บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: ปอละเตียง ที่ 03, พฤศจิกายน, 2563, 09:19:54 AM



หัวข้อ: เจ้าจอมสดับ กับตำรับอาหารไทย "น้ำพริกลงเรือ"
เริ่มหัวข้อโดย: ปอละเตียง ที่ 03, พฤศจิกายน, 2563, 09:19:54 AM

(https://i.ibb.co/2jgMVYR/552000013709703.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวของ เจ้าจอมสดับ ที่เป็นภาพจำของผู้คนที่สนใจ
เรื่องประวัติศาสตร์และคนทั่วไปก็คือ บทพระราชนิพนธ์ที่สลักไว้ในกำไลทองแท้
ซึ่งได้พระราชทานแก่เจ้าจอมสดับ ซึ่งเต็มไปด้วยความหมาย
และความไพเราะข้ามกาลเวลามาให้คนรุ่นหลังได้ซาบซึ้ง

กำไลมาศชาตินพคุณแท้   
ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยั่งยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที   
จะร้ายดีขอให้เห็นเช่นเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก   
ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย   
เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย


เจ้าจอมสดับเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ คนสุดท้าย
ที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงรัชกาลที่ ๙ และแน่นอนว่า กำไลมาศนี้
ได้อยู่บนข้อมือของเจ้าจอมสดับตลอดชีวิตของท่าน เมื่อถึงแก่อนิจกรรม
ทายาทได้ถอดออกให้ และถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมสดับ ซึ่งในครั้งสมัยนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกฐ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ได้มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จขึ้นเมรุพระราชทานเพลิง นับเป็นการพระราชทาน
เกียรติยศอันยิ่งใหญ่แก่อดีตเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ผู้มีชีวิตยืนยาวมาถึง ๕ แผ่นดิน

(https://i.ibb.co/gzsJXbV/7a6a22b638f321ab760e0889e3a8282e.jpg) (https://imgbb.com/)

และในชีวิต ๕ แผ่นดินของเจ้าจอมสดับนั้น มีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจ
เคียงคู่ไปกับหน้าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตำรากับข้าวไทย
ซึ่งเจ้าจอมสดับได้รวบรวมสูตรอาหาร ตำรากับข้าวไทย เฉพาะเครื่องจิ้ม
และข้าวสำเร็จต่างๆ ของสำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และได้จัดพิมพ์หนังสือตำรากับข้าวไทยฉบับนี้ขึ้น
ดังที่ท่านได้เขียนจุดประสงค์ไว้ในคำนำหนังสือว่า

"เพราะเหตุว่า มีพวกพ้องหลายคนมาขอตำราไปปรุงอาหารสำหรับตนเอง
ภายในครอบครัวบ้าง มาขอให้จัดพิมพ์เป็นเล่มบ้าง บางรายก็เห็นว่าข้าพเจ้า
ไม่สามารถที่จะจัดด้วยตนเองได้ ขอช่วยทุนพิมพ์ให้เลยก็มี
เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงคุณในความมีใจดีของมิตรสหาย และความสนใจ
ในอาหารของข้าพเจ้าเช่นนี้ จึงทำให้มีแก่ใจรวบรวมเป็นเล่มขึ้น"


และตำรับอาหารหมายเลขหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือ น้ำพริกลงเรือ
ซึ่งมีที่มาจากเหตุบังเอิญ แต่ได้กลายเป็นเมนูอาหารไทยที่แพร่หลายในเวลาต่อมา

เจ้าจอมสดับ อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎปิยมหาราชปดิวรัดา
(พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์)
พระอัครชายาซึ่งรับสนองพระมหากรุณาธิคุณ
ในกิจการห้องพระเครื่องต้น แห่งราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ ๕
ดังนั้นเจ้าจอมสดับจึงได้รับการถ่ายทอดเรื่องตำรากับข้าวไทยของสำนักพระวิมาดาเธอฯ
อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ไม่ปิดบังตำรา และยินดีที่จะถ่ายทอด ตำราพระวิมาดา ให้แก่ผู้สนใจเสมอ
ในฐานะที่ทรงเป็นต้นตำรับ ดังที่ได้มีการบันทึกไว้ในหนังตำรากับข้าวไทยดังกล่าว

ส่วนตำรับน้ำพริกลงเรือที่ว่ามีที่มาจากเจ้าจอมสดับนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  เป็นผู้หนึ่งที่ทรงคุ้นเคยกับเจ้าจอมสดับ ได้ทรงเขียน
เล่าถึงที่มาเรื่อง น้ำพริกลงเรือ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ว่า น้ำพริกลงเรือ มีที่มาจากเจ้าจอมสดับ
และสถานที่ที่ทำให้เกิดตำรับน้ำพริกลงเรือก็คือ สวนสุนันทา

สวนสุนันทาเป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและพระราชธิดาใน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
และได้ทรงพระราชดำริว่า พระบรมมหาราชวังชั้นในคับแคบ ไม่เหมาะสม
จะเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงโปรดให้สร้างพระตำหนัก
ในบริเวณสวนสุนันทาขึ้น

ในสวนสุนันทาแห่งนี้ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ
ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้เสด็จมาประทับ ณ ตำหนักสายสุทธานภดล 
ทรงก่อตั้งโรงเรียนนิภาคารขึ้นภายในสวนสุนันทาเพื่ออบรมวิชาการเรือน
การฝีมือให้แก่บุตรหลานของขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์ที่นิยมนำบุตรหลาน
มาถวายตัวต่อพระวิมาดาเธอฯ เป็นจำนวนมาก

ในขณะที่สร้างวังสวนสุนันทา ตอนจะสร้างตำหนักนั้นจะต้องขุดดินมาถมเพื่อทำตำหนัก
เมื่อขุดดินมากเข้าจึงกลายเป็นสระน้ำที่กว้างใหญ่ เมื่อเจ้านายเข้าไปประทับแล้ว
จึงได้เกิดการพายเรือเล่นในสระแห่งนี้

วันหนึ่งตอนค่ำคิดจะลงเรือกัน สมเด็จอาหญิงน้อย (พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา) ก็ชวนว่าให้ไปกินข้าวในเรือกันเถอะ
ก็รับสั่งว่า ‘สดับไปดูซิในครัวมีอะไรบ้าง’ เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาเสวย คุณจอมสดับไปในห้องเครื่อง
เห็นมีแต่ปลาดุกทอดฟูกับน้ำพริกตำไว้เท่านั้น จึงหยิบน้ำพริกกับปลาผัดรวมกันกับหมูหวานเล็กน้อย
พอตักขึ้นมาก็หยิบไข่เค็มซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ต้ม ความเป็นคนคล่องและไว
เลยทิ้งไข่ขาวเอาแต่ไข่แดงดิบวางลงไปทั้งลูกๆ และจัดผักเตรียมลงมาด้วย
กลายเป็นอร่อยมาก ถึงเรียกน้ำพริกลงเรือ เกิดขึ้นเพราะคุณจอมสดับนี่เอง


ซึ่งทั้งพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ และกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงโปรดน้ำพริกถ้วยนี้มาก

เจ้าจอมสดับ ได้บันทึกถึงสูตรน้ำพริกลงเรือเอาไว้เช่นเดียวกันว่า ที่ชื่อน้ำพริกลงเรือ
เกิดขึ้นเพราะเจ้านายทรงเล่นเรือพาย เวลาพลบค่ำจะเสวยในเรือโดยมิได้เตรียม
ผู้คิดพบอะไรมีอยู่ในห้องเครื่องก็เก็บผสมกันเข้าให้สำเร็จประโยชน์
และให้ง่ายเหมาะในเรือเล็กๆมืดๆ


เหตุเกิดเพราะลงเรือ ทำให้เป็นที่มาของชื่อน้ำพริกลงเรือ และเพราะรสชาติอาหารหลายประเภท
ที่นำมารับประทานแล้วเข้ากันอย่างไม่เชื่อ ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา “น้ำพริกลงเรือ”
ได้แพร่หลายไปในกลุ่มเจ้านาย ขุนนาง และประชาชนทั่วไปเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

(https://i.ibb.co/zxNYBb4/552000013709703.jpg) (https://imgbb.com/)

(https://i.ibb.co/7GX5C40/7a6a22b638f321ab760e0889e3a8282e.jpg) (https://imgbb.com/)


ขอบคุณข้อมูลจาก Spoon and Fork ค่ะ