บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 26, กันยายน, 2556, 11:58:53 AM



หัวข้อ: เสียง ครุ-ลหุ จำแนกกันยังไงหนอ ?
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 26, กันยายน, 2556, 11:58:53 AM
ครุ แปลว่า หนัก และ ลหุ แปลว่า เบา

แต่เสียงที่เราจำแนกว่าเป็น "ครุ" ดู ๆ แล้วมันมีลักษณะเป็น "เสียงยาว" มากกว่าเสียงหนัก
ในทำนองเดียวกัน เสียง "ลหุ" ก็เหมือน "เสียงสั้น" มากกว่าเสียงเบา

แล้วเสียง "ครุ" และ "ลหุ" จำแนกกันอย่างไร ?

ผมแนะให้ดู "ลหุ" เป็นหลักครับ
"ลหุ" คือ เสียงที่เกิดจากสระเสียงสั้น และไม่มีตัวสะกด
ซึ่งสระเสียงสั้นเหล่านั้น ได้แก่ อะ, อิ, อุ, อึ และ ตัว ฤ ที่ให้เสียง รึ หรือ ริ ด้วยครับ
        เช่น จะ, กิ, สุ, รึ, คฤ (ควบเสียงเป็น "ครึ" หรือแยกเสียงเป็น คะ-รึ ก็ได้) เป็นต้น

สระอื่น ๆ ที่มีรูป -ะ ปน (เอะ, แอะ, โอะ, เอาะ, เออะ, เอียะ, อัวะ)
(จริง ๆ มีสระ เือือะ อีก แต่ ปัจจุบันไม่มีการใช้กันแล้วครับ)
        เช่น เตะ, และ, โต๊ะ, เลาะ, เถอะ, เผียะ, ผัวะ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังอนุโลมให้เสียงสระ "อำ" ที่เป็นพยางค์หน้าของคำมูล เป็นได้ทั้ง ครุ และ ลหุ
        เช่น  อำนวย, สำนวน, ทำนอง เป็นต้น
        ซึ่งจะเป็นอะไรนั้น ขึ้นอยู่การวางตำแหน่งในฉันทลักษณ์ ถ้าตำแหน่ง ลหุ ก็ เป็นลหุ ถ้าตำแหน่ง ครุ ก็ เป็น ครุ

อ้อ! เกือบลืมไป พวกคำที่ใช้พยัญชนะคำเดียวก็นับเป็นลหุด้วยครับ เช่น ก็, บ, บ่, ธ, ณ, ฤ
      

ส่วนเสียงที่ไม่เป็นตามเงื่อนไขข้างต้น ก็ถือเป็น "ครุ" ทั้งหมดครับ

ที่กล่าวมานี้ เป็นทฤษฎีครับ เทคนิคการเลือกคำหรือหาแหล่งเสียง
ให้ไปดูที่กระทู้ "ลหุ...เจ้าตัวยุ่ง" นะครับ

http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,1966.0.html