บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม => ข้อความที่เริ่มโดย: แสงประภัสสร ที่ 14, สิงหาคม, 2566, 09:55:59 AM



หัวข้อ: มิตรแท้ และ มิตรเทียม
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 14, สิงหาคม, 2566, 09:55:59 AM
(http://)
(https://i.ibb.co/25YFjBK/Screenshot-20230802-154925-Google.jpg) (https://ibb.co/Lvh0Cfp)

มิตรแท้ และ มิตรเทียม

กลอนแปดสุภาพ

  ☆พระท่านสอน ย้ำเตือน เลือกเพื่อนคบ           จะประสบ คนดี ดั่งใจหนา
มิตรที่แท้ ตรึกตรอง ชวนกันมา                           ทำกุศล  ผลพา ชีพรื่นรมย์
  ☆เพื่อนที่เลว ชวนนำ ทำอกุศล                         จึ่งเดือดร้อน ส่งผล สุดขื่นขม
ควรต้องเลือก กลุ่มมิตร จิตเกลียวกลม               ประพฤติดี น่าชม เกียรติเนืองนอง
  ☆มิตรแท้มี สี่แบบ มิตรแบบแรก                       "เกื้อกูลมาก" จะแบก บั่นภัยผอง
ตักเตือนอย่า ประมาท สินทรัพย์ปอง                  ช่วยประคอง ฐานะ ยามมลาย
  ☆มิตรแบบสอง "สุขสม ร่วมทุกข์"ด้วย             ไร้ความลับ พร้อมช่วย แก่สหาย
ความลับเพื่อน พรางไว้ มิกระจาย                        ถึงจะตาย ก็ยอม ยืนชีพพลี
  ☆แบบสาม"แนะ- ประโยชน์" แยกแยะชั่ว          ควรเกรงกลัว ไกลยศ และศักดิ์ศรี
ฟังสิ่งใหม่ มุ่งพลัง ทำความดี                               ไม่รอรี ชี้ทาง สวรรค์เอย
  ☆แบบสี่มิตร "รักใคร่" จะโต้เถียง                      เป็นเพื่อนเคียง แก้ต่าง มินิ่งเฉย
ใครสรรเสริญ รับรอง เราคุ้นเคย                         มีทุกข์สุข ชื่นเชย เป็นอาจินต์
  ☆มิตรเทียมมี สี่แบบ มิตรแบบแรก                   "มิตรปอกลอก" รอแจก ทรัพย์และสิน
เพราะหวั่นเกรง เสียมาก ได้น้อยชิ้น                    ตนมีภัย ดับดิ้น จึงช่วยงาน
  ☆เทียมแบบสอง "ชอบพูด" เล่าเรื่องเก่า            ชอบโอ้อวด ขลาดเขลา คำกล่าวขาน
มอบของที่ ไร้ค่า ใช้มินาน                                    ห่อนเจือจาน พึ่งพา  ใจเคลือบแคลง
  ☆เทียมแบบสาม "ประจบ" ดูกลับกลอก             ดีไม่ดี มิบอก ไม่แถลง
ยามลับหลัง นินทา ว่าเสียดแทง                           ยามต่อหน้า เสแสร้ง ว่าเลิศเลอ
  ☆เทียมแบบสี่ รี่ชวน ทางเสียหาย"                     ดื่มน้ำเมา  มากมาย จนเพลินเผลอ
เที่ยวกลางคืน การพนัน ใจพร่ำเพ้อ                      มัวตามเกลอ การงาน พังทลาย ฯ

แสงประภัสสร
๒๗ กันยายน ๒๕๖๕

ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑
สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค

(ขอบคุณภาพจาก อินเทอร์เน็ต)