บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลบท => ข้อความที่เริ่มโดย: หญิงหนิง พราววลี ที่ 25, ธันวาคม, 2558, 02:24:43 PM



หัวข้อ: # กลบทมาลินีโสภิต # * เป็นโสดดีกว่า *
เริ่มหัวข้อโดย: หญิงหนิง พราววลี ที่ 25, ธันวาคม, 2558, 02:24:43 PM

# กลบทมาลินีโสภิต #

* เป็นโสดดีกว่า *

มิชนะใจตนก็หม่นหมอง
จะประเหลาะตัวน้องคิดครองหมาย
คำชายเช่นเล่นลิ้นมิสิ้นลาย
และมักง่ายเหลือดีมีแต่ลวง

จะขออยู่บนคานดวงมานหวัง
สะเปะสะปะดังรั้งติดบ่วง
อนุเคราะห์น้องหน่อยปล่อยตามดวง
โปรดอย่าหน่วงเลยหนอพอกันที

จะขออยู่คนเดียวมิเกี่ยวข้อง
จะไม่มองผู้ชายขอหน่ายหนี
ทิฐิรึ!.บอกเลยไม่เคยมี
ก็เฉพาะกับพี่ที่มารยา

หากรักแล้วทุกข์เข็ญขอเป็นโสด
จะไม่โอดครวญคร่ำพร่ำเพรียกหา
จะไม่ยอมจมปลักรักบังตา
ก็วิเคราะห์แล้วว่าขอลาไกล

และขณะนี้นั้นน้องมั่นจิต
รักเป็นพิษควรหักก่อนตักษัย
เพราะหากปล่อยให้ผ่านเนิ่นนานไป
จะเหนื่อยใจของตนทุกข์จนตาย

หญิงหนิง พราววลี

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ทค่ะ

กลบทมาลินีโสภิต  ปรากฏอยู่ในการประพันธ์ลำดับที่ ๘๔ ของตำรากลบทศิริวิบุลกิตติ์
                              พิจารณาโดยรวมเห็นว่า มีเพิ่มจากกลอนทั่วไป คือ  

         ๑.) ให้ ๓ คำแรกของวรรคสดับ และ วรรครับ (วรรค ๑ และ วรรค ๒) ใช้ น คณะ (ลหุ-ลหุ-ลหุ)  นำหน้า
         ๒.) ให้ ๓ คำแรกของวรรครอง (วรรค ๓) ใช้ ม คณะ (ครุ-ครุ-ครุ)  นำหน้า
         ๓.) ให้ ๓ คำแรกของวรรคส่ง (วรรค ๔) ใช้ ย คณะ (ลหุ-ครุ-ครุ)  นำหน้า
         ๔.) ให้ ๓ คำแรกของต่อไป (วรรค ๕) ใช้ ย คณะ (ลหุ-ครุ-ครุ)  นำหน้า    
                ,จากนั้นวรรคต่อไป ก็ให้วนกลับมาใช้ข้อกำหนดที่ ๑ ไล่ต่อไปเรื่อย ๆ จนจนสำนวนกลอนนั้น

เมื่อนำข้อกำหนดทั้ง ๕ วรรคมารวมกันแล้ว ก็จะกลายเป็นบัญญัติของ  "มาลินีฉันท์ ๑๕"   นั่นเอง

---------------------------------------------------------------------
[ เกร็ด ]   :  มาลินีฉันท์ ๑๕  = (ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ.......ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ.......ลหุ-ครุ-ครุ)

                   น  คณะ มาจาก นรา หมายถึง ฟ้า  ประกอบด้วย  ลหุ ๓ เสียงเรียงกัน    ลหุ-ลหุ-ลหุ
                   ม  คณะ มาจาก มารุต หมายถึง ลม ประกอบด้วย ครู ๓ เสียงเรียงกัน     ครุ-ครุ-ครุ
                   ย  คณะ มาจาก ยชมาน หมายถึง พราหมณ์ผู้บูชายัญ ประกอบด้วย       ลหุ-ครุ-ครุ

** กลบทนี้มีที่มาปรากฏในตำรา "กลบทศิริวิบุลกิตติ์"   ไม่มีปรากฏในกลบท  "จารึกวัดพระเชตุพนฯ"