บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา => ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, กรกฎาคม, 2561, 10:41:59 PM



หัวข้อ: - "ลายสืไทนี้" ของพ่อขุนรามฯ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, กรกฎาคม, 2561, 10:41:59 PM
(https://image.ibb.co/hHNuW8/13645253_1725016081096834_144764662132482490_n.jpg) (https://imgbb.com/)

(https://image.ibb.co/gvXHjT/38036980_2263079470582273_3184773302874800128_n.jpg) (https://imgbb.com/)

- “ลายสืไทนี้” ของพ่อขุนรามฯ -

เวลาล่วงเลยมาหลายร้อยฉนำ
ไทยจัดทำหลักฐานประสานผล
จารภาษาไทยกลางหว่างกลุ่มชน
ให้ทุกคนอ่านเขียนเล่าเรียนกัน

พ่อขุนรามคำแหงแต่งลายสือ
ให้ไทยถือหลักฐานการสร้างสรรค์
พูดและเขียนเป็นคำไทยสำคัญ
แสดงพันธุ์เผ่าชนชาติคนไทย

เอกลักษณ์เอกราชที่ชัดแจ้ง
คือสำแดงภาษาอัชฌาศัย
พูดและเขียนเรียนร่ำจดจำไว้
นำออกใช้ในวิถีชีวิตงาน

ไทยกรุงเทพฯเริ่มหลงลืมภาษา
คำพูดจาผิดเพี้ยนพลาดเขียนอ่าน
แทรกภาษาเสียงฝรั่งอ้างเชี่ยวชาญ
น่าสงสารภาษาไทยไทยดูแคลน

วันนี้วันภาษาไทยให้สำนึก
จับจารึกหลักไทยถือให้แน่น
พูดอ่านเขียนคำไทยให้ทั่วแดน
เลิกโลดแล่นตามภาษามหาชน

วันภาษาไทยเวียนมาอีกคราแล้ว
ยังคิดแนวเดิมมีที่เขียนบ่น
บอกหลานเหลนทั่วไปไทยทุกคน
แม้ลืมตนอย่าลืมภาษาไทย

         วันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ จึงใคร่ขอพูดถึงความเป็นมาของอักษรไทย(ภาษาเขียน)อีกสักครั้งเถิด
          อักษรไทยหรือ ลายสือไทย เป็นที่เชื่อถือกันว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์ให้คนไทยใช้กันมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีไทย โดยถือเอาความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ เป็นพยานยืนยันว่า

          “ เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ในแลใศ่ลายสืไทนี้ ลายสืไทนี้จี่งมี เพื่อขุนผู้นั้นใศ่ไว้” จากจารึกหลัก ๑ ด้าน ๔ บรรทัดที่ ๘-๑๑
          ขอวิเคราะห์คำในจารึกที่ว่า เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อฃุนรามคำแหง หาใคร่ใจในใจ แลใศ่ลายสืไทนี้...” ว่ามีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ ความในประโยคแรกค่อนข้างจะชัดเจน ว่า ก่อนหน้าปีมหาศักราช ๑๒๐๕ ตรงกับ พุทธศักราช ๑๘๒๖ นั้น ลายสืไทนี้บ่มี ปัญหาอยู่ตรงท้ายประโยคที่ว่า ลายสืไทนี้ไม่มี นักวิชาการรุ่นก่อนตีความวลีนี้ว่า“อักษรไทยนี้ไม่มี” แล้วสรุปว่า “อักษรไทยไม่เคยมีใช้กันมาก่อนมหาศักราช ๑๒๐๕ หรือ พ.ศ. ๑๘๒๖ เลย” มีนักวิชาการุ่นใหม่อีกส่วนหนึ่งตีความในวลีนี้ว่า “ความหมายของวลีนี้ระบุชัดว่า เมื่อก่อนนี้ ลายสืไทในแบบจารึกหลักที่ ๑ ไม่เคยมีมาก่อน แต่ว่าลายสืไทแบบโน้น หรือ แบบอื่นมีมาก่อนแล้ว” นี่ก็น่าคิดนะครับ

          คำว่า หาใคร่ใจในใจ ท่านแปลว่า หากคิดในใจ โดยไม่มีคำอธิบายให้ชัดเจนเท่าที่ควร อันที่ควรคือคำนี้ไม่น่าจะมีความหมายแค่เพียงว่า “หากคิดในใจ”เท่านั้น เมื่อแยกคำหน้าออกมา ๒ คำ ก็จะได้ว่า

     หา เป็นคำกริยา แปลว่า ค้น,สืบ,เสาะ,มุ่งพบ,พบ,เยี่ยม,เยี่ยมเยียน,ฟ้อง,กล่าวโทษ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่จะเลือกใช้
     ใคร่ เป็นคำกริยาแปลว่า อยาก,ต้องการ,ปรารถนา,ใฝ่ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่จะเลือกใช้

          เมื่อนำคำทั้ง ๒ มารวมกันเป็น หาใคร่ จะแปลว่า อยากค้น อยากสืบ อยากเสาะ อยากพบ ก็ได้ ปรารถนาค้น ปรารถนาสืบ,ปรารถนาเสาะ,ปราถรนาพบ หรือ ต้องการพบ ต้องการสืบ ต้องการเสาะ ต้องการค้น ก็ได้ ใฝ่ค้น ใฝ่สืบ ใฝ่เสาะ ใฝ่พบ ก็ได้ ความคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในพระทัยแห่งพ่อฃุนรามคำแหง ดังที่ท่านจารึกไว้ว่า “หาใคร่ใจในใจ” นั่นเอง

          เมื่อทรง “หาใคร่ใจในใจ”ดังนั้นแล้วจึง ใศ่ลายสืไทนี้ คำว่า ใศ่ ท่านแปลว่า “ประดิษฐ์” คนไทยในอดีตพากันเชื่อตามว่า “ใศ่” คือการประดิษฐ์อักษร แต่คนไทยรุ่นหลังมิได้พากัน เชื่อตามนั้น อย่างท่านอดีตศึกษาธิการ เทพ สุนทรศารทูล เขียนค้านคำแปลดังกล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า วิจัยข้อเท็จจริงเรื่องศิลาจารึกอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหง ท่านค้านไว้น่าเชื่อถือว่า   ใส่   มิใช่ “ประดิษฐ์” แต่หมายถึง เพิ่ม,เติม,สวม,ยัด,สลัก,จารึก คำว่าใส่เป็นการเอาสิ่งใดใส่เข้าไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นว่า “ตักน้ำใส่โอ่ง, คดข้าวใส่จาน,จับปูใส่กระด้ง “ เป็นต้น คำว่า “ใศ่ลายสืไท” จึงต้องหมายความว่า “เอาอักษรใส่ในแท่งหิน” ไม่ใช่  ประดิษฐ์อักษรในแท่งหิน”

          คำว่า ใส่ หากแปลว่า สลัก ก็หมายความว่า แกะเป็นลวดลายต่างๆ เช่นสลักไม้ สลักหิน เป็นเทวรูป พระพุทธรูป เป็นต้น การเขียนหนังสือสมัยโบราณท่านเรียกว่า “สลักหนังสือ”ก็มี คำนี้แปลงมาจากคำว่า “สัก” คือการแทงให้เป็นรอย หรือ ลวดลาย

          คำว่า ใส่ หากแปลว่า จาร หรือ จารึก ก็จะได้ในความหายเดียวกับคำว่า สัก หรือ สลัก น่าจะเป็นคำแปลที่ชัดเจนกว่าจะแปลว่า “ประดิษฐ์” เป็นไหน ๆ”
          ผมเห็นด้วย สมัครใจจะแปลคำว่า ใส่ ว่า สลัก หรือ จารึก เป็นรอย หรือลวดลาย ดังนั้น ใส่ลายสืไท จึงได้แก่ การสลักหรือจารึกเป็นรอยลวดลายอักษรไทย ไม่ใช่ประดิษฐ์อักษรไทย ดังที่ท่านแปล

          คำว่าประดิษฐ์ นี้เป็นคำสันสกฤตลดรูป คำนี้แปลเป็นคำไทยได้ว่า ตั้งขึ้น,จัดทำขึ้น,คิดทำขึ้น,สร้างขึ้น, แต่งขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่จะเลือกใช้ เมื่อได้คำแปลของคำดังกล่าว บางท่านก็อาจจะขัดขึ้นว่า “ที่ท่านแปล ใส่ คำนี้ว่า ประดิษฐ์ ก็ถูกต้องแล้ว คือ พ่อฃุนรามคำแหง ทรงคิดทำลายสือขึ้นให้คนไทยใช้กัน” คำขัดดังกล่าวนี้ก็พอฟังได้นะครับ แต่อย่าลืมว่ามีคำบังคับอยู่ท้ายวรรคคำหนึ่ง นั่นคือ  “ลายสือไทนี้”   ที่ว่าเป็นคำบังคับก็คือคำว่า“นี้” ดังนั้นคำว่า “ลายสือไทนี้” เป็นการปฏิเสธลายสือไท หรืออักษรไทอื่น ๆ ทั้งหมด คือว่า “ต้องลายนี้เท่านั้น ลายอื่นไม่เกี่ยว”

          อันที่จริงแล้ว ลายสือหรืออักษรไทยนั้น เริ่มมีใช้กันตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ โดยนำอักษรพราหมี อักษรปัลลวะหรืออักษรคฤนถ์ จากอินเดียกลางและอินเดียใต้มาดัดแปลงเป็นอักษรขอมไทย แล้วดัดแปลงเป็นอักษรไทยในกาลต่อมา โดยมีรูปแบบว่า วางสระและพยัญชนะไว้คนละบรรทัด คือบรรทัดบนนั้นวางสระอิอีอึอือและวรรณยุกต์ แถวกลางวางพยัญชนะ และสระอา เอโอไอ บรรทัดล่างวางสระอุอู อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน จึงได้ข้อยุติว่า อักษรไทยหรือลายสือไทยนั้นมีมาก่อนที่พ่อฃุนรามคำแหงจะทรงคิดจัดทำรูปแบบขึ้นใหม่

          คำว่าลายสือไทนี้ จึงหมายถึงลายสือไทที่พ่อฃุนรามคำแหงทรงหาใคร่ใจในใจแลใศ่ลายสือไทนี้ ไว้ในแท่งหินทรายแป้ง พระองค์คิดรูปแบบใหม่ โดยวางสระและพยัญชนะทั้งหมดไว้ในบรรทัดเดียวกัน (เหมือนแบบฝรั่ง) มีแต่วรรณยุกต์เท่านั้นที่คงไว้ข้างบน นี้เป็นแบบของพ่อขุนรามคำแหง ไม่ใช่ลายสือไทในที่อื่น ๆ

          ลายสือไทยหรืออักษรไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่เหมือนลายสือของพ่อฃุนรามคำแหงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยกตัวอย่างเช่น อักษร ก. พ่อฃุนรามคำแหงนั้น มีหัว แต่ปัจจุบันหัวตัวก.ไม่มี
การเรียงสระ-พยัญชนะ ก็ไม่เหมือนลายสือพ่อฃุนรามคำแหง เรื่องลวดลายที่เปลี่ยนไปไม่ต้องพูดถึง เอาแค่การเรียงสระ-พยัญชนะเท่านั้นก็เห็นความแตกต่างแล้วว่า ลายสือไทยก่อนสมัยพ่อฃุนรามคำแหง และลายสือไทยปัจจุบัน ไม่ใช่ลายสืไทนี้ ที่พ่อฃุนรามคำแหงทรงใส่ไว้ หรือท่านผู้ฟังเห็นเป็นอย่างอื่น ?

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
* ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - "ลายสืไทนี้" ของพ่อขุนรามฯ -
เริ่มหัวข้อโดย: นักเลงกลอน ที่ 30, กรกฎาคม, 2561, 05:08:58 PM


ฟังดูคล้ายเรื่อง เอดิสันประดิษฐ์หลอดไฟ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ วิทยาการประดิษฐ์หลอดไฟจะก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม
จากหลอดไส้ เป็นหลอดฟลูออเรสเสนต์  จากหลอดฟลูออเรสเสนต์ มาเป็นหลอด LED
แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ต้องนับ เอดิสัน เป็นคนแรกสุดที่ริเริ่มประดิษฐ์หลอดไฟอยู่ดี
ถึงแม้ว่า หลอดไฟที่นิยใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ จะไม่ใช่หลอดไฟแบบที่เอดิสันประดิษฐ์แล้ว