บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องศึกษา กาพย์ โคลง ร่าย => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤศจิกายน, 2557, 01:50:21 PM



หัวข้อ: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤศจิกายน, 2557, 01:50:21 PM
   (http://upic.me/i/hy/10388634_1594386637451563_4380045987006503973_n.jpg) (http://upic.me/show/53647281)


*+* ฉันทลักษณ์ร่ายสุภาพ *+*

@ ๑. ศรีสิทธิ์พิศาลภพ          เลอหล้าลบล่มสวรรค์
จรรโลงโลกกว่า"กว้าง"           แผนแผ่น"ผ้าง"เมืองเมรุ
ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า            แจกแสงจ้าเจิดจันทร์
เพียงรพิพรรณผ่องด้าว          ขุนหาญห้าวแหนบาท
สระทุกข์ราษฎร์รอน"เสี้ยน"    ส่ายเศิก"เหลี้ยน"ล่งหล้า
ราญราบหน้าเภริน                เข็ญข่าวยินยอบตัว
ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว         ทุกไทน้าวมาลย์น้อม
ขอออกอ้อมมาอ่อน             ผ่อนแผ่นดินให้ผาย
ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว            เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
พระยศไท้เทิดฟ้า                 เฟื่องฟุุ้งทศธรรม ท่านแฮ

..... (โคลงนิราศนรินทร์)

   @ โคลงนิราศนรินทร์ เป็นคำประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมประเภทโคลงนิราศ
กระทรวงศึกษาธิการ นำมาใช้เป็นแบบเรียนดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วนั้น

เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านนำเฉพาะคำโคลงมาสอนนักเรียน
โดยมิได้คำนึงถึงเรื่องของร่ายสุภาพเลย
.... จึงปรากฏว่า นักกวีและมิใช่นักกวียุคหลังๆนี้เขียนโคลงสี่สุภาพได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์
แต่.. เขียนร่ายสุภาพผิดฉันทลักษณ์เกือบทั้งหมด

สมัยที่ ส. เชื้อหอม ยังมีชีวิตอยู่ เราเคยถกกันถึงเรื่องนี้ ท่าน ส. กล่าวว่า

... ร่ายสุภาพ มีข้อบังคับเพียงให้ใช้คำ วรรคละ(ตอนละ) ๕ คำ
ให้คำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของวรรคต่อ รับสัมผัสคำท้ายวรรคส่ง ต่อเนื่องกันไป
แล้วจบลงด้วย โคลงสอง เท่านั้น

ข้าพเจ้าแย้งว่า ฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพมิใช่มีเพียงแค่นั้น
ท่านยังมีข้อบังคับให้ใช้วรรณยุกต์สัมผัสกันด้วย
โดยยกตัวอย่างในนิราศนรินทร์นี้ขึ้นมาให้เห็นชัดๆ
ว่าคำท้ายวรรคที่ส่งนั้น เมื่อส่งด้วยวรรณยุกต์อะไร
ต้องรับสัมผัสด้วยวรรณยุกต์นั้น
เช่นตัวอย่างในนิราศนรินทร์ที่ว่า

"จรรโลงโลกกว่ากว้าง แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ"

และ "สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า"

คำว่า "ผ้าง" คือ "พ่าง" ที่แปลว่า เหมือนหรือ เสมือน
เหตุที่ต้องใช้คำว่า "ผ้าง" เป็น "โทโทษ" ก็เพื่อให้รับสัมผัสคำว่า "กว้าง ที่เป็นวรรณยุกต์โท นี่จุดหนึ่ง

อีกจุดหนึ่งคือ "เหลี้ยน" คำนี้คือ "เลี่ยน"ที่แปลว่า เตียน โล่ง
ท่านต้องใช้โทโทษว่า "เหลี้ยน" เพื่อรับสัมผัสคำว่า "เสี้ยน"

ยกตัวอย่างนี้ให้ ท่าน ส. เห็น ก็เป็นที่ยอมรับแต่นั้นมา

... ปัจจุบันเห็นว่า มีคนเขียนร่ายสุภาพผิดฉันทลักษณ์ คือให้มีเสียงสัมผัสกัน
โดยไม่คำถึงถึงวรรณยุกต์สัมผัส เช่น เขียนว่า "แสนยินดีที่ได้ กระทบไหล่ดารา ได้เห็นหน้าคนดัง"
อย่างนี้สัมผัสเฉพาะเสียง แต่วรรณยุกต์ไม่สัมผัส ถือว่า ผิดฉนทลักษณ์ร่ายสุภาพ ครับ

คิดว่า ครูบาอาจารย์ใน รร.ไม่ได้สอนเรื่องฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพอย่างครบถ้วน หรือ ท่านไม่ทราบว่า มีข้อบังคับให้ใช้วรรณยุกต์สัมผัสด้วย

จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากเลย

@ เต็ม อภินันท์
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ / ๑๘.๑๑ น.



หัวข้อ: Re: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 23, พฤศจิกายน, 2557, 02:04:28 PM

"จรรโลงโลกกว่ากว้าง แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ"

และ "สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า"

ตรงนี้ ผมก็เห็นในหนังสือระบุไว้เช่นกัน ว่า

ที่นี่ต้องการโท ปรกติเป็น พ่าง
ที่นี่ต้องการโท ปรกติ เป็น เลี่ยน

** จากหนังสือ "โคลงนิราศนรินทร์" หน้า ๑ ฉบับปี ๒๕๑๓



หัวข้อ: Re: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: ปลายฝน คนงาม ที่ 24, พฤศจิกายน, 2557, 10:27:55 AM


ขอบคุณที่นำมาเผยแพร่ค่ะ
อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มมาอีกเยอะเลย

 :035:



หัวข้อ: Re: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: คอนพูธน ที่ 24, พฤศจิกายน, 2557, 10:32:09 AM
เคยสงสัยเหมือนกันครับ  ผู้เขียนอธิบายใน โคลงนิราศนรินทร์ว่า
ขึ้นต้นด้วยร่ายสุภาพ ๑ บท (ตามตัวอย่างข้างบน) แต่พออ่านจาก
การรับสัมผัสแต่ละวรรค เหมือนร่ายโบราณ เพราะเคยอ่านพบว่า
..................................................
ร่ายสุภาพ : ไม่บังคับส่งเอก ต้องรับเอก
ร่ายโบราณ : บังคับว่าส่งเอก ต้องรับเอก  ส่งโท ต้องรับโท
..................................................
ดังนั้นร่ายที่เราเขียนกันส่วนมาก จึงเป็นร่ายสุภาพ
ส่วนนิราศนรินทร์ น่าจะเป็นร่ายโบราณ

ความเห็นส่วนตัวนะครับ ผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้
ด้วยความเคารพ
นายคอนฯ


หัวข้อ: Re: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 24, พฤศจิกายน, 2557, 10:42:20 PM

ขอบคุณคุณคอนพูธน กับอีกหนึ่งความคิดเห็นดี ๆ ที่น่าครวญคิดครับผม
  :057:


หัวข้อ: Re: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 26, พฤศจิกายน, 2557, 08:57:17 PM
ขอบคุณเช่นกันครับ  :a015:


หัวข้อ: Re: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: share ที่ 19, กรกฎาคม, 2561, 06:59:01 PM

ร่ายสุภาพ แต่งประกวด ต้องระวัง

การส่ง-รับ สัมผัส
กรรมการเขาตัดคะแนน หากไม่ใช้ วรรณยุกต์ เดียวกัน


สำหรับผม
ผมเน้น ความเหมาะควร ของเนื้อหามากกว่าครับ เช่น

...ฮ่องเต้ มีพระประสงค์.........เจตน์จำนง สอบปราชญ์
ผู้ฉลาด แก้ปัญหา................."ช้างข้า หนักเท่าไร"
วิธีใด ก็ตาม.........................ซักถาม แจงกระจ่างได้
วอนเพื่อน เฉกปราชญ์ไซร้.......แต่งแก้ปริศนา

หากเปลี่ยน ช้างข้าหนักเท่าไร
เป็น ช้าง"หนา"หนักเท่าไร เพื่อรับสัมผัส "ปัญหา"

ผมว่า คงไม่เหมาะ ไม่มีฮ่องเต้ตรัส "นุ่มๆ" แน่ ๆ ครับ



หัวข้อ: Re: ร่ายสุภาพ กับข้อบังคับที่หลายคนหลงลืม
เริ่มหัวข้อโดย: share ที่ 19, กรกฎาคม, 2561, 07:02:47 PM

....ลองเขียน อยากศึกษา
เดินเข้ามา เรียงถ้อย
ค่อยค่อยร้อย ร่ายขยับ
รับต่อใน เนื้อหา
ร่ายนั่นหนา ทุกวรรค
จักต้องมี ห้าคำ
พึงจำ "รับสัมผัส"
จัดลง หนึ่ง สอง สาม
ในวรรคตาม แน่แท้
จงแต่งโคลงสองแล้
จักได้จบบท...นั่นนา

* ปกติร่ายในแต่ละวรรค จะไม่ "เว้นวรรค"
แต่ที่ "เว้นวรรค" เพื่อสะดวกในการอ่านสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยครับ