บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 05, พฤษภาคม, 2562, 08:16:26 PM



หัวข้อ: "คุณพุ่ม" บุษบาท่าเรือจ้าง โฉมงามคารมดุ
เริ่มหัวข้อโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 05, พฤษภาคม, 2562, 08:16:26 PM


(https://i.ibb.co/2ZK0194/ecye.jpg) (https://imgbb.com/)
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขวา) วัดคฤหบดีอาวาส สร้างบนที่ดินบริเวณบ้านเดิมของจางวานภู่

ถ้าพูดถึงสตรีที่อยู่นอกเหนือจากกรอบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม
ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชื่อของ “คุณพุ่ม” ย่อมต้องเป็นที่รู้จัก
ในฐานะสตรีที่ไม่เพียงรูปโฉมงดงามแล้ว ยังมีคารมคมคาย
กล้าโต้ตอบวาจาอย่างเผ็ดร้อนไม่เกรงกลัวใคร
ชื่อเสียงแพร่กระจายในหมู่นักเลงกลอน ให้แวะเวียนมาต่อคารมกันไม่ขาดสาย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ขนมธรรมเนียมประเพณีในแต่ละสมัย
เป็นเครื่องกำหนดคุณสมบัติของสตรี ซึ่งมักวางกรอบคุณสมบัติสำคัญของสตรี
ให้ต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน ทำงานบ้านเรือน
แต่สำหรับคุณพุ่ม ธิดาของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) กลับอยู่นอกเหนือกรอบนั้น

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย บรรยายในหนังสือ “ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก” ว่า
ด้วยความที่บิดาของคุณพุ่ม เป็นผู้มีฐานะ และเป็นคนโปรดปรานของ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระยาราชมนตรีบริรักษ์เดิมทีเป็นข้าหลวงคนสนิท
เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์)
ยิ่งทำให้คุณพุ่ม ที่มีความงามเป็นที่เลื่องลือ และมีความสามารถ
ในการแต่งบทสักรวาได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นสตรีที่คุณสมบัติพิเศษ
มั่นใจในตัวเอง ความคิดอ่านแตกต่างจากสตรีร่วมสมัยในยุคนั้น

บิดาของคุณพุ่มนำธิดาถวายตัวเข้ารับราชการเป็นข้าราชสำนักฝ่ายใน
เป็นเจ้าพนักงานพระแสง ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสตรีร่วมสมัย
คุณพุ่มเป็นผู้รักอิสระเสรี ไม่ชอบอยู่ในกรอบประเพณี จึงกราบถวายบังคมลากลับบ้าน
โดยอ้างว่าไม่สบาย เวลาที่อยู่ในที่พักอาศัยก็มักให้ความสนิทสนมกับผู้ชื่นชอบในเชิงกลอนกวี
แน่นอนว่ากลุ่มนี้ก็มักเป็นบุรุษในสังคมชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชสำนัก หรือเสนาบดี

ครั้งหนึ่งคุณพุ่ม โต้ตอบกับกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
นักเพลงยาวและสักรวาแถวหน้าในสมัยนั้น ก็โต้คารมกันอย่างดุเดือด
หลังจากกรมหลวงภูวเนตรฯ ยั่วเย้าด้วยคารม 2 แง่ ว่า

    “สักรวาวันนี้ที่สังเกต
    เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
    มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา…”


ส่วนคุณพุ่มโต้กลับด้วยคารมที่มีความหมายค่อนข้างรุนแรงว่า

    “สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม
    นี่ฤากรมภูวเนตรฯ เศษสวรรค์
    เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน
    เหมือนย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กตำ…”


การโต้ตอบนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุที่สะท้อนว่า
ทำไมคุณพุ่ม จึงมีชื่อลือเลื่องในหมู่นักเลงกลอน
และมักมีบุรุษเวียนมาต่อความ หาความเพลิดเพลิน
และสัมผัสรสหวานเปรี้ยวคลุกเผ็ดร้อนอยู่บ่อยครั้ง

ศันสนีย์ บรรยายว่า ในบรรดาบุรุษที่เวียนมา ณ แพท่าพระ
ที่อยู่เดิมของสุนทรภู่ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระราชทานให้เป็นที่อยู่ของจางวางภู่
(นามเดิมของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ บิดาของคุณพุ่ม)
ในจำนวนนี้มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์
และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ครั้งยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ รวมอยู่ด้วย

การใช้สักรวาเป็นสื่อกลางในการแลกไมตรี
ทำให้คุณพุ่มสนิทสนมกับกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ อย่างเปิดเผย
เมื่อเล่นสักรวาเรื่องอิเหนา

ศันสนีย์ บรรยายว่า ผู้ว่าสักรวาบทอิเหนาคือกรมขุนอิศเรศรังสรรค์
ส่วนบทบุษบาก็คือคุณพุ่ม เชื่อว่าสมญา “บุษบาท่าเรือจ้าง” ก็น่าจะมาจากการเล่นสักรวาบทนี้

นอกจากวีรกรรมข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นที่เล่าขานกันต่อมาคือ
เรื่องเล่นเข้าแย่งพระแสงดาบจากกรมขุนอิศเรศรังสรรค์
ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบประเพณีในสมัยนั้น จนเป็นที่โจษจันกันแพร่หลาย
หมื่นนิพนธ์พจนนาดด์ (ดิศ) ผู้เป็นอาลักษณ์เมื่อพ.ศ. 2420
ก็ยังเล่นสักรวาถวายหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยที่เวลานั้น พระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตนานกว่า 10 ปีแล้ว

    “สักรวาปันหยีครูเจ้าชู้ใหญ่
    แลเห็นไก่แพ้วิ่งนึกกริ่งจิต
    อุณากรรณคนนี้เคยมีฤทธิ์
    เมื่อครั้งติดสักรวาที่ท่าช้าง
    แต่ยังสาวคราวเป็นบุษบา
    ยังเข้าคร่าดาบอิเหนาเอามาบ้าง
    อิเหนาเก่งนักเลงแท้ยังแพ้นาง
    นี่อย่าวางเม็ดเหมือนคราวเป็นสาวเอย”


ครั้งนั้นคุณพุ่มโต้ว่า

    “สักรวาอุณากรรณเทวัญแปลง
    แอบนั่งแฝงมุลี่ทำทีเก้อ
    ไก่ปันหยีตีแพ้ชะแง้เง้อ
    คนร้องเออเสียงอึงตะลึงแล
    ไก่เป็นรองร้องว่าเรื่องท่าพระ
    พูดเกะกะว่ากล่าวความเก่าแก่
    ว่าไปแย่งดาบฝรั่งที่หลังแพ
    พูดให้แน่นะปันหยีข้อนี้เอย ฯ”


นอกเหนือจากบทสักรวาที่ผู้คนจดจำเล่าขานกันแล้ว
บทกวีของคุณพุ่ม ว่าด้วยคำอธิษฐาน 12 ข้อ
ก็เป็นอีกหนึ่งกวีที่สะท้อนอุปนิสัยที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าและอารมณ์ขัน
ไปจนถึงแนวคิดต่อบุคคลแวดล้อมของคุณพุ่มได้ (อ่านเพิ่มเติม เรื่องคำอธิษฐานของคุณพุ่ม คลิก (https://www.silpa-mag.com/culture/article_8015) )

หลังกาลเวลาผ่านวัยสาวที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระเต็มที่
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าคุณพุ่มปลงใจรักชายใด
ช่วงท้ายของชีวิตคุณพุ่ม  อยู่ในอุปการะของสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเสียชีวิตเมื่อใด


อ้างอิง:

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ