บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, พฤษภาคม, 2556, 03:29:54 PM



หัวข้อ: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, พฤษภาคม, 2556, 03:29:54 PM

        ฉันท์เป็นคำประพันธ์ขั้นสูงแห่งวงวรรณกรรม   ต้นแบบที่ค้นพบครั้งแรกเป็นคัมภีร์
ในภาษาสันสกฤต แพร่หลายอยู่ในประเทศอินเดีย  ภายหลังมีผู้รจนาขึ้นเป็นภาษามคธ(บาลี)
นามว่าคัมภีร์วุตโตทัย  ซึ่งคัมภีร์วุตโตทัยนี้เองเป็นต้นแบบของฉันท์ไทยในเวลาต่อมา
ข้อแตกต่างของฉันมคธกับฉันไทย  คือฉันท์มคธไม่มีการส่ง-รับสัมผัส แต่ฉันท์ไทยได้พัฒนา
ให้มีสัมผัสขึ้นด้วย ลักษณะสัมผัสส่วนใหญ่จะคล้ายกับกาพย์   เช่นถ้าเป็นฉันท์ บทละ ๔ วรรค 
การส่งรับสัมผัสจะมีเพียง วรรค ๑ กับ ๒  และวรรค ๒ กับ ๓ เท่านั้น  ส่วนวรรค ๓ กับ ๔
จะไม่มีสัมผัส คำที่รับสัมผัสเช่นในวรรค ๒ มีตั้งแต่แบบที่สัมผัสกับคำที่ ๑ไปถึง สัมผัสกับคำที่ ๘   
ฉันท์แต่ละอย่าง  มีรูปแบบแตกต่างกันไป  ฉันท์บทหนึ่งจะมีวรรคตั้งแต่ ๒,๓, ๔และ ๘ วรรค 
ตำราฉันท์ไทยที่เป็นต้นแบบ และเป็นที่ยกย่องมากที่สุดคือ “ฉันทศาสตร์” ของนายฉันท์  ขำวิไล
ท่านได้ทำแผนผังของฉันท์มคธ และฉันท์ไทยมาเปรียบเทียบคู่กันไว้อย่างชัดเจน
ซึ่งสาระสำคัญของฉันท์ไทย ในตำรา “ฉันทศาสตร์” พอจะสรุปโดยย่อได้ดังนี้
       ฉันท์เป็นคำประพันธ์ที่บังคับเสียงสั้น และเสียงยาว แยกไปตามชนิดของฉันท์นั้น ๆ
เสียงใดที่ออกเสียงยาว หรือหนัก เรียกว่า ครุ  คือคำที่มีตัวสะกด และคำที่ใช้สระเสียงยาวทั้งหลาย
 แต่เดิมกำหนดสัญลักษณ์ว่า “มีสัณฐานอันคดเช่นพระจันทร์เสี้ยว” ปัจจุบันมักใช้ “ไม้หันอากาศ” แทน
คำที่เป็นเสียงสั้น หรือเบา เรียกว่า ลหุ  คือคำที่เกิดจากสระสระเสียงสั้นและไม่มีตัวสะกด
คือ อ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ อัวะ เอียะ เอือะ เออะ ฤ ฦ  ก็  บ่ ณ ธ  สัญลักษณ์ของ ลหุ นั้น
แต่เดิมกำหนดว่า  “มีสัณฐานอันตรงเช่นไม้กลัด” ปัจจุบันมักใช้สระอุ แทน
สระที่เป็นพิเศษ คือสระ อำ ซึ่งใช้ได้ทั้งครุ และลหุ แต่นิยมใช้เมื่อจำเป็นคือไม่พร่ำเพรื่อเกินไป
        ฉันท์แบ่งออกเป็นจำพวกใหญ่ ๆ ได้สองจำพวก  พวกที่หนึ่งมีการจัดคำครุ ลหุ ไว้เป็นชุด ๆ
ชุดละสามพยางค์เรียกว่าคณะหนึ่งหรือมาตราหนึ่ง  เรียกฉันท์ ที่กำหนดอย่างนี้ ว่าฉันท์มาตราพฤติ   
ได้จำแนกมาตราหรือคณะไว้ ๘ คณะ
คือ ม.คณะประกอบด้วย  ( ครุ ครุ ครุ),  น.คณะ ประกอบด้วย (ลหุ ลหุ ลหุ),
ภ. คณะ ประกอบด้วย (ครุ ลหุ ลหุ), ย. คณะ ประกอบด้วย (ลหุ ครุ ครุ),
ช. คณะ ประกอบด้วย (ลหุ ครุ ลหุ),  ร. คณะ ประกอบด้วย (ครุ ลหุ ครุ),
ส. คณะ ประกอบด้วย (ลหุ ลหุ ครุ),  ต. คระ ประกอบด้วย (ครุ ครุ ลหุ),   
มีผูกคำโคลงไว้เพื่อช่วยจำดังนี้
     ๑  มะนะครุอุล้วน     ดับกัน                  (ม. คณะมีครุล้วน และ น. คณะมี ลหุล้วน)
ภะยะครุอุสรร                เสกหน้า        (ภ.คณะ ครุ นำหน้าสองลหุ ,  ย. คณะ  ลหุ นำหน้าสองครุ)
ชะระครุอุพัน                 เนาท่าม  กลางนา (ช. คระ ครุ อยู่กลาง ลหุ  และ  ร. คณะ ลหุ อยู่กลาง ครุ)
สะตะครุอุอ้า                 ว่าไว้หนหลัง   (ส. คณะ ครุ หนึ่งตามหลัง และ  ต. คณะ ลหุหนึ่ง ตามหลัง)
        เมื่อใช้คำที่เป็นคณะ คณะสามคำ ไปแล้วกี่คณะก็ตาม  หากยังต้องการคำเพิ่มแต่ไม่ครบทั้งคณะ
คำที่เพิ่มนั้นเรียกเป็นครุ หรือ ลหุลอย  อาจเป็นลอย ๑ คำ หรือ ๒ คำ สมทบเพิ่มเติมเข้าไปอีกได้   


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, พฤษภาคม, 2556, 03:39:33 PM
        คำที่คำที่สะกดกัน คือเป็นคำครุโดยรูปเดิมแท้ ๆ แต่ในฉันท์ สามารถบังคับให้
เป็นคำลหุ สองคำก็ได้ ดังเช่น ดุจ (ดุด) เป็น ดุ-จะ, นุช (นุด)เป็น นุ-ชะ,กมล (กะมน) เป็น กะ-มะ-ละ
หรือแปลงเป็นครุ ลหุ ตามต้องการ เช่น ทศทิศ (ทดสะทิด) เป็น ทะ-สะ-ทิด หรือ ทะ-สะ- ทิ-สะ,       
คำที่แปลงได้โดยธรรมชาติก็มีมาก เช่นมรณา – มรณะ, วจนา – วจนะ, วิทยา – วิทยะ เหล่านี้เป็นต้น
ยังมีฉันท์อีกพวกหนึ่งไม่มีการจัดคณะ กำหนดโดยอักษร หรือวลีที่เป็นครุ และลหุ นับเป็นจำนวน
แต่ละวรรคไปตามกำหนดของฉันท์นั้น ๆ  เรียกฉันท์ชนิดนี้ว่าฉันท์วรรณพฤติ  ลักษณะเช่นนี้
เป็นที่นิยมใช้ในฉันท์ไทย   การนับคำพยางค์ครุ ลหุ นั้นยังมีหลักการนับโดยอนุโลมพิเศษออกไป
ไม่ตายตัว ดังนี้เช่น...คำที่มีสองพยางค์ เช่นสดับ, แสดง, แถลง, เจริญ, เหล่านี้เป็นต้น  คำเหล่านี้
จะนับเป็น ลหุและครุอย่างที่ออกเสียงก็ได้ หรือนับเป็นครุอย่างเดียวก็ได้  แต่ทว่าจะนับเป็น ลหุ
อย่างงมีการฉีกคำหนึ่ง ออกไปอยู่สองวรรคก็มี   ด้วยเหตุจากการนับพยางค์ ไม่คงที่เสมอไป และรูปแบบ
การรับสัมผัสไม่คงที่เช่นบทกลอน  ฉะนั้นการที่จะอ่านฉันท์ให้ถูกต้องไพเราะ  ผู้อ่านจะต้องรู้แผนผัง
อันเป็นลักษณะบังคับของฉันท์นั้น ๆ เป็นอย่างดีเสียก่อน  ดังตัวอย่างเช่น….
 
                        แผนผังอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
     ครุ  ครุ  ลหุ  ครุ   ครุ              ลหุ ลหุ  ครุ  ลหุ  ครุ  ครุ
 ครุ  ครุ  ลหุ  ครุ  ครุ                  ลหุ  ลหุ  ครุ  ลหุ  ครุ  ครุ
                       ต้นแบบอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
  ๑ พากย์นี้แหละมีนาม                   กรตามบุราณนาน
คืออินทรวิเชียรขนาน                     กลพร้องลบองฉันท์
 ๑ เนืองเนกเมธา                          ทฤศนาฉบับบรรพ์
พึงเพียรนิพนธ์พรร                         ณ พฤติ์รู้กระทู้แถลง
 
นาม-กร  (ฉีกคำ)   กร อ่าน กะระ (นับเป็นสองลหุ) 
อินทร อ่านอินทะระ (นับเป็นเป็น ครุอย่างเดียว)
ขนาน อ่าน ขะหนาน (นับเป็นครุอย่างเดียว)
กล อ่านกะละ (นับเป็น สองลหุ)
ลบอง อ่านละบอง (นับเป็น ลหุ และครุ)
เนก อ่านเนกะ (นับเป็นหนึ่งครุ หนึ่งลหุ)
ทฤศ อ่าน ทะรึสะ (นับเป็น สองลหุ)
ฉบับ อ่าน ฉะบับ (นับเป็นหนึ่ง ลหุ  หนึ่ง ครุ)
นิพนธ์ อ่าน นิพน (นับ ลหุ และครุ)
พรร-ณ (ฉีกคำ)  พฤติ์ อ่าน พะ รึด (นับเป็น ลหุ หนึ่ง ครุ) 
แถลง อ่าน ถะแหลง (นับเป็น หนึ่ง ครุ)
        ลักษณะอนุโลมเหล่านี้ของฉันท์น่าจะประสงค์เพื่อเอื้อให้ใช้คำลักษณะหลายได้กว้างขึ้น
เพื่อนำความไปได้ง่ายกว่า แต่ผู้ที่มิได้ศึกษาให้ลึกซึ้งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, พฤษภาคม, 2556, 03:47:47 PM
 
   คำพิจารณ์ฉันท์นี้หมายให้เป็นความรู้เบื้องต้นของท่านที่เริ่มจะศึกษาฉันท์  และเชื่อมั่นว่า
เมื่อท่านเข้าใจหลักเหล่านี้แล้ว จะมีความรู้สึกว่าแต่งฉันท์ได้ง่ายขึ้น สนุกขึ้น
โดยเฉพาะเพื่อนผู้รักการกวีทุก ๆท่าน โปรดมาร่วมกันศึกษาค้นคว้าให้กว้างขวางขึ้นต่อ ๆไป
และร่วม เสนอผลงานประเภทฉันท์กันให้มากขึ้น  อย่าคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินไป ให้คิดย้อนไป
ถึงตอนเรายังแต่งกลอนไม่เป็น  ตอนนั้นเราทุกคนก็คงคิดว่าการแต่กลอนไม่ใช่ของง่ายเลย
แต่เมื่อเรารู้หลักแล้ว ก็กลายเป็นของสนุกขึ้นมาเรื่อย ๆ  ขอให้สู้ ๆ กันทุก ๆ คน นะครับ

    เริ่มจากฉันท์ที่ง่ายที่สุด เช่นฉันท์ที่มีแต่ครุล้วนก่อน คือวิชชุมมาลาฉันท์ แล้วค่อย ๆ
แต่งฉันที่มีลหุมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ.....

แผนผังวิชชุมมลาฉันท์ ๘ (ครุล้วน)
๐  ๐  ๐  ๐1          ๐  ๐1  ๐  ๐2
๐  ๐  ๐  ๐2          ๐  ๐  ๐  ๐3                   
๐  ๐  ๐  ๐4          ๐  ๐4  ๐  ๐3,5
๐  ๐  ๐  ๐5          ๐  ๐  ๐  ๐ 
(ตัวเลขตามหลังเดียวกันสัมผัสกัน)
   
        วิชชุมมาลาฉันท์ ๘


  ฉันท์มีหัวใจ        แค่ใครรู้จัก
แล้วต้องคิดรัก      ชอบใจในฉันท์
ค่อยค่อยศึกษา      ขออย่าทิ้งกัน
ความรักผูกพัน     หวานชื่นยืนยง

                              ธนุ  เสนสิงห์


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, พฤษภาคม, 2556, 07:33:33 PM
มิมีอะไรต้องขอบคุณหรือต้องเกรงใจครับ...
เรามาร่วมกันสร้างโลกกวีที่สวยงามใบนี้ด้วยกันเถิดนะครับ
สิ่งที่เรามี เราพร้อมที่จะแบ่งปันกัน ด้วยความรักความปราถนาดีต่อกัน
เห็นสิ่งใดไม่ถูก..ไม่ตรง สิ่งนั้นเป็นอันตรายเสียยิ่งกว่าความที่ไม่ได้คิด
ไม่ได้หวังดีเสียอีก  ผมตั้งชื่อหัวข้อ "พิจารณ์" เพื่อพวกเรามาร่วมศึกษา
และวิจารณ์ร่วมกันครับ... ขอบคุณยิ่งที่ให้กำลังใจครับ

ธนุ  เสนสิงห์


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 24, พฤษภาคม, 2556, 04:26:59 PM
เรียน ครูธนุ และพี่น้องนักกลอนทุกท่าน

ขอร่วมพิจารณ์ด้วยคนนะครับ

การสร้างคำลหุ จากศัพท์เดิม สามารถพิจารณาจากรากศัพท์ได้ด้วยครับ
ซึ่งจะช่วยให้ได้รูปแบบคำที่หลากหลายกว่าเดิม (เทคนิคนี้ได้แนวคิดมาจากท่าน "พรายม่าน" ครับ)

เช่น

จิต, จิต-   [จิด, จิดตะ-] น. ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).

ที่มา: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒


ดังนั้น "จิต" จึงอาจสร้าง เป็น จิ-ตะ (ลหุ - ลหุ)
หรือ จิด-ตะ (ครุ - ลหุ) ก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับตำแหน่งตามฉันทลักษณ์ ครับ

(หากดูจากศัพท์โบราณ "จิตร" ก็เป็น จิ-ตะ-ระ / จิด-ตะ-ระ ได้อีกด้วยคร้บ)


ตัวอย่าง

มาณวกฉันท์

ค ล ล ค        ค ล ล ค

จิต(ตะ)ละเหี่ย    เปลี้ยวรองค์
นวลนุชนง         เยาว(ะ)บ่เคย

ที่มา: พระนลคำฉันท์

อ่าน

จิด-ตะ-ละ-เหี่ย    เปลี้ย-วะ-ระ-อง
ค   ล   ล    ค       ค    ล  ล   ค

นวน-นุ-ชะ-นง     เยา-วะ-เบ่าะ-เคย
ค    ล  ล   ค       ค   ล   ล    ค

*** บ่ ตามพจนานุกรมอ่านว่า บ่อ
แต่ในฉันท์ จะอ่านสั้นกว่าปกติ คล้าย ๆ "บ่อะ" (แต่มันไม่มีรูปสระ ผมเลยใช้สระเอาะ) ***


แล้วก็ยังมีคำในทำนองเดียวกันอีกหลายคำ เช่น

ดุจ   [ดุด, ดุดจะ] ว. เหมือน, คล้าย, เช่น, เพียงดัง, ราวกะ, บางทีในกลอน ใช้ว่า ดวจ ก็มี.

ที่มา: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

ศรีเปรื่อง
๒๔ พ.ค. ๒๕๕๖





หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 24, พฤษภาคม, 2556, 04:49:37 PM
ตำแหน่งสัมผัส กับ การอ่านคำ

ในฉันท์นั้น ตำแหน่งสัมผัสมีผลต่อวิํํธีการอ่านคำ ดังตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

ภุชงคประยาตฉันท์

ล ค ค ล ค ค        ล ค ค ล ค ค
ล ค ค ล ค ค        ล ค ค ล ค ค

(สีน้ำเงิน และ สีน้ำตาล แสดงตำแหน่งคำสัมผัส)

ตระบัดวัสสการมา      สถานราชเรียนพลัน
ธแกล้งเชิญกุมารฉัน   สนิทหนึ่งพระองค์ไป

ที่มา:  สามัคคีเภทคำฉันท์

อ่าน

ตระ-บัด-วัด-สะ-กาน-มา     สะ-ถาน-รา-ชะ-เรียน-พลัน
ล     ค   ค  ล    ค   ค        ล    ค    ค  ล    ค     ค

ทะ-แกล้ง-เชิน-กุ-มาน-ฉัน    สะ-หนิด-หนึ่ง-พระ-อง-ไป
ล      ค     ค   ล   ค   ค       ล    ค     ค    ล    ค   ค

จะเห็นว่า ในวรรคที่ ๒ ราช นั้น ต้องอ่านเป็น รา-ชะ (ทั้งที่อาจอ่านเป็น ราด-ชะ ก็ได้)
เหตุก็เพราะต้องรับสัมผัสกับ มา ในวรรคที่ ๑ นั่นเองครับ

ศรีเปรื่อง
๒๔ พ.ค. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 25, พฤษภาคม, 2556, 04:34:21 PM

        ตอบคุณศิลาสีรุ้งและสมาชิกบ้านกลอนน้อยทุกท่านด้วยความจริงใจครับ
ขอย้อนย้ำไปถึงคำว่า "พิจารณ์" อีกครั้งนะครับ สิ่งนี้เป็นความหมายของการร่วมศึกษา
แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมให้แก่กันและกันครับ คงมิต้องไปคิดกังวลถึงความรู้น้อยหรือมาก
เรามาสร้างแนวทางที่จะเรียนรู้ฝึกฝนไปด้วยกัน แง่มุมใดๆ ที่เป็นอุปสรรค์คนไหนผ่านไปได้
ก็แนะนำให้ผู้ที่กำลังตามมา จะได้ไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว เดียวดาย
    ก็ต้องขอบคุณคุณศรีเปรื่องอย่างยิ่งนะครับที่มาร่วมพิจารณ์ด้วยกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์
อย่างสูง ดังความมุ่งหมายเบื้องต้นของผมเอง คนเรามิควรถือดีว่าใครเก่งกว่าใคร สิ่งที่รู้ควรบอกต่อ
แก่ผู้ที่ยังไม่รู้ เห็นสิ่งใดผิดพลาดก็ติติง วิพากวิจารณ์กัน ด้วยจิตใจที่ปราถนาดีต่อกันอย่างนี้จะดีกว่า
ส่วนท่านที่ยังไม่เริ่ม ก็เริ่ม ตาม ๆ กันไปนะครับ เมื่อรู้หลักพื้นฐานดังที่ร่วมพิจารณ์กันมาแล้ว
หากรู้แผนผังก็ย่อมจะแต่งกันได้ทุกคน เหมือนที่กล่าวว่าเริ่มจากฉันท์ที่มีลหุไม่มากก่อน
แล้วค่อยแต่งแบบที่มากคำลหุไปเรื่อย ๆ เมื่อรู้จักคำลหุมากขึ้น ก็สามารถนำความหมาย
ไปตามต้องการได้ดีอย่างไพเราะขึ้น  ขอให้พยายามอ่าน และพยายามเขียนกันทุก ๆคนนะครับ


ธนุ  เสนสิงห์

 ป.ล.  หากสมาชิกท่านใด ต้องการแต่งฉันท์ชนิดใด แต่หาแผนผังไม่ได้สามารถสอบถามได้ครับ


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 26, พฤษภาคม, 2556, 01:16:36 AM
ความพิเศษของ "ทร" และ "ตร"

คำที่ลงท้ายด้วย "ทร" เช่น จันทร์ อาจสร้างรูปแบบคำ เป็น จัน-ทระ หรือ จัน-ทะ-ระ ก็ได้
ในทำนองเดียวกัน คำที่ลงท้ายด้วย "ตร" เช่น พักตร์ ก็อาจสร้าง เป็น พัก-ตระ หรือ พัำก-ตะ-ระ

ทีนี้จะเลือกใช้รูปแบบใด ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งคำที่วางในฉันทลักษณ์ครับ

ตัวอย่าง "ทร"

๑. วสันตดิลกฉันท์

ในสรวงก็แสงสุริยส่อง       ทิวก่อง ณ กลางวัน
สิ้นสูรย์ก็แสงศิศิรจัน-        ทรจ้า ณ ราตรี

ที่มา: พระนลคำฉันท์

อ่าน

ใน-สรวง-ก็-แสง-สุ-ริ-ยะ-ส่อง         ทิ-วะ-ก่อง-นะ-กลาง-วัน
ค    ค    ล   ค   ล ล ล    ค            ล  ล   ค    ล     ค    ค

สิ้น-สูน-ก็-แสง-สิ-สิ-ระ-จัน             ทะ-ระ-จ้า-นะ-รา-ตรี
ค    ค  ล   ค   ล ล ล    ค              ล  ล   ค   ล   ค  ค

๒. มาณวกฉันท์

ดูกรนุช        บุศยรัตน์
พงศกษัตริย์   ภัทรถกล

ที่มา: พระนลคำฉันท์

อ่าน

ดููำ-กะำ-ระ-นุด      บุด-สะ-ยะ-รัด
ค  ล  ล   ค         ค   ล  ล   ค

พง-สะ-กะ-สัด    พัด-ทระ-ถะ-กน
ค   ล   ล   ค        ค   ล   ล ค

ศรีเปรื่อง
๒๖ พ.ค. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 26, พฤษภาคม, 2556, 01:34:30 AM
ความพิเศษของ "ทร" และ "ตร"  (ต่อ)

ตัวอย่าง "ตร"

๑. วสันตดิลกฉันท์

ภายใต้เศวตฉัตรรัตน์      ก็จรัสจรูญเรือง
ตั้งราชอาสนประเทือง     วรมัณจบรรจถรณ์

ที่มา: สามัคคีเภทคำฉันท์

อ่าน

ภาย-ใต้-สะ-เหวด-ฉะ-ตะ-ระ-รัด        ก็-จะ-หรัด-จะ-รูน-เรือง
ค     ค   ล    ค     ล  ล   ล   ค          ล  ล   ค    ล   ค    ค

ตั้ง-ราด-ชะ-อาด-สะ-นะ-ประ-เทือง     วะ-ระ-มัน-จะ-บัน-[จะ-ถอน]
ค    ค   ล     ค    ล  ล   ล     ค         ล  ล   ค   ล   ค       ค

๒. มาณวกฉันท์

พักตรจะก้ม    กรมอุระถอน
เหตุบทจร      เฉกชนทราม

ที่มา: พระนลคำฉันท์

อ่าน

พัก-ตระ-จะ-ก้ม     กรม-อุ-ระ-ถอน
ค     ล   ล   ค         ค  ล  ล   ค

เหด-บะ-ทะ-จอน   เฉก-ชะ-นะ-ซาม
ค     ล   ล   ค        ค   ล   ล     ค

ศรีเปรื่อง
๒๖ พ.ค. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 28, พฤษภาคม, 2556, 05:00:04 PM
คำที่มี ฤ

คำที่มี ฤ อาจให้ เสียง รึ ริ หรือ เรอ (เสียง เรอ จะมีคำเดียว คือ ฤกษ์ ซึ่งไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่สำหรับฉันท์)

การสร้างรูปแบบเสียงจากคำที่มี ฤ พิจารณาจากพจนานุกรมจะดีที่สุดครับ (เสียง รึ หรือ ริ นี่สิครับ ประโยชน์เพียบ)

เช่น

๑. คฤห, คฤห-   [คฺรึ, คะรึหะ-] น. เรือน, ช่องคูหา, ที่นั่งบนเรือหรือรถมีลักษณะอย่างเรือน เช่น เรือคฤห รถคฤห. (ส.).

    ดังนั้น คฤห ก็อาจเป็น ครึ-หะ (ลหุ-ลหุ) หรือ
                             คะ-รึ-หะ (ลหุ-ลหุ-ลหุ)
                            

๒. ตฤณ, ตฤณ-   [ตฺริน, ตฺรินนะ-] (แบบ) น. หญ้า. (ส.; ป. ติณ).
  
    ดังนั้น ตฤณ ก็อาจเป็น ตริน-นะ (ครุ-ลหุ);
                              ตะำ-ริน (ลหุ-ครุ);
                              ตะ-ริน-นะ (ลหุ-ครุ-ลหุ) หรือ
                              ตะ-ริ-นะ (ลหุ-ลหุ-ลหุ)

ทีนี้จะอ่านลักษณะไหน ก็ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งในฉันทลักษณ์ครับ


ศรีเปรื่อง
๒๘ พ.ค. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: ฉันท์พิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: กรกช ที่ 28, พฤษภาคม, 2556, 10:05:17 PM

ขอขอบคุณ

ท่านธนุ
ท่านศรีเปรื่อง
ท่านศิลาสีรุ้ง

จะพยายามหัดนะขอรับ