บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มกราคม, 2563, 10:41:02 PM



หัวข้อ: - ทำไม ๑๗ มกราคม จึงเป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มกราคม, 2563, 10:41:02 PM
(https://i.ibb.co/0VdgqDW/1024px-201312131040a-HL-ps-Sukothai-King-Ramkhamhaeng-Monument.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพนูนต่ำที่แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
แผ่นที่ ๓ "พ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชน"

          - ทำไม ๑๗ มกราคม จึงเป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช -

          เป็นที่ยอมรับของคนไทยส่วนมากว่า  "กรุงสุโขไท"  เป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทยในดินแดนสุวรรณภูมิ (แหลมทอง) นี้  มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงปีพุทธศักราช  ๑๘๐๐-๑๙๘๑  เริ่มตั้งแต่ขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดอภิเศกขุนบางกลางท่าว (หรือกลางหาว) ให้ครองนครสุโขไท  พร้อมมอบพระขรรค์ชัยศรีและพระนาม "ศรีอินทรปตินทราทิตย์" (ต่อมาเรียกศรีอินทราทิตย์) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง  กรุงสุโขไทเจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่มาจนถึงรัชสมัยสมเด็จมหาธรรมราชาบรมปาล  จึงสิ้นสุดลงโดยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา

          ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง  แล้วเสื่อมสลายลง  เกิดกรุงธนบุรี  และกรุงเทพมหานครฯ นั้น  ความเป็นกรุงสุโขทัยค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทย  พระนามของกษัตริย์กรุงสุโขไททุกระองค์ไม่มีใครรู้จักแล้ว  คนรุ่นหลัง ๆ รู้จักชื่อสุโขทัยจากนิทานโบราณคดี  เช่นเรื่องนางนพมาศ  เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  เป็นต้น  กษัตริย์แห่งสุโขทัยก็รู้จักกันแต่ในนาม "พระร่วงเจ้า "ผู้มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น  ไม่มีใครรู้จักพระนาม "พ่อขุนรามคำแหง"  หรือ  "ขุนรามราช" เลย

          ต่อเมื่อลุถึงปีพุทธศักราช  ๒๓๗๖  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ร. ๔) ในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏและทรงพระผนวชเป็นภิกษุุอยู่ ณ วัดราชาธิวาส นั้น  ได้เสด็จไปมณฑลพิษณุโลก  แล้วเลยไปถึงเมืองเก่าสุโขทัย  ซึ่งมีสภาพเป็นป่ารกร้าง  ทรงพบพระแท่นมนังศิลาบาตร  กับหลักศิลาจารึก  ถูกทอดทิ้งไว้ในบริเวณโคกปราสาทร้าง  จึงนำลงมากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๑๓๗๖

          ต่อมาทรงย้ายไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศฯ  ทรงพยายามอ่านลายสือ (อักษร) บนหลักศิลานั้น  จนทรงอ่านได้ความว่า  "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์  แม่กูชื่อนางเสือง......"  ไปจนจบสิ้นทั้ง ๔ ด้านของหลักศิลานั้น  มีข้อความสำคัญเกี่ยวกับพระนามของพ่อขุนรามคำแหงปรากฏในบรรทัดที่ ๓- ๑๐ ด้านที่ ๑ ว่า

          ".....เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า  ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก  พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย  ขุนสามชนขับมาหัวขวา  ขุนสามชนเกลื่อนเข้าไพร่ฟาหน้าใส  พ่อกูหนีญญ่ายพายจแจ้น  กูบ่อหนี  กูขี่ช้างเบกพล  กูขับเข้าก่อนพ่อกู  กูต่อช้างด้วยขุนสามชน  ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้  ขุนสามชนพ่ายหนี  พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู  ชื่อพระรามคำแหง  เพื่อกููพุ่งช้างขุนสาม....."

          สรุปความได้ว่า  เดิมพระองค์มีพระนามว่า เจ้าราม  ครั้นเมื่อรบกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดจนถึงขั้นขนช้างกันแล้ว  เจ้ารามชนะ  ขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกย่องขึ้นเป็น  "พระรามคำแหง"

          ทางจังหวัดสุโขทัยเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้กำหนด  "วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช"  ขึ้น  ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีช่วยกันค้นหาวันที่เหมาะสม  ที่จะกำหนดให้เป็นวันพ่อขุนรามคำแหง  นักประวัติศาสตร์โบราณดีค้นหาแล้วไม่พบว่า  พ่อขุนรามคำแหงทรงพระราชสมภพวันใด  ชนช้างชนะขุนสามชนจนพระพระนามรามคำแหงวันใด  ไม่ปรากฏแน่ชัด  และสวรรคตวันใดก็ไม่ปรากฏ  ทราบแต่เพียงปีพุทธศักราชเท่านั้น  จึงลงความเห็นกันว่าให้ถือเอา วันที่่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพบศิลาจารึกหลักที่ ๑  ซึ่งเป็นจารึกที่ปรากฏพระนาม "รามคำแหง"  เป็นครั้งแรก  ให้เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  นั่นคือ ๑๗ มกราคม  ของทุกปี

          นี่คือที่มาของวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  พระองค์ผู้ทรงเป็นปฐมมหาราชแห่งชาติไทยครับ

          อภินันท์ นาคเกษม
          ๑๗ มกราคม ๒๐๑๔
          ขอบคุณเจ้าของภาพจาก Internet