บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา => ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤศจิกายน, 2562, 10:45:59 PM



หัวข้อ: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤศจิกายน, 2562, 10:45:59 PM
(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/Nn.jpg) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1335)
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ : เมืองแกลง ระยอง

-  ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑ -

พระสุนทรโวหารนามหวานหู
เดิมชื่อภู่งานกวีมิล้าสมัย
เป็น“อาลักษณ์ขี้เมา”แต่เชาว์ไว
ซึ่งชาวไทยรู้ดีกลอนมีมนต์

ยี่สิบหกมิถุนาฟ้าสลัว
ทราบกันทั่วว่าสู่ฤดูฝน
เด็กชายหนึ่งตาแป๋วแววซุกซน
ปรากฏตนดูโลกด้วยโชคพา

เป็นมหาดเล็กวังหลังครั้ง”รอหนึ่ง”
“รอสอง”จึงปรากฏมียศฐาน์
“ขุนสุนทรโวหาร”เปรื่องปัญญา
พระราชายกเด่นเป็นอาลักษณ์

ครั้ง “รอสาม”ความซนส่งผลให้
ท่านยากไร้ที่พึ่งถึงทุกข์หนัก
บวชเป็นสงฆ์วัดมีเป็นที่พัก
แล้วโยกยักย้ายเหร่อนเร่ไป

ครั้ง “รอสี่”พ้นทุกข์สบสุขสม
เป็น “เจ้ากรมอาลักษณ์”วังหน้าได้
“พระสุนทรโวหาร”สราญใจ
ทิ้งงานไว้ทั้งหมดเป็นบทกลอน

นิยายนิราศภาษิตไม่ผิดหลัก
ล้วนประจักษ์จริงอยู่เป็นครูสอน
ไม่มีใครกล้าขัดค้านตัดทอน
ทุกวรรคตอนสูงค่าไร้ราคี

...................... เต็ม อภินันท์


          สืบต่อเนื่องมาจากกระทู้      - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -   คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44587#msg44587)   ที่ดำเนินมาถึงเรื่องราวของกวีเอกสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒)

          อภิปราย ขยายความ.......................

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทุกท่านทราบว่าท่านทรงเป็นนักกวี  ทรงตั้งนักกวีเป็นที่ปรึกษาในการพระราชนิพนธ์บทละคร  จนเรียกได้ว่ายุคของพระองค์เป็น  “ยุคทองของวรรณกรรม”  มีนักกวีในราชสำนักมากมาย  ในบรรดานักกวีที่ปรึกษานั้น   “ขุนสุนทรโวหาร”   เป็นกวีคนโปรดของพระองค์  ท่านผู้นี้คนไทยรู้จักและเรียกกันว่า  “สุนทรภู่”  ชีวิตและงานของท่านน่าศึกษามาก  ดังนั้น  จึงใคร่นำประวัติชีวิตละงานของท่านมาให้ทราบกันดังต่อไปนี้

          สุนทรภู่เป็นนามที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันมากกว่านักกวีท่านอื่น ๆ  แต่ประวัติของท่านไม่ชัดเจนเท่าที่ควร  โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพื้นเพหรือชาติกำเนิดของท่าน  แต่เดิมทีนั้นเราจดจำกันมาว่าสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ  เมืองแกลง  แขวงระยอง  ต่อมาภายหลังมีคนค้านด้วยหลักฐาน  คือบทกลอนที่ท่านเขียนบอกไว้เองว่า  ท่านไม่ใช่คนบ้านกร่ำ  เมืองแกลง  แขวงระยอง  เป็นคำคัดค้านที่น่ารับฟัง  ชาติภูมิของท่านผิดถูกอย่างไร  ขอสรุปรวมให้พิจารณาได้ดังนี้

          พระสุนทรโวหาร  เจ้ากรมอาลักษณ์ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระราชวังบวรสถานมงคล  มีนามเดิมว่า  ภู่  เกิดเมื่อ วันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘   ตรงกับ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๒๙ เวลา ๐๘.๐๐ น. (โดยประมาณ) ณ วังหลัง  ด้านริมคลองบางกอกน้อย (คือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราช  สถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน)  หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๒ ปี

          บิดาเป็นชาวแกลง  แขวงระยอง (เป็นคนเชื้อชาติชอง)  มารดาเป็นชาวเพชรบุรี (เชื้อสายพราหมณ์)  บิดารับราชการเป็นข้าในกรมพะราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง)  มารดาเป็นแม่นมพระธิดาในพระราชวังหลัง  และเมื่อมารดาตั้งครรภ์นั้นเกิดการหย่าร้างขึ้น  โดยบิดา (ขุนศรีสังหาร) ลาออกจากราชการกลับบ้านเกิด  อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่วัดที่วัดกลางกร่ำ  บ้านกร่ำ  เมืองแกลง  แขวงระยอง

(https://i.ibb.co/P9FrgHk/40-Wat-Srisudaram.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ : วัดศรีสุดาราม กรุงเทพฯ

          มารดาได้สามีใหม่และมีลูก ๒ คน  เป็นหญิง  ชื่อฉิม  กับ  นิ่ม  สุนทรภู่อยู่กับมารดาในวังหลัง  เมื่อเจริญวัยควรแก่การศึกษาเล่าเรียนแล้ว  ได้เข้าเรียนหนังสือไทยในสำนักวัดชีปะขาว  ริมคลองบางกอกน้อย (รัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามใหม่ว่า  วัดศรีสุดาราม)  และถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ทำงานเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน

          เสมียนภู่  ชอบแต่งกลอน  สันทัดในการบอกสักวา  ดอกสร้อย  ความที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนมีคารมคมคายเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป  เป็นเหตุให้ลักลอบได้เสียกับหญิงข้างในผู้ชื่อจัน  จนถูกกริ้วต้องจำเวนทั้งคู่  ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๒๓๔๙  กรมพระราชวังหลังทิวงคต  จึงพ้นโทษจำเวน

(http://i.ibb.co/zSbTmx2/images-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อพ้นโทษแล้วในราวเดือนกรกฎาคม ๒๓๕๐  ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหาบิดา (หลวงพ่อ) ที่วัดกลางกร่ำ  เมืองแกลง  แขวงระยอง  ซึ่งเวลานั้นท่านบวชได้ ๒๐ พรรษาเศษ  ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมภารวัดบ้านกร่ำ  และเป็นเจ้าคณะแขวง (เจ้าคณะอำเภอ) เมืองแกลง  รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นที่ พระครูอารัญธรรมรังสี  การเดินทางไปหาหลวงพ่อคราวนี้  ได้เขียนกลอนยาวเป็น  “นิราศ”   ขึ้นเรื่องแรกชื่อว่า    นิราศเมืองแกลง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6421.msg22104#msg22104)   ในนิราศเรื่องนี้มีบางวรรคบางตอนที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าท่านเป็นชาวบ้านกร่ำเมืองแกลง  เช่น

“ถึงหย่อมย่านบ้านกร่ำพอค่ำพลบ
ประสบพบเผ่าพงศ์พวกวงศา
ขึ้นกระฏีที่สถิตท่านบิดา
กลืนน้ำตาไม่ฟังยังพรั่งพรู”

          คำที่ว่า  พบเผ่าพงศ์พวกวงศา  เป็นความชัดเจนว่าได้พบ  “โคตรญาติ”  ของตน  และในบทต่อไปดูเหมือนจะไม่พอใจในความเป็นญาตินั้นว่า

“ดูหนุ่มสาวชาวบ้านกร่ำรำคาญจิต
ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานหว่านเครือเป็นเชื้อชอง
ไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น”

          * * โคตรญาติฝ่ายบิดาของท่านเป็นคนเชื้อชาติชอง  ท่านผู้อ่านคงสงสัยนะครับว่าคนชาติเชื้อ  ชอง  นี่เป็นอย่างไร  เอาไว้ว่ากันในวันพรุ่งก็แล้วกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, พฤศจิกายน, 2562, 10:32:28 PM
(https://i.ibb.co/MghwTwM/cover-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒ -

ญาติทางฝ่ายบิดาพากันโอ๋
เป็นนาโถตามประสาน้าน้องพี่
สองหลานสาวม่วงคำน้ำใจดี
ปรนนิบัติพัดวีทุกวี่วัน

คงมิใช่หลานแท้แต่กำเนิด
หลานจึงเกิดหึงหวงอยู่หุนหัน
ต้องกราบลาหลวงพ่อกลับโดยพลัน
อยู่ร่วมกันอย่างไรเล่าญาติชาวชอง

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของสุนทรภู่  ว่าท่านมีบิดาเป็นชาวชองบ้านกร่ำ  เมืองแกลง  แขวงระยอง  มารดาเป็นชนเชื้อพรามณ์เมืองเพชรบุรี  บิดามารดาย้ายจากบ้านเดิมมาพบกันในพระราชวังหลัง  เมื่อมารดาตั้งครรภ์ใกล้คลอด  บิดาลาออกจากราชการกลับไปบวชที่วัดบ้านกร่ำ  เมืองแกลง  สุนทรภู่เกิดในวังหลัง  เล่าเรียนในสำนักวัดชีปะขาว (ศรีสุดาราม)  เป็นเสมียนในพระราชวังหลัง  ลักลอบได้เสียกับจันทร์  จนถูกกริ้ว  จำขังทั้งคู่  ครั้นพระราชวังหลังทิวงคตจึงพ้นโทษ  ออกจากการจองจำแล้วเดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง...... วันนี้มาดูเรื่องราวของท่านต่อไปครับ

          ท่านสุนทรภู่เขียนบอกไว้ใน    นิราศเมืองแกลง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6421.msg22104#msg22104)   ชัดเจนว่า โคตรญาติทางฝ่ายบิดาที่บ้านกร่ำเมืองแกลงนั้นเป็นชาวชอง   “ชอง”  เป็นชื่อของชนเผ่าอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง  มีถิ่นฐานอยู่แถบชายทะเลฝั่งตะวันออกของไทย  แสดงว่าพระครูอารัญธรรมรังสี  หลวงพ่อของเสมียนภู่นั้นเป็นคนเชื้อชาติชอง

          เป็นไปได้ว่า  สมัยเมื่อพระยาตากสินหนีพม่ามาตั้งหลักที่เมืองจันท์  ชาวไทย  ชาวชอง  แถบชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย  ได้ถูกกวาดต้อน  หรือไม่ก็สมัครใจเข้าร่วมกับกองทัพพระยาตากสิน  เพื่อรบพม่ากอบกู้ชาติบ้านเมืองไทย

          หนุ่มชาวชองซึ่งต่อมาเป็นบิดาของสุนทรภู่นั้น  ก็ได้เข้าร่วมในกองกำลังพระยาตากสินด้วย  เขาได้ร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากสินรบไทยก๊กต่าง ๆ และพม่า  จนมีความดีความชอบในราชการสงครามได้บรรดาศักดิ์เป็นที่ขุนศรีสังหาร  แล้วลาออกมาบวชเป็นพระภิกษุในที่สุด  ปัจจุบันชาวชองแถบฝั่งทะเลตะวันออกถูกชนชาติและวัฒนธรรมประเพณีไทยกลืนกินความเป็นชนชาติชองจนจวนเจียนจะหมดสิ้นไปแล้ว

          มีคำกลอนที่บ่งบอกว่าสุนทรภู่มีญาติเป็นชนเชื้อชาติชอง  ซึ่งเป็นชาวบ้านกร่ำอีกแห่งหนึ่งว่า

“ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ
ม่วงกับคำกลอยจิตขนิษฐา
เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนยา
ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาน”

          คำว่า  หลานม่วงกับคำแล้วต่อด้วย  “เป็นวงศ์วาน”  ฟังแล้วก็เข้าใจว่า  คนชื่อม่วง  ชื่อคำ  สองคนนั้นเป็นญาติมีฐานะอยู่ระดับหลาน  แต่พออ่านต่อไปก็พบว่า  ม่วง  กับ  คำ  สองนางนั้นไม่น่าจะเป็นญาติของท่าน  ที่เรียกว่าหลานนั้นก็เรียกกันด้วยนับถือเท่านั้น  กลอนที่ปฏิเสธความเป็นญาติคือบทต่อไปนี้

“ครั้นหายเจ็บเก็บดอกไม้มาให้บ้าง
กลับระคางเคืองข้องทั้งสองหลาน
จะว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมลาน
ไม่ประสานสโมสรเหมือนก่อนมา

ก็จนจิตคิดเห็นเป็นคราวเคราะห์
จึงจำเพาะหึงหวงพวงบุปผา
ต้องคร่ำครวญรวนอยู่ดูเอกา
ก็เลยลาบิตุรงค์ทั้งวงศ์วาน

ออกจากย่านบ้านกร่ำช้ำวิโยค
กำสรดโศกเศร้าหมองถึงสองหลาน
เมื่อไข้หนักรักษาพยาบาล
แต่นี้นานจะได้มาเห็นหน้ากัน

ครั้นจะมิหนีมาจะลาเล่า
จะสร้อยเศร้าโศกาเพียงอาสัญ
จึงพากเพียรเขียนคำเป็นสำคัญ
ให้สองขวัญเนตรนางไว้ต่างกาย

อย่าเศร้าสร้อยคอยพี่เพียงปีหน้า
จึงจะมาทำขวัญเหมือนมั่นหมาย
ไม่ทิ้งขว้างห่างให้เจ้าได้อาย
จงครองกายแก้วตาอย่าอาวรณ์”

          คำกลอนตอนนี้ได้ความชัดว่า  “ม่วง-คำ”  สองหลานสาวนั้น  มิใช่หลานแท้ ๆ ของสุนทรภู่  หากแต่เป็นหญิงสาวที่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างลึกซึ้ง  ครั้นสองสาวเกิดหึงหวงกันขึ้น  แมลงภู่หนุ่มก็ปวดหัวแก้ปัญหาไม่ตก  ต้องตัดสินใจ  “บินหนี”  กลับบางกอก  แล้วเขียนกลอนฝากสองสาวไว้แทนกาย  โดยสัญญาว่าจะกลับมาอยู่เคียงข้างเหมือนมั่นหมาย  ไม่ทิ้งขว้างให้ได้อับอายผู้คน......

          * ควรเป็นที่ยุติได้ว่า  บิดาของท่านสุนทรภู่เป็นชาวชอง  บ้านกร่ำ  เมืองแกลง  เข้าเป็นทหารร่วมรบอยู่ในกองทัพพระเจ้าตากสิน  มีความดีความชอบจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นที่  ขุนศรีสังหาร  เมื่อสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว  ขุนศรีสังหารรับราชการอยู่ในกรมพระราชวังหลัง  ได้ภรรยาเป็นสาวเชื้อพราหมณ์เมืองเพชรบุรีที่ตามอพยพมากับญาติซึ่งเป็นเจ้าครอกกรมพระราชวังหลัง  และเป็นนางนมในพระราชวังหลัง

          ต่อเมื่อภรรยามีครรภ์ใกล้คลอด  เกิดขัดใจกันจนขุนศรีสังหารตัดใจลาออกจากราชการ  กลับไปบวชเป็นภิกษุอยู่วัดกลางกร่ำ  อยู่มาจนได้เป็นพระครูอารัญธรรมรังสี  ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองแกลง  ในปีที่เสมียนภู่พ้นโทษแล้วเดินทางไปหาหลวงพ่อที่เมืองแกลงนั้น  ท่านบวชได้ ๒๐ พรรษาพอดี  และเสมียนภู่ก็มีอายุครบ ๒๐ ปี เช่นกัน

สรุปว่า  สุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ  เมืองแกลงไหม ?
ยังสรุปไม่ได้นะ  เพราะเหตุใด  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, พฤศจิกายน, 2562, 10:38:21 PM
(https://i.ibb.co/rHDHZLL/61639248-2401229113242415-8147679017802137600-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓ -

ความแน่ชัดเชื่อได้ว่าไม่ผิด
ญาติสนิทฝ่ายบิดามาเกี่ยวข้อง
ชาวบ้านกร่ำเมืองแกลงแขวงระยอง
ญาติพี่น้องฝ่ายพ่อมากพอควร

พ่อจึ่งเป็นชาวชองระยองแน่
หากแต่แม่มิใช่แยกไว้ส่วน
ตามไปดูสายแม่มิแปรปรวน
เชื้อพราหมณ์ล้วนรามราชเพชรบุรี

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของสุนทรภู่ว่า  ท่านเดินทางไปหาบิดาที่บวชเป็นพระอยู่วัดบ้านกร่ำ  เมืองแกลง  พบญาติพี่น้องทางฝ่ายบิดาที่เป็นชนชาติเชื้อชอง  อยู่กับหลวงพ่อได้เพียงเดือนเศษ  ก็กราบลาเดินทางกลับบางกอก  การไปพบหลวงพ่อที่เป็นชนชาวชองที่บ้านกร่ำเมืองแกลงนั้น  ผมได้จบลงด้วยคำถามว่า  ยืนยันได้หรือยังว่าท่านสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ  เมืองแกลง  แขวงระยอง  และตอบเองว่า  ยังยืนยันมิได้  เพราะเหตุใด  วันนี้มาดูเรื่องราวของรัตนกวีไทย  กวีเอกของโลกท่านนี้ต่อไปครับ

          ความที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า  สุนทรภู่มีเชื้อสายเป็นชาวชอง  เพราะบิดาเป็นคนเชื้อชาติชองแห่งเมืองแกลงอย่างไม่ต้องสงสัย  ส่วนตัวสุนทรภู่นั้น  แม้จะมีเชื้อชาติเป็นคนชอง  แต่ก็ไม่ใช่คนชองเมืองแกลง  เพราะท่านเกิดที่วังหลังริมคลองบางกอกน้อย  เป็นคนกรุงเทพฯ โดยมีมารดาเป็นชาวเพชรบุรี  ดังความที่ท่านเขียนไว้ด้วยตนเองในนิราศเมืองเพชร  ซึ่งอาจารย์ล้อม  เพ็งแก้ว  ปราชญ์อิสระแห่งเมืองเพชรค้นพบได้จากหอสมุดแห่งชาติ  มีบางวรรคบางตอนผิดไปจากนิราศเมืองเพชรฉบับเดิมที่มีการตีพิมพ์เผยแผ่ไปแล้ว  นิราศเรื่องนี้เชื่อกันว่าเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่านสุนทรภู่  มีคำกลอนบ่งบอกว่าท่านเป็นชาวเมืองเพชรอยู่หลายตอน  จะยกมาแสดงพอสังเขปดังต่อไปนี้

“แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง
ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย
เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย
แสนเสียดายดูน่านึกอาลัย

ครั้นมาถึงหน้าบ้านคุณหม่อมบุนนาค
เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มาเมื่อครั้งคราวพระวังหลังครรไล
มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาแล้วหาคู่
จะขอสู่ให้เป็นเชื้อช่วยเกื้อหนุน
ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ
ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวคน

ทั้งนารีที่ได้รักลักรำลึก
เป็นแต่นึกกลับหลังหลายครั้งหน
ขอสมาอย่าได้มีราคีปน
เป็นต่างคนต่างแคล้วก็แล้วไป

แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต
แสนสนิทนับเนื้อว่าเชื้อไข
จะแวะหาสารพัดยังขัดใน
ต้องอายใจอำลากลัวช้ากาล”

                    และยังมีอีกตอนหนึ่งความว่า

“เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก
ครั้นจะทักเล่ากลัวผัวจะหึง
ได้เคยเป็นเห็นฝีมือมักดื้อดึง
จะตูมตึงแตกช้ำระยำเยิน

ทั้งพี่นางปรางใหญ่ได้ให้ผ้า
เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ
ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ
ยังเชื้อเชิญชวนชักรักอารมณ์”

          ท่านกล่าวถึงบุคคลต่าง ๆ ที่คุ้นเคยกันคราวเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (พระวังหลังในบทกลอนนี้) ทิวงคต  หม่อมบุนนากกลับมาทำนาทำไร่อยู่ที่บ้านเดิม  สุนทรภู่กราบลาหลวงพ่อพระครูอารัญธรรมรังสี  จากเมืองแกลงแขวงระยอง  ถึงบางกอกแล้วท่านมิได้พักอยู่กับมารดาในวังหลังอันเป็นบ้านเกิด  หากแต่เลยไปหาหม่อมบุนนาก  ที่ท่านจากบางกอกมาอยู่เพชรบุรีบ้านเดิมของท่าน  โดยช่วยหม่อมบุนนากทำนาทำไร่   ได้พึ่งพาอาศัยหม่อมบุญนาก (ในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข)  ดังความแจ้งในคำกลอนนั้นแล้ว

          มีความในสำนวนกลอนนิราศเมืองเพชรที่พบใหม่ให้รายละเอียดชัดเจนว่าท่านเป็นชาวเพชรบุรี  ว่าดังนี้

“มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ
ต้องไปล่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป
บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช
ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวสถานศาลสถิตอิศวรา
เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ

ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่
แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน
จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ
เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ยาพวกตายาย
ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

แต่ตัวเราเข้าใจได้ไต่ถาม
จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน
จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน
ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน

จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ
ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ
ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์
สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ...”


          เป็นคำบรรยายที่ชัดเจนว่า  การเดินทางไปเมืองเพชรครั้งนี้  ได้พบปะผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยกันมาเมื่อครั้งที่จากกรุงเทพฯ ไปทำนาทำไร่อาศัยใบบุญหม่อมบุนนาก  เคยลักรักกับหญิงบางคนด้วย  ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็ไปวอนขอท่านยายชื่อคำให้พาไปที่บ้านเก่า  ซึ่งเป็นบ้านประตูไม้ไผ่  อันเป็นบ้านของ พราหมณ์รามราช  โคตรญาติฝ่ายมารดาของท่าน  ยังมีหลักฐานสำคัญคือศาลพระศิวะ  เสาชิงช้าคงอยู่  ท่านบอกว่าบ้านพราหมณ์รามราช  โคตรญาติฝ่ายมารดาของท่านนั้น เกิด  “บ้านแตกสาแหรกขาด”  เพราะกรุงแตก  แยกย้ายพลัดพรายกัน  กลุ่มมารดาของท่านแตกจากเพชรบุรีเข้าบางกอก  แล้วไม่ได้กลับไปเมืองเพชรอีกเลย  แม้กระนั้นก็สืบได้ว่าญาติทางฝ่ายมารดาของท่านยังหลงเหลืออยู่ที่เพชรบุรีไม่น้อยเหมือนกัน

          * พักเรื่องท่านสุนทรภู่ไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, พฤศจิกายน, 2562, 10:33:56 PM
(https://upic.me/i/3p/orzue2cerm21u-i7ymwc-o.jpg) (http://upic.me/show/62613014)
หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย นครปฐม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔ -

เชื่อได้ว่ามารดรสุนทรภู่
เกิดและอยู่เมืองเพชรบุรีศรี
เมื่อเติบใหญ่ย้ายตามญาติเชื้อผู้ดี
เข้าอยู่ที่วังหลังฝั่งกรุงธนฯ

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของท่านสุนทรภู่รัตนกวีของไทย  และกวีเอกของโลก  ถึงตอนที่ว่า  หลังจากที่ท่านกราบลาหลวงพ่อพระครูอารัญธรรมรังสี  จากเมืองแกลง  แขวงระยองแล้ว  ไม่พักอยู่กับมารดาในวังหลัง  หากแต่เลยไปอาศัยอยู่กับหม่อนบุนนาก  ในกรมพระราชวังหลัง  ซึ่งออกจากวังหลังไปอยู่บ้านเดิมของท่านที่เมืองเพชรบุรี  สุนทรภู่ไปอยู่บ้านหม่อมบุนนาก  ช่วยทำนาทำไร่  และสอนหนังสือลูกหลานชาวบ้าน  อยู่เป็นเวลานานพอสมควร  วันนี้มาดูเรื่องราวของท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ

          เนื้อความจากนิราศเมืองเพชรนี้ยืนยันได้ว่า  สุนทรภู่มีโคตรญาติเป็นเชื้อพราหมณ์รามราชอยู่ที่เพชรบุรี  ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา  จะเรียกว่า  เมืองแกลง แขวงระยอง เป็นเมืองพ่อ   เพชรบุรี เป็นเมืองแม่  ของสุนทรภู่ก็ไม่ผิดไปได้

          หรืออาจจะพูดว่า  สุนทรภู่มีชาติเชื้อชองผสมชาติเชื้อพราหมณ์  เป็นลูกครึ่งชองครึ่งพราหมณ์  งั้นเถิด!

          เมื่อพอจะสรุปได้ว่า  บิดาของสุนทรภู่เป็นชาติเชื้อชาวชองมีถิ่นฐานบ้านเดิมอยู่เมืองแกลง  แขวงระยอง   มารดาเป็นชาติเชื้อพราหมณ์รามราชมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเมืองเพชรบุรี  ทั้งสองย้ายมาอยู่กรุงธนบุรี  ได้พบและรักสมัครสมานกันที่วังหลัง  แล้วให้กำเนิดสุนทรภู่ที่วังหลังริมคลองบางกอกน้อย  สุนทรภู่จึงถือได้ว่าเป็นชาวบางกอกโดยแท้  ตอนพ้นโทษจำเวรแล้วเดินทางไปเมืองแกลง  พักอยู่กับหลวงพ่อได้ไม่นาน  ก็อยู่ได้ไม่เป็นสุขสบายนัก  ดังกลอนในนิราศเมืองแกลงของท่านเขียนไว้ว่า

“อยู่บ้านกร่ำทำบุญกับบิตุเรศ
ถึงเดือนเศษโศกซูบจนรูปผอม
ทุกคืนค่ำกำสรดสู้อดออม
ประนมน้อมพุทธคุณกรุณา

ทั้งถือศีลกินเพลเหมือนเช่นบวช
เย็นเย็นสวดศักราชศาสนา
พยายามตามกิจท่านบิดา
เป็นฐานานุประเทศธิบดี

จอมกษัตริย์มัสการขนานนาม
เจ้าอารามอารัญธรรมรังสี
เจริญพรตยศยิ่งมิ่งโมลี
กำหนดยี่สิบวสาถาวร....”

          ตามประวัติที่เรียนรู้กันมาแต่เดิมว่า  เมื่อสุนทรภู่กลับจากเมืองแกลงแล้ว  เจ้าครอกข้างใน (ชื่อทองอยู่) ยกนางจัน    “คู่รักคู่ใคร่  คู่จำเวร”   ให้เป็นภรรยา  แต่เมื่อได้อ่านนิราศเมืองเพชรที่ยกมาแสดงข้างต้นนั้นแล้ว  พบข้อความที่สันนิฐานได้ว่า  สุนทรภู่น่าจะร่อนเร่จากเมืองแกลงไปหาญาติทางฝ่ายมารดาที่เมืองเพชรบุรีดังกลอนนิราศที่ว่า

“ครั้นมาถึงหน้าบ้านคุณหม่อมบุนนาก
เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มาเมื่อครั้งคราวพระวังหลังครรไล
มาทำไร่ทำนาท่านการุญ”

          เป็นความชัดเจนที่ว่า  เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทิวงคต  สุนทรภู่พ้นโทษจำเวรแล้วเดินทางไปเมืองแกลง  อยู่เมืองแกลงได้เดือนเศษ  กลับบางกอกแล้วเห็นจะยังมิได้อยู่กับจัน   “คู่จำเวร”   แต่ท่านเดินทางต่อไปหาญาติฝ่ายมารดาที่เมืองเพชร  ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุนนาก  ท่านหม่อมผู้นี้เป็นหม่อมในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) บ้านเดิมอยู่เพชรบุรี  เห็นทีว่าจะอพยพเข้าบางกอกพร้อม ๆ กับมารดาของสุนทรภู่  ครั้นกรมพระราชวังหลังทิวงคตจึงกลับบ้านเดิม  สุนทรภู่กลับจากเมืองแกลงแล้วไปหาท่านอย่างผู้คุ้นเคย  จนมีอะไร ๆ กับหญิงชาวเพชรบุรีตามประสา  “แมลงภู่หนุ่ม”  ความในนิราศเมืองเพชรกล่าวว่า  ไปอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง  มีศิษย์สาวไปเรียนหนังสือและกลอนในถ้ำเพียงลำพังด้วย

          ต่อมาเห็นจะทนลำบากตรากตรำทำนาทำไร่ไม่ไหว  บวกกับคิดถึงจัน  ยอดชู้ที่วังหลังมากจนสุดทน  จีงกลับมาหามารดาที่วังหลัง  แล้วเจ้าครอกทองอยู่ก็ยกนางจัน  “คู่จำเวน  ”ให้เป็นคู่ครองอยู่กินด้วยกัน

          เป็นไปได้ว่าหม่อมบุนนากคือผู้มีส่วนฝากฝังให้เจ้าครอกทองอยู่ (ชายาในพระราชวังหลัง) ยกนางจันให้อยู่กินเป็นสามีภรรยากับสุนทรภู่

          สุนทรภู่อยู่กับ จัน ภรรยาคนแรกในวังหลัง  มีตำแหน่งเป็น  “ข้าวังหลัง”  มหาดเล็กรับใช้พระองค์เจ้าปฐมวงศ์  โอรสพระองค์น้อยในกรมพะราชวังหลัง ซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ (ระฆังโฆสิตาราม)  คราวที่พระภิกษุพระองค์เจ้าปฐมวงศ์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทในปลายปี พ.ศ. ๒๓๕๐ นั้น  สุนทรภู่ต้องตามเสด็จด้วย  ท่านได้แต่งกลอนยาวเป็นนิราศขึ้นชื่อว่า    นิราศพระบาท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6952.msg24292#msg24292)    เป็นเรื่องที่ ๒

          ในช่วงเวลานั้นเห็นที่ว่าจะเกิดการระหองระแหงกันกับจันผู้ภรรยา  ด้วยสาเหตุความยากจนและหึงหวง  ท่านบรรยายอารมณ์ค้างไว้ในนิราศนี้ว่า

“ได้เคืองแค้นแสนยากลำบากบอบ
ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน
แม้นกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นกายคน
ชื่อว่าจนจงจากกำจัดไกล

สตรีหึงหนึ่งแพศยาหญิง
ทั้งสองสิ่งอย่าได้ชิดพิสมัย
สัญชาติชายทรชนที่คนใด
ให้หลีกไกลร้อยโยชน์อย่าร่วมทาง

ถ้ารักใครขอให้ได้คนนั้นด้วย
บุญจงช่วยปฏิบัติอย่าขัดขวาง
อย่ารู้มีโรคาในสรรพางค์
ทั้งรูปร่างขอให้ราวกับองค์อินทร...”

          กลอน   นิราศพระบาท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6952.msg24292#msg24292)    มีอย่างไรบ้าง  อยากทราบก็ลองไปหาอ่านกันดูเถิด  วันนี้ขอพักเรื่องของท่านสุนทรภู่ไว้เพียงก่อน  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, พฤศจิกายน, 2562, 10:10:54 PM
(http://i.ibb.co/HKZ7dcx/9dfd.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕ -

เข้ารับราชการกรมอาลักษณ์
แจ่มประจักษ์งานกวีมากมีผล
เป็น“ขุนสุนทรหาร”ทะยานตน
ขึ้นเป็นคนโปรดปรานของราชา

..................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตละงานของท่านสุนทรภู่  ถึงตอนที่กลับจากเมืองเพชรบุรีแล้ว  เจ้าครอกทองอยู่อนุญาตให้อยู่กันเป็นสามีภรรยากับนางจัน  และได้เป็นมหาดเล็กพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ซึ่งผนวชอยู่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม)  พระภิกษุพระองค์เจ้าปฐมวงศ์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ท่าเรือ  มหาดเล็กภู่ก็ตามเสด็จด้วย  โดยเดินทางไปทางเรือ  ท่านได้แต่งกลอนยาวเป็นนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ    นิราศพระบาท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6952.msg24292#msg24292)    ดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น วันนี้มาดูวิถีชีวิตของท่านต่อไปครับ

          * เหตุที่สุนทรภู่จะได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์นั้น  พ.ณ.ประมวญมารค  ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ  “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่”  ว่าดังนี้

           “ ต่อมาประมาณกลางรัชกาลที่ ๒  เกิดมีการทอดบัตรสนเท่ห์กัน  นัยว่าสุนทรภู่ก็อยู่ในจำพวกที่ถูกสงสัย  และเหตุที่ได้เข้ารับราชการก็เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงตรวจสำนวนบัตรสนเท่ห์แล้ว  โปรดที่สุนทรภู่แต่ง  ในจำพวกบัตรสนเท่ห์ที่ว่าทอดกันในสมัยนั้น  มีโคลงจำกันได้บทหนึ่งว่า

๐ ไกรสรพระเสด็จได้.......สึกชี
กรมเจษฎาบดี................เร่งไม้
พิเรนแม่นอเวจี...............ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้.........แม่นแม้นเมืองทมิฬฯ"

          ความในโคลงว่าพระองค์เจ้าไกรสร (กรมหมื่นรักษรณเรศ)  ซึ่งทรงกำกับสังฆการี
 ได้สึกสมเด็จอะไรก็ลิม  และลงทัณฑ์โบย  โดยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้ทรงเฆี่ยน  สมเด็จที่ถูกสึกไปนั้น  เป็นอาจารย์กรมหมื่นศรีสุเรนทร์  พระองค์จึงถูกไต่สวนสวนว่าเป็นผู้แต่งโคลง  และที่ในโคลงมีใช้คำว่า   “ไป่”   ซึ่งเป็นคำที่โปรดใช้อยู่เป็นนิจ  ก็เลยถูกคุมขัง  แล้วประชวรสิ้นพระชนม์ปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๓๕๙”

          จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า  ความละเอียดในการสังเกตจับความจริงในสำนวนร้อยกรอง  และแม้ร้อยแก้วของนักแต่ง  จนได้รู้ชัดว่า  สำนวนนี้สำนวนนั้นเป็นผู้ใดเขียน  ท่านจับคำที่ว่า  ใครชอบใช้คำใดเป็นประจำบ้าง  อย่างในเรื่องนี้  พระองค์เจ้าไกรสรซึ่งเป็นกวีสำคัญท่านหนึ่ง  ชอบใช้คำว่า   “ไป่”   แทนคำว่า   “ไม่”   ใช้ในบทกวีเป็นประจำมากกว่าใคร ๆ  จึงถูกจับมาสอบสวนแล้วลงโทษด้วยจำนนต่อคำว่า   “ไป่”  นี้เอง  ปัจจุบันเราก็ใช้วิธีการนี้มาสอบสวนว่า  กลอนสำนวนใดเป็นของนักกลอนท่านใด (หมายถึงนักกลอนระดับแนวหน้าที่มีผลงานมากแล้ว)

          * ปี พ.ศ. ๒๓๕๒  เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์  ต่อมาไม่นานก็ได้เป็นหนึ่งในคณะกวีที่ปรึกษาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒)  และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่   "ขุนสุนทรโวหาร"   มีความดีความชอบในการช่วยแก้ปัญหาติดขัดในการพระราชนิพนธ์บทละครหลายครั้ง  จึงเป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๒)

(https://i.ibb.co/tXj6gPD/1434347980-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงนิพนธ์ประวัติสุนทรภู่ตอนนี้ไว้ว่าดังนี้

           “ เมื่อสุนทรภู่ได้เป็นอาลักษณ์แล้ว  มีเรื่องเล่ากันมาถึงสุนทรภู่ได้ทำความชอบในหน้าที่ว่า  ในสมัยนั้นกำลังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์  ถึตอนนางสีดาผูกคอตาย  บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑  ซึ่งเล่นละครกันมา  กล่าวบทนางสีดาตอนเมื่อจะผูกคอตายว่า

เอาภูษาผูกศอให้มั่น
แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรจำนงปลงใจ
อรไทก็โจนลงมา.....

                   ตอนนี้ถึงบทหนุมานว่า

บัดนั้น
วายุวายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา
ผูกคอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นดังเพียงสิ้นชีวิต
ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนตรงลงไป
ด้วยกำลังว่องไวทันที  (เชิด)

ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง
ที่ผูกศกองค์พระลักษมี
หย่อนลงยังพื้นปัถพี
ขุนกระบี่ก็โจนลงมาฯ" ......

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติว่าบทเก่าตรงนี้  กว่าหนุมานจะเข้าไปแก้ไขได้นานนัก  นางสีดาจะต้องตายเสียแล้ว  บทที่ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่  จึงคิดจะให้หนุมานเข้าไปแก้ได้โดยรวดเร็ว แต่งบทนางสีดาว่า

" จึงเอาผ้าพันกระสันรัด
เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่....

          ต่อไปนี้ก็เกิดขัดข้องว่า  จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาได้โดยเร็ว  เหล่ากวีซึ่งเป็นที่ทรงปรึกษา  ไม่มีใครสามารถจะแต่งบทให้พอพระราชหฤทัยได้  จึงลองทรงให้สุนทรภู่แต่งต่อไปว่า

" ชายหนึ่งผูกศออรไท
แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย

บัดนั้น
วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมายฯ "

ดังนี้ก็ชอบพระราชหฤทัย  ทรงยกย่องความฉลาดของสุนทรภู่"

          * * ความข้างต้นนี้  เป็นก้าวแรกที่สุนทรภู่ได้เป็นกวีคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พรุ่งนี้มาดูบทบาทชีวิตในราชสำนักของท่านสุนทรภู่ต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤศจิกายน, 2562, 10:47:01 PM
(http://upic.me/i/ms/8q801.jpg) (http://upic.me/show/62613015)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖ -

ทรงแต่งเรื่องรามเกียรติ์บทติดขัด
ด้วยจำกัดขอบภาพศัพท์ภาษา
ศึกสิบขุนสิบรถตระการตา
รถลงกาใหญ่เกินประเมินการณ์

สุนทรภู่แต่งต่อความพอเหมาะ
คำไพเราะสมภาพพจน์อาจหาญ
พระผ่านเกล้าปราโมทย์ทรงโปรดปราน
จึ่งประทานยศศักดิ์รักปรานี

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องของสุนทรภู่  ถึงตอนที่เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์  เหตุที่จะได้เป็นกวีคนโปรดนั้น  ก็เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์  โดยการนำบทเดิมที่มีมาแต่รัชกาลที่ ๑  มาแก้ไขดัดแปลง  ตอนแรกคือบทที่ว่าด้วยนางสีดาผูกคอตาย ซึ่งบทเดิมใจความเยิ่นเย้อ  จึงทรงแก้ให้กระชับเข้า  แต่ก็ติดขัด  ไม่มีกวีที่ปรึกษาคนใดช่วยต่อให้ถูกพระราชหฤทัยได้  ทรงให้สุนทรภู่ลองแต่งต่อดู  ก็ถูกพระราชหฤทัย  ความดังที่ทุกท่านได้อ่านกันแล้วนั้น  วันนี้มาดูกันต่อไปครับ

          * สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ต่อไปอีกว่า

           “คราวนี้  ครั้งหนึ่ง  ด้วยการทรงพระราชนิพนธ์บทละครในรัชกาลที่ ๒ นั้น  เล่ากันมาว่า  เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทขึ้นแล้ว  ให้เอาบทไปซ้อมละครเสียก่อน  ถ้าบทยังขัดกระบวนการเล่นละคร  ก็ต้องแก้ไขบทจนกว่าละครจะเล่นได้สะดวก  จึงเอาเป็นใช้ได้  บทที่สุนทรภู่แต่งถวายครั้งนั้น  เข้ากับกระบวนการเล่นได้สะดวกดีด้วย  จึงได้โปรดฯ

(http://upic.me/i/hz/kq102.jpg) (http://upic.me/show/62613016)

          "อีกครั้งหนึ่ง  เล่ากันมาว่าเมื่อแต่งบทเรื่องรามเกียรติ์  ต่อมาถึงตอนศึกสิบขุนสิบรถ  ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า

* รถเอยรถที่นั่ง
บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล
ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน

ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง
เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน
พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณฯ

          ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้  ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับเป็นรถใหญ่โตถึงปานนั้นยังไม่ออก  จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่ต่อ  สุนทรภู่ต่อว่า

* นทีตีฟองนองระลอก
คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน
อนนต์หนุนดินดาลสะท้านสะเทือน

ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท
สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดแสงสุริยันตะวันเดือน
คลาดเคลื่อนจตุรงค์ตรงมาฯ

          เล่ากันว่าโปรดนัก  แต่นั้นก็สนับสนุนสุนทรภู่เป้นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคน ๑   ทรงตั้งเป็นที่  ขุนสุนทรโวหาร  ในกรมพระอาลักษณ์  พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนอยู่ใต้ท่าช้าง  และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าฯ เป็นนิจ  แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้ลงเรือพระที่นั่ง  เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน”

          ความกวีที่ปรึกษาคนโปรดทำให้ขุนสุนทรโวหารเห่อเหิมไม่เกรงกลัวใคร  ดื่มสุราเป็นอาจิณ  จนมีอยู่คราวหนึ่ง  เมาสุราจนขาดสติถึงกับทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่  มีผู้ถวายฎีกา  ทรงทราบแล้วกริ้วถึงกับสั่งให้ลงโทษจำคุก  และแม้ไม่มีขุนสุนทรโวหารเข้าร่วมเป็นกวีที่ปรึกษา  ราชสำนักก็ยังคงดำเนินกิจกรรมด้านการแต่งบทละคร  โขน  เสภา  เป็นปกติ  เพราะมีกวีที่ปรึกษาเก่ง ๆ อยู่หลายท่าน  เข่น  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  กรมหมื่นเดชาอดิศร  กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์  เป็นต้น

          * สุนทรภู่ถูกจำคุกแบบ  “ขังลืม”  อยู่จนกระทั่ง  วันหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์บทชมม้าทรงว่า   “ม้าเอยม้าเทศ”   แล้วติดขัด  ไม่มีกวีที่ปรึกษาท่านใดแก้ไขให้ถูกพระทัยได้  จึงทรงคิดถึงสุนทรภู่ขึ้นมา โปรดฯ ให้เบิกตัวออกมาเข้าเฝ้า  สุนทรภู่ต่อถวายเล่นอักษรล้วนว่า   “สูงสามศอกเศษสีสังข์”   เป็นที่พอพระราชหฤทัยทัย  จึงโปรดให้พ้นโทษดำรงตำแหน่งเดิม

          ชีวิตราชการในกรมพระอาลักษณ์ตำแหน่งกวีที่ปรึกษา  ท่าน พ. ณ ประมวญมารค  กล่าวว่า  สุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีตลอดตับศรีสุวรรณ   ส่วนตับเกาะแก้วพิสดารนั้น  แต่งในรัชกาลที่ ๓  ในขณะบวชอยู่วัดมหาธาตุ  และวัดเทพธิดาราม  ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

(http://upic.me/i/5b/kgo03.jpg) (http://upic.me/show/62613017)

          งานกวีที่โดดเด่นของสุนทรภู่  ซึ่งแต่งในสมัยเป็นกวีที่ปรึกษานั้นเรื่องหนึ่งคือ  บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนกำเนิดพลายงาม  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า  สุนทรภู่แต่งนิทานคำกลอนเรื่องอื่น ๆ  ไม่ได้ตั้งใจ “ประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้”    และยังว่าอีกว่า  “เสภาตอนกำเนิดพลายงาม  มิใช่ตอนที่กวีธรรมดาจะเลือก  แต่ก่อนมาไม่มีใครแต่ง  หรือแต่งก็เพียงสั้น ๆ  เพื่อให้ปะติดปะต่อกัน  แต่สุนทรภู่เป็นกวีที่ไม่จนเรื่อง  ยิ่งเรื่องเกี่ยวกับเด็กแล้วก็หาตัวจับยาก”

          * เรื่องดำเนินมาถึงตรงนี้น่าจะสนุกแล้วนะครับ  เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม  ที่สุนทรภู่เลือกมาบรรจงแต่งประชันฝีมือกับนักกวีเอกหลายท่านในราชสำนัก  เรื่องราว  ถ้อยคำสำนวน  ลีลา  จะเป็นอย่างไร   พรุ่งนี้จะยกบางช่วงบางตอนมาให้อ่านกันนะ  วันนี้ขอพักไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, พฤศจิกายน, 2562, 10:49:43 PM
(https://i.ibb.co/4t4Hsk2/1b863c26e9063a63461586d65f13712f.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗ -

การแต่งบทเสภาขุนช้างขุนแผน
ต่างเขียนแทนลายลักษณ์เกียรติ์ศักดิ์ศรี
ตอนกำเนิดพลายงามถ้อยความดี
สมกวีแถวต้นคนโปรดปราน

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตและงานสุนทรภู่ถึงตอนที่  สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์  และได้มีโอกาสแต่งกลอนต่อบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์เป็นที่พอพระราชหฤทัย  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหนึ่งในกวีที่ปรึกษา  และตั้งบรรดาศักดิ์เป็นที่  ขุนสุนทรโวหาร  พระราชทานที่ให้ปลูกบ้านอยู่อาศัย  เพราะความเป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรด  ทำให้สุนทรภู่ลืมตัวไม่เกรงกลัวใคร  เมาสุราอาละวาด  ทำร้ายญาติผู้ใหญ่จนถูกลงโทษให้จำขัง  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครตัดขัด  ไม่มีกวีที่ปรึกษาคนใดแก้ไขได้  ทรงนึกถึงสุนทรภู่ได้   โปรดเกล้าฯ ให้เบิกตัวจากที่คุมขังมาต่อบทละครเป็นที่พอพระราชหฤทัย  จึงให้พ้นโทษกลับมารับราชการในตำแหน่งเดิม  วันนี้มาดูชีวิตและงานของท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ

          * พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงแบ่งงานให้กวีในราชสำนักแต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนิทานพื้นบ้านเมืองสุพรรณ  เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นนิทานอิงประวัติศาสตร์  โดยมีเรื่องจริงเกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ครองกรุงศรีอยุธยา  ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒  มีการทำสงครามกับล้านนานครพิงค์เชียงใหม่ ๒ ครั้ง  คือ  ปี พ.ศ. ๒๐๕๖  มีกองกำลังเชียงใหม่ยกลงมารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย  ปี พ.ศ. ๒๐๕๘ กรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปตีเชียงใหม่

          สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  มีพระนามเดิมว่า  พระเชษฐาธิราช  มีพระราชสมภพ ณ เมืองพระพิษณุโลก  เมื่อทรงขึ้นครองราชย์สมบัติกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ในนิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้างขุนแผนเรียกนามพระองค์ว่า  สมเด็จพระพันวษา (พม่าเรียกว่า วาตะถ่อง)  มีกฤษฎาธิการมากเหลือที่จะกล่าว

          เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้มีการขับร้องในงานต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว  แต่บทเสภานั้น  ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  กวีชาวบ้านขับลำนำกันด้วยปฏิภาณไหวพริบของแต่ละคน (ปฏิภาณกวี)  เช่นเดียวกันกับการร้องเล่น  เพลงเรือ  เพลงเกี่ยวข้าว  เพลงอีแซว  และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ  บางสมัยก็นำเรื่องขุนช้างขุนแผนมาเล่นเป็นละครเสภา  จับมาเล่นเป็นตอน ๆ  เช่นตอนกำเนิดพลายแก้ว  พิมพิลาไลย  ขุนช้าง  เป็นต้น  นักขับเสภาประชันฝีปากกันอย่างสนุกสนาน

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริให้นักกวีแต่งทำบทเสภาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  จึงทรงแบ่งงานให้กวีในราชสำนักรับหน้าที่แต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนคนละตอนสองตอน  โดยพระองค์เองก็ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย  ขุนสุนทรโวหารรับแต่งตอน  กำเนิดพลายงาม  และ  พลายงามอาสา

(http://i.ibb.co/D5xnLX8/images-16.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า   “ตอนที่ ๒๔  กำเนิดพลายงาม  ตอนนี้ถ้าใครเคยสังเกตกลอนสุนทรภู่  จะเห็นเป็นอย่างเดียวกันหมดว่าเป็นของสุนทรภู่แต่ง  จะเป็นสำนวนผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด  ถ้ายิ่งสังเกตกระบวนกลอนในตอนนี้  จะเห็นได้อีกชั้นหนึ่งว่า  สุนทรภู่ประจงแต่งตลอดทั้งตอนโดยจะไม่ให้แพ้ของผู้อื่น  ดูเหมือนจะกล่าวได้ว่า  สำนวนกลอนสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องต่าง ๆ ไว้  จะเป็นเรื่องพระอภัยมณีก็ตาม  เรื่องลักษณวงศ์หรือเรื่องอะไรก็ตาม  ไม่ได้ตั้งใจประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้”

          ยกตัวอย่างกลอนเสภาสำนวนสุนทรภู่ตอนกำเนิดพลายงาม  เมื่อขุนช้างเคียดแค้นนางวันทองที่ตั้งชื่อลูกชายว่า  “พลายงาม”  แสดงเครื่องหมายว่าเป็นลูกขุนแผน  จึงคิดหาทางจะฆ่าพลายงามด้วยกลอุบายต่าง ๆ  แต่ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้ได้  พลายงามหนีไปหานางทองประศรีผู้เป็นย่าที่กาญจนบุรี  เมื่อเดินทางไปใกล้ถึงบ้านนางทองประศรี  ก็แวะถามเด็กเลี้ยงควายว่า  บ้านนางทองประศรีอยู่ไหน  ตรงนี้สุนทรภู่ใส่อารมณ์ขันลงในบทเสภาว่า

" เด็กบ้านนอกบอกเล่าให้เข้าใจ
แกอยู่ไร่โน้นแน่ยังแลลับ

มะยมใหญ่ในบ้านกินหวานนัก
กูไปลักบ่อยบ่อยแกคอยจับ
พอฉวยได้ไอ้ขิกหยิกเสียยับ
ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว

ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า
แกจับเอานมยานฟัดกระบานหัว
มาถามหาว่าไรช่างไม่กลัว
แกจับตัวตีตายยายนมยานฯ"

          บทเสภาตรงนี้มองเห็นภาพนางทองประศรีชัดแจ๋วเลยว่า  เป็นยายแก่นมยานที่ดุมาก  เด็ก ๆ ไปลักมะยมหวานกิน  แกจับตัวได้ก็ไม่เฆี่ยนตี  แต่เอามือจับ  “ไอ้ขิก”  (องคชาตเด็ก)  หยิกจนเด็กเจ็บร้องโอดโอยลั่นไปตาม ๆ กัน

          อีกตอนหนึ่ง  เมื่อพลายงามไปพบนางทองประศรีแล้ว  แนะนำตัวบอกเล่าความเป็นมาให้ทราบโดยละเอียด  นางทองประศรีรู้เรื่องแล้วก็แสดงอาการออกมาว่า

“ทองประศรีตีอกชกผางผาง
ทุดอ้ายช้างชาติข้าอ้ายหน้าขน
ลูกอีเฒ่าเทพทองคลองน้ำชน
จะฆ่าคนเสียทั้งเป็นไม่เอ็นดู

* ทำราวเจ้าชีวิตกูคิดฟ้อง
ให้มันต้องโทษกรณ์จนอ่อนหู
แกบ่นว่าด่าร่ำออกพร่ำพรู
พ่อมาอยู่บ้านย่าแล้วอย่ากลัว

* แม้นไอ้ขุนวุ่นมาว่าเป็นลูก
มันมิถูกนมยานฟัดกบาลหัว
พลางเรียกอีไหมที่ในครัว
เอาแกงคั่วข้าวปลามาให้กิน”

          จะเห็นได้ว่า  มิใช่แต่จะใช้ถ้อยคำร้อยสัมผัสฟัดโยนกันอย่างไพเราะเท่านั้น  ท่านสุนทรภู่ยังใส่อารมณ์ลงไปให้เห็นอาการที่นางทองประศรีโกรธขุนช้างอย่างหนัก  แล้วยังแทรกอารมณ์ขันเข้าไปอีกว่า  ถ้าไอ้ขุนช้างมันมาอ้างว่าเจ้าพลายงามเป็นลูกมันแล้ว  ย่าจะเอานมยานของย่าฟัดกบาลหัวมันให้ดู  อ่านแล้วเห็นภาพพจน์ชัดแจ๋วเลย

(http://i.ibb.co/z5QtYbP/images-19.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนเสภาในเรื่องเดียวกันนี้  ตอน  “พลายงามอาสา”  ยกทัพไปตีเชียงใหม่  โดยมีข้อแม้ว่าขอสมเด็จพระพันวษายกโทษขุนแผนให้ออกจากคุกร่วมเดินทางไปในกองทัพด้วย  ครั้นยกทัพไปถึงเมืองพิจิตร  พลายงามก็ได้ศรีมาลาธิดาเจ้าเมืองพิจิตรเป็นภรรยา  แล้วเดินทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่  โดยผ่านพิษณุโลก- พิชัย- ศรีสัชนาลัย หรือสวรรคโลก  เมื่อออกจากสวรรคโลกก็กล่าวชมนกชมไม้ในไพรกว้าง  กลอนตอนนี้ในคำนำกล่าวว่า  ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง  แต่ก็มีผู้รู้หลายท่านลงความเห็นว่า  สุนทรภู่แต่ง  เพราะลีลากลอนและสำนวนโวหารอันอลังการอย่างนี้จะมีใครแต่งได้  นอกจากขุนสุนทรโวหาร  จะขอยกมาแสดงให้เห็นดังต่อไปนี้

“แลเห็นเขาเงาเงื้อมชะง่อนชะโงก
เป็นกรวยโกรกน้ำสาดกระเซ็นซ่าน
โครมครึกกึกก้องท้องพนานต์
พลุ่งพล่านมาแต่ยอดศิขริน

เป็นชะวากวุ้งเวิ้งตระเพิงพัก
แง่ชะงักเงื้อมชะง่อนล้วนก้อนหิน
บ้างใสสดหยดย้อยเหมือนพลอยนิล
บ้างเหมือนกลิ่นพู่ย้อยห้อยเรียงราย

ตรงตระพักเพิงผาศิลาเผิน
ชะงักเงิ่นเงื้อมงอกชะแง้หงาย
ที่หุบห้วยเหวหินบิ่นทลาย
เป็นวุ้งโว้งโพรงพรายดูลายพร้อย

บ้างเป็นยอดกอดก่ายตะเกะตะกะ
ตะขรุตะขระเหี้ยนหักเป็นหินห้อย
ขยุกขยิกหยดหยอดเป็นยอดย้อย
บ้างแหลมลอยเลื่อนสลับระยับยิบ

บ้างงอกเง้าเป็นเงี่ยงบ้างเกลี้ยงกลม
บ้างโปปมเป็นปุ่มกระปุบกระปิบ
บ้างปอดแป้วเป็นพูดูลิบลิบ
โล่งตลิบแลตลอดยอดศิขริน…..”

          เป็นอย่างไรครับ  บทชมป่าตามจินตนาการของขุนสุนทรโวหาร  ที่ยกมานี่เป็นเพียงชมภูเขาหินเท่านั้น  สุนทรภู่ท่านคงจะทราบอยู่บ้างว่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสวรรคโลกนั้นมีน้ำตก  ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า  “ตาดเดือน ตาดดาว”  ก็เลยพรรณนาภาพน้ำตกให้เห็นสวยงาม  เทือกเขาที่ตั้งของน้ำตกนั้น  หากพูดเป็นร้อยแก้วแล้วอย่างไรก็มองไม่เห็นภาพสวยงามเหมือนคำร้อยกรองของสุนทรภู่  ถ้อยคำเสียงสัมผัสนอกสัมผัสใน  เคล้าสัมผัสอักษรเล่นคำไพเราะเพราะพริ้งระรื่นโสตหาที่ติมิได้  ท่านเขียนเล่นคำสัมผัสเสียงนอกสัมผัสในยังไม่พอ  ยังเล่นคำสัมผัสอักษรด้วย  การเล่นคำไพเราะและได้ความหมายชัดเจนอย่างนี้  ภาษาในวงการกลอนเขาเรียกกันว่า   “วรรคทอง”   เป็นการเขียนได้ยากยิ่ง  ดังนั้นบทเสภาชมป่านี้จึงเชื่อได้ว่าเป็นบทที่ขุนสุนทรโวหารแต่ง

          ** เอาละพักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน  พรุ่งนี้เช้าค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, พฤศจิกายน, 2562, 10:53:52 PM
(http://i.ibb.co/pJCGt3K/1-410.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘ -

ขัดแย้งกับคนดีกวีใหญ่
เป็นเหตุให้อนาถาน่าสงสาร
หลังรอสองสวรรคตหมดการงาน
ชีวิตหวานคาวสดหมดสิ้นไป

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ.................................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องสุนทรภู่  รับแต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม  และ พลายงามอาสา (ไปตีเชียงใหม่)  และนำบทเสภาบางตอนมาให้ทุกท่านได้อ่านกันไปแล้วนั้น  วันนี้มาดูเรื่องราวของสุนทรภู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยต่อไปครับ

          ขุนสุนทรโวหารเป้นกวีที่ปรึกษาและเป็นคนโปรดในรัชกาลที่ ๒  แม้มีบรรดาศักดิ์เป็นเพียง  “ขุน”  แต่นักกวีที่ปรึกษาในราชสำนักต่างก็เกรงอกเกรงใจ ให้ความนับถือกันมากพอสมควร  เหตุที่นักกวีในราชสำนักให้ความนับถือเกรงใจ  น่าจะเป็นเพราะขุนสุนทรโวหารเป็นคนโปรดของรัชกาลที่ ๒ ประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งคือยอมรับนับถือในเชาว์ปรีชาของสุนทรภู่  ที่ท่านเป็นทั้ง  อรรถกวี  สุตกวี  จินตกวี  ปฏิภาณกวี   ที่หาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง

          ว่ากันว่า  ขุนสุนทรโวหาร  กับ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์   ๒ กวีที่ปรึกษาเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง  จนมีผลให้ขุนสุนทรโวหารตกระกำลำบากหลังจากรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้ว  สาเหตุความขัดแย้งนั้นเกิดจากการแต่งบทละครเรื่องอิเหนา  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒  มอบหน้าที่ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  นิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา  ตอนที่ว่าด้วยบุษบาเล่นธาร

          เรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรไม่รู้  เคยได้ยินได้ฟังท่านอาจารย์สถิต  เสมานิล   ปูชนียบุคคลของนักกลอนยุคกึ่งพุทธกาล  เล่าให้ฟังที่  ศาลาลอย (ที่พระภิกษุสุนทรภู่ใช้เป็นที่รับแขกและบอกกลอนให้เหล่านางข้าหลวง หน้ากุฏิของท่าน)  คณะสุนทรภู่  วัดเทพธิดาราม  โดยท่านอาจารย์สถิตยืนยันว่า  ข้อมูลของท่านกับอาจารย์ฉันท์ ขำวิไล  ตรงกัน  จึงควรเชื่อถือได้

          เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่ง  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษบาเล่นธาร (บ้างก็ว่า จินตะหราเล่นธาร)  ถวายตามรับสั่ง  เมื่อแต่งเสร็จในเวลาใกล้ค่ำ  จึงนำบทที่นิพนธ์นั้นไปให้ขุนสุนทรโวหารตรวจดูก่อนนำถวายในที่ประชุมกวีวันรุ่งขึ้น  ทุกครั้งที่นิพนธ์บทละครแล้วจะนำมาให้สุนทรภู่ตรวจดูก่อน  ด้วยความนับถือเยี่ยงครูอาจารย์  แม้กวีท่านอื่น ๆ ก็มักจะทำเช่นเดียวกันนี้

          พลบค่ำวันนั้น  สุนทรภู่ดื่มสุราไปมากจนมึนเมา  นั่งเอกเขนกเอ้เต้อยู่อย่างสบายอารมณ์  เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นำบทละครที่นิพนธ์ไปให้ดู  ท่านขุนสุนทรโวหารก็อ่านออกเสียงเอื้อนทำนองเสนาะ  ในบทนั้นตั้งแต่ต้นไปจนถึงคำที่ว่า

“ น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว
แหวกว่ายกอบัวอยู่ไหวไหว
นิลุบนพ้นน้ำขึ้นรำไร
ตูมตั้งบังใบอรชร.....”

          แล้วขุนสุนทรโวหารก็วางบทลงแล้วลุกขึ้นจากท่านั่งเอกเขนก  ตบเข่าผาง  และกล่าวชื่นชมว่า  บทนี้ยอดเยี่ยมมาก  มองเห็นภาพชัดเจนเลยว่า  นางบุษบากับเหล่าข้าหลวงที่ลงไปแหวกว่ายในธารที่มีกอบัวอยู่นั้น  เธอเปลือยกายเล่นน้ำ  มองเห็นสรีระงดงาม  ปทุมถันโผล่ปริ่มน้ำประชันกับดอกบัวทั้งตูมทั้งบาน  เป็นกวีที่งดงามจนเกินคำชม  หาที่ติมิได้เลย  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงถือพระนิพนธ์บทนั้นกลับวังด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง

          วันรุ่งขึ้น  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงนำบทละครที่ขุนสุนทรโวหารชมว่ายอดเยี่ยมนั้นเข้าถวายกลางที่ประชุม  และทรงอ่านให้ที่ประชุมฟัง  มาถึงตรงที่ว่า    “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว  แหวกว่ายกอบัวอยู่ไหวไหว”   ขุนสุนทรโวหารกลับทักว่า   “เห็นตัวอะไร”   จากนั้นจึงมีการแก้บทเป็นว่า

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
แหวกว่ายปทุมาอยู่ไหวไหว
นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร
ตูมตั้งบังใบอรชร”

          อันที่จริง  คำที่สุนทรภู่แก้ว่า   “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายปทุมา.....”   เป็นคำที่ให้ภาพขัดกับความที่ว่า   “นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร  ตูมตั้งบังใบอรชร”   บทนิพนธ์ในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ทรงบรรยายให้เห็นว่า  นางบุษบากับนางข้าหลวงเปลือยกายเล่นน้ำ  แหวกว่ายในกอบัว  น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวนางในน้ำใสนั้นชัดเจน  แต่คำที่สุนทรภู่แก้นั้น  กลับเป็นว่า  เห็นตัวปลามาแหวกว่ายกอบัว  เห็นดอกบัวตูมปริ่มน้ำรำไร  ไม่เกี่ยวกับนางบุษบากับเหล่าข้าหลวงเลย

          นี่ควรถือได้ว่าเป็นความผิดฉกรรจ์ของสุนทรภู่

          อีกคราวหนึ่ง  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์รับพระราชดำรัสสั่งให้แต่งบทละครเรื่องสังข์ทองตอนเลือกคู่  ท้าวสามลรำพึงว่า  “จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว  ให้ลูกแก้วสมมาตรปรารถนา”   ขุนสุนทรโวหารทักท้วงว่า  “ปรารถนา”  อะไร  ตรงนี้ก็ต้องแก้เป็น   “ให้ลูกแก้วมีคู่เสนหา”   กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงถูกหักหน้าในที่ประชุมกวีเป็นครั้งที่ ๒

          ** เรื่องบอกเล่าที่ว่ามานี้  คงจะไม่เป็นเรื่อง  “ยกเมฆ”  ปราศจากความจริงไปได้ เพราะมีเรื่องเล่าต่อกันอีกว่า  หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว  พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีพร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเษฎาบดินทร์ ขึ้นครองราชย์สมบัติ  เป็นพระเจ้าแผ่นสยามเป็นรัชกาลที่ ๓ ในพระราชวงศ์จักรี  ขุนสุนทรโวหาร  เกรงราชภัยจึงลาออกจากราชการ  และบวชเป็นพระภิกษุ  ระเหเร่ร่อนไป

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, พฤศจิกายน, 2562, 10:24:47 PM
(http://i.ibb.co/ZfKPnFn/images-220.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙ -

สิ้นพระร่มโพธิ์ทองของอาลักษณ์
เหมือน “ถ่อหัก”เรือคว้างกลางน้ำไหล
สุนทรภู่อเนจอนาถขาดหลักชัย
เข้าอาศัยร่มผ้ากาสาวพัสตร์

แต่ปีวอกออกบวชสวดคาถา
แสวงหาสิ่งหวังยังข้องขัด
ไม่แน่นอนร่อนเร่เที่ยวเซซัด
ไม่มีวัดอุ้มชูอยู่แน่นอน

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของสุนทรภู่กวีเอกของโลก  รัตนกวีของไทย  ถึงเรื่องเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  กวีที่ปรึกษาคนสำคัญอีกท่านหนึ่งในราชสำนัก  โดยกรมหมื่นเจษฎบดินทร์ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา  ตอนบุษบาลงสรง (บ้างก็ว่าจินตะหราเล่นธาร) และบทละครเรื่องสังข์ทองตอนเลือกคู่  ความขัดแย้งดังได้กล่าวแล้วเมื่อวานนี้  วันนี้มาดูความเป็นไปของกวีเอกท่านนี้ต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/Jj9zgVg/images-21.jpg) (https://imgbb.com/)

          ชีวิตราชการในกรมพระอาลักษณ์ตำแหน่งกวีที่ปรึกษา  ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๖๗  เป็นชีวิตที่เรียกได้ว่า   “สุนทรภู่รุ่งเรืองเปรื่องมาก”  จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร่มโพธิ์ทองของท่านเสด็จสวรรคต  ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗  ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของสุนทรภู่ก็ดับวูบลง

           “แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ       บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา”

          ตามคำกลอนที่ท่านสุนภู่เขียนบอกเล่าไว้ใน   “รำพันพิลาป”   กล่าวถึงการดำเนินชีวิตของท่านของจาก ร.๒ สวรรคต  การบวชของท่านมีปัญหาที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

(https://i.ibb.co/bWYmmXV/images-20.jpg) (http://imgbb.com/)
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
(พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓))

          มีผู้รู้ (และอวดรู้) หลายท่านกล่าวว่า   “สุนทรภู่บวชหนีราชภัย  ออกบวชเพราะกลัวราชภัย”  เหตุด้วยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  กวีที่ปรึกษาผู้เคยขัดแย้งกับท่านนั้นได้ขึ้นครองราชย์เป็น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓)  กลัวว่าจะทรงแก้แค้น  จึงออกบวชทันทีในปีที่รัชกาลที่ ๒ สวรรคตนั่นเอง

          ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นที่ผู้กล่าวนั้นคิดกันเอาเอง  ท่านสุนทรภู่เขียนไว้ในรำพันพิลาปบอกชัดเจนว่า  ท่านออกบวชเพราะ   “พิศวาสพระศาสนา”   หาใช่เพราะหนีราชภัยไม่  โดยความเป็นจริงแล้ว  รัชกาลที่ ๓ มิได้เคืองแค้นอะไรสุนทรภู่เลย  จะเห็นได้ว่าเมื่อบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) นั้น  พระองค์ยังให้  เจ้าฟ้าชายกลาง  เจ้าฟ้าชายปิ๋ว  ราชโอรสทั้งสองในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ประสูติแต่พระราชชายา  เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี)  ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์  ไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนหนังสือกับพระภิกษุภู่  ดังที่ท่านได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาทไว้ก่อนออกจากวัดเลียบไป  คำกลอนเพลงยาวถวายโอวาทนี้  มิใช่เพียงแต่ไพเราะเพราะพริ้งเท่านั้น  หากแต่เป็นคำสอนที่เป็นปรัชญาลึกซึ้งมาก  เช่นที่ว่า

“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักฟาดฟันให้บรรลัย

จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด
ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย
ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด
เพียรจงได้ดังประสงค์ที่ตรงดี”

          ในเพลงยาวนี้วรรคที่มีการกล่าวถึงกันบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงท่านสุนทรภู่  คือ

“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร”

          การที่ทรงให้สุนทรภู่เป็นครูสอนพระราชโอรสทั้งสอง  แสดงชัดเจนว่ามิได้มีความแค้นเคืองเลย

          มีปัญหา  คำถามที่  ยังหาคำเฉลย (วิสัชนา) ไม่ได้คือ  “สุนทรภู่”  ณ พัทธสีมาวัดไหน ?  เป็นแต่สันนิษฐานกันว่าน่าจะไปบวชที่เมืองเพชรบุรี  เพราะเวลามีปัญหาชีวิตในบางกอก  ท่านมักจะออกไปหลบแก้ปัญหาอยู่ที่เมืองนี้บ่อย ๆ  เมื่อหาวัดที่ท่านบวชยังไม่พบก็ละไว้ก่อน  มาดูกันว่าเมื่อท่านบวชแล้วชีวิตในเพศบรรพชิตของท่านเป็นอย่างไรบ้าง

          พ.ศ. ๒๓๖๗ คือปีที่ออกบวช  แล้วจาริกไปอยู่วัดต่าง ๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐาน  จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๐  มีหลักฐานปรากว่าท่านเข้าอยู่ในวัดเลียบ (ซึ่งท่านน่าจะบวชที่วัดนี้ด้วย)  และได้แต่งนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ      นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)    กลับจากไปไหว้ภูเขาทองแล้ว  บางท่านว่าเข้าอยู่วัดเลียบตามเดิม  บางท่านว่าไปอยู่วัดแจ้ง (อรุณราชวราราม)  จากนั้นไปอยู่วัดโพธิ์ (พระเชตุพนฯ) ท่าเตียน  ในระยะนี้ท่านได้รับอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  โอรสอีกพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๓  และได้ย้ายจากวัดโพธิ์  เข้าอยู่วัดมหาธาตุฯ  ท่าพระจันทร์  ใกล้วังพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ องค์อุปถัมภ์    ปี พ.ศ. ๒๓๘๒  จึงเข้าอยู่วัดเทพธิดาราม  ที่สร้างเสร็จและทำพิธีผูกพัทธสีมาในปีนั้น.

          เวลา ๓-๔ ปี ที่บวชเป็นภิกษุไม่มีหลักฐานว่าท่านระเหเร่ร่อนไปจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใดบ้างนั้น  พอจะเห็นเค้ามูลได้ว่าท่านไปไหนบ้าง  คือความที่ท่านเขียนบอกเล่าไว้ใน   “รำพันพิลาป”   ซึ่งจะได้นำมาให้อ่านกันในตอนต่อไป  วันนี้พักไว้แค่นี้ก่อน  พรุ่งน้มาอ่านกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, พฤศจิกายน, 2562, 10:06:05 PM
(https://i.ibb.co/3N61vKH/image001.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรูภู่ ๑๐ -

กลับบางกอกอย่างเก่าเข้าวัดเลียบ
ไม่เหงาเงียบอยู่ดีมีศิษย์สอน
สองลูกเจ้าอนุชา “ฟ้าอาภรณ์”
นามกร “ชายกลาง,ปิ๋ว”สองกุมาร

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่  ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต  ขุนสุนทรโวหารออกบวชเป็นพระภิกษุ  ระเหเร่ร่อนไปหลายแห่งโดยไม่พบว่า  ท่านบวชที่ไหน  ใครเป็นพระอุปัชฌาย์  กรรมวาจา-อนุสาวนาจารย์ของท่าน  มีหลักฐานปรากฏในภายหลังว่าท่านได้เข้าอยู่วัดเลียบ (ราชบูรณะ)   วัดพระเชตุพนฯ    วัดมหาธาตุฯ และสุดท้ายคือวัดเทพธิดาราม  เรื่องราวของท่านจะเป็นอย่างไรบ้าง  วันนี้มาดูกันต่อครับ

          * ย้อนกับไปดูข้อมูลการออกบวชของท่านสุนทรภู่กันหน่อยนะครับ  ท่านสุนทรภู่เขียนบอกไว้ในรำพันพิลาปว่า

“แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ
บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
เหมือนลอยล่องท้องชเลอยู่เอกา
เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล..”

          ปีวอกที่ท่านว่าออกบวชนี้  คือ  ปี พ.ศ. ๑๒๓๖๗  อันเป็นปีเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เราได้ปีบวชที่แน่นอนของท่านแล้ว  แต่  พัทธสีมา  และอุปัชฌาย์ที่ให้การอุปสมบทของท่านนั้นเรายังไม่ทราบ  อาจารย์ (มหา) ฉันท์ ขำวิไล  กล่าวว่า  ท่านบวช ณ พัทธสีมาวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) พระอุปัชฌาย์  คู่สวด  ก็เป็นสมภารและลูกวัดเลียบนั่นเอง

          แต่ท่านจันทร์ (พ. ณ ประมวญมารค) ไม่เห็นด้วย  เพราะว่า  ถ้าสมภารวัดเลียบเป็นพระอุปัชฌาย์  ตอนที่ท่านแต่ง      นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)    คงไม่กล้ากล่าวจ้วงจาบพระอุปัชฌาย์ว่า   “จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง......ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง”   แล้วท่านจันทร์ก็สรุปความเป็นของท่านว่า  สุนทรภู่ออกไปบวชตามวัดแถว ๆ เมืองเพชร  แล้วระเหเร่ร่อนไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๐  ตอนปลายปีจึงได้เข้าอยู่วัดเลียบ (ราชบูรณะ)

          บ้างก็ว่า  ขุนสุนทรโวหารถูกถอดยศปลดตำแหน่งจึงออกบวช  ข้อนี้ท่านจันทร์กล่าวว่า  ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะคำกลอนของ  “พระภู่”  ในรำพันพิลาปที่ว่า   “ออกขาดจากราชกิจ   บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา”   ไม่น่าจะหมายถึงถูกถอดยศปลดตำแหน่ง  อันเป็นผลการแก้แค้นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  ด้วยดูในบริบทของเรื่องแล้ว  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้ามิได้ทรงแค้นเคืองขุนสุนทรโวหารเลย  ท่านจันทร์ยกคำกลอนมายืนยันประเด็นนี้ว่า

“ ด้วยเห็นว่าฝ่าพระบาทให้ขาดเสร็จ
โดยสมเด็จประทานตามความประสงค์
ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลง
ถวายองค์อนุญาตเป็นขาดคำ

วันนั้นวันอังคารพยานอยู่
ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ
ทูลละอองสองพระองค์จงทรงจำ
อย่าเชื่อคำคนอื่นไม่ยืนยาวฯ"

          กลอนข้างบนนี้พูดถึงเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (สมเด็จ) ประทานเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว  ให้มาเรียนหนังสือในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒  ทูลกระหม่อมในกลอนนี้หมายถึงพระบาสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)  ได้ทรงยินยอมที่จะให้เจ้าฟ้าเล็ก ๆ  ซึ่งยังประทับอยู่ในวังหลวงมาเป็นศิษย์สุนทรภู่  หากท่านได้เคยถอดยศจริง  ก็ไม่น่าจะพระราชทานอนุญาต  ทั้งนี้แสดงว่า  ที่สุนทรภู่เกรงพระราชภัยหนีบวชนั้น  เป็นข้อที่วิตกไปเอง”

          มีความที่บอกเล่ากันมาอีกประเด็นหนึ่ง  โดยยกคำกลอนในเพลงยาวถวายโอวาทได้กล่าวถึงความตกทุกข์ได้ยากของสุนทรภู่ว่า  แม้แต่ศิษย์พระองค์หนึ่งนามว่า  “ฟ้าอาภรณ์”  ก็ทรงแปลกหน้า  ดั่งกลอนที่ว่า

“ แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ
ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร
ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม


          ความในกลอนบทนี้สุนทรภู่กล่าวแก่เจ้าฟ้าชายกลาง  เจ้าฟ้าชายปิ๋ว  ที่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนำมาฝากเป็นศิษย์พระภิกษุภู่  ท่านกล่าวว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงฝากให้สอนหนังสือเจ้าฟ้าชายอาภรณ์  ซึ่งเป็นพระเชษฐาเจ้าฟ้าชายกลาง  เจ้าฟ้าชายปิ๋ว  ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว  สุนทรภู่ก็หมดบุญ  เจ้าฟ้าอาภรณ์จำหน้าอาจารย์คนเดิมมิได้  ประเด็นนี้  ท่านจันทร๋ พ. ณ ประมวญมารค  ทรงกล่าวให้ข้อคิดไว้น่าฟังว่า

           “ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. ๒๓๖๗  เจ้าฟ้าอาภรณ์พระชนมายุ ๘ ขวบ  ในปีนั้นสุนทรภู่ออกบวช  แล้วหายไป ๓ ปี  จึงกลับมาอยู่วัดราชบูรณะในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๐  ขณะที่สุนทรภู่กลับมา  เจ้าฟ้าอาภรณ์พระชันษา ๑๑ ขวบ  ยังมิได้ทรงโสกันต์  ฉะนั้น  ที่จะจำสุนทรภู่ไม่ได้ย่อมเป็นของธรรมดา  แต่ในกรณีนี้  สุนทรภู่มิได้หายหน้าไปเฉย ๆ  เมื่อกลับมายังแถมโกนผมห่มผ้าเหลืองอีกด้วย  ฉะนั้น  ข้าพเจ้าใคร่ถามว่า  เด็กในวัยนั้น  คนไหนบ้างจะไม่   “แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม”

          * ความชัดเจนแล้วนะครับว่า  สุนทรภู่ออกบวชนั้น  มิใช่เป็นเพราะถูก ร.๓  ถอดยศปลดตำแหน่งด้วยความอาฆาตแค้นที่เคยถูกขุนสุนทรโวหารหักหน้าในการแต่งบทละคร  หากแต่ออกบวชเพราะ  “พิศวาสพระศาสนา”  หากว่าจะกลัวราชภัย  หนีราชภัย  ก็เป็นเพียงวิตกไปเองเท่านั้น  หาได้มีภัยจากพระราชามาเบียดเบียนแต่ประการใดไม่

          มาอยู่วัดเลียบได้พรรษาหนึ่งแล้วท่านเดินทางไป  “อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน”  การเดินทางไปอยุธยาครั้งนี้  ท่านแต่งกลอนนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ    ชื่อ      นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)        ถ้อยคำสำนวนลีลากลอนไพเราะมาก  ท่านไปทำไม  อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, พฤศจิกายน, 2562, 10:17:29 PM
(http://i.ibb.co/C1dryY1/img361.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๑ -

เมื่อบวชแล้วพระภู่ไม่อยู่วัด
เที่ยวตุหรัดตุเหร่ไปหลายถิ่นฐาน
จากเมืองเพชร,ราชบุรีและที่กาญจน์
เข้าหย่อมย่านกะเหรี่ยงป่าหาแร่ทอง

ผจญภัยหลายอย่างทางลำบาก
เพราะความอยากร่ำรวยด้วยสิ่งของ
จึง“เล่นแร่แปรธาตุ”ทนทดลอง
“สองพี่น้อง”ถิ่นนี้ที่ประจำ

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ...............

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่  ถึงบทวิเคราะห์ว่า  สุนทรภู่ถูกถอดยศปลดตำแหน่ง  ออกบวชด้วยความหวาดกลัวราชภัย  จริงหรือไม่  โดยยกนิพนธ์ของท่านจันทร์ (พ. ณ ประมวญมารค) มา  แสดงให้เห็นว่า  สุนทรภู่ออกบวชด้วยอาจจะกลัวราชภัยจริง  ซึ่งก็เป็นเรื่องความวิตกหวาดกลัวของปุถุชน  แต่เรื่องการถอดยศปลดตำแหน่งแก้แค้นนั้น  เห็นว่าจะไม่จริง  เพราะหลังจากสุนทรภู่กลับเข้ามากรุงเทพฯ  จำพรรษาอยู่ ณ วัดเลียบ(ราชบูรณะ)  สมเด็จฯเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงนำราชโอรส ๒ พระองค์คือ  ฟ้าชายกลาง  ฟ้าชายปิ๋ว  ไปทูลขอพระราชานุญาตให้เป็นศิษย์พระภิกษุภู่สอนหนังสือ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาต  แสดงว่ามิได้มีความเคืองแค้นในสุนทรูภู่เลย

          โดยความเห็นของผม (ผู้เรียบเรียงเรื่องนี้) เชื่อว่าขุนสุนทรโวหารมิได้ถูกถอดยศปลดตำแหน่งใด ๆ  แต่การอุปสมบทเป็นภิกษุตามพระวินัยบัญญัติแล้ว “อุปสัมปทาเปกข” (ผู้เข้าขอบวชในท่ามกลางสงฆ์) จะต้องทำตัวให้ว่างจากความเป็นฆราวาส  คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ขอบวชจะต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  ไม่มีโรคต่าง ๆ เช่น โรคเรื้อน  เป็นต้น  ถ้ามีบิดามารดาก็ต้องให้บิดามารดาอนุญาตให้บวชได้แล้ว  และคุณสมบัติสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ  ไม่เป็นราชภัฏ  คือ  ไม่เป็นคนของพระราชา  หรือข้าราชการ  พระคู่สวดจะถามทามกลางสงฆ์คำถามหนึ่งว่า  “เป็นราชภัฏหรือไม่”  ต้องตอบว่า  “ไม่เป็น”  ถ้าเป็นก็ต้องห้าม  ดังนั้นข้าราชการจึงต้องมีการลาบวช  ถ้าหนีออกบวชโดยที่ยังไม่ขาดจากความเป็นข้าราชการ  ก็บวชเป็นภิกษุไม่ได้  เชื่อได้ว่า  ขุนสุนทรโวหารมีศรัทธาบวชเป็นภิกษุ  จึงลาออกจากราชการให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ  มิใช่หนีออกบวชแน่นอน

          บวชแล้ว ๓ พรรษาแรกท่านไปอยู่ที่ไหน  คำถามนี้เห็นจะต้องให้ท่านภิกษุภู่ตอบด้วยตนเอง  โดยท่านเขียนไว้ในกลอนชื่อ  “รำพันพิลาป”  แต่งเมื่อตอนจำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพธิดาราม  ความตอนหนึ่งท่านว่าอย่างนี้ครับ

ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว
จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน
เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล
รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม

ไปราชพรีมีแต่พาลจัณฑาลพระ
เหมือนไปปะบอระเพ็ดเหลือเข็ดขม
ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม
ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราว

ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่อยู่กะเหรี่ยง
ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว
นอนน้ำค้างพร่างพรมพรอยพรมพราว
เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง

ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้
หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ
เข้าวษามาอยู่ที่สองพี่น้อง
ยามขัดข้องขาดมุ้งริ้นยุงชุม”

          อ่านกลอนรำพันพิลาปตอนนี้แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า  บวชใหม่ ๆ ท่านยังไม่มีวัดอยู่เป็นหลักแหล่ง  บอกว่า  “ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว”  โดยเริ่มที่  “พริบพรี”  คือ  เมืองเพชร  จึงเป็นไปได้ตามข้อสันนิษฐานของท่านจันทร์ที่ว่า  สุนทรภู่บวชที่เมืองเพชร  และเป็นไปได้ว่าผู้ที่อุปการะการบวชของท่านคือ  หม่อมบุญนาก  ที่ท่านเคยมาพึ่งพาอาศัยในวัยหนุ่ม  ดังได้กล่าวแล้ว

          บวชเป็นภิกษุที่เมืองเพชร  แต่ท่านมิได้จำพรรษาอยู่เมืองเพชร  เพราะมีงานเร่งด่วนที่ท่านเห็นว่าสำคัญที่สุด  คือแสวงหาแร่มาถลุงเป็นทอง  ท่านบอกว่าเบื่อน้ำตาลหวานเย็นทำให้เป็นลม  จึงจากเมืองเพชรไปหาแร่ตามภูเขาเมืองราชบุรี  แต่ก็ไม่ประสบพบแร่ที่ต้องการ  พบแต่พวกคนพาลข่มเหงรังแกพระ  ไปขึ้นเขาเข้าถ้ำก็ตกเขาเกือบตาย  จากราชบุรีไปเมืองกาญจน์  บุกป่าฝ่าดงเข้าไปถึงในที่อยู่พวกกะเหรี่ยง  เพราะเชื่อลาวที่บอกว่ามีแร่ทองคำอยู่ในดงกะเหรี่ยง  ครั้นเข้าไปอยู่ในดงกะเหรี่ยงก็ถูกปอบเข้าสิงลูกชายวัยกำดัดที่ท่านนำพาไปด้วย  ยังดีที่ท่านพอมีวิชาอาคมขลังอยู่บ้าง  จึงไล่ปอบออกจากตัวลูกชายได้  แล้วใช้ให้ปอบกลับไปเข้ากินเจ้าของเสีย

          ท่านไปดงกะเหรี่ยงเมืองกาญจน์ไม่เสียเที่ยวเปล่า  เพราะได้แร่ (อะไรไม่รู้) จำนวนหนึ่งกลับมา  จอดเรืออยู่ริมแม่น้ำท่าจีนแถว ๆ หน้าวัดสองพี่น้อง  แล้วจำพรรษาอยู่ที่นั่น  และอยู่อย่างลำบากยากเข็ญ  มีสภาพเหมือน  “เถรเรือลอย”  นอนในเรือประทุน (แบบเรือสำปันที่ทำเป็นเรือจ้างมีเก๋งหรือประทุน)  มุ้งก็ไม่มีจะกางกันยุง  ทั้งริ้นทั้งยุงที่สองพี่น้องนี่ชุมมาก

          พระภู่มาจำพรรษาอยู่แถววัดสองพี่น้อง  ท่านทำอะไรหรือ  มีงานครับ  ท่านทุ่มเทกำลังการทำงานจนสุดตัวเลย  งานอะไรอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายไท เมืองสุโทัย
๕ ตุลาตาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤศจิกายน, 2562, 10:10:05 PM
(https://i.ibb.co/X8kMrQS/images-18.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๒ -

ในพรรษา ณ วัดสองพี่น้อง
ถลุงแร่แปรเป็นทองช่างน่าขำ
ถูกขโมยถอยเรือไปทั้งลำ
ชาวบ้านทำจีวรใหม่ถวายแทน

เชื่อตาเถรเกือบตายถูกควายขวิด
รอดชีวิตจากกาเพนเป็นบุญแสน
ชาวบ้านซื้อเรือบาตรไม่ขาดแคลน
พอได้แล่นเรือลอยเร่ต่อไป

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวที่เป็นชีวิตและงานของสุนทรภู่  ถึงตอนที่ท่านออกบวช  อยู่เมืองเพชรบุรีระยะหนึ่งแล้วไปราชบุรี  กาญจนบุรี  บุกป่าฝ่าดงเข้าไปถึงที่อยู่ของชนชาวกะเหรี่ยง  ด้วยเชื่อลาวที่บอกว่ามีแร่แปรเป็นทองอยู่มาก  กลับจากกะเหรี่ยงไปลอยเรืออยู่แถววัดสองพี่น้อง  เมืองสุพรรณบุรี  จำพรรษาแรกที่วัดสองพี่น้องนี้เอง   พรรษาแรก ณ วัดสองพี่น้อง  พระภู่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกุฎีวิหารบนบก  หากแต่อาศัยอยู่ในเรือประทุนลอยลำอยู่บริเวณหน้าวัด  ท่านมิได้ใส่ใจในกิจของสงฆ์มากนัก  วัน ๆ เอาแต่ถลุงแร่หวังให้แปรเป็นทอง  ดังคำกลอนที่ท่านเขียนไว้ในรำพันพิลาปว่า

“ ทุกเช้าค่ำลำบากแสนยากยิ่ง
เหลือทนจริงเจ็บแสบใส่แกลบสุม
เสียงฉู่ฉู่หวู่ว่อนอยู่ร่อนรุม
เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกลัดนั่งปัดยุง

โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น
ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง
ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง
จนเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอน"

          ยุงที่วัดสองพี่น้องชุมมาก  พระภู่กับลูกชายต้องใช้แกลบสุมให้เกิดควันไฟไล่ยุง  แม้กระนั้นยุงมันยังไม่กลัว  บินมาเป็นกลุ่ม ๆ เสียงฉู่ ๆ หวู่ว่อน  ต้องนั่งปัดยุงอยู่ข้างกองไฟ  ท่านว่าได้ตำราดีจากอาจารย์ทองบ้านจุง  กล่าวว่าเหล็กไหลถลุงเป็นทองได้  ก็พยายามทำตามตำราอาจารย์ทอง  เหล็กไหลนั้นเห็นทีว่าท่านได้จากถ้ำในภูเขาแถว ๆ ราชบุรี  นัยว่าถ้ำหลายแห่งมีเหล็กไหลอยู่  ท่านถลุงแร่เพลินไม่เป็นอันกินอันนอนจนเสบียงอาหารหมดสิ้น  ไม่เหลือแม้แต่เกลือ

(https://i.ibb.co/6Pw0ThH/images-22.jpg) (https://imgbb.com/)

          มีเรื่องเล่ากันว่าระหว่างที่พระภู่อยู่ที่สองพี่น้องนี้  มีชาวบ้านทำอาหารมาถวายเป็นสังฆทาน  แต่ชาวบ้านกล่าวคำถวายไม่เป็น  จึงขอให้พระภู่สอนให้กล่าวคำถวาย  พระภู่ก็กล่าวคำถวายไม่เป็นเช่นกัน  ครั้นจะบอกชาวบ้านว่ากล่าวคำถวายสังฆทานไม่เป็นก็อายชาวบ้าน  จึงใช้ไหวพริบปฏิภาณเอาตัวรอด  โดยกล่าวนำให้ว่า นะโม  ตัสสะ.. ๓ จบ   แล้วกล่าวถวายสังฆทานตามแบบของท่านว่า

           “ อิมัสสะหมิงริมฝัง  อิมังปลาร้า  น้ำพริกแตงกวา  อีกปลาดุกย่าง  ช่อมะกอกดอกมะปราง  ไก่ย่างยำมะดัน  เป็นยอดอาหาร  สังฆัสสะเทมิ”

          ว่ากันว่าคำกล่าวถวายสังฆทานนี้  ท่านว่าเป็นกลอนร่ายยาว  ออกชื่ออาหารหวานคาวทุกอย่างที่เขานำมาถวาย  ผลปรากฏว่าคำกล่าวถวายสังฆทานของพระภู่ดังกล่าวนี้ชาวบ้านชื่นชอบกันมาก

พระภู่ถลุงแร่อยู่ที่สองพี่น้องเป็นเวลานาน  เมื่อแร่หมดแล้วท่านก็ไปหามาใหม่  ดังคำกลอนในเรื่องเดียวกันต่อไปว่า

“ คราวไปคิดปริศนาตามตาเถร
เขากาเพนพบมหิงส์ริมสิงขร
มันตามติดขวิดคร่อมอ้อมอุทร
หากมีขอนขวางควายไม่วายชนม์”

          นัยว่ามีตาเถรมาแนะนำว่าที่เขากาเพน (กาเผ่น) ในแถว ๆ พนมทวน  มีแร่แปรเป็นทอง  จึงไปหาแร่ตามคำตาเถร  ครั้นไปถึงเขากาเผ่นก็พบควายป่า(หนุ่ม) ไล่ขวิด   ท่านวิ่งหนีจีวรปลิวสะดุดขอนไม้ล้มลง  พอดีกับที่ควายไล่มาทัน  มันน่าจะหลับตาขวิด  เคราะห์ดีที่ร่างท่านนอนเรียงกับขอนไม้  ควายจึงขวิดไม่ถูกตัว  เพราะขอนไม้ช่วยกันไว้แท้ ๆ เทียว  รอดตายจากควายขวิดแล้วกลับมาอยู่สองพี่น้องที่เดิม  คราวนี้ท่านต้องเผชิญกับความทุกข์ยากนานาประการ  ดังคำกลอนตอนต่อไปว่า

“ โอ้ยามอยู่สุพรรณกินมันเผือก
เคี้ยวแต่เปลือกไม้หมากเปรี้ยวปากเหลือ
จนแรงโรยโหยหิวผอมผิวเนื้อ
พริกกับเกลือกกรักใหญ่ยังไม่พอ

ทั้งผ้าพาดบาตรเหล็กของเล็กน้อย
ขโมยถอยไปทั้งเรือไม่เหลือหลอ
เหลือแต่ผ้าอาศัยเสียใจคอ
ชาวบ้านทอถวายแทนแสนศรัทธา”

          ยามอยู่ที่สุพรรณ (สองพี่น้อง) นั้น  ท่านอดอยากถึงกับต้องเอาหัวเผือกหัวมันมาเผามาต้มกินแทนข้าว  จนร่างกายผอมโซเลยทีเดียว  ที่ร้ายกว่านั้นคือ หมากดิบหมากแห้งก็ไม่มีจะเคี้ยว (ท่านเป็นคนติดหมาก)  ต้องใช้เปลือกไม้ (พะยอม  ไม้สีเสียด)  มาเคี้ยวแทนหมาก  อดอยากปากแห้งเท่านั้นยังไม่พอ  ซ้ำร้ายไปกว่านั้น  ขณะที่ขึ้นบกถลุงแร่เพลินอยู่นั้น  ขโมยมันแอบมาถอยเรือไปทั้งลำ  บาตร  ผ้าไตรครอง  ก็ติดเรือไปสิ้น  เรียกว่า  “หมดเนื้อหมดตัว”  ไปเลยก็แล้วกัน

          ยังดีที่ชาวบ้านสองพี่น้องที่ศรัทธาเลื่อมใสพระภู่มีอยู่ไม่น้อย  จึงช่วยกันทอผ้าไตรจีวรถวายใหม่  และเรี่ยไรซื้อเรือประทุนใหม่ให้อีกลำหนึ่ง  คำโบราณที่กล่าวกันมาว่า   “เล่นแร่แปรธาตุ   ผ้าขาดไม่รู้ตัว”  เห็นจะได้แก่พระภู่นี้เอง

          ไม่ทราบแน่ชัดว่าพระภู่อยู่แถว ๆ วัดสองพี่น้องนานเพียงใด  ท่านจากสองพี่น้องแล้วมิได้กลับเข้ากรุงเทพฯ  หากแต่ยังเร่ร่อนไปที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง  ไปที่ไหนบ้าง  พรุ่งนี้มาดูกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, พฤศจิกายน, 2562, 10:22:12 PM
(http://i.ibb.co/SQwJXN1/img65.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๓ -

ถือลายแทงแจ้งข่าวมีสิ่งของ
อยู่ในหนองลึกซึ้งเป็นบึงใหญ่
ลงงมหาตะเข้ฟาดแทบชาดใจ
ปล้ำกันในหนองน้ำเพียงลำพัง

เทวดาช่วยไว้จึงได้รอด
ล่องเรือจอดเชิงเขาเข้าเพิงหวัง
หลับพักผ่อนผีโป่งส่งเสียงดัง
ต้องถอดสังขารสู้จึงอยู่ยัน

...................... เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงชีวิตและงานสุนทรภู่ถึงตอนที่  พระภู่ไปจอดเรือจำพรรษาอยู่ที่หน้าวัดสองพี่น้อง  สุพรรณบุรี  เล่นแร่แปรธาตุ  ตั้งเตาถลุงแร่เหล็กไหลให้เป็นทองคำ  จนเสบียงหาอาหารหมด  แร่หมดแล้วจึงไปหาแร่ใหม่ที่เขากาเผ่น  พนมทวน (สมัยนั้นน่าจะอยู่ในเขตปกครองของ เมืองอู่ทอง)  ไปถูกควายป่าไล่ขวิดจนแทบเอาชีวิตไม่รอด  กลับมาอยู่สองพี่น้องตามเดิม  มัวถลุงแร่เพลินไป  ไม่ลงเรือ  เป็นเหตุให้ขโมยมาลักเรือพร้อมเครื่องบริขารในเรือไปจนหมดสิ้น  ชาวบ้านสองพี่น้องที่มีศรัทธาเลื่อมใสและสงสาร  จึงช่วยกันทอผ้าไตรจีวร  จัดหาบาตร  และเรือประทุนถวายให้ใช้ได้เหมือนเดิม  วันนี้มาดูเรื่องของท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ

          เมื่ออยู่วัดสองพี่น้องได้สักระยะหนึ่งแล้ว  พระภู่ทำทองไม่สำเร็จ  จึงคิดจะเดินทางต่อไปตามลายแทงที่มีอยู่ในมือตน  คราวนี้ท่านไปไหนหรือ  อ่านกลอนในรำพันพิลาปที่ท่านแต่งบอกไว้ก็จะทราบได้ครับ  ท่านว่าไว้ดังต่อไปนี้

“ คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก
ไปพิศศรีโลกลายแทงแสวงหา
ลงหนองน้ำปล้ำตะเข้าหากเทวดา
ช่วยรักษาจึงได้รอดไม่วอดวาย

วันไปอยู่ภูผาเขาม้าวิ่ง
เหนื่อยนอนพิงเพิงไศลหลับใจหาย
ครั้นดึกดูงูเหลือมเลื้อยเลื่อมลาย
ล้อมรอบกายเกี้ยวตัวกันผัวเมีย

หนีไม่พ้นจนใจได้สติ
สมาธิถอดชีวิตอุทิศเสีย
เสียงฟู่ฟู่ขู่ฟ่อเคล้าคลอเคลีย
แลบลิ้นเลียแล้วเลื้อยแลเฟื้อยยาว

ดูใหญ่เท่าเสากระโดงผีโป่งสิง
เป็นรูปหญิงยืนหลอกผมหงอกขาว
คิดจะตีหนีไปกลัวไม้ท้าว
โอ้เคราะห์คราวขึ้นไปเหนือเหมือนเหลือตายฯ"

          ได้ความชัดว่า  พระภิกษุภู่เดินทางตามลายแทงขึ้นไปเมืองเหนือโดยเรือประทุนลำใหม่ที่ชาวบ้านสองพี่น้องจัดหาถวาย  การเดินทางของท่านนั้นเห็นจะใช้เส้นทางน้ำสายแม่น้ำท่าจีน  จากสองพี่น้องถึงสุพรรณบุรี  แล้วทวนน้ำตามแม่น้ำสุพรรณ  ผ่านศรีประจันต์  สามชุก  เดิมบางนางบวช  เข้าเขตชัยนาท  ผ่านหันคา  ตามลำน้ำคลองมะขามเฒ่า  เข้าแม่น้ำเจ้าพระยา  ผ่านชัยนาท  มโนรมย์  ถึงปากน้ำโพ  แยกเข้าลำน้ำน่าน  เรื่อยผ่านพิจิตร  จนถึงพิษณุโลก (ในกลอนเรียกว่า “พิศศรีโลก”)  เดินทางกี่วันกี่คืนไม่ทราบเหมือนกัน  ท่านอาจจะพักแรมจำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งอีก ๑ พรรษาก็ได้

(http://i.ibb.co/X4BsFcX/images-23.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านไม่บอกว่าในลายแทงที่ได้นั้นบอกให้ไปหาอะไร  คงมิใช่แร่แปรเป็นทองอย่างที่เคยหามาแล้ว  การหาแร่เหล็กไหลนั้นท่านไปตามถ้ำในป่าเขา  แต่คราวนี้ท่านลงหนองน้ำ  ลงไปดำน้ำงมหาจนไปปะจระเข้ากลางหนอง  หรือบึงใหญ่  ต้องปล้ำกับจระเข้เหมือน  “ไกรทองกับชาละวัน”  เลยเทียว  ท่านไม่กลายเป็นเหยื่อจระเข้เพราะเทวดายังปรานี (ดังที่ว่าในกลอน)  หนองน้ำที่ลงไปงมหาของตามลายแทงแล้วปล้ำกับจระเข้เข้านั้น  น่าจะเป็น   “บึงราชนก”   ซึ่งมีตำนานบอกเล่ากันมาว่า  บึงนี้เดิมเป็นเมืองชื่อว่า   เมืองราชนก   ต่อมาเมืองถล่มกลายเป็นบึงใหญ่ (เหมือนทะเลสาบ)  ของที่ระบุไว้ในลายแทงจึงน่าจะอยู่ในบึงแห่งนี้เอง

(http://i.ibb.co/tHMFz6P/1536817207422510-M.jpg) (https://imgbb.com/)

          รอดตายจากพิษณุโลกท่านก็ล่องเรือลงใต้  ผ่านพิจิตร  นครสวรรค์  ชัยนาท  แวะเข้าลพบุรี  สระบุรี  ตามลายแทงเดิม  เส้นทางนี้ก็อันตรายมากมาย  โดยเฉพาะเมื่อเดินทางถึง   “เขาม้าวิ่ง” (อยู่แถว ๆ ลพบุรี-สระบุรี)  พักแรมคืนที่เพิงผาด้วยความเหนื่อยอ่อน  กำลังเคลิ้มหลับในยามดึกคืนนั้นก็ต้องตกใจตื่น  เมื่อมีเสียงขู่ฟ่อ ๆ  ลืมตาดูก็เห็นงูเหลือมใหญ่สองตัวผัวเมียมากอดเกี้ยวเกี่ยวพันกันอยู่รอบกาย  จะลุกหนีก็ไม่ทัน  จำต้องทำใจดีสู้เสีอ  นั่งนิ่งทำสมาธิถอดจิตออกจากร่าง  อุทิศร่างกายให้เป็นเหยื่องูใหญ่ไป  คงจะด้วยอำนาจสมาธิจิตนั่นเอง  งูเหลือมก็คลายตัว  เอาลิ้นเลียกายท่านแล้วก็เลื้อยออกไปข้างหน้า  กลายร่างเป็นสตรีผมขาว  ยืนอยู่เบื้องหน้าตัวสูงใหญ่เท่าเสากระโดงเรือ  แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก  ตอนนี้ท่านได้สติดีแล้วจึงหยิบไม้เท้าจะตี  เจ้าผีโป่งตัวนั้นก็ถอยหนีหายไป

          ขาล่องจากสระบุรีท่านบอกเล่าว่า  เรือชนตอล่มเป็นหลายหน  ดังกลอนที่ว่า

“ เมื่อขาล่องต้องตอเรือหล่อล่ม
จวนจะจมน้ำม้วยระหวยระหาย
ปะหาดตื้นขึ้นรอดไม่วอดวาย
แต่ปะตายหลายหนหากทนทาน

แล้วมิหนำซ้ำบุตรสุดที่รัก
ขโมยลักหลายหนผจญผลาญ
ต้องต่ำต้อยย่อยยับอัประมาณ
มาอยู่วิหารวัดเลียบช่างเยียบเย็น

โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน
สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น
ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น
เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันทร์...”

(https://i.ibb.co/F4cphxr/images-25.jpg) (http://imgbb.com/)
วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ)

          ** หลังจากบวชแล้ว ๓ ปีเศษ  เป็นพระบ้านนอกแสวงหาแร่เหล็กไหลมาถลุงเป็นทอง  ตกระกำลำบากจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด  จากภาคกลางขึ้นไปภาคเหนือแล้วล่องลงมากรุงเทพมหานคร  วัดแรกที่เข้าอยู่ในกรุงเทพฯ คือวัดเลียบ (ราชบูรณะ)  ท่านไม่มีกุฏิอยู่เหมือนพระลูกวัดทั่วไป  จึงต้องอาศัยอยู่ในพระวิหาร  เสื่อหมอนก็ไม่มีให้ใช้ปูหนุนนอน  ได้รับความลำบากมาก  พรุ่งนี้มาอ่านเรื่องราวของท่านต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, พฤศจิกายน, 2562, 10:13:53 PM
(https://i.ibb.co/1vCxY0N/1498556489-8899.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๔ -

“ จะสึกหาลาพระอธิษฐาน
โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ
เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยผ่อนเย็น

อยู่มาพระสิงหไกรภพโลก
เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ
ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น
พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก

ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์
ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก
ค่อยฝ่าฝืนชื่นฉ่ำดังอำมฤค
แต่ตกลึกเหลือที่จะได้สบาย

ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น
จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย
ได้ห่มสีมีหมอนเสื่ออ่อนลาย
ค่อยผ่อนคลายอุตส่าห์ตรองสนองคุณ.....”

...................... รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของสุนทรภู่ว่า  เดินทางจากสองพี่น้อง  สุพรรณบุรี  ขึ้นไปทางภาคเหนือ  ถือลายแทงแสวงหาสิ่งของที่ต้องการ  ถึงเมืองพิษณุโลก  ลายแทงบอกว่ามีของอยู่ในหนองน้ำใหญ่  จึงลงไปงมหา  พบจระเข้ในหนองใหญ่  ได้ปล้ำกับจระเข้  รอดตายมาได้  ล่องเรือกลับลงใต้  ผจญภัยผีโป่งแถว ๆ ลพบุรี  สระบุรี  แล้วล่องลงกรุงเทพฯ  เข้าอยู่ในวิหารวัดเลียบ(ราชบูรณะ) อย่างยากไร้  วันนี้มาดูเรื่องราวชีวิตและงานของท่านต่อไปครับ

          กลอนข้างต้นนี้  เป็นกลอนที่พระภิกษุภู่แต่งเมื่อยามอยู่วัดเทพธิดาราม  รำพึงรำพันถึงความหลังในหัวข้อเรื่องว่า   “รำพันพิลาป”   ท่านบอกความชัดเจนว่า  ตอนนั้นคิดจะลาสิกขา (สึก) เสียแล้ว  ก็พอดีมี  “พระอภัยมณี  ศรีสุวรรณ”  เข้ามาช่วยอุปถัมภ์บำรุงไว้ไม่ต้องสึก

          พระอภัยมณี  ศรีสุวรรณ  ในที่นี้ท่านหมายถึง  เจ้าฟ้าชายกลาง (สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์)  กับเจ้าฟ้าชายปิ๋ว  สองพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒   อันประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ซึ่งทรงได้รับพระราชานุญาตจากรัชกาลที่ ๓  ให้นำมาฝากเป็นศิษย์พระภู่  ให้สอนหนังสือเช่นเดียวกันกับที่เคยสอนเจ้าฟ้าอาภรณ์  พระราชโอรสองค์ใหญ่มาแล้ว

          เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงเข้ามาอุปถัมภ์บำรุง  ก็อยู่อย่างมีความสุขสบายขึ้นบ้าง  แต่ท่านกลับกล่าวว่า    “ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น    จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย”    ก็แสดงว่ายังมีอะไร ๆ ในวัดเลียบที่ทำให้ท่านไม่สะดวกสบายนัก  ท่านอาจจะถูกอิจฉาริษยา  ที่เจ้าฟ้ากุณฑลฯ นำพระราชโอรสมามอบเป็นศิษย์พระภู่  พวกอิจฉาริษยาจึงพากันกลั่นแกล้งนานาประการ  และในระยะเวลานั้น  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (ในกลอนข้างต้นนี้เรียกว่า “พระสิงหไกรภพ”)  ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงร่วมอุปการะพระภิกษุภู่ด้วย  ทำให้พวกที่อิจฉาริษยาหาเรื่องใส่จนเดือดร้อนมากขึ้น

          ครั้นออกพรรษาแล้ว  ท่านก็ออกจากวัดเลียบเดินทางไปกรุงเก่า (อยุธยา)  แต่งกลอนนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า    นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   โดยมีหนูพัดบุตรชายที่เกิดกับนางจันภรรยาคนแรกร่วมเดินทางไปด้วย  นิราศเรื่องนี้ทั้งลีลาคารม  คำคม  คติธรรมของท่านเรียงร้อยไว้ดีเยี่ยม  จนได้รับการยกย่องว่าในบรรดานิราศของสุนทรภู่นั้น  นิราศภูเขาทองยอดเยี่ยมที่สุด  จึงใคร่ขอเวลาดำเนินเรื่องชีวิตท่าน  มาแวะชมคารม  คมคำ  คติธรรมของท่าน  เป็นตอน ๆ  ดังต่อไปนี้

“.. เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา
รับกฐินภิญโญโมทนา
ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย

ออกจากวัดทัศนาดูอาวาส
เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาศัย
สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย
มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น

อาวาสราชบุรณะพระวิหาร
แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น
เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง

จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง
ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึงอำลาอาวาสนิราศร้าง
มาอ้างว้างวิญญาในสาคร....”

          ปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๑ นั้น  ท่านเดินทางออกจากวัดเลียบในเดือน ๑๑ ข้างแรม  ท่านว่าเสร็จธุระในการจำพรรษา  และอนุโมทนากฐินรับอานิสงส์ตามพระวินัยกรรมแล้ว  จึงเดินทางออกจากวัด  จะเป็นวันแรมกี่ค่ำเดือน ๑๑ ก็สุดรู้ได้  อย่างเร็วก็คงไม่เกิน แรม ๙ ค่ำเดือน ๑๑  โดยตีเสียว่า  วันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑  เป็นวันถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน  พระภู่รับกฐินภิญโญโมทนา  วันรุ่งขึ้นเวลาเย็นก็ลงเรือ  ตรงที่เป็นบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าในปัจจุบัน

          ก่อนจะออกเรือก็มองดูวัดที่เคยอยู่อาศัยอยู่    “สามฤดูอยู่ดีไม่มีภัย”    แต่ในคำกลอนต่อไปดูจะขัดแย้งกันที่ว่า    “เพราะขุกเข็ญคนพาลทำรานทาง”    ก็แสดงว่าท่านถูกรังแกจากคนพาล  ครั้นเข้าฟ้องร้องเจ้าอาวาสแล้วก็ไม่ได้ผล  จึงเขียนเป็นกลอนว่า    “จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง   ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง”    ช่างคิดเปรียบเทียบดีเหลือเกิน

          ออกจากวัดเลียบแล้วจะไปทางไหน  อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านความตามรอย   นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   กันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤศจิกายน, 2562, 10:11:35 PM
(https://i.ibb.co/xHmzmx8/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระเจดีย์ภูเขาทอง วัดภูเขาทอง อยุธยา

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๕ -

“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด
คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร
แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทั้งเช้าเย็น

พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด
ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น
ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา

จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย
ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งพระวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา
ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป.....”

...................... นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..............................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและงานสุนทรภู่  ถึงตอนที่ท่านเข้าอยู่วัดเลียบ  หรือวัดราชบูรณะ  ได้รับอุปถัมภ์บำรุงจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ทรงนำเจ้าฟ้าชายกลาง  เจ้าฟ้าชายปิ๋ว  มามอบตัวเป็นศิษย์ให้สอนหนังสือ  จนถูกอิจฉาริษยาจากคนพาลนานาประการ  แม้ท่านจะฟ้องร้องต่ออธิบดีสงฆ์ (สมภาร  เจ้าอาวาสวัด)  ท่านสมภารก็ช่วยอะไรไม่ได้

          ครั้นออกพรรษา  รับกฐินแล้ว  ท่านก็เดินทางออกจากวัด  มุ่งหน้าไปนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงเก่าอยุธยา  ไปโดยทางเรือตามลำน้ำเจ้าพระยา  และได้แต่งกลอนนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ      นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนิราศยอดเยี่ยมที่สุดของสุนทรภู่  ตลอดระยะทางที่แจวเรือทวนน้ำขึ้นไปกรุงเก่านั้น  ท่านได้พรรณนาถึงสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ออกจากวัดเลียบไปจนถึงภูเขาทอง  ดังนั้น  ผมจึงตกลงใจจะพาทุกท่านตามรอยนิราศภูเขาทองของท่านสุนทรภู่ไปจนจบ  และเริ่มออกจากวัดเลียบเมื่อวานนี้  เรือพาหนะของท่านทวนน้ำขึ้นไปถึงแถว ๆ ท่าเตียนแล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/CPwyGqB/Grand-Palace-of-Bangkok-1860s.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างต้นเรื่องวันนี้  ท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อเรือประทุนของท่านแจวทวนน้ำขึ้นถึงบริเวณพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งเรียกว่า  “หน้าวัง”  ก็เกิดความรู้สึกโศกาอาลัยดังใจขาด  ด้วยหวนคิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ที่เคยเข้าเฝ้าทั้งเช้าเย็น  โดยเวลาเช้าเฝ้าแหนตามตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการ  เวลาเย็นเข้าเฝ้าในตำแหน่งกวีที่ปรึกษา  พิจารณาสำนวนกวีในบทละครที่นักกวีแต่งเสร็จแล้วนำมาอ่านเพื่อให้ที่ประชุมกวีเห็นชอบรับรองกัน  ขุนสุนทรโวหารมีความสุขสนุกสนานในการเป็นข้าราชการกรมพระอาลักษณ์และกวีที่ปรึกษาคนโปรด

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว  ขุนสุนทรโวหารปานว่าหัวขาด  ไร้ญาติขาดมิตร  ตกระกำลำบากยากเข็ญ  ต้องระเหเร่ร่อนไปอย่างไร้ที่พึ่ง  ในการบวชของท่านนี้ตั้งใจในบัดนั้นว่า  จะบำเพ็ญพรตภาวนาปฏิบัติธรรมตลอดพรรษา  อุทิศส่วนบุญถวายเป็นพระราชกุศล  ตั้งความปรารถนาว่าเกิดชาติใดภพใดขอได้เป็นเกิดเป็นข้ารองบาททุกชาติไป  รำพึงรำพันอย่างนี้จนเรือแล่นเลยขึ้นจะพ้นบริเวณพระราชวัง  ท่านก็เขียนกลอนรำพันต่อไปว่า

“ ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง
คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย
แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง

พระทรงแต่งแปลงบทพจนาตย์
เคยรับราชโองการงานฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำและลำคลอง
มิได้ข้องเคืองขัดพระหัทยา

เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตระหลบ
ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา
วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์

ดูในวังยังเห็นพระอัฐิ
ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล
ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์......”

          * กลอนตรงนี้ท่านรำพันถึงครั้งที่ยังเป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรด  ซึ่งเป็นคนเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่งที่ทรงงาน  ทุกครั้งที่เสด็จทางชลมารค  ขุนสุนทรโวหารต้องตามเสด็จและหมอบเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิด  ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีใด ๆ แล้วก็จะให้ขุนสุนทรโวหารตรวจดูทุกครั้ง  มิใช่ตรวจดูแต่ตาเท่านั้น  ต้องอ่านทำนองเสนาะถวายด้วย  สุนทรภู่หมอบเฝ้าใกล้ชิดพระวรกายจนได้กลิ่นเครื่องหอมที่ทาไล้พระวรกายอบอวล กลอนที่ว่า   “วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์”

          เดี๋ยวนี้เขียนกันว่า  “วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์”  โดยเพิ่มคำมา  “เหมือน”  เข้ามา  ซึ่ง  ท่านจันทร์ว่า  ผิดไปจากของเดิมที่ไม่มีคำว่า  “เหมือน”

          บทที่ว่า  “....ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล   ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล  ให้ผ่องพ้นภัยสำราญผ่านบุรินทร์”  ความตรงนี้หมายถึงพระภิกษุภู่ตั้งสติถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่มิได้ทรงถือโทษโกรธเคืองสุนทรภู่เลย  ทั้งนี้ก็เนื่องจากแสดงออกด้วยการทรงมีพระราชานุญาตให้พระราชอนุชาทั้งสองพระองค์  คือเจ้าฟ้าชายกลาง  ชายปิ๋ว  ไปเป็นศิษย์พระภิกษุภู่นั่นเอง

          เรือประทุนคู่ชีพถูกแจวแล่นเลยท่าช้าง  ท่าพระจันทร์  ผ่านพระราชวังหน้า  และพระราชวังหลังแดนเกิดของท่านแล้ว  ก็มีกลอนรำพันอีกว่า

“ ถึงอารามนามวัดประโคนปัก
ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน
มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา

ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย
แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา
อายุยื่นหมื่นเท่าเสาศิลา
อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง

ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ
แพประจำจอดรายเขาขายของ
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง
ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภาฯ

          * บริเวณปากคลองบางกอกน้อยด้านทิศเหนือเป็นที่ปักเสาหินแสดงเขตแดนราชธานี  และที่ตรงนั้นมีวัดตั้งอยู่  เป็นวัดเก่าแก่แต่ปลายกรุงศรีอยุธยา  มีชื่อเรียกกันว่า  วัดเสาประโคน  หรือวัดเสาหิน  หมายถึงวัดที่เป็นเขตแดนเมืองหลวง  วันที่พระภิกษุภู่แจวเรือผ่านไปนั้นไม่มีเสาประโคนหรือเสาหินให้เห็นแล้ว  เห็นแต่ว่าบริเวณนั้นมีเรือนแพ  และเรือพายขายค้าสินค้านานาชนิด  จะเรียกว่า  เป็นตลาดน้ำก็ว่าได้

(https://i.ibb.co/0VyT3jc/NHM03197.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดดุสิดารามวรวิหาร

          วัดเสาประโคนนี้ สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  ทรงปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖  ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น  วัดดุสิตาราม  ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  รวมวัดภุมรินราชปักษี  กับ  วัดน้อยทองอยู่  ซึ่งมีเขตติดต่อกันและไม่มีพระอยู่  ให้วัดดุสิตารามปกครองดูแล  ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๙  มีประกาศให้วัดภุมรินราชปักษี  วัดน้อยทองอยู่  กับวัดดุสิตารามรวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน  เป็นวัดดุสิตาราม  พระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดวรวิหาร

          ** จากวัดเสาประโคนแล้วพระภู่จะต่อไปไหน  พรุ่งนี้มาตามรอยท่านต่อไปครับ

                                   ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44678#msg44678)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, พฤศจิกายน, 2562, 10:23:12 PM
(https://i.ibb.co/qMz6fND/images-21.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44511#msg44511)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44858#msg44858)                   .

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๖ -

“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
พระสรรเพชฌโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพากรอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินจนเกินไป

ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ

.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...........................

          พระภิกษุภู่  สุนทรโวหาร  หนุ่มใหญ่วัย ๔๐ เศษ  นั่งเรือเลยวัดเสาประโคนขึ้นไปถึงโรงเหล้าบางยี่ขัน  เห็นโรงเหล้ากำลังกลั่นน้ำเมาควันลอยขึ้นออกจากปล่องเป็นโขมง  ก็เขียนเป็นกลอนลงใน      นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   แสดงความรู้สึกผิดชอบชั่วดี  ดังความที่ยกมาลงไว้ข้างต้นนี้

          คำกลอนตอนนี้เป็นคติธรรมคำปรัชญาที่ลึกซึ้งยิ่งนัก  ท่านเปรียบน้ำเมาคือสุราเมรัยว่าเป็น  “น้ำนรก”  เพราะสมัยที่ท่านยังหนุ่มแน่นอยู่นั้น  ดื่มสุราเมรัย เมามายไม่มีสติรู้ตัว  ทำชั่วไปหลายประการ  ต้องติดคุกจำขัง  ชีวิตราชการไม่ก้าวหน้า  ยศตำแหน่งไม่สูงทันเทียมเพื่อน  ทั้ง ๆ ที่ตนเองมีความรู้ความสามารถเหนือใคร ๆ ในรุ่นเดียวกัน  ต้องตกระกำลำบากเพราะน้ำเมานี่เอง  ดังนั้นท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า  จะกรวดน้ำทำบุญขอสำเร็จโพธิญาณในอนาคต  ต่อนี้ไป แม้ว่าสุราจะพาให้รอดไปได้ดีอย่างไรก็ไม่เชื่อถือแล้ว  จะแกล้งเมินไกลเสีย

          "ท่านจันทร์"  ทรงกล่าวว่า  สุนทรภู่เห็นทีจะเลิกดื่มสุราได้ตั้งแต่ตอนที่ถูก  “ขังลืม”  เมื่อพ้นโทษแล้วก็ไม่ได้กลับไปดื่มอีก  โดยท่านอ้างเอากลอนตอนนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า  สุนทรภู่รู้ซึ้งถึงโทษของการดื่มน้ำเมามาก่อนหน้านี้แล้ว

          กลอนที่นักกลอนระดับอาจารย์เรียกกันว่า  “วรรคทอง”  ในนิราศภูเขาทองมีหลายบทหลายตอน  วรรคที่คนเป็นนักกลอนและมิใช่นักกลอนจำจำกันได้มากที่สุดคือบทที่ว่า

“ ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน”

(https://i.ibb.co/4d7Kxcj/images-28.jpg) (https://imgbb.com/)

          เป็นปรัชญาความรักที่ลึกซึ้งมาก  นักเลงสุราบางคนเอาไปพูดอ้างว่า  เมาเหล้าดีกว่าเมารัก  เพราะเมาเหล้าไม่นานก็หาย  แต่เมารักสิเมาจนตายก็ไม่หายเมา

          เรือประทุนพระภิกษุภู่  สุนทรโวหาร  ผ่านโรงเหล้ามาแล้ว  ถึงสถานที่จำคัญอีกหลายแห่งที่ท่านเห็นว่าควรบันทึกไว้ในกลอนนิราศคือ

* “ ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง
มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน
จึงต้องขืนใจพรากมาจากเมือง

ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง
เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง
ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน

ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ
ร่มนิโรธรุกขมูลให้พูนผล
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล
ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกาย

ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง
มีข้องข้งกุ้งปลาไว้ค้าขาย
ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย
พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง......”

(https://i.ibb.co/HGYd0Jn/o-OPAOec-N1.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางยี่ขัน

          * เรือประทุนถูกแจวทวนน้ำจากโรงเหล้าบางยี่ขันผ่านบางจาก  บางพลู  บางพลัด  บางโพธิ์  ถึงบ้านญวน  บางพลัดกับบางโพธิ์  อยู่เยื้อง ๆ กันคนละฝั่งเจ้าพระยา  อ่านนิราศถึงตรงนี้  ได้คำศัพท์ที่ออกเรียกที่ถือว่า  ถูกต้องแน่นอน (กว่าพจนานุกรมของราชบัณฑิตสถาน)  คือ  “โพธิ์”  ถ้ามีการันต์เหนือสระอิ ท่านให้ออกเสียงว่า  “โพ”  ถ้าไม่มีการันต์ให้ออกเสียงว่า  “โพด”  ผู้ประกาศข่าวทั้งหลายควรจำจดกันไว้ให้ดี

          บ้านญวนแถวบางโพธิ์สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓  เห็นจะเป็นชุมชนใหญ่กว่าบ้านญวนสามเสน  วันที่พระภิกษุภู่ผ่านไปนั้น  ท่านเห็นมีร้านโรงมากมาย  ในน้ำหน้าร้านโรงนั้น  มีกระชังขังกุ้ง  ปลา ไว้ขาย  นอกจากนั้น  ยังมีโพงพางไว้ดักจับกุ้งปลาอีกด้วย  นี่ก็เป็นความรู้หนึ่งที่ควรรู้ไว้ (ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม) นะครับ

          พักเรื่องไว้ตรงบ้านญวนบางโพธิ์นี่ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, พฤศจิกายน, 2562, 10:44:30 PM
(https://i.ibb.co/XYXntXF/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร : นนทบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๗ -

จะเหลียวกลับลับเขตประเทศสถาน
ทรมานหม่นไหม้ฤทัยหมอง
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง
พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน

โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จบรมโกศ
มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน
ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา

โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง
เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา
เป็นบุญน้อยพลอยนึกโมทนา
พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน

ดูน้ำวิ่งกลิ้งเชี่ยวเป็นเกลียวกลอก
กลับกระฉอกฉานฉัดฉวัดเฉวียน
บ้างพลุ่งพลุ่งรุ้งวงเหมือนกงเกวียน
ดูเวียนเวียนคว้างคว้างเป็นหว่างวน

ทั้งหัวท้ายกรายแจวกระชากจ้วง
ครรไลล่วงเลยทางมากลางหน
โอ้เรือพ้นวนมาในสาชล
ใจยังวนหวังสวาทไม่คลาดคลา.......”

.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้พาทุกท่านตามรอย นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   ของพระภิกษุภู่  สุนทรโวหาร  ออกจากวัดเลียบมาถึงบ้านญวนบางโพธิ์  วันนี้ตามท่านมาถึงวัดเขมา  ปากน้ำเมืองนนท์แล้วครับ

          คำกลอนข้างบนนี้ท่านสุนทรภู่กล่าวว่าวันที่ท่านมาถึงวัดเขมาภิรตาราม  เห็นร่องรอยการฉลองโบสถ์ผ่านไปได้ ๒ วันแล้ว  หวนคิดถึงคราก่อนหน้านี้  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงผูกพัทธสีมา  ขุนสุนทรโวหารกวีที่ปรึกษาคนโปรดก็โดยเสด็จด้วย  ได้เข้าชมภายในพระอุโบสถที่มีพระพิมพ์แปดหมื่นสี่พันองค์  ที่แปะติดริมผนังพระอุโบสถอย่างงดงามมาก  เสียดายที่งานฉลองพระอารามครั้งนี้มิได้มาร่วมงานด้วย  เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สวรรคต  ขุนสุนทรภู่หมดวาสนาเสียแล้ว

          เรือประทุนพาหนะของท่านพลัดติดวังน้ำวนตรงปากน้ำใกล้ ๆ วัดเขมาฯ นั้น  ถูกกระแสน้ำเชี่ยวกรากกระชากพัดจนเรือเกือบจะล่มจมลง  ฝีพายประจำเรือต้องช่วยกันแจวจ้วงจ้ำค้ำถ่อเต็มแรง  จึงกระชากลำเรือออกพ้นวังวนของน้ำไป  แล้วเรือก็ถูกแจวทวนกระแสน้ำต่อไป

“ ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง
สองฟากฝั่งก็แล้วล้วนสวนพฤกษา
โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา
เหมือนกลิ่นผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ

เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง
ทั้งรักแซงแซมสวาทประหลาดเหลือ
เหมือนโศกพี่ที่ช้ำระกำเจือ
เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย

ถึงแขวงนนท์ชลมารคตลาดขวัญ
มีพ่วงแพแพรพรรณเขาค้าขาย
ทั้งของสวนล้วนแต่เรือเรียงราย
พวกหญิงชายชุมกันทั้งวันคืนฯ”

(https://i.ibb.co/LPzDFw3/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          เรือลอยลำทวนน้ำผ่านตลาดแก้วที่ท่านกล่าวว่า  แลไม่เห็นตลาดตั้งอยู่ริมน้ำ  สองฟากฝั่งในย่านนั้นแลเห็นแต่สวนพฤกษา  ซึ่งก็เป็นสวนผลไม้ที่เต็มไปด้วยทุเรียน  มังคุด  ชมพู่  และไม้ผลนานาชนิด  กลิ่นดอกไม้ตรลอบอวลชวนให้คำนึงถึงกลิ่น  “ผ้าแพรดำร่ำมะเกลือ”  ยิ่งแลเห็นต้นโศกใหญ่  มีกอระกำแฝงแซงแซมด้วยต้นรัก  อารมณ์กวีจากหนุ่มใหญ่วัย ๔๐ ปีเศษของท่านก็กระเจิดกระเจิงไปดังคำกลอนข้างต้น  จนกระทั่งเรือเลยเข้าถึงตลาดขวัญ  ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเมืองนนท์  ทั้งในเรือนแพริมน้ำและในเรือพายกรายไปมา  มีล้วนแต่ผักผลไม้ของสวนนนท์มาค้าขายกัน

“ มาถึงบางธรณีทวีโศก
ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น
โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น
ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร

เป็นเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้
ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ
เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า
ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา
ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย

โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง
เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย
นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ
ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิดฯ”

          เลยขึ้นมาถึงบางธรณี  สุนทรภู่แต่งกลอนรำพันตรงนี้เป็นปรัชญาลึกซึ้งมาก  ท่านว่าแผ่นดินทั้งหนาทั้งกว้างสุดประมาณ  แต่ว่าตัวท่านนั้นร่างกายเล็กนิดเดียวกลับไม่มีแผ่นดินจะให้อยู่อาศัย  ทุกหนแห่งมีแต่หนามเหน็บคอยทิ่มแทง  ทำให้  “คับใจอยู่ยาก”  ต้องร่อนเร่ไปเหมือนนกไร้รัง  บินคว้างอยู่เดียวดาย  กลอนวรรคทองตรงนี้ยังติดปากคนไทยอยู่จนทุกนี้ว่า  “โอ้ยากไร้กายเราก็เท่านี้   ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย....”

(https://i.ibb.co/kG8M29Y/v48.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนมอญ เกาะเกร็ด : ปากเกร็ด นนทบุรี

          ถึงบ้านเกร็ด  หรือ  ปากเกร็ด  ชุมชนชาวมอญ  ท่านก็ว่าหญิงมอญแต่เดิมมานั้นเกล้ามวยผมสวยงามตามแบบอย่างชนชาวมอญ  แต่วันที่ทานไปเห็นนั้น หญิงชาวมอญบ้านปากเกร็ดเปลี่ยนมาถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา  แต่งหน้าเหมือนหญิงชาวไทยเสียแล้ว  ตรงนี้ท่านกล่าวปรัชญาที่ลึกซึ้งว่า   สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง   คือทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ในลักษณะที่เสมอกัน (สามัญ)  คือ  อนิจจังความไม่เที่ยงแท้  ล้วนผันแปรไป  ดูหญิงชาวมอญเป็นตัวอย่างเถิด

          แล้วท่านก็ว่า  “นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ   ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิด”   ซึ่งเป็นความจริงตามคัมภีร์อภิธรรมหรือปรมัตถธรรม  ที่ว่าด้วยเรื่องจิต หรือใจ  ว่าทุกคนมีจิตหรือใจมากนับร้อยดวง  สุนทรภู่ท่านคงจะเรียนรู้พระอภิธรรมมาบ้างจึงกล่าวว่า  ทุกคนมีหลายใจ  อย่าได้คิดว่าคนมีใจเดียว  ใครที่พูดว่า   “ฉันเป็นคนใจเดียว”   นั่นโกหกชัด ๆ เลย

          ** ตามรอยนิราศภูเขาทองของท่านสุนทรภู่มาแค่ปากเกร็ดก่อนนะครับ  เหนื่อยแล้วหละ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองุโขทัย
๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, พฤศจิกายน, 2562, 10:58:32 PM
(https://i.ibb.co/gm6RBCF/images-35.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดกู้ : บางพูด นนทบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๘ -

“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา...”

.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   ทวนลำน้ำแม่เจ้าพระยามาถึงบ้านมอญปากเกร็ด  ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญใหญ่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย  ท่านกล่าวในกลอนเชิงตำหนิว่า  หญิงชาวมอญไม่รักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง  ที่เคยแต่งกายเกล้าผมมวย  กลับเปลี่ยนมาเป็นถอนไรจุกจนหน้าเหมือนตุ๊กตา  ผัดหน้าจับเขม่าเหมือนหญิงไทย (สมัยนั้น)  วันนี้มาตามรอยนิราศภูเขาทองกันต่อครับ

          กลอน ๑ บทข้างบนนี้  พระภิกษุภู่นั่งเรือประทุนแจวทวนน้ำจากปากเกร็ดขึ้นไปบ้านบางพูด  ก็แต่งกลอนวรรคทองขึ้นอีกบทหนึ่ง  กลอนบทนี้ทั้งไพเราะและใส่คติธรรมเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง  เตือนคนที่ชอบพูดจากให้สำเหนียกในการพูดให้จงดี  เพราะคำพูดทุกคำสามารถสร้างและทำลายตัวเองและมิตรได้  ถ้าพูดดีก็เป็นศรีเป็นศักดิ์แก่ตนเองและญาติมิตร  มีคนรักชื่นชมนิยมชมชอบ  ถ้าพูดชั่ว  อาจทำให้ตัวตายและทำลายมิตรด้วย  คนที่จะเป็นคนผิด  คนชอบ (ถูก) ในสังคมมนุษย์  ก็เพราะการพูดจานั่นเอง

          ท่านเขียนกลอนสอนเรื่องการพูดเพียงสั้น ๆ  แต่ได้ความหมายกว้างไกล  จนกลายเป็นคำสอนอมตะไปแล้ว  เรือประทุนก็ถูกแจวทวนกระแสน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปทางเหนือโดยลำดับ

“ ถึงบ้านใหม่ใจจิตก็คิดอ่าน
จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปรารถนา
ขอให้สมคะเนเถิดเทวา
จะได้ผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย

ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด
บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน
อุปไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา

ถึงบางหลวงเชิงรากเหมือนจากรัก
สู้เสียศักดิ์สังวาสพระศาสนา
เป็นล่วงพ้นรนราคราคา
ถึงนางฟ้ามาให้ไม่ใยดีฯ

(https://i.ibb.co/bF9hyxq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
บ้านเดื่อ

          เรือแล่นถึงบ้านใหม่  ก็ทำให้ใจหวนคิดหาบ้าน (ที่อยู่) ใหม่  เพราะบ้านเก่าคือวัดเลียบนั้น  แม้จะเป็นบ้านแคบก็พออยู่ได้  แต่เหตุการณ์หรือสังคมภายในวัดไม่ดี  ทำให้คับใจจนไม่อยากทนอยู่ต่อไป  จึงขอพรเทวาที่บ้านใหม่ช่วยดลบันดาลให้ท่านได้บ้านใหม่ซึ่งดีกว่าบ้านเก่าด้วยเถิด  จากบ้านใหม่เลยไปถึงบ้านเดื่อ  ท่านก็ให้ความรู้ว่า  ผลมะเดื่อมีแมลงหวี่เกิดขึ้นภายใน  เป็นเรื่องประหลาด  จึงผลมะเดื่อช่างเหมือนคนพาล  ที่  ”หวานนอกขมใน”  คบไม่ได้  ครั้นถึงบางหลวงเชิงราก  ท่านก็รำพันว่า  เหมือนตัวท่านที่สละละทิ้งยศศักดิ์มาบวชอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์  เป็นการล่วงพ้นความดิ้นรนอยากในตัณหาราคะ  แม้นางฟ้ามาให้เสพสมก็มิได้อาลัยใยดีแล้ว

" ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า
พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี
ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว

โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง
แต่ชื่อตั้งยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้สุนทรประทานตัว
ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ
ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด
ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี

สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง
อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี
ทุกวันนี้ซังตายทรงกายมาฯ

(https://i.ibb.co/ZS0yGf5/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/VmDjsHy/img21.jpg) (https://imgbb.com/)
สามโคก ปทุมธานี

          เลยจากบางหลวงเชิงรากถึงสามโคก  ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ยิ่งโศกหนักด้วยหวนรำลึกถึงนามเมืองใหม่ของสามโคกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นว่าเมืองสามโคกนี้มีบัวหลวงมาก  จึงพระราชทานนามใหม่ว่า   “ประทุมธานี”   เป็นหัวเมืองชั้นตรี  ท่านรำพันว่า  นามพระราชทานนี้ใคร ๆ ก็รู้จักและเรียกขานกันทั่วไป  แม้พระองค์จะล่วงลับดับสังขารไปแล้ว  นามที่ทรงตั้งก็ยังคงอยู่ไม่รู้หาย  แต่ตัวท่านสิ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชทานนามให้ว่า  ขุนสุนทรโวหาร  ครั้นพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว  นามขุนสุนทรโวหารก็ไม่  “รอดชั่ว”  กลับสิ้นไปกับพระชนมชีพของพระองค์  ต้องกลายเป็นพระภู่เที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร่อนจรหาที่อาศัยเรื่อยไป

“ ถึงบ้านงิ้วเห็นแต่งิ้วละลิ่วสูง
ไม่มีฝูงสัตว์สิงกิ่งพฤกษา
ด้วยหนามดกรกดาษระดะตา
ก็นึกน่ากลัวหนามขามขามใจ

งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม
ดังขวากแซมเสี้ยมแซกแตกไสว
ใครทำชู้คู่ท่านแล้วบรรลัย
ก็ต้องไปปีต้นน่าขนพอง

เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว
ยังคลาดแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง
เจียนจะต้องเป็นบ้างหรืออย่างไร.......”

(https://i.ibb.co/rs52BT1/bombacoideae1.jpg) (https://imgbb.com/)
ต้นงิ้ว

          อ๊ะ ! อ้าว.....พระภู่ สุนทรโวหาร กำลังคิดจะเล่นชู้กะเขาบ้างแล้วหรืออย่างไร  หรือว่า  “กลอนพาไป”  เท่านั้นเอง  ตามรอยนิราศภูเขาทองมาถึงตรงนี้ เราก็รู้กันแล้วละว่า  สุนทรภู่มีความรู้ในเรื่องของศาสนาวัฒนธรรมประเพณีอย่างลึกซึ้งพอสมควร  รู้กระทั่งว่า  ต้นงิ้วในนรกที่มีไว้สำหรับลงโทษคนทำบาปผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารนั้น  มีหนามแหลมคม  ยาวถึงสิบหกองคุลีเลยทีเดียว  คนที่เป็นชู้คู่ครองเขาไม่ว่าชายหรือหญิง  ตายไปตกนรกขุมนี้  ต้องปีนป่ายต้นงิ้วหนามแหลมคมจนเลือดโทรมกาย  ใครไม่กลัวก็ลองดู

          พักเหนื่อยไว้แค่บ้านงิ้วก่อนครับ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่นะ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, พฤศจิกายน, 2562, 10:40:52 PM
(https://i.ibb.co/DM551b2/p-1861614.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๙ -

โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด
ตัดสวาทตัดรักมิยักไหว
ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ
ถึงเกาะใหญ่ราชครามพอยามเย็น

ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง
ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ
เป็นที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น
เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอา

พระสุริยงลงลับพยับฝน
ดูมัวมนมืดมิดทุกทิศา
ถึงทางลัดตัดทางมากลางนา
ทั้งแฝกคาแขมกกขึ้นรกเรี้ยว

เป็นเงาง้ำน้ำเจิ่งดูเวิ้งว้าง
ทั้งกว้างขวางขวัญหายไม่วายเหลียว
เห็นดุ่มดุ่มหนุ่มสาวเสียงกราวเกรียว
ล้วนเรือเพรียวพร้อมหน้าพวกปลาเลย

เขาถ่อคล่องว่องไวไปเป็นยืด
เรือเราฝืดเฝือมานิจจาเอ๋ย
ต้องถ่อค้ำร่ำไปทั้งไม่เคย
ประเดี๋ยวเสยสวบตรงเข้าพงรก

กลับถอยหลังรั้งรอเฝ้าถ่อถอน
เรือขย้อนโยกโยนกระโถนหก
เงียบสงัดสัตว์ป่าคณานก
น้ำค้างตกพร่างพรายพระพายพัด......”

.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่)


อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอย นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  ของท่านสุนทรภู่  ตามลำน้ำแม่เจ้าพระยาจากวัดเลียบกรุงเทพมหานคร  รอนแรมขึ้นมาจนถึงเมืองสามโคก  แล้วหยุดพักอยู่ตรงบ้านงิ้ว  ที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ท่านว่าเห็นต้นงิ้วหนามแหลมคมแล้วนึกเสียวแทนชายหญิงที่เล่นชู้กัน  วันนี้มาตามรอยท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/7KCnP7V/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เกาะใหญ่ : นนทบุรี (ฝั่งตรงข้ามราชคราม : บางไทร อยุธยา)

          กลอนยาวข้างบนนี้  เป็นกลอนที่ท่านสุนทรภู่แต่งต่อจากบ้านงิ้ว  รำพันว่าได้คิดมาสารพัดเรื่องแล้ว  เห็นว่าเรื่องอะไร ๆ ก็ตัดได้  ปลงได้  แต่เรื่องตัดรักตัดสวาทนี่ตัดเท่าไร ๆ ก็ไม่ขาดสักที  แล้วความคิดท่านก็เปลี่ยนไปเมื่อเรือเลยเข้าเกาะใหญ่ราชคราม  เขตกรุงศรีอยุธยาในเวลาเย็นใกล้ย่ำสนธยาแล้ว  อ่านกลอนที่ท่านพรรณนาตอนนี้แล้วน่าหวาดเสียวมากเลยทีเดียว

(https://i.ibb.co/SQs78LT/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ลานเท : อยุธยา

          เกาะใหญ่ราชคราม  เป็นเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้กว้างใหญ่ที่สุด  คนไทยทั่วไปจะรู้จักกันในนามว่า  “ลานเท”  เป็นห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยภยันตราย  เรือใหญ่ ๆ ที่ขึ้นล่องในลำน้ำแม่เจ้าพระยามักจะล่มจมลงในลานเทนี้มากมาย  และยังมีโจรผู้ร้ายคอยดักลักขโมย  ชิง  ปล้นเรือที่ผ่านไปมาอีกด้วย  สมัยหนึ่งเกาะราชครามท้ายลานเทนี้เป็นเกาะร้าง  เคยใช้เป็นที่ดัดสันดานของเด็กเกเร  กล่าวคือ  เด็กชายไทยที่เกเรมาก ๆ จนแก้ไขไม่ไหวแล้ว ผู้ปกครองจะยินยอมให้ทางการรับตัวมาไว้ในเกาะแห่งนี้  เพื่อแก้ไขนิสัยใจคอให้เป็นคนดีต่อไป  จนเป็นที่มาของคำว่า   “ปล่อยเกาะ”   เวลาเด็กดื้อรั้นไม่เชื่อฟังพ่อแม่  มักจะถูกขู่ว่า   “เดี๋ยวกูจะเอาไปปล่อยเกาะ”   ให้เด็กกลัว  เกาะที่ว่านั่นก็คือ  เกาะใหญ่ราชครามท้ายย่านลานเทนี่เอง

          ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในกลอนตอนนี้ว่า  เกาะใหญ่ราชครามมีภัยจากสัตว์และคนร้ายที่น่ากลัว  คลื่นลมก็แรง  เรือของท่านแล่นอืดมาก  สู้เรือหนุ่มสาวชาวบ้านไม่ได้  เขาถ่อพายปราดเปรียวแล่นฉิวแซงไปหมดเลย  เรือของท่านสะเปะสะปะ  เข้ารกเข้าพง  เดินหน้าถอยหลังยึกยักโยกเยกจนกระโถน (น้ำหมาก) หก  วันนั้นท่านขึ้นไปไม่พ้นลานเท  ดังกลอนต่อไปนี้

“ ไม่เห็นคลองต้องค้างอยู่กลางทุ่ง
พอหยุดยุงฉู่ชุมมารุมกัด
เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกายเหมือนทรายซัด
ต้องนั่งปัดแปะไปไม่ได้นอน

แสนวิตกอกเอ๋ยมาอ้างว้าง
ในทุ่งกว้างเห็นแต่แขมแซมสลอน
จนดึกดาวพราวพร่างกลางอัมพร
กะเรียนร่อนร้องก้องเมื่อสองยาม

ทั้งกบเขียดเกรียดกรีดจังหรีดเรื่อย
พระพายเฉื่อยฉิวฉิววะหวิวหวาม
วังเวงจิตคิดคะนึงรำพึงความ
ถึงเมื่อยามยังอุดมโสมนัส

สำรวลกับเพื่อนรักสะพรักพร้อม
อยู่แวดล้อมหลายคนปรนนิบัติ
โอ้ยามเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด
ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย.......”

          สุนทรภู่ต้องสั่งจอดเรืออยู่กลางทุ่งริมท้องน้ำลานเท  เพราะเป็นเวลามืดค่ำมองไม่เห็นทางที่จะไปแล้ว  จำต้องแรมคืนอยู่กลางทุ่งนั่นเอง  แต่ท่านก็หลับไม่ลง  เพราะยุงชุมเหลือเกิน  มันพากันบินมาเป็นฝูงใหญ่ ๆ  ในเรือไม่มีมุ้งกางกันยุง  จึงต้องทนนั่งปัดยุง  มีเณรหนูพัด  บุตรชายคนโตที่เกิดแต่แม่จัน เดินทางไปด้วย  ช่วยนั่งปัดยุงอยู่ตลอดคืน  สำนวนกลอนตอนนี้ท่านแต่งเล่นคำได้ไพเราะเพราะพริ้งมากทีเดียว  ท่านทนนั่งปัดยุงอยู่จนกระทั่งอุษาโยค (ใกล้รุ่ง)........

(https://i.ibb.co/GksY2Rf/Un-titled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

“ จนเดือนเด่นเห็นกอกระจับจอก
ระดะดอกบัวเผื่อนเมื่อเดือนหงาย
ให้ร่องน้ำลำคลองทั้งสองฝ่าย(ขวาซ้าย?)
ข้างหน้าท้ายถ่อมาในสาคร

จนแจ่มแจ้งแสงตะวันเห็นพรรณผัก
ดูน่ารักดอกบรรจงส่งเกสร
เหล่าบัวเผื่อนแลสล้างริมทางจร
ก้ามกุ้งซ้อนเสียดสาหร่ายใต้คงคา

สายติ่งแกมแซมสลับต้นตับเต่า
เป็นเหล่าเหล่าแลรายทั้งซ้ายขวา
กระจับจอกดอกบัวบานผกา
ดาษดาดูขาวดั่งดาวพราย

โอ้เช่นนี้สีกาได้มาเห็น
จะลงเล่นกลางทุ่งเหมือนมุ่งหมาย
ที่มีเรือน้อยน้อยจะลอยพาย
เที่ยวถอนสายบัวผันสันตะวา

ถึงตัวเราเล่าถ้ายังมีโยมหญิง
ไหนจะนิ่งดูดายอายบุปผา
คงจะได้ให้ศิษย์ที่ติดมา
อุตส่าห์หาเอาไปฝากตามยากจน

นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ
ขี้เกียจเก็บเลยทางมากลางหน
พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน
ถึงตำบลกรุงเก่ายิ่งเศร้าใจ.......”

          ** ระยะทางจากลานเทถึงกรุงเก่าไกลกันพอสมควร  สมัยที่สุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาท  แต่ง นิราศพระบาท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6952.msg24292#msg24292)   นั้นท่านพรรณนาสถานที่ในเส้นทางเดียวกันนี้มากกว่าที่กล่าวใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   คราวนี้ท่านเดินทางจากเกาะใหญ่ราชคราม  รวดเดียวถึงกรุงเก่าเลย  เกาะต่าง ๆ อีกหลายเกาะ  เช่นเกาะเรียน  เกาะพระ  เกาะบางปะอิน  ท่านไม่กล่าวถึง  คงจะเห็นว่าเยิ่นเย้อเกินไปก็ได้นะครับ

(https://i.ibb.co/0QwXTVp/image.jpg) (https://imgbb.com/)
แม่น้ำน้อย

          เกาะใหญ่ราชคราม  ขึ้นอยู่กับเขตปกครองอำเภอบางไทร  และอำเภอบางไทรนี้  เดิมชื่อว่า  เสนาน้อย (แยกจากอำเภอเสนาที่บ้านแพน แม่น้ำน้อย)  ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น อำเภอ (แขวง) ราชคราม  และสุดท้ายเปลี่ยนเป็น  อำเภอบางไทร  เพราะสถานที่ตั้งอำเภออยู่ที่บ้านบางไทรริมแม่น้ำน้อยก่อนเข้าสู่ลานเท

          พักเหนื่อยไว้ตรงที่กลอนท่านสุนทรภู่พรรณนาถึงกรุงเก่าก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤศจิกายน, 2562, 10:42:10 PM
(https://i.ibb.co/JpQFzvS/phukhaothong-750x474.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๐ -

“มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง
คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย
ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน

แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก
อกมิแตกหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร
จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ......”

.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   ออกจากลานเททวนสายน้ำลำแม่เจ้าพระยาผ่านบางปะอิน  ขึ้นมาถึงกรุงเก่าอย่างรวดเร็ว  วันนี้มาอ่านแกะกลอนตามรอยท่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/R7f964S/image.jpg) (https://imgbb.com/)
กรุงเก่า อยุธยา

          กลอนข้างต้นนี้  พระภิกษุสุนทรภู่แต่งกลอนนิราศภูเขาทองของท่านตอนที่เข้าถึงกรุงเก่าแล้วผ่านหน้าจวนเจ้าเมือง  คิดถึงเจ้าเมืองคือพระยาไชยวิชิต (เผือก)  ซึ่งเคยรับราชการอยู่ด้วยกัน (ดูเหมือนจะเป็นที่จมื่นไวย)  อดน้ำตาไหลมิได้  เพราะหวนคิดถึงว่าเพื่อนได้เป็นใหญ่เป็นโตมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าเมืองใหญ่  แต่ตนเองกลับไร้ยศตำแหน่งตกระกำลำบาก  คิดจะแวะเข้าไปหา  ก็เกรงว่าเจ้าเมืองมิใช่   “ไวย”  คนเก่าแล้ว  ถ้าเกิดเขาแปลกหน้าจำเราไม่ได้ก็จะอับอายขายหน้าเปล่า ๆ  จึงตกลงใจไม่แวะหา....

“ มาจอดท่าหน้าวัดพระเมรุข้าม
ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน
บ้างขึ้นล่องร้องรำแสนสำราญ
ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง

บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ
ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง
เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู

อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก
ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเมื่อยหู
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู
จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอน

ได้ฟังเล่นต่างต่างที่ข้างวัด
จนสงัดเงียบหลับลงกับหมอน
ประมาณสามยามคล้ำในอัมพร
อ้ายโจรจรจู่จ้วงเข้าล้วงเรือ

นาวาเคียงเสียงกุกลุกขึ้นร้อง
มันดำล่องน้ำไปช่างไวเหลือ
ไม่เห็นหน้าสานุศิษย์ที่ชิดเชื้อ
เหมือนเนื้อเบื้อบ้าเคอะดูเซอะซะ

แต่หนูพัดจัดแจงจุดเทียนส่อง
ไม่เสียของขาวเหลืองเครื่องอัฏฐะ
ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ
ชัยชนะมารได้ดังใจปอง.........ฯ”

(https://i.ibb.co/jVJPFmD/images-34.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระภู่ สุนทรโวหาร ให้ศิษย์แจวเรือเลยหน้าจวนเจ้าเมืองไปจอดที่ท่าหน้าวัดพระเมรุ  ซึ่งอยู่ริมคลองสระบัวด้านเหนือตัวเมืองเก่า  มีเรือมาจอดเรียงรายกันอยู่เป็นอันมาก  นัยว่า  วันนั้นมีงานกฐินผ้าป่าที่วัดนี้ด้วย  ในการฉลองบุญผ้าป่านั้นชาวบ้านก็ตั้งวงเล่นเพลงกลอนกัน  มีการขับเสภา  เพลงเรือ  เพลงอีแซว  และเพลงอื่น ๆ ตามถนัด  พระภู่อดีตนักกลอนเอกจากราชสำนัก ร.๒ ต้องมาทนฟังนักเลงกลอนบ้านนอกเล่นกลอนโต้ตอบกัน  จนเคลิ้มหลับไปถึงเวลาประมาณยามสาม  เสียงคนร้องตะโกนไล่ขโมยจึงตื่นขึ้นด้วยความตกใจ  เณรหนูพัดรีบจุดเทียนส่องดูในเรือ  เห็นว่าไม่มีอะไรหายก็ใจชื้น  คิดถึงบุญกุศลของตนเอง

          ขโมยซึ่งมาเที่ยวลักของในเรือที่จอดนอนกันนั้น  ไม่ได้พายเรือมา  หากแต่ว่ายน้ำมา  ดูว่าคนในเรือลำใดหลับนอนแล้วจึงขึ้นลักขโมยเข้าของตามใจชอบ  ถ้าเจ้าของตื่นร้องโวยวายขึ้น  ก็ลงน้ำดำหายไปในความมืด  และนี่คือที่มาของคำว่า   “อยุธยาแมวน้ำ”   เป็นฉายาของอยุธยาเรียกขานกันมานาน  เรือโยงทั้งในลำแม่น้ำเจ้าพระยา  และลำแม่น้ำน้อย  ถูกขโมย   “อยุธยาแมวน้ำ” ลักของมาเสียนักต่อนักแล้ว

(https://i.ibb.co/7rVZTv4/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดหน้าพระเมรุ (วัดพระเมรุราชิการามวรวิหาร) : อยุธยา

          วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์  สมัยที่สมเด็จศรีเทพาหูราช  พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราช  หรือขุนหลวงพ่องั่ว  สละราชสมบัติกรุงสุโขทัย  ลงไปครองสุพรรณภูมิ  แล้วกลับขึ้นเสวยราชย์ที่กำแพงเพชร  และที่สุดขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  สมเด็จพระศรีนครินทราชา  หรือที่รู้จักกันทั่วไปทั้งไทยและจีนว่า   “เจ้านครอินทร์”   นั้น  ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้น  สร้างพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยผสมอู่ทองทรงเครื่ององค์หนึ่ง  เป็นพระพุทธรูปที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง  ปัจจุบันเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป  มีคนกราบไหว้บูชากันมิได้ขาด

(https://i.ibb.co/H4FMr9W/11k-Lh-Anz-o.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา

“ ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ
เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง
ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย

อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น
เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานปัทม์ถัดบันได
คงคาลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน

มีเจดีย์บริวารเป็นลานวัด
ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน
เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม

บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น
ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม
ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์

มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย
ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักษิณาวัตรอัศจรรย์
แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก......ฯ”

(https://i.ibb.co/vX21JVc/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา

          ** คืนที่พระภู่ สุนทรโวหาร  จอดเรือแรมคืนอยู่วัดหน้าพระเมรุนั้น  เป็นวันโกน วันแรม ๗ ค่ำ หรือ ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑  หรือออย่างล่าที่สุดก็ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒  เพราะวันรุ่งขึ้น  ท่านบอกว่า  เป็นวันพระอุโบสถ  ท่านออกเดินทางต่อไปไหว้องค์พระเจดีย์ภูเขาทอง  ที่อยู่กลางทุ่งนอกเมือง  ภาพภูมิสถานของภูเขาทอง  ท่านเขียนอธิบายไว้ชัดเจนดีแล้ว  ไม่จำเป็นต้องกล่าวอธิบายซ้ำนะครับ  เอาเป็นว่า  สุนทรภู่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงภูเขาทองแล้ว  ท่านจะได้อะไรจากภูเขาทองบ้าง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เเมืองสุโทัย
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤศจิกายน, 2562, 08:07:54 AM
(https://i.ibb.co/FYfQxgT/37-20140120112313.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ภูเขาทอง : อยุธยา

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๑ -

“ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก
เผยอแยกยอดสุดก็หลุดหัก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก
เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น

กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
จะมิหมดลงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น
คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น.....ฯ”

.................. นิราศภูเขาทอง (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   มาถึงตอนที่  ท่านมานอนในเรือค้างคืนอยู่หน้าวัดพระเมรุชิการาช  ที่กำลังมีงานฉลองผ้าป่า  ถูกขโมย (แมวน้ำ) ล้วงเรือ  แต่ไม่ได้อะไรไป  รุ่งเช้าท่านก็เดินทางต่อไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง  และพรรณนาสภาพขององค์พระเจดีย์ที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง  มีน้ำล้อมรอบ  ดังได้อ่านกันไปแล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/vhX0D0W/phpgy-Kco8-AM78.jpg) (https://imgbb.com/)
ภูเขาทองก่อนบูรณะ

          กลอนเปิดรายการข้างบนนี้  ท่านสุนทรภู่แต่งพรรณนาความต่อจากเมื่อวานว่า  ฐานองค์พระเจดีย์นั้นที่ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก  ยอดสุดของพระเจดีย์ก็หลุดหัก  ท่านเห็นสภาพองค์พระเจดีย์ที่ทรุดโทรมจนใกล้จะพังแล้วก็สลดใจ  จึงรำพึงถึงชื่อเสียงกียรติยศของบุคคล (รวมถึงตัวท่านด้วย) ว่าแม้แต่องค์พระเจดีย์ที่ใหญ่โตแข็งแรงยังเสื่อมโทรมผุพัง  สาอะไรกับเกียรติยศชื่อเสียงจะมิหมดลงทันตาเห็นได้เล่า  เป็นผู้ดีมีมากแล้วก็ยากจนลงได้  อะไร ๆ ก็เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงทั้งนั้น

“ ขอเดชะพระเจดีย์คีรีมาศ
บรรจุธาตุที่ตั้งนรังสรรค์
ข้าอุตส่าห์มาเคารพอภิวันท์
เป็นอนันต์อานิสงส์ดำรงกาย

จะเกิดชาติใดใดในมนุษย์
ให้บริสุทธิ์สมจิตที่คิดหมาย
ทั้งทุกข์โศกโรคภัยอย่าใกล้กราย
แสนสบายบริบูรณ์ประยูรวงศ์

ทั้งโลโภโทโสและโมหะ
ให้ชนะใจได้อย่าใหลหลง
ขอฟุ้งเฟื่องเรืองวิชาปัญญายง
ทั้งให้ทรงศีลขันธ์ในสันดาน

อีกสองสิ่งหญิงร้ายและชายชั่ว
อย่าเมามัวมายรักสมัครสมาน
ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ
ตราบนิพพานภาคหนให้ถาวร....ฯ”

(https://i.ibb.co/Gp44cXK/134-144.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  จุดธูปเทียนบูชาพระอัฐิธาตุในมหาเจดีย์ภูเขาทอง  แล้วตั้งจิตอธิษฐานแต่สิ่งดี ๆ แก่ตนเอง  แล้วขอประการท้ายสุดว่า  ขออย่าได้พบหญิงร้ายและชายชั่ว  เช่นเดียวกับที่อธิษฐานใน นิราศพระบาท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6952.msg24292#msg24292)   แสดงว่าท่านมีเรื่องหญิงร้ายชายชั่วอยู่ในใจตลอดมา

“ พอกราบพระปะดอกประทุมชาติ
พบพระธาตุสถิตในเกสร
สมถวิลยินดีชุลีกร
ประคองซ้อนเชิญองค์ลงนาวา

กับหนูพัดมัสการสำเร็จแล้ว
ใส่ขวดแก้ววางไว้ใกล้เกศา
มานอนกรุงรุ่งขึ้นจะบูชา
ไม่ปะตาตันอกยิ่งตกใจ

แสนเสียดายหมายจะชมบรมธาตุ
ใจจะขาดคิดขึ้นมาน้ำตาไหล
โอ้บุญน้อยลอยลับครรไลไกล
เสียน้ำใจเจียนจะดิ้นสิ้นชีวิน

สุดจะอยู่ดูอื่นไม่ฝืนโศก
กำเริบโรคร้อนฤทัยใฝ่ฝัน
พอตรู่ตรู่สุรีย์ฉายขึ้นพรายพรรณ
ให้ล่องวันหนึ่งมาถึงธานี.....ฯ”

(https://i.ibb.co/gmLMVmz/hqdefault-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          จะว่าเกิดปาฏิหาริย์ก็เป็นจะว่าได้  พระภิกษุภู่กราบพระแล้วก็พบดอกบัวตรงหน้า  ในเกสรบัวนั้นมีพระธาตุสถิตอยู่  ท่านดีใจมาก  จึงประคองพระธาตุนั้นกลับลงเรืออัญเชิญใส่ขวดแก้ววางไว้ใกล้หัวนอน  กลับมาพักแรมคืนในกรุงเก่าคืนหนึ่ง  ครั้นรุ่งขึ้นก็ต้องตกใจและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อไม่พบเห็นพระธาตุในขวดแก้ว  แสดงว่าพระธาตุเสด็จไปเสียแล้ว

          ว่ากันว่าพระสารีริกธาตุจะอยู่กับคนที่ประพฤติพรหมจรรย์มีศีลบริสุทธิ์  และยังมีบุญวาสนาบารมี  หากใครได้พระธาตุไปบูชาแล้ว  รักษาศีลไม่บริสุทธิ์  หรือแม้ศีลบริสุทธิ์แต่น้อยบุญบารมี  พระธาตุก็จะไม่อยู่ด้วยนานนัก  กรณีพระภิกษุภู่  เห็นจะเป็นเพราะมีบุญบารมีน้อยไป  พระธาตุจึงอยู่ด้วยไม่นาน  เมื่อพระสารีริกธาตุเสด็จจากไปแล้ว  ท่านสุนทรภู่โศกเศร้าเสียใจ  หมดกำลังใจที่จะเที่ยวชมอะไร ๆ ในกรุงเก่า  จึงให้ศิษย์แจวจ้ำเรือล่องแม่เจ้าพระยากลับถึงกรุงเทพฯ ในเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้นเอง

“ ประทับท่าหน้าอรุณอารามหลวง
ค่อยสร่างทรวงทรงศีลพระชินสีห์
นิราศเรื่องเมืองเก่าของเรานี้
ไว้เป็นที่โสมนัสทัศนา

ด้วยได้ไปเคารพระพุทธรูป
ทั้งสถูปบรมธาตุพระศาสนา
เป็นนิสัยไว้เหมือนเตือนศรัทธา
ตามภาษาไม่สบายพอคลายใจ

ใช่จะมีที่รักสมัครมาด
แรมนิราศร้างมิตรพิสมัย
ซึ่งครวญคร่ำทำทีพิรี้พิไร
ตามนิสัยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา

เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพแนงผัด
สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา
อันพริกไทยผักชีเหมือนสีกา
ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ

จงทราบความตามจริงทุกสิ่งสิ้น
อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน
นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ
จึ่งร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอย...ฯ

          ** นิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ก็เป็นอันจบลง  เมื่อล่องเรือกลับจากกรุงเก่าอยุธยาลงมาถึงกรุงเทพฯ ในเวลาเพียงวันเดียว  ลีลากลอนก็เหมือนกันกับเพลงไทยเดิมนั่นหละครับ  คือตอนขึ้นจะช้าอ่อยเอื่อยเจื้อยแจ้ว  ชมโน่นชมนี่ชี้ชวนให้ดู  เวลาจบจะลงอย่างรวดเร็ว  ไม่ดูไม่แลอะไรเลย

(https://i.ibb.co/8MDwz14/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)

          เรือประทุนของสุนทรภู่กลับลงมาถึงกรุงเทพฯ แล้วจอดที่ท่าหน้าวัดอรุณราชวราราม  แล้วได้บอกว่าท่านจะไปไหนต่อ  จึงทำให้ผู้รู้หลายท่านกล่าวกันว่า  ปีนั้น  ท่านจำพรรษาอยู่วัดอรุณราชวราราม  โดยไม่กลับไปอยู่วัดเลียบอีกเลย  แต่เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่  แล้วอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อดีกว่าครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤศจิกายน, 2562, 10:14:52 PM
(https://i.ibb.co/TW5pdXx/images-24.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๒ -

“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว
ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร......”

................ เพลงยาวถวายโอวาท (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)     ไปกรุงเก่าแล้วกลับมาจนจบที่วัดอรุณ (วัดแจ้ง)  การไปไหว้ภูเขาทองที่กรุงเก่าอยุธยาคราวนี้  ท่านได้พบพระสารีริกธาตุในเกสรดอกบัวที่พระเจดีย์ภูเขาทอง  อัญเชิญใส่ขวดแก้ว  แล้ววางข้างหัวนอน  กลับเข้านอนค้างแรมคืนในตัวเมืองกรุงเก่า  พอรุ่งเช้าพบว่าพระธาตุเสด็จหายไปเสียแล้ว  ท่านเสียใจมาก  ไม่มีกะใจจะเที่ยวชมอะไร  จึงสั่งล่องเรือกลับเข้ากรุงเทพฯ  สายน้ำนองเดือนสิบสองไหลค่อนข้างแรง จึงทำให้เรือประทุนของท่านล่องลงกรุงเทพได้อย่างรวดเร็ว  เพียงวันเดียวก็ถึงแล้ว

(https://i.ibb.co/T0F4cqC/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดอรุณฯ (วัดแจ้ง)

          มีหลายท่านเชื่อและกล่าวกันว่า  พระภู่ สุนทรโวหาร  กลับจากการไปไหว้ภูเขาทองแล้ว  เข้าอยู่จำพรรษาที่วัดแจ้ง (อรุณราชวราราม)  เรื่องนี้ท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) หรือ พ. ณ ประมวญมารค  ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ  ประวัติคำกลอนสุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง) ว่าด้วย  “สังเขปประวัติสุนทรภู่”  ตอนหนึ่งว่าดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/zfmKN5d/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ)

           “...........จึงได้เดินทางกลับลงมาอยู่ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ  นับเวลาที่สุนทรภู่ท่องเที่ยวไปอยู่ตามหัวเมืองนั้น  นับพรรษาแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ถึงพ.ศ. ๒๓๗๐  ได้สามพรรษา  อายุได้ ๔๒ ปี  เมื่อบวชออกไปอยู่ตามหัวเมือง  ได้รับบุตรคนที่ชื่อหนูพัด  ซึ่งเกิดแต่แม่จันภรรยาหลวงร่วมเดินทางไปด้วย  เวลานั้นบุตรอายุราวหกปี  เมื่อสุนทรภู่กลับจากพิษณุโลกมาอยู่จำพรรษาที่วัดราชบูรณะได้สองพรรษา  ใน พ.ศ.๒๓๗๒  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ก็ทรงฝากโอรสสองพระองค์  คือเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว  ซึ่งเป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้าอาภรณ์  ขอให้สุนทรภู่ถวายพระอักษร  แล้วได้ทรงอุปการะสุนทรภู่เป็นลำดับมา  เวลานั้นเจ้าฟ้ากลางพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา  แต่สุนทรภู่ถวายอักษรได้ไม่นานนัก  เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ก้เสด็จจากวังกลาง  ไปประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  สุนทรภู่จึงได้ห่างกันไปจากที่วังนี้  แต่ในระยะนั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งประทับอยู่ที่วังตะวันตก  ตรงข้ามประตูสุนทรทิศา  เป็นวังต่อกันกับวังกลาง  ได้ทรงรู้จักกันกับสุนทรภู่  เหตุที่รู้จักกันนั้น  เห็นจะเนื่องด้วยเรืองบทกลอน  หรือบทดอกสร้อยสักวา  จึงทรงนับถืออุปการะสุนทรภู่ต่อไปอีก

          ถึง พ.ศ. ๒๓๗๓ ในระหว่างพรรษา  สุนทรภู่เกิดความไม่สบายใจ  เนื่องด้วยความรำคาญพวกคนร้ายคนพาล  จึงคิดจะไปอยู่เสียที่วัดอื่น  ได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาททูลลาเจ้าฟ้ากลางกับเจ้าฟ้าปิ๋วขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์เรื่องหนึ่ง  ครั้นออกพรรษาอนุโมทนากฐินแล้ว  ได้เดินทางขึ้นไปนมัสการภูเขาทองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  แต่ง นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)   ขึ้นไว้อีกเรื่องหนึ่ง

(https://i.ibb.co/KctMMw5/images-26.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

          เมื่อเดินทางกลับลงมาแล้วจึงไปจำพรรษาที่วัดอรุณ (วัดแจ้ง)  ใน พ.ศ.๒๓๗๔  ครั้นออกพรรษาในราวเดือนยี่หรือเดือนสาม  ได้เดินทางไปเมืองเพชรบุรีอีกด้วยเรื่องที่รับอาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไป  การเดินทางครั้งนั้นได้ตระเตรียมข้าวของเพื่อจะตอบแทนผู้ที่เคยมีคุณแทบทั่วทุกคน (คงจะร่ำรวยขึ้นในตอนนี้)  และได้แต่นิราศเมืองเพชรไว้อีกเรื่องหนึ่ง  เล่าความหลังที่เคยมาอยู่อาศัยหลายครั้งหลายหน”

          ประวัติเพียงสังเขปที่ท่านจันทร์ทรงกล่าวนี้  เห็นได้ว่าสุนทรภู่อยู่จำพรรษา ณ วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) นานถึง ๓ พรรษา  ชีวิตของพระภู่ที่วัดเลียบนี้ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างธรรมดา  เพราะอยู่ในฐานะพระอาจารย์ของเจ้าฟ้าชายถึงสองพระองค์  ซ้ำยังได้พระมเหสีในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และ  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นองค์อุปถัมภ์  เป็นไปได้ว่า  ยามนั้น  บรรดานักกลอนและผู้รัก  สนใจในกาพย์กลอนทั้งหลาย  เมื่อรู้ว่าพระภู่ สุนทรโวหาร  อดีตกวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ  กลับมาอยู่วัดราชบูรณะ  จึงพากันเข้าไปต่อกลอน เรียนกลอนกันมากมาย  จนดูวุ่นวายไป  และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้อิจฉาริษยา  หาเรื่องให้เดือดเนื้อร้อนใจ  จนต้องคิดหนีไปอยู่วัดอื่น

(https://i.ibb.co/Xj29MtK/426fc-800x0xcover-Ecj6y-Vdt.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนที่ยกมาวางไว้ข้างต้นคอลัมน์วันนี้  เป็นหนึ่งในหลาย ๆ บทของเพลงยาวถวายโอวาท  หรือ  ราชนิติ  ที่พระอาจารย์ภู่ สุนทรโวหาร  แต่งถวายเจ้าฟ้าชายกลางซึ่งมีพระชนม์ ๑๑ พรรษา ในปีนั้น  เพลงยาวนี้ท่านแต่งสอนใจได้ดีเยี่ยม  อย่างเช่นว่า   “อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ”   เป็นต้น  หลังจากกล่าวคำถวายโอวาทเป็นกลอนยาวแล้ว  พระอาจารย์ภู่ก็สรุปว่า

“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร”


(https://i.ibb.co/6ZfMxyY/images-23.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ  เพราะปรากฏว่าชื่อเสียงของสุนทรภู่  เป็นที่รู้จักเลื่องลือไปทั่วทิศ  มิใช่แต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น  แม้ลาว  เขมร  ก็รู้จักว่า สุนทรภู่คือนักกลอน  และ  นักเลงแต่งเพลงยาวที่เก่งกล้าสามารถ  หาตัวจับได้ยาก

(https://i.ibb.co/p2Ppzq5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระปรางค์ใหญ่วัดอรุณฯ (วัดแจ้ง)

          ท่านจันทร์กล่าวว่า  ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้งนี้  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ทรงอุปถัมภ์บำรุงให้อยู่ดีกินดี  มีความสุขสบาย  เมื่อทราบว่าโยมอุปฐากมีเรื่องสำคัญที่จะไปทำที่เมืองเพชรบุรี  พระภู่ สุนทรโวหารจึงขอรับอาสาไปทำแทน  ด้วยหวังจะกลับไปเยี่ยมเยียนญาติมิตรทางเมืองเพชรด้วย  การไปเมืองเพชรคราวนี้ไม่เหมือนคราวที่ไปครั้งก่อน ๆ  คือไปโดยไม่ได้อะไรเป็นสาระสำคัญฝากไว้เลย  แต่คราวนี้ท่านแต่งนิราศเมืองเพชรฝากไว้ในวงวรรณกรรมด้วย  ความในนิราศเมืองเพชรมีอะไรอย่างไรบ้าง  พรุ่งนี้เรามาแกะรอยตามท่านภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ไปเมืองเพชรบุรีด้วยกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, ธันวาคม, 2562, 10:10:14 PM
(https://i.ibb.co/mJQg3pw/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ริมท่าน้ำวัดพลับพลาชัย : เพชรบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๓ -

โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย
ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย
พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน

อนาถหนาวคราวมาอาสาเสด็จ
ไปเมืองเพชรบุรินทร์ถิ่นที่หวาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ
อธิษฐานถึงคุณกรุณา

ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ
ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
จึงจดหมายรายทางกลางคงคา
แต่นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อย.....”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้กล่าวถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ตามนิพนธ์ของท่านจันทร์  ที่กล่าวว่า  พระภู่ สุนทรโวหาร  กลับจากการไปนมัสการภูเขาทองแล้วเข้าอยู่ประจำในวัดแจ้ง (อรุณราชวราราม)  โดยมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงอุปถัมภ์บำรุง  ความนี้ว่าไว้ตอนสังเขปประวัติ  ดังที่ทุกท่านได้อ่านกันไปเมื่อวานนี้แล้ว

          วันนี้เกิดประเด็นใหม่  โดย  ท่านจันทร์กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า  สุนทรภู่เดินทางออกจากวัดเลียบไปกรุงเก่านั้น  ควรจะเป็นวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปค้างคืนกลางทุ่งนาที่  ลานเท  ราชครามคืนหนึ่ง  แล้วไปค้างคืนที่วัดหน้าพระเมรุ  ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒  รุ่งขึ้นเป็นวันพระอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  นมัสการภูเขาทองแล้วกลับเข้ามานอนค้างคืนในเมือง  รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒  กลับถึงกรุงเทพฯ แล้วทรงสรุปว่า

           “ เป็นอันว่าสุนทรภู่ออกจากกรุงเทพฯ เป็นเวลาสี่วันสี่คืน ระหว่างขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒  ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒  การไปเช่นนี้ไม่บ่งวี่แววว่ามีเจตนาที่จะไปจำพรรษาที่หัวเมืองอย่างที่บอกในเพลงยาวถวายโอวาท (จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา ต่อถึงพระวษาอื่นจะคืนมา)  จึงถือเป็นเหตุอันหนึ่งที่ว่า  นิราศภูเขาทองแต่งก่อนเพลงยาวฯ

          คุณฉันท์ว่าสุนทรภู่กลับจากภูเขาทองแล้วเลยไปอยู่วัดอรุณฯ  ข้าพเจ้าว่ากลับมาอยู่วัดเลียบ

          เหตุผลที่ท่านจันทร์ทรงเชื่อว่า  สุนทรภู่กลับจากภูเขาทองแล้วหาได้เข้าอยู่วัดแจ้ง (อรุณฯ) ตามความเชื่อของใคร ๆ ไม่  หากแต่เข้าอยู่วัดเลียบตามเดิม  เพราะนิราศภูเขาทองนี้มีหลักฐานว่าแต่งก่อนเพลงยาวถวายโอวาท  จึงเป็นไปได้ว่า  เมื่อกลับจากกรุงเก่าเข้าอยู่วัดเลียบตามเดิมแล้ว  มีลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาต่อกลอน  เรียนกลอนกันมากมาย  เป็นเหตุให้ขวางหูขวางตาคนพาล  จึงหาเรื่องให้ท่านเดือดร้อนจนต้องออกจากวัดเลียบไป  ก่อนจะออกจากวัดนี้ก็ได้แต่งเพลงยาวถวายโอวาท  ดังเป็นที่ทราบแล้วนั้น

(https://i.ibb.co/wh6fdv8/images-37.jpg) (https://imgbb.com/)

          สรุปได้ว่า  ในที่สุดพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ก็ออกจากวัดเลียบ (ราชบูรณะ)  เข้าอยู่วัดแจ้ง (อรุณฯ)  โดยมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงอุปการะบำรุง  อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล   ผู้เชื่อว่า  พระภู่เข้าอยู่วัดอรุณฯ หลังกลับจากกรุงเก่า  แล้วอาสาพระองค์เจ้าฯ ไปเมืองเพชรบุรี  ไปทำเรื่องลับที่เปิดเผยมิได้  แต่ก็แพลมออกมาให้ทราบเป็นนัย ๆ ว่า  ไปเจรจาขุนเพ่ง ผู้เป็นเพื่อนของสุนทรภู่  สู่ขอลูกสาวขุนเพ่งให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  เหตุที่เปิดเผยมิได้ก็เพราะ  พระภู่เป็นภิกษุ  หากไปสู่ขอลูกสาวขุนเพ่งให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณจริง  ก็เป็นอาบัติ  ผิดสิกขาบทที่ชื่อว่าสังฆาทิเสส  คือ  “ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกันต้องสังฆาทิเสส”  อาบัติขั้นนี้  “ปลงไม่ตก”  ต้องอยู่ปริวาสกรรมเสียก่อนจึงแสดงอาบัติตก

          สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ว่า  สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรหลัง นิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)     โดยอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทำธุระ  แต่  ท่านจันทร์เชื่อตามที่อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล  กล่าวว่า  สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองเพชรเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔  แต่ไม่เชื่อว่าสุนทรภู่อยู่วัดแจ้ง  ออกเรือจากวัดแจ้งไปเมืองเพชร  ซึ่งท่านจันทร์ว่า  ออกเรือจากวัดเลียบในลำน้ำแม่เจ้าพระยาแล้วเลี้ยวเข้าคลองบางหลวง

          ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวข้างต้นนี้  ละไว้ก่อนก็แล้วกันครับ

(https://i.ibb.co/0KyZppD/9bbc11e373cc25e3138dc937088c491f.jpg) (https://imgbb.com/)

          ต่อนี้  จะพาทุกท่านตามพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ไปเมืองเพชรบุรี  ตามรอยนิราศเมืองเพชร  ซึ่งได้ยกตอนแรกของนิราศเมืองเพชร  ที่เป็นคำปรารภของท่านผู้แต่งมาวางให้อ่านกันข้างบนนี้แล้ว

          พระภู่ บอกว่า  ยามเย็นย่ำสนธาวันนั้นอากาศเย็นสบาย  ท่านลงเรือที่หน้าวัด (จะวัดแจ้งหรือวัดเลียบ  ก็ตามทีเถิด)  ยกมือไหว้วัดซึ่งเป็นที่สถิตของพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ  อธิษฐานจิตอำลาตามธรรมเนียมไทยที่ว่า  “ไปลามาไหว”  แล้วกล่าวว่าการเดินทางไปเพชรบุรีครั้งนี้  ก็ด้วยอาสาเสด็จไปทำธุระสำคัญให้ท่านผู้มีพระคุณ  ที่ได้ช่วยชุบเลี้ยงดูประหนึ่งบิดา (ชนกปกเกศ) ของท่าน

          ผู้มีพระคุณเสมือนบิดาของท่านผู้นี้  มีบางท่านกล่าวว่าได้แก่  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่สุนทรภู่ไปพึ่งพระบารมีหลังจากลาสิกขาแล้ว  แต่ท่านจันทร์  และ  อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล   เชื่อตรงกันว่า  ได้แก่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ซึ่งก็มีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า  เป็นจริงตามความเชื่อถือของท่านจันทร์  กับ  อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล

(https://i.ibb.co/W0NhpJC/images-36.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทุกครั้งที่กล่าวถึงเพชรบุรี  สุนทรภู่จะเรียกเมืองนี้ว่า  ถิ่นหวาน  เมืองน้ำตาล  อะไรทำนองนี้  เพราะเหตุว่า  ชาวเพชรบุรีมีอาชีพหนึ่งคือ  ทำน้ำตาลโตนดขายกันอย่างเป็นร่ำเป็นสัน  จนต้นตาล  โตนด  น้ำตาลโตนด  เป็นสัญลักษณ์ของเพชรบุรีไปแล้ว

(https://i.ibb.co/RjrC7m5/50.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางหลวง : กรุงเทพฯ
Cr. Photo โดย: MGR Online

          ท่านบอกว่าการไปเพชรบุรีครั้งนี้  จะจดหมายเหตุรายไปตลอดทางโดยจะเริ่มตั้งแต่เรือเลี้ยวเข้าคลองน้อย  คือปากคลองบางหลวงเป็นต้นไป  จะไปทางไหน  ถึงไหน  พบเห็นอะไรบ้าง  น่าติดตามไปดูมากเลย  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย
๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, ธันวาคม, 2562, 10:31:44 PM
(https://i.ibb.co/DkSx1rq/DSC07512.jpg) (https://imgbb.com/)
Cr. Photo By นำพล

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๔ -

ได้เห็นแต่แพแขกที่แปลกเพศ
ขายเครื่องเทศเครื่องไทยได้ใช้สอย
ถึงวัดหงส์เห็นแต่หงส์เสาธงลอย
เป็นหงส์ห้อยห่วงธงใช่หงส์ทอง

ถึงวัดพลับลับลี้เป็นที่สงัด
เห็นแต่วัดสังข์กระจายไม่วายหมอง
เหมือนกระจายพรายพลัดกำจัดน้อง
มาถึงคลองบางลำเจียกสำเหนียมนาม

ลำเจียกเอ๋ยเคยชื่นระรื่นรส
ต้องจำอดออมระอาด้วยหนาหนาม
ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม
คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย

จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง
ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย
ชมแต่เตยใบหนามเมื่อยามโซฯ”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ว่า  หลังจากออกจากวัดเลียบไปไหว้ภูเขาทองที่กรุงเก่าอยุธยาแล้ว  บางท่านว่าได้เข้าอยู่วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ)  บางท่านว่ากลับเข้าอยู่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) ตามเดิม    ต่อมาท่านอาสาเสด็จ  เดินทางไปทำธุระที่เมืองเพชร  แล้วแต่งนิราศเมืองเพชรขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง

          สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯกล่าวว่า  แต่งนิราศเมืองเพชร  หลังจากที่ออกจากวัดเทพธิดา  และลาสิกขาไปอยู่รับใช้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ในพระราชวังหน้า  แล้วอาสาสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไปเมืองเพชร  แต่ท่านจันทร์กับอาจารย์ฉันท์ ขำวิไล  มีหลักฐานมายืนยันว่า ท่านแต่งนิราศเมืองเพชรขณะที่ยังเป็นพระภิกษุ  อาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปทำธุระที่เมืองเพชร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔  เริ่มออกเดินทางตามความในนิราศ  อาจาย์ฉันท์ว่า  ออกจากวัดอรุณฯ    ท่านจันทร์ว่าออกจากวัดราชบูรณะ  อย่างไรก็ตาม เป็นอันว่า  เรือประทุนลำใหญ่ของท่านสุนทรภู่ก็เลี้ยวจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปในปากคลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) แล้ว  วันนี้มาตามดูว่าท่านผ่านอะไรไปบ้างครับ

(https://i.ibb.co/tQJw2g4/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดหงส์รัตนาราม : กรุงเทพฯ

          กลอนนำรายการวันนี้คือ  คำกลอนนิราศเมืองเพชร  ของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ต่อจากเมื่อวานนี้ที่ท่านบอกว่า  “นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อย”  เมื่อเรือเลี้ยวเข้าไปในคลองบางหลวง (ก็คือคลองบางกอกใหญ่)  สิ่งแรกที่ท่านพบเห็นในเวลาเย็นวันนั้น  คือแพแขก  ขายเครื่องเทศเครื่องไทยสำหรับใช้สอย  ที่ท่านรู้ว่าเป็นแพแขกกิเพราะ   “แปลกเพศ”  เห็นทีว่าพวกเขาคงแต่งกายผิดแผกไปจากคนไทยกระมัง  จากนั้นเรือท่านก็เลยไปผ่านวัดหงส์รัตนาราม  มีเสาปักไว้  ปลายเสามีรูปหงส์ห้อยอยู่  ท่านว่าไม่เห็นหงส์ทอง  มองดูจนเรือถูกแจวเลยไปถึงวัดพลับ (ราชสิทธาราม)  ที่เงียบสงัด  เพราะวัดนี้เป็นอรัญวาสี  ที่อยู่ของพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ  สมภารองค์แรกชื่อศุก  นิมนต์มาจากกรุงเก่าอยุธยาตั้งเป็นพระราชาคณะที่   “พระญาณสังวรเถร”   ต่อมาท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สถิต ณ วัดมหาธาตุ  เป็นที่รู้จักกันว่า   “พระสังฆราชไก่เถื่อน”   วันที่สุนทรภู่ผ่านถึงวัดนี้  พระญาณสังวรไปอยู่วัดมหาธาตุแล้ว

(https://i.ibb.co/bKY40zH/image.png) (https://imgbb.com/)
วัดสังข์กระจายวรวิหาร : กรุงเทพฯ

          ผ่านวัดพลับแล้วถึงวัดสังข์กระจาย  วัดนี้เขียนชื่อกันไปต่าง ๆ คือ  วัดสังกระจาย  สังฆจาย  สังฆจายน์  สังข์กัจจายน์  และ สังข์กระจายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  วัดนี้เดิมเห็นจะเอานามพระอรหันต์เจ้าองค์หนึ่งที่มีรูปร่างอ้วนพุงพลุ้ย  นามเดิมของท่านคือ   “กัจจายนะ”   รูปร่างงดงาม  ภายหลังเมื่อบวชเป็นพระและสำเเร็จอรหันต์แล้ว  รูปงามของท่านเป็นภัยแก่พวกราคจริต  จึงอธิษฐานตนให้เป็นคนอ้วนพุงพลุ้ย  เป็นพระอรหันต์ที่มีความเลิศในทางอธิบายธรรมย่อให้พิสดาร  นามตามทำเนียบพระสาวกผู้ใหญ่ของท่านคือ  พระมหากัจายนะ  คนไทยเรียกท่านว่า  “พระสังฆจายน์”  พระอรหันต์องค์นี้มีเรื่องเล่าพิสดารพันลึกมาก ใครอยากรู้ละเอียดไปหาหนังสืออ่านกันเอาเองครับ

(https://i.ibb.co/9vTyTN9/IMG-6184.jpg) (https://imgbb.com/)
ต้นลำเจียกริมคลอง : Cr. Photo By นำพล

          จากวัดสังข์กระจายที่ท่านภู่คิดว่า  เหมือนกระจายพรายพลัดจากน้องที่รัก  แล้วก็ถึงคลองบางลำเจียก  ซึ่งอยู่ในย่านวัดสังข์กระจายนั่นเอง  ท่านไม่สนใจเรื่องคลองแต่ใจประวัติไปถึงลำเจียก  ต้นไม้น้ำชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเดิมว่า  เตยทะเล  หรือเตยน้ำ  ดอกหอมมาก  มีชื่อเรียกหลายชื่อ  คือ  ปาหนัน  ลำเจียก  การะเกด  ก่อนบวชท่านภู่เห็นจะเคยรู้จักมักคุ้นกับหญิงชื่อลำเจียก  จึงหวนรำลึกถึงคนรักเก่าเมื่อถึงคลองบางลำเจียก  ต้องร้างรากันก็เพราะ  “ระอาด้วยหนาหนาม”  แม่ลำเจียกคนนั้นเห็นทีจะเป็นคนหวงหึง  เอาแต่ใจจนสุดทนรับได้กระมัง

(https://i.ibb.co/TP0TMqC/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางเตย : ปทุมธานี

          จากคลองบางลำเจียกก็ถึงคลองบางเตย (ตระกูลเดียวกันกับลำเจียก)  ท่านก็รำพึงถึงความรัก  ที่ท่านเคยปลูกไว้กับคนรัก  ตั้งแต่แม่จันเป็นต้นมา  รักของท่านมักจะกลายเป็นเตยจนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง  ไร้รักที่จักเชย ต้องชมแต่  “เตยหนามเมื่อยามโซฯ”

“ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก
ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวหมวยล้วนรวยโป
หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก

ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง
ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก
ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไมฯ"

(https://i.ibb.co/0VPTx2C/5.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนริมคลองบางหลวง : Cr. Photo By MGR Online

          จากคลองบางเตยก็เข้าคลองบางหลวง ณ วันนั้น  ท่านภู่ สุนทรโวหาร  เห็นบ้านช่องในคลองบางหลวงนั้นมี  “เจ๊กขายหมู” อยู่มากมาย  ดังนั้นตรงปากคลองนี้สมัยนั้นควรเป็นย่านชุมชนชาวจีน  ท่านเห็นแล้วมีอารมณ์ขันที่ว่าเมียเจ๊กนั้น  “ขาวขาวสาวหมวย”  เห็นแล้วก็รู้สึกอายใจมิใช่น้อย  เพราะท่านเคยมีเมียเป็นตัวเป็นตนมาแล้วอย่างน้อยก็ ๒ คน  แต่ละคนไม่  “ขาวขาวสาวหมวย” เหมือนเมียเจ๊กขายหมู  แล้วท่านก็กล่าวเชิงวิจารณ์ว่า  ไทยเหมือนกันเวลาไปขอลูกสาวคนที่มีฐานะดีกว่า  มักจะถูกปฏิเสธ  แข็งขันปานเหล็ก  แต่พอเจ๊กไปสู่ขอ  เอาเงินเข้างัดง้าง  เหล็กที่ว่าแข็ง ๆ นั้นก็ถูกเงินลนจนอ่อนละไมเลยทีเดียว

          *** วันนี้ตามรอยนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่มาถึงคลองบางหลวง  ก็พอแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้มาตามอ่านกันต่อเถิดครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, ธันวาคม, 2562, 10:01:02 PM
(https://i.ibb.co/fpL7BGf/0a.jpg) (https://imgbb.com/)
ตลาดน้ำวัดไทร :  แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๕ -

“ ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์
ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน
หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร
คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี

ก็มืดค่ำล่ำลาทิพาวาส
เลยลีลาศล่วงทางกลางวิถี
ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องมี
มาถึงนี่ก็จะต้องนองน้ำตา

ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เป็นห่วง
แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา
ที่เห็นเห็นเป็นแต่ปะได้ประตา
คือลอบรักลักลาคิดอาลัย

จะแลเหลียวเปลี่ยวเนตรเป็นเขตสวน
มะม่วงพรวนหมากมะพร้าวสาวสาวไสว
พฤกษาออกดอกลูกเขาปลูกไว้
หอมดอกไม้กลิ่นกลบอบละออง.....”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ไปเมืองเพชรบุรีโดยทางเรือ  ตามความในนิราศเมืองเพชร ตั้งแต่ปากคลองบางกอกใหญ่  หรือคลองบางหลวง  ผ่านชุมชนต่าง ๆ ไปจนถึงคลองบางหลวง  ซึ่งท่านเห็นบ้านเรือนร้านเจ๊กขายหมูอยู่มากมาย  เห็นเมียเจ๊กขายหมูล้วนแต่อาหมวยสวยขาว  แล้วคิดอิจฉา กล่าวเป็นคำคมว่า  คนที่ปากแข็งใจแข็ง  หนึ่งไม่เอาสองไม่เอานั้นน่ะ  ถูกเจ๊กเอาเงินงัดง้างปากอ่อนใจอ่อนไปหมดเลย  ผมพาทุกท่านมาหยุดอยู่ตรงปากคลองบางหลวงนี้เอง  วันนี้มาเดินทางกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/FxHSV1c/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดนางชีวรวิหาร : กรุงเทพฯ

          กลอนขางบนนี้เป็นกลอนนิราศเมืองเพชรต่อจากเมื่อวานนี้  ความตอนนี้  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  เล่าว่าเรืองท่านผ่านมาถึงวัดบางนางชีเป็นเวลามืดค่ำพอดี  แสดงความฉงนว่า  วัดชื่อนางชี  แต่ทำไมมีแต่พระภิกษุสงฆ์  แลไม่เห็นชีสักองค์เดียว  หรือว่ามีชีเก็บตัวอยู่ในกุฏิ  จึงคิดจะแวะเข้าไปปรึกษาชี  แต่ก็เสียดายว่าไม่มีเวลา  เพราะคำมืดเสียแล้ว  จึงผ่านเลยไป

(https://i.ibb.co/vz2SwTb/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดนางนองวรวิหาร : กรุงเทพฯ

          ถึงวัดบางนางนอง  ก็หวนคิดว่าถ้าหากมีน้องมาถึงนี่ก็คงจะต้องนองน้ำตา  ส่วนท่านมาคนเดียว ไม่เป็นห่วงน้องคนไหน  แต่ว่าเศร้าทรงเพราะไร้หวังที่เป็นฝั่งฝา  ที่ได้เคยพบมาบ้างก็ล้วนแต่สบตา (ประตา) ลอบรักลักพาคิดอาลัย  ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาวจริงจังอะไร  เพียงแค่สบตาพาฝันเท่านั้นเอง  ยามนั้นเรือก็พาท่านผ่านเรือกสวนที่เป็นไม้ดอกไม้ผล  กลิ่นดอกไม้หอมฟุ้งจรุงใจ...... ครั้นได้กลิ่นดอกไม้ในสวนก็ทำให้หวนคิดกลิ่นนวลปรางนางน้องที่เคยถนอม  แล้วมาหมองหมางร้างรา.....

“ โอ้รื่นรื่นชื่นเชยที่เคยหอม
เคยถนอมนวลปรางมาหมางหมอง
ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง
ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม

สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง
เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม
โอรสราชอารามงามเจริญ

มีเขื่อนรอบขอบคูดูพิลึก
กุฏิตึกเก๋งกุฏิ์สุดสรรเสริญ
ที่ริมน้ำทำศาลาไว้น่าเพลิน
จนเรือเดินทาถึงทางบางขุนเทียน

โอ้เทียนเอ๋ยเทียนแจ้งแสงสว่าง
มาหมองหมางมืดมิดตะขวิดตะเขวียน
เหมือนมืดในใจจนต้องวนเวียน
ไม่ส่องเทียนให้สว่างหนทางเลย ฯ”

(https://i.ibb.co/wdmPNvM/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ท่าเรือบางหว้า : กรุงเทพฯ

          เรือเลยเรื่อยมาถึงบางหว้า  วัดจอมทอง ก็หวนคิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พระในโกศ)  ผู้ทรงพระราชทานนามวัดนี้  คิดถึงพระเดชพระคุณความดีในพระองค์  จนเรือผ่านมาถึงบางขุนเทียน  ก็รำพึงเชิงตัดพ้อว่า  เทียนเคยแจ้งแสงสว่าง  ไยกลับมาหมองหมางมืดมิด  จนเหมือนมืดใจต้องวนเวียน  เทียนไม่ส่องสว่างหนทางให้บ้างเลย.....

บางประทุนเหมือนประทุนได้อุ่นจิต
พอป้องปิดเป็นหลังคานิจจาเอ๋ย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย
ได้อิงเขนยนอนอุ่นประทุนบังฯ

ถึงคลองขวางบางระแนะแวะข้างขวา
ใครหนอมาแนะแหนกันแต่หลัง
ทุกวันนี้วิตกเพียงอกพัง
แนะให้มั่งก็เห็นจะเป็นการฯ

ถึงวัดไทรไทรใหญ่ใบชอุ่ม
เป็นเชิงซุ้มสาขาพฤกษาศาล
ขอเดชะพระไทรซึ่งชัยชาญ
ช่วยอุ้มฉานไปเช่นพระอนิรุธ

ได้ร่วมเตียงเคียงนอนแนบหมอนหนุน
พออุ่นอุ่นแล้วก็ดีเป็นที่สุด
จะสังเวยหมูแนมแก้มมนุษย์
เทพบุตรจะได้ชื่นทุกคืนวันฯ

ถึงบางบอนบอนที่นี่มีแต่ชื่อ
เขาเลื่องลือบอนข้างบางยี่ขัน
อันบอนต้นปนน้ำตาลย่อมหวานมัน
แต่ปากคันแก้ไขมิใคร่ฟัง ฯ”

(https://i.ibb.co/P1shmdM/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ตลาดน้ำวัดไทร : กรุงเทพฯ

          เรือประทุนพาพระภิกษุภู่  สุนทรโวหาร  เดินทางยามกลางคืนไปอย่างไม่เร่งร้อน  จากบางประทุนผ่านคลองบางขวาง  บางระแนะ  วัดไทร  ไปถึงบางบอน  ทุกสถานที่ซึ่งผ่านไปนั้นท่านไม่เว้นที่จะรำพึงรำพัน  เปรียบเทียบนามสถานที่กับชีวิตของท่าน  อย่างเช่นว่า  ถึงวัดไทรก็ขอให้พระไทรช่วยอุ้มท่านไปนอนเตียงเคียงข้างนางน้อง  เหมือนกับที่อุ้มพระอนิรุธไปเคียงข้างนางอันเป็นที่รักฉันนั้น  เมื่อถึงบางบอน  ท่านก็ว่ามีแต่ชื่อไม่มีบอน  พูดถึงบอนแล้วต้องบอนบางยี่ขันอันเลื่องชื่อ  แต่ว่าบอนทุกแห่งแม้จะคัน  ครั้นเอาไปปนน้ำตาล (แกงบอน) แล้ว  ย่อมกินได้ไม่คัน  กลับหวานมันเสียอีก  ผิดกับปากคนที่เป็นคนปากบอน  มันคันคอยแต่จะพูดพร่ำ  ห้ามมิใคร่ฟัง

          ** ตามรอยสุนทรภู่ไปเมืองเพชรมาถึงบางบอนแล้ว  พักตรงนี้ก่อนดีกว่า  พรุ่งนี้มาเดินตามรอยท่านจากบางบอนต่อไปนะครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, ธันวาคม, 2562, 10:21:20 PM
(https://i.ibb.co/pLkgjWf/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๖ -

ถึงวัดกกรกร้างอยู่ข้างซ้าย
เป็นรอยรายปืนพม่าที่ฝาผนัง
ถูกทะลุปรุไปแต่ไม่พัง
แต่โบสถ์ยังทนปืนอยู่ยืนนาน

แม้นมั่งมีมิให้ร้างจะสร้างฉลอง
ให้เรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ด้วยที่นี่เคยตั้งโขลนทวาร
ได้เบิกบานประตูป่าพนาลัย

หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ
ช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ
ดูครึ้มครึกพฤกษาลดาเครือ
ล้วนรกเรื้อรำเริงเป็นเซิงซุ้ม

ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า
ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เป็นคราบน้ำคร่ำค่าแตกตารุม
ดูกะปุ่มกะปิ่มตุ่มติ่มเต็ม.....”

................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชร  เรือประทุนของท่านเข้าคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)  เรื่อยมาถึงบางขุนเทียน  บางบอนแล้ว  วันนี้มาตามรอยท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/12gLH8v/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดกก : เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

          บทกลอนข้างต้นนี้เป็นกลอนในนิราศเมืองเพชรต่อจากเมื่อวานนี้  จากบางบอนมาถึงวัดกก  ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  วันที่ท่านผ่านถึงวัดกกนั้น  วัดนี้มีสภาพรกร้าง  กำแพง  ฝาผนังวัดถูกกระสุนปืนพม่ายิงเป็นรอยแตกทะลุพรุน  แต่โรงอุโบสถไม่เป็นอะไร  คงอยู่ในสภาพที่ดี  ท่านกล่าวไว้ในกลอนว่า  ถ้าหากมั่งมีขึ้นมาก็จะมาบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงาม  ทั้งนี้ก็เพราะวัดนี้เป็นสถานที่สำคัญในอดีต  กล่าวคือ  เป็นที่ตั้ง  โขลนทวาร  คือซุ้มประตูป่ามงคลให้ทหารเดินผ่านซุ้มประตูป่านี้ไปรบข้าศึก (ทำนองเดียวกันกับ  ตัดไม้ข่มนาม)  เห็นทีจะเป็นเพราะคำรำพึงของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร นี้กระมัง  ปรากฏในกาลต่อมาว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นจนสวยงาม  กลายเป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่ง  และหลังจากมีเจ้าอาวาสวัดเก่งทางวิชาอาคมเป็นที่เคารพนับถือของคนมาก  วัดนี้จึงกลายเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ในความรู้สึกของประชาชนไปด้วย

(https://i.ibb.co/w6CMBmf/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ต้นตะบูน

          คำกลอนในนิราศตอนนี้สุนทรภู่แต่งเล่นคำไพเราะมาก  ท่านกล่าวชมต้นไม้สองฟากคลองว่า   “ดูครึ้มครึกพฤกษาลดาเครือ   ล้วนรกเรื้อรำเริงเป็นเซิงซุ้ม   ตะบูนต้นผลย้อยห้อยระย้า   ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม    เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม   ดูกะปุ่มกะปิ่มตุ่มติ่มเต็ม.....”  เล่นสัมผัสทั้งเสียงและพยัญชนะ  ได้ความชัดเจน  เห็นภาพพจน์งดงาม  เช่นเจ้าลูกกระบูนที่เป็นเหมือนลูกตุ้มห้อยต่องแต่งนั่นแหละครับ

“ ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม
มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม
บ้างเก็บเล็มลากก้ามครุ่มคร่ามครัน

โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ
เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน
ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน
เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา

แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ
เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา
ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า
อุตส่าห์ฟูมฟักเพราะรักเมีย

ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ
เมียมันคาบคีบเนื้อเป็นเหยื่อเสีย
จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย
ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ

สมเพชสัตว์ทัศนาพฤกษาสล้าง
ล้วนโกงกางกุ่มแกมแซมแสม
สงัดเหงาเปล่าเปลี่ยวเมื่อเหลียวแล
เสียงแจ่แจ่จักจั่นหวั่นวิญญาฯ”

(https://i.ibb.co/DWFRxg6/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ดอกลำพู

          กลอนท่อนนี้อ่านเพลินและมันในอารมณ์มาก  คำกลอนที่ส่งด้วยคำว่า   “เต็ม”  ถ้าหากเล่นแข่งกันหรือโต้กัน  คำว่า  “เต็ม, เค็ม, เล็ม”  ถ้าถูกส่งให้ต่อรับสัมผัสแล้ว  นักเลงกลอนถือว่า  ส่งคำฆ่ากัน  เพราะกลอนรับสัมผัสท้ายวรรค ๒ เห็นมีแต่คำว่า   “เข็ม”   เพียงคำเดียว  และก็เป็นคำที่หาความหมายให้เข้ากับคำนี้ก็ยากมาก  แต่ท่านสุนทรภู่ก็หาความมาเข้ากับคำว่า  “เข็ม”  ได้ไม่ยาก  โดยท่านเห็นต้นลำพูเรียงรายอยู่ชายตลิ่ง  แล้วมองเห็นได้ไงว่า  มีขวากแหลมเหมือนปลายเข็มล้อมอยู่  แล้วยังว่าปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม  เจ้าตัวก้ามใหญ่ก็ลากก้ามเก็บเล็มงุ่มง่าม ๆ ไป

(https://i.ibb.co/P9kHfnQ/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          "ปูเปี้ยว"  คือปูแสม  มี ๒ ชนิดคือ  เปี้ยวดำ  ก้ามจะมีสีแดงอมม่วง  และ  ปูเปี้ยวก้ามขาว  หรือ  เปี้ยวแก้ว  ก้ามมีสีขาว  ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าเปี้ยวดำ  สุนทรภู่ท่านรู้จักเข้าใจเรื่องปูดีมากทีเดียว  จึงได้พรรณนาถึงเรื่องปูต่อไปในกลอนตรงนี้ว่า  เอ็นดูปูที่ไม่มีศีรษะ  มีแต่ขาและก้ามเดินโก้งเก้ง  เป็นสัตว์ไม่มีเลือด  ในตัวมีแต่มัน  จนมีคำกล่าวว่า  “จะเอาเลือดอะไรกับปู”  ท่านยังให้ความรู้เรื่องปูอีกว่า  ปูตัวเมียมันกินผัว  ยามที่ตัวเมียลอกคราบ  เจ้าตัวผู้จะไปหาอาหารมาให้กิน  แล้วก็เฝ้าดูแลเมียจนกระดองแข็งเหมือนเดิม  แต่พอตัวผู้ลอกคราบบ้าง  แทนที่ตัวเมียจะไปหาอาหารมาให้ผัวกิน  แล้วคอยเฝ้าดูแลเหมือนที่ผัวคอยดูแลตัวเอง  นางตัวเมียกลับจับผัวที่เป็นตัวอ่อนนุ่มนิ่มกินเป็นอาหารเสียนี่  นางปูก็เลยเป็นหม้ายไร้ผัว  ก่อนผัวจะลอกคราบแล้วถูกเมียกิน  ก็ผสมพันธุ์กันไว้  ครั้นผัวถูกกินจนตัวเองไร้ผัวแล้ว  มันก็ท้องเป็นปูไข่ไร้ผัว  ออกลูกไร้พ่อมายั้วเยี้ยไปหมดเลย  (ดังที่เพลงร้องว่าปูไข่ไก่หลงนั่นเอง)

          คิดถึงเรื่องปูตัวเมียกินผัวจนตัวเป็นหม้าย  แล้วท่านก็สมเพชสัตว์  เปลี่ยนอารมณ์ไปชมพฤกษานานาพันธุ์  เห็นต้นโกงกางแกมต้นกุ่มแซมด้วยแสม บรรยากาศเงียบสงัด  มีแต่เสียงจักจั่นกรีดปีส่งเสียงดังแจ่แจ่  ทำให้ยิ่งวิเวกวังเวงใจ

          *** วันนี้ตามรอยสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชรมาถึงตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน  เมื่อถึงวัดกกแล้วท่านจะไปไหนอีกบ้าง  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
วันอังคารที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ / ๐๕.๑๐ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, ธันวาคม, 2562, 10:16:23 PM
(https://i.ibb.co/Fsdkkpz/batch-DSC03724-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๗ -

“ ถึงคลองนามสามสิบสองคดคุ้ง
ชะวากวุ้งเวียนซ้ายมาฝ่ายขวา
ให้ลูกน้อยคอยนับในนาวา
แต่หนึ่งมาถ้วนสามสิบสองคด

อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่
เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด
ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคนฯ”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามรอยสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชร  มาถึงบริเวณวัดกก  ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา  ในสมัยที่พม่ายกทัพมาจากทางใต้  ตีดะจากธนบุรี  นนทบุรี  ขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา  ผ่านวัดกกและใช้ปืนยิงวัดกกจนกำแพงผนังเป็นรอยรูลูกปืนทะลุปรุพรุน  ตามที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  เขียนกลอนรำพันไว้ให้อ่านกันไปแล้วนั้น  วันนี้มาความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/kmVscDg/728x352.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างต้นนี้  เป็นบทต่อจากกลอนเมื่อวานนี้  เลยวัดกกมาถึงคลองชื่อ  สามสิบสองคด  ท่านว่าเป็นชะวากวุ้งเวียนซ้ายมาขวา  จึงให้หนูพัดลูกชายที่มาด้วยเริ่มต้นนับตั้งแต่คุ้งคดแรกไปจนหมดคุ้งคด  รวมแล้วนับได้ ๓๒ คดพอดี  สามสิบสองคุ้งคดนี่เป็นระยะทางไกลมิใช่น้อยเลยนะครับ  ผมไม่เคยเดินทางในคลองสายนี้จึงไม่รู้เลยว่า  มีคุ้งคดมากถึงสามสิบสองคุ้งคดจริงหรือไม่  ท่านที่อยู่ในย่านจอมทอง  บางบอน  บางขุนเทียน  คงรู้กันดี  เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่

          เห็นคลองคดดังนั้นท่านก็รำพึงรำพันออกมาเป็นกลอนดังที่ยกมาให้อ่านกันข้างบนนี้  ซึ่งก็ถอดความได้ว่า  คลองคด  และของคดอื่น ๆ  แม้จะมีถึงหมื่นคดก็กำหนดตายตัวได้เป็นจำนวนที่แน่นอน  แต่ว่าจิตใจมนุษย์นี้เราไม่สามารถกำหนดจำนวนความคดได้เลย

“ ถึงปากช่องคลองชื่อสุนัขหอน
ทั้งเรือแพแลสลอนเสลือกสลน
ต่างแข็งข้อถ่อค้ำที่น้ำวน
คงคาข้นขุ่นตื้นแต่พื้นเลน

เข้ายัดเยียดเสียดแทรกบ้างแตกหัก
บางถ่อผลักอึดอัดขัดเขมร
บ้างทุ่มเถียงเสียงหญิงขึ้นเกนเกน
ล้วนโคลนเลนเปื้อนเปรอะเลอะทั้งตัว

ที่น้อยตัวผัวเมียลงลากฉุด
นางเมียหยุดผัวโกรธเมียโทษผัว
ด้วยยากเย็นเข็นฝืดทั้งมืดมัว
พอตึงตัวเต็มเบียดเข้าเสียดแซะ

ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ
เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ
ที่เข็นเรียงเคียงคำขยำขแยะ
มันเกาะแกะกันจริงจริงหญิงกับชาย ฯ”

(https://i.ibb.co/k4svRH9/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองหมาหอน : สมุทรสาคร

          เรือลอยลำพ้นคุ้งสามสิบสองคดแล้ว  ถึงปากช่องทางเข้าคลองหมาหอน  ถึงตรงนี้สนุกมาก  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  บรรยายภาพให้เห็นเหตุการณ์ในคลองหมาหอนชัดเจน  คลองหมาหอน (สุนัขหอน)  อยู่ใกล้ทะเล  น้ำในคลองมีขึ้นมาลงตามน้ำทะเล  คืนนั้นท่านไปถึงเป็นเวลาน้ำลงพอดี  ตรงปากคลองนั้นน้ำไหลวนค่อนข้างแรง  และน้ำในคลองเหลือน้อย  แต่เรือที่เดินทางขึ้นล่องมีจำนวนมาก  จึงมีสภาพแออัดยัดเยียด  เบียดเสียดกัน  พายไม่สะดวก  ต้องใช่ถ่อ  ส่วนเรือที่ค้างอยู่บนเลน  ถ่อไม่ไหว  จึงต้องลงลุยเลนเข็น (ยู้) เรือไปบนพื้นเลน  เจ้าของเรือเกิดการกระทบกระทั่งโต้เถียงกันลั่นคลอง  ยังไม่พอ  ผัวเมียที่ต้องลงลุยเลนเข็นเรือก็ยังทะเลาะกันอีกด้วย  ทั้งผัวทั้งเมียเนื้อตัวเปื้อนดินเลนมอมแมมไปตาม ๆ กัน  ไหนจะต้องถ่อเรือ  เข็นเรือ  ไหนจะต้องปัด  ตบยุงเปาะแปะ ๆ  เป็นสภาพที่ทุลักทุเลมากเลยเทียว  ท่านภู่ สุนทรโวหารว่า  เจ้าของเรือชายหญิงที่เข็นเรือลุยเลนจมเคียงกันไปนั้นมือมันบอน  แต๊ะอั๋งจับขยำเนื้อตัวกันอย่างสนุกสนานบันเทิงคลายเหนื่อยกันไป

“ จนตกทางบางสะใภ้ครรไลล่อง
มีบ้านช่องซ้ายขวาเขาค้าขาย
ปลูกทับทิมริมทางสองข้างราย
ไม่เปล่าดายดกระย้าทั้งตาปี

บ้างดิบห่ามงามงอมจนค้อมกิ่ง
เป็นดอกติ่งแตกประดับสลับสี
บ้างแตกร้าวพราวเม็ดเพชรโนรี
เขาขายดีเก็บได้ใส่กระเชอ

มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ
เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ
จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ
เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาน่าเอ็นดู

นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก
ไว้เป็นลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู
พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้
อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม

เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย
ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม
ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทิบทิม
พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชาย ฯ

(https://i.ibb.co/2ZnJ6zj/UT8ap-AXw-Ra-XXag-OFb-Xe.jpg) (https://imgbb.com/)

          เรือสุนทรภู่หลุดพ้นคลองหมาหอนมาได้ด้วยความยากเย็น  เลยมาถึงบางสะใภ้  ท่านมิได้บอกเวลาว่ารุ่งแจ้งแสงทองดวงตาวันส่องฟ้าแล้วหรือไม่  ได้แต่เดาเอาเองว่า  พ้นคลองหมาหอนมาแล้วก็เป็นเวลาเช้าวันใหม่  เพราะท่านมองเห็นบ้านช่องผู้คนสองฟากฝั่งคลองสะใภ้ได้ชัดเจนแล้ว  โดยเฉพาะต้นและดอกผลทับทิม  ที่ทั้งลูกทั้งดอกดกมาก  ดูเหมือนหมู่บ้านบางสะใภ้นี้จะเป็นหมู่บ้านที่ปลูกทับทิมขายกันเป็นอาชีพ  หญิงสาวร้องขายทับทิมด้วยเสียงเหน่อ ๆ น่ารัก  จนท่านคิดจะขอเป็นลูกสะใภ้สักคนหนึ่ง  แต่แล้วก็ต้องชะงักเมื่อเห็นหนูพัด  ซึ่งยามนั้นเป็นหนุ่มแล้ว  ได้แสดงความเป็นคนเจ้าชู้ให้เห็นด้วยการร้องบอกสาว ๆ ที่ร้องขายทับทิมว่า  “ขอชิมหน่อยได้มั้ย”  พวกแม่ค้าสาวก็พากันเมินสะเทิ้นอาย  เมื่อได้หยอกล้อแม่ค้าสาวขายทับทิม  เฮฮาประสาชายแล้วก็จากบางสะใภ้ไป

          ไปไหน  พรุ่งมาอ่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณอาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, ธันวาคม, 2562, 10:32:17 PM
(https://i.ibb.co/rdxxJgK/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ลำน้ำแม่กลอง : สมุทรสงคราม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๘ -

“ ถึงแม่กลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน
น่าสำราญเรือนเรือดูเหลือหลาย
บ้างย่างปลาค้าเคียงเรียงเรียงราย
ดูวุ่นวายวิ่งไขว่ทั้งใหญ่น้อย

ขายสำเร็จเป็ดไก่ทั้งไข่พอก
กระเบนกระบอกปลาทูทั้งปูหอย
ลูกค้ารับนับกันเป็นพันร้อย
ปลาเล็กน้อยขมงโกรยโกยกระบุง

นางแม่ค้าปลาเค็มก็เต็มสวย
กำไรรวยรวมประจบจนครบถุง
บ้างเหน็บท้องป่องปุ่ยตุ่ยตุ่ยตุง
ต่างบำรุงรูปร่างสำอางตาฯ

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปในนิราศเมืองเพชร  พ้นเขตกรุงเทพฯ เข้าเขตสมุทรสาคร  หลุดพ้นคลองหมาหอนไปได้อย่างทุลักทุเลเต็มที  แล้วก็ได้สบายอกสบายใจเมื่อเรือไปถึงบ้านบางสะใภ้  ที่เต็มไปด้วยสวนทับทิม  มีชาวบ้านเป็นแม่ค้านำผลทับทิมมาตั้งวางขายรายทางริมฝั่งคลอง แม่ค้า (ชาวบ้าน) สาวร้องขายทับทิมด้วยสำเนียงเสียงไทย (เดิม) ทวาราวดี  เหน่อ ๆ ฟังเพราะดี  กิริยาท่าทางแม่ค้าสาวน่ารักจนนึกอยากจะขอเป็นลูกสะใภ้สักคน  ทั้งหลวงพ่อและลูกชาย (หนูพัด)  ได้สนทนาปราศรัย  หยอกเอินลูสาวชาวบ้านที่เป็นแม่ค้าขายทับทิมตามประสาชาย  แล้วก็แล่นเรือเลยไป  วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่จากบ้านบางสะใภ้มาถึงแม่กลองแล้วครับ

(https://i.ibb.co/vHxLn0Y/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/JF9tH4g/platoo-00.jpg) (https://imgbb.com/)
ลำน้ำแม่กลอง : สมุทรสงคราม

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากกลอนเมื่อวันวาน  ท่านสุนทรภู่พรรณนาให้เห็นสภาพของแม่กลองในวันนั้นว่า  สองฟากฝั่งคลองเต็มไปด้วยบ้านเรือนบนบกและเรือแพในน้ำ  มีการย่างปลาตั้งวางขายรายเรียงกันไป  ทั้งผู้ค้าขายและลูกค้าผู้ซื้อสิ่งของดูวุ่นวายขวักไขว่  ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  มีของสำเร็จ (ทำเสร็จแล้ว) ตั้งวางขายหลายชนิด  เป็นต้นว่า  เป็ด ไก่  ไข่พอก (เค็ม)  ปลากระเบน  ปลากระบอก  ปลาทู  ปู  หอย  ปลาเล็กปลาน้อยกองพะเนิน  ต้องโกยใส่กระบุง

          “นางแม่ค้าปลาเค็มก็เต็มสวย”

          คำชมแม่ค้าปลาเค็มของสุนทรภู่ในกลอนวรรคนี้  เป็นวรรคทองแท้  คำว่า   “เต็มสวย”   นี่น่ะไม่รู้ว่าท่านคิดขึ้นมาใช้ได้ไง  ใครจะแปลคำนี้ว่าอย่างไรไม่ทราบ  สำหรับผมแล้วขอแปลคำนี้ว่า   “สวยบริสุทธิ์บริบูรณ์จนหาที่ติมิได้”   เลยก็แล้วกัน

          นางแม่ค้า  “เต็มสวย”  นางนี้เธอจะใช้ความ  “เต็มสวย ” เรียกลูกค้ามาซื้อปลาเค็มของเธอหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ  ปรากฏว่า  มีลูกค้ามาซื้อปลาเต็มของเธอมากมาย  เธอได้กำไรจนเงินเต็มถุงในเวลาไม่นานนัก  วิธีเก็บเงินของเธอนั้น  สุนทรภู่บอกว่า  เธอเอาเงินถุงเหน็บท้อง (พุง) และเอว  จนท้องและเอวตุงไปเลย

" พอออกช่องล่องลำแม่น้ำกว้าง
บ้านบางช้างแฉกแฉขึ้นแควขวา
ข้างซ้ายตรงลงทะเลพอเวลา
พระสุริยามืดมัวทั่วแผ่นดิน

ดูซ้ายขวาป่าปะโลงหวายโป่งเป้ง
ให้วังเวงหวั่นไหวฤทัยถวิล
เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน
ไปหากินแล้วก็พากันมารัง

บ้างเคียงคู่ชูคอเสียงซ้อแซ้
โอ้แลแลแล้วก็ให้อาลัยหลัง
แม้นร่วมเรือนเหมือนนกที่กกรัง
จะได้นั่งแนบข้างเหมือนอย่างนก

นี่กระไรไม่มีเท่ากี่ก้อย
โอ้บุญน้อยนึกน่าน้ำตาตก
ต้องลมว่าวหนาวหนังเหมือนคั้งคก
จะได้กกกอดใครก็ไม่มี

จนเรือออกนอกอ่าวดูเปล่าโว่ง
ทะเลโล่งแลมัวทั่ววิถี
ไม่เห็นหนสนธนยาเป็นราตรี
แต่ลมดีดาวสว่างกระจ่างตา.......”

(https://i.ibb.co/2Z8c0fx/image.jpg) (https://imgbb.com/)
บ้านเบญจรงค์ : บางช้าง อัมพวา สมุทรสงคราม

          พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  นั่งเรือประทุนให้คนแจวหัวแจวท้าย  จากคลองหมาหอนตั้งแต่เช้า  ผ่านบ้านบางสะใภ้ไปถึงแม่กลอง  ออกแม่น้ำใหญ่ไปผ่านบ้านบางช้าง  แล้วออกอ่าวทะเล  เป็นเวลา  “สุริยนย่ำสนธยา”  หมดเวลาไปหนึ่งวันเต็ม ๆ  ครั้นออกสู่ท้องทะเลยามตะวันลับฟ้าไปแล้ว  คืนนั้นลมดีท้องฟ้าโปร่งใสไม่มืดมัว  มีดาวสว่างกระจ่างตา.......

" สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม
ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา
ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา
แสงคงคาเต็มพราวราวกับพลอย

เห็นปลาว่ายกายสล้างกระจ่างแจ่ม
แลแอร่มเรืองรุ่งทั้งกุ้งฝอย
เป็นหมู่หมู่ฟูฟ่องขึ้นล่องลอย
ตัวน้อยน้อยนางมังกงขมงโกรย

ชื่นอารมณ์ชมปลาเวลาดึก
หวนรำลึกแล้วเสียดายไม่วายโหย
แม้นเห็นปลาวารินจะดิ้นโดย
ทั้งลมโชยเฉื่อยชื่นระรื่นเย็น

จะเพลินชมยมนาเวหาห้อง
เช่นนี้น้องไหนเลยจะเคยเห็น
ทะเลโล่งโว้งว่างน้ำค้างกระเซ็น
ดูดาวเด่นดวงสว่างเหมือนอย่างโคม

จะเปรมปรีด์ดีใจมิใช่น้อย
น้องจะพลอยเพลินอารมณ์ด้วยชมโฉม
โอ้อายจิตคิดรักลักประโลม
ทรงจะโทรมตรงช่องปากคลองโคน

ด้วยมืดค่ำสำคัญที่นั่นแน่
เรียกแสมตายห่าพฤกษาโกร๋น
ลำพูรายชายเลนดูเอนโอน
วายุโยนยอดระย้าริมสาคร

หิ่งห้อยจับวับวามอร่ามเหลือง
ดูรุ่งเรืองรายจำรัสประภัสสร
เหมือนแหวนก้อยพลอยพรายเมื่อกรายกร
ยังอาวรณ์แหวนประดับเมื่อลับตาฯ...”

(https://i.ibb.co/cvmW4hD/1365150644-2008020520-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** เริ่มออกทะเลตรงปาก  "คลองโคน"   เป็นคืนที่คลื่นลมสงบผิวน้ำทะเลราบเรียบ  เดือนหงายจนสว่างเหมือนกลางวันจริง ๆ  สว่างจนพระภิกษุภู่มองเห็นตัวปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำทะเล  เห็นจนกระทั่งกุ้งฝอยเป็นหมู่ ๆ  ท่านชื่นชมความงามในท้องทะเลยามค่ำนั้นแล้ว  ใจก็หวนไปถึงหญิงที่รักคนหนึ่ง  เสียดายที่เธอมิได้ร่วมเดินทางมาด้วย  เมื่อเรือท่านถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า  แสมตาย (แสมตายห่าพฤกษาโกร๋น)  มีต้นลำพูอยู่มากมาย  และมีหิ่งห้อยจับตามใบลำพูเต็มไปหมด  หิ่งห้อยเหล่านั้นพากันส่องแสงวามวับราวจะแข่งแสงดาว  ยามลมโชยพัดใบลำพูดไหวพลิ้ว  ทำให้แสงหิ่งห้อยพราวพรายสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

          วันนี้ตามแกะรอยการเดินทางไปเมืองเพชรของท่านสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, ธันวาคม, 2562, 10:32:55 PM
(https://i.ibb.co/6DdCbNy/1499487361-444.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๒๙ -

“ถึงคลองช่องล่องเลียบเงียบสงัด
เห็นเมฆกลัดกลางทะเลบนเวหา
เสียงโครมครื้นคลื่นกระทั่งฝั่งชลา
ลมสลาตันตึงหึ่งหึ่งฮือ

นาวาเหเซหันให้ปั่นป่วน
ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ
ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ
ลมกระพือพัดโงงดูโคลงเคลง

ทั้งคลื่นซ้ำน้ำซัดให้ปัดปั่น
โอ้แต่ชั้นคลื่นลมยังข่มเหง
น่าอายเพื่อนเหมือนคำเขาทำเพลง
มาเท้งเต้งเรือลอยน่าน้อยใจ

ยิ่งแจวทวนป่วนปั่นยิ่งหันเห
ลมทะเลเหลือจะต้านทานไม่ไหว
เสียงสวบเสยเกยตรงเข้าพงไพร
ติดอยู่ใต้ต้นโกงกางแต่กลางคืน........”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามท่านสุนทรภู่จากกรุงเทพฯ  เดินทางไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร  จากแม่กลองผ่านบางช้างออกท้องทะเลหลวงยามพลบค่ำ  ท้องฟ้าโปร่งใสดวงดาวส่องสว่างกระจายไปทั่ว  คลื่นลมสงบ  ท้องทะเลราบเรียบ  คืนนั้นโคมสวรรค์จากฟากฟ้าส่องแสงลงมากระทบผืนน้ำทะเล  ทำให้เกิดความสว่างไสวไปทั่วมณฑล  จนท่านสุนทรภู่มองเห็นตัวปลาแหวกว่ายในทะเล  เห็นแม้กระทั่งกุ้งฝอยที่ว่ายมากันเป็นฝูง ๆ  ริมฝั่งทะเลแถวนั้นมีต้นลำพูขึ้นสลับกับโกงกาง  คืนนั้นมีหิ่งห้อยจับเกาะใบลำพูเปล่งแสงเป็นประกายระยิบระยับงามจับตา  ท่านจึงเพลิดเพลินชมธรรมชาติจนลืมหลับนอน...

(https://i.ibb.co/ZKccVV4/dffww.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นบทต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  บอกเล่าเหตุการณ์อันระทึกขวัญของท่านว่า  ขณะที่กำลังชื่นชมธรรมชาติอันงดงามของริมฝั่งทะเล ณ คลองช่องยามค่ำคืนนั้น  พลันก็เห็นก้อนเมฆใหญ่ลอยกลัดกลางทะเลทะมึนบนท้องฟ้า  ทะเลที่ราบเรียบก็เกิดระลอกคลื่นครืนโครมเข้ากระทบกระแทกฝั่ง  เป็นลมสลาตันกระพือโหมมา  พัดเรือสำปั้นใหญ่ขนาดสี่แจวของท่านหันเห  ฝีพายช่วยกันจ้ำแจวทวนกระแสลมกระแสน้ำ  ช่วยกันถือหางเสือไว้อย่างไรก็ไม่อยู่  เคราะห์ดีที่เรือไม่ถูกคลื่นซัดล่มจมลงก้นทะเล  แต่กระนั้นก็ถูกคลื่นซัดเข้าเกยตื้นติดอยู่ในดงไม้โกงกางตลอดคืน..

“ พอจุดเทียนเชี่ยนขันน้ำมันคว่ำ
ต้องวิดน้ำนาวาไม่ฝ่าฝืน
เสื่อที่นอนหมอนนวมน้ำท่วมชื้น
เหลือเพียงผืนผ้าแพรของแม่น้อง

ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่
ยังรักรู้จักคุณการุญสนอง
ลมรินรินกลิ่นกลบอบละออง
ได้ปกครองครุมเครือเมื่อเรือค้าง

เขาหลับเรื่อยเหนื่อยอ่อนนอนสนิท
พี่นี้คิดใคร่ครวญจวนรุ่งสาง
เสียงนกร้องซ้องแซ่คลอแครคราง
ทั้งลิงค่างครอกโครกละโอกโอย

เสียงชะนีที่เหล่าเขายี่สาน
วิเวกหวานหวัวหวัวผัวผัวโหวย
หวิวหวิวไหวได้ยินยิ่งดิ้นโดย
ชะนีโหยหาคู่ไม่รู้วาย

เหมือนวิตกอกน้องที่ตรองตรึก
เหลือรำลึกอาลัยมิใคร่หาย
จะเรียกบ้างอย่างชะนีนี้ก็อาย
ต้องเรียกสายสวาทในใจรำจวน.......”

(https://i.ibb.co/0QL1HfQ/images-46.jpg) (https://imgbb.com/)

          ปรากฏว่า  เรือของท่านสุนทรภู่ถูกคลื่นลมซัดเข้ารกเข้าพงไปค้างอยู่ในต้นโกงกาง  พอคลื่นลมสงบ  ท่านจุดเทียนขึ้นดู  ตะเกียงน้ำมันคว่ำไปใช้ไม่ได้  แม้เชี่ยนหมากก็กระจัดกระจาย  น้ำในเรือมากมายจนต้องช่วยกันวิดน้ำออกจากเรือ  เสื่อหมอนผ้านวมล้วนชุ่มน้ำ  เหลือเพียงผ้าแพรน้องนางผืนเดียวที่ไม่ชุ่มชื้น  จึงพอได้คลี่ห่มกันหนาวตอนค่อนอุษาสางได้  ไม่รู้เหมือนกันว่าผ้าแพรผืนนี้  น้องนางคนใดให้มาแต่ไหนเมื่อไร  ยามนี้ใกล้รุ่งแล้ว  พระภิกษุภู่นอนไม่หลับเพราะหวนคำนึงถึงอดีตในหลาย ๆ เรื่องและหลายคนที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะนางน้องเจ้าของผ้าแพร  ขณะนั้นทุกคนในเรือล้วนหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน

(https://i.ibb.co/t2TBwhH/images-45.jpg) (https://imgbb.com/)

          เวลาอุษาโยคใกล้รุ่งแล้ว  เสียงวิหคนกริมทะเลต่างก็ร่ำร้องเสียงเซ็งแซ่  พวกลิงค่างต่างก็ส่งเสียงร้องครอก ๆ  กระโดดโลดเต้นไปมาตามกิ่งไม้  เสียงชะนีป่าร้องหาผัวอยู่โหวย ๆ วิเวกหวาน  ทำให้หวนคำนึงถึงน้องที่อยู่เดียว  คงจะเปลี่วยกายใจ  ร้องเรียกหาชู้เช่นชะนีเขายี่สานในกาลนี้.......

“ จนรุ่งแจ้งแสงสว่างนภางค์พื้น
ต้องค้างตื้นติดป่าพากำสรวล
จะเข็นค้ำล้ำเหลือเป็นเรือญวน
พอเห็นจวนน้ำขึ้นค่อยชื่นใจ

ต้นแสมแลดูล้วนปูแสม
ขึ้นไต่แต่ต้นกิ่งวิ่งไสว
เขาสั่นต้นหล่นผอยผล็อยผล็อยไป
ลงมุดใต้ตมเลนเห็นแต่ตา

โอ้เอ็นดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ
ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา
ล้วนจุ๊บแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา
กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน

จุ๊บแจงเอยเผยฝาหาข้าวเปียก
แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
ทั้งงวงทั้งงาออกมากิน
ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย

เขาร่ำเรียกเพรียกหูให้ดูเล่น
มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย
โอ้นึกอายด้วยจุ๊บแจงแกล้งสำออย

เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา
แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย
จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก.......”

          รุ่งสางสว่างแจ้งแล้วแต่เรือสุนทรภู่ยังลงลอยลำในทะเลไม่ได้  เพราะติดตื้นอยู่ในป่าโกงกาง  ครั้นจะช่วยกันเข็นเรือลงน้ำก็ทำไม่ได้  เพราะเรือท่านนั้น  “เป็นเรือญวน”  ลักษณะเรือญวนที่สุนทรภู่ใช้นี้  เป็นแบบเรือสำปั้นขนาดใหญ่น้อง ๆ เรือมอญที่บรรทุก  ครก  หม้อ  โอ่ง  อ่าง  กระถาง  เตา  เครื่องปั้นดินเผาไปขายตามหัวเมืองต่าง ๆ นั่นเชียวครับ  ใหญ่ขนาดนั้นใครจะเข็นไหว

(https://i.ibb.co/jVgC4zg/image.jpg) (https://imgbb.com/)
หอยจุ๊บแจงไต่เกาะตามต้นไม้ชายเลน

          ครั้นน้ำทะเลขึ้นถึงป่าโกงกาง  เรือท่านสุนทรภู่ก็ลอยลำออกสู่ท้องทะเลได้แล้วเดินทางต่อไป  ท่านเห็นปูแสมไต่ขึ้นไปเกาะตามต้นแสมเต็มไปหมด  หากมีใครไปเขย่าต้นแสม  เจ้าปูแสมก็จะทิ้งตัวลงผล็อย ๆ สู่ดินแล้วมุดเลนเห็นแต่ลูกตาโผล่ขึ้นมาเท่านั้น  จากป่าแสมก็ไปถึงที่อยู่ของหอยจุ๊บแจง  ท่านเห็นมันไต่ขึ้นไปอยู่บนต้นไม้มากมาย  ท่านก็คิดหวนไปถึงเรื่องหอยจุ๊บแจง  แล้วยกเนื้อเพลงพื้นบ้านที่ร้องกันมานมนาน  ถอดความได้ว่า  หอยจุ๊บแจงเนี่ยเหมือนคนขี้อาย  เวลาจับมาแล้วมันจะคว่ำหน้ามุดอยู่ในเปลือก  ต้องกวักมือเรียกว่าลูกเขยเอ้ย  เงยหน้ามาหน่อย  แม่ยายจะไปทอดกฐินแล้ว  มันได้ยินเสียงเรียก ดังนั้นจึงโผล่ออกมาจากเปลือก  เรื่องนี้จริงหรือไม่ก็ลองทำดูนะครับ

          คำว่า “ปากหอย” น่าจะมาจากเจ้าหอยจุ๊บแจงนี้เอง

          วันนี้ตามรอยสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนนะ  เอาไว้ตามต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
วันศุกร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ / ๐๕.๕๓น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, ธันวาคม, 2562, 10:14:01 PM
(https://i.ibb.co/hdZWGpB/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ป่าชายเลนบางตะบูน (ปากตะพูน) : เพชรบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๐ -

พอลอยลำน้ำมากออกจากป่า
ได้แอบอาศัยแสมอยู่แต่ดึก
ในดงฟืนชื่นชุ่มทุกพุ่มพฤกษ์
ผู้ใดนึกฟันฟาดให้คลาดแคล้ว

แล้วเคลื่อนคลาลาจากปากคลองช่อง
ไปตามร่องน้ำหลักปักเป็นแถว
ข้ามยี่สานบ้านสองพี่น้องแล้ว
ค่อยคล่องแคล้วเข้าชะวากปากตะพูน

น้ำยังน้อยค่อยค้ำพอลำเลื่อน
ไม่มีเพื่อนเรือประหลาดช่างขาดสูญ
ในคลองลัดทัศนายิ่งอาดูร
เป็นดินพูนพานจะตื้นแต่พื้นโคลน

ป่าปะโลงโกงกางแกมแสม
แต่ล้วนแต่ตายฝอยกรองกร๋อยโกร๋น
ตลอดหลามตามตลิ่งล้วนลิงโลน
อ้ายทโมนนำหน้าเที่ยวคว้าปู.........”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามดูสุนทรภู่เดินทางไปเพชรบุรี  ซึ่งมีร่องรอยอยู่ในนิราศเมืองเพชร  ออกทะเลไปถึงปากคลองช่อง  เขายี่สาน  เกิดมีลมสลาตัน  ทั้งลมทั้งคลื่นซัดเรือท่านเข้าไปในป่าโกงกาง  ค้างเติ่งอยู่ตลอดคืน  รุ่งเช้ารอจนทำทะเลหนุนขึ้น  เรือลอยลำแล้วจึงเดินทางต่อไป  วันนี้มาแกะรอยตามดูท่านกันต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/s59YqLL/headder.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  บอกเล่าว่า  พอเรือลอยลำก็ออกจากป่าโกงกางแล้วเคลื่อนคลาจากคลองช่อง  ไปตามร่องน้ำที่มีไม้ปักบอกทางเดินเรือไว้เป็นทิวแถว  ข้ามยี่สานบ้านสองพี่น้องแล้วเรือค่อยคล่องขึ้น  เข้าถึงชะวากปากตะพูนซึ่งน้ำยังน้อย  จึงต้องใช้ถ่อช่วยค้ำไป  วันนั้นรู้สึกแปลกประหลาด  เพราะบรรยากาศเงียบสงบมาก  ไม่มีเรือขึ้นล่องเป็นเพื่อนเดินทางเลย  ครั้นเข้าถึงคลองลัดเหลียวดูรอบกายแล้วอาดูร  เพราะมีน้ำน้อย  ดินพูนขึ้นจนพานจะตื้นเป็นพื้นโคลน  ที่ริมคลองนั้นเต็มไปด้วยป่าแสมโกงกางที่ใบโกร๋นยืนต้นตาย  ตามริมตลิ่งนั้นยั่วเยี้ยไปด้วยลิงแสม  เห็นอ้ายทโมนตัวหัวหน้าเที่ยวคว้าจับปู........

“ ครั้นล้วงขุดสุดอย่างเอาหางยอน
มันหนีบนอนร้องเกลือกเสือกหัวหู
เพื่อนเข้าคร่าหน้าหลังออกพรั่งพรู
ลากเอาปูออกมาได้ไอ้กะโต

ทั้งหอยแครงแมงดามันหาคล่อง
ฉีกกระดองกินไข่มิใช่โง่
ได้อิ่มอ้วนท้วนหมดไม่อดโซ
อกเอ๋ยโอ้เอ็นดูหมู่แมงดา

ให้สามีขี่หลังเที่ยวฝั่งแฝง
ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา
เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา
ทิ้งแมงดาผัวเสียเอาเมียไป

ฝ่ายตัวผู้อยู่เดียวเที่ยวไม่รอด
เหมือนตาบอดมิได้แจ้งตำแหน่งไหน
ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ
ก็บรรลัยแหลกลาดดาษดา

แม้นเดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว
ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา
โอ้อาลัยใจอย่างนางแมงดา
แต่ดูหน้าในมนุษย์เห็นสุดแล

จนออกช่องคลองบางตะพูนใหญ่
ล้วนป่าไม้ตีนเป็ดเสม็ดแสม
นกกระยางยางกรอกกระรอกกระแต
เสียงซ้อแซ้สองข้างทางกันดารฯ”

(https://i.ibb.co/R7GRsk7/194255122515.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนตอนนี้สุนทรภู่ท่านได้ให้ความรู้ด้านนิเวศวิทยาได้ดียิ่ง  โดยบอกเล่าว่า  เจ้าลิงทโมนตัวหัวหน้าที่นำฝูงเที่ยวไล่จับปูกินนั้น  ปูมันวิ่งหนีลงรู  เจ้าทโมนเอามือล้วงลงรูหมายจับ  ก็ล้วงไม่ถึงจึงเอาหางยอนหย่อนลงไปล่อปู  เจ้าปูในรูก็เอาก้ามหนีบ  เจ้าทโมนดึงหางเอาปูขึ้นไม่ได้  ก็นอนดิ้นกลิ้งเกลือกอยู่ปากรูปู  พวกลิงลูกน้องเห็นเช่นนั้นก็ช่วยกันจับตัวเจ้าทโมนดึง  ลากเอาตัวปูที่หนีบหางลิงนั้นขึ้นมาจากรูจนได้  เจ้าปูมันโง่ที่ไม่ยอมปล่อยหางลิงจึงถูกลากขึ้นมาให้ลิงจับฉีกกระดองกินเนื้อกินไข่กันอิ่มหมีพีมัน  นอกจากปูแสมแล้ว  พวกหอยแครง  แมงดา  พวกลิงก็หาจับได้ง่าย  มันมิใช่โง่  เมื่อจับปู  หอยแครง  แมงดา ได้  ก็ฉีกกระดองกินไข่กินเนื้อกันอย่างไม่อดอยากปากแห้ง

(https://i.ibb.co/JvfXD5y/57492f3d4.gif) (https://imgbb.com/)
แมงดาทะเล

          ท่านกล่าวถึงแมงดาทะเลว่า  น่าเอ็นดูแมงดาตัวเมียที่มันให้แมงดาตัวผู้ขี่หลังออกเที่ยวหาอาหารกินไปทั่ว  ครั้นถูกจับได้  เขาก็เอาเฉพาะตัวเมียไปเป็นอาหาร  ส่วนตัวผู้ไร้ประโยชน์เขาก็ปล่อยทิ้งไว้  แต่เจ้าตัวผู้เมื่อไม่มีตัวเมียให้ขี่หลังไปไหน ๆ ก็ไปไม่ได้  เหมือนคนตาบอดคลานคลำวนเวียนอยู่กับที่  แล้วที่สุดก็อดตายไปตาม ๆ กัน

          เรื่องนี้เห็นจะเป็นที่มาของคำว่า  “เป็นแมงดาเกาะเมียกิน”  แล้วรวมไปเรียกนักเลงคุมซ่องว่า  “แมงดา”  เกาะผู้หญิงหากิน  ท่านสุนทรภู่ยกย่องแมงดาตัวเมียว่าประเสริฐนัก  หากมีเมียที่ไม่ทิ้งผัวเหมือนแมงดา  แม้เธอจะรูปชั่วตัวดำอย่างไรก็จะรักให้หนักหนาทีเดียว  แต่ทว่า   “แต่ดูหน้าในมนุษย์ก็สุดแล”   คือว่าผู้หญิงที่รักผัวเหมือนแมงดาตัวเมียก็หาได้ไม่ง่ายนัก

(https://i.ibb.co/HpqG9s0/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ต้นตีนเป็ดน้ำ

          จากฝูงลิง (ลิง  ภาษาบาลีคือ  มักกโฏ  สุนทรภู่เรียก กะโต) และแมงดาในคลองบางตะพูนใหญ่ล่วงเลยมา  ก็มีแต่ป่าต้นตีนเป็ด (สัตตบัน) ป่าเสม็ด แสม  มากมาย  มีฝูงนกกระยาง  ยางกรอก  โผผินบินร่อน  ร้องกู่หากันขรม  กระรอกกระแต  กระโดดโลดเต้นส่งเสียงร้องแซ้ซ้ออยู่สองข้างบทางกันดาร.........

          * เอาละ  วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาพ้นคลองบางตะพูนใหญ่  แค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้มาแกะรอยตามดูท่านต่อไปครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44511#msg44511)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44858#msg44858)                   .


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, ธันวาคม, 2562, 10:51:33 PM
(https://i.ibb.co/Jm5MqZY/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดคุ้งตำหนัก : ต. บางตะบูน อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี
เล่ากันว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณนี้เคยมีพลับพลาหรือตำหนักพระเจ้าเสือ
ซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44678#msg44678)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45037#msg45037)                   .

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๑ -

ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ
มาทรงเบ็ดกะโห้ไม่สังหาร
ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน
และโบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา

แต่เดี๋ยวนี้ที่วังก็รั้งร้าง
เป็นรอยทางทุกปราบราบรุกขา
ยังแลเลี่ยนเตียนดีที่พลับพลา
นึกระอาอนิจจังไม่ยั่งยืน

เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ
แล้วก็กลับไปเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน
นึกสะอื้นอายใจมาในเรือฯ”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยเดินทางของสุนทรภู่ไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร  ผ่านเหตุการณ์อันระทึกขวัญจากลมสลาตันไปแล้ว  ออกจากป่าโกงกางได้ก็เลียบเลาะริมทะเลมุ่งไปเมืองเพชร  เห็นฝูงลิงจับปู  จับแมงดา  หาหอยกินกันเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์  จากคลองช่อง  ผ่านย่านเขายี่สานเข้าปากตะบูน  เป็นลำดับ  วันนี้มาแกะรอยกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/b2qzR9h/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดคุ้งตำหนัก : ต. บางตะบูน อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี
เล่ากันว่าในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณนี้เคยมีพลับพลาหรือตำหนักพระเจ้าเสือ
ซึ่งพระองค์เสด็จฯ มาประทับทรงเบ็ด

          กลอนข้างบนนี้เป็นบทและความต่อจากกลอนเมื่อวันวาน  ถึงที่ตั้งวังประทับรับเสด็จทรงเบ็ดตกปลากะโห้  เป็นสถานที่แห่งหนึ่งในระหว่างทางก่อนถึงเมืองเพชร  เป็นที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งเคยเสด็จมาประทับทรงเบ็ด  ตกปลากะโห้ได้แล้วก็ปล่อยไป  ประหนึ่งว่าทรงถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง  นัยว่าพระเจ้าแผ่นดินสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งทรงโปรดฯ การตกปลาและเคยมาประทับที่นี่

          วันที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ไปถึงสถานที่ตั้งวังประทับทรงเบ็ดนั้น  เป็นป่ารกร้าง  ยังเป็นที่เลี่ยนโล่งเฉพาะที่ตั้งพลับพลาเท่านั้น  ท่านเห็นสภาพวังร้างแล้วสลดใจ  รำพึงถึงความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่งที่ล้วนเป็นอนิจจัง  อย่าว่าแต่สถานที่สิ่งของเลย  แม้แต่ศักดินาฐานะเกียรติยศ  เมื่อมีขึ้นแล้วก็ย่อมลดลงหายไป........

“ ถึงบางหอหอใครที่ไหนหนอ
มาปลูกหอเสน่หาในป่าเสือ
อันย่านนี้ที่บนบกก็รกเรื้อ
ทั้งทางเรือจระเข้ก็เฉโก

ถึงเจ้าสาวชาวสวรรค์ฉันไม่อยู่
จะโศกสู้เอกาอนาโถ
ด้วยหวั่นตัวกลัวเสือก็เหลือโซ
เห็นแต่โพทะเลจระเข้ลอย

ทั้งเหลืองดำคร่ำคร่าล้วนกล้าแกล้ว
จนเรือแจวจวนใกล้มิใคร่ถอย
ดูน่ากลัวตัวใหญ่มิใช่น้อย
ต่างคนคอยภาวนาอุตส่าห์สำรวม

เห็นนกบินกินปลาล้วนน่ารัก
นกปักหลักลงน้ำเสียงป้ำป๋วม
นกกระเต็นเต้นตามนกกามกวม
กับเหี้ยต้วมเตี้ยมต่ายตามชายเลนฯ”

(https://i.ibb.co/MnFh5zX/bh02.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/9yWwnF4/bh03.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนบางหอ : เพชรบุรี

          ถึงบางหอท่านสุนทรภู่ก็คิดฉงนว่า  ใครนะช่างกล้ามาสร้างเรือนหอเสน่หาอยู่ในป่าในดงที่เต็มไปด้วยเสือ  ทั้งทางเรือก็เต็มไปด้วยจระเข้จอมเกเร (ที่ชอบขวางคลอง)  อย่างนี้ต่อให้เจ้าสาวเป็นนางสวรรค์ท่านก็ไม่ขอมาอยู่ด้วย  แม้จะโศกอนาถาก็ขอทนอยู่เดียวดายดีกว่า  เพราะกลัวเจ้าเสือโซมากมายในป่านี้  และกลัวจระเข้ที่ลอยเป็นแพอยู่น้ำ  มีทั้งตัวเหลืองตัวดำล้วนแต่แกล้วกล้าไม่กลัวใคร  เรือแจวลำใหญ่ผ่านฝูงพวกมัน  มันก็ยอมถอยลอยคอคอยจะกินเหยื่อ  คนในเรือที่ไม่ได้แจวก็ได้แต่นั่งภาวนาให้รอดพ้นจากคมปากของพวกมัน  เรือพ้นฝูงจระเข้มาได้ก็เห็นฝูงนกกินปลาน่ารัก  มันบินขึ้นสูงแล้วปักหัวพุ่งลงในน้ำจับปลากินเป็นอาหาร  เสียงน้ำดังป้ำป๋วม (ท่านได้ยินเสียงอย่างนั้นนะ)  “นกกระเต็นก็เต้นตามนกกามกวม  ตัวเหี้ยก็ต่ายต้วมเตี้ยมตามชายเลน“  หาอาหารกินไปตามธรรมชาติของพวกมัน

“ ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท
มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ
พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ

กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้
จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลืออยู่แต่บุราณ
ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน

ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส
ศิลาลาดเลียบเดินเนินสิงขร
พฤกษาออกดอกช่ออรชร
หอมขจรจำปาสารภี

ต้นโพธิ์ไทรใบงอกตามซอกหิน
อินทนิลนางแย้มสอดแซมสี
เหล่าลั่นทมร่มรอบขอบคีรี
สุมาลีหล่นกลาดดูดาษดิน

ได้ชมเพลินเดินมาถึงหน้าโบสถ์
ษมาโทษถือเทียนเวียนทักษิณ
เคารพสามตามกำหนดหมดมลทิน
กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ

ได้สรงน้ำชำระพระสัมฤทธิ์
ถวายธูปเทียนอุทิศพิษฐาน
ขอเดชะพระสัมฤทธิ์พิสดาร
ท่านเชี่ยวชาญเชิญช่วยด้วยสักครั้ง.......”


(https://i.ibb.co/6J1nrdt/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/K6FWVFZ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเขาตะเครา และ หลวงพ่อทอง แห่งวัดเขาตะเครา : เพชรบุรี

          ถึงเขาตะเครา  ในกลอนนี้พิมพ์ผิด  ตะเครา  เป็น  ตะคริว  มีต้นฉบับเดิมที่ อ.ล้อม  เพ็งแก้ว  พบในหอสมุดแห่งชาติ  ท่านสุนทรภู่เขียนว่า  เขาตะเครา  ตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่ดึกดำบรรพ์  ท่านไปถึงวัดเขาตะเครา  อ.บ้านแหลม  เป็นเวลาเพลพอดี  จึงสั่งให้จอดเรือหน้าวัดแล้วจัดธูปเทียนขึ้นไปนมัสการหลวงพ่อสัมฤทธิ์  พระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือกันมาก  หลวงพ่อสัมทธิ์ที่สุนทรภู่กล่าวถึงนี้  ปัจจุบันเรียกว่าพลวงพ่อทอง  เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด  ศิลปะเชียงแสน (สิงห์สาม)  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เข้ากราบไหว้และสรงน้ำ  แล้วอธิษฐานขอ....ว่าอย่างไร  เอาไว้อ่านกันพรุ่งนี้ดีกว่าครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, ธันวาคม, 2562, 10:03:15 PM
(https://i.ibb.co/Xp0SWzZ/1518156011.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา : เพชรบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๒ -

“...ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง
กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง
แม้นได้ของสองสิ่งเห็นจริงจัง
จะแต่งตั้งบายศรีมีละคร

ทั้งเทียนเงินเทียนทองของเสวย
เหมือนเขาเคยบูชาหน้าสิงขร
สาธุสะพระสัมฤทธิ์ประสิทธิพร
ให้ได้นอนฟูกฟูเหมือนชูชก.....”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...............

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่เดินทางไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร  มาถึงวัดเขาตะเครา  บ้านแหลม  ใกล้เมืองเพชรเข้าไปแล้ว  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร เดินทางไปถึงวัดเขาตะเคราได้เวลาเพลพอดี  ท่านให้จอดเรือแล้วขึ้นไปเดินดูบริเวณวัดที่ร่มรื่น  หอมตรลบไปด้วยกลิ่นดอกไม้นานา  ครั้นชมไปทั่วบริเวณวัดแล้วก็เข้านมัสการพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ (หลวงพ่อทอง)  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์  ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย  ศิลปะเชียงแสน (สิงห์ ๓)  แล้วขอพร........

(https://i.ibb.co/jbS5sVQ/otop-img-11562226415.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนที่ยกมาวางไว้ข้างบนนี้เป็นความต่อจากบทเมื่อวานนี้  ซึ่งสุนทรภู่ขอพระพระสัมฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ว่า ขอ  “ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง  กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง”  ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า  ท่านต้องการแหวนกับผ้าแพรหอม เอาไปทำไม  หรือว่าจะเอาไปให้หญิงสาวที่หมายตาไว้  หากได้ดังขอจะแก้บนด้วยจัดตั้งบายศรี  มีละคร  ตั้งเทียนเงินเทียนทอง  ของเสวย  ดังที่เขาเคยทำกัน  แล้วท่านก็ใส่อารมณ์ขันแทรกลงไว้ว่า  “ให้ได้นอนฟูกฟูเหมือนชูชก”

“ แล้ววันทาลาเลียบลงเหลี่ยมเขา
พอบังเงาแดดร่มทั้งลมตก
ออกนาวามาทางบ้านบางครก
มะพร้าวดกดูสล้างสองข้างคลอง

มีส้มสูกลูกไม้เหมือนในสวน
ตลอดล้วนเรียงรายเรียกขายของ
เขาเลียนล้อต่อถามตามทำนอง
ได้ยินย่องนิดหน่อยอร่อยใจ

จนเรือออกนอกชะวากปากบางครก
ต้องเลี้ยววกไปตามลำแม่น้ำไหล
เป็นถิ่นฐานบ้านนาป่ารำไร
เขาทำไร่ถั่วผักปลูกฟักแฟง

แต่ฟักทองร้องเรียกว่าน้ำเต้า
ฟักเขียวเล่าเรียกว่าขี้ฟ้าแถลง
ล้วนเลี้ยงวัวทั่วถิ่นได้กินแรง
แต่เสียงแปร่งเปรี้ยวหูไม่รู้กลัว

เจ้าสำนวนชวนตีแต่ฝีปาก
พูดด้วยยากชาวบางกอกจนกลอกหัว
แสนแสนงอนค้อนว่าค่อนด่าวัว
เขาตัดหัวแขวนห้อยร้อยประการ

ล้วนแช่งซ้ำล้ำเหลือไอ้เสือขบ
ลำเลิกทบทวนชาติเสียงฉาดฉาน
อ้ายวัวเฒ่าเขาล้มคือสมภาร
มันขี้คร้านทดข้าวเขาจึงแทงฯ”

(https://i.ibb.co/wrXGqrg/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางครก ตัดตรงจากวัดปากคลองไปสู่วัดเขาตะเครา

          อธิษฐานขอพรเสร็จแล้วก็กราบลาหลวงพ่อทอง  ลงเรือออกจากท่าหน้าวัด  เลาะเลียบเหลี่ยมเขามาทางบ้านบางครก  เห็นมะพร้าวสองข้างคลองดกดื่นตา  ส้มสูกลูกไม้เหมือนในสวน  ชาวบ้านนำออกมาวางเรียงรายร้องขายด้วยสำเนียงเสียงแปร่งหู  ท่านบอกว่า  “เสียงแปร่งเปรี้ยวหู”  ก็จึงได้พูดเลียนล้อกันสนุก  “อร่อยใจ”  จากบางครกเรือก็เลี้ยววกไปตามลำน้ำไหล  เป็นถิ่นฐานบ้านนาป่ารำไร  เขาปลูกถั่วปลูกผัก  ฟักแฟง  ฟักทอง มากมาย  แต่ฟักทองนั้น  เขาเรียกว่า  “น้ำเต้า”  ส่วนฟักเขียวเรียกว่า  “ขี้ฟ้า” …  เป็นงั้นไป

(https://i.ibb.co/zGzpyxm/images-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ภาษาถิ่นเพชรบุรีไม่เหมือนใคร  และไม่มีใครเหมือน  ใครไม่เคยได้ยินได้ฟัง  เมื่อไปได้ยินได้ฟังแล้วจะงง  สับสนไม่น้อยเลย  เขาวางคำพูดแบบบาลีไวยากรณ์  เอาคำปฏิเสธวางไว้หลังเสมอ  เช่น  “ไม่ได้”  เขาจะพูดว่า  “ได้ไม่”  และ  “ไม่ถูก-ถูกไม่,  ไม่ดี-ดีไม่,  ไม่รู้-รู้ไม่, ไ ม่เอา-เอาไม่”  อย่างนี้เป็นต้น

          สำเนียงหรือน้ำเสียงก็อย่างที่สุนทรภู่ท่านว่า  “แปร่งเปรี้ยวหู”  นั่นแล

          มีคำด่ากระทบที่ให้ความหมายแสบซึ้งอยู่หนึ่งคำคือ  "อ้ายวัวเฒ่าเขาล้มคือสมภาร"  คำว่าวัวเฒ่าเขาล้ม  นั่นแหละ  เขาเปรียบชายแก่ที่หมดน้ำยา  ล้มไม่รู้ลุก แล้ว  เหมือนพระสมภารเฒ่าชรานั่นแล

“ ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย
ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นคำแคลง
จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา

พายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก
สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา
บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวข้าวเบา
บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดมฯ”

(https://i.ibb.co/LSLyj1t/painting.jpg) (https://imgbb.com/)

          ไหมล่ะ ...ท่านสุนทรภู่เจอสำนวนเด็ดของชาวเพชรเข้าแล้ว  ถามชาวบ้านใหม่ว่า  บ้านท่านขุนแขวง (น่าจะเป็นตำแหน่งนายอำเภอ)  ระยะทางยังอยู่อีกไกลไหม  แทนที่เขาจะตอบ  กลับถามย้อน (ปฏิปุจฉา) ว่า   “ท่านจะพายแรงหรือพายค่อยครับ”  แล้วให้คำตอบว่า  “ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก” เจออย่างนี้  สุนทรภู่ก็ได้แต่ส่ายหัวแหละนะ

          วันนี้ที่บ้านใหม่น่าจะมีการ  “ลงแขก”  เกี่ยวข้าวนาข้าวเบากัน  จึงมีผู้คนร่วมงานเกี่ยวข้าวมากมาย  ส่งเสียงโห่ร้องเกรียวกราว  และหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน  พอเลยทุ่งนามาก็เห็นมีการตั้งเตาเคี่ยวน้ำตาล  อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเพชรบุรี

          ** หยุดพักไว้ตรงนี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยแกะรอยตามท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, ธันวาคม, 2562, 10:41:46 PM
(https://i.ibb.co/FhLH5mH/bandai4.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบันไดทอง ต. บ้านกุ่ม อ. เมืองเพชรบุรี จ. เพชรบุรี
Cr. Photo By เอื้อยนาง

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๓ -

“ถึงบางกุ่มหนุ่มแก่สาวแซ่ซ้อง
มีบ้านสองฟากข้ามนามประถม
ข้างซ้ายมือชื่อบ้านสะพานยายนม
น่าใคร่ชมชื่นจิตคิดรำพึง

อย่างไรหรือชื่อเช่นนั้นขันนักหนอ
หรือแกล้งล้อจะให้นึกรำลึกถึง
ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกไปลึกซึ้ง
เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร

กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่
สถิตที่ทับนาพออาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ
จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ

นึกชมบุญขุนรองน้องท่านแพ่ง
เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ
เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอน

โอ้สงสารท่านรองคนครองรัก
เมื่อมาพักบ้านโพธิ์สโมสร
เคยร่วมใจไหนจะร่วมนวมที่นอน
ทั้งร่วมร้อนร่วมสุขสนุกสบาย

แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง
ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย
เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย
แสนเสียดายดูหน้านึกอาลัยฯ”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรี  ตามความในนิราศเมืองเพชร  จากวัดเขาตะเครา  บ้านแหลม  แล้วเลี้ยวเข้ามาทางบางครก ถึงบ้านใหม่ใกล้เมืองเพชรเข้าไปแล้ว  วันนี้มาแกะรอยตามกันต่อไปครับ

          กลอนข้างบนนี้เป็นความและเรื่องต่อจากเมื่อวันวาน  เรือท่านถูกแจวมาถึงบ้านบางกุ่มซึ่งเป็นย่านชุมชนใหญ่  มีชื่อบ้านหนึ่งที่สุนทรภู่รู้สึกฉงนในนามที่แปลกเรียกกันว่า  “บ้านสะพานยายนม”  เป็นชื่อที่น่าขันนัก  เขาตั้งชื่อนี้ขึ้นไว้ล้อเล่นกันหรืออย่างไร  พอได้ยินชื่อบ้าน  บางคนก็นึกไปถึงคุณยายนมยานโตงเตงที่เดินไปเดินมาอยู่บนสะพาน  อะไรทำนองนั้น  เลยบ้านสะพานยายนม  ก็ถึงบ้านโพธิ์  แล้วย้อนสำนึกไปลึกซึ้งถึงอดีตที่เคยมาพักพาอาศัยอยู่ที่นี่

          ย้อนกลับไปสู่อดีตในวัยหนุ่ม  เมื่อกลับจากไปหาหลวงพ่อพระครูอารัญธรรมรังสี  ที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง แขวงระยอง  แล้วแวะหามารดาในวังหลัง  ทราบว่าหม่อมบุนนากในกรมพระราชวังหลังได้ออกจากวังกลับไปอยู่บ้านเดิมที่เพชรบุรีแล้ว  แมลงภู่หนุ่มก็คิดจะไปหาญาติพี่น้องทางฝ่ายมารดาที่เพชรบุรี  โดยจะอาศัยหม่อมบุนนากเป็นหลัก (นัยว่าหม่อนบุนนากเป็นญาติสนิทกับมารดาท่าน  การที่มารดาท่านมาเป็นแม่นมอยู่ในวังหลัง  ก็เพราะหม่อมบุนนากพามาสนับสนุนให้เป็นแม่นม)  จึงออกจากวังหลัง  ทิ้งบางกอกมาปักหลักอยู่ที่บ้านโพธิ์  อาศัยท่านขุนรองน้องท่านแพ่ง  อยู่ในทับ (กระท่อม) นา  ซึ่งต่อมาขุนรองแปลงทับนาเป็นเรือนหอ  จนความทราบถึงเจ้าเมือง  ก็ถูกโกรธจนถึงตัดรอน  สุนทรภู่ก็จำต้องจากจร  เหตุเพราะนางนวลคือหญิงคนหนึ่งที่ขุนรองพึงพอใจ  สุนทรภู่จึงไม่อยู่เป็นก้างขวางคอ  ท่านรำพึงถึงอดีตมากมายที่สร้างไว้ ณ บ้านโพธิ์ก่อนจะกลับบางกอก  เมื่อเดือนสี่ปีระกาโน้น

“ ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาก
เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล
มาทำไร่ทำนาท่านการุญ

เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาจะหาคู่
จะขอสู่ให้เป็นเนื้อช่วยเกื้อหนุน
ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ
ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวคน

ทั้งนารีที่ได้รักลักรำลึก
เป็นแต่นึกลับหลังหลายครั้งหน
ขอษมาอย่าได้มีราคีปน
เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป

แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต
แนบสนิทน้บเชื้อว่าเนื้อไข
จะแวะหาสารพัดยังขัดใน
ต้องอายใจจำลากลัวช้าการฯ”

          แล้วก็ถึงบ้านหม่อมบุนนาก  บุคคลสำคัญในชีวิตของท่านอีกคนหนึ่ง  สมัยที่ท่านมาอยู่กับขุนรองบ้านโพธิ์  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหม่อมบุนนากนักนั้น  หม่อมบุนนากก็ได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงแมลงภู่หนุ่มด้วย  และเมื่อจากทับขุนรองแล้วก็ได้มาอยู่กับหม่อมบุนนาก  โดยได้ช่วยหม่อมทำไร่ทำนา  หม่อมก็เมตตาจะหาคู่ให้  จัดการแต่งงานให้ร่วมอยู่กินกันอย่างเป็นฝั่งเป็นฝา  แต่ท่านยังรักและรำลึกถึงแม่จันคนรักแรกแห่งวังหลังอยู่  จึงไม่คิดจะอยู่กินกับสาวเมืองเพชรคนใด  และที่สุดแล้ว  หม่อมบุนนากก็ได้เป็นคนเจรจาให้เจ้าครอกทองอยู่ในพระราชวังหลังยินยอมยกนางจันให้แก่สุนทรภู่  แล้วแมลงภู่หนุ่มก็ได้กลับมาเชยชมแม่จัน ณ วังหลังสมใจในที่สุด

          วันที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  อาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณมาทำธุระสำคัญที่เมืองเพชรคราวนี้  เมื่อผ่านถึงบ้านหม่อมบุนนาก  ท่านก็ได้ย้อนรำลึกถึงอดีตอันยาวนานที่ผ่านมาเกือบ ๒๐ ปีของท่าน  โดยคิดถึงใครต่อใครอีกหลายคนที่เคยรู้จักมักคุ้น  โดยเฉพาะน้องหญิงที่ชื่อปรางทอง  คิดจะแวะหาแต่ก็ไม่กล้า  ยังตะขิดตะขวงใจอะไรอยู่  จึงผ่านเลยไป.......

          * วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนก็แล้วกันนะ พรุ่งนี้ค่อยติดตามกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, ธันวาคม, 2562, 10:40:07 PM
(https://i.ibb.co/ysGzfyY/S-121-of-127-700x466.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุเสาวรีย์สุนทรภู่ริมท่าน้ำวัดพลับพลาชัย : เพชรบุรี
Cr. Photo By banbantour.com

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๔ -

“ถึงอารามนามที่กุฎีทอง
ดูเรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ริมอารามข้ามน้ำทำตะพาน
นมัสการเดินมาในวารี

ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย
ตะวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี
ค่อยคล่องแคล่วแจวรีบถึงพริบพรี
ประทับที่หน้าท่าพลับพลาชัย

ด้วยวัดนี้ที่สำหรับประทับร้อน
นรินทรท้าวพระยามาอาศัย
ขอเดชะอานุภาพช่วยปราบภัย
ให้มีชัยเหมือนเช่นนามอารามเมือง....”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีตามความในนิราศเมืองเพชร  เข้าไปถึงชานเมืองเพชรบุรี  เลยบ้านขุนรอง  บ้านหม่อมบุนนากมาแล้ว  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/JC1wBLX/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/h9WyZHq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบันไดทอง : เพชรบุรี  / คุ้งคดอ้อยวัดบันไดทอง : เพชรบุรี (Cr. Photo By คนบ้านใหม่)

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านบอกเล่าถึงการเดินทางผ่านวัดกุฎีทองที่แลเห็นโบสถ์วิหารเรืองรอง  วัดนี้ปัจจุบันนี้เรียกชื่อว่าวัดบันไดทอง  อยู่ในกลุ่มวัดกุฎีดาว  วัดกำแพงแลง  ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒ กม.  แม่น้ำตรงเลยวัดคดโค้งเป็นวังน้ำวนซึ่งสุนทรภู่กล่าวว่าชื่อ  “คดอ้อย”

(https://i.ibb.co/znXc0kZ/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/3F68PFh/006.jpg) (https://imgbb.com/)
ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย (Cr. Photo By คนบ้านใหม่)  /  พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย Cr. Photo By ploenmuangpetch.com

ครั้นพ้นจากคดอ้อยแล้วก็แจวเรือได้คล่องขึ้น  เป็นเวลาเย็นแล้ว  แจวแรง ๆ  ก็ถึงเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) ในเวลาย่ำค่ำพอดี  จึงให้จอดเรือพักอยู่ที่หน้าวัดพลับพลาชัย  วัดนี้ปัจจุบันยังชื่อวัดพลับพลาชัย  เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องศาสนาและวัฒนธรรมสำคัญของเพชรบุรี  มีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ให้ศึกษากันด้วย.......

“ดูเรือแพแซ่ซ้องทั้งสองฟาก
บ้างขายหมากขายพลูหนวกหูเหือง
นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง
ดูนองเนืองนาวาบ้างมาไป

ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง
มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย
ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย
ไม่มีใครครอบครองจึ่งหมองมัว

แสนสงสารท่านหญิงมิ่งเมียหลวง
เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว
พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม....”


(https://i.ibb.co/QcrmjyP/laowar33cover.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  จอดเรือพักค้างแรมคืนอยู่หน้าวัดพลับหลาชัย  ตื่นเช้าขึ้นก็เห็นเรือแพถ่อพายอยู่แซ่ซ้อง  ขายหมากพลูข้าวของนานา  ดูเนืองนองเต็มลำน้ำ  เมื่อเสร็จกิจของตนแล้วท่านก็ออกเรือจากวัดพลับพลาไปเรือนขุนแพ่งเพื่อเยี่ยมเยือน  ไปเห็นก็แปลกตา  เพราะบ้านเรือนมีสภาพไม่เหมือนที่ท่านเคยมาอาศัยเมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน  และที่ร้ายไปกว่านั้น  วันที่ท่านไปถึงนั้นปรากฏว่า  เมียหลวง เมียน้อย และญาติพี่น้องในบ้านขุนแพ่งอยู่ในอาการไว้ทุกข์  เนื่องด้วยขุนแพ่งได้เสียชีวิตลงในศึกลาวปีนั้น  คือศึกเจ้าอนุเวียงจันทน์ (ปี พ.ศ. ๒๓๖๙)  นัยว่าขุนแพ่งไปรบแล้วเสียทีแก่ข้าศึกจนถึงแก่กรรมลง......

“ เมื่อมาเรือนเยือนศพไม่พบพักตร
ไม่ผอมนักเดี๋ยวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม
เหมือนแก่หง่อมหงิมเงียบเชียบสำเนียง

โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้
ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง
เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ

โอ้คิดคุณขุนแพ่งเสียแรงรัก
ไม่พบพักตรพลอยพาน้ำตาไหล
ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป
ให้ท่านได้สู้สวรรค์ชั้นวิมาน

แล้วอำลาอาลัยใจจะขาด
จำนิราศแรมร้างห่างสถาน
ลงเรือจอดทอดท่าหน้าตะพาน
แสนสงสารศิษย์หาออกมาอึง

เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก
ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
ด้วยเคยเห็นเป็นฝีมือมักดื้อดึง
จะตูมตึงแตกช้ำระยำเยิน

ทั้งที่ปรางค์นางใหญ่ได้ให้ผ้า
เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ
ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ
ยังเชื้อเชิญชวนชักรักอารมณ์ฯ”

          ช่วงตอนนี้เป็นเรื่องเศร้าและผิดหวังอย่างแรงสำหรับสุนทรภู่  ตั้งใจมาเยี่ยมเพื่อนเก่า  แต่กลับมาพบแต่ศพเพื่อน  จึงได้สวดและบังสุกุลศพเพื่อนอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ตามยถากรรม  ศึกลาวคราวนั้น  เกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต ปี พ.ศ. ๒๓๖๗  เจ้าอนุเวียงจันทน์เข้ามาเคารพระศพ  แล้วบังอาจทูลขอคนจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อไม่ได้ตามต้องการ  กลับไปเวียงจันทน์แล้วก็เตรียมการยกกองทัพมุ่งมาตีกรุงเทพฯ  เข้ายึดเมืองนครราชสีมาได้  ในปีนั้นคือ พ.ศ. ๒๓๖๙  ขุนแพ่งไปรบเจ้าอนุวงศ์แล้วเสียชีวิตในที่สุด

(https://i.ibb.co/7VTmvPX/8645415706.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตอนเดินออกจากเรือนขุนแพ่งตามสะพานจะลงเรือที่จอดอยู่หัวสะพานท่าน้ำ  ปรากฏว่ามีลูกศิษย์ของท่านจำนวนมากมารอรับส่ง  ศิษย์เหล่านี้ท่านเคยสอนหนังสือสมัยที่มาพักอยู่กับขุนรอง  ขุนแพ่ง  และหม่อมบุนนาก  มีชาวบ้านนำลูกหลานมาฝากเป็นศิษย์ให้เสมียนภู่ช่วยสอนหนังสือให้  ในบรรดาศิษย์นั้นมีหญิงคนหนึ่งชื่อ  ทองมี  น่าจะมีอะไรมากไปกว่าความเป็นศิษย์กับอาจารย์  ท่านว่าเมื่อเห็นหน้าน้องทองมีแล้วอยากจะทัก  แต่ไม่กล้า  เพราะกลัวผัวของทองมีจะหึง  เพราะเคยเห็นฤทธิ์ความดื้อดึง  ตูมตาม  ของเจ้าคนนี้มาแล้ว......

          ** พักการแกะรอยตามสุนทรภู่ไว้แค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้มาแกะรอยตามกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
วันพุธที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ / ๐๕.๒๗ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, ธันวาคม, 2562, 10:29:58 PM
(https://i.ibb.co/94HddS0/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเกาะ (วัดเกาะแก้วสุทธาราม) ต. ท่าราบ อ. เมือง จ. เพชรบุรี
Cr. Photo By ploenmuangpetch.com

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๕ -

“แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่
ยังรักใคร่ครองจิตสนิทสนม
ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม
เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์

จะกลับหลังยังมิได้ดั่งใจชั่ว
ต้องไปทั่วบ้านเรือนเพื่อนรู้จัก
เมื่อเป็นบ้ามาคนเดียวเที่ยวสำนัก
เขารับรักรู้คุณกรุณา

ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น
เว้นแต่อินโปรดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา
พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย

โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ
เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย
ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้น.......”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามทางสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร  ถึงบ้านขุนแพ่ง  เพื่อนเก่าที่เคยมาพึ่งพาอาศัยสมัยที่ยังหนุ่ม  ต้องพบกับความเศร้าและผิดหวังเมื่อทราบว่า  ขุนแพ่งเสียชีวิตในการไปรบลาวเวียงจันทน์  จึงเดินทางต่อไปบ้านท่านแพ่งคนใหม่ที่มารับตำแหน่งใหม่....

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน  สุนทรภู่จากบ้านขุนแพ่งผู้ล่วงลับแล้วไปหาท่านแพ่งคนใหม่  ซึ่งก็เป็นคนคุ้นเคยกันมาก่อนเหมือนกัน  นำเรื่องที่อาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณมาเข้าเจรจากับท่านแพ่ง  ผลการเจรจาสำเร็จเสร็จสมความความปรารถนา

(https://i.ibb.co/MkfLsBG/14915423-1330568096994021.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเสร็จธุระแล้ว  หะแรกคิดจะกลับบางกอกทันทีด้วยความดีใจที่ทำธุระสำเร็จ  แต่แล้วก็กลับฉุกคิดว่าหาควรรีบกลับไม่  เพราะยังไม่ได้เยี่ยมเยือนคนรู้จักมักคุ้นอีกหลายคน  ไหน ๆ ก็เดินทางมาด้วยความลำบากยากเข็ญแล้ว  ก็ควรแวะเยี่ยมญาติพี่น้องทางฝ่ายมารดาและบรรดาศิษย์เก่าเสียหน่อยเถิด  คิดดังนั้นแล้ว  จึงไปเยี่ยมยามถามสารทุกข์สุกดิบของผู้ที่เคยรู้จักกันมาก่อน  ทุกคนล้วนยินดีต้อนรับปราศรัยด้วยไมตรีอันดียิ่ง  เว้นเพียงคนผู้เดียว  คือ  น้องอิน คนโปรดในอดีต (อินโปรดเกศของเชษฐา)  เธอเห็นแล้วก็เมินไม่ยอมมองเหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน  แสดงว่าผู้หญิงชื่ออินคนนี้  น่าจะมีความหลังล้ำลึกอะไรอยู่กับหนุ่มแมลงภู่ที่เคยมาอยู่เมืองเพชรคราวก่อนโน้น  เห็นทีว่าแมลงภู่หนุ่มเชยชมกลิ่นเกสรบุปผางามดอกนี้แล้วบินจรจากไป  ครั้นเป็นแมลงภู่เฒ่าบินหวนกลับมาครานี้  เธอจึงมิได้สนใจใยดี  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  “รักตายกลายตอเป็นกอเตย”  ไปเสียแล้ว

“ โอ้คิดถึงพึ่งบุญท่านขุนแพ่ง
ไปหน้าแล้งรับแขกแรกวสันต์
ตำข้าวเม่าเคล้าน้ำตาลทั้งหวานมัน
ได้ช่วยกันคั้นขยำน้ำกะทิ

เขาไปเที่ยวเกี่ยวข้าวอยู่เฝ้าห้อง
เหมือนพี่น้องนึกโอ้อโหสิ
เนื้อเอ๋ยเนื้อเหลือเจ็บจนเล็บลิ
ยังปริบปริปริ่มพร้อยเป็นรอยราย.....”

(https://i.ibb.co/xF11FBs/w644.jpg) (https://imgbb.com/)

          อ้อ ...เป็นอย่างนี้นี่เอง  วันนั้นเมื่อปีโน้น  ไปเยี่ยมบ้านขุนแพ่ง  มีการตำข้าวเม่ากัน  แมลงภู่หนุ่มก็ไปกุลีกุจอช่วยคั้นกะทิ  นัยว่า  สาวอินเป็นคนขูดมะพร้าว  ยามนั้นทุกคนพากันไปเกี่ยวข้าวในนาจะเอามาคั่วตำข้าวเม่า  หนุ่มแมลงภู่กับสาวอินอยู่บ้าน  หนึ่งขูดมะพร้าวหนึ่งคั้นน้ำกะทิ  แล้วก็มีการหยอกเอินกันตามประสาหนุ่มสาว  สาวอินหยิกข่วนแมลงภู่หนุ่มอย่างแรงจนเล็บหัก  ผิวหนังแมลงภู่หนุ่มที่แขนเป็นรอยลายพร้อยด้วยรอยเล็บ  ทำอะไรกับน้องนางอินคนโปรดเข้าไว้ในอดีตอย่างนี้  รอยเล็บนางยังไม่จางหาย  และรอยแค้นใจนางน้องอินจึงยังมิคลายเช่นกัน

“ครั้นไปเยือนเรือนหลานบ้านวัดเกาะ
ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย
ต้องใช้สีทับทิมจึงยิ้มพราย
วิลาสลายลอยทองสนองคุณ

แล้วไปบ้านตาลเรียงเคียงบ้านไร่
ที่นับในน้องเนื้อช่วยเกื้อหนุน
พอวันนัดซัดน้ำเขาทำบุญ
เห็นคนวุ่นหยุดยั้งยืนรั้งรอ

เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว
ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
เหมือนจุดไต้ว่ายน้ำมาตำตอ
เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ

จะแทนคุณบุญมาประสายาก
ต้องกระดากดังหนึ่งครกกระดอนกลับ
ได้ฝากแต่แพรผ้ากับป้าทรัพย์
ไว้สำรับหนึ่งนั้นทำขวัญน้อง

ไปปีหนึ่งครึ่งปีเมื่อมีลูก
จะมาผูกมือบ้างอย่างหมางหมอง
แล้วมาเรือเหลือรำลึกเฝ้าตรึกตรอง
เที่ยวฉลองคุณท่านทุกบ้านเรือนฯ”

(https://i.ibb.co/kBhKpct/3744297e5cb4102cedb3dd2ca561e229-1522918575.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากบ้านน้องอินคนโปรด  แล้วก็เลยไปบ้านหลานสาวที่วัดเกาะ  แล้วเลยไปบ้านตาลเรียงไม่ไกลจากวัดเกาะนัก  ตั้งใจเอาผ้าแพรไปมอบให้  ก็พอดีวันนี้เป็นวันงานมงคลสมรสของน้องอีกหนึ่งนาง  อุตส่าห์เดินจากเรือขึ้นไปจนถึงบ้าน  พอรู้ว่าเขากำลังทำพิธี  “ซัดน้ำ”  คือหลั่งน้ำสังข์อวยพรให้คู่บ่าวสาว  ก็ไม่กล้าเข้าไป  ต้องหักใจจากลา  ก่อนจากก็เอาผ้าแพรที่นำมาให้นั้น  มอบไว้กับ  “ป้าทรัพย์”  ให้มอบแทนหลังจากเสร็จพิธีแล้ว  พร้อมฝากบอกว่าอีกสักปีหรือปีครึ่ง  เมื่อมีลูกแล้วจะมาผูกข้อมือบ้าง  ขออย่าได้ระคางหมางหมองเลย  จากนั้นก็เดินกลับมาลงไปเที่ยวฉลองคุณท่านทุกบ้านเรือน........

          ** วันนี้แกะรอยท่านสุนทรภู่มาแค่บ้านตาลเรียง  ย่านวัดเกาะกลางเมืองเพชรก่อนนะครับ  พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปก็แล้วกัน.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, ธันวาคม, 2562, 10:24:49 PM
(https://i.ibb.co/c6rw9fj/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) :ต. คลองกระแชง อ. เมือง จ. เพชรบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๖ -

แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง
เฝ้าท้องท้องทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน
จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ

จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง
เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิสัย
พอวันพระศรัทธาพากันไป
เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง

สาธุสะพระนอนสิงขรเขา
พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง
ยี่สิบวาฝากั้นเป็นบัลลังก์
ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย

พระเนตรหลับทับพระบาทไสยาสน์เหยียด
อ่อนละเอียดอาสนะพระเขนย
พระเจ้างามยามประทมน่าชมเชย
ช่วยรำเพยพัชนีนั่งวีลม.........”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่เตินทางไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร  ท่านไปย่านวัดเกาะแก้วสุทธาราม  เยี่ยมเยือนหลานสาวอีกคนหนึ่ง  เอาผ้าแพรไปมอบให้  แล้วเลยไปบ้านตาลเรียง  ด้วยตั้งใจเอาผ้าแพรไปมอบให้อีกเช่นกัน  พอไปถึงก็เห็นผู้คนเต็มไปหมด  ทราบว่าเขากำลังทำพิธีรดน้ำสังข์อวยพรให้คู่บ่าวสาว  และเจ้าสาวก็คือน้องคนที่จะเอาผ้าแพรไปให้นั่นเอง  จึงถึงกับยืนเซ่ออยู่เป็นนาน  ไม่กล้าเข้าไปในบ้าน  พอดีป้าทรัพย์คนรู้จักกันอีกคนหนึ่งโผล่ออกมาจากบ้านงาน  เห็นเข้าก็ทักทาย  ท่านจึงมอบผ้าสำรับหนึ่งให้ป้าทรัพย์นำไปมอบให้แทน  แล้วเดินกลับมาลงเรือ........

(https://i.ibb.co/TP6LDDk/1407332368-image-o.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธไสยาสน์(วัดพระพุทธไสยาสน์: เพชรบุรี)

          กลอนข้างบนนี้  เป็นตอนต่อจากเมื่อวันวาน  เดินจากบ้านตาลเรียงที่เขากำลังมีงานมงคลสมรส  แล้วลงเรือแจวต่อไปวัดพระนอน  ท่านเล่าว่าไปไหว้พระนอน (พุทธไสยาสน์) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก  ท่านไปนั่งถือพัดโบกวีพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ด้วย  ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้อยู่วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน)  ถนนคีรีรัถยา  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เขาวัง  ในตำบลกระแชง  สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทย

“ แล้วนึกว่าหน้าหนาวมาคราวนี้
ถึงแท่นที่พระสถิตสนิทสนม
ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม
ได้คลี่ห่มหุ้มอุระพระประธาน

อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง
ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน
มาห่มพระจะให้ผลดลบันดาล
ได้พบพานภายหน้าสถาพร

ทั้งรูปงามทรามประโลมโฉมแฉล้ม
ขอให้แก้มสองข้างอย่างเกสร
ทั้งเนื้อหอมพร้อมสิ้นกลิ่นขจร
คนแสนงอนให้มาง้อมาขอชิม

อนึ่งผ้าข้าได้ห่มประทมพระ
ขอทิฏฐะจงเห็นเป็นปัจฉิม
ให้มีใหม่ได้ดีสีทับทิม
ทั้งขลิบริมหอมฟุ้งปรุงสุคนธ์

ทั้งศิษย์หาผ้ามีต่างคลี่ห่ม
คลุมประทมพิษฐานการกุศล
ทั้งเนื้อหอมพร้อมกันเหมือนจันทน์ปน
ได้เยาะคนขอจูบรักรูปเรา......”

(https://i.ibb.co/F8SWHFf/15.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นท่านก็คิดขึ้นได้ว่า  มาคราวนี้เป็นหน้าหนาว  จึงควรหาผ้ามาห่มองค์พระพุทธไสยาสน์  และก็นึกได้ว่ายังมีผ้าแพรหอมที่ตั้งใจเอามาฝากน้องสาวหลายคน  แต่ไม่ได้มอบให้  เพราะว่าน้องสาวนั้น ๆ ไม่สนใจใยดี  อย่างเช่นน้องอินคนโปรดเป็นต้น  จึงตกลงใจนำผ้าแพรเหล่านั้นมาคลี่ห่มตรงอกพระนอน  แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า  ขออานิสงส์ของการถวายผ้าห่มแพรหอมนี้  เป็นพลวปัจจัยในภายหน้า  ขอให้ตนได้เป็นคนรูปงาม  สองแก้มหอมปานเกสรดอกไม้  เนื้อกายหอมขจรไกล  ให้คนที่แสนงอนมาง้อขอชิมกลิ่นหอม  ผ้าใหม่ขอให้ได้สีทับทิมขลิบริมอบกลิ่นสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงใจ  ครั้นท่านอธิษฐานดังนี้แล้ว  บรรดาศิษย์ที่ติดตามไปได้ยินเข้าก็เกิดศรัทธา  คนที่มีผ้าห่มก็เอามาห่มองค์พระนอนแล้วอธิษฐานว่า  ขอให้ตนมีเนื้อหอมเหมือนกลิ่นกระแจะจันทน์  เพื่อจะได้เยาะคนขอจูบรักรูปเรา.....

“ แล้วลดเลี้ยวเที่ยวไปบันไดอิฐ
ต่างเพลินพิศเพิงผารุกขาเขา
จิกจันทน์แจงแทงทวยกรวยกันเกรา
โมกแมงเม่าไม้งอกซอกศิลา

เหล่าลั่นทมยมโดยร่วงโรยกลิ่น
ระรวยรินรื่นรื่นชื่นนาสา
โบสถ์วิหารลานวัดทัศนา
ล้วนศิลาแลสะอาดด้วยกวาดเตียน

มีกุฏิพระสงฆ์ที่ทรงสถิต
พฤกษาชิดชั้นไผ่เหมือนไม้เขียน
น่าสนุกรุกขชาติดาษเดียร
เที่ยวเดินเวียนวงรอบขอบคีรี

พอแดดร่มลมชายสบายจิต
เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี
เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล

ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์
มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะองยาวก้าวตีนปีนทะยาน
กระบอกตาลแขวนกันคนละพวง

แต่ใจดีที่ว่าใครเข้าไปขอ
ให้กินพออิ่มอุทรบห่อนหวง
ได้ชื่นฉ่ำน้ำตาลหวานหวานทรวง
ขึ้นเขาหลวงเลียบเดินเนินบันได

ดูเย็นชื่นรื่นรมย์พนมมาศ
รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย
ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง

ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง
เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง
ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ”

(https://i.ibb.co/SVm27BJ/www-thaidode-com.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/R7b3TGj/201805152d1c74517bc4f339990654744f186dee161951.jpg) (https://imgbb.com/)
บันไดอิฐเขาวัง  /  เขาวัง หรือ พระนครคีรี

          ออกจากวัดพระนอนแล้วเลี้ยวเที่ยวไปทางบันไดอิฐ  เดินชมแมกไม้นานาพรรณ  หินผาคณานกไปอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ  กลอนชมไม้ของท่านตอนนี้ไพเราะมาก  

(https://i.ibb.co/TBGpqhf/1278382201.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/XxKxDM7/103409.jpg) (https://imgbb.com/)

          หลังจากเดินเวียนรอบเขาวังแล้ว  พอแดดร่มลมตกก็ออกกลางทุ่ง  ชมทุ่งนาป่าตาล  ชื่นชมว่าคนทำตาลโตนดล้วนแต่มีน้ำใจดีงาม  มีมีดปาดตาลขัดเอว  แบกพะองยาวไปพาดต้นโตนด  ปีนขึ้นไปใช้มีดปาดงวงโตนดแล้วใช้กระบอกรองน้ำหวานจากงวงโตนด  เอาลงมาทำน้ำตาลโตนด  เมื่อมีใครไปขอดื่มน้ำตาลเขาก็ยินดีให้ดื่มกินจนอิ่ม  ไม่หวงเลย

(https://i.ibb.co/bvkLYq7/IMG-7939.jpg) (https://imgbb.com/)
บันได้ขึ้นเขาหลวงเพชรบุรี (Cr. Photo By นางสาวอนัญญา  อิสโร)

          จากนั้นท่านก็ไปขึ้นเขาหลวง  เดินไปตามเนินบันไดที่สองข้างทางเดินเต็มไปด้วยดอกไม้นานามากมาย  มีหมู่ภุมรินบินว่อนเชยชมกลิ่นและดูดรสเกสรดอกไม้  และที่สำคัญก็คือมีผึ้งหลวงฝูงใหญ่บินมาเสียงหึ่ง ๆ  เหมือนเสียงฆ้องมุย  เข้าเกาะกุมดอกไม้แล้วดูดรสหวานจากเกสรกลับไปสู่รวงรัง........

          ** วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาแค่เขาหลวงก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปใหม่ครับ

เต็ม อภินันท์
อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
วันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘/ ๕.๓๐ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, ธันวาคม, 2562, 10:06:34 PM
(https://i.ibb.co/rHBfH9m/5.jpg) (https://imgbb.com/)
ถ้ำเขาหลวง : ต. ธงชัย อ. เมืองเพชรบุรี จ. เพชรบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๗ -

“ โอ้อกน้องท่องเที่ยวมาเปลี่ยวจิต
ไม่มีมิตรที่จะชมสมประสงค์
กับหนูน้อยพลอยเพลินเที่ยวเดินวง
ขึ้นถึงองค์พระเจดีย์บนคีริน

ต่างเหนื่อยหอบนอบน้อมอยู่พร้อมพรั่ง
บ้างหยุดนั่งเอนนอนกับก้อนหิน
เห็นประเทศเขตแคว้นในแดนดิน
มีบ้านถิ่นทิวไม้ไรไรราย

คีรีรอบขอบเขื่อนดูเหมือนเมฆ
แลวิเวกหวาดหวั่นยิ่งขวัญหาย
เห็นทะเลเคหาหน้าหาดทราย
ดูเรียงรายเรี่ยเรี่ยเตี้ยติดดิน

ได้ชมเพลินเมินมุ่งดูทุ่งกว้าง
มีแถวทางเถื่อนท่าชลาสินธุ์
ฝูงวิหคนกกาเที่ยวหากิน
บ้างโบยบินว้าว่อนบ้างร่อนเรียง

ที่ไร้คู่อยู่เดียวก็เที่ยวร้อง
ประสานซ้องสกุณาภาษาเสียง
กินปลีเปล้าเขาไฟจับไม้เรียง
กรอดเคียงคู่กรอดแล้วพลอดเพลิน

รอกกระแตแลโลดกระโดดเล่น
กระต่ายเต้นตามลำเนาภูเขาเขิน
ที่ทุ่งกว้างกลางหนเห็นคนเดิน
หาบน้ำตาลคานเยิ่นหยอกเอินกัน......”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..............

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร  ท่านไปไหว้พระนอนซึ่งเป็นพระไสยาสน์องค์ใหญ่  อายุเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรึอยุธยา  แล้วเดินดูรอบ ๆ เขาวัง  จากเขาวังออกท้องทุ่งผ่านดงโตนดที่เขาทำน้ำตาลแล้วไปขึ้นเขาหลวง  ชมนกชมไม้นานา.... วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/YN5vym5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ทิวทัศน์เมืองเพชรจากยอดเขาหลวง

          กลอนข้างบนนี้  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  กำลังเพลิดเพลินเดินชมนกชมไม้บนเขาหลวง  ชื่นชมความงามธรรมชาติบนภูลูกนี้  ท่านว่าเดินกันจนถึงยอดที่ตั้งพระเจดีย์ด้วยความเหนื่อยอ่อน  และไม่นานก็หายเหนื่อย  แลดูรอบ ๆ ยอดภูหลวง  มีหมู่เมฆลอยล้อมยอดคีรี  ประหนึ่งขึ้นไปอยู่บนวิมานเมฆ  มองลงเบื้องล่างแลเห็นทุ่งนาป่าตาลโตนด  เลยไปเป็นหาดทรายชายทะเลหลวง  เห็นนกโผบินว่อนร่อนไปมาหาเหยื่อ  บางตัวที่ไม่มีคู่บินเดี่ยวมาเดียวดาย  ก็ส่งเสียงกู้ร้องหาคู่อยู่แซ่ซ้อง  ที่ทุ่งกว้างเบื้องล่างนั้นเห็นคนเดินเป็นหมู่  บ้างก็หาบกระบอกน้ำตาลหนักจนคานอ่อนลู่  บ้างก็พูดล้อหยอกเอินกันเป็นที่สนุกสนานตามประสาชาวบ้าน......

“ ทั้งล้อเกวียนเดียรดาษดูกลาดเกลื่อน
ทุกถิ่นเถื่อนทุ่งแถวแพ้วจังหัน
โสมนัสทัศนาจนสายัณห์
แล้วพากันเข้าในถ้ำน่าสำราญ

มีพระใหญ่ไสยาสน์พระบาทเหยียด
คนมันเบียดเบียนขุดสุดสงสาร
พระทรวงพังทั้งพระเพลาก็ร้าวราน
โอ้ชาวบ้านช่างไม่สร้างขึ้นบ้างเลย

ทั้งผนังพังทับอยู่กับถ้ำ
โอ้นึกน้ำตาตกเจียวอกเอ๋ย
ดูว้างเวิ้งเชิงพนมน่าชมเชย
ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา

เป็นลดหลั่นชั้นช่องมีห้องหับ
แลสลับเลื่อมคล้ายลายเลขา
กลางคีรินหินย้อยห้องระย้า
ดาษดาดูดูดังพู่พวง

ฉะเช่นนี้มีฤทธิ์จะคิดช้อน
เอาสิงขรเข้าไปตั้งริมวังหลวง
เห็นหนุ่มสาวชาวบุรินสิ้นทั้งปวง
จะแหนหวงห้องหับถึงจับกุม

เขาตั้งอ่างกลางถ้ำมีน้ำย้อย
ดูผอยผอยเผาะลงที่ตรงหลุม
เป็นไคลคล้ำน้ำแท่งกลับแข็งคลุม
เป็นหินหุ้มอ่างอิฐสนิทดี

แล้วเดินดูภูผาศิลาเลื่อม
บ้างงอกเงื้อมงามระยับสลับสี
เป็นห้องน้อยรอยหนังสือลายมือดี
คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน......”

(https://i.ibb.co/MpG0vGd/2.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ : ถ้ำเขาหลวง เพชรบุรี

          มองลงมาจากยอดเขาหลวง  เห็นล้อเกวียนเคลื่อนไหวไปมาเต็มท้องทุ่งจังหัน (นาข้าว)  อยู่บนยอดเขาหลวงจนเพลาเย็น  จึงเดินลงมาเข้าชมถ้ำที่มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่ในนั้น  เห็นสภาพในถ้ำแล้วก็สลดใจ  องค์พระถูกคนใจบาปเจาะทุบทำลายตรงทรงอกและข้อเข่าจนเสียหายมาก  

(https://i.ibb.co/4RpvGGp/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ถ้ำเขาหลวง : เพชรบุรี

          ชะรอยว่าคนบาปคงจะขุดเจาะหาของที่ต้องประสงค์  ผนังพังทับยับเยินอยู่กับถ้ำ  ภายในถ้ำพระนอนนั้น  เป็นโถงใหญ่  มีหินงอกหินย้อยลดหลั่นเป็นชั้นช่องแลสลับเลื่อมลายงดงามมาก  ท่านคิดว่าหากมีฤทธิ์เดชมากพอแล้วจะช้อนยกภูเขาลูกนี้ไปตั้งไว้ริมกรุงเทพมหานคร  ให้ชาวเมืองได้ชื่นชมกันบ้าง  ถ้ายกเขาลูกนี้ไปไว้ริมเมืองหลวงได้จริง  เห็นทีว่าหนุ่มสาวชาวกรุงคงจะแย่งกันจับจองห้องหับในถ้ำอันสวยงามนี้เป็นแน่  ท่านคิดพลางเดินชมถ้ำเรื่อยไปจนถึงห้องน้อยที่มีรอยหนังสือลายมือสวยดี  แล้วหวนรำลึกถึงอดีตที่ท่านบอกว่า   “เมื่อเป็นบ้าเคยมานอน”

          อ้าว ! ถ้ำนี้มีความหลังของสุนทรภู่ฝังอยู่ มันยังไงกันแน่หนอ ?

          ** วันนี้แกะรอยตามดูท่านมาถึงตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาดูกันต่อว่า  ถ้ำพระนอนบนเขาหลวงเมืองเพชรนี้  สุนทรภู่ท่านมีอดีตชีวิตอะไรของท่านฝังไว้บ้าง  พบกันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณอาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, ธันวาคม, 2562, 10:32:42 PM
(https://i.ibb.co/3NGxLMs/1105.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๘ -

ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลาน่าอาวรณ์
เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี

พอจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง
เรไรซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี
คิดคะนึงถึงตัวกลัวต้องตี
แต่ช้าปีจึงค่อยวายฟายน้ำตา

โอ้ยามยากจากบุรินมาถิ่นเถื่อน
ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างใต้เมื่อไสยา
แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น

ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทน์กระแจะ
เหมือนจะแนะนำจิตให้คิดเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น
โอ้จำเป็นเป็นกรรมจำจึงไกล

มาเห็นถ้ำน้ำตาลงพร่าพราก
แต่เพื่อนยากยังไม่เห็นว่าเป็นไฉน
จะไปเรือนเยือนเยี่ยมก็เจียมใจ
ขอสั่งไว้เถิดถ้ำที่ช้ำทรวง

อันถ้ำนี้ที่มนุษย์หยุดกินน้ำ
มิใช่ถ้ำของอิเหนาถ้ำเขาหลวง
เขาช่วยเล่าเถิดว่าเขาไม่ล่อลวง
แต่เขาหวงเขาห้ามจึงขามใจ

จึงเขียนกลอนนอนค้างไว้ต่างพักตร
หวังประจักษ์มิ่งมิตรพิสมัย
จงภิญโญโมทนาให้อาภัย
อย่าน้อยใจเลยถ้ำขออำลา

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร  ท่านเที่ยวชมเขาวัง  เขาหลวง  ด้วยการเดินเท้าอย่างทรหดอดทน  ขึ้นไปถึงพระเจดีย์บนยอดเขาหลวงแล้ว  ลงมาเข้าถ้ำพระนอน  ครั้นเข้าไปในถ้ำถึงห้องหินห้องหนึ่ง  ก็หวนรำลึกถึงอดีตที่ท่านเคยเข้ามานอนพักหลบภัยอยู่ในถ้ำ  จนมีอดีตฝังไว้ในถ้ำแห่งนี้  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/T24n3xm/1473321020-140668-01-02-2-450x300.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวานนี้  ท่านภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  รำลึกถึงความหลังว่า  เคยมาอาศัยหลับนอนโดยมีหญิงชื่อ  จัน  มาอยู่เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก  นอนเรียงเคียงกันบนฟื้นหินกระด้างเย็น  ท่านกล่าวกลอนกล่อมเป็นทำนองช้าชาตรี  จนแขนซ้ายที่ใช้แทนหมอนให้น้องจันหนุนนั้นชาดิกเลย  หญิงชื่อจัน  ในกลอนนี้เดิมเข้าใจกันว่า  คือ  แม่จันนางในวังหลัง  คนรักแรกของสุนทรภู่  ซึ่งเชื่อกันว่าหลังจากที่ท่านไปหาหลวงพ่อที่เมืองแกลงกลับมาแล้วเลยไปเมืองเพชร  ร่อนเร่อยู่กับท่านรอง  ขุนแพ่ง  อาศัยบารมีหม่อมบุนนากอยู่ระยะหนึ่ง  หม่อมบุนนากเจรจาให้เจ้าครอกทองอยู่ยินยอมยกแม่จันให้เป็นคู่ผัวตัวเมียกับหนุ่มแมลงภู่  แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดเรื่องในราชสำนัก  มีการทอดบัตรสนเท่ห์ขึ้น  เสมียนภู่แห่งวังหลังต้องสงสัยด้วย  เมื่อมีคนมีกระซิบบอกว่าต้องสงสัยก็กลัวภัย  จึงพาแม่จันหนีไปเมืองเพชร  แต่ไม่กล้าอาศัยอยู่กับ ท่านรอง  ขุนแพ่ง  และหม่อมบุนนาก  จึงเข้าไปหลบอยู่ในพระนอนบนเขาหลวงแห่งนี้

          แต่อ่านกลอนตอนท้ายแล้ว  ความเชื่อเดิมนั้นน่าจะผิดไปแล้ว  เพราะคำกลอนที่ว่า  “ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น  จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน”  และ  “ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทน์กระแจะ”  ในถ้ำนี้  ไม่น่าจะเป็นกลิ่นแม่จันจากวังหลัง  จึงควรเป็นไปได้ว่าสุนทรภู่หนีภัยบัตรสนเท่ห์มาเพชรบุรีเพียงลำพัง  พึ่งท่านรอง  ขุนแพ่ง  ในระยะสั้น ๆ  เห็นไม่ปลอดภัยจึงหลบเข้าอยู่ในถ้ำแห่งนี้  หญิงชื่อจันทน์ที่มานอนอยู่กับท่านในน้ำนี้  น่าจะเป็นจันทน์เมืองเพชร  ที่ท่านจากไปบางกอกแล้วเข้ารับราชการจนขาดการติดต่อกับจันทน์คนนี้  ครั้นกลับมาคราวนี้  เห็นถ้ำที่เคยนอนคู่กับจันทน์แล้วน้ำตาไหลพรากไม่รู้ว่า  “เพื่อนยากยังไม่เห็นเป็นไฉน  จะไปเรือนเยือนเยี่ยมก็เจียมใจ  ขอสั่งไว้เถิดถ้ำที่ช้ำทรวง”

(https://i.ibb.co/m5Tpr16/12669466-1036983509658517-6530197134890354423-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันที่ท่านกลับมาเมืองเพชรอีกที  จันทน์เพื่อนยากก็ยังอยู่ในเมืองเพชร  และเห็นทีว่าเธอมีครอบครัวไปแล้ว  จึงไม่กล้าไปเยี่ยม  ได้แต่สั่งความฝากถ้ำไว้  คำฝากความตรงนี้  ออเซาะหวานนักเชียวว่า  “....เขาช่วยเล่าเถิดว่าเขาไม่ล่อลวง  แต่เขาหวงเขาห้ามต้องขามใจ”  กลอนสั่งถ้ำเขาหลวงตรงนี้คือหลักฐานพยานว่า  สุนทรภู่เคยมีภรรยาเป็นชาวเมืองเพชรอีกคนหนึ่งเธอชื่อ  จันทน์  และคงเป็นด้วยเหตุนี้   “น้องอิน”  คนโปรดที่เคยฝากรอยเล็บไว้ให้คราวอยู่บ้านขุนแพ่ง  จึงได้โกรธถึงขั้นเกลียดไม่ยอมมองหน้า  ด้วยตอนที่หนีภัยมาอยู่ในถ้ำแทนที่จะมาชวน  “ลูกอิน”  ไปนอนเป็นเพื่อนด้วยแต่กลับไปชวน  “ลูกจัน”  ไปนอนเป็นเพื่อนแทนเสียนี่  อย่างนี้ก็ควรต้องโกรธไปจนตายแหละนะ

“แล้วลัดออกนอกลำเนาภูเขาหลวง
ดูเด่นดวงเดือนสว่างกลางเวหา
โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างที่กลางนา
เสียงปักษาเพรียกพลอดบนยอดตาล

มาตามทางหว่างโตนดลิงโลดจิต
แต่พวกศิษย์แสนสุขสนุกสนาน
เห็นกระต่ายไล่โลดโดดทะยาน
เสียงลูกตาลกรากตึงตะลึงแล

ต่างชิมชมดมเดินเจริญรื่น
เที่ยวชมชื่นเขตแขวงด้วยแสงแข
ต่างลดเลี้ยวเที่ยวเด็ดดอกแคแตร
ได้เห็นแต่นกน้อยต้อยตีวิด

สักสองยามตามทักด้วยปักษา
เสียงแจ้วจ้าจ้อยเจี๋ยวเตี๋ยวเตี๋ยวติด
โอ้ฟังฟังหวังสวาทไม่ขาดคิด
ช่างไม่ผิดเสียงสาวชาวพริบพรีฯ”

(https://i.ibb.co/Pgf9m6N/dinsawb2.jpg) (https://imgbb.com/)
Cr. Photo By dinsawb2

          เขียนความสั่งนางน้องจันทน์ฝากถ้ำเขาหลวงแล้ว  ก็ออกจากถ้ำลงเขาเมื่อเวลาใกล้สองยามแล้ว  เดินลงพ้นดงเขาเข้าท้องทุ่งนา  ในคืนพระจันทร์เพ็ญเด่นดวง  ท้องฟ้าโปร่งใส  แสงเดือนจึงสว่างราวกะกลางวัน  ตามดงหญ้าสองข้างทาง  มีกระต่ายป่าออกมากระโดดโลดเต้นเล่นแสงจันทร์กันอยู่  พวกศิษย์ท่านสุนทรภู่ก็วิ่งไล่จับกระต่ายกันอย่างสนุกสนาน  ขณะเดินผ่านระหว่างดงตาลโตนด  ลูกโตนดสุกงอมร่วงหล่นเสียงกรากตึง  พวกศิษย์ก็พากันตกตะลึง  พอรู้ว่าลูกตาลตกลงมาก็พากันขบขันในความเป็นคนขวัญอ่อนของพวกตน  เสียงนกกลางคืนร้องทักกันเจียวจาว  ท่านกลับคิดไปว่าเสียงนกเหล่านั้นช่างเหมือนเสียงสาวชาวพริบพรีเสียเหลือเกิน......

          ** วันนี้แกะรอยตามสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชรมาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านกันต่อไปใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, ธันวาคม, 2562, 10:15:04 PM
(https://i.ibb.co/smDhjc7/5-by-www-touronthai-com.jpg) (https://imgbb.com/)
พระปรางค์ 5 ยอดวัดมหาธาตุวรวิหาร จ. เพชรบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๓๙ -

แล้วเลี้ยวลงตรงหน้าวัดพระธาตุ
พอเดือนคลาดคล้อยจำรัสรัศมี
ดูพระปรางค์กลางอารามก็งามดี
แต่ไม่มีเงาบ้างเป็นอย่างไร

สาธุสะพระมหาตถาคต
ยังปรากฏมิได้เสื่อมที่เลื่อมใส
พอไก่ขันวันทาลาครรไล
ลงเรือใหญ่ล่องมาถึงธานี

จึงจดหมายรายความตามสังเกต
ถึงประเทศแถวทางกลางวิถี
ให้อ่านเล่นเป็นเรื่องเมืองพริบพรี
ผู้ใดมีคุณก็ได้ไปแทนคุณ

ทั้งผ้าหอมย้อมเหลืองได้เปลื้องห่ม
พระประทมที่ลำเนาภูเขาขุน
กุศลนั้นบรรดาที่การุญ
รับส่วนบุญเอาถิดท่านที่อ่านเอย......ฯ”

.................. นิราศเมืองเพชร (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามท่านสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร  แหล่งสุดท้ายที่ท่านไปคือ  ถ้ำเขาหลวง  ไปรำลึกถึงอดีตที่เคยหลบหนีภัยไปยู่ในถ้ำแห่งนี้  มีผู้หญิงชื่อจัน  หรือ  ลูกจันทน์ไปอยู่ด้วยเป็นเวลานานพอสมควร  พอเห็นว่าเรื่องราวทางพระราชวังสงบแล้วจึงลาจากจันกลับเข้าบางกอก  และเข้ารับราชการในที่สุด  ท่านมาคราวนี้ไม่กล้าที่จะไปเยี่ยมเยือนที่เรือนจัน  เพราะเธอมีครอบครัวเป็นฝั่งฝาไปแล้ว  จึงเขียนความสั่งฝากถ้ำไว้ก่อนอำลาลงจากเขาหลวง  ผ่านท้องทุ่งนาป่าตาลกลับมาเรือที่จอดไว้...

(https://i.ibb.co/cCCF2SR/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระธาตุ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) : จังหวัดเพชรบุรี

          กลอนข้างบนนี้  ต่อจากเมื่อวันวานนี้เป็นความตอนอาวสาน  ท่านว่าเดินตรงมาถึงหน้าวัดพระธาตุ (มหาธาตุ)  แลดูพระปรางค์ไม่เห็นมีเงาก็แปลกใจ  แต่ไม่คิดอะไรมาก  ยามนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่งสางสว่างแจ้ง  ไก่โต้ง  ไก่อู  ไก่แจ้  ก็พากันขันยามรับอรุณแห่งวันใหม่แล้ว  จึงลงเรือที่จอดรออยู่และสั่งออกเรือกลับเข้ากรุงเทพมหานครทันที  ความในนิราศเมืองเพชรฉบับกระทรวงศึกษาธิการก็จบลงด้วยเนื้อหาสาระใจความเพียงเท่านี้

          แต่ทว่านิราศเมืองเพชรอีกฉบับหนึ่งที่  อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว  ปราชญ์ (ชาวบ้าน) แห่งเมืองเพชรค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ  มีความบางช่วงบางตอนและบางถ้อยคำต่างไปจากนิราศเมืองเพชรฉบับ (หลวง) นี้  อย่างเช่นตอนที่ท่านจะกลับกรุงเทพมหานคร  ได้เขียนไว้ว่า

“ มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ
ต้องไปล่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป
บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช
ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายพงศา
เทวสถานศาลสถิตอิศวรา
เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ

ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่
แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน
จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ
เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย
ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

แต่ตัวเราเข้าใจได้ไต่ถาม
จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน
จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน
ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน

จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ
ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ
ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์
สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ...”

          คำกลอนตอนนี้บ่งบอกว่า  ก่อนจะเดินทางกลับบางกอก ท่านไปลาเหล่าญาติที่เป็นชนเชื้อพราหมณ์รามราช  โดยขอร้องให้ยายคำพาไปบ้านเก่าของต้นตระกูลฝ่ายมารดาซึ่งเป็นบ้านประตูไม้ไผ่  ที่นั้นยังปรากฏหลักฐานสำคัญเช่นเทวสถานที่สถิตพระอิศวร  เสาชิงช้า  เป็นต้น  ท่านรำพึงรำพันถึงโคตรญาติที่ล่วงลับแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้

          นิราศเมืองเพชรที่ อ.ล้อม เพ็งแก้ว  อ้างว่าค้นพบต้นฉบับในหอสมุดแห่งชาติจึงนำออกมาเผยแผ่  แต่มีนักวิชาการหลายท่านไม่เชื่อถือ  บางท่านถึงกับกล่าวหาว่า  อ.ล้อม แต่งขึ้นเองเสียอีก  แต่เรื่องนี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก  เพราะหอสมุดแห่งชาติไม่ได้หนีหายไปไหน  ใครไม่เชื่อ  สงสัยใด ๆ  ก็น่าจะไปค้นหาดู พิสูจน์ความจริงได้เสมอ

(https://i.ibb.co/PNBhD9s/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ) : กรุงเทพฯ

          อย่างไรก็ตามเถิด  เป็นอันยุติได้ว่าสุนทรภู่เดินทางไปเพชรบุรี  ด้วยอาสาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปทำธุระให้เรื่องหนึ่ง  ท่านแพ่งคนใหม่รับทำธุระให้ตามที่ไปเจรจา  แล้วก็เดินทางกลับมาบางกอก  ท่านจันทร์ว่าในปี พ.ศ. ๒๓๗๕  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงออกผนวชประทับ ณ วัดพระเชตุพนฯ  และได้ชวนให้พระภิกษุภู่เข้ามาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ด้วยกัน

(https://i.ibb.co/7zQVVn4/image.jpg) (https://imgbb.com/)
รูปหล่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ในตำหนักวาสุกรี วัดโพธิ์

          ครั้นพระองค์เจ้าลักขณานุคุณลาผนวชแล้ว  พระภิกษุภู่ก็ยังคงอยู่ในสำนักวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งมีพระกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นผู้ปกครอง  ในช่วงนี้ภรรยาคนที่ชื่อ นิ่ม ซึ่งเป็นคนบางกรวยถึงแก่กรรมลง  ท่านจึงต้องรับบุตรชายชื่อ ตาบ   พยานรักของท่านกับนิ่มมาเลี้ยงดู  หนูตาบ  มาอยู่คู่กับหนูพัดที่วัดพระเชตุพนฯ ตั้งแต่นั้นมา  ในขณะที่อยู่วัดพระเชตุพนฯ นี้ท่านได้เดินทางไปแถว ๆ อยุธยาอีกครั้ง  คราวนี้ไปแสวงหายาอายุวัฒนะ  ซึ่งมีลายแทงระบุว่าอยู่ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ  ได้แต่งนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งชื่อ  นิราศวัดเจ้าฟ้า  โดยใช้ชื่อผู้แต่งว่า  “เณรหนูพัด”

          จะลองเสียเวลาแกะรอยตามท่านไปวัดเจ้าฟ้ากันสักคราวดีไหมเอ่ย ?

          ขอนอนคิดสักคืนหนึ่งนะว่า  จะแกะรอยตามสุนทรภูกับเณรหนูพัดไปอยุธยาในนิราศวัดเจ้าฟ้าดีไหม  พรุ่งลองมาเปิดอ่านดูก็แล้วกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรลายสือไทเมืองสุโขทัย
วันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ / ๐๕.๓๖ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, ธันวาคม, 2562, 10:20:57 PM
(https://i.ibb.co/6gxR9M9/wat-pho.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) : กรุงเทพฯ

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๐ -

เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร
กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพน

พอออกเรือเมื่อตะวันสายัณห์ย่ำ
ละอองน้ำค้างย้อยเป็นฝอยฝน
ตะลึงเหลียวเปลี่ยวเปล่าเมื่อคราวจน
ไม่มีคนเกื้อหนุนกรุณา

โอ้ธานีศรีอยุธย์มนุษย์แน่น
นับโกฏิแสนสาวแก่แซ่ภาษา
จะหารักสักคนพอปนยา
ไม่เห็นหน้านึกสะอื้นฝืนฤทัย

เสียแรงมีพี่ป้าหม่อมน้าสาว
ล้วนขาวขาวคำหวานน้ำตาลใส
มายามยืดจืดเปรี้ยวไปเจียวใจ
เหลืออาลัยลมปากจะจากจรฯ”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรายตามสุนทรภู่ไปเพชรบุรีในนิราศเมืองเพชร  จบเรื่องนิราศเมืองเพชรซึ่งเป็น  “มาตุภูมิ”  ของสุนทรภู่ไปแล้ว  ความในนิราศเมืองเพชรนี้แหละ  ที่เป็นพยานหลักฐานยืนยันว่า  สุนทรภู่มีมารดาเป็นคนเมืองเพชรแน่นอน  และไม่จำเป็นต้องกล่าวย้ำในที่นี้อีกแล้ว  วันนี้ผมตกลงใจว่าจะลองแกะรอยตามสุนทรภู่ไปตามหายาอายุวัฒนะ  ซึ่งปรากฏอยู่ในลายแทงว่ามีอยู่ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ  วัดนี้เป็นวัดอยู่ในนิราศแต่ในทางภูมิศาสตร์ประวัตศาสตร์ยังหาไม่พบว่าตั้งอยู่ในแห่งหนตำบลใด  มีคนเที่ยวค้นหากันมาไม่น้อยแล้วก็ยังไม่พบตำแหน่งพิกัดที่แน่นอน  ด้วยคิดว่าหากจะแกะรอยตามสุนทรภู่ไปในนิราศวัดเจ้าฟ้า  อาจจะพบที่ตั้งของวัดนี้ก็ได้  จึงตกลงใจเริ่มแกะรอยตามสุนทรภู่ต่อไป

(https://i.ibb.co/nw2vD48/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ท่าเตียน วัดพระเชตุพนฯ : Cr. Photo By กิตติพงศ์ นิยมสูตร

          กลอนข้างบนนี้คือ  ความขึ้นต้นของนิราศวัดเจ้าฟ้า  ที่ท่านสุนทรภู่แต่งในนามของ  “เณรหนูพัด”  บุตรชายคนโตของท่านที่เกิดกับแม่จัน ณ วังหลัง  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  และ  อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล  ว่าตรงกันว่า  พระภิกษุภู่มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ตามคำชักชวนของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณซึ่งผนวชอยู่ที่วัดนี้  และตอนนั้นหนูพัดก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร  อยู่ปฏิบัติรับใช้พระภิกษุพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนลาผนวชไป  นัยว่าพระภิกษุภู่  สุนทรโวหาร  ได้ลายแทงมาแผ่นหนึ่ง  ลายแทงนั้นระบุว่ามียาอายุวัฒนะศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่พระเจดีย์วัดเจ้าฟ้าอากาศทางเหนือกรุงศรีอยุธยา  จึงปรารถนาจะได้ยาวิเศษขนานนี้  เมื่อได้โอกาสจึงใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางไปแสวงหายาตามลายแทงนั้น  ท่านลงเรือออกจากท่าน้ำวัดพระเชตุพนฯ (ท่าเตียน)  แล้วเริ่มแต่งนิราศในนามเณรหนูพัดดังปรากฏข้างบนนี้........

“ ถึงวัดระฆังบังคมบรมธาตุ
แทบพระบาทบุษบงองค์อัปสร
ไม่ทันลับกัปกัลป์พุทธันดร
พระด่วนจรสู่สวรรคครรไล

ละสมบัติขัติยาทั้งข้าบาท
โอ้อนาถนึกน่าน้ำตาไหล
เป็นสูญลับนับปีแต่นี้ไป
เหลืออาลัยแล้วที่พระมีคุณ

ถึงจนยากบากมาเป็นข้าบาท
ไม่ขัดขาดข้าวเกลือช่วยเกื้อหนุน
ทรงศรัทธากล้าหาญในการบุญ
โอ้พระคุณขาดยศทั้งงดงาม

แม้นตกยากพรากพลัดไม่ขัดข้อง
พัดกับน้องหนูตาบจะหาบหาม
นี่จนใจไปป่าช้าพนาราม
สุดจะตามเสด็จได้ดังใจจง

ขออยู่บวชกรวดน้ำสุรามฤต
อวยอุทิศผลผลาอานิสงส์
สนองคุณพูลสวัสดิ์ขัติยวงศ์
เป็นรถทรงสู่สถานพิมานแมน

มีสุรางค์นางขับสำหรับกล่อม
ล้วนเนื้อหอมห้อมเกล้าอยู่เฝ้าแหน
เสวยรมย์โสมนัสไม่ขัดแคลน
เป็นของแทนทานาฝ่าละออง

พระคุณเอ๋ยเคยทำนุอุปถัมภ์
ได้อิ่มหนำค่ำเช้าไม่เศร้าหมอง
แม้นทูลลามากระนี้ทั้งพี่น้อง
ไหนจะต้องตกยากลำบากกาย

นี่สิ้นบุญทูลกระหม่อมจึงตรอมอก
ต้องระหกระเหินไปน่าใจหาย
เห็นที่ปลงทรงสูญยังมูลทราย
แสนเสียดายดังจะดิ้นสิ้นชีวัน

ทั้งหนูตาบกราบไหว้ร้องไห้ว่า
จะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์
เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน
สารพันพึ่งพาไม่อนาทรฯ”

(https://i.ibb.co/Ht9Ydgf/wat-arun.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/Xfn4jrh/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)       /    วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)

          เรือประทุนลำใหญ่แจวจากท่าเตียนทวนสายน้ำในลำเจ้าพระยา  ผ่านวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)  ถึงวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)  ก็ยกมือบังคมบรมธาตุ  ที่บรรจุพระอัฐิธาตุเจ้าครอกทองอยู่พระชายาในกรมพระราชวังหลัง  แล้วหวนรำลึกถึงพระเดชพระคุณที่ท่านมีต่อตนจนสุดพรรณนา

          ท่านนึกเสียดายว่า  เจ้าครอกทองอยู่ผู้งามทั้งรูปโฉมและจิตใจ  “โอ้พระคุณขาดยศทั้งงดงาม”  ไม่ได้รับการสถาปนาอิสริยยศใด ๆ จนกระทั้งสู่สวรรค์ครรไล......

          * วันนี้แกะรอยตามสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้ามาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยแกะรอยกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, ธันวาคม, 2562, 10:18:59 PM
(https://i.ibb.co/YddbqVN/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๔๕
Cr. เพจ  ภาพในอดีตหายากฯ คลิก (https://web.facebook.com/papboran/?_rdc=1&_rdr)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๑ -

ถึงปากง่ามนามบอกบางกอกน้อย
ยิ่งเศร้าสร้อยทรวงน้องดังต้องศร
เหมือนน้อยทรัพย์ลับหน้านิราจร
ไปแรมรอนราวไพรใจรัญจวน

เคยชมเมืองเรืองระยับจะลับแล้ว
ไปชมแถวทุ่งนาล้วนป่าสวน
เคยดูดีพี่ป้าหน้านวลนวล
จะว่างเว้นเห็นล้วนแต่มอมแมม

เคยชมชื่นรื่นรสแป้งสดสะอาด
จะชมหาดเห็นแต่จอกกับดอกแขม
โอ้ใจจืดมืดเหมือนเมื่อเดือนแรม
ไม่เยื้อนแย้มกลีบกลิ่นให้ดิ้นโดย

เสียดายดวงพวงผกามณฑาทิพย์
เห็นลิบลิบแลชวนให้หวนโหย
เพราะหวงพุ่มภุมรินไม่บินโบย
จะร่วงโรยรสสิ้นกลิ่นผกาฯ”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านเริ่มแกะรอยตามสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า  เรือประทุนขนาดสี่แจวของท่านออกจากท่าเตียนผ่านวัดอรุณฯ  วัดระฆัง  ท่านก็รำพึงรำพันถึงเจ้าครอกทองอยู่  พระชายาในกรมพระราชวังหลังผู้มีพระคุณ  จนเรือเลยวังหลังไป  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/h1XhtCb/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางกอกน้อย : กรุงเทพฯ

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เรือไปถึงปากคลองบางกอกน้อยซึ่งท่านเรียกว่า  “ปากง่าม”  เพราะตรงนั้น (บริเวณวัดดุสิตาราม) ดูลักษณะเหมือนปากง่าม  มีปลายแหลมดุจลูกศร  ท่านก็รำพึงรำพันว่าทรวงท่านเศร้าเหมือนต้องศร  จำจากจรเมืองหลวงรอนแรมไปราวไพร  เคยชมเมืองเรืองระยับด้วยแสงสี  ต้องไปชมห้วยหนองคลองบึงที่เต็มไปด้วยแพจอกดอกแขม  เคยชมหน้าขาว ๆ นวลก็ต้องไปชมหน้าตามอมแมม  เสียดายดวงพวงผกามณฑาทิพย์ที่หวงพุ่มจนภุมรินไม่บินเข้ากรายใกล้  ต้องร่วงโรยกลีบเกสรสิ้นกลิ่นไปในที่สุด  (ดุจดังสาวสวยรวยทรัพย์สูงยศศักดิ์ที่เป็น  “สาวบนคานทอง”  ในยุคปัจจุบันนี้แล)

" ถึงบางพรมพรหมมีอยู่สี่พักตร์
คนรู้จักแจ้งจิตทุกทิศา
ทุกวันนี้มนุษย์อยุธยา
เป็นร้อยหน้าพันหน้ายิ่งกว่าพรหม

โอ้คิดไปใจหายเสียดายรัก
เหมือนเกรียกจักเจ็ดซีกกระผีกผม
จึงเจ็บอกฟกช้ำระกำตรม
เพราะลิ้นลมล่อลวงจะช่วงใช้ฯ”

(https://i.ibb.co/1M8VnN1/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนคลองบางพรม : กรุงเทพฯ

          ถึงบางพรม  ท่านไม่ได้คิดถึงเรื่องการประพรมน้ำ  หากแต่คิดถึงพระพรหมที่มีสี่หน้า  เหมือนจงใจจะกระทบกระเทียบเปรียบเปรยใคร ๆ  มีหน้าเป็นร้อยหน้าพันหน้ามากกว่าพระพรหม  กลอนบทนี้เป็นปรัชญาคติที่ดีเยี่ยมมาก  แล้วท่านก็แถมว่า  เสียดายรักภักดีที่ให้แก่คนที่ใช้เล่ห์ลิ้นลมลวงหลอกใช้  จนต้องเจ็บอกฟกช้ำระกำตรม.....

“ ถึงบางจากน้องไม่มีที่จะจาก
โอ้วิบากกรรมสร้างแต่ปางไหน
เผอิญหญิงชิงชังน่าคลั่งใจ
จะรักใครเขาไม่มีปรานีเลย

ถึงบางพลูพลูใบใส่กระบะ
ถวายพระเพราะกำพร้านิจจาเอ๋ย
แม้นมีใครใจบุญที่คุ้นเคย
จะได้เชยพลูจีบหมากดิบเจียน

นี่จนใจได้แต่ลมมาชมเล่น
เปรียบเหมือนเช่นฉากฉายพอหายเหียน
แม้นเห็นรักจักได้ตามด้วยความเพียร
ฉีกทุเรียนหนามหนักดูสักคราวฯ”

(https://i.ibb.co/xSqyHW6/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางจาก: กรุงเทพฯ Cr. Photo By คุณสร้อยฟ้ามาลา

          ครั้นถึงบางจากท่านก็ครวญว่า  ไม่รู้เป็นกรรมที่สร้างแต่ปางไหน  เกิดมาชาตินี้มีแต่หญิงชิงชังรังเกียจ  จะรักใคร ๆ เขาก็ไม่ปรานี  วันนี้จึงไม่ไม่มีนางใดจะให้จากเลย  เรือเลยบางจากถึงบางพลู  ก็คิดถึงใบพลูที่กินกับหมาก  ชาวบ้านสามัญทั่วไปก็เอาใบพลูใส่กระบะให้หยิบมาบ้ายปูนกินเอง  แต่คนที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ก็จะมีคนเอาใบพลูบ้ายปูนจีบเป็นมวน  เจียนหมากดิบวางเคียงใส่พาน  ให้หยิบกินอย่างสะดวกสบาย  แล้วก็คิดว่ายามนี้หากรู้ว่าใครรัก  ก็จะตามไปด้วยความเพียร  และจะฉีกทุเรียนที่มีหนามแหลมคมดูสักครา......

“ ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ได้มีอ้อ
ทำแพนซอเสียงแจ้วเที่ยวแอ่วสาว
แต่ไม่เคยเชยโฉมประโลมลาว
สุดจะกล่าวกล่อมปลอบให้ชอบใจ

ถึงบางซ่อนซ่อนเงื่อนไม่เยื้อนแย้ม
ถึงหนามแหลมเหลือจะบ่งที่ตรงไหน
โอ้บางเขนเวรสร้างแต่ปางใด
จึงเข็ญใจจนไม่มีที่จะรัก

เมื่อชาติหน้ามาเกิดให้เลิศโลก
ประสิทธิโชคชอบฤทัยทั้งไตรจักร
กระจ้อยร่อยกลอยใจวิไลลักษณ์
ให้สาวรักสาวกอดตลอดไป

ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง
เป็นชื่ออ้างออกนามตามวิสัย
แม้นขายแก้วแววฟ้าที่อาลัย
จะซื้อใส่บนสำลีประชีรอง

ประดับเรือนเหมือนหนึ่งเพชรสำเร็จแล้ว
ถนอมแก้วกลอยใจมิให้หมอง
ไม่เหมือนนึกตรึกตราน้ำตานอง
เห็นแต่น้องหนูแนบแอบอุราฯ”

(https://i.ibb.co/M8MVT4X/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สายน้ำเจ้าพระยาหน้าตลาดแก้ว : นนทบุรี

          ชื่อบ้านย่านตำบลต่าง ๆ ที่สุนทรภู่ผ่านไปตามลายแทงหายาอายุวัฒนะ  ตอนต้น ๆ นี้  เดินทางตามรอยเดิมที่ไปนมัสการพระพุทธบาท  และภูเขาทอง ท่านบอกชื่อบ้านที่ผ่าน  แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับชื่อบ้าน  ต่างไปจากในนิราศสองเรื่องก่อนนั้น  อย่างเช่นตอนที่ถึงบางอ้อ  ท่านคิดอยากได้ลำต้นอ้อเอามาทำแพนแคนแล้วเที่ยวเป่าแคนเกี้ยวสาว  แต่ก็จนใจที่ว่า  ไม่เคยเล้าโลมชมเชยสาวลาวมาก่อนเลย  ก็จึงไม่รู้ว่าจะเกี้ยวสาวลาวอย่างไรดี

          *** วันนี้แกะรอยตามท่านมาถึงตลาดแก้วย่านเมืองนนท์ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยแกะรอยตามท่านไปใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมือสุโขทัย
๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, ธันวาคม, 2562, 10:37:21 PM
(https://i.ibb.co/1sLZSL0/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเขียน : นนทบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๒ -

ถึงวัดตั้งฝั่งสมุทรพระพุทธสร้าง
ว่าท่านวางไว้ให้คิดปริศนา
แม้นแก้ไขไม่ออกเอาที่ตอกตา
ก็นึกน่าใคร่หัวเราะจำเพาะเป็น

ครั้นคิดบ้างอย่างคำที่ร่ำบอก
จะไปตอกที่ตรงไหนก็ไม่เห็น
ดูลึกซึ้งถึงจะคิดก็มิดเม้น
พอยามเย็นยอแสงแฝงโพยม

ถึงวัดเขียนเหมือนหนึ่งเพียรเขียนอักษร
(เป็น)กลกลอนกล่าวกล่อมถนอมโฉม
เดชะรักลักลอบปลอบประโลม
ขอให้โน้มน้อมจิตสนิทในฯ”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะในนิราศวัดเจ้าฟ้า  จากปากคลองบางกอกน้อยผ่านบางพรม  บางพลู  บางจาก  เรื่อยมาจนถึงตลาดแก้ว  ย่านนทบุรีแล้ว  การเดินทางเที่ยวนี้เป็นเส้นทางเดียวกันกับไปไหว้พระบาท  และภูเขาทอง  แต่ความคิดของท่านเกี่ยวกับนามบ้านต่าง ๆ ที่ผ่านถึงนั้น  ต่างจากความคิดในการผ่านถึงครั้งก่อน ๆ จ ากตลาดแก้วแล้วไปไหน  มาแกะรอยตามท่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/CBZ02F4/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ท่าน้ำวัดเขียน : นนทบุรี

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวานนี้  จากตลาดแก้วมาถึงวัดที่ท่านเรียกว่า  “วัดตั้งฝั่งสมุทรพระพุทธสร้าง”  ผมค้นหาหลักฐานที่ตั้งของวัดนี้แล้วไม่พบ  จึงอยากเดาเอาเป็นว่าวัดนี้คือวัดเขมาภิรตาราม  ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  ท่านได้กล่าวถึงรายละเอียดไปแล้ว  แต่มาคราวนี้ท่านว่า  ใครแก้ปัญหาคิดปริศนาอะไรไม่ออก  ก็ให้ไปตอกที่ตาพระ  ซึ่งท่านเห็นเป็นเรื่องขำขัน  ลองไปนึกบ้างแล้ว  ก็หาที่ตอกไม่พบ  จึงเลยไปถึงวัดเขียน  ก็คิดจะเขียนกลอนกล่อมส่งไปถนอมโฉมนางในดวงใจ  ขอให้รักที่เป็น (รักคุด)  หรือรักลัก (แอบรัก)  ได้สมปรารถนา

“ ถึงคลองขวางบางสีทองมองเขม้น
ไม่แลเห็นสีทองที่ผ่องใส
แม้นทองคำธรรมดาจะพาไป
นี่มิใช่สีทองเป็นคลองบาง

พอลมโบกโศกสวนมาหวนหอม
เหมือนโศกตรอมตรึกตรองมาหมองหมาง
ถึงบางแวกแยกคลองเป็นสองทาง
เหมือนจืดจางใจแยกไปแตกกัน

ตลาดขวัญขวัญฉันนี้เป็นขวัญหาย
ใครเขาขายขวัญหรือจะซื้อขวัญ
แม้นขวัญฟ้าหน้าอ่อนเหมือนท่อนจันทน์
จะรับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวางฯ”

(https://i.ibb.co/JFJ20mT/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางอ้อยช้าง : บางสีทอง นนทบุรี

          จากวัดเขียนเรือถูกแจวทวนสายน้ำขึ้นถึงคลองขวาง  บางสีทอง  บางแวก  ที่มีคลองแยกเป็นสองทาง  แล้วก็ถึงตลาดขวัญ  รู้สึกว่าเดินทางมาเที่ยวนี้ท่านบอกชื่อบ้านย่านที่ผ่านมาค่อนข้างละเอียดกว่านิราศภูเขาทอง  แม้การคร่ำครวญตามความหมายของชื่อบ้านนั้น ๆ ก็ต่างไปจากนิราศเรื่องก่อน ๆ  ในช่วงตอนบางสีทองนั้น  ท่านว่าลมโบกพัดพากลิ่นดอกโศกสวนหวนมาให้หอมตรลบอบอวล  เป็นกลิ่นหอมแบบโศก ๆ  กลิ่นอย่างไรลองจินตนาการเอาเองนะครับ

“ ถึงบางขวางขวางอื่นสักหมื่นแสน
ถึงต่างแดนดงดอนสิงขรขวาง
จะตามไปให้ถึงน้องประคองคาง
แต่ขัดขวางขวัญความขามระคาย

เห็นสวาทขาดทิ้งกิ่งสนัด
เป็นรอยตัดต้นสวาทให้ขาดสาย
สวาทพี่นี้ก็ตัดสวาทวาย
แสนเสียดายสายสวาทที่ขาดลอย

เห็นรักน้ำพร่ำออกทั้งดอกผล
ไม่มีคนรักรักมาหักสอย
เป็นรักเปล่าเศร้าหมองเหมือนน้องน้อย
เที่ยวล่องลอยเรือรักจนหนักเรือฯ

ถึงบ้านบางธรณีแล้วพี่จ๋า
แผ่นสุธาก็ไม่ไร้ไม้มะเขือ
เขากินหมูหนูพัดจะกัดเกลือ
ไม่ถ่อเรือแหหาปลาตำแบ

ถึงปากเกร็ดเตร็ดเตร่มาเร่ร่อน
เที่ยวสัญจรตามระลอกเหมือจอกแหน
มาถึงเกร็ดเขตมอญสลอนแล
ลูกอ่อนแออุ้มจูงพะรุงพะรัง

ดูเรือนไหนไม่เว้นเห็นลูกอ่อน
ไม่หยุดหย่อนอยู่ไฟจนไหม้หลัง
ไม่ยิ่งยอดปลอดเปล่าเหมือนชาววัง
ล้วนเปล่งปลั่งปลื้มใจมาไกลตา

พอออกคลองล่องลำแม่น้ำวก
เห็นนกหกเหินร่อนว่อนเวหา
กระทุงทองล่องเลื่อนค่อยเคลื่อนคลา
ดาษดาดอกบัวเข้าคลัวเคลีย

นกกาน้ำดำปลากระสาสูง
เป็นฝูงฝูงเข้าใกล้มันไปเสีย
นกยางขาวเหล่านกยางมีหางเปีย
ล้วนตัวเมียหมดสิ้นทั้งดินแดน

ถึงเดือนไข่ไปลับแลเมืองแม่หม้าย
ขึ้นไข่ชายเขาโขดนับโกฏิแสน
พอบินได้ไปประเทศทุกเขตแคว้น
คนทั้งแผ่นดินมิได้ไข่นกยาง

โอ้นึกหวังสังเวชประเภทสัตว์
ต้องขาดขัดคู่ครองจึ่งหมองหมาง
เหมือนอกชายหมายมิตรคิดระคาง
มาอ้างว้างอาทวาเอกากายฯ”

(https://i.ibb.co/7pm0hN4/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองน้ำอ้อม นนทบุรี (Cr. Phot By คุณมาสบาย)

          จากตลาดขวัญผ่านบางขวาง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งเรือนจำใหญ่และเป็นแดนประหารนักโทษ)  เลยไปถึงบางธรณี  คราวนี้ท่านคิดครวญต่างไปจาก นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  เช่นเดียวกันกับเมื่อถึงปากเกร็ดย่านชุมชนชาวมอญ  คราวนี้ท่านกล่าวถึงทุกบ้านเรือนชาวมอญเห็นแต่หญิงอุ้มเด็กอ่อน  ดูเหมือนว่านางคงจะคลอดลูกแบบหัวปีท้ายปี  อยู่ไฟกันจนหลังไหม้ทีเดียว  ไม่สบายเหมือนหญิงชาววังที่ไม่ต้องทนย่างตัวบนกระดานอยู่ไฟนานนัก  เมื่อเรือเลยปากเกร็ดเข้าคลองน้ำอ้อม (น้ำวก)  แลเห็นนกบินร่อนว่อนเวหา  นกกระทุงทองบินจับกลุ่มลงย่านดงบัวแล้วคลัวเคลียกันเป็นคู่ ๆ ดูน่ารัก  นกกาน้ำดำหาปลาแข่งกับนกกระสาเป็นฝูง ๆ  พอเรือแจวเข้าไปใกล้มันก็พากันบินหนีไปเสีย

(https://i.ibb.co/yqxyvP3/9764913855-dd78b6c691-b.jpg) (https://imgbb.com/)

          นกยางขาวเป็นนกที่แปลก  ท่านให้ความรู้เรื่องนกยางขาวว่า  ในฤดูผสมพันธุ์นกยางขาวตัวผู้จะมีหางเปียออกมา  หลังผสมพันธุ์แล้วหางเปียก็หลุดหายไป  เวลาจะวางไข่นกยางทั้งหมดจะพากันไปวางไข่ตามโขดเขาเมืองลับแลแม่หม้าย (ไม่ใช่เมืองลับแลที่อุตรดิตถ์กระมัง)  ไม่ยอมให้ผู้คนรู้เห็นไข่ของมัน  เมื่อลูกมันออกจากไข่และมีปีกกล้าขาแข็งแล้วก็พากันบินออกจากเมืองลับแลไปทั่วบ้านทั่วเมือง....

          ** วันนี้แกะรอยตามสุนทรภู่มาแค่คลองอ้อมปากเกร็ดก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยกันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, ธันวาคม, 2562, 09:36:15 PM
(https://i.ibb.co/0Y9qvHp/pelicans-424348-960-720.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๓ -

ถึงบางลาวเห็นแต่ลาวพวกชาวบ้าน
ล้วนหูยานอย่างบ่วงเหมือนห่วงหวาย
ไม่เหมือนลาวชาวกรุงที่นุ่งลาย
วนกรีดกรายหยิบหย่งทรงสำอาง

ถึงบางพูดพูดมากคนปากมด
มีแต่ปดเป็นอันมากเขาถากถาง
ที่พูดน้อยค่อยประทิ่นลิ้นลูกคาง
เหมือนหญิงช่างฉอเลาะปะเหลาะชายฯ”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้า  เรือประทุนสี่แจวของท่านแล่นทวนกระแสน้ำขึ้นเหนือ จากปากเกร็ดออกคอลงอ้อม  เห็นนกนานาพันธุ์  เช่นนกกระทุง  นกกระสา  นกยางขาวหางเปีย  ท่านก็เพลินชมนก  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/x7Bdy2H/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดกู้ : บางพูด นนทบุรี

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่าเรือมาถึงบางลาวเห็นแต่ลาวหูยานเป็นบ่วงเหมือนห่วงหวาย  คนลาวลักษณะนี้ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน  และบ้านบางลาวนี่ก็เพิ่งเคยได้ยิน  น่าจะเป็นบ้านชุมชนชาวลาวเล็ก ๆ อยู่ระหว่างปากเกร็ดกับบางพูด  ในนิราศภูเขาทองท่านมิได้กล่าวถึงบ้านบางลาวนี้เลย  เมื่อผ่านพ้นบางลาวแล้วก็ถึงบางพูด  ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  ท่านแต่งกลอนเมื่อถึงบางพูดว่า  “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์....”  เป็นวรรคทองที่ติดปากติดคำคนไทยมายาวนาน  แต่คราวนี้ท่านมาถึงบางพูดก็แต่งกลอนออกมาอีกแนวหนึ่งดังที่ยกมาไว้ข้างบนนี้

“ ถึงบางกงกระไนได้เห็นหน้าบรรดาพี่
พวกนารีเรืออ้อยเที่ยวลอยขาย
ดูจริตติดจะงอนเป็นมอญกลาย
ล้วนแต่งกายกันไรเหมือนไทยทำ

แต่ไม่มีกิริยาด้วยผ้าห่ม
กระพือลมแล้วไม่ป้องปิดของขำ
ฉันเตือนว่าผ้าแพรลงแช่น้ำ
อ้อยสองลำนั้นจะเอาสักเท่าไร

เขารู้ตัวหัวร่อว่าพ่อน้อย
มากินอ้อยแอบแฝงแถลงไข
กระนี้มิอยากบอกมิออกไย
น่าเจ็บใจจะต้องจำเป็นตำราฯ”

(https://i.ibb.co/nDRMy3V/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนชาวมอญย่านบางตะไนย์ (บางกงกระไน) : ปากเกร็ด นนทบุรี

          ถึงบางกงกระไน  ได้เห็นหญิงหลากหลายวัยพายเรือบรรทุกอ้อยขายในน่านน้ำหลายลำเรือ  ท่านว่าผู้หญิงที่พายเรือขายอ้อยเหล่านี้เป็นมอญกลาย  ตัดผมกันไรเหมือนคนไทย  ดูจริตกิริยาเห็นว่าติดจะเจ้าแง่แสนงอนอยู่สักหน่อย  ผ้าห่ม (สไบ) ก็ห่มแบบลวก ๆ  เมื่อถูกลมกระพือพัดแรงหน่อยก็เวิกไม่ป้องปิดของขำ  ท่านเห็นแล้วก็แกล้งพูดเตือนให้รู้ตัวว่า  “แพรลงแช่น้ำ  อ้อยสองลำนั้นจะเอาสักเท่าไร”  แม่ค้าอ้อยนั้นรู้ตัวก็หัวเราะ  แล้วก็ต่อว่าแบบงอน ๆ ว่า  “พ่อมากินอ้อยแบบแอบแฝง  อย่างนี้ไม่อยากพูดด้วยแล้ว  เจ็บอายครั้งนี้ชั้นจะจำไปจนวันตายเลย”  คำว่าอ้อยสองลำในกลอนนี้หมายถึง  ปทุมถันสองเต้าที่ผ้าสไบถูกลมพัดเปิดให้เห็นนั่นเอง

“ ถึงไผ่รอบรอบเขื่อนดูเหมือนเขียน
ชื่อวัดเทียนถวายอยู่ฝ่ายขวา
ข้างซ้ายมือชื่อบ้านใหม่ทำไร่นา
นางแม่ค้าขายเต่าสาวทึมทึก

ปิดขมับจับเขม่าเข้ามินหม้อ
ดูมอซอสีสันเป็นมันหมึก
ไม่เหมือนเหล่าชาวสวนหวนรำลึก
เมื่อไม่นึกแล้วก็ใจมิใคร่ฟัง

พอฟ้าคล้ำค่ำพลบเสียงกบเขียด
ร้องกรีดเกรียดเกรียวแซ่ดังแตรสังข์
เหมือนเสียงฆ้องกลองโหมประโคมดัง
ไม่เห็นฝั่งฟั่นเฟือนด้วยเดือนแรม

ลำพูรายชายตลิ่งล้วนหิ่งห้อย
สว่างพรอยแพร่งพรายขึ้นปลายแขม
อร่ามเรืองเหลืองงามวามวามแวม
กระจ่างแจ่มจับน้ำเห็นลำเรือฯ”

(https://i.ibb.co/7GvSMvP/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/c6BnrZK/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเทียนถวาย ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี  /   ภาพบรรยากาศท่าน้ำหน้าวัดเทียนถวาย

          จากบางกงกระไนเลยมาถึงบ้านไผ่รอบ  ทางขวามือคือริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกมีวัดชื่อเทียนถวาย   ทางซ้ายมือเป็นหมู่บ้านชื่อบ้านใหม่  ท่านแลเห็นแม่ค้าขายเต่าเป็นสาวทึมทึก (ไม่รู่เหมือนกันว่าท่านรู้ได้ไง)  ปิดขมับจับเขม่าด้วยมินหม้อดูดำเป็นหมึก  สาวทึมทึกเป็นคำเรียกหญิงที่เป็นสาวแก่ไม่มีสามี  ซึ่งสมัยนี้เรียกว่า  “ขึ้นคาน”  หรือ  “คานทอง”  อะไรทำนองนั้น  ท่านเห็นสาวทึมทึกที่มอมแมมแล้วก็หวนนึกไปถึงสาวชาววังชาวสวนที่ท่านคุ้นเคย  ดูต่างกันราวฟ้ากะดิน  ยามนั้นก็พอดีเป็นเวลาพลบค่ำ  เสียงกบเขียดร้องกรีดเกรียวเซ็งแซ่เหมือนแตรสังข์ ฆ้องกลองโหมประโคมดัง  สองฟากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาราตรีนั้นมืดมัวมองไม่เห็นอะไร  เพราะเป็นคืนเดือนแรม  เห็นแต่แสงหิ่งห้อยพรอยพราวแพรวจากต้นลำพูและปลายแขมที่เรียงรายอยู่ริมตลิ่ง  เป็นแสงสว่างอร่ามเรืองลงกระทบผิวน้ำทำให้กระจ่างแจ่มพอเห็นลำเรือ.........

“ ถึงย่านขวางบางแขยงเป็นแขวงทุ่ง
ดูเวิ้งวุ้งหว่างละแวกล้วนแฝกเฝือ
เห็นไรไรไม้พุ่มคลุมครุมเครือ
เหมือนรูปเสือสิงโตรูปโคควาย

ท่านบิดรสอนหนูให้รู้ว่า
มันผินหน้าออกนั้นกันฉิบหาย
แม้นปากมันผันเข้าข้างเจ้านาย
จะล้มตายพรายพลัดเร่งตัดรอน

จารึกไว้ให้เป็นทานทุกบ้านช่อง
ฉันกับน้องนี้ได้จำเอาคำสอน
ดึกกำดัดสัตว์หลับประทับนอน
ที่วัดมอญเชิงรากริมปากคลอง

ต้นไทรครึ้มงึ้มเงียบเชียบสงัด
พระพายพัดแผ่วผ่าวหนาวสยอง
เป็นป่าช้าอาวาสปิศาจคะนอง
ฉันพี่น้องมิได้คลาดบาทบิดา

ท่านนอนหลับตรับเสียงสำเนียงเงียบ
เย็นยะเยียบเยือกสยองพองเกศา
เสียงผีผิวหวิวโหวยโหยวิญญา
ภาวนาหนาวนิ่งไม่ติงกาย

บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก
ผีมันหลอกลากปล้ำพลิกคว่ำหวาย
ลุกขึ้นบอกกลอกกลัวทุกตัวนาย
มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว

ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสวบสาบ
เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว
หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว
หมายว่าสาวผมผีร้อยนี่แน้

พอพระตื่นฟื้นกายค่อยคลายจิต
บรรดาศิษย์ล้อมข้างไม่ห่างแห
ท่านห่มดองครองเคร่งไม่เล็งแล
ขึ้นบกแต่องค์เดียวดูปลี่ยวใจ

สำรวมเรียบเลียบรอบขอบป่าช้า
ภาวนาตามสงฆ์ไม่หลงใหล
เห็นศพฝังบังสุกุลส่งบุญไป
เห็นแสงไฟรางรางสว่างเวียน.....”

(https://i.ibb.co/GWWmT2F/Fah-T-Krittiyaporn.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดมะขาม (วัดมอญเชิงราก) : ปทุมธานี (Cr. Photo By Fah T. Krittiyaporn)

          เลยวัดเทียนถวายไปถึงบางแขยงที่เป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่  แลเห็นพุ่มเงาไม้ตะคุ่ม ๆ เป็นรูปเสือสิงโตวัวควาย  ท่านสอนลูก ๆ ว่าพุ่มไม้ที่เป็นรูปสัตว์เหล่านี้  ถ้ามันหันหน้าออกนอกบ้านเรือนแล้วจะป้อนกันภยันตรายนานา  แต่หากหันหน้าเข้าหาเจ้าของเรือน  จะทำให้ผู้คนล้มตายพลัดพรากจากกัน  ถ้ามันหันหน้าเข้าบ้านเรือนเมื่อใดให้รีบตัดมันเสีย  เรือลอยลำผ่านบางแขยงไปถึงเชิงรากวัดมอญเป็นเวลาดึกแล้ว  ท่านจึงสั่งพักการเดินทางจอดเรืออาศัยนอนอยู่ใต้ต้นไทรริมน้ำข้างป่าช้าวัดมอญนั่นเอง

(https://i.ibb.co/N3SZ6hj/250917-5288d2354bbea.jpg) (https://imgbb.com/)

          และแล้วในเวลาดึกดื่นคืนนั้น  ขณะที่พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร หลับสนิท  ผีในป่าช้าวัดก็ออกอาละวาดเข้าปลุกปล้ำศิษย์ของท่านที่นอนอยู่ภายนอก  ศิษย์ของท่านก็ลุกขึ้นคว้าทรายกรวดที่ท่านเสกให้ไว้นั้นสาดซัดใส่ผี  มันกลัวทรายมนต์ก็โดดหนีขึ้นไปบนต้นไทร  เขย่าขย่มกิ่งไทรโครม ๆ  ห้อยหัวลงแลบลิ้นปลิ้นตาเห็นอกขาว  หนูกลั่นใจกล้าคว้าจับรากไทรที่ห้อยยาวด้วยนึกว่าผมผีสาว  แล้วกระชากพร้อมร้องว่า  นี่แน่ ๆๆ  พอพระภิกษุภู่ตื่นขึ้นผีก็หนีไป  ท่านจึงขึ้นไปบนบกเดินสำรวจดูป่าช้า  เห็นหลุมฝังศพก็สวดบังสุกุลอุทิศส่วนบุญไปให้...........

          ** เรื่องการเผชิญกับผีป่าช้าวัดมอญเชิงรากยังไม่จบ  แต่ขอพักไว้แค่นี้ก่อน  พรุ่งนี้ค่อยมาดูกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณอาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, ธันวาคม, 2562, 10:21:19 PM
(https://i.ibb.co/WkTcLNv/3.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๔ -

“ ระงับเงียบเชียบเสียงสำเนียงสงัด
ประดิพัทธ์พุทธคุณค่อยอุ่นเศียร
บรรดาศิษย์คิดกล้าต่างหาเทียน
จำเริญเรียนรุกมูลพูนศรัทธา

อสุภกรรมฐานประหารเหตุ
หวนสังเวชว่าชีวังจะสังขาร์
อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา
ที่ป่าช้านี้แลเหมือนกับเรือนตาย

กลับเกลียดกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน
พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันรูปเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย
แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง

ค่อยคิดเห็นเย็นเยียบไม่เกรียบกริบ
ประสานสิบนิ้วนั่งดังประสงค์
พยายามตามจริตท่านบิตุรงค์
สำรวมทรงศีลธรรรมที่จำเจน

ประจงจดบทบาทค่อยยาตรย่าง
ประพฤติอย่างโยคามหาเถร
ประทับทุกรุกข์รอบขอบพระเมรุ
จนพระเณรในอารามตื่นจามไอ

ออกจงกรมสมณาษมาโทษ
ร่มนิโครธน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส
แผ่กุศลจนจบทั้งภพไตร
จากพระไทรแสงทองผ่องโพยม.....”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้า  ผ่านวัดเทียนถวาย  บ้านใหม่เขตเมืองปทุมธานี  ผ่านบางแขยงถึงวัดมอญเชิงราก  เป็นเวลาค่ำค่อนข้างดึก  ท่านสั่งจอดเรือนอนพักผ่อนใต้ร่มไทรริมน้ำเจ้าพระยาข้างป่าช้าวัดมอญนั้น

(https://i.ibb.co/nB62ty0/pj5z546im-LPO6-HWi-GA2-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  นอนหลับสนิท  เณรหนูพัดกับหนูตาบนอนไม่หลับ  กระสับกระส่ายอยู่ปลายเท้าหลวงพ่อ  บรรดาศิษย์นอนอยู่ข้างนอกประทุนเรือนั้น  ปรากฏเหตุการณ์ระทึกขวัญขึ้น  โดยมีผีผู้หญิงผมยาวเข้ามากอดปล้ำศิษย์หลวงพ่อภู่อยู่ขลุกขลัก  พวกศิษย์ตื่นเอะอะโวยวาย  บ้างก็คว้าเอาทรายกรวดที่พระอาจารย์ปลุกเสกไว้นั้น  สาดซัดเข้าใส่ผีผู้หญิงนั้น  นางผีกลัวทรายมนต์จึงโดดขึ้นไปอยู่บนต้นไทรแล้วขย่มกิ่งไทรกราวๆ  เอาขาเกี่ยวกิ่งไทรห้อยหัวลงเห็นอกขาว  แล้วแลบลิ้นปลิ้นตาหลอก  หนูกลั่นใจกล้าเห็นรากไทรห้อยย้อยอยู่  สำคัญผิดคิดว่าเป็นผมผีสาวตัวนั้น  จึงรีบคว้ารากไทรกระชากอย่างแรงพร้อมส่งเสียงว่า  “นี่แน่ ๆๆๆ”  พระภิกษุภู่ตื่นขึ้นมารู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว  ก็รีบครองจีวรห่มดองเดินขึ้นจากเรือไปในป่าช้า  ท่านไปทำไมหรือ  วันนี้มาดูกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/z6SwM5C/17-1445432441.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวานบอกเล่าความว่า  พระภิกษุภู่ขึ้นจากเรือเดินไปในป่าช้า  สำรวจดูทั่ว ๆ ไป  เห็นหลุมฝังศพอยู่ท่านก็สวดบังสุกุลอุทิศบุญกุศลไปให้  พวกศิษย์ในเรือพากันได้สติหายกลัวแล้วก็หาเทียนมาจุด  เณรหนูพัดห่มจีวรดองเรียบร้อยแล้วก็นั่งเจริญกรรมฐานตามอย่างหลวงพ่อภู่  บรรยากาศในบริเวณนั้นเงียบสงบอยู่จนกระทั่งอุษาสาง  พระเณรในวัดพากันตื่นส่งเสียงกระแอมกระไอ  พระภิกษุภู่กลับลงเรือเมื่อเวลารุ่งอรุณวันใหม่  แล้วสั่งออกเรือเดินทางต่อไป

“ เลยบางหลวงล่วงทางมากลางแจ้ง
ถึงบ้านกระแชงหุงจังหันฉันผักโหม
ยังถือมั่นขันตีหนีประโลม
ถึงรูปโฉมพาหลงไม่งงงวย

พอเสียงฆ้องกลองแซ่เขาแห่นาค
ผู้หญิงมากมอญเก่าสาวสาวสวย
ร้องลำนำรำฟ้อนอ่อนระทวย
พากันช่วยเขาแห่ได้แลดู

ถือขันตีที่นั้นก็ขันแตก
ทั้งศีลแทรกเสียดออกกระบอกหู
ฉันนี้เคราะห์เพราะนางห่มสีชมพู
พาความรู้แพ้รักประจักษ์จริง

แค้นด้วยใจนัยนานิจจาเอ๋ย
กระไรเลยแล่นไปอยู่กับผู้หญิง
ท่านบิดาว่ามันติดกว่าปลิดปลิง
ถูกจิตจริงเจียวจึงจดเป็นบทกลอน

ถึงต้องง้าวหลาวแหลนสักแสนเล่ม
ให้ติดเต็มตัวฉุดพอหลุดถอน
แต่ต้องตาพาใจอาลัยวรณ์
สุดจะถอนทิ้งขว้างเสียงกลางคัน

ทั้งหนูกลั่นนั้นคะนองจะลองทิ้ง
บอกให้หญิงระรับขยับหัน
ถ้าทิ้งถูกลูกละบาทประกาศกัน
เขารับทันเราก็ให้ใบละเฟื้อง

นางน้อยน้อยพลอยสนุกลุกขึ้นพร้อม
งามละม่อมมีแต่สาวล้วนขาวเหลือง
ใส่จริตกรีดกรายชายชำเรือง
ขยับเยื้องยิ้มแย้มแฉล้มลอย

ต่างหมายมุ่งตุ้งติ้งทิ้งหมากดิบ
เขาฉวยฉิบเฉยหน้าไม่ราถอย
ไม่มีถูกลูกดิ่งที่ทิ้งทอย

พวกเพื่อนพลอยทิ้งบ้างห่างเป็นวา
ฉันลอบลองสองลูกถูกจำหนับ
เสียงปุปับปุ่มสูญที่ปูนหมาย
ลงม้วนต้วนม้วนหน้าน้ำตาพราย
พร้อมผู้ชายสรวลเสเสียงเฮฮา

แต่หนูกลั่นนั้นหล่อนเควี่ยงดังเสียงขวับ
ถูกปุบปับปากกรีดหวีดผวา
ร้องอยู่แล้วแก้วพี่มานี่มา
พวกมอญฮาโห่แห่ออกแซ่ไป......”

(https://i.ibb.co/9NNtxdv/image.jpg) (https://imgbb.com/)
บ้านกระแชง : ปทุมธานี

          เรือลอยลำผ่านบางหลวงถึงบ้านกระแชง  ก็จัดแจงหุงข้าว (จังหัน)  เช้านั้นฉันข้าวกับผักโหม  พอฉันข้าวเสร็จก็พอดีมีขบวนแห่นาคมาถึงบริเวณนั้น  แลเห็นขบวนแห่นาค  โดยมีสาว ๆ ชาวมอญล้วนสวยงามรำฟ้อนมาหน้านาค  ท่านบอกว่า  ขันติที่ถือมาแต่วัดมอญเชิงรากนั้น  พลันกลายเป็นขันแตกด้วยอำนาจความสวยของสาวมอญเนื้อเหลือง ณ ตรงนี้เอง  ท่านเข้าร่วมในขบวนแห่นาคกะเขาด้วย  สาวสวยในชุดสีชมพูนั้นต้องตาติดใจมาก  มีการเล่นในขบวนแห่นาคที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อน  คือ  การโยนลูกหมากดิบ  เขาเล่นกันอย่างไร  ใครสนใจลองอ่านกลอนข้างบนนี้หลาย ๆ เที่ยวเพื่อทำความเข้าใจเอาเองนะครับ

          ** วันนี้ขอแกะรอยตามท่านสุนทรภู่มาแค่บ้านกระแชงนี่ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาแกะรอยตามท่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
วันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘/ ๐๕.๔๕ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, ธันวาคม, 2562, 10:21:54 PM
(https://i.ibb.co/Bnhcksg/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พิพิธภัณฑ์บัว จังหวัดปทุมธานี

- ชีวิตและงานสุตทรภู่ ๔๕ -

"พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก
เป็นคำโลกสมมุติสุดสงสัย
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านเล่าไว้
ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์

หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง
ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญไปสูญลับ
ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง

จึงที่นี่มีนามชื่อสามโคก
เป็นคำโลกสมมุติสุดแถลง
ครั้นพระโกศโปรดปรานประทานแปลง
ที่ตำแหน่งมอญมาสามิภักดิ์

ชื่อปทุมธานีที่เสด็จ
เดือนสิบเอ็ดบัวออกทั้งดอกฝัก
มารับส่งตรงนี้ที่สำนัก
พระยาพิทักษ์ทวยหาญผ่านพารา.......”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยการเดินทางของสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศ  มาถึงบ้านกระแชง  หุงข้าวฉันเช้าแล้วก็พอดีมีการแห่นาคมาเป็นขบวนใหญ่  สาวชาวมอญรำฟ้อนอ่อนช้อยมาหน้าขบวน  มีการโยนลูกหมากดิบกันสนุกสนาน  ท่านได้เข้าร่วมขบวนแห่นาคกับเขาด้วย  วันนี้มาแกะรอยกันต่อไปนะครับ

(https://i.ibb.co/7YFLzGZ/2.jpg) (https://imgbb.com/)
สามโคก : ปทุมธานี

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านออกจากงานแห่งนาคเลยมาถึงสามโคก  ซึ่งเป็นเมืองเก่าของปทุมธานี  ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  นั้นเมื่อท่านมาถึงสามโคกก็  “โศกถวิลถึงปิ่นเกล้า”  บอกเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระราชทานนามใหม่ว่าปทุมธานีเพราะมีบัว  แต่มาคราวนี้ท่านพูดถึงสามโคกว่า  ชื่อสามโคกเพราะท้าวอู่ทองเอาเงินมากองไว้ ๓ กอง  เพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่ประชาชนที่ช่วยกันสร้างบ้านแปงเมือง  ครั้นเกิดโรคห่าลงทำให้ท้าวอู่ทองสูญหายไป  เงิน ๓ กองนี้ก็กลับกลายเป็นดินแดงกองอยู่เป็นโคกสามโคก

(https://i.ibb.co/T4fdJ4Z/004-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนชาวมอญสามโคก: ปทุมธานี

     - สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวมอญที่อพยพหลบหนีพม่ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
     - สมัยกรุงธนบุรีมีการตั้งตำแหน่งให้ผู้นำชาวมอญสามโคกมียศตำแหน่งใหญ่  เป็นที่พระยาจักรีมอญ
     - และต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยกฐานสามโคกขึ้นเป็นเมืองตรี  นามว่าปทุมธานี  บัวที่ปทุมธานีจะออกดอกออกฝักในเดือน ๑๑ ของทุกปี

“ ได้รู้เรื่องเมืองปทุมค่อยชุ่มชื่น
ดูภูมิพื้นวัดบ้านขนานหน้า
เห็นพวกชายฝ่ายมอญแต่ก่อนมา
ล้วนสักขาเขียนหมึกจารึกพุง

ฝ่ายสาวสาวเกล้ามวยสวยสะอาด
แต่ขยาดอยู่ว่านุ่งผ้าถุง
ทั้งห่มผ้าตาหรี่เหมือนสีรุ้ง
ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน

เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ
เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล
นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน
เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง

ชาวบ้านนั้นปั้นอีเลิ้งใส่เพิงพะ
กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง
เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง
ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ

เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดเจ้า
จงถามเขาคนข้างหลังที่นั่งสอน
ไม่ตอบปากบากหน้านาวาจร
คารมมอญมิใช่เบาเหมือนสาวเมืองฯ”

(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/h6.jpg) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1276) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/yV.jpg) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1277)
(ซ้าย) ลักษณะการนุ่งผ้าแหวกหน้าของหญิงชาวมอญ
(ขวา) หญิงมอญนุ่งผ้าแหวก ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม

          ชาวมอญเมืองสามโคกสมัยนั้น  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร บอกผ่านปากเณรหนูพัดว่า  ผู้ชายชาวมอญล้วนสักขาด้วยหมึกสีดำเป็นพืดไปถึงพุง (มอญพุงดำ)  ฝ่ายหญิงสาวเกล้าผมมวยนุ่งผ้าตาหรี่เหมือนสีรุ้ง  เป็นผ้าถุงนุ่งยาวกรอมลงถึงตีน  เวลาเดินก้าวเท้าทุกครั้ง  “สว่างแวบ”  ตรงหว่างขาเห็นขาอ่อนขาว ๆ  เห็นแล้วศีลเกือบขาดเลยทีเดียว  ถ้าหากท่านเคยอ่านเพจนี้มาแต่ต้น  ตอนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์พม่าสมัยพระเจ้าปดุง (ยุค ร. ๒)  คงจำได้ว่า  พระเคียนอูชาวพม่าหนึเข้ามาเมืองไทยแล้วบอกเล่าว่า  พระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งมีดำริจะให้ออกกฎหมาย  กฎหมายบังคับพระให้สึกมาเป็นทหาร คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44235#msg44235)    เพราะยามนั้นชายพม่าพากันเข้าไปบวชเรียนกันมาก  จนกำลังพลในกองทัพมีไม่พอใช้ในการศึกสงคราม  พวกอำมาตย์เสนาบดีพากันทัดทานพระราชดำรินี้  แล้วเสนอแนะให้ออกกฎหมายบังคับให้สตรีชาวพม่านุ่งผ้าถุงแหวกหน้า  ให้เห็นขาอ่อนแว้บ ๆ แวม ๆ  เพื่อพระทั้งหลายเห็นแล้วเกิดกำหนัดลาสิกขาออกมาเอง  นี่เป็นวิธีการสึกพระโดยทางอ้อมของทางการพม่า  หญิงมอญสามโคกที่ท่านสุนทรภู่เห็นและบรรยายไว้ในกลอนนิราศนี้  คงเป็นผลจากกฎหมายพม่าดังที่พระเคียนอู่บอกเล่านั่นเอง

(http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/W4.jpg) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1278)
“ตุ่มอีเลิ้ง”หรือ “ตุ่มสามโคก”
เอกลักษณ์ปากและก้นแคบ ป่องกลาง เนื้อดินสีแดงอิฐ

          อย่างไรก็ตามทีเถิด  กลอนวรรคนี้ท่านสุนทรภู่โชว์ฝีปากฝากฝีมือให้เห็นว่า  ท่านหาคำยากมาร้อยเป็นกลอนได้อย่างงดงาม  คือคำที่ว่า  “ทั้งผ้านุ่งนั้นก็อ้อมลงกรอมตีน”  ส่งด้วยคำหาสัมผัสยาก  แล้วท่านก็หาคำมารับสัมผัสได้อย่างเหมาะเจาะว่า  “ เมื่อยกเท้าก้าวย่างสว่างแวบ  เหมือนฟ้าแลบแลผาดแทบขาดศีล  นี่หากเห็นเป็นเด็กแม้นเจ๊กจีน  เจียนจะปีนซุ่มซ่ามไปตามนาง”  ท่านหาคำยากมาเล่นในกลอนบทเดียว (สี่วรรค)  ถือได้ว่าเป็นกลอนวรรคทอง  ให้ความไพเราะและภาพพจน์ (หรือภาพลักษณ์) อย่างชัดเจน  เกินคำบรรยายเป็นร้อยแก้ว  จากนั้นท่านก็เห็นชาวบ้านปั้นอีเลิ้ง  คือโอ่งหรือตุ่มใส่น้ำ  เครื่องปั้นดินเผานานาชนิดในเพิงตามริมน้ำ  ซึ่งส่วนใหญ่ช่างฝีมือเป็นหญิงชาวมอญตั้งแต่สาวรุ่นขึ้นไปถึงเฒ่าชรา  ท่านสุนทรภู่นึกสนุกก็บอกให้ศิษย์ร้องถามหญิงชาวมอญเหล่านั้นว่า  “เขาว่ามอญขวางนั้นขวางจริงหรือเปล่าจ๊ะแม่นาง”  แล้วท่านก็ถูกคารมนางมอญยอกย้อนให้ว่า  “ไม่รู้ซี  อยากรู้ก็ถามคนที่นั่งสอนอยู่ข้างหลังนั่นเถิด”  โดนยันกลับมาแบบ  “มอญยันหลัก”  อย่างนี้ท่านก็ถึงกับ  “อึ้งทึ่ง”  ไปเลย

“ ถึงบ้านงิ้วงิ้วต้นแต่พ้นหนาม
ไม่งอนงามเหมือนแม่งิ้วที่ผิวเหลือง
เมื่อแลพบหลบพักตร์ลักชำเลือง
ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม

มาลับนวลหวนให้เห็นไม้งิ้ว
เสียดายผิวพักตร์ผ่องจะหมองโฉม
เพราะเสียรักหนักหน่วงน่าทรวงโทรม
ใครจะโลมเลียมรสช่วยชดเจือฯ”

(https://i.ibb.co/ynVtrXh/mai4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)    เมื่อมาถึงบ้านงิ้ว  ท่านพูดถึงต้นงิ้วหนามแหลมคมในนรก  คนเป็นชู้กันตายไปจะตกนรกขุมนี้  แต่มาคราวนี้ท่านไม่คิดกลัวงิ้วนรกแล้ว  หากแต่ไปหวนคำนึงถึงนางเอกงิ้วที่เนื้อเหลืองสวยงามไปโน่น....

(https://i.ibb.co/Fq55CLm/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดป่างิ้ว ต. บ้านงิ้ว อ. สามโคก จ. ปทุมธานี

          วันนี้แกะรอยตามท่านสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศมาถึงบ้านงิ้วก่อนนะ  พรุ่งนี้มาแกะรอยตามกันต่อไปใหม่ครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44678#msg44678)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45037#msg45037)                   .


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, ธันวาคม, 2562, 10:57:04 PM
(https://i.ibb.co/WxXrvnp/8b597b554df4ece5fab28ec728fd26b4.jpg) (https://imgbb.com/)
พระราชวังบางปะอิน : ต. บ้านเลน อ. บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44858#msg44858)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45253#msg45253)                   .

- ชีวิตและงานสุนทรภู ๔๖ -

“ ถึงโพแตงคิดถึงแตงที่แจ้งจัก
ดูน่ารักรสชาติประหลาดเหลือ
แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ไม่มีเรือ
จะฉีกเนื้อนั่งกลืนให้ชื่นใจ

ถึงเกาะหาดราชครามรำรามรก
เห็นนกหคหากินบินไสว
เขาถากถางกว้างยาวทั้งลาวไทย
ทำนาไร่ร้านผักรั้วฟักแฟง

สุดละเมาะเกาะกว้างสว่างโว่ง
แลตะโล่งลิบเนตรทุกเขตแขวง
เห็นควันไฟไหม้ป่าจับฟ้าแดง
ฝูงนกแร้งร่อนตัวเท่าถั่วดำ

โอ้เช่นนี้มีคู่มาดูด้วย
จะชื่นช่วยชมชิมให้อิ่มหนำ
มายามเย็นเห็นแต่ของที่น้องทำ
เหลือจะรำลึกโฉมประโลมลานฯ”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ .................................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศ  ออกจากสามโคกที่เป็นเสมือนเมืองมอญ  ขึ้นสู่ทิศเหนือมาจนถึงบ้านงิ้ว  เห็นทีว่าท่านสุนทรภู่จะเคยชอบดูการแสดงงิ้ว  และติดอกติดใจนางเอกงิ้วอยู่  เมื่อถึงบ้านงิ้วคราวนี้แทนที่จะคิดถึงต้นงิ้วในนรกที่มีไว้สำหรับลงโทษคนทำบาปเรื่องการเล่นชู้กัน  ท่านกลับหวนคิดถึงนางงิ้วผิวงามเสียนี่  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านสุนทรภู่ผ่านเลยบ้านงิ้วมาถึงโพแตงที่มิได้กล่าวถึงใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  โพแตงเป็นแหล่งปลูกแตงโมที่มีรสชาติอร่อยเลิศในสมัยนั้น  มีชื่อเสียงเลื่องลือไปไกล  ครั้นเลยถึงราชครามเกาะใหญ่  มาคราวนี้ท่านเห็นชาวบ้านไทยลาว  มาถากถางป่าพงทำนาทำไร่จนสถานที่ดูโล่งแจ้ง  กว้างไกล แลเห็นนกแร้งบินอยู่บนฟากฟ้าสูงไกลลิบลิ่ว  จนแลดูว่ามีตัวขนาดเมล็ดถั่วดำเท่านั้นเอง  ยามนั้นเป็นเวลาสายัณห์ตะวันรอนแล้ว......

“ ถึงด่านทางบางไทรไขว้เฉลว
เห็นไพร่เลวหลายคนอยู่บนด่าน
ตุ้งก่าตั้งนั่งชักควักน้ำตาล
คอยว่าขานขู่คนลงค้นเรือ

ไม่เห็นของต้องห้ามก็ลามขอ
มะละกอกุ้งแห้งแตงมะเขือ
ขอส้มสูกจุกจิกทั้งพริกเกลือ
จนชาวเรือเหลือระอาด่าในใจ

แต่ลำเราเขาไม่ค้นมาพ้นด่าน
ดูภูมิฐานทิวชลาพฤกษาไสว
ถึงอารามนามอ้างวัดบางไทร
ต้นไทรใหญ่อยู่ที่นั่นต้องวันทา

เทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตพุ่ม
เพราะเคยอุ้มอุณรุทสมอุษา
ใคร่น่าจูบรูปร่างเหมือนนางฟ้า
ช่วยอุ้มพามาให้เถิดจะเชิดชม

ถนอมแนบแอบอุ้มนุ่มนุ่มนิ่ม
ได้แย้มยิ้มยวนจิตสนิทสนม
นอนเอนหลังนั่งเล่นเย็นเย็นลม
ชมพนมแนวไม้รำไรราย

ดูเหย้าเรือนเหมือนหนึ่งเขียนเตียนตลิบ
เห็นลิบลิบแลไปจิตใจหาย
เขาปลูกผักฟักถั่วจูงวัวควาย
ชมสบายบอกแจ้งตำแหน่งนาม

ถึงเกาะเกิดเกิดสวัสดิ์พิพัฒน์ผล
อย่าเกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนาม
ให้เกิดลาภราบเรียบเงียบเงียบงาม
เหมือนหนึ่งนามเกาะเกิดประเสริฐทรงฯ”

(https://i.ibb.co/TBPywYg/image.jpg) (https://imgbb.com/)
แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านที่ศูนย์บางไทร : บางไทร อยุธยา
(Cr. Photo By thai-tour.com)

          เลยเกาะใหญ่ราชคราม  ลานเท  มาถึงด่านบางไทร  เป็นด่านตรวจค้นหาของผิดกฎหมาย  ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นด่านถาวร  ไม่ใช่ด่านลอย (ชั่วคราว) ทางน้ำที่เป็นทางเดินเรือผ่านไปมามีไม้ปักทำเป็นรูปเฉลว  คือไม้ไขว้กั้นกลางลำน้ำเป็นสัญญาณให้เรือจอด  เจ้าหน้าที่จะตรวจดูวามีของผิดกฎหมายอะไรในเรือบ้างหรือไม่  ท่านว่าบนที่ทำการด่านมี  ตุ้งก่า  คือหม้อหรือบ้องสูบกัญชา ตั้งวางอยู่สำหรับเจ้าหน้าที่สูบกัญชากัน  เจ้าคนหัวหน้าด่านนั่งกุมบ้องกัญชาคอยพูดจาข่มขู่ชาวเรือ  สั่งให้ลูกน้อง (ไพร่เลว) ลงค้นเรือ  เมื่อไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย  ก็หน้าด้านพูดขอสิ่งของนานาเอาดื้อ ๆ  ไม่เว้นจะขอแม้กระทั่งพริกเกลือ  จนชาวเรือพากันอิดหนาระอาใจ  โดยไม่มีใครกล้าพูดจาคัดค้านประการใด  ได้แต่พากันก่นด่าอยู่ในใจเท่านั้นเอง

(https://i.ibb.co/zXzv3HJ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนเกาะเกิด : อยุธยา

          ส่วนเรือประทุนของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ด่านขี้กัญชาพวกนั้นตรวจค้น  เพราะเห็นเป็นเรือพระ  ท่านจึงผ่านด่านไปได้โดยสะดวกโยธิน  ริมน้ำยามนั้นพฤกษาเขียวชรอุ่มพุ่มไสวเป็นที่น่าทัศนายิ่งนัก  เรือของท่านสุนทรภู่ผ่านถึงวัดบางไทร  มีต้นไทรใหญ่ยืนต้นอยู่หน้าวัด  ท่านจึงทำความเคารพเพราะคิดว่ามีเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่  พร้อมกับอธิษฐานจิตขอให้อุ้มนางฟ้ามาให้ท่านบ้างเถิด  ในย่านวัดบางไทรนั้นมีบ้านเรือนไร่นาสวนผักมากมาย  น่าดูน่าชมเป็นยิ่งนัก  เรือลอยลำขึ้นถึงเกาะเกิด  ท่านก็อธิษฐานจิตขออย่าให้เกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนามเลย  ขอให้เกิดลาภขึ้นอย่างราบเรียบงดงามดั่งนามเกาะเกิดด้วยเถิด

“ ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแฉก
ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์
ได้นางห้ามงามพร้อมชื่อหม่อมอิน
จึงตั้งถิ่นที่เพราะเสนาะนาม

หวังถวิลอินน้องละอองเอี่ยม
แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อห้าม
จะหายศอตส่าห์พยายาม
คงจะงามพักตรพร้อมเหมือนหม่อมอิน

อาลัยน้องตรองตรึกรำลึกถึง
หวังจะพึ่งผูกจิตคิดถวิล
เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน
ไปที่ถิ่นทำรังประนังนอน

บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้
เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน
บ้างคลอเคล้าเข้าเคียงประเอียงอร
เอาปากป้อนปีกปกกกตระกอง

ที่ไร้คู่อยู่เปลี่ยวเที่ยวเดี่ยวโดด
ไม่เต้นโลดแลเหงาเหมือนเศร้าหมอง
ลูกน้อยน้อยคอยแม่ชะแง้มอง
เหมือนอกน้องตาบน้อยกลอยฤทัย

มาตามติดบิดากำพร้าแม่
สุดจะแลเหลียวหาที่อาศัย
เห็นลูกนกอกน้องนี้หมองใจ
ที่ฝากไข้ฝากผีไม่มีเลยฯ”

(https://i.ibb.co/DCmD79S/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระราชวังบางปะอิน : บางปะอิน อยุธยา

          จากเกาะเกิดก็มาถึงเกาะเรียง  หรือ  เกาะเรียน  เกาะเลน  เกาะบางนางอิน  บางปะอิน  เกาะนี้มีหลายนามที่เรียกกัน  เป็นเกาะที่มีอดีตที่เป็นเหมือนนิยายปรัมปรา  หรือ  เรื่องจริงอิงนิยายอะไรทำนองนั้น  เป็นนิทานโบราณคดีที่น่าสนใจ  กล่าวว่า  สมเด็จพระเอกาทศรถสมัยเป็นมหาอุปราช  ปลอมพระองค์เสด็จประพาสมาถึงสถานที่แห่งนี้  เกิดพายุฝนกระหน่ำหนักจนเรือพระที่นั่งล่มลง  พระองค์ว่ายน้ำมาขึ้นที่เกาะแห่งนี้  ครอบครัวชาวบ้านบนเกาะนี้มีลูกสาวชื่ออิน  ได้ตกเป็นบริจาริกา  หลังจากพระองค์เสด็จกลับพระนครแล้ว  นางมีครรภ์  พระมหาอุปราชทรงรับอุปการะเลี้ยงดูอยู่ห่าง ๆ จนประสูติพระกุมาร  และต่อมาพระกุมารนี้คือ  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  เกาะเรียง  เกาะเรียน  เกาะเลน  หรือเกาะบางนางอิน  จึงมีนามว่าบางปะอินแต่นั้นมา

(https://i.ibb.co/7zqLKX9/4-DQpj-Utz-LUwm-JZZPEb-Shy7mpnp-Ti09-QH1cuedqt-Ny-Uc1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านสุนทรภู่มาถึงเกาะบางปะอินคราวนี้กลับหวนรำลึกไปถึง  “อินน้องละอองเอี่ยม”  คือแม่ลูกอินเมืองเพชรที่ฝากรอยเล็บให้  ตามที่กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชร    วันนี้ไม่ขยายความตอนนี้ยาวละนะ  เพราะปล่อยกลอนมายาวมากแล้ว  ขอแกะรอยตามสุนทรภู่มาแค่เกาะเรียงก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้เช้ามาแกะรอยตามท่านไปใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, ธันวาคม, 2562, 10:28:30 PM
(https://i.ibb.co/7n6RWjX/1455368508.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๗ -

“ ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก
แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย
เมื่อเรียนกนจนจบถึงกบเกย
ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง

แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย
รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง
มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรมฯ”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านเดินทางแกะรอยตามสุนทรภู่ไปแสวงหายาอายุวัฒนะในนิราศวัดเจ้าฟ้า  ท่านเลยบางไทร  ผ่านเกาะเกิด  ที่มีไร่แตงโมรสอร่อยชื่อเสียงโด่งดังสมัยนั้น  ผ่านเกาะเรียงบางปะอินก็หวนคิดถึง แม่ลูกอินเมืองเพชร  ที่ฝากรอยเล็บไว้ให้ในงานตำข้าวเม่าบ้านท่านแพ่ง  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/CQDjSS6/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สะพานรักษ์ริมคลอง เกาะเรียน อยุธยา
Cr. Photo By นาย..สี่ตา
เพจ Ayutthaya Guide

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  และเป็นที่มาของเพลง  “ยากยิ่งสิ่งเดียว”  ของครูเอื้อ สุนทรสนาน  ที่นำเอากลอน  “ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก  แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย  เมื่อเรียนกนจนจบถึงกบเกย  ไม่ยากเลยเรียนได้ดังใจจง.......”  ไปแปลงเป็น  “แม่กงแม่กนจวบจนกบเกย  เคยเรียนร่ำ  บากบั่นหมั่นท่องจำไม่ลำบาก  ยากยิ่งอยู่สิ่งเดียว  เกี้ยวผู้หญิง........”   สรุปได้ว่า  การเรียนเรื่องซึ่งยากที่สุดคือการเรียนเรื่องของความรัก  ยิ่งเรียนยิ่งยุ่งยากมากปัญหา  เรียนกันจนตายไม่รู้กี่ภพกี่ชาติก็เรียนไม่จบ......

“ มาถึงวัดพนังเชิงเทิงถนัด
ว่าเป็นวัดเจ้าฟ้ากลาโหม
ผนังก่อย่อมุมเป็นซุ้มโคม
ลอยโพยมเยี่ยมฟ้านภาลัย

มีศาลาท่าน้ำดูฉ่ำชื่น
ร่มระรื่นรุกขาน่าอาศัย
บิดาพร่ำร่ำเล่าให้เข้าใจ
ว่าพระใหญ่อย่างเยี่ยงที่เสี่ยงทาย

ถ้าบ้านเมืองเคืองเข็ญจะเป็นเหตุ
ก็อาเพศพังหลุดทรุดสลาย
แม้นพาราผาสุกสนุกสบาย
พระพักตรพรายเพราพริ้มดูอิ่มองค์

แต่เจ๊กย่านบ้านนั้นก็นับถือ
ร้องเรียกชื่อว่าพระเจ้าปูนเถาก๋ง
ด้วยบนบานการได้ดังใจจง
ฉลององค์พุทธคุณกรุณัง

แล้วก็ว่าถ้าใครน้ำใจบาป
จะเข้ากราบเกรงจะทับต้องกลับหลัง
ตรงหน้าท่าสาชลเป็นวนวัง
ดูพลั่งพลั่งพลุ่งเชี่ยวน่าเสียวใจ

เข้าจอดเรือเหนือหน้าศาลาวัด
โสมนัสน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส
ขึ้นเดินเดียวเที่ยวหาสุมาลัย
จำเพาะได้ดอกโศกที่โคกนา

กับดอกรักหักเด็ดได้เจ็ดดอก
พอใส่จอกจัดแจงแบ่งบุปผา
ให้กลั่นมั่งทั้งบุนนากเพื่อนยากมา
ท่านบิดาดีใจกระไรเลย......”

(https://i.ibb.co/QKjCC2C/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพนัญเชิงวรวิหาร : บ้านคลองสวนพลู อยุธยา

          เรือพาหนะคู่ใจลอยลำจากบางปะอินขึ้นถึงวัดพนัญเชิง  วัดนี้เรียกผิดเพี้ยนกันไปตามยุคสมัย  สุนทรภู่เรียกตามชาวบ้านสมัยนั้นว่า  พนังเชิง  ก่อนหน้านั้นในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯเรียกว่า  วัดพแนงเชิง  นิทานโบราณคดีเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมากเรียกว่า  วัดพระนางเชิง  ตั้งอยู่ริมลำน้ำแม่เจ้าพระยาฟากตะวันออก  บ้านคลองสวนพลู  ตรงหน้าวัดเป็นวังน้ำวน  กระแสน้ำเชี่ยวกรากมาก  เรือน้อยใหญ่มักจะล่มจมลงในวังน้ำวนนี้เสมอมา

(https://i.ibb.co/q0GYsff/image.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก (ซำปอกง) วัดพนัญเชิง อยุธยา

          พระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเป็นพระประธานในวัดนี้  ผู้คนจำนวนมากนับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์  โดยเฉพาะชาวจีนเคารพนับถือกันมาก  เรียกกันว่า  “ซำปอกง”  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ได้บอกเล่าลูก ๆ และศิษย์ของท่านว่า  พระใหญ่ประจำวัดนี้เป็นพระเสี่ยงทาย  ยามใดที่บ้านเมืองจะเคืองเข็ญก็มักจะเกิดอาเพศพังทรุดหลุดสลาย  ยามที่บ้านเมืองมีความผาสุกสนุกสบาย  พระพักตร์องค์พระจะเอิบอิ่มยิ้มพราย  พวกเจ๊กจีนเรียกพระใหญ่องค์นี้ว่า  “พระเจ้าปูนเถาก๋ง” (ปุงเถ้ากง, ซำปอกง)  มีผู้คนพากันมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวขออะไร ๆ กันมากมาย  ถ้าใครมีน้ำใจบาปหยาบช้าจะเข้ากราบไหว้  ก็รู้สึกว่าองค์พระจะล้มทับไม่กล้ากราบไหว้  ต้องรีบถอยหนีไป  ท่านสั่งให้จอดเรือเหนือศาลาท่าน้ำแล้วพาศิษย์ขึ้นไปนมัสการ .........

“ ว่าโศกรักมักร้ายต้องพรายพลัด
ถวายวัดเสียก็ถูกแล้วลูกเอ๋ย
แล้วห่มดองครองงามเหมือนตามเคย
ลีลาเลยเลียบตะพานขึ้นลานทราย

โอ้รินรินกลิ่นพิกุลมาฉุนชื่น
หอมแก้วรื่นเรณูไม่รู้หาย
หอมจำปาหน้าโบสถ์สาโรชราย
ดอกกระจายแจ่มกลีบดังจีบเจียน

ดูกุฎีวิหารสะอ้านสะอาด
รุกขชาติพุ่มไสวเหมือนไม้เขียน
ดูภูมิพื้นรื่นราบด้วยปราบเตียน
แล้วเดินเวียนทักษิณพระชินวร

ได้สามรอบชอบธรรมท่านนำน้อง
เข้าในห้องเห็นพระเจ้าเท่าสิงขร
ต่างจุดธูปเทียนถวายขจายจร
ท่านบิดรได้ประกาศว่าชาตินี้

ทั้งรูปชั่วตัวดำทั้งต่ำศักดิ์
ถวายรักไว้กับศีลพระชินสีห์
ต่อเมื่อไรใครรักมาภักดี
จะอารีรักตอบด้วยขอบคุณ

แต่หนูกลั่นนั้นว่าจะหาสาว
ที่เล็บยาวโง้งโง้งเหมือนโก่งกระสุน
ทั้งเนื้อหอมกล่อมเกลี้ยงเพียงพิกุล
กอดให้อุ่นอ่อนก็ว่าไม่น่าฟัง

ฉันกับน้องมองแลดูแต่พระ
สาธุสะสูงกว่าฝาผนัง
แต่พระเพลาเท่าป้อมที่ล้อมวัง
สำรวมนั่งปลั่งเปล่งเพ่งพินิจ

ตัวของหนูดูจิ๋วเท่านิ้วพระหัตถ์
โตถนัดหนักนักจึงศักดิ์สิทธิ์
ศิโรราบกราบก้มบังคมคิด
รำพึงพิษฐานในใจจินดา

ขอเดชะพระกุศลปรนนิบัติ
ที่หนูพัดพิศวาสพระศาสนา
มาเคารพพบพุทธปฏิมา
เป็นมหาอัศจรรย์ในสันดาน

ขอผลาอานิสงส์จงสำเร็จ
พระสรรเพชญ์พ้นหลงในสงสาร
แม้นยังไม่ถึงที่พระนฤพาน
ขอสำราญราคีอย่าบีฑา

จะพากเพียรเรียนวิสัยแต่ไตรเพท
ให้วิเศษแสนเอกทั้งเลขผา
แม้นรักใครให้คนนั้นกรุณา
ชนมายืนเท่าเขาพระเมรุ

ขอรู้ทำคำแปลแก้วิมุติ
เหมือนพระพุทธโฆษมหาเถร
มีกำลังดังมาฆะสามเณร
รู้จัดเจนแจ้งจบทั้งภพไตร.....”

(https://i.ibb.co/L0fdsfW/D8-SOXZv-U8-AEv-P8-V.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านบอกเณรหนูพัดที่ไปเก็บดอกโศก  ดอกรัก  มาแบ่งปันกันบูชาพระว่า  ดอกรัก ดอกโศก มักทำให้พลัดพรากจากกัน  นำมาถวายบูชาพระเสียก็ดีแล้ว  จากนั้นจึงพาศิษย์เดินเวียนรอบสถานที่ประดิษฐานองค์พระเป็นประทักษิณ ๓ รอบ  รอบ ๆ พระวิหารนั้นมีดอกไม้นานาพรรณ  ที่หน้าโบสถ์มีจำปา (จำปาลาว = ลั่นทม) ออกดอกบานขาวสะพรั่งสงกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ  จากนั้นจึงพาศิษย์เข้ากราบไหว้องค์พระในพระวิหาร  แล้วก็นำอธิษฐาน  ดังใจความในกลอนข้างบนนี้

          ** ขออนุญาตไม่ขยายความกลอนอธิษฐานนะครับ  เพราะเป็นความยืดยาวมาก  วันนี้ขอหยุดพักอยู่ตรงหน้าพระพุทธไตรรัตนนายกวัดพนัญเชิงนี้ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้เช้ามาแกะรอยตามท่านสุนทรภู่ต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, ธันวาคม, 2562, 11:02:16 PM
(https://i.ibb.co/1nZT6X3/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ชัยมงคล (วัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๘ -

อนึ่งเล่าเจ้านายที่หมายพึ่ง
ให้ทราบซึ่งสุจริตพิสมัย
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย
น้ำพระทัยทูลเกล้าให้ยาวยืน

แล้วลาพระปฏิมาลีลาล่อง
เข้าในคลองสวนพลูค่อยชูชื่น
ชมแต่ไม้ไผ่พุ่มดูชุ่มชื้น
หอมระรื่นลำดวนรัญจวนใจ

โอ้ยามนี้มิได้พบน้ำอบสด
มาเชยรสบุปผาน้ำตาไหล
ยิ่งเสียวทรวงง่วงเหงาเศร้าฤทัย
มาเหงื่อไคลคล่ำตัวต้องมัวมอม

นิจจาเอ๋ยเคยบำรุงผ้านุ่งห่ม
เคยอบรมร่ำกลิ่นไม่สิ้นหอม
เหมือนหายยศหมดรักมาปลักปลอม
จนซูบผอมผิวคล้ำระกำใจ.......”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้า  ท่านออกเรือจากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือตามลำน้ำแม่เจ้าพระยา  ผ่านสถานที่ต่าง ๆ ถึงวัดพนัญเชิง  พาลูกและศิษย์ขึ้นจากเรือไปไหว้หลวงพ่อโต  พระพุทธไตรรัตนนายก  “ซำปอกง”  แล้วอธิษฐานขอตามใจปรารถนา  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/1qtNHG8/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวานวาน  ท่านอธิษฐานขอให้ได้เจ้านายที่ดีเป็นที่พึ่งคนใหม่  จบคำอธิฐานแล้วก็กราบลาพระซำปอกงออกจากพระวิหารลงเรือ  และสั่งออกเรือเดินทางต่อไป  โดยเข้าในคลองสวนพลูอันร่มรื่นไปด้วยป่าไม้ไผ่ดูชุ่มชื่นรื่นรมย์  หอมดอกลำดวนรัญจวนใจ  ทำให้ต้องคร่ำครวญหวนหาความหอมของน้ำอบน้ำปรุงที่เคยได้รับในขณะที่อยู่ในยศตำแหน่ง  เมื่อหมดยศศักดิ์แล้วก็ต้องมาร่อนเร่เอกาอนาถา......

“ จึงมาหายาอายุวัฒนะ
ตามได้ปะลายแทงแถลงไข
เข้าลำคลองล่องเรือมาเหลือไกล
ถึงวัดใหญ่ชายทุ่งดูวุ้งเวิ้ง

พระเจดีย์ที่ยังอยู่ดูตระหง่าน
เป็นประธานทิวทุ่งดูสูงเทิ่ง
ต้นโพธิ์ไทรไม้พุ่มเป็นซุ้มเซิง
ขึ้นรอบเชิงชั้นล่างข้างเจดีย์

เสียดายนักหักทรุดชำรุดร้าง
ใครจะสร้างสูงเกินจำเริญศรี
ท่านบิดาว่าถึงให้ใหญ่กว่านี้
ก็ไม่มีผู้ใดว่าใหญ่โต

ผู้หญิงย่านบ้านเราชาวบางกอก
เขาอมกลอกกลืนพระเสียอะโข
แต่พระเจ้าเสาชิงช้าที่ท่าโพธิ์
ก็เต็มโตแต่ชาววังเขายังกลืน

ฉันกลัวบาปกราบพระอย่าปะพบ
ไม่ขอคบคนโขมดที่โหดหืน
พอฟ้าคลุ้มพุ่มพฤกษ์ดูครึกครื้น
เงาทะมื่นมืดพยับอับโพยม.......”

(https://i.ibb.co/Xx4pBf5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดใหญ่ชัยมงคล : อยุธยา

          เรือถูกแจวลอยลำแล่นผ่านถึงวัดใหญ่ชายทุ่ง  ซึ่งเข้าใจกันได้ว่าคือวัดใหญ่ชัยมงคล  หรือวัดป่าแก้วที่สถิตของพระพนรัตที่สมเด็จพระนเรศวรทรงเคารพนับถือ  และทรงทะนุบำรุงวัดนี้  สร้างพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่  และสร้างพระพิมพ์ขุนแผนบรรจุไว้ในพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก (มีทั้งแบบดินเผาเคลือบและไม่เคลือบ)  วันที่ท่านผ่านมาถึงวัดนี้  สภาพของวัดที่เสนาสนะปรักหักพัง  อยู่ในป่ารกร้าง  องค์พระเจดีย์ชำรุดทรุดโทรม  แต่ยังแลเห็นเด่นตระหง่านอยู่ชายทุ่ง  กลอนตอนนี้ไม่รู้ว่าพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  เขียนกระแนะกระแหนใครในเมืองกรุงว่า  พระองค์ใหญ่ ๆ โตก็ยังกลืนกินกันได้  น่าจะหมายถึงการอัญเชิญพระโตจากสุโขทัยลงกรุงเทพฯ  เอาไปตั้งกลางแจ้งแถวเสาชิงช้า  แล้วจัดสร้างพระวิหารใหญ่อย่างล่าช้า  เพราะมีการกินค่าจ้างแรงงานอะไรกันมากมายกระมัง  ท่านภู่จึงว่า  คนกรุงเทพฯ อมกลืนพระโต  ยามนั้นเรือลอยลำมาถึงย่านวัดใหญ่ชัยมงคลแล้วก็พอดีฟ้าคลุ้มมืดครึ้มหมู่เมฆทึบทะมึนลอยมา.....

“ พายุฝนอนธกาลสะท้านทุ่ง
เป็นฝุ่นฟุ้งฟ้าฮือกระพือโหม
น้ำค้างชะประเปรยเชยชโลม
ท่านจุดโคมขึ้นอารามต้องตามไป

เที่ยวหลีกรกวกวนอยู่จนดึก
เห็นพุ่มพฤกษ์โพธิ์ทองที่ผ่องใส
ตักน้ำผึ้งครึ่งจอกกับดอกไม้
จุดเทียนใหญ่อย่างตำราบูชาเชิญ

หวังจะปะพระปรอทที่ยอดยิ่ง
ประนมนิ่งนึกรำพันสรรเสริญ
สำรวมเรียนเทียนอร่ามงามจำเริญ
จนดึกเกินไก่ขันหวั่นวิญญา

ทั้งเทียนดับศัพท์เสียงสำเนียงเงียบ
เย็นยะเยียบน้ำค้างพร่างพฤกษา
เห็นแวววับลับลงตรงนัยนา
ปรอทมาสูบซึ้งน้ำผึ้งรวง...”

(https://i.ibb.co/W2FxBn8/2.jpg) (https://imgbb.com/)

          พายุฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก  ท่านแลเห็นโคมไฟในวัดจึงสั่งแจวเรือเข้าไป  เรือก็หลีกหลบแมกไม้วกไปวนมาอยู่จนดึก  เห็นต้นโพธิ์ใหญ่ใบหนา(โพธิ์ทอง)  จึงให้จอดเรือกระทำพิธีสักการบูชา  เทน้ำผึ้งจากชวดใส่จอกได้ครึ่งจอก  จัดดอกไม้วางเคียงจอกน้ำผึ้ง  จุดเทียนเล่มใหญ่บูชาตามตำราอัญเชิญพระปรอท  แล้วนั่งภาวนาทำใจให้เป็นสมาธิ  เป็นเวลานานสองนานจนเทียนดับไป  บรรยากาศสงบเงียบ  เสียงไก่ขันแว่วมาเป็นสัญญาณบอกว่าค่อนแจ้งแล้ว  บัดนั้นก็เกิดแสงวับลับลงมาจึงเห็นว่า  พระปรอทลงมาดูดกินน้ำผึ้งแล้ว !

          พระปรอทเป็นสารเหลวชนิดหนึ่ง  บางท่านก็ว่าเป็นอย่างเดียวกันกับเหล็กไหล  พระปรอท  และเหล็กไหลถือเป็นธาตุกายสิทธิ์  ลอยไปมาได้เอง  ชอบกินน้ำผึ้ง  หากใครได้มาไว้ในครอบครองถ้าบุญไม่มีพอ  ปรอท-เหล็กไหลก็จะหนีหายไป  คืนนี้พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ทำพิธีเชิญพระปรอทในป่าใหญ่ย่านวัดใหญ่ชัยมงคลตลอดคืน  จนมาได้ผลตอนเวลาใกล้รุ่งมีเสียงไก่ขันยามรับอุษาแล้ว  จึงปรากฏว่ามีพระปรอทมาลงกินน้ำผึ้งในจอกของท่าน ........

          ** ขอพักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปก็แล้วกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, ธันวาคม, 2562, 10:21:05 PM
(https://i.ibb.co/kxBfr7L/1195109535.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๔๙ -

"ครั้นคลำได้ในกลางคืนก็ลื่นหลุด
ต้องจัดจุดธูปเทียนเวียนบวงสรวง
ประกายพรึกดึกเด่นขึ้นเห็นดวง
ดังโคมช่วงโชติกว่าบรรดาดาว

จักจั่นแจ้วแว่วหวีดจังหรีดหริ่ง
ปี่แก้วกริ่งตรับเสียงสำเนียงหนาว
ยิ่งเย็นฉ่ำน้ำค้างลงพร่างพราว
พระพายผ่าวพัดไหวทุกใบโพธิ์

พอรุ่งแรกแปลกกลิ่นระรื่นรื่น
โอ้หอมชื่นช่อมะกอกดอกโสน
เหมือนอบน้ำร่ำผักประสาโซ
สะอื้นโอ้อารมณ์ระทมทวี......”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ตามหายาอายุวัฒนะในลายแทง  จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่วัดเจ้าฟ้าอากาศที่ระบุไว้ในลายแทงนั้น  มาถึงวัดที่เชื่อได้ว่าคือวัดใหญ่ชัยมงคล  หรือวัดป่าแก้วอันโด่งดังในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  มาถึงวัดนี้เป็นเวลาเย็นย่ำสนธยาแล้ว  ครานั้นเกิดพายุฝนหนัก  ท่านเห็นโคมไฟจุดส่องแสงอยู่ในวัด  จึงสั่งให้แจวเรือเข้าไป ณ ที่เห็นแสงโคมไฟนั้น  ท่ามกลางลมฝนกระหน่ำหนัก  เรือถูกแจววกไปวนมาจนดึก  แล้วเข้าไปถึงต้นโพธิ์ทองในกลางป่า  เข้าใจว่าเป็นโพธิ์ทองที่ศักดิ์สิทธิ์เห็นทีว่าจะมีพระปรอทอยู่  จึงจอดเรือใต้ต้นโพธิ์  เทน้ำผึ้งออกจากขวดใส่จอกได้ครึ่งจอกแล้วจัดดอกไม้วางเคียงจอกน้ำผึ้ง  จุดเทียนเล่มใหญ่ปักบูชา  ทำพิธีเชิญพระปรอท  จนเวลาเลยเที่ยงคืนไปแล้วจึงปรากฏว่ามีพระปรอทลงมาดูดกินน้ำผึ้ง วันนี้มาดูความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/G0T8bZD/images-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านเล่าว่า  เมื่อเห็นปรอทลงมาดูดกินน้ำผึ้งจึงรีบเอามือคลำจับปรอทนั้น  แต่พระปรอทก็ลื่นหลุดมือไป  ต้องจุดธูปเทียนเวียนบวงสรวงกันใหม่  จนกระทั่งดาวประกายพรึก (ดาวประจำเมือง) ลอยเด่นขึ้นกลางฟ้าเบื้องปัจจิมทิศ  เสียงจักจั่นจังหรีดขยับปีกกรีดร้องประชันเสียง  และสอดแทรกด้วยเสียงกรีดของงูปี่แก้ว  เพิ่มความวิเวกวังเวงของบรรยากาศค่อนแจ้งมากขึ้น  สายลมเย็นเริ่มผ่าวพัดใบโพธิ์พลิ้วไหวไปทั้งต้น  หอบพาเอากลิ่นช่อมะกอกดอกโสนมารวยรื่นให้ชื่นใจ........

“หวังจะปะพระปรอทที่ปลอดปล่ง
ทั้งสามองค์เอาไว้ก็ไพล่หนี
เชิญพระธาตุราธนาทุกราตรี
อาบวารีทิพรสหมดมลทิน

ที่ธุระพระปรอทเป็นปลอดเปล่า
ยังดูเลาลายแทงแสวงถวิล
ท่านนอนอ่านลานใหญ่ฉันได้ยิน
ว่ายากินรูปงามอร่ามเรือง

แม้ฟันหักจักงอกผมหงอกหาย
แก่กลับกลายหนุ่มเนื้อนั้นเรื่อเหลือง
ตะวันออกบอกแจ้งเป็นแขวงเมือง
ท่านจัดเครื่องครบครันทั้งจันทร์จวง

กับหนูกลั่นจันมากบุนนากหนุ่ม
สักสิบทุ่มเดินมุ่งออกทุ่งหลวง
มาตามลายปลายคลองถึงหนองพลวง
แต่ล้วนสวงสาหร่ายเห็นควายนอน

นึกว่าผีตีฆ้องป่องป่องโห่
มันผลุดโผล่พลุ่งโครมถีบโถมถอน
เถาสาหร่ายควายกลุ่มตะลุมบอน
ว่าผีหลอนหลบพัลวันเวียน......

(https://i.ibb.co/zJ7QPwW/559000009186601.jpg) (https://imgbb.com/)

          ผลของการนั่งสมาธิภาวนาเชิญพระปรอทในคืนนั้น  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ผิดหวังหวุดหวิดจะได้พระปรอท  ท่านเชิญมาได้ถึง ๓ องค์  แต่จับหลุดมือไปหมดทั้ง ๓ องค์  เมื่อผิดหวังจากพระปรอทแล้ว  ท่านก็นำใบลานที่จารึกลายแทงมาอ่านทบทวน  อ่านช้า ๆ ออกเสียงดัง ๆ เพื่อย้ำความเข้าใจ  ความในใบลานบอกสรรพคุณของยาว่า  กินแล้วรูปร่างจะงดงามผิวกายชายเหลืองอร่ามเรือง  แม้ฟันหักก็จะงอกขึ้นมาใหม่  ผมที่หงอกขาวก็จะกลับดำ  ความแก่ชราก็จะกลับกลายเป็นหนุ่ม  สถานที่ซึ่งซ่อนยาอายุวัฒนะนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของแขวงเมืองอยุธยา  จากนั้นท่านก็จัดเครื่องสังเวยบูชาครบครัน  ประมาณ ๑๐ ทุ่มคืนนั้น  จึงพร้อมด้วยศิษย์  มีหนูกลั่น  จัน  มาก  บุนนาก  ขึ้นบกเดินมุ่งออกทุ่งหลวง  ตามลายแทงที่ระบุว่าอยู่ทางทิศตะวันออก (เฉียงเหนือ) กรุงเก่านั้น  เดินตามปลายคลองถึงหนองพลวง  เห็นควายนอนอยู่ในหนองที่เต็มไปด้วยสาหร่าย  เข้าใจผิดคิดว่าผี  จึงตีฆ้องป่อง ๆๆ  พร้อมส่งเสียงโห่  ควายตกใจก็ผลุดขึ้นพลุ่งโครม  สาหร่ายคลุมเต็มตัวปิดตามองอะไรไม่เห็น  ก็หมุนหุนหันเวียนไปมา......

“ พอเสียงร้องมองดูจึงรู้แจ้ง
เดินแสวงหาวัดฉวัดเฉวียน
พอเช้าตรู่ดูทางมากลางเตียน
ถึงป่าเกรียนเกรียวแซ่จอแจจริง

กระจาบจับนับหมื่นดูดื่นดาษ
เหมือนตลาดเหลือหูเพราะผู้หญิง
เหมือนโกรธขึ้งหึงหวงด้วยช่วงชิง
ชุมจริงจริงจิกโจดกระโดดโจน

จนต้นไม้ใบงอกออกไม่รอด
ดูกรองกรอดเกรียมกรอยกรองกรอยโกร๋น
ลมกระทั่งรังกระจาบระยาบโยน
ตัวมันโหนห่วงคู่คอยดูคน

บ้างคาบแขมแซมรังเหมือนดังสาน
สอดชำนาญเหน็บฝอยเหมือนร้อยสน
จิกสะบัดจัดแจงสอดแซงซน
เปรียบเหมือนคนช่างสะดึงรู้กรึงกรอง

โอ้ว่าอกนกยังมีรังอยู่
ได้เคียงคู่ค่ำเช้าไม่เศร้าหมอง
แม้นร่วมเรือนเหมือนหนึ่งนกกกประคอง
แต่สักห้องหนึ่งก็เห็นจะเย็นใจ......”

(https://i.ibb.co/8jxPD6w/2.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าตอนนี้มีฮา  เมื่อบรรดาศิษย์พระภิกษุภู่ที่ร่วมเดินทางขึ้นบกกับพระอาจารย์  มุ่งออกท้องทุ่งทางทิศตะวันออกแขวงกรุงเก่าไปถึงหนองพลวง  เห็นควายนอนแช่อยู่ในหนองสาหร่ายเข้าใจว่าเป็นผี  จึงตีฆ้องโห่ร้องไล่ผี  ควายได้ยินเสียงก็ตกใจทะลึ่งพรวดขึ้นจากน้ำ  สาหร่ายคลุมเต็มหัวมองไม่เห็นหน  ก็มุ่นวนเวียนอยู่ในหนอง  กว่าจะรู้ว่าเป็นควาย  พวกศิษย์ท่านก็ตกใจจนแทบขวัญหนีดีฝ่อทีเดียว

(https://i.ibb.co/3TWh0kN/w644-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นแสงเงินแสงทองส่องฟ้าเป็นเวลารุ่งอรุณของวันใหม่ก็เดินทางถึงป่าเกรียน  ที่เรียกว่าป่าเกรียนก็เพราะว่า  ต้นไม่ในป่านั้นใบโกร๋นหมด  มีนกกระจาบนับหมื่น ๆ ตัวจับต้นไม้  ทั้งจิกทั้งขี้รดใบไม้จนงอกไม่ขึ้น  พวกมันทำรังห้อยโตงเตงตามกิ่งไม้เต็มไปหมด  เช้ามืดวันนั้น  คณะพระภิกษุภู่เดินทางเข้าไปถึงป่ารังนกกระจาบต่างก็แสบแก้วหู  เพราะนกมันส่งเสียงร้องพร้อม ๆ กันเป็นเสียงจากหมื่น ๆ ตัวจนฟังไม่ได้ศัพท์  เหมือนกับเข้าไปในตลาดจอแจที่เต็มไปด้วยผู้หญิงส่งเสียงพูดจากันเจียวจาวเซ็งแซ่ไปหมด  ท่านพูดถึงนกกระจาบที่มันเป็นยอดวิศวกรโยธาสามารถไปเที่ยวหาใบแขมใบอ้อใบพง  คาบมาถักร้อยทำรวงรังของมัน  ในบรรดารังนกทั้งหมด  นกกระจาบเป็นนกที่ทำรังอยู่ได้อย่างสวยงามที่สุด  ป่านกกระจาบแห่งนั้น  แทนที่ต้นไม้จะมีใบเขียวชรอุ่มพุ่มไสว  ร่มรื่นชื่นชุ่ม  แต่กลับเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยรังนกกระจาบห้อยย้อยระย้าเต็มไปหมด  ช่างงดงามเหลือเกินแล้ว

          ** วันนี้แกะรอยตามสุนทรภูมาถึงป่านกกระจาบริมหนองพลวงนี้ก่อนนะ  แล้วค่อยมาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มกราคม, 2563, 10:55:18 PM
(https://i.ibb.co/FbY0h8F/556000012759106.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๐ -

จนพ้นป่ามาถึงโป่งหอยโข่งคุด
มันหมกมุดเหมือนเขาแจ้งแถลงไข
เห็นตาลโดดโขดคุ่มกับพุ่มไม้
มีทิวไผ่พงรายเหมือนลายแทง

ท่านหลีกลัดตัดทางไปกลางทุ่ง
ตั้งแต่รุ่งไปจนแดดก็แผดแสง
ได้พักเพลเอนนอนพอผ่อนแรง
ต่ออ่อนแสงสุริยาจึงคลาไคล.......”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยการเดินทางของสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้าเสาะหายาอายุวัฒนะตามลายแทง  ท่านไปจอดเรือไว้แถว ๆ วัดใหญ่ชัยมงคล  แล้วขึ้นบกเดินเท้าไปตามลายปลายคลองถึงหนองพลวง  พบควายนอนอยู่ในหนองที่เต็มไปด้วยสาหร่ายเข้าใจว่าเป็นผี  ศิษย์จึงตีฆ้องร้องโห่ไล่  ทั้งคนทั้งควายต่างตกใจจนเป็นเรื่องขำขัน  จากนั้นก็เดินตัดทุ่งเข้าไปในป่าเกรียน  ต้นไม้ใบโกร๋นมีแต่รังนกกระจาบห้อยโตงเตงเต็มต้นไม้ทุกต้น  เสียงนกกระจาบร้องเจี๊ยวจ๊าวจอแจ  วันนี้มาแกะรอยตามท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/T1gZXmG/8.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านบอกว่า  เมื่อเดินพ้นป่านกกระจาบก็มาถึงโป่งหอยโข่งคุด  ซึ่งมีหอยโข่งคุดหมกตัวอยู่ในดินเป็นอันมาก  เห็นต้นตาลโดดอยู่บนโขดเนิน  มีพุ่มไม้พงไผ่รายดูเหมือนลายแทง  เดินอยู่ในทุ่งกว้างตั้งแต่รุ่งเช้าของวันนั้นจนถึงเวลาเพลจึงพักฉันอาหาร  และเอนกายนอนพักเหนื่อย  พอได้แรงแสงแดดอ่อนจึงเริ่มเดินทางต่อไป

“แต่แรกดูครู่หนึ่งจะถึงที่
เหมือนถอยหนีห่างเหินเดินไม่ไหว
เหมือนเรื่องรักชักชิดสนิทใน
มากลับไกลเกรงกระดากต้องลากจูง

พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด
ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูนสูง
เที่ยวเลียบชมลมเย็นเห็นนกยูง
เป็นฝูงฝูงฟ้อนหางที่กลางทราย

ทำกรีดปีกหลีกเลี่ยงเข้าเคียงคู่
คอยแฝงดูดังระบำรำถวาย
กระหวัดวาดยาตรเยื้องชำเลืองกราย
เหมือนละม้ายหม่อมละครเมื่อฟ้อนรำ

โอ้เคยเห็นเล่นงานสำราญรื่น
ได้แช่มชื่นเชยชมที่คมขำ
มาห่างแหแลลับจับระบำ
เห็นแต่รำแพนนกน่าอกตรม

ออกกรูไล่ไปสิ้นขึ้นบินว่อน
แฉลบร่อนบินตามดูงามสม
เห็นเชิงไทรไผ่โพธิ์ตะโกพนม
ระรื่นรมย์รุกขชาติดาษเดียร....”

(https://i.ibb.co/ZYPq0MN/556000000503205.jpg) (https://imgbb.com/)

          ออกเดินทางต่อตามภาพที่เห็นอยู่ไกล ๆ  แต่ดูเหมือนยิ่งเดินเข้าหาภาพนั้นก็ยิ่งถอยหนีห่างออกไป  จนกระทั่งถึงเวลาเย็นจึงรีบเดินด่วนถึงต้นตาลโดด(ตาลเดี่ยว) บนโคกพูนมูนดินสูง  เดินขึ้นไปบนโคกแล้วเลาะเลียบชมทั่วป่าบริเวณนั้น  เห็นฝูงนกยูงกำลังแพนหางฟ้อนกันอยู่กลางลานทรายอย่างสวยงาม  ดูราวกะนางละครฟ้อนรำระบำถวายกระนั้นเทียว  ท่านแอบดูไปใจก็รำพึงถึงนางละครที่เคยชมในราชสำนัก  ด้วยความอาลัยอาวรณ์  จึงเดินออกจากที่ซุ่มซ่อน  นกยูงเห็นเข้าก็พากันบินหนีไป  เมื่อเดินต่อไปในป่าโปร่งอันรื่นรมย์นั้นก็เห็นเป็น  ร่มไทร  ร่มโพธิ์  ตะโก  กอไผ่ใหญ่น้อยขึ้นอยู่เรียงราย

“ พิกุลออกดอกหอมพะยอมย้อย
นกน้อยน้อยจิกจับเหมือนกับเขียน
ในเขตแคว้นแสนสะอาดดังกวาดเตียน
ตลิบเลี่ยนลมพัดอยู่อัตรา

สารภีที่ริมโบสถ์สาโรชร่วง
มีผึ้งรวงรังสิงกิ่งพฤกษา
รสเร้าเสาวคนธ์สุมณฑา
ภุมราร่อนร้องละอองนวล

โอ้บุปผาสารีส่าหรีรื่น
เป็นที่ชื่นเชยถนอมด้วยหอมหวน
เห็นมาลาอาลัยใจรัญจวน
เหมือนจะชวนเชษฐาน้ำตากระเด็น

โอ้ยามนี้ที่ตรงนึกรำลึกถึง
มาเหมือนหนึ่งใจจิตที่คิดเห็น
จะคลอเคียงเรียงตามเมื่อยามเย็น
เที่ยวเลียบเล่นแสนเพลินจำเริญตา

โบสถ์วิหารฐานปัทม์ยังมีมั่ง
เชิงผนังหนาแน่นด้วยแผ่นผา
สงสารสุดพุทธรัตน์ปัฏิมา
พระศิลาแลดูเป็นบูราณ

อุโบสถหมดหลังคาผนัง
พระเจ้านั่งอยู่แต่องค์น่าสงสาร
ด้วยเรื้อรังสร้างสมมานมนาน
แต่บูราณเรื่องพระเจ้าตะเภาทอง......”

(https://i.ibb.co/HNn08rc/03190215875021.jpg) (https://imgbb.com/)

          คำกลอนช่วงตอนนี้ให้ความไม่ชัดเจนนักเลยครับ  คือความตั้งแต่เรือท่านมาถึงวัดใหญ่ชัยมงคล  แล้วเรือวกวนพลัดเข้าไปในป่าจนถึงต้นโพธิ์ทองที่ท่านทำพิธีอัญเชิญพระปรอท  แล้วขึ้นบกเดินตามคลองไปถึงหนองพลวง  เลยหนองพลวงเข้าป่าโกร๋นที่อยู่ของนกกระจาบเป็นหมื่น ๆ ตัว  พ้นป่านกกระจาบไปถึงโป่งหอยโข่งคุด  จากโป่งหอยโข่งคุดแล้ว  เข้าป่าที่มีต้นตาลโดดเดียวอยู่บนโคก  แล้วก็เห็นนกยูงเป็นฝูงรำแพนอยู่กลางลานทราย  พบซากปรักหักพังของโบสถ์วิหาร  และพระพุทธรูปศิลา  ความเหล่านี้ดูจะเป็นเหมือนความคิดจินตนาการเอาเอง  โดยไม่มีสถานที่จริง

(https://i.ibb.co/KD44gZT/30-4-728x485.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองข้าวเม่า : อยุธยา

          บอกตรง ๆ ว่าผมแกะรอยตามท่านมาด้วยความมึนงงมากเลย  หากจะให้ผมเดาทิศทางตามกลอนที่ท่านแต่งไว้ตอนนี้  ก็พอจะเดาได้ว่า  ท่านได้จอดเรือไว้ในคลอง  หรือ  ลำน้ำป่าสัก  แล้วขึ้นบกเดินออกมาทางคลองข้าวเม่า  ตามเส้นทางที่พระยาตากหนีพม่าวันกรุงศรีอยุธยาแตก  เพราะท่านว่าลายแทงนั้นระบุว่ายาอายุวัฒนะอยู่ทางทิศตะวันออกของแขวงกรุงเก่า  ผมคาดเดาเอาว่า  วัดในป่าที่มีต้นตาลเดี่ยวเป็นสัญลักษณ์นี้อยู่แถวอำเภออุทัยฯ ในปัจจุบันนี่เอง

          ** พักไว้ตรงนี้ก่อนนะ  นิราศมาถึงจุดหมายปลายทางตามลายแทงใกล้จะจบแล้ว  พรุ่งนี้มาแกะรอยตามท่านในตอนท้าย ๆ ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มกราคม, 2563, 10:16:20 PM
(https://i.ibb.co/Nprq2xW/4093014146-daf8ee3705-z.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๑ -

“ มาเที่ยวเล่นเห็นหินบนดินโขด
เดี่ยวสันโดษดังสำลีไม่มีหมอง
จึงจัดช่างสร้างอารามตามทำนอง
ทรงจำลองลายหัตถ์เป็นปัฏิมา

รูปพระเจ้าเท่าองค์แล้วทรงสาป
ให้อยู่ตราบศักราชพระศาสนา
พระฤๅษีสี่องค์เหาะตรงมา
ถวายยาอายุวัฒนะ

เธอไม่อยู่รู้ว่าหลงในสงสาร
ซ้ำให้ทานแท่งยาอุตสาหะ
ใส่ตุ่มทองรองไว้ที่ใต้พระ
ใครพบปะเปิดได้เอาไปกิน

ช่วยสร้างโบสถ์โขดเขื่อนให้เหมือนเก่า
นามนั้นเขาเขียนแจ้งที่แท่งหิน
วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์
ได้ทราบสิ้นสืบสายเพราะลายแทง......”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ที่เดินทางตามลายแทงไปหายาอายุวัฒนะที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ  ระยะทางจากวัดใหญ่ชัยมงคล  กรุงเก่า ค่อนข้างจะเลอะเลือน  ตำแหน่งและเส้นทางคือสถานที่เดินบกผ่านไปนั้นไม่ชัดเจน  พอจะเดาสุ่มเอาว่า  ท่านเดินทางผ่านป่าตัดทุ่งออกทางทิศตะวันออกเมืองเก่าอยุธยามาทางอำเภออุทัย  หรือไม่ก็นครหลวง  จนถึงป่าที่มีต้นตาลโดดอยู่บนโขดเนิน  พบวัดร้างสิ่งก่อสร้างปรักหักพัง  หลังคาและผนังโบสถ์พังทลายสิ้น  เหลือแต่องค์พระพุทธปฏิมาศิลาตั้งกรำแดดกรำฝนอยู่กลางป่านั้น  ลักษณะต้องตามที่ระบุไว้ในลายแทง  วันนี้มาแกะรอยท่านต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/587HBfv/mutulakkana-07.jpg) (https://imgbb.com/)

          บทกลอนข้างบนนี้  ความต่อจากเมื่อวันวาน ท่านบอกเล่าว่า  วัดนี้เป็นวัดโบราณนานมาแต่สมัยพระเจ้าตะเภาทอง  ท่านเสด็จประพาสที่นี่แล้วโปรดให้ช่างแกะสลักแท่งหินที่ขาวปานสำลีเป็นองค์พระพุทธปฏิมา  ยามนั้นมีฤๅษีสี่ตนเหาะมาลงตรงหน้าแล้วถวายยาอายุวัฒนะ  พระองค์รับแล้วดำริว่าคนกินยาอายุวัฒนะคือคนที่ยังหลงอยู่ในสงสาร  พระองค์ปรารถนาพระโพธิญาณจึงไม่เสวยยานี้  โปรดให้ใส่ตุ่มทองประดิษฐานไว้ใต้ฐานองค์พระพุทธปฏิมา  ต่อไปเบื้องหน้าหากใครมาพบแล้วกินยานี้  ขอให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ให้มีสภาพสวยงามด้วย  จากนั้นทรงให้จารึกนามวัดว่า  วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ .......

“เป็นตำรามาแต่เหนือท่านเชื่อถือ
ดูหนังสือเสาะหาอุตส่าห์แสวง
มาพบปะจะได้ขุดก็สุดแรง
ด้วยดินแข็งเขาประมูลด้วยปูนเพชร

ถึงสิ่วขวานผลาญพะเนินไม่เยินยู่
เห็นเหลือรู้ที่จะทำให้สำเร็จ
แต่จะต้องลองตำรากาลเม็ด
เผื่อจะเสร็จสมถวิลได้กินยา........”

(https://i.ibb.co/YZt9qKN/images-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ลายแทงหรือตำรานี้ท่านได้มาแต่เมืองเหนือ  เห็นจะได้มาแต่คราวขึ้นไปพิษณุโลกตอนเมื่อบวชใหม่ ๆ นั่นเอง  ท่านอุตส่าห์ด้นดั้นฟันฝ่าอุปสรรคเสาะหาวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ตามลายแทงจนพบ  แต่ไม่สามารถจะขุดเอายาอายุวัฒนะใต้องค์พระได้  เพราะพื้นหินแข็งแกร่งเกินกว่าเครื่องมือที่ท่านนำมาจะขุดเจาะได้  จึงคิดจะลองวิชาเวทย์มนต์คาถาตามตำราที่เรียนรู้มา  ด้วยหวังว่าได้สำเร็จสมความปรารถนาบ้าง

“พอเย็นรอนดอนสูงดูทุ่งกว้าง
วิเวกวางเวงจิตทุกทิศา
ลิงโลดเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา
เห็นแต่ฟ้าแฝกแขมขึ้นแซมแซง

ดูกว้างขวางว่างโว่งตะโล่งลิ่ว
ไม่เห็นทิวที่สังเกตในเขตแขวง
สุริยนสนธยาท้องฟ้าแดง
ยิ่งโรยแรงรอนรอนอ่อนกำลัง

โอ้แลดูสุริยงจะลงลับ
มิใคร่ดับดวงได้อาลัยหลัง
สลดแสงแฝงรถเข้าบดบัง
เหมือนจะสั่งโลกาให้อาลัย

แต่คนเราชาววังทั้งทวีป
มาเร็วรีบร้างมิตรพิสมัย
ไม่รอรั้งสั่งสวาทประหลาดใจ
โอ้อาลัยแลลับวับวิญญา

ยิ่งเย็นฉ่ำน้ำค้างว่างวิเวก
เป็นหมอกเมฆมืดมิดทุกทิศา
แสนแสบท้องต้องเก็บตะโกนา
นึกระอาออกนามเมื่อยามโซ

ทั้งหนูกลั่นจันมากบุนนากน้อย
ช่วยกันสอยเก็บหักไว้อักโข
พอเคี้ยวกวาดชาติชั่วตัวตะโก
แต่ยามโซแสบท้องก็ต้องกลืน

พิกุลต้นผลห่ามอร่ามต้น
ครั้นกินผลพาเลี่ยนให้เหียนหืน
ชั่งฝาดเฝื่อนเหมือนจะตายต้องคายคืน
ทั้งขมขื่นแค้นคอไม่ขอกิน...”

(https://i.ibb.co/0FmDDfk/pexels-219298.jpg) (https://imgbb.com/)

          * * เป็นอันว่าพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ไร้เครื่องมือและแรงจะขุดเจาะพื้นหินเอายาอายุวัฒนะในตุ่มทองใต้ฐานพระพุทธปฏิมาได้  ยามนั้นเป็นเวลาเย็น  “สุริยนย่ำสนธยา”  พระอาทิตย์ลดดวงลงลับทิวไม้  อำลาหล้าอย่างลังเลอาลัย  ท่านเห็นแล้วก็หวนคิดว่า  แม้ดวงตาวันอำลาโลกก็ยังรู้สั่งลาอาลัย  แต่คนเราชาววังทั้งทวีป  ไยอำลาโดยไม่อาลัยเลย

(https://i.ibb.co/4pf3TW5/21032785-1758004237563544-4387871804942738575-n.png) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/2Ssv3Yd/IMG-1433-resize.jpg) (https://imgbb.com/)
(ซ้าย): ลูกตะโก  / (ขวา) : ลูกพิกุล

          ยามนั้นเณรหนูพัดและศิษย์ทั้งหมดต่างก็หิวโหย  ไม่มีอะไรจะกินแก้หิว  ก็เก็บผลตะโกนาอันฝาดเฝื่อนมากลืนกินกัน  เห็นลูกพิกุลห่ามเหลืองเต็มต้นก็เก็บมากิน  รสชาติขมฝาดเฝื่อนยิ่งกว่าตะโกนาเสียอีก

          วันนี้แกะรอยตามท่านมาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาตามดูความเป็นไปของท่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, มกราคม, 2563, 10:27:07 PM
(https://i.ibb.co/4mZKBCF/118230639.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๒ -

“ท่านบิดรสอนสั่งให้ตั้งจิต
โปรดประสิทธิ์สิกขารักษาศิล
เข้าร่มพระมหาโพธิ์บนโขดดิน
ระรื่นกลิ่นกลางคืนค่อยชื่นใจ

เหมือนกลิ่นกลั่นจันทน์เจือในเนื้อหอม
แนบถนอมสนิทจิตพิสมัย
เสมอหมอนอ่อนอุ่นละมุนละไม
มาจำไกลกลอยสวาทอนาถนอน

โอ้ยามนี้มิได้เชยเหมือนเคยชื่น
ทุกค่ำคืนขาดประทิ่นกลิ่นเกสร
หอมพิกุลฉุนใจอาลัยวอน
พิกุลร่อนร่วงหล่นลงบนทรวง

ยิ่งเสียวเสียวเฉียวฉุนพิกุลหอม
เคยถนอมเสน่ห์หมายไม่หายหวง
โอ้ดอกแก้วแววฟ้าสุดาดวง
มิหล่นร่วงมาเลยใคร่เชยชิม

เย็นระเรื่อยเฉื่อยฉ่ำด้วยน้ำค้าง
ลงพร่างพร่างพรายพร้อยย้อยหยิมหยิม
ยิ่งฟั่นเฟือนเหมือนสมรมานอนริม
ให้เหงาหงิมง่วงเงียบเชียบสำเนียง

เสนาะดังจังหรีดวะหวีดแว่ว
เสียงแจ้วแจ้วจักจั่นสนั่นเสียง
เสียงหริ่งหริ่งกิ่งไทรเรไรเรียง
เสียงสำเนียงนอนแลเห็นแต่ดาว......”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่เดินทางไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงในนิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  ท่านเดินทางบุกป่าข้ามทุ่งฝ่าดงไปจนถึงวัดร้างกลางป่าบนเนินเขาเตี้ย ๆ  ซึ่งมีสภาพตรงตามลายแทงที่ท่านได้มาแต่เมืองเหนือแล้ว  แต่ไม่สามารถจะขุดเจาะเอายาอายุวัฒนะใต้ฐานพระประธานได้  เพราะพื้นเป็นหินแข็ง  ไม่มีเครื่องมือและเรี่ยวแรงพอที่จะขุดเจาะได้  วันนี้มาดูความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/H702zvW/original-1565151101569.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวานนี้  ถึงเวลามืดค่ำแล้ว  หลังจากที่เณรหนูพัดและศิษย์หิวโหยอาหารจนตาลาย  เก็บผลตะโกนาและพิกุลมากินพอประทังชีวิต  พระภิษุภู่ สุนทรโวหาร สั่งสอนเณรหนูพัดและศิษย์ทั้งหลายให้ตั้งจิตสำรวงในศีล  แล้วเข้าอาศัยอยู่ในร่มโพธิ์ใหญ่บนเนินดินนั้น  ได้กลิ่นเกสรดอกไม้นานาแล้วชื่นใจคลายเหนื่อย  หวนรำลึกถึงกลิ่นเครื่องหอมกระแจะจันทน์ที่เคยได้ชมชื่นในกรุง  ได้กลิ่นฉุนฉมของพิกุลแล้วยิ่งเพิ่มความอาลัยอาวรณ์เป็นทวีคูณ  บรรยากาศบนโขดดินยามนั้นเงียบวังเวง  น้ำค้างพร่างพรายปรายโปรยลงมาเพิ่มความเย็นยะเยียบยิ่งขึ้น  เสียงจังหรีดหริ่งเรไร ประสานเสียงจักจั่น  เป็นดนตรีธรรมชาติกล่อมอารมณ์ให้นอนชมหมู่ดาวที่พรางฟ้า......

“จนดึกดื่นรื่นเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยฉิว
หนาวดอกงิ้วงิ้วต้นให้คนหนาว
แม้นงิ้วงามหนามงิ้วเล็บนิ้วยาว
จะอุ่นราวนวมแนบนั่งแอบอิง

ทั้งสี่นายหมายว่ากินยาแล้ว
จะผ่องแผ้วพากันเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง
เดชะยาน่ารักประจักษ์จริง
ขอให้วิ่งตามฉาวทั้งด้าวแดน

นาคนั้นว่าอายุอยู่ร้อยหมื่น
จะได้ชื่นชมสาวสักราวแสน
ไม่รู้หมดรสชาติไม่ขาดแคลน
ฉันอายแทนที่เธอครวญถึงนวลนาง

ทั้งหนูกลั่นนั้นว่าเมื่อล่องกลับ
จะแวะรับนางสิบสองไม่หมองหมาง
แม่เอวอ่อนมอญรำล้วนสำอาง
จะขวางขวางไปอย่างไรคงได้ดู

สมเพชเพื่อนประหนึ่งบ้าประสาหนุ่ม
แต่ล้วนลุ่มหลงเหลือจนเบื่อหู
จนพระเมินเดินเวียนถือเทียนชู
เที่ยวส่องดูเสมาบรรดามี.........”

(https://i.ibb.co/QmnFY18/1-Wn-ZE9-Gdu-Gxn-Ml-U736-Dwn-Ew.jpg) (https://imgbb.com/)

          สายลมโชยอ่อนพัดพาละอองน้ำค้างเย็นมากระทบผิวกาย  “หนาวดอกงิ้ว”  ยามนั้น  ทำให้หวน  ”งิ้วคน”  คือชู้รัก  หากแม้นมาด้วยก็จะได้นั่งชิดกายคลายหนาวได้บ้าง  ยามนั้นศิษย์ทั้งสี่นายฝันยามตื่นว่าได้กินยาอายุวัฒนะไปแล้ว  แม้นยาประจักษ์ศักดิ์สิทธิ์จริงจะไปเที่ยวเกี้ยวหญิงชื่นชมให้สมใจ  บุนนากเพ้อว่าขอให้มีอายุยืนเป็นหมื่นปี  จะได้ชมหญิงสาวสักแสนนาง  เรี่ยวแรงแข็งขันไม่รู้หมดรสชาติไม่ขาดแคลน  หนูกลั่นก็เพ้อว่าครั้นได้กินยาอายุวัฒนะแล้วเวลาล่องกลับเมืองกรุงจะแวะรับนางสาวมอญเมืองสามโคกลงไปอยู่ด้วย  เป็นได้ดูให้รู้แจ้งกันละว่า  นางมอญจะขวางจริงหรือไม่อย่างไรกันแน่  พระภู่ได้ฟังศิษย์เพ้อฝันกันอย่างนั้นก็รำคาญหู  จุดเทียนถือเดินวนเวียนสำรวจดูเสมาโบสถ์ไปทั่วบริเวณนั้น........

“ที่ผุพังยังแต่ตรุบรรจุธาตุ
ขาวสะอาดอรหัตจำรัสศรี
อาราธามาไว้สิ้นด้วยยินดี
อัญชลีแล้วก็นั่งระวังภัย

น้ำค้างพรมลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยฉิว
ใบโพธิ์พลิ้วแพลงพลิกริกริกไหว
บ้างร่วงหล่นวนว่อนร่อนไรไร
ด้วยแสงไฟรางรางสว่างตา

จนดึกดื่นรื่นร่มลมสงัด
ดึกกำดัดดาวสว่างพร่างพฤกษา
เหมือนเสียงโห่โร่หูข้างบูรพา
กฤตยาได้ฤกษ์เบิกพระไพร

สายสิญจน์วงลงยันต์กันปิศาจ
ธงกระดาษปักปลิวหวิวหวิวไหว
ข้าวสารทรายปรายปราบกำราบไป
ปักเทียนชัยฉัตรเฉลิมแล้วเจิมจันทน์

จุดเทียนน้อยร้อยแปดนั้นปักรอบ
ล้อมเป็นขอบเขตเหมือนหนี่งเขื่อนขันธ์
มนต์มหาวาหุดีพิธีกรรม์
แก้อาถรรพ์ถอนฤทธิ์ที่ปิดบัง

แล้วโรยรินดินดำคว่ำหอยโข่ง
จะเปิดโป่งปูนเพชรเป็นเคล็ดขลัง
พอปักธงลงดินได้ยินดัง
เสียงตึงตังตูมเปรี้ยงแซ่เสียงคน

ข้างเทียนดับกลับกลัวให้มัวมืด
พายุฮืดฮือมาเป็นห่าฝน
ถูกลูกเห็บเจ็บแสบแปลบสกนธ์
เหลือจะทนทานลมลงก้มกราน

เสียงเกรียวกราววาววามโพล่งพลามพลุ่ง
สะเทือนทุ่งที่บนโขดโบสถ์วิหาร
กิ่งโพธิ์โผงโกรงกรางลงกลางลาน
สาดข้าวสารกรากกรากไม่อยากฟัง

ทั้งฟ้าร้องก้องกึกพิลึกลั่น
อินทรีย์สั่นซบฟุบเหมือนทุบหลัง
สติสิ้นวิญญาละล้าละลัง
สู่ภวังค์วูบวับเหมือนหลับไป.......”

(https://i.ibb.co/mcskpKh/images-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตอนนี้ปล่อยกลอนให้อ่านกันยาว ๆ  เพราะเป็นเรื่องยาว  พอจะสรุปได้ว่า  ท่านสุนทรภู่จุดเทียนเดินเที่ยวส่องหาเสมา  คือเขตโบสถ์  ได้พบว่ามีการขุดเจาะไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว  ท่านพบพระสารีริกธาตุพระอรหันต์ขาวบริสุทธิ์  จึงอาราธนามาเก็บไว้ด้วยความยินดียิ่งนัก  จากนั้นก็เริ่มทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อจะเปิดกรุเอายาอายุวัฒนะในตุ่มทองคำใต้องค์พระประธาน  โยงสายสิญจน์ปิดยันต์กันปิศาจ  จุดเทียนชัยและเทียนบริวารครบถ้วน  ซัดทรายมนต์  ลงดินดำคว่ำหอยโข่ง  ครั้นปกธงลงดิน  ก็เกิดมหัศจรยย์ลั่นเลื่อนดังตังตึง  เสียงคนแซ่อึง  ฝนลมโหมกระหน่ำลงมา  เทียนดับหมดจนมืดมนไปทั่ว  ลูกเห็บตกลงมาถูกต้องตัวเจ็บแสบไปหมด  ควักข้าวสารมนต์สาดซัดไปก็ไร้ผล  ครานั้นเหมือนมีคนมาทุบลงบนหลังจนสติดับวูบหลับลงตรงนั้น......

          ** เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มกราคม, 2563, 10:17:41 PM
(https://i.ibb.co/h1rh5gr/11-6-07-big-view-prairie.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๓ -

“เป็นวิบัติอัศจรรย์มหันตเหตุ
ให้อาเพศเพื่อจะห้ามตามวิสัย
ทั้งพระพลอยม่อยหลับระงับไป
แสงอุทัยรุ่งขึ้นจึงพื้นกาย

เที่ยวหาย่ามตามตำราทั้งผ้าห่ม
มันตามลมลอยไปข้างไหนหาย
ไม่พบเห็นเป็นน่าระอาอาย
จนเบี่ยงบ่ายบิดาจะคลาไคล

ท่านห่มดองครองผ้าอุกาพระ
คารวะวันทาอัชฌาศัย
ถวายวัดตัดตำราไม่อาลัย
พออภัยพุทธรัตน์ปัฏิมา

เหมือนรู้ความยามโศกด้วยโรคร้าย
จึงตามลายลัดแลงแสวงหา
จะใคร่เห็นเช่นเขาบอกดอกจึงมา
มีตำราแล้วก็ต้องทดลองดู

ไม่รื้อร้างง้างงัดไม่คัดขุด
เป็นแต่จุดเทียนเบิกฤกษ์ราหู
ขอคุณพรตทศธรรมช่วยค้ำชู
ไม่เรียนรู้รูปงามไม่ตามลาย

มาเห็นฤทธิ์กฤตยาอานุภาพ
ก็เข็ดหลาบลมพาตำราหาย
ได้กรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย
ให้ภูตพรายไพรโขมดที่โขดดิน

ทั้งเจ้าทุ่งกรุงทวาเทพารักษ์
ซึ่งพิทักษ์ทิพยาคูหาหิน
พระเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์
ซึ่งสร้างถิ่นที่วัดพระปัฏิมา

จงพ้นทุกข์สุโขอโหสิ
ไปจุติตามชาติปรารถนา
ทั้งเซิงไทรไผ่โพธิ์ตะโกนา
ฉันขอลาแล้วเจ้าคะหม่อมตะโก

ถึงแก่งอมหอมกลิ่นยังกินฝาด
แต่คราขาดคิดรักเสียอักโข
ทั้งพิกุลฉุนกลิ่นจงภิญโญ
เสียดายโอ้อางขนางจะห่างไกล.......”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยตามสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะที่บ่งบอกไว้ในใบลานลายแทงซึ่งได้มาจากเมืองเหนือ  ว่ามียาอายุวัฒนะใส่ตุ่มทองฝังไว้ในฐานประประธานในโบสถ์วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  ท่านจึงดั้นด้นค้นหาจนพบสถานที่ตามลายแทงนั้น  แล้วทำพิธีกรรมตามตำราไสยศาสตร์เพื่อเปิดอุโมงค์ลงไปเอายาอายุวัฒนะ  พิธีกรรมสุดท้ายคือการปักธงลงดินดำ  ก็ปรากฏวิบัติมหัศจรรย์  เกิดเสียงดังตึงตังแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น  เกิดลมพายุพัดมาพร้อมฝนลูกเห็บกระหน่ำ  เทียนดับเครื่องสังเวยถูกลมพัดกระจัดกระจายไปสิ้น  ยามนั้นเหมือนมีใครมาทุบหลังอย่างแรงจนท่านหมดสติวูบหลับไป  วันนี้มาดูกันว่าท่านสุนทรภู่ของเราจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/hXWmPwY/02-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนยาว ๆ ข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ที่ท่านบอกเล่าว่า... ท่านสลบไสลไปนานเท่าไรไม่รู้ได้เลย  มารู้สึกตัวตื่นขึ้นก็ต่อเมื่ออุทัยไขแสงแจ้งโล่งแล้ว  ลุกขึ้นมองหาย่ามและตำราลายแทงไม่เห็น  แม้จีวรที่ห่มทำพิธีเมื่อคืนนี้ก็ไม่มี  แสดงว่าถูกลมพายุพัดพาหายไปหมดสิ้น  ผ้าที่เหลือติดตัวท่านมีเพียงสบงที่นุ่งกับอังศะ (สะไบ) ที่สวมกายอยู่เท่านั้น  เห็นภาพของตนเองเช่นนั้นก็นึกละอายแก่ใจยิ่งนัก  สำนึกนึกได้ว่าตนผิด  จึงกราบกรานขอขมาองค์พระปฏิมา  ตัดอาลัยในตำราลายแทงและสิ่งของทั้งหลายที่ลอยตามสายลมหายไป  ท่านสำนึกได้ว่า  ตนเกิดความโลภและปรารถนาลามกต้องการยาอายุวัฒนะด้วยหมกมุ่นในกิเลสกาม (กามคุณ)  และประกอบกับความอยากรู้อยากพิสูจน์ตำรา  จึงกระทำการอันมิบังควรลงไป  บัดนี้สำนึกผิดแล้ว  เห็นฤทธิ์กฤยานุภาพแล้ว  เลิกคิดรื้อร้างขุดหาของตามลายแทงแล้ว  เข็ดหลาบไปจนตายเลยทีเดียว  ขอกรวดน้ำคว่ำขันอุทิศให้แก่ภูตพรายไพรโขมดโขดหิน  เจ้าทุ่งเจ้าป่ากรุงทวาราวดีเทพารักษ์ผู้รักษาคูหาหินและเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  ผู้สร้างวัด  ขอให้ทุกท่านจงจุติไปเกิดในที่อันปรารถนาเถิด  จากนั้นก็กล่าวคำอำลาเซิงไทรไผ่โพธิ์ตะโกนา  ท่านยังมีอารมณ์ขันในการกล่าวลาตะโกนาว่า  แม้จะแก่งอมมีกลิ่นหอมแล้วยังมีรสฝาด  แต่ยามขาดแคลนก็คิดรักเสียอักโข  ขอให้ตะโกนาและพิกุลอาหารยามยากจงภิญโญเถิด

“ออกจากทุ่งมุ่งหมายพอบ่ายคล้อย
ไม่ตามรอยแรกมาหญ้าไสว
จนจวนค่ำย่ำเย็นเห็นไรไร
สังเกตไม้หมายทางมากลางคืน

ต้องบุกรกวกลงลุยพงแฝก
อุตส่าห์แหวกแขมคาสู้ฝ่าฝืน
มาตามลายหมายจะลุอายุยืน
ผ้าห่มผืนหนึ่งไม่ติดอนิจจัง

เจ้าหนูกลั่นนั้นว่าเคราะห์เสียเพลาะหอม
เหมือนทิ้งหม่อมเสียทีเดียวเดินเหลียวหลัง
จะรีบไปให้ถึงเรือเหลือกำลัง
ครั้นหยุดนั่งหนาวใจจำไคลคลา

จนรุ่งสางทางเฟือนไม่เหมือนเก่า
ต้องเดินเดาดั้นดัดจนขัดขา
จนเที่ยงจึงถึงเรือเหลือระอา
อายตามาตาแก้วที่แจวเรือ

เขาหัวเราะเยาะว่าสาธุสะ
เครื่องอัฏฐะที่เอาไปช่างไม่เหลือ
พอมืดมนฝนคลุ้มลงคลุมเครือ
ให้ออกเรือรีบล่องออกท้องคุ้ง

จะเลยตรงลงไปวัดก็ขัดข้อง
ไม่มีของขบฉันจังหันหุง
ไปพึ่งบุญคุณพระยารักษากรุง
ท่านบำรุงรักษาไม่ละเมิน

ทั้งเพลเช้าคาวหวานสำราญรื่น
ต่างชุ่มชื่นชวนกันสรรเสริญ
ทั้งสูงศักดิ์รักใคร่ให้จำเริญ
อายุเกินกัปกัลป์พุทธันดร

ให้ครองกรุงฟุ้งเฟื่องเปรื่องปรากฏ
เกียรติยศอยู่ตลอดอย่าถอดถอน
ท่านอารีมีใจอาลัยวอน
ถึงจากจรใจจิตยังคิดคุณ

มาทีไรได้นิมนต์ปรนนิบัติ
สารพัดแผ่เผื่อช่วยเกื้อหนุน
ต่างชื่นช่วยอวยกุศลผลบุญ
สนองคุณคุณพระยารักษากรุง.....”

(https://i.ibb.co/CnXjXTW/wild-growth-247520-960-720.jpg) (https://imgbb.com/)

          สรุปความจากคำกลอนนิราศท่อนนี้ได้ว่า  หลังกล่าวคำอำลาเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขา  พิกุลป่า  ตะโกนาแล้ว  พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร ก็พาศิษย์ออกเดินทางกลับ  ไม่ได้กลับในทางเดิมที่ไป  หากแต่ลัดป่าหญ้าป่าแฝกแหวกพง  จนถึงเวลามืดค่ำ  กำหนดหมายเอาทิวไม้เป็นแนวทาง  แหวกหญ้าฝ่าดงในยามค่ำคืน  ด้วยความทุกข์ยากอย่างยิ่ง  ท่านรำพึงว่า  อนิจจาตัวเรา  หมายจะได้ยาอายุวัฒนะตามลายแทงก็ไม่ได้  ซ้ำยังสิ้นเนื้อประดาตัว  ผ้าห่มสักผืนหนึ่งก็ไม่มีติดตัว  หนูกลั่นก็พ้อว่าหนูก็เสียแพรเพลาะหอมไปหนึ่งผืน  เดินทางทั้งคืนแบบ  ”มะงุมมะงาหรา”  จนรุ่งแจ้งแสงอุทัยเจิดจ้า  จึงคำนวณทิศทางได้  เดินวกลงถูกทางมาถึงเรือที่จอดคอยอยู่ในเวลาเที่ยงวัน  กลับต้องมาอับอายตามากับตาแก้วคนแจวเรือ  ที่เห็นสภาพของพระอาจารย์กลับมาอย่างทุลักทุเลอย่างนั้น  ก็ยกมือสาธุสะขึ้นท่วมหัวเหมือนจะเยาะเย้ยด้วยสมน้ำหน้า

          ครั้นจะสั่งออกเรือล่องกลับวัดก็เห็นว่ายังขัดข้อง  เพราะข้าวของเสบียงหาอาหารแม้จังหันก็ไม่มีจะหุง  จึงคิดถึงเพื่อนเก่าที่มาเป็นพระยารักษากรุงเก่าอยู่  เมื่อมาภูเขาทองคราวก่อนไม่กล้าแวะไปหา  มาคราวนี้ขัดสนจนยากยิ่งแล้วจึงบากหน้าไปหา (พระยาไชยวิชิต เผือก)  ก็ได้รับการต้อนรับบำรุงเป็นอย่างดียิ่ง  แถมยังปวารณาตัวไว้ว่า  ขึ้นมากรุงเก่าคราวใดขอให้แวะมาเยี่ยมทุกครั้ง  เพื่อจะได้ต้อนรับปฏิบัติบำรุงต่อไป  ก่อนจากกันก็อวยชัยให้พรดังกลอนข้างบนนี้

          วันนี้แกะรอยท่านสุนทรภู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้ามาเพียงนี้ก่อนนะ  ใกล้จบแล้วหละ  พรุ่งนี้มาแกะรอยกันต่อให้จบก็แล้วกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มกราคม, 2563, 10:22:30 PM
(https://i.ibb.co/37JvctP/dfgss.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๔ -

“เมื่อกราบลาคลาเคลื่อนออกเลื่อนล่อง
เห็นหน้าน้องนามหุ่นนั่งชุนถุง
ทั้งผัดหน้าทาขมิ้นส่งกลิ่นฟุ้ง
บำรุบำรุงรูปงามอร่ามเรือง

ที่แพรายหลายนางสำอางโฉม
งามประโลมเปล่งปลั่งอลั่งเหลือง
ขมิ้นเอ๋ยเคยใช้แต่ในเมือง
มาฟุ้งเฟื่องฝ่ายเหนือทั้งเรือแพ

พวกโพงพางนางแม่ค้าขายปลาเต่า
จับกระเหม่ามิได้เหลือชั้นเรือแห
จะล่องลับกลับไปอาลัยแล
มาถึงแพเสียงนกแก้วแจ้วเจรจา

เจ้าของขาวสาวสอนชะอ้อนพลอด
แวะมาจอดแพนี้ก่อนพี่จ๋า
น่ารับขวัญฉันนี้ร้องว่าน้องลา
ก็เลยว่าสาวกอดฉอดฉอดไป

โอ้นกเอ๋ยเคยบ้างหรืออย่างพลอด
นางสาวสาวเขาจะกอดให้ที่ไหน
แต่น้องมีพี่ป้าที่อาลัย
ท่านยังไม่ช่วยกอดแกล้งทอดทิ้ง

นึกก็พลอยน้อยใจที่ไม่กอด
หนาวก็ทอดเตาไว้ก่อไฟผิง
ไม่เรียกเป็นเช่นนกแก้วแล้วจริงจริง
จะสู้นิ่งหนาวทนอยู่คนเดียว....”

.................. นิราศวัดเจ้าฟ้า (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่ไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงถึงวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  ทำพิธีทางไสยศาสตร์เปิดกรุยาในตุ่มทองใต้ฐานพระประธานโบสถ์ร้างกลางป่า  เกิดอาถรรพ์บันดาลลมฝนลูกเห็นกระหน่ำลงมาอย่างหนัก  ลมพายุพัดข้าวของในพิธีปลิวหายไปสิ้น  ตัวพระภิกษุภู่  เจ้าพิธีถูกมือที่มองไม่เห็นทุบหลังอย่างแรงจนสลบไสลไป  ฟื้นตื่นขึ้นมาตอนตะวันโด่งของวันรุ่งขึ้น  พบว่าข้าวของหายไปหมดสิ้น  เหลือเพียงสบงที่นุ่งกับอังสะที่ใส่ติดกายเท่านั้น  หลังจากกราบขอขมาเจ้าที่เจ้าทางแล้วพาศิษย์เดินบุกป่าฝ่าดงหญ้าแฝกกลับลงเรือ  เสียเวลาไปอีกหนึ่งวันหนึ่งคืนจึงถึงเรือที่จอดอยู่ย่านวัดใหญ่ชัยมงคล  จากนั้นก็ไปหาเจ้าเมืองกรุงเก่าซึ่งเคยเป็นเพื่อนกัน  ได้รับการรับรองปฏิบัติบำรุงเป็นอย่างดี  วันนี้มาแกะรอยตามท่านกลับบางกอกครับ

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  หลังจากร่ำลาเจ้าเมืองแล้วลงเรือออกจากท่าน้ำ   พบเห็นสาวนามว่า  “หุ่น”  ผัดหน้าทาขมิ้นนั่งชุนผ้าถุงอยู่ดูน่ารัก  เลยสาวหุ่นมาก็พบเห็นเรือแพแม่ค้ามากมาย  แพสาวผิวขาวนางหนึ่งเลี้ยงนกแก้วไว้  สอนให้พูดเชิญลูกค้าแวะที่แพตน  นกแก้วพูดแจ้ว ๆ ว่า  “สาวกอด ๆ”  ช่างน่ารักเสียกระไร

“ได้เด็ดรักหักใจมาในน้ำ
ถึงพบลำสาวแส้ไม่แลเหลียว
ประหลาดเหลือเรือวิ่งจริงจริงเจียว
มาคืนเดียวก็ได้หยุดอยุธยา

จึงจดหมายรายเรื่องที่เคืองเข็ญ
ไปเที่ยวเล่นลายแทงแสวงหา
เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา
ได้จดมาเหมือนหนึ่งมีแผนที่ไว้

ไม่อ่อนหวานขานเพราะเสนาะโสต
ด้วยอายโอษฐ์มิได้อ้างถึงนางไหน
ที่เขามีที่จากฝากอาลัย
ได้ร่ำไรเรื่องหญิงจึงพริ้งเพราะ

นี่กล่าวแกล้งแต่เล่นเพราะเป็นหม้าย
เที่ยวเร่ขายคอนเรือมะเขือเปราะ
คิดคะนึงถึงตัวน่าหัวเราะ
เกือบกะเทาะหน้าแว่นแสนเสียดาย

นารีใดไร้รักอย่าหนักหน่วง
จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย
อย่าหมิ่นชายเชิงตรึกให้ลึกซึ้ง

เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช
ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงส์
ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมลงภู่ชม

เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเพื่อน
ขึ้นแต้มเดือนได้จนชิดสนิทสนม
เสน่หาอาลัยใจนิยม
จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม

แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง
สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าถนอม
ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม
ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา

ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า
ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา
ทุกค่ำคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา
มิได้แก้วแววตาอนาทร

มณฑาทิพย์กลีบบานตระการกลิ่น
ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร
จงทราบความตามใจอาลัยวอน
เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ

จะคอยฟังดังหนึ่งคอยสอยสวาท
แม้นเหมือนมาดหมายชิมให้อิ่มหนำ
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ
จะต้องคร่ำคร่าเปล่าแล้วเราเอย.....ฯ”

(https://i.ibb.co/sQj9q4w/IMG-20170226-151348-735.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เรือล่องลำเจ้าพระยากลับบางกอก  ได้แรงไหลของกระแสน้ำค่อนข้างแรงช่วยให้เรือแล่นเร็วมาก  ใช้เวลาเพียงคืนเดียวก็ถึงกรุงเทพฯ แล้ว  เมื่อถึงบางกอกท่านก็แต่งคำสั่งลา  ออกตัวว่านิราศเรื่องนี้ไม่ได้ร่ำไรถึงหญิงคนใด  ทำให้คำกลอนไม่อ่อนหวานนิราศของคนอื่นที่เขามีหญิงคนรักให้ครวญหา  อีกประหนึ่งหนึ่งท่านเป็นพระภิกษุ  จึงกระดากปากละอายใจที่จะกล่าวคำคร่ำครวญถึงคนรัก  ที่กล่าวแกล้งแต่งเล่นมานี่ก็เพราะความเป็นหม้ายเท่านั้น  และแล้วท่านก็หยอดคำหวานฝากไว้ในตอนจบของกลอนนิราศ  ดังความข้างบนนี้แล
          นิราศวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ความจบลงแล้ว  แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ  เพราะประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า  วัดเจ้าฟ้านี้อยู่ ณ แห่งหนตำบลใดกันแน่เล่าหนอ

(https://i.ibb.co/bJCkRKn/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/JKsQbPN/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/GM7gZ5q/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ธนิต อยู่โพธิ์  /  เปลื้อง ณ นคร  /  สุจิตต์ วงษ์เทศ

          อาจารย์มหาธนิต อยู่โพธิ์  กับ  อาจารย์มหาเปลื้อง ณ นคร  ท่านชี้ไว้ว่า  วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  คือวัดเขาดิน  ต. ธนู  อ. อุทัย  จ. พระนครศรีอยุธยา  แต่มีอีกหลายท่านไม่เห็นด้วย  อย่างเช่นนักประวัติศาสตร์โบราณคดีรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง  สุจิตต์ วงษ์เทศ  เขาเชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าน่าจะอยู่เลยวัดเขาดินไปถึงวัดพระพุทธฉาย  สระบุรี  หรือไม่ก็ต่ำลงมาที่วัดเขาพนมโยง (พนมยงค์)  แถวหนองแค  สระบุรี  เรื่องนี้มีนิทานพื้นบ้านที่สุนทรภู่ท่านก็รู้อยู่ว่า  มีเจ้าเมืองท่านหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า  ท้าวอู่ตะเภา  พระนามจริงว่าเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  ครองเมืองอู่ตะเภา  ยุคสมัยทวาราวดี  ซึ่งปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในตำบลมะม่วงหวาน  อ. หนองแซง  สระบุรี  เขตติดต่อกับเขาดิน  ต. ธนู  นั่นเอง

(https://i.ibb.co/k1vw43w/728x410.jpg) (https://imgbb.com/)
เมืองโบราณอู่ตะเภา (คูน้ำล้อมรอบ)

          จึงยังไม่เป็นที่ยุติว่า  วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  ที่เจ้าเมืองอู่ตะเภาสร้าง  และบรรจุยาอายุวัฒนะไว้นั้น  ปัจจุบันอยู่ตรงไหนกันแน่  ใครอยากได้ยาอายุวัฒนะกินแล้วแข็งแรงไม่แก่เฒ่า  ก็ลองค้นหากันเอาเองนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มกราคม, 2563, 11:26:01 PM
(https://i.ibb.co/bsjCCRF/Thumbnail-Horizon-ohfewezi8fn6qjs0om1sj0lqt2r54dqfzet2lrymu0.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๕ -

ตามลายแทงหายาอายุวัฒนะ
จนเกือบจะดับดิ้นสิ้นสังขาร
เหลือแต่ตัวเปล่าจำเป็นตำนาน
ต้องซมซานล่องลัดกลับวัดโพธิ์

อยู่วัดใหญ่ได้สักระยะหนึ่ง
มีที่พึ่งบุญหนักอยู่อักโข
“พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ”โต
ไม่อดโซซุ่มซ่อนเหมือนก่อนมา

ท่านมีวังตั้งใกล้วัดมหาธาตุ
ทรงมุ่งมาดบำรุงไร้ปัญหา
จึงให้ย้ายจากวัดโพธิ์ที่โสภา
อยู่วัดดังวังหน้านิพพานาราม

ยามอยู่วัดมหาธาตุแล้วจัดกิจ
คือลิขิตกลอนไทยนิยายสยาม
เรื่อง“พระอภัยมณี”ที่งดงาม
แต่งต่อความเดิมที่ศรีสุวรรณ

เริ่มเกาะแก้วพิสดารเรื่องพันลึก
ล้วนแต่นึกนึกขยายนิยายฝัน
“พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ”นั้น
ทรงสรวลสันต์อ่านต่อพอพระทัย.....

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านแกะรอยสุนทรภู่เดินทางไปหายาอายุวัฒนะตามลายแทงวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์  ซึ่งยังไม่แน่ว่า  เป็นวัดเขาดิน  ต.ธนู  อ.อุทัย  พระนครศรีอยุธยา  หรือบริเวณวัดพระพุทธฉาย  และหรือ  วัดเขาพนมโยง (พนมยงค์)  อ.หนองแซง  สระบุรี  หรือไม่  ส่วนเมืองของท้าวอู่ตะเภา  หรือเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์นั้น  ปัจจุบันมีซากเมืองเก่ายุคทวาราวดีอยู่  ในตำบลม่วงหวาน  อ.หนองแซง  สระบุรี  เมื่อท่านผิดหวังจากการไปหายาอายุวัฒนะแล้ว  เรื่องราวของท่านจะดำเนินไปอย่างไร  มาตามดูกันครับ

(https://i.ibb.co/RySddtW/ATR-6628-Cover-620x392.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

          พ. ณ ประมวญมารค  หรือท่านจันทร์  กล่าวว่า  สุนทรภู่กลับจากวัดเจ้าฟ้าอากาศแล้วเข้าอยู่วัดโพธิ์ตามเดิม  ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณซึ่งมีวังอยู่ใกล้วัดนิพพานาราม  หรืออวัดมหาธาตุ  ใคร่ที่จะอุปถัมภ์บำรุงอย่างใกล้ชิด  จึงนิมนต์ให้ออกจากวัดโพธิ์ (พระเชตุพนฯ) ไปอยู่สำนักวัดมหาธาตุ  เจ้าพระองค์นี้โปรดการเล่นสักวา  ว่ากันว่าเวลาที่ไปเล่นสักวาจะนิมนต์พระภิกษุภู่นั่งไปในเรือด้วยเสมอ  ท่านจึงมีฐานะเป็นที่ปรึกษาวงสักวาของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณไปโดยปริยาย

(https://i.ibb.co/5rR08Rr/images-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของพระภิกษุภู่ สุทรโวหาร  ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  คือการแต่งกลอนนิยายเรื่องพระอภัยมณีต่อจากที่แต่งค้างไว้แต่สมัยรัชกาลที่ ๒  กล่าวคือ  ตอนที่ท่านถูก  “ขังลืม”  อยู่นั้นได้ใช้เวลาว่างแต่งนิยายคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี  เรียกว่า  “ตับศรีสุวรรณ”  หลังจากพ้นโทษแล้วมีงานกวีที่ปรึกษามาก  นิยายคำกลอนเรื่องนี้จึงหยุดไว้  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงอ่านแล้วพอพระทัย  จึงขอให้ท่านแต่งต่อใน  “ตับเกาะแก้วพิสดาร”

          นิยายคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีเป็นที่ชื่นชอบของชาววังมาก  ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. ๒๓๗๘  ท่านจันทร์ว่า พระภิกษุภู่หมดที่พึ่งจึงลาสิกขาในต้นปีนั้น  ปีที่ท่านสึกจากพระนั้นอายุย่างเข้า ๕๐ ปีแล้ว  ชีวิตฆราวาสของท่านมีสภาพลุ่ม ๆ ดอน ๆ จนมีผู้เล่ากันว่า  นายภู่อาศัยอยู่ในเรือเที่ยวร่อนเร่ไป  ขายบทกลอนพอเป็นค่าเลี้ยงชีพ  ในช่วงนี้ท่านมีภรรยาเป็นตัวเป็นตนอีกคนหนึ่งชื่อม่วง  และมีบุตรด้วยกันอีก ๑ คน

(https://i.ibb.co/4m5W4T3/554000013378901.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเทพธิดาราม

          ในปี พ.ศ. ๒๓๘๓  หนูพัดมีอายุครบบวช  สุนทรภู่จึงเข้ากราบทูลเล่าเรื่องที่เป็นมาของตนถวายสมเด็จฯ กรมหมื่นชิโนรส ณ วัดพระเชตุพนฯ ให้ทรงทราบ  จึงได้รับพระอุปการะบวชให้ทั้งบิดาและบุตร  ครั้นบวชแล้ว  สมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์ก็ให้ไปอยู่วัดราชบูรณะ  ซึ่งเป็นสำนักเดิม  แต่ท่านเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งจากพวกอันธพาลอีก  จึงขอให้สมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์ส่งไปอยู่วัดเทพธิดาราม  ซี่งสร้างเสร็จและผูกพัทธสีมาในปีนั้น  พรรษาแรกในการบวชครั้งที่ ๒ นี้ ท่านจึงจำอยู่ ณ วัดเทพธิดาราม  และวัดนี้  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  พระราชธิดาในสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง  พระนางเป็นพระพี่นางของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ได้ทรงอ่านเรื่องพระอภัยมณีมาก่อนแล้วพอพระทัยมาก  จึงทรงอุปการะพระภิกษุภู่  และขอให้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อจากเดิมให้อีกด้วย

(https://i.ibb.co/8YQ9C1j/soonthornpoo000.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านจันทร์ว่า  พระภิกษุภู่อยู่วัดเทพธิดารามอย่างมีความสุขสบายได้ ๒ พรรษา  ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๘๔  ท่านออกจากวัดเดินทางไปสุพรรณบุรีด้วยธุระอะไรสักอย่างหนึ่ง  และแต่ง โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470)   ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง  นิราศเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ท่านแต่งเป็นโคลง  ว่ากันว่ามีนักกวีด้วยกันพูดเชิงดูหมิ่นแคลนว่า  สุนทรภู่แต่งเป็นแต่กลอนตลาด  ซึ่งเป็นกวีพื้นบ้านที่ใคร ๆ ก็แต่งกันได้  โคลงฉันท์ที่เป็นกวีชั้นสูงนั้นสุนทรภู่หาแต่งเป็นไม่  ด้วยคำสบประมาทนี้เองทำให้ท่านแต่งนิราศเป็นโคลง  เพื่อแสดงให้เพื่อนนักกวีเห็นว่า  ท่านก็แต่งโคลงเป็นเหมือนกัน  แต่ว่าท่านถนัดเชี่ยวชาญ  ชำนาญในการแต่งกลอน  ดังนั้นเมื่อมาแต่งโคลงที่ท่านไม่ถนัด  คำโคลงของท่านจึงใช้ถ้อยคำไม่ลื่นไหลเหมือนกลอน  ยังติดเล่นสัมผัสเสียงแบบกลอนเสียมากกว่า

          ท่านจันทร์กล่าวถึงโคลงของสุนทรภู่ไว้ว่า

           “นิราศที่แต่งเป็นคำโคลงเรื่องนี้  ไม่เหมือนนิราศคำโคลงเรื่องอื่น ๆ ที่แต่งเลียนแบบกันมาตลอด  คือเป็นบทครวญที่กล่าวเข้ากับตำบลที่ผ่าน  หรือชื่อนก  ชื่อไม้  ไม่มีที่จะบันทึกเหตุการณ์อะไรเลย  โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่  เล่าการเดินทางเหมือนอย่างนิราศที่แต่งเป็นกลอน  ฉะนั้นในด้าน  “รสความ”  จึงไม่เหมือนนิราศคำโคลงอื่น ๆ ที่ครวญก็ครวญอย่างเฉ ๆ  ดังในสองบทต่อไปนี้  ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นวิธีชมโฉมที่ขันเอาการ

    บางปลาร้าปลาคล่ำน้ำ               ลำคลอง
คนเหล่าชาวประมงมอง                    มุ่งข้า
สุ่มซ้อนฉะนางปอง                           ปิดเรือก เผือกแฮ
เหม็นเน่าคาวปลาร้า                         เรียดคุ้งคลุ้งโขลงฯ

     ริมน้ำทำท่าขึ้น                             ขอดปลา
เกล็ดติดตัวตีนตา                              ตมูกแก้ม
โคลนเช่นเป็นแป้งแต้ม                         ติดเนื้อเหลือหอมฯ”
โคลนเช่นเป็นแป้งแต้ม                         ติดเนื้อเหลือหอมฯ”

(https://i.ibb.co/92p5ydY/images-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           รายละเอียดในเรื่อง โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470)   ผมขออนุญาตไม่นำมากล่าวมากไปกว่านี้นะครับ  ท่านใดสนใจอยากศึกษาค้นคว้าก็หานิราศสุพรรณคำโคลงของท่านมาอ่านกันตามความพอใจเถิด  ท่านไปสุพรรณกลับมาแล้วจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมื่องสุโขทัย
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มกราคม, 2563, 10:13:25 PM
(https://i.ibb.co/18NM81v/bannerp2-3.jpg) (https://imgbb.com/)
รูปหล่อครึ่งตัวของสุนทรภู่ เมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุ : วัดเทพธิดาราม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๖ -

ความอยากรวยเงินตรามากอามิส
พระภู่คิดแผนการทำงานใหญ่
คือ“เล่นแร่แปรธาตุ” คาดรวยไว
เดินทางไปหาแร่แปรเป็นทอง

ถลุงแร่แปรธาตุในวัดเทพฯ
ด้วยหวังเสพสุขล้นพ้นเศร้าหมอง
แต่ผิดหวังเหมือนเก่าทุกข์เข้าครอง
ถูกเพื่อนมองเหยียดหยามสิ้นความดี

.................. เต็ม อภินันท์


           อภิปราย ขยายความ..........

           ชีวิตของสุนทรภู่ดูท่าว่าจะเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง  เมื่อได้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอุปถัมภ์บำรุง  ท่านแต่งนิยายคำกลอนต่อจากเดิมจนเป็นเรื่องยาวใหญ่โต ชาววังนิยมชมชอบอ่านจนติดกันงอมแงม  ในช่วงนี้ศาลาลอยหน้ากุฏิพระภู่ไม่ว่างผู้คน  บ้างก็มาขอเรียนการแต่งกลอน  มาต่อกลอน  มาสนทนาวิสาสะ  โดยเฉพาะพวกนางข้าหลวงในวังกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพและวังเจ้าพระองค์อื่น ๆ มาสมัครเป็นศิษย์  และไหว้วานให้ช่วยแต่งกลอนเพลงยาวกันมาก  พระภิกษุภู่จึงกลายเป็น  “หลวงน้า”  ของเหล่านางข้าหลวงไปแล้ว

(https://i.ibb.co/r0XvkF8/bannerp2-2.jpg) (https://imgbb.com/)
กุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม : กรุงเทพฯ

            “หลวงน้าภู่”  ของเหล่านางข้าหลวง  ถูกล้อมหน้าล้อมหลังด้วยเหล่าชาววังอยู่ดีมีสุขได้ ๒ พรรษา  ปัจจัยที่ได้รับการถวายบำรุงก็เพียงพอต่อความเป็นอยู่อย่างพระภิกษุ  แต่จิตใจอันเป็นปุถุชนของท่านมิได้พอใจอยู่เพียงนั้น  ท่านเห็นสุขคฤหัสถ์ของชาววังและพ่อค้าวาณิชแล้วก็คิดจะได้บ้าง  จึงหวนคิดถึงการถลุงแร่ให้เป็นทอง  เพื่อสร้างความร่ำรวยทรัพย์สินอีกครั้ง  ระยะนี้ท่านไม่ค่อยสนใจใยดีกับเหล่านางข้าหลวงและศิษย์ที่มาขอลอกกลอน  ต่อกลอน  เรียนกลอน เหมือนก่อนแล้ว  หากแต่คิดทำเบ้าเตาถลุงทอง  และเอาแร่ที่เคยไปแสวงหาเมื่อตอนที่บวชใหม่ ๆ (บวชครั้งแรก) ซึ่งยังหลงเหลืออยู่บ้างนั้นมาถลุงให้แปรเป็นทองอย่างเอาจริงเอาจัง  เมื่อแร่หมดจึงเดินทางไปสุพรรณเพื่อหาแร่มาถลุงต่อไป

(https://i.ibb.co/8gKtGv6/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองโอ่งอ่าง : กรุงเทพฯ

           การออกจากวัดเทพธิดารามไปสุพรรณ  เห็นทีว่าท่านคงจะไม่บอกลาผู้ที่เคารพนับถือใด ๆ เลย  แม้เจ้าอาวาสก็คงไม่ได้บอกลา  ปิดกุฏิแล้วออกเรือจากคลองโอ่งอ่างไปทันที

           พระอธิการเจ้าอาวาสและพระลูกวัดองค์อื่น ๆ  ของวัดเทพธิดารามไม่มีใครกล้าที่จะแตะต้องพระภิกษุภู่  เพราะเหตุว่า  ท่านเป็นพระสัทธิงวิหารริกในสมเด็จพระกรมหมื่นนุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ ๑   และ  เป็นพระที่อยู่ในพระอุปถัมภ์บำรุงของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่(ร. ๓) อีก ๑

           เพราะท่านจากวัดเทพธิดาไปนานหลายเดือน  เมื่อหวนกลับมาก็พบว่าคณะของท่านอยู่ในสภาพรกร้าง  โดยเฉพาะกุฏิของท่านมีปลวกขึ้นกัดข้าวของเสียหายมากมาย  เพราะไม่มีคนดูแลรักษาให้  ซ้ำสายตาเพื่อนพระที่มองดูท่านก็แปลก ๆ ไปหมด  แทนที่จะมองด้วยความชื่นชมยินดีมีไมตรีต่อกัน  กลับมองดูอย่างเหยียด ๆ  คือดูหมิ่นดูแคลน

(https://i.ibb.co/FYfVQf0/hqdefault-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           เรื่องดังกล่าวนี้  เรารู้ได้จากบทกลอนประเภทนิราศหรือเพลงยาวที่ท่านแต่งไว้ในชื่อว่า  “รำพันพิลาป”  กลอนสำนวนนี้เป็นผลงานที่พบชิ้นล่าสุด  ใจความของกลอนเป็นเรื่องบอกเล่าวิถีชีวิตของท่านตั้งแต่ออกจากราชการและบวชเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ

           เพราะรำพันพิลาปเป็นคำกลอนที่ให้รายละเอียดในชีวิตส่วนหนึ่งของท่าน  และพบใหม่ยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแผ่ให้แพร่หลายเหมือนนิราศเรื่องอื่น ๆ  ผมจึงเห็นสมควรนำบทกลอนสำนวนนี้ของท่านมาลงโพสต์ให้ทุกท่านได้อ่านกันตั้งแต่ต้นจนจบ  ดังต่อไปนี้....

“สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน
พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์
จึงจดวันเวลาด้วยอาวรณ์

แต่งไว้เหมือนเตือนใจจะได้คิด
ในนิมิตเมื่อภวังค์วิสังหรณ์
เดือนแปดวันจันทวาเวลานอน
เจริญพรภาวนาตามบาลี

ระลึกคุณบุญบวชตรวจกสิณ
ให้สุดสิ้นดินฟ้าทุกราศี
เงียบสงัดวัดวาในราตรี
เสียงเป็ดผีหวี่หวีดจังหรีดเรียง

หริ่งหริ่งเรื่อยเฉื่อยชื่นสะอื้นอก
สำเนียงนกแสกแถกแสกแสกเสียง
เสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียง

ตีอกเพียงผึงผึงตะลึงฟัง
ฝ่ายเสียงหนูมูสิกกิกกิกร้อง
เสียวสยองยามยินถวิลหวัง
อนึ่งผึ้งซึ่งมาทำประจำรัง
ริมบานบังบินร้องสยองเย็น

ยิ่งเยือกทรวงง่วงเหงาซบเซาโศก
ยามวิโยคยากแค้นสุดแสนเข็ญ
ไม่เทียมเพื่อนเหมือนจะพาเลือดตากระเด็น
เที่ยวซ่อนเร้นไร้ญาติหวาดวิญญา.........”

           ** นี่เป็นเพียงเริ่มกลอนปรารภก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตที่ตกทุกข์ได้ยากของท่านไว้ค่อนข้างละเอียด  ท่านกล่าวว่า  กลอนนี้ชื่อ  “รำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน”   เป็นกลอนที่ท่านบรรจงแต่งอย่างสุดฝีมือ  ดังนั้นทุกท่านก็ควรติดตามอ่านงานเขียนชิ้นอย่างละเอียดต่อไปนะครับ”

(.....................  มีต่อพรุ่งนี้  .....................)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๗๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มกราคม, 2563, 10:00:30 PM
(https://i.ibb.co/gR6RNRh/556000010130107.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๗ -

“แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ
บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
เหมือนลอยล่องท้องชเลอยู่เอกา
เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล

ดูฟากฝั่งหวังจะหยุดก็สุดเนตร
แสนเทวษเวียนว่ายสายกระแส
เหมือนทรวงเปลี่ยวเที่ยวแสวงทุกขวงแคว
ได้เห็นแต่ศิษย์หาพยาบาลฯ”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


           อภิปราย ขยายความ.....................

           เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านติดตามดูชีวิตและงานของสุนทรภู่หลังจากที่ท่านจากวัดโพธิ์ท่าเตียน ไปอยู่วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์  ซึ่งท่านจันทร์ว่า  เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์  พระภู่ก็ลาสิขาออกไปเป็นนายภู่อยู่เรือ  เร่ขายบทกลอนเลี้ยงชีพ  และมีภรรยาเป็นตัวเป้นตนอีกคนหนึ่งชื่อว่า “ม่วง”  ใช้ชีวิตเป็นนายภู่อยู่ ๕ ปี  ก็อุปสมบทอีกครั้ง  แล้วเข้าอยู่วัดเทพธิดารามในพระอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  ราชธิดาในสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)  อยู่วัดเทพธิดารามได้ ๒ พรรษา  ก็ไปสุพรรณและแต่งนิราศเป็นโคลงเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่แต่งเป็นคำโคลง

           กลับจากสุพรรณเข้าอยู่ในวัดเทพธิดาตามเดิม  ก็พบความทุกข์ยากแสนสาหัส  จึงคิดจะไปเสียจากวัดเทพธิดาราม  ในพรรษาที่ ๓ นั้น  ท่านแต่งกลอนทำนองนิราศหรือเพลงยาวขึ้นอีกเรื่องหนึ่งให้ชื่อว่า  “รำพันพิลาป”  ท่านอ้างว่าฝันเมื่อคืนวันจันทร์แรม ๑๐ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕  (เดือนแปดจันทวาเวลานอน)  คืนนั้นบรรยากาศเงียบสงัดวังเวง  ได้ยินแม้กระทั่งเสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียงนอนท่านแล้วตีอกอยู่ผึง ๆ....  วันนี้มาดูความต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/FbdrzCG/images-220.jpg) (https://imgbb.com/)

           ท่านบอกเล่าว่า  ในปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคตนั้น  คือ  ปีวอก  พ.ศ. ๒๓๖๗  ท่านออกจากราชการแล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา (บวชที่ไหนก็ได้กล่าวมาแล้วนะครับ)  หลังจากบวชแล้วท่านก็ระเหเร่ร่อนไป  “เที่ยวแสวงทุกแขวงแคว”  ดังคำกลอนตอนต่อไปว่า...

“ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว
จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน
เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล
รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม

ไปราชพรีมีแต่พาลจัณฑาลพระ
เหมือนไปปะบอระเพ้ดเหลือเข็ดขม
ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม
ทุกข์ระทมเจียนจะตายเสียหลายคราว

ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่อยู่กะเหรี่ยง
ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว
นอนน้ำค้างพร่างพรมหรอยพรมพราว
เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง

ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้
หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ
เข้าพรรษามาอยู่ที่สองพี่น้อง
ยามขัดของขาดมุ้งริ้นยุงชุม

ทุกเช้าค่ำลำบากแสนยากยิ่ง
เหลือทนจริงเจ็บแสบใส่แกลบสุม
เสียงฉู่ฉู่หวู่ว่อนอยู่ร่อนรุม
เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกลัดนั่งปัดยุง

โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น
ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง
ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง
จนเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอน

คราวไปคิดปริศนาตามตาเถร
เขากาเพนพบมหิงส์ริมสิงขร
มันตามติดขวิดคร่อมอ้อมอุทร
หากมีขอนขวางควายไม่วายชนม์

เดชะบุญคุณพระอานิสงส์
ช่วยธำรงรอดตายมาหลายหน
เหตุด้วยเคราะห์เพราะว่าไว้วางใจคน
จึงจำจนใจเปล่าเปลืองข้าวเกลือฯ

     “ โอ้ยามอยู่สุพรรณกินมันเผือก
เคี้ยวแต่เปลือกไม้หมากเปรี้ยวปากเหลือ
จนแรงโรยโหยหิวผอมผิวเนื้อ
พริกกับเกลือกรักใหญ่ยังไม่พอ

ทั้งผ้าพาดบาตรเหล็กของเล็กน้อย
ขโมยถอยไปทั้งเรือไม่เหลือหลอ
เหลือแต่ผ้าอาศัยเสียใจคอ
ชาวบ้านทอถวายแทนแสนศรัทธา.....”

(https://i.ibb.co/JQYvfPc/image001.jpg) (https://imgbb.com/)

           ความในดลอนนี้ว่า  บวชแล้วท่านก็ท่องเที่ยวไปตั้งแต่  เพชรบุรี (พริบพรี)  ราชบุรี (ราชพรี)  ไปขึ้นเขาเข้าถ้ำเที่ยวหาแร่ จนเลยไปถึงที่อยู่ของชนชาวกะเหรี่ยงแถวด่านเมืองกาญจนบุรี  ไปถูกกะเหรี่ยงใช้ผีปอบมาเข้าร่างลูกชาย (หนูพัด)  จนท่านต้องใช้วิทยาคมที่เรียนรู้มาเข้าแก้ไข  ไล่ปอบออกแล้วใช้ให้กลับไปเข้ากินเจ้าของ  รอดอันตรายจากแดนกะเหรี่ยงมาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง  ล่องเรือตามลำแม่กลองลงมาถึงสมุทรสาคร  เลี้ยวเข้าลำแม่น้ำท่าจีนขึ้นถึงวัดสองพี่น้อง  เป็นเวลาเข้าพรรษาพอดี  ท่านจึงจำพรรษาแรกที่นี่

(https://i.ibb.co/vwF9mnS/81714442-2676965652526984-941477975407198208-n.jpg) (https://imgbb.com/)

           อยู่ที่วัดสองพี่น้องได้ด้วยความยากลำบากยิ่ง  ท่านจอดเรือกินนอนอยู่ในเรือตรงท่าน้ำหน้าวัด  ยุงชุมมากต้องสุมแกลบไฟไล่ยุง  เพราะไม่มีมุ้งกางกันยุง  ที่นี่ท่านถลุงแร่แปรเป็นทองตามตำราอาจารย์ทองบ้านจุง  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  มีตาเถรบอกว่าที่เขากาเผ่น (กาเพน)  แถว ๆ พนมทวนมีแร่แปรเป็นทองได้  ท่านก็ขึ้นไปหาแร่ตามคำตาเถรนั้น  ไปถูกควายป่าไล่ขวิดแทบเอาชีวิตไม่รอด  มิหนำซ้ำยังถูกขโมยลักเรือไปทั้งลำบาตร  จีวร  พริกเกลือ  เสบียง อาหารก็ติดลำเรือไปไม่เหลือหลอ  ดีที่ชาวบ้านมีศรัทธาช่วยกันทอจีวร  และหาเรือให้ใหม่.......

           ** วันนี้อ่านรำพันพิลาปของท่านสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มกราคม, 2563, 10:28:56 PM
(https://i.ibb.co/jMFGB0D/0.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๘ -

“คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก
ไปพิศศรีโลกลายแทงแสวงหา
ลงหนองน้ำปล้ำตะเข้หากเทวดา
ช่วยรักษาจึงได้รอดไม่วอดวาย

วันไปอยู่ภูผาเขาม้าวิ่ง
เหนื่อยนอนพิงเพิงไศลหลับใจหาย
ครั้นดึกดูงูเหลือมเลื้อยเลื่อมลาย
ล้อมรอบกายเกี่ยวตัวกันผัวเมีย

หนีไม่พ้นจนใจได้สติ
สมาธิถอดชีวิตอุทิศเสีย
เสียงฟู่ฟู่ขู่ฟ่อเคล้าคลอเคลีย
แลบลิ้นเลียแล้วเลื้อยแลเฟื้อยยาว

ดูใหญ่เท่าเสากระโดงผีโป่งสิง
เป็นรูปหญิงยืนหลอกผมหงอกขาว
คิดจะตีหนีไปกลัวไม้ท้าว
โอ้เคราะห์คราวขึ้นไปเหนือเหมือนเหลือตายฯ”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้เล่าเรื่องของสุนทรภู่ตามความในรำพันพิลาป  ที่ท่านบอกเล่าว่า  เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗  ท่านออกขาดจากราชกิจ  แล้วบวชเป็นภิกษุร่อนเร่ไปในเมืองเพชรบุรี  ราชบุรี  ไกลถึงด่านที่อยู่กะเหรี่ยงเมืองกาญจน์  แล้วกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี ตกทุกข์ได้ยากอย่างยิ่ง  ขณะที่ถลุงแร่ให้เป็นทองอยู่นั้น  ขโมยมาถอยเอาเรือไปทั้งลำ  บาตร จีวร ข้าวของในเรือก็ถูกขโมยไปสิ้น.. วันนี้มาดูทางเดินชีวิตของท่านตามที่บอกเล่าในรำพันพิลาปต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/LQpG5gd/images-23.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านเล่าว่าเดินทางจากสุพรรณบุรีขึ้นเหนือไปถึงจังหวัดพิษณุโลก (พิศศรีโลก)  ลงในหนองน้ำใหญ่งมหาของตามลายแทง  ได้ปล้ำกับจระเข้จนเกือบจะกลายเป็นเหยื่อจระเข้แล้ว  เคราะห์ดีที่เทวดาช่วยไว้จึงรอดตาย  ล่องลงมาพักที่เขาม้าวิ่งก็เผชิญกับผีโป่งที่แปลงกายเป็นงูเหลือม  วงรอบกายขู่ฟ่อๆอยู่  ท่านต้องทำสมาธิถอดชีวิตเสีย  ผีโป่งจึงพ่ายบุญฤทธิ์หนีไป.......

“เมื่อขาล่องต้องตอเรือหล่อล่ม
เจียนจะจมน้ำม้วยระหวยระหาย
ปะหาดตื้นขึ้นรอดไม่วอดวาย
แต่ปะตายหลายหนหากทนทาน

แล้วมิหนำซ้ำบุตรสุดที่รัก
ขโมยลักหลายหนผจญผลาญ
ต้องต่ำต้อยย่อยยับอัประมาณ
มาอยู่วิหารวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น

โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน
สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น
ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น
เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันทร์

จะสึกหาลาพระอธิษฐาน
โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ
เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น

อยู่มาพระสิงหไกรภพโลก
เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ
ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น
พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก

ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์
ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก
ค่อยฝ่าฝืนชื่นฉ่ำดังอำมฤค
แต่ตกลึกเหลือที่จะได้สบาย

ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น
จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย
ได้ห่มสีมีหมอนเสื่ออ่อนลาย
ค่อยคลายอายอุตส่าห์ครองฉลองคุณ

เหมือนพบปะสิทธาที่ปรารภ
ชุบบุตรลพเลี้ยงเหลือช่วยเกื้อหนุน
ถนอมพักตรรักษาด้วยการุญ
ทรงสร้างบุญคุณศีลเพิ่มภิญโญ

ถึงยากไร้ได้พึ่งเหมือนหนึ่งแก้ว
พาผ่องแผ้วผิวพักตรขึ้นอักโข
พระฤๅษีที่ท่านช่วยชุบเสือโค
ให้เรืองฤทธิ์อิศโรเดโชชัย

แล้วไม่เลี้ยงเพียงชุบอุปถัมภ์
พระคุณล้ำโลกาจะหาไหน
ช่วยชี้ทางกลางป่าให้คลาไคล
หลวิชัยคารวีจำลีลา

แต่ละองค์ทรงพรตพระยศยิ่ง
เป็นยอดยิ่งเมืองมนุษย์นี้สุดหา
จงไพบูลย์พูลสวัสดิ์วัฒนา
พระชันษาสืบยืนอยู่หมื่นปี

เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร
กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี
อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี
ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน...”

(https://i.ibb.co/WzJCZh5/35295411-434051880389806-8293307382985916416-n.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเลียบ (วัดราชบูรณะราชวรวิหาร) : กรุงเทพฯ

          * ให้อ่านกลอนรำพันพิลาปยาว  ฟังท่านเล่าเรื่องจากเขาม้าวิ่งแถว ๆ ลพบุรี  สระบุรี  ลงมา  ประสบภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เรือชนตอล่มเกือบจมน้ำตายบ้าง  ขโมยลักหนูพัดไปบ้าง  เมื่อลงมาถึงกรุงเทพก็เข้าอยู่ในวิหารวัดเลียบอย่างอัตคัดขัดสนจนคิดจะสึก  ก็พอดี  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ทรงนำพระราชโอรสสองพระองค์  คือ  เจ้าฟ้าชายกลาง เจ้าฟ้าชายปิ๋ว  มาฝากเป็นศิษย์ให้สอนหนังสือ  และทรงอุปถัมภ์บำรุง  ต่อมาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเข้าอุปการะต่อดังได้ขยายความไปแล้ว  ในช่วงเวลานี้  "ท่านจันนทร์"  ว่าสุนทรภู่สึกจากพระหลังจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์  สึกแล้วได้ภรรยาชื่อม่วงมีบุตรด้วยกัน ๑ คน  คือ  หนูตาบ

(https://i.ibb.co/4T4fz2s/m-SQWl-Zd-Cq5b6-ZLkv-NCs8-OEAJB29p-ZXe-R.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร) : กรุงเทพฯ

          หลังจากสึกไปลอยเรือเร่อยู่ห้าปี  ก็บวชใหม่  คราวนี้พระอุปัชฌาย์คือกรมหมื่นนุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี)  วัดพระเชตุพนฯทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงบวชให้แล้วก็ให้กลับเข้าอยู่วัดเลียบตามเดิม  ท่านว่า  “พระฤๅษีช่วยชุบเสือโคแล้วไม่เลี้ยง  หากแต่ชี้ทางให้ไป..”   ท่านไม่อยากอยู่วัดเลียบด้วยเกรงอันธพาล  จึงขอให้พระอุปัชฌาย์ส่งไปอยู่วัดเทพธิดาราม........

          พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อเถิดครับ.

เต็ม อภินันท์
ณอาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, มกราคม, 2563, 10:04:47 PM
(https://i.ibb.co/CzXM22Y/4ixpx.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๕๙ -

“ถึงยามเคราะห์เผอิญให้เหินห่าง
ไม่เหมือนอย่างอยู่ที่พระวิหาร
โอ้ใจหายกลายกลับอัประมาณ
โดยกันดารเดือดร้อนไม่หย่อนเย็น

ได้พึ่งพระปะแพรพอแก้หน้า
สองวษาสิ้นงามถึงยามเข็ญ
คิดขัดขวางอย่างจะพาเลือดตากระเด็น
บันดาลเป็นปลวกปล่องขึ้นห้องนอน

กัดเสื่อสาดขาดปรุทะลุสมุด
เสียดายสุดแสนรักเรื่องอักษร
เสียแพรผ้าอาศัยไตรจีวร
ดูพรุนพรอนพลอยพาน้ำตาคลอ

ถึงคราวคลายปลายอ้อยบุญน้อยแล้ว
ไม่ผ่องแผ้วพักตราวาสนาหนอ
นับปีเดือนเหมือนจะหักทั้งหลักตอ
แต่รั้งรอร้อนรนกระวนกระวายฯ...”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.......

          เมื่อวันวานนี้ได้เล่าความตามกลอนรำพันพิลาปของท่านสุนทรภู่  ที่บอกเล่าว่ากลับจากเมืองเหนือเข้ามาอยู่พระวิหารวัดเลียบ (ราชบูรณะ) ได้เป็นพระอาจารย์สอนหนังสือเจ้าฟ้าชายกลาง  เจ้าฟ้าชายปิ๋ว  โดยเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงอุปการะ  และจากนั้น  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงรับอุปการะต่อจนสิ้นพระชนม์  ท่านจันทร์ว่า  พระภู่ลาสิกขาออกไปมีภรรยาชื่อม่วง  แล้วกลับมาบวชใหม่พร้อมกับหนูพัด  สมเด็จพระอุปัชฌาย์คือกรมหมื่นชิโนรส  วัดพระเชตุพนฯ  ทรงให้กลับไปอยู่วัดเลียบตามเดิม  แต่ท่านเกรงอันธพาลกลุ่มเก่า  จึงขอให้ทรงส่งไปอยู่วัดเทพธิดาราม  วันนี้มาดูความในรำพันพิลาปกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/BTnNJn4/sunthonphumuseum-13.jpg) (https://imgbb.com/)
ห้องนอนท่านสุนทรภู่ เมื่อเป็นพระภิกษุวัดเทพธิดาราม

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านรำพันว่า  มาอยู่วัดเทพธิดาในสองพรรษาแรกมีความสุขสนุกสบาย  แต่พรรษาสองมาแล้ว  กลับคืนสู่ความยากเข็ญ  เป็นเคราะห์อะไรเช่นนั้นที่บันดาลให้ปลวกก่อปล่องขึ้นในห้องนอน (เมื่อตอนที่ท่านไปสุพรรณแล้วแต่งคำโคลงนิราศ)  ปลวกกัดเสื่อสาดขาดปรุ  แล้วยังกัดสมุดข่อยที่ท่านเขียนกลอนไว้ในสมุดนั้นขาดปรุไปด้วย  ท่านคร่ำครวญว่าสุดแสนเสียดายเรื่องราวที่เขียนบันทึกไว้ในสมุดที่ถูกปลวกกัดกินนั้นนักหนา  ผ้าจีวรแพรที่ปลวกกัดกินท่านยังไม่เสียดายเท่าสมุดนั้น  เราอ่านถึงตรงนี้แล้วก็แสนเสียดาย  ไม่รู้ว่ากลอนดี ๆ ที่ท่านเขียนไว้ในสมุดที่ปลวกกัดกินนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง  เสียดายจริง ๆ ครับ

“ถึงเดือนยี่มีเทศน์สมเพชพักตร
เหมือนลงรักรู้ว่าบุญสิ้นสูญหาย
สู้ซ่อนหน้าฝ่าฝืนสะอื้นอาย
จนถึงปลายปีฉลูมีธุระ

ไปทางเรือเหลือสลดด้วยปลดเปลื้อง
ระคางเคืองข้องขัดสลัดสละ
ลืมวันเดือนเชือนเฉยแกล้งเลยละ
เห็นแต่พระอภัยพระทัยดี

ช่วยแจวเรือเกื้อหนุนทำบุญด้วย
เหมือนโปรดช่วยชูหน้าเป็นราศี
กลับมาถึงผึ้งมาจับอยู่กับกะฎี
ทำรังที่ทิศประจิมริมประตู

ต้องขัดเคืองเรื่องราวด้วยคราวเคราะห์
จวบจำเพาะสุริยาถึงราหู
ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู
แม้นขืนอยู่ยากเย็นจะเห็นใคร

เครื่องกะฎีที่ยังเหลือแต่เสื่อขาด
เข้าไสยาสน์ยุงกัดปัดไม่ไหว
เคยสว่างกลางคืนขาดฟืนไฟ
จะโทษใครเคราะห์กรรมจึงจำทน

โอ้อายเพื่อนเหมือนเขาว่ากิ่งกาฝาก
มิใช่รากรักเร่ระเหระหน
ที่ทุกข์สุขขุกเข็ญเกิดเป็นคน
ต้องคิดขวนขวายหารักษากาย

ได้พึ่งบ้างอย่างนี้เป็นที่ยิ่ง
สัจจังจริงจงรักสมัครหมาย
ไม่ลืมคุณพูลสวัสดิ์ถึงพลัดพราย
มิได้วายเวลาคิดอาลัย

จะลับวัดพลัดที่กะฎีตึก
สุดแต่นึกน้ำตามาแต่ไหน
เฝ้านองเนตรเช็ดพักตรสักเท่าไร
ขืนหลั่งไหลรินร่ำน่ารำคาญ

คิดอายเพื่อนเหมือนเขาเล่าแม่เจ้านี่
เร่ไปปีละร้อยเรือนเดือนละร้อยบ้าน
เพราะบุญน้อยย่อยยับอัประมาณ
เหลือที่ท่านอุปถัมภ์ช่วยบำรุง

ต่อเมื่อไรไปทำทองสำเร็จ
แก้ปูนเพชรพบทองสักสองถุง
จะผาสุกทุกสิ่งนอนกลิ้งพุง
กินหมูกุ้งไก่เป็ดจนเข็ดฟันฯ”

(https://i.ibb.co/GQ2yL1y/sunthonphumuseum-20.jpg) (https://imgbb.com/)
ตู้หนังสือท่านสุนทรภู่ เมื่อเป็นพระภิกษุวัดเทพธิดาราม

          * อ่านคำรำพันของท่านตอนนี้แล้วรู้สึกสงสารท่านไม่น้อย  ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระภู่ สุนทรโวหาร  ท่านว่า  ในเดือนยี่ปีฉลูนั้นที่วัดเทพธิดาเขามีเทศน์ประจำปี  ท่านมิได้กัณฑ์เทศน์เหมือนพระองค์อื่น ๆ ก็รู้สึกเสียหน้ามาก  จึงเกิดมานะที่จะสร้างฐานะตนเองให้ใคร ๆ เห็นความสำคัญบ้าง  หลังจากนั้นไม่นานจึงตัดสินใจไปสุพรรณดังกลอนที่ว่า  “ปลายปีฉลูมีธุระ”  ท่านไม่บอกว่าธุระอะไร   แต่ก็พอจะเดาได้ว่า  ไปหาแร่มาถลุงทอง  การออกเรือไปคราวนี้ท่านว่า เจ้าฟ้าชายกลางมาช่วยแจวเรือให้  (เห็นแต่พระอภัยพระทัยดี  ช่วยแจวเรือเกื้อหนุนทำบุญด้วย  เหมือนโปรดช่วยชูหน้าเป็นราศี)  ไม่ทราบเหมือนกันว่า พระองค์ช่วยแจวเรือไปจนถึงสุพรรณ  หรือแจวจากคลองโอ่งอ่างออกไปสู่เจ้าพระยาแค่นั้น

          ครั้นกลับมาอีกทีก็พบสภาพกุฏิดังที่ท่านพรรณนาเป็นกลอนไว้ชัดเจนแล้ว  ถ้ายังไม่เข้าใจก็กลับไปอ่านกลอนท่านอีกสักเที่ยวสองเที่ยวนะครับ  วันนี้ตามดูชีวิตท่านมาแค่นี้ก่อน  พรุ่งนี้ค่อยมาตามดูกันต่อไปครับ.

(.....................  มีต่อพรุ่งนี้  .....................)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มกราคม, 2563, 01:03:40 AM
(https://i.ibb.co/47Q1KHQ/313961-241162759260672-4821679-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๐ -

“ขอเดชะพระมหาอานิสงส์
ซึ่งรูปทรงสัจศิลถวิลสวรรค์
จะเที่ยวรอบขอบประเทศทุกเขตคัน
ขอความฝันวันนี้บอกดีร้าย

แล้วร่ำภาวนาในพระไตรลักษณ์
ประหารรักหนักหน่วงตัดห่วงหาย
หอมกลิ่นธูปงูบระงับหลับสบาย
ฝันว่าว่ายสายชเลอยู่เอกา

สิ้นกำลังยังมีนารีรุ่น
รูปเหมือนหุ่นเหาะเร่ร่อนเวหา
ช่วยจูงไปไว้ที่วัดได้ทัศนา
พระศิลาขาวล้ำดังสำลี

ทั้งพระทองสององค์ล้วนทรงเครื่อง
แลเลื่อมเหลืองเรืองจำรัสรัศมี
พอเสียงแส้แห่หาเห็นนารี
ล้วนสอดสีสาวน้อยนับร้อยพัน......”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านอ่านกลอนรำพันพิลาปตามดูเรื่องราวของสุนทรภู่  ถึงตอนที่  ท่านเขียนรำพันถึงโชคเคราะห์ของท่านหลังไปสุพรรณกลับมา พบว่าในกุฏิของท่านนั้นมีปลวกก่อเป็นจอมปล่องขึ้นห้องนอน  กัดเสื่อสาด  ไตรจีวรแพร  และสมุดบันทึกคำกลอนจนเสียหายใช้การไม่ได้  สายตาเพื่อน ๆ พระในวัดมองดูท่านอย่างเหยียดหยาม  เห็นชัดว่า  ”ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู”  จึงคิดจะออกจากวัดเทพธิดาไปเสีย  แล้วจะไปหาแร่มาถลุงให้เป็นทองด้วยหวังว่า  “ต่อเมื่อไรไปทำทองสำเร็จ  แก้ปูนเพชรพบทองสักสองถุง  จะผาสุกทุกสิ่งนอนกลิ้งพุง  กินหมูกุ้งไก่เป็ดจนเข็ดฟัน”  วันนี้มาดูท่านในพิลาปรำพันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/1RRhb8L/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว : วัดเทพธิดารามฯ

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน ท่านรำพันว่าคืนนั้น  สวดมนต์ภาวนาอิษฐานขอให้ฝันดี  จากนั้นก็นอนหลับวูบไป  แล้วก็ฝันไปว่า  ว่ายอยู่ในกลางทะเล  กำลังจะสิ้นกำลังจมน้ำตายนั้น  ก็มีนารีรุ่นรูปงามเหมือนหุ่น  เหาะมาจับมือท่านจูงไปไว้ในวัดแห่งหนึ่ง (คือวัดเทพธิดารามนั่นเอง)  แลเห็นพระศิลาสีขาวดังสำลี  และพระทองสององค์ทรงเครื่องงดงามมีรัศมีรุ่งเรือง  ขณะที่เพลินชมพระพุทธรูปอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงเซ็งแซ่แห่มา  ในขบวนนั้นล้วนเป็นสตรีสาวน้อยสดสวยนับเป็นร้อยเป็นพัน.......

“ล้วนใส่ช้องป้องพักตรดูลักษณะ
เหมือนนางสะสวยสมล้วนคมสัน
ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ
ดังดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี

ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด
โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี
ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี
แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง

รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ
เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง
พอแลสบหลบชม้ายชายชำเรือง
ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม

ลำพระกรอ่อนชดประณตน้อม
แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม
หรือสาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม
มาประโลมโลกาให้อาวรณ์

แปลกมนุษย์ผุดผ่องละอองพักตร
วิไลลักษณ์ล้ำเลิศประเสริฐสมร
ครั้นปราศรัยไถ่ถามนามกร
ก็เคืองค้อนขามเขินสะเทินที

ขืนถามอีกหลีกเลี่ยงหลบเมียงม่าย
เหมือนอายชายเฉบเมินดำเนินหนี
นางน้อยน้อยพลอยตามงามงามดี
เก็บมาลีเลือกถวายไว้หลายพรรณ

แล้วชวนว่าอย่าอยู่ชมพูทวีป
นิมนต์รีบไปสำราญวิมานสวรรค์
แล้วทรงรถกลดกั้นนางทั้งนั้น
นั่งที่ชั้นลดล้อมน้อมคำนับ

ที่นั่งทิพย์ลิบเลื่อนคล้อยเคลื่อนคล้าย
พรรณรายพรายเรืองเครื่องประดับ
ประเดี๋ยวเดียวเฉี่ยวฉิบแลลิบลับ
จนลมจับวับใจอาลัยลานฯ”

(https://i.ibb.co/1KmCqPs/13174038-1729512717296341-7630825547258616662-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝันว่า  ในหมู่นางสาวสอางโฉมเหล่านั้น  มีนางหนึ่งทรงศรีฉวีวรรณดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้า  อยู่ท่ามกลางนางสาวน้อยที่เปรียบปานดวงดาวล้อมเดือน  เมื่อนางนั้นเข้ามาใกล้  ก็ปราศรัยไต่ถามชื่อ  นางไม่ตอบ  แต่ทำชม้ายอายเอียงเดินหลีกไปเก็บดอกไม้นานาพรรณมาถวาย  แล้วพูดว่า  อย่าอยู่ในชมพูทวีปเลย  ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในวิมานบนสวรรค์ชั้นฟ้าเถิด  แล้วก็จากไป  ทิ้งให้ท่านตะลึงลานอาลัยอยู่ในที่นั้นเอง  ครั้นพอได้สติท่านก็คิดรำพึงว่า.....

“ซึ่งสั่งให้ไปสวรรค์หรือชันษา
จะมรณาในปีนี้เป็นปีขาล
แม้นเหมือนปากอยากใคร่ตายหมายวิมาน
ขอพบพานภัคินีของพี่ยา

ยังนึกเห็นเช่นโฉมประโลมโลก
ยิ่งเศร้าโศกแสนสวาทปรารถนา
ได้แนบชมสมคะเนสักเวลา
ถึงชีวาม้วยไม่อาลัยเลย

อยู่หลัดหลัดพลัดพรากไปฟากฟ้า
ให้ดิ้นโดยโหยหานิจาเอ๋ย
ถึงชาตินี้พี่มิได้บุญไม่เคย
ขอชื่นเชยชาติหน้าด้วยอาวรณ์......”


(https://i.ibb.co/mB6B5s8/mutulakkana-02.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ตื่นจากฝันแล้ว  ท่านหวั่นวิตกว่า  ที่นางฟ้าในฝันสั่งให้ขึ้นไปเสวยสุขในวิมานบนสวรรค์นั้น  เป็นรางบ่งบอกให้รู้ว่าท่านจะต้องตายในปีขาล (พ.ศ. ๒๓๕๘) นี้เสียแล้วกระมัง  แต่ถ้าหากจริงดั่งที่สั่งมาท่านก็ยินดีที่จะตายเพื่อไปพบพานนางฟ้าองค์นั้น

(.....................  มีต่อพรุ่งนี้  .....................)

          วันนี้ตามคำกลอนรำพันพิลาปของท่านสุนทรภู่มาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาติดตามอารมณ์กลอนของท่านกันต่อไปครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44858#msg44858)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45253#msg45253)                   .


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มกราคม, 2563, 08:28:29 AM
(https://i.ibb.co/DV7Hx8K/2556.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45037#msg45037)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45393#msg45393)                   .

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๑ -

“แม้นรู้เหาะก็จะเหาะตามไปด้วย
สู้มอดม้วยมิได้ทิ้งมิ่งสมร
เสมอเนตรเชษฐาเวลานอน
จะกล่าวกลอนกล่อมประทับไว้กับทรวง

สายสุดใจไม่หลับจะรับขวัญ
ร้องโอดพันพัดชาช้าลูกหลวง
ประโลมแก้วแววตาสุดาดวง
ให้อุ่นทรวงไสยาสน์ไม่คลาดคลาย

ยามกลางวันบรรทมจะชมโฉม
ขับประโลมข้างที่พัดวีถวาย
แม้นไม่ยิ้มหงิมเหงาจะเล่านิยาย
เรื่องกระต่ายตื่นตูมเหลือมูมมาม

ไม่รู้เหาะก็มิได้ขึ้นไปเห็น
แม้นเหมือนเช่นเขาสุธาภาษาสยาม
ถ้ารับรักจักอุตส่าห์พยายาม
ไปตามความคิดคงไม่ปลงปลอง

นี่จนใจไม่รู้จักที่หลักแหล่ง
สุดแสวงสวาทหมายไม่วายหมอง
เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง
เดือนหงายส่องแสงสว่างดังกลางวัน

เห็นโฉมยงองค์เอกเมฆขลา
ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีเปล่งปลั่งดังเพ็งจันทร์
พระรำพันกรุณาด้วยปรานี

ว่านวลหงส์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า
ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้
เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ

จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด
มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร
จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียงฯ”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านตามความในกลอนรำพันพิลาปของท่านสุนทรภู่  ถึงตอนที่ท่านฝันว่าขณะว่ายอยู่ในทะเลกำลังจะจมน้ำนั้น  มีนางฟ้าเหาะลงมาช่วยนำขึ้นบก  แล้วจูงมือพาไปปล่อยไว้ในวัดที่มีพระพุทธรูปศิลาขาวและพระทองทรงเครื่อง  แล้วมีนางเทพธิดาพร้อมด้วยนางสวรรค์กำนัลเข้ามาเที่ยวชมวัด  นางเด็ดดอกไม้ถวายแล้วบอกให้ไปเสวยสุขอยู่ในวิมานบนสวรรค์เถิด  วันนี้มาดูความในรำพันพิลาปต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/LZ16DYW/103670227.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนยาว ๆ ข้างบนนี้เป็นความคะนึงรำพึงรำพันของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ว่า  แม้นท่านเหาะได้ก็จะเหาะตามขึ้นไปบนสวรรค์  ยินดีตายเพื่อยอดหญิงที่รักนางนั้น  เวลานอนก็จะกล่าวกลอนกล่อมให้หลับนอน  ถ้าไม่หลับก็จะร้องเพลงโอดพัดชาช้าลูกหลวงเห่กลอม  หากนางเหงาเซาซึมไม่ยิ้มหวัว  ก็จะเล่านิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูมให้ฟัง  นี่จนใจที่ไม่รู้การเหาะ  แต่ถ้านางรับรักก็จะพยายามดั้นด้นค้นหา  จนใจที่ไม่รู้จักหลักแหล่ง  จึงจนปัญญาที่จะเสาะแสวงหา  ในยามนั้นท่านว่ามีนางเมฆขลาชูดวงจินดามีแสงสว่างมากลางสวรรค์  รัศมีเปล่งปลั่งดังจันเพ็ญ  ลงมาบอกว่า  นางองค์นั้นอยู่ชั้นฟ้ามีนามว่า  “เทพธิดา”   วิมานอยู่ใกล้เคียงกับนางเมฆขลานั้น  รักใคร่กันดุจพี่น้องสนิท  จะให้แก้วแล้วไปหาเถิด  มีปัญหาขัดข้องใดก็จะได้ปรึกษาหารือกันแก้ไขได้........

“สดับคำฉ่ำชื่นจะยื่นแก้ว
แล้วคลาดแคล้วคลับคล้ายเคลิ้มหายเสียง
ทรงปักษาการเวกแฝงเมฆเมียง
จึงหมายเสี่ยงวาสนาอุตส่าห์คอย

เหมือนบุปผาปาริกชาติชื่น
สุดจะยื่นหยิบได้มีไม้สอย
ด้วยเดชะพระกุศลให้หล่นลอย
ลงมาหน่อยหนึ่งเถิดนะจะประคอง

มิให้เคืองเปลื้องปลดด้วยยศศักดิ์
ถนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง
แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง
หล่อจำลองรูปวางไว้ข้างเตียงฯ”

(https://i.ibb.co/yh33vC2/d14a4zv-8b86d515-6e73-491d-8973-6c1133a31230.jpg) (https://imgbb.com/)

          อ่านคำรำพันตอนนี้แล้วเห็นภาพ  “เมฆขลาล่อแก้ว”  ชัดแจ๋วเลยไหมครับ  นางบอกว่าจะให้แก้ว  ยื่นมาแล้วก็ชักมือกลับไม่ให้แก้ว  แล้วขี่นกการเวกบินไปแฝงเมฆเมียงมองอย่างยั่วเย้า  อุแม่เจ้า ! คำอ้อนวอนตอนท้ายของสุนทรภู่  ช่างหยาดเยิ้มเสียเหลือเกิน  “ให้หล่นลอยลงมาหน่อยเถิดนะจะประคอง.....ถนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง  แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง  หล่อจำลองรูปแม่นางวางไว้ข้างเตียง”   ฟังคำพร่ำวอนอย่างนี้  สาวใดหรือจะใจแข็งอยู่ได้  หรือยังมีครับ

“คิดจนตื่นฟื้นฟังระฆังฆ้อง
กลองหอกลองทึ้มทึ้มกระหึ่มเสียง
โกกิลากาแกแซ่สำเนียง
โอ้นึกเพียงขวัญหายไม่วายวัน

วิสัยเราเล่าก็ไม่สู้ใฝ่สูง
นางฟ้าฝูงไหนเล่ามาเข้าฝัน
ให้เฟือนจิตกิจกรมพรหมจรรย์
หรือสวรรค์นั้นจะใคร่ลองใจเรา

ให้รักรูปซูบผอมตรอมตรมจิต
เสียจริตคิดขยิ่มง่วงหงิมเหงา
จะได้หัวเราะเยาะเล่นทุกเย็นเช้า
จึงแกล้งเข้าฝันเห็นเหมือนเช่นนี้

แม้นนางอื่นหมื่นแสนแดนมนุษย์
นึกกลัวสุดแสนกลัวเอาตัวหนี
สู้นิ่งนั่งตั้งมั่นถือขันตี
อยู่กะฎีดังสันดานนิพพานพรหม

รักษาพรตปลดปละสละรัก
เพราะน้ำผักต้มหวานน้ำตาลขม
คิดรังเกียจเกลียดรักหักอารมณ์
ไม่นิยมสมสวาทเป็นขาดรอน....”

(https://i.ibb.co/b1qLRZR/PB-2989-18075.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ตื่นฝันเมื่อใกล้รุ่งสาง  เสียงระฆังฆ้องกลองดังปลุกพระภิกษุในวัดตื่นลุกขึ้นครองผ้าไตรเตรียมทำวัตรสวดมนต์  เจริญภาวนารออรุณขึ้นแล้วออกเดินหนโปรดสัตว์  รับอาหารบิณฑบาตจากญาติโยม  ท่านรำพึงว่านิสัยตนก็มิใช่คนใฝ่สูง  ไฉนจึงมีนางฟ้ามาเข้าฝัน  ทำให้ฟั่นเฟือนในพรตพรหมจรรย์อย่างนี้  หรือว่าสวรรค์แสร้งลองใจเรา.......

          * วันนี้ตามความในรำพันพิลาปมาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาติดตามกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มกราคม, 2563, 10:14:21 PM
(https://i.ibb.co/4MBfyk0/songkran-ladies-4a.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๒ -

“แต่ครั้งนี้วิปริตนิมิตฝัน
เฝ้าผูกพันมั่นหมายสายสมร
สาวสวรรค์ชั้นฟ้าจงถาวร
เจริญพรพูลสวัสดิ์กำจัดภัย

ซึ่งผูกจิตพิศวาสหมายมาดมุ่ง
มักนอนสะดุ้งด้วยพระขวัญจะหวั่นไหว
เสวยสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย
ช่วยเลื่อมใสโสมนัสสวัสดี

ขอเดชะพระอุมารักษาสวาท
ให้ผุดผาดเพียงพักตรพระลักษมี
วิมานแก้วแววฟ้าฝูงนารี
คอยพัดวีแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง

ขอเดชะพระอินทร์ดีดพิณแก้ว
ให้เจื้อยแจ้วจับใจแจ่มใสเสียง
สาวสุรางค์นางรำระบำเรียง
คอยขับกล่อมพร้อมเพรียงเคียงประคอง

ขอพระจันทร์กรุณารักษาศรี
ให้เหมือนมณีนพเก้าอย่าเศร้าหมอง
เหมือนหุ่นเชิดเลิศล้วนนวลละออง
ให้ผุดผ่องผิวพรรณเพียงจันทรา

ขอพระพายชายเชยรำเพยพัด
ให้ศรีสวัสดิ์สว่างจิตขนิษฐา
หอมดอกไม้ในทวีปกลีบผกา
ให้หอมชื่นรื่นวิญญานิทรารมณ์

ขอเดชะพระคงคารักษาถนอม
อย่าให้มอมมีระคายเท่าปลายผม
ให้เย็นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำเช่นน้ำลม
กล่อมประทมโสมนัสสวัสดี....”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุก ๆ ท่านอ่านความฝันในกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ถึงตอนที่ท่านเล่าว่าในฝันคืนนั้น  นางฟ้าองค์หนึ่งพาท่านขึ้นจากท้องทะเลเอามาปล่อยไว้วัดที่มีพระพุทธรูปศิลาขาวและพระทองทรงเครื่อง (ก็คือวัดเทพธิดาราม)  จากนั้นมีนางเทพธิดาพร้อมด้วยนางบริวารเข้ามาเดินชมวัด  ท่านปราศรัยไต่ถามนาม  นางไม่บอก  เพียงแต่ยิ้มเมียงชม้ายเดินหลีกไป  แล้วเก็บดอกไม้มาถวายพร้อมบอกว่าอย่าอยู่ชมพูทวีปเลย  ขึ้นไปเสวยสุขในวิมานบนสวรรค์เถิด  แล้วก็จากไป  ต่อมามีนางเมฆขลาถือดวงแก้วสว่างไสวมายื่นให้  แล้วบอกว่านางสวรรค์องค์นั้นชื่อว่า  เทพธิดา  มีวิมานอยู่ใกล้กัน นางจะให้แก้วแล้วขอให้ขึ้นไปเถิด  มีปัญหาอะไรก็จะช่วยแก้ไขให้  แล้วนางก็จากไปโดยมิได้ให้แก้ว  ท่านสะดุ้งตื่นตอนพระตีฆ้องกลองระฆังย่ำรุ่ง  คิดประหลาดใจว่าทำไม่จึงฝันเช่นนั้น  ทั้ง ๆ ที่ตนก็มิใช่คนใฝ่สูงเกินศักดิ์  เห็นทีว่าเทวดามาแกล้งลองใจ  เพื่อจะให้ละทิ้งเพศพรหมจรรย์กระมัง

(https://i.ibb.co/q0b8G70/13083085-1729516063962673-8454926004601446193-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความที่ต่อจากเมื่อวันวาน  ในที่นี้เป็นที่รู้แล้วว่านางเทพธิดาที่ท่านฝันเห็นนั้น  ได้แก่  พระนางผู้เป็นเจ้าของหรือผู้สร้างวัดเทพธิดารามนี้เอง  จึงได้อวยชัยให้พร  ขอพระอุมาช่วยรักษาบำรุงพระรูปพระโฉมเทพธิดาให้งดงามผุดผาดอยู่ในท่ามกลางนางฟ้าบริพาร  ขอให้พระอินทร์ช่วยดีดพิณแก้ว  บรรเลงเพลงขับกล่อมถนอมขวัญ  สาวสุรางค์นางสวรรค์จับระบำรำฟ้อนบำเรอ  ขอพระจันทร์ช่วยรักษาศรีฉวีวรรณให้ปเล่งปลั่งดั่งแก้วนพเก้า  ขอพระพายช่วยรำเพยพัดกลิ่นหอมของบุปผาจากทั่วทวีปมาอบร่ำอารมณ์ให้ชมชื่น  ขอพระแม่คงคาช่วยชำระล้างละอองธุลีให้ผิวพรรณทั้งสกนธกายปราศจากละอองธุลี  มีผิวเนื้อนวลนุ่มชุ่มชื่นตลอดกาลนาน....

“ด้วยเดิมฉันฝันได้ยลวิมลพักตร
สุดแสนรักลักประโลมโฉมฉวี
ถวิลหวังตั้งแต่นั้นจนวันนี้
ขออย่ามีโทษโปรดยกโทษกรณ์

ด้วยเกิดเป็นเช่นมนุษย์บุรุษราช
มาหมายมาดนางสวรรค์ร่วมบรรจถรณ์
ขอษมาการรุญพระสุนทร
ให้ถาพรภิญโญเดโชชัย

อนึ่งโยมโฉมยงค์พระองค์เอก
มณีเมฆขลามาโปรดปราศรัย
จะให้แก้วแล้วอย่าลืมที่ปลื้มใจ
ขอให้ได้ดังประโยชน์โพธิญาณ

จะพ้นทุกข์สุขสิ้นมลทินโทษ
เพราะพระโปรดโปรยปรายสายสนาน
ให้หน้าชื่นรื่นรสพจมาน
เหมือนนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขสบาย

บวชตะบึงถึงตะบันน้ำฉันชื่น
ยามดึกดื่นได้สังวรอวยพรถวาย
เหมือนพระจันทร์กรุณาให้ตายาย
กับกระต่ายแต้มสว่างอยู่กลางวง

เหมือนวอนเจ้าสาวสวรรค์กระสันสวาท
ให้ผุดผาดเพิ่มผลาอานิสงส์
ได้สมบูรณ์พูนเกิดประเสริฐทรง
ศีลดำรงร่วมสร้างพุทธางกูร

อันโลกียวิสัยที่ในโลก
ความสุขโศกสิ้นกายก็หายสูญ
เป็นมนุษย์สุดแต่ขอให้บริบูรณ์
ได้เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย

ขอบุญพระจะให้อยู่ชมพูทวีป
ช่วยชูชีพเชิดชูให้เฉิดฉาย
ไม่มีเพื่อนเหมือนมนุษย์ก็สุดอาย
สู้ไปตายตีนเขาลำเนาเนิน......”

(https://i.ibb.co/zhLVFKf/380222-539249666104028-1614947853-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนรำพันพิลาปในช่วงตอนนี้  อ่านทบทวนดูแล้ว  ดูเหมือนว่าจะมีเจ้านางอีกพระองค์หนึ่ง  อยู่ใกล้ชิดพระนางเทพธิดาพระองค์นั้น  ซึ่งสุนทรภู่เรียกว่า  นางเมฆขลา  นัยว่าพระนางทำตัวเป็นดัง  “แม่สื่อ”  ให้พระภิกษุภู่  หรืออย่างไร  ดูความในกลอนตอนนี้มีความนัยลับ ๆ ล่อ ๆ ชอบกลอยู่  ชอบคำที่ท่านว่า  “บวชตะบึงถึงตะบันน้ำฉันชื่น”  หมายถึงว่า  จะบวชไปจนแก่ฟันหลุดหมดปากต้องตะบันน้ำกินนั่นเทียว  ท่านได้สอดแทรกนิทานพื้นบ้านเข้ามาว่า  เหมือนพระจันทร์กรุณาให้ตายายและกระต่ายที่รับขึ้นไปอยู่กลางดวงจันทร์ (นิทานตานั่งสานพ้อม  ยายซ้อมข้าว  ที่เห็นภาพกลางดวงจันทร์  และรูปกระต่ายกลางดวงจันทร์)  สรุปกลอนตอนนี้ก็คือ  ท่านแต่งว่าได้   “ลักโลมโฉมศรีแม่เทพธิดามาแต่แรกพบ  เป็นการล่วงเกินตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชน  จึงขอประทานอภัย

          วันนี้ตามคำรำพันพิลาปมาแค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มกราคม, 2563, 10:17:34 PM
(https://i.ibb.co/9p7bvHd/13139253-1729513770629569-6781948071215941313-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๓ -

“โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน
ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผอิญ
ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ

จึงแต่งความตามฝันรำพันพิลาป
ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาศรัย
จะสั่งสาวชาวบางกอกข้างนอกใน
ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา

จึงเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น
ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา
ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา
รักแต่เทพธิดาสุราลัย.......”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพาทุก ๆ ท่านอ่านกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  ถึงตอนที่ท่านอ้างว่านอนหลับแล้วฝันไป  ดังที่ทราบกันแล้วนั้น วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/hYNKQbZ/2556-2-2556.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านรำพึงว่า  ปีนี้ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕  ได้ฝันไปดังนั้น  จึงแต่งความฝันเป็นกลอนรำพันพิลาป  ให้ศิษย์ทราบกันไว้  ครั้นจะสั่งความเหล่านางข้าหลวงก็เกรงพระราชอาชญา  จึงบังอาจเอื้อมอ้างนางสวรรค์ที่ฝันเห็นนั้น  มาแต่งเป็นกลอนให้อ่านกันเพื่อรู้ความเป็นนัยๆว่า  “ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา  รักแต่เทพธิดาสุราลัย”  เพียงนางเดียวเท่านั้น

“ได้ครวญคร่ำร่ำเรื่องเป็นเบื้องสูง
พอพยูงยกย่องให้ผ่องใส
ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทย
เด็กผู้ใหญ่อย่าเฉลียวว่าเกี้ยวพาน

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย
อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน
เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

จะฝากดีฝีปากจะฝากรัก
ด้วยจวนจักจากถิ่นถวิลหวัง
ไว้อาลัยให้ละห้อยจงคอยฟัง
จะร่ำสั่งสิ้นสุดอยุธยาฯ”

(https://i.ibb.co/SRQHJdF/sabai.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านว่า  ที่ครวญคร่ำรำพึงถึงเบื้องสูง  ก็เพราะเพื่อพยุงยกย่อง (แม่เทพธิดา) ให้ผ่องใสเท่านั้น  ใจจริงมิได้คิดอาจเอื้อมเลย  แล้วท่านก็ออกตัวว่า  ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทยทั้งหลาย  อย่าได้คิดเฉลียวใจว่าพระภู่เขียนกลอนเกี้ยวพาน  กลอนทั้งหมดนี้พระภู่แกล้งกล่าวดอกนะ  ขออย่าได้ถือสาหาความกันเลย  สาว ๆ ชาววังและชาวบ้านทั้งหลายที่เคยคุ้นกันมานั้น  หลวงน้าถือว่าเป็นหลานเหลนทั้งนั้น  ที่แต่งกลอนนี้ก็เพราะว่า  “นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน  เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง” เท่านั้นเอง   ไหน ๆ ก็จะจากวัดเทพธิดาไปแล้ว  จะขอเขียนกลอนฝากไว้  เป็นการฝากฝีปากและฝากรัก  ไว้อาลัยให้ละห้อย  จงคอยฟังด็แล้วกัน  จะร่ำสั่งสิ้นสุดอยุธยา  กันเลยทีเดียว

“โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด
เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา
สิ้นกุศลผลบุญกรุณา
จำอำลาเลยลับไปนับนาน

เคยเดินเล่นเย็นลมเลียบชมรอบ
ที่แขวงขอบเขตที่เจดีย์ฐาน
พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร
โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง

ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง
ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง
กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเรียบรับรอง
ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง

สิงโตจีนตีนตัวน่ากลัวกลอก
ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง
ที่ตึกก่อช่อฟ้าใบระกาแดง
ริมกำแพงตะพานขวางเคียงข้างคลอง

เป็นพลับพลาพาไลข้างในเสด็จ
เดือนสิบเอ็ดเคยประทานงานฉลอง
เล่นโขนหนังฟังปี่พาทย์ระนาดฆ้อง
ละครร้องเรื่องแขกฟังแปลกไทย

ประทานรางวัลนั้นไม่ขาดคนดาษดื่น
ทั้งวันคืนครื้นครั่นสนั่นไหว
จะวายเห็นเย็นเยียบเหงาเงียบใจ
ให้อาลัยแลเหลียวเปลี่ยววิญญา

เคยอยู่กินถิ่นที่กะฎีก่อ
เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา
ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน

เป็นสี่แถวแนวทางเดินหว่างกุฏิ์
มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน
ข้างทิศใต้ในจงกรมพรหมจรรย์
มีพระคันธกุฎีที่บำเพ็ง

ศาลากลางทางเดินแลเพลินจิต
ประดับประดิษฐ์ดูดีเป็นที่เก๋ง
จะเริดร้างห่างแหสุดแลเล็ง
ยิ่งพิศเพ่งพาสลดกำสรดทรวง

หอระฆังดังทำนองหอกลองใหญ่
ทั้งหอไตรแกลทองเป็นของหลวง
ปลูกไม้รอบขอบนอกเป็นดอกดวง
บ้างโรยร่วงรสรื่นทุกคืนวัน......”

(https://i.ibb.co/BjCsT3D/cool-temples-trip-bangkok-2.jpg) (https://imgbb.com/)
พระปรางค์สี่ทิศวัดเทพธิดาราม

          คำกลอนตอนนี้เป็นการพาเที่ยวชม  ศาสนวัตถุสถานภายในวัดเทพธิดาราม  เช่นพระปรางค์มีหน้ามุขสี่ทิศ  โบสถ์  วิหาร  ศาลาการเปรียญ  หน้าบันปั้นแบบศิลปะกวางตุ้ง (เมืองจีน) เป็นรูปนกบิน  มีสิงโตจีนตั้งตั้งอยู่หลายตัว  ริมกำแพงมีสะพานขวางเรียงข้างคลองโอ่งอ่าง  มีพลับพลาที่ประทับสำหรับเสด็จมาฉลองในงานเดือน ๑๑  ทุกปีที่มีงานฉลองจะมีโขนหนังละครร้องเรื่องแขก (อิเหนา)  วัดเทธิดารามแบ่งเป็นสองฝ่าย  คือฝ่ายคันถธุระอยู่ฝ่ายกลางและเหนือ   ฝ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ทางใต้ท้ายวัด  ข้างทางเดินระหว่างกุฎี  มีสระน้ำ (บ่อ) ขุดไว้สำหรับพระสงฆ์ใช้อุปโภคบริโภค  มีหอระฆัง  หอกลอง  หอไตร  ริมทางเดินขอบนอกปลูกไม้ดอกไม้ประดับรายเรียง  ผลิดอกสลับสีสวยงาม  ส่งกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจยิ่งนัก

          วันนี้อ่านรำพันพิลาปมาถึงตรงนี้แล้วควรหยุดพักไว้ก่อนนะ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มกราคม, 2563, 10:19:37 PM
(https://i.ibb.co/5Rpnjgf/268-1232698818-jpg-211.jpg) (https://imgbb.com/)
กุฎิสุนทรภู่ วัดเทพธิดารามฯ : กรุงเทพฯ

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๔ -

“ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก
ดูดังผูกพวงระย้านึกน่าฉัน
ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน
เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย

เห็นทับทิมริมกะฎีดอกยี่โถ
สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย
เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย
เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน

ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส
ด้วยยามอดอัตคัดแสนชัดสน
จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน
จะจากต้นชาให้อาลัยชา....”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพาทุกๆท่านอ่านบทกลอนรำพันพิลาป  ของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  มาถึงตอนที่ท่านกล่าวถึงวัตถุและสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัดเทพธิดารามแล้วยังไม่จบ  วันนี้มาตามอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/jh9Tg7F/image.jpg) (https://imgbb.com/)
หน้ากุฎิสุนทรภู่ วัดเทพธิดารามฯ

          กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านกล่าวถึงต้นชมพู่ภายในวัด  ที่หน้ากุฎีและในคณะของท่าน  แต่ละต้นมีผลดกเป็นพวงระย้า (เดี๋ยวนี้เห็นมีอยู่ข้างศาลารายหน้ากุฏิท่านต้นหนึ่ง)  ต้นทรงบาดาลมีดอกออกให้ทันเก็บทั้งเช้าทั้งเย็นทุกวัน  ต้นทับทิม  ยี่โถริมกุฏิ  เห็นแล้วก็อาลัยใจหายที่จะต้องจากไป  เห็นต้นชาริมกระไดกุฏิแล้วก็นึกเสียดาย  เพราะเคยเด็ดใบชาต้นนี้ชงน้ำร้อนเป็นประจำ  จะซื้อชาจีนมาชงน้ำร้อนดื่มเหมือนเขาอื่นก็ไม่มีเงินจะซื้อ  เพราะยามนี้แสนอัตคัดขัดสนจนยากอย่างยิ่ง

“โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก
เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา
โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา
ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว

เคยเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าเมื่อเราอยู่
มาหาสู่ดูแลทั้งแก่สาว
ยืมหนังสือลือเลื่องถามเรื่องราว
โอ้เป็นคราวเคราะห์แล้วจำแคล้วกัน...”

(https://i.ibb.co/tMVy5NQ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
กุฎิสุนทรภู่ วัดเทพธิดารามฯ

          ที่หน้ากุฏิพระภิกษุภู่  มีศาลาที่เราเรียกกันว่าศาลาลอย  ไว้สำหรับเป็นที่รับรองแขก  และยังเป็นที่เรียนหนังสือและเรียนการแต่งกลอน  ทุกวันจะมีผู้คนมายังศาลาหลังนี้  มาเพื่อพบปะเพื่อนเก่า  มารู้จักเพื่อนใหม่  มาต่อตอบกลอนกันบ้าง  หัดแต่งกลอนกันบ้าง  มาฟังพระภู่ว่ากล่าวเพลงยาวให้ฟัง  และบอกให้จดกันบ้าง  มายืมหนังสือสำคัญ ๆ ที่ท่านสุนทรภู่แต่งไว้บ้าง  ในช่วงเวลานั้นนิยายคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี  ที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพขอให้ท่านแต่งต่อกำลังสนุกมาก  นางข้าหลวงชาววังทั้งหลายต่างก็มาติดตามเรื่อง  และขอคัดลอกกันไป  ศาลาลอยหลังนี้ (ยังอยู่)  จึงเป็นที่นัดพบของชาววังและชาวบ้านทั่วไป

“ฤดูร้อนก่อนเก่าทำข้าวแช่
น่าชมแต่เครื่องกับสำหรับฉัน
ช่างทำเป็นเช่นดอกจอกเป็นดอกจันทน์
งามจนชั้นกระชายทำเหมือนจำปา

มะม่วงดิบหยิบดูจึงรู้จัก
ทำน่ารักรูปสัตว์เหมือนมัจฉา
จะแลลับกลับกลายสุดสายตา
เคยไปมามิได้เห็นจะเว้นวาย

ตรุษสงกรานต์ท่านแต่งเครื่องแป้งสด
ระรื่นรสราเชนทร์พุมเสนกระสาย
น้ำกุหลาบอาบอุระแสนสบาย
ถึงเคราะห์ร้ายหายหอมให้ตรอมทรวง

เหมือนแสนโง่โอ้เสียแรงแต่งหนังสือ
จนมีชื่อลือเลื่องทั้งเมืองหลวง
มามืดเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มดวง
ต้องเหงาง่วงทรวงเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ

จำจากเพื่อนเหมือนจะพาน้ำตาตก
ต้องระหกระเหินหาที่อาศัย
โอ้แสนอายปลายอ้อยเลื่อนลอยไป
เจ็บเจ็บใจไม่หายซังตายทน

ที่อารีมีคุณการุณรัก
ได้เห็นพักตรพบปะปีละหน
เข้าวษามาทั่วทุกตัวคน
ถวายต้นไม้กระถางต่างต่างกัน

ดูกิ่งใบไม้แซมติดแต้มแต่ง
ลูกดอกแฝงแกล้งประดิษฐ์ความคิดขยัน
พุ่มสีผึ้งถึงดีลิ้นจี่จันทน์
ต้นกล้วยกรรณิกามีสารพัด

ทำรูปพราหมณ์งามพริ้มแย้มยิ้มเยื้อน
กินนรเหมือนนางกินนรแขนอ่อนหยัด
ดูนางนั่งปลั่งเปล่งดูเคร่งครัด
หน้าเหมือนผัดผ่องผิวกรีดนิ้วนาง

รูปนกหกผกผินกินลูกไม้
บ้างจับไซ้ขนพลิกพลิ้วปีกหาง
นกยางเจ่าเซาจกเหมือนนกยาง
รูปเสือกวางกบกระต่ายมีหลายพรรณ

ทำแปลกแปลกแขกฝรั่งทั้งเจ้าเงาะ
น่าหัวเราะรูปร่างคิ้วคางขัน
สุกรแกะแพะโผนเผ่นโดนกัน
ล้วนรูปปั้นต่างต่างเหมือนอย่างเป็น

จะแลลับนับปีแต่นี้หนอ
ที่ชอบพอเพื่อนสำราญจะนานเห็น
ด้วยโศกสุมรุมร้อนไม่หย่อนเย็น
จงอยู่เป็นสุขสุขทุกทุกคน

ขอแบ่งบุญสุนทรถาวรสวัสดิ์
ให้บริบูรณ์พูนสมบัติพิพัฒน์ผล
เกิดกองทองกองนากอย่ายากจน
เจริญพ้นภัยพาลสำราญเริง.....”

(https://i.ibb.co/7JK4vkQ/Edit.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ผมปล่อยคำกลอน  “ลากยาว”  มาถึงตรงนี้  ให้ทุกท่านอ่านกันอย่างจุใจ  เอิบอิ่มดื่มด่ำในกวีรสที่ท่านสุนทรภู่รินมาให้ซดกัน  ท่านพรรณนาถึงเรื่องราวในกาลที่เป็นฤดูร้อน  ได้ฉันข้าวแช่ในช่วงตรุษสงกรานต์  เข้าวษาฤดูฝนได้รับพุ่มผ้าจำนำพรรษา  อาหารที่ชาววังแต่งมาถวายนั้น  เขาประดิดประดอยอย่างสวยงาม  อ่านกลอนท่านแล้วเห็นภาพโดยไม่ต้องอธิบายขยายความเลย  มาถึงการถวายเครื่องไทยทานในวันเข้าพรรษาอีกเล่า  ของถวายนั้นตกแต่งสวยงามสุดพรรณนาเลยทีเดียว

          วันนี้อ่านมาหยุดพักตรงนี้ก่อนก็แล้วกันนะ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโทัย
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มกราคม, 2563, 10:35:57 PM
(https://i.ibb.co/52ycjv3/20191018-093418.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๕ -

“โอ้สงสารหลานสาวเหล่าข้าหลวง
เคยมาลวงหลงเชื่อจนเหลือเหลิง
ไม่รู้เท่าเจ้าทั้งนั้นเสียชั้นเชิง
เชิญบันเทิงเถิดนะหลานปากหวานดี

ได้ฉันลมชมลิ้นเสียสิ้นแล้ว
ล้วนหลานแก้วหลอกน้าต้องล่าหนี
จะนับเดือนเลื่อนลับไปนับปี
อยู่จงดีได้เป็นหม่อมให้พร้อมเพรียง....”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ................................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของสุนทรภู่มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ พระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  รำพันรำพึงถึงความสุขสบายที่ได้ในวัดเทพธิดาราม  ทั้งในฤดูร้อน  ตรุษสงกรานต์  และเข้าฤดูฝน  วันเข้าพรรษา ได้รับผ้าอาบน้ำฝนพร้อมเครื่องไทยทานอันประณีต  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/fk0RJJ6/28467891-10211210890894679-1912962892074960339-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          คำกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านกล่าวถึงเหล่านางข้าหลวงในวังของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพและวังอื่น ๆ ที่ไปมาหาสู่ท่านอยู่ทุกเมื่อเชื้อวัน  มีหลายคนมาลวงหลอกให้ท่านแต่งกลอนเพลงยาวโต้ตอบกัน  นัยว่าเธอนำกลอนเพลงยาวที่ท่านแต่งเกี้ยวสาวให้ใครไปนานจนจำไม่ได้แล้ว  เอามาให้ท่านแต่งกลอนเพลงยาวตอบ  โดยอ้างว่ามีชายส่งกลอนเพลงยาวนั้นมาให้เธอแล้วเธอตอบไม่ได้  จึงขอให้  “หลวงน้า”  ช่วยเขียนตอบให้ที  เมื่อเธอได้ไปแล้วก็เอาไปคัดลอกเวียนอ่านกัน  แล้วก็มาลวงให้ท่านเขียนเพลงยาวตอบโต้อีก  เป็นอย่างนี้หลายครั้งหลายหน  จนระยะหลัง ๆ ท่านจึงค่อยรู้ตัวว่าถูกนางข้าหลวงหลอกให้เขียนกลอนเพลงยาว แบบ  “ถามเองตอบเอง”  มาถึงยามที่จะต้องจากเหล่านางข้าหลวงนั้น  ท่านจึงรำพันว่า  สงสารพวกนางปากหวานเหล่านั้น  ขอให้หลานแก้วทั้งหลายนั้นอยู่กันอย่างบันเทิงเถิด  หลวงน้าได้  “ฉันลมชมลิ้น”  พวกเจ้าจนสิ้นแล้ว  ให้ได้เป็นหม่อมกันทุกคนเถิดนะ  หลวงน้าจำต้องล่าหนีไปแล้ว

“โอ้เดือนอ้ายไม่ขาดกระจาดหลวง
ใส่เรือพ่วงพวกแห่เซ็งแซ่เสียง
อึกทึกครึกโครมคบโคมเคียง
เรือรายเรียงร้องขับตีทับโทน

บ้างเขียนหน้าทาดำยืนรำเต้น
ลางลำเล่นงิ้วหนังมีทั้งโขน
พวกขี้เมาเหล่าประสกตลกโลน
ร้องโย้นโหยนโย้นฉับรับชาตรี

ล้วนเรือใหญ่ใส่กระจาดย่ามบาตรพร้อม
ของคุณหม่อมจอมมารดาเจ้าภาษี
ทั้งขุนนางต่างมาด้วยบารมี
ปี่พาทย์ตีเต้นรำทุกลำเรือ

ของขนมส้มสูกทั้งลูกไม้
หมูเป็ดไก่กุ้งแห้งแตงมะเขือ
พร้าวอ่อนด้วยกล้วยอ้อยนับร้อยเครือ
จนล้นเหลือเกลือปลาร้าสารพัน

แล้วเราได้ไตรดีแพรสีแสด
สบงแปดคืบจัดเป็นสัตตขันธ์
โอ้แต่นี้มิได้เห็นเหมือนเช่นนั้น
นับคืนวันปีเดือนจะเลื่อนลอย.....”

(https://i.ibb.co/SwVQ629/image.png) (https://imgbb.com/)

          * ท่านรำพึงถึงสิ่งที่เคยได้รับเมื่อเดือนอ้ายของปีที่ผ่านมา  สมัยก่อนนี้ในเดือนอ้ายของทุกปีมีประเพณีบุญพิธีอย่างหนึ่ง  คือการทอดผ้าป่าต่อจากการทอดกฐิน  พิธีการทอดผ้าป่าทางน้ำสมัยนั้นสนุกสนานมาก  ชาวบ้านจะจัดกระจาด  ชะลอม  ใส่เครื่องครัว  ผลไม้นานา  ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม  มีผ้าสบงบ้าง  จีวรบ้าง  ผ้าไตรบ้างพาดบนกระจาด  ชะลอมนั้น  ใส่เรือแจวเรือพาย  แห่เป็นขบวนเล็กบ้างใหญ่บ้าง  มีการร้องรำทำเพลงกันไปในเรืออึกทึกครึกโครม  ผ่านวัดใดก็จอดเรือนำกระจาด  ชะลอม  ขึ้นไปตั้งไว้บนศาลาท่าน้ำ  แล้วขบวนแห่ก็เลยไปโดยไม่ต้องรอดูว่าจะมีพระรูปใดมาชักผ้าป่าหรือไม่  ในขบวนแห่ผ้าป่าจะมีผ้าป่ากี่กองก็ได้  บางขบวนแห่ก็ทอดผ้าป่าได้หลาย ๆ วัด

(https://i.ibb.co/3Yy3cjK/0e290abe-3800-40d2-9ac3-9192d7e958f7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขบวนแห่ผ้าป่าของชาววังตามที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในรำพันพิลาปนี้  ดูเป็นขบวนใหญ่มาก  โดยเฉพาะขบวนผ้าป่าของ  “หม่อมจอมมารดาเจ้าภาษี”  คือเจ้าจอมมารดาบาง  พระมารดากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  และพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ท่านบอกว่าปีนั้นได้ชักผ้าป่ากระจาดของเจ้าจอมมารดาบาง  ได้ไตรแพรสีแสด  ซึ่งเป็นผ้าไตรชั้นดีที่สุดในยุคนั้น  สบงกว้างยาวแปดคืบ ๗ กระทง (สัตตขันธ์)  ท่านหวนคิดถึงเรื่องนี้ที่ผ่านมาแล้วให้แสนจะอาลัย  นับแต่นี้จะไม่ได้เห็นเป็นเช่นนั้นแล้ว

“เหลืออาลัยใจเอ๋ยจะเลยลับ
เหลืออาภัพพูดยากเหมือนปากหอย
ให้เขินขวยด้วยว่าวาสนาน้อย
ต้องหน้าจ๋อยน้อยหน้าระอาอาย

ออกวัสสาผ้าสบงกระทงเข้า
พระองค์เจ้าจบพระหัตถ์จัดถวาย
ไม่แหงนเงยเลยกลัวเจ้าขรัวนาย
สำรวมกายก้มหน้าเกรงบารมี

สวดมนต์จบหลบออกข้างนอกเล่า
ปะแต่เหล่าสาวแส้ห่มแพรสี
สู้หลับตามาจนสุดถึงกุฎี
เหมือนไม่มีตาตัวด้วยกลัวตาย

ตั้งแต่นี้มิได้หลบไม่พบแล้ว
จงผ่องแพ้วพักตรเหมือนดังเดือนหงาย
จะเงียบเหงาเช้าเย็นจะเว้นวาย
โอ้ใจหายหมายมาดเคลื่อนคลาดคลา

เหมือนบายศรีมางานท่านถนอม
เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา
ต้องลอยมาลอยไปเหมือนใบตอง

เหมือนตัวเราเล่าก็พลอยเลื่อนลอยลับ
มิได้รับไทยทานดูงานฉลอง
โอ้ทองหยิบลิบลอยทั้งฝอยทอง
มิได้ครองไตรแพรเหมือนแต่เดิม....”

(https://i.ibb.co/nfwX1VV/70.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึงวันออกพรรษาในปีขาลนั้น  พระองค์เจ้า (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ)  นำผ้าสบง (มักเรียกกันว่า ผ้าจำนำพรรษา) มาถวายพระบนอาสน์สงฆ์ในศาลาการเปรียญ  ขณะที่ยกพระหัตถ์จบแล้วประเคนผ้าสบงนั้น  พระภิกษุภู่  นั่งสำรวมกายก้มหน้าไม่กล้าแลดูพระพักตร  ด้วยเกรงกลัวพระบารมี  ครั้นคณะสงฆ์สวดอนุโมทนา (ยะถา สัพพี..) จบ  ท่านกราบพระแล้วรีบเดินก้มหน้าลงจากศาลาการเปรียญ (ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากุฏิท่านมากนัก)  สองข้างทางจากศาลามากุฏิมีผู้คนพลุกพล่าน  ท่านเห็นเหล่านางข้าหลวงนุ่งห่มผ้าแพรสีมากหน้าหลายตา  แต่ไม่กล้าเงยหน้ามองทักทาย  แม้แต่จะแย้มยิ้ม  หากแต่ก้มหน้าเดินหงุด ๆ กลับกุฏิ  “เหมือนไม่มีตาตัวด้วยกลัวตาย”  แล้วก็มารำพึงรำพันดังคำกลอนข้างบนนี้แล

          วันนี้อ่านรำพันพิลาปมาถึงตรงนี้แล้วก็สมควรพักไว้ก่อนนะ พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, มกราคม, 2563, 10:13:05 PM
(https://i.ibb.co/2ZprFVm/1529977686-36035705-2032109306861139-6021676764697198592-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๖ -

“พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด
ไม่ยาวยืดยกยอชะลอเฉลิม
เมื่อกระนั้นจันทน์และกระแจะเจิม
ได้พูนเพิ่มเหิมฮึกอยู่ตึกราม

ครั้นเหินห่างร้างเริดก็เกิดทุกข์
ไพรีรุกบุกเบียนเป็นเสี้ยนหนาม
สู้ต่ำต้อยน้อยตัวเกรงกลัวความ
ด้วยเป็นยามยากจนจำทนทาน

ขอเดชะพระสยมบรมนาถ
เจ้าไกรลาศโลกามหาสถาน
ทรงวัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล
ถือพัดตาลตาไฟประลัยกัลป์

ประกาศิตอิทธิเวทวิเศษประเสริฐ
ให้ตายเกิดสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
ตรัสอย่างไรไปเป็นเหมือนเช่นนั้น
พระโปรดฉันเชิญช่วยอำนวยพร

เผื่อว่าจักรักใคร่ที่ไหนมั่ง
ให้สมหวังดังจำนงประสงค์สมร
ทรงเวทย์มนต์ดลประสิทธิ์ฤทธิรอน
เจริญพรภิญโญเดโชชัย

ที่หวังชื่นกลืนกลั้นกระสันสวาท
อย่าแคล้วคลาดเคลือบแคลงแหนงไฉน
มิตรจิตขอให้มิตรใจไป
ที่มืดไม่เห็นห้องช่วยส่องเทียน......”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)



          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่มีงานบุญพิธีทอดผ้าป่าในเดือนอ้าย  เจ้ามารดาบางจัดผ้าป่ากระจาดใหญ่ใส่เรือแห่มาทอดที่วัดเทพธิดาราม  ท่านเป็นผู้ชักผ้าป่ากระจาดนั้น  ได้ผ้าเป็นไตรแพรสีแสด  แล้วเล่าถึงวันออกพรรษาว่า  พระองค์เจ้า (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) นำผ้าจำนำพรรษามาถวาย  ท่านไม่กล้าเงยหน้ามองด้วยเกรงพระบารมี  ครั้นพระสงฆ์อนุโมทนาแล้ว  ท่านก็รีบเดินลงจากศาลาก้มหน้าเดินหงุด ๆ กลับกุฏิ  โดยไม่ยอมแลมองใคร  วันนี้มาอ่านความต่อจากเมื่อวันวานครับ

(https://i.ibb.co/Zcw989Q/1-1265878371.jpg) (https://imgbb.com/)

          คำกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านรำพึงรำพันว่า  จะพึ่งพาอาศัยพระสิงหะไตรภพ (พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ)  และพระอภัยมณี (เจ้าฟ้าชายกลาง) เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว  จำต้องทนบากบั่นฟันฝ่าทุกข์ยากไปด้วยตนเอง  วอนขอพรจากพระสยมบรมนาถ (สยมภู=ผู้เป็นเอง,เกิดเอง)  คือพระพรหมโปรดช่วยอำนวยพร  หากตนจะรักใครที่ไหนบ้าง  ขอได้โปรดดลบันดาลให้สมหวังด้วยเถิด  ขอพรจากพระพรหมเท่านั้นยังไม่พอ  ท่านยังรำพันขอต่อไปอีกว่า...

“ขอเดชะพระนารายณ์อยู่สายสมุทร
พระโพกภุชงค์เฉลิมเสริมพระเศียร
มังกรกอดสอดประสานสังวาลเวียน
สถิตเสถียรแท่นมหาวาสุกรี

ทรงจักรสังข์ทั้งคทาเทพาวุธ
เหยียบบ่าครุฑเที่ยวทวาทศราศี
ขอมหาอานุภาพปราบไพรี
อย่าให้มีมารขวางระคางระคาย

ที่คนคิดริษยานินทาโทษ
พระเปลื้องโปรดปราบประยูรให้สูญหาย
ศัตรูเงียบเรียบร้อยจะลอยชาย
ไปเชยสายสุดสวาทไม่ขาดวัน...”

(https://i.ibb.co/DtYw20p/10110137.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านยังได้วอนขอให้พระนารายณ์ผู้รักษาโลก  ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ใต้มหาสมุทร  โปรดได้ใช้มหาอานุภาพปราบไพรี  อย่าให้มีมารมาขวางกั้นทางชีวิต  หากพระนารายณ์ช่วยปราบศัตรูหมู่มารพินาศไปเรียบร้อยแล้ว  จะเดินลอยชายไปเชยชมสมสมรไม่เว้นแต่ละวัน

“ขอเดชะมหาวายุพัต
พิมานอัศวราชเผ่นผาดผัน
ทรงสีเหลืองเครื่องไฟประลัยกัลป์
กุมพระขันธ์กรดกระหวัดพัดโพยม

ขอเดชาวายุเวกจะเสกเวท
พอหลับเนตรพริบหนึ่งไปถึงโฉม
จะสอพลอฉอเลาะปะเหลาะประโลม
เหมือนกินโสมโศกสร่างสว่างทรวง

สุมามาลย์บานแบ่งแมลงภู่
ขอสิงสู่สมสงวนไม่ควรหวง
จะเหือดสิ้นกลิ่นอายเสียดายดวง
จะหล่นร่วงโรยรสต้องอดออม

โอ้อกเอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นแช่ม
เชยที่แย้มยิ้มพรายไม่หายหอม
แต่หัสนัย์ไตรตรึงส์ท่านถึงจอม
ยังแปลงปลอมเปลื้องปลิดไพจิตรา

ได้บุตรีที่รักยักษ์อสูร
สืบประยูรอยู่ถึงดาวดึงสา
เราเป็นมนุษย์สุดรักต้องลักพา
เหมือนอินทราตรึงไตรเป็นไรมี.......”

(https://i.ibb.co/y8WdGMp/13082695-1100094633397719-5274155694049752659-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          อ่านรำพันพิลาปมาถึงตอนนี้  ก็เห็นว่าท่านสุนทรภู่มีความนึกคิดแสนละเอียดละเมียดละไม  อ่อนไหวในเรื่องของความรักเป็นอย่างยิ่ง  ขอให้พระพายช่วยสั่งให้สายลมหอบพัดพาท่านไปหานางอันเป็นที่รักเพียงชั่วพริบตาเดียวก็ให้ถึงนางแล้ว  และเมื่อไปถึงแล้วจะสอพลอฉอเลาะปะเหลาะประโลมโฉมสมรเฉกภมรภู่ผึ้งเคล้าคลึงเกสรสุมามาลย์  แล้วท่านก็คิดพาดพิงไปถึงพระอินทร์ (สหัสนัยน์)  เป็นถึงจอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ยังแปลงองค์ลงไปลักพาไพจิตราธิดาท้าวไพจิตรอสูรจอมยักษ์  ตัวท่านเองเป็นเพียงมนุษย์  ไยจะลอบลักพานางอันเป็นที่รักดุจพระอินทร์ลักพาธิดายักษ์มิได้เล่า .....

          วันนี้อ่านรำพันพิลาปมาแค่นี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มกราคม, 2563, 10:24:31 PM
(https://i.ibb.co/WWX2T0N/cac00db9984f328fd8bebc6ee2d924a4-700.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๗ -

“อย่าประมาทชาติหนุ่มแมงภู่ผึ้ง
ประสงค์ซึ่งเสน่หาสร้อยส่าหรี
ดูดอกไม้ในจังหวัดทั่วปัฐพี
ดวงใดดีมีกลิ่นรวยรินรส

พอบานกลีบรีบถึงลงคลึงเคล้า
ฟุบแฝงเฝ้าเฟ้นฟอนเกสรสด
สัจจังจริงมิ่งขวัญอย่ารันทด
ถ้ากลิ่นใกล้ได้รสเหลืออดออม

อันโกสุมพุ่มพวงดอกดวงนี้
สร้อยสาหรีรำเพยระเหยหอม
ภมรมาดปรารถนาจึงมาตอม
ต้องอดออมอกตรมระทมทวี

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  ท่านรำพึงรำพันถึงความรักในใจซึ่งมีต่อเทพธิดาในฝัน  และว่า  แม้พระอินทร์จอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ยังลอบรักไพจิตราธิดาท้าวไพจิตรอสูร ณ พิภพใต้สวรรค์  แปลงกายลงมาแล้วพานางขึ้นไปเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง (นางสุชาดา)  ตนเองเป็นมนุษย์บุรุษชาติไยจะบังอาจลักรักนางเทพธิดามิได้เล่า  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/C7YXNNK/trzmiel0-370x247.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้ความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่าอย่าประมาทชาติชายหนุ่มที่เป็นเช่นภู่ผึ้ง  เมื่อมีความรักความปรารถนาในสตรีใดแล้ว  ก็จะพยายามตามติดเชยชมเอาจนได้  แม้จะลำบากยากเข็ญเพียงใดก็ตามทีเถิด  อันดอกไม้โกสุมพุ่มพวงดวงดอกนี้มีสีสวยกลิ่นหอม  เราผู้เหมือนภมรภู่ผึ้งจึงมาเฝ้าเคล้าคลึง  ปรารถนาจนตรอมตรมระทมทวี  ก็ยินยอมแล้ว

“แม้นรับรักหักว่าเมตตาตอบ
เมื่อผิดชอบภายหน้าจะพาหนี
เหมือนอิเหนาเขาก็รู้ไม่สู้ดี
แต่เพียงพี่นี้ก็ได้ด้วยง่ายดาย

อย่าลบหลู่ดูถูกแต่ลูกยักษ์
เขายังลักไปเสียได้ดังใจหมาย
เหมือนตัวพี่นี้ก็ลือว่าชื่อชาย
รู้จักฝ่ายฟ้าดินชินชำนาญ

ถึงนทีสีขเรศขอบเขตแขวง
ป้อมกำแพงแหล่งล้อมป้อมทหาร
เดชะฤทธิ์วิทยาปรีชาชาญ
ช่วยบันดาลให้สมอารมณ์ปอง

จริงจริงนะจะไปอุ้มเนื้อนุ่มน่วม
ลงนั่งร่วมเรือกลพยนต์ผยอง
อยู่ท้ายพระจะได้เรียงเคียงประคอง
ครรไลล่องลอยชเลเหมือนเภตรา

(https://i.ibb.co/KhCwtyz/v29rvyquw-U.jpg) (https://imgbb.com/)

พอลมดีพี่จะให้ใช้ใบแล่น
ไปตามแผนที่ประเทศเขตภาษา
แสนสบายสายสมุทรสุดสายตา
เห็นแต่ฟ้าน้ำเขียวเปล่าเปลี่ยวทรวง

ในสายชลวนลึกโครมครึกคลื่น
สุดจะฝืนคลื่นฝ่าชเลหลวง
เห็นฝูงปลานาคินสิ้นทั้งปวง
เกิดในห้วงห้องมหาคงคาเค็ม

แขกฝรั่งมังค่าพวกวาณิช
สังเกตทิศถิ่นทางต้องวางเข็ม
เข้าประเทศเขตแดนเลียบแล่นเล็ม
เขาไปเต็มตามทางกลางนที

ถ้าแม้นว่าปลาวาฬผุดผ่านหน้า
เรือไม่กล้าใกล้เคียงหลีกเลี่ยงหนี
แนวชลาน่าชมแม้นลมดี
ดูเร็วรี่เรือเรื่อยไม่เหนื่อยแรง

(https://i.ibb.co/1RfqnvH/luciano.jpg) (https://imgbb.com/)

เย็นระรื่นคลื่นเรียบเงียบสงบ
มหรรณพพริบเนตรในเขตแขวง
แม้นควันคลุ้มกลุ่มกลมเป็นลมแดง
เป็นสายแสงเสียงลั่นสนั่นดัง

บัดเดี๋ยวคลื่นครื้นครึกสะทึกโถม
ขึ้นสาดโซมดาดฟ้าคงคาขัง
เสียงฮือฮืออื้ออึงตูมตึงตัง
ด้วยกำลังลมกล้าสลาตัน

แต่เรือเราเบาฟ่องถึงต้องคลื่น
ก็ฝ่าฝืนฟูสบายแล่นผายผัน
แม่เห็นคลื่นครื้นเครงจะเกรงครัน
จะรับขวัญอุ้มน้องประคองเคียง

จะเขียนธงลงยันต์ปักกันคลื่น
ให้หายรื่นราบเรียบเงียบเชียบเสียง
จะแย้มสรวลชวนนั่งที่ตั่งเตียง
ให้เอนเอียงแอบอุ่นละมุนทรวง

จะแสนชื่นรื่นรสแป้งสดหอม
เห็นจะยอมหย่อนตามไม่ห้ามหวง
เหมือนได้แก้วแววฟ้าจินดาดวง
ไว้แนบทรวงสมคะเนทุกเวลา......”

(https://i.ibb.co/7tdVgKY/NLHhYB.jpg) (https://imgbb.com/)

          ปล่อยกลอนให้อ่านกันยาว ๆ อีกตอน  เพราะว่ากลอนตอนนี้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งนัก  เป็นจินตนาการ  หรือฝันยามตื่นของท่าน  ท่านว่าถ้าแม่นางเทพธิดาเมตตาตอบรักแล้วอย่างไรก็ต้องพยายามเข้าอยู่ร่วมหอห้องจนได้  แม้จะต้องลักพาก็ยอมกันละ  มีตัวอย่างอยู่แล้ว  อย่างเช่นอิเหนา  และพระอินทร์นั่นอย่างไร  ท่านยกตัวอย่างแล้วแล้วจินตนาการไปว่า  ได้ลักพาแม่นางเทพธิดาอุ้มลงเรีอกลพยนต์ออกสู่ท้องทะเลมหาสมุทร  แม้จะมีลมสลาตันพัดพานเรือนานาระเหเร่ร่อนและล่มจมไป  แต่เรือของท่านเบาฟ่องล่องลอยฝ่าคลื่นลมไปได้อย่างสบาย

          เพื่อน ๆ นักกลอนอ่านกลอนตอนนี้แล้วจะเห็นได้ว่า  ท่านสุนทรภู่เล่นคำสำนวนได้ยอดเยี่ยมมาก  ใช้คำยาก  เช่น  “เค็ม  เต็ม  เข็ม  เล็ม”  มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวได้ชัดเจนและไพเราะเพราะพริ้ง  เป็นแบบอย่างที่ดีในการเล่นกลอนกัน

          วันนี้อ่านมาพักไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มกราคม, 2563, 10:51:03 PM
(https://i.ibb.co/p1XrQW6/1151-1473094083.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๘ -

“ออกลึกซึ้งถึงที่ชื่อสะดือสมุทร
เห็นน้ำสุดสูงฟูมดังภูมผา
ดูพลุ่งพลุ่งรุ้งวงหว่างคงคา
สูดนาวาเวียนวนเป็นพ้นไป

เรือพ่อค้าวาณิชไม่คิดเฉียด
แล่นก้าวเสียดหลีกลำตามน้ำไหล
แลชเลเภตราบ้างมาไป
เห็นเรไรริ้วริ้วเท่านิ้วมือ

แม้นพรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป
สว่างวูบวงแดงดังแสงกระสือ
ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ
พัดกระพือเผาหนังแก้รังควาน

แต่ตัวพี่มีอุบายแก้พรายผุด
เสกเพลิงชุดเช่นกับไฟประลัยผลาญ
ทิ้งพรายน้ำทำลายวอดวายปราณ
มิให้พานพักตรน้องอย่าหมองมัว..”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ...............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  ท่านสุนทรภู่ว่าหากนางรับรักแล้วจะอุ้มลงเรือพยนต์หนีออกสู่ท้องทะเลมหาสมุทร  และพรรณนาถึงคลื่นลมในทะเลมหาสมุทรนั้นอย่างน่ากลัว  วันนี้มาอ่านกันต่อจากเมื่อวันวานครับ

(https://i.ibb.co/qrzbKbf/caribdis.jpg) (https://imgbb.com/)

          คำกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่าเรือพยนต์ของท่านแล่นออกไปถึงสะดือสมุทรตรงนั้นเป็นวังน้ำวนมีพรายน้ำผุดพลุ่ง ๆ  คอยดูดสิ่งของต่าง ๆ ที่เข้าไปใกล้ให้จมลงไปในสะดือทะเล  เรือของพวกพ่อค้าวาณิชไม่มีใครกล้ากรายเข้าไปใกล้  มีบ้างที่แก้อาถรรพณ์พรายน้ำด้วยการจุดไฟเผาหนังไล่  แต่ท่านว่าไม่กลัวเพราะมีคาถาอาคมดี  สามารถเสกเพลิงชุดเป็นไฟประลัยผลาญ  ทิ้งลงไปในวังน้ำวนนั้น  พรายน้ำก็จะถูกทำลายวายปราณ  มิให้พบหน้าน้องจนหมองมัว

(https://i.ibb.co/8bnXMPx/zxeZ2s.jpg) (https://imgbb.com/)

“ดูปลาใหญ่ในสมุทรผุดพ่นน้ำ
มืดเหมือนคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว
พุ่งทะลึ่งถึงฟ้าดูน่ากลัว
แต่ละตัวตะละโขดนับโยชน์ยาว

จะหยอกเย้าเฝ้ายั่วให้หัวเราะ
ชวนชมเกาะกะเปาะกลมชื่อนมสาว
สาคเรศเขตแคว้นทุกแดนดาว
ดูเรือชาวเมืองใช้ใบเที่ยวไปมา

(https://i.ibb.co/7g9rWn1/unnamed.jpg) (https://imgbb.com/)

เรือสลัดตัดระกำร้อยลำหวาย
ทำเรือค่ายรายแล่นล้วนแน่นหนา
น้าวกระเชียงเสียงเฮสุเรสุรา
ใส่เสื้อผ้าโพกนั้นลงยันต์ราย

เหมือนเรือเปล่าเสากระโดงลดลงซ่อน
ปลอมเรือจรจับบรรดาลูกค้าขาย
จับคนได้ไม่ล้างให้วางวาย
เจาะตีนหวายร้อยส้นทุกคนไป

โดยหากว่าถ้าไปปะเรือสลัด
ศรีสวัสดิ์แววจะพรั่นประหวั่นไหว
จะอุ้มนางวางตักสะพักไว้
โบกธงชัยให้จังงังกำบังตา....”

(https://i.ibb.co/Zx6V0kd/4521.jpg) (https://imgbb.com/)
เกาะนมสาว : ประจวบคีรีขันธ์

          ท่านว่าเมื่อพ้นจากสะดือทะเลมาแล้วจะให้ดูปลาใหญ่ว่ายมาเป็นฝูงคลาคล่ำดำมืด  แล้วก็ผุดโผนจากน้ำทะยานขึ้นฟ้า  ดูแต่ละตัวยาวเป็นโยชน์  ดูน่ากลัวมาก  หากครานั้นน้องหน้าเครียดเพราะความหวาดกลัว  ก็จะพูดยั่วให้หัวเราะ  โดยชี้ให้ชมเกาะกะเปาะกลมที่ชื่อว่า  เกาะนมสาว  ชี้ชวนให้ชมเรือของชาวเมืองที่แล่นไปเทียวไปมาบริเวณเกาะนมสาวนั้น  น่าเพลินตาคราได้ยล  แล้วก็เล่าให้ฟังว่า  ในทะเลนี้มีโจรสลัดโหดร้าย  พวกมันตัดระกำร้อยเป็นลำหวาย ทำเรือค่ายแน่นหนา  ให้เหล่าสลัดลูกเรือโพกผ้าลงยันต์  ช่วยกันกรรเชียงเรือส่งเสียงร้องเฮฮุย  สุเรสุรา  ครั้นมีเรือใครไปมาในน่านน้ำนี้  เมื่อพวกมันจับได้จะไม่ฆ่าให้ตาย  หากแต่จะเจาะตรงเอ็นต้อยบริเวณข้อเท้า  เอาหวายร้อย (เรียกตรงนั้นว่าร้อยหวาย)  ถ้าหากเราไปพบเรือสลัดพวกนี้พี่จะเอาน้องวางบนตัก  เอาธงยันต์โบกกำบังตาพวกมันไว้

“แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ
ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา
แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี

ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตรถือสัจศิล
ใส่เพชรนิลแนมประดับสลับสี
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี
ชาวบุรีขี่รถบทจร

จะเชิญแก้วแววเนตรขึ้นเขตแคว้น
จัดซื้อแหวนเพชรรัตน์ประภัสสร
ให้สร่างทรวงดวงสุดาสถาวร
สว่างร้อนรับขวัญทุกวันคืน

จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย
ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน
กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน
ให้แช่มชื่นชมชเลทุกเวลา.......”

(https://i.ibb.co/Rh6fC3Q/5cdbdcd52100003100d0c8e3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านคิดจะใช้ใบให้เรือแล่นเยื้องไปต่างประเทศ  ชมพวกแขกที่แต่งตัวแปลก ๆ  ทั้งหญิงชายไว้ผมยาวเกล้ามวย  แต่งกายอย่างพราหมณ์  ผ้านุ่งห่มล้วนแต่  “โขมพัสตร”  คือผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้  ทุกคนถือสัจศีล  ประดับร่างกายด้วยเพชรนิลจินดาสลับสีพรายพราว  บ้านเรือนเป็นตึกรามงามนักหนา  การไปมาก็ขี่รถหรูหราราคาแพง  ดังนั้นจึงจะเชิญน้องนางขึ้นเที่ยวชมเมืองและซื้อแหวนเพชรงามให้สวมใส่จนเป็นที่พอใจ  คำกลอนที่หวานหยดย้อยสุด ๆ ในรำพันพิลาป  ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีบทไหนหวานเกินบทนี้  คือ

“จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย
ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน
กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน
ให้แช่มชื่นชมชเลทุกเวลา”

          เรียกว่า  “รักปานจะกลืน” กระนั่นเทียวครับ

          เอาละพักไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มกราคม, 2563, 09:26:44 AM
(https://i.ibb.co/23PR5GY/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๖๙ -

“แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม
ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา
วงศ์อสัญแดหวาน่าหัวเราะ

จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว
ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ
ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม

ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน
ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม
จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมะละกา...”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  มาให้ทุกท่านอ่านกัน  ถึงตอนที่ท่านกล่าวว่าจะพานางเทพธิดาออกทะเลไปจนถึงสะดือทะเล  ฝ่าอันตรายไป  หากพบโจรสลัดก็จะใช้ธงชัยโบกบังตาเหล่าโจรร้ายมิให้เห็น  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/GPRqC2g/Tarian-Jaipong.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่าจะตระกองอุ้มพาแม่นางไปสู่เกาะชวา  เมืองอิเหนาที่หาคนงามมิได้  แล้วจะพาข้ามเข้าเกาะมะละกา....

“เดิมของแขกแตกฝรั่งไปตั้งตึก
แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวิยะดา
ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาคร

แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่
จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน
ร้องละครอิเหนาเข้ามะละกา

แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง
ไปชมละเมาะเกาะวังกัลปังหา
เกิดในน้ำดำนิลดังศิลา
เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน

ชเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ
เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน
เห็นหุบห้องปล่องชลาฝูงนาคิน
ขึ้นมากินเกยนอนชะง่อนเนิน

ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึงรอบ
เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน
เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล

จริงนะจ๊ะจะเก็บทั้งกัลปังหา
เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน
เบี้ยอีแก้แลรอบขอบคีริน
ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง

สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด
ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง
เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา

จะปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น
ก้านแผ่ผิ่นสินธุต้นบุหงา
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา
แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กราย.....”

(https://i.ibb.co/99qzmd2/1313600756.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านว่าเกาะมะละกาเดิมเป็นของแขก  ถูกฝรั่งตีแตกยึดไว้เป็นเมืองขึ้น  เป็นที่ขายปืนผาอาวุธร้ายแรง  หากน้องนางไปด้วยจะอุ้มพาไปนอนเอกเขนก ร้องละครอิเหนาเข้ามะละกา  ชมปลานานาชนิด  แล้วใช้ใบแล่นเรือออกจากฝั่งไปชมภูเขานิลกลางทะเล  ภูเขานี้กว้างใหญ่  ใช้เรือแล่นรอบหนึ่งวันจึงครบรอบ  เป็นเกาะเต็มไปด้วยกัลปังหาสีดำเหมือนนิล  และมุกดา (ไข่หอยมุก) และหอยเบี้ย (เบี้ยอีแก้)  ที่ถูกคลื่นทะเลซัดขึ้นมากองกลาดเกลื่อนอยู่บนพื้นทรายรอบเกาะ  บนเกาะนิลนี้มีไม้เทศไม้หอมนานา  เป็นที่อยู่ของเทวดา  นกทุกชนิดก็ไม่กล้าบินกรายเข้าไปใกล้.........

“แล้วจะใช้ใบไปดูเมืองสุหรัด
ท่าข้ามซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย
แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์

พื้นม่วงตองทองช้ำย่ำมะหวาด
ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม
เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา

จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร
ชมประเภทพรหามณ์แขกแปลกภาษา
ให้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา
ไปมังกล่าฝาหรั่งระวังกะเวน

กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว
ตลบเลี้ยวแลวิ่งดังจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน
เวียนตระเวนไปมาทั้งตาปี.......

(https://i.ibb.co/WB3wYvM/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากเกาะเขานิลไปเมืองสุหรัด  แล้วเลยไปมังกล่า (บังกลาเทศ)  ภาพคนละเมืองต่าง ๆ ในกลอนนี้เป็นเพียงจินตนาการของท่าน  ตามการได้ยินได้ฟังจากชาวต่างชาติที่เข้ามาสยามในสมัยนั้น  ภาพจริงอาจผิดเพี้ยนไป  เช่น  ชาวเกาะชวา  เป็นต้น

          วันนี้พักไว้ตรงมังกล่าก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาอ่านกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มกราคม, 2563, 10:30:19 PM
(https://i.ibb.co/M7qpqrk/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๐ -

เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก
พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี
ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา

ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง
ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา
วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย

แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ
คนซื้อร้องเรียกหาจึงมาขาย
ด้วยไม่มีตีโพยขโมยขมาย
ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ...”

.................. รำพันพิลาป (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่ท่านกล่าวถึงเกาะ  เมืองต่าง ๆ  ในทะเลอันดามัน  มีเกาะสำคัญเกาะหนึ่งมีกัลปังหาสีดำที่ทำให้เกาะนั้นสีดำเป็นนิล  ท่านเรียกว่าเกาะเทวดา  จากเกาะนี้แล้วไปเมืองสุหรัด  มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะได้แก่สุราษฎร์ธานี  ซึ่งไม่น่าจะใช่  เพราะจากเมืองสุหรัดแล้ว  เลยไปบังกลาเทศ (มังกล่า)  ซึ่งอยู่คนละทะเลกับสุราษฎร์ธานี  วันนี้มาอ่านกันต่อในตอนจบรำพันพิลาปครับ

(https://i.ibb.co/QbzbjQz/8c2b59f122e64806596370088483af6c.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่า  เมืองมังกล่ามีคนแขก ฝรั่ง ปะปนกัน  มีเจ๊กแทรกเข้ามาด้วย  คนในเมืองนี้มีฐานะร่ำรวย  สร้างตึกรามบ้านช่องใหญ่โต  ประดับประดาด้วยแก้วกระจกสีแวววาว  ที่แปลกมากก็คือ  มีการค้าขายเพชรเจ็ดสี  แทนที่จะใส่ตู้กระจกตั้งวางขายในร้าน  เขากลับเอาเพชรใส่จานวางไว้หน้าตึก  และเจ้าของไม่นั่งเฝ้า  วางจานเพชรทิ้งไว้อย่างนั้น  เมื่อมีคนสนใจจะซื้อ  ก็มายืนร้องเรียกเจ้าของให้ออกมาขาย  เขาไม่กลัวขโมยจะลักเพชร  เพราะคนเมืองนี้ไม่มีใครเป็นขโมยเลย  ถ้าเป็นบ้านอื่นเมืองอื่น (เช่นสยาม) คงไม่มีเหลือ

“นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น
เป็นสวนอินทผาลัมทับน้ำหวาน
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล
ต้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง

ถึงขวบปีมีจั่นทำขวัญต้น
แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง
ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย

บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตะล่ง
ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นว่าประสาสบาย
บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์...”

(https://i.ibb.co/3rbXRjy/dates1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เมืองมังกล่าของท่านสุนทรภู่ช่างสวยงามน่าอยู่เสียนี่กระไร  เราได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่า  น้ำตาลของคนเมืองนี้ทำจากผลอินทผาลัม  เมื่อผลอินทผาลัมสุกแล้วก็เอากองสุมบนพื้นไม้ที่มีรู  ร่อง  แล้วเอาของหนัก ๆ ทับข้างบน  เอาอ่างรองไว้ข้างใต้  น้ำอินทผาลัมจะไหลลงอ่างทำเป็นน้ำตาล  มีการปลูกอินทผาลัมอย่างทะนุถนอม  จัดการแต่งงานต้นผู้ต้นเมียของอินทผาลัม  ประเพณีสู่ขอ  แต่งงานเหมือนคนเลย  จะทำพิธีแต่งกันตอนที่อินทผาลัมแตกจั่นครับ

“จะพาไปให้สร้างทางกุศล
ขึ้นสิงหลเห็นจะได้ไปสวรรค์
ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน
พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิงคุดร์

คิดจะใช้ใบข้ามไปตามเข็ม
เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสุด
เหมือนหมายทางต่างประทวีปเรือรีบรุด
พอสิ้นสุดสายมหาอารณพ

เหมือนเรื่องรักจักประเวศประเทศถิ่น
มิทันสิ้นสุดคำก็จำจบ
แม้นขืนเคืองเปลื้องปลิดไม่คิดคบ
จะเศร้าซบโศกสะอื้นทุกคืนวัน

เหมือนยักษีที่สิงขรต้องศรกก
ปักตรึงอกอานุภาพซ้ำสาปสรร
อยู่ลพบุรีที่ตรงหว่างเขานางประจัน
เสียงไก่ขันขึ้นนนทรีคอยตีซ้ำ

แสนวิตกอกพระยาอุณาราช
สุดหมายมาดไม่มีที่อุปถัมภ์
ศรสะเทือนเหมือนอุระจะระยำ
ต้องตีซ้ำช้ำในฤทัยระทม

ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร
ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม
พอชื่นใจได้สว่างสร่างอารมณ์
เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ

ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง
ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน
ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ
ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน

เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์
สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร
วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอย......ฯ

(https://i.ibb.co/RzhWBxh/1-43.jpg) (https://imgbb.com/)

          * จึงเป็นอันว่ากลอน  “รำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอนของท่านสุนทรภู่ก็จบลงบริบูรณ์แล้วครับ  ผมขออนุญาต  ไม่อภิปราย  ขยายความของกลอนในตอนนี้นะ  เพราะความชัดเจนดีแล้ว  ขอพักเหนื่อยไว้ตรงนี้ก็แล้วกัน  ชีวิตของกวีเอกของโลกท่านนี้จะเป็นไปอย่างไร  หลังจากออกจากวัดเทพธิดารามไปแล้ว  พรุ่งนี้มาดูกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
วันพฤหัสบดีที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๘/ ๐๕.๓๐ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มกราคม, 2563, 10:53:28 PM
(https://i.ibb.co/7p7X8cx/image1381-5.jpg) (https://imgbb.com/)
พระปฐมเจดีย์ (พระธมเจดีย์) : จ. นครปฐม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๑ -

ณ ปีขาลพอศอสองสามแปดห้า
ลาสิกขาอีกหนเป็นคนบ้าน
ออกจากวัดเทพธิดาฯมิช้านาน
“พระยามณเฑียรบาล”ให้งานทำ

เข้าอยู่บ้านในวังเดิมเริ่มงานหลัก
ในสำนักเจ้าฟ้าน้อยมิต้อยต่ำ
เป็นอาลักษณ์วังหน้าอยู่ประจำ
เป็นผู้นำหมู่เหล่าที่...เจ้ากรม

บรรดาศักดิ์ “พระศรีสุนทรโวหาร”
คนเรียกขาน “สุนทรภู่” อยู่เสียงขรม
อยู่สบายปลายชีวิตลอยติดลม
ครองสุขสมตามประสาชราชน.....

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนรำพันพิลาปของพระภิกษุภู่ สุนทรโวหาร  มาให้ทุกท่านอ่านกันถึงตอนจบบริบูรณ์ไปแล้ว  แต่เรื่องของท่านยังไม่จบ  วันนี้มาดูความเป็นไปในชีวิตของท่านต่อครับ

          ณ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ นั้น สุนทรภู่ออกจากวัดเทธิดารามแล้ว  ท่านมิได้ไปแสวงหาแร่มาถลุงทองดังที่หลายท่านคาดเดากัน  ท่านจันทร์ พ. ณ ประมวญมารค  กล่าวว่า  ท่านได้ลาสิกขาออกจากการเป็นพระภิกษุ  แล้วไปอยู่กับพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล)  กรมวังของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) ในพระราชวังเดิม  โดยพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ผู้นี้เคยเป็นเพื่อนกันมาแต่เยาว์  ในขณะที่สุนทรภู่รับราชการในกรมพระอาลักษณ์และเป็นกวีคนโปรดนั้น  พระยามณเฑียรบาลได้เป็นพระอภิบาล (พี่เลี้ยง) เจ้าฟ้าน้อย กรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ซึ่งประทับอยู่ในพระราชวังเดิม

(https://i.ibb.co/KbVV9qr/12961557-1055582207838582-3876721231951791745-n.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์

          สุนทรภู่ลาสิกขาออกจากวัดเทพธิดารามแล้ว  มีพระยามณเฑียรบาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย  ในปีที่สึกออกจากผ้าเหลืองมานั้นอายุสุนทรภู่ได้ ๕๗ ปี  พระยามณเฑียรบาลในฐานะกรมวังเจ้าฟ้าน้อย  ได้นำเข้าฝากตัวเป็นข้ารับใช้ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) ให้รับราชการในกรมพระอาลักษณ์วังหน้า  นัยว่าการเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์วังหน้านี้  ได้รับการสนับสนุนจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกแรงหนึ่งด้วย

(https://i.ibb.co/kHkTtNL/King-Pinklao.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์)

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เสด็จสวรรคต  พระสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ลาพระผนวชขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)  ทรงตรัสสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) เป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  สำเร็จราชการในพระราชวังหน้า  แม้จะมีตำแหน่งเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)  แต่พระองค์ก็ยังคงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม  และโปรดตั้งสุนทรภู่เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ในพระราชวังบวรสถานมงคล  มีบรรดาศักดิ์เป็น  พระสุนทรโวหาร  ด้วยวัย ๖๖ ปี

(https://i.ibb.co/1QhdQQ3/1381498268-o.jpg) (https://imgbb.com/)
พระปฐมเจดีย์ : นครปฐม

          พระสุนทรโวหาร (ภู่) อาศัยอยู่ในบ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม  ได้นำภรรยาคนที่ชื่อม่วงและบุตรมาอยู่ด้วย  ในช่วงปลายชีวิตนี้ท่านได้แต่งนิราศขึ้นอีกเรื่องหนึ่งเป็นนิราศเรื่องสุดท้าย  ชื่อ  นิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)   ตั้งแต่ต้นจนจบ  ดังนั้นจึงขอนำคำนิราศพระประธม   เล่าเรื่องการเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์  นิราศเรื่องนี้ระบุว่าแต่งเมื่อ  “ ถวิลวันจันทิวาขึ้นห้าค่ำ”  ซึ่งในวันดังกล่าวนักวิชาการกรมศิลปากรตรวจชำระแล้ว  พบว่าเป็น  วันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๒ ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๘๕  ก็แสดงว่า  ท่านออกจากวัดเทพธิดา  และลาสิกขาแล้วเดินทางไปไหว้พระประธม  แต่ง นิราศพระประธม ต่อจาก รำพันพิลาป กันเลยทีเดียว และกลับจากไหว้พระประธมจึงเข้าอยู่ในบ้านพระยามณเฑียรบาลในพระราชวังเดิม  และเข้ารับใช้เป็นข้าในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ในที่สุด

          ผมคิดว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากหากทุกท่านมิได้อ่านความในนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)   ตั้งแต่ต้นจนจบ  ดังนั้นจึงขอนำคำนิราศพระประธม  นิราศเรื่องสุดท้ายของท่านสุนทรโวหารมาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันตั้งต้นจนจบดังต่อไปนี้

“นิราศพระประธม”

ถวิลวันจันทิวาขึ้นห้าค่ำ
ลงนาวาคราเคลื่อนออกเลื่อนลำ
พอฆ้องย่ำยามสองกลองประโคม

น้ำค้างย้อยพร้อยพรมเป็นลมว่าว
อนาถหนาวนึกเคยได้เชยโฉม
มาลับเหมือนเดือนดับพยับโพยม
ให้ทุกโทมนัสในฤทัยครวญ

โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด
จะจากนุชแนบข้างไปห่างหวน
นิราศร้างห่างเหให้เรรวน
มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน

ที่ปลูกรักจักได้ชื่นทุกคืนค่ำ
ก็เตี้ยต่ำตายฝอยกรองกร๋อยโกร๋น
ที่ชื่นเชยเคยรักเหมือนหลักประโคน
ก็หักโค่นขาดสูญประยูรวงศ์

ยังเหลือแต่มีศรีสาครอยู่
ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์
จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง
ให้คนทรงเสียใจมิได้เชยฯ”

          วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒  วันที่สุนทรภู่เริ่มออกเดินทางไปไหว้พระประธมนั้น  บางท่านเข้าใจว่า  ท่านไปในขณะเป็นพระภิกษุ  ออกจากวัดเทพธิดารามแล้วก็เดินทางไปพระประธมเลย  แต่ก็น่าเชื่อตามที่หลายท่านเข้าใจว่าท่านลาสิกขาแล้ว  เพราะดูสำนวนกลอนเป็นฆราวาสมากกว่าเป็นพระภิกษุ  พอเริ่มต้นท่านก็ครวญถึงหญิงคนรักแล้ว  บอกว่าคนที่ปลูกรักหวังได้เชยทุกเช้าค่ำก็ไม่สมหวัง  คนที่เคยเชยชมก็เป็นเสาหินที่หักโค่นไปแล้ว  ยังเหลือคนเดียว  คำว่า  “ยังเหลือแต่แม่ศรีสาครอยู่  ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์  จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง  ให้คนทรงเสียใจมิได้เชยฯ”  แม่ศรีสาครผู้นี้เป็นใคร  ก็ลองคิดเดากันเอาเองเถิด

          วันนี้พักไว้ตรงนี้นะ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, มกราคม, 2563, 10:30:41 PM
(https://i.ibb.co/yn5TR5L/resize.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๒ -

“วัดระฆังตั้งแต่เสร็จสำเร็จศพ
ไม่พานพบภัคินีเจ้าพี่เอ๋ย
โอ้แลเหลียวเปลี่ยวใจกระไรเลย
มาชวดเชยโฉมหอมถนอมนวล

จนนาวาคลาล่องเข้าคลองขวาง
ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน
ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพวน
แต่แลล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว

ทุกเรือนแพแลหลับระงับเงียบ
ยิ่งเย็นเยียบยามดึกให้นึกหนาว
ในอากาศกลาดเกลื่อนด้วยเดือนดาว
เป็นลมว่าวเฉื่อยฉิวหวิวหัวใจ

โอ้บางกอกกอกเลือดให้เหือดโรค
อันความโศกนี้จะกอกออกที่ไหน
แม้นได้แก้วแววตามายาใจ
ก็จะไม่พักกอกดอกจริงจริง

ดูวังหลังยังไม่ลืมที่ปลื้มจิต
เคยมีมิตรมากมายทั้งชายหญิง
เมื่อยามดึกนึกถึงที่พึ่งพิง
อนาถนิ่งนึกน่าน้ำตานอง

บางหว้าน้อยน้อยจิตด้วยพิสมัย
น้อยหรือใจจืดจางให้หมางหมอง
หมายว่ารักจักได้พึ่งเหมือนหนึ่งน้อง
ให้เจ้าของขายหน้าทั้งตาปี ฯ..”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่  เริ่มตอนแรกที่ท่านบอกว่าออกเดินทางไปไหว้พระประธม  หรือพระปฐมเจดีย์  เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒  ตรงกับวันจันทร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๘๕  โดยออกเดินทางเมื่อเวลาประมาณยามสองแล้ว  ไม่ได้บอกว่าออกจากสถานที่ใด  พอจะเดาเอาได้ว่าน่าจะออกจากพระราชวังเดิม  เรือแจวทวนน้ำในลำเจ้าพระยาขึ้นไปทางเหนือ

(https://i.ibb.co/fFr7g80/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดอมรินทรารามวรวิหาร (วัดบางหว้าน้อย)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เรือท่านแจวผ่านหน้าวัดระฆังโฆสิตารามหรือวัดบางหว้าใหญ่  ท่านหวนรำลึกว่า  ตั้งแต่เสร็จงานศพเจ้าครอกทองอยู่ผู้มีพระคุณของท่าน  ซึ่งปลงศพที่วัดนี้แล้ว  มิได้พบภัคินี  คือแม่จันภรรยาคนแรกของท่านอีกเลย  ก็ได้คร่ำครวญหวนหาอาลัยอาวรณ์เท่านั้นเอง  จนกระทั่งเรือถูกแจวผ่านไปถึงคลองบางกอกน้อย  เห็นเรือนแพริมคลองสงบเงียบ  ทุกคนในเรือนแพพากันหลับ  เพราะดึกมากแล้ว  ท่านหวนรำลึกถึงพระราชวังหลังอันเป็นที่เกิดและเติบโตของท่าน  รวมทั้งมีรักแรกกับแม่จันที่นี่  ภาพอดีตตั้งแต่เกิดจนโตที่วังหลังเกิดขึ้นในสำนึกเป็นฉาก ๆ  เป็นความรักความหลังที่ยากจะลืมเลือน  เห็นวัดบางหว้าน้อย (อัมรินทร์) แล้วยิ่งสะท้อนอ่อนอกใจ.....

“ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ
เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี
มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน

ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง
ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ให้ปัฏิสนธิ์
ศิวาลัยไตรภพจบสากล
ประจวบจนจะได้พบประสบกัน

ทั้งแก้วเนตรเกศรามณฑาทิพย์
จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน
อย่ามีอันรายเป็นเหมือนเช่นนี้

วัดปะขาวขาวเหลือเชื่อไม่ได้
ด้วยดวงใจเจ้านั้นคล้ำดำมิดหมี
แม้นแม่หม้ายขาวโศกโฉลกมี
เหมือนแม่ศรีสาครฉะอ้อนเอว

โอ้เคราะห์กรรมจำคลาดนิราศร้าง
เพราะขัดขวางความในเหมือนไขว่เฉลว
ทั้งเกลียดสิ้นนินทาพาลาเลว
เหมือนต้องเปลวปลิวต้องให้หมองมอม

เสียดายแต่แม่ศรีเจ้าพี่เอ๋ย
จะชวดเชยชวดชมภิรมย์ถนอม
เหมือนดอกไม้ไกลแดนเพราะแตนตอม
ใครแปลงปลอมปลิดสอยมันต่อยตายฯ”

(https://i.ibb.co/bbWLFTJ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร (วัดทอง)

          วัดทอง  คือวัดสุวรรณาราม  ริมคลองบางกอกน้อย  วัดนี้มีป่าช้าใหญ่และเป็นที่ประหารนักโทษ  เขาลือกันว่าผีดุนักเชียว  น้องสาวต่างบิดาของสุนทรภู่ชื่อ  ฉิม  กับ  นิ่ม  ภายหลังได้เป็นแม่นมในวังหลังแทนแม่  เสียดายที่อายุไม่ยืนยาวนัก  สองนางนั้นเสียชีวิตไปก่อนสุนทรภู่  วันที่ท่านผ่านวัดนี้ก็หวนรำลึกถึงนางที่เขานำศพมาเผาที่เมรุวัดทองทั้งสองคน  จึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้นางจงไปบังเกิดในสวรรค์ด้วยเถิด

(https://i.ibb.co/yFcrFHb/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)

          เลยวัดทองไปก็ถึงวัดปะขาวหรือชีปะขาว (ศรีสุดาราม) อันเป็นวัดที่ท่านเรียนหนังสือในสำนักวัดนี้จนจบการศึกษาในยุคสมัยนั้น  วัดนี้ท่านมีความหลังฝังใจอยู่เยอะมาก  วิชาการด้านอักษรศาสตร์ของท่านได้อาจารย์ที่วัดนี้ประสิทธิ์ประสาทให้ทั้งหมด  นอกจากจะได้วิชาความรู้จากวัดปะขาวแล้ว  ท่านยังมีความหลังกับหญิงคนหนึ่งที่ท่านเรียกว่า  “แม่ศรีสาคร”  ความหลังกับหญิงคนนี้แหละที่ท่านกล่าวในกลอนนี้ว่า  “วัดปะขาวขาวเหลือเชื่อไม่ได้  ด้วยดวงใจเจ้านั้นคล้ำดำมิดหมี”  นัย ๆ ว่าแม่ศรีสาครผู้นี้มีคนรักคนหวงกันมาก  กีดกันไม่ให้ท่านมีความใกล้ชิดด้วย  ดังกลอนที่ท่านเขียนว่า  “เหมือนดอกไม้ไกลแดนเพราะแตนตอม  ใครแปลงปลอมปลิดสอยมันต่อยตาย..”  เรื่องทำนองนี้เราคุ้น ๆ กับคำว่า  “มดแดงแฝงพวงมะม่วง”  แต่นี่ท่านสุนทรภู่กลับคิดใช้คำใหม่ว่า  “แตนตอมดอกไม้มิให้ใครเด็ดดมชมเลย....."

          วันนี้อ่านนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  มาถึงวัดปะชาว  หรือ  วัดศรีสุดารามท้ายวังหลังก่อนก็แล้วกัน  ดูเรื่องท่าจะสนุกแล้วนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, มกราคม, 2563, 10:14:43 PM
(https://i.ibb.co/h7R11vC/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางขุนนนท์ : กรุงเทพฯ

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๓ -

"บางบำหรุเหมือนบำหรุบำรุงรัก
จะพึ่งพักพิศวาสเหมือนมาดหมาย
ไม่เหมือนนึกตรึกตรองเพราะสองราย
เห็นฝักฝ่ายเฟือนหลงด้วยทรงโลม

พอสิ้นแพแลล้วนสวนสงัด
พยุพัดฮือฮือกระพือโหม
ยิ่งดึกดาววาววามดังตามโคม
น้ำค้างโซมแสนหนาวให้เปล่าใจ

บางขุนนนท์ต้นลำพูดูหิ่งห้อย
เหมือนเพชรพลอยพรายพร่างสว่างไสว
จังหรีดร้องซ้องเสียงเรียงเรไร
จะแลไหนเงียบเหงาทุกเหย้าเรือน

บางระมาดมาดหมายสายสวาท
ว่าสมมาดเหมือนใจแล้วไม่เหมือน
แสนสวาทมาดหมายมาหลายเดือน
มีแต่เคลื่อนแคล้วคลาดประหลาดใจ....”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันก่อนนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ซึ่งเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่ท่านเดินทางออกจากที่พักซึ่งน่าจะเป็นพระราชวังเดิม  ผ่านวัดระฆังฯ  พระราชวังหลังเลี้ยวเรือเข้าคลองบางกอกน้อย    ผ่านวัดบางหว้าน้อย (อัมรินทร์)   วัดทอง (สุวรรณาราม)   วัดปะขาวหรือชีปะขาว (ศรีสุดาราม)   ท่านคร่ำครวญถึงคนรักและความรักในอดีตทุกแห่งที่เรือผ่านไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/vQv21dm/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางระมาด
Cr. Photo By คุณประภพ เบญจกุล

          บทกลอนข้างบนนี้กล่าวเมื่อเรือของท่านถูกแจวเลยวัดชีปะขาวไปถึง บางบำหรุ  ท่านก็หวนนึกถึงรักที่หวังไว้ไม่สมหมาย  เพราะรักเกิดขึ้นเป็นสองรายพร้อมกันเป็นฝักฝ่าย  คือ  “รักซ้อนซ่อนรัก”  อะไรทำนองนั้น  ถึงบางขุนนนท์พ้นจากเรือนแพก็เป็นเรือกสวน  เวลาดึกบรรยากาศจึงเงียบสงัด  สายลมพัดมาอย่างแรง  ทำให้หนาวยะเยือกทรวง  แหงนมองท้องฟ้าเห็นดวงดาวสุกสว่างดังโคมส่องจากฟากฟ้า  ข้างทางมีต้นลำพูเรียงราย  เห็นหิ่งห้อยฝูงใหญ่จับอยู่ตามใบลำพู  เปล่งแสงพราวพรายราวแสงเพชรพลอยแวววามงามระยิบระยับจับตา  จังหรีดกรีดเสียงร้องประสานเสียงเรไร  จนเรือลอยเลยล่วงถึงบางระมาด  ท่านก็หวนคำนึงถึงสานสวาทที่ไม่สมมาดปรารถนา  หวังสมมาดเหมือนใจแล้วไม่เหมือน  ปองหมายมาหลายเดือนแล้วไม่สมมาดประหลาดใจ......

วัดไก่เตี้ยไม่เห็นไก่เห็นไทรต่ำ
กอระกำแกมสละขึ้นไสว
หอมระกำยิ่งช้ำระกำใจ
ระกำไม่เหมือนระกำที่ช้ำทรวง

ถึงสวนหลวงหวงห้ามเหมือนความรัก
เหลือจักหักจับต้องเป็นของหลวง
แต่รวยรินกลิ่นผกาบุปผาพวง
จะรื่นร่วงเรณูพู่ขจร

โอ้ไม้ต้นคนเฝ้าแต่เสาวรส
ยังปรากฏกลิ่นกล่อมหอมเกสร
แต่โกสุมภูมรินมาบินวอน
ไม่ดับร้อนร่วงกลิ่นให้ดิ้นโดย

ดึกกำดัดสัตว์อื่นไม่ตื่นหมด
แต่นกกดร้องเร้ากระเหว่าโหวย
ระรวยรินกลิ่นโศกมาโบกโบย
โอ้โศกโรยแรมร้างมาห่างจรฯ”

(https://i.ibb.co/nmQzXFm/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดไก่เตี้ย : ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

          เรือเลยบางระมาดมาถึงวัดไก่เตี้ย  ท่านว่าไม่เห็นไก่เตี้ย (ก็จะเห็นได้อย่างไรล่ะ  เพราะท่านผ่านไปในเวลากลางคืน  ไก่เตี้ยนอนหลับหมดแล้ว)   เห็นแต่ต้นไทรที่กิ่งย้อยห้อยต่ำ  กอระกำแซมสละอยู่หน้าวัดมากมาย  หอมกลิ่นดอกระกำแล้วยิ่งระกำใจ  เลยมาถึงสวนหลวงยิ่งโศกทรวงหนัก  เมื่อหวนถึงคนรักที่เป็นคนของหลวง  กลอนนิราศตรงนี้มีหลายท่านบอกว่า  ท่านครวญถึงเจ้าของวัดเทพธิดาราม  คือ  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพที่จิตใจท่านยังผูกพันมั่นคง  เท็จจริงอย่างไรก็คิดค้นกันเอาเองนะครับ

“ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง
เดี๋ยวนี้นางไทยลาวสาวสลอน
ทำยศอย่างขวางแขนแสนแสงอน
ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย

วัดพิกุลฉุนกลิ่นระรินรื่น
โอ้หอมชื่นเชยกับรสแป้งสดใส
เหมือนพิกุลอุ่นทรวงพวงมาลัย
พี่เคยใส่หัตถ์หอมถนอมนวล

โอ้ยามนี้มิได้เชยที่เคยชื่น
มาหอมรื่นแต่ดอกไม้ที่ในสวน
พระพายโชยโรยรินกลิ่นลำดวน
เหมือนจะชวนชูใจเมื่อไกลเชยฯ

(https://i.ibb.co/BjBphXx/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดสนามนอก : บางกรวย จ. นนทบุรี

บางสนามนึกขามแต่หนามเสี้ยน
หนามทุเรียนรักฉีกอีกเจ้าเอ๋ย
ที่กีดขวางทางความแต่หนามเตย
ไม่น่าเชยน่าชังล้วนรังแตน

ถึงสวนแดนแสนเสียดายสายสวาท
มาสิ้นชาติปรโลกยิ่งโศกแสน
ไปสวรรค์ชั้นบนคนละแดน
ไม่รวมแผ่นภพโลกยิ่งโศกใจฯ

(https://i.ibb.co/T1Rfpyx/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเกด : บางกรวย จ. นนทบุรี

ถึงวัดเกดเจตนาแต่การะเกด
ไม่สมเจตนาน่าน้ำตาไหล
เคยสบเนตรเกษน้อยกลอยฤทัย
มาจำไกลกลืนกลั้นที่รัญจวน

น้ำค้างพรมลมชายระบายโบก
หอมดอกโศกเศร้าสร้อยละห้อยหวน
เหมือนโศกร้างห่างเหเสน่ห์นวล
มาถึงสวนโศกซ้ำระกำทรวง

เห็นรักน้ำคร่ำคร่าไม่น่ารัก
จะเด็ดหักเสียก็ได้เขาไม่หวง
แต่ละต้นผลลูกดังผูกพวง
ก็โรยร่วงเปล่าหมดไม่งดงาม

เหมือนคนคนรักทำยักยอก
จะเก็บดอกเด็ดผลคนก็ขาม
แม้นยางลูกถูกหัตถ์มันกัดลาม
เหมือนรำรามมักรายริมชายพงฯ”

(https://i.ibb.co/VNfWvqC/Wat-Phi-Kun.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพิกุล : ตลิงชัน กรุงเทพฯ

          รู้สึกไหมครับว่า  นิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  นี้เป็นนิราศที่ท่านสุนทรภู่ลงรายละเอียดในการเดินทางมากที่สุด  โดยระบุชื่อบ้านย่านตำบลลงในกลอนเรียงลำดับไปอย่างไม่ขาดตกเลย  ไล่ตั้งแต่เรือลอยลำเข้าคลองบางกอกน้อยมา  ท่านก็พูดถึงวัดบางหว้าน้อย  วัดทอง  วัดปะขาว  บางขุนนนท์  บางระมาด  เรื่อยมาวัดไก่เตี้ย  บางขวาง  วัดพิกุล  บางสนาม  วัดเกด  ทุกสถานที่ซึ่งเรือท่านถูกแจวผ่านมาจะพรรณนาถึงอดีตรักบ้าง  ถึงความหมายของชื่อสถานที่บ้าง  ข้อความคำคม  อารมณ์กลอนกวีของท่านไพเราะเพาะพริ้ง  ให้ภาพชัดเจนโดยไม่ต้องอภิปรายขยายความเลย

          วันนี้ให้ทุกท่านอ่านนิราศเรื่องนี้มาถึงวัดเกดก่อนก็แล้วกันนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, มกราคม, 2563, 10:33:12 PM
(https://i.ibb.co/VwpYcWF/1517976936.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดชลอ : อ. บางกรวย จ. นนทบุรี
Cr. Photo By เพจวัดสวยในเมืองไทยไปมาแล้ว คลิก (https://web.facebook.com/UnseenTemples/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๔ -

วัดชะลอใครหนอชะลอฉลาด
เอาอาวาสมาไว้ให้อาศัยสงฆ์
ช่วยชะลอวรลักษณ์ที่รักทรง
ให้มาลงเรือร่วมรวมที่นอน

ถนอมแนบแอบอุ้มประทุมน้อย
แขนจะคอยเคียงวางไว้ต่างหมอน
เมื่อปลื้มใจไสยาอนาทร
จะกล่าวกลอนกล่อมขนิษฐ์ให้นิทรา

เห็นคลองขวางบางกรวยระทวยจิต
ไม่ลืมคิดนิ่มน้อยละห้อยหา
เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา
โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี

แต่ก่อนกรรมนำสัตว์ให้พลัดพราก
จึงจำจากนิ่มน้องให้หมองศรี
เคยไปมาหาน้องในคลองนี้
เห็นแต่ที่ท้องคลองนองน้ำตา

สงสารบุตรสุดเศร้าทั้งเช้าค่ำ
ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา
เขม้นมองคลองบ้านดูมารดา
เช็ดน้ำตาโซมซาบลงกราบกราน

ยิ่งตรองตรึกดึกดื่นสะอื้นอั้น
จนไก่ขันเจื้อยเจ้กวิเวกหวาน
เหมือนนิ่มน้องร้องเรียกสำเหนียกนาน
เจียนจะขานหลงแลชะแง้คอยฯ”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ......................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่เรือพาหนะของท่านถูกแจวผ่านสถานที่ต่าง ๆ ในคลองบางกอกน้อยมาถึงวัดเกด  วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ

(https://i.ibb.co/GM1cyRx/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางกรวย : นนทบุรี

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เรือท่านเลยวัดเกดมาถึงวัดชะลอ (วัดชลอ  บางกรวย)  ท่านก็คิดครวญว่า  ใครหนอช่างชะลออาวาส (ที่อยู่) มาตั้งไว้ให้เป็นที่อาศัยของพระสงฆ์  อยากจะขอให้ช่วยชะลอนางผู้เลอโฉมอันเป็นที่รักลงมาไว้ในเรือรวมอยู่ในนวมที่นอนด้วยเถิด  หากชะลอลงมาให้ได้จริงจะขอ  “ถนอมแอบอุ้มประทุมน้อย”  ให้นอนหนุนแขนแทนหมอนแล้วกล่าวกลอนกล่อมให้นิทรา  ท่านเพ้อฝันฟุ้งซ่านจนเรือเลยมาถึงปากคลองบางกรวยจึงหวาดจิตคิดถึง  “นิ่ม”  ภรรยาเก่าซึ่งเป็นเป็นแม่ของตาบ  นิ่มเป็นคนชาวบางกรวย  สิ้นชีวิตไป  นับแต่วันตายถึงวันที่สุนทรภู่แต่งนิราศพระประธมนี้เป็นเวลานานได้ ๙ ปีแล้ว  ดูท่าว่าท่านจะรักแม่นิ่มคนนี้มาก  จึงคร่ำครวญหวนหาดังในคำกลอนข้างบนนี้....

บางสีทองคลองบ้านน้ำตาลสด
อร่อยรสซาบซ่านหวานคอหอย
เหมือนปากพี่สีทองของน้องน้อย
เป็นคู่บอกดอกสร้อยสักวา

ทุกวันนี้พี่ก็เฒ่าเราก็หง่อม
เธอเป็นจอมเราเป็นจนต้องบ่นหา
โอ้จอมพี่สีทองของน้องยา
เมื่อไรจะพาพิมพ์น้อยมากลอยใจฯ

(https://i.ibb.co/cD4JM0B/image.jpg) (https://imgbb.com/)
บางอ้อยช้าง : บางกรวย นนทบุรี

บางอ้อช้างโอ้ช้างที่ร้างโขลง
มาอยู่โรงรักป่าน้ำตาไหล
พี่คลาดแคล้วแก้วตาให้อาลัย
เหมือนอกไอยราร้างฝูงนางพัง

พอจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง
ประสานซ้องเซ็งแซ่ดังแตรสังข์
กระเหว่าหวานขานเสียงสำเนียงดัง
เหมือนชาววังหวีดเสียงสำเนียงนวล

อโณทัยไตรตรัสจำรัสแสง
กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาสวน
หอมดอกไม้หลายพรรณให้รัญจวน
เหมือนกลิ่นนวลน้ำกุหลาบซึ่งซาบทรวง

โอ้บุปผาสารพัดที่กลัดกลีบ
ครั้นรุ่งรีบบานงามไม่ห้ามหวง
ให้ชื่นชุ่มภุมรินสิ้นทั้งปวง
ได้ทราบทรวงเสารสไม่อดออม

แต่ดอกฟ้าส่าหรี่เจ้าพี่เอ๋ย
ไม่หล่นเลยละให้หมู่แมงภู่หอม
จะกลัดกลิ่นสิ้นรสเพราะมดตอม
จนหายหอมแห้งกรอกเหมือนดอกกลอยฯ

ถึงวัดสักเหมือนหนึ่งรักที่ศักดิ์สูง
ยิ่งกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย
แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อนลอย
จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง

(https://i.ibb.co/gj8kvqg/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางขนุน : บางกรวย นนทบุรี

บางขนุนขุนกองมีคลองกว้าง
ว่าเดิมบางชื่อถนนเขาขนของ
เป็นเรื่องหลังครั้งคราวท้าวอู่ทอง
แต่คนร้องเรียกเฟือนไม่เหมือนเดิม

สุดาใดได้เป็นเพื่อนอย่าเหมือนพี่
เหมือนมณีนพรัตน์ฉัตรเฉลิม
อันน้ำในใจรักช่วยตักเติม
ให้พูนเพิ่มพิศวาสอย่าคลาดคลายฯ”

(https://i.ibb.co/W3rj2fm/15.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางอ้อยช้าง : บางกรวย นนทบุรี

          ถึงบางสีทองท่านก็คิดถึงน้ำตาลสดที่บางนี้ว่ารสหวานคอมาก  แล้วคิดเลยไปถึงพี่สาวคนหนึ่งที่เป็นลูกคู่บอกดอกสร้อยสักวา  ถูกคอกันมาก  ดูเหมือนพี่สาวคนนี้จะชื่อว่า  “สีทอง”  เหมือนชื่อบางเสียด้วย  วันที่เดินทางผ่านบ้านนี้ท่านบอกว่า  พี่สีทองเธอเฒ่ามาก  พอ ๆ กับที่สุนทรภู่ก็หง่อมลงไม่น้อยเลย  เลยบางสีทองก็ถึง  “บางอ้อช้าง"  ชื่อบางนี้ปัจจุบันดูเหมือนจะเรียกชื่อว่า  “บางอ้อยช้าง”  แล้วนะครับ  เดิมอาจจะชื่อบางอ้อช้างอย่างที่ท่านสุนทรภู่เรียกนี่แหละ  ท่านจะต้องรู้จากชื่อนี้ดี  เพราะว่า  บ้านภรรยาคนที่ชื่อนิ่ม  แม่น้องตาบ  อยู่ในคลองบางกรวยไม่ไกลจากบางอ้อช้างมากนัก  วันนั้นท่านไปถึงวัดบางอ้อช้างเป็นเวลาอุษาสาง  นกกาตื่นแล้วส่งเสียงร้องขานประสานเสียงกันเซ็งแซ่  ดอกไม้ในเรือกสวนเริ่มคลี่กลีบเบ่งบานรับแสงอรุณ  ส่งกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ  บทครวญของท่านตอนนี้ไพเราะเพราะพริ้งมาก  เกินที่ผมจะอภิปราย  ขยายความครับ

(https://i.ibb.co/JRj5BY1/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดสักใหญ่ : บางกรวย นนทบุรี

          เรือเลยบางอ้อช้างมาถึงวัดสัก  ท่านก็คิดเปรียบเทียบความคิดของตัวเองว่า  เหมือนคนที่รักผู้ที่มีศักดิ์สูงจนเกินสอย  ซึ่งนักอ่านกลอนส่วนมากก็ตีความกันว่า  หมายถึงสุนทรภู่หลงรักพระราชธิดา ร. ๓ นั่นเอง  เรือเลยวัดสักถึงบางขนุนขุนกอง (ต.ขุนกองปัจจุบัน)  ท่านก็ให้ความรู้ว่าเดิมบางนี้ชื่อบางถนนเป็นที่ขนของในสมัยท้าวอู่ทอง  เรียกกันสืบมานานเข้าก็เพี้ยนเป็นขนุนขุนกองไปไม่เหมือนเดิม

          วันนี้อ่านมาพักอยู่ตรงบางขนุนขุนกองก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อเถิดครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มกราคม, 2563, 11:32:37 PM
(https://i.ibb.co/FXCNMzZ/11106396-860723087324222-2097888061-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๕ -

บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้
ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย
ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย
เป็นเลิศชายเชี่ยวชาญการวิชา

ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร
สมสนิทนางจระเข้เสน่หา
เหมือนตัวพี่นี้ได้ครองแต่น้องยา
จะเกื้อหน้าพางามขึ้นครามครันฯ

ถึงคลองขวางบางระนกโอ้อกพี่
แม้นปีกมีเหมือนหนึ่งนกจะผกผัน
ไปอุ้มแก้วแววตาพาจรัล
มาด้วยกันนั้นทั้งคู่ที่อยู่ริม

คงร่วมเรือเมื่อว่าตื่นสะอื้นอ้อน
จะคอยช้อนโฉมอุ้มไม่หยุมหยิม
ให้แย้มสรวลชวนเสบยเฝ้าชยชิม
กว่าจะอิ่มอกแอบแนบนิทราฯ”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ท่านผ่านมาถึงบางขนุนขุนกอง  คือบางขนุนในปัจจุบัน  ก็ได้ให้ความรู้ว่า  อดีตบางนี้ชื่อถนนเป็นที่กองขนถ่ายสิ่งของในสมัยท้าวอู่ทอง  ชื่อเรียกกันนานเข้าก็ผิดเพี้ยนไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/xsybPRq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางไกรใน (วัดบางนายไกร) ต. บางขุนกอง อ. บางกรวย จ. นนทบุรี

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน  เรือแจวของทานสุนทรภู่ลอยลำมาถึงบางนายไกร  อันเป็นที่อยู่บ้านเดิมของนายไกรทองตามนิทานพื้นบ้านที่ว่ามีวิชาอาคมขลัง  อาสาปราบชาละวัน  จระเข้ตัวเก่งแห่งเมืองพิจิตร  เมื่อปราบชาละวันจนสิ้นชีพแล้ว  เจ้าเมืองพิจิตรได้มอบธิดาทั้งสองคือ  ตะเภาทอง  ตะเภาแก้ว  ให้เป็นภรรยา  มิหนำยังได้นางจระเข้ทั้งสองของชาละวัน  คือ  เลื่อมลายวรรณ  วิมาลา  มาเคียงครองอีกด้วย  ท่านสุนทรภู่ครวญว่า  หากพี่ได้ครองแม้น้องเพียงนางเดียวก็จะเป็นการเอื้อให้หน้าดูงามขึ้นแล้ว  ครั้นเรือลอยลำถึงคลองบางระนก  ก็ครวญว่า  หากมีปีกบินได้เหมือนนก  จะบินไปอุ้มน้องนางแก้วแววตาพาจรมาลงเรือ  เมื่อเธอตื่นสะอื้นอ้อนก็จะช้อนร่างกางแขนอุ้มไม่หยุมหยิม  ให้แย้มสรวลชวนเชยชิมจนอิ่มอกแล้วนอนอิงแอบแนบนิทรา....

(https://i.ibb.co/g6GM9hR/tamdoo-141007-001.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางคูเวียง : บางกรวย นนทบุรี

บางคูเวียงเสียงเงียบเชียบสงัด
เป็นจังหวัดเวียงสวนล้วนพฤกษา
ดูรูปนางบางคูเวียงเหมือนเนียงนา
ไม่เหมือนหน้านางนั่งในวังเวียง

เห็นโรงหีบหนีบอ้อยเขาคอยป้อน
มีคนต้อนควายตวาดไม่ขาดเสียง
เห็นน้ำอ้อยย้อยรางที่วางเรียง
โอ้พิศเพียงชลนาที่จาบัลย์

อันลำอ้อยย่อยยับเหมือนกับอก
น้ำอ้อยตกเหมือนน้ำตาพี่กว่าขัน
เขาโหมไฟในโรงโขมงควัน
ให้อัดอั้นอกกลุ้มรุมระกำ

อันน้ำในใจคนเหมือนต้นอ้อย
ข้างปลายกร่อยชืดชิมไม่อิ่มหนำ
ต้องหันหีบหนีบแตกให้แหลกลำ
นั่นแหละน้ำจึงจะหวานเพราะจานเจือฯ”

(https://i.ibb.co/dP7n0j8/large-116.jpg) (https://imgbb.com/)
Cr. Photo By คุณดอกหญ้าน้ำ คลิก (https://www.gotoknow.org/posts/478354)

          * เรือแจวมาถึงบางคูเวียงเป็นดินแดนของเรือกสวน  ท่านสุนทรภู่ตาไวมองเห็นหญิงชาวบางคูเวียงแต่ละนางว่า  ตัวเหมือนเนียงนา  คือดำเหมือนตัวเหนี่ยงในท้องนา  ไม่เหมือนนางในวังเวียง  เห็นเขากำลังหีบอ้อยทำน้ำตาลอ้อยกัน  และได้ยินเสียงคนร้องตวาดควายด้วย  ท่านเปรียบเทียบเรื่องอ้อยไว้น่าฟังมาก  ว่าน้ำอ้อยที่ไหลย้อยลงในรางที่วางเรียงนั้นเหมือนน้ำตาที่ท่านร่ำไห้  ลำอ้อยที่ถูกหีบบดแตกยับเหมือนอกท่านแตกเพราะถูกทุกข์โศกถมทับ  น้ำอ้อยตกเหมือนน้ำตาท่านที่ตกลงเต็มขัน  แล้วท่านก็คิดเปรียบเทียบน้ำใจคนว่าเหมือนน้ำในลำอ้อย  ตอนที่จากโคนถึงกลางลำ  น้ำจะหวาน  ตอนปลายลำจะจืดจางความหวานไป  เหมือนน้ำใจคน  เมื่อคบและรักกันใหม่ ๆ ก็จะหวาน  พอนานไปก็จืดจาง  ดังนั้นคนหีบอ้อยที่ฉลาดจึงเอาต้นอ้อยมาหีบตั้งแต่ต้นจนสุดปลาย เพื่อให้น้ำหวานข้นกับน้ำหวานจืดจางปนกันให้เหลือความหวานเพียงรสเดียว...

(https://i.ibb.co/pb6BcGV/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดอัมพวัน (วัดบางม่วง)  ต. บางม่วง อ. บางใหญ่ จ. นนทบุรี

“ถึงบางม่วงง่วงจิตคิดถึงม่วง
แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ
มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ
มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ

เห็นต้นรักหักโค่นต้นสนัด
เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว
เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย
ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วนะแก้วตาฯ

(https://i.ibb.co/PG3yQsF/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางใหญ่  : ต. บางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
Cr. Photo By พี่หนุ่ม-สุทน

ถึงบางใหญ่ให้จอดทอดประทับ
เข้าเทียบกับกิ่งรักไม่พักหา
เมื่อกินเข้าเขาก็หักใบรักมา
จิ้มปลาร้าลองดูด้วยอยู่ริม

อร่อยนักรักอ่อนปลาช่อนย่าง
เปรียบเหมือนอย่างเนื้อนุ่มที่หยุมหยิม
อยากรู้จักรักใคร่พึงได้ชิม
ชอบแต่จิ้มปลาร้าจึงพารวย

โอ้รักต้นคนรักเขาหักให้
ไม่พักได้เด็ดรักไม่พักฉวย
แต่รักน้องต้องประสงค์ถึงงงงวย
ใครไม่ช่วยชักนำให้กล้ำกลืน

เสพอาหารหวานคาวเมื่อคราวอยาก
ล้วนของฝากเฟื่องฟูค่อยชูชื่น
แต่มะแป้นแกนในจะไปคืน
ของอื่นอื่นอักโขล้วนโอชา

(https://i.ibb.co/xMS78KH/picture2.jpg) (https://imgbb.com/)

ตามสิ่งของน้องรักฟักจันอับ
แช่อิ่มพลับผลชิดเป็นปริศนา
พี่จะจากฝากชิดสนิทมา
เหมือนแก้วตาตามติดมาชิดเชื้อ

แผ่นขนุนวุ้นแท่งของแห้งสิ้น
แต่ละชิ้นชูใจสงสัยเหลือ
ได้ชื่นชิมอิ่มหนำทั้งลำเรือ
เพราะน้องเนื้อนพคุณกรุณา

แล้วเข้าทางบางใหญ่ครรไลล่อง
ไปตามคลองเคลื่อนคล้อยละห้อยหา
เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา
สะอื้นอาลัยถึงคะนึงนวล

แม้นแก้วตามาเห็นเหมือนเช่นนี้
จะยินดีด้วยดอกไม้ที่ในสวน
ไม่แจ้งนามถามพี่จะชี้ชวน
ชมลำดวนดอกส้มต้นนมนาง

ที่ริมน้ำง้ำเงื้อมจะเอื้อมหัก
เอายอดรักให้น้องเมื่อหมองหมาง
ไม่เหมือนหมายสายสวาทจะขาดกลาง
โอ้อ้างว้างวิญญาในสาครฯ”

          ปล่อยกลอนยาวมาถึงตรงนี้เพื่อให้อ่านกันอย่างจุใจ  ใจความในคำกลอนชัดเจนดีแล้ว  ผมขออนุญาตไม่อภิปราย  ขยายความกลอนตอนนี้นะครับ  พักไว้ตรงย่านบางใหญ่นี้ก็แล้วกัน  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45037#msg45037)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45393#msg45393)                   .


เต็ม อภินันท์
วันอังคารที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ / ๐๕.๔๒ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, มกราคม, 2563, 10:36:54 PM
(https://i.ibb.co/JjgQx5G/4251wh300.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45253#msg45253)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45534#msg45534)                   .

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๖ -

บางกระบือเห็นกระบือเหมือนชื่อย่าน
แสนสงสารสัตว์นาฝูงกาสร
ลงปลักเปลือกเกลือกเลนระเนนนอน
เหมือนจะร้อนรนร่ำทุกค่ำคืน

โอ้อกพี่นี้ก็ร้อนด้วยความรัก
ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
แม้นเหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน
จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีด์เปรม

โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย
จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม
ได้ใกล้เคียงเรียงริมจะอิ่มเอม
แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาดคลายฯ”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ........................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำคำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงบางใหญ่  ท่านให้จอดเรือรับประทานอาหาร ริมตลิ่งตรงนั้นมีต้นรักใหญ่กำลังแตกใบอ่อนกิ่งยื่นล้ำมาในน้ำ  เขาจึงเด็ดใบรักมาจิ้มปลาร้าทานกันอย่างเอร็ดอร่อย  ต้นรักที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่ต้นรักที่เราเก็บดอกมาร้อยมาลัย  หากแต่เป็นไม้ยืนต้นที่สูงใหญ่พอสมควร  เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์มะม่วง  ทางเชียงใหม่เรียกรักเทศ  มะเรียะ  สุรินทร์เรียก น้ำเกลี้ยง (รักน้ำเกลี้ยง)  ภาคเหนือโดยรวมเรียก  ฮักหลวง  กะเหรี่ยงเมืองกาญจน์เรียก รักซู้  สู่  รักใหญ่นี้ยางมีพิษ  โบราณนิยมใช้ยางรักนี้มาเคลือบภาชนะ  ยางแห้งแล้วเป็นสีดำ  ก็เพิ่งรู้จากนิราศพระประธมของท่านสุนทรภู่นี่เองว่า  ใบอ่อนรักใหญ่จิ้มปลาร้าอร่อยมาก  ท่านแก้ห่อเสบียงอาหารออกมาพบว่ามีของฝากจากหลายคน  ส่วนมากเป็นของหวาน  กินกันทั้งลำเรือ  เป็นอะไรของใครบ้าง  ลองกลับไปอ่านทวนดูเถิด  วันนี้มาอ่านตอนต่อไปอีกนะครับ

(https://i.ibb.co/9tRq3ph/201610041210151-20021028190244-1024x576.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เรือแจวออกจากบางใหญ่หลังจากทานอาหารกันเรียบร้อยแล้ว  ถึงบางกระบือเห็นควายเป็นฝูงลงนอนในปลักเลนเพื่อคลายร้อน  หวนคิดถึงตนเองที่อกร้อนด้วยไฟรักเผาลน  แม้นฝนตกลงมาสักแสนห่าก็ไม่สามารถจะดับร้อนได้  แต่หากได้ลิ้มรสพจมานอันหวานชื่นจากคนที่รักนั่นแหละจึงจะปรีด์เปรมเอมอิ่ม  ความร้อนคลายไปทันที  แต่นี่ตัวท่านเปรียบเหมือนนกน้อยที่คิดจะลอยขึ้นไปร่วงสรงกับหงส์ทองจึงร้อนอกร้อนใจยากคลายถอน

“ถึงคลองย่านบ้านบางสุนัขบ้า
เหมือนขี้ข้านอกเจ้าเฉาฉงาย
เป็นบ้าจิตคิดแค้นเพราะแสนร้าย
ใครใกล้กรายเกลียดกลัวทุกตัวคน

ถึงลำคลองช่องกว้างชื่อบางโสน
สะอื้นโอ้อ้างว้างมากลางหน
โสนออกดอกระย้าริมสาชล
บ้างร่วงหล่นแลงามเมื่อยามโซ

(https://i.ibb.co/jMQ8yJ8/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ชุมชนบางโสนพัฒนา 2 : บางใหญ่ นนทบุรี

แต่ต้นกระเบาเขาไม่ใช้เช่นใจหญิง
เบาจริงจริงเจียวใจเหมือนไม้โสน
เห็นตะโกโอ้แสนแค้นตะโก
ถึงแสนโซสุดคิดไม่ติดตาม

พอสุดสวนล้วนแต่เหล่าเถาสวาด
ขึ้นพันพาดเพ่งพิศให้คิดขาม
ชื่อสวาดพาดเพราะเสนาะนาม
แต่ว่าหนามรกระชะกะกาง

(https://i.ibb.co/KzC17nz/Caesalpinia-bonduc-inflo.jpg) (https://imgbb.com/)
ดอกสวาด

สวาดต้นคนต้องแล้วร้องอุ่ย
ด้วยรุกรุยรกเรื้อรังเสือสาง
แต่ชั้นลูกถูกต้องเป็นของกลาง
เปรียบเหมือนอย่างลูกสวาทศรียาตรา

ริมลำคลองท้องทุ่งดูวุ้งเวิ้ง
ด้วยน้ำเจิ่งจอกผักขึ้นหนักหนา
ดอกบัวเผื่อนเกลื่อนกลาดดาษดา
สันตะวาสายติ่งต้นลินจงฯ”

(https://i.ibb.co/r23KDFh/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ดอกโสน

          เรือแจวแล่นผ่านถึงบ้านหมาบ้า  เลยถึงบ้านโสน (ลอย)  ท่านก็ครวญถึงหมาบ้าที่ใคร ๆ ก็เกลียดกลัวไม่กล้ากรายใกล้  เหมือนคนที่จิตคิดแค้นแสนน่ากล้วที่ใคร ๆ ก็รังเกียจ  ยามนั้นโสนกำลังออกดอกเป็นพวงระย้าเหลืองอร่ามงามตา  แล้วท่านก็เปรียบต้นโสนเป็นไม้เบา  ไม่มีใครนำมาใช้  แล้วก็ว่าไม้โสนราวกะใจหญิงที่แสนเบา  เรือลอยลำผ่านเห็นต้นตะโก  เถาสวาด  ท่านก็คร่ำครวญเรื่อยไปตามทางที่สุดเรือกสวนแล้ว  เป็นท้องทุ่งเวิ้งว้าง  น้ำเจิ่งนองเต็มไปด้วยจอกแหน  สันตะวาสายติ่ง  บัวเผื่อน  บัวลินจง.....

“ถึงบ้านใหม่ธงทองริมคลองลัด
ที่หน้าวัดเห็นเขาปักเสาหงส์
ขอความรักหนักแน่นให้แสนตรง
เหมือนคันธงแท้เที่ยงอย่าเอียงเอน

ได้ชมวัดศรัทธาสาธุสะ
ไหว้ทั้งพระปฏิมามหาเถร
นาวาล่องคล่องแคล่วเขาแจวเจน
เฟือยระเนนน้ำพร่างกระจ่างกระจาย

ดูชาวบ้านพรานปลาทำลามก
เที่ยวดักนกยิงเนื้อมาเถือขาย
เป็นทุ่งนาป่าไม้รำไรราย
พวกหญิงชายชาวเถื่อนอยู่เรือนโรง

(https://i.ibb.co/vjqSnrh/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดต้นเชือก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ริมคลองบางใหญ่ (คลองโยง)

ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน
น่าสำราญเรียงรันควันโขมง
ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง
เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ

มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก
ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว
ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป
ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย

เวทนากาสรสู้ถอนถีบ
เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย
ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย
อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยง....”

(https://i.ibb.co/nQyk6gX/141073.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดต้นเชือก : บ้านใหม่(ธงทอง) อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี

          ถึงบ้านใหม่ธงทอง  ซึ่งอยู่ในคลองลัดมีวัดที่ปักเสาหงส์ไว้หน้าวัดแลดูสง่างาม  วัดนี้คือวัดต้นเชือก  ปัจจุบันอยู่ในปกครองของ  อบต.บ้านใหม่  ลำคลองในช่วงตอนนี้ตามที่ท่านสุนทรภู่ได้พรรณนาในกลอนนี้วันที่สุนทรภู่ไปนั้นมีน้ำน้อย  เรือเล็กพายแจวไปได้สบาย  แต่เรือใหญ่ขนาดเรือมอญ  ต้องใช้ควายโยงลากจูงไป  ท่านว่าสงสารควายมาก  เกิดชาติใดภพใดขออย่าให้เกิดเป็นควายลากเรือโยงเลย...

          วันนี้อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ขอพักไว้ก่อนเถิด พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, มกราคม, 2563, 11:40:55 PM
(https://i.ibb.co/p4fNnNh/905.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๗ -

“ตามแถวทางกลางย่านนั้นบ้านว่าง
เขาปลูกสร้างศาลาเปิดฝาโถง
เจ๊กจีนใหม่ไทยมั่งไปตั้งโรง
ขุดร่องน้ำลำกระโดงเขาโยงดิน

ดูทุ่งกว้างวากเวกหมอกเมฆมืด
บรรพตพืดภูผาพนาสิณฑ์
ฝูงวิหคนกกาเที่ยวหากิน
ตามที่ถิ่นเขตแคว้นทุกแดนดาว

บ้างเดินดินบินว่อนขึ้นร่อนร้อง
ริมขอบหนองนกกระกรุมคุ่มคุ่มขาว
ค้อนหอยย่องมองปลาแข้งขายาว
อีโก้งก้าวโก้งเก้งเขย่งตัว

กระทุงทองล่องเลื่อนดูเกลื่อนกลาด
ไม่คลาคลาดคลอเคลียเหมือนเมียผัว
มีต่างต่างยางกรอกนกดอกบัว
เที่ยวบินยั้วเยี้ยย่องทั่วท้องนา

นกกระจาบขาบคุ่มอีลุ้มร่อน
ดูว้าว่อนเวียนเร่ในเวหา
เห็นยางเจ่าเซาจับคอยสับปลา
นกกระสาซ่องซ่องค่อยย่องเดิน.....”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ......

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านอ่านกันถึงคลองโยง  ท่านว่าคลองนี้น้ำน้อย  เรือเล็กยังพายแจวไปมาได้สะดวกแต่เรือใหญ่โป้งโล้ง  แจว  ถ่อ  ไม่สะดวก  ต้องใช้ควายมาช่วยลากจูงโยงไป  เห็นแล้วรู้สึกสงสารควายมาก  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/7t54CxG/1795-009.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่าสองข้างทางคลองที่ไปนั้นเป็นทุ่งกว้างว่างบ้านเรือน  มีศาลาปลูกไว้  เป็นศาลาไร้ฝาปิดกั้น  เปิดโถงโล่งไว้  มีเจ๊กจีนและไทยไปตั้งโรงพัก  ขุดร่องน้ำลำกระโดงลากโยงดินกัน  ในทุ่งกว้างนั้นมีนกพันธุ์ต่าง ๆ มากมายบินว่อนร่อนบนอากาศบ้าง  เดินย่องจ้องจับปลาหาหอยกินบ้าง  เท่าที่ท่านเห็นก็มีนกกระกรุม  หรือ  กระซุม  (คือ ตะกรุมหัวล้านเหม่ง)  นกค้อนหอยขายาว  นกอีโก้ง  นกกระทุง  นกยางกรอก  นกกระจาบ  นกขาบ  นกคุ่ม  นกกระสาและหลากหลายคณานก

(https://i.ibb.co/6ghSCc1/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดลานตากฟ้า ต. ลานตากฟ้า อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม

“โอ้ดูนกอกใจให้ไหวหวาด
ยามนิราศเริดร้างมาห่างเหิน
เห็นสิ่งไรใจพี่ไม่มีเพลิน
ส่วนเรือเดินด่วนไปใจจะคืน

จะออกช่องคลองโยงเห็นโรงบ้าน
เขาเรียกลานตากฟ้าค่อยพาชื่น
โอ้แผ่นฟ้ามาตากถึงภาคพื้น
น่าจะยืนหยิบเดือนได้เหมือนใจ

เจ้าหนูน้อยพลอยว่าฟ้าตกน้ำ
ใครช่างดำยกฟ้าขึ้นมาได้
แม้นแดนดินสิ้นฟ้าสุราลัย
จะเปล่าใจจริงจริงทั้งหญิงชาย

(https://i.ibb.co/5K5TWgv/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดงิ้วราย ต. งิ้วราย อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม Cr. Photo By รตจิตร

โอ้ฟังบุตรสุดสวาทฉลาดเปรียบ
ต้องทำเนียบนึกไปก็ใจหาย
ถึงแขวงแควแลลิ่วชื่องิ้วราย
สะอื้นอายออกความเหมือนหนามงิ้ว

งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มเมื่อพริ้มพักตร
ดูน่ารักเรือนผมก็สมผิว
แสนสุภาพกราบก้มประนมนิ้ว
เหมือนโฉมงิ้วงามราวกับชาววังฯ”

(https://i.ibb.co/yNzKdkH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
แม่น้ำท่าจีนผ่านนครปฐม

          เห็นนานานกเที่ยวหากินกันในทุ่งกว้างแล้ว  แทนที่จะชมกิริยาท่าทางนกอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ  ท่านสุนทรภู่กลับไร้อารมณ์สนุกสนานเพลิดเพลิน หากแต่สลดหดหู่  จนเรือออกปากช่องคลองโยงมาถึงลานตากฟ้า  จึงค่อยสดชื่นขึ้นบ้าง  ลูกชายน้อยที่มาด้วยช่างคิด  กล่าวว่า  ฟ้าตกน้ำแล้วใครนะดำน้ำลงไปยกฟ้าขึ้นมาตากไว้บนลานนี้ได้  ท่านก็ชื่นชมความคิดฉลลาดเฉียวของลูกชาย  จนเรือเลยถึงบ้านงิ้วราย  แม่น้ำท่าจีน  เห็นชื่องิ้วรายท่านก็หวนคิดไปถึงงิ้วงามในวัง......

(https://i.ibb.co/VVwR5Pw/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดสัมปทวน ริมน้ำท่าจีน อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม

“ถึงย่านน้ำสำประทวนรำจวนจิต
เหมือนใจคิดทวนทบตลบหลัง
ไปลอบโลมโฉมเฉกที่เมฆบัง
เปรียบเหมือนนั่งแอบอุ้มทุกทุ่มโมง

ถึงปากน้ำลำคลองที่ท้องทุ่ง
เจ๊กเขาหุงเหล้ากลั่นควันโขมง
มีรางร่องสองชั้นทำคันโพง
ผูกเชือกโยงยืนชักคอยตักเติม

น่าชมบุญขุนพัฒน์ไม่ขัดข้อง
มีเงินทองทำทวีภาษีเสริม
เมียน้อยน้อยพลอยเป็นสุขไรจุกเจิม
ได้พูนเพิ่มวาสนาเสียกว่าไทย

ทุกวันนี้มีทรัพย์เขานับถือ
เหมือนเราหรือเขาจะรักมิผลักไส
สงสารจนอ้นอั้นให้ตันใจ
จนเข้าในปากน้ำสำประโทน

ริมลำคลองสองฝั่งสะพรั่งพฤกษ์
พินิจนึกเหมือนหนึ่งเขียนบ้างเกรียนโกร๋น
นกอีลุ้มคุ่มขาบจิบจาบโจน
กระพือโผนโผผินขึ้นบินโบย

บนไม้สูงฝูงเปล้านกเค้าคู่
กระลุมพูโพระโดกเสียงโหวกโหวย
วิเวกใจได้ยินยิ่งดิ้นโดย
ละห้อยโหยหาน้องในคลองลัด”

(https://i.ibb.co/ChQbKnJ/images-17.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากงิ้วราย  เรือถูกแจวเข้าย่านน้ำสำประทวน  ผ่านโรงเหล้า (ต้มกลั่นสุรา) นครชัยศรีของขุนพัฒน์  ท่านก็กล่าวชื่นชมบุญของขุนพัฒน์ที่เป็นเจ๊กจีน  แต่สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวร่ำรวยกว่าคนไทย  มีเมียน้อยตั้งหลายนาง  มีคนนับหน้าถือตามาก  หวนนึกถึงตัวท่านที่เป็นคนยากจนไร้คนเหลียวแล  น่านึกน้อยใจในวาสนานัก  รำพึงรำพันจนเรือเลยเข้าสู่ปากน้ำสำประโทน  ที่สองฝั่งคลองเต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ  เจียวจาวด้วยฝูงนกน้อยใหญ่นานาชนิด  ทำให้คิดหวนหาน้องในคลองลัด....

          วันนี้อ่านมาถึงสำประโทนก็พักไว้ก่อนเถอะนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, มกราคม, 2563, 10:27:10 PM
(https://i.ibb.co/Jtm96gk/images-20.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๘ -

“พอมืดมนฝนคลุ้มชอุ่มอับ
โพยมพยับเป็นพยุระบุระบัด
เสียงลมลั่นบันลือกระพือพัด
พิรุณซัดสาดสายลงพรายพราว

ฟ้ากระหึ่มครึมครั่นให้ปั่นป่วน
เหมือนพี่ครวญคราวทนน้ำฝนหนาว
แวมสว่างอย่างแก้วดูแวววาว
เป็นเรื่องราวรามสูรอาดูรทรวง

เพราะนางเอกเมฆขลาหล่อนล่อแก้ว
จะให้แล้วไม่ให้ด้วยใจหวง
เหมือนรักแก้วแววฟ้าสุดาดวง
เฝ้าหนักหน่วงนึกเหมือนจะเคลื่อนคลาฯ”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านอ่านกันถึงตอนที่  สุนทรภู่นั่งเรือแจวผ่านโรงเหล้านครชัยศรี  ชื่นชมความร่ำรวยของขุนพัฒน์ชาวจีนเจ้าของโรงเหล้า  แล้วน้อยใจในวาสนาของตนที่จนยาก  รำพึงรำพันมาจนเรือเลยเข้าปากน้ำสำประโทนอันร่มรื่นด้วยไม้นานา  นกกาโบยบินกันมากมาย  วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่าขณะคำนึงถึงน้องในคลองลดนั้น  พลันก็เกิดฟ้ามืดคลุ้มลมพายุพัดมา  ฟ้าแลบคำราม  พร้อมสายฝนโปรยปรายลงมาอย่างหนักจนเหน็บหนาว  ฟ้าแลบฟ้าร้องทำให้หวนคิดถึงเรื่องรามสูรนางเมฆขลาขึ้นมา

(https://i.ibb.co/4p7sGWT/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางแก้ว ต. บางแก้ว อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม

“ถึงบางแก้วแก้วอื่นสักหมื่นแสน
ไม่เหมือนแม้นแก้วเนตรของเชษฐา
ดูรูปนางบางแก้วไม่แผ้วตา
ไม่เหมือนหน้าน้องแก้วที่แคล้วกัน

จนเกินย่านบ้านคลองที่ท้องทุ่ง
เป็นเขตคุ้งขอบป่าพนาสัณฑ์
ทุกถิ่นเถื่อนเรือนโรงโขมงควัน
เป็นสำคัญเขตโขดโตนดตาลฯ

ถึงโพธิ์เตี้ยโพธิ์ต่ำเหมือนคำกล่าว
แต่โตราวสามอ้อมเท่าพ้อมสาน
เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพระยาพาน
มาสังหารพระยากงองค์บิดา

(https://i.ibb.co/s11PY42/108-20140813161803.jpg) (https://imgbb.com/)

แล้วปลูกพระมหาโพธิบนโขดใหญ่
เผอิญให้ให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา
อันเท็จจริงสิ่งใดเป็นไกลตา
เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง

ที่ท้ายบ้านศาลเจ้าของชาวบ้าน
บวงสรวงศาลเจ้าผีบายศรีตั้ง
เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง
ให้คนทั้งปวงหลงลงอบาย

ซึ่งคำปดมดท้าวว่าจ้าวช่วย
ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย
อันเจ้าผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย
ถือเจ้านายที่ได้พึ่งจึงจะดี

แต่บ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา
ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี
เหมือนถือเพื่อนเฟือนหลงว่าทรงดี
ไม่สู้พี่ได้แล้วเจ้าแก้วตาฯ”

          เรือลอยเลยมาถึงบางแก้ว  ท่านก็ครวญถึงนางแก้วในวังที่จากมา  เลยบางแก้วเข้าย่านบ้านที่เขาทำนำตาลโตนด  ตั้งเตาเคี่ยวน้ำตาลกันควันคลุ้งโขมงไปทั้งหมู่บ้าน  แล้วเลยถึงโพธิ์เตี้ย  ท่านหวนนึกถึงนิทาน  ตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน  ที่ว่า  พระยากงลูกชายพระยาพาน  มาฆ่าพระยาพานชิงราชสมบัติ  สำนึกบาปแล้วปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เพื่อล้างบาป  แต่ปรากฏว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นไม่เจริญเติบโตขึ้น  หากแต่เตี้ยลง  นิทานเรื่องนี้เท็จจริงอย่างไรท่านไม่รับรอง  เพราะเป็นเรื่องไกลตา  เขาเล่ามาอย่างไรก็เล่าให้ฟังอย่างนั้น  ที่ท้ายบ้านนี้ท่านเห็นศาลเจ้าใหญ่มีคนทรงเจ้าประจำอยู่  มีการตั้งบายศรีและเข้าทรงกันเป็นประจำ  ท่านก็ว่าน่าสลดใจที่คนเชื่อเจ้าเชื่อผีที่ไร้ตัวตน  ผีจะช่วยอะไรได้  คนต่างหากล่ะที่จะช่วยเราได้  หากถือเจ้านายที่ดีเขาก็เป็นที่พึ่งของเราได้  แต่นี่คนบ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา  ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งเจ้าป่าเจ้าเขา  ผีบ้าน  ไปตามประสาคนบ้านนอก

(https://i.ibb.co/31Hg73v/2-18.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน  เป็นนิทานโบราณคดีที่มีความจริงอยู่มาก  ในเรื่องนี้เล่าว่า  พระยาศรีสิทธิชัยพรหมเทพจากเมืองมโนหัน (อยู่ในเขตปราจีนบุรีปัจจุบัน) ติดเมืองยศโสธร  ได้ยกมาสร้างบ้านแปงเมืองเล็ก ๆ ให้เป็นเมืองใหญ่ขึ้น (ตรงบริเวณที่เป็นเมืองนครชัยศรีปัจจุบัน )  แล้วให้ชื่อว่าเมืองตักศิลามหานคร  อีกนามหนึ่งว่า  อริมัทนบุรี

          เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐  เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ  หลานของพระยาศรีสิทธิชัยพรหมเทพองค์หนึ่งนามว่า  กากวัณติศราช  มีอำนาจปกครองหมดทุกหัวเมืองในภูมิภาค (สุวรรณภูมิ) นี้  ซึ่งรู้จักต่อมาว่า  อาณาจักรทวาราวดี  ตกมาถึงพระยาพานลูกของกากวัณติศราชครองเมืองนี้  มีลูกชายองค์หนึ่งชื่อว่าพระยากง  เป็นอุปราชครองอยู่นครสุโขทัย  ได้ยกมาชิงราชสมบัติ  แล้วฆ่าพระยาพานผู้บิดาเสีย

          จากนั้นอาณาจักรทวาราวดีอันยิ่งใหญ่ก็แตกกระจัดกระจายไปเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย  เรื่องนี้ผมได้ให้รายละเอียดไว้ในตอนเริ่มเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg39932#msg39932)  แล้ว  ท่านที่เข้ามาอ่านเรื่องของผมภายหลัง  หากอยากรู้รายละเอียดก็ลองย้อนกลับไปค้นหาดูเถิดครับ

(https://i.ibb.co/2NzJLXP/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดท่ากระชับ ต. ท่ากระชับ อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม

“ถึงบางกระชับเหมือนกำชับให้กลับหลัง
กำชับสั่งว่าจะคอยละห้อยหา
วานซืนนี้พี่ได้รับกำชับมา
ไม่อยู่ช้ากว่ากำชับจะกลับไป

แต่เป็ดหงส์ลงหาดไม่คลาดคู่
สังเกตดูดังจะพาน้ำตาไหล
เหมือนเสียทีมีเพื่อนไม่เหมือนใจ
ดังดินไร้เส้นหญ้าอนาทรฯ”

(https://i.ibb.co/Htwmfkf/20200101-123144.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพวาดพระเจ้าบรมวงศ์เธฮ พระองค์เจ้าวิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
ณ วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ)

          เรือเลยมาถึงบางกระชับ  สุนทรภู่ท่านก็ครวญถึงคำกำชับสั่งให้กลับไปหานางแก้วของท่านอย่างเร็ววัน  ความที่ครวญมาตลอดจนถึงบางกระชับนี้  นักอ่านกลอนนิราศส่วนใหญ่จึงเข้าใจกันว่า  นางในนิราศเรื่องนี้คือ  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  ค่อนข้างจะเป็นที่แน่นอน  แต่ผมยังไม่อยากเชื่อนะครับ  รอให้อ่านไปจนจบเรื่องก่อนค่อยตกลงใจ

          วันนี้อ่านมาถึงบางกระชับก็ระงับเรื่องไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กุมภาพันธ์, 2563, 10:11:19 PM
(https://i.ibb.co/PzSC8PD/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดสิงห์ ต.บางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๗๙ -

“ถึงวัดสิงห์สิงสู่อยู่ที่นี่
แต่ใจพี่นี้ไปสิงมิ่งสมร
ถึงตัวจากพรากพลัดกำจัดจร
ยังอาวรณ์หวังเสน่ห์ทุกเวลา

ถึงวัดท่าท่าน้ำดูฉ่ำชื่น
สำราญรื่นร่มไม้ไทรสาขา
คิดถึงนุชสุดสวาทที่คลาดคลา
จะคอยท่าถามข่าวทุกคราวเรือฯ”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่มาวางให้อ่านกัน  ถึงตอนที่ท่านเดินทางมาถึงบางกระชับแล้วคิดหวนถึงคำสั่งให้รีบกลับ  ก็ครวญว่าจะกลับโดยพลัน  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/tqwqyQ9/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดท่าใน ต.ท่าพระยา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เรือท่านเลยบางกระชับมาถึงวัดสิงห์  ครวญว่าตัวท่านมาอยู่ที่นี่แต่ใจกลับไปอยู่ที่สมร  เฝ้าอาวรณ์หวังเสน่ห์ทุกเวลา  จนเรือเลยถึงวัดท่า  เห็นท่าน้ำดูฉ่ำชื่น  มีร่มไม้ใหญ่และร่มไทรแผ่กิ่งก้านสาขาน่าสำราญ  หวนคิดว่านุชสุดสวาทที่จากมาคงจะคอยท่า  ถามข่าวทุกเที่ยวเรือที่เข้าเทียบท่าน้ำ.......

“ถึงบ้านกล้วยกล้วยกล้ายเขารายปลูก
น้ำเต้าลูกเท่ากระติกพริกมะเขือ
กล้วยหักมุกสุกห่ามอร่ามเครือ
อยู่ริมเรือเรียดทางข้างคงคา

คิดถึงเมื่อเรือน้องมาคลองนี้
จะชวนชี้ชมประเทศกับเชษฐา
สะอื้นโอ้โพล้เพล้ถึงเวลา
สกุณาข้ามฝั่งไปรังเรียง

บ้างเรียงร้องซ้องแซ่กรอแกรกรีด
หวิวหวิวหวีดเวทนาภาษาเสียง
ลูกอ่อนแอแม่ป้อนชะอ้อนเอียง
บ้างคู่เคียงเคล้าคลอเสียงซอแซ

เอ็นดูนกกกบุตรแล้วสุดเศร้า
เหมือนบุตรเราเคียงข้างไม่ห่างแห
หวนสะอื้นฝืนใจอาลัยแล
ได้เห็นแต่ตาบน้อยละห้อยใจ

ตะวันรอนอ่อนอับพยับแสง
ดูดวงแดงดังจะพาน้ำตาไหล
ยังรอรั้งสั่งฟ้าด้วยอาลัย
ค่อยไรไรเรืองลับวับวิญญา

พระจันทรจรจำรูญข้างบูรทิศ
กระต่ายติดแต้มสว่างกลางเวหา
โอ้กระต่ายหมายจันทร์ถึงชั้นฟ้า
เทวดายังช่วยรับประคับประคอง

มนุษย์หรือถือดีว่ามีศักดิ์
มิรับรักเริดร้างให้หมางหมอง
ไม่เหมือนเดือนเหมือนกระต่ายเสียดายน้อง
จึงขัดข้องขัดขวางทุกอย่างไป

น้ำค้างพรมลมเฉื่อยเรื่อยเรื่อยริ้ว
หนาวดอกงิ้วงิ้วออกดอกไสว
เกสรงิ้วปลิวฟ้ามายาใจ
ให้ทราบใจทรวงช้ำสู้กล้ำกลืน

โอ้งิ้วป่าพาหนาวเมื่อคราวยาก
สุดจะฝากแฝงหน้าไม่ฝ่าฝืน
แม้นงิ้วเป็นเช่นงานเมื่อวานซืน
จะชูชื่นช่วยหนาวเมื่อคราวครวญ

โอ้ดูเดือนเหมือนได้ยลวิมลพักตร
ไม่ลืมรักรูปงามทรามสงวน
กระจ่างแจ้งแสงจันทร์ยิ่งรัญจวน
คะนึงหวนนิ่งนอนอ่อนกำลังฯ”

(https://i.ibb.co/sQnMq0F/2.jpg) (https://imgbb.com/)
กล้วยกล้าย

          จากวัดสิงห์มาถึงบ้านกล้วย  ท่านกล่าวถึงกล้วยชนิดหนึ่งคือ  “กล้วยกล้าย”  กล้วยชนิดนี้เป็นกล้วยลูกผสมพันธุ์หนึ่งในสกุล Musa วงศ์ Musaceae  ผลใหญ่  โค้ง  ยาวกว่ากล้วยหอม  เปลือกหนาเนื้อเหนียว  ไส้แข็งมีสีส้ม  รสหวาน  นิยมกินกันตอนที่สุกแล้ว  เดี๋ยวนี้น่าจะไม่มีแล้วนะ  ที่บ้านกล้วยยามนั้นมีพืชผักผลไม้มากมาย  เช่นว่า  น้ำเต้าลูกเท่ากระติก  พริกมะเขือ  ฟักแฟง  สำหรับต้มแกงมีพร้อม  กล้วยหักมุกสุกเหลืองอยู่ริมคลองใกล้มือ  เห็นภาพธรรมชาติเช่นนั้นท่านก็หวนคิดถึงนุชสุดที่รัก  หากมาด้วยจะชี้ชวนชมธรรมชาติอันงดงามตลอดรายทาง  รำพึงรำพันพรางจนตะวันยอแสงแล้วลาลับฟ้า  ดวงจันทร์เพ็ญลอยเด่นทางทิศบูรพาขึ้นมาแทน  แสงจันทร์สว่างกระจ่างจ้า  เห็นรูปกระต่ายกลางดวงจันทร์  ก็พลันหวนถึงว่า  แม้กระต่ายยังทะยานขึ้นไปแต้มอย่างกลางดวงจันทร์ได้  แต่มนุษย์ไยถือดีว่ามีศักดิ์มิรับรักเราผู้ต่ำต้อย  ยิ่งคิดยิ่งน้อยใจ  ครานั้นลมหนาวพัดมาทำให้หนาวยิ่งนัก  ท่านว่าเป็น  “หนาวดอกงิ้ว”  อันหนาวดอกงิ้วนี้เป็นความที่เยือกเย็น  โบราณท่านว่า  ทุกปีที่ถึงเวลาดอกทองกวาว (ดอกจาน) ดอกงิ้วบาน  ฟ้าจะส่งความเย็นลงมาโลมหล้า  ท่านเรียกหนาวนี้ว่า  “หนาวดอกทอง ดอกงิ้ว”  สุนทรภู่ท่านอยู่ในยุคโบราณเหมือนกันจึงรู้จักอานุภาพของความหนาวนี้ดี

(https://i.ibb.co/g4kmjjX/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดธรรมศาลา  ต. ธรรมศาลา อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม

“ ถึงบ้านธรรมศาลาริมท่าน้ำ
เป็นโรงธรรมภาคสร้างแต่ปางหลัง
เดชะคำทำบุญการุณัง
เป็นที่ตั้งศาสนาให้ถาวร

ขอสมหวังดังสวาทอย่าคลาดเคลื่อน
ให้ได้เหมือนหมายรักในอักษร
หนังสือไทยอธิษฐานสารสุนทร
จงถาพรเพิ่มรักเป็นหลักโลม

โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย
ให้ละห้อยหวนเห็นเหมือนเช่นโฉม
พอมืดมนฝนพยับอับโพยม
ทรวงจะโทรมเสียเพราะรักที่หนักทรวงฯ”

(https://i.ibb.co/vVwhZH5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดธรรมศาลา  ต. ธรรมศาลา อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม

          เลยบ้านกล้วยมาถึงบ้านธรรมศาลาซึ่งเป็นโรงธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต  เป็นที่ตั้งหลักเผยแผ่พุทธศาสนาให้แพร่หลายและสถาพรมาจนตราบเท่าวันนี้  ท่านก็อธิษฐานขอให้สมหวังในรักที่ปรารถนา.........

          วันนี้อ่านมาหยุดพักตรงวัดธรรมศาลานี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลาบสือไทย
๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, กุมภาพันธ์, 2563, 10:27:21 PM
(https://i.ibb.co/wWjFHn3/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดห้วยตะโก ต.เพนียด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๐ -

“ถึงถิ่นฐานบ้านเพนียดเป็นเนินสูง
ที่จับจูงช้างโขลงเข้าโรงหลวง
เหตุเพราะนางช้างต่อเข้าล่อลวง
พลายทั้งปวงจึงต้องถูกมาผูกโรง

โอ้อกเพื่อนเหมือนหนึ่งชายที่หมายมาด
แสนสวาทหวังงามมาตามโขลง
ต้องติดบ่วงห่วงรักชักชะโลง
เสียดายโป่งป่าเขาคิดเศร้าใจ

เข้าจอดท่าหน้าเนินเพนียดช้าง
มีโรงร้างไร้ฝาเข้าอาศัย
พอประทังบังฝนใต้ต้นไทร
พวกผู้ใหญ่หยุดหย่อนเขานอนเรือ

แต่ลูกเล็กเด็กอ่อนนอนชั้นล่าง
น้ำค้างพร่างพรมพราวให้หนาวเหลือ
โอ้รินรินกลิ่นเกสรขจรเจือ
เหมือนกลิ่นเนื้อแนบชิดสนิทใน

หนาวน้ำค้างพร่างพรมจะห่มผ้า
พออุ่นอารมณ์ระงับให้หลับใหล
ถึงลมว่าวหนาวยิ่งจะผิงไฟ
แต่หนาวใจจากเจ้าให้เศร้าซึม”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านอ่านกันถึงบ้านธรรมศาลา  ซึ่งเป็นโรงธรรมสถานในอดีต  วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ

(https://i.ibb.co/3czW6nw/sryt-p03.jpg) (https://imgbb.com/)

          บทกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านออกจากบ้านธรรมศาลามาถึงบ้านเพนียดมีเนินสูง  ที่นีเป็นเพนียดคล้องช้างในอดีต  ท่านก็รำพึงถึงช้างว่า  ช้างพลายป่าถูกนางพังช้างบ้านล่อให้ตามเข้าเพนียดจนถูกคล้องจับเข้าผูกไว้ในโรง  ช่างเหมือนตัวท่านที่หลงตามฝูงมาติดบ่วงรักให้หนักทรวงห่วงหา  และค่ำวันนั้นท่านสั่งให้จอดเรือพักแรมที่ท่าน้ำหน้าเพนียด  ซึ่งมีโรงร้างว่างอยู่ใต้ร่มไทร  อากาศหนาวเย็นทำให้ท่านคิดฟุ้งซ่านไปดังคำกลอนข้างบนนี้......

“สงัดเงียบเยียบเย็นทุกเส้นหญ้า
แต่สัตว์ป่าปีบร้องก้องกระหึ่ม
ไม่เห็นหนต้นไม้เพราะไทรครึม
เสียงงึมงึมเงาไม้พระไทรคะนอง

(https://i.ibb.co/7ksY8fw/images-23.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/hF82Gfs/1567173703.jpg) (https://imgbb.com/)
แมลงเป็ดผี และ งูปี่แก้ว

ทั้งเป็ดผีปี่แก้วแว่วแว่วหวีด
จังหรีดกรีดกรีดเกรียวเสียวสยอง
เสียงหริ่งหริ่งกิ่งไทรเรไรร้อง
แม่ม่ายรองไนเพราะเสนาะใน

สงสารแต่แม่ม่ายสายสวาท
นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล
อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองไน
เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว

แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง
ไปร่วมห้องหายม่ายทั้งหายหนาว
นี่หลงเพื่อนเหมือนเคี้ยวเข้าเหนียวลาว
ลืมเข้าจ้าวเจ้าประคุณที่คุ้นเคย

โอ้คิดอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน
ที่ร่วมเรือนร่วมเตียงเคียงเขนย
สงัดเสียงเที่ยงคืนเคยชื่นเชย
เมื่อไรเลยจะได้คืนมาชื่นใจ

จวนจะหลับกลับฝันว่าขวัญอ่อน
แนบฉะอ้อนอุ่นจิตพิสมัย
พี่เคยเห็นเช่นเคยเชยฉันใด
จนชั้นไฝที่ริมปากไม่อยากเฟือน

พอฟื้นกายหายรูปให้วูบง่วง
กำสรดทรวงเสียใจใครจะเหมือน
ยังมิคุ้นอุ่นจิตไม่บิดเบือน
มาเป็นเพื่อนทุกข์ยากเมื่อจากจร

ยังเหลือแต่แพรสีที่พี่ห่ม
ขึ้นประธมจะถวายให้สายสมร
แม้นโฉมงามตามมาจะพาจร
เมื่อขวัญอ่อนขึ้นไปชมประธมทอง

โอ้ยามสามยามจากเคยฝากรัก
ได้ฟูมฟักแฝงเฝ้าเป็นเจ้าของ
มาสูญขาดวาสนาน้ำตานอง
มิได้น้องแนบเชยเหมือนเคยเคียง”

(https://i.ibb.co/wNttPcW/1105.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านนอนรำพึงรำพันมากมายจนหลับไปแล้ว  ฝันว่าได้นอนแนบแอบเนื้ออุ่นของนางอันเป็นที่รัก  จำได้แม่นยำเพราะนางมีไฝที่ริมฝีปาก  นางในนิราศของท่านนางใดมีไฝที่ริมฝีปากหนอ  ใครอยากรู้ต้องค้นคว้าหากันเอาก็แล้วกัน  ผมเองก็จนปัญญา

"พอรุ่งรางวางเวงเสียงเครงครื้น
ปักษาตื่นเสียงเรียกกันเพรียกเสียง
โกกิลากาแกแซ่สำเนียง
สนั่นเพียงพิณพาทย์ระนาดประโคม

กระหึ่มหึ่งผึ้งบินกินเกสร
ทรวงภมรเหมือนพี่เคยได้เชยโฉม
น้ำค้างชะประเปรยเชยชโลม
พื้นโพยมแย้มสว่างกระจ่างตา

เสพอาหารหวานคาวแต่เช้าชื่น
ยังรวยรื่นรินกลิ่นบุปผา
กับพวกพ้องสองบุตรสุดศรัทธา
ขึ้นเดินป่าไปตามทางเสียงวางเวง

กระเหว่าหวานขานเสียงสำเนียงเสนาะ
ค้อนทองเคาะค้อนทองเสียงป๋องเป๋ง
เห็นรอยเสือเนื้อตื่นอยู่ครื้นเครง
ให้กริ่งเกรงโห่ฉาวเสียงกราวเกรียว

ต้นกรวยไกรไทรสะแกแคแกรกกร่าง
น้ำค้างพร่างพร่างชุ่มชอุ่มเขียว
หนทางอ้อมค้อมคดต้องลดเลี้ยว
พากันเที่ยวชมเนื้อดูเสือดาว

พอแสงแดดแผดร้อนอ่อนอ่อนอุ่น
กระต่ายตุ่นต่างต่างบ้างค่างขาว
สุกรป่าช้ามดเหมือนแมวคราว
เวลาเช้าชักฝูงออกทุ่งนา

เด็กเด็กโดดโลดไล่กระต่ายหลบ
จับประจบหกล้มสมน้ำหน้า
สนุกในไพรพนัสรัถยา
ทั้งบรรดาเด็กน้อยก็พลอยเพลินฯ”

(https://i.ibb.co/CMnhKR4/1531971761-80363-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นรุ่งสาวสว่างแจ้งแล้วทานข้าวปลาอาหารกันเสร็จก็พร้อมด้วยบุตรสองคนคือ  นายตาบ  นายนิล  และบรรดาศิษย์ผู้ติดตามก็พากันขึ้นจากเรือ  เดินทางผ่านป่าดงชมนกชมไม้ไปตามกลอนข้างบนนี้  มุ่งหน้าไปยังองค์พระประธมเจดีย์

          วันนี้ปล่อยให้อ่านกลอนยาวยาว ๆ ที่ไพเราะของกวีเอกแห่งโลก  มาถึงตรงนี้ก็ขอพักไว้ก่อน  เรื่องใกล้จะจบแล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่เถิดครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, กุมภาพันธ์, 2563, 10:49:27 PM
(https://i.ibb.co/HDLR3VQ/images-26.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร : นครปฐม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๑ -

“ครั้นถึงวัดพระประธมบรมธาตุ
สูงทายาทสันโดษบนโขดเขิน
แลทะมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน
เป็นโขดเนินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน

ประกอบก่อย่อมุมมีซุ้มมุข
บุดีบุกบรรจบถึงนพศูล
เป็นพืดแผ่นแน่นสนิททั้งอิฐปูน
จนเพิ่มพูนพิสดารอยู่นานครัน....

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำบทกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของสุนทรภู่  มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ท่านจอดเรือพักแรมคืนในโรงร้างที่เพนียดเก่า  รุ่งเช้าก็ขึ้นบกเดินทางมุ่งหน้าไปไหว้พระประธม  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/nnjVLP9/0004932-Phra-Pathom-Chedi-001.jpg) (https://imgbb.com/)
องค์พระปฐมเจดีย์ (พระประธม) : นครปฐม

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านเดินบกผ่านป่าดงมาจนถึงองค์พระประธมที่สูงทะมึนทึน  องค์พระมหาเจดีย์ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินสูง  เป็นเจดีย์ก่ออิฐย่อมุมมีซุ้มมุข  บุดีบุกตั้งแต่พื้นจนถึงนภศูล  พระมหาเจดีย์องค์นี้เรียกชื่อแต่เดิมมาว่า  พระประธม  ด้วยเชื่อกันตามตำนานว่า  ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเสด็จมาตามคำกราบบังคมของพระปุณณเถระ  ทูลเชิญเสด็จมาโปรดชาวสุวรรณภูมิ (ประทับนั่งแสดงธรรม ณ ถ้ำเขางูราชบุรี)  แล้วมาสำเร็จพระสีหไสยาสน์ ณ ที่นี้  จึงได้สร้างพระมหาเจดีย์ครอบพระแท่นสีหไสยาสน์ไว้เป็นสัญลักษณ์  เป็นที่กราบไหว้บูชาของชาวพุทธทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิสืบมา

          กาลลุถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) แห่งกรุงสยาม  ทรงค้นพบความในสังคีตวงศ์ว่า  หลังจากพุทธปรินิพพานได้ประมาณ ๒๓๐ ปีเศษ  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  กระทำสังคายนายครั้งที่ ๓  เสร็จแล้วทรงส่งพระสมณะทูตไปยังประเทศต่าง ๆ  และโปรดให้พระโสณะ  พระอุตระ  นำคณะธรรมทูตมายังสุวรรณภูมิ  และมาตั้งหลักเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ที่นี้เป็นครั้งแรก  จึงได้มีการสร้างพระมหาเจดีย์นี้เป็นสัญลักษณ์  ดังนั้นสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  จึงทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ที่ทรุดโทรมแล้วนั้น  ให้แลงดงามเป็นที่เจริญศรัทธา  และเปลี่ยนนามเรียกเสียใหม่ว่า  “พระปฐมเจดีย์”  แต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๐ นั้นเป็นต้นมา  สุนทรภู่ท่านไปไหว้พระมหาเจดีย์นี้ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเปลี่ยนนาม  ท่านจึงเรียกว่าพระประธมตามนามเดิม

“แล้วลดเลี้ยวเที่ยวรอบขอบข้างล่าง
ล้วนรอยกวางทรายเกลื่อนไก่เถื่อนขัน
สะพรั่งต้นคนทาลดาวัลย์
ขึ้นพาดพันพงพุ่มชอุ่มใบ

เห็นห้องหับลับลี้เป็นที่สงฆ์
เที่ยวธุดงค์เดินมาได้อาศัย
พลอยศรัทธาพาเพลินเจริญใจ
ถึงบันไดดูโกรกชะโงกงัน...”

(https://i.ibb.co/t8V9CWj/unnamed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านสุนทรภู่เที่ยวเดินดูรอบ ๆ ลานองค์พระเจดีย์  ได้แลเห็นรอยตีนกวางทรายเกลื่อนอยู่บนลานรอบองค์พระเจดีย์  และยังมีไก่เถื่อนอยู่เป็นฝูง  คุ้ยเขี่ยลานพระเจดีย์หาอาหารกินกัน  แล้วโก่งคอขันประชันเสียงกันอยู่เซ็งแซ่  แสดงว่าในสมัยที่สุนทรภู่ไปไหว้องค์พระประธมนั้น  บริเวณรอบๆองค์พระมหาเจดีย์เป็นป่าเป็นดง  ปราศจากอาคารบ้านเรือน  หรือถึงมีก็คงประปรายไม่กี่หลังคาเรือน  รอบองค์พระมหาเจดีย์มีป่าคนทา (ไม้หนามชนิดหนึ่ง)ขึ้ นอยู่มากมาย  และมีเถาวัลย์พันเลื้อยขึ้นปกคลุมเป็นพุ่มเขียวชรอุ่มน่าทัศนา  แล้วยังเห็นห้องที่ค่อนข้างลี้ลับ  เป็นที่พักอาศัยหลับนอน  ปฏิบัติธรรม  ของพระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางประพฤติธุดงควัตรมานมัสการพระประธมเจดีย์  พระภิกษุที่ประพฤติธุดงค์วัตร  ท่านนิยมเดินทางประพฤติธุดงค์ในช่วงออกพรรษา  รับกฐินเรียบร้อยแล้ว  มีกลดพร้อมบาตร  ย่ามใหญ่  กาน้ำ  ผ้าไตรจีวรย้อมสีกรัก (แก่นขนุน)  ทำพิธีสมาทานธุดงค์แล้ว  แบกกลด สะพายบาตรและย่าม  หิ้วกาน้ำดื่ม  ออกเดินเท้ามุ่งหน้าไปนมัสการสถานที่สำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา  เช่นพระพุทธบาทท่าเรือ (สระบุรี)    พระแท่นศิลาอาสน์ (อุตรดิตถ์)   พระแท่นดงรัง (กาญจนบุรี)   พระประธมเจดีย์ (นครชัยศรี)  เป็นต้น  ท่านมิได้ไปครบทุกสถานที่ในปีเดียว  เพราะเดินไม่ไหว  กำหนดไว้ว่าปีใดจะไปสถานที่ไหนบ้างเท่านั้น  ที่พระประธมเจดีย์นี้อยู่ในภาคกลางของประเทศ  เห็นทีจะมีพระเดินธุดงค์มานมัสการกันปีละไม่น้อยเลย

“เห็นสูงสุดหยุดแลชะแง้แหงน
ถึงมาตรแม้นบรรลัยคงไปสวรรค์
ต่างอุตส่าห์พยายามต้องตามกัน
ขึ้นถึงชั้นบนได้จิตใจมา

สงสารสุดบุตรน้อยก็พลอยขึ้น
ไม่เมื่อยมึนเหมือนผู้ใหญ่ไวหนักหนา
ประนมมือถือประทีปเทียนบูชา
ตั้งวันทาทักษิณด้วยยินดี

ได้สามรอบชอบธรรมตามกำหนด
กราบประณตกรประนมก้มเกศี
ถวายธูปเทียนบุปผาสุมาลี
กับเทียนที่ฝากถวายนั้นหลายคน

เจ้าของคิดอธิษฐานที่บ้านแล้ว
จงผ่องแผ้วผิวพักตรถึงมรรคผล
ให้สมสุขทุกสมรอย่าร้อนรน
ประจวบจนจะได้ตรัสด้วยศรัทธา

ฉันรับฝากอยากจะใคร่ได้เป็นญาติ
ทุกทุกชาติไปอย่าขาดเหมือนปรารถนา
ให้รักใคร่ไปทุกวันเห็นทันตา
ไปเบื้องหน้านั้นขอให้บริบูรณ์......”

(https://i.ibb.co/MNchpC3/images-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านสุนทรภู่พร้อมลูก ๆ และศิษย์เดินขึ้นไปไหว้พระมหาเจดีย์ถึงชั้นบน  โดยกระทำประทักษิณ (เดินเวียนขวา)  ครบ ๓ รอบแล้วก็กราบไหว้ตามธรรมเนียม  ถวายดอกไว้ธูปเทียนทั้งของตนและของที่รับฝากมาจากกรุงเทพฯ  กิริยานี้บอกให้เรารู้ว่า  สมัยนั้นคนเคารพนับถือปูชนียสถานวัตถุทางพระพุทธศานากันมาก  หากใครเดินทางไปไหว้พระพุทธบาท  หรือพระมหาธาตุเจดีย์ที่ใด  ผู้ที่มิได้เดินทางไปด้วย  ก็จะฝากธูปเทียนให้นำไปบูชาแทนตน  ท่านสุนทรภู่มาไหว้พระประธมก็มีคนฝากธูปเทียนมาจุดบูชาหลายราย  โดยเฉพาะหญิงผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับท่าน  ท่านบอกว่ารับฝากธูปเทียนมาบูชาพระประธมเจดีย์ก็หมายใจใคร่ได้เป็นญาติทุกภพทุกชาติ  อย่าได้ขาปรารถนา......

          วันนี้ให้อ่านมาถึงตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.

(.....................  มีต่อพรุ่งนี้  .....................)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, กุมภาพันธ์, 2563, 11:24:05 PM
(https://i.ibb.co/HF9Vt1P/Nakhonprathom-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)
องค์พระปฐมเจดีย์ (พระประธม) : นครปฐม

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๒ -

“สาธุสะพระประธมบรมธาตุ
จงทรงศาสนาอยู่ไม่รู้สูญ
ข้าทำบุญคุณพระช่วยอนุกูล
ให้เพิ่มพูนสมประโยชน์โพธิญาณ

หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ
ให้สืบชื่อทั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์จ้าวจักรพาฬ
พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร

หนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง
แล้วเอาอย่างเทียบทำคำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน
ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา......

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ผมอยู่ระหว่างการเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับสุโขทัย  ไม่สะดวกในการนำนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958) ของท่านสุนทรภู่มาให้อ่านกัน  วันนี้มีเวลาแล้วจึงขอนำกลอนนิราศพระประธมของท่านสุนทรภู่  ที่ได้นำมาวางให้อ่านกัน  ถึงตอนสุนทรภู่พร้อมด้วยบุตรชายทั้งสองและศิษย์ผูติดตามเดินทางถึงพระประธมเจดีย์  เดินขึ้นไปข้างบนลานที่กราบไหว้บูชาพระบรมธาตุ  ท่านจุดธูปเทียนของตนและของทุกคนที่ฝากมาบูชาพระบรมธาตุแล้วอธิษฐาน...  วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/6Wrfynx/112914665527-72.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันก่อน  ท่านจุดธูปเทียนบูชาแล้วอธิษฐานขอให้พระประธมเจดีย์ทรงศาสนาไว้อย่ารู้สูญ  และอานิสงส์ที่ท่านได้ทำบุญนี้  ขอคุณพระได้ช่วยเพิ่มพูนบุญหนุนส่งให้ถึงพระโพธิญาณ  และขอให้บุญนี้ช่วยบันดาลให้ผลงานกลอนของท่านลือชาปรากฏไปทั่วจักรวาล  ใครที่ติเตียนกลอนท่านแล้วทำตามอย่างหวังเทียบเทียมท่าน  ขอให้ฟั่นเฟือนไป  ต่อเมื่อโอนอ่อนออกชื่อยกย่องท่านสุนทรภู่แล้วจึงจะลือชา.......

“อนึ่งหญิงทิ้งสัตย์เราตัดขาด
ถึงเนื้อน้ำธรรมชาติไม่ปรารถนา
ข้างนอกนวลส่วนข้างในใจสุดา
เหมือนปลาร้าร้ายกาจอุจาดจริง

ถึงรูปชั่วตัวดำระยำยาก
รู้รักปากรักหน้าประสาหญิง
ถึงปากแหว่งแข้งคอดไม่ทอดทิ้ง
จะรักยิ่งยอดรักให้หนักครัน

จนแก่กกงกเงิ่นเดินไม่รอด
จะสู้กอดแก้วตาจนอาสัญ
อันหญิงลิงหญิงค่างหญิงอย่างนั้น
ไม่ผูกพันพิศวาสให้คลาดคลา

ขอเดชะพระมหาอานิสงส์
ซึ่งเราทรงศักราชพระศาสนา
เสน่ห์ไหนให้คนนั้นกรุณา
เหมือนในอารมณ์รักประจักษ์ใจ

หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศวาส
ซึ่งสิ้นชาติชนม์ภพสบสมัย
ขอคุณพระอานิสงส์ช่วยส่งไป
ถึงห้องไตรตรึงษ์สถานพิมานแมน

ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยอื่น
จงปรากฏยศยืนกว่าหมื่นแสน
มั่งมีมิตรพิศวาสไม่ขาดแคลน
ให้หายแค้นเคืองทั่วทุกตัวคน

นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ
เสน่ห์มอบหมายรักเป็นพักผล
เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน
แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี

ให้ได้คู่สู่สมภิรมย์รัก
ที่สมศักดิ์สมหน้าเป็นราศี
สืบสกุลพูลสวัสดิ์ในปัฐพี
ร่วมชีวีสองคนไปจนตาย

แต่นารีขี้ปดโต้หลดหลอก
ให้ออกดอกทุกวี่วันเหมือนมั่นหมาย
ทั้งลิ้นน้องสองลิ้นเพราะหมิ่นชาย
เป็นแม่ม่ายเท้งเต้งวังเวงใจ”

(https://i.ibb.co/HNWTVCm/dg-K7043622-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านสุนทรภู่นี่ปากร้ายไม่เบาเลยนะครับ  อ่านคำอิษฐานเกี่ยวกับผู้หญิงของท่าน  สมกับที่ท่านเป็น  “นักกลอนตลาด”  แท้ ๆ  ปากแม่ค้าในตลาดก็สู้ท่านไม่ได้  ดูตอนที่ท่านแช่งหญิงขี้ปด (ตอหลดตอแหล) ซี  คิดได้ไงว่า  “ขอให้ออกดอกทุกวัน”  ความหมายในคำด่าแบบแม่ค้าปากตลาดที่ด่ากันว่า   “อีดอก.....”    อะไรนั่นแหละ  มิหนำยังแช่งให้มีลิ้นสองแฉก (เหมือนลิ้นเหี้ย)  และเป็นม่ายเท้งเต้งวังเวงใจไปจนตายอีกด้วยแน่ะ

“ที่จงจิตพิศวาสอย่าคลาดเคลื่อน
ให้ได้เหมือนหมายมิตรพิสมัย
อย่าหมองหมางห่างเหเสน่ห์ใน
ได้รักใคร่ครองกันจนวันตาย

เป็นคู่สร้างทางกุศลจนสำเร็จ
พระสรรเพชญ์โพธิญาณประมาณหมาย
ยังมิถึงซึ่งนิพพานสำราญกาย
จะกลับกลายเป็นไฉนอย่าไกลกัน

แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก
ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์
แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร์
ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร

แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่
ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร
เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร
ได้เชยช้อนชมชเลทุกเวลา

แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์
จะได้ลงสิงสู่ในคูหา
แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา
พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัญ

กว่าจะถึงซึ่งมหาศิวาโมกข์
เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
เสวยสวัสดิ์ชัชวาลนานอนันต์
เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธันดร.....”

(https://i.ibb.co/bbQMQGb/unnamed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          คำอธิษฐานหวานแหววตอนนี้  คล้ายกับว่าท่านเอานิราศอิเหนาที่แต่งไว้ก่อนหน้านี้มาแปลงย้ำความหวานของอารมณ์รักที่ยังไม่จืดจาง  คำอธิษฐานรำพันของท่านในนิราศนี้  เหลือล้ำคำอภิปรายขยายความจริง ๆ  จึงขอพักไว้ตรงนี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, กุมภาพันธ์, 2563, 10:18:35 PM
(https://i.ibb.co/TBfHkjQ/U12328766364036124232084002.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๓ -

“โอ้คิดไปใจหายเสียดายนัก
ที่เคยรักเคยเคียงเคยเรียงหมอน
มาวายวางกลางชาติถึงขาดรอน
ให้ทุกร้อนรนร่ำระกำตรอม

ยังเหลือแพรชมพูของคู่ชื่น
ทุกค่ำคืนเคยชมได้ห่มหอม
พี่ย้อมเหลืองเปลื้องปลดสู้อดออม
เอาคลุมห้อมหุ้มห่มประธมทอง

กับแหวนนางต่างหน้าบูชาพระ
สาธุสะถึงเขาผู้เจ้าของ
ได้บรรจงทรงเครื่องให้เรืองรอง
เหมือนรูปทองธรรมชาติสะอาดตา.......

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่  มาวางให้อ่านกันถึงตอนท่านจุดเทียนของท่านและของทุกคนที่ฝากมาจุดถวาย  แล้วก็อธิษฐานหลายอย่าง  เช่นว่าถ้าใครที่ติกลอนของท่านว่าไม่ดีนานา  แล้วก็ทำเทียบเอาอย่างของท่าน  ขอให้ฟั่นเฟือนไป  ต่อเมื่อเอ่ยออกชื่อยกย่องท่านจึงจะมีชื่อลือชา  แล้วอธิษฐานขอไกลจากสตรีโลเลหลอกลวง  แม้เธอจะสวยงามปานนางฟ้านางสวรรค์ก็ไม่ปรารถนาใกล้ชิดเชยชม  แต่สตรีใดที่มีความซื่อสัตย์ต่อสามี  แม้จะปากแหว่งแข้งคอดก็ไม่ทอดทิ้งจะรักไปจนตาย  และยังแช่งสตรีที่โกหกตอแหล  ขอให้นางจงออกดอกทุกวี่วัน  เป็นม่ายเท้งเต้งอยู่จนตาย  และอธิษฐานขออยู่เป็นคู่นางอันเป็นที่รักทุกภพทุกชาติไป  วันนี้มาอ่านกันต่อจากเมื่อวันวานครับ

(https://i.ibb.co/yFLDbJs/spd-20160407181536-b.jpg) (https://imgbb.com/)

          บทกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านครวญคำนึงถึงนิ่ม  แม่หนูตาบ  ชาวบางกรวย  ภรรยาอีกคนหนึ่งของท่านที่ตายจากไปเมื่อ ๙ ปีแล้ว  สิ่งที่หลงเหลือของแม่นิ่มคือ  ตาบ  ลูกชาย ๑   ผ้าแพรชมพู ๑   แหวน ๑   ท่านได้ย้อมผ้าแพรเป็นสีเหลืองแล้วนำมาห่มองค์พระเจดีย์พระประธม  ส่วนแหวนนั้น  ก็ถวายบูชาพระประธม  แล้วอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แม่นิ่มบนสรวงสวรรค์

“แล้วกราบลาพระประธมบรมธาตุ
เลียบลีลาศแลพินิจทุกทิศา
เห็นไรไรไกลสุดอยุธยา
ด้วยสุธาถมสูงที่กรุงไกร

ที่อื่นเตี้ยเรี่ยราบดังปราบเรี่ยม
ด้วยยื่นเยี่ยมสูงกว่าพฤกษาไสว
โอ้เวียงวังยังเขม้นเห็นไรไร
แต่สายใจพี่เขม้นไม่เห็นทรง

ยิ่งเสียวเสียวเหลียวย้ายทั้งซ้ายขวา
ล้วนทุ่งนาเนินไม้ไพรระหง
ภูเขาเคียงเรียงรอบเป็นขอบวง
ในแดนดงดูสล้างด้วยยางยูง

ที่ทุ่งโถงโรงเรือนดูเหมือนเขียน
เห็นช้างเจียนจะเท่าหมูด้วยอยู่สูง
เขาต้อนควายหวายผูกจมูกจูง
เป็นฝูงฝูงไรไรทุกไร่นา

ในอากาศดาษดูล้วนหมู่นก
บ้างเวียนวกวนร่อนว่อนเวหา
เห็นนกไม้ไพรวันอรัญวา
สะอื้นอาลัยเหลียวด้วยเปลี่ยวใจ

บนประธมลมเฉื่อยเรื่อยเรื่อยรื่น
กระพือผืนผ้าปลิวหวิวหวิวไหว
เสียงฮือฮือรื้อร่ำยังค่ำไป
อนาถใจจนสะอื้นกลืนน้ำตา

เห็นไรไรไม้งิ้วละลิ่วเมฆ
ดังฉัตรเฉกชื่นชุ่มพุ่มพฤกษา
สูงสันโดษโสดสุดจึงครุฑา
เธอแอบอาศัยสถานพิมานงิ้ว

เห็นไม้งามนามไม้อาลัยมิตร
รำคาญคิดเขินขวยระหวยหิว
ฉิมพลีปรีอ่อนเกสรปลิว
มาริ้วริ้วรื่นรื่นชื่นชื่นใจ

โอ้ยามจนอ้นอั้นกระสันสวาท
คิดถึงญาติดังจะพาน้ำตาไหล
แกล้งแลเลยเชยชมพนมไพร
พระปรางค์ใหญ่เยี่ยมฟ้าสุธาธาร

ที่ริมรอบขอบคันข้างชั้นล่าง
เอาอิฐขว้างดูทุกคนไม่พ้นฐาน
แลข้างบนคนข้างล่างที่กลางลาน
สุดประมาณหมายหน้านัยน์ตาลาย.......

(https://i.ibb.co/zHrGbG8/unnamed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          จบคำอธิษฐานแล้วกราบลาพระบรมธาตุ  ออกมามาเดินเลียบรอบองค์พระเจดีย์  พรรณนาถึงภูมิทัศน์รอบๆองค์พระประธมที่มีความงดงาม  ความกว้างใหญ่ของฐานพระมหาเจดีย์  ความสูงของพระมหาเจดีย์  ว่ามองลงมาข้างล่างแลเห็นช้างตัวเท่าหมู  ดูแล้วตาลาย....

“แล้วลาพระจะลงดูตรงโตรก
สูงชะโงกเงื้อมไม้จิตใจหาย
เมื่อขึ้นนั้นชั้นกระไดขึ้นง่ายดาย
จะลงเห็นเป็นว่าหงายวุ่นวายใจ

ต้องผินผันหันหลังลงทั้งสิ้น
ถึงแผ่นดินยินดีจะมีไหน
เที่ยวชมวัดทัศนาศาลาลัย
ต้นโพธิ์ไทรสูงสูงทั้งยูงยาง

ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ
มะตูมตาดต้นเอื้องมะเฟืองฝาง
นมสวรรค์ลั่นทมต้นนมนาง
มีต่างต่างตันอกตกตะลึง

นมสวรรค์ฉันดูสู้ไม่ได้
เหมือนเตือนใจให้นึกรำลึกถึง
เห็นเล็บนางหมางเมินเดินรำพึง
ชมกระทึงดอกดวงพวงพะยอม

พิกุลใหญ่ใต้ต้นหล่นแชล่ม
ดูกลีบแซมชื่นเชยระเหยหอม
ผลลูกสุกห่ามงามงามงอม
แต่แตนตอมต่อผึ้งหึ่งหึ่งฮือ.......”

(https://i.ibb.co/VxfRVp5/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านว่าลานบนขององค์พระประธมนี้ตอนขึ้นนั้นขึ้นได้ง่าย  แต่ตอนที่จะลงจากลานไหว้พระบรมธาตุนั้น  มองลงมาข้างล่างแล้วหวาดเสียว  หันหน้าเดินลงไม่ได้  ทุกคนต้องหันหลังเดินถอยหลังลงมา  เมื่อลงมาถึงพื้นดินแล้วโล่งอกโล่งใจไปตาม ๆ กัน  ท่านเที่ยวชมบริเวณรอบ ๆ พระมหาเจดีย์ที่มีไม้โพธิ์ไทรรื่นร่ม  นอกจากไม้ใหญ่แล้วยังมีไม้ดอกนานา  เช่นนมสวรรค์  นมนาง  และพิกุล  เป็นต้น  เฉพาะนมสวรรค์นั้น  ท่านว่าสู้นมนางอันเป็นที่รักของท่านมิได้เลย

          วันนี้อ่านมาพักไว้ตรงนี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านต่อกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, กุมภาพันธ์, 2563, 10:18:11 PM
(https://i.ibb.co/4Y5gJFw/0lb12.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๔ -

“เห็นนกเปล้าเขาไฟฝูงไก่เถื่อน
เที่ยวเดินเกลื่อนกลางดินบ้างบินปรื๋อ
เหล่าลูกเล็กเด็กใหญ่ไล่กระพือ
มันบินรื้อร่อนลงข้างดงดอน

ทั้งสระมีสี่มุมปทุมชาติ
ระดะดาษดอกดวงบัวหลวงสลอน
บ้างร่วงโรยโปรยปรายกระจายจร
หอมเกสรเสาวคนธ์ที่หล่นลอย

มีเต่าปลาอาศัยอยู่ในน้ำ
บ้างผุดดำโดดคะนองพ่นฟองฝอย
ฝูงกริมกรายรายเรียงขึ้นเคียงคอย
จะคาบสร้อยเสาวคนธ์ว่ายวนเวียน

เหมือนด้วยรักหนักหน่วงไม่ร่วงหล่น
ให้เวียนวนหวั่นจิตตะขวิดตะเขวียน
แสนสนุกรุกขชาติดาษเดียร
เที่ยวเดินเวียนวนชมประธมทอง...”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้เอากลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของสุนทรภู่มาวางให้อ่านกันถึงตอนที่  ท่านสุนทรภู่ลงจากองค์พระประธมเจดีย์มาถึงพื้นดินแล้วก็เดินเที่ยวชมนกชมไม้รอบ ๆ บริเวณองค์พระประธมนั้น  วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/xXhDSTQ/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านเห็นในบริเวณป่ารอบ ๆ องค์พระประธมนั้นมี  นกนานาชนิด  เช่นนกเปล้า  หรือเขาเปล้าซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นกันมากนัก  นกชนิดนี้เป็นนกเขาที่มีตัวใหญ่  อยู่ในสกุล Treron  มีหลายอย่าง  คือ  นกเปล้าหางเข็ม  นกเปล้าอกสีม่วง  สีน้ำตาล  นกเปล้าใหญ่  นกเปล้าธรรมดา  นกเปล้าแดง  นกเปล้าเทา  เปล้าขาเหลือง  เปล้าหางเข็มหัวปีกแดง  เปล้าหางพลั่วท้องขาว  เปลาคอสีม่วงฯ  นอกจากนกเขาเปล้า  เขาไฟแล้ว  ยังมีไก่เถื่อนเป็นฝูงใหญ่  แสดงให้เห็นว่าพระประธมเจดีย์สมัยนั้นตั้งอยู่ในเมืองที่รกร้างเป็นป่าใหญ่มากทีเดียว  แต่ก็มีร่องรอยให้เห็นว่า  ในอดีตบ้านเมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาก  ยังมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ในสี่ทิศ  สี่ด้านองค์พระประธม  ในสระน้ำนั้นยังมีบัวหลวงออกดอกชูไสวสวยงาม  ในสระนั้น ๆ มีปลานานาชนิด  เช่นปลากริม  ปลากราย  ปลาสร้อย  ปลาสาวคนธ์  ดำผุดดำว่ายอยู่มากมาย  รวมทั้งเต่านาก็มีอีกด้วย

“โบสถ์วิหารท่านสร้างแต่ปางก่อน
มีพระนอนองค์ใหญ่ยังไม่หมอง
หลับพระเนตรเกศเกยเขนยทอง
ดูผุดผ่องพูนเพิ่มเติมศรัทธา

โอ้เอ็นดูหนูตาบจะกราบก้ม
เปลื้องผ้าห่มนอบนบจบเกศา
ขึ้นห่มพระอธิษฐานให้มารดา
พลอยน้ำตาตกพรากเพราะยากเย็น

แม้นยังอยู่คู่เชยไม่เคยละ
มาไหว้พระก็จะพามาให้เห็น
โอ้ชาตินี้มีกรรมจึงจำเป็น
มาแสนเข็ญขาดมิตรสนิทใน

กราบพระเจ้าเศร้าจิตคิดสังเวช
โอ้น้ำเนตรเอ๋ยกลืนก็ขืนไหล
สารพัดตัดขาดประหลาดใจ
ตัดอาลัยตัดสวาทไม่ขาดความ...”

(https://i.ibb.co/HTkfMKv/12418927-829773860502310-4133537866310008290-o.jpg) (https://imgbb.com/)
พระนอน ในวิหารทิศตะวันตก วัดพระปฐมเจดีย์

          โบสถ์วิหารเก่ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดี  มีพระนอน (ไสยาสน์) องค์ใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกองค์พระประธมเจดีย์  หนูตาบเปลื้องผ้าที่ห่มกายมาออกแล้ว  ก้มกราบพระและเอาผ้าห่มจบเหนือหัวอธิษฐานอุทิศให้แม่นิ่มด้วยความกตัญญูรู้คุณและรักอาลัยในมารดา  แล้วห่มผ้านั้นด้วยความเคารพ  สุนทรภู่เห็นภาพลูกกตัญญูเช่นนั้นตื้นตันใจจนน้ำตาไหลพราก  ด้วยหวนคิดถึงแม่นิ่ม  และซาบซึ้งใจในความกตัญญูของลูกชาย  ท่านคิดว่าหากแม่นิ่มยังมีชีวิตอยู่ก็จะพามาไหว้พระประธมด้วย  แต่นี่เธออำลาจากโลกนี้ไปเสียแล้ว  เพียงได้แต่หวนหาอาวรณ์  สู้ทนฝืนกลืนกลั้นน้ำตาไว้ก็ไม่อยู่  ยังคงขืนไหลพรากออกมานองหน้า  แล้วท่านก็ว่า  “สารพัดตัดขาดประหลาดใจ   ตัดอาลัยตัดสวาทไม่ขาดความ”

“แกล้งพูดพาตาเฒ่าพวกชาวบ้าน
คนโบราณรับไปได้ไต่ถาม
เห็นรูปหินดินศิลาสง่างาม
เป็นรูปสามกษัตริย์ขัติยวงศ์

ถามผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้
หวังจะให้ทราบความตามประสงค์
ว่ารูปทำจำลองฉลององค์
พระยากงพระยาพานกับมารดา....”

(https://i.ibb.co/H2ZGmz4/image.jpg) (https://imgbb.com/)
รูปปั้นพระยากง

          แล้วท่านก็เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกด้วยการเสไปสนทนาปราศรัยไต่ถามพวกผู้เฒ่าซึ่งเป็นคนท้องถิ่น  ที่มาอยู่ในบริเวณนั้นว่า  รูปหินดินศิลาสง่างามเหล่านี้  เป็นรูปใครกัน  มีความหมายหรือความเป็นมาอย่างไรหนอ  เห็นทีว่าจะมีความสำคัญมิใช่น้อยเลย  เพราะดูลักษณะการแต่งกายของรูปนั้นแล้วงามสง่าน่าเคารพยำเกรงยิ่งนัก  ท่านผู้เฒ่าเจ้าถิ่นเห็นคนต่างบ้านต่างเมืองสนใจรูปนั้นก็ดีใจนัก  จึงบอกเล่าที่มาของรูปนั้นว่า  นี่เป็นรูปปั้นหรือแกะลักจำลองจากรูปของพระยากง  พระยาพาน  และพระมารดาพระยากง  ตามตำนาน   เรื่องราวความเป็นมามีอย่างไรหรือ  หากท่านสนใจเราผู้เฒ่าก็จะเล่าให้ฟัง  คือ  นานมาแล้ววว......

          อ๊ะ !  พักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน  วันนี้อย่าเพิ่งฟังตำนานเรื่องพระยากงพระยาพานเลย  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ตอนจบเถอะนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ ธันวาคม ๒๕ณ๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, กุมภาพันธ์, 2563, 12:00:16 AM
(https://i.ibb.co/ScypFsT/s-Untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๕ -

“ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราชย์
เรียงพระญาติพระยากงสืบวงศา
เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา
กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน

พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง
ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ
พระยากงส่งไปให้นายพราน
ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย

ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง
แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย
ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย
ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง......”

.................. นิราศพระประธม (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของท่านสุนทรภู่มาวางให้อ่านกัน  ถึงตอนที่สุนทรภู่เห็นหนูตาบเปลื้องผ้าห่มออกถวายพระพุทธไสยาสน์อุทิศให้แม่นิ่มผู้เป็นมารดา  แล้วท่านก็หวนคิดถึงแม่นิ่มผู้วายชนม์จนน้ำตาไหลพราก  แล้วกลั้นน้ำตาหาเรื่องกลบเกลื่อนด้วยการสนทนากับผู้เฒ่าเจ้าถิ่นถึงรูปปั้นในที่นั้นว่าเป็นใคร  ผู้เฒ่าก็บอกเล่าความเป็นมา  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/nQKPnP4/3-19.jpg) (https://imgbb.com/)

          บทกลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังถึงที่มาของรูปปั้นนั้นว่า  ในอดีตกาลอันยาวนานมาแล้ว  ท้าวพระยาผู้ครองบ้านเมืองนี้พระองค์หนึ่งพระนามว่า  พระยากง  อยู่มาพระมเหสีทรงพระครรภ์และครบกำหนดประสูติ  ขณะประสูตินั้นทรงให้นำพานทองมารองรับ  พระกุมารประสูติลงในพานทองพระพักตร์กระทบกระแทกขอบพานเป็นแผลเล็กน้อย  จึงให้นามว่าพานกุมาร  โหราจารย์ทำนายทายทักว่า  พระกุมารนี้ใครเลี้ยงไว้เบื้องหน้าจะเข่นฆ่าผู้ชุบเลี้ยง  พระยากงจึ่งให้นายพรานนำไปถ่วงน้ำทิ้งเสีย  แต่พระกุมารนั้นมีบุญมาก  หาได้จมน้ำตายไม่  ยายหอมรู้ความจึงไปเก็บมาชุบเลี้ยงไว้เป็นลูกของตน โดยไม่แพร่งพรายให้ใคร ๆ ทราบเรื่อง ......

(https://i.ibb.co/7JQ9t0F/y9.jpg) (https://imgbb.com/)

“ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว
แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง
รู้ผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง
มีกำลังลือฤทธิ์พิสดาร

พระยากงลงมาจับก็รับรบ
ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร
ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพระยาพาน
จึงได้ผ่านภพผดุงกรุงสุพรรณ

เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล
จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์
เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ
ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน

ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด
ด้วยปกปิดปฏิเสธซึ่งเหตุผล
เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์
จึงให้คนสร้างพระปรางค์ประโทน

แทนคุณตามความรักแต่หักว่า
ต้องเข่นฆ่ากันเพราะกรรมเหมือนคำโหร
ที่ยายตายหมายปักเป็นหลักประโคน
แต่ก่อนโพ้นพ้นมาเป็นช้านาน

จึงสำเหนียกเรียกย่านบ้านยายหอม
ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิอธิษฐาน
ครั้นเสด็จสรรพกลับมาหาอาจารย์
เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศิลา

จึงทำเมรุเกณฑ์พหลพลรบ
ปลงพระศพพระยากงพร้อมวงศา
แล้วปลดเปลื้องเครื่องกษัตริย์ขัติยา
ของบิดามารดรแต่ก่อนกาล

กับธาตุใส่ในตรุบรรจุไว้
ที่ถ้ำใต้เนินพนมประธมสถาน
จึงเลื่องลือชื่อว่าพระยาพาน
คู่สร้างชานเชิงพนมประธมทอง...”

(https://i.ibb.co/5xwzLMN/spd-20170119172446-b.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/Yhww4GL/1782156-652469841482617-1284885317-n.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/55kFKcm/70392922-2373452012915190-5323221151432835072-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความว่า  ครั้นกุมารนั้นเจริญวัยขึ้น  ก็ได้ตาปะขาวซึ่งอยู่ ณ ป่าเชิงเขาสั่งสอนวิชาการ  ถ่ายทอดคาถาอาคมให้  จนสามารถผูกหญ้าผ้าพยนต์มนต์จังงัง  มีกำลังวังชากล้าแข็งตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่ชนที่เคารพเลื่อมใส  พระยากงทราบกิติศัพท์จึงยกทัพไปปราบปราม  ได้รบกันอย่างดุเดือดจนถึงขั้นชนช้าง  และพระยากงก็ถูกฆ่าตายในที่รบ  พระกุมารนั้นยกพลเข้ายึดเมืองแล้วขึ้นครองบัลลังก์  เข้าหาพระมเหสี  พระนางเห็นแผลเป็นที่พระพักตร์  จึงซักไซ้ไต่ถามจนทราบความว่า  กุมารนั้นคือโอรสของพระนาง  เมื่อทราบความจริงว่าตนได้ฆ่าพระราชบิดาของตนเสียแล้ว  ก็โกรธยายหอมที่ไม่บอกเรื่องให้ทราบมาก่อน  จึงไปฆ่ายายหอมตายด้วยกำลังแห่งโทสะ  ครั้นภายหลังสำนึกบาปได้  จึงให้สร้างพระประโทนเจดีย์เป็นที่รำลึกถึงพระคุณของยายหอม  และสร้างพระประธมเจดีย์ถวายพระยากงราชบิดาพร้อมพระราชมารดาของพระองค์  และนี่คือที่มา  หรือ  ตำนานเรื่องพระยากงพระยาพาน

(https://i.ibb.co/8PgFJqv/Ci-ACw-Fo-VAAA1-Ne9.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/jVwCSFG/91be627662133cab78ebaca09a75fc17.jpg) (https://imgbb.com/)
พระประโทณเจดีย์ และ พระประธมเจดีย์ : นครปฐม

“ท่านผู้เฒ่าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้
หวังจะให้สูงเสริมเฉลิมฉลอง
ด้วยเลื่อมใสในจิตคิดประคอง
ให้เรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม

ก็จนใจได้แต่ทำคำหนังสือ
ช่วยเชิดชื่อท่านผู้สร้างไว้ทั้งสาม
ให้ลือชาปรากฏได้งดงาม
พอเป็นความชอบบ้างในทางบุญ

ถ้าขัดเคืองเบื้องหน้าขออานิสงส์
สิ่งนี้จงจานเจือช่วยเกื้อหนุน
ทั้งแก้วเนตรเชษฐาให้การุญ
อย่าเคืองขุนข้องขัดถึงตัดรอน

แล้วลาออกนอกโบสถ์ขึ้นโขดหิน
ตรวจวารินรดทำคำอักษร
ส่งส่วนบุญสุนทราสถาพร
ถึงบิดรมารดาครูอาจารย์

ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ
ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร
เสด็จถึงซึ่งบุรีนีรพาน
เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน

สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก
น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน
ขอพบเห็นเป็นข้าฝ่ายุคล
พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูน

ถึงล่วงแล้วแก้วเกิดกับบุญฤทธิ์
ยังช่วยปิดปกอยู่ไม่รู้สูญ
สิ้นแผ่นดินทินกรจรจำรูญ
ให้เพิ่มพูนพอสว่างหนทางเดิน

ดังจินดาห้าดวงช่วงทวีป
ได้ชูชีพช่วยทุกข์เมื่อฉุกเฉิน
เป็นทำนุอุปถัมภ์ไม่ก้ำเกิน
จงเจริญเรียงวงศ์ทรงสุธา

อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช
บำรุงศาสนาสงฆ์ทรงสิกขา
จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา
ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง

ษิโณทกตกดินพอสิ้นแสง
ตะวันแดงดูฟ้าเป็นผ้าเหลือง
ศิโรราบกราบลากลับมาเมือง
เป็นสิ้นเรื่องที่ไปชมประธมเอยฯ

(https://i.ibb.co/bvSRK9b/64726ab017a131768ea9ec6debbfdebd.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านเล่าเรื่องในตำนานพระยากงพระยาพานตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าเจ้าถิ่นฝากไว้คนรุ่นหลังได้รับรู้กันไว้  แล้วก็ลาออกจากโบสถ์ขึ้นบนโขดหิน กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่บิดรมารดา  ครูอาจารย์  และบรรดาญาติมิตร   ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เจ้าฟ้าน้อย  กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)  และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  หลั่งน้ำเสร็จสิ้นพร้อมกับอาทิตย์อัสดง   “ตะวันแดงดูฟ้าเป็นผ้าเหลือง”  ท่านก็กราบลาองค์พระประธมเจดีย์กลับบางกอกทันที  เป็นอันจบนิราศพระประธมลงด้วยประการฉะนี้.

          พรุ่งนี้พบกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, กุมภาพันธ์, 2563, 10:27:48 PM
(https://i.ibb.co/gg2FPGk/SP1.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๖ -

"เณรหนูกลั่นวันทามหาเถร
ซึ่งอวยพรตทศธรรมเป็นสามเณร
พระคุณเท่าเขาพระเมรุไม่เอนเอียง

สอนให้ทราบบาปบุญที่คุณโทษ
ผลประโยชน์ยืดยาวไม่ก้าวเถียง
มาหมายมั่นพันผูกเป็นลูกเลี้ยง
ก็รักเพียงลูกยาให้ถาวร

เป็นสัจธรรม์กรรุณาสานุศิษย์
สุจริตรักร่ำเฝ้าพร่ำสอน
ได้เรียนหนังสือถือศีลพระชินวร
ให้ถาพรพูลสวัสดิ์กำจัดภัย

ขอพระคุณบุญญาปรีชาฉลาด
ที่เปรื่องปราชญ์เปรียบมหาชลาไหล
จะคิดกลอนผ่อนปรนช่วยดลใจ
ให้พริ้งไพเราะรสพจมาน.....”


          อภิปราย ขายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.msg23958#msg23958)  ของสุนทรภู่มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบบริบูรณ์ไปแล้ว  เรื่องราวในชีวิตและงานของสุนทรภู่ก็น่าจะจบลงไปด้วย  แต่ผมกลับเห็นว่ายังจบไม่ลง  เพราะมีเรื่องค้างคาใจอยู่เกี่ยวกับผลงานกลอนของกวีเอกของโลกท่านนี้  นั่นคือ  นิราศพระแท่นดงรัง....

(https://i.ibb.co/Br1hbv5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระแท่นดงรัง : วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร กาญจนบุรี

          กลอนข้างบนนี้เป็นบทเริ่มต้นของกลอนนิราศพระแท่นดงรังฉบับเณรหนูกลั่น  ความต่างจากพระแท่นดงรังอีกสำนวนหนึ่ง  ซึ่งเดิมเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งไว้ว่า

“นิราศรักหักใจอาลัยหวน
ไปพระแท่นดงรังตั้งแต่ครวญ
มิได้ชวนขวัญใจไปด้วยกัน

ด้วยอยู่ต่างห่างบ้านนานนานปะ
เหมือนเลยละลืมนุชสุดกระสัน
แต่น้ำจิตคิดถึงทุกคืนวัน
จะจากันทั้งรักพะวักพะวน

ในปีวอกนักษัตรอัฐศก
ชตาตกต้องไปถึงไพรสณฑ์
ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน
พี่ทุกข์ทนถอนใจครรไลจร.....”

(https://i.ibb.co/qgKJ79d/image.jpg) (https://imgbb.com/)
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค)

           “ท่านจันทร์” พ.ณ. ประมวญมารค  ทรงเชื่อเช่นเดียวกันกับอาจารย์ธนิต  อยู่โพธิ์  ว่ากลอนนิราศพระแท่นดงรัง  ที่ขึ้นต้นว่า  “นิราศรักหักใจอาลัยหวน” นี้  เป็นสำนวนที่  นายมี  หรือ  เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตรสร)  ศิษย์เอกของสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง  แต่เดิมนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงฯ  ทรงเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศนี้  เพราะยามนั้นยังมิได้ทอดพระเนตรกลอนรำพันพิลาป  แต่ก็ทรงตั้งข้อสังเกตกระบวนกลอนไว้ว่า  “เรื่องนิราศที่แต่งก็ว่าอย่างดาด ๆ  ดูไม่มีอกมีใจ”  ต่อมามีหลักฐานใหม่เชื่อได้ว่านิราศพระแท่นดงรังสำนวนดังกล่าวนั้น  เสมียนมีเป็นผู้แต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙  และยังมีนิราศที่ว่าด้วยพระแท่นดงรังอีกสำนวนหนึ่ง  แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖  ก่อนนิราศพระแท่นดงรังนั้น ๓ ปี  นิราศเรื่องนี้ก็ควรชื่อนิราศพระแท่นดงรังเช่นกัน   แต่   “ท่านจันทร์”  ให้ชื่อมิให้ซ้ำกับชื่อเดิมว่า  “นิราศไปพระแท่นเณรกลั่นคิด”

          เณรหนูกลั่นหรือเณรกลั่นในชื่อที่ว่าเป็นผู้แต่งนิราศเรื่องนี้  เป็นบุตรบุญธรรมหรือลูกเลี้ยงของพระภิกษุภู่  สมัยที่ท่านอยู่ ณ วัดเลียบ (ราชบูรณะ)  มีอายุน้อยกว่าหนูพัด และมากกว่าหนูตาบ  เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดมาก  สุนทรภู่รักเหมือนกับเป็นบุตรแท้ ๆ ของท่านเลยทีเดียว  ตอนนั้นอายุประมาณ  ๑๕-๑๖  ได้บรรพชาเป็นสามเณร  และเดินทางติดตามพระภิกษุภู่ซึ่งเป็นหลวงพ่อ  ไปไหว้พระแท่นดงรัง  กาญจนบุรี  โดยออกเดินทางเมื่อวันอังคาร  เดือนสี่  ปี มะเส็ง  พ.ศ. ๒๓๗๖  เริ่มต้นทางที่ มหานาค ผ่านเชิงเลน คลองโอ่งอ่าง ออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดเลียบ  เข้าคลองบางหลวงไปโดยลำดับ

          นิราศพระแท่นดงรัง  ฉบับเณรหนูกลั่นคิดแต่ง  พระภู่ช่วยขัดเกลานี้  ยังไม่เคยพิมพ์เผยแผ่มาก่อน  “ท่านจันทร์”  ทรงนำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือ  “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง)”  ผมเห็นว่าควรจะได้นำมาเผยแผ่ให้ชาวเว็บฯ  ได้อ่านกันบ้าง  ให้เป็นความรู้ใหม่ในประวัติชีวิตและงานของสุนทรภู่

          กลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้  มีหลายท่านไม่เชื่อว่า  เณรหนูกลั่นแต่งเองทั้งหมด  เพราะในเวลานั้น  เณรหนูกลั่นยังอยู่ในวันรุ่นหนุ่มคะนอง  ไม่น่าที่จะแต่งกลอนที่มีสำนวนลีลาเทียบเท่าผู้ใหญ่อย่างสุนทรภู่ได้  ท่านสุนทรภู่คงจะแต่งเองแล้วใช้ชื่อเณรหนูกลั่น  เช่นเดียวกับที่แต่งกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าโดยใช้ชื่อเณรหนูพัดนั่นเอง

          ผมค่อนข้างจะเชื่อตามความเห็นของ  “ท่านจันทร์”  ว่า  กลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้  สามเณรกลั่นแต่งขึ้นมาเอง  แล้วให้หลวงพ่อภู่ตรวจชำระแก้ไข้ถ้อยคำสำนวน  ส่วนลีลากลอนปล่อยให้เป็นไปตามความคิดจินตนาการของเณรหนูกลั่น  จะเป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่อย่างไร  ขอให้เพื่อน ๆ ลองอ่านและช่วยวิเคราะห์กันดูเถิด  ผมจะนำนิราศสำนวนนี้มาลงให้อ่านทั้งหมด  เพื่อให้ศึกษาประวัติ-ภูมิศาสตร์  วิถีชีวิตชุมชนตามทางเดินไปพระแท่นดงรังในสมัยปี พ.ศ.๒๓๗๖ นะครับ

          กลอนท่อนแรกข้างบนนี้  เณรหนูกลั่นแต่งไหว้ครูตามแบบฉบับของกลอนนิราศ  คำว่ามหาเถร  ฟังเผิน ๆ น่าจะหมายถึงพระอุปัชฌาย์เจ้าอาวาสวัดเลียบ  แต่ครั้นอ่านต่อไปกลับเห็นว่าเป็นพระภิกษุภู่  หลวงพ่อของเณรหนูกลั่นนั่นเอง  ท่านใช้คำว่า  “อวยพรตทศธรรม”  แทนคำว่า  “บรรพชา”  ก็เป็นคำที่แปลกดี  คำอย่างนี้เด็กหนุ่มวัย ๑๖ ปี  ไม่น่าจะคิดใช้ได้  นอกจากผู้ใหญ่ที่คงแก่เรียนเท่านั้น

          และคำว่า  “เป็นสัจธรรม์กรรุณาสานุศิษย์”  ก็ควรเป็นศัพท์ใหม่ที่สุนทรภู่คิดขึ้น  ไม่ใช่  เณรหนูกลั่นคิดขึ้นมาใช้แน่นอน  คำตรงนี้ให้อ่านออกเสียงว่า  “เป็นสัดจะธันกันรุณาสานุสิด”  ให้มีเสียงสัมผัสในตามแบบฉบับของท่านสุนทรภู่

          การเดินทางไปไหว้พระแท่นดงรังฉบับเณรหนูกลั่นคิดนี้  เดินทางตอนต้นในทางสายเดียวกับนิราศพระแท่นดงรังของนายเสมียนมี  จะผ่านชื่อบ้านตำบลอะไรบ้าง  เชิญติดตามอ่านกันต่อไปตั้งแต่ต้นจนจบ ณ วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปนะครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, กุมภาพันธ์, 2563, 10:27:03 PM
(https://i.ibb.co/BwdLqqZ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร : กาญจนบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๗ -

“จะกล่าวความตามที่ได้ไปพระแท่น
ถึงดงแดนด้วยศรัทธานั้นกล้าหาญ
ในเดือนสี่ปีมะเส็งเพ็งวันอังคาร
มัสการพุทธรัตน์ปัฏิมา

ทั้งพรหมมินทร์อินทร์จันทร์ทุกชั้นช่อง
ช่วยคุ้มครองป้องกันให้หรรษา
พอยามสองล่องเลื่อนค่อยเคลื่อนคลา
ออกมหานาคสนานสำราญใจ

พระจันทร์ตรงทรงกลดขึ้นหมดเมฆ
ดูวิเวกเวหาพฤกษาไสว
สงัดเงียบเยียบเย็นไม่เห็นใคร
ล่องไปในแนวคลองเมื่อสองยามฯ

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้เริ่มปรารภเรื่องนิราศพระแท่นดงรังที่มี ๒ สำนวน  คือสำนวนหนึ่งมีปัญหาอยู่ว่า  สุนทรภู่แต่งเองทั้งหมดแต่ใช้นามเณรหนูกลั่น  เช่นเดียวกับที่แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้าในนามของเณรหนูพัดหรือไม่  นิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้เณรหนูกลั่นแต่ง  แล้วให้สุนทรภู่ตรวจทานแก้ไขถ้อยคำและฉันทลักษณ์ของกลอน  ส่วนอีกสำนวนหนึ่งเป็นของนายมี หรือ เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) ศิษย์เอกสุนทรภู่แต่งเองทั้งหมด  สำนวนเณรหนูกลั่นแต่งก่อนสำนวนของนายมีเป็นเวลา ๓ ปี  วันนี้มาอ่านสำนวนเณรหนูกลั่นกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/pvbjKYM/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองมหานาค : วัดสระเกศ กรุงเทพ

          กลอนข้างบนนี้เป็นนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านว่าออกเดินทางเมื่อวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปี มะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๗๖)  จากคลองมหานาคเวลายามสองท้องฟ้าโปร่งใส  พระจันทร์เพ็ญเด่นดวงทรงกลดงดงาม  เป็นเวลาวิเวกสงัดเงียบวังเวง......

"ถึงเชิงเลนเห็นแต่เรือเกลือสล้าง
เรือโอ่งอ่างแอบจอดตลอดหลาม
ทุกพ่วงแพแลไม่เห็นไฟตาม
ถึงอารามวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น

เห็นถิ่นฐานบ้านช่องของคุณปู่
ที่เคยอยู่มาแต่หลังครั้งยังเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น
เมื่อปู่เป็นเจ้าคุณสุนทร์เสนา

ไม่มีพ่อก็ได้บุญของคุณปู่
ให้กินอยู่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา
ได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา
ทั้งคุณป้าคุ้มครองช่วยป้องกัน

ขอกุศลผลผลาให้ป้าปู่
ได้ไปสู่ทิพย์สถานพิมานสวรรค์
เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน
จนล่วงลับกัปกัลป์พุทธันดร

(https://i.ibb.co/Jt6q971/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร) : เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

          ออกจากมหานาคเข้าคลองโอ่งอ่าง  คูพระนคร  ถึงวัดเชิงเลน (บพิตรภิมุข)  เห็นเรือเกลือเรือบรรทุกโอ่อ่างขายจอดเรียงรายเป็นหลายลำ  ทุกเรือแพไม่มีแสงไฟแสดงว่าทุกคนนอนหลับกันหมดแล้ว  เรือลอยลำเลยผ่านวัดเลียบในรู้สึกช่างเยียบเย็น  เห็นบ้านคุณปู่ที่เคยอยู่มาแต่เล็กแต่น้อยยิ่งละห้อยจิต  คิดถึงคุณปู่คุณป้าที่เลี้ยงดูมาก่อนที่ท่านจะสิ้นบุญ  แล้วจึงได้มาเป็นลูกบุญธรรมของพระภิกษุภู่วัดเลียบ

          นัยว่าเณรกลั่นผู้นี้เป็นลูกเกิดในสกุลผู้ดี  บิดาเป็นบุตรพระยาสุรเสนา (ฉิม)  ไม่ปรากฏว่าบิดาเป็นคุณหลวงคุณพระอะไรหรือไม่  ดูเหมือนว่าบิดามารดาสิ้นชีวิตไปแต่ที่ท่านยังเด็กน้อย ๆ  คุณปู่และคุณป้าน้อย (สุหรานากง) เลี้ยงดูต่อมา  เมื่อสิ้นคุณปู่สุนทรเสนา  หรือ  สุรเสนา  แล้วคุณย่าได้ถวายให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระภิกษุภู่สำนักวัดเลียบ  จึงได้เรียนหนังสือและแต่งกลอนจากสุนทรภู่  จนมีความรู้ความสามารถแต่งกลอนได้ดีเท่าเทียมหลวงพ่ออาจารย์  อ่านบทครวญถึงความอาภัพอัประภาคของท่านเณรในกลอนต่อจากนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าท่านครวญได้ไม่แพ้สุนทรภู่ที่เป็นทั้งบิดาและอาจารย์ของท่านเลย......

“โอ้สิ้นบุญคุณปู่อยู่แต่ย่า
ได้พึ่งพาภิญโญสโมสร
มาปลดเปลื้องเคืองขัดถึงตัดรอน
โอ้ชาติก่อนกรรมสร้างไว้อย่างไร

ทั้งพ่อแม่แลลับอัประภาค
คิดถึงยากอย่างจะพาน้ำตาไหล
เป็นกำพร้าว้าเหว่ร่อนเร่ไป
นี่หากได้พึ่งพระค่อยสบาย

ได้ถือธรรมสามเณรกินเพลเช้า
ศีลพระเจ้ามิได้ช้ำสล่ำสลาย
แบ่งกุศลผลบุญแทนคุณยาย
ได้ดื่มสายเลือดอกช่วยปกครอง

ยังยากจนทนทุเรศสังเวชจิต
เหลือจะคิดแทนคุณการุณสนอง
โอ้ชาตินี้วิบัติขัดเงินทอง
มีแต่ต้องย่อยยับอัประมาณ

ฝ่ายคุณย่าอาพี่ซึ่งมียศ
จงปรากฏตราบกะลาปาวสาน
ถึงตัดรอนค่อนว่าด่าประจาน
พระคุณท่านมากกว่าแผ่นฟ้าดิน

ไม่โกรธตอบขอบคุณส่วนบุญบวช
ได้ตรึกกรวดน้ำคิดเป็นนิจสิน
ให้เป็นสุขทุกทิวาอย่าราคิน
ฉันนี้สิ้นวาสนาขอลาไป

(https://i.ibb.co/ZdD8Bgw/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางหลวง : เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

พอนาวามาถึงช่องคลองบางหลวง
ครรไลล่วงลอยลำน้ำตาไหล
ดูเหย้าเรือนเดือนหงายสบายใจ
ล้วนต้นไม้สวนสล้างสองข้างคลองฯ

ถึงวัดหงส์เห็นแต่หงส์เสาธงปัก
หงส์สลักก่อนเก่าดูเศร้าหมอง
เหมือนเราเผ่าพงศ์เพียงหงส์ทอง
ตัวมาต้องเป็นการะอาอาย

โอ้เสียชาติวาสนาเอ๋ยอาภัพ
สุดจะนับว่านเครือในเชื้อสาย
ข้างหน้าเห็นเป็นมังกุฉลุลาย
ส่วนข้างท้ายสิเหมือนดังว่ามังกร

จนล่วงทางบางยี่เรือฝั่งเหนือใต้
ล้วนไม้ไล่ซ้อนซับสลับสลอน
เห็นคุ่มคุ่มคลุมเครือริมเรือจร
หอมเกสรเสาวคนธ์ที่หล่นโรย....”

(https://i.ibb.co/W3Mprpv/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) : บางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ

          เรือถูกแจวลอยลำออกจากคลองคูพระนครสู่แม่เจ้าพระยาตรงวัดเลียบ  ทวนน้ำขึ้นเหนือเล็กน้อยแล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่  หรือคลองบางหลวง ถึงวัดหงส์เห็นรูปหงส์บนเสาเศร้าหมอง (เพราะความเก่าแก่)  ก็หวนนึกถึงตนเองว่าเกิดในวงศ์หงส์ทอง  แต่ต้องตกอับกลับกลายเป็นกา (ยามบุญขึ้นกากลายเป็นหงส์  ยามบุญลงหงส์กลับกลายเป็นกา  อะไรทำนองนั้น)  ท่านคิดน้อยอกน้อยใจในวาสนาตัวเองจนเรือลอยเรื่อยมาถึงบางยี่เรือ  แลสองฝั่งเหนือใต้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ต้นนานาสลับสลอน  หอมกลิ่นเกสรดอกไม้ที่หล่นโรยโปรยปรายตามสายลมแล้วชื่นใจ.......

          วันนี้หยุดพักไว้ตรงบางยี่เรือนี่ก่อนก็แล้วกัน พรุ่งนี้มาอ่านต่อไปก็แล้วกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, กุมภาพันธ์, 2563, 10:58:26 PM
(https://i.ibb.co/b6FVrkZ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองด่าน (หรือคลองสนามชัย)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๘ -

“ประเดี๋ยวเดียวเลี้ยวล่องเข้าคลองด่าน
เห็นแต่บ้านเรือกสวนให้หวนโหย
ระรื่นรินกลิ่นโศกมาโบกโบย
บ้างร่วงโรยริมชลาที่อาราม

เห็นวัดหมูรู้ว่าคุณป้าสร้าง
ครั้นจะอ้างว่าเป็นเชื้อก็เหลือขาม
ขอภิญโญโมทนาสง่างาม
ให้อารามเรืองรื่นอยู่ยืนยาว

โอ้ไม่ถึงครึ่งชาติสิ้นญาติ
อโหสิสู้บวชจนหนวดขาว
โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างพร่างพร่างพราว
ดูดวงดาวเดือนคล้อยละห้อยใจ.....”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนของเณรหนูกลั่นมาให้ทุกท่านอ่านกันถึงบางยี่เรือแล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/ccyd0jq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์) : เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน  เรือแจวผ่านบางยี่เรือเหนือใต้มาถึงวัดหมู  คือวัดอัปสรสวรรค์  ท่านรู้ชัดว่าเป็นวัดที่คุณป้าท่านสร้างขึ้น  คุณป้าของท่านคือ  เจ้าจอมน้อย  ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)  เป็นบุตรีของเจ้าพระยาพลเทพ  มีฉายาว่า  “สุหรานากง”  เพื่อให้ผิดจากเจ้าจอมน้อยอีกสองคน (ซึ่งชื่อน้อยเหมือนกัน)  เจ้าพระพลเทพ  บิดาของเจ้าจอมน้อยสุหรานากง  เห็นทีจะเป็นพี่ชายของพระยาสุนทรเสนา  คุณปู่ของเณรหนูกลั่น  บิดาเณรหนูกลั่นจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับเจ้าจอมน้อยสุหรานากง  ที่เณรหนูกลั่นเรียกว่าคุณป้า  นางได้เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (ร. ๓)  และมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดหมูซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ทรุดโทรมให้สวยงามขึ้น  สำหรับเจ้าจอมน้อยนี้  ก่อนถวายตัวเป็นเจ้าจอม  ท่านเป็นนางละครในราชสำนัก  และเล่นเป็นตัวสุหรานากง (ในเรื่องอิเหนา) ได้ยอดเยี่ยมมาก  หลังจากบูรณปฏิสังขรณ์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระราชทานนามวัดหมู  หรือ  วัดจีนอู๋  ว่าวัดอัปสรสวรรค์  เพื่อเป็นเกียรติยศแก่เจ้าจอมน้อยสุหรานากง  และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง  กลอนนิราศมาถึงวัดหมูนี้  เณรหนูกลั่นใส่อารมณ์ขันลงไปว่า  “โอ้ไม่ถึงครึ่งชาติสิ้นญาติ (อ่านว่า ยาติ)   อโหสิสู้บวชจนหนวดขาว”  อ่านแล้วอดขำขันไม่ได้เลยครับ

(https://i.ibb.co/dctvQLb/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดจอมทอง (วัดราชโอรส) : เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

“ประมาณสามยามเงียบเชียบสงัด
มาถึงวัดจอมทองดูผ่องใส
มีเกาะขวางกลางชลาพฤกษาไทร
ยังจำได้พรั่งพร้อมวัดจอมทอง

คุณย่าพามาที่นี่ทั้งพี่สาว
เมื่อครั้งคราวมีงานการฉลอง
ทั้งคุณอามาดูงานในม่านทอง
ฉันพี่น้องได้มานั่งหลังคุณอา

ทั้งเจ้าครอกออกมาตามเสด็จด้วย
ได้พุ่งพวยผุดผาดพึ่งวาสนา
โอ้เคราะห์กรรมจำขาดญาติกา
เพราะศรัทธาถือศีลพระชินวร

ทุกวันนี้มีแต่ครูเอ็นดูเลี้ยง
ได้พึ่งเพียงพุ่มโพธิ์สโมสร
พระคุณใครไม่เท่าคุณพระสุนทร
เหมือนบิดรโดยจริงทุกสิ่งอัน

กับตาบน้องสองทั้งพี่เณรพัด
ได้ตั้งสัจสิ้นรังเกียจไม่เดียดฉันท์
ทุกเช้าเย็นเป็นกำพร้าเห็นหน้ากัน
เหมือนร่วมครรภ์มารดาด้วยปรานีฯ”

(https://i.ibb.co/7tWrZTx/87.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดจอมทอง (วัดราชโอรส) : เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

          เรือเลยมาถึงวัดจอมทอง (ราชโอรสาราม)  เณรหนูกลั่นก็หวนรำลึกถึงยามที่เป็นเด็ก  มีงานฉลองวัดนี้  คุณย่าได้พาท่านกับพี่สาวมาร่วมงานฉลองด้วย  ก็มีหน้ามีตาอยู่ในวงขุนนางผู้ใหญ่กับเขาด้วย  แต่แล้วก็เหมือน  “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด”  ให้ตกต่ำลงมาอยู่ในฐานะปัจจุบัน  ยังดีที่ได้  “ครู”  คือสุนทรภู่รับเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม  พี่เณรหนูพัด  และน้องตาบก็มิได้รังเกียจ  รักใคร่กลมเกลียวกันดั่งพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน  (ทั้งสามก็เป็นกำพร้าเช่นเดียวกัน)

(https://i.ibb.co/wyK7XN5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ตลาดน้ำวัดไทร : เขตจอมทอง กรุงเทพ ฯ

“ถึงวัดไทรในตำบลน้ำชลตื้น
ดูครึมครื้นมืดมัวน่ากลัวผี
ชื่อบางบอนเห็นบอนสลอนมี
เหมือนคนที่สำกากมันปากบอน

ไปยุยงลงโทษให้โกรธขึ้ง
จนได้ถึงสุขุมเหมือนสุมขอน
คนที่ซื่อถือสัจต้องตัดรอน
เพราะอีบอนบวมฉุมันยุแยงฯ

ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อบ้าน
บิดาท่านโปรดเกล้าเล่าแถลง
ว่าพญาพาลีซึ่งมีแรง
เข้ารบแผลงฤทธิ์ต่อด้วยทรพี

ตัดศีรษะกระบือแล้วถือขว้าง
ปลิวมาทางเวหาพนาศรี
มาตกลงตรงย่านที่บ้านนี้
จึงเรียกศีรษะกระบือเป็นชื่อนาม”

(https://i.ibb.co/10WHKr3/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดศีรษะกระบือ : เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

          จากวัดจอมทองแล้วก็เลยมาถึงวัดไทร  และบางบอน  ที่บางบอนนี้เณรหนูกลั่นใช้ศัพท์ที่เราไม่เคยได้ยินว่า  “สำกาก”  คำนี้หมายถึง  กักขฬะ  สามหาว  หยาบคาย  อะไรทำนองนั้น  แล้วท่านก็ใส่อารมณ์ขันลงไปอีกว่า  “เพราะอีบอนบวมฉุมันยุแยง”   มองเห็นภาพเลยว่า  นางปากบอนคนตัวอ้วนตุ้ยนุ้ยนั่นแหละมันเที่ยวนินทายุแยงตะแคงรั่วทั่วไป  แล้วก็ผ่านถึงวัดศีรษะกระบือ  พระภู่ท่านเล่าที่มาของชื่อศีรษะกระบือให้เณรหนูกลั่นจดไว้เป็นกลอนดังความข้างต้นนี้  ท่านเขียนบอกไว้ชัดเจนดีแล้ว  จึงไม่จำเป็นต้องอภิปรายขยายความใด ๆ

          วันนี้มาหยุดพักตรงวัดศีรษะกระบือก็แล้วกันนะ  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมือสุโขทัย
๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, กุมภาพันธ์, 2563, 10:55:20 PM
(https://i.ibb.co/4YBMzM7/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองโคกขาม : สมุทรสาคร

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๘๙ -

แสมดำตำบลที่คนอยู่
สังเกตดูฟืนตองเขากองหลาม
ดูรุงรังฝั่งน้ำล้วนรำราม
ถึงโคกขามบ้านขอมล้วนลอมฟืน

พอฟ้าขาวดาวเดือนจะเลื่อนลับ
แสงทองจับแจ่มฟ้าค่อยฝ่าฝืน
เสียงลิงค่างวางเวงครึกเครงครื้น
ปักษาตื่นต่างเรียกกันเพรียกไพร

สุริยงทรงรถขึ้นสดแสง
กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาไสว
ถึงชะวากปากชลามหาชัย
เห็นป้อมใหญ่อยู่ข้างขวาสง่างาม

มีปีกป้องช่องปืนที่ยืนรบ
ที่หลีกหลบแล่นลากลงขวากหนาม
ดูเผ่นผาดอาจองในสงคราม
ดูแล้วข้ามตรงมาในสาคร...”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง  สุนทรภู่ตรวจชำระ  มาวางให้อ่านกันถึงวัดศีรษะกระบือ  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/njRnWYv/image.jpg) (https://imgbb.com/)
แม่น้ำท่าจีนบรรจบกับคลองมหาชัย ก่อนไหลลงอ่าวมหาชัย : สมุทรสาคร

          กลอนข้างบนนี้ท่านผ่านเลยแสมดำ  โคกขาม  ฟ้าสว่างได้อรุณที่โคกขามนี่เอง  ครั้น  “สุริยงทรงรถขึ้นสดแสง  กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาไสว...”  ท่านก็ออกสู่ชะวากปากน้ำท่าจีนที่ชื่อว่า  มหาชัย  เห็นป้อมวิเชียรโชฎกตั้งตระหง่านสง่างามมาก  ป้อมวิเชียรโชฎกนี้  นัยว่าสร้างมาแต่คร้งกรุงศรีอยุธยา  ในราว ๆ ปี พ.ศ.๒๒๖๔  แล้วมาสร้างเสริมให้แข็งแรงสวยงามกันอีกทีในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๗๑)  ท่านไม่มีเวลาชื่นชมมากนัก  เรือก็ถูกแจวลอยทวนสายน้ำเช้าสู่ลำน้ำท่าจีน

“ลำพูรายชายตลิ่งล้วนลิงค่าง
บ้างเกาคางขู่ตะคอกบ้างหลอกหลอน
บ้างโลดไล่ไขว่คว้าตามวานร
ที่ลูกอ่อนอุ้มแอบแนบอุรา

โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งลูก
ดูพันผูกความรักนั้นหนักหนา
เราเป็นคนผลกรรมได้ทำมา
ญาติกาก็มิได้อาลัยแลฯ

ถึงท่าจีนถิ่นฐานโรงร้านมาก
ที่เขาตากไว้ล้วนแต่อวนแห
ไม่น่าดูสู้เบือนทำเชือนแช
ชมแสมไม้ปะโลงเหล่าโกงกาง

(https://i.ibb.co/YfHH593/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ต้นตะบูน

ตะบูนต้นผลลูกดังผูกห้อย
ระย้าย้อยหยิบสนัดไม่ขัดขวาง
หนูตาบน้อยคอยรับลำดับวาง
ไว้เล่นต่างตุ๊กตาประสาสบาย

เห็นตะบูนฉุนเศร้าให้เปล่าจิต
แม้นมีมิตรเหมือนดั่งท่านทั้งหลาย
จะเก็บไว้ไปฝากให้มากมาย
จะได้เล่นเช่นกระทายสบายใจ

นี่ไม่มีพี่น้องพวกพ้องหญิง
เล่นแล้วทิ้งเสียในลำแม่น้ำไหล
ลูกโกงกางข้างชลาระย้าไป
ทั้งปรงไข่ขึ้นสล้างริมทางจรฯ

(https://i.ibb.co/9pffXvK/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดใหญ่บ้านบ่อ : สมุทรสาคร

ถึงบ้านบ่อกอจากสองฟากฝั่ง
ยอดสะพรั่งเพรียวแซมแหลมสลอน
มีดอกงอกออกกับกออรชร
ทั้งลูกอ่อนแซกเคียงขึ้นเรียงราย

พอเห็นเขาเจ้าของร้องบิณฑบาต
เขาอนุญาตยกให้เหมือนใจหมาย
พี่เณรพัดตัดได้ลูกหลายทะลาย
ผ่าถวายพระนั้นเต็มขันโต

ท่านไม่ฉันครั้นเรากินชิ้นลูกจาก
อร่อยมากมีรสร่ำหมดโถ
ท่านบิดรนอนบ่นว่าคนโซ
สะอื้นโอ้อายใจกระไรเลย

เคยกล้ำกลืนชื่นจิตชิดแช่อิ่ม
มาเชยชิมลูกจากแล้วปากเอ๋ย
เพราะสิ้นสุดอุดหนุนที่คุ้นเคย
กระไรเลยแลเหลียวให้เปลี่ยวทรวงฯ”

(https://i.ibb.co/1716s71/unnamed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ท่านเห็นลิงอุ้มลูกอ่อนแอบแนบอก  ก็ครวญถึงความเป็นกำพร้าของตนเองอย่างน่าสงสาร  จากนั้นได้พรรณนาธรรมชาติวิถีชีวิตของคนและสัตว์  ป่าไม้สองฟากฝั่งลำน้ำท่าจีน  อ่านแล้วเพลิดเพลินเจริญใจยิ่งนัก  จึงไม่มีคำอภิปรายขยายความมาสอดแทรกอารมณ์อันสุนทรีของท่านเณรหนูกลั่น  ที่ทุกท่านกำลังอ่านกันอย่าเพลิดเพลิน

(https://i.ibb.co/Wz1npmt/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดนาขวาง : สมุทรสาคร

“ถึงนาขวางข้างซ้ายนายภาษี
ตั้งอยู่ที่ปากคลองเก็บของหลวง
เรียกภาษีที่เรือเกลือทั้งปวง
บ้างทักท้วงเถียงกันสนั่นดัง

แต่จีนเถ้าเจ้าภาษีมีเมียสาว
ไว้เล็บยาวเหมือนอย่างครุฑนั่งจุดหลัง
เหมือนจะรู้อยู่ว่าเขาเป็นชาววัง
รู้จักครั้งเข้าไปอยู่เมื่อปู่ตาย

แต่แกล้งเมินเพลินดูฝูงปูเปี้ยว
บ้างแดงเขียวขาวฝาดประหลาดหลาย
บ้างเลื่อมเหลืองเรืองรองกระดองลาย
ก้ามตะกายกินเลนน่าเอ็นดู

แต่หากว่าน่ากลัวตัวนีดนีด
ก้ามมันดีดดังเปาะเสนาะหู
ล้วนปรงปรกรกเลี้ยวรอยเปี้ยวปู
กับเหี้ยอยู่ที่ในโพรงรากโกงกาง

เห็นปลาตีนกินโคลนตาโปนโป่ง
ครีบกระโดงพลิ้วพลิกกระดิกหาง
บ้างกัดกันผันผยองทำพองคาง
ทั้งลิงค่างคอยเที่ยวล้วงเปี้ยวปูฯ”

          ถึงนาขวาง  ท่านว่าทางฝั่งซ้ายมือมีด่าน  “จังกอบ”  เก็บภาษีอากรจากประชาชนเข้าพระคลังหลวง  ตั้งอยู่ตรงปากคลอง  นายด่านภาษีนั้นเป็น  “จีนเถ้า”  คือคนไทยเชื้อสายจีนมีอายุค่อนข้าง  “เถ้า=เฒ่า”(ชรา) แล้ว  แต่มีเมียสาว  เอาเล็บไว้ยาวราวกะเล็บครุฑ  ท่านจำได้ว่า  นายภาษีคนนี้เคยเข้าไปอยู่ที่บ้านคุณปู่ (พระยาสุนทรเสนา)  เห็นแล้วท่านก็เมินทำเป็นไม่รู้จัก  หันไปดูปูเปี้ยวฝูงปลาตีน  ชมนกชมไม้ได้ตามเรื่อง

          วันนี้ให้อ่านมาถึงด่านภาษีแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะ  ถ้าเน็ตไม่ล่มแต่เช้าเหมือนวันก่อนนี้  ก็ได้พบกันแต่เช้าเหมือนวันนี้แน่นอนครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, กุมภาพันธ์, 2563, 08:49:49 AM
(https://i.ibb.co/ggft6fV/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดกาหลง : สมุทรสาคร

- ชีวิตและงานสุนทภู่ ๙๐ -

“ถึงย่านซื่อชื่อว่าย่านกาหลง
เห็นกาลงเรียบฝั่งอยู่ทั้งคู่
แล้วออกข่าวอ่าวอ้อแก้ก๋อกู
จะบอกผู้ใดเล่าไม่เข้าใจ

เราไม่มีพี่น้องพวกพ้องดอก
กาจะบอกข่าวดีฉันที่ไหน
โอ้เปลี่ยวกายอายกาก้มหน้าไป
จนเข้าในแนวคลองสามสิบสองคด

กับตาบน้อยคอยนับหนึ่งสองสาม
คุณพ่อถามกลับเลื่อนเปื้อนไปหมด
มันโอบอ้อมค้อมเคี้ยวดูเลี้ยวลด
เห็นคุ้งคดคิดไปเหมือนใจโกง

แต่ปากคำทำซื่อเหมือนถือศิล
ใจมันกินเลือดเล่ห์ตะเข้ตะโขง
สองฟากฝ่ายซ้ายขวาป่าปะโลง
มีเรือนโรงรอนฟื้นแต่พื้นมอญ

ลำพูรายซ้ายขวาระย้าย้อย
มีดอกห้อยบานแย้มแซมเกสร
บ้างออกลูกสุกงอมหอมขจร
เกสรร่อนร่วงลงตรงนาวา

มีนกบินกินปูได้ดูเล่น
นกกระเต็นขวางแขวกเที่ยวแถกถลา
นกกามกวมต๋วมลงในคงคา
คาบได้ปลาปรบปีกบินหลีกไปฯ.....”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูพัดที่สุนทรภู่ตรวจชำระ  มีคำของสุนทรภู่สอดแทรกอยู่บางวรรคบางตอน  การเดินทางตั้งแต่คลองบางหลวงถึงแม่กลอง ก็ตามแนวทางเดินที่สุนทรภู่ไปเมืองเพชร  บางบ้านบางวัด  บางตำบล  เณรหนูกลั่นละไว้ไม่กล่าวถึง  บางบ้านบางวัดที่สุนทรภู่มิได้กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชร  เณรหนูกลั่นก็นำมาใส่ไว้ในนิราศนี้  เมื่อวันวานทุกท่านก็อ่านมาถึงนาขวางที่ตั้งด่านเก็บภาษีแล้ว  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

          กลอนข้างบนนี้ต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านเลยบ้านนาขวางมาถึงบ้านกาหลง  เลยมาถึงคลองสามสิบสองคด  ก็นับโค้งคดของคลองสองคนกับน้องหนูตาบ พอพระภู่ถามก็ตอบไม่ได้  เพราะมากเกินจนเลอะเลือนไป  กลอนชมธรรมชาติสองฟากฝั่งคลองของเณรหนูกลั่นแต่งได้ดีไม่แพ้หลวงพ่อสุนทรภู่ของท่านเลยนะ

(https://i.ibb.co/KGvmx5J/02.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองสุนัขหอน : สมุทรสาคร

"ถึงเขตแขวงแหล่งหลักสุนัขหอน
เรือสลอนคอยรอถือถ่อไสว
ทั้งพ่วงแพแซ่ซ้อนเจ๊กมอญไทย
บ้างมาไปปะกันเสียงครั่นครื้น

บ้างโดนดุนรุนรับดูกลับกลอก
บ้างเข้าออกอึดอัดต่างขัดขืน
หลีกเรือฝางวางเรือเกลือติดเรือฟืน
โกรธคนอื่นอื้ออึงขึ้นมึงกู

เขมรด่าว่ามะจุยไอ้ตุยนา
ลาวว่าปาสิแม่บแพ่สู
เจ๊กด่าว่ามีหนังติกังฟู
เสียงมอญขู่ตะคอกดอกคะมิ

ด้วยมากมายหลายอย่างมาทางนั้น
เรือน้ำมันหมากพลูกุ้งปูกะปิ
บ้างยัดเยียดเสียดแซกบ้างแตกลิ
บ้างกราบปริประทุนปรุทะลุทลาย

จนตกลึกนึกว่าชะคุณพระช่วย
ไม่เจ็บป่วยเปื้อนเหมือนเพื่อนทั้งหลาย
ถึงเขตสวนล้วนเหล่ามะพร้าวราย
บางแม่ยายพ่อตาตำรามีฯ

(https://i.ibb.co/3BTPGTQ/00.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองสุนัขหอน : สมุทรสาคร

          ตอนที่ดินทางถึงคลองสุนัขหอน  ท่านก็ให้ภาพว่า  มีเรือนานาชนิดทั้งพายทั้งแจวทั้งถ่อ  คนชาวเรือมีทั้งไทยมอญลาวจีนเขมร  กระทบกระทั่งด่าทอกันด้วยถ้อยคำภาษาแปลก ๆ  ที่อ่านแล้วก็หาคำแปลไม่ได้  ก็เป็นการแทรกอารมณ์ขันเข้าไว้ให้อ่านเล่นกันเท่านั้น  แต่ก็ได้เห็นภาพชุลมุนวุ่นวายของเรือพ่อค้าวานิชที่เดินทางในลำแม่น้ำท่าจีน  ตัดเข้าคลองหมาหอนทะลุไปลำแม่น้ำแม่กลองมีจำนวนมากทุกวัน  คลองหมาหอนนี้ในนิราศเมืองเพชรท่านสุนทรภู่ (เขียนทีหลังนิราศเรื่องนี้) ก็พรรณนาให้เห็นภาพชุลมุนสนุกไม่น้อยเลย  พ้นคลองสุนัขหอนก็ผ่านบ้านบางแม่ยาย บางพ่อตา  ที่อุดมไปด้วยสวนป่ามะพร้าว.....

"แล้วถึงบางนางสะใภ้ผู้ใหญ่เล่า
เป็นบ้านเก่าที่สังเกตพวกเศรษฐี
แต่หญ้าปกรกเรี้ยวประเดี๋ยวนี้
ยังเห็นมีแต่ทับทิมที่ริมคลอง

กับทั้งหัวถั่วพูมันหนูมันนก
เจ้าของยกตั้งรายเรียกขายของ
ได้ปราศรัยไถ่ถามตามทำนอง
ถึงแม่กลองดูเกลื่อนบ้านเรือนโรง

(https://i.ibb.co/bvt9Pt9/unnamed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

ทำปลาทูปูเค็มไว้เต็มตุ่ม
ดูควันกลุ้มกลิ่นฟุ้งเหมือนคลุ้งโขลง
ที่เรือหาปลากุ้งกระบุงโพง
ใส่อ่างโอ่งอลหม่านทุกบ้านเรือน

จนเรือออกนอกลำแม่น้ำกว้าง
วิเวกวางเวงใจใครจะเหมือน
ทั้งสองฟากหมากมะพร้าวมีเหย้าเรือน
ค่อยลอยเลื่อนแลเพลินจำเริญใจ

พฤกษาสวนล้วนแต่ปลูกมีลูกดอก
มะม่วงออกช่อแฉล้มแซมไสว
ทั้งกล้วยอ้อยร้อยลิ้นลำไยมะไฟ
ล้วนต้นไม้ต่างต่างข้างคงคาฯ

ถึงคลองบางนางสี่เห็นมีวัด
ชุลีหัตถ์อภิวาทพระศาสนา
เป็นที่สุดพุทธคุณกรุณา
ลูกกำพร้าอย่าให้มีราคีพานฯ

(https://i.ibb.co/HKktwGH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางนางลี่ใหญ่ : อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

          เลยบางแม่ยายพ่อตาก็ผ่านบางนางสะใภ้  เห็นต้นทับทิมปลูกอยู่ตามริมคลอง  และมีหัวมันหนูมันนกถั่วพู  เจ้าของเอาออกมาวางขายรายเรียง  พ้นบางนางสะใภ้ก็ถึงแม่กลอง  เห็นเขาทำปลาทูปูเค็มเต็มตุ่มมากมาย  ไม้ผลเช่นมะม่วง ลำไย มะไฟ  มีมากมายจนลายตา  ดูเพลินจนเรือลอยลำถึงบางนางสี่เห็นมีวัดสวยงาม  ก็ยกมือไหว้แล้วอธิษฐานขอพร.....

          วันนี้ให้อ่านนิราศเณรหนูกลั่นมาถึงวัดบางนางสี่ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45253#msg45253)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45534#msg45534)                   .


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, กุมภาพันธ์, 2563, 10:35:43 PM
(https://i.ibb.co/XCgh8r7/1-105625-02.jpg) (https://imgbb.com/)
อัมพวา : สมุทรสงคราม


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45393#msg45393)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45696#msg45696)                   .

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๑ -

“ถึงคลองน้ำอัมพวาที่ค้าขาย
เห็นเรือรายเรือนเรียงเคียงขนาน
มีศาลาท่าน้ำน่าสำราญ
พวกชาวบ้านค้าขายคอนท้ายเรือ

ริมชายสวนล้วนมะพร้าวหมูสีปลูก
ทะลายลูกลากดินน่ากินเหลือ
กล้วยหักมุขสุกห่ามอร่ามเครือ
พริกมะเขือหลายหลากหมากมะพร้าว

ริมวารีมีแพขายแพรผ้า
ทั้งขวานพร้าพร้อมเครื่องทองเหลืองขาว
เจ้าของแพแลดูหางหนูยาว
มีลูกสาวสิเป็นไทยถอนไรปลิว

ดูชาวสวนล้วนขี้ไคลทั้งใหญ่เด็ก
ส่วนเมียเจ๊กหวีผมระบมผิว
เห็นเรือเคียงเมียงชม้ายแต่ปลายคิ้ว
แกล้งกรีดนิ้วนั่งอวดทำทรวดทรงฯ...”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง  สุนทรภู่ตรวจชำระ  เดินทางมาถึงคลองบางนางสี่แล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/Y3zNxP1/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ตลาดน้ำอัมพวา : สมุทรสงคราม

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เรือลอยลำเข้าอัมพวา  เห็นเรือรายเรียงเคียงขนานกับบ้านเรือนดูแน่นขนัด  เป็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้านที่ตื่นตาตื่นใจเมื่อได้พบเห็น  มีชาวบ้านเป็นแม่ค้า  “คอนท้ายเรือ”  คือเอาสินค้าใส่เรือสำปั้น  เรือแปะ  แล้วพายงัด ๆ ไปมาในลำน้ำ  ร้องขายสินค้ากันไปรายทาง  แสดงให้เห็นว่าคลองอัมพวาเป็นตลาดน้ำมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  มีอายุไม่น้อยกว่าสองร้อยปีแล้ว  ริมชายสวนมีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น  เป็นมะพร้าวต้นเตี้ย  แต่ละต้นมีลูกดก  ทะลายยาวลงลากดิน  ริมคลองนั้นมีแพชาวจีนไว้หางเปียยาวขายผ้าแพร  ลูกสาวเจ๊กเป็นไทย  แต่เมียเจ๊กหางหนูหรือหางเปีย (น่าจะเป็นเชื้อสายแมนจู) นั่งหวีผม  ยามเรือผ่านไปนางชม้ายแลด้วยปลายคิ้ว  ดัดจริตกรีดนิ้วอวดทรง  แหม.. เณรหนูกลั่นก็ช่างว่านักนะ

“ถึงคลองขวางบางกุ้งที่คุ้งน้ำ
พวกเจ๊กทำศาลเจ้าปุงเถ้าก๋ง
เป็นวันเล่นเห็นเขาเชิญเจ้าลง
เจ๊กคนทรงสับหัวของตัวเอง

เอาขวานผ่าหน้าผากแทงปากลิ้น
แล้วดื่มกินเหล้าโลดกระโดดเหยง
เลือดชโลมโทรมเนื้อเสื้อกางเกง
เดินโทงเทงถือง้าวเป็นเจ้านาย

นึกก็เห็นเป็นกลคนสับปลับ
จะเอาทรัพย์สินบนคนทั้งหลาย
สู้เสียเลือดเชือดตัวไม่กลัวตาย
ใช้อุบายบอกคนด้วยกลโกงฯ”

(https://i.ibb.co/X5ZQsMj/6-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เลยอัมพวามาถึงบางกุ้ง  ที่นี่มีศาลเจ้าปุงเถ้ากงของคนจีนตั้งอยู่  วันนั้นมีการทรงเจ้าโดยม้าทรงชาวจีน  เมื่อเจ้าเข้าก็แสดงอิทธิฤทธิ์เอาขวานสับหัวและผ่าหน้าผากตนเองจนเลือดไหลโทรมกาย  เอาเหล็กแหลมแทงปากตรงกระพุ้งแก้มขวาทะลุแก้มซ้ายและลิ้น  ท่านเณรเห็นแล้วก็ปลงว่าเขาลงทุนเจ็บตัวเพียงเพื่อลาภสรรเสริญเท่านั้น  เป็นการแสดงกลหลอกคนด้วยกลโกง........

"ถึงบางป่ามาพ้นตำบลสวน
ตลอดล้วนแหลมคุ้งเป็นทุ่งโถง
พอโพล้เพล้เวลาล่วงห้าโมง
เห็นเมฆโพลงพลุ่งรอบเป็นขอบคัน

บ้างเขียวแดงแฝงฝากเหมือนฉากเขียน
ยิ่งพิศเพี้ยนรูปสัตว์ดูผัดผัน
เหมือนลิงค่างช้างม้าสารพัน
ดูดังมันจะมาทับวับวิญญา

ท่านบิดรสอนว่าตำราห้าม
คือคนสามประเภทในเทศนา
คนเข็ญใจไร้ทรัพย์อัพลา
ลูกกำพร้าดูเมฆวิเวกใจ

จะสร้อยเศร้าเหงาง่วงในดวงจิต
เสียจริตงวยงงลุ่มหลงใหล
เห็นเที่ยงแท้แต่เราพิศพินิจไป
จนตกใจเจียนจะเห็นว่าเป็นตัว

พอสุริยงลงลับพยับค่ำ
ท้องฟ้าคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว
ดูอ้างว้างกลางชลาเป็นน่ากลัว
ถึงคอกงัวสี่หมื่นตื่นกันดู

ไม่เห็นตัวงัวควายเป็นชายทุ่ง
เสียงแต่ยุงริ้นร้องกึกก้องหู
ริมตลิ่งหิ่งห้อยย้อยลำพู
สังเกตดูดังหนึ่งเม็ดเพชรรัตน์

อร่ามเรืองเหลืองงามแวมวามวับ
กระจ่างจับพงแขมแจ่มจำรัส
น้ำค้างพรมลมเชยรำเพยพัด
ระลอกซัดส่งท้ายสบายดี

พอเดือนเด่นเห็นดวงขึ้นช่วงแสง
กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าทุกราศี
สักยามหนึ่งถึงหาดเมืองราชพรี
กำแพงมีรอบล้อมทั้งป้อมปืน

ถามบิดาว่าพระองค์ดำรงภพ
สร้างไว้รบรับพม่าไม่ฝ่าฝืน
แต่เฟือนช่องร่องทางด้วยกลางคืน
เข้าจอดตื้นติดหาดเมืองราชพรี

สำนักนอนผ่อนสบายที่ท้ายวัด
น้อมมนัสการศีลพระชินสีห์
ขอเดชะพระมหาบารมี
ในราตรีเภทภัยมิได้พาน.......”

(https://i.ibb.co/D5cSn8v/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ตลาดน้ำบางน้อย : บางคนที (เดิมชื่อ อำเภอสี่หมื่น) สมุทรสงคราม

          เรือเลยบางกุ้ง  พ้นเรือกสวนเข้าเขตทุ่งนาเป็นเวลาตะวันโพล้เพล้แล้วตกดินสิ้นแสงไป  ก็พอดีถึงบ้านวัวสี่หมื่น (ท่านว่างัวมีมากมายถึงสี่หมื่นตัว)  เห็นแต่ชื่อก็ตื่นใจ  มองไปไม่เห็นวัวควายเลย  ผ่านเลยคอกวัวสี่หมื่น  ไปถึงหาดเมืองราชบุรี (ราชพรี)  ท่ามกลางแสงเดือนที่สว่างกระจางฟ้า  คืนนั้นท่านจอดเรือพักแรมคืน ณ หาดเมืองราชบุรีนั่นเอง

          วันนี้ให้อ่านมาถึงตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองมุโขทัย
๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กุมภาพันธ์, 2563, 10:38:59 PM
(https://i.ibb.co/GFSnhNL/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คลองบางสองร้อย ราชบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๒ -

“ครั้นรุ่งเช้าชาวเรือข้างเหนือใต้
ต่างเลื่อมใสศรัทธาทำอาหาร
มาถวายหลายลำค่อยสำราญ
ทั้งอ้อยตาลต้มแกงกับแตงไทย

ครั้นเสร็จฉันกรุณายถาสนอง
ให้เจ้าของซึ่งศรัทธาอัชฌาสัย
แล้วภิญโญโมทนาลาครรไล
สำราญใจจากหาดเมืองราชพรี

ถึงชะวากปากคลองบางสองร้อย
แต่น้ำน้อยทางเดินเนินวิถี
เห็นเขางูอยู่ข้างซ้ายหลายคีรี
พฤกษาสีเขียวชุ่มดูคลุมเครือ

ที่เงื้อมง้ำลำเนาชื่อเขาแร้ง
ศิลาแดงดังชาดประหลาดเหลือ
จะขึ้นบ้างทางบกก็รกเรื้อ
จนเลี้ยวเรือลับแหลมล้วนแขมคาฯ....”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง  สุนทรภู่ตรวจชำระ  มาถึงหาดเมืองราชบุรีแล้วจอดเรือพักนอนแรมคืน  วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/WzJPVP2/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เขางู : ราชบุรี

          รุ่งเช้าวันรุ่งขึ้น  ปรากฏว่ามีชาวเรือนำอาหารมาถวายให้ขบฉันกันอย่างอิ่มหนำสำราญ  ครั้นอนุโมทนา (ยถา สัพพี...) ให้พรตามธรรมเนียมแล้ว  ก็ออกเรือลาญาติโยมเมืองราชบุรีเดินทางต่อไป  ถึงบางสองร้อย  ลำน้ำตรงนี้ตื้นน้ำน้อย  ทางซ้ายมือแลเห็นเขางูดูสลับซับซ้อน  ทางชวามือเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เลยไปถึงเขาแร้งซึ่งมีหินสีแดงดั่งชาด  ประหลาดตา

(https://i.ibb.co/CnCQSK7/image.jpg) (https://imgbb.com/)
บ้านกล้วย : ราชบุรี

"ถึงคุ้งย่านบ้านกล้วยสลวยสล้าง
เขาปลูกสร้างไร่รายทั้งซ้ายขวา
พริกมะเขือเหลืองามอร่ามตา
นกสาริกาแก้วกาลิงมาชิงกิน

บ้างกอดเกาะเจาะจิกเม็ดพริกคาบ
บ้างโฉบฉาบชิงกันดูผันผิน
โอ้น่ารักปักษาริมวาริน
บ้างโบยบินบ้างก็จับอยู่กับรัง

บ้างกู่ก้องร้องเรียกกันเพรียกเพราะ
ฟังเสนาะนึกในน้ำใจหวัง
คิดถึงพี่ที่เข้าไปอยู่ในวัง
เมื่อคราวครั้งคุณป้าไปค้าเรือ

เคยชมป่าพาทีกับพี่น้อง
เที่ยวเก็บของจุกจิกพริกมะเขือ
เดี๋ยวนี้พี่มียศท่านชดเจือ
น้องนี้เชื้อชาติต่ำจึงจำไกลฯ

(https://i.ibb.co/44PB2Yj/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางกระ : ท่าราบ  ราชบุรี

ถึงบางกระไม่เห็นกระปะแต่บ้าน
เป็นภูมิฐานทิวป่าพฤกษาไสว
โอ้ผันแปรแลเหลียวให้เปลี่ยวใจ
ถึงย่านใหญ่เจ็ดเสมียนเตือนสบาย

ว่าแรกเริ่มเดิมทีมีตะเข้
ขึ้นผุดเร่เรียงกลาดไม่ขาดสาย
จอมกษัตริย์จัดเสมียนเขียนเจ็ดนาย
มาจดหมามิได้ถ้วนล้วนกุมภา

แต่เดี๋ยวนี้มิได้เห็นเหมือนเช่นเล่า
เห็นแต่เหล่ากริวกราวกับเต่าฝา
ถึงคลองขวางบางขามหวามวิญญา
ล้วนไผ่ป่าหนาหนามน่าขามใจฯ

(https://i.ibb.co/K7xwzT3/image.jpg) (https://imgbb.com/)
น้ำแม่กลองไหลผ่านตลาดเจ็ดเสมียน (เกียรติศักดิ์ สุวรรณมัจฉา ถ่ายภาพ ม.ค. ๒๕๕๔)

          เรือแจวแล่นเรื่อยผ่านบ้านกล้วย  ก็ชมนกชมไม้เรื่อยไปจนผ่านถึงบางกระ  บางบางขาม ถึงบ้านใหญ่ชื่อบ้านเจ็ดเสมียน  ที่เคยมีจระเข้ชุกชุม  จอมกษัตริย์จัดเสมียนมาช่วยกันจดจำนวนจระเข้ตั้งเจ็ดคนก็ยังจดกันไม่หวาดไหว

(https://i.ibb.co/HKZYm9B/image.png) (https://imgbb.com/)
วัดบางโตนด : ราชบุรี

"ถึงอารามนามอ้างชื่อบางโตนด
มีทั้งโบสถ์วิหารต้นตาลไสว
ต่างวันทาคลาเคลื่อนเลื่อนครรไล
ถึงหาดใหญ่กว้างขวางบางแขยง

เป็นโขดเขินเนินทรายชายสมุทร
แลจนสุดสายเนตรที่เขตแขวง
เป็นคุ้งอ้อมค้อมเคี้ยวน้ำเชี่ยวแรง
ทั้งร้อนแสงสุริยาลงวารี

กับหนูตาบอาบน้ำปล้ำกันเล่น
พี่เณรเห็นไล่โลดกระโดดหนี
ช่วยคุณพ่อก่อพระทรายคล้ายเจดีย์
ไว้ตรงที่ท่าวัดมัสการ

แล้ววิ่งเต้นเล่นทรายที่ชายหาด
ทะลุดทะลาดล้มลุกสนุกสนาน
ลงนอนขวางกลางน้ำเล่นสำราญ
ว่ากุมารมัทรีไม่มีเครือ

ครั้นแดดร่มลมรื่นค่อยชื่นแช่ม
ออกจากแหลมบางแขยงขึ้นแขวงเหนือ
แม่น้ำตื้นพื้นสูงลงจูงเรือ
สนุกเหลือเล่นน้ำยังค่ำไป

ต่อบิดรนอนตื่นขืนให้ขึ้น
ยังวิ่งครื้นโครมครามห้ามไม่ไหว
ต่อสุดขัดผลัดผ้ายังอาลัย
ถึงบ้านใหญ่ชื่อว่าโพธาราม.....”

(https://i.ibb.co/X7Z8cSP/ca7becd6gbgbb7jgb6igc.jpg) (https://imgbb.com/)
โพธาราม : ราชบุรี

          จากเจ็ดเสมียนถึงวัดบางโตนด  เลยถึงบางแขยงที่มีหาดกว้างใหญ่  เณรหนูกลั่นกับหนูตาบลงเล่นน้ำกันอย่างนุกสนานอยู่เป็นนาน  ขณะนั้นพระภู่กำลังนอนหลับอยู่ในเรือ  พอตื่นขึ้นมาเห็นลูก ๆ เล่นกอดปล้ำกันอยู่ในน้ำ  ก็เรียกให้ขึ้นจากน้ำเพื่อเดินทางต่อไป  จนถึงบ้านใหญ่มีชื่อว่าโพธาราม  อันลือชื่อว่ามีสาวสวย.......

          วันนี้มาหยุดพักอยู่ตรงโพธารามนี้แหละนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, กุมภาพันธ์, 2563, 09:56:09 PM
(https://i.ibb.co/WK4jgBS/tok02-520x360.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๓ -

“ตลิ่งลาดหาดทรายที่ขายของ
เรือขึ้นล่องแวะจอดตลอดหลาม
พวกเจ๊กจีนสินค้าใบชาชาม
ส้มมะขามเปรี้ยวปั้นน้ำมันพร้าว

ที่ของเหล่าชาวป่าเอามาขาย
ทั้งนุ่นฝ้ายใส่กรุกระชุขาว
พวกประมงลงอวนไทยญวนลาว
ทำร้านยาวย่างปลาริมวารี

มีโรงทำน้ำตาลทรายที่ท้ายบ้าน
เป็นภูมิฐานรวมทางหว่างวิถี
พวกเกวียนต่างกลางป่าพนาลี
มาลงที่หน้าท่าโพธาราม

จนล่องทางบางเลาเห็นชาวบ้าน
ทำงานการเกี่ยวแฝกบ้างแบกหาม
ดูผิวดำคร่ำคร่าดังทาคราม
ไม่มีงามเหมือนหนึ่งเหล่านางชาววังฯ”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปรราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นแต่ง  สุนทภู่ตรวจชำระ  เรือทวนกระแสน้ำจากบางแขยงเรื่อยขึ้นถึงบ้านโพธาราม  ซึ่งเป็นชุมชนเมืองที่ใหญ่โต  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/BVN3Z8B/3.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  ท่านพรรณนาว่า ณ โพธาราม (เมืองคนสวย) นี้  ริมตลิ่งลำน้ำแม่กลองเป็นแนวลาดมีหาดทรายที่ขายของสินค้านานา  มีเรือบรรทุกสินค้าขึ้นล่องผ่านไปมา  และจอดทอดสมอ  นำสินค้าออกมาตั้งวางขายกันอย่างเสรี  รายการสินค้านั้น  เณรหนูกลั่นได้แจงให้ทราบอย่างชัดเจนดีแล้ว  มีทั้งของพื้นเมืองและของป่านานาชนิด  พวกอาชีพการประมงก็ลงอวนกัน  จับปลามาขายเป็น ๆ บ้าง  เอามาย่างบ้าง  ทำเค็มบ้าง  ปลาย่างปลาเค็มวางผึ่งแดดลมบนร้านเรียงรายเป็นแนวยาวอยู่ริมตลิ่ง  ที่นี่มีโรงงานทำน้ำตาลทรายขนาดใหญ่อยู่ท้ายบ้าน  เลยจากบ้านโพธาราม (เมืองคนสวย) ก็ถึงบ้านเลา  เห็นชาวบ้านเกี่ยวแฝกแล้วแบกหาบหามกันมาเป็นอันมาก  คนแบกหาบหามแฝกแต่ละคนมีผิวดำคล้ำทั้งหญิงทั้งชาย.....

(https://i.ibb.co/Qc3KMzw/image.jpg) (https://imgbb.com/)
แม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดใหญ่นครชุมน์ : ต.นครชุมน์ อ. บ้านโป่ง ราชบุรี

“ถึงนครชุมภูมิฐานเป็นบ้านป่า
สายคงคาเชี่ยวเหลือเรือถอยหลัง
ต้องแข็งข้อถ่อค้ำด้วยกำลัง
จนกระทั่งงิ้วรายหาดทรายเตียน

ต้นงิ้วงามตามตลิ่งกิ่งแฉล้ม
ดูชื่นแช่มช้อยใบเหมือนไม้เขียน
บ้างผะผากรากโคนดูโกร๋นเกรียน
ยิ่งพิศเพี้ยนภาพฉากหลากหลากกันฯ

(https://i.ibb.co/52SsKtT/unnamed-5.jpg) (https://imgbb.com/)
ศาลเจ้าแม่เบิกไพร: ต. เบิกไพร อ. บ้านโป่ง ราชบุรี

ถึงศาลเจ้าเบิกไพรมีไม้สูง
เห็นนกยูงยืนเกลื่อนไก่เถื่อนขัน
มีศาลตั้งฝั่งน้ำเป็นสำคัญ
อยู่เคียงกันสามศาลตระหง่านงาม

พวกชาวเรือเหนือใต้ขึ้นไหว้เจ้า
หมากมะพร้าวอ่อนด้วยกล้วยข้าวหลาม
ให้คุ้มภัยในชลาวนาราม
จึงทรงนามเบิกไพรกันไพรี

ท่านบิดรสอนให้ว่าเทพารักษ์
เจริญพักตรพ้นทุกข์เป็นสุขี
เห็นไก่ขาวเจ้าเลี้ยงเพียงสำลี
กินอยู่ที่ชายป่าดูน่าชม

เป็นดงใหญ่ไม้สูงฝูงนกเขา
ขึ้นจับเคล้าคลอคู่คูขรม
บ้างปรบปีกจิกกันขันคารม
ชวนกันชมต่างต่างสองข้างเรือฯ”

(https://i.ibb.co/gSqbH2M/sfaaf.jpg) (https://imgbb.com/)

          เลยบ้านเลามาถึงบ้านนครชุม (ปัจจุบันคือตำบลนครชุม  อำเภอบ้านโป่ง  “คนงาม”)  ท่านว่าตรงนี้น้ำไหลแรงเชี่ยวกราก  เรือแจวธรรมดาจะถอยหลัง ต้องแจวจ้ำแรง ๆ พร้อมกับใช้ถ่อค้ำช่วยด้วย  เลยนครชุมขึ้นไปเป็นหาดทรายเตียนโล่ง  มีต้นงิ้วป่าขึ้นรายเรียงตามริมตลิ่ง  แลดูสวยงามดี  จากนั้นก็ถึงศาลเจ้าเบิกไพร  มีศาลตั้งเรียงเคียงกันอยู่ ๓ ศาล  พวกชาวเรือขึ้นล่องล้วนจอดเรือเพื่อไหว้เจ้า  และบนบานกันด้วยความเคารพศรัทธา  เห็นไก่สีขาวที่เข้าใจว่าเจ้าเลี้ยงไว้  หลายตัวโก่งคอขันกันเสียงขรม...............

(https://i.ibb.co/bKz3h4f/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดปลักแรด : ต. เบิกไพร อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี

"ถึงปากแรดแดดดับพยับแสง
ท้องฟ้าแดงดูสลัวน่ากลัวเสือ
เป็นป่าไผ่ไม่พุ่มครึมคลุมเครือ
เสียงเสือเนื้อปีบคะนองสยองเย็น

เห็นนกยูงฝูงใหญ่ที่ชายหาด
รำแพนฟาดหางแผ่พอแลเห็น
ตัวเมียพร้อมล้อมตามกามกระเด็น
ได้กินเป็นฟองไข่ขึ้นในกาย

บิดาบอกว่าฝูงนกยูงนั้น
ไม่สัดกันเหมือนดังนกทั้งหลาย
พึ่งเห็นแน่แก่ตาตำราทาย
ให้นึกอายใจไม่พอใจดูฯ

(https://i.ibb.co/CJPfLb1/20140331-3-1396250659-257368.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากศาลเจ้าเบิกไพรถึงปากแรด  เป็นเวลาสายัณห์ดวงตาวันกำลังลอยลงลับฟ้า  สองฟากฝั่งเป็นป่าครึ้มมีเสียงเสือเนื้อทรายร้องปีบ ๆ น่าสยอง  จนนึกน่ากลัวเสือ  เห็นนกยูงฝูงใหญ่ที่ชายหาด  เจ้าตัวผู้ยืนแพนหางป้ออยู่ท่ามกลางนกยูงตัวเมียที่รายล้อมเพื่อการผสมพันธุ์กัน  สุนทรภู่บอกกับลูก ๆ ว่า  นกยูงนั้นมันไม่สัด (ผสมพันธุ์) กันเหมือนนกทั่วไป  มันสัดกันอย่างไร  เณรหนูกลั่นไม่บอก  เพราะท่านนึกอายใจจนไม่พอใจที่จะดู.....

          วันนี้ให้อ่านมาหยุดพักตรงปากแรดนี่แหละนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กุมภาพันธ์, 2563, 10:44:01 PM
(https://i.ibb.co/jJqN6vT/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางพัง: ต. เบิกไพร อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๔ -

“ถึงบางพังวังวนสาชลเชี่ยว
เป็นเกลียวเกลียวกลิ้งคว้างเหมือนหางหนู
เห็นวัดร้างข้างซ้ายสายสินธู
เข้าหยุดอยู่นอนค้างที่บางพัง

พอพลบค่ำลำเดียวดูเปลี่ยวอก
เสียงแต่นกเซ็งแซ่ดังแตรสังข์
ข้างซ้ายป่าขวาชลเป็นวนวัง
เสียงค่างดังอื้ออ้าบนค่าไม้

ฝ่ายคุณพ่อบริกรรมแล้วจำวัด
พี่เณรพัดหนูตาบต่างหลับใหล
ยิ่งดึกดื่นครื้นเครงวังเวงใจ
เสียงเรไรหริ่งแร่แซ่สำเนียง

จะเคลิ้มหลับวับแว่วถึงแก้วหู
เหมือนคนกู่เกริ่นเรียกกันเพรียกเสียง
เสียงเผาะเผาะเหยาะย่องค่อยมองเมียง
เห็นเสือเลี่ยงหลีกอ้อมเที่ยวค้อมมอง

ดูน่ากลัวตัวขาวราวกับนุ่น
แบ่งส่วนบุญบ่นภาวนาสนอง
ทั้งในน้ำทำเลตะเข้คะนอง
ขึ้นคลานร้องฮูมฮูมน้ำฟูมฟาย

เดชะกิจบิตุรงค์ซึ่งทรงพรต
เห็นปรากฏกำจัดสัตว์ทั้งหลาย
มันหลีกเลยเฉยไปไม่ใกล้กราย
เหมือนมีค่ายเขื่อนรอบประกอบกัน.....”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง  สุนทรภู่ตรวจชำระ  มาวางให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงปากแรด  หรือปลักแรด  เป็นเพลาสายัณห์แล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ

(https://i.ibb.co/hWNPC3H/tigre-blanco.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เรือท่านเลยปากแรดมาถึงบางพังที่มีวังน้ำวนไหลเชี่ยวอย่างน่ากลัวมาก  เณรหนูกลั่นว่าสายน้ำไหลเชียวเป็นเกลียวราวกะหางหนูเลยทีเดียว  และที่บางพังนี้มีวัดเก่ารกร้างตั้งอยู่ริมน้ำ  พระภิกษุภู่หัวหน้าคณะนักบุญเห็นเป็นทำเลที่เหมาะแก่การจอดเรือพักแรมคืน  จึงให้จอดเรือนอนกันตรงท่าน้ำหน้าวัดร้างนั้น  เณรหนูกลั่นเล่าว่าดึกดื่นคืนนั้นทุกคนในเรือพากันนอนหลับไปหมด  เณรหนูกลั่นกำลังเคลิ้มจะหลับใหล  ก็ได้ยินเสียงวับแวบเข้าแก้วหู  เป็นเสียงกู่เกริ่นเรียกหากัน  ท่านลืมตาขึ้นเห็นเสือขาวราวปุ่ยนุ่น  เดินเหยาะย่องมาด้อมมองที่เรือดูน่ากลัวมาก  พร้อมกันนั้นก็ยังมีจระเข้ลอยขึ้นมาข้างลำเรือร้องฮูม ๆ  ไม่รู้ว่ามันขู่เสือหรือขู่คนในเรือ  ท่านก็ได้แต่ภาวนาอธิษฐานแบ่งส่วนบุญให้  และด้วยเดชะบุญที่สุนทรภู่ทรงพรตรักษาศีลบริสุทธิ์  บันดาลให้ทั้งเสือและจระเข้นั้น  เพียงมาเมียงแล้วหลบหนีไปสิ้น.....

“จนล่วงสามยามเวลาบิดาตื่น
ประเคนคืนกาสาน้ำชาฉัน
เงียบสงัดสัตว์ป่าพนาวัน
เสียงไก่ขันแจ้วแจ้วแว่ววิญญา

ท่านอวยพรสอนพระธรรมกรรมฐาน
ทางนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขา
ได้เรียนธรรมบำเพ็งภาวนา
เมื่อนอนหน้าวัดร้างคุ้งบางพัง

แล้วบิดาพาเดินขึ้นเนินวัด
เงียบสงัดงึมป่าข้างหน้าหลัง
เข้านิโครธโบสถ์ใหญ่ร่มไม้รัง
สำรวมนั่งนึกภาวนาใน

ด้วยเดชะพระมหาสมาธิ
เป็นคติตามศรัทธาอัชฌาสัย
พอแสงทองส่องฟ้านภาลัย
ลาพระไทรสาขาลงมาเรือ...”

          ประมาณยามสามของคืนนั้น  หลวงพ่อภู่ตื่นขึ้นมา  เณรหนูกลั่นรินน้ำชาถวาย  ท่านดื่มน้ำชาแล้วก็สอนกรรมฐานให้ลูกเณร  เมื่ออธิบายวิธีการเจริญกรรมฐานแล้ว  ก็พาขึ้นจากเรือเดินไปบนเนินวัดซึ่งมีต้นไทรต้นรังขนาดใหญ่อยู่  เลือกที่นั่งได้แล้วก็พากันนั่งทำสมาธิภาวนา  จนกระทั่งถึงเวลารุ่งสางจึงลาพระไทรกลับลงเรือ  เพื่อเดินทางต่อไป

(https://i.ibb.co/cw1SQcL/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อุโบสถวัดรางวาลย์ ต. ลาดบัวขาว อ. บ้านโป่ง ราชบุรี

“จากวัดร้างบางพังสองฝั่งน้ำ
แต่ล้วนร่ำรามเริงซุ้มเซิงเสือ
ถึงวังวานย่านบกก็รกเรื้อ
เสียงฟานเนื้อนกร้องร้องก้องโกลา

ถึงลูแกแต่ล้วนไม้ไผ่สะพรั่ง
เห็นมอญตั้งตัดไม้ทั้งซ้ายขวา
ที่บ้านร้างว่างคนต้นพุทรา
ดกระย้าสุกห่ามอร่ามเรือง

เห็นสมควรชวนกันขึ้นสั่นต้น
คอยเก็บหล่นลูกล้วนเป็นนวลเหลือง
เอาเกลือตำรำหัดเมื่อขัดเคือง
พอทรงเครื่องเจ้าพุทราสง่างาม

แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้มพงตึก
อนาถนึกสงสัยได้ไต่ถาม
ท่านผู่เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ
ว่าตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย

แต่ตึกมีที่ริมน้ำเป็นสำเหนียก
คนจึงเรียกพงตึกเหมือนนึกหมาย
ถึงท่าป่ารังรองสองฝั่งราย
กับเชิงหวายโป่งกลุ้มดูคลุมเครือฯ”

(https://i.ibb.co/SJBZ9zw/image.jpg) (https://imgbb.com/)
โบราณสถานที่พงตึก : ริมน้ำแม่กลอง ท่ามะกา จ. กาญจนบุรี

          ออกจากวัดร้างบางพัง  เดินทางผ่านวังวาน  ที่สองฟากฝั่งรกเรื้อเป็นป่าที่อยู่ของฟานเนื้อนกนานาชนิด  ถึงลูแกก็ครึ้มไปด้วยป่าไผ่  เห็นชาวมอญออกมาตัดไม้ไผ่กันหลายคน  จนผ่านถึงที่ร้างว่างเปล่าไร้บ้านเรือน  แต่มีต้นพุทราขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่  กำลังออกผลสุกเหลืองเต็มต้น  หนู ๆ ก็ชวนกันขึ้นบกเขย่าต้นพุทราแล้วเก็บลูกที่สุกมาคลุกเกลือกินกันอย่างเอร็ดอร่อย  เลยป่าพุทราก็มาถึงบ้านพงตึก  ผู้เฒ่าเล่าว่าเดิมเป็นตึกพราหมณ์มาแต่ครั้งแผ่นดินโกสินราย....

          สถานที่แห่งนี้  กรมศิลปากรมีอธิบายว่า  พงตึกตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง  เป็นตำบลขึ้นอำเภอท่ามะกา  มีซากโบราณสถานเก่าแก่  เคยมีผู้พบพระพุทธรูปและศิลปวัตถุสมัยทวาราวดี  สันนิฐานว่าที่นี้เคยเป็นบ้านเมืองอันเจริญรุ่งเรืองเมืองหนึ่งในยุคสมัยอาณาจักรทวาราวดี  ตรงข้ามกับพงตึกคือบ้านท่าหว้าป่ารัง......

          วันนี้ให้อ่านกลอนมาถึงพงตึกก็แล้วกัน  พักเรื่องไว้ให้มาอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กุมภาพันธ์, 2563, 11:23:25 PM
(https://i.ibb.co/MNmDK65/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดหวายเหนียว ริมน้ำแม่กลอง ต. หวายเหนียว อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๕ -

“ถึงวังทองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน
มีโรงร้านฟักแฟงแตงมะเขือ
ใส่กระทายขายเขาพวกชาวเรือ
ทั้งกล้วยเครือสุกห่ามอร่ามไป

ถึงละเมาะเกาะชื่อเกาะน้ำเชี่ยว
มีเกาะเดียวกลางมหาชลาไหล
เหมือนเราเดียวเปลี่ยวเปล่าให้เศร้าใจ
เห็นแต่ไพรพฤกษาพนาวัน

ถึงถิ่นถานบ้านรายชื่อหวายเหนียว
เห็นแต่เรียวหวายไสวในไพรสัณฑ์
ยิ่งน้ำตื้นขึ้นก็ยิ่งตลิ่งชัน
ถึงเขตคันคุ้งน้ำชื่อถ้ำมะกา

ดูแดนดินถิ่นที่เหมือนมีถ้ำ
พิลึกล้ำแลเวิ้งดังเพิงผา
เงื้อมชะง่อนก้อนดินเหมือนสินลา
สายคงคาเชี่ยวคว้างเป็นหว่างวน......”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนที่เณรหนูกลั่นคิดแต่ง  สุนทรภู่ตรวจชำระ  วางให้ทุกท่านอ่านกันมาถึงบ้านเก่าเมืองเก่าสมัยทวาราวดี  ชื่อพงตึกแล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/hFSv0J0/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อุทยานมัจฉาวังสังกะวาด วัดหวายเหนียว
ริมน้ำแม่กลอง ต. หวายเหนียว อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี

          จากพงตึกมาถึงวังทอง  ซึ่งเป็นนชุมชนค่อนข้างหน้าแน่น  มีร้านค้าเรือขายสินค้าหลากหลาย  เลยวังทองขึ้นไปถึงเกาะน้ำเชี่ยว  ซึ่งเป็นเกาะแห่งเดียวในแม่น้ำสายนี้  เลยเกาะน้ำเชี่ยวขึ้นถึงบ้านหวายเหนียวซึ่งมีตลิ่งชันมาก  จากนั้นก็ถึงถ้ำมะกา  ท่านว่าเป็นคุ้งน้ำที่ดูเหมือนมีถ้ำ  แลเวิ้งเหมือนเพิงผา  สายน้ำไหลเชี่ยวคว้างเป็นหว่างวนอย่างน่ากลัว......

“วิเวกจิตคิดเพลินด้วยเนินหาด
ไม่คั่นขาดคุ้งแขวงทุกแห่งหน
เต่าขึ้นไข่ไว้ทุกหาดไม่ขาดคน
เที่ยวขุดค้นไข่ได้ด้วยง่ายดาย

สาธุสะพระบิดาเมตตาเต่า
บิณฑ์บาตเขาเขาเห็นพระก็ถวาย
เอาใส่ไว้ในหลุมทุกขุมทราย
แล้วเกลี่ยทรายสุมทับให้ลับตา

เป็นประโยชน์โปรดสัตว์ซึ่งปัฏิสนธิ์
ให้รอดพ้นความตายได้นักหนา
ขอส่วนบุญคุณศิลพระชินกา
ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัยฯ

(https://i.ibb.co/j4phJgS/2-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เลยขึ้นไปมีหาดใหญ่ยาวมีผู้คนลงมาเดินหาไข่เต่ากันหลายคน  เพราะที่หาดนี้มีเต่าขึ้นมาวางไข่แล้วเอาดินกลบไว้  พระภิกษุภู่เห็นเขามาเที่ยวขุดหาไข่เต่าเอาไปบริโภคและค้าขายกันเช่นนั้น  ก็มีเมตตาเต่าเป็นอย่างยิ่ง  จึงออกปากขอบิณฑบาตไข่เต่า  เขาเห็นว่าเป็นพระมาขอก็เลยพากันถวายให้ไม่น้อย  ท่านจึงให้ศิษย์ขุดดินทรายเป็นหลุม ๆ  แล้วเอาไข่เต่าที่ได้มานั้นใส่หลุม  เอาดินกลบเกลี่ยให้เสมอหน้าดิน  ด้วยหวังให้เต่าถูกดินฟักให้เป็นตัวมีชีวิตต่อไป....

(https://i.ibb.co/rfcDD5j/image.jpg) (https://imgbb.com/)

"ถึงคุ้งน้ำตำบลบ้านกอจิก
เขาปลูกพริกฝ้ายออกดอกไสว
โอ้เห็นแท้แต่สำลียังมีใย
ควรฤาใจคนจืดไม่ยืดยาว

พอเย็นย่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย
เป็นฝอยฝอยฟุ้งสาดอนาถหนาว
ที่บนบกรกเรี้ยวเสียงเกรียวกราว
เห็นหาดขาวโขดตั้งอยู่ฝั่งซ้าย

ข้างฟากขวาท่าเรือขึ้นพระแท่น
ยิ่งสุดแสนชื่นชมด้วยสมหมาย
เขาพ่วงไม้ไผ่แลดูแพราย
เข้าจอดฝ่ายฝั่งขวาบ้านท่าเรือ

(https://i.ibb.co/6Wp8Xpf/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ท่าน้ำวัดท่าเรือ ต. ท่าเรือ อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี
Cr. Photo By คุณอุ้มสี คลิก (https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aumteerama&month=09-2019&date=14&group=12&gblog=200)

พอมืดค่ำคล้ำคลุ้มชอุ่มฟ้า
เสียงสัตว์ปาปีบสะท้านทั้งฟานเสือ
เป็นพงไผ่ไม้พุ่มดูคลุมเครือ
เสียงข้างเหนืออูมอูมล้วนกุมภา

ดังกอกกอกตรอกตรอที่กอไผ่
ระวังไพรร้องเรียกเพรียกพฤกษา
ยิ่งดึกดื่นรื่นรินกลิ่นผกา
หอมบุปผาผอยหลับระงับไป

โอ้ฝันเห็นเป็นว่าปู่มาอยู่ด้วย
ให้กินกล้วยอ้อยหวานน้ำตาลใส
พอฟื้นกายหายหน้ายิ่งอาลัย
พอเสียงไก่ขันขานหวานวิญญา

โอ้สิ้นบุญคุณปู่อยู่แต่ชื่อ
ยังนับถือกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา
ที่เป็นคนผลกรรมได้ทำมา
เหมือนต่างฟ้าดินแดนด้วยแสนไกล

จนแจ่มแจ้งแสงตะวันฉันอาหาร
โปรยให้ทานปลาคล่ำในน้ำไหล
ปลาแก้มช้ำน้ำเงินงามประไพ
มาใกล้ใกล้เกลื่อนกลาดดาษเดียร

ทั้งซิวซ่าปลากระแหแลสลับ
ดูกลอกกลับกลุ้มกวัดฉวัดเฉวียน
โอ้น่ารักหนักนาปลาตะเพียน
เกล็ดเหมือนเขียนครีบหางกระจ่างตา

ด้วยน้ำไหลไสสว่างอย่างกระจก
เที่ยวหันหกเห็นสถัดตัวมัจฉา
พอพวกพ้องของศิษย์พระบิดา
มาวันทาขอถวายเกวียนควายมี.......”

(https://i.ibb.co/rFWZJQz/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดท่าเรือ ต. ท่าเรือ อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี
Cr. Photo By คุณอุ้มสี คลิก (https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aumteerama&month=09-2019&date=14&group=12&gblog=200)

          จากหาดทรายที่ฝังไข่เต่าแล้ว  เรือก็ถูกแจวลอยลำขึ้นเหนือ  ชมนกชมไม้บ้านเรือนเรือกสวนเรื่อยมา  จนเพลาสายัณห์ก็ถึงท่าเรือ  อันเป็นท่าใหญ่ที่ผู้แสวงบุญจะมาจอดเรือที่ตรงนี้แล้วขึ้นบกเดินทางต่อไหว้พระแท่นดงรัง  เรือพระภู่จอดนอนพักแรมเช่นเดียวกับนักแสวงบุญทั่วไป  คืนนั้นเณรหนูกลั่นนอนหลับแล้วฝันถึงคุณปู่  จนรุ่งแจ้งได้เวลาฉันอาหารเช้า  เณรหนูกลั่นว่าหลังฉันอาหาร  ก็นำข้าวสุกที่เหลือโปรยลงน้ำให้ปลานานาชนิดมากินกัน  ชมปลาในน้ำไหลใสเย็นอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ  จนกระทั่งพวกพ้องของศิษย์พระภิกษุภู่เดินทางเข้ามากราบไหว้  ถวายควายและเกวียนที่จะเป็นพาหนะนำพาไปไหว้พระแท่นดงรัง.....

          วันนี้ให้อ่านมาถึงตรงท่าเรือนี้แล้วหยุดพักไว้ก่อน  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กุมภาพันธ์, 2563, 01:12:44 AM
(https://i.ibb.co/4WXwqty/13.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก ชุมชนพนมสารคาม คลิก (http://www.phanom.ac.th/web/musiumphanom/index.html)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๖ -

“ชื่อนายช่องน้องนายแก้วกับเจ๊กกลิ่น
เขาเจนถิ่นทางป่าพนาศรี
เกวียนมารับกับท่าริมวารี
พอราตรีพระบิดาครองผ้าไตร

ขึ้นนั่งเกวียนเทียนโคมแขวนข้างหน้า
มีฝาบังหลังคาพออาศัย
เรากับน้องสองนั่งอยู่ข้างใน
พี่เณรได้นั่งหน้าหลังคาบัง

อันนายช่องน้องนายแก้วนั้นแกล้วกล้า
ขับข้างหน้าเจ๊กกลิ่นปีนขึ้นหลัง
เข้าเดินดงกงเกวียนวงเวียนดัง
เหมือนเสียงสังข์แตรซ้องก้องกังวาน

ลางทีฟังดังแอ้อี๋แอ่ออด
เหมือนซอสอดเสียงเอกวิเวกหวาน
ตกที่ลุ่มตุมตังดังสะท้าน
กิ่งไม้รานสวบสาบกรอบกราบโกรง

ทั้งตับไตไส้ย้อนคลอนคลอกแคลก
กระทบกระแทกโคกโขดโขยดโขยง
สะดุดโดนโคนรังกึงกังโกง
จนตัวโงงโงกผงะศีรษะเวียน

พอโคมดับลับเงาเหมือนเข้าถ้ำ
พบห้วงน้ำหลีกลัดฉวัดเฉวียน
แต่หนูตาบกับพี่เณรนั้นเจนเกวียน
ไม่วิงเวียนนั่งหัวร่อร้องยอควาย

ท่านบิดานอนนิ่งอิงพะนัก
สอนให้ยักโยกตัวเวียนหัวหาย
รู้จังหวะระวังนั่งสบาย
คอยยักย้ายเยื้อโยกชะโงกตาม

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง  สุนทรภู่ตรวจชำระ  มาวางให้อ่านกันถึงตอนที่เรือของท่านสุนทรภู่แจวทวนกระแสนำในลำแม่กลอง  มาถึงท่าเรืออันเป็นท่าที่จะต้องขึ้นบกเดินทางต่อไปพระแท่นดงรัง  หลังจากฉันอาหารเช้าแล้วก็มีคนของศิษย์สุนทรภู่มากราบแนะนำตัวว่า  ชื่อนายช่องน้องนายแก้ว กับคนจีนชื่อกลิ่น  นำเกวียนเทียมควายมาถวายเป็นพาหนะเดินทางไปไหว้พระแท่นดงรัง  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/0hkwWv1/wagon-wheel-representing-1958409-340.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  เณรหนูกลั่นได้บรรยายความโดยสรุปได้ว่า  พระภิกษุภู่เลือกเวลาเดินทางจากท่าเรือไปในเวลากลางคืน  พอค่ำลงท่านก็ครองผ้าไตรขึ้นนั่งบนเกวียนเทียมควาย  จุดโคมแขวนไว้ข้างหน้า  นายช่องเป็นคนขับเกวียน  เจ๊กกลิ่นนั่งท้ายเกวียนระวังเหตุ  เณรหนูกลั่นกับหนูตาบนั่งในเกวียน  เณรหนูพัดนั่งข้างหลังนายช่องคนขับเกวียน  การนั่งเกวียนเดินทางเป็นประสบการณ์ใหม่ของเณรหนูกลั่น  แรก ๆ ก็นั่งฟังเสียงล้อเกวียนหมุนบดดินเสียงดังเพราะดี  แต่นั่งไป ๆ รู้สึกเวียนหัว  เพราะเกวียนโคลงโยกเยก ๆ  เณรหนูพัดกับหนูตาบนั้นนั่งเกวียนกันอย่างสนุกสนาน  จนหลวงพ่อภู่ต้องสอนวิธีการนั่งเกวียนโดยไม่เมาเกวียนให้  จึงค่อยนั่งได้สบายมาก  และแล้วก็เกิดเหตุร้ายขึ้นเมื่อโคมส่องทางดับลง  จึงต้องตกอยู่ในความมืดเหมือนเข้าถ้ำ  พบห้วงน้ำใหญ่ขวางหน้า  นายช่วงขับเกวียนหลบวนเวียนอยู่รอบหนองน้ำนั้นไม่รู้กี่รอบ .........

“แต่ขับเกียนเวียนวนอยู่จนดึก
เสียงสัตว์ครึกครื้นเครงน่าเกรงขาม
ที่รกเรื้อเสือกระหึ่มครึมคำราม
เห็นแวมวามวาวสว่างเหมือนอย่างไฟ

ถามบิดาว่าโขมดมันโชติช่วง
ทำล่อลวงเวียนวงให้หลงใหล
กำดัดดึกนึกภาวนาใน
เสียงนางไม้พูดพึมงึมงึมงำ

เที่ยวขับเกวียนวนไม่พ้นหนอง
จนควายร้องฟูดฟาดพลาดถลำ
เดชะบุญคุณพ่อบริกรรม
เหมือนคนนำไปข้างหน้าสี่ห้าคน

พอเกวียนโดนโคนไม้เหมือนไฟวุบ
กลิ้งตลุบไปตามทางที่กลางหน
พอนายช่องมองจำเห็นตำบล
ขึ้นถนนแนวทางไปกลางดง

เจ๊กกลิ่นว่าอารักษ์มาชักช่วย
เดชะด้วยพระกุศลจึงพ้นหลง
ต่างกราบพระจะเป็นศิษย์บิตุรงค์
พอเดือนส่งแสงสว่างตามทางไป...”

          บรรยากาศในป่ารอบหนองน้ำนั้นน่ากลัวมาก  เสียงสารพัดสัตว์กู่ร้องคำรามฟังแล้วขนหัวลุก  ควายที่ลากเกวียนเริ่มมีอาการฟืดฟาดเดินเป๋ปัดไปมา  พระภิกษุภู่เห็นว่าหลงป่าหลงทางแน่นอนแล้ว  จึงนั่งสมาธิภาวนาด้วยพระคาถาฤๅษีเบิกไพร  ด้วยเดชะพระคาถาบริกรรม  ทำให้เห็นเหมือนมีคนเดินนำทางไปข้างหน้าสี่ห้าคน  เกวียนเซซัดโดนโคนไม้โครม  ก็มีลูกไฟตกลงมาแล้วกลิ้งไปข้างหน้า  นายช่วงขับเกวียนตามลูกไฟไปจนเห็นช่องทางจำตำบลหนทางได้  เจ๊กกลิ่นออกคำอุทาน  “อั๋ยย๋า”  เทวดาอารักษ์มาช่วยตามคำขอของหลวงพ่อภู่แล้ว  คนทั้งนั้นต่างก็กราบกรานพระภิกษุภู่  ถวายตัวเป็นศิษย์ด้วยความเคารพศรัทธาอย่างจริงใจ

“ประมาณสามยามสัตว์สงัดเงียบ
ยิ่งเย็นเยียบหย่อมหญ้าพฤกษาไสว
หนาวน้ำค้างพร่างพรมพนมไพร
หอมดอกไม้รื่นรื่นชื่นวิญญา

ดอกอะไรไม่รู้ดูไม่เห็น
หอมเหมือนเช่นน้ำหอมของหม่อมป้า
โอ้เคราะห์กรรมจำขาดญาติกา
เมื่อยามเข็ญเห็นหน้าแต่อาแป๊ะ

อยู่ท้ายเกวียนเทียนธูปสิ่งใดตก
ช่วยหยิบยกให้คุณพ่อหัวร่อแหระ
ออกทุ่งกว้างทางเตียนขับเกวียนแวะ
ให้ควายและเล็มหญ้ากินวารี

แล้วเดินทางกลางนาเวลาดึก
แลพิลึกกว้างขวางหว่างวิถี
หนทางเกวียนเตียนตล่งเป็นผงคลี
ต้นไม้มีรายรายริมชายนาฯ”

(https://i.ibb.co/PW64khP/Wasse.jpg) (https://imgbb.com/)

          ออกพ้นป่าดงทึบมาเป็นป่าโปร่ง  แสงเดือนส่องสว่างกระจ่างหล้าพอให้เห็นทางเดิน  บรรยากาศเงียบสงัด  เย็นน้ำค้างพร่างพรมลมโชยเบา ๆ พากลิ่นดอกไม้มาให้สูดดมพอชื่นใจ  เณรหนูกลั่นก็จินตนาไปถึงกลิ่นน้ำหอมของหม่อมป้าไปโน่น  เกวียนออกพ้นป่าถึงทุ่งกว้างทางเตียน  นายช่วงก็หยุดพักเหนื่อย ปลดควายออกจากแอกเกวียนปล่อยให้กินหญ้ากินน้ำ  สักพักหนึ่งก็จับควายมาเทียมเกวียนเดินทางต่อไป......

          วันนี้ให้อ่านมาถึงตรงนี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย
๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กุมภาพันธ์, 2563, 10:24:59 PM
(https://i.ibb.co/4PszmB4/nakao2.jpg) (https://imgbb.com/)
Cr. Photo By ป่าน ศรนารายณ์

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๗ -

“ถึงรั้วล้อมหย่อมย่านบ้านตะเข้
ดึกคะเนสิบทุ่มคลุ้มเวหา
เรือนนายช่องห้องใหญ่ให้ไสยา
พระบิดาสวดมนต์อยู่บนเกวียน

จนรุ่งแจ้งแสงสว่างกระจ่างฟ้า
เห็นไร่นาเหย้าเรือนดูเหมือนเขียน
ข้างเบื้องซ้ายชายป่าสุธาเตียน
เต็งตะเคียนรังร่มพนมเนิน

ข้างแควขวานาไร่กอไผ่รก
ฝูงวิหคหากินเที่ยวบินเหิน
เขาปล่อยควายชายทุ่งเป็นฝูงเดิน
ได้ดูเพลินพลอยให้ใจสบาย”

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ....

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง สุนทรภู่ตรวจชำระ  มาถึงตอนที่สุนทรภู่เดินทางจากท่าเรือ  นั่งเกวียนเทียมควายเดินทางบุกป่าฝ่าดงแล้วหลงทางอยู่เป็นเวลานาน  ท่านต้องบริกรรมภาวนาคาถาเบิกไพรจนหลุดพ้นมนต์ป่ามาได้  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/hXqMKr1/unnamed-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลอนข้างบนนี้เป็นความต่อจากเมื่อวันวาน  นายช่องจำทางได้แล้วก็ขับเกวียนออกมาจากป่าได้อย่างปลอดภัย  จนถึงบ้านตะเข้ซึ่งเป็นหมู่บ้านของนายช่องเป็นเวลาดึกดื่นค่อนคืนแล้ว  นายช่องให้เณรหนูพัด  เณรหนูกลั่น  และหนูตาบนอนในห้องโถงบนเรือนตน  ส่วนพระภิกษุภู่นั้นขอนั่งสวดมนต์ภาวนาอยู่ในเกวียนจนรุ่งแจ้ง  เณรหนูกลั่นพรรณนาสภาพภูมิสถานบ้านตะเข้ว่า  ดูไร่นาเหย้าเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามมาก  ทางเบื้องซ้ายเป็นชายป่าแผ่นดินเตียนโล่ง  มีต้นตะเคียนต้นเต็งรังร่มรื่น  ทางเบื้องขวาเป็นนาไร่มีกอไผ่รก  ฝูงนกเที่ยวโผผินบินร่อนหาอาหาร  ชาวบ้านปล่อยควายออกจากคอกเดินสู่ทุ่งเป็นฝูง ๆ  ดูแล้วเพลินตาเจริญใจมาก..........

“ฝ่ายพวกเขาชาวป่าทำอาหาร
แกงผักหวานกับปลาร้ามาถวาย
ทั้งแย้บึ้งอึ่งย่างมาวางราย
ทั้งหญิงชายชาวป่าศรัทธาครัน

ทั้งปลาทูปูป่าประสายาก
ไม่มีหมากเปลือกไม้จีบใส่ขัน
ถวายพระพระประโยชน์โปรดพวกนั้น
อตส่าห์ฉันของป่าไม่อาเจียน

แต่หนูตาบกับพี่เณรเราเห็นอึ่ง
กับแย้บึ้งเบือนอายไม่หายเหียน
พอเสร็จพระยถาลานายเกวียน
ตามทางเตียนตัดตรงเข้าดงรัง”

(https://i.ibb.co/xD6LWSz/unnamed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          เช้าวันนั้นชาวบ้านพากันทำอาหารอย่างดีมาถวายพระเณร  เป็นแกงผักหวานป่ากับปลาร้า  มีแย้, บึ้ง, อึ่งเสียบไม้ย่าง  และปลาทูปูป่าตามมีตามเกิด ส่วนหมากพลูนั้น  มีแต่พลูบ้ายปูน  หมากไม่มี  เขาใช้เปลือกไม้พะยอมและเปลือกไม้ขี้อ้ายแทนหมาก  พระภิกษุภู่ท่านรับอาหารขบฉันได้อย่างสบายใจเฉิบ  แต่ลูก ๆ ท่านมีปัญหา  เณรหนูกลั่นว่ากินไม่ลง  เพราะแย้  บึ้ง  อึ่งย่างเหล่านั้นแหละที่ทำให้กินไม่ลง........

          ความจริงแล้ว  แย้  บึ้ง  อึ่ง นั้นเป็นอาหารอันเลิศรสสำหรับชาวบ้านป่า  ผมเป็นเด็กบ้านป่ากินของเหล่านี้มาแต่อ้อนแต่ออก  ชอบมากเลย  เฉพาะบึ้งเจ้าตัวเหมือนแมงมุมยักษ์เนี่ยนะ  มันอยู่ในรูลึก  ถ้าไม่เอาไม้เรียวยอนลงไปล่อให้มันขึ้นมาก็ต้องใช้จอบเสียมขุดรูเอาตัวมันขึ้นมาเผาไฟกินกัน  คำไทยที่ว่าอยู่  “ก้นบึ้ง”  หมายถึงลึกที่สุด  ก็น่ามาจากเจ้าแมงมุมยักษ์ที่มันอยู่กันรูลึกนี่เอง

          พระภิกษุภู่ ฉันอาหารเสร็จก็อนุโมทนา ยะถา สัพพี  แล้วบอกลานายช่องและชาวบ้านตะเข้ออกเดินทางด้วยเท้าตัดตรงเข้าดงรัง  มุ่งสู่พระแท่นดงรัง....

“สำราญรมย์ลมรื่นชื่นชื่นเฉื่อย
เรไรเรื่อยร้องแซ่ดังแตรสังข์
จักจั่นแจ่แม่ม่ายลองไนดัง
วิเวกวังเวงใจในไพรวัน

เป็นป่าสูงฝูงสาลิกาแก้ว
จับพลอดแจ้วจับใจเสียงไก่ขัน
ดอกเต็งรังดังดอกจอกแลดอกจันทน์
เป็นสีสันสอดแซงเหลืองแดงดี

ต่างเก็บได้ใจหมายถวายพระ
ใส่ตะบะแบกเดินเนินวิถี
ถึงพระแท่นแสนสงัดเห็นวัดมี
ทั้งโบสถ์ที่ครอบพระแท่นแผ่นศิลา

กับต้นรังทั้งคู่ยังอยู่พร้อม
ดูยอดน้อมมาข้างแท่นที่แผ่นผา
ต่างชื่นชมโสมนัสยิ่งศรัทธา
ตามบิดาทักษิณด้วยยินดี

เข้าประตูดูแผ่นพระแท่นตั้ง
เหมือนบัลลังก์แลจำรัสรัศมี
ก้อนโลหิตคิดเห็นเช่นบาลี
อยู่ข้างที่แท่นพระเจ้าเข้านิพพาน......”

(https://i.ibb.co/ZhKvmbq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วิหารพระแท่นฯ : วัดพระแท่นดงรัง ต. พระแท่น อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี

          เดินชมป่าคณานกมาอย่างเพลิดเพลินเจริญใจไม่นานก็ถึงสถานที่ประดิษฐานพระแท่นบรรทมในป่าไม้รัง  วันที่พระภิกษุภู่เดินทางไปถึงพระแท่นบรรทมในดงรังนี้  เห็นทีว่าจะไม่ตรงกับวันงานเทศกาลไหว้พระแท่น  เพราะเณรหนูกลั่นบันทึกไว้ว่า  “ถึงพระแท่นแสนสงัด”  คือไม่มีคนพลุกพล่าน  บรรยากาศเงียบสงบ  ท่านว่า  “โบสถ์ครอบพระแท่น”  ซึ่งความจริงแล้วมิใช่โบสถ์  หากแต่เป็นพระวิหาร  หรือพระมณฑปครอบพระแท่นบรรทม  พระภิกษุภู่พาลูก ๆ เดินทำปทักษิณแสดงความเคารพครบสามรอบ  แล้วเข้าไปกราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา.......

          วันนี้อ่านมาถึงตรงนี้ก็ควรหยุดพักไว้ก่อนนะ  พรุ่งนี้มาอ่านตอนจบกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กุมภาพันธ์, 2563, 11:46:50 PM
(https://i.ibb.co/WyRkh9P/sdefault-2.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระแท่นดงรัง ต. พระแท่น อ. ท่ามะกา กาญจนบุรี

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๘ -

“จุดเทียนธูปบุปผาบูชาพระ
นึกมานะนิ่งคิดพิษฐาน
ขอเดชะพระมหาโลกาจารย์
เป็นประธานทั้งพระแท่นแผ่นศิลา

อันชาตินี้มีกรรมมาจำเกิด
ต้องร้างเริดไร้ญาติน้อยวาสนา
สิ้นตระกูลสูญขาดญาติกา
จะก้มหน้าบวชเรียนไม่เวียนวน

ขอเดชะพระผลาอานิสงส์
ซึ่งเราทรงศีลสร้างทางกุศล
อย่ามีโศกโรคภัยสิ่งไรระคน
ประจวบจนจะได้ตรัสด้วยศรัทธา

แม้นมิถึงซึ่งนิพพานการประเสริฐ
จะกลับเกิดก็อย่าคลาดพระศาสนา
ให้เชื้อวงศ์พงศ์พันธุ์กรรุณา
อย่าทำหน้าเหมือนหนึ่งยักษ์ให้รักกัน
 
(https://i.ibb.co/3hjK9zP/BD4426-D680974977-ACC5-E080167-DDCFB.jpg) (https://imgbb.com/)

ให้รูปงามทรามประโลมโฉมฉอเลาะ
รู้ปะเหลาะโลมหญิงทุกสิ่งสรรพ์
พอสบเนตรเจตนาอย่าช้าวัน
ให้นุชนั้นน้อมจิตสนิทใน

ประการหนึ่งซึ่งที่นึกรำลึกถึง
ให้ซาบซึ้งสุจริตพิสมัย
มิตรจิตขอให้มิตรใจไป
เหมือนมาลัยลอยฟ้าลงมามือ

จะออกปากฝากรักก็ศักดิ์ต่ำ
กลัวจะซ้ำถมทับไม่นับถือ
ถึงยามนอนร้อนฤทัยดังไฟฮือ
ชมแต่ชื่อก็ค่อยชื่นทุกคืนวัน

เวลาหลับคลับคล้ายไม่วายเว้น
ได้พบเห็นชื่นใจแต่ในฝัน
ขอฝากปากฝากคำที่รำพัน
ให้ทราบขวัญนัยนาด้วยอาวรณ์

แม้นได้ชมสมหวังดังสวาท
ไม่คลาคลาดเคลื่อนคลายสายสมร
แม้นชาตินี้ชีวาตม์จะขาดรอน
ไม่อาวรณ์หวังให้ลือว่าชื่อชาย

.................. นิราศพระแท่นดงรัง (สามเณรกลั่น)


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นคิดแต่ง  สุนทรภู่ตรวจชำระ  เอามาวางให้อ่านกันถึงตอนที่พระภิกษุภู่นำลูก ๆ มาถึงวัดพระแท่นดงรัง  กระทำความเคารพด้วยการเดินเวียนปทักษิณรอบพระวิหารที่ประดิษฐานพระแท่นบรรทมครบสามรอบ  แล้วเข้าสู่พระวิหารเพื่อสักการบูชาพระแท่นบรรทม  วันนี้มาอ่านกันต่อจนจบเรื่องเลยนะครับ

(https://i.ibb.co/p4jKDLP/DSC00222.jpg) (https://imgbb.com/)
พระแท่นฯ : วัดพระแท่นดงรัง

          กลอนข้างบนนี้ผมปล่อยระยะให้อ่านยาว ๆ  เพราะเป็นคำอธิษฐานของเณรหนูกลั่น  โดยหลังจากจุดธูปเทียนและวางดอกไม้บูชาพระแท่นศิลาที่บรรทมของพระพุทธองค์แล้ว  เณรหนูกลั่นก็ตั้งจิตอธิษฐานดังข้อความในคำกลอนข้างบนนี้  ผมขออนุญาตไม่อภิปรายขยายความใด ๆ  เพราะคำกลอนของท่านชัดเจนดีแล้ว

(https://i.ibb.co/tzmqtXF/1.jpg) (https://imgbb.com/)
เขาถวายพระเพลิง : ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารพระแท่น

“พอบิดาลาออกมานอกโบสถ์
ขึ้นเขาโขดเขตผาศิลาสลาย
เป็นภูมิพื้นรื่นร่มลั่นทมราย
ชื่อเขาถวายเพลิงพระเจ้าเขาเล่าความ

เป็นกรวดแก้วแวววาวพรอยพราวพร่าง
เพชรน้ำค้างอย่างมณีศรีสยาม
แม้นกลางคืนพื้นผาริมอาราม
ดูแวมวามวาบวับแจ่มจับตา

ครั้นกลางวันนั้นก็เห็นเป็นแต่กรวด
จะเก็บมาอวดกันทราบบาปหนักหนา
เที่ยวชมรอบขอบอารามตามบิดา
แล้วเลยลาลัดทางมากลางดง

(https://i.ibb.co/YZ1rn7q/image.jpg) (https://imgbb.com/)
มณฑปเขาถวายพระเพลิง

          ออกจากพระวิหารพระแท่นบรรทม  พระภิกษุภู่พาเดินขึ้นเขาถวายพระเพลิง สูง ๕๕ เมตร  อยู่ทางด้านตะวันตกพระแท่นบรรทม  ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ  ความจริงก็สมมุติกันขึ้นมาว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับสำเร็จพระสีหไสยาสน์บนพระแท่นหินตั้งอยู่ระหว่างนางรังทั้งคู่ แล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน  จากนั้นอีก ๗ วันก็ทำการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ  เณรหนูกลั่นกล่าวว่า  เขาถวายพระเพลิงเป็นภูเขากรวด  กลางวันก็เห็นเป็นกรวดทรายธรรมดา  แต่เวลากลางคืนส่งประกายวามวาวราวกับเพชรน้ำค้าง  คิดจะเก็บไปอวดกันก็ไม่กล้า  เพราะเขาว่าเป็นบาปหนักหนา  เที่ยวชมทั่วเขาถวายพระเพลิงแล้วก็กราบลาเดินทางลัดป่าดงกลับไปท่าเรือ.....

“ถึงท่าเรือเมื่อตะวันสายัณห์ค่ำ
ได้กรวดน้ำแผ่ผลาอานิสงส์
ให้ดับโศกโลกธาตุญาติวงศ์
แล้วล่องลงมาทางหาดราชพรี

เมื่อเดินทางกลางแดนนั้นแสนอด
เสบียงหมดหมายมุ่งมากรุงศรี
โอ้เศร้าสร้อยน้อยหน้าทั้งตาปี
ด้วยไม่มีญาติมิตรสนิทใน

ถึงคนผู้อยู่เกลื่อนก็เหมือนเปลี่ยว
สุดจะเหลียวแลหาที่อาศัย
คำบูราณท่านว่ามิตรใจ
ก็เปล่าไปไม่เหมือนคำที่รำพัน

จำเดิมแต่แลพบประสบพักตร
เรานึกรักร่ำไปเฝ้าใฝ่ฝัน
คอยฟังฝ่ายสายสวาทไม่ขาดวัน
ไม่ผ่อนผันพจมานประการใด

จะเด็ดรักหักจิตไม่คิดรัก
ดังศรปักสักแสนศรถอนไม่ไหว
จะสู้บวชรวดเดียวไม่เกี้ยวใคร
ธุดงค์ไปโป่งป่าตามอาจารย์

แม้นผู้ใดได้อ่านของฉันมั่ง
ทั้งผู่ฟังเรื่องไร้แรมไพรสาณฑ์
แบ่งกุศลผลผลาสมาทาน
ให้กับท่านทุกทุกคนตามจนเอยฯ

(https://i.ibb.co/PTdf5rF/ggfs.jpg) (https://imgbb.com/)

          กลับถึงท่าเรือแล้วท่านก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญที่ได้ทำให้แก่วงศาคณาญาติ  จากนั้นพระภิกษุภู่ก็สั่งถอนสมอเรือแจวล่องกลับมาทาทางเดิม  เณรหนูกลั่นก็เผยความในใจว่า  สนใจรักใคร่ในสตรีคนหนึ่งแต่ไม่กล้าเอ่ยปากฝากคำรัก  เพราะเห็นว่าเกินศักดิ์ตนเอง  จึงคิดตัดใจจะบวชรวดเดียวไม่เกี้ยวใคร  จะออกเดินธุดงค์ตามอาจารย์ตลอดไป

          นิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นก็เป็นอันจบบริบูรณ์  จากนี้ไม่ทราบความเป็นไปของเณรหนูกลั่นเลยว่า  ท่านบวชต่อจากเณรเป็นพระภิกษุอยู่ในผ้าเหลืองจนตาย  หรือว่าสึกหาลาเพศไปรับราชการได้ดิบได้ดีอย่างไรบ้าง  และก็ไม่พบงานกลอนกวีใด ๆ ที่ระบุว่าเป็นของเณรหนูกลั่นอีกเลย.....

          เรื่องราวของสุนทรภู่ยังไม่จบบริบูรณ์นะ  พรุ่งนี้มาพูดถึงท่านต่อกันอีกหน่อยครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, กุมภาพันธ์, 2563, 10:13:09 PM
(https://i.ibb.co/RhQjWSM/soontornphu-750x508.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๙๙ -

ยอดนักกลอน“สุนทรภู่”มิใช่ไพร่
เกิดโตในวังหลัง“รอหนึ่ง”แน่
เป็นอาลักษณ์วังหลวงแล้วผันแปร
บวชเล่นแร่แปรธาตุนิราศไป

ปลายชีวิตฝากฝังชีพวังหน้า
เจ้ากรมอาลักษณ์แจ้งตำแหน่งใหญ่
“พระสุนทรโวหาร”สำราญใจ
อายุได้เจ็ดสิบปีวายชีวา........

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำกลอนนิราศพระแท่นดงรังสำนวนเณรหนูกลั่นบุตรบุญธรรมของสุนทรภู่มาให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบบริบูรณ์ไปแล้ว  แต่เรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ยังไม่จบ  วันนี้จึงขอกล่าวถึงเรื่องของท่านกันต่อไปอีกนะครับ

(https://i.ibb.co/GvXCLGK/48954589-378222862926592-1033304818577309696-n.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

          พอจะสรุปได้ว่าสุนทรภู่ไม่ใช่ไพร่สามัญชนธรรมดา  เพราะบิดาของท่านเป็นอดีตขุนทหารคนหนึ่ง (ขุนศรีสังหาร)  รับราชการทหารในกองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน  มารดาเป็นพระญาติกับพระชายากรมพระราชวังหลัง  และเป็นแม่นมในพระราชวังหลัง  สุนทรภู่เติบโตในวังหลัง  แล้วเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ในพระราชวังหลวง  มีบรรดาศักดิ์ที่ขุนสุนทรโวหาร  เป็นกวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒)  ครั้นรัชกาลที่ ๒ สวรรคตแล้วท่านออกจากราชการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  มีสำนักที่อยู่เป็นหลักแหล่งชัดเจนคือวัดเลียบ (ราชบูรณะ)  และวัดเทพธิดาราม  ขณะเป็นพระภิกษุท่านได้แต่งนิราศที่สำคัญไว้หลายเรื่อง

          เมื่อออกจากวัดเทพธิดาราม  และลาสิกขา ปี พ.ศ.๒๓๘๕ นั้น อายุท่านได้ ๕๗ ปีแล้ว  ไปอาศัยอยู่กับพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล)  ในพระราชวังเดิม  และเข้ารับราชการในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าโปรดให้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์พระราชวังบวรฯ  พร้อมบรรดาศักดิ์ที่ พระสุนทรโวหาร  ท่านรับราชการในกรมพระราชวังบวรฯ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๓๙๘  ก็ถึงแก่มรณกรรมด้วยอายุ ๗๐ ปี ณ บ้านพักพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม  นั่นเอง

(https://i.ibb.co/xzFfGp1/image.jpg) (https://imgbb.com/)
หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค)

          อยากรู้ไหมครับว่า  พระยามณเฑียรบาล  ที่สุนทรภู่ไปยึดถือเป็นที่ตายของท่านนั้นเป็นใคร  ถ้าอยากรูก็ต้องฟังผู้รู้ดีคือ  “ท่านจันทร์”  พ.ณ. ประมวญมารค  บอกเล่าไว้ในหนังสือ  “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง)”  นะครับ  ท่านบอกเล่าไว้ดังต่อไปนี้

           “พระยามณเฑียรบาล (บัว) เป็นข้าหลวงเดิม  แก่กว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิบสองปี  เคยเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์  แลเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วย  ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระจำเริญแล้ว  พระพี่เลี้ยงบัวได้เป็นจางวาง  แต่ยิ่งกว่าจางวาง  เป็นนายวังนายคลังเสร็จ  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ทรงระแวงเลยว่าเงินอาจไม่มีเพียงพอทรงใช้  จึงมีเวลาขาดแคลนบ่อย ๆ ในรัชกาลที่ ๓ ฐานะของพระองค์ไม่เหมือนในรัชกาลที่ ๒ แลที่ ๔  ถึงจะมีส่วยสาอากรขึ้นอย่างเจ้านายอื่น ๆ  แลคงจะไม่ถึงข้นแค้นเพราะมีทรัพย์สมบัติ  ส่วนพระราชชนนีแลส่วนพระองค์ที่มีอยู่แล้ว  แลได้มาโดยตำแหน่งที่มีราชการเป็นผู้ใหญ่อยู่ในแผ่นดินก็จริง  ถึงกระนั้นยังมีเวลาเงินขาดวัง  จางวางบัวต้องออกเที่ยวขวนขวายเก็บภาษีอากรล่วงหน้า  หรือหยิบยืมในที่ต่าง ๆ  ในนามของจางวางบัวเอง  เอาเงินมาทดรองใช้ในราชการของเจ้า  ถ้าต้องกู้หนี้เมื่อได้เงินอื่นมาก็จัดการใช้ไปเสร็จ  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ต้องทรงทราบ  แลไม่ใฝ่พระทัยที่จะไต่ถามเลย

          ในรัชกาลที่ ๔ พระยามณเฑียรบาล (บัว)  ว่าราชการกรมวังวังน่า  แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานพานทองไปแต่วังหลวง  เพราะทรงคุ้นเคยโปรดปรานมาแต่ก่อน  พระยามณเฑียรบาลเป็นขุนนางวังน่าก็จริง  แต่เป็นคนโปรดวังหลวง  มีตำแหน่งเฝ้าได้เหมือนขุนนางวังหลวงอีกส่วนหนึ่ง  บางคราวมีราชการเกี่ยวกับวังน่า  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระบรมราชโองการให้หาพระยามณเฑียรบาลไปเฝ้า  หรือพระราชหัตถเลขาถึงก็มี  พระยามณเฑียรบาลเคยบอกเล่าว่า  บางคราววังหลวงรับสั่งให้หา  ครั้นไปเฝ้าแล้ว  กลับไปวังน่าจะนำความไปทูล  เสด็จออกอยู่ท้องพระโรง  ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระยามณเฑียรบาลเข้าไปก็เสด็จลงจากพระราชอาสน์  ซุดพระองค์ลงหมอบแป้น  ตรัสบุ้ยใบ้บอกข้าราชการว่าผู้มีบุญคนโปรดเจ้าชีวิตเขามา  ต้องแสดงความเคารพให้สมเกียรติ  ต่อเมื่อพระยามณเฑียรบาลคลานเข้าไปถึงจะกราบทูลเรื่องราชการ  จึงทรงพระสรวล  เสด็จกลับพระแท่น

           “ราชการกรมวังในวังน่านั้น  พระยามณเฑียรบาลเป็นผู้สิทธิขาด  เรียกกันว่าเจ้าคุณผู้เฒ่า  เข้าออกในวังได้  ไม่ว่ากลางวันกลางคืน  ไม่ต้องมีโขลนจ่าควบคุม  ไปเยี่ยมเยียนตามตำหนักเจ้านายแลตามเรือนเจ้าจอมหม่อมห้ามได้ทุกแห่ง  เป็น “คุณตา” ของเจ้านายลูกเธอโดยมาก

          พระยามณเฑียรบาล (บัว) มีชีวิตต่อมาจนข้าพเจ้ารู้จัก อายุ ๙๐ ปีเศษแล้วยังไม่เห็นเป็นคนแก่ซุดโซม  โรคภัยไม่มี  จนในที่สุดเมื่อตายก็ไม่ป่วย  นอนกลางคืนก็ตายไปเฉย ๆ”

(จบความจากประชุมปาฐกถา)

(https://i.ibb.co/b5Pckxy/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรพักตร์

          พระยามณเฑียรบาล (บัว) มีภรรยาสองคน  คนที่สองเป็นข้าของสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์พระราชทาน  มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน  คนที่ ๓ เป็นหญิงชื่อละโว้  คนที่ ๔ ได้เป็นพระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล)  แลคนสุดท้องชื่อส่าน  รับราชการฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงวรพักตร

(https://i.ibb.co/1dmtP5c/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ)

          ส่วนธิดาชื่อละโว้เป็นภรรยานายสุจินดา (พลอย ชูโต)  มีบุตร ๓ คน  ธิดา ๑   ชื่อเลี่ยม (เล็ก) รับราชการฝ่ายในในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงภัททาวดีศรีราชธิดา  แลพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ)

(https://i.ibb.co/zXDh4HZ/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/ZLZ3mkn/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ และ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

          นอกนั้นนายสุจินดา (พลอย) ยังมีธิดากับภรรยาเก่าคนหนึ่งชื่อเปลี่ยน  เป็นท่านผู้หญิงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)  ธิดาสองคนของนายสุจินดา(พลอย) คือ “ย่าแลยาย” ตัวของข้าพเจ้า  เป็น “หลานสาว” บ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว)

          อนึ่ง กรมหมื่นพิทยาลงกรณ  เมื่อเสด็จออกจากวังหน้าแล้ว  ก็ได้ไปประทับที่บ้านนั้นก่อนเสด็จไปเมืองนอก  แลหลังเสด็จกลับใหม่ ๆ บ้านนั้นปัจจุบันใช้เป็นที่โรงเรียนนายเรือ

          ก็เป็นอันยุติได้ว่าพระสุนทรโวหาร (ภู่) เจ้ากรมอาลักษณ์ ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถึงแก่กรรมที่บ้านพักของพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม  ด้วยวัย ๗๐ ปีบริบูรณ์  ปัจจุบันบ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว)  ที่พำนักสุดท้ายในชีวิตของสุนทรภู่  เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือไปแล้ว

          พรุ่งนี้มาดูผลงานอันเป็น “ควันหลง” ของสุนทรภู่กันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เเมืองสุโขทัย
๒ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กุมภาพันธ์, 2563, 09:54:48 PM
(https://i.ibb.co/k1r8FRk/soonthornphu12.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๐ -
(กวีเอกพระพุทธเลิศหล้าฯ)

มีผลงานการประพันธ์อันโดดเด่น
เป็นหลักเกณฑ์กลอนตลาดปราชญ์ภาษา
นิยายนิราศภาษิตเชิงวิทยา
เป็นตำราเรียนรู้ดั่งครูกลอน.....

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันก่อนนี้ได้นำเรื่องราวของสุนทรภู่ตอนอาวสานชีวิตมาบอกเล่าโดยสรุปให้ทุกท่านได้ทราบว่า  สุนทรภู่เกิดในวังหลัง  แล้วเข้าไปมีชื่อเสียงโด่งดังในวังหลวง  และใช้ชีวิตบั้นปลายในวังหน้า  ถึงแก่กรรมที่บ้านพักพระยามณเฑียรบาล(บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิม  ซึ่งเป็นโรงเรียนนายเรือปัจจุบัน  วันนี้มาว่ากันต่อในชีวิตและงานของท่านสุนทรภู่  ดูควันหลงคือผลงานของท่านที่ทอดทิ้งไว้ให้คนไทยได้ชื่นชมกันครับ

(https://i.ibb.co/Zmd5Zty/1546373415880150900.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในวาระครบ ๒๐๐ ปีชาตกาลของท่านสุนทรภู่  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙  องค์การศึกษา  วิทยาศาสตร์  และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือ  องค์การยูเนสโก (UNESCO)  ได้ประกาศเกียรติคุณและยกย่องสุนทรภู่ว่า  เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมและวรรณคดี  จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลก  ซึ่งผลงานการประพันธ์เป็นร้อยกรองของท่านนั้น  ที่พบแล้วมี ๒๔ เรื่องดังต่อไปนี้  คือ

          ๑. นิราศ ๙ เรื่อง  ได้แก่  นิราศเมืองแกลง  นิราศพระบาท  นิราศภูเขาทอง  โคลงนิราศสุพรรณ  นิราศวัดเจ้าฟ้า  นิราศอิเหนา  นิราศเมืองเพชร  รำพันพิลาป  นิราศพระประธม
          ๒. นิทานคำกลอน ๕ เรื่อง  คือ  โคบุตร  พระอภัยมณี  กาพย์พระไชยสุริยา  ลักษณวงศ์  และสิงหไกรภพ
          ๓. สุภาษิต ๓ เรื่อง  คือ  สวัสดิรักษา  เพลงยาวถวายโอวาท  และ  สุภาษิตสอนหญิง
          ๔. บทละคร ๑ เรื่อง  คือ  อภัยนุราช
          ๕. เสภาคำกลอน ๒ เรื่อง  คือ  เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนกำเนิดพลายงาม  และเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร
          ๖. บทเห่กล่อมพระบรรทม ๔ เรื่อง  คือ  เห่เรื่องพระอภัยมณี  เห่เรื่องโคบุตร  เห่จับระบำ  และเห่เรื่องกากี

          คำประพันธ์แต่ละเรื่องนั้นมีประวัติ  คือที่มา  หรือสาเหตุ  และช่วงเวลาของการประพันธ์ที่น่ารู้  หรือควรรู้ไว้บ้าง  “ท่านจันทร์”  พ.ณ.ประมวญมารค  บอกเล่าไว้โดยย่อดังต่อไปนี้

          - “พ.ศ. ๒๓๕๐ (ต้นปี)  ไปหาบิดาที่เมืองแกลง  แต่งนิราศเมืองแกลง
          - พ.ศ. ๒๓๕๐ (ปลายปี)  ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระบาท  แต่งนิราศพระบาท
          - พ.ศ. ๒๓๕๒  เปลี่ยนแผ่นดิน (เป็น รัชกาลที่ ๒)
          - พ.ศ. ๒๓๕๙  ทอดบัตรสนเท่ห์  สุนทรภู่เข้ารับราชการ (?)  เป็นขุนสุนทรโวหาร

          ตามที่เล่ากันมา  สุนทรภู่แต่งนิทานเรื่องโคบุตรก่อนไปเมืองแกลง  แลเรื่องลัษณวงศ์ก่อนเข้ารับราชการ  ระหว่างนั้นได้แต่งเรื่องจันทโครบถึงเข้าถ้ำมุจลินท์  แลสุภาษิตสอนหญิง  ส่วนเรื่องที่แต่งในรัชกาลที่ ๒ มี  สิงหไกรภพ  ตอนต้น  พระอภัยมณีตอนต้น  แลเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนกำเนิดพลายงาม

          - พ.ศ. ๒๓๖๗  เปลี่ยนแผ่นดิน (เป็นรัชกาลที่ ๓)  สุนทรภู่ออกบวช
          - พ.ศ. ๒๓๗๐  มาอยู่วัดราชบูรณะ
          - พ.ศ. ๒๓๗๑  ไปอยุธยา  แต่งนิราศภูเขาทอง
          - พ.ศ. ๒๓๗๒  เจ้าฟ้ากลาง  เจ้าฟ้าปิ๋ว  มาเป็นลูกศิษย์  แต่งเพลงยาวถวายโอวาท
          - พ.ศ. ๒๓๗๔  ไปเพชรบุรี  แต่งนิราศเมืองเพชร
          - พ.ศ. ๒๓๗๕  ไปอยุธยา  แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า (สำนวนเณรหนูพัด)
          - พ.ศ. ๒๓๗๖  ไปพระแท่นดงรัง  เณรหนูกลั่นแต่งนิราศเณรกลั่น
          - พ.ศ. ๒๓๗๙  โดยประมาณ  ไปสุพรรณบุรี  แต่งนิราศสุพรรณคำโคลง
          - พ.ศ. ๒๓๘๐ (ประมาณ)  ต่อเรื่องพระอภัยมณี
          - พ.ศ. ๒๓๘๒  ย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาฯ
          - พ.ศ. ๒๓๘๓ (ประมาณ)  ต่อเรื่องสิงหไกรภพ
          - พ.ศ. ๒๓๘๔  ไปพระประธม  แต่งนิราศพระประธม
          - พ.ศ. ๒๓๘๕  แต่งรำพันพิลาป  แล้วลาสิกขาไปอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย

          ระหว่างที่อยู่วัดเทพธิดาฯ ได้แต่งกาพย์ลำนำเรื่องพระไชยสุริยา  แลอาจได้แต่งนิราศอิเหนา  กับเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องพระอภัยมณี  ส่วนเห่เรื่องอื่น ๆ อาจแต่งในรัชกาลที่ ๒

          - พ.ศ. ๒๓๙๔  เปลี่ยนแผ่นดิน (เป็นรัชกาลที่ ๔ )  สุนทรภู่เป็นพระสุนทรโวหาร อาลักษณ์วังหน้า
          - พ.ศ. ๒๓๙๘  ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๔  เข้าใจว่าแต่งเรื่องสวัสดิรักษา  แลเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

(https://i.ibb.co/R9JBXwj/1498556489-8899.jpg) (https://imgbb.com/)

          ข้อความข้างบนนี้  สันนิษฐานตามหลักฐานที่มีอยู่ในมือ  ในขณะที่เขียนในโอกาสต่อไป  เป็นต้น  เมื่อพบที่ว่าแต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็อาจเกิดข้อผิดพลาดได้  ข้าพเจ้าไม่นึกว่าเรื่องสุนทรภู่จะเสร็จสิ้นลงได้ในหนังสือเพียง ๑ เล่ม  แม้แต่ข้าพเจ้าเองซึ่งในปัจจุบันเบื่อเรื่องสุนทรภู่เต็มที  หากกลับมาจับเรื่องใหม่ก็อาจพบข้อบกพร่องสมควรแก้ไขหรือเสริมรายละเอียดอีกได้  ยกตัวอย่าง นิราศเมืองเพชร  และนิราศพระประธม  ซึ่งแต่ก่อนว่าแต่งเมื่อสึกแล้ว  แต่นำมาตั้งศักราชใหม่ว่าแต่ง พ.ศ. ๒๓๗๓  แล พ.ศ. ๒๓๘๔  ข้าพเจ้าก็ว่าเรื่องมันคลุมเครือเต็มที  ถ้าจะพิจารณากิริยาของหนูพัดแลหนูตาบก็น่าจะแต่งในระหว่างบวชจริง (หนูพัดไปเมืองเพชรด้วย แต่ไม่ได้ไปพระประธม    หนูตาบไปพระประธม แต่ไม่ได้ไปเมืองเพชร  ในระหว่าง ๒ เรื่อง  หนูพัดหนูตาบพร้อมด้วยหนูกลั่นไปวัดเจ้าฟ้า  พระแท่นดงรัง แลสุพรรณ)  แต่ในบทไม่บ่งชัดไปว่าไปในขณะเป็นพระหรือฆราวาส  ทั้งนี้เป็นเรื่องที่สมควรพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง

          แต่จะอย่างไรก็ตาม  หากมีข้อความใดผิดพลาดขาดตกบกพร่องเกิดขึ้นในภายหน้า  ท่านผู้อ่านจงเข้าใจเป็นเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของข้าพเจ้าเอง  ข้าพเจ้าเอง  ข้าพเจ้าเอง”

          ข้อความข้างต้นนี้  เป็นพระนิพนธ์ (ข้อเขียน) ของ “ท่านจันทร์" พ.ณ.ประมวญมารค  ท่านให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากที่สุด  แต่ก็ยังทรงถ่อมพระองค์สมกับที่ทรงเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต  ยังมีรายละเอียดในการประพันธ์เรื่องต่าง ๆ ของสุนทรภู่และศิษย์สุนทรภู่ตกค้างอยู่อีกพอสมควร  พรุ่งนี้จะนำมาพูดถึงกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไ เมืองสุโขทัย
๓ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, กุมภาพันธ์, 2563, 10:19:16 PM
(https://i.ibb.co/LrSXV5F/Untitled-1-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๑ -
(จารึกวัดโพธิไร้งานสุนทรภู่)

สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่
คนไทยดูงานกวีมีค่าหย่อน
ไม่ยกย่องมองผ่านรำคาญคอน
แล“สุนทรภู่”ไกลอยู่ปลายตา....

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำบทนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์” พ.ณ. ประมวญมารค  ที่ลำดับระยะเวลาการแต่งกลอนเรื่องต่าง ๆ ของสุนทรภู่มาแสดงให้ทุกท่านได้รับทราบในทัศนะหนึ่ง  วันนี้มาดูแง่มุมต่าง ๆ ของสุนทรภู่ในมุมมองของ  “ท่านจันทร์”  กันต่อนะครับ

          มีคำกล่าวกันถึงท่านสุนทรภู่ว่า  เป็นนักกลอนปากตลาด  หมายถึงเป็นแค่นักกลอนจำพวกเล่นเพลงพื้นบ้านงานวัดธรรมดา  ไม่ได้เป็นนักกลอนกวีชั้นสูงเช่นกวีในรั้วในวัง

(https://i.ibb.co/j9tZMcw/w644-3.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)

          ดังนั้นในคราวที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  โปรดให้ชุมนุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตทุกแขนงวิชาการ  มาถ่ายทอดความรู้จารึกบันทึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ นั้น  มีนักกวีใหญ่น้อยจำนวนมากมาชุมนุมและแต่งบทกวี  เป็น  ร่าย  โคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  ในรูปแบบฉันทลักษณ์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด  นักกลอนที่ไม่เคยปรากฏชื่อมาก่อนก็มาปรากฏชื่อในชุมนุมนี้หลายท่าน  แต่ไม่ปรากฏชื่อของสุนทรภู่ในชุมนุมนี้เลย

          ว่ากันว่า  สุนทรภู่ถูกรังเกียจกีดกันไม่ให้เข้าร่วมในชุมนุมกวีครั้งนี้  เพราะว่าสุนทรภู่ไม่เป็นที่พอพระทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓) ประการหนึ่ง   อีกประการหนึ่ง เพราะสุนทรภู่เป็นนักกลอนชาวบ้านร้านตลาด  หรือ  นักกวีชั้นต่ำอยู่ปลายแถวสุด  จึงไม่ควรให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมนี้  สุนทรภู่จึงเป็นนักกลอนกวีที่อยู่นอกทำเนียบ  นอกสายตาของทางราชการ

          แต่ในมุมมองของ  “ท่านจันทร์”  ตรงกันข้ามกับความที่กล่าวมาข้างต้น  โดยท่านได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้ในวารสารศิลปากรแล้ว  และยังได้มาขยายความไว้ในหนังสือ  “ประวัติคำกลอนสุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง)”  ซึ่งจะขอยกข้อความที่ทรงขยายความทั้งหมดมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/pnNMLSG/551000003921304.jpg) (https://imgbb.com/)
จารึกเพลงยาวกลบทต่าง ๆ ที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ : วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)

           “๒๘ เพลงยาวกลบทกลอักษร”

           “เหตุสุนทรภู่มิได้แต่งเพลงยาวถวาย  สำหรับจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ  ถือกันเป็นข้อใหญ่ที่นำมาอ้างว่า  สุนทรภู่ถูกถอดและเป็นที่น่ารังเกียจ  เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ยกมาอ้างแล้วในวารสารกรมศิลปากร  แต่ในที่นี้จะขอขยายความอีกเล็กน้อย

          จารึกวัดพระเชตุพนแบ่งออกอย่างกว้าง ๆ เป็น ๕ ประเภท  มี  ตำรายา ๑    ตำราวรรณคดี ๑    สุภาษิต ๑    ประวัติการปฏิสังขรณ์ ๑    และคำบรรยายประกอบรูปต่าง ๆ ๑    บางอย่างพระแต่ง  บางอย่างฆราวาสแต่ง  บางอย่างแต่งทั้งสองฝ่าย  ดูเค้าจะทรงมอบหมายให้ผู้ใหญ่ผู้ใดผู้หนึ่งรับหน้าที่รวบรวมบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

          ประวัติการปฏิสังขรณ์  เป็นพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสส่วนมาก  มีพระราชาคณะผู้ใหญ่ช่วยบ้างเล็กน้อย
          ในประเภทสุภาษิตซึ่งใช้ของเก่า  เว้นแต่ในเมื่อของเก่าไม่ดีพอจึงแปลงหรือแต่งใหม่  ทรงมอบให้สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศรตรวจแก้โลกนิติ
          ส่วนที่เป็นคำฉันท์  ดูเหมือนสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสจะทรงคุมเอง  ตลอดจนทรงแต่งกฤษณาสอนน้องใหม่
          ส่วนคำบรรยายภาพต่าง ๆ มีภาพคนต่างภาษา  รูปฤๅษีดัดตน ฯลฯ  แต่งทั้งสองฝ่าย   รูปเรื่องรามเกียรติ์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต และฆราวาสแต่ง
          ส่วนตำราโคลงและคำฉันท์ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่ง
          เพลงยาวกลบทกลอักษร  ดูเค้าว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงคุมเอง  ไม่มีพระแต่งเลยสักบทเดียว  เหตุที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งแต่เฉพาะฆราวาส  มีเค้าอยู่ในคำพระราชปรารภประกอบเพลงยาวว่า

"อันอักษรกลอนเพลงนักเลงเหล้น
จะรักใคร่ให้พอเป็นแต่พาเหียร
อย่าหลงใหลในศรีปากคิดพากเพียร
แท้บาปเบียนตนตามรูปนามธำม์

ก็ทรงทราบว่าสังวาสนี้บาดจิตร
ย่อมเป็นพิศม์กับสัลเหลขคือเนกขัม
แต่บูชาไว้ให้ครบจบลำนำ
เป็นที่สำราญมะนัศผู้มัศการ"

(อ้างแล้ว. ๒๕๔๔.๕๔๖)

(https://i.ibb.co/MRdgY7m/561000010682103.jpg) (https://imgbb.com/)
จารึกต่าง ๆ ที่วัดโพธิ์

          ในขณะที่แต่งเพลงยาวกลบทกลอักษรกัน  สุนทรภู่บวชเป็นพระ  จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะแต่งบทสังวาสถวายได้  ด้วยเหตุนี้จึงไม่ปรากฏชื่ออยู่ในจำพวกฆราวาสที่ชุมนุมแต่งเพลงยาวกลบทกลอักษร”

          สรุปได้ว่า  เหตุที่ไม่มีชื่อสุนทรภู่อยู่ในกลุ่มผู้แต่งกลอนจารึกวัดพระเชตุพนฯ นั้น  เพราะในช่วงเวลานั้นสุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุอยู่  จึงไม่ถูกนิมนต์ให้เข้าร่วมแต่งกลอนเชิงสังวาสตามถนัดได้  เหตุผลของ  “ท่านจันทร์”  ข้อนี้ฟังขึ้นนะครับ

          บทกลอนเชิงสังวาส  หรือ  เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่นักกลอนแต่งจารึกไว้ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ  ก็อยู่ในจารึกและตำราเรียนจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน  ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ไม่มีใครรู้จักชื่อคนแต่งและไม่รู้จักสำนวนกลอนเหล่านั้น  ว่ารสถ้อยร้อยคำกลอนในจารึกนั้นเป็นฉันใด

(https://i.ibb.co/h8TzXnP/27deff0eda6d39d15a542784724889e7.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่กลอนสุนทรภู่ที่อยู่นอกทำเนียบจารึกมากมาย  กลับเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป  จำติดใจและพูดกันติดปากติดคำ

          ถ้าพูดถึงบทกลอนแล้ว  ใคร ๆ ก็คิดถึง  พูดถึงสุนทรภู่  ใครนำคำกลอนเพราะ ๆ ของคนอื่นมากล่าว  ผู้ฟังส่วนมากก็จะว่าเป็นกลอนสุนทรภู่  นาม “สุนทรภู่”  จึงเป็นนามที่มีมนต์ขลังอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

          มีงานกลอนของสุนทรภู่อีกหลายชิ้นที่  “ท่านจันทร์”  ทรงกล่าวถึงในแง่มุมมองของท่านอีกหลายเรื่อง  จะนำมาเผยแผ่ในที่นี้อีกในวันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กุมภาพันธ์, 2563, 08:14:03 AM
(https://i.ibb.co/vL6PZJ1/5q.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๒ -
(ปราชญ์พูดถึงสุนทรภู่)

คำกลอนสุนทรภู่อ่านรู้รส
เช่นดังบทนิราศชัดภาษา
“สิ้นแผนดินสิ้นรสสุคนธา
วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์”

.................. เต็ม อภินันท์

   
          อภิปราย ขยายความ..............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์” พ.ณ.ประมวญมารค  ที่ทรงวิเคราะห์ประเด็นที่ว่า  เพราะเหตุใดสุนทรภู่จึงไม่มีชื่อปรากฏในคณะนักกวีที่ชุมนุมแต่งบทกวีในจารึกวัดพระเชตุพนฯ  วันนี้มาดูเรื่องของสุนทรภู่ในประเด็นอื่น ๆ กันต่อไปนะครับ

           “ท่านจันทร์”  ได้นำความจาก  “กลอน แล นักกลอน”  พระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.)  ซึ่งพิมพ์แจกในวันกฐินกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ณ วัดประทุมคงคา พ.ศ. ๒๔๗๓  โดยเสด็จในกรมฯ ทรงวิพากย์สุนทรภู่ไว้อย่างน่าฟัง  ว่า

(https://i.ibb.co/yQrNQn3/image.jpg) (https://imgbb.com/)
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.)

           “๓๐ สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา”

          เสียเวลามาก็มากแล้ว  ตอนนี้เริ่มพูดถึง  “รสกวี”  กันเสียที  ในหนังสือกลอน แล นักกลอน  ของ น.ม.ส.  มีอธิบายถึงความเพลินสามประการดังต่อไปนี้

           “ความเพลิน ๓ ประการ”

           “ความเพลินซึ่งกาพย์ดีย่อมทำให้เกิดแก่ผู้อ่านผู้ฟังนั้น  ท่านว่าอาจแยกได้เป็น ๓ ประการ  คือ

          เพลินดนตรี  นัยหนึ่งความไพเราะแห่งสำเนียง  คำอันกระทบกันโดยสัมผัส  หรือโดยความขึ้นลงแห่งเสียงสั้นเสียงยาว  หรือเสียงต่ำเสียงสูง ประการหนึ่ง
          เพลินปัญญา  นัยหนึ่งสบายใจในทางความคิดความรู้  ประการหนึ่ง
          เพลินในวิธีที่กล่าวความนึกออกมาด้วยถ้อยคำอันดูดดื่ม  ประการหนึ่ง

          ความเพลินทั้ง ๓ ประการนี้  กลอนดีจริง ๆ อาจให้ความพร้อมกันทั้งหมด  แต่ถึงจะไม่พร้อมกันก็ยังเป็นเครื่องสำราญอย่างดีอยู่นั่นเอง  จะยกตัวอย่างกลอนสุนทรภู่ท่อนหนึ่ง  ซึ่งให้ความเพลินแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินผู้อื่นท่องให้ฟัง  จำได้ทันที  แลได้จำไว้เพื่อจะเพลินทุกครั้งที่นึกถึงกลอนท่อนนั้น  

          เมื่อสองสามวันนี้  ข้าพเจ้าได้หยิบนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่มาอ่าน  เพื่อจะสอบความจำสำหรับที่จำนำมาเขียนหนังสือนี้  ครั้นอ่านแล้วความเพลินของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป  ดังจะนำมาเล่าต่อไปนี้

สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา
วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์...

           นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  เป็นกลอนซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อไปไหว้พระวัดภูเขาทองกรุงเก่า  เวลานั้นสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้ว  ในรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่เป็นคนโปรด  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กลอนเป็นอันมากดังทราบกันอยู่แล้ว  สุนทรภู่เป็นนักกลอนอย่างเอก  ได้เฝ้าแหนใกล้ชิดพระองค์  เป็นต้นว่า  เวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดกฐินปีละหลาย ๆ วัน  วันละหลาย ๆ ชั่วโมง  ประทับในเรือพระที่นั่งกับกวีอื่นที่เป็นคนโปรดด้วยกัน  เช่น   “เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย”  เป็นต้น

          ในรัชกาลที่ ๒ นั้น  กล่าวกันว่า  สุนทรภู่ทำตัวไม่เป็นที่ชอบพระทัยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เห็นจะเป็นเพราะว่าหยิ่งว่าเป็นนักกลอนดี  แม้เจ้านายผู้ใหญ่ก็ไม่ยำเกรง  ถ้าได้ทีจะ  “หักเหลี่ยม”  ในทางกลอน  แกก็ไม่ละเว้น  เรานึกดูในเวลานี้  ก็เห็นว่าสุนทรภู่คงจะเป็นคนน่าหมั่นไส้ของผู้ที่ไม่เห็นว่ากลอนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก  แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็คงจะโปรดสุนทรภู่แต่ในทางกลอนอย่างเดียว  ในทางอื่นนึกไม่เห็นว่าจะทรงพระกรุณายกย่องได้อย่างไร

(https://i.ibb.co/Mn220Cm/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)

          การเป็นเช่นนี้  ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๒  สุนทรภู่ก็ตกอับ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  สุนทรภู่รู้ตัวว่าเป็นผู้ไม่ถูกพระราชอัธยาศัย  ระแวงตัวกลัวราชภัยก็หนีบวช  แลเป็นธรรมดาของคนที่เคยสำราญหยำเปอยู่กับถ้วยเหล้า  เมื่อออกบวชเพื่อจะหลีกเลี่ยงภัย  ไม่ใช่โดยศรัทธา  ก็ไม่รื่นรมย์ในสมณเพศ  ยิ่งเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าผู้ทรงพระกรุณาสิ้นไป  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ไม่ทรงพระกรุณา  ความน้อยใจอันไม่มีเหตุควรเกิดก็เกิด  ผู้น้อยใจโดยประการฉะนี้มักเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าประเสริฐทุกอย่าง  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ใช้ไม่ได้  เหตุฉะนี้  เมื่อสุนทรภู่ได้เขียนไว้ว่า  “สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา  วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์”  แลมีผู้ท่องให้ข้าพเจ้าฟัง  ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าดีนัก  เพราะได้ความเพลินอย่างน้อย ๒ ประการ  คือ  เพลินโดยสำเนียงไพเราะประการหนึ่ง  เพลินเพราะใช้คำได้ความลึกซึ้งอย่างหนึ่ง

          ข้าพเจ้านึกว่าคำว่า  “แผ่นดิน”  ซึ่งสุนทรภู่ใช้ในที่นั้นมีความหมายสองอย่าง  หมายความว่ารัชกาลอย่างหนึ่ง  หมายความว่าพื้นดินอย่างหนึ่ง  เมื่อคำนี้มีความหมายสองอย่างเช่นนี้  กลอนท่อนนั้นก็อ่านได้ความลึกซึ้งว่า  ในสมัยที่พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่ายังทรงปกครองบ้านเมืองบำรุงอาณาประชาราษฎร์อยู่นั้น  แผ่นดินชุ่มชื่นมีรสหอมหวาน  กล่าวนัยหนึ่ง  พื้นดินเป็นที่เกิดแห่งพืชพรรณธัญญาหารแลบุปผชาติอันตระการ  เมื่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข  ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล  แม่ธรณียินดีในพระมหากษัตริย์  ก็ช่วยส่งเสริมความสมบูรณ์ให้เกิดยิ่ง ๆ ขึ้น  หรือถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง  เมื่อราษฎรมีความร่มเย็น  พื้นดินก็ได้ผลมาก  ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่าสิ้นไป  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ไม่ดี  รสแห่งแผ่นดินก็สิ้นไป  ราษฎรไม่มีความสุข  แลวาสนาของสุนทรภู่เองโดยเฉพาะก็สิ้นไป  เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่บำรุงความสามารถในตัวตน  ถ้าจะเปรียบต่อไปให้ถึงใจ  ก็คือว่าแผ่นดินไม่มีดอกไม้หอม  แมลงภู่จะอาศัยอยู่เป็นสุขอย่างไรได้

          ถ้าอ่านเข้าใจตามความที่กล่าวนี้  กลอนท่อนนั้นของสุนทรภู่ก็ดีนัก  ถ้าเจ้าของแต่งไว้เล่น ๆ  ข้าพเจ้าคนหนึ่งจะเข้าใจเช่นที่ว่ามาแล้ว  แลเมื่อกล่าวชี้ทางความเข้าใจเช่นข้างบนนี้แล้ว  ผู้อ่านบางคนที่ไม่เคยอ่านนิราศภูเขาทองอาจพลอยเห็นจริงด้วยก็ได้

          แต่เมื่อสองสามวันนี้เกิดกลแตก  เพราะข้าพเจ้าไปจับอ่านนิราศภูเขาทองเข้า  ในนิราศนั้นกล่าวไว้แจ่มแจ้งว่า  ในเวลาที่สุนทรภู่หมอบแต่งกลอนรับกับจมื่นไวยในเรือพระที่นั่งเวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดกฐินนั้น  ได้อยู่ใกล้พระองค์จนได้กลิ่นน้ำอบที่ทรงทา  ครั้นสวรรคตเสียแล้วก็ไม่ได้กลิ่นน้ำอบนั้นอีก  วาสนาของสุนทรภู่ก็สิ้นไปเหมือนกลิ่นน้ำอบนั้นเอง  เมื่อหมายความเพียงเท่านี้  กลอนท่อนนั้นก็ดีน้อยลง  ไม่ให้ความเพลินสุขุม  เพราะความที่กล่าวนั้นเป็นความเปรียบนิดเดียว  ความเพลินในวิธีที่กล่าวความนึกออกมาด้วยถ้อยคำอันดูดดื่มกินความไปได้กว้างขวางลึกซึ้งก็หมดไปทันที  ความเพลินของข้าพเจ้าที่เคยมีนั้น  เปรียบเหมือนเด็กเพลินลูกปี๊บที่เป่าลมเล่นอยู่ดี ๆ มันก็แตกกลายเป็นขี้ริ้วยางไป  ขี้ริ้วยางนั้นก็ยังอยู่  จะใช้เชือกผูกเป่าเป็นลูกปี๊บเล็ก ๆ อีกก็ได้  แต่จะทำอย่างไร  มันก็ไม่ไม่เหมือนลูกใหญ่

          ข้าพเจ้านำกลอนท่อนนั้นมากล่าว  ไม่ใช่เพื่อแสดงความหลงซึ่งเกิดแต่ความคิดเลื่อยเจื้อยของเราเอง  หมายจะแสดงว่าความเพลินดนตรี  แลเพลินวิธีกล่าวความนึกออกมานั้น  ถ้ากลอนท่อนนี้ไม่เกิดวิบัติเสีย  ก็จะให้ความเพลินชนิดที่ว่านั้น”

(จบความจากกลอน แล นักกลอน)”

          จบพระนิพนธ์ของพระบิดาแล้ว  “ท่านจันทร์”  ก็ต่อด้วยความเห็นของท่านเองว่าดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/cx5RTNP/image.jpg) (https://imgbb.com/)
“ท่านจันทร์” หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค)

          “๓๑. วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์”

           “ ตามฉบับบางฉบับว่า

* เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตระลบ
ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นกลิ่นสุคนธา
วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์

          แต่มีผู้จำกลอนได้ยืนยันว่าวรรคหลังเป็น  “วาสนาเราก็สิ้นกลิ่นสุคนธ์”  (ไม่มี เหมือน)  ซึ่งเสียงเป็นสุนทรภู่มากกว่า  และได้  “รสความ”  ชนิดลูกปี๊บไม่แตก  เพราะกลอนในที่นี้  หมายความว่าสุนทรภู่บวชเป็นพระมีวาสนาผิดกับเมื่อเป็นฆราวาส  เป็นวาสนาที่ไร้กลิ่นหอม

          นิราศภูเขาทองไม่มีฉบับเขียนในหอพระสมุดฯ  ที่จะสอบความข้อนี้ได้  จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เติมคำว่า  “เหมือน”  เข้ามา  และเมื่อไร

(https://i.ibb.co/yFWK7fj/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

          เมื่อหอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับรำพันพิลาปมาใหม่ ๆ  ได้คัดสำเนาถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์  และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทอดพระเนตร  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระดำรัสอย่างไร  ไม่มีความจำเป็นที่จะนำมากล่าว  เพราะขณะนั้นประทับอยู่ที่ปีนัง  ไกลจากหนังสือค้นคว้า  ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ  รับสั่งดังนี้

           (สาส์นสมเด็จ)

           “ในลายพระหัตถ์ตรัสถึงสุนทรภู่  คิดคะเนดูท่านผู้นั้น  ทั้งเนื้อทั้งตัวจะมีดีอยู่ที่ฝีปากเท่านั้น  ความประพฤติเห็นจะเต็มที  เป็นอย่างคุ้มครองตัวเองไม่ได้  จะอยู่ได้ก็แต่อาศัยพึ่งบุญผู้มีบุญ  ด้วยคนเกรงบุญของท่านผู้มีบุญ  ไม่กล้าทำอะไรแก่สุนทรภู่ได้  ผู้มีบุญพอใจที่จะปกครองไว้ก็เพราะมีฝีปากดีเท่านั้น”

          การที่สมเด็จฯ ก็ดี  เสด็จในกรมฯ  ในกลอน แล นักกลอนก็ดี  ทรงตีราคาสุนทรภู่  ใจความว่า  ทั้งเนื้อทั้งตัว  ความดีมีแต่กลอนนั้น  เมื่อมาไตร่ตรองในขั้นนี้  เห็นว่าไม่ถูกต้อง  ถ้าสุนทรภู่เป็นอย่างที่รับสั่งจริง  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีหรือจะให้เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วมาเรียนหนังสือด้วย  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพหรือจะประทานอุปการะ  และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเมื่อดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในรัชกาลที่ ๓  หรือจะประทานอนุมัติให้ไปอยู่ที่วังเดิมเมื่อสึกแล้ว  ทั้งหมดเป็นการตีความจากคำบอกเล่ากันมากกว่า  จากหลักฐานในตัวบทอย่างยิ่งจากตัวบทที่ได้มาใหม่”

          ยังมีคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงท่านสุนทรภู่อีกหลายประเด็น  วันนี้ยกพระนิพนธ์มาให้อ่านกันยาว ๆ เป็นความรู้ที่ควรรู้ทั้งนั้น  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กุมภาพันธ์, 2563, 10:11:36 PM
(https://i.ibb.co/nCy3nyH/3-15.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๓ -
(ฟังคำนินทาสุนทรภู่)

น่าสงสารสุนทรภู่ถูกดูหมิ่น
ว่าดื่มกินแต่สุราพาหมองหม่น
เป็น “อาลักษณ์ขี้เมา” เจ่ายากจน
ไม่สร้างตนรวยเหมือนเพื่อนกวี......

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของปราชญ์ทางภาษากวีที่ว่าด้วย  “ความเพลิดเพลินในรสกวี”  ซึ่งเกี่ยวกับท่านสุนทรภู่  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันไปแง่มุมหนึ่งแล้ว  วันนี้มาฟังคนนินทาสุนทรภู่กันต่อครับ

          กลอนข้างบนนี้เกริ่นให้พอรู้กันว่า  จะกล่าวถึงสุนทรภู่ที่ท่านถูกนินทาว่าเป็น  “อาลักษณ์ขี้เมา”  และเพราะความเป็น  “คนขี้เมา”  นี่แหละทำให้สุนทรภู่ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในวงราชการ  แม้จะมีวิชาความรู้ดี  แต่ก็ไม่สามารถใช้ความรู้นั้นสร้างฐานะความร่ำรวยและยศตำแหน่งให้ตนเองได้  บั้นปลายชีวิตถึงจะมีตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์วังหน้า  ได้บรรดาศักดิ์เป็นคุณพระที่  “พระสุนทรโวหาร” แต่ท่านก็ไม่มีบ้านอยู่เป็นของตนเอง  ต้องอาศัยบ้านพระยามณเฑียรบาล(บัว สโรบล) เป็นเรือนตาย  บาปกรรมของน้ำเมาให้ผลแก่สุนทรภู่เช่นนั้น  จริงหรือไม่  ผมขอให้อ่านนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์”  ซึ่งท่านได้แต่งไว้ในหนังสือ “ประวัติคำกลอน สุนทรภู่ (ฉบับปรับปรุง)  เป็นคำตอบดังต่อไปนี้.....

(https://i.ibb.co/TgQYq6v/36229409-1173921402749927-2302795158686531584-n.jpg) (https://imgbb.com/)

           “๓๒ โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา”

           “ตามที่เล่ากันมาว่าสุนทรภู่ติดคุกในรัชกาลที่ ๒ เพราะสุรา  ต่อจากนั้นตลอดชีวิตก็มิได้เลิกดื่มเหล้าเลย  ในประวัติสุนทรภู่  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า  เมื่อสุนทรภู่คิดกลอน  ถ้าได้ดื่มเหล้าเข้าไป  กลอนคล่องถึงกับสองคนจดไม่ทัน  นอกจากนั้นยังได้ยินผู้อื่นเล่าวิธีแต่งกลอนของสุนทรภู่ ดังนี้  ข้าหลวงหรือชาววังอาจไปหาสุนทรภู่  ถือเหล้าไปขวดหนึ่ง  บอกสุนทรภู่ว่า

          “เสด็จให้มาเอาเรื่อง”

          แล้วสุนทรภู่ดื่มเหล้าพลาง  บอกเรื่องพลาง  แล้วข้าหลวงก็ได้เรื่องไปถวายทันที  ที่เล่านี้  ทั้งก่อนบวชและในขณะบวช  แต่ถ้าจะลองหาคำของสุนทรภู่เกี่ยวกับเหล้าจริง ๆ  ก็นึกออกเพียงในสุภาษิตสอนหญิง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=7167)

"คิดถึงตัวหาผัวนี้หายาก
มันชั่วมากนะอนงค์อย่าหลงใหล
คนสูบฝิ่นกินสุราพาจัญไร
แม้นหญิงใดร่วมห้องจะต้องจน"

          ในนิราศพระแท่นดงรัง (เสมียนมีแต่ง)

"ถึงนครไชยศรีมีโรงเหล้า
เป็นของเมาตัดขาดไม่ปรารถนา"

          ใน นิราศภูเขาทอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6778.msg23507#msg23507)  ว่า

"ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินจนเกินไปฯ"

          ในสี่รายข้างบนนี้  ในสุภาษิตสอนหญิง  และพระอภัยมณี (ไม่ได้ยกคำในพระอภัยมณีมาแสดง)  ไม่ได้พูดถึงเหล้าอย่างจริงจัง  ในนิราศพระแท่นดงรังซึ่งปัจจุบันรับกันว่าสุนทรภู่มิได้แต่ง  ก็เหมือนคนไม่เคยกินเหล้า  ส่วนในนิราศภูเขาทอง  ซึ่งเป็นบทแรก  แต่งหลังจากออกบวช  สุนทรภู่พูดเหมือนคนที่เคยเห็นโทษเหล้ามาแล้วและได้เลิกไปอย่างเด็ดขาด  ถ้าจะเถียงว่า  ถึงแม้สุนทรภู่จะได้ศีลขาดทุกวี่ทุกวันก็คงไม่นำมาเขียนในเรื่อง  ประดุจว่ามีชู้หรือจะให้ผัวรู้  ก็จนใจ   อย่างไรก็ดี  เรื่องสุนทรภู่กินเหล้าเป็นเรื่องที่เชื่อกันมานาน  กระทั่งมีผู้ตรวจดวงชะตาสุนทรภู่ไว้  ก็เขียนกำกับว่า  “สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา”  ฉะนั้น  ที่จะเปลี่ยนความเชื่อคงต้องกินเวลานานหน่อย

          สุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๒  และขี้เมาจริง  ฉะนั้นที่จะเขียนไว้ในดวงว่า  “อาลักษณ์ขี้เมา”  ก็ถูกต้อง  แต่สุนทรภู่เป็นชื่อเรียกกันทีหลัง  เมื่อไม่ได้เป็นอาลักษณ์แล้ว  ข้าพเจ้ายังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน  มีใครเรียก  “สุนทรภู่”  ในรัชกาลที่ ๓  หรือแม้แต่ในรัชกาลที่ ๔  เท่าที่เคยเห็นมีในเพลงยาวเจ้าพระ  แต่งในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า  “ท่านสุนทร”  (ท่านสุนทรแพ้ชัดไม่ทัดคำ)   แล  “สุนทร”  (ว่าสุนทรแพ้ฉันขันพอพอ)

ในนิราศพระแท่นว่า  “พระสุนทร”  (พระคุณใครไม่เท่าคุณพระสุนทร)

          ฉะนั้น  ที่คำกำกับดวงชาตาว่า  “สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา”  คงจะเป็นคำเขียนทีหลังตามความเข้าใจของผู้เขียน

          ถ้าจะกลับย้อนดูในอีกแง่หนึ่ง  ก็จะเห็นสุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6421.0)   ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรกว่า

"อยู่บุรินกินสำราญทั้งหวานเปรี้ยว
ตั้งแต่เที่ยวยากไร้มาไพรศรี
แต่น้ำตาลมิได้พานในนาภี
ปัถวีวาโยก็หย่อนลงฯ"

          และในรำพันพิลาป  ซึ่งเป็นบทสุดท้ายในชีวิตบวช  แต่งหลังนิราศเมืองแกลงสามสิบห้าปีว่า

"ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์
ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก"

(ทองหยิบฝอยทองดูจะเป็นของโปรดอยู่หน่อย)  กลอนทั้งสองรายนี้ประกอบกับคำที่เล่ากันมาว่าเมื่ออยู่วัดเทพธิดาฯ  ชอบฉันน้ำเชื่อม  ดูสุนทรภู่จะเป็นคน  “คอหวาน”  อยู่สักหน่อย  ผิดวิสัยนักเลงเหล้าถนัด

          เรื่องนี้ขอปล่อยไว้เพียงเท่านี้พลางก่อน  ประเดี๋ยวสุนทรภู่จะขาวเร็วเกินไป”

(https://i.ibb.co/v4554r0/1.jpg) (https://imgbb.com/)
“ท่านจันทร์” หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ.ประมวญมารค)

          ความทั้งหมดข้างบนนี้เป็นมุมมองของ  “ท่านจันทร์”  ท่านดูจะไม่เชื่อว่าสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา  คำที่ว่า  “สุนทรภู่อาลักษณ์ขี้เมา”  นั้นเป็นคำที่มีคนเขียนขึ้นภายหลัง  เขียนตามความเชื่อในคำบอกเล่าที่พูดกันต่อ ๆ มาโดยไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันเลย

          นาม  “สุนทรภู่”  เป็นนามที่เริ่มเรียกกันสมัยใด  “ท่านจันทร์”  ว่ายังไม่พบหลักฐาน  แต่ในสมัย รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้น  ไม่ปรากฏนาม  “สุนทรภู่”  ในเอกสารใด ๆ เลย  พบแต่คำว่า  “ท่านสุนทร”  และ  “สุนทร”  ในเพลงยาวสามเจ้าพระ  กับ  “พระสุนทร”  ในนิราศพระแท่นสำนวนเณรหนูกลั่น  จึงเป็นไปได้ว่า  นาม  “สุนทรภู่”  มีใช้เรียกกันในสมัย ร. ๖   ร. ๗ นี่เอง  ก่อนหน้านี้ สมัย ร. ๒ เรียกกันว่า  “ขุนสุนทรโวหาร”  มาสมัย ร. ๔ เรียกกันว่า  “พระสุนทรโวหาร”  โดยเป็นที่รู้กันว่า  เจ้าของราชทินนามมีชื่อเดิมว่า  “ภู่”  เท่านั้นเอง

          เรื่องสุนทรภู่ยังจบไม่ลง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, กุมภาพันธ์, 2563, 10:27:23 PM
(https://i.ibb.co/ypVWWRs/274897-14012014021855.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๔ -
(ท่านจันทร์ ว่า สุนทรภู่...)

“กวีแลศิลปิน”ศิลป์เลิศหรู
“สุนทรภู่”มีพร้อมเพียบศักดิ์ศรี
คุณสมบัตินักแสดงแต่งพจี
ท่านมากมีจนใครไม่เทียมทัน...

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำคำวิพากย์ของ  “ท่านจันทร์”  ที่ว่า  “สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา”  มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  โดยท่านจบบทความแบบ  “ไม่จบ”  ว่า    “เรื่องนี้ขอปล่อยไว้เพียงเท่านี้พลางก่อน ประเดี๋ยวสุนทรภู่จะขาวเร็วเกินไป”    วันนี้มาอ่านเรื่องสุนทรภู่ในทัศนะของ  “ท่านจันทร์”  กันต่อไปนะครับ

          กลอนข้างต้นนั้น  “อมความ”  ที่จะกล่าวต่อไปนี้  โดย  “ท่านจันทร์”  นำความจาก  “กลอน แล นักกลอน”  ของ  น.ม.ส.  ในหัวข้อ  “คุณสมบัติของกวี”  มาแสดงดังต่อไปนี้

           “เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว  ก็เห็นได้ว่าความสามารถนิรมิตภาพขึ้นในความนึกนั้น  มิใช่คุณสมบัติของกวีโดยเฉพาะ  แต่กวีดีต้องมี  ไม่มีไม่ได้  เมื่อมีความสามารถเช่นนั้นแล้ว  ถ้าเป็นกวีดีก็ยังต้องมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งคนอื่น ๆ น้อยจำพวกจะมี  คือความสามารถทอดน้ำใจลงไปเป็นจริงเป็นจังจนลืมอื่นหมด  จะพูดข้อนี้ให้เห็นง่ายต้องเอาโขนละครมาเปรียบ  คือ  โขนละครตัวดี ถ้าเป็นตัวอะไรก็ลืมตนเองจนกลายเป็นตัวนั่นไปจริง ๆ  เหมือนตอนถวายลิง  ถ้าทศกัณฐ์ก็มักจะโกรธจริงจนคนดูเห็นได้ว่าไม่ได้แกล้ง  โขนตัวลือเคยมีพ่อลูกคู่หนึ่ง  พ่อเป็นฤๅษี  ลูกเป็นทศกัณฐ์  เมื่อเล่นตอนถวายลิง  ทศกัณฐ์โกรธจริง  ตีลิง  ลิงหลบถูกฤๅษีเข้าจริง ๆ  จนเป็นรอยไปทั้งตัว  พอเข้าโรงถอดหัวโขนออกแล้ว  ผีทศกัณฐ์ออก  ลูกตกใจเข้าไปกราบไหว้ขอโทษพ่อ  พ่อไม่โกรธ  กลับชอบใจว่าลูกเป็นทศกัณฐ์ดี  เล่นถูกบท

(https://i.ibb.co/Ntt2Jr5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วิลเลียม เชกสเปียร์

          โขนตัวดีสวมหัวทศกัณฐ์เข้ากลายเป็นทศกัณฐ์ไป  เพราะทอดน้ำใจลงไปเป็นจริงเป็นจังตามบทฉันใด   กวีย่อมดี  ย่อมจะทอดน้ำใจลงไปในกาพย์ที่แต่งฉันนั้น  ถ้ากวีรู้สึกจริงจังในเวลาแต่ง  ผู้อ่านจะเห็นความจริงจังในเวลาอ่าน  ถ้าท่านเคยอ่านหนังสือว่าด้วยเชกสเปียร์  ท่านอาจเคยพบแล้วที่เขาเขียนไว้ว่า  เมื่อเชกสเปียร์เขียนบรรยายถึงตัวแฮมเล็ต  นายโรงเอกนั้น  ตัวเชกสเปียร์กลายเป็นแฮมเล็ตไปเอง  หาใช่เพียงแต่บรรยายไม่

          มีนักกลอนไทยคนหนึ่ง กล่าวให้คนอื่นฟังว่า  เมื่อกำลังแต่งกลอนเรื่องหนึ่งอยู่นั้น  ในเวลาที่เขียนว่าด้วยนางเอก  ได้เกิดเสน่หานางนั้นเหมือนรักผู้หญิงมีตัวมีตน  เมื่อว่าถึงตอนที่นางเอกได้ทุกข์ก็สงสารจริง ๆ จนเกิดเศร้า  ภายหลังรู้สึกตัวก็กลับเห็นขัน  แต่พอใจกลอนของตนในตอนนั้น ๆ ยิ่งนัก

          ที่เรียกว่าความสามารถทอดใจลงไปเป็นจริงเป็นจังนั้น  หมายความดังที่ยกตัวอย่างมานี้  การทอดใจลงไปนั้นเป็นไปเอง  ไม่ได้แกล้ง  ถ้าจะว่าก็เหมือนผีเข้าสิง  แต่ถ้าแต่งเรื่องซึ่งไม่พอใจ  ไม่มีปีติที่จะแต่ง  ผีไม่สิง  ก็ทอดใจลงไปไม่ได้  เหตุดังนี้จึงมีคำฝรั่งกล่าวว่า  กวีจะแต่งกาพย์  เหมือนผู้ทำของขายทำสินค้าซึ่งมีผู้สั่งซื้อนั้นไม่ได้  (๒๔๗๓: ๔๒-๔๔)

(จบความจาก กลอน แล นักกลอน)

(https://i.ibb.co/yqWHNMR/2.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้ว  “ท่านจันทร์”  ก็วิพากย์เรื่องสุนทรภู่ต่อไปในหัวข้อว่า   “๓๔ ไม่มีแผ่นพสุธาจะอาศัย”

           “ตามที่ได้หยิบข้อต่าง ๆ จากนิราศภูเขาทอง  และ  เพลงยาวถวายโอวาท  มาจาระไนเป็นข้อ ๆ  ดูจะเป็นการทำให้เข้าใจกลอนของสุนทรภู่ยากขึ้น  ฉะนั้น จะลองสรุปเสียที  ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอซ้ำว่า  ไม่มีความจำเป็นที่จะถือว่าสุนทรภู่เป็นกวีด้านเดียว  ควรถือว่าเป็นศิลปินมากกว่า  และที่สุนทรภู่แต่ง ๒ เรื่องนี้ก็เพื่อ  “กล่อมอารมณ์”  ผู้อ่าน  ไม่ใช่เพื่อเล่าประวัติตัวเองเป็นสำคัญ

          เมื่อสุนทรภู่หนีราชภัยออกบวชในปีสวรรคต  และได้หลบไปอยู่เพชรบุรี  เรื่องก็คงเป็นเรื่องที่โจษจันกันมาก  ครั้นเมื่อหายหน้าไป ๓ ปี แ ล้วกลับมาอยู่ที่วัดราชบูรณะในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๐  เมื่อข่าวการกลับของสุนทรภู่แพร่สะพัดออกไป  พวกนักเลงเพลงยาวทั้งหญิงชายก็คงจะมั่วสุมเยี่ยมเยียนท่านอาจารย์เจี๊ยวจ๊าวกันพอดู  เป็นเหตุให้เกิดข้อครหาบ้าง  อันจะมีมูลหรือไม่ไม่สำคัญ (จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง  ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง)

(https://i.ibb.co/YPTQQqq/DSC2527.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓)

          นอกจากนั้นยังมีเรื่องสันนิษฐานต่าง ๆ นานา  ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทำอย่างไร ฯลฯ  มีผู้ถามสุนทรภู่ ใจความ   ไฉนจึงกลับมากรุงเทพฯ อีก  ก็ไหนว่าจะไม่เหยียบแผ่นดินของท่าน   สุนทรภู่ก็แก้ว่า  ที่บวชอยู่นี้อยู่ธรณีสงฆ์ต่างหาก (และได้ยินเล่าว่าที่ไปเรือก็ถือว่าไม่ใช่แผ่นดินของท่าน  เป็นของแม่คงคา  ในที่สุดเมื่อสึกแล้ว  สุนทรภู่ก็ยอมรับสารภาพว่า แพ้ท่าน !  ได้ยินเล่ามาอย่างนี้เท็จจริงเพียงไหนไม่ทราบ)  เรื่องชาตาของสุนทรภู่ก็อยู่ในตาชั่งเช่นนี้  จนกระทั่งถึงออกพรรษา  เสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินที่วัดราชบูรณะ  ไม่แสดงอาการกริ้วโกรธประการใด (อาจจะทักพระภู่เพราะเคยรู้จักกันมาแต่ก่อนก็ได้)  เป็นอันว่า ความกลัวหรือสันนิษฐานต่าง ๆ เป็นเรื่องโคมลอยทั้งเพ

(https://i.ibb.co/fqywtbG/1-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ระหว่างนั้น  สุนทรภู่ได้ตั้งใจไว้เดิมว่า  ออกพรรษาแล้วจะไปเที่ยวหัวเมือง  เมื่อกลับมาแล้วแต่งนิราศภูเขาทอง  ก็สวมรอยอารมณ์ความเชื่อของคนต่าง ๆ  โดยครวญคร่ำถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และแต่งไปในทำนอง  “ไม่มีแผ่นพสุธาจะอาศัย”  การไปกรุงเก่าของสุนทรภู่คราวนี้  ดูจะไปเที่ยวมากกว่าประโยชน์อื่น  เมื่อผ่านจวนข้าหลวงในเวลาจวนค่ำ  และจะต้องเลยไปจอดค้างคืนที่หน้าวัดพระเมรุ (อาจตั้งใจแวะขาล่องก็ได้)  ก็ครวญเสียว่า

@ "มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง
คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย
ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน

แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก
อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงจนเกินควร
จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณฯ"

          วันรุ่งขึ้น  เมื่อไปนมัสการภูเขาทองได้พระบรมธาตุองค์หนึ่ง  ครั้นเมื่อพระธาตุหนีก็เกิดโมโหเร่งกลับกรุงเทพฯ ทันที

          บทครวญของสุนทรภู่เรื่องนี้แปลกกว่านิราศธรรมดาที่ครวญถึงหญิง  ผู้คนที่ยังรำลึกถึงพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ยังคงมีอยู่มากในสมัยนั้น  จึงเป็นที่จับใจโจษกันแซ่  สุนทรภู่จึงพูดได้เต็มปากในบทต่อไปว่า

@ "อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว
ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนครฯ"

          ครั้นเมื่อสุนทรภู่กลับมาอยู่วัดเลียบได้ ๖ เดือน  เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีทรงได้ให้เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋วไปทรงเรียนหนังสือเหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ในแผ่นดินก่อน  เมื่อในวันนั้นวันอังคารพะยานอยู่  ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ (พ.ศ.๒๓๗๒)        แต่เมื่อสุนทรภู่ถวายอักษรไปได้ ๓-๔ เดือน  ก็คิดจะเดินทางไปหัวเมืองอีก  คราวนี้จะไปนานหน่อย (เข้าใจว่าเกี่ยวกับเรื่องเล่นแร่ธาตุ  หรือลายแทง)  สุนทรภู่จึงแต่งเพลงยาวถวายโอวาทในระหว่างพรรษาเป็นการออกตัวหน่อย  เพราะได้ถวายพระอักษรเวลาเพียงไม่กี่เดือน  ที่ข้าพเจ้าอธิบายเช่นนี้  เพราะเจ้าฟ้ากลางพระชนมายุเพียง ๑๑ ขวบ  เจ้าฟ้าปิ๋ว ๗ ขวบ  ดูจะยังไม่ถึงวัยที่จะซึมทราบในอรรถรสแห่งกลอนอย่างเที่ยงแท้  จึงเชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเพื่อ  “กล่อมอารมณ์”  ผู้ใหญ่ชาววังมากกว่า

          สุนทรภู่ไปหัวเมืองคราวนี้  ถ้าไปค้างพรรษาก็เข้าใจว่าจะเป็นเพียงพรรษาเดียว (พ.ศ. ๒๓๗๓)  แล้วกลับมากรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/4sn7CsZ/news-img-94931-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ชาร์ลี แชปลิน

          ที่ข้าพเจ้าตีความสุนทรภู่ดังนี้  ท่านผู้อ่านพึงพิจารณาศิลปิน  เช่นชาลี แชปลิน  ท่านผู้นี้เป็นดาราหนังรุ่นเก่า  เล่นเรื่องทีไร  คนดูเต็มโรง  เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี  แต่บทที่เล่นเป็นบทคนขอทาน      ฉะนั้นเราจะเชื่อที่  ชาลี แชปลิน  แสดง   หรือเชื่อข้อเท็จจริงจากรายได้ของศิลปินผู้นี้ฉันใด ชาลี แชปลิน   ฉันนั้นสุนทรภู่   หากท่านยังสงสัยข้อนี้  ท่านจงพิจารณาว่า  เมื่อสุนทรภู่ไปภูเขาทองนั้น  มีลูกศิษย์ไปด้วยกี่คน  การไปหัวเมืองแต่ละครั้งไปอย่างคนอนาถา  หรือไปอย่างหรู  มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มเรือ  แล้วจะไปอดอยากกันทั้งหมดหรือ  หรือสุนทรภู่  คือ  ชาลี ภู่ ?”

          * แล้วย่อหน้าสุดท้ายของ  “ท่านจันทร์”  ก็ได้ฮา.... ยาวเลยครับ  ผมเองก็สงสัยประเด็นนี้มานานแล้ว  เรื่องนี้ยังจบไม่ลง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่ออีกนะครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, มีนาคม, 2563, 10:16:04 PM
(https://i.ibb.co/2FhBppB/834811363681442.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๕ -
(สุนทรภู่ชนชั้นกุฎุมพี)

@ สุนทรภู่ดูเห็นว่าเป็นได้
ครอบครัวใหญ่อยู่อย่างนักสร้างสรรค์
หลายลูกเมียลูกเลี้ยงพัลวัน
เป็นนักฝันอย่างเอกเช่น “เชกสเปียร์”...

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความคิดเห็นของ  “ท่านจันทร์”  ที่วิพากย์สุนทรภู่ว่าเป็นศิลปิน  เปรียบได้ด้วย ชาลี แชปลิน  ให้ได้ฮากันไปแล้ว  วันนี้มาดูเรื่องสุนทรภู่ในทัศนะของ  “ท่านจันทร์”  กันต่อนะครับ

           “ท่านจันทร์”  ทรงยกเรื่องที่สุนทรภู่มิได้อัตคัดชัดสนจนยากดังที่เราเข้าใจกัน  หากแต่ท่านเป็น  “กฎุมพี”  คนหนึ่ง  มีภรรยา มีลูก หลายคน  และยังมีลูกเลี้ยงอีกหลายคน  ลูกศิษย์  คนรับใช้ก็มีไม่น้อย  ดังความที่จะขอยกมาจากหนังสือ  “ประวัติคำกลอนสุนทรภู่ ฉบับปรับปรุง”  ที่ท่านเรียบเรียงไว้ดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/xh5CW0h/images-18.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ท่านผู้อ่านสังเกตหรือเปล่าว่า  เมื่อไปเมืองเพชรฯ นั้น  มีลูกและศิษย์ติดสอยห้อยเรือไปด้วยกี่มากน้อย  ถ้ายังไม่ได้สังเกตก็ไม่เป็นไร  สังเกตในเรื่องต่อ ๆ ไปก็ได้  ลูกคนโตที่ชื่อพัดไปด้วย  ทั้งเมื่อไปไหว้พระภูเขาทองแลเพชรบุรี  เข้าใจว่าเมื่อบวชใหม่ ๆ  ไปหัวเมืองครั้งแรกเป็นเวลาสามปีก่อนมาอยู่วัดราชบูรณะ  เมื่อต้น พ.ศ. ๒๓๗๑  ก็ดูเหมือนได้ไปด้วย  ไป ”ถูกปอบมันลอบใช้”

          ส่วนลูกอีกคนหนึ่งที่ชื่อตาบ  คงอยู่กับแม่จนแม่ที่ชื่อนิ่มตาย  จึงได้มาอยู่กับบิดา  แลได้ไปวัดเจ้าฟ้าด้วย  ในนิราศเรื่องนี้หนูพัดบวชเป็นสามเณร
 ในจำพวกหนูอื่น ๆ ที่ไปเพชรบุรี  มีหนูนิลแลหนูน้อย  (กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ....ให้หนูน้อยคอยนับในนาวา)  ส่วนที่ไปวัดเจ้าฟ้ามีหนูกลั่น (ทั้งหนูกลั่นจันทร์มากบุนนากน้อย)  หนูกลั่นผู้นี้เป็นลูกเลี้ยง  ดังมีบอกไว้ใน โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470)  ว่า  “กลั่นชุบอุปถัมภ์ล้วน   ลูกเลี้ยง เที่ยงธรรมฯ”  (ชุบ  เป็นลูกเลี้ยงอีกคนหนึ่ง  ไม่ใช่คำสัมผัส)

          นอกจากที่ออกชื่อมาแล้ว  ยังมีนายมา นายแก้ว คนแจวเรือ  น้องนายแก้วชื่อนายช่อง,  เจ๊กกลิ่น,  นายรอดคนแจวเรืออีกคนหนึ่ง ฯลฯ  ทั้งนี้พอจะเห็นได้ว่าครอบครัวของสุนทรภู่ใหญ่โตมาก  ฉะนั้น  ที่ว่าสุนทรภู่ตกทุกข์ได้ยากอับจนถึงกับอด  เป็นเรื่องที่ยังเชื่อไม่ได้  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  ไปไหนมิต้องพากันไปอดทีละครึ่งโหลหรือ

@ "เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร
กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพนฯ"

          ที่นิราศวัดเจ้าฟ้าขึ้นต้นดังนี้  เป็นเรื่องให้สันนิษฐานได้หลายอย่าง  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า  เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงพระผนวช ในพ.ศ.๒๓๗๕  ได้เสด็จไปประทับที่วัดพระเชตุพนฯ  แลได้ชวนสุนทรภู่ไปอยู่ด้วย  ในเวลานั้นลูกที่ชื่อพัดกำลังบวชเป็นสามเณร  สุนทรภู่จึงแกล้งแต่งเป็นสำนวนเณรหนูพัด

(https://i.ibb.co/JxKz6n0/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ฉันท์ ขำวิไล

          คุณฉันท์ถือตามพระนิพนธ์เป็นส่วนใหญ่  ผิดกันแต่ พ.ศ.  คุณฉันท์ว่ามิได้ไปใน พ.ศ. ๒๓๗๕  แต่ไปสองปีต่อมา  คือ พ.ศ. ๒๓๗๗  เหตุที่ว่าเช่นนั้นเพราะหนูตาบไปด้วย  แลในบทว่าหนูตาบเป็นกำพร้า (เหมือนอกน้องตาบน้อยกลอยฤทัย  มาตามติดบิดากำพร้าแม่)   ส่วนในเรื่องนิราศพระประธม คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6883.0)   แต่งในพ.ศ. ๒๓๘๕  บอกว่าเมืยที่ชื่อนิ่มได้ตายไปแล้วเก้าปี.......

          ลูกของนิ่มคือตาบอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะพัดไม่ได้ไปไหว้พระประธมด้วย  ฉะนั้นที่คุณฉันท์จะจับนิราศวัดเจ้าฟ้ามาชนกับนิราศพระประธม  บวกลบคูณหารศักราชว่า  นิราศวัดเจ้าฟ้าแต่งใน พ.ศ. ๒๓๗๗  ก็เป็นหลักฐานที่ดี  ครั้นแล้วคุณฉันท์ผิด  สมเด็จฯ ถูก  ทั้งนี้จะเป็นเพราะสุนทรภู่หรือคุณฉันท์คนใดคนหนึ่งนับนิ้วไม่ถ้วนหรืออย่างไรก็ตาม  แต่หนูตาบได้มาอยู่กับบิดาแล้วแต่ พ.ศ. ๒๓๗๖  ดังจะเห็นได้ต่อไป

          ในตอนพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่เขียนไว้ก่อนแล้ว  ข้าพเจ้าได้กล่าวว่ายังไม่เคยพบหลักฐานหรือจดหมายเหตุว่าพระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงผนวชที่ไหนแลเมื่อไร  ที่จะสันนิษฐานว่าได้ทรงพระผนวชเมื่อพระชันษาครบก็ควร  แลที่ว่าเมื่อผนวชแล้ว (ที่วัดพระแก้ว)  จะได้เสด็จไปประทับที่วัดพระเชตุพนฯ ก็ควรเช่นกัน  เพราะสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ประทับอยู่ที่วัดนั้น (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส)     แต่ที่ว่าสุนทรภู๋ได้ตามเสด็จไปอยู่วัดโพธิ์ด้วยนั้นเหตุผลมีน้อยเต็มที  นอกจากนิราศวัดเจ้าฟ้าจะว่า    “กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพนฯ”    ในเรื่องพระองค์เจ้าลักขณานุคุณกับสุนทรภู่  ข้าพเจ้านึกว่าจนกว่าจะพบบทสรรเสริญที่ว่าสุนทรภู่แต่งถวาย  ยิ่งพูดน้อยยิ่งเป็นกำไร  ฉะนั้น  ในชั้นนี้  ข้าพเจ้าขอถือความตามรำพันพิลาปที่ออกชื่อเพียงสองวัดในกรุงเทพฯ ที่สุนทรภู่เคยอยู่  คือวัดราชบุรณะ กับวัดเทพธิดาฯ  สันนิษฐานว่าสุนทรภู่ไม่เคยไปอยู่วัดโพธิ์เลย  และเมื่อสุนทรภู่ไปวัดเจ้าฟ้า  วัดเทพธิดาฯ ยังไม่สร้าง  ฉะนั้น  ข้าพเจ้าว่าสุนทรภู่อยู่วัดเลียบตลอดเวลาจนย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาฯ ในพ.ศ. ๒๓๘๒    จริงอยู่ สุนทรภู่อาจได้ไปค้างที่โน่นที่นี่พรรษาสองพรรษา  แต่เมื่อกลับกรุงเทพฯ ก็กลับมา  “รัง”  ที่วัดราชบูรณะ

(https://i.ibb.co/6chpLbd/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเตียนวัดโพธิ์

          แต่ทำไมในนิราศวัดเจ้าฟ้าจึงว่า  “กำจัดจรจากนิเวศน์เชตุพนฯ”  นั้น  สันนิษฐานว่า  ถ้าพระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงผนวช  แต่สุนทรภู่มิได้ไปอยู่ที่วัดโพธิ์ด้วย  ก็อาจให้ลูกบวชเป็นสามเณรไปเป็นมหาดเล็ก  หรือมิฉะนั้น  ก็สันนิษฐานว่า  ท่าวัดโพธิ์เป็นท่าเรือที่สำคัญ  นิราศพระแท่นดงรังก็ตั้งต้นที่นั่น (ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน)  นิราศถลางของนายมีก็ตั้งต้นที่นั่น (ก็ล่องไปในท่าหน้าวัดโพธิ์)  ใครจะไปลงเรือที่ท่าวัดโพธิ์ไม่จำเป็นต้องบวชอยู่ที่วัดนั้น  แม้แต่ทุกวันนี้  ใครจะไปอยุธยาก็ไปลงเรือที่ท่าเตียนโดยไม่ต้องไปบวชอยู่ที่วัดโพธิ์เสียก่อน  จะไปเชียงใหม่ขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง  ก็มิได้หมายความว่าบวชอยู่ที่วัดสถานี  หรือไปเมืองนอกขึ้นเรือบินที่ดอนเมือง  ก็มิได้หมายความว่าบวชอยู่ที่วัดท่าอากาศยาน  ตรงกันข้าม  ใครที่บวชอยู่ที่วัดหัวลำโพง  ถ้าจะไปเมืองนอกก็จะต้องไปขึ้นเรือบินที่ดอนเมือง  เช่นนี้เป็นของธรรมดาในการเดินทางไปเมืองนอกเมืองนา

          นอกจากวัดโพธิ์ที่เป็นท่าเรือสำคัญ  ยังมีมหานาคอีกแห่งหนึ่ง  ที่เป็นท่าเรือสำคัญสมัยนั้นด้วย.”

          * หยุดพักไว้ตรงนี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปใหม่ครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45393#msg45393)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45696#msg45696)                   .


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
วันศุกร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๙ / ๐๕.๕๗ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มีนาคม, 2563, 10:11:50 PM
(https://i.ibb.co/tb1Fqvg/20190626070247-4863974787.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg45534#msg45534)                                                             .

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๖ -

สุนทรภู่เป็นพระเคร่งเก่งคุณไสย
ศีลวินัยไม่ละเมิดเกิดเสื่อมเสีย
ปฏิบัติวิปัสสนาไม่อ่อนเพลีย
รู้การเกลี้ยกล่อมผีปิศาจกลัว.....

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำทัศนะ  “ท่านจันทร์”  ที่ท่านเห็นว่าสุนทรภู่มิใช่คนขัดสนจนยาก  หากแต่มีฐานะอยู่ใน  “ชนชั้นกลาง”  ไปไหนมาไหนมีคนแห่ห้อม ล้อมหน้าหลัง  ไม่เดียวดายดังความที่ท่านแต่งไว้ในกลอนต่าง ๆ  วันนี้มาดูในอีกแง่มุมหนึ่งของสุนทรภู่ในทัศนะของ  “ท่านจันทร์”  ครับ

          กลอนข้างบนนี้  เกริ่นให้ทราบว่าสุนทรภู่ในขณะบวชเป็นพระภิกษุนั้น  ท่านเป็นพระประเภทไหนในทัศนะของ “ท่านจันทร์”   ซึ่งท่านได้นิพนธ์ไว้ในหัวข้อว่า  “๔๒ พระภู่”   ดังต่อไปนี้

           “ เมื่อเราอ่านนิราศเณรกลั่น  เรารู้จักแลเห็นภาพเณรหนูกลั่น  แต่ในที่สุด  เณรหนูกลั่นยังเป็นแต่เงาฉายของสุนทรภู่  สิ่งต่าง ๆ ในประวัติสุนทรภู่ที่เราอาจสงสัยในบทอื่น ๆ มาแต่ก่อน  มากระจ่างแจ้งในนิราศนี้  เป็นต้นในนิราศวัดเจ้าฟ้า  เมื่อเรือไปจอดค้างคืนที่วัดมอญเชิงรากว่า

(https://i.ibb.co/Jq0pSVZ/pj5z546im-LPO6-HWi-GA2-0.jpg) (https://imgbb.com/)

"ดึกกำดัดสัตว์หลับประทับนอน
ที่วัดมอญเชิงรากริมปากคลอง

ต้นไทรครึ้มงึ้มเงียบเชียบสงัด
พระพายพัดแผ้วผ่าวหนาวสยอง
เป็นป่าช้าอาวาสปิศาจคะนอง
ฉันพี่น้องมิได้คลาดบาทบิดา

ท่านนอนหลับตรับเสียงสำเนียงเงียบ
เย็นยะเยียบเยือกสยองพองเกศา
เสียงผีผิวหวิวโหวยโดยวิญญา
ภาวนาหนาวนิ่งไม่ติงกาย

บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก
ผีมันหลอกลากปล้ำพลิกคว่ำหงาย
ลุกขึ้นบอกกลอกกลัวทุกตัวนาย
มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว

ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสบสาบ
เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว
หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว
หมายว่าสาวผมผีร้องนี่แน๊

(https://i.ibb.co/26MtSJn/17-1445432441.jpg) (https://imgbb.com/)

พอพระตื่นฟื้นกายค่อยคลายจิต
บรรดาศิษย์ล้อมข้างไม่ห่างแห
ท่านห่มดองครองเคร่งไม่เล็งแล
ขึ้นบกแต่องค์เดียวดูเปลี่ยวใจ

สำรวมเรียบเลียบรอบขอบป่าช้า
ภาวนาตามสงฆ์ไม่หลงใหล
เห็นศพฝังบังสุกุลส่งบุญไป
เห็นแสงไฟรางรางสว่างเวียน

ระงับเงียบเสียงสำเนียงสงัด
ประดิพัทธ์พุทธคุณค่อยอุ่นเศียร
บรรดาศิษย์คิดกล้าต่างหาเทียน
จำเริญเรียนรุกขมูลพูนศรัทธา

อสุภกรรมฐานประหารเหตุ
หวนสังเวชชีวังจะสังขาร์
อันอินทรีย์วิบัติอนัตตา
ที่ป่าช้านี่แลเหมือนกับเรือนตาย

กลับเกลียดกลัวมัวเมาไม่เข้าบ้าน
พระนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย
อันรูปเหมือนเรือนโรคให้โศกสบาย
แล้วต่างตายตามกันไปมั่นคง

ค่อยคิดเห็นเย็นเยียบไม่เกรียบกริบ
ประสานสิบนิ้วนั่งดังประสงค์
พยายามตามจริตท่านบิตุรงค์
สำรวมทรงศีลธรรมที่จำเจน

ประจงจดบทบาทค่อยยาตรย่าง
ประพฤติอย่างโยคามหาเถร
ประทับทุกรุกข์รอบขอบพระเมรุ
จนพระเณรในอารามตื่นจามไอ

ออกจงกรมสมณาษมาโทษ
ร่มนิโครธน้องไม่เสื่อมที่เลื่อมใส
แผ่กุศลจนจบทั้งภพไตร
จากพระไทรแสงทองผ่องโพยมฯ"


          เมื่อข้าพเจ้าอ่านกลอนนี้ครั้งแรก  ก็ให้สงสัยประวัติสุนทรภู่ในตอนบวช  เท่าที่เชื่อกันมาว่าจะคลาดเคลื่อนขนาดผิดหมดก็แทบจะว่าได้  เพราะที่ขึ้นไปทำกิจจงกรมในป่าช้าเวลากลางดึกเช่นนี้  จะเป็นพระขี้เมา  หรือผู้ที่อาศัยผ้าเหลืองหากินไม่ได้  จะต้องเป็นพระที่เคร่ง  เห็นทุกข์แล้วอยากหาทางที่จะพ้นทุกข์โดยปฏิบัติ  แต่ในเรื่อง  “พระภู่”  ในเมื่อมีหลักฐานแต่เพียงในนิราศวัดเจ้าฟ้าแห่งเดียว  ข้าพเจ้าก็ได้แต่หุบปากไว้ก่อน  ทั้ง ๆ ที่ปากคันอะโข  ครั้นเมื่อมาพบความเดียวกันในนิราศเณรกลั่น  ผิดกันเพียงเณรหนูพัดกลัวผี  เณรหนูกลั่นกลัวเสือ  ก็เป็นโอกาสที่จะพ่นให้หายคันได้  ความในนิราศเณรกลั่นต่อไปนี้อยู่ในตอนจอดค้างคืนที่วัดร้างบางพัง

(https://i.ibb.co/k8bHq0H/tigre-blanco.jpg) (https://imgbb.com/)

"ฝ่ายคุณพ่อบริกรรมแล้วจำวัด
พี่เณรพัดหนูตาบต่างหลับใหล
ยิ่งดึกดื่นครื้นเครงวังเวงใจ
เสียงเรไรหริ่งแหร่แซ่สำเนียง

จะเคลิ้มหลับวับแว่วถึงแก้วหู
เหมือนคนกู่เกริ่นเรียกกันเพรียงเสียง
เสียงเผาะเผาะเหยาะย่องค่อยมองเมียง
เห็นเสือเลี่ยงหลีกอ้อมเที่ยวด้อมมอง

ดูน่ากลัวตัวขาวราวกับนุ่น
แบ่งส่วนบุญบ่นภาวนาสนอง
ทั้งในน้ำทำเลตะเข้คะนอง
ขึ้นคลานร้องฮูมฮูมน้ำฟูมฟาย

เดชะกิจบิตุรงค์ซึ่งทรงพรต
เห็นปรากฏกำจัดสัตว์ทั้งหลาย
มันหลีกเลยเฉยไปไม่ใกล้กราย
เหมือนมีค่ายเขื่อนรอบประกอบกัน

จนล่วงสามยามเวลาบิดาตื่น
ประเคนผืนกาสาน้ำชาฉัน
เงียบสงัดสัตว์ป่าพนาวัน
เสียงไก่ขันแจ้วแจ้วแว่ววิญญา

ท่านอวยพรสอนพระกรรมฐาน
ทางนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขา
ได้เรียนธรรมบำเพ็งภาวนา
เมื่อนอนหน้าวัดร้างคุ้งบางพัง

แล้วบิดาพาเดินขึ้นเนินวัด
เงียบสงัดงึมป่าข้างหน้าหลัง
เข้านิโครธโบสถ์ใหญ่ร่มไม้รัง
สำรวมนั่งนึกภาวนาใน

ด้วยเดชะพระมหาสมาธิ
เป็นคติตามศรัทธาอัชฌาศัย
พอแสงทองส่องฟ้านภาลัย
ลาพระไทรสาขาลงมาเรือฯ"

          นอกจากการบำเพ็ญกิริยาตามประสาที่เรามักเรียกกันอย่างสนุก ๆ ทุกวันนี้ว่า  ยุบหนอ พองหนอ  แล้ว  พระภู่ยังได้แสดงอาการเป็นพระที่แท้อีก  เช่น บิณฑบาตไข่เต่าจากชาวบ้าน  เพื่อฝังให้สัตว์ที่ปฏิสนธิได้เกิด ฯลฯ  แลเมื่อฉันอาหารที่ชาวป่าเขามาถวายอย่างหน้าตาเฉย

          ตัวอย่างที่นำมาลงเหล่านี้  ไม่ใช่คำของสุนทรภู่เอง  ฉะนั้นจะควรเชื่อได้หรือไม่ว่า  “พระภู่”  เป็นคนละคนกับ  “ชาลี ภู่”  ผู้เป็นศิลปิน

(https://i.ibb.co/S6zRfyW/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

          ส่วนหนูกลั่นที่มาเป็นลูกเลี้ยงสุนทรภู่นั้น  เป็นผู้มีตระกูล  มีปู่เป็นพระยาสุนทรเสนา  มีป้าซึ่งว่าเป็นผู้สร้างวัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์)  ตามประวัติวัดหมูว่า  เจ้าจอมน้อยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดโบราณที่ร้างไป  เจ้าจอมน้อยผู้นี้เป็นบุตรีเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม)  มีฉายาเพื่อให้ผิดกับเจ้าจอมน้อยอีกสองคนว่า  เจ้าจอมน้อยสุหรานากง  เจ้าจอมน้อยผู้นี้เห็นจะไม่ใช่ป้าตัวของเณรกลั่น  เพราะได้ออกชื่อปู่ไว้ว่าเป็นพระยาสุนทรเสนา  เห็นจะพอสันนิษฐานได้โดยไม่พยายามเปิดหนังสือค้นว่า  พระยาสุนทรเสนาเป็นน้องหรือเกี่ยวดองกับเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม)  ข้าพเจ้าไม่อยากไล่เรื่องญาติโกโหติกาของหนูกลั่นไปกว่านี้  เอาความสั้น ๆ ว่า  สุนทรภู่คงจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดนับหน้าถือตาของพวกขุนนางแลชาววัง  มิใช่เป็นพระขี้เมาอย่างที่เชื่อกันมาแต่ก่อน   มิฉะนั้นเด็กมีฐานะขนาดเณรกลั่นคงจะไม่ได้มาเป็นลูกเลี้ยง  ความข้อนี้มีพยานหลักฐานยืนยันที่ว่า  สุนทรภู่มีลูกศิษย์เป็นเจ้าฟ้าถึงสามพระองค์  (เจ้าฟ้าอาภรณ์  เจ้าฟ้ากลาง  เจ้าฟ้าปิ๋ว)  มีเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  แลต่อไป  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  แลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงอุปการะเป็นระยะ ๆ    ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงว่าไว้ตั้งแต่ต้นว่า  สุนทรภู่จะไปตกทุกข์ได้ยากที่ไหนกัน  ที่จะพาลูกและลูกศิษย์ในครอบครัวอันใหญ่โตไปอดข้าวกันหมดนั้น  ย่อมเป็นไปไม่ได้  เจ้านายผู้อุปการะแก่สุนทรภู่ล้วนแต่เป็นเจ้าใหญ่นายโตทั้งสิ้น  ท่านคงไม่ได้ทอดทิ้งอย่างที่เข้าใจกันมาแต่ก่อนในศตวรรษเก่าของสุนทรภู่”

          * ทัศนะของ   “ท่านจันทร์”   ที่คัดลอกมาให้อ่านนี้  พอจะฟอกตัวของท่านสุนทรภู่ให้ขาวสะอาดขึ้นได้แล้วหรือยัง  ถ้ายัง  พรุ่งนี้มาตามอ่านกันต่อก็แล้วกัน

          อ้อ... วัดมอญเชิงรากที่ผีหลอกศิษย์จนพระภู่ขึ้นจากเรือเข้าป่าช้าปราบผีนั้น  ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมะขาม  แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองปทุมธานีไปแล้วนะครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มีนาคม, 2563, 10:34:34 PM
(https://i.ibb.co/cX6RFKb/4-1024x680.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๗ -

พระภู่อยู่วัดเลียบเป็นวัดหลัก
เร่ไปพักหลายแห่งแจ้งไม่ทั่ว
สนุกในลายแทงเที่ยวพันพัว
แร่ธาตุยั่วยุเล่นแปรเป็นทอง

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำทัศนะของ  “ท่านจันทร์”  ที่มองสุนทรภู่เห็นว่า  ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย  มิใช่พระขี้เมาตามที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน  วันนี้มาดูทัศนะของ  “ท่านจันทร์”  ที่มีต่อสุนทรภู่ต่อไปครับ

          กลอนข้างบนนี้เกริ่นให้ทราบกันไว้ว่า  พระภิกษุภู่เป็นพระมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน  คือ  วัดเลียบ (ราชบูรณะ) มาแต่เดิม  จนย้ายสำนักจากวัดเลียบไปอยู่วัดเทพธิดารามฯ ซึ่งสร้างเสร็จในปีนั้น  ออกจากวัดนี้แล้วลาสิกขาไปอยู่บ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว สโรบล) ในพระราชวังเดิมจนสิ้นชีวิต

           “ท่านจันทร์”  ได้วิเคราะห์วิถีชีวิตสุนทรภู่ในปี พ.ศ. ๒๓๗๙  ไว้ดังต่อไปนี้

           “ที่จะว่า   โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470)  แต่งใน พ.ศ. ๒๓๘๔  เพราะในรำพันพิลาปว่า  “ปลายปีฉลูมีธุระ”  ไม่เป็นเหตุ  แลที่จะว่าแต่งจากวัดเทพธิดาฯ เพราะออกเดินทางจากมหานาคก็ไม่เป็นเหตุ  เพราะจะต้องแจวเรือถอยหลัง  ระยะทางเดินในเรื่องนั้น  ผ่านวัดสระเกศ  เชิงเลน  คลองโอ่งอ่าง  ออกแม่น้ำที่วัดเลียบ  แล้วเข้าคลองบางกอกน้อย  ระยะทางนี้เหมือนกับในนิราศเณรกลั่น (แต่ง พ.ศ.๒๓๗๖ ก่อนสร้างวัดเทพธิดาฯ)  ผิดกันแต่ที่นิราศเณรกลั่น  เข้าคลองบางกอกใหญ่แลไม่ได้ออกชื่อวัดสระเกศ  ที่ทั้งสองเรื่องไม่พูดถึงวัดเทพธิดาฯ เลย  ชวนให้คิดว่า  โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470) แต่ง พ.ศ.๒๓๗๙   ที่พูดนี้พูดด้วยความรู้สึก  มิใช่เพราะสันนิษฐานหรือเดา  เท่าที่สังเกตมา  จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ  ความรู้สึกของข้าพเจ้าในเรื่องวรรณคดีไม่ค่อยผิด  ในเรื่องปีแต่งโคลงนิราศสุพรรณ  ข้าพเจ้าอาจผิดสักปีหนึ่งข้างหน้าหรือข้างหลัง  แต่รู้สึกว่าไม่ได้แต่งในปี พ.ศ.๒๓๘๔  จากวัดเทพธิดาฯ อย่างแน่นอน

(https://i.ibb.co/3M19sgg/q0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถ้าจะเชื่อว่าโคลงนิราศสุพรรณ แต่ง พ.ศ. ๒๓๗๙ แล้วยึดปีนี้เป็นหลัก  แยกระยะเวลาที่สุนทรภู่บวช  ออกเป็นงวด ๆ  งวดละ ๓ ปี  ประวัติสุนทรภู่ก็จะลงรอยกว่าเก่าเป็นกอง  ในตอนนี้ลองทวนความสักหน่อย  เพราะเท่าที่แล้วมาดูจะได้ขัดคอท่านเกจิอาจารย์  มากกว่าพูดจาระไนที่เป็นเรื่องเป็นราว  การล้มของเก่านั้นง่าย  แต่การตั้งของใหม่ขึ้นมาแทนยาก

          พ.ศ. ๒๓๖๗  สุนทรภู่ออกบวชแล้วไปอยู่หัวเมือง  ลูกไปด้วยคนหนึ่ง  อายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
          พ.ศ. ๒๓๖๘-๖๙-๗๐  จำพรรษาหัวเมือง ๓ พรรษา  (ที่ไหนบ้างไม่ทราบ)  ในรำพันพิลาปว่า

"ทางบกเรือเหนือใต้ไปเที่ยวทั่ว
จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน
เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล
รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม

ไปราชพรีมีแต่พาลจัณฑาลพระ
เหมือนไปปะบอระเพ็ดที่เข็ดขม
ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม
ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราว

ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่อยู่กะเหรี่ยง
ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว
นอนน้ำค้างพร่างพรมพรอยพรมพราว
เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง

ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้
หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ
เข้าวษามาอยู่ที่สองพี่น้อง
ยามขัดข้องขาดมุ้งริ้นยุงชุม"

          นอกจากเพชรบุรี  ราชบุรี  กาญจนบุรี  แลสุพรรณบุรี  สุนทรภู่ยังได้ไปถึงพิษณุโลก (คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก  ไปพิศศรีโลกลายแทงแสวงหา)  แล้วจึงลงมากรุงเทพฯ  อยู่ที่วัดเลียบ (มาอยู่วิหารวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น)

(https://i.ibb.co/9Wj2dg7/da.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในระยะ ๓ ปีแรกที่บวช  สุนทรภู่สนุกสนานอยู่กับการเล่นแร่แปรธาตุ  แสวงหาลายแทง  ยาอายุวัฒนะ ฯลฯ  เป็นระยะเวลาที่ชีวิตโลดโผนผจญภัยนานาชนิด  แลถึงแม้ในเรื่องจะครวญคร่ำน้ำตากระเด็น  เราก็ได้แต่ถามว่า  ถ้าเดือดร้อนแล้ว  ไปทำไม  ไปเพราะใจสมัครใช่ไหม

          พ.ศ. ๒๓๗๑  แต่งนิราศภูเขาทอง
          พ.ศ. ๒๓๗๒  แต่งเพลงยาวถวายโอวาท  เพื่อทูลลาเจ้าฟ้าน้อยลูกศิษย์  เพื่อ  “จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา  ต่อถึงพระวษาอื่นจะคืนมา”
          พ.ศ. ๒๓๗๓  ไม่ทราบว่าจำพรรษาที่ไหน
          พ.ศ. ๒๓๗๔  แต่งนิราศเมืองเพชร
          พ.ศ. ๒๓๗๕  แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า
          พ.ศ. ๒๓๗๖  แต่งนิราศเณรหนูกลั่น

          ในระหว่าง ๖ ปี  ตั้งแต่แรกบวชจนกลับมาอยู่ที่วัดเลียบ  สุนทรภู่ยังไม่ได้เริ่มจับเรื่องพระอภัยมณีที่ค้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เลย  ยังคงสนุกอยู่กับการแสวงหาลายแทงนั้นอยู่  ต่ออีก ๓ ปี (พ.ศ.๒๓๗-๗๘๗๙)  ข้าพเจ้าก็นึกว่ายังไม่ได้เริ่ม  เข้าใจว่าลงมือเมื่อกลับจากสุพรรณแล้ว  ระหว่างนั้น  วัดเทพธิดาฯ  เริ่มสร้างใน พ.ศ. ๒๓๗๙  ผูกพัทธสีมาใน พ.ศ. ๒๓๘๒  สุนทรภู่ย้ายไปอยู่วัดเทพธิดาฯ  จากวัดเลียบโดยตรง  ในรำพันพิลาปว่า

"เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร
กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี
อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี
ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทานฯ"

          อนึ่ง  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๗๘  ก่อนสุนทรภู่ไปสุพรรณ  ฉะนั้นที่ว่ากันมาแต่ก่อนว่า  แต่งเรื่องพระอภัยมณีถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในกฎเกณฑ์โคมลอย  ไม่มีหลักฐานยืนยันคำบอกเล่าเลย”

(https://i.ibb.co/cX4ksw1/U12328766364036121728279602.jpg) (https://imgbb.com/)

          * สรุปว่าสุนทรภู่แต่งนิราศต่าง ๆ ตั้งแต่ภูเขาทองถึงโคลงนิราศสุพรรณนั้น  ในขณะอยู่วัดเลียบทั้งนั้น  พรุ่งนี้มาอ่านที่ท่านพูดถึง โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470) ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มีนาคม, 2563, 12:39:12 AM
(https://i.ibb.co/PxG5nPG/Nqpe-Aok.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๘ -

สุนทรภู่แต่งโคลงดูโฉงเฉง
เหมือนนักเลงกลอนใช้คำไม่คล่อง
โคลงนิราศขาดโวหารหวานทำนอง
ไม่เหมือนของนรินทร์ฯกะพระยาตรัง

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์”  ที่ลำดับกาลเวลาสุนทรภู่ในการใช้ชีวิตและการงานของท่านมาให้อ่านกัน  แล้วสรุปว่าเรื่องพระอภัยมณีต่อจากที่แต่งค้างไว้สมัย ร.๒ นั้น  มาเริ่มแต่งเมื่อย้ายจากวัดเลียบมาอยู่วัดเทพธิดาฯ แล้ว  วันนี้มาอ่านความคิดเห็นของ  “ท่านจันทร์”  ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/6RFFrkk/9786162572005l.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ๔๕. โคลงสุนทรภู่...... “

          ความต่อไปนี้  ลักเขามาจากหนังสือสิบกวี  เมื่อเจ้าของเผลอ  ”ข้อความอื่น ๆ ที่นึกได้  หรือเดาออกเกี่ยวกับ โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470)  จะขอพูดหลังลงตัวบทแล้ว”

           “นิราศที่แต่งเป็นคำโคลงเรื่องนี้ไม่เหมือนนิราศคำโคลงเรื่องอื่น ๆ ที่แต่งเลียนแบบกันมาตลอด  คือเป็นบทครวญที่กล่าวเข้ากับตำบลที่ผ่าน  หรือชื่อนก  ชื่อไม้  ไม่มีที่จะบันทึกเหตุการณ์อะไรเลย โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่  เล่าการเดินทางเหมือนอย่างนิราศที่แต่งเป็นกลอน  ฉะนั้นในด้าน  “รสความ”  จึงไม่เหมือนนิราศคำโคลงอื่น ๆ  ที่ครวญก็ครวญอย่างเฉ ๆ  ดังในสองบทต่อไปนี้  ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นวิธีชมโฉมที่ขันเอาการ

     "บางปลาร้าปลาคล่ำน้ำ...........ลำคลอง
คนเหล่าชาวประมงมอง................มุ่งข้า
สุ่มช่อนช้อนฉะนางปอง.................ปิดเรือก เฝือกแฮ
เหม็นเน่าคาวปลาร้า.....................เรียดคุ้งคลุ้งโขลงฯ

     ริมน้ำทำท่าขึ้น........................ขอดปลา
เกล็ดติดตัวตีนตา.........................ตมูกแก้ม
คิดคู่สู่เสน่หา...............................หอมชื่น ระรื่นเอย
โคลนเช่นเป็นแป้งแต้ม..................ติดเนื้อเหลือหอม ฯ"

          กลอนของสุนทรภู่มีสัมผัสในมาก  ในกาพย์และโคลงก็ใช้สัมผัสสระอย่างในกลอน  ซึ่งเป็นข้อติว่าทำให้ลีลาของโคลงช้าลง  นอกจากนั้นยังติกันว่า  ไม่ถือเอกโทษโทโทษ  หรือใช้โทแทนเอก  หรือแม้แต่จะเกินสักคำก็ไม่เอื้อ  (ในตัวอย่างข้างบนมีทุกอย่างที่ว่าเป็นข้อเสีย)

          แต่ที่แท้   โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470) เป็นบทที่บรรจงแต่งมีระเบียบที่สุด  เป็นต้น  ตลอดเรื่องในบาทหนึ่งไม่มีสร้อยเลย  ในบาทสามไม่มีขาด  เว้นแต่แห่งเดียวในบทนาคบริพันธ์ซึ่งเป็นที่ต้องซ้ำอักษร  จำใส่สร้อยไม่ได้  นอกจากนั้นความแน่นลงพอดีบท  ทุกบท  ถ้าอ่านให้ถูกอย่างที่ผู้แต่งตั้งใจ  บทนี้ไม่แพ้นิราศนรินทร์ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6543.0)  และนิราศลำน้ำน้อย  แต่จะเทียบกันก็เทียบไม่ได้แท้

          ที่จะว่านิราศสามเรื่องที่กล่าวนี้  เป็นเพลงคนละเพลงก็ไม่ตรงนัก  ถ้าจะว่าเป็นเพลงเดียวกัน  แต่นรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ตีระนาด   พระยาตรังเป่าแซกโซโฟน  สุนทรภู่สีซอไม่มีควายฟัง  ก็ไม่ตรงแท้  ข้าพเจ้าชอบมากกว่าที่จะเทียบว่าเมื่อเพลงขึ้นแล้ว  นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน)  และพระยาตรัง  ออกเต้นรำ  นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน)  ลีลาศอย่างสุภาพ   พระยาตรังเต้นแซมบ้าด้วยจังหวะบาทกุญชร  ส่วนสุนทรภู่เมื่อเพลงขึ้นแล้วออกไปรำวงแทนเต้นรำ  ใช้ลีลากลอนแทนลีลาโคลง   ฉะนั้น  จำต้องอ่านของท่านให้ถูก   มิฉะนั้นก็จะไม่เห็นลวดลายในเชิงรำ

          การที่จะอ่านโคลงให้เป็นกลอน  ผู้อ่านจำเป็นต้องตั้งพิธีในใจนิดหน่อย  คือลืมเสียงว่ากำลังอ่านโคลง  พยายามอ่านข้ามสัมผัสนอกไปเลย  ใช้แต่สัมผัสในเป็นเครื่องวรรค  เกี่ยวกับที่วรรคในการอ่านกลอน  ข้าพเจ้านึกว่า  ท่านควรลองเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษดูคำ  Caeswra  คำนี้เดิมเป็นภาษาลาติน  แต่นำมาใช้กันเป็นศัพท์กวีในภาษาอื่น  ถ้าเซซัวร่ายังช่วยท่านวรรคโคลงสุนทรภู่ไม่ถูก  ก็ควรอ่านเทิ่ง ๆ ตลอดบรรทัด  โดยไม่คำนึงถึงเอกโท  หากจะเรียงโคลงเสียใหม่ก็พอจะเห็นลีลาง่ายเข้าบ้าง

"บางปลาร้าปลาคล่ำน้ำลำคลอง................คนเหล่าชาวประมงมองมุ่งข้า
สุ่มช่อนช้อนฉะนางปองปิดเรือกเฝือกแฮ.....เหม็นเน่าคาวปลาร้าเรียดคุ้งคลุ้งโขลง ฯ
ริมน้ำท่าที่ขึ้นขอดปลา...............................เกล็ดติดตัวตีนตาตมูกแก้ม
คิดคู่สู่เสน่หาหอมชื่นระรื่นเอย....................โคลนเช่นเป็นแป้งแต้มติดเนื้อเหลือหอมฯ"

           “ในการพิมพ์ครั้งนี้  ข้าพเจ้ามิได้เปลี่ยนรูปโคลง  หรือเอกโทโทษ  เพราะไม่ใช่ของยากที่ผู้อ่านจะทำเอาเองในใจได้  รู้สึกว่าง่าย  เท่ากับบวกสองกับสองให้เป็นสี่หรือห้า  แล้วแต่ใจสมัคร  ฉะนั้นจึงปล่อยไว้ตามเดิม”

(จบความจากสิบกวี)

(https://i.ibb.co/SrMNf7p/image001.jpg) (https://imgbb.com/)

           “๔๖ โคลงนิราศสุพรรณ.........“

          ทีแรกข้าพเจ้าตั้งใจจะถกเรื่องนี้อย่างยืดยาว  ครั้นเมื่อมาอ่านบทอย่างละเอียด  เห็นว่าผิดวิสัยสุนทรภู่ถนัด  ฉะนั้นของด  เพราะนอกจากหลักฐานยังไม่พอ  ข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาที่จะคิดได้อย่างละเอียดตามแนวความนึกที่เกิดขึ้นใหม่  ท่านผู้อ่านพึงเข้าใจว่า  วิธีที่ข้าพเจ้าเขียนหนังสือนี้  มิใช้เขียนจนจบสิ้นแล้วจึงพิมพ์  หากแต่ตั้งโครงไว้ในหัวว่า  จะลำดับบทของสุนทรภู่อย่างไร  แล้วก็เขียนคำประกอบไปตามเรื่อง  ประดุจใสใบเฟินประดับดอกไม้ที่มีอยู่แล้วให้เต็มแจกัน  การทำเช่นนี้เป็นวิธีที่เลว  ก็รู้อยู่แก่ใจ

          ข้าพเจ้าสารภาพตรง ๆ ว่า  ไม่เคยอ่านกลอนของสุนทรภู่มาก่อนอย่างจริงจัง  พูดอย่างง่าย ๆ  ข้าพเจ้าไม่ชอบกลอนองสุนทรภู่เท่าไรนัก  ข้าพเจ้าไม่ใช่  “นักเลงกลอน”  บางเวลาอารมณ์ไม่ดี  ไม่ชอบของใครทั้งสิ้น  ฉะนั้นบางเรื่องของสุนทรภู่  เพิ่งจะมาอ่านครั้งแรกเมื่อตรวจปรู๊ฟหนังสือนี้ก็ยังมี

          ถึงแม้วิธีนี้จะล่อแหลมอาจพลาดได้ง่าย ๆ ก็ตาม  แต่ก็เป็นทางที่ให้คุณบ้างเหมือนกัน  อย่างน้อย  ข้าพเจ้าก็ไม่เอือมต่อกลอนสุนทรภู่  ไม่มีหยากไย่ในหัวมากเกินควร  ฉะนั้นอ่านกลอนครั้งแรกอาจเห็นแสง  ในเมื่อไม่มีแสงมาแต่ก่อน  แสงในเรื่องโคลงนิราศสุพรรณนี้เป็นตัวอย่าง  แต่เมื่อเห็นแสงแล้ว  จำเป็นต้องทบทวนในหัวเสียก่อนให้แน่นอน  จึงจะควรเขียน

          ในชั้นนี้เอาความง่าย ๆ ว่า   โคลงนิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470)  แต่งใน พ.ศ. ๒๓๗๙ (ถ้าก่อนหรือหลังก็เพียงปีเดียว)  เอาความว่าใน พ.ศ. ๒๓๘๐  หรือ พ.ศ. ๒๓๘๑  สุนทรภู่จับเรื่องพระอภัยมณี  ที่ค้างมาแต่แผ่นดินก่อน  เอาความว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  ไม่ใช่พระองค์เจ้าลักขณานุคุณอย่างที่เชื่อกันมา  เอาความว่าใน ๓ ปี  ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๐ – ๒๓๘๓  สุนทรภู่อยู่วัดเลียบ  แล ๓ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๕ อยู่ที่วัดเทพธิดาฯ  เมื่อได้พูดเช่นนี้แล้ว  เอาความอีกคำหนึ่งว่า   “เพี้ยง !”

          * แหม.... ท่านเปรียบลักษณะของ ๓ กวีเอก  คือ  นายนรินธิเบศร์ (อิน)   พระยาตรัง   สุนทรภู่   ให้เห็นความต่างได้แจ่มแจ้งดีแท้  ตอนนี้อ่านสนุกมากนะครับ  พรุ่งนี้ท่านจะพูดเรื่องอะไร  ยังไม่บอกนะ  เอาไว้มาอ่านกันเองก็แล้วกัน.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ มกราคม ๒๕๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มีนาคม, 2563, 10:48:33 PM
(https://i.ibb.co/7Wt3Kfm/20200101-125416-400.jpg) (https://imgbb.com/)
รูปปั้นสุนทรภู่ขณะบวช
ณ วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ)


- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๐๙ -

มีเรื่องเขาเล่าว่าน่าขำก๊าก
“ท่านจันทร์”ฝากเรื่องเล่าท้าวความหลัง
สุนทรภู่ว่ากลอนกล่าวเสียงดัง
ก้อนอิฐปั้งปาซ้ำคนรำคาญ...

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความเปรียบเทียบของ  “ท่านจันทร์”  ที่ว่าด้วยสุนทรภู่แต่งโคลงเรื่องแรกคือ   นิราศสุพรรณ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6990.msg24470#msg24470)  ที่ผิดแผกไปจากกวีคนอื่น ๆ  เช่น  นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน)  และพระยาตรัง  เป็นต้น  วันนี้จะให้ทุกท่านได้อ่านนิพนธ์ของท่านต่อไป  ซึ่งจะว่าด้วย กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6989.msg24468#msg24468)  และ  เรื่องเล่าสุนทรภู่ว่ากลอนจนคนรำคาญ  เอาก้อนอิฐก้อนดินขว้างปาฝาบ้านเรือน  ดังต่อไปนี้ครับ

(https://i.ibb.co/qC6xKhZ/20200101-123144.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพวาดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
ณ วัดเทพธิดารามฯ (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ)

           “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  พระนามเดิม  พระองค์เจ้าหญิงวิลาส  ทรงเป็นลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ที่ ๓  เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าจอมมารดาบาง  ประสูติเมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๓๕๔  ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าต่างกรม  เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑  สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๘๘

          พระองค์เจ้าหญิงวิลาสทรงมีพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา  ทรงพระนามพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ตามพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเรื่องประวัติสุนทรภู่  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ทรงอุปการะสุนทรภู่จนสิ้นพระชนม์ไปในปี พ.ศ. ๒๓๗๘  สุนทรภู่ได้แต่งบทสรรเสริญพระเกียรติถวายเรื่องหนึ่ง  ซึ่งขณะที่เขียนนี้ยังไม่พบต้นฉบับ  แลได้แต่งเรื่องพระอภัยมณีถวายด้วย  ครั้นเมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพผู้เป็นเจ้าพี่ชะรอยจะได้รับมรดกของเจ้าน้อง  ได้ประทานอุปการะแก่สุนทรภู่ต่อไป  โปรดให้แต่งเรื่องพระอภัยมณีต่อถวายเดือนละหนึ่งเล่มสมุดไทย

          ข้าพเจ้าได้เขียนข้างหน้าแล้วว่า  เรื่องของสุนทรภู่ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์เจ้าลักณานุคุณ  ยังมีหลักฐานนอกเหนือจากคำบอกเล่ากันมาน้อยเหลือเกิน  ทั้งนี้มิใช่จะเชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องเลยก็หามิได้  เป็นเพียงแต่ว่าหลักฐานทางหนังสือควรจะมีมากกว่านี้สักหน่อยจึงจะงาม  ส่วนที่สุนทรภู่เกี่ยวข้องกับกรมหมื่นอัปสนสุดาเทพ  นอกเหนือจากที่ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าทรงเป็น  “นายของสุนทรภู่”  ยังมีหลักฐานทางอื่นมาประกอบคำของสุนทรภู่เอง

(https://i.ibb.co/YRfV36g/20200101-120956-350.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเทพธิดารามฯ
(Photo By บ้านกลอนน้อยฯ)

          กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงสร้างวัดเทพธิดาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙  ผูกพัทธเสมาใน พ.ศ.๒๓๘๒ (ในเรื่องการสร้างวัดเทพธิดาฯ นี้  จดหมายเหตุบางแห่งว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างประทาน  แลกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงสละเงินสมทบ  พร้อมกันนั้นได้ทรงสร้างวัดราชนัดดาประทานพระองค์เจ้าโสมนัส  พระธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ในปีที่ผูกพัทธเสมานั้น  สุนทรภู่ย้ายจากวัดราชบูรณะไปอยู่วัดเทพธิดาฯ  อยู่ได้ ๓ พรรษา  ก็ลาสึกในปี พ.ศ. ๒๓๘๕”

           “ ๔๘. พออิฐปาฝาเป้ง”...... (เรื่องบอกเล่า)

          ...........  ครั้งหนึ่งสุนทรภู่กำลังนั่งเขียนกลอนอยู่  เกิดมีนักเลงดีเดินผ่านบ้าน  เกิดอารมณ์สนุกขึ้นมาอย่างไรก็ไม่ทราบ  หยิบก้อนอิฐก้อนหนึ่งขว้างไปที่บ้านสุนทรภู่  สุนทรภู่ตกใจ  อุทานออกมาว่า

           “ เฮ้ย ไอ้ภู่กำลังนั่งคิดกลอนลงนอนเขลง    คิดตอนพระอภัยเกี้ยวนางละเวง   พออิฐปาฝาเป้งก็ตกใจ”

แล้วสุนทรภู่ก็ลุกขึ้นนั่งเขียนกลอนต่อไป

          ถ้าจะเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นจริง  ก็ต้องเชื่อว่า  เรื่องพระอภัยมณีตอนนางละเวง  แต่งในระหว่างที่ไม่ได้บวชเป็นพระ  ซึ่งไม่ตรงกับที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ข้างบน  เรื่องเดียวกันนี้  ยังมีเล่าอยู่ในหนังสือจินตนาการของสุนทรภู่  ของคุณเสงี่ยม คุมพวาส  ว่า

           “ อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า  ขณะที่ท่านกวีเอกดื่มน้ำอมฤตพอได้ขนาด  ก็มักนอนเอกเขนก  หรือไขว่ห้าง  ว่ากลอนลั่นบ้าน  ซึ่งใครจะฟังหรือไม่ฟังไม่สนใจ  ขอให้ได้ว่ากลอนเล่นพอเพลินอารมณ์ก็พอใจแล้ว  แต่ครั้งนี้เกิดเสียงดังมากไปจนคนข้างบ้านรำคาญ  เอาก้อนอิฐประเคนฝาบ้านปังเข้าให้  ร้อนถึงยาย  นัยว่าไม่ใช่ยายตัว  แต่เคยเลี้ยงมา  ได้ยินคนข้างบ้านเอาอิฐทุ่มก็โกรธสุนทรภู่  จึงเกิดโต้คารมกับท่านจอมกวีเอกขึ้น  เพราะสาเหตุท่องกลอนว่า   “สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง   มือก่ายหน้าผากไขว่ขาร้องว่าเพลง”   พอถึงตอนนี้  ก็พอดีอิฐลอยมากระทบฝาบ้านปังเข้า  สุนทรภู่ก็เลยว่ากลอนต่อไปว่า   “เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป”   ฝ่ายยายอยู่ในครัว  ได้ยินคนขว้างเพราะรำคาญเสียงสุนทรภู่  ก็ร้องตะโกนออกไปว่า   “อ้ายภู่นะอ้ายภู่  มึงไม่รู้อะไรเสียมั่งเลย  ชาวบ้านเขารำคาญรู้ไหม”   สุนทรภู่ก็ต่อเป็นกลอนออกไปอีกว่า   “ภู่หรือไม่ภู่กูรู้อยู่เต็มจิต”   ยายก็ส่งเสียงออกมาด้วยความโมโหอีกว่า   ”มึงจะเกรงกลัวใครมั่งไม่มีเลย”   สุนทรภู่ก็ต่อเป็นกลอนไปอีกว่า   “จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่”   ยายอดทนต่อคำล้อเลียนของสุนทรภู่ไม่ไหว  ก็ออกปากไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นว่า  “ไปนะอ้ายภู่  มึงไปให้พ้น  ใครจะว่าจะด่าไม่นำพาเสียเลย”   แทนที่ท่านจะสงบ  กลับตอบไปเป็นกลอนอีกว่า   “ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป   ใครว่าช่างใครไม่นำพา”   รวมความว่าเรื่องนี้เป็นคำกลอนขึ้นมาได้ดังนี้

                                                      สุนทรภู่ครูเฒ่านอนเฉาเฉง............
มือก่ายหน้าฝากไขว่ขาร้องว่าเพลง     เสียงอิฐปาฝาเป้งสะเทือนไป..........
ภู่หรือไม่ภู่กูรู้อยู่เต็มจิต                     จะเกรงกลัวสักนิดก็หาไม่
ภู่หรือไม่ภู่กูไม่ไป                              ใครว่าช่างใครไม่นำพา............

(เรื่องเดียวกัน. ๒๕๐๘:๓๓๙-๓๔๑)

          ความว่า  เหตุการณ์ข้างบนนี้เป็นเรื่องสมัยรัชกาลที่ ๒  ในระยะที่สุนทรภู่ยังหนุ่มแน่นและโปรดน้ำอมฤต  เสียแต่ในกลอนเรียกตัวเองว่า  “สุนทรภู่ครูเฒ่า”  แต่ก็ยังมียาย  มีชีวิตร่วมบ้านเดียวกัน  อย่างไรก็ดี  คุณเสงี่ยมได้แถมท้ายว่า

           “เท็จจริงอยู่กับผู้เล่า  แต่ได้ยินมาจากหลายปาก  จึงนำมาเล่าสู่ฟัง “

          พอถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔  สุนทรภู่ไปไหว้พระปฐมแล้วแต่งนิราศพระประธม   พอถึงปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่แต่งรำพันพิลาป  แล้วลาสิกขา   หลังบวชอยู่ ๑๗ ปี  ตั้งแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗  อันเป็นปีที่รัชกาลที่ ๒ สวรรคต  ต่อจากรำพันพิลาปสัก ๓ ปี  สุนทรภู่แต่งอีกบทหนึ่งชื่อนิราศอิเหนา  เป็นเรื่องเดียวกับรำพันพิลาป  ใช้ลีลาเดียวกัน”

(https://i.ibb.co/1fy927j/20200101-124107.jpg) (https://imgbb.com/)
พิพิธภัณฑ์สุนทภู่ ณ วัดเทพธิดารามฯ
 (Photo By บ้านกลอนน้อยฯ)

          * เรื่องชีวิตและงานสุนทรภู่กวีเอกแห่งโลกคู่กับเชกสเปียร์  ที่ผมได้นำเสนอมาถึง ๑๐๙ ตอนแล้ว  ควรจะจบลงเสียที  แต่ยังมีผลงานของท่านอีกหลายชิ้นที่   “ท่านจันทร์”   ทรงกล่าวถึง  เช่นกาพย์ลำนำและกาพย์เห่กล่อม  เป็นเรื่องน่าฟังน่ารู้ไม่น้อย  จะน่าเสียดายหากผมปล่อยปละละเลย  ไม่นำมาแสดงให้ทุกท่านได้อ่านกัน

          ดังนั้น  ผมขอนำมาเสนอต่ออีกหน่อยก็แล้วกันนะครับ  ต่ออีกสัก ๒ ตอนก็ขอจบแล้ว.

          อ้อ...... เรื่องเล่าที่คุณเสงี่ยม คุมพวาส  นำจากปากบอกเล่าของชาวบ้านมาถ่ายทอดต่อ  ตามที่  “ท่านจันทร์”  นำมาเล่าซ้ำข้างบนนี้  ผมเห็นว่า  คำบอกเล่าของชาวบ้านไม่สมเหตุสมผลเลย  เป็นเรื่องหลอกเด็กเล่นเสียมากกว่านะ

เต็ม อภินันท์
อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ มกราคม ๒๕๖๒


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มีนาคม, 2563, 10:06:13 PM
(https://i.ibb.co/WD38dJm/U12328766364036121718919591.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๑๐ -

๐ สะธุสะจะขอไหว้....................พระศรีไตรสะระณา
พ่อแม่แลครูบา..........................เทวะดาในราศี
๐ ข้าเจ้าเอา ก ข........................เข้ามาต่อ ก กามี
แก้ไขในเท่านี้.............................ดีมิดีอย่าตรีชา
๐ จะร่ำคำต่อไป.........................พอล่อใจกุมารา
ธรณีมีราชา...............................เจ้าพาราสาวะถี
๐ ชื่อพระไชยสุริยา.....................มีสุดามะเหสี
ชื่อว่าสุมาลี...............................อยู่บูรีไม่มีภัย.....ฯ

                     ............................. กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา (สุนทรภู่)


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์”  ที่กล่าวถึงสุนทรภู่เป็นเกร็ดชีวิตที่ชวนขำขันให้อ่านกันไปแล้ว  วันนี้จะขอนำนิพนธ์ที่ว่าด้วยตอนที่   “๕๓ กาพย์ลำนำแลกาพย์เห่กล่ออม”    มาให้ทุกท่านอ่านกันต่อไป

(https://i.ibb.co/XXNdM37/img031.jpg) (https://imgbb.com/)

          กาพย์ยานี ลำนำ ๑๑  ข้างบนนี้เป็นกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=7653.0)  ที่ท่านสุนทรภู่แต่งให้เป็นแบบเรียนภาษาไทย  เป็นคำกาพย์ยานี  กาพย์สุรางคณางค์  กาพย์ฉบัง  ตั้งแต่ต้นแม่ ก กา  แม่กง  ไปจนจบแม่เกย   ท่านใช้ถ้อยคำมาร้อยเรียงอ่านสนุกมาก  ผู้ใดสนใจก็ไปหาอ่านดูนะครับ  ผมจะไม่นำมาให้อ่านในที่นี้ทั้งหมด  แต่จะให้อ่านนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์”  ที่ทรงกล่าวถึงกาพย์ลำนำแลกาพย์เห่กล่อม  ดังต่อไปนี้

           “เมื่อสุนทรภู่บวชอยู่ที่วัดเทพธิดาฯ  ได้แต่งกาพย์ลำนำเป็นนิทานอ่านเทียบเรื่องพระไชยสุริยา  ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)  นำมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเรียนมูลบทบรรพกิจ  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงพระนิพนธ์ในเรื่องประวัติสุนทรภู่  รับสั่งว่า  พระยาธรรมปรีชา (บุญ) ซึ่งบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาฯ พร้อมกับสุนทรภู่  เล่าถวายว่า  สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ที่วัดนั้น

          ในขณะที่สุนทรภู่อยู่ที่วัดเทพธิดาฯ  น่าจะมีลูกศิษย์เด็ก ๆ ขนาดเรียน  กอ ขอ  กอ กา (มีก็แต่ศิษย์นักกลอน)  คุณฉันท์ ขำวิไล  จึงสันนิษฐานสุนทรภู่แต่งเมื่ออยู่เมืองเพชร  ก่อนเข้ารับราชการ  จริงอยู่  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  คงจะมิได้ทรงสนพระทัยในเรื่องสุนทรภู่เท่าไรนัก  เมื่อยังทรงมีโอกาสสืบถามข้อความต่าง ๆ จากพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ได้   มิฉะนั้นคงได้ตรัสถามว่าสุนทรภู่เป็นคนชนิดไหน  มีรูปร่างสูงโย่งโตใหญ่  หรือต่ำเตี้ย  หน้าตาขาวดำแดงอย่างไร  เพิ่งจะได้มาสนพระทัยอย่างจริงจังเมื่อทรงจับเขียนเรื่องของสุนทรภู่  หมดโอกาสที่จะสอบถามได้ทั้งจากพระยาธรรมปรีชา (บุญ) แลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เจ้าฟ้ากลางผู้เป็นลูกศิษย์)   ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดาย  แต่ถึงกระนั้นก็ไม่น่าไม่เชื่อคำที่พระยาธรรมปรีชาทูลเรื่องสุนทรภู่  แต่งนิทานเรื่องพระไชยสุริยาเมื่ออยู่วัดเทพธิดาฯ  ข้อความบางอย่าง  เช่น  น้ำท่วมเมื่อ   “น้ำป่าเข้าธานี”   ดูจะบ่งถึงน้ำท่วมใหญ่ในรัชกาลที่ ๓

          นิทานเรื่องนี้จะแต่งขึ้นเพื่อเตรียมสึกออกไปสอนหนังสือลูกเธอในเจ้าฟ้าน้อย  หรือจะมีใครขอร้องให้แต่ง  เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่ทราบ  ในประมาณระยะเวลาเดียวกัน  ยังมีเรื่องอ่านเทียบเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง  คือ ปฐมมาลา  ซึ่งพระเทพโมฬี (ผึ้ง หรือ พึ่ง)  เป็นผู้แต่ง

          นอกจากกาพย์ลำนำเรื่องพระไชยสุริยา  สุนทรภู่ยังได้แต่งกาพย์เห่กล่อมพระบรรทมไว้อีก ๔ เรื่อง  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพรับสั่งว่า  โอกาสที่จะแต่งดูจะมี ๓ ระยะ  คือในรัชกาลที่ ๒,  เมื่ออยู่ในอุปการะของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  แลเมื่ออยู่กับเจ้าฟ้าน้อย  ถ้าจะเดาว่าเรื่องเห่จับระบำ  เห่เรื่องกากี  แลเรื่องโคบุตร   แต่งในรัชกาลที่ ๒   เห่เรื่องพระอภัยมณี  แต่งเมื่อสึกแล้ว  ก็คงไม่ผิด  หรือถ้าจะว่าเรื่องหลัง แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำหรับกล่อมบรรทมหม่อมเจ้าโสมนัสธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ก็ดูจะดีขึ้นอีก  พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติหม่อมเจ้าโสมนัสไม่ถึงปี  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพผู้เป็นป้า ทรงรับไปเลี้ยงต่อ

          อย่างไรก็ตาม  เรื่องพระไชยสุริยา คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=7653.0)   ใช้เป็นบทเรียนหัดอ่าน ก ข  จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้  ส่วนบทเห่กล่อมบรรทม  ใช้กล่อมลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตลอดรัชกาลที่ ๔”

(https://i.ibb.co/8btVKmP/spd-20160407181805-b.jpg) (https://imgbb.com/)

          * จบเรื่องกาพย์ลำนำแลกาพย์เห่กล่อม  พระนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์”  ซึ่งท่านมิได้วิพากษ์วิจารณ์ให้แง่คิดใด ๆ  แต่ว่ากาพย์พระไชยสุริยานี้มีหลายบทหลายตอนที่คนไทยชอบนำมาพูดถึงกัน   เช่น ตอนที่พระไชยสุริยาถูกข้าราชบริพารเสนาอำมาตย์ทำให้เสียพระองค์ไปว่า

“อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า    ก็หาเยาวะนารี
ที่หน้าตาดีดี          ทำมะโหรีที่เคหา
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ       เข้าแต่หอล่อกามา....”

“พาราสาวะถี        ใครไม่มีปรานีใคร
ดุดื้อถือแต่ใจ        ที่ใครได้ใส่เอาพอ....”

          และตอนที่อ่านกันสนุกมากเห็นจะเป็นที่ว่าถึง  แม่กด  ท่านเขียนบทอัศจรรย์อย่างพิสดารพันลึกว่า....

(https://i.ibb.co/yspdrXf/img532-resize.jpg) (https://imgbb.com/)

“๐ ขึ้นกดบทอัศจรรย์             เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง
นกหกตกรังรวง                      สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง
๐ แดนดินถิ่นมนุษย์               เสียงดังดุจะเพลิงโพลง
ตึกกว้านบ้านเรือนโรง            โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน
๐ บ้านช่องคลองเล็กใหญ่       บ้างตื่นไปตกใจโจน
ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน           ลุกโลดโผนโดนกันเอง
๐ พิณพาทย์ระนาดฆ้อง          ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง
ระฆังดังวังเวง                        โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง
๐ ขุนนางต่างลุกวิ่ง                ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง
พัลวันกันตึงตัง                      พลั้งพลาดตกหกคะเมน
๐ พระสงฆ์ลงจากกุฏิ์             วิ่งอุตลุดฉุดมือเณร
หลวงชีหนีหลวงเถร                ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน
๐ พวกวัดพลัดเข้าบ้าน           ล้านต่อล้านซานเซโดน
ต้นไม้ไกวเอนโอน                   ลิงค่างโจนโผนหกหัน
๐ พวกผีที่ปั้นลูก                     ติดจมูกลูกตาพลัน
ขิกขิกระริกกัน                        ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ
@ สององค์ทรงสังวาส             โลกธาตุหวาดหวั่นไหว
ตื่นนอนอ่อนอกใจ                   เดินไม่ได้ให้อาดูร.........”

          กาพย์พระไชยสุริยา คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=7653.0)  นี้  อ่านแล้วได้ทั้งความรู้ในด้านศิลปะ (ถ้อยคำ) วัฒนธรรมประเพณี  คติสอนใจ  และความสนุกสนานบันเทิง  แค่  “แม่กด”  เพียงแม่เดียว  ได้บทอัศจรรย์ที่ประทับใจไม่รู้ลืมเลยครับ

          พรุ่งนี้ตอนจบแล้วจะเป็นเรื่องอะไร  ไว้มาพบกันแล้วค่อยรู้นะครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มีนาคม, 2563, 10:50:06 PM
(https://i.ibb.co/k6WXG36/unnamed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑๑๑ -

นักเลงทำเพลงยาวเรื่องราวรู้
สุนทรภู่อาลักษณ์นักเลงใหญ่
ผลงานกลอนมากอยู่คู่คนไทย
กลอนติดปากติดใจลืมไม่ลง...

.................. เต็ม อภินันท์


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระนิพนธ์ของ  “ท่านจันทร์”  เรื่องสุนทรภู่แต่งกาพย์ลำนำและกล่อมเห่  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันผ่านไปอีกตอนหนึ่ง  วันนี้มาอ่านเรื่องสุนทรภู่ตอนที่ว่า  “นักเลงทำเพลงยาว”  ซึ่ง  “ท่านจันทร์”  ว่าไว้ดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/xD5BrpF/image.jpg) (https://imgbb.com/)
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้าชายนวม)

           “ในระหว่าง ๑๔ ปี ที่สุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ อยู่นั้น  ได้ทรงใช้อย่างไรบ้าง  ไม่ปรากฏแน่ชัด  ที่จะให้แต่งแต่กลอนนั้น  ไม่มีปัญหา  แต่บทสูญหายเสียสิ้น  พระองค์ทรงเล่นกลอนมาแต่หนุ่ม  ดังมีเรื่องเพลงยาวสามชายเหลือเป็นพยาน  กวีพระองค์หนึ่งที่ทรงเล่นกลอนด้วย  คือกรมหลวงวงศาธิราชสนิท  ผู้ซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมพระราชบิดา (ประสูติปีเดียวกัน  แต่กรมหลวงวงศาฯ แก่เดือนกว่า  ทรงเรียก  พี่นวม)  เมื่อสุนทรภู่ไปอยู่ด้วยก็ต้องเข้าร่วมเล่นกลอนด้วยเป็นแน่  ข้อนี้มีบอกในนิราศซึ่งนายตาบผู้บุตรสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ ๕

“ถึงพระราชวังสะท้อนจิต....
คะนึงคิดถึงบิดาน้ำตาไหล
พระปิ่นเกล้าเจ้าสุธานิคาลัย
เสด็จไปสู่ที่นีฤพาน

เคยชุบเลี้ยงบิดามาแต่ก่อน
ให้เป็นที่พระสุนทรโวหาร
ทั้งเบี้ยหวัดผ้าปีมีประทาน
พระโปรดปรานชุบเลี้ยงเป็นเที่ยงธรรม์

เคยมาบอกสักวาหน้าที่นั่ง
แต่คราวครั้งก่อนบิดาจะอาสัญ
น้อมศิโรตม์กราบก้มบังคมคัล
พระคุณนั้นล้ำลบภพไตรฯ”

          ในภาคผนวกหนังสือสามกรุง  เมื่อกล่าวถึงเพลงยาวสมัยกรุงเก่าบทหนึ่ง  ซึ่งเป็นฝีปากหญิงอันคมกล้า  ได้กล่าวท้าวถึงสุนทรภู่ว่า

           “เมื่อข้าเจ้าพูดกับเพื่อนชายคนหนึ่งถึงเรื่องกาพย์เพลงยาวของกุลสตรีครั้งกรุงเก่าผู้เลื่องเกียรติ์  แต่ไม่ลือนามคนนั้น  เขาก็ว่า  ถ้าพบสตรีผู้แต่งกาพย์นี้  เขาก็จะต้องรีบหนีออกให้ห่าง  ไม่กล้าสู้หน้า  เพราะกลัวฝีปาก  แต่งสู้แกไม่ไหว

          ที่เขาเล่าเช่นนี้  ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องก่อนเกิดเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่เล่า  ไม่เกี่ยวกับสามกรุง  แต่เป็นเรื่องขบขันดี  ก็นำเล่าสู่กันฟังในที่นี้

(https://i.ibb.co/qYXPpxz/K5346425-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เรื่องนั้นว่า  ในรัชกาลที่ ๓  เจ้านายต่างกรมพระองค์หนึ่ง  ทอดพระเนตรเห็นหญิงสาวทรงรูปลักษณ์เป็นที่ต้องพระหฤทัย  จึงทรงแต่งเพลงยาวไปเกี้ยว  ไม่ทรงทราบว่า  เจ้าฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้าฯ) ทรงติดพันกับแม่คนนั้นอยู่แล้ว  ฝ่ายแม่สวยเมื่อได้รับเพลงยาวของเจ้าต่างกรม  ก็ส่งถวายเจ้าฟ้าน้อยทอดพระเนตร  เวลานั้นสุนทรภู่พะพิงอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย  จึงทรงใช้ให้แต่งเพลงยาวตอบเจ้าต่างกรม  เหมือนว่าแม่สวยแต่งเอง  ครั้นแม่สวยได้รับร่างของสุนทรภู่ก็คัดส่งไปถวายเจ้าต่างกรม  เจ้าต่างกรมได้รับก็เห็นจะทรงยินดี  เพราะถ้าหญิงไม่เล่นด้วยก็คงไม่ตอบเพลงยาว  แต่ครั้นทรงเปิดผนึกออกอ่าน  ก็พบคารมกลอนเฉียบแหลมเผ็ดร้อนที่สุด  เลยทรงครั่นคร้ามไม่กล้าพยายามกับแม่สวยคนนั้นต่อไป”

(เรื่องเดียวกันใน ๒๕๑๘;๓๔๐-๓๔๑)

          สุนทรภู่เป็นคนที่ใช้คำให้เป็นบ่าวได้  มีความนึกอย่างไรก็เอาออกมาเป็นกลอนได้อย่างนั้น  นอกจากเรื่องข้างบนนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเล่ากันมา  ข้อความว่า

           “ครั้งหนึ่ง  จะเป็นก่อนเข้ารับราชการ  หรือในรัชกาลที่ ๒  หรือขณะบวช  หรือเมื่อสึกแล้วไม่ทราบ  มีกระทาชายนายหนึ่งไปขอร้องให้สุนทรภู่แต่งเพลงยาวให้สักบทหนึ่งเถิด  สุนทรภู่แต่งให้ตามคำขอ  อยู่มาอีกสักหน่อยมีหญิงสาวคนหนึ่งมาหา  ขอให้แต่งตอบเพลงยาวถึงชายคนหนึ่งให้สักบทหนึ่งเถิด

     “ท่านอาจารย์กรุณาดิฉันสักหน่อยเถอะค่ะ”  แม่คนนั้นเล่า  “รูปเขาหล่อเหลือเกิน”
     “อ้อ งั้นเหรอ”  สุนทรภู่ว่า  “เขาว่าไงก็เอามาดูซิ”

     แม่สาวส่งเพลงยาวที่ได้รับให้  สุนทรภู่อ่านไปได้หน่อยก็เห็นว่ากลอนดีนัก  อ่านไปอีกหน่อยก็จำได้

     “อุบ๊ะ  ก็บทนี้เราแต่งให้เขาเมื่อสองสามวันมานี้นี่  จะเล่นให้เราเกี้ยวตัวเองหรือไงกัน  แต่ก็ได้เหมือนกัน”

     แล้วสุนทรภู่ก็ตอบเพลงยาวให้  แม่สาวดีใจรีบไปจัดการคัดเขียนส่งให้ชาย

(https://i.ibb.co/XDQW1jX/spd-20160407181723-b.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายชายเมื่อได้รับเพลงยาวของแม่สาวแล้ว  ก็มาขอคำตอบจากสุนทรภู่  แล้วก็หญิง  แล้วก็ชาย  จนความสัมพันธ์ระหว่างคู่นั้นสนิทสนมขึ้นเป็นลำดับ  ส่วนสุนทรภู่จะเกิดอยากเป็นหมอดูขึ้นมาหรืออย่างไรไม่ทราบ  เห็นว่าหนุ่มสาวคู่นี้ชะตาไม่ตรงกัน  ถ้าได้กันประเดี๋ยวจะเดือดร้อน  ฉะนั้นเมื่อแต่งเพลงยาวไปทีก็แทรกคำหมางเข้าไปคำหนึ่ง  กลับมาก็แทรกเข้าไปสองสามคำ  มากขึ้น ๆ  เป็นลำดับ  จนในที่สุดหนุ่มสาวโกรธกัน  ครั้นมีผู้ไปรายงานสุนทรภู่เป็นเชิงต่อว่า ในฐานะแต่งบทเกี้ยวให้เขาทั้งทีก็เกี้ยวไม่สำเร็จ  สุนทรภู่ไม่รู้จะว่าอะไรดี  ในที่สุดก็ได้แต่ว่า

“อ้อ ง้านเหรอ.....”

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

          * ทั้งหมดข้างบนนี้เป็นอีกหนึ่ง  “ควันหลง”  ในชีวิตและงานสุนทรภู่  กวีคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัตนกวีของไทย  ที่นักกลอนไทยรุ่นต่อมาพากันยกย่องให้เป็นยอดครูกลอน  และในที่สุด  ยูเนสโกก็ประกาศยกย่องเชิดชูให้เป็นกวีเอกของโลกคู่กันกับเชกสเปียร์

          เรื่องราวของนักกวีคนสำคัญ ๆ ในราชสำนักรัชกาลที่ ๒  นอกจากสุนทรภู่แล้วยังมีอีกหลายท่าน  แต่ขออนุญาตไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้  เพราะเห็นว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยรัชกาลที่ ๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ควรจบลงเพียงนี้

          พรุ่งนี้จะเริ่มเรื่องราวในสมัยรัชกาลที่ ๓  ต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสโขทัย
๑๔ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มีนาคม, 2563, 10:48:26 PM
(https://i.ibb.co/w0yPXsk/8s7ds-2-678x367.jpg) (https://imgbb.com/)

- สิ้นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย -

“กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันลอยเลื่อนฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน

พระนั่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา..”

………………(อิเหนา)


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้ขอจบเรื่องราวของสุนทรภู่ กวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์  วันนี้มาเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยกันต่อไปครับ

y10bpAlcpRo


          บทกลอนข้างบนนี้  เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จากละครเรื่องอิเหนา  ซึ่งนำมาเป็นเนื้อร้องในทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน  ซึ่งทำนองเพลงนี้พระราชนิพนธ์ขึ้นตามพระสุบินในราตรีหนึ่ง  ที่มาของเพลงนี้มีเรื่องเล่ากันมาว่า...


  - อ่านต่อ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต -   คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg45753#msg45753)


          สำหรับ  “การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย”  ผู้โพสขอยกตัดกลับไปกระทู้   “ประวัติศาสตร์ชาติไทย”  เพื่อความต่อเนื่องของเหตุการณ์  โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ   คลิกที่นี่ (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg45753#msg45753)    เข้าอ่านต่อได้ครับ  /  (หมายเหตุโดยผู้โพสต์)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต