยู่ตอนนี้ที่ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็น่าจะพิมพ์ว่า สิงสู่ เช่นกันครับผม

    - หมู มยุรธุชบูรพา -