บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤศจิกายน, 2561, 11:35:30 PM



หัวข้อ: สยามมณีฉันท์ ๘ : กำเนิดสยามมณีฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤศจิกายน, 2561, 11:35:30 PM
(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/mk.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1123)

"สยามมณีฉันท์ ๘"

     ชโยสยามยามจะรุ่น
สยามดรุณจะเร็วเจริญ
ณ คราจะเรียนก็เพียรจะเพลิน
ฤใครจะเกินสยามดรุณ ฯ

     กุมาระไทยไฉนจะหลง
จะลืมพระองคะรงสกุล
สยามะรัฐอุบัติเพราะบุญ
พระเดชพระคุณพระราชวงศ์ ฯ

     ดรุณสยามมิคร้ามอุสาห์
หทัยจะหาวิชาประสงค์
ประเทศจะงามสยามจะยง
จะมั่นจะคงก็เหตุวิชา ฯ

     ชโยสยามอร่ามอโข
ดรุณจะโตจะเติบสิขา
สยามจะอยู่มิรู้ชรา
กระเดื่องวิชาวิชัยชโย ฯ

                          กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)

... ลักษณะครุ-ลหุ ...
- แต่ละวรรคมี ๘ พยางค์
   กำหนด  "ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ"  สลับกันไปจบจบวรรค

... การส่งสัมผัส ...
- มีรับส่งสัมผัสใน-นอก แบบกลอนสุภาพ
- เพิ่มสัมผัสสระท้ายวรรคหนึ่ง กับ ท้ายวรรคสี่ แบบกลอนอังกฤษ

                                (http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/AJ.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1468)
                                    • กลับสู่หน้า สารบัญ ฉันท์ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14138.msg51433#msg51433)
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14615.msg53012#msg53012)
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14135.msg51426#msg51426)
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14132.msg51411#msg51411)
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6689.msg22951#msg22951)
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6688.msg22950#msg22950)
                                    • กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=7715.msg27482#msg27482)
                                 (http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/AJ.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1468)



 


หัวข้อ: Re: สยามมณีฉันท์ ๘ : กำเนิดสยามมณีฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤศจิกายน, 2561, 11:37:44 PM
(https://image.ibb.co/fZedQL/pittaya.jpg) (https://imgbb.com/)
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)

           “ฉันท์ เป็นชื่อคำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่วาง  คำครุ  ลหุ  เป็นแบบต่าง ๆ”  ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ  ส่วนมากไทยเราจะเอาแบบการแต่งฉันท์จากภาษาบาลี  มาแปลงเป็นไทย  โดยใส่สัมผัสเข้าไปให้เกิดความไพเราะมากขึ้น  เช่นแบบอินทรวิเชียรฉันท์  เป็นต้น

          มีฉันท์แบบหนึ่งที่เอาแบบจากภาษาอังกฤษมาแปลงเป็นไทย  คือ  ”สยามมณีฉันท์ ๘”  ฉันท์แบบนี้เอามาจาก  “อิน เมโมเรียม”  ของท่าน  “ลอด เต็นนีซัน”  บุคคลผู้ที่เอาฉันท์ภาษาอังกฤษแบบนี้มาแต่งเป็นแบบไทยแล้วตั้งชื่อว่า  “มณีฉันท์ ๘”  คือ ท่าน  “น.ม.ส.”  หรือ  “กรมหมื่นพิทยาลงกรณ”  ซึ่งท่านได้กล่าวที่มาของฉันท์แบบนี้ไว้ในหนังสือ  “พระนิพนธ์บางเรื่องและปาฐกถา”  ในตอนที่ว่าด้วย “ไทยเป็นชาตินักกลอน”

          ท่าน  น.ม.ส. ทรงนำฉันท์อังกฤษชื่อ  “อิน เมโมเรียม”  มาเป็นแบบแต่งฉันท์ไทยตั้งชื่อว่า  สยามมณีฉันท์  เมื่อทรงแต่งและเผยแผ่ออกไปแล้วมีคนเขียนตามอย่างท่าน  แต่เขียนไม่ถูก  ท่านจึงกล่าวถึงที่มาของฉันท์ดังกล่าวไว้  มีความดังต่อไปนี้

           “เมื่อเกือบสองปีมานี้  ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้แต่งกลอนสำหรับนักเรียนร้องในวันงานประจำปีของโรงเรียนวชิราวุธ  ข้าพเจ้าลองแต่งเป็นกลอนแปดแลกลอนหก  แต่เมื่อแต่งขึ้นแล้วก็ไม่ชอบ  เห็นเป็นกลอนดาษ ๆ ไปหมด  เมื่อลองแต่งฉันท์ตามแบบที่มีอยู่แล้ว  ก็ไม่ชอบเหมือนกัน  การเป็นดังนี้  นึกอยากจะแต่งอะไรแปลก ๆ  จึงเอาตำราฉันท์อังกฤษมาพลิกค้นดู  เผื่อจะพบอะไรพอเอาอย่างมาใช้เหมาะกับภาษาไทยได้  ดูไปดูมาพบฉันท์ที่เรียกว่า  อินเมโมเรียม  ของ ลอด เต็นนีซัน  ใช้สัมผัสซึ่งนึกว่าถูกหูไทยจึงเอามาตั้งเป็นแบบลองแต่งดู

           ลอด เต็นนีซัน  เป็นกวีชั้นเอกของอังกฤษ  รับตำแหน่งโปเอ็ดลอเรียต  ซึ่งถ้าจะเรียกเป็นไทยว่าราชกวีก็เห็นจะพอไปได้  ฉันท์  “อิน เมโมเรียม”  นั้น  ตั้งแต่แต่งแล้วก็เลยเป็นชื่อของฉันท์ชนิดนั้นมาจนบัดนี้

           ฉันท์ชนิดนี้อธิบายตามภาษาอังกฤษว่า  Quatrain of fou-rioot lines with enclosing rimes  คือว่าเป็นฉันท์บทละ ๔ บาท  บาทหนึ่ง ๘ พยางค์  มีลหุ  แลครุสลับกัน  แลมีสัมผัสคือพยางค์ท้ายแห่งบาทที่ ๒ กับบาทที่ ๓ รับกันอีกคู่หนึ่ง  ถ้าจะเขียนลักษณะแห่งฉันท์ชนิดนี้ลงก็เป็นดังนี้ –

           ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ
           ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ
           ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ
           ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ

           จากนั้นท่านก็ยกตัวอย่างของฉันท์อังกฤษต้นแบบมาแสดงให้ดู  เห็นลักษณะได้ชัดเจนว่า  เขาใช้คำ ลหุ ครุ  เป็นคู่สลับกัน  จุดสำคัญที่นอกจากคำ ลหุ ครุ  แล้วก็คือคำสัมผัส  กำหนดให้คำท้ายวรรคที่ ๑  กับ  ท้ายวรรคที่ ๔ สัมผัสกันคู่หนึ่ง  กับ  ให้คำท้ายวรรคที่ ๒ กับท้ายวรรคที่ ๓ สัมผัสกันอีกคู่หนึ่ง  เป็นฉันทลักษณ์ตายตัวของฉันท์อังกฤษที่ชื่อว่า  “อิน เมโมเรียม”  ผิดจากแบบนี้ต้องเรียกชื่อเป็นอื่นท่านได้อธิบายต่อไปอีกว่า

            “ฉันท์อังกฤษข้างบนนี้  ถ้าอ่านถูกสำเนียงครุแลลหุก็โยนแลรับกันไพเราะมาก  เมื่อเอาแบบคำหนักคำเบาแลสัมผัสมาแต่งเป็นไทย  ก็ได้ฉันท์ชนิดใหม่ซึ่งผู้แต่งไม่เห็นเลว  จึงขนานนามไว้ว่า  “สยามรัตนฉันท์”  ดังนี้


            “สยามรัตนฉันท์”

                อโหอโหโย สยาม
           วิลาสรัฐรัสจรูญ
           ประเทศะไทยอุทัยพิบูลย์
           อุกฤษฎะเลิศประเสริฐะนาม

                อโห ชโย จะโห่ถวาย
           นราธิเบศประเทศะไทย
           พระเกียรติอดุลย์พระคุณกำไร
           มหากษัตริย์สวัสดิ์ฤวายฯ

           ฉันท์สองบทข้างบนนี้ส่วนความยกเสีย  ถ้าพูดตามครุลหุและสัมผัสนอกก็เหมือนแบบอังกฤษ  แปลกกันที่มีสัมผัสในอันอาจไม่ถูกหูกวีอังกฤษบางจำพวก  แต่ไทยเราอดไม่ได้

           เมื่อแต่งลงไปเช่นนี้แล้วผู้แต่งพอใจหรือยัง  ยัง เพราะสัมผัสน้อยนักยังไม่สะใจ  ธรรมดาฉันท์ที่คุ้นหูเราต้องมีสัมผัสรับกันเป็นโซ่ตลอดไปทุกบท  เพราะฉะนั้นบาท ๔ แห่งบทแรกที่ลงไปว่า  “ประเสริฐะนาม”  นั้น  คำว่า  “นาม”  ควรเป็นสัมผัสส่งแล้วมีสัมผัสรับในบทหน้า  ลองดูใหม่

                กุมาระไทยไฉจะหลง
           จะลืมนรินทะปิ่นประชา
           สยามะรัฐอุบัติมา
           ก็เหตุอำนาจพระราชวงศ์ฯ

                วิชาวิบุลย์ดรุณจะเรียน
           อุสาห์จะเกิดประเสริฐประสงค์
           ประเทศจะงามสยามจะยง
           จะสุดวิเศษก็เหตุเพราะเพียรฯ

                อโห ดรุณจะครุ่นสิขา
           อโห กุมารจะอ่านจะเขียน
           วิชาจะเทียบจะเปรียบวิเชียร
           วิเชียรก็ชูบ่สู้วิชาฯ

           เมื่อเติมสัมผัสส่งแลสัมผัสรับติดต่อกันไปทุกบทดังนี้  ก็แปลกไปอีกชั้นหนึ่ง  คิดว่าพอจะใช้เป็นแบบฉันท์ชนิดหนึ่งได้จึ่งขนานนามว่า  “สยามวิเชียรฉันท์”  เมื่อแต่งแล้วลองอ่านทวนไปทวนมาเกิดความพอใจเป็นอันมาก

           แต่ก็ยังอยากจะลองต่อไปอีก  เพราะการแต่งฉันท์ภาษาไทย  ถึงจะวางตำแหน่งครุลหุประเสริฐปานใด  ถ้าสัมผัสไม่ถูกแบบที่คุ้นหูเราก็ฟังไม่รื่น  เหตุเรายังไม่ได้ฝึกหูให้คุ้นกับแบบสัมผัสแบบอื่น ๆ  เมื่อคุ้นเข้าแล้วก็อาจได้ความเพลิดเพลินจากแบบนั้นเสมอกับแบบเก่า  การแต่งของข้าพเจ้าคราวนั้นเป็นการแต่งให้เขา  ไม่ใช่การตั้งแบบใหม่  หรือถ้าตั้งแบบใหม่  ก็ตั้งเพื่อจะแต่งให้แก่เขา  ถ้าเราตั้งแบบใหม่อย่างเดียว  เราจะตั้งอย่างไรก็ตามใจเรา  ใครจะชอบหรือไม่ก็ตามแต่ใจบุคคล  ถ้าไม่ชอบวันนี้อาจชอบพรุ่งนี้ก็ได้  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสท่านทรงทำแบบฉันท์  ในภาษาบาลีดัดแปลงเป็นไทยไว้หลายอย่าง  แต่ที่เราชอบแลเลือกแต่งตามแบบของท่านก็มีไม่กี่อย่างนัก  ส่วนการให้อะไรแก่ใครนั้น  ควรให้แต่สิ่งซึ่งผู้ให้นึกว่าผู้รับจะชอบ  ถ้าเรานึกว่าเขาจะชอบ  แต่เขาไม่ชอบ  ก็เป็นอันจนใจ  เราได้เพียรเต็มที่แล้ว  ความผิดควรเป็นของเขาที่ไม่ไปขอคนอื่น  เมื่อพะวงจะให้ถูกใจผู้ขอฉะนี้  จึ่งคิดแบบเติมสัมผัสลงอีก  แล้วลองแต่งดูใหม่  ได้ฉันท์อีกชนิดหนึ่ง  ซึ่งเคยตั้งชื่ออย่างอื่น  แต่บัดนี้จะขนานนามใหม่ว่า  “สยามมณีฉันท์”  ดังนี้

           "สยามมณีฉันท์ ๘"

                ชโยสยามยามจะรุ่น
           สยามดรุณจะเร็วเจริญ
           ณ คราจะเรียนก็เพียรจะเพลิน
           ฤใครจะเกินสยามดรุณฯ

                กุมาระไทยไฉนจะหลง
           จะลืมพระองคะรงสกุล
           สยามะรัฐอุบัติเพราะบุญ
           พระเดชพระคุณพระราชวงศ์ฯ

                ดรุณสยามมิคร้ามอุสาห์
           หทัยจะหาวิชาประสงค์
           ประเทศจะงามสยามจะยง
           จะมั่นจะคงก็เหตุวิชาฯ

                ชโยสยามอร่ามอโข
           ดรุณจะโตจะเติบสิขา
           สยามจะอยู่มิรู้ชรา
           กระเดื่องวิชาวิชัยชโยฯ

           ฉันท์สยามมณีตามตัวอย่างข้างบนนี้วิธีสัมผัสก็กลอนแปดเรานี่เอง  แต่เป็นกลอนแปดซึ่งบังคับครุลหุเคร่งครัด  จึงต้องเรียกว่าฉันท์  เป็นฉันท์อย่างยากเพราะบังคับสัมผัสมากกว่าฉันท์ชนิดอื่น ๆ  หรือถ้าจะเรียกว่าเป็นกลอน  ก็เป็นกลอนอย่างยากเพราะบังคับครุลหุ  แต่ถ้าลองแต่งดูจริง ๆ ก็ไม่ยากเหมือนที่เห็น  เชิญท่านลองแต่งดูเถิด

           เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้แต่งฉันท์แบบนี้ลงในหนังสือพิมพ์รายเดือนฉบับหนึ่ง  แต่ผู้แต่งไม่ได้วางครุลหุตามตำแหน่งที่บังคับไว้  จึ่งไพเราะน้อยไปเพราะไม่เต้น  ขอให้ลองดูใหม่  เมื่อแต่งแล้วถ้าสงสัยตรงไหนจะส่งมาหารือเจ้าของแบบก็ได้  ถ้าพูดตามใจเจ้าของแบบก็ออกจะชอบสยามวิเชียรมากกว่าสยามมณี  เพราะอาจแต่งให้ไพเราะได้โดยไม่ต้องบังคับสัมผัสมากนัก”

           กำเนิดของฉันท์แบบใหม่ซึ่งดัดแปลงมาจากแบบอังกฤษมีดังที่กล่าวมานี้  การที่นำมาเล่าในที่นี้ก็ออกจะผิดที่  แต่ที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อจะฝากฉันท์แบบใหม่ ๓ ชนิดไว้ในสมุดนี้ไปพลาง  มิฉะนั้นจะทิ้งหายเสีย ในภายหน้าอาจมีชนิดใหม่ ๆ มาอีก  เมื่อมีมากพอก็อาจรวมรวมเป็นสมุดเล่มหนึ่งได้”

           ที่มาของสยามมณีฉันท์แปดตามความในพระนิพนธ์ขของท่าน  น.ม.ส.  ที่นำมาแสดงทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นบรรทัดฐานการเขียนฉันท์ของนักเลงฉันท์ทั้งหลาย  เคยพบเห็นหลายครั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า  มีผู้เขียนฉันท์นี้ผิดฉันทลักษณ์ที่ท่าน  น.ม.ส.  ทรงนิพนธ์เป็นแบบไว้  ในจำนวนนั้น  มีท่านรพินทร์ พันธุโรทัย (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) รวมอยู่ด้วย  ผู้เขียน (คือกระผมเอง)  ได้ทักท้วงไป  ท่านรพินทร์เป็นบัณฑิต  รู้ว่าผิดพลาดไปแล้ว  ท่านรีบแก้ไขโดยไม่แก้ตัว (แก้แค้น)  ใด ๆ  ภายหลังท่านรพินทร์เป็นคนที่เขียนสยามมณีฉันท์ได้ถูกต้องและดีที่สุด.

อภินันท์ นาคเกษม
บ้านกลอนน้อย / ตรวจ / บันทึก
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต


หัวข้อ: Re: สยามมณีฉันท์ ๘ : กำเนิดสยามมณีฉันท์ ๘
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 20, พฤศจิกายน, 2561, 12:08:25 AM


        สำหรับ "สยามมณีฉันท์ ๘" นั้น  เคยมีกระแสกล่าวว่าไปพ้องกับ  "ปมาณิกฉันท์ ๘"  นั้น  เมื่อได้อ่านและทราบโครงสร้างโดยแท้จริง  เมื่อนำมาเทียบกัน  โดยเฉพาะจุดสำคัญ  คือ  สัมผัสท้ายวรรคหนึ่งกับท้ายวรรคสี่  และ  สัมผัสท้ายวรรคสองกับท้ายวรรคสาม  ซึ่งเป็นสัมผัสแบบกลอนอังกฤษ  ซึ่งต่างกับ ปมาณิกฉันท์ ๘  อย่างชัดเจน  สำหรับข้าพเจ้าแล้ว  กระแสนั้นที่ว่าไปพ้องกันนั้น จึงตกไปอย่างสิ้นเชิง