บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา => ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, สิงหาคม, 2561, 10:47:17 PM



หัวข้อ: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, สิงหาคม, 2561, 10:47:17 PM
(https://image.ibb.co/eLBTkp/1373623001_Screenshot_o.png) (https://imgbb.com/)

- สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- หลักฐานสำคัญของไทย -

พุทธศกสามร้อยปีคล้อยเคลื่อน
ประวัติเตือนจิตตรึกรำลึกได้
เมื่อ"อโศกมหาราช"ผู้เกรียงไกร
ส่งพระไปประกาศศาสนธรรม

"สุวรรณภูมิ"ของเราเป็นเป้าหมาย
มีหนึ่งสาย"ธรรมทูต"อุปถัมภ์
"พระโสณะ,อุตตระ"เป็นพระนำ
มาประจำมั่นอยู่ที่"อู่ทอง"

ศูนย์กลางเก่าเผ่าไทยเห็นไม่ผิด
พุทธนิมิตเครื่องหมายไว้นำร่อง
ให้ค้นคว้าหาหลักฐานการครอบครอง
ดินแดนของคนไทยในโบราณ

พระพุทธรูปดวงตราธรรมจักร
แผ่นจารึกลายลักษณ์เป็นหลักฐาน
"เยธัมมา เหตุ..."อายุกาล
บอกตำนานศาสนามาสู่ไทย


            หมายเหตุ :- มีประวัติศาสตร์พุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ในประมาณปีพุทธศักราข ๓๓๕ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งปาตลีบุตร ชมพูทวีป ทรงเป็นองค์อุปภัมภกในการทำสังคายนายพุทธศาสนา(ครั้งที่ ๓) เสร็จแล้วทรงส่งพระสมณะทูตไปยังประเทศต่าง ๆ มีพระธรรมทูตสายหนึ่งส่งมายังสุวรรณภูมิ ซึ่งมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจึงเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้แต่นั้นเป็นต้นมา.....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: - เถรวาท & หินยาน -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, สิงหาคม, 2561, 10:07:32 PM
(https://image.ibb.co/cUumLp/h2f.jpg) (https://imgbb.com/)

- เถรวาท & หินยาน -

"พระ"โสณะ-อุตตระ"เถรวาท
มาประกาศคำพุทธพิสุทธิ์ใส
เป็น"อโศกนิกาย"จากแดนไกล
คนเข้าใจผิดว่า"มหายาน"

"มหายาน (เรือใหญ่)"ยังไม่เกิด
ชนชูเชิด"เถรวาท"สะอาดสะอ้าน
เพราะคำสอนมีเหตุผลไม่ลนลาน
ให้ผลการปฏิบัติอย่างชัดเจน

"มหายาน"นิกายใหม่เกิดภายหลัง
เข้าไทยครั้ง"ศรีวิชัย"ดำรูเด่น
อาจารย์จีนนำมาพาตระเวน
เข้า"ชวา,เขมร"เส้นทางเดียว

"เถรวาท"สุวรรณภูมิเย็นชุ่มฉ่ำ
ทั่วลุ่มน้ำทุกแควกระแสเชี่ยว
พุทธศาสน์,ลัทธิเดิมเริ่มกลมเกลียว
ไม่เปล่าเปลี่ยว"ผี,พุทธ"พิธีพราหมณ์

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: - ละว้า ไทยโบราณ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, สิงหาคม, 2561, 10:26:43 PM
(https://image.ibb.co/hs6a5p/lava_7.jpg) (https://imgbb.com/)

- ละว้า ไทยโบราณ -

คนไทยในกาลนั้นผิดวันนี้
ยังไม่มีคำใหม่"ไทยสยาม"
เรียกตัวเอง"ไทยละว้า"สง่างาม
และอีกนามว่า"ลั้วะ"ละว้ากลาย

เลิกนับถือผีสางนางไม้ภูต
เมื่อพิสูจน์คำพระรู้ความหมาย
มีเหตุผลเหมาะสมไม่งมงาย
ศีลธรรมร่ายมนต์ขลังกล่อมสังคม

พุทธศาสน์กำจายไปทั่วทิศ
คุมจริตกิริยา"ละว้า"ผสม
ความดุร้ายกลายมาน่านิยม
เป็นเงื่อนปมผูกนามความเป็นไทย

โลกเจริญยอมรับขยับขยาย
ศูนย์กลางย้าย"อู่ทอง"ล่องลงใต้
พุทธศาสน์แต่งเมืองเรืองวิไล
ตั้งแคว้นใหม่ในนาม"กามลังกา"

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กันยายน, 2561, 11:10:17 PM
(https://image.ibb.co/kkF90U/1378470771_p004_o.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธรูปศิลาขาว (องค์หนึ่งในจำนวนทั้งหมด 4 องค์)
ประทับนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรม (แบบทวารวดี)

- ศิลปะทวาราวดี -

ตำนานเก่าเล่าไว้ไม่ลืมหลง
"พญากงพญาพาน"มากปัญหา
เกร็ดปลีกย่อยเหตุผลเหลือคณนา
ขอนำมากล่าวไว้พอได้ความ

"พระยาศรีสิทธิชัยพรหมเทพ"
ไม่อยู่เสพสมบัติเก่าจึงก้าวข้าม
ยกจากเมืองมโนหันสรรค์เมืองงาม
ขนานนาม"ตักสิลามหานคร"

จีนเรียก"กามลังกา"มาจาก"พระ"
เมืองพุทธศาสนาอนุสรณ์
พระเจ้าศรีสุทธิชัยฯทรงให้พร
สรรค์ถาวรวัตถุใหญ่ไว้มากมี

สร้างพระพุทธศิลาขาวเป็นแก่นสาร
ปางประทานพรจำหลักเป็นสักขี
ต้นแบบ"ศิลปะทวาราวดี"
สถิตที่กลางกรุง"ทุ่งพระเมรุ"

พุทธรูปปางแปลกแทรกธรรมะ
ศิลปะทวาวดีนี้โดดเด่น
แพร่กระจายประจักษ์เป็นหลักเกณฑ์
บอกชัดเจนจำได้ "ไทยทวาฯ"


            หมายเหตุ : ตำนานพญากงพญาพาน เล่าว่า กาลก่อนปี พ.ศ. ๑๘๐๐ นั้น มีกษัตริย์นามศรีสิทธิชัยพรหมเทพ พาบริพารอพยพมาแต่เมืองมโนหัน(คือศรีมหาโพธิในปัจจุบัน) มาสร้างเมืองเล็ก ๆ ที่ทรุดโทรมในเกาะสามรัฐขึ้นเป็นเมืองใหญ่ให้ชื่อว่าตักศิลามหานคร จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นเมืองหลวงสุวรรณภูมิแทนอู่ทอง....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กันยายน, 2561, 09:50:40 AM
(https://image.ibb.co/fc2MZz/paragraph_14_575.jpg) (https://imgbb.com/)

- สมเรส (กามลังกา) -

"ปโตเรมี"ชี้ว่าประเทศ-
ชื่อ"สมเรส"เสียงฝรั่งแปลกภาษา
จีนเรียกไปอีกนาม"กามลังกา"
ไทยเรียกว่า"สามรัฐ"ฟังชัดเจน

ลุสมัย"กากวัณดิศราช"
พุทธศาสน์รุ่งเรืองดำรูเด่น
ทรงสร้างพระศิลาขาวเข้าหลักเกณฑ์
มีศิลป์เช่นสุวรรณภูมิในมุมมอง

พัฒนาให้งามตามสมัย
ทรงเริ่มใช้ศักราชประกาศก้อง
เป็นปี"จุลศักราช"ไม่ทดลอง
ทั่วแหลมทองใช้กันแต่นั้นมา

พระองค์ทรงพระนามใหม่ในทางพุทธ
"อนุรุทธธรรมิกราช"องอาจกล้า
เป็นประธานตั้งวงศ์องค์ราชา
"จังกราช"ร่มฟ้าประชาชี

ทรงตั้งเวียงเชียงแสนแคว้นโยนก
โดยไม่ปกครองแคว้นเฝ้าแท่นที่
ทรงครอบครองเพียงแค่แผ่บารมี
คุณความดีปกประเทศทั่วเขตแดน


            หมายเหตุ : กากวัณดิศราช หรืออนุรุทธรรมิกราช เป็นพระราชนัดดาในพระยาศรีสิทธิชัยพรหมเทพผู้สร้างเมืองสมเรส สามรัฐ ขึ้นเป็นเมืองตักศิลามหานคร กากวัณดิศราช มีพระเดชานุภาพมาก เสด็จขึ้นไปเมืองโยนกเชียงแสนซึ่งเป็นเมืองร้างไร้ผู้ปกครอง ทรงประประชุมท้าวสามลราชในแคว้นเหนือแล้วประกาศตั้งให้ ลวะจังกะราชแห่งดอยตุงเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงแสนและเป็นเจ้าแคว้นโยนก พร้อมกับประกาศให้ใช้ปีจุลศักราชเป็นปีที่ ๑ แต่ปี พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กันยายน, 2561, 10:32:09 PM
(https://image.ibb.co/bL13XK/chao_sam_phraya_museum.jpg) (https://imgbb.com/)

- อนุรุทธธรรมิกราชไทย -

ประวัติศาสตร์ชาติไทยไทยมิค้น
ปล่อยตกหล่นลับล่วงไม่หวงแหน
หลงเชื่อฟังฝรั่งหามาให้แทน
ทั้งหมิ่นแคลนการค้นของคนไทย

เจ้า"อนุรุทธธรมิกราช"
เชื่อต่างชาติหยิบหามายื่นให้
จึงกลับเป็นคนมอญพม่าไป
เชื่อตามใน"กัลยาณี"คัมภีร์มอญ

ไม่ยอมรับตำนานนครปฐม
ไม่ดูปมปูมครั้งเกิดหลัง,ก่อน
"อนุรุทธ"รามัญนั้นแน่นอน
อายุหย่อนกว่าไทยหลายร้อยปี

"อนุรุทธ"ไทยแท้แผ่อำนาจ
ก่อนชนชาติมอญใหม่ในวิถี
"จุลศักราช"ไทยใช้จนมี-
อายุที่"สองร้อย"ไม่น้อยเลย

"อนุรุทธ"ไทยเราเก่าแก่กว่า
ทรงครองเมือง"ตักศิลา"อย่างผ่าเผย
สร้างองค์พระด้วยศิลาน่าชมเชย
ไทยไม่เคยเชิดชูเรียนรู้ความ


          หมายเหตุ : นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ไทยส่วนมากเชื่อกันว่า พระเจ้าอนุรุทธรรมิกราชผู้ประกาศใช้ปีจุลศักราชนั้นเป็นชนชาติมอญ อ้างเอาคัมภีร์กัลยาณีของมอญเป็นหลักฐาน โดยไม่อ่านและยอมรับคัมภีร์ไทยคือตำนานพระประฐมเจดีย์ ที่กล่าวถึงพระยาอนุรุทธรรมิกราชแห่งตักศิลามหานคร ขึ้นไปฟื้นฟูอาณาจักรโยนกเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๐ แล้วประกาศใช้จุลศักราชเป็นปีที่ ๑ เหตุการณ์นี้เกิดก่อนอนุรุทธรรมิกราชรามัญนานถึง ๒๐๐ ปี อนุรุทธมอญตามคัมภีร์กัลยาณี เพิ่งเกิดเมื่อปีจุลศักราชล่วงได้ ๒๐๐ แล้ว


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กันยายน, 2561, 10:25:55 PM
(https://image.ibb.co/kbUdjz/1.jpg) (https://imgbb.com/)

- กำเนิดพระแก้วมรกต -

ณ กาลนั้นเกิด"พระแก้วมรกต"
เขียวใสสดเลิศลบในภพสาม
จาก"ไชยา"สู่"ช้างค่อม"นครงาม
เลื่องลือนามพุทธศาสน์พิลาสไกล

"อนุรุทธธรรมิกราช"ปรารถนา
จึี่งยกทัพนาวาล่องลงใต้
ขอพระแก้วพร้อมยกปิฎกไตร
เขาไม่ให้จึงจ้วงเข้าช่วงชิง

ชาวนครพาพระแก้วแคล้วภัยปล้น
ไปฝากคนร่วมชาติญาติใหญ่ยิ่ง
เจ้ากัมพุชไศเลนทร์เป็นที่พิง
อยู่เป็นมิ่งเมืองขอมกัมพูชา

"อนุรุทธ"ในตำนานเล่าขานนั้น
เป็นไทยอันเปรื่องปราดฉกาจกล้า
"กากวัณติศราช"ตักศิลา
ไทยทวาราวดีมิใช่มอญ......


          พระแก้วมรกตกำเนิดขึ้น ณ เมืองพันพาน ไชยา ต่อมาเกิดความขัดแย้งในทางการปกครองรัฐ พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญลงไปประดิษฐาน ณ เมืองช้างค่อม คือ ศิริธรรมนคร หรือนครศรีธรรมราช พระเจ้าอนุรุทธธรรมมิกราชทราบว่า เมืองนครศรีธรรมราชมีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ด้วยมีพระไตรปิฎกคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงปรารถนาได้พระไตรปิฎกนั้น ส่งทูตลงไปขอ แต่พระยาศรีธรรมราชไม่ยอมให้ จึงยกทัพเรืออันเกรียงไกรลงไปตีเมืองนคร ได้พระไตรปิฎกกับพระแก้วมรกตมา แต่่ระหว่างการเดินทางกลับ เรือทรงพระแก้วมรกตซึ่งมีลูกเรือเป็นชาวนครเกือบท้ั้งหมดนั้น ร่วมกันจับชาวเมืองตักสิลาฆ่าทิ้งทะเลเสียสิ้น แล้วนำเรือทรงพระแก้วมรกตนั้นไปสู่เมืองกัมพุช ถวายพระแก้วมรกตแด่พระประทุมสุริยวงศ์ซึ่งเป็นเชื้อสายชาวไศเลนทรเช่นเดียวกับชาวนครศรีธรรมราช พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่กัมพูชาเป็นเวลาช้านาน.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, กันยายน, 2561, 10:34:46 PM
(https://image.ibb.co/e2HPBe/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระสิขี ศิลาดำ -

หนึ่งโอรสกากวัณติศราช
มีอำนาจยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อน
ได้ครองเมืองกระเดื่องนาม"รามนคร"
มีบังอร"จามเทวี"เป็นชายา

อุปราชเมืองละโว้ภิญโญยศ
การณ์ปรากฏ"หินดำ"แผ่นล้ำค่า
นัยว่าเทพบันดาลประทานมา
ชนบูชามากมายในธานี

โปรดให้ช่างสลักหินศิลปะ
เป็นองค์พระงดงามนาม"สักขี"
ได้ห้าองค์แผ่นหินสิ้นพอดี
บังเกิดมีเหตุการณ์เมืองผันแปร

เมื่อ"หริภุญชัย"ได้สร้างเสร็จ
"จามเทวี"รับเสด็จเป็นเจ้าแม่
เชิญหนึ่งพระ"สิขี"ที่ดูแล
ไปเป็นแหห้อมภัยให้ลำพูน


           - โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ากากวัณดิสราช ได้เสกสมรสกับพระนางจามเทวี เป็นราชบุตรเขยแห่งเจ้ากรุงละโว้ และเป็นอุปราชกรุงละโว้ ครองเมืองรัมมนคร(รามนคร)ซึ่งต่อมาคืออโยชญา (อโยธยา) ทรงได้หินศักดิ์สิทธิ์สีดำแผ่นหนึ่ง โปรดให้ช่างแกะสลักเป็นพระพุทธรูปได้ ๕ องค์ ขนานนามว่า พระพุทธสิขี(ศิลาดำ) ยามเมื่อพระนางจามเทวีราชชายาของพระองค์ รับเชิญเสด็จขึ้นไปเป็นเจ้าแม่ครองนครหริภุญชัย(ลำพูน) ได้ทูลขอพระสิขีองค์หนึ่งขึ้นไปด้วย นัยว่าพระพุทธสิขีศิลาดำนี้เป็นต้นแบบพิมพ์พระรอด วัดจามเทวี วัดมหาวัน และวัดอุโมงค์ในกาลต่อมา

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กันยายน, 2561, 10:54:26 PM
(https://image.ibb.co/eOFJpz/maxresdefault_5.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชุมชนใหญ่ในแหลมทอง -

แหลมทองสุวรรณภูมิในปูมหลัง
ซากหักพังทั่วถิ่นไม่สิ้นสูญ
พระพุทธรูปศิลป์งามเลิศจำรูญ
เป็นเค้ามูลค้นคว้าศึกษากัน

โลกเจริญให้ผลคนเกิดมาก
หมู่ชนหลากหลายกลุ่มชุมสังสรรค์
แคว้นใหญ่น้อยเกิดเกลียวเกาะเกี่ยวพัน
ยังยืนยันเป็นญาติร่วมชาติไทย

ศูนย์กลาง"ทวาราวดี"เด่น
ที่ชัดเจน"ตักศิลา"เป็นเมืองใหญ่
เมืองเชลียงศรีสัชชนาลัย
รองลงไปเป็นลูกหลวงเท่าลพบุรี

หลังสิ้น"กากวัณติศราช"
เสมือนขาดเสาหลักอ่อนศักดิ์ศรี
จึ่งแคว้น"ศรีวิชัย"ได้เกิดมี
พร้อมกันนี้เกิดโยนก,โคตรบูรณ์

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กันยายน, 2561, 10:24:48 PM
(https://image.ibb.co/jUc7HK/2.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทวาราวดีล่มสลาย -

พาลีราชครองแคว้นสืบแทนพ่อ
แล้วสืบต่อไม่นานถึงการสูญ
เมื่อพาลีบดีไชยไม่เกื้อกูล
เลิกเทิดทูนเจ้าแคว้นเป็นแทนเอง

สร้างตำนาน"ลูกฆ่าพ่อ"ก่อปิตุฆาต
จนแคว้นขาดรุ่งริ่งดูโหรงเหรง
ทุกหัวเมืองเหนือใต้ไม่กลัวเกรง
อยู่วังเวงเดียวดายได้มินาน

เมืองลูกหลวงลพบุรีเป็นอิสระ
พร้อมพร้อมกะสุโขทัยกระเซ็นซ่าน
ภูกามยาว,เชียงแสนแคว้นเหนือลาน
ลำพูนพานพ้นเผ่นเป็นเสรี

ทางใต้ตั้งศรีวิชัยจนใหญ่ยิ่ง
อีศานอิงกัมพุชสุดวิถี
แล้วศูนย์กลาง"ทวาราวดี"
ตั้งมั่นที่"ละโว้-อโยธยา"


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, กันยายน, 2561, 10:35:41 PM
(https://image.ibb.co/e0jYuz/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- มหายาน & พราหมณ์ -

อาณาจักรแคว้นแตกแยกหลายรัฐ
ทั้งบ้านวัดเปลี่ยนแปลงแสวงหา
ความพอใจปฏิบัติตามศรัทธา
ศาสนา,ลัทธิมีเปลี่ยนแปลง

"มหายาน"จากจีนเข้าถิ่นใต้
มีคนไทยสักการะไม่แสยง
ผี,พราหมณ์,พุทธสารพัดถูกดัดแปลง
มิขัดแย้งวิถีชีวิตไทย

พระพุทธรูปเครื่องทรงบ่งลัทธิ
ตามคติมหายานอันยิ่งใหญ่
โพธิสัตว์พุทธเจ้ายังยาวไกล
ซึ่งอยู่ในแนวทางสร้างบารมี

เทวรูปนารายณ์,อิศวรเจ้า
ก็นำเข้ารวมจุดพุทธวิถี
ทั้งเทพ,ธรรมนำมาสามัคคี
เป็นความดีไทยสร้างแต่ปางบรรพ์


          มหายาน เป็นชื่อคณะสงฆ์ของพระพุทธศาสนา เกิดจากพระภิกษุฝ่ายเหนือที่มีความคิดเห็นขัดแย้งคณะสงฆ์ฝ่ายกลางที่เรียกตนเองว่า "เถรวาท" ยึดคัมภีร์ปิฎกตามมติการสังคายนายครั้งแรก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยแยกตนออกไปตั้งเป็นคณะ "อาจาริยวาท" แล้วตั้งเป็นฝ่ายมหายานชัดเจนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ ปี ส่วนคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ต่อมาถูกฝ่ายมหายานเรียกว่า "หินยาน"

          พระพุทธศาสนานิกายมหายานเผยแผ่ไปเจริญรุ่งเรืองในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม แพร่มาสู่ไทยเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐาน มาปรากฏชัดก็ต่อเมื่อหลวงจีนอี้จิง พระภิกษุนิกายมหายานจากจีน เดินทางจากกวางตุ้ง ผ่านฟูนันมาสู่อาณาจักรศรีวิชัย(ศรีโพธิ) ที่ไชยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๑๔ พักอยู่เป็นเวลานานพอสมควรแล้วเดินทางต่อไปอินเดีย ท่านบันทึกไว้ว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในอาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรืองมาก

          อาณาจักรศรีวิชัยสลายไปเป็นเวลานาน จนถึงปี พ.ศ. ๑๘๓๐ อาณาจักรทวาราวดีล่มสลายลง พระเจ้าพนมวังจึงสถาปนาอาณาจักรนครศรีธรรมราชขึ้นมา เป็นการฟื้นอาณาจักรศรีวิชัยขึ้นมาอีกคราหนึ่ง.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กันยายน, 2561, 10:27:37 PM
(https://image.ibb.co/fexFSU/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระธาตุหริภุญชัย

- พระธาตุหลักฐานไทย -

องค์พระธาตุเจดีย์บริสุทธิ์
"ผี,พราหมณ์,พุทธ"จุดรวมร่วมรังสรรค์
หล่อหลอมเลือดชนไทยจากหลายพันธุ์
เป็นชาติอันยิ่งใหญ่ในแหลมทอง

พระปฐมเจดีย์ที่กลางประเทศ
เป็นต้นเหตุแผ่พุทธศาสน์ผุดผ่อง
พระธาตุพนมโคตรบูรณ์บุญเรืองรอง
ตั้งริม"ของ=โขง"สง่ามาเนิ่นนาน

พระธาตุหริภุญชัยในภาคเหนือ
ปลูกความเชื่อศรัทธามหาศาล
บรมธาตุนครศรีฯที่ตระการ
ล้วนก้าวผ่านยุคสมัยลายร้อยปี

เรียนรู้ไทยได้จากศาสนา
ความเป็นมามากหลักฐานสักขี
เลิกหลงเชื่อคนฝรั่งสร้างคดี
เชื่อไทยที่หลักฐานยังมั่นคง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, กันยายน, 2561, 10:24:15 PM
(https://image.ibb.co/drDGZ9/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระประโทณเจดีย์

- เรื่องจริงอิงนิยาย -

มีเรื่องราวกล่าวขานตำนานเก่า
แต่มีเค้าโครงคดีที่เหลือหลง
ซากเจดีย์หลักฐานอันยืนยง
"พญากงพญาพาน"ตำนานมี

เป็นเรื่องจริงอิงนิยายประวัติศาสตร์
ศักราชจำหลักเป็นสักขี
พันสามร้อยราวนั้นประมาณปี
เมื่อ"พาลีบดีชัย"ได้ครองแคว้น

รายละเอียดหาอ่านตำนานเถิด
เป็นเรื่องเกิด"ปิตุฆาต"ประหลาดแสน
พระประโทณก่อตั้งกลางดินแดน
เพื่อทดแทนคุณบิดาที่ฆ่าตาย

ลูกฆ่าพ่อชิงราชย์ขัดรู้สึก
ในสำนึกชาวพุทธสุดเสียหาย
"พญาพาน"ตกต่ำอำนาจวาย
แคว้นสลายย่อยยับลงกับมือ

ไทยใต้เหนืออีศานตะวันออก
ล้วนต่างบอกเลิกรับเลิกนับถือ
ตั้งเป็นแคว้นอิสระนามระบือ
แล้วลุกฮือผูกขาดอำนาจตน


          ตำนานนครปฐม ที่เรารู้กันทั่วไปคือเรื่องพญากงพญาพาน แต่ในตำนานนี้ อิงประวัติศาสตร์ มีโบราณวัตถุสถาน คือเจดีย์พระประโทณ และเรื่องราวพระยาศรีสิทธิชัยพรหมเทพ ยืนยันได้ พระยากงคือ พระยาพาลีราช พระโอรสกากวัณดิศราช ครองตักสิลามหานคร พระยาพาน คือพระยาพาลีบดีชัย เป็นอุปราชครองเมืองสุโขทัย(น่าจะเป็นศรีสัชนาลัย) สมัยนั้น สุโขทัยเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรทวาราวดี

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, กันยายน, 2561, 10:25:03 PM
(https://image.ibb.co/mtAjrp/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระอัจจนะ สุโขทัย

- เริ่มต้นประวัติศาสตร์ไทย -

หลายร้อยปีที่ไทยกระจายกลาด
เหมือนต่างชาติภาษาดูสับสน
แต่ละรัฐจัดตั้งแว่นแคว้นตน
รักษาผลประโยชน์ไว้ใกล้ใกล้ตัว

จนพุทธศตวรรษที่สิบแปด
เกิดรัฐแผดแสงใสไล่สลัว
"สุโขทัย"ผุดผ่องไม่หมองมัว
รัฐทั่วทั่วรอบข้างล้วนยำเกรง

ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เริ่มต้น
บอกชื่อคนนานาที่กล้าเก่ง
"ขุนศรีนาวนำถุม"ทุ่มบรรเลง
ทำนองเพลงไทยเดิมเริ่มกังวาน

ในศิลาจารึกหลักที่สอง
เล่านำร่องเรื่องราวทั้ง"คาวหวาน"
ประวัติศาสตร์ลากความจากตำนาน
มีหลักฐานจากศิลาจารึกไว้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯและเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, กันยายน, 2561, 10:30:04 PM
(https://image.ibb.co/fuCURp/20150630_121650.jpg) (https://imgbb.com/) (https://image.ibb.co/hhOEsU/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พ่อขุนผาเมือง                 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

- สองขุนผู้ยิ่งใหญ่ -

อันขุนศรีอินทราทิตย์ที่เอ่ยอ้าง
เดิมชื่อ"บางกลางท่าว"ก้าวเป็นใหญ่
จากเมืองน่านสร้างบางยางนครไทย
แล้วจึงได้นางเสืองเมืองเชลียง

เป็น"ขุนยี่ศรีเสชชนาไลย"
ก่อนเป็นใหญ่เลื่องลือเกริกชื่อเสียง
อีกนามว่า"โรจนราช"ปราศลำเอียง
ประคองเคียงเมียลูกรักผูกพัน

สุโขไทใหญ่โตภิญโญยิ่ง
แตกก้านกิ่งเมืองรายหลายเขตขัณฑ์
พระโอรสองอาจอัศจรรย์
รู้จักกัน"รามคำแหง"แหล่งรวมใจ

ขุนผาเมืองยกไทยมอบให้เพื่อน
ทำดูเหมือนละเว้นความเป็นใหญ่
แต่แท้จริงทรงพินิจคิดการณ์ไกล
ด้วยการไปครองดินแดนแคว้นกัมพุช

"ศรีศรินทรวรมัน"นั่นแหละใช่
กษัตริย์ไทยเหล่ากอบริสุทธิ์
เป็นเขยขอมกัมพูชาวรารุจน์
รับสมมุติเป็นกษัตริย์กัมพูชา


          หมายเหตุ : ประวัติศาสตร์ไทยที่มีการจารึกความไว้เป็นหลักฐาน  ควรจะเริ่มต้นที่กรุงสุโขทัย  ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม)  ให้ความชัดเจนที่สุดว่า  มีขุนผู้หนึ่งนามว่า  ศรีนาวนำถุม  ครองนครสองอัน  อันหนึ่งคือสุโขไท  อันหนึ่งคือศรีสัชนาลัย  โอรสองค์หนึ่งชื่อผาเมืองเป็นขุนครองเมืองราด  และเป็นราชบุตรเขยของผีฟ้าแห่งศรีโสธรปุระ (ชัยวรมันที่ ๘)  องค์หนึ่งชื่อคำแหงพระราม  เป็นขุนครองนครสรลวงสองแคว  ธิดาองค์หนึ่งชื่อนางเสือง  อภิเษกเป็นชายาขุนบางกลางท่าว  เจ้าเมืองบางยาง  ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนยี่ (อุปราช)  ครองนครศรีสัชนาลัย

          หลังจากขุนศรีนาวนำถุมสิ้นพระชนม์แล้ว  ขอมสบาดโขลญลำพง  ปุโรหิตมหาราชครูยึดอำนาจการปกครองสุโขไท  ขุนยี่ บางกลางท่าวกลับไปตั้งชุมนุมพลที่บางยาง (นครไทย)  แล้วร่วมกับขุนผาเมืองยกทัพมาชิงกรุงสุโขไทคืน  เมื่อได้กรุงสุโขทัยแล้ว  ขุนผาเมืองให้ขุนบางกลางหาวครองสุโขไท  พร้อมกับมอบพระขรรค์ชัยศรีและพระนามของพระองค์ที่พระเจ้าชัยวรมันประทานให้ว่า  "ศรีอินทรปตินทราทิย์"  แก่ขุนบางกลางท่าว  แล้วพระองค์กลับไปเมืองราดแล้วขึ้นเสวยราชสมบัิติครองศรีโสธรปุระ (กัมพูชาทั้งหมด)  ในพระนามว่า  "พระบาทศรีศรีนทรวรมเทวะ" (ชัยวรมันที่ ๙)........

                                                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40052#msg40052)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๒ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กันยายน, 2561, 10:26:52 PM
(https://image.ibb.co/my2BRp/2.jpg) (https://imgbb.com/)
พระนางจามเทวี

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg39249#msg39249)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40318#msg40318)                   .

- หริภุญไชยไทยเหนือ -

ณ แคว้นเหนือหนึ่งไทยในสยาม
ถิ่นไทยงามทั้งชาติศาสนา
เกิดก่อนแคว้นสุโขไทได้เป็นมา
ในตำราสับสนคนครองบุรี

ตำราหลักว่าธิดากรุงกัมโพช
เจ้ากรุงโปรดประทานให้ฤๅษี
เชิญไปเป็นเจ้าแคว้นแดนคนดี
"จามเทวี"ไทยแท้เป็นแน่นอน

นักวิชาการไทยหลายรายเขว
เรื่องปนเปเปะปะขยักขย่อน
กล่าวว่า"จามเทวี"นี้เป็นมอญ
เพราะท่านอ่อนเหตุผลเชื่อคนไกล

พระนางเป็นไทยทวาราวดี
สวามีโอรสเจ้าแคว้นใหญ่
เชื้อพระองค์ทรงฤทธิ์"สิทธิไชย-
พรหมเทพ"เผ่าไทยในภาคกลาง

พระนางจามเทวีมีโอรส
แฝดทรงยศ"มหันต์,อนันต์"สว่าง
แต่งเมืองใหม่อีกทำเลที่"เขลางค์"
คือ"นครลำปาง"อย่างปัจจุบัน


          หมายเหตุ :  หลังจากอาณาจักรสุวรรณภูมิสลายแล้ว ทวาราวดี หรือละโว้ กัมโพช ได้เป็นศูนย์กลางไทย ต่อมาวาสุเทพฤๅษีได้สร้างนครหริภุญไชยขึ้นแล้วหาผู้ปกครองมิได้จึงมาขอพระนางจามเทวีราชธิดาเจ้าแคว้นทวาราวดี จากละโว้ขึ้นไปครองนครหริภุญไชย พระนางมีพระราชโอรสแฝดสองพระองค์ จึงทรงสร้างนครลำปางให้พระราชโอรสผู้น้องครองอีกเมืองหนึ่ง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเนต

(https://image.ibb.co/hGgzCU/1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระธาตุหริภุญชัย


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, กันยายน, 2561, 10:31:38 PM
(https://image.ibb.co/fAh1SU/2.jpg) (https://imgbb.com/)
(พญางำเมือง พญามังราย พ่อขุนรามคำแหง)

- พงศาวดารไทยเหนือ -

เรื่องราวไทยแคว้นเหนือควรเชื่อถือ
ตามหนังสือพงศาวดามั่น
จาก"สิงหนวัติกุมาร"นั้น
หลักฐานอันชัดเจนความเป็นมา

เกิด"โยนกนาคพันธุ์เชียงแสน"ก่อน
ล่มแล้วช้อนกลับคืนฟื้นคุณค่า
จวบ"อนุรุทธธรรมิกราชา"
สถาปนาเจ้าแคว้นที่แสนดี

"ลวะจังกะราช"ฉลาดเฉลียว
เป็นเครื่องเหนี่ยวนำใจไทยน้องพี่
ร่วม"สร้างบ้านแปงเมือง"บรรดามี
สามัคคีสร้างแดน"แคว้นโยนก"

คู่แข่ง"แคว้นหริภุญไชย"รุ่ง
"แคว้นเชียงตุง"ทรงอยู่ไม่รู้ตก
สามแคว้นใหญ่ไทยเหนือเชื้อรากรก
ไทยควรยกย่องไว้ใช่ดูแคลน

ครั้น"พญาเม็งราย"ขยายอำนาจ
ยึดเด็ดาด"หริภุญไชย"แน่น
ผนวกรวมโยนกหนึ่งดินแดน
แล้ววางแผนสร้างเมืองกระเดื่องนาม...


          หนังสือพงศาวดารโยนก พระยาประชากิจกรจักร์(แช่ม บุนนาค) ได้เก็บรวบรวมคัมภีร์สมุดข่อย ใบลาน และจารึกต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเรื่องราวในภาคเหนือของไทย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป แล้วพยายามอ่านแปลได้ความปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวจนได้ความชัดเจน จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มใหญ่ขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท่านให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "พงศาวดารโยนก" ซึ่งแปลความได้ว่า เรื่องราวในแคว้นเหนือของไทย เป็นหนังสือที่เหมาะแก่การนำมาประกอบการค้นคว้าหาความจริงในประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นอย่างยิ่ง

          เรื่องราวกล่าวถึงชนชาติไทยในตอนใต้ชมพูทวีป นำโดยสิงหนวัติกุมาร พาบริพารล่องลงมาทางใต้เมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษ แล้วได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในบริเวณที่เป็นเขตการปกครองของอำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน ให้ชื่อนครว่า โยนกนาคพันธุ์เชียงแสน จากนั้นได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองนี้โดยพิสดารจนกระทั่งเมืองนี้ล่มจมธรณีไป แล้วเกิดเมืองขึ้นใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกัน (พงศาวดารนี้ได้กล่าวถึงความเป็นมาของชนชาติขอมไว้โดยละเอียดด้วย)

          ตกมาถึงยุค พญาเม็งราย(โอรสพญาเม็ง) สร้างเมืองเชียงราย เป็นพระสหายกับ พญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหง) พญางำเมือง และขยายพระราชอำนาจเข้ายึดแคว้นหริภุญไชย(ลำพูน)ได้ในสมัย พญายีบา (กษัตริย์ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระนางจามเทวี) แล้วย้ายเมือง ไปสร้างเมืองหลวงของแคว้นขึ้นใหม่ที่เชิงดอยอ้อยช้าง(ดอยสุเทพ) โดย พญาร่วง พญางำเมืองไปร่วมกันวางผัง เมือง สร้างเมืองเสร็จแล้วให้นามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" เป็นเมืองหลวงของแคว้นโยนก ซึ่งกลายเป็นแคว้นล้านนาในกาลต่อมา....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯ และเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กันยายน, 2561, 10:49:09 PM
(https://image.ibb.co/fCxVrp/263px_King_Ngam_Mueang_Monument.jpg) (https://imgbb.com/)
พญางำเมือง

- ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง -

ก่อนถึงยุค"เม็งราย"ขยายเรื่อง
ถึง"ขุนเจือง"กล้าเก่งน่าเกรงขาม
รวม"เชียงแสน,ภูกามยาว"เข้าเขตคาม
ยกพลข้ามโขงครองแถว"แกวปะกัน"

ยึดลาว,ญวนถ้วนหน้าขะแมร์หมด
ดังปรากฏตำนานงานสร้างสรรค์
เรื่อง"แถนลอ (ลอราช)"เป็นอัศจรรย์
คือต้นพันธุ์"งำเมือง"เนื่อง"เม็งราย"

สิ้น"ขุนเจืองธรรมิกราช"แคว้นขาดหลัก
"พะเยา"ยักอำนาจขาดเครือข่าย
เป็นอิสระจากเชียงแสนแคว้นตายาย
"งำเมือง"หมายผูกมิตร"สุโขไท"

เป็นสหาย"รามคำแหง"ไม่แข่งยศ
เกียรติปรากฏคู่กันต่างเป็นใหญ่
ตำนานเล่ายาวเรื่องกล่าวเปลืองไป
จึงละไว้ให้คลำหาตำนาน


          หมายเหตุ : - อาณาจักรโยนกเชียงแสนสถาปนาโดยพระเจ้าสิงหนวัติ เจริญรุ่งเรืองแล้วล่มสลาย และเกิดใหม่ จนถึงยุคสมัยทวาราวดี พระยาอนุรุทธธรรมิกราช หรือพระยากากวัณดิศราช เสด็จขึ้นไปจัดตั้งใหม่ โดยสถาปนาลาวะจังกราชแห่งดอยตุงเป็นเจ้าปกครอง สืบเชื้อสายเรื่อยมาจนเกิดมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ขึ้น กำเนิด ณ เมืองพะเยาในราวปี พ.ศ. ๑๖๑๗ นามว่าขุนเจือง ต่อมาได้ครองเมืองนครหิรัญเงินยางเชียงแสน เฉลิมพระนามว่า ขุนเจืองธรรมิกราช คนทั่วไปรู้จักกันในนาม ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ทรงปกครองเมืองในสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงไปจนถึงแกวปะกัน จีน ตอนใต้ เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ร่วมสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ แห่งเมืองพระนคร ท่านผู้นี้เป็นต้นเชื้อสายของพระยาเม็งราย และพระยางำเมือง ซึ่งพระยาเม็งราย กับ พระยางำเมือง ก็เป็นพระสหายแห่งพระยาร่วงสุโขทัย เรื่องราวเหล่านี้ถือได้ว่าเป็น "ประวัติศาสตร์" เพราะมีชื่อบุคคล สถานที่ ระบุวันเดือนปีไว้ชัดเจน ควรแก่การเชื่อถือได้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๕ สิงหาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, กันยายน, 2561, 10:22:54 PM
(https://image.ibb.co/cu7Qte/01.jpg) (https://imgbb.com/)


- ว่าด้วยศึกสามนคร -

ย้อนกลับกล่าวเล่าความตำนานก่อน
สามนครทำศึกอย่างฮึกหาญ
เจ้าลำพูนเลอะเลือนเหมือนคนพาล
อยากได้บ้านเมืองละโว้ไว้ครอบครอง

ยกโยธามาประชิดติดละโว้
เมืองใหญ่โตลพบุรีไม่มีสอง
เจ้ากรุงใหญ่ยกทัพรบรับรอง
จนเลือดนองเหนือแดนเขตแคว้นตน

ณ กาลนั้นเจ้านครศรีธรรมราช
พยุหยาตราทัพไม่สับสน
กองทัพเรือฮึกหาญทะยานชล
ยกเข้าปล้นลพบุรีมิยากเย็น

แล้วยกเลยคุกคามสนามรบ
สองทัพจบการยุทธ์สุดแสนเข็ญ
เจ้าลำพูนย้ายแยกแตกกระเด็น
มิรู้เป็นหรือตายพ่ายเปิดเปิง

เจ้าละโว้มุ่งหน้าบุกป่ารก
จนไปตกเมืองลำพูนที่ยุ่งเหยิง
ไร้เจ้าเมืองปกปิ่นอย่างสิ้นเชิง
เจ้าละโว้จึงเถลิงอำนาจแทน


          มีความในตำนานจามเทวีวงศ์ตอนที่ว่าด้วยศึกสามนครกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๔๔๖ "พระเจ้าวัตราสัตตราช หรือ พระเจ้าตราพกราช" กษัตริย์ผู้ครองกรุงหริภุญชัย (ลำพูน) อ้างว่าพระองค์ทรงมีสิทธิอันชอบธรรมในราชบัลลังก์แห่งกรุงละโว้ เพราะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาแต่พระนางจามเทวี จึงทรงยกทัพมาเพื่อรวบพระราชอำนาจในการปกครองกรุงละโว้   "พระเจ้าอุจฉิฏฐก" จักรวรรดิราชกษัตริย์แห่งกรุงละโว้จึงทรงยกทัพออกต่อสู้เพื่อป้องกันราชบัลลังก์

          ในขณะที่ทัพทั้งสองกำลังรบติดพันกันอยู่ ณ เขตแดนเมืองนั้น  มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระ นามว่า "พระเจ้าชีวกราชา หรือ พระเจ้าสุชิตราช" ครองราชย์อยู่ที่ กรุงตามพรลิงก์ (นครศรีธรรมราช) ทรงยกกองทัพขึ้นมาทั้งทางบกและทางเรือ จู่โจมเข้ายึดครองกรุงละโว้ได้ กองทัพทั้งสองที่กำลังรบกันอยู่นั้นทราบว่ามีกองทัพใหญ่ยกจากเมืองใต้เข้ายึดกรุงละโว้ไว้ได้แล้วก็ตกใจ  พระเจ้ากรุงละโว้เห็นว่าจะยกกลับชิงละโว้คืนมิได้แล้ว ก็ตีตะลุยไล่กองทัพหริภุญชัยแตกพ่ายไปทางน้ำ พระองค์ยกท้พมุ่งหน้าสู่ลำพูนไปทางบก เข้าถึงเมืองลำพูนแล้วยึดเมืองไว้ได้  พระเจ้าตราพกราชยกกลับไปทางเรือถึงลำพูนแล้วชิงเมืองคืนมิได้ก็ถอยหนีไป นครหริภุญชัยจึงถูกปกครองโดยพระเจ้ากรุงละไว้แต่นั้นมา

          เมื่อชนะสงครามสิ้นสุดลง พระเจ้าชีวกราชา จึงทรงประกาศชัยชนะ ทำพิธีบวงสรวงเทวรูปประจำพระนคร และกระทำการสักการบูชารูป พระราชมารดา (เจ้าหญิงแห่งกษัตริย์ละโว้) พระเจ้าชีวกราชา ทรงประ กอบพิธีราชาภิเษก เจ้าชายบุรพโกศลกัมโพชราช หรือเจ้าชายกัมโพช พระราชโอรสเชื้อสายกษัตริย์ไศเลนทร์แห่งกรุงตามพรลิงก์ (นครศรีธรรมราช) เป็นกษัตริย์ครองกรุงละโว้ต่อมา และพร้อมกันนั้นก็ได้ทรงส่งเจ้าชายผู้เป็นราชอนุชาบุรพโกศลกัมโพช ให้ไปเป็นเจ้าปกครองกรุงกัมพูชา ส่วนพระเจ้าชีวกราชา เสด็จกลับไปครองราชบัลลังก์แห่งกรุงตามพรลิงก์จนสิ้นรัชกาล

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๖ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, กันยายน, 2561, 10:38:52 PM
(https://image.ibb.co/cHKrZK/2.jpg) (https://imgbb.com/)

- กัมโพช & กัมพูชา -

ชีวกราชครองละโว้พร้อมโอรส
พระทรงยศอำนาจกาจกล้าแสน
ส่งโอรสองค์รองไปครองแดน
ณ แว่นแคว้นกัมพูชาเลิศธานี

ให้องค์โตอยู่ประจำครองกัมโพช
พระองค์โลดแล่นคืนนครศรีฯ
ทั้งสามแคว้นแน่นหนักสามัคคี
จึ่ง"พ่อ,พี่,น้อง"ประนอมเป็นขอมไทย

หนึ่งนัดดา"ชีวกะ"สุดประเสริฐ
ทรงเป็นเลิศล้นเหลือออกเหนือใต้
ครอง"กัมพุช,กัมโพช,ศรีวิชัย"
ประทับในกรุงละโว้อันโอฬาร

นาม"ปทุมสุริยวงศ์"ทรงเดช
ปกครองเขตกว้างใหญ่แสนไพศาล
เป็นดอกบัว"ไศเลนทร์"งามเด่นบาน
มีตำนานเล่าไว้ให้รู้จำ


          ดังได้กล่าวแล้วว่า ในราวปี พ.ศ. ๑๔๔๖ พระเจ้าตราพกราช ผู้ครองอาณาจักรหริภุญชัย(ลำพูน) อ้างว่าตนเองเป็นผู้สืบเชื้อสายพระนางจามเทวีพระราชธิดากรุงละโว้ ควรมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะครองกรุงละโว้ด้วย จึงยกทัพลงมาชิงราชบัลลังก์กรุงละโว้ พระเจ้ากรุงละโว้ยกทัพออกจากเมืองไปตั้งรับและรบกันที่เขตแดน ขณะที่ทั้งสองนครรบกันอย่างดุเดือดอยู่นั้น พระเจ้าชีวกราชก็ยกทัพลบกเรือขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชเข้ายึดกรุงละโว้ไว้ได้เด็ดขาด ศึกสามนครยุติลงโดย เจ้ากรุงละโว้ยกทัพขึ้นไปยึดครองหริภุญชัย พระเจ้ากรุงลำพูนหนีไปไร้ร่องรอย พระเจ้าชีวกราช ยึดครองกรุงละโว้(กัมโพช)

          เรื่องราวจากศึกสามนครนี้มีนัยให้พิจารณาเห็นว่า หลังจากอาณาจักรทวาราวดีซึ่งมีเมืองหลวงตั้งอยู่่ที่ตักสิลามหานคร(นครชัยศรี)เสื่อมลง เชื้อสายพระเจ้าสิทธิชัยพรหมเทพได้แตกแยกกันตั้งตนเป็นใหญ่ทั่วแผ่นดินสุวรรณภูมิ เจ้าพนมลงไปตั้งนครศรีธรรมราช ฟื้นฟูอาณาจักรศรีวิชัย ส่วนในภาคกลาง ยกเมืองละโว้ หรือกัมโพช ขึ้นเป็นมหานครในนาม ทวาราวดีศรีอโยธยา ทางเหนือที่พระนางจามเทวีรับอัญเชิญขึ้นไปปกครองหริภุญชัยก็สืบเชื้อสายมายาวนาน พระเจ้ากรุงละโว้ หริภุญชัย นครศรีธรรมราช ล้วนเป็นเครือญาติกัน จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อยึดกรุงละโว้ได้แล้ว พระเจ้าชีวกราช เข้าไปกราบบวงสรวงบูชารูปพระราชมารดา เจ้าหญิงแห่งละโว้ ก่อนแล้วจึงประกอบพิธีราชาภิเษก

          เมื่อตั้งพระโอรสองค์โตครองกรุงกัมโพช(ละโว้) แล้วจึงตั้งให้พระโอรสองค์รองไปเป็นกษัตริย์ครองกรุงกัมพูชา ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปครองนครศรีธรรมราชตามเดิม ต่อมาพระเจ้ากรุงกัมพูชามีพระราชโอรสที่บารมีแผ่ไพศาลพระนามว่า พระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าอาทิตยราช ดังจะได้พบบทบาทของพระองค์ในกาลต่อไป.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๗ สิงหาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, ตุลาคม, 2561, 10:29:40 PM
(https://image.ibb.co/iuVc9K/nu103.jpg) (https://imgbb.com/) (https://image.ibb.co/bAFVwz/hqdefault_3.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระร่วง & ขอมดำดิน -

ปทุมสุริยวงศ์ครองละโว้
ภาพภิญโญยิ่งยกไม่ตกต่ำ
มีเมืองขึ้นประเทศราชแจ้งจำนำ
ส่งข้าวน้ำนานาบรรณาการ

สุโขไทเจาะจงส่งส่วยน้ำ
พระร่วงทำภาชน์ใส่ไม้ไผ่สาน
เป็นกะออมชะลอมครุแบบบุราณ
น้ำรั่วผ่านลอดไหลมิได้เลย

พระปทุมสุริยวงศ์งงงันนัก
ทรงรู้จักคู่แข่งสำแดงเผย
หวังได้"ร่วง"เลี้ยงขุนอย่างคุ้นเคย
จึ่งทรงเอ่ยชวนอยู่เป็นคู่บุญ

นายร่วงไม่เล่นด้วยเลิกส่วยสิ้น
กลับคืนถิ่นสุโขไทไม่เกื้อหนุน
เกิดตำนานพระร่วงเจ้าที่เราคุ้น
นิทานรุ่นเก่าจำ"ขอมดำดิน"

( รายละเอียดของเรื่องขอมดำดินนี้หาอ่านได้ในเรื่องพระร่วง นิทานโบราณคดีไทย หรือในอินเตอร์เน็ตทั่วไป)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๘ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต





หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, ตุลาคม, 2561, 10:49:44 PM
(https://image.ibb.co/eXzhUK/1435914926_SL10060074_o.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระแก้วมรกตจากไชยา -

ตำนาน"พระแก้วมรกต"
ทั้งทิศทศเคารพรักรู้จักสิ้น
งามสะอาดปราศโทษหมดมลทิน
เป็นปานปิ่นพุทธศาสน์คู่ชาติไทย

กำเนิด ณ ไชยาประมาณศก-
"พันสองร้อย" เศษยกกำหนดได้
ครั้นไชยามีเหตุเกิดเภทภัย
จึงย้ายไปนครครั้งเรียกลังกา

จากนครทางน้ำสู่กัมพุช
ประทับหยุดอยู่ปราสาทประเสริฐค่า
"นครวัด"ศูนย์กลางกัมพูชา
แล้วก้าวสู่"อโยธยา"เนิ่นนานปี

จาก"อยุธยา"ไปเหนือหลายแหล่ง
คือกำแพงเพชร,เชียงรายอีกหลายที่
ลำปาง,เวียงเชียงใหม่หลายธานี
ไปลาวมี"หลวงพระบาง"ทั้ง"เวียงจันทน์"

แล้วกลับกรุงธนบุรีมินานนัก
อยู่เป็นหลักกรุงเทพเมืองสวรรค์
ให้ชาวโลกมุ่งมาบูชากัน
พระแก้วล้ำสำคัญเกินบรรยาย


          พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตองค์นี้ มีตำนานยาวนานมาก กำเนิดขึ้นที่เมืองพันพาน บริเวณพระแสงไชยา แล้วถูกอัญเชิญไปอยู่นครศรีธรรมราช ซึ่งเรียกนามว่าลังกาบ้าง ปาตลีบุตรบ้าง ต่อมาถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่กัมพุชประเทศ คือกัมพูชาในกาลต่อมา เมื่อเกิดมหาอุทกภัยในกัมพุช พระเจ้าอาทิตยราชแห่งละโว้ อโยธยา เสด็จไปอัญเชิญกลับมาอยู่เมืองไทย ภายหลังไปอยู่กำแพงเพชร เชียงราย ลำปาง และเชียงใหม่ ต่อมาสมเด็จพระไชยเชฎฐาธิราช จากหลวงพระบางมาครองเชียงใหม่ แล้วกลับไปครองหลวงพระบางพร้อมนำพระแก้วมรกตไปด้วย ต่อมาทรงแปรพระราชฐานจากหลวงพระบางลงไปประทับนครเวียงจันทน์ ก็นำพระแก้วมรกตลงไปไว้เวียงจันทน์ เมื่อเวียงจันทน์เสียแก่กรุงสยาม พระแก้วมรกตจึงถูกอัญเชิญกลับมาเมืองไทย และประดิษฐานอยู่กรุงเทพฯ จนถึงกาลปัจจุบันนนี้แล...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๙ สิงหาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, ตุลาคม, 2561, 10:21:47 PM
(https://image.ibb.co/eGUKTe/3.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) -

ตำนานกล่าวคาบเกี่ยวประวัติศาสตร์
"พระโรจน์ราช"เริ่มจับขยับขยาย
อาณาจักรสุโขไทให้กำจาย
นโยโบบายผูกมิตรทุกทิศทาง

ล่องลงใต้ไปนครก่อนลากลับ
ทรงขอรับพุทธรูป"ลังกา"สร้าง
นาม"พุทธสิหิงค์"ศิลป์สุภางค์
เป็นแบบอย่่างพระพุทธรูปไทย

พระโรจน์ราช"คือ"ศรีอินทราทิตย์"
ทรงผูกมิตรต่อเนื่องหมดเมืองใต้
เบิกทางสู่การรวมชาติที่ขาดไกล
เข้าอยู่ในขอบเขตประเทศเดียว

ขอธิดาเจ้านครเป็นสะใภ้
เพื่อผูกให้สัมพันธ์มั่นแน่นเหนียว
จึ่งแคว้นกลางแคว้นใต้ได้ฟั่นเกลียว
โดย"ผูกเสี่ยว"รักกันแต่นั้นมา


          มีข้อสังเกตอยู่ว่า พระพุทธสิหิงค์ที่ถือว่าเป็นองค์จริง คือองค์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯ กรุงเทพฯ นั้น เป็นพระปางสมาธิ ประทับนั่งสมาธิราบ สังฆาฏิยาว แบบสุโขทัย ส่วนพระพุทธสิงห์องค์ที่อยู่เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และที่อื่น ๆ นั้น ล้วนเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งข้ดสมาธิเพชร สังฆาฏิสั้น แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ทำให้น่าฉงนอยู่ เรื่องราวของพระพุทธรูปองค์นี้มีความสับสนมากกว่าพระแก้วมรกต เป็นเรื่องที่ควรศึกษาหาความจริงกันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, ตุลาคม, 2561, 10:22:59 PM
(https://image.ibb.co/mW1bbz/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ประวัติศาสตร์ไทยเพิ่งเริ่มต้น -

ไทยเริ่มต้นประวัติศาสตร์เป็นชาติใหม่
"สุโขทัย"ไล่ขอมสิ้นคุณค่า
ตั้งกรุงไกรศููนย์กลางสร้างอาณา
กว้างไกลกว่าเผ่าใดในแหลมทอง

"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์"
จารึกติดหลักศิลาประกาศก้อง
"แม่กูชื่อนางเสือง"งามเรืองรอง
"ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน"เลย

ข้อความในศิลาที่จารึก
เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชาติเปิดเผย
คือจารึกพ่อขุนรามฯนามคุ้นเคย
ทรงเอื้อนเอ่ยเรื่องราวเล่าความจริง

"ขุนศรีอินทราทิตย์"ที่องอาจ
เริ่มสร้างชาติชนไทยขึ้นใหญ่ยิ่ง
มีลูกห้าคนให้ได้พึ่งพิง
ตระเวนชิงดินแดนรวมแคว้นไทย


          อภิปราย ขยายความ
          ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านมาเริ่มต้นจากกำเนิดพระราชวงศ์พระร่วง ณ สุโขทัย ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยใช้ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ซึ่งเรียกกันว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นหลักฐานพยานในการอ้างอิง ศิลาจารึกหลักนี้จารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทยลงในแท่งหินทรายแป้งรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า ด้านที่ ๑,๒ มีอักษรด้านละ ๓๕ บรรทัด ด้านที่ ๓,๔ มีอักษรด้านละ ๒๗ บรรทัด จารึกเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๕
ตั้งไว้ในเมืองสุโขทัย(เก่า) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ สมัยที่เป็นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ ทรงพบที่เนินปราสาทร้างในเมืองเก่าสุโขทัย และนำลงไปกรุงเทพฯเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖

          ความที่อ่านได้จากจารึกหลักนี้ทำให้ทราบว่า มีบุคคลนามว่า ศรีอินทราทิตย์เป็นผู้ปกครองแคว้นสุโขทัย มีภรรยาชื่อ นางเสือง มีลูก ๕ คน เป็นชาย ๓ หญิง ๒ ปรากฏนาม ๑ ใน ๕ คนของลูก ว่า "บานเมือง" เป็นลูกชายคนรอง ผู้ทำจารึกที่ใช้นามแทนตัวว่า "กู" เป็นลูกชายคนที่ ๓ ต่อมาปรากฏนามว่า ราม คือ พ่อขุนรามคำแหง หรือรามราช และได้รับยกย่องให้เป็นมหาราชพระองค์แรกแห่งชาติไทย

          ความในจารึก ๑๘ บรรทัดแรก เป็นคำที่พ่อขุนรามคำแหงทรงจากรึกหรือโปรดให้จารึก ว่า " พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้ญีงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก......" เป็นข้อความใน ๓ บรรทัดแรก ความแค่นี้แต่ให้ความหมายที่ต้องตีความกันมากมาย นักภาษาทั้งหลายลองอภิปรายกันดูนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, ตุลาคม, 2561, 10:20:42 PM
(https://image.ibb.co/dC98te/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป
พ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชน
Cr. ภาพโดยคุณ Hartmann Linge

- ได้นาม "พระรามคำแหง" -

"เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า"
"ขุนรามฯ"เล่าเรื่องลึกรบศึกใหญ่
"ขุนสามชน"เมืองฉอดลอดเขาไพร
เข้ามาใน"เมืองตาก"ตะลุยตี

"พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย"
"สามชน"กรายทางขวาไพร่ฟ้าหนี"
"กูบ่หนี"เข้าประจัญในทันที
ก่อน"ขุนศรีฯ"ทัพใหญ่ไล่ตามทัน

"ตนกูพุ่งช้างขุนสามชน"จนพ่าย
ด่วนหนีตายกลับ"ฉอด"อย่างย่อยั่น
"พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู"ให้รู้กัน
"ชื่อพระรามคำแหง"พลันแต่นั้นมา


          นัยว่า โอรสพ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์ที่ ๓ นั้นมีรามเดิมว่า "ราม" ที่แปลว่า ขนาดกลาง หรือขนาดย่อม หรืออาจจะหมายถึงพระรามอวตารของพระนารายณ์เป็นเจ้าก็ได้ เจ้ารามทรงบอกเล่าไว้ในแผ่นศิลาว่า เมื่อพระองค์มีอายุได้สิบเก้าปี ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (สันนิษฐานได้ค่อนข้างแน่ชัดว่า คือเมืองเก่าในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก) ยกพลมาตีเมืองตาก(ที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกพลไปต่อต้าน มีพระรามราชโอรสเป็นแม่ทัพหน้า ทัพทั้งสองปะทะกันแล้ว ขุนสามชนไสช้างมาสเมืองเข้าใส่กองทัพหน้า ไพร่พลหนีกระจัดกระจาย แต่พระรามไม่หนี กลับไสช้างเข้าต่อสู้กับขุนสามชน ช้างทรงชื่อเบกพล(หรือเบิกพล) ของพระรามชนช้างมาสเมืองของขุนสามชนพ่ายหนีไป พ่อขุนศรีอินทราทิตย์โสมนัสยิ่งนัก จึงทรงตั้งพระนามเจ้ารามว่า "พระรามคำแหง" เป็นเนมิตกนาม(นามที่เกิดขึ้นตามเหตุ) ตั้งแต่นั้นมา......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้งไทย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, ตุลาคม, 2561, 10:23:17 PM
(https://image.ibb.co/mfrggz/9786160025510_01_2.jpg) (https://imgbb.com/)
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

- กตัญญุตาคุณในขุนรามฯ -

เมื่อชั่วพ่อกูกูบำเรอแก่พ่อ"
จารึกข้อความนี้มีคุณค่า
กตัญญุตาธรรมทรงนำพา
เทิดบูชาพ่อแม่แลพี่ตน

"กูไปตีหนังวังช้างได้"
เอามาให้พ่อหมดไม่ตกหล่น
"กูได้ตัวเนื้อตัวปลา"มาเปรอปรน
หมากไม้ผลส้มหวานมอบมากมาย

"กูได้ปั่วได้นางได้เงือนทอง"
เอามากองมอบพ่อแม่แผ่ขยาย
เลี้ยงบำรุงให้อยู่สุขสนุกสบาย
"พ่อกูตายยังพี่กูกูบำเรอ"

ปรนนิบัติต่อพี่ที่เหมือนพ่อ
บำรุงต่อเช้าค่ำสม่ำเสมอ
"พี่กูตาย"ไร้คนจะปรนเปรอ
ไพร่เสนอครองวังเวียงทั้ง"กลม"..........


          ความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ในเครื่องหมายคำพูดข้างบนนี้  เป็นคำที่พ่อขุนรามคำแหงทรงจารึกไว้ด้วยพระองค์ิเอง  ถอดความได้ว่า  ในรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัยนั้น  พระรามคำแหงไปแสวงหา "ทรัพย์ในดินสินในน้ำ"  เที่ยวตีบ้านเล็กเมืองน้อยที่เป็นอิสระได้ไว้ในอำนาจ  ก็นำมาถวายพระราชบิดา  ไปคล้องช้างได้ก็นำมาถวายพระราชบิดา  ได้เนื้อได้ปลาก็นำมาเปรอพระราชบิดา  ได้ปั่วได้นาง (ข้าชายหญิง)  ได้เงินได้ทองนานาก็นำมาถวายพระราชบิดา  ครั้นพ่อขุนศรีฯ สิ้นพระชนม์แล้วก็บำรุงบำเรอพระเชษฐา (ขุนบานเมือง)  เช่นเดียวกับที่บำรุงบำเรอเปรอปรนพระราชบิดา  ครั้นขุนบานเมืองสิ้นพระชนม์แล้ว  พระองค์จึงได้ครองราชสมบัติกรุงสุโขทัยทั้งหมด.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเว็บฯเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, ตุลาคม, 2561, 10:27:00 PM
(https://image.ibb.co/niaum9/3.jpg) (https://imgbb.com/)

- เมืองสุโขไทนี้ดี -

"เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง"นี้
งอกความดีทุกด้านบรรสานสม
"ในน้ำมีปลาในนามีข้าว"ชม
แดนอุดมสมบูรณ์อุ่นกายใจ

เจ้าเมืองไม่เก็บภาษีของมีค่า
เพื่อนจูงวัวไปค้า"ก็ค้าได้
หรือ"ขี่ม้าไปขาย"ก็ขายไป
หรือ"ใครใคร่ค้าช้าง"ไม่ขวางกัน

"ใคร่ค้าเงือนค้าทอง"ไม่ข้องค้า
จึ่ง"ไพร่ฟ้าหน้าใส"ได้สรวลสันต์
แสนหรรษาค้าขายไม่วายวัน
สร้างสัมพันธไมตรีที่ยืนยง

สุโขไทเป็นศูนย์กลางทางการค้า
รัฐก้าวหน้าทุกด้านสมประสงค์
ปวง"ไพร่ฟ้า"ชื่นบานสุขบรรจง
ล้วนซื่อตรงต่อรัฐมั่นศัทธา.....


          "......เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูท่าง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค่าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส...."

          คำที่ยกมาแสดงข้างบนนี้เป็นความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นความต่อจากที่พระองค์ทรงจารึกไว้ถึงบรรทัดที่ ๑๘ จากนั้นทั้งหมดเป็นความที่ข้าราชสำนักสุโขทัยจารึกต่อ หรือไม่ก็ พญาลิไท(ราชนัดดาของพ่อขุนรามฯ) ผู้เป็นบรรณาธิการจัดทำจารึกหลักนี้ขึ้น เป็นผู้จารึกความ บอกเล่าเรื่องราวในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง(สมเด็จปู่) ไว้เป็นประวัติศาสตร์

          ในจารึกข้างต้นกล่าวว่าสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว พ่อขุนรามคำแหงเปิดเมืองสุโขทัยให้เป็นตลาดการค้าเสรี ใครจะนำช้างม้าโคกระบือ เงินทอง ไปค้าขายก็ให้ค้าขายกันได้ตามใจชอบ ทางรัฐบาลไม่เก็บภาษีอากร ไพร่ฟ้าประชาชีมีความสุข หน้าตลอดกาล...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขีผึ้งไทย
๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, ตุลาคม, 2561, 10:26:27 PM
(https://image.ibb.co/mdqstp/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- กฎหมายมรดก พ่อขุนรามฯ -

นักกฎหมายมรดกล้วนยกย่อง
ความคิดของพ่อขุนรามฯงามสง่า
วางกฎเกณฑ์มรดกตกทอดมา
ตัดปัญหาเข้าถือยื้อแย่งกัน

เมื่อ"ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแลั-
ล้มตายหายกว่า"แน่ไม่แปรผัน
"เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน-
ช้างขอลูกเมีย"นั้นไม่ผันแปร

อีก"เยียข้าวไพร่ฟ้าข้าไท"มาก
พร้อม"ป่าหมากป่าพลู"ซึ่งรู้แน่
ตกแก่ลูกหลานในสายเลือดแท้
ไร้ญาติแล้ริบเอาเข้ากองกลาง


          กฎหมายมรดกของไทยฉบับแรก นักกฎหมายปัจจุบันยอมรับกันว่า ได้แก่ข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้เอง ท่านเขียนเป็นตัวบทไว้ว่า   "ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้  ล้มหายตายกว่าเหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างขอลูกเมียเยียเข้าไพร่ฟ้าข้าไท  ป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน  ไว้แก่ลูกมันสิ้น"

          ความหมายในจารึกนี้ คือลูกเจ้าลูกขุนและใครๆในสุโขทัย เมื่อล้มหายตายจากไป(ตายกว่า) สมบัติทั้งปวงอันมีบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาป่าหมากป่าพลูช้างขอลูกเมียยุ้งฉางข้าวของพ่อเชื้อเสื้อคำ ให้ตกแก่ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายตระภูลทั้งหมด

          คำว่า "พ่อเชื้อ" คือพ่อผู้บังเกิดเกล้าผู้ให้กำเนิด(ทำให้เกิด) "เสื้อคำ" คือแม่บังเกิดเกล้า ผู้เป็นแดนเกิด.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, ตุลาคม, 2561, 10:17:31 PM
(https://image.ibb.co/fJYhB9/Hartmann_Linge.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป
จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า
Cr. ภาพโดยคุณ Hartmann Linge

- น้ำพระทัยพ่อขุนรามฯ -

"ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุนผิแลผิดแผก-
แสกว้างกัน"พลันแยกก่อนแตกกว้าง
"สวนดูแท้แล้จี่งแล่งความ"ตามทาง
แก่สองข้างยุติธรรมความเที่ยงตรง

"บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน"ตัดรอนสิทธิ์
ผิดเป็นผิดถูกเป็นถูกทุกประสงค์
"เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน"ยินดีจง
รู้จักปลงใจปองละต้องการ

"เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด"ใจเงือดเงื้อ
ยึดถือเพื่อตนบ้างอย่างหน้าด้าน
"คนใดขี่ช้างมาหา"ให้เนานาน
ช่วยประสานสร้างค่าอย่างปรานี

"พาเมืองมาสู่ช่อยเหนือเฟื้อกู้"
จัดให้อยู่เป็นหลักแหล่งศักดิ์ศรี
ไร้บ่าวไพร่คชาเงินพาชี
ทรงยินดีหาให้ไม่รำคาญ......


          ความในจารึกตอนนี้กล่าวว่า  เมื่อลูกเจ้าลูกขุน  ไพร่ฟ้าข้าไท  เกิคความคิดเห็นแตกต่างขัดแย้งทะเลาะวิวาทกัน  พ่อขุนรามคำแหงทรงไต่สวนความจนได้ข้อเท็จจริงแล้ว  ทรงตัดสิน(แล่ง) คดีความอย่างเที่ยงตรง(ด้วยซื่อ)  ไม่เข้าข้างใดด้วยเห็นแก่หน้ากันหรือรับสินบนใด ๆ  คนในเมืองสุโขทัยอยู่กันอย่างสันโดษ คือยินดีในสิ่งที่ตนมี  สิ่งที่ตนได้ที่ตนถึง  เห็นทรัพย์สินของคนอื่นก็ไม่ยินดียินร้าย  ใคร่ได้เป็นของตน(เห็นเข้าท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด)  ครั้นมีใครขี่ช้างมาหาพาเมืองมาสู่  พ่อขุนรามช่วยเหนือเฟื้อกู้  รับอุปการะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุข....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, ตุลาคม, 2561, 10:25:39 PM
(https://image.ibb.co/dpJG69/800px_201312131035a_HL_ps_Sukothai_King_Ramkhamhaeng_Monument.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป
ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงรับเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎร
Cr. ภาพโดยคุณ Hartmann Linge

- กะดิ่งแขวนที่ปากปูด -

"ได้ข้าเสือกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบ"
ที่สยบยอมทรงคิดสงสาร
"บ่ฆ่าบ่ตี"ไว้ใช้การงาน
เป็นทหารกองหลวงทะลวงฟัน

ที่"ปากปูด"สภาเปิดประเสริฐยิ่ง
"มีกะดี่งอันณื่งแขวนไว้หั้น"
"ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมือง"นั้น
ต่าง"ไปลั่นกะดี่ง"ร้องทุกข์ของตน

"พ่อขุนรามคำแหงได้-
ยินเสียงเรียก"เร็วไวสอบปลายต้น
"สวนความแก่มันด้วยซื่อ"ไม่ซ่อนกล
ประชาชนทั้งมวลล้วนชื่นชม

เป็นร่องนำตำนานการร้องทุกข์
ยุคต่อยุคเปลี่ยนตามความเหมาะสม
พัฒนา"ปากปูด"เปิดเงื่อนปม
ไทยนิยมมีใช้หลายสภา


*สีแดง : เขียนตามการถอดจากรูปอักขระเดิม

          ความในจารึกตอนนี้กล่าวว่า  พ่อขุนรามคำแหงไปตีบ้านเล็กเมืองน้อย ได้ข้าศึกและโจรผู้ร้ายแล้วไม่ตีไม่ฆ่า เลี้ยงไว้เป็นกำลังสร้างบ้านแปงเมือง  ที่ดงตาลอันเป็นที่ว่าราชการของพ่อขุนรามคำแหงนั้น  มีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้  ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปลั่นกระดิ่งร้องทุกข์  พ่อขุนรามคำแหงได้ยินเสียงกระดิ่งเรียกก็ออกมาพบ  ไต่สวนคดีและตัดสินคดีความให้โดยยุติธรรม

          ข้อความตรงนี้ท่านอ่านว่า "ที่ปากกระตูมีดระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้" แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยตรงคำว่า "ปากประตู" ที่ถูกควรอ่านว่า "ปากปูด" เพราะในจารึกท่านวางสระพยัญชนะเรียงไว้ว่า "ปาก   ูปต" วางสระอูไว้หน้าตัว ป จะอ่านว่า ประตู มิได้ ต้องอ่านว่า ปูต คำว่าปูต ปัจจุบันเราใช้เป็น พูด อาการ ปูด คือ โน โป ขึ้น ปากปูด คือพ่นหรือเป่าเสียงออกจากปาก เป็นเรื่องราวสารพัดตามแต่ลิ้นจะแต่งเสียง ในปัจจุบัน เราใช้คำว่าปูด เช่น ห่้ามปูด คือห้ามพูด

          ที่"ปากปูด" หมายถึงที่ร้องทุกข์ ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรก็เอามาปูดกันในที่นี้ด้วยการลั่นกระดิ่ง  เช่นเดียวกับศาลไคฟงของเปาบุ้นจิ้น  ใครมีเรื่องอะไรก็ไปตีกลองร้องทุกข์นั่นแล


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg39249#msg39249)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40318#msg40318)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, ตุลาคม, 2561, 10:20:36 PM
(https://image.ibb.co/hwLam9/1b11b2f6_a971_4b0a_9d1b_5172800e319f.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดตระพังเงิน
Cr. ภาพโดย คุณเอิงเอย

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40052#msg40052)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40502#msg40502)                   .


- บารมีบุญพ่อขุนรามฯ -

"สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองนี้"
ไม้ผลมี"หมากม่วงหมากขาม"ป่า
"หมากลางหมากพร้าว"อีกนานา
ตะไคร้ข่าพริกมวลผักสวนครัว

อันสวนป่านาไร่ที่ใครสร้าง
ต่างคนต่างเฝ้าอยู่ดูแลทั่ว
ล้วนเป็นทรัพย์บนดินสินส่วนตัว
มีราวรั้วสัญลักษณ์ปักเขตครอง

"กลางเมืองสุโขไทนี้มีตระพัง"
เป็นที่ขังน้ำซึ่งคล้ายบึงหนอง
"ตระพังโพย"กว้างใหญ่น้ำใสนอง
"ตระพังทองตระพังเงินล้วนงดงาม

สีน้ำใสเย็นอุระชวนถวิล
ดั่งดื่มกิน"น้ำโขง"โยงสยาม
ด้วยพระบารมีบุญ"พ่อขุนรามฯ"
บันดาลความร่มเย็นไทยเป็นไท


          ในเมืองสุโขทัยนอกจากจะมีป่าหมากป่าพลู  ป่าพร้าวป่าลางป่าม่วงป่าขามอันอุดมสมบูรณ์แล้ว  ยังมีสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวเมือง คือ  ตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่หลายสระ เช่น  ตระพังโพย ตระพังเงิน ตระพังทอง  ท่านว่าน้ำในตระพัง  "สีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง"  หมายถึงน้ำในลำโขงในฤดูแล้งใสสะอาดบริสุทธิ์ ดื่มอาบได้สนิทใจ

          ความในจารึกที่ว่าน้ำในตระพังเหมือนน้ำในแม่โขงยามแล้ง  เป็นหลักฐานหรือพยานยืนยันว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงคุ้นเคยกับแม่น้ำโขง  ตามความในตำนานกล่าวว่าพระองค์เสด็จไปสรงน้ำในแม่โขงเป็นประจำทุกปี  โดยผ่านไปทางพะเยา  พักที่พะเยาจนเกิดเรื่องที่ว่าทรงเป็นชู้กับมเหสีพระยางำเมือง

          อีกประเด็นหนึ่ง ยืนยันว่า  ต้นตระกูลพ่อขุนรามคำแหงเป็นชาวไทยเลือง  ดำพงกาวแห่งนันทบุรี(เมืองน่าน) ....มีความคุ้นเคยกับน้ำแม่โขงมาแต่บรรพบุรุษของพระองค์

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, ตุลาคม, 2561, 10:15:41 PM
(https://image.ibb.co/k13719/1024px-201312131040b-HL-ps-Sukothai-King-Ramkhamhaeng-Monument.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป
ชาวสุโขทัย บำเพ็ญศีล ทาน การกุศล
Cr. ภาพโดยคุณ Hartmann Linge

- ในเมืองสุโขไท -

"เมืองสุโขไทนี้ตรีบูร..." แจ้ง
รอบกำแพงวงเวียงวัดยาวใหญ่
"สามพันสี่ร้อยวา"ว่ายาวไกล
ณ ภายในบ้านเรือนเกลื่อนอาราม

คนในเมืองสุโขไทใกล้ชิดวัด
ปฏิบัติกายใจไม่รุ่มร่าม
ในพรรษารักษาศีลสิ้นทุกยาม
จิตใจงามด้วยบุญสุนทรทาน

มีสัมมาคารวะมารยาท
อภิวาทวันทามือประสาน
รู้หน้าที่ควรทำไม่รำคาญ
ประกอบการสุจริตไม่ผิดธรรม

ทุกวันพระรักษาอุโบสถ
ประพฤติพรตพรหมจรรย์ในขั้นต่ำ
เป็นเริ่มต้นทางบุญคุณครอบงำ
ซึ่งจะนำพาถึงซึ่งนิพพาน...


          เมืองสุโขไทมีกำแพงสามชั้น(ตรีบูรณ์)  ยาวไกลได้สามพันสี่ร้อยวา  คนในเมืองสุโขไทมักศีล  เมื่อเข้าพรรษาทุกคนรักษาศีลห้าทุกวันไม่มีเว้น  เมื่อถึงวันพระ(อุโบสถ)  จะรักษาอุโบสถ(ถือศีลแปด)  ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา

เต็ม อภินันท์
สถาวันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, ตุลาคม, 2561, 11:01:56 PM
(https://image.ibb.co/jD3MDp/2015-05-04-132125.jpg) (https://imgbb.com/)

- ออกพรรษากรานกฐิน -

เมื่อโอกพรรษากรานกถิน"ก่อนสิ้นฝน
เดือนหนึ่งคนไทยสนุกทุกหมู่บ้าน
บุญกฐินถวายพระ"กาลทาน"
ล้วนจัดงานฉลองสนุกทุก"วัดวา"

พ่อขุนรามคำแหงแต่งองค์กฐิน
"โอยทาน"สิ้นทรัพย์ที่่มากมีค่า
หมดเบี้ย"ปีแล้ญิบล้าน"ทานบูชา
ด้วยศรัทธามั่นคงอย่างจงใจ

บริพารกฐินมีหลายหลาก
"พนมหมาก"จัดเห็นเป็นกองใหญ่
"พนมเบี้ย"เคียงข้างวาง"ผ้าไตร"
อีก"พนมดอกไม้"และ"หมอนนอน"

วันสุดท้าย"กาลทาน"ที่ท่านจัด
"ไปสูดญัติ" อรัญญิกริมสิงขร
ถวายพระวิปัสนาในป่าดอน
เมื่อรับพระแล้วเซ็งแซ่แห่กลับเวียง


          มีความในจารึกต่อไปว่า เมื่อออกพรรษากราน(ทอด)กฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว  เครื่องกฐินนอกจากผ้ากฐินแล้ว  มีพนมเบี้ย  พนมหมาก  พนมดอกไม้  หมอนนั่งหมอนนอนเป็นบริพารกฐิน  วันสุดท้ายของกาลทานพ่อขุนรามฯพาไพร่ฟ้าประชาชนไปกรานกฐินที่วัดในแดนอรัญญิก  ด้านตะวันตกเมืองสุโขไท  แล้วกลับเข้ามาฉลองกันในเมือง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, ตุลาคม, 2561, 12:05:49 AM
(https://image.ibb.co/gobgyp/1.jpg) (https://imgbb.com/)

- งาน"เผาเทียนเล่นไฟ" -

"เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกัน-
แต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน"เสียง
"ดํบงคํกลอง"ร้องพร้อมเพรียง
เดินรายเรียงเสสรวลขบวนยาว

"ด้วยเสียงพาดเสียงพีน"ได้ยินก้อง
ใครใคร่ร้องเอื้อนเสียงสำเนียงฉาว
จะขับขานเย้าหยอกบอกเรื่องราว
ก็ร้องกล่าวฉอดฉอดตลอดทาง

สุโขไท"มีสี่ปากประตูหลวง"
ชนทั้งปวงเบียดเสียดไร้ช่องว่าง
แห่เข้าเมืองเนืองแน่นด้วยนายนาง
ทุกคนต่างอยากเห็นการ"เล่นไฟ"

ท่าน"เผาเทียนเล่นไฟ"ในกรุงศรี
เป็นพิธีบุญทานอันยิ่งใหญ่
"ลอยกระทง"บูชารตนตรัย
ซึ่งชาวไทยชื่นชมนิยมกัน....


          คำเต็มของความในจารึกบรรทัที่ ๑๗ ถึงบรรทัดที่ ๒๓ ด้านที่ ๒ ว่า...." เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลองด้วยเสียงพาดเสียงพีน เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว เมืองสุโขไทนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยนญ่อมคนเสียดกัน เขามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขไทนี้มีฎั่งจักแตก....."

          แปลคำไทยสุโขไท เป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า หลังจากกรานกฐิน ณ วัดอรัญญิกแล้ว เมื่อจักกลับเข้าในเมือง เดินเรียงแถวยาวตั้งแต่อรัญญิกจรดสนามหลวง(เท้าหัวลาน) กลางเมืองสุโขไท
          ระดมตีกลอง(ดํบงคํ = ดมบงคม)ให้จังหวะ เสียงพาด (เครื่องสี เช่นซอ) เสียงพีน( พิณ เครื่องดีด) ประกอบการร้องรำทำเพลง(เสียงเลื้อนเสียงขับ) ใครอยากเล่นอะไร ก็เล่น ใครอยากหัวเราะ เฮฮา ก็หัวเราะ ได้อย่างเต็มที่ สนุกสนานบันเทิงกันตลอดเส้นทางอันยาวไกล

          เมืองสุโขไทมีประตูใหญ่อยู่ ๔ ประตูเข้าออกทาง ๔ ทิศ ผู้คนนอกเมืองเดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ เบียดเสียดยัดเยียดกันเข้าในเมือง เพื่อมาดูท่าน เผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้น จึ่งอึงมี่ "มีดังจักแตก".......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, ตุลาคม, 2561, 10:21:07 PM
(https://image.ibb.co/hS9C5f/1.jpg) (https://imgbb.com/)

- ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ -

การ"เผาเทียนเล่นไฟ"ในอดีต
เป็นจารีตประเพณีที่สร้างสรรค์
ประยุกต์เอาความเชื่อทุกเชื้อวัน
เข้าผูกพันศาสนาวัฒนธรรม

ทำตะคันหลอมเทียนมีไส้ใส่
เพื่อจุดไฟเผากันทั้งวันค่ำ
บูชาพระ,เทพเจ้าเป็นประจำ
และลอยน้ำโดยใส่ในกระทง

เรียก"เผาเทียน"ที่ไทยสืบถ่ายทอด
มาตลอดหลายสมัยไม่ลืมหลง
แต่เปลี่ยนแบบให้งามตามจำนง
เพื่อให้คงประเพณีอันดีงาม

การ"เล่นไฟ"หลายอย่างต่างประดิษฐ์
ล้วนแรงฤทธิ์ลอยฟ้าน่าเกรงขาม
"พลุ,ตะไล,ไฟพะเนียง"จุดเรียงราม
ดังตูมตามพร้อมระลอก"ดอกไม้ไฟ"

ล้วนตื่นตาตื่นใจไม่เคยเห็นบ่อย
คนต่างคอยเที่ยวกันชมงานใหญ่
ลอยกระทงแพร่สะพัดจัดทั่วไป
สุโขทัยเป็นที่หนึ่งจึงโด่งดัง...


          การพิธี "เผาเทียนเล่นไฟ" เป็นพิธีบุญบูชาในงานนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง และเป็นวันสิ้นฤดูฝน พร้อมกับสิ้นปีเก่า พ่อขุนรามคำแหงทรงผนวกการเฉลิมฉลอง งานเสร็จสิ้น "กาลทาน" คือบุญกรานกฐิน (ที่เรียกว่ากาลทาน เพราะทำในเวลาที่จำกัด ถวายผ้ากฐินแก่สงฆ์วัดละครั้งเดียว ภายในเวลาของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น ถ้าถวายผ้าไตรแก่สงฆ์นอกเวลาดังกล่าว ผ้านั้นไม่เป็นผ้ากฐิน จะกลายเป็นผ้าป่าไปทันที) เมื่อถวายผ้ากฐิน ณ พระอารามในแดนอรัญญิก (เขาสะพานหิน) แล้ว กลับมาเฉลิมฉลองบุญทานกันในเมืองสุโขทัยด้ยการ "เผาเทียนเล่นไฟ" มีคนแออัดยัดเยียดกันเข้ามาจากสี่ปากประตูหลวง จนเมืองสุโขทัยยามนั้น "มี่ดั่งจังแตก"

          การเผาเทียน คือหลอมไขขี้ผึ้ง หรือไขโคให้เหลว แล้วเทใส่ในตะคัน คือถ้วยเทียน (ล้านนาเรียกผางประทีป) ใช้ด้ายดิบทำเป็นไส้เทียน แล้วจุดไส้เทียนในตะคัน ตั้งวางบูชา พระพุทธรูป พระเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือ สิ่งที่ตนเคารพนับถือ จุดตามประทีปไว้จนกว่าเทียนจะถูกไฟลามเลียเหือดแห้งไปหมด จึงเรียกว่า "เผาเทียน"

          นายนิคม มูสิกะคามะ นักโบราณคดี (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) อธิบายว่า สมัยกรุงสุโขไทเป็นราชธานี ชาวสุโขไททำตะคัน (ถ้วยเทียนประทีป) นอกจากจุดไฟตั้งวางสักการะบูชาพระแล้ว ยังใส่ตะคันลงในกระทงจุดไฟปล่อยกระทงลอยในน่านน้ำที่เรียกว่า "ลอยกระทง"

          และนี่คือที่มาของประเพณีการลอยกระทงของไทย

          พร้อมกับการเผาเทียนบูชานั้น มีการเล่นไฟ คือ จุดพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟต่างๆ เป็นที่สนุกสนานรื่นเริงด้วย

          พีธีการ เผาเทียน เล่นไฟ ของเมืองสุโขไท หายไปพร้อมกับการเสื่อมสลายของกรุงสุโขไท ราชธานีแห่งแรก (ตามประวัติศาสตร์) ของไทย แต่ประเพณีการลอยกระทงยังคงอยู่ในสังคมไทย หากแต่พิธีการลอยกระทงพัฒนารูปแบบเปลี่ยน แปลงไปตามยุคตามสมัย และความนิยมของแต่ละท้องถิ่น

          เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จังหวัดสุขทัยร่วมกับกรมศิลปากร และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดการฟื้นฟู พิธีกรรมการลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ขึ้นในแบบย้อนยุค กลับไปสู่บรรยากาศโบราณเมื่อ ๗๐๐ ปี ก่อน งานนี้ได้รับความสนใจจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ พากันมาเที่ยวชมมากจน"เมืองสุโขไทนี้มีดังจักแตก" ในปีแรก ๆ และซบเซาลงบ้างในบางช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของผู้จัดงาน

          ....เมื่อสองปีที่่แล้ว งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นงานเทศกาล วัฒนธรรมประเพณี ดีเด่นเป็นอันดับ ๒ ของโลก ปีนี้จะเป็นอย่างไร อดใจไว้คอยเที่ยวชมในวันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองตลิ่งก็แล้วกันครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, ตุลาคม, 2561, 10:34:51 PM
(https://image.ibb.co/dfo45f/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระอัฏฐารสที่วัดสะพานหิน

- พระพุทธรูปกลางเมือง -

"กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร"
เป็นสถานพุทธศาสน์พิลาสขลัง
"มีพระพุทธรูปทอง"เลืองในวัง
"พระใหญ่"ตั้งหน้าพิหารตระการตา

"มีพระอัฏฐารศ"ยืนตระหง่าน
ปางประทานพรอภัยให้ทั่วหน้า
"มีพระพุทธรูปอันราม"ตามวัดวา
ให้บูชากราบกรานสืบสานบุญ

"มีปู่ครูนิสัยมุตก์"หลุดภาระ
ถือเป็นพระผู้ใหญ่ไม่หันหุน
สำรวมเรียบลักษณะจิตกรุณ
คอยค้ำจุนสังคมให้ร่มเย็น

วัดในเมืองเนืองแน่นเป็นแดนพุทธ
บริสุทธิ์ศาสนาคุณค่าเห็น
พ่อขุนรามฯทรงนำพาบำเพ็ญ
พระองค์เป็นตัวอย่างทางดีงาม


          ความในจารึกหลักที่หนึ่งนี้กล่าวอีกว่า ในกลางเมืองสุโขไท มีพระพุทธรูปทอง มีพุทธรูปใหญ่และราม (ขนาดรอง) มีพระอัฏฐารศ มีพิหาร (วัด) ใหญ่น้อย มีพระเถระมหาเถระ ปู่ครูพระนิสัยมุตก์ (บวชครบ ๕ พรรษา)

          พระพุทธรูปทองนัยว่ามีหลายองค์ องค์ที่ประดิษฐานอยู่วัดไตรมิตร กทม.ปัจจุบันนี้เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปทองดังกล่าวในจารึกนี้ ส่วนพระพุทธรูปอันใหญ่มีหลายองค์เช่นกัน องค์ใหญ่ที่สุดคือองค์ที่อยูในวิหารหน้าพระมหาธาตุเจดีย์กลางเมืองสุโขทัย ซึ่ง ร. ๑ โปรดให้เคลื่อนย้ายลงมากรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่วัดสุทัศน์ฯในปัจจุบัน (พระศรีศากยมุนี) พระอัฏฐาราศ คือพระพุทธรูปอืนประทานพรในวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย และบนเขาสะพานหินกลางอรัญิก นอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก

          มีเถรมหาเถร คือพระผู้ใหญ่ คือผู้บวชได้ ๕-๙ พรรษา นิสัยมุตก์ เรียกว่า "ปู่ครู" พระภิกษุผู้บวชได้ ๑๐-๑๙ พรรษา เรียก เถรหรือเถระ บวชได้ ๒๐ พรรษาขึ้นไปเรียกมหาเถร หรือมหาเถระ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, ตุลาคม, 2561, 10:35:04 PM
(https://image.ibb.co/k1F5ff/964138449-member.jpg) (https://imgbb.com/)
พระอัฏฐารส วัดสะพานหิน

- พระสังฆราชลังกาวงศ์ -

"....มีเถรมหาเถร"เด่นสง่า
อยู่ในป่าแดนดงกลางพงหนาม
ทำอรัญญิกาวาสเป็นอาราม
ห่างเขตคามติดต่อพอสมควร

"พ่อขุนรามคำแหง"มาแห่งนี้
เหตุเพราะมี"พระป่า"เป็นสัดส่วน
"สังฆราชปราชญ์"เลิศองค์สงฆ์ทั้งมวล
ท่องทบทวนคำ"จบปิฎกไตร"

ล้วน"หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้"
มาแต่"ศรีธรรมราช"ปราชญ์เมืองใต้
"ลังกาวงศ์"สงฆ์ดีที่ถูกใจ
เคร่งวินัยปฏิบัติวิปัสนา

"ในกลางอรัญญิกมีพิหาร"หนึ่ง
บนเขาซึ่งไม่สูงสุดแรงขา
"มีพระอัฏฐารศ"เห็นยืนเด่นตา
ชื่อวัดว่า"สะพานหิน"ปิ่นอรัญ


          พ่อขุนรามคำแหงอาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ์นิกายอภัยคีรีวิหารจากนครศรีธรรมราชมาเผยแผ่ลัทธิทีสุโขไท สงฆ์ลังกานิกายนี้เป็น"พระป่า" จึงขออยู่ในป่าเชิงเขาประทักด้านตะวันตกเมืองสุโขไท พ่อขุนรามโปรดให้สร้างวัดเป็นที่อยู่ในป่านี้ และตั้งให้พระมหาเถระหัวหน้าคณะเป็นพระสังฆราช พระสงค์คณะนี้ล้วนรู้จำพระไตรปิฎกได้หมด(จบปิฎกไตร) ฉลาด(หลวก)กว่าปู่ครู(สงฆ์หมู่เดิม) ในเมืองสุโขไท นอกจากสร้างวัดอรัญญิกการามในป่าแล้ว ยังทรงสร้างวัดบนยอดเขาสะพานหิน และสร้างพระอัฏฐารศ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ไว้บนยอดเขานี้เพื่อ"ฝึกฟื้นใจเมือง" อีกด้วย..

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้งไทย
๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, ตุลาคม, 2561, 10:21:21 PM
(https://image.ibb.co/i2FVY0/DSCF5967-Damras-Onsuang.jpg) (https://imgbb.com/)
เครดิตรูปภาพโดยคุณ Damras Onsuang

- เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขไท -

"เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขไทนี้-
มีพิหารมีปู่ครู"ผู้ขยัน
ทำ"คันถธุระ"ทั้งคืนวัน
เป็นมิ่งขวัญไพร่ฟ้าประชาชน

"มีทะเลหลวงมีป่าหมากป่าพลู"
มีที่อยู่อาศัยไร่นากล่น
มีวัดวาอารามหลามปะปน
หมากไม้ผลนานาแลตระการ

"มีถิ่นถานบ้านใหญ่บ้านเล็ก"
ผู้ใหญ่เด็กอยู่สุขสนุกสนาน
ปลูก"ป่าม่วงป่าขาม"งามละลาน
แลเรือนชานบ้านไทยวิไลตา........


          ความในศิลาจารึกตอนนี้ท่านกล่าวว่า ทางทิศตะวันออกเมืองสุโขไท มีวัด มีปู่ครูพร้อมพระสงฆ์สุโขไทผู้สืบเชื้อสายมาแต่พระโสณะ พระอุตตระ สมณะทูตพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งมาเผยแผ่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ คนไทยรับนับถือสืบต่อกันมานานนับพันปีแล้ว พระสงฆ์คณะเดิมในสุโขไทนี้ผู้ที่เป็นสมภารเจ้าวัดท่านเรียกว่า "ปู่ครู" ผู้ที่บวชนานได้ ๕ พรรษาแล้วท่านเรียกว่า "นิสัยมุตก์" เป็นพระสงฆ์ฝ่ายคามวาสี(พระบ้าน) มีอยู่ทั่วไปทั้งนอกและในเมืองสุโขไท

          นอกจากมีวัดวาอาราม ปู่ครูอยู่มากมายแลัวยังมีทุ่งทะเลหลวง ป่าหมากป่าพลู (คนไทยสมัยนั้นนิยมกินหมากรองลงมาจากกินข้าว) ป่ามะพร้าว ป่ามะขาม มีไร่มีนา มีถิ่นถานบ้านเรือนอุดมสมบูรณ์พูนสุข

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, ตุลาคม, 2561, 10:23:39 PM
(https://image.ibb.co/fjVbrL/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เขื่อนสรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วง
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

- เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไท -

เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไทนี้-
มีกุฎีพิหารปู่ครู"กล่น
มี"สรีดภงส"อ่างใหญ่ไว้เก็บชล
เลี้ยงผู้คนในเมืองน้ำเนืองนอง

"มีป่าพร้าวป่าลางป่าม่วงป่าขาม"
บ้านเรือนรามอยู่เย็นเป็นแถวถ่อง
เทือก"เขาหลวง"ศักดิ์สิทธิ์ประสาททอง
ที่อยู่ของ"พระขพุง"บำรุงเมือง

"มีน้ำโคก"โตรกธารละหานห้วย
ยอดเขาสวยมีชื่อเสียงลือ "เรื่อง-
เล่านิทาน"ขานกล่าวเล่าเนืองเนื่อง
"พระร่วง"เรืองฤทธิไกรไร้เทียมทาน

เขา"นารายณ์,เจดีย์,พระแม่ย่า"
และ"ภูกา"สี่ยอดสูงตระหง่าน
อีก"สวนขวัญ"สมุนไพรใหญ่ยืนนาน
พร้อมตำนานบ่งชี้ทุกที่ทาง


          เบื้องหัวนอนคือทิศทางใต้ตัวเมืองสุโขไท ที่เรียกดังนี้เพราะคนสุโขไทสมัยนั้นนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ เหยียดเท้าไปทางทิศเหนือ จารึกท่านกล่าวว่า ทางเบื้องหัวนอนมีวัดใหญ่น้อยเป็นที่อยู่ของปู่ครู สงฆ์ฝ่ายคันถธุระ คามวาสี มี "สรีดภงส์"อ่างและเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ มีป่าหมากพร้าวหมากลางหมากม่วงหมากขาม มีเขาหลวงที่สถิต "พระขพุงผี"ผู้เแป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสุโขไท(ปัจจุบันเรียกกันงว่าพระแม่ย่า) ยอดเขาหลวงประกอบด้วยยอดเขาพระนารายณ์ ยอดเขาพระเจดีย์ ยอดเขาพระแม่ย่า ยอดเขาภูกา มีสวนสมุุนไพรว่านยาพระร่วง มีน้ำตก ต้นธาร มีตำนานเล่าเรื่องพระร่วงบุตรนางนาคซึ่งกำเนิด ณ เขาหลวงนี้...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้งไทย
๑ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, ตุลาคม, 2561, 10:22:42 PM
(https://image.ibb.co/mHg5Lf/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ศาลพระแม่ย่า จ. สุโขทัย

- พระแม่ย่ามิ่งเมืองสุโขทัย -

"มีพระขพุงผีเทพดา"
"เป็นใหญ่กว่าทุกผี"มิอวดอ้าง
"ขุนผู้ใดถือเมืองนี้"มิเว้นวาง
"ไหว้พลี"อย่างถูกต้อง"เมืองนี้ดี"

"ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก"จะทุกข์เศร้า
"ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง"ขยี้
"เมืองนี้หาย"ถล่มลงเป็นพงพี
จารึกนี้ชี้แจงแหล่งสำคัญ

เทือกเขาหลวงสลับรายหลายสิงขร
สิ่่งศักดิ์สิทธิ์ซับซ้อนอยู่ลดหลั่น
ที่สถิตย์ผีผู้ใหญ่เฝ้าไพรวัน
จารึกนั้นสำเหนียกเรียก"พระขพุง"

เป็นเทวรูปสตรีมีสง่า
เรียก"แม่ย่า"บำรุงเมืองให้เรืองรุ่ง
เป็น"มิ่งเมืงสุโขทัย"ที่ไทยมุง
เผดียงผดุงสร้างสถูปรูปบูชา

ณ ยอดเขา"ปู่จ่า"กลางนากว้าง
มีพระปรางค์อิฐใหญ่งามสง่า
เทวรูปหลากหลายแลลายตา
นักเสาะหาสมบัติวัดลักไป

พระพุทธรูปเล็กใหญ่ขนไปหมด
ยังปรากฏเทวรูปหนึ่งอยู่ได้
เป็น"เทวนารี"มิเหมือนใคร
เฉกนางในสรวงเด่นเช่น"อุมา"

พวกโขมยโกยทรัพย์จับขนย้าย
ทำให้หายจากที่เก่า"เขาปู่จ่า"
ไปปรากฏอยู่ไกลถึงปลายนา
"ถ้ำหน้าหญ้า,แม่ย่า"เชิงคิรี

ชาวบ้านเรียก"พระแม่ย่า"พากันกราบ
ด้วยซึ้งทราบความศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เทพผี
จาก"พระขพุง"เป็น"แม่ย่า"เทวสตรี
ประชาชีเคารพอภิวันท์....


          อภิปราย ขยายความ
          คำเต็มของความในจารึกบัรรทัดที่ ๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๐ ว่า....." มีพระขพุงผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แลั ไหว้ดูพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอั้น บ่คู้มบ่เกรง เมืองนี้หาย....."

          ....แปลคำสุโขไทเป็นคำไทยปัจจุบัน ได้ความว่า ณ เทือกเขาหลวงนั้น มีพระขพุงผีเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองสุโขทัย ผู้ใดได้เป็นขุนครองเมืองสุโขทัย ถ้าไหว้ดีพลีถูก เมืองสุโขทัยจำเจริญรุ่งเรืองดี หากไหว้ไม่ได้พลีไม่ถูก เมืองสุโขทัยจักเสีย เสื่อมโทรมลง จนหายสิ้น

          ......พระขพุงผี ได้แก่เทพผู้เป็นใหญ่ในเมืองสุโขทัย (ขพง ขพุง = ส่วนเบื้องบนของภูเขา(ยอดเขา) หรือที่สูง ส่วนสูง หรือ ประเสริฐ) "ผี" ในที่นี้หมายถึงเทพยดา คนไทยสมัยโบราณนับถือผีว่าเป็นผู้มีอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดชบันดาลความดีความร้ายให้เกิดแก่ผูคนได้ ต่อมาเมื่อรู้เรื่องในลัทธิพราหมณ์มากขึ้น รู้คำว่า เทวดา อินทร์ พรหม เทพเจ้า พระเป็นเจ้าว่ามีความศักดิ์เช่นเดียวกันกับผีที่ตนนับถือ จึงแปลงผีให้เป็นเทพยดาไปในที่สุด

          ....พระขพุงผี เทพยดาผู้เป็นใหญ่สูงสุดในหมู่เทวยเทพ ภูติผีปิศาจทั้งหลายในเมืองสุโขทัย สถิตย์อยู่ ณ เทือกเขาหลวง นอกจากควบคุมดูแลเหล่าเทพยดา ภูติผี ปิศาจแล้ว ยังดูแลความประพฤติของผู้คนในเมืองสุโขทัยด้วย ผู้ได้เป็นขุนขึ้นครอง (ถือเมือง) เมืองสุโขทัย  หากมีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ (ไหวีดี พลีถูก) ก็จะดลบันดาล หรืออวยพรให้เมืองสุโขทัยนี้เจริญรุ่งเรือง หากขุนผู้นั้นประพฤติปฏิบัติมิชอบ (ไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก) ก็จะ"อั้น บ่คุ้ม บ่เกรง" และยังจะดลบันดาลหรือสาปแช่งให้เมืองนี้เสื่อมโทรมลงจนสลายไปในที่สุด.

          ....พระขพุงผีประมุขเทพยดาภูติผีปิศาจประจำเมืองสุโขทัย ณ เทือกเขาหลวง นี้ มีตำนานเล่าว่าพระนางเสือง มเหสีขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงปลีกวิเวกขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนยอดเขาหลวง ยอดเขาลูกที่พระนางประทับปฏิบัติธรรมนั้นเรียกว่า"เขาพระแม่ย่า"มาจนถึงวันนี้ คนสุโขทัยในยุคหลังๆจึงเชื่อกันว่า "พระขพุงผี" ตามจารึกนี้คือพระนางเสือง พระราชมารดาในพ่อขุนรามคำแหง นั่นเอง

          ...นักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เชื่อกันว่า เทวรูปสตรี ที่แกะสลักด้วยหินชนวนเขียวองค์นี้ คือ "พระขพุงผี" ตามความในจารึกหลักที่ ๑ และยังมีความในจารึก"ปู่สบถหลาน"กล่าวถึงอีกว่า "พระขพงยรรยงเขาพระศรี" อันหมายถึง "พระขพุงผี" นั่นเอง

          ....ในทางสันนิษฐานที่เป็นไปได้ว่า เทวรูปสตรีที่เรียกว่าพระแม่ย่าองค์นี้ เดิมประดิษฐานอยู่ในเทวาลัย บนยอด "เขาทอก" เตี้ย ๆ ลูกหนึ่งกลางทุ่งนา เชิงเทือกเขาหลวง ภูเขาทอกนี้น่าจะชื่อเดิมว่า ยรรยงเขาพระศรี บนยอดเขานี้มีเทวาลัยนับอายุสืบได้ว่าสร้างในยุคสมัยปาปวน ต่อมาถึงยุคสุโขไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองจึงถูกแปลงจากเทวาลัยให้เป็นพระปรางค์ (ปัจจุบันเรียกว่าปรางค์อิฐปู่จ่า) ในราวปลายรัชสมัย ร.๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีคนร้ายขุดค้นหาทรัพย์สมบัติตามปรางค์ เจดีย์ โบสถ์ วิหาร ชรอยว่า ปรางค์อิฐปู่จ่าที่มีเทวรูป พระพุทธรูปอยู่มากมายนั้น ถูกลักลอบขนย้ายไปเกือบหมดสิิ้น เทวสตรีหินองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายไปทิ้งไว้ ณ เพิงผาหน้าถ้ำหน้าหญ้า (ซึ่งต่อมาเรียก "ถ้ำพระแม่ย่า" ในเทือกเขาหลวง ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเรียกเทวรูปนี้ว่า "พระแม่ย่า" อันหมายถึงพระนางเสืองผู้เป็นพระราชมารดาพ่อขุนรามคำแหง (เรียกขุนรามคำแหงว่าพ่อ ก็ต้องเรียกแม่ของพ่อว่า ย่า ตามธรรมเนียมไทย))

          .....ทางการได้เคลื่อนย้ายเทวรูปสตรีหรือพระแม่ย่าองค์นี้เข้ามาไว้ในเมืองสุโขทัย ด้วยเกรงว่าหากปล่อยไว้ที่ถ้ำนั้นจะเป็นอันตราย ปัจจุบันได้สร้างศาลที่สถิตพระแม่ย่าไว้ริมน้ำยม บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย

          ......เพราะชาวบ้านเคารพเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่ย่ากันมาก จึงมีการขออนุญาตทางจังหวัดจัดสร้างเหรียญรูปพระแม่ย่า รูปหล่อลอยองพระแม่ย่าขนาดพกพา เพื่อนำติดตัวไปไหนมาไหน ถือเป็นวัตถุมงคลขลัง โดยจัดสร้างมาแล้วจนนับรุ่นไม่ถ้วน

          ......การบนบานพระแม่ย่าได้ผลไม่น้อย จนมีคำกล่าวว่า  "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่".......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, ตุลาคม, 2561, 10:20:27 PM
(https://image.ibb.co/bA9EWL/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระแท่นกลางดงตาล -

"หนึ่งสองหนึ่งสี่ ศกปีมะโรง"
กลางป่าโปร่งดงตาลปานสวรรค์
อายุตาลสิบสี่ปีที่ปลูกนั้น
"ให้ช่างฟันขดารหีน"น่ายินดี

เป็นแท่น"ตั้งหว่างกลางไม้ตาน"หนุ่ม
ลานประชุมถือศีลพระชินสีห์
"ปู่ครูเถรมหาเถร"เปลี่ยนเวรมี
ขึ้นแท่นนี้เทศนาเป็นประจำ

"วันเดือนดับเดือนโอกแปดวัน"ทบ
ทวนบรรจบเจ็ดทิวา""สิบห้าค่ำ"
ทั้ง"เดือนเต็มเดือนบ้าง"ร่วมฟังธรรม
ถือศีลสำรวมใจกายวาจา


          ถอดคำ  ขยายความในจารึกบรรทัดที่ ๑๐  ถึงบรรทัดที่๑๖  ด้านที่ ๓  ได้ว่า
.......๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง  พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาไลสุโขไทนี้  ปลูกไม้ตานได้สิบสี่เข้า  จีงให้ช่างฟันขดารหีนตั้งหว่างกลางไม้ตานนี้  วันเดือนดับเดือนโอกแปดวัน  วันเดือนเต็มเดือนบ้างแปดวัน  ฝูงปู่ครู  เถร  มหาเถร  ขึ้นนั่งเหนือดารหีนสูดธรรมแก่อุบาสก  ฝูงท่วยจำศีล....."

          .... แปลคำสุโขไทเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า  ปีมหาศักราช ๑๒๑๔  ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๓๕  ปีมะโรงนั้น  นับเป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงขึ้นครองกรุงสุโขไทและปลูกไม้ตาลมาได้ ๑๔ ปี  เป็นดงตาลหนุ่มที่ร่มรื่น  แล้วจึงโปรดให้ช่างนำหินมาตัดแต่งทำเป็นแท่นหิน (ขดารหีน)  ตั้งไว้กลางดงตาล วันพระขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (เดือนโอก)  และ แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (เดือนดับ เดือนบ้าง) (๑๔ ค่ำ ในเดือน คี่)  ทรงอาราธนาพระภิกษุฝ่ายคามวาสี (ปู่ครู)  อรัญญวาสี (เถร มหาเถร)  ขึ้นนั่งบนแท่นหินแสดง (สูด=สวด) ธรรม  เหล่าอุบาสกอุบาสิกา  สมาทานรักษาอุโสถศีล (จำศีล)  ตลอดวันตลอดคืนในกลางดงตาลนี้.....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, ตุลาคม, 2561, 10:22:19 PM
(https://image.ibb.co/d6QfQq/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- สภาปากปูด ณ ดงตาล -

"ผิใช่วันสูดธรรม"ว่างตำแหน่ง
"รามคำแหง"นั่งแท่นแสนสง่า
"ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน"มา
นั่งรายล้อมพร้อมหน้าประชุมกัน

ใช้ดงตาลเป็นสภาปรึกษาเรื่อง
ยกการเมืองทุกอย่างมาสร้างสรรค์
หยิบปัญหานานาสารพัน
มาจำนรรจ์แจงคดีให้คลี่คลาย

ใครมีเรื่องอึดอัดทุกข์ขัดข้อง
เข้ามาร้องมา"ปูด"พูดขยาย
ปูดเปิดอกกันให้ใจสบาย
ไร้เจ้านายปิดปากปัดมากความ

"ลั่นกะดิ่ง"กริ่งก้องเพื่อร้องเรียก
ให้สำเหนียกรับเรื่องทุกข์เคืองขาม
"เป็นสภาการุณย์พ่อขุนราม"
เพื่อไถ่ถามทุกข์กันทั้งวันคืน.....


.....อภิปราย ขยายความ

          .....คำเต็มของความในจารึกบรรทัดที่๑๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๙ ด้านที่ ๓ ว่า  "ผิใช่วัดสูดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาไลสุโขไท ขึ้นนั่งเหนือขดารหีน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง"........

          ..... แปลคำสุโขไทเป็นภาษาไทยปัจจุบันได้ว่า  หากมิใช่วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ  ไม่มีพระสูดธรรม (แสดงธรรม)  อุบาสกอุบาสิกาไม่ได้มาชุมนุมรักษาศีล  พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย  ทรงขึ้นประทับนั่งบนขดานหินเป็ประธานการประชุม  ให้บรรดาเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่  และเจ้าเมืองทั้งหลายเข้าร่วมประชุม  ปรึกษาหารือในการบริหารบ้านเมือง  ..เปิดโอกาสให้ทุกคนพูดระบายความขุ่นข้องหมองใจ  ถกเถียงกันได้อย่างเสรี

          ..... แขวนกะดิ่งไว้ที่สภานี้ ให้ไพร่ฟ้าประชาชีทุกคนที่มีเรื่อง "เจ็บท้องข้องใจ"  มาลั่นกะดิ่งร้องทุกข์ "ไพร่ฟ้าหน้าปก"  คือประชาชนมีทุกช์เดือดร้อนใด ๆ ก็ให้มาลั่นกะดิ่งร้องทุกข์ได้  พ่อขุนรามคำแหง  จะทรงรับเรื่องร้องทุกข์แล้วพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง  บริเวณดงตาลอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นกระดานหินนี้  จึงเป็น "สภาปากปูด"  คือสถานที่เปิดปากพูดกันอย่างเปิดอก  ระบายความทุกข์  ความขัดข้องหมองใจกันได้อย่างเสรี

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๔ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, ตุลาคม, 2561, 10:12:00 PM
(https://image.ibb.co/kErQbV/15.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป
พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ อรูจาครี ไปนบพระอัฏฐารส ณ วัดตะพานหิน ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ
Cr. ภาพโดยคุณ Hartmann Linge

-  ท่านว่ามีจารึกสี่หลัก -

"ครั้นวันเดือนดับเดือนเต็ม"ทั้งสองข้าง
"ท่านแต่งช้างเผือก"ผ่องสองงายื่น
"รูจาครี"มีความงามกลมกลืน
ไร้ช้างอื่นไหนเยี่ยมยอดเทียมทัน

ทรงขี่ช้างสูงใหญ่ "ไปนบพระ"
"อรัญญิก"เป็นระยะทางมิสั้น
ขึ้นยอดเขา"ตะพานหิน"ถิ่นอารัญ
ทุกทุกวันอุโบสถศีลงดงาม

ทำจารึกสี่หลักปักประกาศ
มหาธาตุ"เมืองเชลียง"ไว้เคียงถาม
อีกหนึ่งหลักในถ้ำ"ถ้ำพระราม"
หลักที่สามถ้ำพระ "รตนธาร"

"ในกลวงป่าตานมีศาลาสองหลัง"
ชื่อน่าฟัง"พระมาส"เหมือนพิหาร
"พุทธศาลา"เคียงใกล้ในดงตาล
คู่"ขดารหีน"มีหลักศิลา

"ขดารหีน..ชื่อมนังษีลาบาตร"
เป็น"ธรรมาสน์,ราชอาสน์"หมดปัญหา
กลางดงตาลร่มเย็นอยู่เป็นมา
คือสภาประชาชีเสรีชน........


          อภิปราย ......คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๑๙ ถึงบรรทัดที่ ๒๗ ด้านที่ ๓ ว่า ..

          ......." ครั้นวันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดระยาง เที้ยรย่อมทองงา...(ซ้าย) ขวา ชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหง ขึ้นขี่ไปนบพระ (เถิง) อรัญญิกแล้วเข้ามา ๐ จารึกอันณื่งมีในเมืองเชลียงสถาบกไว้ด้วยพระศรีรัตนมหาธาตุ จารึกอันณื่งมีในถ้ำชื่อถ้ำพระราม อยู่ฝั่งน้ำสำพาย จารึกอันณื่งมีในถ้ำรตนธาร ในกลวงป่าตานนี้มีศาลาสองอัน อันณื่งชื่อศาลาพระมาส อันณื่งชื่อพุทธศาลา  (ข)ดารหีนนี้ ชื่อมนังษีลาบาตร สถาบกไว้นี่จี่ง ทัั้งหลายเห็น...."

          แปลความได้ว่า เมื่อถึงวันพระอุโบสถแรม ๑๕ (หรือ ๑๔ ค่ำ) อันเป็นวันสิ้นเดือน (เดือนดับ) วันพระอุโบสถกลางเดือนขึ้น ๑๕ ค่ำ (เดือนเต็ม) พ่อขุนรามคำแหง ให้แต่งช้างชื่อ รูจาครี เป็นช้างเผือกกระพัดระยาง งายาวงามประดับด้วยทอง ทรงช้างคู่พระทัยเสด็จดำเนินขึ้นไปไหว้พระอัฏฐารศบนยอดเขาสะพานหินในแดนอรัญญิก เป็นประจำ

          มีศิลาจารึกอันหนึ่งในเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) ตั้งไว้กับพระศรีรัตนมหาธาตุ จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำพระรามริมฝั่งน้ำสำพาย (แม่ลำพัน) จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำรัตนธาร (จารึกทั้ง ๓ หลักดังกล่าวนี้ยังค้นหาไม่พบ)

          ในกลวง (ที่ว่าง) ป่าตาลมีศาลา ๒ หลัง ชื่อศาลาพระมาส กับ พุทธศาลา ขดารหินที่ตั้งไว้กลางป่าตาลนี้ชื่อว่า "มนังษีลาบาตร" (มนังศิลาบาตร) กระดานหิน ที่ประทับนั่งว่าราชการของพ่อขุนรามคำแหง และที่นั่งแสดงธรรมของปู่ครูเถรมหาเถร มาปรากฏนามตรงนี้ว่า "มนังษีลาบาตร" คือ พระแท่นมังศิลา เมื่อนำลงมากรุงเทพฯแรกๆนั้น เรียกกันว่า พระแท่นมนังคศิลา เป้นการเรียกผิดเพียนไปจากจารึกนี้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขค้ผึ้งไทย
๕ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, ตุลาคม, 2561, 10:40:19 PM
(https://image.ibb.co/fMpPqq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์วัดช้างล้อม สุโขทัย

- สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ -

"ทั้งมากาวลาวแลไทเมืองใต้หล้า..."
ต่างเข้ามาอยู่ด้วยช่วยขวายขวน
สุโขไทใหญ่มากหลากผู้คน
พ่อขุนรามฯเลิศล้นบารมี

"หนึ่งสองศูนย์เจ็ดศกปีกุน"เล่า
"ใหัขุดเอาพระธาตุออก"นอกฐานที่
"เขารังแร้ง"เก่าแก่กลางพงพี
"พระสารีริกธาตุ"อยู่ใต้ดิน

เชิญลงมากลางเมืองซึ่งเรืองโรจน์
ทรงปราโมทย์ชื่นชมสมถวิล
"กระทำบูชาบำเรอ"ล้างราคิน
เฉกองค์อินทร์ได้"เขี้ยวแก้ว"แวววาบวาม

สร้างพระสถูปเจดีย์ที่เชิงเขา
แล้วทรงเอาพระธาตุใส่ไว้ไร้คนหยาม
มหาธาตุเจดีย์นี้งดงาม
ต่อมานามตามตาว่า"ช้างล้อม".....

(https://image.ibb.co/hzCAVq/2.jpg) (https://imgbb.com/)


อภิปราย ขยายความ.....

          .....คำเต็มตามจารึกบรรทัดที่ ๑ ถึงที่ ๘ ด้านที่ ๔ ว่า.........พ่อขุนพระรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นขุนในเมืองษรีสัชชนาไลสุโขไท ทั้งมากาวลาวแลไท เมืองใฏ้หล้าฟ้า......ไท ชาวอู ชาวของ มาออก ๑๒๐๗ ศกปีกุร ให้ขุดเอาพระธาตุออกทั้งหลายเห็น กระทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จี่งเอาลงฝังในกลางเมืองษรีสัชชนาไล ก่พระเเจดีเหนือหกเข้าจี่งแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระมหาธาตุสามเข้าจี่งแล้ว......"

          ไขคำในจารึกเป็นคำไทยปัจจุบันได้ว่า...

     ...พ่อขุนพระรามคำแหง เป็นพระนามเต็ม ที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประทานให้เมื่อพระชนม์ ๑๙ พรรษา หลังจากที่ชนช้างชนะขุนสามชนว่า "พระรามคำแหง" ครั้นขึ้นครองสุโขไทแล้ว ไพร่ฟ้าประชาชนเรียกนามพระองค์ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" โดยตัดคำว่า"พระ"ออกไป

     ..."มา"เป็นชนชาติกลุ่มหนึ่ง อยู่ในแถบเมืองน่าน บางแห่งเรียกว่า "ไทยมา"
     ..."กาว" เป็นนามชนชาติไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ในเมืองน่าน "ขุนบางกลางท่าว(ศรีอินทราทิตย์" เป็นชนชาวไทยเลืองตระกูล "ดำพงศ์กาว" ซี่งถือว่าเป็นไทยผู้ดี
     ..."ลาว" เป็นชนชาติไทยอีกเผ่าหนึ่งมีกำเนิดในแถบดอยตุง พัฒนาขึ้นเป็นไทยยวน หรือไทยโยนก ไทยเมือง ในแคว้นล้านนา ซึ่งเดิมเรียกว่า "ล้้วะ,ละว้า" มีปู่เจ้าลาวจก เป็นต้นวงศ์
     ..."ชาวอู" คือชนที่อยู่ในแถบแม่น้ำอูในลาวปัจจุบัน
     ..."ชาวของ" คือชนที่อยู่ตามริมแม่น้ำโขงทั้ง ๒ ฟากฝั่ง
     ..."มาออก" คือมาขอขึ้นอยู่ในการปกครองของกรุงสุโขไท สมัยพ่อขุนรามคำแหง
     ... ๑๒๐๗ เป็นปีมหาศักราช ตรงกับ พุทธศักราช ๑๘๒๘
     ..."ศกปีกุร" คือ ปีกุน สมัยสุโขไทเรียกและเขียนว่า "กุร" ทางล้านนาใช้เรียกและเขียนว่า "กุญ" (หมายถึง กุญชร=ช้าง) ในเรื่องดังกล่าวนี้มีรายละเอียดตามตำนานพงศาวดารเหนือว่า พ่อขุนรามคำแหง (พระร่วง) ทรงให้ขุดเอาพระสารีริกธาตุใต้ฐานเจดีย์ร้างบนยอดเขารังแร้ง นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยเบื้องตะวันตก แล้วอัญเชิญลงมาตั้งไว้กลางเมืองศรีสัชฯ ให้ประชาชนกราบไหว้บูชา และสรงน้ำทุกวันเป็นเวลา ๑ เดือน ๖ วัน (กระทำบูชาบำเรอ) ทรงขุดแต่งทำอุโมงค์ เสร็จแล้ว อัญเชิญพระสารีริกธาตุลงประดิษฐานในอุโมงค์ ทรงก่อพระสถูปมหาเจดีย์ครอบ โดยใช้เวลาก่อพระสถูปเจดีย์นานถึง ๖ ปี (หกเข้า) จึงแล้ว และทรงทำกำแพงล้อมรอบ (ตั้งเวียงผา) องค์พระสถูปเจดีย์ นานถึง ๓ ปี (สามเข้า) จึงแล้ว
      ...พระมหาสถูปเจดีย์ที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันคือ พระเจดีย์ทรงลังกาวัดช้างล้อมเชิงเขาพนมเพลิง สุวรรณคีรี กลางเมืองศรีสัชนาลัย เหตุที่เรียกกันว่าวัดช้างล้อม เพราะมีช้างปั้นติดล้อมรอบองค์พระเจดีย์ ตามแบบลังกา นัั่นเอง.

เต็ม อภินันท์
สถาบันหวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, ตุลาคม, 2561, 10:33:52 PM
(http://upic.me/i/tj/yeffk.jpg) (http://upic.me/show/62228908)

- กล่าวถึงลายสือไท -

"เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี
หนึ่งสองศูนย์ห้าศกปี"ที่สร้างซ่อม
"พ่อขุนรามคำแหง"แต่งรูปพร้อม
แปลงแบบขอมเป็นสื่อ"ลายสือไท"

ทรงใคร่ครวญเก่าใหม่แบบลายสือ
แล้วลุรื้อเรียงลักษณ์อักษรใหม่
บรรทัดเดียวเกลียวกลมงามสมใจ
แล้วจึง"ใศ่ลายสืไท"ให้ใช้กัน


          อภิปราย ขยายคำ....... คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๘ ถึง ๑๑ ด้านที่ ๔ ว่า......"เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อฃุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใศ่ลายสืไทนี้ ลายสืไทนี้จี่งมี เพื่อฃุนผู้นั้นใศ่ไว้...."

          ....แปลคำสุโขไทเป็นไทยปัจจุบัน ได้ว่า เมื่อก่อนนั้นรูปลักษณ์อักษรไทยแบบนี้ไม่มี เดิมทีไทยใช้รูปลักษณ์อักษรแบบขอม(หนังสือหรือลายสือขอมไทย) เขียนวางสระ พยัญชนะไว้คนละบรรทัด
          ....พ่อขุนรามคำแหง ทรงเห็นว่าเป็นรูปแบบที่รกรุงรัง จึงทรงคิดประดิษฐ์รูปแบบใหม่(หาใคร่ใจในใจ=คิดหารูปแบบ) โดยได้รูปแบบเป็นว่า ให้เขียนอักษรวางสระและพยัญชนะไว้ในบรรทัดเดียวกัน แล้วจึงให้ใช้รูปแบบที่ทรงคิดใหม่นี้ ลายสือไทจึงมี เพราะพ่อขุนรามคำแหง(เพื่อฃุนผู้นั้น)แต่งให้ไว้
          ....๑๒๐๕ ศกปีมะแม เป็นปีมหาศักราช ตรงกับ พุทธศักราช ๑๘๒๖ คือปีที่พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์รูปแบบอักษรไทยใช้ใหม่ จากนั้นอีก ๒ ปี จึงสร้างพระมหาธาตุเจดีย์(วัดช้างล้อม)กลางเมืองศรีสัชนาลัย และทำจารึกลายสือไทนี้ไว้ ณ พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง อีกหลักหนึ่งด้วย

          คำว่า "ลายสือไทนี้" นักวิชาการรุ่นก่อน ๆ ตีความว่า หมายถึงอักษร สระพยัญชนะทั้งหมด พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ต่อมามีนักวิชาการรุ่นใหม่(บางพวก) ตีความว่า "ลายสือไทนี้" คือแบบที่พ่อขุนรามคำแหงเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ โดยวางสระพยัญชนะไวัในบรรทัดเดียวกัน เป็นแบบใหม่ต่างจากแบบเติม ทั้งนี้มีหลักฐานทางจารึกว่า มีลายสือไทเดิมที่ใช้มาก่อนรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงแล้ว โดยเป็นการดัดแปลงลายสือขอมไทมาเป็นลายสือไท แต่วางรูปแบบลายสือขอมไท คือ วางสระกับพยัญชนะไว้คนละบรรทัด อย่างที่ไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ พ่อขุนรามคำแหงทรงเห็นว่าการวางสระพยัญชนะไว้คนละบรรทัด ทำให้รุงรังไม่น่าดู จึงทรงคิดวางสระพยัญนะไว้ในบรรทัดเดียวกัน หลังจากสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงแล้ว คนไทยกลับไปใช้รูปแบบเดิม ไม่ใช้แบบพ่อขุนรามคำแหงอีกเลย ลายสือไทแบบที่พ่อขุนรามคำแหงคิดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ จึงมีใช้อยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับหลักอื่นอีกไม่เกิน ๒ หลักเท่านั้นเอง


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40052#msg40052)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40502#msg40502)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภ้ณธ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ ก้นยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, ตุลาคม, 2561, 10:26:53 PM
(https://image.ibb.co/gCJzRV/662028.jpg) (https://imgbb.com/)



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40318#msg40318)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40696#msg40696)                   .


- หาคนจักเสมอมิได้ -

"พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น"ประเสริฐ
ทรงเป็นเลิศในทางการสร้างสรรค์
"หาเป็นท้าวเป็นพรญาแก่ไท"ครัน
สถิตย์มั่นทศพิธราชธรรม

"หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไท-
ทั้งหลายให้" เห็นบาปชั่วหยาบย่ำ
"รู้บุญรู้ธรรม"ดีร้ายฝ่ายขาวดำ
ด้วยทรงนำทำให้เห็นเป็นแนวทาง

"ด้วยรู้ด้วยหลวกด้วยแกล้วด้วยหาน-
ด้วยแคะด้วยแรง"ท่านมุ่งสรรค์สร้าง
"หาคนจักเสมอมิได้"ในโลก...ว้าง
ณ ท่ามกลางชาติเชื้อเลือดเนื้อไทย.....


          อภิปราย ขยายความ.....คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๑๑ ถึงบรรทัดที่ ๑๖ ด้านที่ ๔ ว่า ...." พ่อฃุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพรญาแก่ไททั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไททั้งหลายให้รู้บุญรูธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไท ด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาน ด้วยแคะ ด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้......"

            ...แปลคำสุโขไท เป็นไทยปัจจุบันได้ว่า พ่อขุนรามคำแหงนั้น

     ..."หาเป็นครูอาจารย์ = หากเป็นครูเป็นอาจารย์
     ...หาเป็นท้าวเป็นพรญา = หากเป็นท้าวเป็นพระยา (คือเป็นอย่างแน่นอน)
         สั่งสอนให้คนในเมืองไทยภายใต้การปกครองของพระองค์ให้รู้บาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช้ประโยชน์ อย่างแท้ พระองค์ทรงสั่งสอนคน
     ..."ด้วยรู้ = ความรู้แท้รู้จริงของพระองค์
     ..."ด้วยหลวก" = ความรอบรู้เฉลียวฉลาด(รู้หลัก)ของพระองค์
     ..ด้วยแคะ = ความว่องไว ปราดเปรียว ไม่เชื่องช้า ทันสมัย ทันเหตุการณ์
     ...ด้วยแรง = ด้วยความขยันหมั่นเพียร "จ้ำจี้จ้ำไช" ไม่ท้อถอย....
          ......จนหาคนจักเสมอมิได้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ ณพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, ตุลาคม, 2561, 10:22:08 PM
(https://image.ibb.co/nQod6V/186141-48-3725.jpg) (https://imgbb.com/)

- มีเมืองกว้างช้างหลาย -

"อาจปราบฝูงข้าเสีกมีเมืองกว้าง-
ช้างหลาย"ช้างชาวบ้านใช้งานได้
"ปราบเบื้องตะวันออก"งอกเขตไกล
เข้าอยู่ในปกครองของ"ขุนรามฯ"

"รอดสรลวงสองแฅวลุมบาจาย"
แล้วรอดรายรวม"สคา"ก่อนพ้นข้าม
"เท้าฝั่งของเถีงเวียงจันทน์"ครองเขตคาม
"เวียงคำ"งามคู่เคียงเมืองเวียงจันทน์


          อภิปราย ขยายความ.......คำเต็มของความในจารึกบรรทัดที่ ๑๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๙ ด้านที่ ๔ ว่า " อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสรลวงสองแฅว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถีงเวียงจัน เวียงฅำ เป็นที่แล้ว....."

          ..แปลคำไทยสุโขไท เป็นคำไทยปัจจุบันได้ว่า พ่อขุนราม คำแหงสามารถ(อาจ) ปราบข้าศึกจนขยายอาณาเขตเมืองออกไปได้กว้างไกล(เมืองกว้าง) มีช้างมากมายไว้ใช้งานและการสงคราม ปราบทางด้านทิศตะวันออกกรุงสุโขไทพ้น(รอด) สรลวงสองแฅว ลุมบาจาย สคา พ้นฝั่งแม่น้ำโขงถึงเวียงจันทน์ เวียงคำ หมดทั้งสิ้น

     .."สรลวงสองแฅว " ท่านอ่านว่า "สระหลวง สองแฅว" เป็นชื่อเมืองแฝดของพิษณุโลกในปัจจุบัน ไม่แน่ในว่า "สรลวง" อ่านว่า"สระหลวง"ถูกแล้วหรือไม่ เพาะมีปราชญ์บางท่าน อ่านว่า "สรวง" อันหมายถึงสวรรค์ มิใช่หมายถึง"สระใหญ่" มีบางท่าน อ่านว่า "สอนลวง" หมายถึงทางที่เลื้อยไปของงูใหญ่ หรือนาคราช (ลวง=นาค,งูใหญ่) แต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่า "สรลวง" คือเมืองพิจิตรในปัจจุบัน แต่มีหลักฐานใหม่ว่า เมืองพิจิตรสมัยกรุงสุโขไทนั้น ชื่อว่า "เมือปากยม" "ท่านจันทร์" สันนิษฐานว่า สรลวงน่าจะเป็นเมืองพิชัยในเขตอุตรดิตถ์ แต่ว่า ความในจารึกหลักที่ ๒ สมเด็จพระศรีศรัทธาฯบอกว่าพระองค์ "เกิดในนครสรลวงสองแฅว" ศ.ประเสริฐ ณ นคร จึงชี้ชัดลงไปว่า สรลวงเป็นเมืองแฝดของสองแฅว โดยอยู่คนละฝั่งแม่น้ำน่าน เป็นการตีความตามคำบอกเล่าของสมเด็จพระศรีศรัทธาฯ ซึ่งน่าเชื่อถือได้มากที่สุด

     .."สองแฅว" ชื่อภาษาบาลีว่า "ทวิสาขา" แปลว่า สองแคว ตั้งอยู่ทางฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน(ตรงข้ามกับสรลวง) มีแม่น้ำ ๒ สายไหลผ่าน คือน้ำน่าน(น้ำโพ) และ แควน้อย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างเมืองใหม่โดยรวมเอาเมืองสองแฅวเข้ากับเมืองชัยนาทบุรี(สรลวง) เข้าเป็นเมืองเดียวกัน แล้วขนานนามใหม่ว่า "พิษณุโลก" และใช้นามนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

     ...ลุมบาจาย สคา เป็นเมืองที่อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก สันนิษฐานว่าคือ เมืองเลย เมืองหล่ม คือ ด่านซ้าย หล่มเก่า ในปัจจุบัน

     ... เวียงจัน คือ นครเวียงจันทน์ เวียงฅำ คือเมืองร้างใต้นครเวียงจันทน์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบัน

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, ตุลาคม, 2561, 10:24:56 PM
(https://image.ibb.co/cVuwBV/2015-07-09-pha-that-luang-1013.jpg) (https://imgbb.com/)

- จันทบุรี = เวียงจันทน์ -

ในราวพุทธศักราชหกร้อยเศษ
ชาติ,ประเทศใดใดไม่ถือมั่น
ประชาชนทุกเหล่าทุกเผ่าพันธุ์
เคล้าคละกันไม่เป็น"ลาว,เขมร,ไทย"

ชุมชนหนึ่งริมน้ำโขงตรงที่ลุ่ม
ตั้งเป็นกลุ่มแล้วกลายขยายใหญ่
เป็นเมืองงามนามกรขจรไกล
เรียกกันในกาลนั้น"จันทบุรี"

"จันทบุรีอ้วยล้วย"ช่วยนำสร้าง
เป็นแบบอย่างพุทธธรรมนำวิถี
ก่อมหาธาตุใหญ่ในปฐพี
ทุกวันนี้ยังอยู่คู่เวียงจันทน์

จันทบุรีแปรนามตามสมัย
คนลาว,ไทย,เขมรมวลล้วนถือมั่น
สามประเทศสามกษัตริย์ปัจจุบัน
ยังเกี่ยวพันไม่ขาด"ญาติกา"

เมื่อไทยตั้งหลักมั่นเป็น"ปั้นใหญ่"
สุโขไท"รามคำแหง"ทรงแกร่งกล้า
เมืองเวียงจันทน์เก่าจึงเข้าพึ่งพา
ร่วมอาณาจักรโตสุโขไท......


          อภิปราย ขยายความ..............เวียงจันทน์ ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำโขงฟากฝั่งตะวันออก มีหลักฐานยืนยันว่ามีอายุร่วมยุคสมัย โคตรบูร คือนครพนม ในราว พุทธศักราช ๖๐๐ ปี ผู้นำกลุ่มชน (เจ้าแผ่นดิน) นามว่า "จันทบุรีอ้วยล้วย" ท่านได้พระสารีริกธาตุส่วน"หัวเหน่า" จากพระเจ้าอโศกมหาราช จึงก่อพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ ให้ชื่อพระสถูปนั้นว่า มหาธาตุหลวง เมืองนี้ชื่อว่า "จันทบุรี" ตามนามผู้นำ ต่อมาได้แปรชื่อเป็น เวียงจัน ในยุคกรุงสุโขไท และขอเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับราชอาณาจักร หรือ แคว้นสุโขไท

          ...เวียงคำ เป็นเมืองคู่ของ เวียงจันทน์ เดิมเชื่อกันว่า ได้แก่เมือง "ซายฟอง" ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่อยู่ตอนใต้เมืองเวียงจันทน์ ต่อมา คุณสุเนตร โพธิสาร แห่งสถาบันประวัติศาสตร์คณะกรรมการวิทยาศาตร์สังคมลาว ให้ข้อมูลใหม่ว่า ....

          .."เมืองซายฟองเป็นเมืองร้าง สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ปัจจุบันอยู่ที่บ้านสีถานใต้ ทางทิศใต้ของเวียงจันทน์ อยู่ริมน้ำโขงห่างจากนครเวียงจันทน์ระยะทางประมาณ ๒๐ กม.

          ..."เมืองเวียงคำ เป็นเมืองร้างตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเวียงจันทน์ ห่างจากเวียงจันทน์ประมาณ ๕๐ กม. อยู่แถบน้ำงึม ตรงข้ามเมืองธุรคม (บ้านเถิน) เป็นเมืองคู่กับเมืองเวียงแก้ว เวียงแก้วตั้งอยู่ฝั่งซ้ายน้ำงึม เวียงคำตั้งอยู่ฝั่งขวาน้ำงึม"

          เป็นอันว่าเบื้องทิศตะวันออกของกรุงสุโขไท มีเมืองที่ขึ้นอยู่กับการปกครองของพ่อขุนรามคำหง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ ๆ ก็มี นครสรลวงสองแฅวแห่งลุ่มน้ำน่าน เมืองลุมบาจาย สคา แห่งลุ่มน้ำป่าสัก และ เวียงจัน เวียงฅำ แห่งลุ่มน้ำโขง เวียงจัน ก็คือเวียงจันทน์ที่ตั้งมหาธาตุหลวงในปัจจุบัน ส่วน เวียงฅำ นั้นยังมีปัญหาว่า คือเมืองซายฟอง หรือคือ เมืองเวียงฅำคู่กันกับ เมืองเวียงแก้ว แห่งลุ่มน้ำงึมกันแน่ ต้องค้นคว้ากันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, ตุลาคม, 2561, 10:14:54 PM
(https://image.ibb.co/h4PrVq/tmp3-231732-20140901-436472849.jpg) (https://imgbb.com/)
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

- เมืองเบื้องหัวนอน -

เบื้องหัวนอนรอดคนทีพระบางแพรก
สุพรรณภูมิ"แรกรุ่งเรืองใหญ่
"ราชบูรีเพชรบูรี"รี่เรื่อยไป
"ศรีธรรมราช"ใต้สุดทะเล

แต่ละเมืองเรื่องมากหากกล่าวขาน
มีตำนานประวัติศาสตร์อยู่ปัดเป๋
ปากต่อปากลากเอาเข้าปนเป
เป็นเสน่ห์ตำนานมานานนม

จะค่อยค่อยถอยหลังไปฟังเรื่อง
แต่ละเมืองตามนุสนธิ์เหตุผลสม
เริ่ม"คนที"ที่กำแพงแหล่งแรกชม
"บ้านโคน"จมดินปริ่มอยู่ริมปิง


          ...อภิปราย ขยายความจาก คำเต็มในจารึกบรรทัดที่ ๑๙ ถึง ๒๒ ด้านที่ ๔ ว่า

     ..." เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบูรี เพชรบูรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว..."

     ..แปลคำไทยสุโขไท เป็นคำไทยปัจจุบันได้ว่า ทางทิศใต้ (เบื้องหัวนอน) อาณาเขตของสุโขทัย พ้น (รอด) คนที เมืองเล็ก ๆ ริมน้ำปิง (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองกำแพงเพชร) พ้นพระบาง (คือนครสวรรค์ในปัจจุบัน) พ้น แพรก (คือ อ.สรรคบุรี ในจ.ชัยนาท ปัจจุบัน) พ้น สุพรรณภูมิ (คือสุพรรณบุรีในปัจจุบัน) พ้น ราชบุรี เพชรบุรี ผ่าน ปราณบุรี ชุมพร ไชยา พ้น นครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลมหาสมุทรเป็นแดน

     ..แต่ละเมืองที่กล่าวถึง มีรายละเอียดที่ควรกล่าวถึงกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, ตุลาคม, 2561, 10:24:28 PM
(https://image.ibb.co/kqJ0sf/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดคีรีวงศ์ นครสวรรค์

- พระบาง = นครสวรรค์ -

" แม่น้ำโพ"ต้นสุด"อุตรดิตถ์"
ไหลลงติด"สายน่าน"ไม่นอนนิ่ง
สมทบ"สายน้ำยม"สามแม่อิง
ใช้นามจริง"แม่น้ำน่าน"เนิ่นนานมา

น้ำสามสายไหลร่วมรวมเป็นหนึ่ง
ล่องลงถึงเมือง"พระบาง"อย่างหรรษา
ปรากฏนาม"ปากน้ำโพ"ต้น"เจ้าพระยา"
เป็นมหานทีที่สำคัญ

"แม่น้ำปิง"ต้นหลากจาก"เชียงใหม่"
ผ่าน"ลำพูน"เรื่อยไหลลงลดหลั่น
"แม่น้ำวัง"จาก"ลำปาง"หลั่งรวมกัน
เป็น"แม่ปิง"เท่่านั้นขนานนาม

ไหลผ่าน"ตาก,กำแพงเพชร"พลิ้วพลิกพริ้ว
ล่องละลิ่วลง"พระบาง" อย่าง"วางก้าม"
สบน้ำโพสองกระแสร่วมแควงาม
หล่อเลี้ยงสยามตามลุ่มน้ำชุ่มเย็น

ปากน้ำโพปากปิงพิงกันแน่น
เกิดเมืองแมนมีค่ามาให้เห็น
ชื่อ"พระบาง"ร้างความทุกข์ลำเค็ญ
ต่อมาเป็น"นครสวรรค์"อันอำไพ


          อภิปราย....จากความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ระบุว่าเมืองบริวารเบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย คือทางทิศใต้ เริ่มแต่เมืองคนที ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นเป็น นครชุม พชรบุรี และกำแพงเพชรในที่สุด จากเมืองคนทีตามลำน้ำแม่ปิง มาถึงเมืองพระบาง ซึ่งต่อมาเมืองนี้ได้นามใหม่ว่า นครสวรรค์มาจนถึงปัจจุบัน

          ที่เมืองนครสวรรค์ หรือพระบางนี้มีแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันจนกลายเป็นต้นแม่นำสายใหญ่ชื่อว่า "เจ้าพระยา" แม่น้ำสายขวาคือ แม่น้ำปิง มีต้นน้ำจาก นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ไหลล่องมาเข้าพื้นที่จังหวัดตากแล้วมีแม่น้ำวัง ต้นน้ำจากนครลำปางไหลล่องลงมาบรรจบกับแม่น้ำปิง แม่น้ำวังถูกแม่น้ำปิงกลืนหายไปในเขตจังหวัดตาก แล้วไหลล่องผ่านกำแพงเพชรลงถึงนครสวรรค์

          อีกสายหนึ่งอยู่ฝั่งซ้าย (ตะวันออก) เดิมชื่อแม่น้ำโพ ด้วยต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เมืองทุ้งยั้ง ลับแล ลำน้ำไหลผ่านตลาดค้าบางโพซึ่งเป็นย่านการค้าทางน้ำที่ใหญ่มาก เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่าง เหนือ-ใต้ นัยว่าทางเหนือนั้นแต่แพร่ น่าน ไปหลวงพระบาง สิบสองปันนา แม่น้ำโพไหลล่องผ่านเมืองพิชัย พิษณุโลก พิจิตร ลงมาถึงเขตเมืองพระบางก็ได้บรรจบกับแม่น้ำยมซึ่งมีต้นน้ำอยู่เหนือเมืองแพร่ ไหลล่องลงมาผ่านศรีสัชนาลัย สุโขทัย บางระกำ ผ่านหลายอำเภอในเขตพิจิตร จนบรรจบกันกับแม่น้ำโพใต้เมืองพิจิตร แล้วแม่น้ำยมก็ถูกแม่น้ำโพกลืนหายไหลลงไป บรรจบกับลำน้ำแม่ปิง รวมกันเป็นต้นแม่น้ำเจ้า พระยา ดูเหมือนว่าคนสมัยนั้นจะให้ความสำคัญกับแม่น้ำโพมาก จึงเรียกตรงที่แม่น้ำโพกับแม่น้ำปิงบรรจบกันนั้นว่า "ปากน้ำโพ" และเมืองพระบางยามนั้นก็เรียกว่าเมืองปากน้ำโพไปด้วย ต่อมาแม่น้ำโพเปลี่ยนชื่อเป็นแม่น้ำน่าน เพราะมีแม่น้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งไหลล่องลงมาจากเมืองน่าน บรรจบกับแม่น้ำโพในเขตเมืองอุตรดิตถ์ แล้วกลายเป็นแม่น้ำสายเดียวกันในที่สุด...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพืธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, ตุลาคม, 2561, 10:20:42 PM
(https://image.ibb.co/hFYAdL/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดเจดีย์เจ็ดแถว

- แพรก = สรรคบุรี -

"แพรก"เมืองลุ่มชุ่มน้ำมีความเก่า
อายุเท่า"ทวาราวดี"สมัย
ไม่โด่งดังฟุ้งเฟื่องเท่าเมืองใด
ตั้งอยู่ในความสงบเสงี่ยมงาม

เมือง"เจ้ายี่พระยา"ประวัติย่อ
ไม่ดังพอขยายเรื่องกระเดื่องสยาม
แต่"ขุนสรรค์พันเรือง"กระเดื่องนาม
ว่ามีความเก่งกล้าพม่ากลัว

ยังเหลือซากฝากประวัติไว้ชัดแจ้ง
ปรากฏแหล่งโบราณสถานทั่ว
เช่นเจดีย์ยอดระหงทรงดอกบัว
บ่งบอกตัวตนของสุโขไท.....


          ..อภิปราย ขยายความ......

          "แพรก"  ชื่อเมืองในศิลาจารึกหลักที่ ๑  นี้เป็นเมืองในลุ่มเจ้าพระยา  ใต้เมืองพระบาง  หรือนครสวรรค์ลงมา  มีชื่อเรียกเต็มๆสมัยต่อมาว่า  "แพรกศรีราชา"  เป็นเมืองเก่าอายุถึงยุคทวาราวดี  และเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในยุคสุโขไท  สิ่งที่ยังหลงเหลือเป็น  "ซากสุโขไท"  คือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑฺ์ (ยอดดอกบัวตูม)  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสุโขไทสมัยพระยาลิไท  และพระพิมพ์ปางลีลา  เรียกว่า  "พืมพ์สรรค์"

          สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  เมืองแพรกมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ว่า  พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระนครินทรราชา (เจ้านครอินทร์)  มีตำแหน่งเป็นเจ้าแห่งเมืองแพรกนามว่า  "พระเจ้ายี่พระยา"  ชรอยว่ามีพระราชมารดาเป็นชาวเมืองแพรก  ครั้นเจ้านครอินทร์สวรรคต  พระเจ้ายี่พระยา  ยกกำลังเข้ายึดครองราชบัลล้งก์กรุงศรีอยุธยา  จนเกิดรบกับพระเจ้าอ้ายพระยา  ราชโอรสองค์โตของเจ้านครอินทร์ รบถึงขั้นชนช้างจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่  พระโอรสองค์ที่ ๓  คือพระเจ้าสามพระยา  ผู้ครองเมืองชัยนาทบุรี (ต่อมารวมกับเมืองสองแฅวได้นามใหม่ว่าพิษณุโลก)  จึงลงมาครองกรุงศรีอยุธยา  เป็นพระเจ้าสามพระยา  ในกาลต่อมา

          .....สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา  พม่ายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา  ชาวบ้านบางระจันตั้งกองกำลังรบกับพม่า  ขุนพลอันลือนามของกองกำลังนี้คือ  "ขุนสรรค์ ,พันเรือง"  ท่านผู้นี้เป็นชาวเมืองแพรกศรีราชานี้เอง

          ....ปัจจุบันเมืองแพรก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยนาท คือ อำเภอสรรคบุรี

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, พฤศจิกายน, 2561, 10:24:41 PM
(https://image.ibb.co/jxTTiL/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ

- สุพรรณภูมิ -

"สุพรรณภูมิ"เมืองเก่าเหง้าสยาม
ปรากฏนาม"สุวรรณภูมิ"อันยิ่งใหญ่
คือ"อู่ทอง"เมืองทองผ่องอำไพ
อายุได้ยาวนานหลายพันปี

มาถึงยุคสุโขไทย้ายที่ตั้ง
มาริมฝั่งแม่น้ำลำใหญ่นี่
ผู้ครองเมืองรู้จักยศศักดิ์ดี
บารมีเลิศล้ำสร้างตำนาน

คือ"ขุนหลวงพ่องั่ว"เป็นรากเหง้า
กำเนิดเจ้าครองสยามนามเล่าขาน
"นครอินทร์"อัจฉริยะตระการ
มีลูกหลานสืบวงศ์ทรงเดชา

"สุพรรณภูมิ+สุโขทัย"เดชไพศาล
ประวัติศาสตร์ตำพนานมีปัญหา
ความขัดแย้งแต่งเรื่องเนื่องกันมา
ต้องค้นคว้า"ตัดต่อ"กันต่อไป.....


อภิปราย  ขยายความ.......

          สุพรรณภูมิ  คือสุพรรณบุรีในปัจจุบัน  ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำสุพรรณ-ท่าจีน  เป็นเมืองที่พัฒนาการขึ้นมาจาก  "สุวรรณภูมิ"  มีเมืองหลวง (และเมืองท่า)  ชื่อ "อู่ทอง"  ซึ่งตั้งอยู่  ริมน้ำจระเข้สามพัน (สามพันธุ์ ก็ว่า)  ปัจจุบันเป็นอำเภออู่ทอง  อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดสุพรรณบุรี  ตามตำนาน ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระโสณะ-อุตตระ  พาคณะสมณะทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ สุวรรณภูมิประเทศ  เมื่อประมาณปีพุทธศักราช  ๒๕๐-๓๐๐  คณะสมณะทูตมาตั้งหลักเผยแผ่พุทธศาสนา ณ แห่งนี้  เป็นครั้งแรกของภูมิภาคนี้

          ยุคกรุงสุโขไท  สมัยพ่อขุนรามคำแหง  สุพรรณภูมิเป็นประเทศราชของสุโขไท  มาถึงรัชสมัยพรญาลิไท  ขุนหลวงพ่องั่ว  เจ้าเมืองสุพรรณภูมิร่วมกับท้าวอู่ทอง (แห่งละโว้)  ผู้เป็น "น้องเขย"  ยกกำลังจากกรุงศรีอยุธยาลอบล้ำเข้ายึดครองนครสรลวงสองแฅว  เมืองเอกของสุโขไทได้  พระเจ้าอู่ทองมอบให้ขุนหลวงพ่องั่วปกครองเมืองนี้  และขุนหลวงผู้นี้ได้อภิเศกพระมหาเทวีขนิษฐาของพระญาลิไท เป็นชายา  แล้วต่อรองเชิงบังคับให้พระญาลิไท  ไปครองนครสรลวงสองแฅว (พิษณุโลก)  โดยมอบให้พระขนิษฐามหาเทวีครองสุโขไทแทน  ขุนหลวงพ่องั่วกลับไปอยู่สุพรรณภูมิตามเดิม

          ต่อสมสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทองสวรรคต)  พระญาลิไทเสด็จจากสรลวงสองแฅวคืนสู่สุโขไท  พระขนิษฐาคืนบัลลังก์ให้ครองตามเดิม  ขุนหลวงพ่องั่วยกกำลังจากสุพรรณภูมิเข้ายึดครองกรุงศรี อยุธยา  ให้พระราเมศวร (ผู้หลาน) ไปครองละโว้ (ลพบุรี)  เมืองหลวงเดิมของทวาราวดี

          ราว ๆ ปี พ.ศ. ๑๙๑๓  สมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชา (ลิไท) สวรรคต  แคว้นสุโขไทเกิดความวุ่นวาย  สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ (พ่องั่ว)  เสด็จจากรุงศรีอยุธยาขึ้นไปจัดการ ให้สมเด็จมหาเทวีพระราชวรชายาของพระองค์ครองสุโขไทอีกครั้งหนึ่ง  ตั้งให้พระเทพาหูราช  อันประสูติแต่พระมหาเทวีเป็นรัชทายาท  สุโขไทสงบเรียบร้อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๑๙๒๗  พระมหาเทวีสิ้นพระชนม์  พระเทพาหูราชครองสุโขไทสืบต่อมา

          ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๓๑  สมเด็จพระบรมราชา (พ่องั่ว)  สิ้นพระชนม์  พระราเมศวรยกกำลังจากละโว้ลงมายึดกรุงศรีอยุธยาแล้วปลงพระชนม์เจ้าทองลันเสีย  สมเด็จพระเทพาหูราชเป็นห่วงสุพรรณภูมิ  เกรงว่าจะถูกพระราเมศวรยึดครอง  จึงมอบกรุงสุโขไทให้พระญาลือไท โอรสพระญาลิไท ที่ครองศรีสัชนาลัยอยู่นั้น  ลงมาครองสุโขไทแทน แ ล้วพระองค์เสด็จลงมาครองสุพรรณภูมิ  ขณะลงมาครองสุพรรณภูมินี้  คนส่วนมากจะเรียกนามพระองค์ว่า  "เจ้านครอินทร์"  ทรงส่งทูตไปสู่ราชสำนักจีน ปรากฏในจดหมายเหตุจีนเรียกพระองค์ว่า "พระร่วง"  และเรียกสุพรรณภูมิว่า "เสียมก๊ก"  ทรงนำช่างจีนมาสอนคนไทยปั้นเครื่องปั้นดินเผาด้วย

          ......เรื่องราวของกษัตริย์อัจฉริยะพระองค์นี้  จะกล่าวถึงในตอนต่อ ๆ ไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, พฤศจิกายน, 2561, 10:14:13 PM
(https://image.ibb.co/cbozcf/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- คูบัว > ราชบุรี -

ราชบุรีเมืองใหญ่สมัยก่อน
เป็นนครอิสระร่วมสมัย
"ทวาราวดี"เก่าแสนยาวไกล
รวมเข้าอยู่"สุโขไท"สมัยกลาง

"เมืองคูบัว"ซากเห็นเป็นหลักฐาน
ของโบราณนานเนาคนเก่าสร้าง
ตัวละครราชสำนักล้วนเป็นนาง
ทำท่าทางรำเต้นเล่นดนตรี

ประวัติศาสตร์จมดินเกือบสิ้นเรื่อง
เหลือซากเมืองประจักษ์เป็นสักขี
หากขุดค้นหากันในวันนี้
ย้อนกลับที่"สุวรรณภูมิ"ปูมโบราณ....


          อภิปราย ขยายความ......

          ราชบุรี  เมืองในขอบขัณฑสีมาของพ่อขุนพระรามคำแหง  เชื่อได้ว่าเป็นเมืองเก่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่ยุคสมัยสุวรรณภูมิ  ต่อมาถึงยุคทวาราวดี  โดยมีซากเมืองคูบัวในเขตเมืองราชบุรีปัจจุบันพร้อมโบราณวัตถุเป็นเครื่องยืนยัน

          ในการขุดแต่ง "คูบัว"  เมืองเก่าในราชบุรีของกรมศิลปากร พบโบราณสถาน โบราณวัตถุ  จมอยู่ในดินเป็นจำนวนมาก  ตุ๊กตาเครื่องปั้นดินเผารูปสตรีบรรเลงดนตรีและฟ้อนรำ ดั่งในภาพประกอบนี้  แสดงถึงความเจริญรุ่งเรื่องของราชสำนักเมืองนี้ได้อย่างชัดเจน

          ประวัติศาสตร์ใต้ดินเมืองคูบัวนี้ยังมิได้มีการค้นคว้าหาความจริงกันอย่างจริงจัง  เบาะแสที่มีอยู่ในแผ่นกระเบื้องจาร  และพระพุทธรูปปางเทศนาในถ้ำเขางู  ที่ถือได้ว่าเป็นตำนานสุวรรณภูมิ  ก็ถูกนักวิชาการทางประวัติศาสตร์มองเมิน  ไม่ยอมรับฟัง  จึงขอฝากไว้ให้นักประวัติศาสตร์รุ่น ลูก หลาน เหลน  ลองหยิบขึ้นมาพิจารณาดูบ้างนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, พฤศจิกายน, 2561, 10:13:37 PM
(https://image.ibb.co/e6czdL/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีเขาวัง เพชรบุรี

- เพชรบุรี < พริบพรี -

ถิ่นประเทศ"เพชรบุรี"มีเอกลักษณ์
ที่ประจักษ์คือสำเนียงเสียงคำขาน
ไม่เหมือนราชบุรี,สุพรรณ,กาญจน์
"เมืองน้ำตาล"หวานมากทั้งปากใจ

เป็นเมืองเก่ายุค"ละว้า"มานานแล้ว
ปานดวงแก้วก่องเก็จงามเม็ดใหญ่
แสงประกายส่องสว่างกระจ่างไกล
ตั้งนามให้""พริบพรี"ที่สมนาม

มีเขาวังตั้งตระหง่านในม่านมฆ
รุจิเรขแลเห็นเด่นสยาม
ประวัติมากหากเล่ายืดยาวความ
จึงขอข้ามความเห็นที่เป็นกลอน...


          อภิปาย ขยายความ..

          ..เพชรบุรี  เป็นอีกหนึ่งประเทศราชของแคว้นสุโขไท  สมัยพ่อขุนรามคำแหง  และยังมีนามอีกชื่อหนึ่งว่า "พริบพรี"  มีเรื่องเล่าไว้น่าเชื่อว่า  เจ้าเมืองเพชรบุรีลงไปสถาปนาเมืองช้างค่อมขึ้นเป็นเมืองนครศรี ธรรมราชสืบสายตระกูล "ไศเลนทร์" ต่อไป  หากศึกษาสืบค้นไปลึก ๆ  แล้วอาจจะพบว่า  เพชรบุรีคือเมืองหลวงของชนชาติไทยสืบทอดมาจาก  เมืองอู่ทอง  หรืออาจจะก่อนเมืองอู่ทองก็ได้

          ..มีตำนานเล่าไว้ในแผ่นกระเบื้องจารว่า  เพชรบุรีเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงหลวงของสุวรรณภูมิประเทศ  ในยุคพุทธกาล (ก่อนพุทธศักราช)  ผู้ครองเมืองนี้เป็นพระสหายกับพระเจ้าพิมพิสาร  แห่งแคว้นมคธ  ทรงให้ "ขอม" คือนักปราชญ์ราชบัณฑิต  ไปถอดถ่าย (คัดลอก)  ลายสือพราหมีจากมคธ มาแปลงเป็นลายสือไทยสุวรรณภูมิ  ลายสือนั้นในกาลต่อมาจึงเรียกกันว่า  ลายสือขอม (อักษรขอม)  ตำนานดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการไทย

          มีคำให้การของชาวกรุงเก่าว่า  เพชรบุรีเป็นที่กำเนิดของพระเจ้าอู่ทอง  แล้วย้ายไปสร้างเมืองใหม่ในลุ่มเจ้าพระยา  สถาปนาเป็นกรุงศรีอยุธยาในกาลต่อมานั่นเอง

          ยุคที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ในความสับสนวุ่นวายเพราะเสียกรุงให้แก่พม่าในครั้งแรก  พระยาละแวก  เขมรถือโอกาส  ยกกองเรือมายึดเมืองเพชรบุรีไว้ในครอบครองได้เป็นระยะสั้น ๆ  แล้วถูกสมเด็จพระนเรศวรไล่ตีเตลิดไป  แล้วตามตีไปถึงกัมพูชา  ยึดครองประเทศเขมรไว้ได้ทั้งหมด  และยังมีเรื่องกบฎชิงราชบัลลังก์ในกรุงศรีอยุธยา  ตัวการสำคัญหนีมาซ่องสุมผู้คนแล้วยกเข้าตีกรุงฯ บ้าง ถูกขังทรมานในถ้ำเพื่อให้ตายบ้าง  มีรายละเอียดอยู่ในตำนานอิงประวัติศาสตร์แล้ว

          ยุคกรุงรัตนโกสินทร์  เพชรบุรีมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับราชสำนักหลายประการ  จนปรากฏพระนครคีรีขึ้นบนเขาวัง  ดังเป็นที่ทราบกัน.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, พฤศจิกายน, 2561, 10:26:58 PM
(https://image.ibb.co/fznV50/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

- ตามพรลึงค์ > นครศรีธรรมราช -

"นครศรีธรรมราช"ประวัติมาก
โดยเริ่มจาก"ช้างค่อม"หย่อมแรกก่อน
เป็น"ตามพรลึงค์,ศิริธรรมนคร"
อนุสรณ์สิ่งดีดีมีมากมาย

เป็นเมืองหลวง"ศรีวิชัย"แน่ไม่ผิด
ถูกปกปิดหลัฐานมานานหลาย
ด้วยฝรั่งชี้ให้ชมอย่างงมงาย
วางจุดตายว่าอยู่"สุมาตรา"

พบจารึกแน่ชัดแล้วบัดนี้
"นครศรีธรรมราช"จำรัสหล้า
ร่วมกับแหล่งรุ่งเรืองเมืองไชยา
เป็นอาณาจักรดี"ศรีวิชัย"

ตำนาน"พระแก้วมรกต"ปรากฏชัด
เกียรติประวัตินครนี้ที่ยิ่งใหญ่
กับตำนาน"พุทธสิหิงค์"มิ่งเมืองไทย
กำเนิดในเมืองนครฯกระฉ่อนนาม,,,,


         อภิปราย ขยายความ.....

          ..นครศรีธรรมราชที่เป็นประเทศราชกรุงสุโขไท  ตามที่ปรากฏในจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง  คือเมืองใหญ่  หรือเมืองหลวงของภาคใต้  เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจากเมืองไชยา  พัฒนาขึ้นมาจากหมู่บ้านช้างค่อมเป็นเมืองใหญ่ชายฝั่งทะเลไทย  จากจารึกที่พบในเมืองไชยา  และ  นครศรีธรรมราช  ยืนยันได้แน่ชัดว่า  เมืองไชยา-นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของแคว้นหรือ  อาณาจักรศรีวิชัย

          ..มีชื่อเรียกเดิม ๆ ว่า  ตามพรลิงค์  หรือ ตามพรลึงค์  ในจดหมายเหตุจีนเรียกว่า  "ตั้มมาลิง"  มีคำแปลว่า เมืองแห่งดินแดงบ้าง  ไข่ (อวัยวะเพศชาย) แดงบ้าง  ศิริธรรมนครบ้าง  นครศรีธรรมราชบ้าง  ดังได้กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วยศึกสามนครคลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40104#msg40104)  ว่า  พระเจ้าชีวกราชแห่งศิริธรรมนคร  ได้ยกทัพเรืออันเกรียงไกรขึ้นไปยึดครองละโว้ได้โดยละม่อม  แล้วแพร่ราชวงศ์กษัตริย์ไศเลนทรวงศ์  ครอบคลุมทวาราวดี  ละโว้  อโยธยา  หรือ  กัมโพช  รวมทั้งกัมพูชา  หรือ  กัมพุช  เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของนครศรีธรรมราชในอดีตได้เป็นอย่างดี

          ตำนานว่าพระแก้วมรกต  พระคู่บ้านคู่เมืองของไทยในปัจจุบัน  กำเนิดที่นครศรีธรรมราช  โดยเจ้าผู้ครองศรีธรรมราช  กับพระอรหันต์นาคเสนเป็นผู้สร้างที่เมืองไชยา  แล้วเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่นครฯ ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของแคว้น  จากนั้น  เคลื่อนย้ายไปอยู่กัมพูชาเป็นเวลานาน  ก่อนจะกลับมากัมโพชอโยฌยา  แล้วขึ้นไปกำแพงเพชร  เชียงราย  ลำปาง  เชียงใหม่  ข้ามโขงไปหลวงพระบาง  ล่องลงอยู่นครเวียงจันทน์  แล้วกลับไทย  ประดิษฐาน ณ กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

          พระพุทธสิหิงค์  จากลังกาทวีปมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช  ขุนศรีอินทราทิตย์  หรือ "โรจนราช"  ปฐมวงศ์พระร่วงแห่งสุโขไท  เสด็จเยือนนครศรีธรรมราชเพื่อผูกสัมพันธไมตรี  แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นไปไว้กรุงสุโขไท.....

          พระพุทธศาสนาลัทธิหรือนิกายอภัยคีรีวิหาร  ลังกาวงศ์  มาตั้งหลักเผยแผ่ลัทธิ ณ  เมืองนครศรีธรรมราช  พ่อขุนรามคำแหงทรงอาราธนาขึ้นไปปักหลักเผยแผ่ที่สุโขไท  เป็นคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสนาหรือพระป่ากระจายไปทั่วอาณาจักร....

          สรุปได้ว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยมาจนถึงยุคสุโขไทจึงอ่อนแอลง  แล้วผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขไทสมัยพ่อขุนรามคำแหง  นัยว่าราชธิดาแห่งผู้ครองแคว้นนครศรีธรรมราชหลายพระองค์ได้อภิเษกเป็นมเหสีพระเจ้ากรุงสุโขไท  จึงปรากฏพระนามว่า  "พระศรีธรรมราชมาตา"  เช่นมเหสีพระมหาธรรมราชา (ลิไท) เป็นต้น  เมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขไท  ต่อมาถึงอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา  กรุงธนบุรี กรุงเทพมหานคร ......

เต็ม อภินันท์  
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ กันยายน ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, พฤศจิกายน, 2561, 10:24:51 PM
(https://image.ibb.co/d91icf/2.jpg) (https://imgbb.com/)

- ศรีวิชัยอยู่ที่นี่ -

ณ แดนดินถิ่นใต้ของไทยนี้
นับพันปีก่อนกำเนิดเกิดสยาม
อาณาจักรศรีวิชัยเกริกไกรนาม
เคยเชื่อตามฝรั่งว่า"ปาเล็มบัง"

"สุมาตรา"นั้นเน้นเป็นเมืองหลวง
ให้น่าทวงคืนไทยในความหวัง
ต่อมามีหลักฐานมั่นจริงจัง
ปรากฏทั้งจารึกวัตถุพยาน

พบศูนย์กลาง"ศรีวิชัย"ใช่ที่อื่น
วัตถุยืนยันหนักแน่นหลักฐาน
เทวรูป,พุทธรูปเล่าตำนาน
ที่เวียงสระ"พานพาน"อ่าวบ้านดอน

"ศรีวิชัย"คือ"ไชยา"น่าเชื่อถือ
ควรลุรื้อประวัติศาสตร์ที่ขาดท่อน
ตัดต่อใหม่ให้ถูกทุกขั้นตอน
แล้วเริ่มสอนเด็กไทยให้รู้จริง


          อภิปราย ขยายความ......

          .. ศรีวิชัยเป็นชื่ออาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในอดีตเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว  เดิมทีนั้น  ไทยเชื่อตามที่ฝรั่งชี้ว่าศูนย์กลาง  หรือเมืองหลวงของศรีวิชัย อยู่ที่ปาเล็มบัง  ในเกาะสุมาตราของอินโดนิเซีย  เพราะพบศิลาจารึกระบุชื่อ  "ศรีวิชัย"  ที่นั่น  แล้วตีความกันว่า  ดินแดนภาคใต้ของไทยเคยเป็นเมืองบริวารของศรีวิชัยในอินโดฯ

          ...มีพยานหลักฐานที่พบใหม่เชื่่อได้ว่าศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อ ๑๐๐๑ ปีก่อนนั้น  ตั้งอยู่ในบริเวณอ่าวบ้านดอนตอนใต้ของไทยปัจจุบัน  มีเมืองหลวงชื่อว่า  พานพาน  หรือ  พันพาน  คือเวียงสระในปัจจุบัน  แล้วเจริญรุ่งเรืองขึ้น  แผ่ขยายแตกกิ่งก้านเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย  จนได้ชื่อว่า  "สิบสองนักษัตร"  จดหมายเหตุอาหรับเรียกว่า  "ซาบาก"  จดหมายเหตุจีนเรียกว่า  "ซันโฟชิ"  ซึ่งเพี้ยนไปจาก  "สัมโพธิ"  ศูนย์กลางความเจริญเคลื่อนย้ายสู่พุมเรียง ไชยา ในที่สุด

           ....กษัตริย์หรือประมุขแห่งศรีวิชัยเรียกตนเองว่า  "เจ้าแห่งขุนเขา"  รู้จักกันในนามว่า  "ไศเลนทร์"  ผู้สืบเชื้อสาย "ไศเลนทรวงศ์"  ต่อมาปกครองทั่วภูมิภาคใต้และขึ้นมาปกครองละโว้  อโยธขา  รวมทั้งกัมพูชา (กัมโพช กัมพุช)  ราชกุมารองค์หนึ่งแห่งไศเลนทร์ลงไปครองเมืองปาเล็มบัง  ทรงสร้างวัดขึ้น  แล้วทำจารึกระบุนามศรีวัย  เมื่อฝรั่งพบจารึกนี้จึงเข้าใจผิดคิดว่า  ปาเล็มบังเป็นเมืองหลวงของศรีวิชัย (เพราะยังไม่พบหลักฐานที่ไชยา)

          ประวัติศาสตร์ชาติไทยยังอยู่ในภาวะเคลื่อนย้าย  จึงไม่ควรด่วนให้ข้อยุติ  เพราะยังมีหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งจมอยู่ในดินอีกมากมาย  ต้องชำระสะสางกันเรื่อย ๆ ไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ กันยายน ๒๕๖๐๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต

(https://image.ibb.co/e0pKHf/image.jpg) (https://imgbb.com/)


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, พฤศจิกายน, 2561, 10:20:45 PM
(https://image.ibb.co/nNY58V/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

- ศรีธรรมราชญาติสุโขไท -

ไทยเจริญจากใต้ขึ้นไปเหนือ
ในความเชื่อซ่อนกลสับสนยิ่ง
"ชาตินิยม"บังตามาอ้างอิง
จนทอดทิ้งหลักฐานตำนานไกล

ประวัติศาสตร์จมดินหลายถิ่นที่
เช่นกระบี่,ตะกั่วป่าขุดหาได้
ทั้งลูกปัดและอื่นอื่นดาษดื่นไป
ฝังอยู่ใต้ดินเก่าเล่าตำนาน

จากศูนย์ใหญ่ไชยาเจริญก่อน
สู่นครฯแผ่ไปกว้างไพศาล
มีสัมพันธ์"จีน,แขก"แลกพยาน
เป็นหลักฐานไมตรีที่ยั่งยืน

เป็นญาติมิตรสุโขไทเมืองใต้หมด
ดั่งปรากฏนามนิยมให้ชมชื่น
ยศ"ธรรมราชา"จำหลักทั่วภาคพื้น
ใช้กลมกลืนร่วมกันเนิ่นนานมา...


          อภิปราย ขยายความ.......

          ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัยหลังจากไชยาพัฒนาขึ้นเป็นนครศรีธรรมราชในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ก่อนเกิดสุโขทัยหลายร้อยปี)  นามเมืองช้างค่อมเดิม  เปลี่ยนเป็น "ตามพรลิงค์" แล้วเป็นสิริธรรมนคร  และนครศรีธรรมราชในที่สุด

          ....มีความสัมพันธ์กับจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง  ในจดหมายจีนเรียก  สัมโพธิ  หรือ  ศรีโพธิ์  นามเดิมของไชยาว่า ซันโฟชิ  บ้าง  สัมฮุดชี  บ้าง  เรียก ตามพรลิงค์ว่า  ตั้มมาลิง  บ้าง  โพลิง  และ  โฮลิง  บ้าง

          ...เยรินี นักบันทึกจดหมายเหตุฝรั่งเรียกเมืองนี้ว่า  เมืองเปอริมาลา  ก่อนจะถึงอ่าวเปอริเมาลิกอส (อ่าวบ้านดอน) ในภูมิศาสตร์ปโตเลมี  พ.ศ. ๖๐-๗

          .. พงศาวดารจีนสมัยถังตอนแรกบันทึกไว้ว่า  "ประเทศโฮลิงส่งทูตไปยังราชสำนักตั้งแต่ พ.ศ.๑๔๐๓-๑๔๑๖  จนกระทั่ง พ.ศ. ๑๓๖๑  ได้เว้นว่างไปหนึ่งศตวรรษ  แล้วว่า  ในช่วงปี พ.ศ. ๑๔๐๓-๑๔๑๖ นั้น  สัมฮุดซี  กับ  โฮลิง  รวมเข้าด้วยกัน  และยังได้บันทึกถึงอาณาเขตศรีวิชัยไว้ด้วยว่า  "อาณาเขตโฮลิง  บางสมัย ทิศตะวันตกจด โปตำ-ป-เต็ง (ทัพเที่ยง-ตรัง ?)  ทิศตะวันออกจด โป-ลิ (หรือ มาลิ ชื่อย่อของมาลิยู)  ทิศเหนือจด เจนละ(เขมร)  ทิศใต้จด ประเทศเกาะชื่อ โย-โม-ซัง (ตะมะลิก-สิงคโปร์)  ในปี พ.ศ. ๑๓๕๖ ประเทศโฮลิง  ได้ส่ง เซ็ง-ชิ (หญิงนักรำ ละครรำ) ๔ คน  มาเป็นบรรณาการยังราชสำนักจีน (เรื่องนี้ เยรินิ ว่า  ตัวละครนี้ต้องส่งจากเมืองละคร  ซึ่งมีชื่อเสียงทางนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์)  มิใช่เท่านั้น ปี พ.ศ.๑๔๐๓-๑๔๑๖  ประเทศโฮลิงได้ส่งทูตมา  และมีนักดนตรีหญิงหนึ่งคณะเป็นบรรณาการด้วย

          ....ดร.ศรีศักดิ์ วัลลโภดม  สรุปผลการค้นความเรื่องความเกี่ยวพันกันระหว่าง  สุโขทัย-นครศรีธรรมราชว่า......

          “แคว้นสุโขทัยมีการพัฒนาการรุ่นหลังแคว้นศรีธรรมราชมากทีเดียว  แต่เมื่อเกิดแคว้นสุโขทัยขึ้นมาแล้วก็มีความสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรมกับแคว้นศรีธรรมราชถึงระดับเป็นเครือญาติกันด้วย  จะสังเกตเห็นว่า ตำแหน่งกษัตริย์ของแคว้นสุโขทัย  ต่อมาใช้ชื่อ  ธรรมราชา  หรือ  ศรีธรรมราชา  ซึ่งนอกจากจะสะท้อนลักษณะชูพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานลังกาวงศ์ด้วยกันแล้ว  ยังจะต้องใกล้ชิดสนิทสนมกลมเกลียวกันในระดับหนึ่งด้วย”

          “นครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์กับสุโขทัย  ลพบุรี  หรือ  ละโว้  และอาณาจักรใกล้เคียงทางสังคม  ความสัมพันธ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นจากพงศาวดารโยนกตอนที่พระยาเม็งรายได้รับเชิญให้ตัดสินข้อพิพาทระหว่าง  พระร่วงรามคำแหงกับพระยางำเมือง  พระยาเม็งรายไม่กล้าทำอะไรรุนแรง  และทรงรำพึงว่า  พระร่วงเป็นกษัตริย์ที่มีอานุภาพ  เพราะทรงเป็นญาติกับกษัตริย์ผู้ครองเมืองอยุธยา (ครั้งนั้นคงหมายถึงอโยธยา)  เมืองพระนคร (พระนครหลวง)  และเมืองนครศรีธรรมราช”

          “นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา  ทั้งฝ่ายมหายาน และหีนยานลัทธิลังกาวงศ์  ในยุคแรกศิลปกรรมของนครศรีธรรมราชได้แพร่หลายขึ้นมายังภาคกลางและภาคเหนือ  ตัวอย่างที่และเห็นได้ชัดก็คือ  การแพร่หลายความคิดในการสร้างพระพุทธสิหิงค์ขึ้นเป็นพระพุทธรูปสำคัญในล้านนาและสุโขทัย”

          “จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า  แคว้นศรีธรรมราชนี้มีความสำคัญมาก่อนแคว้นสุโขทัยเป็นเวลาช้านาน  และอาจจะมีส่วนหนุนช่วยให้เกิดแคว้นสุโขทัยเสียด้วยซ้ำไป”

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพืธภัณฑฺหุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, พฤศจิกายน, 2561, 10:30:42 PM
(https://image.ibb.co/cnWUNq/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://image.ibb.co/dOq0TV/maxresdefault-2.jpg) (https://imgbb.com/)
พระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก

- เมืองบริวารเบื้องตะวันตก -

" เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอด"นั่น
ยืดเขตขัณฑ์ผ่านดงถึง"หงสา-
วดี"แดน"สมุทร"สุดมรรคา
เป็นอาณาเขตแดนสุโขไท


          อภิปราย ขยายความ........

          คำเต็มตามจารึกบรรทัดที่ ๒๒ ถึง ๒๔  ด้านที่ ๔  ว่า "...เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอด เมือง....หงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน"

          เมืองฉอด  ชื่อนี้ไม่มีคำแปลที่แน่ชัด  แต่เดิมนั้นเข้าใจว่าเป็นเมือง "คอกช้างเผือก" ที่ยังเหลือซากอยู่ริมน้ำ "แม่สอด"  หรือน้ำเมย  บ้านแม่ตาว  อำเภอแม่สอด  จังหวัดตากในปัจจุบัน  แต่นักประวัติศาสตร์โบราณคดียังไม่ยอมรับ  เพราะซากเมืองเก่าคอกช้างเผือกนี้  เป็นเมืองขนาดเล็กและไม่พบวัตถุโบราณยืนยันว่าเป็นเมืองฉอด

          ยังมีซากเมืองเก่าอีกแห่งหนึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่บ้านแม่ต้าน  ด้านเหนือแม่สอด  เคยอยู่ในเขตปกครองของอำเภอแม่สอดมาก่อน  ปัจจุบันแยกเขตการปกครองเป็นอำเภอท่าสองยาง  ซากเมืองนี้ตั้งอยูในป่าริมแม่น้ำเมย  ปัจจุบันยังหลงเหลือซากโบราณสถานคือแนวดินเป็นคูเมือง  บนยอดเขาเตี้ย ๆ  มีฐานเจดีย์ ๒ ฐาน  มีพระธาตุเจดีย์ที่บูรณะตกแต่งใหม่ ๑ องค์  ชาวบ้านเรียกว่า "พระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก" ยอดเขาด้านใต้มีพระธาตุเจดีย์เก่าปรักหักพังอยู่ในดงไม้ที่ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น  ไม่มีการขุดแต่งบูรณะซ่อมแซมใด ๆ  อิฐที่เรียงก่อเป็นองค์เจดีย์เป็นแผ่นอิฐขนาดใหญ่  การเรียงอิฐเป็นแบบโบราณ  เช่นเดียวกันกับ ศรีสัชนาลัย  สุโขไท

          จากการวิเคราะห์ซากโบราณสถาน  เห็นว่ามีอายุเก่าเท่าเทียมยุคสมัย  ศรีสัชนาลัย  สุโขไท  จึงน่าเชื่อได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้คือเมืองฉอด  ของขุนสามชน  ที่ยกทัพไปตีเมืองตาก  มองดูแนวทางเห็นว่า เดินทัพจากเมืองฉอดที่บ้านแม่ต้าน  ข้ามเทือกเขาสูงตรงไปลงเมืองตากได้พอดี

          ซากเมืองเก่าที่เชื่อได้ว่าเป็นเมืองฉอดนี้  ยังจมอยู่ในดินกลางป่าบ้านแม่ต้าน  อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก  ไม่มีบ้านเรือนราษฎรปลูกสร้างทับซ้อน  จึงมีสภาพบริสุทธิ์  เสียดายนักว่า "เป็นเมืองเก่าที่ถูกลืม"

          ......นี่คือ "เมืองฉอด"  เมืองสำคัญเบื้องตะวันตกเมืองสุโขไท เมื่อ ๗๐๐ ปีก่อนครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต

https://www.youtube.com/watch?v=gUllu4vLoS8


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤศจิกายน, 2561, 11:34:51 PM
(https://image.ibb.co/noE97q/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ชเวดากอง

- เมืองหงสาวดี -

พ้นเมืองฉอดรอดเลยน้ำ"เมย"ผ่าน
หลายหย่อมย่านบ้านเมืองเนืองน้อยใหญ่
ถึง"หงสาวดี"ที่กว้างไกล
รู้จักในนามประเทืองว่าเมืองมอญ

มี "เมืองพัน,เมาะตะมะ"ทะเลสมุทร
เป็นที่สุดเขตขัณฑ์ ณ กาลก่อน
พ่อขุนรามคำแหงเอื้ออาทร
แบ่งนครให้เขย "มะกะโท"

เป็น"พระเจ้าฟ้ารั่ว"ครองทั่วแคว้น
บำรุงแดนดินให้ใหญ่อักโข
เป็นประเทศราชชาติภิญโญ
เมืองเติบโตเจริญคู่สุโขไท


          อภิปราย ขยายความ.........

          ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑  ของพ่อขุนรามคำแหงระบุอาณาเขตของแคว้นว่าทางทิศตะวันตกถึง"เมืองฉอด เมือง....นหงสาวดีสมุทรหาเป็นแดน"  นั้น   แกะรอยตามความในศิลาจารึกได้ว่า  เมืองฉอดปัจจุบันเป็นเมืองร้างอยู่ในป่าบ้านแม่ต้านริมน้ำเมย  อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก  มีซากเมืองเก่าอยู่ตรงข้ามเมืองฉอดที่บ้านแม่ต้านอยู่เมืองหนึ่ง  ในเขตประเทศเมียนมาร์  ตั้งอยู่ริมน้ำเมยเช่นเดียวกับเมืองฉอด น่าจะเป็น "เมือง.....น"  ที่จารึกตรงนี้กระทะเทาะหายไป  และยังมีเมืองที่ไม่มีชื่อในจารึกนี้อีกหลายเมือง  คือ เมืองพัน  เมืองเมาะตะมะ  เมืองเมียวดี  ซึ่งอยู่ในปกครองของเมืองหงสาวดี

          เฉพาะเมืองหงสาวดี  มีประวัติหรือเรื่องราวความเป็นมาแบบเทพนิยาย  กล่าวคือ  เดิมทีนั้นเป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทร  สิ่งมีชีวิตวิญญาณที่เดินทางเข้าสู่เกาะนี้เป็นชีวิตแรกคือ  "หงส์"  ซึ่งเป็นนกที่มีสกุลสูงสุดในสัตว์ปีกประเภทนก  ต่อมาเมื่อมีมนุษย์อุบัติขึ้นบนเกาะนี้แล้วก็ขยายจำนวนประชากร  พร้อม ๆ กันกับแผ่นดินก็งอกแผ่ขยายออกจนจรดแผ่นดินใหญ่  เป็นประเทศชาติมอญไปในที่สุด

          นาม  หงสาวดี  น่าจะแปลได้ว่า  เมืองที่แวดล้อมด้วยฝูงนกหงส์  หรือ เ มืองที่มีนกหงส์เป็นรั้วล้อม  และแปลตรง ๆ ว่า เมืองกำแพงหงส์  ก็ได้  เมืองนี้เกิดก่อนสุโขไท  เจริญรุ่งเรือง  ดังปรากฏในตำนานหริภุญไชย (ลำพูน) ว่า  ในราวปี พ.ศ. ๑๔๙๐  เกิดโรคระบาดในนครหริภุญไชย (ลำพูน)  ชาวเมืองพากันอพยพหนีตายไปอยู่สุธรรมวดีนครเป็นอันมาก  แต่ปรากฏว่าผู้ครองนครสุธรรมวดีโหดร้ายรังแกประชาชน ชาวหริภุญไชยจึงพากันหนีจากเมืองนี้ล่องลงใต้ผ่านเมืองตองอู  เมืองแปร  สู่เมืองหงสาวดี  เจ้าเมืองรับเลี้ยงบำรุงเป็นอย่างดี  ครั้นโรคระบาดในหริภุญไชย  ซาหายไปแล้วบางส่วนจึงพากันกลับบ้านเมืองของตน บางส่วนตกค้างอยู่หงสาวดี  ถึงปีก็จัดทำกระทงลอยโขมด (โคมไฟ) เพื่อรำลึกถึงกัน  จนเป็นประเพณี

          ครั้นสุโขไทกำเนิดขึ้น  หงสาวดีเสื่อมโทรมลง  ตกมาถึงยุคพ่อขุนรามคำแหง  เมืองนี้ขึ้นอยู่ในโพธิสมภารกรุงสุโขไท  ในราว ๆ ปี พ.ศ. ๑๘๓๕  พ่อขุนรามคำแหงทรงให้การสนับสนุนชายชาวมอญชื่อ "มะกะโท"  นัยว่าเป็นราชบุตรเขยของพระองค์  ให้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองชาวมอญ  เฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าฟ้ารั่ว"  ตั้งเมืองหงสาวดีเป็นเมืองหลวง  หรือ  เมืองกรุงของมอญ  และเป็นประเทศราชของกรุงสุโขไท ในที่สุด.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, พฤศจิกายน, 2561, 10:40:05 PM
(https://image.ibb.co/heqY3V/3.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์วัดป่าแดง

- หัวเมืองเบื้องตีนนอน -

"เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพลเมืองม่าน"
"เมือง...นเมืองพลัว"ผ่าน น่านน้ำใหญ่
"พ้นฝั่งของเมืองชวา" ฟ้ากว้างไกล
เข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมา

ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้น"
ด้วยผูกพันไมตรีมิเลือกหน้า
"ชอบด้วยธรรมทุกคน"ล้นเมตตา
ปวงไพร่ฟ้า"หน้าใส"ไปทั่วกัน


          อภิปราย ขยายความ.....

          คำเต็มของจารึกบรรทัดที่ ๒๔ ถึง ๒๗ ด้านที่่ ๔ อันเป็นคำจารึกท้ายสุด จบจารึกหลักที่ ๑ นี้ คือ ...." เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพลเมืองม่าน เมือง......นเมืองพลัว พ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว ๐ ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้นชอบด้วยธรรมทุกคน "

          ...เมืองแพล คือ เมืองแพร่ในปัจจุบัน จารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุชื่อเมืองว่าแพล  นักอ่านจารึกเดิมหาคำแปลไม่ได้  ก็เลยใช้ว่า  แพร่  ที่แปลได้ว่า  "กระจายออกไป"  เมืองนี้มีประเด็นที่ต้องขออภิปรายยาวหน่อยนะครับ

          เมืองนี้มีตำนานเมืองเหนือกล่าวไว้ในคัมภีร์ใบลาน พ.ศ.๑๘๒๔ เล่าว่า  ในราวปี พ.ศ. ๑๓๗๑ ขุนหลวงพล  พระราชนัดดามหากษัตริย์น่านเจ้า  ได้พาบริวารเป็นอันมากลงมาสร้างบ้านแปงเมือง  โปรดให้สร้างวัดหลวงรวมทั้งพระเจ้าแสนหลวงประดิษฐานในวิหารหลวงพลนคร  เมืองที่ขุนหลวงพลสร้างขึ้นนี้จึงชื่อ  พลนคร  ต่อมาถึงยุคขอมเรืองอำนาจเปลี่ยนชื่่อเมืองพลนครเป็นเวียงโกศัย  ยุคที่พม่าเข้าครองเมืองนี้ถูกเรียกเพี้ยนไปเป็น  เมืองแพล

          เรื่องขุนหลวงพลตามตำนานดังกล่าวนี้  ดูเหมือนจะได้เค้ามูลมาจากพระยาสิงหนวัติราช  โอรสพระเจ้าเทวกาล  นครไทเทศ  หรือ  น่านเจ้า  ที่อพยพลงมาสร้างเมืองชื่อ  นาเคนทร์นคร  หรือ  นาคบุรี  และหรือ  นาคพันธุสิงหนวัตินคร  อันได้แก่  โยนกนครหลวง  หรือเชียงแสนในปัจจุบัน

          ตามความในพงศาวดารโยนกเรียกนามเมืองนี้ว่า  พลรัฐะนคร  ผู้ครองนครนี้นามว่าพระยาพลราช  ท่านได้ยกกำลังไปลัมภกัปปะนคร (ลำปาง)  หมายใจจะขุดเอาพระสารีริกธาตุจากพระมหาธาตุเจดีย์ลำปางหลวงไปไว้เมืองพลรัฐะนคร  แต่ไม่สามารถขุดเอาไปได้  ช่วงเวลาในตำนานนี้น่าจะเป็นกาลก่อน พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๔๐๐  อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่พระนางจามเทวีจะเสด็จขึ้นไปครองหริภุญไชย (ลำพูน) ตำนานดังกล่าวยืนยันตรงกันว่า  เมืองนี้เดิมชื่อ  พลนคร  พลรัฐะนคร  ผิดแต่ว่าตำนานเมืองเหนือในคัมภีร์ใบลานที่ว่า  เมืองนี้เปลี่ยนนามเป็น  แพล  เมื่อพม่าเข้าครอง  เพราะจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ นี้  จารึกในราวปี พ.ศ. ๑๘๓๕ ก่อนกำเนิดพม่า  หมายความว่า  ชื่อเมืองแพลมีมาก่อนที่พม่าจะเข้ามายึดครองเมืองนี้

          สมัยพระญาลิไทครองกรุงสุโขไท  มีจารึกวัดป่าแดง  ศรีสัชนาลัย  จารึกไว้ว่า  "พระมหาธรรมราชาผู้ปู่เอาพลไปเมืองแพลอยู่ได้เจ็ดเดือน....จากแพลแล้วเอาคน..."  ได้ความว่า  พรญาลิไท  เอาพลขึ้นไปเมืองแพ ล ประทับอยู่เมืองนี้นานถึง ๗ เดือน  ระหว่างที่ประทับอยู่ที่นี้  ทรงโปรดให้สร้างพระมหาธาตุเจีดย์บรรจุพระสารีริกธาตุขึ้น ๑ องค์  คือ  พระธาตุช่อแฮในปัจจุบัน  เมื่อเสด็จกลับสุโขไท  ทรงนำคนจากเมืองแพลลงมาไว้ที่ป่าแดง  นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย  และให้สร้างวัดใหญ่ในป่าแดงขึ้น  ชื่อวัดกัลยาณวนาวาส (วัดป่าแดง)

          ลุล่วงเวลามาถึงยุคพระญาลือไทครองสุโขไท  ชื่่อเมืองนี้เปลี่ยนไปตามความในจารึกวัดช้างค้ำจังหวัดน่าน  ความว่า  "....อนึ่งบ้านเมืองเราทั้งหลายและเมืองแพล่เมืองงาวเมืองน่านเมืองพลั่ว  ปู่พระยาดูดังเคียว...."  ชื่อเมืองแพลมีวรรยุกต์เอกใส่เข้ามาเป็น  แพล่

          สรุปได้ว่า  เมืองแพร่ปัจจุบันเดิมชื่่อว่า พลนคร พลรัฐะนคร เมืองแพล เมืองแพล่ แล้ว ล.ลิงวิ่งหนีไป  เมื่อ ร.เรือถูกพายพุ่งเข้ามาแทน  จึงกลายเป็นเมืองแพร่ไปด้วยประการฉะนี้...

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40318#msg40318)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40696#msg40696)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ กันยายน ๒๕๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, พฤศจิกายน, 2561, 10:08:59 PM
(https://image.ibb.co/iiWw8V/127002953.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพปู่ม่านย่าม่าน วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40502#msg40502)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40901#msg40901)                   .

- น่านและเมืองบริวาร -

"น่าน"เป็นแคว้นหรือรัฐประเทศราช
มีบทบาทยิ่งใหญ่ในเขตขัณฑ์
"ดำพงศ์กาวชาวเลือง"เนื่องปางบรรพ์
เป็นเผ่าพันธุ์"พ่อขุนรามคำแหง"แท้

"นันทบุรี"นี้นามเดิมเมืองน่าน
บริวารเมืองที่มีนามแน่
คือ"เมืองม่าน,เมืองพลัว"ไร้คำแปล
ต้องไปแลหลังน่านกันเอาเอง


          อภิปราย ขยายความ........

          ...ศิลาจารึกบรรทัดนี้กระเทาะอักษรหายไปตรงที่ว่า  "เมืองม่าน....นเมืองพลัว"  ตรงรอยกระเทาะนั้นสันนิษฐานไม่ผิดว่าคือ  "น่าน"  เพราะมีอักษร  น  ตัวสะกดคงอยู่  จึงสรุปได้ว่า  เมืองทางเบื้องตีนนอนที่ขึ้นอยู่ในปกครองของพ่อขุนรามคำแหง  ต่อจากเมืองแพล (แพร่)  คือ  เมืองม่าน  เมืองน่าน  เมืองพลัว"

          เมืองม่านยังไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้คือ  เมืองอะไร  ตั้งอยู่ระหว่างเมืองแพลกับเมืองน่าน  สำหรับเมืองน่านนั้นคือ  นันทบุรี  เดิมเป็นมืองประธาน  หรือเมืองหลวงของแคว้น  มีเมืองแพล  เมืองม่าน  เมืองพลัวเป็นเมืองบริวาร  เมืองบริวารที่คงอยู่ชัดเจนในปัจจุบัน คือ  แพร่ และ ปัว  อำเภอหนึ่งของน่าน

          น่าน  หรือ  นันทบุรีมีอายุเก่าแก่กว่าสุโขไท  มีหลักฐานปรากฏในตำนานเมืองเหนือว่า  ในราวปีจุลศักราช ๓๕๐  ตรงกับพุทธศักราช ๑๕๓๑  พระยากือคำล้าน ยกพลจากนันทบุรีไปชิงได้เมืองชัยวรนคร ของพระยาจังกาเรือนแก้ว  เมืองชัยวรนคร  คือ  หิรัญเงินยัง (ยาง)  หรือช้างแสน=เชียงแสน  ที่ลาวจังกราชสร้างขึ้น  เมื่อจุลศักราช ๑๐ ปี (พ.ศ.๑๑๙๑)  แสดงให้เห็นว่า  เมืองน่านมีมาก่อนสุโขไท

          สืบทราบมาได้ว่า  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง  เดิมคือ  บางกลางท่าว  โอรสของเจ้านครนันทบุรี  ในราชวงศ์  "ดำพงศ์กาว ชาวเลือง"  ได้ยกพลจากนันทบุรีลงไปทางใต้  แล้วสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่เมือบางยาง (นครไทย)  ดังได้กล่าวมาแล้ว  โดยจารึกสุโขทัยหลักที่ ๔๕  จารึกเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๓๕  เรียกกันว่าจารึกปู่สบถหลานบ้าง  จารึกปู่ขุนจิดขุนจอดบ้าง  เล่าเรื่องการทำสัญญาสาบานระหว่าง  "ปู่พระยา"  เจ้าเมืองน่าน กับหลานพระยาคือ  มหาธรรมราชาลือไท  ในจารึกนี้กล่าวอ้างถึงบรรพบุรุษที่เกี่ยวพันเป็นญาติกัน  โดยทางฝ่ายปู่พระยา  อ้างถึงปู่พระยา มี  "ปู่พระยา...ปู่เริง  ปู่มุง  ปู่พอง  ปู่ฟ้าฟื้น...ปู่พระยาผากอง....ฝ่ายพระยาผู้หลานมี ..ผีปู่ผาคำ  ปู่ขุนจิดขุนจอด  ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์  ปู่พระยาบานเมือง  ปู่พระยารามราช  ปู่ไสสงคราม  ปู่พระยาเลอไท  ปู่พระยางั่วนำถม  ปู่พระยามหาธรรมราชา  พ่องำเมือง....ปู่พระยาผู้ทำสัญญาสาบานกับพระยาลือไทนี้คือ  พระยาคำตันเจ้าเมืองน่านในกาลนั้น  ได้ความชัดว่า  ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ เป็น "ไทยผู้ดีชาวเลือง"  ในตระกูลดำพงศ์กาวแห่งนันทบุรีนี้นี่เอง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวียิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, พฤศจิกายน, 2561, 10:12:18 PM
(https://image.ibb.co/nyLCHq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดวิชุนราช หรือวัดพระธาตุหมากโม หลวงพระบาง

- ชวา > หลวงพระบาง -

จากเมืองน่านเดินหน "พ้นฝั่งของ"
ถึง"เชียงทอง,เซ่า,ชวา"ช้าไม่เร่ง
กลายนามเป็น"หลวงพระบาง"ไม่วังเวง
บางกาลเปล่งประกายงามความรุ่งเรือง

มีอายุเก่าแก่จนเกินกล่าว
ด้วยเรื่องราวไม่สนิทติดต่อเนื่อง
สรุปให้พอชัดคลายขัดเคือง
ว่าเป็นเมืองประเทศราชสุโขไท...


          อภิปราย ขยายความ..........

          ความในจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๒๕-๒๗  อันเป็นวรรคสุดท้ายของจารึกหลักนี้ว่า   ...."..พ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว ๐ ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้นชอบด้วยธรรมทุกคน"  หมายความว่า  อาณาเขตกรุงสุโขไทจากน่าน  ข้ามแม่น้ำโขงไปถึงเมืองชวาเป็นที่สุด  ทรงปกครองดูแล  ไพร่ฟ้าประชาชนชอบด้วยธรรมทุกคน

          "ชวา"  เป็นชื่อเมืองในยุคพ่อขุนรามคำแหง  ก่อนหน้านั้นมีชื่อว่า  เมืองเส้า  หรือ  เซ่า (แปลว่าหยุด)  และ  เชียงทอง  ต่อมาเมืองนี้เปลี่ยนชื่อเป็น  "หลวงพระบาง"  และใช้นามนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

          มหาสิลา วีระวงศ์  เขียนไว้ในประวัติศาสตร์ลาวว่า  ในราวปี พ.ศ. ๑๑๓๙-๑๒๓๙  เป็นช่วงเวลาที่ขอมเรืองอำนาจ  มีกษัตริย์องค์หนึ่งนามว่า "ขุนเจืองธรรมิกราช"  หรือท้าวฮุ่ง (ซึ่งไทยและเขมรเรียกว่า "พระร่วง")  เสวยราชสมบัติอยู่  นครเงินยาง (เชียงแสน)  ได้ทำสงครามกับพวกแกวประกัน เมืองเชียงขวาง  ท้าวกว่าเจ้าเมืองแกวประกันตายในที่รบ  ขุนเจืองจึงจัดเลี้ยงกำลังพลฉลองชัย  โดยให้ทำเหล้าไหเลี้ยงไพร่พลเป็นอันมาก  แล้วทิ้งไหเหล้าเกลื่อนอยู่ในท้องทุ่ง ณ ที่นั้น  คือ  ทุ่งไหหิน  ในแขวงเชียงขวา ง อยู่จนถึงวันนี้

          ขุนเจือง  มอบให้ขุนควงอยู่รักษาเมืองแกวประกัน  พระองค์กลับนครเงินยาง  ต่อมามีแม่ทัพแกวชื่อหุนบัง  ยกกำลังมาตีเมืองแก้วประกัน  ขุนเจืองทราบจึงยกทัพไปช่วยขุนควง  หุนบังสู้ไม่ได้จึงหนีไปพึ่งท้าวฟ้าฮ่วนเมืองตุมวาง  ขุนเจืองยกทัพตามไปตีเมืองตุมวาง  ท้าวฟ้าฮ่วนจึงแต่งทูตไปเชิญเจ้าขุนลอที่นครกาหลงมาช่วย  เจ้าขุนลอกับขุนเจืองรบกันถึงขั้นชนช้าง  และเจ้าขุนลอฟันขุนเจืองตายคาคอช้าง  ทัพเมืองนครเงินยางแตกพ่ายมาถึงเมืองชวา  เจ้าขุนลอตามตีมายึดเมืองชวาจากขุนกันฮางได้  แล้วตั้งเมืองชวาเป็นราชธานีของลาวล้านช้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๓๐๐  โดยเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น  "เชียงทอง"

          จากประวัติชาติลาวดังกล่าว  ก็ได้อายุเมืองชวาว่า  แก่กว่าสุโขไทยุคขุนศรีนาวนำถุม ๔๒๑ ปี  และแก่กว่ายุคขุนศรีอินทราทิตย์ ๔๘๖ ปี  แก่กว่ายุคพ่อขุนรามคำแหง ๕๒๒ ปี  แต่ในตำนานพงศาวดารโยนก กล่าวว่า  ขุนเจื๋อง  หรือท้าวเจือง ท้าวฮุ่ง  กษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งพะเยา  เกิดเมื่อปีจุลศักราช ๔๖๑ ตรงกับ พ.ศ. ๑๖๔๒  รบชนะแกวประกัน ปี จศ. ๔๙๖  ตรงกับ พ.ศ.๑๖๗๗  สวรรคต พ.ศ. ๑๗๑๙  เกิดก่อนพ่อขุนรามคำแหง ๑๗๐ ปี  จิตร ภูมิศักดิ์ ว่า  ขุนเจือง มีอายุอยู่ในราวปี พ.ศ. ๑๖๖๕-๑๗๓๕  ร่วมยุคสมัยกับศรีสุริยวรมัน ที่ ๒  กษัตริย์กัมพูชา  ใกล้เคียงกันกับความในพงศาวดารโยนก  มากกว่าประวัติศาสตร์ลาว ของมหาสิลา วีระวงศ์

          ...พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ความเป็นธรรมแก่ไพร่ฟ้าข้าไท  ลูกเจ้าลุกขุน  ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง  ให้ข้าแผ่นดินเกิดความรู้สึก  "เหลื่อมล้ำต่ำสูง"  ดังนั้น  คนในเมืองไทยจึงพากันขานพระนามพระองค์่ด้วยความเคารพเทิดทูนว่า  "พ่อขุนรามคำแหง"  ด้วยความจริงใจ....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, พฤศจิกายน, 2561, 10:39:37 PM
(https://image.ibb.co/dHpq5A/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

- เมืองนอกเขตสุโขไท -

หัวเมืองเบื้องอาคะเนย์หมด
ซึ่งปรากฏต่อเนื่องเป็นเมืองใหญ่
คือ "ละโว้,อโยธยา" เขตยาวไกล
"พิมาย"ไป"ร้อยเอ็ด,นครพนม"

ความใน"โผ"สุโขไทไม่บันทึก
ตกจารึกหรือไรดูไม่สม
ปริศนาตรงนี้มีเงื่อนปม
การเมืองข่มขบเหลี่ยมทัดเทียมกัน


          อภิปราย ขยายความ.........

          ละโว้ (ลพบุรี)  อโยธยา (อยุธยา)  พิมาย (นครราชสีมา)  นครพนม  และเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในเบื้องอาคะเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้)  หลายเมืองไม่ปรากฏชื่่อในจารึกสุโขไท  แสดงว่าไม่ได้ขึ้นอยู่ในปกครองของพ่อขุนรามคำแหง  เป็นเพราะเหตุใด ?

          ...ปัญหานี้  มีคำตอบได้ว่า .....เพราะ  เมืองใหญ่ ๆ ด้านตะวันออกเฉียงใต้  มีลพบุรี  อยุธยา  นครราชสีมา  เป็นต้น  เมืองเหล่านี้ขึ้นอยูในปกครองของขุนผาเมือง  ผู้ร่วมกับขุนบางกลางท่าวกอบกู้กรุงสุโขไท  หลังจากที่ทรงมอบอำนาจให้ขุนบางกลางท่าวพระสหายครองกรุงสุโขไทแล้ว  พระองค์กลับไปเมืองราด  แล้วขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีโสธรปุระ (กัมพูชา)  ในประวัติศาสตร์กัมพูชาเรียกพระองค์ว่า  พระเจ้าอินทรวรมัน ที่ ๓  หรือ  พระเจ้าศรีศรินทรวรมัน  พระองค์ครองกรุงกัมพูชาอยู่ในระหว่างปี  พ.ศ. ๑๗๘๖-๑๘๓๘

          จึงเป็นไปได้ว่า ในการมอบให้ขุนบางกลางท่าวครองสุโขไทนั้น  ขุนผาเมืองมีข้อแม้ให้ขุนบางกลางท่าว  "ถือ"  คือ  ให้ครองเมืองบริวารด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้แก่  สรลวงสองแฅ ว ลุมบาจาย  สคา เวียงจันทน์  เวียงคำ  เท่านั้น  ส่วนเมืองเบื้องตะวันออกเฉียงใต้  คือเมืองราด  ละโว้  อโยธยา  พิมาย  นครพนม  นั้นขอให้ขึ้นอยู่ในปกครองของพระองค์ ณ กัมพูชา  สุโขไทจึงรักษาสัญญานี้ตลอดมาจนถึงยุคสมัยพ่อขุนรามคำแหง  ปรากฏเมืองในปกครองของสุโขไทมีเพียงดังที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤศจิกายน, 2561, 11:12:40 PM
(https://image.ibb.co/k1oq9f/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ปลาก้างพระร่วง

- พ่อขุนรามฯ=พญาร่วง -

นามพ่อขุนรามคำแหงแสนแรงฤทธิ์
ทั่วทุกทิศแดนไทยใช้สร้างสรรค์
ความเก่งกล้าสามารถองอาจครัน
อัศจรรย์พระเดชาบารมี

เรียกพระนามยามฟังแล้ว"ขลัง"ยิ่ง
เสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเสริฐศรี
"พระร่วง"เจ้าจอมคนบนปฐพี
ทุกพาทีสัมฤทธิ์ไม่ผิดคำ

วาจาสิทธิ์พูดเล่นเป็นจริงหมด
จึ่งปรากฏต่อเนื่องในเรื่องขำ
เช่นทิ้งก้างปลาให้ว่ายในน้ำ
ก้างผุดดำว่ายธารปานตัวปลา

มิใช่เก่งด้านปราชญ์ฉลาดลึก
ด้านการศึกก็แกร่งกำแหงกล้า
เผด็จศึกราบคาบปราบปัจจา
ราชอาณาจักรสร้างจนกว้างไกล


          อภิปราย ขยายความ......

          พ่อขุนรามคำแหงในความรู้ที่คนไทยปัจจุบันรู้กันว่า  พระองค์เป็นนักปราชญ์  นักปกครอง  ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยให้ใช้กันมาจนทุกวันนี้  ทรงสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีขึ้นมามากมาย  ทรงมีอิทธิฤทธิ์ขลัง  โดยเฉพาะด้านพระวาจา  ทรงตรัสอย่างไรจะเป็นอย่างนั้น  จึงมีตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับวาจาสิทธิ์ของพระองค์มากมาย  เช่นว่า  คราวหนึ่งเสด็จไปทรงลับพระขรรค์ ณ ต้นธารบนภูเขา  ทรงใช้พระขรรค์ฟันหินจนขาดเป็นช่องทางให้น้ำไหล  ที่ตรงนั้นจึงเรียกว่า  "พระร่วงลองพระขรรค์"  หรือ  โซกพระร่วง  ทรงพักผ่อนพระอริยาบถ ณ ริมธารนั้น  เสวยพระกระยาหาร  ครั้นเสวยเนื้อปลาหมดแล้ว  ทรงโยนก้างปลาลงน้ำแล้วตรัสว่า  เจ้าจงว่ายอยู่ในน้ำต่อไป  ก้างปลานั้นก็กลายเป็นปลามีชีวิตแหวกว่ายน้ำให้เห็น  จนเรียกกันว่า  "ปลาก้างพระร่วง"  มองเห็นแต่ก้างไม่เห็นเนื้อ  อย่างนี้เป็นต้น

          ...ในด้านการรบนั้น  เริ่มแต่เป็นแม่ทัพตั้งแต่พระชนม์ ๑๙ ชันษา  ชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดที่  เมืองตาก (อ.บ้านตาก)  จากทั้งทรงไป  "ตีหนังวังช้าง ท่บ้านท่เมือง ได้ข้าเสือกข้าเสือ นำมาถวายพ่อขุนศรีอินทราทิตย์มากมาย"  ทรงสร้างขยายอาณาจักรสุโขไทให้กว้างไกล  ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อนหน้านี้

          ความในตำนานเมืองเหนือเรียกพระนามว่า  "พญาร่วง"  เป็นพระสหายใกล้ชิดกันกับ  พญางำเมือง  พญาเม็งราย............

เต็ม อภินันท์
สถาบันกในิพนธ์ไทย
ณ พิพธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ กันยายน ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, พฤศจิกายน, 2561, 10:11:42 PM
(https://image.ibb.co/fYtun0/5chiangmai726-2013-04-16.jpg) (https://imgbb.com/)

- สามกษัตริย์สร้างเชียงใหม่ -

กล่าวถึงเจ้าเม็งรายย้ายเมืองหลวง
หลังจากช่วงชิงนคร"ลำพูน"ได้
ตั้งที่"เวียงกุมกาม"ตามพอใจ
แล้วยกไปชิงพุกาม,หงสาวดี"

อาณาเขต"เชียงราย"ขยายกว้าง
แล้วคิดสร้างกรุงประจักษ์สมศักดิ์ศรี
เลือกทำเลเชิงดอยอ้อยช้างชี้
ให้เป็นที่ตั้งเมืองประเทืองบุญ

เชิญ"พญางำเมือง,พญาร่วง"
สร้างเมืองหลวงของแคว้นแสนอบอุ่น
สามกัตริย์เอออวยช่วยค้ำจุน
ถึงลงทุนลงแรงขุดแต่งเมือง

ขนานนามคำคล้องของเมืองนี้
"นพบุรีศรีนครพิงค์"พริ้งลือเลื่อง
เรียกสั้นสั้น"เชียงใหม่"รายรุ่งเรือง
ถิ่นประเทืองล้านนามาเนิ่นนาน....


          อภิปราย ขยายความ..........

          ย้อนกาลไปกล่าวถึงพระยาเม็งราย  โอรสเจ้าลาวเม็งกับนางเทพคำขยายแห่งเชียงแสน  หลังจากย้ายมาสร้างเมืองใหม่ริมน้ำกกชื่อเมืองเชียงราย  แล้วได้เป็นพระสหายกับพ่อขุนรามคำแหง (พญาร่วง)  จากนั้นคิดการใหญ่  ยกกำลังเข้ายึดนครหริภุญไชย (ลำพูน)  ของพระยายีบา  กษัตริย์เชื้อสายพระนางจามเทวีได้  แล้วตั้งเมืองใหม่ในที่ลุ่มเหนือเมืองลำพูน  ชื่อว่าเวียงกุมกาม  ทรงยกกำลังไปได้เมืองหงสาวดี เมืองพุกามของรามัญ  ไว้ในอำนาจด้วย

          ...อยู่มาถึงปี พ.ศ. ๑๘๓๔  พระยาเม็งรายดำริสร้างเมืองใหม่ ณ บริเวณเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ ปัจจุบัน)  จึงเชิญพญางำเมืองแห่งภูกามยาว (พะเยา)  ผู้เป็นทั้งพระญาติ (ผู้น้อง) และพระสหาย  กับส่งราชทูตมาเชิญพ่อขุนรามคำแหง (พญาร่วง)  พระสหายแห่งกรุงสุโขไท  ไปปรึกษาวางแผนผังการสร้างเมืองใหม่  พระยาเม็งรายถามพระสหายว่า  เมืองใหม่นี้จะสร้าง  กว้าง ๒,๐๐๐ วา หรือ ๑๐๐ เส้น  พระสหายเห็นว่าเหมาะสมไหม  พญางำเมืองเห็นด้วย  แต่ พญาร่วง  กล่าวว่า  เมืองกว้าง ๒,๐๐๐ วาใหญ่โตเกินไป  คนเรามีน้อยไม่พอที่จะดูแลรักษาเมือง  ถ้าเกิดมีข้าศึกศัตรูยกกำลังมาโจมตี  เราก็จะรักษาเมืองไว้ได้ยาก  จึงเห็นว่าเมืองกว้างสัก ๑,๐๐๐ วา  ก็พอสมควรแล้ว  พระยาเม็งรายเห็นด้วย  จึงลดขนาดความกว้างของเมืองลงมาดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ทั้งสามกษัตริย์เห็นชอบให้ขนานนามเมืองที่สร้างใหม่นี้ว่า  "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"  แต่บัดนั้นเป็นต้นมา.....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึผึ้งไทย
๒๗ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, พฤศจิกายน, 2561, 10:20:30 PM
(https://image.ibb.co/nq5B4f/Tui-Laksi.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (เชียงราย)
Cr. Photo By คุณ Tui Laksi

- เม็งราย > มังราย -

นาม"เม็งราย"คือใครรู้ไม่ยาก
ค้นหาจากจารึกอักษรสาร
ปากต่อปากบอกกล่าวเล่าตำนาน
ทั้งชาวบ้านชาววัดเรื่องชัดเจน

เจ้า"ลาวเม็ง"เชื้อสายขุนเจืองนั้น
ครองหิรัญเงินยางอย่างโดดเด่น
ธิดาเชียงรุ้งงามตามกฎเกณฑ์
จึ่งส่งทูตวอนเวนเป็นชายา

ได้"นางเทพคำขยาย"ไม่ผิดหวัง
เมื่อนางตั้งครรภ์แรกแปลกนักหนา
ฝันได้แก้วแวววามงามจับตา
นางรับมากลืนกินอย่างยินดี

โหรทำนายได้กุมารชาญฉลาด
จะสามารถปราบหมดทศวิถี
สร้างบ้านเมืองเรืองยศปรากฏมี
ปฐพีกว้างไกลอยู่ในมือ

ครั้นประสูติโอรสงดงามลักษณ์
ญาติพร้อมพรักคับคั่งร่วมตั้งชื่อ
นามพ่อแม่และตารวมบันลือ
ให้ยึดถือเป็นเก่งว่า"เม็งราย"


          อภิปราย ขยายความ .......

          พระยาเม็งรายในประวัติศาสตร์ไทยเรียกพระนามนี้ว่า  "มังราย"  โดยอ้างหลักฐานจากจารึกต่าง ๆ มีจารึกวัดพระยืน  เป็นต้น  ออกพระนามว่า  "มังราย"  แต่ตำนานพงศาวดารโยนกและตำนานอื่น ๆ รวมทั้ง  "มุขปาฐะ "  ของชาวเชียงรายเรียกพระองค์ว่า  "เม็งราย"  พระองค์จึงมี ๒ พระนาม

          ที่มาของพระนามว่า  "เม็งราย"  คือตำนานเมืองเหนือพงศาวดารโยนก  กล่าวว่าเชื้้อวงศ์ขุนเจืองครองราชสมบัติเมืองหิรัญเงินยาง (เชียงแสน) สืบมาชั่ว ๔ ราชวงศ์  ถึง  "ลาวเมือง"  และลาวเมืองมีโอรสชื่่อ  "ลาวเม็ง"  ทราบว่าท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าเมืองเชียงรุ้ง  มีธิดานามว่าเทพคำขยาย  รูปโฉมงดงามมาก  จึงส่งทูตไปสู่ขอมาอภิเษกกับเจ้าชายลาวเม็ง  นางเทพคำขยายเมื่อเป็นชายาของลาวเม็งแล้ว  ก็ฝันว่ามีดวงแก้วลอยลงมาจากฟ้า  เปล่งประกายงดงามมาก  นางรับดวงแก้วแล้วกลืนกินลงไป  ตื่นเช้าเล่าความฝัน  โหรทำนายว่า  จะได้โอรสทรงศักดานุภาพปราบประเทศทั้งหลายไปถึงแดนสมุทร

          ครั้นนางเทพคำขยายทรงครรภ์ครบกำหนดทศมาสแล้วก็ประสูติโอรส  ลาวเม็งกับท้าวรุ่งแก่ชายและพระญาติได้ประชุมขนานพระนามราชกุมารนั้น  แล้วตกลงให้นามว่า  "เม็งราย"  โดยถือเอานามลาวเม็งผู้เป็นบิดา  ท้าวรุ่งแก่นชายผู้เป็นตา  นางเทพคำขยายผู้เป็นมารดา  ประมวญเข้าด้วยกันเป็น  "เม็งราย"  ให้รู้ว่า  "คือลูกท้าวเม็ง  หลานท้าวรุ่ง  เกิดแต่นางเทพคำขยาย..."

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, พฤศจิกายน, 2561, 10:26:59 PM
(https://image.ibb.co/m7EVX0/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุเสาวรีย์พระยาลิไท อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย

- สุโขทัยในประวัติศาสตร์ -

ประมาณปี"พอศอหนึ่งแปดสี่สอง"
"ขุนรามฯ"ต้องสวรรคตตามกฎถ่าย
ถอดวิญญาณผ่านกากทิ้งซากกาย
ฝากความหมายแทนตัวคือชั่วดี

พระ"เลอไท"โอรส"ขุนรามราช"
สืบอำนาจครองเมืองเรืองศักดิ์ศรี
ทรงครองแคว้นสุโขไทอยู่หลายปี
ประมาณ"ยี่สิบ"วัสสาสิ้นพระชนม์

จึ่ง"พระงั่วนำถม"ครองสมบัติ
อำนาจรัฐเริ่มเสื่อมทุกแห่งหน
พระทรงตั้ง"ลิไท"ไว้เมืองบน
เป็น"ขุนยี่"คู่ตนสร้างผลงาน..


          อภิปราย ขยายความ........

          ประมาณปี  พ.ศ. ๑๘๔๒  พ่อขุนรามคำแหงสวรรคต  พระโอรสนามว่า  "เลอไท"  ได้ครองกรุงสุโขไทสืบแทน  เป็น "พระยาเลอไทธรรมิกราช"  บางแห่งเรียกว่า  พระมหาธรรมราชาเลอไท  ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพระองค์ทรงฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  จนถึงกับส่งราชทูตไปลังกาทวีป (ประเทศศรีลังกา)  ขอให้ช่างหลวงจำลองรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏของลังกา  อัญเชิญมาประดิษฐานบนยอดเขาริมเขื่อนสรีดภงส  แล้วเรียกภูเขาลูกนี้ว่า  เขาสุมนกูฏ  นามเดียวกันกับของลังกา (ปัจจุบันเรียกว่า "เขาพระบาทใหญ่)  แล้วเสด็จขึ้นไปนมัสการทุกวันธรรมสวนะ (วันพระ)  มิได้ขาด

          ....พระยาเลอไทธรรมิกราช  สวรรคตในราวปี พ.ศ. ๑๘๘๓  พระงั่วนำถมซึ่งเป็นราชกุมารสายขุนบานเมืองได้ครองบัลลังก์กรุงสุโขไท  บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นเริ่มกระด้างกระเดื่อง  พระองค์ทรงแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองด้วยการแต่งตั้งให้  พระยาลิไท  โอรสเลอไทธรรมิกราช  เป็น  "ขุนยี่"  คือมหาอุปราช  ขึ้นไปครองเมืองศรีสัชนาลัย (เมืองบน) ......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, พฤศจิกายน, 2561, 10:16:48 PM
(https://image.ibb.co/dSAxFL/spd-20170710100227-b.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณเจ้าของภาพ ร้าน dbook2.com

- ลำดับกษัตริย์สุโขทัย -

กษัตริย์ครองสุโขไทเรียงกันวุ่น
หลังพ่อขุนรามฯที่มีหลักฐาน
"ไสงสงคราม"นามไม่คุ้นลูก"ขุนบาน"
เป็นรัชกาลขั้นตอนก่อน"เลอไท"

หลัง"เลอไท"ลำดับกลับเข้าที่
"งั่วนำถม"องค์นี้มิยิ่งใหญ่
สาย"บานเมือง"เดชอ่อนห่อนเกรียงไกร
ผลงานไม่ปรากฏให้จดจำ

สาย"ขุนรามคำแหง"ล้วนแกร่งกล้า
ทั้งศาสนาทรงชูชุปอุปถัมภ์
อย่าง"ลิไท"อุปราชฉลาดล้ำ
ทรงรวมคำสอนสั่งทั้งพุทธพราหมณ์

แต่งคัมภีร์ศาสนาวรรณศิลป์
โลกยลยินยกย่องก้องสยาม
เรื่อง"ไตรภูมิ"ลุ่มลึกชวนตรึกตาม
จะเห็นความซึ้งทราบทั้งบาปบุญ...


          อภิปราย ขยายความ.........

          การเรียงลำดับกษัตริย์ครองกรุงสุโขไทในช่วงหลังรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง  ที่เป็นมานั้นอยู่ในภาวะสับสน  กล่าวคือ  นักประวัติศาสตร์เรียงลำดับว่า  ต่อจากพ่อขุนรามคำแหง  เป็น  พระญาเลอไท  จากเลอไท  เป็นงั่วนำถม  จากงั่วนำถม เป็นลิไท

          แต่ความในศิลาจารึกปู่สบถหลาน (จะกล่าวถึงต่อไป)  เรียงไว้ว่า  ต่อจากปู่รามราช  คือ  ปู่ไสสงคราม  ปู่เลอไท  ปู่งั่วนำถม....  เป็นไปตามราชประเพณี (หรือกฎมณเฑียรบาล)  คือ  พี่ครองก่อน  สิ้นพี่แล้วน้องครองต่อ  สลับกัน  ตอนที่บานเมืองครอง  พระรามคำแหงเป็นอุปราช  พ่อขุนรามคำแหงครอง ไสยสงครามโอรสบานเมืองเป็นอุปราช  ไสสงครามครอง  เลอไทโอรสพระรามราชเป็นอุปราช  เลอไทครอง  งั่วนำถมโอรสไสสงครามเป็นอุปราช  งั่วนำถมครอง  จึงสถาปนาลิไท  โอรสเลอไทเป็นอุปราช  สลับกันไปอย่างนี้  ราชประเพณีนี้ใช้ต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา

          ในปี พ.ศ. ๑๘๘๓  พระยาเลอไทธรรมิกราชสวรรคต  พระยางั่วนำถมโอรสไสสงครามขึ้นครองกรุงสุโขไท  ตั้งพระยาลิไทโอรสพระยาเลอไทเป็นมหาอุปราชให้ไปครองนครศรีสัชนาลัย (ตามราชประเพณี)  พระยาลิไทมีความฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  ทรงศึกษาเล่าเรียนความรู้ด้านศาสนาจากสำนักพระอาจารย์หลากหลายจนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์  ทรงรจนาคัมภีร์ศาสนาขึ้นมาคัมภีร์หนึ่งให้ชื่อว่า  "เตภูมิกถา"  หรือ  "ไตรภูมิกถา"  ว่าด้วยความเป็นมาเป็นไปของบรรดาสัตว์ในภพภูมิทั้ง ๓ คือ  มนุษย์  สวรรค์  นรก  ทรงเน้นการสั่งสอนให้คนรู้จัก  บาป  บุญ  คุณ  โทษ  ทรงบรรยายให้เห็นภาพมนุษย์  สวรรค์  นรก  ได้อย่างละเอียดพิสดาร  ทำให้คนอ่านแล้ว  ฟังแล้ว  รู้สึกกลัวบาป  อกุศลกรรม  แล้วรื่นเริงบันเทิงใจในการทำบุญกุศล  จนคัมภีร์นี้กลายเป็นโครงสร้างสังคมไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขไทมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งเรารู้จักกันในนามว่า  "ไตรภูมิพระร่วง"  คัมภีร์นี้ทรงใช้เวลารจนาอยู่นานถึง ๖ ปี  จึงจบบริบูรณ์...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ข
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, พฤศจิกายน, 2561, 10:22:57 PM
(https://image.ibb.co/mQ92H0/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระเถระคู่บุญ "ลิไท" -

"ลิไท"เป็นจอมปราชญ์ศาสนา
พระเถรานุเถระมากเกื้อหนุน
ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้วยการุณย์
ทรงคบคุ้นเคยมากหลากอาจารย์

สองภิกษุคู่บุญมีคุณโข
นาม"อโนมทัสสี"มีถิ่นฐาน
อยู่ศรีสัชนาลัยชนม์ยืนนาน
ถึงรัชกาล"ลือไท,พระยาราม"

อีกหนึ่งนาม"สุมนะ"ป่ามะม่วง
อยู่เมืองหลวง"สุโขไท"ไม่"วางก้าม"
เป็นเพื่อนกันไปมาหาทุกยาม
มีศีลงามผุดผ่องทั้งสององค์

ผลงานหนึ่ง"สุมน"คือพระธาตุ
เผยแผ่ศาสนธรรมตามประสงค์
พระเจ้า"กือนา"ที่มีจำนง
"ลิไท"ส่งพระ"สุมน"ไป.....


          อภิปราย ขยายความ..........

          ในขณะดำรงตำแหน่งเป็น  "ขุนยี่"  คือมหาอุปราชเสวยราชย์อยู่นครศรีสัชนาลัยนั้น  พระยาลิไททรงมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์อย่างจริงจัง  มีพระเถระ  อนุเถระผู้ทรงภูมิความรู้เรื่องศาสนธรรมหลายรูปที่พระยาลิไทเข้าฝากตัวเป็นศิษย์  เช่นพระธรรมบาลมหาเถระ  พระสิทธัตถมหาเถระ  พระมณีวงศมหาเถระ  พระปรัชญามหาเถระ  พระสุมนเถระ  พระอโนมทัสสีเถระ  และ  อุปเสนราชบัณฑิต (เป็นคฤหัตถ์)  อีกทั้งติดต่อโดย  "สารพิสัย" (จดหมาย = เรียนทางไกล ไปรษณีย์)  กับพระพุทธโฆสาจารย์มหาเถระ  แห่งนครหริภุญไชย (ลำพูน)  คัมภีร์ที่ทรงศึกษานั้นมี  อรรกถา ฎีกา อภิธรรม และคัมภีร์เล็ก ๆ น้อย ๆ  แล้วทรงนำมาร้อยเรียงเรื่องราวเป็น  "ไตรภูมิกถา"  วรรณคดียิ่งใหญ่ของไทยในกาลต่อมา

          พระเถระ ๒ รูปที่คุ้นเคยกับพระยาลิไทเป็นอย่างมาก  คือ  พระอโนมทัสสี  เมืองศรีสัชนาลัย  กับ  พระสุมนเถระ  วัดป่ามะม่วงสุโขไท  ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นสหายธรรมกัน  วันหนึ่งพระสุมนเถระเดินทางไปเยี่ยมเยือนพระอโนมทัสสี  ระหว่างทางนั้น  ผ่านเมืองปางจา (บางขลัง)  ริมฝั่งน้ำฝากระดาน (ปาณามนที)  พบพระสารีนริกธาตุในเจดีย์ร้างซึ่งมีกอเข็มขึ้นปกคลุมอยู่  จึงอัญเชิญไปให้พระอโนมทัสสีกราบไหว้ด้วย  พระยาลิไททรงทราบ  จึงขอทอดพระเนตร  ปรากฏว่าพระสารีริกธาตุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานา  จนข่าวลือลงถึงกรุงสุโขไท  พระยางั่วนำถม (บางแห่งเรียกพระเจ้าน้ำท่วม)  ทรงทราบจึงปรารถนาได้ทอดพระเนตรบ้าง  ครั้นพระสุมนเถระกลับมาเมืองสุโขไทจึงเสด็จไปขอทอดพระเนตร ณ วัดป่ามะม่วง  ทรงสรงพระธาตุด้วยน้ำเครื่องหอมนานา  แต่พระธาตุไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ  จึงไม่ทรงเลื่อมใส  มอบให้พระสุมนเถระเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตน......

           เรื่องพระสารีริกธาตุ  เป็นเรื่องยาว  จากสุโขไทไปลำพูน  เชียงใหม่  แล้วประดิษฐานบนดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) ในที่สุด  ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤศจิกายน, 2561, 10:37:16 PM
(https://image.ibb.co/jKabUf/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช -

เมื่อ"พ่องั่วนำถม"สวรรคต
พระโอรสสืบต่อขอเป็นใหญ่
แต่"งำเมือง"ทำผิดสิทธิ์วางไว้
โกง"ลิไท"ดื้อรั้นครองบัลลังก์

ขุนหัวเมืองประเทศราชขาดนับถือ
ต่างลุกฮือแข็งข้อแหกกฎขลัง
สุโขไทแคว้นแตกแยกไม่ยั้ง
จนแทบพังภินท์ล่มล้มละลาย

ปีพอศอหนึ่งแปดเก้าศูนย์นั้น
"ลิไท"พลันตื่นตนเร่งขวนขวาย
ยกกำลังพร้อมหัวเมืองมีมากมาย
จับตัว"นาย"แล้วประหารทิ้งทันที

ยก"พระญาลิไท"เป็นใหญ่สุด
นามสมมุติชูเชิดประเสริฐศรี
"ศรีสุริยพงศ์ราม.."เลิศความดี
สร้อยนามมี"มหาธรรมราชา"


          อภิปราย ขยายความ........

          พรญา(พระยา)ลิไท  ทรงใช้เวลารจนาไตรภฺูมิกถาอยู่นานถึง ๖ ปีจึงสำเร็จ  หลังจากที่ทรงเป็น  "ขุนยี่" (มหาอุปราช)  ครองนครศรีสัชนาลัยอยู่ ๗ ปี ถึง พ.ศ. ๑๘๙๐ นั้น  พรญางั่วนำถมสวรรคต  พรญางำเมืองผู้โอรสขึ้นครองกรุงสุโขไทสืบแทนพระราชบิดา  ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดพระราชประเพณี  ที่ถูกแล้วต้องให้ พรญาลิไท  ขึ้นครองกรุงสุโขไท  พรญางำเมือง เป็น "ขุนยี่" (มหาอุปราช) สลับสายกันปกครองจึงจะะถููกต้องตามราชประเพณี

          เหตุเพราะพรญางำเมืองขึ้นครองสุโขไทแบบผิดราชประเพณีนี้เอง  บรรดาขุนหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสุโขไทต่างเห็นกันว่า  พรญางำเมืองเป็นกบฏต่อพรญาลิไท  จึงพากันกระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นอยู่ในอำนาจการปกครอง  จนแคว้นสุโขไทยามนั้น  "ขาดเป็นบั้นเป็นแซว"  ครานั้นพรญาลิไททนนิ่งดูอยู่มิได้  จึงยกกำลังลงมาจากศรีสัชนาลัย  บรรดาขุนหัวเมืองก็พากันยกกำลังเข้าสมทบกองกำลังของพรญาลิไท  มีความในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง  บรรยายภาพตอนนี้ว่า  พรญาลิไทเอาขวานจามประตูเมืองสุโขไทเข้าไป  แล้วจับพรญางำเมืองประหารเสีย

          บรรดาขุนหัวเมืองประเทศราชทั้งหลายพากันยกพรญาลิไท..... "ได้ขึ้นเสวยราชในเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขไท  แทนปู่แทนพ่อ  ฝูงเป็นท้าวเป็นพรญาทั้งเบื้องตะวันออกตะวันตก  หัวนอนตีนนอน  ต่างคนต่างมีใจใคร่ใจรัก  เอามงกุฏขันชัยศรีเศวตฉัตรมา  "ยัดยัญ"  อภิเษกให้เป็นท้าวเป็นพระยา  ทั้งหลายจึงสมมติขึ้นชื่อ  "ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช"  เสวยราชย์ชอบด้วยทศพิธราชธรรมรู้ปรานีแก่ไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลาย......"

          การครองราชสมบัติของกษัตริย์กรุงสุโขทัยที่แต่เดิมนั้น  เมื่อพี่ครองแผ่นดินแล้วตั้งน้องเป็นอุปราช (ขุนยี่)  พี่ตายลงน้องขึ้นครองแทนแล้วตั้งลูกของพี่เป็นอุปราช  สลับกันเช่นนี้มาถึงพระยางั่วนำถมสิ้นพระชนม์โอรสคือ งำเมือง  กลับทำผิดประเพณีขึ้นครองแผ่นดินแทนราชบิดา  พวกขุนหัวเมืองต่าง ๆ ไม่ยอมรับนับถือ  พากันตั้งตนเป็นอิสระ  พระยาลิไทอุปราชจึงต้องยกกำลังจากศรีสัชนาลัยลงมาชิงราชบัลลังก์รักษาราชประเพณี  โดยมีขุนหัวเมืองต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย  เมื่อทำการสำเร็จแล้วบรรดาขุนหัวเมืองทั้งหลายจึงร่วมกันอภิเศก (ยัดยัญ) พระยาลิไทให้ครองกรุงสุโขไท  ถวายพระนามว่า  "พระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช"  สร้อยพระนาม  "มหาธรรมราชา" จึงเป็นพระนามกษัตริย์กรุงสุโขไทแต่นั้นมา

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, พฤศจิกายน, 2561, 10:17:27 PM
(https://image.ibb.co/ntq8uf/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบรมธาตุนครชุม

- ลิไทสร้างเมืองนครชุม -

จากจอมปราชญ์ศาสนามาครองราชย์
ทรงอำนาจแผ่ประเทศด้วยเดชกล้า
เร่งขยายขอบขัณฑสีมา
ด้วยหวังว่าเท่า"ปู่พระญารามฯ"

ในยามนั้นสุโขไทได้แตกแล้ว
"เป็นบั้นแซว"หลายเสี่ยงมากแเสี้ยนหนาม
จึงยกพลปล้นกำราบเที่ยวปราบปราม
พยายามรวมไทยอยู่หลายปี

"พอศอหนึ่งเก้าศูนย์ศูนย์"ทำบุญเขื่อง
ทรงสร้างเมือง"นครชุม"กุมวิถี
ลุ่มน้ำปิงด้านบนเขต"คนฑี"
ปลูกพระศรีมหาโพธิ์โพธิญาณ

ตั้งหลักหินจารึกบันทึกเรื่อง
ทำนายเนื่องศาสนาวัยพ้นผ่าน
"ห้าพันปี"สิ้นค่าอายุกาล
เป็นตำนานที่ไทยฝังใจจำ....


           อภิปราย ขยายความ ....

           ปี พ.ศ. ๑๘๘๘ พระญาลิไท  ทรงพระราชนิพนธ์วรรณดีศาสนาเรื่องเตภูมิกถา  หรือ  ไตรภูมิกถา  จบบริบูรณ์  ถึงปี พ.ศ. ๑๘๙๐  ทรงยกกำลังสมทบขุนหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสุโขไทเข้ายึดกรุงสุโขไท ได้รับการ  "ยัดยัญ"  อภิเษกจากบรรดาขุนทั้งหลายและไพร่ฟ้าทั้งปวงให้ขึ้นครองบัลลังก์กรุงสุโขไท  เฉลิมพระนามว่า  "ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชธิราช"

           จากนั้นทรงยกกำลังไปเที่ยวปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ยังกระด้างกระเดื่องอยู่  ขยายอาณาจักรสุโขไทหมายพระทัยจะให้กว้างไกลเท่าเทียมยุคสมัยปู่พระญารามคำแหง  ทั้งนี้เพราะอาณาเขตสุโขไทเริ่มเล็กลงหลังจากพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว  และแตก "เป็นบั้นเป็นแซว" เมื่อสมัย  พระญางั่วนำถมครองราชย์

           ปี พ.ศ. ๑๙๐๐  หลังจากทรงปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ได้ราบคาบลงแล้ว  ทรงเสด็จไปประทับริมฝั่งน้ำปิง  ด้านทิศตะวันตกตอนเหนือเมืองคนฑี  แล้วทรงสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้นามว่า  "นครชุม"  ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์  สร้างพระมหาธาตุเจดีย์  และที่สำคัญทรงทำศิลาจารึก (วัดนครชุม)  กล่าวถึงเรื่องราวของพระองค์และพระพุทธทำนายเรื่องอายุกาลของพระพุทธศาสนาว่า  จะสิ้นอายุเมื่อครบ ๕,๐๐๐ ปี  ความในพุทธทำนายนี้เป็นที่เชื่อถือของคนไทยส่วนหนึ่งมานานจนถึงปัจจุบัน....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกฝีนิพนธ์ไทย
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, พฤศจิกายน, 2561, 10:20:33 PM
(https://image.ibb.co/nwv94q/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธลีลา


- พระเจ้าอู่ทอง -

สามปีแรก"ลิไท"ได้ครองราชย์
ทรงแปรปราชญ์ศาสนามากร้าวกล้ำ
เป็นนักรบองอาจไม่ขาดธรรม
ขยายอำนาจไกลแคว้นใหญ่โต

กล่าวถึง"เจ้าอู่ทอง"ครองเขตใต้
ชุมชนไทยภาคกลางกว้างอักโข
"ทวาราวดี"หรือ"ละโว้"
ยามนั้นโผซบรัฐสุพรรณบุรี

"อู่ทอง"เขยเมืองสุพรรณฝันยิ่งใหญ่
ย้ายลงไป อโยธยาสง่าศรี
อยากได้แคว้นสุโขไทในทันที
ลอบเข้าตี"สองแฅว"ได้ครอบครอง

ให้"พี่เมีย"จากสุพรรณอันทรงเดช
ปกครองเขต"สองแฅว"แผ่ผยอง
ข่ม"พระญาลิไท"ไม่ให้ลำพอง
ทั้งได้น้องสาวลิไทเป็นชายา.....


          อภิปราย ขยายความ.......

          เมื่อพระญาลิไทครองกรุงสุโขไทแล้ว  ทรงปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ขยายพระราชอำนาจพร้อมกับประกาศธรรมนั้น  ทางฝ่ายเมืองทวาราวดี  หรือ  ละโว้ (ลพบุรี)  มีกษัตริย์เชื้อสายไศเลนทร์ปกครองสืบมาจนถึงเจ้าอู่ทอง  พระองค์ได้อภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งสุพรรณภูมิ  ทำให้สองแคว้นนี้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันยิ่งขึ้นจนเกือบจะกลายเป็นแคว้นเดียวกัน

          ปี พ.ศ. ๑๘๙๓  เจ้าอู่ทองย้ายจากละโว้ลงไปสร้างราชธานีในท้องที่ของอโยธยา  ซึ่งเมืองนี้เดิมชื่อ  รามนคร  บ้าง  ศรีรามเทพนคร  บ้าง  ศรีอโยธยา  บ้าง  มีฐานะเดิมเป็นเมือง  "ลูกหลวง"  ของทวาราวดี  หรือ  ละโว้  ครั้นเจ้าอู่ทองสร้างราชธานีเสร็จแล้วขนานนามเมืองนี้ว่า  "กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา"  โดยนำเอาสร้อยนาม  "ทวาราวดี"  จากละโว้ลงมาใช้กับเมืองนี้ด้วย

          ขณะที่พระญาลิไทขยายพระราชอำนาจ  สร้างพระเดชพระคุณอยู่ในแคว้นสุโขไทนั้น  พระเจ้าอู่ทอง (รามาธิบดีที่ ๑)  ปรารถนาได้ครอบครองแคว้นสุโขไทไว้ในอำนาจ  จึงลอบยกกำลังขึ้นมา  ยึดนครสรลวงสองแฅวไว้ได้โดยง่าย  แล้วมอบให้ขุนหลวงพ่องั่วพระเชษฐาในพระมเหสีของพระองค์จากสุพรรณภูมิขึ้นมาปกครองนครสรลวงสองแฅว  และขุนหลวงพ่องั่วยังได้พระนางมหาเทวี ราชธิดาพระญาเลอไท  ผู้เป็นพระขนิษฐาของพระญาลิไท  เป็นพระราชวรชายาอีกด้วย

          พระญาลิไท  ไม่สามารถใช้กำลังชิงเอาเมืองสรลวงสองแฅวคืนจากขุนหลวงพ่องั่วได้  จึงยุติบทบาทการเป็นนักรบของพระองค์ไว้  แล้วหันไปเป็นนักการศาสนา  สร้างพระพุทธรูป  พระพิมพ์  สร้างพระอาราม พระสถูปเจดีย์  ปลุกต้นพระศรีมหาโพธิ์  ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา  พระสถูปเจดีย์ที่เป็นเอกลักษณ์สุโขไทกำเนิดขึ้นในยุคของพระองค์คือ  พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ยอดเจดีย์เป็นดอกบัวตูม) พระพุทธรูปที่เป็นเอกลักษณ์สุโขไทเกิดสมัยพระองค์คือ  พระพุทธลีลา  ซึ่งเป็นพุทธศิลป์งดงามที่สุดในโลกปัจจุบัน...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๘ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, พฤศจิกายน, 2561, 10:16:03 PM
(https://image.ibb.co/g43xsA/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดป่ามะม่วง

- พระญาลิไททรงผนวช -

"พระญาลิไท"หันหน้าเข้าหาวัด
ปฏิบัติตามหลักศาสนา
ทราบข่าวมีพระสงฆ์วงศ์ลังกา
เลิศศีลาจารวัตรอยู่"เมืองพัน"

จึงประสงค์องค์พระสังฆราช
มาโปรดญาติโยมไทยให้สุขสันต์
นิมนต์มาสุโขไทในเร็ววัน
ทรงมุ่งมั่นบำรุงศาสน์รุ่งเรือง

หล่อพระใหญ่ไว้หน้ามหาสถูป
พระพุทธรูปน้อยใหญ่ไว้ต่อเนื่อง
ไม่เสียดายทรัพย์สินที่สิ้นเปลือง
ทรงปลดเครื่องทรงกษัตริย์ด้วยศรัทธา

สละราชย์ผนวชองค์เป็นสงฆ์หนึ่ง
หวังเข้าถึงโพธิญาณในกาลหน้า
ถือวัด"ป่ามะม่วง"พัทธสีมา
จำพรรษาบำเพ็ญบารมี.....


          อภิปราย ขยายความ...........

          สมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท)  ถูกขุนหลวงพ่องั่วยึดการปรกครองนครสรลวงสองแฅว  แล้วยังแทรกแซงราชสำนักสุโขไท  โดยตั้งพระมหาเทวีขนิษฐาในพระองค์ (พระยาลิไท) เป็นพระราชวรชายา  ทำให้พระองค์ไม่สะดวกในการบริหารบ้านเมือง  จึงหันหน้าเข่้าวัด  สร้างกุฎีพิหาร  พระสถูปเจดีย์  พระพุทธรูป  พระพิมพ์มากมาย

          พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์หลายแบบหลายปางเกิดขึ้นในยุคนี้  พระพุทธรูปปางลีลาอันงดงามซึ่งพัฒนามาจากพระอัฏฐารศ  ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะงดงามที่สุดในโลก  คือองค์ที่ประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตรฯ ในปัจจุบัน

          ก่อนหน้านี้  ทรงทราบว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ฝ่ายมหาวิหารมาตั้งประกาศลัทธินิกายอยู่ที่เมืองพัน (นครพัน เมาะตะมะ)  มีศีลาจารวัตรงดงาม  จึงโปรดให้พระสุมนเถระ  กับพระอโนมทัสสีเถระ  พาบริวารไปมอบตัวเป็นศิษย์ศึกษาพระพุทธธรรมในคณะสงฆ์นี้  เพื่อนำกลับมาเผยแผ่ที่สุโขทัย  พระเถระทั้งสองพร้อมศิษย์ไปทำทัฬหีกรรม (บวชครั้งที่สอง)  ในสำนักพระอุทุมพรมหาสามีสังฆราชอยู่ครบ ๕ พรรษาแล้วจึงกลับสุโขไท  โดยพระญาลิไทให้อาราธนาพระอุทุมพรมหาสามีสังฆราชเสด็จมาสุโขไทด้วย

          ความในจารึกวัดป่ามะม่วง  กล่าวว่า  "พระอุทุมพรบุปผามหาสวามิสังฆราช เสด็จมาประทับ ณ วัดสีโหล (สีโทน) ใต้วัดป่ามะม่วง  พระญาลิไททรงอธิษฐานเพศเป็นดาบสแล้วบรรพชาเป็นสามเณรต่อหน้าองค์พระพุทธรูปทองในพระมหาปราสาท  จากนั้นเสด็จไปทำพิธีอุปสมบทในพัทธสีมาวัดป่ามะม่วง  ท่ามกลางคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ฝ่ายมหาวิหาร  โดยมีสมเด็จพระสังฆราชอุทุมพรเป็นประธานสงฆ์ (พระอุปัชฌาย์)  แล้วประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่ามะม่วงนั้น

          เมื่อออกพรรษาแล้วทรงลาพระผนวช  บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นมหาทาน  ฉลองพระพุทธรูปสำริดที่ทรงโปรดให้  "หล่อเท่าองค์พระพุทธพระเป็นเจ้า"  บริจาคไทยทานคือ ทอง ๑๐ ชั่ง เงิน ๑๐ ชั่ง เบี้ย ๑๐ ล้าน หมาก ๒ ล้าน จีวร ๔ กระแส บาตร หมอนนอน หมอนนั่ง เสื่อ  จำนวนเท่า ๆ กัน....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤศจิกายน, 2561, 10:19:23 PM
(https://image.ibb.co/gUd0XA/image.jpg) (https://imgbb.com/)
แนวกำแพงแก้วของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร
Cr. Photo By คุณหมุนตามไมล์

- ลิไทไปครองสรลวงสองแฅว -

ลาผนวชแล้ว"ลิไท"รับข้อแม้
ครอง"สองแฅว"เหมือนจักลดศักดิ์ศรี
สุโขไทให้"พระมหาเทวี"
ภคินีของพระองค์ทรงครอบครอง

อยู่"สรลวงสองแฅว"แผ่กุศล
ให้ทุกคนร่วมบุญเลิกขุ่นข้อง
"ไตรภูมิกถา"ธรรมโลกจำลอง
เป็นแสงส่องทางอุดมสังคมไทย

ให้กลัวบาปรักบุญกุศลสร้าง
เป็นแบบอย่างอยู่เย็นเป็นสุขได้
"มหาธรรมราชา"ทรงตั้งใจ
สร้างวัดใหญ่พระพุทธสุดแสนงาม

"พระพุทธชินราช,ศาสดา,ชินสีห์"
ทุกองค์มีลักษณะเลิศสยาม
ได้โอรสยศยงทรงพระนาม
"ลือไท"ตามรอยบาทพระบิดา.....


          อภิปราย ขยายความ............

          พระญาลิไททรงผนวชจำพรรษา ณ วัดป่ามะม่วงในแดนอรัญญิกด้านตะวันตกเมืองสุโขไท  ทรงให้สร้างพระพิมพ์งดงามขึ้น ๒ แบบ  คือพระพิมพ์ประทับนั่งสมาธิราบ  ปางมารวิชัย (ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโต) บรรจุไว้ ณ วัดป่ามะม่วง  แดนอรัญญิก  และวัดสระศรีในกลางเมืองสุโขไท  กับ  พระพิมพ์ลีลา  บรรจุ ณ พระเจดีย์บนยอดเขา  กับในถ้ำเชิงเขาแดนอรัญญิก  และ  ในพระเจดีย์  บนเขาสะพานหิน ( คือพระลีลา  ถ้ำหีบและเขาสะพานหิน)

          ครั้นทรงลาผนวชแล้ว  ยอมรับข้อเสนอของขุนหลวงพ่องั่ว  คือทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ นครสรลวงสองแฅว  มอบให้พระมหาเทวีชนิษฐาของพระองค์ปกครองสุโขไทแทน  ขุนหลวงพ่องั่วจึงเสด็จกลับไปครองสุพรรณภูมิตามเดิม

          พระมหาธรรมราชา (ลิไท)  แปรพระราชฐานไปประทับ ณ นครสรลวงสองแฅวแล้วมุ่งหน้าเผยแผ่พระพุทธศาสนธรรมตามแนวคิดของพระองค์  คู่มือสำคัญในการเผยแผ่ศาสนธรรมคือ  "ไตรภูมิกถา"  ที่พระองค์ทรงรจนาขึ้นในขณะเป็นมหาอุปราชดังกล่าวแล้ว  ทำให้คนไทยรู้จักบาปบุญคุณโทษ  กลัวบาป  ทำบุญกันมากขึ้น  เป็นความง่ายต่อการปกครอง

          ทรงสร้างวัดใหญ่ ๆ ขึ้นในนครสองแฅวหลายวัด  เช่นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในเมือง เป็นคามวาสี  วัดอรัญญิกในป่าด้านตะวันออกของตัวเมือง  เป็นอรัญวาสี  ผลงานที่ยอดเยี่ยมของพระองค์คือ  ทรงสร้างพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ  ปางมารวิชัย  มีพระพุทธลักษณะตามตำรามหาบุรุษ  คือพระพุทธรูปงดงามที่สุดในโลก  ได้แก่  พระพุทธชินราช  และยังมีพระศาสดา  พระชินสีห์  อีกด้วย  นอกจากพระพุทธรูปประทับนั่งแล้วยังทรงสร้างพระพุทธรูปยืนเรียกว่า  พระอัฏฐารศ  ตามแบบอย่างของสุโขไทอีกด้วย  ต่อจากพระพุทธรูปแล้วยังสร้างพระเจดีย์มียอดเป็นรูปดอกบัวตูมที่เรียกว่า  "ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์"  อันเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์อีกด้วย

          ขณะประทับ ณ นครสรลวงสองแฅวนี้  ทรงได้พระราชโอรสอันประสูติแต่พระนางศรีธรรมราชมาตา  ที่่ปรากฏในศิลาจารึกชัดเจน ๑ องค์  ขนานพระนามว่า  "ลือไท"  อันเป็นพระนามล้อเลียนนามของพระองค์ .....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, พฤศจิกายน, 2561, 10:18:02 PM
(https://image.ibb.co/bYc34q/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ยอดเขาสุมณกูฏ

- ลิไทคืนสุโขไท -

อยู่สองแฅวเจ็ดปีแม้มีสุข
แต่เป็นทุกข์เรื่องแคว้นแดนปู่ย่า
ต้องแตกแยกเป็น"สองนครา"
ปรารถนาให้เป็นไปเช่นเดิม

เสด็จกลับสุโขไทไม่รอช้า
"อยุธยา"สิ้น"อู่ทอง"พร่องผู้เสริม
อาศัยบุญคุณธรรมค้ำจุนเจิม
โดยทรงเริ่มไหว้พระบาทรอยจำลอง

ขนิษฐาเทวีมิข้องขัด
ราชสมบัติสุโขไทในทั้งผอง
ทรงเวนคืนโดยชอบให้ครอบครอง
ลบรอย"สองนครา"หมดสิ้นไป....

          อภิปราย ขยายความ............

          ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกว่า  ในปีที่ ๖ ซึ่งพระญาลิไทประทับ ณ สรลวงสองแฅวนั้น  ประมาณดือน ๘  ปีวอก  จุลศักราช ๗๓๐  ตรงกับปีพุทธศักราช ๑๙๑๑  สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดามหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลงมเหสี  ในสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท)  ได้ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง  มีพระนามตามจารึกว่า  "พระศรีสุริยวงศ์"  พระนามสาสัญที่ชาวเมืองเรียกขานกัน  คือ  "ลือไท"

          รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๑๙๑๒ ส มเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  แห่งกรุงศรีอยุธยาสวรรคต  สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสขึ้นครองราชแทน  ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง  พระญาลิไทจึงถือโอกาสนี้ พาไพร่พลพร้อมหัวเมืองบริวารเสด็จคืนกรุงสุโขไท  อ้างว่าเพื่อนบไหว้รอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมณกูฏ (เขาพระบาทใหญ่)

          ครานั้น  สมเด็จพระมหาเทวีขนิษฐาของพระองค์  พระราชวรชายาขุนหลวงพ่องั่ว  ซึ่งครองกรุงสุโขไทอยู่  ในประมาณปี พ.ศ.๑๙๑๐  พระนางได้ประสูติพระโอรสองค์หนึ่งให้พระนามว่าพระเทพาหูราช  ครั้นพระเชษฐาธิราชพาพลกลับคืนมานบพระพุทธบาทดังน้ั้น  จึงเวนราชสมบัติคืนให้พระองค์ครอบครองตามเดิม  เพื่อให้สุโขไทคืนสู่แคว้นสุโขทัยอันยิ่งใหญ่ต่อไป ....

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40502#msg40502)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40901#msg40901)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, พฤศจิกายน, 2561, 10:13:58 PM
(https://i.ibb.co/HgxPZnY/2.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเขาพระบาทน้อย



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40696#msg40696)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41056#msg41056)                   .

- ปลายรัชสมัยพระญาลิไท -

กลับคืนครองสุโขไทปลายชีวิต
ทรงผูกมิตรทั่วแดนแคว้นน้อยใหญ่
มีศาสนานำทางยาวกว้างไกล
"มหาธรรมราชา"ใช้ผูกไมตรี

"เจ้ากือนา"ล้านนา ณ เชียงใหม่
ทรงเลื่อมใสสงฆ์ลังกาสง่าศรี
ขอ"พระญาลิไท"ส่งพระสงฆ์ดี
ไปสอนที่ล้านนาอยู่ประจำ

"ลิไท"ส่งพระคู่บุญคุณธรรมสูง
ให้พาฝูงบริษัททรงอุปถัมภ์
"พระสุมนเถระ"เป็นผู้นำ
ศาสนธรรมสู่แดนแคว้นล้านนา...


          อภิปราย ขยายความ.........

          กลับคืนบัลลังก์กรุงสุโขไทแล้ว  พระญาลิไททรงมุ่งมั่นในศาสนาเป็นสำคัญ  โปรดให้ช่างหลวงแกะสลักจำลองรอยพระพุทธบาทตามแบบลังกา  ที่พระญาเลอไท (พระราชบิดา)  จำลองมาไว้บนยอดเขาสุมณกูฏเบื้องหัวนอนเมืองสุโขไท  นัยว่า  ทรงจำลองรอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ในแดนอรัญญิก (เขาพระบาทน้อย)  เขาอินทร์  ศรีสัชนาลัย  เขาบางพาน (กำแพงเพชร)  เขากบ (เมืองพระบาง นครสวรรค์)  และอื่น ๆ อีกหลายแห่ง  พร้อมกันนั้นก็ทรงผูกสัมพันธไมตรีกับรัฐและแคว้นต่าง ๆ  โดยใช้ศาสนาเป็นตัวเชื่อมโยง  "ไตรภูมิกถา"  ที่ทรงรจนาเป็นคัมภีร์นั้น  ได้ถูกเผยแผ่ไปยังนานารัฐและแคว้นไทยในช่วงเวลานี้เอง

          กล่าวทางฝ่ายแคว้นล้านนานั้น  เมื่อขุนเม็งราย (เชียงใหม่เรียก "พญามังราย")  สิ้นพระชนม์ไปแล้วมีลูกหลานสืบราชบัลลังก์ต่อมาถึงพระเจ้ากือนา  ทรงทราบว่ามีคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ฝ่ายมหาวิหารมาตั้งหลักเผยแผ่พุทธศาสนาอยู่นครพัน  มีศีลาจารวัตรงดงามมาก  จึงปรารถนาให้ไปเผยแผ่ลัทธิที่ล้านนาบ้าง  ได้ส่งทูตไปอาราธนาพระสังฆราชอุทุมพรแล้ว  แต่ท่านไม่ยอมไปล้านนา  กลับบอกให้มาเชิญศิษย์ของท่านคือพระสุมนเถระ  กับ  พระอโนมทัสสีเถระ  แห่งสุโขไทขึ้นไปแทน  พระเจ้ากือนาส่งทูตมาอาราธนาพระสุมนเถระ  แต่ท่านไม่ไป  อ้างว่าท่านเป็นพระของพระมหาธรรมราชาธิราช  ไม่อาจตัดสินใจทำอะไรโดยลำพังได้  พระเจ้ากือนาจึงส่งราชทูตสู่ราชสำนักสุโขไท  ทูลขอคณะสงฆ์ลังกาวงศ์จากสุโขไทขึ้นไปเผยแผ่ศาสนาที่ล้านนา  พระญาลิไทจึงตกลงส่งพระมุมนเถระนำคณะสงฆ์ไปล้านนาเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๓...

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, พฤศจิกายน, 2561, 10:22:14 PM
(https://i.ibb.co/kQnNzDZ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระยืน ลำพูน

- มหาธรรมราชาสวรรคต -

"พระสุมนเถระ"ถวายพระพร
มิสังหรณ์ต่อไปไม่เห็นหน้า
เชิญพระธาตุใส่แก้วแล้วอำลา
"มหาธรรมราชา"ด้วยอาลัย

ฝ่าย"พระเจ้ากือนา"แสนปราโมทย์
จึงรีบโปรดจัดการเป็นงานใหญ่
รับคณะพระสงฆ์สุโขไท
สถิตในที่จัด"วัดพระยืน"

เมืองลำพูนอุ่นหนาฝาคั่งมาก
เนื่องมาจากรับแรกแขกเมืองอื่น
มีขบวนมโหรทึกแสนครึกครื้น
ประชาชื่นชมพระธาตุศรัทธากัน

ศก"หนึ่งเก้าหนึ่งสาม" ความได้,เสีย
คือได้เจียระไนศาสน์ล้านนานั่น
เสีย"พระญาลิไท"ผู้ทรงธรรม์
ทรงสวรรคตไปเมื่อปลายปี......


          อภิปราย ขยายความ.............

          ปีพุทธศักราช ๑๙๑๓  ต้นปีนั้น  พระสุมนเถระพาคณะสงฆ์สัทธิงวิหาริกอันเตวาสิกลังกาวงศ์ฝ่ายมหาวิหาร  เข้าถวายพระพรลาสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท)  เพื่อนำพระพุทธศาสนาในลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นไปเผยแผ่ตามพระราชประสงค์พระเจ้ากือนาแห่งล้านนา  โดยอัญเชิญพระสารีริกธาตุที่ได้จากเมืองบางขลังนั้นใส่ผอบแก้ว  ครอบด้วยผอบทอง  นำขึ้นไปด้วย

          ฝ่ายพระเจ้ากือนาเมื่อทราบว่าพระญาลิไทส่งพระสุมนเถระนำพาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์จากสุโขไทสู่ล้านนาตามคำขอแล้ว  ทรงปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง  เสด็จากนครพิงค์เชียง  ใหม่ลงมานครลำพูน  จัดสถานที่ต้อนรับ ณ ด้านทิศตะวันออกเมืองลำพูน  ทรงนำประชาชนถือข้าวตอก  ดอกไม้  ธูปเทียน  แต่งกายด้วยเสื้อผ่้าสีขาว  ยืนเรียงรายสองข้างทางรอรับพระสารีริกธาตุพร้อมคณะพระสุมนเถระจากสุโขไท  มีดนตรีมโหรทึกวงใหญ่ประโคมครึกครื้น  พระสุมนเถระอัญเชิญผอบพระสารีริกธาตุเดินตามทางที่โรยด้วยข้าวตอกดอกไม้ตั้งแต่ต้นจนถึงปรำพิธีที่ประทับของพระเจ้ากือนา  พระองค์กราบนมัสการด้วยความเคารพ  แล้วขอทอดพระเนตรพระสารีริกธาตุ  ครั้นพระสุมนเถระเปิดผอบให้ทอดพระเนตร  พระองค์สรงพระธาตุด้วยน้ำหอม  พระสารีริกธาตุจึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เป็นที่อัศจรรย์  ประจักษ์แก่สายตาทุกคนในสถานที่นั้น  พระเจ้ากือนาทรงถวายสถานที่อันเป็นแดนอรัญญิกของลำพูน  ให้เป็นที่อยู่่ของพระสุมนเถระและบริวาร  และสร้างอาวาสขึ้นให้นามว่า  "วัดพระยืน"  ในกาลต่อมา

          พระพุทธศาสนาลัทธิลังการวงศ์ (มหาวิหาร)  จากสุโขไทตั้งลงในดินแดนล้านนาแล้ว  ในปลายปีนั้นเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นในราชสำนักกรุงสุโขไทกับกรุงศรีอยุธยา  กล่าวคือ  ทางราชสำนักกรุงสุโขไทนั้น  สมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท)  สวรรตต  สุโขทัยขาดผู้นำแคว้นที่แน่นอนหัวเมืองใหญ่ ๆ ตั้งเป็นอิสระ  คือ  เมืองน่าน  เมืองศรีสัชนาลัย  เมืองสรลวงสองแฅว  ไม่ขึ้นต่อกรุงสุโขไทที่มีพระมหาเทวีรักษาการอยู่  ทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยานั้นปรากฏว่า  ขุนหลวงพ่องั่วแห่งสุพรรณภูมิ  ยกกำลังเข้าล้อมกรุง  มหาอำมาตย์เปิดประตูเมืองต้อนรับ  สมเด็จพระราเมศวร  จำใจต้องออกถวายบังคมพระเจ้าลุง  แล้วมอบราชบัลลังก์ให้ครอบครอง  ขุนหลวงพ่องั่วจึงส่งพระราเมศวรผู้หลานไปครองละโว้  พระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  สมเด็จพระบรมราชา (ที่ ๑)  ในปีเดียวกันนั้น

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, พฤศจิกายน, 2561, 10:52:32 PM
(https://i.ibb.co/1q71Tk9/800px-Phra-That-Doi-Suthep-02.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เชียงใหม่

- พระธาตุบางขลังขึ้นดอยสุเทพ -

เริ่มพิธีลงหลักปักฐานศาสน์
"กือนา"ราชเป็นประธานสถานที่
"สุมนเถระ"ประธานพิธี
สมมติสีมาน้ำกระทำการ

สังฆกรรมการบวชกุลบุตร
ตามหลักพุทธลังกา"มหาวิหาร"
ใช้บ่อบึงหนองน้ำแม่ลำธาร
เป็นสถานที่ทำตามวินัย

"พระสุมน"อยู่ลำพูนบุญคุณมาก
นานแล้วจากที่อยู่สู่เชียงใหม่
อยู่่"วัดบุปผารามสวนดอกไม้"
"กือนา"ได้สถาปนา"สวามี"

"มหาสุมณบุพรัตนะ
ตำแหน่งพระสังฆราชสะอาดศรี
เชิญพระธาตุสถิตบนยอดคีรี
คือสุเทพ"วันนี้ที่ยืนยง


          อภิปราย ขยายความ .......

          พระสุนเถระเริ่มประกาศพระพุทธศาสนาตามลัทธิลังกาวงศ์นิกายมหาวิหาร  ด้วยการให้อุปสมบทกรรมแก่กุลบุตร  โดยใช้น่านน้ำแม่ปิงเป็น  "อุทกเขปสีมา"  ขอให้พระเจ้ากือนาต่อแพไม้ขนาดใหญ่ลงลอยในแม่ปิง  ประกาศให้เป็นที่หวงห้าม  แล้วสวด "สมมตินัททีสีมา" (เราเรียกกันว่าโบสถ์น้ำ)  ประชุมสงฆ์ลังกาวงศ์จากสุโขไทและชาวเชียงใหม่ที่ไปบวชมาจากนครพัน  แล้วให้การอุปสมบทแก่สามเณรที่ชื่อ "กัสสป" ผู้ติดตามพระสุมนเถระไปจากสุโขไท  จากนั้นก็ให้การอุปสมบทแก่ชาวเชียงเป็นอันมาก

          พระสุมนเถระ  ไม่กลับสุโขไทหลังจากทราบว่า  พระมหาธรรมราชา (ลิไท) สวรรคตแล้ว  จึงมุ่งเผยแผ่พระพุทธศาสนาในล้านนาประเทศ  สถิตอยู่วัดพระยืน  เมืองลำพูนได้ ๒๑ พรรษา  พระเจ้ากือนาจึงอาราธนาให้ไปสถิตที่วัดบุปผารามสวนดอกไม้หลวงนครพิงค์เชียงใหม่  แล้วประกาศสถาปนาให้เป็นพระสังฆราช (อุษยาภิเษกให้เป็นพระมหาสวามิ)  ให้นามว่า  "มหาสุมณบุพรัตนะมหาสวามิ"  ให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระสาริรีกธาตุในวัดนี้องค์หนึ่ง  นัยว่าพระสารีริกธาตุุองค์นี้เสด็จมาใหม่ตามความเชื่อที่ว่า  หากใครมีพระสารีริกธาตุองค์จริงอยู่แล้ว  ถ้าปฏิบัติบูชาดี  จะมีพระสารีริกธาตุจากที่อื่นเสด็จมาอยู่ร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
          สำหรับพระสารีริกธาตุองค์เดิมที่พระสุมนเถระได้จากเมืองบางขลัง  สุโขไทนั้น  พระเถระเจ้าเห็นพ้องต้องกันกับพระเจ้ากือนาว่า  ควรใช้วิธีเสี่ยงทายหาที่ประดิษฐานถาวรต่อไป  จึงอัญเชิญผอบพระสารีริกธาตุนั้นสถิตบนหลังช้าง อธิษฐานแล้วปล่อยไป ปรากฏว่าช้างทรงพระธาตุนั้นเดินออกจากประตูหัวเวียงขึ้นไปบนดอย"อุสุจบรรพต(ดอยอ้อยช้าง) ถึงผาลาดแล้วหยุดอยู่ พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้สร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุจากเมืองบางขลังองค์นั้นไว้ในพระมหาเจดีย์นั้น ณ  "วันพุธ  ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน ๖ ปีชวด  อัฐศก  จุลศักราช ๗๔๘ (พ.ศ. ๑๙๒๙)  พระสารีริกธาตุองค์นั้นจึงประดิษฐานอยู่บนดอยอุสุจพรรพต  คือ  ดอยสุเทพ  มาจนถึงวันนี้......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤศจิกายน, 2561, 10:22:40 PM
(https://i.ibb.co/649zMRY/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

- มหาธรรมราชาฦๅไท -

สิ้นลิไทสุโขไทวุ่นวายมาก
น่านตีจากสองแฅวแปรประสงค์
ราชสำนักสุโขไทสิ้น"สายตรง"
เพื่อดำรงราชย์รองครองบัลลังก์

"พระบรมราชา"ขึ้นมาปราบ
ทรงกำราบได้เรียบแล้วรับสั่ง
ให้"ฦๅไท"ยุุวราาชนิราศวัง
รับแต่งตั้งครอง"ศรีสัชนาลัย"

"พระมหาเทวี"รับสนอง
กลับขึ้นครองบัลลังก์ตั้งต้นใหม่
"น่าน,สองแฅว"เคยงำจำปล่อยไป
จัดภายในให้ดีเท่านี้พอ....


          อภิปราย ขยายความ......

          หลังสิ้นพระญาลิไท  แคว้นสุโขไทเกิดความแตกแยกวุ่นวายอีกครั้ง  นันทบุรี  คือน่านเมืองต้นตระกูลราชวงศ์พระร่วง  แยกตัวไม่ยอมขึ้นสุโขไท  สรลวงสองแฅว  นัยว่ายามนั้นมีพระอนุชาของพระญาลิไทที่ย้ายจากสุโขไทไปพร้อมกับพระญาลิไทนั้นครองอยู่  ก็แข็งข้อไม่ยอมขึ้นกับสุโขไท

          ในราชสำนักกรุงสุโขไท  ยามนั้น  มีสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา  มเหสีพระญาลิไท กับ ฦๅไท  หรือศรีสุริยวงศ์กุมาร  เป็นหลักร่วมกับสมเด็จพระมหาเทวีวรราชเทวีในสมเด็จพระบรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา  กับ  พระศรีเทพาหูราชกุมาร  คุมอำนาจอยู่  ราชสำนักสุโขไทจึงอยู่ในสภาพ  "อึมครึม"  ไม่มีใครได้อำนาจปกครองอย่างเด็ดขาด

          จึงในปี พ.ศ. ๑๙๑๔  ที่พระญาลิไทสวรรคตนั้น  จะเรียกว่าแคว้นสุโไทตกอยู่ในกลียุคก็ได้  เพราะสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา  อ้างว่า  ฦๅไท  หรือ  ศรีสุริยวงศ์กุมารราชโอรสพระญาลิไท  จึงมีสิทธิ์ครองบัลลังก์สืบแทนพระราชบิดา  ฝ่ายสมเด็จพระมหาเทวี  ผู้มีฐานะเป็นราชธิดาพระญาเลอไท  พระขนิษฐาพระญาลิไท  และยังเป็นพระวราชชายาในในสมเด็จพระบรมราชา (ขุนหลวงพ่องั่ว)  กับเคยครองบัลลังก์กรุงสุโขไทมาก่อน  ย่อมมีสิทธิ์กลับครองบัลลังก์อีกครั้ง

          ดังนั้น  สมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุโขไทเป็นอย่างมาก  จึงใช้สิทธิยกกำลังจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาจัดระเบียบการปกครอง  โดยให้พระศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  โอรสพระญาลิไทไปเสวยราชสมบัตินครศรีสัชนาลัย  โดยมีสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา และอำมาตย์ผู้ใหญ่ช่วยสำเร็จราชการ  และให้สมเด็จพระมหาเทวี  มี  พระเทพาหูราชโอรสเป็นอุปราช  เสวยราชสมบัตินครสุโขไท  ทางฝ่ายเมืองน่าน  และ  สรลวงสองแฅวนั้น  ทรงละไว้  เหตุการณ์จึงสงบลง

เต็ม อภินันท์
มถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขีผึ้งไมย
๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, พฤศจิกายน, 2561, 10:21:51 PM
(https://i.ibb.co/fSqY75T/2.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร : ศรีสัชนาลัย

- มหาธรรมราชา ที่ ๒ -

บรมวงศานุวงศ์พระร่วงไซร้
มิพอใจตำแหน่งคิดแข็งข้อ
"ฦๅไท"ถูดลดฐานะราวหลักตอ
ไม่เหมือนพ่อเลิศล้ำ"ธรรมราชา"

จึงกระด้างกระเดื่องต่อ"เมืองใต้"
"บรมราชา"แก้ไข้ไร้ปัญหา"
ส่ง"เจ้าหญิงสุพรรณภูมิ"ลุ่มปัญญา
ให้ขึ้นมาเป็นเอกราชินี

"มหาธรรมราชาที่สอง"
"ฦๅไท"ครองอำสนาจราชสีห์
จำเริญวัยใหญ่กล้าบารมี
เคียง"พระศรีจุฬาลักษณ์"เป็นหลักเมือง


          อภิปราย ขยายความ ..............

          การที่สมเด็จพระบรมราชา (ที่ ๑)  หรือขุนหลวงพ่องั่ว  ถือสิทธิ์ในความเป็นพระราชสวามีในสมเด็จพระมหาเทวี  เสด็จจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาจัดการบ้านเมืองในแคว้นสุโขไท  โดยให้พระศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท) ไปครองนครศรีสัชนาลัยนั้น  สร้างความไม่พอใจให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์พระร่วงเป็นอย่างมาก  ครั้นฦๅไทกุมารเจริญวัยท่ามกลางการประคับประคองของสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดาและมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ได้แสดงอาการกระด้างกระเดื่องต่อกรุงศรีอยุธยาและราชสำนักสุโขไทอย่างเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ  จนสมเด็จพระบรมราชาต้องยกทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาปราบถึง ๒ ครั้ง  ไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะเจ้าเมืองน่านเข้าช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา

          สมเด็จพระบรมราชาทรงยึดครองศรีสัชนาลัย (ชากังราว)  ไว้ในพระราชอำนาจไม่ได้  จึงใช้อุบายครอบงำด้วยการคัดเลือกเจ้าหญิงในราชสำนักสุพรรณภูมิผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด  สุขุมลุ่มลึก  ได้พระองค์หนึ่งคือ  พระนางศรีจุฬาลักษณ์ (ไม่ทราบพระนามเดิม)  แล้วส่งขึ้นมาอภิเษกเป็นพระมเหสีในสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท) แห่งนครศรีสัชนาลัย

          ก่อนกำเนิดราชวงศ์สุพรรณภูมิ-สุโขทัยในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  เราเห็นเค้าลางได้จากความตรงนี้  กล่าวคือ  ขุนหลวงพ่องั่วได้อภิเษกเจ้าหญิงสุโขไท (ราชธิดาพระญาเลอไท) เป็นพระราชวรชายา  ต่อมาทรงนำเจ้าหญิงในราชสำนักสุพรรณภูมิ (นัยว่าเป็นพระราชนัดดาในพระองคฺ์)  ขึ้นมาอภิเษกเป็นพระมเหสีในสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  ความเกี่ยวพันเป็นเครือญาติในสองราชวงศ์เริ่มแน่นแฟ้นขึ้นเป็นลำดับ  ดังจะได้กล่าวต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤศจิกายน, 2561, 10:03:50 PM
(https://i.ibb.co/pfWkSXs/CHANG-LOM-TEMPLE.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์วัดช้างล้อม : ศรีสัชนาลัย

- พระเทพาหูราช -

กล่าวถึงทางสุโขไทสมัยวุ่น
ไทยไม่คุ้นเคยนามความต่อเนื่อง
"พระมหาเทวี"นารีเรือง
เหลน"นางเสือง"ครองบัลลังก์สองครั้งครา

พระนางมีโอรสทรงยศยิ่ง
ได้เป็นมิ่งมงกุฏสุดลำค่า
ครองสุโขไทไปสุดอยุธยา
นาม"เทพาหูราช"วิวัฒน์ไชย

ทรงเกิดก่อน"ฦๅไท"ได้ปีหนึ่ง
ทั้งสองจึงคู่เด่นแข่งเป็นใหญ่
ช่วงตอนนี้ประวัติศาสตร์ขาดหายไป
ซ่อนอยู่ในจารึกบันทึกความ.....


          อภิปราย ขยายความ..............

          กล่าวถึงเรื่องราวทางกรุงสุโขไทที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทยตามตำรา  คือ  สมเด็จพระมหาเทวี  ราชธิดาในพรญาเลอไท ไ ด้อภิเษกเป็นพระราชวรชายาในขุนหลวงพ่องั่วในขณะที่ขึ้นจากสุพรรณภูมิมาครองสรลวงสองแคว  ในช่วงที่พระญาลิไทจำต้องเสด็จากสุโขไทไปครองสรลวงสองแฅวแทนขุนหลวงพ่องั่วนั้น  พระมหาเทวีได้ครองกรุงสุโขไทแทนพระเชษฐาลิไท  และในปี พ.ศ. ๑๙๑๐ นั้น  ทรงประสูติราชโอรส ๑ พระองค์  ทรงนามว่า  "พระเทพาหูราช" (เกิดก่อน ฦๅไท ๑ ปี)

          ครั้นสิ้นพระญาลิไทแล้วเกิความแตกแยกขัดแย้งกันในราชสำนัก  โดยพระนางก็ชอบที่จะกลับคืนสู่บัลลังก์สุโขไท  ฝ่ายสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดาก็อ้างว่า  ฦๅไทกุมารควรแก่การครองบัลลังก์นี้แทนพระราชบิดา  ก่อนเหตุการณ์จะบานปลายไปมากนัก  สมเด็จพระบรมราชา (ขุนหลวงพ่องั่ว)  จึงเสด็จจากอยุธยาขึ้นมาจัดการ  ให้สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดาพาฦๅไทราชกุมารไปเสวยราชสมบัติ ณ นครศรีสัชนาลัย  ในพระนาม  "มหาธรรมราชาธิบดีศารีสุริยวงศ์"  ส่วนทางสุโขไทให้สมเด็จพระมหาเทวีกลับครองบัลลังก์ตามเดิม

          สมเด็จพระมหาเทวีครองกรุงสุโขไทครั้งที่่ ๒  ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๑๔  จนสิ้นพระชนม์ในราวปี พ.ศ. ๑๙๒๗  พระเทพาหูราชจึงขึ้นครองบัลลังก์สืบแทนพระราชมารดา (ตามความในศิลาจารึกวัดช้างล้อมสุโขทัย)  แต่ปรากฏว่าพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ในราชสำนักสุโขทัยเกิดการกระด้างกระเดื่อง  ด้วยคิดกันว่า  สมเด็จพระเทพาหูราชมิใช่เชื้อสายพระร่วงโดยตรง  เพราะเป็นโอรสในขุนหลวงพ่องั่วแห่งสุพรรณภูมิ  สมเด็จพระเทพหูราชจึงแก้ไขเหตุการณ์  โดยให้แม่นมเทดไปขอร้องให้พนมไสดำลาสิกขาออกมาช่วยราชการ  พนมไสดำผู้นี้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่รับใช้ใกล้ชิดในพรญาลิไทมานานมีผู้คนเคารพนับถือมาก  มีภรรยาชื่อเทด  เป็นแม่นมของพระเทพาหูราช  เมื่อพระญาลิไทสวรรคต  พนมไสดำจึงลาออกจากราชการแล้วบวชเป็นภิกษุถวายพระราชกุศลแด่พระญาลิไท

          แม่นมเทดไปอธิบายเหตุการณ์ในราชสำนักให้พระภิกษุพนมไสดำทราบ  แล้วขอร้องให้ลาสิกขาออกมาช่วยราชการในสมเด็จพระเทพาหูราช  พนมไสดำจึงลาสิกขาออกมารับตำแหน่งมหาอำมาตย์ในราชสำนักสุโขไท  เหตุความกระด้างกระเดื่องในราชสำนักจึงสงบลง....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, ธันวาคม, 2561, 10:21:43 PM
(https://i.ibb.co/86YX2qr/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม

- ฦๅไทครองแคว้น -

เกิดเหตุการณ์พลิกผันสะท้านหล้า
"พระบรมราชา"จอมสยาม
สิ้นพระชนม์หลังทรงออกสงคราม
เป็นไปตามธรรมดาสังขารธรรม

"ราเมศวร"จากละโว้โยธาใหญ่
บุกเข้าในกรุงศรีกรีธาย่ำ
จับ"ทองลัน"ฆ่าเสียแล้วครอบงำ
และหมายกล้ำกรายแดนแคว้นสุพรรณ

"พระเทพาหูราช"มิอาจนิ่ง
จึงยอมทิ้ง"สุโขไท"ด้วยหมายมั่น
รักษาเมืองพระบิดาค่าสำคัญ
วางแผนบั่น"ราเมศวร"สิ้นส่วนเกิน

มอบ"ฦๅไท"ครองแคว้นแทนตนนั่น
ลง"สุพรรณ"ครองสมบัติมิขัดเขิน
เป็น"จักรพรรดิ์"สร้างบ้านเมืองเจริญ
วางแผน"เดินหมากรุก"อยุธยา....


          อภิปราย ขยายความ..........

          ในราวปี พ.ศ. ๑๙๓๑  นัยว่า  พระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  เกิดอาการกระด้างกระเดื่องขึ้นอีก สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๑)  จึงยกกำลังขึ้นไปปราบปรามอีกครั้ง  แต่ครั้งนี้เกิดความสูญเสียและความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างใหญ่หลวง  กล่าวคือ  สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง  เจ้าทองลันราชโอรส  จึงขึ้นครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา  อยู่ได้เพียง ๗ วัน  สมเด็จพระราเมศวร (โอรสสมเด็จพระรามาธิบดี)  ยกกำลังจากละโว้ลงมายึดกรุงศรีอยุธยาได้  แล้วประหารชีวิตพระเจ้าทองลันเสีย  และยังเตรียมจะเข้ายึดสุพรรณภูมิไว้ในปกครองอีกด้วย

          สมเด็จพระเทพาหูราช  เห็นดังนั้น  จึงเร่งหาทางป้องกันแคว้นสุพรรณภูมิ  พร้อมทวงคืนราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาจากพระราเมศวร  ทรงมอบอำนาจการปกครองแคว้นสุโขไทให้พระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท) ครอบครอง  แล้วเสด็จจากสุโขไทขึ้นเสวยราชสมบัติแคว้นสุพรรณภูมิ  เฉลิมพระนามว่า  "สมเด็จบพิตรมหาราชบุตรศรีเทพาหูราชบรมจักรพรรดิราช"  นัยว่าเหตุผลที่เฉลิมพระนามว่า "มหาราชบุตร"  เพื่อแสดงให้เห็นว่า  ทรงเป็นราชบุตรองค์โตของขุนหลวงพ่องั่ว  เป็นพระเชษฐาธิราชในพระเจ้าทองลัน  ซึ่งในปีที่ลงมาครองสุพรรณภูมินั้น  พระองค์มีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษาแล้ว

          กล่าวทางฝ่ายพระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริวงศ์ (ฦๅไท) นั้น  ทรงแปรพระราชฐานจากศรีสัชนาลัยลงมาประทับ ณ กรุงสุโขไท  เมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๘ พรรษา  สมเด็จพระราชเทพีศรีจุาลักษณ์อัครมเหสี (เจ้าหญิงสุพรรณภูมิ)  ทรงนำพระสารีริกธาตุจากศรีสัชนาลัย (เมืองบน) ลงมาสุโขไท  แล้วทรงสร้างวัดในบริเวณนอกกำแพงเมืองสุโขไทด้านตะวันออกและทิศใต้ (หัวนอน) หลายวัด  บรรจุพระสารีริกธาตุไว้ในพระมหาเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ณ วัดอโสการาม (สลัดได)  วัดบูรพาราม (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดตระพังทองหลาง-เจดดีย์สูง)  ฝ่ายสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดานั้นตามเสด็จลงมาด้วย  ทรงสร้างวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม (ตาเถรขึงหนัง)  และวัดต้นจันทน์ (บรรจุพระพิมพ์นางเสน่ห์จันทน์)

          พระญาฦๅไททรงขยายพระราชอำนาจ แผ่ราชอาณาเขตของแคว้น  ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกวัดอโสการาม (สลัดได)  ว่า ......... " พระชนมายุ ๓๘ ทรงปกครองแว่นแคว้นและโลกทั้งสาม  ได้รับการปกครองโดยธรรม  มีความปรารถนาสมบูรณ์แล้ว  จุลศักราช ๗๐๐........รัฐมณฑลกว้างขวาง.............เป็นที่รู้กันอยู่ว่าในด้านทิศตะวันออกทรงกระทำเมืองนครไทยเป็นรัฐสีมา  ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ทรงทำเมืองวัชระปุระ (เพชรบูรณ์) เป็นรัฐสีมา  ด้านทิศใต้ทรงทำดอยอุ้ย (พระบาง=นครสวรรค์) เป็นรัฐสีมา  ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ทรงทำเมืองเชียงทอง (ในกำแพงเพชร)  เป็นรัฐสีมา  ด้านทิศตะวันตกทรงทำเมืองนาคปุระเป็นรัฐสีมา...."

          ประวัติศาสร์ชาติไทยตอนนี้ขาดกระรุ่งกระริ่งความสับสนมาก  เพราะขาดหลักฐานสำคัญคือศิลาจารึกและสมุดข่อย  ศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลักพลัดพรายจากที่เดิมกระจัดกระจายไป  ที่พบบ้างก็ยังมิได้อ่านแปลข้อความ  เช่นศิลาารึกวัดอโสการาม  วัดช้างล้อม (สุโขทัย)  วัดตาเถรขึงหนังเป็นต้น  บัดนี้ทางการได้อ่านและแปลจารึกได้หลายหลักแล้ว  ทำให้ทราบความในช่วงตอนนี้มากขึ้น  จึงใคร่นำมาปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยให้สมบูรณ์ต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, ธันวาคม, 2561, 10:13:30 PM
(https://i.ibb.co/YRJpdby/1384721101.jpg) (https://imgbb.com/)

- ศรีจุฬาลักษณ์ในตำนาน -

ตำนานเก่าเล่าเป็นแนวแล้วเขียนใหม่
เรื่องเกิดในราชสำนักมีหลักฐาน
“สนมเอกพระร่วงเจ้า”เยาวมาลย์
นามขนาน“นพมาศ”เชื้อชาติพราหมณ์

นางประดิษฐ์กระทงงามลอยน้ำได้
พระร่วงให้ถือเป็นแบบอย่างสยาม
ทุกทวยไทยได้ยึดประพฤติตาม
ประเพณีดีงามสยามยง

“ท้าวศรีจุฬาลักษณ์”ตามหลักเล่า
มีนามเก่า“นพมาศ”นวลระหง
สัญลักษณ์ติดอยู่คู่กระทง
และคู่องค์พระร่วงเจ้าเนาตำนาน

มองทั่วเมืองสุโขไทไร้“นพมาศ”
ประวัติศาสตร์เท่าที่มีหลักฐาน
คือ”ศรีจุฬาลักษณ์”ประจักษ์พยาน
จารึกอ่านชัดเจนเป็นเรื่องจริง

นางจาก“สุพรรณภูมิ”เมืองลุ่มราบ
พอสืบทราบฐานะเก่าเป็นเจ้าหญิง
“พ่องั่ว”มอบ“ฦๅไท”ไว้แอบอิง
ได้เป็นมิ่งเมืองโต“สุโขไท”

“พระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์”
องค์เอกอัครมเหสีที่ยิ่งใหญ่
“แม่อยู่หัว”จารึกบันทึกไว้
คนรุ่นเราอ่านได้เมื่อไม่นาน


          อภิปราย ขยายความ .......

          มเหสีในพระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  มีพระนามตามจารึกวัดอโสการาม (และจารึกวัดบูรพาราม) ว่า  "สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์อัครมเหสี."...  ในขณะที่พระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  ขยายพระราชอำนาจไปยังหัวเมืองต่าง ๆ นั้น  สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ก็ทรงสร้างวัดวาอาราม  ตามที่ปรากฏในจารึกว่า

           “.....ใช่แต่สมเด็จพระราชเทวีสร้างอโสการามอันเดียวนี้  ทั้งทักษิณาราม  เสด็จแม่อยู่หัวก็สร้างแก่มหาวันรัตนเถระ  แล้วท่านประดิษฐานนาร้อยหนึ่งเป็นข้าวสิบเกวียน  ไพร่สิบเรือนแต่งพยาบาลวัดนั้น  ทั้งลังการามก็แล้ว  คำนับทั้งบูรพารามก็แล้ว  สัมฤทธิ์ทั้งศีลวิสุทธาวาสที่พ่ออยู่หัวเสด็จเสวยพระผนวชกระทำกรรมในท่งชัยก็เสร็จ  ทั้งที่้เสนางที่เสด็จพระมหาสวามีเจ้าท่านสถิตก็เถิงที่สัมฤทธิ์  ทั้งศรีจุฬาวาสที่สงสการสมเด็จพ่อออกท่านก็สำเร็จ  ทั้งพระธรรมราชบูรณ์ที่สมเด็จพระราชมารดาก็สัมฤทธิ์แล้ว....”

          สมเด็จพระราชเทพี  หรือ  เทวีศรีจุฬาลักษณ์.. พระองค์นี้มีพระนามตรงตามตำนานประเพณณีลอยกระทง  จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่า  นางนพมาศ  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในตำนานนั้น  ผู้แต่งตำนานได้นำเอาพระนามในศิลาจารึกนี้ไปใช้  ซึ่งจะได้นำรายละเอียดมาแสดงในตอนต่อไป...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
ชอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, ธันวาคม, 2561, 10:48:52 PM
(https://i.ibb.co/59yHrFY/17597-new-935940.jpg) (https://imgbb.com/)

- นางนพมาศ ...ปริศนา -

ตำนานเก่าเล่าไว้หลายฉนำ
ไทยจดจำเรื่องเก่าที่เล่าขาน
"นพมาศ"นวลอนงค์เลิศวงศ์วาน
ผู้เชี่ยวชาญศาสนาประเพณี

สนมเอกพระร่วงเจ้าเสาวลักษณ์
ได้ทรงศักดิ์"คุณท้าว"เจ้าหน้าที่
คุมชาววังนางสนมกรมสตรี
เหล่านารีในวังต่างยำเกรง

อ่านจารึกสุโขทัยจบหลายหลัก
ไม่ประจักษ์นามจริงของ"หญิงเก่ง"
ทำให้คิดคนหลังตั้งกันเอง
แล้วละเลงเรื่องประกอบตามชอบใจ


          อภิปราย ขยายความ .............

          ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า  "พระร่วง"  เป็นนามศักดิ์สิทธิ์ของสุโขทัย  ในตำนานที่กล่าวถึงพระร่วงลูกนางนาค  มีวาจาสิทธิ์  ส่วนในประวัติศาสตร์จะกล่าวถึงกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง  หรือราชวงศ์สุโขทัย  แต่ในความรู้ความเข้าใจของคนไทยในยุคต่อมาจะนำเอาพระร่วงในตำนานมาปะปนกับพระร่วงในประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะ  พ่อขุนรามคำแหง  เป็นพระญาร่วง  หรือ  พระร่วงเจ้าผู้มีศักดาฤทธานุภาพมากมายสุดพรรณนา

          เชื่อกันมานานแล้วว่า  มีนางนพมาศธิดาพราหมณ์ปุโรหิตในราชสำนักพระร่วงเจ้า (หมายถึงพ่อขุนรามคำแหง)  ชื่อนางนพมาศ  ฉลาดเลิศในวิชาการทุกแขนง  เมื่อเจริญวัยได้ ๑๖ ปี  บิดานำตัวเข้าถวายเป็นนางสนมในพระร่วงเจ้า  ต่อมาในเทศกาลลอยกระทง  ซึ่งเป็น  "พระราชพิธีจองเปรียง"  มีการชักโคม  ลอยโคม  เป็นเอิกเกริก  นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์กระทงลอย  เป็นรูปดอกบัวบานกลีบงดงามถวายพระร่วงเจ้า ทรงโปรดมาก  จึงประกาศให้คนไทยใช้รูปแบบกระทงดอกบัวบานของนางนพมาศต่อไป  พร้อมกันนั้นก็ทรงสถาปนาให้นางนพมาศเป็น  "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์"  พระสนมเอกปกครองดูแลนางสนมกำนัลในตลอดไป  นามนพมาศจึงอยู่คู่กระทงแต่นั้นเป็นต้นมา

          ภาพเหตุการณ์ที่บรรยายไว้ในตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ตำนานนางนพมาศ  เป็นภาพเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดว่า  เกิดในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  และกรุงรัตนโกสินทร์เกือบทั้งหมด  มีเพียงตัวละครเท่านั้นที่อ้างว่าเป็นชาวสุโขทัย  เรื่องนี้มีเงื่อนงำที่ควรทำให้กระจ่างต่อไป

          มีประวัติศาสตร์  ที่จารึกไว้ในแผ่นศิลาวัดอโสการาม  เรียกพระนามมเหสีในพระมหาธรรมราชธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท) ว่า  "สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์...."  จารึกวัดบูรพาราม  เรียกพระนามว่า  "สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์..."  เป็นพระราชมารดาพระรามกุมาร (ไสยลือไท)  และ  อโสกกุมาร  ทรงเป็น  "แม่อยู่หัว"  ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  หลังจากที่พระญาฦๅไทสวรรคต  พระนางจะมีพระนามเดิมว่า  "นพมาศ"  หรือไร  ไม่ปรากฏ  และในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงนั้น  ไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้เลยครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่ยขี้ผึ้งไทย
๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, ธันวาคม, 2561, 10:21:12 PM
(https://i.ibb.co/XWb7KD1/00000.jpg) (https://imgbb.com/)

- "ศรีจุฬาลักษณ์" ยุคอยุธยา -

"ศรีจุฬาลักษณ์" นามนี้มีมนต์ขลัง
กาลล่วงจนหนหลังล้มตั้งได้
เมื่อสิ้นกรุงใหญ่โต"สุโขไท"
นามนี้ไม่จมดินสูญสิ้นตาม

ยุค"กรุงศรีอยุธยา"ได้ปรากฏ
นามทรงยศมีอยู่คู่สยาม
เป็นตำแหน่ง"คุณท้าว"บ้างฉาวนาม
ล้วนแต่งามเลิศลักษณ์ประจักษ์ตา.....


          อภิปราย ขยายความ.................

          พักบทบาทราชกรณียกิจสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ไว้ก่อน  ขอกล่าวข้ามกาลสุโขไทล่วงเข้ากาลสมัยกรุงศรีอยุธยา  ที่เกี่ยวกับนาม  "ศรีจุฬาลักษณ์"  ต่อไป

          นาม  "ศรีจุฬาลักษณ์"  ปรากฏในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  เมื่อพระไชยราชาธิราช  โอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ ๒ (หรือสมเด็จพระพันวษาในตำนานเรื่องขุนช้างขุนแผน)  ยกกำลังจากพิษณุโลกลงไปครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระไชยราชาพระองค์นี้เป็นโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่เกิดจากเจ้าหญิงสุโขไท  ขณะที่ดำรงตำแหน่งพระอุปราชเสวยราชย์อยู่พิษณุโลกนั้น  ได้เจ้าหญิงสุโขไทพระองค์หนึ่งเป็นชายา  ครั้นเสด็จลงไปครองกรุงศรีอยุธยาก็ทรงนำพระชายาพร้อมด้วยบริพารซึ่งเป็นบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักพิษณุโลกลงไปเป็นอันมาก

          ครั้นครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาแล้ว  สมเด็จพระไชยราชาทรงประกาศตั้ง  "คุณท้าว"  แทนที่จะสถาปนาสมเด็จพระมเหสี  "คุณท้าว"  หรือพระสนมเอกในสมเด็จพระไชยราชาธิราชมีทั้งหมด ๔ พระองค์ คือ
          ๑. ท้าวศรีสุดาจันทร์  เจ้าหญิงในราชวงศ์ละโ ว้ อโยธยา
          ๒. ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เจ้าหญิงในราชสำนักสุโขไท
          ๓. ท้าวอินทรสุเรนทร์  เจ้าหญิงในราชสำนักนครศรีธรรมราช  ศรีวิชัย
          ๔. ท้าวอินทรเทวี  เจ้าหญิงในราชสำนักสุพรรณภูมิ

          ลุสมัยสมเด็จพระนารายณ์ปรากฏว่า  พระสนมเอกของพระองค์องค์หนึ่งนามว่า  "ศรีจุฬาลักษณ์"  มีนามเดิมว่า  "แจ่ม"  หรือ  "แช่ม"  เป็นขนิษฐาของพระเพทราชา  เชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งบ้านพลูหลวง  พระนางศรีจุฬาลักษณ์องค์นี้ปรากฏเรื่องราวของนางในบันทึกทั้งของไทยและฝรั่งว่าเป็นคนสวยงาม  แต่  "มักมากในกามคุณ"  มีเรื่องคาวฉาวโฉ่  จนต้องถูกประหารชีวิตในที่สุด

          นาม  "ศรีจุฬาลักษณ์"  ของสมเด็จพระราชเทพีแม่อยู่หัวแห่งสุโขไท  เป็นพระนามที่มีมนต์ขลัง  ทำให้ได้รับการถ่ายทอดสู่หญิงงามในราชสำนักพิษณุโลก กรุงศรีอยุธยาเรื่อยลงมา  แต่มิได้นำไปในใช้ในตำแหน่งพระมเหสีเท่านั้น  จึงเป็นไปได้ว่ า ผู้บอกเล่าตำนานเรื่องประเพณีการลอยกระทงทรงประทีป  ถือเอาพระสนมเอกหรือ  "คุณท้าว"  ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  ตั้งแต่สมัยพระไชยราชาธิราช  เป็น "ตัวประกอบเรื่อง" ตลอดมา

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, ธันวาคม, 2561, 10:24:30 PM
(https://i.ibb.co/XXmFJ6C/tuk-tuk-korat.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธรูปสำริด ที่มีจารึกที่ฐาน
Cr. Photo By คุณ tuk-tuk@korat

- หลักฐานพยาน "แม่อยู่หัว" -

"ศรีจุฬาลักษณ์"เป็นใครบอกไว้ชัด
จารึกวัดสองชอบตอบปัญหา
"อโสการาม"ตามอ้างมา
"บูรพาราม"เล่ากล่าวยืนยัน

พระพุทธรูปอู่ทองปรองดองศิลป์
บอกระบิลพยานหลักฐานมั่น
พระนางศรีจุฬาลักษณ์จากสุพรรณ
เป็นมิ่งขวัญสุโขไทปลายยุครุจน์

ครั้น"พรญาฦๅไท"สวรรคต
"รามโอรส"ยังเยาว์บริสุทธิ์
"ศรีจุฬาลักษณ์"ประคองพี่น้องนุช
ซึ่งเป็นบุตร อ่อนวัยให้จำเริญ

พระนางนั่งบัลลังก์รัตน์จัดการเรื่อง
ครองบ้านเมืองดีล้วนควรสรรเสริญ
"เทพาหูราช"หนุนหลังให้ย่างเดิน
ทรงเพลิดเพลินทางโลกและทางธรรม...


          อภิปราย ขยายความ........

          สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีในพระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  มีหลักฐานยืนยันว่า  พระนางมิใช่ชาวสุโขทัยโดยกำเนิด

          ... นอกจากศิลาจารึกวัดอโสการาม  และ  จารึกวัดบูรพารามแล้ว  อาจารย์พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราาณคดีและพิพิธภัณฑ์กรมศิลปากร  ได้พบหลักฐานเพิ่มเติมอีกชิ้นหนึ่งคือ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง (สุพรรณภูมิ)  เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด  หน้าตักกว้างประมาณ ๓๕ ซม.  สูงประมาณ ๕๐ ซม.  พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ  ปางมารวิชัย  ที่ฐานองค์พระมีจารึกอักษรภาษาไทย

          ...อักษรจารึกนี้จัดพิมพ์อยู่ในหนังสือประชุมจารึกภาคที่ ๔  สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๑๓  จัดลำดับเป็นหลักที่่ ๑๓๐  จารึกฐานพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง  ทะเบียนพระพุทธรูปองค์นี้คือ  อ.ท. ๓๔ อาจารย์ประสาน  บุญประคอง  อดีตผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณกรมศิลปากร  อ่านได้ความเป็นคำอ่านว่า  " ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้"  ได้ความหมายว่า  " พระพุทธรูปองค์นี้เจ้าแม่สั่งให้สร้างไว้ประจำวัดบูรพาราม"

          นัยว่า  พระพุทธรูปองค์นี้สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์โปรดให้หล่อขึ้นไว้ประจำวัดบูรพาราม  พร้อมกับทำศิลาจารึกประกาศไว้เป็นหลักฐานเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๕๕  ศิลาจารึกหลักนั้นหายไปจากวัดบูรพาราม  พบอีกครั้งที่วัดศาลาครืน  เขตจอมทอง  พระครูปลัดสนธิ  จิตตปุญโญ  เจ้าอาวาส  นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  และโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรรับมาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ  เมื่อ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒  อยู่ในทำเนียบจารึกประวัติศาสตร์  ประชุมจารึกภาคที่ ๗

          ...ความในจารึกวัดบูรพารามกับจารึกวัดอโสการามคล้ายกัน  อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์  กล่าวว่า  "เจ้าแม่ผู้สร้างพระพุทธรูปไวับกับวัดบูรพารามก็ต้องมิใช่ชาวสุโขทัยแต่เป็นชาวเมืองในลุ่มแม่น้ำภาคกลางของอาณาจักรอยุธยา"  รายละเอียดของเรื่องนี้มีอยู่ในข้อเขียนของ  อ.พิเศษ  ซึ่่งตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ  "ศิลปวัฒนธรรม  ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔  ในชื่่อเรื่องว่า  "เจ้าแม่ศรีจุฬาลักษณ์  มิใช่ชาวสุโขทัย"  ใครสนใจรู้รายละเอียดก็โปรดไปหาอ่านดูได้เลย

          ...ในที่นี้สรุปได้ว่า  บุคคลเจ้าของนามว่า  "ศรีจุฬาลักษณ์"  มีตัวตนอยู่จริงในศิลาจารึก ๒ หลัก  คือ  สมเด็จพระราชเทวี  หรือ  สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักลักษณ์  อัครมเหสีในพระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  พระนางเป็นศรีสะใภ้ของพระยาลิไท  แห่งกรุงสุโขไท

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, ธันวาคม, 2561, 10:22:28 PM
(https://i.ibb.co/GpG7Ykt/16106071-1066359350157520-834865327329011767-n.jpg) (https://imgbb.com/)
จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด  ด้านที่ ๑


- ต้นตระกูลพระร่วง -

เมื่อพระญาฦๅไทขยายอำนาจ
จึงพระญาติผู้ใหญ่ไม่เป็นส่ำ
ต้องขอผูกไมตรีฟื้นความจำ
ร่วมกันทำสัญญาสามัคคี

ปู่พระยาหลานพระยาสาบานสงบ
จะร่วมรบศัตรูสู้ไม่หนี
ผูกแคว้นน่านสุโขไทมั่นไมตรี
เป็นเมืองพี่เมืองน้องไปยาวนาน


          อภิปราย ขยายความ...............

          พระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์  ฦๅไท  เมื่อได้ครองแคว้นสุโขไทแล้ว  ทรงขยายพระราชอาณาเขตแคว้น  โดยหมายพระทัยจะให้ได้กว้างไกลเทียบเท่าสมัยพ่อขุนรามคำแหง  ยามนั้นพระยาเมืองน่านอยู่ไม่เป็นสุข  จึงขอทำไมตรีกับสุโขไท  โดยเชิญพระญาฦๅไทเสด็จไปเยือนและทำสัญญาสาบานเป็นไมตรีกัน (ตามความในศิลาจารึกวัดช้างค้ำ จ.น่าน)  พระญาฦๅไทก็เชิญ "ปู่พระยา" (คำตัน)  จากเมืองน่านเยือนสุโขไท

          ปู่พระยาเมืองน่านมาเยือนสุโขไท  แล้วทำสัญญาสาบานกัน  จารึกข้อความไว้ในแผ่นศิลา  เป็นสัญญาสงบศึก  จารึกหลักนี้เรียกกันว่า  "จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด"  หรือ  "จารึกปู่สบถหลาน"  เป็นหลักที่ ๔๕ ในทำเนียบจารึก  ปีที่ทำจารึกคือ พ.ศ. ๑๙๓๕  จารึกหลักนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของ  ขุนศรีอินทราทิตย์ต้นราชวงศ์พระร่วงกับเมืองน่าน  โดยฝ่าย "ปู่พระยา" อ้างเอาผีบรรพบุรุษฝ่ายตนมาเป็นพยาน  ฝ่าย "หลาน พระญา"  ก็อ้างเอาบรรพบุรุษฝ่ายตนมาเป็นพยานเช่นกัน  จารึกหลักนี้บอกให้รูจักชาติตระกูลของทั้งสองฝ่ายว่ามาจาก "ดำพงกาวชาวเลือง" แห่งเมืองน่าน  ดังความที่ปรากฏในจารึกว่าดังนี้

          ..."(ส)บถด้วยกันนี้จุ่งให้ได้แก่....(อารัก)ษ์ทั้งหลายอันมีในน้ำ ในถ้ำ.......(ว)งศาหนพระยาผู้ปู่  ปู่พระยา.....ปู่เริง  ปู่มุง  ปูพอง  ปู่ฟ้าฟื้น ....(ผา)กอง  เท่านี้ดำพงศ์กฺําว...(ผี)สิทธิแล  แต่นี้ดำพงศ์ผีผู้ปู่ผาคำ....(ฝูู)งผู้หลาน  ปู่ขุนจิด  ขุนจอด  ปู่พระยาศ(รีอินทราทิ)ตย์  ปู่พระยาบาน  ปู่พระยารามราช  ปู่ไสส.....(ส)งคราม  ปู่พระยาเลอไท  ปู่พระยางั่วนำถม ปู่.....(พระ)ยามหาธรรมราชา  พ่องำเมือง  พ่อเลอไทย  และ.....(ละไท)ย  ผู้ดีผีชาวเลืองเท่านี้แล  แม้ผู้ใดบซื่อไซร้ ให้.....(ผี)มัน  ทั้งเสื้อใหญ่เขาพูคา  เขาผาดานผาแ......(ด)ง  แฝงแม่พระศักดิ์  อารักษ์ทุกแห่ง  แต่งตาดูสองปู่หลานรักกัน  ผิผู้ใดใครบซื่อ จุ่งผีฝูงนี้หักก้าวน้าวคออย่าเป็นพระยา....."

          จารึกหลักนี้บอกชัดเจนแล้วว่า  ขุนบางกลางท่าวหรือผีปู่พระยาศรีอินทราทิตย์เป็นลูกขุนจอด  ขุนจอดเป็นลูกหลานปู่ผาคำ  ปู่ผาคำเป็นลูกปู่ผากอง  ในตระกูลดำพงศ์  เผ่ากาว  ชาวเลือง  แห่งเมืองน่าน  ดังนั้นราชวงศ์น่านจึงเป็นต้นตระกูลราชวงศ์สุโขไท  พระยาคำตัน  แห่งเมืองน่าน  เป็น "ปู่พระยา" พระญาฦๅไทแห่งสุโขไท  เป็น "หลานพระยา"  ทั้งสองได้ร่วมทำสัญญาเป็นไมตรีมิรุกรานกัน  หากใครมารุกรานสุโขไท  น่านจะเข้าช่วยเหลือ  หากใครมารุกรานน่าน  สุโขไทจะเข้าช่วยรบ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, ธันวาคม, 2561, 10:25:22 PM
(https://i.ibb.co/cvxm22R/luckyclover.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดมหาธาตุ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ. สุโขทัย
Cr. Photo By คุณ luckyclover

- แม่อยู่หัวศรีจุฬาลักษณ์ -

"ฦๅไท"ครองราชสมบัติรัฐพระร่วง
ชนทั้งปวงเริ่มชอบชมรอบด้าน
แต่บุญน้อยเนื่องจากกรากกรำงาน
ทรงถึงวารสวรรคตเหมือนหมดบุญ

พระโอรสสององค์ทรงเยาว์นัก
จึ่ง"แม่ศรีจุฬาลักษณ์"ทรงเกื้อหนุน
นั่งบัลลังก์ราชาพระเดชพระคุณ
รับการุณย์"เทพาหูราช"ประกัน


          อภิปราย ขยายความ.........

          พระมหาธรรมราชาฦๅไท  ทรงทำสัญญาสงบศึกกับ "ปู่พระยา" (คำตัน) แห่งเมืองน่านดังกล่าวแล้ว  บ้านเมืองสุโขไทตั้งอยู่ในความสงบ

          ในเวลาเดียวกันนั้น  สมเด็จพระมหาราชบุตรศรีเทพาหูราชศรีบรมจักรพรรดิ์ดำเนินแผนการณ์จะยึดครองกรุงศรีอยุธยา  จึงยกกำลังจากสุพรรณภูมิขึ้นไปเสวยราชสมบัติ ณ "กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์"  ทำพิธีราชาภิเษกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๑๙๔๐  และทรงทำศิลาจารึกเป็นกฎหมายลักษณะโจรมาปักประกาศไว้กลางเมืองสุโขไท  เป็นการแสดงพระราชอำนาจของพระองค์ว่ายังปกคลุมสุโขไทอยู่

          ปี พ.ศ.๑๙๕๒  พระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท) สวรรคตด้วยพระชมน์เพียง ๔๑ พรรษา  สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ทรงสร้างวัดบูรพารามและพระพุทธรูปถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชสวามีในปีเดียวกัน (จารึกวัดบูรพาราม)

          ยามนั้นพระราชโอรสของพระองค์ยังทรงพระเยาว์  พระรามราชโอรส (ไสยลือไท)  จึงได้ครองสุโขไทตามสิทธิ์  ส่วนอโสกกุมารอนุชาเป็น "ขุนยี่"  ครองศรีสัชนาลัย  แต่เพราะทั้งสองพระองตค์ยังทรงพระเยาว์มาก  สมเด็จพระศรีเทพาหูราชจึงสนับสนุนให้สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์เป็น  "แม่อยู่หัว"  สำเร็จราชการแทนพระราชราชโอรส  ปกครองแคว้นสุโขไท  โดยการสนับสนุนของสมเด็จพระศรีเทพาหูราช

          สภาพของแคว้นสุโขไทยามนี้จึงมีผู้ครองแคว้นซ้อนกัน ๓ ชั้น  กล่าวคือ  พระยาราม (ไสยลือไท)  เป็นผู้ครองแคว้น  แม่อยู่หัวศรีจุฬาลักษณ์  เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  สมเด็จบพิตรมหาราชบุตรศรีเทพาหูราช  ศรีบรมจักรพรรดิ์แห่งเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ (กำแพงเพชร)  เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์บำรุงดูแล (ตามความในศิลาจารึกลักษณะโจร)

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  กล่าวว่า  สมเด็จพระอินทราชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๙๕๒  พระอินทราชาในที่นี้คือ  สมเด็จบพิตรมหาราชบุตรศรีเทพาหูราช  ศรีบรมจักรพรรดิ์  ทรงอาศัยอำนาจจากสุพรรณภูมิผนวกกับสุโขไท  ยกกำลังลงมาครองกรุงศรีอยุธยา  เป็นเรื่องที่จะได้กล่าวในตอนต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พืพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, ธันวาคม, 2561, 10:54:01 PM
(https://i.ibb.co/NC0d1RK/p1rm8kmmh-Mw80-Xq-XKGo-o.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดราชบูรณะ : เจ้าสามพระยาสร้างถวายเจ้านครอินทร์

- พระร่วงนครอินทร์ -

"พระเทพาหูราช"กษัตริย์สยาม
หลายพระนามหลายเมืองที่เรืองสรรค์
จากสุโขไทไปสุพรรณ
มาตั้งมั่นเมืองกำแพงแต่งสองแฅว

ส่งทูตไทยไปจีนแผ่นดินใหญ่
เมื่อสมัยอยู่สุพรรณสรรค์กระแส
แข่งอยุธยาบารมีแปร
เป็นเพชรแท้หนึ่งยุคประมุขไทย

เป็น"พระร่วงนครอินทร์"จีนยกย่อง
ทรงขึ้นครองอยุธยาอำนาจใหญ่
แล้วเริ่มรวมดินแดนรัฐแคว้นไกล
เข้าอยู่ในนาม"สยาม"ล้ำเดชา

"สุพรรณภูมิ+สุโขทัย"ได้กำเนิด
แจ่มบรรเจิดอำนาจวาสนา
มีกษัตริย์หลายพระองค์ดำรงมา
อยุธยารุ่งเรืองกระเดื่องนาม


          อภิปราย ขยายความ.........

          สมเด็จพระเทพาหูราชควรถือได้ว่าพระองค์เป็น  "อัจฉริยกษัตริย์"  พระราชประวัติของพระองค์ค่อนข้างสับสน  เริ่มจากการเป็นราชบุตรองค์ใหญ่ของสมเด็จพระบรมราชาธิราช  หรือขุนหลวงพ่องั่วแห่งสุพรรภูมิ  ประสูติแต่พระมหาเทวีราชธิดาในพระยาเลอไทแห่งสุโขไท  ทรงเป็นกษัตริย์ครองสุโขไทสืบแทนพระราชมารดา และมอบบัลลังก์สุโขไทให้มหาธรรมราชาฦๅไท (ญาติผู้พี่) ครอง  แล้วลงไปครองสุพรรณภูมิ  สืบแทนพระราชบิดา  ทรงส่งทูตจากสุพรรณภูมิ (สยาม=เสียมก๊ก)  ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักจีน  นำช่างจีนมาสอนทำเครื่องปั้นดินเผาในไทย  จดหมายเหตุจีนเรียกพระองค์ว่า  "พระร่วง"  (ทำให้นักวิชาการไทยเข้าใจว่า  พ่อขุนรามคำแหงไปเมืองจีน)

          ทรงยกพลขึ้นมาทำพิธีราชาภิเษกที่ "กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์"  แล้วประทับสะสมกำลังอยู่  และโปรดให้ทำศิลาจารึกเป็นกฎหมายลักษณะโจรมาปักประกาศไว้กลางเมืองสุโขไท (ศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ )  ทั้งยังทรงสร้างเมืองขึ้นใหม่ริมน้ำน่านฝั่งตะวันตก  ตรงข้ามกับนครสรลวงสองแฅว  ให้นามเมืองนี้ว่า  "ชัยนาทบุรี"  ให้เป็นที่ประทับของเจ้าหญิงสุโขไทผู้เป็นพระราชวรราชาของพระองค์ (พระราชมารดาเจ้าสามพระยา)

          สมเด็จพระเทพาหูราชทรงสะสมกำลังพระราชอำนาจจนยิ่งใหญ่ขึ้นแล้วจึงยกกำลังลงยึดกรุงศรีอยุธยา  ขึ้นครองบัลลังก์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้ในปี พ.ศ. ๑๙๕๒  เฉลิมพระนามว่า  "สมเด็จพระนครินทรราชา"  คนทั่วไปเรียกพระองค์ว่า  "เจ้านครอินทร์"  ทรงเป็นต้นพระราชวงศ์  "สุพรรณภูมิ+สุโขทัย"

          มีจดหมายเตุจีนกล่าวถึงราชวงศ์พระร่วงส่งทูตไปเมืองจีนในระยะเวลาก่อนปี พ.ศ.๑๙๓๘ เล็กน้อย  นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยวิเคราะห์กันว่า  พระร่วงที่ส่งทูตไปเมืองจีนตามจดหมายเหตุจีนนี้  คือเจ้านครอินทร์  เป็นพระราชนัดดาของขุนหลวงพ่องั่ว  ต่างก็วิเคราะห์สันนิษฐานกันไปด้วยเหตุด้วยผลจากการคิดค้นของตนเอง  โดยมีได้ยึดหลักฐานโบราณคดีเท่าที่ควร  เกี่ยวกับเรื่องนี้  หลักฐานสำคัญที่ควรยึดถือคือศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๓๘  ที่นักอ่านจารึกเรียกว่า  กฎหมายลักษณะโจร........ศิลาจารึกหลักนี้  บอกเล่าเรื่องราวที่สมเด็จพระเทพาหูราชเสด็จจากสุพรรณภูมิขึ้นไปเสวยราช ณ เมืองกำแพงเพชร  วันเวลาที่ระบุไว้ในจารึกนี้ว่า  ""....๕ ศกนักษัตรไพสาขปุรณมี  พฤหัสบดี  หนไทยมื้อลวงเม้า,,, ลัคคนาในผคุนี  เพลาค่ำ....."

          วัน  เวลา  ดังกล่าวนี้  ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร  ปราชญ์ทางวิชาการประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบัน ท่านคำนวณออกมาให้เป็นที่ยุติเชื่อถือได้ว่า  ตรงกับ  วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ เมษายน  พุทธศักราช ๑๙๔๐  ดังนั้น  ก่อนปี พ.ศ. ๑๙๓๘  ที่ว่าหลานขุนหลวงพ่องั่วส่งทูตไปเมืองจีนนั้น  เป็นการสันนิษฐานผิดพลาดของนักวิชาการไทย  เพราะหลานขุนหลวงพ่องั่ว  คือ  ลูกของสมเด็จพระเทพาหูราช  มีพระเจ้าสามพระยา เป็นต้นนั้น  ยังมิได้ครองบัลลังก์ใด ๆ เลย  ในเวลาก่อนปี พ.ศ. ๑๙๓๘  นั้น  เจ้านครอินทร์ยังครองเมืองสุพรรณภูมิอยู่  หลังจากส่งทูตไปเมืองจีนแล้วจึงขึ้นไปทำพิธีราชาภิเษก  และประทับอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชรในปี พ.ศ. ๑๙๔๐

          การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์  ต้องยึดถือตัวเลขของกาลเวลาเป็นสำคัญ  ไม่อย่างนั้นประวัิศาสตร์จะสับสนดังที่เป็นมา  เรื่องราวในประวัติศาสตร์ตอนนี้คือส่วนที่ขาดหายไปจากประวัติศาสตร์ชาติไทย  ซึ่งควรต้องปะติดปะต่อซ่อมแซมปรับปรุงกันใหม่ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, ธันวาคม, 2561, 10:19:22 PM
(https://i.ibb.co/b6fYpYq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเขาพนมเพลิง ศรีสัชนาลัย

- ปัญหา "มหาธรรมราชา" -

นามศักดิสิทธิ์สุโขไทไม่ตกต่ำ
"มหาธรรมราชา"ลำดับสาม
มีความนัยซ่อนอยู่ยากรู้ความ
ต้องดูตามจารึกพงศาวดาร

สุโขไท-สองแฅวพลิกแลหลัง
ไปถึงครั้ง"ลิไท"แปรราชฐาน
อยู่"สองแฅว"เจ็ดปีนี่เนิ่นนาน
มีศฤงคารอีกองค์หนึ่งทรงครรภ์

เมื่อกลับคืนสุโขไทไม่พาด้วย
ทรงให้ช่วยดูแลสองแฅวนั่น
โอรสน้อยเจริญวัยในเผ่าพันธุ์
มีสิทธิ์อันชอบครองเมืองสองแฅว

สืบนาม"มหาธรรมราช"ได้
ต่อ"ฦาไท"พี่ตนคนละแม่
เรื่องตรงนี้มีนัยหลายตัวแปร
เท็จหรือแท้ฝากไว้ให้คิดดู.....


          อภิปราย ขยายความ............

          เกิดความสับสนในผู้ดำรงนาม "มหาธรรมราชาธิราช"  ขัดแย้งตำราความเชื่อเดิมที่ว่า  เมื่อมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์  ลือไท  สวรรคตแล้ว  รามกุมารได้ครองสุโขไทในพระนามว่า  มหาธรรมราชา  ไสยลือไท  ความเชื่อในตำราเดิมนี้น่าจะไม่ถูกต้อง  เมื่อมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งขัดแย้ง  นั่นคือ  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่สำคํญที่สุด  เชื่อถือได้มากที่สุด  เพราะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ทำบันทึกขึ้นสมัยของพระองค์

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  บันทึกความไว้ว่า  "ศักราช ๗๘๖ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๖๒)  มีข่าวมาว่า  พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้านฤพาน  และเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล  และจึงเสด็จขึ้นไปเถิงเมืองพระบาง  ครั้งนั้นพระยาบาลเมืองและพระยารามออกมาถวายบังคม"  ข้อความเป็นบันทึกจดหมายเหตุสั้น ๆ นี้มีความนัย  ขยายความได้ว่า  เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๖๒  ในขณะที่สมเด็จพระนครินทรราชาธิราช (พระนครอินทร์) เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น  ได้ข่าวลงมาจากเมืองเหนือว่า  พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าสวรรคต  เมืองเหนือทั้งปวง (ในแคว้นสุโขไท)  เกิดความวุ่นวายด้วยการแย่งชิงอำนาจกัน  ระหว่างพระยาบาลเมืองกับพระยาราม   เจ้านครอินทร์จึงยกกำลังขึ้นไปถึงเมืองพระบาง (นครวรรค์)  เพื่อระงับการจลาจล  ครั้งนั้น  พระยาบาลเมือง  กับพระยาราม  เสด็จจากนคร  สรลวงสองแฅว  และนครสุโขไทลงไปถวายบังคม  พระองค์ทรงไกล่เกลี่ยให้สองพระยารักใคร่ปรองดองกัน  โดยให้พระยาบาลเมืองครองนครสรลวงสองแฅว  พระยารามครองนครสุุโขไท  เรื่องจึงสงบลงด้วยดี

          พระมหาธรรมราชาธิราช  ผู้สวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๖๒ นั้น  เป็นใคร ?  พระยาบาลเมือง  และพระยาราม  เป็นใคร  ปมปัญหาอยู่ตรงนี้  เรื่องนี้จะต้องอภิปราย  ขยายความกันยืดยาวจึงจะเข้าใจ  ดังนั้นขอยกยอดเรื่องนี้ไปกล่าวกันในวันหน้าครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40696#msg40696)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41056#msg41056)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, ธันวาคม, 2561, 10:18:50 PM
(https://i.ibb.co/mF6CN8C/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40901#msg40901)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41252#msg41252)                   .

- มหาธรรมราชาสองแฅว -

นาม"พระยาบาลเมือง"ในเรื่องนี้
พระองค์มีเมืองสำหรับประทับอยู่
คือ"สองแฅว"บ้านเกิดทรงเชิดชู
ให้โลกรู้ชนเห็นเป็นกรุงไกร

"มหาธรรมราชา"บิดาท่าน
สันนิษฐานเป็นโอรสรอง"ลูกไล่"
เกิดจากพระชายา"พรญาลิไท"
ณ สมัยที่ครองเมืองสองแฅว

ครั้น"ฦๅไท"สวรรคตพระยศใหญ่
นำมาใช้แทนพ่อต่อกระแส
"มหาธรรมราชา"ถึงคราแปร
เริ่มตั้งแต่แผ่นดินสิ้น"ฦๅไท"


          อภิปราย ขยายความ...........

          พระมหาธรรมราชธิราชเจ้า  ผู้สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๒  เป็นคนละองค์กับมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ ฦๅไท แห่งสุโขไท  เพราะว่าพระยาฦๅไท  สวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๕๒  ก่อนหน้ามหาธรรมราชาพระองค์นี้เป็นเวลา ๑๐ ปี....ถ้าอย่างนั้น  พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าพระองค์นี้  เป็นใคร  มาจากไหน  ไม่มีในจารึกและตำนานกล่าวถึงมาก่อนเลย

          ในทางสันนิษฐานที่เห็นว่าเป็นไปได้คือ  พระมหาธรรมราชาธิาชเจ้าพระองค์นี้  คือพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระมหาธรรมราชา ลิไท  ในสมัยที่เสด็จจากสุโขไทไปเสวยราชสมบัตินครสรลวงสองแฅว เป็นเวลา ๗ ปี นั้น  นอกจากพระองค์จะได้พระราชโอรสประสูติแต่พระนางศรีธรรมราชมาดาแล้ว  ยังได้พระโอรสอันประสูติแต่พระชายา (หรือพระสนมเอก)  อีกพระองค์หนึ่ง  ครั้นเสด็จกลับสุโขไท  มิได้นำพระชายาและพระโอรสพระองค์นี้ไปด้วย  หากแต่ให้ปกครองดูแลนครสรลวงสองแฅวอยู่ตามเดิม

          เมื่อพระยาลิไทสวรรคต  ฦๅไท โอรสองค์ใหญ่ก็ชอบที่จะใช้พระนามมหาธรรมราชาสืบแทนพระราชบิดา  ส่วนพระโอรสองค์รองก็ยังคงครองนครสรลวงสองแฅวอยู่อย่างสงบเงียบ  จนกระทั่ง  มหาธรรมราชาฦๅไทสวรรคต  จึงขอใช้สิทธิ์ครองสุโขไทในฐานะพระโอรสองค์รอง  มีความชอบธรรมที่จะสืบราชบัลลังก์ตามพระราชประเพณี  แต่สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์มิทรงยินยอม  จะเห็นได้ว่า  พระนางได้จารึกนามพระโอรสองค์ใหญ่คือ  รามกุมาร  ไว้ในจารึกวัดอโสการามว่า มหาธรรมราชา แล้ว

          จึงเป็นไปได้ว่า  สมเด็จพระนครินทราชาธิราช  ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ได้เข้ามามีบทบาท  ทรงเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ทรงยินยอมมอบพระนามเกียรติยศ "มหาธรรมราชา" นี้ให้แก่ พระราชอนุชาของพระยาฦๅไท  ส่วนบัลลังก์สุโขไทนั้นให้ไสลือไท  โอรสฦๅไทครอบครองภายใต้การสำเร็จราชการแผ่นดินของสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์  พระนางโปรดให้ทำจารึกอีกหลักหนึ่งไว้ที่วัดบูรพาราม  กล่าวถึงพระนามโอรสองค์ใหญ่ว่ามีพระนาม รามกุมาร  องค์รองพระนามว่า อโสกกุมาร

          พระนามเกียรติยศของราชวงศ์พระร่วง  จึงเปลี่ยนจากบัลลังก์สุโขไทไปอยู่บัลลังก์นครสรหลวงสองแฅว  เป็นมหาธรรมราชาธิราชสองแฅวแต่นั้นเป็นต้นมา.... ครั้นมหาธรรมราชาสองแฅวสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๖๒  รามกุมาร  หรือพระยาราม (ไสลือไท)  จึงทวงขอพระนามมหาธรรมราชาคืนจากสองแฅว  แต่พระยาบาลเมือง (บรมปาล)  โอรสมหาธรรมราชาสองแฅวไม่ทรงยินยอม  จนเกิดการจลาจลขึ้นในแคว้นสุโขไท สมเด็จพระนครินทรราชาธิราช (เจ้านครอินทร์)  จึงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปประทับ ณ เมืองพระบาง (นครสวรรค์)  พระยารามจากสุโขไท กับ พระยาบาลเมืองจากสองแฅว  จึงรีบลงมาถวายบังคม  ดังความตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ  ที่ไดักล่าวมาแล้วนั้น

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, ธันวาคม, 2561, 11:09:14 PM
(https://i.ibb.co/Dkh3FR6/56564.jpg) (https://imgbb.com/)
รอยพระพุทธบาทวัดบวรนิเวศวิหาร


- มหาธรรมราชาบรมปาล -

"พระยาบาลเมือง"ครอง"สองแฅว"แน่น
ครานั้นแคว้นลดนามความยิ่งใหญ่
เป็นสองรัฐชัดเจนต่างเป็นไป
เมืองหลวงได้แยกเห็นเป็นสองเมือง

"พระยาราม"ครองเขตประเทศใหญ่
"ไสลือไท"แทนพ่ออยู่ต่อเนื่อง
นาม"มหาธรรมราชา"สาเหตุเคือง
จำเป็นเปลื้องให้"บรมปาล"ครอง

"พระยาบาล"ครองเขตประเทศน้อย
แต่ร่องรอยใหญ่โตน่ายกย่อง
นาม"มหาธรรมราชา"มารับรอง
เป็น"โคมทองสุโขไท"ให้ชัดเจน


          อภิปราย ขยายความ..........

          สมเด็จพระนครินทราชาธิราช  ทรงจัดการให้พระยาบาลปกครองนครสรลวงสองแฅวในนามมหาธรรมราชาบรมปาล  ให้พระยารามปกครองนครสุโขไทศรีสัชนาลัยในนามพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตร (ไสลือไท)  โดยให้เจ้าสามพระยาราชบุตร  ซึ่งประทับ ณ ชัยนาทบุรี (ตรงข้ามกับสองแฅว คือตรงวังจันทร์ในปัจจุบัน)  เป็นที่ปรึกษาราชการของเจ้าทั้งสองนคร

          ความเชื่อเดิมว่า  พระมหาธรรมราชาบรมปาล  คือพระราชโอรสมหาธรรมราชาไสลือไท  เป็นความเชื่อตามความสันนิษฐานโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง  ต่อมาถึงปัจจุบัน  มีทั้งพงศาวดารและจารึกเป็นยานหลักฐานว่า  มหาธรรมราชาบรมปาลมิใช่โอรสไสลือไท  หากแต่เป็นบุคคลในยุคเดียวกัน  มีวัยใกล้เคียงกัน (เป็นลูกพี่ลูกน้อง)  มีความในจารึกรอยพระพุทธบาทยุคล  จารึกในปี พ.ศ. ๑๙๗๐  บอกเล่าว่า  "พระศรีสุริยวงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราช  โปรดให้ช่างหลวงไปจำลองจากสุโขไทในวาระเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๓ รอบ (๓๖ พรรษา)  ของพระองค์

          จับใจความได้ว่า  เมื่อสมเด็จพระนครินทราชาธิราช  หรือเจ้านครอินทร์สวรรคต  พระโอรส ๒ พระองค์  คือ  เจ้าอ้าย  เจ้ายี่  แย่งราชสมบัติ  รบกันถึงขั้นชนช้างสิ้นพระชนม์ทั้งคู่  เจ้าสามพระยาจึงเสด็จจากชัยนาทบุรีลงไปครองกรุงศรีอยุธยา  โดยมอบให้มหาธรรมราชาบรมบาลครองชัยนาทบุรีควบคู่กับสรลวงสองแฅว  มหาธรรมราชาบรมบาลครองชัยนาทบุรีได้ ๓ ปี  มีพระชนมายุครบ ๓ รอบ (พ.ศ. ๑๙๗๐)  โปรดให้ช่าง "ฟันขดารดิน" เป็นหินชวนแผ่นรูปสี่เหลี่ยม  แกะสลักรอยพระพุทธบาทขึ้น ๒ รอย  เป็นรอยพระบาทคู่  เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุของพระองค์  ความที่จารึกในรอยพระบาทคู่นี้  บอกเรื่องราวของพระองค์ไว้ชัดเจน (ปัจจุบันอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ)

          มหาธรรมราชาบรมบาล  แม้ครองเขตประเทศน้อยกว่าพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตรไสยลือไท  แต่เรื่องราวในทางประวัติศาสตร์จะปรากฏน้อยกว่ามหาธรรมราชาบรมบาล  เหตุด้วยว่าพระนามอันกลายเป็นเอกลักษณ์สุโขไท  คือ  "มหาธรรมราชา"  ไปอยู่ในราชสำนักสองแฅว  ทำให้เห็นว่า  สุโขไทอยู่ใต้การปกครองของสองแฅวแล้ว  อีกสาเหตุหนึ่งคือ  สายใยใกล้ชิดระหว่าง มหาธรรมราชาบรมบาล กับ เจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยามีมากกว่าไสยลือไทแห่งสุโขไท  นั่นเอง......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวันิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, ธันวาคม, 2561, 10:11:55 PM
(https://i.ibb.co/q9xXKWm/hqdefault-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- ราชสำนักสุโขไทร่วงโรย -

"สุโขไท"ปลายยุคก่อนแตกหัก
ราชสำนักแบ่งสองส่วนรองเด่น
ส่วนใหญ่ด้อยรอยร้าวแหว่งเว้าเวน
เข้าหลักเกณฑ์ไร้เหิมเริ่มเสื่อมโทรม

"รามราชาธิราช"แม้อาจหาญ
แต่ขาดการหนุนหลังแรงถั่งโถม
รุกล้านนาการศึกไม่ครึกโครม
ถูกต้านโจมตีจนถอยร่นมา

ราชสำนักสองแฅวกระแสใหญ่
"ไสลือไท"ด้อยอำนาจวาสนา
ราชสำนักค่อยค่อยถอยโรยรา
ใกล้ถึงคราล้มล่มจมดินดอน


          อภิปราย ขยายความ .......

          แคว้นสุโขไทใกล้ถึงการล่มสลาย  ยามนั้นแบ่งแยกออกเป็นสองราชสำนัก  คือราชสำนักสุโขไท  มีพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตร (ไสลือไท) เป็นผู้ครองบัลลังก์  เคยแสดงบทบาทยกกำลังขึ้นไปตีลานนา ช่วยเจ้าเมืองน่านผู้เป็นพระญาติ  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  ต้องถอยกลับมาอยู่อย่างสงบ  แล้วบทบาทของราชสำนักสุโขไทก็ขาดหายไปจากจารึกและตำนาน

          ฝ่ายราชสำนักชัยนาทบุรีสองแฅวนั้น  พระศรีสุริยวงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราชทรงครองอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา  จึงไม่มีบทบาทอะไร  และการที่พระเจ้าสามพระยามิได้เข้าก้าวก่ายราชสำนักสุโขไทนั้น  อาจจะเป็นเพราะว่าทรงเกรงพระทัยสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์พระญาติผู้ใหญ่ของพระองค์  จึงปล่อยให้ราชสำนักสุโขไทอยู่อย่างโดดเดี่ยว  จนมีสภาพเป็นดั่งดอกไม้ที่บานเต็มที่แล้วร่วงโรยราไปในที่สุด.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, ธันวาคม, 2561, 11:04:44 PM
(https://i.ibb.co/D8ScLnM/2.jpg) (https://imgbb.com/)

- สุโขทัยกลืนอยุธยา ? -

ความเปลี่ยนแปลงแปรปรับอย่างสับสน
สังคมคนปนเปย้ายเร่ร่อน
เชื่อผู้นำตามถือซื่อแน่นอน
บ้าน,นคร,รัฐ,เมืองเกิดเนื่องกัน

เจ้าเลือดเนื้อเชื้อไขสองสายสนิท
ทรงร่วมคิดร่วมสร้างอย่างมุ่งมั่น
สุโขไทไขว้สลับกับสุพรรณ
แล้วรังสรรค์วงศ์ใหม่ใหญ่กว่าเดิม

สุพรรณภูมิ+สุโขไท"เกรียงไกรภพ
เมื่อสยบ"อยุธยา"สิ้นฮึกเหิม
"นครอินทร์"ต้นวงศ์ทรงต่อเติม
"พ่องั่ว"เริ่มวางไว้ให้สมจินต์


          อภิปราย ขยายความ........

          ความพยายามของสมเด็จพระบรมราชาธิราช  หรือ  ขุนหลวงพ่องั่ว  ที่ต้องการรวมแคว้นสุโขไทเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา  โดยส่งเจ้าหญิงสุพรรณภูมิขึ้นไปเป็นมเหสีพระยาลือไท  เพื่อครอบงำราชสำนักสุโขไท  ก็แล้วทรงยกกำลังขึ้นไปหมายยึดศรีสัชนาลัย (ชากังราว) ก็แล้ว  แต่ไม่สำเร็จ  จนครั้งสุดท้าย  พระองค์ประชวรระหว่างทางแล้วสิ้นพระชนม์ไป

          พระราชโอรสขุนหลวงพ่องั่วอันประสูติแต่พระมหาเทวี  ราชธิดาพระยาเลอไทแห่งสุโขไท  นามเทพาหูราช  จึงทรงรับทอดนโยบายของพระราชบิดา  ทรงครองสุโขไทระยะหนึ่งแล้วลงไปครองสุพรรณภูมิ และขึ้นมาทำพิธีราชาภิเษกที่กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์  และคุมการบริหารบ้านเมืองของสุโขไท  ทรงมีพระชายาองค์หนึ่งเป็นเจ้าหญิงสุโขไท  ทรงสร้างเมืองใหม่ให้พระชายาและพระโอรส (เจ้าสามพระยา) ประทับ ณ ชัยนาทบุรี  ฝั่งตรงข้ามกับนครสรลวงสองแฅว  พระองค์ผนวกกำลังของสุพรรณภูมิสุโขไท  ยกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา  แล้วขึ้นครองบัลลังก์  เฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระนครินทราชาธิราช (เจ้านครอินทร์) เป็นต้นราชวงศ์ "สุพรรณภูมิ+สุโขไท"  จากนั้นทรงวางแผนรวมแคว้นสุโขไทเข้ากับกรุงศรีอยุธยา  ตามเจตนารมณ์ของขุนหลวงพ่องั่วพระราชบิดา  แต่ยังดำเนินการมิสำเร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

          เจ้าสามพระยา ราชโอรสพระองค์ที่ ๓ มีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงสุโขไท  ยกราชสำนักจากชัยนาทบุรีลงไปครองกรุงศรีอยุธยาสืบแทนพระราชบิดา  และดำเนินการรวมแคว้นสุโขไทเข้ากับกรุงศรีอยุธยาต่อไป

          ......นักประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ตอนนี้ว่า "อยุธยากลืนสุโขไท"
          ......แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า "สุโขไทกลืนอยุธยา" ต่างหาก

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, ธันวาคม, 2561, 10:21:56 PM
(https://i.ibb.co/LCznHT3/27867853-988343121315461-7912386075556153477-n.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา - เจ้ายี่พระยา
ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ อยุธยา

- พระเจ้าสามพระยา -

เมื่อถึงครา"นครอินทร์"สวรรคต
สองโอรส"อ้าย-ยี่"ฤดีถวิล
ครองราชย์แทนแคว้นใหญ่ในแดนดิน
จึงตัดสินด้วยกำลังไม่ยั้งมือ

ชนช้างกันจนสิ้นชีวินทร์คู่
กรุงไร้ผู้รองรับชนนับถือ
โอรสนาม"สามพระยา"นามระบือ
พระองค์คือจอมกษัตริย์พัฒนา

ครองกรุงศรีอยุธยาสร้างอาวาส
คือวัด"ราชบุณ.."มากคุณค่า
เป็นอนุสรณ์หอห้อง"สองพี่ยา"
น้อมบูชา"นครอินทร์"ผู้สิ้นพระชนม์....


          อภิปราย ขยายความ........

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้บันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย  ได้บันทึกเหตุการณ์ถึงตอนนี้ไว้ว่า......" ศักราช ๗๘๖ (พ.ศ.๑๙๖๗)  สมเด็จพระอินทราชาทรง (ประ) ชวร  นฤพาน  ครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา  พระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สะพานป่าถ่าน  เถิงพิราลัยทั้ง ๒ พระองค์ที่นั้น  จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระยา  ได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา  ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า  แลท่านจึงให้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์สวมที่เจ้าพระยาอ้ายและเจ้าพระยายี่ชนช้างด้วยกันเถิง (อนิจ) ภาพตำบลป่าถ่านนั้น  ในศักราชนั้นสถาปนาวัดราชบุณ...."

          สรุปเรื่องราวได้ว่า  สมเด็จพระนครินทราชาธิราช (เทพาหูราช)  หรือพระอินทราชา  ทรงประชวรสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๖๗ (จ.ศ.๗๕๖)  พระราชโอรส ๒ พระองค์  คือ  เจ้าอ้ายพระยา (ประสูติแต่เจ้าหญิงสุพรรณภูมิ)  เจ้ายี่พระยา (ประสูติแต่เจ้าหญิงละโว้ อโยธยา)  แย่งกันเป็นใหญ่ในบังลังก์กรุงศรีอยุธยา  รบกันถึงขั้นชนช้าง ณ สะพานป่าถ่าน  จนถึงแก่พิราลัยทั้สองพระองค์  กรุงศรีอยุธยาไร้ผู้สืบราชบัลลังก์  จึงพระราชโอรสพระองค์ที่่ ๓ (ประสูติแต่เจ้าหญิงสุโขไท)  จึงยกราชสำนักจากชัยนาทบุรี (วังจันทร์พิษณุโลก)  ลงมาครองกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  "สมเด็จพระบรมราชาธิราช"  ทรงสร้างพระเจดีย์ครอบลงตรงที่ เจ้าอ้ายพระยา  กับ  เจ้ายี่พระยา  ชนช้างกันถึงสิ้นพระชนม์ ณ สะพานป่าถ่านนั้น  จากนั้นจึงโปรดให้สถาปนา (สร้าง) วัดราชบุณ (ราชบูรณะ) ขึ้น  น้อมบูชาพระคุณสมเด็จพระนครินทราชาธิราช  พระราชบิดาของพระองค์ในปีเดียวกันนั้นเอง......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, ธันวาคม, 2561, 10:09:44 PM
(https://i.ibb.co/mtS4sXT/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดมเหยงคณ์ : อยุธยา

- พระบรมราชาธิบดี -

เอานามปู่มาใช้ให้ปรากฏ
ว่าเป็นยศสุพรรณภูมิให้ปูมต้น
"บรมราชาธิบดี"มีมงคล
แต่ไม่พ้นจากนาม"สามพระยา"

หลังครองราชทรงประจักษ์เป็นนักรบ
ไปสยบกัมพุชเดชสุดกล้า
นครหลวงของขอมกัมพูชา
เป็นอาณาจักรไทยในพระองค์

สร้างวัดใหญ่อรัญญิกพลิกฟื้นพระ
วิปัสสนาธุระคณะสงฆ์
ชื่อวัดแบบลังกา"มเหยงคณ์"
เด่นดำรงอยู่ใน"ทศธรรม"


          อภิปราย ขยายความ.........

          พระเจ้าสามพระยายกจากชัยนาทบุรีลงมาครองกรุงศรีอยุธยา  หลังจากทรงดูแลแคว้นสุโขไทได้ ๕ ปี  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต  กล่าวว่า  "พระบรมราชาธิบดี  พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของพระนครอินทร์  สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนม์ได้ ๓๙ พรรษา  ทรงพระนามว่า  "พระบรมราชาธิบดีพระเจ้าสาม"  ทรงเป็นนักรบโดยกำเนิด  เฉลียวฉลาด  โวหารดี  รอบคอบ  มีเมตตากรุณา  เป็นนักเสรีนิยม  ทรงสร้างและบูรณะวัดหลายแห่ง  ทรงครองราช์อยู่ ๒๐ ปี..."

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  บันทึกพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสามพระยาในความเป็นนักรบของพระองค์ไว้ว่า  " ศักราช ๗๙๓ (พ.ศ.๑๙๗๔)  สมเด็จพระบรมราชเจ้า  เสด็จไปเอาเมือง (นครหลวง) ได้  และท่านจึงให้พระราชกุมารท่าน  พระนครอินทร์เจ้า  เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพระนครนั้น  ครั้งนั้นท่านให้พระยาแก้ว  พระยาไทย  และรูปภาพทั้งปวง  มายังพระนครศรีอยุธยา"

          ความในพระราชพงศาวดารดังกล่าวนี้  คือ  หลังจากทรงครองกรุงศรีอยุธยาได้ ๗ ปี  ทรงยกทัพไปตีกรุงกัมพูชายึดพระนครหลวงได้  กัมพูชายอมอยู่ในพระราชอำนาจ  ทรงมอบให้พระราชกุมารนามเจ้านครอินทร์  เสวยราชสมบัติเมิองพระนครหลวงกัมพูชา  ครั้นเสด็จกลับ  ก็ทรงให้นำรูปปฏิมากรรม  รูปภาพต่าง ๆ จากกัมพูชามากรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก  ในจำนวนนั้นมี  "พระยาแก้ว  พระยาไทย"  ปฏิมากรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของกัมพูชามาด้วย  พระราชกุมารนาม  พระนครอินทร์  ที่ทรงตั้งให้ครองกัมพูชานั้น  เป็นพระนามสัญลักษณ์ของสุพรรณภูมิ (เหมือนมหาธรรมราชา ของสุโขไท)  หลังจากทรงครองกัมพูชาแล้วไม่ปราฏบทบาทใด ๆ ในประวัติศาสตร์เลย

          มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยรบกัมพูชาของสมเด็จพระเจ้าสามพระยานี้เป็นครั้งแรก  ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏว่าเขมรรุกรานไทย  หรือ  ไทยรุกรานเขมร  หลังจากที่พระเจ้าสามพระยายกไปยึดครองกัมพูชาแล้ว  จากนั้นทั้งสองประเทศนี้กลายเป็นคู่ศึกกันมาเป็นเวลายาวนาน

          ในด้านการศาสนานั้น  ทรงโปรดให้สร้างวัดถวายพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสนาธุระขึ้นในโบราณสถานร้างของเมืองอโยธยาเดิม  ซึ่งกลายเป็นป่าโปร่งไปแล้วนั้น  ให้เป็นที่อยู่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ลังกาวงศ์ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร  วัดที่สร้างใหม่นี้เป็นไปตามคติของลังกา  คือองค์พระมหาเจดีย์มีรูปช้างล้อมรอบ (เหมือนวัดช้างล้อมสุโขทัย)  และขนานนามวัดนี้ตามแบบลังกาว่า  "มเหยงคณ์"  ในความหมายว่าวัดบนเนินสูง  หรือบนภู  อันเป็นแดนอรัญญิก  หรือ  "วัดป่า"  นั่นเอง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, ธันวาคม, 2561, 10:06:59 PM
(https://i.ibb.co/SNQVqz0/image.jpg) (https://imgbb.com/)
กำแพงเมืองเขียงใหม่

- ไปตีเชียงใหม่ -

พระเจ้าสามพระยาทรงกล้าหาญ
กอปรทุกการมิให้ไทยตกต่ำ
ทั้งงานบ้านการเมืองเรื่องประจำ
เป็นผู้นำชาติไทยให้เจริญ

หลังได้กรุงกัมพูชามาหมดแล้ว
ทรงเปลี่ยนแนวทางใหม่ไม่นานเนิ่น
จัดกองทัพฉับพลันพากันเดิน
ข้ามเขาเขินขึ้นเหนือเพื่อยึดครอง

เข้าโจมตีเชียงใหม่เกือบได้แล้ว
"นครพิงค์"คลาดแคล้วเหตุขัดข้อง
"เจ่้าสามพระยา"ประชวรจวนสมปอง
จำเป็นต้องถอยทัพกลับลงมา

จากนั้นไปปราบปรามตามถิ่นฐาน
ทางอีสานรวบได้ไร้ปัญหา
อยุธเยศเดชเด่นเพ็ญจันทรา
"สามพระยา"ลือเลื่องกระเดื่องนาม......


          อภิปราย ขยายความ ..........

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกเหตุการณ์ "ลางร้าย"  ในรัชมัยของพระเจ้าสามพระยาไว้ ๓ เรื่อง  หลังจากที่ทรยกทัพไปตีและยึดครองเมืองพระนครหลวงกัมพูชาได้แล้ว  ลางร้ายนั้นคือ

          - "ศักราช ๘๐๐ มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๘๑)  ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า  สร้างวัดมเหยงคณ์  เสวยราชสมบัติ  และสมเด็จพระราเมศวร (เจ้าผู้เป็น) พระราชกุมาร  ท่านเสด็จไปเมืองพิษณุโลกนั้น  เห็นน้ำพระเนตรพระพุทธเจ้าพระชินราช  ตกออกมาเป้นโลหิต"

          - ศักราช ๘๐๒ วอกศก (พ.ศ.๑๙๘๓)  ครั้งนั้นเกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียร.....  ศักราช ๘๐๓ ระกาศก (พ.ศ.๑๙๘๔)  ครั้งนั้นเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข"

     พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกเหตุการณ์ต่อไปว่า ..." ศักราช ๘๐๔ จอศก (พ.ศ.๑๙๘๕)  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า  เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่  และเข้าปล้นเมืองมิได้  พอทรงพระประชวร  และทัพหลวงเสด็จกลับคืน..."

          นับเป็นครั้งแรกที่นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แห่งล้านนาไทย  ถูกกองทัพไทยเมืองใต้ยกขึ้นไปรุกราน  ครั้งนั้นพระเจ้าสามพระยาทรงปล้นเอาเมืองมิได้  เพราะทรงพระประชวรในขณะบัญชาการรบ  จึงเลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกไว้อีกว่า "ศักราช ๘๐๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๘๗)  เสด็จไปปราบพรรคและตั้งทัพหลวงประทาย  ครั้งนั้นได้เชลย ๑๒๐,๐๐๐  ทัพหลวงเสด็จกลับคืน"  ....การยกทัพไปครั้งสุดท้ายนี้  นัยว่าไปปราบปรามหัวเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)  ประสบความสำเร็จทุกประการ

          วาระสุดท้ายของพระเจ้าสามพระยานั้น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าจดบันทึกไว้ว่า....."ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก (พ.ศ.๑๙๙๑)  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน  จึงพระราชกุมารท่าน  สมเด็จพระราเมศวรเจ้า  เสวยราชสมบัติ  ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า"

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, ธันวาคม, 2561, 10:07:22 PM
(https://i.ibb.co/F5hFFWK/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ -

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เป็นนักปราชญ์นักรบเลิศภพสาม
สืบต่อราชย์แทนบิดาสง่างาม
สรรค์สร้างความเจริญให้ไทยยืนยง

จากกรุงศรีประทับแดนดินแคว้นเหนือ
"สู้ศึกเสือเหนือใต้"ไสเสีกส่ง
ครา"ติโลกราช"ผู้อาจองค์
ยกทัพลงมาปะทะยึด"เชลียง"

มีเบื้องหลังบังไว้ไม่เปิดเผย
ควรเฉลยหยิบยกมาถกเถียง
การ"ชักศึกเข้าบ้าน"รานเรือนเคียง
เกิดเพราะเพียงมหามิตร"ผิดสัญญา".....


          อภิปราย ขยายความ.......

          พระราชพงศาวการกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ทำขึ้นนั้น  ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า ......"ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก (๑๙๙๑)  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน  จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้า  เสวยราชสมบัติ  ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า"  ดังกล่าวแล้วนั้น

          ความตรงนี้ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ฉบับวันวลิต  ซึ่งบันทึกเรื่องราวกรุงศรีอยุธยา  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๒  หลังสมเด็จพระบรมไตรครองราชย์ ๑๙๑ ปี  เขากล่าวว่า  "พระบรมไตรโลกนาถพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๙ แห่งสยาม  ครองราชย์อยู่ ๒๐ ปี  โดยให้รายละเอียดว่า  พระองค์เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสามพระยา  ได้รับเลือกเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อมีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา  ทรงครองราชย์อยู่ ๒๐ ปี  แล้วสละราชสมบัติออกทรงพระผนวชท่ามกลางความโศกเศร้าของพสกนิกร  ทรงสิ้นพระชนม์ใต้ร่มผ้ากาสาวพัตร์  และไม่มีนักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า  พระองค์ทรงผนวชนานเท่าไร......

          บันทึกของวันวลิตนี้มีความคลาดเคลื่อนไปหลายประเด็น  ข้อเท็จจริงคือ  พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระบรมราชาธิราช  เจ้าสามพระยา พระนามว่า ราเมศวร  มีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิสุโขไท  มีพระราชสมภพ ณ วังจันทร์  ชัยนาทบุรี  เจริญวัยในพระราชสำนักชัยนาทบุรี  เป็นพระสหายเล่นกันมากับพระยุธิษฐิระ  โอรสมหาธรรมราชาบรมปาลแต่ทรงพระเยาว์  ก่อนที่จะตามเสด็จพระราชบิดาลงมาประทับกรุงศรีอยุธยา  และเสด็จขึ้นเยี่ยมเยือนราชสำนักเดิม  พบพระพุทธชินราชมีน้ำพระโลหิตไหลออกจากพระเนตร  ดังที่กล่าวในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าแล้วนั้น

          สมเด็จพระราเมศวรราชกุมารทรงขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้าสามพระยา ได้ ๓ ปี  พระเจ้าติโลกราช  มหาราชแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่  ก็ยกกองทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ  และยึดเมือง "ชากังราว"  ไว้ได้  ดังความที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า....  "ศักราช ๘๑๓ มะแมศก(๑๙๙๔)  ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย  เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลิกทัพกลับคืน"

         มหาราชผู้มาเอาเมืองชากังราวได้พระองค์นี้คือ  พระเจ้าติโลกราช  เจ้านครพิงค์เชียงใหม่  เรื่องนี้มีความนัยที่ควรต้องกล่าวถึงรายละเอียดต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, ธันวาคม, 2561, 10:39:22 PM
(https://i.ibb.co/9cZdtyx/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระยายุธิษฐิระ กบฏ -

ด้วย"ยุธิษฐิระ"จำกบฏ
เกินจะอดทนเท็จพระเชษฐา
เมื่อผู้พี่ดีเด่นเป็นราชา
สถาปนาผู้น้องครองสองแฅว

สัญญากันมั่นเหมาะไม่เหลาะแหละ
ต้องแยกแยะตำแหน่งแต่งตั้งแน่
เมืองเหนือให้ผู้น้องครองดูแล
กลายเป็นแค่"ลมปาก"จากพี่ชาย

จึงยกครัวไปพึ่งพา"มหาราช"
ขออำนาจหนุนตนเร่งขวนขวาย
ยึดครองแคว้นสุโขไทมิให้อาย
เป็นชนวนศึก"ยวนพ่าย"อยู่หลายปี...


          อภิปราย ขยายความ...........

          เหตุผลที่พระเจ้าติโลกราช  หรือ  มหาราชแห่งเชียงใหม่ยกทัพลงมาตีแคว้นสุโขไท  หัวเมืองฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยานั้น  เดิมเข้าใจกันว่า  เป็นเพราะในปี พ.ศ.๑๙๘๕  อันเป็นปีที่พระเจ้าติโลกราชขึ้นครองนครพิงค์เชียงใหม่นั้น  สมเด็จพระบรมราชาธิราช  เจ้าสามพระยายกทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปเอาเชียงใหม่  แต่ปล้นเอาเมืองไม่ได้  เพราะทรงพระประชวรเสียก่อน  จึงถอยทัพกลับคืน  เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุให้พระเจ้าติโลกราชผูกใจเจ็บ  ครั้งสิ้นพระเจ้าสามพระยาแล้ว  พระราเมศวรขึ้นครองราชเฉลิมพระนามว่า  พระบรมไตรโลกนาถจึงถือโอกาสแก้แค้นด้วยการยกทัพลงมายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในแคว่้นสุโขไท และยึดครองเมืองชากังราวได้  ดังกล่าวแล้ว

          ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวน่าจะไม่ถูกต้อง  เพราะมีตำนานเมืองเหนือและ "พงศาวการกระซิบ"  บอกให้รู้เรื่องชัดเจนขึ้นว่า  สาเหตุที่มหาราชยกทัพมายึดหัวเมืองในแคว้นสุโขไทนั้น  เป็นเพราะพระยายุธิษฐิระ  หรือ  พระยาอุทิศเจียง  เจ้าเมืองสองแคว  พาครัวไปสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราช  ขอกำลังยกลงมายึดแคว้นสุโขไทคืนจากกรุงศรีอยุธยา

         สาเหตุที่พระยายุธิษฐิระ  ไปพึ่งพาพระเจ้าติโลกราช  เพราะว่า  สมัยที่ยังทรงพระเยาว์นั้น  พระยุธิษฐิระ  โอรสมหาธรรมราชาบรมปาล  มีฐานะเป็น "ลูกผู้น้อง" ของ  พระราเมศวร  โอรสพระเจ้าสามพระยา ทั้งสองพระองค์มีพระชันษาใกล้เคียงกัน  นัยว่า  พระราชมารดาของพระราเมศวรเป็นพระพี่นางของพระราชมารดาพระยุธิษฐิระ  พระราชวังของทั้งสองพระองค์อยู่ตรงข้ามกัน  คือ  พระยุธิษฐิระอยู่วังสองแฅว  ฝั่งตะวันออกแม่น้ำน่าน  พระราเมศวรอยู่วังจันทร์  ชัยนาทบุรี  ฝั่งตะวันตกแม่น้ำน่าน  ทั้งสองกุมารไปมาหาสู่เป็นพระสหายเล่นกันมาแต่เยาว์  มีความรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวกันมาจนเจริญวัย  เคยให้สัญญากันว่า ถ้าพระราเมศวรได้ครองราชสมบัติสืบแทนพระราชบิดา  เจ้าสามพระยาแล้ว  จะต้องสถาปนาให้พระยุธิษฐิระเป็นมหาอุปราช  หรืออย่างน้อยให้ครองแคว้นสุโขไทในนามมหาธรรมราชา  สืบแทนพระราชบิดาบรมปาล

          ครั้นพระราเมศวรได้ครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว  กลับไม่ทำตามสัญญา  หากแต่ทรงตั้งให้พระยุธิษฐิระเป็นเพียงเจ้าเมืองสองแฅวเท่านั้น  ทั้งนี้เพราะพระองค์ดำเนินตามเจตนารมณ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราช กับสมเด็จพระนครินทราชา  เจ้านครอินทร์  และ  สมเด็จพระบรมราชาธิราช  เจ้าสามพระยา  ในการผนวกแคว้นสุโขไทเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับกรุงศรีอยุธยา  จึงทรงยุบราชสำนักสองแฅว  ลงเป็นหัวเมืองเอกฝ่ายเหนือ ตั้งพระยุธิษฐิระเป็นเจ้าเมืองสองแฅว  และที่สำคัญ  ทรงยุบพระนามตำแห่งมหาธรรมราชา  เอกลักษณ์แห่งสุโขไทเสียด้วย

          และนี่จึงเป็นเหตุพระยุธิษฐิระทรงแค้นเคืองจนทนไม่ได้  ต้องไปขอพึ่งอำนาจพระเจ้าติโลกราชมากอบกู้สถานะของพระองค์  เป็นนศึกระหว่างล้านนา - อยุธยา  ยืดเยื้ออยู่หลายปี

          เรื่องนี้มีนัยที่ควรศึกษาหลายประเด็น พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, ธันวาคม, 2561, 11:12:29 PM
(https://i.ibb.co/vYGQBZ7/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระยาเชลียงเป็นขบถ -

พระบรมไตรโลกนาถเจ้า
แต่งทัพเอา"มะลากาได้มาสิ้น
อีกทั้งยังสมทบ"ลิสบทิน"
หล่อรูปศิลป์"โพธิสัตว์ห้าร้อย"องค์

"พระยาเชลียง"เลี่ยงเร้นเป็นกบฏ
เข้าสู่กลดมหาราชเสริมประสงค์
ยึดแคว้นสุโขไทดั่งใจจง
เลิกขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา

มหาราชยกมาอีกคราหนึ่ง
ลงไปถึง"ปากยม"ปรารถนา
ตั้งล้อมตี"กำแพงเพชร"เจ็ดทิวา
แล้วยกล่าถอยไปมิได้เมือง


          อภิปราย ขยายความ...............

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรลกนาถไว้ว่า  "ศักราช ๘๑๖ จอศก (พ.ศ.๑๙๙๗) ครั้งนั้นคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก"

          ....."ศักราช ๘๑๗  กุนศก (พ.ศ. ๑๙๙๘)  แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมะลากา"
          ....."ศักราช ๘๑๘ ชวดศก (พ.ศ.๑๙๙๙)  แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิสบทิน  ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโคน"
          ....."ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก (พ.ศ.๒๐๐๐)  ครั้งนั้นข้าวแพงเป็นทะนานแล ๘๐๐ เบี้ย  เมื่อคิดเป็นเสมอเบี้ยเฟื้องแล ๘๐๐ นั้น  เกวียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งสิบบาท"
          ......ศักราช ๘๒๐ ขาลศก (พ.ศ.๒๐๐๑)  ครั้งนั้นให้บุณพระศาสนาบริบูรณ์  และหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ
          ......ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก(พ.ศ.๒๐๐๓)  เล่นการมหรสพฉลองพระ  และพระราชทานแก่พระสงฆ์และพราหมณ์และวณิพกทั้งปวง... ครั้งนั้นพระยาเชลียงเป็นขบถ  พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช"

          เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดในกรุงศรีอยุธยา  หลังจากเจ้าฟ้าสองแควยุธิษฐิระนำกองทัพมหาราชเชียงใหม่มาตีหัวเมืองในแคว้นสุโขไทและยกกลับไปแล้ว  ในกรุงศรีอยุธยาเกิดไข้ทรพิษระบาดหนักผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก  จากนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแต่งทัพให้ไปตีเมืองมะลากาได้  ต่อมาแต่งทัพไปเอาเมืองลิสบทิน  พระองค์ยกทัพหลวงหนุนไปตั้งทัพหลวงที่ตำบลโคน  ต่อมาเกิดสถานการณ์ "ข้าวยากหมากแพง" ขึ้น  แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทะนุบำรุงพระศาสนา  โปรดให้หล่อพระรูปโพธิสัตว์พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ  เสร็จแล้วจัดมหากรรมเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่  พระราชทานทรัพย์สิ่งของแด่พระสงฆ์  พราหมณ์และวณิพกทั้งปวง.....

          ในปีเดียวกันนั้นเอง  มีข่าวลงมาแจ้งว่า  พระยาเชลียงพาครัวไปเข้าอยู่ในร่มโพธิสมภารพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่

          พระยาเชลียง  ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารและตำนานเมืองเหนือพระองค์นี้ไม่แน่ชัดว่าคือผู้ใด  แต่พอจะสันนิษฐานคาดเดาได้ว่า  เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระรามราชาธิราชบรมนาถบุตร (ไสยลือไท)  พระราชนัดดาในสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์  ครองสุโขไท -ศรีสัชนาลัย  หรือไม่ก็เป็นโอรสในพระยาอโศกอุปราชสุโขไท  ผู้เสวยราชย์อยู่ศรีสัชนาลัย  พระยาเชลียงพระองค์นี้ มีพระชนมายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระยุธิษฐิระ  และพระราเมศวร (บรมไตรโลกนาถ)  สาเหตุที่พระยาเชลียงทรงพาครัวไปออกต่อมหาราช  น่าจะเป็สาเหตุเดียวกันกับพระยุธิษฐิระ  นั่นคิอ  เพราะสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงรวบอำนาจด้วยการรวมแคว้นสุโขไทเข้าไว้ในกรุงศรีอยุธยา  แล้วยกเลิกความเป็น "มหาธรรมราชา" ของเชื้อพระราชวงศ์พระร่วงสุโขไท  จึงทนรับไม่ได้  ต้องไปขอพึ่งอำนาจมหาราชเชียงใหม่ เช่นเดียวกันกับพระยุฐิระ "เจ้าฟ้าสองแฅว" ในที่สุด

          .....พักยกไว้ตรงนี้ก่อนครับ  ยังมีเรื่องราวที่น่าติดตามไว้ให้อ่านต่อใวันพรุ่งนี้  โปรดติดตามต่อไปนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, ธันวาคม, 2561, 10:12:37 PM
(https://i.ibb.co/GP7JWjm/1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระสี่อิริยาบถ : กำแพงเพชร


- ปัญหาเมืองชากังราว -

มหาราชเชียงใหม่ได้เมืองหนึ่ง
เมื่อเอ่ยถึงซ้ำซากยังมากเรื่อง
"ชากังราว"เป็นกรุงเคยรุ่งเรือง
ข้าศึกเปลืองแรงพลังคร้้้งเข้าตี

ที่ตั้งนั้นวันนี้มีปัญหา
เชื่อกันมาให้มองสองสามที่
กำแพงเพชร,เชลียงชื่อเสียงมี
ถึงวันนี้ยังรอข้อเท็จจริง

พระบรมราชาฯ"เอา"มิได้
มหาเราชเชียงใหม่เหมือนใหญ่ยิ่ง
"เอา"เมืองชากังราวไว้แอบอิง
แล้วถอดทิ้งชื่อเก่าเอาใหม่แทน

เป็น"เชียงชื่น"รื่นหูให้รู้เห็น
เมืองนี้เป็น"เชลียง"หลวงน่าหวงแหน
คือ"ศรีสัชนาลัย"ในด้าวแดน
เมืองคู่แคว้นสุโขไทในปางบรรพ์....


          อภิปราย ขยายความ...........

          พักเรื่องการสงครามล้านนา-อยุธยาไว้ก่อน  ขอใช้ที่ตรงนี้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง  คือ  "ชากังราว"  ซี่งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อตามคำวินิจฉัยของพระเจ้าบรมวงเธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า  ได้แก่เมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน

          ....ข้าพเจ้าเชื่อตามพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖  ที่ทรงพระราชวินิจฉัยไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง  "เที่ยวเมืองพระร่วง"  โดยพระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่า  เมืองชาวกังราว  คือเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย)  เหตุผลที่พาให้เชื่อตามพระราชวินิจฉัยนี้คือ  มีพยานหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษม์)  ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ทำขึ้นไว้  กับตำนานเมืองเมืองเหนือ  ตอนที่ว่าด้วยศึกล้านนา-กรุงศรีอยุธยา

          ....พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกว่า  สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว)  ยกทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาเอาเมืองชากังราวถึง ๓ ครั้ง  แต่เอาไม่ได้  เพราะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ (ฦๅไท)  บัญชาการรบอย่างเข้มแข็ง  ประกอบกับ "ปู่พระย่า" แห่งเมืองน่านลงมาช่วย "หลานพระยา"  ป้องกันเมืองด้วย  เมือง "ชากังราว" ในพระราชพงศาดารนี้จึงควรเป็นเมือง "ศรีสัชนาลัย" (สวรรคโลกในกาลต่อมา)  มิใช่กำแพงเพชร  เพราะในช่วงเวลานั้น  "กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์"  ยังไม่เกิดทางฝั่งน้ำปิงตะวันออก  มีแต่เมืองนครชุมอยู่ทางฝั่งตะวันตกเท่านั้น  นี้ประเด็นหนึ่ง

          ....ในปี พ.ศ. ๑๙๙๔ ที่พระเจ้าติโลกราช  แห่งเชียงใหม่โดยการนำของพระยายุธิษฐิระ  ยกทัพลงมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ในแคว้นสุโขไท  และ "ได้เมืองชากังราว" นั้น  ตำนานกล่าวว่าเมื่อได้เมืองชากังราวแล้วลงมาปล้นเมืองเมืองสุโขไท  แต่ปล้นไม่ได้จึงยกทัพกลับคืน  แสดงให้เห็นว่า  ที่ตั้งเมืองชากังราวอยู่เหนือเมืองสุโขไท  จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากศรีสัชนาลัย  ตามพระราชวินิจฉัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖

          ....มหาราชเชียงใหม่ยึดครองเมืองชากังราวแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง  "เชียงชื่น"  จนมีคำกล่าวเป็นกลอนว่า  "เชลียงเชียงชื่น"  ให้หมื่นด้งนคร  ซึ่งตั้งเมืองด้งอยู่ไม่ห่างไกลนักเป็นผู้ควบคุมดูแล (เมืองด้งปัจจุบันอยู่ในตำบลบ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย) ...

          .....จึงสรุปได้ว่าเมือง "เฉิงเหลียง" ในจดหมายเหตุจีน คือ  เมืองเชลียง  ต่อมาเปลี่ยนเป็น  ศรีสัชนาลัย  ครั้งพระเจ้าติโลกราชยึดครองแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเชียงชื่น  ครั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ยึดคืนมาได้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น  สวรรคโลก  และเมืองนี้คือ  "เมืองชากังราว" ใ นพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  และ  ตำนานเมืองเหนือ  อย่างแน่นอน

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, ธันวาคม, 2561, 10:12:43 PM
(https://i.ibb.co/9H9ZGT3/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดช้างล้อม : ศรีสัชนาลัย สุโขทัย

- ศึกสองแคว้น -

เมื่อหัวเมืองฝ่ายเหนือพากันหนี
เจ้ากรุงศรีอยุธยาคราคับขัน
มอบสมบัติโอรสยศอนันต์
พระองค์พลันขึ้นเหนือเพื่อสงคราม

เสวยราชสองแฅวแลชัยนาท
ติโลกราชกลับไล่ไม่เกรงขาม
ศึกสองแคว้นรบรุกจนลุกลาม
ฝ่ายสยามตั้งยันฝ่ายล้านนา

สุโขไทไร้เจ้าเป็นเงาร่ม
ถูกกดจมดินเลนไม่เห็นค่า
อยู่ใต้บาทภิญโญอโยธยา
และมหาราชนครพิงค์.....


          อภิปราย ขยายความ..........

          มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  ที่ควรอ่านตอนนี้ คือ..." ศักราช ๘๒๓ มะเส็งศก ((พ.ศ.๒๐๐๔)  พระยาเชลียงนำมหราชมาเอาเมืองพิษณุโลก  เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถ  มิได้เมือง  และจึงยกทัพเปร่อไปเอาเมืองกำแพงเพชร  และเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง  และมหาราชก็เลิกทัพกลับคืนไปเชียงใหม่"

          ......”ศักราช ๒๘๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕)  เมืองนครไทยพาเอาครัวอพยพหนีไปน่าน  และให้พระยากลาโหมไปตามได้คืนมา  และพระยากลาโหมไปเอาเมืองสุโขทัย  ได้เมืองคืนดุจเก่า"

          ......”ศักราช ๘๒๕ มะแมศก (พ.ศ.๒๐๐๖)  สมเด็จพระบรมไตรลกนาถเจ้า  ไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก  และตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา  ทรงพระนามพระบรมราชา  ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก  ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย  จึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า  และสมเด็จพระอินทราชาเสด็จไปกันเมือง  และสมเด็จพระอินราชาเจ้าตีทัพพระยาเถียรแตก  และทัพท่านมาประทัพหมื่นนคร  และท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร  และครั้งนั้นเป็นโกลาหลใหญ่  และข้าเสิกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งเดียวนั้น  ครั้งนั้น  สมเด็จพระอินทราชาเจ้า  ต้องปืน ณ พระพักตร์  และทัพมหาราชนั้น  เลิกกลับคืนไป"

          ได้ความว่า พระเจ้าติโลกราช  เจ้านครพิงค์เชียงใหม่  มหาราชแคว้นล้านนา  ยกทัพโดยการนำของพระยาเชลียงลงมาเอาเมืองชัยนาทสองแฅว  แต่ปล้นเอาเมืองไม่ได้  จึงยกเลยไปเอาเมืองกำแพงเพชร โจมตีอยู่ ๗วัน ๗ คืน  ก็ปล้นเอาเมืองไม่ได้  จึงเลิกทัพกลับไป  บันทึกประวัติศาสตร์ตอนนี้แสดงให้เห็นว่า  สมัยนั้น  พระเจ้าติกโลกราชได้เมืองชากังราว (ศรีสัชนาลัย) และสุโขทัยไว้ในครอบครองแล้ว  จึงยกทัพเข้าปล้นเอาเพียงเมืองชัยนาทสองแฅว  และ  กำแพงเพชร ๒ เมืองเท่านั้น  แต่ปล้นเอามิได้

          หลังจากมหาราชเลิกทัพกลับไปแล้ว  ทางเมืองนครไทยซึ่งมีผู้ครองเมืองเป็นเชื้อสายขุนบางกลางท่าว (ศรีอินทราทิตย์)  ไม่พอใจสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถด้วยความคิดเช่นเดียวกันกับเจ้าฟ้าสองแฅวและพระยาเชลียง  จึงพาครัวอพยพไปเมืองน่านซึ่งเป็นเมืองเดิมของขุนบางกลางท่าว  ครานั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตรัสให้พระยากลาโหมเร่งตามจับครัวนครไทยกลับคืนมาได้  และพระยากลาโหมยังได้ยกทัพไปเอาเมืองสุโขทัยคืนมาได้อีกด้วย

          เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในหัวเมืองฝ่ายเหนือเช่นนั้น  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแก้ไขด้วยด้วยการมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งครองกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  พระบรมราชา  แล้วพระองค์เสด็จขึ้นประทับเสวยราชย์ ณ ชัยนาทบุรี  สองแฅว  สยามในยามนั้นจึงแยกออกเป็น ๒ ราชสำนัก

          เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นมาเสวยราชที่เมืองเหนือแล้ว  พระเจ้าติโลกราชก็ยกกองทัพใหญ่  โดยมี  พระยุธิษฐิระ (พระยาเถียร)  พระยาเชลียง  หมื่นนคร (ลำปาง)  เป็นกำลังสำคัญ  เข้าโจมตีเพื่อยึดเมืองสุโขทัยให้จงได้

          การศึกครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก มีการรบกันถึงขั้นชนช้างอย่างน่าตื่นเต้น พรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อดีกว่านะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, ธันวาคม, 2561, 09:47:23 PM
(https://i.ibb.co/m92dM2G/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระอินทราชา ? -

"ยุธิษฐิระ"จากพะเยาเข้าสมทบ
ออกหน้ารบห้าวหาญปานเสือสิงห์
ทรงช้างพลายใหญ่โตโผช่วงชิง
ไล่พลวิ่งเข้าหาข้าศึกพลัน

ฝ่ายพระอินทราชา"ทัพหน้าเล่า
ขี่ช้างเข้าตีทัพอย่างคับขัน
ถึงกลางทัพพระยาเถียรเปลี่ยนไม่ทัน
ปะทะกันกลางสนามโครามครามครืน

กำลังน้อยถอยหนีพร้อมตีสู้
กลางริปูรุมล้อมห้อมข่มขืน
"พระอินท"สู้ประจญทนหยัดยืน
แม้ต้องปืนที่หน้าไม่รามือ......


          อภิปราย ขยายความ..........

          พระเจ้าติโลกราชยกทัพใหญ่จากเชียงใหม่โดยการนำของพระยาเชลียง  สมทบกองกำลังหัวเมืองต่าง ๆ เช่น  พระยาเถียร (ยุธิษฐิระ) เมืองพะเยา  หมื่นนคร  นครลำปาง  เป็นต้น  บุกลงมาจากเชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย)  หมายยึดสุโขไทให้จงได้  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยกทัพจากชัยนาท  สรลวงสองแฅว  เข้าป้องกันเมืองสุโขไท  ทัพหน้าทั้งสองปะทะกัน  และรบกันอย่างดุเดือด  แม่ทัพหน้าของเชียงใหม่คือ พระยาเถียร (ไทยใต้เรียกกัน)  หรือ พระยายุธิษฐิระ  อดีตเจ้าเมืองสองแฅว (เรียกอีกนามหนึ่งว่าเจ้าฟ้าสองแฅว)  ที่ยกครัวไปขึ้นกับพระเจ้าติโลกราชแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองพะเยา  ฝ่ายแม่ทัพหน้ากรุงศรีอยุธยา  คือ  พระอินทราชา

          .... บันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าให้รายละเอียดไว้ว่า  "ศักราช ๘๒๕ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๖)  สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า  ไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก  และตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา  ทรงพระนามพระบรมราชา  ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก  ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย  จึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า  และสมเด็จพระอินทราชาเสด็จไปกันเมือง  และสมเด็จพระอินทราชาเจ้า  ตีทัพพระยาเถียรแตก  และทัพท่านมาประทัพหมื่นนคร  และท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร  และครั้งนั้นเป็นโกลาหลใหญ่  และข้าเศีกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งเดียวนั้น  ครั้งนั้นพระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร์  และทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป"

          ... อ่านบันทึกนี้แล้วมองเห็นภาพว่า  กองทัพพระยาเถียร  หรือ  ยุธิษฐิระยกลงมา  กองทัพพระอินทราชายกเข้าปะทะ  โจมตีจนกองทัพพระยาเถียรแตกถอยร่นไป  พระอินทราชาทรงช้างพระที่นั่งบุกตลุยไล่  จนไปประกองทัพหมื่นคร  เจ้าเมืองนครลำปาง  หมื่นนครไสช้างเข้าชนช้างที่นั่งพระอินทราชา  ขณะนั้นมีขุนศึกของเชียงใหม่อีก ๓ นาย  ไสช้างเข้ารุมรบ  ชนช้างพระอินทราชาแบบ  "สี่รุมหนึ่ง"  พระอินทรราชต่อสู้อย่างห้าวหาญ  ยามนั้นทหารจากกองทัพพระอินทราชา  และทัพหลวงสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าตามมาทันเข้าช่วยรบกันเป็นโกลาหล  มีการยิงปืนใส่กันเป็นระยะ กระสุนปืนลูกหนึ่งต้องพระพักตร์พระอินทราชา  แม้กระนั้นพระองค์ก็ไม่สะทกสะท้านการรบ  ฝ่ายกองทัพหน้าของมหาราชเห็นท่าไม่ดีจึงล่าถอยกลับไป

          ...สมเด็จพระอินทราชาพระองค์นี้  เป็นใคร  มาจากไหน  ไม่พบที่มาที่ไป  ในทางสันนิษฐานเชื่อได้ว่าพระองค์เป็นโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระบรมไตรโลก  ซึ่งทรงตรัสให้เสวยราชสมบัติ ณ สุพรรณภูมิ เพราะคำว่า  "พระอินท"  เป็นนามสัญลักษณ์ของเจ้าผู้ครองสุพรรณภูมิ  เริ่มแต่สมัยสมเด็จพระเทพาหูราชเป็นต้นมา  จนปรากฏว่าพระนาม  "อินท"  มีอยู่ในราชวงศ์สุพรรภูมิ-สุโขทัยหลายพระองค์  หากจะสันนิษฐานว่า  พระอินทราชา  คือ  "พระนครอินทร์"  โอรสพระองค์หนึ่งของพระเจ้าสามพระยา  ซึ่งควรจะเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระบรมไตรโลก  ผู้ได้เสวยราชสมบัติเมืองพระนคร (กัมพูชา)  ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๗๔  นั้นก็เป็นไปได้ยาก  เพราะมีระยะเวลาห่างไกลกันถึง ๓๒ ปี  และอยู่ไกลเกินกว่าที่จะทิ้งเมืองพระนครมาร่วมรบได้  หลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว  ไม่ปรากฏนามพระอินทราชาพระองค์นี้อีกเลย

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, ธันวาคม, 2561, 10:04:58 PM
(http://upic.me/i/rj/znh...jpg) (http://upic.me/show/62279634)
ปรางค์วัดจุฬามณีวัดจุฬามณี : พิษณุโลก

- บรมไตรโลกผนวช -

เศิกสงบแสวงหาความสงัด
ทรงสร้างวัดขึ้นตามความเชื่อถือ
แต่งคำเทศน์มหาชาติราษฎร์เลื่องลือ
เรื่องนั้นคือมหาทาน"เวสสันดร"

พระราชศรัทธาจริงอย่างยิ่งยวด
ทรงผนวชเหมือนจักทรงพักผ่อน
ปลงภาระบ้านเมืองเรื่องนาคร
แผ่คำสอนศาสนาสาธุชน

ส่งพระสงฆ์เป็นสื่อสู่เชียงใหม่
มีความนัยการเมืองเปลื้องสับสน
มหาราชรู้แผนแสนแยบยล
จึงปัดพ้นทางได้ไม่ยากเย็น

พระบรมไตรโลกนาถเจ้า
ผนวชเนานานได้ไม่ยากเข็ญ
มีเหตุการณ์เกิดกรายหลายประเด็น
ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมดีงาม.......


          อภิปราย ขยายความ.........
 
          สงครามชิงเมืองสุโขทัยระหว่างไทยใต้ฝ่ายป้องกันกับไทยเหนือฝ่ายรุกราน  มีการรบกันอย่างดุเดือดถึงขั้นชนช้างแบบตะลุมบอนกันผ่านไปแล้ว  สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรง "หันหน้าเข้าวัด"  ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกไว้ว่า.....

          ......."ศักราช ๘๒๖ วอกศก(พ.ศ.๒๐๐๗)  สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า  สร้างพระวิหารวัดจุฬามณี"
          ......."ศักราช ๘๒๗ ระกาศก(พ.ศ. ๒๐๐๘)  สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า  ทรงพระผนวช ณ  วัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน  แล้วลาพระผนวช"

          …....เสร็จศึกป้องกันเมืองสุโขทัยแล้ว  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ทรงสร้างวัดจุฬามณีริมน้ำน่านด้านใต้เมืองสองแฅว  พร้อมกันนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์มหาชาติคำหลวง  โดยทรงนำมหาชาติ (ชาดก) เรื่องพระเวสสันดรมาพระราชนิพนธ์เป็นคำร้อยกรองประเภทร่ายยาว  มหาชาติเรื่องเวสสันดรนี้  เดิมคือคำประพันธ์เป็นพระคาถาภาษาบาลี  แบ่งออกเป็นกัณฑ์ได้ ๑๓ กัณฑ์  รวมเป็น ๑๐๐๐ พระคาถา เรียกว่า "คาถาพัน"  พระภิกษุจะนำมาเทศน์เป็นกิริยาบุญต่อจากการเทศน์เรื่องพระมาลัย  และมีการแหล่เป็นกลอนในพากย์ภาษาไทยสลับพระคาถาบาลีบ้าง  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแปลเรื่องในพระคาถานั้นออกมาเป็นภาษาไทย  ด้วยการร้อยกรองถ้อยคำเป็นบทร่ายยาว  พระราชทานนามว่า  "มหาชาติคำหลวง"  ให้พระภิกษุใช้เทศนาให้พุทธศาสนิกชนฟังกันต่อไป

          ....หลังจากสร้างวัดจุฬามณีแล้ว  จึงทรงพระผนวช  ตามความในศิลาจารึกวัดจุฬามณีว่า  "ลุศักราช ๘๒๗  ปีระกา  นักษัตร  เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำครุเทพวาร  สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถบพิตรเป็นเจ้า  เสด็จพระผนวช..........."  ความจารึกนี้ระบุว่า  ทรงพระผนวชอยู่นานถึง ๘ เดือน ๑๕ วัน  พระราชโอรสพร้อมด้วยอำมาตย์พากันถวายบังคมอัญเชิญให้ลาพระผนวช มาครองราชดังเดิม
 
          ......ในระหว่างทรงพระผนวชอยู่นั้น  ทรงส่งพระสมณะทูตไปยังราชสำนักนครพิงค์เชียงใหม่  ความเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวการฝ่ายไทยใต้  แต่มีอยู่ในตำนานฝ่ายไทยเหนือ

          ......ส่งพระสมณะทูตไปทำอะไร พรุ่งนี้ค่อยตามไปดูกันนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, ธันวาคม, 2561, 10:48:45 PM
(https://i.ibb.co/Qng9BD8/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช


- รบด้วยเล่ห์กลมนต์คาถา  -

ชะตาเมืองนครพิงค์แข็งยิ่งนัก
เศิกตีหักมิสำเร็จมักเข็ดขาม
ฝ่ายกรุงศรีฯสืบดูจนรู้ความ
ให้เถระภุกามแอบทำลาย

ลวงติโลกราชงงทรงเลื่อมใส
เชื่อตัดไม้มงคลจนเสียหาย
ราชสำนักนครพิงค์คนหญิงชาย
คนดีดีที่ต้องตายอย่างไม่ควร

เจ้ากรุงศรีฯมีเล่ห์กลเสแสร้ง
โดยทรงแต่งทูตที่มีครบถ้วน
แฝง"หมอผี"เข้าไปในขบวน
แอบก่อกวนรอบวัง"ฝังรูปรอย"

หมอผีถูกจับได้ด้วยไสยศาสตร์
มหาราชสั่งฆ่าทูตล่าถอย
กลซ้อนเล่ห์เล่นกัน"มันปนกลอย"
ข้อปลีกย่อยอาจใหญ่ได้เหมือนกัน....


          อภิปราย ขยายความ.............

          มีความในตำนานเมืองเหนือ (พงศาวดารโยนก) บันทึกเรื่องราวไว้ว่า  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงส่งราชทูตไปยังราชสำนักนครพิงค์เชียงใหม่  แจ้งว่ามีพระราชศรัทธาทรงพระผนวชบำเพ็ญเนกขัมบารมี  ทูลขอคณะสงฆ์จากล้านนาไปร่วมในพิธีอุปสมบทกรรมด้วย  มหาราชจึงส่งพระเทพกุลเถระพร้อมพระอันดับ ๑๒ รูป  ให้หมื่นล่ามแขกเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นพร้อมพระสงฆ์  ถวายพระบรมไตรโลกนาถ  หลังจากทรงพระผนวชแล้ว  ทรงส่งคณะสงฆ์ล้านนากลับเชียงใหม่  พร้อมส่งพระโพธิสมภารเถระเป็นพระสมณะทูตขึ้นไปเชียงใหม่  ให้เจรจาความเมือง  ทูลขอเมืองศรีสัชนาลัยคืน

          ....มหาราชทราบเช่นนั้นจึงให้ประชุมสงฆ์เชียงใหม่  มอบเรื่องนี้ให้คณะสงฆ์พิจารณาเรื่องที่พระโพธิสมภารเถระเสนอตามพระราชประสงค์ของพระบรมไตรโลกนาถ  พระมหาธรรมรัตนปราสาท  ประธานสงฆ์เชียงใหม่เรียกประชุมคณะสงฆ์แล้ว  มีมติออกมาเป็นเอกฉันท์ว่า  "ไม่ควรแก่กิจสมณะ  ไม่อนุญาต"  พระโพธิสมภารเถระก็กลับมาด้วยความผิดหวัง

          ....พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกว่า  "ศักราช ๘๓๐ ชวดศก (พ.ศ.๒๐๑๑)  ครั้งนั้นมหาราชท้าวบุญ ชิงเอาเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก"  เรื่องนี้มีความในตำนานเมืองเหนือกล่าวไว้อย่างพิสดาร  พอสรุปได้ว่า...

          ....มีพระเถระภุกามรูปหนึ่งเชี่ยวชาญในศิลปะศาสตร์วิทยาคุณ  เฉลียวฉลาดในการเจรจา  เดินทางไปกรุงศรีอยุธยา  รับอาสาสมเด็จพระบรมราชาธิราชไปทำลายต้นไทรไม้ศรีเมืองเชียงใหม่  ให้ชะตาเมืองอ่อนลง  พระเถระรูปนี้เดินทางอ้อมจากกรุงศรีอยุธยาไปหงสาวดีแล้วเข้าลำพูน  เชียงใหม่ ในฐานะพระภิกษุรามัญ  ไปพักอยู่วัดนันทาราม  มีศีลาจารวัตรงดงามเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน  จนข่าวล่วงรู้ไปถึงมหาราช  ทรงทดสอบจนเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง  จึงขอให้บอกวิธีทำให้พระองค์มีพระชนม์ยืนนาน  บ้านเมืองประสบความเจริญยิ่งๆขึ้นไป

          ....พระเถระภุกามได้โอกาส  จึงเสนอให้ย้ายพระราชวังที่ประทับใหม่  ให้ตัดโค่นต้นไทร  ปรับพื้นที่ถมคลองคูเมืองสร้างพระราชมณเฑียรใหม่  มหาราชจึงเร่งให้เสนาอำมาตย์สิงเมืองดำเนินการด่วน  จนแล้วเสร็จในเวลาไม่นาน  หลังจากทรงขึ้นประทับบนพระราชมณเฑียรใหม่แล้ว  มีเรื่องร้ายเกิดขึ้น  โดยแม่ท้าวหอมุกข์พระสนมเอก  ทูลยุยงใส่โทษแก่ท้าวบุญเรืองราชโอรส  ให้ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองน้อย  ต่อมาท้าวแม่หอมุกข์ทูลยุยงซ้ำเติม  จนสั่งประหารท้าวบุญเรืองเสีย  อีกเรื่องหนึ่งมีบัตรสนเท่ห์ใส่ความหมื่นม้าแก้วหาญจนถูกสั่งประหารชีวิตโดยไม่มีความผิด

          ....ต่อมาพระบรมราชาส่งคณะทูตมาถวายเครื่องบรรณาการเป็นพระราชไมตรี  ในคณะทูตนั้นมีหมอผีร่วมมาด้วย  หมอผีร่วมกับพระเถระภุกาม  ทำการฝั่งรูปรอยตามมุมเมือง  เพื่อทำลายศรีเมืองให้อ่อนกำลังลง  มหาราชทรงใช้นักไสยศาสตร์ล้านนาจับหมอผีได้  หมอผีสารภาพว่าร่วมกับพระเถระภุกามทำลายศรีเมืองเชียงใหม่  มหาราชจึงให้เอาหมอผีพร้อมพระเถระภุกามไปประหารด้วยการถ่วงน้ำเสีย......

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg40901#msg40901)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41252#msg41252)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, ธันวาคม, 2561, 11:28:47 PM
(https://i.ibb.co/X2m182b/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดเจ็ดยอด (วัดโพธารามมหาวิหาร) : เชียงใหม่



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41056#msg410561)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41419#msg41419)                   .

- ได้ "ชากังราว" กลับคืน -

"หมื่นนคร"ริปูผู้ใจบาป
ทำฝักดาบด้วยทองคำปองมั่น
ลอกทองพระพุทธงามองค์สำคัญ
หุ่มดาบอันโชกเลือดเชือดฟันไทย

เป็นบาปกรรมทำให้ต้องพ่ายศึก
เบื้องหลังลึกมหาราชอาจรู้ได้
ว่ารบราฆ่าฟันกันทำไม
ทรงหันไปทางบุญสุนทรทาน

ทำไมตรีบรมไตรโลกนาถ
เลิกพิฆาตเคียดแค้นไร้แก่นสาร
ทำ"สังคายนาย"สืบเน้นเป็นตำนาน
ทรงชื่นบานในธรรมคุณความดี

เช่นเดียวกับบรมไตรโลก
หวังวิโมกขธรรมจำเริญศรี
จัดงานใหญ่ฉลองพระและคัมภีร์
สร้างบุญญาบารมีโพธิญาณ.......


          อภิปราย ขยายความ.....

          มีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าว่า  "ศักราช ๘๓๕ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๑๖)  หมื่นนครได้ลอกเอาทองพระเจ้าลงมาหุ้มดาบ........... ศักราช ๘๓๖ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๑๗)  เสด็จไปเอาเมืองเชลียง"

          .......ในปี  พ.ศ. ๒๐๑๖  นั้น หมื่นคร  คือ  เจ้าเมืองนครลำปางผู้ใจบาป  บังอาจลอกเอาทองที่หุ้มองค์พระพุทธรูปเมืองเชลียงลงมาหลอมเป็นฝักดาบ  สร้างความโกรธแค้นชิงชังแก่ชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง  จึงส่งข่าวให้ทางสุโขทัย  สองแฅวทราบ  แล้วนัดแนะให้กองทัพไทยใต้ยกเข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัยคืนให้จงได้  ดังนั้น  ในปี พ.ศ. ๒๐๑๗  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  จึงเสด็จไปยึดเมืองเชลียง  เชียงชื่น  หรือชากังราว  คือ  ศรีสัชนาลัยกลับคืนได้โดยง่ายดาย

          ....บันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  มีต่อไปอีกว่า  "ศักราช ๘๓๗ มะแมศก (พ.ศ.๒๐๑๘)  มหาราชมาเป็นไมตรี"

          .... ความในตำนานเมืองเหนือบันทึกไว้ในปีเดียวกันนี้ว่า  มหาราชเชียงใหม่สร้างพระวิหาร ณ วัดเจดีย์หลวง  และสร้างพระไตรปิฎก ๒ ปี  เสร็จแล้วให้ประชุมพระเถรานุเถระ มี พระธรรมทินมหาเถรเจ้าอาวาสวัดป่าตาลเป็นประธาน  กระทำสังคายนายชำระพระคัมภีร์พระไตรปิฎก ณ วัดโพธาราม  ปีหนึ่งจึงเสร็จบริบูรณ์  นับเป็นอัฏฐมสังคายนายลำดับที่แปด  คณะสงฆ์เฉลิมพระนามพระเจ้าแผ่นดินองค์อุปถัมภ์สังคายนายว่า  "พระเจ้าศรีธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช"  พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่  และในโอกาศที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่นี้เอง  พระเจ้าติโลกราชได้ส่งราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับพระบรมไตรโลกนาถ  และทรงขอคณะสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปเข้าร่วมการกระทำอัฏฐมสังคายนายด้วย

          ....ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น  มีบันทึกในพระราชพงศาดารกรุงเก่าว่า .... "ศักราช ๘๔๔ ขาลศก (พ.ศ.๒๐๒๕)  ท่านให้เล่นการมหรสพ ๑๕ วัน  ฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ  แล้วจึงพระราชนิพนธ์  "มหาชาติคำหลวง"  จบบริบูรณ์"......

          ....จะเห็นได้ว่า หลังจากที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปเอาเมืองศรีสัชนาลัยหรือชากังราว  เชลียงเชียงชื่น  คืนมาได้แล้ว  ทั้งสองฝ่ายคู่ศึก  ต่างก็มุ่งหน้าบำเพ็ญบุญบารมีธรรมตามคติของพระพุทธศาสนา  ผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าติโลกราช  คือ  ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  ในการกระทำสังคายนายครั้งที่ ๘  จนสำเร็จ  ทางฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีผลงานเด่นทางพระศาสนาคือ การทรงพระผนวชในขณะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  และพระราชนิพนธ์คัมภีร์มหาชาติคำหลวง ๑๓ กัณฑ์เสร็บริบูรณ์.....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, ธันวาคม, 2561, 10:10:55 PM
(https://i.ibb.co/sgty80d/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย

- ตั้ง "พิษณุโลก & สวรรคโลก" -

ยุบ"สรลวงสองแฅว"แลประกาศ
รวม"ชัยนาทบุรี"ศรีสถาน
เป็นเมืองเดียวใหญ่โตมโหฬาร
นามขนาน"พิษณุโลก"อร่ามเรือง

มหาธาตุเชลียงนั้นถูกพาลถล่ม
แทบพังจมดินไปไม่ต่อเนื่อง
ทรงฟื้นฟูบูรณะให้ประเทือง
เปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่มงคลนาม

"สวรรคโลก"ให้เห็นเป็นสวรรค์
เป็นคู่กัน"พิษณุโลก"ขวัญสยาม
สองโอรสทรงผนวชร่วมอาราม
เจริญตามรอยบาทราชบิดา


          อภิปราย ขยายความ...................

          หลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลาพระผนวชขึ้นครองราชสมบัติตามเดิมแล้ว  ทรง "สร้างบ้านแปงเมือง" ใหม่  คือทรงสร้างกำแพงเมืองสรลวงสองแฅวกับชัยนาทบุรีจนเชื่อมต่อกัน  ให้เมืองทั้งสองอยู่ในกำแพงเดียวกัน  ยุบราชสำนักสองแฅวกับชัยนาทเข้าเป็นราชสำนักเดียวกัน  เมื่อรวมเมืองทั้งสองให้เป็นเมืองเดียวกันแล้ว  ทรงขนานามเมืองเสียใหม่เป็นเมือง  "พระพิษณุโลก"  โดยใช้พระราชวังจันทร์ในเมืองชัยนาทเดิมเป็นศูนย์กลางของราชสำนักพิษณุโลกแต่นั้นเป็นต้นมา

          ....ในขณะที่ทรงสร้างกำแพงเมืองล้อมชัยนาทกับสรลวงสองแฅวให้อยู่ในเมืองเดียวกันนั้น  ก็ทรงไปเอาเมืองศรีสัชนาลัย  หรือ  เชลียง  ชากังราว  เชียงชื่น  ในการถือครองของพระเจ้าติโลกราชคืนมาได้สำเร็จ  จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์เมืองใหม่  โดยเฉพาะวัดมหาธาตุเมืองเชลียงนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก  แม้แต่ทองที่หุ้มองค์พระก็ถูกหมื่นนครลอกเอาไปหลอมทำเป็นฝักหุ้มดาบ  จึงต้องบูรณะซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด แล้วขนานนามเมืองนี้เสียใหม่ว่า  "สวรรคโลก"  ให้เป็นนามคู่กันกับ  "พิษณุโลก"

          ....มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์ช่วงเวลานี้ไว้ว่า

          "ศักราช ๘๔๖ มะโรงศก (พ.ศ.๒๐๒๗)  สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า  และสมเด็จพระราชโอรส  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า  ทรงพระผนวชทั้ง ๒ พระองค์"

          ..สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าในที่นี้  เป็นพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  เป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระบรมราชาธิราช  ทั้งสองพระองค์ทรงพระผนวชร่วมกัน  สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงพระผนวชในขณะครองราชสมบัติ  พระองค์แรก คือ  สมเด็จพระศรีสุริยพงศ์ราม  มหาธรรมราชา(ลิไท)  พระองค์ที่ ๒ คือ  มหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์  ฦๅไท  พระองค์ที่ ๓ คือ  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  และ  พระองค์ที่ ๔ คือ  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าแห่งกรุงศรีอยุธยา  ที่เสด็จขึ้นไปทรงพระผนวช ณ พิษณุโลกดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าข้างต้นนั้น

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, ธันวาคม, 2561, 10:15:01 PM
(https://i.ibb.co/ck9gJQy/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

- คู่ศึกสวรรคตตามกัน -

"พระเชษฐา"ลาเพศบรรพชิต
ขึ้นสถิตตำแหน่งอันแกร่งกล้า
"มหาอุปราช"อยุธยา
ครองพาราพิษณุโลก"โอฆบุรี"

อยู่ต่อมา"มหาราช"สวรรคต
เสมือนลดเสี้ยนศึกจากกรุงศรี
แต่"ทวาย"รามัญนั้นไม่ดี
ต้องเสียทีพลาดท่าข้าศึกครอง

แล้ว"สมเด็จพระบรมไตรโลก"
วิปโยคยื่นให้ทวยไทยหมอง
สวรรคตหมดฤทธิ์เคยเรืองรอง
ฝากงานฟ่องเฟื่องฟูให้รู้กัน


          อภิปราย ขยายความ.............

          สมเด็จพระบรมราชาธิราช  และ  สมเด็จพระเชษฐาธิราช  ทรงพระผนวชพร้อมกัน ณ เมืองพระพิษณุโลก  ครั้นลาพระผนวชแล้ว  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จกลับครองกรุงศรีอยุธยาตามเดิม  ส่วนสมเด็จพระเชษฐาธิราชนั้น  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าทรงประกาศสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา  เสวยราชสมบัติ ณ พระพิษณุโลก

          .....มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า

          "ศักราช ๘๔๙ มะแมศก (พ.ศ.๒๐๓๐)  ท้าวมหาราชลูกพิราลัย"

          "ศักราช ๘๕๐ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๓๑)  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเอาเมืองทวาย  และเมื่อจะเสียเมืองทวายนั้น  เกิดอุบาทว์หลายประการ  โคตกลูกตัวหนึ่งเป็นแปดเท้า  ไก่ฟักไข่ออกตัวหนึ่งเป็นสี่เท้า  ไก่ฟักสามค่องออกลูกเป็นหกตัว  อนึ่ง  ข้าวสารงอกเป็นใบ  อนึ่ง  ในปีเดียวกันนั้น  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จนฤพาน ณ เมืองพิณุโลก"

          ......ได้ความชัดเจนว่าปี พ.ศ. ๒๐๓๐  พระเจ้าติโลกราช มหาราชแห่งเชียงใหม่  คู่ศึกสำคัญของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงแก่พิราลัยสวรรคตไปก่อน  รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๐๓๑  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็เสด็จสวรรคตตามมหาราชไป

          .....ในปีที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตนั้น  เกิดอุบาทว์เป็นลางร้ายขึ้น  กล่าวคือ  แม่โคออกลูกมาเป็นลูกโคสี่ขา  ไก่ออกจากไข่หนึ่งตัวมีสี่ขา  ข้าวสารงอกออกใบเช่นข้าวเปลือก  ในปีนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จไปเอาเมืองทวายที่เสียแก่ข้าศึกไป

          ......สรุปได้ว่า... สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ทรงขึ้นครองราย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๑  ดำเนินแผนการรวมแคว้นสุโขไทเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ  ทรงเสวยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา ๑๕ ปี  เสด็จขึ้นไปเสวยราช ณ พิษณุโลก ๒๕ ปี  รวมเวลาที่ครองราชทั้งหมด ๔๐ ปี

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, ธันวาคม, 2561, 10:08:28 PM
(https://i.ibb.co/HTPXCSz/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระบรมราชาธิราช -

"บรมไตรโลกนาถ"นิราศแล้ว
เหลือเพียงแนวทางให้ไทยสร้างสรรค์
การรวมชาติญาติกากลุ่มเผ่าพันธุ์
เป็นงานอันควรก่อสานต่อไป

"พระบรมราชาธิราชเจ้า"
ทรงน้อมเกล้ารับสานต่องานใหญ่
ครองอยุธยาธานีเป็นศรีไทย
เขตแดนไกลกว่าเริ่มแต่เดิมมา

สร้างกำแพงเมืองพิชัยไว้ต้านศึก
ทรงผนึกกำลังน้องนาม"เชษฐา"
แคว้นเหนือใต้รวมกันมั่นศรัทธา
เป็นอาณาจักรไทยใหญ่ยืนยง

ครั้นบรมราชาสวรรคต
ผู้ทรงยศครองราชย์สมประสงค์
พระเชษฐาอุปราชผู้อาจอง
เสด็จลงอยุธยาครองธานี


          อภิปราย ขยายความ.......

          สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๑  ไม่มีการขึ้นครองบัลลังก์เสวยราชมบัติของพระราชาพระองค์ใหม่  เพราะว่า  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตรัสให้มีพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา  นามสมเด็จพระบรมราชาธิราชไว้ก่อนแล้ว

          สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์นี้  วันวลิต กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า  "หลังจากพระบรมไตรโลกนาถสละราชสมบัติแล้ว  พระราชโอรสก็ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา  ทรงพระนามว่า  "พระอินทราชา"  เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๐  แห่งสยาม  เสวยราชย์อยู่ ๓๗ ปี"

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  กล่าวถึงพระนามกษัตริย์พระองค์นี้  ต่างกรรมต่างวาระ  ต่างพระนามกัน  กล่าวคือ  ตอนที่พระบรมไตรโลกนาถตรัสให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยานั้น  ออกพระนามว่า  "สมเด็จพระบรมราชา"  ตอนที่ยกทัพไปกันเมืองสุโขไทและรบกันอย่างดุเดือดถึงกับชนช้่างนั้น  ออกพระนามว่า  "สมเด็จพระอินทราชาเจ้า"  ตอนที่ทรงพระผนวช  ออกพระนามว่า  "สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า"  ทำให้สับสนเป็นอย่างมาก

          พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  ระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระนามว่า  "พระอินทราชา"  จึงควรสรุปได้ว่า  พระบรมราชา  พระอินทราชา  เป็นพระองค์เดียวกัน  และเป็นไปได้ว่าพระอินทราชามีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงสุพรรณภูมิ  เพราะพระนาม  "อินท"  เป็นสัญลักษณ์แห่งราชสำนักสุพรรณภูมิ  ผู้ที่ใช้พระนามนี้เป็นพระองค์แรกคือ  สมเด็จพระเทพาหูราชหรือสมเด็จพระนครินทราชาธิราช  ที่คนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า  "เจ้านครอินทร์"  ผู้เป็นต้นราชวงศ์สุพรรภูมิ-สุโขทัย นั่นเอง

          สมเด็จพระอินทราชา  หรือ  สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า  เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๓๑  เพียงพระองค์เดียว  โดยมีสมเด็จพระเชษฐาธิราช  อนุชาต่างพระมารดาเป็นมหาอุปราช  ทรงตรัสให้สร้างกำแพงเมืองพิชัยขึ้นป้องกันข้าศึกที่อาจจะยกมารุกรานแคว้นเหนือของไทยอีก  ทรงสร้างกำแพงเมืองพิชัยเสร็จแล้วเพียงปีเดียวก็เสด็จสวรรคต  ในปี พ.ศ. ๒๐๓๔  รวมเวลาที่เสวยราชสมบัติทั้งสิ้น ๒๘ ปี

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขร้ผึ้งไทย
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, ธันวาคม, 2561, 09:53:15 PM
(https://i.ibb.co/HYcmznB/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา

- พระรามาธิบดี ที่ ๒ -

เปลี่ยนกษัตริย์ผลัดแผ่นดินไม่สิ้นสาย
พระเชษฐาทรงย้ายลงกรุงศรีฯ
เฉลิมพระนามรามาธิบดี
แทนผู้พี่"บรมราชา"

วรรณคดีอมตะมักจะอ้าง
เรื่องขุนช้างขุนแผน"พระพันวษา"
คือพระองค์ทรงอิทธิฤทธา
"พระรามาธิบดี"องค์นี้เอง

ทรงสร้างวัดนามที่"ศรีสรรเพชฌ์"
สร้างวัดเสร็จสร้างพระไม่รีบเร่ง
เป็นพระยืนองค์ใหญ่น่ายำเกรง
เนื้อทองเปล่งรัศมีมีประกาย


          อภิปราย ขยายความ..........

          พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  กล่าวว่า  พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๑  แห่งสยามทรงเป็นอนุชาของพระอินทราชา  ได้ครองราชสมบัติเมื่อพระชนมายุ ๒๑ พรรษา  ทรงพระนามว่า  "พระเจ้ารามาธิบดี"  เสวยราชย์อยู่นาน ๓๘ ปี

          .....ตรงนี้มีปัญหา  ในปีที่ขึ้นครองราชย์คงมีพระชนมายุเกิน ๒๑ พรรษาแล้ว  เพราะทรงพระผนวชเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๗  ปีที่ทรงพระผนวชนั้นมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์  ลุถึงปีครองราชย์  คือ  พ.ศ. ๒๐๓๔  ควรจะมีพระชนมายุได้ ๒๗ พรรษาแล้ว  ถ้ามีพระชนมายุ ๒๑ พรรษาในปีครองราชย์จริงตามที่วันวลิตกล่าว  ก็ต้องหมายความว่า  การทรงพระผนวชของพระองค์นั้น  มิได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  (เพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์)  หากแต่ทรงบรรพชาเป็นสามเณร (บวชเณรหางนาค) เท่านั้นเอง

          .....คำให้การของชาวกรุงเก่าที่ทางราชสำนักเมียนมาร์จดบันทึกไว้นั้น  เรียกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์นี้ว่า  "สมเด็จพระพันวษา"  เรียกตามภาษาเมียนมาร์ว่า  "วาตะถ่อง"  เป็นผู้มีกฤษดาธิการมาก  มีขุนทหารผู้เก่งกล้าในการศึกสงคราม  คือ "ขุนแผน"  ตามความในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  เรื่องนี้ควรเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์  ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

          ....ในเนื้อประวัติศาสตร์  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ  ได้บันทึกเหตุการณ์สมัยที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ครองราชย์ไว้ว่า

          ........."ศักราช ๘๕๔ ชวดศก (พ.ศ. ๒๐๓๕)  ประดิษฐานพระมหาสถูปบรมธาตุสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้า......"
          ........."ศักราช ๘๕๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๐๓๙)  ท่านประพฤติการเบญจาพิธพระองค์ท่าน  และให้เล่นการดึกดำบรรพ์...."
          ........."ศักราช ๘๕๙ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๔๐)  ท่านให้ทำการปฐมกรรม..."
          ........."ศักราช ๘๖๐ มะแมศก (พ.ศ. ๒๐๔๒)  แรกสร้างพระวิหารศรีสรรเพชฌ์ "
          ........."ศักราช ๘๖๒ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๔๓)  สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า  แรกให้หล่อพระพุทธเจ้าศรีสรรเพชฌ์  และแรกหล่อในวันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำ  เดือน ๖  ครั้นถึงศักราช ๘๖๕  กุนศก (พ.ศ. ๒๐๔๖)  วันศกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘  ฉลองพระพุทธเจ้า  พระศรีสรรเพชฌ์คณนาพระพุทธเจ้านั้น  แต่พระบาทถึงยอดพระรัศมีนั้นสูงได้ ๘ วา  พระพักตร์นั้นยาวได้ ๔ ศอก  กว้างพระพักตร์นั้น ๓ ศอก  และพระอุระนั้นกว้าง ๑๑ ศอก  และทองหล่อพระพุทธเจ้านั้น หนัก ๕ หมื่น ๓ พันชั่ง  ทองคำหุ้มนั้นหนักสองร้อยแปดสิบหกชั่ง  ข้างหน้านั้นทองเนื้อ ๗ น้ำสองขา  ข้างหลังนั้น ทองเนื้อ ๖ สองขา".......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มกราคม, 2562, 10:12:51 PM
(https://i.ibb.co/jDBFGyB/20190101-124047-01.jpg) (https://imgbb.com/)
พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ
เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ ณ วัดพระเชตุพนฯ
Cr. Photo By บ้านกลอนน้อย

- พระศรีสรรเพชฌ์ -

พระยืนสูงแปดวาตั้งตระหง่าน
เป็นประธานกลางเมืองเรืองแสงฉาย
ทรงนาม"ศรีสรรเพชฌ์"พรรณราย
มีความหมาย"รู้รอบโดยชอบธรรม"

พระองค์นี้อยู่มาครากรุงแตก
ข้าศึกแยกองค์ท่านพาลเหยียบย่ำ
ลอกเอาทองหุ้มองค์ไม่กลัวกรรม
ผลักพระองค์ลงคว่ำคะมำดิน

ไทยกู้ชาติตั้งกรุงบำรุงศาสน์
พระจอมราชรัตนโกสินทร์
สั่งเคลื่อนย้ายลงไปในธานินทร์
ช่างหลวงสิ้นปัญญาบูรณาการ

จึงเก็บไว้ใต้ฐานเจดีย์ใหญ่
ซึ่งอยู่ในวัดโพธิรโหฐาน
นามเจดีย์"ศรีสรรเพชฌดาญาณ"
มีตำนานจารึกศึกษากัน.....


          อภิปราย ขยาคความ ....

          สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พันวษา)  โปรดให้สร้างพระพุทธรูปยืนในลักษณะเดียวกันกับพระอัฏฐารศของสุโขทัย  โดยมิได้ก่อด้วยอิฐถือปูน  หากแต่หล่อด้วยทองสำริดแล้วหุ้มด้วยทองคำ  มีความสูงถึง ๘ วา  ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชฌ์  ให้ชาวบ้านชาวเมืองกราบไหว้บูชา

          .....ในคราวที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งสุดท้าย  ข้าศึกเผาเมืองและขนของมีค่ากลับประเทศของตนนั้น  ได้ลอกเอาทองคำที่หุ้มองค์พระศรีสรรเพชฌ์ไปจนหมด  แล้วผลักองค์พระล้มคว่ำแตกทำลายเสียหายมาก

          .....เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  ได้เขียนเรื่องราวของพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ตอนที่ว่าด้วยการสร้างและฉลองวัดพระเชตุพนฯ  จับใจความได้ว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโล ก โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิขึ้นเป็นพระอารามใหญ่  ให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย  พิษณุโลก  และอยุธยา  มาประดิษฐานไว้ในวัดนี้จำนวนมาก  องค์ที่ชำรุดก็ให้ช่างหลวงบูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์ดังเดิม  ในบรรดาพระพุทธรูปนั้น  มีพระพุทธรูปประทับยืนองค์หนึ่ง  คือพระศรีสรรเพชฌ์  จากวัดพระศรีสรรเพชฌ์กรุงเก่า  ที่ถูกข้าศึกลอกเอามองคำไปหมด  พระองค์นี้ชำรุดมากจนบูรณะซ่อมแซมให้เหมือนเดิมไม่ได้ .......พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว .. "จึงทรงพระราชดำริจะเอาทองรวมหลอมหล่อเป็นองค์พระพะพุทธรูปขึ้นใหม่  ครั้นมีพระราชปุจฉาแก่พระสงฆ์ราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน  พร้อมกันถวายพระพรว่า  ที่จะเอาทองเป็นพระพุทธรูปอยู่แล้ว  กลับหลอมหล่อใหม่เห็นไม่สมควร  จึงโปรดให้เชิญเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์"

          ..... จึงเป็นอันได้ข้อยุติชัดเจนแล้วว่า  พระพุทธเจ้าศรีสรรเพชฌ์องค์ที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ทรงสร้างประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชฌ์กลางกรุงศรีอยุธยานั้น  เมื่อกรุงแตก  ข้าศึกทุบทำลายลอกเอาทองคำไปจากองค์พระจนหมดสิ้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้นำลงมากรุงเทพฯ  เมื่อไม่สามารถบูณะให้คงเดิมได้  จึงโปรดให้นำลงไว้ในห้องใต้พระมหาเจดีย์กลางวัดพระเชตุพนฯ  แล้วพระราชทานนามพระมหาเจดีย์องค์นี้ว่า  "พระเจดีย์ศรีสรรเพชฌดาญาณ"  อยู่มาจนถึงกาลปัจจุบัน

เต็ม อภินันท์
สถาบันดวียิพนผธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มกราคม, 2562, 10:15:29 PM
(https://i.ibb.co/cTFScyH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
 วัดพระธาตุลำปางหลวง

- ได้เมืองลำปาง -

ลำปางปล้นสุโขทัยกำแพงเพชร
จึงเป็นเหตุกรุงศรีฯขมีขมัน
ยกทัพใหญ่ถาโถมเข้าโรมรัน
ตีตะบันตะบึงถึงลำปาง

ยึดนครลำปางได้ทั้งหมด
เกียรติปรากฏล้านนาบันทึกอ้าง
รายละเอียดมากมายไม่เลือนลาง
แต่ว่าทางกรุงศรีฯมีเล็กน้อย

สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า
ทรงถือเอาพระสำคัญมิใช่ย่อย
คือ"พุทธสิกขิ"มีร่องรอย
ว่าเคลื่อนคล้อยจากใต้ไปล้านนา


          อภิปราย ขยายความ............

          มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  กล่าวถึงบทบาทของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ในด้านการสงครามว่า........."ศักราช ๘๗๗ กุนศก (พ.ศ. ๒๐๕๘)  วันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลารุ่งแล้ว ๘ ชั้น ๓ ฤกษ์ ๙ ฤกษ์  สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จไปเมืองน(คร)ลำ(ภางได้)เมือง"  ไม่มีรายละเอียดของการศึกสงครามที่ยกไปตีนครลำปาง และได้เมืองในครั้งนี้

          เบื้องหลังการยกทัพขึ้นไปตีเมืองนครลำปางและได้เมืองนี้นั้น  มีบันทึกไว้ในตำนานเมืองเหนือให้รายละเอียดไว้น่าสนใจมาก  ขอยกความในพงศาวดารโยนกมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

          ......" ในปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๘๗๗ (พ.ศ. ๒๐๕๘) นั้น  หมื่นพิงยี่คุมพลนิกายไปตีปล้นเมืองสุโขทัยมิได้  ล่าถอยมา  หมื่นลากินหัวเคียนเอาพลไปหลอนชาวกำแพงเพชร  ได้เชลย ๘๐ คน  กับช้าง ๓ เชือกมาถวาย  จึงโปรดให้หมื่นลาไปกินเมืองนคร  ในเดือนอ้ายปีเดียวกันนั้น  หมื่นลาเอาพลชาวนครไปตีเมืองกำแพงเพชร  เข้าปล้นเอาเมืองมิได้  ขณะนั้หมื่นพิงยี่ขับพลเข้าตีเมืองสุโขทัย  พลม้าฝ่ายลาวกับพลม้าฝ่ายชาวสุโขทัยเข้าปะทะแทงฟันกันตะลุมบอน  เสียขุนม้าชาวเชียงใหม่หลายคน...

          ....." พลกองทัพหลวงกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยายกขึ้นมา  ราชบุตรพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสององค์  ทรงพระนามเอก ๑   พระอาทิตย์ ๑   อำมาตย์ทั้ง ๔ ชื่อ ยุทธ ๑  ไชยะ ๑  ชิณรัฐ ๑  สหัสไชย ๑   ถือพลสามหมื่นเป็นทัพหน้า  วันเดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ  ปลงทัพ ณ ม่วงคันใด  ได้รบกับกองทัพชาวเชียงใหม่ ณ ที่นั้น  เสียเจ้าแสนคำผู้ครองเมืองเชียงราย  กับขุนมีชื่อหกหัวช้างตายในที่รบ  ครั้นวันเดือนยี่  ขึ้น ๑๓ ค่ำ กองทัพเชียงใหม่ข้ามแม่น้ำวังไปรบทัพชาวใต้ที่ตำบลน้ำแก่งหอย  เสียขุนชาวเชียงใหม่ ๒ หัวช้าง  แต่หมื่นด่างเต่าคำได้ชนช้างชนะชาวใต้  ล่ามหมื่นชายอุดมจับได้ช้างข้าศึกมาถวายหลายช้าง  พระเจ้าเชียงใหม่ปูนบำเหน็จเลื่อนยศให้เป็นหมื่นเพ็กซ้าย.....

          ....."วันอังคาร  เดือนยี่เพ็ญ  ยามสายจวนเที่ยง  กองทัพไทยเข้าตีเมืองนครลำปางได้ทางประตูท่านาง  เสียขุนช้างขาวนคร ๓ หัวช้าง  เสียหมื่นธรรมหอขวาง  และชาวนครตายในเวียงมากนัก  สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีให้อาราธนาพระพุทธสิกขิไปจากเสวตรกูฏาราม (วัดกู่ขาว)  เมื่อ ณ วันอังคาร  เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ  พระพุทธสิขิองค์นี้เป็นพระศิลาดำ  ซึ่งนางจามเทวีนำขึ้นมาจากกรุงละโว้  แล้วให้ไปแก่เจ้าอนันตยศราชบุตร  ผู้ไปครองเมืองเขลางค์นคร  จึงประดิษฐานไว้ ณ วิหารวัดกู่ขาว"

          .....ความเป็นมาของพระพุทธสิกขิองค์นี้น่าสนใจมาก  พรุ่งนี้จะนำเรื่องพระองค์นี้มาเสนอค่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, มกราคม, 2562, 09:56:54 PM
(https://i.ibb.co/KrWCZQj/image.jpg) (https://imgbb.com/)
บันไดนาควัดพระธาตุลำปางหลวง

- ว่าด้วยพระพุทธสิกขิ -

พระพุทธสิกขิมิต้อยต่ำ
ใช้หินดำแกะสลักเป็นองค์ห้า
หินศักดฺสิทธิ์นาม"อาทรศิลา"
ปวงประชาเคารพอภิวันท์

เป็นแท่นที่พุทธองค์ทรงประทับ
เทพกำกับดูแลไม่แปรผัน
พระราชารามนครเห็นสำคัญ
ให้ช่างฟันเป็นชิ้นด้วยยินดี

แกะเป็นองค์พระเจ้าไว้เคารพ
จำนวนครบห้าพระองค์สิทธิ์ทรงศรี
เป็นมิ่งขวัญประเทศชาติราชธานี
จามเทวีนำไปไว้ลำปาง


          อภิปราย ขยายความ.........

          พระพุทธสิกขิตามตำนาน  "ชินกาลมาลี"  ที่พระรตนปัญญา  รจนาไว้เป็นภาษาบาลี  แปลความได้ว่า  เดิมเป็นแท่งหินดำตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก  ไม่ไกลจากเมืองอโยชชปุระ  นัยว่าเป็นแท่งหินที่พระพุทธองค์ประทับนั่งแสดงธรรมในคราวที่เสด็จมาตรัส  "ทารุกขันธูปสูตร"  แก่พระภิกษุสงฆ์  เมื่อเสด็จกลับไปชมพูทวีปแล้ว  ปวงเทพยดาได้เฝ้าดูแลรักษาหินดำแท่งนี้ไว้  มีประชาชนกราบไหว้บูชา  บนบานศาลกล่าวกันสืบมาเป็นเวลานาน

          อยู่มาพระราชาแห่งรามนคร (หรือรัมมนคร)  ทรงเห็นว่าหินดำแท่งนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่ประชาชนกราบไหว้บูชากันมานาน  จึงควรนำมาแกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูป  ให้เทวดาและมนุษย์กราบไหว้บูชากันตลอดไปจนกว่าจะสิ้นอายุพระพุทธศาสนา  ได้โปรดให้ช่างสะกัดแท่งหินออกเป็นห้าส่วน  แล้วให้แกะสลักเป็นองค์พระพุทธรูปได้ ๕ พระองค์  ประทานพระนามว่า  พระพุทธสิกขิ  แล้วประดิษฐานไว้ในมหานครหนึ่งองค์  ในลวปุระหนึ่งองค์  ในเมืองสุธรรมหนึ่งองค์  ในรัมมนคร ๒ องค์

          อยู่มามีพระราชานามว่าอนุรุทธแห่งอริมัทนบุรี  ทราบเรื่องพระพุทธสิกขิ  จึงมีพระราชประสงค์ได้ไว้สักองค์หนึ่ง  ส่งทูตไปทูลขอจากพระเจ้ามโนหารแห่งรัมมนคร  แต่พระเจ้ามโนหารไม่ยอมมอบให้  จึงยกกำลังไปชิงเอาด้วยอานุภาพของพระองค์  ทรงจับกุมตัวพระเจ้ามโนหารไปไว้ในอริมัทนบุรี  พร้อมพระพุทธสิกขิทั้งสององค์นั้น  ฝ่ายกษัตริย์แห่งเมืองมหานคร (กัมพูชา)  ทราบเรื่องว่าพระเจ้าอนุรุทธธรรมิกราชเป็นพุทธมามกะ  ปรารถนาในพระพุทะสิกขิ  จึงนำพระพุทธสิกขิที่พระองค์ได้ส่วนแบ่งไว้องค์หนึ่งนี้นส่งมาถวาย  ในยามนั้น  พระพุทธสิกขิจึงมีอยู่ในเมืองอริมัทนบุรี ๓ องค์  เมืองละโว้ ๑ องค์  เมืองสุธรรมวดี (มอญ) ๑ องค์

          ในกาลที่พระวาสุเทพฤๅษี  สร้างนครหริภุญไชยเสร็จแล้วทูลขอพระนางจามเทวีจากพระเจ้ากรุงละไว้ขึ้นไปเป็นแม่อยู่หัวครองนครหริภุญไชยนั้น  พระนางจามเทวีอัญเชิญพระะพุทธสิกขิจากละโว้ขึ้นไปหริภุญไชยด้วย  ต่อเมื่อพระนางประสูติพระราชกุมารแฝดสองพระองค์ (ทรงครรภ์ไปจากละโว้)  ขนานามว่า  อนันตยศ  มหันตยศแล้ว  พระเจ้าอนุรุทธทราบข่าวทรงโสมนัสมาก  ด้วยว่า  พระนางจามเทวีนั้นเป็นศรีสะใภ้ของพระองค์  โอรสแฝดที่ประสูตรนั้น  เป็นราชนัดดาของพระองค์  จึงทรงมอบของขวัญด้วยการให้ราชทูตอัญเชิญพระพุทธสิกขิของพระองค์  ขึ้นถวายพระนางจามเทวี  เพื่อพระเจ้าหลานองค์หนึ่ง  พระพุทธสิกขิจึงยังอยู่ในภาคกลางของไทยเพียง ๒ องค์  คือที่อริมัทนบุรี (คือนครชัยศรีปัจจุบัน)  เท่านั้น

          ต่อมาพระนางจามเทวีทรงสร้างเมืองเขลางค์ขึ้นเป็นเมืองใหญ่  โปรดให้พระมหันตยศครองเมืองนี้  ทรงอัญเชิญพระพุทธสิกขิองค์หนึ่งมาประดิษฐาน ณ เขลางค์นคร (ลำปาง)  และประดิษฐานในวิหารวัดกู่ขาวตลอดมา  จนถึงวันที่สมเด็จพระรามาธิบดียกทัพเข้ายึดนครลำปางได้  และอัญเชิญพระพุทธสิกขิกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยาในที่สุด..

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มกราคม, 2562, 10:12:04 PM
(https://i.ibb.co/D7VZDN3/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระรอดหลวง วัดมหาวัน ลำพูน
Cr. Photo By คุณซาสี่สีส้ม

- อนุรุทธกษัตริย์ไทย -

"อนุรุทธ"ในตำนานพระสิกขิ
พระองค์มิใช่มอญดังก่อนอ้าง
ทั้งมิใช่เมียนมาร์มาอำพราง
เป็นไทยอย่างแน่นอนมีตำนาน

องค์เดียวกับ"กากวัณดิศราช"
ประวัติศาสตร์ไทยผิดลิขิตขาน
มิตรวจสอบให้รู้อายุกาล
และสถานที่ตามความเป็นจริง

นักโบราณคดีไทยได้ค้นพบ
หลักฐานครบปรากฏหมดทุกสิ่ง
ศักราชชัดเจนเป็นอ้างอิง
จึงควรทิ้งความเชื่อคลุมเครือไป.....


          อภิปราย ขยายความ..........

          ความในตำนานพระพุทธสิกขิจะกล่าวถึงนามบุคคลและสถานที่ไว้โดยไม่มีคำอธิบายประกอบ  นักประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยจึงมักตีความเอาเองจนเกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง  ชื่อเมืองในตำนานพระะพุทธสิกขิที่พระรัตนปัญญารจนาไว้เป็นภาษาบาลี  มีชื่อเมืองอริมัทปุระ  พระเจ้าอนุรุทธ  เป็นต้น  นักวิชาประวัติศาสตร์ไทยแต่ก่อนชี้ว่า  อริมัทนปุระ  หรือ  อริมัทนบุรี  คือเมืองพุกาม  พระเจ้าอนุรุทธคือ พระเจ้าอโนรธา

          นักโบราณคดีไทยท่านหนึ่งค้นพบความจริงของเรื่องนี้  คือ  อาจารย์มานิต วัลลิโภดม  ท่านเขียนไว้ในหนังสือ  "สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน"  กล่าวว่า  ตำนานพระพุทธสิกขิระบุปี พ.ศ. ไว้ชัดเจนว่า  เกิดเรื่องนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๐  บ่งบอกให้รู้ชัดว่า  เมืองอโยชากับพระพุทธสิกขีมีมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓  อยู่ในปลายปีพุทธศตวรรษที่ ๑๒  ในช่วงเวลานั้นมีกษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งนามว่า  อนุรุทธธรรมิกราช  อยู่ที่ตักศิลามหานคร  หรืออริมัทนบุรี  ซึ่งก็คือนครชัยศรีในปัจจุบัน

          พระองค์มิใช่พระเจ้าอโนรธามังฉ้อ  กษัตริย์มอญ  เมียนมาร์  ดังที่นักประวัติศาสตร์ไทยเข้าใจกัน  เพราะพระเจ้าอโนรธามังฉ้อนั้น  อยู่ในอายุกาลช่วงปลายพุทธศตวรรตที่ ๑๖  ห่างไกลจากยุคพระนางจามเทวี  สะใภ้ของอนุรุทธธรรมิกราช  นานถึง ๔๐๐ ปี

          อาจารย์มานิต  สรุปว่า  พระเจ้าอนุรุทธในตำนานพระพุทธสิกขิ  คือ  พระเจ้ากากวัณดิศราช  แห่งตักศิลามหานคร  หรืออริมัทนบุรี  มีพระโอรสองค์หนึ่งเป็นพระราชสวามีพระนางจามเทวี  และเป็นอุปราชแห่งทวาราวดี (ละโว้)  เสวยราช ณ รัมมนคร  หรือรามนคร  และหรือ  อโยชา  อโยชยา  คืออยุธยาในปัจจุบัน  พระเจ้ากากวัณดิศราช  หรืออนุรุทธธรรมิกราชพระองค์นี้  คือ  ผู้ที่ประกาศใช้ปีจุลศักราช  ดังได้กล่าวแล้ว

          พระพุทธสิกขิเนื้อศิลาดำ  เป็นศิลปะทวาราวดี  อาจารย์มานิต วัลลิโภดม  กล่าวว่า  ได้ขุดแต่งโบราณสถานในเมืองลำพูน  "เมื่อก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐  ที่วัดมหาวันซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองลำพูน  ขุดพบพระพุทธรูปศิลาองค์หนึ่งในบริเวณวัด  ทำเป็นพระรูปขัดสมาธิ  หน้าตักกว้าง ๔๐ ซม.สูง ๙๐ ซม.  ทางวัดได้ปิดทองทำห้องลูกกรงเหล็กเก็บรักษาไว้  เรียกกันว่า  พระรอดหลวง  หรือ  แม่พระรอด  ลักษณะมีเค้าศิลปะทวาราวดี"  ท่านอาจารย์ให้ข้อสังเกตว่า  น่าจะเป็นพระพุทธสิกขิองค์หนึ่ง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นชี้ผึ้งไทย
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มกราคม, 2562, 09:48:29 PM
(https://i.ibb.co/kBn5Vqf/wnkd.jpg) (https://imgbb.com/)

- ขุนช้างขุนแผน -

วรรณคดีที่ไทยได้เรียนรู้
เห็นมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่
คือ"ขุนช้างขุนแผน"ก้องแดนไทย
เรื่องเกิดสมัย"รามาธิบดี"

นิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติสยาม
แสดงความเป็นไทยได้เต็มที่
ทั้งรักโศกตลกสุขทุกรสมี
ชายชาตรีเจ้าชู้รู้กล่าวกัน

สมเด็จพระพันวษา"วาตะถ่อง"
ทรงครอบครองกรุงศรีมีสุขสันต์
เป็นไมตรีลาวพม่าหมดรามัญ
ผลงานอันโดดเด่นเห็นมากมาย


          อภิปราย ขยายความ..............

          สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระองค์นี้  ชาวกรุงเก่าที่ให้การกับพระเจ้าอังวะ  หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ว่า  "สมเด็จพระพันวษา"  พม่าเรียกว่า  "วาตะถ่อง"  แปลว่า  "สำลีพันหนึ่ง" ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  กล่าวว่าหลังจากที่ไปเอาเมืองนครลำปางได้แล้ว  ทรงให้ทำตำราพิชัยสงครามขึ้น  และให้จัดทำบัญชีสำเร็จทุกเมือง

          วันวลิต กล่าวถึงพระราชาพระองค์นี้ในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาไว้อย่างพิสดารพันลึกกอปรด้วยอภินิหารนานาประการสุดที่จะพรรณนา

          ชาวกรุงเก่าให้การแก่พระเจ้าอังวะ  ว่า  กรุงศรีอยุธยาเกิดการรบพุ่งกับพระเจ้าเชียงใหม่  เหตุเพราะ  พระเจ้าล้านช้าง (ลาว)  ส่งพระราชธิดามาถวายสมเด็จพระพันวษา  พระเจ้าเชียงใหม่ทราบความจึงดักชิงพระราชธิดานั้นเสียกลางทาง  พระพันวษาโปรดให้ขุนแผนแสนสะท้านยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่  แล้วเกิดเรื่องราวเป็นนิทานวรรณคดีพื้นบ้านเรื่อง  "ขุนช้างขุนแผน"  ขึ้นมาเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์  ติดปากติดใจคนไทยมาจนถึงกาลปัจจุบัน

          ในคำให้การนั้นบันทึกไว้ว่า  สมเด็จพระพันวษาทรงกระทำสัมพันธไตรีกับประเทศพม่า  โดยแต่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูต  อุปทูต  นำไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ  ฝ่ายพม่าก็ชื่นชมยินดี  จัดเครื่องราชบรรณาการตอบแทน  และยังถวายเครื่องดนตรีละคร  ทั้งครูดนตรีละครให้ตามที่สมเด็จพระพันวษาทูลขอ  ไทยกับพม่าก็มีความรักใคร่นับถือ  ไม่ทะเลาะวิวาทกัน  บ้านเมืองทั้งสองฝ่ายเป็นสุขสืบมา

          พระราชพงศาวการกรุงเก่าบันทึกวาระสุดท้ายของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ไว้ว่า ......."ศักราช ๘๙๑ ฉลูศก (พ.ศ.๒๐๗๒) เ ห็นอากาศนิมิตเป็นอินทร์ธนูแต่ทิศหรดีผ่านอากาศทิศพายัพ  มีพรรณขาว  วันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒  สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จพระที่นั่งหอพระ  ครั้นค่ำลงวัน (นั้น)  สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้านฤพาน  จึงสมเด็จพระอาทิตย์เจ้าเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา  ทรงพระนาม  "สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร"

          สิริเวลาที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ดำรงอยู่ในราชสมบัติ  แต่ปี พ.ศ. ๒๐๓๔  ถึงปีสวรรคต  พ.ศ. ๒๐๗๒  ได้  ๓๘ ปี

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มกราคม, 2562, 09:52:00 PM
(https://i.ibb.co/y8tnGWV/2.jpg) (https://imgbb.com/)

- บรมรมราชาหน่อพุทธางกูร -

"พระอาทิตย์"ครองราชย์ไม่ชัดแจ้ง
เรื่องจากแหล่งประวัติศาสตร์ยังขาดหาย
ความสับสนค้นหามาคลี่คลาย
ต้องขยายความอ้างอย่างยืดยาว...



          อภิปราย ขยายความ........

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ระบุว่า  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๐๗๒ แล้ว  สมเด็จพระอาทิตย์เจ้า  ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นมหาอุปราช  ขึ้นไปเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลกนั้น  เสด็จลงมาครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  "สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร"  ทรงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๕ ปีก็สวรรคต  โดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ

          วันวลิต กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาว่า  "พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๒ แห่งแผ่นดินสยาม  พระองค์เป็นราชโอรสของพระรามาธิบดี  สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนมายุได้ ๒๗ พรรษา  พระองค์ไม่ประสงค์จะใช้คำว่า  "พระ"  นำหน้าพระนามของพระองค์  ทรงกล่าวว่า  เทพยดาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้คำนี้  ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระนามว่า  "หน่อพุทธางกูร"  และได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ไว้มากมาย  โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรม  ว่า  "พระองค์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษา  จนกระทั่งพระองค์ทรงตัดดัชนีข้างขวาของพระองค์"

          เรื่องมีอยู่ว่า  "ขณะที่พระองค์กำลังเดินไปยังห้องต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวังก็สังเกตเห็นว่า  ตามผนังห้องมีรอยปูนแดงเป็นจุด ๆ  พระองค์ตรัสถามสมุหราชมณเฑียรว่าใครเป็นคนเอาปูนแดงมาป้ายกำแพง สมุหราชมณเฑียรทูลว่า  พวกมหาดเล็กได้สลัดปูนที่ป้ายบนใบพลูจนมากเกินไปออกไปติดกำแพง  ดังนั้นพระองค์จึงมีรับสั่งว่า  "บุคคลแรกที่สลัดปูนออกจากใบพลูไปถูกกำแพง  จะต้องตัดนิ้วชี้ออก"

          สองสามวันต่อจากนั้น  ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในห้อง ณ พระบรมมหาราชวัง  พระองค์ต้องการเสวยพระศรี (กินหมาก)  และทอดพระเนตรเห็นว่ามีปูนมากเกินไป  ก็ปาดออกด้วยนิ้วชี้และป้ายไปบนกำแพง  เมื่อพระองค์ตระหนักว่าได้ทำสิ่งที่พระองค์ห้ามไว้  ก็ทรงชักกริชออกมา (ตามที่ได้มีผู้กล่าวกัน)  ตัดนิ้วทิ้งไป  พร้อมทั้งรับส่งว่า  "เจ้าทำความชั่วร้ายไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรา  ดังนั้น  เราจึงไม่ต้องการเจ้า"

          คำให้การชาวกรุงเก่า  ที่ให้การไว้กับพระเจ้าองวะว่า  เมื่อสมเด็จพระพันวษา (รามาธิบดีที่ ๒)  สววรคตแล้ว  พระบรมกุมารราชโอรสได้ครองราชสมบัติสืบแทนมีพระนามว่า  "พระปรเมศวร"  ทรงมีมเหสี ๒ องค์  มเหสีขวาพระนามว่า  "จิตรวดี"  มเหสีซ้ายนามว่า  "ศรีสุดาจันทร์"  มเหสีขวามีโอรส ๒ พระองค์  พระองค์ใหญ่นามว่า  "พระเฑียร"  พระองค์น้อยนามว่า  "พระไชย"  คำให้การชาวกรุงเก่าคลาดเคลื่อนมากกว่าความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  จนกลายเป็นเรื่องที่ปรากฏในรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราชไปเลย

          จากความในพงศาวดารฉบับปลีกย่อยหลายฉบับ  สรุปแล้วได้ความลงตัวว่า  เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒)  สวรรตแล้ว  สมเด็จพระอทิตย์เจ้า  ราชโอรสสมเด็จพระบรมราชา (พระเชษฐาสมเด็จพระรามาธิบดี)  ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาอุปราชเสวยราชสมบัติ ณ พิษณุโลกนั้น  ได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  "สมเด็จบรมราชาชาหน่อพุทธางกูร"  แล้วสถาปนาพระชัยราชา  ราชโอรสพระองค์โตในสมเด็ขพระรามาธิบดี  เป็นอุปราชเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก

          สมเด็จบรมราชา  มิใช่ราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีดังที่วันวลิตกล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  หากแต่พระราชนัดดา  โดยสมเด็จพระรามาธิบดีเป็นสมเด็จพระเจ้าอาว์ (เพราะเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระบรมราชา)

          ..... สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร  เสวยราชสทบัติต่อเมื่อมีพระชนมายุมากแล้ว  ทรงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๕ ปี  ก็เสด็จสวรรคต  วันวลิตว่าพระองค์สวรรคตหลังจากที่  "ยกทัพไปประชิดพรมแดนพะโค  และยึดเมือง Choulock ได้  ขณะยกทัพกลับ  พระองค์ทรงได้รับเชื้อไข้ทรพิษสิ้นพระชนม์ลง  รวมเวลาเสวยราชย์ได้ ๕ ปี"

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มกราคม, 2562, 09:57:07 PM
(https://i.ibb.co/LCYsXGK/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระไชยราชา -

ครั้น"หน่อพุทธางกูร"ทรงสูญสิ้น
ผลัดแผ่นดินสับสนจนคลาดข่าว
"รัษฎา"เยาวว์วัยในเรื่องราว
ถูกญาติกล่าวยกย่องขึ้นครองเมือง

เป็น"หุ่นเชิด"อยู่ได้ไม่นานนัก
เพราะผิดหลักเกณฑ์ที่มีต่อเนื่อง
จึง"พระไชย"อุปราชทรงขัดเคือง
ลบล้างเรื่องผิดกฎหมดบัลลังก์

ทรงขึ้นครองกรุงศรีที่ถูกหลัก
ราชสำนักใต้เหนือเอื้อมนต์ขลัง
"ไชยราชา"มากสนมกรมวัง
ไม่ทรงตั้งมเหสีที่สมควร...


          อภิปราย ขยายความ...................

          สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูรเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖  โดยไม่มีรายละเอียดว่าสวรรคตด้วยเหตุใด  วันวลิตให้รายละเอียดไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาว่า  พระเจ้าแผ่นดินสืบบัลลังก์ต่อจากบรมราชาหน่อพุทธางกูร  เป็นพระองค์ที่ ๑๓  แห่งสยาม  คือ  "วรรัตทธิรายา"  ซึ่งเป็นราชโอรสของบรมราชาหน่อพุทธางกูร  มีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา  เท่านั้นทรงได้รับเลือกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เพราะหน่อพุทธางกูรไม่มีโอรสหรือนุชาที่มีอายุมากกว่านี้  พระองค์มีชีวิตอยู่บนราชบัลลังก์ได้เพียง ๕ เดือน  ก็ถูกพระญาติปลงพระชนม์

          พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ระบุพระนามเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ว่า  "พระรัษฎาธิราช"  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ระบุพระนามว่า  "พระรัฏฐาธิราช"  แต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐฯ  ไม่ระบุพระนาม

          พระญาติที่ปลงพระชนม์เยาวกษัตริย์พระองค์นี้  ตามที่วันวลิตกล่าวนั้น  คือพระไชยราชาธิราช  ทรงเป็นโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  องค์อุปราชที่เสวยราชย์อยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก  พระองค์มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะครองบัลลังกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาตามกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดไว้ว่า  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นแล้วให้พระอุปราชสืบราชสมบัติแทน  แต่ครั้นบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคต แทนที่พระบรมวงศ์และอำมาตย์ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจะอัญเชิญพระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติตามพระราชประเพณี  พวกเขากลับไม่อัญเชิญหากแต่รวมหัวคิดกันอัญเชิญพระราชกุมาร  ผู้มีพระชนม์เพียง ๕ พรรษาขึ้นนั่งบัลลังก์  แล้วพวกเขาก็ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนพระองค์  พระราชกุมารจึงเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น

          สมเด็จพระไชยราชามหาอุปราชจึงยกกำลังลงมาจากเมืองพระพิษณุโลกทวงสิทธิ์อันชอบธรรม  ประหารราชกุมารและตัวการใหญ่ในราชสำนักเสียสิ้น (เช่นเดียวกันกับพระยาลิไทมหาอุปราชที่ยกกำลังจากศรีชนาลัยลงมาขึ้นครองกรุงสุโขทัย)  แล้วขึ้นครองราชบัลลังก์  ทรงอพยพพระญาติราชบริพารในราชสำนักพระพิษณุโลกลงไปมาไว้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  ครานั้นมีราชนิกูลในราชวงศ์สุโขทัยลงไปอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก  บุคคลสำคัญที่ปรากฏนามคือ  "พระศรีจุฬาลักษณ์"  เจ้าหญิงในราชวงศ์สุโขทัยผู้เป็นพระชายา และ "ขุนพิเรนทรเทพ" เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย  เป็นพระตำรวจที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย  ให้ดำรงตำแหน่งกรมพระตำรวจแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

          หลังครองราชสมบัติแล้ว  พระองค์ไม่ทรงตั้งพระมเหสีตามพระราชประเพณี  หากแต่ทรงตั้งพระสนมเอก (คุณท้าว) ขึ้น ๔ พระองค์เท่านั้น  

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มกราคม, 2562, 10:11:39 PM
(https://i.ibb.co/1XHnYbq/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ยึดลำพูน - เชียงใหม่ -

เกิดเหตุความวุ่นวายในเมืองเหนือ
ล้านนาเมื่อเสื่อมนั้นเริ่มปั่นป่วน
พระเกษเกล้าเจ้าเชียงใหม่ใจเรรวน
เป็นชนวนเหตุเรื่องเมืองวุ่นวาย

ถูก"แสนดาว"ปลงพระชนม์เมืองหม่นหมอง
ขาดผู้ครองแคว้นแตกแยกมากฝ่าย
"จิรประภาเทวี"มิดูดาย
รับมอบหมายบริหารครองบ้านเมือง

หลายเจ้าเมืองยกกำลังตั้งหน้ารบ
"แสนดาว"พบปัญหามาแน่นเนื่อง
ส่งทูตขอ"กรุงศรี"ที่รุ่งเรือง
ช่วยปลดเปลื้องปัญหาการฆ่าฟัน

จึ่ง"พระไชยราชา"ยาตราทัพ
ทรงกำกับกำลังอย่างแข็งขัน
ยึดลำพูน,เชียงใหม่ในฉับพลัน
เรื่องราวอันสับสนควรสนใจ


          อภิปราย ขยายความ........

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  บันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระไชยราชาธิราชไว้อย่างน่าสนใจว่า

          ......"ศักราช ๙๐๗ มะเส็งศก (พ.ศ.๒๐๘๘)  สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเชียงใหม่  ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้า  และยกพลออกตั้งทัพชัยตำบลบางบาล ณ วันเสาร์  ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗  จึงยกทัพหลวงจากที่ทัพชัยไปเมืองกำแพงเพชร เถิง ณ วันอังคาร แรม ๙ ค่ำ เดือน ๗  ยกไปตั้งเชียงทอง  แล้วยกไปตั้ง ณ เมืองเชียงใหม่  เถิง ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙  ทัพหลวงเสด็จกลับมายังพระนครศรีอยุธยา....."

          .......ถอดความได้ว่า  ทรงตั้งทัพชัยครั้งแรกที่บางบาล (อ.บางบาลปัจจุบัน)  แล้วยกทัพเดินทางไปเป็นเวลา ๑๐ วัน  ถึง  เมืองกำแพงเพชร  ตั้งทัพชัยที่นั่น  จากนั้นเดินทัพไปตั้งที่เชียงทอง (ในจังหวัดตาก)  แล้วยกไปเชียงใหม่  และยกทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีเดียวกัน

          เหตุที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพไปเชียงใหม่ครั้งนี้  ไม่มีรายละเอียดในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  แต่มีรายละเอียดอยู่ในตำนานเมืองเหนือ (พงศาวดารโยนก)  ว่า  เพราะ  แสงดาว  หัวหน้าขบถเชียงใหม่  ส่งทูตขอความช่วยเหลือมา  มีเรื่องราวในพงศาวดารโยนก (ตำนานเมืองเหนือ)  ว่าดังต่อไปนี้

          ....ในปีจุลศักราช  ๗๙๖  พระมหาเทวีอโนชา  พระชนนีนาถราชมารดาของพระเมืองเกษเกล้าก็พิราลัย  
          ....ปีจุลศักราช ๘๙๗ เกิดขบถ  โดยหมื่นสร้อยสามล้าน  นครลำปางกับบุตรชื่อหมื่นหลวงชั้นนอก และหมื่นยี่อ้าย  เป็นต้นคิดจะทำร้ายพระเมืองเกษเกล้า  พระองค์ทรงทราบจึงให้กุมเอาตัวหมื่นทั้งสามกับพวกไปฆ่าเสีย  เวลาผ่านมาถึงปีจุลศักราช ๙๐๐  เจ้าท้าวซายคำราชบุตร  คิดการเป็นขบถชิงราชสมบัติ สมคบกับอำมาตย์จับกุมตัวพระเมืองเกษเกล้า  บังคับให้เวนราชสมบัติแก่เจ้าท้าวซายคำราชบุตร  แล้วเนรเทศพระเมืองเกษเกล้าไปไว้ ณ เมืองน้อย

          .......เจ้าท้าวซายคำครองเชียงใหม่ได้ ๕ ปี  ถึงปีจุลศักราช ๙๐๕  มีความประพฤติผิดราชประเพณีเป็นโจรปล้นราษฎร  เสนาอำมาตย์และราษฎรจึงจับกุมตัวได้แล้วปลงพระชนม์เสีย  แล้วไปเชิญพระเมืองเกษเกล้า ณ เมืองน้อย กลับมาครองเชียงใหม่ตามเดิม  ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๙๐๗ พระเมืองเกษเกล้าทรงเสียพระสติ  หลงใหลกระทำการเดือดร้อนต่าง ๆ  "แสนดาว"  เป็นต้นคิดร่วมกันกับเสนามาตย์ราษฎร ลอบปลงพระชนม์เสีย  แล้วส่งคนไปเชิญพระเขมรัฐเชียงตุงให้มาครองเชียงใหม่  พระเขมรัฐไม่รับเชิญ  จึงหันไปเชิญเจ้าฟ้าเมืองนาย  รับเชิญแต่ยังมิทันมาเชียงใหม่

          .......หมื่นสามล้านอ้าย  เจ้าเมืองนครลำปาง  หมื่นแก้วเจ้าเมืองเชียงราย  หมื่นมณีเจ้าเมืองเชียงแสน  หมื่นยี่เจ้าเมืองพาน  กับขุนอื่น ๆ พากันไปประชุม ณ เมืองเชียงแสน  แล้วตกลงให้ไปเฝ้าพระเจ้าโพธิสารราช  เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง  ทูลขอพระอุปโยวราชล้านช้างผู้ซึ่งมีพระมารดาเป็นธิดาพระเมืองเกษเกล้ามาเป็นมหาราชเชียงใหม่

          .......ในระหว่างนั้น  ทางเมืองแสนหวีทราบข่าวว่า "แสนดาว"  เป็นขบถปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า  จึงให้หมื่นหัวเคียนยกรี้พลลงมาตีเชียงใหม่  "แสนดาว" ยกกำลังออกสู้รบกัน ๓ วัน ๓ คืน  ไม่รู้ผลแพ้-ชนะ วันที่ ๔ หมื่นหัวเคียนถอยลงไปอยู่เมืองลำพูน  "แสนดาว" จึงแต่งหนังสือให้แขกเมือง ๑๑ คนที่มาพำนักอยู่ในเมืองเชียงใหม่ถือลงไปยังกรุงศรีอยุธยา  ขอกองทัพขึ้นตีเชียงใหม่
........กองทัพกรุงศรีอยุธยายังไม่ทันถึงเชียงใหม่ พวกขุนทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ เมืองเชียงแสนนั้น ยกกำลังถึงเชียงใหม่แล้วจับกุม"แสนดาว"กับพวกฆ่าเสียสิ้น แล้วพร้อมกันยก พระนางมหาเทวีเจ้าจิรประภา ขึ้นเป็นนางพระยาครองเมืองเชียงใหม่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ จุลศักราช ๙๐๗ ปีมะเส็ง สัปตศก ตรงกับ พุทธศักราช ๒๐๘๘"

          .......สมเด็จพระไชยราชาธิราช  ซึ่งตำนานเชียงใหม่เรียกพระนามว่า  "สมเด็จบรมไตรจักร"  ได้ยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ตามหนังสือขอของ "แสนดาว"  มีรายละเอียดในพงศาวดารเมืองเหนือมากกว่าความในพงศาวดารเมืองใต้  พรุ่งนี้จะนำรายละเอียดมาให้อ่านกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มกราคม, 2562, 10:29:34 PM
(https://i.ibb.co/LRkWP5L/995554445-AEFE21-F04.jpg) (https://imgbb.com/)

- กรุงศรีอยุธยาพ่ายล้านนา -

ทัพกรุงศรีฯหนีกลับอย่างยับย่อย
ซึ่งมิค่อยเผยเรื่องทางเมืองใต้
ตำนานเหนือเรื่องยาวบอกเล่าไว้
ว่า"พระไชยฯ"ยกกองทัพสองครา

ครั้งแรกยกทัพใหญ่ใหญ่มิได้รบ
ด้วยได้พบไมตรีมากมีค่า
ความฉลาดเทวี"จิรประภา"
ทำให้ล่าทัพคืนอย่างชื่นชม

แต่ครั้งสองกองทัพกลับเหี้ยมโหด
"ฆ่าล้างโคตร"เผาเมืองให้ขื่นขม
เมืองลำพูนสูญแสนแค้นระทม
เมื่อถูกข่มขืนใจจึงไม่ยอม

ล้านนาฮึดฮัดสู้จู่โจมต้าน
ประจันบานทัพไทยตีตะล่อม
การ"สู้อย่างจนตรอก"ไม่อดออม
เป็น"เสือผอม"โผตะครุบขบเหยื่อกิน

จึงทัพ"ไชยราชา"พ่ายล่าถอย
แพ้ยับย่อยสะอื้นกลับคืนถิ่น
ตำนานเหนือจดไว้ให้ยลยิน
ทั้งฟ้าดินรู้เห็นเป็นพยาน


          อภิปราย ขายความ.........

          การยกทัพขึ้นตีเชียงใหม่ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช  ตามหนังสือขอความช่วยเหลือของ "แสนดาว" นั้น  ความในพงศาวดารโยนก  เรียกพระนามสมเด็จพระไชยราชาธิราชว่า  "สมเด็จพระบรมไตรจักร"  ได้ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

          ....."ปางนั้นสมเด็จพระบรมไตรจักร  เจ้ากรุงพระนครศรีอยุธยา  เสด็จดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงขึ้นมาถึงเมืองนครเชียงใหม่  ตั้งค่ายหลวง ณ ตำบลหนองผ่าแตบ  ตะวันออกสวนลาน  จึงพระเป็นเจ้ามหาจิระประภาเทวีให้แต่งขุนผู้ฉลาดคุมเครื่องราชบรรณาการไปถวายต้อนรับโดยทางพระราชไมตรี

          ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ  เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล ณ กู่อัฐิเจ้าเมืองเกษเชฐราชวัดโมฬี  พระราชทานเงินไว้สร้างกู่ ๕,๐๐๐ บาท  กับผ้าทรงผืนหนึ่ง  แล้วพระราชทานรางวัลแก่เจ้าขุนฝูงอันไปต้อนรับเสด็จนั้นทุกคน  ถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐  เสด็จไปสรงน้ำยังเวียงเจ็ดลิน  ประทับแรมที่นั้น

          ครั้นถึงวันอาทิตย์  เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ  เพลาใกล้รุ่ง  เสด็จคลาทัพหลวงจากเมืองนครเชียงใหม่  ไปประทับค่ายหลวงตำบลน้ำกวง (ปากน้ำเมืองลำพูน)  แล้วเสด็จกลับคืนไปกรุงพระนครศรีอยุธยา"

          ได้ความว่า การยกทัพขึ้นไปครั้งแรก  พระนางเจ้าจิรประภาเทวีส่งเครื่องราชบรรณาการขอเป็นไมตรี  จึงไม่มีการรบ  เลิกทัพกลับกรุงศรีอยุธยาอย่างชื่นมื่น  หลังจากกองทัพกรุงศรีอยุธยากลับไปแล้ว  ทางเชียงใหม่ก็เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก  โดยเจ้าฟ้าเมืองย่องห้วย  ยกทัพมาล้อมเชียงใหม่  และเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง  จนยอดพระเจดีย์หลวงกับเจดีย์อื่น ๆ หักพัง  เจ้าฟ้าเมืองนายและเจ้าฟ้าเมืองย่องห้วยสมทบกันเข้าตีเชียงใหม่  ทัพล้านนากับเงี้ยว  รบกัน ๓ วัน ๓ คืน  หักเอาเมืองไม่ได้  ทัพเงี้ยวก็ล่าถอยไปตั้งที่ลำพูน  ในปี จุลศักราช ๙๐๗ นั้น  กองทัพพระยากาง  พระยาสุระจากล้านช้างก็ยกมาช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกไว้ว่า  สมเด็จพระไชยราชายกทัพขึ้นไปเชียงใหม่อีกเป็นครั้งที่ ๒  โดยเดินทัพในเส้นทางเดิม  การยกทัพไปครั้งนี้  เมื่อไปถึงลำพูน  กล่าวว่า  "มีอุบาทว์  เห็นเลือดติดอยู่ ณ ประตูบ้านและเรือนและวัดทั้งปวง  ในเมืองและนอกเมืองทั่วทุกตำบล"  แล้วยกทัพกลับ  โดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ

          แต่ความละเอียดไปปรากฏในตำนานเมืองเหนือ  พงศาวดารโยนกว่า  เจ้าเมืองสุโขทัยเอาเรือบรรทุกเครื่องศึกขึ้นมาทางน้ำถึงเมืองลำพูน  เสนาอำมาตย์ในราชสำนักล้านนาปรึกษากันว่าจะสู้หรือยอมเหมือนคราวที่แล้ว  ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรเป็นไมตรีกันเหมือนครั้งก่อน  อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า  ควรสู้รบ  เมื่อกราบทูลความเห็นพระมหาเทวีจิรประภา  ทรงให้ออกเจรจาความเมือง

          พระยาสุโขทัยกล่าวเป็นคำลวงว่า  "มาดี  มิได้คิดร้าย  ให้เป็นแผ่นคำลำเดียวกัน  ให้ไปมาหากันโดยดี  มิต้องอยู่ค่ายต่ายเวียง  และกระทำการเป็นไมตรีมิให้สงสัย"

          ยามดึกคืนนั้น  พระยาสุโขทัย  กับพระยาละโว้ลอบเข้าพังประตูท่าลี่เมืองลำพูน  จับกุมผู้คน  จุดไฟเผาบ้านเรือนราษฎรในเมือง  เพลิงลุกลามตั้งแต่ประตูท่านางไปจนถึงประตูมหาวัน  เมืองลำพูนถูกเผาวอดวายไปในชั่วคืนเดียว

          รุ่งขึ้น  กองทัพพระยาสุโขทัย  และละโว้  ก็ยกเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่  ทางฝ่ายเชียงใหม่ก็ตั้งกำลังสู้  "อย่างจนตรอก"  การรบเป็นไปด้วยความดุเดือดขุนทหารทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก และปรากฏว่าทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเสียหายตายไปมากกว่าฝ่ายล้านนา  กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจำต้องล่าถอย  ผลปรากฏว่า  ขุนทหารและไพร่พลถูกฆ่าตายประมาณหมื่นเศษ  เรือนาวาถูกยึดไว้ ๓,๐๐๐ ลำ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มกราคม, 2562, 10:19:11 PM
(https://i.ibb.co/vYSVQpz/image.jpg) (https://imgbb.com/)
กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ริมถนนราชดำเนิน

- เก็บตกจากตีล้านนา -

ประวัติศาสตร์สับสนเพราะคนเขียน
มุมมองเปลี่ยนแปรความตามหลักฐาน
หนึ่งมุมมองตำราพงศาวดาร
สองมองตามตำนานโบราณคดี

ผู้ชนะจะเขียนประวัติศาสตร์
เพื่อประกาศเกียรติคุณหนุนศักดิ์ศรี
ฝ่ายผู้แพ้เล่าตำนานพาลราวี
ถูกย่ำยีอย่างไรฝังใจจำ

ตำนานเหนือค้านพงศาวดารใต้
จะเชื่อใครฟังเล่นให้เห็นขำ
คือเกร็ดรวมให้เห็นเป็นกอบกำ
เรื่องเล็กทำใหญ่ได้ถ้าใตร่ตรอง.....


          อภิปราย ขยายความ.........

          พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ทำขึ้นนั้น  กล่าวว่า  กองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราช  ยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ นั้น  มีพระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้า  ยกไปถึงเมืองลำพูนแล้วเห็นอุบาทว์  คือบ้านเรือนวัดวาอารามมีเลือดติดเกระกรังอยู่ตามประตูและข้างฝา  ทั้งนอกเมืองในเมืองทุกหนแห่ง  แล้วยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา  โดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ

          ในเรื่องเดียวกันนี้  ตำนานเมืองเหนือ (พงศาวดารโยนก)  บอกเล่ารายละเอียดไว้ว่า  พระยาสุโขทัยเอาเครื่องศึกใส่เรือบรรทุกขึ้นไปตามลำน้ำปิงจนถึงเมืองลำพูน  พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวีตรัสให้เจรจาความเมือง  พระยาสุโขทัยกล่าวว่า  มาดี  หมายเป็นทองแผ่นเดียวกัน  จะไม่มีการรบกัน  ทางฝ่ายเจ้าเมืองลำพูนเชื่อถือ  จึงไม่มีการเตรียมตัวสู้รบ  ยามดึกของคืนนั้น  พระยาสุโขทัยกับพระยาละโว้ยกกำลังเข้าทางประตูท่าลี่  พังประตูเข้าไปจับขุนหมื่นเมืองลำพูน  ปล้นบ้านเมือง  และจุดเพลิงเผาคุ้ม  และบ้านเรือนราษฎร  ฆ่าฟันผู้คนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ  เพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนในเมืองลำพูนจากประตูท่านางไปจนถึงประตูมหาวัน  เมืองลำพูนวอดวายไปในคืนเดียว

          หมื่นด่างล้าน  กับ  หมื่นพร้าว  หนีรอดจากลำพูนได้  เข้าแจ้งเหตุต่อกรมการเมืองเชียงใหม่ เสนาอำมาตย์จึงเตรียมการสู้รบข้าศึกอย่างเต็มที่  พระยาสุโขทัยยกจากลำพูนไปตั้งที่ตำบลต้นไร่ต้นหลวงเหนือกู่คำกุมกาม  แล้วแต่งให้หมื่นศรีสหเทพ  กับ  พันเทพมณเฑียร  ถือหนังสือและของถวายเข้าไปในเมืองเชียงใหม่  ขอให้พระนางเจ้าจิรประภาเอาเมืองไปขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา  แต่ทางเชียงใหม่ไม่ยอม..มีรายละเอียดในตำนานเมืองเหนือ  ความตรงนี้ว่าดังต่อไปนี้

          ....."วันเสาร์เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ  ยามสองงาย (ราวสามโมงเช้า)  พระยาใต้ให้หมื่นสุโขทัยถือพลเข้าตีเมืองเชียงใหม่ด้านตะวันตก  จึงหมื่นสามล้านอ้ายแต่งขุนทัั้งหลายคุมพลออกรบกลางหัวริน  ชาวใต้ตายมาก  เลยถอยไปทางตะวันออก

          .....พระยาใต้ให้หมื่นกำแพงเพชรยกพลมารบยังทุ่งหนองหญ้าหนองมอญ  เจ้าแสนพิงไชยแก้วแต่งขุนแกล้วหาญออกสู้รบ  กองทัพใต้แตก  ถอยข้ามฝั่งน้ำแม่พิงค์ไปฝั่งฟากตะวันออก  ในวันเดียวกันนั้น ยามแตรค่ำ  กองทัพใต้เข้าปล้นเมืองทางประตูแสนพุง  เข้ามิได้ก็ถอยไป  วันขึ้น ๘ ค่ำ และ ๙ ค่ำ  ยกมารบอีก ๒ วันก็เข้ามิได้  เลยเผาวัดแสนทอง  และเผาบ้านเรือนเสียมาก  วัน ๙ ค่ำ  ยามเที่ยงคืน  กองทัพใต้เลิกถอยไป  แต่งทัพไว้รอท้ายพล  วัน ๑๑ ค่ำ  จึงได้ยกเลิกไปทั้งหมด

          .....เจ้าขุนทั้งหลายแต่งทัพออกตามไปถึงเชียงครึ่ง  ได้ม้า ๓๐ ม้า  กับเชลยเป็นอันมาก  กองทัพไทยไปทางเมืองลี้  ม่วงป้อม  ถึงตำบลห้วยหาด  เจ้าเมืองน่านชื่อยี่มังคละ  และหมื่นควร  กับชาวนคร  หมื่นน้อยเชียงเรือก  ออกก้าวสกัดทัน  ได้สู้รบกันเป็นสามารถ  ได้ช้าง ๔ ช้าง  หมื่นเมืองพิจิตรและหมื่นเมืองกำแพงเพชร  ตายในที่รบ  ทัพใต้เสียไพร่พลที่นั้นมาก  เมืองเลย  ยกพลไปทางน้ำพูนสามหมื่น  ที่นั้นหมื่นต่างประตูหอ  กับหมื่นแจ้หอคำ  กองทัพลาวที่ซุ่มไว้นั้น  ก็ออกโจมตีกลางกระบวนทัพ  ได้ชนช้าง  ฆ่าขุนภูริปัญญาเจ้า  กับขุนจอมราชมณเฑียรบาลตาย  ฆ่าฟันพลเดินเท้าตายประมาณหมื่นเศษ  ได้เรือนาวา ๓,๐๐๐ ลำ"

          รายละเอียดการรบอย่างดุเดือดเลือดนองแผ่นดินล้านนานี้  ไม่มีในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  เพราะกองทัพไทยใต้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างยับเยินครับ

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41056#msg41056)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41419#msg41419)

เต็ม อภินันท์
สถาตบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, มกราคม, 2562, 09:58:05 PM
(https://i.ibb.co/LhfxQbY/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช : พระธาตุหลวง : ลาว
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.photoontour9.com



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41252#msg41252)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41561#msg41561)                   .

- พระไชยเชษฐาธิราช -

"พระอุปโยวราช"จากล้านช้าง
ทรงเดินทางช้าเกินเหมือนเดินย่อง
ประทับที่เชียงแสนดินแดนทอง
นานแล้วล่องลงเวียงพักเชียงราย

จากเชียงรายข้ามเขาเข้าเชียงใหม่
ทรงเป็นใหญ่"ล้านนา"ตามเชื้อสาย
แทน"จิรประภา"เพ็ญผู้เป็นยาย
อยู่สบายไร้หมองเพียงสองปี

เสด็จกลับเป็นใหญ่ในล้านช้าง
พระทรงสร้างลาวดำรงทรงศักดิ์ศรี
ย้ายเมืองหลวงลงเวียงจันทน์ขวัญบุรี
พร้อมกับมีพันธมิตรชื่นชิดไทย.....


          อภิปราย ขยายความ............

          ในปี พ.ศ. ๒๐๘๙ มีเหตุเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาและล้านนา  กล่าวคือ  สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต  พระยอดฟ้าราชโอรสได้ครองกรุงศรีอยุธยาต่อไป  ทางฝ่ายล้านนานั้น  ปรากฏว่า  พระไชยเชษฐาอุปโยวราชล้านช้าง  ซึ่งพระโพธิสารราชประทานให้ตามที่ราชสำนักนครพิงค์เชียงใหม่ทูลขอมาเป็นมหาราชล้านนา  ได้เสด็จราชดำเนินมาประทับที่เมืองเชียงแสน ณ วันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะเมีย  จุลศักราช ๙๐๘  พุทธศักราช ๒๐๘๙  ประทับอยู่เชียงแสน ๒๑ วัน  แล้วเสด็จลงประทับ ณ เชียงราย ๙ วัน  จึงเสด็จสู่นครพิงค์เชียงใหม่  ประทับ ณ พลับพลาหมื่นขอม  ตำบลหนองแก้ว

          เจ้าแสนพิงไชยแก้ว  เจ้าหมื่นสามล้านอ้าย  และคณะมุขมนตรีเมืองเชียงใหม่  จัดเครื่องราชูปโภคและเครื่องสำหรับกษัตริย์ออกไปต้อนรับ  เชิญเสด็จเข้าประทับ ณ วัดเชียงยืน  กระทำสักการะพระพุทธสัพพัญญู  แล้วเสด็จเข้าทางประตูช้างเผือกสู่ราชมณเฑียร  ยามค่ำเสด็จไปนมัสการพระพุทธมหามณีรัตน ณ หอพระแก้ว  รุ่งขึ้น  ทรงสรงมุรธาภิเษก ณ สวนแร  แล้วอภิเษกราชธิดาทั้งสองของพระเจ้าเชียงใหม่  คือ  พระนางตนทิพ  และ  พระนางตนคำ  ตั้งไว้ในที่เป็นมเหสีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย

          รุ่งอีกวัน  เสด็จไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ  แล้วทรงตั้ง  เลื่อน  ยศตำแหน่งข้าชการทุกหมู่เหล่า  เช่น  ให้แสนพิงไชยแก้ว  เป็นพระยาแสนหลวงสิทธิราชปกรณ์  ให้หมื่นสามล้านอ้าย  เป็นพระยาสามล้านฦๅไชย  เสนาบดีกินเมืองเชียงราย  เป็นต้น

          สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชพระองค์นี้  เป็นพระราชนัดดาของพระนางเจ้าจิรประภา  โดยพระราชมารดาของพระองค์คือ  พระนางยอดคำทิพ (พระนางหอสูง)  เป็นพระราชธิดาพระเมืองเกษเกล้า  และพระนางจิรประภาเทวีได้อภิเษกกับพระโพธิสารราชแห่งล้านช้าง  พระนางจิรประภาจึงเป็นพระเจ้ายายของพระองค์  ทรงเป็นราชโอรสองค์โตของพระโพธิสารราช  พระนามเดิมว่า  "เชษฐวงศ์"  มีพระอนุชาและขนิษฐา  คือ  ท้าวท่าเรือ ๑  ท้าววรวงษ์ ๑  นางแก้วกุมารี ๑  นางคำเหลา ๑

          พระไชยเชษฐาธิราชเสวยราชสมบัติ ณ นครพิงค์เชียงใหม่  เป็นมหาราชล้านนาอยู่ได้เพียง ๒ ปี  ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางล้านช้างขึ้น  กล่าวคือ  พระโพธิสารราชสิ้นพระชนม์ลงด้วยอุบัติเหตุจากการคล้องช้่าง  ล้านช้างเกิดแตกแยก  โดยฝ่ายหนึ่งยกท้าวท่าเรือขึ้นเป็นใหญ่ในหลวงพระบาง  อีกฝ่ายหนึ่งยกท้าววรวงษ์  เป็นใหญ่ในนครเวียงจันทน์  เมื่อล้านนาแตกออกเป็น ๒ ฝ่ายเช่นนั้น  พระไชยเชษฐาธิราชจึงทรงละทิ้งนครพิงค์เชียงใหม่  กลับไปปราบปรามพระอนุชาทั้งสอง  เพื่อสร้างชาติลาวให้เป็นปึกแผ่นต่อไป

          ในการเสด็จกลับคืนล้านช้างนั้น  พระไชเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากร  แก้วมรกต  พระจันทรัตน  แก้วขาวกรุงละโว้ (น่าจะเป็นพระพุทธบุษยรัตน์)  พระพุทธสิหิงค์  พระแทรกคำ  และอื่น ๆ ไปสู่หลวงพระบางด้วย  โดยเสด็จจากเชียงใหม่ ณ วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เหนือ (คือเดือน ๑๐)  จุลศักราช ๙๑๐ ปีวอก (พ.ศ. ๒๐๙๑)

          เมื่อเสด็จกลับถึงหลวงพระบางและทรงปราบปรามพระอนุชาทั้งสองแล้วขึ้นเถลิงราชสมบัติกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบแทนพระราชบิดา  เฉลิมพระนามว่า  "พระอุภัยพุทธบวรไชยเชษฐาธิราช  พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง”

          พระเจ้าแผ่นดินล้านช้างพระองค์นี้  มีความใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยามาก  ดังจะได้พบเรื่องราวของพระองค์อีกในคราวต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, มกราคม, 2562, 10:18:19 PM
(https://i.ibb.co/KwP1GTY/F-1770349232785786880.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- แม่ยั่วศรีสุดาจันทร์ -

เกิดเรื่องลับอัปยศปรากฏอยู่
น่าอดสูกับหญิงผู้ยิ่งใหญ่
ราชสำนักกรุงศรีฯมีเป็นไป
สิ้นพระไชยราชาฟ้ามืดมัว

เหตุเพราะ"ศรีสุดาจันทร์"สนมเอก
กลายเป็นเมฆบังสุรีย์มืดสลัว
เธอคบชู้สู่ชายไม่รักตัว
เป็น"แม่ยั่วเมือง"ทำเรื่องต่ำทราม

วางแผนฆ่าลูกไม่ให้คนรู้
เชิดชูชู้เป็นวิบัติกษัตริย์สยาม
ประวัติศาสตร์สับสนจนยาวความ
ชวนให้ตามเรียนรู้ดูความจริง....


          อภิปราย ขยายความ..........

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์หลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตลงในปี พ.ศ.๒๐๘๙ ว่า........

          "ศักราช ๙๑๐  วอกศก (พ.ศ.๒๐๙๑)  วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จออกสนามให้ชนช้าง  และงาช้างพระยาไฟนัั้นหักเป็น ๓ ท่อน  อนึ่ง  อยู่สองวันช้างต้นพระฉันทันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์  อนึ่ง  ประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์  เถิงวันอาทิตย์  ขึ้น ๕ ค่ำ ดือน ๘  สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ  จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ ๔๒ วัน  และขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ  จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ  ทรงพระนาม  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  และครั้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน  พระยาหงสาปังเสวกียกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดือน ๔ นั้น  เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงสานั้น  สมเด็จพระมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี  เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย  และเมื่อได้รบศึกหงสานั้น  ทัพหน้าแตกมาประทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่  และสมเด็จพระมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น  ได้รบด้วยข้าศึกเถิงสิ้นพระชนม์กับคอช้างนั้น  และศึกหงสาครั้งนั้น  เสียสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  และสมเด็จพระราเมศวรไปแก่พระยาหงสา  และจึงเอาพระยาปราบและช้างต้นพระยานุภาพตามไปส่งพระยาหงสาเถิงเมืองกำแพงเพชร  และพระยาหงสาจึงส่งพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  สมเด็จพระราเมศวรเจ้า  มายังพระนครศรีอยุธยา"

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์  บันทึกเหตุการณ์บอกเล่าเรื่องไว้เพียงย่นย่อ  ไม่มีรายละเอียดเรื่องราวพระยอดฟ้า  และ  คุณท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกในสมเด็จพระไชยราชา  กับขุนวรวงศาธิราช  เบื้องหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์  ความเป็นมาของสมเด็จพระมหาธรรมราชา  กับทั้งเรื่องสมเด็จพระศรีสุริโยทัยด้วย

          เรื่องสืบเนื่องของประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้คือ  เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตแล้ว  พระราชกุมารอันประสูติแต่คุณท้าวศรีสุดาจันทร์  พระสนมเอกในสมเด็จพระไชยราชา  ได้รับการอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา  โดยมีคุณท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ (ผู้ทรงพระเยาว์)

          และในปีที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเสด็จจากเชียงใหม่กลับไปหลวงพระบางนั้น  เป็นปีเดียวกันกับที่สมเด็จพระยอดฟ้าเยาวกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาถูกปลงพระชนม์  แล้วขุนชินราชชู้รักแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  เรื่องราวตรงนี้ควรถือว่าเป็นความอัปยศของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าจึงไม่บันทึกรายละเอียดไว้  และรายละเอียดของเรื่องนี้มีอย่างไร ?

          ....พรุ่งนี้ค่อยนำมาบอกเล่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มกราคม, 2562, 10:34:16 PM
(https://i.ibb.co/K66SGk6/558000012182401.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- ศรีสุดาจันทร์ฆ่าลูก -

พระนาม"ศรีสุดาจันทร์"ฟังหวานหู
เธอเล่นชู้แสนกลสับสนยิ่ง
ยอมฆ่าลูกของตนคนชังชิง
จึงฆ่าทิ้งนางบาปไม่รับรอง


          อภิปราย ขยายความ...........

          ศรีสุดาจันทร์  หนึ่งในสี่พระสนมเอกในสมเด็จพระไชยาราชาธิราชทรงมีบทบาทมาก  เพราะมีพระราชโอรส ๒ พระองค์  ส่วนพระสนมเอกอีก ๓ พระองค์  คือ  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ท้าวอินทรสุเรนทร  ท้าวอินทรเทวี  ไม่ปรากฏว่ามีพระราชโอรสราชธิดา  ท้าวศรีสุดาจันทร์อยู่ในฐานะที่จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเอกอัครมเหสี  ราชินีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  แต่ยังมิได้สถาปนา  ด้วยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จสวรรคตลงเสียก่อน

          พระนางศรีสุดาจันทร์มีที่มาไม่ธรรมดา มีนัยว่าพระนางเป็นเชื้้อสายราชวงศ์ละโว้อโยธยา  เช่นเดียวกันกับที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์มีเชื้อสาย (เจ้าหญิง)  ราชวงศ์สุโขทัย  ท้าวอินทรสุเรนทรมีเชื้อสายราชวงศ์ศรีวิชัย  ท้าวอินทรเทวีมีเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ

          วันวลิต  บันทึกเรื่องศรีสุดาจันทร์  พระราชมารดาสมเด็จพระยอดฟ้าไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ต่างไปจากพงศาวดารฉบับอื่นน่าสนใจว่า

          ..."พระยอดฟ้าเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๕  แห่งสยามเสวยราชย์อยู่ ๓ ปี  พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระชัยราชา  ขึ้นเสวยราชย์เมื่อพระชนม์ ๒๐ พรรษา  ทรงพระนามว่า  พระยอดฟ้าเจ้า  พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายที่มีอนาคตไกล  ทุก ๆ คนเชื่อว่าจะเจริญรอยตามพระราชบิดาทุกอย่าง  เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏแน่ชัดในบุุคลิกและพระราชกรณียกิจประจำวันของพระองค์  ดังเช่นพระองค์ทรงนิยมล่าสัตว์เป็นอย่างยิ่ง  ทรงม้าท่องเที่ยวไปทั่วป่า  ทุ่งหญ้า  และทุ่งนา  การทำยุทธหัตถี  และฝึกอาวุธเยี่ยงขุนพลทั้งหลาย...."

          ......."อย่างไรก็ดี  พระองค์เสวยราชย์อยู่ได้เพียง ๓ ปีเท่านั้น  ก็ถูกแม่สีดาเจ้า (ควรเป็นศรีสุดาเจ้า ตรงกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์)  สนมพระราชบิดาใช้เวทย์มนตร์และวางยาพิษพระองค์.."

          ......."พระสนมองค์นี้มีความสนิทชิดชอบกับหมอผี  ซึ่งเข้าแปลนิทานเก่าแก่และประวัติศาสตร์ต่างประเทศเป็นภาษาราชสำนัก  เพื่อที่จะช่วยให้หมอผีได้รับตำแหน่งก้าวหน้าขึ้นไปอีก  พระสนมได้สมรู้ร่วมคิดกับหมอผี  ใช้เวทย์มนตร์สะกดพระเจ้าแผ่นดิน  และลอบปลงพระชนม์  ทุกวันพระสนมจะนำหมอผีไปยังห้องพระบรรทม  และขออยู่ลำพังกับพระเจ้าแผ่นดิน  โดยอ้างว่าจะขออ่านนิทานสนุก ๆ  และข้อควรจดจำให้พระเจ้าแผ่นดินสดับ  และเมื่อหมอผี ด้ใช้เวทย์มนตร์คาถาสะกดพระเจ้าแผ่นดินได้แล้ว  พระสนมก็นำยาพิษมาถวาย  โดยกล่าวว่า  เป็นพระโอสถรักษาพระองค์  ดังนั้น  พระเจ้าแผ่นดินก็สิ้นพระชนม์ลง ท่ามกลางความโศกเศร้าของพสกนิกรทั้งปวง...."

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าเอ่ยพระนามคุณท้าวศรีสุดาจันทร์ว่า  แม่ยั่วศรีสุดาจันทร์  คำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า  ศรีสุดาจันทร์  แต่วันวลิตเรียกว่า  ศรีดาสุดาเจ้า  ในที่ต่าง ๆ เรียกว่า  ท้าวศรีสุดาจันทร์  บ้าง แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์บ้าง  ในที่ทั่วไปกล่าวว่าพระนางเป็นพระสนมสมเด็จพระไชยราชา  มีเพียงคำให้การชาวกรุงเก่าแห่งเดียวเท่านั้น  กล่าวว่า  เป็นมเหษีฝ่ายซ้ายสมเด็จพระปรเมศวร  ผู้สืบบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระพันวษา  อย่างไรก็ตาม  ที่สุดแล้วพระนางก็ถูกคณะก่อการประหารชีวิตอย่างเอน็จอนาถ  ดังจะได้กล่าวถึงในวันพรุ่งนี้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพจากภาพยนตร์เรื่องนี้


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มกราคม, 2562, 09:53:09 PM
(https://i.ibb.co/fXsk93B/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- วรวงศาธิราช -

สองคู่ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์
มีเชื้อชาติให้เห็นไม่เป็นสอง
วงศ์ละโว้อโยธยามาลำพอง
นัยเกี่ยวข้องโดยอาจเป็นญาติกัน

ซึ่ง"บุญศรี"มีตำแหน่งมิต้อยต่ำ
เป็นผู้ทำหน้าที่พิธีสวรรค์
ปุโรหิตอิทธิพลคนสำคัญ
รอบรู้สรรพ์วิทยาประเพณี

การขึ้นครองบัลลังก์อย่างสกปรก
ไม่ควรยกย่องไว้ในศักดิ์ศรี
จึงดำรงราชย์ได้ไม่ถึงปี
ดับชีวีอย่างอนาถในบัดดล......


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เรื่องราวของขุนวรวงศาธิราชนี้  พระพราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์มิได้ให้รายละเอียดไว้  กล่าวแค่เพียง "พาดพิง" ว่า "....ขุนชินราชได้สมบัติ ๔๒ วัน  และขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ  จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ"....." แต่วันวลิตได้ให้รายละเอียดในการครองราชย์ของขุนชินราชว่า........." หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว  หมอผีก็อยู่ในวังนั้นเอง  และด้วยความช่วยเหลือของพระสนม  ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ทรงพระนามว่าพระขุนชินราช  ซึ่่งขัดความประสงค์ของขุนนางและประชาชน...."

          วันวลิตเรียกขุนชินราชว่า  "หมอผี"  ซึ่่งทึ่จริงแล้ว  เขาทำหน้าที่เป็นพราหมณ์ปุโรหิต  มีหน้าที่ทำพิธีกรรรมต่าง ๆ ในราชสำนัก  เป็นนักการศาสนาผู้มีความรู้วัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี  ในพงศาวดารฉบับปลีกย่อยอื่น ๆ  กล่าวถึงเขาว่า  เดิมชื่่อบุญศรี  เป็นข้าหลวงเดิม  และมีเชื้อสายเป็นราชนิกูลในราชวงศ์ละโว้อโยธยา (คือทวาราวดี)  นัยว่าเป็นพระญาติ (ลูกพี่ลูกน้อง) กับศรีสุดาจันทร์อีกด้วย

          ศรีสุดาจันทร์มีพระราชโอรส ๒ พระองค์  คือ  พระยอดฟ้า  กับพระศรีศิลป์  หลังจากพระยอดฟ้าขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว  พระนางได้รับการยกย่องให้เป็น  "แม่อยู่หัว" (แม่หยัว  หรือ  แม่ยั่ว)  ว่าราชการแผ่นดินแทนพระราชโอรส

          เหตุที่จำต้องลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระยอดฟ้านั้น  นัยว่า  เพราะพระนางทรงครรภ์กับนายบุญศรีปุโรหิต  เกรงว่าเรื่องจะแดงขึ้น  จึงวางอุบายลอบปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน  พร้อมกับแต่งตั้งยศนายบุญศรีให้เป็น  "ขุนชินราช"  มีตำแหน่งในราชสำนักสูงขึ้นด้วย

          ครั้นสมเด็จพระยอดฟ้าสิ้นพระชนม์ (ด้วยการถูกลอบปลงพระชนม์) แล้ว  แม่อยู่หัวผลักดันให้ขึ้นครองราชย์เฉลิมพระนามว่า  "ขุนวรวงศาธิราช"  ข้าราชสำนักและประชาชนไม่พอใจในพฤติกรรมแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์  และขุนวรวงศาธิราชเป็นอย่างยิ่ง

          ครานั้น  ขุนพิเรนทรเทพ  กรมพระตำรวจ  ผู้มีเชื้อสายเป็นเจ้าชายในราชวงศ์สุโขทัย (พระญาติเจ้าหญิง  "คุณท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชไว้วางพระทัยมาก  จนมีข้าราชการในราชสำนักให้ความเคารพยำเกรงเสมอมา)  จึงปรึกษาวางแผนลับ ๆ กับข้ราชการในราชสำนักผู้ใกล้ชิด  ลอบปลงพระชนม์ขุนชินราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสีย

          วันวลิตให้รายละเอียดในการลอบปลงพระชนม์ทั้งสองคนนี้โดยสรุปใจความได้ว่า....  ขุนชินราช (วรวงศาธิราช) ถูกลวงให้ไปยังโรงช้างแล้วถูกลอบยิงด้วยปืนสิ้นพระชนม์  แล้วโยนร่างให้สุนัขกิน  ส่วนศรีสุดาจันทร์นั้นถูกฆ่าด้วยดาบแล้วโยนร่างลงน้ำทิ้งไป..... แต่  คำให้การชาวกรุงเก่า  กล่าวว่า  ถูกลวงให้ไปคล้องช้างเผือก ณ เมืองสรรคบุรี  เสด็จลงเรือไปทางชลมารคพร้อมด้วยศรีสุดาจันทร์  และพระะธิดาที่ประสูติใหม่  เมื่อไปถึงที่ซุ่มของขุนพิเรนทรเทพกับพวก  ก็ถูกกองซุ่มพายเรือพุ่งเข้ารุมฟันด้วยดาบสิ้นพระชนม์ทั้งสามพระองค์ ณ ที่นั้น

          หลังจากปลงพระชนม์ขุนวรวงศาธิราชแล้ว  ขุนพิเรนทรเทพกับคณะผู้ก่อการก็เข้าเฝ้าพระเฑียรราชา (หรือเธียรราชา)  ซึ่งทรงพระผนวชและประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษ  ขอให้ลาพระผนวช  แลัวอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช"

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มกราคม, 2562, 10:12:36 PM
(https://i.ibb.co/h89jvrq/Maha-Dhammarajadhiraj.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ)

- จักรพรรดิวรราชาธิราช -

เรื่อง"เสียกรุงครั้งแรก"ยากแยกแยะ
มี"ตัดแปะ"ประวัติศาสตร์ขาดเหตุผล
"วันวลิต,ชาวกรุงเก่า"เล่าปะปน
จึงต้องค้นคว้ามาสรุปความ

"เฑียรราชา"ครองราชสมบัติใหม่
มิทันไรศึกมาน่าเกรงขาม
คือพม่ารามัญบุกมาคุกคาม
ทำสงคราม"ชนช้าง"สร้างวีรกรรม

"วีรสตรี"ปรากฏพระยศยิ่ง
พม่าชิงได้ชัยไม่เหยียบย่ำ
เอาตัวประกันฉันทะถือกระทำ
ไทยตกต่ำวุ่นวายอยู่หลายปี...


          อภิปราย ขยายความ........

          ประวัติศาสตร์ชาติไทยช่วงตอนนี้แม้เวลาไม่ยาวไกลจากปัจจุบันนัก  แต่ก็มีความสับสนอยู่ไม่น้อย  ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  คำให้การชาวกรุงเก่าและพงศาวดารปลีกย่อย  รวมทั้งตำนาน  มีความขัดแย้งกันอยู่มาก

          พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  กล่าวว่า  พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๗ แห่งสยาม  เป็นลูกพี่ลูกน้อง  หรือเป็นหลานของพระยอดฟ้าเจ้า  ครองราชสมบัติเมิ่อมีพระชนม์ ๔๒ พรรษา

          คำให้การชาวกรุงเก่า  กล่าวว่า  พระเฑียรราชาเป็นโอรสสมเด็จพระปรเมศวร  พระเชษฐาสมเด็จพระไชยราชา  มีพระมารดาเป็นมเหษีฝ่ายขวาในสมเด็จพระปรเมศวร  นามว่า  จิตรวดี  ซึ่งเป็นคำให้การที่เลอะเลือนมาก

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  ที่สมเด็จเด็จพระนารายณ์โปรดให้บันทึกไว้นั้น  มีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด  กล่าวว่า  พระเธียรราชาเป็นพระอนุชาสมเด็จพระไชยราชา  ขณะที่เกิดเหตุวุ่นวายในราชสำนักนั้น  ทรงปลีกพระองค์ออกทรงผนวชอยู่วัดราชประดิษ  ขุนพิเรนทรเทพและคณะเข้าเฝ่้าหลังจากก่อการสำเร็จแล้ว  กราบทูลขอให้ลาสิกขาแล้วขึ้นครองราชสมบัติ  เฉลิมพระนามว่า  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิวรวราชาธิราชเจ้า  หลังจากครองราชได้เพียง ๗ เดือน  พระเจ้าหงสาวดีนามว่า  ปังเวกี  ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  พระมเหสีกับพระราชธิดาทรงช้างออกร่วมรบ  และชนช้างกับข้าศึกจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์

          ย้อนกลับไปในช่วงตอนที่พระราชพงศาวดารกรุงเก่ามิได้จดบันทึกไว้  คือหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นนั่งบัลลังก์แล้วมิได้มีการปูนบำเหน็จความชอบแก่ผู้ก่อการเลย  ซึ่งขัดต่อความเป็นจริง

          มีความปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า  ที่ให้การแก่พระเจ้ากรุงอังวะว่า  สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ  ทรงปูนบำเเหน็จแก่ผู้ก่อการไว้ว่าดังนี้

          ...." แล้วตรัสว่า ขุนพิเรนทรเทพเล่า  บิดาเป็นราชวงศ์พระร่วง  มารดาไซร้  เป็นราชวงศ์แห่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า  ขุนพิเรนทรเทพ  เป็นปฐมคิด  เอาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  ให้รับพระบัณฑูรครองเมืองพระพิษณุโลก  จึงตรัสเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราช  ถวายพระนามพระวิสุทธิกษัตรี  เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีเมืองพระพิษณุโลก  พระราชทานเครื่องราชาบริโภคให้ตำแหน่งศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือน  เรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง  และเครื่องราชกุธภัณฑ์ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป"

          จึงได้ความชัดเจนว่า  ขุนพิเรนทรเทพนั้น  มีบิดาเป็นเจ้าชายในราชวงศ์พระร่วงสายมหาธรรมราชาบรมปาล  มีมารดาเป็นเจ้าหญิงในราชสำนักสมเด็จพระไชยราชาธิราช  เชื้้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ-สุโขทัยจึงมิใช่สามัญชนที่ขึ้นมาครองยศตำแหน่ง  เมื่อปูนบำเหน็จความชอบแก่ทุกคนในคณะผู้ก่อการตามสมควรแก่ฐานานุรูปแล้ว  ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  เป็นการคืนตำแหน่ง  "มหาธรรมราชา"  แก่ราชวงศ์พระร่วง  หลังจากถูกสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรง "ดอง" เก็บไว้เป็นเวลานานแล้ว  มิใช่เพียงเท่านั้น  ยังทรงพระราชทานพระสวัสดิราช  ซึ่งเป็นราชธิดาพระองค์หนึ่งในหลายพระองค์ให้เป็นพระชายา  แล้วสถาปนาพระนางให้เป็น  สมเด็จพระวิสุทธิกษัตรี  อัครมเหสีแห่งเมืองพระพิษณุโลกอีกด้วย

          สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก่อนผนวช  ทรงมีพระชายาและพระโอรสธิดาหลายพระองค์  มิใช่มีหลังจากลาพระผนวชแล้วตามที่มีบางท่านเข้าใจ  และสงสัยว่า  ในเมื่อทรงพระผนวชอยู่  จะมีพระชายาและโอรสธิดาได้อย่างไร

          ความจริงพระองค์ทรงพระผนวชอยู่ในระยะเวลาไม่นานนักจะเรียกว่า  "บวชการเมือง"  ก็ได้  เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีให้บอกเล่ามากมาย  พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบตุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มกราคม, 2562, 09:48:08 PM
(https://i.ibb.co/WDCJ2Sr/Emperor1.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระบรมดิลกวีรสตรี -

ศึกพม่าครานั้นรู้กันทั่ว
ต้อง"มอบตัวประกัน"อยู่หวั่นไหว
เริ่มการรบดุเดือดเลือดนองไทย
จารึกไว้รูปนามคุณความดี

"วีรสตรี"ที่เชิดชูโลกรู้จัก
คือโฉมยงองค์อัครมเหสี
"สุริโยทัย"งามปลอดยอดสตรี
พระทรงพลีพระชนม์ชนช้างศัตรู

พระธิดาหนึ่งองค์ทรงกล้าหาญ
ทรงคชาทะยานประจัญสู้
ไสช้างศึกฮีกหาญต้านริปู
ยอดพธูสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

ธ พระนามควรชม"บรมดิลก"
ไทยควรยกย่องชูโลกรู้บ้าง
วีรสตรีกตัญญูผู้วายวาง
เป็นแบบอย่างไทยล้วนควรจดจำ


          อภิปราย ขยายความ...........

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกพระนามพระเจ้ากรุงหงสาวดีว่า  "ปังเสวกี"  แต่ในที่ทั่ว ๆ ไปเรียกพระนามว่า  "ตะเบงชเวตี้"  ศึกหงสาวดีครั้งนี้  วันวลิตมิได้บันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขา  ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์  ก็บันทึกไว้เพียงย่นย่อ  แต่ว่ามีพงศาวดารตำนานอื่นให้รายละเอียดไว้  โดยเฉพาะ  "คำให้การชาวกรุงเก่า"  ที่ให้การแก่พระเจ้ากรุงอังวะเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐  ได้ให้รายละเอียดไว้อย่าน่าสนใจมากว่าดังต่อไปนี้

          ....."พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  โดยเข้ามาทางเมืองระแหง (ตาก)  พระมหาจักรพรรดิยกออกรับทัพ  และรบกันที่ทุ่งมโนรมย์ (เมียนมาร์เรียก มโนรัมมา)  ทั้งสองทัพรบกันเป็นสามารถ  ไพร่พลล้มตายลงเปนอันมาก  ขณะยังไม่รู้แพ้ชนะกันนั้น  พระเจ้าหงสาวดีทรงดำริว่า  ขืนรบกันต่อไปก็จะมีผู้คนล้มตายมากขึ้นทั้งสองฝ่าย  ไม่เป็นการสมควรเลย  "เราคิดอุบายรบกันแต่สองต่อสองเถิด"  จึงท้าพระมหาจักพรรดิชนช้างกันในอีก ๗ วันข้างหน้า  พระมหาจักรพรรดิทรงรับคำท้า  แล้วต่างฝ่ายก็หย่าทัพ  เตรียมตัวจะทำยุทธหัตถีกัน ณ ทุ่งมโนรมย์ต่อไป

          ....ครั้นครบกำหนดนัด  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดทรงพระประชวรมากจนไม่สามารถออกทำยุทธหัตถีได้  ฝ่ายพระมหาเทวีผู้เป็นพระมเหสีจึงประชุมพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงปรึกษาหารือกันว่าจะทำประการใดดี  ในขณะนั้น  พระบรมดิลก  ราชธิดาผู้มีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา  จึงทูลว่า  "พระราชบิดาได้ทรงทำสัญญาไว้กับพระเจ้าหงสาวดีแน่นหนามาก  ถ้าไม่ออกไปทำยุทธหัตถีในวันนี้  ก็จำจะต้องยกราชสมบัติให้แก่เขาตามสัญญา  คราวนี้ไม่มีใครที่จะออกต่อสู้ด้วยข้าศึกแล้ว  กระหม่อมฉันจะขอรับอาสาออกไปชนช้างกับพระเจ้าหงสาวดี  ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชบิด า ถึงแม้กระหม่อมฉันจะเสียชีวิตในท่ามกลางข้าศึก  ก็มิได้คิดอาลัย  จะไว้ชื่่อให้ปรากฏในแผ่นดินชั่วกัลปาวสาน"

          ....พระมหาเทวีทรงห้ามปรามอย่างไรพระบรมดิลกก็ไม่ฟัง  ในที่สุดก็ทรงยอมให้พระนางออกไปกระทำยุทธหัตถี  พระบรมดิลกทรงแต่งพระองค์เป็นชาย  แล้วถวายบังคมลาออกทรงช้างต้นบรมฉัททันต์ที่กำลังคลั่งมันอยู่  เมื่อทั้งสองฝ่ายออกสู่ทุ่งมโนรมย์พร้อมกันแล้ว  ก็ยกธงเป็นสัญญา  ต่างก็เข้าทำยุทธหัตถี  ชนช้างกัน  พระบรมดิลกเป็นสตรีไม่ชำนาญการขับขี่คชาธาร  ก็เสียทีแก่พระเจ้าหงสาวดี  ช้างต้นบรมฉัททันต์เบนท้ายให้แก่พระเจ้าพระเจ้าหงสาวดี  พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระแสงง้าวฟันถูกพระบรมดิลกตกจากช้างทรง  พระบรมดิลกร้องได้คำเดียวก็สิ้นพระชนม์ ...

          ....พระเจ้าหงสาวดีได้ทรงฟังเสียงจึงทราบชัดว่าเปนสตรีปลอมออกมาทำยุทธหัตถีกับพระองค์  ก็เสียพระทัย  ทั้งละอายแก่ไพร่พลทั้งปวง  จึงตรัสในที่ประชุมว่า  "ครั้งนี้เราเสียทีเสียแล้ว ด้วยเราไม่พิจารณาให้แน่นอน  หลงทำยุทธนาการกับสตรีให้เสื่อมเสียเกียรติยศ  กิตติศัพท์จะลือชาปรากฏไปชั่วกัลปาวสานว่า  เราเปนคนขลาดจึงมาทำยุทธนาการสู้รบกับสตรี"  เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตรัสดังนี้แล้วก็ให้รวบรวมผู้คนช้างม้ายกกลับคืนพระนคร"

          .....จากนั้นแม่ทัพนายกองก็อัญเชิญพระศพของพระบรมดิลกกลับเข้าพระนคร  พระมหาจักรพรรดิ  พระมหาเทวี  พระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนชาวพระนครศรีอยุธยาพากันโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  หลังจากตั้งพระศพและให้มีการมหรสพสมโภชแล้วพระราชทานพระเพลิงศพ  ทรงให้ก่อเป็นพระเจดีย์และบรรจุพระอัฐิพระบรมดิลก ณ พระเมรุที่ถวายพระเพลิงศพนั้น  ที่นั้นจึงได้นามว่า  "เนินเจ้า"  สืบมา ....."

          คำให้การชาวกรุงเก่าที่ยกมาแสดงนี้ขัดแย้งกับความในพงศาวดารฉบับอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง  เฉพาะการทำยุทธหัตถีนั้น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ของสมเด็จพระนารายณ์กล่าวว่า  สมเด็จพระศรีสุริโยทัยและพระราชธิดาแต่งพระองค์เป็นชายตามเสด็จ  เมื่อทัพแตกมาปะทะกันเป็นโกลาหล  สมเด็จพระศรีสุริโยทัยกับพระราชธิดาได้ชนช้างกับข้าศึก  และสิ้นพระชนม์ทั้งคู่

          .........เรื่องนี้ยังจบไม่ลงครับ เพราะหมดเวลาสำหรับวันนี้เสียแล้ว

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบตุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มกราคม, 2562, 10:36:47 PM
(https://i.ibb.co/9Vxq2PM/suriyothai.jpg) (https://imgbb.com/)

- ไทย & พม่า สัญญาสงบศึก -

ชาวกรุงเก่าให้การตำนานหนึ่ง
ได้กล่าวถึงศึกสงบ"รบระส่ำ"
สองกษัตริย์ละวางการสร้างกรรม
ด้วยการทำสัญญาย้ำไมตรี

หนึ่งเบื้องหลังค่อนลึกศึกหงสา
ฝ่ายพม่า"ตะเบงชเวตี้"
ต้องการ"ช้างเผือก"เสริมบารมี
ด้วยกรุงศรีอยุธยามีมากมาย


          อภิปราย ขยายความ..........

          ชาวกรุงเก่าให้การว่า  พระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรหนักไม่อาจออกทำยุทธหัตถีได้  "พระบรมดิลก"  พระราชธิดาวัย ๑๖ พรรษา  จึงอาสาออกรบแทนพระราชบิดา  แล้วถูกพระเจ้าหงสาวดีใช้ง้าวฟันตกหลังช้างสิ้นพระชนม์  พระเจ้าหงสาวดีทราบความจริงทรงเสียพระทัย  จึงยกทัพกลับคืน  ในคำให้การนี้ไม่มีสมเด็จพระศรีสุริโยทัยออกรบด้วย

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ของสมเด็จพระนารายณ์บันทึกไว้ว่า  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงช้างออกศึก  โดยมี  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  อัครมเหสีพร้อมพระราชธิดาแต่งพระองค์เป็นชายโดยเสด็จด้วย แล้วถูกข้าศึกฟันจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์

          ความน่าจะเป็นตามบันทึกของพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  แต่สิ่งที่ขาดหายจากพระราชพงศาดารนี้คือ  รายละเอียดของเหตุการณ์รบ  และพระนามของพระราชธิดาไม่ปรากฏ

          พงศาวดารฉบับปลีกย่อยซึ่งเกิดภายหลังพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ต่างก็มุ่งที่จะถวายพระเกียรติยศสมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ให้เป็นวีรสตรีไทยที่โดดเด่นอยู่ในประวัติศาสตร์  จึงให้รายละเอียดเฉพาะเรื่องของพระนาง  โดยมิได้สนใจในพระราชธิดาซึ่งสิ้นพระชนม์พร้อมกันเลย

          สรุปข้อเท็จจริงตอนนี้ได้ว่า  ศึกหงสา  หรือ  "สงครามช้างเผือก"  ครั้งแรกนี้  ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาสูญเสียบุคคลสำคัญไป ๒ พระองค์  คือ  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  กับ  พระบรมดิลกราชธิดา

          ชาวกรุงเก่าให้การถึงการสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ  ดังต่อไปนี้............."ครั้นจุลศักราช ๙๒๓ ปี (พ.ศ.๒๑๐๔)  พระเจ้าหงสาวดียกทัพมีจำนวนพล ๙๐๐,๐๐๐  มาตีกรุงศรีอยุยาอีก  ตั้งทัพที่ทุ่งมโนรมย์"

          พระเจ้าตะเบงชเวตี้  ยกทัพมาเป็นครั้งที่ ๒  คราวนี้มีกำลังพลมหาศาล  ชาวกรุงเก่า  บอกเล่าว่ามาตั้งทัพที่ทุ่งมโนรมย์ (ทุ่งมะขามหย่อง ?)  ทางกรุงศรีอยุธยาตั้งรบเป็นสามารถ  ไม่แพ้ชนะกัน  ฝ่ายพระมหาจักรพรรดิ  ทรงจัดทหารผู้เข้มแข็ง ๔๐๐ คนติดตามช้างพระที่นั่ง  โดยให้เอาสุรากรอกช้างพลายวิไชยซึ่งเป็นคชาธารกำลังคลั่งมันอยู่ให้มึนเมา  เอาเกลือกเหล็กกันขวากหนามสวมใส่เท้าทั้ง ๔  เอาปลอกเหล็กเกราะโซ่  สวมงาทั้งสองและงวง  เมื่อแต่งช้างเสร็จแล้ว  ลอบเข้าจู่โจมค่ายพระเจ้าหงสาวดี  ขณะทหารไม่ทันรู้ตัว  จึงแตกตื่นวุ่นวายหนีตายเป็นจ้าละหวั่น  พระเจ้าหงสาวดีเห็นดังนั้นจึงรีบขึ้นช้างทรงหนีออกจากค่าย  โดยพระบาทของพระองค์มีพระโลหิตไหล  บาดเจ็บเล็กน้อย  นายช้างเอาผ้าพันไว้  และเมื่อตั้งสติได้แล้วทรงรวบรวมพลกลับเข้าค่ายตามเดิม

          ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งสองฝ่าย  เห็นว่าการรบจะยึดเยื้อไปนาน  ยากที่จะรู้แพ้ชนะแก่กัน  จึงปรึกษาหาทางเป็นพระราชไมตรี  และนำความขึ้นกราบทูลพร้อมกันทั้งสองฝ่าย  พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ทรงเห็นชอบ  จึงนัดเจรจาสงบศึก  โดยตั้งพลับพลา ณ ทุ่งมโนรมย์  เมื่อถึงเวลานัด  ทั้งสองพระองค์เสด็จออกพร้อมกัน ณ พลับพลาที่ประทับ  ห้ามมิให้ใครนำอาวุธยุทธภัณฑฺเข้ามาในที่นั้น

          เมื่อทำสัตย์ต่อกันแล้วพระมหาจักรพรรดิจึงตรัสว่า  " แต่ก่อนเราทั้ง ๒ เปนศัตรูกัน  มาบัดนี้เปนไมตรีมีพระราชอาณาจักรเปนทองแผ่นเดียวกันแล้ว  ธรรมดาช้างทั้งหลายย่อมเกิดสำหรับบุญของกษัตริย์ผู้มีบุญ  เราตั้งใจว่านอกพระองค์แล้วจะไม่ยอมให้ใครเลย  บัดนี้จะถวายแก่พระองค์ช้าง ๑ "  ตรัสดังนี้แล้วจึงถวายช้างบรมฉัตทันต์แก่พระเจ้าหงสาวดี

          ครั้นแล้วทั้ง ๒ กษัตริย์ก็ให้ทำจารึกศิลาประกาศทางพระราชไมตรีมีใจความว่า.... "พระเจ้ากรุงหงสาวดีกับพระพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา  มีพระราชไมตรีต่อกันแล้ว  ตั้งแต่นี้ไปให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวง  รักษาไมตรีต่อกัน  ที่สุดแต่หญ้าเส้น ๑  ก็อย่าให้ใครล่วงเกินกันเลย"  ดังนี้  เมื่อจารึกแล้วก็ให้ยกเสาศิลาปักไว้ในที่แดนต่อแดน  พระเจ้าหงสาวดีก็ยกทัพกลับพระนครหงสาวดี พระมหาจักรพรรดิก็คืนเข้าพระนคร

          ...คำให้การของชาวกรุงเก่าดังกล่าวนี้ควรถือได้ว่าเป็นความรู้ใหม่ของนักประวัติศาสตร์ไทย

          ...โดยความเป็นจริงแล้วศึกหงสาวดีครั้งนี้มิได้จบลงง่าย ๆ ดังนั้น  มีรายละเอียดการรบติดพันกันอยู่นาน  ก่อนที่จะเสียกรุงให้แก่หงสาวดี  พรุ่งนี้ว่ากันต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พืพืธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบตุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, มกราคม, 2562, 10:03:09 PM
(https://i.ibb.co/pfXhLpn/1401559089-o.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- พระเจ้าช้างเผือก -

"พระนารายณ์"ให้ทำลำดับเรื่อง
ความต่อเนื่องกันไว้มิให้หาย
ศึกพม่าครั้งแรกแตกเรื่องราย
ต่างขยายความกันอย่างบันเทิง

ยุทธหัตถีมีจริงเจ้าหญิงสิ้น
เจ้าแผ่นดินรบพุ่งกันยุ่งเหยิง
ไทยพลาดท่าพ่ายเพลียเสียชั้นเชิง
"ม่าน"ระเริงชัยโยโห่กลับไป


          อภิปราย ขยายความ........

          คำให้การชาวกรุงเก่าเล่าเรื่องการทำสัญญาสงบศึกในปีจุลศักราช ๙๒๓  ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๐๔ นั้น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์  บันทึกไว้ว่า  เกิดเรื่องราวขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ตรงกับคำให้การชาวกรุงเก่า  ทั้งนี้้เพราะชาวกรุงเก่าลำดับเรื่องข้ามความสำคัญตรงนี้ไป  เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีดังกล่าวนี้คือ

          "ศักราช ๙๒๓ ระกาศก (พ.ศ. ๒๑๐๔)  พระศรีศิลป์บวชอยู่วัดมหาธาตุ  แล้วหนีออกไปอยู่ตำบลม่วงมดแดง  และพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์ให้เข้ามาพระราชวัง ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘  ครั้งนี้พระยาสีหราชเดโชเป็นโทษรับพระราชอาญาอยู่  และพระยาสีหราชเดโชจึงให้ไปว่าแก่พระศรีศิลป์ว่า  ครั้นพ้นวันพระแล้วจะให้ลงพระราชอาชญา  ฆ่าพระยาสีหราชเดโชเสีย  และขอให้เร่งยกเข้ามาให้ทันแต่ในวันพระนี้  และพระศรีศิลป์จึงยกเข้ามาแต่ในวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘  เพลาเย็นมาแต่กรุง  ครั้นรุ่งขึ้นวันพระนั้น  พระศรีศิลป์เข้าพระราชวัง  ครั้งนั้นได้พระศรีศิลป์มรณภาพในพระราชวังนั้น  ครั้นแลรู้ว่าพระสังฆราชป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์เป็นแม่นแล้วไซร้  ก็ให้เอาพระสังฆราชป่าแก้วไปฆ่าเสีย"

          ได้ความจากบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าตอนนี้ว่า  พระศรีศิลป์  โอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระไชยาราชาธิราช  กับ  พระนางศรีสุดาจันทร์  ซึ่งถูกบังคับให้ผนวชอยู่ ณ วัดมหาธาตุนั้น  เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นครองราชย์  และหลังจากพระเจ้าหงสาวดียกมาตีกรุงศรีอยุธยาได้ชัยกลับไปแล้ว  พระศรีศิลป์คิดการขบถ  หมายปลงพระชนม์สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสีย  จึงหนึออกจากวัดมหาธาตุไปซุ่มอยู่ที่ตำบลม่วงมดแดง  สะสมกำลังแล้วลอบเข้าเมือง  และเข้าในวังได้  แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบ  จึงประหารพระศรีศิลป์สิ้นพระชมน์ในวังนั้นเอง

          สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้พระโหราเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๑  ไว้ดังต่อไปนี้
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๒ ได้ช้างเผือกพลายจากป่าตะนาวศรี  ให้ชื่อ  ปัจจัยนาเคนทร์  และให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุธยา
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๓ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรม ณ ตำบลท่าดินแดง
          .....พ.ศ. ๒๐๙๕ ให้แปลงเรือแชเป็นเรือชัยและหัวสัตว์
          ..... พ.ศ ๒๐๙๖ ทำพิธิมัธยมกรรม ณ ตำบลชัยนาทบุรี
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๗ เสด็จไปบางละมุง  ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง  เดือน ๑๒  ปีเดียวกันนั้น  ได้ช้างเผือกจากป่ากาญจนบุรี  ให้ชื่อว่า  พระคเชนทโรดม
          ..... พ.ศ.๒๐๙๘ ได้ช้างเผือกพลายจากป่าเพชรบุรี  ให้ชื่อ  พระแก้วทรงบาศ
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๙ แต่งทัพไปละแวก  ให้พระยาสวรรคโลกเป็นทัพหลวง  พระมหามนตรีถืออาญาสิทธิ์  พระมหาเทพถือเกวียน  ฝ่ายทัพเรือให้พระยาเยาวเป็นนายกอง  ครั้งนั้นลมพัดจัด  ทัพเรือไปมิทันทัพบก  พระยารามลักษณ์เข้าบุกทัพในกลางคืนแล้วแตกพ่ายมาประทัพใหญ่  ครั้งนั้นเสียพระยาองค์สวรรคโลกนายกองและช้างม้ารี้พลมาก
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๐ เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังมาก  ให้ทำการพะราชพิธีอาจาริยาภิเษกและอินทราภิเษกในวังใหม่  พระราชทานสัตดกมหาทาน  พร้อมให้ช้างเผือกเป็นทาน  จากนั้น  เสด็จไปวังช้าง  ตำบล โตรกพระ  ได้ช้างพัง ๖๐ ช้าง
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๒ ไปวังช้างตำบลแสนตอ  ได้ช้างพลายพัง ๔๐ ช้าง
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๓ เสด็จไปวังช้างตำบลวัดไก่  ได้ช้างพลายพัง ๕๐ ช้าง  และได้ช้างเผือกซึ่งตาช้างนั้นมิได้เป็นเผือก  มีลูกติดมาด้วยตัวหนึ่ง
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๔ พระศรีศิลปืเป็นขบถ.......

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกเรื่องราวตั้งแต่พระเธียรราชาขึ้นครองราชสมบัติ  ทรงพระนามว่า  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  อยู่ได้ ๗ เดือน  พระเจ้าหงสาปังเสวกี (ตะเบงชเวตี้)  ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระมเหสีพร้อมพระราชธิดาออกรบด้วยแล้วสิ้นพระชนม์ทั้งคู่  พระเจ้าหงสาวดีจับตัวสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและพระราเมศวรเจ้าไปเป็นตัวประกัน แล้วปล่อยกลับคืนเมื่อเสด็จไปถึงกำแพงเพชรแล้ว

          หลังจากนั้น  กรุงศรีอยุธยาว่างศึกอยู่หลายปี  สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิทรงเสด็จไปคล้องช้างได้ช้างพลายช้างพังมากมาย  และช้างเผือกอีกหลายเชือก  ในช่วงเวลานั้นมีการศึกเพียงครั้งเดียว  คือให้พระยาองค์สวรรคโลก  ราชบุตรบุญธรรม (เป็นชาวกัมพูชา)  ยกไปตีเมืองละแวก  แต่เสียทัพกลับมา  พระยาองค์สวรรคโลกตายในที่รบ

          ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๑๐๔ หลังจากปราบขบถพระศรีศิลป์ลงแล้ว  พระเจ้าหงสาวดีจึงยกทัพใหญ่มาอีกครั้ง

          ...พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัยธานี
๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มกราคม, 2562, 10:54:43 PM
(https://i.ibb.co/J5ky4Pz/618-11.jpg) (https://imgbb.com/)

- สงครามช้างเผือก -

ศึกพม่าคราเว้นเป็นช่วงว่าง
เรื่องราวทางพม่านั้นผันแปรใหญ่
บุเรงนองครองแผ่นดินปราบสิ้นภัย
ตั้งวงศ์ใหม่เดชาบารมี

"สิบสี่ปี"ที่ไทยเกิดหลายเรื่อง
ความขัดเคืองร้าวฉานจนพาลหนี
เหมือน"น้ำผึ้งหยดเดียว"แค่ตบตี
กลายเป็นกรีธาทัพสัประยุทธ์

"มหาธรรมราชา"ทรงล่าหนี
เข้าหงสาวดีเป็นที่สุด
"บุเรงนอง"รับไว้ไม่ซ้ำทรุด
เหมือนการจุดไฟสงครามลุกลามมี


          อภิปราย ขยายความ........

          เรื่องที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย  แต่มีอยู่ใน "พงศาวดารกระซิบ" และเอกสารต่างประเทศ  กล่าวว่า  พระเจ้าตะเบงชเวตี้  มิได้ยกทัพกลับไปด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระองค์  หากแต่ทรงบาดเจ็บเนื่องจากทรงปืนใหญ่ด้วยพระองค์เอง  หมายยิงถล่มกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาให้พินาศ  แต่กระบอกปืนใหญ่เกิดแตกเมื่อพระองค์ทรงจุดชนวนปืน  เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บมาก  จึงสั่งล่าทัพกลับไป  และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อเข้าเหยียบแผ่นดินของพระองค์

          หลังจากพระเจ้าหงสาวดีปังเสวกี  หรือ  ตะเบงชเวตี้สวรรคต  แผ่นดินพม่าเกิดความแตกแยก  บรรดาเมืองต่าง ๆ ตั้งตนเป็นใหญ่  บุเรงนองขุนศึกคู่พระทัยของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ต้องใช้เวลาในการปราบปรามหัวเมือง  ชนเผ่าต่าง ๆ  มี  มอญ  กะเหรี่ยง  ไทยใหญ่  เป็นต้น  เมื่อปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ  ได้สิ้นแล้ว  จึงปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงหงสาวดี  ปกครองประเทศต่อไป

          ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น  พระมหาจักรพรรดิทรงเสด็จคล้องช้างในที่ต่าง ๆ  ได้ช้างพลายช้างพัง  พร้อมช้างเผือกทั้งพลายและพัง  เป็นจำนวนมาก  ยามนั้นมีราชวงศ์กัมพูชาองค์หนึ่งหนีมาสวามิภักดิ์  ทรงรับไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรมแล้วตั้งให้ครองเมืองสวรรคโลก  ต่อมาโปรดให้นำทัพไปปราบพญาละแวก  และสิ้นพระชนม์ในสงคราม  ดังกล่าวมาแล้วนั้น

          ในช่วงเวลา ๑๔ ปี นั้น  เกิดความไม่สงบขึ้นภายในราชสำนักพระพิษณุโลก  จนทางกรุงศรีอยุธยาต้องยกกำลังขึ้นไปจะจับพระมหาธรรมราชาลงโทษ  แต่พระมหาธรรมราชาทรงหลบหนีไปเมืองหงสาวดี  ขอพึ่งพระโพธิสมภารพระเจ้าบุเรงนอง  อันเป็นเหตุให้พม่ายกแสนยานุภาพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง  สงครามครั้งนี้  นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่า  "สงครามช้างเผือก"  ไทยต้องเสียกรุงเป็นครั้งแรก

          เบื้องหลังหรือสาเหตุที่พระมหาธรรมราชาหนีไปพึ่งระเจ้าบุเรงนอง  ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย  แต่มีความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ วันวลิต  เขียนไว้  เป็นเรื่องน่าเรียนรู้ไว้

          พรุ่งนี้จะนำความของวันวลิตมาแสดงครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มกราคม, 2562, 10:07:45 PM
(https://i.ibb.co/y8bhNpy/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง : เมียนมาร์

- "บุเรงนองลั่นกลองรบ" -

"วันวลิต"บอกเล่าเจ้าพิษณุโลก
ทรงเผลอ"โขกพระเศียรมเหสี"
พระโลหิตไหลแล้วพระเทวี
ใช้สำลีซับถ้วยทองฟ้องบิดา

เจ้ากรุงศรีจัดกำลังหวังลงโทษ
จึงหลบโลดฝ่าดงไปหงสา
"บุเรงนอง"รับช่วยด้วยเมตตา
ยกทัพมากรุงศรีรบมีชัย

ได้ช้างเผือกตัวประกันอันต้องจิต
ชนะหมดทศทิศสิทธิ์ยิ่งใหญ่
"มหาราชเอเซีย"นามเกริกไกร
มิใช่ใครคือคนเก่ง"บุเรงนอง"


          อภิปราย ขยายความ...........

          หลังจากที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกทัพกลับหงสาวดีแล้วสวรรคต  พม่าแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า  บุเรงนองขุนพลคู่พระทัยตะเบงชเวตี้ใช้เวลา ๑๐ ปีเศษจึงปราบปรามได้หมดสิ้นแล้วขึ้นครองบัลลังก์  จากนั้นยกทัพใหญ่มาโจมตีกรุงศรีอยุธยา  เบื้องหลังที่พระเจ้าบุเรงนองยกทพมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น  วันวลิต  บอกเล่าไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอย่างน่าสนใจว่า....

          ......." พระเทียนราชาได้พระราชทานพระธิดาให้อภิเษกกับออกญาพิษณุโลก (Oija Poucelouck)  แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก  ชีวิตสมรสจึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งและไม่ลงรอยกัน

          ในการทะเลาะครั้งหนึ่ง  ออกญาพิษณุโลกได้ตีพระเศียรพระราชธิดาแตก  พระราชธิดาจึงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็ดพระโลหิตใส่ถ้วยทองไปถวายพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา  พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นทูลฟ้องว่าถูกพระสวามีทารุณเพียงใด

          ด้วยเหตุนี้  พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงพิโรธพระราชบุตรเขยเป็นอย่างมาก  มีรับสั่งให้ทหารยกกำลังไปฆ่าออกญาพิษณุโลก

          ออกญาพิษณุโลกได้ทราบข่าว  ก็ไม่รอให้กองทัพจากกรุงศรีอยุธยามาถึง  ทิ้งบ้านเมืองหนีไปยังพะโค

          พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคทราบข่าวว่า  ออกญาพิษณุโลกหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ก็ทรงต้อนรับอย่างดี  เมื่อออกญาพิษณุโลกเห็นเช่นนั้นก็ดีใจ  ขอร้องให้พระเจ้าแผ่นดินพะโค  ยกทัพไปทำสงครามกับสยาม

          แต่พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคปฏิเสธ  และตรัสว่า  "พระเจ้าแผ่นดินสยามไม่ได้มีข้อหมองใจกับเรา  และเราเองก็ไม่ต้องการที่จะไปทวงสิทธิ์อะไรจากอาณาจักรสยามด้วย"

          ** วันวลิตได้ให้รายละเอียดไว้อีกอย่างยืดยาว  พอสรุปใจความสำคัญได้ว่า  พระมหาธรรมราชาพยายามหาเหตุผลมาหนุนให้พระเจ้าแผ่นดินพะโค  หรือหงสาวดี  คือพระเจ้าบุเรงนอง  ยกกองทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา  และแล้วก็ได้อุบายหนึ่ง  คือ  ทูลพระเจ้าบุเรงนองว่า  พระมหาจักรพรรดิทรงคล้องช้างมาก  ได้ช้างเผือกถึง ๗ เชือก  ในจำนวนช้างเผือกเหล่านั้นมีเชือกหนึ่งทรงได้ไปจากดินแดนพม่า  พระเจ้าบุเรงนองควรได้ช้างเผือกเชือกนั้นมาไว้ในพระบารมี  พระเจ้าบุเรงนองได้ฟังดังนั้นทรงเห็นชอบด้วยจึงส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา  "ทูลขอช้างเผือก สอง หรือ สาม เชือก"

          สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงปฏิเสธแล้วไล่ทูตกลับไป  จึงเป็นเหตุให้พระเจ้า "บุเรงนองลั่นกลองรบ"  โดยทรงรวบรวมกำลังทั้งหมด  รวมทั้งเกณฑ์ประชาชนให้ติดอาวุธออกรบ  และทรงแต่งตั้งให้มหาธรรมราชาแห่งพิษณุโลกเป็นแม่ทัพทหารราบ  ยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทันที

          ......การรบเป็นอย่างไรบ้าง  วันวลิต  ให้รายละเอียดไว้  ว่ามีไส้ศึกคนสำคัญในกรุงศรีชนิดที่เราคิดไม่ถึงเลยครับ

          ......พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อก็แล้วกันนะ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, มกราคม, 2562, 10:00:21 PM
(https://i.ibb.co/6ncV2TD/fas.jpg) (https://imgbb.com/)

- ปัตตานีขบถกลางสงคราม -

พลพม่า”เก้าแสน”ย่ำแดนสยาม
ครั้นทราบความจักรพรรดิคิดขัดข้อง
จะสละราชบวชปวดใจปอง
ถูกขอร้องให้อยู่สู้ศึกยาว

เสียงกลองศึกตูมตูมมารุมเร้า
เหมือนผีเข้าเป็นไข้ให้ร้อนหนาว
พระจักรพรรดิราชันทรงสั่นทาว
ร้อง”ถึงคราวโชคร้ายยอมตายแล้ว”

จึงสั่งสู้ข้าศึกแม้นึกหวั่น
ให้เร่งวันเดินทางอย่าตรงแน่ว
บอก“พระยาปัตตานี”รีบรี่แจว
ทัพเรือแกล้วแกร่งกล้ามาช่วยรบ

สถานการณ์ตอนนั้นขั้นวิกฤต
ฝุ่นทั่วทิศรอบกรุงฟุ้งตลบ
ปัตตานียกทัพเรือเพื่อสมทบ
ครั้นมาพบเจ้ากรุงศรีมีประชวร

จึงคิดการณ์ใหญ่เกินประเมินพลาด
โดยบังอาจเป็นขบถทำปั่นป่วน
ถูกต้านตีแตกไปไม่เป็นขบวน
เพราะกรุงล้วนคนดีมีฝีมือ...


          อภิปราย ขยายความ............

          แสนยานุภาพของพระเจ้าบุเรงนองเคลื่อนพลเข้ามายึดหัวเมืองฝ่ายเหนือ  อันเป็นแคว้นสุโขไทเดิมไว้ได้ทั้งหมดอย่างง่ายดาย  เพราะพระมหาธรรมราชา  พระเจ้าแผ่นดินพระพิษณุโลก  ทรงนำทัพมาเอง หัวเมืองต่าง ๆ จึงไม่มีการต่อต้าน  กองทัพเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

           “วันวลิต” กล่าวว่า  ครั้นข่าวศึกยกมาประชิดติดพระนคร  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงถอดพระทัยในการสู้รบ  จึงขอสละราชสมบัติออกผนวช  แต่พระประยูรญาติและเสวกามาตย์ราชบริพารมนตรีทั้งหลาย พากันทัดทาน  กราบวิงวอนให้พระองค์ทรงสู้ศึก  จึงจำพระทัยต้องประกาศสู้  มีรับสั่งให้แจ้งข่าวไปยังพระยาปัตตานี  ให้รีบยกพลเดินทางมาโดยทางเรือ  เพื่อช่วยทำศึกครั้งนี้ด้วย  ในขณะนั้น  ทรงพระประชวรออด ๆ แอด ๆ  พระเจ้าบุเรงนองทุ่มกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเป็นสามารถก็มิอาจปล้นเอาเมืองได้

           “วันวลิต” บันทึกเรื่องราวตามคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยา  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๒  เป็นเวลาหลังจากสิ้นสงครามช้างเผือกไปแล้ว ๗๖ ปี  ค่อนชั่วอายุคนทีเดียว  เรื่องราวจึงไม่น่าจะคลาดเคลื่อนจากความทรงจำของชาวกรุงศรีอยุธยามากนัก  เขาได้บันทึกเรื่องราวต่อไปอีกว่า

          ......ชั่วเวลาไม่นานนัก  พระเจ้าแผ่นดินแห่งปัตตานี  ก็ปรากฏพระองค์ในกรุงศรีอยุธยา  พร้อมทั้งกองทัพที่มีทหารอยู่ในวัยหนุ่มแน่น

          ......เวลานั้นเอง  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงพระประชวรกระเสาะกระแสะ  และไม่มีความหวังเลยว่าจะทรงหายเป็นปกติ  ข่าวลือก็ระบาดไปทั่วว่า  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ลง  พระราชโอรสที่ไม่สามารถก็จะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน

          เมื่อเห็นสถานการณ์เหมาะเช่นนั้น  ทหารปัตตานี ๓๐๐ คนจึงฉวยโอกาส (มีพระเจ้าแผ่นดินรวมอยู่ด้วย) เข้าไปที่พระราชวัง  ตั้งใจจะบุกเข้าไปและฆ่าพระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรสเสีย  เพื่อจะช่วยให้ชาวปัตตานีได้ครองตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินสยาม

          คณะขุนนางเห็นพวกปัตตานีที่โหดร้ายใกล้เข้ามา  จึงปิดประตูวัง  และยืนหยัดสู้ด้วยตนเอง  พร้อมทั้งส่งพวกแขนลาย (brasprintdos ทาสของพระเจ้าแผ่นดิน)  ออกไปทางหลังวัง  และฆ่าพวกปัตตานีในกรุงศรีอยุธยาไม่เหลือแม้แต่คนเดียว”

          ....ความวรรคท้ายที่ว่า  ทหารของปัตตานีถูกฆ่าตายหมดจนไม่เหลือแม้แต่คนเดียวนั้น  เห็นจะไม่จริง  เพราะพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกไว้ว่า  พระยาตานีนั้นลงเรือสำเภาหนีรอดไปได้

          .......ศึกสงครามยังไม่สิ้น  แต่วันนี้หมดเวลาบอกเล่าให้ฟังแล้วนะครับ

          .......พรุ่งนี้มาฟังกันต่อไปใหม่  เพื่อให้รู้ว่าไทยพม่ารบกันอย่างไร

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มกราคม, 2562, 10:01:20 PM
(https://i.ibb.co/qx0xbVC/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระธาตุศรีสองรัก : เลย

- ล้านช้างถวายราชธิดา? -

โอรสธิดามหาจักรพรรดิ
พระนามชัดทั้งหมดปรากฏชื่อ
“บรมดิลก”รบพม่านามระบือ
พระนางคือ“วีรสตรีไทย”

พระโอรสคือ“พระมหินทราธิราช”
ครองอำนาจอยุธยาหานานไม่
“บุเรงนอง”บังคับจับตัวไป
แล้วสิ้นในระหว่างทางที่จร

อีกโอรส“พระศรีเสาว”ผู้ห้าวหาญ
พม่าม่านครั่นคร้ามยามตีต้อน
แต่“มหินท”เห็นว่าล้ำหน้าร้อน
จึงบั่นทอนชีวิตจนปลิดปลง

พระธิดานาม“เทพกษัตรี”
พระองค์นี้ปานยูงทองสูงส่ง
“พระไชยเชษฐาธิราช”ผู้อาจอง
มีจำนงทูลขอเป็นชายา....


          อภิปราย ขยายความ.....................

          ก่อนศึกหงสาหรือสงครามช้างเผือกจะสิ้นสุดลง  มีเรื่องเกิดขึ้นในราชสำนักสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  กล่าวคือ  สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งศรีสัตตนาคนหุต  ผู้ซึ่งย้ายราชสำนักลาวมาอยู่ที่มหานครเวียงจันทน์  ทรงทราบถึงวีรกรรมของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ที่ชนช้างกับพระเจ้าตะเบงชเวตี้  จนสิ้นพระชนม์จึงเกิดความเลื่อมใส  ทราบว่าพระนางมีพระราชธิดานามว่า  “เทพกษัตรี”  อยู่อีกพระองค์หนึ่ง  จึงส่งราชทูตมาทูลขอสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  เพื่ออภิเษกเป็นพระราชชายา  มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

           “ศักราช ๘๒๖ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๐๗)  พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีลงมายังพระนครศรีอยุธยา  และว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกษัตรเจ้านั้น  และจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง  ครั้งนั้นพระเจ้าหงสารู้เนื้อความทั้งปวงนั้น  จึงแต่งทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง  และออกชิงเอาสมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าได้ไปถวายพระเจ้าหงสา......”

          เป็นบันทึกที่ขาดความชัดเจน  นัยว่า  สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงทูลขอสมเด็จพระเทพกษัตรี  พระมหาจักรพรรดิยินดีพระราชทานให้  แต่เมื่อถึงกำหนดส่งตัวสมเด็จพระเทพกษัตรีทรงพระประชวรหนัก  ไม่อาจเดินทางไปล้านช้างได้  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  จึงทรงเปลี่ยนตัว  ให้พระแก้วฟ้า  ราชธิดาอีกพระองค์หนึ่งไปแทน  สมเด็จพระไชยเชษฐาทรงทราบเช่นนั้น  จึงส่งพระแก้วฟ้าคืน  แล้วยืนยันขอสมเด็จพระเทพกษัตรี ดังเดิม  เรื่องจึงปรากฏดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าข้างต้นนั้น  ในเรื่องเดียวกันนี้  ชาวกรุงเก่าให้การแก่พระเจ้าอังวะไว้อีกอย่างหนึ่งเป็นความตรงกันข้าม  ดังต่อไปนี้

           “ ครั้นต่อมาพระเจ้าล้านช้างได้ทราบว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีช้างเผือก ๗ เชือก  เปนผู้มีบุญญาธิการมาก  ปรารถนาจะเปนสัมพันธมิตรสนิทกับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  จึงแต่งราชธิดาซึ่งมีรูปลักษณเปนอันงามมีนามว่า  รัตนมณีเนตร  กับเครื่องราชบรรณาการ  ให้ทูตจำทูลพระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรีเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา  ถวายพระราชธิดา  ใจความในพระราชสาส์นนั้นทูลขอช้างเผือกด้วยเชือกหนึ่ง  เพื่อเอาไปเป็นศรีพระนคร  พระมหาจักรพรรดิก็มีพระทัยยินดีรับพระราชธิดาพระเจ้านครล้านช้าง  แล้วจึงพระราชทานช้างเผือกพังให้  กิตติศัพท์อันนั้นทราบไปถึงพระเจ้าหงสาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธ  ตรัสว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่อยู่ในยุติธรรม  ไปผูกไมตรีกับพระเจ้าล้านช้าง  ให้ช้างเผือกพังไปแก่พระเจ้าล้านช้าง  เมื่อทำสัตย์สาบานกับเรานั้น  ว่านอกจากเราแล้วจะไม่ให้ใครเลย  ตรัสแล้วก็ให้พวกพลทหารไปคอยซุ่มสกัดทาง คอยแย่งชิงช้างซึ่งพระมหาจักรพรรดิพระราชทานแก่พระเจ้าล้านช้าง  เมื่อทูตเมืองล้านช้างพาช้างไปถึงที่พวกหงสาซุ่มอยู่  พวกหงสาวดีก็ออกสกัดฆ่าฟันพวกล้านช้างแย่งชิงเอาช้างเผือกพังไปได้  นำไปถวายพระเจ้าหงสาวดี”

          ชาวกรุงเก่าให้การไว้  ความขัดกับพระราชพงศาวดาร  คือแทนที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะทูลขอพระราชธิดาพระมหาจักรพรรดิ  กลับเป็นการส่งพระราชธิดานามรัตนมณีมาถวายพระเจ้ามหาจักรพรรดิพร้อมทูลขอช้างเผือก  และกล่าวอีกว่าพระเจ้าหงสาวดีทรงพิโรธที่พระมหาจักรพรรดิผิดสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะไม่ให้ช้างเผือกแก่ใครนอกจากพระองค์  ความจริงแล้ว  พระมหาจักรพรรดิผิดสัญญาต่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้ผู้ล่วงลับ  มิใช่พระเจ้าบุเรงนอง

          ความน่าจะเป็นตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  คือพระไชยเชษฐาทูลขอพระราชธิดานามพระเทพกษัตรีจากพระมหาจักรพรรดิ  เมื่อส่งพระแก้วฟ้าไปพระราชทาน  พระไชยเชษฐาทรงส่งคืนยืนยันจะเอาพระเทพกษัตรีพระองค์เดียว  ทั้งนี้เพราะพระนางเป็นราชธิดาสมเด็จพระศรีสุริโยทัยวีรสตรี  ส่วนพระแก้วฟ้านั้นเป็นราชธิดาประสูติแต่พระราชชายาพระองค์อื่น  มิใช่เชื้อไขวีรสตรีไทย

          อย่างไรก็ตาม  พระมหาจักรพรรดิกับพระไชยเชษฐาธิราชก็ได้เป็นไมตรี  ทรงพบและทำสัตย์สาบานกันที่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน  แล้วสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีสองรักขึ้นไว้เป็นสักขีพยาน (ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย)

          สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  นัยว่ามีพระราชชายาหลายพระองค์  พระโอรส  ธิดา  อันประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยนั้นมี ๔ พระองค์  คือ  พระราชธิดานาม บรมดิลก  ทรงออกชนช้างแล้วสิ้นพระชนม์  สมเด็จพระวิสุทธิกษัตรีย์มเหสีพระมหาธรรมราชาธิราช  สมเด็จพระมหินทราธิราช  และพระเทพกษัตรี  ส่วนพระศรีเสาว (ภาคย์) พระแก้วฟ้านั้น  ประสูติแต่พระราชชายาพระองค์อื่น

          เรื่องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังไม่จบครับ  เพราะยังมีเบื้องหลัง  สาเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกให้กล่าวถึงอยู่อีกมาก  พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มกราคม, 2562, 10:09:45 PM
(https://i.ibb.co/W6tw4sV/A9831708-0.jpg) (https://imgbb.com/)

- ไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา -

อยุธยาอ่อนเปลี้ยเสียกรุงศรี
เหตุเพราะมี“ไส้ศึก”ควรศึกษา
“พระสุวัฒน์”เป็นใหญ่ในพารา
ช่วยพม่าบรรลุตามอุบาย

ให้“พระยาจักรี”ทำทีสู้
ถูกศัตรูจับตัวได้โดยง่าย
นำความลับบอกริปูรู้มากมาย
แสร้งหนีค่ายใหญ่พม่ากลับมาเมือง

“พระมหินทร์”เชื่อใจให้คุมทัพ
คอยต้านรับพม่ามาต่อเนื่อง
ได้โอกาสสลับสับฟันเฟือง
กระทำเรื่องเลวร้ายทำลายไทย


          อภิปราย ขยายความ ...............

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเรื่องราวตอนใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พระเจ้าบุเรงนองไว้ดังต่อไปนี้

          ........ “ศักราช ๙๓๐ มะโรงศก (พ.ศ.๒๑๑๑)  ในเดือน ๑๒ นั้น  พระเจ้าหงสายกพลมาแต่เมืองหงสา  ครั้นเถิงวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑  พระเจ้าหงสามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยา  ตั้งทัพตำบลหล่มพลี เมื่อเศิกหงสาเข้ามาล้อมพระนครศรีอยุธยานั้น  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน  และครั้งนั้นพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราชตรัสมิได้นำพาการเศิก  แต่พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้น  ตรัสเอาพระทัยใส่  และเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน  ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราชตรัสรู้ว่าพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้น  มิไว้พระทัย  ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่าเสีย ณ วัดพระราม”

          .........ในยามที่พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรหนักจนถึงกับสวรรคต  ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหินทร์ราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติสืบแทน  แต่ว่าสมเด็จพระมหินทราธิราชมิได้สนพระทัยในราชการ  ขณะที่พระศรีเสาว (ภาคย์)  ราชอนุชาต่างพระมารดาทรงสนทัยในการทำสงครามกับพม่ายิ่งนัก  ทรงออกบัญชาการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับไพร่พล  ต่อต้านข้าศึกป้องกันเมืองเป็นสามารถทุกวัน  ความทราบถึงสมเด็จพระมหินทราธิราช  จึงทรงระแวง  ไม่ไว้วางพระทัย  เกรงว่า  พระอนุชาจะแย่งราชสมบัติจากพระองค์  จึงให้เอาตัวไปประหารเสียที่วัดพระราม  ครั้นสิ้นพระศรีเสาว (ภาคย์)  ผู้บัญชาการทัพอันเข็มแข็งเสียแล้ว  กรุงศรีอยุธยาก็อ่อนกำลังลงเป็นลำดับ  ขุนทหารส่วนมากไม่พอใจที่สมเด็จพระมหินทราธิราชประหารพระศรีเสาว (ภาคย์)  จนไม่มีแก่ใจจะทำการรบพุ่งข้าศึกเลย

          .... วันวลิต  ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า  "พระนหิน (มหินทร์) มิได้สนพระทัยในเรื่องใดเลย  เอาแต่ “เสพสุราและนารี”  พระเจ้าบุเรงนองทุ่มกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแล้วถูกต่อต้านจนชะงักหลายครั้ง  ไม่พอพระทัย  มหาธรรมราชาแม่ทัพหน้า  พระมหาธรรมราชาเกรงว่าพระเจ้าบุเรงนองจะขัดเคืองจนถึงกับประหารตนเองเสียได้  จึงหลบหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ที่พะเนียด  จนกระทั่งพบคนไทยจึงฝากหนังสือไปถึงพระสุวัฒน์ (Prae Souwat)  ซึ่งอาศัยอยู่ในราชสำนัก  คร่ำครวญถึงความลำบากยากเข็ญ  และขอร้องให้มีหนังสือบอกเล่าสถานการณ์ในเมืองให้ทราบ  พระสุวัฒน์สงสารจึงมีหนังสือติดต่อกันเป็นหลายครั้ง  มหาธรรมราชา  จึงมีหนังสือกราบทูลพระเจ้าบุเรงนอง  ติดต่อขอรับการอภัยโทษ  ในที่สุดก็ได้กลับเข้าตำแหน่งเดิมในกองทัพพม่า

          ........พระเจ้าบุเรงนองขาดเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์  คิดจะเลิกทัพกลับไป  เป็นเวลาเดียวกันที่  พระสุวัฒน์มีหนังสือกราบทูลให้ทรงอดทนอยู่อีกสักหน่อย  ภายในเมืองกำลังขาดแคลนอาหารมาก คงทนอยู่ได้ไม่นาน  มิใช่เพียงกราบทูลเท่านั้น  พระนางยังได้ทำอุบายเอากระสุนดินดำใส่ในโลงศพแล้วส่งไปให้พระมหาธรรมราชาเป็นจำนวนมากอีกด้วย  โดยพระนาง  “สมรู้คบคิดกับออกญาจักรี”  แม่ทัพสยาม วางแผนให้ออกรบแล้วถูกพม่าจับตัวได้  เมื่อนำตัวเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองและมหาธรรมราชาแล้ว  พระยาจักรีจึงบอกอุบายให้ทรงทราบทุกประการ  แล้วแสร้งหลบหนีออกมาทั้ง ๆ ที่มือเท้าจำตรวน  พระมหินทราธิราชดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้  จึงตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการรบศึกต่อไป

          ........พระเจ้าบุเรงนอง  กับ  มหาธรรมราชา  เร่งกำลังพลเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีกครา  พระยาจักรีบัญชาการรบอย่างไม่เต็มกำลัง  ปืนน้อยใหญ่ทุกกระบอกบรรจุกระสุนดินดำแต่น้อย  ยิงไปไม่ถึงข้าศึก  บางกระบอกก็แสร้งลืมใส่กระสุน  ดังนั้นกองกำลังพม่าจึงเข้าประชิดกำแพงเมืองได้  พระยาจักรีได้โอกาสจึงเปิดประตูเมือง  ให้ข้าศึกกรูกันเข้าเมือง

          .....ในขณะข้าศึกเข้ามาในเมืองจนเต็มไปหมดแล้ว  สมเด็จพระมหินทร์ยังไม่ทราบ  ทรงยืนดูกีฬาชนไก่อยู่อย่างสนุก  พระสุวัฒน์จึงจับพระหัตถ์จูงหลบหนีข้าศึกไปซ่อนให้ห้องหนึ่งของพระราชวัง  และวางยาพิษปลงพระชนม์เสียในที่นั้น

          .......วันวลิต  ได้บรรยายให้เห็นภาพการเสียกรุงศรีอยุธยา  ดังได้สรุปย่อมาแล้วนั้น  เป็นแง่มุมหนึ่ง  ยังมีอีกมุมหนึ่งที่ควรต้องรับฟังไว้เหมือนกัน  คือ  มุมมองของ  ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของเขา  ตอนที่เกี่ยวกับสยามหลายตอน  เฉพาะตอนเสียกรุงนี้เขาเขียนว่าอย่างไร  พรุ่งนี้จะนำมาแสดงต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, มกราคม, 2562, 10:34:24 PM
(https://i.ibb.co/PCQpSYv/sryt-p10.jpg) (https://imgbb.com/)

- เมียนมาร์มองไทย -

ก่อนวันไทยเสียเมืองเรื่องสับสน
เล่าปะปนกันอยู่เลือกรู้ได้
บ้างว่าจักรพรรดิทรงลี้ภัย
เข้าอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์

แล้วกลับลาสิกขามาสู้ศึก
เบื้องหลังลึกแค่คิดแล้วติดขัด
การบวชมีจริงไหมยังไม่ชัด
แต่จะปัดทิ้งไปก็ไม่ควร

ประวัติศาสตร์เมียนมาร์ก็ว่าไว้
เกี่ยวกับไทยรบพม่าน่าสืบสวน
“หม่อง ทินอ่อง”เขียนไว้ให้ทบทวน
ขอประมวลมาแสดงเพื่อแจ้งใจ..


          อภิปราย ขยายความ........

          พงศาวดารกรุงเก่า  ไม่มีเรื่องพระมหาจักรทรงพระผนวชในระหว่างสงคราม  แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  กลับมีการบันทึกไว้ว่า.....  “การเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาดูท่าจะเป็นเรื่องยากสำกรับสมเด็จพระมหินทราธิราชเสียแล้ว  จึงอาราธนาสมเด็จพระมหาจักพรรดิ  ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์  ให้ลาผนวชกลับมาเสวยราชสมบัติอย่างเดิม  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชออกมาครองราชย์ใหม่”

          มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่ากล่าวว่า  ครั้งนั้นพระราเมศวรได้ไปกับกองทัพพม่าเพื่อไปรบยังเมืองแห่งหนึ่ง  แต่ต้องสิ้นพระชนม์ในการศึก  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ซึ่งอยู่ที่หงสาวดี) จึงขอลาพระเจ้าบุเรงนองผนวช  และขออนุญาตพาครอบครัวของพระราเมศวรเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองก็อนุญาต โดยส่งนายทหารอารักขากลับกรุงศรีอยุธยา  แต่ระหว่างทางนายทหารได้ลอบเป็นชู้กับพระชายาหม้ายของพระราเมศวร  สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงทราบ  จึงส่งข่าวกลับมายังกรุงหงสาวดี  พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทหารไปจับกุมนายทหารชายชู้นั้นฆ่าเสีย  เปลี่ยนนายทหารคนใหม่อารักขาไปส่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจนถึงกรุงศรีอยุธยา  เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังไม่ทรงหายแค้น  ได้ลาผนวชแล้วขึ้นครองราชย์สมบัติใหม่  ดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่า”

          ความพระราชวงษ์พงศาวดารพม่า  บอกว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งนามว่า  พระราเมศวร  ถูกพม่าเอาตัวไปหงสาวดีพร้อมกับพระมหาจักรพรรดิ  พระราเมศวรออกรบร่วมกับกองทัพพม่า  แล้วถูกข้าศึกฆ่าตายในสนามรบ  พระมหาจักรพรรดิจึงขออนุญาตพระเจ้าบุเรงนองผนวช  แล้วกลับกรุงศรีอยุธยา  เรื่องนี้เท็จจริงอย่างไร  ข้าพเจ้าไม่กล้ารับและปฏิเสธ

          สาเหตุการยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนไว้ในประวัติศาสตร์พม่าพอสรุปได้ว่า  พระเจ้าบุเรงนองครองราชสมบัติสืบแทนพระเจ้าตะเบงชเวตี้  แล้วทรงขยายอาณาจักรครอบคลุมไทยใหญ่ทั้งหมดแล้วยังยึดครองแคว้นล้านนาได้  ในการไปตีเชียงใหม่นั้น  เพราะว่า  พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างบุกเข้าเชียงใหม่แล้วร่วมกับไทยใหญ่หมายตั้งเป็นสหพันธรัฐ  และในปี พ.ศ. ๒๑๐๒ นั้นยังได้ทำไมตรีกับศัตรูเก่า (ของพม่า) คือไทย  เห็นว่าถ้าไทยใหญ่  ล้านนา  ล้านช้าง  และไทยรวมกันเป็นสหพันธรัฐที่เข้มแข็งได้ก็จะเป็นภัยอันใหญ่หลวงแก่พม่า  ดังนั้นจึงต้องเร่งกำจัดเสีย  พระเจ้าบุเรงนองอ้างเรื่องที่ไทยเคยส่งบรรณาการให้พระเจ้าตะเบงชเวตี้  จึงเรียกร้องให้ไทยส่งช้างเผือกเป็นบรรณาการ  พระมหาจักรพรรดิได้รับหนังสือจากพระเจ้าบุเรงนองแล้ว  ส่งพระราชสาส์นตอบไปแบบกำกวม  ความว่า

          .... “ราชมิตร  ช้างเผือกนั้นเกิดขึ้นแต่เฉพาะกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่  ผู้ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความยุติธรรม  กษัตริย์พม่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจปกครองแผ่นดินด้วยความยุติธรรม  ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพระองค์อาจจะเป็นเจ้าของในเวลาอันสมควรได้”

          พระเจ้าบุเรงนองได้รับพระราชสาส์นอ่านทราบความแล้วทรงพระพิโรธ  จึงยกทัพข้าแม่น้ำสาลวินอีกครั้งหนึ่ง  เตรียมกองทัพตีกรุงศรีอยุธยา  ตีเมืองสำคัญ  คือกำแพงเพชรและสุโขทัยได้ง่ายดาย  ขณะนั้นเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองราชบุตรเขยกรุงศรีอยุธยายอมอ่อนน้อม  จึงยินยอมให้ครองตำแหน่งต่อไป  บุเรงนองตัดสินพระทัยเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านหน้า  และยิงปืนใหญ่  ปืนคาบศิลา  จากหอคอยไม้พิเศษที่สร้างขึ้น  กองทหารไทยออกสู้รบก็ถูกระดมยิงอย่างหนักจึงต้องถอยกลับไป  ในที่สุดไทยก็ยอมแพ้

          พระเจ้าบุเรงนองเว้นที่จะเข้าปล้นเมือง  และมิได้ฆ่าฟันผู้คนเล่นเคย  กษัตริย์ไทยและพระมเหสี  เจ้าชายองค์รอง  และพระยาจักรีเสนาบดีถูกจับไปเป็นเชลย  ทรงตั้งเจ้าชายรัชทายาทไว้เป็นอุปราช  และจัดการอพยพช่างฝีมือ  ช่างแกะสะบัก  นักดนตรี  นักแสดง  นักเขียนไปยังเมืองพะโค  มีวอบรรรทุกพระพุทธรูปทองคำนำหน้าขบวนไป  พร้อมด้วยโคเทียมเกวียนอีกหลายร้อยตัวบรรทุกทรัพย์สินมีค่าไปเป็นจำนวนมาก  ติดตามด้วยช้างอีก ๒,๐๐๐ เชือก ......”

          เรื่องในประเด็นนี้ยังจบไม่ลงครับ พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขร้ผึ้งไทย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, มกราคม, 2562, 10:32:41 PM
(https://i.ibb.co/f9ZJxqZ/29b669e76cb413e827c04b1de3592ff6.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- มหาธรรมราชาคืนบัลลังก์ -

บุเรงนองผู้ชนะทั้งสิบทิศ
ทรงเดชฤทธิ์เลิศหล้าจะหาไหน
เก็บกวาดทรัพย์สินเก่าของเราไป
พร้อมคนในครอบครัว“ตัวประกัน”

หนึ่ง“สุพรรณกัลยา”ธิดาเจ้า
มีเรื่องเล่าของพระนางช่างโศกศัลย์
แม้เป็นอัครมเหสีที่สำคัญ
ถูกฟาดฟันสิ้นพระชนม์กลางมณเฑียร

สอง”นเรศ”ราชกุมารผู้หาญกล้า
ถูกนำพาไปเลี้ยงเยี่ยง“ลูกเสี้ยน”
ภายหลังเป็น“จระเข้,เสือ”เร่เวียน
จนปรับเปลี่ยนเป็นศัตรูคู่ศึกเลย

“มหาธรรมราชาธิราช”เล่า
ตั้งเป็นเจ้าครองไทยให้“เป็นเต้ย”
ราชวงศ์สุโขทัยได้งอกเงย
เริ่มเสวยอำนาจราชบัลลังก์....


          อภิปราย ขยายความ........

          ดร.หม่อง ทินอ่อง  กล่าวว่า  “อดีตกษัตริย์ไทยได้รับอนุญาตให้ทรงผนวช  และอนุญาตให้กลับไปนมัสการวัดที่กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งสุดท้าย  เพราะทรงพระชราแล้ว”  แต่เมื่อกลับถึงไทยแล้วทรงลาผนวชกลับขึ้นครองบัลลังก์พร้อมกับชักชวนให้พระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยร่วมมือในการรบกับพม่า  แต่ราชบุตรเขยไม่ยอมร่วมมือ  อ้างว่า  “เป็นบุรุษต้องรักษาเกียรติที่ได้ถวายคำสัตย์สาบานไว้ต่อกษัตริย์พม่า”  กษัตริย์ไทยทรงโกรธจึงเตรียมโจมตีพิษณุโลก

          พระเจ้าบุเรงนองยกทัพใหญ่มาผ่านเมาะตะมะแล้วตรงเข้าเมืองพิษณุโลกที่ถูกกองทัพอยุธยาล้อมอยู่  กองทัพที่ยกมาคราวนี้  หม่อง ทินอ่อง  กล่าวว่า  กำลังพลจากพม่า ๕๐๐,๐๐๐  จากเชียงใหม่สมทบอีกรวมเป็น ๙๐๐,๐๐๐  และยังมีทหารอาสาจากโปรตุเกสอีกกว่า ๑,๐๐๐  เป็น “กองทัพใหญ่ที่สุดที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยมีมาแต่ก่อน”  เมื่อยึดกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว  ทรงตั้งพระมหาธรรมราชา  “เป็นผู้รักษาพระนครแทน”  แล้วยกทัพต่อไปเมืองลาว  แต่ไม่อาจจับตัวการ คือ พระไชยเชษฐาธิราชได้

          ดร.หม่อง ทินอ่อง  มิได้บอกว่า  นอกจากสมบัติมีค่ามากมายที่พระเจ้าบุเรงนองเก็บกวาดขนไปพม่าแลัว  ทรงนำตัวประกัน  คือ  พระสุพรรณกัลยา  และพระนเรศไปด้วยหรือไม่  แต่มีความในคำให้การชาวกรุงเก่าให้รายละเอียดไว้  ดังต่อไปนี้

          พระเจ้าหงสาวดี  จึงให้เก็บทรัพย์สินเงินทองปืนใหญ่ปืนน้อย  ผู้คน  ช้างม้า  กับช้างเผือก ๕ เชือก  ทั้งรูปหล่อต่าง ๆ ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองที่อยู่ในหอพระ  คือ  รูปคน  รูปพรหม  รูปช้างเอราวัณ  รูปม้า  รูปราชสีห์  รูปคชสีห์  รูปนรสิงห์  รูปแกะ  รูปวัวธนู  รูปหงส์  รูปนกกะเรียน  รูปนกใหญ่  รูปนกยูงตัวผู้  รูปนกยูงตัวเมีย  เหล่านี้พระเจ้าหงสาวดีก็เอาไปด้วย  แล้วมอบราชสมบัติให้  “พระสุธรรมราชา” (มหาธรรมราชา)  พระมหินทร์กับพระสุวรรณกัลยาแลพระนเรศวรนั้น  พระเจ้าหงสาวดีเอาไปด้วย  พระยาจักรีซึ่งเปนไส้ศึกนั้น  พระเจ้าหงสาวดีก็ปูนบำเหน็จรางวัลเปนอันมาก  อยู่ประมาณเจ็ดวันก็ทรงเห็นว่าพระยาจักรีนี้ไม่ซื่อตรงต่อเจ้านายของตน  เจ้านายชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์ถึงเพียงนั้น  แล้วยังคิดร้ายเปนไส้ศึก  ถ้าจะเลี้ยงพระยาจักรีไว้อีกก็จะเปนไส้ศึกต่อไป  จึงรับสั่งให้เอาตัวพระยาจักรีไปประหารชีวิตเสีย  แต่พระมหินทร์นั้น  พระเจ้าหงสาวดีให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์เสมอ  เมื่อเสด็จถึงเมืองสระถุง  พระมหินทร์ไม่ยำเกรง หยาบช้าต่อพระเจ้าหงสาวดี ๆ ทรงพระพิโรธ  จึงสั่งให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย  เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเสด็จไปถึงเมืองหงสาวดีแล้ว  ก็ปูนบำเหน็จทแกล้วทหารเปนอันมาก  นางสุวรรณกัลยาราชธิดาของพระสุธรรมราชานั้น  พระเจ้าหงสาวดีทรงตั้งให้เปนอัครมเหษี  พระนเรศวรนั้นก็โปรดปรานเหมือนพระราชบุตรในอุทร”

          คำให้การขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ตรงกันกับคำให้การชาวกรุงเก่าว่า  พระเจ้าบุเรงนองทรงนำพาพระมหินทร์  พระนางสุวรรณกัลยา  พระนเรศวร  ไปหงสาวดีด้วย  แต่พระมหินทร์นั้น กระด้างกระเดื่องหยาบคาย  พระเจ้าบุเรงนองจึงให้ประหารชีวิตเสียกลางทาง  พระนางสุวรรณกัลยา  กับ  สุพรรณกัลยา  เป็นคนเดียวกัน  พงศาวดารหลัก เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า เป็นต้น  ไม่กล่าวถึงพระนามราชธิดาพระองค์นี้เลย  คงมีแต่ในคำให้การชาวกรุงเก่า  กับ  คำให้การขุนหลวงหาวัด  และ  พงศาวดารฉบับพิสดารปลีกย่อยบางฉบับเท่านั้น.....

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41252#msg41252)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41561#msg41561)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, มกราคม, 2562, 10:12:14 PM
(https://i.ibb.co/XZWXvGF/557000005194808b.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41419#msg41419)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41731#msg41731)                   .

- คำให้การฯ เรื่องพระพี่นาง -

พงศาวดารตำนานค้านกันอยู่
เพราะต่างรู้ต่างเห็นเป็นที่ตั้ง
ประวัติศาสตร์ชาติไทยเล่าให้ฟัง
ด้วยมุ่งหวังอภิปรายหลายมุมมอง

จริงหรือเท็จอย่างไรไม่ตัดสิน
เพียงได้ยินได้ฟังเรื่องทั้งผอง
รวบรวมมาให้เห็นอยู่เป็นกอง
ฟังแล้วตรองเหตุผลด้วยตนเอง

หลังเสียกรุงยุ่งเหยิงเชิงความเห็น
ยามไทยเป็นเมืองขึ้นถูกข่มเหง
"พระยาละแวก"อยากใหญ่ไม่กลัวเกรง
ตาม"ตะเลง,พม่า"ที่มาตีไทย


          อภิปราย ขยายความ...............

          ได้ฟังคำให้การชาวกรุงเก่ามาแล้วว่า  หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง  พม่าขนทรัพย์สมบัติอะไรจากไทยไปบ้าง  ซึ่งเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารฉบับหลัก ๆ และปลีกย่อย  แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์พม่า  ฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  มีใจความสอดคล้องกันกับคำให้การของชาวกรุงเก่า  และยังมีพยานอีกปากหนึ่งยืนยันว่าเป็นไปตามคำให้การของชาวกรุงเก่า  พยานปากนี้สำคัญมาก  เพราะท่านเป็นอดีตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก่อนกรุงแตกครั้งสุดท้าย  ท่านคือ  “ขุนหลวงหาวัด”  อันเป็นสมัญญานามของพระเจ้าอุทุมพร  กษัตริย์พระองค์ที่ ๔๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา  พระองค์ถูกพระเจ้าอังวะพาตัวไปพม่าในขณะที่เป็นพระภิกษุ  และให้การแก่พระเจ้าอังวะ  มีความดังต่อไปนี้

          .... “ พระเจ้าหงสาเอาแต่คนดี  อันพระยาจักรีนั้น  พระเจ้าหงสาปูนบำเหน็จรางวัลหนักหนา  เพราะมีความชอบ  จึงตั้งทวีให้เกินแต่ก่อนมา  ครั้นเลี้ยงไว้ครบเจ็ดวันแล้ว  พระเจ้าหงสาจึงสั่งให้บั่นเกล้าเกศาเสีย  แล้วจึงสั่งให้เสียบไว้ที่กลางเมืองตามบทพิพากษาที่มีมาแล้ว  จึงเรียกเอาพระมหินทร  ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระมหาจักรพรรดิ  พระปก  พระพี่นางพระนเรศร์อันชื่อนางสุวรรณกัลยานั้นขึ้นมาหงสากับองค์ พระนเรศร์  อันเป็นพระราชโอรสของพระสุธรรมราชา  อันพระเอกาทศรถนั้นให้ไว้เป็นเพื่อนพระบิดา  แล้วจึ่งเอาช้างเผือกทั้งห้าช้างนั้นมา  กับนายช่างต่าง ๆ ที่ชำนาญในการช่างใหญ่  กับฝีพายสกรรจ์สรรเอาห้าร้อยที่มีฝีมือ  กับช้างใหญ่คัดกวาดแล้วแต่ที่ใหญ่กว่ากันอันหนึ่ง  กับรูปสิบสองนักษัตรที่ไว้ในวัดพระศรีอยู่นั้น  อันรูปเหล่านี้  เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงแล้วจึงสั่งให้ให้ช่างพราหมณ์ปั้นรูปแล้วหล่อไว้ด้วยทองสัมฤทธิ์  เป็นรูปสิบสองนักษัตร  ทั้งรูปมนุษย์เป็นรูปพราหมณ์  มีรูปช้างเอราวัณ  รูปม้าสินธพ  รูปคชสีห์  รูปราชสีห์  รูปนรสิงห์  รูปสิงโต  รูปโคอุศุภราช  รูปกระบือ  รูปกระทิง  รูปหงส์  รูปนกยูง  รูปนกกระเรียน  อันสัตว์เหล่านี้สิ่งละคู่พระเจ้าอู่ทองถวายไว้ในวัดพระศรี  พระเจ้าหงสาเห็นรูปสัตว์เหล่านี้ก็ชอบพระทัย  จึงแบ่งเอาตามที่พอพระทัย  คือรูปช้างเอราวัณ  รูปม้าสินธพ  รูปราชสีห์ รู ปคชสีห์  รูปสิงห์  รูปมนุษย์  อันนอกนี้มิได้เอาสิ่งใดมา  แล้วพระเจ้าหงสาจึ่งสร้างพระเจดีย์ไว้ที่ทุ่งภูเขาทอง  จึ่งสมมตินามเรียก  พระภูเขาทอง  แล้วจึ่งทำการฉลองเป็นการใหญ่หนักหนา  แล้วพระเจ้าหงสาจึ่งยกทัพกลับไป

          ครั้นกลับไปยังมิทันถึงเมือง  อันพระมหินทรราชานั้นไม่สุภาพ  ดังพระยาราชสีห์ไม่มีความครั่นคร้ามขามใจ  เจรจาทำนององอาจ  รามัญนั้นจับคำประหลาดได้  จึ่งทูลกับพระเจ้าหงสา  พระเจ้าหงสาจึงให้ล้างเสีย  แล้วจึ่งถ่วงน้ำเสียที่หน้าเมืองสถัง  แล้วจึงยกทัพกลับมาเมืองหงสา  อันพระพี่นางพระนเรศร์นั้น  พระองค์ก็เอาไว้ในปราสาทเป็นที่มเหสี  จึ่งมีพระโอรสองค์หนึ่งเป็นกุมาร  อันพระนเรศร์นั้นพระเจ้าหงสาประทานที่บ้านและที่ตำหนักให้อยู่ตามที่  อันองค์พระเจ้าหงสานั้นรักใคร่พระนเรศร์เหมือนหนึ่งราชโอรส  เลี้ยงไว้จนเจริญวัยใหญ่มาฯ”

          คำให้การขุนหลวงหาวัดนี้  สอดคล้องกันกับคำให้การของชาวกรุงเก่า  และประวัติศาสตร์พม่า  ฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  ผิดกันแต่ในรายละเอียดเท่านั้น  โดยเฉพาะนามของสมเด็จพระนเรศวรตามคำให้การชาวกรุงเก่า  ขุนหลวงหาวัดเรียกว่าพระนเรศร์  แต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  พระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า  บุเรงไม่เอารูปหล่อไปทั้งหมดตามคำให้การชาวกรุงเก่า  เฉพาะรูปโคอุศุภราชนั้น  ปัจจุบันยังอยู่ที่ พระพุทธบาทสระบุรี

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่า  หลังจากที่พระเจ้าหงสานิพัตร (บุเรงนอง) ยกทัพกลับไปแล้ว  พระยาละแวกแห่งกัมพูชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  เพราะเห็นว่ายังไม่ทันตั้งตัว  โดยทัพพระยาละแวกเดินมาถึงชานกรุงศรีอยุธยาได้อย่างง่ายดาย  เมื่อรบพุ่งกันนั้น  ชาวพระนครศรีอยุธยายิงปืนถูกพระยาจัมปาธิราชตายคาคอช้าง  พระยาละแวกจึงถอยทัพกลับคืน  การที่พระยาจัมปาธิราชมาร่วมกับพระยาละแวกรบไทยนั้น  แสดงให้เห็นว่า  พระยาละแวกมีอานุภาพคลุมไปถึงประเทศจามปา (จาม)  ซึ่งอยู่ตอนเหนือกัมพูชา

          ครั้นสิ้นศึกพระยาละแวก  ปีรุ่งขึ้น  คือ พ.ศ.๒๑๑๔  พระมหาธรรมราชาก็โปรดให้สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า (พระนเรศร์= นเรศวร)  ขึ้นเป็นพระอุปราชเสวยราชย์ ณ พิษณุโลก  ความนี้  เป็นการยืนยันว่า  พระเจ้าบุเรงนองมิได้พาพระนเรศร์  หรือพระนเรศวรไปหงสาวดีด้วย

          อย่างไรก็ตาม  ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าตรงนี้  ไม่อาจลบล้างความเชื่อที่ว่า  พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง)  ทรงนำพาพระนางสุวรรณกัลยา (สุพรรณกัลยา)  และพระนเรศวรไปหงสาวดี  ตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าได้เลย

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าองภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มกราคม, 2562, 10:36:08 PM
(https://i.ibb.co/RgzxjC6/kapook-world-181626.jpg) (https://imgbb.co)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- ฟังชาวกรุงเก่าให้การ -

ประวัติ“ยุทธหัตถี”มีหลายครั้ง
ที่โด่งดังกระเดื่องแดนแสนยิ่งใหญ่
คือ“พระนเรศวร”ผู้เกรียงไกร
ประสบชัย“อุปราชา”ผู้วายชนม์

การชนช้างครั้งนี้มีเรื่องเล่า
ชาวกรุงเก่าให้การผ่านสับสน
หลายตำราพม่าไทยให้การปน
แต่ทุกคนเห็นตรงพม่าตาย

จึงขอแยกแจกความตามลำดับ
โดยเริ่มจับ“คำให้การ”พยานขยาย
“ชาวกรุงเก่า”เล่าดีเหมือนนิยาย
ความคลับคล้าย“ขุนหลวงหาวัด”เลย.....


          อภิปราย ขยายความ ............

          จับความในตอนที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก  พระเจ้าบุเรงนองขนช้างม้าและสมบัติจากกรุงศรีอยุธยาไปพร้อมกับ  พาพระนางสุวรรณกัลยา กับ พระนเรศวร  โอรสธิดาพระมหาจักรพรรดิไปเป็นตัวประกัน  ก่อนเสด็จกลับหงสาวดี  ก็ปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาครองบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา  เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม

          ความในคำให้การของ “ชาวกรุงเก่า” กับ คำให้การของ “ขุนหลวงหาวัด”  เป็นไปทำนองเดียวกัน  ต่างกันเพียงเล็กน้อย  คำให้การของชาวกรุงเก่าเป็นแบบชาวบ้านอ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัด  ซึ่งค่อนข้างไปทางภาษาราชสำนัก (ราชการ)  จึงขอยกคำให้การของชาวกรุงเก่ามาแสดง  ดังต่อไปนี้

          .... “ เมื่อพระสุธรรมราชาสวรรคตแล้ว  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจะยกพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์สมบัติ  พระเอกาทศรถไม่ยอม  ว่าพระเชษฐาของเรายังมีชีวิตอยู่ที่เมืองหงสาวดี  พระเอกาทศรถยังคงตำแหน่งมหาอุปราชอยู่อย่างเดิม  แต่ยังบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดราชการแผ่นดินทั่วไป

          ฝ่ายข้างกรุงหงสาวดี  วันหนึ่งพระมหาอุปราชากับพระนเรศวรเล่นชนไก่กัน  ไก่ของพระมหาอุปราชาแพ้  พระมหาอุปราชาก็ขัดใจแกล้งพูดเป็นทีเยาะเย้ยว่า  “ไก่ชะเลยเก่ง ชนะไก่เราได้”  พระนเรศวรได้ฟังดังนั้นก็น้อยพระทัย  ผูกอาฆาตพระมหาอุปราชา  แกล้งตรัสตอบไปเปนนัยว่า  “ไก่ของหม่อมฉันนี้พระองค์อย่าเข้าพระทัยว่าจะชนะแต่ไก่ของพระองค์  จะชนเอาบ้านเมืองก็ยังได้”  ดังนี้

          พระนเรศวรทรงแค้นพระทัยพระมหาอุปราชาไม่วายเลย  ครั้นต่อมาจึงทรงพระดำริว่า  “ซึ่งเราจะมานั่งน้อยหน้าอยู่ในบ้านเมืองเขา  ให้เขาดูหมิ่นอย่างนี้ไม่สมควร  จำจะคิดอุบายหนีไปให้จงได้  วันหนึ่งจึงเข้าไปเฝ้าพระสุวรรณกัลยาแล้วทูลความที่คิดไว้นั้นทุกประการ  แล้วทูลจะให้พระพี่นางเธอหนีกลับพระนครศรีอยุธยาด้วย  พระสุวรรณกัลยาจึงตรัสตอบว่า  “บัดนี้พี่มีบุตรด้วยพระเจ้าหงสาวดีแล้ว  จะหนีไปอย่างไรได้  พ่อจงกลับไปเถิด”  ตรัสแล้วจึงอวยไชยให้พรแก่พระนเรศวรว่า  “ขอให้น้องเราไปโดยสิริสวัสดิ์  อย่าให้ศัตรูหมู่อมิตร์ย่ำยีได้  แม้ใครจะคิดร้ายก็ขอให้พ่ายแพ้แก่เจ้า  จงมีไชยชนะแก่ข้าศึกศัตรู  กู้บ้านกู้เมืองคืนได้ดังใจปรารถนาเทอญฯ”  ดังนี้

          พระนเรศวรได้ฟังดังนั้น  แกล้งตรัสตอบเปนทีล้อพระพี่นางเธอว่า  “รักผัวมากกว่าญาติ”  แล้วก็ทูลลามาสู่ตำหนัก  ชักชวนมหาดเล็กที่สนิทไว้เนื้อเชื่อใจแลมีฝีมือเข้มแขงได้ ๖๐ คน  แล้วก็ลอบหนีจากเมืองหงสาวดี

          ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบว่าพระนเรศวรหนีไปจากกรุงหงสาวดี  จึ่งเข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า  บัดนี้พระนเรศวรหนีไปแล้ว  ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสายกทัพไปจับตัวให้จงได้  พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสห้ามว่า  “เจ้าอย่าไปตามเลย  พระนเรศวรนี้เป็นคนมีบุญญาธิการมาก  ทั้งฝีมือก็กล้าแขง  บิดาจะเล่าให้ฟัง  วันหนึ่งบิดาเรียกพระนเรศวรเข้ามาเฝ้า  พอพระนเรศวรย่างเข้ามาถึงอัฒจันท์  พระราชมณเฑียรที่บิดาอยู่นั้นหวั่นไหว  บิดาจึ่งเห็นว่าพระนเรศวรนี้มีบุญมาก  เจ้าอย่าไปเลย”  พระมหาอุปราชาไม่ฟัง  จึ่งให้จัดกองทัพเปนอันมากแล้วก็ยกไปตามพระนเรศวรทางพระเจดีย์ ๓ องค์  พระนเรศวรตั้งคอยสู้รบอยู่ที่พระเจดีย์ ๓ องค์  พระมหาอุปราชาก็ยกพลเข้าตีพระนเรศวร ๆ เห็นกำลังพระมหาอุปราชามาก  ก็ถอยมาตั้งรับที่ตำบลอะสันดี  พระมหาอุปราชาก็ตามตีที่ตำบลอะสันดี  พระนเรศวรเห็นจะสู้ไม่ได้ก็ถอยมาตั้งที่เมืองสุพรรณ”

          .....ในยามนั้น  สมเด็จพระเอกาทศรถทราบว่าพระนเรศวรหนีพม่ามาและถูกไล่ล่า  จึงรีบจัดเสบียงไปสนับสนุน  แต่ถูกมหาอุปราชาดักปล้นหมดสิ้น  สมเด็จพระเอกาทศรถจึงจัดกองทัพยกไปช่วยที่เมืองสุพรรณ  สองพี่น้องพบกันแล้ว  พระเอกาทศรถทราบความทั้งปวงจากพระนเรศวร  จึงขอให้พระเชษฐาพักผ่อนอยู่ในเมือง  ตนจะขอออกรบแทน  แต่พระนเรศวรไม่ยอม  ด้วยเห็นว่า  พระเอกาทศรถจะสู้มหาอุปราชาไม่ได้  จึงทรงนำทัพออกรบกับมหาอุปราชาเป็นสามารถ  ไพร่พลทั้ง ๒ ฝ่ายบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก  พระนเรศวรจึงออกไปหน้าทัพแล้วท้าทายมหาอุปราชาให้สู้กันตัวต่อตัวด้วยการทำยุทธหัตถี  เพื่อไม่ให้ไพร่พลบาดเจ็บล้มตายอีกต่อไป

          .....ทั้งหมดนี้เป็นความเบื้องต้นก่อนที่จะกระทำยุทธหัตถีกัน  จากคำให้การของชาวกรุงเก่า  ขุนหลวงหาวัดให้การไว้คล้าย ๆ กัน  แต่มีรายละเอียดมากกว่าบางตอน  เช่นว่า  พระมหาอุปราชา  มีพระนามว่า  “พระประทุมราชา”  ตอนเล่นชนไก่นั้น  เมื่อไก่พระประทุมราชาแพ้  พระประทุมราชาจับไหล่พระนเรศวรเขย่าแล้วว่า  “ไก่เชลยมีชัยแก่เราหนักนา”  เป็นเหตุให้พระนเรศวรทรงแค้นเคีองมาก  หลังจากไปทูลชวนพระพี่นางกลับกรุงศรีอยุธยาด้วยกันแล้วผิดหวัง  ก็กลับมารวบรวมพลโยธา  ได้โจรป่ากับหมอเฒ่าเหล่าพรานป่า  พวกเขาถวายช้างชื่อ  “มงคลคชา”  รวมพลทั้งปวงได้ ๖๐๐ คน  พลบค่ำก็พากันออกจากเมืองหงสาวดี   และความตอนที่หลังจากพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว  พระเจ้าบุเรงนองทรงพระพิโรธจนหน้ามืดลืมพระองค์  สั่งฆ่านายทัพนายกองที่ตามเสด็จมหาอุปราชาจนสิ้นแล้วไม่หายแค้น  ถือพระแสงเข้าไป ในพระราชฐาน  “จึ่งเห็นพระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่  ให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่  พระเจ้าหงสาจึงฟันด้วยพระแสง  ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์  ถึงแก่พิราลัยทั้งสองพระองค์

          .....ยังมีความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  และ  ประวัติศาสตร์พม่าฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  เกี่ยวกับยุทธหัตถี  มีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันอีก  พรุ่งนี้จะค่อย ๆ ทยอยนำมาแสดงครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, มกราคม, 2562, 10:19:20 PM
(https://i.ibb.co/xF3QTFZ/1394772207-nare07-o.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- โอรสหรือธิดาแน่ ? -

เรื่องเดียวกันของ“ขุนหลวงหาวัด”
ให้การขัด“ชาวกรุงเก่า”อย่างเปิดเผย
ว่า“สุวรรณกัลยา”ชีพลงเอย
ถูกคู่เชยฟาดฟันบรรลัยลาญ

ขณะนอนให้นมพระโอรส
ก็ปรากฏ“บุเรงนอง”โกรธงุ่นง่าน
พระแสงสับฉับลงองค์นงคราญ
พร้อมกุมารด่าวดิ้นสิ้นพระชนม์

“ชาวกรุงเก่า”เล่าเหมือนไม่เบือนบิด
เพียงแค่ผิดเพศลูกจำสับสน
ว่าเป็น“ราชธิดา”บิดาดล
โทสะจนลืมดูฆ่าผู้เยาว์


          อภิปราย ขยายความ...........

          ดังได้กล่าวแล้วว่า  คำให้การของชาวกรุงเก่ากับขุนหลวงหาวัดบอกเล่าเรื่องเป็นทำนองเดียวกัน  มีต่างกันแต่ในรายละเอียดไม่มากนัก  อย่างตอนที่พระนเรศวรหนีจากกรุงหงสาวดี  ชาวกรุงเก่าเล่าว่ามีกำลังพลเพียงแค่ ๖๐ คน  แต่ขุนหลวงหาวัดเล่าว่า  นอกจากมหาดเล็กจำนวนหนึ่งแล้วยังได้พวกโจรป่า  พรานป่าเฒ่าที่ถวายช้างมงคลให้อีก ๑ เชือก  รวมแล้วมีกำลังพลมากถึงหกร้อยคนเศษ  ยามที่ออกจากกรุงหงสาวดีนั้นได้กวาดต้อนทั้งมอญและลาว  รวมพลเก่าและใหม่ได้ถึงเก้าพันคน  จึงสามารถต้านทัพของพระมหาอุปราชาได้พอสมควร

          ....ตอนที่ทำยุทธหัตถีนั้น  คำให้การทั้งสองสอดคล้องกัน  มีรายละเอียดตามสำนวนของชาวกรุงเก่า  ดังต่อไปนี้

          ............ “ พระนเรศวรจึงไสช้างออกไปหน้าทัพแล้วท้าทายพระมหาอุปราชาว่า  “เราทั้ง ๒ รบกันยังไม่แพ้ไม่ชนะ  ผู้คนล้มตายเปนอันมาก  น่าสงสารไพร่พลซึ่งมาพลอยตายด้วยเราทั้ง ๒  ซึ่งเกิดสงครามคราวนี้  มีสาเหตุเพราะเราแต่ ๒ คน  เพราะฉะนั้น  เราควรจะรบกันแต่ ๒ ต่อสอง  ชนช้างกันโดยทำยุทธหัตถี  จะได้ประกาศเกียรติยศและความกล้าหาญ  ซึ่งได้เกิดมาเปนชายชาติกษัตริย์  ใครดีใครก็จะได้ไชยชนะ  ไม่พักต้องลำบากแก่ไพร่พล”  เมื่อพระนเรศวรชวนเชิญเป็นทีเยาะเย้ยดังนี้  พระมหาอุปราชาหงสาวดีก็เกิดมานะกษัตริย์  จึงตรัสว่า  ดีแล้ว  ดังนี้  ก็ให้เอาธงใหญ่มาปักตรงหน้าช้างทั้ง ๒  ทำสัญญาแก่กันว่า  ถอนธงขึ้นเมื่อไรก็ให้เข้าทำยุทธหัตถีกันเมื่อนั้น  สัญญากันแล้ว  ต่างองค์ก็เปลี่ยนเครื่องทรงใหม่  ทรงเครื่องเกราะตามอย่างวิธีที่ทำยุทธหัตถี  เวลานั้น  ช้างทรงของพระนเรศวรกำลังตกมัน  เมื่อแต่งพระองค์เสร็จพร้อมทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วต่างก็คอยฤกษ์อยู่

          ..........ในขณะนั้น  ด้วยบุญญาภินิหารของพระนเรศวรที่จะได้ไชยชนะแก่พระมหาอุปราชา  ทั้งจะได้เปนพระมหากษัตริย์ด้วย  ก้อนเมฆบนอากาศบันดาลเปนรูปเศวตฉัตรกางกั้นอยู่ตรงพระคชาธารพระนเรศวร  พระบรมธาตุโตเท่าผลมะงั่วก็ทำปาฏิหาริย์เสด็จผ่านมาทางกองทัพพระนเรศวร  พระองค์ก็ทรงยินดียกหัตถ์ขึ้นนมัสการ  พร้อมทั้งนายทัพนายกองทั้งปวง  พอได้ฤกษ์แล้วต่างพระองค์ก็ให้ถอนธงสัญญาที่ปักไว้  ทั้ง ๒ พระองค์ก็เข้าทำยุทธหัตถีกัน  ขณะนั้นพระมหาอุปราชาจะเอาจักรขว้างพระนเรศวร ๆ เห็นดังนั้นจึงตรัสว่า  “พระเชษฐาทำอะไรอย่างนี้ เ ห็นจะเคยใช้อุบายทำร้ายเขาอย่างนี้เสมอดอกกระมัง  ซึ่งเราพี่น้องมาทำสงครามกันคราวนี้เปนธรรมยุทธวิธี  พระเชษฐาจะลอบทำร้ายอย่างนี้ไม่สมควร”  พระมหาอุปราชาจึงตอบว่า  “เราลองใจดูดอกมิได้คิดจะเอาจักรขว้างพระน้องจริง ๆ”  ตรัสแล้วต่างองค์ก็เข้าทำยุทธหัตถีกันอีก  ช้างพระนเรศวรกำลังน้อยเสียท่าเบนท้ายให้ช้างพระมหาอุปราชา  พระมหาอุปราชาก็ทรงพระแสงง้าวฟันพระนเรศวร ๆ หลบทัน  ถูกแต่พระมาลาขาดไปประมาณ ๒ นิ้ว  ช้างพระนเรศวรถอยหลังไปถึงจอมปลวกแห่ง ๑ ในป่าพุทรา  ยันได้ถนัดก็เอาเท้าทั้ง ๒ ยันกับจอมปลวกขยับแทงถูกโคนงาช้างพระมหาอุปราชา  ช้างพระมหาอุปราชาเบนท้ายจะหนี  พระนเรศวรเห็นได้ทีก็เอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง  สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง  ที่อันพระนเรศวรยันนั้นก็มีนามปรากฏว่าพุทรากระแทก  ยังมีอยู่จนทุกวันนี้

          ..........ฝ่ายนายทัพนายกองหงสาวดีทั้งปวง  ครั้นเห็นพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ก็ตกใจกลัวแตกกระจัดกระจายกันไป  พระนเรศวรก็ห้ามมิให้พวกพลทำร้ายแก่พวกหงสาวดี  ให้ประกาศแก่ชาวหงสาวดีว่า  อย่าให้นายทัพนายกองทั้งปวงตกใจกลัวเลย  ซึ่งเราทำสงครามคราวนี้มิได้คิดจะให้ไพร่พลทั้งปวงได้ความลำบาก  คิดแต่จะแก้แค้นพระมหาอุปราชาซึ่งหมิ่นประมาทเราอย่างเดียวเท่านั้น  บัดนี้เราแก้แค้นได้แล้ว  ตรัสดังนี้แล้วก็โปรดให้นายทัพนายกองพลทหารทั้งปวงกลับไปเมืองหงสาวดี  พวกนายทัพนายกองแลพลทหารทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลากลับไปยังเมืองหงสาวดี  นำความที่พระมหาอุปราชาชนช้างเสียทีแก่พระนเรศวรสิ้นพระชนม์บนคอช้างกราบทูลพระเจ้าหงสาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธ  รับสั่งให้เอาตัวนายทัพนายกองที่ไปกับพระมหาอุปราชานั้นใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น  แต่เท่านั้นยังไม่คลายพระพิโรธ  จึงเสด็จไปสู่ตำ หนักพระสุวรรณกัลยา  เอาพระแสงฟันพระนางสุวรรณกัลยากับพระราชธิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์”

          .....คำให้การทั้งหมดนี้เป็นสำนวนของชาวกรุงเก่าที่ไม่ผิดไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดมากนัก  มีที่ผิดกันตรง ๆ ก็คือ  บุตรของพระเจ้าบุเรงนองอันประสูติแต่พระนางสุวรรณกัลยานั้น  ขุนหลวงหาวัดว่าเป็นพระราชกุมาร  แต่ชาวกรุงเก่าให้การว่า  เป็นพระราชธิดา  ในพงศาวดารอื่นไม่ปรากฏเรื่องนี้  จึงมิทราบว่า  เด็กนั้น  เป็นราชกุมารหรือราชธิดากันแน่ ?

          ........เรื่องราวตอนนี้  วันวลิต  เขียนบรรยายให้รายละเอียดดีมาก  พรุ่งนี้จะนำมาถ่ายทอดให้อ่าน  เป็นความรู้อีกแง่มุมหนึ่งครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, มกราคม, 2562, 10:19:30 PM
(https://i.ibb.co/Zz5FH4X/2.jpg) (https://imgbb.com/)

- “วันวลิต”ว่าอย่างนี้..-

“วันวลิต”รู้มาว่าอีกอย่าง
มีความต่าง“ให้การชาวกรุงเก่า”
รายละเอียดน่ารู้อย่าดูเบา
เป็นเรื่องเล่าถือว่าสาระดี

เขาว่าเป็น“เงื่อนไข”ไทยยอมรับ
ข้อบังคับต้องทำตามหน้าที่
ส่งโอรสหนึ่งหรือสององค์ซึ่งมี
จากกรุงศรีฯให้หงสาฯไว้ประกัน....


          อภิปราย ขยายความ...........

          คราวนี้หันไปดูความจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบ้าง  พงศาวดารฉบับนี้ “วันวลิต” เขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๘๒  เขากล่าวว่า  มีเงื่อนไขจากพระเจ้าแผ่นดินพะโคหลังจากรบชนะกรุงศรีอยุธยาแล้วว่า  พระเจ้าแผ่นดินสยามทุกพระองค์จะต้องส่งพระราชโอรสองค์หนึ่งหรือสององค์  หรือในกรณีที่ไม่มีพระราชโอรสก็ต้องส่งญาติสนิทที่เป็นชาย  ไปเป็นตัวประกัน ณ เมืองพระโค  ดังนั้น  พระมหาธรรมราชาจึงต้องยอมให้พระเจ้าบุเรงนองพา “พระนเรศ” ไปเมืองหงสาวดี  ตอนก่อนที่พระนเรศวรหนีจากหงสาวดี  ไม่มีเรื่องการเล่นชนไก่  แต่มีเรื่องอีกอย่างหนึ่งว่าดังนี้

          ...... “ ภายหลังที่พระนเรศได้มาเป็นตัวประกันที่พะโค (ดังที่กล่าวมาแล้ว) ได้ประมาณ ๒ ปี  พระองค์ก็ถูกพระเจ้าแผ่นดินพะโคบริภาษขู่จะประหารชีวิต  เนื่องจากประลองยุทธ์แต่ละครั้ง  เช่น  ทรงม้า  ล่าสัตว์  ชนช้าง  และอื่น ๆ  พระองค์ทรงสามารถทำได้ดีกว่าพระเจ้าแผ่นดินพะโค  เจ้าชายผู้ทรงพระเยาว์  ทรงเจ็บช้ำในพระราชหฤทัยที่ทรงถูกเหยียดหยามและข่มขู่เช่นนั้น  จึงเสด็จหลบหนีพร้อมด้วยข้าราชบริพาร (ขุนนางสยามประมาณ ๓๐๐ คน)  ในเวลาค่ำคืนไปยังพิษณุโลก  ทรงเผาและทำลายสถานที่หลายแห่งของเมืองพะโคตลอดทางที่ผ่านมา”

          ......ในขณะที่ประทับอยู่ ณ พิษณุโลกนั้น  พระเจ้าบุเรงนองสั่งให้ขุนทหารนำกำลังพล ๕,๐๐๐ คนติดตามจับตัว  แต่ก็ถูกพระนเรศพร้อมชาวพิษณุโลกโต้ตีแตกพ่ายไป  และยังจับพม่าเป็นเชลยได้ถึง ๓,๐๐๐ คน  พระเจ้าบุเรงนองโกรธมาก  สั่งให้เจ้าสาวถีพระอนุชาคุมพล ๑๐,๐๐๐ คน  ตามจับพระนเรศให้จงได้  แต่ก็ถูกตีแตกพ่ายยับเยิน  เสียช้าง ๒๐๐ เชือก  ม้า ๓๐ ตัว  แล้วพระเจ้าแผ่นดินพะโคก็สวรรคตในเวลาเดียวกันนั้น  พระนเรศเสด็จจากพิษณุโลก  ลงกรุงศรีอยุธยา  เข้าเฝ้าพระราชบิดา (พระมหาธรรมราชา)  กราบบังคมทูลให้เลิกพันธสัญญากับพม่าโดยสิ้นเชิง

          ....... ครานั้นพระมหาอุปราชาได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพะโคสืบแทนพระราชบิดา (บุเรงนอง) แล้ว  ทรงแค้นเคืองที่พระนเรศหนีไปได้  จึงส่งทูตเข้าเฝ้าพระมหาธรรมราชาทูลขอพระนเรศซึ่งเป็นตัวประกันนั้นคืน  พร้อมทวงสัญญาที่ทำกันไว้  หากไม่ทำตามก็จะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  พระนเรศทรงคัดค้านไม่ให้พระราชบิดาทำตามคำของพระมหาอุปราชา  ทรงพร้อมที่จะรบ  พระเจ้าแผ่นพะโคจึงยกทัพมาด้วยกำลังพล ๗๐,๐๐๐ คน  เข้าตีกรุงศรีอยุธยาในทันที  พระนเรศยกกำลังออกต่อตีขับไล่กองทัพพะโคแตกพ่ายไป  จับแม่ทัพได้ ๓ พระองค์  ช้าง ๓๐ เชือก  ม้า ๑๐๐ ตัว  ทหารพะโคถูกฆ่าตายมากมาย

          ....ตอนที่พระนเรศวรทำยุทธหัตถีมีรายละเอียดต่างจากคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  ว่า  พระมหาอุปราชายกกำลังเป็นพยุหยาตรามาทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา  ในกองทัพประกอบด้วยชาวโปรตุเกส  แขกมัว (ชาวอินเดียที่เป็นมุสลิม) และชาวตุรกี  ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองพะโคเวลานั้น  ฝ่ายพระนเรศยกทัพกลับมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง (ซึ่งยังมีซากปรากฏอยู่จนทุกวันนี้)  ชื่อว่า แกรง (Crengh)  หรือหนองสาหร่ายเพื่อจะพบกับกองทัพพะโค

          ...... “ เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากัน  พระนเรศและพระมหาอุปราชา (ซึ่งฉลองพระองค์เต็มยศฐานันดรศักดิ์และทรงช้างศึก)  ต่างก็ขับช้างเข้าหากันประหนึ่งเสียพระสติ  ทิ้งกองทหารไว้ข้างหลัง  แต่ช้างทรงของพระนเรศเล็กกว่าช้างทรงของพระมหาอุปราชามาก  เมื่อเจ้าชายทั้งสองพระองค์ขับช้างเข้ามาใกล้กัน  ช้างพระนเรศที่เล็กกว่าก็ตื่นกลัว  พยายามเบื่ยงหัวไปมาเพื่อจะหลบหนี  พระนเรศทรงตกพระทัย  ตรัสกับช้างว่า  “เจ้าผู้เป็นบิดาแห่งแว่นแคว้นนี้  ถ้าเจ้าทิ้งข้าไปเสียแต่ตอนนี้แล้ว  ก็เท่ากับว่าเจ้าทิ้งตัวของเจ้าเองและโชคชัยทั้งปวง  เพราะข้าเกรงว่าเจ้าจะไม่ได้รับเกียรติยศอันใดอีกแล้ว  และจะไม่มีเจ้าชายองค์ใดทรงขี่เจ้าอีก  คิดดูเถิดว่า  ตอนนี้เจ้ามีอำนาจเหนือเจ้าชีวิตถึงสองพระองค์  และเจ้าสามารถนำชัยชนะมาให้แก่ข้าได้  จงดูประชาชนที่น่าสงสารของเรา  พวกเราจะพ่ายแพ้ยับเยินเพียงใด  และจะแตกสานซ่านเซ็นอย่างไร  ถ้าหากเราหนีจากสนามรบ  แต่ถ้าหากเรายืนหยัดอยู่อย่างมั่นคงด้วยความกล้าหาญของเจ้า  และด้วยกำลังแขนของเราทั้งสอง  ชัยชนะก็จะตกเป็นของเราอย่างแน่นอน  และเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว  เจ้าก็จะได้เกียรติยศร่วมกับข้า....”

          .......ขณะทรงมีรับสั่ง  พระนเรศก็ประพรมน้ำมนต์ซึ่งปลุกเสกโดยพราหมณ์  เพื่อใช้ในโอกาสเช่นนี้  ลงยังหัวช้าง  ทรงพระกันแสงจนกระทั่งหยาดพระสุชลหลั่งลงบนงวงช้าง  ช้างแสนรู้ได้กำลังใจจากคำดำรัส  น้ำมนต์  และหยาดพระสุชลของเจ้าชายผู้กล้าหาญ  ก็ชูงวงขึ้น  หันศีรษะวิ่งเข้าหาข้าศึกตรงไปยังพระมหาอุปราชา  การประลองยุทธ์ของช้างตัวนี้เป็นที่น่าสะพรึงกลัว  และน่าอัศจรรย์  ช้างทรงตัวที่ใหญ่กว่าพยายามใช้งาเสยช้างตัวที่เล็กกว่าให้ถอยกลับไป  ในที่สุดช้างตัวที่เล็กกว่าก็ได้เปรียบ  วิ่งเลยช้างตัวใหญ่ไปเล็กน้อย  และใช้งวงฟาดอย่างแรง  ช้างตัวใหญ่ร้องแปร๋นแปร้นทำให้พระมหาอุปราชาตกพระทัย

          ....... พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงทรงฉวยโอกาสปราบพระเจ้าแผ่นดินพะโค  โดยทรงตีพระเศียรพระเจ้าแผ่นดินพะโคอย่างแรงด้วยขอช้าง (ซึ่งใช้ในการบังคับช้าง)  และทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชาจนกระทั่งหล่นลงมาสิ้นพระชนม์บนพื้นดิน  และพระองค์ทรงจับช้างได้  ทหารองครักษ์ของพระองค์ (ซึ่งตามมาทัน) ก็ได้แทงทหารโปรตุเกสซึ่งนั่งตอนหลังช้างพระที่นั่ง  ทำหน้าที่คอยโบกพัดให้พระเจ้าแผ่นดินพะโคและบังคับช้าง  

          เมื่อทหารพะโคเห็นว่า  พระเจ้าแผ่นดินพวกตนสิ้นพระชนม์ลง  ก็ถอยหนีกันอลหม่าน  กองทัพไทยได้กำลังใจดีก็ไล่ติดตามจับได้เชลยหลายคน  ทั้งที่ฆ่าตายก็มีมาก  ทัพพะโคแตกกระจายเหมือนแกลบปลิวไปตามลม  ได้ละทิ้งทหารหลายพันคนไว้ข้างหลัง  แต่เนื่องจากทหารแตกทัพไปทางที่ถูกทำลายแล้ว  จึงมีทหารจำนวนน้อยที่กลับไปถึงพะโค

          พระนเรศประสบชัยชนะครั้งนี้  เมื่อพระชนมมายุได้ ๓๒ พรรษา  พระองค์สามารถป้องกันพระราชอาณาจักรของพระราชบิดาไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นได้  นับตั้งแต่นั้นมา  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ไม่ขึ้นกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในโลกอีกเลย”

          อ่านคำให้การของชาวกรุงเก่าปนกับขุนหลวงหาวัด  และมาอ่านประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาฉบับ “วันวลิต” แล้ว  ตรองกันเอาเองนะครับว่า  ควรจะเชื่อใคร  พรุ่งนี้จะนำความในพงศาวดารพม่า  ฉบับ ดร.หม่อง ทินอ่อง  มาแสดงให้ดูอีกแง่มุมหนึ่งครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัยธานี
๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคณเจ้าองาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, มกราคม, 2562, 10:55:26 PM
(https://i.ibb.co/02CV161/5.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าว่าอีกอย่างหนึ่ง -

“หม่อง ทินอ่อง”มองเฉี่ยวเรื่องเดียวนี้
แตกต่างที่ยุคสมัยในเรื่องนั่น
พ้นสมัย“บุเรงนอง”มานานวัน
สงครามขั้น“ยุทธหัตถี”ชัดเจน

ยุค “นันทบุเรง”ราชโอรส
พม่าหมดอำนาจองอาจเด่น
รบสยามคราใดพ่ายระเนน
ตัวอย่างเช่นชนช้างมล้างชนม์.....


          อภิปราย ขยายความ.........

          ทั้งชาวกรุงเก่า  และ  ขุนหลวงหาวัด  กับ  วันวลิต  กล่าวถึงเรื่องการสงครามยุทธหัตถีในทำนองเดียวกัน  มีข้อปลีกย่อยต่างกัน  อย่างเช่น  ชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัด  ว่า  มหาอุปราชาเป็นราชโอรสพระเจ้าบุเรงนอง  ทำยุทธหัตถีในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง  แต่วันวลิตกล่าวว่า  มหาอุปราชาขึ้นครองราชย์สมบัติสืบแทนพระเจ้าบุเรงนองราชบิดา  ทำยุทธหัตถีในขณะที่ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว

          .....แต่ ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนไว้ในประวัติศาสตร์พม่าของเขาต่างไปจากชาวกรุงเก่า  ขุนหลวงหาวัด  และ วันวลิต  โดยหม่อง ทินอ่อง  เขากล่าวว่า  สงครามยุทธหัตถีเกิดในรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง ความในตอนที่ว่าด้วย  “ความเสื่อมของอาณาจักรบุเรงนอง”  ขอสรุปความเบื้องต้นก่อนเกิดสงครามยุทธหัตถี  เป็นการท้าวความดังต่อไปนี้

          .....พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตในปี ค.ศ.๑๕๘๑ (พ.ศ. ๒๑๒๔)  พระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา  ผู้ที่ได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าบุเรงนองคือ “ นันทบุเรง” ราชโอรส  ก่อนหน้านี้พระนเรศวรซึ่งอยู่ในราชสำนักพระเจ้าบุเรงนองได้ ๙ ปี  มีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา  พระมหาธรรมราชาทูลขอตัวกลับเมืองไทย  และทรงให้ครองเมืองพิษณุโลก  ครั้นนันทบุเรงราชโอรสขึ้นครองบัลลังก์หงสาวดี  พระนเรศวรก็เสด็จจากพิษณุโลกไปร่วมในพิธีราชาภิเษก  ถวายความสวามิภักดิ์พร้อมกับเจ้าเมืองต่าง ๆ  ในเวลานั้นปรากฏว่าเจ้าเมืองอังวะวางแผนยึดเมืองพะโค  โดยที่เจ้าเมืองอื่น ๆ ไม่ยอมร่วมมือด้วย  พระเจ้านันทบุเรงยกทัพไปปราบได้สำเร็จ

          .....ในการรบกับพระเจ้าอาซึ่งเป็นเจ้าเมืองอังวะนั้น  พระเจ้านันทบุเรงมีบัญชาให้เมืองต่าง ๆ ยกกำลังไปช่วยรบ  พระนเรศวรก็ได้รับบัญชาให้ไปช่วยรบด้วย  นัยว่า  พระองค์จัดกองทัพขนาดใหญ่  มีแผนจะติดตามพระเจ้านันทบุเรงไปห่าง ๆ ด้วยหมายใจว่า  ถ้าพระเจ้านันทบุเรงพ่ายแพ้ก็จะเข้าโจมตีกองทัพมอญและพม่า  ถ้าพระเจ้านันทบุเรงชนะก็จะถอยทัพกลับอย่างสงบ  และรอโอกาสต่อไป  แผนดังกล่าวทราบถึงพระเจ้านันทบุเรง  พระองค์จึงสั่งให้กองทัพไทยไปยังพะโคด้วยหมายจะจับองค์พระนเรศวร  ขุนนางมอญบางคนลอบส่งข่าวให้พระนเรศวรทราบ  ในขณะที่พระเจ้านันทบุเรงรบชนะอังวะ  พระนเรศวรจึงรวบรวมชาวไทยที่อยู่แถบเมืองพะโคได้ประมาณหนึ่งหมื่นคน  แล้วพากลับเมืองไทย  พระเจ้านันทบุเรงจัดกองทัพส่วนหนึ่งให้เร่งติดตามทัพระนเรศวร  จนถึงแม่น้ำสะโตงเขตแดน  พระนเรศวรพากองทัพไทยข้ามแม่น้ำไปได้อย่างปลอดภัย  แล้วใช้พระแสงปืนยาวยิงข้ามแม่น้ำสะโตงไปถูกแม่ทัพพม่าเสียชีวิต  กองทัพพม่าจึงล่าถอยไป

          .....พระเจ้านันทบุเรงยกทัพตีกรุงศรีอยุธยาในยามที่พระนเรศวรได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเหนือลงไปเตรียมรับศึกอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก  พระเจ้านันทบุเรงยึดกรุงศรีอยุธยามิได้  จึงถอยทัพกลับไป  จากนั้นแล้วยังยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ๒ ครั้ง  คือ  ในปี ค.ศ. ๑๕๘๕ และ ๑๕๘๖ (พ.ศ. ๒๓๒๘, ๒๑๒๙)  แต่ก็พ่ายยับเยินกลับไปทั้ง ๒ ครั้ง  แล้วยังทรงพยายามตีกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นครั้งที่ ๔ ที่ ๕  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ  จนถึงสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่พม่าเสียหายมาก  คือสงครามยุทธหัตถี  หม่อง ทินอ่อง  เขียนว่าดังต่อไปนี้

           “ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๙๒ ( พ.ศ. ๒๑๓๕)  พระองค์ทรงเกณฑ์รี้พลจำนวนมากท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน  ยกทัพไปรุกรานไทยอีกเป็นครั้งที่ ๕  พระโอรสองค์ใหญ่ผู้เป็นรัชทายาทคุมทัพล่วงหน้าไปก่อน  และถูกกองทัพพระนเรศวรโจมตี  บัดนั้นพระราชบิดาสวรรคตไปแล้ว  และพระนเรศวรได้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า  “สมเด็จพระนเรศวร”  พระมหาอุปราชกับกษัตริย์ไทยทรงกระทำยุทธหัตถี  และพระมหาอุปราชถูกฟันขาดบนคอช้าง  พระเจ้านันทบุเรงเสียพระทัยมาก  ให้ยกกองทัพกลับ  ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรทรงพอพระทัยที่ข้าศึกยอมแพ้  แต่ก็ทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่ได้ฆ่าเพื่อนเล่นตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ในราชสำนักบุเรงนอง  พระองค์ทรงสร้างเจดีย์เล็ก ๆ ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ สถานที่ชนช้าง  และเสด็จกลับอยุธยา....”

          ..... หนังสือประวัติศาสตร์พม่าที่ ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนนี้  แม้จะเขียนในยุคปัจจุบัน  แต่เขาก็ได้รวบรวมจากเอกสารเก่า  และคำบอกเล่าที่เป็นตำนาน  เรื่องที่เขาเขียนจึงน่าเชื่อถือได้พอสมควร  เฉพาะลำดับกษัตริย์พม่าที่ว่า  นันทบุเรงเป็นโอรสที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากบุเรงนอง  ไม่น่าจะผิดพลาด  แต่เรื่องในเมืองไทยหลายเรื่องที่เขาเขียนไม่ตรงกับที่คนไทยเรียนรู้สืบทอดกันมา

          ส่วนสงครามยุทธหัตถี  คือการชนชนช้างระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา  น่าจะเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้านันทบุเรง  ตามประวัติศาสตร์พม่าของ หม่อง ทินอ่อง  มากกว่า

          ดังนั้นเรื่องประวัติศาสตร์จึงควรต้องศึกษากันต่อไป  โดยตัดความคิดที่เป็น  “ชาตินิยม”  ออกไปกองไว้อีกส่วนหนึ่งก่อน

          .....พรุ่งนี้กลับเข้าดูความในพระราชพงศาวดารหลักของไทยบ้างครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กุมภาพันธ์, 2562, 10:17:59 PM
(https://i.ibb.co/hcq14hd/1430286157-2074842062-o.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- พระยาละแวกตีไทย -

กลับเข้าตรงพงศาวดารหลัก
ที่ประจักษ์แจ่มแจ้งหลายแห่งหน
พระนารายณ์ให้จารเหตุการณ์สกล
ตั้งแต่ต้นไว้เห็นเป็นตำรา

เรียงลำดับตามปีเรื่องที่เกิด
เป็นการเปิดปมที่มีปัญหา
เรื่องการรบกับละแวกที่แทรกมา
อยู่ในคราพม่าที่โจมตีไทย....


          อภิปราย ขยายความ...............

          กลับเข้าไปดูความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้บันทึกเรื่องราวไว้เรียงปีตั้งแต่ต้นมา  ดังได้เสนอก่อนหน้านี้แล้ว  ในตอนที่ว่าด้วยสงครามช้างเผือกซึ่งพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตก  แล้วปราบดาภิเษกให้พระมหาธรรมราชาเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๒  ปีรุ่งขึ้น  พระยาละแวกยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแล้วพ่ายกลับไป  ปี พ.ศ. ๒๑๑๔ สมเด็จพระมหาธรรมราชาสถาปนาพระนเรศวรเป็นมหาอุปราชเสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติ ณ เมืองพระพิษณุโลก  จากนั้น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้บันทึกเรื่องราวไว้ดังต่อไปนี้

          .....” ศักราช ๙๓๗ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๑๘)  พระยาละแวกยกทัพเรือมายังพระนครศรีอยุธยาในวันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๒ เดือน ๑ นั้น  ชาวเมืองละแวกตั้งทัพเรือตำบลพะแนงเชิง  และได้รบพุ่งกัน  ครั้งนั้นเศิกละแวกต้านมิได้เลิกทัพกลับไป  และจับเอาคนปักษ์ใต้ไปครั้งนั้นมาก  ในปีนั้นน้ำ ณ กรุงศรีอยุธยาน้อย”

           .....“ ศักราช ๙๔๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๒๑)  พระยาละแวกแต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบุรี  มิได้เมือง  และชาวละแวกนั้นกลับไป  ครั้งนั้นพระยาจีนจันตุหนีมาแต่เมืองละแวก  มาสู่พระราชสมภาร  ครั้นอยู่มาพระยาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมือง”

           .....“ ศักราช ๙๔๒ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๒๓)  รื้อกำแพงกรุงพระนครออกเถิงริมแม่น้ำ”

           ..... “ ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔)  ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ  คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมากและยกมาจากเมืองลพบุรี  และยืนข้างประตูหัวตรี  และแขกบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง  และในปีนั้นมีหนังสือมาแต่เมืองหงสาว่า  ปีมะเส็งตรีศกนี้  อธิกมาสมิได้  ฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุธยานี้มีอธิกมาส  อนึ่ง  ในวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒  รู้ข่าวมาว่า  พระเจ้าหงสานฤพาน  อนึ่ง  ในเดือน ๓ นั้น  พระยาละแวกยกพลมาเมืองเพชรบุรี  ครั้นนั้นเสียเมืองเพชรบุรีแก่พระยาละแวก”

          เรื่องราวที่ระบุวัน เดือน ปี เวลา  อย่างชัดเจนเช่นนี้  เป็นที่ยอมรับกันว่า  “เป็นประวัติศาสตร์”  อันเชื่อถือได้  จากบันทึกนี้เห็นได้ว่า  พระยาละแวกพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาฉวยโอกาสในขณะที่กรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า  ผลัดแผ่นดินใหม่  อยู่ในภาวะอ่อนแอ  จึงยกทัพมาหมายปล้นเอากรุงศรีฯเป็นของกัมพูชา  ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ  พระยาจัมปาตายในที่รบ  ครั้งที่ ๒ ยกทัพเรือเข้ามาตั้งที่วัดพนัญเชิง  แต่ถูกต้านตีแตกพ่ายกลับไป  คราวนี้ได้กวาดต้อนคนไทยในภาคใต้ไปกัมพูชาเป็นจำนวนมาก  ครั้งที่ ๓ มาในปี พ.ศ. ๒๑๒๑  แต่งทัพให้มาเอาเมืองเพชรบุรี  แต่ปล้นเอาเมืองมิได้อีกตามเคย  ในปีเดียวกันนั้น  พระยาจีนจันตุ  หนีมาจากกัมพูชาขอเข้าอยู่ในโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  แต่อยู่ไม่นานก็หนีกลับคืนไป

          เป็นเพราะถูกพระยาละแวกยกทัพมารุกรานซ้ำซาก  ในปี พ.ศ. ๒๑๒๓ พระเจ้าบุเรงนองจึงอนุญาตให้พระมหาธรรมราชารื้อกำแพงเมืองเก่า  ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่  ขยายอาณาเขตออกไปถึงริมแม่น้ำ  รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๑๒๔  เกิดขบถขึ้นในสยาม  โดย “ผีบุญ” ชื่อญาณประเชียร  ชาวเมืองลพบุรี  ตั้งตนเป็นผู้วิเศษขลังทางวิชาอาคม  มีผู้คนสมัครเข้าเป็นบริวารมาก  จนคิดกำเริบเป็นขบถ  ยกกำลังเข้าปล้นกรุงศรีอยุธยา  ขี่ช้างมายืนข้างประตูหัวตรี  บัญชาการให้กองกำลังของตนเข้าปล้นเมือง  แต่ก็ถูก  “แขกบรเทศ”  ในกรุงใช้ปืนยิงจนถึงแก่ความตายบนคอช้างในที่สุด

          ในปีเดียวกันนั้น  คือ พ.ศ. ๒๑๒๔  พระเจ้าบุเรงนองมีหนังสือมาถึงพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า  ในปีนี้ไม่มี  “อธิกมาส” (เดือนแปดสองหน)  แต่ทางสยามยังคงถือว่าเป็นปีอธิกมาสตามคติไทย  ครั้นถึงวันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒  รู้ข่าวมาว่า  พระเจ้าบุเรงนองสวรรคต  และในเดือน ๓ พระยาละแวกยกพลมาเอาเมืองเพชรบุรีอีก  คราวนี้กรุงศรีอยุธยาเสียเมืองเพชรบุรีให้แก่พระยาละแวกไปจนได้

          บันทึกตรงนี้บอกชัดเจนว่า  พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๒๔  ก่อนเกิดสงครามยุทธหัตถี  ดังนั้น  ถ้าถือเอาตามนี้  คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าที่ว่า  มหาอุปราชาเป็นโอรสพระเจ้าบุเรงนอง  และชนช้างกับพระนเรศวรสมัยพระเจ้าบุเรงนอง  และความของวันวลิตในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ว่า  พระมหาอุปราชาเป็นพระเจ้าแผ่นหงสาสืบแทนพระเจ้าบุเรงนองก่อนแล้ว  จึงยกมาทำยุทธหัตถีกับพระนเรศวร  จึงเป็นอันต้องตกไปด้วยกัน

          หลังจากพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว  และไทยเสียเมืองเพชรบุรีให้เขมรไปแล้ว  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้อ่านความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, กุมภาพันธ์, 2562, 10:23:48 PM
(https://i.ibb.co/jMRncGy/030.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- พม่า เขมร รุมรบไทย -

ข่าวพม่าบุกไทยหลายกระแส
อีกขะแมร์ลอบมาไม่ปราศรัย
อยุธยาธานีมากมีภัย
เป็นเหตุให้นเรศวรด่วนป้องกัน

ต้อนครัวลงจากเหนือเพื่อต้านศึก
ไทยผนึกกำลังรับยามคับขัน
ต้องรบทั้งพม่าเขมรเป็นพัลวัน
ทนฟาดฟันริปู “สู้ยิบตา”....


          อภิปราย ขยายความ................

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเรื่องราวหลังจากพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตและกรุงศรีอยุธยาเสียเมืองเพชรบุรีให้แก่พระยาละแวก  สรุปความได้ว่า  ในปี พ.ศ. ๒๑๒๕  พระยาละแวกแต่งทัพเข้ามาจับคนไทยปลายด่านตะวันออกไปจำนวนไม่น้อย  ปี พ.ศ. ๒๑๒๖ เกิดอัคคีภัยในกรุงศรีอยุธยา  เพลิงไหม้ตั้งแต่จวนกลาโหมแล้วลามไปในพระราชวังถึงท้ายเมือง  ครั้นเพลิงสงบลงแล้วก็ได้ข่าวว่า  พม่าทำทางเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยา  นัยว่า  เป็นทางสำหรับเดินทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า (นเรศวร) จัดกองทัพไปช่วยพระเจ้านันทบุเรงที่ทำศึกกับพระเจ้าอาแห่งเมืองอังวะ  ในระหว่างนั้น  ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลและช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน  งาช้างสวัสดิมงคลข้างซ้ายลุ่ย (หลุด) ก่อนที่จะเดินทัพไปหงสา  โหรทำนายว่าเป็นลางร้ายห้ามยาตรา  พระนเรศวรตรัสว่าได้เตรียมการไว้พร้อมแล้วจำต้องไป  วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จออกตั้งทัพตำบลวัดยม  ท้ายเมืองกำแพงเพชร  วันนั้นเกิดแผ่นดินไหวเป็นอัศจรรย์  ยกทัพไปถึงเมืองแกรงแล้วยกกลับกรุงศรีอยุธยา

          ทางเมืองพิษณุโลกนั้น  เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น  กล่าวคือ  วันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐  “แม่น้ำทรายหัวเมืองพิษณุโลกป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก
          อนึ่ง  เห็นสตรีภาพผู้หนึ่งหน้าประดุจหน้าช้าง  และทรงสัณฐานประดุจงวงช้างและหูนั้นใหญ่  นั่งอยู่ ณ วัดปราสาทหัวเมืองพิษณุโลก
          อนึ่ง  ช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ ณ ท้องสนามนั้นอยู่ก็ล้มลงกับที่บัดเดี๋ยวนั้น
          อนึ่ง  เห็นตั๊กแตนบินมา ณ อากาศเป็นอันมากและบังแสงพระอาทิตย์  บดมาแล้วก็บินกระจายสูญไป”

          ในปีเดียวกันนี้  พระนเรศวรได้ ”เทครัว” อพยพผู้คนจากเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงศรีอยุธยา  เพื่อเตรียมรับศึกหงสาวดี

          พระเจ้านันทบุเรง  ให้พระสาวถีและพระยาพสิมยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในปีเดียวกันนี้เอง ณ วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ เวลาเที่ยงคืนเศษ  พระนเรศวรเสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน  แล้วเข้าโจมตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีไป  ในเวลานั้นเกิดสิ่งแปลกขึ้น  คือ  ม้าตัวหนึ่งตกลูก  มีหัวเดียว  ลำตัวเป็น ๒ ตัว  มีเท้า ๔ เท้า

          ลุปี พ.ศ. ๒๑๒๘ เจ้าสาวถียกทัพมาอีกครั้งหนึ่ง  ตั้งทัพที่ตำบลสะเกษ  และตั้งอยู่ตั้งแต่เดือนยี่ถึงเดือน ๔  ครั้นถึงวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕  พระนเรศวรเสด็จพยุหบาทตราทัพชัยตำบลหล่มพลี  วันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จจากทัพชัยโดยทางชลมารค (ทางแม่น้ำเจ้าพระยา)ไปทางป่าโมก ยามนั้นเกิดเป็นลาง  กล่าวคือ  มีนกกระทุงเป็นฝูงใหญ่บินมาทั้งซ้ายขวาเป็นอันมาก  นำหน้าเรือพระที่นั่งไป       ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลทวีปออกดาช้างม้าทั้งปวง ณ ริมน้ำ  ปรากฏว่าพระอาทิตย์ทรงกลด  รัศมีกลดนั้นส่องลงมาต้องช้างพระที่นั่งมีทรงสัณฐานประดุจเงากลดมากั้นช้างพระที่นั่ง  ทรงตีทัพเจ้าสาวถี  ที่ตำบลสระเกษแตกพ่ายไป

          ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น พระมหาอุปราชายกพลมาทางกำแพงเพชร  และตั้งทำนาอยู่ที่นั่น

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๙ วันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒  พระเจ้า“งาจีสยาง” (นันทบุเรง) ยกทัพมาถึงพระนครศรีอยุธยา  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒  ตั้งทัพรายล้อมพระนคร  โดยพระองค์ตั้งทัพหลวง ณ ตำบลขนอนปากคู  พระมหาอุปราชาตั้งทัพที่ขนอนบางตนาว  พระนเรศวรทรงนำกำลังออกสู้รบกันเป็นสามารถ  ครั้นพระเจ้าหงสาวดีสู้รบจนสุดความสามารถแล้วตีหักเอาเมืองมิได้  ก็ถอยทัพกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๓๐ วันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕  พระนเรศวรยกกองเรือเข้าตีทัพพระมหาอุปราชาที่ขนอนบางตนาว  ค่ายพระมหาอุปราชาแตก  หนึไปตั้ง ณ บางกระดาน
          วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๗  พระนเรศวรเสด็จพระราชดำเนินพยุหบาทตราออกไปตั้งค่าย ณ วัดเดช
          วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗  เอาปืนใหญ่ลงเรือสำเภาไปยิงค่ายพระเจ้าหงสาจนพระเจ้าหงสาต้านมิได้  จึงเลิกทัพไปตั้ง ณ ป่าโมก
          วันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔  ออกไปตีค่ายข้าศึกหลายค่ายแตกพ่าย  ไล่ฟันแทงข้าศึกไปจนถึงค่ายพระเจ้านันทบุเรง
          วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔  เสด็จออกตั้งทัพซุ่ม ณ ทุ่งหล่มพลี  และคอยออกตีข้าศึก  ครั้งนั้นรบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอนกัน  ทรงม้าพระที่นั่งใช้พระแสงทวนแทงเหล่าทหารตายไม่น้อย  ข้าศึกพ่ายหนีไปเข้าค่าย  ทรงไล่ไปจนถึงหน้าค่าย  จากนั้นทรงออกไปตีทัพพระยานครที่ปากน้ำมุทุเลาจนแตกพ่ายไป  พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าไม่อาจเอากรุงศรีอยุธยาได้แล้วจึงล่าทัพกลับไป

          ในขณะที่ทำศึกติดพันกันอยู่กับพระเจ้าหงสาวดีนั้น  พระยาละแวกฉวยโอกาสยกทัพมาตั้ง ณ บางซาย  ในเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้าหงสาวดีถอยทัพกลับไปแล้ว  สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จออกไปชุมพลทั้งปวง ณ บางกระดาน  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ เสด็จพยุหบาทตราจากบางกระดานไปตั้งทัพชัย ณ ชายเคือง  แล้วเสด็จไปละแวก  ครั้งนั้นทรงได้ช้างม้าผู้คนกลับมากรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก....

          ....ยังไม่ถึงเรื่องราวตอนกระทำยุทธหัตถีอีก  ยุติไว้ตรงนี้ก่อน  พุร่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, กุมภาพันธ์, 2562, 10:19:12 PM
(https://i.ibb.co/T8QY0gS/45695054-2344013535822199-1185512536787648512-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- วันยุทธหัตถีที่ถูกต้อง -

พม่าเว้นรุกไทยไว้สี่ฉนำ
เตรียมกระทำศึกแรงใหญ่แกร่งกล้า
นเรศวรกรุงศรีอยุธยา
เตรียมตั้งท่ารับศึกไม่นึกกลัว

มหาธรรมราชาสวรรคต
นเรศวรทรงยศเจ้าอยู่หัว
มหาอุปราชามาพันพัว
ตัวต่อตัวชนช้างอย่างชาติชาย

ประวัติศาสตร์ประกาศเกียรติก้องศักดิ์ศรี
ประชาชีจำอยู่มิรู้หาย
มหาอุปราชาชีวาวาย
ฉากสุดท้ายปิดลงหนึ่งสงคราม.


          อภิปราย ขยายความ ..................

          พระเจ้านันทบุเรงถอนทัพถอยไปตั้งหลักที่หงสาวดี  พระนเรศวรจึงยกกำลังไปปราบพระยาละแวก  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกไว้สั้นๆว่า   “...เสด็จไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก”   แต่ในพงศาวดารไทยฉบับปลีกทั่วไป  กล่าวโดยพิสดารว่า  สมเด็จพระนเรศวรทรงจับตัวพระยาละแวกได้  นำมากระทำปฐมกรรมบั่นคอเอาเลือดล้างพระบาท  ในคราวนั้น  กวาดต้อนครัวเขมรมามาก  มีพระศรีสุพรรณ  อนุชาพระยาละแวกพร้อมราชบุตรธิดามาไว้กรุงศรีอยุธยาด้วย  โดยพระราชพงศาวดารกรุงเก่ามิได้กล่าวถึงปฐมกรรมพระยาละแวก  และเห็นจะจริงตามเอกสารที่ปรากฏในภายหลัง  อย่างน้อย ๓ ชิ้น  คือ  เอกสารสเปนภาคที่ ๒  และ  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  กับ  พงศาวดารละแวก  ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า  สมเด็จพระนเรศวรมิได้ประหารชีวิตพระยาละแวก  ดังจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์หลังจากพระเจ้าบุเรงนองถอนทัพกลับไปแล้วว่า .....

           “ศักราช ๙๕๐ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๓๑)  ณ วันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒  แผ่นดินไหว”
           “ศักราช ๙๕๑ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๑๓๒)  ข้าวแพงเกวียนละสิบตำลึง  ปิดตราพระยานารายณ์ชับ ณ วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒  แผ่นดินไหว”
           “ศักราช ๙๕๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๓๓)  วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระพฤฒาราชนฤพาน  วันอังคารแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒  มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี  ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิมตำบลจระเข้สามพัน”

          พระเจ้านันทบุเรงกลับไปตั้งหลักที่หงสาวดี  ใช้เวลาเตรียมการ  “เผด็จศึก”  กรุงศรีอยุธยาอยู่นานถึง ๔ ปี  ในช่วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์ทางกรุงศรีอยุธยา  คือ  แผ่นดินไหว ๒ ปีติดต่อกัน  และเกิดข้าวยากหมากแพง  ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๑๓๓  สมเด็จพระมหาธรรมราชา (พฤฒาราช) เสด็จสวรรคต  พระนเรศวรมหาอุปราชทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา  ไม่ทันไร  พระเจ้านันทบุเรงก็แต่งกองทัพให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยา  โดยเดินทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี  สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปต่อต้าน  รบกับกองทัพหน้าที่ตำบลจระเข้สามพัน (อำเภออู่ทอง) สุพรรณบุรี  กองทัพหน้าแตกพ่ายไป  จับตัวพระยาพสิมแม่ทัพหน้าได้  กองทัพมหาอุปราชาล่าถอยกลับไป

           “ศักราช ๙๕๔ (พ.ศ. ๒๑๓๕) วันศุกร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒  อุปราชายกมาแต่หงสา ณ วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑  เพดานช้างต้นพระยาไชยานุภาพออกมาใหญ่ประมาณ ๕ องคุลี  ครั้นเถิงเดือนยี่  มหาอุปราชามาเถิงแดนเมืองสุพรรณบุรี  แต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ  วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาท  เสด็จพยุหบาทตราโดยทางชลมารค  ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี  ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน แล ณ วันพุธ ขึ้น ๓๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท  เสด็จพยุหบาทตราโดยชลมารค  อนึ่ง  เมื่อใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น  เห็นพระสาริริกธาตุปาฏิหาริย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น  เถิงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท  เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ  เสด็จออกรบมหาอุปราชา  ตำบลหนองสาหร่าย  ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์  และฝ่าย(ฝ่า) ฤกษ์หน่อยหนึ่ง  อนึ่ง  เมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น  สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง  อนึ่ง  เมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น  หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกลงเถิงดิน  และเอาคืนขึ้นใส่เล่า  ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น  และช้างต้นพระยาไชยานุภาพซึ่งทรงและได้ชนด้วยมหาอุปราชาและมีชัยชำนะนั้น  พระราชทานให้ชื่อเจ้าพระยาปราบหงสา”

          จึงเป็นที่ยุติได้ว่า  การทำยุทธหัตถีอันเป็นเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่นี้  เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้านันทบุเรงแห่งพม่า  และ  รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยา  ไม่ใช่รัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง  กับ พระมหาธรรมราช  ตามคำให้การชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัด

          แต่เดิมมานั้น  ทางรัฐบาลไทยสมัยประชาธิปไตยประกาศให้ถือเอาวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี  เป็นวันยุทธหัตถี  และ  วันกองทัพไทย  ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้  มีนักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นใหม่หลายท่าน แสดงความคิดเห็นว่า  วันที่ ๒๕ มกราคม ปี พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น  ไม่ตรงกับวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒ ซึ่งเป็นวันทำยุทธหัตถี  ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ดังนั้น  คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจึงมอบหมายให้  ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร (ดร.) ราชบัณฑิต  คำนวณหาความถูกต้อง  และผลการคำนวณที่ถูกต้องคือ  วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒ จุลศักราช ๙๕๔ นั้น  ตรงกับ  วันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕

          เมื่อเป็นเช่นนี้  ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘  มีประกาศว่า  จากนี้ไปให้ถือเอาวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี  เป็นวันยุทธหัตถี  ให้มีการวางพานพุ่มสักการะ  และไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ....

          ...........พรุ่งนี้จะขอสรุปเรื่องราวอันสับสนการสงครามพม่า-ไทยที่ผ่านมาอีกทีครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ ธันวาคม ๒๕๖
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, กุมภาพันธ์, 2562, 10:32:24 PM
(https://i.ibb.co/rpN1Bwt/King-Naresuan40.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- สรุปเรื่องเสียกรุงครั้งแรก -

สรุปความสับสนเรื่องชนช้าง
เป็นแบบอย่างถูกต้องของสยาม
การเสียกรุงครั้งแรกแตกใจความ
เล่ากันตามความจำเป็นตำรา

ข้อปลีกย่อยฝอยความตามที่กล่าว
เป็นเรื่องราวเดียวกันไร้ปัญหา
ผิดแต่กาลนามบุคคลคละปนมา
ขอตรวจตรารวมความตามเป็นจริง


          อภิปราย ขยายความ..................

          ขุนหลวงหาวัดกับชาวกรุงเก่าเล่าความตอนทำยุทธหัตถี  จัดว่าละเอียดแล้ว  แต่ วันวลิต กลับบรรยายได้ละเอียดพิสดารกว่า  รวมทั้ง ดร.หม่อง ทินอ่อง  ก็ให้รายละเอียดได้ดี  แต่ทุกสำนวนที่เล่าเรื่องนี้ขาดหลักการสำคัญของประวัติศาสตร์  นั่นคือ  วันเวลา  สถานที่  บุคคล  ที่ชัดเจน  ดังนั้น  เมื่อเรื่องจบตอน “เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก” แล้ว  ใคร่ขอสรุปเรื่องให้ลงตัว  เพื่อความเข้าใจดีขึ้น  ดังต่อไปนี้

          ปี พ.ศ. ๒๐๙๑  พระเจ้าตะเบงชเวตี้  หรือ  เมงตยาชเวที  ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  “หงสาปังเสวกี”  ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช  ครองกรุงศรีอยุธยาได้ ๗ เดือน  กรุงศรีอยุธยาสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและพระบรมดิลก  มเหสีและราชธิดาพระมหาจักรพรรดิในการชนช้างกับพระเจ้าหงสา  พระเจ้าตะเบงชเวตี้เอาตัวพระมหาธรรมราชา กับ พระราเมศวร พระยาปราบช้างต้นพระยานุภาพไปถึงกำแพงเพชรแล้วปล่อยพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวรคืนพระนครศรีอยุธยา  อยู่มาถึงปี พ.ศ. ๒๐๙๓  พระเจ้าตะเบงชเวตี้ถูกลอบปลงพระชนม์  อาณาจักรพม่าแตกเป็นเสี่ยง ๆ  “บุเรงนองจอเดงนรธา”  ใช้เวลากอบกู้อาณาจักรพม่าขึ้นใหม่ด้วยเวลา ๕ ปีเศษ

          ปี พ.ศ. ๒๑๐๖  พระเจ้าบุเรงนอง  หรือ  “พระเจ้าช้างเผือก”  ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  “พระเจ้าหงสานิพัตร”  ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  พระมหาจักรพรรดิยอมถวายเครื่องบรรณาการขอเป็นพระราชไมตรี  พระเจ้าบุเรงนองขอเอาพระราเมศวรและช้างเผือก ๔ เชือก ไปหงสาวดีด้วย  มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า  กล่าวว่า  พระราเมศวรไปกับกองทัพพม่าร่วมรบยังเมืองแห่งหนึ่งแล้วสิ้นพระชนม์ในที่รบ  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า  ในคราวเดียวกันนั้น  พระเจ้าบุเรงนองทรงพาพระมหาจักรพรรดิไปหงสาวดีด้วย  โดยให้พระมหินทราธิราช  เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแทนพระราชบิดา  ต่อมาพระมหาจักรพรรดิทรงขอผนวชแล้วขออนุญาตเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาในสมณะเพศ  เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีฯ แล้วลาพระผนวชกลับขึ้นครองราชสมบัติดังเดิม  พระเจ้าบุเรงนองทรงพิโรธ  จึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครา  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๑ ในขณะที่บุเรงนองล้อมกรุงอยู่นั้น  พระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรหนักจนสิ้นพระชนม์  พระมหินทราธิราชขึ้นครองกรุงศรีฯ แทนพระราชบิดา  ทั้งสองประเทศทำศึกสงครามกันอยู่ ๑ ปีเต็ม  จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๑๑๒

          พระเจ้าบุเรงนองปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม  แล้วทรงนำพาพระมหินทร์ไปหงสาวดี  พร้อมเอาพระนเรศวรกับพระสุวรรณกัลยาไปเป็นตัวประกัน (ดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว) หลังจากชนะไทยอย่างเด็ดขาดแล้ว  พระเจ้าบุเรงนองครองราชย์สมบัติอยู่มาได้ ๑๒ ปี  ก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๒๔

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๘  หลังจากนันทบุเรงราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง  แล้วตรัสให้พระเจ้าสาวถียกพลมาตามจับตัวพระนเรศวรที่หนีจากหงสาวดีมาประทับอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก  พระเจ้าสาวถีแตกพ่ายกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๒๙  พระเจ้านันทบุเรงซึ่่งพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า  พระเจ้า “งาจีสยาง”  ทรงยกทัพใหญ่มาด้วยพระองค์เอง  เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน  พระนเรศวรซึ่งอพยพครัวจากเมืองเหนือลงมาตั้งรับศึกอยู่ ณ พระ นครศรีอยุธยานั้น  ได้ออกทำการรบ  และปล้นค่ายพม่าเป็นหลายครา  ค่ายพม่าแตกค่ายแล้วค่ายเล่า  จนพระเจ้านันทบุเรงอ่อนกำลังลง  จึงถอนทัพล่าถอยกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๓๓  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต  พระนเรศวรราชโอรสทรงขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาสืบแทน  ในปีนั้น  พระเจ้านันทบุเรงแต่งทัพให้พระมหาอุปราชายกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจน์  สมเด็จพระนเรศวรทรงยกกองทัพไปตีสะกัดที่ตำบลจระเข้สามพัน (อู่ทอง) สุพรรณบุรี  จับตัวพระยาพสิมแม่ทัพหน้าได้  มหาอุปราชาล่าทัพถอยกลับไป

          ปี พ.ศ. ๒๑๓๕  พระมหาอุปราชาทรงจัดทัพใหญ่ยกมาทางกาญจนบุรีอีกครา  ตั้งทัพอยู่ ณ ตำบลพังตรุ  สมเด็จพระนเรศวร  ทรงยกทัพจากกรุงศรีอยุธยา  ผ่านป่าโมก  วิเศษไชยชาญ  ศรีประจันต์  ไปถึงตำบลหนองสาหร่าย

          และ ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒  ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕  ทรงทำยุทธหัตถี  ผลปรากฏว่า  พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง  ดังความที่แสดงมาแล้วนั้นแล

          สมเด็จพระนเรศวรมีพระนามเรียกต่างกันไป  ชาวกรุงเก่าเรียกว่า “พระนเรศวร”   ขุนหลวงหาวัดเรียก “พระนเรศร์”   วันวลิตเรียก “พระนริศ”   แต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ในสมเด็จพระนารายณ์เรียกว่า “สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า”  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, กุมภาพันธ์, 2562, 09:56:41 PM
(https://i.ibb.co/rwB6RSL/Ey-Ww-B5-WU57-MYn-KOu-FVSL8dfr-Smwyz-Tw-XGBv8-NJDb-OTKw8n-KK5-GXga-Z.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- เผามอญแล้วตีเขมร -

พระนเรศวรโกรธมอญใจร้อนเร่า
จึงสั่งเผามอดไหม้สมใจยิ่ง
แล้วยกทัพทันใดไม่ประวิง
มุ่งไปชิงกรุงละแวกตีแหลกลาญ

“นักพระสัฏฐา”พระยาละแวก
เหมือนทรงแทรกดินหนีมิอาจต้าน
หลบไปอยู่แดนลาวจนวายปราณ
มีเอกสารต่างชาติบอกชัดเจน...


          อภิปราย ขยายความ............

          หลังจากทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชาแล้ว  สมเด็จพระนเรศวรทรงเริ่มจัดการปกครองบ้านเมือง  ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าที่บันทึกไว้ดังต่อไปนี้

           “ศักราช ๙๕๕ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๓๖) วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐  เสด็จเถลิงปราสาท  ครั้งนั้น  ทรงพระโกรธแก่มอญ  ให้เอามอญเผาเสียประมาณ ๑๐๐  ณ วันศุกร์ ขึ้น๑๐ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๒ บาท  เสด็จพยุหบาทตราไปเอาเมืองละแวก  และตั้งทัพชัยตำบลบางขวด  เสด็จไปครั้งนั้นได้ตัวพระยาศรีสุพรรณในวันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำนั้น”

          ... ความในคำให้การชาวกรุงเก่า กับ ขุนหลวงหาวัด  และพงศาวดารอื่น ๆ ไม่กล่าวถึงการทรงพระโกรธมอญ  และสั่งให้เผาผลาญชีวิตเสียประมาณ ๑๐๐ คน  แต่จากผลงานการวิจัยของ ”สุภาภรณ์ โอเจริญ”  เรื่อง  “ชาวมอญในประเทศไทย” ซึ่ง “อรวรรณ ทับสกุล” ค้นคว้ามาเผยแพร่  ระบุว่า  ในปี พ.ศ. ๒๑๓๖ นั้น  สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปตีหงสาวดี  ตั้งทัพล้อมเมืองเมาะตะมะอยู่ ๓ เดือน  ได้ข่าวว่า พระเจ้าแปร  พระเจ้าอังวะ  พระเจ้าตองอู  จะยกทัพมาช่วยหงสาวดีจนมีกำลังมากขึ้น  จึงทรงล่าทัพถอยกลับคืนมา  ต่างจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่าที่ว่า  โกรธชาวมอญแล้วสั่งประหารเสียด้วยการเผาทิ้งไปประมาณ ๑๐๐ คน  อาจจะเป็นไปได้ว่า  การยกไปล้อมเมาะตะมะเมืองมอญนั้น  ทรงฆ่ามอญไป ๑๐๐ คนเศษก็ได้

          การไปตีเมืองละแวกครั้งที่ ๒ นี้  พงศาวดารฉบับต่าง ๆ พรรณนาว่าจับตัว “นักพระสัฏฐา” พระยาละแวกได้  แล้วทำปฐมกรรมด้วยการตัดหัวเอาเลือดล้างพระบาท” (คนเขียนประวัติศาสตร์คนนี้เขียนด้วยความเคียดแค้นชิงชังพระยาละแวก  จึงเขียนให้สาแก่ใจตัวเอง)  เป็นความคลาดเคลื่อนไปจากความจริง  ซึ่งมีหลักฐานเอกสารของชาวต่างชาติบันทึกเรื่องไว้อีกอย่างหนึ่ง  เช่น  เอกสารสเปนภาคที่ ๒ พิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ  “กรุงศรีอยุธยาในเอกสารสเปน”  โดย  “อาจารย์จันทร์ฉาย ภัคอธิคม”  ภาควิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  แปลให้สมาคมประวัติศาสตร์ ฯ พิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒  เอกสารชิ้นนี้  บันทึกเรื่องราวที่ทางกัมพูชาติดต่อให้สเปนช่วยรบกับกรุงศรีอยุธยา  ดังข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้

           “ใน ค.ศ.(๑๕)๙๔ (๒๑๓๗)  เมื่อนาย ดอนรุยส์ ดัสมารีญัส  ได้เป็นผู้ว่าราชการเรือสำเภาลำหนึ่งได้มาถึงฟิลิปปินส์พร้อมชาวกัมพูชาและชาวสยามหลายคน  ชาวจีนมากมายและชาวสเปน ๓ คน  คนหนึ่งเป็นชาวคาสติล  ชื่อนายบลัส รุยส์  และอีก ๒ คนเป็นชาวโปรตุเกส  ชื่อ  บันตาเลอน การ์เนโร  และ  นายอันโตนิโอ มาชาโด  ขณะที่พวกเขาอยู่ในเมืองจัตุรมุขในกัมพูชา  พร้อมด้วยสมเด็จพระราชโองการ  พระบรมราชา (สมเด็จนักพระสัตถา) ซึ่งทรงเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชานั้น  พระเจ้ากรุงเสียน (คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)  ได้ทรงโจมตีพระเจ้ากรุงกัมพูชาด้วยกำลังรี้พลและช้างมากมาย  พระองค์ทรงพิชิตแผ่นดินและทรงยึดพระราชวัง  และทรงริบพระราชทรัพย์พระเจ้ากรุงกัมพูชา  พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้เสด็จหนีภายในประเทศพร้อมด้วยพระมเหสี  พระชนนี  พระขนิษฐ  ภคินี  และพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง  และพระโอรสพระองค์หนึ่ง  ไปอยู่อาณาจักรลาว (Laos)  พระเจ้ากรุงเสียนได้เสด็จเลิกทัพกลับโดยตรัสให้นายทัพนายกองบางคนอยู่รักษากัมพูชา..........”

          ความตรงนี้สรุปได้ว่า  เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวกแตกยึดกัมพูชาได้สิ้นแล้ว  ทรงให้คุมทรัพย์สินและเชลยกลับกรุงศรีอยุธยาทางบก  ที่กลับทางบกมิได้ก็ให้ลงเรือสำเภากลับสยาม  คนในเรือสำเภานั้นมีชาวสเปน  ชาวโปรตุเกส  ชาวจีน  ชาวเขมร  รวมอยู่ด้วย  ปรากฏว่าชาวสเปนร่วมมือกับชาวจีนฆ่าคนไทยผู้ควบคุมเรือเสียแล้วยึดเรือได้  นำไปฟิลิปปินส์  ดังความปรากฏในเบื้องต้น  เป็นเอกสารยืนยันได้ว่า  พระยาละแวกมิได้ถูกสมเด็จพระนเรศวรจับตัวได้แล้วให้ประหารเสีย  ดังความในพงศาวดารไทยฉบับปลีกย่อยกล่าว  และยังมีข้อความในเอกสารฉบับเดียวกันกล่าวไว้อีกว่า....

           “ปีที่แล้ว ค.ศ.๑๕๙๖ (๒๑๓๙)  นายดอน รุยส์ เด ลัส มารีญัส  ผู้ว่าราชการแห่งหมู่เกาะเหล่านี้ (ฟิลิปปินส์)  ได้ส่งกัปตันฆวน ฆัวเรส กายินาโต  พร้อมด้วยกองทัพเรือติดอาวุธไปช่วยเหลือพระเจ้ากรุงกัมพูชา  ผู้ทรงขอร้องเพื่อปกป้องคุ้มครองพระองค์จากพระเจ้ากรุงเสียนผู้ที่ได้คุกคามพระองค์แล้ว  พระเจ้ากรุงกัมพูชา (นักพระสัตถา) ทรงเสนอที่จะให้มีการแนะนำ (เผยแพร่) ศาสนาคริสต์ในอาณาจักร  และให้มีทางไมตรีกับชาวสเปน  เมื่อความช่วยเหลือ (ของสเปน) ได้ไปถึงกัมพูชาปรากฏว่า  พระเจ้ากรุงกัมพูชาพร้อมพระโอรสธิดาได้เสด็จถอยไปสู่อาณาจักรลาว (Laos)  ด้วยทรงหวาดเกรงพระเจ้ากรุงเสียนผู้ทรงยึดครองอาณาจักรกัมพูชาแล้ว.....”

          เอกสารสเปนทั้ง ๒ ตอนที่ยกมาแสดงนี้ยันยันให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า  สมเด็จพระนเรศวรมิได้จับตัวพระยาละแวกได้ และทรงประหารในพิธีปฐมกรรมดังกล่าว  เรื่องนี้ยังจบไม่ลงครับ  พรุ่งมาว่ากันต่อไปก็แล้วกัน

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, กุมภาพันธ์, 2562, 10:26:57 PM
(https://i.ibb.co/zZzm3tN/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- เหตุให้ตีละแวกก่อนบุกพม่า -

พระยาละแวกปานโจรปล้นสยาม
เหตุแห่งความพินาศชาติเขมร
คบ“ฝรั่งตาน้ำข้าว”ชาวสเปน
ให้ช่วยเข่นฆ่าไทยในสงคราม

พระนเรศวรผู้รู้จำแนก
ตี“ละแวก”ก่อนพม่าไม่มองข้าม
เห็น“ละแวก”เป็นศัตรูจู่คุกคาม
ปล้นไทยยามพันตูคู่ศึกตน....


          อภิปราย ขยายความ........................

          สมเด็จพระนเรศวรหลังจากที่มีชัยพม่าแล้ว  แทนที่จะยกกำลังเข้าตีพม่าที่กำลังบอบช้ำ  พระองค์กลับไปทำเช่นนั้น  ทรงพิจารณาเห็นว่าศัตรูสำคัญของสยามมิใช่พม่า  หากแต่เป็นพระยาละแวกแห่งกัมพูชา  เพราะคอยลอบเข้าตีปล้นไทยในยามที่ทำศึกติดพันอยู่กับพม่า  ดังนั้น  เมื่อศึกหงสาวดีสงบลงแล้วจึงควรต้องตีกรุงละแวกศัตรูสำคัญให้สิ้นเสี้ยนหนามเสียก่อน

          สมเด็จพระนเรศวรกรีธาทัพเข้าย่ำกรุงละแวกจนยับเยิน  สมเด็จนักพระสัตถาผู้เป็นพระยาละแวกพาครัวหลบหนีไปได้ในปี พ.ศ. ๒๑๓๖  กองเรือติดอาวุธของสเปนตามคำขอของพระยาละแวกเดินทางถึงกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๑๓๙  อันเป็นปีที่พระยาละแวกซึ่งหนีไปอยู่ในแดนลาวสิ้นพระชนม์พอดี  กองเรือสเปนจึงมาล่าช้าไปถึง ๓ ปี

          เรื่องพระยาละแวกพาครัวหนีไปหลบซ่อนอยู่ในเขตแดนลาวตามเอกสารสเปนนี้  ความตรงกันกับพงศาวดารละแวกกัมพูชา  ที่กล่าวไว้ว่า

           “สมเด็จพระนเรศวรได้แต่องค์พระศรีสุพรรณมาธิราช  ส่วนพระยาละแวกนั้นได้เสด็จพร้อมพระโอรสสองพระองค์  คือ  พระไชยเชษฐาธิราช  และพระบรมราชาธิราช  ลี้ภัยไปเมืองศรีสุนทร  แล้วต่อมาได้เสด็จไปประทับที่เมืองลาวล้านช้าง”

          เอกสารสเปนกับพงศาวดารละแวกกัมพูชาให้ความตรงกันกับพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมิได้ตัวพระยาละแวก  ได้แต่ตัวสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ  ผู้เป็นพระอนุชา  และเป็นมหาอุปราชกัมพูชาพร้อมครอบครัวมากรุงศรีอยุธยา  ความที่ว่าสมเด็จพระนเรศวรได้ตัวพระยาละแวกแล้วทรงให้ตัดศีร์ษะเอาเลือดล้างพระบาทนั้น  จึงควรตกไป

           “วันวลิต”  กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งเขาได้จากคำบอกเล่าของชาวสยามในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง  กล่าวไว้ว่าอีกอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

           “หลังจากได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาและกองทัพพะโค  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงรวบรวมกองทัพประกอบด้วยทหารจำนวนมากพอสมควร  ยกไปโจมตีกัมพูชา  โดยมี ออกญาจักรี  และออกญากลาโหม เป็นทัพหน้า  และสมเด็จพระนเรศราชโอรสเป็นทัพหลัง  เมื่อยกทัพถึงพรมแดนกัมพูชา  ออกญาจักรีฉวยโอกาสเข้ายึดเมืองชายแดน  โดยคิดว่าจะทำความดีถวายพระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรส  เมื่อพระนเรศเสด็จมาถึงก็ทรงพระพิโรธในการกระทำของออกญาจักรี  มีรับสั่งให้   “ถลกหนังทั้งเป็น”  ทรงตรัสว่า  “พระเจ้าแผ่นดินพระราชบิดาเรา  เป็นผู้สั่งให้เจ้ามาที่นี่  แต่ไม่ได้สั่งให้เจ้าเข้าโจมตี  และเอาชีวิตทหารของเรามาเสี่ยงอันตรายเช่นนี้  เจ้าพยายามจะทำความดีความชอบแข่งกับเรา  เพื่อว่าเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว  ทั้งเราและเจ้าจะได้มีชัยชนะเหมือนกันทั้งสองคน  ด้วยเหตุนี้เจ้าจึงต้องตาย”

          พระนเรศยกทัพต่อไป  ทรงทำลายสถานที่หลายแห่งในกัมพูชาและในที่สุดก็มีชัยต่อพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา  พระองค์พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาและพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์เป็นเชลย  แต่ทรงตั้งให้พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาปกครองแผ่นดินสืบไป  โดยที่พระราชโอรสให้สัญญาว่า  จะไม่ขบถต่อกรุงศรีอยุธยา  และจะต้องเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม”

          แม้วันวลิตจะกล่าวว่า  สมเด็จพระนเรศวรทรงจับตัวพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา (พระยาละแวก) ได้  แต่ก็ไม่กล่าวว่าทรงประหารพระยาละแวกในพิธีปฐมกรรม  และยังกล่าวผิดแผกไปว่า  สงครามทำลายกรุงละแวกนี้  เกิดขึ้นในสมัยที่สมเด็จพระมหาธรรมราชายังทรงพระชนม์อยู่  สมเด็จพระนเรศวรยังมิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เป็นความต่อเนื่องจากการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา  ซึ่งผิดกาลเทศะเช่นเดียวกับคำให้การชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัด

           “ละแวก”  เป็นชื่อเมืองหลวงของกัมพูชา  ที่สมเด็จกัน  หรือ  พระบรมราชาทรงตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๖๙  เมื่อทรงล่วงลับไปแล้ว  สมเด็จนักพระสัตถาทรงครองสืบแทน  ผู้ที่ยกกำลังมารุกรานกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งในขณะที่ไทยกำลังรบติดพันกันอยู่กับพม่านั้น  คือ  นักพระสัตถา  ซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาละแวก  ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปตีกรุงละแวกนั้น  พระองค์ทรงติดต่อผู้ว่าราชการแห่งหมู่เกาะพิลิปปินส์  ขอให้ยกกำลังมาช่วยรบกองทัพสยาม  แล้วจะให้สิทธิ์เผยแพร่คริสต์ศาสนาแก่สเปน  แต่นายดอน ลุยส์ เด ลัส มารีญัส  เขาหวังมากกว่านั้น  คือกะว่าเมื่อช่วยรบชนะศึกสยามแล้วเขาจะยึดครองกัมพูชาเสียเลย  แต่เขาส่งกองทัพเรือมาถึงกัมพูชาช้าไป ๓ ปี  เพราะสมเด็จพระนเรศวรตีกรุงละแวกแตกยับเยินในปี พ.ศ. ๒๑๓๖  กรุงละแวกก็ถึงกาลอาวสานในบัดนั้น.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, กุมภาพันธ์, 2562, 10:46:32 PM
(https://i.ibb.co/JrWPZpg/King-Naresuan-Army6.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- เผด็จศึกเขมรแล้วตีพม่า -

ปราบละแวกสิ้นฤทธิ์เป็นสิทธิ์ขาด
ความเก่งกาจเกริกไกรขยายผล
จัดระเบียบบ้านเมืองรอบล่างบน
ให้รอดพ้นภาวะอันตราย

ครั้นสะสมกำลังมากช้างม้า
ทหารกล้าแกร่งมากมีหลากหลาย
จึ่งยกทัพตีพม่าอย่างท้าทาย
เป้าสุดท้ายที่ปองคือ”ตองอู”


          อภิปราย ขยายความ.........

          เมื่อทรงปราบปรามละแวกราบคาบลงแล้ว  จึงวางแผนปราบปรามพม่าต่อไป  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าได้บันทึกเหตุการณ์หลังจากยึดครองกัมพูชาได้สิ้นแล้ว  ดังต่อไปนี้

           “ศักราช ๙๕๖ มะเมียศก(พ.ศ. ๒๑๓๗)  ยกทัพไปเมืองสะโตง”
           “ศักราช ๙๕๗ มะแมศก (พ.ศ. ๒๓๓๘)  วันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท  เสด็จพยุหบาทตราไปเมืองหงสาครั้งก่อน  ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี  ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน มาเถิงวันจันทร์  แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเที่ยงแล้ว  เข้าปล้นเมืองหงสามิได้  ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา”
           “ศักราช ๙๕๘ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๓๙)  วันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖  ลาวหนี  ขุนจ่าเมืองรบลาว  ตำบลตะเคียนด้วน และ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๓  ฝนตกหนักหนา ๓ วัน  ดุจฤดูฝน”
           “ศักราช ๙๖๑ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๔๒)  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๘ บาท  เสด็จพยุหบาทตราไปตองอู  ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี  ตั้งทัพชัยตำบลวัดตาล  และในเดือน ๑๑ นั้น  สงกรานต์  พระเสาร์แต่ (ราศีกันย์ไปราศี) ตุลย์  ครั้นเถิงวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔  เสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองตองอู  และทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณ ๓๐ เส้น  และตั้งอยู่ที่นั้นสองเดือน ขาดอาหารพ้นกำลัง  ไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอดอาหารเป็นอันมาก  ครั้นวันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖  ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนครศรีอยุธยา”
           “ศักราช ๙๖๔ เถาะศก (พ.ศ. ๒๑๔๖)  ทัพพระ(เจ้า)ฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้”
           “ศักราช ๙๖๖ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๔๗)  วันพฤหัสบดี (แรม ๖ ค่ำ เดือน ๒)  เสด็จพยุหบาทตราจากป่าโมกโดยทางชลมารค  และฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช  ตั้งทัพชัยตำบลพระหล่อ  วันนั้นเป็นวันอุนและเป็นสงกรานต์  พระเสาร์ไปราศีธนูเป็นองศาหนึ่ง  ครั้งนั้นเสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองหลวง  ตำบลทุ่งดอนแก้ว”.......

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้พระโหราเป็นหัวหน้าคณะรวบรวมเหตุการณ์บ้านเมืองตั้งแต่ต้น  จดบันทึกไว้เมื่อปีจุลศักราช ๑๐๔๒  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๒๓  นั้น  ข้อความทั้งหมดเป็นที่เชื่อถือได้มากที่สุด  เสียดายที่ต้นฉบับพระราชพงศาวดารฉบับนี้  พลัดพรายไปจากราชสำนักเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกด้วยน้ำมือพม่า  สมุดข่อยเล่มหนึ่งกระจายไปตกอยู่ที่เพชรบุรี  หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์)  ไปพบชาวบ้านกำลังเผาเอกสารเก่าทิ้งด้วยไม่รู้คุณค่าของเอกสารนั้น ๆ  ขณะที่คุณหลวงพบนั้นชาวบ้านได้เผาสมุดข่อยฉบับนี้หมดไปครึ่งฉบับ (ตอนท้าย)  เหลืออยู่เพียงครึ่งเล่ม (ตอนต้น)  จึงขอส่วนที่เหลือนั้นมาอ่านได้ความว่าเป็น  “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า”  มีเรื่องราวดังที่ยกมาแสดงแล้วนั้น

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าตอนนี้บอกเล่าเรื่องสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีพม่า  เริ่มตั้งแต่  ตีเมืองสะโตง  หงสาวดี  และเมืองตองอู  ตั้งทัพล้อมเมืองอยู่แรมเดือน  ตีหักเอามิได้  ขาดเสบียงอาหาร  ทหารเจ็บป่วยล้มตายลงมาก  จึงถอยทัพกลับคืน  เมื่อพักฟื้นกำลังดีแล้วจึงยกไปเอาเมืองตองอูอีกครา  ผลจะเป็นอย่างไร ยังไม่ทราบ  เพราะพระราชพงศาวดารตอนท้ายนี้ถูกเผาไปสิ้นแล้ว  จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

          เรื่องราวต่อไปนี้ไม่มีพระราชพงศาวดารกรุงเก่าเป็นหลัก  แต่ก็จะใช้คำให้การขุนหลวงหาวัด  คำให้การชาวกรุงเก่า  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต  และฉบับอื่น ๆ มาแสดงให้ทราบกันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, กุมภาพันธ์, 2562, 11:05:16 PM
(https://i.ibb.co/8xnQMjt/16114573-1288882964508504-6730000437147040634-n.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- ตีเมืองน้อยใหญ่รวมพล -

พระนเรศวรเจ้าผู้ห้าวหาญ
ทรงรอนรานเสี้ยนเศิกเลิกทุกผลู
ปราบเมืองใต้ไปหมดมลายู
ปวงริปูคร้ามลานสะท้านสะเทือน

สุดท้ายไปปราบพม่าที่กล้าสู้
ตั้งตองอูไม่ขยับยกทัพเคลื่อน
ทรงไปถึง“เมืองหาง”ผ่านย่างเยือน
กลับเป็นเหมือนฟ้ารานประหารชนม์


          อภิปราย ขยายความ............

          วันวลิต กล่าวว่าในคราวที่ยกทัพไปล้อมเมืองตองอูตีหักเอามิได้นั้น  ขณะที่ถอยทัพกลับมาพระนเรศทรงกล่าวปฏิญาณว่า  “จะไม่เข้ากรุงศรีอยุธยาจนกว่าจะได้ชัยชนะ  และเข้าเมืองตองอูได้เสียก่อน"  จากนั้นทรงปราบกัมพูชาที่เป็นขบถ  ตีเมืองจามปาได้  และตีล้านช้างได้แล้ว  ทรงยกทัพไปเมืองหาง  เพื่อเข้าตีตองอูอีกครั้ง  ทรงหมายมั่นว่าจะต้องเข้าเมืองตองอูให้จงได้

          เรื่องราวการยกทัพไปตีตองอูนั้น ชาวกรุงเก่าให้การไว้ว่า

           “เมื่อพระนเรศวรจัดการบ้านเมือง  แลบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จแล้ว  จึงเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่  เมืองเชียงแสน  เมืองนครศรีธรรมราช  เมืองไชยา  เมืองสงขลา  เมืองตานี  ครั้นตีได้เมืองเหล่านี้แล้วก็รวบรวมผู้คนช้างม้าได้เปนอันมากเสด็จยกทัพกลับพระนคร  ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นายทัพนายกองเปนอันมาก  เมื่อมีกำลังผู้คนช้างม้ามากขึ้นทรงพระราชดำริห์เห็นว่าจะทำศึกใหญ่ได้  จึงจัดทัพใหญ่  มีจำนวนพลถึงแปดหมื่นสี่พัน  เปนขบวรช้างรวางมีชื่อ ๔๘ ช้าง  ช้างไม่มีชื่อรวางร้อยเศษ  ขบวรม้ารวางมีชื่อ ๑๕๖ ม้า  ม้าไทย ๑๐๐ ม้า  ม้าฮ่อ ๑๐๐ ม้า  ม้าปีกขวาชั้นใน ๑๐๐ ม้า ฯลฯ......”

          ในคำให้การนี้มีรายละเอียดการจัดขบวนศึก  เป็นกองร้อย  กองพัน  กองหมื่น  ตรัสให้พระเอกาทศรถเปนแม่ทัพหน้า  พระนเรศวรเป็นเปนทัพหลวง  ยกออกจากพระนครศรีอยุธยา  พระเอกาทศรถยกไปตีได้เมืองแญ  เมืองกรุงสิลภารา  เมืองหาง  เมืองโยนกสุเร  แลเขตแดนเมืองหาง  เก็บรวบรวมผู้คนช้างม้าได้เปนอันมาก  ทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยให้ราษฎรอยู่ตามภูมิลำเนาแล้ว  พระเอกาทศรถก็ยกไปตีเมืองหงสาวดี  ให้เข้าล้อมเมืองหงสาวดีไว้

          พระเจ้าหงสาวดีมิได้สู้รบ  เปนแต่ให้กวาดต้อนผู้คนช้างม้าเสด็จหนีไปอยู่เมืองตองอู  พระเอกาทศรถก็ยกพลตามตีพระเจ้าหงสาวดีไปถึงเมืองตองอู  ให้เข้าตีเมืองเปนหลายครั้งก็ไม่ได้  ด้วยเมืองตองอูมีผู้คนเสบียงอาหารบริบูรณ์  ชาวเมืองสู้รบเปนสมารถ  พระเอกาทศรถจึงมีใบบอกมากราบทูลพระนเรศวร  มีใจความว่า  ได้ยกไปล้อมเมืองตองอูแลให้ตีหักเปนหลายครั้งก็ยังหาได้ไม่  ด้วยเมืองตองอูมีเสบียงอาหารบริบูรณ์  แลผู้รักษาแขงแรงดังนี้  พระนเรศวรก็ยกทัพจากเมืองหางไปทางตำบลเขาเขียว  เทพารักษ์ซึ่งรักษาเขาเขียวนั้น  บันดาลให้พระองค์เสด็จสวรรคตบนคอช้างพระที่นั่งพิษณุราชา ณ ตำบลเขาเขียวนั้น...เมื่อปีจุลศักราช ๙๖๐.......”

          ชาวกรุงเก่าให้การเรื่องนี้เมื่อเวลาล่วงเลยจากเหตุการณ์มาได้ ๑๖๒ ปีแล้ว  ความจำจากที่บอกกันด้วยปากต่อปากจึงคลาดเคลื่อนจากวันเวลาไป  ที่ถูกต้องแล้ว  ปีสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรคือ  จุลศักราช ๙๖๗  ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๔๘  ให้การคลาดไป ๗ ปี

          ..... คราวนี้ไปดูคำให้การของพระเจ้าอุทุมพร  หรือ  ขุนหลวงหาวัดในเรื่องเดียวกันนี้บ้าง  พระองค์ให้การไว้อย่างละเอียดว่า

           “ครั้นอยู่มาพระนเรศร์ให้ซ่องสุมทหารโยธาและช้างม้าคชสาร  อาสา  และทหารถืออาวุธเป็นอันมาก  แล้วพระนเรศร์จึงยกทัพไปรบเมืองน้อยใหญ่  จึงไปรบเมืองล้านช้าง  เมืองเชียงใหม่  เมืองเชียงตุง  เมืองเชียงแสน  เมืองจำปาศักดิ์  อันเมืองเหล่านี้อยู่ฝ่ายทิศเหนือ  ยังเมืองปากใต้  เมืองนคร  ไชยา  ตานี  พัทลุง  สงขลา  ออกไปจนกระทั่งเกาะเมืองเรียก (เรียว ?) แดนชวา  และได้เมืองน้อยใหญ่นอกนี้เป็นอันมาก  ครั้นมีชัยกลับมาแล้วพระองค์จึงตั้งหมู่ทหารต่าง ๆ คือหมู่ทศโยธา  จตุรงคเสนา  และหมู่องครักษ์จักรนารายณ์  และอาสาหกเหล่า  และอาสาญี่ปุ่น  อาสาจาม  และอาสาต่าง ๆ  มีกระบวนช้างพิชัยสงคราม แล้วธงชัยกระบี่ธุชครุฑธวัช  และพระเสนาธิปัตติฉัตรชัยกาวพ่าย  สำหรับกระบวนมหาพิชัยสงคราม  ครั้นพร้อมแล้วจึงเกณฑ์ช้างที่นั่งเอก  ที่นั่งรอง  และช้างระวางนอกระวางใน  ทั้งช้างซ้ายช้างขวา  ทั้งดั้ง  ทั้งกัน  มีทั้งช้างเขนช้างแพน  อันช้างเหล่านี้มีชื่อต่าง ๆ  จึงผูกเครื่องพระที่นั่งนั้นก็ต่าง ๆ  ทั้งช้างพังช้างพลายมีทั้งเขนและแพน  ทั้งปืนน้อยและปืนใหญ่  ทั้งหอกและทวนหลังช้างก็ครบตัวช้างทั้งสิ้น  อันช้างตัวหนึ่ง  มีคนขี่สามคนมีอาวุธครบตัวคน  ยังเหล่าม้าพระที่นั่งเอก  ที่นั่งรอง  โรงนอก  โรงใน  ม้าซ้าย  ม้าขวา  ทั้งม้าอาสาเกราะทอง  ทั้งม้าหอก  ม้าทวน  และม้าชัย  อันม้าเหล่านี้ผูกเครื่องต่าง ๆ กันทั้งสิ้น  แล้วจึงถึงเหล่าทหารขี่รถต่าง ๆ  มีทั้งรถดั้งรถกัน  รถเขนรถแทงแพน  อันคนเดินถืออาวุธต่าง ๆ กัน  ยังเหล่าปืนใหญ่เกณฑ์มีชื่อต่าง ๆ  อันเหล่าทหารปืนใหญ่นั้น  ล้วนเหล่าฝรั่งเศสเกณฑ์  มีชื่อและมีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น  แล้วจึงเกณฑ์ทหารใหญ่ให้เป็นยกกระบัตร  เกียกกาย  ปีกซ้าย  ปีกขวา  ทัพหน้า  ทัพหลัง  ทัพหนุน  ทัพรอง  ทัพเสือป่า  แมวเซา  แต่บรรดาอำมาตย์และทหารพลทัพเหล่านี้  มีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น  แล้วจึงขึ้นไปจักรบเมืองหงสา  จึงยกทัพไปทางเมืองพิษณุโลก  จึงหยุดพลไปในป่า  แล้วตัดไม้ข่มนามตามที่พิชัยสงคราม  ครั้นยกไปถึงเมืองเรียวจึงเข้ารบลาวเมืองเรียว  ฝ่ายลาวเมืองเรียวก็ออกสู้รบต้านทานเป็นหนักหนา แล้วตั้งค่ายคูมั่นคง  ฝ่ายลาวก็ออกสู้รบประจันกันเป็นอันมาก  ฝ่ายไทยก็เข้าโจมทัพรุกรบกันกลางแปลง  แต่ไทยกับลาวเมืองเรียวนั้นสู้รบกันอยู่หลายวัน......พระนเรศร์กับโยธาทั้งปวงจึงเข้าตีประดากันเข้าไป  แล้วพระองค์จึงจับพระแสงแล้วก็ปีนค่ายขึ้นไป  พระเอกาทศรถจึงปีนขึ้นไปกับเหล่าโยธาทหารทั้งปวง  ก็เข้าได้ในค่ายลาว  ก็ฟันแทงลาวล้มตายพ่ายพังไปทั้งสิ้น......”

          จากคำให้การดังกล่าวนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า  สมเด็จพระเอกาทศรถ  ทรงเป็นนักรบผู้กล้าหาญมากทีเดียว  พรุงนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย
๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, กุมภาพันธ์, 2562, 12:00:17 AM
(https://i.ibb.co/nLfN8vL/King-Naresuan-the-Great10.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระนเรศวรสวรรคต -

ตำนานเก่าเล่าเรื่องของ“เมืองหาง”
ณ ใจกลางเมืองนี้มีนุสนธิ์
“เขารังรุ้ง”แหล่งใหญ่รวมใจชน
พุทธ์บาทบนยอดเขาเนานานมา

นเรศวรเป็นเจ้าทรงเคารพ
ขึ้นไปนบสมโภชถวายผ้า
ก่อนยกทัพเสด็จเจ็ดทิวา
สวรรคตกลางมรรคาไทยอาดูร...

          อภิปราย ขยายความ ........

           “เมืองเรียว”  คือเมืองใดในปัจจุบันยังมิได้สืบค้นหากัน  รู้ได้แน่ว่าเป็นเมืองใหญ่เมื่อปีจุลศักราช ๙๖๗  ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๔๘ นั้น  ที่เชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่เพราะสามารถรบกับกองทัพอันเข้มแข็งของสมเด็จพระนเรศวรได้หลายวัน  จนพระองค์ต้องทรงพระแสงปีนค่ายขึ้นไปยึดด้วยพระองค์เองจึงสำเร็จได้  ขุนหลวงหาวัดให้การต่อไปอีกว่า......

           “ครั้นพระนเรศร์มีชัยกับลาวได้เมืองเรียวทั้งสองเมืองแล้ว  จึงยกทัพไปตีเมืองกงศรีละลายได้ง่ายงาม  ครั้นได้เมืองศรีละลายแล้ว  พระนเรศร์จึงยกทัพไปรบเมืองห่าง  ฝ่ายลาวเมืองห่างก็ทานสู้รบมิได้  ก็แตกหนี  พระนเรศร์ก็มีชัยกับเมืองห่าง

          อันว่าเมืองห่างนี้  เป็นเมืองบุรีบุราณเขามาช้านานหนักหนา  แต่นับกษัตริย์ได้ถึงร้อยชั่วแต่คราวเมืองปาตลีบุตรนั้นมา  มีรอยพระพุทธบาท  อยู่บนยอดเขาเรียกเขารังรุ้ง  แต่ก่อนตั้งพระศาสนาพร้อมด้วยพระรัตนตรัย  พระนเรศร์จึงทำพิธีเข้าเหยียบกรุงจักให้รุ่งเรืองเดชา  อันที่พระพุทธบาทนั้นก็สด็จไปนมัสการ  พระองค์จึงเปลื้องเครื่องทรงทั้งสังวาลและภูษา  และทรงไว้ในรอยพระพุทธบาท  แล้วทำสักการบูชาธง  ธูป เทียน  ข้าวตอก  ดอกไม้  มีเครื่องทั้งปวงเป็นอันมาก  แล้วจึงทำพิธีสมโภชอยู่เจ็ดราตรี  จึงให้มหาอุปราชเป็นทัพหน้ายกไปเมืองหงสาก่อน  อันองค์พระนเรศศร์นั้นเสด็จอยู่เมืองห่าง  เพราะเหตุฉะนี้  จึงถวายพระนามเรียกพระองค์  “พระนารายณ์เมืองห่าง”  เป็นกรุงหยุดพักอยู่กลางทางของพระองค์

          ครั้นเสร็จการมงคลพิธีแล้วพระองค์ก็ยกไปเมืองหงสา  จึงทรงช้างพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์  ก็พ้นเมืองทางไกลได้เจ็ดวัน  จึงพ้นไปหน้าเขาเขียวดงตะเคียนใหญ่  จึงมีศาลนางเทพารักษ์อยู่ที่ต้นตะเคียนใหญ่  มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  เสนาจึงทูลเชิญเสด็จให้ลงจากช้างพระที่นั่ง  เมื่อจักมีเหตุมานั้น  พระนเรศร์จึงถามเสนาว่า  เทพารักษ์นี้เป็นเทพารักษ์ผู้ชายหรือผู้หญิง  เสนาจึงทูลว่า  อันเทพารักษ์เป็นนางศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  พระนเรศร์จึงตรัสว่า  อันเทพารักษ์นี้  เป็นแต่นางเทพารักษ์ดอก  ถ้าจักเป็นเมียเราก็จักได้  เราไม่ลงจากช้าง  ครั้นพระนเรศร์ตรัสดังนี้แล้วก็ทรงช้างพระที่นั่งผ่านหน้าศาลเทพารักษ์นั้นไป  จึงเห็นเป็นตัวแมลงภู่บินตรงมาหน้าช้าง  แล้วก็เข้าต่อยเอาที่อุณาโลม  องค์พระนเรศร์นั้นก็สลบอยู่กับหลังช้างพระที่นั่ง  แล้วก็เสด็จสู่สวรรคตที่ตรงหน้าเขาเขียวนั้น

          เสนาทั้งปวงจึงเชิญพระศพ  แล้วก็กลับมายังพลับพลาเมืองหาง  ส่วนพระเอกาทศรถนั้นก็ยกพลไปถึงแดนเมืองหงสา  จึงตีบ้านกว้านกวาดมอญลาวหญิงชายเป็นอันมาก  แล้วจักยกเข้าตีเมืองหงสา  ก็พอเสนาอำมาตย์ให้ม้าใช้เร่งรีบไปทูลความพระนเรศร์สวรรคต  พระองค์ครั้นทราบดังนั้นก็เร่งรีบยกพลโยธาทัพกลับมายังเมืองห่าง  ครั้นถึงแล้วก็เสด็จเข้าสู่ยังสถานพระเชษฐา  จึงกอดพระบาทพระพี่ยาเข้าแล้วก็ทรงพระกันแสงโศกาดูรร่ำไรไปต่าง ๆ  พระองค์ก็กอดพระเชษฐาเข้า  แล้วก็สลบอยู่กับที่  แต่ทรงพระกันแสงแล้วสลบไปถึงสามครั้ง  ครั้นพระองค์ก็ได้สมฤดีคืนมา  แล้วพระองค์จึงมีพระบันฑูรตรัสสั่งให้หาพระโกศทองทั้งสองใบที่ใส่พระศพ  แล้วจึงเชิญขึ้นสู่บนพระราชรถแล้ว ก็แห่แหนเป็นกระบวนมหาพยุหบาทตราอย่างยิ่งใหญ่มาจนถึงกรุงอยุธยาธานี  แล้วจึงสั่งให้ทำพระเมรุทองอันสูงใหญ่ยิ่งนัก  อันการพระบรมศพครั้งนั้นเป็นใหญ่หลวงนักหนาที่เกินทางแต่ก่อนมา  ทั้งเครื่องไทยทานก็มากมายหนักหนา  แล้วให้ชุมนุมกษัตริย์ทุกประเทศอันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น  จึงเชิญพระศพแห่แหนไปแล้ว  จึงถวายพระเพลิงที่วัดสบสวรรค์

          อันพระนเรศร์นั้น  วันพฤหัสบดีได้ครองกรุงมาเมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๙๔๐ ปี (๒๑๔๑)  พระชนมายุได้ ๑๕ ปี  อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๐ ปี  เป็น ๓๕ ปี สวรรคต  เมื่อสวรรคตนั้นจุลศักราชได้ ๙๖๐ ปี  สัมฤทธิศก”

          จบคำให้การขุนหลวงหาวัดในตอนนี้  มีความที่ควรขยายอยู่ไม่น้อย  แต่วันนี้ยังไม่ขยายความนะครับ  เอาไว้ว่ากันต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ ธันวาคม ๓๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, กุมภาพันธ์, 2562, 10:17:14 PM
(https://i.ibb.co/FJVG8NH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทุ่งมะขามหย่อง อยุธยา
Cr. Photo By คุณฟองฟ้า ละอองเมฆ

- พระนารายณ์เมืองหาง -

พระนเรศวรเจ้าสวรรคต
ไทยทั้งหมดแดดิ้นเหมือนสิ้นสูรย์
พร้อมเดือนดาวดับไปไม่เหลือมูล
ทวีคูณมืดมัวสลัวลาง

เหลือความดีวีรกรรมประจำชาติ
มหาราชยิ่งใหญ่ไว้แบบอย่าง
รบรอบทิศพิชิตศึกหมดทุกทาง
มีเมืองหางเป็นถิ่นสิ้นพระชนม์....


          อภิปราย ขยายความ........

          การสวรรคตองสมเด็จพระนเรศวรมีปัญหา  เพราะว่าในพงศาวดารทั่วไป (ยกเว้นคำให้การขุนหลวงหาวัด,ชาวกรุงเก่า) กล่าวกันว่า  พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคพระศรี  หรือ  ฝีดาษ  สถานที่สวรรคตก็ระบุไว้กว้าง ๆ ว่า ที่เมืองหาง  แต่คำให้การชาวกรุงเก่าว่า  เทพารักษ์บันดาลให้สิ้นพระชนม์ที่ตำบลเขาเขียว  เมืองหาง  ขุนหลวงหาวัดกล่าวให้รายละเอียดชัดเจนว่า  ทรงตีและยึดเมืองหางได้แล้วทำพิธีเหยียบกรุง ด้วยเห็นว่าเมืองหางเป็นเมืองเก่ามีอายุยุคเดียวกับเมืองปาตลีบุตรของพระเจ้าอโศกมหาราช  ในกลางเมืองหางมีภูเขาชื่อเขารังรุ้ง  พระพุทธองค์เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนยอดเขานี้  จึงทรงเสด็จขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท  และจัดพิธีสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน  พระองค์ประทับ ณ เมืองนี้ ๗ วัน  ตรัสให้พระเอกาทศรถยกทัพไปหงสาวดีก่อน  เหตุทรงประทับ ณ เมืองหางนี้เป็นเวลานาน  จึงได้พระนามอีกว่า  “สมเด็จพระนารายณ์เมืองหาง”

          การสวรรคตของพระนารายณ์หรือพระนเรศร์นี้  ขุนหลวงหาวัดให้รายละเอียดไว้ว่า  ทรงเดินทางจากเมืองหางไปได้เจ็ดวันถึงเขาเขียวบริเวณดงตะเคียนใหญ่ ณ ที่นั้นมีศาลเทพารักษ์สตรี (เจ้าแม่ตะเคียน) ตั้งอยู่  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เสนากราบทูลให้ลงจากหลังช้างเพื่อแสดงความเคารพ  พระองค์ตรัสว่า เทพารักษ์นี้เป็นเทพารักษ์ชายหรือหญิง  เสนาทูลว่าเป็นเทพารักษ์หญิง  ทรงตรัสว่า  เทพารักษ์นี้เป็นนาง  ถ้าจักเป็นเมียเราก็จักได้  ไม่ลงจากช้าง  ตรัสแล้วก็ทรงช้างผ่านเลยไป  ทันใดนั้น  มีตัวแมลงภู่บินตรงมา  ต่อยตรงหน้าผากพระองค์จนสลบ  สิ้นพระชนม์บนคอช้าง

          ความเรื่องนี้ไม่ปรากฏในที่ใดมาก่อน  เรื่องที่ออกจากพระโอษฐ์ (อดีต) พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา (ขุนหลวงหาวัด)  ไม่น่าจะเป็นความเท็จไปได้

          เมืองหางอันเป็นเมืองที่เสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น  ปัจจุบันคือ  อำเภอเวียงแหง  จังหวัดเชียงใหม่  ส่วนต้นตะเคียนใหญ่ที่ตั้งศาลเทพารักษ์  หรือเจ้าแม่ตะเคียนในป่าตะเคียนเชิงเขาเขียวนั้น  ยังไม่แน่ชัดว่าอยู่ในเขตอำเภอเวียงแหงหรือเลยเข้าไปอยู่ในเขตแดนของสหภาพเมียนมาร์  ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า  การเดินทางด้วยช้างม้าจากเมืองเวียงแหงเป็นระยะเวลา ๗ วันนั้น  จะไปถึง ณ บริเวณใด

          ทราบมาว่า  ชาวไทยใหญ่ให้ความเคารพเทิดทูนสมเด็จพระนเรศวร  และสร้างศาลไว้เป็นที่เคารพบูชาในเขตแดนอิทธิพลของไทยใหญ่  ด้วยเชื่อว่า  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปสวรรคต ณ ที่นั้น

          พระราชพงศาวดารระบุปีสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ตรงกันว่า  ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ จุลศักราช ๙๖๗  ผิดไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า ๗ ปี  และเป็นที่ยุติแล้วว่า  วันเดือนปีทางจันทรคติดังกล่าวนั้น  ตรงกับวันเดือนปีทางสุริยคติคือ  วันจันทร์ ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘

          คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ  มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พศจิกายน ๒๕๔๘  กำหนดให้วันที่ ๒๕ เมษายนของทุกปี  เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นรัฐพิธี  โดยให้มีการวางพวงมาลาถวายสักการะ  ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ......

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41419#msg41419)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41731#msg41731)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีาพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, กุมภาพันธ์, 2562, 10:16:36 PM
(https://i.ibb.co/3WRZXqG/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดวรเชษฐาราม : อยุธยา



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41561#msg41561)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41900#msg41900)                   .

- สมเด็จพระเอกาทศรถ -

สมเด็จพระเอกาทศรถ
เกียรติปรากฏไม่ฟ่องก้องกาหล
เป็น“พระรอง”น้องนเรศร์ผู้จอมคน
ทรงรับผลงานพี่มิยากเย็น

ครองกรุงศรีมีสุขไร้ข้าศึก
ริปูนึกเกรงขามฝังความเห็น
ภาพเคียงคู่พระเชษฐาคราลำเค็ญ
ปราบยุคเข็ญเศิกเสี้ยนโล่งเลี่ยนไป


          อภิปราย ขยายความ...........

          หลังจากสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตแล้ว  สมเด็จพระเอกทศรถพระอนุชาธิราชสืบราชสมบัติตามพระราชประเพณี  ขุนหลวงหาวัดให้การไว้ว่า

           “ ครั้นพระนเรศร์สวรรคตแล้ว  พระเอกาทศถจึงครอบครองกรุงฉลองพระเชษฐาสืบไป  จึงทำการราชาภิเษกอันครบครัน  จึงถวายพระมเหสีพระนามชื่อพระสวัสดี  พระองค์จึงสร้างวัดไว้ที่ถวายพระเพลิงพระนเรศร์  แล้วจึงสมมุตินามเรียกวัดสบสวรรค์  พระองค์จึงสร้างวัดไว้ที่สวนฉลององค์พระเชษฐาวัดหนึ่ง  จึงสมมุตินามที่เรียกว่า  วัดวรเชษฐาราม  แล้วพระองค์จึงถวายที่เขตอาราม  จึงจารึกไว้ในแผ่นศิลา  อันเหล่าบรรดาทหารทั้งนั้น  พระองค์ปูนบำเน็จหนักหนาให้เป็นชั้นหลั่นกันลงมา  ทั้งบุตรภรรยาได้ดี  อันทหารห้าร้อยคนเดิมนั้น  พระองค์เพิ่มบำเหน็จภาษี  ให้ทั้งโคควายไร่นาและถิ่นฐานบ้านเรือน  ทั้งทาสีทาสา  แล้วให้มีตราราชสีห์คุมห้าม  ด่านขนอนอากรทั้งปวงเบ็ดเสร็จ  มิให้เบิกจ่ายทุกกระทรวงจนต้องคดีโรงศาลประทานให้ทั้งพินัยหลวง  ที่พระองค์ประทานทั้งปวงนี้มิให้ล่วงพระโองการที่พระเชษฐาสั่งไว้  อันเมืองกรุงศรีอยุธยานี้มีมอญและลาวมากมาแต่ครั้งนั้น  จึงเอาจ่ายในการเมือง  แล้วให้เลี้ยงช้างทั้งกรุงทั้งหมู่โขลงแล่น  มียศทั้งสิ้น  ก็มีมาแต่ครั้งนั้น  อันมอญและลาวเหล่าเชลยจึงมีหนักหนา  ด้วยพระนเรศร์เธอกวาดต้อนเอามาทุกบ้านเมืองจึงมีมากมาแต่ครั้งนั้น  กรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งนั้น  มีเดชานุภาพเลื่องลือชาปรากฏหนักหนา  แล้วพระองค์จึงสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง  จึงสมมุตินามเรียกพระศรีสรรเพชญ์  ใหญ่สูงสิบแปดศก  หล่อด้วยสังกะสีเป็นชั้นใน  ข้างนอกนั้นหุ้มทองคำ  หนักทองร้อยเจ็ดสิบสามชั่ง  จำได้แล้วพระองค์จึงทำเป็นรูปพระเชษฐาธิราช  คือรูปพระนเรศร์  จึงเอาไว้ในโรงแสงขวา  แล้วพระองค์จึงสร้างปราสาทชื่อบรรยงค์รัตนาศน์ แล้วจึงขุดสระล้อมรอบ  แล้วจึงสร้างวัดราชบูรณะวัดหนึ่ง  อยู่ในกรุงทิศตะวันออกเฉียงใต้วัง  วัดโพธารามวัดหนึ่งอยู่นอกกรุงทิศตะวันตกเฉียงเหนือเมือง  แล้วจึงสร้างพระเจดีย์เรียกมหาคาราเจดีย์องค์หนึ่งอยู่วัดกุฎีดาวนอกเมืองอยูทิศตะวันออก  อันพระเอกทศรถนั้นรักพระนเรศร์เชษฐายิ่งนัก  อันดาบทรงของพระนเรศร์ที่คาบแล้วปีนค่ายขึ้นไปในวันนั้น  ก็ยังปรากฏเป็นรอยพระทนต์คาบนั้นมีอยู่ตัวดาบ  อันด้ามนั้นทำด้วยนอแล้วประดับพลอยแดง  อยู่ในโรงแสงซ้าย  อันชาวแสงนั้นเชิญออกมาชำระทีใดแม้นมิบาดก็ไม่ได้  อันพระแสงองค์นี้กินเลือดคนอยู่อัตราแต่ไรมา  อยู่จนเสียกรุงเมืองครั้งนี้  อันพระแสงง้าวที่ฟันอุปราขาขาดคอช้าง ชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่ายนั้น  ก็เอาไว้ในโรงแสงซ้าย  อันพระแสงที่ตีช้างมอญล้มนั้น  เรียกพระแสงช้างตีล้ม  ก็ไว้ในโรงแสงซ้าย  อันพระมาลาที่อุปราชาฟันถูกเข้าบิ่นไปนั้น  ก็ไว้ในโรงแสงซ้าย  อันรูปพระนเรศร์นั้นไว้ในโรงแสงขวา  อันพระเอกาทศรถนั้น  จักได้ไปรบพุ่งบ้านใดเมืองใดนั้นหามิได้  ตั้งอยู่ในธรรมสิบประการ  ทั้งอาณาประชาราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข  ทั้งสมณชีพราหมณ์ก็จำเริญศีลาบารมี  ก็เป็นสุข  อันพระเอกาทศรถนั้นได้เสวยราชสมบัติมาแต่เมื่อจุลศักราช ๙๖๐  มีพระชนม์ได้ ๒๐ ปี  อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๙ ปี  สวรรคตเมื่อจุลศักราชได้ถึง ๙๗๙ ปีฯ..”

           คำให้การของขุนหลวงหาวัดดังกล่าวให้ถือไว้เป็นความรู้อีกข้อมูลหนึ่ง  ในที่ทั่ว ๆ ไปว่า  พระเอกาทศรถหรืออีกพระนามหนึ่งคือ  พระอนุชาธิราชพระราเมศวร  ทรงครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๑๔๘ –๒๑๕๓ เป็นเวลา ๕ ปี  ดร.หม่อง ทินอ่อง  กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์พม่าว่า  พระองค์ไม่นิยมการบ  จึงอยู่อย่างสงบ  ตรงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดที่ว่า  “จักได้ไปรบบ้านใดเมืองใดนั้นหามิได้”  และยังตรงกับวันวลิตที่กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาต่างจากพงศาวดารฉบับอื่น  กล่าวไว้ดังนี้

            “ พระอนุชาสมเด็จพระนเรศราชาธิราช  เสวยราชย์เมื่อพระชนมายุ ๔๕ พรรษา  ทรงพระนามว่า  พระอนุชาธิราชพระราเมศวร  ถ้าหากเปรียบเทียบกับการปกครองอันเข้มงวดของพระนเรศแล้ว  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี  มีพระปรีชาสามารถ  และทรงตัดสินพระทัยดี  แต่พระองค์ไม่ทรงเป็นนักรบ  ในรัชสมัยของพระองค์ไม่ทรงทำสงครามเพื่อรุกรานประเทศอื่น  หรือเพื่อป้องกันประเทศ  แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองอย่างอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งหลายครั้งในรัชสมัยของพระองค์  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากผู้ครองนครและพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย  ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจของพระเชษฐาได้แข็งเมือง (ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว)  นอกจากนั้นพระองค์ทรงดำเนินสายกลางในการปกครอง  ไม่เคร่งครัดในศาสนา  แต่ทรงชอบพระสงฆ์บ้างเล็กน้อย  ทรงนิยมการล่าสัตว์  ทรงม้า  ทำยุทธหัตถี  และทรงเรือไปตามสถานที่ต่างๆฯลฯ”

           นอกจากนี้  วันวลิต  ได้ให้รายละเอียดโดยสรุปว่า  พระองค์ทรงนิยมคบค้าชาวต่างประเทศและออกกฎหมายในทำนองกดขี่หลายฉบับ  ทรงสร้างราชมณเฑียรใหญ่ ๆ ด้วยหยาดเหงื่อของคนจนและชาวต่างประเทศเป็นสำคัญ  และจบตอนด้วยความว่า  “ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองใด ๆ ในสมัยพระองค์ และกลับเป็นระยะเวลาที่มีความยุ่งยากเรื่อยมา”

           * จบเรื่องสมเด็จพระเอกาทศรถ  แต่เรื่องสมเด็จพระนเรศวรยังมีประเด็นค้างคาใจอยู่จึงจบไม่ลงครับ

เต็ม อภินันท์
ใถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, กุมภาพันธ์, 2562, 10:39:44 PM
(https://i.ibb.co/PTmd7Mk/2.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- มเหสีพระนเรศวร -

นาม“มณีรัตนา”มหาเหสี
พระนางนี้เอกอนงค์พระองค์ใหญ่
มเหสีนเรศวรล้วนไฉไล
มีทั้งไทยลาวเขมรอยู่เป็นพรวน

นักประวัติศาสตร์ไทยไม่กล่าวถึง
ดูประหนึ่งองค์พระนเรศวร
มิทรงชื่นชมเนื้ออะเคื้อนวล
ความคิดล้วนเหี้ยมหาญการสงคราม....


          อภิปราย ขยายความ ..........

          มีคำถามแทรกเข้ามาว่า  “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีพระมเหสี  พระราชโอรสพระราชธิดาหรือไม่ ?  ซึ่งเป็นคำถามที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยนำมากล่าวถึงในที่ใด ๆ  เพราะมัวมุ่งเน้นในพระราชกรณียกิจความเป็นนักรบ  ผู้เก่งกล้าสามารถของพระองค์เป็นสำคัญ  ลืมไปว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ปุถุชน  ซึ่งบริโภคกามคุณเช่นกัน  พระองค์ต้องมีพระมเหสีอย่างแน่นอน

          ดังนั้น  จึงใคร่พาไปหาคำตอบจากคำให้การขุนหลวงหาวัด,  วันวลิต  ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  และเอกสารกัมพูชา  กับสเปน  ซึ่งเชื่อว่าให้คำตอบได้ชัดเจนที่สุด

          ขุนหลวงหาวัด  คือพระเจ้าอุทุมพร  กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๔๙  ตามประวัติกล่าวว่าพระองค์ทรงผนวชหลายครั้ง  ชาวกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นจึงเรียกพระองค์ว่า  ขุนหลวงหาวัด  ในคราวที่  “ฉินบูชิน หรือมังระ (ดร.หม่อง ทินอ่อง เรียกอย่างนั้น)  มาตีกรุงศรีอยุธยาแตกและเผาทำลายจนยับเยิน  ได้นำตัวพระเจ้าอุทุมพร  ขณะที่ครองบรรพชิตเพศไปพม่าด้วย  และทรงสอบถามเรื่องราวของไทยตั้งแต่ตั้งประเทศมาจนถึงกรุงแตก  พระองค์ทรงให้การตอนที่สมเด็จเด็จพระนเรศวรขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าแผ่นดินว่า

           “ ส่วนพระนเรศร์นั้นก็เข้าไปกรุงศรีอยุธยา  ก็เสด็จขึ้นบนพระราชฐาน  อันอัครมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวง  จึงทำการปราบดาภิเษก  แล้วเชื้อเชิญขึ้นให้เสวยราชสมบัติ  จึงถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้ว  จึงถวายเครื่องเบญจกุธภัณฑ์ทั้งห้า  แล้วเครื่องมหาพิชัยสงครามทั้งห้า  ทั้งเครื่องราชาอุปโภคทั้งปวงจนครบครันแล้ว  จึงถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัฏสมญา  แล้วฝ่ายกรมในจึงถวายพระมเหสีพระนามชื่อนั้น  “พระมณีรัตนา”  แล้วถวายสนมกำนัลทั้งสิ้น  แล้วครอบครองราชสมบัติเมื่อปีจุลศักราชได้ ๙๕๒ ปี.....”

          จึงได้ความชัดเจนว่าในการเสด็จขึ้นเถลิงมหาปราสาทครองราชบัลลังก์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั้น  เมื่อมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตถวายแผ่นดิน  ถวายเครื่องราชกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคครบครันแล้ว  ฝ่ายกรมใน  นำพระนางมณีรัตนา  ถวายเป็นพระมเหสี  พร้อมนางสมนมกำนัลในจำนวนหนึ่ง

           “พระมณีรัตนา”  เป็นใครมาจากไหน  ในทางสันนิฐานเชื่อได้ว่า  พระนางเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  อันประสูติแต่พระสนม  พระนามเดิมว่า  “พระแก้วฟ้า”  ในคราวที่  พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาว  ทูลขอพระเทพกษัตรี  ขนิษฐาพระสวัสดิราช (พระวิสุทธิกษัตรี)  อันประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ในวันที่กำหนดส่งตัวพระเทพกษัตรีนั้น  พระนางเกิดประชวรหนัก  จึงส่งพระแก้วฟ้าไปแทน  พระเจ้าล้านช้างทราบว่ามิใช่คนที่ต้องการจึงส่งคืนมา  ดังความที่กล่าวมาแล้วนั้น

          คำว่า  “แก้วฟ้า”  หมายถึงแก้วที่หยาดลงมาจากฟ้า  ส่วนมณีรัตนา  หมายถึงแก้วหินสีแดง  คือมณีรัตนานั่นเอง  มีความเป็นไปได้ว่า  เมื่อพระเจ้าล้านช้างทรงส่งพระแก้วฟ้าคืนมา จึงเปลี่ยนพระนามใหม่เป็น  “มณีรัตนา”  และครองโสดอยู่ในราชสำนักจนกระทั่งวันที่สมเด็จพระนเรศวร์เถลิงปราสาทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เสนาอำมาตย์ราชวงศานุวงศ์มีความเห็นพ้องกันให้ยกพระนางซึ่งมีศักดิ์เป็นพระน้านาง  ผู้มีพระชันษาไม่ห่างกันมากนักนั้นขึ้นเป็นพระมเหสี  พระนางจึงเป็นมเหสีพระองค์แรก (อัครมเหสี)  ในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

          จดหมายเหตุ  ฟานฟลีต  หรือ  วันวลิต  ชาวฮอลันดา  ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้าทรงธรรมทรงกริ้วพระหมื่นศรีสรรักษ์ (พระเจ้าปราสาททอง) ที่ไปทำร้ายพระยาแรกนา  เมื่อถูกมหาดเล็กจับตัวได้แล้ว  “......พระเจ้าแผ่นดินทรงฟันเขา ๓ ที  ที่ขาทั้ง ๒ ข้าง  จากหัวเข่าลงมาถึงข้อเท้า  แล้วพระองค์จับเขาโยนเข้าไปในคุกดิน  รับสั่งให้พันธนาการไว้ด้วยโซ่ตรวนที่ส่วนทั้ง ๔ ของร่างกาย  พระหมื่นศรีสรรักษ์ถูกจำขังอยู่ในคุกมืดเป็นเวลา ๕ เดือน  จนกระทั่ง  “เจ้าขรัวมณีจันทร์”  ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ  คือพระ  Marit  หรือพระองค์ดำ  ได้ทูลขอ  จึงได้กลับมาเป็นที่โปรดปรานอีก”

           “เจ้าขรัวมณีจันทร์”  ที่วันวลิตกล่าวว่า  เป็นพระชายาม่ายของพระองค์ดำ  นี่ก็ชัดเจนว่าพระนางคือพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวร  และควรจะเป็นพระองค์เดียวกันกับ  “พระมณีรัตนา”  พระหมื่นศรีสรรักษ์ ซึ่งต่อมาได้ครองราชสมบัติมีพระนามว่าพระเจ้าปราสาททองนั้น  ท่านน่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันกับ  “เจ้าขรัวมณีจันทร์”  หรือพระนางมณีรัตนา  และเช่นเดียวกัน  พระเจ้าทรงธรรมกับพระนางมณีรัตนา  หรือ เจ้าขรัวมณีจันทร์  ควรจะเกี่ยวข้องเป็นพระญาติสนิท  จนสามารถทูลขออะไรกันได้ด้วย  หาไม่แล้วคงไม่สามารถขอให้พระเจ้าทรงธรรมยกโทษให้หมื่นศรีสรรักษ์  ได้เป็นแน่

          เรื่องยังจบไม่ลงครับ พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพจากภาพยนตร์


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, กุมภาพันธ์, 2562, 10:30:58 PM
(https://i.ibb.co/vJ52ZwH/kapook-world-553735.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- ปรากฏมเหสีสามองค์ -

มเหสีสามองค์ล้วนทรงยศ
ซึ่งปรากฏที่มาหมดทั้งสาม
ส่วนที่สี่ที่ห้าหากมีตาม
ก็มีความเป็นได้ไม่ชัดเจน

มีโอรสธิดามากกว่าหนึ่ง
ไร้องค์ถึงรุ่งโรจน์ขึ้นโดดเด่น
ด้วยการเมืองเรื่องมากยากกะเกณฑ์
หลักโอนเอนไปมาไม่มั่นคง


          อภิปราย ขยายความ.........

          พระมเหสีพระองค์แรกของสมเด็จพระนเรศวรมีที่มาอย่างชัดเจนว่า  มหาอำมาตย์ปุโรหิตพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เห็นพ้องต้องกันให้ยกพระนางมณีรัตนาถวายเป็นพระมเหสีในพระราชพิธีราชาภิเษก  และพระนางมณีรัตนาพระองค์นี้สันนิษฐานว่าคือ  พระแก้วฟ้า  ราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งประสูติแต่นางพระสนม  หลังจากพระเจ้าล้านช้างประทานกลับคืนมาแล้ว  ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น  “มณีรัตนา” ......คราวนี้ไปดูพระมเหสีพระองค์อื่นๆกันบ้าง

          มีจดหมายเหตุสเปนชื่อ  History Of the Pilippins and Kingdom  ซึ่งบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเคเนอิรา  เขียนขึ้นตามคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน  ผู้เคยพำนักอยู่ในกรุงศรี  อยุธยาช่วงตอนปลายรัชสมัยพระมหาธรรมราชา  ต้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ. ๒๑๒๕ - ๒๑๓๙)  พูดถึงขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ตอนที่ว่าด้วยพระมเหสีและพระราชโอรส  เสด็จโดยเรือพระที่นั่ง  น่าสนใจดังต่อไปนี้

           “ .......แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์  ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรามาก  ติดตามมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน........”

          เรื่องนี้เป็นการพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดแห่งหนึ่ง  แม้ไม่ระบุพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น  ก็พอจะอนุมานเอาได้ว่า  ได้แก่สมเด็จพระนเรศวร  เพราะว่าผู้บอกเล่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  ต้นรัชการสมเด็จพระนเรศวร  จึงเป็นไปไม่ได้ว่าพระราชกุมารผู้ทรงพระเยาว์นั้นจะเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  ด้วยพระราชโอรสของพระองค์มีเพียงสมเด็จพระนเรศวร  กับ  สมเด็จพระเอกาทศรถ  เท่านั้น  จึงเป็นไปได้อย่างแน่นอนว่าพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่เสด็จมาในขบวนพยุหยาตรานั้น  เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนเรศวร  อันประสูติแต่พระนางมณีรัตนา  เอกอัครมเหสี

          เจ้าของนามว่า  “สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์  พบข้อมูลว่า  มีพระมเหสีสมเด็จพระนเรศวรอีก  โดยได้เสนอเรื่องนี้ไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม  ฉบับเดือน มกราคม ๒๕๕๐  สรุปความได้ว่า  พงศาวดารพม่ากล่าวว่า  มีพระมเหสีอยุธยาของสมเด็จพระนเรศ  เรียกว่า  “โยธยามี้พระยา”  พระนางเป็นราชธิดาองค์โตของพระเจ้าเชียงใหม่  คือ  นรธาเมงสอ  หรือฟ้าสาวถีนรธมังคอย  ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองราชบิดาโปรดให้เสวยราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ. ๒๑๒๑-๒๑๕๐  ทรงถวายพะราชธิดาองค์โตให้พระเอกาทศรถ  พระเอกาทศรถรับแลัวถวายให้พระเชษฐา  ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศวร  พงศาวดารพม่าเรียกนามพระนางว่า  “โยธยามี้พระยา”  แปลว่า  “มเหสีอยุธยา”

          พงศาวดารละแวก  ฉบับแปล  จ.ศ.๑๑๗๐ (พ.ศ. ๒๓๕๑)  กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรยกไปตีเมืองละแวกได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๑๓๗  เนื้อความในพงศาวดารละแวกดังกล่าวนั้น  มีว่าดังนี้
“ครั้น ณ ปีมะเมีย ฉศก (พ.ศ.๒๑๓๗)  สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า  พระองค์ได้สมบัติในเมืองละแวกสมดุจหนึ่งพระทัยปรารถนาแล้ว  พระองค์ก็เลิกกองทัพกลับมากรุงศรีอยุธยา  แล้วพระองค์ให้นำมาซึ่งพระศรีสุริโยพรรณกับพระมเหสี  พระราชบุตร  พระราชธิดา  และพระศรีไชยเชษฐ  พรรคพวกพระศรีสุริโยพรรณเข้ามาอยู่เมืองกรุงศรีอยุธยาด้วย  ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงกรุง  และเมื่อพระนเรศวรนำเอาซึ่งพระศรีสุริโยพรรณมานั้น  พระชันษาพระศรีสุริโยพรรณนั้นได้ ๓๘ ปี  แล้วจึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้านำเอาพระราชธิดาพระศรีสุริโยพรรณพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า  พระเอกกษัตรี  เป็นพระมเหสีพระนเรศวรเป็นเจ้า  ในปีมะแม สัปตศก (พ.ศ.๒๑๓๘)”

          วันวลิต  กล่าวในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า  สมเด็จพระนเรศตีกรุงละแวกแตกแล้ว  นำพาพระศรีสุริโยพรรณพร้อมด้วยพระมเหสี  พระราชโอรสธิดามากรุงศรีอยุธยาด้วย  แต่มิได้บอกว่า  พระราชธิดาในสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสี  ซึ่งก็เป็นไปได้ตามความในพงศาวดารละแวกที่ว่า  พระราชธิดาสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณชื่อ  เอกกษัตรี  ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระนเรศวร

          สรุปได้ว่า  สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสีซึ่งมีที่มาอย่างแน่ชัด ๓ พระองค์  คือพระนางมณีรัตนาเป็นเอกอัครมเหสี  ได้มาพร้อมกับพระราชพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ๑ และพระราชธิดาของพระเจ้านรธาเมงสอ  หรือ  ฟ้าสาวถีนรธามังคอย  โอรสพระเจ้าบุเรงนอง  ที่พระบิดาให้มาครองเมืองเชียงใหม่ถวายราชธิดาไม่ปรากฏพระนามเดิมแก่พระเอกาทศรถ  แล้วพระเอกาทศรถถวายแก่พระเชษฐา หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสีสมเด็จพระนเรศวรแล้ว  พม่าเรียกนามพระนางว่า  “โยธยามี้พระยา”  อีก ๑   กับพระราชธิดาสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ  พระนามว่า  เอกกษัตรี อีก ๑   นอกจาก ๓ พระองค์นี้อาจจะมีอีกแต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด

           “เจ้าขรัวมณีจันทร์”  พระชายาม่ายของพระองค์ดำที่วันวลิตกล่าวถึงนั้น   “สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์”  กล่าวว่า  เป็นมเหสีองค์ที่ ๔ ของพระนเรศวรนั้น  ไม่มีที่มาแน่นอน  และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า พระนางเป็นพระองค์เดียวกันกับองค์เอกอัครมเหสีมณีรัตนา  จึงเป็นอันว่า  สมเด็จพระนเรศวร  มีพระมเหสีซึ่งมีที่มาแน่นอน ๓ พระองค์  เป็นเจ้าหญิงไทยพระองค์หนึ่ง  เจ้าหญิงพม่าพระองค์หนึ่ง  และเจ้าหญิงกัมพูชาพระองค์หนึ่ง

          จะมีเจ้าหญิงลาว  เจ้าหญิงจาม  อีกหรือไม่  ใครมีมีหลักฐานที่มา  โปรดแจ้งเพิ่มเติมด้วย  พ้นเทศกาลไปแล้วจะกลับมาว่าเรื่องนี้กันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอบคุณเจ้าของภาพจากภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กุมภาพันธ์, 2562, 10:24:01 PM
(https://i.ibb.co/LYHNF22/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ปริศนาพระเจ้าทรงธรรม -

“พระเจ้าทรงธรรม”องค์นี้มีปัญหา
ต่างตำราต่างรู้ระบุบ่ง
ให้ที่มาสับสนอ่านจนงง
ความจะตรงต้องพิเคราะห์ให้เหมาะความ

ค่อยค่อยอ่านแล้วคิดพินิจเรื่อง
ให้ต่อเนื่องเหตุผลไม่บุ่มบ่าม
หลายแง่มุมมีไว้ให้ติดตาม
พยายามหยิบมาศึกษากัน


          อภิปราย ขยายความ.........

          ได้เว้นว่างการ  "แลหลังอยุธยา"  ไว้ในช่วงการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เสียหลายวัน  วันนี้ได้เวลาที่จะมา  "แลหลังอยุธยา"  กันต่อไป  จะกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาในช่วงที่สับสนอีกช่วงหนึ่ง  คือช่วงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม  โดยพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๒๒  มีพระนามที่รู้จักกันทั่วไป  คือ  “พระเจ้าทรงธรรม”  นอกจากพระนามนี้แล้วยังมีอีกหลายพระนามตามความในพงศาวดารหลายฉบับ  หน้าเพจน้อยนิดนี้ใคร่ขอนำเรื่องของพระองค์จากตำราต่าง ๆ มาแสดง  เพื่อการศึกษาดังต่อไปนี้

          คำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า  ในขณะที่สมเด็จพระเอกาทศรถครองราชสมบัติทรงพระชนม์อยู่นั้น  พระองค์เสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนเขารังรุ้ง  เมืองหาง  หลายครั้ง  พระองค์ทรงมีพระมเหสี ๘ พระองค์  แต่มิได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาเลยสักพระองค์เดียว  ครั้นเสด็จสวรรคตแล้วไม่มีรัชทายาทครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล  ดังนั้น  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงพากันยก  “พระเจ้าทรงธรรม  ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระสุธรรมราชา”   ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

          แต่ วันวลิต  กล่าวว่า  “พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระราเมศวร  ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา  ทรงพระนามว่า  พระอินทราชา  ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ  และมีความเมตตากรุณา......”

          ตามคำกล่าวนี้หมายความว่า  พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๒๒  เป็นราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ  ทรงพระนามว่า  พระอินทราชา  ต่างไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดที่กล่าวว่า  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้  เป็นหลานของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  ทรงพระนามว่า  “พระเจ้าทรงธรรม”  คำให้การขุนหลวงหาวัดไม่มีรายละเอียดเหมือนคำกล่าวของวันวลิต  จึงใคร่ขอนำความที่วันวลิตเขียนไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบางช่วงบางตอนมาแสดง  ดังต่อไปนี้

           “พระองค์ไม่ทรงเป็นนักรบ  แต่ทรงขยันขันแข็งทรงอุทิศพระองค์เพื่อต่อต้านการเคารพเทวรูป (Idolatry)  ทรงปรับปรุงศาสนาและกฎหมายในแผ่นดิน  ทรงมีพระราชกรณียกิจร่วมกับคนจนและพระสงฆ์ ทรงสร้างปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่ง  เจดีย์และกุฏิพระ  ทรงทำพระราชกรณียกิจมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ๆ ก่อนรัชสมัยของพระองค์  ทรงเอาใจใส่ให้ขุนนางแต่งกายดี  และมีที่อยู่ดี  เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว  จึงสร้างที่พักหลายแห่งให้แก่ข้าราชบริพาร  ซึ่งยังอาศัยอยู่จนบัดนี้

          พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ใจบุญ  จนกระทั่งชาวสยามอ้างว่าพระองค์ไม่มีศัตรูเลย  หรือไม่ทรงสามารถหาศัตรูได้เลย  อย่างไรก็ดี  ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตรงข้ามกับที่คาดคิดไว้  พระองค์ทรงถูกชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในสยามจับในพระราชวังของพระองค์เอง  พวกญี่ปุ่นที่ชั่วร้ายนี้จะไม่ยอมปล่อยพระองค์จนกว่าพระองค์จะยินยอมให้ผลประโยชน์มากมายแก่พวกเขา  และทรงสาบานว่าจะไม่ทรงทำอะไรตอบแทนการกระทำอันชั่วร้ายนี้

          ทรงนิยมชาวต่างประเทศ  โดยเฉพาะชาวฮอลันดามาก  แต่ทรงเป็นศัตรูกับพวกสเปน  ทั้งนี้  เนื่องจากการกระทำที่เลวร้ายของ  ดอน เฟอร์นันโด เดอซินว่า  ซึ่งมีผู้กล่าวว่าถูกโยนลงแม่น้ำสยาม

          พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์แรก  ที่สร้างเรือรบและเรือใบขนาดใหญ่พร้อมฝีพายในสยาม  ซึ่งรัชสมัยองพระองค์ไม่เคยมีใครรู้จักเลย

          ทรงทำสงครามที่ยากลำบากสองครั้งในรัชสมัยของพระองค์  กับล้านช้างและกัมพูชา  หลังจากทรงพ่ายแพ้หลายต่อหลายครั้งก็ทรงทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าแผ่นดินล้านช้าง  และยกทัพสองทัพไปยังกัมพูชา  โดยยกไปทางเรือทัพหนึ่ง  หลังจากกองทัพเรือของพระองค์เข้าไปน่านน้ำกัมพูชาชั่วระยะเวลาหนึ่ง  ก็ต้องถอยกลับ  โดยไม่ประสบความสำเร็จอันใดเลย  แม้กองทัพเรือถอยไปแล้ว  ทหารกัมพูชาก็สามารถเตรียมตัวดักซุ่มโจมตีกองทัพที่ยกมาทางบกได้  ทัพกัมพูชาล่อทัพสยามให้ไปผิดทาง  และลอบซุ่มโจมตี  ทำให้ทัพสยามเสียทีแตกหนีไป  พระอินทราชาทรงเสียพระอนุชาและทหารสี่พันคนจากจำนวนห้าพันคน  พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาจับม้าได้ ๔๕๐ ตัว  ช้าง ๒๕๐ เชือก  และเชลย ๗๐๐ คน”

          ทั้งหมดนี้เป็นตอนหนึ่งที่วันวลิตกล่าวถึงพระเจ้าทรงธรรม  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด้านดี  วันนี้ยังไม่อาจนำมาแสดงให้สิ้นความได้   อ่านต่อกันวันพรุ่งนี้เถิดครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, กุมภาพันธ์, 2562, 10:59:41 PM
(https://i.ibb.co/6yzc1rB/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบรมราชานุสรณ์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม : สระบุรี

- ช้างเผือกอัปมงคล -

“พระเจ้าทรงธรรม”ทรงได้ช้างเผือก
ในสามเชือกหนึ่งที่มีอาถรรพณ์
เป็นอัปมงคลร้ายทำลายพันธุ์
ใครได้มันมาครองล้วนต้องตาย

พระทรงธรรมมีอันสวรรคต
เรื่องรันทดวิปริตผิดคาดหมาย
“วันวลิต”กล่าวอ้างดั่งนิยาย
เป็นเรื่องร้ายมีส่วนควรรับฟัง.....


          อภิปราย ขยายความ.......

          วันวลิตได้บอกกล่าวเรื่องราวของพระเจ้าทรงธรรมไว้อย่างเหลือเชื่อต่อไปอีกว่า

           “ในรัชสมัยของพระองค์ทรงได้ช้างเผือกสามเชือก  สองเชือกเกิดในรัชสมัยของพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ประมาณ ๑ ปี  พระองค์เสด็จไปเพนียดเพื่อคล้องช้าง  ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่เพนียดได้ครู่หนึ่ง  ก็มีช้างเผือกรูปร่างประหลาดเดินเข้ามาในเพนียดเอง  งาข้างขวาหดสั้นเกือบติดคาง  ส่วนงาข้างซ้ายยาวประมาณกึ่งหน้าอกซึ่งบวมเบ่ง  หางถูกตัดสั้นกุด  และมีจุดดำที่ก้นกบ

          ในบรรดาขุนนางที่เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นมีคนหนึ่งชื่อว่า  ออกพระกริต (Oprae Kridt)  ซึ่งเมื่อเห็นช้างเผือกนี้เดินเข้ามาก็ร้องไห้  เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมจึงร้องไห้  ออกพระกริตก็ตอบว่า  “ช้างเชือกนี้มีลักษณะประหลาด แ ละทำให้นึกถึงคำทำนายที่แปลกข้อหนึ่ง

          และออกพระกริตก็แอบเล่าให้ออกหลวงชด (Oioangh tiut)  ซึ่งเป็นผู้ปกครองแขกมัวร์ว่า  “เนื่องจากงาข้างขวาหดสั้นแทบจะไม่มีเลยนั้น  ทำนายได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินของเราจะสิ้นพระชนม์เร็ว ๆ นี้  เนื่องจากงาข้างซ้ายปลายไม่แหลม  ดูแล้วเหมือนฟัน  พวกขุนทัพและขุนนางที่เที่ยงธรรมจะเสียชีวิตขณะยังมีอายุน้อย  และแผ่นดินนี้ก็สิ้นขุนทัพและขุนนางที่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากช้างเผือกมีจุดดำที่ก้นกบ  ผู้ที่ขึ้นเสวยราชย์จะเป็นคนชั้นต่ำ  และชั่วร้ายกว่าพระเจ้าแผ่นดินของเราองค์นี้  การปกครองบ้านเมืองจะไม่เป็นไปตามขัตติยราชประเพณีหรือโดยเที่ยงธรรม  หางที่สั้นกุดแสดงว่าพวกขุนนางจะชั่วร้ายเช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดิน  ลักษณะทรวงอกที่ผิดปกติแสดงว่า  ดูภายนอกแล้วพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางจะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความดี  แต่แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยความหลอกลวง  และนำความเดือดร้อนมาสู่พสกนิกร  เพราะว่ามีการปกครองที่เลว  เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  และโลภ”

          ช้างเผือกเชือกนี้ได้นำไปฝึกที่โรงช้าง  แต่ก็ได้ตายหลังเวลาที่จับได้ ๑๖ วัน  และลูกน้องของออกญากำแพง  ออกญากลาโหม  และขุนกำแพง (พันโททหารม้า)  ได้นำซากไปฝังอย่างแกน ๆ  และต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน  พวกที่มีส่วนช่วยในการฝังศพช้างเผือกเชือกนี้ก็เสียชีวิตอย่างอเนจอนาถ

          ในปีเดียวกันนั้นเอง  พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงประชวร  ในระหว่างนั้นพระองค์ก็ทรงปรึกษาขุนนาง  ขอคำแนะนำว่า  ใครจะได้ครองราชสมบัติสืบต่อเนื่องจากพระองค์  พระอนุชา  หรือพระราชโอรสองค์ใหญ่  ขุนนางกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า  ถ้าหากจะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว  พระอนุชาควรจะได้ขึ้นครองราชย์  ขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า  พระราชโอรสสมควรจะขึ้นครองราชย์  ขุนนางกลุ่มที่สามเห็นว่า สมควรเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดิน  และทูลว่า  “เจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงมีความสามารถ  และพวกเราจะเชื่อฟัง  และจะรับใช้เยี่ยงทาสต่อบุคคลใดก็ตามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกให้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์”

          พระเจ้าแผ่นดินทรงแก้ปัญหา  โดยทรงทำพินัยกรรมมอบให้พระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ  อย่างไรก็ตาม  พระองค์ก็ไม่ได้ทรงประกาศการตัดสินพระทัยครั้งนี้ให้ทราบทั่วกัน  อาการของพระองค์ทรุดหนักลง  และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ ๓๖ พรรษา  เสวยราชย์อยู่ ๑๙ ปี  รัชสมัยของพระองค์ไม่มีเหตุการณ์ยุ่งยากใด ๆ  และบ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรือง”

          วันวลิต จบเรื่องของพระเจ้าทรงธรรมที่เขาเรียกว่า “พระอินทราชา” ลงแล้ว  แต่เรื่องยังไม่ควรจบลงตามคำบอกเล่าของวันวลิตนะครับ  เพราะยังมีประเด็นที่แย้งกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตอยู่มาก  พรุ่งนี้จะหยิบแต่ละประเด็นที่ขัดแย้งกันมาแสดงต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กุมภาพันธ์, 2562, 10:27:51 PM
(https://i.ibb.co/pPNRkY0/image.png) (https://imgbb.com/)
วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร : สระบุรี

- พระเจ้าติโลกนาถทรงธรรม -

ทรงฝักใฝ่ในธรรมรู้ล้ำลึก
“ธรรมกถึก”สอนศิษย์วิเศษสั่ง
ด้วยบุญญาบารมีดีประดัง
พบที่ฝังรอยบาทพระศาสดา

ได้พระนามความดีเป็นศรีศาสน์
“ติโลกนาถทรงธรรม”งามสง่า
ทรงความดีมีพระเดชด้วยเมตตา
ปวงปัจจายอมสยบนบพระคุณ.....


          อภิปราย ขยายความ..........

           “ดอน เฟอร์นันโด เดอซิลวา”  ชาวสเปนที่ “วันวลิต” กล่าวถึงว่า  พระอินทราชาทรงเป็นศัตรูนั้น  สอบดูแล้วได้ความว่า  เขาเป็นกัปตันเรือชาติสเปนที่แล่นเรือมาจากฟิลิปปินส์เข้ามาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา  เวลาเดียวกันนั้น  มีเรือของชาติฮอลันดาชื่อ  กรีน ซีแลนด์  จากปัตตาเวียเข้ามาจอดลอยลำอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา  ในช่วงนั้นประเทศชาติฮอลันดาและสเปนกำลังทำสงครามกันอยู่  ดอน เฟอร์นันโด เดอซิลวา  พบเห็นเรือชาติฮอลันดาจึงทำการโจมตี  และสามารถยึดเรือ Cleen Zeelnt ของฮอลันดาได้  พระเจ้าทรงธรรมทราบแล้วทรงโกรธมากที่สเปนละเมิดน่านน้ำ  เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา  จึงทรงยกแสนยานุภาพทัพเรือเข้าโจมตีเรือสเปน  ทรงยึดเรือได้  ทรงคืนเรือแก่ฮอลันดาโดยไม่คืนสินค้า  แล้วสั่งจำคุกชาวสเปนไว้  เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นการขัดแย้งระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสเปนเป็นเวลานาน

          ความที่วันวลิตกล่าวว่า  พระอินทราชา  หรือพระเจ้าทรงธรรม  ทำสงครามกับล้านช้างและกัมพูชา  ทรงบาดหมางกับสเปน  ทรงได้ช้างเผือกประหลาด  และปรึกษาขุนนางในการตั้งองค์ผู้สืบราชสมบัตินั้น ไม่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัด  จึงขอนำความในคำให้การของชาวกรุงเก่ามาแสดงเป็นการเปรียบเทียบกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต  ดังต่อไปนี้

           “ บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระเจ้าทรงธรรม  ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระสุธรรมราชาขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อจุลศักราช ๙๗๙ ปี (พ.ศ. ๒๑๐๖)  ถวายพระนามว่าพระเจ้าติโลกนาถ  พระเจ้าติโลกนาถมีพระมเหสี ๒ พระองค์  ทรงพระนามว่า  จันทราชา พระองค์ ๑    ขัตติยเทวี พระองค์ ๑   พระนางจันทราชามีพระราชธิดา ๔ พระองค์  องค์ที่ ๑ มีพระนามว่าปทุมาเทวี  องค์ที่ ๒ พระนามว่าสุริยา  องค์ที่ ๓ พระนามว่าจันทาเทวี  องค์ที่ ๔ พระนามสิริกัลยา   พระนางขัตติยเทวีมีพระราชธิดา ๔ พระองค์  องค์ที่ ๑ พระนามว่าอุบลเทวี  องค์ที่ ๒ พระนามว่านภาเทวี  องค์ที่ ๓ พระนามว่าอรบุตรี  องค์ที่ ๔ พระนามว่ากนิษฐาเทวี

          แลพระเจ้าติโลกนาถนั้นมีพระราชนัดดาองค์ ๑  ทรงพระนามว่าสุริยกุมาร (ขุนหลวงหาวัดว่าชื่อ “สุริยวงศ์กุมาร”)  เปนเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกนาถ  พระสุริยกุมารนี้มีอัธยาศัยผิดกว่าคนธรรมดามาแต่ยังเยาว์  เวลาที่เล่นกับเพื่อนทารกด้วยกันนั้น  พระสุริยกุมารให้เอาเครื่องลาด ๆ บนจอมปลวกแล้วเสด็จขึ้นนั่ง  ตั้งแต่งพวกทารกให้เปนเสนาบดีแลข้าราชการ  แล้วก็เล่นว่าราชการ  วินิจฉัยพระราชกฤษฎีการกฎหมาย  อย่างทำนองกษัตริย์  ดังนี้เนือง ๆ

          พระเจ้าติโลกนาถนั้นทรงรอบรู้พระไตรปิฎกมาก  ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งกว่ากษัตริย์ก่อน ๆ  ทรงสมาทานศีล ๕ เปนนิจ  ทรงสมาทานอุโบสถศีลเดือนละ ๔ ครั้ง  ทั้งทรงพระอุสาหะบอกพระไตรปิฎกแก่ภิกษุสามเณร  ทรงเล่าเรียนพระกรรมฐาน  ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดให้ปรกติขึ้นเปนอันมาก  แม้กิจการบ้านเมืองทั้งปวงก็เอาพระราชธุระวินิจฉัยโดยราชธรรมเที่ยงตรง  คดีที่ถึงประหารชีวิตทรงลดหย่อนผ่อนให้เบาลงเพียงจำจองพอสมควร  คดีที่ควรจะรับพระราชอาญาหนักก็ให้รับแต่อาญาที่เบา  คดีที่เบาก็ให้ยกโทษพระราชทานเสียทีเดียว  แลพระเจ้าติโลกนาถนั้นทรงพระอุสาหะเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทไม่ใคร่ขาด  ครั้นต่อมาทรงเห็นว่าลำบากแก่ข้าราชการนัก  นาน ๆ จึงเสด็จครั้งหนึ่ง

          พระเจ้าติโลกนาถ  ทรงตั้งพระสุริยกุมารให้เปนมหาอุปาราช  ทรงมอบราชการบ้านเมืองทั้งสิ้นให้แก่พระสุริยกุมาร  ส่วนพระองค์ทรงเปนพระราชธุระแต่กิจทางพระพุทธศาสนา”

          คำให้การชาวกรุงเก่ากับขุนหลวงหาวัดเป็นไปในทำนองเดียวกัน  ผิดกันแต่ในรายละเอียดของบางเรื่องที่ขุนหลวงหาวัดให้รายละเอียดลึกซึ้งกว่า  อย่างเช่นพระนามสุริยกุมารนั้น  ขุนหลวงหาวัดว่าพระนามคือ  “สุริยวงศ์กุมาร”

          เกี่ยวกับการเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท (สระบุรี) นั้น  เกิดขึ้นตั้งแต่ปีจุลศักราช ๙๖๘  ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๔๙  กล่าวกันว่า  พรานบุญไปล่าสัตว์  ได้พบรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา  จึงมีผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูล  พระเจ้าติโลกนาถทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตรแล้วทรงศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง  จึงเสด็จไปนมัสการเป็นประจำทุกเดือน  ต่อมาทรงเห็นว่าการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทในแต่ละครั้ง  ทำความลำบากแก่ข้าราชบริพารมาก  จึงเปลี่ยนเป็นนาน ๆ จะเสด็จไปสักครั้งหนึ่ง  ตามคำให้การของชาวกรุงเก่าข้างต้น

          เรื่องของพระเจ้าทรงธรรมยังจบไม่ลงครับ  พรุ่งนี้จะเล่าให้ฟังต่อก็แล้วกัน

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กุมภาพันธ์, 2562, 10:19:58 PM
(https://i.ibb.co/brsG2rh/Red-Seal-Ship.jpg) (https://imgbb.com/)

- ญี่ปุ่นกับพระเจ้าทรงธรรม -

พระทรงธรรมกำราบคนหยาบช้า
ด้วยเมตตาบารมีมิเคืองขุ่น
เป็นศัตรูจู่มาทรงการุณย์
เช่น“ญี่ปุ่น”ที่หมายทำร้ายพระองค์

ทรงยกโทษไม่ถือบันลือเกียรติ
เว้นการเบียดเบียนใครในประสงค์
ประชาชียกย่องไว้ยืนยง
พระนาม“ทรงธรรม”สมที่สมญา....


          อภิปราย ขยายความ......

          ประชุมพงศาวดารภาค ๖๓ ระบุว่า  พระเจ้าทรงธรรมครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระศรีสรรเพชฌ์พระองค์ที่ ๔ (เจ้าศรีเสาวภาคย์) แห่งราชวงศ์สุโขทัย  โดยไม่นับเนื่องราชวงศ์สุโขทัย  ทั้ง ๆ ที่เป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  กลับนับว่าตั้งราชวงศ์ให้เรียกว่าราชวงศ์ทรงธรรม  และออกพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑”   อีกนัยหนี่งเรียกว่า “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม”   อย่างหนึ่งเรียกว่า “พระเจ้าทรงธรรม”

          ไม่ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าว่า  พระเจ้าทรงธรรม  ทรงทำสงครามกับล้านช้างและกัมพูชา  มีแต่เรื่องราวที่ชาวญี่ปุ่นลอบเข้าในพระราชวังเพื่อประหารพระองค์  โดยให้รายละเอียดไว้มากกว่าวันวลิตที่กล่าวอย่างคลุมเครือ  ดังที่ยกมาแสดงแล้วนั้น  ชาวกรุงเก่าให้การไว้อย่างละเอียดดังต่อไปนี้

           “ คราวนั้น  มีพวกพ่อค้ายี่ปุ่น  บรรทุกสินค้าเข้ามาขายในพระนครศรีอยุธยา ๑ ลำ  อำมาตย์คน ๑ เปนคนทุจริต  แอบอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ซื้อสิ่งของต่าง ๆ  ครั้นพวกพ่อค้ายี่ปุ่นขายให้แล้ว  อำมาตย์ก็เอาเงินแดงให้พ่อค้ายี่ปุ่น ๆ รับเงินแดงไว้ไม่ทันพิจารณา  ครั้นอำมาตย์นั้นไปแล้วพ่อค้ายี่ปุ่นจึงเอาเงินออกดูเห็นเปนเงินแดงทั้งนั้น  ก็โกรธว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่ตั้งอยู่ในธรรม  ใช้เงินแดง  จึงให้คนใช้ที่มีฝีมือ ๔ คน  ซ่อนอาวุธลอบเข้าไปในพระราชวัง  กำลังพระเจ้าติโลกนาถเสด็จออกบอกพระปริยัติธรรมพระสงฆ์อยู่  ครั้นยี่ปุ่นเข้าไปถึงจึงชักอาวุธออกจะทำร้าย  แต่ด้วยบุญญาภินิหารของพระเจ้าติโลกนาถ  บันดาลให้ยี่ปุ่นทั้ง ๔ คนนั้นชักอาวุธไม่ออก  ข้าราชการซึ่งเฝ้าอยู่เห็นพิรุธก็พากันจับค้นอาวุธได้ทั้ง ๔ คน  พระเจ้าติโลกนาถจึงรับสั่งถามเอง  ว่าเหตุใดพวกเจ้าเหล่านี้จึงซ่อนอาวุธมาจะทำร้ายเรา  ญี่ปุ่นทั้ง ๔ จึงทูลว่า  พระองค์ใช้อำมาตย์ผู้ ๑ เอาเงินแดงไปซื้อของ ๆ นายสำเภาพวกข้าพเจ้า  นายสำเภาโกรธว่าพระองค์ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม  ใช้เงินแดง  จึงใช้ข้าพเจ้ามาทำร้ายพระองค์  พระเจ้าติโลกนาถจึงรับสั่งให้สืบสวนจับได้อำมาตย์ทุจริตนั้นมาซักถาม  ได้ความเปนสัตย์ว่าเอาเงินแดงไปซื้อของยี่ปุ่นจริง  จึงพระราชทานเงินดีให้ไปให้แก่นายสำเภา  แล้วให้ปล่อยยี่ปุ่นเสียมิได้เอาโทษ

          ต่อมาพระเจ้าติโลกนาถ  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างวัดสำหรับพระสงฆ์เล่าเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นอีก ๒ วัด  คือ  วัดพุทไธศวรรย์ ๑   วัดรัตนมหาธาตุ ๑   แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซ่อมปราสาทกระจกแดง  แลปฏิสังขรณ์วัดวาอารามอีกเปนอันมาก  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลจนตราบเท่าสวรรคต”

          ขุนหลวงหาวัดให้การตอนนี้ละเอียดกว่าชาวกรุงเก่าลงไปอีกว่า

           “ครั้นอยู่มาครั้งหนึ่งจึงมีคนร้ายเป็นเสนาข้างฝ่ายทหารขวา  ครั้นสำเภาญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายแต่บรรดาสินค้าทั้งปวงที่มา  ขุนนางผู้นั้นเข้ากวาดกว้านจำหน่ายเอาเองว่าเป็นภาษีหลวง  แล้วจึงเอาเงินทองแดงแต่งไปฉ้อล่อลวงนั้น  อันญี่ปุ่นก็สำคัญสัญญาเอาเป็นมั่นว่า  พระองค์คิดกันมาทำดั่งนี้  ญี่ปุ่นจึงแต่งทหารสี่คนให้ลอบเข้าไปในกรุง  แล้วจึงเข้าไปในพระราชวัง  วันนั้นพระองค์เสด็จอยู่ที่หน้าจักรพรรดิพิมานชัย  ทรงฟังสวดสำรวจคำหลวงอยู่  ญี่ปุ่นมันล่วงเข้าไปได้จนถึงพระองค์  ผู้ใดมิได้ทักทาย  ครั้นญี่ปุ่นถอดกริช  อันกริชนั้นติดฝักอยู่  ถอดออกมิได้ดังใจหมาย  ก็ยืนจังงังอยู่ที่ตำบลอันนั้น  ก็พอพระองค์ทอดพระเนตรแลมาเห็นญี่ปุ่นสี่คนอยู่ที่นั้น  พระองค์จึงตวาดด้วยสีหนทภูมี  อันญี่ปุ่นทั้งสี่คนนั้นก็ซวนซบสลบอยู่ทันที  พระองค์จึงให้จับตัวแล้วไต่ถาม  ขุนล่ามก็แปลทันที  ญี่ปุ่นจึงว่าเอาเงินทองแดงแต่งไปลวงกันบอกว่าเงินดีที่ในคลัง  เป็นกษัตริย์มาฉ้อพ่อค้า  ญี่ปุ่นจึงขัดอัฌชาศัย  อันคนดีมีสี่คนบัดนี้  จักมาสังหารพระองค์มรณา  พระองค์ได้ฟังคำสำนวนญี่ปุ่นว่ากล่าวให้การดังนี้  ก็ทรงพระสรวล  จึงตรัสสั่งให้หาเจ้า  พระยาศรีสุริยวษ์เข้ามาบัดนี้  จึงสั่งให้พิจารณาหาตัวคนร้าย  แล้วให้เอาเงินดีให้มัน  อย่าให้ลงโทษทัณฑ์ชีวิตให้ฉิบหาย  ถึงญี่ปุ่นก็อย่าทำให้มันวุ่นวาย  มันไม่ร้ายเราร้ายไปฉ้อมัน  จึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รับสั่งแล้วก็ลงมาขมีขมัน  จึ่งเรียกญี่ปุ่นทั้งสี่คนมาทันใดก็ส่งตัวให้นายกำปั่นทันที  อันที่ฉ้อญี่ปุ่นนั้นก็ลงโทษทัณฑ์ประจานความที่แล้วให้ญี่ปุ่นรู้ว่าคนนี้เป็นคนร้าย  แล้วปล่อยเสียดุจมีพระโองการ  อันที่ผิดทั้งนี้ควรที่จักทำโทษ  พระองค์ก็โปรดมิได้สังหารชีวิตให้ฉิบหาย....”

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรงเก่า  ระบุพระนามของพระเจ้าแผ่นดินพระงค์นี้ว่า  “ติโลกนาถ”  ซึ่งแปลได้ว่า  พระองค์เป็นที่พึ่งของ ๓ โลก  เป็นนัยให้รู้กันว่าทรงสืบสายมาแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ไตรโลก กับ ติโลก  แปลว่า ๓ โลก  นาถ แปลว่า ที่พึ่ง) แต่ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ เรียกพระนามว่า  พระบรมราชาที่ ๑ บ้าง  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรมบ้าง  วันวลิตเรียกว่าพระอินทราชา  แต่เพราะเหตุที่พระองค์ทรงฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา  และเคร่งครัดในการรักษาศีล  ปฏิบัติธรรม  เป็นอย่างยิ่ง  คนทั่วไปจึงเรียกพระองค์ว่า  “พระเจ้าทรงธรรม”

          เรื่องราวของพระองค์ยังไม่จบเฉพาะ  เพราะองค์เป็นใครมาจากไหนกันแน่  ติดตามต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, กุมภาพันธ์, 2562, 10:45:34 PM
(https://i.ibb.co/1mDvbhG/n61.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- โอรสนเรศวรครองราชย์ -

ด้วยเหตุผลประจักษ์เป็นหลักฐาน
เอกสารไทยฝรั่งต่างภาษา
สรุปได้ชัดเจนความเป็นมา
“มหาธรรมราชา”นัดดาจริง

คือ“พระเจ้าทรงธรรม”เป็นตามกฎ
ที่กำหนดมณเฑียรบาลไว้นานยิ่ง
สลับสายพี่น้องครองราชย์ระวิง
มีแย่งชิงกันบ้างในบางคราว......


          อภิปราย ขยายความ..............

          มีตำนานในพระราชพงษาวดารกล่าวว่า  พระเจ้าทรงธรรมเป็นโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถอันประสูติแต่หญิงสามัญชน  ทรงบวชอยู่ในบรรพชิตเพศเป็นเวลานานจนมีสมณะศักดิ์เป็นที่  “พระพิมลธรรมอนันตปรีชา”  ต่อมาลาสิกขาออกมาทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ผู้เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถอันประสูติแต่พระมารดาที่เป็นพระราชวงศ์  มีศักดิ์เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระองค์  เมื่อทรงขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วทรงพระนามว่า  “พระเจ้าทรงธรรม”  และ  “พระบรมทรงธรรม” อีกพระนามหนึ่ง  ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๘ ปี

          ตำนานกรุงเก่าในประชุมพงศาวดารภาค ๖๓ ลำดับกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา  ต่อจากสมเด็จพระนเรศวร  ก็เป็นสมเด็จพระเอกทศรถ  เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์  สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑  หรือ  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม  คือ  พระเจ้าทรงธรรม (พระพิมลธรรม)  ประเด็นนี้ อาจารย์ขจร สุขพานิช  ได้สอบศักราชปีรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถจากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและในที่อื่น ๆ ได้ความตรงกันว่า

           “พระเจ้าเอกาทศรถมีพระชนม์อยู่มาถึงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๑๕๓  พระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์สมบัติก่อนวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๑๕๔  และหลักฐานสองแหล่งของอังกฤษระบุว่าปี พ.ศ. ๒๑๕๓  เป็นปีที่พระเอกาทศรถสิ้นพระชนม์  ไม่มีหลักฐานอันใดที่กล่าวมานี้ระบุเรื่องพระเจ้าศรีเสาวภาคย์เลย”

          พระนาม  “ศรีเสาว”  ปรากฏในสงครามช้างเผือกที่พระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่า  เป็นโอรสของพระมหาจักรพรรดิ  เอาพระทัยใส่ในการรบกับพม่าอย่างเข้มแข็ง  จนพระมหินทราธิราชทรงระแวง  จึงสั่งให้ประหารชีวิตเสีย  พระศรีเสาวพระองค์นี้น่าจะถูกนำมาใส่ในตำนานภายหลังว่าเป็นโอรสพระเอกาทศรถ  และครองราชย์อยู่ ๑ ปี ๒ เดือน  แล้วถูกพระพิมลธรรมลาสิกขาออกมาชิงราชสมบัติ  ซึ่งไม่ควรจะถือเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ไทย

          พระเจ้าทรงธรรมควรนับเนื่องในพระราชวงศ์สุโขทัย  เป็นสมเด็จพระศรีสรรเพชฌ์พระองค์ที่ ๔  ต่อจากสมเด็จพระเอกาทศรถ  ไม่ใช่ตั้งราชวงศ์ใหม่เป็นพระราชวงศ์ทรงธรรมตามตำนานกรุงเก่า  เพราะพระองค์เป็นหลานสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  หรือสมเด็จพระศรีสรรเพชฌ์ ที่ ๑  โดยทั้งขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) และชาวกรุงเก่าให้การตรงกันว่า  พระองค์เป็นเชื้อสายพระสุธรรม  หรือ  เป็นพระราชนัดดาของพระสุธรรมราชา  อันหมายถึงพระมหาธรรมราชาธิราชนั่นเอง

          เชื้อสายพระสุธรรม  หรือราชนัดดาพระสุธรรมราชา  ก็มีแต่โอรสในสมเด็จพระนเรศวร  กับ  โอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ  หรือโอรสพระนางสุพรรณกัลยาเท่านั้น  แต่ว่าในเรื่องนี้  สมเด็จพระเอกาทศรถ  มีพระราชธิดา ๘ พระองค์  ไม่มีพระราชโอรสเลย  ส่วนโอรสพระนางสุพรรณกัลยาอันเกิดจากพระเจ้านันทบุเรงนั้น  ตามตำนานก็ว่าถูกประหารสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังเยาว์แล้ว  ดังนั้น  ก็ยังมีแต่โอรสในสมเด็จพระนเรศวรเท่านั้น

          จดหมายเหตุสเปนที่บาทหลวง มาร์เซโล เด ริบาเคเนอิรา  จดตามคำบอกของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน  ผู้อยู่ในเหตุการณ์เสด็จทางชลมารคของสมเด็จพระนเรศวรว่า  เห็นเรือพระที่นั่งของพระราชกุมาร ตามด้วยพระมเหสี  ดังที่ได้ยกมาแสดงแล้วนั้น  จึงเป็นไปได้ว่าพระราชกุมารในเรือพระที่นั่ง  ซึ่งบาทหลวงฟรานซิสกันเห็นนั้น  ต่อมาคือ  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  ที่ วันวลิต เข้าใจผิดไปว่าเป็นโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ  ทั้งนี้  เพราะวันวลิตเรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า  พระนริศ  เรียกพระเอกาทศรถว่า  พระราเมศวร  เมื่อได้ยินชาวกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า  พระเจ้าทรงธรรมเป็นโอรสสมเด็จพระนเรศวร  วันวลิตก็ฟังเป็น สมเด็จพระราเมศวรไป

          จดหมายเหตุฟานฟลีต  หรือ  วันวลิต  บันทึกเรื่องของพระเจ้าปราสาททองไว้ว่า  ก่อนจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ทรงเป็นพระหมื่นศรีสรรักษ์  ทำความผิดอย่างร้ายแรงโทษถึงประหารชีวิต  ถูกพระเจ้าแผ่นดิน คือ  พระเจ้าทรงธรรม  ใช้พระแสงดาบฟันขาทั้งสองข้างแล้วจับโยนเข้าไปไว้ในคุกมืด  จำโซ่ตรวนขังไว้นานถึง ๕ เดือน   “เจ้าขรัวมณีจันทร์”  พระชายาม่ายของพระองค์ดำ  คือสมเด็จพระนเรศวร  ทูลขออภัยโทษ  จึงพ้นโทษแล้วกลับมาเป็นที่โปรดปรานอีกครั้งหนึ่ง  “เจ้าขรัวมณีจันทร์”  พระชายาม่ายของพระองค์ดำนี้  เป็นพระองค์เดียวกันกับ  “พระมณีรัตนา”  มเหสีในพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระนเรศวร  และคือ พระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  ที่บาทหลวงฟรานซิสกันพบเห็นในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ดังนั้น  พระนางจึงทูลขออภัยโทษให้พระหมื่นศรีสรรักษ์ได้สำเร็จ

          จึงขอสรุปว่า  พระเจ้าทรงธรรม  เชื้อสายพระสุธรรม-พระนัดดาของพระสุธรรมราชาพระองค์นี้  คือ  พระราชโอรสในสมเด็จพระนเรศวร  อันประสูติแต่พระนางมณีรัตนา  หาใช่พระราชโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถตามที่วันวลิตกล่าว  และ  ตามคำบอกเล่าในตำนานพระราชพงษาวดารไม่

          เมื่อทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนเรศวร  ก็ชอบที่จะขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระเอกาทศรถพระเจ้าอา  ตามกฎมณเฑียรบาล  ที่กำหนดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ปฐมราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย  ที่กำหนดให้โอรสพระเจ้าแผ่นซึ่งมีหลายพระองค์นั้น  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต  ให้โอรสองค์โต  ครองบัลลังก์แทน  ให้อนุชาเป็นอุปราชา  เมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์  ก็ให้อนุชาครองบัลลังก์แทน แล้วให้  โอรสของพระเชษฐาเป็นอุปราชาสลับกันอย่างนี้ตลอดไป  มีบางช่วงบางตอนที่เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต  แทนที่อุปราชจะได้ครองบัลลังก์  โอรสพระเจ้าแผ่นดินกลับแซงขึ้นครอง  จนเป็นเหตุให้อุปราชต้องใช้กำลังชิงบัลลังก์  อย่างเช่นสมัยพระงั่วนำถมสิ้นพระชนม์  พระโอรสขึ้นครองสุโขทัย  พระยาลิไทอุปราชจำต้องยกกำลังจากศรีสัชนาลัยลงมาชิงบัลลังก์ตามสิทธิ์ของพระองค์  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีสมัยที่ สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคต  ขุนนางยกพระโอรสขึ้นครองบัลลังก์  พระชัยราชาจำต้องยกกำลังจากพิษณุโลกลงไปชิงบัลลังก์ครองตามสิทธิ์อันชอบธรรม  เป็นต้น

          ขอจบเรื่องพระเจ้าทรงธรรมไว้เพียงแค่นี้  ท่านผู้ใดมีข้อมูลเพิ่มเติม  หรือคัดค้านความที่กล่าวมา  ก็ยินดีรับฟังและแก้ไขให้ถูกต้อง  เป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ต่อไป

          พรุ่งนี้  “แลหลังอยุธยา”  ตอนต่อไปถึงเรื่องพระเจ้าปราสาททองครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ มกราคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กุมภาพันธ์, 2562, 10:58:24 PM
(https://i.ibb.co/HTYnhtb/78713-full.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระเชษฐราชา -

พระเจ้าทรงธรรมครั้นสวรรคต
ความปรากฏสับสนคำคนกล่าว
ผู้สืบราชบัลลังก์ไม่ยั้งยาว
ควรสืบสาวราวเรื่องเบื้องหลังดู

ขุนหลวงหาวัดทั้งชาวกรุงเก่า
ต่างบอกเล่าข้อความเรื่องงามหรู
วันวลิตกล่าวอ้างอย่างผู้รู้
เหตุเพราะอยู่ร่วมสมัยใกล้เหตุการณ์.....


          อภิปราย ขยายความ...........

          หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าทรงธรรม  ก็เป็นช่วงผลัดแผ่นดินใหม่  ขุนหลวงหาวัดกับชาวกรุงเก่าให้การแก่พระเจ้าอังวะไว้ว่า  พระเจ้าทรงธรรมทรงตั้งพระศรีสุริยวงศ์กุมารเป็นอุปราชแล้ว  ครั้นพระองค์สวรรคตโดยที่ไม่มีมีพระราชโอรส  พระราชนัดดาผู้เป็นอุปราชจึงขึ้นครองราชสมบัติ  โดยไม่มีเรื่องร้ายแรงอะไร

          ส่วนในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓  ว่าด้วยตำนานกรุงเก่ากล่าวว่าหลังจากพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตแล้ว  พระราชโอรสนามว่า  พระเชษฐราชา  ขึ้นครองราชสมบัติเรียกพระองค์ว่า  สมเด็จพระบรมราชา พระองค์ที่ ๒  จัดอยู่ในราชวงศ์ทรงธรรม  ครองราชย์ได้ ๑ ปี ๗ เดือน

          แต่ อาจารย์ขจร สุขพานิช  ตรวจสอบจนได้ความแน่ชัดแล้วว่า  ทรงครองราชย์อยู่ ๘ เดือน ในปี พ.ศ. ๒๑๗๑-๒๑๗๒  คาบเกี่ยวกัน  ซึ่งก็ตรงกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและวันวลิต

          พระเชษฐราชาสวรรคตได้ ๔ ปี  วันวลิตก็ได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา  ดังนั้น  เรื่องราวในสมัยพระเชษฐราชาจึงควรถือว่าวันวลิตรู้ดีกว่าใคร ๆ ที่เขียนตำนานและพงศาวดารตอนที่ว่าด้วยพระเชษฐราชา และพระเจ้าปราสาททอง  จึงขอนำความที่เขาเขียนไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและจดหมายเหตุ ฟานฟลีต  มาแสดงโดยสรุปความดังต่อไปนี้

           “พระเชษฐราชา  พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒๓ แห่งสยาม  เสวยราชย์อยู่ ๘ เดือน  พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระอินทราชา (พระเจ้าทรงธรรม)  ขึ้นเสวยราชย์ (ขัดต่อกฎมณเฑียรบาล)  เมื่อพระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา  ทรงมีพระนามว่า  พระองค์เชษฐราชา”

          ทรงเป็นเจ้าชายที่มีอารมณ์รุนแรง  และเอาพระทัยยาก  จึงเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าพระองค์จะปกครองประเทศอย่างเข้มงวด  ทรงไม่สนใจกิจการใด ๆ ทั้งสิ้น  ตัณหาจัด  ไร้ความคิด  ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความสำราญมากกว่าปกครองบ้านเมือง

          พระอนุชาของพระอินทราชา (หรือพระปิตุลาของพระองค์)  ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์  แต่ถูกปฏิเสธ  ก็ทรงสละทางโลกหันเข้าหาร่มผ้ากาสาวพัสร์  ทรงทำเช่นนี้ก็เพื่อรักษาชีวิตของพระองค์เองไว้ เนื่องจากพระองค์ถูกขู่คุกคาม  อย่างไรก็ดี  พระองค์ก็ทรงเฝ้าดูความประพฤติและพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์อย่างใกล้ชิด  ทรงเข้าพระทัยดีกว่าทำไมขุนนางและประชาชนจึงเกลียดชังพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อสบโอกาสจึงลาผนวชเสด็จไปบางกอก  ซ่องสุมผู้คนอย่างลับ ๆ เท่าที่จะทำได้  เพื่อต่อต้านพระเจ้าแผ่นดิน”

          ขออนุญาตสรุปเอาแต่ใจความที่วันวลิตเขียนรายละเอียด  ตอนที่พระเชษฐราชาทรงทราบเรื่องที่พระเจ้าอา (ไม่ใช่ลุง) ลาผนวชไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่บางกอกนั้น  ความสำคัญว่า  ทรงให้พระยากลาโหมนำกองทัพญี่ปุ่นไปปราบปรามพระเจ้าอา (นามว่า ศรีศิลป์ หรือ ศรีสิน)  พระเจ้าอาไม่สู้รบ  จึงหลบหนีไปอยู่เมืองเพชรบุรี  พระยากลาโหมยกกำลังตามไปจับกุมพระองค์ได้นำมาถวาย  พระเชษฐราชาไม่ประหารชีวิตในทันที  แต่ทรงทรมานหมายให้ตายด้วยการอดอาหารในคุกดินที่เพชรบุรี  แต่พระภิกษุสงฆ์ที่รักในพระศรีศิลป์  ลอบขุดอุโมงค์นำอาหารเข้าไปในคุก  ให้เสวยอาหารและยาจนมีพละกำลังแข็งแรงดีแล้วนำออกจากคุกดิน  ไปตั้งซ่องสุมกำลังเพื่อชิงราชบัลลังก์ให้จงได้  ความทราบถึงพระเชษฐราชา  จึงให้พระยากลาโหมยกกำลังไปจับกุมพระองค์ได้อีกครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้  พระเชษฐราชาสั่งให้ประหารชีวิตเสียทันที  ก่อนถูกประหาร  พระศรีศิลป์ขอโอกาสกราบทูลข้อความบางอย่าง  เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว  จึงกราบทูลเตือนใจและคำแนะนำเป็นแก่นสารแก่พระเจ้าแผ่นดิน  ในตอนท้ายกล่าวว่า  “พระเจ้าแผ่นดินไม่ควรจะทรงไว้ใจออกญากลาโหม  หรือ  ให้ออกญากลาโหมมีอำนาจมากเกินไป  ทรงเพิ่มเติมว่า  ออกญากลาโหมเป็นสุนัขจิ้งจอกที่แยบยล  จะแย่งมงกุฎจากพระเศียรพระองค์  จะฆ่าพระองค์  และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นของพระราชบิดา  และจะปกครองอาณาจักรดุจราชสีห์”

          พระเชษฐราชามิได้เอาพระทัยใส่ในคำกราบทูลนั้น  ตรัสสั่งให้นำพระเจ้าอาไปประหารทันที  พระองค์ถูกนำไปสู่ป่าช้าที่เงียบเหงา  แล้วบังคับให้นอนบนพรมสีแดง  แล้วทุบพระอุระด้วยท่อนจันทน์จนสิ้นพระ ชนม์  จากนั้น  ทั้งพระศพและท่อนจันทน์ห่อหุ้มด้วยพรมสีแดง  ถูกโยนลงบ่อน้ำไป  เมื่อทรงประหารพระเจ้าอาแล้ว  พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเพิ่มความประมาท  หยิ่งผยองให้แก่พระองค์เอง  แล้วกดขี่บรรดาขุนนางทั้งหลาย  จนเป็นที่รังเกียจของขุนนาง  ส่วนพระยากลาโหมนั้นทำตัวเป็นมิตรแก่ทุกคนจนเป็นที่รักแก่คนทั่วไป..”

          ตามเรื่องมาถึงตรงนี้  ก็พบพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระนเรศวร  คือพระศรีศิลป์  ราชอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  ส่วนพระศรีศิลป์จะประสูติแต่พระนางมณีรัตนา (เจ้าหญิงไทย)  หรือ พระนางโยธยามี้พระยา (เจ้าหญิงพม่า)  และ  หรือ  พระนางเอกกษัตรี (เจ้าหญิงกัมพูชา)  ยังไม่พบข้อมูลครับ

          พรุ่งนี้ ดูบทบาทพระยากลาโหมต่อไปนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กุมภาพันธ์, 2562, 10:02:31 PM
(https://i.ibb.co/g3gNPGj/18275265-1292307534186193-1448715350437125553-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระอาทิตยสุรวงศ์ -

ฝ่ายพระยากลาโหมวางแผนโหด
ให้เห็นโทษพระราชาความดีด้าน
ประชาชีเริ่มชังแช่งประจาน
ล้วนรำคาญติฉินเฝ้านินทา

พระยากลาโหมเหี้ยมเด็ดขาด
ยึดอำนาจง่ายดายไร้ปัญหา
ให้ประหารพระเชษฐราชา
พระน้องยายังเยาว์เอาขึ้นแทน...


          อภิปราย ขยายความ...........

          ในขณะที่พระเชษฐราชาเหลิงพระราชอำนาจนั้น  พระยากลาโหม (คือพระหมื่นศรีสรรักษ์ เลื่อนตำแหน่งขึ้นมา)  ก็วางแผนยึดครองบัลลังก์  โดยสร้างสัมพันธไมตรีในเหล่าขุนนาง  จนกระทั่งมีอำนาจเหนือพระเจ้าแผ่นดิน

          วันวลิต กล่าวไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า  ในคราวที่น้องชายพระยากลาโหมเสียชีวิต  มีการจัดงานศพใหญ่โต  ปรากฏว่าขุนนางส่วนมากพากันไปร่วมงาน  จนในท้องพระโรงว่าง  ขุนนางเข้าเฝ้าพระเชษฐราชาตรัสถามผู้ที่เข้าเฝ้าว่าเหล่าเสนาข้าราชการไปไหนกันหมด  ทำไมไม่เข้าเฝ้าเหมือนก่อน  ทรงทราบว่า  ขุนนางทั้งหลายพากันไปร่วมงานศพน้องชายพระยากลาโหม  ก็ทรงพิโรธ  ตรัสด้วยเสียงอันดังว่า  “ข้าตั้งใจไว้แล้วว่า  แผ่นสยามนั้นจะต้องมีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว  และพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นก็คือข้า  ออกญากลาโหมเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองหรือ  ข้าไม่ยักรู้  เอาเถิด  ปล่อยให้มันและพวกพ้องกลับมาถึงราชสำนักก่อน  แล้วข้าจะให้รางวัลในการกระทำของพวกมันอย่างเต็มที่”   มีขุนนางผู้หนึ่งนำความไปบอกเล่าแก่ออกญากลาโหม  เขาแสร้งแสดงอาการตกใจและวุ่นวายใจ  แล้วกล่าวให้พวกขุนนางในที่นั้นได้ยินกันทั่วไปว่า  “เรายินดีที่จะตายถ้าหากเลือดเนื้อของเราจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินหายโกรธพวกเราได้  และกล่าวเพิ่มเติมในทำนองยุแหย่ว่า  “ถ้าข้าซึ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาพวกเรา  จะต้องสิ้นชีวิตลงแล้ว  พวกเจ้าจะเป็นอย่างไร”  บรรดาขุนนางเหล่านั้นได้ฟังแล้วก็พากันหวั่นวิตก  เกรงว่าถ้าพระยากลาโหมถูกประหารแล้ว  พวกเขาก็คงต้องถูกประหารด้วยเช่นกัน  จึงตกลงใจสาบานกันว่า  จะสนับสนุนพระยากลาโหมทุกประการ  จากนั้นก็นัดแนะกันที่จะโค่นล้มพระเจ้าแผ่นดินต่อไป

          เย็นวันนั้น  พระยากลาโหมก็พาทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในพระราชวัง  พวกขุนนางทั้งหลายก็พากันรวบรวมพวกพ้องเข้าสมทบโดยพร้อมเพรียงกัน  พระเจ้าเชษฐราชาทราบเรื่องดังนั้นก็ตกพระทัย  ทรงรีบหลบหนีข้ามแม่น้ำไปโดยเร็ว  พระยากลาโหมติดตามจับพระองค์ได้  แล้วก็ให้นำไปประหารเสียในสถานที่เดียวกันกับที่ประหารพระศรีศิลป์  โดยกระทำเช่นเดียวกันกับที่ทำแก่พระศรีศิลป์ทุกประการ  คำเตือนของ พระศรีศิลป์ที่พระเจ้าเชษฐราชาไม่เชื่อนั้นก็เป็นจริงขึ้นมาแล้ว  หลังจากประหารพระเจ้าเชษฐราชาแล้ว  พระยากลาโหมก็แสร้งเสนอยกอนุชาพระเชษฐราชาผู้มีพระชนม์เพียง ๑๐ พรรษา  ขึ้นครองราชย์สมบัติเฉลิมพระนามว่า  พระองค์อาทิตยสุรวงศ์  เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ที่ ๒๔

          พระยากลาโหมได้ประหารพระเชษฐราชา  พระราชมารดา  และพวกพ้องของพระเชษฐราชาจำนวนหนึ่งบ้าง  ถอดยศปลดตำแหน่งและเนรเทศผู้ที่มิใช่พรรคพวกตนบ้าง  จากนั้นจึงพร้อมกับพระยาพระคลัง แอบไปพบออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ)  แม่กองอาสาญี่ปุ่นเพื่อหยั่งความในใจของออกญาผู้นี้  ได้กล่าวในเชิงปรึกษาว่า  “บ้านเมืองไม่อาจตั้งอยู่ได้โดยปราศจากพระเจ้าแผ่นดิน  พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่เพิ่งสวรรคตนี้  ได้ทิ้งพระราชโอรสและพระราชธิดาเล็ก ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก..ฯ..  การที่จะไว้วางใจยกเจ้าชายองค์น้อย ๆ ขึ้นเป็นกษัตริย์นั้น  น่าที่จะเป็นอันตราย  เป็นที่น่าสังเวชที่จะเห็นเด็กปกครองอาณาจักรที่ยิ่งด้วยอำนาจ  เขาขอร้องให้ออกญาเสนาภิมุขลงความเห็นว่าจะเป็นการโง่หรือไม่  ที่จะเลือกขุนนางที่มีอำนาจสูงสุดคนหนึ่งซึ่งสมควรปกครองแผ่นดิน  และสมควรได้สวมมงกุฎชั่วคราว จนกว่าเจ้าชายจะอยู่ในภาวะที่จะปกครองประเทศด้วยตนเองได้  ทั้งนี้เพื่อป้องกันความยุ่งยากทั้งมวล  ตามความคิดนี้  ขุนนางผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องไม่เห็นแก่เกียรติยศและเข้าปฏิบัตินี้ในอำนาจของรัชทายาทอย่างแท้จริง ฯลฯ

          ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ) ก็แนะนำให้ตั้งเจ้าชายซึ่งทรงพระเยาว์  พระอนุชาพระเชษฐราชาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  และให้พระยากลาโหมทำหน้าที่ถวายคำแนะนำพระเจ้าแผ่นดินว่าราชการ  พระยากลาโหมทำกิริยาอิดเอื้อนพอเป็นพิธี  แล้วก็รับดำเนินการตามคำแนะนำของออกญาเสนาภิมุข  ครั้นเมื่อมีการประชุมขุนนางปรึกษาหารือในเรื่องนี้  ที่ประชุมจึงตกลงให้ยกพระองค์อาทิตยสุรวงศ์  พระชันษา ๑๐ พรรษา  ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ให้พระยากลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

          ความจริงออกญากลาโหมมีแผนการยึดครองตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่พระเจ้าทรงธรรมสวรรคต  จึงวางแผนให้พระเชษฐราชาประหารพระศรีศิลป์เพื่อขจัดเสี้ยนหนามอันดับแรกออกไปเสีย  จากนั้นจึงกำจัดพระเชษฐราชาให้พ้นทาง  และไม่ผลีผลามยึดครองบัลลังก์  ด้วยเกรงว่าจะไม่ราบรื่น  เนื่องจากยังมีพระโอรสของพระเจ้าทรงธรรมเหลืออยู่อีก ๓ พระองค์  จึงขอเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อน  และเห็นว่ามีขุนนางผู้มีอำนาจมากเป็นอุปสรรคอยู่อีก ๒ คน  คือ  ออกญากำแหง  กับ  ออกญาเสนาภิมุข  จำต้องกำจัดทั้งสองคนนี้เสียก่อน  ตนจึงจะมีอำนาจสมบูรณ์ได้  ดังนั้นจึงพยายามยุแหย่ให้พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์ชิงชังรังเกียจออกญากำแหง  จนในที่สุดออกญากลาโหมได้กราบทูลว่า  ออกญากำแหงเป็นตัวการทำให้พระเจ้าแผ่นดินหลบหนีไป  แล้วบังอาจขึ้นนั่งบนบัลลังก์  แต่งกายด้วยเครื่องกษัตริย์ ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนพระเชษฐราชา  พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่อตามคำกราบทูลนั้น  จึงสั่งจับกุมคุมขัง  ถอดถอนยศตำแหน่งและริบทรัพย์สมบัติข้าทาสบริวารเสียสิ้น  และก็ให้ประหารชีวิตเสียในที่สุด”

          คำกราบทูลของพระศรีศิลป์ที่ว่า  พระยากลาโหมเป็นสุนัขจิ้งจอกที่แยบยล  แต่พระเชษฐราชาไม่เชื่อ  แล้วก็เป็นจริงดังคำกราบทูลนั้น  จากคำกล่าวของวันวลิตที่ยกสรุปย่อมานี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า  พระยากลาโหมเป็นอย่างไร  เรื่องของท่านยังจบไม่ลง

พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, กุมภาพันธ์, 2562, 10:39:18 PM
(https://i.ibb.co/dGYQng2/asdf.png) (https://imgbb.com/)

- กำจัดเยาวกษัตริย์ -

วางแผนการณ์กำจัดกษัตริย์น้อย
โดยค่อยค่อยทีละขั้นสำคัญแสน
ให้“เสนาภิมุข”ไปต่างแดน
ดำเนินแผนการแอบอย่างแยบยล

ปั่นหัวขุนนางใหญ่ให้เห็นด้วย
พร้อมเอออวยสอพลอร่วมฉ้อฉล
ยึดตำแหน่งเจ้าแผ่นดินสิ้นมณฑล
ปลงพระชนม์ราชาไร้ปรานี


          อภิปราย ขยายความ......

          ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาสะ)  ทราบภายหลังว่าออกยากำแหงถูกประหารชีวิตแล้วก็โกรธพระยากลาโหม  ด้วยรู้แก่ใจว่าเป็นต้นเหตุให้เพื่อนรักของตนถูกประหาร  แต่ก็ไม่รู้จะทำประการใด  เพราะขณะนั้นพระยากลาโหมมีอำนาจที่สุด  จึงงดไปวังเสีย  เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับพระยากลาโหม  การณ์เป็นดังนั้น  พระยากลาโหมจึงพยายามหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนออกญาเสนาภิมุข  หมายมั่นจะปรับความเข้าใจให้มิตรภาพอันดีกลับคืนมา  แต่ออกญาเสนาภิมุขไม่ยอมให้เข้าพบ  จนกระทั่งมีจังหวะเหมาะเมื่อมีพ่อค้าชาวฮอลันดาชื่อ  นายเซบอลด์ วอนเดอร์เรียร์ (Sebald Wondereer)  ผู้ทำการค้าโดยเสรีเป็นกัปตันเรือรับส่งสินค้าชื่อ  “เพิล”  และเป็นผู้เก็บผลประโยชน์รายได้ของอินเดียตะวันออกที่เมืองปัตตาเวีย  ได้เดินทางมาถึงน่านน้ำไทย  กรุงศรีอยุธยา

          พระยากลาโหมเกรงว่าพ่อค้าชาวฮอลันดาดังกล่าวจะไปเข้ากับออกญาเสนาภิมุข  จึงรีบออกไปต้อนรับเจรจา  และกล่าวถึงเหตุการณ์มิสู้ดีของบ้านเมือง  เพื่อให้กัปตันระมัดระวังในการวางตัวและไม่กระทำการใด ๆ หากถูกบังคับให้เข้าเป็นพรรคพวกของฝ่ายใด  ขอให้พิจารณาแต่เฉพาะเรื่องที่จะเป็นผลประโยชน์ของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น  พร้อมกันนั้นก็ได้มอบดาบโค้งจากพระคลังเล่มหนึ่งแก่กัปตัน  ดาบเล่มนี้มีกระบังและลวดลายฝักดาบเป็นทองฝังพลอย  สร้างความพึงพอใจแก่กัปตันเป็นอย่างมาก  จากนั้น  พระยากลาโหมก็ให้คนปล่อยข่าวลือแพร่ไปว่า  “ออกญาเสนาภิมุขได้ทำความตกลงกันเป็นพิเศษกับกัปตันเรือผู้นี้  และว่าออกญาเสนาภิมุขมีเจตนาจะรวมกำลังลูกเรือสินค้าเข้ากับกองทหารญี่ปุ่นของตน  เพื่อเข้าโจมตีพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวังหลวง”  ข่าวลือนี้สร้างความหวาดวิตกแก่ขุนนางและราษฎร  จนคนเหล่านั้นพากันพกศัสตราวุธติดตัวตลอดเวลา

          พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระเยาว์ทรงสดับข่าวลือนี้แล้วเกิดความสงสัยจึงตรัสเรียกออกญาเสนาภิมุขเข้าเฝ้า  แต่ออกญาเสนาภิมุขไม่ยอมเข้าเฝ้า  อ้างว่าป่วย  เพื่อปิดบังความหวาดกลัวของตน  จังหวะนั้น  พระยากลาโหมก็ได้โอกาสเข้าเยี่ยมเยือนที่บ้าน  และได้กล่าวคำแก้ตัวทุกเรื่องทุกประเด็นที่ออกญาเสนาภิมุขไล่เลียงจนสิ้นความสงสัย  และทั้งสองได้ให้คำมั่นสัญญาทำสัตย์สาบานเป็นมิตรไมตรีต่อกัน

          พระยากลาโหมวางแผนกำจัดออกญาเสนาภิมุข  โดยมีหนังสือเชิญตัวเจ้าเมืองตามหัวเมืองไกล ๆ เข้ามายังราชสำนักเพื่อถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่ง  พระยานครศรีธรรมราชมิได้เดินทางเข้ามาตามหนังสือเชิญ  เพราะไม่ไว้วางใจชาวปัตตานีที่กำลังบีบคั้นรุกรานจ้องจะทำสงครามด้วย  และชาวเมืองเองก็กำลังจะลุกฮือก่อขบถ  จึงส่งตัวแทนพร้อมถือหนังสือคำแก้ตัว  นำกราบบังคมทูลความจำเป็น  และยืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวในฐานะกษัตริย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของอาณาจักรสยาม  จึงเป็นเหตุให้พระยากลาโหมได้ช่องทางกำจัดออกญาเสนาภิมุข  โดยเสนอให้พระออกญาเสนาภิมุขเป็นเจ้าเมืองนครแทนพระยานครคนเก่าที่ต้องหาเป็นขบถ  ออกญาเสนาภิมุขมิอาจบ่ายเบี่ยงได้  เพราะเขาใช้วิธี  “มัดมือชก”  โดยกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดิน  ประกาศแต่งตั้งในที่ประชุมขุนนาง  ให้ออกญาเสนาภิมุขดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนคร  ทรงสวมชฎารูปกรวยแหลมให้  นับเป็นพิธีมอบเกียรติยศซึ่งไม่เคยกระทำให้แก่บุคคลใดมาก่อน  แทนที่ออกญาเสนาภิมุขจะดีใจ  เขากลับไม่พอใจจนแสดงออกให้พระยากลาโหมเห็นได้  พระยากลาโหมจึงพยายามเอาอกเอาใจ  มอบทรัพย์สินเงินทองให้มากมาย  จากนั้น  ออกญาเสนาภิมุขได้ถวายสัตย์ปฏิญาณรับตำแหน่งพระยานคร  แล้วเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยทหารญี่ปุ่นทั้งหมดไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  ท่ามกลางความยินดีปรีดาของพระยากลาโหมเป็นที่สุด

          จากนั้น  พระยากลาโหมได้กล่าวยุยงเกลี้ยกล่อมพวกขุนนางให้เห็นคล้อยตามว่า  พระเจ้าแผ่นดินยังเยาว์และพระนิสัยหยาบ  ควรให้ได้รับการกล่อมเกลาอุปนิสัย  โดยส่งไปรับการศึกษาอบรมอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์ในวัด  และให้พระยากลาโหมปฏิบัติหน้าที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะบรรลุนิติภาวะ  จึงค่อยมอบให้ครองบัลลังก์ต่อไป  ครั้นที่ประชุมขุนนางเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงเชิญเยาวกษัตริย์ไปประทับอยู่ในพระอาราม  แล้วยกพระยากลาโหมขึ้นเป็น  “พระเจ้าแผ่นดินชั่วคราว”  จากนั้นไม่นาน  พระยากลาโหมก็กล่าวคำโน้มน้าวให้บรรดาขุนนางใหญ่น้อยเห็นด้วยกับตนในการกำจัดพระอาทิตยสุรวงศ์  เยาวกษัตริย์เสียจาการาชบัลลังก์  แล้วยกพระยากลาโหมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป  วันวลิตได้กล่าวความตอนที่นำเยาวกษัตริย์ไปประหารไว้ว่า......

           “.....พระเจ้าแผ่นดินผู้เยาว์ถูกนำมาจากสำนักศึกษาโดยทันที  แล้วใช้อุบายเล่ห์กลให้พระองค์ทรงเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์  แล้วนำพระองค์ไปยังสถานที่เดียวกับที่พระปิตุลาและพระเชษฐากับพระราชมารดาถูกสำเร็จโทษอย่างไร้มนุษยธรรม  ทั้งนี้ก่อให้เกิดความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงในหมู่ราษฎรผู้จงรักภักดีทั้งปวง  เยาวกษัตริย์พระองค์นี้ได้ขึ้นเสวยราชย์เพียง ๓๖ วันเท่านั้น  ขณะเมื่อพระองค์ทรงถูกถอดออกจากราชบัลลังก์เพื่อมาสู่ตะแลงแกง  เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงสถานที่ประหารชีวิต  ทรงคร่ำครวญร่ำไห้และตรัสว่า  “ทำไมฉันต้องตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๑๑ ปีด้วยเล่า ?  ยังไม่เพียงพออีกหรือที่ที่ประชุมกระหายเลือดได้สำเร็จโทษพระปิตุลา  พระเชษฐา  และพระมารดาของฉัน  แล้วจะแย่งมงกุฎไปจากฉันโดยไม่ต้องสำเร็จโทษฉันมิได้หรือ ?  ปล่อยให้คนซึ่งได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์เขาครองสมบัติไปซิ  แล้วให้เขาเหล่านั้นยอมให้ฉันมีชีวิตต่อไปเถิด”  .....ถ้อยคำเหล่านี้สั่นสะเทือนหัวใจของคนทุกคนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น  แม้แต่เหล่าเพชฌฆาตก็แสดงความโศกเศร้าร่ำไห้สะอึกสะอื้น  คนเหล่านั้นก็จำต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่ง  เยาวกษัตริย์พระองค์นี้จึงต้องสวรรคต”

          ก็เป็นอันว่าขวากหนามบนเส้นทางเดินสู่ราชบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาของพระยากลาโหม  ได้ถูกกำจัดกวาดทิ้งสิ้นแล้ว  เรื่องใน  “แลหลังอยุธยา”  จะดำเนินต่อไปอย่างไร  อ่านต่อกันในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพืธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กุมภาพันธ์, 2562, 10:36:28 PM
(https://i.ibb.co/ZVWr2mF/image.jpg) (https://imgbb.com/)
รูปปั้นของยามาดะ นางามาสะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข
ซามูไรอโยธยาภายในหมู่บ้านญี่ปุ่น : อยุธยา

- พระเจ้าปราสาททอง -

ยามะดะ“ออกญาเสนาภิมุข”
ถมความทุกข์ราษฎร“นครศรี”
กระทำบาปหยาบหยามสิ้นความดี
ประชาชีเกลียดชังหมดทั้งเมือง

“พระเจ้าปราสาททอง”ครองอำนาจ
พระองค์คาดการณ์ถูกไปทุกเรื่อง
วางแผนฆ่า“ยามะดะ”ไม่สิ้นเปลือง
ใช้ปมเขื่องพวกมันฆ่ากันเอง


          อภิปราย ขยายความ...........

          วันวลิตกล่าวว่า ในปี ค.ศ. ๑๖๒๙ (พ.ศ. ๒๑๗๒) นั้น  หลังจากประหารเยาวกษัตริย์แล้ว  พระยากลาโหมผู้มีชนมายุได้ ๓๐ ปี  ก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  มีพิธีราชาภิเษกใหญ่โต  ได้เฉลิมพระนามว่า  “พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช”  ทรงนำพระธิดาคนโตของพระขนิษฐาพระเจ้าทรงธรรมมาเป็นชายาองค์ที่ ๔  ต่อจากที่มีอยู่แล้ว ๓ พระองค์  พระธิดาองค์รองมอบให้พระอนุชาของพระองค์ที่ทรงสถาปนาเป็นอุปราชในคราวดียวกัน  พระองค์ปรารถนาได้พระราชมารดาของพระเชษฐราชาซึ่งเป็นสตรีงามที่สุดคนหนึ่งในสยามมาเป็นสนม  แต่พระนางไม่ยอมรับ  ทั้งยังตรัสว่า  “พระเจ้าแผ่นดินเจ้าชีวิตของฉันไม่มีอีกแล้ว  และโอรสของฉันก็สวรรคตแล้วด้วย  ฉันก็เหนื่อยหน่ายต่อชีวิต  ฉันเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทั้งสองพระองค์นั้นอีก  แต่ขณะที่ฉันมีชีวิตอยู่  ร่างกายของฉันต้องอยู่อย่างบริสุทธิ์  และจะไม่ยินดีในโจรแย่งราชสมบัติและทรราชผู้นี้เลย”  

          พระเจ้าแผ่นดินกริ้วต่อการปฏิเสธคำตอบที่เผ็ดร้อนและการตำหนิติเตียนอันรุนแรงนั้นยิ่งนัก  จึงสั่งให้คร่าตัวนางไปที่ริมฝั่งน้ำ  แล้วให้สับร่างนางออกเป็น ๒ ท่อน  เอาส่วนหัวติดตรึงขาหยั่งไม้ไผ่  ปักประจานไว้  พระสงฆ์เห็นไม่น่าดู  จึงขอร้องให้เลิกกระทำเช่นนั้น  จึงทรงให้นำลงมาจัดการเผาโดยปราศจากพิธีรีตอง

          จากนั้นก็เอานางสนมอื่น ๆ และพระธิดาพระเจ้าทรงธรรมที่ยังสาวและมีโฉมสะคราญมาเป็นสนม  ผู้ที่ปฏิเสธตำแหน่งจะถูกประหารอย่างทารุณ  ส่วนสตรีที่มีวัยค่อนชราแล้วก็ถูกกักกันอยู่ในวัง  อันเป็นที่อยู่ของนางสนมเป็นอันมาก  และได้รับการเลี้ยงดูอย่างแร้นแค้น

          พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช  หรือพระเจ้าปราสาททอง  เปลี่ยนนิสัยจากพระยากลาโหมมาเป็นโหดเหี้ยม  จนเป็นที่สยดสยองหวาดกลัวกันทั่วไป  เช่นให้ผ่าร่างของคนที่แสดงความรักความอาลัยในพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน  เป็นต้น  ความโหดเหี้ยมร้ายกาจในการลงพระอาญา  เป็นเหตุให้คนในกรุงศรีอยุธยาพากันปิดกั้นความเศร้าโศกเสียใจไว้โดยสิ้นเชิง

          คราวนี้มาดูความเป็นไปของ ยามาดะ นางามาสะ  หรือออกญาเสนาภิมุขบ้าง  วันวลิตกล่าวถึงชาวญี่ปุ่นผู้เข้ามาได้ดีมีตำแหน่งใหญ่โตในราชสำนักสยามผู้นี้ต่อไปว่า .....
 
          เมื่อออกญาเสนาภิมุขเจ้าเมืองนครคนใหม่ถึงนครศรีธรรมราชก็แสดงความโหดเหี้ยมทารุณให้ทุกคนเห็น  โดยดำเนินการปราบจลาจลทั้งปวงทันที  จนกระทั่งไม่มีพวกกบฏคนใดกล้าแสดงตน  เขาสืบทราบว่าผู้ใดลอบตั้งตนเป็นหัวหน้าก่อการจลาจลใหม่  ก็จะจับตัวลงโทษด้วยการประหารอย่างโหดเหี้ยม  บางคนถูกลงโทษทารุณด้วยวิธีอื่น ๆ  บางคนถูกเนรเทศ  และคนเหล่านั้นจะถูกริบทรัพย์สมบัติจนหมดสิ้น  ทรัพย์ที่ยึดมานั้นก็จะแจกจ่ายไปในบรรดาทหารญี่ปุ่นของตน  เขาได้รับคำปรึกษาแนะนำจากเจ้าเมืองนครคนเก่า  ที่ตั้งไว้ในตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษา

          ออกญาเสนาภิมุข  ดำเนินการปราบปรามชาวนครศรีธรรมราช  วางรากฐานอำนาจของตน  ดูแลรักษาความมั่นคงของหัวเมืองนี้ไว้เพื่อพระมหากษัตริย์  โดยมิได้ทราบเรื่องความเปลี่ยนแปลงในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นเลย  เมื่อเขาจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลยังราชสำนัก  พระเจ้าปราสาททองทรงทราบโดยละเอียดแล้ว  แสร้งแสดงความยินดีและมีนำพระทัยโอบอ้อมอารีด้วยการตอบแทนความดีความชอบของเขา  โดยให้บรรดาขุนนางทั้งหลายส่งของกำนัลจำนวนมากมายไปให้  พร้อมด้วยเหล่าสาวงามจำนวนหนึ่งในนามพระเจ้าแผ่นดิน  โดยเฉพาะมีคนหนึ่งซึ่งเจ้าเมืองนครจะต้องทำการสมรสด้วยตามประเพณีของสยาม  การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยรวดเร็ว  มีการแห่แหนพวกหญิงสาวรวมทั้งของกำนัลมากมายหรูหราใหญ่โตไปยังเมืองนครศรีธรรมราชในทันที  พร้อมกันนั้น  พระเจ้าปราสาททองมีรับสั่งให้พระยาพระคลังมีหนังสือลับไปยังเจ้าเมืองคนเก่าว่า  หากเขาสามารถกำจัดเจ้าเมืองชาวญี่ปุ่น (ออกญาเสนาภิมุข) ได้  และทำบ้านเมืองให้รอดพ้นจากความหยาบคายโอหังของชนชาตินั้นได้แล้ว  จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์  แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองใหญ่ดุจเดิม

          ออกญาเสนาภิมุข  หรือออกญานคร  ปีติยินดีอย่างยิ่งที่เห็นของกำนัลมากมาย  แต่ก็รู้สึกสะเทือนใจในการสวรรคตของเยาวกษัตริย์  เขาไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ทราบว่าพวกขุนนางเลือกพระยากลาโหมเป็นกษัตริย์โดยไม่ได้ฟังคำแนะนำจากตนเลย  ความเศร้าเสียใจทำให้เขาลืมตัวถึงกับกล่าวออกมาว่า  “การปลงพระชนม์และการเลือกตั้งกษัตริย์โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายนี้  คงต้องมีผู้คิดทำการแก้แค้นทดแทนกันอย่างแน่นอน”  หลังจากรู้สึกตัวก็รีบระงับความไม่พอใจของเขาไว้  และหันมาแสดงความยินดีในการได้รับของกำนัลจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  ทั้งจัดให้มีงานรื่นเริงอื่น ๆ อีก เ ป็นการฉลองสืบราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน

          ออกญานคร (เสนาภิมุข) เริ่มเกิดความคิดไม่ไว้วางใจเจ้าเมืองนครคนเก่า  และสั่งห้ามไม่ให้เจ้าเมืองคนเก่ามาที่จวนของตน  และไม่ต้องการเห็นหน้าเขาอีกต่อไป  แต่เขามิได้ตัดความสัมพันธ์กับออกพระมะริด  น้องชายของเจ้าเมืองคนเก่า  บอกอนุญาตให้มาเยี่ยมได้ตลอดเวลา  ในระยะเวลานั้น  มีเรื่องอยู่ว่า  ออกญานคร (คนใหม่)  คุมทัพไปราบชาวปัตตานีแล้วได้รับบาดเจ็บที่ขา  แผลนั้นปวดระบมมาก  ออกพระมะริดจัดหายาให้ใส่รักษาแผล  ทำให้ความเจ็บปวดทุเลาลง  บาดแผลเกือบจะหายแล้ว  ดังนั้น  เขาจึงจัดงานฉลองการสมรสของตนกับหญิงสาวที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานมา

          วาระสุดท้ายของออกญานคร – เสนาภิมุขมาถึง  เมื่อเขากำลังสดชื่นในความรักนั้น  งานฉลองสมรสกำลังเป็นไปด้วยความสนุกสนานถึงขีดสุด  ออกพระมะริดได้ใช้ผ้าพันแผลอาบยาพิษปิดให้ที่ขา  จึงทำให้ออกญานคร- เสนาภิมุข  ถึงแก่ความตายในเวลา ๒-๓ ชั่วโมงต่อมา.........

          แม้ออกญาเสนาภิมุขจะตายแล้ว  แต่เรื่องของกองกำลังญี่ปุ่นในเมืองนครศรีธรรมราชยังไม่จบ  หลังจากเขาตายลง  ความวุ่นวายเกิดตามมามากมาย  อ่านต่อวันพรุ่งนี้นะครับ .....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, กุมภาพันธ์, 2562, 10:17:42 PM
(https://i.ibb.co/DrBQfPT/5140355364-8ae81e6493-z.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ซามูไรอโยธยา (Yamada)"

- ล้างผลาญพวกยามาดะ -

“ออกขุนเสนาภิมุข”ลูกยามาดะ
กักขฬะเกินพ่อก่อข่มเหง
เมืองนครร้อนร้างเปล่าวังเวง
ญี่ปุ่นเก่งแก่งแย่งฆ่าแกงกัน

ที่เหลือตายไม่อยู่กรูกันหนี
เพราะรู้ดีรอท่าจะอาสัญ
พระเจ้าปราสาททองต้องฆ่าฟัน
เป็นไปตามความนั้นวันต่อมา..


          อภิปราย ขยายความ.........

          ความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิตกล่าวต่อไปอีกว่า  บุตรชายของออกญานครชื่อ  ออกขุนเสนาภิมุข  อายุประมาณ ๑๘ ปี  เชื่อว่าพระยานครเจ้าเมืองคนเก่าเป็นผู้วางยาพิษบิดาของตน  หลังจากที่เขาประกาศตนเป็นเจ้าเมืองนครแทนบิดาแล้ว  สั่งให้จับตัวเจ้าเมืองคนเก่ามาเป็นนักโทษและตั้งใจจะประหารชีวิตเสีย  แต่เจ้าเมืองคนเก่าเป็นคนเจ้าเล่ห์  สามารถทำให้ออกขุนเสนาภิมุขสิ้นความเคลือบแคลงในตัวเขาได้  จึงมิเพียงยกโทษให้เท่านั้น  เขายังได้สมรสกับลูกสาวคนโตของผู้ที่ฆ่าบิดาตนอีกด้วย  และยังได้สาบานว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกกรณี  อดีตเจ้าเมืองนครพยายามทำให้บุตรเขยเชื่อว่า  เขาปกครองเมืองนครในฐานะกษัตริย์มีอำนาจเต็มไม่ขึ้นแก่เมืองหลวง  และมณฑลนี้เป็นเหมือนอาณาจักรมรดกตกทอดในตระกูล  คำพูดของอดีตเจ้าเมืองได้รับการสนับสนุนของพวกผู้ประจบสอพลออีกจำนวนหนึ่ง  ออกขุนเสนาภิมุขจึงเชื่อถืออย่างง่ายดาย  คลายความรู้สึกในเรื่องการตายของบิดาไป  เขาเริ่มจัดการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ  โดยบรรจุคนเข้าไปในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ว่าง  ให้บำเหน็จรางวัลอย่างมากแก่คนโปรด  ตั้งตำแหน่ง  ออกญา  ออกพระ  แต่งตั้งขุนนาง  เสนาอำมาตย์  ทั้งกำหนดวันเพื่อเฉลิมฉลองพิธีราชาภิเษกเพื่อตนเองเป็นที่เคารพยกย่องในฐานกษัตริย์  และเพื่อให้ข้าแผ่นดินใหม่ ๆ ดื่มน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อตน

          พร้อมกันนั้น  อดีตเจ้าเมืองนครได้ลอบติดต่อยุยงให้  ออกขุนวิชาวุธ (ศรีไวยาวุธ)  ซึ่งเป็นคนน่าเกรงขามที่สุดในกองทัพญี่ปุ่น  เขากล่าวยกย่องว่า  ออกขุนวิชาวุธเป็นคนเก่งกล้าหาญที่สุดในกองทัพญี่ปุ่น  ส่วนออกขุนเสนาภิมุขนั้นหย่อนความสามารถ  ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุด  คำพูดของอดีตเจ้าเมืองนครทำให้ออกขุนวิชาวุธเอนเอียงไป  จนปรารถนาแย่งชิงอำนาจสูงสุดในกองทัพญี่ปุ่นมาเป็นของตน  ในที่สุดก็ประกาศตนเป็นปรปักษ์กับออกขุนเสนาภิมุข  กองทัพญี่ปุ่นเริ่มแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย และมีการปะทะถึงกับล้มตายกันบ่อย ๆ จนกำลังพลกำลังร่อยหรอลงทั้งสองฝ่าย

          จากนั้น  อดีตเจ้าเมืองก็กล่าวยุยงเสี้ยมสอนขุนนางและราษฎรชาวเมืองนครให้เกลียดชังทหารญี่ปุ่นผู้หยาบช้าโอหัง  ชี้ให้เห็นว่าพวกญี่ปุ่นเป็นเสมือนโจรชิงราชสมบัติโดยแท้  ชาวนครควรร่วมกันต่อต้านแผนการของชาวญี่ปุ่น  พวกขุนนางและราษฎรเห็นด้วยกับคำยุยงเสี้ยมสอนของอดีตเจ้าเมือง  จึงพากันงดไปงานที่จวนเจ้าเมืองในวันทำพิธีราชาภิเษก  อย่างไรก็ตาม  งานพิธีราชาภิเษกของออกขุนเสนาภิมุขก็ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย  หลังจากสิ้นพิธีราชาภิเษก  เขาประกาศเป็นคำสั่งออกไปให้ราษฎรเคารพยกย่องเขาในฐานพระราชา  ต้องให้เกียรติตามประเพณีนิยม  ต้องถวายความเคารพและดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  ชาวนครศรีธรรมราชขัดขืนไม่ยอมทำตาม  ซ้ำพากันกล่าวว่า  ออกขุนเสนาภิมุขเป็นโจรชิงราชสมบัติ  เป็นกบฏต่อกษัตริย์สยาม

          ขุนวิชาวุธรู้ตัวว่าตนเองถูกอดีตเจ้าเมืองหลอกลวง  เพื่อหาทางให้ตนได้กลับเป็นเจ้าเมืองอีกครั้ง  จึงรวมกำลังกับออกขุนเสนาภิมุขและคนญี่ปุ่นทั้งปวง  ยกกำลังบุกไปบ้านอดีตเจ้าเมืองเข้าฆ่าฟันบริวารอดีตเจ้าเมืองล้มตายลงเป็นอันมาก  มีการรบกันอย่างดุเดือด  จนฝ่ายญี่ปุ่นก็ล้มตายลงไม่น้อย  ในที่สุดอดีตเจ้าเมืองก็ถูกฆ่าตาย  คนในบ้านทุกคนถูกเชือดคอตายอย่างน่าอนาถ  ชาวไทยพากันหนีกระเจิดกระเจิง บ้านเรือนถูกปล้นสะดม  จึงพากันหนีออกจากเมืองไปอยู่ตามป่าดงและหัวเมืองอื่น ๆ  จนเมืองนครศรีธรรมราชยามนั้นกลายเป็นเมืองร้าง

          ออกขุนเสนาภิมุข  เป็นพระราชากำมะลอ  ที่ไม่มีประชาชนราษฎรให้ปกครอง  ญี่ปุ่นขาดอาหารการกินจนไม่อาจอยู่ได้  พระราชากำมะลอจึงออกประกาศนิรโทษกรรม  เชื้อเชิญให้ชาวเมืองกลับมาอยู่ในสภาพเดิม  โดยจะคืนทรัพย์สมบัติให้แก่ทุกคน  แม้กระนั้นก็ไม่มีใครกล้ากลับมา  ทหารญี่ปุ่นทั้งสองฝ่ายก็ยังสู้รบกันเองอยู่  ล้มตายลงเรื่อย ๆ  จนในที่สุดออกขุนวิชาวุธก็ถูกฆ่าตาย  ชาวญี่ปุ่นคิดเห็นตรงกันว่า  คงจะอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชต่อไปไม่ได้แน่แล้ว  เพราะนอกจากจะอดอยากยากแค้นแล้ว  พระเจ้าแผ่นดินสยามคงจะมิยอมให้พวกตนอยู่ในอาณาจักรของพระองค์  เมื่อคิดกันดังนี้แล้ว  จึงพากันทิ้งเมืองนคร  ถอนตัวไปยังประเทศเขมรจนหมดสิ้น  ชาวเมืองก็กลับเข้ามาอยู่ในเมืองตามเดิม

          มีญี่ปุ่นบางคนกลับมาเมืองนครแต่ก็อยู่ไม่ได้  เพราะไม่มีใครต้อนรับ  ทุกคนพากันชิงชังรังเกียจคนญี่ปุ่น  และมีบางคนกลับไปกรุงศรีอยุธยา  แต่ก็ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย  ทำการค้าใด ๆ ไม่ได้  จึงพากันขนของลงเรือ  กลับประเทศญี่ปุ่น  และแวะรับศพออกญาเสนาภิมุขกลับไปด้วย  พระเจ้าปราสาททองจึงสั่งให้จับกุมไว้ทั้งหมด  แต่ทรงเกรงว่าญี่ปุ่นกลายเป็นสุนัขจนตรอก  จึงทรงคืนเรือสำเภาให้  พร้อมทั้งอนุญาตให้ทำการค้าในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้  แต่พวกเขากลับไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  อวดดีเหิมเกริมถึงกับพูดออกมาดัง ๆ ว่า  “พวกตนจะเข้าโจมตีพระเจ้าแผ่นดิน  และจะทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับสมัยพระเจ้าทรงธรรม”  เมื่อมีผู้นำความกราบบังคมทูล  พระเจ้าปราสาททองจึงตัดสินพระทัยโจมตีญี่ปุ่นก่อน

          ในคืนวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๑๗๓ (ค.ศ. ๑๖๓๐)  ทรงให้จุดไฟเผาหมู่บ้านญี่ปุ่นของชาวญี่ปุ่น  พร้อมกับยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านญี่ปุ่นอย่างดุเดือดจนคนญี่ปุ่นพากันหนีจากหมู่บ้านเป็นโกลาหล  พากันลงเรือสำเภาของตนล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาหนีไป  พระเจ้าปราสาททองสั่งให้ค้นหาชาวญี่ปุ่นที่หลงเหลือในกรุงศรีอยุธยา  เมื่อพบให้ประหารเสียจนสิ้น

          เมื่อกวาดล้างชาวญี่ปุ่นจนสิ้นจากกรุงสีอยุธยาแล้ว  เรื่องราวทางเมืองนครศรีธรรมราชจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านต่อกันวันพรุงนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ มกราคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, กุมภาพันธ์, 2562, 10:13:29 PM
(http://upic.me/i/ym/m8t02.jpg) (http://upic.me/show/62331887)
วัดโลกโมฬี : เชียงใหม่

- พระเจ้าปราสาททองตีเชียงใหม่ -

ล้างญี่ปุ่นหมดกรุงศรีสมที่คาด
"เจ้าปราสาททอง"ท่านยิ่งหาญกล้า
ยกทัพเป็นพหลพลโยธา
ตีเชียงใหม่ไม่ช้าเพิ่มบารมี


          อภิปราย ขยายความ......

          หลังจากล้างผลาญคนญี่ปุ่นสิ้นไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว  วันวลิตได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาต่อไปอีกว่า

          " ส่วนทางเมืองนครศรีธรรมราชนั้น  เมื่อพวกญี่ปุ่นออกไปหมดแล้ว  ชาวเมืองก็กลับเข้าเมืองรวมตัวกันใหม่  และต้องการปลดแอกการปกครองจากกรุงศรีอยุธยา  จึงพากันเป็นกบฏตั้งตนเป็นอิสระ  ไม่ยอมนับถือพระเจ้าแผ่นดินสยาม  พระเจ้าปราสาททองจึงให้จัดกองทัพกรุงศรีอยุธยาเป็น ๓ ทัพ  มีกำลังพล ๑๐,๐๐๐  ให้พระยาศักดาพลฤทธิ์คุมทหาร ๓,๒๐๐ คนเป็นทัพหน้า  พระยาท้ายน้ำคุมทหาร ๔,๐๐๐ คนเป็นทัพหลวง  และพระยานครคนใหม่  เป็นแม่กองระวังหลัง  ทั้ง ๓ ทัพได้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อม ๆ กัน  และสำเร็จได้โดยง่าย  ได้ตัวกบฏเป็นนักโทษสำคัญ ๑๗ คน  ส่งไปกรุงศรีอยุธยา  นักโทษทั้งหมดถูกทรมานอย่างทารุณจนพระภิกษุสงฆ์ทนเห็นการทรมานไม่ได้จึงถวายพระพรขออภัยโทษ  พระเจ้าแผ่นดินก็ประทานให้แล้วปล่อยตัวไปทั้งหมด"

          ความวุ่นวายในกรุงศรีอยุธยาและนครศรีธรรมราชสงบลง  แต่เรื่องราวของพระเจ้าปราสาททองยังดำเนินต่อไป  เยเรเมียส ฟานฟลีต  หรือวันวลิต  ได้กล่าวถึงเรื่องการศึกสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่และลาว  ซึ่งมีรายละเอียดไม่ปรากฏในที่ใด  ดังความต่อไปนี้

           “ ขณะนั้นพระเจ้าเชียงใหม่  และเจ้านครน่าน  ซึ่งเป็นพี่น้องกัน  เกิดมีเรื่องบาดหมางกันอย่างรุนแรง  เพราะพระเจ้าเชียงใหม่เชษฐาผู้ได้ปกครองมรดกในภาคที่ดีกว่า  มีพระประสงค์จะรุกรานดินแดนส่วนแบ่งของพระอนุชา  ทรงขับไล่พระอนุชาออกจากอาณาจักรที่ครองอยู่  และบีบบังคับให้เจ้านครน่านต้องร่นหนีเข้ามาในอาณาจักรสยามพร้อมด้วยข้าทาสบริวารไม่กี่คน  แต่ภายหลังจากที่ได้พำนักอยู่ในความคุ้มครองของสยามชั่วคราวระยะหนึ่ง  ราษฎรของพระองค์ประมาณ ๕๐๐ คน  ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนลาว  พากันหนีและมุ่งไปสู่เชียงใหม่  เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินสยามยุ่งยากพระทัย  เพราะทรงเกรงว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะถูกราษฎรเหล่านั้นยุยง  แล้วอาจจะไปยุยงพระเจ้าอังวะให้เป็นปรปักษ์กับพระองค์ด้วย  และทรงเกรงว่ากษัตริย์ ๒ องค์นี้อาจรวมกำลังกันทำสงครามกับพระองค์  เพราะเหตุนั้น  พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยทำสงครามกับพวกนี้ก่อน  และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์  พระองค์จึงมีรับสั่งให้ประชุมพล ๙๐,๐๐๐ คน  ทหารเดินเท้าและทหารม้ารวมไปกับช้างศึกเป็นจำนวนมาก  และปืนใหญ่กับสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ทั้งปวง  รวมกันเป็นกองทัพหลวงซึ่งอาจยึดได้ทั้งอาณาจักรเชียงใหม่  เจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้าของทัพนี้  ออกญากลาโหมและออกญาพิชัยเป็นแม่ทัพนำพล ๙,๐๐๐ คน  มีทหารญี่ปุ่นซึ่งนำตัวมาจากคุกปะปนอยู่บ้าง  ส่วนพระเจ้าแผ่นดินเสด็จร่วมกับกองทัพที่เหลืออยู่  ตามไปเป็นทัพหลังในเวลา ๓ วันต่อมา  ก่อนที่จะเสด็จออกจากพระราชวังพระองค์ทรงกล่าวสาบานว่า  พระองค์จะใช้หญิง ๔ คนแรกที่ทรงพบ  เป็นเครื่องเซ่นสังเวยโดยจะสับหญิงเหล่านั้นเป็นท่อน ๆ  จะชโลมเรือพระที่นั่งของพระองค์ด้วยเลือด  ไขมันและไส้พุงของสตรีทั้ง ๔ คนนี้  พระองค์มิค่อยยอมเสด็จออกจากพระราชวัง  จนกระทั่งพบสตรี ๔ คนในเรือลำหนึ่ง  พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติตามคำสาบานนั้น  ครั้นแล้วจึงให้เคลื่อนกองทัพต่อไปด้วยความปีติอย่างยิ่งที่ได้พบหญิงเหล่านี้  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นลางดี  ทำให้มั่นพระทัยว่าจะได้ชัยชนะแก่ข้าศึก  ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามกำลังยกทัพอันมีแสนยานุภาพยิ่งใหญ่ขึ้นมา  ก็ละทิ้งบ้านเมือง  เสด็จหนีไปกับข้าราชบริพารทั้งปวง  โดยมิได้รอคอยความช่วยเหลือซึ่งกษัตริย์อังวะอาจจะส่งมาให้

          พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จมาถึง  มิพบข้าศึก  พระองค์ไม่ประสงค์จะยกทัพกลับโดยมิได้ทำการสู้รบในสงครามสำคัญแต่อย่างใด  จึงทรงตกลงพระทัยเข้าโจมตีนครลาว  เพราะกษัตริย์ของมณฑลนั้นเป็นเจ้าประเทศราชของเชียงใหม่  และถวายความจงรักภักดีแก่พระเจ้าเชียงใหม่  เพื่อให้เป็นไปดังพระราชประสงค์  พระองค์มีรับสั่งให้ออกญาพิษณุโลกคุมกองทัพบางส่วนเดินทางล่วงหน้า  และทรงสัญญาว่าจะทรงยกทัพที่เหลืออยู่ติดตามไป  แต่ออกญาพิษณุโลกคิดว่าจะเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศของตนถ้าจะให้พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาด้วยความลำบาก  จึงเข้าโจมตีเมืองนครลาวทุกด้าน  ทลายประตูเมืองและจุดไฟเผาบ้านเรือนราษฎรเสีย  เหตุการณ์นี้เป็นที่ตื่นตระหนกของชาวเมือง  แม้ว่าจะมีกำลังป้องกันเมืองเกินกว่า ๒,๐๐๐ คนก็ตาม  พระเจ้าแผ่นดินลาวก็เสด็จหนีไปกับข้าราชบริพาร  แต่ถูกติดตามอย่างเร่งรีบและถูกจับได้  อย่างไรก็ตาม  พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยและเสียพระทัยมากเกินไป  จึงสิ้นพระชนม์เสียก่อนที่พระองค์จะถูกนำกลับมายังเมือง  ฝ่ายกษัตริย์สยามเสด็จตามมาในระยะทางห่างจากเมืองนครลาว  ใช้เวลาเดินทาง ๓ วัน  ได้ทรงทราบเรื่องราวเข้ายึดเมือง  การจับพระเจ้าแผ่นดินลาวได้และสิ้นพระชนม์เสียแล้ว  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ไม่ประสงค์จะรุกรบไกลออกไปอีก  พระองค์ไม่ประสงค์จะเดินทางต่อไปจึงหยุดยั้งกองทัพอยู่ที่นั่น  และมีพระราชดำรัสให้ปิดประกาศทั่วถนนหนทางว่า  ถ้าหากโอรสพระเจ้าลาวที่สิ้นพระชนม์ประสงค์จะถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์แล้ว  ก็อาจจะกลับมายังพระราชวังได้โดยปลอดภัย  และจะให้ปกครองอาณาจักรของบิดา  แต่เจ้าชายหนุ่มก็มิได้ปรากฏพระองค์  ดังนั้น  เมื่อออกญาพิษณุโลกพักอยู่ในเมืองได้ ๑๐ วันก็ทิ้งเมือง  ทำการปล้นสะดมและกวาดต้อนครัวลาวจำนวนหนึ่งไปกับตนพร้อมทั้งทรัพย์สมบัติทั้งมวล  อาวุธยุทธภัณฑ์และเสบียงอาหารทั้งหมดในเมือง  และเหลือคนไว้ราว ๑,๐๐๐ คน  เพื่อจัดการถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนตามประเพณี  ในทันทีทีออกญาพิษณุโลกยกมาสมทบกับทัพหลวง  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงให้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา  พระองค์เสด็จเข้าเมืองอย่างภาคภูมิในชัยชนะ  มีเชลยมาในกระบวนทัพ ๑๐,๐๐๐ คน  รวมทั้งพวกที่ละทิ้งเจ้านครน่านไปเข้าเชียงใหม่ด้วย  เชลยเหล่านี้จำนวนมากถูกประหารชีวิตด้วยพิธีพิสดาร  คือถูกเสียบเข้ากับไม้ไผ่ผ่าซีกซึ่งขึ้นเป็นลำอยู่บนดิน  คนพวกนี้ตายอย่างทนทุกขเวทนา  คนที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่สี่หรือที่ห้า  ถูกตัดสินให้ไฟคลอก  แต่พระสงฆ์ได้ทูลขอชีวิตไว้  คนเหล่านั้นจึงได้รับอภัยโทษ”

          วันวลิตไม่ได้บอกว่า  ปีที่พระเจ้าปราสาททองยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่นั้นตรงกับปีคริสตศักราช  หรือพุทธศักราชที่เท่าใด  แต่ปีที่ทรงกวาดล้างชาวญี่ปุ่นในพระนครศรีอยุธยานั้นตรงกับ  คริสตศักราช ๑๖๓๐  ซึ่งก็ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๗๓  เปิดพงศาวดารโยนกดูแล้วพบว่าในช่วงเวลาที่พระเจ้าปราสาททองขึ้นครองกรุงศรีอยุธยานั้น  เชียงใหม่ซึ่งถูกปกครองโดยพระเจ้าสุทโธธรรมราชาแห่งอังวะ ในปี พ.ศ. ๒๑๖๙  พระเจ้าหงสาวดีสวรรคต  เจ้าสุทโธธรรมราชาจึงเสด็จกลับไปอังวะ-หงสาวดี  ฝ่ายพระยาเชียงใหม่ก็คิดแข็งเมืองขึ้น  หลังจากพระเจ้าปราสาททองกวาดล้างญี่ปุ่น ๑ ปี  คือ พ.ศ. ๒๑๗๔  พระเจ้าสุทโธธรรมราชาก็ยกทัพกลับมาตีเชียงใหม่คืนได้  แล้วกุมพระยาเชียงใหม่ไปหงสาวดี  ตั้งให้พระยาหลวงทิพเนตรเจ้าเมืองฝางมาครองนครเชียงใหม่  โดยให้อยู่ในความควบคุมดูแลของพระเจ้าสุทโธธรรมราชา  ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๑๒๙๓  พระยาหลวงทิพเนตรถึงแก่อสัญกรรม  พระแสนเมืองผู้บุตรจึงได้ครองเชียงใหม่สืบแทน  จนถึง พ.ศ. ๒๒๐๓  จึงมีกองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปตีเชียงใหม่ได้  เมื่อรบชนะเชียงใหม่และล้านช้างแล้ว  เยเรเมืยส ฟานฟลีต  ได้บันทึกเรื่องราวของพระเจ้าปราสาททองต่อไปอีกว่า

           “ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินสยาม  เมื่อทรงเห็นว่าพระองค์มีชัยแก่อริราชศัตรู  ทั้งทรงวางรากฐานกิจการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก็ใช้กลอุบายกำจัดขุนนางคนสำคัญ ๆ ของประเทศเสียเป็นจำนวนมาก  แม้แต่ผู้ที่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งในการขึ้นครองบัลลังก์  ที่พระองค์ทรงทำดังนั้น  เพราะทรงเกรงว่าคนเหล่านั้นอาจกระทำทุจริตต่อพระองค์เช่นเดียวกับที่ได้กระทำกับพระเจ้าแผ่นดินที่ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองมาแล้ว”

          บุคคลที่พระเจ้าปราสาททองกำจัดตามที่วันวลิตกล่าวไว้  ก็มีพระโอรสของพระเจ้าทรงธรรมผู้เยาว์วัย ๒ พระองค์  ต่อมาทรงทราบว่ายังมีพระโอรสพระเจ้าทรงธรรมหลงเหลืออยู่อีก  ก็สั่งให้พระยาจักรีจัดการสำเร็จโทษเสียสิ้น  เว้นไว้ ๒ พระองค์ที่ไม่ประหารชีวิต  เพราะพระมารดาและพระมเหสีเอก ๒ องค์ทรงทูลทัดทาน  และขู่ว่า  หากประหารเจ้าชายทั้งสองแล้ว  พระมารดาจะโดดน้ำตาย  พระมเหสีจะเสวยยาพิษตายตาม  จึงทรงงดโทษประหารไว้  โดยบังคับให้ออกจากราชวังไปอยู่อีกฟากฝั่งแม่น้ำข้างหนึ่ง  มีข้าทาสใช่สอยไม่กี่คน  แต่ต่อมาเจ้าชายองค์ใหญ่สมรสกับหญิงสาวตระกูลต่ำคนหนึ่ง  และถูกบังคับให้ต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินทุกครั้งที่เสด็จออกให้ราษฎรเฝ้า

          เหตุการณ์ทางด้านตอนใต้แผ่นดินสยาม  แม้เมืองนครเป็นปกติดีแล้ว  แต่ทางปัตตานียังมีปัญหาให้ต้องจัดการแก้ไข  วันวลิตได้บันทึกเรื่องนี้ไว้  พรุ่งนี้จะนำมาเสนอต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, กุมภาพันธ์, 2562, 10:20:35 PM
(https://i.ibb.co/kJhx9tF/1399196738-13-o.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"ปืนใหญ่จอมสลัด"

- ปราบปัตตานี -

ได้ล้านนาล้านช้างทั้งสองแคว้น
ไม่ยึดแดนครองดินทุกถิ่นที่
ปล่อยทั้งคู่อยู่เย็นเป็นเสรี
“ปัตตานี”ที่ผยองต้องจัดการ...


          อภิปราย ขยายความ.........

          หลังจากยกทัพขึ้นไเชียงใหม่  แล้วเลยไปตีล้านช้างได้อย่างง่ายดาย  พระเจ้าปราสารททองมิได้ยึดครองล้านนาและล้านช้าง  ทรงปล่อยให้ชาวล้านนาและล้านช่างอยู่กันอย่างอิสรเสรี  วันวลิตกล่าวว่า  จากนั้นพระเจ้าปราสาททองทรงจัดการกับหัวเมืองทางใต้ในปกครองครองรัฐปัตตานีต่อไปว่า

           “ชาวเมืองปัตตานีปฏิเสธไม่ยอมถวายความจงรักภักดีตามที่เคยปฏิบัติต่อกษัตริย์สยามเสมอมา  ดังนั้น  เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้แสวงหาพรรคพวกจากเพื่อนบ้านประเทศใกล้เคียงมาช่วยเสริมกำลังในการก่อกบฏหรือรบกวนความสงบสุขของประเทศด้วยการสงครามกับต่างประเทศ  พระองค์จึงส่งคณะทูตสำคัญไปยังกษัตริย์แห่งเมืองอะจิน (อัดแจ ในเกาะสุมาตรา)  และกษัตริย์แห่งยะไข่  ในระยะแรกเพื่อต่อสัญญาพันธมิตร  พันธไมตรีและการติดต่อซึ่งก่อน ๆ ทรงทำไว้กับกษัตริย์ทั้งสองนี้  กับได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศนั้นด้วย  ถึงแม้เหตุการณ์ต่อมามีทีท่าว่าสนธิสัญญานี้จะไม่ยืดยาวต่อไปถึงที่สุดก็ตาม  พระเจ้าแผ่นดินยังคงใช้สนธิสัญญานี้เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งชาวปัตตานีให้กลับมาถวายความเคารพแลเชื่อฟังต่อพระองค์

          ในปี ค.ศ. ๑๖๓๔ (พ.ศ. ๒๑๗๗)  พระองค์ส่งทหารไปปัตตานี ๓๐,๐๐๐ คน  พระองค์ได้เสริมกำลังด้วยทหารต่างด้าวจำนวนหนึ่ง  เพื่อให้กองทัพเข้มแข็ง  ทหารต่างด้าวเหล่านี้มีโปรตุเกส  คนเชื้อชาติผสม  ญี่ปุ่น  มลายู  และชาติอื่น ๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศ  พระองค์ทรงเตรียมกองทัพนี้พร้อมสรรพด้วยช้าง  ม้า  ศัสตราวุธ  เสบียงอาหารและสัมภาระที่จำเป็นสำหรับการสงครามใหญ่  กองทัพนี้มีแม่ทัพ ๔ คน คือ  ออกญานคร  ออกญาพระคลัง  ออกญากลาโหม  และออกญารามสิทธิ์  แต่ความไม่เรียบร้อยของกองทัพอันเกิดจากวิวาทะระหว่างกัน  ทั้งความต้องการได้เปรียบในการรบ  และความประพฤติอันเสื่อมเสียของบรรดาทหาร  กลับเป็นผลประโยชน์กับฝ่ายปัตตานี  กล่าวคือ  กองทัพเหล่านี้ต้องประสบกับการต้านทานอย่างเข้มแข็งจนทำให้ต้องล่าถอย  เนื่องจากกองทัพบางเหล่าต้องการนำทัพเข้าโจมตีข้าศึกตามลำพัง  โดยไม่ใช้กองทัพต่างด้าว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารชาวฮอลันดา  ซึ่งเป็นทหารที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดเข้าโจมตีด้วย  เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินต้องส่งกองทัพที่สองมาอีก  ทัพนี้เข้มแข็งเป็นที่หวาดกลัวมาก  จนนางพญาตานียอมจำนน  เมื่อกษัตริย์ไทรบุรีเข้ามาไกล่เกลี่ยและปฏิบัติหน้าที่ที่เคยกระทำ  โดยส่งทูตมาถวายบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองยังราชสำนักสยามในปี ค.ศ. ๑๖๓๖ (พ.ศ. ๒๑๗๙)  และทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นข้าขอบขันธสีมาตามประเพณี”

          วันวลิตกล่าวต่อไปได้ความโดยสรุปว่า  พระเจ้าปราสาททองทรงผูกสัมพันธไมตรีกับเจ้านายอินเดียทุกพระองค์  ตลอดจนแว่นแคว้นในหมู่เกาะอินเดียทั้งปวง  ทั้งนี้เพื่อได้ส่งสำเภาของพระองค์และชาวสยามให้ไปทำการค้าขายได้อย่างเสรีตามเมืองท่าของประเทศเหล่านั้น  ภายหลังพระองค์ก็ชักนำชาวญี่ปุ่นให้กลับมา  และส่งทูตไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำไมตรีต่อกันอีกด้วย  โดยมีหลักฐานทางเอกสารว่า  ราชทูตไทยไปญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗๙  แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมรับราชทูต  เพราะเริ่มนโยบายปิดประตูประเทศเสียแล้ว

          สำหรับประเทศจามปานั้น  เดิมทีเป็นประเทศราชของสยาม  ตกมาถึงสมัยพระองค์ดำ  คือสมเด็จพระนเรศวร  กษัตริย์จามปาไม่ยอมถวายความจงรักภักดี  สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องยกทัพไปราบปรามและบังคับให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  ต่อเมื่อสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแล้ว  กษัตริย์จามปาก็ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสยามอีก  พระเจ้าปราสาททองทรงส่งราชทูตไปเฝ้ากษัตริย์จามปาโดยมีพระยาโกษาธิบดีเป็นหัวหน้าคณะ  ครั้งแรกกษัตริย์จามปาให้การต้อนรับเป็นอันดี  และรับปากว่าจะส่งคนของพระองค์มายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  แต่แล้วก็เงียบเฉยไป  พระเจ้าปราสาททองจึงส่งคณะทูตเดินทางไปอีกครั้งหนึ่ง  ครั้งหลังนี้ผลเป็นอย่างไร  วันวลิตบอกว่าไม่ทราบผล เ พราะตัวเขาได้เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว

          ออกญาพระคลัง  บุคคลสำคัญผู้เป็นคู่คิดคู่บารมีที่ทำให้ออกญากลาโหมได้ขึ้นครองบัลลังก์กษัตริย์กรุงศรีอยุธยานั้น  วันวลิตบอกเล่าเรื่องราวของท่านผู้นี้ไว้ยืดยาว  ซึ่งพอสรุปใจความได้ว่า  ออกญาพระคลังได้ทำความดีความชอบอย่างใหญ่หลวง  จนสุดท้ายได้รับการแต่งตั้งให้เป็นออกญาพิษณุโลก  โดยที่ท่านไม่พอใจในตำแหน่งนี้  เพราะว่าแต่เดิมนั้นออกญากลาโหมเคยให้สัญญาว่า  เมื่อได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแล้วจะให้ออกญาพระคลังเป็นเจ้าฝ่ายหน้าหรือมหาอุปราชแห่งราชอาณาจักรสยาม  ครั้นเมื่อได้ฃึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจริงแล้วกลับไปตั้งพระอนุชาให้เป็นมหาอุปราช  แต่งตั้งออกญาพระคลังเป็นออกญาสวรรคโลก  และในที่สุดก็ตั้งให้เป็นออกญาพิษณุโลก  โดยไม่ยอมทำตามสัญญา  ออกญาพิษณุโลกเคยทูลทวงถามบ่อย ๆ พระองค์ก็ทรงบ่ายเบี่ยง  และยังว่าออกญาพิษณุโลกคือผู้มีพระคุณต่อพระองค์มากที่สุดในโลก  และจะทรงเลื่อนยศตำแหน่งให้จนถึงชั้นสูงที่สุดในประเทศ  จากการรบชนะศึกที่ลำปางทำให้ออกญาพระคลังได้รับความดีความชอบไว้ทั้งหมด  จนเป็นที่หวาดระแวงของอุปราช  พระอัยกีของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชมารดา  พระมเหสี  จึงทูลยุแหย่จนพระเจ้าปราสาททองสั่งจับกุมออกญาพระคลังหรือออกญาพิษณุโลก  ทรงให้เอาไฟนาบฝ่าเท้าแล้วพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทั้งร่าง  แล้วนำไปทิ้งไว้ในคุกสกปรก  ให้ออกญายมราชศัตรูของออกญาพิษณุโลกควบคุมดูแล  มีพระภิกษุบางองค์แนะนำให้ลูกชายน้อยของออกญาพิษณุโลกไปคุกเข่าอ้อนวอนพระเจ้าปราสาททอง  ขออภัยโทษบิดาตน  พระองค์ทรงให้สัญญาว่าจะปล่อยออกญาพิษณุโลกให้เป็นอิสระ  และในวันเดียวกันนั้นทรงเสวยน้ำจัณฑ์จนมึนเมา  ตรัสถามออกญายมราชว่าควรจะทำอย่างไรกับออกญาพิษณุโลกดี  ออกญายมราชหาโอกาสกำจัดออกญาพิษณุโลกอยู่แล้ว  จึงกราบทูลว่า  “งูซึ่งคนเลี้ยงดูมาตั้งแต่ตัวยังเล็ก  ก็ยังไม่วายขบกัดคนเลี้ยงที่ไปเหยียบหางมันเข้า”  พระเจ้าปราสาททองทรงพอพระทัยในคำตอบนั้น  จึงให้ออกญายมราชประหารชีวิตออกญาพิษณุโลกเสียในที่สุด  นอกจากนั้นพระองค์ยังหาเรื่องถอดยศปลดตำแหน่งผู้ที่ทรงเห็นว่าจะเป็นภัยแก่พระองค์  จนไม่มีใครกล้าแสดงความไม่พอใจในพระองค์ให้ปรากฏอีกเลย

          วันวลิตได้กล่าวในตอนท้ายประวัติพระเจ้าปราสาททองไว้ให้อ่านแล้วใจหายไปกับความไม่สง่างามของพระองค์  โดยวันวลิตกล่าวว่า  “พระองค์ทรงเสวยน้ำจัณฑ์มากเกินไป  เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วพระองค์ได้พระมารดาและพระขนิษฐาของพระมเหสีเป็นพระสนม  พระองค์ทรงมีพระราชโอรสและธิดากับพระมเหสีและพระสนมทั้งสามพระองค์  พระองค์เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไปมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน ๆ เสมอ  พระองค์ทรงโลภมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ๆ  ทรงให้รื้อฐานวัดเพื่อจะขุดหาของและเงินที่ฝังไว้”

          เยเรเมียส ฟานฟลีต  หรือวันวลิต  เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาทันรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง  แต่อยู่ไม่ตลอดรัชสมัย  เพราะต้องเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปเมื่อพระเจ้าปราสาททองทรงครองราชย์ได้ ๑๐ ปี ๗ เดือนเท่านั้น  เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้จึงไม่จบในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต  พระราชพงศาวดารและตำนานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับพระเจ้าปราสาททองนั้นล้วนแต่เขียนขึ้นภายหลังวันวลิตทั้งสิ้น  ความน่าเชื่อถือจะมีมากกว่าฉบับวันวลิตหรือไม่  ก็เป็นปัญหาที่ควรต้องขบคิด  ข้อด้อยของวันวลิตผู้เขียนเรื่องนี้คือเขาเป็นชาวฮอลันดาที่เข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยาด้วยเวลาอันสั้น  แม้จะประสบพบเห็นเรื่องราวเหตุการณ์ในสมัยพระเจ้าปราสาททองด้วยหูด้วยตาตนเอง  ก็ไม่แน่ว่าเขาจะเขียนได้ถูกต้องทั้งหมด  ทั้งนี้เพราะว่าเขาเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยไม่มากเท่าที่ควร

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41561#msg41561)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41900#msg41900)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกในิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กุมภาพันธ์, 2562, 10:27:00 PM
(https://i.ibb.co/4TBK9RL/maxresdefault.jpg) (https://imgbb.com/)



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41731#msg41731)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42076#msg42076)                   .

- พระเจ้าปราสาททอง หนไทย -

เรื่อง“พระเจ้าปราสาททอง”ของไทยหน
เล่าสับสนแต่ไม่ไร้แก่นสาร
มีบางอย่างอ้างเห็นเป็นพยาน
อีกถ้อยคำตำนานโบราณคดี.....


          อภิปราย ขยายความ.........

          ขอย้อนกลับไปดูเรื่องราวของพระเจ้าปราสาททอง  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าอีกที  เพราะเรื่องราวของพระองค์ตามคำให้การนี้ไม่เหมือนกับที่วันวลิตบอกเล่าดังกล่าวแล้ว  คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การตรงกันโดยสาระ  แต่ต่างกันในรายละเอียด  กล่าวคือในคำให้การนั้นว่า  พระเจ้าทรงธรรม  มีพระธิดาอันประสูติแต่พระมเหสีขวา ๔ จากพระมเหสีซ้าย ๔ องค์  โดยไม่มีพระราชโอรสเลย  แต่ทรงมีพระราชนัดดาชายเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระราชมารดาองค์หนึ่งนามว่า  สุริยกุมาร  หรือ  สุริยวงศ์กุมาร  ทรงนำพระราชนัดดาองค์นี้มาเลี้ยงในพระราชฐาน  ประทานชื่อให้เรียกว่า  พระยาสุริยวงศ์  ว่าที่จักรีกลาโหมกรมท่า  ซึ่งเป็นเสมือนดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช  ทรงมอบภารธุระในกิจการบริหารบ้านเมืองให้  ส่วนพระองค์ก็มุ่งศึกษาปฏิบัติแต่ในทางธรรม  ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังพระราชศรัทธา

          ครั้นพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตแล้ว  บรรดาเสนาอำมาตย์ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระยาสุริยวงศ์ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  ถวายพระนามว่า  พระรามาธิเบศร  แล้วถวายพระราชธิดาทั้ง ๘ องค์ของพระเจ้าทรงธรรมให้เป็นมเหสีขวา ๔ องค์  มีนามว่า  ปทุมาเทวี ๑   สุริยา ๑   จันทาเทวี ๑   สิริกัลยา ๑   มเหสีซ้าย ๔ องค์  มีนามว่า  ขัตติยเทวี ๑   นภาเทวี ๑   อรบุตรี ๑   กนิษฐาเทวี ๑

          พระปทุมาเทวีนั้นมีพระราชโอรส ๔ องค์  คือ  พระไชย ๑   พระติกูฐาน หรือ ไตรภูวนาถ ๑   พระอภัยทศ หรือ อภัยชาติ ๑   พระไชยทิศ หรือ ไชยาทิตย์ ๑   พระสุริยานั้นมีพระราชโอรส ๓ องค์  คือ  พระขัตติยวงศ์ หรือ ขัตติยวงศา ๑   พระติจักร หรือ ไตรจักร ๑   พระสุรินทรกุมาร ๑   ส่วนพระมเหสีอีก ๖ องค์นั้นไม่ปรากฏว่าพระราชโอรส-ธิดาเลย

          วันหนึ่งพระรามาธิเบศรทรงพระสุบินนิมิตว่า  จอมปลวกที่เคยเล่นสมัยเป็นเด็กนั้นมีปราสาททองอันงามวิจิตรอยู่ใต้จอมปลวก  รุ่งเช้าจึงเสด็จไปพิจารณาดูแล้วให้ขุดจอมปลวกนั้น  ก็เกิดอัศจรรย์มีเสียงครืนครั่น  เมื่อขุดลึกลงไปก็พบปราสาททองจตุรมุข ๙ ชั้น  มีลวดลายงดงามสีทองสุกปลั่งประกาย  สูงจากฐานถึงยอดประมาณศอกเศษ  ทรงนำปราสาททองนั้นมาไว้ที่สรรเพชฌ์ปราสาท  อัญเชิญพระธาตุลงบรรจุไว้ในปราสาททองนั้น  และเพราะได้ปราสาททองนี้เอง  ต่อมาพระองค์จึงได้รับการเรียกขานพระนามใหม่ว่า  “พระเจ้าปราสาททอง”

          พระเจ้าปราสาททองทรงโปรดพระไชยกุมารซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่  มีพระราชประสงค์ให้ครองราชสมบัติสืบแทนพระองค์  แต่เพื่อมิให้พระโอรสองค์อื่นเสียพระทัย  จึงทรงเสี่ยงบุญบารมีเพื่อได้ทาบว่าพระโอรสองค์ไหนมีบุญที่จะได้ครองราชสมบัติ  จึงเอาพระแสง ๗ องค์วางเรียงไว้แล้วอธิษฐานว่า  ถ้าพระโอรสองค์ใดมีบุญสมควรจะครองบ้านเมืองแล้ว  ขอให้หยิบถูกพระแสงสำหรับบ้านเมือง  เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็ให้พระโอรสทั้ง ๗ หยิบพระแสงนั้นคนละเล่มโดยลำดับอายุ  ปรากฏว่าพระสุรินทรกุมารโอรสองค์เล็กสุดนั้นหยิบได้พระแสงสำหรับบ้านเมือง  เพื่อให้ได้ความแน่ชัดจนแน่ใจ  จึงทรงเสี่ยงทายต่อไปอีก  ทรงใช้ช้างเป็นเครื่องเสี่ยงทาย  ผลก็ปรากฏว่าพระสุรินทรกุมารได้ช้างต้นมงคลหัตถี  พระองค์ทรงเสียพระทัยที่การเสี่ยงทายไม่ต้องตามประราชประสงค์  สุดท้ายทรงเสี่ยงทายด้วยม้า  ผลก็ปรากกว่าม้าซึ่งสมมุติเป็นม้ามงคลนั้นก็ได้แก่พระสุรินทรกุมารอีก  เมื่อเป็นดังนั้นพระเจ้าปราสาททองก็ยิ่งทรงพระอาลัยในพระไชยกุมายิ่งนัก  เพราะเชื่อแน่แล้วว่าพระไชยกุมารไม่มีบุญพอที่จะได้ครองราชสมบัติ  จากนั้นจึงทรงประทานโอวาทแก่พระราชโอรสทั้ง ๗ นั้น  โดยทรงย้ำเนือง ๆ ว่า  “เจ้าทั้ง ๗ พี่น้อง  จงรักใคร่ยำเกรงต่อกัน  ผู้ใหญ่จงกรุณาต่อผู้น้อย  ผู้น้อยจงเคารพต่อผู้ใหญ่”  แต่ในส่วนพระสุรินทรกุมารนั้นทรงสั่งสอนมากกว่าองค์อื่น ๆ  โดยรับสั่งว่า  “เจ้าเป็นคนเล็กกว่าเขา  จงเคารพต่อพี่ชายใหญ่ๆให้มาก ๆ อย่าได้คิดขัดแข็งให้ผิดใจกับผู้ใหญ่  อย่าประพฤติล่วงอคติ ๔ประการ”

          ต่อมาพระเจ้าปราสาททองให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ให้ชื่อ  สุริยาสน์อมรินทร์ ๑   วิชัยที่ตำหนักใหม่ ๑   ไอศวรรย์ทิพอาสน์ ที่เกาะบางนางอิน(บางปะอิน) ๑   แล้วสร้างปราสาทนครหลวง  และสร้างพระอาราม ๒ แห่ง  ให้ชื่อว่าไทยวัฒนาราม ๑   ราชราหุลาราม ๑   อีกทั้งสร้างเรือที่นั่งกิ่งและมหาพิชัยราชรถ  ทรงให้จำหน่ายเครื่องอุปบริโภคและเงินทองทั้งสิ้นของพระองค์ที่มีอยู่ในขณะเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์  เพื่อนำมาสร้างพระปรางค์  และทำรูปภรรยาเก่าทั้งสองที่ตายไปนั้นประดิษฐานไว้ ณ วัดราชราหุลารามโดยจารึกชื่อไว้ที่ฐานนั้น  ทรงกฐินบกพยุหยาตราใหญ่ให้เป็นประเพณีแต่นั้นมา

          อยู่มาวันหนึ่ง  มีฟ้าผ่าลงมาที่พระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท  เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  บรรดาข้าราชการและประชาชนช่วยกันดับเพลิงนั้นก็หาดับไม่  เวลาเมื่อพระสุรินทรกุมารขึ้นไปช่วยดับ  เพลิงนั้นจึงดับ  ในเวลาที่พระสุรินทรกุมารขึ้นไปนั้น  ข้าราชการและประชาชนแลเห็นเป็นสี่กรจึงโจษจันกันอื้ออึงไป  และพากันนิยมนับถือพระสุรินทรกุมารว่าเป็นผู้มีบุญแต่นั้นมา
พระเจ้าปราสาททองเสวยราชสมบัติเมื่อปีจุลศักราช ๙๙๘ (พ.ศ. ๒๑๗๙) ปีชวด อัฐศก มีพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๕ ปี เป็น ๔๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราชได้ ๑๐๒๓ (พ.ศ. ๒๒๐๔)

          ตำนานกรุงเก่าในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓  ระบุว่า  พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๒๔  ทรงเป็นต้นราชวงศ์ปราสาททอง  พระนามว่า  สมเด็จพระสรรเพชฌ์พระองค์ที่ ๕  อีกนัยหนึ่งเรียกว่า สมเด็จพระรามาธิเบศร์  คือพระเจ้าปราสาททอง  เสวยราชย์เมื่อปีจุลศักราช ๙๙๒ (พ.ศ. ๒๑๗๓)  อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี  เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราช ๑๐๑๗ (พ.ศ. ๒๑๙๘)  ตัวเลขศักราชปีครองราชย์และสวรรคต  ไม่ตรงกับคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  ใครผิดใครถูกก็ขอให้นักประวัติศาสตร์สอบค้นหาข้อเท็จจริงเอาเองก็แล้วกัน

          คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าที่เก็บความย่อมาแสดงนี้  ผิดไปจากบันทึกของ เยเรเมียส ฟานฟลีต มากทีเดียว  ส่วนตำนานและพงศาวดารที่เขียนกันภายหลังบอกเล่าในทำนองเดียวกันว่า  พระเจ้าปราสาททอง  เป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถอันประสูติแต่หญิงสามัญชน  มีพระนามเดิมว่า  “พระองค์ไล”  โดยมีเรื่องเล่าว่า  สมเด็จพระเอกาทศรถในขณะเป็นพระมหาอุปราช  เสด็จประพาสที่เกาะบางนางอิน หรือ บางปะอิน โดยทางน้ำ  ได้เกิดพายุใหญ่ขึ้นทำให้เรือพระที่นั่งล่ม  พระองค์ทรงว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้  อาศัยบ้านชาวบ้านอยู่บนเกาะนั้น  และเป็นเหตุให้ได้หญิงชาวบ้านเป็นบาทบาริจาริกา  จนเกิดพระโอรสขึ้นหลังจากพระองค์เสด็จกลับพระนครแล้ว  ต่อมาทรงทราบว่ามีพระโอรสจึงให้คนไปรับกุมารนั้นมามอบหมายให้พระยาศรีธรรมราชเลี้ยงดู  เมื่อเติบใหญ่ได้เข้ารับราชการและเจริญในหน้าที่ราชการโดยลำดับ  จนเป็นพระยามหาอำมาตย์  พระหมื่นศรีสรรักษ์  ออกญาศรีวรวงศ์  และออกญากลาโหม  แล้วขึ้นครองราชย์ในที่สุด

          พระองค์จะทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกทศรถจริงหรือไม่  เป็นเรื่องที่ควรศึกษาหาข้อยุติกันต่อไป......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุานขี้ผึ้งไทย
๒๑ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, กุมภาพันธ์, 2562, 10:20:53 PM
(https://i.ibb.co/vsTcgBf/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระราชวังบางปะอิน : อยุธยา

- ถกเรื่องพระเจ้าปราสาททอง -

ยากชี้ชัดประวัติศาสตร์ความคลาดเคลื่อน
กาลเก่าเกลื่อนกลืนกลบลบวิถี
ต้องวิเคราะห์วิจารณ์หลักฐานมี
เหตุผลที่ควรถือข้อเท็จจริง


          อภิปราย ขยายความ ..........

          เมื่อวันวานนี้ได้ “แลหลังอยุธยา” ว่าด้วยพระเจ้าปราสาททองตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  กับตำนานกรุงเก่า  ซึ่งให้ที่มาของพระเจ้าปราสาททองไม่ตรงกัน  และได้จบความไว้ว่า  พระเจ้าปราสาททองทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถจริงหรือไม่  เป็นเรื่องที่ควรต้องศึกษาหาข้อยุติกันต่อไป  วันนี้มาต่อความเรื่องนี้ให้จบกระทงความดังต่อไปนี้.....

          คำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่ากล่าวว่า  พระเจ้าปราสาททองเป็นหลานพระเจ้าทรงธรรม  อยู่ในสายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระราชมารดา  ก็หมายความได้ว่าพระเจ้าปราสาททองควรจะเป็นลูกชายของน้องสาวพระเจ้าทรงธรรม  หรือไม่ก็เป็นลูกพี่สาวของพระเจ้าทรงธรรม  โดยคำว่าเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระราชมารดานั้นหมายถึงพระราชมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์  ส่วนพระราชบิดาคงเป็นสามัญชน  ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์  ดังนั้น  เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงเปลี่ยนราชวงศ์หรือตั้งราชวงศ์ใหม่ว่า  “ราชวงศ์ปราสาททอง”  เหตุที่ทรงตั้งราชวงศ์ใหม่ก็เพราะพระองค์มิได้สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระเจ้าทรงธรรม  หรือ ร าชวงศ์สุโขทัยของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ  นั่นเอง

          เยเรเมียส ฟานฟลีต  หรือวันวลิต  กล่าวว่า  “พระเจ้าปราสาททองเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ที่ถูกสำเร็จโทษ  เนื่องจากพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินที่ถูกสำเร็จโทษ  และพระองค์เองเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน  พระราชมารดาของพระอินทราชาและพระราชบิดาของพระองค์เป็นพี่น้องร่วมท้องกัน”  ได้ความชัดเจนขึ้นอีกว่า พ ระราชบิดาของพระเจ้าปราสาททองเป็นน้าชายของพระเจ้าทรงธรรม  พระเจ้าปราสาททองจึงมีฐานะเป็นญาติฝ่ายมารดาของพระเจ้าทรงธรรม  และควรเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าทรงธรรม  ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ (ที่เป็นโอรสพระเจ้าทรงธรรม) ที่ถูกสำเร็จโทษ

          ตำนานและพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า  พระเจ้าปราสาททองเป็นโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ  อันประสูติแต่หญิงสามัญชนที่เกาะบางนางอิน  หรือ  บางปะอิน  เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงตั้งราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์ปราสาททอง  ไม่ยอมใช้ราชวงศ์สุโขทัยของพระราชบิดา  ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก  ถ้าพระองค์เป็นโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถจริงก็ควรจะต้องสืบราชวงศ์ของพระราชบิดา  คือราชวงศ์สุโขทัย  ไม่ควรจะปฏิเสธเชื้อสายของพระองค์ด้วยการตั้งราชวงศ์ใหม่เช่นนั้น  ดังนั้นตำนานและพงศาวดารที่ว่า  พระเจ้าปราสาททองเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถอันประสูติแต่หญิงสามัญชน  จึงไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะให้เชื่อถือได้

          ความเป็นมาของพระเจ้าปราสาททอง ตามคำให้การขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพรราชา) และชาวกรุงเก่า  กับ  วันวลิต  ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ที่ว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายฝ่ายพระราชมารดา  มีน้ำหนักมากพอที่จะให้เชื่อถือได้มากที่สุด  พระราชมารดาของพระเจ้าทรงธรรมน่าจะเป็นหญิงสามัญชน  และได้เป็นบาทบริจาริกาของพระเอกาทศรถแล้วประสูติพระเจ้าทรงธรรม  พระเจ้าทรงธรรมจึงเป็นพระราชโอรสของพระเอกาทศรถตามข้อเขียนของวันวลิตก็เป็นได้

          หรือไม่ก็  พระเจ้าทรงธรรมเป็นพระราชโอรสของพระนเรศวรอันประสูติแต่พระมเหสีองค์ใดองค์หนึ่ง  หรือนางนักสนม  และหรือ  หญิงสามัญชนคนใดก็ได้  เพราะขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การว่าพระเจ้าทรงธรรมเป็นหลานของพระมหาธรรมราชา

          ถ้าเชื่อวันวลิตที่ว่า  พระเจ้าปราสาททองมีพระราชบิดาเป็นน้องชายของพระราชมารดาพระเจ้าทรงธรรม  ก็ต้องนับญาติว่าพระราชบิดาของพระเจ้าปราสาททองเป็นน้าชายของพระเจ้าทรงธรรม  และพระเจ้าทรงธรรมเป็นลูกผู้พี่พระเจ้าปราสาททอง  ไม่ใช่พระเจ้าปราสาททองเป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับโอรสของพระเจ้าทรงธรรมดังที่วันวลิตกล่าว

          เชื่อไม่ได้ว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นพระโอรสของพระเอกาทศรถอันประสูติแต่หญิงสามัญชน  เพราะว่าพระองค์ทรงตั้งราชวงศ์ปราสาททองขึ้นมาใหม่แทนราชวงศ์สุโขทัย  ถ้าเป็นพระราชโอรสของพระเอกาทศรถจริงพระองค์ก็ต้องสืบทอดเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยของพระราชบิดาตามวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพกษัตริย์ไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน

          จึงควรเชื่อได้ว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นพระญาติฝ่ายพระราชมารดาของพระเจ้าทรงธรรมที่ไม่ใช่เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย

          ขอยุติเรื่องราวของพระเจ้าปราสาททองไว้เพียงแค่นี้ เพื่อดูเรื่องราวหลังจากที่พระเจ้าปราสาททองสวรรคตแล้วกันต่อไป......

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กุมภาพันธ์, 2562, 11:47:47 PM
(https://i.ibb.co/L5yZHWz/awb-image146255463836.jpg) (https://imgbb.com/)
พระนารายณ์ราชนิเวศ : ลพบุรี

- พระนารายณ์ย้ายเมืองหลวง -

พระสุรินทรกุมารชาญฉลาด
ขึ้นครองราชย์ปากฎพระยศยิ่ง
ทรงนามว่า“พระนารายณ์”ไร้คู่ชิง
ทรงละทิ้งอยุธยาไปละโว้

ย้ายเมืองหลวงกลับแดนเดิมแคว้นเก่า
ต่างชาติเข้าพำนักเพิ่มอักโข
สร้างปราสาทวังใหม่งามใหญ่โต
บ้านเมืองโอฬารระบุ “ลพบุรี”


          อภิปราย ขยายความ..........

          เป็นสรุปได้ว่า  พระเจ้าปราสาททองเสวยราชสมบัติเมื่อปีจุลศักราช ๙๙๘ (พ.ศ. ๒๑๗๙)  ปีชวด  อัฐศก  มีพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๕ ปี  เป็น ๔๕ ปี  เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราชได้ ๑๐๒๓ (พ.ศ. ๒๒๐๔) ปี

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การในทำนองเดียวกันว่า  เมื่อพระเจ้าปราสาททองสวรรคตแล้ว  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระสุรินทรกุมาร  หรือ  นรินทกุมาร  พระราชโอรสองค์เล็กสุด  อันประสูติแต่พระนางสุริยานั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ถวายพระนามตามนิมิตที่แลเห็นเป็นสี่กรในวันขึ้นไปดับเพลิงนั้นว่า  “สมเด็จพระนารายณ์”  ทรงอภิเษกมเหสี ๒ พระองคือ  มเหสีขวานามว่าพระกษัตรี  อันเป็นหลานพระเจ้าปราสาททองข้างฝ่ายมารดา  พระนางกษัตรีมีพระธิดา ๑ องค์นามว่า  สุดาเทวี  มเหสีซ้ายนามว่าพระพันปี  ไม่มีพระโอรส-ธิดา  นอกนั้นพระองค์มีพระสนมอีกเป็นอันมาก

           “ต่อมาพระนารายณ์โปรดกุมารองค์หนึ่งซึ่งเป็นหลาน  คือ โอรสพระไชยาทิตย์ผู้เป็นพระเชษฐาของพระองค์  กุมารนั้นนามว่าพระศรีศิลป์  ทรงตั้งไว้ในที่พระโอรสบุญธรรม  ครั้นเสวยราชย์อยู่ได้ ๑๐ ปี  จึงแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ ณ เมืองเก่าที่มีนามว่าละโว้  ทรงสมมตินามเรียกว่าเมืองลพบุรี  ทรงสร้างป้อมกำแพงและปราสาทชื่อดุสิตมหาปราสาท  มีพระที่นั่งฝ่ายขวาชื่อสุธาสวรรย์หรือสุทธาสวรรค์  ฝ่ายซ้ายชื่อจันทิพศาล  หรือ  จันทรพิศาล  ให้ตั้งเศวตฉัตรแลเครื่องสูงไว้ครบทุกประการ  แล้วยังให้สร้างอ่างแก้วน้ำพุในทิศเหนือ-ใต้  พระที่นั่งนั้น”

          เมื่อประทับอยู่ ณ เมืองลพบุรีนั้น  พระนารายณ์ทรงมีช้างเผือกเชือกหนึ่ง  มีรูปงาม  และกล้าหาญยิ่งนัก  ทรงพระราชทานนามว่า  พระบรมรัตนากาศไกรลาศคิรีวงศ์  หรือ  บรมรัตนากาศคิรี  ทรงปล่อยไว้ในพระราชวัง  พระองค์ทรงมีบุญญาธิการมาก  วันหนึ่งมีผู้จับช้างเถื่อนได้และยังมิได้ฝึกหัดก็นำมาถวาย  พระองค์ตรัสว่า  “เราจะขึ้นขี่ขับช้างเถื่อนนี้มิให้ไปพ้น ๔ ศอกได้”  แล้วเสด็จขึ้นทรงช้างเถื่อนนั้นท่ามกลางสายตาข้าราชการและประชาชนทั้งปวง  ปรากฏว่าช้างนั้นมิได้ทำพยศให้พ้นจากที่ตามรับสั่ง  คราวหนึ่งรับสั่งให้นำช้างเถื่อนตกมันมาทรงอีก  ช้างเถื่อนก็มิได้ทำพยศ  อยู่ในบังคับบัญชาของพระองค์อย่างสงบเสงี่ยม เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น  ต่อมามีทูตฝรั่งเข้าเฝ้า  พระนารายณ์ให้เอาพรมมาปูที่หน้าพระลาน  แล้วเสด็จขึ้นทรงช้างตกมันอยู่ให้ทูตฝรั่งดู  ทรงไสช้างให้หมุนไปมา  บังคับมิให้ล่วงเลยไปจากพรมได้  ทูตฝรั่งเห็นดังนั้นก็มองดูหน้ากันแล้วสั่นศีร์ษะ  พากันสรรเสริญว่า  สืบไปเบื้องหน้าจะไม่มีใครที่ชำนาญช้างชำนาญม้ายิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้อีกแล้ว

          อยู่มาเมื่อพระศรีศิลป์พระโอรสบุญธรรมนั้นมีพระชันษา ๑๕ ปี  คิดเป็นขบถ  ซ่อนอาวุธเข้าไปถึงข้างที่บรรทม  เงื้ออาวุธขึ้นจะฟัน  ทรงจับอาวุธไว้มิได้เป็นอันตราย  แต่พระองค์มิได้ลงโทษหนัก  ด้วยเห็นว่าพระกุมารยังเยาว์ชันษา  อีกทั้งคราที่พระไชยาทิตย์ยังทรงพระชนม์อยู่ได้ทรงฝากฝังไว้ว่าให้ทรงพระกรุณาตามสมควร  ดังนั้น  เมื่อทรงกล่าวตำหนิและสั่งสอนอบรมตามสมควรแล้วจึงปล่อยตัวไป

          ต่อมาพระศรีศิลป์คิดเป็นขบถอีก โดยถือพระแสงของพระมหินทร์ไปคอยจะทำร้ายอยู่ที่ประตูวังข้างทิศใต้  ข้าราชการพบเห็นเป็นพิรุธจึงพากันจับตัวไปถวายพระนารายณ์  สอบได้ความจริงแล้วทรงพระพิโรธมาก  จึงรับสั่งให้เอาตัวไปสำเร็จโทษเสียตามประเพณี  เพชฌฆาตกระทำการสำเร็จโทษ  ด้วยความเลินเล่อ  เมื่อฝังพระศรีศิลป์และให้คนเฝ้าครบ ๗ วันแล้วพากันกลับไป  พวกมหาดเล็กพระศรีศิลป์พากันไปขุดศพ  พบว่ายังไม่ตายจึงพาไปรักษาตัวที่ตลาดบัวขาว  เมื่อหายเป็นปกติแล้ว  จึงส้องสุมผู้คนได้กำลังเป็นอันมากแล้ว  ลอบเข้ากรุง  ได้พระกำแพงเป็นพรรคพวก  พระกำแพงก็แอบชักชวนบรรดาขุนนางเข้าเป็นพรรคพวกได้อีกจำนวนหนึ่ง  เช่น  พระยานันทะยอแฝง  นายโขลงช้าง  หมื่นราชและนายทรงบาศทั้งซ้ายขวา  เทพโยธาและนายพลพัน  หลวงจ่าแสนบดี  ร่วมกันคิดขบถ  เพราะเชื่อว่าพระศรีศิลป์เป็นคนมีบุญญาธิการมาก  ถูกฆ่าฝังดินถึง ๗ วันแล้วยังไม่ตาย  พวกเขายกกำลังเข้าพระราชวังทางประตูปราบไตรจักร  ในเวลาพลบค่ำ  พระนารายณ์ทรงทราบในเวลาที่จวนตัว  จึงพาพรรคพวกหนีออกทางประตูมหาโภคราชได้อย่างปลอดภัย  พระศรีศิลป์เข้าวังได้ก็ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ได้ ๑ วัน กับ ๑ คืน

          เมื่อพระนารายณ์หนีออกไปได้แล้วก็รวบรวมผู้คนได้เป็นอันมาก  ทรงยกกำลังเข้าจู่โจมและจับกุมตัวพระศรีศิลป์ได้  จึงให้เอาตัวไปสำเร็จโทษ  โดยให้ทุบด้วยท่อนจันทน์จนร่างแหลกละเอียด  ตายแล้วจึงใส่ในขันสาครแล้วใส่ถุงแดงฝังดินเสีย  ส่วนพรรคพวกที่ร่วมทำการขบถนั้นให้เอาตัวไปประหารเสีย ๗ ชั่วโคตร  แต่พระมหาพรหมอาจารย์ของพระนารายณ์ถวายพระพรทูลขอไว้  ก็พระราชทานอภัยโทษประหารให้ แต่ให้ส่งไปเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างหญ้าม้าที่เมืองสุพรรณ  เป็นส่วยหญ้าช้างหญ้าม้ามาแต่คราวนั้น

          เหตุการณ์ที่พระศรีศิลป์ก่อขบถนั้น  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่ามิได้ระบุให้ชัดเจนว่า เ ป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงละโว้ (ลพบุรี)  แต่น่าเชื่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เมืองลพบุรี  เพราะปรากฏว่า  หลังจากขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วไม่นานก็ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่ละโว้  ได้สร้างพระตำหนัก  ปราสาทราชวังใหม่  แล้วให้นามเมืองว่า  “ลพบุรี”  เป็นการฟื้นฟูเมืองหลวงเก่าของแคว้นทวาราวดี (ทวรวติ)  ซึ่งหลังจากย้ายเมืองหลวงลงมาอยู่อยุธยาแล้ว  เมืองหลวงของแคว้นนี้เสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก  สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงย้ายเมืองหลวงจากอยุธยากลับไปอยู่ที่เดิม  ทรงประทับอยู่เมืองนี้ตลอดรัชกาลของพระองค์

          เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินสยามพระนาม  “สมเด็จพระนารายณ์”  องค์นี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าศึกษา  พรุ่งนี้มาดูเรื่องราวของพระองค์กันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, มีนาคม, 2562, 10:25:39 PM
(https://i.ibb.co/9N0JJSd/4-DQpj-Utz-LUwm-JZZPEb-St-My-QOIa9-G2-TO0k-LOOh-AJQk-Vm-R.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"บุพเพสันนิวาส"

- โอรสลับพระนารายณ์ -

ประกาศไม่เลี้ยงปลูกลูกสนม
ทรงขื่นขม“ศรีศิลป์”หมิ่นศักดิ์ศรี
สนมใดทรงครรภ์“รีด”ทันที
แต่เกิดมีหนึ่งสนมจำ “ขมกลืน”

ให้คนสนิทรับสนมผงมระงับ
“โอรสลับ”ปรากฏงามสดชื่น
ประทานยศภิญโญโตวันคืน
“ลูกลับ”รื่นราบเรียบเชาว์เฉียบคม


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ได้  “แลหลังอยุธยา”  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่า  ว่าด้วยสมเด็จพระนารายณ์ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยากลับไปละโว้  เมืองหลวงเดิมของทวาราวดีศรีอยุธยา  แล้วจบตอนที่พระศรีศิลป์โอรสบุญธรรมของพระองค์เป็นขบถ  และถูกประหารชีวิตไปแล้ว  วันนี้มาดูเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์กันต่อไปครับ

          ตั้งแต่เกิดเรื่องขบถพระศรีศิลป์หรือพระศรีสิงห์ขึ้นแล้ว  สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงปริวิตกด้วยจะหาพระราชโอรสสืบสันตติวงศ์ดำรงราชสมบัติไม่ได้  จึงรับสั่งให้พระอัครมเหสีตั้งสัตยาธิษฐานขอพระราชโอรส  แต่นางนักสนมทั้งปวงนั้นมิได้รับสั่งให้อธิษฐานขอด้วย  ทั้งนี้เพราะไม่ทรงไว้วางพระทัย  กลัวว่าจะเป็นขบถเหมือนพระศรีศิลป์  ดังนั้น  เมื่อนางนักสนมคนใดมีครรภ์ก็ทรงให้รีดเสีย  เพื่อไม่ให้เกิดโอรสธิดาได้  ทั้งนี้ก็เป็นไปตามพระดำรัสยามโกรธที่ว่า  “ถ้าใครมีครรภ์ขึ้นมาแล้วก็ให้ทำลายเสีย  กูมิให้ได้สืบสุริยวงศ์ต่อไป  ต่อเมื่อเกิดในครรภ์พระมเหสี  กูจึงจะมอบโภไคยศวรรย์ทั้งปวงให้ตามใจกูปรารถนา”  เมื่อเป็นดังนี้  พระสนมนางใดมีครรภ์จึงต้องรีดทิ้งเสีย  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การมีความตรงกัน  โดยสรุปได้ว่า

          * อยู่มาพระนารายณ์ทรงสุบินนิมิตว่า  เทวดามาบอกให้ทราบว่าพระสนมเอกนามว่า  ราชชายาเทวี  หรือ  กุสาวดี  นามเดิมว่าเจ้าจอมสมบุญ  มีครรภ์และจะได้โอรสมีบุญมาก  ครั้นรุ่งเช้าพระองค์มิได้ทรงแพร่งพรายให้มเหสีและข้าราชการทั้งปวงทราบ  หากแต่ทรงนิมนต์พระมหาพรหมผู้เป็นอาจารย์มายังพระราชวัง  ทรงอยู่ตามลำพังสองต่อสองแล้วเล่าความฝันให้ฟัง  พระมหาพรหมฟังแล้วถวายพระพรว่า  พระองค์จะได้พระโอรสที่มีบุญมาก  ซึ่งเกิดแต่นางกุสาวดีพระสนมเอก  พระนารายณ์ตรัสว่าได้เคยตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกิดแต่นางสนม  เพราะกลัวจะเป็นเหมือนพระศรีศิลป์  พระมหาพรหมจึงถวายพระพรอีกว่า  “ พระองค์จะตั้งพระทัยอย่างนั้นไม่ควร  ที่จะคิดขบถแล้ว  ถึงแม้จะเกิดแต่มเหสีก็คิด  ผู้ที่ไม่คิดขบถแล้ว  ถึงจะเกิดกับผู้ใดก็ไม่คิด  เพราะฉะนั้นพระองค์อย่าคิดเหมือนอย่างแต่ก่อนเลย  จะเป็นเวรกรรมติดตามไปภายหน้า  จงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้ทั่วถึงเถิด  จะได้สืบราชตระกูลต่อไป  ถ้าพระองค์ไม่ทรงชุบเลี้ยงแล้ว  นานไปเมืองลพบุรีก็จะเป็นของผู้อื่นเสีย”  พระนารายณ์ได้ฟังดังนั้นก็ตรัสรับรองว่าชอบแล้ว  แต่ในเมื่อได้ตรัสประกาศไปแล้วจำต้องรักษาวาจาให้มั่นคง  ก็มีแต่จะต้องคิดผ่อนผันด้วยอุบายอย่างอื่นแล้ว

          เมื่อพระมหาพรหมถวายพระพรลาไปแล้ว  จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (พระเพทราชา) เข้าเฝ้าเป็นการเฉพาะแล้วตรัสว่า  “บัดนี้นางกุสาวดีสนมของเรามีครรภ์ขึ้น  เราได้ตั้งสัตย์ไว้แล้วว่าจะไม่เลี้ยงดูลูกสนม  เจ้าจงเอานางนี้ไปเลี้ยงเป็นภรรยา  ถ้าลูกในครรภ์นั้นเป็นชายเจ้าจงว่าลูกของเจ้า  ต่อเป็นหญิงจึงส่งมาให้เรา”

          เจ้าพระยาสุรสีห์รับนางกุสาวดีไปเลี้ยงไว้ตามรับสั่ง  ครั้นถึงกำหนดคลอดนางก็คลอดเป็นชาย  จึงนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  พระนารายณ์จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่กุมารนั้นเป็นอันมาก

          ครั้นกุมารนั้นมีอายุได้ ๗ ขวบ  เจ้าพระยาสุรสีห์พาเข้าเฝ้าพระนารายณ์ตามรับสั่ง  ทรงทอดพระเนตรเห็นพระโอรสมีรูปโฉมงดงาม  มีลักษณะกล้าหาญ  ก็ทรงพระเมตตาเป็นอันมาก  รับสั่งให้เข้าวังอย่าได้ขาด  พระราชทานนามให้ว่า  "เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์  อัครราชมนตรีศรีสงคราม"  พระราชทานเครื่องยศให้อย่างทำนองเจ้า  สูงกว่าข้าราชการอื่น ๆ  ให้มีตำแหน่งใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา

          * เมื่อเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้วมีความห้าวหาญฉลาดเฉลียว  ทั้งร้ายกาจดุดัน  เชี่ยวชาญในการยุทธและเวทย์มนต์คาถาวิชาอาคม  อีกทั้งเจ้าชู้อยู่ในประเภท  “ชายชาตรี”  เที่ยวเกี้ยวลูกสาวชาวกรุงไปทั่วไม่เลือกหน้า  แม้พ่อแม่จะกีดกัน  ป้องกันอย่างไรก็ลักลอบเข้าหาจนได้  ไม่ว่าหญิงนั้นจะยากดีมีจนหรือร่ำรวยอย่างไร  เมื่อได้แล้วก็จะให้แหวนและเงินทองตามค่าที่รักมากและรักน้อยโดยไม่มีเว้น  ในบรรดาลูกสาวชาวกรุงนั้นมีอยู่นางหนึ่งเป็นลูกสาวเจ้าพรยาราชวังสันนายทหารผู้เก่งกล้าทั้งฝีมือและวิชาอาคม  เป็นหญิงที่เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์รักมาก  หมายมั่นว่าจะเอามาเป็นภรรยาตนให้จงได้  จึงคอยหาโอกาสที่จะลักพาอยู่เสมอ

          เจ้าพระยาราชวังสันรู้อยู่ว่าเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์กำลังหาโอกาสลักพาลูกสาวของตน  ดังนั้น  อยู่มาวันหนึ่งทั้งสองได้พบกันในพระราชวัง  เจ้าพระยาราชวังสันจึงพูดขึ้นว่า  “สิ่งใดที่ท่านคิดเกี่ยวข้องเรา ๆ ทราบแล้ว  ถ้าท่านอาจจะคิดโดยลับ ๆ ไม่ให้เราแลใคร ๆ รู้ได้  เรายอมอนุญาตให้”  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์จึงตอบว่า  “ท่านพูดกับเราดังนี้ยังจะจริงหรือ”  เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าจริง  จึงกล่าวต่อไปอีกว่า  “ถ้ากระนั้นเราจะพยายามให้สำเร็จความปรารถนาในคืนนี้”  พูดกันดังนั้นแล้วต่างก็หลีกทางกันไป  ฝ่ายหนึ่งคิดลักลอบเข้าไปโดยไม่ให้ใครรู้เห็น  ฝ่ายหนึ่งเตรียมป้องกันไว้อย่างดี

          เจ้าพระยาราชวังสันกลับถึงบ้านก็เตรียมการป้องกันอย่างกวดขัน  โดยให้บ่าวไพร่และญาติพี่น้องมาชุมนุมที่บ้าน  และจัดให้มีมหรสพแสดงในบ้านตลอดคืน  เวลาประมาณ ๒ ยามเศษ  ในขณะที่ทุกคนกำลังสนุกสนานรื่นเริงในการชมมหรสพอยู่นั้น  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็ลอบเข้าไปในงานแล้วเสกคาถาอาคมลงในเม็ดทรายที่ควักออกจากถุงย่ามแล้วซัดเข้าไปในหมู่คนเหล่านั้น  ปรากฏว่าทุกคนถูกทรายมนต์สะกดจนพากันง่วงเหงาหาวนอนแล้วหลับไปหมดทั้งสิ้น  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็ลอบเข้าไปหาลูกสาวเจ้าพระยาราชวังสัน  และได้ร่วมรักใคร่เป็นสามีภรรยากันในคืนนั้น  ก่อนจากกันก็ได้ขอแหวนนางสอดใส่นิ้วไปเป็นที่ระลึก ๑ วง

          เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนพากันเข้าพระราชวังเพื่อเข้าเฝ้าตามปกติ  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์สวมแหวนที่ได้จากลูกสาวเจ้าพระยาราชวังสันไปด้วย  เมื่อพบเจ้าพระยาราชวังสันจึงถอดแหวนออกอวดแล้วถามว่า  “แหวนนี้ราคาเท่าไร”  เจ้าพระยาราชวังสันเห็นแหวนแล้วจำได้และรู้แน่ชัดแล้วว่าลูกสาวของตนตกเป็นของเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เสียแล้ว  จึงพูดว่า  “ท่านนี้ดีจริง”  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์จึงบอกเล่าความจริงและกล่าวคำขอโทษที่ได้ล่วงเกิน  เจ้าพระยาราชวังสันตระหนักแล้วว่าเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เป็นคนเชี่ยวชาญในเวทย์มนต์และมีลักษณะกล้าแข็ง  เห็นจะมีบุญต่อไปภายหน้า  จึงยกลูกสาวของตนให้เป็นภรรยาแต่โดยดี

          * วันหนึ่งเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์เข้าเฝ้าตามปกติ  ได้พบเจ้าพระยาวิชเยนทรซึ่งเป็นคนชาติฝรั่งเศสที่เข้ามาสวามิภักดิ์รับราชการอยู่  และเป็นคนที่พระนารายณ์ทรงโปรดปรานมาก  พอเจ้าพระยาวิชเยนทรก้มลงกราบถวายบังคม  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็แกล้งเหยียดเท้าไปถูกศีร์ษะเจ้าพระยาวิชเยนทร  พระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงมีรับสั่งว่า  “อ้ายคนนี้มันเป็นเด็กไม่รู้เดียงสาอย่าถือโทษแก่มันเลย”  เจ้าพระยาวิชเยนทรก็ทูลให้อภัยมิได้กล่าวโทษแต่ประการใด

          เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ผู้นี้ชำนาญในการขี่ช้างขี่ม้าเช่นเดียวกันกับพะนารายณ์  ช้างม้าที่ใคร ๆ ฝึกหัดไม่ได้ก็ฝึกหัดทรมานได้ทั้งสิ้น  วันหนึ่งพระนารายณ์เสด็จประพาสป่าด้วยข้าราชการทั้งปวง  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ขี่ม้าพยศนำหน้า  พอไปถึงพระปราง (วัดมหาธาตุ) ก็เกิดลมพายุใหญ่  ม้าเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ตกใจกระโดดข้ามกำแพงแก้วสูงประมาณ ๖ ศอกไป  พระนารายณ์เห็นดังนั้นก็ตกพระทัยปริริวิตกกลัวจะเป็นอันตราย  รับสั่งให้อำมาตย์ผู้หนึ่งรีบตามไปดู  เมื่อเห็นเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์มิได้เป็นอันตรายก็นำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  พระนารายณ์จึงรับสั่งไปบอกให้มาขึ้นช้างกับพระองค์  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ก็ให้กราบทูลว่าจะฝึกหัดม้าตัวนี้ให้เรียบร้อย  และจะขี่ขับข้ามกำแพงแก้วกลับไปให้จงได้  แล้วก็ปรากฏว่าได้ขี่ขับม้าตัวนั้นข้ามกำแพงแก้วกลับมาจนได้ในที่สุด

          * สมเด็จพระนารายณ์มีเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์ซึ่งสำคัญ ๆ หลายเรื่อง  พรุ่งนี้มา  “แลหลังอยุธยา”  ว่าด้วยมหาราชชาติไทยพระองค์นี้กันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ มกรสคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มีนาคม, 2562, 10:16:41 PM
(https://i.ibb.co/jrxzvhp/untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"บุพเพสันนิวาส"

- ว่าด้วยเจ้าพระยาวิชเยนทร์ –

“เจ้าพระยาวิชเยนทร์”เป็นฝรั่ง
ชีพเซซังสู่สยามยามขื่นขม
ขุนนางไทยช่วยเหลือจากเรือจม
มาอบรมแบบอย่างขุนนางไทย

เขาฉลาดหลักแหลมรู้มากเรื่อง
ความปราดเปรื่องออกผลจนเป็นใหญ่
พระนารายณ์ไว้เนื้อโปรดเชื่อใจ
อวยยศให้สูงเด่นเป็นเจ้าพระยา...


          อภิปรายขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่าน “แลหลังอยุธยา” ถึงตอนที่พระโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์อันประสูติแต่พระสนมชื่อนางกุสาวดีหรือเจ้าจอมสมบุญ  ที่ทรงมอบให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (พระเพทราชา) เลี้ยงดูในฐานะบุตร  เมื่อพระกุมารเจริญวัยแล้วทรงพระราชทานนามว่า  เจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ อัครราชมนตรีศรีสงคราม  พระราชทานเครื่องยศให้อย่างเจ้า  สูงกว่าข้าราชการอื่น ๆ  ให้มีตำแหน่งใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา  เรื่องราวของเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ตอนเป็นหนุ่มนั้นได้บอกเล่าให้ฟังโดยละเอียดแล้ว  จะไม่ย้ำในที่นี้อีก  วันนี้มาดูเรื่องราวของฝรั่งคนหนึ่งอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์  และเคยถูกเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์แสร้งเอาเท้าเขี่ยศีร์ษะในขณะกราบถวายบังคมสมเด็จพระนารายณ์มาแล้ว  ฝรั่งท่านนั้นคือ  เจ้าพระยาวิชเยนทร์  ขุนหลวงหาวัดให้การไว้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

           “ อันองค์พระนารายณ์สบเสียโปรดปรานวิชเยนทร์เป็นฝรั่งเศสนั้นหนักหนา  จึงพระราชทานชื่อเรียก  พระยาวิชเยนทร์  เป็นสมุหจักรีนายก  อันพระยาวิชเยนทร์นั้นมีปัญญาฉลาดสารพัดจะรู้การช่างต่าง ๆ  ทั้งการจักรและการยนต์ก็สารพัดจะทำได้  ทำได้ทั้งนาฬิกาและกล้องส่อง  ทั้งเข็ม  สารพัดจะรู้ทำ  อันว่าพระนารายณ์นั้นจะใคร่รู้ว่าปืนใหญ่นั้นหนักเบาเท่าสักไร  พระนารายณ์จึงถามเสนาทั้งปวง  ผู้ใดก็มิอาจที่จะคิดชั่งได้  พระนารายณ์จึงตรัสถามพระยาวิชเยนทร์  พระยาวิชเยนทร์จึงรับสั่งแล้วก็ทำได้ตามมีพระประสงค์  ครั้นอยู่มาพระยาวิชเยนทร์นั้นคิดร้ายต่อพระองค์เป็นช้านาน  จนเสนาอำมาตย์ทั้งปวงรู้แยบคาย  ก็เข้าไปกราบทูลกับพระองค์  อันพระนารายณ์นั้นก็มิได้ว่าขานประการใด  พระองค์เชื่อบุญญาธิการและอานุภาพของพระองค์  พระองค์ก็มิได้วุ่นวาย

          ครั้งหนึ่งพระยาวิชเยนทร์เข้าไปเฝ้า  พระองค์จึงส่งพระแสงให้ถือแล้วก็ยึดมือพระยาวิชเยนทร์นั้นเสด็จเดินไปมาเป็นหลายกลับ  พระยาวิชเยนทร์นั้นก็มิอาจที่จะทำร้ายได้  พระองค์มิได้ทรงพระวิตกว่าพระยาวิชเยนทร์นี้คิดร้าย  ครั้นอยู่มาครั้งหนึ่ง  พระยาวิชเยนทร์จึงคิดขุดอุโมงค์  คิดขุดดินที่ในตึกตัวอยู่นั้น  ขุดรุกเข้าไปจะให้ถึงในพระราชวัง  อันความทั้งปวงนี้มิได้ลับ  จึงรู้ไปถึงเสนาบดีผู้ใหญ่  เจ้าพระยาราชวังสรรค์เสนี  กับพระยาเสียนขัน (ฮุเซนข่าน) ทั้งสองคน  จึงพากันเข้าไปกราบทูลความที่พระยาวิชเยนทร์คิดอ่านทำการทั้งปวง  พระนารายณ์จึงจึงมีรับสั่งให้พระยาเสียนขันไปเรียกตัวมาจะไต่ถาม  อันพระยาเสียนขันก็ไปตามมีรับสั่ง  พระยาเสียนขันนั้นเป็นทหารแขก  เป็นคนดีมีความรู้แล้วกล้าหาญยิ่งนัก  พระยาเสียนขันแต่งตัวแล้วเอากระบี่เหน็บเข้ากับบั้นเอว  แล้วจึงเข้าไปในตึกที่วิชเยนทร์อยู่นั้น  พระยาเสียนขันจึงยึดมือพระยาวิชเยนทร์เข้าแล้วก็นั่งลงบนเก้าอี้ทั้งสองคนด้วยกัน  พระยาเสียนขันจึงบอกความทั้งปวงกับวิชเยนทร์ว่า  บัดนี้มีพระราชโองการให้หา  อันพระยาวิชเยนทร์นั้นก็มิได้มาตามรับสั่ง  พระยาเสียนขันจึงถอดเอากระบี่ออกแล้วจึงตัดศีร์ษะวิชเยนทร์เสีย  อันพระยาวิชเยนทร์นั้นก็ถึงแก่ความตาย  ครั้นพระยาวิชเยนทร์ตายแล้ว  พระยาเสียนขันจึงเข้ามากราบทูลตามเรื่องราวที่มีมาทั้งสิ้น  พระนารายณ์ครั้นทรงทราบดังนั้นก็มิได้มีพจนาถประการใด  อันเจ้าพระยาราชวังสรรค์กับพระยาเสียนขันทหารแขก  สองคนนี้พระองค์ก็รักใคร่แล้วสบเสียไว้ใจยิ่งนัก”

          ความในพระราชพงศาวดารและในที่อื่น ๆ  ได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของพระยาวิชเยนทร์  หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ต่างไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัด  เฉพาะความที่ปรากฏในข้อเขียนของฝรั่งนั้น  นอกจากข้อเขียนของท่านราชทูต เดอ ลาลูแบร์ แห่งฝรั่งเศสแล้ว  ก็มีเอกสารสำคัญอยู่ ๒ เล่ม  คือ  “ฟอลคอน แห่งอยุธยา”  เขียนโดย แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์  แปลโดย  กล้วยไม้ แก้วสนธิ  และ  “รุกสยาม ในนามของพระเจ้า”  เขียนโดย มอร์แกน สปอตร์แตช  แปลโดย กรรณิกา จรรย์แสง  หนังสือทั้งสองเล่มนี้  ไม่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์  ได้บอกเล่าเหตุการณ์คาบเกี่ยวกัน  โดยใช้ตัวละครจริงในประวัติศาสตร์มาแต่งคำพูดและเพิ่มเติมเหตุการณ์เอาตามจินตนาการของผู้แต่ง  จึงควรเรียกหนังสือสองเล่มนี้ว่า  นิยายอิงประวัติศาสตร์  และ  ประวัติศาสตร์อิงนิยาย  จะเหมาะสมที่สุด

          โดยทั่วไปแล้วเข้าใจกันว่า  เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นชาวฝรั่งเศส  แต่  กิติกร มีทรัพย์  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับท่านผู้นี้ไว้ในหนังสือนิตยสารศิลปวัฒนธรรม  ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐  ต่างไปและน่าเชื่อถือได้ว่า

           “ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นชาวกรีก  ชื่อจริงว่า  คอนสแตนติน เยรากี  เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๙๐  ที่บ้านคัดโตด  เกาะเซฟาโลเนีย  บิดามารดาเป็นผู้ดีตกยาก  มีอาชีพขายสุรา  และโดยประมาณอายุ ๑๐ ปี เยรากีหนีออกจากบ้านไปเผชิญโชคกับกัปตันเรือสินค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง  บ้างก็ว่าเยรากีไม่ได้หนีออกจากบ้าน  แต่แม่ของเขาขายตัวเขาให้กับกัปตันชาวอังกฤษผู้นั้น  ชื่อสกุลเยรากี  แปลว่าเหยี่ยวนกเขา  เขาจึงเปลี่ยนเสียใหม่ให้เข้ากับความเป็นอังกฤษว่า  “ฟอลคอน”  อันมีความหมายเดียวกัน  ฟอลคอนได้เรียนรู้การมีชีวิตเป็นกลาสีในเรือในฐานะผู้รับใช้อย่างปรุโปร่ง  และรู้มากกว่ากลาสีเรือธรรมดา  ก็คือรู้เล่ห์เหลี่ยมของการค้าขายและเทคนิคการติดต่อประสานงานการเดินเรือสินค้ากับชาติต่าง ๆ รวมทั้งชีวิตชาวเรือที่เข้มข้นรุนแรงด้วย

          เมื่อฟอลคอนเป็นหนุ่มก็ติดตามกัปตันชาวอังกฤษชื่อ  ซามูเอล ไวท์  มายังสถานีสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงใต้  เช่น  ที่บันตัมในชวา  และที่อยุธยาในสยาม  เมื่อปีกกล้าขาแข็งพอมีเงินทุนบ้างก็ลองค้าขายด้วยตนเอง  แต่ก็หมดตัวเพราะเรือสินค้าอับปางลง  ตัวเขาเองเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด  โชคดีที่เขาได้พบขุนนางสยามผู้หนึ่งที่เคยเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะเรืออับปางเช่นเดียวกัน  และนี่เป็นจุดหักเหชีวิตของฟอลคอนอย่างมาก  ขุนนางผู้นั้นได้พาเขาเข้าทำงานกับออกญาโกษาธิบดี หรือ โกษาเหล็ก  ซึ่งรับผิดชอบดูแลพระคลังสินค้าของหลวง  ไม่นานนักฟอลคอนก็แสดงผลงานชิ้นโบว์แดงให้ปรากฏ  กรณีตรวจสอบบัญชีหนี้สินค้าขายระหว่างสยามกับบริษัทการค้าแห่งเปอร์เซีย  จำเดิมระบุว่าฝ่ายสยามเป็นลูกหนี้  แต่เมื่อฟอลคอนตรวจเช็คบัญชีหนี้สินอย่างละเอียด  ก็พบว่าฝ่ายสยามเป็นเจ้าหนี้  ได้เงินค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยกลับคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อ  ความสามารถตรงนี้ของเขาได้ถูกนำเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์

          ฟอลคอนเรียนรู้ภาษาไทยได้เร็ว  สามารถพูดได้ทั้งแบบชาวบ้านร้านตลาดและแบบขุนนาง  รู้จักใช้ราชาศัพท์อย่างคล่องแคล่ว  กับรู้เรื่องประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าอย่างดียิ่ง  นี่เป็นใบเบิกทางอย่างสำคัญที่จะกราบทูลถวายข้อมูลต่าง ๆ กับสมเด็จพระนารายณ์อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องผ่านล่าม…”

          กิติกร มีทรัพย์  ให้ข้อมูลต่ออีกว่า  ฟอลคอนเข้ารับราชการเมื่อมีอายุ ๓๓ ปีก็ได้ตำแหน่งออกหลวง  นามว่า  ออกหลวงสุรสาคร  จากนั้นไม่นานก็เป็น  ออกหลวงพระวิชาเยนทร์  อายุได้ ๓๙ ปี  ได้เป็น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์  มีตำแหน่งเป็นสมุหนายก  เขารับราชการเพียง ๗-๘ ปี  มีตำแหน่งเป็นถึงสมุหนายก  อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายพลเรือน  จึงไม่เป็นที่พอใจของขุนนางสยามเป็นธรรมดา  พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่ชอบฟอลคอน  ไม่เว้นแม้กระทั่งบาทหลวงฝรั่งพระเยซูอิตก็ไม่สู้จะไว้วางใจเขามากนัก  นายพลเดส์ฟาร์จ  ผู้คุมป้อมบางกอกที่ฟอลคอนคอยเอาอกเอาใจเขาก็ไม่สู้จะไว้วางใจฟอลคอนเช่นกัน  ยิ่งนายร้อยโทฟอร์บัง  ซึ่งรับราชการเป็นจอมพลเรือของสยามแล้ว  จงเกลียดจงชังกับฟอลคอนมาก  ส่วนท่านราชทูตฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลาลูแบร์  นั้นหาความกลมกลืนกับฟอลคอนไม่ได้เลย  มีเพียงบาทหลวงตาชาร์ดรูปเดียวเท่านั้นที่เข้ากับฟอลคอนได้ดี

          เหตุที่เจ้าพระยาสุรสีห์หรือ  พระเพทราชาไม่พอใจเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นอย่างมากนั้น  คือเรื่องที่เขาสนับสนุนให้มอบป้อมที่บางกอกและมะริดให้อยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส  และต่อมาทราบว่าเขาวางแผนปฏิวัติทันทีที่พระนารายณ์สวรรคต  โดยเขาจะยกพระปีย์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ในปี พ.ศ. ๒๒๓๑  ที่พระนารายณ์ทรงพระประชวรนั้นทรงตั้งให้เจ้าพระยาสุรสีห์หรือพระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ความอ่อนน้อมถ่อมตนและตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นแรงดึงดูดให้บรรดาขุนนางไทยและประชาชนรวมทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก

          ในขณะที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์กำลังดำเนินการปฏิวัตินั้น  เจ้าพระยาสุรสีห์หรือพระเพทราชา  กับเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์  หรือออกหลวงสรศักดิ์พระโอรสลับของพระนารายณ์ก็ชิงลงมือเสียก่อน  เมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็ให้เจ้าพระยาศรีสาครผู้ที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เคารพนับถือไปเชิญตัวฟอลคอนเข้าพบที่กองบัญชาการ (ตึกพระเจ้าเหา)  และเขาก็ถูกควบคุมตัวแล้ว  นำตัวไปประหารชีวิต ณ วัดซาก  นอกเมืองลพบุรีด้านตะวันออก  ตรงกับวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๒๓๑  จากนั้นมาอีก ๓๖ วัน  คือ  วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑  สมเด็จพระนรายณ์ก็เสด็จสวรรต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์  ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรีนั่นเอง

          การสิ้นชีวิตของพระยาวิชเยนทร์  หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์  ตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดต่างจากพระราชพงศาวดารและตำนานอื่น  ดังที่แสดงมานี้  ผิดถูกอย่างไรก็แล้วแต่จะเชื่อถือกันไปตามอัธยาศัย เรื่องของสมเด็จพระนารายณ์ยังไม่จบสิ้นกระแสความพรุ่งนี้มาแลหลังอยุธยากันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มีนาคม, 2562, 10:23:15 PM
(https://i.ibb.co/HHBSdrQ/1399195355-z5-o.png) (https://imgbb.com/)

- ชมขบวนทัพพระนารายณ์ -

พระนารายณ์หมายทำ“สงครามกษัตริย์”
จึ่งทรงจัดทัพไทยใหญ่นักหนา
ทัพบกบนหนบถคชอาชา
ทัพนาวาแหนแห่มโหฬาร

จะไปตีเชียใหม่ขยายอำนาจ
ยื่นคำขาดขอพระพุทธสมุฏฐาน
หากมิให้จะปล้นเวียงทำเยี่ยงพาล
เป็นตำนานหน้าหนึ่งตรึงความจำ


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานได้พาทุกท่าน “แลหลังอยุธยา” ถึงเรื่องเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ชาวต่างชาติที่พระนารายณ์ทรงโปรดปราน  ขุนหลวงหาวัดให้การว่าเขาวางแผนร้ายต่อพระนารายณ์ด้วยการขุดอุโมงค์ลับจากที่อยู่ของเขาเข้าในพระราชวัง  พระยาเสียนขันทหารแขกไปเชิญให้เข้าเฝ้าตามรับสั่งแต่เขาไม่ยอมเข้าเฝ้า  จึงถูกพระยาเสียนขันตัดศีร์ษะเขาเสีย  แต่ความในที่ทั่วไปกล่าวว่าเขาวางแผนปฏิวัติไม่ทันลงมือก็ถูกพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ปฏิวัติเสียก่อน  แล้วกุมตัวเขาไปประหารที่วัดซากนอกเมืองลพบุรี  ก่อนที่พระนารายณ์จะสวรรคตเพียง ๓๖ วัน  วันนี้มา ”แลหลังอยุธยา” กันต่อไปครับ

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การตรงกันว่า  สมเด็จพระนารายณ์ยกทัพไปตีเชียงใหม่ด้วยเพราะต้องการจะ  “เล่นสงครามกษัตริย์”  หลังจากทรงทราบกิติศัพท์ว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ (ซึ่งขุนหลวงหาวัดออกชื่อว่า  “โบรีช้างสาร”  ชาวกรุงเก่าออกชื่อว่า  “กุมมามัง”)  เป็นคนกล้าหาญเชี่ยวชาญในการรบ  และได้พระพุทธรูปวิเศษ ๓ องค์  คือ  พระพุทธรูปที่พระมหาอุปคุตเถรเจ้าใช้นวโลหะหล่อเป็นรูปเหมือนพระพุทธเจ้าตามคำบอกเล่าของเทวดาและนาคองค์หนึ่ง  พระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง  พระแก่นจันทน์แดงที่ใช้ไม้จันทน์แดงซึ่งทำเสาเชิงตะกอนถวายพระเพลิงบรมศพพระพุทธเจ้ามาแกะเป็นพระนาคปรกสองตัวองค์หนึ่ง  พระนารายณ์จึงประสงค์ทำสงครามกับเจ้าเมืองเชียงใหม่เพื่อใคร่ได้พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๓ องค์นั้นมาไว้สักการบูชาในพระนครศรีอยุธยา  ในการจัดขบวนทัพไปตีเชียงใหม่นั้น  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าได้ให้รายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจมาก  สำนวนคำให้การของขุนหลวงหาวัดอ่านเข้าใจยากกว่าสำนวนคำให้การชาวกรุงเก่า  ดังนั้นเพื่อความเข้าใจง่าย  จึงขอนำคำให้การชาวกรุงเก่ามาแสดงดังต่อไปนี้

           “……จึงให้จัดทัพบกทัพเรือ  ขบวรทัพยกนั้นดังนี้คือ  ให้ราชภัฏกับหลวงเดชคุมพลทหารเดินเท้า ๒๐,๐๐๐  ให้พระศรีศรพาดกับพระพิพัฒนคุมพลทหารโล่ห์ ๒๐,๐๐๐  ให้จันทราชากับหลวงสิทธิคุมพลทหารธนูหน้าไม้ ๒๐,๐๐๐  ให้หลวงจันทรกับหลวงฤทธิ์คุมพลทหารราบ ๒๐,๐๐๐  รวมจำนวนพล ๘๐,๐๐๐  ให้พระยาโกษาเปนแม่ทัพใหญ่

          แล้วให้จัดกองทัพช้างมีจำนวนพล ๓,๐๐๐  ให้ขุนพิพัฒน์คุมพลกอง ๑   ขุนนรินทร์กอง ๑   พระมนตรีกอง ๑   ราชามาตย์กอง ๑   ราชาบาลกอง ๑   พระพิเรนทรเทพกอง ๑   พระอินทรเทพกอง ๑   ขุนสัสดีกอง ๑   ราชมนูกอง ๑   ทิพเสนีกอง ๑   มหามนตรีกอง ๑   ราชวรินทร์กอง ๑   อินทรเดชกอง ๑   ขบวรช้างเหล่านี้แบ่งเปนช้างที่สำหรับทำยุทธหัตถี ๑๐๐ ช้าง  สวมเกราะตลอดกาย  ช้างตัวหนึ่ง ๆ มีหอกผูกผ้าแดง ๒ เล่ม  มีปืนใหญ่หันปลายออกข้างขวา ๑ บอก  ข้างซ้าย ๑ บอก  มีนายทหารแลพลทหารสวมเกราะโพกผ้าถืออาวุธประจำทั่วทุกตัวคน  ขึ้นขี่ทั้งคอแลกลาง  แลท้ายช้าง  ให้พระยาราชภัฏเปนแม่ทัพใหญ่  แล้วให้จัดช้างทรงมีนามว่าพระบรมรัตนากาศ  มีช้างบริวาร ๑๓๓๐ ช้าง

          แล้วให้จัดทัพม้ามีจำนวน ๘,๐๐๐  แยกเปน ๘ กอง  ให้ราชสงกรานต์ถือพลกอง ๑   สุธรรมากอง ๑   พระยามหาเสนากอง ๑   พระยาพิไชยกอง ๑   พระพิพัฒน์กอง ๑   หมื่นพรหมกอง ๑   หมื่นวาสุเทพกอง ๑   ม้าตัวหนึ่งมีพลทหารถือทวน ๒ เล่ม  ง้าว ๑ เล่ม  มีดคร่ำเงิน ๒ เล่ม  ให้พระยาอภัยราชาเปนแม่ทัพใหญ่

          แล้วให้จัดขบวรทัพเรือดังนี้  คือ  เรือพระที่นั่ง ๒ ลำ  ชื่อครุฑพาหะลำ ๑   สุวรรณหงส์ลำ ๑   เรือครุฑพาหะนั้นมีรูปครุฑปักเศวตฉัตร ๔ คัน  มีเครื่องสูงบริบูรณ์  ให้ราชามาตย์ ๑   ราชาบาล ๑   ทิพเสา ๑   วิสูตรโยธามาตย์ ๑   แต่งตัวถือพระแสงประดับพลอยเปนองครักษ์

          เรือสุวรรณหงส์นั้นเขียนลายน้ำเปนรูปหงส์  ปักธงแดงเปนรูปหณุมาน  ให้วิเชฐนาวากับวิทินาปัจจะเปนนายท้ายซ้ายขวา  ให้ราชเสนหากับราชาสนิทเต้นรำประจำเรือ  เรือพระที่นั่งเหล่านี้  เจ้าพนักงารจัดฝีพายเรียบร้อยมิได้ลักลั่น  ที่จะพักพายก็พร้อม ๆ กันมิได้ขัดจังหวะ  พระมหาเทพตำรวจหน้าถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรือราชทิพ  สำหรับนำหน้าเรือพระที่นั่ง  พระมหามนตรีตำรวจขวาถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรืออลงกฎนาวา  แซงขวาเรือพระที่นั่ง  ราชสุรินทรตำรวจซ้ายถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรือไชยรัตน์  แซงซ้ายเรือพระที่นั่ง  อภัยสุรินทร์ตำรวจหลังถือพระแสงประดับพลอยคุมพวกตำรวจประจำเรือสุกาญจนพิมานสำหรับตามเรือพระที่นั่ง

          รายชื่อเรือที่ตามเสด็จนั้นดังนี้  คือ – เรือสุรสีห์พิมานฝ่ายขวา  เรือพิมานไชยราชฝ่ายซ้าย  เรือบัลลังก์รัตน์ฝ่ายขวา  เรือไชยสวัสดิ์ฝ่ายซ้าย  เรือไชยรัตนพิมานฝ่ายขวา  เรือนาคไชยฝ่ายซ้าย  เรือนาควาสุกรีฝ่ายขวา  เรือสีหนาทฝ่ายซ้าย  เรือสีหาสนนาวาฝ่ายขวา  เรือมงคลมหรณพฝ่ายซ้าย  เรือมังกรบรรพตฝ่ายขวา  เรือนรสีห์วิสุทธิ์ฝ่ายซ้าย  เรือเสือสินธุฝ่ายขวา  เรือนรสิงห์ฝ่ายซ้าย  เรือโตมหรณพฝ่ายขวา  เรือโตสรสินธุฝ่ายซ้าย  เรือสุวรรณหงส์ฝ่ายขวา  เรือกาญจนรัตน์ฝ่ายซ้าย  เรือพเชตฝ่ายขวา  เรือสารพิมานฝ่ายซ้าย  เรือเอกไชยฝ่ายขวา  เรือเหล่านี้มีศีร์ษะแลท้ายเปนรูปราชสีห์  รูปสิงห์  รูปช้าง  รูปม้า  รูปนาค  เป็นต้น  ล้วนลงรักปิดทอง  ประดับกระจกงดงาม  มีเศวตฉัตร ๙ ชั้นบ้าง  ๗ ชั้นบ้าง  พร้อมด้วยเครื่องสูงทั้งปวง

          แล้วให้จัดเรือรบสำหรับทัพหลวงดังนี้

     - ให้โยธาสุรศาสตรกับโยธาสุรสีห์องครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมทหารสวมเสื้อสักลาดเขียวขลิบทอง  พร้อมด้วยศัตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้โยธานรยุทธ์กับโยธานรยังค์องครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดเหลืองขลิบเงิน  พร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้โยธาสังหังองครักษ์ถือพระแสงประดับพลอย  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีม่วงขลิบเงิน พร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑

          แล้วให้จัดเรือรบสำหรับตามทัพหลวงดังนี้

     - ให้ศรีโยธารักษกับสิทธิโยธาหังองครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดแดงขลิบทอง  พร้อมเครื่องศัสตราวุธ ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้สุรสีห์กับกรีธาธุชองครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดดำขลิบเงินถือธนู ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้สุดเทศวิกายไชยกรรมกับทารสรติองครักษ์ถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีน้ำเงินขลิบเงิน  คุมพลทหารถือง้าว ๒,๐๐๐ คนกอง ๑
     - ให้สิทธิกับฤทธิถือพระแสงทอง  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีไข่กาขลิบเงินถือทวน ๒,๐๐๐ คนกอง ๑

          นายทัพนายกองซึ่งประจำเรือรบนำเสด็จแลตามเสด็จเหล่านี้แต่งตัวเต็มยศทั้งสิ้น  เรือลำหนึ่งลำหนึ่งปักธงสีต่าง ๆ อย่างสีเสื้อพลทหาร  ลำละ ๓ คัน ๆ มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอกทุกลำ
          ให้อัครนิสัยแต่งตัวถือพระแสงประดับพลอยประจำกองเรือรบล่วงหน้า  คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีจำปา  ถือโล่ห์ ๒,๐๐๐ คน  ในเรือนั้นปักธงสีจำปา ๓ คัน  มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอก
          ให้สิทธิแลเดชแต่งตัวเปนแม่ทัพ  คุมเรือปักธงแพรเหลืองลำละ ๓ คัน ๑,๐๐๐ ลำ  มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอก  ทุก ๆ ลำบรรจุทหารถือหอกใบเข้าคร่ำเงินแลทองเปนทัพหลัง
          ให้พระยาชนังถือพระแสงสำฤทธิ์เปนแม่ทัพหน้า  คุมเรือราชสีหปักธงสีตากุ้ง ๓ คัน  มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก  ชนิดเล็ก ๒ บอก  บรรจุทหารถือศัสตราวุธเปนอันมาก
          ให้เจ้าพระยาพระคลังกับเจ้าพระยากลาโหมแต่งตัวถือพระแสงโมรา  คุมเรือไชยเพ็ชร์กับเรือมีรูปลายลดน้ำปักธงแดงสีมันกุ้ง ๗ คัน

          แลบรรดาข้าราชการทุกกรมทุกกระทรวงที่ตามเสด็จนั้น  ล้วนแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์  เมื่อจัดกระบวรดังกล่าวมานี้สำเร็จแล้ว  ให้จัดเรือบรรทุกกระสุนดินดำ  เรือบรรทุกเครื่องศัสตราวุธแลเสบียงอาหาร  ที่สุดจนกระทั่งเรือสำหรับบรรทุกศพพร้อมทุกประการ  เมื่อพระนารายณ์ให้จัดทัพบกทัพเรือเสร็จแล้ว  ครั้นได้มหาพิชัยฤกษ์ก็ให้ลั่นฆ้องไชยสามลา  เคลื่อนพยุหยาตราพร้อมทั้งทัพบกทัพเรือมีจำนวนพลถึง ๒๕๐,๐๐๐ เต็มไปในทางน้ำแลทางบก  เสด็จยกออกจากกรุงศรีอยุธยา”

          ชาวกรุงเก่าให้การว่ากองทัพพระนารายณ์อันมหิมหาโยธายกออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้วประทับแรมตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่เคลื่อนทัพผ่านรวม ๓๔ เมือง  โดยเริ่มจากเมืองวิเศษไชยชาญ  ไปสิ้นสุดที่เมืองระแวก  เป็นเวลา ๒๕ ราตรี  จึงบรรลุถึงแขวงเมืองเชียงใหม่  ชื่อเมืองต่าง ๆ ที่เคลื่อนทัพผ่านนั้นรู้สึกว่าจะสับสนอยู่มาก  พรุ่งนี้จะว่าให้ฟังนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุนขี้ผึ้งไทย
๒๖ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, มีนาคม, 2562, 10:41:20 PM
(https://i.ibb.co/Kxcjm57/1411777687-copyofp101-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- รบกันขั้นจนผ้าผ่อนหลุดลุ่ย -

ทหารเอกพระนารายณ์ในกองทัพ
ใช้โจมจับข้าศึกฮึกผยอง
สามคนดีมีพิษฤทธิ์ลำพอง
รับสนองเดชาพระนารายณ์

ตีเชียงใหม่ได้พลันอย่างหาญห้าว
ข้าศึกหนาวฤทธีหลบหนีหาย
ได้ยินชื่อลือทั่วแล้วกลัวตาย
ล้วนยอมพ่ายไม่รอต้านต่อตี


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้พาทุกท่านไป  “แลหลังอยุธยา”  ให้ชมขบวนทัพสมเด็จพระนารายณ์  ที่ยกขึ้นเชียงใหม่เพื่อไปขอพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๓ องค์  หมายใจว่าถ้าเจ้าเชียงใหม่ไม่ยอมให้ก็จะใช้กำลังเข้าชิงเอาให้จงได้  จึงจัดเป็นขบวรทัพบกทัพเรือมีกลังพลทั้งหมด ๒๕๐,๐๐๐ คน  ขุนหลวงหาวัดให้รายละเอียดถึงขบวนเรือไว้ทั้งชื่อเรือชื่อแม่ทัพนายกองประจำเรือเป็นเรื่องน่ารู้ยิ่งนัก  ท่านว่ากองทัพใช้เวลาเดินทางนับจากเมืองวิเศษไชยชาญผ่านหัวเมืองต่าง ๆ ไป ๓๔ เมือง  ใช้เวลาเดินทางรอนแรมไป ๒๕ ราตรีจึงถึงแขวงนครพิงค์เชียงใหม่

          ขุนหลวงหาวัดยังให้การถึงทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์อีกว่ามีหลายคน  แต่ที่โดดเด่นมากมี ๓ นาย  คือ  

          เจ้าพระยาโกษาธิบดี  ซึ่งทรงตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่นั้น  “เป็นคนดีมีความรู้  เป็นคนรู้ครบในการทหารดีนัก  ทั้งตำราพิชัยสงคราม  ทั้งยามยาตราก็มีภาษี  แต่งตัวนุ่งผ้าขึ้นม้าแล้ว  อันว่าไพรีทั้งปวงก็หนีไปด้วยเกรงนาม”  เจ้าพระยาโกษาธิบดีผู้นี้มีนามเดิมว่า  “เหล็ก”  คนจึงมักเรียกท่านว่า  “โกษาเหล็ก”

          ทหารเอกอีกท่านหนึ่งคือ  “พระยาราชวังสรรค์เสนี”  ท่านกล่าวถึงคุณสมบัติว่า  “ดีข้างฟัน  มีภาษี  รู้ว่า  วันนั้นให้ผู้นั้น  ออกไปชิงชัยจะมีชัย  ก็รู้  จะเสมอ  ก็รู้”  

          ทหารเอกอีกท่านหนึ่งคือ  “พระยาสีหราชเดโช”  คนผู้นี้ท่านกล่าวถึงคุณสมบัติว่า  “ดีข้างล่องหนแลอึดใจ  ได้ทั้งอยู่ยงคงกระพันชาตรี”  

          ทั้งสามนายนี้ท่านว่า  “เป็นยอดชายในสนาม  เป็นทหารเอกอยู่ในสงคราม  ลือชื่อทุกเขตขันธ์ธานี”

          ครั้นกองทัพไทยเดินทางขึ้นไปถึงชานเมืองเชียงใหม่แล้ว  ขุนหลวงหาวัดกล่าวถึงการรบกับเชียงใหม่  ให้เห็นภาพอันตื่นเต้นเร้าใจดังนี้

           “ พระองค์จึงสั่งกับจตุรงค์เสนาทั้งปวง  ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี  กับพระยาราชวังสรรค์เสนี  ทั้งพระยาสีหราชเดโชทหารใหญ่  ให้เร่งยกทัพเข้าไปตั้งประชิดแล้วให้รบเมืองเชียงใหม่  ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงแต่งทหารลาวอันเข้มแข็งให้กระทบออกมาต้านทานสู้รบ  อันทัพหน้าต่อทัพหน้าก็เข้าต่อสู้กัน  ทัพปีกซ้ายต่อปีกซ้ายก็เข้าตีกัน  อันทัพปีกขวาต่อปีกขวาก็เข้าประจันต่อสู้รบกัน  อันเหล่าทัพหน้านั้นก็เข้าไล่แทงกันด้วยทวนและหอกซัด  ฝ่ายทัพช้างต่อช้างก็เข้ารบกัน  แล้วก็ประจันยิงกันด้วยปืนหลังช้างอยู่วุ่นวาย  เหล่าพลปืนต่อปืนก็ยิงกันเป็นควันมืดไปทั้งป่า  พลหอกต่อหอกก็เข้าไล่แทงกัน  พลดาบต่อดาบกระชั้นฟันกัน  บ้างก็ล้มตาย  พลทวนต่อทวนก็รำเพลงทวนแล้วก็แทงกันด้วยทวน  พลง้าวต่อง้าวก็รำเพลงง้าวแล้วก็ง่าฟันกันทั้งสองฝ่าย  พลตะบองต่อตะบองก็ไล่ตีกัน  พลเขนต่อเขน  พลโล่ต่อโล่  ก็สู้รบกัน  พลธนูต่อธนูก็ยิงกันด้วยธนู  พลหน้าไม้ต่อหน้าไม้ก็ยิงกันด้วยหน้าไม้  พลกริชต่อพลกริชก็เข้าไล่แทงกัน  ทหารกระบี่ต่อกระบี่ก็เข้าไล่ฆ่าฟันกันตามเพลงกระบี่  บ้างยิงด้วยเกาทัณฑ์  บ้างก็ฟันด้วยดาบ  บ้างก็ถือหอกและทวนแล้วก็เข้าไล่ประจันทิ่มแทง  เจ็บป่วยทั้งสองฝ่าย  ล้มตายเป็นหนักหนา  ทั้งเสียงช้างเสียงม้าและเสียงอาวุธ  ทั้งเสียงปืนน้อยและเสียงปืนใหญ่  อันควันปืนนั้นมืดคลุ้มกลุ้มตลบบดบังไปทั้งเวหา  แต่ทัพไทยทัพลาวประฝีมือกันอยู่เป็นหนักหนา  จนผ้านุ่งไม่มีอยู่กับตัว  บ้างก็ยังอยู่แต่กางเกง  ลงรามือกันทั้งสองฝ่าย  ทั้งไทยก็ชมฝีมือลาวว่าเข้มแข็ง  ทั้งลาวก็ชมฝีมือไทยว่ากล้าหาญ  อันพระยาสีหราชเดโชคนนี้ขี่ม้าขาวยืนอยู่แล้วแย้มหัว  เห็นรบกันจนสิ้นฝีมือไม่หนีตัวจนลงมั่วอยู่ทั้งลาวไทย  จึงตีกลองศึกแล้วก็โห่ขยายพล  จึงให้ร่นถอยเข้ามาอยู่ที่หน้าทัพใหญ่  ฝ่ายข้างลาวก็ตีกลองชัย  แล้วก็ยกถอยไปพร้อมกัน  

          อันพระยาเดโชนั้นขี่ม้าขาวแล้วออกยืนอยู่ทัพลาวทั้งนั้น  จึงร้องเรียกพระยาเสนาท้าวไปแล้ว  จึงว่า  พลขันธ์ทั้งสองฝ่ายก็ตายเปลืองไปเป็นอันมาก  ถ้าท่านมีทหารคนดีก็ให้ออกมาตีตามธรรมยุทธ์  จะได้ลือชาปรากฏทั้งลาวไทย  ครั้นเสนาท้าวลาวทั้งนั้นแลเห็นก็รู้ว่า  พระยาเดโชนี้เป็นทหารใหญ่  อันพระยาแสนหาญก็มิอาจจะออกรบได้  ก็นิ่งไปมิได้ตอบคำมา  ครั้นพระยาเดโชเห็นลาวไม่ตอบคำ  ก็รู้ว่าไม่มีคนดี  พระยาเดโชจึงแสดงฤทธิ์ให้ลาวดู  จึงขี่ม้าแล้วออกรำดาบอยู่ที่กลางแปลง  แล้วอึดใจมิให้เห็นตัว”

          ภาพเหตุการณ์รบตามคำให้การขุนหลวงหาวัด  ให้เราเห็นความเป็นระเบียบเพียบพร้อมคุณธรรมในการรบของคนสมัยนั้น  กล่าวคือ  ทหารเหล่าใดก็จะรบกับทหารเหล่านั้น  เช่นทหารถือดาบก็รบกับทหารที่ถือดาบ  ทหารถือหอกก็รบกับทหารที่ถือหอก  ไม่เอาทหารถือดาบรบกันทหารถือทวน  ทหารถือธนูไม่รบกับทหารถือปืน  เพราะอาวุธแต่ละชนิดย่อมมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันและกัน  การรบขั้นตะลุมบอน จนถึงกับทหารแต่ละฝ่ายผ้าผ่อนหลุดลุ่ย  บางคนเหลือแต่กางเกง  บางคนไม่มีผ้าติดกายเลย  พระยาเดโชยืนม้าดูอยู่เห็นสภาพเช่นนั้นถึงกับหัวเราะด้วยความขบขัน  ทั้งสองฝ่ายรบกันจนเหลือแต่ตัวล่อนจ้อนแล้วต่างก็รามือ  หยุดรบกันแล้วกล่าวคำชมเชยในกันและกัน  พระยาเดโชเห็นทหารทั้งสองฝ่ายรบกันจนหมดฝีมือแล้ว  จึงให้ตีกลองสัญญาณพักรบ  ทหารไทยถอยกลับมาตั้งอยู่หน้าทัพหลวง  ฝ่ายทหารลาวก็ตีกลองสัญญาณถอยทัพกลับไปเช่นกัน

          พระยาเดโชทหารเอกผู้ที่เก่งกล้าในวิทยาคม  ขี่ม้าสีขาวของตนออกไปยืนหน้าทัพลาวแล้วประกาศท้าทายนายทหารลาวให้ออกมารบกันตัวต่อตัว  ฝ่ายลาวรู้กิติศัพท์ความเก่งกล้าของพระยาเดโชอยู่แล้ว  ครั้นเห็นพระยาเดโชออกมายืนม้าท้าทายดังนั้นก็พากันนิ่งเสีย  ไม่มีใครออกมาต่อกรด้วย  พระยาเดโชเห็นว่าลาวไม่มีคนดีที่จะมาสู้กับตนแล้ว  จึงแสดงฤทธิ์อวด  เป็นการข่มขวัญลาว  ด้วยการขับขี่ม้ารำดาบผาดโผน  แล้วอึดใจ (กลั้นลมหายใจ) ทำให้อาคมขลัง  หายตัวไปต่อหน้าต่อตาผู้คน  ชาวกรุงเก่าให้การต่อจากขุนหลวงหาวัดในตอนนี้ว่า

           “พวกลาวเห็นดังนั้นก็สะดุ้งตกใจกลัว  พากันแตกหนีไม่เปนขบวร  พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้รวบรวมผู้คนที่แตกกระจัดกระจายได้แล้ว  ก็ล่าทัพกลับเข้าพระนคร  ให้ปิดประตูลงเขื่อนแน่นหนา  ขับพลขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินเป็นสามารถ  ให้คั่วทรายหลอมตะกั่วเคี่ยวชันน้ำมันยาง  สำหรับเทสาดเมื่อข้าศึกเข้าตีปล้นกำแพง  ฝ่ายนายทัพนายกองข้างกรุงศรีอยุธยาเห็นลาวแตกกระจัดกระจายไปดังนั้น  ก็ขับพลเข้าล้อมเมืองไว้ทั้ง ๔ ด้าน”

          ยกแรกของการรบ  อ่านตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าแล้วตื่นเต้นเร้าใจมากนะ  เมื่อกองทัพไทยเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้ง ๔ ทิศแล้ว  ผลการรบจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านต่อกันในวันพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวันิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มีนาคม, 2562, 10:36:49 PM
(https://i.ibb.co/tDSR6BM/Battle-of-Chiang-Mai3.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชนะเชียงใหม่ได้สมปรารถนา -

ทหารเอกพระนารายณ์ในกองทัพ
ใช้โจมจับข้าศึกฮึกผยอง
สามคนดีมีพิษฤทธิ์ลำพอง
รับสนองเดชาพระนารายณ์

ตีเชียงใหม่ได้พลันอย่างหาญห้าว
ข้าศึกหนาวฤทธีหลบหนีหาย
ได้ยินชื่อลือทั่วแล้วกลัวตาย
ล้วนยอมพ่ายไม่รอต้านต่อตี


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้พาท่านไป  “แลหลังอยุธยา”  ให้เห็นว่าด้วยทหารพระนารายณ์และเชียงใหม่รบกันอย่างดุเดือด  ยังไม่แพ้ชนะแก่กัน  พระยาสีหราชเดโชแม่ทัพใหญ่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงให้หย่าทัพ  แล้วท้าให้ฝ่ายเชียงใหม่ส่งคนดีออกมารบกันตัวต่อตัว  ฝ่ายเชียงใหม่ไม่ตอบรับ  พระยาสีหราชเดโชจึงสำแดงอิทธิฤทธิ์กลั้นลมหายใจหายตัวไปต่อหน้าทหารทั้งสองกองทัพ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อตามคำให้การชาวกรุงเก่าครับ

           “เวลากลางคืนพวกลาวตีฆ้องขานยาม  เสียงฆ้องได้ยินไปถึงพระกรรณพระนารายณ์ ๆ จึงตรัสถามเจ้าพระยาโกษาธิบดีว่าเสียงฆ้องที่ไหน  เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงกราบทูลว่า  เสียงฆ้องขานยามในเมืองเชียงใหม่  พระนารายณ์จึงตรัสว่า  เหตุใดพวกเจ้าจึงตั้งค่ายใกล้ชิดเมืองเชียงใหม่ดังนี้  เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า  ระยะทางตั้งแต่เมืองเชียงใหม่มาถึงค่ายหลวงนี้ห่างกันถึงโยชน์ ๑   พระนารายณ์จึงรับสั่งให้ไปวัดชันสูตรดู  ก็ห่างโยชน์ ๑ จริงดังเจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูล  จึงรับสั่งว่า  ทางไกลกันถึงโยชน์ ๑  เหตุใดจึงได้ยินเสียงฆ้องขานยามดังนี้เล่า  เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า  ซึ่งได้ยินเสียงฆ้องขานยามดังนี้ เป็นนิมิตดีที่พระองค์จะตีได้เมืองเชียงใหม่และฆ้องนั้นจะมาสู่โพธิสมภารของพระองค์  ได้ทรงฟังก็ทรงยินดีเปนอันมาก  จึงรับสั่งว่าใครจะอาสาไปเอาฆ้องนั้นได้บ้าง  ในขณะนั้นพวกที่ทำผิดล่วงพระราชกำหนดกฎหมายต้องโทษจำขังอยู่ ๒๐ คน  จึงรับอาสาทำทัณฑ์บนถวาย  ว่าจะไปเอาฆ้องมาถวายให้ได้  ถ้าไม่ได้ให้ประหารชีวิตเสีย  พระนารายณ์ก็โปรดให้นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นพ้นโทษ  นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นก็เตรียมเครื่องศัสตราวุธครบมือแล้ว  พากันไปถึงกำแพงเมืองชียงใหม่  เสกเวทย์มนตร์สะกดพวกรักษาหน้าที่เชิงเทิน  แล้วลอบเข้าไปลักเอาฆ้องใหญ่นั้นได้  นำมาถวายพระนารายณ์ ๆ ก็ให้ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นักโทษทั้ง ๒๐ คนเปนอันมาก  แล้วรับสั่งให้ลงรักปิดทองฆ้องนั้นเปนอันดี

          อยู่มาสองสามวัน  พระนารายณ์ไม่เห็นกองทัพเชียงใหม่ยกออกมารบ  จึงรับสั่งปรึกษากับข้าราชการทั้งปวงว่า  บัดนี้พวกเชียงใหม่ตั้งรักษาเมืองไว้มั่น  มิได้ยกทัพออกมารบให้เห็นแพ้ชนะ  และไม่นำเครื่องบรรณาการมาถวายตามธรรมเนียม  ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด  ข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลว่า  ควรจะมีพระราชสาส์นเข้าไปถึงพะเจ้าเชียงใหม่ให้ออกมารบกันตามธรรมเนียม  มิฉะนั้นให้ออกมาอ่อนน้อมเสียโดยดี  พระนารายณ์จึงเห็นชอบด้วย  จึงให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาส์นมีใจความว่า

           “พระราชโองการมานพระบัณฑูร  สุรสิงหนาทราโชวาทอมรฤทธิ  มโหฬาราดิเรก  อเนกบุญญาธิบดินทร์  หริหรินทรธาดา  อดุลยคุณณาธิบดี  ตรีโลกเชษฐ  ธิเบศรวรดิลกศรีประทุมสุริย์วงศ์  องค์เอกาทศรถ  จักรพรรดิราชา  ชยันตมหาสมมติวงศ์  พระเจ้ากรุงเทพมหานคร  บวรทวาราวดีศรีอยุธยา  มหาดิลกภพ  นพรัตนราชธานี  บุรีรมยราช  ประสาสน์สุนทรธรรมแถลง  มาถึงพระเจ้าเชียงใหม่  ด้วยเรายกพยุหพลโยธามาครั้งนี้  มิได้มีจิตยินดีที่จะชิงเอาราชสมบัติบ้านเมือง  แก้วแหวนเงินทองผู้คนช้างม้าของท่านโดยโลภเจตนา  เรามีจิตศรัทธาเลื่อมใสจะใคร่เชิญพระพุทธปฏิมากร  พระพุทธสิหิงค์  กับพระพุทธปฏิมากรซึ่งแกะด้วยไม้จันทน์แดงทั้ง ๒ พระองค์  ขอให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งพระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นั้นออกไป  เมืองเชียงใหม่กับกรุงศรีอยุธยาก็จะได้เปนทองแผ่นเดียวกัน  มิฉะนั้นให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกพลโยธาหาญออกไปทำยุทธนาการตามราชประเพณี  โดยวิธียุทธสงครามช้างม้า  หรือขบวนยุทธ์อย่างไรก็ตามที”

          ครั้นให้จารึกพระราชสาส์นแล้วก็ให้ทูตนำไปถวายพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ จึงให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาส์นตอบมีใจความว่า  “มหาบพิตรราชภูมิบาล  สุรสุรินทรปรมินทราทิตย์ขัตติยมหาศาล  ผู้ผ่านพิภพเชียงใหม่  ถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  ด้วยพระอัยกาเราได้ผ่านพิภพศรีสัตนาคนหุต  พระบิดาเราก็ได้ผ่านพิภพจันทบุรี  ตัวเรานี้ก็ได้ผ่านพิภพเชียงใหม่  พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นี้ไซร้  ได้ด้วยบุญญาบารมีของเรา ๆ ก็มีจิตเลื่อมใสทำสักการบูชาอยู่เป็นนิตย์  ซึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกพยุหโยธามาทำสงคราม  ให้ได้ความเดือดร้อนแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร  เพื่อใคร่ได้พระพุทธปฏิมากรนั้น  เราไม่ยอมให้แล้ว  เรายอมถวายชีวิตแก่พระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์”  เมื่อจารึกเสร็จแล้วให้ทูตนำไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

          พระนารายณ์ทรงทราบพระราชสาส์นของพระเจ้าเชียงใหม่ดังนั้น  จึงทรงจารึกพระราชสาส์นด้วยพระองค์เองมีใจความว่า  “กิจของสมณชีพราหมณ์ก็คือพยายามตั้งหน้ารักษาศีลเจริญภาวนา  กิจของพระมหากษัตริย์ก็มีการทำสงครามเป็นราชประเพณี  ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่จะมานั่งงอมืองอเท้าอยู่ฉะนี้  ดูกิริยาเหมือนสตรีมีชาติอันขลาด  ถ้าไม่ยอมให้พระปฏิมาทั้ง ๒ พระองค์แล้ว  จงรักษาพระนครไว้ให้มั่นคง  เราจะเข้าปล้นหักเอาให้ได้”  ทรงจารึกแล้วก็ให้ทูตเชียงใหม่นำไปถวายเจ้านายของตน  พระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้ตอบประการใด  เปนแต่ให้รักษาพระนครให้มั่นไว้

          พระยาสีหราชเดโชทูลรับอาสาว่า  จะตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้  แล้วพระยาสีหราชเดโชจึงขึ้นม้าถือทวนนำหน้าพาทหารทั้งปวงเข้าไปใกล้กำแพงเมืองเชียงใหม่  แล้วร้องด้วยเสียงอันดังว่า  กูชื่อพระยาสีหราชเดโช  เปนทหารเสือของพระนารายณ์  ใครมีฝีมือดีจงออกมารบกับกู  แล้วพระยาสีหราชเดโชก็ขับพลเข้าประชิดกำแพงเมือง  พวกพลทหารลาวก็รักษาหน้าที่เชิงเทิน  ก็พุ่งศัสตราวุธแหลนหลาว  ระดมปืนลงมาดังห่าฝน  เทสาดตะกั่วทรายน้ำมันยางอันคั่วเคี่ยวไว้ลงมาเป็นอันมาก  พลทหารไทยก็มิได้ย่อท้อถอยหลัง  พากันขุดทำลายกำแพงเมืองเป็นสามารถ  พระยาสีหราชเดโชก็ถือดาบปีนกำแพงเมืองเข้าไปได้  ไล่ฆ่าฟันพวกรักษาหน้าที่เชิงเทินแตกกระจัดกระจาย  พลทหารก็ทำลายกำแพงเข้าเมืองได้  ไล่ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก  พระโพธิสารเจ้าเมืองเชียงใหม่ถูกอาวุธพิราลัยในที่รบ  พวกทหารไทยจับได้นางทิพลีลา  มเหสีพระเจ้าเชียงใหม่กับเจ้าวงศ์โอรสพระเจ้าเชียงใหม่  และพอริสังสาอำมาตย์และขุนนางข้าราชการั้งปวงได้เป็นอันมาก  เก็บริบแก้วแหวนเงินทองได้เป็นอันมาก  แล้วนำมาถวายพระนารายณ์  ครั้นพระนารายณ์มีชัยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว  จึงให้เชิญพระพุทธสิหิงค์กับพระแก่นจันทน์แดงมาประดิษฐานที่พลับพลา  ให้มีการสมโภชเป็นอันมาก  แล้วตรัสถามพระยาแสนหลวงอำมาตย์ของพระเจ้าเชียงใหม่ว่า  เราได้ทราบข่าวว่าพระพุทธสิหิงค์นี้มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้จริงหรือ  พระยาแสนหลวงกราบทูลว่า  แต่เดิมเมื่อพระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานอยู่ที่เมืองปาตลีบุตรนั้นเหาะเหินเดินอากาศได้จริง  แต่มีคนทุจริตมาควักเอาแก้วมณีที่ฝังเปนพระเนตรไปเสีย  แต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์ก็เหาะเหินเดินอากาศไม่ได้  ต่อมาเจ้าเมืองสรรคบุรีเชิญไปจากเมืองปาตลีบุตร  ไปประดิษฐานที่เมืองสรรคบุรี  จากนั้นไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง  ต่อจากนั้นไปประดิษฐานที่เมืองจันทบุรี  แล้วมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่นี้

          เมื่อพระนารายณ์เสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่  จึงตั้งเจ้าวงศ์ซึ่งเปนโอรสพระเจ้าโพธิสาร  เปนพระเจ้าเชียงใหม่ พระมเหษีแลขุนนางข้าราชการทั้งปวงนั้น  ก็ให้คงอยู่เมืองเชียงใหม่ตามเดิม  แล้วให้เชิญพระพุทธปฏิมาทั้ง ๒ พระองค์ลงประดิษฐาน ณ เรือกเอกไชย  เสด็จยกทัพกลับยังพระนครศรีอยุธยา  เมื่อเรือเอกไชยมาถึงพระฉนวนน้ำแล้ว  ทรงประกาศให้ขุนนางข้าราชการแลราษฎรทั้งปวงเล่นมหรสพสักการบูชา  หนทางที่จะเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นนั้นก็ให้โปรยทรายปักราชวัตรผูกต้นมะพร้าวต้นกล้วยต้นอ้อยเปนต้น  แล้วเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศ  กั้นพระกลดขลิบทอง ๔ คัน  เศวตรฉัตร ๔ คัน  เชิญไปประดิษฐานไว้ที่หอพระในพระราชวัง  แล้วให้ทำการสมโภชเปนอันมาก ในขณะนั้นพระพุทธสิหิงค์ก็ทำปาฏิหาริย์ต่าง ๆ  และฆ้องไชยที่ได้มาแต่เมืองเชียงใหม่นั้นพระนารายณ์ก็ให้นำไปไว้สำหรับตีขานยามในพระราชวัง  พวกเมืองเชียงใหม่ซึ่งลงมากับขบวรทัพหลวงนั้น  ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับคืนไปยังเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น  แต่นั้นมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็นำเครื่องบรรณาการมาถวายเป็นนิตย์มิได้ขาด”

          ตำนานเชียงใหม่กล่าวว่า ปี จ.ศ. ๙๖๐ …. “ กองทัพกรุงพระนครศรีอยุธยายกขึ้นมาได้นครเชียงใหม่”   ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๑  ตรวจสอบดูแล้วพบว่า  นครเชียงใหม่ตกอยู่ในปกครองของพม่า  โดยเจ้ามังซานรธามังคุย  จึงเป็นเรื่องแปลกที่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การตรงกันว่า  พระนารายณ์ยกทัพใหญ่ขึ้นไปตีเชียงใหม่ซึ่งมีพระเจ้าโพธิสารเป็นผู้ปกครอง  ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จึงต้องทิ้งไว้ให้นักประวัติศาสตร์ค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ มกราคม ๒๕๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มีนาคม, 2562, 10:35:17 PM
(https://i.ibb.co/6FqNLp6/2.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"บุพเพสันนิวาส"

- พระเพทราชา = ราเมศวร -

สิ้นนารายณ์วาระเปลี่ยนกษัตริย์
ความขุนหลวงหาวัดแจงจัดสรร
ยกพระ“เพทราชา”เป็นราชัน
สายสุพรรณภูมิฟื้นคืนบัลลังก์

ตั้งเป็นราชวงศ์ชู“บ้านพลูหลวง”
ไทยทั้งปวงฝากสยามในความหวัง
รุดเจริญเดินไกลไม่ภินท์พัง
ไร้“ฝรั่งมังค่า”มาวุ่นวาย


          อภิปราย ขยายความ...................

          ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑  สมเด็จพระนารายณ์สวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์  ในพระราชนารายณ์ราชนิเวศน์  เมืองลพบุรี  หลังจากสิ้นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไป ๓๖ วัน  แต่หลังจากยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่กี่ปีมิทราบ  เพราะการไปตีเชียงใหม่ไม่ปรากฏแน่ชัด  ถ้าถือตำนานเชียงใหม่ที่ว่า  กรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปได้นครเชียงใหม่ปีจุลศักราช ๙๖๐  ก็ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๑  ก่อนกาลสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ ๙๐ ปี  ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  อย่างไรก็ตามขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การสอดคล้องต้องกันหลังสิ้นสมเด็จพระนารายณ์  โดยชาวกรุงเก่าให้การดังต่อไปนี้ .......

           “ เมื่อพระนารายณ์เสด็จสวรรคตแล้ว  ข้าราชการทั้งปวงเห็นว่าพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบพระวงศ์  ปฤกษากันว่าควรจะยกราชสมบัติถวายใคร  พวกที่รู้ประวัติพระยาศรีสุรศักดิ์จึงพูดขึ้นว่า  พระราชโอรสของพระนารายณ์มีอยู่  คือพระยาศรีสุรศักดิ์บุตรนางกุสาวดีที่พระราชทานไปให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์  ด้วยพระนารายณ์ตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกิดแต่นางนักสนม  ครั้นนางกุสาวดีมีครรภ์ขึ้นจึงแกล้งยักย้ายถ่ายเทไปเสีย  เพราะฉะนั้น  ควรจะยกสมบัติให้แก่พระยาศรีสุรศักดิ์  เมื่อปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันดังนี้แล้ว  จึงไปเชิญพระยาศรีสุรศักดิ์ให้ขึ้นครองราชย์สมบัติ  แต่พระยาศรีสุรศักดิ์ไม่รับ  ว่าบิดาของเรายังมีอยู่ ท่านทั้งปวงจงเชิญบิดาของเราขึ้นครองราชย์สมบัติเถิด  ขุนนางข้าราชการทั้งปวงก็ไปเชิญเจ้าพระยาสุรสีห์ (พระเพทราชา) ขึ้นครองราชย์สมบัติ

          เจ้าพระยาสุรสีห์มีพระนามเปน ๒ อย่าง  อย่าง ๑ ว่าสมเด็จพระธาดาธิบดี   พระนาม ๑ ว่าพระราเมศวร   พระนาม ๑ พระราเมศวรทรงตั้งอุปละเทวีเปนมเหษีฝ่ายขวา  ทรงตั้งพระสุดาเทวีราชธิดาพระนารายณ์เปนมเหษีฝ่ายซ้าย  พระสุดาเทวีมีพระราชโอรส ๑   พระนามว่า  พระขวัญ  ในเวลาที่พระขวัญประสูติจากครรภ์พระมารดานั้น  มีเหตุนิมิตต่าง ๆ เปนต้นว่าแผ่นดินไหว  ประชาชนพากันเลื่องลือว่าผู้มีบุญมาเกิด

          และพระราเมศวรนั้นไม่ใคร่พอพระทัยในทางยศศักดิ์  แม้จะเสด็จประพาสที่ใด ๆ ก็ไม่มีขบวรแห่แหน  ให้แต่องครักษตามเสด็จเล็กน้อยเท่านั้น  พระทัยที่จะบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนสุขอย่างเดียว  จึงทรงตั้งพระยาศรีสุรศักดิ์เปนพระมหาอุปราชดูแลกิจการบ้านเมืองต่างพระองค์พระราเมศวรทั้งสิ้น  พระราเมศวรให้สร้างวัด ๔ วัด  คือ  วัดบุรบาริม วัด ๑   วัดรัตนาปราสาท วัด ๑   วัดบรมราสัตย์ วัด ๑   วัดชังคะยี วัด ๑    แล้วให้ปฏิสังขรณ์วัดสุมังคลาราม วัด ๑   เมื่อพระราเมศวรเสวยราชย์พระชนม์ได้ ๕๕ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ พรรษา  ครั้นพระชนม์ได้ ๖๙ พรรษา  ก็เสด็จสวรรคต  พระราเมศวรสมภพวันศุกร์”   สิ้นคำให้การชาวกรุงเก่าเกี่ยวกับพระเพทราชาเพียงเท่านี้

          ไปดูความในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ ในตำนานกรุงเก่าบ้าง  ในตำนานนี้กล่าวว่า  กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มีพระนามว่า  “สมเด็จพระมหาบุรุษ”  อีกพระนามหนึ่งเรียกว่า  “พระธาดาธิเบศร์”  เป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง  ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและในที่ทั่ว ๆ ไปเรียกพระนามว่า  “พระเพทราชา”  และให้ความตรงกันว่าเป็น "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง"

           “บ้านพลูหลวง”  อยู่ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี  ดังนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์จึงเป็นเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ  ท่านทูต เดอ ลาลูแบร์  บันทึกถึงท่านผู้นี้ไว้ว่า  “ตระกูลของพระเพทราชานั้นทำราชการต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคน  และมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์อย่างเนือง ๆ”  นามบรรดาศักดิ์ของเจ้าพระยาสุรสีห์ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  คือ  “พระเพทราชา”  หรือ  “พระพิพิธราชา”  มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมคชบาล  มีหน้าที่ควบคุมดูแลช้าง  บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์นั้น  เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นบุคคลที่สมเด็จพระนารายณ์ให้ความไว้วางพระทัยมากที่สุด  จะเห็นได้จากการที่ทรงมอบนางกุสาวดี  นักสนมที่มีครรภ์กับพระองค์ให้เจ้าพระยาสุรสีห์รับเลี้ยงดูแลแทนพระองค์  และให้รับพระราชโอรสของพระองค์เป็นลูกด้วย  จนเกิดเรื่อง  “พระโอรสลับพระนารายณ์”  ขึ้น  ดังเป็นที่ทราบกันแล้ว

          ดูจากบันทึกของท่านทูต เดอ ลาลูแบร์  ที่ว่า  ตระกูลของพระเพทราชาทำราชการสืบต่อกันมาหลายชั่วคน  และยังมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์เนือง ๆ  ทำให้จินตนาการสู่อดีตได้ว่า  พระเพทราชาสืบเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิของขุนหลวงพ่องั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๑)  เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ครองกรุงศรีอยุธยา  ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิก็ถูกลดฐานะลงไปข้าราชการในราชสำนัก  และรับราชการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  จนมาถึงเจ้าพระยาสุรสีห์  หรือ  พระเพทราชา  เจ้ากรมคชบาล (ควบคุมดูแลช้างทั้งหมด)  เจ้าหญิงในราชวงศ์สุพรรณภูมิเห็นทีว่าจะเป็นพระสนม  พระชายา  พระมเหสี  ในราชวงศ์ต่าง ๆ หลายพระองค์  จึงเป็นไปได้ว่า  เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นราชนิกูลคนหนึ่ง  หาไม่แล้วสมเด็จพระนารายณ์คงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยมอบภาระให้รับเลี้ยงดูพระราชโอรส (ลับ)  และแม้ในตอนท้ายปลายรัชกาลยังทรงตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์อีกด้วย

          มีพยานกลักฐานสนับสนุนบันทึกของท่านทูต เดอ ลาลูแบร์  คือ  พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์  เจ้ากรม (จาด)  ระบุนามพระสนมเอกพระนารายณ์พระนามว่า  “ท้าวศีจุลาลักษณ์  เป็นน้องสาวพระเพทราชา  ฉบับพระนพรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนฯ  ระบุนามพระสนมองค์เดียวกันว่า  “ท้าวศรีสุลาลักษณ์”  เป็นน้องสาวพระเพทราชา  บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส  ซึ่งมาพำนักอยู่กรุงศรีอยุธยาสมัยพระนารายณ์  กล่าวถึงพระสนมองค์นี้โดยไม่ระบุนาม  แต่บอกว่า  นางเป็นน้องสาวพระเพทราชาเช่นกัน  ในรายละเอียดของเรื่องนี้พอจะสรุปได้ว่า........

          พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์องค์หนึ่งมีนามเดิมว่า  “แจ่ม”  หรือ  “แช่ม”  เป็นบุตรีของพระนมเปรมผู้อภิบาลพระนารายณ์ครั้งทรงพระเยาว์  พระนมเปรมมีบุตรชายชื่อ  ทองคำ  มีบุตรหญิงชื่อ  “แจ่ม”  หรือ  “แช่ม”  ต่อมาพระนมเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็น  “ท้าวศรีสัจจา”  คนทั่วไปเรียกกันว่า  “เจ้าคุณวังหน้า”  ทั้ง  ทองคำ และแจ่ม  มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระนารายณ์  พระนมเปรมเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตมาด้วยกัน  ทั้งสามคนจึงมีความรักใคร่สนิทสนมกันดังพี่น้อง  ต่อมาทองคำรับราชการจนได้เป็นพระเพทราชา  เจ้ากรมช้าง  เมื่อพระนารายณ์ขึ้นครองราชสมบัติแล้วจึงตั้งให้  แจ่ม  เป็นพระสนมเอกที่  “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์”  บาทหลวง เดอะ แบส บันทึกไว้ว่า  พระสนมองค์นี้หลงรักเจ้าฟ้าน้อย  อนุชาองค์เล็กของพระนารายณ์จนทั้งสองผิดประเวณี  ถึงขั้นพระสนมทรงครรภ์  บันทึกนี้ตรงกันกับ  “พงศาวดารกระซิบ”  ว่า  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าน้อยจนทรงครรภ์  ถูกจับได้  เจ้าฟ้าน้อยถูกลงโทษให้ทรมานอย่างหนักจนร่างกายพิการอยู่มินานก็สิ้นพระชนม์  ส่วนท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นให้รอจนประสูติโอรสแล้วจึงลงโทษด้วยการ  “จับโยนให้เสือกิน”  เสียในที่สุด

          โอรสเจ้าฟ้าน้อยกับพระสนมแจ่มนั้นได้นามว่า  “แก้ว”  ในสมัยพระนารายณ์ไม่ได้รับการยกย่องใด ๆ  มียศเป็นเพียงแค่  “หม่อมแก้ว” เท่านั้น  ต่อมาในรัชสมัยพระเพทราชา  เมื่อทรงขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว  ทรงอวยยศแก่ราชวงศานุวงศ์และข้าหลวงเดิมตามพระราชประเพณี  ปรากฏว่า  “หม่อมแก้ว”  นัดดาของพระองค์ได้รับการอวยยศ  โดยพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว)ระบุว่า...... “ตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าแก้ว  ซึ่งเป็นบุตรท้าวศรีสุลาลักษณ์  อันเป็นกนิษฐาของพระองค์นั้น  เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์”.........

          * เรื่องนี้ยังจบไม่ลง พรุ่งจะเล่าให้ฟังต่อไปครับ”


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มีนาคม, 2562, 10:14:17 PM
(http://upic.me/i/1w/c1_2_re.jpg) (http://upic.me/show/62344345)
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์
"พันท้ายนรสิงห์"

- พระพุทธเจ้าเสือ -

สิ้น“พระเพทราชา”มิสิ้นกษัตริย์
บัลลังรัตน์ยิ่งเลิศแลเฉิดฉาย
ถึงวาระ“โอรสลับพระนารายณ์”
เปล่งประกายเจิดจ้าจอมราชันย์

ครองราชย์แล้วแกล้วกล้ารักษาสัตย์
ปฏิบัติแบบอย่างทางกวดขัน
ทำผิดแล้วต้องไม่ไว้หน้ากัน
ให้ลงทัณฑ์ตามกฎหมดทุกคน


          อภิปราย ขยายความ........................

          พระราเมศวร  หรือพระเพทราชา  เสด็จสวรรคตเมื่อปีจุลศักราช ๑๐๖๓ (พ.ศ. ๒๒๔๔) แล้วนั้น  ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การว่า  “ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระมหาอุปราช (พระยาศรีสุรศักดิ์)  ขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ จุลศักราช ๑๐๖๓ ( พ.ศ. ๒๒๔๔)  ในวันเมื่อทำการราชาภิเษกนั้น  เกิดมหัศจรรย์  มีแสงสว่างทั่วไปทั้งพระราชวัง  ข้าราชการทั้งปวงถือเอานิมิตต์นั้นเปนเหตุ  ถวายพระนามว่า  “พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี”  ภายหลังปรากฏพระนามอีกอย่าง ๑ ว่า  “นรามรินทร์”  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีพระมเหสีทรงพระนามว่า  “พระพันปีหลวง”

          ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ ในตำนานกรุงเก่าระบุว่า  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒๙ คือ  “สมเด็จพระสรรเพชฌ์”  พระองค์ที่ ๘ อีกพระนามหนึ่งเรียก  “พระสุริเยนทราธิบดี”  คือ  “พระพุทธเจ้าเสือ”

          พระมหาอุปราชผู้ซึ่งขึ้นครองบัลลังก์รัตน์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้  คือ  พระยาศรีสุรศักดิ์  หรือ  หลวงสรศักดิ์  โอรสลับสมเด็จพระนารายณ์  หลังจากร่วมทำรัฐประหารโค่นล้มเจ้าพระยาวิชเยนทร์ลง  และสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตแล้ว  ข้าราชการทั้งปวงลงมติให้เชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์  แต่ไม่ยอมรับ  กลับให้เชิญพระเพทราชาขึ้นครอง  ตามที่กล่าวมาแล้ว

          พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีเรื่องราวพิสดารปรากฏเป็นตำนาน  และพงศาวดารฉบับพิสดารหรือ  “พงศาวดารกระซิบ”  อยู่หลายเรื่อง  เช่น  เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์”  ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น  เป็นต้น  ท่านผู้ใดใคร่ทราบรายละเอียดเรื่อง  พันท้ายนรสิงห์  ก็โปรดหาหนังสือเรื่องนี้มาอ่าน  หรือ  ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ตามอัธยาศัย  จะไม่ขอนำมาบอกเล่าในที่นี้  เพราะเห็นเป็นเรื่องที่รู้จักแพร่หลายอยู่แล้ว

          มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ควรจะนำมากล่าวในที่นี้  คือเรื่องที่มาของความเป็นโอรสลับพระนารายณ์  ชาวกรุงเก่าให้การพาดพิงเรื่องนี้ไว้ว่า .....  “ ครั้นต่อมาพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  ให้สร้างมณฑปมียอดสูง ๒๕ ศอก  หุ้มทองแดงลงรักปิดทอง  แล้วให้สร้างวัดขึ้นที่ตำบลโพธิช้างล้ม ๒ วัด  พระราชทานนามว่า  พระอารามบรมกษัตริย์ วัด ๑   ทุติยาราม วัด ๑   ให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ องค์ ๑   ลงรักปิดทองงดงาม  พระราชทานนามว่า  สุขวัญโพธิเพ็ชร์เจดีย์  แล้วให้เอาโลหะทั้ง ๕ มาสร้างปฏิมากรณ์องค์ ๑   สูง ๑๖ ศอก  พระราชทานนามว่า  พระสยัมภูทุตกามาลี”

           “ตำบลโพธิช้างล้ม”  เป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดพิจิตร  ปัจจุบันพัฒนาขึ้นเป็นอำเภอโพธิประทับช้าง  มีเรื่องเล่าไว้ในพงศาวดารฉบับพิสดารว่า  สมัยที่สมเด็จพระนารายณ์ยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่  อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กับพระนาคปรกไม้จันทน์แดงกลับลงมานั้น  มีธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ทางราชสำนักเชียงใหม่ถวายมาด้วย ๑ องค์  ในระหว่างทางเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยานั้น  สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีเพศสัมพันธ์จนนางทรงครรภ์ขึ้น  พระองค์ไม่อาจรับเลี้ยงได้  เพราะทรงสาบานไว้แล้วว่าจะไม่ทรงเลี้ยงลูกที่เกิดจากนางสนม  จึงมอบให้เจ้าพระยาสุรสีห์รับไปเลี้ยงดู  เจ้าพระยาสุรสีห์เลี้ยงดูจนนางทรงครรภ์แก่ใกล้คลอดแล้ว  สมเด็จพระนารายณ์เสด็จโดยทางชลมารคขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช ณ พิษณุโลก  เจ้าพระยาสุรสีห์พานางตามเสด็จมาในขบวนนั้น  ครั้นมาถึงตำบลโพธิช้างล้ม  ขบวนพยุหยาตราพักประทับแรม ณ ที่นั้น  นางเกิดปวดครรภ์แล้วคลอดกุมารออกมา  พระนารายณ์ทรงทราบก็โสมนัส  ตรัสให้เจ้าพระยาสุรสีห์เลี้ยงดูอย่างดี  ครั้นเจริญวัยแล้วโปรดให้รับราชการในราชสำนัก  ตั้งให้เป็นพระยาศรีสุรศักดิ์  ดังความปรากฏแล้วนั้น

          พระสนมสมบุญ หรือ เจ้าจอมสมบุญ และ หรือ นางกุสาวดี  มารดาพระยาศรีสุรศักดิ์  ซึ่งไม่มีที่มาแต่เดิมนั้น  จึงควรเป็นไปได้ว่า  สมบุญ  หรือ  กุสาวดี  คือ  พระธิดาเจ้าเชียงใหม่  เมื่อทรงครรภ์กับพระนารายณ์แล้ว  พระนารายณ์จึงไม่กล้าให้รีดลูกทิ้งเหมือนพระสนมองค์อื่น ๆ  ดังนั้น  พระยาศรีสุรศักดิ์มีบิดาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  มารดาเป็นราชธิดาเจ้าเชียงใหม่  จึงมิใช่คนธรรมดา

          พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  หรือ  พระพุทธเจ้าเสือ   คงจะทรงทราบว่า  พระองค์มีราชสมภพ (เกิด) ที่ตำบลโพธิช้างล้ม  จึงเสด็จขึ้นไปทรงทะนุบำรุงสถานที่ราชสมภพของพระองค์เนือง ๆ  ทรงสร้างพระมณฑปมียอดสูงถึง ๒๕ ศอก  สร้างวัดขึ้น ๒ วัด  ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์  และทรงหล่อพระปฏิมากร สูง ๑๖ ศอก ณ ตำบลโพธิช้างล้ม  หรือ  โพธิประทับช้างในปัจจุบัน  วัดที่ทรงสร้าง ๒ วัด  คือวัดบรมกษัตริย์  กับ  วัดทุติยาราม  มิทราบว่ายังคงอยู่หรือไม่  ถ้ายังคงอยู่แล้วเปลี่ยนนามเป็นอย่างอื่น  ก็ควรนำชื่อพระราชทานกลับมาใช้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระองค์ต่อไป

          ชาวกรุงเก่าให้การไว้ว่า .... “ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  มีราชโอรสด้วยพระมเหสีใหญ่ ๓ องค์  องค์ที่ ๑ พระนามว่าเจ้าสุรินทกุมาร  องค์ที่ ๒ พระนามว่าวรราชกุมาร  องค์ที่ ๓ พระนามว่าอนุชากุมาร ๆ นี้กล้าหาญดุร้ายมาก   วัน ๑ รับสั่งให้พวกมหาดเล็กเด็ก ๆ ด้วยกันว่ายข้ามแม่น้ำ  พวกมหาดเล็กเกรงอาญาก็พากันว่ายไป  ที่มีกำลังน้อยจมน้ำตายบ้างก็มี  กิติศัพท์ทราบถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธ  รับสั่งให้เอาอนุชากุมารไปสำเร็จโทษเสียดังเด็กที่จมน้ำตายนั้น

          และพระเจ้าสุริเยนทราธิบดียังมีราชบุตรอันเกิดด้วยพระสนมอีก ๓ พระองค์  นามว่า เจ้ากุมารอินทร์ องค์ ๑   เจ้ากิ่ง องค์ ๑   เจ้าติ่ง องค์ ๑
          ในปีนั้น เจ้าเมืองกาญจนบุรีจับได้ช้างเผือกพัง ๑ ช้าง  ช้างเผือกพราย ๑ ช้าง  นำมาถวายจึงพระราชทานนามช้างเผือกพังว่า  “อินทไอยรา”  พระราชทานนามช้างเผือกพรายว่า  “บรมจักรบุบผาทันต์”

          เรื่องของพระพุทธเจ้าเสือจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้อ่านต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มีนาคม, 2562, 10:17:36 PM
(https://i.ibb.co/3CYfr2P/image.jpg) (https://imgbb.com/)


- ปราบอ้ายธรรมเถียร -

ทรงนิพนธ์พยากรณ์ค่อนข้างถูก
เป็นการปลูกพืชไว้แล้วได้ผล
คำ“ผู้ดีจะเดิรตรอกขี้ครอก”วน
“เดิรถนน”สมคำพยากรณ์

เกิด“ผีบุญ”บังอาจเหิมคิดคด
เป็นขบถเดินดุ่มไม่ซุ่มซ่อน
พระทรงปืนยืนนิ่งยิงม้วยมรณ์
ราษฎรโห่ร้องสาธุการ


          อภิปราย ขยายความ.....

          ชาวกรุงเก่าให้การต่อไปว่า ... “ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้มีบุญญาภินิหารแลอิทธิฤทธิ์  ชำนาญในทางเวทย์มนต์กายสิทธิ์มาก  เวลากลางคืนก็ทรงกำบังพระกายเสด็จประพาสฟังกิจสุขทุกข์ของราษฎร  แลทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด  ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทย์มนต์ให้เปนมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์  รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี  ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทย์มนต์ดีแล้ว  ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ  ผู้ใดไม่เป็นอันตรายก็ให้พามาเลี้ยงไว้เป็นข้าราชการ  ผู้ใดโอ้อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระอาญา  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงปืนแม่นหาผู้เสมอยาก  นกกาบินร้องมาในเวลากลางคืนก็ยิงถูก  เต่าปลามัจฉาชาติในน้ำแต่พอเห็นเงาก็ยิงถูก  แลทรงชำนาญในทางโหราศาสตร์  รู้คำนวณฤกษ์ยาม  ชตาบ้านเมือง  ได้ทรงพยากรณ์กาลอนาคตเปนพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้ว่า

           “น้ำในแม่น้ำแลคลองทั้งปวงจะแดงเปนโลหิต  เมฆแลท้องฟ้าจะแดงเปนแสงไฟ  แผ่นดินจะไหวโดยมาก  ยักษ์แลผีป่าจะเข้าเมือง  เสื้อเมืองจะหลีกเลี่ยง  ฤดูหนาวจะเป็นฤดูร้อน  โรคภัยจะเบียดเบียนสัตว์แลมนุษย์ทั้งปวง  โอชาว่านยาแลผลไม้จะถอยรส  เทพยดาที่รักษาพระศาสนาจะรักษาแต่คนพาล  พวกที่อยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ  มิตรจะกลับเปนศัตรู  เมียจะคิดทรยศต่อผัว  คนต่ำตระกูลจะทำคนตระกูลสูงให้เสื่อมถอย  ศิษย์จะสู้ครู  พวกพาลจะมีอำนาจ  พวกปราชญ์จะตกต่ำ  น้ำเต้าจะจม  กระเบื้องจะลอย  ผู้ดีจะเดิรตรอก  ขี้ครอกจะเดิรถนน  มนุษย์จะมีอายุสั้นพลันตาย  จะเกิดเข้ายากหมากแพง  ฝูงมนุษย์จะอดอยาก  ผีแลเปรตจะปนอยู่กับคน  สมณะชีพราหมณ์จะร้อนใจ  จะเกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุม  ที่ลุ่มจะกลับดอน  ที่ดอนจะกลับลุ่ม  พระพุทธศาสนาจะเศร้าหมอง  คนที่สนุกเฮฮาจะได้ครองสมบัติ  ต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเปนเจ้านาย”  ดังนี้

          พระราชนิพนธ์พยากรณ์อนาคตบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาดังกล่าวนี้  ปรากฏเป็นความจริงขึ้นแล้วหลายประการ  เช่น  “เทวดาที่รักษาศาสนาจะรักษาแต่คนพาล,  พวกที่อยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ,  เมียจะคิดทรยศต่อผัว,  พวกพาลจะมีอำนาจ  พวกปราชญ์จะตกต่ำ,  ผู้ดีจะเดินตรอกขี้ครอกจะเดินถนน,  พระพุทธศาสนาจะเศร้าหมอง,  ต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเป็นเจ้านาย”  เป็นต้น  แสดงถึงวิสัยทัศน์ของพระเจ้าแผ่นพระองค์นี้กว้างไกลยิ่งนัก

          ชาวกรุงเก่าให้การต่อไปอีกว่า

           “อยู่มามีบัณฑิตย์คน ๑  ชื่ออ้ายธรรมเถียร  พึ่งสึกออกมาจากพระสำแดงตัวเปนผู้วิเศษ  โกหกว่าตัวเปนเจ้าพระขวัญซึ่งพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีให้เอาตัวไปสำเร็จโทษเสีย  ว่ายังไม่สิ้นพระชนม์  เทวดาพาไปเลี้ยงไว้  อ้ายธรรมเถียรแซ่งแต่งตัวทำท่าทางเหมือนพระขวัญ  ล่อลวงให้คนเชื่อถือเปนอันมาก  ครั้นมีผู้นับถือมากขึ้นก็ตั้งเกลี้ยกล่อม  ได้สมัคพรรคพวกประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ  ตระเตรียมเครื่องศัตราวุธจะยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา  เมื่อมาถึงนครราชสีมา  หลวงเทพราชาผู้ว่าราชการเมืองก็เข้าเปนสมัครพรรคพวกกับอ้ายธรรมเถียร  จึงเอาช้างทรงบรมรัตนากาศมาให้อ้ายธรรมเถียร  อ้ายธรรมเถียรก็ตั้งหลวงเทพราชาให้เปนอำมาตย์ของตน  แล้วก็ขึ้นช้างกั้นเศวตฉัตร์คุมพรรคพวกประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ  พร้อมด้วยเครื่องศัตราวุธยกเข้ามาทางบ้านเนินกระทุ่มเกลี้ยกล่อมผู้คนตลอดมา

          กิติศัพท์ที่อ้ายธรรมเถียรยกทัพเข้ามานั้น  ทราบไปถึงกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  จึงรับสั่งห้ามมิให้ราษฎรทั้งปวงเอิกเกริกวุ่นวาย  ให้สงบอยู่  ครั้นอ้ายธรรมเถียรยกเข้ามาถึงคลองคูพระนคร  ก็ขึ้นขี่ช้างข้ามมาทางสพานคูนั้น  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็มิได้ให้ออกสู้รบ  ทรงพระแสงปืนไปประทับอยู่ที่ป้อมมหาชัยบนเชิงเทินกำแพง  พออ้ายธรรมเถียรมาถึงกลางสพานก็ทรงยิงด้วยพระแสงปืน  ถูกอ้ายธรรมเถียร ๆ ตกจากหลังช้างตายอยู่ที่สพานนั้น  แล้วพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็ให้จับพวกที่เปนหัวหน้าแลหลวงเทพราชาไปประหารชีวิตเสีย  นอกจากนั้นมิได้เอาโทษ  ให้ปล่อยไปทั้งสิ้น”

          เรื่องอ้ายธรรมเถียรเป็นขบถนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคล้ายกับเรื่องญาณประเชียร  ในสมัยพระมหาธรรมราช  ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  ที่บันทึกไว้ว่า  “ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔)  ญาณประเชียรเรียนศาสตราคม  และคิดเป็นขบถ  คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก  และยกมาจากเมืองลพบุรีและยืนช้างอยู่ตำบลหัวรี  และบรเทศคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นยิงปืนออกไปต้องญาณประเชียรตายกับคอช้าง..”

          ในเรื่องนี้  อ้ายธรรมเถียรยกกำลังมาจากนครราชสีมา  ไม่ระบุแหล่งต้นกำเนิดของอ้ายธรรมเถียร  แต่พอรู้ได้ว่าเป็นคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  อยู่เลยเมืองนครราชสีมาไป  เมื่อมีกำลังคนพอสมควรแล้วยกมานครราชสีมา  เจ้าเมืองนครราชสีมาเคารพเชื่อถือจึงเข้าร่วมเป็นขบถด้วย  และได้รับแต่งตั้งให้เป็นอำมาตย์  นำช้างทรงบรมรัตนากาศมาให้  ช้างทรงเชือกนี้ชื่อเดียวกันกับช้างทรงในสมเด็จพระนารายณ์  ส่วนญาณประเชียรนั้นยกมาจากเมืองลพบุรี  ความต่างในการตายของทั้งสองคนอยู่ตรงที่ว่า  ญาณประเชียรถูกแขกบรเทศในเมืองยิงปืนออกจากในเมืองถูกกระสุนปืนตายบนคอช้าง  อ้ายธรรมเถียรถูกสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือใช้พระแสงปืนยิงตกจากคอช้างตาย  จึงไม่แน่ใจว่า  “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน”  หรือไม่

          ความในคำให้การชาวกรุงเก่ามีต่อไปว่า......  “ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้ทรงพระปัญญาเฉลียวฉลาด  ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม  ทรงบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนสุข  มิได้มีพระทัยยินดีที่จะทำศึกสงครามให้ได้ความลำบากแก่ไพร่บ้านพลเมือง  มีแต่ทรงพระอุสาหบำเพ็ญพระราชกุศล  จนพระเกียรติยศเกียรติคุณปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง

          พระเจ้ากรุงศรีสัตตนาคนหุตทราบว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญญาภิสมภารแลพระเดชานุภาพมาก  จึงจัดเครื่องราชบรรณาการแลพระราชธิดาซึ่งมีพระชนมพรรษาได้ ๑๕ ปี  ให้ราชทูตมาถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ  ก็ให้จัดเครื่องราชบรรณาการ  แลแสดงความยินดีตอบแทนตามราชประเพณี  แล้วโปรดให้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัตตนาคนหุตเปนพระมเหษีฝ่ายซ้าย  ให้สร้างตำหนักให้อยู่ใหม่  บรรดาคนทั้งหลายจึงพากันเรียก  พระมเหสีฝ่ายซ้ายว่า  “เจ้าตำหนักใหม่”

          บรรดาข้าราชการซึ่งตามเสด็จพระมเหสีฝ่ายซ้ายนั้น  โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านมะม่วงหวาน”

          เรื่องพระพุทธเจ้าเสือยังจบไม่ลง พรุ่งนี้ตามอ่านต่อไปก็แล้วกันนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มีนาคม, 2562, 10:28:25 PM
(https://i.ibb.co/ZWXsb6q/Daga-G0-TVMAEDZGm.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์ศรีปราชญ์ : นครศรีธรรมราช

- พระเจ้าเสือกับศรีปราชญ์ -

นามสามัญขานว่า “พระเจ้าเสือ”
ทรงดุเมื่อใครทำความผิดนั่น
ทรงรอบรู้ไสยเวทย์วิเศษครัน
ทั้งประพันธ์พยากรณ์เป็นเพลงยาว

มี“ศรีปราชญ์”เป็นกวีร่วมสมัย
กวีใหญ่ไว้ชื่อดีอื้อฉาว
ไทยรู้จักมักคุ้นนามตามเรื่องราว
แต่ยากสาวสืบเนื่องเรื่องง่ายดาย


          อภิปราย ขยายความ..................

          ในรัชกาลนั้นมีชายคน ๑  ชื่อว่าศรีปราชญ์  ฉลาดทางโหราศาสตร์แลพระไตรปิฎก  ชำนาญทางแต่งกาพย์โคลงกลอนทั้งปวง  ด้วยพระเจ้าสุริเยนทราธาบดีพอพระไทยในทางโหราศาสตร์  นิติศาสตร์  พระไตรปิฎก  กาพย์  โคลง  บทกลอน  ทรงทราบว่าศรีปราชญ์เปนคนฉลาดในทางนั้น  ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้  ศรีปราชญ์แต่งกาพย์  โคลง  บทกลอนต่าง ๆ ถวาย  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรด  พระราชทานรางวัลเนือง ๆ

          อยู่มาศรีปราชญ์ลอบมีเพลงยาวเข้าไปถึงนางสนมในพระราชวัง  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจับได้ก็ทรงพระพิโรธ  แต่มิได้ให้ลงพระราชอาญาอย่างร้ายแรง   เปนแต่ให้เนียรเทศไปอยู่เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช   ด้วยทรงเห็นว่าศรีปราชญ์เปนพหุสูตฉลาดในบทกลอน  แลมิได้คิดประทุษร้ายอย่างร้ายแรงอะไร

          เมื่อศรีปราชญ์ออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชก็ยังประพฤติเช่นนั้นอีก  ด้วยนิสัยใจฅอชอบทางเจ้าชู้  คราว ๑ แต่งเพลงยาวลอบไปให้ภรรยาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจับได้ก็โกรธ สั่งให้คนจับศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย  พวกที่ชอบพอกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็พากันห้าม  ว่าท่านอย่าให้ฆ่าศรีปราชญ์เสียเลยจะเกิดเหตุใหญ่  แต่เมื่อศรีปราชญ์ยังอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา  ลอบให้เพลงยาวแก่นางสนมพระเจ้าแผ่นดิน ๆ จับได้ยังไม่ให้ประหารชีวิต  ด้วยทรงพระอาลัยว่าเปนคนฉลาดในการแต่งหนังสือ  เพียงแต่ให้เนียรเทศมาชั่วคราว  ถ้าท่านฆ่าศรีปราชญ์เสีย  เห็นว่าจะมีความผิดแน่  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ไม่ฟัง  ให้เอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย  เวลาที่จะลงดาบศรีปราชญ์จึงประกาศแก่เทพยดาแล้วแช่งว่า  ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด  เมื่อสิ้นคำแช่งก็พอลงดาบ  ศรีปราชญ์ก็ตายอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น

          ฝ่ายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนั้น  ถ้าทอดพระเนตรเห็นบทกลอนของศรีปราชญ์ก็ดี  ทรงแต่งบทกลอนขัดข้องก็ดี  ก็ทรงรลึกถึงศรีปราชญ์เนือง ๆ  อยู่มาวัน ๑ คลายพระพิโรธแล้ว  จึงรับสั่งให้ข้าราชการไปตามตัวศรีปราชญ์เข้ามา  ข้าราชการผู้รับรับสั่งจึงออกไปเมืองนครศรีธรรมราช  แจ้งความแก่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่า  บัดนี้มีรับสั่งให้หาศรีปราชญ์ซึ่งเนียรเทศออกมาอยู่เมืองนี้  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงแจ้งเหตุที่ได้ให้ฆ่าศรีปราชญ์ให้ข้าราชการผู้รับรับสั่งฟังทุกประการ  ข้าราชการผู้รับรับสั่งจึงทำใบบอกเข้ามากราบทูลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  จึงให้มีท้องตราออกไป  ให้เอาตัวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารชีวิตเสียด้วยดาบที่ฆ่าศรีปราชญ์นั้น

          เมื่อพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเสวยราชย์นั้น  พระชนม์ได้ ๔๙ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติ ๗ พรรษา  ครั้นพระชนมายุได้ ๕๖ พรรษา  ก็เสด็จสวรรคต  เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๙ ปี (พ.ศ.๒๒๕๐)  พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีสมภพวันจันทร์”

          -- เราได้เรียนรู้กันมาว่า  ศรีปราชญ์เป็นกวีในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ตอนที่ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นได้เขียนโคลงนิราศไว้  เรียกกันว่า  นิราศศรีปราชญ์บ้าง  กำสรวลศรีปราชญ์บ้าง  โคลงนิราศศรีปราชญ์ได้รับการกย่องว่าเป็นยอดเยี่ยม  แม้ภายหลังจะมีผู้แต่งตามอย่าง  คือโคลงนิราศนรินทร์ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6543.msg22481#msg22481)  และได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยม  แต่ก็ยังเป็นรองนิราศศรีปราชญ์อยู่ชั้นหนึ่ง

          เป็นเรื่องแปลกที่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การแก่พระเจ้าอังวะ  บอกเล่าเรื่องศรีปราชญ์ไว้ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี  หรือพระพุทธเจ้าเสือ  พระโอรส (ลับ) ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  แทนที่จะกล่าวไว้ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามคำกล่าวในที่ทั่วไป

          มีนักวิชาการทางวรรณคดีไทยปัจจุบันบางท่าน  ตั้งข้อสังเกตว่า  “ศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริง”  และยอมรับว่า  โคลงนิราศศรีปราชญ์  หรือ  กำสรวลศรีปราชญ์  เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ผู้แต่งน่าจะเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง  และอาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์เสียด้วยซ้ำ

          โคลงบทสุดท้ายกินใจและสะเทือนอารมณ์ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งคือบทที่ว่า

                         ธรณีนี่นี้                     เป็นพยาน
                    เราก็ศิษย์อาจารย์            หนึ่งบ้าง
                    เราผิดท่านประหาร          เราชอบ
                    เราบ่ผิดท่านมล้าง            ดาบนี้คืนสนอง

          ว่ากันว่าโคลงบทนี้ศรีปราชญ์ใช้หัวแม่เท้าเขียนบนผืนแผ่นดินตรงหลักประหารที่เพชฌฆาตกำลังจะลงดาบตัดคอ  พอเขียนจบบทเพชฌฆาตก็ลงดาบพอดี

          เรื่องศรีปราชญ์จะมีตัวตนจริงหรือไม่  ถ้ามีจริงอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  หรือ  รัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) กันแน่  ยังคงสรุปเป็นข้อยุติไม่ได้  ขอให้เป็นปมปัญหาสำหรับนักประวัติศาสตร์โบราณคดี  และนักวรรณคดีไทยศึกษาหาข้อเท็จจริงกันต่อไป

          เมื่อสิ้นสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระพุทธเจ้าเสือแล้ว  เรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาจะเป็นอย่างไร  ดูความตามคำให้การขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าต่อไปในวันหรุ่งนี้...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มีนาคม, 2562, 10:30:15 PM
(https://i.ibb.co/CPRHfdp/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ : อ่างทอง

- พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ -

พระเจ้าเสือถึงกาลสวรรคต
เกียรติปรากฏคู่ไทยไม่เลือนหาย
สมคำว่า“ชาติเสือต้องไว้ลาย”
และ“ชาติชายไว้ชื่อ”ชนฦๅชา

พระโอรสรับนั่งบัลลังก์รัตน์
เป็นกษัตริย์ไอศวรรย์ไร้ปัญหา
เฉลิมพระนาม“ภูมินทราชา”
คนเรียกว่า“ท้ายสระ”อีกพระนาม


          อภิปราย ขยายความ........

          ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเสด็จสวรรคตแล้ว  พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติต่อไป  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้  ประชุมพงสาวดารภาคที่ ๖๓  ในตำนานกรุงเก่าบันทึกไว้ว่า  “สมเด็จพระสรรเพชฌ์ พระองค์ที่ ๙  สมเด็จพระภูมินทราชา  หรือขุนหลวงทรงเบ็ด  คือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ”  เหตุที่มีพระนามตามบันทึกพงศาวดารนี้  นัยว่า  พระองค์พอพระทัยในการทรงเบ็ดตามริมหนองคลองบึงและน่านน้ำต่าง ๆ จนควรแก่พระนามว่า “พรานเบ็ด” ทีเดียว  เมื่อขึ้นครองราชย์บัลลังก์  เฉลิมพระนามว่า  ภูมินทราชา  แต่ชาวประชาทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า  “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ”  ซึ่งก็มาจากนามว่า  “ขุนหลวงทรงเบ็ด”  นั่นเอง  ชาวกรุงเก่าให้การเรื่องราวของพระองค์ไว้ดังต่อไปนี้

           “ เมื่อพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) สวรรคตแล้ว  ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระสุรินทรกุมาร  ซึ่ง  เปนพระโอรสของพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) ขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน  ถวายพระนามว่า  พระเจ้าภูมินทราชา  ภายหลังปรากฏพระนามอีกอย่าง ๑ ว่า  พระเจ้าบรรยงค์รัตนนาสน์  พระเจ้าภูมินทราชามีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า  เจ้าฟ้าทองสุก ๆ มีพระราชโอรส ๔ องค์  มีพระนามว่าเจ้าฟ้านรินทร์ องค์ ๑   เจ้าฟ้าอภัยองค์ ๑   เจ้าฟ้าปรเมศองค์ ๑   เจ้าฟ้าทับองค์ ๑   มีพระราชธิดา ๒ องค์  มีพระนามว่า  เจ้าฟ้าเทพองค์ ๑   เจ้าฟ้าประทุมมาองค์ ๑   เจ้าเสฐมเหสีรองมีราชโอรสองค์ ๑  มีพระนามว่า  เจ้าฟ้าพจน  มีพระราชธิดา ๓ องค์  มีพระนามว่า  เจ้าฟ้าปุกองค์ ๑   เจ้าฟ้าหงส์องค์ ๑   เจ้าฟ้าพินองค์ ๑   รวมพระราชโอรสธิดาทั้ง ๒ มเหสี เปน ๑๐ องค์ด้วยกัน

          พระเจ้าภูมินทราชา (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ทรงตั้งวรราชกุมาร (อนุชาของพระองค์) เปนมหาอุปราช  ตั้งโอรสองค์ใหญ่ของพระมหาอุปราชเปนผู้ช่วย  และเจ้าภูมินทราชาให้สร้างวัดขึ้นวัด ๑  พระราชทานนามว่า  วัดมเหยงคณ  ให้สร้างพระนอนไว้ในวัด (ป่าโมกข์นั้น)  องค์ ๑ ยาว ๖๐ ศอก”

          วัดมเหยงคณ(มะเห-ยงคะนะ)  แปลได้ว่า  วัดที่ตั้งบนภูเขา  หรือ  วัดที่ตั้งบนเนินดิน  เป็นชื่อที่ลอกเลียนมาแต่วัดมเหยงคณ์ในเกาะลังกา  คือ  “มหิยังคณเจดีย์”  ในบริเวณเมืองเก่าอโยธยาคือฟากฝั่งตะวันออกแม่น้ำป่าสัก  มีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดมเหยงคณ์  เห็นทีว่าพระเจ้าภูมินทราชา  เมื่อทรงสร้างวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ป่าโมก  พร้อมกับสร้างพุทธไสยาสน์ไว้ในวัดแล้ว  พระราชทานนามว่า  วัดมเหยงคณ โดยนำเอานามวัดในเมืองเก่าอโยธยาไปใช้กับวัดที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้  พระพุทธไสยาสน์  ที่ชาวกรุงเก่าว่ายาว ๖๐ ศอกนั้น  ขุนหลวงหาวัดให้การว่า  “จึงสร้างพระพุทธไสยาสน์พระองค์ใหญ่ที่ป่าโมก ๑ ยาวได้เส้นห้าวา”  คือยาวกว่าคำให้การชาวกรุงเก่า

          ในรัชสมัยของพระเจ้าภูมินทราชา  มีการศึกสงครามเกิดขึ้นเล็กน้อย  คือยกไปขับไล่ญวนที่เข้ามายึดครองกัมพูชา  เปนการช่วยพระเจ้ากัมพูชาชิงราชบัลลังก์คืน  มีรายละเอียดตามคำให้การชาวกรุงเก่าว่าดังนี้

           “ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๖ ปี (พ.ศ. ๒๒๕๗)  พวกญวนใหญ่ยกทัพเข้ามา  ตีกรุงกัมพูชา  นักเทศเจ้ากรุงกัมพูชาสู้ญวนไม่ได้  ก็พาครอบครัวกับบริวารรวมทั้งสิ้น ๕๐๐ คน  แลช้างเผือกช้าง ๑  เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ถวายช้างเผือกแก่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าภูมินทราชาก็ให้รับช้างเผือกไว้  พระราชทานนามว่า  บรมรัตนากาศไกรลาสสิริวงศ์  แล้วรับสั่งให้ยกกองทัพใหญ่ไปตีกรุงกัมพูชา  พวกญวนก็พากันแตกพ่ายหนีไปสิ้น  พระเจ้าภูมินทราชาจึงรับสั่งให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาออกไปปกครองบ้านเมืองตามเดิม  พวกญวนรู้ว่าทหารไทยกลับแล้ว  แลพระเจ้ากรุงกัมพูชามาอยู่อย่างเดิม  ก็ยกทัพมาตีกรุงกัมพูชาอีก พระเจ้ากรุงกัมพูชาก็หนีเข้ามากรุงศรีอยุธยาอีก  แต่เป็นอย่างนี้หลายครั้ง

          ในครั้งหลังพระเจ้าภูมินทราชาให้ทหารยกไปตีกรุงกัมพูชาคืนได้แล้วรับสั่งให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาออกไปอีก  พระเจ้ากรุงกัมพูชาก็ทรงพระกรรณแสงกราบทูลว่า  ข้าพระองค์ได้อาศรัยพระบารมีปกเกล้า ฯ มาหลายครั้งแล้ว  ก็รักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้  ข้าพระองค์ไม่ไปแล้ว  ขออยู่รับราชการในกรุงศรีอยุธยาไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่  ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงข้าพระองค์ไว้ในกรุงศรีอยุธยาเถิด  พระเจ้าภูมินทราชาก็โปรดให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาอยู่ในพระนครศรีอยุธยาตามประสงค์”

          เรื่องพระเจ้ากรุงกัมพูชาหนีข้าศึกญวนมาพึ่งสยามนี้  ขุนหลวงหาวัดให้การมีรายละเอียดมากกว่าชาวกรุงเก่า  ดังต่อไปนี้

           “ครั้นอยู่มาเมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๐๗๖ มะแม ฉศก (พ.ศ. ๒๒๕๗) ญวนใหญ่จึงยกทัพมาหนักหนา  อันตัวนายที่เป็นใหญ่นั้นชื่อนักพระแก้วฟ้า  มารบเมืองเขมร  กษัตริย์เมืองเขมรจึงหนีเข้ามาพึ่งพระเดชในกรุง  อันที่ชื่อนักเสด็จนั้นเป็นผู้ผ่านธานีทั้งหกนางผู้เป็นมเหสี  อันนักองค์เอกนั้นเป็นอนุชา  นักพระศรีธรรมราชานั้นเป็นที่มหาอุปราช  อันพระโอรสในมเหสีนั้นชื่อ  พระรามาธิบดีองค์ ๑  พระศรีไชยเชษองค์ ๑  พระสุวรรณกุมารองค์ ๑  นักพระองค์อิ่มองค์ ๑  นักพระองค์ทององค์ ๑  นักพระอุทัยองค์ ๑  กุมารของบุตรี ๒ องค์  คือ  สุภากษัตรีองค์ ๑  พระศรีสุดาองค์ ๑  ทั้งบุตรและธิดาเป็น ๘ องค์ด้วยกัน  ยังหลาน ๒ องค์ คือ  นักองปาน  นักองตน  อันนี้เหล่ากษัตริย์  ยังเสนาสองคือ  ฟ้าทลหะนั้นฝ่ายขวา  ฝ่ายซ้ายนั้นฝ่ายกลาโหม  บรรดาอำมาตย์ทั้งปวงน้อยใหญ่เป็นหลายคน  กับพลทหารร้อยปลาย  กับช้างเผือกพังตัว ๑  ชื่อบรมรัตนากาศไกรลาศคีรีวงศ์  อันช้างเผือกพังตัวนี้นักเสด็จก็พาเอามา  แล้วจึงถวายพระเจ้าภูมินทราชา  แล้วตัวนักเสด็จกับพี่น้องลูกหลานทั้งสิ้นก็เข้ามาพึ่งโพธิสมภารอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  พระองค์ก็ทรงพระเมตตาแล้วสงสารกับนักเสด็จยิ่งนัก”

          ขุนหลวงหาวัดให้การชัดเจนในชื่อตัวบุคคล  เฉพาะนายใหญ่ของทัพญวนนั้นระบุนามว่า  “นักพระแก้วฟ้า”  นามนี้เป็นชาวกัมพูชามิใช่ญวน  นัยว่า  นักพระแก้วฟ้ากับนักพระเสด็จเกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน แล้ว  นักพระแก้วฟ้ามีกำลังน้อยกว่า  จึงหนีไปพึ่งญวนแล้วนำกำลังทหารญวนมาตีกัมพูชา  นักพระเสด็จสู้ไม่ได้จึงหนีมาพึ่งไทย  ดูจากคำให้การนี้แล้วเห็นได้ว่า  นักเสด็จพระเจ้ากรุงกัมพูชาถอดใจไม่ยอมกลับไปครองกัมพูชา  พระเจ้าภูมินทราชาทรงเมตตารับชุบเลี้ยงไว้ในกรุงศรีอยุธยา  แลพระองค์ก็มิได้หวังจะปกครองกัมพูชา  จึงปล่อยปละละเลยให้นักพระแก้วฟ้า  เจ้าเขมร  ขึ้นครองกรุงกัมพูชาสืบแทนนักเสด็จต่อไป.

          พรุ่งนี้ติดตาม  “แลหลังอยุธยา”  ต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มีนาคม, 2562, 10:29:19 PM
(https://i.ibb.co/hK9zSLf/Dynasty-House-10.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระมหาธรรมราชา -

องค์ภูมินราชาสวรรคต
พระโอรสอุบเรื่องมิล้นหลาม
อุปราชระแคระคายได้รู้ความ
การสงครามก่อเค้าแล้วเซาลง

ด้วยบุญญาบารมีอุปราช
เหล่าอำมาตย์ช่วยพยุงยกสูงส่ง
เป็น“มหาธรรมราชา”อ่าองค์
พระผู้ทรงทศพิธราชธรรม


          อภิปราย ขยายความ......................

          จากที่พระเจ้าภูมินทราชาทรงตั้งพระวรราชกุมาร  ผู้เป็นพระอนุชาให้ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช  แทนที่จะทรงตั้งพระราชโอรสของพระองค์เป็นมหาอุปราช  ข้อนี้แสดงให้เห็นน้ำพระทัยว่าพระองค์มิได้ผูกขาดพระราชอำนาจของพระองค์ไว้ให้พระโอรสรับสืบทอด  และทรงประสงค์ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลที่สืบทอดมาแต่กรุงสุโขไท  คือถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีพระอนุชาก็ให้ตั้งพระอนุชาเป็นพระมหาอุปราช (ขุนยี่)  หากมิมีพระอนุชาจึงค่อยตั้งพระราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช  ดังนั้นเมื่อพระองค์ประชวรแล้วเสด็จสวรรคต  จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น  ตามคำของขุนหลวงหาวัดให้การไว้ดังนี้

           “ เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ปิดความมิให้แพร่งพรายให้ใครรู้ว่า  พระราชบิดาเสด็จสวรรคต  ให้ตระเตรียมเครื่องศัสตราวุธและผู้คนตั้งมั่นอยู่ในพระราชวัง  ฝ่ายพระมหาอุปราชทรงสังเกตได้ระแคะระคายว่า  เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์เกียดกันและจะเอาราชสมบัติ  เห็นว่าจะเกิดเป็นข้าศึกกันเป็นแน่แล้ว  จึงเกลี้ยกล่อมพระเจ้ากรุงกัมพูชาและคนอื่น ๆ ได้เป็นอันมาก  ตั้งมั่นอยู่ยังมิได้ทำการรบพุ่งประการใด  เพราะไม่ทรงทราบว่าพระเชษฐาธิราชสวรรคต  ครั้นจะลงมือรบพุ่งในเวลานั้นกลัวจะเป็นคิดกบฏต่อพระเชษฐาธิราช  ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเอาพระมหาอุปราช ๆ ให้สืบว่าพระเชษฐาธิราชมีพระอาการเป็นประการใด  ก็ยังไม่ได้ความ  จึงให้ตั้งสงบไว้มิได้ทำการสู้รบโต้ตอบ  เป็นแต่ให้ปูนบำเหน็จรางวัลให้ผู้คนที่ถูกเจ็บป่วยเพื่อจะรักษาน้ำใจไว้  เมื่อข้าราชการทั้งหลายทราบว่าจะเกิดสงครามในเมืองเป็นแน่  ก็พากันไปเข้ากับพระมหาอุปราชเป็นอันมาก  เพราะเห็นว่ามีพระทัยโอบอ้อมอารี  ในขณะนั้นมีผู้เขียนหนังสือลับบอกข่าวที่พระเจ้าภูมินทราชาเสด็จสวรรคต  แล้วผูกติดกับช้างต้นพระเกษยเดช  ปล่อยไปจากพระราชวัง  เพื่อจะให้พระมหาอุปราชทรงทราบความจริง  ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระมหาอุปราช  ช้างนั้นก็ข้ามน้ำตรงไปยังสำนักพระมหาอุปราช  เหมือนดังที่คนขี่ขับไป  พวกข้าราชการในพระมหาอุปราชเห็นดังนั้นก็พากันจับ  เห็นหนังสือติดกับช้างดังนั้นก็นำไปถวายพระมหาอุปราช  ในเวลานั้นม้าทรงของพระมหาอุปราชตัวหนึ่งหลุดพลัดออกจากโรง  เที่ยวเตะถีบขบกัดหญิงชายเป็นอลหม่าน  พวกชาวเมืองกลัวม้านั้นเป็นกำลัง  พากันโจษอื้ออึงไปว่า  พระมหาอุปราชให้ทหารหายตัว  ขี่ม้าเข้าปราบปรามข้าศึก  กิตติศัพท์ทราบไปถึงเจ้าฟ้าอภัย  เจ้าฟ้าปรเมศร์  และไพร่พลของเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์  ต่างก็พากันย่อท้อตกใจกลัวเป็นอันมาก

          ในขณะนั้น  มหามนตรีจางวางและพระยาธรรมเสนาบดีกรมวัง  กับนายสุจินดามหาดเล็กเชิญพระแสง ๓ คน  จึงเขียนหนังสือลับมีใจความว่า  พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้วแต่ปฐมยาม  เจ้าฟ้าอภัย  เจ้าฟ้าปรเมศร์  คิดการลับจะทำร้ายพระองค์  บรรดาข้าราชการพากันเบื่อหน่ายเอาใจออกห่าง  และย่อท้อเกรงพระบารมีพระองค์เป็นอันมาก  ขอให้พระองค์ยกกองทัพเข้ามาเถิด  ข้าพระองค์ทั้ง ๓ จะคอยรับเสด็จ  ครั้นเขียนแล้วก็ส่งให้คนสนิทลอบไปถวายพระมหาอุปราช ๆ ได้ทราบความดังนั้นก็ทรงยินดี  เวลาย่ำรุ่งก็ตระเตรียมไพร่พลเป็นอันมากยกเข้ามายังพระราชวัง  เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่าพระมหาอุปราชยกเข้ามาแล้ว  ก็เอาพระแสงชื่อพระยากำแจกที่กำจัดภัยเป็นของตั้งแต่ครั้งพระยาแกรก  กับพระธำมรงค์ค่าควรเมืองและแก้วแหวนเงินทองภูษาอาภรณ์ของดี ๆ มีราคา  ทั้งเสบียงอาหารเป็นอันมากให้คนขนลงบรรทุกเรือ พาข้าราชการที่สนิทชิดใช้หนีไปยังตำบลบ้านตาลานฯ

          ในขณะนั้น  ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหาอุปราช (พระวรราชกุมาร) ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ถวายพระนามว่า  พระมหาธรรมราชา  เมื่อพระมหาธรรมราชาได้เสวยราชย์แล้วทรงทราบว่าเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์เอาพระธำมรงค์กับพระแสงสำหรับพระนคร  และพาข้าราชการไปมาก  จึงให้อำมาตย์คุมพลทหารออกเที่ยวตามจับ  เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่า  พระมหาธรรมราชาให้คนออกเที่ยวตามจับจึงเก็บเอาสิ่งของแต่พอกำลังแล้วให้ล่มเรือจมน้ำเสีย  พระธำมรงค์กับพระแสงก็จมอยู่ในน้ำกับเรือนั้น  แล้วพากันหนีซุกซ่อนกระจัดกระจายไป  เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้นายบุญคงมหาดเล็กตามไปด้วยคน ๑  เที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ในป่า ครั้นหลายวันเข้าเสบียงอาหารก็หมดลง  นายบุญคงเป็นคนกตัญญูสัตย์ซื่อต่อเจ้านายของตน  ก็อุตสาหะเที่ยวแสวงหาอาหารมาถวาย  พวกอำมาตย์ของพระมหาธรรมราชาที่เที่ยวติดตามไปพบนายบุญคงในกลางป่า  สงสัยจึงจับมาเฆี่ยนถาม  นายบุญคงได้รับความเจ็บปวดเป็นสาหัสทนไม่ได้  ก็รับเป็นความสัตย์  พวกอำมาตย์จึงให้นำไปจับเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้ทั้ง ๒ องค์  นำมาถวายพระมหาธรรมราชาๆจึงรับสั่งให้เอาตัวเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปสำเร็จโทษเสีย  พวกพ้องของเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์  ซึ่งหนีซุกซ่อนไปในทิศต่าง ๆ ที่ตามจับได้ก็ให้ประหารชีวิตเสียสิ้น  แต่นายบุญคงนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้เลี้ยงไว้  ด้วยรับสั่งว่าเป็นคนซื่อสัตย์กตัญญูต่อเจ้านายฯ

          พระเจ้าแผ่นดินสยามแห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้  ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ ในตำนานกรุงเก่า  จัดลำดับไว้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓๑  เรียกพระนามว่า  สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๓  เมื่อสวรรคตแล้ว  เรียก  “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ”  แต่ชาวกรุงเก่ากับขุนหลวงหาวัดให้การตรงกันว่า  เมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วได้พระนามว่า  พระมหาธรรมราชา  และได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ต่อไปอีกว่า


           “พระมหาธรรมราชานี้มีพระมเหสี ๓ องค์  พระมเหสีใหญ่มีพระนามว่ากรมหลวงอภัยนุชิต   พระมเหสีที่ ๒ พระนามว่ากรมหลวงพิจิตรมนตรี   พระมเหสีที่ ๓ พระนามว่าอินทสุชาเทวี

          กรมหลวงอภัยนุชิตมีพระราชโอรสธิดา ๗ พระองค์  คือ ๑ เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์   ๒ เจ้าฟ้าหญิงบรม   ๓ เจ้าฟ้าหญิงธิดา   ๔ เจ้าฟ้าหญิงรัศมี   ๕ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์   ๖ เจ้าฟ้าหญิงอินทรประชาวดี   ๗ เจ้าฟ้าหญิงสุริยา

          กรมหลวงพิจิตรมนตรี มีพระราชโอรส ๒ พระองค์  พระนามว่าเจ้าฟ้าเอกทัศพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าอุทุมพรพระองค์ ๑   มีพระราชธิดา ๖ พระองค์  พระนามว่าเจ้าฟ้าศรีประชาพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าสุริยบูรพาพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าสตรีพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าอินทวดีพระองค์ ๑   เจ้าฟ้าจันทร์พระองค์ ๑   เจ้าฟ้านุ่มพระองค์ ๑

          อินทสุชาวดีมีพระราชโอรส ๑ พระองค์  พระนามว่าเจ้าฟ้าอัมพร  มีพระราชธิดา ๒ องค์ พระนามว่าเจ้าฟ้ากุณฑลองค์ ๑   เจ้าฟ้ามงกุฎองค์ ๑  พระมหาธรรมราชา  มีพระราชโอรสธิดาเกิดแต่นักสนมอีกเป็นอันมาก  รวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์

          ครั้นต่อมา  พระมหาธรรมราชาทรงตั้งเจ้าฟ้านราธิเบศร์เป็นพระมหาอุปราช  พระราชทานเจ้าฟ้านุ่มเป็นพระมเหสี  แต่เจ้าฟ้านุ่มไม่มีพระโอรสธิดา

          แต่ก่อนเมื่อยังไม่ได้เป็นพระมหาอุปราชนั้น  เจ้าฟ้านราธิเบศร์มีเจ้าหญิงมิตร  เจ้าหญิงชื่น  เจ้าชายฉัตร  เกิดแต่หม่อมมเหญก  มีเจ้าชายสีสังข์  เกิดแต่หม่อมจัน  มีเจ้าหญิงดารา  เกิดแต่หม่อมเจ้าหญิงสร้อย  มีเจ้าชายมิ่ง  เกิดแต่หม่อมต่วน  มีเจ้าหญิงชี  เจ้าหญิงชาติ  เกิดแต่หม่อมสุ่น รวม ๘ องค์

          ในปีนั้น  เจ้าฟ้านักกายฟ้าเจ้าเขมร  นำช้างเผือกพังมาถวายพระมหาธรรมราชาช้าง ๑  พระมหาธรรมราชาพระราชทานนามว่าวิไชยหัสดี  เจ้าฟ้านักพระอุทัยพระเจ้ากรุงกัมพูชาให้นำช้างเผือกพลายมาถวายช้าง ๑  พระราชทานนามว่าพระบรมราชไทยศวร  ช้างเผือกตัวนี้มีงาข้างเบื้องซ้ายยาวมากกว่าข้างเบื้องขวา  พระยานครศรีธรรมราชจับได้ช้างเผือกช้าง ๑  นำมาถวาย  พระราชทานนามว่าบรมคชลักษณสุประดิษฐ  เจ้าเมืองเพชรบุรีจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย  พระราชทานนามว่าบรมนาเคนทร  กรมการจับช้างเผือกเข้าเพนียดเมืองนครไชยศรีได้ ๔ ช้างมาถวาย  พระราชทานนามว่า  บรมคชช้าง ๑  บรมพิชัยช้าง ๑  บรมจักรช้าง ๑  จอมพลสำเนียงช้าง ๑  แล้วให้มีการมหรสพสมโภชเป็นอันมาก”

          พระมเหสี  พระราชโอรส  ราชธิดาในสมเด็จพระมหาธรรมราชา  หรือ  พระเจ้าบรมโกศ  ที่ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร) ระบุพระนามมาทั้งหมดข้างต้นนั้น  คงไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้  เพราะเป็นเรื่องของพระองค์เอง โดยขุนหลวงหาวัดเป็นพระราชโอรสประสูติแต่กรมหลวงพิจิตรมนตรี  มเหสีฝ่ายซ้าย  เป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้าเอกทัศ  จากคำให้การนี้  เราจึงเห็นได้ว่า  พระเจ้าบรมโกศมีพระราชโอรสราชธิดามากที่สุดในบรรดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม  คือ  ทรงมีทั้งหมด ๑๐๘ องค์  จนไม่น่าจะทรงจำโอรสธิดาของพระองค์ได้  แม้พระเจ้าเสือราชอัยกาของพระองค์ที่ว่า  ทรงเจ้าชู้  เป็นชายชาตรี  ก็ยังมีพระมเหสีนางนักสนม  พระราชโอรสราชธิดาไม่มากเท่ากับพระองค์

          ชาวกรุงเก่าให้การเพิ่มเติมความตรงนี้ว่า  “คราวนั้น  สมิงทอรามัญซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่กรุงศรีอยุธยาเป็นขบถ  คุมสมัคพรรคพวกเปนอันมากเที่ยวตีบ้านเล็กเมืองน้อยตามชายพระราชอาณาเขต  ข้าราชการซึ่งรักษาหน้าที่ก็คุมพลทหารออกไปรบ  จับสมิงทอแลพรรคพวกสมิงทอฆ่าเสีย  แต่นั้นมากรุงศรีอยุธยาก็ปราศจากเสี้ยนหนาม  มีความสุขความเจริญ  เข้าปลาอาหารก็บริบูรณ์  ด้วยพระมหาธรรมราชาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล  ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเปนเนืองนิตย์”

          ** เจ้าฟ้านราธิเบศร์  ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชพระองค์นี้  คนไทยในกาลต่อมาขานพระนามว่าเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์บ้าง  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์บ้าง  ในวงวรรณกรรมรู้จักพระองค์ดีในพระนามว่า  “เจ้าฟ้ากุ้ง”   เรื่องราวของพระองค์น่าศึกษายิ่งนัก  จะนำมาแสดงในโอกาสต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, มีนาคม, 2562, 10:13:48 PM
(https://i.ibb.co/GnBMhwn/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ลังกาเจริญพระราชไมตรี -

เจ้าลังกาส่งสาส์นวันทาถวาย
โดยมุ่งหมายไมตรีอุปภัมภ์
ขอพระสงฆ์ทรงปิฎกไม่ด่างดำ
ไปช่วยชำระศาสน์ปราชญ์ลังกา


          อภิปราย ขยายความ......................

          ชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัดให้ความตรงกันต่อไปว่า  “ครั้นลุศักราช ๑๐๙๕ ปี (พ.ศ.๒๒๗๖)  พระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) ทิวงคต  พระมหาธรรมราชาจึงทรงตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นมหาอุปราช  พระราชทานเจ้าท้าวต่อย  ธิดาของพระมหาอุปราชที่ทิวงคตให้เป็นพระมเหสี

          คราวนั้น  กษัตริย์ซึ่งเปนพระเจ้ากรุงลังกาให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามากรุงศรีอยุธยา  ข้าราชการจึงกราบทูลพระมหาธรรมราชาให้ทรงทราบ  พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เกณฑ์พลเมืองตกแต่งถนนหนทางให้เรียบร้อยสอาด  ให้พวกพ่อค้าออกตลาดตามฟากถนน  แลให้แต่งช้างบุบผาทนต์ประดับเครื่องคชาภรณ์  พร้อมด้วยพลช้างพลม้าพบรถพลเดิรเท้าทุกหมวดทุกกอง  ซึ่งแต่งตัวเต็มยศสรรพด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์  ยืนประจำตามระยะทางซ้ายขวาบ่าติด ๆ กัน  ให้ปลูกปรำเปนระยะทั้ง ๒ ฟากถนน  มีมหรสพเต้นรำประจำอยู่ตามปรำ  ทั้งมีเครื่องดนตรีพิณพาทย์ระนาดฆ้องตลอดระยะทาง  ราชบัลลังก์ที่จะเสด็จออกรับแขกเมืองนั้นก็ให้ตกแต่งให้งดงาม  ตั้งเศวตฉัตรรายรอบด้วยเครื่องอภิรมย์ตามขัตติยยศ  ให้พระราชวงศานุวงศ์  เจ้าประเทศราช  แลข้าราชการทั้งปวงแต่งตัวเต็มยศ  เข้าอยู่ตามฐานานุศักดิ์  พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เบิกทูตลังกาเข้ามาในพระนครตามระยะทางที่ตกแต่งไว้  เมื่อทูตลังกาไปถึงขบวรใด ๆ  เช่นขบวรจตุรงคเสนา  ขบวรเหล่านั้นก็ทำความเคารพตามธรรมเนียม  ไปถึงพวกดนตรี ๆ ก็ประโคมขับร้อง  ไปถึงข้าราการ  เจ้ากระทรวง  เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ  ก็ทำการปฏิสัณฐารต้อนรับแสดงความปราไสต่อกัน  จนกระทั่งถึงที่ประทับพระที่นั่งมหาปราสาทข้างหน้า  ทูตลังกาจึงถวายพระราชสาส์นแลเครื่องบรรณาการ  ในพระราชสาส์นมีใจความว่า

           “ข้าพระองค์ผู้เปนพระอนุชาผ่านพิภพสิงหฬทวีป  ขอโอนเศียรเกล้าถวายบังคมมายังพระเชษฐาธิราช  พระเจ้ามหาธรรมราชา  ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา  ด้วยข้าพระองค์ได้ทราบพระเกียรติยศเกียรติคุณของพระเชษฐาธิราชว่า  ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนัตตยาธิคุณ  แผ่เผื่อเกื้อหนุนแก่สมณะพราหมณาจารย์ถ้วนหน้า  บำรุงพระพุทธศาสนาเปนศาสนูปถัมภก  โปรดให้หมู่สงฆ์เล่าเรียนพระไตรปิฎกเปนนิตยกาล  แลคัดลอกจดจารแบบแผนพระไตรปิฎกไว้  พระคุณเหล่านี้เปนเครื่องจูงใจข้าพระองค์ซึ่งอยู่ห่างต่างประเทศ  ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายบังคมชมพระบารมี  อนึ่ง  ข้าพระองค์ก็มีจิตยินดีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  แต่ในลังกาทวีปมีแบบแผนพระปริยัติธรรมขาดตกบกพร่องเคลื่อนคลาศ  ทั้งภิกษุสงฆ์ที่เฉลียวฉลาดอาจจะรอบรู้ในพระไตรปิฎกก็ไม่มี  โดยเหตุนี้  ข้าพระองค์ขอพระบารมีพระเชษฐาธิราชเจ้า  โปรดพระราชทานซึ่งภิกษุที่รอบรู้พระปริยัติศาสนา  เพื่อได้สั่งสอนชาวลังกาที่เลื่อมใส  เปนอายุพระพุทธศาสนาสืบไปสิ้นกาลนานเทอญฯ”

          เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงทราบพระราชสาส์นแล้ว  จึงมีพระราชปฏิสัณฐารถามถึงพระเจ้ากรุงลังกา  แลพระมเหษี  พระราชโอรส  เสนามาตย์ข้าราชการ เข้าปลาอาหาร  บ้านเมืองชนบทว่าเรียบร้อยเปนสุขสำราญอยู่หรืออย่างไร  ราชทูตก็กราบทูลว่าเจริญสุขอยู่ทุกประการ  ครั้นสมควรเวลาแล้วเสด็จขึ้น  ราชทูตก็ออกไปพักอยู่ที่สถานทูต

          พระมหาธรรมราชาจึงให้ข้าราชการผู้ใหญ่เข้ามาเฝ้า  พร้อมแล้วรับสั่งว่า  บัดนี้พระเจ้ากรุงลังกามีราชสาส์นเข้ามาขอพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก  ท่านทั้งปวงจงเลือกคัดพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก  กับพระปฏิมากรเปนธรรมบรรณาการส่งไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา  ข้าราชการรับพระราชโองการแล้ว  ก็เลือกได้พระราชาคณะ ๒ รูป  คือ  พระอุบาฬี ๑   พระอริยมุนี ๑   กับพระสงฆ์อิก ๕๐ รูป  แลพระปฏิมากร  พระยืนห้ามสมุท  กับพระปฏิมากรอื่นอิก ๑๐ องค์  แลพระไตรปิฎกกับเครื่องบรรณาการอื่น ๆ อิกเปนอันมาก  ครั้นจัดเสร็จแล้วจึงกราบทูลพระมหาธรรมราชา ๆ จึงทรงตั้งให้ข้าราชการเฉลียวฉลาด ๓ คน  คือ  พระสุนทร ๑   พระสุธรรมไมตรี ๑   กุมมรไทย ๑  เปนราชทูต  อุปทูต  ตรีทูต  กำกับไปกับอำมาตย์ราชทูตเมืองลังกา

          ครั้นสำเภาแล่นออกไปในมหาสมุท  ก็บังเกิดเปนแสงแดงโตประมาณเท่าผลหมากตรงศีร์ษะเรือ  พวกกัปตันแลต้นหนเห็นแล้วก็สดุ้งตกใจ  ด้วยเคยสังเกตว่าอากาศชนิดนี้เคยเกิดลมอันร้ายแรง  จึงสั่งให้พวกในสำเภากินเข้าปลาอาหารซึ่งจะอิ่มทนได้หลาย ๆ วัน  แลให้นุ่งผ้าห่มน้ำมันเตรียมพร้อมทุกตัวคน  ขณะนั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนี  แลพระสงฆ์ทั้งปวงจึงให้เชิญพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทมาประดิษฐานที่ศีร์ษะเรือสำเภา  แล้วพากันนั่งเรียงแถวทั้งซ้ายขวาพระพุทธปฏิมากร  เจริญพระพุทธมนต์เปนปรกติอยู่  ไม่ช้าก็เกิดลมสลาตันกล้าขึ้นกล้าขึ้นทุกที  กระทั่งเป็นสีแดงไปทั่วอากาศ  พัดตรงมาที่เรือ  พวกมนุษย์ในเรือก็พากันร้องไห้รักตัวเปนอันมาก  ด้วยอำนาจพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุท  แลอำนาจพระพุทธมนต์แลศีลาทิคุณแห่งพระผู้เปนเจ้าเหล่านั้น  พอลมสลาตันพัดมาถึงเรือก็หลีกเปนช่องเลยไป  ลูกคลื่นใหญ่ ๆ มาใกล้เรือก็หายไป  พวกกัปตันแลต้นหนเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็พากันยินดี  จึงให้จดวันคืนที่เกิดลมสลาตันไว้  แลพากันสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยเปนอันมาก  แล้วพากันทำสักการบูชา

          ครั้นสำเภาไปถึงกรุงลังกาแล้ว  ราชทูตลังกาก็พากันเข้าไปกราบทูลพระเจ้ากรุงลังกาว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก  กับพระสงฆ์มาอิกหลายรูป  แล้วทูลความที่เกิดคลื่นลมร้ายแรงขึ้น  แลพระสงฆ์ได้พากันตั้งพิธีเจริญพระพุทธมนต์  แลคลื่นลมหายไป  ถวายพระเจ้ากรุงลังกาทุกประการ  พระเจ้ากรุงลังกาก็ทรงยินดีเปนอันมาก  รับสั่งให้ลาดปูพรมเจียม  แลดาดผ้าขาวตั้งแต่พระราชวัง  กระทั่งถึงท่าเรือ  ให้ประดับประดาวิจิตรงดงาม  แล้วให้แห่แหนพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก  กับพระสงฆ์ทั้งปวงเข้าไปในพระราชวัง  แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์ทั้งปวงนั่งบนอาสน์  ทรงทำปฏิสัณฐารถามถึงสุขทุกข์ไพร่บ้านพลเมืองข้างกรุงศรีอยุธยาตามพระราชประเพณี  แสดงความยินดีต่อพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  ซึ่งได้มีพระทัยเอื้อเฟื้อเปนอันมาก  แล้วให้สร้างปราสาทเชิญพระปฏิมากรแลพระไตรปิฎกประดิษฐานไว้  ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งปวงนั้น  พระเจ้ากรุงลังกาก็ให้สร้างอารามถวาย  แลทรงอุปถัมภ์ค้ำชูมิให้เดือดร้อน  ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็พากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ให้บุตรแลทาสบวชเปนภิกษุสามเณรรวม ๕๐๐ เศษ  ฝ่ายพระอุบาฬี  พระอริยมุนี  ก็ตั้งใจสอนภิกษุสามเณรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมมิได้ขาด  ครั้นนานมาเห็นว่าพระปริยัติธรรมแพร่หลาย  มีศิษย์ที่เชี่ยวชาญมากแล้ว  จึงเข้าไปถวายพระพรกับพระเจ้ากรุงลังกาว่า  จะขอถวายพระพรลากลับพระนครศรีอยุธยา  พระเจ้ากรุงลังกาก็ให้ทำการสมโภช  แล้วจัดไทยธรรมถวายเปนอันมาก  ให้พวกสำเภารับมาส่งยังกรุงศรีอยุธยา  ครั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนีมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระมหาธรรมราชา  ทูลความตั้งแต่ไปสำเภาถูกลมสลาตัน  ตลอดจนกระทั่งได้สั่งสอนให้ภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  แล้วทูลลาพระเจ้ากรุงลังกากลับ  ถวายพระมหาธรรมราชาทุกประการ  พระมหาธรรมราชาก็ทรงยินดีเปนอันมาก

          ** อันว่าลังกาทวีปหรือศรีลังกาปัจจุบันนั้น  รับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งไปหลังที่ทรงอุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓  ชาวสิงหฬหรือศรีลังกาจึงได้รับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทพร้อม ๆ กับชาวสุวรรณภูมิเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕  ชาวลังกานับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงตลอดมา  แม้ว่าภายในประเทศจะเกิดความวุ่นวายจากข้าศึกภายในและภายนอก  จนพระสงฆ์แตกแยกออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ๒ นิกาย  คือ  นิกายมหาวิหาร  ซึ่งเป็นนิกายเดิม  กับนิกายอภัยคีรีวิหาร  ซึ่งเกิดใหม่  ต่อมานิกายอภัยคีรีวิหารจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาสู่สุวรรณภูมิ  และตั้งหลักเผยแผ่ลัทธิอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช (ตำนานไทยเรียกว่า ปาตลีบุตร)  ในราวปี พ.ศ. ๑๘๒๒  พ่อขุนรามคำแหงทรงเลื่อมใสจึงอาราธนาภิกษุนิกายนี้ขึ้นมาเผยแผ่ลัทธิพุทธศาสนาที่สุโขทัย  ในขณะเดียวกันนั้นคณะสงฆ์นิกายมหาวิหารจำนวนหนึ่งก็ไปตั้งหลักเผยแผ่ลัทธิอยู่ที่นครพัน  ในเมาะตะมะ  ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๙๐๔  พระยาลิไททรงอาราธนาพระสังฆราชนิกายมหาวิหารจากนครพันมาสู่สุโขทัย  เพื่อทรงพระผนวช  พระสังฆราชมาประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่ามะม่วง  แล้วกลับนครพัน  ลัทธิลังกาฝ่ายมหาวิหารจึงเผยแพร่อยู่อาณาจักรสุโขทัยแล้วแพร่สู่อาณาจักรล้านนา  นับได้ว่าพระภิกษุลังกาวงศ์เข้ามาประเทศไทยในยุคสุโขทัยรุ่งเรืองรวม ๒ ครั้ง

          อยู่มาในปี พ.ศ. ๑๙๖๗  พระเถระชาวเชียงใหม่ไม่พอใจการกระทำของพระเจ้าดิฐราชแห่งเชียงใหม่  พระเถระอันมีพระมหาธรรมคัมภีร์เป็นหัวหน้า  รวมคณะได้ ๑๘ รูป  พากันเดินทางไปลังกา  แล้วอุปสมบทแปลงใหม่ตามลัทธิลังกาวงศ์ที่ท่าน้ำยาปาปัฏฏนะ  แม่น้ำกัลยาณี  อยู่ศึกษาธรรมวินัยโดยคติลังกา  จนกระทั่งเกิดฝนแล้งข้าวแพงในลังกา  พระเถระเหล่านั้นอยู่ไม่เป็นสุข  จึงชวนกันกลับจากลังกา  โดยชวนพระเถระชาวลังกา ๒ รูป  คือ  พระมหาวิกกรมพาหุ พรรษา ๑๕  กับพระอุดมปัญญา พรรษา ๑๐ กลับมาด้วย  พร้อมกันนั้นก็มีพระภิกษุชาวกรุงศรีอยุธยา ๒ รูป  คือ  พระพรหมมุนี  กับ  พระโสมเถร  ซึ่งไปลังกา  ร่วมเดินทางกลับมาด้วย  พระสงฆ์คณะนี้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในราวปี พ.ศ.๑๙๗๒  ตำนานเมืองเหนือกล่าวว่า  เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปีนั้นได้ให้อุปสมบทกรรมกรรมแก่พระศิลวิสุทธิ์  กับพระสัทธรรมโกสิต  พระเถระชาวกรุงศรีอยุธยา  ออกพรรษาแล้วเดินทางขึ้นไปถึงศรีสัชนาลัย  ให้การอุปสมบทกรรมแก่พระพุทธสาคร  พระเถระชาวสุโขทัย  แล้วเดินทางกลับถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๑๙๗๓

          พระภิกษุลังกาวงศ์มาสู่กรุงศรีอยุธยาในราวปี พ.ศ.๑๙๗๒ นั้น  เป็นรัชสมัยพระเจ้าสามพระยาทรงครองกรุงศรีอยุธยา  นัยว่าพระศิลวิสุทธิ์กับพระสัทธรรมโกสิต  ที่คณะสงฆ์ลังกาอุปสมบทให้ใหม่นี้เป็นนิกายอภัยคีรีวิหาร  นิยมอยู่นอกหมู่บ้านย่านชุมชน  ซึ่งเรียกกันว่า  “พระป่า”  หรืออรัญญวาสีในปัจจุบัน  พระพนรัตน วัดป่าแก้วในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่รู้จักกันดีนั้น  เป็นผลพวงของพระภิกษุชาวอยุธยาและเชียงใหม่ร่วมกับชาวลังกานำมาประดิษฐานไว้แต่ปี พ.ศ.๑๙๗๒ นั้นเอง  พระภิกษุในลัทธิลังกาได้เจริญรุ่งเรืองในกรุงศรีอยุธยาตลอดมา  ในขณะที่ในประเทศลังกาซึ่งประสบภัยสงครามซ้ำซ้อนนั้นค่อย ๆ เสื่อมลงเป็นลำดับ  จนต้องขอภิกษุสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปช่วยพื้นฟูให้พระพุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง  พระภิกษุฝ่ายเถรวาทของลังกาทั้งสองนิกายพร้อมทั้งพระไตรปิฎก  ได้เข้ามาเจริญรุ่งเรืองในสยามตั้งแต่กรุงสุโขทัยมาจนถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาช้านาน  มีโอกาสกลับสู่ลังกาอีกก็ในสมัยนี้เอง **

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่ากล่าวไม่ชัดว่าพระเจ้ากรุงลังกาส่งราชทูตมาทูลขอพระภิกษุสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาในปีใด  แต่กล่าวชัดเจนว่า ปี พ.ศ. ๒๒๗๖ (จ.ศ.๑๐๙๕) นั้นพระมหาอุปราช (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) ทิวงคต  ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นพระมหาอุปราชแทน  แล้วกล่าวว่า  “คราวนั้น  กษัตริย์ซึ่งเปนเจ้ากรุงลังกาให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการมาถวาย…”  อาศัยคำให้การอันไม่ชัดเจนนี้ก็พอจะระบุได้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๒๗๖ นั้น  พระเจ้ากรุงลังกามีพระราชสาส์นมาทูลขอพระภิกษุผู้ทรงความรู้ด้านปริยัติธรรมไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป

          การเดินทางไปลังกาของคณะสงฆ์ชาวกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นประสบมหาวาตภัยร้ายแรงในมหาสมุทรอินเดีย  แต่ก็รอดไปได้ด้วยพุทธานุภาพที่คณะสงฆ์นั่งแวดล้มพระพุทธปฏิมากรปางห้ามสมุทร  ทำให้ลมสลาตันไม่แผ้วพานเรือสำเภาพาหนะลำนั้น  พระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทรคือพระพุทธรูปประทับยืน  ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นในลักษณะห้าม  นักวิชาการทางพุทธศาสนาในไทยให้คำอธิบายของที่มาว่า  คราวหนึ่งชาวเมืองกบิลพัสดุ์กับเทวทหะประสบความแห้งแล้ง  ไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค  ต้องการน้ำในแม่น้ำโรหินีที่ไหลผ่านเป็นเขตแดนของเมืองทั้งสองเพื่อใช้ในการทำนาและอุปโภคบริโภค  จนเกิดการแย่งน้ำถึงขนาดใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน  พระพุทธองค์จึงทรงเสด็จไปห้ามไม่ให้พระญาติทั้งสองฝ่ายรบกัน  นี่คือที่มาของพระปางห้ามพระญาติ  หรือห้ามสมุทร

          พระสงฆ์ไทยไปลังกาครั้งนี้ได้ตั้งเป็นคณะหรือนกายสยามวงศ์  หรืออุบาลีวงศ์ในลังกา  และดำรงอยู่มาตราบเท่าวันนี้

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41731#msg41731)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42076#msg42076)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, มีนาคม, 2562, 10:47:49 PM
(https://i.ibb.co/CV0C7CD/Alaungpaya.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบรมราชานุเสาวรีย์พระเจ้าอลองพญา



<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41900#msg41900)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42271#msg42271)                   .

- กำเนิด “อลองพญา” -

ยามกรุงศรีอยุธยาไร้ข้าศึก
อยู่เป็นปึกเป็นแผ่นราษฎร์แน่นหนา
เจ้าแผ่นดินทรงคุณมากบุญญา
สร้างวัดวาอารามงามตระการ

ส่วนพม่านั้นแตกแยกเป็นก๊ก
หม่องหนึ่งหมกตัวอยู่ในหมู่บ้าน
รวมพลได้ใหญ่กล้ามิช้านาน
“อลองพญา”ประสานชาติมั่นคง


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงประสบความสำเร็จในทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงลังกาแล้ว  ชาวกรุงเก่าให้การต่อไปอีกว่า

           “ต่อมาพระมหาธรรมราชาให้จัดเครื่องราชบรรณาการ  คือ  พานพระศรี  พระเต้า  พระสุวรรณภิงคาร  พระสุพรรณศรี  พระสุพรรณราช  กับผ้าแพรพรรณต่าง ๆ  แล้วให้จารึกพระราชสาส์นลงในพระสุพรรณบัตร  ให้พระทราเปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรี  แลคุมเครื่องราชบรรณาการไปยังเมืองอังวะ  พระเจ้าอังวะก็ให้ข้าราชการจัดขบวรรับทูตกรุงศรีอยุธยาโดยแข็งแรง  พระทราจึงเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น  กับเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้าอังวะ ๆ ทรงทราบพระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรี  ก็ทรงยินดี  จึงให้ทูตกรุงศรีอยุธยาไปพักอยู่ที่สถานทูต  แลให้เลี้ยงดูเปนอันมาก  รุ่งขึ้นวันใหม่พระเจ้าอังวะจึงให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาส์น  แลจัดเครื่องราชบรรณาการ  คือ  อำพันทองก้อน  พานพระศรีขนาดน้อย  พานพระศรีขนาดใหญ่  พระเต้า  พระสุวรรณภิงคาร  พระสุพรรณศรี  พระสุพรรณราช  ก้อนดินสอแก้ว  น้ำมันดิน  ผ้าแพรพรรณต่าง ๆ  แล้วให้ทูตพม่าพาทูตไทยมาส่งยังกรุงศรีอยุธยา  แต่นั้นมา  เมืองอังวะกับกรุงศรีอยุธยาก็เปนไมตรีต่อกัน

          แลพระมหาธรรมราชานั้นมีพระราชศรัทธามาก  ให้สร้างพระอารามใหญ่ถึง ๗ พระอาราม  คือ  วัดคูหาสระ ๑   วัดกุฎีดาว ๑   วัดวรเศลา ๑   วัดราชบุรณ ๑   วัดวรโพธิ ๑   วัดพระปราง ๑   วัดปราไทย ๑   สร้างพระนอนใหญ่ขึ้นองค์ ๑  พระราชทานนามว่า  พระนอนจักรศรี  เสร็จแล้วบริจาคพระราชทรัพย์  บำเพ็ญพระราชกุศลเปนการฉลองเปนอันมาก  แลทรงพระกรุณาโปรดห้ามมิให้ใครฆ่าสัตว์ในบริเวณพระนครศรีอยุธยาข้างทิศเหนือ  ทิศใต้  ทิศตะวันตก  ทิศตะวันออก  ข้างละโยชน์ ๆ  ในกาลนั้นมีบ่อทองเกิดขึ้นที่บางตะพาน  มีผู้ร่อนทองเข้ามาถวาย  บางตะพานจึงเป็นส่วยทองแต่นั้นมา”

          * คำให้การไม่ได้ระบุว่าปีที่พระมหาธรรมราชาบรมโกศ  ส่งเครื่องบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะนั้นเป็นปีศักราชใด  ระบุแต่ว่าทรงได้ราชสมบัติต่อจากพระเจ้าภูมินทราชาแต่ปีจุลศักราช ๑๐๙๓  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๔  และปีจุลศักราช ๑๐๙๕   พระมหาอุปราชซึ่งเป็นโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ทิวงคต  จึงทรงตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นมหาอุปราชแทนในปีเดียวกัน  คือปี พ.ศ. ๒๒๗๖  และน่าจะเป็นปีเดียวกันนั้นที่พระเจ้ากรุงลังกาส่งราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรี  คณะพระอุบาฬีไปอยู่ลังกานานไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี  จึงกลับกรุงศรีอยุธยา  ตีเสียว่าคณะสงฆ์ไทยไปลังกาปี พ.ศ. ๒๒๗๖  อยู่ลังกา ๑๐ ปี  เดินทางกลับเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๖  ดังนั้นปีที่ทรงส่งราชทูตนำเครื่องบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะ  ควรจะเป็นปี พ.ศ. ๒๒๘๗  ถ้าถือเอาตามนี้ พระเจ้ากรุงอังวะยามนั้นคือ  พระเจ้าช้างลาย  เชื้อสายกษัตริย์พม่าที่หนีมาอยู่เมืองมอญ

          * ดูความในหนังสือประวัติศาสตร์พม่า  ฉบับ หม่อง ทินอ่อง  พบว่าในช่วงรัชสมัยของพระมหาธรรมราชานี้  ทางพม่านั้นเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก  กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๒๗๖  ซึ่งพระมหาธรรมราชาทรงครองกรุงศรีอยุธยาได้ ๒ ปี  พระมหาอุปราชทิวงคต  ทางพม่านั้นปรากฏว่าพระเจ้าตะนิงกันเรมินสวรรคต  พระโอรสได้ครองราชย์ต่อมีพระนามว่า  พระมหาธรรมราชาธิบดี  จากนั้นเกิดความวุ่นวายขึ้นทางภาคใต้  คือเมืองอังวะ พวกมอญเป็นขบถ โดยยึดเมืองอังวะได้ในปี พ.ศ.๒๒๘๖  แล้วให้พระภิกษุเชื้อสายกษัตริย์พม่าองค์หนึ่งลาสิกขาขึ้นครองกรุงอังวะในพระนามว่าพระเจ้าช้างลาย  ในรัชสมัยของพระเจ้าช้างลายไม่ปรากฏว่ามีราชทูตนำราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรีจากกรุงศรีอยุธยา  แต่ปรากฏว่า  ในปี พ.ศ. ๒๒๙๕  พญาทละ  ชาวมอญยึดอำนาจจากพระเจ้าช้างลายได้  นัยว่าพระเจ้าช้างลายหนีมาอยู่เชียงใหม่  จากนั้นเกิดการรบพุ่งช่วงชิงอำนาจกันระหว่างมอญกับพม่า  ทำให้ราชอาณาจักรมพ่าแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ  จนเกิดอัศวินม้าขาวขึ้นมาจัดการบ้านเมืองให้มีความสงบเรียบร้อยในที่สุด

          ดร.หม่อง ทินอ่อง  กล่าวว่า  ในขณะที่เกิดการแย่งชิงอำนาจกันวุ่นวายนั้น  หม่องอองไจยะ  ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏนั้นได้เก็บตัวเงียบ ๆ อยู่ที่ตำบลมุตโชโบ  ซึ่งเป็นตำบลขนาดใหญ่  และเขาได้เป็นผู้ใหญ่บ้านตำบลนั้น  ต่อมาเขากลายเป็นผู้มีอำนาจกลุ่มที่สาม  เพราะได้รับการสนับสนุนจาก ๔๖ ตำบลโดยรอบ ๆ นั้น  เขาจัดการย้ายผู้คนในตำบลต่างมารวมในตำบลมุตโชโบทั้งหมดแล้วเผาทำลายตำบลเหล่านั้นเสีย  จัดตั้งค่ายในตำบลของเขาอย่างมั่นคงแข็งแรง  ต่อเมื่อกองทหารมอญยกไปเพื่อต้องการให้เขาสวามิภักดิ์  แต่เขาต่อสู้จนกองทหารมอญแตกพ่ายไป  เขาจึงประกาศตนเองเป็นกษัตริย์พระนามว่า  อลองพญา  หรือ  พระโพธิสัตว์  แล้วเปลี่ยนนามตำบลของเขาเป็น  ชเวโบ  หรือ  “ดินแดนแห่งขุนพลทอง”  จากนั้นทรงยกกองทัพออกปราบปรามเมืองต่าง ๆ จนสามารถรวบรวมเป็นพระราชอาณาจักรพม่าได้อีกครั้งหนึ่ง

          เมื่อพระเจ้าอลองพญารวบรวมตั้งอาณาจักรพม่าได้แล้ว  เจ้าเมืองเชียงใหม่เกรงพระเดชานุภาพจึงขอร้องให้พระเจ้าช้างลายออกจากเมืองเชียงใหม่  พระเจ้าช้างลายจากเชียงใหม่เข้ามาพึ่งกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแนะนำให้ขอกำลังจากจีนมาช่วย  แต่จีนไม่สนใจ  จึงกลับไปเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงสนับสนุนให้พระเจ้าช้างลายประกาศพระองค์เป็นเจ้าเมืองพะโค  และส่งหนังสือไปยังพวกมอญ  กล่าวหาว่าพญาทละเป็นกบฏ  บังเอิญจดหมายบางฉบับตกไปถึงมือพระเจ้าอลองพญา  พระองค์จึงส่งทูตไปหาเจ้าเมืองเชียงใหม่และพระเจ้าช้างลายให้สาบานว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระองค์  และตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ครองเชียงใหม่ตามเดิม  ส่วนพระเจ้าช้างลายนั้นทรงให้เกียรติจนเป็นที่พอใจ

          * ดูความทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วไม่พบว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาส่งบรรณาการเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะตามคำให้การของชาวกรุงเก่าเลย  และชาวกรุงเก่าได้ให้การเกี่ยวกับพระมหาธรรมราชาต่อไปอีกว่า

           “ พระมหาธรรมราชาพระราชทานพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดซุดโซมปีละร้อย  พระราชทานผ้าไตรเพื่อกฐินกิจปีละร้อยไตร  แลพระราชานพระราชทรัพย์สำหรับมีมหรสพสมโภช พระพุทธรูป ๔ องค์  คือ  พระพุทธรูปสุรินทร์องค์ ๑  พระพุทธรูปที่เมืองนครศรีธรรมราชองค์ ๑  พระพุทธรูปที่เมืองพิษณุโลกองค์ ๑  พระพุทธรูปสำหรับกรุงศรีอยุธยาองค์ ๑   องค์ละ ๕๐ ทุก ๆ ปีมิได้ขาด พระราชทานทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทปีละร้อย  แลให้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ฉันเช้าทุก ๆ วันมิได้ขาด  เวลามีสุริยุปราคา  จันทรุปราคา  ก็พระราชทานเสื้อผ้า  เงินเฟื้อง  เงินสลึ ง เข้าปลาอาหาร  แก่พวกยากจกวณิพกคนเจ็บไข้แลทารกเปนต้น  ถึงเวลาเข้าพรรษาก็ทรงสมาทานอุโบสถศีลเดือนละ ๘ ครั้ง  บรรดาพระราชวงศานุวงศ์แลมหาดเล็กทั้งปวงนั้น  เมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว  ก็ทรงเปนพระธุระในการจัดให้อุปสมบท  ถ้ายังมิอปุสมบทแล้วก็ยังไม่ให้รับราชการ

          ต่อมาพระมหาธรรมราชาทรงพระดำริห์ว่า  พระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตนั้น  มีวัดวาอารามที่พระมหากษัตริย์แต่ก่อนให้สร้างให้สร้างขึ้น  ชำรุดซุดโซมมาก  จึงให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งสิ้น  แลมณฑปพระพุทธบาทนั้นให้ลงรักปิดทอง  ข้างในมณฑปให้แผ่เงินปูเต็มตลอดพื้น  ฝาผนังให้ประดับกระจกงดงาม  บนเพดานแลขื่อนั้นให้ลงรักปิดทองฉลุเปนกนกช่อห้อย  แขวนโคมแก้วระย้าสีต่าง ๆ  ที่รอยพระพุทธบาทนั้นให้บุทองคำเปนลายบัวหงายประดับรอย  แล้วให้เอาทองคำมาจำลองเปนรอยพระพุทธบาทประดับพลอยทับทิมสวมครอบลงข้างบนพระพุทธบาท  ประตูสำหรับเข้าออกนั้นให้ประดับด้วยมุกด์เปนลวดลาย  กันสาดรอบมณฑปนั้นให้มุงกระเบื้องแล้วด้วยดีบุกทั้งสิ้น  ตามลวดลายมณฑปนั้นให้ลงรักปิดทองเปนพื้น  ระเบียงรอบมณฑปแลพื้นระเบียงให้ประดับปูลาดด้วยอิฐดีบุกทั้งสิ้น  แล้วให้ก่อพระเจดีย์ศิลาอ่อนสูงประมาณ ๒ ศอก  ห่างกันประมาณคืบ ๑  หรือกำมา ๑  รอบกำแพงแก้ว  แล้วให้ก่อกำแพงแก้วด้วยอิฐดีบุกรอบลานพระพุทธบาท  มีด้านกว้างแลด้านยาวพ้นออกไปจากมณฑปด้านละ ๒๐ วา  แล้งลงรักปิดทองทำเปนกอบัว  ใบบัว  ดอกบัว  บุทองแดงประดับลงรักปิดทองพาดตามกำแพงรอบ  แล้วขุดอุโมงค์ในกำแพงแก้วกว้างยาว ๑๕ วา ๑ ศอกเท่ากัน  แล้วก่อด้วยอิฐ  สร้างพระพุทธรูปประดับมุกด์ไว้องค์ ๑  แลก่อตึกภัณฑาคารสำหรับเก็บสิ่งของที่คนนำมาบูพระพุทธบาท  จัดให้มีเจ้าพนักงารรักษา  เกณฑ์ให้ราษฎรตำบลบ้านขุนโขลนเปนส่วยขี้ผึ้งน้ำมันสำหรับจุดบูชาพระพุทธบาท  แลให้สร้างบันไดที่จะขึ้นลงทางทิศใต้ทาง ๑  ทิศตะวันตกทาง ๑  ที่เชิงเขาพระพุทธบาทนั้นให้สร้างอารามขึ้นอาราม ๑  ให้พระครูมหามงคลเทพมุนี ๑  พระครูรองพระวินัย ๑  อยู่ประจำรักษาพระอาราม  แลตั้งให้เจ้าพนักงารรักษาพระอารามส่งของฉัน  ดูแลซ่อมแซมมิให้ชำรุดซุดโซมได้  เวลาเดือน ๔ พระมหาธรรมราชาเสด็จไปนมัสการกับด้วยพระราชวงศ์แลเสนาข้าราชการเปนอันมากทุก ๆ ปี  ประทับอยู่ที่พระพุทธบาท ๗ ราตรี  ให้มีมหรสพสมโภชแลทรงบริจาค เสื้อ  ผ้า  เงินบาท  เงินสลึง  เงินเฟื้อง  เข้าปลาอาหารพระราชทานแก่ยาจกวณิพกถ้วนทั้ง ๗ วัน  แล้วจึงเสด็จกลับ  ดังนี้มิได้ขาด”

          * ดูรายการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทตามคำให้การชาวกรุงเก่าแล้ว  มองเห็นภาพความอลังการของมณฑปพระพุทธบาท  งดงามดังเทพวิษณุกรรมลงมาเนรมิตทีเดียว  ก่อนนี้เรารู้กันมาว่า  พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำ  โดยเสด็จเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปถึงท่าเรือแล้วเสด็จโดยสถลมารคต่อจนถึงพระพุทธบาท  ทรงประทับแรมที่พระพุทธบาทแล้วจัดงานสมโภช  ในการสมโภชนั้นมีการเล่นพลุไฟไทย  ดังความที่พระมหานาควัดท่าทราย เขียนบรรยายไว้ในบุญโญวาทคำฉันท์  เรื่องที่พระมหาธรรมราชา  หรือพระบรมราชา  คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐพระองค์นี้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทในเดือน ๔ และประทับแรม ๗ ราตรี  เป็นประจำทุกปีมิได้ขาดนี้  เป็นเรื่องที่เราไม่ทราบมาก่อน  การจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาท ณ สุวรรณบรรพต (ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองจังหวัดสระบุรี)  ปัจจุบันมีเป็นประจำทุกกลางเดือน ๓ และ กลางเดือน ๔  นัยว่าพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการในกลางเดือน ๓  ตกมาถึงพระมหาธรรมราชานี้  พระองค์เสด็จไปนมัสการทุกกลางเดือน ๔  จึงเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มีนาคม, 2562, 10:28:11 PM
(https://i.ibb.co/VY7jgvr/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบรมราชานุเสาวรีย์พระเจ้าอลองพญา

- เรื่องพระเจ้าช้างลาย -

ครัวชาวมอญเมาะตะมะมาขอพึ่ง
บอกเล่าถึงเรื่องร้ายไม่ประสงค์
ด้วยพม่าไร่ผลาญมอญรานลง
จึงเหล่าหงส์“ปีกหัก”คลานจากรัง

บอกเรื่องราว“สมิงทอ”ให้พอรู้
เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ใช้มนต์ขลัง
ถูกพ่อตาขับไล่ให้เซซัง
มาถูกขังคุกไทยไม่ทุกข์เลย


          อภิปราย ขยายความ..........

          จบเรื่องพระพุทธบาท  ชาวกรุงเก่าได้ให้การต่อไปอีกว่า

           “ ต่อแต่พระพุทธบาทไปทางลำน้ำทิศเหนือมีภูเขาอยู่แห่ง ๑ ชื่อเขาปถวี  เขาปถวีนั้นมีเพิงผาชะโงกเงื้อมออกไปเหมือนงูแผ่แม่เบี้ย  ในเงื้อมเขานั้นมีพระฉายหันพระพักตร์ไปข้างบุรพาปรากฏอยู่  สีผ้าทรงพระฉายนั้นยังสดใสอยู่มิได้เศร้าหมอง  ที่พระฉายนั้นไม่มีมณฑปที่จะกันแดดแลฝน  เพราะว่าฝนตกไม่ถูก  น้ำฝนไหลอ้อมไปทางอื่น  พระมหากษัตริย์แต่โบราณได้สร้างมณฑปขึ้นหลายครั้งก็หาคงอยู่ไม่  มีคำเล่ากันว่าพระอินทร์แลเทวดามาทำลายเสีย  สร้างได้แต่ศาลาสำหรับคนขึ้นไปนมัสการพักอาศรัย  กับบันไดสำหรับขึ้นลงเท่านั้น  เมื่อถึงฤดูเดือน ๔ พระมหากษัตริย์แต่ก่อน ๆ ย่อมพาราชบริพารเสด็จขึ้นไปนมัสการ  มีการสมโภชแลบำเพ็ญพระราชกุศลเสมอ ๆ เปนประเพณี  พระมหาธรรมราชานี้ก็เสด็จไปนมัสการอยู่เสมอ ๆ เหมือนกัน “

          ในรัชกาลพระเจ้ามหาธรรมราชานี้มีความเกี่ยวกับมอญที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่ง  ชาวกรุงเก่ามิได้ให้การไว้  แต่ขุนหลวงหาวัดซึ่งเรียกพระนามพระมหาธรรมราชาว่าพระบรมราชา  ได้ให้การไว้อย่างละเอียด  เป็นเรื่องที่น่าฟังไม่น้อยจึงใคร่ขอยกคำให้การนั้นมาแสดงดังต่อไปนี้

           “ครั้นอยู่มาเมื่อครั้งจุลศักราช ๑๑๑๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๒๙๑)  จึงมีสมิงทอคนหนึ่งเป็นชาติกวย  มีบุญญาธิการยิ่งนัก  ได้ราชสมบัติในกรุงหงสาวดี  จึงคิดอ่านให้อำมาตย์มาทูลขอพระราชธิดาเมืองกรุงศรีอยุธยา  ครั้นพระบรมราชาแจ้งเหตุทรงพระโกรธ  จึงตรัสว่า  มันเป็นแต่ชาติกวย  มันมาขอลูกสาวกู  ครั้นทรงพระโกรธดังนั้นแล้วก็มิได้ว่าขานประการใด

          อยู่มาในปีเดียวกันนั้น  “เจ้าเมืองมัตตะมะทั้งผัวเมีย  กับผู้คนบ่าวไพร่ทั้งปวงเป็นอันมาก  ทั้งเจ้าเมืองทวายด้วยกัน  ทั้งบ่าวไพร่ผู้คน  หนีมาจากเมืองมัตตะมะและเมืองทวาย  เข้ามาในแดนกรุงศรีอยุธยา ข้างด่านทางพระเจดีย์สามองค์  นายด่านชื่อขุนนรา  ขุนละคร  จึ่งพาเอาตัวเจ้าเมืองมัตตะมะเจ้าเมืองทวาย  ทั้งสองนายเข้ามาแจ้งกับเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์  เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ซักไซ้ไถ่ถามจึงแจ้งความว่า

          ตัวข้าพเจ้าเป็นเจ้าเมืองมัตตะมะนี้  ชื่อแมงนราจอสู  เมียชื่อนางแมงสัน  เป็นมอญ  เรียกชื่อภาษามอญนั้นนายเม้ยมิฉาน  อันเจ้าเมืองทวายนั้นชื่อ  แมงแลกแอซอยคอง  หนีมาจากเมืองทวายและเมืองมัตตะมะ  จะมาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  ตัวข้าพเจ้า  ผัวเมียกับผู้คนสมกำลังบ่าวไพร่ทั้งปวงด้วยกันทั้งสิ้น  จักขอเข้ามาอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  อันเจ้าเมืองทวายก็ให้การตามความที่มีมาทั้งสิ้น  แล้วให้การว่า  พระเจ้าอังวะตั้งให้ข้าพเจ้ามาเป็นเจ้าเมืองมัตตะมะ  เป็นผู้รักษาแดนมัตตะมะและแดนทวาย  บัดนี้มอญชื่อพระยากรมช้าง  พระเจ้าอังวะตั้งลงมาให้เป็นเจ้าเมืองหงสาวดี  คิดกบฏต่อพระเจ้าอังวะ  แล้วต่อสู้รบกันเป็นอันมาก  ข้าพเจ้าจะยกทัพไปช่วยพระเจ้าอังวะ  จึงเกณฑ์ผู้คนเมืองมัตตะมะ  ขุนนางเมืองมัตตะมะจึ่งเป็นกบฏแล้วไล่จับตัวข้าพเจ้าจักฆ่าเสีย  ข้าพเจ้าจึงหนีมาเข้าแดนเมืองทวาย  จึงพบเจ้าเมืองทวายเข้าที่เมืองกะลิอ่อง  ข้าพเจ้ากับเจ้าเมืองทวายจึ่งคิดอ่านกันแล้วก็เกณฑ์ผู้คนชาวเมืองกะลิอ่องจะขึ้นไปช่วยเจ้าอังวะ  ชาวเมืองกะลิอ่องจึงแข็งเมืองเอา  แล้วไล่ข้าพเจ้าจักฆ่าเสีย  ข้าพเจ้าจึงหนีเข้ามาพึ่งโพธิสมภาร  จักอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไปจนตราบวันตาย  แล้วแมงนราจอสูให้การว่า  ข้าพเจ้าไปเรียกสมิงทอนั้น ๆ ว่าขานท้าทายมาดั่งนี้  ฝ่ายพระยากรมช้างคิดครั่นคร้ามกลัวทางสมิงทอจะขึ้นมา  จึงให้ไปปลอบโยนแต่โดยดี  แล้วจึงเอานางกุ้งผู้เป็นลูกสาวนั้นยกให้เป็นเมีย  แล้วจึงมอบราชสมบัติให้แก่สมิงทอ  พระยากรมช้างจึงทำการราชาภิเษกให้สมิงทอครอบครองกรุงหงสาวดี  ในปีนั้นจึงตั้งนางกุ้งให้เป็นที่มเหสี  ครั้นสมิงทอได้ครองเมืองหงสาวดีก็มีบุญญาธิการยิ่งนัก  จึงได้ช้างด่างกระดำตัวหนึ่ง  จึ่งให้ชื่อรัตนาฉัททันต์  ครั้นอยู่มาสมิงทอจึงให้ราชสาส์นไปถึงพระเจ้าหงส์ดำ  อันเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่นั้นก็กลัวบุญญาอานุภาพสมิงทอ  จึงยกลูกสาวอันชื่อนางเทพลิลานั้นให้เป็นเมียสมิงทอ  สมิงทอจึงตั้งนางเทพลิลาอันเป็นลูกสาวพระเจ้าเชียงใหม่นั้นให้เป็นที่มเหสี  อันนางกุ้งลูกสาวพระยากรมช้างนั้นให้เป็นที่มเหสีขวา  อันสมิงทอนั้นรักใคร่ลุ่มหลงไปแต่ฝ่ายนางเทพลิลามิได้ทำนุบำรุงนางกุ้งที่เป็นมเหสีขวา  ฝ่ายพระยากรมช้างผู้เป็นพ่อตานั้นก็น้อยใจว่าสมิงทอนี้ไม่รักใคร่ลูกสาว  จึงคิดอ่านทำการทั้งปวง  ครั้นอยู่มาพระยากรมช้างจึงบอกข่าวช้างเผือกว่า  มีช้างเผือกผู้ตัวหนึ่งอยู่ในป่าแดนเมืองตองอู  มีรูปอันงามยิ่งนัก  สมิงทอครั้นแจ้งข่าวช้างเผือกจึ่งยกทัพไปตามช้างเผือกที่ในป่า  ครั้นสมิงทอไปตามช้างเผือก  พระยากรมช้างจึงซ่องสุมผู้คนแล้วจึ่งปิดประตูเมืองให้ขึ้นหน้าที่เชิงเทินจึ่งเกณฑ์ทัพแล้วยกไปรบพุ่งสมิงทอ  สมิงทอนั้นสู้รบต้านทานพระยากรมช้างมิได้  จึงพาเอานางเทพลิลาผู้เป็นมเหสีนั้นไปส่งเสียเชียงใหม่  แล้วจึ่งยกทัพกลับมาสู้รบกันกับพระยากรมช้าง  สมิงทอรบพุ่งต้านทานพระยากรมช้างมิได้ก็แตกหนี  จึงเข้ามาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

          ครั้นแมงนราจอสูในการให้การดังนั้น  เจ้าพระยาพระหลวงจดหมายเอาคำที่ให้การนั้นเข้าไปทูลฉลองกับพระบรมราชา  ครั้นทราบจึงตรัสว่า  อ้ายสมิงทอนี้มันเป็นชาติกวย  เมื่อครั้งมันได้นั่งเมืองหงสานั้น มันให้มาขอลูกสาวเรา  ใจมันกำเริบ  มันไม่คิดถึงตัวมันว่าใช่เชื้อกษัตริย์  มันจองหองมาขอลูกสาวเรา  จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เอาตัวใส่คุกไว้  แล้วให้จำจองตัวมันไว้  เจ้าพระยากรมท่าจึงเอาตัวสมิงทอนั้นมาใส่คุกไว้  แล้วจำจองไว้ตามรับสั่ง  อันสมิงทอนั้นเป็นคนดีมีความรู้ฝ่ายข้างวิปัสสนาธุระแผ่เมตตาดีนัก  ผลที่สมิงทอแผ่เมตตานั้น  อันผู้คุมและนายคุกก็มีเมตตาแล้วมิได้จำจอง  ก็ลดลาไว้ให้อยู่ดี ๆ  แล้วเลี้ยงดูให้กินอยู่ก็บริบูรณ์มิได้ลำบากยากใจ  ครั้นกิตติศัพท์นั้นรู้ไปถึงเจ้ากรมหมื่นจิตรสุนทรผู้เป็นราชบุตร  ว่าสมิงทอนี้เป็นคนดีมีวิชาความรู้ดียิ่งนัก  จึงมาเรียนความรู้แล้วจึงทำนุบำรุงเลี้ยงดูให้กินอยู่มิให้อนาทรร้อนใจ  แล้วจึ่งทูลเบี่ยงบ่ายแก้ไขให้สมิงทอได้ออกจากคุก  ครั้นอยู่มาพระยากรมช้างซึ่งเป็นเจ้าเมืองหงสาวดีรู้ไปว่า  สมิงทอหนีเข้าไปอยู่ในเมืองกรุงศรีอยุธยา  จึ่งให้เสนาถือหนังสือเข้ามากราบทูลกับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาว่า  อย่าให้กรุงศรีอยุธยารับตัวสมิงทอไว้  มันเป็นคนไม่ตรง  อกตัญญู  ให้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาส่งตัวมันมาจะฆ่ามันเสีย  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็มิได้ส่งตัวสมิงทอไป  จึงฝากสำเภาจีนส่งไปเสียเมืองจีนเมื่อครั้งจุลศักราช ๑๑๑๘ (พ.ศ. ๒๒๙๙) ปีชวด  อัฐศก  เมื่อพระบรมราชาใกล้สวรรคต  ส่วนสำเภาจีนรับเอาตัวสมิงทอไปสำเภาแล้ว  จึงปล่อยเสียกลางทาง  แล้วสมิงทอจึ่งตรงไปเข้าแดนเมืองเชียงใหม่  ไปหานางเทพลิลาอันเป็นลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นบิดา  แล้วจึงให้ทูลขอกองทัพจักไปรบเมืองหงสา  พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็มิได้เกณฑ์ทัพตามใจนางเทพลิลาทูลขอ  ครั้นสมิงทอให้นางเทพลิลาทูลขอกองทัพไม่ได้ดั่งใจ  จึงลักเอานางเทพลิลาได้แล้วก็พาหนีจากเมืองเชียงใหม่  กับผู้คนสมกำลังเป็นอันมาก  ครั้นมาถึงกลางทางจึงพบมางลอง (อลองพญา) ยกทัพออกไปรบเมืองหงสา  มางลองจึงจับเอาตัวสมิงทอได้แล้วก็ส่งขึ้นไปเมืองอังวะ  ครั้นมางลองได้เมืองหงสาแล้ว  มางลองจึงยกทัพมารบกรุงไทย  เมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๑๒๒  ปีมะโรง  โทศก (พ.ศ.๒๓๐๓)”

          ทั้งขุนหลวงหาวัด  และ ดร.หม่อง ทินอ่อง  กล่าวถึงพระเจ้าช้างลาย  หรือ  สมิงทอ  พาดพิงถึงเชียงใหม่  ดังนั้นจึงต้องตามไปดูความในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์  ว่าในตำนานเชียงใหม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้บ้างหรือไม่  ก็พบความสั้น ๆ กล่าวไว้ว่าดังนี้

           “ลุศักราช ๑๑๐๗ ปีฉลู  สัปตศก  สมิงทอได้นั่งเมืองหงสาวดีมีราชสาส์นมาขอนางอิ้งทิพ  ธิดาเจ้าเจ้าองค์คำผู้ครองเมืองนครเชียงใหม่  เจ้าองค์คำก็ส่งราชธิดาไปกรุงหงสาวดี  ครั้นถึงศักราช ๑๑๐๘  ปีขาล  อัฐศก  สมิงทอเสียเมืองหงสาวดี  จึงพานางอิ้งทิพกลับมาส่งคืนเจ้าองค์คำผู้บิดาเมืองเชียงใหม่  แล้วสมิงทอกลับไปตีกรุงหงสาวดีคืนมิได้  ก็หนีไปกรุงศรีอยุธยา”

          จึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่าเรื่องของสมิงทอเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง  แม้ในพระราชพงศาวดารสยามเล่ม ๒ ก็มีกล่าวถึงเรื่องนี้  ในแต่ละแห่งจะผิดเพียนกันไปบ้าง  เช่นชื่อสมิงทอ  ทางอยุธยาและล้านนาตรงกัน  แต่ทางพม่าเรียกว่า  พระเจ้าช้างลาย  นามพระธิดาพระเจ้าเชียงใหม่  ขุนหลวงหาวัดเรียกว่านางเทพลิลา  ทางล้านนาเรียกนางอิ้งทิพ  ส่วนปีศักราชนั้น ทางอยุธยาเชื่อถือได้  แต่ทางล้านนาคลาดเคลื่อนไปมาก  จากเรื่องในตำนานเชียงใหม่ทำให้ทราบได้ว่า  สมิงทอมิใช่แต่จะส่งสาส์นไปขอพระราชธิดาพระเจ้ามหาธรรมราชาเท่านั้น  เขายังส่งสาส์นไปขอธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ด้วยพระเจ้าเชียงใหม่องค์นี้ขุนหลวงหาวัดเรียกว่า  พระเจ้าหงส์ดำ  แต่ตำนานเชียงใหม่เรียกว่า  เจ้าองค์คำ  และยังได้บอกเล่าที่มาของพระเจ้าองค์คำไว้ด้วยว่า  เนื่องมาจากในปีจุลศักราช ๑๐๘๙  ชาวเชียงใหม่คิดขบถต่อพม่าจึงรวบรวมกำลังขึ้นโดยมี  เทพสิงห์  ชาวเมืองยวมเป็นหัวหน้า  เทพสิงห์ขึ้นนั่งเมืองอยู่ได้ไม่นานก็มีหนังสือประกาศให้จับพม่ารามัญในตำบลต่าง ๆ ฆ่าเสียให้สิ้น  บรรดาพม่ารามัญทั้งหลายจึงรวมตัวกันได้ ๓๐๐ คน  คบคิดกับเจ้าองค์นกเชื้อสายเจ้าลาวล้านช้างซึ่งมาบวชเป็นภิกษุอยู่ ณ วัดบุปผาราม  เมืองเชียงใหม่  เจ้าองค์นกลาสิกขาออกมาร่วมกองกำลังเข้ายึดเมืองเชียงใหม่  เทพสิงห์สู้ไม่ได้ก็หนีไปทางเมืองน่าน  เมื่อยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้วกองกำลังนั้นก็ยกเจ้าองค์นกขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่  ถวายพระนามว่า  เจ้าองค์คำ  ในพงศาวดารล้านช้างกล่าวว่าเจ้าองค์นกเป็นบุตรเจ้าอินทกุมาร  เป็นเชื้อเจ้าลื้อเมืองศรีฟ้า  ภายหลังไปร่วมคิดด้วยเจ้าองค์เอก  เจ้าอินทโฉม  เพื่อจะทำการขบถต่อเจ้ากิงกิจพระเจ้าร่มขาวเมืองหลวงพระบาง  ทำการมิสำเร็จจึงหนีไปเมืองพาน  แล้วเลยไปบวชอยู่เมืองเชียงใหม่  และสึกออกมายึดครองเชียงใหม่  ได้เป็นพระเจ้าองค์คำในที่สุด  ตำนานเชียงใหม่ไม่กล่าวถึงสมิงทอว่าเมื่อพ้นโทษจากกรุงศรีอยุธยาแล้วกลับไปขอกำลังจากเชียงใหม่ไปตีหงสาวดี  แสดงว่าทางล้านนาไม่ได้ให้ความสำคัญกับสมิงทอมากนัก

          ชาวกรุงเก่าไม่ได้บอกปีศักราชที่พระเจ้ามหาธรรมราชาสวรรคต  แต่ขุนหลวงหาวัดระบุวันเดือนปีสวรรคตของพระองค์ไว้ชัดเจน  นั่นคือจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขาล  สัมฤทธิศก  เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ  วันพุธ  เพลาได้ยามเศษ  ครั้งได้ราชสมบัติปีจุลศักราช ๑๐๙๓  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๔  นั้นมีพระชนมายุได้ ๕๑ พรรษา  ครองราชย์อยู่ ๒๗ ปี  ถึงปีจุลศักราช ๑๑๒๐ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๐๑   จึงเสด็จสวรรคต  สิริพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา  และเมื่อสวรรคตแล้วจึงได้รับการถวายพระนามว่า  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสืบมา.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มีนาคม, 2562, 10:17:00 PM
(https://i.ibb.co/28tsRm7/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- เรื่องราวเจ้าฟ้ากุ้ง -

“เจ้าฟ้ากุ้ง”มหาอุปราช
ทรงเป็นปราชญ์งานกวีมีเปิดเผย
โคลงห่อกาพย์กาพย์ห่อโคลงคำคุ้นเคย
น่าชมเชยลิลิพระมาลัย

บท “เห่เรือ”ไพเราะไม่เคยมี
“เห่กากี”เลิศล้ำค่าคำไข
นิราศธารโศกธารทองแดงทางไกล
ประทับใจผู้อ่านยาวนานมา....


          อภิปราย ขยายความ .....................

          ย้อนกลับมายังเรื่องราวของเจ้าฟ้านราธิเบศร์ (ที่พระมหาธรรมราชาแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราช) ที่เคยติดไว้ก่อนหน้านี้  ซึ่งคนไทยในปัจจุบันเรียกนามพระองค์ว่า  เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  หรือเจ้าฟ้ากุ้ง  นักกวียอดเยี่ยมในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ขุนหลวงหาวัดผู้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดามิได้ให้การรายละเอียดของพระองค์ไว้  แต่มีเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ในพงศาวดารและตำนานอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้  เพราะมีพยานหลักฐานที่สำคัญคือ  พระนิพนธ์อย่างน้อย ๗ เรื่อง  ได้แก่  บทเห่เรือ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6535.msg22446#msg22446) ๔ บท    บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6535.msg22467#msg22467)    บทเห่สังวาส และเห่ครวญ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6535.msg22468#msg22468)  อย่างละบท   กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก   กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง   ลิลิตนันโทปนันทสูตรคำหลวง   ลิลิตพระมาลัยคำหลวง  และ เพลงยาว คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=8705.msg31664#msg31664)  เป็นต้น

          เฉพาะกาพย์เห่เรือ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6535.msg22446#msg22446)นั้น  ถือเป็นต้นแบบในการเห่เรือขบวนเสด็จพระยุหยาตราทางชลมารคสืบมาจนทุกวันนี้  พระราชประวัติของพระองค์นั้น  นายธนิต อยู่โพธิ์  อธิบดีกรมศิลปากร (ในขณะเรียบเรียงเรื่อง) ได้รวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวของพระองค์ไว้ว่า

           “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ไชยเชษฐสุริยวงศ์  มีพระนามเดิมเรียกกันเป็นสามัญว่า  เจ้าฟ้ากุ้ง  เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พระมหาธรรมราชา)  และสมเด็จพระพันวัสสาใหญ่ซึ่งโปรดให้สถาปนาเป็นกรมหลวงอภัยนุชิตเป็นพระมารดา  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงมีพระภคินีร่วมพระชนนีอีก ๖ พระองค์  คือเจ้าฟ้าหญิงบรม (กรมขุนเสนีนุรักษ์) ๑   เจ้าฟ้าหญิงธิดา ๑   เจ้าฟ้าหญิงรัศมี ๑   เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์ ๑  เจ้าฟ้าหญิงสุริยา ๑   เจ้าฟ้าหญิงนุ่ม หรืออินทสุดาวดี ๑   และทรงมีพระเจ้าน้องยาและน้องนางต่างพระชนนีอีกหลายพระองค์  เมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้เสวยราชย์แล้ว  โปรดให้สถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมมีพระนามว่า  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ไชยเชษฐสุริยวงศ์ กรมขุนเสนาพิทักษ์  เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๖“

          ชาวกรุงเก่าให้การว่าปี ปีจุลศักราช ๑๐๙๕  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๖ นั้น  เป็นปีที่พระมหาอุปราชทิวงคต  ไม่ใช่ปีที่พระองค์ได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรมที่กรมขุนเสนาพิทักษ์  ตามความที่นายธนิต อยู่โพธิ์ ระบุข้างต้น  ดังนั้นตัวเลขศักราชในพงศาวดารกับคำให้การชาวกรุงเก่าจึงค้านกัน  และพระนามที่คนไทยปัจจุบันมักเรียกพระองค์ว่า  เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ  นั้นก็น่าจะผิดพลาด  เพราะพระนามในบทกวีของพระองค์ตามที่นายธนิต อยู่โพธิ์  คัดลอกมาแสดงนั้น  ต้องอ่านออกเสียงว่า  “เจ้าฟ้าทำมะทิเบด  ไม่ใช่  เจ้าฟ้าทำมาทิเบด  แต่ขุนหลวงหาวัดพระอนุชาต่างพระมารดาของพระมหาอุปราชเรียกพระนามเดิมตรงกันกับชาวกรุงเก่าว่า  เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์  ซึ่งแปลได้ว่า  “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน”  เป็นคนละความหมายของ  “ธรรมธิเบศ”  ซึ่งอาจแปลได้ว่า  “เป็นใหญ่ในธรรม” (หรือ ถือธรรมเป็นใหญ่)  แต่เมื่อพระนาม  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ไชยเชษฐสุริยวงศ์  ปรากฏชัดเจนอยู่ในบทกวีของพระองค์  จึงเป็นที่ยุติได้ว่าพระนามเดิมของพระองค์ คือ  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  ไม่ใช่ธรรมาธิเบศ  ตามที่ผู้อยู่ในแวดวงกวีไทยปัจจุบันเรียกกัน

          เรื่องราวของเจ้าฟ้ามหากวีผู้นี้  นายธนิต อยู่โพธิ์  ได้ค้นว้ารวบรวมมาเรียบเรียงไว้โดยพิสดารและตื่นเต้นเร้าใจ  ในที่นี้จะขอนำเฉพาะที่เป็นเนื้อหาใจความสำคัญมาแสดงให้ทราบพอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้


           “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  ทรงเป็นกวีเอกองค์หนึ่งของไทย  ทรงนิพนธ์บทร้อยกรองประเภท  โคลงห่อกาพย์  และกาพย์ห่อโคลงที่ไพเราะไว้หลายเรื่อง  เฉพาะโคลงห่อกาพย์ยานีชื่อ  บทเห่เรือ ๔ บท  ของพระองค์นั้น  ถือเป็นฉบับครูที่คนไทยนิยมชมชอบมากที่สุด  ในบทแรกชื่อเห่ชมเรือกระบวรความว่า

                         “ปางเสด็จประเวศด้าว         ชลาไลย
                    ทรงรัตนพิมานชัย                      กิ่งแก้ว
                    พรั่งพร้อมพวกพลไกร                แหนแห่
                    เรือกระบวรต้นแพร้ว                  เพริศพริ้งพายทองฯ

                    พระเสด็จโดยแดนชล                ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
                    กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย             พายอ่อนหยับจับงามงอนฯ”

ส่วนกาพย์ห่อโคลงนั้นทรงนิพนธ์เป็นนิราศ  เช่นบทเริ่มต้นในนิราศธารโศกว่า

                     “สองชมสองสมพาส                 สองสุดสวาทสองเรียงสอง
                    สองกรสองตระกอง                   สองคลึงเคล้าเฝ้าชมกันฯ

                        สองชมสมพาสสร้อย              ศรีสมร
                    สองสมพาสสองเสมอนอน          ครุ่นเคล้า
                    สองกรก่ายสองกร                       รีบรอบ
                    สองนิทร์สองเสน่ห์หน้า               แนบน้องชมเชยฯ”

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงมีเจ้าฟ้าชาย  “ลูกพี่ลูกน้อง”  ที่สำคัญอยู่พระองค์หนึ่ง  คือเจ้าฟ้านเรนทร์  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  พระโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พระมหาธรรมราชา)  เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระเจ้าบรมโกศมาก  พระองค์ออกทรงผนวชเป็นภิกษุโดยไม่ใยดีในฆราวาสวิสัย  ในคราวที่พระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรหนัก  จึงโปรดมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย  พระเจ้าบรมโกศซึ่งดำรงตำแหน่งมหาอุปราชอยู่ในขณะนั้นไม่พอพระทัย  และตรัสว่า  ถ้าโปรดมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าเนรนทร์  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  จึงจะยอมถวาย  ดังนั้นจึงเกิดการรบพุ่งกันกับเจ้าฟ้าอภัยในกาลที่พระเจ้าท้ายสระสวรรคต   และผลจบลงด้วยพระเจ้าบรมโกศชนะ  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระองค์ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์มิได้สนพระทัยในเรื่องอำนาจ  ยังคงครองบรรพชิตเพศ อยู่ที่วัดยอดเกาะ  มิได้ลาผนวช  แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  กลับทรงคิดเห็นไปว่า  กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จะเป็นศัตรูราชสมบัติ  จึงคิดหาทางกำจัดเสียตลอดมา

          ในปี พ.ศ. ๒๒๗๘  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ทรงพระประชวรและประทับอยู่ในพระราชวัง  เจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ได้เสด็จเข้ามาประทับ ณ วัดโคกแสงภายในพระนครศรีอยุธยา  และเสด็จเข้าเยี่ยมพระอาการประชวรอยู่เนือง ๆ  เป็นเหตุให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  เพิ่มความรู้สึกว่ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เป็นศัตรูต่อราชสมบัติของพระองค์มากขึ้น  จึงหาทางกำจัดเสีย  คืนวันหนึ่งได้ใช้ให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด  พระธิดาของพระองค์เอง  ไปทูลลวงเจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จากวัดโคกแสงให้เข้าเยี่ยมพระอาการประชวรของพระเจ้าแผ่นดิน  โดยเจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงพระแสงดาบแอบพระทวารคอยทีอยู่  ครั้นเจ้าฟ้าพระฯ เสด็จผ่านพระทวารเข้ามา  ก็จ้วงฟันด้วยพระแสงดาบนั้น  แต่ฟันไม่เข้า  เพียงจีวรขาดไปเท่านั้น  คงเป็นเพราะเจ้าฟ้าพระ ฯ มีความอยู่ยงคงกระพันกระมัง  แม้จะถูกฟันด้วยพระแสงดาบ  เจ้าฟ้าพระฯ ก็มิได้สะทกสะท้าน  ทรงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระอาการประชวรพระเจ้าแผ่นดินเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทอดพระเนตรเห็นจีวรเจ้าฟ้าพระฯ ขาดไป  จึงตรัสถามว่าเกิดอะไรขึ้นหรือ  เจ้าฟ้าพระฯ ถวายพระพรว่า  ไม่มีอะไรหรอก  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศหยอกล้อเล่นเท่านั้นเอง  พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแก่พระทัยของพระองค์แล้วทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าธรรมธิเบศเป็นอย่างมาก  เมื่อเจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลากลับไปแล้ว  จึงมีพระราชโองการตรัสให้ค้นหาตัวเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  เพื่อจะลงราชอาชญา  แต่ค้นหาตัวในวังไม่พบ  ได้แต่ตัวพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิด  สอบถามได้ความจริงแล้วจึงให้เอาตัวทั้งสองนางไปสำเร็จโทษเสีย  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศนั้นกลัวพระราชอาชญาเป็นอย่างยิ่งจึงเสด็จหนีไปยังพระตำหนักพระชนนี  กรมหลวงอภัยนุชิตทราบเรื่องก็ตกพระทัยเป็นอย่างมาก  จึงรีบเสด็จไปเฝ้าเจ้าฟ้าพระฯ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ไข  เจ้าฟ้าพระฯจึงแนะนำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงผนวชเสีย  พระเจ้าอยู่หัวคงไม่กล้าทำอะไรแก่ผู้ที่อยู่ในสมณะเพศเป็นแน่  กรมหลวงอภัยนุชิตจึงพาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไปทรงผนวช ณ วัดโคกแสง  เมื่อผนวชแล้วได้ฉายาว่า  “สิริปาโล”  ผ้ากาสาวพัสตร์จึงช่วยให้รอดพ้นจากพระราชอาชญาไปได้

          ในขณะบวชอยู่ที่วัดโคกแสงนี้  เจ้าฟ้าพระธรรมธิเบศ สิริปาโล  ได้ทรงนิพนธ์วรรณคดีทางพระพุทธศาสนาขึ้น ๒ เรื่อง  คือ  ในปี พ.ศ. ๒๒๗๙  นิพนธ์นันโทปนันทสูตรคำหลวง เรื่อง ๑   พ.ศ. ๒๒๘๐ นิพนธ์มาลัยสูตรคำหลวง อีกเรื่อง ๑   และในปลายปี ๒๒๘๐ นั้น  กรมหลวงอภัยนุชิตทรงประชวรอย่างหนัก  จึงกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวขออภัยโทษให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดพระราชทานตามที่ขอ  พร้อมกันนั้นกรมหลวงอภัยนุชิตก็สิ้นพระชนม์ลง  เจ้าฟ้าพระธรรมธิเบศเมื่อทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษให้แล้วก็ทรงลาผนวชเสด็จเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหมือนอย่างกาลก่อน

          อีก ๔ ปี ต่อมา  คือใน พ.ศ. ๒๒๘๔ พระราชโกษา (ปาน)  ได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงตรัสให้ประชุมเสนาบดี  เมื่อที่ประชุมปรึกษาเห็นชอบแล้วจึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษก  สถาปนาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กรมขุนเสนาพิทักษ์  ดำรงตำแหน่งมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  และโปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้าหญิงนุ่ม  หรืออินทสุดาวดี พระราชธิดาองค์เล็ก  ซึ่งเป็นกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรฯ  เป็นกรมขุนยิสารเสนี หรือพิศาลเสนี  พระราชทานให้เป็นอัครมเหสีของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

          หลังจากที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว  เจ้าฟ้านักกวีทรงเป็นแม่กองอำนวยการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชฌ์  และทรงควบคุมงานต่อพระเศียรพระมงคลบพิตร  พร้อมกับรื้อมณฑปที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตรก่อใหม่  โดยแปลงเป็นพระวิหาร  และยังอำนวยการซ่อมพระที่นั่งวิหารสมเด็จอีกด้วย

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มีนาคม, 2562, 10:31:18 PM
(https://i.ibb.co/gFvBPRG/01-300.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- พญาครุฑกับกากีอยุธยา -

          “ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ                  ไชยเชษฐสุริยวงทรง
          นางรักนักสนมองค์                  อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ               รพิพงศ์
          ไชยเชษฐสุริยวงศ์ทรง              เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์                   อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า                    เฟ่าพร้อมบริบูรณ์”
                                                                     [กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก]
                                                                      (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ)

  

          อภิปราย ขยายความ...................

          นายธนิต อยู่โพธิ์  ผู้ค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียงประวัติเจ้าฟ้ามหากวีพระองค์นี้ระบุไว้ว่า  นอกจากทรงมีกรมขุนยิสารเสนีเป็นพระอัครมเหสีอยู่แล้ว  กรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ) ยังมีพระชายาและเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกจำนวนมาก  มีรายนามเท่าที่สอบค้นได้ดังนี้

          ๑. เจ้าฟ้าหญิงเส  มีพระธิดาทรงนาม  เจ้าฟ้าศรี
          ๒. หม่อมพัน  มีพระโอรสนามพระองค์เจ้าอาทิตย์  ได้เป็นกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศ
          ๓. หม่อมเหมหรือเหญก  สันนิษฐานว่ามีพระธิดานามว่าพระองค์เจ้าฉายหรือฉัตร  หรือ  เกิด  อันเป็นพระองค์เดียวกันกับที่ใช้ไปลวงนิมนต์เจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  แล้วถูกลงพระราชอาชญาสิ้นชีวิต
          ๔. หม่อมเจ้าหญิงสวย  มีพระธิดา ๓ องค์  คือพระองค์เจ้าหญิงมิตร  พระองค์เจ้าหญิงทับ  พระองค์เจ้าหญิงชื่น  พระองค์เจ้าหญิงมิตรนั้น เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลี้ยงเป็นหม่อมห้าม  และพระราชทานนามใหม่ว่า  เจ้าปทุม  ส่วนพระองค์หญิงชื่น  คือองค์ที่ใช้ให้ไปลวงเจ้าฟ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์  แล้วถูกลงพระราชอาชญาสิ้นชีวิต
          ๕. หม่อมจัน  มีพระโอรสคือ  พระองค์เจ้าชายศรีสังข์
          ๖. หม่อมสรวย  หรือ  สร้อย  มีพระธิดา  คือ  พระองค์เจ้าหญิงตา  หรือ  ดารา
          ๗. หม่อมทองแดง  มีพระโอรส  คือพระองค์เจ้าชายแม้น
          ๘. หม่อมสุ่น  มีพระธิดาคือพระองค์เจ้าหญิงชี  และ  พระองค์เจ้าหญิงชาติ
          ๙. หม่อมต่วน  มีพระโอรส  คือ  พระองค์เจ้าชายมิ่ง

          นอกนี้ยังมี  “นางรักนักสนม”  อีกหลายคน  นับได้ว่าทรงเป็นนักรักที่ลือชื่อพระองค์หนึ่ง  ดังกาพย์ห่อโคลงที่พระองค์นิพนธ์ไว้ยืนยันได้ว่าดังนี้

          “ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ                  ไชยเชษฐสุริยวงทรง
          นางรักนักสนมองค์                  อ่าห้อมล้อมพร้อมบริบูรณ์

          เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเชื้อ               รพิพงศ์
          ไชยเชษฐสุริยวงศ์ทรง              เลิศหล้า
          นางรักนักสนมองค์                   อภิชาติ
          คับคั่งนั่งเรียงหน้า                    เฟ่าพร้อมบริบูรณ์”

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๙๘  เจ้าฟ้านักรักนักกวีทรงพระประชวรด้วยคุตทะราด (บางท่านว่าเป็นโรคบุรุษบ้าง  โรคเรื้อนบ้าง)  วันหนึ่งมีพระบัณฑูรให้ตำรวจไปเอาตัวเจ้ากรม  ปลัดกรม  นายเวร  ปลัดเวร  ในกรมหมื่นจิตรสุนทร  กรมหมื่นสุนทรเทพ  และกรมหมื่นเสพภักดี  มาถามว่าเจ้ากรมเป็นแต่หมื่น  ตั้งกันในกรมขึ้นเป็นขุน  ทำสูงกว่าศักดิ์  ให้ลงพระอาญาโบยหลังคนละ ๑๕ ที  บ้าง ๒๐ ทีบ้าง  กรมหมื่นทั้งสามพระองค์นั้นเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของกรมพระราชวังบวรฯ  เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ กระทำการดังนั้นจึงพากันผูกอาฆาต  ครั้นได้โอกาส  กรมหมื่นสุนทรเทพจึงกราบบังคมทูลเป็นความลับให้พระเจ้าอยู่หัวทราบว่า  กรมพระราชวังบวรฯ ลอบเสด็จเข้าไปเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง

          เจ้าฟ้าสังวาลย์พระองค์นี้เป็นพระมเหสีอีกองค์หนึ่งในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ทรงมีพระราชโอรสราชธิดากับพระเจ้าบรมโกศ ๔ พระองค์  คือ  เจ้าฟ้ากุณฑล ๑   เจ้าฟ้าอาภรณ์ ๑   เจ้าฟ้ามงกุฎ ๑   เจ้าสังคีต ๑   ว่ากันว่าการลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์นี้  มีพระนิพนธ์บทเห่กากีเป็นพยานหลักฐานสำคัญ  ดังเช่นบทที่ว่า

               "พี่ประมาทอาจหาญนัก        เพราะจงรักเจ้าสายสมร
          เท่าฟ้าแผ่นดินดอน                    ห่อนกลัวเวรเพราะหวังใจ
               ขอฝากไมตรีจิต                     กว่าชีวิตจะตักไษย
          ว่าพลางทางคว้าไขว่                   สัพยอกเย้าหยอกนางฯ"

          ในบทพระนิพนธ์นี้ทรงสมมติตัวพระองค์เป็นพญาครุฑ  เจ้าฟ้าสังวาลเป็นกากี

          พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทราบคำกราบทูลเป็นความลับนั้นก็ทรงพระพิโรธสุดขีด  มีพระราชโองการให้ชำระคดีโดยด่วน  เจ้าฟ้าสังวาย์ทรงรับเป็นความสัตย์  จึงให้เจ้าฟ้าหญิงธิดา  และเจ้าฟ้าหญิงสุริยวงศ์  ไปเชิญกรมพระราชวังบวรฯ ลงมาเฝ้า  เจ้าฟ้าทั้งสองกราบทูลว่า  เป็นอริกันอยู่  จึงไม่อาจไปเชิญเสด็จได้  จึงดำรัสสั่งเจ้าจอมจันทน์ให้ขึ้นไปทูลเชิญกรมพระราชวังบวรฯ  เมื่อเสด็จมาถึงแล้วจึงตรัสสั่งให้พระมหาเทพลงพระราชอาชญาจำห้าประการ  และให้มีกระทู้ซักถามตามคำฟ้อง  กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงรับเป็นสัตย์ตลอดข้อหาด้วยจำนนต่อประจักษ์พยานคือเจ้าฟ้าสังวาลย์ที่ทรงยอมรับตลอดข้อหาแล้ว

          สมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศจึงมีพระราชดำรัสให้เฆี่ยนกรมพระราชวังบวรฯ จนกว่าจะครบสองร้อยสามสิบที  แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาว่าควรจะพิพากษาโทษเป็นประการใด  เสนาบดีและลูกขุนปรึกษากันแล้วจึงกราบทูลว่า  โทษกรมพระราชวังบวรฯ เป็นมหันตโทษถึงประหารชีวิตเป็นหลายข้อ  จะขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี  จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้  แต่ให้นาบพระนลาฏ  ถอดเสียจากเจ้าเป็นไพร่  และให้เฆี่ยนอีกสี่ยก  เป็นร้อยแปดสิบทีก็ดับสูญสิ้นพระชนม์  ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลย์นั้น  ทรงให้เฆี่ยนหนึ่งยก  สามสิบที  ให้ถอดเป็นไพร่ไว้กว่าจะตาย  แต่พระนางทนบาดเจ็บไม่ไหวอยู่ต่อมาได้เพียงสามวันก็สิ้นพระชนม์

          นายธนิต อยู่โพธิ์  สันนิษฐานว่า  กรมพระราชวังบวรฯ กับเจ้าฟ้าสังวาลย์คงจะสิ้นพระชนม์ในเวลาใกล้เคียงกันระหว่างวันแรม ๒ ค่ำ ถึงวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๙ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๑๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๙๘   เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  จึงโปรดให้เอาศพทั้งสองไปฝังไว้รวมกัน ณ วัดไชยวัฒนาราม

          ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า  ชาวกรุงเก่าให้การว่า  เจ้าฟ้านราธิเบศร์  หรือธรรมธิเบศ  สวรรคตในปีจุลศักราช ๑๐๙๕  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๖  แต่นายธนิต อยู่โพธิ์  อดีตอธิบดีกรมศิลปากรค้นคว้าได้มาว่า ปี พ.ศ. ๒๒๗๖ นั้น  เป็นปีที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าต่างกรมที่ กรมขุนเสนาพิทักษ์  แล้วมาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๒๙๘  วันสิ้นพระชนม์ของพระองค์จึงห่างกันถึง ๒๒ ปี  ตัวเลขศักราชปีที่เจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงกรมและสิ้นพระชนม์ยาวนานถึง ๒๒ ปีนี้  ไม่น่าจะเป็นไปได้  ดูในทำเนียบพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองกรุงศรีอยุธยาจากตำนานกรุงเก่าในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓  ปรากฏว่าพระเจ้าบรมโกศครองราชย์เมื่อปีจุลศักราช ๑๐๙๕  ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๗๖  อยู่ในราชสมบัติ ๒๖ ปี  สวรรคตปีจุลศักราช ๑๑๒๐  ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๐๑  จากนั้นอีก ๙ ปี  ก็สิ้นสุดอยุธยา  ถ้าถือเอาตามที่นายธนิต อยู่โพธิ์  ค้นคว้ามาได้ว่า  เจ้าฟ้ากุ้งสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๘  ก็เป็นเวลาก่อนที่พระเจ้าบรมโกศสวรรคตเพียง ๓ ปีเท่านั้น  ดังนั้น  ปีสิ้นพระชนม์ของเจ้านักรักนักกวีพระองค์นี้จึงยังหาข้อยุติที่แน่นอนไม่ได้

          เป็นเรื่องแปลกที่ว่า  เรื่องราวของเจ้าฟ้านราธิเบศร์  หรือ  ธรรมธิเบศ  ตามที่นายธนิต อยู่โพธิ์  ค้นคว้าได้มาจากพระราชพงศาวดารและตำนานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วนั้น  ไม่น่าจะเป็นเรื่องไร้สาระ  เพราะมีหลักฐานพยานประกอบอย่างน่าเชื่อได้มากที่สุด  แต่ทำไม่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าจึงไม่ยอมนำเรื่องราวของพระองค์ไปใส่ไว้ในคำให้การแก่พระเจ้าอังวะ ?

          คงเป็นเพราะว่าเรื่องเจ้าฟ้านักรักนักกวีผู้นี้เป็นเรื่องอันอัปยศอดสูที่เกิดขึ้นในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  ไม่ควรเปิดเผยให้แก่บุคคลภายนอกประเทศได้รับรู้  ทั้งขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าผู้ตกเป็นเชลยของพระเจ้าอังวะ (อลองพญา)  จึงไม่ยอมนำเรื่องนี้ไปเปิดเผยในคำให้การ  เพื่อเป็นการรักษาเกียรติประวัติอันดีงามของราชสำนักกรุงศรีอยุธยาไว้นั่นเอง

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มีนาคม, 2562, 10:13:27 PM
(https://i.ibb.co/5Y1McC5/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- พระอุทุมพรราชา -

พระบรมราชาสวรรคต
พระโอรสองค์เล็กไร้ปัญหา
ขึ้นครองราชย์สิทธิแทนบิดา
“อุทุมพรราชา”ผู้อารี.....


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานได้  “แลหลังอยุธยา”  ถึงเรื่องราวของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ  พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ทรงเป็นนักปราชญ์และนักกวีเอก  หลังได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชแล้ว  ทรงประพฤติผิดพระราชประเพณีอย่างร้ายแรงที่สุด  ถูกโบยจนสิ้นพระชนม์  วันนี้มาดูเรื่องราวตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดกันต่อไป

          พระเจ้ามหาธรรมราชา  พระนามตามคำให้การชาวกรุงเก่า  พระบรมราชา  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัด  เสด็จสวรรคตแล้วได้รับการถวายพระนามว่า  พระเจ้าบรมโกศ  เหตุการณ์หลังจากที่พระองค์สวรรคต ในพระราชพงศาวดาร  พงศาวดาร  และตำนานใด ๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้  เป็นคำกล่าวที่เกิดจากความรู้ของผู้ที่มิได้อยู่ในเหตุการณ์  ดังนั้นเพื่อให้ได้รับรู้เรื่องราวจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดที่สุด  จึงขอนำคำให้การขุนหลวงหาวัด  หรือ  พระอุทุมพรราชา  มาแสดงดังต่อไปนี้

           “เมื่อจุลศักราชได้ ๑๑๒๐ ปีขาล สัมฤทธิศก วันพุธ เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ (พ.ศ.๒๓๐๑)  พระบรมราชาสวรรคตแล้ว  พระอุทุมพรราชาได้ว่าราชการกรุงทั้งปวง  จึ่งคิดอ่านกับพระเชษฐาธิราช  ที่จะแต่งการพระบรมศพสมเด็จพระบิดา  จึงมีรับสั่งให้เรียกบรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงมาเป็นอันมาก  ฝ่ายพระญาติวงศ์น้อยใหญ่ทั้งสิ้นก็เข้ามาถวายบังคมพร้อมกัน  แล้วพระโองการรับสั่งให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณี ตามอย่างแต่ก่อนมา  บรรดาพระราชตระกูลและเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่เป็นอันมากก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา  ฝ่ายกุมารทั้งสามนั้นคือ  กรมจิตรสุนทร  กรมสุนทรเพท  กรมเสพย์ภักดี  กุมารทั้งสามนั้น  พระโองการให้ไปเรียกก็มิได้มาตามรับสั่ง  ขัดรับสั่งแล้วซ่องสุมผู้คนและศัสตราวุธเป็นอันมาก  มิได้ปรกติตามที่อย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา  ฝ่ายพระสังฆราชนั้นมีเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงกลัวจะเกิดเหตุจะมีอันตรายแก่สัตว์ทั้งปวง  จึ่งไปเรียกกุมารทั้งสามพระองค์มา  ฝ่ายกุมารทั้งสามองค์นั้นก็เข้ามาตามพระสังฆราช  จึ่งเข้าไปกราบพระศพและกราบพระอุทุมพรราชา  แล้วก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณี ตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา  แล้วก็คืนมายังบ้านหลวงอันเป็นที่อยู่แต่ก่อน  ก็มิได้ปกติ  มิได้เลิกทัพที่ซ่องสุมผู้คนและศัสตราวุธครบตัวกันซ่องสุมอยู่เป็นอันมาก  ครั้นคนที่ไปดูนั้นเห็นแล้วจึ่งเอาความมาแจ้งเหตุแก่เสนาบดีผู้ใหญ่  ฝ่ายเสนาบดีผู้ใหญ่จึ่งปรึกษาโทษตามอย่างธรรมเนียมกฎพระอัยการ  ก็เห็นว่าโทษผิดเป็นอันมาก  โทษนี้ถึงตาย  ครั้นปรึกษาพร้อมกันสิ้นแล้วบรรดาเสนาบดีน้อยใหญ่ทั้งปวงจึงใส่ในกฎพระอัยการ  จึงทำเรื่องราวกราบทูลฉลองแก่สมเด็จพระอุทุมพรราชา  ครั้นพระอุทุมพรราชาทรงทราบแล้วจึงมีพระราชโองการ  ตรัสให้ทำตามบทพระอัยการตามโทษ

          ครั้นมีพระโองการตรัสออกมาแล้ว  ฝ่ายเสนาบดีผู้ใหญ่จึงจดหมายพระโองการตามมีรับสั่ง  แล้วจึงให้อำมาตย์ผู้น้อยคุมผู้คนไปเรียกสามกุมาร  ครั้นอำมาตย์ไปเรียกก็ยกผู้คนตามมา  มีศัสตราวุธเป็นอันมาก  ครั้นมาถึงประตูพระราชวังแล้ว  ฝ่ายผู้คนที่รักษาประตูพระราชวังนั้นจึงออกห้ามปรามมิให้ผู้คนทั้งปวงนั้นเข้าไป  บรรดาผู้คนทั้งปวงที่ตามสามกุมารมานั้นก็หยุดอยู่ที่นั้น  มิได้ตามไปในพระราชวัง  ฝ่ายกุมารทั้งสามองค์นั้นก็เข้าไปในพระราชวังทั้งสามองค์  ฝ่ายเสนาบดีทั้งนั้นจึงจับกุมารทั้งสามนั้น  ล้างเสียให้ถึงแก่ความพิราลัย  ตามกฎพระอัยการที่มีมา  ตามอย่างธรรมเนียมมาแต่ก่อน  ตามมีพระโองการรับสั่งมา”

          ชาวกรุงเก่าให้การว่า  สามกุมารนั้นเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระเจ้าอุทุมพร  กรมจิตรสุนทร  ในที่นี้ก็คือ  กรมหมื่นจิตรสุนทร  องค์ที่เข้าไปขอเรียนวิชาอาคมในคุกกับสมิงทอนั่นเอง  ชาวกรุงเก่าว่าพระนามเดิมคือ  เจ้าแขก  กรมหมื่นเพทนั้นพระนามเดิมคือ เจ้ามังคุด  กรมหมื่นเสพย์ภักดีพระนามเดิมคือ  เจ้าพัน  จากคำให้การชาวกรุงเก่านี้เองให้การว่าพระเจ้ามหาธรรมราชาทรงมีพระมเหสี ๓ พระองค์  พระโอรส-ธิดาของพระมเหสีทั้ง ๓ พระองค์นั้นไม่ปรากฏพระนามเจ้าแขก  เจ้ามังคุด  และเจ้าพัน เลย  ดังที่ให้การว่ากรมหมื่นทั้งสามกุมารนี้เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของเจ้าอุทุมพรจึงเป็นไปได้ว่า  ทั้งสามองค์เป็นโอรสนางนักสนมจำนวนมาก  ซึ่งนักสนมเหล่านั้นมีพระโอรส-ธิดารวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์  ทั้งสามกุมารจึงเป็น ๓ ใน ๑๐๘  องค์นั้นนั่นเอง

          เมื่อพระเจ้ามหาธรรมราชาสวรรคต  ชาวกรุงเก่าให้การว่า  “พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงยังไม่ถวายพระเพลิง  เชิญพระโกษฐ์ซึ่งทรงพระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งมหาปราสาท  ซึ่งประดับประดาเปนอันดี  แล้วออกประกาศให้ชนทั่วพระราชอาณาจักรโกนผมไว้ทุกข์  แล้วเชิญพระมหาอุปราช  คือ  พระอุทุมพร  ให้ครองราชสมบัติ  พระมหาอุปราชยังไม่รับ  ด้วยทรงเห็นว่าเจ้าฟ้าเอกทัศผู้เปนพระเชษฐาธิราชยังมีอยู่  จึงเสด็จไปทรงวิงวอนเจ้าฟ้าเอกทัศจะให้ครองราชสมบัติ  เจ้าฟ้าเอกทัศไม่รับ  เมื่อเจ้าฟ้าเอกทัศไม่รับแล้ว  พระมหาอุปราชจึงรับครองราชสมบัติ”  จากนั้นจึงเกิดเรื่องของสามกุมารตามคำให้การขุนหลวงหาวัดดังที่ได้แสดงมาแล้ว

          พระอุทุมพรราชา  เป็นพระราชโอรสพระเจ้ามหาธรรมราชา หรือ พระบรมราชา  อันประสูติแต่กรมหลวงพิจิตรมนตรี  พระมเหสีที่ ๒  จากคำให้การชาวกรุงเก่าปรากฏชัดว่ากรมหลวงอภัยนุชิต  มเหสีที่ ๑  มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว  คือเจ้าฟ้านราธิเบศร์  และมีพระราชธิดา ๖ พระองค์  ส่วนกรมหลวงพิจิตรมนตรี  มีพระราชโอรส ๒ พระองค์  คือ  เจ้าฟ้าเอกทัศ  กับ  เจ้าฟ้าอุทุมพร  และมีพระราชธิดา ๖ พระองค์  อินทสุชาเทวีมเหสีที่ ๓  มีพระราชโอรสพระองค์เดียวคือ  เจ้าฟ้าอัมพร  มีพระราชธิดา ๒ พระองค์

          ขุนหลวงหาวัด  หรือพระเจ้าอุทุมพรราชาให้การว่า  หลังจากขึ้นครองราชย์และกำจัดเสี้ยนศัตรูแล้ว  จึงร่วมคิดกับเจ้าฟ้าเอกทัศพระเชษฐาในการจัดงานถวายเพลิงพระศพพระราชบิดาต่อไป  รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงานพระศพพระเจ้าบรมโกศนั้นขุนหลวงหาวัดได้บรรยายไว้อย่างละเอียดพิสดารน่ารู้มาก  จึงขอนำรายละเอียดมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้

           “………พระองค์จึงมีพระโองการให้มีตราพระราชสีห์ไปทุกประเทศราช  ให้ชุมนุมกษัตริย์ทั้งปวงทุกหัวเมืองขึ้น  บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งสิ้นให้มาปลงพระบรมศพสมเด็จพระบิดา  แล้วจึงเอาน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศ  และน้ำกุหลาบ  น้ำหอมต่าง ๆ เป็นอันมากมา  แล้วพระอุทุมพรราชา  พระเอกทัศ  ทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกันแสงร่ำไร  ด้วยคิดถึงพระคุณสมเด็จพระบิดา  ก็เศร้าโศกร่ำไรทั้งสองพระองค์  พระราชบุตรกับพระธิดาทั้งพระญาติวงศาทั้งปวง  และพระสนมกำนัลทั้งปวงเป็นอันมาก  กับข้าหลวงน้อยใหญ่และราชนิกูลน้อยใหญ่  ประเทศราชทั้งปวง  เศรษฐีคหบดี  ก็พร้อมกันร้องไห้อื้ออึงไปในปราสาท  ด้วยความรักพระบรมราชาทั้งสิ้น  ครั้นสรงน้ำหอมแล้วจึ่งทรงสุคนธรสและกระแจะจวงจันทน์ทั้งปวงแล้ว  ทรงสนับเพลาเชิงงอนทองชั้นใน  แล้วทรงภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอก  แล้วจึ่งทรงเครื่องต้นและเครื่องทรง  แล้วจึ่งฉลองพระองค์อย่างใหญ่กรองทอง  สังเวียนหยักและชายไหวชายแครง  ตาบทิศและตาบหน้าและสังวาลประดับเพชร  จึ่งทรงทองต้นพระกรและปลายพระกรประดับเพชร  แล้วจึงทรงพระมหาชฎาเดินหนมียอดห้ายอด  แล้วจึ่งประดับเพชรอยู่เพลิงทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์และสิบนิ้วพระบาท  แล้วจึ่งเอาไม้ง่ามหุ้มทองนั้นค้ำพระหนุเรียกว่าไม้กาจับหลัก  จึงประนมกรเข้าแล้วเอาซองหมากทองปากประดับใส่ในพระหัตถ์  แล้วเอาพระภูษาเนื้ออ่อนเข้าพันเป็นอันมาก  ครั้นได้ที่แล้วจึงเอาผ้าขาวเนื้อดีสี่เหลี่ยมเข้าห่อ  เรียกว่าผ้าห่อเมี่ยงตามอย่างธรรมเนียมมา  แล้วจึ่งเชิญพระโกศลองใน  ทองหนักสิบสองชั่ง  แล้วจึงใส่ในพระโกศทองใหญ่เป็นเฟืองกลีบจงกลประดับพลอย  มียอดเก้ายอด  เชิงนั้นมีครุฑและสิงห์อัดทองหนักยี่สิบห้าชั่ง  แล้วเชิญพระโกศนั้นขึ้นบนเตียงหุ้มทอง  แล้วจึงเอาเตียงที่รองพระโกศนั้นขึ้นบนแท่นแว่นฟ้า  แล้วจึ่งกั้นราชวัตรตาข่ายปะวะหล่ำแดง  อันทำด้วยแก้ว  มีเครื่องสูงต่าง ๆ  แล้วจึงเชิญพระพุทธรูปมาตั้งที่สูง  จึงตั้งเครื่องราชบริโภคนานา  ตั้งพานพระสุพรรณบัฏ  ถมยาใส่บนพานทองประดับสองชั้น  แล้วตั้งพานพระสำอาง  พระสุพรรณศรี  และพระสุพรรณราช  และพระเต้าครอบทอง  และพระคนทีทอง  และพานทองประดับ  และเครื่องอุปโภคบริโภคนานา  ตั้งเป็นชั้นหลั่นกันตามที่ซ้ายขวา  เป็นอันดับกันมาเป็นอันมาก  แล้วจึงตั้งมยุรฉัตรซ้ายขวา  มียอดหุ้มทองและระบายทองและคันหุ้มทองประดับ  ตั้งแปดคันทั้งแปดทิศ  และมีบังสูรย์และอภิรุม  และบังแทรกจามรทานตะวันและพัดโบก  สารพัดเครื่องสูงนานา  ตั้งซ้ายขวา  เป็นชั้นหลั่นกันมาตามที่ตามทาง  แล้วจึงปูลาดพระสุจหนี่ยี่ภู่  จึ่งตั้งพระแท่นแว่นฟ้าในพระยี่ภู่เข้ามา  แล้วจึ่งปูลาดที่บรรทม  แล้วตั้งพระเขนยกำมะหยี่ปักทองอันงาม  แล้วจึงตั้งฝ่ายซ้ายขวาสำหรับสองพระองค์จะนั่งอยู่ตามที่กษัตราธิบดี  แล้วจึงกะเกณฑ์ให้พระสนมกำนัลทั้งปวงมานั่งห้อมล้อมพระบรมศพ  แล้วก็ร้องไห้เป็นเวลานาทีเป็นอันมาก  แล้วมีนางขับรำเกณฑ์ทำมโหรีกำนัลนารีน้อย ๆ งาม ๆ ดั่งกินนรกินนรีมานั่งห้อมล้อมขับรำทำเพลงอยู่เป็นอันมาก  แล้วจึ่งให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์และมโหรีพิณพาทย์อยู่ทุกเวลา  พระองค์จึงให้ตั้งที่อาสนะพระสงฆ์  แล้วให้ธรรมโฆสิตซึ่งเป็นพนักงานสังฆการีให้นิมนต์สังฆราชเป็นต้นตามตำแหน่งเป็นประธานแก่พระสงฆ์ทั้งนอกกรุงและในกรุง  และบรรดาพระสงฆ์หัวเมืองเป็นอันมาก  เพลาค่ำให้เข้ามาสดับปกรณ์แล้วสวดพระอภิธรรม  ครั้นเวลาเช้าถวายพรพระแล้วฉัน  ครั้นเพลาเพลให้มีเทศนาแล้วถวายไทยทานไตรจีวรและเตียบเครื่องสังเค็ดครบครัน  ทั้งต้นกัลปพฤกษ์อันมีของต่างๆครบครัน  วันหนึ่งเป็นพระสงฆ์ร้อยหนึ่งทุกวันมิได้ขาด  แล้วจึ่งตั้งโรงงานการเล่นมหรสพทั้งปวง  ให้มีโขนหนังละครหุ่นและมอญรำระบำเทพทองทั้งโมงครุ่มผาลาคุลาตีไม้  สารพัดมีงานการเล่นต่าง ๆ นานา  แล้วทั้งสองพระองค์จึ่งแจกเสื้อผ้าเงินทองสารพัดสิ่งของนานาครบครัน  ให้ทานแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวง  ทั้งหญิงชายเด็กน้อยใหญ่เฒ่าแก่ก็แตกกันมารับพระราชทานเป็นอันมาก  พระองค์ก็ให้ด้วยมีน้ำพระทัยศรัทธายินดี  อาณาประชาราษฎรก็ชื่นชมยินดีแล้วยอกรอัญชลีเหนือเกล้าเกศา  ถวายพระพรทั้งสองพระองค์  บ้างก็มาโศกาอาดูรร่ำไรคิดถึงพระบรมราชา  แล้วก็พากันไปดูงานเล่นทั้งปวงอันมีต่าง ๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็พากันรื่นเริงไปทั้งกรุงศรีอยุธยา

          ทั้งสองพระองค์จึ่งมีรับสั่งให้ตั้งพระเมรุทองที่ท้องสนามหลวง  แล้วตั้งพระเมรุใหญ่สูง  แล้วปิดทองประดับกระจกยกเป็นลวดลายต่าง ๆ  แล้วมีเพดานรองสามชั้นเป็นหลั่น ๆ ลงมาตามที่ จึ่งมีพระเมรุใหญ่สูงสุดยอดพระสะเดานั้น ๔๕ วา  ฝานั้นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดง  เขียนเป็นชั้นนาค  ชั้นครุฑ  ชั้นอสูร  และชั้นเทวดา  และชั้นอินทร์ชั้นพรหม  ตามอย่างเขาพระสุเมรุนั้น  มีบันและมุข ๑๑ ชั้น  เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก  ขุนสุเมรุทิพราชเป็นนายช่างอำนวยการ  พระเมรุใหญ่นั้นมีประตู ๔ ทิศ  ตั้งรูปกินนรรูปอสูรทั้ง ๔ ประตู  พระเมรุใหญ่นั้นปิดทองทึบจนเชิงเสา  กลางพระเมรุทองก่อเป็นแท่นรับเชิงตะกอน  อันเสาเชิงตะกอนนั้นก็ปิดทองประดับกระจกเป็นที่ตั้งบรมโกศ  แล้วจึ่งมีเมรุทิศ ๔ เมรุแทรก ๔ เป็น ๘ ทิศ  ปิดทองกระจกเป็นลวดลายต่าง ๆ  แล้วจึงมีรูปเทวดาและรูปวิทยาธรรูปคนธรรพ์  และครุฑกินนร ทั้งรูปคชสีห์ราชสีห์และเหมหงส์  และรูปนรสิงห์และสิงโต  ทั้งรูปมังกรเหรานาคาและรูปทักกะทอ  รูปช้างม้าและเลียงผา  สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่าง ๆ นานาครบครัน  ตั้งรอบพระเมรุเป็นชั้นกันตามที่  แล้วจึงกั้นราชวัติสามชั้น  ราชวัตินั้นก็ปิดทองนากปิดเงิน  แล้วตีเรือกเป็นทางเดินที่สำหรับจะเชิญพระบรมศพมา  ริมทางนั้นจึ่งตั้งต้นไม้กระถางอันมีดอกต่าง ๆ  แล้วประดับประดาด้วยฉัตรแลธงงามไสว  ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าในพระราชวังฯ

          พระราชพิธีการพระศพพระมหาธรรมราชา หรือพระบรมราชา คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ ๓๑  ขุนหลวงหาวัดหรือพระอุทุมพรราชาได้ให้รายละเอียดไว้เป็นแบบอย่างในการจัดการพระศพและพิธีพระราชทานเพลิงพระศพดีมาก  วันนี้ให้ทราบแต่การสร้างพระเมรุฯ ก่อน  รายละเอียดในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลยังมีประเด็นน่ารู้อีกมาก  จะนำมาแสดงในตอนต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ้นขี้ผึ้งไทย
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มีนาคม, 2562, 10:27:50 PM
(https://i.ibb.co/PmQtBMQ/Picture10.jpg) (https://imgbb.com/)

- ถวายเพลิงพระศพบรมโกศ -

กาลนั้น “สมเด็จพระพันวรรษา”
สวรรคาลัยลับโลกอับศรี
พระโอรสจัดศพทบพิธี
ประชาชีร่วมงานกันมากมาย.....


          อภิปรายขยายความ..........................

          พักการ  “แลหลังอยุธยา”  ไว้หลายวัน  วันนี้กลับมาว่ากันต่อจากที่แล้ว  ซึ่งขุนหลวงหาวัดได้บอกเล่ารายละเอียดในการจัดสร้างพระเมรุมาศและจัดการพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมโกศโดยละเอียด  ความต่อจากที่ยกมาแสดงแล้วนั้นมีดังนี้

           “ฝ่ายข้างสมเด็จพระพันวรรษาใหญ่นั้นก็ประชวรหนักลง  เสด็จสู่สวรรคาลัยไปเป็นสองพระองค์ด้วยกัน  พระเอกทัศและพระอุทุมพรราชาทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกันแสงพิลาปร่ำไรถึงสมเด็จพระชนนีและพระบิดา  ทั้งพระราชบุตรและพระราชธิดาทั้งพระญาติวงศาทั้งปวง  และพระสนมกำนัลสาวสรรค์ทั้งปวง  ทั้งเสนาบดีและราชตระกูลเป็นอันมาก  ก็พากันโศกาอาดูรดังอื้ออึงครื้นเครงไปทั้งปราสาทศรี  แล้วจึ่งสรงน้ำกุหลาบน้ำบุปผาเทศน้ำหอมต่าง ๆ  ครั้นสรงแล้วจึงประดับประดาเครื่องทั้งปวงประดุจดั่งสมเด็จพระบิดา…….”

          ขุนหลวงหาวัดได้ให้รายละเอียดในการตกแต่งพระศพและพิธีการในการจัดงานพระศพดังได้แสดงมาข้างต้นนั้น  ทำให้มองเห็นภาพความอลังการของการประดับพระศพ  การบำเพ็ญพระราชกุศลหน้าพระศพ  ซึ่งในปัจจุบัน  เราลำดับขั้นตอนให้มีการสวดพระอภิธรรม (สดับปกรณ์) ก่อนแล้วจึงพิจารณาบังสกุล  แต่ในคำให้การดังกล่าวลำดับให้มีการสดับปกรณ์ก่อนแล้วจึงสวดพระอภิธรรม (สดับปกรณ์)  พิธีกรรมเกี่ยวกับพระศพที่นอกจากพิธีสงฆ์คือจัดให้มีการรายล้อมโกศพระศพแล้วร้องไห้พิไรรำพัน  มีการบริจาคทานแก่คนทั่วไป  ที่เป็นพิเศษคือจัดให้มีมหรสพแสดงในงานเช่น  โขนหนังละครหุ่นและมอญรำระบำเทพทองทั้งโมงครุ่มผาลาคุลาตีไม้  เป็นต้น  มหรสพที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ  ระบำเทพทอง  ระบำชนิดนี้เชื่อว่าคนไทยยุคนี้คงยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน  จะว่าเป็นระบำสุโขทัยในปัจจุบันก็ไม่ควรจะใช่  เพราะระบำสุโขทัยปัจจุบัน  อาจารย์มนตรี ตราโมท  ท่านคิดแต่งทำนองเพลงเทพทองซึ่งเป็นเพลงเก่าสมัยกรุงสุโขทัยที่มีเพียงชั้นเดียวให้ยืดออกเป็นสามชั้น  และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์  ได้คิดประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลงขึ้น  เป็นระบำสุโขทัย  ส่วนระบำเทพทองที่จัดแสดงในงานพระศพพระเจ้าบรมโกศ  จะใช้เพลงเทพทองชั้นเดียวที่ตกทอดมาแต่กรุงสุโขทัย  บรรเลงแล้วใส่ท่ารำเข้าไปอย่างไรหรือไม่  เป็นเรื่องน่าศึกษาค้นคว้าหาความจริง

          ได้ความชัดเจนว่า  ในขณะที่งานพระศพพระเจ้าบรมโกศกำลังดำเนินอยู่นั้น  พระมเหสีใหญ่ของพระบรมโกศก็ประชวรสิ้นพระชนม์  พระเจ้าอุทุมพรราชาจึงทรงจัดงานพระศพไปพร้อมกันกับพระศพของเจ้าบรมโกศ  เมื่อตั้งพระศพบำเพ็ญพระราชกุศลพอสมควรแก่เวลาแล้วจึงเชิญพระศพจากพระราชวังไปถวายพระเพลิง  ในการแห่พระศพไปนั้น  ขุนหลวงหาวัดได้ให้รายละเอียดไว้อย่างน่าศึกษาดังต่อไปนี้

           “….แล้วพระองค์จึงมีรับสั่งให้ปลงพระบรมศพพระบิดาและพระชนนี  อันบรรดาพระญาติทั้งปวงและพระสนมกำนัลนารีและพระยาประเทศราช  และราชนิกูล  และเสนาบดีน้อยใหญ่  และเศรษฐีคหบดีทั้งสิ้น ให้แต่งตัวด้วยเครื่องขาวทุกสิ่งอันให้ครบตัวกันทั้งสิ้น  บรรดาคนเกณฑ์แห่ทั้งปวงนั้นก็ให้แต่งเครื่องขาวใส่ลำพอกถือพัดไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  แล้วมีฆ้องกลองแตรสังข์และแตรงอนและพิณพาทย์ตีแห่ไปครื้นเครงไปทั้งพระราชวัง  หน้าพิณพาทย์นั้นเครื่องไทยทานทั้งปวงเป็นอันมาก  แล้วจึงเชิญพระมหาพิชัยราชรถทั้งสองเข้ามาแล้วจึงเทียมด้วยม้าทั้งสี่คู่  ม้านั้นผูกประกอบรูปราชสีห์กรวมตัวม้าลงให้งามแล้วจึงมีนายสารถีขับรถแต่งตัวอย่างเทวดาข้างละสี่คน  อันรถที่นำหน้านั้น  สมเด็จพระสังฆราชาอ่านพระอภิธรรม  ถัดมารถเหล่าพระญาติวงศ์ถือจงกลปรายข้าวตอกดอกไม้  ถัดนั้นรถพระญาติวงศาถือผ้ากาสามีปลอกทองประดับเป็นเปราะ ๆ  ห่างกันประมาณสามวา  แล้วถือซองหมากทองโยงไปหน้า  ถัดนั้นมาถึงรถพระบรมศพ  ถัดมารถใส่ท่อนจันทน์และกฤษณากระลำพักปิดทอง  รูปเทวดาถือกฤษณากระลำพักท่อนจันทน์นั้นชูไปบนรถด้วยกัน  จึงมีรูปสัตว์ ๑๐ อย่าง ๆ ละคู่ เป็น ๒๐ ตัว  มีรูปช้าง ๒  ม้า ๒  คชสีห์ ราชสีห์ ๒  สิงโต ๒  มังกร ๒  ทักกะทอ ๒  นรสิงห์ ๒  เหม ๒  หงส์ ๒  และรูปภาพทั้งนี้สูง ๔ ศอก  มณฑปบนหลังสำหรับใส่ธูปน้ำมันพิมเสนและเครื่องหอมต่าง ๆ  มีคนชักรถพระบรมศพแซงไปซ้ายขวาแต่งตัวอย่างเทวดา  ใส่กำไลต้นแขนและกำไลมือ  ใส่สังวาลทับทรวงใส่เทริด  แล้วเข้าชักรถพระบรมศพไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  ชักด้วยเชือกหุ้มสักหลาดแดงไปสี่แถว  รถนั้นชักไปบนเรือกสองข้างทางประดับด้วยราชวัติและฉัตรเบญจรงค์,ทอง,นาก,เงิน  ฝ่ายหน้าหลังฝ่ายซ้ายขวามีเครื่องสูง  กระบวนพยุหบาตราอย่างใหญ่  และมีผู้ถือเครื่องราชาบริโภคครบครัน  แล้วจึ่งถึงเกณฑ์แห่งเสด็จขุนหลวง  จึงมีเสนาบดีน้อยใหญ่นั้นแต่งตัวนุ่งขาวใส่เสื้อครุยขาว  ใส่ลอมพอกขาว  ถือพัดแล้วเดินแห่ไปซ้ายขวา  แล้วจึงถึงเหล่าปุโรหิตราชครูถือพัดแห่ไปซ้ายขวา  แล้วจึ่งถึงเหล่าราชนิกูลถือพัดแห่ไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  แล้วจึ่งถึงเหล่าคนตีกลองชนะและกลองโยน  แตรสังข์และแตรงอนนั้นก็เป็นอันมาก  แล้วซ้ายขวานั้นมีมหาดเล็กถือดาบทองแห่ไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  แล้วจึ่งมีตำรวจในตำรวจนอกนั้นพนมมือเดินแห่ไปซ้ายขวา  แล้วถึงหัวหมื่นมหาดเล็กนั้นพนมมือเดินแห่ไปซ้ายขวา  แล้วจึ่งมาถึงมหาดเล็กเกณฑ์ถือพระสุพรร ศรีและพระสุพรรณราช  และพระเต้าครอบทองและพานทองและเครื่องทองทั้งปวงต่าง ๆ นั้นก็เป็นอันมาก  แล้วเกณฑ์มหาดเล็กเหล่านั้นถือพระแสงปืนและพระแสงหอกและพระแสงง้าวและพระแสงกั้นหยั่น  และพระแสงประดับพลอย  และพระแสงดาบฝักทอง  และพระแสงต่าง ๆ เป็นอันมาก  เดินแห่เสด็จไปซ้ายขวา  แล้วมีมหาดเล็กและนอกใน  และมหาด  ไทยถือกระสุนเดินแห่ไปซ้ายขวา  ดูสูงต่ำดูห้ามแหนไปตามทางเสด็จทั้งซ้ายขวา
 
          ครั้นพร้อมแล้ว  พระองค์จึงแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาทั้งปวงล้วนเครื่องขาว  แล้วเสด็จขึ้นสู่พระเสลี่ยงทองประดับกระจก  มีพระกลดขาวยอดทองระบายทองคันก็หุ้มทองประดับ  มหาดเล็กสี่คนเดินกั้นไปซ้ายขวา  มีพระบุตรีแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาด้วยสร้อยสนิมพิมพาภรณ์เป็นอันงาม  นั่งบนพระเสลี่ยงสองหลัง ๆ ละสององค์  เป็นสี่  แห่แหนตามกระบวนพยุหบาตราไปฝ่ายหลังพระบรมศพสมเด็จพระบิดาและพระชนนี  แล้วจึงพระญาติวงศ์พระสนมกำนัลในทั้งปวงก็ตามเสด็จไปเป็นอันมาก  อันเหล่ามหาดเล็กและมหาเศรษฐีคหบดีทั้งปวง  และอำมาตย์น้อยใหญ่ทั้งปวง  พร้อมกันตามเสด็จไปฝ่ายหลังกระบวนพยุหบาตรา  แล้วจึ่งทำลายกำแพงวัง  หว่างประตูมงคลสุนทรและประตูพรหมสุคตต่อกัน  ครั้นถึงพระเมรุใหญ่ที่ท้องสนามหลวงแล้ว  จึงชักรถพระบรมศพทั้งสองนั้นเข้าในเมรุทิศเมรุแทรกทั้งแปดทิศ  แล้วจึงทักษิณเวียนพระเมรุใหญ่ได้สามรอบ  แล้วจึงเชิญพระโกศทั้งสองนั้นเข้าตั้งในพระเมรุใหญ่ตามอย่างธรรมเนียม  จึงไว้พระบรมศพ ๗ ราตรี  แล้วจึงนิมนต์พระสังฆราช  พระพิมล  และพระราชาคณะ  คือ  พระเทพมุนี  มหาพรหมมุนี  พระเทพเมาฬี  พระธรรมอุดม  พระอุบาฬี  พระพุทธโฆษา  พระมงคลเทพมุนี  พระธรรมกถึก  พระวินัยธร  พระวินัยธรรม  พระนาค  และพระสังฆราชาหัวเมือง  และพระสงฆ์ทั้งนอกกรุงและในกรุงเป็นอันมาก  ก็เข้ามาสดับปกรณ์ทั้งเจ็ดวัน  แล้วก็ถวายไตรจีวรและเครื่องไทยทานสังเค็ด  แลเตียบและต้นกัลปพฤกษ์อันมีสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ นานาครบครันแล้ว  มีต้นกัลปพฤกษ์แขวนเงินใส่ในลูกมะนาว  ต้นหนึ่งใส่เงินสามชั่ง  มีทั้งแปดทิศพระเมรุ  ทิ้งทานวันละแปดต้นทั้ง ๗ วัน  เป็นเงินร้อยหกสิบกับแปดชั่ง  แล้วพระองค์จึ่งให้ทานผ้าผ่อนและสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ เป็นอันมาก  แล้วจึ่งให้มีการมหรสพการเล่นต่าง ๆ  เหล่าไพร่พลเมืองทั้งกรุงก็มารับทานเงินข้าวของต่าง ๆ  ครั้นสำเร็จแล้วก็พากันไปดูงานที่ท่านให้แต่งไว้ต่าง ๆ นานา  และเครื่องแต่งพระบรมศพทั้งปวงอันงามมีรูปสัตว์นานา  อันประดับประดาพระเมรุอันสูงใหญ่  มีระทาดอกไม้เพลิงและดอกไม้ต่าง ๆ ตั้งรายรอบพระเมรุเป็นอันมาก  ครั้นเห็นที่ตกแต่งพระศพด้วยเครื่องนานนาบ้างก็มาโศกาอาดูรพูนโศก  คิดถึงสมเด็จพระบรมราชา  แล้วก็พากันครื้นเครงไปด้วยงานการเล่นทั้งปวง  อันประกอบไปด้วยเสียงดุริยางคดนตรี  มีงานมหรสพครบเจ็ดราตรี

          พระองค์จึงมีพระโองการตรัสสั่งให้ถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชบิดาและพระพันปีหลวงอันประเสริฐทั้งสองพระองค์  สมเด็จพระบรมเอกทัศและพระอนุชาธิราชและพระราชบุตรีและพระสนมสาวสวรรค์กำนัลทั้งซ้ายขวา  และพระญาติวงศ์ก็ห้อมล้อมพระบรมศพอยู่  จึงรับสั่งให้ถวายพระเพลิงด้วยไฟฟ้า  แล้วจึงเอาท่อนกฤษณากระลำพักและท่อนจันทน์อันปิดทองบรรดาเครื่องหอมทั้งปวงนั้นใส่ในใต้พระโกศทองทั้งสอง แล้วจึงจุดเพลิงไฟฟ้า  แล้วสาดด้วยน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศและน้ำกุหลาบและน้ำหอมทั้งปวงต่าง ๆ  อันมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรตลบไปทั้งพระเมรุทอง  ฝ่ายองค์บรมเอกทัศราชา  และพระอุทุมพรราชาทั้งสองพระองค์ทรงพระกันแสงพิลาปร่ำไร  พระทัยคะนึงถึงพระบิตุเรศพระชนนี  ทั้งพระราชบุตรและพระราชธิดา  พระสนมสาวสวรรค์  ก็มากันแสงไห้พิลาปร่ำไรไปสิ้น  กษัตริย์ประเทศราชทั้งปวงนั้นก็ห้อมล้อมอยู่รอบพระเพลิง  แล้วจึ่งปรายข้าวตอกดอกไม้บูชาถวายบังคมอยู่สลอน  ทั้งอำมาตย์ราชเสนาบดีใหญ่น้อย  ทั้งราชนิกูล  เศรษฐีคหบดีทั้งปวง  ก็นั่งห้อมล้อมพระเมรุทองอยู่แล้วก็มาโศกาอาดูรร่ำรักพระบรมราชาอยู่อึงคะนึงไปทั้งในพระเมรุหลวง  ครั้นเพลิงสิ้นเสร็จสรรพจึงให้ดับด้วยน้ำหอมและน้ำกุหลาบ  แล้วจึงแจงพระรูปทั้งสองพระรูป  พระสังฆราชและราชาคณะทั้งปวงก็เข้ามาสดับปกรณ์พระอัฐิทั้งสองพระองค์  อันใส่ในผอบทองทั้งสองพระองค์  ครั้นแล้วจึงเชิญพระอัฐิทั้งสองพระองค์นั้นใส่ผอบทองทั้งสอง  จึ่งเชิญขึ้นสู่เสลี่ยงทองทั้งสอง  แล้วแห่ออกไปตามทางออกประตูมนาภิรมย์  แล้วจึงตีฆ้องกลองแตรลำโพงและแตรงอนและกลองชนะกลองโยนและพิณพาทย์  ตั้งกระบวนมหาพยุหบาตรา  จึงให้กั้นราชวัติฉัตรธงไปตามมรรคาอันอาณาประชาราษฎรนั้นก็โปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ต่าง ๆ  แล้วจึงแห่แหนไปจนถึงริมคงคา  แล้วจึงเชิญผอบทองอันใส่พระอัฐิทั้งสององค์ขึ้นเรือพระที่นั่งกิ่งแก้วจักรรัตน์เป็นสองลำ  เป็นหน้าหลังกันไป  จึงมีเครื่องสูงต่าง ๆ บนเรือพระอัฐินั้น  ทรงเรือพระที่นั่งเอกไชย  มหาดเล็กนั้นกั้นพระกลดขาวข้างพระองค์ซ้าย ๔ คัน  ขวา ๔ คัน  เป็น ๘ คัน  พระอุทุมพรราชานั้นทรงเรือพระที่นั่งทองขวานฟ้าเป็นหน้าหลังกันตามที่  แต่บรรดาเรือเกณฑ์แห่เรือนำ  และเรือรองแห่ไปซ้ายขวาหน้าหลังกันตามตำแหน่งตามที่  เรือพระที่นั่งครุฑพระที่นั่งหงส์เป็นซ้ายขวากัน  แล้วจึงถึงเรือนาคเหรานาคาวาสุกรี  แล้วจึงถึงเรือมังกรมหรรรณพ  มังกรจบสายสินธุ์  แล้วจึงถึงโตมหรรณพ  โตจบภพไตร  แล้วจึ่งถึงโตจบสายสินธุ์  แล้วจึ่งถึงเหินหาว  หลาวทอง  สิงหรัตนาสน์  สิงหาสน์นาวา  นรสิงห์วิสุทธิสายสินธุ์  นรสิงห์ถวิลอากาศ  แล้วจึงถึงไกรสรมุขมณฑป  ไกรสรมุขนาวา  อังมสระพิมาน  นพเศกฬ่อหา  จึ่งถึงเรือดั้งซ้ายขวานำรอง  แลเรือคชสีห์ราชสีห์  เรือม้าเลียงผา  เรือเสือและเรือเกณฑ์รูปสัตว์ต่าง ๆ  และเรือดั้งเรือกันแห่ไปซ้ายขวา  บรรดาเครื่องสูงราชอุปโภคทั้งปวง  คือสัปทนและฉัตรขาว  อภิรุมชุมสายพัดโบกจามรทานตะวัน  บังสูรย์บังแทรก  แลเครื่องสูงนานาทั้งนั้นเหล่ามหาดเล็กเกณฑ์ถือ  ขี่เรือพระที่นั่งทรงบ้าง  พระที่นั่งรองบ้าง  พายแห่ห้อมล้อมไปหน้าหลัง  บรรดาเครื่องทอง  พระสุพรรณศรี  และพระสุพรรณราช  พระเต้าน้ำครอบทองนั้น  มหาดเล็กถือลงเรือทรงข้างพระองค์  อันเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวงเป็นอันมากนั้น  มหาดเล็กเกณฑหุ้มแพรถือ  ขี่เรือพระที่นั่งรองไปซ้ายขวาเป็นอันมาก  บรรดามหาดเล็กเกณฑ์ถือพระแสงประดับต่าง ๆ นั้นลงเรือที่นั่งทรง  ริมพระที่นั่งเรียกว่ารายตีนตอง  อันเกณฑ์มหาดเล็กถือพระแสงทั้งปวงเป็นอันมากนั้นขี่เรือรอง  แล้วพายแห่ไปซ้ายขวาหน้าหลังนั้นเป็นอันมาก  อันพระราชบุตรพระราชธิดานั้นลงเรือศรีสักหลาดไปหลังพระที่นั่ง  อันเหล่าพระสนมกำนัลลงขี่เรือศรีผ้าแดงตามเสด็จไปท้ายพระที่นั่ง  อันเจ้าพระยาจักรีและพระยากลาโหมนั้น  มีพานทองและเจียดกระบี่ซ้ายขวาและสัปทนปักหน้าเรือตามตำแหน่ง  แล้วขี่เรือคชสีห์และราชสีห์มีกูบก้านแย่ง  แล้วพายซ้ายขวาแห่ไป อันพระยายมราชาธิบดีศรีโลกทัณฑาธร  ขี่เรือนรสิงห์  มีพานทองและเจียดกระบี่สัปทนตามตำแหน่ง  บรรดาศักดิ์จตุสดมภ์ทั้ง ๔ นำหน้าเสด็จดูน้ำลึกและตื้น  บรรดาอำมาตย์ราชเสนาบดีทั้งปวงนั้น  ขี่เรือดั้งและเรือกันมีเครื่องอุปโภคตามตำแหน่ง  แล้วพายแห่ไปซ้ายขวาหน้าหลัง  บรรดาเหล่ามหาดเล็กขอเฝ้าทั้งปวงนั้นขี่เรือตามเสด็จหลังขบวนแห่  อันนายเพชฌฆาตนั้นขี่เรือเสือแล้วดาบแดงไปหน้าเรือ  ตามเสด็จไปหลังพยุหบาตราตามตำแหน่ง  อันเหล่าเกณฑ์ฝีพายนั้น  บ้างก็โห่ร้องพายแห่ไปฯ”

          คำให้การขุนหลวงหาวัดที่ให้การถึงพระราชพิธีงานพระบรมศพพระเจ้าบรมโกศนั้น  เมื่อถึงตอนที่เชิญพระอัฐิลงเรือแห่เป็นขบวนพยุหบาตรา  มีรายละเอียดดังที่ยกมาข้างต้นแล้วขาดหายไป  จึงไม่ทราบว่าทรงแห่พระอัฐิไปลอยในน่านน้ำ  หรือเชิญไปบรรจุไว้ ณ ที่ใด  คำให้การชาวกรุงเก่าก็ไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้  และในประชุมพงศาวดารภาค ๘๑ ก็มิได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน  ดูจากการจัดขบวนพยุหบาตราทางชลมารคเป็นขบวนใหญ่แล้วพอจะคาดดาได้ว่าน่าจะทรงเชิญพระอังคารและพระอัฐินั้นไปลอยในน่านน้ำ ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง  ตามประเพณีไทยที่ยังมีพิธีการลอยอังคารและอัฐิในน่านน้ำหรือในทะเลดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

          วันนี้ให้อ่านกันยาวนานหน่อย  เพราะเว้นไปหลายวัน  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อตอนใกล้สิ้นสุดอยุธยาครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, มีนาคม, 2562, 10:00:13 PM
(https://i.ibb.co/6JP5jFK/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- อุทุมพรผนวช เอกทัศขึ้นแทน -

อุทุมพรราชาลาออกผนวช
เป็นการบวชด้วยศรัทธาประมาณหมาย
เพื่อบรรลุโพธิญาณในบั้นปลาย
โดยถวายราชสมบัติเอกทัศครอง


          อภิปราย ขยายความ................

          ชาวกรุงเก่าให้การมีความขัดแย้งกับขุนหลวงหาวัดว่า.......  “หลังจากที่พระเจ้าบรมโกศสวรรคตแล้ว  พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการทั้งปวงยังไม่ถวายพระเพลิง  หากแต่เชิญพระโกษฐ์พระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งมหาปราสาท  แล้วออกประกาศให้ชนทั่วพระราชอาณาจักรโกนผมไว้ทุกข์  จากนั้นจึงเชิญพระมหาอุปราช  คือเจ้าฟ้าอุทุมพร  กรมขุนพรพินิต  ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระอุทุมพรราชา  ต่อมาพระอุทุมพรราชาโปรดให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งแล้วพระราชทานนามว่า  วัดอุทุมพราราม  ให้นิมนต์พระธรรมเจดีย์  มาเป็นเจ้าอาวาส  แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซ่อมมณฑปพระพุทธบาทที่ทรุดโทรม  ลงรักปิดทองใหม่  และเสด็จไปนมัสการและจัดงานฉลองพระพุทธบาทนั้น  ครั้นเสด็จกลับจากพระพุทธบาทก็ทรงสละราชสมบัติออกทรงพระผนวช  หลังจากที่ทรงครองราชย์อยู่ได้เพียง ๓ เดือน  เมื่อออกทรงพระผนวชนั้นตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี จุลศักราช ๑๑๐๒ (พ.ศ.๒๒๘๓)  บรรดาข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี  ขึ้นครองราชย์สืบไป  แต่ความในประชุมพงศาวดารภาค ๘๑ กล่าวว่า  หลังจากที่กลับจากพระพุทธบาทแล้ว  ทรงพระดำริว่า  “เรานี้เป็นอนุชายังหาควรแก่ราชสมบัติไม่  อันราชสมบัตินี้ให้พระเชษฐาธิราชเจ้าครองสนององค์สมเด็จพระบิดาเจ้าจึงจะควร  ทรงพระมนสิการแล้วพระองค์ก็เสด็จไปถวายสมบัติปแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช  แล้วพระองค์ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกิ่งเป็นขบวนพยุหบาตราไปทรงผนวช ณ วัดเดิม  แล้วเสด็จไปอยู่ ณ วัดประดู่”

          ชาวกรุงเก่าให้การว่า  ก่อนที่เจ้าฟ้าเอกทัศจะได้ขึ้นครองราชย์นั้น  เกิดนิมิตอัศจรรย์ขึ้น  กล่าวคือ  มีลมพายุใหญ่พัดต้นมะเดื่อซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกพระราชวังหัก  ยอดมะเดื่อที่หักล้มลงนั้นหันมาทางพระราชมนเทียร  บรรดาข้าราชการจึงนำความขึ้นกราบทูลเจ้าฟ้าเอกทัศ  พระองค์รับสั่งว่าเป็นนิมิตที่เป็นมงคลดี  ขอให้นำไม้มะเดื่อนั้นมาทำพระแท่น  ข้าราชการเหล่านั้นจึงทำพิธีบวงสรวงแล้วตัดไม้มะเดื่อนั้นมาทำพระแท่น  ครั้นเสร็จแล้วจึงจัดการราชาภิเษกเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี  ให้ทรงเครื่องสำหรับกษัตริย์แล้วเชิญขึ้นประทับเหนือพระแท่นไม้มะเดื่อ  ปุโรหิตโอมอ่านคาถาชัยมงคล  พราหมณ์เป่าสังข์ทักษิณาวัฏ  ชาวประโคมก็ประโคมดุริยางคดนตรี  พระอาลักษณ์เชิญพระสุพรรณบัฏประดับพลอย ๓ ชั้น  จารึกพระนามอ่านถวาย  มีใจความว่า

           “อาเปกขศรีสุรเดชบรมราชาธิราชรามาธิบดี  ศิริขัง  ปัจจังมหาจักรวรรดิสรทยาธิบดี  ศิริสัจติรัสหังสจักรวาฬาธิเบนทร์  สุริเยนทราธิบดี  ทะหะริมายะนะทะปธานาธิบดี  ศิริวิบูลย์  คุณอกนิฐจิตรุจีภูวนาถ  ตรังคติพรหมเทวา  เทพภูมินทราธิราช รัตนากาศสมมติวงศ์  องค์เอกาทศรฐ  วิสูตรโสตรบรมติโลกนาถ  อทิวิไชยสมุทร  ทโรมันทอนันตคุณ  วิบุลย์สุนทร ธรรมิกราชเดโชชาติ  โลกนาถวริสสาธิราชชาติพิเชษฐ  เดชทศพลญาณ  สมันตมหันตพิชิตมาร  วสุริยาธิบดีขัติยวงศ์  องค์รามาธิบดี  ตรีภูวนาถ  ปัจจโลกเชษฐวิสุทธิ์  มกุฎรัตนโลกเมาฬี  ศรีประทุมาสุริยวงศ์  องค์ปัจจุพุทธางกูร”  ดังนี้

          จากนั้นก็นำเอานามกรุงศรีอยุธยามาอ่านประกาศ  จบแล้วให้พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงก็ถวายตัวใหม่ทั้งสิ้น  พระเจ้าเอกทัศทรงให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์  แล้วทรงออกพระราชบัญญัติการใช้เครื่องชั่งเครื่องตวงวัดต่าง ๆ ให้เที่ยงตรง  แล้วโปรดให้ยกเลิกภาษีต่าง ๆ ในเวลา ๓ ปี  ทั้งให้ปล่อยนักโทษในเรือนจำ  ครั้นพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์นั้นสร้างเสร็จแล้ว  โปรดให้มีการฉลองแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้กับพระศรีสรรเพชฌ์ ณ พระวิหารในพระราชวัง  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างวัดขึ้นอีก ๒ วัด  พระราชทานนามว่า  วัดละมุด  และ  วัดครุฑาวาส  

          ครั้นต่อมาทรงพระดำริห์เห็นว่า  พระศพพระราชบิดานั้นประดิษฐานอยู่นานแล้ว  จึงรับสั่งให้จัดการทำเมรุใหญ่ที่วัดพระปรางค์  ทิศตะวันออกเฉียงใต้พระนคร  เสร็จแล้วเชิญพระศพไปถวายพระเพลิงพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการแลราษฎรทั้งปวง”

          ขุนหลวงหาวัดให้การตอนหลังจากที่พระเจ้าเอกทัศราชาขึ้นครองราชย์แล้ว  มีรายละเอียดมากว่าคำให้การชาวกรุงเก่า  กล่าวโดยสรุปว่า พระเจ้าเอกทัศราชานั้นทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง  ทรงเลี้ยงพระสงฆ์เช้าเพล  มีเทศนาและสวดมนต์แผ่ผลเมตตามิได้ขาด  ทรงปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรมทั้งในกรุงและนอกกรุง  ถวายไตรจีวรแด่พระสงฆ์ทั่วไป  มีพระกฐินทั้งในกรุงและนอกกรุง  ในวันเพ็ญเดือน ๑๒  ทรงให้ทำจุลกฐิน  และเครื่องข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนฉัตรธงทั้งปวงเป็นอันมาก  แห่ไปถวายพระทุกอารามมิได้ขาดทุกปี  ครั้นถึงเดือน ๔ ก็เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท  โดยตั้งเป็นขบวนพยุหบาตรแห่ไป  จัดให้มีการสมโภชพระพุทธบาทอย่างยิ่งใหญ่  พิธีการสมโภชพระพุทธบาทนั้น  ทรงให้รายละเอียดไว้อย่างน่าจดจำว่า

           “ มีการมหรสพ  มีโขนหนังทั้งระบำเทพทอง  มีละครและหุ่นสารพัดต่าง ๆ  แล้วตั้งระทาดอกไม้เพลิง  หว่างช่องระทาดอกไม้นั้นมีโขนหนังโมงครุ่มผาลา  ระบำเทพทอง  และหกคะเมนสามต่อ  ไต่ลวดรำแพน  ลวดบนปลายเสา ….”

          ทรงเลี้ยงพระสงฆ์ห้าร้อยองค์ครบเจ็ดวันแล้วถวายจีวรสังเค็ด  และแจกทานแก่ราษฎรด้วยเงินทอง  เสื้อผ้าสิ่งของเป็นอันมาก  จากนั้นเสด็จไปชมธารเกษมอันสวยงาม ณ เชิงเขาพนมโยง  ทางที่จะไปพระพุทธฉาย ณ ที่นั้นขุนหลวงหาวัดได้พรรณนาความงามของธรรมชาติไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจว่า

           “เสด็จไปตามธารน้ำ  อันเหล่าพระกำนัลนารีก็มีมโนรื่นเริงใจ  แล้วก็ชี้ให้ชมธารและศิลา  กรวดทรายอันมีสีแดงและขาว  บ้างก็เป็นสีเขียวดังมรกตอันดี  ที่ดำนั้นดังสีปีกแมลงทับ  มีสีต่าง ๆ  อันหว่างช่องศิลาในน้ำนั้นมีมัจฉาชาติ  ว่ายเวียนเลี้ยวลอดไปตามช่องศิลาเป็นคู่ ๆ  ยิ่งดูยิ่งเพลินใจ  บนเนินคีรีมีภูผาเป็นช่อช้อยลงมาต่าง ๆ  บ้างก็เป็นพู่กลีบห้อยย้อยลงมา  บ้างก็มีน้ำพุดุดั้นไหลมาตามช่องศิลา  อันพฤกษาสารที่บนคีรีมีดอกและออกช่อมีสีต่าง ๆ  งามล้วนดอกและต้นไม้นั้นก็งามต่าง ๆ นานา  อันเชิงเขาพนมโยงนั้นมีพลอยเพชรและทับทิมมรกตและพลอยนิลต่าง ๆ  ล้วนพลอยแตกสลายด้วยสดายุรบกับทศกัณฐ์   ที่ตำบลอันนั้นจึงแตกอยู่จนเท่าบัดนี้  เหล่าปักษาปักษีก็มีต่าง ๆ นานามีเสียงไพเราะเพราะสนั่น  เหล่าวานรนั้นก็โลดอยู่ไปมาบนคาคบพฤกษาลำเนาธาร  เหล่าพาฬมฤคราชนั้นก็มีต่าง ๆ  อันลำเนาป่าและท่าน้ำนั้นเป็นที่อาศัยแก่ฤๅษีสิทธิ์  วิทยาธรชาวลับแล  และภิกษุสงฆ์อันถือธุดงค์และพระปริยัติวิปัสสนาก็ได้อาศัยทำความเพียรอยู่นั้นก็มีมาก….”

          จากนั้นก็ได้กล่าวถึงราชกิจของพระเจ้าเอกทัศนาราชาไว้อย่างละเอียดซึ่งเป็นเรื่องน่ารู้ว่า  หลังจากว่าราชการงานกรุงในเวลากลางวันเสร็จและเสด็จเข้าบรรทมแล้ว  “ครั้นถึงยามสามเศษ  ตีสิบทุ่มแล้วประทมตื่น  บ้วนพระโอษฐ์สรงพระพักตร์  แล้วเสด็จเข้าที่นั่งพระธรรมรักษาข้างพระปริยัติและคันถธุระ  ครั้นเพลารุ่งเช้าเสด็จเข้านมัสการบูชาพระ  แล้วถวายธูปเทียนและข้าวตอกดอกไม้  ครั้นนมัสการพระแล้ว  เวลาโมงหนึ่งเสด็จออกท้องพระโรง  เหล่ากำนัลนารี (ขันที) ตามเสด็จไปพร้อมพรั่ง  เหล่าเสนามนตรีและราชบัณฑิตทั้งปวงก็ถวายบังคม  แล้วอ่านเรื่องกราบทูลฉลอง  แล้วพระองค์จึงตรัสตราสินว่าราชการกรุงตามผิดและชอบ  ตามกฎพระอัยการเยี่ยงอย่างแต่ก่อน  ครั้นแล้วเสด็จเข้ามาเรียกพระสุพรรณภาชน์เข้าสู่ที่เสวย  พรั่งพร้อมแวดล้อมไปด้วยพระกำนัลนารีเฝ้าที่เสวย  ครั้นสรรพเสร็จก็เสด็จทรงบริกรรม  ครั้นแล้วเข้าที่ประทมกลางวันพร้อมด้วยนางนารีนั่งอยู่งานพัดวี  บ้างอยู่งานนวด  ครั้นประทมตื่นแล้ว  ทรงเขียนอักษรเกณฑ์บุญ  ครั้นเพลาบ่ายสามโมงเศษเข้าสรงพร้อมด้วยนางสนมกำนัลอันเกณฑ์เฝ้าที่สรง  และนางเกณฑ์ถวายผ้าชุบสรง  และถวายพระภูษาผ้ารัตกัมพล  และนางถวายเครื่องพระสุคนธรสต่าง ๆ  ครั้นเข้าที่สรงแล้วเสด็จเข้าที่เสวยเพลาเย็น  พร้อมด้วยพนักงานเฝ้าที่เสวย  บ้างก็นั่งอยู่งานโบกพัดอยู่ตามที่ตามพนักงาน  ครั้นเวลายามเศษแล้ว  ทรงฟังนายเวรมหาดเล็กอ่านตรวจรายชื่อมหาดเล็กนอนเวร  แล้วนางกำนัลเกณฑ์ทำมโหรี  บ้างก็ขับรำทำเพลงเกณฑ์นางบำเรอ  แล้วก็เข้าที่ประทม  อันราชกิจนี้ตามประเพณีกษัตริย์มิได้ขาดวัน”

          ราชกิจตามคำให้การขุนหลวงหาวัดนี้มิใช่เป็นของพระเอกทัศราชาเพียงพระองค์เดียว  หากแต่เป็นของกษัตริย์ทุกพระองค์ที่กระทำกันสืบมา  แต่บางพระองค์อาจจะไม่เคร่งครัดตามราชกิจนี้  เช่นละเว้นการ นั่งพระธรรมรักษาข้างพระปริยัติธรรมและคันถธุระ  และการฟังเรื่องราวที่กราบทูลฉลอง  เป็นต้น  บางพระองค์อาจจะละเลยการปฏิบัติบำเรอของนางสนมกำนัลไปบ้าง  ตำนานและพงศาวดารไทยส่วนมากกล่าวว่า  พระเจ้าเอกทัศทรงละเลยราชกิจด้านการว่าราชการบ้านเมือง  แต่หมกมุ่นอยู่ในราชกิจด้านปฏิบัติบำเรอของนางสนมกำนัล  อาจจะไม่จริงตามตำนานและพงศาวดารนั้น ๆ  หากแต่จะเป็นจริงตามคำให้การขุนหลวงหาวัด  ซึ่งเป็นพระอนุชาธิราชในพระเจ้าเอกทัศก็ได้

          ขุนหลวงหาวัดให้การอีกว่า  อยู่มาพระยารายาผู้เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีได้ช้างเล็บรอบตัวหนึ่ง  แล้วนำเข้ามาถวายพระเจ้าเอกทัศ  ทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่พระยารายาเป็นอันมากแล้วทรงให้นามช้างนั้นว่า  บรมฉัททันต์มหันตพงษ์  มกุฎกุญชร  และยังมีเนียม (งาใหญ่แต่สั้น) อีกตัวหนึ่งมาเข้าเพนียดในกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าเอกทัศเสด็จไปจับได้แล้วให้ชื่อว่าบรมคชา  ในเวลานั้นมีนายสำเภาพ่อค้าชื่อ  อลังคปูนี  เอาสิงโตตัวหนึ่ง  นกกระจอกเทศตัวหนึ่ง  มาถวายพระเจ้าเอกทัศ  ยามนั้นกรุงศรีอยุธยาอยู่สงบร่มเย็น  พ่อค้าพาณิชมาจากต่างประเทศซื้อขายง่ายดี  ทั้งสำเภาแขกและฝรั่งอังกฤษจีนจามอะรัมมะนี  และสุรัต  พ่อค้ามาขายจอดสำเภาเรียงรายอยู่ที่หน้าท่าน้ำนั้นเป็นอันมากมายหนักหนา........

          เรื่องราวของพระเจ้าเอกทัศตามคำให้การของขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าข้างต้นนั้น  เป็นเรื่องในแง่ดีต่างไปจากตำนาน พงศาวดารทั่วไปที่กล่าวในแง่ลบเสียสิ้น  พรุ่งนี้มาดูกันต่อว่าขณะที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ในความสงบร่มเย็นนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบีนกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มีนาคม, 2562, 10:04:54 PM
(https://i.ibb.co/T8SVHhT/w.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- พระเจ้าเอกทัศราชา -

เอกทัศราชาศรัทธาพระฉาย
เสด็จถวายบูชาเฉลิมฉลอง
ขบวนช้างพังพลายกรายเนืองนอง
หน้าหลังสองขบวนสรรพนับเกินพัน.....


          อภิปราย ขยายความ.................

          ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การสอดคล้องกันว่า  “ในท่ามกลางความสงบสุขของกรุงศรีอยุธยานั้น  จู่ ๆ ก็มีมอญใหม่คิดร้ายเป็นขบถ  คุมพวกยกมาทางเขานางบวช  แดนเมืองนครนายก  ตีบ้านเล็กบ้านน้อยในนครนายก  พระเจ้าเอกทัศจึงให้พระยาเพชรบุรีและพระยากาญจนบุรียกทัพไปราบปราม  พระยาทั้งสองรบกับมอญใหม่ที่ทุ่งพิหารแดง  เหล่ามอญใหม่ล้มตายไปสิ้น  เมื่อปราบมอญใหม่สิ้นแล้ว  พระเจ้าเอกทัศมีพระประสงค์ไปนมัสการปัถวี  หรือพระฉาย  ตรัสสั่งให้จัดกระบวนทัพช้างและม้าไป  ขุนหลวงหาวัดได้ให้รายละเอียดเกี่ยวชื่อช้างและม้าในขบวนนั้นไว้น่ารู้มาก  จึงขอยกความมาแสดงดังนี้

           “ อันช้างพระที่นั่งเอกแต่บรรดามีชื่อ  คือ  เจ้าพระยาไชยานุภาพ  ปราบไตรจักร  ศรีไชยศักดิ  จักรมหิมา  มงคลจักรวาฬ  วิมานจักรพรรดิ  สวัสดิพิไชย  ไตรภพนาศ  แก้วจักรรัตน  มัธยมเทศ  กุญชรราชา  บวรนาเคนทร์   เหล่าช้างพระที่นั่งสิบสองช้างนี้ผูกเครื่องทองประดับฝรั่งเศส  มีพู่ห้อยหน้าและข่ายทอง  ผ้าปกหลังกรองเชิงประดับสี่เท้าและทองรัดงา  บ้างก็คลุมข่ายทอง  บ้างผูกเครื่องกำมะหยี่  ปักทองขวางดาวทองต่าง ๆ  และพู่ห้อยข่ายทองปกหน้าผ้า  ปกหลังและเครื่องต่าง ๆ กันตามที่ทางเป็นชั้นเป็นหลั่น ๆ กันมาซ้ายขวาตามที่  แล้วจึงถึงช้างดั้งช้างกัน  ระวางนอกระวางในซ้ายขวาหน้าหลัง  และสารเพรียวน้อยใหญ่ตามมีชื่อเหล่าที่นั่งรอง  คือ  หัศดินพิไชย  ไอยราพต  โจมจักรพาฬ  พิมานไชย  คเชนทรรัตน  สวัสดิกุญชร  รจนนาเคนทร์  กเรนทรฤทธี  ศรีอาทิตย์  พิษณุจักร  สระสงสาร  บานชมพู  ณรามวิชิต  ฤทธิ์รามวิไชย  ชลเทศอุไทย  ไชยเทศอุทิศ  พลพิฤทธิประศักดิ  พลภิรักษ์ประเสริฐ  สุรราชสังหร  ศรราชสังหาร  พรหมพาหะ  พรหมพาหน  พรหมดล  พรหมเดช  พิษณุศักดิ  พิษณุสิทธิ  พิษณุฤทธิ  พิษณุราช  มโนนฤมิต  วิจิตรเจษฎา  อันที่นั่งรองเหล่านี้สามสิบสองช้าง  ผูกที่นั่งประสาทและที่นั่งกระโจม  และที่นั่งพุดตาน  บ้างก็ผูกพระที่นั่งเขน  และที่นั่งโถง  ผูกพระที่นั่งต่าง ๆ เป็นอันมากแล้ว  จึงถึงระวางช้างสารเพรียวซ้ายขวามีชื่อ  คือ  พลายพิไชยนาเคนทร์  คเชนทรมหิมา  รัตนากุญชร  บวรไอยรา  คเชนทรหัศดิน  กรินทราชา  มังคลารัตนาสน์  ราชไกรสร  สกลโกลา  มหาคชสาร  สังหารคชสีห์  มณีจักรพาฬ  สวัสดิคเชนทร์  กเรนทรราชา  บวรวายุกุล  สุนทรเดช  โจมไตรภพ  จบไตรจักร  ภูธรจำนง  บรรยงค์ไอยรา  ฦๅชาประศักดิ์  รักษ์ธานี  ฤทธีไกรสร  กำจรจักรพาฬ  กฤษณจักรี  ตรีสุรนาถ  กุญชรไชย  ไกรสรเดช  บำรุงภูบาล  สารภูธร  พรหมกฤษณ  พรหมสวรรค์  พรหมพรรณ  พรหมพักตร์  พิษณุรักษ์  พัศณรงค์  พิษณุพงศ์  พิษณุพาน  มโนรถจำนง  ทรงสุริยากษัตริย์  สรรพประสิทธิ์  ฤทธิประลัย  พลภิฤทธิชำนัน  พลภิฤทธิชำนาญ  มารประลัย  ไฟภัทกัลป  เรืองฤทธิกำจร  บวรธานี  สงคเชนทร  ชะนะจำบัง  โลรัตนาศ  ชาติคช  สุริยาภิรมย์  ชมภูฉัตร   อันช้างมีชื่อเหล่านี้ห้าสิบสี่ช้างด้วยกัน  เป็นเกณฑ์ช้างระวางเพรียว  มีวอทองบ้าง  สัปคับทองบ้าง  บ้างก็ใส่เขนและแพนหางนกยูง  มีธงหลังช้างและศัสตราวุธตามตำแหน่ง  มีหมอและควาญแต่งตัวเครื่องโพนประกวดกันต่าง ๆ ตามที่ตามตำแหน่ง  แห่แหนไปซ้ายขวาหน้าหลังเป็นอันมาก  แล้วจึงถึงทัพหลังพระที่นั่งรอง  เกณฑ์เหล่าช้างพังผูกพระที่นั่ง  เกณฑ์มีชื่อคือระวางใหญ่ซ้ายขวา  เหล่านี้คือ  เทพลิลา  เทพลิลาศ  หงส์ลิลา  หงสาลิลาศ  สุริย์รางชาง  สุรางคราเชนทร์  สมบัติไอศูรย์  สมบูรณ์ไอศวรรย์  อนงค์ศรีสวรรค์  อนันตศรีสวัสดิ์  อนิลบรรยงค์  อนงคบรรยิง  อนันตสรเศก  อเนกสุรศักดิ์  อนันตไกรกรุง  อดุงไกรเกริก  พิจิตรใจดล  พิมลจินดา  พิมลศรีสถาน  พิมานศรีสถิต  พิพิธสมบัติ  พิพัฒน์สมบูรณ์  พิสูรสมภาร  พิศาลสมพูน  อันช้างพังพระที่นั่งเอกมีชื่อยี่สิบสอง  ช้างเหล่านี้ผูกพระที่นั่งกูบทอง  ประคับบ้าง  พระที่นั่งกูบทองทึบบ้าง  ที่นั่งกูบลายรดน้ำบ้าง  หลังคากูบนั้นต่าง ๆ  แล้วแห่ไปข้างซ้ายขวา  แล้วจึงถึงที่นั่งทรง  ที่นั่งรองระวางเพรียว  เกณฑ์ช้างพังมีชื่อคือ  อนงค์คเชนทร  บวรราเชนทร์  เหมบรรยงค์  อนงครางชาง  พิพัฒน์โกสุมภ์  กรรพุมบุษบา  มณีรัตนมาลา  บุษบาสวรรค์  ทิศาบรรยงค์  อนงคนารี  วิศาลอัปสร  กินนรปักษี  ราชสุรางค์  สรรพางค์พิมล  สกลโกสุมภ์  กรรพุมรัศมี  เทพประพา  เทพาประศร  คเชนทรสำอาง  ราชางพิมล  อันที่นั่งรองช้างพังยี่สิบแปด  ช้างเหล่านี้  ผูกกูบทองบ้าง  สัปคับทองบ้าง  ต่าง ๆ กัน  พระเจ้าเอกทัศราชาทรงช้างพระที่นั่งเจ้าพระยาไชยานุภาพ  บรรดาเสนาอำมาตย์ก็ขี่ช้างดั้งช้างกันซ้ายขวาหน้าหลัง  เกณฑ์เหล่าช้างระวางนอกระวางในห้อมล้อมช้างพระที่นั่งไปตามกระบวนแห่ทั้งช้างพลายช้างพัง  รวมเป็น ๑,๐๕๐ ด้วยกัน  ช้างเป็นพันเชือกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปสู่เขาปัถวีในละแวกพระพุทธบาทนั้น  ดูเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่อาณาประชาราษฎรอย่างยิ่ง

          ในพิธีอาสุชมาศ (ราว ๆ เดือนตุลาคม)  พระเจ้าเอกทัศทรงเรือพระที่นั่งกิ่งลำหนึ่ง  พระมเหสีลำหนึ่ง  พายแข่งกัน  บรรดาเรือขุนนางทั้งหลายก็ออกพายแข่งกันตามเสด็จ  วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ แรม ๑ ค่ำเพลาค่ำ  เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกิ่งโถง  ประทับยืนบนเตียงลา  มีเรือนำเรือตาม  ประดับเทียนตามไฟตลอดทั้งลำทุกลำตามเสด็จ  พายแห่ไปรอบกรุง  แล้วเลี้ยงขนมเบื้องแผ่นใหญ่ศอกหนึ่ง  แล้วเสด็จลงเรือที่นั่งทรงผ้ากฐิน  มีฝ่ายหน้าฝ่ายในลงเรือประดับประดับโคมทุกลำ  พายแห่ไปถวายราชาคณะตามอารามหลวง  ทั้งนอกกรุงในกรุง  จากนั้นพระราชทานผ้าพระกฐินให้พระบรมวงศานุวงศ์เจ้าเมืองและผู้รักษาเมืองกับข้าราชการนำไปทอดถวายยังหัวเมืองเอกหัวเมืองโท  เป็นกฐินหลวงเบ็ดเสร็จร้อยเศษ  เป็นประจำทุกปี

          เมื่อวันออกพรรษา  พระเจ้าเอกทัศราชาเสด็จทรงประทีปบนเรือขนาน  ถวายธูปเทียนดอกไม้และกระทงกระดาษตามเทียนและเรือต่าง ๆ เป็นอันมาก  ทรงอุทิศถวายพระพุทธบาท ณ นัมทานที  แล้วลอยกระทงส่งไปเป็นอันมากเต็มไปทั้งแม่น้ำ  พร้อมกับจุดดอกไม้เพลิงที่ริมคงคาต่าง ๆ  ตามประเพณีราชพิธีจองเปรียง  คือการชักโคมลอยโคมที่ปฏิบัติสืบกันเป็นเวลาอันช้านานมาแล้ว

          ขุนหลวงหาวัดให้การถึงเหตุการณ์ก่อนที่พม่าจะยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยานั้น ว่า  “ครั้นอยู่มาจุลศักราชได้ ๑๑๒๕ ปีมะแม เบญจศก (พ.ศ. ๒๓๐๖)  จึงมีกำมะลอชากุทองชาเจ้าเมืองทวายเข้ามาถวายตัวเป็นข้า  เข้ามาพึ่งอยู่ใต้ฝ่าพระบาทในขัณฑเสมากรุงใหญ่  พระองค์ก็ทรงพระเมตตาแก่สัตว์จึงรับไว้ในกรุงศรีอยุธยา  อันพระบรมเอกทัศนั้นพระองค์มาได้ครองพิพัฒน์กรุงศรี  ในเมื่อเวลานาทีเมื่อกาลกลีจะถึงพระนคร  จึงเกิดวิบัตินานาเพราะกรรมเวราสังหาร  ทั้งอายุพระศาสนาและพระนครจักสิ้นสุดสถาวรจึ่งเป็นไป  ก็พอพระมาได้ครองพาราในเมื่อจะสิ้นชะตากรุงไกร  ก็มามีวิบัติให้เป็นไป  จึ่งเกิดเหตุภัยบัดนี้  แต่พระมหินทราชามาจนบัดนี้  นับได้ถึงสองร้อยปีมา  ทั้งโภชนาหารก็บริบูรณ์มีความสนุกสบายจนบัดนี้  อันการฝึกฝนรณรงค์สงครามทั้งปวงนั้นเสื่อมไป  ทั้งผู้ดีเข็ญใจและอาณาประชาราษฎรทั้งปวง  มีแต่จะเล่นเพลิดเพลินไปด้วยการเล่นเป็นสนุกสบาย  ไม่มีทุกข์สิ่งหนึ่งสิ่งใด  มีแต่การละเล่นนานา  ทั้งสมณะชีพราหมณ์เป็นสุข  บ้างก็มาสรรเสริญพระคุณที่พระองค์มีพระกรุณากับสัตว์ทั้งปวง  บ้างก็ยอกรอัญชลีสรรเสริญพระคุณแล้วกราบกราน  บ้างเสพย์สุราและยาเมาต่าง ๆ  สารพัดจะสนุกทุกสิ่งอัน  ฝ่ายพระองค์ก็ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎรทั้งปวง  แผ่เมตตาไปทั่ว  สารพัดสัตว์ทั้งปวงมีแต่สนุกสบายทุกราตรี  เป็นนิจศีลมิได้ขาด”

          มองเห็นภาพตามคำให้การขุนหลวงหาวัดชัดเจนว่า  กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศประชาชีมีความมัวเมาอยู่ในลาภยศสรรเสริญ  เพลิดเพลินอยู่ในกามสุข  ไม่สนใจในการฝึกฝนยุทธวิธีการรบ ด้วยไม่คิดว่าจะมีข้าศึกศัตรูมารุกราน  นักประวัติศาสตร์ไทยมักมีความเห็นว่า  พระเจ้าเอกทัศมีความลุ่มหลงในสุรานารีจนไม่มีเวลาว่าราชการบริหารบ้านเมือง  ขุนหลวงหาวัดให้การว่านับแต่เสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งแรกสมัยที่พระมหินราชาครองกรุงศรีอยุธยา  มาจนถึงปี ๑๑๒๕  นับเป็นเวลาได้ ถึง ๒๐๐ ปี  จากนั้นก็เกิดศึกสงครามกับพม่าครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง  ตามคำให้การขุนหลวงหาวัดซึ่งจะนำมาแสดงต่อในวันพรุ่งนี้...

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอบคุณเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มีนาคม, 2562, 10:17:24 PM
(https://i.ibb.co/kS5QDFc/1425032229-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา -

พระยามอญมาพึ่งโพธิสมภาร
แล้วมินานไทยจับพม่านั่น
พร้อมเรือแขกที่มะริดเรื่องติดพัน
ล่วงเขตขัณฑ์ล้ำถิ่นดินแดนไทย

พม่าขอคนคืนยื่นคำขาด
พร้อมประกาศสงครามลุกลามใหญ่
แล้วบุกเข้าทางมะริดพิชิตไว
ตะลุยไล่ไทยถึงสุดอยุธยา


          อภิปราย ขยายความ.............

          คำให้การขุนหลวงหาวัดที่ให้การถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์  และรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ  แม้จะมีรายละเอียดมากแต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการ  “ให้การไม่หมดสิ้นกระทงความ”  เฉพาะในเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒  หรือครั้งสุดท้าย  ที่ถือได้ว่าเป็นการ  “สิ้นสุดอยุธยา”  หรือ  “อยุธยาล่มแล้ว”  หากฟังแต่ความตามคำให้การขุนหลวงหาวัดแล้วก็จะได้ความไม่ชัดเจนพอเท่าที่ควร  จึงควรนำความในคำให้การชาวกรุงเก่า  และประชุมพงศาวดาร ภาค ๘๑ มาประกอบด้วย  เพราะจะมีความต่างจากคำให้การขุนหลวงหาวัดในหลาย ๆ ประเด็น  จะขอนำความในคำให้การชาวกรุงเก่า  โดยเริ่มจากสาเหตุหรือที่มาของการที่พม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าเอกทัศครั้งที่ ๑ และ ที่ ๒  มาแสดงดังต่อไปนี้

           “ ครั้นจุลศักราช ๑๑๒๑ (พ.ศ. ๒๓๐๒)  พระยาเกียรติ์พระยารามชาติมอญกับครอบครัวประมาณ ๓๐๐ เศษ  อพยพจากเมืองเมาะตะมะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงรับไว้  แล้วโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลเขาน้ำพุห่างจากพระนครทาง ๓ วัน

          คราวนั้นมีสำเภาพวกแขกพรังคีเดิรเรือผิดทางเข้ามาจอดที่ท่าเมืองมฤท  ซึ่งเวลานั้นยังเปนอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา  แลในสำเภานั้นมีพวกพม่าโดยสานมาด้วย  พวกกรมการเมืองมฤทจับไว้แล้วมีใบบอกเข้ามากราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ๆ รับสั่งว่าพวกสำเภาเดิรเรือผิดสัญญา  ให้ริบเสียให้สิ้น  พวกข้าราชการจึงกราบทูลห้ามปรามว่าในเรือนั้นมีพวกพม่าโดยสานมามากอย่าให้กักขังไว้เลยจะเสียทางพระราชไมตรี  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็ไม่ทรงเชื่อ  ให้ริบสิ่งของในสำเภาแลจับพวกพม่าไว้  กิตติศัพท์นั้นทราบไปถึงพระเจ้ามางลอง (อลองพญา) เมืองอังวะ  พระเจ้าอังวะจึงมีพระราชสาส์นมาขอว่า  พวกสำเภานั้นเปนพวกเมืองอังวะขอให้ปล่อยไปเถิด  ถ้าไม่ปล่อยไป  กรุงอังวะกับกรุงศรีอยุธยาจะผิดใจกัน  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงให้ประชุมข้าราชการทั้งปวงมาปฤกษาว่า  บัดนี้จะเกิดความใหญ่โตแล้ว  ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด  ข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลว่า  เมื่อได้เกินเลยแล้วจำเปนต้องบุกบั่นไม่ถอยหลัง  ควรตระเตรียมผู้คนช้างม้าเสบียงอาหารไว้ให้บริบูรณ์  ซ่อมแซมค่ายคูประตูหอรบไว้ให้มั่นคง  แล้วเกณฑ์ให้กองทัพออกไปตั้งรักษาด่านทุกแห่งทุกตำบลในประเทศหนทางที่พม่าจะมานั้น”

          สาเหตุที่พระเจ้าอลองพญา  หรือมางลองจะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยานี้  ขุนหลวงหาวัดมิได้ให้การไว้  คำให้การชาวกรุงเก่าตรงนี้ความตรงกันกับประวัติศาสตร์พม่าฉบับ ดร. หม่อง ทินอ่อง  ที่ว่า  เจ้าเมืองทวายและชาวพม่าหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  อลองพญามีหนังสือมาทูลขอตัว  แต่พระเจ้าเอกทัศไม่ยอมคืนให้  อลองพญาจึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  ชาวกรุงเก่าให้การในการศึกครั้งนี้  สรุปได้ว่า  พระเจ้าอังวะยกทัพมีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ คน  เดินทัพเข้าทางมะริด  ตะนาวศรี  แต่พวกลาดตระเวนของกรุงศรีอยุธยากลับมีใบบอกเข้ามาว่า  พม่ายกทัพเข้ามาทางมะริด  ตะนาวศรี  ท่ากระดาน  กาญจนบุรี  และเชียงใหม่  พระเจ้าเอกทัศจึงสั่งให้เกณฑ์กองทัพไปตั้งรับพม่าตามทางที่มีใบบอกมานั้น  พร้อมกันนั้นก็ปรึกษาข้าราชการว่า  เมื่อพม่าข้าศึกยกมาเช่นนี้ควรจะเชิญพระอุทุมพรราชา  ที่ทรงพระผนวชอยู่นั้นให้ลาผนวชออกมาช่วยกันคิดการสงคราม  ข้าราชการทั้งปวงเห็นพ้องกัน  จึงเข้ากราบทูลเชิญให้ลาผนวชออกมา  พระอุทุมพรก็รับปากแล้วลาผนวชออกมาร่วมกันคิดการศึกสงคราม

          ชาวกรุงเก่าให้การอีกว่า  เวลานั้นมีที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่สำคัญอยู่ ๓ คน  คือพระยาราชมนตรี (ปิ่น)  ซึ่งเป็นน้องพระมเหสี ๑   เจ้าพระยาพินทุ ๑   พระยาราชวังสัน ๑   พระเจ้าเอกทัศเกิดระแวงเจ้าพระยาพินทุ กับ พระยาราชวังสัน  จึงมีรับสั่งให้เอาคนทั้งสองไปประหารเสีย  แล้วตั้งเจ้าแมลงเม่าซึ่งเป็นพระขนิษฐาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี  เจ้าแมลงเม่ามีพระราชธิดาองค์หนึ่ง  พระนามว่า  เจ้าฟ้าศรีจันทราเทวี (ราชประเพณีในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น  ถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโอรสเวลาประสูติต้องประโคมดนตรี ๔ ครั้ง  ถ้าเป็นราชธิดา  ให้ประโคมดนตรี ๓ ครั้ง)  พระอุทุมพรราชา ลาผนวชออกมาร่วมคิดการศึกสงครามแล้วตกลงกันให้จัดทัพออกต่อต้านพม่า  ซึ่งชาวกรุงเก่าได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนทัพต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

           “…….พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงให้สงกรานต์ ๑   วิสูทธามาตย์ ๑   พระยามหาเสนา ๑   พระยาพิไชย ๑   พระพิพัฒน์ ๑   หมื่นปรุง ๑   หมื่นวาสุเทพ ๑   คุมพลทหารคนละพัน ๆ ในกองหนึ่ง ๆ มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง   ช้างตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก   มีทวน ๒ เล่ม   มีทหารขี่ฅอ ๑   กลาง ๑   ท้าย ๑   แลมีพวกทหารตามช้างอีกช้างละร้อย ๆ  ให้เจ้าพระยาอภัยราชาถืออาญาสิทธิ์  เปนแม่ทัพใหญ่ยกไปรับทัพพม่าทางเมืองเชียงใหม่

          ให้ราชามาตย์ ๑   ราชาบาล ๑   พระทิพโยธา ๑   พระประรมพรรดิ ๑   พระเพ็ชร์พงศา ๑   หลวงจาโร ๑   หลวงหรไทย ๑   พระยาพิพัฒน์ ๑   พระพิพัฒน์โกษา ๑   ขุนพิพัฒน์ ๑   คุมพลทหารคนละพันละพัน  มีช้างคลุมเกราะเหล็ก กองละ ๑๐ ช้าง   ช้างตัว ๑ ตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก   มีพลทหารขี่ฅอ ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑   แลมีพลทหารถือทวนตามช้างอีกช้างละร้อยคน  ให้พระยาอภัยมนตรีเปนแม่ทัพใหญ่ ยกไปคอยรับทัพพม่าทางตำบลท่ากระดาน   พระเจ้าอังวะหาได้ยกมาทางเชียงใหม่แลท่ากระดานไม่  มาเสียทางเมืองมฤทเมืองตะนาวศรี

          พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงทราบว่าพม่ายกไพร่พลมามากกว่ามาก  มาทางเมืองมฤท  เมืองตะนาวศรี  จึงให้พระราชสงกรานต์ ๑   พลสู ๑   สรทิพรรดิ ๑   พระยาราชมังสังเสนี ๑   พระยาตานอง ๑   พระศรีพัฒน์ ๑   ธรรมรง ๑   พระยาเดโช ๑   พระท้ายน้ำ ๑   พระพิไชยนรินทร ๑   พระพิไชยรณรงค์ ๑   อินทรเทพ ๑   หลวงภิรมย์อินทรา ๑   หลวงรถาสอนไพ ๑   คุมทหารคนละพัน  ในกองหนึ่งมีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง   ช้างตัวหนึ่งมีปืนใหญ่ ๒ บอก มีทวน ๒ เล่ม มีควานประจำฅอ ๑  กลาง ๑  ท้าย ๑   แลมีพลทหารถือทวนตามช้างอีกช้างละร้อยคน  ให้เจ้าพระยาพระคลังเปนแม่ทัพยกไปตั้งที่ตำบลกิ่งดุง (เห็นจะเป็นตำบลกุ่มดอง)

          ให้พระยาราชสมบัติ ๑   พระยาจุหล่า ๑   พระสวีสวาสา ๑   พระสวีสวธภา ๑   หลวงทองบุญ ๑   หลวงศรีวรลักษณ์ ๑   หลวงศรีรุต ๑   หลวงราชพิมล ๑   หลวงแมน ๑   พระยาจ่าแสน ๑   มหาเทพ ๑   มหามนตรี ๑   ราชรินทร์ ๑   อินทรเดช ๑   คุมพลทหารคนละพันละพัน  ในกองหนึ่ง ๆ มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง  ช้างตัวหนึ่ง ๆ มีปืนใหญ่ ๒ บอก มีทวน ๒ เล่ม มีควานหัว ๑   กลาง ๑   ท้าย ๑   แลมีพลทหารถือทวนตามหลังช้างอีกช้างละร้อยคน  ให้พระยานครศรีธรรมราชเปนแม่ทัพยกไปตั้งที่เมืองราชบุรี”

          ในคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นกล่าวว่า  ให้พระยานครศรีธรรมราชเป็นแม่ทัพยกกำลังไปตั้งอยู่เมืองมะริด  ตะนาวศรี  ให้พระยามหาเสนาเป็นแม่ทัพนำกำลังไปตั้งรับทัพพม่าที่นครสวรรค์  ให้พระยากลาโหมเป็นแม่ทัพยกกำลังไปตั้งรับพม่าที่ท่ากระดาน  ให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพยกกำลังไปตั้งรับพม่าที่ราชบุรี  ให้พระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพยกไปตั้งที่ชัยนาท  แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดว่าเป็นการตั้งรับกองทัพพม่าของอลองพญา  หรือทัพมหานรทา  การตั้งทัพรบกับพม่าจึงถือว่าคำให้การชาวกรุงเก่ามีความชัดเจนกว่าคำให้การของขุนหลวงหาวัด

          พระเจ้าอลองพญายกทัพมาทางเมืองมะริด  ตะนาวศรี  เพียงทางเดียว  ชาวกรุงเก่าให้การว่ากองทัพอันมหึมาของอลองพญายกเข้าโจมตีเมืองมะริด  แม้กองทัพไทยมีกำลังน้อยกว่าแต่ก็สามารถรบกับทหารพม่าอย่างเหนียวแน่น  เป็นเวลานานถึง ๑๕ วัน  ไพร่พลข้างไทยสู้ไม่ได้ก็ถอยหนีมารวมกับกองทัพเจ้าพระยาพระคลังที่ตำบลกิ่งดุง  แล้วแยกย้ายกันถอยลงมาตั้งที่เมืองราชบุรี  พม่าก็ยกกำลังติดตามตี  นายทัพนายกองไทยที่มีฝีมือเข้มแข็งต้องอาวุธล้มตายเป็นอันมาก  ถอยร่นมาตั้งที่บ้านกงบ้านพาน  พม่าก็ตามตีแตกจนหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาในที่สุด  พระเจ้าอลองพญาจึงยกกองทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้โดยรอบ......

          กองทัพพม่าตีตลุยไล่กองทัพไทยที่แตกพ่ายตั้งแต่เมืองมะริดมาจนถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วตั้งทัพรายรอบกรุง  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณหุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพลิขสิทธิ์ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, มีนาคม, 2562, 10:26:47 PM
(https://i.ibb.co/T0R1GVR/E0-B899-E0-B8-B2-E0-B8-A2-E0-B881-E0-B8-ADE0-B88.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือการ์ตูน
"ขุนรองปลัดชู : ๔๐๐ กองอาทมาตประกาศศึก"

- อลองพญาตีอยุธยาไม่แตก -

อลองพญาพาพลพหลห้อม
เข้ารายล้อมกรุงไทยไว้แน่นหนา
เอกทัศจัดทูตออกพูดจา
ฝ่ายพม่าไม่ละระดมตี

ยิงปีนใหญ่หมายขย่มถล่มแหลก
แต่ปืนแตก“ยาลอง”เจ็บต้องหนี
ถอยทัพล่าคืนหลังยังบุรี
สิ้นชีวีในแคว้นดินแดนตน


          อภิปราย ขยายความ.............

          ชาวกรุงเก่าให้การอีกว่า  “ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงทรงปฤกษากับนายทัพนายกองทั้งปวงว่า  ทัพพม่ายกมาครั้งนี้มากมายนัก  ฝ่ายเราให้ยกทัพไปตั้งรับหลายตำบลก็เสียทีแก่พม่า  ถ้าจะตั้งเขี้ยวขับกันอยู่อย่างนี้  ก็จะได้ความเดือดร้อนแก่สมณะชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก  ควรจะให้คนที่เฉลียวฉลาดออกไปเจรจาขอทำไมตรีกันเสีย  ท่านทั้งปวงจะเห็นเปนประการใด  บรรดาข้าราชการทั้งปวงก็เห็นชอบตามพระราชดำริห์  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงให้พระยาราชเสนีอำมาตย์ ๑   พระมนะภัย ๑   ขุนสุดวาสวรรค์ ๑  ออกไปเจรจาทัพ

          ครั้นข้าราชการทั้ง ๓ คน  ไปถึงค่ายพม่าจึงชี้แจงให้นายทัพนายกองพม่านำความกราบทูลพระเจ้าอังวะว่า  พระนครอังวะกับพระนครศรีอยุธยา ๒ ประเทศนี้เปนราชธานีมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองทั้ง ๒ ประเทศ  ตามประเพณีมหากษัตริย์แล้วย่อมตั้งพระทัยที่จะบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่เย็นเปนสุข  แลแผ่พระราชอาณาจักรกว้างขวางโดยยุติธรรม  ถึงคราวจำเป็นที่จะทำศึกสงครามปราบปรามบ้านเมือง  หรือป้องกันข้าศึกศัตรูก็ต้องผันผ่อนทำแต่ที่จำเป็น  อย่าให้ถึงแก่ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความเดือนร้อนมากเกินไป  ซึ่งพระเจ้าอังวะยกทัพใหญ่มาคราวนี้  ก็มีพระราชประสงค์จะแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวาง  ข้างกรุงศรีอยุธยาก็จำเปนที่จะต้องป้องกันบ้านเมืองเพื่อรักษาอำนาจแลเกียรติยศ  เปรียบเหมือนหนึ่งช้างสารที่สู้กัน  บรรดาพืชพรรณไม้แลใบหญ้าที่เกิดขึ้นตามพื้นแผ่นดินก็มีแต่จะแหลกลเอียดย่อยยับไป  เหมือนราษฎรแลไพร่พลที่ย่อยยับล้มตายลงด้วยการทัพศึก  บัดนี้พม่ากับไทยก็ได้สู้รบกันมาหลายครั้ง  พลทหารก็ล้มตายลงด้วยกันเปนอันมาก  แม้หากจะได้ไชยชนะกันข้าง ๑ ก็ไม่เพียงพอกับที่เสียหาย  เพราะฉะนั้นให้ท่านทูลเจ้านายของท่านให้ยอมทำไมตรีเปนทองแผ่นเดียวกันเสีย  บ้านเมืองจะได้ปราศจากเสี้ยนหนามทั้ง ๒ ฝ่าย  ทั้งจะได้ปรากฏเกียรติยศเปนที่ยกย่องสรรเสริญทั้ง ๒ ฝ่าย  ว่าแผ่นดินทั้ง ๒ ประเทศมีพระทัยประกอบด้วยพระกรุณาไพร่ฟ้าประชาชนมิให้เดือดร้อน

          เมื่อพวกกรุงศรีอยุธยาออกไปเจรจากับนายทัพนายกองพม่าดังนี้  นายทัพนายกองพม่าก็นำความกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ก็ไม่ยอมตาม  ข้าราชการทั้ง ๓ ก็กลับมาทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ๆ ก็ให้คนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินให้มั่นไว้  พระเจ้าอังวะก็ให้เข้าตีหักเอาพระนครศรีอยุธยาเปนสามารถ  ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเข้ามาในเมืองเปนห่าฝน  แต่ระดมตีเมืองอยู่ ๒-๓ วันก็หักเอาไม่ได้  จึงให้เผาบ้านเรือนราษฎรในภายนอกพระนครเสียสิ้น  แล้วพระเจ้าอังวะก็ยกทัพกลับพระนครทางตำบลวัสลูโพะแร”

          นี่คือสาเหตุที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ  ตามคำให้การของชาวกรุงเก่า  สาเหตุสำคัญก็คือ  พระยาเกียรติพระยารามชาวมอญหนีจากเมาะตะมะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าเอกทัศ  ทำให้พระเจ้าอลองพญาไม่พอพระทัยจึงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  แต่ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้รายละเอียดลงไปว่า  เหตุที่ชาวมอญหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้นเป็นเพราะ พระเจ้าอลองพราญี (อลองพญา)  เมื่อได้เป็นใหญ่ขึ้นแล้วก็ปรารถนาจะแผ่พระราชอำนาจ  จึงยกทัพลงมาตีเมืองมอญ  ยึดเมืองปรอน  เมืองย่างกุ้ง

          พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าจะต้านทานกำลังอลองพราญีไม่ได้  ก็ปรึกษาอำมาตย์ว่า  เมื่อมาถึงขั้นนี้เราควรจะแต่งธิดาออกไปถวายมังลอง (อลองพญา)  ยอมแพ้ขอเป็นเมืองขึ้น  จึงจะพ้นภัย  พระยาอุปราชาและท้าวพระยาสมิงรามัญทั้งปวงพากันคัดค้าน  และพากันทูลว่า  “ข้าพเจ้านายทัพนายกองทั้งปวงมีฝีมือพอทัดกันอยู่กับทหารพม่า  ซึ่งจะอ่อนน้อมยอมแพ้เขานั้น  มีความละอายอัปยศนัก  จะขอต่อสู้พม่ากว่าจะสิ้นชีวิต  ไม่ยอมเป็นข้าพม่าแล้ว”  ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีก็ไม่ฟังคำค้าน  จึงแต่งธิดากับบรรณาการและราชสาส์นอ่อนน้อม  ให้ขุนนางนำไปถวายพระเจ้ามังลอง  เมื่อได้รับพระธิดาและทราบความในราชสาส์นแล้ว  อลองพราญีก็สั่งให้งดการรบรออยู่สองสามวัน

          ฝ่ายอุปราชา  พระยาทละ  ตละปั้น  และท้าวพระยาสมิงรามัญทหารทั้งหลายก็โกรธพระเจ้าหงสาวดี  ด้วยความละอายอัปยศแก่พม่ายิ่งนัก  จึงลอบคุมพลทหารประมาณหมื่นเศษลอบยกออกจากเมืองไปในเวลากลางคืน  จู่โจมเข้าตีปล้นค่ายพม่าแตกพ่ายไปถึงเก้าค่าย  ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก  แล้วก็เข้าตั้งรักษาอยู่ในค่ายที่ตีได้นั้น ๆ

          พระเจ้าอลองพญาทราบว่ามอญลอบตีค่ายของตนได้ดังนั้นก็โกรธมาก  ตรัสว่าพระเจ้าหงสาวดีเสียสัตย์  ล่อลวง  จะต้องตีเอาเมืองให้จงได้  แล้วสั่งนายทัพนายกองจัดแจงการรบให้แข็งขันกว่าแต่ก่อน  ส่วนว่าพระเจ้าหงสาวดีนั้น  เมื่อทราบว่าทหารมอญมีชัยแก่พม่าดังนั้นก็มีความยินดีแล้วจึงว่า  “ท่านทั้งปวงไม่ฟังเรา  ชวนกันออกรบพม่าได้ชัยชำนะ  แต่ตัวเราเคราะห์ร้ายเสียบุตรีคนหนึ่ง  ก็แล้วไปเถิด  เราจะคิดทำสงครามกับพม่าด้วยท่านทั้งปวงสืบไปอีก”  จากนั้นพม่ากับมอญก็รบกันอย่างดุเดือด  ใช้เวลารบกันอยู่นานถึงเจ็ดเดือนเศษ  หงสาวดีก็ตกอยู่ในมือของอลองพญา  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้รายละเอียดในสงครามพม่ารามัญไว้ว่า

           “พระเจ้าอลองพราญีกระทำสงครามกับรามัญตั้งแต่ตีเมืองย่างกุ้ง  เมืองเสี่ยง  จนตีเมืองหงสาวดีได้นั้น  ถึงปีเศษจึงเสร็จการศึก  ให้จับพวกมอญเชลย  ทั้งคฤหัสถ์สมณะฆ่าเสียด้วยน้ำ  ด้วยเพลิง  ด้วยศัสตราวุธต่าง ๆ  ตายมากกว่ามาก  และจับตัวพระยาหงสาวดี  และพระยาอุปราชา  พระยาทละ  และพระญาติวงศาท้าวพระยาสมิงรามัญทั้งปวงกับทั้งครอบครัวอพยพชาวเมืองเป็นอันมาก  ให้กวาดต้อนขึ้นไปก่อน  แล้วทัพหลวงจึงเลิกตามขึ้นไปยังเมืองรัตนสิงค์ต่อภายหลัง  และตละปั้นนั้นหนีไปได้  ให้พลทหารไปตามจับไม่ได้ตัว  และสมิงแซงบูได้เป็นเจ้ารามัญอยู่ได้เจ็ดปีก็เสียเมืองแก่พม่า”

          พระราชพงศาวดารฉบับนี้มิได้กล่าวถึงสาเหตุที่อลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาด้วยอ้างว่ากรุงศรีอยุธยารับอุปการะขุนนางชาวมอญดังที่ชาวกรุงเก่าและขุนหลวงหาวัดให้การไว้  ความในพงศาวดารฯกล่าวแต่ว่า  หลังจากชนะเมืองหงสาวดีได้ครอบครองมอญทั้งหมดแล้ว  อลองพญาว่างศึกบำรุงช้างม้ารี้พลอยู่สามปี  จากนั้นก็ระดมพลยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  โดยเดินทัพตีหัวเมืองต่าง ๆ  เช่นเดียวกันกับที่ขุนหลวงหาวัดและชาวกรุงเก่าให้การไว้  จะต่างกันก็โดยรายละเอียดข้อปลีกย่อย  เช่นว่ามีกรมการเมืองวิเศษชัยชาญ  ชื่อ  ขุนรองปลัดชูผู้อยู่ยงคงกระพัน  ขันอาสานำพรรคพวกเข้าร่วมรบพม่า  และผลก็คือ  ขุนรองปลัดชูถือดาบสองมือเข้าฟาดฟันทหารพม่าอย่างเหี้ยมหาญจนหมดแรง  ถูกพม่าจับได้แล้วใช้ช้างเหยียบจนตายในที่สุด  และตอนที่ว่าด้วยอลองพญาถอยทัพกลับไปนั้น  ให้รายละเอียดไว้ว่า

           “ครั้น ณ วันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๖ ปีมะโรง โทศก  กองทัพพม่าเลิกกลับไปทางเหนือตามแนวแม่น้ำใหญ่  และได้ข่าวว่าพระเจ้าอลองพราญีมังลอง (อลองพญา) มาให้จุดปืนใหญ่ยิงปราสาท  ปืนแตกต้องพระกาย  กลับไปค่ายบางกุ่ม  ประชวรหนัก  จึงเร่งเลิกทัพกลับไปโดยเร็ว  ให้แมงละแมงข่องคุมพลหมื่นหนึ่งอยู่รั้งหลัง  และทัพหลวงนั้นยกรีบไปถึงตำบลเมาะกะโลก  นอกด่านเมืองตากเป็นระหว่างแดนต่อแดน  พระเจ้าอลองพราญีมังลองก็ดับสูญทิวงคตในที่นั้น  แต่ได้เสวยราชสมบัติอยู่แปดปี”

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  เรียกพระนามอลองพญาว่า  อลองพราญี  นายทหารคนสำคัญที่  มังลอก  มังระ  เกรงกลัวนักหนานั้นพม่าเรียกว่า  มังฆ้องนรธา  แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกว่า  แมงละแมงข่อง  ถิ่นกำเนิดของหม่องอองไจยะ  หรือ  อลองพญา  คือ  ชเวโบ  “ดินแดนแห่งขุนพลทอง” นั้น  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกว่า  เมืองรัตนสิงค์  การศึกสงครามกับพระเจ้าอลองพญานั้น  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  กับคำให้การชาวกรุงเก่า  ตรงกันว่า  พระอุทุมพรราชาที่ทรงพระผนวชอยู่นั้นได้รับอาราธนาให้ลาสิกขาออกมาช่วยคิดการศึกสงครามด้วย  และเมื่อเสร็จศึกแล้วก็กลับไปผนวชตามเดิม  แต่ความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้รายละเอียดลึกลงไปว่า  เมื่อพม่าล่าไปหมดแล้ว  พระอุทุมพรยังมิได้กลับไปผนวชในทันที  ยังคงเข้าเฝ้าพระเจ้าเอกทัศอยู่เนือง ๆ  เหตุที่จะทรงพระผนวชใหม่นั้นพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า

           “ อยู่มาวันหนึ่งเพลากลางคืน  มีพระราชโองการให้พระอนุชาธิราชเข้าเฝ้าถึงที่ข้างใน  ครั้นเสด็จเข้าไป  ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าพี่ถอดพระแสงดาบพาดพระเพลาอยู่  ก็เข้าพระทัยว่าทรงรังเกียจจะทำร้าย  มิให้อยู่ในฆราวาส  จึงเสด็จกลับออกมา ณ ที่ข้างหน้า  ครั้นถึง ณ เดือน ๘ ข้างขึ้น  จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไป ณ วัดโพธิ์ทองคำหยาด  ทรงพระผนวชแล้วเสด็จกลับมาอยู่ ณ วัดประดู่ดังแต่ก่อน”  ((ราษฎรจึงพากันขนานพระนามพระองค์ว่า “ขุนหลวงหาวัด”))

          ศึกสงครามไทย-พม่าในสมัยพระเจ้าเอกทัศ  ยกแรกพระเจ้าอลองพญายกมาทางเมืองมะริด  ตีทัพไทยแตกย่อยยับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วตั้งค่ายรายล้อมกรุงไว้โดยรอบ  พระเจ้าเอกทัศส่งทูตเข้าเจรจาอย่าทัพ  เป็นไมตรีต่อกัน  แต่อลองพญาไม่ยอม  ระดมตีกรุงศรีอยุธยาด้วยปืนน้อยใหญ่  พระองค์ทรงปืนใหญ่ด้วยพระองค์เอง  เล็งยิงถล่มปราสาทราชวัง  แต่ปืนกลับแตกทำให้พระองค์บาดเจ็บสาหัสจึงสั่งเลิก  ล่าทัพกลับไปแล้วสิ้นพระชนม์ที่เมาะกะโลกนอกเขตแดนไทย  พระอุทุมพรราชา  เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วก็ทรงไปผนวช ณ วัดคำหยาด (อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ในปัจจุบัน)  แล้วกลับมาประทับ ณ วัดประดู่ตามเดิม  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มีนาคม, 2562, 10:23:14 PM
(https://i.ibb.co/RNVHr4j/2140813512.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- มังระครองพม่าแล้วมาตีไทย -

สิ้นมังลองครองพม่าตำราบอก
มีมังลอกลูกใหญ่ได้รับผล
สืบสมบัติแทนบิดาหมดมณฑล
แล้วยกพลตีเชียงใหม่ได้ครอบครอง

สิ้นมังลอกมีมังระสืบสมบัติ
เป็นกษัตริย์ที่พม่าพายกย่อง
ยกพหลพลโยธามาเนืองนอง
สยามพร่องผู้นำทัพพ่ายยับเยิน


          อภิปราย ขยายความ.................

          หันไปดูเรื่องราวในพม่านั้นสรุปความได้ว่า  เมื่อพระเจ้าอลองพญา (มังลอง) สวรรคตแล้ว   “มังลอก” อุปราชขึ้นครองราชสมบัติ  ตั้งมังระอนุชาเป็นอุปราช  ส่วนมังฆ้องนรธาขุนพลคนสำคัญของอลองพญาไม่พอใจจึงปักหลักอยู่ที่กรุงอังวะจนถูกกล่าวหาว่าเป็นขบถ  แล้วถูกฆ่าตายในที่สุด  พระเจ้ามังลอกครองราชย์แล้วยกทัพมาตีเชียงใหม่ได้สำเร็จ  กลับไปครองราชย์อยู่ได้ประมาณ ๓ ปี  ก็สวรรคต  มังระจึงขึ้นครองราชย์แทน  แล้วย้ายจากชเวโบ  หรือ  รัตนสิงค์  มาอยู่ ณ กรุงอังวะ  จากนั้นจึงขยายพระราชอำนาจด้วยการตีบ้านเมืองต่าง ๆ แล้วรวบไว้ในพระราชอำนาจ  และจัดทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา  โดยยกมาทางใต้และทางเหนือพร้อมกัน  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้รายละเอียดในการยกทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาไว้ว่าดังนี้

           “ในปีวอก ฉศกนั้น (จุลศักราช ๑๑๒๖ = พ.ศ.๒๓๐๗)  ฝ่ายพุกามประเทศ  พระเจ้าอังวะมังระ  ให้เกณฑ์กองทัพพลฉกรรจ์ลำเครื่องสองหมื่นห้าพัน  สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศัสตราวุธให้พร้อมไว้  คิดจะยกมาตีพระนครศรีอยุธยาอีก  พอมีหนังสือเมืองเมาะตะมะบอกขึ้นไปว่า  ชาวเมืองทวายคิดกบฏ  ฆ่าเจ้าเมืองกรมการและไพร่พลซึ่งลงไปรักษาเมืองนั้นเสียสิ้น  พระเจ้าอังวะจึงให้จัดทัพเป็นสองทัพ  ให้มังมหานรทาเป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่  เมฆราโบเป็นทัพหน้า  ติงจาแม่งข่องเป็นยกกระบัตร  เสนัดหวุ่นเป็นเกียกกาย  ปกันหวุ่นเป็นทัพหลัง  ถือพลหมื่นห้าพัน  ให้ยกมาทางใต้ทัพหนึ่ง  ไปตีเมืองทวาย  ได้แล้วให้ยกเข้าตีกรุงเทพมหานคร  อีกทัพหนึ่งนั้นให้เนเมียวมหาเสนาบดีเป็นแม่ทัพ  ฉับกุงโบเป็นทัพหน้า  แนกวนจอโบเป็นยกกระบัตร  เมี้ยนหวุ่นเป็นเกียกกาย  อุดมสิงหจอจัว  เจ้าเมืองปรอนเป็นทัพหลัง  ถือพลหมื่นหนึ่ง ให้ยกมาทางเหนือทัพหนึ่ง  ให้บรรจบกับมังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ไปตีกรุงเทพมหานครทั้งสองทัพ

          ครั้นถึงวันได้ศุภฤกษ์  จึงนายทัพนายกองทั้งสองทัพก็ทูลลาพระเจ้ากรุงอังวะ  แล้วยกทัพแยกกันมาทั้งสองทาง  ฝ่ายมังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ซึ่งยกมาทางใต้นั้น  จึงให้เมฆราโบ ๑   ติงจาแมงข่อง ๑   เสนัดหวุ่น ๑   คุมพลห้าพันยกล่วงมาตีทวายก่อน  แต่ตัวมังมหานรทากับปกันหวุ่นซึ่งถือพลหมื่นหนึ่งนั้นยกตามมาภายหลัง  นายทัพทั้งสามซึ่งเป็นกองหน้ายกเข้าตีเมืองทวาย  และหุยตองจาเจ้าเมืองยกพลทหารออกสู้รบ  สู้พม่ามิได้ก็แตกพ่ายทิ้งเมืองเสีย  พาสมัครพรรคพวกครอบครัวของตัวหนีลงมาเมืองตะนาวศรี  กรมการเมืองตะนาวศรีจึงบอกข้อราชการศึกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร  ในเดือน ๖ ปีวอก ฉศก  ว่ากองทัพพม่ายกมาตีเมืองทวายเสียแล้ว  จะยกมาตีเมืองมฤตเมืองตะนาวศรี  โกษาธิบดีจึงกราบบังคมทูลตามหนังสือบอกข้อราชการนั้น

          ฝ่ายมังมหานรทาแม่ทัพยกลงมาถึงเมืองทวาย  จึงให้กองหน้ายกไปตีเมืองมฤต  เมืองตะนาวศรีแตกทั้งสองเมือง  หุยตองจาเจ้าเมืองทวายหนีลงไปทางเมืองกระ  เข้าเมืองชุมพร  ทัพพม่าตามลงไปเผาเมืองชุมพรเสีย  แล้วยกลงมาตีเมืองปทิว  เมืองกุย  เมืองปราณ  แตกทั้งสามเมือง  แล้วกลับไปเมืองทวาย

          ฝ่ายหุยตองจากับกรมหมื่นเทพพิพิธก็หนีเข้ามา ณ เมืองเพชรบุรี  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบว่า  เสียหัวเมืองแก่ข้าศึกเป็นหลายเมือง  จึงโปรดให้ส่งหุยตองจาไปอยู่ ณ เมืองชลบุรี  ให้ส่งกรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่ ณ เมืองจันทบูร  แล้วดำรัสให้เกณฑ์กองทัพสามพัน  โปรดให้พระพิเรนทรเทพเป็นแม่ทัพ  ยกออกไปตั้งรับข้าศึกอยู่ ณ เมืองกาญจนบุรี

          ครั้นถึงเดือน ๗ มังมหานรทาให้กองหน้าสามนาย  พลห้าพัน  ยกกองทัพเข้ามาเมืองกาญจนบุรี  เข้าตีทัพพระพิเรนทรเทพแตกพ่ายมา  ทัพพม่ายกตามเข้ามาตั้งค่ายอยู่ตำบลบ้านลูกแก  ขณะนั้นเรือลูกค้ามาจอดคั่งกันอยู่ที่นั้นเป็นอันมาก  พม่าลงไล่ฆ่าฟันตายในน้ำและบนบก  และจับเป็นได้ก็มาก  แล้วพม่าก็ยกไปตั้งค่ายอยู่ ณ ตอกระออมและดงรังหนองขาว  ให้ต่อเรือรบเรือไล่อยู่ที่นั้น  แล้วจัดทัพให้ยกแยกกันไปตีเมืองราชบุรี  เมืองเพชรบุรี  มิได้มีผู้ใดต่อรบ  ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น  พม่าเที่ยวไล่ค้นจับผู้คนครอบครัวได้บ้าง  แล้วยกกลับไปยังค่ายซึ่งตั้งอยู่นั้น  และรอทัพต่อเรือฟังข่าวกองทัพทางเหนืออยู่จนถึงปีระกา สัปตศก

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสสั่งเสนาบดีให้จัดแจงเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปากใต้ทั้งปวงและให้ทัพบกยกไปตั้งค่ายรับข้าศึกอยู่ตำบลบำหรุใต้เมืองราชบุรี  ให้ทัพเรือไปตั้งอยู่หัวเมืองตำบลบางกุ้ง  และให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ตะวันออก  ตะวันตก  เข้ามาช่วยการสงครามป้องกันพระนคร  ให้ทัพเมืองพิษณุโลกมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดภูเขาทอง  ให้ทัพเมืองนครราชสีมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดพระเจดีย์แดง  แล้วให้พระยารัตนาธิเบศคุมทัพเมืองนครราชสีมายกลงมาตั้งรักษาเมืองธนบุรี  ให้พระยายมราชเกณฑ์กองทัพหัวเมืองอื่นยกลงมาตั้งรักษาเมืองนนทบุรี  และทัพหัวเมืองนอกนั้นให้เกณฑ์เข้ามาบรรจบกับพลชาวพระนคร  ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ  สรรพด้วยปืนใหญ่น้อยเครื่องสรรพาวุธ  พร้อมแล้วให้กวาดครอบครัวพลชาวเมืองและเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร

          ขณะนั้นเจ้าพระยาพิษณุโลกให้พระยาพลเทพกราบทูลพระกรุณาถวายบังคมลากลับขึ้นไปปลงศพมารดา  จะขอพระราชทานให้หลวงมหาดไทย  หลวงโกษา  หลวงเทพเสนา  อยู่คุมทัพ ณ วัดภูเขาทองแทนตัว  ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับไปเมือง”

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  เนเมียวมหาเสนาบดีแม่ทัพทางเหนือ (ชาวล้านนาเรียกชื่อว่า โป่สุพลา)  ตั้งทัพที่เชียงใหม่  ให้ฉับกุงโบ  แนกวนจอโบ  เมี้ยนหวุ่น  คุมทหารห้าพัน  ยกลงมาตั้งค่ายมั่นที่กำแพงเพชร  ให้ต่อเรือรบลำเลียงและตระเตรียมเสบียงอาหารที่นั่นประมาณ ๔ เดือน  แล้วเคลื่อนลงไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์  เมื่อถึงเดือน ๑๑ สิ้นฝนแล้ว  เนเมียวฯ จึงยกทัพจากเชียงใหม่มาทางด่านสวรรคโลก  เข้าตีเมืองสุโขทัยแตกแล้วเข้าตั้งทัพอยู่ในเมือง  พระยาสุโขทัยและพระยาสวรรคโลกพาครอบครัวพลเมืองหนีเข้าป่าแล้วจัดพลทหารยกมาตั้งรับล้อมเมืองไว้  ความทราบถึงพระเจ้าเอกทัศจึงให้มีตราขึ้นไปถึงเจ้าพระยาพิษณุโลก  ให้ยกกำลังไปตีพม่าที่เมืองสุโขทัย  เจ้าพระยาพิษณุโลกยกทัพไปรบกับเนเมียวฯ ที่เมืองสุโขทัยยังไม่ทันแพ้ชนะแก่กัน  เจ้าฟ้าจีดก็ลอบขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดครองเมืองพิษณุโลก  เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบจึงต้องเลิกทัพกลับมาชิงเมืองคืน  จับตัวเจ้าฟ้าจีดได้แล้วถ่วงน้ำเสียในที่สุด

          ทางฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกมาทางทิศใต้นั้น  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  เมฆราโบกองหน้าของมังมหานรทายกทัพเรือมีพลพันเศษลงมาตีค่ายทัพไทยที่ตำบลบำรุแตก  และยกลงมาตีค่ายตำบลบางกุ้งแตกอีก  แล้วยกล่วงเข้าถึงเมืองธนบุรี  พระยารัตนาธิเบศมิได้สู้รบก็หนีเข้ากรุงศรีอยุธยา  กองทัพเมืองนครราชสีมาก็เลิกไปทางฟากตะวันออก  กลับไปเมืองเสียสิ้น  พม่าได้เมืองธนบุรีแล้วเข้าตั้งอยู่สามวันก็เลิกทัพกลับไป ณ  ค่ายตอกระออมดังเก่า

          ในช่วงเวลานั้น  มีกำปั่นอังกฤษลำหนึ่งบรรทุกผ้าสุหรัดเข้ามาจำหน่ายที่กรุงศรีอยุธยา  โกษาธิบดีถามนายกำปั่นว่า  ถ้าพม่าเข้ามาตีเมืองธนบุรีอีก  จะช่วยไทยรบพม่าหรือจะหนีไปเสีย  นายกำปั่นว่าจะช่วยรบ  แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้เพื่อให้กำปั่นเบาก่อน  ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นจากเรือแล้ว  นายกำปั่นก็ถอยเรือกำปั่นล่องลงไป  ทอดสมอลอยลำอยู่ ณ ปากคลองบางกอกใหญ่  เมฆราโบยกทัพมาอีก  แล้วเข้าเมืองโดยไม่มีใครสู้รบ  เขาเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมวิไชเยนทร์  ยิงตอบโต้กับกำปั่นจนพลบค่ำ  กำปั่นก็ถอนสมอลอยลำขึ้นไปทอดอยู่เหนือเมืองนนทบุรี  และกองทัพพระยายมราชซึ่งตั้งอยู่เมืองนนท์นั้นก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย  มิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า  พม่าเข้าตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรีแล้ว  จึงแบ่งทัพขึ้นมาตั้งค่าย ณ วัดเขมาตลาดแก้วทั้งสองฟาก  ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่นจึงขอเรือกราบลงมาชักสลุบช่วงล่องลงไปไม่ให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่า ณ วัดเขมาก็ให้จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง  ยิงค่ายพม่าทั้งสองฟาก  พม่าต้องปืนล้มตายป่วยลำบากแตกหนีออกหลังค่าย  ครั้นเพลาเช้าน้ำขึ้นสลุบช่วงก็ถอยขึ้นมาหากำปั่นใหญ่  ซึ่งทอดอยู่เหนือเมืองนนท์

          ฝ่ายทัพพม่าก็เข้าค่ายเมืองนนท์  ครั้นเวลาค่ำให้ชักสลุบล่องลงไปอีก  จุดปืนรายแคมยิงค่ายเมืองนนท์  พม่าหนีออกไปซุ่มข้างหลังค่าย  อังกฤษและไทยลงสำปั้นขึ้นไปเก็บของในค่าย  พม่ากลับกรูกันเข้ามาข้างหลังค่าย  ไล่ฟันแทงไทยและอังกฤษแตกหนีออกจากค่ายลงสำปั้น  และตัดศีรษะล้าต้าของอังกฤษได้คนหนึ่งเอาขึ้นเสียบประจานไว้หน้าค่าย  นายกำปั่นจึงบอกแก่ล่ามว่าปืนในกำปั่นกระสุนย่อมกว่าปืนพม่า  เสียเปรียบข้าศึก  จะขอปืนใหญ่กระสุนสิบนิ้วสิบกระบอก  แล้วจะขอเรือรบพลทหารสิบลำ  จะลงไปรบพม่าอีก  ล่ามกราบเรียนแก่เจ้าพระยาพระคลัง ๆ กราบบังคมทูล  จึงโปรดให้เอาปืนใหญ่สิบกระบอกบรรทุกเรือใหญ่ขึ้นไปกำปั่น  แต่เรือสิบลำนั้นยังหาทันจัดแจงให้ไปไม่  ครั้นเพลาบ่ายอังกฤษล่องกำปั่นและสลุบช่วงลงไปจนพ้นเมืองธนบุรี  แล้วจึงทอดสมออยู่

          ขณะนั้นไทยในกรุงเทพมหานคร  ลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้ หมากพลู ณ สวน  อังกฤษจับขึ้นไว้ในกำปั่นมากกว่าร้อยคน  แล้วก็ใช้ใบหนีไปออกท้องทะเล  ครั้นเพลาค่ำไทยหนีขึ้นมาถึงพระนครได้สองคน  จึงรู้เนื้อความว่ากำปั่นอังกฤษมิได้อยู่รบพม่า  หนีไปแล้ว  ได้แต่มัดผ้าซึ่งขนขึ้นไว้สี่สิบมัด

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดี  แม่ทัพพม่าทางเหนือ  กับนายทัพนายกองของตนได้ทำการสู้รบกับไทยอยู่ ณ เมืองสุโขทัยจนถึงเดือนยี่ก็เลิกทัพ  ยกลงมาบรรจบกับทัพหน้าที่เมืองกำแพงเพชร  ฝ่ายมังมหานรทา  แม่ทัพพม่าทางใต้ก็ยกทัพใหญ่จากเมืองทวายมาบรรจบกับทัพหน้าที่ตอกระออม  แล้วแบ่งทัพให้ปกันหวุ่น  แยจออากา  จิกะเรจอโบ่  บรรจบกับเสนัดหวุ่นกองหน้า  ให้ยกทัพเรือหนุนทัพเมฆราโบ ณ เมืองนนทบุรี  ตัวมังมหานรทากับติงจาแมงข่อง  จอกกาโบ  จอกยีโบ  งาจุนหวุ่น  จิกแกทวาย  ยกทัพมาทางเมืองสุพรรณบุรี  เข้ามายังพระนคร  ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ตำบลสีกุก  ส่วนกองทัพเรือนั้นยกจากเมืองนนท์ขึ้นมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางไทร  พม่ามีใจบาปหยาบช้า  จึงพากันรื้อโบสถ์วิหารเอาอิฐน้อยใหญ่ทั้งปวงไปก่อกำแพงล้อมค่ายของตนทั้งสองตำบล  ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดีก็ยกลงมาจากกำแพงเพชรบรรจบกับเนกวนจอโบกองหน้าที่นครสวรรค์  แล้วยกลงมาพระนคร  ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ  และรื้อเอาอิฐจากโบสถ์วิหารวัดต่าง ๆ ในย่านนั้นมาก่อเป็นกำแพงล้อมค่ายของตนเช่นกัน

          กล่าวถึงพระเจ้าอังวะเวลานั้น  ได้ตั้งให้แมงกิม้ารหญ่าลงมาครองเมืองทวายแล้วให้เกณฑ์กองทัพพม่ารามัญยกหนุนเพิ่มเติมมาอีก  และสุรินจอข่อง  มณีจอข่อง  มหาจอแทง  อากาปันญี  สี่นายถือพลพม่าพันเศษมาพักอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ  แล้วเดินทัพเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี  ในเดือนยี่  ปีระกา  สัปตศก  มาตั้งค่ายอยู่ที่แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ  พระยาเจ่ง  ตละเสี้ยง  ตละเกล็บ  คุมทหารรามัญเมืองเมาะตะมะสองพันเศษยกมาทางกาญจนบุรี  มาถึงค่ายตอกระออมแล้วยกทัพเรือหนุนเข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ขนอนหลวง  วัดโปรดสัตว์.,,,,,,,

          ** อ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาข้างต้นแล้ว  เห็นได้ชัดว่าทหารไทยไร้ฝีมือและจิตใจที่จะรบกับพม่า  จึงถูกพม่าตีแตกหมดทุกทัพทุกทาง  สถานภาพกรุงศรีอยุธยาตอนนี้ร่อแร่ใกล้ล่มสลายเต็มที  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ....

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอบคุณเจ้าของภาพลิขสิทธิ์ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มีนาคม, 2562, 10:18:18 PM
(https://i.ibb.co/0XMnVWd/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน : สิงห์บุรี

- วีรกรรมชาวบ้านบางระจัน -

“บางระจัน”บ้านไทยใจหาญกล้า
รวมพวกทบรบพม่าน่าสรรเสริญ
พม่ามอญมาตีมีมากเกิน
ซ้ำรัฐเมินไม่มองต้องปราชัย


          อภิปราย ขยายความ....................

          ในเดือน ๓ ปีระกา สัปตศก นั้น  พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ  เมืองสิงคบุรี  เมืองสรรคบุรี  พากันลวงพม่าว่าจะให้ลูกสาวและทรัพย์สินเงินทอง  พวกชาวเมืองเหล่านั้นมีหัวหน้าชื่อ นายแท่น ๑   นายโช ๑   นายอิน ๑   นายเมือง ๑  ชาวบ้านสีบัวทองแขวงเมืองสิงค์  นายดอกชาวบ้านตรับ  นายทองแก้วชาวบ้านโพทะเล  คนเหล่านี้มีสมัครพรรคพวกมาก  เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าซึ่งยกทัพมาทางอุทัยธานี  ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัดให้ส่งลูกสาว  จึงให้นายโชคุมพรรคพวกเข้าเข่นฆ่าพม่าตาย ๒๐ เศษ  แล้วก็พากันหนีเข้าหาพระอาจารย์ธรรมโชติ  วัดเขานางบวช  ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์ธรรมโชติผู้มีวิชาความรู้ดีได้มาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น ณ บ้านระจัน  ยามนั้นนายแท่น  กับผู้มีชื่อเหล่านั้นได้ชักชวนคนชาวบ้านได้ ๔๐๐ เศษ  มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านระจันทั้งสองค่าย  พระอาจารย์ธรรมโชติลงกะตรุด  ประเจียดและมงคลแจกให้  

          มีพม่าประมาณร้อยคนเศษตามมาจับพันเรือง  ถึงบ้านระจันก็หยุดอยู่ฝั่งแม่น้ำอีกฟากหนึ่ง  นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนรักษาค่ายแล้วพาคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบพม่า  พม่ายิงปืนได้นัดเดียว  นายแท่นกับคนสองร้อยล้วนถืออาวุธสั้นเข้าฟันแทงพวกพม่าถึงขั้นตะลุมบอน  ฆ่าพม่าตายทั้งร้อยเศษ  เหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าควบหนีไปได้  แล้วไปแจ้งความแก่นายทัพนายกองซึ่งตั้งทัพอยู่ที่ค่ายวิเศษชัยชาญ  แล้วบอกไปถึงแม่ทัพ  แม่ทัพจึงแต่งให้งาจุนหวุ่น  คุมพลห้าร้อยมาตีค่ายบ้านระจัน  นายค่ายบ้านระจันก็ยกกำลังออกรบ  ตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีไป  ที่ล้มตายเจ็บป่วยก็มีเป็นอันมาก  แม่ทัพพม่าจึงให้เยกิหวุ่นคุมพลเจ็ดร้อยยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกครั้ง  แต่ก็ถูกต้านตีแตกพ่ายอีกครั้งหนึ่ง  แม่ทัพพม่าจึงให้ติงจาโบ่คุมพลเก้าร้อยยกไปตีค่ายบ่านระจันอีกเป็นครั้งที่สาม  แต่แล้วก็แตกพ่ายอีกครั้ง

          รบแพ้ถึงสามครั้งสามคราดังนั้นพวกพม่าก็พากันขยาดฝีมือไทย  ค่ายบ้านระจันจึงหยุดพักอยู่สองสามวัน  จากนั้นแม่ทัพจึงเกณฑ์ให้สุรินทจอข่องเป็นนายทัพใหญ่  คุมพลทหารเกณฑ์ทุกค่ายเป็นคนพันเศษ  ม้าหกสิบม้า  ยกไปตีค่ายบ้านระจันเป็นครั้งที่สี่  เมื่อสุรินทจอข่องยกไปถึงบ้านห้วยไผ่  ทางค่ายบ้านระจันก็จัดให้นายแท่นเป็นนายทัพ  นายทองเหม็นเป็นปีกขวา  พันเรืองเป็นปีกซ้าย  คุมพลกองละสองร้อย ทั้งสามกองรวมพลเป็นหกร้อย  มีปืนคาบชุดคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง  ปืนและกระสุนดินของพม่าซึ่งแตกหนีล้มตายได้บ้าง  ทั้งสามคนนำกำลังไปถึงคลองสะตือสี่ต้น  จึงตั้งทัพดากันอยู่ทั้งสามกอง  คอยรับทัพพม่าที่ต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง  กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่คนละฟากคลอง  จึงได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย  พม่าเห็นพวกไทยมีน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย  ฝ่ายชาวค่ายบ้านระจันนั้นก็ขนเอาไม้และหญ้ามาถมคลองแล้วยกข้ามคลองรุกไปรบพม่าด้วยอาวุธสั้นเข้าไล่แทงฟันถึงขั้นตะลุมบอน  พม่าล้มตายเป็นอันมาก  สุรินทจอข่องนายทัพนั้นกั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล  เร่งให้ตีกลองรบปลุกใจ  รบกันตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวันพลทหารไทยก็วิ่งเข้าฟันศีรษะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ  นายแท่นผู้เป็นนายทัพค่ายบ้านระจันนั้นแสดงความห้าวหาญให้ปรากฏ  โดยวิ่งเข้าไปในกลางพลพม่าไล่แทงพม่าล้าตายลงหลายคน  แล้วนายแท่นก็ถูกกระสุนปืนที่เข่าล้มลง  พวกพลก็ช่วยกันหามออกจากที่รบ  พลทหารของทั้งสองฝ่ายเหนื่อยอ่อนอิดโรย  ต่างก็รอราถอยออกจากกันทั้งสองฝ่าย  หยุดพักอยู่คนละฟากฝั่งคลอง  พวกชาวบ้านระจันก็นำอาหารออกมาส่งเลี้ยงดูทหารหาญค่ายบ้านระจัน  ฝ่ายพม่าก็หุงข้าวบ้าง  ยั้งอยู่บ้าง  ได้กินข้าวบ้าง  ยังไม่ได้กินบ้าง  พวกทหารไทยกินข่าวเสร็จก็แต่งตัวยกข้ามคลองแล่นเข้าโจมตีพม่าพร้อมกัน

          ฝ่ายพม่านั้นมัวสาละวนอยู่กับการขุดหลุมฝังศพนาย  บ้างตีกลองประโคมศพ  บ้างร้องไห้แสดงความรักนายไม่มีอันจะต่อรบ  ก็แตกพ่ายหนีไปต่อหน้า  ฝ่ายไทยจึงรุกไล่ฆ่าฟันล้มตายลงเป็นอันมาก  เก็บปืนและเครื่องศัสตราวุธรวมทั้งผ้านุ่งห่มต่าง ๆ  ไล่ติดตามพม่าไปจนเย็นจึงกลับคืนค่ายบ้านระจัน  การรบครั้งนั้นปรากฏว่าพม่าตายประมาณแปดร้อยเศษ  ที่เหลือรอดไปได้ประมาณสามร้อยเศษ  ต้องอาวุธบาดเจ็บก็มาก  ฝ่ายไทยนั้นตายหกสิบเศษ  ป่วยเจ็บสองคน  ข่าวการรบพม่าอย่างเหี้ยมหาญและเข้มแข็งของชาวค่ายบ้านระจันแพร่ไปไกล  จึงปรากฏว่ามีชาวไทยจากที่ต่าง ๆ พากันอพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายนี้เป็นอันมาก  ค่ายบ้านระจันจึงเป็นค่ายใหญ่ที่พม่าเกรงกลัว

          แม่ทัพพม่าจัดแจงกะเกณฑ์ทัพปรึกษาวางแผนกันอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวัน  จึงแต่งให้แยจออากาเป็นนายทัพเกณฑ์แบ่งพลทหารทุก ๆ ค่ายรวมได้พันเศษ  พร้อมด้วยม้าและเครื่องศัสตราวุธยกไปตีค่ายบ้านระจันอีก  แต่ก็แตกพ่ายหนีเป็นครั้งที่ห้า  แม่ทัพจึงแต่งให้จิกแกปลัดทัพเมืองทวายเป็นนายทัพคุมพลยกไปตีครั้งที่หก  ก็แตกพ่ายอีก  แต่งให้อากาปันญียกกำลังไปตีเป็นครั้งที่เจ็ด  โดยตั้งค่ายที่ตำบลบ้านขุนโลก  ฝ่ายค่ายบ้านระจันจึงให้ขุนสันผู้มีฝีมือดี  ยิงปืนแม่นยำ  เป็นนายพวกพลปืนคอยป้องกันทหารม้าพม่า  ให้นายจันหนวดเขี้ยวเป็นนายทัพใหญ่คุมทหารพันเศษยกออกตีทัพพม่าที่ล้อมค่าย  ฝ่ายพม่าตั้งค่ายไม่ทันแล้วเสร็จ  กองกำลังค่ายบ้านระจันก็เข้าโจมตีข้างหลังค่าย  ยิงฟันแทงพม่าตายเกือบถึงพันคน  อากาปันญีนายทัพนั้นก็ตายอยู่ในค่าย  ชาวบ้านระจันจึงเก็บริบอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นอันมาก  พม่าที่แตกพ่ายหนีไปได้นั้นมีประมาณร้อยเศษ  แต่นั้นพม่าก็เกรงกลัวฝีมือชาวค่ายบ้านระจันเป็นอันมาก  กะเกณฑ์พลรบไม่ค่อยได้  ศึกระหว่างพม่ากับบ้านระจันจึงสงบอยู่นานประมาณกึ่งเดือน

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น  เมื่อกองทัพพม่ายกเข้าใกล้กรุง  สมเด็จพระเจ้าเอกทัศดำรัสสั่งให้ออกไปนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะตามวัดนอกเมืองเข้าอยู่วัดในพระนครทั้งสิ้น  สมเด็จพระอนุชาที่ประทับ ณ วัดประดู่นั้นก็เสด็จเข้ามาอยู่วัดราชประดิษฐาน  ขุนนางและราษฎรชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยราชการแผ่นดินป้องกันรักษาพระนคร  เหมือนศึกมังลองครั้งก่อน  พระองค์ก็หาลาผนวชไม่  จนถึงกับว่าในเวลาออกเดินรับบิณฑบาต  ชาวเมืองชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรเป็นใจความทูลเชิญให้ลาผนวชทุก ๆ วันเป็นจำนวนมาก  ก็ทรงนิ่งเฉยเสีย  ทั้งนี้เพราะพระเจ้าเอกทัศทรงแสดงอาการไม่พอพระทัยที่จะให้พระองค์อยู่ในฆราวาส  ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

          จากนั้นพระเจ้าเอกทัศราชาดำรัสให้เสนาบดีเกณฑ์กองทัพออกไปรบพม่า  โปรดให้ถอดจมื่นศรีสรรักษ์ออกจากโทษกลับครองฐานาศักดิ์ทำราชการดังเก่า  แล้วโปรดให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพกับทั้งท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยหลายนาย  กับให้ทัพหัวเมืองหลายเมืองเข้าสมทบได้พลหมื่นหนึ่ง  ยกออกไปตีค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ  ก่อนยกกำลังออกไปนั้นก็ให้สานกระชุกเป็นอันมากแล้วแบกไปด้วย  เพื่อว่าเมื่อจะตั้งรบที่ใดให้เอากระชุกตั้งเรียงชิดกันแล้วขุดมูลดินบรรจุลงในกระชุกทำเป็นสนามเพลาะบังตัวพลทหารกันปืนข้าศึก  พระยาพระคลังถวายบังคมลานำพานายทัพนายกองและพลทหารออกรบพม่าตามพระราชดำริทันที

          กองทัพพระยาพระคลังมีรี้พลมากเต็มไปทั้งท้องทุ่ง  แม่ทัพหยุดที่ใดกองทัพก็หยุดที่นั้น  รั้งรอกันไปเป็นกอง ๆ ครั้นไปถึงใกล้ค่ายพม่าก็ตั้งทัพดากันอยู่  เมื่อเห็นทหารพม่าขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตะวันตกจำนวนมาก  ก็เข้าใจว่าในค่ายตะวันออกนั้นมีกำลังเหลืออยู่น้อย  จึงขับทหารเข้าตีค่ายพม่าทันที  พม่าในค่ายก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกมาต้องพลทหารไทยล้มตายลงสี่ห้าคน  กองทัพไทยทั้งหมดก็พากันถอยกลับค่าย  ครั้นถึงเพลาเย็นก็เลิกทัพกลับเข้าพระนคร  อยู่มาอีกสองสามวัน  พระเจ้าเอกทัศก็สั่งให้พระยาพระคลังยกทัพไปตีพม่าค่ายเดิมอีก  คราวนี้มีชาวพระนครทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์เป็นอันมากชวนกันติดตามกองทัพไปเพราะไม่เคยเห็นการรบทัพมาก่อน  จึงอยากดูให้รู้เห็นแก่ตาตนเอง  กองทัพไทยไปตั้งยั้งอยู่  ยังไม่ทันเข้าตีค่าย  พม่าก็แต่งกลอุบายให้รี้พลหาบคอนออกหลังค่ายทำคล้ายกับว่าค่ายกำลังจะแตก  พวกกองอาจสามารถของไทยหลงกล  ก็พากันวิ่งเข้าไปใกล้ค่ายพม่า  เนเมียวแม่ทัพพม่าเห็นเช่นนั้นก็ขับพลทั้งคนทั้งม้าออกไล่โอบหลังกองทัพไทย  พุ่งหอกซัดและยิงปืนบนหลังม้าต้องพลทัพไทยล้มตายเป็นหลายคน  กองทัพไทยมิได้ต่อรบ  พากันแตกพ่ายหนีลงมา ณ โพธิ์สามต้นทั้งสิ้น  จมื่นศรีสรรักษ์  จมื่นเสมอใจราช  ขี่ม้าข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก  แต่กองของพระยาตากรอรบอยู่แล้วข้ามตามมาภายหลัง  ทัพม้าพม่าไล่ติดตามพุ่งหอกซัดต้องพลทัพไทยและผู้คนซึ่งตามออกไปดูการรบนั้นบาดเจ็บเป็นอันมาก  ที่ล้มตายก็กลาดเกลื่อนไป  กองทัพไทยพ่ายหนีเข้าพระนคร

          เมื่อไล่ฆ่าพลไทยพ่ายหนีเข้าพระนครหมดแล้ว  ทัพพม่าก็กลับค่ายแล้วปรึกษาหารือกันเพื่อหาคนเป็นนายทัพยกไปตีค่ายบ้านระจันให้จงได้  ขณะนั้นมีรามัญคนหนึ่ง  เป็นมอญเก่าเคยอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยามานาน  ได้เกลี้ยกล่อมพม่ามีฝีมือเข้มแข็งขึ้น  แม่ทัพพม่าจึงตั้งให้เขาเป็นพระนายกอง  ครั้งนั้นเขาจึงเข้าขออาสาไปตีค่ายบ้านระจัน  แม่ทัพก็เกณฑ์พลพม่ารามัญให้สองพัน  ตั้งให้พระนายกองเป็นนายทัพยกไปตีค่ายบ้านระจันเป็นครั้งที่แปด  พระนายกองเป็นคนฉลาด  เมื่อไปใกล้ค่ายบ้านระจันแล้วเขาไม่ตั้งทัพกลางแปลง  แต่ให้ตั้งค่ายรายไปตามทางสามค่าย  แล้วให้รื้อค่ายหลังผ่อนไปตั้งข้างหน้า  ทำอย่างนี้เป็นทอด ๆไป  เป็นการเดินค่ายไปตามรายทางทีละสามค่าย  ใช้เวลาเกือบกึ่งเดือนจึงเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจันได้อย่างปลอดภัย  พวกค่ายบ้านระจันยกกำลังออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งก็ไม่แตก  พระนายกองไม่ยอมออกรบนอกค่าย  คงตั้งมั่นรับอยู่แต่ในค่าย  วิธีการนี้ทำให้พวกค่ายบ้านระจันล้มตายเป็นอันมาก

          วันหนึ่งนายทองเหม็นดื่มสุราเมามายขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า  พระนายกองกลับเปลี่ยนวิธีการรบด้วยการขับพลออกรบนอกค่าย  นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าไปในกลางกองทัพพม่าแต่เพียงผู้เดียว  ไล่แทงพลพม่ารามัญล้มตายเป็นหลายคน  พวกพม่าเข้ารุมล้อมฟันแทงนายทองเหม็น  แต่ก็ฟันแทงไม่เข้า  และแล้ว “น้ำน้อยก็แพ้ไฟ” เมื่อนายทองเหม็นสู้รบอยู่เพียงผู้เดียวจนเหนื่อยอ่อนแล้วสิ้นกำลัง  ถูกพม่ารุมจับตัวได้แล้วทุบตีจนตายในที่รบ  เมื่อเสียนายทองเหม็นผู้เป็นหัวหน้าไป  พวกค่ายบ้านระจันก็แตกหนีกลับเข้าค่าย  พระนายกองยกกำลังติดตามจนถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบ้านระจัน  เขาสั่งให้เก็บซากศพพม่าที่ล้มตายในการทัพคราวก่อนทั้งหมดนั้นเผาเสียสิ้น  แล้วตั้งค่ายใหญ่ลงในที่นั้น

          ชาวค่ายบ้านระจันยกออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ  จึงเสียกำลังใจเกิดความท้อถอยในการสู้รบ  พระนายกองก็ให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจันแล้วปลูกหอขึ้นสูง  เอาปืนใหญ่ขึ้นหอยิงเข้าไปในค่ายต้องคนไทยในค่ายล้มตายเป็นอันมาก  และก็ตีเอาค่ายน้อยบ้านระจันได้สำเร็จ  นายแท่นหัวหน้าค่ายที่ถูกปืนพม่าจนเข่าหักนั้นป่วยมานานนั้นก็ถึงแก่กรรมลงในเดือน ๖ ปีจอ  อัฐศกนั้น

          ขุนสันผู้มีฝีมือเข้มแข็งถือปืนอยู่เป็นนิจ  และนายจันหนวดเขี้ยว  นำกำลังออกรบกับพม่าเป็นหลายครั้ง  วันหนึ่งพลพม่าโอบหลังเข้าได้ก็ฆ่าขุนสันกับนายจันหนวดเขี้ยวตายในที่รบทั้งสองคน  ผู้นำค่ายบ้านระจันจึงเหลือแต่พันเรืองกับนายทองแสงใหญ่  เขาเห็นว่าเหลือกำลังจะสู้รบกับพม่าจึงบอกข่าวเข้าไปในพระนคร  ขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำ  เสนาบดีปรึกษากันแล้วลงความเห็นด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่ยอมให้ตามที่ขอ  ด้วยเห็นว่า  ถ้าพม่าตีค่ายบ้านระจันแตกแล้วก็จะได้ปืนใหญ่และกระสุนดินดำเป็นกำลังเข้ามารบพระนคร  พระยารัตนาธิเบศเป็นฝ่ายค้านในเสนาบดี  จึงออกจากพระนครไปค่ายบ้านระจัน  เรี่ยรายทองชาวบ้านในค่ายนั้นมาหล่อปืนใหญ่ได้สองกระบอก  แต่ก็บกพร่องร้าวรานไม่สมบูรณ์  เมื่อเห็นจะคิดการสงครามไม่สำเร็จจึงกลับเข้าพระนคร  ฝ่ายชาวบ้านค่ายบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้  ไม่มีใครช่วยอุดหนุนก็เสียกำลังใจฝีมือย่อหย่อนในการรบ  เห็นเหลือกำลังที่จะขับเคี่ยวทำสงครามสืบไป  ต่างก็พาครอบครัวหนีไปจากค่ายเสียส่วนมาก

          ตั้งแต่ต่อรบพม่ามาเมื่อเดือน ๔ ปีระกา สัปตศก ถึงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อัฐศก  พม่าก็ยกกำลังเข้าตีค่ายบ้านระจันแตก  ฆ่าผู้คนเสียเป็นอันมาก  จับเป็นเชลยไปก็มาก  ไทยตายประมาณพันเศษ  พม่าตายประมาณสามพันเศษ  สำหรับพระอาจารย์ธรรมโชตินั้น  ในตอนแรก ๆ กะตรุดและผ้าประเจียดลงยันต์ทั้งสายสิญจน์มงคลมีความขลัง  ต่อเมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้นก็เกิดความสำส่อน  ที่นับถือแท้บ้างไม่แท้บ้าง  จึงทำให้เสื่อมตบะเดชะลง  ที่อยู่คงบ้าง  ที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง  เมื่อค่ายแตกแล้ว  ไม่ทราบแน่ชัดว่าพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นอย่างไร  บ้างก็ว่าตายในค่าย  บ้างก็ว่าหนีไปได้  ที่แน่ ๆ ก็คือหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

          ในเดือน ๘ ที่ค่ายบ้านระจันแตกนั้น  ภายในพระนครก็เกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น  คือสมเด็จพระสังฆราชวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประชวรถึงสิ้นพระชนม์  พระเจ้าเอกทัศทรงพระกรุณาให้แต่งศพใส่พระโกศไว้  แล้วโปรดให้เลื่อนพระเทพมุนีวัดกุฎีดาวซึ่งเข้ามาอยู่วัดสวรรคเจดีย์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  อยู่ได้ไม่นานก็ประชวรสิ้นพระชนม์ไปอีก  โปรดให้แต่งศพใส่พระโกศตั้งไว้เป็นสองพระโกศ  ยังมิได้ปลงพระศพทั้งสอง  เพราะมีข้าศึกติดพระนครอยู่

          กล่าวฝ่ายเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธ  ซึ่งโปรดให้ไปอยู่เมืองจันทบูรนั้น  บรรดาชาวหัวเมืองฝ่ายตะวันออกพากันนับถือเข้าสวามิภักดิ์พึ่งพาพระบารมีอยู่เป็นอันมาก  พระองค์จึงพาคนเหล่านั้นเข้ามาอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี  คนชาวเมืองปราจีนบุรี  นครนายก  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  บางละมุง  ลือกันว่าพระองค์จะยกกำลังเข้ารบพม่าช่วยกรุงเทพมหานคร  จึงพากันเข้ามาเป็นพวกด้วยหลายพันคน  และทูลอาสาเข้าร่วมรบพม่า กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี  หมื่นเก้า  หมื่นศรีนาวา ชาวปราจีนบุรี  นายทองอยู่น้อย ชาวเมืองชลบุรี  ทั้งสามคนนี้เป็นนายซ่องฝีมือเข้มแข็ง  พระองค์จึงตั้งให้เป็นนายทัพคุมพลชาวหัวเมืองต่าง ๆ สองพันเศษ  ยกมาตั้งค่าย ณ ปากน้ำโยทกา  คนทั้งหลายต่าง ๆ ได้มีหนังสือลับเข้าถึงญาติและพรรคพวกในพระนครให้ทราบเรื่องของกรมหมื่นเทพพิพิธ  คนในเมืองที่ทราบข่าวสารนั้นก็พากันหนีออกจากพระนครไปเข้าอยู่ด้วยเป็นอันมาก  บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิงซึ่งเป็นพระหน่อในเสด็จในกรม  กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็พากันหนีออกไปหาพระองค์  บุคคลสำคัญที่หนีออกไปอยู่ด้วยคือ  พระยารัตนาธิเบศ  ผู้ที่เคยไปช่วยชาวค่ายบ้านระจันหล่อปืนใหญ่นั้น  ก็พาพรรคพวกหนีออกไปเข้าด้วยช่วยคิดการซึ่งจะทำสงครามกับพม่า  ฝ่ายกองทัพพม่าได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว  แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้เมฆราโบกับแนกวนจอโบ  คุมพลสามพันยกทัพเรือออกไปตีค่ายไทยที่ปากน้ำโยทกา  ได้รบกันเป็นสามารถ  ในที่สุดพม่าก็ตีหักเอาค่ายได้  ฆ่าหมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา ตายในที่รบ  ส่วนนายทองอยู่น้อยนั้นหนีรอดไปได้  ทัพไทยก็แตกหนีกระจัดพลัดพรายกันไป  กรมหมื่นเทพพิพิธกับพระยารัตนาธิเบศทราบว่าค่ายปากน้ำโยทกาเสียแก่พม่าแล้วก็ตกใจ  มิได้คิดสู้รบพม่าอีก  จึงพากันหนีไปทางช่องเรือแตก  ขึ้นไป ณ เมืองนครราชสีมา

          ศึกบางระจันเป็นวีรกรรมของบรรพบุรุษไทยที่ประทับอยู่ในความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้  ใกล้จะสิ้นสุดอยุธยาแล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, มีนาคม, 2562, 10:20:23 PM
(https://i.ibb.co/25GQkff/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- กรุงศรีอยุธยาอาวสาน -

ณ วันอังคารขึ้นเก้าค่ำเดือนห้า
ปีกุนวาราวสานกาลสมัย
พอศอสองสามหนึ่งศูนย์พูนอาลัย
อยุธยากรุงไกรวอดวายลง

พม่าเผาบ้านเมืองอันเรืองโรจน์
“เนเมียว”โหดเหี้ยมเข่นแตกเป็นผง
“สี่ร้อยสิบเจ็ดปี”ที่ยืนยง
ริปูปลงสิ้นไปไร้ปรานี.....


          อภิปรายขยายความ.....................

          กล่าวฝ่ายมังมหานรทาแม่ทัพใหญ่ของพม่าซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลสีกุกนั้น  ป่วยหนักจนถึงแก่กรรม  นายทัพนายกองพม่าทั้งปวงทุก ๆ ค่ายมาชุมนุมพร้อมกันกระทำฌานปนกิจปลงศพ  เสร็จแล้วให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ในค่ายนั้น  จากนั้นก็ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อตั้งโบชุกแม่ทัพใหญ่ขึ้นแทน  ให้ว่ากล่าวบังคับบัญชานายทัพนายกองทั้งปวงสิทธิ์ขาดในการสงครามสืบไป  นายทัพนายกองมีความเห็นขัดแย้งกัน บางพวกจะเอาเนเมียวมหาเสนาบดีเป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่  บางพวกจะเอาติงจาแมงข่องปลัดค่ายสีกุก  บางพวกจะเอาปกันหวุ่นนายค่ายบางไทร  ในการปรึกษากันนั้นฝ่ายที่ค้านไม่เอาเนเมียวเสนาบดีอ้างว่า  เนเมียวนั้นมีสติปัญญาและฝีมือเข้มแข็งก็จริง  แต่ทว่าเขามิใช่เชื้อชาติพม่าชาตรี  โดยมีบิดาเป็นพม่า  มารดาเป็นลาว  จึงไม่ควรเป็นใหญ่กว่าเราอันเป็นชาติสกุลพม่าทั้งปวง  ฝ่ายที่คัดค้านไม่ยอมรับติงจาแมงข่องก็อ้างว่า เขามิใช่เชื้อชาติพม่าแท้  โดยมีบิดาเป็นพม่า  มารดาเป็นรามัญ  ไม่ควรเป็นใหญ่กว่าเราอันเป็นชาติสกุลพม่าทั้งปวง  ฝ่ายสนับสนุนให้เอาปกันหวุ่นก็เสนอว่าเขาเป็นเชื้อชาติพม่าแท้ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา  จึงควรเป็นใหญ่กว่าเราทั้งปวงซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกัน  ในที่สุดที่ประชุมก็เห็นพ้องกันให้ยกปกันหวุ่นนายค่ายบางไทรขึ้นเป็นโบชุกแม่ทัพใหญ่  บังคับสิทธิ์ขาดในการสงครามทั้งสิ้น

          ฝ่ายเนเมียวมหาเสนาบดี  เห็นการณ์เป็นดังนั้นจึงว่ากล่าวแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า  “สมเด็จพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะโปรดให้เราเป็นแม่ทัพยกมาทางเหนือ  ให้ตีเอาพระนครศรีอยุธยาให้จงได้  ถึงว่ามังมหานรทาโบชุกแม่ทัพใหญ่หาชีวิตไม่แล้วก็ดี  ตัวเรายังมีชีวิตอยู่คงจะทำสงครามเอาแผ่นดินเมืองไทยถวายพระเจ้าอังวะให้สำเร็จพระราชประสงค์จงได้  ท่านทั้งหลายผู้ใดย่อท้อต่อการสงครามไม่เป็นใจในราชการศึกด้วยเรา  เราก็จะประหารชีวิตผู้นั้นเสีย”  คำกล่าวของเนเมียวมหาเสนาบดีประกาศก้องท่ามกลางนายทัพนายกองและโบชุกแม่ทัพใหญ่คนใหม่ดังนั้น ก็ทำให้ทุกคนเกรงกลัวอำนาจเนเมียวทั้งสิ้น  หลังจากนั้นเนเมียวจะกะเกณฑ์รี้พลเอาเท่าใด  ก็ต้องให้ทุกค่ายทุกทัพ  จะเกณฑ์ให้นายทัพนายกองผู้ใดออกไปทำศึกที่ใด  ก็ต้องไปตามคำสั่งโดยไม่มีใครกล้าขัดขวาง  เนเมียวมหาเสนาบดีจึงยกพลจากวัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบมาตั้งค่ายใหญ่ที่ตำบลโพธิ์สามต้น  สั่งให้รื้อเอาอิฐโบสถ์วิหารวัดมาก่อกำแพงล้อมค่าย  แล้วเกณฑ์ให้นายทัพทั้งปวงยกเข้าตั้งค่ายอยู่ ณ ภูเขาทอง  และบ้านป้อมวัดการ้อง  ให้ปลูกหอรบและก่อป้อมให้สูง เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นตั้งบนป้อมแล้วยิงเข้าในพระนคร

          สมเด็จพระเจ้าเอกทัศดำรัสสั่งให้เสนาบดีแต่งกองเรือ  โดยมีท้าวพระยาอาสาหกเหล่าและกองทหารยกข้ามไปตีค่ายพม่าที่วัดการ้อง  พม่ายิงปืนมาถูกนายเริกคนหนึ่งที่ยืนรำดาบสองมืออยู่หน้าเรือจนตกลงไปในน้ำ  เพียงแค่นั้นกองเรือก็ล่าถอยกลับเข้าพระนครจนสิ้น  หลังจากนั้นการรบอย่างเข้มข้นดุเดือดเลือดนองก็เริ่มขึ้น  ซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงการรบอย่างดุเดือดก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า  โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้

          "วันหนึ่ง  พระศรีสุริยพาห  เจ้าหน้าที่รักษาป้อมท้ายกบให้ประจุปืนมหากาลมฤตยูราช  สองนัดสองลูกยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง  ยิงออกไปได้นัดหนึ่งปืนก็ร้าวราน  เวลาค่ำวันนั้นมีคนไทยหนีเข้ามาในพระนครได้คนหนึ่งให้การว่า  ปืนที่ยิงออกไปนัดเดียวนั้นต้องเรือรบพม่าล่มลงถึงสองลำ  คนตายหลายคน  ครั้นรุ่งขึ้นเนเมียวมหาเสนาบดีก็เกณฑ์ให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกมาตั้งค่าย ณ วัดกระชาย  วัดพลับพลาชัย วัดเต่า  วัดสุเรนทร์  วัดแดง  ให้ปลูกหอรบขึ้นทุกค่าย  เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นหอรบระดมยิงเข้าในพระนครเป็นห่าฝน

          ครั้นเดือน ๑๒  ซึ่งเป็นหน้าน้ำนอง  ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาตากสินเลื่อนเป็นที่พระยากำแพงเพชร  แล้วตั้งให้เป็นนายกองทัพเรือ  ให้พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า  ให้หลวงศรเสนีเป็นกองหนุน  ยกทัพเรือไปพร้อมกันที่วัดป่าแก้ว  คอยตีทัพพม่าซึ่งจะขึ้นลงไปมาหากัน  ขณะนั้นเรือรบพม่ายกขึ้นมาจากค่ายบางไทรและค่ายขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์  ถึงกลางทุ่งตรงวัดสังฆวาส  พระยาเพชรบุรีกองหน้าจึงสั่งให้แจวเรือรบในกองของตนทั้งห้าลำเข้าตีเรือรบพม่า  กองเรือของพม่านั้นมีมากกว่าจึงรายล้อมกองเรือพระยาเพชรบุรีไว้  พลทัพไทยกับพม่าเข้ารบกันอย่างดุเดือด  ฆ่าฟันกันล้มตายทั้งสองฝ่าย  หลวงศรเสนีนั้นจอดเรือดูอยู่หาได้เข้าช่วยเหลือไม่  พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงทิ้งลงในเรือพระยาเพชรบุรี  ไพร่พลถูกเพลิงลวกก็พากันโดดหนีลงน้ำ  พม่าจึงฆ่าฟันตายเป็นอันมาก  พระยาเพชรบุรีนั้นเดิมชื่อเรือง  เป็นผู้อยู่คงฟันแทงไม่เข้า  แต่ได้สู้รบจนหมดแรงจึงถูกจับตัวได้  เมื่อพม่าฟันแทงไม่เข้า  จึงเอาไม้หลาวเสียบทางทวารหนักจนถึงแก่ความตาย  ในการรบกันครั้งนั้นฝ่ายพม่าตายสี่สิบเอ็ดคน  ฝ่ายไทยตายเจ็ดสิบคนเศษ  กองเรือของพระยากำแพงเพชร (สิน) กับหลวงศรเสนีก็ยกหนีไปตั้งที่วัดกรวย  วัดพิชัย  แล้วตั้งค่ายมั่นอยู่ที่นั่น  หากลับเข้าพระนครไม่

          สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงดำรัสให้ท้าวพระยาอาสาหกเหล่ายกพลสองพันเศษออกไปตั้งค่าย ณ วัดชัยวัฒนาราม  ให้หลวงอภัยพิพัฒน์จีนนายก่ายคุมพลทหารจีนสองพัน  ยกออกไปตั้งค่ายอยู่ ณ คลองสวนพลู  ขณะนั้นพระยาแพร่ชื่อมังไชยซึ่งมาในกองทัพเนเมียวมหาเสนาบดี  ได้เกลี้ยกล่อมคนไทยชาวแขวงเมืองสิงคบุรี  ผู้เคยร่วมรบในค่ายบ้านระจัน  แล้วมาอยู่ในค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกให้เข้าเป็นพรรคพวกตน  ครั้นถึง ณ เดือนอ้าย  ปีจอ  อัฐศก  จึงพาพลเมืองแพร่สามร้อยคนเศษหนีพม่าไปทางพระพุทธบาท  พม่ายกกำลังติดตามไปทัน  จึงรบกันกลางทางฆ่าฟันกันล้มตายทั้งสองฝ่าย  พม่าตายมากก็เลิกรบกลับไป  พระยาแพร่จึงให้เขียนหนังสือปักไว้ในป่าแขวงพระพุทธบาทมีใจความว่า  “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก  ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่รบกรุงเทพมหานครด้วยพม่าแล้ว  จะกลับไปเมืองของตน”  พวกขุนโขลนข้าพระพุทธบาทเก็บหนังสือนั้นได้  จึงบอกส่งลงมายังพระนคร

          ถึงวันขึ้น ๔ ค่ำ  เดือนยี่  ปีจอ  อัฐศก ศักราช ๑๑๒๘ (พ.ศ.๒๓๐๙)  เพลาดึกเที่ยงคืน  เกิดเพลิงขึ้นในพระนคร  ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายลามไปถึงสะพานช้างคลองข้าวเปลือก  ข้ามไปติดป่ามะพร้าวและป่าโทนป่าถ่านป่าทองป่ายา  วัดราชบุรณะ  วัดพระศรีมหาธาตุ  แล้วไปหยุดที่วัดฉัททันต์  ไหม้กุฎีวิหารและบ้านเรือนวอดไปกว่าหมื่นหลัง  ในเวลากลางวันของวันนั้นพระยากำแพงเพชร  หรือ  พระยาตากสิน  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ วัดพิชัย  นอกพระนคร  พิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะเสียแก่พม่าเป็นแน่แท้  จึงชักชวนพรรคพวกทหารไทยจีนได้ประมาณพันหนึ่ง  มีนายทหารผู้ใหญ่คือ  พระเชียงเงิน  หลวงพรหมเสนา  หลวงพิชัยอาสา (ทองดี)  หลวงราชเสน่หา  ขุนอภัยภักดี  กับขุนหมื่นผู้น้อยอีกหลายคน  คิดจะยกกำลังหนีไปทางตะวันออก  ชักชวนหลวงศรเสนีนายกองอีกกองหนึ่งไปด้วย  แต่หลวงศรเสนีไม่ยอมร่วมด้วยแล้วพาพรรคพวกหนีไปอีกทางหนึ่ง  ยามนั้นฝนตกลงมาห่าใหญ่ถือเป็นชัยมงคลฤกษ์  พระยาตากสินจึงพากำลังยกออกจากค่ายพิชัย  เดินทางไปทางตะวันออกถึงบ้านหันตราเป็นเพลาพลบค่ำ  ฝ่ายพม่ารู้เข้าก็ยกกำลังตามไปทันจึงรบกันเป็นสามารถ  พม่าสู้ไม่ได้ก็ล่าถอยกลับไป  พระยาตากสินจึงเดินทัพไปถึงบ้านข้าวเม่า  บ้านสามบัณฑิตเป็นเวลาเที่ยงคืน  หันหลังมองดูทางกรุงศรีอยุธยาก็แลเห็นแสงไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างเจิดจ้า  จึงได้ทราบแน่ชัดว่ากรุงศรีอยุธยาอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยนั้นเสียให้แก่พม่าแน่แล้ว!

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวสรุปว่า  เมื่อพม่าเข้าพระนครได้  และจุดเพลิงเผาผลาญบ้านเรือนวัดวาอารามพินาศไปนั้น  พระเจ้าเอกทัศราชาหนีออกจากพระนครไปได้  พม่าได้ให้คนเที่ยวค้นหาไปจนพบที่สุมทุมพุ่มไม้ใกล้บ้านจิก  นอนซมแซ่วอยู่เพราะไม่ได้เสวยอาหารเป็นเวลานานถึงสิบสองวัน  พม่าหามพระองค์ลงเรือขึ้นไป ณ ค่ายโพธิ์สามต้น  พอถึงค่ายก็สวรรคต  พระนายกองให้เชิญพระศพไปฝัง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในค่ายนั่นเอง

          สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์  หรือพระเจ้าเอกทัศราชา  อยู่ในราชสมบัติได้เก้าปีก็เสียพระนคร  สิริรวมพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดี  หรือพระเจ้าอู่ทอง  ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา  ถึงพระเจ้าเอกทัศราชานั้น  นับได้สามสิบสี่พระองค์  กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา  มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์  ที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้น ณ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๗๑๒ (พุทธศักราช ๑๘๙๓) เสียแก่พม่า ณ วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ (พ.ศ. ๒๓๑๐) สิริรวมอายุได้ ๔๑๗ ปี

          เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า  สยามประเทศก็ล่มลง  แต่  “กรุงศรีอยุธยายังไม่สิ้นคนดี”  พระยากำแพงเพชร หรือ พระยาตากสิน  ที่พาพรรคพวกหนีพม่าไปทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยานั้น  จะมีบทบาทสำคัญในการกอบกู้เอกราชให้ชนชาติไทย  ตั้งสยามประเทศขึ้นมาอีกครั้ง  เรื่องราวการกู้ชาติไทยในสยามประเทศจะเป็นอย่างไร  โปรดติดตามดูกันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, มีนาคม, 2562, 10:34:42 PM
(https://i.ibb.co/QdVnTR1/newse8abd1614d8ee18ccd79c78856e62aea.jpg) (https://imgbb.com/)

- อยุธยาล่มแล้ว -

วันอังคารขึ้นเก้าค่ำเดือนห้า
ปีกุนหน้าร้อนแล้งร้ายอึงอื้อ
ย่างจอศอหนึ่งหนึ่งสองเก้าคือ-
วันสิ้นชื่อกรุงศรีอยุธยา

ปลายปีจอเดือนยี่ขึ้นสี่ค่ำ
ริปูย่ำเหยียบเมืองปลดเปลื้องค่า
จุดเพลิงผลาญบ้านวังทั้งวัดวา
ชาวประชาชีพราหมณ์ตื่นความตาย

สี่ร้อยสิบเจ็ดที่ยืนหยัด
แจ่มจำรัสบรรเจิดงามเฉิดฉาย
ดั่งสวรรค์ลอยลงมาทรงกาย
แล้วพลันหายเลื่อนล่มลงจมดิน

แม้กรุงไกรย่อยยับลงกับที่
แต่คนดีศรีอยุธย์มิสุดสิ้น
ลูกหลานไทยเลือดข้นบนปฐพิน
หลั่งเลือดรินกู้ชาติปราบศัตรู......

(...... พรุ่งนี้อ่านประวัติศาสตร์ชาติไทย กับการกู้ชาติของพระยาตากสินต่อครับ ......)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต

Uyn7kNSJZhw


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, มีนาคม, 2562, 10:31:16 PM
(https://i.ibb.co/cQ4ttqJ/1.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

- พระเจ้าตากสินมหาราช -

พระยาตากมุ่งหน้าหนีข้าศึก
ด้วยสำนึกสุดแสนแค้นพม่า
เห็นเพลิงผลาญควันคลุ้งพุ่งขึ้นฟ้า
ยืนน้ำตาไหลซกลงตกใน

กัดฟันทนด้นไปไม่หยุดพัก
เพื่อตั้งหลักรวมผู้คนสู้ใหม่
จะพลิกฟื้นคืนกรุงรุ่งเรืองไกร
เพื่อชาติไทยคงอยู่คู่โลกา


          อภิปราย ขยายความ.........

          สวัสดีครับ  ผู้อ่านทุกท่าน  วันนี้จะขอพาทุกท่านกลับไปสู่อดีตของชนชาติไทยให้รู้เห็นความเป็นาของชนชาติเราอีกช่วงตอนหนึ่ง  จากในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่าตามความที่นำเสนอไปก่อนหน้าแล้ว  แต่กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี  จึงพร้อมกับที่พม่ากรูเข้าในพระนครศรีอยุธยาและฆ่าฟันผู้คนในเมืองพร้อมทั้งเผาบ้านเรือนวัดวาอารามไม่เว้นแม้พระ ราชวังนั้น  กองกำลังของพระยาตากที่ตั้งค่ายอยู่ ณ วัดพิชัย  ได้พากองกำลังของตนหนีไปทางทิศตะวันออก  พม่ายกติดตามไปและสู้รบกันเป็นสามารถ  พม่าสู่ไม่ได้จึงถอยกลับคืน  ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น  ก่อนที่จะติดตามไปดูเรื่องราวการหนีของพระยาตากไปในทิศที่ทางใดนั้น  ขอนำทุกท่านกลับไปดูประวัติความเป็นมาของพระยาตาก (สิน) พอสังเขปครับ

          * พระราชประวัติพระเจ้าตากสินมหาราช  ขาดความชัดเจนตั้งแต่พระราชสมภพจนกระทั่งสวรรคต  พงศาวดารตำนาน ต่าง ๆ ที่เขียนเกี่ยวกับพระองค์ก็มิได้ให้รายละเอียดอะไรมากนัก  และก็มักจะขัดแย้งกันไปตามความรู้สึกของคนเขียน  ยิ่งในตอนปลายรัชกาลด้วยแล้ว  ผู้เขียนก็จะใส่อคติในทางไม่ดีต่อพระองค์เป็นอย่างมาก  ดังที่ ส.พลายน้อย  เขียนไว้ในหนังสือ “พระเจ้าตากสิน มหาราชแห่งชาติไทย”  ตอนหนึ่งว่า  “ตามที่ทราบกันดีแล้วว่า  พระราชวงศ์กรุงธนบุรีไม่มีเชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ได้บันทึกเรื่องราวอันจะเป็นพระราชพงศาวดารขึ้นไว้  พระราชประวัติจึงมีกล่าวถึงอย่างกระท่อนกระแท่น  ซ้ำร้ายมีหลายฉบับ  แต่ละฉบับมีเนื้อหาต่างกัน  ที่กล่าวอย่างเป็นกลางก็มี  กล่าวเป็นทำนองให้เสียหายก็มี  แล้วแต่จิตสำนึกของผู้เขียน….”   เอกสารส่วนใหญ่ที่นักประวัติศาสตร์มักนำมาอ้างอิงเรื่องราวของพระเจ้าตากสินก็มี  อภินิหารบรรพบุรุษ,  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม),  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ซึ่งความจะตรงกันบ้างขัดแย้งกันบ้าง  เท็จจริงประการใดควรขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านเป็นสำคัญ

          * ส.พลายน้อย  ได้รวบรวมเรื่องราวพระเจ้าตากสินจากตำนานพงศาวดารต่าง ๆ มาแสดงไว้ให้เป็นแนวทางการศึกษา  เรื่องราวของมหาราชพระองค์นี้  โดยผมจะขออนุญาตรวบรัดเรื่องราวมาแสดงพอได้ใจความดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/nqynyhg/11-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าตากสินมหาราช  พระนามเดิมว่า  สิน  เป็นบุตรขุนพัฒน์หยง กับ นางนกเอี้ยง  ขุนพัฒน์หยง เดิมชื่อ  ไหยฮอง  นายอาการบ่อนเบี้ย  บ้างก็ว่า  นายไหยฮอง  มีชื่อจริงว่า  หยง แซ่แต้  หรือแซ่เจิ้ง  ตามสำเนียงจีนกลาง  บ้างก็ว่า  ไหยฮอง  ไม่ใช่ชื่อเดิมของขุนพัฒน์  หากแต่เป็นชื่อเมืองที่เขาเกิดและจากมา  นัยว่าปัจจุบันเป็นอำเภอเล็กที่สุดของเมืองแต้จิ๋ว  จดหมายเหตุโหรระบุว่า  พระเจ้าตากสิน  เกิดวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๐๙๖ เพลาประมาณ ๕ โมงเช้า พุทธศักราช ๒๒๗๗  ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ  แต่มีจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระราชวังเดิมว่า  “ดวงพระชาตาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  พระราชสมภพวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗  ตรงกับวันศุกร์  ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล  เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.  ปราบดาภิเษกวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ตรงกับวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑ ปีชวด  พระชนมายุ ๓๔ พรรษา  สวรรคตวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕  ตรงกับวันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล  พระชนายุ ๔๘ พรรษา  จารึกนี้วันพระราชสมภพไม่ตรงกับปูมโหรที่กล่าวข้างต้น  ผู้สนใจควรค้นคว้าหาความจริงต่อไป

          เมื่ออายุได้ ๙ ขวบ  เจ้าพระยาจักรีได้ขออุปการะโดยนำไปฝากอาจารย์ทองดีวัดโกษาวาส  หรือ  วัดคลัง  ได้เรียนหนังสือขอมไทยจนจบบริบูรณ์แล้ว  จึงเรียนคัมภีร์พระไตร  ปิฎกอีกตามสมควร  อายุได้ ๑๓ ปี  พระยาจักรีทำพิธีตัดจุก  จากนั้นได้นำไปถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เมื่อหมดหน้าที่การงานแล้ว  มหาดเล็กสินจะใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนในสำนักอาจารย์จีน  อาจารย์ญวน  อาจารย์แขก  จนสามารถพูดทั้งสามภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว

          เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์  ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ณ วัดโกษาวาส  อยู่กับพระอาจารย์ทองดี  ว่ากันว่าในเวลานั้นเพื่อนของท่านคือ  นายทองด้วง  ก็ได้อุปสมบท  และจำพรรษา ณ วัดมหาทลาย  วันหนึ่งพระภิกษุทั้งสองออกเดินบิณฑบาตและพบกันตรงทางสี่แพร่ง  ได้หยุดสนทนากันฉันท์เพื่อน  ขณะนั้นมีหมอดูจีนชราเดินมาพบ  และทำนายว่า  พระภิกษุสินจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  และพระภิกษุทองด้วงก็จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง  เมื่อลาสิกขาแล้วก็กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กตามเดิม  พระเจ้าบรมโกศโปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงานในกรมมหาดไทยและกรมวังศาลหลวง  ตกมาถึงแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศราชา  ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ  มีความดีความชอบจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยุกรกบัตรเมืองตาก  ต่อมาพระยาตากถึงแก่กรรม  หลวงยุกรกบัตรสินจึงได้เป็นพระยาตากแทน  เป็นพระยาตากแล้วไม่นานนัก  พระยาวชิรปราการ  ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรก็ถึงแก่อนิจกรรม  เสนาบดีมีท้องตราพระราชสีห์หาตัว  พระยาตากลงมายังกรุงศรีอยุธยา  พระเจ้าเอกทัศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งยศให้พระยาตากสินเป็นพระยาวชิรปราการ  ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร  ยังไม่ทันจะได้เดินทางกลับไปรับตำ แหน่งใหม่  พม่าก็ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา  แล้วพระราชพงศาวดารก็ได้เริ่มเรื่องพระยาตากสินอย่างเป็นทางตั้งแต่ตรงนี้เป็นต้นไป  ว่าดังนี้ครับ

(https://i.ibb.co/0fM4frp/3181617034.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ครั้นถึง ณ เดือน ๑๒ (พ.ศ. ๒๓๐๙)  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาตากเลื่อนที่เป็นพระยากำแพงเพชร  แล้วตั้งให้เป็นนายกองทัพเรือ  ให้พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า  ให้หลวงศรเสนีเป็นกองหนุน  ยกกองทัพเรือออกจากพระนครให้ไปพร้อมทัพกันอยู่ ณ วัดป่าแก้ว  คอยตีทัพเรือพม่าซึ่งจะขึ้นลงไปมาหากัน  ขณะนั้นกองทัพพม่ารามัญยกขึ้นมาแต่ค่ายบางไทรและค่ายขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์  มาถึงกลางทุ่งตรงวัดสังฆาวาส  พระยาเพชรบุรีกองหน้าจึงให้แจวเรือรบในกองของตัวห้าลำเข้าตีเรือรบพม่า  และเรือพวกทัพพม่ารามัญนั้นมาก  ก็เข้าล้อมเรือกองพระยาเพชรบุรีเข้าไว้  ได้รบกันเป็นสามารถ  และพลทัพไทยกับพม่ารามัญฟันกันตายลงทั้งสองฝ่าย  กองพระยากำแพงเพชร  หลวงศรเสนี  จอดรอดูเสีย  หาเข้าช่วยอุดหนุนกันไม่  พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงทิ้งลงในเรือพระยาเพชรบุรี  ดินลวกเอาไพร่พลป่วยโดดลงน้ำ  พม่าได้ทีก็ฆ่าฟันแทงไทยในเรือในน้ำตายเป็นอันมาก  จับตัวพระยาเพชรบุรีได้  อยู่คงฟันแทงไม่เข้า  จึงเอาไม้หลาวเสียบแทงทางทวารหนักถึงแก่ความตาย  และขณะรบกันนั้นข้างพม่าตายสี่สิบเอ็ดคน  ข้างไทยตาย ๗๐ เศษ  และกองพระยากำแพงเพชรกับหลวงศรเสนีก็ยกขึ้นไปตั้งอยู่ ณ วัดกรวย  วัดพิชัย  หากลับเข้ากรุงไม่  เลยตั้งค่ายอยู่ที่นั้น”

(https://i.ibb.co/HdXckHy/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  พระยาตากสินจึงตัดสินใจพากองกำลังของตนหนีไปตายเอาดาบหน้า  โดยมีพม่าติดตามราวี  ได้รบกันเป็นระยะ ๆ  จากบ้านสามบัณฑิต  ไปบ้านโพธิ์สังหาร (สาวหาญ)  บ้านพรานนก ไปถึงนครนายก  มีชาวบ้านมาขอพึ่งบารมีเข้าเป็นพวกจำนวนมาก  ขุนชำนาญไพรสณฑ์  และนายกองสวามิภักดิ์  แม่กองช้างเมืองนครนายกเอาช้างพลายห้าเชือก  ช้างพังหนึ่งเชือกมามอบให้พร้อมกับคนของตนมาอาสาช่วยรบ

(https://i.ibb.co/ZXnrt2g/Dfq-CNv-GUc-AA-WZ.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นก็ยกกำลังมุ่งหน้าไปยังบ้านดง  ที่นี่  ขุนหมื่นพันทนายบ้านซ่องสุมผู้คนเอาไว้  ตั้งค่ายมั่นอยู่ในดงทึบ  พระยาตากสินส่งคนไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้มารวมกำลังกันสู้พม่า  เขาไม่ยอมร่วมด้วย  พระยากตากสินส่งคนไปเจรจาถึงสามครั้ง เมื่อเขายังดื้ออยู่  จึงนำกำลังส่วนหนึ่งเข้าโจมตี  แล้วยึดช้างม้าเสบียงอาหารและผู้คนได้ทั้งหมด  จากนั้นเดินทางมุ่งหน้าต่อไป

          จะไปไหนหรือ  พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg41900#msg41900)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42271#msg42271)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มีนาคม, 2562, 10:16:49 PM
(https://i.ibb.co/dMS4tbx/Screen.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42076#msg42076)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42526#msg42526)                   .

- พระยาตากเป็น  “พระเจ้าตาก” -

จากนครนายกไม่แลหลัง
มุ่งชายฝั่งทะเลไทยในเบื้องหน้า
รอนแรมผ่านบ้านช่องไพรท้องนา
เข้าเขตปราจีนยั้งสั่งสมพล

พม่าตามราวีต้านตีตอบ
ริปูบอบช้ำพ่ายเป็นหลายหน
ทั้งทหารทุกหมู่รวมผู้คน
เชิญขึ้นบนแท่น“เจ้า”เนานามเดิม


          อภิปราย ขยายความ.....

          เมื่อวันวานได้กล่าวถึงเรื่องพระยาตากสินพาพรรคพวกหนีพม่าจากกรุงศรีอยุธยาที่ล่มสลายแล้ว  มุ่งไปทางทิศตะวันออก  ถึงนครนายกก็ได้ผู้คนและช้างเข้าสมทบเป็นกำลังกองทัพน้อยของพระยาตาก  จากนั้นเข้ายึดค่ายบ้านดงที่ขุนหมื่นพันทนายบ้าน  ได้ตั้งซ่องสุมผู้คนไว้  เป็นการเพิ่มกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากขึ้นอีก  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

          ท่านเจ้าของนามว่า  “ชานนท์ ท.”  กล่าวไว้ในหนังสือ  “ตามรอยเลือดพระเจ้าตาก  วีรบุรุษของชาติ  มหาราชของปวงชน”  ที่ท่านได้รวบรวมและเรียบเรียงไว้ตอนที่ยึดค่ายบ้านดงได้แล้วว่า  “กองทัพน้อยของพระยาตากสินยึดเอาเส้นทางต่อเชื่อมกับเมืองนครนายกมุ่งไปทางชายฝั่งทะเลตะวันออก  รอนแรมไปได้สองวันก็ทะลุบ้านนาเริ่ง  พักที่บ้านนาเริ่งหลายวันจึงเคลื่อนพลต่อไปยังเมืองปราจีนบุรี  ข้ามด่านกบแจะแล้วก็หยุดพักไพร่พลหุงหาอาหารทางฝั่งตะวันออก”  จากนั้นเคลื่อนพลข้ามลำน้ำปราจีนถึงหนองน้ำใหญ่ชายดงศรีมหาโพธิแล้วยั้งทัพ ณ ที่นั้น  “ชานนท์ ท.”  กล่าวถึงการรบกับพม่า ณ ที่นี้สรุปได้ว่า

(https://i.ibb.co/VxfNjp5/maxresdefault-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          พวกพม่าที่แตกพ่ายหนีรอดจากบ้านพรานนกนั้น  กลับไปถึงปากน้ำเจ้าโล้ (โจ้โล้) ด้านใต้เมืองปราจีนบุรี  ได้รายงานเหตุการณ์แก่นายทัพพม่าที่ตั้งค่ายอยู่ที่นั้น  นายทัพจึงแบ่งทหารจำนวนหนึ่งให้ตามไล่ล่ากองทัพน้อยของพระยาตากสิน  โดยให้ยกไปทั้งทางบกทางเรือ  กำชับให้ฆ่าทำลายกองกำลังไทยอย่าให้เหลือ

(https://i.ibb.co/S55s8zg/9673020468.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          ขณะที่พระยาตากสินตั้งค่ายอยู่ที่ชายดงศรีมหาโพธินั้น  กองกำลังพม่ายกตามมา  โดยทางเรือนั้นขึ้นบกที่ท่าข้ามสมทบกับกองที่ยกมาทางบก  แล้วมุ่งสู่ชายดงศรีมหาโพธิ  พบครัวไทยที่พากันเดินทางไปขอพึ่งบารมีพระยาตากสินที่ชายดงศรีมหาโพธิ  จึงออกวิ่งไล่จับหมายกวาดต้อนเอาเป็นเชลย ครัวไทยเหล่านั้นก็พากันหลบหนีอย่างไม่คิดชีวิต  เวลานั้นประมาณบ่าย ๔ โมง  พระยาตากได้ยินเสียงฆ้องกลองอึกทึกแว่วมา  จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าไปสืบดู  นายบุญมีรีบขี่ม้าออกไปดูก็พบว่าพม่ากำลังไล่ฟันแทงครัวไทยที่หมดแรงหนี  แย่งชิงทรัพย์สินเท่าที่มีติดตัวมา  จึงรีบกลับไปรายงานพระยาตากสิน

(https://i.ibb.co/hdDDd1g/oxuufbwjtzj4-JZ6oil-O-o.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          ขณะนั้นกองทัพน้อยของพระยาตากสินยังไม่ได้ตั้งค่ายขุดคูเตรียมรับศึก  แต่ก็เห็นว่าชัยภูมิบริเวณนั้นแยบยลอยู่  ด้วยมีดงแขมขึ้นหนาแน่นขนาบทั้งสองข้างทางที่เคลื่อนทัพผ่านมา  จึงบัญชาให้ครัวไทยซึ่งมีผู้หญิง  เด็ก  และคนแก่  พร้อมทั้งพวกหาบเสบียงล่วงหน้าเข้าดงไปก่อน  ส่วนพวกทหารที่มีอยู่ให้วางกำลังซ่อนตัวอยู่ในดงแขมสองฟากทาง  เตรียมปืนใหญ่น้อยไว้พร้อมพรัก  ตัวพระยาตากสินและนายทหารคู่ใจขึ้นม้านำไพร่พลประมาณร้อยเศษยกสวนออกไปถึงกลางทุ่ง  ก็เผชิญกับกองทหารพม่าแล้วเข้าสู้รบกันเป็นสามารถ  

(https://i.ibb.co/2Mt7BB7/AT5A1704.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          เมื่อต่อสู้กันได้พักหนึ่ง  พระยาตากสินก็ให้สัญญาณล่าถอยไปทางช่องว่างของพงแขมที่วางกำลังซุ่มไว้  ทหารพม่าเห็นได้ทีก็ฮือรุกไล่ตามไปติด ๆ  ครั้นพม่าหลุดเข้าไปในพื้นที่ซุ่มสังหารตามแผนการณ์ของพระยาตากสิน  พลปืนน้อยใหญ่ก็ระดมยิงพร้อม ๆ กัน  ทหารกองหน้าของพม่าที่เบียดเสียดกันเข้ามาเป็นกลุ่มก็ล้มตายลงเป็นอันมาก  กองหนุนที่ตามมาติด ๆ ตะลุยตามเข้ามาอีกก็ถูกระดมยิงจนล้มตายระเนนระนาด  ทหารกองหลังที่เหลือไม่ทราบเหตุก็หนุนเนื่องตามเข้าสู่พื้นที่สังหาร  เสียงปืนก็คำรามกึกก้องเป็นครั้งที่สาม  ทหารพม่าล้มตายลงเป็นเบือ  ที่เหลือก็ลนลานหนีกลับ  พระยาตากสินก็ขับทหารกลับมาโจมตี  รุกไล่ฆ่าฟันอย่างไม่ปรานี  ทหารพม่าจึงเหลือรอดชีวิตหนีไปได้ไม่ถึงหนึ่งในสามที่ยกมาทั้งหมด  จากนั้นพม่าก็ขยาดฝีมือกองทัพน้อยพระยาตากสินจนไม่กล้ายกติดตามรังควานอีกเลย

(https://i.ibb.co/jhXhsg4/nd03.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          พระยาตากสินพากองทัพน้อยออกจากดงศรีมหาโพธิ  ผ่านบ้านหัวทองหลาง  บ้านพานทอง  บ้านบางปลาสร้อย  ถึงนาเกลือแขวงบางละมุง  ได้กำลังที่นายกลมผู้นำชุมชนสะสมไว้จำนวนมากเข้าเป็นกำลังกองทัพ  แล้วเดินทางต่อไปแรมคืนที่นาจอมเทียน  สัตหีบ  บ้านหินโด่ง  บ้านหินเก่า  เข้าเขตเมืองระยอง  พระยาตากสินได้ปรึกษาเหล่าทหารระหว่างที่หยุดพักผ่อนในที่นั้นว่า  บัดนี้กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ในมือพม่าแล้ว  เราคิดจะซ่องสุมผู้คนในแขวงหัวเมืองตะวันออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  หากกำลังกล้าแข็งเมื่อใดจะกลับไปสู้รบกู้บ้านกู้เมืองให้กลับคืนมา  เพื่ออาณาประชาราษฎรจะได้อยู่เย็นเป็นสุข  เราคิดจะตั้งตนเป็นเจ้าให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรง  การจะกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย  พวกท่านทั้งหลายจะเห็นเป็นประการใด  นายทหารและไพร่พลก็เห็นชอบด้วยกัน  จึงยกพระยาตากสิน  หรือ  พระยากำแพงเพชรขึ้นเป็นเจ้า  โดยเรียกว่า  “เจ้าตาก”  ตามนามเดิม.

(https://i.ibb.co/yBdw8M4/AAy0-OFT.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          เป็นอันได้ความชัดเจนแล้วว่า  เมื่อพระยาตากสินพากองกำลังของตนอันเป็นกองทัพน้อยกองหนึ่งไปถึงแขวงเมืองระยอง  ตั้งค่ายพักพลและสั่งสมกำลังอยู่นั้น  ทุกคนในกองทัพน้อยและประชาชนในบริเวณนั้น  มีเห็นพ้องต้องกันให้ยกพระยาตากขึ้นเป็น  “เจ้า”  ในนามเดิมว่า  “เจ้าตาก”  เพื่อเป็นศักดิ์ศรีให้คนทั้งหลายเคารพยำเกรง  นามว่า  “พระเจ้าตาก”  จึงปรากฏในแผ่นดินไทยแต่นั้นเป็นต้นมา

          พรุ่งนี้ติดตามเรื่องราวต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกในิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ มีนสคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, มีนาคม, 2562, 10:37:12 PM
(https://i.ibb.co/tzxWMnh/5455.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- ยึดเมืองระยองตั้งมั่น -

เจ้าเมืองระยองเข้าหาสามิภักดิ์
ลูกน้องหักหลังแบบแอบฮึกเหิม
ลอบตีค่ายหมายไม่ให้ต่อเติม
แต่เพียงเริ่มก็กลับถูกจับตาย

เจ้าตากสั่งโต้ตอบตีต่อเนื่อง
เข้ายึดเมืองระยองสมอารมณ์หมาย
ตั้งหลักมั่นมิพลัดกระจัดกระจาย
นโยบายร่วมกันกับจันทบุรี


          อภิปราย ขยายความ ..........

          พระยาตากสินได้ประกาศตนเป็น  “เจ้าตาก” ซึ่งมีความประสงค์ว่า  การตั้งตนเป็นเจ้าเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการเป็นผู้นำกลุ่มคนไทยกอบกู้เอกราชชาติไทยที่ล่มจมหายไปนั้นกลับคืนมา  แล้วตั้งกองทัพน้อยมั่นอยู่ในเขตแดนเมืองระยองนั้น

          กล่าวถึงเจ้าเมืองระยอง นามว่า  บุญเมือง  รู้ข่าวว่าเจ้าตากยกกำลังมาตั้งในเขตเมืองระยองก็เกิดความยำเกรง  จึงพากรมการเมืองส่วนหนึ่งออกมาแสดงความอ่อนน้อมพร้อมกับนำข้าวสารมาถวายหนึ่งเกวียน  เจ้าตากให้การต้อนรับเป็นอันดี  เจ้าเมืองระยองทูลเชิญให้นำไพร่พลไปพักที่ท่าประดู่ชานเมืองระยอง  เจ้าตากจึงยกกำลังไปตั้งค่ายที่ท่าประดู่  วางกำลังไพร่นายเป็นหมวดหมู่เตรียมพร้อมอยู่เสมอ  เพราะยังไม่ไว้วางใจเจ้าเมืองระยอง  เวลานั้นมีนายบุญรอดแขนอ่อน  ชาวเมืองจันทบุรีเป็นทหารชั้นนายหมวด  กับนายบุญมา  น้องเมียพระยาจันทบุรี  เข้ามาถวายตัวทำราชการด้วย  ทั้งสองคนนี้รู้ข่าวความเป็นไปในเมืองระยองดี  จึงสั่งให้เข้าเฝ้าไต่ถามความสงสัยในความจงรักภักดีของเจ้าเมืองระยอง  ทั้งสองจึงทูลถวายเรื่องราวทั้งปวง  แล้วให้ข้อมูลว่า  ขุนรามหมื่นซ่อง  นายทองอยู่นกเล็ก  ขุนจ่าเมืองด้วง  หลวงพลแสนหาญ  กรมการเมืองระยองคบคิดไม่ซื่อต่อเจ้าตาก  วางแผนจะนำทหารประมาณ ๑,๕๐๐ คนมาโจมตีทัพไม่ทันให้รู้ตัว

(https://i.ibb.co/p024jM4/185744.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าตากจึงสั่งให้นายบุญเมืองเจ้าเมืองระยองเข้าเฝ้า  สอบถามเรื่องกรมการเมืองคิดประทุษร้ายพระองค์  นายบุญเมืองปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง  ทรงเห็นมีอาการพิรุธ  จึงให้หลวงพรหมเสนาคุมตัวจำไว้  แล้วสั่งให้เตรียมพร้อมตั้งรับ  และในคืนนั้นประมาณทุ่มเศษ  กรมการเมืองผู้คิดคดได้นำกำลังเข้าล้อมค่ายสองด้านอย่างเงียบ ๆ  เจ้าตากสั่งให้ดับไฟในค่ายทั้งหมด  ทรงพาทหารคู่ใจตรวจแนวรบท่ามกลางความมืด  ขุนทหารไทย-จีนตามเสด็จอารักขา  คนไทยคือ หลวงชำนาญไพรสณฑ์  นายทองดี  พระเชียงเงิน  หลวงพรหมเสนา  นายบุญมี  นายแสง  นายศรีสงคราม  นายนาก  พะทำมะรงอิ่ม  แต่ละนายสะพายดาบถือปืนนกสับคาบศิลา  คนจีนคือ  หลวงพิพิธ  หลวงพิชัย  ขุนจ่าเมืองเสือร้าย  หมื่นท่อง  หลวงพรหม  ทุกคนถือง้าวเป็นอาวุธ

(https://i.ibb.co/vZggbLf/atichart9-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ข้างฝ่ายขุนจ่าเมืองด้วง  กรมการเมืองระยองคนหนึ่งนำทหารฝีมือดีประมาณ ๓๐ คน  ลอบเข้ามาทางใต้วัดเนิน เดินข้ามสะพานก่อนถึงค่ายทหารไม่เกินหกวา  เจ้าตากจึงให้พลปืนยิงเข้าใส่พร้อมกัน  ขุนจ่าเมืองด้วงและทหารระยองเกือบครึ่งจำนวนถูกกระสุนปืนยิงกวาดตกสะพานตายคาที่  นอกนั้นก็ถอยหนีเอาตัวรอด  เจ้าตากสั่งให้ทหารไทย-จีนตามสังหารอย่าให้หลงเหลือ  และให้สัญญาณทหารในค่ายเข้าตีตะลุมบอนทหารระยองทันที  ทหารระยองไม่อาจต้านทานฝีมือทหารเจ้าตากได้ก็ถูกฆ่าฟันล้มตายลงเป็นอันมาก  ที่เหลือก็ถอยหนีไปยึดค่ายเก่าเป็นที่ตั้งมั่น  เจ้าตากก็สั่งให้เข้าตีค่ายแล้วเผาค่ายวินาศสิ้น  ทหารที่เหลือหนีกระจัดกระจายไปไกลแล้ว  เจ้าตากก็สั่งให้ลั่นฆ้องชัยเรียกทหารกลับเข้าค่าย  เมืองระยองก็ตกอยู่ในปกครองของเจ้าตากแต่นั้นมา

(https://i.ibb.co/16nH6hp/nuengdowfahdeow-ch3-26.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพของเจ้าตากพักอยู่ที่เมืองระยอง ๗-๘ วัน  ในวันหนึ่ง  เจ้าตากเรียกประชุมขุนทหารทั้งหลายแล้วตรัสว่า  “เราประสงค์จะกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นมือศัตรู  จึงปรารถนาต้องการให้ชาวสยามร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  เลยจากระยองไปก็เป็นเมืองจันทบุรี  ซึ่งจำเป็นต้องให้เมืองจันทบุรีมารวมกำลังด้วย  แต่ไม่ปรารถนาให้ไทยรบกับไทยอีก  ทำอย่างไรจึงจะทำให้เจ้าเมืองจันทบุรีฟังเหตุผลยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี  โดยไม่เสียเลือดเนื้อเช่นที่เกิดขึ้น ณ เมืองระยอง”

          บรรดาขุนทหารต่างปรึกษากันแล้วเห็นช่องทางหนึ่งที่จะให้เป็นไปตามพระประสงค์ คือ  ให้นายบุญมี  ทหารมหาด เล็ก  นายบุญรอดแขนอ่อน  กับนายบุญมา  น้องเมียพระยาจันทบุรี  ทั้งสามคนไปเจรจา  โดยเชิญพระกระแสไปยังเจ้าเมืองจันทบุรี  การนี้คงสำเร็จลุล่วงไปได้  เจ้าตากก็ทรงเห็นชอบด้วย  นายเผือก ชาวญวน  และ  นักมา ชาวเขมร  รับอาสาพาข้าหลวงทั้งสามคนนั้นไปพบพระยาจันทบุรี  โดยใช้เรือใบเป็นพาหนะ  ออกจากปากน้ำระยองใช้เวลา ๕ วันก็ถึงปากน้ำจันทบุรี  แล้วเข้าไปหาพระยาจันทบุรีพร้อมกับเชิญพระกระแสมอบให้  พระยาจันทบุรีก็น้อมรับและให้การต้อนรับคณะทูตเป็นอย่างดี  ให้สัญญาว่าอีก ๑๐ วันจะออกไปเฝ้ายังกองทัพและจะเชิญเสด็จมาประทับในเมืองจันทบุรี

          เจ้าเมืองจันทบุรีให้คำมั่นสัญญาจะร่วมมือร่วมใจรวมกำลังต่อสู้กับพม่าข้าศึกเป็นมั่นคง  เมื่อคณะทูตจะกลับ  พระยาจันทบุรีก็ลงเรือรบยี่สิบพลกรรเชียงมาส่งด้วยตนเอง  เมื่อถึงปากน้ำได้ชวนคณะทูตขึ้นไปสักการะศาลเทพารักษ์  แอบถามนายบุญมาน้องเมียว่าจะวางใจเจ้าตากได้หรือไม่  ด้วยเกรงว่าเจ้าตากจะฉวยโอกาสยึดเมืองชิงสมบัติ  นายบุญมาก็ยืนยันหนักแน่นว่าเจ้าตากมีจิตใจสุจริต  มุ่งหวังกอบกู้บ้านเมืองให้หลุดพ้นจากเงื้อมมือพม่าเป็นสำคัญ  เจ้าเมืองจันทบุรีฟังแล้วก็แสดงความยินดี  กล่าวย้ำว่า  อีก ๑๐ วันจะนำกรมการเมืองไปเฝ้าแน่นอน

          ดังนั้น  ระยองจึงเป็นเมืองแรกที่เจ้าตากครอบครองตั้งหลักตั้งตัว  สะสมกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เตรียมการกู้เอกราชชาติไทย  ผลการเจรจากับพระยาจันทบุรีซึ่งมีทีว่าจะราบรื่นดี  โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อในการรวมกำลังกันขับไล่พม่าต่อไป  แต่หนทางของเจ้าตากมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ  ดอกดาวเรือง  หรือดอกไม้ใด ๆ  หากแต่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามที่ต้องเก็บกวาดถากถางฝ่าฟันไปด้วยความลำบากเป็นอย่างยิ่ง

          พรุ่งนี้ติดตามอ่านเรื่องนี้ต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, มีนาคม, 2562, 10:20:04 PM
(https://i.ibb.co/fMwnL14/pa7yr0hum-Y4-El-Df-PQo-N-o.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- ทุบหม้อข้าวเข้าเมืองจันท์ -

พระยาจันทบุรีคิดมิซื่อ
รับหนังสือจากพม่าแล้ว“บ้าจี้”
อยากตั้งตนเป็นใหญ่ในทันที
วางแผนตีพระเจ้าตากมากอุบาย

พระเจ้าตากรู้เรื่องขัดเคืองยิ่ง
สั่งทุบทิ้งหม้อข้าวตั้งเป้าหมาย
เข้าตีเมืองจันท์พร้อมยอมอดตาย
ผลสุดท้ายได้เมืองไม่เปลืองแรง


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานได้บอกเล่าถึงพระเจ้าตากสินทรงต้องการยึดจันทบุรีโดยไม่ให้เสียเลือดเนื้อจึงส่งคนเข้าเจรจา  ให้พระยาจันทบุรียอมรับเข้าเป็นพวกด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาดูกันต่อไปครับ

          ในระหว่างที่พระยาจันทบุรียังไม่ได้เข้าเฝ้านั้นปรากฏว่า  หลวงบางละมุง บุญเรือง  ผู้รั้งเมืองบางละมุงซึ่งเป็นเพื่อนกับพระยาจันทบุรี  คุมไพร่พล ๒๐ คนเดินทางไปจันทบุรีโดยผ่านเมืองระยอง  จึงถูกทหารของเจ้าตากสินจับได้แล้วนำเข้าเฝ้า  ทราบว่าจะไปหาพระยาจันทบุรีตามคำสั่งเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่พม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น  ให้พระยาจันทบุรีจัดส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองยอมอ่อนน้อมแก่พม่า  นายทัพนายกองทูลเสนอให้พระเจ้าตากสินประหารหลวงบางละมุงเสีย  แต่พระองค์ไม่ทรงทำตามข้อเสนอนั้น  ทรงให้หลวงบางละมุงนำหนังสือพม่าไปให้พระยาจันทบุรีเพื่อจะดูว่าพระยาจันทบุรีจะอ่อนน้อมต่อพม่าหรือจะร่วมใจกับพระองค์สู้รบพม่า  พร้อมกันนั้นก็ทรงให้มีศุภอักษรไปให้พระยาราชาเศรษฐี  เจ้าเมืองบันทายมาศ  เชิญเข้าร่วมเป็นพวกต่อต้านพม่าด้วย

(https://i.ibb.co/z8cXPG5/ads.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องที่พ่ายพระเจ้าตากสินมาอยู่กับพระยาจันบุรีนั้นก็ยุยงให้พระยาจันทบุรีตั้งตนเป็นใหญ่เสียเอง  โดยไม่ต้องเข้าไปยอมเป็นลูกน้องพระเจ้าตากสิน  พระยาจันทบุรีเชื่อคำยุยงของขุนรามหมื่นซ่อง  จึงร่วมกันวางอุบายหลอกล่อให้พระเจ้าตากเข้าเมืองจันบุรีแล้วกำจัดเสีย  โดยให้พระภิกษุ ๔ รูป  เดินทางออกไปเชิญพระเจ้าตากสินเข้าเมือง  ทรงปรึกษานายทัพนายกองว่าควรจะเข้าเมืองจันทบุรีตามคำเชิญหรือไม่  เหล่าทหารคู่พระทัยให้ความเห็นว่า  ควรจะเคลื่อนทัพไปยังเมืองจันทบุรีด้วยเหตุผลว่า  หากพบเห็นว่าพระยาจันบุรีคิดคดทรยศหวังประทุษร้ายก็จะได้กำราบปราบปรามเสียให้เด็ดขาด  หากเจ้าเมืองจันทบุรียังซื่อสัตย์สุจริตก็จะได้ร่วมมือกันหาทางกอบกู้บ้านเมืองต่อไป

(https://i.ibb.co/KLBj7DL/Dfq-Hwfe-Uc-AASkx-E.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าตากสินจึงตัดสินพระทัยเคลื่อนทัพจากเมืองระยองสู่จันทบุรีโดยมีพระภิกษุ ๔ รูปนำทาง  เมื่อไปถึงตำบลบางกระจะหัวแหวน  เจ้าเมืองจันทบุรีก็สั่งให้ขุนปลัดและขุนหมื่นทำอุบายนำทัพไปทางทิศใต้ของเมืองแล้วข้ามน้ำไปฟากตะวันออก  เพื่อเจ้าเมืองจันทบุรีจะได้ถือโอกาสโจมตีในขณะกองทัพข้ามลำน้ำ  พระเจ้าตากสินทราบดังนั้นจึงสั่งมิให้เคลื่อนทัพตามขุนปลัดขุนหมื่น  แต่สั่งให้ทัพหน้ากลับมาทางขวาตรงเข้าประตูท่าช้าง  แล้วให้พักไพร่พลที่วัดแก้วนอกเมืองจันทบุรี และให้สร้างค่ายขึ้น ณ ที่นั้น

          เจ้าเมืองจันทบุรีกับขุนรามหมื่นซ่องเห็นเช่นนั้นก็ร้อนใจ  จึงให้ทหารไปประจำการรบบนกำแพงเมืองเต็มที่  แล้วขุนพรหมธิบาล  ซึ่งเป็นพระท้ายน้ำ  พะทำมะรงพอน  นายลิ่ม  นายแก้วแขก  นายเม้าแขก  ออกมาเชิญพระเจ้าตากสินเสด็จเข้าไปประทับในเมือง  โดยให้กองทัพยับยั้งอยู่ภายนอกเมือง  พระเจ้าตากสินตอบว่า  “การที่พระยาจันทบุรีเชิญเราเข้าไปในเมืองเห็นจะไม่ถูกต้องตามประเพณี  ด้วยเหตุที่ผู้น้อยอ่อนอาวุโสควรจะมาพบผู้ใหญ่ซึ่งมีอาวุโสกว่าจึงจะชอบ  จะให้ผู้ใหญ่เข้าไปพบผู้น้อยย่อมไม่เป็นการสมควร  หากพระยาจันทบุรีสุจริตใจควรออกมาพบเราที่นี่  และตรัสอีกว่าขุนรามหมื่นซ่องซึ่งตั้งตนเป็นศัตรูกับพระองค์นั้นอยู่กับพระยาจันทบุรี  ขอให้ส่งตัวมาให้เราเพื่อกระทำความสัตย์เลิกความเป็นปฏิปักษ์กันเสีย  พระยาจันทบุรีเห็นการณ์เป็นเช่นนั้นจึงคิดอุบายใหม่  ให้พะทำมะรงพอนนำเครื่องเสวยออกไปถวาย  โดยให้พระภิกษุ ๔ รูปเดิมออกไปด้วย

          พระเจ้าตากสินสังเกตพฤติการณ์ของพระยาจันทบุรีดังนั้นก็แน่พระทัยว่าเจ้าเมืองจันทบุรีไม่มีความจริงใจ  เป็นแต่ถ่วงเวลาคอยทีที่จะประทุษร้ายพระองค์อยู่  จึงตัดสินพระทัยเลิกการเจรจาแล้วเตรียมการเข้าตีเมืองจันทบุรีทันที

           “เย็นวันนั้น  เมื่อไพร่พลเหล่าทหารทั้งหลายหุงหาอาหารกินกันจนอิ่มแล้ว  เจ้าตากมีรับสั่งให้ทุบหม้อข้าวทุกใบทิ้งจนหมด  แล้วตรัสประกาศว่า  คืนนี้จะเข้าตีเมืองจันทบุรียึดเมืองให้ได้  ให้ไปกินข้าวเช้าในเมือง  หากเข้าเมืองไม่ได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด”

(https://i.ibb.co/4pTdzcz/pi2x6w3f3bvdw-QZY65y-T-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          คำประกาศดังกล่าวกระตุ้นให้บรรดาทหารหาญทั้งหลายเกิดความรู้สึกฮึกเหิม  ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงใด ๆ  ค่ำคืนนั้นพระเจ้าตากสินจึงจัดรูปขบวนทัพเตรียมพร้อมเข้ายึดเมือง  ทรงวางแผนให้ทหารไทยจีนเคลื่อนกำลังเข้าประชิดกำแพงเมืองจันบุรีอย่างเงียบ ๆ ทุกด้าน  ห้ามส่งเสียงโห่ร้องอึงคะนึงเป็นอันขาด  ได้ยินเสียงปืนเมื่อใดให้ยกเข้าตีพร้อม ๆ กัน  ถ้าเข้าเมืองได้เมื่อไหร่ให้โห่ร้องข่มขวัญทันที

(https://i.ibb.co/rMy5YPf/fdff.jpg) (https://imgbb.com/)

          ยาม ๓ ของคืนนั้น  ทหารฝ่ายเมืองจันทบุรีที่ประจำอยู่บนเชิงเทินส่วนมากกำลังหลับ  พวกเวรยามที่ตื่นตาอยู่มีเป็นส่วนน้อยและไม่รู้ว่าเมืองถูกล้อม  ครั้นทหารเข้ารายล้อมเมืองหมดแล้ว  พระเจ้าตากสินทรงประทับคอช้างพังคีรีบัญชรแล้วบัญชาให้ยิงปืนสัญญาณ  ทหารที่รายล้อมคอยทีอยู่ทุกด้านนั้นก็เข้าโจมตีเพื่อยึดเมือง  เอาบันไดพาดกำแพงแล้วปีนหนุนเนื่องกันขึ้นไป  ทหารเมืองจันทบุรีรู้สึกตัวก็ปลุกเพื่อนให้ลุกขึ้นสู้จนเกิดความวุ่นวายไปทั่วเชิงเทินกำแพงเมือง

(https://i.ibb.co/51g7sb0/wfd.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าตากสินทรงขับช้างพังคีรีบัญชรเข้าทลายประตูเมือง  ทหารที่รักษาประตูเมืองก็ใช้ปืนนกสับระดมยิงเข้าใส่  แต่กระสุนปืนไม่ถูกใคร  ควาญท้ายช้างเห็นเช่นนั้นเกรงว่าพระเจ้าตากสินจะเป็นอันตรายจึงใช้ขอเกี่ยวบังคับช้างให้ถอยออกมาก่อน  พระองค์ทรงโกรธนักจึงชักชักพระแสงดาบจะฟันควาญท้ายช้าง  เขาร้องขอชีวิตแล้วขับช้างหวนเข้าชนประตูกำแพงเมือง  พระเจ้าตากใช้พระแสงกริชแทงช้างทรงให้เจ็บเพื่อกระตุ้นให้ทลายประตูเต็มกำลัง  ประตูกำแพงเมืองพังทลายลง  ทหารก็กรูกันเข้าเมืองพร้อมส่งเสียงโห่ร้องเต็มที่  ทหารที่ล้อมเมืองพร้อมกันโห่รับดังสนั่นหวั่นไหว  ทหารฝ่ายเจ้าเมืองจันทบุรีก็เข้าต่อสู้อย่างตะลุมบอน  แต่เพราะฝีมืออ่อนด้อยกว่าทหารของพระเจ้าตาก  จึงบาดเจ็บล้มตายลงเป็นอันมาก  ที่รอดตายก็ระย่อต่อทัพพระเจ้าตากจึงพากันย่อมแพ้บ้าง  หนีเอาตัวรอดไปเสียบ้าง  ทหารของพระเจ้าตากสินจึงเข้าเมืองได้ทั้งหมด

          แผนทุบหม้อเข้าเข้าตีเมืองจันท์ของพระเจ้าตากเป็นแผนที่ยอดเยี่ยมมาก  แผนนี้มีผู้นำมาใช้ในการต่อสู้อีกหลาย ๆ อย่าง  ควบคู่กันกับคำว่า  “ไปตายเอาดาบหน้า”  ยึดเมืองจันท์ได้แล้วแผนการต่อไปของพระเจ้าตากจะดำเนินการอย่างไร อ่านต่อพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, มีนาคม, 2562, 10:59:37 PM
(https://i.ibb.co/wRxR2Cx/7143497367.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- ไทยตั้งก๊กหกชุมนุม -

พระเจ้าตากตั้งหลักปักก๊กกลุ่ม
เป็นชุมนุมหนึ่งในไทยกำแหง
เจ้าพระฝาง,พิษณุโลกล้วนสำแดง
ตั้งตำแหน่งเป็นเจ้าเอาตามใจ

กรมหมื่นเทพพิพิธคิดขวนขวาย
ตั้งพิมายเป็นกลุ่มชุมนุมใหญ่
นครศรีธรรมราชก๊กเกรียงไกร
มิมีใครยอมย่อขึ้นต่อกัน


          อภิปราย ขยายความ...........

          ฝ่ายเจ้าเมืองจันทบุรีนั้นพาบุตรภรรยาลงเรือหนีทิ้งเมืองออกไปยังปากน้ำบันทายมาศ  ทหารไทยจีนของพระเจ้าตาก จับครอบครัวญาติเจ้าเมืองจันทบุรีไว้ได้ทั้งหมด  กรมการเมืองที่ยังเหลือก็ยอมวางอาวุธไม่คิดสู้  เมืองจันทบุรีตกอยู่ในเงื้อมมือพระเจ้าตากสินเพียงชั่วไม่ถึงครึ่งคืน  ทรงได้เมืองจันทบุรีเมื่อเดือน ๗ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐  หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเพียง ๒ เดือนเศษ  ทรงส่งคนออกไปเกลี้ยกล่อมชาวเมืองที่หลบหนีออกไปซ่อนตามป่าดงให้กลับเข้าอาศัยอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม  จัดการปกครองเมืองจันทบุรีจนเรียบร้อยได้ภายในเวลาไม่ถึงเดือน

          เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว  พระเจ้าตากสินต้องการได้หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกมาไว้ในอำนาจทั้งหมด  เพื่อจะได้มีกำลังมากพอที่จะขับไล่พม่าที่ยังยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้นให้แตกพ่ายไป  จึงจัดทัพเรือยกไปเมืองตราด  เมื่อเลาะเลียบชายฝั่งทะเลไปถึงเมืองตราด  พวกกรมการเมืองก็พากันมาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์โดยดี  ขณะนั้นมีสำเภาพ่อค้าจีนจอดทอดสมออยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ  พระเจ้าตากสินจึงให้ข้าหลวงไปเชิญตัวพ่อค้าจีนเจ้าของสำเภาเหล่านั้นมาพบ  แต่พ่อค้าจีนไม่ยอมให้เรือข้าหลวงเข้าใกล้เรือนตน  โดยใช้ปืนยิงสกัดกั้นเอาไว้

(https://i.ibb.co/QjWcsF7/maxresdefault.jpg) (https://imgbb.com/)

          ข้าหลวงถอยกลับมาถวายรายงาน  พระองค์ขัดเคืองมากจึงลงเรือนำกองเรือรบเข้าล้อมสำเภาเหล่านั้นไว้  แล้วตรัสสั่งให้พ่อค้าเหล่านั้นยอมอ่อนน้อมเสียโดยดี  แต่พ่อค้าเหล่านั้นกลับยิงปืนเข้าใส่  พระองค์จึงยิงสู้และบุกเข้าประชิดเรือสำเภาแต่ละลำจนปีนขึ้นเรือได้  ทหารไทยไล่ฆ่าฟันลูกเรือสำเภาตายไปหลายคน  พ่อค้าจีน  นายสำเภาจึงยอมแพ้  ยึดได้สินค้าอันเป็นประโยชน์แก่กองทัพมากมาย  จีนเจียมผู้เป็นใหญ่กว่าพ่อค้าจีนนายสำเภาทั้งหลายนำบุตรสาวคนหนึ่งมาถวาย  จากนั้นพระเจ้าตากสินก็ยกพลกลับเมืองจันทบุรี

          เวลานั้นย่างเข้าฤดูฝน  มรสุมเคลื่อนตัวมาทางฝั่งทะเลตะวันออก  พระเจ้าตากสินทรงปักหลักตั้งทัพสะสมกำลัง  บำรุงไพร่พลอยู่ที่เมืองจันทบุรี  มีพระบัญชาให้ต่อเรือรบเพิ่มเติมให้มากขึ้นอีกเท่าที่จะมากได้

(https://i.ibb.co/ySHfZzC/Df-A5-Knf-UYAA2r-At.jpg) (https://imgbb.com/)

          * กล่าวฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น  เวลาประมาณ ๒ ทุ่มของวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ พุทธศักราช ๒๓๑๐  ทหารพม่าก็เข้ากรุงศรีอยุธยาได้  จุดไฟเผาบ้านเรือนราษฎร  วัดวาอาราม  ปราสาทราชมนเทียร  แสงเพลิงโชติช่วงไปทั่วพระนคร  พวกพม่ายึดแย่งทรัพย์สินเงินทอง  ปล้นฆ่าประชาชนและฉุดคร่าอนาจารสตรีชาวไทยอย่างป่าเถื่อน  พระนครศรีอยุธยาอันรุ่งเรืองกลายเป็นแดนมิคสัญญีไปในพริบตา  พระเจ้าเอกทัศนั้นหนีกระเซอะกระเซิงลงเรือไปกับมหาดเล็กสองคนแล้วขึ้นฝั่งหลบซ่อนอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้  อดอยากไม่ได้เสวยกระยาหารอยู่ได้ ๑๑–๑๒  วันก็ถูกพม่าค้นพบนอนซมอยู่  จึงหามลงเรือมาที่ค่ายโพธิ์สามต้น  แล้วสิ้นพระชนม์ ณ ที่นั้นเอง  หลังจากยึดและทำลายกรุงศรีอยุธยาจนราบเรียบแล้ว  แม่ทัพพม่าก็ขนสมบัติและกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยกลับไปเป็นอันมาก  ทิ้งไว้แต่สุกี้พระนายกองนายทัพและกำลังทหารจำนวนหนึ่งตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น  คอยเก็บกวาดทรัพย์สินเงินทองของไทยที่ยังหลงเหลือยู่ส่งตามไปเรื่อย ๆ

          ในยามนั้นได้เกิดขุมกำลังตั้งชุมนุมเป็นกลุ่มขึ้นในสยามประเทศมีหลายก๊ก  ที่ถือได้ว่าเป็นก๊กใหญ่ ๆ ทั้งหมดมี ๖ ก๊ก หรือ ๖ ชุมนุม  คือ

          ๑. ชุมนุมสุกี้พระนายกอง  ตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น  กรุงศรีอยุธยา
          ๒. ชุมนุมเจ้าพระฝาง  ตั้งมั่นอยู่ที่สวางคบุรี  หรือ  เมืองฝาง – อุตรดิตถ์
          ๓. ชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธ  ตั้งมั่นอยู่ที่พิมาย  นครราชสีมา
          ๔. ชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก (เรือง)  ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
          ๕. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช  ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
          ๖. ชุมนุมเจ้าตากสิน  ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรี

(https://i.ibb.co/V9GNPBm/K11158910-43.jpg) (https://imgbb.com/)

          ชุมนุมสุกี้พระนายกอง  แม้จะตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น  แต่สุกี้ก็ได้ตั้งให้คนไทยใจพม่าชื่อนายทองอิน  เป็นหัวหน้ากองกำลังอยู่ที่ธนบุรี  โดยยึดเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นศูนย์บัญชาการ  นอกจากเสาะหายึดทรัพย์สมบัติคนไทยแล้วก็คอยจับคนไทยที่หลบซ่อนในที่ต่าง ๆ เป็นเชลยแล้วส่งไปเป็นทาสพม่า

(https://i.ibb.co/W65zFc9/image.jpg) (https://imgbb.com/)
จิตรกรรมฝาผนัง พระเจ้าฝาง วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

          ชุมนุมเจ้าพระฝาง  ท่านผู้นี้เป็นชาวเหนือมีนามเดิมว่า  เรือน  บวชเป็นพระภิกษุลงไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงศรีอยุธยาจนมีความรู้ด้านปริยัติและเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระ  จนได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระพากุลเถระ  ประจำอยู่วัดศรีอโยธา  ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชา  เจ้าคณะเมืองสาวงคบุรี  หรือเมืองฝาง  เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจนสยามประเทศตกอยู่ในสภาพ  “บ้านแตกสาแหรกขาด”  หาผู้เป็นหลักให้ยึดถือไม่ได้  พระสังฆราชาแห่งสวางคบุรีจึงตั้งตนเป็นเจ้าด้วยหวังให้เป็นที่พึ่งของคนไทย  ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในบรรพชิตเพศ  จึงเรียกตนเองว่า  เจ้าพระฝาง  นักประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่บันทึกเรื่องราวของท่านว่า  เป็นพระภิกษุที่มากไปด้วยกิเลสตัณหา  แต่งตัวเป็นพระภิกษุแต่มีความประพฤติอย่างคฤหัสถ์  แต่งตั้งพระภิกษุที่มีวิชาความรู้ทางไสยเวทย์ให้เป็นนายทหารในตำแหน่งต่าง ๆ  บรรดานายทหารแต่ละคนที่แวดล้อมล้วนโกนหัวห่มผ้าเหลืองครองเพศบรรพชิตทั้งสิ้น  พฤติกรรมของเจ้าพระฝางและเหล่าทหารล้วนเป็นอย่างคฤหัสถ์ทุกประการ.

          กองกำลังหรือชุมนุม (ก๊ก) ใหญ่บนแผ่นดินสยามในยามที่บ้านเมืองไร้ขื่อไร้แปนั้น  คนไทยหัวหน้าชุมนุมที่เป็นสามัญชนตั้งตนเป็นเจ้าก็มี  เจ้าพระฝาง  พระยาพิษณุโลก  พระยานครศรีธรรมราช  และ  พระยาตาก  ส่วนชุมนุมเจ้าพิมายนั้น หัวหน้าชุมนุมเป็นราชวงศ์คือ  กรมหมื่นเทพพิพิธ  เจ้าในชุมนุมหรือก๊กใหญ่ ๔ ก๊กตั้งตนเป็นใหญ่อยู่กับที่เหมือนไม่คิดที่จะกอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมา  จึงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ

(https://i.ibb.co/6HpHHLs/0839602306.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระเจ้าตากผู้ตั้งก๊กหรือชุมนุมอยู่ที่เมืองจันทบุรี  มีความมุ่งมั่นที่จะกอบกู้เอกราชชาติไทยคืนมา  จึงมีความเคลื่อนไหว  สะสมกำลังพล  มีเป้าหมายปราบปรามก๊ก  ชุมชนต่าง ๆ ให้ราบคาบ  โดยจะเริ่มขับไล่ก๊กสุกี้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น เป็นอันดับแรก  งานกู้เอกราชชาติของพระเจ้าตากจะดำเนินการอย่างไร  อ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, เมษายน, 2562, 10:21:06 PM
(https://i.ibb.co/sjJ0C1B/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ก๊กพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ -

กล่าวถึงองค์กรมหมื่นเทพพิพิธ
มีชีวิตเหมือนนิยายคนขายฝัน
ถูกเนรเทศไปลังกามินานวัน
ก็พัวพันกลุ่มกบฏซ้ำบทเรียน

กลับสยามเร่ร่อนหลายบ่อนพัก
ไปปักหลัก ณ พิมายแล้วไม่เปลี่ยน
เป็นก๊กเจ้าเผ่าไทยได้แนบเนียน
ท่ามกลางเสี้ยนหนามแน่นเต็มแผ่นดิน


          อภิปราย ขยายความ...........

          ชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธ  ท่านผู้นี้เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในพระเจ้าบรมโกศ  มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าแขก  ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรมพระนามว่า  กรมหมื่นเทพพิพิธ  อยู่ในกลุ่มเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กุ้ง)  และเจ้าฟ้าอุทุมพร (ดอกมะเดื่อ / ขุนหลวงหาวัด)   เมื่อพระเจ้าอุทุมพรราชาครองราชย์แล้วเกิดความวุ่นวายขึ้นในราชสำนัก  กรมหมื่นเทพพิพิธวางแผนโค่นพระเจ้าเอกทัศจึงถูกเนรเทศไปอยู่ลังกา  ในรัชสมัยพระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ผู้มีอดีตเป็นชาวฮินดู  ซึ่งชาวลังกาไม่ค่อยเคารพนับถือ  ครั้นกรมหมื่นเทพพิพิธผู้เป็นพุทธศาสนิกชนแท้ไปอยู่ที่ลังกาจึงมีผู้คนเคารพนับถือมาก  จนถึงกับถูกดึงเข้าร่วมในคณะขุนนางที่คิดขบถต่อพระเจ้าลังกา  โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อทำการสำเร็จจะยกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงลังกา  แต่ทำการไม่สำเร็จจึงหนีจากลังกามาขึ้นบกที่เมืองมะริด  แล้วย้ายมาอยู่ตะนาวศรี  และปราจีนบุรี

(https://i.ibb.co/W0QdzpG/hqdefault-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในขณะที่พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น  ชาวไทยจากเมืองในฝ่ายตะวันออกรวมตัวกันจะยกไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบพม่านับหมื่นคน  กรมหมื่นเทพพิพิธรับเป็นหัวหน้ากลุ่มชนให้ตั้งค่ายใหญ่ที่ปราจีนบุรี  ฝ่ายพม่ารู้เข้าก็ยกทัพโจมตีจนค่ายน้อยใหญ่ในสังกัดกรมหมื่นเทพพิพิธแตกทำลายลง  ตัวกรมหมื่นฯ ไม่คิดสู้รบจึงพาครอบครัวและบริวารใกล้ชิดหนีไปตั้งหลักที่ด่านโคกพระยา  นครราชสีมา  ทรงต้องการผูกมิตรกับพระยานครราชสีมา  แต่พระยานครราชสีมากลับมีความคิดจะจับตัวกรมหมื่นฯ ส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเอาความดีความชอบ  แต่หลวงพลกรมการเมืองนครราชสีมาซึ่งจงรักภักดีต่อเชื้อพระวงศ์ได้เข้าเฝ้าและกราบทูลแผนการของพระยานครราชสีมาให้ทราบ  ทรงตกพระทัยคิดจะหนีต่อไป  แต่หม่อมเจ้าประยงค์โอรสไม่เห็นด้วย  จึงวางอุบายยึดนครราชสีมา  โดยเข้าล้อมจวน  และจับตัวพระยานครราชสีมาฆ่าเสีย  หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาหนีไปพึ่งพระพิมาย  เจ้าเมืองพิมาย

(https://i.ibb.co/gt4KGXP/tongoo.jpg) (https://imgbb.com/)

          กรมหมื่นเทพพิพิธครองนครราชสีมา  โดยที่ชาวเมืองมิได้เลื่อมใสศรัทธา  ดังนั้นหลวงแพ่งที่หนีไปพึ่งเจ้าเมืองพิมายจึงนำกำลังจากเมืองพิมายมายึดเมืองนครราชสีมาคืนได้โดยง่าย  หลวงแพ่งสั่งประหารหม่อมเจ้าประยงค์และนายทหารคนสำคัญของหม่อมเจ้าประยงค์ทั้งหมด  และยังสั่งให้ประหารกรมหมื่นเทพพิพิธด้วย  แต่พระพิมายคัดค้านด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สำคัญของราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา  หลวงแพ่งเกรงใจพระพิมายจึงยอมยกโทษประหารให้  จากนั้นพระพิมายก็พากรมหมื่นเทพพิพิธ ไปประทับที่เมืองพิมาย

          * ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  พระพิมายจึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ เรียกพระนามว่า  เจ้าพิมาย  กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็ตั้งให้พระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  ตั้งบุตรชายคนโตพระพิมายเป็นพระยามหามนตรี  บุตรชายคนเล็กของพระพิมายที่ชื่อนายน้อยนั้นให้เป็นพระยาวรวงศาธิราช  เรียกว่า  พระยาน้อย  ในยามนั้นบรรดาข้าราชการและเชื้อพระวงศ์ที่หนีพ้นเงื้อมมือพม่าได้ทราบว่ากรมหมื่นฯ ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพิมายก็พากันเข้าไปพึ่งพระบารมี  พระองค์ก็แต่งตั้งให้เป็นขุนนางยศสูงต่ำตามลำดับ

(https://i.ibb.co/5Fsj1Qq/05.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพิมายกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คบคิดกับพระยามหามนตรีและพระยาวรวงศาธิราชขยายอำนาจให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น จึงวางแผนกำจัดหลวงแพ่งเจ้าเมืองนครราชสีมาเสีย  โดยพระยาพ่อลูกนั้นพาไพร่พลห้าร้อยคนเดินทางสู่นครราชสีมา  ทำทีว่าจะเยี่ยมเยือนหลวงแพ่งเจ้าเมืองคนใหม่  หลวงแพ่งไม่รู้ตัวว่าจะถูกปองร้าย  จึงให้การต้อนรับด้วยความยินดี  ในคืนนั้นหลวงแพ่งจัดละครแสดงให้พระยาศรีสุริยวงศ์และคณะได้ชม  โดยหลวงแพ่ง  นายแก่น  นายย่น  มานั่งร่วมชมอยู่ด้วย  ขณะชมกันอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และบุตรชายทั้งสองที่คอยทีอยู่ก็ได้โอกาส  ชักดาบโถมเข้าฟันหลวงแพ่งซึ่งไม่ทันระวังตัวนั้นตายคาที่  พระยามหามนตรีฟันนายแก่น  พระยาวรวงศาธิราชก็ฟันนายย่นตายคาที่เช่นกัน  ทหารฝีมือดีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นับสิบคนก็เข้าฟันแทงทหารคุ้มกันหลวงแพ่งล้มตายเป็นอันมาก  เมืองนครราชสีมาจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์โดยง่ายดาย  จากนั้นก็เกลี้ยกล่อมราษฎรให้มาสวามิภักดิ์ได้อีกจำนวนมาก  อาณาเขตเมืองพิมายจึงกว้างขวางยิ่งขึ้น  มีอาณาเขตไปถึงถึงศรีสัตตนาคนหุตและกัมพูชา  ทางใต้ขยายถึงสระบุรีตลอดลำน้ำแควน้อย   ชุมนุมเจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธ  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่แห่งสยามจึงครองความเป็นใหญ่ในที่ราบสูงภาคอีสานทั้งหมด  แล้วรวมไปถึงลาวและเขมรด้วย

          * ในบรรดาก๊กหรือชุมนุมเจ้าทั้ง ๖  ถือได้ว่าก๊กเจ้าพิมายใหญ่ที่สุด  หัวหน้าชุมนุมมีศักดิ์เป็นเจ้าผู้สูงศักดิ์โดยเป็นถึงพระองค์เจ้าราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  และเป็นนักปฏิวัติ ๒ ประเทศด้วย  ดูท่าทีว่าจะเป็นผู้กอบกู้เอกราชชาติไทยได้สำเร็จ  แต่การณ์กลับไม่เป็นไปเช่นนั้น  เพราะเหตุใด  พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, เมษายน, 2562, 11:41:53 PM
(https://i.ibb.co/4F2mgGD/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- ขุนพลคู่บารมีปรากฏ -

กล่าวถึงหนุ่ม“บุญมา”มหาดเล็ก
ยามเป็นเด็กคุ้นเคยกับหนุ่ม “สิน”
คราวที่กองทัพพม่ายึดธานินทร์
พาชีวินหลบพม่าหาพี่ชาย

ชวน“ทองด้วง”ไปเฝ้าพระเจ้าตาก
พี่หลวงฝากของเด่นเป็นเครื่องหมาย
พร้อมให้แม่“นกเอี้ยง”หลบเสี่ยงตาย
ไปถวายเจ้าตากอย่างยากเย็น


          อภิปราย ขยายความ.............

          ชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก  มีเขตการปกครองเมืองสุโขทัยกำแพงเพชร  ศรีสัชนาลัย  พิชัย  นครไทย  พิจิตร  นครสวรรค์  หัวหน้าชุมนุม คือ  “เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศรามาธิบดี"  มีนามเดิมว่า  เรือง  รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ ราชวงศ์ปราสาททอง  มีภรรยานามว่าท่านผู้หญิงเชียง  มีบุตรชาย ๓ คน  ภายหลังรับการมีบรรดาศักดิ์คือ  เจ้าพระยานเรนทราภัย (บุญเกิด)  เจ้าพระยาสุรินทรภักดี (บุญมี)  เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่)  ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิษณุโลกก่อนพม่ายกเข้าตีกรุงศรีอยุธยา

(https://i.ibb.co/3hb0jWb/5.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet

          * เจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นผู้มีปัญญาและความสามารถสูงผู้หนึ่งในบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา  เมื่อพม่ายกมาก่อนเสียกรุงครั้งที่สอง  ท่านยกกำลังไปต่อต้านพม่าที่เมืองสุโขทัย  ขณะที่รบกับพม่าอยู่นั้น  ปรากฏว่าเจ้าฟ้าจีด กรมขุนสุรินทรสงคราม  พระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเพทราชา  ผู้ถูกจองจำอยู่ได้ติดสินบนผู้คุมแล้วหลบหนีออกจากคุก  รวบรวมพรรคหลบหนีขึ้นมาพิษณุโลก  เมื่อเห็นเจ้าเมืองไม่อยู่ในเมืองจึงตั้งตนเป็นใหญ่ปกครองเมืองพิษณุโลก  เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวจึงหยุดการสู้รบกับพม่า  แล้วยกกำลังกลับมาชิงเมืองพิษณุโลกคืน  จับเจ้าฟ้าจีดได้แล้วให้นำตัวลงกรุงศรีอยุธยา  แต่ลงมาถึงเขตติดต่อระหว่างพิจิตร –นครสวรรค์  ตรงบ้านเกยชัย (ปากแม่น้ำยมสบน่าน)  ล่องลงต่อไปไม่ได้ เพราะมีกองทัพของพม่ายึดครองนครสวรรค์ลงถึงกรุงศรีอยุธยาหมดแล้ว  จึงประหารเจ้าฟ้าจีดด้วยการให้ถ่วงน้ำเสีย ณ ที่นั้น

          ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  เจ้าพระยาพิษณุโลกก็รักษาเมืองตั้งมั่นไว้และตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งเป็นแคว้นสุโขทัยเดิม  ไม่ขึ้นแก่ใครทั้งสิ้น  จึงเป็นกลุ่มอิสระอีกชุมนุมหนึ่ง

(https://i.ibb.co/Wz4SXNV/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณรูปภาพจาก Interner

          * ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช  หัวหน้าชุมนุมกลุ่มนี้เชื่อกันว่าเดิมท่านมีชื่อว่า  หนู (มุสิกะ)  เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  เข้ามาถวายตัวรับราชการในกรุงศรีอยุธยา  ได้ตำแหน่งเป็นที่หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก  ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช  อยู่มาพระยาราชสุภาวดีซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชนั้นมีความผิดถึงขั้นต้องให้ออกจากตำแหน่ง  พระปลัดหนูจึงรักษาราชการแทน  ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  พระปลัดหนูจึงตั้งตนเป็นเจ้าประกาศให้หัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนจรดชายแดนเมืองมลายู  เป็นประเทศอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร

          ชุมนุมหรือก๊กใหญ่ในเวลานั้น  ชุมนุมเจ้าพิพาย  กับชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช  นับว่าเป็นก๊ก  หรือชุมนุมใหญ่ที่สุด กล่าวคือ  ก๊กเจ้าพิมายมีเมืองขึ้นอยู่ในปกครองคืออีสานเหนือใต้ทั้งหมด  แล้วเลยไปในลาวใต้  และเขมรทั้งหมด  ก๊กเจ้านครศรีธรรมราชนั้นปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดรวมลงไปถึงมลายูอีกด้วย

(https://i.ibb.co/vkNRVL8/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          * ชุมนุมหรือก๊กสุดท้ายคือ  พระยาตากสิน  ชุมนุมนี้มีบทบาทสำคัญที่จะกอบกู้เอกราชชาติไทยให้กลับคืนมา  ระหว่างที่พระเจ้าตากสินตั้งชุมนุมอยู่ที่จันทบุรีและเตรียมกำลังเพื่อจะยึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่านั้น  กล่าวถึงนายบุญมาซึ่งเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ  เป็นที่ในตำแหน่งนายสุจินดาหุ้มแพร  ยังเป็นหนุ่มโสดอยู่  ขณะที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกนั้น  เขากับเพื่อนร่วมตายสามคนพากันหลบนีออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งไปหาพี่ชายคือหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ที่เมืองราชบุรี  ทั้งสี่คนใช้เรือพายเป็นพาหนะเดินทางในเวลากลางคืนหลบหลีกสายตาทหารพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่อย่างหนาแน่น  พวกเขาเสี่ยงอันตรายจากแม่น้ำเจ้าพระยาล่องไปถึงวัดแจ้ง (อรุณราชวราราม) ธนบุรี  เข้าคลองบางกอกใหญ่  ออกปากคลองมหาชัยจนถึงเมืองราชบุรี  ซึ่งก็เกือบถูกทหารพม่าพบเห็นและจับได้เป็นหลายครา

          เมื่อตามหาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ผู้เป็นพี่ชายที่หลบหนีพม่าไปซุ่มซ่อนนั้นพบแล้ว  จึงชักชวนให้หนีไปอยู่กับเพื่อนผู้เป็นชาวจีนที่เมืองชลบุรี  แต่หลวงยกกระบัตรไม่ยอมไป  เพราะขณะนั้นภรรยากำลังตั้งท้องไม่สะดวกในการเดินทางเสี่ยงอันตราย  ขอให้นางคลอดเสียก่อนจึงค่อยตามไปภายหลัง  หลวงยกกระบัตรยังแนะนำให้นายสุจินดาหุ้มแพร  รับมารดาพระเจ้าตากสินคือท่านนกเอี้ยง  ซึ่งอยู่ที่บ้านแหลม  เพชรบุรี  ไปหาพระเจ้าตากสินด้วย  พร้อมกันนั้นก็ได้ฝากแหวนพลอยไพฑูรย์หนึ่งวง  แหวนทรงรังแตนประดับพลอยบุษราคัมน้ำทองหนึ่งวง  พร้อมด้วยดาบคร่ำทองของโบราณอีกหนึ่งเล่มไปให้พระเจ้าตากสิน

(https://i.ibb.co/QFDQ21p/tsood-imgtnews-1511592212-5379.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณรูปภาพจาก Internet

          นายสุจินดาหุ้มแพร (บุญมา)  รับของฝากแล้วรีบเดินทางไปถึงบ้านแหลม  เมืองเพชรบุรี  เสาะหาท่านนกเอี้ยงจนพบแล้วจึงเชิญให้ร่วมเดินทางไปพบพระเจ้าตากสินด้วยกัน  ท่านนกเอี้ยงเคยรู้จักนายสุจินดาหุ้มแพรมาก่อนแล้ว  จึงใจสมัครร่วมเดินทางไปด้วย  เมื่อถึงเมืองชลบุรี  นายสุจินดาหุ้มแพรก็ตรงไปพบจีนเรืองเพื่อนร่วมน้ำสาบาน  และเชิญท่านนกเอี้ยงพักที่บ้านจีนเรืองอยู่ระยะเวลาหนึ่ง  จากนั้นก็เชิญท่านนกเอี้ยงขึ้นช้างเดินทางไปจันทบุรี  เมื่อถึงจันทบุรีแล้วนายสุจินดาหุ้มแพรก็ลงช้างนอกกำแพงเมือง  เชิญท่านกเอี้ยงพักรออยู่  โดยตนเองรีบเข้าไปในเมืองจันทบุรีเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสิน  ทรงยินดีที่ได้พบนายสุจินดาหุ้มแพรจึงซักถามสารทุกข์สุกดิบกันตามประสาคนเคยรู้จักคุ้นเคยกัน  นายสุจินดาหุ้มแพรได้มอบแหวนและดาบที่หลวงยกกระบัตรฝากให้พระเจ้าตากสิน  ทรงดีพระทัยที่หลวงยกกระบัตรยังมีความคิดถึงพระองค์อยู่  จากนั้นทรงปรารภว่ามีความวิตกเป็นทุกข์กังวลอยู่สองประการ  คือเรื่องการกู้ชาติบ้านเมืองให้พ้นจากมือพม่าประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งคือคิดถึงมารดาที่พลัดพรากจากกันมิรู้ว่าจะได้รับทุกข์ยากประการใด  นายสุจินดาหุ้มแพรจึงกราบทูลว่า  ทุกข์กังวลของพระองค์ข้าพระพุทธเจ้าพอจะผ่อนคลายให้ได้ข้อหนึ่ง  คือเรื่องพระราชมารดา  ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้เชิญมาด้วยแล้ว  ขณะนี้ประทับรออยู่นอกเมือง

          พระเจ้าตากสินทราบดังนั้นก็ดีพระทัยมากรีบให้เชิญท่านนกเอี้ยงเข้าเมืองจันทบุรีตั้งไว้ที่พระราชมารดา  จากนั้นทรงตอบแทนความดีความชอบด้วยการแต่งตั้งให้นายสุจินดาหุ้มแพร (บุญมา) เป็นพระมหามนตรี  เจ้ากรมพระตำรวจในขวา  และทรงให้สัญญาว่า  ต่อไปเบื้องหน้าแม้พระมหามนตรีจะกระทำความผิดมีโทษถึงแก่ชีวิตก็จะทรงเว้นโทษนั้นเสีย

          * สองพี่น้อง  “ทองด้วง-บุญมา”  ขุนพลคู่บารมีพระเจ้าตากปรากฏเข้ามาในประวัติศาสตร์แล้ว  ติดตามดูเรื่องราวกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, เมษายน, 2562, 10:26:07 PM
(https://i.ibb.co/FqFzd2F/4645282586.png) (https://imgbb.com/)

- ปราบพม่าค่ายโพธิ์สามต้น -

มีบรรดาช้าราชการเก่า
พากันเข้าเป็นข้าปราบทุกข์เข็ญ
พระเจ้าตากมีกำลังล้างลำเค็ญ
ชุมนุมเป็นกองทัพใหญ่ในฉับพลัน

ยกเข้ายึดธนบุรีตีพม่า
แล้วไล่ล่าย่อยยับยามคับขัน
ค่ายโพธิ์สามต้นสิ้นในสามวัน
“สุกี้”นั้นล้มตายคาค่ายเลย


          อภิปราย ขยายความ............

          จากนั้นก็ยังมีข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุธยาที่หลบหนีออกจากพระนคร  เมื่อได้รู้ข่าวพระยาตากสินตั้งตนเป็นเจ้าปักหลักอยู่เมืองจันทบุรี  กำลังรวบรวมผู้คนคิดจะกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากเงื้อมมือพม่า  จึงพากันเดินทางเข้าสวามิภักดิ์ขอร่วมรบด้วยจำนวนมาก  แต่ละคนล้วนเป็นคนดีมีฝีมือแต่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถของตนให้ปรากฏ  ยามนั้นพระ เจ้าตากสินมีกำลังพลรบและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก  โดยเรือรบที่สั่งให้ต่อใหม่นั้นมีจำนวนถึง ๑๐๐ ลำ  เสบียงอาหารและศัสตราวุธพร้อมสรรพ

(https://i.ibb.co/wdYr5bL/19610952958464-4-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ดังนั้น  เมื่อถึงเดือน ๑๑ ปี กุน พ.ศ. ๒๓๑๐  อันเป็นเวลาที่เสียกรุงศรีอยุธยาไม่ทันถึงปี  พระเจ้าตากสินก็เคลื่อนกำลังพลจากจันทบุรีด้วยกองเรือเลียบฝั่งทะเลมาถึงเมืองชลบุรี  ราษฎรได้พากันร้องทุกข์กล่าวโทษว่า  นายทองอยู่นกเล็ก  ที่พระองค์ทรงตั้งให้เป็นพระยาอนุราฐ  ปกครองเมืองชลบุรี  กับหลวงทรงพล  และขุนอินเชียงคนคู่ใจนั้น  ได้ประพฤติตนเป็นโจรปล้นราษฎร  ทรงเรียกเข้าเฝ้าสอบถามเอาความจริง  พระยาอนุราฐยอมรับสารภาพ  และสาบานว่าจะกลับตัวใหม่  แต่ไม่ทรงเชื่อใจจึงสั่งให้ประหารด้วยการจับถ่วงน้ำเสีย  จากนั้นก็เคลื่อนทัพเรือเข้าทางปากน้ำสมุทรปราการ

(https://i.ibb.co/xf6C7b3/capture-20180525-135232.png) (https://imgbb.com/)

          ในเวลานั้น  นายอิน  คนไทยที่เป็นข้าพม่าด้วยความเต็มใจ  พม่าตั้งให้รักษาเมืองธนบุรีไว้  เมื่อทราบว่าพระเจ้าตากสินยกทัพเรือเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยาแล้ว  จึงสั่งไพร่พลของตนซึ่งมีทั้งคนไทยและพม่าให้ขึ้นรักษากำแพงเมืองธนบุรี  ตัวนายอินตั้งรับอยู่ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์  พร้อมกับให้ม้าเร็วนำข่าวไปแจ้งแก่สุกี้พระนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้น  พระเจ้าตากสินทรงนำทหารเข้าตีเมืองธนบุรีรบกันถึงขั้นตะลุมบอน  ไพร่พลของนายอินล้มตายลงเป็นอันมากแล้วแตกพ่ายกระจายไป  นายอินถูกจับตัวได้และถูกประหารชีวิตในที่สุด

          สุกี้พระนายกองทราบว่าพระเจ้าตากสินยึดเมืองธนบุรีได้โดยง่ายดายก็ตกใจ  คาดว่าจะต้องยกขึ้นมาตีค่ายโพธิ์สามต้นเป็นแน่  จึงสั่งนายทัพรองชื่อ  มองญา  นำกองทหารที่มีทั้งมอญและไทย (ซึ่งส่วนใหญ่ยอมเข้ากับพม่าเพียงเพื่อเอาตัวรอด) ลงไปตั้งสกัดที่เพนียด  ส่วนตนเองเตรียมพร้อมสู้รบอยู่ในค่ายใหญ่  พระเจ้าตากสินเมื่อได้ชัยชนะที่เมืองธนบุรีแล้วก็มีความมั่นพระทัย  บรรดาทหารหาญก็มีความฮึกเหิมกระเหี้ยนกระหือที่จะรบพม่าเพื่อแก้แค้นให้แก่ชาวไทยที่เสียทีแก่พม่า  กองทัพเรือพระเจ้าตากสินจึงเคลื่อนออกจากเมืองธนบุรีขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว

          คืนวันนั้นข่าวกองทัพเรือพระเจ้าตากสินเคลื่อนเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา  บรรดาทหารของมองญาที่ตั้งอยู่ ณ เพนียดนั้นเกิดความรวนเร  เพราะคนไทยในกองทัพไม่มีใจจะสู้รบ  ส่วนใหญ่คิดหาทางจะไปเข้ากับพระเจ้าตาก  บ้างก็คิดจะหนีไปเสีย  มองญาเห็นว่าจะควบคุมไว้ไม่อยู่  จึงนำทหารล่าถอยกลับเข้าค่ายโพธิ์สามต้น  โดยมีคนไทยในกองทัพนั้นหลบหนีไปได้จำนวนหนึ่ง  แล้วนำข่าวไปกราบทูลพระเจ้าตากสินให้ทราบว่า  มองญาพาทหารถอยกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว  พระเจ้าตากสินจึงนำกำลังติดตามไปในทันที

(https://i.ibb.co/3pXVxPZ/Siamese.jpg) (https://imgbb.com/)

          สภาพของค่ายโพธิ์สามต้นนั้นอยู่ในเขตตำบลบางปะหัน  มีอยู่สองค่ายใหญ่  คือค่ายฟากตะวันออกกับค่ายฟากตะวันตก  เป็นค่ายที่เนเมียวสีหเสนาบดี  ที่ชาวล้านนาเรียกว่า  โป่สุพลา  แม่ทัพพม่าฝ่ายเหนือยกมาจากเชียงใหม่แล้วตั้งค่ายมั่นอยู่ที่นี่  ตัวค่ายมีกำแพงเชิงเทินมั่นคงแข็งแรง  เพราะพม่าไปรื้อเอาอิฐตามวัดมาก่อเป็นกำแพง  สุกี้พระนายกองบัญชาการรบอยู่ในค่ายฟากตะวันตกที่เนเมียวสีหบดีเคยอยู่  เช้าวันนั้นพระเจ้าตากสินนำกำลังเข้าโจมตีค่ายฟากตะวันออกอย่างดุเดือด  ทหารไทยซึ่งพกความแค้นไว้แน่นอกเข้ารบด้วยความฮึกหาญ  โดยเข้าตีค่ายทุกด้านพร้อมกัน  ทหารมอญและพม่าล้วนสู้รบเต็มฝีมือ  แต่ทหารไทยในกองทัพพม่านั้นไม่เต็มในจะต่อสู้  ส่วนมากจะวางอาวุธยอมแพ้แต่โดยดี  ตอนสายของวันนั้นค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกจึงแตกอย่างง่ายดาย

(https://i.ibb.co/P6gMwTt/image.png) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าตากสินทรงยึดค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกได้แล้วก็เข้าตั้งมั่นในค่ายนี้  รับสั่งให้ทำบันไดเพื่อใช้ปีนค่ายพม่าฟากตะวันตกต่อไป  การทำบันไดเสร็จสิ้นก่อนเวลาพลบค่ำวันนั้น  พระเจ้าตากสินมีพระบัญชาให้พระยาพิชัย  พระยาพิพิธ  คุมกองทหารจีนยกไปตั้งประชิดค่ายฟากตะวันตกทางด้านวัดกลาง  นอกนั้นให้เตรียมพร้อมอยู่ในค่ายฟากตะวันออก

          เช้าวันรุ่งขึ้นพระเจ้าตากสินคุมทหารไทยจีนบุกเข้าโจมตีค่ายฟากตะวันตกของสุกี้พระนายกองพร้อมกัน  ทหารพระเจ้าตากสินใช้บันไดไม้ไผ่พาดกำแพงค่ายปีนขึ้นไปทุกทิศทุกทาง  การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือดตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวัน  พระเจ้าตากสินจึงพาทหารหาญของพระองค์เข้าค่ายพม่าได้  สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าสู้รบอย่างชายชาติทหาร  เขาถูกฆ่าตายคาค่ายก่อนเที่ยงวันนั้น  ส่วนมองญาแม่ทัพรองพาไพร่พลส่วนหนึ่งหลบหนีออกจากค่ายไปได้  พระเจ้าตากสินเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้นไว้ได้ทั้งหมด  มีทหารพม่า  มอญ  และไทย  ยอมอ่อนน้อมมากมาย  ภายในค่ายนั้นได้พบคนไทยที่ตกเป็นเชลยพม่าและสมบัติก้อนสุดท้ายที่ถูกปล้นมาจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ถูกส่งไปพม่า  ข้าราชการเก่าหลายคนถูกควบคุมตัวอยู่ในค่าย  เช่น  พระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก  เป็นต้น  พวกข้าราชการเหล่านั้นได้เข้าถวายบังคมพระเจ้าตากสินและกราบทูลให้ทรงทราบว่าพระศพพระเจ้าเอกทัศถูกฝังไว้ ณ ที่ใด  และยังมีเจ้านายฝ่ายหญิงอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ถูกส่งตัวไปพม่า.

(https://i.ibb.co/pPgtLYd/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ก๊กหรือชุมนุมแรก  คือค่ายพม่าที่ตั้งอยู่โพธิ์สามต้น  บางปะหัน  ถูกพระเจ้าตากตีแตกอย่างง่ายดาย  สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าสู้รบจนตัวตายคาค่าย  ชัยชนะอันงดงามครั้งนี้สร้างความฮึกเหิมให้แก่คนไทยผู้รักชาติสังกัดก๊กพระเจ้าตากเป็นอย่างมาก  งานกอบกู้เอกราชชาติไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร  ติดตามอ่านในวันพรุ่งนี้นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าภาพทุกภาพนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, เมษายน, 2562, 10:34:46 PM
(https://i.ibb.co/9TVS6zf/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี -

พม่ามอดวอดวายไปหมดสิ้น
กู้แผ่นดินคืนมาอย่างผ่าเผย
อยุธยาแหลกไปไม่งอกเงย
ผลลงเอยยับเยินเกินฟื้นฟู

จึงหยิบยกธนบุรีที่บางกอก
คือทางออกประเสริฐเห็นเลิศหรู
เป็นราชธานีใหม่ไทยเชิดชู
เมื่อโลกรู้ยอมรับอย่างฉับไว

กอปรพิธีราชาภิเษกเสร็จ
“สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี”ใหญ่
เป็นผู้นำบำรุงราษฎร์กรุงไกร
ชนชาวไทยเคารพอภิวันท์


          อภิปราย ขยายความ........

          เมื่อวันวานได้พูดถึงพระเจ้าตากสินยกทัพจากจันทบุรีโดยทางเรือ  เข้าตีเมืองธนบุรีได้แล้วเดินทัพตามลำน้ำเจ้าพระยาถึงกรุงศรีอยุธยา  เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่า  สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าสู้รบจนตัวตายคาค่าย  เมื่อยึดค่ายโพธิ์สามต้นได้ในเวลาอันรวดเร็วแล้ว  ทรงตรวจค่ายพบว่าข้าราชการไทยถูกจับตัวเป็นเชลยแลควบคุมไว้ในค่ายหลายคน  และมีเจ้านายฝ่ายหญิงรวมอยู่ด้วยนั้น  วันนี้มาดูความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/J3yT68r/eqe.png) (https://imgbb.com/)

          * เจ้านายฝ่ายหญิงที่ถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายนั้นประกอบด้วยพระราชธิดาพระเจ้าบรมโกศ ๔ พระองค์  คือ  เจ้าฟ้าสุริยา  เจ้าฟ้าพินทวดี  เจ้าฟ้าจันทวดี  พระองค์เจ้าฟักทอง  มีธิดากรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) คือ หม่อมเจ้ามิตร  ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทร คือ หม่อมเจ้ากระจาด  ธิดากรมหมื่นเสพภักดี คือ หม่อมเจ้ามณี  ธิดาเจ้าฟ้าจีด คือ หม่อมเจ้าฉิม  นัยว่า  เจ้านายฝ่ายหญิงทั้ง ๘ องค์นี้ถูกจับได้ในขณะประชวร  จึงยังไม่ทันได้ส่งไปกรุงอังวะ  พระเจ้าตากสินพบเห็นสภาพความเป็นอยู่แล้วเกิดเวทนาสงสาร  จึงให้จัดสถานที่ประทับให้อย่างเหมาะสม  แล้วเสด็จเข้าตั้งพลับพลาประทับในพระนครศรีอยุธยา  จากนั้นทรงให้สร้างพระโกศและเครื่องประดับเท่าที่จะทำได้ในยามยาก  ให้ปลูกสร้างพระเมรุดาดด้วยผ้าขาวขึ้นที่ท้องสนามหลวง  แล้วให้ขุดพระศพพระเจ้าเอกทัศขึ้นมาลงในพระโกศประดิษฐานไว้ ณ พระเมรุ  เสาะหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีหลงเหลืออยู่มาร่วมพิธีพระศพ  ทักษิณานุปทานและสดับปกรณ์ตามประเพณี  เสร็จแล้ว  พระเจ้าตากสินเป็นประธานนำข้าราชการทั้งปวงถวายพระเพลิงพระศพ  จากนั้นบรรจุพระอัฐิธาตุตามเยี่ยงกษัตริย์แต่ก่อนมา

(https://i.ibb.co/tzZkZZG/owh0jls7u3r9-Iv-ZZVV-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          เสร็จการพระศพแล้วทรงช้างเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรทั่วพระนคร  ได้พิจารณาเห็นสภาพกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในสภาพเมืองร้าง  ปราสาทราชมนเทียรตำหนักน้อยใหญ่ในเขตพระราชฐานถูกเพลิงเผาเหลือแต่ซาก  วัดวาอาราม  โบสถ์วิหาร บ้านเรือนราษฎรก็ถูกทำลายไปเสียเป็นส่วนใหญ่  ทรงสังเวชสลดพระทัยเป็นยิ่งนัก  ทรงตั้งพระทัยจะบูรณปฏิสังขรณ์ให้กรุงศรีอยุธยากลับคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง  ความตรงนี้  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้รายละเอียดไว้ว่า

(https://i.ibb.co/xgpfz5V/e3ecda929b2d89980db6b8a9ac7eec916464653573a49f90e54b3da1a32622fa.jpg) (https://imgbb.com/)

           “….ก็เสด็จเข้าประทับแรมอยู่ ณ พระที่นั่งทรงปืนที่เสด็จออก  บรรทมอยู่คืนหนึ่งจึงทรงพระสุบินนิมิตว่า  พระมหากษัตริย์แต่ก่อนมาขับไล่เสียมิให้อยู่  ครั้นรุ่งเช้าจึงตรัสเล่าสุบินให้ขุนนางทั้งปวงฟัง  แล้วจึงตรัสว่า  เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเป็นป่า  จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า  เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่  เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด  แล้วตรัสสั่งให้เลิกกองทัพกวาดต้อนราษฎรและสมณะพราหมณาจารย์ทั้งปวง  กับทั้งโบราณขัตติยวงศ์ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น  ก็เสด็จกลับมาตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี  และให้ไปเที่ยวสืบหาพวกพระญาติวงศ์ของพระองค์ซึ่งพลัดพรากกันไป  ไปได้มาแต่เมืองลพบุรี  รับลงมา ณ เมืองธนบุรี  แล้วให้ปลูกสร้างพระราชวังและตำหนักข้างหน้าข้างในใหญ่น้อยทั้งปวงสำเร็จบริบูรณ์”

(https://i.ibb.co/XFZ0J0P/69991008316477-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          * กิติศัพท์พระเจ้าตากสินที่กอบกู้เอกราชจากพม่าได้ในเวลาอันรวดเร็วเป็นที่ยินดีปรีดาแก่ชาวสยามส่วนใหญ่เป็นอย่างยิ่ง  เมื่อทรงตั้งราชธานีสยามที่กรุงธนบุรีขึ้นแล้วก็ปรากฏว่าบรรดาข้าราชการและราษฎรที่หลบหนีพม่าเข้าป่าเข้าดงนั้นรู้ข่าวก็พากันทยอยกันออกจากป่ามาพึ่งพระบารมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ที่รายรอบกรุงธนบุรีนั้นก็พากันนิยมยินดี  อ่อนน้อมต่อพระเจ้าตากสินทั้งสิ้น  ชาวต่างประเทศที่ติดต่อค้าขาย  ทั้งจีน  ฝรั่ง  แขก  ล้วนยอมรับว่าพระเจ้าตากสินคือพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ใหม่

(https://i.ibb.co/n8RXYmZ/51598311919305-1-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปลายปีจุลศักราช ๑๑๓๐  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๐ นั้น  พระเจ้าตากสินประกอบพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี  เรียกพระนามว่า  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทรงปูนบำเหน็จนายทัพนายกองผู้มีความดีความชอบแต่งตั้งให้ครองยศศักดิ์ตามทำเนียบข้าราชการกรุงเก่าทุกประการ  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซื้อข้าวของแจกจ่ายแก่ผู้อดอยากยากไร้  และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขาดแคลนโดยทั่วหน้ากัน  กรุงธนบุรีจึงมีผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทุกคนอยู่กันอย่างดีมีสุข  แม้กรุงธนบุรีเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่บ้านเมืองก็ยังอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า  “แตกแยก”  ตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่าพวกใครพวกมันไม่ขึ้นต่อกัน  มีนายซ่องคุมคนออกปล้นสะดมเบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ดังนั้น  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องส่งคนออกไปปกครองดูแลตามหัวเมืองต่าง ๆ  เช่นหัวเมืองทางเหนือ  มีกรุงเก่า  เมืองลพบุรี  เมืองวิเศษไชยชาญ  เป็นต้น  ทางตะวันออกมี  เมืองฉะเชิงเทรา  เมืองชลบุรี  เมืองระยอง  เมืองจันทบุรี  เป็นต้น  ทางตะวันตกมี  นครไชยศรี  เพชรบุรี  เป็นต้น

(https://i.ibb.co/JsYvxjS/90-201804251506131.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อยพอสมควรแล้ว  พระมหามนตรี (บุญมา)  จึงกราบบังคมทูลขอไปตามหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) พี่ชายของตนมาช่วยราชการ  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอนุญาต  พระมหามนตรีจึงเดินทางไปเมืองราชบุรีนำพาหลวงยกกระบัตรมาเข้าเฝ้า  หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)  พาครอบครัวมาด้วย  คือ  คุณนาคผู้เป็นภรรยา  คุณฉิม  บุตรชายที่ยังเป็นเด็กอ่อน  เมื่อเข้าเฝ้าแล้ว  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เป็นที่พระราชวรินทร์  ตำแหน่งพระตำรวจในซ้าย.

          จึงเป็นอันว่างานกู้ชาติของพระเจ้าตากสินประสบความสำเร็จอย่างงดงามในบั้นต้น  จากนั้นทรงตั้งธนบุรีเป็นราชธานีไทย  โดยไม่ฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ตามอ่านวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, เมษายน, 2562, 10:33:59 PM
(https://i.ibb.co/4s2mXFY/27979.jpg) (https://imgbb.com/)

- ฟื้นฟูคณะสงฆ์ไทย -

พม่ามาสืบข่าวแล้วเข้ารบ
ถูกสยบพ่ายยับระย่อยั่น
ตีพม่าแตกไปในฉับพลัน
ชุมโจรอันดาษดื่นล้วนตื่นกลัว

สลายซ่องย่องเข้าเฝ้าสยบ
ด้วยเคารพเทิดทูนอยู่ถ้วนทั่ว
ทรงชุบเลี้ยงอารีเป็นรายตัว
ถวายหัวศรัทธาบูชาคุณ

ฟื้นฟูยกปกครองคณะสงฆ์
ให้ธำรงสถาบันสนับสนุน
ทั้งการฝึกศึกษาธรรมทรงค้ำจุน
เนื้อนาบุญศรัทธาประชาชน


          อภิปราย ขยายความ...........

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความตอนต่อจากนี้ไปว่า ...........

           “ปีชวด  สัมฤทธิศกนั้น  ฝ่ายพระเจ้าอังวะให้มีหนังสือรับสั่งลงมาแก่แมงกี้มารหญ่าเจ้าเมืองทวาย  ให้ยกกองทัพลงมาสืบดูเมืองไทยว่าจะราบคาบอยู่หรือจะกำเริบขึ้นประการใดบ้าง  แมงกี้มารหญ่าก็คุมพลทหารเมืองทวายสองหมื่นยกเข้ามาทางเมืองไชยโยค (ไทรโยค)  และเรือรบเก่ายังอยู่ที่นั้น  จึงยกทัพบกเรือลงมา ณ ค่ายตอกระออม  แล้วก็ยกเลื่อนลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง  ใกล้จะเสียอยู่แล้ว  กรมการเมืองสมุทรสงครามบอกเข้ามาให้กราบทูล  ครั้นได้ทราบจึงโปรดให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นกองหน้า  เสด็จยกทัพหลวงไปทางชลมารคถึงเมืองสมุทรสงคราม  ให้ทัพหน้าเข้าโจมตี  กองทัพพม่าก็แตกฉานทั้งสิ้นในเพลาเดียว  พลทหารไทยไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายในน้ำในบกเป็นอันมาก  ทัพพม่าพ่ายหนีกลับไปทางด่านเจ้าขว้าวไปยังเมืองทวาย  เก็บได้เครื่องศัสตราวุธแลเรือรบเรือไล่ครั้งนั้นเป็นอันมาก  แล้วเสด็จเลิกทัพกลับกรุงธนบุรี  และพระเกียรติยศก็ปรากฏขจรไปในสยามประเทศทุก ๆ เมือง”

(https://i.ibb.co/hgCVpRr/5023-th.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปได้ว่า  บรรดาชุมนุมชุมโจรผู้ร้ายทั้งหลายในอำเภอหัวเมืองต่าง ๆ  ทราบเรื่องของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างละเอียดดังนั้นก็พากันเลิกละพฤติกรรมเดิมของตนเสีย  เหตุการณ์แย่งชิงเบียดเบียนบีฑากันก็หายไป  ทุกหัวเมืองตั้งอยู่ในความสงบสุข  คนร้าย ๆ เหล่านั้นพากันเข้าถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ได้รับพระราชทานเงินเดือนเสื้อผ้าอาหารและยศตำแหน่งตามสมควรแก่ฐานานุรูป  เมื่อบ้านเมืองสงบผู้คนก็ประกอบอาชีพตามถนัด  ทำมาหากินกันอย่างมีความสุข  ข้าวปลาอาหารก็บริบูรณ์  ผู้คนทำบุญสุนทรทานกันตามปกติเหมือนเดิม พระสงฆ์องค์เจ้าได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากพุทธศาสนิกชนเป็นอันดีจึงบำเพ็ญสมณะกิจในฝ่ายคันถะธุระและวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัดเพื่อเจริญศรัทธาประชาชน

(https://i.ibb.co/THcXPWm/wat-rakang.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปรารภถึงความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาแล้วเห็นว่า  ในยามที่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามนั้น  พระสงฆ์องค์เจ้าแตกสานซ่านกระเซ็น  ไร้ผู้ปกครองดูแลจนพุทธจักรหมดสิ้นความสำคัญไป  จึงควรฟื้นฟูระบอบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่  ทรงมอบหมายให้พระศรีภูริปรีชาราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์  เที่ยวออกสืบเสาะหาพระภิกษุเถรานุเถระผู้รู้ธรรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติซึ่งยังคงมีอยู่ในที่ต่าง ๆ นั้น  ให้อาราธนามาประชุมกัน ณ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)  ครั้นพระศรีภูริปรีชาฯ เสาะหาพระภิกษุดังกล่าวได้จำนวนมากแล้วอาราธนามาประชุมกัน ณ วัดบางหว้าใหญ่ตามรับสั่ง

(https://i.ibb.co/MD9b1hW/image-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระภิกษุเถรานุเถระทั้งหลายเมื่อมาประชุมพร้อมกันแล้ว  ได้ทราบพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวจึงคัดเลือกภิกษุรูปที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมด้านปริยัติและปฏิบัติดีกว่าทุกองค์  อีกทั้งยังมีอายุพรรษาสูงกว่าเพื่อนได้องค์หนึ่งมีนามว่า  พระอาจารย์ดี มาจากวัดประดู่กรุงเก่า  จึงพร้อมกันเสนอให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์แรกแห่งกรุงธนบุรี  จากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพระสมณะศักดิ์พระราชาคณะตามลำดับฐานันดรศักดิ์เหมือนเก่าก่อน  พร้อมกับทรงปวารณาตัวเป็นข้ารับใช้พระภิกษุสงฆ์ความว่า  “ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงตั้งใจปฏิบัติสำรวจรักษาในพระจาตุปาริสุทธิศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใส อย่าให้เศร้าหมอง  แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดนั้น  เป็นธุระของโยมจะอุปฐากผู้เป็นเจ้าทั้งปวง  แม้นถึงจะปรารถนามังสะและรุธิรของโยม  โยมก็อาจสามารถจะเชือดเนื้อและโลหิตออกมาถวายเป็นอัชฌัติกทานได้”  จากนั้นทรงให้จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมขึ้นอย่างจริงจัง  เพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาสืบไป.

(https://i.ibb.co/JBK9Zpt/ayutthaya.jpg) (https://imgbb.com/)

          สรุปความตอนนี้ว่า  หลังจากตั้งธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีไทยสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยาและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว  ศึกสงครามครั้งแรกคือกองทัพพม่ายกมาตีค่ายจีนบางกุ้ง  สมุทรสงคราม  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพหลวงโดยมี  พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้ายกไปตีทัพพม่าแตกกระจายไปอย่างง่ายดาย  บรรดาชุมโจรทั้งหลายอันมีในเมืองต่าง ๆ ทราบความเช่นนั้น  ก็เลิกละความเป็นชุมนุม  ซ่องโจร  และพากันเข้าสามิภักดิ์เป็นอันมาก  ราษฎรสมณะชีพราหมณ์อยู่เย็นเป็นสุข  จากนั้นทรงหันมาฟื้นฟูการปกครองคณะสงฆ์ไทยให้เป็นสถาบันที่พึ่งทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนต่อไป  พระเถระที่ทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช  ประมุขสงฆ์องค์แรกของกรุงธนบุรี  คือ  พระอาจารย์ดี  ที่อาราธนามาจากวัดประดู่กรุงเก่า  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ตามอ่านต่อกันในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, เมษายน, 2562, 11:02:36 PM
(https://i.ibb.co/vjkCr23/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ปราบก๊กเจ้าพิมายสำเร็จ -

ยังชุมนุมไทยมีอยู่สี่ก๊ก
จึงต้องยกทัพไปปราบให้ป่น
พิษณุโลกต่อต้านอยู่ทานทน
ทรงถอยร่นกลับมาหาลู่ทาง

ยกไปปราบเจ้าพิมายได้สำเร็จ
แล้วเสด็จกลับกรุงทรงสะสาง
“เทพพิพิธ”แข็งกร้าวไม่เว้นวาง
จึ่งมล้างชีวินเสียสิ้นวงศ์


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้  ผมพูดคุยถึงตอนที่พระเจ้าตากสินทรงตั้งราชธานีสยามขึ้นใหม่ที่กรุงธนบุรี  พระเจ้าอังวะสั่งให้แมงกี้มารหญ่าเจ้าเมืองทวายยกกองกำลังมาสืบดูว่าเมืองไทยสงบราบคาบหรือไม่  แมงกี้มารหญ่ายกทัพเข้าตีค่ายไทยที่บางกุ้ง  พระเจ้าตากทรงให้พระมหามนตรีเป็นทัพหน้าพระองค์เป็นทัพหลวงยกเข้าโจมตีพม่าพ่ายหนีไปสิ้น  จากนั้นทรงหันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตั้งการคณะสงฆ์ขึ้นปกครองกันเองโดยมีพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/QcWbd5n/110-FD077-39-E8-4465-A06-F-D92-EB40-CF3-A1-1024x660.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงการปราบปรามก๊กหรือชุมนุมต่าง ๆ ในสยามเพื่อรวมไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  โดยทรงเริ่มปราบชุมนุมพิษณุโลกเป็นก๊กแรก  ทรงยกพลโยธาจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารคขึ้นไปตีพิษณุโลก  พระยาพิษณุโลก (เรือง) ทราบข่าวจึงจัดกองกำลังล่องลงมาตั้งรับ  และทัพทั้งสองได้รบกันที่ตำบลเกยชัย  บริเวณที่แม่น้ำยมบรรจบกับแม่น้ำน่าน  ทางฝ่ายพระยาพิษณุโลกยิงปืนต้องพระชงฆ์ข้างซ้ายพระเจ้าตากสิน  จึงสั่งให้ล่าทัพกลับกรุงธนบุรี  เมื่ออาการประชวรหายดีแล้วทราบว่า  มองญา  ปลัดทัพสุกี้พระนายกองที่แตกหนีจากค่ายโพธิ์สามต้นนั้นไปอยู่กับพวกกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมาย  จึงจัดกองทัพไปตีเมืองนครราชสีมาต่อไป  ในการตีเจ้าพิมายนี้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้รายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้

           “ฝ่ายพระเจ้าพิมายได้ทราบข่าวศึก  จึงแต่งให้พระยาวรวงศาธิราช ซึ่งเรียกว่าพระยาน้อย ยกกองทัพลงมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ ด่านขุนทดทางหนึ่ง  ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  พระยามหามนตรีกับมองญา  ยกกองทัพมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ บ้านจ่อหอทางหนึ่ง

(https://i.ibb.co/vYgTPzd/img-0063-1424144702.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้พระมหามนตรี (บุญมา)  และพระราชวรินทร์ (ทองด้วง)  ยกกองทัพขึ้นไปตีทัพพระยาวรวงศาธิราชซึ่งตั้งอยู่ ณ ด่านขุนทดนั้น  แล้วเสด็จยกทัพหลวงขึ้นทางด่านจ่อหอเข้าตีทัพเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกต่อรบเป็นสามารถ  พลทัพหลวงเข้าหักเอาค่ายข้าศึกได้ไล่ฆ่าฟันพลทหารพิมายล้มตายเป็นอันมาก  พวกข้าศึกแตกพ่ายหนีไป  จับได้ตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และพระยามหามนตรีทั้งมองญาด้วย  ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามนาย

          ฝ่ายทัพพระมหามนตรี (บุญมา)  พระราชวรินทร์ (ทองด้วง)  ก็ยกเข้าตีค่ายด่านขุนทดและพระยาวรวงศาธิราชต่อรบต้านทานเป็นสามารถ  รบกันอยู่หลายวันพลข้าหลวงจึงเข้าหักเอาค่ายข้าศึกได้  และพระยาวรวงศาธิราชก็แตกพ่ายหนีไป ณ เมืองเสียมราบแดนกรุงกัมพูชา  จึงดำรัสให้พระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ยกติดตามไปตีเมืองเสียมราบได้  แต่พระยาวรวงศาธิราชนั้นหนีสูญไปหาได้ตัวไม่  จึงเลิกทัพกลับมาเฝ้า ณ เมืองนครราชสีมา

(https://i.ibb.co/R7ZppCs/1399198781-Epic-Produc-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ (เจ้าพิมาย)  ได้ทราบว่าเสียพระยาทั้งสามแล้วก็ตกพระทัยมิได้ตั้งอยู่สู้รบพาพรรคพวกหนีไปจากเมืองพิมาย  จะขึ้นไปแดนกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)  จึงให้ "ขุนชนะ" ชาวเมืองนคราชสิมาไปติดตามจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้กับทั้งบุตรภรรยา คุมเอาตัวจำมาถวาย  จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งขุนชนะให้เป็นพระยากำแหงสงคราม  ครองเมืองนครราชสิมา  พระราชทานเครื่องยศและบำเหน็จรางวัลเป็นอันมากสมควรแก่ความชอบ

(https://i.ibb.co/kHrpTxX/sryt-p13.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นแล้วเสด็จเลิกทัพหลวงกลับยังกรุงธนบุรี  จึงให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามาหน้าพระที่นั่ง  และกรมหมื่นเทพพิพิธถือตัวอยู่มิได้ถวายบังคม  จึงดำรัสว่าตัวเจ้าหาบุญวาสนาบารมีมิได้  ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น  ครั้นจะเลี้ยงเข้าไว้ก็จะพาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอีก  เจ้าอย่าอยู่เลย  จงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด  อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย  แล้วดำรัสสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไปประหารชีวิตเสีย  จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ผู้พี่เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ  จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา  ตั้งพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้น้องเป็นพระยาอนุชิตราชา  จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย  สมควรแก่มีความชอบในการสงครามนั้น”

          * ในเดือนอ้ายของปีเดียวกันนั้นพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่าได้เกิดแผ่นดินไหวอยู่นานถึง ๒ ชั่วโมงเศษ  ทั้งนี้ท่านว่าเกิดแผ่นดินไหวในขณะที่พระเจ้าตากสินทรงพิจารณาโทษจีนเส็ง  ผู้ซื้อเอาทองพระพุทธรูปไปลงเรือสำเภาของตน  ผลที่เกิดจากแผ่นดินไหวไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง.

          จึงเป็นอันว่าไทยชุมนุมต่าง ๆ ๔ ก๊กนั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสิน  ทรงปราบก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายซึ่งเป็นก๊กใหญ่ที่สุดได้สำเร็จโดยง่าย  ยังเหลือก๊กเจ้าพิษณุโลกที่เข็มแข็ง  กับก๊กเจ้าพระฝาง  และก๊กเจ้านครศรีธรรมราช  ซึ่งจะต้องทำการปราบปรามกันต่อไป

          ตามอ่านต่อในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, เมษายน, 2562, 10:44:19 PM
(https://i.ibb.co/zH5t8g8/wat-yai-banner-th.jpg) (https://imgbb.com/)

- ก๊กเจ้าพิษณุโลกสลาย -

พระยาพิษณุโลกกำเริบฤทธิ์
โดยด่วนคิดวู่วามด้วยความหลง
ตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินสะดุดองค์
ฝีร้ายปลงชีวาพิราลัย

เจ้าพระฝางล้างเมืองพิษณุโลก
เป็นหัวโจกเมืองเหนือ”หัวเรือใหญ่”
ประวัติศาสตร์วาดภาพ“พระบาปภัย”
สยามสมัยห้าก๊กหกชุมนุม


          อภิราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินยกกองทัพไปปราบชุมนุม หรือ ก๊กเจ้าพิมายได้สำเร็จเป็นก๊กแรก  จับได้ตัวกรมหมื่นเทพพิพิธมายังกรุงธนบุรี  แต่พระองค์เจ้าแขก หรือ กรมหมื่นเทพพิพิธ  ถือองค์ว่าเป็นเจ้า  ไม่ยอมทำความเคารพสมเด็จพระเจ้าตากสิน  จึงทรงประหารเสีย  วันนี้มาดูเรื่องราวตามความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ

          * “และในปีเดียวกันนั้นเอง  พระยาพิษณุโลก (เรือง)  เมื่อมีชัยในการรบกับพระเจ้าตากสินแล้วก็มีใจเห่อเหิมกำเริบเสิบสานด้วยสำคัญตนว่ามีบุญญาธิการมาก  สามารถรบชนะพระเจ้าตากสินผู้ชนะพม่าได้  จึงตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินรับพระราชโองการเช่นพระเจ้าแผ่นดินทั่วไป  แต่ทรงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๗ วันก็เกิดฝีขึ้นที่ลำพระศอแล้วถึงแก่พิราลัย  พระอินอากรน้องชายพระเจ้าพิษณุโลกจึงจัดการพระศพเสร็จแล้วก็ครองเมืองพิษณุโลกสืบไป  แต่ไม่ตั้งตนเป็นเจ้าด้วยกลัวจะเป็นเช่นพี่ชายของตน

(https://i.ibb.co/Js6KTvf/oww3ip4ry-JH0-QSla2-UE-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระฝางเมื่อได้ทราบว่าพระเจ้าพิษณุโลกถึงแก่พิราลัยแล้ว  จึงยกกองทัพลงมาตีพิษณุโลก  ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากฝั่งน้ำ  พระอินทรอากรเจ้าเมืองพิษณุโลกมีฝีมือและประสบการณ์อ่อนด้อยในการสงคราม  ต่อรบต้านทานเจ้าพระฝางอยู่ได้ประมาณสามเดือน  ชาวเมืองผู้ที่ไม่รักใคร่นับถือจึงกลายเป็นไส้ศึก  เปิดประตูเมืองรับข้าศึกในยามค่ำคืน  เจ้าพระฝางก็พากองทัพเข้าเมืองได้  จับตัวพระยาอินทรอากรได้แล้วฆ่าเสียแล้วให้เอาศพขึ้นประจานไว้กลางเมือง  จากนั้นให้เก็บริบเข้าของเงินทองของเจ้าเมืองและกรมการเมืองเป็นอันมาก  ขนเอาปืนใหญ่น้อยและกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองพิษณุโลกขึ้นไปสวางคบุรี  ยามนั้นหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงจึงตกเป็นสิทธิ์ของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น  ประชาชนชาวเมืองพิษณุโลกและเมืองพิจิตรที่ไม่ยอมรับเจ้าพระฝางจึงพากันอพยพลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าตากสิน ณ กรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก

          พระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันกล่าวว่า  รุ่งขึ้นปี ๒๓๑๒ ในเดือน ๕  ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  แต่ไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี ๒๓๑๑

          * ในปี ๒๓๑๒ นั้น กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)  กับเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว  เป็นอริแก่กัน  พระเจ้ากรุงเวียงจันท์เกรงว่าพระเจ้าหลวงพระบางจะยกทัพมาตีเอาเมืองของตน  จึงแต่งราชบุตรีชื่อเจ้าหน่อเมืองพร้อมเครื่องราชบรรณา การ  ให้ขุนนางนำไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ  ขอเข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงอังวะ

(https://i.ibb.co/fx3rVzL/12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทางฝ่ายกรุงธนบุรีนั้นมีคดีฟ้องร้องเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น  กล่าวคือ  มีคนกล่าวโทษว่าสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่อยู่ในค่ายโพธิ์สามต้นนั้น  ได้ร่วมคิดกับสุกี้พระนายกองให้เร่งรัดเอาทรัพย์สมบัติของชาวเมือง  เมื่อทรงสอบถามสมเด็จพระสังฆราชก็ปฎิเสธ  จึงให้ชำระตัวด้วยการลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์  สมเด็จพระสังฆราชแพ้แก่การพิสูจน์จึงให้สึกเสีย  ในขณะเดียวกันนั้นมีสามเณรกล่าวโทษพระพนรัตน์ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการเสพเมถุนทางทวารหนักของตน  จึงโปรดให้พิจารณาแล้วได้ความว่าเป็นจริง  จึงให้สึกเสีย  แล้วทรงตั้งให้เป็นหลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการี

(https://i.ibb.co/xm708kZ/421143-320141661376115-100001408527688-898971-1284798880-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในเดือน ๓ ปีเดียวกันนั้น  แขกเมืองลาวเมืองหล่ม  นำช้างเชือกหนึ่ง  ม้าห้าตัวมาทูลเกล้าถวาย  ขอเข้าเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร  ในปีนั้นเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง  อาณาประชาราษฎรขัดสนด้วยอาหารการกินอย่างหนัก  จึงทรงพระกรุณาสั่งให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล  ในเวลาเดียวกันนั้นกรมการเมืองจันทบุรีมีหนังสือบอกมาว่า  กองทัพเมืองพุทไธมาศจะยกมาตีกรุงธนบุรี  จึงโปรดให้พระยาพิชัยจีนเป็นที่โกษาธิบดี  ให้ลงไปตั้งค่าย ณ พระประแดง  และปากน้ำเมืองสาครบุรี  เมืองสมุทรสงคราม  รอรับศึกญวน  แต่ข่าวทัพญวนก็เงียบหายไป  หาได้ยกมาตีไทยไม่  กลับปรากฏว่ามีหนูมากมายเข้ากัดกินข้าวในยุ้งฉางและกัดกินสิ่งต่างๆมากมาย  ทรงรับสั่งให้แก้ไขด้วยการให้ทุกคนช่วยกันดักหนู  เมื่อได้แล้วให้ส่งกรมพระนครบาลทุกวัน ๆ หนูจึงหายไป

(https://i.ibb.co/tphzXsV/hjhk.jpg) (https://imgbb.com/)

          สำหรับขัตติยวงศ์ครั้งกรุงเก่าที่ทรงนำมาอยู่กรุงธนบุรีด้วยและทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้ในพระราชวังนั้น  เจ้าฟ้าสุริยา  เจ้าฟ้าจันทวดี  ทั้งสองพระองค์ที่ประชวรกระเสาะกระแสะมาแต่กรุงเก่า  ได้สิ้นพระชนม์ลงในกาลต่อมา  ที่ยังมีพระชนม์อยู่คือ  เจ้าฟ้าพินทวดี  พระองค์เจ้าฟักทอง  พระองค์เจ้าทับทิม (เจ้าครอกจันทบูร)   เจ้ามิตรธิดาเจ้าฟ้ากุ้ง  โปรดให้ชื่อใหม่ว่า เจ้าประทุม  หม่อมเจ้าจาดธิดากรมหมื่นจิตรสุนทรโปรดให้ชื่อใหม่ว่า  เจ้าบุปผา  ส่วนหม่อมเจ้าอุบลธิดากรมหมื่นเทพพิพิธ  หม่อมเจ้าฉิมธิดาเจ้าฟ้าจีดทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นหม่อมห้าม

(https://i.ibb.co/6Bj6v4p/sf-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ต่อมา  หม่อมเจ้าอุบล  หม่อมเจ้าฉิม  กับนางละครสี่คนเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็กสองคน  เมื่อพิจารณาได้ความเป็นจริงแล้วจึงสั่งให้พวกฝีพายทนายเลือกไปทำชำเราประจาน  จากนั้นให้ตัดแขน  ตัดศีร์ษะ  ผ่าอกทั้งชายหญิง  ประกาศอย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างต่อไป  ซึ่งการเล่นชู้กันนั้นนับเป็นโทษที่จะต้องได้รับอย่างทารุณโหดร้ายที่สุดในสมัยนั้น”

          * ข้อที่ว่า “สมเด็จพระสังฆราชแพ้แก่การพิสูจน์” นั้น  หมายถึง  ไม่ทรงลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์  แสดงให้เห็นว่า การพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้น  มิใช่มีแต่ในเรื่องนิทานนิยายดังที่เราเรียนรู้กันมาว่า  “สีดาลุยไฟ”  บ้าง  “ศรีมาลาลุยไฟ” บ้าง  การให้พระสังฆราชลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

          ข้อที่ว่า  หม่อมเจ้าอุบล  หม่อมเจ้าฉิม  และนางละครสี่คนเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็ก  ถูกจับได้ไต่สวนได้ความจริง  จึงให้ลงโทษ  ดังความในพระราชพงศาวดารฯข้างต้นนั้น  ให้เราเห็นได้ว่า  การเป็นชู้กันนั้นมีโทษหนักที่อภัยผ่อนผันกันมิได้  โทษถึงตายอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด

          ก๊กเจ้าพิษณุโลก  ไม่ทันที่ต้องให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกขึ้นไปปราบซ้ำสอง  ก็ถึงพิราลัยด้วยโรคแพ้บุญบารมี  และเมืองพิษณุโลกก็แตกสลายด้วยน้ำมือของเจ้าพระฝางไปแล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินจะปราบอีก ๒ ก๊กที่เหลืออยู่อย่างไร ติดตามอ่านต่อพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผี้งไทย
๑๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, เมษายน, 2562, 10:52:09 PM
(https://i.ibb.co/QYJ84xT/image.png) (https://imgbb.com/)

- ยกไปตีนครศรีธรรมราช -

เจ้าเขมรแย่งอำนาจญาติปั่นป่วน
น้องพึ่งญวนพี่พึ่งไทยให้ซ่องสุม
ส่งกำลังรบพร้อมไล่ล้อมรุม
กำจัดกลุ่มญวนใหญ่ให้พ้นเมือง

ส่งพระยารณฤทธิพิชิตศึก
แล้วทรงตรึกปราบนครฯ ให้อ่อนเขื่อง
ยกทัพเรือลงไปไม่เปล่าเปลือง
เดชกระเดื่องแดนใต้ไร้เทียมทาน


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานก่อนนี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสินทรงปราบชุมนุมหรือก๊กเจ้าพิมายได้สำเร็จ  ทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่ข้าราชการที่สำคัญคือ  เลื่อนให้พระราชวรินทร์ (ทองด้วง)  ขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์  ดำรงตำแหน่งจางวางพระตำรวจขวา  เลื่อนให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นพระยาอนุชิตราชา ดำรงตำแหน่งจางวางพระตำรวจซ้าย  ซึ่งทั้งสองท่านนี้มีคุณูปการแก่ประเทศชาติไทยอย่างใหญ่หลวงในกาลต่อมา  วันนี้มาดูเรื่องราวตามพระราชพงศาวดารกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/JkyJq2V/1064851-img-sukk26-2028s.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวอีกว่า  ในปี ๒๓๑๒ นั้น  พระเจ้าตากสินทรงสถาปนาท่านนกเอี้ยงราชมารดาเป็นกรมพระเทพามาตย์ตามโบราณราชประเพณี  โปรดให้เจ้าครอกหอกลางพระมเหสีเดิม  เป็นกรมหลวงบาทบริจาริกา  ตั้งพระเจ้าหลานเธอสามพระองค์เป็นเจ้าราชินิกูล  ชื่อ  เจ้านราสุริยวงศ์องค์หนึ่ง  เจ้ารามลักษณ์องค์หนึ่ง  เจ้าประทุมไพจิตรองค์หนึ่ง  และพระเจ้าลูกเธอใหญ่พระองค์เจ้าจุ้ยกับพระเจ้าหลานเธอแสงเจ้าบุญจันทร์  สองพระองค์นี้ยังหาได้พระราชทานพระนามใหม่ไม่  

(https://i.ibb.co/S593jyh/K11158910-26.png) (https://imgbb.com/)

          และในปีนั้น  ทางฝ่ายประเทศกัมพูชาก็เกิดความวุ่นวายขึ้น  กล่าวคือ  นักพระองค์ตน  ซึ่งเป็นพระอุทัยราชาได้ไปขอทัพญวนมาตีเมืองพุทไธเพชร  นักพระรามาธิบดี (นักองค์นนท์)ผู้ครองเมืองสู้ไม่ได้ก็พาสมัครพรรคพวกครอบครัวอพยพหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี  จึงตรัสสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และ พระยาอนุชิตราชา (บุญมา)  ยกกองทัพมีกำลังพลสองพันไปทางเมืองนครราชสิมาทัพหนึ่ง  ให้พระยาโกษาธิบดียกกองทัพมีกำลังพลสองพันไปทางเมืองปราจีนบุรีทัพหนึ่ง  ให้ตีนักพระอุทัยราชาเอาเมืองพุทไธเพชรคืนแก่พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์)จงได้  กองทัพทั้งสองจึงกราบถวายบังคมลาไปโดยพลัน

(https://i.ibb.co/1J2R43H/1432030394-33673584-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นทรงคิดราชการสงคราม  เกณฑ์กองทัพยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช  จึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นแม่ทัพ  กับพระยายมราช  พระยาศรีพิพัฒ  พระยาเพชรบุรี  ถือพลห้าพัน  ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชอีกทัพหนึ่ง  เจ้าพระยาจักรี (แขก) นำทัพผ่านราชบุรี  เพชรบุรี  ไปถึงเมืองปทิว  ปรากฏว่าชาวเมืองปทิวเมืองชุมพรพากันยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น  แต่มีหัวหน้าชุมชนคนหนึ่งชื่อนายมั่น  พาสมัครพรรคพวกเป็นอันมากเข้าหาแม่ทัพขอสวามิภักดิ์เป็นข้าราชการ  เจ้าพระยาจักรี (แขก) มีหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  จึงมีพระกรุณาโปรดตั้งให้นายมั่นเป็นพระชุมพรและให้เกณฑ์เข้ากองทัพด้วย  ครั้นยกทัพไปถึงเมืองไชยา  หลวงปลัดเมืองไชยาก็พาไพร่พลออกมาเข้าสวามิภักดิ์  เมื่อทรงทราบจึงโปรดตั้งให้หลวงปลัดเมืองไชยาเป็นพระยาวิชิตภักดีเจ้าเมืองไชยา  และให้เกณฑ์เข้ากองทัพด้วยอีกเช่นกัน

(https://i.ibb.co/M6YCsD7/10-E5-F19489-E54-F37-A0270-CF407154-B03.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อทราบข่าวศึก  จึงเกณฑ์กองทัพยกมาตั้งรับศึก ณ ตำบลท่าหมาก  กองทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก) ยกข้ามแม่น้ำบ้านดอนไปถึงค่ายท่าหมากจึงได้รบกับกองทัพเมืองนครฯ เป็นสามารถ  ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี (แขก) เพลี่ยงพล้ำ  พระยาเพชรบุรี  พระยาศรีพิพัฒ  ตายในที่รบ  หลวงลักษณมนาบุตรเจ้าพระยาจักรีถูกจับตัวไป  เจ้าพระยาจักรีจึงสั่งให้ล่าทัพถอยกลับมาตั้งที่เมืองไชยา  พระยายมราชจึงมีหนังสือบอกกล่าวโทษเข้ามาว่า  เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นกบฏ  มิเต็มใจทำสงคราม

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพิจารณาเห็นว่า  “นายทัพนายกองเหล่านี้ทำสงครามไปไม่ตลอดแล้ว  จึงวิวาทแก่กัน  และการศึกเมืองนครศรีธรรมราชครั้งนี้เป็นศึกใหญ่  แต่กำลังเสนาบดีเห็นจะทำการไม่สำเร็จเป็นแท้  จำจะต้องยกพยุหโยธา ทัพหลวงไปจึงจะได้เมืองนครศรีธรรมราช”  

(https://i.ibb.co/jH3gLgP/K11158910-62.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นทรงจัดทัพเรือมีพลรบหมื่นหนึ่ง  พลกระเชียงหมื่นหนึ่ง  มีปืนใหญ่น้อยพร้อมเครื่องศัสตราวุธครบครัน  ครั้นได้พิชัยฤกษ์จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งสุวรรณพิชัยนาวาท้ายรถ  ยาวสิบเอ็ดวา  ปากกว้างสามวาเศษ  พลกระเชียง ๒๙ คน  ยกพยุหโยธาโดยทางชลมารคจากกรุงธนบุรีออกปากน้ำเมืองสมุทรปราการสู่ทะเลหลวง  ถึงตำบลบางทลุก็เกิดพายุคลื่นลมหนัก  เรือรบข้าราชการในกองหลวงกองหน้ากองหลังล่มบ้างแตกบ้าง  จึงเข้าจอดบังอยู่ในอ่าว  ทรงดำรัสสั่งให้ปลูกศาลเพียงตาบนฝั่ง  แล้วแต่งเครื่องกระยาสังเวยบวงสรวงเทพารักษ์ผู้พิทักษ์สมุทร  ทรงกล่าวคำสัตยาธิษฐานเอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่ตั้งกับทั้งบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาแต่บุเรชาติและในปัจจุบันเป็นเครื่องสนับสนุน  ก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่าคลื่นลมสงบลงในทันที  กองทัพเรือของพระองค์ก็เดินทางไปในทะเลหลวงอย่างปลอดภัย  จนถึงท่าพุมเรียง เมืองไชยา  ครั้นเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับ ณ พลับพลาแล้วดำรัสสั่งให้กองพระยาพิชัยราชาเข้ารวมกับทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก)  แล้วยกไปทางบกเข้าตีค่ายทัพเมืองนครฯ ให้ได้  ส่วนพระองค์ลงเรือพระที่นั่งสั่งให้ยาตราทัพเรือไปยังปากน้ำเมืองนครโดยเร็ว”

          * สมเด็จพระเจ้าตากสิน  ตรัสให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  พระยาอนุชิตราชา (บุญมา)  สองพี่น้องผู้เป็นขุนศึกคู่บารมีถูกใช้ให้ไปตีกัมพูชาไล่กองทัพญวนให้ออกไป  แล้วยึดเมืองพุทไธเพชรคืนให้แก่พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์)  แล้วทรงให้พระยาจักรี (แขก)  พระยายมราช  เป็นแม่ทัพยกลงไปตีนครศรีธรรมราช  แต่พระยาทั้งสองกระทำการมิสำเร็จ  สมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีจึงทรงจัดทัพหลวงยกลงไปด้วยพระองค์เอง  เรื่องจะเป็นอย่างไร  ตามอ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, เมษายน, 2562, 11:03:28 PM
(https://i.ibb.co/kqxKsyC/865877.jpg) (https://imgbb.com/)

- ปราบนครศรีธรรมราชสำเร็จ -

ทัพฝ่ายเจ้านครอ่อนแอนัก
ถูกตีหักหาญรุกแตกทุกด้าน
เจ้านครพ่ายล้มหนีซมซาน
อยู่ตานีมินานถูกจับตัว

ปราบนครเสร็จสรรพกลับกรุงแล้ว
ทรงแน่แน่วในธรรมล้างความชั่ว
ปลดปล่อยเจ้านครพร้อมครอบครัว
โทษถ้วนทั่วทิ้งไปไม่เอาความ


          อภิปราย ขยายความ........

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทรงยกทัพเรือลงไปตีนครศรีธรรมราช  เสด็จถึงเมืองไชยาแล้วสั่งให้พระยาพิชัยราชาเข้าร่วมกับทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก)   ยกไปทางบกเข้าตีค่ายทัพเมืองนครทันที  ส่วนพระองค์ลงเรือพระที่นั่งให้ยาตราทัพเรือไปยังปากน้ำเมืองนครโดยเร็ว  วันนี้มาดูเรื่องราวตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/6sH0cyH/ogsksyhe6-RJRf-CXu-KWk-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “ทัพบกนั้นพระยายมราชเป็นกองหน้ายกข้ามท่าข้ามไปถึงลำพูนเข้าตีกองทัพเมืองนครฯ ที่ท่าหมากนั้นแตกพ่ายหนีไป  จึงยกติดตามไปตั้งค่าย ณ เขาหัวช้าง  ฝ่ายทัพเรือของสมเด็จพระเจ้าตากสินเดินทางถึงปากน้ำเมืองนครฯ ก็ยกขึ้นบก  ยาตราทัพเข้าตีเมืองนครทันที

          เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชให้เจ้าอุปราชยกทัพออกมาตั้งรับที่ท่าโพธิ์ก็พ่ายแก่ทัพหลวงกรุงธนบุรี  หนีเข้าเมืองทำให้เจ้านครฯ ตกใจกลัวพระเดชานุภาพ  มิได้สู้รบ  จึงทิ้งเมืองหนีไป  เวลานั้น นายคง ไพร่ในกองพระเสนาภิมุขเห็นช้างพลายเพชรที่นั่งเจ้าเมืองนครผูกเครื่องสรรพปล่อยอยู่  จึงจับเอามาถวาย  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จขึ้นทรงช้างที่นั่งพลายเพชร  เสด็จเข้าเมืองนครศรีธรรมราชโดยราบรื่น

(https://i.ibb.co/DVKgq30/561000011069906.jpg) (https://imgbb.com/)

          ผลการรบกับเจ้าอุปราชนั้นปรากฏว่านายเพชรทนายเลือกถูกปืนตายเพียงคนเดียว  นอกนั้นปลอดภัย  เมื่อเข้าเมืองได้แล้วพลข้าหลวงจับได้ราชธิดาและญาติวงศา  นางสนมมเหสีล่าชแม่พนักงานบริวารของเจ้านคร   กับทั้งอุปราชและขุนนางทั้งปวง  และได้ทรัพย์สินเงินทองเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ เป็นอันมากนำมาถวาย  ในขณะที่เสด็จเข้าเมืองนั้นปรากฏว่านายทัพนายกองตามเสด็จทันบ้างไม่ทันบ้าง  ครั้นท้าวพระยานายทัพนายกองทัพบกทัพเรือมาถึงพร้อมกันแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสภาคโทษไว้ครั้งหนึ่ง

          * ฝ่ายเจ้านครศรีธรรมราชนั้น  นำบุตรธิดาวงศานุวงศ์และเก็บทรัพย์สมบัติไปได้ส่วนหนึ่ง  หนีลงไป ณ เมืองสงขลา  หลวงสงขลาพาหนีต่อไปถึงเมืองเทพา  เมืองตานี  จึงมีดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี (แขก)   พระยาพิชัยราชา  เร่งยกทัพติดตามไปจับตัวให้จงได้  ถ้ามิได้จะลงอาญาถึงสิ้นชีวิต

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ในวันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๒  ประทับอยู่เมืองนครฯ ถึงวันขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๑  ก็เสด็จโดยทางชลมารครอนแรมไปตามชายฝั่งทะเลจนถึงเมืองสงขลาจึงเสด็จขึ้นประทับในเมือง

(https://i.ibb.co/gDCVVXQ/o7zjr94k5-Nz-IT84-BO3-Q-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี (แขก) แม่ทัพเรือ  พระยาพิชัยราชาแม่ทัพบก  ยกติดตามเจ้านครไปถึงเมืองเทพา  ทราบจากชาวเมืองเทพาว่าหลวงสงขลา  พระยาพัทลุง  พาเจ้านครหนีไปเมืองตานี  แม่ทัพทั้งสองจึงมีหนังสือไปถึงพระยาตานีศรีสุลต่าน  ขอให้ส่งตัวเจ้านครและพรรคพวกมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียให้สิ้น  หาไม่แล้วจะยกทัพเข้าตีเมืองตานีชิงตัวเจ้านครและพวกต่อไป  พระยาตานีกลัวบ้านเมืองจะเป็นอันตราย  จึงส่งตัวเจ้านคร  พระยาพัทลุง  หลวงสงขลา  เจ้าพัด  เจ้ากลาง  กับบุตรภรรยาให้แก่กองทัพหลวง  เจ้าพระยาจักรีจึงจำคนโทษทั้งหมดลงเรือมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ เมืองสงขลา  ทรงยกทัพกลับเมืองนครศรีธรรมราช

(https://i.ibb.co/QCqvNnK/55624c5c8.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อถึงเมืองนครแล้วทรงประกาศห้ามมิให้ ไพร่พลไทยจีนทั้งปวงฆ่าโค  กระบือ  และข่มเหงสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวิหารการเปรียญ  อารามใหญ่น้อย  แล้วให้มีการสมโภชเวียนเทียนพระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่เป็นเวลาสามวัน  เมื่อเสร็จสิ้นการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุแล้ว  ดำรัสสั่งให้เสนาบดีและลูกขุนปรึกษาโทษเจ้านคร  เสนาบดีปรึกษากันแล้วเห็นว่ามีโทษถึงประหารชีวิต  แต่ทรงพระกรุณาไม่เห็นด้วย  ให้จำเจ้านครไว้กลับไปถึงกรุงก่อนค่อยพิจารณาโทษใหม่  จากนั้นโปรดตั้งพระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์ไว้ครองเมืองนครศรีธรรมราช  ให้พระยาสุภาวดีกับพระศรีไกรลาศอยู่ช่วยราชการ  ให้ราชบัณฑิตรวบรวมพระไตรปิฎกลงบรรทุกเรือเชิญเข้ากรุงเพื่อคัดลอกแล้วส่งกลับคืนภายหลัง  และให้สังฆการีนิมนต์พระอาจารย์ศรีวัดพแนงเชิง  ซึ่งหนีพม่ามาอยู่เมืองนครนั้นกลับกรุงธนบุรีด้วย  และเมื่อกลับถึงกรุงธนบุรีแล้ว  ทรงตั้งพระอาจารย์ศรีเป็นสมเด็จพระสังฆราช

          ส่วนเจ้านครนั้น  ก็พระราชทานโทษให้ถอดออกจากพันธนาการแล้วให้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัตยาอยู่เป็นข้าราชการพระราชทานบ้านเรือนที่อาศัยให้อยู่เป็นสุข  จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ค่อยวัฒนาการรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน”

          * น้ำพระทัยพระเจ้าตากสินในบางครั้งจะเห็นว่าทรงโหดเหี้ยม  ดังเช่นสั่งให้ลงโทษอย่างโหดเหี้ยมทารุณแก่หม่อมเจ้าอุบล  และหม่อมเจ้าฉิม  ที่เป็นชู้กับฝรั่งหาดเล็ก  บางคราวก็อ่อนโยนเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาปรานี  ดังเช่นที่ทรงอภัยโทษแก่เจ้านคร  เป็นต้น  เรื่องราวของพระองค์จะเป็นอย่างไรต่อไป  ติดตามกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณธ์หุ่นขี้ปึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, เมษายน, 2562, 11:08:04 PM
(https://i.ibb.co/b5WQXwn/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ไปปราบก๊กเจ้าพระฝาง -

ละเขมรไว้ก่อนไม่ร้อนรบ
หมายจะกลบก๊กพระฝางที่วางก้าม
มากวนอุทัย,ชัยนาทอาจลามปาม
ไม่เกรงขามเดชาบารมี

จัดกองทัพน้อยใหญ่ไม่รอช้า
เร่งยาตราบกเรืออย่างเร็วรี่
เข้ายึดเมืองพิษณุโลกได้ทันที
แล้วจะตีฝางเมืองต่อเนื่องไป


          อภิปราย ขยายความ....

          เมื่อวันวานนี้  ผมได้กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าตากสินทรงปราบก๊กเจ้านครได้  แล้วทรงบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น  วันนี้มาดูเรื่องราวของพระองค์จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/sWhFgs5/K11158910-30.png) (https://imgbb.com/)

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความเรียงลำดับต่อไปว่า  “กองทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  และ  พระยาอนุชิตราชา (บุญมา)  ซึ่งยกไปตีกัมพูชาโดยเดินทัพทางนครราชสีมา  พระยาโกษายกไปทางปราจีนบุรีนั้น  พระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  ตีได้เมืองเสียบราบ  พระยาโกษาตีได้เมืองพระตะบอง  ฝ่ายนักพระองค์ตนซึ่งเป็นพระอุทัยราชา  ก็ยกกองทัพเรือมาทางทะเลสาบเพื่อจะตีเอาเมืองเสียมราบคืน  พระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  ทราบดังนั้นจึงจัดแจงทัพเรือที่เมืองเสียมราบแล้วยกออกตีทัพเรือพระอุทัยราชา (นักพระองค์ตน) ในทะเลสาบ  ได้รบกันอยู่หลายเพลา  ยังไม่รู้แพ้ชนะแก่กัน  ก็ได้ทราบข่าวเลื่องลือว่า  พระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปปราบก๊กเจ้านครและได้ทิวงคตเสียแล้ว  พระยาพี่น้องทั้งสองก็ตกใจ  เกรงว่าแผ่นดินจะเกิดการจลาจลขึ้นอีก  จึงเลิกทัพกลับมา  พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  เกรงความจะไม่แน่  จึงยั้งทัพรอรีอยู่ที่เมืองนครราชสีมา  พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ยกทัพมาถึงเมืองลพบุรีจึงทราบความแน่ชัดว่า  พระเจ้าตากสินมิได้มีอันตราย  และตีเมืองนครศรีธรรมราชปราบก๊กเจ้านครได้ราบคาบแล้ว  จึงตั้งทัพอยู่ที่เมืองลพบุรีมิได้กลับเข้ากรุง  ฝ่ายพระยาโกษานั้นเมื่อทราบว่าพระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  ถอยทัพกลับมาแล้ว  ก็เลิกทัพของตนกลับมาเมืองปราจีนบุรี  และบอกกล่าวโทษเข้ามาว่า  ทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  เลิกกลับมาก่อน  ครั้นจะตั้งอยู่ทัพเดียวก็เกรงว่าเขมรจะทุ่มกำลังเข้าโจมตี  เห็นเหลือกำลังจึงลาดถอยกลับมาบ้าง

(https://i.ibb.co/YXfR1V6/DYpiyp-OVQAAyraa-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าตากสินทรงทราบจากหนังสือบอกกล่าวของพระยาโกษาดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสสั่งให้พาตัวพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) จากลพบุรีลงมาเฝ้า  แล้วตรัสถามว่า  “ใช้ไปราชการสงคราม  ยังมิได้ให้หาทัพกลับ  เหตุไฉนจึงยกมาเองดังนี้  จะคิดเป็นกบฏหรือ”  พระยาอนุชิตราชาจึงกราบทูลว่า  ได้ข่าวลือมาก  ว่าพระองค์ยกไปปราบเจ้านครและสวรรคตเสียแล้ว  จึงเกรงว่าข้าศึกจะยกมาชิงเอากรุงธนบุรีจึงรีบกลับมารักษาแผ่นดินไว้  “นอกกว่าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว  ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้ยอมเป็นข้าผู้อื่นอีกนั้นหามิได้เลยเป็นอันขาด”  ทรงฟังคำกราบบังคมทูลดังนั้นก็หายพระพิโรธ  โปรดให้มีตราหากองทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  และพระยาโกษากลับมายังพระนคร

(https://i.ibb.co/1dppbk3/558000004205303.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ถึงปีจุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาล โทศก (พ.ศ.๒๓๑๓)  กล่าวฝ่ายเจ้าพระฝางผู้เป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ยังดำรงเพศเป็นบรรพชิต  แต่ประพฤติตนเยี่ยงฆราวาส  ยิ่งกว่านั้นยังเป็นพาลกักขฬะเยี่ยงมหาโจร  “เกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหารและเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหายหลายตำบล  จนถึงเมืองอุทัยธานี  เมืองชัยนาท”  ราษฎรหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งอยู่ในเขตพระราชอาณาจักรได้รับความเดือดร้อนหนักจึงกราบทูลพระกรุณา  ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสให้เกณฑ์กองทัพจะยกไปปราบก๊กเจ้าพระฝางให้ราบคาบ  โปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน  ยกไปทางฟากตะวันตกทัพหนึ่ง  ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรมจึงโปรดให้พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) เลื่อนเป็นพระยายมราช  ให้เป็นแม่ทัพถือพลห้าพันยกไปทางฟากตะวันออกทัพหนึ่ง  ทัพบกทั้งสองทัพรวมเป็นคนหมื่นหนึ่ง  ให้ยกล่วงหน้าไปก่อน

(https://i.ibb.co/h7T8jZr/sryt-p01.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นถึงวันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ  เวลาเช้าโมงเศษ  ได้มหาพิชัยฤกษ์  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาวสิบเอ็ดวา  พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือนไทยจีนทั้งปวง  เตรียมเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนพยุพยาตราทางชลมารค  พลโยธาทัพหลวงหมื่นสองพันคน  ในขณะนั้นมีกำปั่นข้าวสารมาแต่ทิศใต้หลายลำ  จึงทรงให้รอทัพอยู่แล้วจัดซื้อแจกจ่ายให้พลในกองทัพจนเหลือเฟือ  ที่เหลือก็แจกจ่ายแก่สมณะชีพราหมณ์ และครอบครัวบุตรภรรยาข้าราชการทั้งปวง  ไม่เว้นแม้กระทั่งยาจกวณิพกในกรุง  และแขกเมืองตรังกานูและแขกเมืองยักตราก็นำปืนคาบศิลาเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายถึงสองพันสองร้อยกระบอก  จากนั้นทรงยาตราทัพไปตามลำน้ำเจ้าพระยาประทับแรมอยู่สองเวร  ถึงนครสวรรค์ก็เข้าตามลำน้ำน่านไปถึงตำบลชาลวันแล้วพักแรมอยู่เวรหนึ่ง  วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๒ ค่ำ  จึงยกไปประทับ ณ ปากน้ำพิง

(https://i.ibb.co/VNjG3kW/chbfd5idf9fd5kbceha66-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เมื่อเจ้าพระฝางรู้ข่าวศึกจึงให้หลวงโกษาซึ่งอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตั้งรับศึก  ครั้นค่ำลงในวันนั้นประมาณยามเศษ  พระเจ้าตากสินจึงสั่งให้เข้าตีพิษณุโลกและก็เข้าเมืองได้ในคืนนั้นเอง  หลวงโกษาหนีออกจากเมืองไปตั้งค่ายมั่นที่ตำบลโทก (ปากโทก) เมื่อทัพกรุงธนบุรีตามไปก็เลิกทัพหนีไปโดยไม่ยอมสู้รบด้วย

(https://i.ibb.co/JR83KYG/BX1.png) (https://imgbb.com/)

          วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ  พระเจ้าตากสินจึงเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลก  นมัสการพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์  ทรงพระราชศรัทธาเปลื้องพระภูษาทรงสพักออกจากพระองค์ห่มพระพุทธชินราชแล้วเสด็จประทับแรมในเมือง  หยุดทัพอยู่ได้ ๙ วัน  กองทัพพระยายมราช (บุญมา) เดินทางไปถึง  ทรงพระราชทานข้าวปลาอาหารให้แจกจ่ายกันทั่วถ้วน  แล้วสั่งให้ยกไปติดเมืองสวางคบุรี  รุ่งขึ้นอีกสองวันกองทัพพระยาพิชัยราชายกไปถึง  ทรงแจกจ่ายเสบียงแล้วให้รีบยกขึ้นไปเมืองสวางคบุรีทันที  ส่วนพระองค์ก็จะยกทัพเรือขึ้นตามขึ้นไป”

          * สรุปเรื่องราววันนี้ คือพระยาสองพี่น้องรบเขมรชนะยังมิทันเด็ดขาดก็ได้ข่าวสมเด็จพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์จึงรีบยกทัพกลับคืน  เขมรจึงยัง  “ลอยนวล”  อยู่ต่อไป  ทางฝ่ายเจ้าพระฝางกำเริบเสิบสาน  ส่งกองโจรลงมาปล้นราษฎรถึงเมืองอุทัย-ชัยนาท  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงจัดกองทัพขึ้นไปหมายพระทัยจะปราบก๊กเจ้าพระฝางให้ราบเรียบ  ยึดเมืองพิษณุโลกได้แล้ว  พรุ่งนี้จะยกขึ้นไปตีสวางคบุรี  หรือเมืองฝาง  ติดตามไปดูกันต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, เมษายน, 2562, 10:17:56 PM
(https://i.ibb.co/q0Fm4s4/image.png) (https://imgbb.com/)

- ปราบหมดสิ้นทุกก๊ก -

ฝ่ายว่าเจ้าพระฝางตั้งหลักสู้
สามวันรู้เหลือการต้านทานได้
จึ่งค่ำหนึ่งหนีมิรู้สู่ที่ใด
ตามหาไม่พบตัวตน“อ้ายเรือน”

จับ“ขุนศึก”ให้สึกจากเพศพระ
ทรงชำระศาสนาที่แปดเปื้อน
ด้วยพระฝางช่างคิดทำบิดเบือน
จนพระเหมือนคฤหัสถ์วิบัติบุญ


          อภิปราย ขายความ......

          กองทัพพระยายมราช (บุญมา) และพระยาพิชัยราชาซึ่งเป็นทัพบกนั้น  ยกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรีก็ให้ตั้งค่ายล้อมไว้มั่น  อันเมืองสวางคบุรีนั้น  ตั้งแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน  หามีกำแพงไม่  เจ้าพระฝางเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินรอบเมือง  ยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง

          * ขณะนั้นช้างพังเชือกหนึ่งอยู่ในเมืองตกลูกเป็นช้างเผือกสมพงศ์  เจ้าพระฝางเห็นเช่นนั้นก็กล่าวว่า  “ช้างเผือกนี้มิได้บังเกิดเป็นของคู่บุญของเรา  เกิดเป็นพาหนะสำหรับบุญแห่งท่านแม่ทัพใต้ซึ่งยกขึ้นมานั้น”  แล้วก็เกิดความคิดครั่นคร้ามเกรงกลัวพระบารมียิ่งนัก
 
(https://i.ibb.co/5RtZsrN/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อสู้รบอยู่ได้เพียงสามวัน  เจ้าพระฝางก็พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองไปทางทิศเหนือในเวลากลางคืน  พวกทหารก็นำเอาลูกช้างเผือกและพังแม่หนีตามไปด้วย  กองทัพกรุงธนบุรีเข้าเมืองได้ก็มีหนังสือกราบบังคมทูลมายังทัพหลวง ณ เมืองพิษณุโลก  ในหนังสือกราบบังคมทูลนั้นใจความสำคัญว่า  “ได้เมืองสวางคบุรีแล้ว  แต่อ้ายเรือนพระฝางนั้นพาลูกช้างเผือกซึ่งเกิดในเมืองหนีไป  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังให้ติดตามอยู่”  ทรงได้รับหนังสือกราบบังคมทูลนั้นในระหว่างทางขณะที่เสด็จทางชลมารคขึ้นไปจากพิษณุโลกได้ ๓ วันแล้ว  จึงรีบเร่งเรือพระที่นั่งไปทั้งกลางวันกลางคืนจนไปถึงที่ประทับพระตำหนักค่ายหาดสูงซึ่งกองหน้าตั้งไว้รับเสด็จ  ทรงขึ้นประทับแล้วมีพระราชดำรัสสั่งให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันติดตาม  “อ้ายเรือนพระฝาง”  และลูกช้างเผือกให้จงได้

          * ถึงวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ  หลวงคชศักดิ์กับกองพระยาอินทรวิชิตเจ้าเมืองวิเศษไชยชาญ  จับได้นางพญาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย  ทรงพระกรุณาพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พระยาอินทรวิชิตกับหลวงคชศักดิ์โดยสมควรแก่ความชอบ
 
(https://i.ibb.co/6szBsZ2/nare07.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๐  ยกทัพไปโดยทางชลมารคถึงตำบลน้ำมืด  จึงตรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก และเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรชาวหัวเมืองเหนือทั้งปวง  ห้ามอย่าให้ข่มเหงริบทรัพย์สิ่งของราษฎรชาวบ้าน  และฆ่าโคกระบือสัตว์ของเลี้ยง  นายทัพนายกองผู้ใดได้ปืนและช้างพลายพังลักษณะดีก็ให้ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย  อย่าได้เบียดบังเอาไว้

(https://i.ibb.co/HCxm8bc/sryt-p09.jpg) (https://imgbb.com/)

          * วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ มีใบบอกขึ้นไปแต่กรุงธนบุรี  กราบบังคมทูลว่า  แขกเมืองตานีเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร  ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง  และเมืองยักตราถวายปืนใหญ่ร้อยบอก  และวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑  ทรงพระกรุณาให้สืบเสาะจับพระสงฆ์พวกเหล่าร้ายบริวารเจ้าพระฝาง  ได้ตัวพระครูคิริมานนท์ ๑   อาจารย์ทอง ๑   อาจารย์จันทร์ ๑   อาจารย์เกิด ๑   ล้วนเป็นแม่ทัพอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่รูป

(https://i.ibb.co/hYMhMsh/Y10087376-26.png) (https://imgbb.com/)


          แต่พระครูเพชรรัตน์กับอ้ายเรือนพระฝางนั้นหาได้ตัวไม่  จึงตรัสให้ผลัดผ้าเป็นคฤหัสถ์ทั้งสี่คน  แล้วจำคงส่งลงมาใส่คุก ณ กรุงธนบุรี  ในวันนั้นทรงให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เมืองเหนือมาพร้อมกันหน้าพระที่นั่ง  และให้หาขุนนางใหญ่น้อยมาประ ชุมพร้อมกัน  ทรงปรึกษาหารือในที่ประชุมว่า  พระภิกษุสงฆ์เมืองเหนือล้วนเป็นพรรคพวกอ้ายเรือนพระฝาง  ส่วนใหญ่มักล่วงสิกขาบทปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง  เห็นควรมีการชำระให้พระศาสนาบริสุทธิ์  จึงขอให้พระภิกษุสารภาพกรรมทั้งปวงของตนตามความเป็นจริง  หากองค์ใดกระทำล่วงปาราชิกก็จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้สึกออกมาทำราชการโดยมิเอาโทษทัณฑ์  องค์ใดไม่ยอมรับตามความจริง  ก็จะให้พิสูจน์ด้วยการดำน้ำสู้นาฬิกาสามกลั้น  ถ้าชนะนาฬิกาก็จะตั้งให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยควรแก่คุณธรรมที่รู้  ถ้าสู้นาฬิกาไม่ได้ก็ให้เฆี่ยนแล้วสักข้อมือห้ามิให้บวชอีก

          * วิธีการชำระความบริสุทธิ์พระภิกษุสงฆ์ของพระเจ้าตากสินนี่แปลกดีนะครับ  “ดำน้ำสู้นาฬิกา”  นั้นท่านทำกันอย่างไร  รายละเอียดของเรื่องนี้เห็นจะต้องยกไปว่ากันอีกทีในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42076#msg42076)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42526#msg42526)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, เมษายน, 2562, 10:36:36 PM
(https://i.ibb.co/5Ks7pZr/p72qwd92km-Rt55-Jz58y-o.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42271#msg42271)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42681#msg42681)                   .

- ชำระความบริสุทธิ์สงฆ์ -

ปราบก๊กเจ้าพระฝางอย่างสิ้นซาก
ก่อนจะจากเมืองเหนือทรงเกื้อหนุน
ปรารถนาพระสงฆ์ให้ทรงคุณ
สึกสมุนพระฝางเสียทั้งปวง

ชำระศีลทุกองค์สิ้นสงสัย
แล้วบวชใหม่ฐานะเป็นพระหลวง
ทรงชำระสะสางสงฆ์ทั้งพวง
มิให้ล่วงเลยล้ำธรรมวินัย


          อภิปราย ขขายายความ......

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นไปปราบก๊กเจ้าพระฝางได้สำเร็จ  เจ้าพระฝางหนีสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย  จับได้แม่ทัพเจ้าพระฝาง ๔ คน  ทรงให้สละผ้าเหลืองเสียแล้วจำคงส่งเข้าคุกที่กรุงธนบุรี  จากนั้นทรงให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เมืองเหนือมาพร้อมกันหน้าที่นั่งและเรียกประชุมขุนนางปรึกษากันในเรื่องพระภิกษุสงฆ์  ซึ่งถือว่าเป็นพวกของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น  จึงไม่แน่ใจได้ว่าองค์ใดเป็นพระภิกษุผู้บริสุทธิ์องค์ใดเป็นพระภิกษุที่ล่วงปาราชิกสิกขาบทแล้ว  จึงตกลงให้ชำระความแก่พระภิกษุเหล่านั้นขึ้นเพื่อความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา  วิธีการชำระความบริสุทธิ์นั้นท่านกำหนดให้  “ดำน้ำสู้นาฬิกา”  การดำน้ำสู้นาฬิกานั้นทำอย่างไร  วันนี้มาดูในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ให้รายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้ครับ

(https://i.ibb.co/72jKqKX/7.jpg) (https://imgbb.com/)


          * “อนึ่งพระสงฆ์ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ก็จะแปลกปลอมปะปนกันอยู่  มิรู้ว่าองค์ใดดีองค์ใดชั่ว  จะได้ไหว้นพเคารพสักการบูชาให้เป็นเนื้อนาบุญได้มีผลานิสงส์แก่เราท่านทั้งปวง  ให้พระสงฆ์ให้การไปแต่ตามสัตย์ตามจริง  ถ้าได้ผิดในจตุปาราชิกแต่ประการใดประการหนึ่ง  จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้ผลัดสึกออกทำราชการ  ที่ไม่รับนั้นจะให้ดำน้ำพิสูจน์สู้นาฬิกาสามกลั้น  แม้นชนะแก่นาฬิกาจะให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้  แม้นแพ้แก่นาฬิกาจะให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วสักข้อมือมิให้บวชได้อีก  แม้นเสมอนาฬิกาจะถวายผ้าไตรให้บวชใหม่  ถ้าแต่เดิมไม่รับ  ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูจนกลับคืนคำว่าได้ทำผิด  จะให้ลงพระราชอาชญาประหารชีวิตเสีย”  พระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความรอบคอบหมดจดของพระองค์ได้เป็นอย่างดี
 
(https://i.ibb.co/mhDChbQ/maxresdefault-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อจะให้พระสงฆ์ดำน้ำพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้น  ทรงให้ตั้งศาลกั้นม่านดาดเพดานผ้าขาว  แต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดา  พร้อมแล้วจึงทรงพระสัตยาธิษฐานว่า  “ให้พระบารมีช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระสงฆ์ทั้งปวง  ถ้าภิกษุองค์ใดมิได้ขาดจากสิกขาบทจตุปาราชิก  ขอให้พระบารมีของเราและอานุภาพเทพยดาอันศักดิ์สิทธิ์จงเป็นสักขีพยาน  ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระผู้เป็นเจ้าองค์นั้น  อย่าให้แพ้แก่นาฬิกาได้  ถ้าและภิกษุรูปใดถึงซึ่งศีลวิบัติแล้ว  เทพยดาเจ้าจงสังหารให้แพ้แก่นาฬิกาเห็นประจักษ์แก่ตาโลก”  แล้วเสด็จทรงพระเก้าอี้ที่หาดทราย  ให้พระสงฆ์ลงดำน้ำพิสูจน์ตัวต่อหน้าพระที่นั่ง  ครั้งนั้นปรากฏว่าพระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ก็ชนะแก่นาฬิกาบ้างเสมอบ้าง  แต่มีผู้ที่แพ้แก่นาฬิกาเป็นอันมาก  เสนาบดีก็จัดการแก่พระสงฆ์ตามรับสั่งนั้นทุกประการ  ผ้าจีวรของผู้แพ้นาฬิกาต้องจับสึกนั้น  ให้เผาไฟเป็นสมุกนำไปทาพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี  ทรงให้จัดทำผ้าไตรขึ้นใหม่ได้พันไตรเพื่อจะบวชพระสงฆ์ฝ่ายเหนือ  รับสั่งให้สังฆการีรีบลงไปอาราธนาพระราชาคณะกับพระสงฆ์อันดับจากกรุงธนบุรีขึ้นมาเมืองเหนือจำนวนห้าสิบรูป  ทำพิธีบวชชาวเหนือเป็นพระภิกษุให้อยู่จำพรรษาในวัดต่าง ๆ ทุกหัวเมือง  โดยให้พระราชาคณะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์นั้น ๆ อยู่สั่งสอนอบรมพระธรรมวินัย  กับให้เก็บพระไตรปิฎกลงไปเป็นฉบับสร้าง ณ กรุงธนบุรีด้วย  โปรดให้พระพิมลธรรมอยู่เมืองสวางคบุรี  ให้พระธรรมโคดมอยู่เมืองพิชัย  ให้พระธรรมเจดีย์อยู่เมืองพระพิษณุโลก  ให้พระพรหมมุนีอยู่เมืองสุโขทัย  ให้พระเทพกระวีอยู่เมืองสวรรคโลก  ให้พระโพธิวงศ์อยู่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง  
 
(https://i.ibb.co/g9VwJMt/3771c0121b2fb74e7cb3d8e54279de17.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นทรงเสด็จไปเมืองสวางคบุรี  จัดงานสมโภชพระมหาธาตุสามวัน  แล้วเปลื้องพระภูษาทรงสพักจากพระองค์ห่มพระมหาธาตุ  ให้ปฏิสังขรณ์พระอารามและพระมหาธาตุให้บริบูรณ์ดังเก่า  จากนั้นเสด็จไปเมืองศรีพนมมาศ  กระทำสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์สามวัน  แล้วเสด็จไปเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย)  กระทำสมโภชพระมหาธาตุสามวัน

(https://i.ibb.co/KzLv83M/Siamvip-Com-6-12-2559-21-52-08.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒  เสด็จกลับเมืองพิษณุโลก  กระทำสมโภชพระมหาธาตุ  พระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์สามวัน แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งข้าหลวงเดิมซึ่งมีความชอบในการสงคราม  ให้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง  สำหรับหัวเมืองใหญ่นั้น  โปรดให้พระยายมราช (บุญมา) เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์  ครองเมืองพระพิษณุโลก  ประมวลไพร่พลเมืองมีอยู่หมื่นห้าพัน  ให้พระยาพิชัยราชาเป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก  มีไพร่พลเมืองอยู่เจ็ดพัน  ให้พระยาสีหราชเดโช (ทองดี) เป็นพระยาพิชัยมีไพร่พลเมืองเก้าพัน  ให้พระยาท้ายน้ำเป็นพระยาสุโขทัยมีไพร่พลอยู่ห้าพัน  ให้พระยาสุรบดินทรเป็นพระยากำแพงเพชร  ให้พระยาอนุรักษ์ภูธรเป็นพระยานครสวรรค์  ทั้งสองเมืองนี้มีพลเมือง ๆ ละสามพันเศษ  และพร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) เป็นพระยายมราชว่าราชการที่สมุหนายก  จากนั้นก็เสด็จกรีธาทัพหลวงกลับกรุงธนบุรี  พร้อมกับนำนางพระยาเศวตกริณีล่องแพลงไปด้วย  โปรดให้ปลูกโรงรับ ณ สวนมังคุด  แล้วให้มีงามสมโภชสามวัน

          * ท่านผู้อ่านคงจำได้นะครับว่า  ในตอนที่ให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระสังฆราชที่ถูกกล่าวหาปาราชิกนั้น  ทรงให้  “ลุยไฟ”  แล้วสังฆราชแพ้  เพราะไม่ยอมลุยไฟ  มาคราวนี้ทรงใช้วิธีใหม่ให้ภิกษุชาวเหนือทั้งปวงดำน้ำสู้นาฬิกา  ให้กลั้นลมหายใจในน้ำตามกำหนดเวลา  ถ้าทำไม่ได้ก็ถือว่าแพ้นาฬิกา  เช่นตั้งเวลานาฬิกาไว้ ๕ นาที  องค์ใดดำน้ำนานไม่ถึง ๕ นาที ก็ถือว่าแพ้  เป็นต้น  หลังจากนั้น  ทรงให้ภิกษุทึ่สู้นาฬิกาได้นั้นบวชใหม่ทั้งหมด  นี้ก็เป็นวิธีการชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์อีกวิธีหนึ่ง

          พรุ่งนี้มาดูเรื่องราวของพระเจ้ากรุงธนบุรีต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไมย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, เมษายน, 2562, 10:24:00 PM
(https://i.ibb.co/tXkJyY1/1402125349-Epic-Produc-o.jpg) (http://=https://imgbb.com/)

- เปิดศึกพม่าที่เชียงใหม่ -

ยามนั้น...เชียงใหม่มีเจ้าเมืองพม่า
อวดเก่งกล้ายกกองกำลังใหญ่
ลงมาล้อมตี”ศรีสัชนาลัย”
เป็นเหตุให้ศึกบานเต็มล้านนา

พระเจ้าตากยกทัพสัประยุทธ์
ทรงหวังขุดรากหน่อตอพม่า
ได้“มังชัย”สวามิภักดิ์เพิ่มศักดา
พระเดชาปรากฏยศขจร


          อภิปราย ขยายความ..............

          ท่านผู้อ่านครับ  เมื่อวันวานผมบอกเล่าความถึงตอนที่พระเจ้าตากสินทรงปราบก๊กเจ้าพระฝางลงได้อย่างราบคาบแล้ว ทรงชำระการคณะสงฆ์ไทยในภาคเหนือตอนล่าง (ภาคกลางตอนบน)  ด้วยเห็นว่าพระภิกษุเหล่านั้นเป็นบริวารของพระฝางจึงไม่แน่ใจในความบริสุทธิ์ของศีล  ทรงชำระสะสางจนคณะสงฆ์สะอาดบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วเสด็จกลับกรุงธนบุรี  วันนี้มาดูเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยช่วงตอนนี้ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/F594hnG/Mongolwar1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * มีความในพงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า  จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีขาล ตรีศก  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๔ พระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีกรีธาทัพหลวงขึ้นตีเชียงใหม่  ถึงนครเชียงใหม่วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ (คือเดือน ๕)  พระยาโกษาเป็นแม่ทัพหน้า  มีรี้พล ๗ พัน  เข้าตั้งประชิดทางประตูไลแกง  กองทัพพม่าซึ่งรักษาเมืองได้สู้รบป้องกันเมืองเป็นสามารถอยู่ได้ ๙ วัน  กองทัพไทยก็เลิกถอยกลับไป   แต่ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาให้รายละเอียดไว้ว่า  “ครั้นถึง ณ เดือน ๓ ปี ขาล โทศกนั้น  ฝ่ายปะระกามนี  ซึ่งเรียกว่าโปมะยุง่วน (โปหัวขาว) เจ้าเมืองเชียงใหม่  ยกกองทัพพม่า  กองทัพลาว  ยกลงมาตีเมืองสวรรคโลก  เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้  เจ้าพระยาสวรรคโลกก็เกณฑ์ไพร่พลขึ้นรักษาหน้าที่เชิงกำแพงเมือง  ต่อรบป้องกันเมืองเป็นสามารถ  แล้วบอกลงมายังกรุง  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ  จึงโปรดให้มีตราขึ้นไปเกณฑ์กองทัพเมืองพระพิษณุโลก  เมืองสุโขทัย  เมืองพิชัย  ให้ยกขึ้นไปตีกองทัพพม่าช่วยเมืองสวรรคโลก  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  พระยาพิชัย (ทองดี)  และพระยาสุโขทัย  ก็ยกทัพทั้งสามหัวเมืองไป ณ เมืองสวรรคโลก  เข้าตีกระหนาบค่ายพม่าซึ่งตั้งล้อมเมือง  พม่าต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีไปยังเมืองเชียงใหม่  จึงบอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ”

(https://i.ibb.co/8KHMQzd/011.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เชียงใหม่ในช่วงเวลานั้นอยู่ในปกครองของพม่า  ความในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า  โปสุพลา  หรือ  เนเมียวเสนาบดี  เมื่อรบชนะได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว  ก็ยกกลับไปเชียงใหม่แล้วเลยไปอยู่หลวงพระบาง  พระยาจ่าบ้านกับโปมะยุง่วน หรือโปหัวขาวเจ้าเมืองเชียงใหม่วิวาทกัน  พระยาจ่าบ้านสู้ไม่ได้ก็หนีไปอยู่กับโปสุพลาที่หลวงพระบาง  แต่ความที่โปมะยุง่วน ยกทัพไปตีสวรรคโลกกลับไม่ปรากฏในตำนานเมืองเหนือ  ถ้ายึดถือความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลักแล้วก็ต้องเชื่อได้ว่า  ทางเชียงใหม่ซึ่งมีเจ้าเมืองเป็นพม่านั้น  ยกกำลังลงไปรุกรานกรุงธนบุรีก่อน  พระเจ้าตากสินจึงยกทัพขึ้นมาตีเชียงใหม่  โดยเมื่อโปมะยุง่วน นายทัพที่สวรรคโลกหนีกลับเชียงใหม่แล้ว  พระเจ้าตากสินจึงเกณฑ์กองทัพจะยกขึ้นตีเชียงใหม่บ้าง  ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/0Zz18YX/1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          " ครั้นถึงวันดีในเดือน ๔ ข้างขึ้นได้มหาพิชัยฤกษ์  พระเจ้าตากสินทรงยกทัพหลวงเสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบ  พระราชดำเนินตามกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากกรุงธนบุรี  ประทับรอนแรมตามระยะทางไปจนถึงเมืองพิชัย  จึงให้ตั้งค่าย ณ หาดทรายฝ่ายตะวันออกตรงข้ามเมือง  และประทับแรมอยู่ที่นั้น  เวลานั้น มังชัย เจ้าเมืองแพร่พาขุนนางกรมการและไพร่พลลงมาเฝ้ากราบถวายบังคมขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ให้เกณฑ์เข้าในกระบวนทัพด้วย

(https://i.ibb.co/f0h7VJH/screen-shot-2560-10-15-at-6-32-05-am-1528961263.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นทรงให้พระยาจักรี (แขก) กับพระยาราชครูปโรหิตอยู่รักษาเรือพระที่นั่ง  และเรือข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ณ เมืองพิชัย  พระองค์เสด็จขึ้นบกจัดแจงแต่งกองทัพ  ให้กองทัพหัวเมืองทั้งปวงยกล่วงหน้าไปก่อน  จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงไปโดยสถลมารค  ประทับแรมไปหลายแห่งจนถึงตำบลกุ่มเหลือง จึงให้ตั้งค่ายแทบเชิงเขาม้าพลาด  แล้วเสด็จเข้าประทับแรมในค่ายนั้น

(https://i.ibb.co/CP3Z6L5/hqdefault.jpg) (https://imgbb.com/)

          ยามนั้นเป็นคิมหันตฤดู  อากาศร้อนแผ่นดินแห้งแล้งกันดารน้ำ  ผู้นำทางกราบทูลว่าข้ามเขาพ้นไปแล้ว  ฟากเขาข้างโน้นระยะทางไกลถึงสามร้อยเส้นไม่มีแหล่งน้ำเลย  ไพร่พลจะอดน้ำ  พระองค์ตรัสว่า  ขอให้เป็นธุระของเรา  แล้วทรงให้พระยาราชประสิทธิ์ปลูกศาลเพียงตาขึ้น  ตั้งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาบนภูเขานั้น  ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน  เอาพระบรมโพธิสมภารบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง  ขออานุภาพเทพยดาบันดาลให้ฝนตกในเวลาห้าทุ่มของคืนนั้น  และเรื่องมหัศจรรย์ก็ปรากฏแก่ไพร่พลของพระองค์  เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นห่าใหญ่ในเวลาสี่ทุ่มเศษของคืนนั้น  น้ำไหลบ่านองไปทั่วราวป่า  พัดพาขอนไม้มาเป็นอันมาก  ครั้นเพลาเช้าก็ทรงช้างพระที่นั่งยกพหุโยธาทัพข้ามเขาไป  ดำเนินพลไปตามลำดับสถลมารค ประทับแรมเป็นระยะไปจนถึงเมืองลำพูน  จึงให้ตั้งค่ายประทับอยู่ที่นั้น”

(https://i.ibb.co/KLyTn9m/unnamed.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “เมืองสวรรคโลก”  ที่โปมะยุง่วน พม่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกลงมาตีนั้น  คือเมืองศรีสัชนาลัยเดิมที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า  “สวรรคโลก”  ให้เป็นคู่กันกับ  “พิษณุโลก”  สวรรคโลกเป็นเมืองที่มีกำแพงป้องกันเมืองแข็งแรงมาก  ยากที่ข้าศึกจะตีหักเอาได้

           “มังชัย”  เจ้าเมืองแพร่  เป็นคนเดียวกันกับมังชัยที่ถูกเนเมียวแม่ทัพฝ่ายเหนือของพม่าเกณฑ์ลงไปร่วมรบตีกรุงศรีอยุธยา  ตอนที่กรุงศรีฯ ใกล้จะแตก  เขาพาสมัครพรรคพวกหนีกลับไป  ปักหนังสือประกาศไม่ขอร่วมรบกับพม่าด้วยสำนึกในบุญคุณของพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา  เมื่อพระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นตีพม่าที่เชียงใหม่  จึงเข้าสวามิภักดิ์  แล้วได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น  พระยาศรีสุริยวงศ์  และร่วมรบพม่าในที่สุด

พรุ่งนี้ติดตามอ่านความต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพืธภัณฑ์หุ่นขึผึ้งไทย
๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, เมษายน, 2562, 10:18:05 PM
(https://i.ibb.co/vXgnYbQ/680queenoflung07.jpg) (https://imgbb.com/)

- ตีเชียงใหม่ยังไม่แตก -

เชียงใหม่ยังมีดีตีไม่แตก
เป็นครั้งแรกจำปล่อยล่าถอยก่อน
รอครั้งสองตีใหม่ได้แน่นอน
ทรงสั่งถอนกองทัพกลับกรุงธน


          อภิปราย ขยายความ...............

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงเรื่องที่โปมะยุง่วน (โปหัวขาว) ชาวพม่าซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่  ยกกำลังจากเชียงใหม่ลงมาตีเมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย  แต่ตีไม่สำเร็จเพราะพระเจ้าตากสินตรัสสั่งให้เจ้าเมืองพิษณุโลก   เจ้าเมืองพิชัย (ทองดี)   เจ้าเมืองสุโขทัย  ยกกำลังไปช่วยรบ  ตีทัพโปมะยุง่วนแตกพ่ายไป  จากนั้นพระเจ้าตากสินจึงทรงยกทัพหลวงจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารค  เสด็จถึงเมืองพิชัยและจอดขบวนเรือยั้งไว้แล้วยกพลขึ้นบก  เสด็จยาตราทัพไปถึงเมืองลำพูน  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/ZT7dcvF/01-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  กล่าวความต่อไปว่า  โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ทราบว่า  พระเจ้าตากสินยกทัพไปตั้งอยู่ที่ลำพูนดังนั้น  จึงแต่งทัพพม่าและลาวออกมาตั้งค่ายรับอยู่นอกเมืองเชียงใหม่  กองทัพหน้าของกรุงธนบุรีซึ่งเป็นกองทัพหัวเมืองก็ยกเข้าตีค่ายพม่าแตกพ่ายถอยเข้าไปในเมือง  จึงยกติดตามล่วงเข้าไปในกำแพงดินชั้นนอกแล้วตั้งค่ายล้อมกำแพงชั้นในไว้  ทัพหลวงก็ยกตามเข้าไปตั้งค่ายใหญ่ในกำแพงดิน  พระเจ้าตากสินตรัสสั่งให้ทัพหัวเมืองกองหน้าและกองหลวงยกกำลังเข้าปล้นเมือง  เอาบันไดพาดปีนกำแพงเมืองในเวลากลางคืนเวลาสามยามเศษ  เพื่อจะดูกำลังข้าศึก  ทางฝ่ายพม่าและลาวที่ขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินนั้นก็ยิงปืนใหญ่น้อยและพุ่งแทงศัสตราวุธต่อรบต้านทานเป็นสามารถจนถึงเพลารุ่งเช้าก็หักเอาเมืองไม่ได้  จึงลาดถอยออกมา

          พระองค์มีพระราชดำรัสว่า  “อันเมืองเชียงใหม่นี้ต้องทำนายอยู่  คำปรำปราเล่าสืบ ๆ กันมาว่า  กษัตริย์พระองค์ใดยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่นี้  ครั้งเดียวมิได้  ต่อยกไปเป็นสองครั้งจึงตีได้  แม้นจะหักหาญเอาด้วยกำลังกล้า  บัดนี้ก็จะได้  แต่เสียไพร่พลมาก  และยกมาครั้งนี้เหมือนจะดูท่วงทีท่าทางและกำลังข้าศึก  ก็ได้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว  ถ้ายกมาครั้งหลังเห็นคงจะได้ถ่ายเดียว”  ดำรัสดังนี้แล้วจึงตรัสให้เลิกทัพหลวงล่วงมาก่อนวันหนึ่ง  ให้กองทัพหัวเมืองทั้งปวงเลิกเลื่อนถอยตามมาภายหลัง

(https://i.ibb.co/z7yp1L4/7384321383-01.jpg) (https://imgbb.com/)

          โปมะยุง่วน เห็นดังนั้นจึงสั่งให้กองกำลังของตนยกออกลัดเลาะป่า  ก้าวสะกัดติดตามทำลายกองทัพหัวเมืองของกรุงธนบุรี  เมื่อพบแล้วก็ยิงปืนกระหนาบหน้าหลังจนกองทัพหัวเมืองตื่นแตกระส่ำระสาย  ถอยหนีลงมาถึงทัพหลวงซึ่งตั้งรับอยู่ ณ เขาช่องแคบ  พระเจ้าตากสินเห็นดังนั้นจึงถอดพระแสงดาบไล่ต้อนพลโยธาทหารทั้งปวงในกองทัพหลวงให้กลับเข้ารบพม่า  ไล่ตะลุมบอนฟันแทงถึงอาวุธสั้น  พลพม่าล้มตายลงเป็นอันมากแล้วก็แตกพลัดพรายพ่ายหนีไป  จากนั้นทรงดำเนินทัพหลวงกลับมาถึงท่าเรือ ณ เมืองพิชัย  เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกราบให้ยาตราทัพกลับคืนกรุงธนบุรี

(https://i.ibb.co/NK8B7yv/Sans-titre-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  ในปีจุลศักราช ๑๑๓๓ (พ.ศ. ๒๓๑๔) นั้น  เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศลาว  กล่าวคือ  เจ้าวงศ์ผู้เป็นเจ้าเมืองหลวงพระบาง  ยกกองทัพลงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครเวียงจันท์)  ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้อย่างหนาแน่น  ฝ่ายเจ้าบุญสารผู้ครองศรีสัตนาคนหุตก็เกณฑ์พลออกรบป้องกันเมืองเป็นสามารถ  รบกันอยู่นานประมาณสองเดือนก็ยังไม่แพ้ชนะแก่กัน  พระเจ้ากรุงเวียงจันท์ (เจ้าบุญสาร) จึงแต่งขุนนางให้ถือศุภอักษรไปยังกรุงอังวะ  ขอกองทัพพม่ามาช่วยรบ  พระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะจึงให้ชิกชิงโบ่คุมพลสองพันเป็นกองหน้า  ให้โปสุพลาเป็นแม่ทัพคุมพลสามพัน  ยกไปตีเมืองหลวงพระบาง  กองทัพหลวงพระบางที่ล้อมรบกรุงเวียงจันท์อยู่ก็เลิกราไปรบกับพม่า  แต่ในที่สุดพม่าก็ตีเอาเมืองหลวงพระบางได้  เจ้าวงศ์ต้องขอขึ้นแก่กรุงอังวะ  พม่าจึงเลิกทัพกลับกรุงอังวะ  แต่พระเจ้าอังวะสั่งให้โปสุพลาถือพลสามพันอยู่ช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่ด้วยเชื่อว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะต้องยกทัพขึ้นตีเชียงใหม่อีก

(https://i.ibb.co/JcBbQ9L/burma11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในช่วงเวลาที่พม่ากำลังตีกรุงศรีอยุธยานั้น  ปรากฏว่ากองทัพฮ่อยกมาจะตีกรุงอังวะ  เข้ายึดเมืองแสนหวีได้แล้วตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนี้  พระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะให้ติงจาโบ่คุมพลห้าพันเป็นกองหน้า  ให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพถือพลหมื่นหนึ่ง  ยกไปตีกองทัพฮ่อ ณ เมืองแสนหวี  เมื่อรบกันเป็นสามารถแล้วทัพฮ่อก็แตกพ่ายไปครั้งหนึ่ง  แต่ไม่นานฮ่อก็แต่งกองทัพใหญ่ยกมาอีก  คราวนี้ตีหัวเมืองขึ้นของพม่าแตกไปหลายเมือง  จนบุกทะลวงเข้ามาถึงตำบลบ้านยองนี  ห่างจากกรุงอังวะระยะทางเดินคืนหนึ่งเท่านั้น  พระเจ้าอังวะจึงให้อะแซหวุ่นกี้ ๑  มะโยลัดหวุ่น ๑  เป็นแม่ทัพสองทัพ  ถือพลทัพละหมื่นหนึ่ง  ให้เมี้ยนหวุ่นถือพลห้าพันเป็นอีกทัพหนึ่ง  ยกไปสามทางเข้าตีทัพฮ่อพร้อมกัน  คราวนี้ได้รบกันนานถึงสามวันกองทัพฮ่อก็แตกพ่ายหนีไปเป็นครั้งที่สอง  จับนายทัพฮ่อได้สี่นายคือ  แอซูแย ๑  กุนตาแย ๑  เมียนกุนแย ๑  ประชูแย ๑  กับไพร่พลอีกหกพัน  พระเจ้าอังวะให้เลี้ยงไว้  รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่งฮ่อยกทัพมาเป็นครั้งที่สาม  มีกวยชวยแยเป็นแม่ทัพถือพลมาหลายหมื่นเป็นทัพใหญ่ที่สุด  เข้ามาถึงเมืองกองดุงปมอ  ห่างจากอังวะระยะทางห้าคืน  พระเจ้าอังวะจึงให้อะแซหวุ่นกี้ กับติงจาโบ่ตเรียงรามถือพลหมื่นห้าพันยกไปทางหนึ่ง  ให้อำมลอกหวุ่นกับงาจุหวุ่นและต่อหวุ่นถือพลหมื่นห้าพันยกไปทางหนึ่ง  เข้ารบกับกองทัพฮ่อเป็นสามารถ  ฮ่อมีรี้พลมากเหลือกำลังที่พม่าจะตีให้แตกได้  จึงบอกลงมากราบทูลพระเจ้าอังวะ  พระเจ้ามังระจึงให้แม่ทัพเจรจาความเมืองกับแม่ทัพฮ่อ  ขอเป็นพระราชไมตรีต่อกัน  โดยกรุงอังวะแต่งนางและเครื่องบรรณาการให้แก่แม่ทัพฮ่อ  กองทัพฮ่อก็เลิกกลับไป  แต่นั้นมาฮ่อก็ไม่ยกมารุกรานพม่าอีกเลย”

          * กองทัพหัวเมืองกรุงธนบุรีตีเมืองเชียงใหม่เข้าไปถึงกำแพงเมืองชั้นในแล้ว  ตีไม่แตก  โปมะยุง่วน กับชาวเชียงใหม่ต้านทานอย่างแข็งแรงมาก  พระเจ้าตากสินตรัสว่า  เมืองเชียงใหม่นี้มีอาถรรพณ์  ใครยกทัพมาตีครั้งแรกมักไม่แตก  ต่อเมื่อยกมาตีครั้งที่สองจึงจะแตก  ตรัสดังนี้แล้วทรงสั่งถอนทัพกลับคืน  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, เมษายน, 2562, 10:22:56 PM
(https://i.ibb.co/HXP0CH4/maxresdefault-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- ไปตีเขมรทวงพุทไธเพชร -

ทรงขุดคลองคูเมืองเนื่องตำแหน่ง
ก่อกำแพงเมืองใหม่ยาวไม่ย่น
กันข้าศึกศัตรูจู่ประจญ
ด้วยกังวลพม่าบุกราวี

เสร็จแล้วตริการศึกเขมรต่อ
ไม่รั้งรอเดินทัพขมันขมี
แม่ทัพบกคือพระยาจักรี
ทัพเรือที่ใหญ่ยงพระองค์นำ


          อภิปราย ขยายความ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่  เหตุเพราะโปมะยุง่วน (โปหัวขาว) พม่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกกองกำลังลงมารุกรานเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย)  สมเด็จพระเจ้าตากสินนำกองทัพเข้าตีเชียงใหม่ทะลุเลยกำแพงดินเข้าไปจนถึงกำแพงเมืองชั้นใน  แต่พม่าและชาวเชียงใหม่ต้านทานอย่างแข็งขัน  จนไม่สามามารถตีหักเอาเมืองได้ จึงละเว้นไว้  ถอยทัพยกกลับกรุงธนบุรีในที่สุด  วันนี้มาดูความต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/vx15Md3/dscn6896.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ในปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๓๓  หลังจากขึ้นไปตีเชียงใหม่ไม่สำเร็จนั้น  เมื่อกลับถึงกรุงธนบุรีแล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพิจารณาเห็นว่ากรุงธนบุรียังไม่มีกำแพงเป็นที่มั่นสำหรับป้องกันปัจจามิตร  ยังหาเป็นภูมิราชธานีไม่  จึงโปรดให้เกณฑ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งปวง  ตั้งค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้นล้อมพระนครทั้งสองฟากน้ำ  เกณฑ์ไพร่พลในกรุงและหัวเมืองมาระดมกันทำค่ายฝ่ายฟากตะวันตก  ตั้งแต่มุมกำแพงเมืองเก่าไปจนถึงวัดบางหว้าน้อยวงลงไปริมแม่น้ำใหญ่  ตลอดลงมาถึงกำแพงเมืองเก่าที่ตั้งเป็นพระราชวัง  แล้วให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมือง  ตั้งแต่คลองบางกอกน้อยมาออกคลองบางกอกใหญ่  เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินข้างในทั้งสามด้าน  เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำและฟากตะวันออก  ก็ให้ตั้งค่ายรอบเหมือนกัน  ให้ขุดคูเป็นคลองข้างหลังเมืองตั้งแต่กำแพงเก่าท้ายป้อมวิไชเยนทร์ขึ้นไปจนถึงศาลเทพารักษ์หัวโขด  ออกแม่น้ำทั้งสองข้าง  เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินทั้งสามด้านเว้นแต่ด้านริมแม่น้ำดุจกัน  แล้วเกณฑ์คนไปรื้ออิฐกำแพงเก่าเมืองพระประแดงและกำแพงค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นและสีกุกบางไทรบรรทุกเรือมาก่อกำแพงและป้อมตามที่ถมเชิงเทินดินทั้งสามด้านทั้งสองฟาก  เอาแม่น้ำไว้กลางเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก  ป้อมวิไชเยนทร์ท้ายพระราชวังนั้นให้เปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์  ให้ขุดที่สวนเดิมทำเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้งสองฟาก  เรียกว่าทะเลตม  ไว้สำหรับทำนาใกล้พระนคร  เมื่อมีศึกสงครามจะได้ใช้เป็นที่ทำเลตั้งค่ายรบต่อข้าศึกถนัด  การตั้งพระนครขึ้นใหม่นี้ทรงใช้เวลาหกเดือนจึงสำเร็จบริบูรณ์”

(https://i.ibb.co/zsdHbPN/hqdefault-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านคงจำกันได้นะครับว่า  พระเจ้าตากสินทรงเคยให้พระยาสองพี่น้องคือ  พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) พระยาอนุชิติราชา (บุญมา) กับ พระยาโกษายกทัพไปตีกัมพูชายึดราชสมบัติคืนให้แก่นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์)  พร้อมกันนั้นก็ทรงไปปราบก๊กเจ้านครศรีธรรมราชได้สำเร็จ  แต่พระยาสองพี่น้องรบเขมรยังไม่ทันได้ชัยชนะเด็ดขาด  ก็ทราบข่าวลือว่าพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์  จึงยกทัพกลับมา  การตีกัมพูชาคราวนั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จ  หลังจากการสร้างกำแพงตกแต่งกรุงธนบุรีเรียบร้อยแล้ว  จึงดำริที่จะยกกองทัพไปตีกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้บันทึกเรื่องเรื่องราวไว้มีความดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/NNDkrSd/Thongduang-01.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ในปีเถาะ  ตรีศกนั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชดำริการสงคราม  ในการยกทัพไปปราบปรามกัมพูชาให้ราบคาบ  เอาเมืองพุทไธเพชรคืนให้แก่นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นให้จงได้  ในเวลานั้นเจ้าพระยาจักรี (แขก) ถึงแก่กรรม  จึงโปรดตั้งพระยายมราช (ทองด้วง) ผู้ว่าที่สมุหนายกนั้นเป็นที่เจ้าพระยาจักรี  โปรดตั้งพระยาราชวังสันบุตรเจ้าพระยาจักรีแขกเป็นพระยายมราช  แล้วดำรัสให้เกณฑ์ทัพบกทัพเรือประกอบด้วยพลทหารไทยจีนและทัพหัวเมืองทั้งปวง  ให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพบกถือพลหมื่นหนึ่งยกไปทางเมืองปราจีนบุรี  ให้ตีเมืองพระตะบอง  เมืองโพธิสัตว์  ตลอดไปจนถึงเมืองพุทไธเพชร  โดยให้เอานักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ไปในกองทัพด้วย  เจ้าพระยาจักรีรับพระราชบัญชาแล้วถวายบังคมลายกทัพบกไปตามพระราชกำหนด

(https://i.ibb.co/GCkfBR5/endeavour-replica-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพบกไปแล้ว  พระเจ้าตากสินทรงจัดทัพเรือยกตามไป  โดยพระองค์ทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทอง  มีเรือรบสองร้อยลำ  เรือทะเลร้อยลำ  พลทหารหมื่นห้าพันเศษ  ให้พระยาพิชัยไอสวรรย์เป็นแม่กองทัพหน้า  ยกพยุหยาตรานาวาทัพออกจากกรุงธนบุรีไปทางปากน้ำเมืองสมุทรปราการ  ไปประทับที่ปากน้ำเมืองจันทบุรี  แล้วให้พระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพยกทัพเรือล่วงหน้าไปตีเมืองกระพงโสม  วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ  เสด็จถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศ  เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบก สถิต ณ ตึกจีนแห่งหนึ่งฟากตะวันตกเฉียงใต้เมือง  แล้วให้มีหนังสือถึงพระยาราชาเศรษฐีญวน เจ้าเมืองพุทไธมาศ”

          * ความในหนังสือนั้นว่าอย่างไร  วันนี้ไม่มีเวลาพอที่จะนำมาแสดงครับ  ขอยกไปว่าในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, เมษายน, 2562, 10:54:38 PM
(https://i.ibb.co/MBB2gn7/94-01.jpg) (https://imgbb.com/)

- ได้กัมพูชาคืนให้เจ้าเขมร -

ยึดครองกัมพูชามาได้หมด
ทรงมอบยศตำแหน่งชุบอุปถัมภ์
พระรามาธิบดีผู้มีกรรม
กลับคืนอำนาจใหญ่ได้อีกครา


          อภิปราย ขยายความ............

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสินทรงยกทัพสยามไปปราบกัมพูชา  โดยให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพบกตีตะลุยไปทางพระตะบอง  พระองค์เสด็จพยุหยาตราทางชลมารคไปตีเมืองพุทไธมาศ  เสด็จถึงปากน้ำพุทไธมาศแล้วเสด็จขึ้นบกสถิต ณ ตึกจีนแล้วให้มีหนังสือถึงเจ้าเมืองพุทไธมาศ  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  กล่าวว่า  หนังสือที่ทรงมีไปถึงพระยาราชาเศรษฐีญวน  เจ้าเมืองพุทไธมาศนั้นมีใจความดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/PD82FK1/dscn7230.jpg) (https://imgbb.com/)

           “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงธนบุรีศรีอยุธยา  เสด็จดำเนินพยุหโยธาทัพบกทัพเรือมาบัดนี้  ด้วยมีพระราชประสงค์จะราชาภิเษกนักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ให้ครองกรุงกัมพูชา  แล้วจะเอาตัวเจ้าจุ้ย  เจ้าศรีสังข์  และข้าหลวงชาวกรุงเทพฯ ซึ่งไปอยู่หัวเมืองใด ๆ จงสิ้น  ถ้าพระยาราชาเศรษฐีญวนมิได้สวามิภักดิ์อ่อนน้อม  เห็นว่าจะต่อยุทธนาการได้ก็ให้แต่งการป้องกันเมืองจงสรรพ  แม้นเห็นว่าจะสู้รบมิได้ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดอยู่  ให้ออกมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมอ่อนน้อมยอมวามิภักดิ์โดยดี…..”

          หนังสือดังกล่าวนั้น  พระยาพิชัยไอสวรรย์เป็นผู้เขียนส่งไป  พระยาราชาเศรษฐีญวนได้รับแล้วก็มีหนังสือตอบขอบใจ แล้วจะขอปรึกษาขุนนางก่อนถ้ายินยอมก็จะแจ้งให้ทราบภายหลัง  แต่เวลาล่วงไปแล้วสามวันพระยาราชาเศรษฐีญวนก็มิได้แต่งผู้ใดมาเฝ้า  พระเจ้าตากสินจึงดำรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงยกเข้าตั้งค่ายล้อมเมือง  ให้กรมอาจารย์คัดเลือกบุคคลที่มีวิชาดีแกล้วหาญทั้งไพร่นายได้ร้อยสิบเอ็ดคน  ให้เกณฑ์พลกรมอื่นสองพันสี่ร้อยคนเข้าสมทบ  แล้วพระราชทานฤกษ์และอุบายให้เข้าปล้นเอาเมืองในกลางคืนเพลาสองยาม

(https://i.ibb.co/qghpM9s/5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ฝ่ายราชาเศรษฐีญวนนั้นก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินปราการป้องกันเมือง  เพลาสองยามตามฤกษ์พระราชทาน  ทหารกรุงธนบุรีก็เอาบันไดพาดกำแพงเมืองพากันปีนเข้าไปในเมืองได้แล้วจุดเพลิงขึ้นแสงสว่าง  พวกญวนในเมืองก็ออกรบกับทหารไทยจีน  รบกันอยู่ช้านาน  นายทัพนายกองไทยที่ตั้งค่ายล้อมเมืองอยู่ก็เข้าไปช่วยไม่ได้  เพราะญวนและจีนที่รักษาหน้าที่เชิงเทินนั้นระดมยิงปืนใหญ่น้อยสู้รบอยู่ไม่ยอมละทิ้งหน้าที่  ขณะไพร่พลกองทัพไทยที่เข้าโจมตีรอบเมืองนั้นเริ่มอิดโรยแล้ว  แต่ด้วยเดชะบรมโพธิสมภารบันดาลดลจิตพลโยธาทั้งปวงให้สำคัญว่าพระเจ้าตากสินเสด็จนำทัพหนุนเข้าไปในเมืองแล้ว  จึงมีน้ำใจองอาจกล้าหาญฮึกเหิมขึ้น  ทั้งทัพบกทัพเรือจึงตีกระโจมหนุนเนื่องกันเข้าไป  พวกญวนจีนที่รักษาหน้าที่ต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีไป

(https://i.ibb.co/4M7KFbH/dscn0403.jpg) (https://imgbb.com/)

          พอรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒  เพลาเช้ากองทัพไทยก็เข้าเมืองพุทไธมาสได้พร้อมกัน  พระยาราชาเศรษฐีญวนทิ้งเมืองลงเรือหนีไปได้  วันจันทร์ ขึ้น๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒  สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในเมือง  ประทับ ณ จวนพระยาราชาเศรษฐีญวน  ให้ไพร่พลทั้งปวงเที่ยวเก็บเอาทรัพย์สิ่งของในเมืองได้มาเป็นอันมาก  แล้วจึงตรัสถามพระญาณประสิทธิ  พระสุธรรมาจารย์  และอาจารย์จันนายกองอาจารย์ทั้ง ๓ ว่า  เมื่อคุมทหารเข้าปล้นเอาเมืองนั้น เข้าได้ด้านใดก่อน  ทั้ง ๓ อาจารย์กราบทูลไม่ตรงกัน  จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรทางที่ทหารเข้านั้น  ก็พบว่าผิดไปจากที่พระองค์ดำริไว้  จึงตรัสว่าที่ข้าศึกหนีไปได้นั้นเพราะเข้าเมืองผิดไปจากที่ทรงสั่งไว้  อย่างนี้แม้นต่อสู้ไปก็จะเสียราชการ  จึงให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนผู้เข้าเมืองได้ต่อทีหลังทั้งนายและไพร่  ส่วนผู้ที่เข้าได้ก่อนก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลทั้งนายและไพร่  และให้ประกาศแก่รี้พลทั้งปวงห้ามมิให้ข่มเหงรังแกราษฎรจีนญวนชาวเมืองสืบไป  ให้พวกเขาค้าขายอยู่ตามภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อน  แล้วโปรดตั้งพระยาพิพิธผู้ช่วยราชการกรมท่าเป็นพระยาราชาเศรษฐี  อยู่ครองเมืองพุทไธมาศ  จากนั้นเสด็จยกพยุหโยธานาวาทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชาธิบดี  คือเมืองพุทไธเพชร  ประทับรอนแรมไปในระยะทางชลมารคจนถึงเกาะพนมเพญ

(https://i.ibb.co/LkjCVvc/A7575962-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * กล่าวฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) นั้น  ยกไปตีได้เมืองพระตะบอง  เมืองโพธิสัตว์  เมืองบริบูรณ์ ตามลำดับ  แล้วยกล่วงลงไปตีเมืองพุทไธเพชร  นักองค์พระอุทัยราชา (นักองค์ตน) ต่อรบต้านทานมิได้ก็พาพลและครอบครัวหนีลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองบาพนม  เจ้าพระยาจักรีจึงเข้าตั้งอยู่ในเมืองพุทไธเพชร  ครั้นทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตีเมืองพุทไธมาศได้แล้วเสด็จขึ้นมาถึงเกาะพนมเพญ  จึงให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) อยู่รักษาเมืองพุทไธเพชร  โดยตนเองรีบเดินทางลงมาเฝ้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า  นักพระองค์อุทัยราชา (นักองค์ตน) หนีลงไปตั้งอยู่ที่เมืองบาพนมแล้ว  เมื่อทรงทราบดังนั้นจึงให้เจ้าพระยาจักรีรีบยกกองทัพติดตามไปในทันที  เวลาบ่ายของวันนั้นก็ทรงยกทัพหลวงตามลงไป  พอเพลาค่ำวันนั้นเจ้าพระยาจักรีก็มีหนังสือบอกขึ้นมากราบทูลว่า   “ญวนเมืองลูกหน่ายมารับนักพระองค์อุทัยราชาลงไป ณ เมืองญวนแล้ว”   ทรงหยุดยั้งเรือพระที่นั่งประทับอยู่หน้าบ้านตำหนักคืนหนึ่ง  รุ่งขึ้นจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนมาถึงปากคลองมักสา  พบครัวเขมรตั้งอยู่ที่นั่นเป็นอันมาก  จึงให้ไพร่พลเข้ากวาดต้อนทั้งคนทั้งเรือทั้งหมดนำลงไปเกาะพนมเพญด้วย  นักองค์พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์) จากเมืองพุทไธเพชรลงไปเฝ้า ณ เกาะพนมเพญ  ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานฉลองพระองค์ประพาสอันเป็นเครื่องต้น  กับทั้งปืนใหญ่น้อยและครอบครัวเขมรที่กวาดต้อนมานั้นแก่นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์)  และโปรดให้กลับไปครองเมืองพุทไธเพชร เป็นใหญ่ในประเทศกัมพูชาเหมือนแต่ก่อน”

(https://i.ibb.co/Nnz0W4t/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          - เมืองพุทไธเพชร  คือ  บันทายเพชร  หรือ  อุดงมีชัย  เป็นเมืองหลวงของกัมพูชาในยุคนั้น  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ตีได้โดยง่ายดาย  นักองค์พระอุทัยราชา (นักองค์ตน) ทิ้งเมืองหนีไปพึ่งญวนอีกตามเคย
          - เมืองพุทไธมาศ  คือ บันทายมาศ เป็นเมืองใหญ่ชายทะเล  ญวนเรียกว่า  “เมืองฮาเตียน”  เขมรเรียกว่า  “เมืองเปียม”  ในยุคนั้นคนญวนมีบรรดาศักดิ์ที่  พระยาราชาเศรษฐี  เป็นผู้ปกครอง
          - เกาะพนมเพญ  คือ  กรุงพนมเปญ  เมืองหลวงของกัมพูชาในปัจจุบัน  เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยึดกัมพูชาได้และทรงแต่งตั้งให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกัมพูชา  แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, เมษายน, 2562, 10:30:59 PM
(https://i.ibb.co/JHS7nJL/kingdom-01.jpg) (https://imgbb.com/)

- เลิกทัพจากเขมรกลับไทย -

ปราบเสี้ยนหนามเขมรเสร็จเด็ดขาด
แล้วทรงกวาดครัวเชลยไม่รอท่า
กลับสยามคืนเหย้าเจ้าพระยา
เรียกนานากองทัพกลับคืนไทย


          อภิปราย ขยายความ...............

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึง  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพเรือไปตีกัมพูชา  ทรงยึดเมืองพุทไธมาศ  หรือ  บันทายมาศ (เมืองเปียม=ฮาเตียน) ได้แล้ว  ยกไปประทับ ณ เกาะพนมเพญ (พนมเปญ)  ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกไปทางบก  ตีได้เมืองพระตะบอง  เมืองโพธิสัตว์  เมืองบริบูรณ์  แล้วเข้ายึดเมืองพุทไธเพชร  หรือ  บันทายเพชร (อุดงมีชัย) ได้โดยง่าย  แล้วทั้งเจ้าพระยาจักรี  และ นักองค์พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์) ก็เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ เกาะพนมเพญ  สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯ ให้นักองค์พระรามาธิบดีกลับไปครองเมืองพุทไธเพชร  เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงกัมพูชาสืบไป  วันนี้มาดูเรื่องราวต่อครับ

(https://i.ibb.co/XYqzpRF/dscn5536.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายกองทัพพระยาโกษาธิบดีก็ตีได้เมืองกระพงโสม  แล้วยกมาจะตีเมืองกำปอด  แต่พระยาปังกลิมา แขกจามเจ้าเมืองกำปอดออกมาอ่อนน้อมยอมเข้าสวามิภักดิ์  จึงพาตัวเข้าเฝ้า ณ เกาะพนมเพญ  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดให้พระยาปังกลิมากลับไปอยู่รั้งเมืองกำปอดดังเก่า

(https://i.ibb.co/m5nwWWd/bugabooimage.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกลงไปเมืองบาพนม  เขมรในเมืองนี้มิสู้รบหากแต่ยอมเข้าสวามิภักดิ์โดยดี  จึงจัดแจงให้คงอยู่ในภูมิลำเนาเดิมแล้วเลิกทัพกลับมาเฝ้า ณ เกาะพนมเพญ  จึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาโกษาอยู่ช่วยราชการ ณ เมืองพุทไธเพชรจนกว่าสงครามจะสงบราบคาบก่อน  แล้วเสด็จยกพยุหยาตราโยธานาวาทัพหลวงกลับ

(https://i.ibb.co/wSpfBbH/125366-63-1132-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย  เสด็จถึงเมืองพุทไธมาศ  ขึ้นสถิต ณ จวน  ตรัสสั่งให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงในแขวงนั้นมาพร้อมกันแล้วถวายจีวรทุกองค์  แล้วเสด็จไปวัดญวนถวายนมัสการพระพุทธปฏิมากรในวิหาร  บรรดาพระญวนทั้งปวงก็สวดมนต์ถวาย  พระองค์ทรงตรัสภาษาญวนพระราชทานพระราโชวาทแก่พระสงฆ์ญวนทั้งปวงให้อุตสาหะรักษาศีล  อย่าส้องเสพด้วยสีกา  แล้วเสด็จกลับสถิต ณ จวน  จากนั้นเสด็จทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทอง  เสด็จพยุหยาตรานาวาทัพกลับกรุงธนบุรีมหานคร

(https://i.ibb.co/Cnzk85B/K11158910-55.png) (https://imgbb.com/)

          กล่าวฝ่ายพระยาราชาเศรษฐีญวนที่ทิ้งเมืองพุทไธมาศหนีไปนั้น  ได้ตั้งส้องสุมกำลัง ณ เกาะแห่งหนึ่ง  เมื่อได้รี้พลญวนจีนมากพอแล้วก็ยกทัพเรือมาตีเอาเมืองพุทไธมาศคืน  เจ้าเมืองคนใหม่ (พระยาพิพิธ) ไม่ทันรู้ตัวจึงต่อรบด้วยไม่นานก็ทิ้งเมืองหนีไปเมืองกำปอด  พระยาปังกลิมาก็ช่วยจัดแจงไพร่พลอยู่ ๓ วัน  ได้กำลังมากพอสมควรแล้วก็พากันยกเข้าตีเมืองพุทไธมาศในเวลากลางคืน  โดยให้กำลังพลทุกคนคาบไม้ติ้วเพื่อไม่ให้มีปากเสียง  ว่ายน้ำเข้าปีนกำแพงปล้นเอาเมืองได้  พวกญวนไม่ทันรู้ตัวก็แตกพ่ายหนี  ไพร่พลของพระยาราชาเศรษฐีญวนในเมืองถูกฆ่าตายมากจนเลือดอาบนองไปทั้งเมือง  ตัวพระยาราชาเศรษฐีญวนนั้นลงเรือหนีไปได้

(https://i.ibb.co/W3Df6MM/1430299334-1085649510-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วพระยาราชาเศรษฐี (พระยาพิพิธ) จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงทราบเรื่องราวทุกประการ  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพิจารณาเห็นว่า เ มืองพุทไธมาศอยู่ในทำเลที่ล่อแหลมป้องกันรักษายาก  ป่วยการแรงทแกล้วทหาร  จึงโปรดให้มีท้องตราออกไปให้พระยาราชาเศรษฐีทิ้งเมืองพุทไธทมาศเสีย  ให้เลิกทัพกลับเข้ารับราชการในกรุงดังเก่า  พระยาราชาเศรษฐีจึงกวาดครอบครัวชาวเมืองลงเรือใหญ่น้อยเลิกกองทัพกลับเข้ากรุงตามพระราชประสงค์  และในเวลาเดียวกันนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินก็โปรดให้มีตราหากองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  พระยายมราช (พระยาราชวังสัน) กลับคืนยังพระนครด้วย”

          * มีความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ซึ่งแปลโดย  พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์)  กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าตากสินไปตีกรุงกัมพูชาต่างออกไปจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาในรายละเอียดอยู่ไม่น้อย  จึงใคร่ขอนำความในพงศาวดารกรุงกัมพูชามาเสนอไว้ในที่นี้ด้วย  โดยพงศาวดารกรุงกัมพูชานั้นกล่าวไว้ว่า......

(https://i.ibb.co/4dwNPSG/wuikok1.jpg) (https://imgbb.com/)

          "ในปีจุลศักราช ๑๑๓๑ (พ.ศ.๒๓๑๒)  พระเจ้าตากสิน  บุตรจีนไหหง  ได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าพ้นไปจากเมืองไทยได้แล้ว  ให้ข้าหลวงนำศุภอักษรมาทูลพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) กรุงกัมพูชาให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายเป็นทางพระราชไมตรีดุจกาลก่อน  แต่พระนารายณ์ราชาธิบดี เห็นว่าพระเจ้าตากสินเป็นเพียงบุตรชาวจีนสามัญชนตั้งตนเป็นกษัตริย์  ไม่สมควรที่กรุงกัมพูชาจะยอมถวายบรรณาการเป็นเมืองประเทศราช  เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา "

          มีรายละเอียดที่ควรแสดงให้ทราบเป็นความรู้อีกแง่มุมหนึ่ง  แต่วันนี้ไม่มีเวลาพอ  จึงขอยกเรื่องนี้ไปคุยต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, เมษายน, 2562, 10:12:43 PM
(https://i.ibb.co/Z12s6pp/angkor-maurice-fievet-05.jpg) (https://imgbb.com/)

- ราชพงศาวดารกัมพูชาว่า.... -

เขมรว่าแปลกไปจากไทยบ้าง
ซึ่งความต่างมิเห็นเป็นข้อใหญ่
ศึกสงครามกัมพูชาปราชัย
ปรากฏในประวัติศาสตร์อยู่ชัดเจน


          อภิปราย ขยายความ.....

          เมื่อวันวานนี้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าตากสินยกทัพไปตีกัมพูชาได้  ตั้งให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ครองกรุงกัมพูชาแล้วเสด็จกลับกรุงธนบุรี  เรื่องก็จบในประวัติศาสตร์ไทยได้อีกตอนหนึ่ง  แต่ยังไม่จบในประวัติศาสตร์กัมพูชา  วันนี้ขอนำความตามประวัติศาสตร์กัมพูชาในเรื่องเดียวกันนี้มาให้เรียนรู้กันบ้างนะครับ

(https://i.ibb.co/JsnksFG/0.jpg) (https://imgbb.com/)

          * มีความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ฉบับของนักองค์นพรัตนหริรักษ์ราชาภูบดี  พระบรมราชบุตรมงกุฎสวริโยมงคล  รับพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี  รวบรวมและชำระเรื่องราวพระราชพงศาวดารของประเทศเขมรขึ้นเมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ มหาศักราช ๑๗๙๙ พุทธศักราช ๒๔๒๐  หอพระสมุดวชิรญาณได้รับต้นฉบับภาษาเขมรจาก ยอช เซเด  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙  และมอบให้พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์(ทองดี ธนรัชต์) แปลเป็นภาษาไทย  และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐  มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสิน พอสรุปได้ว่า  พระเจ้าตากสินให้มีศุภอักษรไปทูลเชิญพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) แห่งกรุงกัมพูชาส่งเครื่องบรรณาการเจริญทางพระราชไมตรีตามประเพณีแต่ก่อนมา  แต่พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงเห็นว่าพระเจ้าตากสินเป็นสามัญชนตั้งตนเป็นเจ้า  ไม่ควรที่พระองค์จะส่งบรรณาการ  เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินทรงพิโรธจึงสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  พระยาอนุชิตราชา (บุญมา)  และพระยาโกษายกทัพไปตีกัมพูชา  ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่นำมาแสดงโดยละเอียดแล้ว  แต่ความในเรื่องเดียวกันนี้ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชามีรายละเอียดแตกต่างอยู่บ้าง  จึงควรนำมาแสดงต่อไป ดังนี้

(https://i.ibb.co/x6Q2bb3/641.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในการรบกันครั้งแรกนั้นราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ระบุว่ากองทัพไทยนำสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) ไปในกองทัพด้วย  ทัพไทยปะทะทัพเขมรด่านแรกที่นครเสียมราฐ  ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ทรงให้ออกญากลาโหม (ปาง)เป็นแม่ทัพเขมรยกมาต่อต้าน  ผลการรบปรากฏว่าฝ่ายเขมรสู้ไทยไม่ได้  ออกญากลาโหม (ปาง) แม่ทัพเขมรต้องอาวุธตายในสนามรบ  เมื่อทัพไทยชนะแล้วก็ยกทัพกลับคืนกรุงธนบุรี  และในปีเดียวกันนั้น  สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ทรงสถาปนานักองค์ธม  พระราชบุตรสมเด็จพระแก้วฟ้า (นักองค์ด้วง)  ขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช

(https://i.ibb.co/crp3QX1/126545208.png) (https://imgbb.com/)

          ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวต่อไปว่า  ในปีจุลศักราช ๑๑๓๒ (พ.ศ.๒๓๑๓)  สมเด็จสมพระโสร์ทศ (พระราชพงศาวดารไทยเรียกพระยาราชาเศรษฐีญวน)  ผู้เป็นใหญ่ในเมืองเปี่ยม (พุทไธมาศ / บันทายมาศ) ได้เกณฑ์ไพร่พลในเขตแขวงเมืองบันทายมาศ  เมืองตรัง  ยกเป็นกองทัพไปตีเมืองทุ่งใหญ่  เมืองจันทบุรี  แต่ก็พ่ายแตกหนีกองทัพไทยกลับไปเมืองเปี่ยมตามเดิมไป  โดยได้ทิ้งเครื่องศัสตราวุธและเรือรบให้ตกเป็นของทัพไทยจำนวนมาก  ความเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานะครับ

(https://i.ibb.co/Zxd9n0Y/1149redcliff02.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปีจุลศักราช ๑๑๓๓ (พ.ศ.๒๓๑๔)  ที่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่าพระเจ้าตากสินจัดกองทัพบกทัพเรือไปตีกัมพูชาอีกนั้น  พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวขัดกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ว่า  ตั้งให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) นำพานักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ไปในกองทัพด้วย  แต่ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวว่า  พระเจ้าตากสินทรงนำสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) ไปในกองทัพเรือของพระองค์ด้วย  และได้ให้รายละเอียดไว้ว่า

(https://i.ibb.co/9nvcYvK/C1-QHou-BUk-AAb-VSp.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ..ยกมาทางทะเล  ครั้นถึงเมืองเปี่ยมก็ตีเมืองเปี่ยมแตก  สมเด็จพระโสร์ทศสู้รบไม่ได้ก็หนีออกจากเมืองเปี่ยมไปพักอยู่ที่เมืองตึกเขมา (น้ำดำ)  จึงให้คนนำข่าวไปกราบทูลสมเด็จพระบรมบพิตร  พระนารายณ์ราชาธิราช (นักองค์ตน) เมื่อได้ทรงทราบข้อความทุกประการแล้วพระองค์จึงพาพระมเหสีกับสนมนางในพร้อมด้วยข้าราชบริพารชายหญิงออกจากพระราชวังเสด็จไปพร้อมกับเรือเสนาอำมาตย์ที่แห่แหนตามเสด็จ  ส่วนบรรดาอาณาประชาราษฎรก็ตกใจ  พากันหนีลงเรือตามเสด็จไปด้วยเป็นอันมาก  ครั้นเสด็จไปถึงเมืองตระโลงโขศ  บทอันเจียน (เลี้ยววงแหวน) แล้ว  ให้หยุดเรือพระที่นั่งประทับพักอยู่ ณ ที่นั้นเพื่อฟังข่าวคราว  แต่ส่วนเรือครัวราษฎรบางพวกที่ไปไม่ทันเสด็จนั้นก็แวะพักอยู่ที่คลองปากกระสะซ์บ้าง  ที่อันลงระสือ (วังไผ่) บ้างเป็นอันมาก  แล้วก็พากันไปตัดไม้มาปักเป็นรั้วอยู่รอบเปี่ยมตาเอก”

          * นี้เป็นความตอนหนึ่งในราชพงศาวดารกัมพูชา  ที่แตกต่างไปจากพระราชพงศาวดารไทย  ยังมีอีกหลายประเด็นที่แตกต่างจากของไทย  พรุ่งจะนำมาแสดงต่อครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, เมษายน, 2562, 10:19:37 PM
(https://i.ibb.co/vhqNWzX/p81haqgoko-NVY5-DEZNP-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- เสร็จศึกสงครามกัมพูชา -

กัมพูชาแยกเมืองมากเรื่องวุ่น
เพราะญวนหนุนแหย่เย้าเจ้าเขมร
หวังอำนาจเหนือขะแมร์แผ่กฎเกณฑ์
จึ่งกรรมเวรตกอยู่กัมพูชา

พระเจ้าตากชูช่วยด้วยฝ่ายถูก
ทรงฝั่งปลูกเจ้าเขมรเป็นนักหนา
สนับสนุนจุนเจือไม่ระอา
ช่วยทุกคราที่ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น”


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาที่มีความแตกต่างไปจากพระราชพงสาวดารไทยหลายประเด็น  ซึ่งยังกล่าวไม่หมด  วันนี้มาดูกันต่ออีกสักวันนะครับ

(https://i.ibb.co/bdCLLK2/cex9f7-Fk-DQrks.jpg) (https://imgbb.com/)

          ชื่อเมืองในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่พระเจ้าตากสินตีได้เป็นอันดับแรกนั้นคือ  พุทไธมาศ  แต่เขมรว่าเมืองที่ทรงตีได้นั้นชื่อ  เมืองเปี่ยม  เจ้าเมืองในพระราชพงศาวดารของไทยนั้นชื่อ  พระยาราชาเศรษฐีญวน  แต่ในพงศาวดารกัมพูชาว่าชื่อ  สมเด็จพระโสร์ทศ  ในพระราชพงศาวดารไทยกล่าวว่า  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แม่ทัพบกยกเข้าทางปราจีนบุรีตีได้เมืองพระตะบองเรื่อยไปจนถึงพุทไธเพชรอันเป็นเมืองหลวงกัมพูชา  พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) สู้ไม่ได้ก็หนีไปอยู่บาพนม  แล้วมีญวนมารับพระองค์ไปอยู่เมืองญวน  แต่พงศาวดารกัมพูชากลับกล่าวผิดกันไปว่า  สมเด็จพระโสร์ทศ (พระยาราชาเศรษฐีญวน) หนีจากเมืองเปี่ยมไปแล้วก็แจ้งข่าวให้พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ทราบ  พระนารายณ์ราชาจึงพาครัวหนีไป  โดยมิทันได้สู้รบกับเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เลย  ความในพระราชพงศาวดารไทยที่ว่า  พระเจ้าตากสินกวาดต้อนชาวเขมรที่ปากคลองมักสาลงไปเกาะพนมเพญด้วยนั้น  เห็นจะเป็นกลุ่มคนพวกเดียวกันกับที่กล่าวในพงศาวดารเขมร  คือ  ราษฎรที่ตามเสด็จไม่ทันจึงปักหลักอยู่ที่คลองปากกระสะซ์กับอันลงระสือ (วังไผ่) นั่นเอง  แต่ความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวให้รายละเอียดต่างไปว่าดังนี้

(https://i.ibb.co/LZY8YDK/1425845-0ccd124c20b416f7.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ฝ่ายพระเจ้าตาก กับ พระรามราชา (องค์นนท์)  เมื่อตีเมืองเปี่ยมได้แล้วก็ยกทัพเรือเข้ามาถึงเมืองพนมเปญแล้วยกออกไปตามทะเล (แม่น้ำ) ปราบเซียม  จับเอาลูกสาวกับทาสชายหญิงแลเอาทรัพย์สิ่งของ ๆ ครอบครัวที่ซุ่มซ่อนอยู่ที่บึงปากกระสะซ์  กองทัพไทยบางกองก็ยกล่วงเลยไปตามครัวหลวงถึงเมืองเปี่ยมเบญจพรรณ  ในเวลากลางคืนได้ประทะกับทัพออกญายมราชทุย  ซึ่งเป็นกองรั้งหลังคอยระวังและคอยต้อนเรือครัวให้ไปพ้นกองทัพเรือไทย  ออกญายมราชทุยได้เกณฑ์ให้คนกำลังแลพวกครัวตัดไม้มาทำเป็นค่ายแลปักเป็นรั้วจอดเรือใหญ่น้อย  เป็นที่กำบังป้องกันกระสุนปืนของข้าศึก  แลรบกับกองทัพไทยแต่พอประทังอยู่  พอพระเจ้าเวียดนามกษัตริย์เมืองญวนทรงพระเมตตาใช้ให้แม่ทัพญวนยกกองทัพญวนมาช่วยรบ  มาพบกับกองทัพรั้งหลังของออกญายมราชทุยก็พากันช่วยรบตีกองทัพไทยแตกซานกลับคืนไป  เมื่อกองทัพไทยจะถอยกลับไปกรุงธนบุรีนั้น  ได้ให้สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) กับคนไทย ๕๐๐ คนอยู่ที่เมืองกำปอด  เกลี้ยกล่อมราษฎรที่อยู่เมืองตรังแลเมืองบันทายมาศได้พร้อมมูลแล้ว  สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) กับคนไทย ๕๐๐ คนแลคนกำลังก็ยกเป็นกองทัพมาที่เปี่ยมรกา  ฝ่ายออกญายมราชทุยก็จัดไพร่พลออกมาต่อสู้รบรับกับกองทัพสมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์)

(https://i.ibb.co/56z1QDg/oppayop-1430299159.png) (https://imgbb.com/)

          * บัดนี้จะได้ย้อนกล่าวถึงกองทัพเจ้าพระยายมราชไทย (พระยาราชวังสัน) ที่ยกไพร่พลมาทางบกนั้น  ครั้นมาถึงเมืองเสียมราฐ  พระตะบอง  แลโพธิสัตว์แล้ว  ก็กวาดต้อนครอบครัวราษฎรหญิงชายหนุ่มสาว  พาไปเมืองไทยในครั้งนั้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนเศษ  แลที่ตายด้วยอดอาหารก็มากสิ้นคนจากเมือง  เกิดกลียุคใหญ่ในปีเถาะ เดือนอ้าย เดือนยี่”

(https://i.ibb.co/8sHJKzp/boat06.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวต่อไปว่า  ปีจุลศักราช ๑๑๓๓  (พ.ศ.๒๓๑๔) เจ้าศรีสังข์ซึ่งในตอนที่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาใกล้แตกนั้นได้หนีจากพระนครไปอยู่เมืองเขมรได้สิ้นพระสิ้นชนม์ลง  ในปีเดียวกันนั้น  พระนารายณ์ราชาธิราช (นักองค์ตน) ได้ลาพระเจ้าเวียดนามจากบทอันเจียน  เข้าประทับที่เมืองแพรกเมียดกันโดร์ (คลองปากหมู) โดยพระเจ้าเวียดนามได้ให้องโดยจิน  เป็นเบาฮอมาอยู่ประจำรักษาพระองค์ด้วย

(https://i.ibb.co/Z1RyZrt/sawamipak.png) (https://imgbb.com/)

          ปีจุลศักราช ๑๑๓๔ (พ.ศ.๒๓๑๕) พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ได้ย้ายจากที่เดิมมาประทับที่เพรกปักปรัด (คลองบางเชือกหนัง) ทรงคำนึงถึงความทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎรสมณะชีพราหมณ์ที่ประสบความเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ  ต้องพลัดพรากจากกันไปและล้มตายจากกันอดอาหารการกินเป็นจำนวนมาก  เพราะกองทัพไทยยกมาย่ำยี  พระองค์จึงใช้พระราชวงศ์องค์หนึ่งนามว่า  องค์ด้วง  ซึ่งเป็นสมเด็จพระองค์แก้ว  ให้ไปเจรจาเป็นทางพระราชไมตรีกับกองทัพไทยขอสงบศึกสงคราม  แม่ทัพไทยก็ยินยอมรับพระราชไมตรี  นำพาสมเด็จพระองค์แก้วเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสิน ณ กรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมิทรงเชื่อถือ  จึงรับสั่งให้เอาสมเด็จพระองค์แก้วไปจำคุกเสีย  รุ่งขึ้นปีจุลศักราช ๑๑๓๕  มเหสีพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ได้ประสูติพระราชบุตรอีกองค์หนึ่ง  ได้พระนามว่า  นักองค์เอง  ปีรุ่งขึ้นจึงย้ายไปประทับอยู่ที่เกาะจีน

(https://i.ibb.co/SJ39Bcb/125366-45-2495.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายสมเด็จพระองค์แก้วที่ถูกพระเจ้าตากสินสั่งให้จำคุกไว้นั้น  ได้ส่งข่าวถวายรายงานโดยละเอียดแก่พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน)  พร้อมกับขอพระราชทานมารดาบุตรภรรยาไปยังเมืองไทยด้วย  พระนารายณ์ราชาจึงส่งมารดาบุตรภรรยาให้ตามที่ขอ  พระเจ้าตากสินทราบพฤติการณ์ดังนั้นก็ทรงสิ้นความสงสัย  ตรัสสั่งปล่อยสมเด็จพระองค์แก้วให้พ้นโทษ  และทรงพระเมตตาให้ขึ้นเฝ้าแหนเป็นปรกติ  แต่นั้นมา.

          * ความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาที่ยกมาแสดงโดยย่อนี้  ทำให้ความรู้ที่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ไทยในสายตาเขมรมากทีเดียว

          เสร็จศึกจากเขมรแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงมีพระราชกรณียกิจอะไร  อย่างไร  ต่อไปอีกบ้าง  พรุ่งนี้มาดูกันต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, เมษายน, 2562, 10:27:37 PM
(https://i.ibb.co/hySfWqf/1.png) (https://imgbb.com/)

- พระยาพิชัยรบพม่าจนดาบหัก -

ศึกเขมรระงับไปไม่นานช้า
ศึกพม่าครั้งใหม่เริ่มให้เห็น
“โปสุพลา”ทำเรื่องเคืองลำเค็ญ
จากเล็กเป็นเรื่องใหญ่ไทยสุดทน

ยกมาตีเมืองเหนือเพื่อยึดสยาม
กลางสนามรบพิชัยในสับสน
พระยาพิชัยร่ายดาบปราบพาลชน
ฟาดฟันจนดาบกล้าหักคามือ


          อภิปราย ขยายความ.........

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องของเขมรตามความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาฉบับนักองค์นพรัตน  ตอนที่ว่าด้วยพระเจ้าตากสินยกทัพไปตีกัมพูชา  มีรายละเอียดต่างไปจากความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาอยู่ไม่น้อย  เช่นว่าด้วยเรื่องที่องค์ด้วงในตำแหน่งสมเด็จพระองค์แก้ว  เข้าเฝ้าพระเจ้าตากสินที่กรุงธนบุรีเพื่อเจริญทางพระราชไมตรีตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน)  แต่พระเจ้าตากสินมิทรงเชื่อถือจึงสั่งให้จำคุกไว้  ภายหลังเมื่อพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ส่งมารดาบุตรภรรยาของสมเด็จพระองค์แก้วมายังกรุงธนบุรีจึงทรงสิ้นสงสัย  โปรดให้สมเด็จพระองค์แก้วพ้นโทษและเมตตาให้ขึ้นเฝ้าแหนเป็นปรกติ  วันนี้มาดูเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/TRhnXsS/75949-300143133425596-1718639381-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขอเล่าความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาต่อไปอีกหน่อยครับ  ได้ความว่าในขณะที่พระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) ประทับอยู่ที่เกาะจีนนั้นทรงพิจารณาเห็นว่า  การที่สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) ได้พากองทัพไทยบุกรุกเขมรนั้นก็เพราะปรารถนาใคร่ได้ครองราชสมบัติ  ทรงดำริห์ว่า  “แลสมเด็จพระรามราชา  ฤๅก็เป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระทวดพระราชวงศ์เดียวกัน  ควรจะมอบเวนราชสมบัติถวายสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) ให้ได้สมตามความประสงค์  ด้วยสมเพชเวทนาอาณาประชาราษฎรยิ่งนัก  เพื่อจะได้รับความสุขไม่เกิดทุกข์ภัยสืบไป”  จากนั้นจึงตรัสสั่งให้ประชุมสมเด็จพระมหาสังฆราช  พระมหาราชครู  พร้อมด้วยปุโรหิตมุขมนตรีใหญ่น้อย  ปรึกษาความที่ทรงพระราชดำริห์นั้นที่ประชุมเห็นชอบตามพระราชดำริห์นั้น

(https://i.ibb.co/g7m07YP/angkor-maurice-fievet-05.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปีจุลศักราช ๑๑๓๗ (พ.ศ. ๒๓๑๘) สมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน) จึงได้นิมนต์พระมหาสังฆราช  พระพรหมมุนี (หลง) ให้นำข้อความเป็นทางพระราชไมตรีไปกราบทูลสมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) ที่เมืองกำปอด  ขอเชิญให้เสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ ณ บันทายเพชรสืบไป  สมเด็จพระรามราชา (องค์นนท์) ก็เสด็จจากเมืองกำปอดเข้าประทับ ณ พระราชวังบันทายเพชร  ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า  พระราชโองการ  สมเด็จพระรามราชาธิราชบรมบพิตร และ สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองค์ตน) ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปโยราช  ซึ่งตอนนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๘ ปี  จึงมอบเวนราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระรามราชาธิบดี (องค์นนท์) ตามนี้

(https://i.ibb.co/R6hJhLh/5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความตอนนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ตีเมืองพุทไธเพชร  หรือบันทายเพชรได้  ก่อนกลับกรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้นักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) ครองพุทไธเพชร  เป็นใหญ่ในกัมพูชาสืบไป  ส่วนเมืองกำปอดนั้นทรงให้พระยาปังกลิมาเป็นเจ้าเมือง  แต่ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากลับกล่าวต่างไปว่า  พระรามราชา (องค์นนท์) หรือนักพระองค์รามาธิบดีอยู่เมืองกำปอด  เมื่อพระนารายณ์ (นักองค์ตน) ยอมถวายราชสมบัติจึงเสด็จจากเมืองกำปอดไปครองบันทายเพชร  เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาสืบไป  และนี่ก็เป็นความต่างอีกประเด็นหนึ่งในพงศาวดารของทั้ง ๒ ประเทศ  หลังจากนี้เรื่องราวของเขมรที่เกี่ยวข้องกับสยามประเทศยังมีอยู่อีกยาวไกล  แต่จะขอพักเรื่องเขมรไว้ตรงนี้ก่อน  เพื่อย้อนกลับไปดูเรื่องราวทางล้านนากันบ้าง

(https://i.ibb.co/z8rSXS1/aes13.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  ในปีจุลศักราช ๑๑๓๔  ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๑๕ นั้น  โปสุพลาแม่ทัพพม่าซึ่งมาช่วยราชการอยู่ที่เชียงใหม่ได้ยกกองทัพลงมาตีเมืองลับแลแตก  แล้วยกลงมาตีเมืองพิชัย  พระยาพิชัย (ทองดี) จัดแจงป้องกันเมืองเป็นสามารถ  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ทราบเรื่องก็รีบยกกำลังจากเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วย  เจ้าเมืองทั้งสองร่วมกันตีค่ายพม่า  ทั้งสองฝ่ายรบกันถึงอาวุธสั้น  พลทัพไทยไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก  พม่าต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายหนีกลับไปเชียงใหม่  จึงบอกหนังสือแจ้งข้อราชการศึกลงไปกรุงธนบุรี  กราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ

(https://i.ibb.co/cJGNGgX/1538518-261718254028526-873605970-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          รุ่งขึ้นปีจุลศักราช ๑๑๓๕ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาให้สักท้องมือหมายหมู่เลกไพร่หลวง  และเลกสังกัดพรรคกับทั้งเลกหัวเมือง  ส่งสารบัญชีทะเบียนหางว่าวยื่นกรมสัสดีทั้งสิ้น  เพื่อให้รู้จำนวนไพร่พลไว้จะได้ใช้ในราชการแผ่นดินและการศึกต่าง ๆ  และในเดือนอ้ายข้างขึ้นปีเดียวกันนั้นเอง  โปสุพลาก็ยกทัพลงมาตีเมืองพิชัยอีก  พระยาพิชัย (ทองดี) ทราบข่าวศึกก็ยกกำลังออกไปต่อรบแต่กลางทางไม่ยอมให้ข้าศึกเข้าประชิดเมือง  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ก็ยกกำลังจากเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วยรบเช่นเคย  พระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมพลทหารเข้าไล่ฟันพม่าจนดาบหักคามือ  กองทัพพม่าต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายกลับไปเชียงใหม่อีกครา”

(https://i.ibb.co/VC6YybL/A7575962-45.jpg) (https://imgbb.com/)

          * สรุปเรื่องราวในตอนนี้ คือในขณะที่ไทยกำลังยกไปรบเขมรเพื่อชิงราชบัลลังก์คืนให้พระรามาธิบดี (องค์นนท์) นั้น  โปสุพลาแม่ทัพพม่าซึ่งตั้งกองกำลังอยู่ที่เชียงใหม่ก็ฉวยโอกาสยกกำลังลงมาตีเมืองลับแล (ตอนนั้นยังไม่มีเมืองอุตรดิถต์) ได้แล้วเลยลงมาตีเมืองพิชัย (อยู่ใต้อุตรดิตถ์)  พระยาพิชัย (ทองดี) สู้รบต้านทานอย่างขันแข็ง  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) รีบยกกำลังจากพิษณุโลกขึ้นไปช่วย  ร่วมกันตีทัพโปสุพลาแตกพ่าย  ล่าถอยกลับไป  

(https://i.ibb.co/ZWHVs5y/1-01.png) (https://imgbb.com/)

          ไม่นานนักก็ยกกลับมาตีเมืองพิชัยอีกครา  คราวนี้พระยาพิชัย (ทองดี)  ถือดาบสองมือบุกตะลุยไล่ฟันพม่าข้าศึกอย่างไม่คิดชีวิต  ฟาดฟันพม่าล้มตายจนเลือดสาดกระเด็นเปรอะเปื้อนร่างพระยาพิชัยจนโซมกาย  จึงมีสภาพที่เรียกว่า “เลือดเข้าตา” เสียแล้ว  บุกตะลุยไปข้างหน้า  พม่าก็กลุ้มรุมล้อมเข้ามาระดมหอกดาบเข้าใส่  “เป็นห่าฝน”  ขณะนั้นปรากฏว่าดาบในมือข้างหนึ่งของพระยาพิชัยหักคามือ  แต่ก็ยังไม่ยอมหยุดไล่ฆ่าฟันพม่าอย่างดุเดือดเลือดพล่าน  ในยามนั้น  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) นำกำลังจากเมืองพิษณุโลกเข้าร่วมรบทันท่วงที  โปสุพลาก็สั่งล่าทัพถอยกลับไป  พระยาพิชัยจึงได้นามว่า  พระยาพิชัยดาบหัก  แต่นั้นมา

          การรบในสงครามระหว่างไทย-พม่าสมัยกรุงธนบุรีได้เปิดฉากเริ่มต้นขึ้นแล้ว  เมื่อโปสุพลาบังอาจยกทัพลงมาตีเมืองทางเหนือของไทยดังนั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินจะดำเนินการอย่างไรต่อไป  ตามอ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ.

(https://i.ibb.co/LPgNkkK/20150602-000.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก : อุตรดิตถ์

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, เมษายน, 2562, 10:32:22 PM
(https://i.ibb.co/4prxxpF/26047137-1368295039982315-1610328419117118385-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- เริ่มยุทธการขับไล่พม่า -

ขณะยกทัพใหญ่หมายไล่พม่า
เจ้ามังระกะว่าไทยอย่าหือ
จะยกทัพตีกรุงธนให้คนลือ
ว่า“ข้าคือผู้ชนะ”สยามไทย

เดชะบุญวุ่นพลันรามัญกบฏ
จึงต้องงดจัดจับกองทัพใหม่
มอญอพยพเข้าสยามเป็นหนามใจ
ทิ่มแทงใส่“มังระ”พม่ามึน


          อภิปรายขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงทัพพม่าที่ปกครองเชียงใหม่  นำโดยโปสุพลา  ยกพลลงมาตีเมืองพิชัยถึง ๒ ครั้ง  ครั้งหลังพระยาพิชัยเจ้าเมืองพิชัยสู้รบไล่ฟันพม่าจนดาบหักคามือ  แล้วพม่าก็ล่าถอยกลับไป  วันนี้มาดูเรื่องราวต่อจากเมื่อวันวานนะครับ

(https://i.ibb.co/YWdPnvr/35537941-944718215699998.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ถึงปีจุลศักราช ๑๑๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๗)  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชดำริการซึ่งจะไปตีเอาเชียงใหม่ให้ได้  ด้วยพม่ายกกองทัพมาย่ำยีบีฑาหัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่เนื่อง ๆ  เห็นควรขับไล่พม่าไปให้พ้นล้านนาเสียที  จึงดำรัสให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือสิบหัวเมือง  เป็นคนสองหมื่นพร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธ  ให้ยกไปคอยรับเสด็จอยู่ ณ บ้านระแหงโดยพร้อมเพรียงกัน  แล้วให้เกณฑ์กองทัพกรุงฯ และหัวเมืองใกล้ทั้งปวง  พลฉกรรจ์ล้ำเครื่องหมื่นห้าพัน  ช้างเครื่องร้อยแปด  ม้าร้อยม้า  พร้อมด้วยเครื่องสรรพาวุธพร้อมเสร็จ

(https://i.ibb.co/tHSHjK9/pic05-big.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึง ณ วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมียนั้น  พระเจ้าตากสินทรงเรือพระที่นั่งกราบยาวสิบสามวา  พลพายสี่สิบคนพร้อมเรือท้าวพระยา  พระหัวเมืองข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยไทยจีน  ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งหลายโดยเสด็จในกระบวนทัพหลวงเป็นอันมาก  เสด็จยกพยุหยาตราทัพหลวงจากกรุงธนบุรีโดยชลมารคขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยา  ถึงนครสวรรค์แยกเข้าลำน้ำปิงผ่านกำแพงเพชรไปจนถึงบ้านระแหงแขวงเมืองตาก  เสด็จประทับแรม ณ ตำหนักสวนมะม่วง  จากนั้นจึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นแม่กองหน้า  ถือพลทัพในกรุงและหัวเมืองยกขึ้นไปตั้งอยู่ ณ เมืองเถิน  แล้วให้ทัพเมืองเหนือทั้งสิบเมืองยกไปเข้ารวมกับเจ้าพระยาจักรีกองหน้า  ไปตีเมืองเชียงใหม่

(https://i.ibb.co/b3zjxKS/11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในยามนั้นพระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะได้ทราบชัดแล้วว่าพระยาตากสินตั้งตัวเป็นใหญ่ในสยามประเทศ  ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแทนกรุงศรีอยุธยา  จึงทรงดำริจะกำราบปราบปรามให้ราบคาบ  จึงจัดแต่งกองทัพใหญ่  โดยให้ แพกิจจา คุมพลพม่าห้าร้อย  ถือหนังสือรับสั่งลงมาถึงปกันหวุ่น เจ้าเมืองเมาะตะมะ  ให้เกณฑ์พลรามัญเมืองเมาะตะมะสามพันเข้ากองแพกิจจาเป็นนายทัพไปทำทางและตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางที่ตำบลสามสบท่าดินแดง  จัดแจงขนเสบียงอาหารผ่อนไปไว้ก่อนแล้วภายหลังจึงจะให้กองทัพใหญ่ยกไปตีเอาบางกอกซึ่งตั้งขึ้นใหม่นั้นให้จงได้  ปกันหวุ่นจึงเกณฑ์พลรามัญให้พระยาแจ่ง  พระยาอู่  ตละเสี้ยง  ตละเกล็บ  คุมเข้าสมทบแพกิจจาตามรับสั่งของพระเจ้ามังระ

(https://i.ibb.co/D8KSV2c/K11158910-21.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าเมืองเมาะตะมะ (ปกันหวุ่น) ให้เร่งรัดเก็บเอาเงินทองของครอบครัวสมิงรามัญและไพร่พลเมืองทั้งปวงจนได้รับความยากแค้น บ้างก็หลบหนีมาบอกกันยังกองทัพ  นายทัพนายกองรามัญทราบเรื่องก็พากันโกรธแค้น  หาว่าพม่าข่มเหงรังแกเบียดเบียนครอบครัวข้างหลัง  จึงคบคิดกันเป็นกบฏฆ่าแพกิจจานายทัพนายกองและไพร่พลพม่าห้าร้อยเสียที่ท่าดินแดง  แล้วยกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ  บรรดารามัญไพร่นายในเมืองเมาะตะมะและเมืองขึ้นทั้งปวงก็พร้อมใจกันยกเข้าปล้นเมืองเมาะตะมะในเพลากลางคืน  โดยพากันโห่ร้องด้วยเสียงสำเนียงคนไทย  ปกันหวุ่นและกรมการพม่าทั้งปวงก็ตกใจไม่สู้รบ  ทิ้งเมืองเสียแล้วลงเรือหนีไปเมืองย่างกุ้งและบอกไปยังเมืองอังวะว่ามอญเมืองเมาะตะมะเป็นกบฏสิ้นทั้งเมือง

(https://i.ibb.co/1GKv4Sf/Azc.jpg) (https://imgbb.com/)

          นายทัพนายกองฝ่ายสมิงรามัญทั้งหลายเมื่อเห็นปกันหวุ่นพาพรรคหนีไปเมืองย่างกุ้งจึงยกกองทัพติดตามไป  ตีได้เมืองจิตตอง  เมืองหงสา  แล้วยกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองย่างกุ้งไว้  พยายามเข้าตีเป็นสามารถแล้วเข้าไปได้ครึ่งเมือง  พม่าตั้งค่ายป้องกันเมืองไว้ได้ครึ่งเมือง  พระเจ้ามังระทราบข่าวก็สั่งให้อะแซหวุ่นกี้ถือพลหมื่นหนึ่งยกลงมารบพวกกบฎมอญ  พวกสมิงรามัญต้านทานมิได้ก็ถอยกลับเมืองเมาะตะมะ  อะแซหวุ่นกี้ก็ยกกองทัพตามตีไม่ลดละ  เมื่อเห็นเหลือกำลังที่จะต่อต้านอะแซหวุ่นกี้ได้  พวกสมิงรามัญก็กวาดต้อนครอบครัวอพยพหนีเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าตากสิน  โดยแยกออกเป็นหลายพวก  เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์บ้าง  ทางด่านเมืองตากบ้าง  พม่ายกติดตามมาทุกทาง  ที่ตามทันก็ต้อนครอบครัวมอญกลับคืนไปได้บ้าง

(https://i.ibb.co/BCSmsHL/AK111589.png) (https://imgbb.com/)

          * ขณะที่ทัพหลวงตั้งอยู่ ณ บ้านระแหงนั้น  ขุนอินทรคีรีนายด่านเมืองตากนำเอาครัวไทยมอญที่หนีมาจากเมืองเมาะตะมะซึ่งมีสมิงสุรายกลั่นเป็นหัวหน้านั้นเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม ณ ตำหนักสวนมะม่วง  สมเด็จพระเจ้าตากสินให้ล่ามถามว่าพระเจดีย์ฐานอันชื่อว่ากลอมป้อม ณ เมืองเมาะตะมะนั้นยังปรกติอยู่หรือ  สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่ายังอปยู่ปรกติดี  ถามว่าพระมหาเจดีย์เกศธาตุ ณ เมืองย่างกุ้ง  ที่ฉัตรยอดหักลงมานั้นยกขึ้นได้แล้วหรือ  สมิงสุรายกลั่นทูลว่า  พระเจ้าอังวะให้ลงมาปฏิสังขรณ์สามปีแล้วยังหายกได้ไม่  ทรงถามต่อว่า  นางรามัญบุตรีคนเข็ญใจอายุได้สิบสี่สิบห้าปี  รู้อรรถธรรม  เกิดที่เมืองเมาะตะมะนั้นมีจริงหรือ  สมิงสุรายกลั่นทูลว่ามีอยู่จริง  แต่ยังหาได้ส่งขึ้นไปเมืองอังวะไม่  เมื่อทรงซักถามจนเป็นที่พอพระทัยแล้ว  ในบ่ายวันนั้นจึงตรัสสั่งให้พระยายมราชแขกยกทัพไปขัดด่านอยู่ ณ ท่าดินแดงรอรับครัวมอญ  และให้รบพม่าที่ติดตามมอญมานั้นด้วย”

(https://i.ibb.co/fNRkktV/oppayop.jpg) (https://imgbb.com/)

          สรุปความเรื่องราววันนี้  คือขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกรีธาทัพใหญ่ขึ้นไปหมายขับไล่พม่าให้พ้นจากล้านนานั้น  พระเจ้ามังระก็เตรียมยกทัพใหญ่เข้ายึดกรุงธนบุรี  ให้กองทัพน้อยลงมาสะสมเสบียงรอที่ท่าดินแดง  เคราะห์ดีที่นายกองพม่ารีดนาทาเน้นครอบครัวชาวมอญ  ทหารรามัญจึงเป็นกบฏ  ฆ่ากองกำลังพม่าห้าร้อยคนตายเรียบ  แล้วยกกลับตีตะลุยไล่พม่าไปถึงเมืองย่างกุ้ง  จนเจ้ามังระต้องให้อะแซหวุ่นกี้ขุนพลใหญ่ยกกำลงลงมาปราบ  มอญแตกกระจายพากันอพยพเข้ามาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ตามอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, พฤษภาคม, 2562, 10:45:32 PM
(https://i.ibb.co/bsxDfWn/01708067-kx1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระยากาวิละสวามิภักดิ์ -

โปสุพลาพม่าร้าย
มิยอมพ่ายไทยบุกปลุกของขึ้น
“กาวิละ,จ่าบ้าน”มิอั้นอึน
รีบเอิ้นอึ้นบอกลาพม่าพลัน

สวามิภักดิ์จักรีศรีสยาม
สำนึกความเป็นสายเลือดไทยนั่น
โปสุพลารู้ถึงตะลึงงัน
เริ่มมิมั่นใจจะชำนะไทย


          อภิปราย ขยายความ........

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องที่พระเจ้าตากสินละจากเขมรแล้วยกทัพขึ้นขับไล่พม่าในล้านนา  เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะก็เตรียมการบุกกรุงธนบุรี  แต่มอญที่เมืองเมาะตะมะเป็นกบฏ  จึงทรงให้อะแซหวุ่นกี้ยกกำลังลงมาปราบปรามจนมอญแตกกระเจิงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่จะเก็บความมาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ

(https://i.ibb.co/V213BKs/1-100223637-54.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  วันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย  เพลาเช้าเกิดฝนตกใหญ่  พระเจ้าตากสินทรงถือเป็นมหาพิชัยฤกษ์  จึงให้พระยาคำแหงวิชิตคุมพลสองพันเศษอยู่รักษาเมืองตาก  และคอยรับครัวมอญที่จะหนีพม่ามา  แล้วพระองค์ก็ทรงช้างต้นพังเทพลีลายาตราทัพหลวงเสด็จดำเนินโดยสถลมารค  รอนแรมไปตามระยะทางจนกระทั่งถึงตำบลนาเพียกเหนือเมืองนครลำปาง  แล้วดำเนินทัพหลวงต่อไปอีกหลายวันก็เสด็จถึงเมืองลำพูนเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่  ทรงให้ตั้งค่ายหยุดประทับอยู่ที่นั้น

(https://i.ibb.co/nR2nCQ8/Unsftitled-3.png) (https://imgbb.com/)

          โปสุพลานั้นเมื่อทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นมาตีเชียงใหม่  จึงให้พระยาจ่าบ้านและแสนท้าวพระยายาลาวทั้งปวงยกกองทัพลาวพันหนึ่งเป็นกองหน้า  ให้โปมะยุง่วน (โปหัวขาว) เจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่รักษาเมือง  โดยตนเองยกพลพม่าเก้าพันจะยกลงมารับทัพไทย   แต่พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละขุนนางเมืองนครลำปาง  ซึ่งเป็นกองหน้าของโปสุพลานั้น  เข้าหาเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ขอสวามิภักดิ์สมัครใจจะกลับต่อรบพม่า  เจ้าพระยาจักรีจึงบอกลงมากราบทูลให้ทรงทราบ  แล้วให้พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละนำทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่

(https://i.ibb.co/DYf4mWx/A3103406-47.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อโปสุพลายกทัพลงมาได้คืนหนึ่งก็ทราบว่าพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละนั้นกลับคิดร้าย  ไปเข้าด้วยกองทัพไทยจึงถอยทัพกลับไปเชียงใหม่  ครั้นทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกขึ้นไปถึงแม่น้ำเมืองเชียงใหม่  ทัพพม่าก็ยกออกมาขุดสนามเพลาะคอยสกัดรบตามริมน้ำ  ทัพเจ้าพระยาจักรียังข้ามน้ำไปไม่ได้  จึงให้หมื่นศรีสหเทพลงมากราบทูล  ทรงมีพระราชดำรัสให้เอาปืนจ่ารงต้นกลม (ปืนบรรจุปากกระบอก) ทำร้านขึ้นยิงให้พม่าแตกแล้วจึงยกข้ามน้ำไป  อย่ารอรั้งอยู่  เพราะการศึกจะเนิ่นช้า  เมื่อหมื่นศรีสหเทพกลับไปบอกตามรับสั่ง  เจ้าพระยาจักรีได้ทำตามรับสั่งนั้น  ตีพม่าแตกแล้วยกข้ามน้ำไปได้  ตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ได้สามสิบสี่ค่าย  แล้วให้พระยาธรรมาธิเบศบดีนำความลงมากราบทูล

(https://i.ibb.co/2gFGMx0/04ef551f55a31013deaf02d87.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบแล้วก็โสมนัสยิ่งนัก  พระราชทานม้าพระที่นั่งกับพระแสงปืนสั้นบอกหนึ่งไปให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  พระราชทานพระแสงปืนสั้นให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) บอกหนึ่ง  ให้เจ้าพระยาสวรรคโลกบอกหนึ่ง  คืนนั้นเวลาประมาณห้าทุ่มเศษ  มีลาวสามสิบเอ็ดคนเป็นบ่าวแสนหนังสือมาแต่บ้านพแวน  บอกให้กราบทูลว่า  มีกองทัพพม่าประมาณสองพันยกมาแต่เมืองเมาะตะมะ  ติดตามครัวมอญเข้ามาทางบ้านนาเกาดอกเหล็กด่านเมืองตาก  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตรัสให้พระเจ้าหลานรามลักษณ์เป็นแม่ทัพถือพลพันแปดร้อยเศษ  ยกไปทางบ้านจอมทองตัดลงไปบ้านนาเกาะดอกเหล็กตีทัพพม่าที่ยกมานั้น

(https://i.ibb.co/R4026tx/krabtoon-11266483-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันรุ่งขึ้น  เจ้าพระยาสวรรคโลกลงมาจากค่ายที่ล้อมเมืองเชียงใหม่  นำเอากระสุนปืนทองคำสองลูกที่พม่ายิงออกมาจากในเมือง  มาทูลเกล้าฯ ถวาย  แล้วกราบบังคมลากลับไป  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงอธิษฐานแล้วส่งกระสุนทองคำนั้นให้พราหมณ์เชิญไปประกาศแก่เทพยดาในบริเวณพระมหาธาตุเมืองลำพูน  และให้ฝังไว้ในที่ใกล้พระมหาธาตุนั้น  ในวันนั้นพระเสมียนตราของเจ้าพระยาสวรรคโลกบอกข้อราชการมากราบทูลว่า  ได้เกลี้ยกล่อมลาวชาวเมืองลำพูน  เมืองเชียงใหม่  ซึ่งแตกหนีออกไปอยู่ในป่าในดงให้กลับเข้ามาหารวมครอบครัวได้ถึงห้าพันเศษ  พระองค์ตรัสสรรเสริญสติปัญญาพระเสมียนตราแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระยาอักษรวงศ์  ให้คุมพวกลาวซึ่งเกลี้ยกล่อมมาได้นั้นจัดเอาแต่ที่ฉกรรจ์ไปเข้ากองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ตีพม่าที่เชียงใหม่

(https://i.ibb.co/vzY2P5D/thum.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ  เดือนอ้าย  ยามบ่าย  พระราชฤทธานนท์ถือหนังสือบอกมาแต่กองทัพพระยาคำแหงวิชิต  ซึ่งรักษาเมืองตาก  กราบทูลว่า  สุวรรณเทวะ กับ ทามุมวย  สองนายพาครัวรามัญเข้ามาถึงเมืองตากห้าสิบคน  และให้การว่ามาแต่เมืองเริ่งครอบครัวชายหญิงประมาณพันเศษ  มาถึงตำบลอุวาบ  พม่าไล่ตามทันจึงได้รบพุ่งกัน  ยิงจักกายวอนายทัพใหญ่พม่าตาย  พวกครัวทั้งปวงแตกหนีกระจัดพลัดพรายตามมาข้างหลัง  โดยเข้าทางบ้านนาเกาะเหล็ก  ในขณะเดียวกันนั้นลาวชาวฟอนนาหงก็แตกเข้ามาทางด่านสตอง  ครอบครัวชายหญิงร้อยยี่สิบคน  ผู้รักษาด่านสตองก็น้อยตัว  บ้านนาเกาะเหล็กก็หามีผู้อยู่รักษาไม่  ครั้นทรงทราบในใบบอกนั้น  จึงมีรับสั่งให้หากองทัพพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์กลับมา  แล้วให้มีหนังสือตอบไปถึงพระยาคำแหงวิชิตให้แบ่งทัพยกออกไปตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านนาเกาะเหล็ก  คอยเกลี้ยกล่อมลาวมอญที่แตกตื่นมานั้นรวมเข้าไว้ให้จงได้”

(https://i.ibb.co/LYZdgkS/664-15532753580421.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ตอนนี้พระเจ้าตากสินต้องทรงรบศึกสองด้านแล้วครับ  คือด้านหนึ่งรบกับพม่าที่เชียงใหม่  อีกด้านหนึ่งต้องรอรบกับพม่าที่ตามมอญมาทางเมืองตาก  ทางเชียงใหม่นั้นเห็นทีว่าจะทรงเผด็จศึกได้ไม่ยากนัก  เพราะว่า พระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง กับพระยาจ่าบ้านขุนนางใหญ่ของเชียงใหม่แปรพักตร์จากโปสุพลา  มาสวามิภักดิ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เข้าร่วมรบพม่าในกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แล้ว  เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, พฤษภาคม, 2562, 10:45:58 PM
(https://i.ibb.co/F06hFCs/A3103406-55.jpg) (https://imgbb.com/)

- ขับพม่าพ้นเชียงใหม่ -

เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพหน้า
ตีพม่าพร้อมเพรียงรอบเชียงใหม่
ค่ายพม่านอกเวียงเป็นเสี่ยงไป
หนีเข้าในเวียงพิงค์วิ่งกระเจิง

ทางฝ่ายโปสุพลาสั่งล่าถอย
เป็น”น้ำน้อยแพ้ไฟ”ไร้แรงเหลิง
ทิ้งเชียงใหม่คืนถิ่นหมดสิ้นเชิง
ไทยบันเทิงชื่นบานบนล้านนา

          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกกองกำลังเดินทัพขึ้นไปถึงเมืองลำพูน  ตั้งทัพอยู่ที่นั่นเพื่อรอจังหวะยกเข้าตีเมืองเชียงใหม่  วันนี้มาดูเรื่องราวตามพระราชพงศาวดารฉบับพระรราชหัตถเลขาต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/x3Q78Pj/krabtoon-hqdefault-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          " วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ให้พระยาวิจิตรนาวีลงมากราบทูลว่า  กองเจ้าพระยาสวรรคโลกได้ยกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองด้านสกัดฝ่ายใต้ได้สองค่าย  และด้านรีฝ่ายตะวันออกตะวันตกนั้น  ก็ให้กองทัพหัวเมืองทั้งปวงเข้าตั้งค่ายล้อม  ชักปีกกาถึงกันตลอดสองด้านแล้ว  ยังเหลือแต่ด้านสกัดฝ่ายเหนือด้านเดียว  ถ้ายกเข้าไปตั้งค่ายก็เห็นจะต้องรบกันเป็นสามารถ  แม้นได้ท่วงทีก็จะกรูกันเข้าหักเอาเมืองทีเดียว

(https://i.ibb.co/hFNN1tk/Untitled-3.png) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินรับทราบตามที่กราบบังคมทูลนั้นแล้วไม่ทรงเห็นด้วย  ตรัสว่า  พม่าตั้งค่ายรับอยู่ในเมือง  การจะกรูกันเข้าไปนั้นเกลือกจะเสียที  ทแกล้วทหารก็จะถอยกำลังกล้าย่อหย่อนลง  ถ้าล้อมรอบเมืองได้แล้วจะหักเข้าที่ไหนก็ให้ตั้งหน้าทำเข้าไปเฉพาะที่นั้น  และบรรดาค่ายทั้งปวงให้ขุดคูลงขวากกันข้าศึก  แต่ซึ่งค่ายประชิดจะได้วางปืนเกณฑ์ห้ามนั้นให้ขุดคลองเดินบังปืนพม่า  ให้ดูค่ายใดซึ่งเข้าตั้งใกล้เมืองได้  ก็ให้ขุดคลองโปรยขวากกระจับที่ค่ายนั้น  แม้นข้าศึกจะยกออกมาหักค่ายก็ให้ไล่คลุกติดตามเข้าเมืองทีเดียว  พระยาวิจิตรนาวีกราบถวายบังคมลากลับไปแจ้งข้อรับสั่งแก่เจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาจักรีก็จัดแจงการทั้งปวงตามกระแสพระราชดำรัสสั่งไปนั้นทุกประการ

(https://i.ibb.co/2Z5N9TX/A3103406-56.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ทางฝ่ายโปสุพลานั้นก็สั่งให้นายทัพนายกองพม่ายกพลทหารออกมาตั้งค่ายรับภายนอกเมืองเป็นหลายค่าย  และได้ยกออกปล้นค่ายเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกในเวลากลางวัน  ยามนั้นเจ้าพระยาจักรีมิได้แสดงอาการสะทกสะท้านครั่นคร้ามแต่ประการใด  ได้นั่งเล่นหมากรุกอยู่ในค่าย  พลางก็ร้องสั่งให้พลทหารยิงปืนใหญ่น้อยออกไปจากค่าย  ยิงถูกพลพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก  เมื่อพม่าปล้นเอาค่ายเจ้าพระยาจักรีมิได้  ก็ล่าถอยกลับเข้าค่ายไป

(https://i.ibb.co/NCMzcwk/gdgs.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ถึงวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่  ยามย่ำรุ่งเช้า  สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงเครื่องราชวิภูสิตสำหรับราชรณยุทธ  ทรงอาวุธสรรพเสร็จ  เสด็จทรงช้างต้นพลายคเชนทรบรรยงค์ราชพาหนะ  ให้ยาตราพลนิกรทัพหลวงจากค่ายริมเมืองลำพูนขึ้นไปเมืองเชียงใหม่  หยุดประทับ ณ พลับพลาชัยในค่ายบอกก  ไกลเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๓๕๒ เส้น  จากนั้นก็ดำเนินทัพหลวงไปประทับ ณ ค่ายมั่นริมน้ำใกล้เมือง

(https://i.ibb.co/86Vgp83/ed-9.png) (https://imgbb.com/)

          ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แม่ทัพหน้าของกรุงธนบุรีก็นำพลทหารออกตีค่ายพม่าที่ออกมาตั้งรับนอกเมืองด้านตะวันออกแตกหนีเข้าเมืองไปทั้งสิ้น  ส่วนกองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งตั้งค่ายตรงประตูท่าแพก็ยกออกตีค่ายพม่าทั้งสามค่ายแตก  ตำรวจผู้ไปตรวจการก็นำความกราบบังคมทูล  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบดังนั้นก็ทรงพระโสมนัส  ยกพระหัตถ์ตบพระเพลาทั้งสองข้างพร้อมกับดำรัสสรรเสริญเจ้าพระยาทั้งสองว่า  “จะว่าพี่ดีหรือน้องดีไฉนในครั้งนี้”

(https://i.ibb.co/2PcdRKT/K11158910-21.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นถึงเวลาค่ำเวลายามเศษของคืนนั้น  โปสุพลา และโปมะยุง่วน  ก็พาครัวหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ทางประตูช้างเผือก  ซึ่งเป็นด้านที่เจ้าพระยาสวรรคโลกตั้งค่ายล้อมยังไม่ตลอด จึงตีหักออกไปได้  แต่พลพม่าเบียดเสียดเยียดยัดเหยียบกันตายที่ประตูเมืองประมาณสองร้อยเศษ  พลทัพไทยออกไล่ตามจับพม่าและชิงเอาครัวลาวได้เป็นอันมาก”

(https://i.ibb.co/GsyzP9g/116289548.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นความย่อจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ยังมีความในพงศาวดารโยนกอีกกล่าวว่า  หลังจากโปสุพลาพากองกำลังพม่าหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว  เจ้ากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางก็รีบเข้าไปในเมืองเชียงใหม่  แล้วสืบหาเจ้าฟ้าชายแก้วบิดาของตนจนพบในคุกที่โปมะยุง่วน ขังไว้  นำบิดาออกจากคุกแล้วนำตัวเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสิน ณ ทัพหลวง

(https://i.ibb.co/b3w7TjB/08.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพไทยได้เมืองเชียงใหม่เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ ตรงกับเดือน ๓ ของไทยกลาง ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖  ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๗  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่  ตั้งจักกายแดงเป็นพระยาลำพูน  ตั้งน้อยต่อมต้อเป็นน้องอุปราชลำพูน  ตั้งนายน้อยโพธิก้อนทองเป็นพระยาสุรวงษา  ให้อยู่รักษาขอบขัณฑสีมาสืบไป  แล้วเสด็จยาตราทัพกลับทางนครลำปาง  ประทับนมัสการพระธาตุลำปางหลวง

(https://i.ibb.co/2cSHqnx/A8459802-253.jpg) (https://imgbb.com/)

          * การรบในสงครามแต่ละครั้งสมัยนั้น  ต้องใช้แรงใช้กำลัง  ชั้นเชิงเข้าห้ำหั่นกันอย่างรอบคอบ  วางแผนผิดพลาด กำลังย่อหย่อนก็จะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างทารุณ  การเดินเท้าบุกเข้าไปหาข้าศึกมิใช่เพียงแค่หมอบคลานหาที่กำบังกายเท่านั้น  จะต้องขุดดินทำเป็นร่องคู  อุโมงค์ป้องกันลูกกระสุนปืนและธนูหอกซัดอีกด้วย  เสียเรี่ยวแรงในการขุดร่องคูอุโมงค์มิใช่น้อย  ว่ากันว่าการรบสมัยนี้ง่ายกว่าสมัยนั้น  เพราะยุคนี้มีเครื่องทุ่นแรงมาก  เห็นจะจริงแท้แน่นอน

          ได้เชียงใหม่แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านต่อกันใหม่ในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, พฤษภาคม, 2562, 10:40:13 PM
(https://i.ibb.co/qRCbHJX/image-15-1537181012.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่ารุกรบไทยหนัก -

พม่ารุกบุกไทยทั้งใต้เหนือ
ทั้งเลือดเนื้อไทยพลีไม่หนีหน้า
ทนตั้งหลักปักสู้หมู่ปัจจา
แม้น้อยกว่าก็พร้อมยอมสู้ตาย


          อภิปราย ขยายความ......

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงตอนที่พระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นตีเชียงใหม่ขับไล่พม่าพ้นไปจากเชียงใหม่  เสร็จแล้วทรงตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่  ลำพูน  ลำปาง  แล้วยกทัพจะกลับกรุงธนบุรีลงมาถึงนครลำปางแล้วประทับ ณ พระธาตุลำปางหลวง  วันนี้มาดูเรื่องราวของพระองค์กันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/qyZQYqX/4a463187bd5142e3bef34.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า  ขณะที่พระเจ้าตากสินประทับ ณ พระธาตุลำปางหลวงนั้น  เจ้ากาวิละได้นำพาน้องชายทั้งหก (เจ้าเจ็ดตน) เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นข้า  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง  ตั้งเจ้าธรรมลังกาน้องที่สามเป็นอุปราชนครลำปาง  แล้วเสด็จจากพระธาตุลำปางหลวงลงไปทางเมืองเถิน

(https://i.ibb.co/M2c1tw4/Untitfgled-3.png) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เจ้าเมืองพิษณุโลกนั้น  มีจิตประดิพัทธ์ในนางศรีอโนชาน้องสาวเจ้ากาวิละ  จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดกล่าวสู่ขอต่อเจ้าฟ้าชายแก้วผู้บิดา  เจ้าฟ้าชายแก้วและเจ้าพี่น้องทั้งเจ็ดคนก็พร้อมใจกันนำนางศรีอโนชาไปยกให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์  แล้วเจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกทัพกลับทางเมืองสวรรคโลก

(https://i.ibb.co/DKCVSqZ/K11158910-51.jpg) (https://imgbb.com/)

          * กล่าวถึงพระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะนั้น  เมื่อทราบว่าพระเจ้าตากสินทรงยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่  จึงให้โปหลังดำคุมรี้พลแสนหนึ่งยกไปตีกรุงธนบุรีทางท่าดินแดง  ให้โปหัวดำไปตั้งประชุมทัพอยู่ตำบลแม่สลิด  ให้อะแซหวุ่นกี้ถือพลห้าหมื่นยกมาทางแม่มะเลิงเข้าตีเมืองระแหง  กำแพงเพชร  สวรรคโลก แตกแล้วยกเข้าล้อมเมืองพระพิษณุโลก  เจ้าพระยาจักรี (ท้องด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) สองพี่น้อง  ได้สู้รบป้องกันเมืองไว้ได้นานถึง ๔ เดือน

(https://i.ibb.co/NyJ1Ldm/Phaya-Cha-Ban.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายโปหัวขาว (โปมะยุง่วน) ที่แตกหนีไปจากเชียงใหม่นั้นไปได้ ๑ เดือนกับ ๔ วัน  ก็ยกกำลังพลหมื่นหนึ่งกลับมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ณ วันอังคาร เดือน ๗ (คือเดือน ๕) แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ (พ.ศ.๒๓๑๘)  พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) เจ้าเมืองเชียงใหม่มีกำลังพล ๑,๙๐๐ คน  ก็สู้รบพม่ารักษาเมืองไว้พร้อมกับบอกข้อราชการลงไปยังกรุงธนบุรี  ขณะนั้นเจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางมีกำลังพลพันคนก็ยกขึ้นไปช่วยพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) สู้รบพม่าเป็นสามารถ  พม่าพยายามตีหักเอาเมืองเป็นหลายครั้งก็มิได้จึงตั้งค่ายล้อมเมืองไว้  และแล้วเหตุการณ์ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น  โดยปรากฏความในพงศาวดารโยนกตอนนี้ว่า  “ไพร่พลฝ่ายข้างพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละหมดเสบียงอาหาร  ก็คิดกันจับพม่ามาฆ่ากินเป็นอาหาร”  พม่าตั้งค่ายล้อมเชียงใหม่อยู่นานถึง ๘ เดือน  กองทัพไทยจึงยกขึ้นไปถึงและเข้าตีค่ายพม่าแตกพ่ายหนีไป  แล้วทัพไทยก็ยกกลับคืน

(https://i.ibb.co/X7X1kSk/Photo-Grid-1538808601980.jpg) (https://imgbb.com/)

          * สภาพของเมืองเชียงใหม่หลังจากที่โปหัวขาว (โปมะยุง่วน) ถูกกองทัพไทยตีแตกพ่ายกระเจิดกระเจิงไปแล้ว  พงศาวดารโยนกได้บรรยายสภาพเมืองเชียงใหม่ไว้ว่า  “ยามนั้นเมืองเชียงใหม่หมดสิ้นเสบียงอาหาร  พลเมืองก็แตกฉานพากันไปสู่ทิศต่าง ๆ ส่วนตัวพระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ) กับอุปราชาน้าหลานพาครัวไปอาศัยอยู่เมืองนครลำปาง  พอหายอิดโรยแล้วก็กลับมาตั้งอยู่ท่าวังพร้าว  ภายหลังจึงกลับมาตั้งเมืองเชียงใหม่  ยามนั้นเมืองเชียงใหม่รุร้างเป็นป่ารุกข์อุกเต็มไปด้วยซุ้มไม้เครือเถาวัลย์  เป็นที่อาศัยแห่งหมู่สัตว์ป่า  เพราะว่ามีคนน้อยรายกันอยู่ห่าง ๆ พอว่างแต่ริมชายคาเรือนกับหนทางเที่ยวไปมาหากัน  เหตุว่าไม่มีกำลังและโอกาสที่จะแผ้วถางได้  

(https://i.ibb.co/GQRBPxP/The-Jungle-Book-2016-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ยามนั้นยังมีคนผู้หนึ่งได้ลูกเสือโคร่งสองตัวนำมาถวายพระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ)  เจ้าเมืองให้ทำคอกขังไว้  ครั้นถึงยามเที่ยงคืนแม่เสือก็มาเราะร้องกึกก้องอยู่กลางเวียงฟังเป็นสำเนียงคำคนว่า  “พระยาช้างอยู่ทางเหนือ  พระยาเสืออยู่ทางใต้  ใครเอาลูกตูไปไว้ให้ปล่อยมันเสีย  ครั้นบ่ปล่อยลูกรักแห่งกูบุตราจะกินลำดับลงมาเป็นถ้อย  จะกินให้หมดทั้งคุ้มหลวงคุ้มน้อย  ทั้งหญิงชายใหญ่น้อย  นิ้วแม่นิ้วนางนิ้วกลางนิ้วก้อย  ฝ่ามือนวลนิ้วน้อยจะกินทั้งสร้อยสังวาล”  นิมิตนี้เป็นปัญหาได้แก่เจ้าเจ็ดตนพี่น้อง  คือ  เจ้ากาวิละเป็นพระยาช้างอยู่เหนือ  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นพระยาเสืออยู่ข้างใต้  จะได้ปราบชีพมนุษย์มากที่สุดกว่าผู้อื่นในยุคนั้น”  พระยาวิเชียรปราการหรือพระยาจ่าบ้านอยู่เชียงใหม่มินานเท่าใดก็ถอยกลับไปตั้งอยู่วังพร้าวดังเก่า

           (หมายเหตุ : ผู้คนเรียกเจ้าพระยาสุรสีห์ว่า "พระยาเสือ"  ด้วยว่าเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นดูจะรบแบบเหี้ยมหาญจนเป็นที่ขยาดของทหารพม่าไปตามกัน  จึงตั้งฉายาให้ว่า “พระยาเสือ”)

(https://i.ibb.co/nPtDQc6/1401716412-bugek2-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ตั้งแต่ปีจุลศักราช ๑๑๓๖–๑๑๓๗ (พ.ศ.๒๓๑๗–๒๓๑๘)  พระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ) เตรียมการที่จะยกทัพไปตีพม่าเมืองเชียงแสน  ครั้นเมื่อยกทัพไปจริงแล้วถึงตำบลแม่ขัวแดง (สพานแดง)  ก็ทราบข่าวว่าพม่าถือพลเก้าหมื่นยกมาถึงเมืองเชียงใหม่  จึงต้องรีบยกกลับมารบกับพม่าที่ตำบลสันตะวาน  ด้วยมีกำลังพลน้อยจึงไม่อาจต้านทานพม่าที่มีกำลังมากกว่าได้ จึงต้องล่าถอยลงมาถึงเมืองระแหง  พม่ายกกองทัพไปติดเมืองนครลำปาง  เจ้าเจ็ดตนอันมีเจ้ากาวิละเป็นหัวหน้า  ได้สู้รบกับพม่าเป็นสามารถ  ทัพพม่ามีกำลังพลเจ็ดพันแบ่งออกเป็นเจ็ดทัพเจ็ดกอง  ทัพนครลำปางมีกำลังพลเจ็ดร้อยคน  ได้สู้รบกันนานถึงเจ็ดวัน  เมื่อเห็นว่าเหลือกำลังแล้วก็ทิ้งนครลำปางเสีย  ถอยหนีลงไปถึงเมืองสวรรคโลก  กองทัพพม่าไม่ติดตามตีต่อไป  แต่ถอยกลับไปพ้นเชียงใหม่ในที่สุด  เมื่อพม่าล่าถอยไปหมดแล้ว  พระยาจ่าบ้าน (พระยาวิเชียรปราการ) ก็ให้อุปราชาก้อนแก้วผู้หลานยกไปตั้งที่ตำบลวังพร้าว  รวบรวมเสบียงอาหารกับชาวลัวะชาวดอยไว้คอยท่า  แล้วตนจึงตามไปภายหลัง  แต่อุปราชาก้อนแก้วเองก็ขัดสน เก็บเสบียงอาหารได้มากแล้วหาแบ่งปันเจือจานแก่พระยาจ่าบ้านไม่  พระยาจ่าบ้านขัดใจจึงฆ่าอุปราชาก้อนแก้วผู้หลานเสีย”

(https://i.ibb.co/yWsBSmW/K10948335-28.jpg) (https://imgbb.com/)

          * อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพงศาวดารโยนกตอนนี้แล้วรู้สึกหวาดเสียวแทนพระเจ้าตากสิน  เพราะปรากฏว่าพระเจ้ามังระสั่งเคลื่อนกำลังพลมหาศาลเข้าไทย  กองทัพใหญ่ที่นำโดยอะแซหวุ่นกี้บุกเข้ามาทางเมืองตาก  ยึดกำแพงเพชรสุโขทัยได้โดยง่าย  แล้วเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกซึ่งมี “พระยาเสือ” เจ้าพระยาสุรสีห์  น้องเขย “พระยาช้าง” พระยากาวิละ เป็นเจ้าเมือง  ยามนั้นกองทัพไทยทุกกองมีกำลังน้อยนัก  พร้อมกันนั้นโปมะยุง่วน ที่พ่ายจากเชียงใหม่หนีไปอยู่เชียงแสนก็รวมกำลังยกมาตีเชียงใหม่  พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) เจ้าเมืองมีกำลังน้อย  แต่ก็สู้รบอย่างเหนียวแน่น  “พระยาช้าง” กาวิละยกกำลังจากลำปางขึ้นไปช่วย  แต่ก็มีกำลังน้อย  จึงถูกพม่าล้อมให้ติดอยู่ในเมืองนานถึง ๘ เดือน  กองทัพและชาวเมืองอดอยาก  จนถึงกับออกลอบจับพม่าข้าศึกมากินเป็นอาหาร  กระทั่งกองทัพจากแดนใต้ยกขึ้นไปช่วยตีพม่าแตกพ่ายไป

(https://i.ibb.co/pbGtd2Q/19056-013.jpg) (https://imgbb.com/)

          พิษณุโลกยังถูกอะแซหวุ่นกี้ตั้งทัพล้อมโจมตีอยู่  ทางท่าดินแดงกาญจนบุรี  ก็มีกองทัพใหญ่พม่ามาตั้งจ่ออยู่จะเข้ายึดกรุงธนบุรี

          เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป  ตามอ่านกันวันพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, พฤษภาคม, 2562, 10:28:16 PM
(https://i.ibb.co/dKhXTMY/sgww.png) (https://imgbb.com/)

- กาวิละได้ครองเชียงใหม่ -

พม่ากลับราวีไล่ตีดะ
เชียงใหม่ละลำปางคนร้างหาย
เจ้าเชียงใหม่ลงระแหงหลบแฝงกาย
ลำปางบ่ายหน้าบึ่งพึ่งเชลียง

เกิดมากเรื่องเมืองเหนือเหลือสับสน
ซึ่งเป็นผลคิดเห็นแตกเป็นเสี่ยง
กรุงสยามจับวางไว้ข้างเคียง
ล้านนาเพียงประเทศราชชนชาติไทย


          อภิปาย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงพม่ายกมาล้อมตีเมืองเชียงใหม่ด้วยกำลังพลที่เหนือกว่า  พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) สู้ไม่ได้ก็ถอยลงมาถึงเมืองระแหง (เมืองตากปัจจุบัน)  พม่ายกลงมาล้อมตีเมืองนครลำปาง  เจ้าเจ็ดตนซึ่งมีพระยากาวิละเป็นหัวหน้า  นำกำลังสู้รบอยู่ได้เจ็ดวัน  ต้านทานไม่ไหว  เพราะมีกำลังน้อยกว่านัก  จึงถอยร่นลงมาถึงเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย)  พม่าไม่ติดตาม  แต่ถอยทัพกลับไปจนออกพ้นจากเมืองเชียงใหม่  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านความต่อครับ

(https://i.ibb.co/D57nKKB/va-Dk-By-Zs6-Sj6h-K5-G8-UKSXr-Lg-TXj.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ความในพงศาวดารโยนกกล่าวต่อไปว่า  “ปีจุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙)  อันเป็นปีที่เมืองอังวะประสบภัยฝนแล้งข้าวยากหมากแพงนั้น  เจ้าเจ็ดตนก็พาเจ้าฟ้าชายแก้วผู้บิดากลับจากเมืองสวรรคโลกไปอยู่นครลำปางดังเก่า

          ปี จุลศักราช ๑๑๓๙  ขณะที่พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) หนีจากวังพร้าวลงไปอยู่หนองหลวง  เมืองระแหง (ตาก)  ที่ตำบลหนองหลวง  เวลานั้นมีลานต้นหนึ่งแตกหน่อเป็นเจ็ดหน่อล้อมกอข้างบน  พระยาจ่าบ้านจึงนิมนต์พระสงฆ์เจ้ามาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วให้ตัดโค่นลานต้นนั้นเสีย

(https://i.ibb.co/DLL9Zn1/995372-1030857693654834-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ปี จุลศักราช ๑๑๔๐ พระยาจ่าบ้านจากหนองหลวงไปตั้งอยู่เมืองลำพูน  แล้วล่องลงไปกรุงธนบุรี  ถึงปีจุลศักราช ๑๑๔๑  นางบุญโฉมภรรยาพระยาจ่าบ้านล่องลงไปตามพระยาจ่าบ้านที่กรุงธนบุรี  แล้วก็พากันกลับไปอยู่เมืองลำพูนดังเก่า  ครั้งนั้นกรมการของพระยาจ่าบ้านชื่อพระยาไชย  พระยาพาน  พากันหนีขึ้นไปเมืองเหนือ  ยังเหลือแต่พระยาสำราญกับพระยาอำมาตย์และไพร่พลเมืองกลุ่มหนึ่ง  เมื่อพระยาจ่าบ้านกลับมาถึงเมืองลำพูนแล้วมินานเท่าไรก็ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนสบกก  แต่ได้เพียงเมืองเปล่า  ไม่มีคนและสิ่งของเลย”

(https://i.ibb.co/9gFS2kP/Command.jpg) (https://imgbb.com/)

          พงศาวดารโยนกยังกล่าวต่อไปอีกว่า  “อยู่มามินาน พระยาชายเมืองเชียงแสนและเชียงรายยกกองทัพมาหลอนตีเมืองลำพูนแตก  พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) รวบรวมกำลังพลได้เล็กน้อยก็ยกลงไปตั้งอยู่ตำบลวังสะแคงปากแม่น้ำลี้  ปีจุลศักราช ๑๑๔๐ (พ.ศ.๒๓๒๑)  สมเด็จพระเจ้าตากสินให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นแม่ทัพยกไปปราบปรามมลาประเทศ (อีสานเหนือ)  ตีได้เมืองหนองบัวหล่มภู  เมืองเวียงจันทน์พันพร้าว

(https://i.ibb.co/dgft9jB/Chonn-3.png) (https://imgbb.com/)

          ในปี ๑๑๔๑ เจ้าพระยาแม่ทัพทั้งสองแต่งกองข้าหลวง ๓๐๐ คน  ให้มาตรวจการทางเมืองน่าน  เมืองแพร่  ตลอดถึงเมืองนครลำปาง  ข้าหลวงไทยหมู่นั้นได้ทำโจรกรรมแย่งชิงสิ่งของราษฎร  ฉุดคร่าบุตรภรรยาชาวบ้านไปทำอนาจารต่าง ๆ ให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน  จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อเจ้ากาวิละ  เจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางจึงขัดใจยกพวกออกไปไล่แทงข้าหลวงเหล่านั้นล้มตายเป็นอันมาก  อยู่มามินานเท่าใด  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีตราหาตัวพระยากาวิละลงไปเฝ้า  แต่พระยากาวิละเกรงกลัวความผิดจึงไม่ลงไป  เมื่อได้รับตราให้หาถึงสามครั้งแล้วก็คิดจะทำความชอบแก้ตัวโดยยกทัพไปตีเมืองเทิง เมืองลอ  ได้ผู้คนครอบครัวเป็นอันมากแล้ว  พร้อมด้วยพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) พากันลงไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ กรุงธนบุรี  แจ้งข้อราชการศึกและถวายครัวเชลยนั้น

(https://i.ibb.co/gwdGDJ1/frwed-3.png) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพิพากษาโทษพระยากาวิละในข้อหาที่ทำร้ายข้าหลวงและขัดท้องตรา  พิพากษาโทษพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) ที่ฆ่าอุปราชาก้อนแก้วผู้หลาน  ให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๑๐๐ ที  ให้ตัดขอบใบหูพระยากาวิละเสียทั้งสองข้าง และให้จำคุกไว้  ต่อมาพระยากาวิละร้องขออาสาราชการตีเมืองเชียงแสนแก้โทษ  จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโทษถอดจากคุก  ให้กลับคงอยู่ในฐานาศักดิ์กลับไปทำราชการตามเดิม  ส่วนพระยาจ่าบ้านนั้นยังทรงแคลงพระทัยอยู่จึงยังมิให้พ้นโทษ

(https://i.ibb.co/6JHq5qc/Unt-1.png) (https://imgbb.com/)

          พระยากาวิละเมื่อพ้นโทษแล้ว  กลับถึงเมืองนครลำปางก็เกณฑ์พลกำลังที่ร่วมใจได้ ๓๐๐ คน  ยกขึ้นไปเมืองเชียงแสน  และตีเมืองเชียงแสนได้อย่างง่ายดาย  ได้ครัวเชลยเป็นอันมากแล้วก็ยกกลับนครลำปาง  ในขณะเดียวกันนั้น  พระยาจ่าบ้านที่ถูกขังอยู่ในคุกก็ล้มป่วยลงถึงแก่กรรมในเรือนจำ ณ กรุงธนบุรีนั้นเอง

(https://i.ibb.co/yNf9vJ8/fffss.png) (https://imgbb.com/)

          ลุปีจุลศักราช ๑๑๔๓ (พ.ศ. ๒๓๒๔)  ขณะที่พระยากาวิละจะลงไปเฝ้า ณ กรุงธนบุรี  ก็ได้ทราบข่าวการเสียพระจริตของพระเจ้าตากสิน  ขุนนางหัวเมืองจับตัวออกเสียจากราชสมบัติ  อำมาตย์ราษฎร์ทั้งปวงพร้อมกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ (ร.๑)  ขึ้นเถลิงราชสมบัติ  พระยากาวิละจึงพาเจ้านายพี่น้องทั้งปวงล่องลงไปกรุงธนบุรี  เข้าฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายตัวรับใช้ต่อไป  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เลื่อนยศเป็นพระยาวชิรปราการเจ้านครเชียงใหม่  พระราชทานยศอย่างพระเจ้าประเทศราช  ให้เจ้าธรรมลังกาเป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ต่อไป”

(https://i.ibb.co/2SfK5b1/sfaed-7.png) (https://imgbb.com/)

          * ความทั้งหมดข้างต้นนี้  เป็นความคัดย่อจากความพิสดารในพงศาวดารโยนก  ซึ่งให้ข้อมูลรายละเอียดน้อยกว่า ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่ได้บันทึกเรื่องราวในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ต่ออีกมากมาย  ที่หลังจากทรงได้ขับไล่พม่าพ้นไปจากดินแดนล้านนาแล้ว  ไม่นานพม่าก็ยกกำลังมาตีไทยอีก  คราวนี้โหมเข้าตีไทยทางภาคเหนือตอนล่าง  หรือภาคกลางตอนบน (พิษณุโลก)  และทางด่านกาญจนบุรี  ราชบุรี  มีการรบพุ่งกันอย่างดุเดือด  น่าศึกษาเรื่องราวมากทีเดียว

          พรุ่งนี้หวนกลับมาดูเรื่องราวของพระเจ้าตากสินตามพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พืพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๔ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, พฤษภาคม, 2562, 10:13:00 PM
(https://i.ibb.co/vLDwyZf/14.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทรงเรือล่มที่เมืองตาก -

ทราบข่าวศึกพม่ามาอึงเอ็ด
รีบเสด็จจากลำปางลงทางใต้
ถึงเมืองตากสั่งทัพโดยฉับไว
รีบขับไล่พม่าด่านแม่ละเมา

ร้อนพระทัยไม่รอเรือพระที่นั่ง
จึ่งรับสั่งจัดเรือเล็กแม้ลำเก่า
ล่องลงมาชนตอตูม!..ไม่เบา
“คว่ำข้าวเม่า”จมลำกลางน้ำปิง

ทรงว่ายน้ำขึ้นบกไม่งกเงิ่น
เสด็จเดินบกรุดไม่หยุดนิ่ง
ถึงสวนมะม่วงที่ประทับทราบความจริง
พม่าทิ้งแดนไทยไปชั่วคราว

ทรงสั่งงานการทัพรับศึกเสร็จ
จึ่งเสด็จลงใต้ในกลางหนาว
ห้าวันถึงธนบุรีมิยึดยาว
รอฟังข่าวศึกพม่าจะราวี


          อภิปราย ขยายความ..................
(https://i.ibb.co/T1Kvxhr/08.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อวันวานก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสินยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ผสมความในพงศาวดารโยนกฉบับพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว  ตั้งให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่  พระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปางแล้วยกทัพกลับคืน

(https://i.ibb.co/zH3Yvrh/sgww400.png) (https://imgbb.com/)

          จากนั้น  ได้นำความในตำนานเมืองเหนือมาบอกเล่าถึงพระยากาวิละและพระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน) ได้รับโทษจองจำที่กรุงธนบุรี  ต่อมาพระยากาวิละขออาสาทำความดีความชอบไถ่โทษด้วยการยกทัพไปตีเชียงแสน  ได้เชียงแสนพร้อม ๆ กับที่พระยาจ่าบ้านสิ้นชีวิตในคุกหลวงกรุงธนบุรี  และพระยากาวิละเตรียมนำทรัพย์สินและเชลยเมืองเชียงแสนลงไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าตากสิน  ก็พอดีได้ทราบว่าพระองค์ทรงเสียพระจริตและถูกจับออกจากราชสมบัติ  ข้าราชการและราษฎรทั้งปวงอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ (ร.๑) ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน  จึงลงไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยากาวิละเป็นพระยาวชิรปราการ  เจ้าเมืองเชียงใหม่  ความในตำนานเมืองเหนือที่ตัดย่อมาดังกล่าวข้างต้นนี้  ออกจะรวบรัดไม่ชัดเจนเท่าที่ควร  จึงขอพักความในตำนานเมืองเหนือไว้ก่อน

          * วันนี้จะขอย้อนกลับไปดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ให้ความละเอียดพิสดารกว่าตำนานเมืองเหนือมากนัก  เพราะได้บันทึกตามเหตุการณ์ที่เกิดในเมืองใต้ (ตามคำเรียกของชาวล้านนา) ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวเรื่องราวไว้ดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/NpR3f68/night-A11682661-36.jpg) (https://imgbb.com/)

           เริ่มจากเนื้อความขณะที่พระเจ้าตากสินยังประทับอยู่ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น  พระเชียงทองบอกข้อราชการขึ้นไปกราบทูลว่า  ทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ลำเมา  จึงเสด็จดำเนินทัพหลวงรีบลงมาถึงเมืองตาก  ดำรัสให้หลวงมหาเทพเป็นแม่ทัพ  กับ จมื่นไวยวรนาถ ถือพลสองพันรีบยกไปตีทัพพม่าที่ยกมานั้น  ทัพหลวงมหาเทพยกไปตีทัพพม่าทางด่านแม่ลำเมาแตกในคืนวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓    แล้วรีบบอกหนังสือเข้ามากราบทูลให้ทรงทราบ  จึงมีพระราชดำรัสให้นายควรรู้อัศว์นายเวรมหาดไทยลงเรือรีบลงไปบอกพระยาคำแหงวิชิต  ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่บ้านระแหงใต้เมืองตากนั้น  ให้เร่งยกกองทัพออกไปก้าวสกัดตีทัพพม่าซึ่งแตกไปนั้น

(https://i.ibb.co/vspnHSc/125366-58-9645.jpg) (https://imgbb.com/)

          เรือพระที่นั่งซึ่งจอดอยู่ที่สวนมะม่วงบ้านระแหงนั้น  ยังมิทันขึ้นไปรับเสด็จที่เมืองตาก  ทรงร้อนรนพระราชหฤทัยมาก  ค่ำวันนั้นประมาณสองยามพระเจ้าตากสินเสด็จลงเรือจมื่นจงกรมวังล่องลงระแหง  พบเรือนายควรกลับขึ้นไป  และกราบทูลว่าเห็นกองไฟอยู่ริมน้ำ  ได้ยินเสียงพม่าเห่ขึ้น  ทรงสงสัยจึงให้นายควรนำเรือเสด็จลงไป  พบเรือตะรางใส่พม่าเมืองเชียงใหม่ พระเพชรปาณีคุมมาหยุดจอดอยู่แล้วให้พม่าเห่ขานยาม  จึงเสด็จผ่านเลย

(https://i.ibb.co/2PsFdnK/afff-4.png) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเสด็จล่องเลยไปมาได้ระยะหนึ่งเรือพระที่นั่งเกิดชนตอจนล่มลง  ทรงว่ายน้ำขึ้น ณ หาดทราย  พบนายชู  นายเกดละครนั่งผิงไฟอยู่  นายชูถวายผ้าผืนหนึ่งเช็ดพระชงฆ์  เช็ดพระบาท  ขณะนั้นหลวงราชโกษานำห่อผ้าที่ชุ่มน้ำมาแก้ออกดูเห็นพระภูษาส่านผืนหนึ่งแห้งปรกติเป็นที่น่าอัศจรรย์  จึงน้อมนำเข้าถวาย  จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทโดยสถลมารคจนถึงสวนมะม่วงบ้านระแหงในที่สุด

(https://i.ibb.co/wrGB4pR/prahan-A11682661-23.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปอีกว่า  วันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ พระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาพระราชทานเงินแจกแก่ราษฎรทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายและหญิงชาวระแหงทั้งสิ้นคนละสลึงเท่ากัน  ยามนั้นพระยากำแหงวิชิตกราบทูลกล่าวโทษว่า  พระยานนทบุรีลูกกองของตน  หลบหลีกย่อท้อต่อการสงครามเกรงกลัวข้าศึก  ทรงทราบดังนั้นจึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระยานนทบุรีร้อยที  แล้วให้จำครบส่งลงไป ณ กรุงให้ประหารชีวิตเสีย  วันพฤหัสบดีขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓  เสด็จไปนมัสการพระพุทธปฏิมา ณ วัดกลาง  วัดดอยเขาแก้ว  จากนั้นเสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องมาโดยชลมารคเป็นเวลา ๕ วันก็ถึงกรุงธนบุรี”

(https://i.ibb.co/TgRF7p1/A3172324-100.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระราชภารกิจทางเหนือตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  เสร็จสิ้นแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงธนบุรี  รอฟังข่าวพม่าข้าศึกว่าจะยกเข้ามารุกรานทางด้านใดบ้าง  เหตุการณ์สงครามกับพม่าตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปนี้  จะมีเรื่องการรบอย่างดุเดือดทวีความรุนแรงขึ้นโดยลำดับ

          ยามค่ำวันพรุ่งนี้ถ้าหากยังไม่หลับพักผ่อนกัน  ก็มาเปิดอ่านกันต่อนะครับ

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42271#msg42271)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42681#msg42681)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, พฤษภาคม, 2562, 10:21:41 PM
(https://i.ibb.co/rkv35YT/U55ntitled-2-450.png) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42526#msg42526)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42841#msg42841)                   .

- ตั้งพระยาจักรีมอญ -

พม่ามารุกรบด้านตะวันตก
ไทยสะทกสะท้านจนขวัญหนี
ขุนศึกแกร่งกล้าเข้มน้อยเต็มที
เรียกจักรีจากเหนือช่วยเหลือพลัน


          อภิปราย ขยายความ ............

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินเสร็จศึกเชียงใหม่เสด็จกลับกรุงธนบุรี  ทรงแวะเมืองระแหง  นมัสการประพุทธปฏิมา ณ วัดกลาง  วัดดอยเขาแก้ว  แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องลงตามล้ำปิง  ออกสู่เจ้าพระยาลงถึงกรุงธนบุรี  ในเวลาเดินทาง ๕ วันเต็ม  วันนี้มาดูความตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อครับ

(https://i.ibb.co/5rhfRbL/1430279973.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ฝ่ายพระเจ้ามังระเจ้าแผ่นดินกรุงอังวะนั้น  เสด็จลงมาเมืองย่างกุ้งเพื่อทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกศธาตุ  ทางกรุงวะก็เกิดความวุ่นวายขึ้น  โดย  พระยาหงสาวดี  พระยาอุปราชา  กับตละเกิ้งและรามัญทั้งปวงที่ถูกกวาดต้อนขึ้นไปในคราวที่พม่าตีเมืองหงสาวดีได้สมัยพระเจ้ามังลอง  เมื่อเห็นว่าพระเจ้ามังระไม่อยู่กรุงอังวะ  จึงคบคิดกันเป็นบกฏจะยกเข้าปล้นเอาเมือง  แต่เสนาบดีผู้อยู่รักษาเมืองจับกุมตัวไว้ได้ทั้งหมดแล้วบอกลงมาให้พระเจ้ามังระทรงทราบ  พระเจ้าอังวะจึงให้มีหนังสือตอบขึ้นไปว่า  จงประหารชีวิตพระยาหงสา  พระยาอุปราชาและตละเกิ้งสมิงรามัญตัวนายผู้ร่วมคิดกันเป็นกบฏนั้นเสียให้สิ้น  แล้วให้ข้าหลวงมาเร่งกองทัพอะแซหวุ่นกี้ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะให้ยกตามมอญกบฏเข้าไปตีเมืองไทยให้ได้

(https://i.ibb.co/MRvfw63/ed-10.png) (https://imgbb.com/)

          อะแซหวุ่นกี้จึงให้งุยอคุงหวุ่นเป็นแม่กองทัพหน้า  กับอุตมสิงหจอจัว ๑   ปคันเลชู ๑   เมี้ยนหวุ่น ๑   อคุงหวุ่นมุงโยะ ๑   เนมโยแมงละนรทา ๑   ยุยยองโบ่ ๑   ถือพลห้าพันยกล่วงหน้ามาก่อน   ให้ตะแคงมรหน่องเชื้อวงศ์พระเจ้าอังวะ  กับหม่องจ่ายิด  ถือพลสามพันอีกทัพหนึ่งยกหนุนมา  กองหน้าพม่ายกตามครัวมอญมา  เข้าตีกองทัพไทยซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ท่าดินแดงนั้นแตก  พระยายมราชแม่ทัพถอยลงมาแล้วบอกเข้ามากราบทูลว่า  พม่ายกทัพใหญ่มาเหลือกำลังต้านทานต่อรบ  ขอพระราชทานกองทัพเพิ่มเติมขึ้นไปช่วย  พระเจ้าตากสินจึงดำรัสให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ยกับพระยาธิเบศบดีเป็นแม่ทัพถือพล  ๓,๐๐๐  ยกไปตั้งค่าย ณ เมืองราชบุรี

(https://i.ibb.co/yRjGs0r/blogmedia-9545.gif) (https://imgbb.com/)

          พระยายมราชบอกลงมาอีกว่า  พระยาอภัยรณฤทธิ์ ๑   พระยาเพชรบุรี ๑   หลวงสมบัติบาล ๑   หลวงสำแดงฤทธา ๑   ทั้งสี่นายแตกพม่าเข้ามา  แต่พระยาสุนทรพิพิธ ๑   หลวงรักษามนเทียร ๑   พระยาสุพรรณบุรี ๑   พระยากาญจนบุรี ๑   พระยานครไชยศรี ๑   ทั้งห้านายนี้ยังไม่พบตัว  จึงดำรัสให้จับเอาบุตรภรรยามาจำไว้  ให้เจ้าตัวทำราชการแก้ตัว  ส่งไปเข้ากองพระเจ้าลูกเธอพระเองเจ้าจุ้ยและพระยาธิเบศบดี  แล้วดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์ถือพล  ๑,๐๐๐  ยกไปช่วยพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย

(https://i.ibb.co/BP3wvwW/0f7c764e-69a7-11e8-a0b5-00.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ณ วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ เวลาเช้าเสด็จลงพระตำหนักแพ  ให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่งกองทัพซึ่งกลับจากเชียงใหม่ยังล้าหลังอยู่มาไม่ทันนั้นจงรีบเร่งลงมาโดยเร็วอย่าให้ใครแวะเข้าบ้านเป็นอันขาด  ใครแวะเข้าบ้านจะประหารชีวิตเสีย  เรือท้าวพระยาพระหลวงขุนหมื่นข้าราชการทั้งปวงนั้นก็รีบเร่งลงมาถึงหน้าพระตำหนักแพ  พอกราบถวายบังคมลาแล้วก็โบกพระหัตถ์สั่งให้รีบออกไปเมืองราชบุรี  ขณะนั้นพระเทพโยธาจอดเรือแวะขึ้นบ้าน  ตำรวจลงมากราบทูลก็ทรงพระโกรธมาก  รับสั่งให้ตำรวจรีบไปเอาตัวมาในทันใด  ดำรัสให้เอาตัวพระเทพโยธาขึ้นมัดไว้กับเสาพระตำหนักแพ  ทรงถอดพระแสงดาบออกจากฝักฟันพระเทพโยธาบนพระตำหนักแพจนศีรษะขาดตกลงแล้วให้ตำรวจนำศีรษะไปเสียบประจานไว้ที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์  และศพนั้นโยนลงน้ำทิ้งไป  ประกาศอย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างสืบไป

(https://i.ibb.co/TtGz4YZ/led-1-450.png) (https://imgbb.com/)

          * พวกรามัญที่หนีพม่ามานั้นคือ  พระยาเจ่ง  ตละเสี้ยง  ตละเก็บ  กับพระยากลางเมือง  คนเหล่านี้หนีเข้ามาแต่ครั้งกรุงเก่า  เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้วนำตัวกลับไป  และมีโอกาสหนีเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีอีกครั้ง  พระเจ้าตากสินทรงให้ข้าหลวงไปรับสมิงรามัญไพร่นายทั้งปวงที่พาครัวเข้ามาทุกด่านทุกทิศทางเข้ามาถึงพระนครแล้ว  ทรงพระกรุณาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงเมืองนนท์บ้าง  เมืองสามโคกบ้าง  คัดเลือกชายฉกรรจ์ได้สามพันคน  โปรดตั้งหลวงบำเรอภักดิ์  เชื้อรามัญครั้งกรุงเก่าให้เป็นพระยารามัญวงศ์  เรียกว่าจักรีมอญ  ควบคุมกองมอญทั้งสิ้น  และโปรดให้พระราชทานตราภูมคุ้มห้ามสรรพากรขนอนตลาดทั้งปวง  ให้ค้าขายทำมาหากินเป็นสุข  แล้วให้เกณฑ์พระยารามัญวงศ์คุมกองมอญยกหนุนออกไปต่อรบพม่าอีกทัพหนึ่ง  แล้วโปรดให้มีตราขึ้นไปหากองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองตะวันออกทั้งปวง ให้เร่งรีบยกลงมาช่วยราชการสงคราม

(https://i.ibb.co/vdsTZnt/Untitled-2.png) (https://imgbb.com/)

          * เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ซึ่งอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่นั้น  ทราบจากพระยาเชียงใหม่  พระยานครลำปางว่า  พระยาน่านยังมิได้เข้าสวามิภักดิ์  จึงให้พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปางกับขุนนางข้าหลวงไทยไปเจรจาเกลี้ยกล่อมพระยาน่านแต่โดยดี  พระยาน่านก็ยอมสวามิภักดิ์ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแล้วแต่งขุนนางสองนายลงไปเข้าเฝ้าด้วย  พอข้าหลวงถือตราขึ้นไปหากองทัพกลับและเกณฑ์หัวเมืองทั้งปวง  เจ้าพระยาจักรี และท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งหลายก็จัดแจงทัพทุก ๆ หัวเมืองยกลงมาตามพระราชดำรัสให้หานั้น

(https://i.ibb.co/YT2xLJW/Untitled-9.png) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพพม่านั้นก็ยกแยกกันไป  เที่ยวไล่จับผู้คนครอบครัว ณ แขวงเมืองกาญจนบุรี  เมืองราชบุรี  เมืองนครไชยศรี  เมืองสุพรรณบุรี  ทุกบ้านทุกตำบล ณ วันอังคารแรม ๖ ค่ำ เดือน ๓  กรมการเมืองนครไชยศรีบอกเข้ามากราบทูลว่า  ตำรวจที่ถือหนังสือท้องตราพระราชสีห์ไปเมืองสุพรรณบุรีนั้น  ไปถึงตำบลบ้านภูม  พบทหารพม่าสามสิบคนควบม้าไล่ก็วิ่งหนีจนกะทอผ้าที่ใส่หนังสือท้องตรานั้นตกหาย  พม่าเข้าล้อมบ้านภูมไว้  นายพูน  นายสา  นายแก่น  หนีมาได้  แต่นายพรหมนั้นหายไป  พระเจ้าตากสินจึงให้พระยาพิชัยไอสวรรย์  ว่าที่กรมท่า  ยกกองทัพพลพันหนึ่งไปเมืองนครไชยศรีเพื่อตีทัพพม่าที่ยกมานั้น”

(https://i.ibb.co/R0mD93T/1401688109-0s022-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เรื่องราวในการศึกสงครามเริ่มเข้มข้นมากขึ้นแล้ว  กองทัพพม่าแกร่งกล้ากว่ากองทัพไทย  ด่านท่าดินแดงถูกพม่าตีแตกได้โดยง่าย  เพราะขุนศึกผู้เข้มแข็งของกรุงธนบุรีมีน้อยนัก  แม้จะได้กองกำลังจากชาวรามัญมาเพิ่มกำลังทัพ  ทรงตั้งให้หลวงบำเรอภักดิ์หัวหน้ากลุ่มรามัญเป็นพระยารามัญวงศ์ หรือ พระยาจักรีมอญ  แล้วก็ยังไม่ทำให้กองทัพไทยแข็งแกร่งพอที่จะต้านทานทัพพม่าได้  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงเรียกเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ที่ตั้งกองกำลังรักษาราชการอยู่ ณ เชียงใหม่นั้น  ให้เร่งจัดกำลังทัพจากเมืองเหนือรีบยกกลับลงมาช่วยเป็นการด่วน

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ตามอ่านกันวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, พฤษภาคม, 2562, 10:14:58 PM
(https://i.ibb.co/YPrR4F9/24178136-19906.jpg) (https://imgbb.com/)

- ล้อมค่ายพม่าบีบให้จำนน -

ยกทัพหลวงออกรบสมทบทัพ
ตั้งค่ายรับปัจจาพม่ามั่น
รายล้อมค่ายนางแก้ววางแนวกัน
เส้นทางตันขาดเสบียงเสี่ยงอดตาย

ไม่ให้ตีมิให้ยิงนิ่งรอจับ
เพียงวางกับดักมันผู้ขวัญหาย
เมื่อทั้งหมดอดอยากอย่างมากมาย
ทั้งไพร่นายคงพร้อมยอมจำนน


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงถึงความที่พระเจ้ามังระให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพเข้าตีไทยทางด้านตะวันตกกรุงธนบุรี  ทัพพม่าตีด่านท่าดินแดงแตกแล้วก็แยกย้ายกันเที่ยวไล่จับผู้คนครอบครัวไทยแขวงเมืองกาญจนบุรี  ราชบุรี  นครชัยศรี  สุพรรณบุรี  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบอกเล่าไว้ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/3sm5ZFP/Untitled-24.png) (https://imgbb.com/)

          * “ทัพพม่ายกมาทางเมืองกาญจนบุรีตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ ปากแพรก  แบ่งทัพมาสามพันเศษ  ยกเข้าตั้งค่ายอยู่ที่บ้านนางแก้ว  แขวงเมืองราชบุรีสามค่าย  พระยายมราชซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงนั้นถูกพม่าตีแตกก็เลิกถอยเข้ามา  พระเจ้าลูกเธอ (พระองค์เจ้าจุ้ย) กับพระยาธิเบศบดีจึงให้หลวงมหาเทพเป็นกองหน้าคุมพลพันหนึ่งยกไปตั้งค่ายประชิดโอบค่ายพม่าด้านตะวันตก  ทัพพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์ก็ยกพลพันหนึ่งไปตั้งค่ายประชิดด้านตะวันออก  พระเจ้าลูกเธอกับพระยาธิเบศบดีตั้งค่ายมั่นอยู่ที่โคกกระต่าย  แล้วบอกข้อราชการเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ

(https://i.ibb.co/3RXfZBK/16321-005.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓  ได้มหาพิชัยฤกษ์  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาวสิบสามวา  พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก  เสด็จยกพยุหยาตรานาวาทัพพลโยธาแปดพันแปดร้อยเศษ  จากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารคไปหยุดประทับ ณ เมืองสาครบุรีคอยน้ำขึ้น  เพลาค่ำห้าทุ่มจึงเคลื่อนกองทัพไป  เพลารุ่งขึ้นเช้าเข้าที่เสวย ณ วัดกลางค่ายบางกุ้ง

(https://i.ibb.co/pxSfHhc/tled-10.png) (https://imgbb.com/)

          เพลาบ่ายโมงเศษเสด็จถึงค่ายมั่นเมืองราชบุรี  ดำรัสให้พระยาวิจิตรนาวี  ไปสืบข่าวราชการที่ค่ายบ้านนางแก้ว  แล้วเกณฑ์ท้าวพระยานายทัพนายกองพลทหาร  หนุนเพิ่มเติมไปล้อมค่ายอีกเป็นหลายทัพหลายกอง

(https://i.ibb.co/PQshV3c/gebac5jdj6gdc6ekbfaag.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ฝ่ายตะแคงมรหน่องยกกองทัพพลสามพันติดตามทัพพระยายมราชเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรก  อะแซหวุ่นกี้ก็เกณฑ์กองทัพพม่ารามัญหนุนเพิ่มเติมมาอีกพันหนึ่ง  พระยายมราชถอยทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณ ดงรังหนองขาว  พระเจ้าตากสินจึงให้พระยาสีหราชเดโช  กับพระยาอินทรวิชิตเจ้าเมืองวิเศษชัยชาญถือพลสองพัน  ยกหนุนไปช่วยกองทัพพระยายมราช

(https://i.ibb.co/hFntCyf/Untitled-19.png) (https://imgbb.com/)

          วันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓  พระยาวิจิตรนาวีซึ่งไปสืบราชการ ณ ค่ายบ้านนางแก้วนั้นกลับมากราบทูลว่า  พม่าประมาทฝีมือไทย  นิ่งให้ตั้งค่ายล้อมมิได้ออกรบพุ่ง  ให้ร้องถามออกมาเป็นภาษาไทยว่า  ตั้งค่ายมั่นแล้วหรือยัง  ฝ่ายข้างเราร้องบอกไปว่ายังไม่ตั้งมั่น  แต่บัดนี้ไทยได้ตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าไว้รอบแล้ว  ครั้นค่ำลงเพลาสามยามเศษจึงเสด็จพยุหโยธาทัพจากค่ายเมืองราชบุรีไปทางวัดอรัญญิก  ประทับ ณ พลับพลาค่ายวัดเขาพระ  คอยฟังข่าวราชการอยู่ที่นั่น  และพม่ายังหาได้ยกออกตีค่ายไทยไม่  นิ่งให้ล้อมด้วยจิตคิดประมาทว่าไทยฝีมืออ่อน  จะออกตีเมื่อไรก็จะแตกเมื่อนั้น  จะได้จับผู้คนได้มาก  ฝ่ายทัพไทยก็ตั้งค่ายล้อมไว้ถึงสามชั้น

(https://i.ibb.co/d2hxdNY/dd3.png) (https://imgbb.com/)

          วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเช้า  สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราทัพไปทอดพระเนตรถึงค่ายล้อม  พระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ)  หลวงบำเรอภักดิ์  หลวงราชเสนามาเฝ้า  จึงดำรัสให้ไปตั้งค่ายรักษาหนองน้ำที่เขาชะงุ้มไว้

(https://i.ibb.co/s6Kbywf/Untitled-12.png) (https://imgbb.com/)

          ในวันเดียวกันนั้นขุนปลัดเมืองราชบุรีบอกเข้ามากราบทูลว่า  พม่ายกเข้ามาทางประตูสามบ้าน  ด่านเจ้าขว้าว  จับชาวด่านไปสองคนแล้วจะยกกลับไปหรือจะตั้งอยู่ประการใดยังไม่ทราบ  จึงดำรัสสั่งให้พระเจ้าลูกเธอ (พระองค์เจ้าจุ้ย) กับกองทัพจีนพระยาราชาเศรษฐี (พระยาพิพิธ) ยกลงไปรักษาค่ายเมืองราชบุรี  แล้วให้รื้อค่ายเปล่าลงไปตั้งริมน้ำให้สิ้น  แล้วให้ปักขวากหนามไว้มาก ๆ  และให้กองเจ้าพระยาอินทรอภัยยกไปรักษาสระน้ำเขาชั่วพรานตั้งค่ายอยู่สามค่าย

(https://i.ibb.co/Z11G17L/Untfgitled-1.png) (https://imgbb.com/)

          ค่ำวันนั้นพม่ายกออกตีค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัยถึงสามครั้ง  ได้รบกันเป็นสามารถและพม่าก็แตกถอยไปทุกครั้ง  ฝ่ายไทยจับพม่าเป็นได้สามคน  ที่บาดเจ็บหนีรอดไปได้เป็นอันมาก  จึงบอกข้อราชการและส่งพม่ามาถวาย  เมื่อทรงทราบดังนั้นจึงให้เตรียมพลทหารจะเสด็จไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัยด้วยพระองค์เอง  แต่พระยาเทพอรชุนและหลวงดำเกิงรณภพกราบบังคมทูลห้ามไว้  โดยขออาสาจะยกไปเอง

(https://i.ibb.co/hZZm4v2/sf3.png) (https://imgbb.com/)

          * รุ่งขึ้นจึงดำรัสให้เกณฑ์ทหารกองในกองนอกและกองอาจารย์กองทนายเลือก  ได้ ๗๔๕ คน  ให้พระยาเทพอรชุน  หลวงดำเกิงรณภพ  ยกเป็นกองโจรไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัย  แล้วทรงให้ถามเชลยพม่าได้ความว่านายทัพที่ยกมาตีค่ายสระน้ำนั้นชื่อเนมโยแมงละนรทา  ถือพลพันหนึ่ง  ที่ค่ายบ้านนางแก้วนั้นนายทัพชื่องุยอคุงหวุ่น  ถือพลสองพันเศษ  ที่ค่ายปากแพรกนั้นนายทัพชื่อตะแคงมรหน่อง  เป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าอังวะ  กับหม่องจ่ายิด  ถือพลสามพันเศษ  และยังมีทัพหนุนมาอีกเป็นอันมาก  ส่วนทางทวายนั้นก็ยกมาอีกทัพหนึ่ง  ไม่ทราบว่านายทัพชื่ออะไร

(https://i.ibb.co/58cCjvq/Untifhtled-2.png) (https://imgbb.com/)

          ทรงทราบดังนั้น  จึงให้พระณรงค์วิชิตไปตัดเอาศีรษะพม่าผู้ที่ถูกปืนตาย ณ ค่ายเขาชั่วพราน  ไปเสียบไว้หน้าค่าย ประชิดให้รอบ  แล้วสั่งให้ประกาศนายทัพนายกองทั้งปวงว่า  ห้ามนายทัพนายกองที่ตั้งล้อมมิให้เข้าตีค่ายพม่า  แต่ให้ตั้งล้อมไว้ให้จงมั่น  ถ้าพม่ายกออกจากค่ายก็ให้รบพุ่งดันให้ถอยกลับอย่างเดียว  ดำรัสว่า  "กักมันไว้ให้โซแล้วเอาข้าวล่อเอาเถิด"  แม้นพม่าหนีไปได้จะเอาโทษถึงสิ้นชีวิต”

(https://i.ibb.co/brksDH7/A11682661-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * มาถึงตรงนี้จึงเห็นได้ว่า  สิ่งสำคัญในการทำสงครามคือ  “น้ำ”  นอกจากใช้เป็นเส้นทางในการเดินทัพลำเลียงกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว  บ่อน้ำ  หรือแหล่งนำในการบริโภคก็นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสั่งกำชับให้ควบคุมดูแลบ่อน้ำ  หนองน้ำ  สายน้ำลำธาร  ไว้ให้จงดี  อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้ข้าศึกศัตรูใช้ประโยชน์ได้

(https://i.ibb.co/XFnYz1M/digital-006rename.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทรงใช้ยุทธวิธีล้อมค่าย  ตัดกำลังลำเลียงอาหาร  เพื่อให้ทหารในค่ายขาดเสบียงอาหาร  อดอยาก  โหยหิว  แล้วเอาข้าวปลาอาหารออกล่อให้ทหารออกจากค่ายมาเอา  แล้วล้อมจับตัวไว้  ไม่ต้องยิงข้าศึกศัตรู  ไม่ต้องเข้าตีชิงเอาค่าย  บีบให้ทหารพม่าในค่ายอดตาย  ถ้าไม่ยอมอดตายก็ให้ออกมายอมแพ้เสียแต่โดยดี  ยุทธการแบบนี้จะได้ผลหรือไม่  ก็รอดูกันต่อไป

          อ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤษภาคม, 2562, 10:16:14 PM
(https://i.ibb.co/5FTkxkr/led-14.png) (https://imgbb.com/)

- พม่ารุกหนักไทยร่อแร่ -

แม้เสียค่ายไทยยังตั้งต่อสู้
ต้านทานอยู่ไม่ท้อถอยย่อย่น
พม่าโหมโรมรันไม่ลุกลน
สู้อย่างคนมีสติพร้อมวิชา


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกพยุหยาตราจากกรุงธนบุรีไปต้านตีกองทัพพม่าที่ยกมาทางกาญจนบุรี  ที่ตีค่ายไทยที่ด่านท่าดินแดงแล้วยกเลยเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านนางแก้วเมืองราชบุรี  ทรงบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง  ตรัสสั่งให้ตั้งค่ายรายล้อมค่ายนางแก้วของพม่าไว้  แล้วสกัดกำลังบำรุงมิให้พม่าส่งเสบียงเข้าเลี้ยงทหารในค่ายนี้ได้  ไม่ต้องยิงปืนเข้าไปในค่าย  ไม่ต้องปีนปล้นค่าย  รอให้ทหารในค่ายอดอาหารหิวโซแล้วออกมายอมแพ้แต่โดยดี  ยุทธวิธีนี้จะสำเร็จหรือไม่  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/513WWnJ/20708484.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “ครั้นค่ำลงก็ปรากฏว่าพม่าออกแหกค่ายด้านหลวงมหาเทพ  พลทหารยิงปืนระดมไปก็กลับเข้าค่าย  ที่ถูกปืนตายก็เป็นอันมาก  และในคืนวันนั้นพม่ายกมาแต่ปากแพรกจะเข้าช่วยพม่าที่อยู่ในค่ายล้อม  ได้ยกเข้าตีค่ายหนองน้ำเขาชะงุ้มล้อมกองรามัญไว้  แต่กองพระยาธิเบศบดีตีเข้าไปกันเอากองรามัญออกมาได้  เสียขุนณรงค์ไปคนหนึ่งตายในที่รบ  พม่าตีวกหลังหักออกมาจึงได้รบกันเป็นสามารถ  กองทัพพระยาธิเบศบดีต่อรบต้านทานจนเหลือกำลังก็แตกถอยมา  พม่าได้ค่ายหนองน้ำเขาชะงุ้มแล้วเข้าตั้งมั่นอยู่ในค่าย

(https://i.ibb.co/rtPwj4L/Untitlsfed-2.png) (https://imgbb.com/)

          ทรงทราบความนั้นในเวลาเดียวกันกับที่กองทัพพระยานครสวรรค์ยกมาถึง  จึงดำรัสให้พระยานครสวรรค์เร่งยกไปช่วยพระยาธิเบศบดี  ในคืนวันนั้นจึงได้ทราบว่ากองมอญพระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ) ออกจากที่ล้อมได้แล้วจึงเสด็จกลับมา ณ ค่ายศาลาโคกกระต่าย  พระยานครสวรรค์  พระยาธิเบศบดีปรึกษากันแล้วบอกส่งพระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ) และหลวงบำเรอภักดิ์  หลวงราชเสนา  ลงมา ณ พลับพลาค่ายโคกกระต่าย  จึงดำรัสให้มีตราขึ้นไปให้พระยานครสวรรค์  พระยาธิเบศบดี  ถอยทัพลงมาตั้งค่ายรับพม่าอยู่นอกค่ายล้อมบ้านนางแก้ว  ไกลประมาณห้าเส้น

(https://i.ibb.co/ynPwrKb/titled-4.png) (https://imgbb.com/)

          วันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔  พระยายมราช  พระยาสีหราชเดโช  พระยาอินทรอภัย  บอกลงมากราบทูลว่า  ได้ตั้งค่ายอยู่ ณ ดงรังหนองน้ำขาว  พม่ายกมาแต่ค่ายปากแพรกเข้าตีค่าย  รบกันเป็นสามารถ  พม่าถูกปืนตายและบาดเจ็บลำบากเป็นอันมาก  จับเป็นได้สองคนดังที่ส่งตัวมาถวายพร้อมนี้  แต่บัดนี้กระสุนดินดำยังเหลืออยู่น้อย  ขอพระราชทานเพิ่มเติมไปอีก  ดำรัสสั่งให้มีตราตอบขึ้นไปว่า  รอกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ลงมาถึงจึงจะให้รีบยกหนุนขึ้นไป  ให้คอยเอากระสุนดินดำที่กองทัพเจ้าพระยาจักรีนั้นเถิด  ขณะนั้นกรมการเมืองคลองวาฬบอกส่งข่าวเข้ามาว่า  พม่าเมืองมะริดห้าร้อยยกมาตีบ้านทับสะแก  ได้ตั้งค่ายรับไว้  แต่กรมการตัวน้อยนัก  ขอพระราชทานกองทัพไปช่วย  ทรงสั่งให้มีตราบอกไปว่า  ราชการศึกยังติดพันกันอยู่ ให้ผู้รั้งกรมการทั้งปวงรับรองสู้รบพม่าไว้ให้ได้”

(https://i.ibb.co/6HPVv60/1401683519-wj1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          * สถานการณ์คับขันเข้าขั้นวิกฤตแล้วครับ  ไทยต้องเสียค่ายหนองน้ำเขาชะงุ้มซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับอุปโภคบริโภคของกองทัพ  พม่ารุกหนักเข้ามาอีก  ค่ายดงรังที่หนองน้ำขาวกำลังจะแตก  กระสุนดินดำเหลือน้อยเต็มที  นายกองทูลขอสนับสนุนด้านกระสุนดินดำ  พระเจ้าตากสินก็ตรัสให้รอเอาจากกองทัพเจ้าพระยาจักรีที่กำลังยกมาจากทางเมืองเหนือใกล้จะถึงแล้ว  ในขณะเดียวกันนั้นทางกรมการเมืองคลองวาฬ (ประจวบคีรีขันธ์) ก็แจ้งมาว่า  ทหารพม่าประมาณ ๕๐๐ คนยกมาตีทับสะแก  ไทยมีกำลังน้อยจะต้านทานมิอยู่  ขอให้ทางกรุงธนบุรีส่งกองกำลังลงไปช่วยด้วย  สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสให้บอกลงไปว่า  ขอให้กรมการเมืองคลองวาฬพยายามต้านทานข้าศึกไว้ก่อน  สถานการณ์ทางพระองค์ยังมีการสู้รบติดพันกันอย่างหนัก  ไม่อาจส่งกองกำลังลงไปช่วยทางคลองวาฬได้  ไทยจะพ้นวิกฤตินี้ได้อย่างไรหรือไม่  ดูกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/8gxjcHb/ed-7.png) (https://imgbb.com/)

           “ในเวลาเดียวกันนั้น  ก็มีข่าวร้ายและข่าวดีมาพร้อมกัน  กล่าวคือ  หลวงมหาเทพออกไปแต่กรุงธนบุรี  เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมทูลพระกรุณาว่า  สมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ (พระมารดา) ทรงพระประชวรพระยอดอัคเนสัน  เสด็จทิวงคตเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก (จุลศักราช ๑๑๓๖ = ๒๓๑๗)  ในราตรีเพลาสองยามแปดบาท  
           เวลาไล่เลี่ยกันนั้น  คนไทยที่เป็นเชลยพม่าสองคนหนีออกมาจากค่ายล้อมบ้านนางแก้ว  ให้การแก่นายทัพนายกองว่า  อดอาหารมานานถึง ๗ วันแล้ว  ได้กินแต่เนื้อช้างเนื้อม้าพอประทังชีวิต  แต่น้ำในบ่อนั้นยังมีอยู่  สำหรับปืนใหญ่ที่ไทยยิงเข้าในค่ายนั้น  ถูกทหารพม่าล้มตายเป็นอันมาก  พม่าได้ขุดหลุมลงหลบซ่อนอยู่  ทรงทราบดังนั้นจึงพระราชทานม้า ๑๐ ม้า  ให้พระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ) คุมกองรามัญใหม่ทั้งนายทั้งไพร่สี่ร้อยคนพร้อมอาวุธครบมือ  เป็นกองโจรยกไปลาดตระเวนข้างหลังเขาชะงุ้ม  คอยตีพม่าซึ่งจะยกมาช่วยพม่าในค่ายที่ล้อมนั้น

(https://i.ibb.co/kyvX1FC/gsgg-3.png) (https://imgbb.com/)

          ในขณะนั้นกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  ซึ่งยกทัพมาจากเชียงใหม่ก็ลงมาถึง  นำขุนนางเมืองน่านสองนายเข้าเฝ้า ณ พลับพลาค่ายโคกกระต่าย  กราบบังคมทูลข้อราชการซึ่งได้เกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองน่าน  จนได้เมืองน่านมาเป็นเมืองขึ้นเข้าในขอบขัณฑสีมา

(https://i.ibb.co/3BJy4fb/Un-titled-2.png) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัสที่ได้เมืองน่านมาเข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมาโดยมิต้องยกกำลังเข้าสู้รบกัน  ตรัสสรรเสริญเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระแสงดาบฝักทองด้ามทอง  กับพระธำมรงค์เพชรวงหนึ่ง   แล้วให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ยกไปตั้งค่ายอยู่เหนือพระมหาธาตุวัดเขาพระ  และให้ตั้งค่ายรายกันขึ้นไปถึงหลังค่ายล้อมบ้านนางแก้ว  อย่าให้พม่าวกหลังได้    ให้พระยารามัญวงศ์คุมพลทหารสี่ร้อยจัดเป็นสองกอง  ไปคอยด้อมมองจับพม่าที่ออกมาตักน้ำ ณ หนองเขาชะงุ้มให้จงได้”

(https://i.ibb.co/LRfMHLX/maxresdefault.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  การรบใหญ่ยังไม่มาถึง  ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้น  จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระปรีชาสามารถในการวางกลยุทธ์ที่จะพิชิตข้าศึกได้อย่างรัดกุมมาก  ในยามนั้นแม้จะทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดาก็มิได้ทรงเสียพระทัยจนเสียการศึกสงคราม  ผลการรบที่ค่ายบ้านนางแก้วจะเป็นอย่างไร  อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, พฤษภาคม, 2562, 10:47:17 PM
(https://i.ibb.co/SRCCGym/t15.png) (https://imgbb.com/)

- พม่าวอนขอชีวิต -

พม่าเมื่อถูกล้อมใกล้ยอมแพ้
ยังเล่นแง่นักเลงอวดเก่งกล้า
บอกถ้วนทั่วตัวนายยอมวายชีวา
แต่เมตตาลูกน้องที่ต้องตาย

จึงขอนัดเจรจาหาทางออก
ทางไทยบอกจงยอมเสียง่ายง่าย
จะเว้นโทษเข่นฆ่าชีวาวาย
พม่าบ่ายเบี่ยงพักคิดสักวัน


          อภิปราย ขยายความ................................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงถึงพม่ามาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านนางแก้ว  พระเจ้าตากสินทรงสั่งให้ทหารไทยยกกำลังไปตั้งค่ายรายล้อมพม่าไว้มีการรบย่อย ๆ ประปรายหลายครั้ง  พระเจ้าตากทรงให้มีตราเรียกกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) จากเชียงใหม่ให้ลงมาช่วยรบ  และให้เกณฑ์ทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ มาสบทบด้วย  เมื่อเจ้าพระยาจักรียกทัพลงมาแล้วทรงพระราชทานรางวัลความดีความชอบที่เจ้าพระยาจักรีได้เกลี้ยกล่อมเอาเมืองน่านมาขึ้นกับกรุงธนบุรีได้  จากนั้นทรงให้ไปตั้งค่ายมั่นอยู่เหนือพระมหาธาตุวัดเขาพระ  ตั้งค่ายรายล้อมถึงหลังค่ายพม่าบ้านนางแก้ว  ให้หลวงบำเรอภักดิ์คุมพลไปคอยจับทหารพม่าถ้าจะออกมาตักน้ำที่หนองเขาชะงุ้ม  เรื่องจะเป็นอย่างไร  ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ์เลขาว่าดังต่อไปนี้ครับ

(https://i.ibb.co/N191Zxp/Untitled-6.png) (https://imgbb.com/)

          * เวลาห้าทุ่มเศษของค่ำวันนั้น  พม่าในค่ายที่ถูกล้อมได้ยกออกมาแหกค่ายหน้าที่พระยาพิพัฒโกษา  พระยาเพชรบุรี พลทัพไทยระดมปืนใหญ่น้อยยิงออกไปจากค่ายถูกพม่าบาดเจ็บล้มตายมาก  แหกออกมิได้ก็ล่าถอยกลับเข้าค่ายไป  ครั้นถึงเวลาสามยามพม่าก็ออกแหกค่ายหน้าที่หลวงราชนิกุล  พลทหารไทยก็ระดมยิงปืนใหญ่น้อยเข้าใส่ถูกพม่าบาดเจ็บล้มตายอีกเป็นอันมาก  เมื่อแหกค่ายมิได้ก็ล่าถอยกลับเข้าค่ายไป  คราวนี้ฝ่ายไทยเสียนายสุจินดาโดยถูกปืนพม่าเสียชีวิตคนเดียว

(https://i.ibb.co/x8bw33s/cc2-01.png) (https://imgbb.com/)

          วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  พระเจ้าตากสินทรงม้าพระที่นั่งเสด็จดำเนินทัพไปหยุดอยู่ที่หลังค่ายหลวงมหาเทพ  ให้จักกายเทวรามัญร้องเข้าไปเป็นภาษาพม่าว่า  “ให้พม่าทั้งปวงออกมาหาโดยดีเถิด  ทรงพระกรุณาจะโปรดปล่อยไปให้สิ้น”  พม่านายทัพในค่ายร้องออกมาว่า  “ท่านล้อมไว้ครั้งนี้  ซึ่งจะหนีไปให้รอดจากความตายหามิได้แล้ว  แต่เอ็นดูไพร่พลทั้งปวงมากนักจะพลอยตายเสียด้วย  ถึงตัวเราผู้เป็นนายทัพจะตายก็ตามกรรมเถิด  แต่จะขอพบตละเกล็บสักหน่อยหนึ่ง” (ตละเกล็บ คือหัวหน้ามอญกบฏคนหนึ่งที่หนีมาจากอังวะ)  จึงดำรัสสั่งให้ตละเกล็บซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาพระรามนั้นขี่ม้ากั้นร่มระย้าออกไปเจรจากับพม่าตามความประสงค์  พม่าได้เขียนหนังสือเป็นภาษาพุกามใส่ใบตาลขดทิ้งออกมาจากในค่าย  อ่านและแปลออกเป็นคำไทยได้ความว่า

(https://i.ibb.co/2jJqpb6/burmesecavalry.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระเจ้าช้างเผือก ณ กรุงศรีอยุธยามีบุญบารมีมากนัก  พระราชอาณาจักรผ่านแผ่ไปในชมพูทวีปทั้งปวง  ฝ่ายพระเจ้าปราสาททอง ณ กรุงรัตนบุระอังวะก็มีบุญบารมีมากเป็นมหัศจรรย์  และพระมหากษัตริย์ทั้งสองฝ่ายเป็นเวรแก่กัน  ใช้ให้ข้าพเจ้านายทัพนายกองทั้งปวงมากระทำสงครามกับท่านอัครมหาเสนาบดีกรุงศรีอยุธยาในครานี้  และข้าพเจ้าเสียทีแก่ท่าน  ท่านล้อมไว้  จะพากันออกไปก็มิได้  จะหนีไปก็ขัดสนนัก  อันจะถึงแก่ความตายบัดนี้  ใช่แต่ตัวข้าพเจ้านายทัพนายกองเท่านั้นหามิได้  จะตายสิ้นทั้งไพร่พลเป็นอันมาก  และการสงครามแห่งพระมหากษัตริย์ทั้งสองฝ่ายจักสำเร็จสุดสิ้นแต่ครั้งนี้ก็หามิได้  ฝ่ายท่านอัครมหาเสนาบดีกรุงไทยก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  และพระราชกำหนดกฎหมายพิชัยสงคราม  ฝ่ายข้าพเจ้าก็เหมือนกัน  ดุจถืออาวุธและไม้ฆ้อนไว้ทั้งสองมือ  อันสมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า  ซึ่งเกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละคนนี้ยากนัก  ไฉนข้าพเจ้าทั้งปวงจะรอดชีวิต  ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยานั้น  ก็สุดแต่ปัญญาท่านอัครมหาเสนาบดีนั้นเถิด”

(https://i.ibb.co/1r06pSV/x240-lju.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงดำรัสสั่งให้เขียนหนังสือตอบทิ้งไปในค่ายพม่าเป็นอักษรรามัญฉบับหนี่งมีใจความสำคัญว่า

           “ถ้าท่านทั้งปวงออกมาถวายบังคมโดยดี  เราจะช่วยกราบทูลขอพระราชทานชีวิตไว้ทั้งนายและไพร่  ถ้ามิออกมาเราจะฆ่าเสียให้สิ้น”

(https://i.ibb.co/BZwRvZD/054101015-C04-DF84-ADCA.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในขณะนั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพจากเมืองพระพิษณุโลกก็ลงไปถึง  โดยมีกองทัพเมืองเหนือทั้งปวงทยอยลงไปถึงตามลำดับแล้วพร้อมกันเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม  พระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาพระราชทานร่มแพรแดงมีธงระย้าด้ามปิดทองแก่เจ้าพระยาสุรสีห์  แล้วดำรัสสั่งให้ยกไปดูการ ณ ค่ายล้อมบ้านนางแก้ว

(https://i.ibb.co/X3cKNRM/trnare4-03.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในขณะนั้นพระยาเพชรบุรีมิเป็นใจในการศึก  คิดย่อท้อต่อการสงคราม  พูดกับบ่าวว่าถ้าพม่ารบแหกค่ายออกมาได้รับรองมิหยุด  เราจะพากันหนีข้ามเขากลับไปเมือง  บ่าวนั้นนำคำพูดของพระยาเพชรบุรีมาฟ้องข้าหลวงให้กราบทูล  จึงดำรัสให้เอาตัวพระยาเพชรบุรีมาถามสอบ  ก็ยอมรับว่าได้พูดจริงตามนั้น  จึงตรัสสั่งให้มัดมือไพล่หลังแล้วเอาตระเวนรอบทัพ  จากนั้นให้ประหารชีวิตตัดศีรษะไปเสียบไว้หน้าค่ายอย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง

(https://i.ibb.co/r7gqJV4/Untitled-14.png) (https://imgbb.com/)

          พระยาพระรามรามัญใหม่ (ตละเกล็บ) กับหมื่นศรีสหเทพมากราบทูลว่า  ได้ไปเจรจากับพม่าโดยกล่าวว่า  ก่อนหน้านี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยกพยุหโยธาทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ได้แล้ว  โปสุพลากับโปมะยุง่วนหนีไปได้  ภายหลังโปสุพลาจะฆ่าโปมะยุง่วนเสีย  โปมะยุง่วนหนีเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงไว้  คราวนี้ถ้าพม่าตัวนายจะออกมาถวายบังคมขอสวามิภักดิ์เราจะช่วยพิดทูลให้รอดชีวิต  แต่พม่าว่าตละเกล็บพึ่งมาเข้าเป็นข้าเจ้ากรุงศรีอยุธยาใหม่จะไว้ใจมิได้  จะใคร่พบท่านนายทัพนายกองผู้ใหญ่

(https://i.ibb.co/DfNkxXV/Untisstled-4.png) (https://imgbb.com/)

          ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสให้กลับไปบอกแก่พม่าว่า  ให้แต่งพม่าตัวนายออกมาเถิด  จะพาไปพบท่านแม่ทัพผู้ใหญ่ตามปรารถนา  งุยอคุงหวุ่นจึงให้พม่านายกองคนหนึ่งกับไพร่ห้าคนออกมาหาตละเกล็บซึ่งเป็นพระยาพระราม  ดำรัสให้พระยาพระรามพาพม่านั้นไปให้พบพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์กับเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ที่ค่ายเหนือพระมหาธาตุวัดเขาพระ

(https://i.ibb.co/XCVJPsZ/Untaitled-3.png) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์จึงให้พระยาพระราม (ตละเกล็บ) บอกแก่พม่าว่า  “ถ้านายมึงออกมาถวายบังคมกูจะช่วยให้รอดจากความตาย  ถ้ามิออกมาจะฆ่าเสียทั้งสิ้น”  พม่าตัวนายจึงว่า  ขอให้ยับยั้งอยู่แต่ในเพลาพรุ่งนี้สามโมงเช้า  จะขอปรึกษาให้พร้อมกันก่อน  จึงให้ปล่อยพม่านายไพร่กลับเข้าค่ายไป”

(https://i.ibb.co/fdyRQJ8/Untitled-1.png) (https://imgbb.com/)

          * การล้อมค่ายพม่าบ้านนางแก้วได้ผล  กองทัพพม่าที่ยกหนุนมาทางด่านท่าดินแดง  ปากแพรก  ไม่สามารถช่วยพวกตนในค่ายบ้านนางแก้วได้  พม่าในค่ายนางแก้วกำลังอดอยาก  ช้างม้าในค่ายก็อดตาย  พลพม่าต้องแล่เนื้อเถือหนังช้างม้ากินเป็นอาหารพอประทังชีวิต  พวกเขาพยายามแหกค่ายตีหักออกจะหนีไป  ก็ไม่สำเร็จ  เพราะถูกยุทธการ  “ปิดประตูตีแมว”  จึงเจรจาร้องขอชีวิตต่อไทย  ผลจะเป็นอย่างไร  อ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, พฤษภาคม, 2562, 10:56:57 PM
(https://i.ibb.co/644GCmP/A3103406-52.jpg) (https://imgbb.com/)

- นายค่ายพม่าเจรจายอมแพ้ -

ไทยรวมพลมากน้อยทยอยหนุน
ฝ่าย“งุยอคงหวุ่น”ไม่ผลุนผลัน
ส่งเจ็ดนายเจรจาความเมืองกัน
ให้คำมั่นยอมอายถวายบังคม


          อภิปราย ขยายความ..................................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงม้าพระที่นั่งเสด็จไปถึงหน้าค่ายบ้านนางแก้ว (ปัจจุบันเรียกค่ายบางแก้ว) ตรัสให้จักกายเทวรามัญ  ร้องตะโกนเป็นภาษาพม่าให้พม่าทั้งปวงออกมาถวายบังคม  แล้วจะทรงพระกรุณาโปรดปล่อยไปทั้งสิ้น  พม่าร้องตอบว่าออกไปไม่ได้  ขอพบตละเกล็บชาวรามัญที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราม  เพื่อเจรจาความเมือง  หลังจากนั้นพม่าได้ส่งตัวนายออกมาเจรจา  ทรงให้พาไปพบพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์และเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  พระเจ้าหลานเธอตรัสรับรองว่าถ้านายค่ายพม่าออกมาถวายบังคม  จะขอรับรองให้รอดชีวิต  ตัวนายพม่าขอทุเลาว่า  เพลาพรุ่งนี้สามโมงเช้าจะให้คำตอบ  จึงปล่อยเข้าค่ายไป  วันนี้มาดูเรื่องนี้ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/B64B8zr/tled-13.png) (https://imgbb.com/)

          * “ณ วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) กราบถวายบังคมลายกกองทัพไปตั้งค่ายล้อมพม่า ณ ค่ายเขาชะงุ้ม  จึงดำรัสให้กองทัพหัวเมืองทั้งปวงและข้าหลวงในกรุงยกไปตั้งล้อมอยู่หลายค่าย  ในวันเดียวกันนั้น  พระกุยบุรี  พระคลองวาฬ  บอกเข้ามากราบทูลว่า  พม่าประมาณสี่ร้อยเศษยกมาตีเมืองบางสะพาน  ได้รบกันเป็นสามารถ  พม่าแหกค่ายหนีออกไปแล้วเผาเมืองบางสะพานเสีย  ยกไปทางเมืองปทิว  จึงทรงร่างท้องตราให้ไปถึงพระเจ้าหลานเธอเจ้าบุญจันทร์ และพระยาธิเบศบดีครั้งกรุงเก่า  ซึ่งโปรดตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช  ให้อยู่รักษากรุงธนบุรีนั้นให้มีหนังสือตอบบอกไปว่า  ให้พระกุยบุรี  พระคลองวาฬ  รักษาด่านทาง  ให้ใส่ยาเบื่อในหนองน้ำบ่อน้ำที่ทางข้าศึกจะมานั้นทั้งหมด  อย่าให้กินน้ำได้ แล้วให้เอาพม่าเมืองเชียงใหม่ซึ่งจำไว้ในคุกสามคน  ทวายคนหนึ่งกับพม่าซึ่งปล้นค่ายเจ้าพระอินทรอภัย ณ เขาชั่วพรานคนหนึ่ง  ให้ลงพระราชอาชญาตัดมือตัดเท้าเสีย  แล้วให้เขียนหนังสือผูกแขวนคอไป  ใจความหนังสือนั้นว่า  “บอกแก่เจ้านายมันให้เร่งยกมาอีกเถิด”

(https://i.ibb.co/VvR9yR6/unnamed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นเสด็จไปทอดพระเนตรค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัย  และพระโหราธิบดี  ซึ่งตั้งรักษาสระน้ำน้ำอยู่ ณ เขาชั่วพรานนั้น  พระยารามัญวงศ์ (จักกรีมอญ) และหลวงบำเรอภักดิ์จับพม่าได้สองคนนำมาถวาย  ดำรัสให้ถามพม่าได้ความว่า  มาแต่ค่ายปากแพรก เพื่อมาส่งลำเลียง  พม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายปากแพรกนั้นมีคนสามพันเศษ  ที่ยกเข้ามาตั้งค่ายอยู่ ณ เขาชะงุ้มนั้นสี่กองมีคนมากมายหลายพัน  ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสให้หลวงภักดีสงครามทหารกองนอก  ซึ่งอยู่ในกองพระยาเทพอรชุนที่ยกมาช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัยนั้น  ให้คุมพลทหารห้าร้อยยกไปเป็นกองโจร  ให้ถมห้วยหนองบึงบ่อที่มีน้ำตามทางมาแต่ปากแพรกเสียให้สิ้น  อย่าให้หลงเหลือเป็นกำลังข้าศึกได้  ถ้าถมไม่ได้ก็ให้เอาเปลือกไม้เบื่อเมา (เช่น หางไหลและสลัดได) และซากศพใส่ลงไป  อย่าให้กินน้ำได้  และให้ออกก้าวสกัดตีตัดลำเลียงพม่าอย่าให้ส่งถึงกัน

(https://i.ibb.co/1QGD4GT/Untitled-2.png) (https://imgbb.com/)

          ค่ำลงวันนั้นเวลาประมาณสองยาม  พม่าในค่ายเขาชะงุ้มทำค่ายวิหลั่นยกออกปล้นค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  ทหารในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกไปถูกพม่าบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก  พลทหารพม่ารวนเรลงมาถึงค่ายเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์แล้วถอยกลับเข้าค่าย  ครั้นเพลาสามยามเศษพม่ายกออกเราะค่ายพระยานครสวรรค์จนรุ่ง  ทหารในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกไปถูกพม่าบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก  รุ่งเช้าวันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ จึงเสด็จดำเนินทัพขึ้นไปช่วย  ดำรัสให้กองอาจารย์และฝีพายทนายเลือกเข้ารบ  ถ้าเห็นหนักที่ไหนให้เข้าช่วยที่นั้น  ครั้นเพลาสองโมงพม่าก็กลับเข้าค่าย  เมื่อเห็นว่าพม่ากลับเข้าค่ายแล้วก็เสด็จกลับมา ณ พลับพลาค่ายโคกกระต่าย

(https://i.ibb.co/bFqrDhJ/250206635wm2.png) (https://imgbb.com/)

          * ณ วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔  งุยอคุงหวุ่นนายทัพค่ายบ้านนางแก้ว  ให้พม่าตัวนาย ๗ คนออกมาเจรจาความเมืองด้วยพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์และเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ว่า  ถ้าท่านแม่ทัพกรุณาทูลขอชีวิตไว้ได้นายทัพนายกองทั้งปวงก็จะชวนกันออกมาถวายบังคมด้วยกันทั้งสิ้น  พระเจ้าหลานเธอและเจ้าพระยาจักรีก็รับปากแล้วปล่อยกลับไป ๒ คน  กักตัวไว้ ๕ คน  โดยกล่าวว่าครั้งก่อนลวงว่าจะออกมาทำให้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวเป็นเท็จไปครั้งหนึ่งแล้ว  ถ้าครั้งนี้เป็นเท็จอีกก็ช่วยอะไรไม่ได้

(https://i.ibb.co/MpMhzkZ/Unstitled-1.png) (https://imgbb.com/)

          เวลาเที่ยงวันนั้นกองทัพพระยานครราชสิมานำพลพันเก้าร้อยลงมาถึง  เมื่อเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสคาดโทษว่ามาช้ากว่าหัวเมืองทั้งปวง  พระยานครราชสีมากราบทูลแก้ตัวว่า  เหตุที่มาช้าเพราะว่า  เลกหัวเมืองขึ้นที่เกณฑ์ไปรบเชียงใหม่นั้นหนีตาทัพกลับบ้าน  จึงให้ไปเที่ยวตามจับตัวกับทั้งบุตรภรรยา  ได้ทั้งชายหญิงรวมเก้าสิบหกคนด้วยกัน  ทรงฟังความดังนั้นแล้วตรัสว่า  เลกหนีตาทัพจะเอาไว้มิได้  ให้ตัดศีรษะเสียสิ้นทั้งบุตรภรรยา ณ ริมทางนอกค่ายโคกกระต่ายนั่นเอง”

(https://i.ibb.co/mNfm4JJ/K11158910-53.jpg) (https://imgbb.com/)

          * อ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเรขามาถึงตอนนี้  ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดรู้สึกว่า  สมเด็จพระเจ้าตากสินออกจะทรงโหดเหี้ยมเกินไป  ที่กระทำทารุณกรรมต่อเชลยศึกพม่าด้วยการตัดมือตัดตีน  เขียนป้ายแขวนคอปล่อยตัวไปท้าทายข้าศึกศัตรู  และยังให้ใส่ยาเบื่อลงไปในแหล่งน้ำที่เป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าข้าศึก  นอกจากยาเบื่อเมาแล้วยังให้นำซากศพคนและสัตว์ตายเน่าใส่ลงในน้ำมิให้ข้าศึกดื่มกินได้  ส่วน “เลก” คือทหารเกณฑ์ที่หนีการเกณฑ์เป็นทหารนั้น เมื่อจับตัวได้ก็ทรงให้ประหารชีวิตด้วยการตัดหัวเสียสิ้น

          สงครามก็ต้องโหดร้ายทารุณอย่างนี้แหละครับ

          เมื่องุยอคงหวุ่นแม่ทัพในค่ายบ้านนางแก้วส่งนายทัพนายกองคนสนิทออกมาเจรจาความเมือง  แล้วตกลงกันว่าจะยกออกมาถวายบังคมยอมแพ้แต่โดยดีแล้ว  จะจริงตามข้อตกลงหรือไม่  อ่านต่อในเช้าวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, พฤษภาคม, 2562, 10:09:07 PM
(https://i.ibb.co/hXf1XwN/Untitledff-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- น้ำพระทัยพระเจ้าตาก -

ฝ่ายพม่ายอมแพ้แต่ไว้ชื่อ
ว่าข้าคือชาติเชื้อสิงห์เสือสม
เป็นชาติชายตายตนชื่อคนชม
มิยอมก้มหัวแพ้แก่ศัตรู

ยอมเคารพนบเกล้าเพียง“เจ้าตาก”
ด้วยทรงมากเมตตาไม่ลบหลู่
คนแพ้ยอมยอบลงทรงอุ้มชู
พร้อมเลี้ยงดูให้สุขทุกคนไป


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงการรบกับพม่าที่บ้านนางแก้ว  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ทรงใช้ยุทธวิธีตั้งค่ายล้อมค่ายพม่า ตัดการลำเลียงทุกทางเพื่อให้พม่าอดอยากแล้วยอมจำนน  ผลจะเป็นอย่างไรมาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ซึ่งกล่าวไว้ดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/d7xcj4v/un-sa-4-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ในวันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ นั้น งุยอคุงหวุ่นนายทัพพม่าก็ให้อุตมสิงหจอจัวปลัดทัพกับพม่าตัวนายหมวดนายกอง ๑๓ คน  นำเอาอาวุธต่าง ๆ มัดรวมออกมาเฝ้าพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์  พระเจ้าหลานเธอจึงให้พระยาพิพัฒโกษาและหลวงมหาเทพมัดอุตมสิงหจอจัวและพม่าตัวนายทั้งหมดนั้น  นำมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ พลับพลาค่ายโคกกระต่าย  จึงดำรัสให้ถามพม่า ๑๔ คน  ทั้งหมดให้การว่า  “ข้าพเจ้านายทัพนายกองทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันแล้ว  จึงนำเอาเครื่องศัสตราวุธออกมาถวายบังคม  ถ้าทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตแล้ว  จะขอถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าทูลละอองพระบาททำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป”

(https://i.ibb.co/dPDgLjC/Unsstitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          จึงดำรัสว่า  “กูจะให้จำไว้ก่อนกว่าจะได้ตัวนายมาพร้อมกัน  ถ้าเอ็งสวามิภักดิ์โดยจริงแล้ว  แม้นสำเร็จราชการศึกได้เมืองอังวะจะให้รั้งเมืองอังวะ”  แล้วดำรัสให้พระยาพระราม (ตละเกล็บ) ข้าหลวงมีชื่อคุมตัวอุตมสิงหจอจัวกับพม่า ๑๓ คนกลับไป ณ ค่ายล้อม  ให้ร้องเรียกงุยอคุงหวุ่นและพม่านายทัพนายกองทั้งปวงให้ออกมา  พม่าตัวนายในค่ายร้องตอบออกมาว่าขอเวลาปรึกษากันก่อน  พวกข้าหลวงก็พาพม่า ๑๔ คนกลับมาค่ายหลวง  สำหรับอุตมสิงหจอจัว  ปลัดทัพพม่าที่ออกมาเจรจาครั้งนั้นจะได้ไหว้ผู้ใดก็หามิได้  ถวายบังคมแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินเพียงพระองค์เดียว  ทรงดำรัสสรรเสริญว่า  “มิเสียทีเป็นขุนนางนายทหาร  น้ำใจองอาจรักษายศมิได้เข็ดขามย่อท่อ  ควรที่เป็นทหารเอก”  จากนั้นทรงสั่งให้เอาพม่าทั้ง ๑๔ คนไปจำไว้ที่ตะรางในค่ายหลวง

(https://i.ibb.co/RH5d6yZ/Untitlfged-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ณ วันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๔  โปรดให้พระยานครราชสิมายกทัพไปตั้งค่ายประชิดล้อมค่ายพม่า ณ เขาชะงุ้ม  ให้ปลูกร้านเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงค่ายพม่า  พร้อมกันนั้นก็ดำรัสสั่งให้มหาดเล็กไปถอดอุตมสิงหจอจัวและพม่า ๑๓ คนคุมตัวไปเรียกงุยอคุงหวุ่น ณ ค่ายล้อมว่า  “ให้ออกมาเถิดพระเจ้าทรงธรรมไม่ฆ่าเสีย  พระราชทานเสื้อผ้าและเครื่องอุปโภคแก่เราเป็นอันมาก  อย่าสงสัยเลย”

(https://i.ibb.co/q90vnNC/13.jpg) (https://imgbb.com/)

          งุยอคุงหวุ่นร้องตอบออกมาว่า  “เราให้ไปเป็นหลายคน  ไม่มีผู้ใดกลับมาบอกว่าร้ายดีประการใด  มีแต่ตัวเจ้ามายืนร้องเรียกอยู่อย่างนี้จะเชื่อฟังมิได้”  อุตมสิงหจอจัวก็ร้องตอบไปว่า  “พวกเราที่ออกมานั้นพระเจ้าทรงธรรมทรงเอาตัวไว้  ถ้าหนีหายไปสักคนหนึ่งจะให้ใช้ถึง ๑๐ คน  แม้นเราจะให้กลับเข้าไปหาท่าน  ท่านมิกลับออกมาก็ดี  ฆ่าเสียก็ดี  เราจะได้พม่าที่ไหนไปใช้ให้พระเจ้าทรงธรรมเล่า  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะทรงโกรธแล้วฆ่าเราเสีย  เพราะเหตุนี้เราจึงมิได้ให้ใครกลับเข้าไปแจ้งความแก่ท่าน”  งุยอคุงหวุ่นร้องตอบออกมาว่า  “จงปล่อยใครในจำนวนนั้นเข้ามาสักคนเถิด  ถ้าเราฆ่าเสียก็ดี  มิให้กลับออกไปก็ดี  จงให้อาวุธซึ่งล้อมอยู่นี้สังหารเราเถิด”  อุตมสิงหจอจัวจึงให้  แยละ ๑   แยข่องจอ ๑   เข้าไปในค่ายแล้วบอกว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงพระเมตตาหาฆ่าเสียไม่  งุยอคุงหวุ่นก็ว่า  ผู้น้อยและไพร่ไม่ตาย  แต่ตัวเราเป็นผู้ใหญ่เห็นจะตายเป็นมั่นคง”  แล้วก็ปล่อยตัวแยละ  แยข่องจอ  ออกจากค่ายกลับไปหาอุตมสิงหจอจัว  พม่าทั้งหมดกลับเข้าเฝ้าและกราบทูลให้ทรงทราบ

(https://i.ibb.co/K9tThNw/d-2.png) (https://imgbb.com/)

          ทรงดำรัสว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  จะคิดอ่านให้งุยอคุงหวุ่นออกมาไม่ได้ละหรือ  พวกข้าหลวงกราบทูลว่า  เห็นขัดสนอยู่  แต่ถ้าเอาปืนลูกไม้ยิงเข้าไปอีกจนพม่ากลัวมากเข้าก็น่าจะพากันออกมาจากค่ายทั้งหมด  พระองค์ดำรัสตอบว่า  อันจะฆ่าพม่าให้ตายนั้นง่าย  แต่จะเป็นบาปกรรมหาผลประโยชน์สิ่งใดไม่”  แล้วทรงให้คุมตัวพม่าทั้ง ๑๔ คนไปไว้ในตะรางตามเดิม

(https://i.ibb.co/mBZq0hv/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ค่ำวันนั้นเวลาทุ่มเศษ  ดำรัสให้ไปเอาตัวอุตมสิงจอจัวมาเฝ้า  ตรัสถามว่า  พม่าที่มารบครั้งนี้มีเพียงเท่านี้หรือว่าจะมียกหนุนมาอีก  อุตมสิงหจอจัวกราบทูลว่า  มีทัพอะแซหวุ่นกี้เป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าอังวะ  พระเจ้าอังวะทรงตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่ขณะนี้ยังตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ  มีรี้พลเป็นอันมาก  รอคอยฟังข่าว  ตะแคงมรหน่องและหม่องจ่ายิดนายทัพปากแพรกจะบอกขึ้นไปประการใด  เห็นทีว่าอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่จะยกหนุนลงมาอีกเป็นแน่

(https://i.ibb.co/Mncy4N3/ddgfg.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทรงฟังดังนั้นจึงมีตราให้ไปหานายทัพผู้ใหญ่มาร่วมปรึกษาราชการ  เมื่อแม่ทัพผู้ใหญ่มาประชุมพร้อมกันแล้วจึงตรัสปรึกษาว่า  “เราจะให้หาทัพหัวเมืองปากใต้สี่เมือง  คือ  เมืองจันทบูร ๑   เมืองไชยา ๑   เมืองนครศรีธรรมราช ๑   เมืองพัทลุง ๑   ให้ยกเข้ามาอีก  แม้นทัพใหญ่อะแซหวุ่นกี้ยกหนุนเพิ่มเติมมามาก  จะได้สู้รบมีกำลังมากขึ้น”  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) กราบทูลว่า   “อันทัพเมืองฝ่ายใต้ทั้งสี่เมืองนั้นระยะทางไกลนัก  เห็นจะยกมามิทัน  ถึงมาตรว่าอะแซหวุ่นกี้จะยกทัพใหญ่หนุนมา แต่ทัพในกรุงกับทัพเมืองเหนือซึ่งสู้รบอยู่บัดนี้  ก็เห็นจะพอต้านทานทัพอะแซหวุ่นกี้ไว้ได้”

(https://i.ibb.co/0s9mcWt/Untitfgled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทรงเห็นชอบตามที่เจ้าพระยาจักรีกราบทูลนั้น  จึงดำรัสต่อไปว่า  “อันเมืองฝ่ายใต้นั้นยังมิได้กระทำสงครามกับพม่า  บัดนี้ข้าวในฉางหลวงซึ่งจะจ่ายในกองทัพก็น้อยลง  จงให้มีตราเกณฑ์เอาข้าวสารเมืองนครศรีธรรมราชหกร้อยเกวียน  เมืองพัทลุง  เมืองไชยา  เมืองจันทบูร  สามเมืองให้เกณฑ์เอาเมืองละสี่ร้อยเกวียน  ถ้าข้าวขัดสนให้ส่งเงินคิดเป็นราคาข้าวเปลือกเกวียนละห้าตำลึง  ข้าวสารเกวียนละสิบตำลึงเข้ามาตามรับสั่ง”   แล้วให้หมายบอกนายทัพนายกองทั้งปวงว่า  “ถ้าพม่าเลิกหนีไปก็อย่าให้ยกติดตาม  เกรงเกลือกพม่าจะซุ่มซ่อนพลไว้โจมตีตามระยะทาง  ด้วยข้าศึกมิได้แตกเลิกถอยไปเอง  แม้นจะยกทัพตามไปก็ให้ก้าวสกัดไปเอาทางปากแพรกทีเดียว”

(https://i.ibb.co/TBSKMTC/Unstitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          * * แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าต้องพ่ายแพ้แน่นอน  งุยอคุงหวุ่นแม่ทัพพม่าค่ายนางแก้วยอมแพ้แต่ยังไม่ยอมมอบตัว  ให้อุตมสิงหจอจัวปลัดทัพพร้อมนายทัพนายกองจำนวนหนึ่งรวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์ผูกรวมกันแบกออกจากค่าย  เข้ามอบตัวแก่พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์  ในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น  อุตมสิงหจอจัวเดินผ่านนายทัพนายกองขุนศึกขุนนางไทยอย่างทระนงองอาจ  หมอบคลานเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมแต่เฉพาะสมเด็จพระเจ้าตากสินเท่านั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นจึงตรัสชมว่า  เขาสมกับเป็นชายชาติทหาร  ตรัสให้กลับไปเจรจาเกลี้ยกล่อมงุยอคุงหวุ่น  แต่ไม่สำเร็จ  เพราะแม่ทัพยังไม่ไว้วางใจ  สมเด็จพระเจ้าตากสินแสดงน้ำพระราชหฤทัยให้เห็นว่าทรงมีพระเมตตาต่อข้าศึกศัตรู  โดยตรัสว่า  “อันจะฆ่าพม่าให้ตายนั้นง่าย  แต่จะเป็นบาปกรรมหาผลประโยชน์สิ่งใดมิได้”   จึงทรงหาอุบายให้งุยอคุงหวุ่นแม่ทัพค่ายนางแก้วยอมมอบตัวต่อไป

          ติดตามอ่านต่อในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, พฤษภาคม, 2562, 10:17:42 PM
(https://i.ibb.co/p2CGwG5/dfdfs.jpg) (https://imgbb.com/)

- ได้ค่ายนางแก้วโดยละม่อม -

“งุยอคุงหวุ่น”ครุ่นคิดหนัก
จะยอมหักคามือหรือหาไม่
แต่แล้วยอมพร้อมงออย่างท้อใจ
สู้แล้วไร้ผลดีมีแต่ทราม

จึงยอมแพ้แก่ไทยไม่สู้ต่อ
เข้าเฝ้าขอเป็นข้าแผ่นดินสยาม
พระเจ้าตากรับไว้ไม่คุกคาม
เลี้ยงดูตามฐานะจะพึงมี


          อภิปราย ขยายความ................................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่งุยอคุงหวุ่นแม่ทัพค่ายบ้านนางแก้ว  ให้อุตมสิงหจอจัวปลัดทัพนำนายหมวดนายกอง ๑๓ คนพร้อมอาวุธต่าง ๆ มัดรวมกันออกจากค่ายมามอบตัว  เป็นการ “หยั่งเชิง” สมเด็จพระจ้าตากสิน  จึงทรงให้กักขังอุตมสิงหจอจัวไว้ระหว่างรอการเจรจาต่อรองกับงุยอคุงหวุ่น  วันนี้มาดูเรื่องราวต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/68Dm7Tg/idef32011.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔  ซึ่งเป็นเทศกาลตรุษวันต้น  จึงดำรัสให้ข้าหลวงคุมตัวอุตมสิงหจอจัวไป ณ ค่ายล้อมอีก  ไปร้องเรียกงุยอคุงหวุ่นให้ออกมาจากค่าย  งุยอคุงหวุ่นร้องตอบออกมาว่า  “ท่านจะเข้ามามัดก็มัดเอาเถิด  หรือจะเข้ามาฆ่าเสียก็ฆ่าเถิด  จะนิ่งตายอยู่ในค่าย  ไม่ออกไปแล้ว”  อุตมสิงหจอจัวจึงพากันกลับมากราบทูลตามนั้น  จึงให้อุตมสิงหจอจัวเขียนหนังสือเป็นอักษรพุกามมีใจความว่า  “ถ้างุยอคุงหวุ่นจะออกมาถวายบังคมก็ให้เร่งออกมา  แม้นมิออกมาพระเจ้าทรงธรรมจะให้พลทหารเข้าไปฟันเสียให้สิ้นทั้งสามค่าย”  จากนั้นเสด็จไปตั้งอยู่หลังค่ายหลวงมหาเทพ  ให้พม่าถือหนังสือเข้าไปถึงงุยอคุงหวุ่นในค่าย

(https://i.ibb.co/6mZxcTf/e47iQbA.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นถึงเพลาเย็นวันนั้น  งุยอคุงหวุ่นจึงมัดอาวุธที่มีอยู่ในค่ายทั้งสิ้นให้ไพร่พลขนออกมาถวาย  และสั่งมากราบทูลด้วยว่า  “ขอผัดอีกวันหนึ่ง  เพลาพรุ่งนี้เราจะออกไปเฝ้า  ให้อุตมสิงหจอจัวมารับเราด้วย”  สมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสให้พวกข้าหลวงคุมเอาตัวพม่าทั้งปวงกับอาวุธทั้งหมดส่งมายังค่ายหลวง  แล้วเสด็จกลับ

(https://i.ibb.co/x78xQw9/26e2187e6.jpg) (https://imgbb.com/)

          * รุ่งขึ้นวันศุกร์ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  ดำรัสให้ข้าหลวงคุมตัวอุตมสิงหจอจัวออกไปรับงุยอคุงหวุ่นที่ค่ายล้อม  งุยอคุงหวุ่นให้เมี้ยนหวุ่น  กับ  ปคันเลชู  สองนายกับพม่ามีชื่อตัวนายอีก ๑๒ คนออกมาก่อน  อุตมสิงหจอจัวกับข้าหลวง ๑๔ คนนั้นมาเข้าเฝ้าถวายบังคม ณ ค่ายหลวง  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงพระราชทานเลี้ยงหน้าพระที่นั่งอิ่มหนำทุกคนแล้ว  เมี้ยนหวุ่นกับปคันเลชูกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามาทำสงครามเสียท่วงทีล้อมขังไว้ได้ถึงตายทั้งสิ้น  ขาดจากเป็นข้าพระเจ้าอังวะแล้ว  บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตไว้  จะขออาสาทำราชการกว่าจะสิ้น  จะขอพระราชทานไพร่พม่าสองคนกับตัวข้าพระพุทธเจ้า ๒ คนนี้  จะเข้าไปกล่าวเอาตัวงุยอคุงหวุ่นนายทัพออกมาให้ได้”

(https://i.ibb.co/L1JgSzh/Untitleewd-2.png) (https://imgbb.com/)

          จึงโปรดให้ตามคำกราบทูลนั้น  เมี้ยนหวุ่นกับปคันเลชูกลับเข้าค่ายไปเกลี้ยกล่อมงุยอคุงหวุ่นจนถึงเพลาบ่ายของวันนั้น  งุยอคุงหวุ่นกับเนมโยแมงละนรทา  ยุยยองโบ่  อคุงหวุ่นมุงโยะ  และพม่ามีชื่อตัวนายทั้งสิ้นกับหญิง ๒ คน  ทั้งไพร่พล ๑,๓๒๘ คน  กับม้าแดงสองม้า  ม้าดำหนึ่ง  ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นออกมาสิ้นทั้งสามค่าย  พวกข้าหลาวงก็นำเข้าเฝ้ากราบบังคมทูล  จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโภชนาหารให้เลี้ยงจนอิ่มหนำสำเร็จแล้ว  งุยอคุงหวุ่นจึงถวายทรัพย์สิ่งของเครื่องอุปบริโภคทั้งปวงซึ่งมีมานั้น  ทรงกล่าวว่า  “เราทำสงครามใช่จะปรารถนาเอาทรัพย์สิ่งสินหามิได้  ตั้งใจจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  และประชาราษฎรทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในสัจธรรม”  จากนั้นทรงให้พวกข้าหลวงคุมพม่าทั้งปวงไปจำไว้ในตะราง”

(https://i.ibb.co/8BWjcSJ/Untitlejd-1.png) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  งุยอคุงหวุ่นนายทัพหน้าพม่าที่อะแซหวุ่นกี้ให้ยกมาก่อนนั้นได้ตั้งค่ายเป็นสามค่าย ณ บ้านนางแก้ว ราชบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสั่งให้แม่ทัพนายกองยกทัพไปตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓  จนถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  ไม่ทรงปรารถนาจะฆ่าพม่าให้ตาย  โดยต้องการจับเป็นทั้งหมด  พม่าถูกกักขังอยู่ในค่ายเป็นเวลานาน ถึง ๔๗ วัน  ก็ยอมจำนน  พากันออกมาถวายบังคมขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท  เมื่อทหารพม่าออกจากค่ายหมดแล้ว  จึงดำรัสให้พระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ) คุมกองรามัญพันหนึ่งเข้าอยู่ในค่ายนั้นแทน  แล้วให้ร้องแห่พูดจาภาษาพม่า  เพื่อให้พวกพม่า ณ ค่ายเขาชะงุ้มได้ยิน  จะได้สำคัญว่าพวกเดียวกันยังอยู่ในค่ายบ้านนางแก้ว  แล้วจะตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้มให้จงได้  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ติดตามอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤษภาคม, 2562, 11:07:23 PM
(https://i.ibb.co/jgsm8w8/Untiadtled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

- วีรกรรมนายขนมต้ม -

ปราบพม่าตะวันตกหมดยกกลับ
พร้อมรอรับศึกใหม่ไม่ถอยหนี
ฝ่ายเจ้ากรุงอังวะฉลองเจดีย์
จัดให้มีชกมวยด้วยโปรดปราน

“ขนมต้ม”เชลยไทยได้ขึ้นชก
เพียงต้นยกคู่ต่อยไม่คอยต้าน
พ่ายน็อกหมดสิบคนพ้นประมาณ
พม่าม่านม่อยระย่อไม่ต่อกร

เพราะหวังได้ไทยสิ้นแผ่นดินสยาม
จึ่งคุกคามเมืองเหนือ“กินเหยื่ออ่อน”
“อะแซหวุ่นกี้”จัดการตัดตอน
ยกทัพรอนรานทางกลางตอนบน


          อภิปราย ขยายความ................................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าที่บ้านนางแก้ว  ราชบุรี  ทรงใช้เวลาล้อมค่ายอยู่ตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  แม่ทัพนายกองพม่าจึงยอมจำนน  พากันออกมามอบตัวขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทนั้น

(https://i.ibb.co/zRHknsg/Untifgtled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันนี้ใคร่ขอรวบลัดตัดความในในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า  ต่อจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงบัญชาการรบ  ตรัสให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  กับ  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  เจ้าพระยาสองพี่น้องดำเนินการเข้าตีค่ายพม่าที่เหลือทั้งหมดจนแตกยับเยิน  พม่าล้มตายลงเป็นอันมาก  จับตัวเชลยได้หลายพันคน  ที่รอดตายและรอดถูกจับตัวได้หนีกลับไปได้ไม่มากนัก  ศึกพม่าด้านเบื้องตะวันตกกรุงธนบุรีก็สงบลง  เมื่ออะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่พม่าที่มาตั้งบัญชาการรบอยู่ที่เมืองเมาะตะมะนั้นเห็นว่ากองทัพไทยกล้าแกร่งเกินกำลังจะต่อตีได้ง่าย ๆ  จึงไม่คิดสู้รบต่อไป  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อครับ

(https://i.ibb.co/6FQGt3y/king-00.jpg) (https://imgbb.com/)

          “เมื่อทรงปราบปรามพม่าที่ยกมาประชิดดินแดนไทยด้านตะวันตกได้ราบคาบแล้วจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรี  กองทัพทั้งปวงก็เลิกทัพตามเสด็จกลับมาทั้งสิ้น  เมื่อถึงกรุงธนบุรีแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย เป็น กรมขุนอินทรพิทักษ์   ตั้งพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์ เป็น กรมขุนอนุรักษ์สงคราม   ตั้งพระเจ้าหลานเธอบุญจันทร์ เป็น กรมขุนรามภูเบศ  แล้วพระราชทานรางวัลแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยโดยสมควรแก่ความชอบในราชการสงคราม  ส่วนม้าแดงสองม้าที่ได้มาแต่ค่ายพม่านั้นเห็นว่ามีฝีเท้าเร็วควรจะเป็นราชพาหนะพระที่นั่งได้  จึงโปรดตั้งชื่อขึ้นระวางเป็น เจ้าพระยาอาชาชาติ ๑   เจ้าพระยาราชพาหนะ ๑

          จากนั้น  ให้ปลูกพระเมรุ ณ วัดบางยี่เรือใต้เสร็จแล้ว  โปรดให้เชิญพระโกศบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง  กรมพระเทพามาตย์ (พระมารดา)  ใส่เรือพระที่นั่งกิ่ง  แห่โดยกระบวนนาวาพยุหไปโดยทางชลมารค  เชิญขึ้นสู่เมรุแล้วให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์หนึ่งพันรูปมาสดับปกรณ์  ถวายไตรจีวรบริขารต่าง ๆ มีงานมหรสพสามวัน  แล้วถวายพระเพลิง

(https://i.ibb.co/FBTb3vB/4-DQpj-Utz-LUwm-JZZ.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึง ณ เดือน ๑๐ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ (พ.ศ. ๒๓๑๘)  มีหนังสือบอกจากเมืองเชียงใหม่ลงมาว่า  โปสุพลา  โปมะยุง่วน  ซึ่งแตกหนีจากเชียงใหม่ไปอยู่เมืองเชียงแสนนั้น  มีข่าวว่าจะยกกลับมาตีเชียงใหม่อีก  จึงดำรัสให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นแม่ทัพ  คุมทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงยกขึ้นไปช่วยราชการเมืองเชียงใหม่  และโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกกองทัพขึ้นไปช่วยด้วย  ถ้าตีทัพพม่าแตกแล้วให้ยกตามไปตีเมืองเชียงแสนทีเดียว

(https://i.ibb.co/KyZ1ftx/Untcvitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * กล่าวฝ่ายพระเจ้าอังวะที่ยังคงอยู่ ณ เมืองย่างกุ้ง  ได้ทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกศธาตุเสร็จแล้วโปรดให้มีการฉลอง  ในงานฉลองนี้จัดให้มีการแข่งขันชกมวยด้วย  ได้มีขุนนางพม่ากราบทูลว่า  มีนักมวยคนไทยฝีมือดียิ่งนักถูกกวาดต้อนมาจากรุงศรีอยุธยา  จึงตรัสให้จัดหามาเข้าร่วมการแข่งขัน  ขุนนางนั้นจึงได้นายขนมต้มคนหนึ่งเป็นมวยดีมีฝีมือแต่ครั้งกรุงเก่า  เอาตัวมาถวายพระเจ้าอังวะ  พระเจ้ามังระจึงให้จัดพม่าคนมวยเข้ามาเปรียบนายขนมต้ม  เมื่อเห็นว่าเปรียบได้กันแล้วก็ให้ชกกันหน้าที่นั่ง  ผลปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็ชนะอย่างง่ายดาย  ดำรัสให้หาคนมวยอื่นมาเปรียบชกอีก  นายขนมต้มก็ชกทั้งพม่าและมอญแพ้ไปถึงเก้าคนสิบคนไม่มีใครสู้ได้

(https://i.ibb.co/FDnC4Lx/Untixtled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็ทรงยกพระหัตถ์ตบพระอุระ  ตรัสสรรเสริญฝีมือนายขนมต้มว่า  “ไทยมีพิษอยู่ทั่วตัว  แต่มือเปล่าไม่มีอาวุธเลยยังสู้ได้  คนเดียวชำนะถึงเก้าคนสิบคนฉะนี้  เพราะเจ้านายไม่ดีจึงเสียเมืองแก่ข้าศึก  ถ้าเจ้านายดีแล้วไหนเลยจะเสียกรุงศรีอยุธยา”  ตรัสสรรเสริญแล้วจึงพระราชทานรางวัลแก่นายขนมต้มโดยสมควร

(https://i.ibb.co/6DcDDv3/31386874.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในเวลานั้นหนังสือบอกจากอะแซหวุ่นกี้ก็มีขึ้นไปกราบทูลว่า  กองทัพถูกไทยตีแตกหมดทุกกองทัพ  เสียรี้พลไปเป็นอันมาก  ไทยล้อมจับได้เป็นพันเศษ  และเมืองไทยบัดนี้มีกำลัง  เพราะหัวเมืองฝ่ายเหนือผู้คนยังบริบูรณ์มั่งคั่ง  จะขอกองทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือให้ได้เสียก่อน  ไทยจึงจะหย่อนกำลัง  ภายหลังจึงจะตีเอาเมืองบางกอกเห็นจะได้โดยง่าย  พระเจ้ามังระเห็นชอบด้วย  จึงให้เกณฑ์กองทัพเพิ่มเติมมาอีก  ให้อะแซหวุ่นกี้ยกไปตีเมืองฝ่ายเหนือให้ยับเยินจงได้  แล้วเสด็จกลับคืนไปเมืองอังวะ

(https://i.ibb.co/4K6BgXY/itled-1.png) (https://imgbb.com/)

          อะแซหวุ่นกี้รับพระราชบัญชาแล้วจัดแจงแต่งกองทัพ  ให้แมงแยยางูผู้น้องกับกะละโบ่ ๑   ปัญญีแยข่องจอ ๑   ปัญญีตจวง ๑   ถือพลสองหมื่นเป็นกองหน้า  ตัวอะแซหวุ่นกี้เป็นโบชุกแม่ทัพ  กับ  ตะแคงมรหน่อง  และเจ้าเมืองตองอู  ถือพลหมื่นห้าพัน  พร้อมด้วยช้างม้าสรรพาวุธพร้อมเสร็จ  เมื่อจัดเตรียมทัพพร้อมแล้ว  ถึง ณ เดือน ๑๑  ก็ยกกองทัพจากเมืองเมาะตะมะเข้าสู่ไทยทางด่านเมืองตาก  แล้วหยุดทัพอยู่ที่นั้น  กรมการเมืองตาก  เมืองกำแพงเพชร  เห็นกองทัพพม่ายกมามากเหลือกำลังจะต่อรบก็พาครัวหนีเข้าป่า  แล้วส่งหนังสือบอกไปถึงกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  กับ  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  และบอกลงมายังกรุงธนบุรีกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ”

(https://i.ibb.co/vLH0RCN/Untiffdtled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          * นายขนมต้มเป็นชาวอำเภอบางบาล  นักมวยดังในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา  เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึก  เขาได้แสดงฝีมือให้ปรากฏต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้าอังวะ  ปราบนักมวยพม่ามอญราบคาบด้วยการชนะน็อกทั้งหมดมากกว่า ๑๐ คน  จนพระเจ้าอังวะทรงตบอกกล่าวชม  แถมแขวะมาถึงไทยว่า  “ ไทยมีพิษอยู่ทั่วตัว ...ฯลฯ...”  ก็เห็นจะจริงดังคำตรัสของพระองค์นะครับ

(https://i.ibb.co/R0LyBbW/Undgtitled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          อะแซหวุ่นกี้เห็นว่ากรุงธนบุรีเข้มแข็งเพราะมีกำลังอันเข้มแข็งทางเหนือให้การสนับสนุนค้ำจุนอยู่  หากเข้าตียึดหัวเมืองฝ่ายเหนือได้หมดแล้ว  กรุงธนบุรีก็ไม่รอดมือไปได้  จึงขออนุญาตพระเจ้าอังวะยกทัพใหญ่เข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือโดยมุ่งตรงพิษณุโลกเป็นเป้าหมายสำคัญ  สมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงรับมือศึกใหญ่นี้อย่างไร  อ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี่ผึ้งไทย
๑๓ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, พฤษภาคม, 2562, 10:47:30 PM
(https://i.ibb.co/BCGrHhZ/K10948335-39.jpg) (https://imgbb.com/)

- คำทำนายอะแซหวุ่นกี้ -

“อะแซหวุ่นกี้”เข้าตีดะ
ตากเลยละสุโขทัยไม่ตกหล่น
ล้อมพิษณุโลกแล้วตีวน
สู้กันจนอุตลุดสุดฝีมือ

เจ้าพระยาจักรีฝีมือแกร่ง
ขุนพลแห่งพม่ายอมน้อมนับถือ
กล่าวทำนายว่าจะเรืองระบือ
ต่อไปคือแน่ชัดกษัตริย์ไทย


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกกล่าวเล่าความถึงตอนที่  พระเจ้าอังวะจัดงานฉลองยอดฉัตรพระมหาเจดีย์เกศธาตุ (ชเวดากอง) ให้มีการชกมวย  และนำนายขนมต้มเชลยชาวไทยที่เป็นนักมวยฝีมือดีของไทย  ขึ้นชกกับนักมวยพม่ามอญ  แล้วผลปรากฏว่านายขนมต้มชนะน็อกรวด ๑๐ คนกว่า  ทรงตบพระอุระตรัสชมเชยแล้วเสด็จกลับอังวะ  โปรดให้อะแซหวุ่นกี้จัดทัพใหญ่ยกเข้าตีไทยทางภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบน  มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพิษณุโลกของเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้อ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/v3dnFSs/sfd.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “ทางเมืองเหนือนั้น  กองทัพโปสุพลา  โปมะยุง่วน  ยกจากเชียงแสนเข้าประชิดเมืองเชียงใหม่  ครั้นกองทัพเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  ยกขึ้นไปถึง  ทัพพม่าก็เลิกถอยไป  ขณะที่เจ้าพระยาพี่น้องทั้งสองจะยกทัพติดตามไปตีเชียงแสนก็พอดีได้รับหนังสือแจ้งว่ามีกองทัพใหญ่พม่ายกมาทางเมืองตาก  เจ้าพระยาทั้งสองจึงรีบยกทัพกลับมาถึงกลางทางเหนือเมืองสุโขทัย  แล้วหยุดพักอยู่ที่วัดปากน้ำในเขตเมืองสวรรคโลก  กองทัพอะแซหวุ่นกี้ยกมาติดเมืองสวรรคโลกแล้วจับกรมการเมืองได้สองคน  อะแซหวุ่นกี้ให้ถามว่า  พระยาเสือ  เจ้าเมืองพิษณุโลกอยู่หรือไม่  กรมการเมืองตอบว่า  ไม่อยู่  ไปเมืองเชียงใหม่  อะแซหวุ่นกี้จึงว่า  “เจ้าของเขาไม่อยู่  อย่าเพ่อไปเหยียบเมืองพิษณุโลกเขาเลย“  จึงให้กองทัพหน้ายกลงมาตั้งค่าย ณ บ้านกงธานี (คือเมืองสุโขทัยธานีปัจจุบัน)

           (“พระยาเสือ”  ที่อะแซหวุ่นกี้เรียก หมายถึง  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  ที่เรียกว่าพระยาเสือนั้น  ด้วยว่าเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นดูจะรบแบบเหี้ยมหาญดุดันจนเป็นที่ขยาดของทหารพม่า  ผู้คนจึงตั้งฉายาให้ว่า “พระยาเสือ”)

(https://i.ibb.co/8btgqQM/93e4d59ae5c.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาทั้งสองทราบดังนั้น  เจ้าพระยาสุรสีห์  จึงปรึกษาเจ้าพระยาจักรี  ว่าควรจะยกไปตีพม่าดีหรือไม่  เจ้าพระยาจักรีว่า  อย่าไปตีเลย  พม่าคงจะยกไปตีเมืองเรา  เรากลับไปจัดแจงบ้านเมืองไว้รับข้าศึกดีกว่า  แต่เจ้าพระยาสุรสีห์ว่าจะขอไปตีดูกำลังข้าศึก  เจ้าพระยาจักรีก็ว่าเจ้าจะไปตีก็ไปเถิด  ข้าจะไปจัดแจงบ้านเมืองไว้ท่า  ว่าแล้วก็ยกเข้าเมืองพิษณุโลกจัดแจงป้องกันเมือง  กวาดต้อนครอบครัวเข้าไว้ในเมือง  แล้วให้กองพระยาสุโขทัย  พระยาอักษรวงศ์  พระยาพิชัยสงคราม  ยกไปรับทัพพม่า ณ บ้านกงธานี

(https://i.ibb.co/FwbH6Gt/1-9249-004-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตั้งค่าย ณ บ้านไกรป่าแฝก  พม่าทราบดังนั้นก็ยกทัพมาล้อมไว้  แล้วขนค่ายตับมาเป็นอันมากตั้งค่ายล้อม  เปิดช่องไว้แต่ด้านจะลงแม่น้ำ  เจ้าพระยาสุรสีห์ตั้งค่ายอยู่สามวันเห็นทัพพม่ามากเหลือกำลังจะต่อรบ  ก็ถอยทัพมาทางด้านที่เปิดไว้  รีบมาเข้าเมือง  กองทัพอะแซหวุ่นกี้ยกเข้าตีเมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  กองทัพไทยที่ยกมาตั้งรับใต้บ้านกงธานีแตกพ่าย  แล้วจัดทัพย่อยแยกย้ายไปตีเมืองพิชัย  ทัพใหญ่ยกเข้าถึงเมืองพระพิษณุโลกในเดือนอ้ายข้างขึ้น ให้ตั้งค่ายรายล้อมอยู่ห่างเมืองทั้งสองฟาก  เจ้าพระยาทั้งสองก็เกณฑ์พลทหารขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินปราการรอบเมือง  ป้องกันเมืองเป็นสามารถ  ให้ทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำกลางเมืองสามแห่ง

(https://i.ibb.co/H7Kn4G5/K11158910-51.jpg) (https://imgbb.com/)

          อะแซหวุ่นกี้ขึ้นขี่ม้ากั้นร่มระย้าออกเลียบหน้าค่าย  มีพลทหารถือปืนนกสับแห่หน้าสามพัน  ทหารถือทวนตามหลังพันหนึ่ง  เจ้าพระยาสุรสีห์ยกพลทหารออกจากเมืองเข้าโจมตีทัพพม่า  พม่าก็ต่อรบ  ทั้งสองฝ่ายรบกันถึงตะลุมบอน  ทัพไทยต้านทานเหลือกำลังก็ถอยเข้าเมือง  วันรุ่งขึ้น  อะแซหวุ่นกี้ก็ยกพลออกเลียบค่ายเหมือนวันก่อน  เจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นดูบนเชิงเทินแล้วสั่งให้ทหารออกโจมตีก็พ่ายกลับเข้าเมืองอีก  เจ้าพระยาจักรี จึงว่า

          “ฝีมือทหารเจ้าเป็นแต่ทัพหัวเมือง  ซึ่งจะต่อรบกับฝีมือทัพเสนาบดีนั้นไม่ได้  พรุ่งนี้ข้าจะออกตีเอง”

(https://i.ibb.co/0CNzMqR/19056-004.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันรุ่งขึ้นเป็นคำรบสาม  อะแซหวุ่นกี้ยกออกเลียบค่ายอีก  เจ้าพระยาจักรีก็ยกพลทหารออกจากเมืองเข้าโจมตีทัพอะแซหวุ่นกี้แตกถอยกลับเข้าค่าย  และอะแซหวุ่นกี้ก็ยกออกเลียบค่ายอย่างนั้นทุกวัน  เจ้าพระยาจักรีก็ยกพลออกโจมตีทุกวัน  ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะถึงเก้าวันสิบวัน  อะแซหวุ่นกี้จึงให้ล่ามร้องบอกว่า  “เพลาพรุ่งนี้เราอย่ารบกันเลย  ให้เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพออกมา  เราจะขอดูตัว”

(https://i.ibb.co/2gCDjYz/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นรุ่งขึ้นเช้า  เจ้าพระยาจักรีจึงขี่ม้ากั้นสัปทนยกพลทหารออกไปยืนม้าให้อะแซหวุ่นกี้ดูตัว  อะแซหวุ่นกี้จึงให้ล่ามถามถึงอายุว่าเท่าใด  บอกไปว่าอายุได้สามสิบเศษ  จึงถามถึงอายุอะแซหวุ่นกี้บ้าง  ล่ามบอกว่า  อายุได้เจ็ดสิบสองปี  แล้วอะแซหวุ่นกี้ก็พิจารณาดูรูปลักษณะเจ้าพระยาจักรี  แล้วสรรเสริญว่า  “รูปก็งามฝีมือก็เข้มแข็ง  สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้  จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้  ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้”  แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับหนึ่ง  กับสักลาดพับหนึ่ง  ดินสอแก้วสองก้อน  มาให้เจ้าพระยาจักรี  แล้วว่าจงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคง  เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้  และในเพลาวันนั้น  ไทยกับพม่าก็เข้าไปกินข้าวในค่าย  มิได้ทำอันตรายแก่กัน  แล้วต่างคนก็กลับไปค่ายไปเมือง

(https://i.ibb.co/bBHFvTN/Untaditled-1.png) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาจักรี   เจ้าพระยาสุรสีห์  ก็บอกลงมากราบทูล ณ กรุงธนบุรีว่า  ทัพพม่ายกมาติดเมืองพระพิษณุโลก  แต่ ณ เดือนยี่ข้างขึ้นนั้นแล้ว"

(https://i.ibb.co/PYdQFL4/15-400.jpg) (https://imgbb.com/)

          *ท่านผู้อ่านครับ  ความตอนนี้มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า  อะแซหวุ่นกี้ใช้จิตวิทยาในการสงคราม โดยทำนายว่าเจ้าพระยาจักรีจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เป็นการยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างเจ้าพระยาจักรีกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน  เท็จจริงอย่างไรก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะใช้ปัญญาพิจารณาเอาเองนะครับ

(https://i.ibb.co/DYrnGrZ/trnare4-01.jpg) (https://imgbb.com/)

          อะแซหวุ่นกี้ขุนพลเฒ่า  ดูตัวเจ้าพระยาจักรีแล้ว  สำทับว่าจงรักษาเมืองพิษณุโลกให้ดีเราจะตีหักเอาให้จงได้  เป็นการแสดงความมั่นใจว่าต้องได้เมืองพิษณุโลกเป็นแน่  เมื่อเป็นดังนั้น  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  จะจัดการป้องกันเมืองอย่างไร  ได้หรือไม่  ติดตามอ่านต่อวันพรุ่งนี้นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพืธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, พฤษภาคม, 2562, 11:32:54 PM
(https://i.ibb.co/3R2Smty/Untitled-2.png) (https://imgbb.com/)

- ยกทัพหลวงขึ้นไปรบพม่า -

สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพหลวง
ด้วยเป็นห่วงสองแควรับศึกใหญ่
เสด็จโดยชลมารคกรากกรำไป
ถึงตอนใต้พิษณุโลกยกขึ้นพลัน

ตั้งค่ายรบเรียงรายกระจายทั่ว
ให้ตื่นตัวตีพม่าอย่าย่อยั่น
บางค่ายรบอุตลุดพัลวัน
จนตั้งมั่นคงพอพร้อมต่อตี


          อภิปราย ขยายความ......................................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวความถึงตอนที่ที่อะแซหวุ่นกี้ยกทัพใหญ่มาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย  โดยเข้ามาทางเมืองตากแล้วยึดเมืองสวรรคโลก  สุโขทัย  และเข้าล้อมเมืองพระพิษณุโลก  รบกับเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ผลัดกันแพ้และชนะถึงเก้าครั้งสิบครั้ง  ในที่สุดอะแซหวุ่นกี้ประกาศพักรบ  ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีแล้วกล่าวคำทำนายว่า  “ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้”  จากนี้เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/dcQ3qpC/9679059535.jpg) (https://imgbb.com/)

           “สมเด็จพระเจ้าตากสิน  ดำรัสให้เกณฑ์กองทัพทั้งทางบกทางเรือ  พร้อมด้วยช้างม้าสรรพาวุธครบครัน  พลฉกรรจ์ลำเครื่องจีนไทยเป็นคนหมื่นสองพันสองร้อยเจ็ดสิบคน  แล้วดำรัสถามพม่าตัวนายที่ยอมจำนนขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหมดจากค่ายบ้านนางแก้วนั้นว่า  จะให้ไปทำสงครามกับพม่าที่ยกมาใหม่นั้นจะไปหรือไม่  งุยอคุงหวุ่น  อุตมสิงหจอจัวและนายทัพพม่าทั้งปวงตอบเหมือนกันว่า  “หากโปรดให้ไปรบกับข้าศึกอื่น  จะขออาสาไปทำสงครามกว่าจะสิ้นชีวิต แต่จะให้ไปรบกับพม่าพวกเดียวกันนั้นเห็นเหลือสติปัญญา  จะไปดูหน้าพวกกันกระไรได้  มีความละอายนักจนใจอยู่แล้ว”

(https://i.ibb.co/cY7xkyz/58910-02.png) (https://imgbb.com/)

          เมื่อทรงทราบคำกราบบังคมทูลดังนั้นจึงดำรัสว่า  มันยังไม่ภักดีแก่เราโดยแท้  ยังนับถือเจ้านายมันอยู่  และเราจะยกไปทำการสงคราม  ผู้คนอยู่รักษาบ้านเมืองน้อย  พวกมันมาก  จะแหกคุกออกกระทำจลาจลแก่บ้านเมืองข้างหลัง  จะเอาไว้มิได้ ดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทอง (วัดสุวรรณฯ ปัจจุบัน) คลองบางกอกน้อยทั้งสิ้น  พร้อมกับให้ประหารแม่ทัพพวกอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่คนที่จำคุกไว้นั้นด้วย  จากนั้นโปรดให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์) ไปอยู่รักษาเมืองเพชรบุรี  ป้องกันด่านทางข้างตะวันตก  ให้หมื่นศักดิ์บริบาลลงเรือเร็วขึ้นไปสืบราชการศึก ณ เมืองพระพิษณุโลก

(https://i.ibb.co/JCntr1x/Untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ณ วันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ (พ.ศ. ๒๓๑๘)  สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาวสิบสามวา  ยาตรานาวาทัพหลวงจากกรุงธนบุรีไปโดยทางชลมารค  หยุดประทับแรม ณ พลับพลาหน้าฉนวนน้ำหน้าพระราชวังหลวงกรุงเก่า  หมื่นศักดิ์บริบาลซึ่งขึ้นไปสืบราชการศึก ณ พิษณุโลกนั้นกลับลงมากราบบังคมทูลว่า  ทัพพระยาสุโขทัย  พระยาอักษรวงศ์เมืองสวรรคโลก  พระยาพิชัยสงคราม  ที่ไปตั้งค่ายรบพม่า ณ บ้านกงธานีนั้นได้เลิกทัพถอยลงมาแล้ว  จึงให้เร่งยกทัพเรือขึ้นไป  ครั้นเสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์จึงดำรัสให้พระยาราชาเศรษฐีคุมกองจีนสามพันตั้งค่ายรักษาอยู่ที่นั้น

(https://i.ibb.co/sRmKvwT/A11682661-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓  กองทัพหลวงเสด็จถึงค่ายปากน้ำพิงตะวันออกเสด็จขึ้นประทับ ณ พลับพลาในค่าย  แล้วดำรัสให้กองพระยาราชสุภาวดียกขึ้นไปตั้ง ณ บ้านบางทรายเป็นหลายค่าย  รายขึ้นไปตามริมน้ำ  ให้กองเจ้าพระยาอินทรอภัยยกขึ้นไปตั้งค่าย ณ บ้านท่าโรง ให้กองพระยาราชภักดียกไปตั้งค่าย ณ บ้านกระดาษ ให้กองเจ้าหมื่นเสมอใจราชยกไปตั้งค่าย ณ วัดจุฬามณี  และให้ตระเวนบรรจบถึงกัน  ให้กองพระยานครสวรรค์ยกไปตั้งค่ายรายโอบค่ายพม่าขึ้นไปแต่วัดจันทร์จนถึงเมืองพระพิษณุโลก  ให้ชักปีกกาตลอดถึงกันทุก ๆ ค่าย  แล้วให้พระศรีไกรลาสคุมไพร่พลห้าร้อยไปทำทางหลวง ณ ปากน้ำพิงขึ้นไปจนถึงเมืองพระพิษณุโลก

(https://i.ibb.co/vDfc7ty/Unt-itled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓  หลวงดำเกิงรณภพไปสืบข่าวราชการมากราบทูลว่า  ทัพพม่ายกลงมาฟากตะวันตกเข้าตีค่ายพระยาราชภักดี ณ บ้านกระดาษ  ทำอาการประหนึ่งจะเข้าตั้งค่ายประชิดแล้วเลาะล่วงค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัยลงมาจนถึงค่ายพระยาราชสุภาวดี ณ บ้านบางทราย  ครั้นเพลาค่ำก็เลิกถอยไป  ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสให้พระยาวิจิตรนาวี  หลวงดำเกิงรณภพ  หลวงรักษาโยธา  หลวงภักดีสงคราม  คุมเอาปืนใหญ่รางเกวียนสามสิบสี่บอกลากขึ้นไปใส่ค่ายบางทราย  ครั้นเพลาค่ำทัพพม่ายกมาตั้งค่ายประชิดลงหน้าค่ายเจ้าหมื่นเสมอใจราช ณ วัดจุฬามณีสามค่าย  ตำรวจไปสืบราชการมากราบทูล  จึงดำรัสให้พระยาธรรมไตรโลก  พระยารัตนพิมล  พระยาชลบุรี  คุมพลทหารอยู่รักษาค่ายหลวง ณ ปากน้ำพิงฟากตะวันออก

(https://i.ibb.co/2SW8KVN/Untitled-5.png) (https://imgbb.com/)

          ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓  จึงเสด็จยกพยุหยาตราทัพหลวงขึ้นไปประทับ ณ ค่ายมั่นวัดบางทรายฝั่งตะวันออก  ค่ำวันนั้นทัพพม่ายกเข้าตีค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัย ณ บ้านท่าโรงฟากตะวันตก  ได้รบกันเป็นสามารถ  ตำรวจไปสืบราชการนำความมากราบทูล  จึงให้หลวงดำเกิงรณภพยกเอาพลเกณฑ์หัดสองร้อยลงเรือข้ามน้ำไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัย  ทัพพม่าก็เลิกถอยไป  วันรุ่งขึ้นจึงลงเรือพระที่นั่งข้ามไปทอดพระเนตรค่ายพระโหราธิบดีฟากตะวันตก  เห็นผิดกับพระราชดำริ  ตั้งอยู่แต่ริมน้ำเอาต้นไม้ใหญ่ไว้นอกค่าย  แม้นพม่าเข้ามาแฝงต้นไม้ยิงก็จะได้  ขึ้นบนต้นไม้ยิงปรำลงมาในค่ายก็จะเสียท่วงทีแก่ข้าศึก  จึงดำรัสสั่งให้รื้อค่ายเก่าเสียแล้วตั้งใหม่  ให้โอบต้นไม้ใหญ่ไว้ในค่ายกว้างออกไปกว่าค่ายเก่า

(https://i.ibb.co/85vSmsp/10khaokaeng.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในวันเดียวกันนั้นพระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ) ยกกองมอญขึ้นไปตั้งค่ายประชิดค่ายพม่าเหนือเมืองพระพิษณุโลกฟากตะวันออก  พม่ายกออกตีได้รบกันเป็นสามารถ  พวกกองมอญยิงปืนตับต้องพม่าล้มตายลำบากไปเป็นอันมากแล้วถอยทัพเข้าค่าย  กองรามัญจึงตั้งค่ายลงได้

(https://i.ibb.co/HCtTtsW/1-53.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ไม่ทรงโหดเหี้ยมเกินไปนักหรอกนะครับ  ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสั่งประหารเชลยศึกพม่าที่จับมาจากค่ายบ้านนางแก้ว  เพราะตรัสถามแล้วว่าจะร่วมรบพม่าที่เมืองเหนือด้วยหรือไม่  พวกเขาก็ตอบตามความเป็นจริง  หากไม่ประหารก็จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติดังที่มีพระราชดำริ  ทรงทำถูกต้องดีแล้ว  หลังจากนั้นเสด็จพยุหยาตราโดยชลมารค  ถึงบ้านปากพิงใต้เมืองพิษณุโลก  ทรงยกพลขึ้นบกตั้งค่ายรายขึ้นเป็นหลายค่าย  พม่าก็ยกเข้าโจมตี  มีการรบกันประปราย  แต่ก็ดุเดือดทุกครั้ง  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  ตามอ่านวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขั้ผึ้งไทย
๑๕ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, พฤษภาคม, 2562, 10:32:25 PM
(https://i.ibb.co/PTwcd9V/Untitlsfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)


- ขุดอุโมงค์เข้ารบกัน -

พม่าไทยขุดอุโมงค์โยงทางรบ
ครั้นเดินพบใต้ดินไม่ผินหนี
เข้าแทงฟันกันตุ้บทิ่มทุบตี
ตายเป็นผีมากมายอยู่ใต้ดิน

รบใต้ดินบนดินไม่สิ้นสุด
อุตลุดชุลมุนสะท้านถิ่น
พระเจ้าตากสั่งก้องป้องธรณินทร์
ทุกคนยินดีพร้อมรบยอมตาย


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวเล่าเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ทรงยกยกทัพหลวงโดยทางเรือขึ้นไปรบพม่าที่กำลังเข้าโจมตีเมืองพิษณุโลก  ทรงยกทัพไปถึงบ้านปากพิงใต้เมืองพิษณุโลกก็ยกพลขึ้นบก  ตรัสให้ตั้งค่ายรายเรียงตามลำน้ำน่าน  พม่ายกกองกำลังเข้าตีค่ายที่ตั้งเสร็จและไม่เสร็จหลายค่าย  ไทยสู้รบอย่างดุเดือดทุกค่าย  พม่าก็ล่าถอยไป  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/3mFsNFJ/Itled-12.png) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายในเมืองพระพิษณุโลกนั้น  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  ก็ยกพลทหารออกตั้งค่ายประชิดค่ายพม่านอกเมืองฟากตะวันออก  พม่ายกออกรบชิงเอาค่ายได้  เจ้าพระยาสุรสีห์ขับพลทหารหนุนเข้าไป ฟาดฟันทหารพม่าตีเอาค่ายคืนได้  พม่าล้มตายและลำบากไปเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/yY6PRHc/Unt-itled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่บรรดาค่ายพม่าซึ่งตั้งค่ายรายประชิดกันอยู่นั้น  พม่าขุดอุโมงค์เดินใต้ดินเข้ามารบทุกค่าย  ฝ่ายข้างทหารไทยก็ขุดอุโมงค์ออกไปจากค่ายทุก ๆ ค่าย  และอุโมงค์ทะลุถึงกัน  ได้รบกันกับพม่าในอุโมงค์  ฆ่าฟันกันล้มตายเป็นอันมาก  เจ้าพระยาจักรี    เจ้าพระยาสุรสีห์  ให้ทหารตัดศีรษะพม่ามาถวายเนือง ๆ  จึงพระราชทานปืนใหญ่รางเกวียนยี่สิบบอกให้ลากขึ้นไป ณ ค่ายประชิด  ให้ยิงทลายค่ายพม่า

          ขณะนั้น  พระยานครสวรรค์แต่งคนไปลาดตระเวน  จับได้ไทยเชลยพม่าสองคนให้การว่า  อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาครั้งนี้มีกำลังพลสามหมื่นห้าพัน  ทัพหลังคนห้าพันตั้งอยู่บ้านกงธานี  อะแซหวุ่นกี้และแมงแยยางูผู้น้อง  กับ  กะละโบ่  และเจ้าเมืองตองอู  ถือพลสามหมื่นยกมาติดเมืองพระพิษณุโลก  บัดนี้นายทัพพม่าทำการขัดสนนัก  เห็นอาการจะเลิกถอยไป  พระยานครสวรรค์จึงบอกส่งไทยเชลยสองคนกับคำให้การมาถวาย ณ ค่ายหลวง

(https://i.ibb.co/1Q6675F/25-DSC-0025.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ กลางคืนเวลาประมาณสี่ทุ่ม  สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไป ณ ค่ายมั่นใกล้วัดจันทร์  ดำรัสให้กองพระยายมราชและพระยานครราชสิมา  พระยาพิชัยสงคราม  ยกไปช่วยพระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งค่ายประชิดโอบค่ายพม่า ณ วัดจันทร์นั้น  ครั้นเพลาสิบเอ็ดทุ่ม  กองทัพไทยก็จุดปืนใหญ่ยิงทลายค่ายพม่า  แล้วยกออกปล้นทุกหน้าค่ายพม่า  พวกพม่าก็ยกหนุนกันออกมารบจนเพลารุ่ง  นายทัพทั้งปวงจะหักเอาค่ายพม่ามิได้ก็ถอยกลับเข้าค่าย

(https://i.ibb.co/D4Bdtxg/titled-3.png) (https://imgbb.com/)

          วันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓  จึงดำรัสปรึกษาท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงว่า  ทัพหลวงจะตั้งมั่นอยู่ที่นี่  เห็นราชการจะเนิ่นช้า  จะถอยลงไปตั้งอยู่ ณ ค่ายท่าโรง  แล้วจะเกณฑ์กองทัพยกไปทางฟากตะวันตกให้เข้าตั้งค่ายประชิดโอบหลังค่ายพม่าไว้  และท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นด้วยกับพระราชดำริ  ครั้นเพลาสี่ทุ่มจึงเสด็จถอยทัพหลวงลงไปตั้งอยู่ ณ ค่ายท่าโรง  วันรุ่งขึ้นจึงให้ข้าหลวงไปหากองทัพพระยานครสวรรค์ที่ค่ายวัดจันทร์  และกองพระโหราธิบดีกับกองมอญพญากลางเมือง ณ ค่ายบางทราย  ให้ยกลงมา ณ ค่ายหลวง

(https://i.ibb.co/dpsNF8k/ntitled-1.png) (https://imgbb.com/)

          ดำรัสให้พระยามหามนเทียร  เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน  ให้กองพระยานครสวรรค์เป็นทัพหน้า  หลวงดำเกิงรณภพ  หลวงรักษ์โยธา  คุมพลทหารกองใน  กองนอก  กองเกณฑ์หัด  สามพันสี่ร้อยเป็นกองหนุน  ยกไปตั้งค่ายประชิดติดค่ายพม่า แล้วดำรัสให้พระราชสงครามลงไปเอาปืนพระยาราชปักษี  ปืนฉัตรชัย  ณ กรุงธนบุรี  บรรทุกเรือขึ้นมาให้มาก”

(https://i.ibb.co/YR5VjBC/Untitled-15.png) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  การรบกับพม่าที่ยกมาตีเมืองพระพิษณุโลกเป็นการรบที่ดุเดือดมากที่สุด  รบกันถึงขนาดที่พม่าและไทยลงทุนลงแรงขุดอุโมงค์เดินทัพใต้ดินเข้ารบกัน  เป็นการรบทั้งบนดินและใต้ดินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย  เส้นทางเดินทัพและสถานที่ตั้งค่ายทัพพม่าทัพไทยนั้น  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้อย่างชัดเจน  สมรภูมิย่อย ๆ ในการรบเริ่มตั้งแต่บ้านไกร  ป่าแฝก  บ้านกง  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองจังหวัดสุโขทัย  ซึ่งอยู่ทางเบื้องทิศตะวันตกเมืองพิษณุโลก

          บ้านปากพิง  หรือปากน้ำพิง  ท่าโรง  บางทราย  บ้านกระดาษ  วัดจุฬามณี  วัดจันทร์  สมรภูมิเหล่านี้อยู่ด้านใต้เมืองพระพิษณุโลก  ส่วนที่กองทัพมอญยกไปตั้งทางเหนือเมืองพระพิษณุโลกนั้น  เห็นจะเป็นบริเวณประตูมอญ  ด้านเหนือวัดใหญ่ในปัจจุบัน

(https://i.ibb.co/Pt3KHKm/Sans-titre-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพเฒ่าชาวพม่าหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องตีเอาเมืองพระพิษณุโลกให้จงได้  แต่ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพหลวงขึ้นมาช่วยอย่างนี้แล้ว  ความปรารถนาของอะแซหวุ่นกี้จะสำเร็จหรือไม่  ต้องติดตามดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปยามค่ำของวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, พฤษภาคม, 2562, 11:52:39 PM
(https://i.ibb.co/7N5p3mk/1638153.jpg) (https://imgbb.com/)

- พิษณุโลกขาดเสบียง -

“กองทัพเดินด้วยท้อง”ถูกต้องมาก
เมื่ออดอยากท้องกิ่วหิวกระหาย
ไร้แรงรบปิ่มว่าชีวาวาย
ล้วนสิ้นลายเสือสิงห์หมดยิ่งยง

กองทัพเมืองสองแฅวร่อแร่แล้ว
ทนแขม่วท้องสู้สุดแรงหลง
ขาดเสบียงเลี้ยงท้องที่พร่องลง
คาดว่าคงไม่นานเมืองพานพัง


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่อะแซหวุ่นกี้ขุนพลเฒ่าแห่งอังวะยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก  สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพหลวงจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารคขึ้นไปช่วย  ทรงตั้งค่ายหลวงที่บ้านปากพิง  รุกขึ้นไปถึงบางทรายแล้วถอยกลับลงมาปักหลักที่ท่าโรง  มีพระราชดำรัสให้พระราชสงครามลงไปเอาปืนพระยาราชปักษี  ปืนฉัตรชัย  จากกรุงธนบุรีขึ้นมายิงพม่า  การศึกระหว่างพม่ากับไทยที่พิษณุโลก  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้อย่างละเอียด  ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนไทยรุ่นเรานี้ควรรับรู้วีรกรรมของคนไทยที่ต่อสู้ข้าศึกศัตรูปกป้องผืนแผ่นดินไทยไว้ให้พวกเรา  ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง  ดังนั้นต่อไปนี้ผมจะยกข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงทั้งหมด  โดยไม่ตัดคำและความเลย  ดังนี้ครับ

(https://i.ibb.co/tBWdY4t/Untixctled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายนายกองทัพหน้าพม่า  เข้าไปแจ้งข้อราชการแก่อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพว่า  ไทยมีฝีมือเข้มแข็งนัก  จะรบเอาชัยชำนะโดยเร็วเห็นจะไม่ได้  แล้วทัพหลวงก็ยกขึ้นมาช่วยรี้พลเป็นอันมาก  อะแซหวุ่นกี้จึงให้ม้าใช้ไปสั่งปัญญีตวงซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านกงธานี  ให้นายทัพคุมพล ๓,๐๐๐ ยกลงมา ณ เมืองกำแพงเพชร  แล้วให้เดินทัพลงไป ณ เมืองนครสวรรค์  แซงลงไปเมืองอุทัยธานี  ถ้าได้ทีให้วกหลังตัดลำเลียงกองทัพไทยจะได้พะว้าพะวังระวังทั้งหน้าหลังหย่อนกำลังลง  และทัพอีกสองพันนั้นให้ยกหนุนมาตั้งค่ายใหญ่ใกล้เมืองพระพิษณุโลกฟากตะวันออก

(https://i.ibb.co/8zgCT2k/1021687872.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๓  จึงพระยาสุโขทัยซึ่งตั้งซุ่มคอยสอดแนมสืบราชการ ณ ทัพพม่าบ้านกงธานีนั้น  บอกลงมากราบทูลว่าพม่าตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านกงธานีห้าค่าย  บัดนี้ยกกันข้ามน้ำไปฟากตะวันตกกองหนึ่ง  ยกหนุนมาเมืองพระพิษณุโลกกองหนึ่ง  ครั้นทรงทราบจึงดำรัสว่า  เกลือกพม่าจะวกหลังตีเสบียง  ให้กองพระยาราชภักดีกับพระยาพิพัฒโกษายกลงไปช่วยราชการพระยาราชาเศรษฐี  ซึ่งตั้งค่าย ณ เมืองนครสวรรค์  แล้วให้กองพระยาธรรมายกหนุนขึ้นไปช่วยพระยามหามนเทียรและพระยานครสวรรค์  ซึ่งไปตั้งค่ายประชิดโอบหลังค่ายพม่า ณ วัดจันทร์ฟากตะวันตก  แล้วให้หลวงภักดีสงครามและพระยาเจ่งกับกรมการเมืองชัยนาท  คุมพลไทยมอญห้าร้อยเศษยกขึ้นไปตั้งอยู่ ณ บ้านดอกไม้แขวงเมืองกำแพงเพชร  คอยดูท่วงทีพม่าซึ่งยกมาแต่บ้านกงธานีนั้นจะไปแห่งใด  ถ้าเห็นได้ทีจึงให้ออกโจมตี  ถ้าไม่ได้ทีก็ให้ลาดถอยมา

(https://i.ibb.co/P5hpXbc/mm-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายในเมืองพิษณุโลก  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เกณฑ์พลทหารออกตั้งค่ายนอกเมืองฟากตะวันตก  ตั้งค่ายประชิดค่ายพม่าซึ่งล้อมเมืองนั้น  ครั้นเพลาค่ำในวันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๓  จึงเจ้าพระยาสุรสีห์ให้เอาไม้มาทำคบเอาผ้าชุบน้ำมันยางจุดเพลิงในกระบอกปืนใหญ่  ยิงไปเผาค่ายพม่าไหม้ขึ้นค่ายหนึ่ง  หอรบไหม้ทำลายลงสองหอ  พม่าออกมาดับไฟยิงตายและลำบากไปเป็นอันมาก  แต่เสบียงอาหารในเมืองขัดสนนัก  ด้วยจะกวาดเข้าเมืองหาทันไม่  จึงบอกลงไป ณ ทัพหลวงขอพระราชทานเสบียง  ก็โปรดให้กองทัพคุมลำเลียงขึ้นไปส่ง  พม่าก็ออกตีตัดลำเลียงกลางทางไปส่งหาถึงไม่

(https://i.ibb.co/1vBgdT3/Untitlefd-1.png) (https://imgbb.com/)

          ครั้งหลังจึงโปรดให้กองลำเลียงขนเอาขึ้นไปส่งอีก  ให้กองพระยานครราชสิมายกไปช่วยป้องกันลำเลียง  แล้วให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพลงมาคอยรับ  แต่กะละโบ่แม่กองหน้าพม่านั้นเข้มแข็ง  ยกทัพมาสกัดตีกองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์กับทัพพระยานครราชสิมาหาเข้าถึงกันได้ไม่  ทัพเมืองพิษณุโลกก็ถอยกลับเข้าเมือง  ทัพเมืองนครราชสิมาก็พากองลำเลียงถอยกลับมาค่ายหลวง  และข้าวในเมืองพิษณุโลกก็เปลืองลงทุกวัน ๆ  แจกจ่ายรี้พลก็หาพออิ่มไม่  ไพร่พลก็ถอยกำลังอิดโรยลง

          ฝ่ายข้างกองทัพพม่าก็ขัดเสบียงอาหารลงเหมือนกัน  แต่อยู่ภายนอกที่ทำเลกว้าง  เที่ยวหาบุก กลอย และรากกระดาษปนกับอาหารกินค่อยเนิ่นช้าวันไป  ไม่สู้ขัดสนนักเหมือนในเมือง

(https://i.ibb.co/y6kv0n9/Untitled-20.png) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๓  จึงขุนพัศดีถือหนังสือบอกขึ้นมากราบทูลว่า  พม่าเมืองมฤตยกกองทัพเข้ามาตีเมืองกุย  เมืองปราณ  ต้านทานมิได้  จึงถอยเข้ามาตั้งอยู่ ณ เมืองชะอำและทัพพม่าเลิกกลับไป  บัดนั้นพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์) ให้แต่งพลทหารไปขัดทัพอยู่ที่ช่องแคบด่านเมืองเพชรบุรี  จึงดำรัสให้กองพระเจ้าหลานเธอเจ้าประทุมไพจิตรยกลงมารักษากรุงธนบุรีระวังราชการศึกข้างฝ่ายใต้

(https://i.ibb.co/nrsV0QH/Untitlded-4.png) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งยกลงมา ณ เมืองกำแพงเพชร  มายังมิทันถึง  จึงกองทัพข้าหลวงไทยมอญห้าร้อยก็ยกออกโจมตีที่กลางทาง  ทัพพม่ามิทันรู้ตัวก็แตกฉาน  ทัพพวกข้าหลวงเก็บได้ศัสตราวุธต่าง ๆ แล้วลาดถอยมา  จึงบอกส่งสิ่งของเครื่องศัสตราวุธลงมาถวาย  จึงดำรัสสั่งให้พระสุนทรสมบัติกับหมื่นศรีสหเทพ  คุมเอาเสื้อผ้าไปพระราชทานขุนนางไทยมอญซึ่งล่าลงมา ณ บ้านร้านดอกไม้นั้น”

(https://i.ibb.co/R97BHCD/Untewitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** สถานการณ์คับขันเข้าขั้นวิกฤติแล้วครับ  คำกล่าวที่ว่า  “กองทัพเดินได้ด้วยท้อง”  แสดงความเป็นจริงให้ปรากฏแล้ว  เสบียงอาหารในเมืองพิษณุโลกขาดแคลน  เพราะพม่ายกทัพมาล้อมเมืองรวดเร็วจนไม่ทันขนเสบียงอาหารมาสะสมไว้ได้ในเมืองได้  รบกันนานวันเข้า  อาหารสำหรับทหารก็ขาดแคลนลง  เมื่อทหารอดอยากกำลังวังชาก็โรยราลง  เจ้าพระยาสองพี่น้องร้องขอเสบียงจากกองทัพหลวง  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรีบจัดส่งไปให้  ครั้งแรกถูกกองกำลังพม่าดักปล้นจนหมดสิ้น  ทรงส่งครั้งที่ ๒  ตรัสให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกำลังออกมารับ  ก็ถูกพม่าออกโจมตีจนกองเสบียงต้องล่าถอยกลับค่ายหลวง  เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ต้องล่าถอยเข้าเมืองพิษณุโลก

(https://i.ibb.co/MSmBMfP/Untitled-17.png) (https://imgbb.com/)

          ทางฝ่ายกองทัพอะแซหวุ่นกี้นั้นก็ขาดแคลนเสบียงอาหารเช่นกัน  แต่ยังดีที่อยู่นอกเมือง  สามารถไปเที่ยวขุดหาหัวกลอยหัวมันตามป่ามากินกันได้บ้าง  จึงได้เปรียบกองทัพไทยเมืองพิษณุโลกมาก  พร้อมกันนั้น  อะแซหวุ่นกี้ขุนพลเฒ่าผู้เชี่ยวชาญการศึกสงคราม  ยังสั่งให้กองทัพหลังที่ตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านกง  บ้านธานี  ใกล้เมืองสุโขทัยนั้น  ยกกำลังลงไปทางกำแพงเพชร  ให้เลยลงไปนครสวรรค์  อุทัยธานี  คอยดักปล้นกองลำเลียงเสบียงกรัง  อย่าให้ส่งขึ้นมาเลี้ยงกองทัพหลวงของพระเจ้าตากสินได้

(https://i.ibb.co/frkJBSZ/Undfitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้เชิงกลศึก  จึงตรัสสั่งให้กองกำลังของไทยแยกย้ายกันไปก้าวสกัดตัดตีกองกำลังของอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองกำแพงเพชรส่วนหนึ่ง  ยกลงไปช่วยป้องกันเมืองนครสวรรค์อีกส่วนหนึ่ง  กองกำลังพม่ายกไปทางกำแพงเพชรยังไม่ทันตั้งค่ายก็ถูกไทยโจมตีแตกกระเจิงไป  แล้วกองกำลังไทยก็ปักหลักมั่นคอยคุมเชิงพม่า  อยู่ที่บ้านลานดอกไม้ใกล้เมืองกำแพงเพชรนั้น

(https://i.ibb.co/w6pLz6M/Untitled-11.png) (https://imgbb.com/)

          ในยามนั้นกองทัพน้อยพม่าก็ได้ยกจากเมืองมะริดเข้าตีไทยที่กุยบุรี  และปราณบุรี  กรมการเมืองต่อสู้ต้านทานมิได้ก็ล่าถอยมาตั้งหลักอยู่ที่เมืองชะอำ  พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์) จึงแต่งกองกำลังให้ลงไปขัดทัพอยู่ที่ช่องแคบด่านเมืองเพชรบุรี  ให้กองพระเจ้าหลานเธอเจ้าประทุมไพจิตรยกลงมารักษากรุงธนบุรี  เฝ้าระวังราชการศึกข้างฝ่ายใต้  สมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงแก้ไขสถานการณ์วิกฤตินี้อย่างไร  ตามไปอ่านต่อวันพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, พฤษภาคม, 2562, 10:38:58 PM
(https://i.ibb.co/G0M48mK/d-14.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทัพหลวงถอยตั้งหลัก -

พม่าโหมโรมรันไม่ครั่นคร้าม
ไทยสู้ตามแรงที่พอมีหวัง
พระเจ้าตากสินทำเต็มกำลัง
เสด็จยังค่ายทหารบัญชารบ

ตรัสปลุกใจให้ทหารอาจหาญสู้
ค่อยเรียนรู้กลศึกลึกให้จบ
ทรงสั่งการต้านรุกทุกทางครบ
แผนสยบพม่าทรงบรรจงวาง


          อภิปราย ขยายความ.........................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาวางให้อ่าน  เป็นเรื่องราวของการรบระหว่างไทย-พม่าในสมรภูมรบรอบ ๆ เมืองพิษณุโลก  กองทัพฝ่ายเมืองพิษณุโลกของเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  ขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก  สถานการณ์อยูในขั้นวิกฤติแล้ว  วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อครับ

(https://i.ibb.co/HqTHZL5/Un5titled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายทัพพม่าก็ยกลงมาตั้งค่าย ณ บ้านโนนศาลาสองค่าย  บ้านถลกบาตรค่ายหนึ่ง  บ้านหลวงค่ายหนึ่ง  ในแขวงเมืองกำแพงเพชร  แล้วยกแยกลงไปทางเมืองอุทัยธานีกองหนึ่ง  เข้าเผาบ้านอุทัยธานีเสีย  ครั้นถึง ณ วันเสาร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓  ขุนยกกระบัตรเมืองชัยนาทไปสืบราชการทัพพม่าขึ้นมากราบทูลว่า  พม่าตั้งค่ายอยู่ ณ แขวงเมืองกำแพงเพชรสี่ด้าน  ยกไปเมืองอุทัยธานีกองหนึ่งเผาบ้านเมืองเสีย  แล้วจะไปทางใดอีกมิได้แจ้ง  จึงดำรัสให้ขุนอินทรเดชะเป็นแม่กอง หลวงปลัดเมืองอุทัยธานี  กับหลวงสรวิชิตนายด่านเป็นกองหน้า  หม่อมเศรษฐกุมารเป็นกองหลวง  ให้หม่อมอนุรุทธเทวาเป็นจางวาง  บังคับทั้งสามกอง  คนพันหนึ่งยกลงไปป้องกันเสบียงและปืนใหญ่  ซึ่งบรรทุกเรือขึ้นมานั้น  อย่าให้เป็นอันตรายกลางทาง  ถ้ามีราชการศึก ณ เมืองนครสวรรค์ให้แบ่งกองอาจารย์ไปช่วยบ้าง  ให้แบ่งลงมาตั้ง ณ บ้านคุ้งสำเภาบ้าง  แล้วให้กองพระโหราธิบดีและหลวงรักษ์มนเทียรยกลงไปตั้งค่ายอยู่ ณ โคกสลุด  ให้กองพระยานครชัยศรีไปตั้งค่าย ณ โพธิ์ประทับช้าง  ป้องกันลำเลียงจะได้ไปมาสะดวก

(https://i.ibb.co/5xt0ZXy/Untitsfled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ  จึงดำรัสให้ข้าหลวงไปหาเจ้าพระยาจักรี ณ เมืองพระพิษณุโลกลงมาเฝ้า ณ ค่ายบ้านท่าโรง  เจ้าพระยาจักรีป่วยลงมาไม่ได้  ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ลงมาเฝ้า  จึงดำรัสปรึกษาโดยพระราชดำริ    จะใคร่ผ่อนทัพลงไปตั้ง ณ เมืองนครสวรรค์ป้องกันเสบียงไว้    และราชการในเมืองพระพิษณุโลกนั้นให้เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์จงรับรองป้องกันรักษา  และเจ้าพระยาสุรสีห์กราบถวายบังคมลากลับไปเมือง

(https://i.ibb.co/PZ8ckv4/p7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ในวันนั้น ทัพพม่ายกออกมาจากค่ายเข้าตีกองพระยานครสวรรค์  ซึ่งเดินค่ายขึ้นไปถึงบ้านบางส้มป่อยตั้งลงยังมิทันแล้ว  ได้รบกันเป็นสามารถ  จับพม่าได้คนหนึ่ง  พม่าถูกปืนตายและลำบากลากกันไปเป็นอันมาก  ถอยไปเข้าค่าย  พระยานครสวรรค์จึงให้หมื่นศรีสหเทพถือหนังสือบอกส่งพม่าลงมาถวาย  แล้วกราบบังคมทูลถวายว่า  บัดนี้พม่าขัดสนด้วยข้าวและเกลือ  เกลือนั้นหนักสองบาทซื้อกันเป็นเงินบาทหนึ่ง  ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ  พระยารัตนพิมลซึ่งอยู่รักษาค่ายปากน้ำพิงบอกมากราบทูลว่า  แต่งคนไปสอดแนมถึงวังสองสลึง  เห็นพม่ายกมาประมาณสองร้อย  ครั้นเพลาบ่ายพม่าเผาป่าขึ้นใกล้ปากน้ำพิงเข้าไปสามคุ้ง  จึงดำรัสให้หลวงวิสุทธโยธามาตย์  หลวงราชโยธาเทพ  คุมเอาปืนใหญ่รางเกวียนแปดบอกลงเรือข้ามไป ณ ค่ายปากน้ำพิง  ฟากตะวันตก

(https://i.ibb.co/28M2bCn/Untsfaitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ  จึงเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทขึ้นไปทางฟากตะวันออก  แต่ค่ายบ้านท่าโรงจนถึงค่ายพระยานครสวรรค์  ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านแขก  ฟากตะวันตกนั้น  เสด็จทรงพระเก้าอี้อยู่ที่กลางหาดทราย  จึงพระยาธรรมาธิบดี  พระยานครสวรรค์  ลงว่ายน้ำข้ามมาเฝ้ากราบทูลว่าพม่าตั้งค่ายประชิดสี่ค่าย  แล้วปักกรุยจะตั้งค่ายโอบลงมา  จึงดำรัสว่ามันทำลวงดอก  อย่ากลัวมัน  ให้ตั้งค่ายรายเคียงออกไป  ถ้ามันตั้งรายตามไป  ให้ตั้งรายแผ่กันไปจงมาก  ให้คนรักษาอยู่แต่ค่ายละห้าร้อยคน  แล้วอย่าคิดกลัวแตกกลัวเสีย  มันจะตีค่ายไหนให้ตีเข้า

(https://i.ibb.co/rbyYNNP/101556278777.jpg) (https://imgbb.com/)

            “อันธรรมดาเป็นชายชาติทหารแล้ว  จงมีน้ำใจองอาจและอย่ากลัวตาย  ตั้งใจอาสาพระรัตนตรัย  และพระมหากษัตริย์  ด้วยเดชะผลกตัญญูนั้นจะช่วยอภิบาลบำรุงรักษา  ก็จะหาอันตรายมิได้  ถ้าใครย่อท้อต่อการสงครามให้ประหารชีวิตเสีย  ศึกจึงจะแก่กล้าขึ้นเอาชัยชำนะได้”

(https://i.ibb.co/BtMZw6c/24n-CQKx5e1-GDG5-Rjk3.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วให้ยกเอากองพระยาสีหราชเดโชและกองหมื่นทิพเสนามาเข้ากองพระยานครสวรรค์     ยกกองเกณฑ์หัด  กองทหารกองอาจารย์มาไว้ในกองหลวง     แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังค่ายบ้านท่าโรง  จึงให้ข้าหลวงขึ้นไปเมืองพิษณุโลกหาเจ้าพระยาจักรีมาเฝ้า  พอเจ้าพระยาจักรีหายป่วยแล้วก็ลงมาเฝ้า ณ ค่ายหลวงท่าโรง  ครั้นได้ทรงฟังเสียงปืนใหญ่น้อย ณ ปากน้ำพิงหนาขึ้น  จึงเสด็จสั่งเจ้าพระยาจักรีให้จัดแจงพลทหารรักษาค่ายท่าโรง  เจ้าพระยาจักรีเกณฑ์กองพระยาเทพอรชุน  และพระพิชิตณรงค์ให้อยู่รักษา  แล้วกลับขึ้นไปเมืองพระพิษณุโลก  ครั้นค่ำเพลาสามยามก็เสด็จยกทัพหลวงลงมา ณ ปากน้ำพิง……….

(https://i.ibb.co/jZHwSVQ/Un561titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

* ท่านผู้อ่านครับ  ได้อ่านเรื่องราวการรบระหว่างไทย-พม่าในสมรภูมิหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแล้ว  ท่านมีความรู้สึกรักชาติ  รักและหวงแหนแผ่นดินไทยเพิ่มขึ้นไหมครับ  พิษณุโลกกำลังขาดเสบียง สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริผ่อนกำลังถอยทัพลงมาปักหลักทางใต้  เมืองพิษณุโลกจะสูญเสียให้แก่อะแซหวุ่นกี้ขุนพลเฒ่าแห่งพม่าหรือไม่  วันพรุ่งนี้มาเปิดอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ เมมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤษภาคม, 2562, 10:03:27 PM
(https://i.ibb.co/Dg0Qbxr/A10948659-8.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าใกล้ประกาศชัยชนะ -

หลายค่ายไทยไพรีโจมตีแตก
นายกองแหวกวงผ่านการขัดขวาง
หนีข้าศึกสิ้นคิดหลงทิศทาง
เป็นตัวอย่างไม่ดีที่ควรตาย

พระเจ้าตากสินสั่งประหารชีวิต
ประกาศิตจอมทัพคือกฎหมาย
ทหารที่ขี้ขลาดผิดชาติชาย
รบแล้วพ่ายซ้ำซากเป็นหลักลอย

พม่ารุกบุกทะลุทะลวงทะลัก
เป็นศึกหนักทัพสองไทยต้องถอย
พระเจ้าตากสินสั่งทัพทยอย
ผ่อนค่อยค่อยสู้พรางอย่างไว้เชิง


          อภิปราย ขยายความ ........................

          เมื่อวันวานได้กล่าวถึงเรื่องการรบระหว่างไทย-พม่าในสมรภูมิเมืองพระพิษณุโลก  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพหลวงขึ้นช่วยรบ  มีการย้ายค่ายหลวงเป็นหลายครั้ง  และครั้งล่าสุดทรงย้ายค่ายหลวงจากบ้านท่าโรงกลับลงไปตั้ง ณ ปากน้ำพิง  อันเป็นที่ตั้งค่ายหลวงครั้งแรก  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/tb9WyDC/25-DSC-0025.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้นเพลาสิบเอ็ดทุ่ม  ทัพพม่ายกมาขุดสนามเพลาะเข้าตีค่ายพระยาธรรมไตรโลก  พระยารัตนพิมล ณ คลองกระพวง  ยิงปืนระดมรบกันเป็นสามารถ  รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ  จึงเสด็จข้ามสะพานเรือกไปฟากตะวันตก  
      ดำรัสให้กองพระยาสุโขทัยยกหนุนออกตั้งค่ายชักปีกกาขุดคลองเดินถึงกัน  
      ให้หลวงดำเกิงรณภพคุมพลเกณฑ์หัดและกองอาจารย์เก่าใหม่ไปเข้ากองพระยาสุโขทัย  
      ให้กองหลวงรักษโยธา  หลวงภักดีสงคราม  ยกไปตั้งค่ายประชิดค่ายพม่า ณ ปากคลองกระพวง  
      ให้กองหลวงเสนาภักดีกองปืนแก้วจินดาออกตีวกหลัง

(https://i.ibb.co/Xx70S1h/Untitledsf-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาเช้า  พระยาสุโขทัยและนายทัพนายกองทั้งปวงก็ยกออกพร้อมกันตีกระหนาบหน้าหลังค่ายพม่า  พม่ายกออกมารบ  รบกันเป็นสามารถถึงอาวุธสั้น  ล้มตายลงทั้งสองฝ่าย  ขุนอาสาศรเพลิงถูกปืนพม่าตาย  ครั้นวันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ  จึงดำรัสให้ข้าหลวงไปหากองเจ้าพระยาอินทรอภัยและกองมอญ  พระยากลางเมือง  ยกลงมา ณ ปากน้ำพิง  ในทันใดนั้นหลวงเสนาภักดีกองปืนแก้วจินดา  มากราบทูลว่า  ได้ตีวกหลังพม่าเข้าไป  พม่าขุดสนามเพลาะวงล้อมไว้สามด้าน  กองอาจารย์ถอยเสีย มิได้ช่วยแก้  ข้าพระพุทธเจ้าให้ขุดสนามเพลาะรบอยู่คืนหนึ่ง  ต่อรุ่งขึ้นพระยาสุโขทัยจึงตีเข้าไปแก้ออกมาได้

(https://i.ibb.co/3WKZyJ4/Untitleted-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นได้ทรงฟัง  จึงดำรัสให้เอาตัวอาจารย์ทอง  เอาตัวนายดีนายหมวดกองอาจารย์ไปประหารชีวิตเสีย  และเลกนั้นพระราชทานให้ขุนรามณรงค์คุมทำราชการสืบไป  ครั้นเพลาบ่ายเสด็จไปทอดพระเนตรค่ายที่รบคลองกระพวง  แต่ค่ายมั่นออกไประยะทางยี่สิบสองเส้นให้ตั้งค่ายขุดคลองเดินตามปีกกาให้ถึงกัน  ขณะนั้นดำรัสภาคโทษพระสุธรรมาจารย์  พระวิสารสุธรรมเจ้ากรมกองอาจารย์  แล้วให้ทำราชการแก้ตัวตั้งค่ายประชิดค่ายพม่า  กับกองทหารกองเกณฑ์หัดสืบไป  ในวันนั้นเวลาบ่ายห้าโมงเศษพม่าออกปล้นค่ายกองทัพไทย  ได้รบกันเป็นสามารถ  หลวงดำเกิงรณภพให้ยิงปืนใหญ่น้อยต้องพม่าตายและลำบากมาก

(https://i.ibb.co/vwDWkv0/Untizztled-1.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/BLcBgbv/Untitlezzd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ขุนหาญ  ทนายเลือกกองนอกรักษาค่าย  ให้เพลิงตกลงในถังดินดำติดขึ้นไหม้  คนตายหลายคน  และตัวขุนหาญนั้นก็ย่อท้อต่อการศึก  จึงดำรัสให้ประหารชีวิตเสีย  แล้วให้ข้าหลวงไปหาพระยายมราชซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ วัดจันทร์ ลงมาเฝ้า  ตรัสสั่งให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์บังคับทั้งสิบทัพซึ่งตั้งรับทัพพม่า ณ คลองกระพวงให้กล้าขึ้น

(https://i.ibb.co/DK57cQ8/Untit4led-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ  กลางคืนประมาณยามเศษ  อะแซหวุ่นกี้  ให้กะละโบ่ยกทัพมาข้ามแม่น้ำฟากตะวันออก  เข้าปล้นค่ายกรมแสงในคน ๒๑๔ คน  ตั้งค่าย ณ วัดพริกห้าค่าย  ได้รบกันเป็นสามารถ  พม่าแหกเอาค่ายได้  แตกทั้งห้าค่าย  นายทัพนายกองและไพร่พลหนีกระจัดพลัดพรายกันไป  จึงพระยาเทพอรชุน  พระพิชิตณรงค์  ซึ่งรักษาค่ายท่าโรงบอกส่งคนซึ่งแตกลงมาแต่ค่ายวัดพริกทั้งนายไพร่หลายคนลงมาถวาย  จึงดำรัสให้ประหารชีวิตหมื่นทิพหนึ่ง  ไพร่สิบสามคน  เป็นคนสิบสี่คน  ตัดศีรษะเสียบไว้ ณ หน้าประตูค่ายปากน้ำพิง  แล้วตรัสสั่งว่า  บรรดานายไพร่ซึ่งแตกพม่ามานั้น  ได้ตัวมาเมื่อใดให้ฆ่าเสียให้สิ้น  แล้วให้ข้าหลวงไปหากองพระโหราธิบดี  กองหลวงรักษ์มนเทียร  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ โคกสลุด  และกองพระยานครชัยศรี  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ โพธิประทับช้างนั้น  ให้ยกขึ้นมาช่วยราชการทัพหลวง ณ ปากน้ำพิง

(https://i.ibb.co/n3TysQ3/18474-010.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๒ ค่ำ  จึงพระยานครสวรรค์บอกลงมากราบทูลว่า  ทัพพม่าตั้งค่ายโอบลงมาถึงริมแม่น้ำแล้วยกข้ามไปตีค่ายวัดพริกฟากตะวันออกแตก  เห็นพม่าจะวกหลัง  จะขอพระราชทานลาดทัพข้ามมาตั้งค่ายรับอยู่ฟากตะวันออก  จึงดำรัสให้กองมอญพระยากลางเมือง  และกองพระโหราธิบดี  และกองพระยาเทพอรชุน  กองพระยาพิชิตณรงค์  ซึ่งตั้งอยู่ค่ายท่าโรง  เข้ากองพระยายมราช  ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปตีทัพพม่า  ซึ่งเข้าตั้งอยู่ ณ ค่ายวัดพริกฟากตะวันออกนั้น  และให้กองหลวงรักษามนเทียรไปอยู่รักษาค่ายประชิด  แทนพระยากลางเมือง ณ ปากน้ำพิงฟากตะวันตก

(https://i.ibb.co/dpjVJjx/img-0246-1424144707.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยายมราชยกกองทัพไปตั้งค่ายประชิดค่ายพม่า ณ วัดพริก  พม่ายกกองแหกค่ายพระยายมราชหักเอาค่ายได้  ในทันใดนั้นพระยายมราชขับพลทหารเข้าตีพม่าแตกชิงเอาค่ายคืนได้  พม่าถอยไปเข้าค่ายวัดพริกตั้งรบกันอยู่  ขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้ให้แมงแยยางูผู้น้องยกทัพใหญ่ลงมาตั้งค่ายโอบหลังค่ายหลวง ณ ปากน้ำพิงฟากตะวันออกเป็นหลายค่าย  ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงเห็นศึกหนักเหลือกำลัง ถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ  จึงให้ลาดทัพหลวงถอยมาตั้งมั่น ณ บางข้าวตอก  ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เร่งให้ตะแคงมรหน่อง  ปัญญีแยข่องจอ  และเจ้าเมืองตองอู  นายทัพนายกองทั้งปวง  ทำการติดเมืองพระพิษณุโลกกวดขันขึ้น

(https://i.ibb.co/s23GwbN/Untitled-1d0.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ฝ่ายข้างในเมืองก็ขาดเสบียง  ตวงข้าวแจกทหารแต่มื้อละฝาเขนง  ไพร่พลอิดโรยนักถอยกำลังลง  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  เห็นเหลือกำลังที่จะตั้งมั่นรักษาเมืองไว้ได้  ด้วยสิ้นเสบียงอาหารขัดสนนัก  จึงบอกลงมากราบทูล ณ ค่ายหลวงแต่ยังเสด็จอยู่ ณ ปากน้ำพิง  ว่าในเมืองสิ้นเสบียง  จะขอพระราชทานล่าทัพออกจากเมือง  ก็โปรดทรงพระอนุญาต

(https://i.ibb.co/nPhwBmD/Unti-tled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาจักรี   และเจ้าพระยาสุรสีห์   จึงสั่งให้นายทัพนายกองซึ่งออกไปตั้งค่ายประชิดรับพม่าอยู่นอกเมืองทั้งสองฟากนั้น  เลิกถอยเข้าเมืองสิ้น  พม่าก็เข้าตั้งค่ายไทยประชิดใกล้เมืองให้ทำบันไดจะพาดกำแพงเตรียมการจะปีนปล้นเอาเมือง  พลทหารซึ่งรักษาหน้าที่เชิงเทินระดมยิงปืนใหญ่น้อยออกไปดังห่าฝน  พม่าจะปีนปล้นเอาเมืองมิได้  ต่างยิงปืนตอบโต้กันอยู่ทั้งสองฝ่าย”

(https://i.ibb.co/RGndhTf/A11682661-36.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพยายามต่อตีพม่าเป็นสามารถแล้ว  แต่พม่าแข็งแกร่งเหลือเกิน  ค่ายไทยถูกตีแตกเป็นหลายค่าย  พระเจ้าตากสินทรงใช้อาญาทัพประหารชีวิตนายกองที่แตกจากค่ายหนีพม่ามาเสียหลายคน  แม้กระนั้นก็ยังแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นไม่ได้  อะแซหวุ่นกี้สั่งระดมกำลังโจมตีหนัก  จนพระเจ้าตากสินต้องย้ายทัพหลวงถอยร่นลงไปเรื่อย ๆ

(https://i.ibb.co/Qkbmhr2/Untitleczzd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พร้อมกันนั้น  อะแซหวุ่นกี้ก็กำชับให้กำลังพลของตนระดมตีพิษณุโลกให้แตกจงได้  ทหารในเมืองพิษณุโลกขาดเสบียงอาหารจนหมดกำลังสู้รบแล้ว  เจ้าพระยาสองพี่น้องจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลขอทิ้งเมืองพิษณุโลกเพื่อรักษากำลังของตนไว้ก่อน  ทรงโปรดฯ อนุญาตแล้วเจ้าพระยาจักรี   เจ้าพระยาสุรสีห์  จะพากำลังพลอันอิดโรยของตนตีหักพม่าหนีออกไปจากเมืองพิษณุโลกได้อย่างไร  เช้าพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, พฤษภาคม, 2562, 10:35:16 PM
(https://i.ibb.co/pQg9VXc/Untis-fatled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- เสียพิษณุโลกแก่พม่า -

แล้วสองเจ้าพระยาพาทหาร
ทลายด่านค่ายพม่าถลันเถลิง
หักค่ายแหกตีเตลิดแล้วเปิดเปิง
จ้านกระเจิงไปเขตเพชรบูรณ์


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้ยกความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาให้อ่าน  ถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งยกทัพหลวงจากกรุงธนบุบุรีขึ้นไปรบพม่าที่มาตีเมืองพิษณุโลก  กองทัพทั้งสองฝ่ายรบกันอย่างดุเดือด  ฝ่ายไทยเสียเปรียบ เพราะในเมืองพิษณุโลกขาดเสบียงอาหาร  ค่ายที่พระเจ้าจากสินตั้งเรียงรายรบกับพม่า  ถูกตีแตกเป็นหลายค่าย  อะแซหวุ่นกี้โหมเข้าตีเมืองพิษณุโลกอย่างหนัก  เพราะขาดเสบียงอาหาร  ไพร่พลของเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ในเมืองพิษณุโลกต่างอิดโรย  เจ้าพระยาสองพี่น้องเห็นว่าจะต้านทานกำลังทัพอะแซหวุ่นกี้ไม่ได้แน่  จึงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าตากสิน  ยอมทิ้งเมืองออกไปตั้งหลักก่อน  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงอนุญาต  แล้วพร้อมกันนั้นก็ทรงสั่งถอยทัพหลวง  ลงไปทางใต้อย่างช้า ๆ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  อ่านพระราชพงศาวดารต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/v3THd2g/K11158910-20.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๑  ค่ำ  เจ้าพระยาทั้งสองจึงให้เจ้าหน้าที่ระดมยิงปืนใหญ่น้อยหนาขึ้นกว่าทุกวัน  เสียงปืนสนั่นไปมิได้ขาดตั้งแต่เช้าจนค่ำ  แล้วให้เอาปี่พาทย์ขึ้นตีบนเชิงเทินรอบเมือง  ลวงให้พม่าเข้าใจว่าตระเตรียมตั้งต่อสู้อยู่ในเมืองให้นานวัน  ครั้นเพลาประมาณยามเศษ  เจ้าพระยาทั้งสองก็จัดทหารเป็นสามกอง  กองหน้ากองหนึ่ง  กองกลางให้คุมครอบครัวกองหนึ่ง  กองหลังรั้งท้ายกองหนึ่ง  แล้วยกกองทัพและครอบครัวทั้งปวงเปิดประตูเมืองข้างด้านฟากตะวันออก  ให้พลทหารกองหน้ารบฝ่าออกไป  เข้าหักค่ายซึ่งตั้งล้อม

(https://i.ibb.co/71ww2vy/Untitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          พม่าในค่ายต่อรบยิงปืนใหญ่น้อยออกมา  พลทหารไทยก็หนุนเนื่องกันเข้าไปแหกค่ายพม่าเข้าไปได้  ได้รบกันถึงอาวุธสั้นฟันแทงกันเป็นตะลุมบอน  พม่าแตกเปิดทางให้  เจ้าพระยาทั้งสองก็รีบเดินทัพไปทางบ้านมุงดอนชมพู  และครอบครัวทั้งปวงนั้นก็แตกกระจัดพลัดพรายตามกองทัพไปได้บ้าง  พม่ากวาดไปได้บ้าง  ที่หนีลงมาหาทัพหลวง ณ บางข้าวตอกได้บ้าง  พม่าก็ติดตามกองทัพไป  และกองทัพซึ่งรั้งหลังก็รอสกัดต่อรบต้านทานที่กลางทางเป็นสามารถ  พม่าก็ถอยกลับไปเมือง  เจ้าพระยาทั้งสองก็เร่งเดินทัพไปถึงเมืองเพชรบูรณ์  หยุดพักอยู่ที่นั้น”

(https://i.ibb.co/1sPfZ5X/Untitldged-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เหตุผลที่เจ้าพระยาทั้งสองตีค่ายพม่าหักออกทางด้านทิศตะวันออกเมืองพิษณุโลก ไม่ตีหักออกทางด้านทิศใต้แล้วลงไปรวมกับกองทัพหลวงของพระเจ้าตากสิน  ก็อาจจะเป็นเพราะว่า  ทางทิศใต้เมืองพิษณุโลกนั้น  มีค่ายพม่าตั้งอยู่อย่างหนาแน่นล้อมตีเมืองพิษณุโลกพร้อมกับตีต่อต้านกองทัพหลวงของพระเจ้าตากสินอยู่  ส่วนทางทิศตะวันออกนั้นเป็นทิศทางที่ค่ายพม่าเปราะบางที่สุดจึงตีหักออกทิศทางนั้น  ครั้นตีค่ายพม่าแตกแล้วก็พากำลังหนีไปทางวังทอง  มีครัวส่วนหนึ่งหนีลงไปยังค่ายหลวง ณ บางข้าวตอก  เจ้าพระยาทั้งสองนำพากำลังที่เหลือทั้งหมดเดินทางไปทางบ้านมุงชมพู (ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครอง อ.เนินมะปราง)  แล้วเลยไปถึงเมืองเพชรบูรณ์  แล้วปักหลักอยู่ที่นั่น  เพื่อรอโอกาสจะ  “เอาคืน”  ต่อไป

(https://i.ibb.co/JCyH4JJ/Untitlsfed-2.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/8KSnZTX/Untitlesd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** “ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้แจ้งว่าทัพไทยแหกหนีออกจากเมืองแล้ว  ก็ขับพลทหารเข้าในเมือง  ให้จุดเพลิงเผาบ้านเรือนและอารามใหญ่น้อยทุกตำบล  แสงเพลิงสว่างดังกลางวัน  ให้ไล่จับผู้คนและครอบครัวซึ่งยังตกค้างอยู่ในเมืองหนีออกไม่ทันนั้น  และเก็บเอาทรัพย์สินและเครื่องศัสตราวุธต่าง ๆ แล้วตั้งอยู่ในเมือง  อะแซหวุ่นกี้จึงออกประกาศแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า  ไทยบัดนี้ฝีมือเข้มแข็งนัก  ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน  และเมืองพระพิษณุโลกเสียครั้งนี้ใช่จะแพ้เพราะฝีมือทแกล้วทหารนั้นหามิได้  เพราะเขาอดข้าวขาดเสบียงอาหารจึงเสียเมือง  และซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น  แม่ทัพมีสติปัญญาและฝีมือแต่เพียงเสมอเราและต่ำกว่าเรานั้น  อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย  จะเอาชัยชำนะเขามิได้  แม้นดีกว่าเราจึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชำนะ

(https://i.ibb.co/SJjWp7S/Unticvxztled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          พอข้างกรุงอังวะได้ม้าใช้ถือหนังสือลงมาถึงอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพว่า  พระเจ้ามังระทิวงคต  บัดนี้จิงกูจาราชบุตรพระชนม์ยี่สิบห้าปีได้เสวยราชสมบัติ  แล้วฆ่ามังโปอนาวิงต่อ  ซึ่งเป็นอานั้นเสีย  มีรับสั่งให้หากองทัพกลับไปกรุงอังวะ  อะแซหวุ่นกี้ได้แจ้งเหตุดังนั้น  ก็ให้เลิกทัพจากเมืองพระพิษณุโลก  กวาดครอบครัวเดินทัพทางเมืองสุโขทัยไปลงบ้านระแหงเมืองตาก”

(https://i.ibb.co/cXsDPDj/Unsfstitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  ในที่สุดเมืองพระพิษณุโลกก็เสียให้แก่พม่า  หลังจากที่เจ้าพระยาสองพี่น้องพากำลังตีหักค่ายพม่าหนีออกจากเมืองไป  อะแซหวุ่นกี้ขุนพลเฒ่าก็ขับพลเข้าเมือง  ไล่จับทุกคนที่หลงเหลืออยู่ในเมือง  พร้อมกับให้จุดเพลิงเผาผลาญบ้านเรือน  วัดวาอารามใหญ่น้อยทุกตำบล  เก็บกวาดทรัพย์สินและศัสตราวุธนานาไปจนสิ้น  แล้วตั้งกองทัพอยู่ในเมืองจัดการฉลองชัยชนะตามประเพณีของผู้ชนะ  น่าสนใจคำประกาศของอะแซหวุ่นกี้ขุนพลเฒ่าแห่งพม่าที่กล่าวกลางกองกำลังของตนที่ว่า......

(https://i.ibb.co/4WsWZTz/sfa.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ไทยบัดนี้มีฝีมือเข้มแข็งนัก  ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน  และเมืองพระพิษณุโลกเสียครั้งนี้มิใช่จะแพ้เพราะฝีมือทแกล้วทหารนั้นหามิได้  เพราะเขาอดข้าวขาดเสบียงอาหารจึงเสียเมือง  และซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น  แม่ทัพมีสติปัญญาและฝีมือแต่เพียงเสมอเราและต่ำกว่าเรานั้น  อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย  จะเอาชัยชำนะเขามิได้  แม้นดีกว่าเราจึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชำนะ”

          คำนี้น่าจะมาจากคำกล่าวที่ว่า  “กองทัพเดินได้ด้วยท้อง”  ทหารเก่งกาจขนาดไหนถ้าขาดเสบียงอาหารเสียแล้วก็ไปไม่รอด  เป็นสัจธรรมแท้นะครับ

(https://i.ibb.co/nwHtNGN/44itled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อยึดเมืองพิษณุโลกได้แล้ว  ไม่ทราบว่าใจอะแซหวุ่นกี้คิดจะยกเข้าตีกองทัพหลวงของพระเจ้าตากสินหรือไม่  พอดีทางกรุงอังวะผลัดแผ่นดินใหม่  พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่มีคำสั่งให้หากองทัพอะแซหวุ่นกี้กลับไป  การรบในสมรภูมิเมืองฝ่ายเหนือจึงสิ้นสุดไปด้วย

          แต่การศึกกับพม่ายังไม่จบลงง่าย ๆ ดอกนะครับ  วันพรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42526#msg42526)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42841#msg42841)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, พฤษภาคม, 2562, 12:17:49 AM
(https://i.ibb.co/1L91WhX/Ta125094568.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42681#msg42681)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43013#msg43013)                   .

- ยกทัพกลับกรุงธนบุรี -

พักฟื้นพลจนแข็งแรงได้ที่
ยกกลับตีพม่าไปให้สิ้นสูญ
พม่ายังหลงเหลือเป็นเชื้อมูล
คืออากูลสงครามตามล้างพลัน

พระเจ้าตากสินทรงยินร้าย
เพราะเสียหายไม่น้อยรอยแค้นนั่น
สั่งกวาดล้างเศษริปูอย่างรู้ทัน
อย่าให้มันตกค้างแผ่นดินไทย

ทรงถอยทัพกลับกรุงบำรุงราษฎร์
ขุนศึกขลาดประหารสิ้นหาเลี้ยงไม่
ทราบพม่าเหลือมี ณ ที่ใด
สั่งรีบไปไล่ล่าฆ่าทันที


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้ให้ท่านอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึงตอนที่  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  ขอพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าตากสินพากองทัพและครอบครัวหนีออกจากเมืองพระพิษณุโลก  เดินทัพไปหยุดพักอยู่ที่เพชรบูรณ์  ขณะนั้นทางประเทศพม่าเกิดการเปลี่ยนแปลง  โดยพระเจ้ามังระสวรรคต พระโอรสขึ้นครองแผ่นดินแทนแล้วเรียกหาให้กองทัพอะแซหวุ่นกี้กลับไปอังวะ สงครามไทยพม่าจึงสงบระงับไป เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านพระราชพงศาวดารดารต่อไปนะครับ

(https://i.ibb.co/c3x3GRq/Untitlsed-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์  ซึ่งไปตั้งอยู่ ณ เมืองเพชรบูรณ์นั้น  ได้เสบียงอาหารเลี้ยงไพร่พลบริบูรณ์แล้วก็บอกลงมากราบทูลว่าจะขอยกติดตามตีทัพพม่าซึ่งเลิกถอยไป  แล้วยกกองทัพกลับมาทางเมืองสระบุรีขึ้นทางป่าพระพุทธบาท  ยกติดตามทัพพม่าไปทางเมืองสุโขทัย  ขณะนั้นท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงซึ่งตั้งค่ายรับพม่าอยู่ในที่ต่าง ๆ ก็บอกลงไปกราบทูลว่าพม่าได้เมืองพระพิษณุโลกแล้วบัดนี้เลิกทัพกลับไป

(https://i.ibb.co/Gc7WKBy/Udsdntitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัสน้อยพระทัยแก่ข้าศึกนัก ดำรัสให้หาหลวงศรสำแดงเข้ามาถามหน้าพระที่นั่งว่า จะให้คุมเลกทหารเกณฑ์หัดไปตามรบพม่าจะได้หรือมิได้  หลวงศรสำแดงก้มหน้านิ่งเสียไม่กราบทูลประการใด  ก็ทรงพระโกรธดำรัสให้ประหารชีวิตเสีย  แล้วดำรัสให้พระยาพิชัย (ทองดี) ยกกลับไปบ้านเมือง  ให้พระยาพิชัยสงครามไปด้วย  จัดแจงไพร่พลพร้อมแล้วให้ยกไปก้าวสกัดติดตามตีพม่าจงได้  แล้วให้กองพระยาเทพอรชุน  พระยารัตนพิมล  พระยานครชัยศรี  พระยาทุกขราษฎร์เมืองพระพิษณุโลก  หลวงรักษโยธา  หลวงอัคเนศร  เป็นกองหน้า  ให้พระยาสุรบดินทรเจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นแม่ทัพ  ยกไปติดตามตีพม่าทางเมืองตาก  ให้พระยาธิเบศบดีคุมกองอาสาจาม ยกไปติดตามพม่าทางเมืองสุโขทัย

(https://i.ibb.co/h93B8LY/10-2.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/DYDgzS1/Dbv2r7p-Vw-AAD5vu.jpg) (https://imgbb.com/)


          ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก อัฐศก  จึงพระราชสงครามนำเอาหนังสือมหาโสภิต  อธิการวัดใหม่ เขียนใส่ใบตาลไปถวาย  เป็นเรื่องความพุทธทำนายว่ามีในคัมภีร์พระธาตุวงศ์ข้อความว่า  “ตระกูลเสนาบดีจะได้เป็นกษัตริย์สี่พระองค์  เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยา  และพระองค์ที่สุดนั้น พม่าจะยกมาย่ำยีพระนครเสียแก่พม่า  แล้วจะมีบุรุษพ่อค้าเกวียนจะได้เป็นพระยาครองเมืองทิศใต้ชายทะเลชื่อเมืองบางกอก  พระยาองค์นั้นจะได้สร้างเมืองเป็นราชธานีขึ้นได้เจ็ดปี  ในที่สุดเจ็ดปีนั้นพม่าจะยกมาพยายามกระทำสงครามอยู่สามปี  ในพุทธศักราชล่วงได้ ๒๓๒๐ ปี  จุลศักราช ๑๑๓๙ ปี  พระนครบางกอกจะเสียแก่พม่าข้าศึก  ให้เสด็จขึ้นไปอยู่ ณ เมืองละโว้คือเมืองลพบุรี  อันเป็นที่ชุมนุมพระบรมธาตุ  ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย  ข้าศึกศัตรูจะทำร้ายมิได้เลย”

(https://i.ibb.co/64dFxfm/Unt-itled-1-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นทรงอ่านแล้วจึงดำรัสว่า  ซึ่งจะละเมืองบางกอกเสียนั้นมิได้  แต่ปากสมณชีพราหมณ์ว่าแล้ว  จำจะทำตาม  จะไปอยู่เมืองลพบุรีสักเจ็ดวันพอเป็นเหตุ  ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ  ได้ข่าวว่าพม่าข้างทางเมืองอุทัยธานียกแยกขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์จึงดำรัสให้พระยาพลเทพ  หลวงเนาวโชติ  เจ้าหมื่นเสมอใจราช  ยกกองทัพขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์  ถ้าพม่ายกไปพอจะต่อรบได้ก็ให้สู้รบต้านทานไว้  ถ้าเหลือกำลังจะผ่อนครอบครัวเสบียงอาหารลงไปกรุง  แล้วให้กองพระยานครสวรรค์ พระยาสวรรคโลก  ยกไปติดตามพม่าทางเมืองกำแพงเพชรอีกทัพหนึ่ง  และให้กองพระยายมราชยกลงมาอยู่รักษาค่ายหลวง ณ ปากคลองบางข้าวตอก  แต่ทัพหลวงเสด็จแรมอยู่คอยรับครัวซึ่งแตกลงมาแต่เมืองพระพิษณุโลกอยู่สิบเอ็ดเวร

(https://i.ibb.co/85cWthR/Untit-led-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ  จึงเสด็จยาตราทัพหลวงทางชลมารค  หยุดประทับแรม ณ ค่ายมั่นเมืองนครสวรรค์  จึงดำรัสให้ประหารชีวิตหลวงชาติสุรินทร์ซึ่งหนีตาทัพลงมาแต่กองพระยาธรรมไตรโลกนั้นเสีย  แล้วให้แจกกฎหมายประกาศไว้สำหรับทัพทุกทัพทุกกองว่า  ถ้าไพร่ตามนายมิทันให้ฆ่าเสีย  ถ้าข้าราชการตามเสด็จมิทันให้ลงพระราชอาชญาถึงสิ้นชีวิต  ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ  จึงเสด็จทางชลมารคล่องมาประทับแรม ณ พลับพลาค่ายมั่นบางแขม จึงหลวงวังเมืองนครสวรรค์ไปสืบราชการมากราบทูลว่า  เห็นพม่าตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชรประมาณสองพันเศษ  ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ  จึงหมื่นชำนิคชสารมากราบทูลว่าพม่าเผาเมืองพระพิษณุโลกเสียสิ้น  ยังเหลือแต่วัดมหาธาตุ  จึงดำรัสให้กองพระยายมราชยกไปทางแม่น้ำโพฟากตะวันตก  ให้กองทัพพระยาราชสุภาวดียกไปทางฟากตะวันออก  ให้พระยานครสวรรค์ยกขึ้นไปบรรจบกัน ณ วังพระธาตุ  ข้ามพร้อมกันทีเดียวไปตามตีทัพพม่า ณ เมืองกำแพงเพชร  ไปพร้อมกันตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านโคน  ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ  จึงเสด็จทัพหลวงกลับขึ้นไปประทับแรม ณ พลับพลาค่ายฟากตะวันออก  เหนือปากน้ำขลุม  ให้ประหารชีวิตขุนสุนทรนุรัตน  หมื่นสนั่นกับบ่าวคนหนึ่งซึ่งหนีตามทัพ  ตัดศีรษะเสียบไว้ ณ หาดทรายหน้าค่ายหลวง

(https://i.ibb.co/6Hskp0F/d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นหลวงวังไปสืบราชการ ณ บ้านสามเรือนมากราบทูลว่า  พม่ายกลงไปประมาณพันเศษ  จึงดำรัสให้ข้าหลวงไปหากองพระยานครสวรรค์ให้ถอยทัพลงมาจากค่ายบ้านโคนมาเข้าในกองทัพหลวง  จึงพระยาสุรบดินทรซึ่งยกไปตามพม่าบอกลงมากราบทูลว่า  พม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชรนั้นยกเลิกไปทางตะวันตกสิ้นแล้ว  ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ  จึงเสด็จถอยทัพหลวงลงมาประทับร้อน ณ เมืองนครสวรรค์  จึงชาวด่านเมืองอุทัยธานีบอกลงมากราบทูลว่า  ทัพพม่ายกผ่านลงมาประมาณพันเศษ  เผาค่ายที่ด่านนั้นเสีย  แทงหลวงตาลำบากอยู่องค์หนึ่งแล้วยกไปทางนารี  จึงดำรัสให้หลวงเสนาภักดีกองแก้วจินดายกติดตามไป  ถ้าทันเข้าตีให้แตกฉาน  แล้วให้ยกตามไปจนถึงเมืองชัยโยค  ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีวอก อัฐศก  จึงเสด็จยาตราทัพหลวงมาทางชลมารค  กลับยังกรุงธนบุรีมหานคร”

(https://i.ibb.co/RNQRCDv/561000009268501.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ที่ทิ้งเมืองพิษณุโลกพากองกำลังหนีไปปักหลักที่เพชรบูรณ์นั้น  เมื่อสะสมเสบียงอาหาร  เลี้ยงดูทแกล้วทหารจนมีกำลังแข็งแรงดีแล้ว  จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ขอยกกำลังไล่ล่าพม่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินไทยให้สิ้น  แล้วยกกำลังออกไล่ล่าพม่าทันที

(https://i.ibb.co/NTZw2fG/Untitle88d-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเสียพระทัยและน้อยพระทัยที่พ่ายแก่พม่า  ดำรัสสั่งให้กองกำลังของพระองค์ไล่ล่าพม่าที่ยังตกค้างอยู่ทุกหนทุกแห่ง  แล้วถอยทัพกลับคืนกรุงธนบุรี

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฯกันอีกนะครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, พฤษภาคม, 2562, 11:41:53 PM
(https://i.ibb.co/bBYF6QY/Dg-JESJMW4-AMq-Ia6.jpg) (https://imgbb.com/)

- เก็บกวาดขยะสงคราม -

เหลือควันหลงสงครามสยาม-พม่า
ทางฝ่ายไทยไล่ล่าพม่าหนี
จากกำแพงฯลงไปอุทัยธานี
ไทยตามตีตอเนื่องถึงเมืองสุพรรณ

ถึงหน้านาทำนาเลิกราทัพ
รอตั้งรับศึกใหม่อย่างไม่ยั่น
ทรงสั่งปราบเสีกเสี้ยนเลี่ยนหล้าพลัน
แล้วจึงหันหลังกลับคืนนคร


          อภิปราย ขยายความ...............

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาให้อ่านกัน  จบตอนที่  หลังจากเสียพิษณุโลกให้แก่พม่าแล้ว  เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) พักฟื้นกำลังพล  สะสมเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์  จนกองทัพมีความแข็งแกร่งขึ้นแล้วจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ขอนำกำลังไล่กวาดล้างกองกำลังพม่าที่ยังหลงเหลืออยู่บนผืนแผ่นดินไทย  สมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสให้กองกำลังของพระองค์เข้าช่วยกองทัพเจ้าพระยาสองพี่น้องกวาดล้างพม่าให้หมดไปจากแผ่นดินไทย  แล้วยกทัพหลวงกลับกรุงธนบุรี  ความจะเป็นอย่างไร  อ่านพระราชพงศาวดารต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/5j9XQDq/Untdfitled-8.png) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายกองทัพพระยายมราช  พระยาราชสุภาวดี  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านโคนนั้น  ครั้นแจ้งว่าทัพพม่า ณ เมืองกำแพงเพชรเลิกไปแล้ว  แล้วได้แจ้งว่าทัพพม่ากองหนึ่งยกลงไปทางเมืองอุทัยธานี  จึงยกกองทัพผ่านลงมาทางด่านเขาปูนและด่านสลักพระ  พบกองทัพพม่าได้รบกันเป็นสามารถ    และทัพพม่ากองหนึ่งกลับยกแยกเข้ามาตั้งอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์  คอยรับกองทัพพม่าซึ่งไปหาเสบียงอาหาร ณ แขวงเมืองเพชรบูรณ์

(https://i.ibb.co/2Y2DVnb/Untitsled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๗ แรม ๒ ค่ำ  จึงพระยายมราช  พระยาราชสุภาวดี  บอกข้อราชการลงมากราบทูล ณ กรุงธนบุรี  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้ข้าหลวงไปหาพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักณษ์) เข้ามาจากเมืองเพชรบุรี  แล้วดำรัสให้พระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระองค์เจ้าจุ้ย)  ถือพลพันหนึ่งยกทัพเรือหนุนขึ้นไป

(https://i.ibb.co/MpzZwPj/Untitsfled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ  จึงเสด็จยาตรานาวาทัพหลวงจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารค  ขึ้นไปประทับพลับพลาค่ายเมืองชัยนาทบุรีฟากตะวันออก  แล้วโปรดให้พระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์กลับลงมารักษากรุงธนบุรี จึงพระยายมราช  พระยาราชสุภาวดี  บอกลงมากราบทูลว่าตั้งค่ายประชิดรบทัพพม่า ณ ด่านเมืองอุทัยธานีนั้น  ขัดสนด้วยเสบียงอาหารนัก  บัดนี้ล่าทัพลงมาตั้งอยู่ ณ ดอนไก่เถื่อน

(https://i.ibb.co/X8hHSKW/Untidftled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองหม่อมอนุรุธเทวาและหลวงเสนาภักดีกองแก้วจินดา  บอกมากราบทูลว่า  ได้ยกติดตามพม่าไปทางเมืองอุทัยธานี  พบพม่ากองหนึ่งยกลงมาทางแขวงเมืองสรรคบุรี  ได้รบกัน ณ บ้านเดิมบางนางบวชเป็นสามารถ  ทัพพม่าแตกหนีลงไปทางแขวงเมืองสุพรรณบุรี  จึงดำรัสว่าพม่ามิได้ตามลงมาติดพันแล้วเป็นเทศกาลจะได้ทำนา  ให้มีตราหากองทัพเมืองพิจิตร  เมืองนครสวรรค์  เมืองอุทัยธานี  ลงมายังค่ายหลวง ณ เมืองชัยนาทบุรีให้สิ้น

(https://i.ibb.co/ygkww38/led-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วให้มีตราไปถึงพระยายมราช  พระยาราชสุภาวดี ซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ ดอนไก่เถื่อน  กับให้กองมอญพระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ) ยกเติมไปอีกกองหนึ่งเป็นสามทัพ  ให้ยกไปทางเมืองสุพรรณบุรี  เมืองนครชัยศรี  เมืองราชบุรี  ถ้าพบทัพพม่าให้ตีจงแตก  ถ้าปะครัวเร้นซ่อนอยู่ในป่าก็ให้กวาดต้อนลงไป ณ กรุง  แล้วดำรัสให้กองพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม   กรมขุนรามภูเบศ (พระเจ้าหลานเธอบุญจันทร์)  และเจ้าพระยามหาเสนา  ให้เร่งยกขึ้นไปตีพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์

(https://i.ibb.co/gwrXQ6m/Untidtled-14.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ  จึงเสด็จยกทัพหลวงหนุนขึ้นไปแล้วเสด็จกลับในวันนั้น  มาลงเรือพระที่นั่ง ณ สรรพยา  ล่องลงมาประทับแรม ณ บ้านงิ้ว ถึง ณ วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ  จึงเสด็จยาตรานาวาทัพหลวงกลับยังกรุงธนบุรี

(https://i.ibb.co/FJq60p0/0839602306.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  อ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ผมยกมาวางให้อ่านแล้ว  ทุกท่านคงจะเห็นแจ้งประจักษ์ถึงงานกู้ชาติของคนไทย  ภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้วนะครับ  ว่าแสนลำบากยากแค้นเพียงใด

(https://i.ibb.co/fxY6xsp/xswe.jpg) (https://imgbb.com/)

          แม้อะแซหวุ่นกี้เลิกทัพกลับไปแล้ว  แต่ก็ยังมีกองทัพย่อย ๆ ของพม่าอีกหลายกองที่พระเจ้าตากสินจะต้องกำจัดกวาดล้างให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทย  บรรดาขุนนางนายทหารทั้งแม่ทัพนายกองและพลทหารยังต้องเหน็ดเหนื่อยในการไล่ล่าทหารพม่าจนไม่มีเวลาพักผ่อน  

(https://i.ibb.co/X20QbJ6/20170802-6-1501663821-125245.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมืองพิษณุโลกถูกพม่าเผาราบพนาสูร  หลงเหลือเพียงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  หรือวัดใหญ่ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์  และพระศาสดา  ใครจะบูรณะเมืองนี้ขึ้นมาให้คงสภาพเดิมได้อย่างไรหรือไม่  ดูความกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤษภาคม, 2562, 10:26:39 PM
(https://i.ibb.co/1qXtCxJ/Un7titled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทรงสั่งทำนาสะสมเสบียง -

ครั้นไล่ขับจับพม่าเหลือล่าถอย
เหลือเล็กน้อยล้าหลังกำลังอ่อน
พระเจ้าตากสินห่วงปวงนิกร
จะเดือดร้อนทั่วเมืองเรื่องข้าวปลา

เรียกกองทัพกลับกรุงบำรุงราษฎร์
ทำนุศาสน์ทุกแง่แก้ปัญหา
ให้กองทัพจับงานการทำนา
สั่งสมอาหารเผดียงเสบียงกรัง


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาวางให้อ่านกันถึงเรื่องราวของการรบระหว่างพม่าผู้รุกราน  กับไทยผู้ป้องกันรักษาผืนแผ่นดินไทยในบริเวณหัวเมืองฝ่ายเหนือ  อันมีเมืองพิษณุโลกเป็นศูนย์กลาง  แม้อะแซหวุ่นกี้ขุนพลเฒ่าของพม่าผู้เก่งกาจจะถอยทัพกลับไปแล้ว  แต่ก็ยังมีกองทัพย่อย ๆ ของพม่าหลงเหลืออยู่ให้สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องขับไล่ให้หมดไปจากผืนแผ่นดินไทย  ศึกระหว่างไทย-พม่าจึงยังไม่สิ้น  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/0tcSSZr/Untitle-d-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ด่านเมืองอุทัยธานีนั้น  ขัดสนด้วยเสบียงอาหารนักก็เลิกกลับไป  แต่ที่เมืองนครสวรรค์นั้น  พม่าตั้งอยู่ประมาณแปดร้อยเก้าร้อย  คอยท่าพม่าซึ่งไปหาข้าว ณ แขวงเมืองเพชรบูรณ์  ยังหาเลิกไปไม่  และกองทัพพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักณษ์)   กรมขุนรามภูเบศ (พระเจ้าหลานเธอบุญจันทร์) และเจ้าพระยามหาเสนาก็ยกเข้าตี ตั้งค่ายรบติดพันกันอยู่ จึงบอกลงมาให้กราบทูล ณ กรุงธนบุรี

(https://i.ibb.co/9vKW0Cz/Usdntitled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก อัฐศก  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จยกพยุหโยธานาวาทัพหลวงพร้อมด้วยพลทหารสิบเอ็ดกองจากกรุงธนบรีไปทางชลมารค  เสด็จไปประทับ ณ พลับพลาค่ายเมืองชัยนาทบุรี  พอกองทัพพระเจ้าหลานเธอตีทัพพม่าแตกหนีไปทางเมืองกำแพงเพชร  จึงบอกลงมากราบทูล ณ เมืองชัยนาทบุรี

(https://i.ibb.co/88t5Fr3/Unatitled-23-01.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๒ ค่ำ  จึงดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศ  กับพระยาอินทรอภัย  อยู่รักษาเมืองนครสวรรค์ แล้วเสด็จทัพหลวงไปทางชลมารคถึงเมืองตาก  และพม่าซึ่งแตกไปอยู่ในป่าดงนั้น  กองทัพทั้งปวงจับมาถวายสามร้อยสามสิบเศษ  จึงดำรัสให้กองทัพทั้งปวงติดตามพม่าไปจนปลายด่านเมืองตาก

(https://i.ibb.co/Tq3FVZP/Untiatled-24.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ  จึงเสด็จถอยทัพหลวงกลับมาถึงบ้านระแหง  ทอดพระเนตรเห็นต้นข้าวซึ่งพม่าทำนาไว้  สั่งให้ถอนเสีย  ครั้นวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ  เสด็จถึงกรุงธนบุรีแล้ว  ทรงพระวิตกถึงสมณะซึ่งขับต้อนลงมาแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือ  จึงให้เผดียงสมเด็จพระสังฆราชว่า  ถ้าพระสงฆ์อนุจรอารามใดขัดสนอาหาร  ก็ให้มาเบิกเอาข้าวในฉางหลวงไปถวาย  แล้วทรงพระราชศรัทธาถวายสมณบริขารแก่พระสงฆ์อาคันตุกะทั้งปวงเป็นอันมาก  และให้เลิกคนซึ่งรักษาหน้าที่เชิงเทินพระนครเสีย  ให้ไปทำไร่นาหากินตามภูมิลำเนา

(https://i.ibb.co/0BDL0W1/Un-titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑  พระยาราชภักดีและพระยาพลเทพขึ้นไปตามหาพม่าทางเมืองเพชรบูรณ์นั้น  พบพม่าที่บ้านนายมได้รบกัน  ตีทัพพม่าแตกหนีไปทางเมืองอุทัยธานี  จับเป็นได้เก้าคน  บอกส่งลงมาถวาย  จึงโปรดให้มีตราไปถึงพระยาราชภักดีให้ยกไปติดตามพม่าซึ่งแตกหนีไปนั้น  แต่กองพระยาพลเทพให้ยกกลับมา ณ กรุง

(https://i.ibb.co/fXFDqvm/Untitled-1a2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ  กองพระยายมราช  พระยาราชสุภาวดี  พระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ)  ยกติดตามพม่าไปทางด่านสุพรรณบุรีได้ตามตีพม่าไปจนถึงด่านแม่ลำเมา  จับเป็นได้เจ็ดคน  บอกส่งลงมาถวาย

(https://i.ibb.co/wYy7qBD/Un-titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ  จึงกองเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา)  และกองพระยาธิเบศบดี  ซึ่งยกไปตามพม่าทางเมืองสุโขทัยนั้น  จับเป็นได้สิบแปดคน  กับทั้งเครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก  บอกส่งลงมาถวาย

(https://i.ibb.co/sWGQNTS/4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๑ ค่ำ  จึงพระยานครสวรรค์  พระยาพิชัย (ทองดี)  ซึ่งยกติดตามพม่าไปทางด่านเมืองตาก จับเป็นได้สี่สิบเก้าคนบอกส่งลงมาถวาย    และกองพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม  และเจ้าพระยามหาเสนา  บอกส่งพม่าแต่แควเมืองกำแพงเพชรสิบเอ็ดคนลงมาถวาย  

(https://i.ibb.co/gWwdjpr/5-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นจึงดำรัสให้มีตราหากองทัพทั้งปวงกลับลงมายังพระนครพร้อมกัน
          แล้วโปรดให้เจ้าพระยาจักรี   เจ้าพระยาสุรสีห์   พระยาธรรมมา  คุมไพร่พลทั้งปวงไปตั้งทำนา ณ ทะเลตมฟากตะวันออกกรุงธนบุรี  และทุ่งบางกะปิ  สามเสน
          ให้พระยายมราช  พระยาราชสุภาวดี  คุมไพร่พลทั้งปวงตั้งทำนา ณ ทะเลตมฟากตะวันตก  และกระทุ่มแบน  หนองบัว  แขวงเมืองนครชัยศรี

(https://i.ibb.co/PF6rYq1/X13046794-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           อนึ่ง  ในเดือน ๑๐ นั้น  กะปิตัน(กัปตันเรือ)เหล็กอังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมาก  ส่งปืนนกสับเข้ามาถวายพันสี่ร้อยบอก  กับสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ

           ถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ ปีวอก อัฐศก  เพลาบ่ายสี่โมง  นางพระยาช้างเผือกล้ม  จึงดำรัสให้เอาศพไปฝัง ณ วัดสามเพ็ง  ที่ฝังศพเจ้าพระยาปราบไตรจักรแต่ก่อนนั้น  ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๓ ค่ำ  ข้าหลวงและกรมการเมืองนครศรีธรรมราชบอกเข้ามาว่า  เจ้านราสุริยวงศ์ผู้ครองเมืองนั้นถึงพิราลัย  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้านคร ฯ(หนู) กลับคืนออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราชดังเก่า  พระราชทานเครื่องยศและราชูปโภคเป็นอันมาก”

(https://i.ibb.co/S6W6NC3/2.jpg) (https://imgbb.com/)

           * ท่านผู้อ่านครับ  พม่านี่เป็นนักสู้จริง ๆ นะครับ  ทัพใหญ่ยกกลับไปแล้ว  กองกำลังย่อย ๆ ยังหลงเหลืออยู่  แทนที่จะรีบล่าถอยกลับไป  พวกเขายังตั้งกองกำลังต่อสู่ไทยอยู่อีกหลายแห่ง  พระเจ้าตากสินต้องเวลาเวลาไล่ล่าอยู่เป็นนานทีเดียว

(https://i.ibb.co/jV6r98f/Unti45tled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           เราได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่า  สมัยนั้นช่วงเวลาการทำนาของไทยคือ  เดือน ๙ เดือน ๑๐  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเรียกกองทัพกลับกรุงแล้วมอบหมายให้เจ้าพระยาจักรี   และแม่ทัพต่าง ๆ รับหน้าที่ในการนำกำลังทหารทำนารอบ ๆ กรุงธนบุรีหลายแห่ง  ทุ่งสามเสน  ทุ่งบากะปิ  เป็นทุ่งนาที่สำคัญในเวลานั้น

           เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย
๒๓ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, พฤษภาคม, 2562, 10:24:44 PM
(https://i.ibb.co/m63Jxdr/Untitled-a1.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่ายกมาอีกแล้ว -

สงบศึกสงครามเนาความสุข
แล้วกลับลุกขึ้นรบกันอีกตั้ง
“จิงกูจา”ส่งทัพมาประดัง
ด้วยมุ่งหวังยึดเชียงใหม่เอาไว้ครอง

“อำมลอกหวุ่น”ขุนทัพขับพลพร้อม
มารายล้อมเชียงใหม่อย่างผยอง
เจ้าเมืองหนีลงใต้ไม่ลำพอง
ทำเรื่องร้องขอเมตตาลงมากรุง

          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำเนื้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามากางให้อ่านกัน  ถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินสั่งไล่ล่าพม่าที่หลงเหลืออยู่จนถึงฤดูการทำนาแล้ว  จึงทรงเรียกกองทัพกลับกรุงแล้วมอบหมายให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และแม่ทัพนายกองคนอื่น ๆ ร่วมกันทำนาข้าว  สะสมเสบียงไว้  และในเวลานั้นกัปตันชาวอังกฤษที่เกาะหมาก(ปีนัง)ได้ส่งปืนนกสับ ๑,๔๐๐ กระบอก  พร้อมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย  และเจ้านราสุริยวงศ์ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครคนเก่ากลับลงไปครองนครศรีธรรมราชดังเดิม เรื่องราวจะเป็นอย่างไรอีก อ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/zQQcCCC/ocoar.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายกองพระยาราชภักดียกติดตามพม่าไปทางด่านเมืองอุทัยธานี  พอฝนตกหนักน้ำนองท่วมป่า  จะติดตามไปลำบากนักจึงถอยทัพกลับลงมา  แล้วบอกลงมากราบทูล ณ กรุงฯ ว่าพม่ายกหนีไปโดยเร็วยกติดตามไม่ทัน  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอกก็ทรงพระพิโรธ  จึงให้ตำรวจลงเรือเร็วรีบขึ้นไปหากองทัพพระยาราชภักดีกลับลงมายังพระนคร  แล้วดำรัสให้ปรึกษาโทษพระยาราชภักดี  และนายทัพนายกองทั้งสิบนาย  ซึ่งเป็นลูกกองนั้น  ว่าเกียจคร้านย่อท้อต่อราชการศึก  ให้ประหารชีวิตเสียทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/TKhbSkM/Untiteled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาราชภักดีจึงกราบทูลว่า  ราชการครั้งนี้โทษผิดแต่ข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว  ด้วยข้าพระพุทธเจ้าเป็นนายทัพ  เมื่อและมิไปแล้ว  นายทัพนายกองทั้งปวงอยู่ในบังคับก็ต้องตามบัญชาถอยมาด้วยกันทั้งสิ้น  จะรับพระราชอาชญาตายแต่ตัวข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว  และนายทัพนายกองทั้งนั้น  ขอพระราชทานชีวิตไว้ให้ทำราชการแก้ตัวสืบไปภายหน้า  จึงดำรัสว่า นายทัพนายกองทั้งปวงไม่ทัดทานกัน  ลงใจพร้อมกันทั้งสิ้น  ครั้นจะไว้ชีวิตก็จะเป็นเยี่ยงอย่างกันต่อไป  จงตายเสียด้วยกันทั้งสิ้นเถิด  แล้วดำรัสให้เอาตัวพระยาราชภักดี  และขุนนางมีชื่อทั้งสิบนายซึ่งเป็นลูกกองนั้นไปประหารชีวิตเสียสิ้น”

(https://i.ibb.co/m6nJ1yy/26047137-1368295039982315-1610328419117118385-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้  ก็เบาใจแล้ว  เพราะกองกำลังพม่าที่หลงเหลือยู่ถูกจับตัวได้บ้าง  หนีรอดไปได้บ้าง  จนเชื่อได้ว่าไม่มีหลงเหลืออยู่บนผืนแผ่นดินไทยในหัวเมืองฝ่ายเหนือและภาคตะวันตกของไทยอีก  เราเห็นความเด็ดขาดของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ทรงให้ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองและไพร่พลที่ล่าหนีพม่าบ้าง  หนีทัพบ้าง  แม้กระทั่งแม่ทัพระดับผู้ใหญ่อย่างพระยาราชภักดี  ที่ไล่ล่าพม่าทางเมืองอุทัยธานี  ติดตามไปไม่ทันเพราะเกิดฝนตกหนัก  น้ำป่าบ่านอง  จึงถอยทัพกลับมา  ก็ยังถูกลงพระราชอาชญาถึงขั้นให้ประหารชีวิต  แม้จะยอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว  แต่พระองค์ก็ไม่ทรงยินยอม  ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่าพระเจ้าตากสินทรงโหดร้ายเกินไป  แต่ถ้ายอมรับความจริงที่ว่าในสถานการณ์รบทัพจับศึกจะต้องมีความเด็ดขาด  โหดเหี้ยมทารุณ  ไม่อย่างนั้นการรบจะไม่ประสบชัยชนะ  อย่างนี้แล้วก็ไม่อาจถือได้ว่าพระเจ้าตากสินทรงเหี้ยมโหดเกินไปนัก  ในเมื่อขับไล่พม่าออกไปได้หมดแล้ว การศึกระหว่างไทยกับพม่าจะสิ้นสุดลงแล้วหรือยัง ?  ยังไม่ไม่สิ้นสุดหรอกครับ  ขอให้ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปดังนี้ครับ

(https://i.ibb.co/888xcWk/126541352.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายข้างกรุงรัตนบุระอังวะ  พระเจ้ามังระสวรรคต  อยู่ในราชสมบัติสิบสามปี  จิงกูจาราชบุตรได้ครองราชสมบัติสืบไปในปีวอก อัฐศก  ครั้นกองทัพอะแซหวุ่นกี้ยกกลับไปถึงจึงเข้าเฝ้าทูลแถลงการณ์ซึ่งไปตีหัวเมืองไทยฝ่ายเหนือใต้ทั้งสิ้น  พระเจ้าจิงกูจาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่อะแซหวุ่นกี้และนายทัพนายกองทั้งปวงโดยสมควรแก่ความชอบ

(https://i.ibb.co/9TXnP8R/Untitxcled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นอยู่มาแชลงจาผู้น้องพระเจ้าจิงกูจา  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองแชลงอยู่ก่อนนั้น  คิดกับอะตวนหวุ่นอำมาตย์  เป็นกบฏต่อพระเจ้าจิงกูจา  พระเจ้าจิงกูจาให้จับแชลงจากับอะตวนหวุ่นอำมาตย์ประหารชีวิตเสีย  ยังแต่อาว์สามคน  คือ  บังแวงตแคงปดุงหนึ่ง  มังจูตแคงปคานหนึ่ง  มังโพเชียงตแคงแปงตแลหนึ่ง  มิได้เลี้ยงเป็นเจ้า  ให้แยกบ้านกันอยู่คนละบ้านไกลเมืองอังวะ

(https://i.ibb.co/GH4xbNZ/Untitled-a3.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วพระเจ้าจิงกูจาให้อำมลอกหวุ่น  และต่อหวุ่น  กับพระยาอู่รามัญ  ถือพล  ๖,๐๐๐  ยกไปตีเมืองเชียงใหม่อีก  เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้  พระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อรบพม่าเหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเสีย  พาครอบครัวอพยพเลิกหนีลงมาอยู่เมืองสวรรคโลก  แล้วบอกลงมา ณ กรุงธนบุรี  กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ”

(https://i.ibb.co/6wS6Qzf/Unt-itled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** ท่านผู้อ่านครับ  พระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่หนีพม่าลงไปอยู่เมืองสวรรคโลก (คือเชลียง-ศรีสัชนาลัย-เชียงชื่น) ผู้นี้  คือ  พระยาจ่าบ้านที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้งให้เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ เพราะท่านเป็นหัวหน้าคนสำคัญของชาวเชียงใหม่ที่ต่อสู้กับพม่าด้วยลูกล่อลูกชนอันแพรวพราว  โดยร่วมมือกับเจ้าเจ็ดตนแห่งนครลำปาง  อันมีพระยากาวิละเป็นหัวหน้า  “ชักศึก” จากเมืองใต้ขึ้นไปช่วยจนปราบปรามพม่าได้สำเร็จ  และต่อมาถูกพระเจ้าตากสินจำคุกเพราะฆ่าอุปราชก้อนแก้ว  ดังปรากฏความในตำนานเมืองเหนือที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ๆ   พม่ายกมาตีเชียงใหม่ได้อีกครั้ง  แล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, พฤษภาคม, 2562, 10:53:55 PM
(https://i.ibb.co/JBg7Sys/560000004269003.jpg) (https://imgbb.com/)

- เกิดวุ่นวายในแผ่นดินญวน -

พักเรื่องราวพม่าไว้ไม่กล่าวด่วน
มาดูญวนทั่วแดนที่แสนยุ่ง
แย่งอำนาจเป็นใหญ่ให้นังนุง
เกิดรบพุ่งอื้อฉาวทั้งเจ้า,โจร

“ผู้ชนะเป็นเจ้า”กล่าวไม่ผิด
ผู้พิชิตเหี้ยมโหดรบโลดโผน
จากโจรามาจากถิ่นดินเลนโคลน
ปล้นเมืองโอนตำแหน่งเจ้าแต่งตน


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้ให้อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ถึงเรื่องราวการกวาดล้างกองกำลังพม่าที่หลงเหลืออยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือจนสิ้น  เหตุการณ์ทางพม่าเปลี่ยนไปเมื่อพระเจ้ามังระสวรรคต  จิงกูจาราชบุตรได้ครองราชย์แล้วให้อำมลอกหวุ่น  และ  ต่อหวุ่น  กับพระยาอู่รามัญ  นำกำลัง ๖,๐๐๐  ยกมาตีเชียงใหม่  พระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ทิ้งเมืองเสีย  พาครอบครัวหนีลงมาอยู่เมืองสวรรคโลกแล้วบอกลงมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้พักเรื่องราวทางเชียงใหม่ไว้  แล้วกล่าวถึงเรื่องราวทางเขมร-ญวน  เป็นเรื่องยาว  ผมขออนุญาตไม่นำมากางให้ท่านกันทั้งหมดนะครับ  แต่จะขอเก็บความสำคัญมาบอกเล่าดังต่อไปนี้

           “กล่าวฝ่ายข้างแผ่นดินเมืองญวนนั้น  องเหียวหูเบือง  เจ้าเมืองเว้    ได้ทำสงครามกับเมืองตังเกี๋ยติดพันกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว  

     สำหรับองเหียวหูเบืองนี้มีบุตรชายห้าคน  ชื่อ องดิกมู ๑   องคางเบือง ๑   องเทิงกวาง ๑   องเชียงชุน ๑   องทาง ๑  
     องดิกมูนั้นมีบุตรชายชื่อ  องหวางตน  
     องคางเบืองมีบุตรชายสามคนชื่อ  องยาบา ๑   องเชียงสือ ๑   องหมัน ๑  

          ทั้งองดิกมู  และองคางเบือง   ได้ถึงแก่กรรมก่อนองเหียวหูเบืองบิดาของตน  
          ต่อมาองเหียวหูเบืองจึงถึงแก่พิราลัย  
          จากนั้นองกวักภอขุนนางผู้ใหญ่บิดาเลี้ยงขององเทิงกวาง  ได้ครองเมืองเว้โดยที่ขุนนางและราษฎรไม่เต็มใจ

          ในยามนั้นอ้ายหยากผู้เป็นโจรป่าอยู่ ณ แดนเมืองกุยเยิน  ได้พูดจาเกลี้ยกล่อมผู้คนว่า  จะตีเอาเมืองเว้ให้ได้  แล้วจะจับองเทิงกวาง  องกวักภอ ฆ่าเสีย    แล้วจะยกองหวางตนบุตรองดิกมูขึ้นครองเมืองเว้  ผู้คนทั้งปวงได้ฟังดังนั้นก็เชื่อถือ  พากันสมัครเข้าเป็นพวกพ้องจำนวนมาก

          อ้ายหยากนั้นมีน้องชายสองคนคือ อ้ายบาย ๑   อ้ายดาม ๑   เมื่อได้สั่งสมผู้คนจนมีกำลังมากพอแล้วก็ยกเข้าตีเมืองเว้ทันที
          ทางฝ่ายองกลิงเกียมมหาอุปราชเมืองตังเกี๋ย  ได้ทราบข่าวว่าอ้ายหยากจะยกทัพไปตีเมืองเว้  จึงแต่งให้องกวักเหลาเป็นแม่ทัพยกกำลังมาตีเมืองเว้ด้วย

          กองทัพอ้ายหยากตีด้านหนึ่ง    ทัพองกวักเหลาตีอีกด้านหนึ่ง
          ฝ่ายองเทิงกวางกับองกวักภอแต่งกองทัพออกสู้รบก็พ่ายแพ้  เมื่อเห็นว่าเหลือกำลังจะสู้รบก็ทิ้งเมืองเสีย  พาองเชียงชุน  องยาบา  องเชียงสือ  องหมัน   หนีลงเรือแล่นหนีมาทางทะเลมาอยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน  

          กองทัพอ้ายหยากและกองทัพเมืองตังเกี๋ยจึงได้เมืองเว้  อ้ายหยากจับองหวางตนบุตรองดิกมูได้  แต่มิได้ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเว้ตามที่เคยพูดไว้  หากแต่พาตัวไปไว้เมืองกุยเยิน  ส่วนองกวักเหลาแม่ทัพเมืองตังเกี๋ยจับองทางได้แล้วให้จำจองไว้  เก็บเอาทรัพย์สินสิ่งของสิ้นแล้วคุมตัวองทางเลิกทัพกลับไปเมืองตังเกี๋ย

          ฝ่ายว่าองหวางตนที่ถูกพาตัวไปอยู่เมืองกุยเยินนั้น  คิดเกรงว่าอ้ายหยากจะฆ่าตนเสีย  จึงหลบหนีลงเรือแล่นมาอยู่ ณ เมืองไซ่ง่อนกับองเทิงกวาง  องเทิงกวางจึงคิดอ่านกับญาติและขุนนางทั้งปวงจะยกองหวางตนขึ้นเป็นเจ้า  แล้วคิดจัดแจงกองทัพจะยกไปตีอ้ายหยาก ณ เมืองกุยเยิน
          แต่ยังมิทันที่จะยกไป  อ้ายหยากได้รู้ข่าวก็รีบยกทัพมาปล้นตีเมืองไซ่ง่อนแตก  จับองเทิงกวางกับองหวางตนได้แล้วให้ประหารชีวิตเสีย  องยาบา  องหมัน  หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่า  อ้ายหยากก็ให้ทหารไปติดตามจับได้แล้วให้ประหารเสีย

          องเชียงสือนั้นหนีได้แล้วก็ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ในป่า ณ ตำบลหนึ่ง  ส่วนองเชียงชุนนั้นหลบหนีมาอาศัยพระยาราชาเศรษฐีญวนอยู่ ณ เมืองพุทไธมาศ  
          อ้ายหยากก็ยกกองทัพตามมาตีเมืองพุทไธมาศแตก  พระยาราชาเศรษฐีญวนกับองเชียงชุน  พาสมัครพรรคพวกลงเรือหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณารับไว้ และพระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยในพระนครฟากตะวันออก

          ฝ่ายองเชียงสือนั้นตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้ไพร่พลเป็นอันมากแล้วก็ยกทัพเข้าตีอ้ายหยาก  ยึดเมืองไซ่ง่อนคืนได้  อ้ายหยากถอยทัพไปตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ ณ เมืองกุยเยิน  เปลี่ยนชื่อตนเองเป็น  องไก่เซิน   อ้ายบายก็เปลี่ยนชื่อตนเป็น  องติงเวือง   อ้ายดามนั้นเปลี่ยนชื่อตนเป็นองลองเญือง  แล้วไปเป็นเจ้าเมืองเว้

          ขุนนางทั้งปวงในเมืองไซ่ง่อนได้ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นพ้องต้องกันให้ยกองเชียงสือ  ขึ้นเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน  ตั้งซ่องสุมไพร่พลเตรียมทำสงครามกับองไก่เซิน (อ้ายหยาก) ต่อไป

          องเชียงชุนซึ่งหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี  และทรงรับชุบเลี้ยงไว้นั้น  คิดการจะหนีกลับคืนไปเมืองญวน  ครั้นพระเจ้าตากสินทรงทราบดังนั้น  ก็ทรงเห็นว่าเขามิได้มีจิตสวามิภักดิ์  จึงให้จับตัวองเชียงชุนพร้อมบุตรภรรยาและสมัครพรรคพวกประหารชีวิตเสียด้วยกันทั้งสิ้น”

          * ท่านผู้อ่านครับ  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้พักเรื่องที่พม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่ไว้  แล้วมากล่าวเรื่องทางเมืองญวนอย่างละเอียดลออ  รายนามคนพม่าในพระราชพงศาวดาร  ผมว่าอ่านออกเสียงยากแล้ว  มาเจอนามคนญวนในพระราชพงศาวดาร  อ่านยากกว่านามคนพม่าเสียอีกนะครับ  การที่ท่านนำเรื่องญวนมากล่าวโดยละเอียดเป็น ”พงศาวดารญวน”  ก็เพื่อจะท้าวความให้ทราบที่มาของเจ้าแผ่นดินญวนพระองค์หนึ่ง  ที่หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ทรงชุบเลี้ยงไว้แล้วภายหลังกลับไปกอบกู้แผ่นดินญวน  ตั้งประเทศขึ้นมา  เป็นคู่แข่งกับสยามตราบเท่าวันนี้

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้ผมจะเก็บความมาบอกเล่าให้อ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, พฤษภาคม, 2562, 11:11:24 PM
(https://i.ibb.co/qYVkn8d/abcdef-01.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทรงบำเพ็ญพระกรรมฐาน -

ครั้นพระเจ้าตากสินสิ้นการศึก
ธ ทรงฝึกกรรมฐานการกุศล
บำรุงวัดศรัทธาล้ำหน้าชน
ทรงหวังผลภิญโญโพธิญาณ

ทรงศีลทั้งภาวนาไม่ละเว้น
จึงโดดเด่นทางพระกรรมฐาน
สามารถสอนสั่งสงฆ์องค์อาจารย์
ให้รู้การปฏิบัติวิปัสสนา

          อภิปราย ขยายความ...............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาวางกางให้อ่าน  เป็นเรื่องราวความวุ่นวายในประเทศอันนัมหรือเวียดนาม  โดยตังเกี๋ยได้ยกทัพมาตีเมืองเว้ของญวน  และรบติดพันกันเป็นเวลายาวนานยังไม่รู้แพ้ชนะ  ต่อมาเจ้าแผ่นดินญวนสิ้นพระชนม์ลง  เกิดการแย่งชิงบัลลังก์ขึ้น  และมีขุนโจรส้องสุมกำลังใหญ่โตขึ้นแล้วยกเข้าชิงเมืองเว้ได้  ตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดิน  ฝ่ายราชวงศ์เดิมก็ตั้งกองกำลังต่อสู้  มีการรบกันวุ่นวายและในที่สุด  องเชียงสือราชวงศ์คนสำคัญก็ได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นเจ้าแผ่นดิน  ปกครองญวนทางตอนใต้อยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน  ตั้งกองกำลังจะไปรบกลุ่มโจรที่ตั้งตนเป็นเจ้าครองแผ่นดิน ณ เมืองกุยเยิน  อยู่ทางเหนือของญวน  ความทั้งหมดนั้นพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานำมาท้าวความเพื่อจะกล่าวถึงเรื่องราวของญวนที่เกี่ยวของกับไทยต่อไป  วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับเดิมกันต่อนะครับ

(https://i.ibb.co/tLF85c2/DYpiyp-OVQAAyraa-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ในเดือน ๑๒ นั้น  เจ้าพระยาพิชัยราชาผู้เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลกลงมารับราชการอยู่ ณ กรุงธนบุรีนั้น  แต่งผู้เฒ่าผู้แก่เข้าไปขอน้องสาวเจ้าจอมฉิมพระสนมเอก  บุตรีเจ้านครศรีธรรมราช  ซึ่งเข้ามาอยู่ในพระราชวัง  ว่าจะเอามาเลี้ยงเป็นภรรยา  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสว่า  มันทำบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่กับกูผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน”  แล้วดำรัสให้เอาตัวเจ้าพระยาพิชัยราชาไปประหารชีวิตเสีย  ตัดศีรษะเสียบประจานไว้ที่ริมประตูข้างฉนวนลงพระตำหนักแพ  อย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างสืบไป

          ครั้นถึง ณ วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปทรงพระเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้  แล้วทรงพระราชอุทิศถวายเรือโขมดยาปิดทองทองทึบลำหนึ่ง  หลังคาบัลลังก์ดาดสีสักหลาดเหลืองคนพายสิบคน  พระราชทานเงินตราคนละสองตำลึง  และผ้าขาว  ให้บวชเป็นปะขาวไว้สำหรับพระอาราม  แล้วทรงถวายหีบปิดทองคู่หนึ่งสำหรับใส่พระไตรปิฎกและวิธีอุปเทศพระกรรมฐาน  แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า  เดชะผลทานบูชานี้ขอจงยังพระลักขณะพระปีติทั้งห้า  จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่าได้อันตรธาน  และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดนั้น  ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป  อนึ่ง  ขอจงเป็นปัจจัยแก่ปรมาภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า  แล้วให้เชิญหีบพระไตรปิฎกลงตั้งในบัลลังก์เรือศรีนั้น  ให้เกณฑ์เรือข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือน  และเรือราษฎรแห่เรือพระไตรปิฎกขึ้นไปตามแม่น้ำถึงบางยี่ขัน  แล้วแห่กลับคืนเข้าไป ณ วัดบางยี่เรือ  เชิญหีบพระไตรปิฎกขึ้นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถดังเก่า  แล้วให้พระราชาคณะและเสนาบดีกำกับกัน  เอาเงินตราสิบชั่งไปเที่ยวแจกคนโซทั่วทั้งในและนอกกรุงธนบุรีทั้งสิ้น

          ถึง ณ วันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ  ทรงให้เชิญพระโกศพระอัฐิพระพันปีหลวง  กรมพระเทพามาตย์  ลงเรือบัลลังก์ มีเรือแห่เป็นกระบวนไปแต่พระตำหนักแพแห่เข้าไป ณ วัดบางยี่เรือใต้  เชิญพระโกศขึ้นสู่พระเมรุ  นิมนต์พระสงฆ์หมื่นรูปสดับปกรณ์  แล้วทรงถวายไทยทานเป็นอันมาก  ครั้นครบสามวันแล้วเชิญพระโกศลงเรือแห่กลับเข้าพระราชวัง  จากนั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสมาทานอุโบสถศีล  แล้วทรงเจริญพระกรรมฐานภาวนา  เสด็จประทับแรมอยู่ ณ วัดบางยี่เรือใต้ห้าเวร  ให้เกณฑ์ข้าราชการปลูกกุฎีร้อยยี่สิบหลัง  ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากร  และพระอุโบสถ  พระวิหาร  พระเจดีย์  ให้บริบูรณ์ขึ้นทั้งพระอาราม  ที่คูรอบพระอุโบสถนั้นให้ชำระแผ้วถางและขุดให้กว้างไปกว่าเก่า  ให้ปลูกบัวหลวงในคูนั้นโดยรอบ  จากนั้นให้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาอยู่ ณ กุฎีที่ปลูกถวาย  แล้วเกณฑ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทให้ปรนนิบัติทุก ๆ พระองค์  และทรงเสด็จไปถวายพระราชโอวาทแก่พระสงฆ์  โดยอธิบายซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญได้  ให้ต้องด้วยวิธีพระสมถกรรมฐานภาวนา  จะได้บอกกล่าวกุลบุตรเจริญในปฏิบัติศาสนาสืบไป  แล้วทรงสถาปนาพระอุโบสถและการเปรียญเสนาสนกุฎี ณ วัดหงส์สำเร็จบริบูรณ์

(https://i.ibb.co/2gZJkDv/ds3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๓  กลางคืนเพลาสองยาม  มีเสือเข้ามากินชาวเขมรซึ่งเฝ้าสวนหลังวัดบางยี่เรือ  จึงพระราชดำรัสให้พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์  และเจ้าพระยาจักรี   พระยายมราช  กับข้าหลวงทั้งปวงออกไปจับเสือ  ให้วางยาเบื่อ  เสือกินแล้วเมาล้มลงนอนอยู่  จึงให้คนเข้าไปแทงเสือนั้นตาย

          ณ วันจันทร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓  เพลาบ่ายสามโมงเศษ  บังเกิดลมพายุใหญ่  ฝนห่าใหญ่ตก  ลูกเห็บตกเป็นอันมาก  โรงปืนแถวฉนวนน้ำประจำท่าหักพังทลายลง  และเหย้าเรือนในพระนครหักทำลายประมาณร้อยหลัง”

(https://i.ibb.co/VJp1mq9/Dbv2r7p-Vw-AAD5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  ในระยะเวลาหลังจากทำสงครามใหญ่กับพม่าแล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ออกรบทัพจับศึกหนักเหมือนเดิม  หากแต่จะทรงหันเข้าสู่วัด  ปฏิบัติพระกรรมฐาน  บำเพ็ญพระราชกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ (วัดบางยี่เรือที่กล่าวในพระราชพงศาวดารซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนั้น  คือวัดอินทาราม แขวงบางยี่เรือในปัจจุบัน)

(https://i.ibb.co/F5fdpzF/Untitled-a12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ส่วนเรื่องที่พม่ายกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่แล้ว  เจ้าเมืองหนีลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลกนั้น  พระราชพงศาวดารยังมิได้กล่าวถึงว่า  ทางฝ่ายไทยจะทำอย่างไรกับพม่า  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันพรุ่งนี้จะนำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาเปิดวางให้อ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤษภาคม, 2562, 12:09:41 AM
(https://i.ibb.co/CJ3XwPm/king-00.jpg) (https://imgbb.com/)

- ตั้งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก -

เจ้าพระยาจักรีมีความชอบ
หลังปราบปลอบกล่อมเกณฑ์เขมรป่า
เมืองตะลุง,สุรินทร์ถิ่นไกลตา
สังขะ,ขุขันธ์อาณาโขงนั้น

นางรอง,อัตปือ,จำปาศักดิ์
อาณาจักรเอกเทศไร้เขตคั่น
ปราบแล้วรวบรวมเข้าสยามพลัน
จึงเขตขัณฑสีมายิ่งกว้างไกล

พระเจ้าตากสินยินดียิ่ง
ทรงมอบสิ่งสำคัญอั้นยิ่งใหญ่
“เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”ไท
ที่อวยให้รู้กันแต่นั้นมา

ส่วนพระองค์ทรงพระกรรมฐาน
จนเกิดการสำคัญผิดปริศนา
ลักษณะพระกายคล้ายศาสดา
จึงให้หารูปลักษณะเคียง


          อภิปราย ขยายความ................

          เจ้าพระยาสองพี่น้องยกกำลังแหกค่ายพม่าเมืองพิษณุโลกไปตั้งหลักที่เพชรบูรณ์  พักฟื้นกำลังพลและสะสมเสบียงได้แล้วนำกำลังกลับช่วยพระเจ้าตากสินกวาดล้างพม่าจนสิ้นไป  ในขณะที่ทางเมืองญวนเกิดรบชิงอำนาจกัน  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงฝักใฝ่ในด้านการพระศาสนา  ประพฤติปฏิบัติธรรมด้านสมถวิปัสสนาภาวนาอย่างเคร่งครัดนั้น  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/WFCLrK1/Untitfsled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้หล่อปืนพระพิรุณ  ที่สวนมังคุด  ในเดือนนั้นกรมการเมืองนครราชสีมาบอกลงมาว่า  พระยานางรองคบคิดกันกับเจ้าโอ้  เจ้าอิน  และอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์  กระทำการกำเริบเป็นกบฏ  จึงมีพระราชดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพ  ยกกองทัพไปเมืองนครราชสีมา  แล้วให้กองหน้ายกไปจับตัวพระยานางรองมาได้  พิจารณาเห็นเป็นความจริงว่าคิดกบฏจึงให้ประหารชีวิตเสีย  แต่เจ้าโอ้  เจ้าอิน  กับอุปฮาดนั้นยังตั้งซ่องสุมอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์  มีไพร่พลทั้งลาวทั้งข่ามากประมาณหมื่นเศษ  จึงบอกข้อราชการลงมากราบทูล

(https://i.ibb.co/3T4Bfr0/Untitl62ed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นทรงทราบจึงให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) คุมทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง  ยกขึ้นไปเข้าบรรจบกองทัพเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองนครราชสีมา  จากนั้นเจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์  จึงยกทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์  เมืองโขง  เมืองอัตปือ  ได้ทั้งสามเมือง  จับตัวเจ้าโอ้  เจ้าอิน  และอุปฮาดได้แล้วให้ประหารชีวิตเสีย  แล้วตั้งเกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดง  เมืองตะลุง  เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองขุขันธ์  มาเข้าสวามิภักดิ์ทั้งสี่เมือง  ไพร่พลประมาณสามหมื่นเศษ  จึงบอกข้อราชการมากราบทูล  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง  ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับยังกรุงธนบุรี

(https://i.ibb.co/FBK9W5X/Untit56led-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาทั้งสองเลิกทัพกลับมาถึงพระนครในเดือน ๖ ปีระกานพศก ศักราช ๑๑๓๙ (พ.ศ. ๒๓๒๐)  จึงทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จเจ้าพระยาจักรี  ตั้งให้เป็น   “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  พิลึกมหิมา  ทุกนัคราระอาเดช  นเรศราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลลิกากร  บวรรัตนบรินายก ณ กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา”  แล้วพระราชทานพานทอง  เครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม  ใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง

          วันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา นพศก  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนั่งเข้าสมาธิให้โต๊ะแขกดู  ประมาณห้าบาทออกจากที่ทรงนั่งแล้วตรัสถามโต๊ะแขกว่า  เห็นเป็นประการใดบ้าง  โต๊ะแขกกราบทูลว่า  ซึ่งทรงนั่งสมาธิอย่างนี้  อาจารย์ซึ่งได้เล่าเรียนมาแต่ก่อนจะได้เห็นเสมอพระองค์ดังนี้หามิได้ เ พลาเช้าของวันพุธแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๗  สมเด็จพระสังฆราช  พระราชาคณะทั้งปวง  เข้ามาถวายบาลีวิธี  ซึ่งเข้านั่งภาวนาพระสมาธิกรรมฐาน  และโต๊ะฤทธิ์  โต๊ะทอง  โต๊ะนก  แขกสามคนก็เอาหนังสือแขกซึ่งนั่งรักษาสมาธิจิตเข้ามาอ่านถวาย

(https://i.ibb.co/zHPhZ2F/91616-20.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในวันเดียวกันนั้นก็มีหนังสือบอกเมืองนครศรีธรรมราชส่งมากราบทูลว่า  เมืองตานีแข็งเมืองอยู่มิได้มาอ่อนน้อม  ถึงปีหน้าเจ้านครจะยกทัพออกไปตี  จึงมีพระราชดำรัสว่ามีราชการศึกพม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่  พระยาเชียงใหม่เลิกครัวอพยพลงมาตั้งอยู่ที่เมืองสวรรคโลก  ยังมิได้ทันจัดกองทัพขึ้นไปตีทัพพม่าที่เชียงใหม่  พม่าเลิกทัพกลับไปเองโดยเร็ว  ด้วยมีข่าวลือมาว่ามีศึกกระแซยกมาตีเมืองอังวะ  ทั้งทัพฮ่อก็ยกมาด้วย  จะตีเป็นศึกกระหนาบ  เราคิดจะให้ราชทูตออกไปแจ้งราชกิจแก่พระเจ้ากรุงปักกิ่ง  ว่าจะยกกองทัพขึ้นไปช่วยตีเมืองด้วย  ราชการสงครามยังติดพันกันมากอยู่  ให้เจ้านครรอทัพไว้ก่อนอย่าเพ่อยกไปตีเมืองแขกก่อนเลย  ต่อเมื่อใดราชการข้างกรุงธนบุรีสงบแล้วจึงจะให้มีตรากำหนดการออกไปให้กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชยกไปตีเมืองตานีเมื่อนั้น

          มีดำรัสดังนั้นแล้วก็ทรงประภาษถึงเรื่องกรรมฐานกับพระราชาคณะว่า  พระนาภีของพระองค์นั้นแข็งไป  กระแหมบมิเข้า  ผิดกับสามัญสัตว์โลกทั้งปวงเป็นอัศจรรย์  แล้วดำรัสถามพระราชาคณะด้วยพระรูปและลักขณะว่า  ทรงส่องพระฉายดูเห็นพระกายเป็นปริมณฑลฉะนี้จะต้องพระบาลีประการใดบ้าง  พระราชาคณะถวายพระพรว่า  พระบาลีพระพุทธลักขณะสมเด็จพระสัพพัญญูมีพระกายเป็นปริมณฑล  เหมือนดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร  มิได้สูงต่ำยาวสั้น  และพระกายซึ่งสูงนั้นวัดเท่ากับวาของพระองค์  อนึ่ง  มีมังสะที่หนานั้นเจ็ดแห่ง คือหลังพระหัตถ์ซ้ายขวาและหลังพระบาทซ้ายขวา  พระองสาทั้งสองซ้ายขวา  กับลำพระศอ  เป็นเจ็ดแห่งด้วยกัน  ทรงทราบดังนั้นจึงสั่งให้ช่างหล่อ ๆ พระพุทธรูปให้ต้องด้วยพระพุทธลักขณะพร้อมบริบูรณ์ทุกประการ

          ให้สมเด็จพระสังฆราชเอาพระบาลีพระพุทธลักขณะออกมาบรรยายให้ช่างทำ  สมเด็จพระสังฆราชแปลพระบาลีพระพุทธลักขณะถวายว่า  “พระทวัดดึงสมหาบุรุษลักขณะใหญ่นั้นสามสิบสองประการคือ  พระลักขณะอย่างนั้น ๆ และพระอสีตยานุพยัญชนะ  พระลักขณะน้อยนั้นสิบแปดประการ  คืออย่างนั้น ๆ”  จึงทรงส่องพระฉายทอดพระเนตรดูพระลักขณะในพระองค์  สอบกับพระบาลีเห็นต้องพระพุทธลักขณะคือ  พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์ประการหนึ่ง  มีเส้นพระอุณาโลมอยู่ที่หว่างพระขนงประการหนึ่ง  พระอุทรเวียนเป็นทักขิณาวัฏประการหนึ่ง  พื้นพระปฤษฎางค์เสมอประการหนึ่ง  และพระมังสะที่หนานั้นพร้อมทั้งเจ็ดแห่งประการหนึ่ง  พระปรางอิ่มบมิได้บกพร่องประการหนึ่ง  จากนั้นให้สมเด็จพระสังฆราชอ่านพระบาลีสอบกับพระลักขณะในพระองค์ไปทุก ๆ พระลักขณะ  ก็ต้องด้วยพระพุทธลักขณะทั้งสามสิบสองประการ  สิ่งที่ไม่ต้องก็ตรัสบอกว่าไม่ต้อง”

(https://i.ibb.co/gyTSz3S/abcdef-01.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  หลังจากทรงกรากกรำศึกสงครามมาอย่างหนัก  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหันเข้าวัดปฏิบัติพระ
กรรมฐานอย่างจริงจัง  ทรงเคร่งครัดจนเครียดถึงขนาดคิดว่า  พระกายของพระองค์มีส่วนเหมือนหรือคล้ายพระกายของพระพุทธองค์  ตรัสให้สมเด็จพระสังฆราชนำพระบาลีจากพระไตรปิฎกมาตรวจสอบเทียบกับพระกายของพระองค์  และนี่น่าจะเป็นที่มาของพระอาการที่ว่ากันว่าพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือน  จริงหรือไม่อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกฝีนิพนธ์ไท
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤษภาคม, 2562, 10:28:09 PM
(https://i.ibb.co/hfpJkPv/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระวอขอพึ่งโพธิสมภาร -

กล่าวถึง“พระวอ”อุปฮาดล้านช้าง
หนีมาสร้างเมืองใหม่แล้วบ่ายเบี่ยง
ไม่ขึ้นต่อล้านช้างอย่างลำเอียง
ให้นามเวียงใหม่ว่า“จำปานคร”

เจ้าล้านช้างยกทัพมาปราบแรก
ถูกตีแตกกลับไปมือไม้อ่อน
“พระวอ”ขอพม่าช่วยกลัวม้วยมรณ์
กลับถูกซ้อนกลศึกอันลึกล้ำ

ล้านช้างพาพม่ามาตีปล้น
เกินทานทนทัพพม่ามาเหยียบย่ำ
ทิ้ง“จำปานคร”ไว้ให้จดจำ
ถอยลงต่ำถึงตอน“ดอนมดแดง”

แล้วจึงตั้งเมืองใหม่ในที่นั้น
ส่งเครื่องบรรณาการให้ไร้เล่ห์แฝง
ขอพึ่งโพธิสมภารอันร้อนแรง
เป็นข้าแห่งธนบุรีกรุงศรีไทย


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาวางเปิดกางให้อ่านถึงตอนที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหมกมุ่นในการปฏิบัติพระกรรมฐานจนได้ฌาน  และเกิดความเข้าพระทัยว่า  พระกายของพระองค์มีบางสิ่งบางอย่างหลาย ๆ อย่างเหมือนพระวรกายของพระพุทธองค์  จึงให้สมเด็จพระสังฆราชนำพระบาลีในพระไตรปิฎกซึ่งว่าด้วยลักษณะพระวรกายของพระพุทธองค์มาอ่านเปรียบเทียบกับพระกายของพระองค์  สมเด็จพระสังฆราชทรงอ่านพระบาลีแล้วแปลความที่ว่าด้วย  พระลักษณะมหาบุรุษสามสิบสองประการ (ทวัตตึงสมหาบุรุษลักษณะ) และลักษณะอื่น ๆ มาประกอบ  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ

           “ในขณะที่ทรงให้ตรวจสอบพระลักษณะของพระองค์ว่าจะมีสิ่งใดต้องตามพระพุทธลักษณะบ้างหรือไม่นั้น  พระมหาอำมาตย์ทูลเบิกพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ลงมาเฝ้า  พระองค์ดำรัสว่า  “พม่ามันเลิกทัพไป  มันมีศึกอยู่แล้ว  พระยาวิเชียรปราการจะพาครอบครัวกลับไปเมืองเชียงใหม่ก็ไปเถิด”

          ตรัสว่าราชการเพียงเท่านั้นก็ทรงหันกลับมาให้หลวงวิจิตรนฤมลปั้นพระพุทธรูปให้ต้องด้วยพระพุทธลักษณะปางสมาธิพระองค์หนึ่ง  ยืนพระองค์หนึ่ง  จะให้ช่างหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์  แล้วให้นิมนต์พระเทพกระวีให้ออกไปกรุงกัมพูชา  ให้พระพรหมมุนีออกไปเมืองนครศรีธรรมราช  ค้นพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคนำเข้ามาเป็นฉบับสร้างไว้ในกรุงธนบุรี

          พระอาลักษณ์ได้กราบถวายบังคมลาออกบวช  และเมื่อบวชแล้วทรงพระกรุณาตั้งให้เป็น พระรัตนมุนี  โดยแปลงนามเดิมว่า  “แก้ว”  นั้นมาเป็นชื่อสมณศักดิ์  จากนั้นทรงแสดงความอัศจรรย์ในการทำนายทายทักให้ปรากฏแก่คนทั่วไป  โดยสั่งให้ปลัดวังไปหาแม่ค้าในตลาดบกและชาวเรือมาเฝ้าแล้วตรัสทำนายว่า  “หญิงคนนั้นกับสามีคนนั้นจะอยู่ด้วยกันยืด  ผัวเมียคู่นั้นจะอยู่ด้วยกันไม่ยืด  หญิงคนนั้นราคะกล้ายินดีในกามคุณมาก  หญิงคนนั้นราคะเบาบางรักแต่ทรัพย์สิน  หญิงคนนั้นใจบาป  หญิงคนนั้นใจบุญพอใจทำการกุศล”  ทรงทายแม่ค้าทุก ๆ คน

          * ศักราช ๑๑๔๐ ปีจอ สัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๒๑)  พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม  ซึ่งออกไปรักษาเมืองเพชรบุรี  กับพระยาทุกขราษฎร์กรมการเมืองและพระกุย  พระปราณ บอกส่งคนบ่าวข้อราชการซึ่งลามุลนายออกไปหากินและหนีออกไปทั้งครอบครัวก็มีเป็นอันมาก  ส่งเข้ามายังกรุงธนบุรี  ทรงพระกรุณาให้ส่งให้แก่เจ้าหมู่มุลนายทั้งปวงตามหมู่ตามกรรม

          ในปีเดียวกันนั้น มีเรื่องทางกรุงศรีสัตนาคนหุต  โดยพระวอซึ่งเป็นอุปฮาดอยู่ก่อนมีความพิโรธขัดเคืองกับเจ้าล้านช้าง  จึงพาสมัครพรรคพวกออกจากเมืองมาตั้งอยู่หนองบัวลำภู  ซ่องสุมผู้คนได้มากจึงสร้างขึ้นเป็นเมืองตั้งค่ายเสาไม้แก่น  ให้ชื่อเมืองจำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน  แล้วแข็งเมืองต่อพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต

          ทางกรุงศรีสัตนาคนหุตจึงแต่งกองทัพยกมาตี  พระวอก็ต่อรบตีทัพล้านช้างแตกกลับไป  แล้วก็แต่งขุนนางนำเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองอังวะ  ขอกองทัพพม่ายกลงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต  พระเจ้าอังวะให้แมงละแงเป็นแม่ทัพถือพลสี่พัน ยกมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต  ยกทัพมาถึงกลางทางพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทรงทราบ  จึงให้ท้าวเพี้ย (ตำแหน่งหนึ่งของขุนนางลาว) นำเครื่องบรรณาการไปให้แม่ทัพพม่า  ขอขึ้นกับกรุงอังวะ  แล้วให้กองทัพไปตีพระวอ ณ เมืองหนองบัวลำภู  โดยนำกองทัพพม่ามาพักที่ศรีสัตนาคนหุต  จัดการต้อนรับเป็นอันดี  จากนั้นจึงจัดพลสมทบกองทัพพม่า  ให้แมงละแงเป็นแม่ทัพยกกำลังพม่าลาวไปตีเมืองหนองบัวลำภู  พระวอออกต่อสู้เห็นเหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเสีย  พาครอบครัวอพยพแตกหนีไปตั้งอยู่ตำบลดอนมดแดงเหนือเมืองจำปาศักดิ์  แล้วแต่งท้าวเพี้ยถือศุภอักษรและเครื่องบรรณาการมาถึงพระยานครราชสีมา  ขอเป็นเมืองขึ้นขอบขัณฑสีมากรุงธนบุรี  เอาพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นที่พึ่งพำนักสืบไป  พระยานครราชสีมาจึงบอกส่งทูตและศุภอักษรเครื่องราชบรรณาการลงมายังกรุงธนบุรี  จึงพระราชทานสิ่งของตอบแทนไปแก่พระวอ  และโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ดอนมดแดงนั้น”

          * ท่านผู้อ่านครับ  หลังจากที่ทรงกรำศึกมาอย่างหนักจนมีพระทัยเหี้ยมเกรียมแล้ว  นึกไม่ถึงว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินจะกลับมามีพระทัยฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาถึงขนาดที่จะเปรียบเทียบพระองค์ให้เป็นเช่นพระพุทธเจ้า  จนไม่มีพระทัยที่จะคิดการศึกเหมือนแต่ก่อนมา  ในขณะที่พระเจ้าตากสินกำลังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวในพระพุทธศาสนาอยู่นั้น  เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองหลายเรื่องเช่น  มหาอำมาตย์นำพระยาวิเชียรปราการ  เจ้าเมืองเชียงใหม่เข้าเฝ้า  พระองค์ก็ตรัสให้พาครอบครัวกลับไปครองเชียงใหม่ตามเดิม

          ทรงตรัสให้พระเถระองค์หนึ่งไปกัมพูชา  องค์หนึ่งไปนครศรีธรรมราช  เพื่อค้นต้นฉบับคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาทำเป็นฉบับสร้างของกรุงธนบุรี  แล้วยังแสดงความอัศจรรย์ทางการทำนายทายทักลักษณะบุคคล  โดยการนำแม่ค้าในตลาดบกและน้ำมาให้ทรงทำนายว่าจะดีร้ายประการใด  นัยว่าการทำนายของพระองค์นั้นถูกต้องเป็นส่วนมากทีเดียว

          มีเรื่องสำคัญเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง  กล่าวคือ  พระวอ อุปฮาดแห่งศรีสัตนาคนหุต   เกิดความขัดแย้งแตกหักกับพระเจ้ากรุงศรีสัตนาฯ  จึงพาครัวและบริวารหนีมาสร้างเมืองใหม่ที่หนองบัวลำภู  ให้ชื่อเมืองใหม่ว่า  “จำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน”  พระเจ้าล้านช้างยกทัพมาปราบแต่พ่ายแพ้กลับไป   พระวอเกรงว่าพระเจ้าล้านช้างจะยกมาตีอีก  จึงส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ  ขอเป็นเมืองขึ้น  ให้พม่ายกทัพมาช่วยตีกรุงศรีสัตนาฯ  พระเจ้าล้านช้างทรงทราบ  จึงจัดส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  พม่าเข้าด้วยกับเจ้าล้านช้างจึงแปรทัพเข้าตีจำปานคร  พระวอหนีลงไปถึงบ้านดอนมดแดง  และตั้งเมืองขึ้นใหม่ ณ ที่นั้น  แล้วส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย  ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงธนบุรี  ทรงพระราชทานสิ่งของให้  แล้วให้พระวอตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่นั้น (ต่อมาคือ อุบลราชธานี) โดยมีได้สนพระทัยมากนัก

          ด้วยเหตุนี้กระมังนักประวัติศาสตร์ ไทยส่วนมากจึงเชื่อกันว่า  พระองค์ทรงเสียพระสติไปในที่สุด  เรื่องราวของพระองค์จะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้ตื่นแต่เช้ามาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุานขี้ผึ้งไทย
๒๘ เมษายน ๒๕๖๒
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, พฤษภาคม, 2562, 02:36:08 AM
(https://i.ibb.co/gVWbNPX/Undftitled-14.jpg) (https://imgbb.com/)

- ยกทัพไทยไปตีล้านช้าง -

พระเจ้าล้านช้างล้ำลุอำนาจ
ช่างบังอาจอวดเก่งหาเกรงไม่
ตีเมืองดอนมดแดงแล่งแตกไป
ครั้นจับได้“พระวอ”ก็ฆ่าพลัน

พระเจ้าตากสินทรงพระพิโรธ
จึงได้โปรดจัดทัพใหญ่เร่งผายผัน
ยกไปตีล้านช้างพังเวียงจันทน์
อย่าให้ทันที่พม่ามาแทรกแซง

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
เร่งผนึกกำลังเต็มความเข้มแขง
อีกเจ้าพระสุรสีห์ที่ร้อนแรง
ทั้งสองแบ่งหน้าที่เข้าตีลาว


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าถึงตอนที่  พระวออุปราชกรุงศรีสัตนาคนหุต  บาดหมางกับพระเจ้าล้านช้างจึงพาพรรคพวกหนีมาสร้างเมืองใหม่ที่หนองบัวลำภูให้ชื่อเมืองว่า  จำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน  พระเจ้าล้านช้างยกทัพมาปราบ  พระวอจึงขอกำลังจากพม่ามาช่วย  แต่พระเจ้าล้านช้างดักต้อนทัพพม่าเข้าเป็นพรรคพวกแล้วร่วมกันตีเมืองจำปานครแตก  พระวอพาครัวหนีไปตั้งหลักที่ดอนมดแดง  แล้วขอเป็นข้ากรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ดอนมดแดงนั้น  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  มาดูความในพระราชพงศาวดารกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/GVL6qMF/Untitldfed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “กองทัพพม่าตีเมืองหนองบัวลำภูได้แล้วก็เลิกทัพกลับไปล้านช้าง  พระเจ้าล้านช้างให้บำเหน็จรางวัลแก่แมงละแงแม่ทัพพม่า  และเครื่องราชบรรณาการส่งขึ้นไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ  แล้วขอเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงอังวะด้วย  ครั้นแมงละแงยกทัพกลับกรุงอังวะแล้ว  พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ทราบว่าพระวอไปตั้งอยู่ ณ ดอนมดแดง  จึงแต่งให้พระยาสุโภเป็นนายทัพยกพลไปตีเมืองดอนมดแดง  พระยาสุโภตีเมืองดอนมดแดงแตกและจับตัวพระวอได้ให้ประหารชีวิตเสีย  แล้วยกทัพกลับล้านช้าง

(https://i.ibb.co/YXjBQML/Untifgtled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ยามนั้นท้าวก่ำบุตรพระวอและท้าวเพี้ยทั้งปวง  ได้มีหนังสือบอกถึงพระยานครราชสีมาให้ทราบว่ากองทัพล้านช้างยกมาตีเมืองดอนมดแดงแตกและฆ่าพระวอเสียแล้ว  พวกตนมีกำลังน้อยสู้รบตอบโต้มิได้  จะขอกองทัพกรุงธนบุรียกไปตีเมืองล้านช้างแก้แค้น

(https://i.ibb.co/0jh3STp/3848076408412700672-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นพระยานครราชสีมาบอกลงมากรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสว่า  “พระวอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเมืองเรา  และพระเจ้าล้านช้างมิได้ยำเกรง  กระทำบังอาจมาตีบ้านเมืองและฆ่าพระวอเสียฉะนี้  ควรเราจะยกกองทัพไปตีเมืองล้านช้างให้ยับเยินตอบแทนแก้แค้นให้จงได้”

(https://i.ibb.co/kK3ZyWX/Untitled-2.png) (https://imgbb.com/)

          * ครั้นถึงเดือนอ้าย ปีจอ สัมฤทธิศก  จึงมีพระราชดำรัสให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพ  กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) และท้าวพระยามุขมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งในกรุงและหัวเมือง  นำพลทหาร ๒๐,๐๐๐  มีช้างม้าเครื่องสรรพาวุธพร้อมเสร็จ  ยกไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต

(https://i.ibb.co/9VDqr6F/Untdfitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ยกพลไปตั้งชุมนุมทัพ ณ เมืองนครราชสีมา  ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพลงไปกัมพูชา  สั่งให้เกณฑ์พลเมืองเขมร ๑๐,๐๐๐ ต่อเรือรบเรื่อไล่ให้มาก ๆ และให้ขุดคลองอ้อมเขาลีผียกทัพเรือขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง  ไปบรรจบกับทัพบกพร้อมกัน ณ เมืองล้านช้าง  เจ้าพระยาสุรสีห์รับคำสั่งแล้วรีบเร่งดำเนินการตามบัญชาทันที

(https://i.ibb.co/MCpTzXv/bugek.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แม่ทัพใหญ่ยกทัพจากเมืองนครราชสีมา  เดินทัพถึงเมืองล้านช้าง  ให้กองหน้าล่วงไปตีหัวเมืองรายทางได้หลายตำบล  ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ เมื่อต่อเรือรบเสร็จแล้วก็เกณฑ์พลลาวเขมรทั้งปวงขุดคลองอ้อมเขาลีผีซึ่งตั้งขวางแม่น้ำอยู่นั้น   แล้วยกทัพเรือขึ้นตามคลองขุดถึงเมืองจำปาศักดิ์  เข้าตีเมืองนครพนมและหนองคายซึ่งขึ้นแก่ล้านช้างได้ทั้งสองเมือง

(https://i.ibb.co/WfjjX9D/Untidftled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ทราบข่าวกองทัพไทยยกมาตีเมือง  จึงแต่งแสนท้าวพระยาลาวทั้งปวง  ยกออกต่อรบต้านทานเป็นหลายทัพหลายตำบล  ได้รบกันเป็นสามารถ  พลทหารลาวสู้รบต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายหนีไปหลายครั้งหลายแห่ง

(https://i.ibb.co/WnzxKQF/Unt-itled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นพระเจ้าร่มขาว  เจ้าเมืองหลวงพระบางซึ่งเป็นอริอยู่กับพระเจ้าล้านช้าง  ด้วยพระเจ้าล้านช้างเคยไปเอากองทัพพม่ามาตีเมืองหลวงพระบาง  เมื่อทราบว่ากองทัพไทยยกมาตีล้านช้างก็มีความยินดีนัก  รีบแต่งขุนนางให้ยกกองทัพลงมาช่วยตีเมืองล้านช้าง  พร้อมกับบอกลงมาขอเป็นเมืองขึ้นกรุงธนบุรีด้วย

(https://i.ibb.co/SsQmwVc/Unti5tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงให้กองพระยาเพชรบูรณ์กำกับทัพเมืองหลวงพระบางเข้าตีทางด้านเหนือเมือง  แล้วยกทัพใหญ่ไปตีเมืองพะโคและเวียงคุก  ตั้งค่ายล้อมไว้ทั้งสองเมือง  เจ้าเมืองขับพลทหารออกมาต่อรบเป็นสามารถจึงเข้าหักเอาเมืองยังมิได้”

(https://i.ibb.co/7CSJRqX/127274961.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้แล้วได้ความรู้ใหม่ ๆ หลายเรื่องนะครับ พระเจ้าล้านช้างแห่งนครเวียงจันทน์ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาในพระเจ้ากรุงอังวะ  ข้ามสยามประเทศไปโดยมิได้เกรงสมเด็จพระเจ้าตากสินเลย  เมื่อได้พม่าหนุนหลังแล้วยิ่งเหิมเกริม  สั่งให้พระยาสุโภนำกองทัพไปตีเมืองดอนมดแดง (อุบลราชธานี)  จับตัวพระวอได้แล้วประหารเสียทันที  ทั้งที่รู้อยู่ว่าพระวอเป็นข้าของพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว  ก็หาได้ยำเกรงสยามไม่

(https://i.ibb.co/WDNFJvm/Untdfitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แห่งกรุงธนบุรี  รับพระราชบัญชายกทัพไปตีเมืองล้านช้าง  โดยยกไปตั้งต้นที่นครราชสีมา  แล้วแยกเป็นสองทัพ  ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าพระยาผู้น้องยกลงไปกัมพูชา  รวบรวมกำลังพลเขมรเข้าสมทบแล้วยกขึ้นตีล้านช้าง  เจ้าพระยาสุรสีห์ต่อเรือรบได้จำนวนมากตามต้องการแล้วยกขึ้นตามลำน้ำโขง  ถึงแก่งลีผีซึ่งเป็นโขดเขาหินตั้งกั้นกลางลำน้ำโขงอยู่  เดินเรือข้ามไม่ได้  จึงสั่งให้ขุดคลองอ้อมแก่งลีผี  ยกกองทัพขึ้นไปจนได้  แล้วผ่านจำปาศักดิ์ขึ้นไปตีเมืองนครพนมและหนองคายได้ทั้ง ๒ เมือง  จึงได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่าเมืองนคร พนมกับหนองคายยุคสมัยนั้นขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านช้าง

(https://i.ibb.co/9qPBkrs/Unsdtitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าร่มขาวแห่งเมืองหลวงพระบางซึ่งเป็นอริแก่พระเจ้าล้านช้าง  ทราบว่าสยามยกมาตีล้านช้าง  จึงให้ขุนนางแต่งบรรณาการลงมาขอเป็นเมืองขึ้นกรุงธนบุรี  และยกกำลังลงมาช่วยไทยตีเมืองล้านช้างด้วย  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงให้กองกำลังจากหลวงพระบางเข้ากับกองทัพพระยาเพชรบูรณ์  ตีนครเวียงจันทน์ทางทิศเหนือ  เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าตีทางทิศใต้  ส่วนแม่ทัพใหญ่ยกเข้าตีทางด้านทิศตะวันตก

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจะตีล้านช้างได้สำเร็จอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, พฤษภาคม, 2562, 10:10:43 PM
(https://i.ibb.co/L6cJz0r/10d41cb7-2cfd-4446-925d-6e020aa83cbc.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระแก้วมรกตกลับไทย -

ไทย,ลาวรบสี่เดือนเศษจึงเสร็จศึก
เจ้าลาวนึกท้อแท้ยอมแพ้อ้าว
ทิ้งเวียงจันทน์ทันทีมิอยู่ยาว
ยอมเป็นจ้าวไร้บัลลังก์จะนั่งครอง


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาเปิดกางวางให้อ่านกันถึงตอนที่  หลังจากเจ้านครเวียงจันทน์ล้านช้างยกกำลังมาตีเมืองดอนมดแดง (อุบราชธานี)  แล้วจับตัวพระวอประหารชีวิตเสีย  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระพิโรธ  โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)  เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปตีล้านช้าง  ขณะที่กองทัพไทยเข้าล้อมนครเวียงจันทน์นั้น  เจ้าเมืองหลวงพระบางได้ส่งกำลังลงมาขอวามิภักดิ์และอาสาเข้าตีนครเวียงจันทน์ด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/HqTb5Q3/laio.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เมื่อตีเมืองหนองคายได้แล้วก็เข้าตั้งอยู่ในเมืองนี้  สั่งให้ตัดศีรษะลาวชาวเมืองเสียเป็นอันมาก แล้วให้เอาศีรษะเหล่านั้นใส่ลงในเรือ  ให้หญิงลาวพายเรือนั้นขึ้นไปร้องขายศีรษะลาวที่หน้าเมืองพะโค  ชาวเมืองเห็นดังนั้นก็มีใจย่อท้อต่อการรบ  ทัพไทยจึงเข้าหักเอาเมืองพะโคและเวียงคุกได้ทั้งสองเมือง

(https://i.ibb.co/fxwRR14/Untdditled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงให้ยกทัพใหญ่เข้าตีเมืองพานพร้าว  ซึ่งตั้งอยู่ฟากฝั่งตะวันตกตรงหน้าเมืองล้านช้าง  ชาวเมืองออกต่อรบเป็นสามารถแต่ก็ต้านทานไม่ไหว  ทหารไทยพากันปีนเข้าปล้นเอาเมืองได้แล้วฆ่าลาวตายเป็นอันมาก  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสั่งให้ทัพเรือรับกองทัพทั้งปวงข้ามไปฟากตะวันออกพร้อมกัน  แล้วเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองล้านช้างไว้

(https://i.ibb.co/rtYxS34/Untvgfitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเกณฑ์พลทหารขึ้นประจำการรักษาหน้าที่เชิงเทินรอบเมือง  ป้องกันเมืองเป็นสามารถ  ให้เจ้านันทเสนราชบุตรขี่ช้างพลายคำเพียงอกสูงหกศอกสามนิ้ว  คุมพลทหารออกจากเมืองเข้าตีกองทัพไทยที่ตั้งค่ายล้อมด้านข้างท้ายเมืองนั้น  พลทหารไทยยกออกตีทัพเจ้านันทเสนแตกพ่ายกลับเข้าเมืองพลลาวล้มตายเป็นอันมาก  กองทัพไทยกับลาวรบกันอยู่นานถึงสี่เดือนเศษ  พระเจ้าศรีสัตนาคนหุตเห็นเหลือกำลังจะต่อรบต้านทานทัพไทยมิได้  ก็ทิ้งเมืองเสีย  พาเจ้าอินทร์เจ้าพรหมราชบุตรและข้าหลวงคนสนิทลอบลงเรือหนีไป ณ เมืองคำเกิดอันเป็นเมืองขึ้นแก่ล้านช้าง

(https://i.ibb.co/7JYr45X/Unti-tled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพไทยเข้าเมืองได้แล้วจับตัวอุปฮาด  เจ้านันทเสน  และราชบุตร  บุตรีกับวงศานุวงศ์ชะแม่สนมกำนัลและขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง  กับทรัพย์สิ่งสิน  เครื่องสรรพศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้กวาดขนเข้ามาไว้ ณ เมืองพานพร้าว (ศรีเชียงใหม่) ฟากตะวันตกกับทั้งครอบครัวชาวเมืองทั้งปวง

(https://i.ibb.co/gRNQrJj/558000007929101.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในบรรดาทรัพย์สิ่งสินเหล่านั้นมีปูชนียวัตถุสำคัญสิ่งหนึ่งคือ  พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต  และพระบาง  ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารในพระราชวังพระเจ้าล้านช้าง  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้อัญเชิญออกจากพระวิหารลงข้ามฟากมาประดิษฐาน ณ เมืองพานพร้าว (ศรีเชียงใหม่) ด้วย  ให้สร้างพระอารามขึ้นใหม่ที่เมืองนี้  แล้วก็แต่งให้ไทยลาวไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวทั้งปวงฝ่ายตะวันออกได้สิ้น  แล้วบอกลงมากราบทูลให้ทรงทราบข้อราชการซึ่งตีกรุงศรีสัตนาคนหุตได้สำเร็จ  และได้องค์พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตกับพระบางด้วย

(https://i.ibb.co/3mM3Dmc/Untitl-ed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อทรงทราบความในหนังสือบอกจากเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกดังกล่าว  ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับพระนครทันที  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงจัดแจงบ้านเมืองโดยตั้งให้พระยาสุโภขุนนางเมืองล้านช้างอยู่รั้งเมือง  แล้วกวาดครอบครัวลาวชาวเมืองกับทั้งพระราชบุตรธิดาวงศานุวงศ์และขุนนางท้าวเพี้ยทั้งปวง พร้อมทรัพย์สิ่งของเครื่องศัสตราวุธช้างม้าเป็นอันมาก  พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธปฏิมาแก้วมรกตกับพระบางเลิกทัพกลับกรุงธนบุรีโดยพระราชกำหนด

(https://i.ibb.co/BzZcccL/1551886954-6793.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพเดินทางกลับถึงเมืองสระบุรีในเดือนยี่ ปีกุน เอกศก ศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ. ๒๓๒๒)  จึงบอกลงมากราบทูลให้ทรงทราบ  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชดำรัสให้นิมนต์สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวง  ขึ้นไปรับพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตถึงเมืองสระบุรี  แล้วให้แต่งเรือชัยกิ่งขึ้นไปรับพระพุทธรูปด้วย  ครั้นอัญเชิญพระพุทธรูปมาถึงตำบลบางธรณี  จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคขึ้นไปรับ  จัดขบวนนาวาพยุหะแห่ลงมาตราบถึงพระนคร  ทรงให้ปลูกโรงรับเสด็จพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตและพระบาง  อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ โรงข้างพระอุโบสถวัดแจ้งภายในพระราชวัง  ตั้งเครื่องสักการบูชามโหฬาราธิการโดยยิ่ง  แล้วมีงานมหรสพถวายพุทธสมโภชครบสามวัน  พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  และท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงโดยสมควรแก่ความชอบในราชการสงครามนั้น”

(https://i.ibb.co/rMMBz0P/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตองค์นี้คือองค์เดียวกันกับที่ผมเคยกล่าวมาแล้วในตอนต้น ๆ ว่า  สร้างขึ้นที่เมืองพันพานซึ่งอยู่ในท้องที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน  เคยประดิษฐานอยู่ ณ เมืองไชยา  แล้วย้ายไปเมืองนครศรีธรรมราช  ต่อไปอยู่ที่นครวัดในกัมพูชา  แล้วมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา – กำแพงเพชร - เชียงราย –นครลำปาง -เชียงใหม่  แล้วสุดท้ายไปอยู่ที่หลวงพระบาง  แล้วงมาประดิษฐาน ณ ศรีสัตนาคนหุต  หรือนครเวียงจันทน์  จนถึงวันที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้ายึดนครเวียงจันทน์ได้  ในที่สุดพระแก้วมรกตก็กลับสู่แผ่นดินไทย

(https://i.ibb.co/LrcX0R8/Untdgitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมืองและสถานที่ซึ่งกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารตอนนี้คือ ลีผี นั้น  ได้แก่เขื่อนหรือแก่งลีผี  กั้นแม่น้ำโขงอยู่ตอนใต้นครจำปาศักดิ์  ในพระราชพงศาวดารนี้กล่าวว่าเป็นภูเขากั้นลำน้ำโขง  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เกณฑ์เขมรลาวให้ช่วยกันขุดทำลายภูเขา  เพื่อให้กองทัพเรือเดินทางขึ้นสู่ล้านช้างได้เมืองพานพร้าวที่อยู่ตรงกันข้ามกับนครเวียงจันทน์  ซึ่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยึดเป็นที่พักทัพก่อนและหลังยึดนครเวียงจันทน์นั้น  ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่  จังหวัดหนองคาย  เมืองนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวล้านนาที่อพยพไปจากเมืองพร้าว-เชียงใหม่

          เมื่อ ยึดล้านช้างได้แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หั่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, มิถุนายน, 2562, 11:26:07 PM
(https://i.ibb.co/T8NLgtH/dscn5279.jpg) (https://imgbb.com/)

- มหาดากรุงเก่าเป็นกบฏ -

เกิดกบฏหลวงชีที่กรุงเก่า
“มหาดา”อยากเป็นเจ้าศาสน์เศร้าหมอง
พระเจ้าตากสินสั่งสึกจำจอง
พร้อมพวกพ้องถูกประหารหมดทันที

          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาวาง  เปิดกางให้อ่านกันถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพยกไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง (หรือเวียงจันทน์ในปัจจุบัน)  สาเหตุสำคัญก็เพราะเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพมาตีเมืองดอนมดแดงและฆ่าอุปฮาดซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงธนบุรี  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปทางบก  เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เกณฑ์พลทหารเขมรยกไปทางน้ำ  ในที่สุดก็ยึดกรุงศรีสัตนาคนหุตได้  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตและพระบางจากล้านช้างมากรุงธนบุรี  เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจะเป็นอย่างไร  เชิญอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/rbMDFXf/dscn5291.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ในปีกุน จุลศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ. ๒๓๒๒) นั้น  มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นที่กรุงเก่า  กล่าวคือ  พระมหาดา วัดพระรามกรุงเก่า  ไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย  ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์  โกหกหลอกลวง  แจกน้ำมนต์แก่ประชาชน  มีผู้คนเคารพนับถือศรัทธาเข้าเป็นพรรคพวกมาก  จึงคิดกำเริบเป็นกบฏต่อแผ่นดิน  แต่งตั้งชาวชนบทเป็นขุนนางทุกตำแหน่ง  ขาดเพียงตำแหน่งที่พระยายมราชเท่านั้น  ผู้รักษากรุงเก่าจึงบอกลงมากราบทูลให้ทรงทราบ

          เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบแล้วจึงให้ข้าหลวงขึ้นไปจับตัวพระมหาดากับพรรคพวกทั้งหมด  เอาตัวลงมากรุงธนบุรี  ให้พระมหาดาผลัดผ้าเหลืองเป็นผ้าขาวแล้วลงพระราชอาชญาเฆี่ยนทั้งพวกจำครบไว้  ทรงสอบสวนได้ความแน่ชัดว่ามหาดาคิดมิชอบ  แต่งตั้งขุนนางทุกตำแหน่งเว้นไว้แต่ตำแหน่งพระยายมราชเท่านั้น

          ขณะนั้นพระยายมราชแขกเป็นโทษต้องพระราชอาชญาอยู่ในเรือนจำ  จึงดำรัสว่า  ที่พระยายมราชของมันยังมิได้ตั้งขาดอยู่  ให้เอาพระยายมราชของเราไปใส่ให้มันจงครบตำแหน่งขุนนาง  แล้วให้เอาพระยายมราชและอ้ายดากบฏกับทั้งสมัครพรรคพวกทั้งปวงซึ่งแต่งตั้งเป็นขุนนางนั้น  ไปประหารชีวิตเสียที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ตัดศีรษะเสียบไว้ทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/CVQRD7j/dscn5995.jpg) (https://imgbb.com/)

          ศักราช ๑๑๔๒  ทรงพระกรุณาให้พระยาคำแหงสงคราม  เจ้าเมืองนครราชสีมาลงมารับราชการ ณ กรุงธนบุรี
          แล้วโปรดให้หลวงนายฤทธิ์  หลานเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  เป็นพระยาสุริยอภัย  ขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมาแทน  
          ให้นายจ่าเรศ  น้องชายพระยาสุริยอภัย  เป็นพระสุริยอภัยปลัดเมือง  
          ให้นายเล่ห์อาวุธ  น้องชายคนเล็กของพระยาสุริยอภัย  เป็นหลวงนายฤทธิ์  รับราชการสืบไป

          วันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีเดียวกันนั้น  มีโจทก์มาฟ้องหลายคนว่า  พระพิพลธรรมวัดโพธารามล่วงปาราชิกข้ออทินนาทาน  พระธรรมโคดม  พระอภัยสารทวัดหงส์  พระพรหมมุนีวัดบางยี่เรือ  ล่วงปาราชิกข้อเมถุนกับศิษย์ทาง
เว็จมรรค  จึงดำรัสให้พระยาพระเสด็จชำระความ  เมื่อได้ความเป็นสัตย์แล้วจึงให้สึกเสียทั้งหมด
          แต่พระธรรมโคดม  กับ  พระอภัยสารท นั้น  กลับเข้าบวชเข้าเป็นเถร
          สำหรับนายอินพิมลธรรมนั้นโปรดตั้งให้เป็น  หลวงธรรมรักษา  เจ้ากรมสังฆการีขวา
          นายอินทรพรหมมุนี เป็นหลวงธรรมาธิบดี  เจ้ากรมสังฆการีซ้าย  พระราชทานภรรยาหลวงราชมนตรีผู้ถึงแก่กรรมให้เป็นภรรยาทั้งสองคน  
          แล้วโปรดให้พระธรรมเจดีย์วัดนาค  เลื่อนเป็นพระพิมลธรรมมาอยู่ครองวัดโพธารามสืบไป
          โปรดให้พระญาณสมโพธิวัดสลัก  เลื่อนเป็นพระธรรมเจดีย์

          วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีเดียวกันนั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเครื่องใหญ่แล้วส่องพระฉายทอดพระเนตรเห็นพระเกศาเหนือพระกรรณเบื้องซ้ายเหลือยู่เส้นหนึ่ง  ทรงพระพิโรธเจ้าพนักงานชาวพระภูษามาลาซึ่งทรงเครื่องนั้นว่า  แกล้งทำประจานพระองค์เล่น  ดำรัสถามพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ว่า  โทษคนเหล่านี้จะเป็นประการใด  กรมขุนอินทรพิทักษ์กราบทูลว่า  เห็นจะไม่พิจารณาดูทั่ว  พระเกศาจึงเหลือหลงอยู่เส้นหนึ่ง  ซึ่งจะแกล้งทำประจานพระองค์เล่นนั้นเห็นจะไม่เป็น ๆ แท้

          ฟังดังนั้นก็ทรงพระโกรธพระเจ้าลูกเธอเป็นกำลัง  ดำรัสว่า  มันเข้ากับผู้ผิดกล่าวแก้กัน  แกล้งให้เขากระทำประจานพ่อดูเล่นได้ไม่เจ็บแค้นด้วย  จึงให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ร้อยทีแล้วจำไว้  ให้เอาตัวชาวภูษามาลาซึ่งทรงเครื่องทั้งสองคน  กับทั้งพระยาอุทัยธรรมจางวาง  ว่าไม่ดูแลตรวจตรากำกับเอาไปประหารชีวิตเสียทั้งสามคน

          ต่อมาอีก ๖ วันก็ดำรัสให้รื้อตำหนักพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์แล้วริบเครื่องยศ  ให้ถอดเสียจากยศ  ครั้นนานมาทรงหายพระโกรธแล้วจึงโปรดให้พ้นโทษ  พระราชทานเครื่องยศให้คงยศดังเก่า”

          * อ่านพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่า  ได้เกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นในวงการสงฆ์ไทยหลายประการ  เริ่มแต่พระมหาดาแห่งกรุงเก่า  เป็นเกจิอาจารย์หลอกลวงชาวบ้าน  กำเริบเสิบสานถึงกับเป็นกบฏต่อแผ่นดิน  บังอาจแต่งตั้งชาวบ้านดำรงตำแหน่งขุนนางต่าง ๆ  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบ  จึงตรัสให้ไปเอาตัวลงมา  ให้ผลัดผ้าเหลืองเป็นผ้าขาวแล้วทรงให้เฆี่ยนจำครบไว้  ต่อมาจึงสั่งประหารชีวิต  ตัวศีร์ษะเสียบประจานที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์  นี่เรื่องหนึ่ง

          ทรงแต่งตั้งหลานเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  เป็นพระยาสุริยอภัยขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมา  แทนพระยาคำแหงพระราม  ที่ทรงเรียกเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี  และในเวลานั้นมีโจทก์มาฟ้องว่า  พระพิมลธรรมวัดโพธารามต้องอาบัติปาราชิกข้ออทินนาทาน  พระธรรมโคดม  พระอภัยสารทวัดหงส์  พระพรหมมุนีวัดบางยี่เรือต้องอาบัติปาราชิก โดยเสพสังวาสทางทวารหนักของศิษย์  ตรัสให้ชำระความแล้วเป็นความจริงตามโจทก์  จึงให้สึกเสียทั้งหมด  

          พระธรรมโคดมกับพระอภัยสารท  กลับบวชเข้าเป็นเถร  คือนุ่งขาวห่มขาว  รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ต่อไป  
          ส่วนนายอิน  อดีตพระพิมลธรรมนั้น  ทรงตั้งให้เป็นหลวงธรรมรักษา  เจ้ากรมสังฆการีขวา
          นายอิน  อดีตพระพรหมบุรีนั้น  ตั้งให้เป็นหลวงธรรมาธิบดี  เจ้ากรมสังฆการีซ้าย  และยังพระราชทานหญิงหม้าย ๒ นาง  อดีตภรรยาหลวงราชมนตรี  ให้เป็นภรรยาทั้งสองคน

          เรื่องเล็กที่กลายเป็นเรื่องใหญ่คือ  นายภูษามาลา  ตัดพระเกศาพระเจ้าตากสินไม่เรียบร้อย  มีเส้นพระเกศาหลงเหลืออยู่เส้นเดียว  ทรงพระพิโรธจนถึงกับให้ประหารเสียทั้งสามคน  เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า  ทรงเริ่มมีพระอาการฟั่นเฟือนไปแล้ว

          พรุ่งนี้มาอ่านความต่อไปครับ


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มิถุนายน, 2562, 11:53:40 PM
(https://i.ibb.co/k2j7H2c/5.jpg) (https://imgbb.com/)


- ทรงมี “สัญญาวิปลาส” -

เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในเขมร
จึงทรงเกณฑ์กองทัพอย่างเร็วรี่
ยกไปปราบกลุ่มกบฏอย่าเหลือมี
เขมรดีเลี้ยงไว้ไม่ฆ่าฟัน

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
แม่ทัพคึกฤทธิ์เดชวิเศษสรรพ์
“เจ้าฟ้าทะละหะมู”คนรู้ทัน
จึงหวาดหวั่นพาครัวตัวหนีไป

ฝ่ายกรุงธนบุรีมีเรื่องมาก
พระเจ้าตากสินคิดผิดยิ่งใหญ่
ด้วยสัญญาวิปลาสเป็นราชภัย
สำคัญในตนว่า “โสดาบัน”


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาวางกางให้อ่านกันถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเครื่องแล้วส่องกระจก  ทอดพระเนตรเห็นพระเกศาเหนือพระกรรณเบื้องซ้าย ๑ เส้น  ทรงพระพิโรธว่าพนักงานภูษามาลาแกล้งทำประจานพระองค์  ทรงสั่งให้ประหารชีวิตเสีย  เรื่องราวต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/N2ywbVC/90-01.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ในปีชวด ศักราช ๑๑๔๒ นั้น  เกิดการจลาจลขึ้นในประเทศกัมพูชา  ต้นเหตุคือ  เจ้าฟ้าทะละหะ(มู)  กับพระยากลาโหม(ชู)  พระยาเดโช(แทน)  พระยาแสนท้องฟ้า(พาง)  สี่คนคบคิดกันเป็นกบฏ  คุมสมัครพรรคพวกเข้าจับนักองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) เจ้ากรุงกัมพูชา  ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองพุทไธเพชรนั้นฆ่าเสีย
           แล้วไปรับเอาราชบุตรธิดานักพระองค์ตน ผู้เป็นพระอุทัยราชาซึ่งถึงพิราลัยแล้วนั้น  มาจากเมืองบาพนม  เป็นชายสอง  คือ  พระองค์เอง  พระองค์มิน  เป็นหญิงสองคือ  พระองค์อี  พระองค์เภา  เชิญมาไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร
           แล้วเจ้าฟ้าทลหะก็ตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้ามหาอุปราช
           พระยากลาโหมเป็นสมเด็จเจ้าพระยา  
           พระยาเดโชเป็นพระองค์พระยา
           พระยาแสนท้องฟ้าเป็นพระยาจักรี

           นั่งเมืองรักษาเจ้าสี่องค์ว่าราชการแผ่นดิน

(https://i.ibb.co/S3hBn5y/Unti52tled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระยายมราชและพระยาเขมรทั้งปวงซึ่งเป็นข้านักพระองค์รามาธิบดี (นักองค์นนท์) จึงพากันหนีเข้ามา ณ เมืองปัตบอง (พระตะบอง) แล้วบอกข้อราชการที่บ้านเมืองเกิดการจลาจลนั้นมายังกรุงธนบุรี  

(https://i.ibb.co/bsd8ktr/Untitledsfd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ  
           ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า
           พระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์  กับพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมาเก่าเป็นเกียกกายกองหนุน
           พระยานครสวรรค์เป็นยกกระบัตรทัพ
           พระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศเป็นทัพหลัง
           พระยาธรรมาเป็นกองลำเลียง
           ทั้งหกทัพเป็นพล ๑๐,๐๐๐ ยกไปตีเมืองพุทไธเพชร  จับเจ้าฟ้าทลหะและขุนนางพรรคพวกซึ่งเป็นกบฏนั้นฆ่าเสียให้สิ้น  ปราบแผ่นดินให้ราบคาบ แล้วให้พระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์อยู่ครองกรุงกัมพูชาสืบไป

(https://i.ibb.co/0f1xLX9/Untitsdfled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกน้อมรับพระบัญชาแล้วยกทัพขึ้นไปทางเมืองนครราชสีมา  และเดินทัพต่อไปกัมพูชา  กองทัพใหญ่ไปตั้ง ณ เมืองเสียมราบ
           ให้กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปทางเมืองพระตะบองฟากทะเลสาบข้างตะวันตก
           เอากองทัพเขมรพระยายมราชและพระยาเขมรทั้งปวงยกออกไปตีเมืองพุทไธเพชร
           ทัพพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงครามยกหนุนออกไป
           และให้ทัพพระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศและพระยาธรรมายกไปทางฟากทะเลสาบฝ่ายตะวันตก  ตั้งอยู่ ณ เมืองกำพงสวาย

(https://i.ibb.co/RjdbnWH/Untitlwed-4.png) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกบฏกัมพูชา  คือ  เจ้าฟ้าทลหะผู้ตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้ามหาอุปราช   พระยากลาโหมผู้ตั้งตัวเป็นสมเด็จเจ้าพระยา  พอรู้ว่ากองทัพไทยยกมาตีกัมพูชาก็ตกใจกลัวมิได้ตั้งอยู่สู้รบ  พาครอบครัวหนีลงไปอยู่ ณ เมืองพนมเปญ  แล้วบอกขอกองทัพญวนเมืองไซ่ง่อนมาช่วย  ทัพญวนยกมาเมืองพนมเปญพร้อม ๆ กับที่ทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปถึงพนมเปญเช่นกัน  แล้วต่างก็ตั้งค่ายรอกันอยู่โดยที่ยังมิได้รบกัน  กองทัพพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ก็ยกหนุเข้าไปตั้งอยู่ที่เมืองพุทไธเพชร

          ขณะที่กองทัพไทยยกไปตีกัมพูชาและทัพหน้ากำลังประจันหน้าทัพญวนนั้น  ทางกรุงธนบุรีก็เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น  เหตุเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนั่งพระกรรมฐานเสียพระสติ  พระจริตก็ฟั่นเฟือนไป  ฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปกติเหมือนแต่ก่อน  ปีศักราช ๑๑๔๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๔ นั้น  ทรงให้แต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น  คุมเครื่องราชบรรณาการลงสำเภาออกไปเมืองจีนเหมือนแต่ก่อนมา  โดยในปีนี้โปรดให้หลวงนายฤทธิเป็นอุปทูตออกไปด้วย  ครั้นส่งทูตานุทูตออกไปแล้ว ถึง ณ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙  สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จออก ณ โรงพระแก้ว  ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกันแล้วดำรัสถามพระราชาคณะว่า  “พระสงฆ์บุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น  จะได้หรือมิได้ประการใด”  เหตุที่ทรงดำรัสถามเช่นนั้นก็เพราะในยามนั้นทรงมีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส  สำคัญพระองค์ว่าได้บรรลุพระโสดาปัตติผลแล้ว  พระราชาคณะที่มีสันดานโลเลมิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาท  และเกรงพระราชอาชญาประกอบกับเป็นคนประจบประแจง  จึงประสมประสานเจรจาให้ชอบพระราชอัธยาศัยพากันถวายพระพรว่า  “สงฆ์บุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้”

          * ท่านผู้อ่านครับ  ถึงตรงนี้เป็นความสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ไทยส่วนมากฝังความเชื่อลงในความรู้ของคนไทยยุคหลัง ๆ ว่า  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเสียพระสติจนสร้างความวุ่นวายให้เกิดแก่พุทธจักรและราชอาณาจักร  แล้วที่สุดก็ทรงถูกสำเร็จโทษ  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและฉบับอื่น ๆ กล่าวตรงกัน  มีรายละเอียดอย่างไร  อ่านกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มิถุนายน, 2562, 10:11:02 PM
(https://i.ibb.co/48gN56T/15181507-1616705231957100-7928227568577407784-n.jpg) (https://imgbb.com/)


- พระสติฟั่นเฟือน -

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงวิปลาส
สำคัญพลาดผิดหลักปักไม่มั่น
คิดว่าเป็น“อริยะ”คุณอนันต์
สงฆ์ทั่วกันกราบไหว้ไม่ผิดธรรม

พระสังฆราชตรัสค้านทรงพิโรธ
สั่งลงโทษถอดถอนทิ้งตกต่ำ
เฆี่ยนตีพระหลายร้อยพลอยรับกรรม
เกิดระส่ำสับสนกลางสงฆ์ไทย


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาวาง  เปิดกางให้อ่านถึงตอนที่  เกิดความวุ่นวายขึ้นในเขมร  โดยเจ้าฟ้าทะละหะ(มู)กับพวกเป็นกบฏ  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) เป็นแม่ทัพยกไปปราบ  และในขณะที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังดำเนินการปราบเขมรอยู่นั้น  ทางกรุงธนบุรีก็เกิดความวุ่นวายขึ้น  ด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินบำเพ็ญพระกรรมฐานจนเสียพระสติไป  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ดูความในพระราชพงศาวดารกันต่อไปครับ

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถามพระเถรานุเถระในที่ประชุมว่า  พระภิกษุปุถุชนจะกราบไหว้คฤหัตถ์ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลได้หรือไม่  พระเถระที่ประจบประแจงในที่ประชุมนั้นมี  พระพุทธโฆษาจารย์วัดบางหว้าใหญ่  พระโพธิวงศ์  พระรัตนมุนีวัดหงส์  เป็นต้น  พากันถวายพระพรว่า  “สงฆ์บุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดานั้นได้”     แต่มีพระภิกษุที่ยึดมั่นในพระพุทธพจน์  คือ  สมเด็จพระสังฆราชวัดบางว้าใหญ่  พระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย  พระพิมลธรรมวัดโพธาราม   ๓ องค์นี้พากันถวายพระพรว่า  “ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี  แต่เป็นหินเพศต่ำ  อันพระสงฆ์ถึงเป็นบุถุชน  ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง  เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์และจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ  ซึ่งจะนบไหว้คฤหัสถ์อันเป็นพระโสดาบันนั้นก็บมิควร”

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงฟังดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ  ตรัสว่าเสียงข้างมากกล่าวว่าควร  แต่สามองค์นี้กลับกล่าวไม่ควร  เป็นการกล่าวผิดพระบาลี  แล้วดำรัสให้พระโพธิวงศ์  กับ  พระพุทธโฆษาจารย์  เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช  พระพุฒาจารย์  พระพิมลธรรม  กับพระฐานานุกรมของพระเถระทั้งสามพร้อมด้วยพระเปรียญศิษยานุศิย์ทั้งหมดไปลงทัณฑ์ ณ วัดหงส์  พระราชาคณะนั้นให้ตีหลังองค์ละร้อยที  พระฐานานุกรมและพระเปรียญให้ตีหลังองค์ละห้าสิบที  ปรากฏว่ามีพระภิกษุซึ่งอยู่ในศีลสัตย์ว่าพระภิกษุบุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันนั้นทั้งสามอารามรวมแล้วมีถึงห้าร้อยองค์ล้วนถูกลงทัณฑ์ตีหลังทั้งสิ้น  เมื่อตีหลังครบแล้วก็ให้ทั้งหมดไปขนอาจมและชำระเว็จกุฎีทั้งหมดในวัดหงส์  และให้ถอดสมณะฐานันดรศักดิ์ลงเป็นอนุจรทั้งสิ้น

          จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงตั้งให้พระโพธิวงศ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช  พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระวันรัตน  มหาภัยพิบัติจึงบังเกิดแก่พระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก  บรรดาชนที่เป็นสัมมาทิฐิถือมั่นในพระรัตนตรัยทั้งหลายล้วนสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนาและพระภิกษุสงฆ์ผู้บริสุทธิ  บางคนถึงกับขอรับโทษแทนให้ตีหลังตนเองก็มี  ยามนั้นเสียงร่ำไห้จึงระงมไปทั้งเมือง  บรรดาพระภิกษุมิจฉาทิฐิอลัชชีที่ว่าพระภิกษุบุถุชนกราบไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันได้นั้น  ก็เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมหมอบกรานเหมือนอย่างข้าราชการฆราวาส  สมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสให้คุมตัวพระเถระทั้งสามองค์ที่ถูกถอดนั้นไว้ที่วัดหงส์อย่าให้กลับไปวัดเดิมของตนได้

          ตรัสให้พระญาณไตรโลกวัดเลียบไปอยู่ครองวัดโพธาราม  แล้วตรัสให้พระรัตนมุนีขนานพระนามของพระองค์เสียใหม่  พระรัตนมุนีจึงขนานพระนามให้ต้องพระอัธยาศัยว่า  “สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร  บวรพุทธางกูร  อดูลยขัตติยราช ว งศ์ ดำรงพิภพกรุงเทพมหานคร  บวรทวาราวดีศรีอยุธยา  มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์  อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน”  ทรงชื่นชอบพระนามใหม่นี้เป็นอย่างมาก

          ท่านผู้อ่านครับ  ผมดูความตรงนี้ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลแล้วก็เห็นตรงกัน  แม้ในฉบับอื่น ๆ ก็ได้สาระสำคัญตรงกัน  มีคำที่ควรขยายความตรงนี้คือคำว่า  พระโสดาบัน  หรือเรียกสั้นว่า  โสดา  คำนี้เป็นชื่อของพระอริยบุคคลชั้นต้น  ซึ่งแปลว่า  “ผู้ไปจากกิเลส”  คือสามารถตัดกิเลสอย่างหยาบได้แล้ว ๓ ข้อ  ได้แก่  สักกายทิฏฐิ  ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดถือมั่นอยู่ในวัตถุบุคคล  ตัวตนเราเขา ๑    วิจิกิจฉาความสงสัยในพระรัตนตรัย ๑   สีลัพพตปรามาส  ความยึดถือมั่นในศีลพรต  คือถือตาม ๆ กันมาอย่างงมงาย  เช่นว่าคนรักษาศีลแล้วจะมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์  สามารถบันดาลสิ่งที่ตนปรารถนาได้ ๑   ผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะต้องละกิเลสเบื้องต่ำ ๓ ข้อนี้ได้

          กิเลส ๓ ข้อนี้มีชื่อเรียกว่า  สังโยชน์  แปลว่า  สิ่งที่ผูกมัดรัดรึงจิตใจสัตว์ให้ติดให้ข้องอยู่ในชาติภพ  เป็นความรู้สึกที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน

          พระอริยะเจ้าในพุทธศาสนานี้มี ๔ จำพวก  คือ  พระโสดาบัน ๑   พระสกทาคามี ๑   พระอนาคามี ๑   พระอรหันต์ ๑   พระโสดาบันเป็นจำพวกแรก  ท่านแปลตามศัพท์ว่า  ผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน  หมายความว่าผู้ที่บรรลุ  หรือ  สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วจะเกิดอีกเพียง ๑ ครั้ง (เอกพีชี) ๓ ครั้ง (โกลังโกละ) และ ๗ ครั้ง (สัตตักขัตตุปรมะ)  ก็จะบรรลุพระอรหันต์ได้นิพพานไปเลย  พวกนี้จะไม่มีโอกาสตายไปเกิดในนรกหรือในอบายภูมิเป็นอันขาด  ดังนั้นผู้ที่บรรลุหรือสำเร็จพระโสดาบันจึงถือว่าเป็นพระอริยะ  แปลว่าผู้ประเสริฐ (ผู้ไปจากกิเลสเพียงดังว่าข้าศึก)  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงบำเพ็ญพระกรรมฐานจนกรรมฐานแตก  มีสติฟั่นเฟือน  เข้าพระทัยว่าพระองค์บรรลุหรือสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว  และเห็นว่าพระภิกษุที่เป็นปุถุชน คือผู้มีกิเลสหนาแน่นจะต้องเคารพนบไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันได้

          ** ท่านผู้อ่านครับเรื่องนี้ยังไม่สิ้นกระแสความ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มิถุนายน, 2562, 12:05:03 AM
(https://i.ibb.co/NpBMLBR/Undfdtitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

- ชาวกรุงเก่าเป็นกบฏ -

ในยามนั้นบ้านเมืองมีเรื่องวุ่น
พวก“เจ้าขุน”ช่างประจบต่างเป็นใหญ่
เพ็ดทูลฟ้องใส่ความเอาตามใจ
แม้เจ้าจอมข้างในไม่เว้นทัณฑ์

ข้าราชการซื่อสัตย์ประชาราษฎร์
เดือดร้อนขาดที่พึ่งจึงโศกศัลย์
ชาวกรุงเก่ามีนาม“บุนนาก”นั้น
ทนอดกลั้นมิได้ยอมตายดี

พาชาวบ้านปล้นจวนเจ้าเมืองหมด
เป็นกบฏตั้งใจสู้ไม่หนี
ได้กำลัง “พระยาสรรค์บุรี”
ยกเข้าตีกรุงธนอย่างมั่นใจ


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบางตอนมาวางให้อ่าน  และแทรกความเห็นลงไปเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงชื่นชอบพระนามใหม่ที่พระรัตนมุนีขนานพระนามให้ใหม่ว่า  “สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร บวรพุทธางกูร อดูลยขัตติยราชวงศ์ ดำรงพิภพกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน”  แต่ยังมิได้ทรงประกาศใช้  เพราะทรงมีพระสติฟั่นเฟือนเสียก่อน  วันนี้มาดูความกันต่อไปครับ

          * คำว่าหินเพศ  แปลว่าเพศที่ต่ำทราม  คำถวายพระพรของสมเด็จพระสังฆราช  พระพุฒาจารย์  และ  พระพิมลธรรม นั้นถูกต้องตามพระพุทธพจน์แล้ว  เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว  พระอริยบุคคล  มีพระโสดาบัน  พระสกทาคามี  พระอนาคามี  และ  พระอรหันต์  แม้กิเลสจะเบาบางและถึงหมดกิเลสแล้ว  หากครองเพศเป็นฆราวาสหรือคฤหัสถ์  ก็ถือว่ามีเพศต่ำ  ส่วนปุถุชนผู้ยังมีกิเลสหนา  แต่ถ้าครองเพศเป็นพระภิกษุนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์รักษาศีลบริสุทธิ์  ก็ถือว่าเป็นอุดมเพศ  คือเพศสูงกว่าฆราวาส  บุคคลที่อยู่ในเพศสูงจึงไม่ควรเคารพนบไหวผู้ที่อยู่ในเพศต่ำได้

          ในสมัยพุทธกาลนั้นปรากฏว่า  มีผู้สำเร็จพระอรหันต์แต่ยังมิได้ถือเพศเป็นพระภิกษุ  ท่านถูกโคขวิดตายถึงอนุปาทิเสสนิพพานในที่สุด  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  พระอรหันต์ไม่อาจครองเพศฆราวาสได้เกิน ๗ วัน  เพราะเพศฆราวาสเป็นหินเพศ คือเพศต่ำ (เลว) พระอรหันต์ฆราวาสจึงต้องนิพพานภายในเวลา ๗ วัน  โดยไม่อาจอยู่นานเกินกว่านั้นได้  ส่วนพระอริยบุคคล อีก ๓ จำพวกนั้นอยู่ในเพศฆราวาสได้จนกว่าจะวายชนม์  เช่น  อนาถปิณฑิกเศรษฐี  และนางวิสาขามหาอุบาสิกา  เป็นต้น

(https://i.ibb.co/7CHSDgm/Undfdftitled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัถเลขา  และพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลกล่าวตรงกันว่า  ในยามนั้นบ้านเมืองเกิดจลาจลเดือดร้อนทั้งฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร  เหล่าคนพาลมีอำนาจทำเรื่องฟ้องร้องให้คนดีเดือดร้อน ด้วยพระเจ้าแผ่นดินมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  ผู้ที่ถูกใส่ความก็ถูกลงโทษนานาประการ  ไม่เว้นแม้กระทั้งเจ้าจอมข้างใน  ถูกกล่าวโทษว่าลักเงินเหรียญในพระคลังในจนถูกลงพระราชอาชญาให้โบยและจำไว้เป็นอันมาก  ผู้ที่ถูกลงโทษหนักที่สุดคือเจ้าจอมโนรีชาวคลังถูกย่างเพลิงจนตาย  พันศรี  พันลา มีอำนาจมากเพราะได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย  จึงกดขี่ข่มเหงข้าราชการและอาณาประชาราษฎรให้เดือดร้อนไปทั่วทั้งในพระนครและหัวเมือง   ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

           “ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือนอ้าย  มีผู้เป็นโจทก์มาฟ้องพระราชาเศรษฐีญวนว่าคิดจะหนีไปเมืองพุทไธมาศ จึงดำรัสให้จับตัวพระยาราชาเศรษฐีญวนกับญวนพรรคพวก  ให้ประหารชีวิตเสียสามสิบเอ็ดคนด้วยกัน

          ครั้น ณ วันพุธ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๒  ให้ประหารชีวิตคนโทษเก้าคน  ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ให้ประหารชีวิตจีนลูกค้าแปดคน”

(https://i.ibb.co/njYJxfX/Udfntitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          เพราะเหตุที่บ้านเมืองเป็นจลาจลเดือดร้อนวุ่นวายไปทุกหย่อมหญ้า  ดังนั้นในแรมเดือน ๔ ปีฉลู ตรีศกนั้น  นายบุนนาก  นายบ้านแม่ลา  แขวงกรุงเก่า  กับขุนสุระ  ร่วมคิดกันว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่เป็นธรรม  กระทำข่มเหงเบียดเบียนประชาราษฎรด้วยการเร่งเอาทรัพย์สิน  เมื่อแผ่นดินเป็นทุจริตดังนี้จะละไว้มิชอบ  ควรที่เราจะชักชวนประชาชนทั้งปวงยกลงไปตีกรุงธนบุรี  จับเจ้าแผ่นดินอาสัตย์สำเร็จโทษเสีย  แล้วจะถวายราชสมบัติเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ให้ครอบครองต่อไป การจลาจลจึงจะสงบราบคาบ  แผ่นดินจะอยู่เย็นเป็นสุข

(https://i.ibb.co/S7cX5nP/Untitlefgd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อคบคิดกันดังนั้นจึงซ่องสุมผู้คน  มีชาวชนบทเห็นด้วยกับความคิดสมัครเข้าเป็นพรรคพวกด้วยเป็นอันมาก  นายบุนนากกับขุนสุระจึงยกพวกเข้าเมืองในเวลากลางคืน  ปล้นจวนพระพิชิตณรงค์ผู้รักษากรุงเก่าซึ่งกำลังตั้งกองเร่งรัดเก็บเงินชาวเมืองอยู่นั้น  เมื่อจับตัวผู้รักษากรุงเก่าได้แล้วก็ฆ่าเสีย  กรมการซึ่งหนีรอดได้นั้นก็รีบลงมากรุงธนบุรี  นำความขึ้นกราบทูลว่า  เกิดพวกเหล่าร้ายเข้ามาฆ่าผู้รักษากรุงและกรมการเสียแล้ว

(https://i.ibb.co/tBHQ3gT/Udfdntitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นพระยาสรรค์บุรีลงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงดำรัสให้พระยาสรรค์ขึ้นไปกรุงเก่า  แล้วเร่งจับตัวคนร้ายให้จงได้  แต่ปรากฏว่าเมื่อพระยาสรรค์บุรีขึ้นไปถึงกรุงเก่าแล้ว  กลับไปเข้าด้วยกับนายบุนนากและขุนสุระเสีย  นายบุนนากกับขุนสุระจึงมอบให้พระยาสรรค์บุรีเป็นนายทัพ  ยกกำลังลงมาตีกรุงธนบุรี  โดยให้พวกพลทหารใส่มงคลแดงทั้งสิ้น

(http://upic.me/i/sa/untfgitled-6.jpg) (http://upic.me/show/62429651)

          ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู ตรีศก  กองทัพพระยาสรรค์บุรีลงมาถึงพระนคร  เพลาค่ำสิบทุ่มก็ให้ทหารโห่ร้องยกเข้าล้อมกำแพงพระราชวังไว้รอบ  ตัวพระยาสรรค์บุรีนั้นตั้งกองอยู่ริมคุกฟากเหนือคลองนครบาล  ที่บ้านพวกกรมการเมือง”

(https://i.ibb.co/Ytpcvy3/Untidftled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          * นายบุนนาก กำนันบ้านแม่ลา แขวงกรุงเก่า ทนดูพระเจ้าตากสินบริหารบ้านเมืองไปในทางเลวร้ายมิได้  จึงปลุกปั่นขาวบ้านเป็นกบฏ  ร่วมกับขุนสุระ เข้าปล้นจวนเมืองอยุธยา  จับตัวเจ้าฆ่าเสีย  พระเจ้าตากสินทรงทราบจึงตรัสให้พระยาสรรค์บุรีนำกำลังไปปราบ  พระยาสรรค์บุรีกลับถูกนายบุนนากเกลี้ยกล่อมให้เป็นพวกเดียวกัน  แล้วให้เป็นนายทัพยกกองกำลังกลับเข้าตีกรุงธนบุรี

          ผลจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึผึ้งไทย
๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มิถุนายน, 2562, 11:31:42 PM
(https://i.ibb.co/2WHLw9t/Undfdtitled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระเจ้าตากสินขอบวช -

ฝ่ายกบฏล้อมวังไว้ทั้งสิ้น
เจ้าแผ่นดินสั่งสู้อยู่หวั่นไหว
ตลอดคืนยิงกันสนั่นไป
ทรงเห็นไม่อาจต้านทานริปู

จึงนิมนต์พระสงฆ์ให้ออกหน้า
เจรจายอมแพ้ไม่ขอสู้
สละราชสมบัติเปิดประตู
ขอเป็นผู้ทรงพรตปลดปล่อยตน

บวชในโบสถ์วัดแจ้งไม่แสร้งบวช
แต่น่าปวดใจแทนที่ถูกปล้น
จับสึกจำตรวนขังประทังทน
ไม่รู้ผลเบื้องหน้าประการใด


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าให้ฟังถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงบำเพ็ญพระกรรมฐานจนมีพระสติฟั่นเฟือน (กรรมฐานแตก) เกิดความเดือดร้อนทั้งฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร  จนนายบุนนาก นายบ้าน(กำนัน)แม่ลา  แขวงกรุงเก่ากับขุนสุระคบคิดกันเป็นกบฏซ่องสุมผู้คนแล้วเข้าปล้นจวนเจ้าเมือง  จับตัวผู้รักษากรุงเก่าได้แล้วฆ่าเสีย  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้งให้พระยาสรรค์บุรีขึ้นไปปราบกบฏ  แต่พระยาสรรค์บุรีกลับไปเข้ากับกบฏแล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ายกกำลังลงมาล้อมพระราชวังกรุงธนบุรีไว้  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/rxzM142/Untfgitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “สมเด็จพระเจ้าตากสินทราบว่าพระยาสรรค์บุรีไปเข้ากับพวกกบฏแล้วยกกำลังมาล้อมพระราชวังดังนั้น  จึงสั่งข้าราชการซึ่งนอนเวรประจำซองอยู่นั้นเกณฑ์กันขึ้นประจำหน้าที่เชิงเทินรอบพระราชวัง  ทั้งสองฝ่ายยิงปืนโต้ตอบต่อรบกันจนรุ่ง  เมื่อพิจารณาเห็นว่าฝ่ายตนเสียบเปรียบหาทางเอาชนะมิได้แล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงให้นิมนต์พระสังฆราช  พระวันรัตน  และพระรัตนมุนีเข้ามา  แล้วให้ออกไปเจรจาความเมืองกับพระยาสรรค์บุรี  รับสารภาพผิดยอมแพ้โดยมีเงื่อนไขต่อรองว่า  ขอชีวิตพระองค์ไว้แล้วจะออกบรรพชา  พระยาสรรค์บุรีก็ยอมรับข้อเสนอนั้น

(https://i.ibb.co/2WHLw9t/Undfdtitled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          เพลาค่ำยามเศษของวันนั้นพระเจ้าตากสินก็ออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดแจ้งภายในพระราชวัง  พระยาสรรค์บุรีจึงจัดพลทหารให้ไปตั้งล้อมพระอุโบสถวัดแจ้งไว้อย่างแน่นหนาเพื่อมิให้พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงผนวชนั้นหนีไปได้  แล้วให้จับพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามและวงศานุวงศ์ทั้งปวงมาจำไว้ในพระราชวัง

(https://i.ibb.co/Kmpmr61/Untdfitled-24.jpg) (https://imgbb.com/)

          รุ่งขึ้นวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ อันเป็นวันจ่ายตรุษไทย  พระยาสรรค์บุรีกับหลวงเทพผู้น้องจึงเข้าพระราชวัง  สู่ท้องพระโรงแล้วว่าราชการแผ่นดิน  ให้ถอดนักโทษข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในและราษฎรซึ่งอยู่ในเรือนจำทั้งหมดออกมา  คนทั้งหลายที่ต้องโทษเมื่อพ้นโทษจำจองออกมาแล้ว  พากันโกรธแค้นพวกโจทก์ที่กล่าวหาใส่ความตนจนได้รับโทษคุมขัง จึงเที่ยวไล่จับพวกโจทก์  มีพันศรี  พันลา  เป็นต้น  เมื่อจับได้แล้วก็ฆ่าฟันจนสมความแค้น  พวกโจทก์ก็พากันหลบหนีไปเที่ยวซุ่มซ่อนในวัดบ้าง  ในบ้านบ้าง  ที่หนีรอดไปได้นั้นมีจำนวนน้อย  ที่ถูกฆ่าตายนั้นมีจำนวนมาก  ยามนั้นจึงเกิดฆ่าฟันกันทุกแห่งทุกตำบลทั่วทั้งเมือง

(https://i.ibb.co/xHbkcJ5/Un852titled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาสุริยอภัย (หลานชายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) ผู้ครองเมืองนครราชสีมาได้ทราบข่าวแผ่นดินกรุงธนบุรีเป็นจลาจล  จึงแจ้งเหตุไปยังเมืองเสียมราบรายงานให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ทราบ  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงสั่งให้พระยาสุริยอภัยรีบยกกองทัพลงไปกรุงธนบุรีก่อน  โดยตนจะยกทัพใหญ่ตามลงมาภายหลัง  พระยาสุริยอภัยจึงมอบหมายให้พระอภัยสุริยาปลัดเมืองผู้น้องอยู่รักษาเมืองนครราชสีมาแล้วยกกองทัพลงมากรุงธนบุรี  กองทัพพระยาสุริยอภัยยกลงมาถึงกรุงธน บุรี ณ วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕  อันเป็นเวลาที่พระยาสรรค์บุรีได้เข้านั่งเมืองอยู่แล้ว

(https://i.ibb.co/mHZZhK4/Untitlsfed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นพระยาสรรค์ทราบว่าพระยาสุริยอภัยยกทัพมาถึงจึงให้ไปเชิญเข้ามาปรึกษาราชการ ณ ท้องพระโรงในพระราชวัง  ชี้แจงเหตุการจลาจลให้ทราบตั้งแต่ต้นจนจบ  ตรงที่เข้ายึดพระราชวังแล้วพระเจ้าตากสินทรงผนวช  แล้วกล่าวยืนยันว่าได้จัดแจงบ้านเมืองเตรียมพร้อมไว้เพื่อถวายแด่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ครอบครองแผ่นดินสืบไป  พระยาสุริยอภัยกับพระยาสรรค์ปรึกษาเห็นพ้องกันให้สึกพระเจ้าตากออกมาแล้วพันธนาไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์ (เครื่องจองจำ,โซ่ตรวน)  แล้วพระยาสุริยอภัยก็ไปตั้งกองทัพอยู่ ณ บ้านเดิม  คือที่บ้านปูนเหนือสวนมังคุด

          ภายหลังพระยาสรรค์บุรีกลับคิดจะเอาราชสมบัติเสียเอง  ได้คบคิดกันกับพระยามหาเสนา  พระยารามัญวงศ์ (จักรีมอญ) เอาเงินตราในท้องพระคลังออกมาแจกจ่ายข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในและทหารเป็นอันมาก  ในบรรดาขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงก็แตกออกเป็นสองฝ่าย  พวกที่ได้รับแจกเงินส่วนมากก็เข้ากับฝ่ายพระยาสรรค์  พวกที่นับถือบุญญาบารมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมิยอมรับเงินจากพระยาสรรค์ก็เข้ากับพระยาสุริยอภัย

(https://i.ibb.co/YXKpn3W/Unadtidftled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันอังคารแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕  พระยาสรรค์กับเจ้าพระยามหาเสนา  และพระยารามัญวงศ์  ร่วมคิดกันให้ถอดกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์) จากเวรจำ  แล้วตั้งให้เป็นนายทัพยกกำลังไปบ้านพระยาสุริยอภัยในเพลาพลบค่ำ  ตั้งค่ายวางคนรายโอบลงมาวัดบางหว้า   เพลายามสามก็จุดเพลิงขึ้น ณ บ้านปูน  แล้วยกเข้าโจมตีบ้านพระยาสุริยอภัย  พระยาสุริยอภัยก็มิได้สะดุ้งตกใจกลัว  สั่งให้ไพร่พลออกต่อรบ  ได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย

(https://i.ibb.co/hF1mCxz/Unfdfdtitled-17.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเห็นเพลิงลุกลลามเข้ามาใกล้บ้านแล้ว  พระยาสุริยอภัยจึงอธิษฐานว่า  “ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญศีลทานการกุศลสิ่งใด ๆ ก็ตั้งใจปรารถนาพระโพธิญาณสิ่งเดียว  เดชะอำนาจความสัตย์นี้ขอจงยังพระพายให้พัดกลับขึ้นไป  อย่าให้เพลิงไหม้มาถึงบ้านเรือนข้าพเจ้าเลย”  พอขาดคำอธิษฐานลมก็บันดาลพัดกลับขึ้นไป  เพลิงจึงไหม้อยู่แต่ภายนอกไม่ลามเข้าไปถึงบ้านพระยาสุริยอภัย  ทั้งสองฝ่ายรบกันอยู่จนรุ่งแจ้งได้เห็นเห็นตัวกันและรบกันต่อจนถึงห้าโมงเช้า  ทัพกรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงแตกพ่ายหนีไปข้ามคลองบางกอกน้อย  พระยาสุริยอภัยให้พลทหารตามจับตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามมาได้แล้วให้จำครบไว้และสืบเอาพวกเพื่อนได้อีกเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/4m98YxF/Untdfaitled-24.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นกองรามัญก็แตกกันออกเป็นสองพวก  ที่มาเข้ากับพระยาสุริยอภัยนั้นคือ  กองพระยาพระราม  พระยาเจ่ง  
          ที่เข้ากับพระยาสรรค์คือ  พระยารามัญวงศ์ กับกองพระยากลางเมือง  เมื่อพระยาสรรค์ทราบว่ากรมขุนอนุรักษ์สงครามพ่ายแพ้และถูกจับตัวได้แล้วก็คิดเกรงกลัวย่อท้อมิอาจยกออกไปรบอีก  รักษาตัวอยู่แต่ในพระราชวังเท่านั้น  พระยาสุริยอภัยก็ให้ตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ บ้านปูนอันเป็นบ้านของตน  แล้วจัดแจงพลทหารตั้งรายกองทัพลงมาจนถึงคลองนครบาล

(https://i.ibb.co/xgYvYWv/Untitlfdfed-12-01.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  สถานการณ์บ้านเมืองไทยในช่วงนี้วิกฤติอีกแล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่มีกำลังพอที่จะต่อต้านฝ่ายกบฏที่มีพระยาสรรค์บุรีเป็นหัวหน้าได้  ทรงยอมแพ้แต่โดยดี  แล้วขอบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดแจ้ง (อรุณราชวราราม)  พระยาสรรค์ไม่ไว้วางใจ  จัดกองกำลังล้อมวัดไว้อย่างแน่นหนา  แล้วจับตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามพร้อมบรมวงศ์จำจองไว้  ปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำออกมา  อดีตนักโทษเหล่านั้นก็ตามล่าล้างแค้นบรรดาโจทก์ที่กล่าวโทษให้ตนติดตะราง  วุ่นวายไปทั้งเมืองทีเดียว

(https://i.ibb.co/SVPZHnC/Undftitled-15.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาสุริยอภัย  รายงานเหตุการณ์ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบแล้ว  รีบยกกำลงลงมาจากนครราชสิมา  พระยาสรรค์เชิญเข้าร่วมปรึกษาราชการแล้วจับพระเจ้าตากสินให้ลาสมณะเพศแล้วจำตรวนไว้

(https://i.ibb.co/RH3YLFW/Undftitled-18.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นกำเริบเสิบสานใคร่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง  จึงปลดปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงครามจากที่คุมขังให้ยกกำลังเข้าโจมตีบ้านพระยาสุริยอภัยที่ตั้งเป็นกองทัพอยู่  ด้วยบุญญาบารมีของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  กองกำลังของฝ่ายพระยาสรรค์จึงมิอาจทำอะไรพระยาสุริยอภัยได้

          แผ่นดินสยามว่างพระเจ้าแผ่นดินปกครองบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่งแล้ว  เหตุการณ์จะเป็นอย่าไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันใหม่นะครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42681#msg42681)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43013#msg43013)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มิถุนายน, 2562, 10:13:13 PM
(https://i.ibb.co/fC349kt/11350472-874961332575975.png) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42841#msg42841)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43202#msg43202)                   .

- สิ้นสมเด็จพระเจ้าตากสิน -

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
มิทันนึกแผนงานเป็นการใหญ่
รีบยกทัพกลับกรุงอย่างเร็วไว
ชนชาวไทยยินดีแสนปรีดา

พากันแห่ห้อมล้อมพร้อมถวาย
บังคมรายเรียงตัวอยู่ทั่วหน้า
เชิญประทับบัลลังก์ทองผ่องโสภา
เป็นราชาดำรงวงศ์จักรี

พระเจ้าตากสินผู้สิ้นสิทธิ์
ยอมรับผิดทุกประการให้บั่นศีรษ์
ปิดตำนานจอมคนธนบุรี
ฝากฝังวีรกรรมไว้ให้ชื่นชม


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาแสดงให้ท่านอ่านกันถึงตอนที่พระยาสรรค์บุรีร่วมกับนายบุนนากกำนันบ้านแม่ลากรุงเก่าเป็นกบฏ  ยกกำลังเข้าล้อมกรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสสั่งสู้  ยิงกันตลอดคืน  รุ่งขึ้นทรงเห็นว่าจะสู้ต่อไปไม่ได้  จึงขอให้พระสังฆราชกับพระราชาคณะออกไปเจรจายอมแพ้  ขอสละราชสมบัติออกบวชเป็นภิกษุ ณ วัดแจ้ง  พระยาสรรค์เข้าพระนครได้แล้วก็ว่าราชการแทนพระเจ้าแผ่นดิน  ยามนั้น  พระยาสุริยอภัย (หลานชายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก)รายงานให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ทราบแล้วยกทัพจากนครราชสีมาลงมากรุงธนบุรีทันที  พระยาสรรค์ได้ให้การต้อนรับพระยาสุริยอภัยเป็นอันดี  อ้างว่าจะรักษาราชบัลลังก์ไว้ถวายแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ปรึกษากันแล้วเห็นชอบ  จับพระภิกษุตากสินมาให้ลาสิกขาแล้วจำจองไว้รอเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาพิจารณาโทษต่อไป  แต่แล้วพระยาสรรค์กลับใจคิดจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง  คืนนั้นจึงปลดปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์) จากที่คุมขัง  ให้นำกำลังจู่โจมตีกองกำลังของพระยาสุริยอภัย   กรมขุนอนุรักษ์สงครามให้จุดเพลิงเผาอาคารบ้านเรือนในบริเวณบ้านปูน  อันเป็นบ้านของพระยาสุริยอภัยและเป็นที่ตั้งกองกำลังจากนครราชสีมา  ทั้งสองฝ่ายยิงปืนโต้ตอบกันตลอดคืน  ครั้นรุ่งเช้าแล้วยังรบกันอยู่ถึง ๕ โมงเช้า  กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงพ่ายแพ้  พระยาสุริยอภัยให้ทหารตามจับตัวได้แล้วให้จำครบไว้  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ได้บันทึกเรื่องไว้ดังนี้

(https://i.ibb.co/rdbJ8SS/Undftitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ฝ่ายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น  เมื่อสั่งให้พระยาสุริยอภัยยกทัพนครราชสีมาลงมายังกรุงธนบุรีแล้ว  จึงแต่งหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินเป็นจลาจลให้คนสนิทถือไปแจ้งแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ที่เมืองพนมเพญ  ให้กองทัพเขมรพระยายมราชเข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย) ไว้อย่าให้รู้ความ  แล้วรีบยกทัพกลับกรุงธนบุรีโดยเร็ว  พร้อมกับให้บอกไปถึงพระยาธรรมาซึ่งตั้งทัพอยู่เมืองกำพงสวาย  ให้จับกรมขุนรามภูเบศร์ (พระเจ้าหลานเธอบุญจันทร์) จำครบไว้แล้วให้เลิกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที

(https://i.ibb.co/4jvYbnw/558000011373403.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นทรงช้างแล้วยกทัพช้างม้ารี้พลประมาณ ๕,๐๐๐ เศษ  ดำเนินทัพมาทางด่านพระจารึกถึงเมืองปราจีนบุรี  ข้ามแม่น้ำเมืองปราจีนเมืองนครนาย ก ตัดลงมาทุ่งแสนแสบ  ชาวพระนครทราบข่าวการกลับมาของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ก็พากันยินดีปรีดายกมือขึ้นถวายบังคมพร้อมกันอย่างทั่วถ้วน  กล่าวตรงกันว่า  ครั้งนี้การยุคเข็ญจะสงบแล้ว  แผ่นดินจะราบคาบ  บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป  หลวงสรวิชิตนายด่านเมืองอุทัยธานีซึ่งลงมาอยู่ ณ กรุงธนบุรีก็ขึ้นม้าออกไปรับเสด็จถึงทุ่งแสนแสบแล้วนำทัพเข้ามายังพระนคร

          ณ วันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เพลาสองโมงเช้าเศษ  ทัพหลวงก็มาถึงกรุงธนบุรีฟากตะวันออก  พระยาสุริยอภัยให้ปลูกพลับพลารับ ณ สะพานท่าวัดโพธาราม  ให้แต่งเรือพระที่นั่งกราบข้ามมาคอยรับ  ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในพระราชวังก็ลงเรือพระที่นั่งมาคอยรับด้วย  เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงช้างมาถึงพลับพลาหน้าวัดแล้ว  ท้าวทรงกันดาลกราบถวายบังคมทูลเชิญลงเรือกระที่นั่งข้ามไปเข้าพระราชวัง  ขึ้นประทับบนศาลาลูกขุนมหาดไทย  ข้าราชการทั้งหลายก็มาเฝ้ากราบถวายบังคม  พระยาสรรค์บุรีและพรรคพวกก็กลัวเดชานุภาพเป็นกำลัง  มิรู้ที่จะหนีจะสู้ประการใด  ก็พากันมาเฝ้ากราบถวายบังคมพร้อมด้วยข้าราชการขุนนางทั้งปวง

          เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงปรึกษาขุนนางข้าราชการทั้งปวงว่าควรจะจัดการอย่างไรกับพระเจ้าตากสิน  ก็เห็นเป็นอันเดียวกันว่า  “พระเจ้าแผ่นดินละสุจริตธรรมเสีย  ประพฤติการทุจริตฉะนี้ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้  ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย”  จึงสั่งให้มีกระทู้ถามพระเจ้าตากสินถึงความผิดทั้งปวง  พระเจ้าตากสินก็ทรงรับผิดทุกประการ  จึงสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสียที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์  โดยเพชฌฆาตตัดศีรษะแล้ว  นำศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้

(https://i.ibb.co/6N2v8WC/1529031034296-01.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าตากสินดำรงราชอาณาจักรอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๕ ปี  ก็เสียให้แก่พระยาสวรรค์บุรี  และเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายพระชนมชีพนั้นมีพระชนมายุได้ ๔๘ ปี

(https://i.ibb.co/bRJjvsJ/1529031034296-02.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินตามพงศาวดารก็มีความดังกล่าวแล้ว  แต่ในตำนานมีความต่างออกไป  บ้างก็ว่าพระเจ้าตากสินมิได้ถูกประหารชีวิตตามความในพระราชพงศาวดาร  หากแต่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่  ผู้ทึ่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นตัวแทน  ตัวจริงได้หลบหนีไปอยู่ ณ เทือกเขาพรหมคีรี  จังหวัดนครศรีธรรมราช  แล้วสิ้นพระชนม์ในผ้ากาสวาพัตร ณ วัดเขาขุนพนม  พรหมคีรี นั้นเอง

(https://i.ibb.co/BscFzGW/1529031034296.jpg) (https://imgbb.com/)

          บ้างก็ว่า  พระเจ้าตากสินแสร้งสิ้นพระชนม์เป็นการเมือง  เนื่องจากได้กู้หนี้ยืมสินจากเมืองจีนมาสร้างกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก  แล้วไม่มีเงินใช้คืน  จึงสละราชบัลลังก์ให้เพื่อนรักคือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  แล้วแสร้งทำเป็นเสียพระจริตจนถูกประหารชีวิต  เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วหนี้สินทั้งปวงก็เป็นอันล้างกันไป  ตำนานดังกล่าวนี้เท็จจริงประการใดก็ใคร่ครวญด้วยสติปัญญากันเอาเองเถิด

(https://i.ibb.co/L9KvV31/47582851.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เมื่อสิ้นสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารกันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มิถุนายน, 2562, 10:30:20 PM
(https://i.ibb.co/S6fdHQL/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- เสวยราชสมบัติสร้างวังใหม่ -

สมเด็จพระเจ้าตากสินสิ้นรัชสมัย
ประชาไทยเชิดชูผู้เหมาะสม
“เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”กรม
จึงบังคมทูลนั่งบัลลังก์แทน

ทรงชำระสะสางเรื่องทั้งหมด
ถือกำหนดยุติธรรมที่หนักแน่น
ประหารเสี้ยนหนามสิ้นทั้งดินแดน
ตัดตอแค้นขาดวิ่นสิ้นเยื่อใย

ที่ตั้งวังเดิมนั้นมีปัญหา
ถูกวัดวาตั้งขนาบรับมิได้
จึงหาที่ดีงามตามต้องใจ
สร้างวังใหม่ประทับโดยฉับพลัน


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงกาลอาวสานกรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสิ้นพระชนม์ในเงื่อนปมปัญหาที่ยังหาข้อยุติแน่นอนมิได้  เพราะความในพระราชพงศาวดารกับตำนานขัดแย้งกันอยู่  ในที่นี้จะไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บให้ยุ่งยากนะครับ  เพราะหน้าที่ของผมมีเพียงบอกเล่าเรื่องราวตามพงศาวดารและตำนานให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้เท่านั้น  ไม่มีหน้าที่พิสูจน์ว่าเรื่องที่บอกเล่านั้นเท็จจริงประการใด  ดังนั้นจึงขอยุติเรื่องกรุงธนบุรีไว้ตามพระราชพงศาวดารดังแสดงมาแล้ว

          วันนี้จะขอเล่าเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์ตามพระราชพงศาวดาร  โดยยึดเอาพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลัก  มีเรื่องราวสืบต่อจากหลังการสิ้นพระเจ้าตากสินและกรุงธนบุรี ดังต่อไปนี้

          “เมื่อสิ้นพระเจ้าตากสินแล้วท้าวพระยามุขมนตรีกวีชาติและราษฎรทั้งหลายก็พร้อมกันกราบวิงวอนอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ขึ้นเสวยราชสมบัติดำรงแผ่นดินสืบไป  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรับการอัญเชิญด้วยอาการดุษณีภาพ  แล้วดำเนินไปนมัสการพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต  และประทับแรมอยู่ ณ พลับพลาหน้าโรงพระแก้วนั้น

          ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕  พระยาสุริยอภัย พระเจ้าหลานเธอให้ตำรวจคุมตัวกรมขุนอนุรักษ์สงคราม  กับ ขุนนางมีชื่อซึ่งเป็นสมัครพรรคพวก ๓๙ คน  มีพระยาเพชรพิชัย  พระยามหาอำมาตย์  พระยากลางเมือง  พระยามหาเทพ  หลวงราชรินทร์  หลวงคชศักดิ์  เป็นต้น  เข้ามาถวายหน้าพระที่นั่ง  แล้วกราบทูลว่า  คนเหล่านี้เข้าพวกกรมขุนอนุรักษ์สงครามยกมารบ  จึงดำรัสให้เอาขุนนาง ๓๙ เก้าคนนั้นไปประหารชีวิตเสีย  ตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามนั้นให้เอาไว้ก่อน  แล้วให้พิจารณาชำระเอาพวกเพื่อนอีก  ได้ความว่าพระยาสรรค์และหลวงเทพผู้น้องกับเจ้าพระยามหาเสนา  พระยารามัญวงศ์จักรีมอญ  พระพิชิตณรงค์  หลวงพัสดีกลาง  คนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังการรบกับพระเจ้าหลานเธอ  จึงดำรัสให้เอาตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามกับขุนนางที่ถูกซัดทอดดังกล่าวนั้นไปประหารชีวิตเสียสิ้น

          พอดีในวันนั้นกองทัพพระยาธรรมาจากกัมพูชาเดินทางมาถึงพร้อมกับคุมเอาตัวกรมขุนรามภูเบศเข้ามาถวาย  จึงให้เอาตัวกรมขุนรามภูเบศและญาติวงศ์พระเจ้าตากสินที่เป็นชายทั้งสิ้นไปประหารเสียพร้อมกันด้วย
          พระญาติวงศ์พระเจ้าตากสินจึงยังคงเหลืออยู่แต่พระราชบุตรและราชบุตรีน้อย ๆ  มีเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์อันเป็นพระราชนัดดาของพระองค์  และเจ้าฮั้นซึ่งเป็นพระเจ้าน้าของพระเจ้าตากสิน  และเจ้าส่อนหอกลาง  ซึ่งเป็นกรมหลวงบาทบริจาอัครมเหสี  กับพระญาติวงศ์ซึ่งเป็นหญิงนั้น  ให้จำไว้ทั้งสิ้น

          ณ วันจันทร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕  ทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จ  พระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่ข้าราชการผู้มีความชอบกับทั้งพวกข้าหลวงเดิมทั้งปวงตามสมควรแก่ฐานานุรูป  แล้วดำรัสว่า พระราชคฤหฐานใกล้อุปจารพระอารามทั้งสองข้างคือวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดมิบังควรยิ่งนัก      จึงดำรัสแก่พระยาธรรมาธิบดี  พระยาวิจิตรนาวี  ให้เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปก่อสร้างตั้งพระราชนิเวศน์วังใหม่ ณ บริเวณฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังเดิม  คือฟากฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านพระยาราชาเศรษฐีและจีนทั้งปวง      ให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนย้ายลงไปตั้งบ้านเรือนใหม่ในที่สวนตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มไปถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง      ต่อมาอีก ๔ วันก็ดำรัสให้ชำระโทษพวกเจ้าจอมข้างใน

          กล่าวถึงเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) พระราชอนุชา  ครั้นได้ทราบหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินแล้วจึงสั่งให้พระยายมราชคุมกองเขมร ๓,๐๐๐ เข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย)  และพระยากำแหงสงครามรวมทั้งไพร่พลไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร  และเลิกทัพรีบกลับเข้ามากรุงธนบุรี  ถึงกรุง ณ วันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ เพลาห้าโมงเช้า

          ครั้นขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราช ณ ท้องพระโรงแล้วจึงดำรัสปรึกษาราชการแผ่นดินด้วยกัน  จากนั้นเสด็จออกจากเฝ้าสั่งให้ตำรวจไปจับข้าราชการทั้งปวงบรรดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน  ให้ประหารชีวิตเสียทั้งสิ้น ๘๐ คนเศษ”

          ** เป็นอันว่า  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  รับการกราบทูลเชิญขึ้นครองแผ่นดินสยามประเทศ  แล้วทรงชำระคดีการเมืองด้วยความสุขุมรอบคอบ  และเรียบร้อยเป็นอันดี  ทรงพิจารณาเห็นว่า  พระราชวังเดิมตั้งอยู่ระหว่างวัดที่ตั้งขนาบอยู่ทั้งสองข้าง  ดูไม่เหมาะสม  จึงตรัสให้พระยาธรรมาธิบดีเป็นแม่กองคุมช่างและไพร่  ไปก่อสร้างพระราชนิเวศน์ใหม่ ณ ฟากฝั่งน้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก  ตรงข้ามกับพระราชวังเดิม (คือที่ตั้งพระบรมมหาราชวังปัจจุบัน)  สถานที่ตรงนี้เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐี หัวหน้าชุมชนชาวจีน  โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนทั้งหมดย้ายออกไปตั้งชุมชนใหม่ในบริเวณวัดสามปลื้มไปจนถึงวัดสำเพ็ง

          เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่  แผ่นดินใหม่  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดาร  ฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มิถุนายน, 2562, 11:13:58 PM
(https://i.ibb.co/j9KT6h0/260px-Buddha-Yodfa-Chulaloke-portrait.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร. ๑)


- ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ -

กรมขุนอินทรพิทักษ์หักวงล้อม
พาพวกพร้อมหลบหนีขมีขมัน
มาถึงปราจีนบุรีสิรู้กัน
ว่าเกิดผันแปรพลัดผลัดแผนดิน

จึงหลบหนีซุ่มซ่อนแถบเขาน้อย
มิอาจลอยนวลนานในฐานถิ่น
ถูกตามจับซักถามตามระบิล
ขอยอมสิ้นชีวิตตามบิดา

เดือนแปดแรกปีขาลจัตวาศก
ฤกษ์ยามยกมงคลดลมาหา
ทรงปราบดาภิเษกเอกราชา
เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินปิ่นนาคร


          อภิปราย ขยายความ..................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาแสดงให้ได้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) รับการเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม  สืบแทนสมเด็จพระเจ้าตากสิน  และโปรดให้สร้างพระราชวังใหม่ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก  ตรงข้ามกับพระราชวังเดิม  ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ผู้น้องนั้นสั่งให้พระยายมราชล้อมกองกำลังกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย) และพระยากำแหงสงครามไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร  แล้วรีบยกกำลังกลับมายังกรุงธนบุรี  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  เปิดอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/QdZrJgB/Untitldged-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ฝ่ายกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงคราม  มิทราบข่าวว่าในกรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินใหม่  เมื่อเห็นกองเขมรของพระยายมราชยกเข้าล้อมพวกตนไว้  จึงแต่งหนังสือบอกให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลว่า  เขมรกลับเป็นกบฏยกเข้ามาล้อมกองทัพระเจ้าลูกเธอไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร  แต่กองทัพเจ้าพระยามหากษัตริ์ศึกกับทัพเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นเลิกหนีไป มิรู้ว่าจะไปแห่งใด

          สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทรงทราบในหนังสือบอกดังนั้นก็ทรงพระสรวล  จึงดำรัสว่า  อ้ายหูหนวกตาบอดมิได้รู้การแผ่นดินเป็นประการใด  กลับบอกกล่าวโทษกูเข้ามาถึงกูอีกเล่า

(https://i.ibb.co/ypdRwpK/Untitled11-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อหนังสือบอกลงมายังกรุงธนบุรีดังกล่าวแล้ว  กรมขุนอินทรพิทักษ์กับพระยากำแหงสงครามก็ยกพลทหารออกตีกองทัพเขมรที่ตั้งล้อมเมืองพุทไธเพชรอยู่นั้น  แหกออกมาได้ก็รีบยกทัพมาถึงเมืองปราจีน  จึงได้รับแจ้งเหตุว่ากรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินใหม่แล้ว  ไพร่พลทหารทั้งปวงก็หนีกระจัดกระจายเข้ามาหาครอบครัวของตน  ยังเหลือคนอยู่กับกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงครามเพียง ๕ คนเท่านั้น  กรมขุนอินทรพิทักษ์กับพระยากำแหงสงครามกับคนสนิทอีก ๕ คนรวมเป็น ๗ คน  จึงพากันหนีไปอยู่ตำบลเขาน้อยแห่งหนึ่งใกล้เขาปัถวี  กรมการเมืองจึงบอกเข้ามากราบทูลให้ทราบ

(https://i.ibb.co/3hFbHtk/Untitledsfa-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันอาทิตย์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖  สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงกราบถวายบังคมลายกพล ๖,๐๐๐ เศษขึ้นไปถึงเมืองสระบุรี  แล้วให้แยกกันออกไปเที่ยวค้นหาตัวกรมขุนอินทรพิทักษ์กับพวก  และเข้าล้อมจับได้ที่เขาน้อย  คุมตัวทั้งหมดลงมาถวาย ณ กรุงธนบุรี  ดำรัสให้จำครบไว้แต่ตัวกรมขุนอินทรพิทักษ์กับพระยากำแหงสงคราม  ส่วนบ่าวทั้ง ๕ คนนั้นทรงพระกรุณาดำรัสว่าเป็นคนมีกตัญญูไม่ทิ้งเจ้า  โปรดให้ปล่อยเสียไม่เอาโทษแต่ประการใด

          ต่อมาได้ ๖ วัน ทรงพระกรุณาให้ถามกรมขุนอินทรพิทักษ์ว่า  ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยง  ด้วยตัวหาความผิดมิได้  กรมขุนอินทรพิทักษ์ให้การว่าไม่ยอมอยู่  จะขอตายตามบิดา  จึงดำรัสให้เอาตัวนายจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์ และขุนชนะพระยากำแหงสงครามนั้นไปประหารชีวิตเสีย

(https://i.ibb.co/2PRHmVs/Unerttitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ณ วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ.๒๓๒๕)  ให้ตั้งการพระราชพิธียกหลักเมือง วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖  จับการตั้งพระราชวังใหม่  และล้อมด้วยระเนียดก่อน  ยังมิได้ก่อกำแพงวัง

          ครั้นถึงวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ แรก  ให้การพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป  นิมนต์พระราชาคณะสวดพระพุทธมนต์  วันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ เพลาเช้าแล้วสี่บาท  ได้มหาอุดมวิชัยมงคลนักขัตฤกษ์  พระสุริยเทพบุตรทรงกลดจำรัสดวงปราศจากเมฆผ่องพื้นนภากาศ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาด  ประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง  แห่โดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อมเสร็จเสด็จข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามา ณ ฝั่งฟากตะวันออก  เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระราชวังใหม่  ทรงพระเสลี่ยง  ตำรวจแห่หน้าหลัง  เสด็จขึ้นยังมนเทียรสถาน  ทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัย  แล้วเถลิงสถิตเบื้องบนมงคลราชมัญจาพระกระยาสนาน  พระสงฆ์ถวายพระปริตโตทกธารเบญจสุทธคงคามุทธาภิสิตวารี  ชีพ่อพราหมณ์ถวายตรีสังข์หลั่งมงคลธารา  อวยอาเศียรพาทพิษณุอิศวรเวทถวายชัยวัฒนาการ พระโหราลั่นฆ้องชัย  ให้ประโคมขานเบญจางคดุริยดนตรีแตรสังข์  ประนังศัพทสำเนียงนฤนาท พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว  ก็เสด็จสถิตเหนือภัทรบิฐอันกั้งบวรเศวตราชาฉัตร  พระครูราชปโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอสุริยราชสมบัติ   และเครื่องเบญจพิธราชกกุธภัณฑ์   พระแสงอัษฎาวุธ   อัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเสวยสวรรยาธิปัตย์  ถวัลยราชย์ดำรงแผ่นดินสืบไป  เมื่อได้เสวยราชสมบัตินั้น  ทรงมีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา

(https://i.ibb.co/6gg4bs5/saiayothaya-001.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในยามนั้นสมเด็จพระสังฆราชราชาคณะคามวาสีอรัญญวาสีและชีพ่อพราหมณ์พฤฒาจารย์ทั้งหลาย  พร้อมกันถวายพระนามว่า  “พระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี  ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์  ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาสกรวงศ์องค์บรมาธิเบศ  ตรีภูวเนตรวรนายกดิลกรัตนราชเดโชชัย  พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์  ภูมินทรบรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ  รัตนมกุฏประเทศคตา  มหาพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  บวรทวาราวดีศรีอยุธยา  มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์  อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน”  ได้จารึกพระนามดังกล่าวนี้ลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ คือแผ่นทองคำ  ตามพระราชประเพณีแต่ก่อนมา”

(https://i.ibb.co/ss5rfSm/f90d488f65f80.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** พระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครองแผ่นดิน  กระทำพอสังเขป  โดยนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ ณ พระราชวังใหม่ วันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ แรก  เพลาเช้าเป็นมงคลฤกษ์  ทรงแปรพระราชฐานจากพระราชวังเดิมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาประทับ ณ พระราชวังใหม่  ประทับเหนือบัลลังก์แล้ว  พราหมณ์ประโคมแตรสังข์  พระราชครูกราบบังคมทูลถวายไอสูรย์สมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์  พระสังฆราชราชาคณะและชีพ่อพราหมณ์  พร้อมกันถวายพระนาม  ตามที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำ)  แล้วเป็นอันเสร็จพิธี  ทรงเถลิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามเมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา

          พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ดูเรื่องราวกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, มิถุนายน, 2562, 10:58:08 PM
(https://i.ibb.co/55y42FB/Re-exposure.jpg) (https://imgbb.com/)

- สถาปนาแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ -

“เจ้าพระยาสุรสีห์”ที่วังหน้า
เป็น“มหาอุปราช”ไม่ยิ่งหย่อน
ครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน
“พระราชวังบวร”กระฉ่อนนาม

ทรงแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ตำแหน่งถ้วน
ทุกคนล้วนพอใจไม่ถูกข้าม
คุณหลวงคุณพระพระยาสง่างาม
เป็นไปตามความดีที่ทำมา


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกกล่าวถึงเรื่องราวที่เป็นรอยต่อระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์  โปรดให้สร้างพระราชวังใหม่ทางฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ตรงกันข้ามกับพระราชวังเดิมแห่งกรุงธนบุรี  จากนั้นก็มีพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เฉลิมพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า  พระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี.....  วันนี้มาดูความพระราชพงศาวดารฉบับนี้ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/6NYDPpd/F9E7886C.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช (เจ้าพระยาสุรสีห์)  เสด็จเถลิงราชมไหศวรรย์ ณ ที่พระมหาอุปราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง  โดยดังโบราณจารีตราชประเพณีมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนมา  เจ้าพระยาสุรสีห์เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว  ทรงให้สร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นใหม่  ตั้งเป็นพระราชวังหน้าในที่ใกล้พระราชวังหลวงทางด้านทิศเหนือ

(https://i.ibb.co/8DnTxfP/image-big-5a5edb3e5b75a.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระเทพสุดาวดี  เจ้ากรมตั้งเป็นพระยา  
          และตั้งพระเชษฐภคินีพระองค์น้อย  เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  กรมพระยาศรีสุดารักษ์  
          โปรดให้พระยาสุริยอภัย  พระราชนัดดาผู้ใหญ่เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์  ภายหลังทรงเห็นว่ายศศักดิ์ยังไม่สมควรแก่ความดีความชอบจึงโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง  รับพระราชบัญชาตั้งวังอยู่ที่สวนลิ้นจี่ในเมืองฟากตะวันตกริมคลองบางกอกน้อย  
          ดำรัสให้หาพระยาอภัยสุริยาราชนัดดามาแต่เมืองนครราชสีมา  แล้วโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร  ให้เสด็จไปอยู่ ณ วังเก่าพระเจ้าตากสิน  
          ครั้นหลวงนายฤทธิ์ราชนัดดาซึ่งพระเจ้าตากสินให้เป็นอุปทูต  ออกไปกรุงปักกิ่งนั้นกลับเข้ามาถึงจึงโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ  คนทั้งหลายเรียกพระองค์ว่า  “เจ้าปักกิ่ง”  ให้ตั้งวังอยู่ ณ สวนมังคุด  
          กรมพระราชวังหลัง  กับกรมหลวงทั้งสองพระองค์นี้  เป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่

          เจ้าตันราชนัดดาซึ่งเป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอองค์น้อยนั้น  โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  
          เจ้าลาพระอนุชาต่างพระมารดาของพระองค์นั้น  โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  
          นายกวดมหาดเล็กสามีเจ้ากุอันเป็นพระกนิษฐภคินีต่างพระมารดาของพระองค์นั้น  โปรดตั้งเป็นพระองค์เจ้ากรมหมื่นนรินทรพิทักษ์
          สำหรับพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษานั้น  ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ให้เสด็จอยู่ ณ บ้านหลวงที่วังเดิม  พระราชทานเครื่องราชูปโภคมีพานพระศรีทองเป็นต้นโดยควรแก่ยศถาบรรดาศักดิ์ทุกพระองค์

          * เมื่อทรงสถาปนาบรรดาศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์เสร็จแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ดำรัสให้สึกพระรัตนมุนีแก้ว  กับพระพนรัตนทองอยู่ออกจากเพศบรรพชิต  ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน
          แล้วตั้งให้นายแก้วรัตนมุนีเป็นพระอาลักษณ์ตามเดิม  ให้มีหน้าที่ขนานพระนามเจ้าต่างกรมทั้งนั้น
          นายทองอยู่พนรัตนนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรเอาตัวไปลงพระอาชญาเฆี่ยนร้อยที  ทั้งนี้ด้วยเคยมีความผิดกับพระองค์มาแต่ก่อน  เฆี่ยนเสร็จแล้วจะให้ประหารชีวิตเสีย  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขอชีวิตไว้แล้วเอามาตั้งเป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์อยู่ในกรมมหาดไทย

(https://i.ibb.co/1Z4khMZ/1abcd-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดตั้งแต่งข้าราชการเก่าและข้าหลวงเดิมทั้งปวงตามที่มีความดีความชอบมากและน้อยโดยควรแก่ฐานานุศักดิ์ดังต่อไปนี้

          ตรัสให้พระอักขระสุนทร  เสมียนตรามหาดไทยข้าหลวงเดิม  เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธว่าที่สมุหนายก
          ให้พระยาทุกขราษฎร์เมืองพระพิษณุโลก  เป็นเจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหกลาโหม
          ให้พระยาพิพัฒโกษา  เป็นเจ้าพระยาพระคลัง
          ให้พระอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง  เป็นเจ้าพระยายมราช
          ให้เสมียนปิ่นข้าหลวงเดิม  เป็นเจ้าพระยาพลเทพ
          ให้พระยาธรรมาธิบดี  เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาว่ากรมวังอยู่ตามเดิม
          ให้นายบุนนากแม่ลาซึ่งเป็นต้นคิดทำการปราบจลาจลในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี  เป็นเจ้าพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชผู้รักษากรุงเก่า
          ให้เสมียนหงส์ข้าหลวงเดิม  เป็นพระยาเพชรพิชัย
          ให้พระยาราชนิกูลเป็นพระยามหาอำมาตย์
          ให้ขุนไชยเสนีข้าหลวงเดิม  เป็นพระยาราชนิกูล
          ให้หม่อมบุนนากทนายข้าหลวงเดิม  เป็นพระยาอุทัยธรรม
          ให้พระราชประสิทธิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒ
          ให้พันพุฒอนุราช  เป็นพระยาราชสุภาวดี
          ให้พระยาชลบุรี  เป็นพระยาราชวังสัน
          ให้เสมียนปานข้าหลวงเดิม  เป็นพระยาประชาชีพ
          ให้นายบุญจันทรบ้านถลุงเหล็ก  ข้าหลวงเดิม  เป็นพระยากำแพง
          ให้พระยาอินทรอัครราช  อุปราชเก่าเมืองนครศรีธรรมราช  เป็นพระยาราชวังเมือง
          ให้ขุนสิทธิรักษ์ข้าหลวงเดิม  เป็นพระยาศรีสุริยพาห
          ให้เสมียนสาข้าหลวงเดิม  เป็นพระอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง
          ให้เสมียนเปิ่นข้าหลวงเดิม  เป็นอักขระสุนทรเสมียนตรามหาดไทย
          ให้พระยาเจ่งรามัญ  เป็นพระยามหาโยธา  ว่ากองมอญทั้งสิ้น
          แล้วทรงตั้งผู้มีความชอบทั้งปวงเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้ในในกรุงครบหมดทุกตำแหน่ง

(https://i.ibb.co/Q8sRYDT/df97037a.jpg) (https://imgbb.com/)

          สำหรับพระราชวงศานุวงศ์ซึ่งห่างไกลออกไปนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นเจ้าราชนิกูลคือ

          ให้หม่อมทองด้วง  เป็นพระฦๅราชสุริยวงศ์
          ให้หม่อมเงิน  เป็นพระบำเรอราช
          ให้หม่อมฮวบ  เป็นพระอนุรุทธเทวา
          ให้หม่อมทองคำ  เป็นพระราชานุวงศ์

          จากนั้นก็ตั้งผู้มีความชอบ ออกไปเป็นพระยา  พระ  หลวง  ครองหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงทุก ๆ เมือง”

          ** บุคคลต่าง ๆ ที่ได้รับแต่งตั้งบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเหล่านี้  ต่อมาได้มีบทบาทในหน้าที่ราชการ  และเป็นต้นตระกูลวงศ์ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากบ้างน้อยบ้างตามฐานานุรูป  จดจำกันไว้บ้างก็ดีนะครับ  หลังจากแต่งตั้งบรรดาศักดิ์และตำแหน่งตามโบราณราชประเพณีแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มิถุนายน, 2562, 11:28:42 PM
(https://i.ibb.co/CwbjYs3/pic03.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทะนุบำรุงพระศาสนา -

แต่งตั้งฝ่ายอาณาจักรเป็นหลักฐาน
จึงจัดด้านพุทธจักรศาสนา
ด้วยพระสงฆ์ส่ำสอนคลอนศรัทธา
คือพร้อมพาธรรมไปตามใจคน

ประจบประแจงคฤหัสถ์วิบัติศีล
ยอมกราบตีนพระเจ้าตากสินมากหน
ผิดทั้งศีลและธรรมตำแหน่งตน
ทรงล้างผลงานงานเก่าเจ้าแผ่นดิน

ให้พระดีสามองค์กลับคงยศ
เคยถูกปลดตำแหน่งใดให้คืนถิ่น
ทรงยกย่องว่าสะอาดปราศมลทิน
ให้สงฆ์สิ้นเชื่อฟังคำสั่งการ


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาเปิดวางให้อ่านรายละเอียดการสถาปนา  แต่งตั้งบรรดาศักดิ์และตำแหน่งต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมา  ภายหลังจากขึ้นเสวยราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นทุกพระองค์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  บุคคลสำคัญที่ควรจะนำมากล่าวย้ำในที่นี้อีกครั้ง  คือ

(https://i.ibb.co/XFzzwxW/35102381-323950354806971-8042754989690454016-n.jpg) (https://imgbb.com/)
 

          ทรงสถาปนาเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) พระอนุชาธิราชเป็นมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)  ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง  โปรดให้ตั้งพระราชวัง ณ ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาฟากทิศตะวันออก  ด้านเหนือพระบรมมหาราชวัง (คือที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  และสนามหลวงในปัจจุบัน)
          สถาปนาพระยาสุริยอภัย  เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์  ภายหลังทรงเลื่อนขึ้นเป็น  กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข  ฝ่ายหลัง (วังหลัง)  ให้ตั้งพระราชวังที่สวนลิ้นจี้ในเมืองฟากตะวันตกริมคลองบางกอกน้อย (คือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน)
          สถาปนาพระยาอภัยสุริยา  เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร  โปรดให้ประทับอยู่ ณ พระราชวังเก่าพระเจ้าตากสิน (พระราชวังเดิม)
          สถาปนาหลวงนายฤทธิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ  ซึ่งคนทั้งหลายเรียกพระองค์ว่า  “เจ้าปักกิ่ง”  เพราะพระเจ้าตากสินทรงตั้งให้เป็นราชทูตไปปักกิ่งก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
          สถาปนาพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ซึ่งปีนั้นมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา  เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ให้ประทับ ณ บ้านหลวงที่วัง

          ส่วนบุคคลอื่นๆที่มีความสำคัญลดหลั่นกันลงมา  มีรายละเอียดดังได้แสดงมาแล้ว  ขออนุญาตไม่นำมากล่าวซ้ำในที่น้นะครับ  เชิญท่านอ่านความในพระราชพงศาวดารฯ ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/JyvRJdb/babh6c56ia7dbaa8bfc6g.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “ทางฝ่ายพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรนั้นก็มีพระราชบัณฑูรโปรดตั้งแต่งขุนนางข้าราชการวังหน้าโดยควรแก่ความชอบตามลำดับฐานาศักดิ์ดังต่อไปนี้คือ  

          ให้พระยาพลเทพเดิม เป็นสมเด็จเจ้าพระยา
          ให้พระชัยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิษณุโลก  เป็นพระยากลาโหมราชเสนา
          ให้พระพลเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาจ่าแสนยากร
          ให้หม่อมสดทนายข้าหลวงเดิม เป็นพระยามนเทียรบาล
          ให้นายทองอินข้าหลวงเดิมเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็ก  

แล้วตั้งแต่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยครบตำแหน่งในวังหน้าทั้งสิ้น

          สำหรับหม่อมเรือง  ชาวเมืองชลบุรีข้าหลวงเดิมนั้นเป็นคนสนิทเหมือนเชื้อพระวงศ์  จึงโปรดตั้งให้เป็นที่เจ้าราชนิกูลมีชื่อว่าพระบำเรอภูธร

(https://i.ibb.co/QCsVDqt/2-108-683x1024.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นเสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  กราบทูลว่า  บรรดาบุตรชายน้อย ๆ ของพระเจ้าตากสิน  จะขอรับพระราชทานเอาใส่เรือไปล่มน้ำเสียให้สิ้น  คำบุราณกล่าวไว้  ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก  ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่  จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า  แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยอยู่ในเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์พระราชนัดดา  จึงดำรัสขอชีวิตไว้ทั้งสิ้นด้วยกัน  และยังโปรดให้ปล่อยหม่อมฮั้น หม่อมส่อนหอกลางออกจากเวรจำให้พ้นโทษ

(https://i.ibb.co/9g5xmw1/watpho02-1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์))

          ในปีขาล  จัตวาศกนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตรัสปรึกษากับกรมพระราชวังบวรว่า  ทางฝ่ายอาณาจักรนั้นเราได้จัดแจงตั้งแต่งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว  ต่อไปควรจัดแจงฝ่ายพระพุทธจักรทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป  จึงดำรัสให้สมเด็จพระสังฆราช   พระพุฒาจารย์   พระพิมลธรรม  ที่พระเจ้าตากสินลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะนั้น  โปรดให้กลับคืนคงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า  และให้คืนไปครองพระอารามเดิม  ทรงสรรเสริญว่า  พระผู้เป็นเจ้าเจ้าทั้งสามองค์นี้มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคงดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้  มิได้อาลัยแก่กายและชีวิต  ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพบูชา  แม้นมีข้อสงสัยใดในพระบาลีไปภายหน้าจะได้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม  ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ว่าอย่างนี้แล้ว  และพระราชาคณะอื่น ๆ จะว่าอย่างหนึ่งไป  ก็คงเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม  ซึ่งจะเชื่อถ้อยฟังคำพระราชาคณะอื่น ๆ ที่พวกมากนั้นหามิได้  ด้วยเห็นจิตใจเสียแล้ว

 (https://i.ibb.co/2qXMg98/33711494-1060073550808140-6438158016813465600-n.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร)

          จากนั้นก็โปรดให้พระสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่  และวัดโพธารามเข้ามาบิณฑบาตในพระราชวังหลวงทั้งสองพระอาราม โดยให้ผลัดเวรกันวัดละเจ็ดวัน  ให้รื้อพระตำหนักทองของพระเจ้าตากสินไปปลูกเป็นกุฎีถวายสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดบางหว้าใหญ่

(https://i.ibb.co/BCrfQ4P/DOm041-CXUAAh-BB6.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  ผมนำรายพระนามและนามพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่โปรดตั้งแต่มาแสดงให้ท่านฟังก็เพื่อให้รู้จักบุคคลต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารบ้านเมืองตามพระยุคลบาท  จำไว้ก็ไม่หนักอะไรหรอกครับ  ส่วนพระมหาเถระที่ถูกพระเจ้าตากสินลงโทษนั้นก็กลับได้รับตำแหน่งตามเดิม  สำหรับพระเถระที่พระเจ้าตากสินทรงตั้งแต่งไว้นั้นจะมีผลเป็นอย่างไร  วันนี้ยังไม่นำมาให้อ่าน  เพราะข้อความยาวไป  บางท่านอ่านแล้วตาลาย  และบางท่านก็เวียนหัวด้วย  วันพรุ่งนี้ค่อยอ่านต่อก็แล้วกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มิถุนายน, 2562, 11:17:36 PM
(https://i.ibb.co/rwxx3m2/1.jpg) (https://imgbb.com/)

- จัดการปกครองคณะสงฆ์ -

คดีธรรมกำหนดตั้งยศศักดิ์
ปรับภาพลักษณ์สงฆ์ไทยหลายสถาน
แม้พระมอญในไทยไร้อาจารย์
พระราชทานให้เด่นเช่นสงฆ์ไทย


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวความตามในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจัดแจงฝ่ายอาณาจักรเรียบร้อยแล้ว  ก็ทรงหันมาเริ่มจัดแจงทางฝ่ายพุทธจักร  โดยให้พระมหาเถระที่พระเจ้าตากสินลงโทษถอดออกจากตำแหน่งนั้นมากลับดำรงตำแหน่งตามเดิม  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  จะขอเก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้

           “สมเด็จพระสังฆราช  พระพุฒาจารย์  และพระพิมลธรรม  ที่ถวายพระพรพระเจ้าตากสินว่า  พระสงฆ์ปุถุชนกราบไหว้ฆราวาสที่เป็นพระโสดาบันไม่ได้  เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินทรงขัดเคืองแล้วให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง  และลงโทษกักกันไว้ ณ วัดหงส์นั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นพระดีที่ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พ้นโทษและคืนดำรงตำแหน่งเดิม  และกลับสู่สำนักเดิมทั้งหมด

(https://i.ibb.co/MNQ2hJc/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

          จากนั้นดำรัสว่า  สมเด็จพระสังฆราชชื่นวัดหงส์  ที่พระเจ้าตากสินทรงตั้งขึ้นใหม่นั้นเป็นพวกอาสัตย์  สอพลอพลอยว่าไปตามนายแก้วนายทองอยู่  มิได้เป็นตัวต้นเหตุ  แต่มีความรู้พระไตรปิฎกมาก  หากจะให้สึกเสียก็เป็นที่น่าเสียดาย  ในระหว่างนั้นตำแหน่งพระวันรัตนว่างอยู่  จึงโปรดให้ถอดตำแหน่งพระสังฆราชชื่นเสีย  แล้วให้ตั้งเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี  ว่าที่พระวันรัตน  ส่วนพระราชาคณะที่ว่าตามนายแก้วนายทองอยู่นั้นก็เพราะกลัวพระราชอาชญาพระเจ้าตากสิน  หาได้มีความจริงใจในการกล่าวไม่  จึงทรงพระกรุณาให้ยกโทษเสียทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/FWR21RT/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

          สำหรับนามว่าพระธรรมโคดมนั้นต้องกับพระนามพระสัพพัญญูเจ้า  จึงดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่  
          แล้วโปรดให้พระเทพกวี  เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมอุดม
          ให้พระธรรมโกศา วัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) เป็นพระเทพกวี
          ให้มหานากเปรียญเอก วัดบางหว้าใหญ่ (ระฆังโฆสิตาราม) เป็นพระพุทธโฆษาจารย์
          ให้มหาเรืองข้าหลวงเดิม อยู่วัดบางหว้าใหญ่เป็นพระเทพมุนี
          ให้มหาเกสรเปรียญโท วัดโพธาราม (พระเชตุพนฯ)  เป็นพระญาณสิทธิอยู่ในวัดเดิมทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/wcQgd68/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทรารามวรวิหาร)

          ส่วนชื่อพระอุบาลีนั้นต้องกับนามพระอรหันต์จึงดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่
          ให้มหามีเปรียญเอกวัดเลียบ (ราชบูรณะ)เป็นพระวินัยรักขิตแทนชื่อพระอุบาลี
          พระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) นั้นชราภาพอาพาธแล้วมรณภาพลง  ทรงพระกรุณาให้ทำฌาปนกิจ  แล้วให้นิมนต์พระเทพมุนีวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ไปครองวัดบางหว้าน้อยแทน
          แล้วให้เลื่อนพระพรหมมุนีวัดบางหว้าใหญ่เป็นพระพุฒาจารย์
          ให้มหาทองดีเปรียญเอกวัดหงส์ (รัตนาราม) เป็นพระนิกรมไปครองวัดนาค (พระยาทำ)
          โปรดให้พระครูสิทธิเทพาธิบดี  พระครูศรีสุนทราษรวิจิตร  เป็นตำแหน่งคู่สวดในสมเด็จพระสังฆราชไปอยู่วัดกลาง (น่าจะเป็นวัดอินทาราม  บางยี่เรือนอก)

(https://i.ibb.co/Dp32s7z/image.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/s30vfw4/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน                             วัดพลับ (วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร)                  

          ให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอยคลองตะเคียนแขวงกรุงเก่า  มาอยู่ครองวัดพลับ (ราชสิทธาราม)  แล้วตั้งให้เป็นพระญาณสังวรเถร (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน)  
          ให้พระอาจารย์วัดสมอราย (ราชาธิวาส) เป็นพระปัญญาวิสารเถร  
          ให้พระญาณไตรโลกวัดเลียบ (ราชบูรณะ) เลื่อนเป็นพระพรหมมุนี

(https://i.ibb.co/GTmhHF8/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร)

          สำหรับหลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการีขวา  ซึ่งเป็นพระพิมลธรรมสมัยพระเจ้าตากสิน  และถูกข้อหาอทินนาทานนั้น ทรงแคลงพระทัยอยู่  จึงให้ไต่สวนหาความจริงดูใหม่  ผลก็ออกมาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์  มิได้ต้องปาราชิกตามข้อกล่าวหา  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กลับมาบวชใหม่แล้วตั้งให้เป็นพระญาณไตรโลกอยู่วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์) ให้มหามีปากแดงเปรียญเอกวัดคอกกระบือ (ยานนาวา) เป็นพระโพธิวงศ์

          ในส่วนพระราชาคณะฝ่ายรามัญนั้นยังไม่มี  จึงให้หาพระเถระรามัญผู้มีความรู้พระวินัยปริยัติได้สามองค์  แล้วทรงตั้งให้เป็นพระสุเมธาจารย์องค์หนึ่ง   พระไตรสรณธัชองค์หนึ่ง   พระสุเมธน้อยองค์หนึ่ง

(https://i.ibb.co/0G4rZdy/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดตองปุ (วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร)

          และในยามนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ  ทรงสร้างพระอารามใหม่ขึ้นวัดหนึ่งให้นามว่าวัดตองปุ (วัดชนะสงครามในปัจจุบัน)  นิมนต์พระสงฆ์ชาวรามัญมาอยู่  จึงให้พระสุเมธาจารย์เป็นเจ้าอาราม

(https://i.ibb.co/PFqytrz/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางหลวง (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร)

          พระไตรสรณธัชนั้นโปรดให้อยู่วัดบางหลวง (โมลีโลกยาราม)  เป็นเจ้าคณะรามัญแขวงเมืองนนทบุรีและเมืองสามโคก

(https://i.ibb.co/tw6w5Nq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดบางยี่เรือใน (วัดราชคฤห์วรวิหาร)

          พระสุเมธน้อยนั้นให้เป็นเจ้าอารามวัดบางยี่เรือใน (ราชคฤห์)

(https://i.ibb.co/Dp32s7z/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระอาจารย์สุข (สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน)

          * ท่านผู้อ่านครับ  รายนามพระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับการตั้งพระสมณะศักดิ์  ให้ประจำอยู่ในอารามต่าง ๆ นั้น  มีพิเศษอยู่องค์หนึ่ง  คือองค์ที่นิมนต์มาจากวัดท่าหอยกรุงเก่านั้น  คือ  พระอาจารย์สุข (หรือ สุก)  เป็นพระผู้ชำนาญในวิปัสสนากรรมฐาน  จึงทรงตั้งสมณะศักดิ์ว่า  “ญาณสังวรเถร”  เป็นราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ
          มีเรื่องเล่ากันเป็นตำนานว่า  ท่านมีเมตตาธรรมล้ำลึก  สามารถเลี้ยงสัตว์ที่ดุร้ายให้เป็นสัตว์เชื่อง  ไม่ดุร้ายได้    แม้แต่ไก่เถื่อน (ไก่ป่า) ที่เลี้ยงไม่ได้  ท่านก็สามารถเลี้ยงให้เชื่องเหมือนไก่บ้าน  โดยท่านเสกข้าวให้กินแล้วเชื่องหมด (มีคาถาหัวใจไก่เถื่อนเสกว่า  “เวทาสากุ กุสาทาเว”  (ว่า ๓ ครั้ง)
          ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  คนทั่วไปเรียกท่านว่า  “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน”  พระนาม  “ญาณสังวร”  ของท่านหลังจากสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  ไม่มีการสถาปนาพระภิกษุรูปใดใช้พระนามนี้อีกเลย

(https://i.ibb.co/VHN5z6M/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวัฒโน)
(สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๙)

          จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  ทรงเห็นว่า  พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวัฒโน)  มีคุณธรรมสูงสมควรแก่พระนามนี้  จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่  “สมเด็จพระญาณสังวร”  และแม้ต่อมา สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ก็ทรงให้ใช้พระนามนี้จนถึงสิ้นพระชนม์  ดังนั้นนาม  “ญาณสังวร”  จึงมีพระภิกษุไทยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงนามนี้เพียง ๒ รูป  คือพระอาจารย์สุข  วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)  กับ  พระสาสนโสภณ (เจริญ)  วัดบวรนิเวศฯ)  เท่านั้น

          พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขั้ผึ้งไทย
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มิถุนายน, 2562, 10:58:46 PM
(https://i.ibb.co/fCwZ1MD/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดอินทารามวรวิหาร

- จัดการคณะสงฆ์ลงตัว -

เรื่องยุ่งยุ่งมีอยู่ในหมู่สงฆ์
จึงต้องทรงดูแลเข้าแก้ไข
เมื่อภิกษุเหยียบย่ำธรรมวินัย
คณะสงฆ์จงใจไม่เอาภาร

ต้องอาศัยอำนาจราชอาณาจักร
เข้าไปซักฟอกกวาดสะอาดสะอ้าน
“อลัชชี”ที่ทรามตามสันดาน
ต้องใช้การลงโทษกฎหมายเมือง


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำเรื่องราวตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาแสดงให้เห็นถึงการจัดแจงงานด้านพุทธจักร  มีการแต่งตั้งและถอดถอนสมณะศักดิ์พระเถระระดับราชาคณะ  และให้ดำรงตำแหน่งปกครองดูและพระอารามต่าง ๆ ไปส่วนหนึ่งแล้ว  เรื่องราวยังไม่จบสิ้นนะครับ  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันดังต่อไปนี้

          “ อนึ่ง  ในแผ่นดินพระเจ้าตากสินนั้น  ทรงให้พระราชาคณะฐานาเปรียญทั้งปวงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเหมือนข้าราชการฝ่ายฆราวาส  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไม่เป็นการสมควร  จึงทรงเปลี่ยนมาให้ถวายเงินเดือนเป็นนิตยภัตรทุก ๆ เดือน  แต่พระธรรมธิราชมหามุนี (มหาเรือง) ถวายพระพรว่า  จะทรงถวายเงินแก่พระสงฆ์นั้นไม่เป็นการสมควร  เพราะถ้าพระสงฆ์รับเงินจะต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์  ด้วยเงินเป็นนิสสัคคียวัตถุ  คือสิ่งที่ทำให้ภิกษุจับต้องหรือยินดีรับแล้วเป็นอาบัติ ต้องเสียสละแล้วจึงจะแสดงอาบัติตกไปได้

          จึงทรงเปลี่ยนเป็นให้พ่อครัว (วิเสทนอก) แต่งสำรับคาวหวานไปถวายแก่พระราชาคณะและพระเปรียญในเพลาเช้าทุก ๆ พระอาราม  แต่พระเทพมุนีกลับถวายพระพรว่า  สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าจะเชื่อถือกระทำตามถ้อยคำของสมเด็จเจ้าชื่นนั้นไม่ควรนัก  ด้วยสมเด็จเจ้าชื่นองค์นี้เป็นคนอาสัตย์สอพลอ  ทำให้แผ่นดินพระเจ้าตากสินฉิบหายเสียครั้งหนึ่งแล้ว  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธว่า  พระเทพมุนีมาเจรจาหยาบช้าแสร้งจะให้เหมือนแผ่นดินเจ้าตาก  จึงดำรัสให้ถอดเสียจากพระราชาคณะ  แล้วโปรดให้พระเทพโมลีวัดสังขจายเป็นพระเทพมุนีแทน  และโปรดให้มหาศรีเปรียญเอกวัดพลับเป็นพระเทพโมลี

          จากนั้นดำรัสว่า  วัดแจ้ง (อรุณราชวราราม) วัดท้ายตลาด (โมลีโลกยาราม)  ทั้งสองพระอารามนี้แต่ก่อนเป็นวัดในพระราชวัง  ไม่มีพระสงฆ์อยู่  จึงโปรดให้สร้างกุฎีเสนาสนสงฆ์ทั้งสองอาราม  โปรดให้นิมนต์พระเทพโมลีวัดพลับกับพระสงฆ์อันดับมาอยู่วัดท้ายตลาด  ให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระโพธิวงศาจารย์    ให้พระครูเมธังกรเป็นพระศรีสมโพธิ  แล้วให้พระราชาคณะทั้งสองพร้อมพระอันดับจากวัดบางหว้าใหญ่ลงมาอยู่วัดแจ้ง  วัดทั้งสองจึงมีพระสงฆ์อยู่ประจำแต่นั้นมา  และโปรดให้แจกกฎหมายประกาศ  ห้ามมิให้พระสงฆ์ทั้งปวงรับวัตถุปัจจัยของทายกทายิกาต่อไป

          ต่อมาพระพุฒาจารย์ศิษย์สมเด็จพระสังฆราชไปเข้ากับพระธรรมธิราราชมหามุนีวัดหงส์  แล้วปรึกษาเห็นพ้องกันว่าวัดนาคกลางมีอุปจารใกล้กันนักควรจะรวมสีมาเป็นอันเดียวกัน  จึงควรจึงให้พระพุฒาจารย์นำความไปถวายพระพร  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ประชุมพระราชาคณะปรึกษากัน ณ วัดบางหว้าใหญ่เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าควรมิควรประการใด

          พระราชาคณะอันมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานได้ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า  อารามทั้งสองนั้นมีคลองคั่นเป็นเขต  ควรจะมีพัทธสีมาต่างกันได้  ด้วยมีตัวอย่างมาแต่โบราณ  ครั้งกรุงเก่านั้นพระอารามก็ใกล้ ๆ กัน  มีอุโบสถพัทธสีมาต่าง ๆ กัน  มีมาแต่ก่อนเป็นอันมาก  ซึ่งจะว่าเป็นพัทธสีมาอันเดียวกันนั้นมิชอบ  พระธรรมธิราราชมหามุนี  กับ  พระพุฒาจารย์  ผู้เสนอเรื่องนี้จึงแพ้ในที่ประชุมใหญ่ของพระราชาคณะ  ราชบุรุษนำความเข้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  พระเจ้าอยู่หัวทรงพิโรธว่าพระพุฒาจารย์เจรจาอวดรู้กว่าผู้ใหญ่  จึงให้ถอดเสียจากพระราชคณะ  ซ้ำสมเด็จพระสังฆราชยังประกาศเรียกว่า  มหาอกตัญญู มิได้นับถือถ้อยคำชีต้นอาจารย์ตน  ไปเข้าด้วยพวกวัดหงส์

          อยู่มามินานพระปลัดจันทร์ซึ่งเป็นปลัดของพระรัตนมุนีแก้ว  มาฟ้องว่า  พระธรรมธิราราชมหามุนีผู้ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้พระสงฆ์รับวัตถุปัจจัยนั้น  บัดนี้ได้เอาผ้าส่านซึ่งทรงถวายเป็นบริขารเครื่องยศนั้นไปขายแก่พระศุภรัตถีได้มูลค่าแปดตำลึง  สมเด็จพระสังฆราชจึงให้ราชบุรุษนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

          เมื่อทรงทราบความนั้นแล้วจึงดำรัสให้พระยาพระเสด็จเป็นตุลาการชำระคดี  พิจารณาสืบสวนได้ความสัตย์สมจริงตามคำฟ้อง  ทรงพระพิโรธดำรัสให้พระสังฆราชพิพากษาลงโทษพระธรรมธิราราชมหามุนี  โดยลงทัณฑกรรมให้ขนทรายห้าร้อยตะกร้า  แล้วให้ลดยศลงมาเป็นพระธรรมไตรโลก  
          แล้วโปรดเลื่อนพระธรรมเจดีย์วัดสลักขึ้นเป็นพระวันรัตนแทน
          ให้พระญาณสมโพธิวัดหงส์เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมเจดีย์

          ลำดับนั้นพระปลัดจีนวัดนาคมาฟ้องว่าพระนิกรมเจ้าอาวาสวัดนั้นจูบผ้าห่มนางฉิมภรรยาพระมหานุภาพ  สมเด็จพระสังฆราชให้ราชบุรุษนำความขึ้นกราบบังคมทูล  เมื่อทรงทราบแล้วจึงให้พระยาพระเสด็จชำระคดี  ได้ความเป็นความจริงแล้วจึงให้สึกเสีย  แต่กรมพระราชวังบวรทูลขอไว้โดยให้เหตุผลว่า  เพียงแค่จูบผ้าห่มสตรีเท่านั้นศีลยังไม่ขาด  พระเจ้าอยู่หัวจึงให้ถอดพระนิกรมเสียจากพระราชาคณะไล่ออกจากวัด  ให้ไปอาศัยอยู่กับพระสุเมธน้อยวัดบางยี่เรือใน (ราชคฤห์)
          ให้มหาเรืองเทพมุนีที่ถูกถอดไปนั้นเป็นพระโกศาครองวัดบางหว้าน้อยดังเก่า
          ให้อาจารย์เป้าเปรีญเอกแต่ครั้งกรุงเก่าลงจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมา  ตั้งให้เป็นพระพุฒาจารย์ครองวัดบางยี่เรือใต้ (อินทาราม)

          แล้วประกาศยกเลิกกฎหมายที่ห้ามพระสงฆ์รับวัตถุปัจจัยนั้นเสีย  ทรงถวายเงินตราเป็นค่าบิณฑบาตปัจจัยแก่พระราชาคณะเปรียญทุก ๆ พระอารามเป็นนิตยภัตทุก ๆ เดือนมิได้ขาด.”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฯมาถึงตรงนี้  จะเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์มีเรื่องวุ่นวายที่จัดการกันเองไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจัดการจึงจะได้  ฝ่ายอาณาจักรกับพุทธจักรจำเป็นต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ในด้านพระธรรมวินัย  เป็นเรื่องของพระสงฆ์  แต่เรื่องความผิดพระธรรมวินัยเป็นเรื่องที่ฝ่ายอาณาจักรต้องเข้าไปจัดการแก้ไข เพราะพระสงฆ์ไม่มีพลังอำนาจอะไรที่จะจัดการแก้ไขได้  ดังเรื่องในอดีตตามความในพระราชพงศาวดารฯ นี้แหละครับ

เมื่อทรงจัดการการปกครองคณะสงฆ์แล้ว  ต่อไปจะทรงดำเนินการอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านต่อก็แล้วกัน.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มิถุนายน, 2562, 11:05:14 PM
(https://i.ibb.co/xXC2Yf8/101-01.jpg) (https://imgbb.com/)


- ตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศ -

กลับกล่าวทางฝ่ายราชอาณาจักร
ทรงเปลี่ยนหลักการใหม่ในหลายเรื่อง
“พระยาปังกลิมา”น่าแค้นเคือง
ที่พลันเปลื้องปลดแอกแยกจากไทย

ให้จับมาทรมานประหารโหด
แล้วทรงโปรดแต่งตั้งขุนนางใหญ่
พระยายมราชแบนแสนเกรียงไกร
จึงตั้งให้ปกครองกัมพูชา

ในนาม“เจ้าพระยาอภัยภูเบศ”
ปกครองเขตแดนเขมรโดดเด่นหล้า
มีอำนาจเทียมทัดกษัตรา
ช่วยรักษาเขตคามสยามยง


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่า  ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑  ทรงจัดแจงการปกครองฝ่ายพุทธจักรเรียบร้อยไปแล้ว  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/m6Xrynd/5a5edb346460f.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ เมื่อทรงจัดแจงฝ่ายพุทธจักรเรียบร้อยแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศกลับออกไปครองเมืองพุทไธมาศ(เมืองเปี่ยมเขมร= ฮาเตียนเวียดนาม)ดังเก่า  และทรงเห็นว่าเมืองพุทไธมาศนี้เป็นเมืองหน้าศึกใกล้กันกับแดนเมืองญวน  จึงโปรดให้พระยาทัศดาออกไปช่วยราชการป้องกันเมืองด้วย

(https://i.ibb.co/gR5pbp5/Untsfitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          กล่าวถึงพระยาปังกลิมาเจ้าเมืองกำปอด  เมื่อรู้ข่าวว่ากรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินใหม่ก็คิดกบฏแข็งเมืองไม่ยอมมาขึ้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเหมือนแต่ก่อน  เมื่อพระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาบอกเข้ามากราบทูล  จึงดำรัสให้มีตราออกไปให้พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาช่วยกันคิดอ่านหาวิธีจับตัวพระยาปังกลิมาส่งเข้ามากรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/RCP3fH4/Untsfafitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาจึงยกทัพจากเมืองพุทไธมาศไปเข้าล้อมเมืองกำปอดและจับตัวพระยาปังกลิมาได้แล้วส่งมาถวาย  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้เอาตัวพระยาปังกลิมาไปตัดเท้าเสีย  แล้วผูกขึ้นแขวนห้อยศีรษะลงมาเบื้องต่ำ  กระทำประจานไว้ที่ป่าช้าวัดโพธาราม (พระเชตุพนฯ) นอกพระนครด้านตะวันออก  จนถึงแก่ความตาย

          ขณะนั้นเจ้าพระยาพระคลังมีความผิดในราชการร้ายแรงจึงทรงให้ถอดเสีย
          แล้วโปรดตั้งให้พระยาศรีอัครราชช่วยราชการในกรมท่า
          ดำรัสให้เอาพระยาพิพัฒโกษาเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลังแทน
          และให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีข้าหลวงเดิม เป็นเจ้าพระยาพิพัฒโกษา

(https://i.ibb.co/1R6L3g9/Angkor-Wat-Delaporte1880.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทางฝ่ายกัมพุชประเทศนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปตั้งพระยายมราชเขมร (แบน) ผู้มีความชอบ  เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศครองกรุงกัมพูชา  แล้วให้ส่งเจ้าสี่องค์ราชบุตรนักพระอุทัยราชาเข้ามากรุงเทพฯ

          เจ้าพระยาอภัยภูเบศ (แบน) เมื่อได้รับพระกรุณาแต่งตั้งแล้วจึงไปตั้ง ณ ตำบลอุดงลือชัย  มิได้อยู่ที่เมืองพุทไธเพชร  แล้วส่งราชบุตรของนักพระอุทัยราชาทั้ง ๔ องค์เข้ากรุงเทพฯ ตามรับสั่ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงนักพระองค์เองเป็นพระราชบุตรบุญธรรม  แต่นักพระองค์มินนั้นถึงแก่พิราลัย  พระองค์อีกับพระองค์เภาซึ่งเป็นหญิงทั้งสองนั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรขอพระราชทานไปเลี้ยงไว้เป็นพระสนมอยู่ในพระราชวังหน้า

(https://i.ibb.co/NTkcn0P/jin3cover.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทางฝ่ายแผ่นดินมลาวประเทศหรือประเทศลาวนั้น  เจ้าบุญสารพระเจ้าล้านช้างซึ่งหนีไปอยู่เมืองคำเกิดแต่คราวที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองยกทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น  ได้กลับมาล้านช้างแล้วจับพระยาสุโภผู้รักษาเมืองฆ่าเสียและเข้าตั้งอยู่ในเมือง

          ท้าวเพี้ยขุนนางซึ่งไม่ยอมเข้าด้วยนั้นก็หนีลงมากรุงเทพฯ  กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสโปรดให้เจ้านันทเสนราชบุตรซึ่งอยู่ ณ กรุงเทพฯ นั้น  กลับไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบไป
          พระเจ้านันทเสนจึงกราบทูลขอพระราชทานพระบางซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมากรประจำกรุงศรีสัตนาคนหุตที่พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์อัญเชิญมานั้นกลับคืนไปด้วย  ก็ทรงพระราชทานให้ตามที่ขอ  ครั้นเจ้านันทเสนกลับไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ไม่นาน  เจ้าบุญสารผู้บิดาก็ถึงแก่พิราลัย  เจ้านันทเสนกระทำฌาปนกิจพระศพแล้วก็ส่งเจ้าอินทร  เจ้าพรหม  และเจ้าน้องทั้งปวงลงมาถวาย ณ กรุงเทพฯ ให้ทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้

(https://i.ibb.co/rbL2Lwg/371914.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปีขาลจัตวาศกนั้น  พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบุตรราชบุตรี  พระราชนัดดา  ซึ่งยังทรงพระเยาว์นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  พระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้าทั้งสิ้น  ในส่วนพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์นั้นพระราชทานพระนามใหม่ว่า  “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศร์สมมุติวงศ์ พงศ์อิศวรราชกุมาร”

(https://i.ibb.co/bNdHnL5/Laos.png) (https://imgbb.com/)

          * เมืองคำเกิดที่พระเจ้าบุญสารหนีไปอยู่นั้น  ปัจจุบันคือ  หลักซาว บอลิคำไซ  อยู่ติดกับแขวงเชียงขวาง  คำม่วน  ทางหนึ่งติดญวน (เวียดนาม)  ทางหนึ่งติดไทย  เป็น “ลาวใต้”  ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรเมืองหนึ่ง  เหตุที่ทรงหนีไปอยู่เมืองนี้  เพราะสะดวกในการหนีต่อเข้าไปในญวนนั่นเอง

(https://i.ibb.co/Kz7fjWy/1529031034296-02.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าอภัยธิเบศฯ พระองค์นี้  เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินกับพระธิดาพระองค์ใหญ่(ชื่อฉิม) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ประสูติเมื่อคราวพระองค์ยังเป็นที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองลาวได้  และอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมา  พระราชมารดาสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติได้เพียง ๑๒ วัน  ครั้นพระชนม์ได้ ๓ พรรษา  พระราชบิดาก็ถูกพระเจ้าตาสำเร็จโทษ  เดิมมีพระนามว่า “เหม็น” แม้จะมีพระนามเป็นทางการว่า  เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์  คนทั่วไปก็เรียกว่า  “เจ้าฟ้าเหม็น”  และแม้จะพระราชทานพระนามใหม่ว่า  “เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศ์สมมุติวงศ์” คนทั่วไปก็ยังเรียกว่า  เจ้าฟ้าเหม็น  อยู่นั่นเอง

          * ฝ่ายพระยายมราชเขมร  มีความชอบใหญ่หลวงจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศ  ปกครองกัมพูชาทั้งประเทศ  เรื่องราวทางกัมพูชาจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มิถุนายน, 2562, 12:02:52 AM
(https://i.ibb.co/Xj9Q9ZT/vtna.jpg) (https://imgbb.com/)

- ความต่างในพงศาวดาร -

พระราชพงศาวดารอื่น
ซึ่งก็ยืนยันได้เรื่องไม่หลง
รายละเอียดต่างกันความนั้นตรง
เชิญอ่านพงศาวดารที่สรรมา


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงตอนที่  เจ้าบุญสาร พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัตนาคนหุต(ลาว ล้านช้าง)  กลับจากเมืองคำเกิดและจับพระยาสุโภผู้รักษานครเวียงจันทน์ฆ่าเสีย  แล้วตั้งอยู่ในเมือง ท้าวเพี้ยขุนนางส่วนหนึ่งหนีเข้ามายังกรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระกรุณาโปรดให้เจ้านันทเสนราชบุตรเจ้าบุญสารซึ่งอยู่ ณ กรุงเทพฯนั้นกลับไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุต  เจ้านันทเสนได้ทูลขออัญเชิญพระบางกลับไปล้านช้างตามเดิมด้วย  ครั้นไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุตแล้วไม่นาน  เจ้าบุญสารก็ถึงแก่พิราลัย  หลังจากจัดการพระศพราชบิดาแล้วเจ้านันทเสนได้ส่งเจ้าอินทร  เจ้าพรหม  และเจ้าน้องทั้งปวงเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯให้ทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้

          ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนที่ว่าด้วยการตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศนั้น ยังไม่ชัดเจนนัก จึงใคร่ขอนำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑  ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)  ได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๒  หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ๘๗ ปีแล้ว  โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียบเรียงไว้ดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/FVXH9Cz/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพวาดองเชียงสือในปี พ.ศ.๒๓๒๖ ขณะอยู่ในกรุงเทพฯ

          * “จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ. ๒๓๒๕) ปีขาล จัตวาศก  สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ  ในครั้งนั้นพวกญวนไกเซินยกเข้าตีไซ่ง่อน  องเชียงสือให้มาขอกองทัพเขมรไปช่วย  สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ(มู)  สมเด็จเจ้าพระยา(ชู)  จึงให้พระยากลาโหม(ปา) คุมคนห้าพันไปช่วยองเชียงสือ  พระยากลาโหม (ปา) ตายในที่รบ ณ ทุ่งป่ายุง เสียไพร่พลเป็นอันมาก  องเชียงสือหนีลงเรือเข้ามาในเขตแดนกรุงเทพฯ ในเดือน ๘ ปีเดียวกันนั้น

          สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสาบานของพระยายมราช (แบน) ได้มีหนังสือมาถึงพระยายมราช (แบน) ซึ่งเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพฯ ให้กราบบังคมทูลลาออกไปช่วยราชการ  ด้วยจะให้คิดเอาเมืองเขมรมาขึ้นต่อกรุงเทพฯ ดังเก่า
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้พระยายมราช (แบน) ออกไปเมืองพระตะบอง  สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) ทราบแล้วก็มีความยินดี  รีบมารับพระยายมราช (แบน) ไปเมืองบันทายเพ็ชร  แล้ววางแผนการศึกยกไปรบสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) กับพระยาจักรี (เปียง)

          สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) สู้ไม่ได้ก็หนีไปอยู่เมืองป่าสัก  พระยาอาทิตยวงศา (ลวด) เจ้าเมืองป่าสักจับตัวได้จึงส่งให้สมเด็จเจ้าพระยา (ชู)  พระยายมราช (แบน) ก็ฆ่าเสีย  พระยาจักรี (เปียง) หนีเข้าไปอยู่ในป่า  เมื่อตามจับตัวได้ก็ฆ่าเสีย

          ต่อมาถึงเดือนสิบสองแรมสิบห้าค่ำ  พระยายมราชก็ลอบฆ่าสมเด็จเจ้าพระยา (ชู) เสีย  เหตุจำต้องฆ่าเพื่อนร่วมน้ำสาบานนั้นก็เพราะว่า  สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) เป็นคนทรยศทำร้ายเจ้านายตัวเอง

          จากนั้นพระยายมราชแบนก็ฆ่าขุนนางที่ทำร้ายสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) เสียทั้งหมด  แล้วก็ยกตัวเองขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ  และตั้งขุนนางพรรคพวกของตนขึ้นเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยตามตำแหน่ง  ให้พระยาจักรี (แกบ) ไปจับพระยาเดโช (แทน) ที่เมืองกระพงสวาย  พระยาเดโชหนีไปเมืองจำปรัง  ฝ่ายพระยามหาเทพ  พระยาวรชุน  กับพวกแขกจามเมืองตะบงคะมุม ร่วมคิดกันยกทัพเรือมาเมืองพนมเพ็ญ  หมายจะจับพระยายมราช (แบน)  พระยากลาโหม(ปก) ฆ่าเสีย

          พระยายมราช (แบน) พระยากลาโหม (ปก) เห็นจะสู้ไม่ได้  เพราะยังไม่ทันได้เตรียมตัว  ก็พาพระท้าวสองนางผู้เป็นกนิษฐภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ราชา(นักองค์ตน)  กับพระเรียมสามนางผู้เป็นบุตรี  และนักองเองโอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชา   พร้อมกับกวาดต้อนครอบครัวเขมรเข้ารีดประมาณ ๕๐๐ คน  ลงเรือหนีมาขึ้นที่เมืองพระตะบองแล้วเลยเข้ามากรุงเทพฯ

          ในปีนั้น  นักพระองเองมีพระชนม์ได้ ๑๐ พรรษา  ส่วนนักองเมนป่วยถึงแก่พิราลัยเสียก่อน  ยังเหลือพระเรียมสององค์คือ  นักองอี  นักองเภา  ทั้งสองพระเรียมนี้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  ทูลขอไปเป็นพระสนมเอก  นักองเองนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรม  โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กับพระท้าวสองนางและพระยากลาโหม (ปก) พี่เลี้ยง ณ ตำบลคอกกระบือ  เขมรเข้ารีดพวกออกญาแป้น  ออกญานวน  นั้นให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดสมอราย  สำหรับพระยายมราช (แบน) นั้น  ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร วิเศษสงคราม  รามนรินทรบดี  อภัยพิริยปรากรมพาห”

          * ความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ฉบับนักองนพรัตน์  ราชบุตรสมเด็จพระนโรดม  แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ มีความคล้ายกันกับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  แต่ชื่อของสมเด็จเจ้าพระยาต่างกัน  คือ  
          เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า สมเด็จเจ้าพระยามีชื่อเดิมว่า  ชู  แต่  นักองนพรัตน์ว่ามีชื่อเดิมว่า  โสร์
          พระยายมราช  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่ามีชื่อเดิมว่า  แบน  แต่นักองนพรัตน์ว่ามีชื่อเดิม  แป้น
          ส่วนเจ้าฟ้าทะละหะนั้นมีนามเดิมตรงกันคือ  มู  
          พระยาจักรีนั้น  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าเดิมชื่อ  เปียง  แต่นักองนพรัตน์ว่าชื่อ  เบียง  

          นักองนพรัตน์ว่า  พระเยาจักรีเบียงกับเจ้าฟ้าทละหะมูอยู่คนละแห่ง  เจ้าพระยาจักรีนั้นถูกจับได้และประหารชีวิตไปก่อน  ส่วนเจ้าทะละหะมูซึ่งอยู่ที่โพธิกำบอ  รู้ข่าวก็หนีไปเมืองป่าสัก   ออกญาอธิกรวงษา  สัวะซ์  จับตัวได้ก็ส่งให้สมเด็จเจ้าพระยาโสร์กับพระยายมราชแป้น  แล้วถูกประหาร

          พระโอรสพระธิดาสมเด็จพระนารายณ์ราชา(นักองค์ตน)  มีชื่อต่างกันอยู่องค์หนึ่ง  คือ  พระธิดาที่เสียชีวิตไปก่อนนั้น  พระราชพงศาวดารฉับพระราชหัตถเลขาว่ามีชื่อ  นักพระองค์มิน    เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าชื่อ  พระองเมน  แต่นักองนพรัตน์ว่าชื่อ  นักองเม็ญ  ทั้งสามพระเรียมล้วนเป็นพระพี่นางของนักองค์เอง  ตอนที่เข้ามากรุงเทพฯ นั้นเริ่มเป็นสาวรุ่นวัยกำดัดแล้ว  สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงทูลขอไปเป็นพระสนมเอก

          สำหรับพระยายมราชแป้นนั้น  นักองนพรัตน์ว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งให้เป็น  เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์  ไม่ใช่  อภัยภูเบศร  ความนอกนั้นตรงกันกับที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เรียบเรียงไว้ทุกประการ”

          ** เห็นไหมครับ  ความในพระราชพงศาวดารแม้จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน  แต่รายละเอียดมักจะแตกต่างกัน  ในพระราชหัตถเลขาว่า  พระยายมราช (แบน) ซึ่งเป็นชาวเขมร  เข้าช่วยรบกับกองทัพสยามคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปปราบเขมร  แล้วเจ้าพระยาสุรสีห์มอบหมายให้พระยายมราช (แบน) คุมกองกำลังล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงครามไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร  ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็น  เจ้าพระยาอภัยภูเบศ  ปกครองกัมพูชา  เป็นประเทศราชแห่งสยาม

(https://i.ibb.co/16h9KpH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพวาดจักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ)
ที่แพร่หลายในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนาม

          แต่ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ฉบับนักองนพรัตน์  กล่าวว่า  เกิดความวุ่นวายขึ้นในญวน-เขมร  โดย  ญวนไกเซินยกลงมาตีเมืองไซ่งอน  องเชียงสือขอกำลังจากเขมรไปช่วย  แต่ก็พ่ายแพ้แก่ญวนไกเซิน
          องเชียงสือหนีเข้ามาในเขตแดนสยาม  สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) เพื่อนสนิทของพระยายมราช (แบน)  มีหนังสือมาขอให้พระยายมราช (แบน) ซึ่งขณะนั้นเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพฯให้กราบบังคมลาออกไปช่วยคิดการโค่นล้มพวกสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ (มู)  เมื่อสำเร็จแล้วจะเอากัมพูชามาขึ้นต่อกรุงสยามดังเดิม  พระยายมราช (แบน) กราบบังคมลาออกไปเมืองพระตะบอง  แล้วร่วมคิดกับสมเด็จเจ้าพระยา (ชู)  จนยึดครองกัมพูชาได้สำเร็จ  แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดฯตั้งให้เป็น  เจ้าพระยาอภัยภูเบศฯ  ปกครองกัมพูชา  ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  และกรุงกัมพูชา  ดังได้แสดงแล้ว  ค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจให้ดี  อย่าสับสนนะครับ

          ตอนนี้มีพระราชพงศาวดารมาช่วยฉบับพระราชหัตถเลขาเพิ่มขึ้นอีกคือ  ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มิถุนายน, 2562, 12:04:00 AM
(https://i.ibb.co/1m7XBrD/K11158910-6.png) (https://imgbb.com/)


- พม่าแย่งชิงอำนาจกันวุ่น -

เมืองพม่าเกิดกบฏซ้อนกบฎ
ตำแหน่งยศอำนาจวาสนา
“อะแซหวุ่นกี้”ที่ได้เป็นราชา
ก็ถูกฆ่าสิ้นกรรมเพียงข้ามคืน

แล้ว“ปดุง”โดดเด่นขึ้นเป็นใหญ่
ยึด“ยะไข่”เด็ดขาดไม่อาจขืน
เสวยอำนาจราชบัลลังก์ดูยั่งยืน
พม่ากลืนรามัญหมดทันที


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดาร ๓ ฉบับมาบอกเล่าถึงเรื่องราววุ่นวายในกัมพูชา  พระยายมราช (แบน) จากเมืองไทยกลับเข้าไปมีบทบาทสำคัญ  แล้วได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศ (ซึ่งทางเขมรเรียกว่า เจ้าพระยาอภัยธิเบศ) ได้ส่งพระธิดาพระโอรสนักพระอุทัยราชาเข้ามากรุงเทพฯ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงขอพระธิดาทั้งสององค์ไปเป็นพระสนม  ส่วนพระโอรสคือนักองเองนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงไว้ในฐานะพระราชบุตรบุญธรรม  วันนี้มาดูเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/BsHC3JG/Img1701000048.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ในปีฉลู ตรีศกนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินพม่า  กล่าวคือ  พระเจ้าจิงกูจาซึ่งเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้ามังระผู้บิดานั้น  ยกพลจากกรุงรัตนบุระอังวะขึ้นไปนมัสการพระสิหด่อซึ่งอยู่ทางเหนือระยะทางเดินจากอังวะไปเป็นเวลา ๕ คืน

(https://i.ibb.co/xm808r9/1638148.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นมังหม่องราชบุตรพระเจ้ามังลอกบวชเป็นสามเณรอยู่  ได้ซ่องสุมผู้คนเป็นอันมากแล้วสึกออกมาเป็นกบฏเข้าปล้นชิงเอาเมืองอังวะได้แล้วเชิญอาทั้งสามคือ  ตะแคงปดุง  ตะแคงปคาน  ตะแคงแปลตแล  มาพร้อมกันแล้วมอบราชสมบัติให้  แต่อาทั้งสามไม่ยอมรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  มังหม่องจึงครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าอังวะเสียเอง  แล้วไปขอบุตรีอะแซหวุ่นกี้มาเป็นมเหสี

(https://i.ibb.co/RYm3LTY/3446.jpg) (https://imgbb.com/)

          พวกข้าไทมังหม่องนั้นเป็นคนหยาบช้าเที่ยวข่มเหงอาณาประชาราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน  ดังนั้นอะแซหวุ่นกี้จึงคิดการกบฏ
          เพลาเย็นวันหนึ่ง  ขณะที่มังหม่องกำลังเสวยอาหารอยู่  อะแซหวุ่นกี้ก็พาพรรคพวกเข้าไปในพระราชวังแล้วจับตัวมังหม่องประหารชีวิตเสียหลังจากที่มังหม่องเสวยราชสมบัติได้เพียง ๗ วัน
          แต่อะแซหวุ่นกี้ก็นั่งเมืองได้เพียงคืนเดียวเท่านั้น  เพราะตะแคงปดุง  ตะแคงปคาน  ตะแคงแปงตแล  ร่วมกับขุนนางทั้งปวงยกเข้าปล้นเอาพระราชวังได้แล้วจับอะแซหวุ่นกี้ประหารเสีย

(https://i.ibb.co/tXfNFCx/1-G9-QTpx-Wfz5-V-default.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นขุนนางทั้งปวงก็เชิญตะแคงปดุงขึ้นเสวยราชสมบัติ ณ เมืองอังวะ  พระเจ้าปดุงจึงตั้งตะแคงอินแซะราชบุตรองค์ใหญ่  เป็นมหาอุปราช  ให้มหาศีลวอำมาตย์  กับจอกตลุงโบ่เป็นนายทัพเรือ ๕๐ ลำ  กำลังพล ๒,๐๐๐ คน  ยกขึ้นไปจับกุมตัวพระเจ้าจิงกูจาซึ่งขึ้นไปไหว้พระสิหด่อได้พร้อมทั้งบุตรภรรยาและบริวาร  ทรงให้เอาตัวพระเจ้าจิงกูจาไปประหารด้วยการถ่วงน้ำเสีย  พระเจ้าจิงกูจาอยู่ในราชสมบัติได้ ๖ ปีเศษก็สิ้นพระชนม์

(https://i.ibb.co/wYHF504/1-1887.jpg) (https://imgbb.com/)
องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๑ วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์
(ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

          ส่วนเหตุการณ์ทางเมืองญวนนั้นปรากฏว่า  องไก่เซินเจ้าเมืองกุยเยิน  ยกกองทัพไปตีไซ่ง่อน  องเชียงสือเจ้าเมืองยกพลออกต่อต้าน  แต่สู้ไม่ได้จึงแตกพ่ายหนีทิ้งเมืองเสีย  พาบุตรภรรยาและบริวารลงเรือแล่นหนีมาทางทะเล  แล้วขึ้นอาศัยเกาะโดดหน้าเมืองพุทไธมาศ  พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาได้ทราบดังนั้นจึงส่งคนไปเกลี้ยกล่อม  ได้ตัวองเชียงสือกับพรรคพวกทั้งสิ้นแล้วส่งเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯ  ทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้โดยส่งให้ไปอยู่ตำบลคอกกระบือ
          ฝ่ายองไก่เซินนั้นเมื่อตีเมืองไซ่ง่อนได้แล้วก็มอบให้องติงเวืองผู้เป็นน้องชายคนกลางอยู่รักษาเมือง  ให้องลองเญืองน้องชายคนน้อยไปเป็นเจ้าเมืองเว้  แล้วไก่เซินก็เลิกทัพกลับไปเมืองกุยเยิน

(https://i.ibb.co/nmtb05N/Untitlead-a27.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึงปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ.๒๓๒๖)  พม่าคนหนึ่งชื่องะพุง  มีพรรคพวกประมาณ ๓๐๐ คน  คิดกบฏเข้าปล้นเมืองอังวะ  พระเจ้าปดุงให้ขุนนางคุมทหารออกต่อรบ  งะพุงแตกพ่าย  ทหารตามจับตัวได้แล้วพระเจ้าปดุงสั่งให้ฆ่าเสียทั้งสิ้น  และในปีนั้นเองพระเจ้าปดุงได้ให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลบ้านทองกา  ทางทิศตะวันตกเมืองอังวะระยะทางไกล ๓๐๐ เส้น

(https://i.ibb.co/VYRkzH6/Amarapura-Palace.jpg) (https://imgbb.com/)
พระราชวังอมรปุระ

          เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วจึงให้นามเมืองว่าอมรปุระ  พระเจ้าปดุงจึงยกจากเมืองอังวะไปอยู่เมืองอมรปุระ  โดยให้ถือว่าเมืองใหม่นี้เป็นเมืองหลวง  จากนั้นก็แต่งกองทัพไปตีเมืองธัญวดี  คือเมืองยะไข่

(https://i.ibb.co/zZgZNh1/1425032229-o.jpg) (https://imgbb.com/)

               * ให้แอกกะบัดหวุ่นถือพล ๔,๐๐๐ เป็นทัพหน้า
          ให้ตแคงจักกุราชบุตรคนที่สองถือพล ๑๐,๐๐๐ เป็นแม่ทัพบกยกไปทางหนึ่ง
               * ให้แมงดุงหวุ่นถือพล ๔,๐๐๐ เป็นทัพหน้า
          ให้ตแคงกามะราชบุตรคนที่สามถือพล ๑๐,๐๐๐ เป็นแม่ทัพบกยกไปทางหนึ่ง
               * ให้ศิริกะเหรี่ยง ๑   แยฆ่องเดชะ ๑   แจกกะเรจอโบ่ ๑   ถือพล ๔,๐๐๐ เป็นทัพหน้า
          ให้อินแซะมหาอุปราชถือพล ๑๖,๐๐๐ เป็นแม่ทัพยกไปทางหนึ่ง

          รวมเป็นสามทัพไปตีเมืองธัญวดี

          ส่วนทัพเรือนั้นให้มหาจอแทงตละยาเป็นแม่ทัพ  แยจออากา ๑   แยจอสมุท ๑   ถือพล ๕,๐๐๐  เรือรบเรือทะเล ๓๐๐ ลำยกไปทางทะเล

(https://i.ibb.co/YpyztXw/Unt-itle-d-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพบกทัพเรือทั้งสี่ยกไปตีหัวเมืองขึ้นของยะไข่รายทางได้เป็นลำดับ  จนถึงเมืองธัญวดีอันเป็นเมืองหลวงของยะไข่  พระเจ้ายะไข่ออกสู้รบก็สู้ไม่ได้  พม่าหักเอาเมืองได้แล้วจับตัวพระเจ้ายะไข่พร้อมไพร่พลครอบครัวประมาณ ๕๐,๐๐๐ เศษ  กวาดต้อนเอามาเมืองอมรปุระ  ตั้งจอกะชูคุมกำลังพม่า ๑๐,๐๐๐ อยู่รักษาเมืองธัญวดี  พระเจ้ายะไข่นั้นพระเจ้าปดุงให้เลี้ยงไว้ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ป่วยจนถึงแก่ความตาย”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  พระเจ้าจิงกูจาครองบัลลังก์แผ่นดินพม่าได้เพียง ๖ ปีเศษ  ก็ถูกมังหม่องเป็นกบฏยึดครองบัลลังก์มอบให้เสด็จอาทั้ง ๓  แต่ไม่มีใครยอมรับ  จึงขึ้นนั่งบัลลังก์เสียเอง  แล้วสู่ขอธิดาอะแซหวุ่นกี้มาเป็นมเหสี  เสวยราชสมบัติอยู่เพียง ๗ วัน  ก็ถูกอะแซหวุ่นกี้พ่อตาตัวเองจับประประหารเสีย  อะแซหวุ่นกี้ขึ้นนั่งบัลลังก์ได้เพียงชั่วข้ามคืน  ก็ถูกปล้นพระราชวังแล้วจับตัวประหารเสีย  จากนั้นขุนนางทั้งปวงก็เชิญ  “ตะแคงปดุง”  ขึ้นครองราชย์บัลลังก์เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองพม่าต่อไป

          ทางฝ่ายเมืองญวนนั้น  ปรากฏว่าไก่เซินยกกำลังลงมาตีเมืองไซ่ง่อนแตก  องเชียงสือพาครัวหนีลงมาอาศัยอยู่ที่เกาะโดด  หน้าเมืองบันทายมาศ (เมืองเปี่ยมหรือฮาเตียน)  พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดา  ส่งคนไปเกลี่ยกล่อมให้เข้ามาเป็นข้ากรุงสยาม  องเชียงสือกับพวกยินยอม  จึงส่งตัวเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้  โดยให้อาศัยอยู่ ณ ตำบลคอกกระบือ

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, มิถุนายน, 2562, 12:08:19 AM
(https://i.ibb.co/WD9gtrw/652362-topic-ix-0.jpg) (https://imgbb.com/)

- เกิดกบฏวังหน้า -

เกิดกบฏวังหน้าเรื่องเล็กน้อย
“ไอ้ทิด”ถ่อยสองนายกลายเป็นผี
พวกพ้องถูกประหารผลาญชีวี
ทั้งอ้ายอีไม่เหลือเป็นเชื้อพาล


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาแสดงถึงตอนที่ตะแคงปดุงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่า  ทรงสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลบ้านทองกาห่างจากเมืองอังวะไปทางตะวันตกระยะทางสามร้อยเส้น  ให้นามเมืองที่สร้างใหม่และใช้เป็นเมืองหลวงว่า  อมรปุระ  แล้วเริ่มแผ่พระราชอำนาจด้วยการจัดทัพไปตีเมืองธัญวดี แคว้นยะไข่  พระเจ้ายะไข่สู้ไม่ได้จึงถูกจับตัวมาไว้ที่เมืองอมรปุระ  ไม่นานนักก็ป่วยตายไป  วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารกันต่อนะครับ

           “ในขณะที่ทางแผ่นดินพม่าเกิดการเปลี่ยนแปลงและวุ่นวายนั้น  ทางกรุงเทพมหานครก็เกิดกบฏอ้ายบัณฑิตขึ้น  โดยอ้ายบัณฑิตสองคนมาแต่เมืองนครนายก  อวดตัวว่ามีความรู้วิชาการล่องหนหายตัวได้  คบคิดกับขุนนางหลายคน  มีพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นต้น  กับทั้งหญิงพวกวิเสทปากบาตรพระราชวังหน้า  ในยามเช้าของวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๕  พวกหญิงวิเสท (แม่ครัว) ขนกระบุงใส่ข้าวทรงบาตรเข้าไปทางประตูดินวังหน้า  เอี้ยง ผู้เป็นนายวิเสทปากบาตรพาอ้ายบัณฑิตสองคนที่นุ่งห่มผ้าแบบผู้หญิงถือดาบซ่อนในผ้าห่ม  ปลอมตัวเข้าไปในวังหน้าเพื่อที่จะทำร้ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ

          ด้วยเดชะบารมี  เช้าวันนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชหาได้เสด็จลงทรงบาตรทางพระทวารมุขนั้นไม่  เหมือนเทพยดาดลพระทัยให้คิดจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชวังหลวง  จึงเสด็จออกทางประตูมุขข้างหน้า  เสด็จสู่พระราชวังหลวง  อ้ายกบฏบัณฑิตทั้งสองจึงหมดโอกาสจะทำร้ายพระองค์  ยามนั้นนางพนักงานเฝ้ามาพบเห็นอ้ายบัณฑิตทั้งสองเข้าก็ตกใจร้องโวยวายขึ้นอื้ออึงว่า  มีผู้ชายสองคนถือดาบขึ้นมาอยู่ที่พระทวารบนที่  อ้ายบัณฑิตทั้งสองก็ไล่นางเฝ้าที่นั้นลงมา

          ขณะนั้นขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่งคุมไพร่พลเข้าไปก่อถนนในพระราชวัง  อ้ายบัณฑิตก็เอาดาบฟันขุนหมื่นผู้นั้นศีรษะขาดล้มลงตายอยู่กับที่  พวกเจ้าจอมข้างในและจ่าโขลนก็ตกใจร้องอื้ออึง  วิ่งออกมาบอกข้าราชการข้างหน้า  ข้าราชการข้างหน้าทั้งปวงก็เข้าไปในพระราชวัง  พากันไล่ล้อมจับอ้ายบัณฑิตทั้งสอง  บ้างเอาไม้พลองและอิฐทุตีทิ้งขว้างปาเป็นอลหม่าน  บ้างก็วิ่งลงมายังพระราชวังหลวงกราบทูลเหตุให้ทรงทราบ

(https://i.ibb.co/tMZMtmZ/21.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงทราบ  จึงดำรัสให้ข้าราชการทั้งปวงและตำรวจทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า  เร่งขึ้นไปจับอ้ายกบฏ  ช่วยกันทุบตีจนล้มลงจับตัวได้มัดไว้  แล้วจำครบติดไม้เฆี่ยนถาม  ให้การซัดทอดพวกเพื่อนร่วมคิดกบฏด้วยกันเป็นอันมาก  ถูกข้าราชการทั้งวังหลวงวังหน้าเป็นหลายคน  มีพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นต้น  กับทั้งพวกหญิงวิเสท (แม่ครัว) ปากบาตรวังหน้าทั้งนายทั้งไพร่  มีพระราชบัณฑูรให้เฆี่ยนสอบกับอ้ายบัณฑิต  รับเป็นความสัตย์  ดำรัสให้ประหารชีวิตอ้ายบัณฑิตสองคนกับพวกเพื่อนชายหญิงทั้งสิ้น”

          * เรื่องกบฏบัณฑิตสองคนเข้าวังหน้า  หรือกบฏวังหน้านี้  ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียงไว้นั้น  ในตอนต้นเป็นเช่นเดียวกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา    แต่ตอนท้ายที่ว่าด้วยการจับตัวสองบัณฑิตได้แล้วนั้น  มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย  คือกล่าวว่า  “เอี้ยง  นายวิเศษปากบาตรให้การว่า  หลงเชื่อฟังอ้ายบัณฑิตจนสาบานตัวให้ว่าจะขอพึ่งบุญ  จะยอมยกบุตรหญิงให้เป็นภรรยาเมื่อสำเร็จการที่คิดไว้แล้วจะได้เป็นมเหสี”

(https://i.ibb.co/qnXF4Ft/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระแสงขรรค์ไชยศรี

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความต่อไปว่า  “วันศุกร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕  เจ้าพระยาอภัยภูเบศผู้ครองกรุงกัมพูชา  ให้พระยาพระเขมรเอาพระขรรค์ไชยศรีแต่ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์  เข้ามาทูนเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    วันนั้นเกิดพายุใหญ่  ฝนตก  ฟ้าผ่าลงศาลาลูกขุนใน  และในปีเถาะ  เบญจศกนั้น  ทรงมีพระดำรัสให้พระยานครสวรรค์ยกกองทัพออกไปกรุงกัมพูชา  ให้เกณฑ์เอากองทัพเขมรเข้าบรรจบด้วยแล้วยกไปรบญวน  ตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืนให้องเชียงสือ  ผู้ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  พระยานครสวรรค์กราบถวายบังคมลายกทัพไปตามพระราชกำหนด
          วันศุกร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  เกิดพายุใหญ่พัดเหย้าเรือนในพระนคร  ทำลายใบเสมากำแพงเมืองก็หักพังลงเป็นอันมาก  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้จับก่อกำแพงทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า  แล้วให้ฐาปนาพระราชมนเทียรทั้งข้างหน้าข้างใน สำเร็จบริบูรณ์”

          ** ท่านผู้อ่านครับ ในช่วงเวลาเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์จะเห็นได้ว่าบ้านเมืองตั้งอยู่ในความสงบจากข้าศึกศัตรูภายนอกมารุกราน  มีเพียงฝ่ายกรุงเทพมหานครส่งกำลังเข้าไปจัดการภายในกรุงกัมพูชา  และคดีกบฏวังหน้าเท่านั้น  

(https://i.ibb.co/SKttCvc/ziruv6.jpg) (https://imgbb.com/)
พระแสงขรรค์ไชยศรี

          พระราชพงศาวดารบันทึกไว้เพียงว่า  เจ้าพระยาอภัยภูเบศมอบหน้าที่ให้พระยาและพระชาวกัมพูชาอัญเชิญ “พระขรรค์ชัยศรี” ของเก่าแต่ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงก์ แห่งกรุงกัมพูชา มาทูนเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมิได้ให้ความสำคัญของพระขรรค์ไชยศรีนัก

          ซึ่งความจริง พระขรรค์ไชยศรี เป็นพระแสงคู่ราชบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดินมาแต่ครั้งกรุงสุโขไท  โดยพ่อขุนผาเมือง  เจ้าเมืองราด(คนไทยสุโขไท)    พระราชบุตรเขยเจ้ากรุงศรีโสธรปุระ(กัมพูชา) มอบนาม “ศรีอินทรปตินทราทิตย์” และ “พระขรรค์ไชยศรี”   ให้ขุนบางกลางท่าวขึ้นครองกรุงสุโขไทเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง  จากนั้นเป็นต้นมาพระแสงขรรค์ไชยศรีจึงเป็นพระแสงคู่ราชบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดินตลอดมา

(https://i.ibb.co/mvFd5dw/Cover.jpg) (https://imgbb.com/)
พระแสงขรรค์ไชยศรี

          สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏพระแสงขรรค์ไชยศรีในการขึ้นครองบัลลังก์กษัตริย์สยาม  การที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศให้พระยาและพระ อัญเชิญพระแสงขรรค์ไชยศรีมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เป็นการปรากฏขึ้นแห่งพระแสงขรรค์ไชยศรี  จึงควรถือว่าเป็นมงคลแก่พระราชวงศ์จักรีเป็นอย่างยิ่ง

(https://i.ibb.co/kKhRK5f/ce106862-6ab0-4087-901d-6e16c3a2e2fa.jpg) (https://imgbb.com/)

          และการศึกสงครามระหว่างประเทศก็ได้เริ่มขึ้นอีกแล้ว  เมื่อทรงส่งกองทัพไทยไปตีเมืองไซ่ง่อนเพื่อชิงเมืองคืนให้องเชียงสืออดีตกษัตริย์เวียดนาม  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ติดตามอ่านกันต่อวันพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, มิถุนายน, 2562, 11:00:10 PM
(https://i.ibb.co/1THTWVb/974276-img-rwh2i5-o6st.jpg) (https://imgbb.com/)

- ประหารพระยานครสวรรค์ -

ทรงสร้างวัดในวังทั้งสองแห่ง
ตั้งตำแหน่ง“เทพบิดร”ประดิษฐาน
เจ้าจอมทำเสน่ห์ตามเล่ห์มาร
ทรงประหารทั้งมวลโทษควรตาย

พระยานครสวรรค์นั้นรบเก่ง
ญวนกลัวเกรงทุกครั้งรบพังพ่าย
ยึดเรือและอาวุธพลไพร่นาย
ผลสุดท้ายกลับคืนแก่แม่ทัพญวน

มีผู้ฟ้องพระองค์ทรงเรียกกลับ
ถามแล้วรับเป็นจริงทุกสิ่งถ้วน
โทษร้ายแรงสอบความตามกระบวน
เห็นสมควรประหารในทันที


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าถึงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงในพม่า  และเกิดกบฏขึ้นในวังหน้าของกรุงเทพฯ  ครั้นประหารพวกกบฏแล้ว  เจ้าพระยาอภัยภูเบศผู้ครองกัมพูชาได้ส่งพระขรรค์ไชยศรีของเก่าสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เข้ามาถวาย  จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสให้พระยานครสวรรค์ยกทัพไปกัมพูชา  ให้เกณฑ์กองทัพเขมรไปตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่องเชียงสือ  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/Mc4j63F/5.jpg) (https://imgbb.com/)
พระอุโบสถ กำแพงแก้ว ซุ้มใบเสมา และศาลารายต่าง ๆ

           “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  พระเจ้ากรุงสยาม  โปรดให้สถาปนาพระอารามขึ้นภายในพระราชวังพร้อมทั้งอุโบสถ  วิหาร  เจดีย์  และศาลารายเป็นหลายหลัง  ให้ขุดสระน้ำทำหอไตรในสระเพื่อใส่ตู้พระไตรปิฎก
           โปรดให้พระอาลักษณ์แก้วเป็นพระยาธรรมปโรหิตจางวางราชบัณฑิต
           ให้หลวงอนุชิตพิทักษ์เป็นพระยาพจนาพิมล  ช่วยราชการในกรมราชบัณฑิต

(https://i.ibb.co/BtWZPWJ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ปราสาทพระเทพบิดร

แล้วให้พระราชบัณฑิตทั้งปวงบรรดาที่เป็นอาจารย์นั้น  บอกพระไตรปิฎกแก่พระภิกษุสามเณรเป็นอันมากบนหอไตร  และหอไตรนั้นให้นามว่า  หอพระมนเทียรธรรม  แล้วให้อัญเชิญรูปพระเทพบิดร  คือสมเด็จพระรามาธิดีอู่ทอง  ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยามาแปลงเป็นพระพุทธหุ้มเงินปิดทอง แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น  ให้นามว่า  หอพระเทพบิดร  โดยที่พระอารามนั้นยังมิได้สำเร็จเสร็จสิ้นลง

(https://i.ibb.co/23z9tqY/post-20181103211809-by.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/G0pQVxq/post-20181103194427-by.jpg) (https://imgbb.com/)
พระเจดีย์ภายในพระมณฑป และ พระระเบียงวัดนิพานาราม

          ทางฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ก็ทรงปฏิสังขรณ์วัดสลัก  ให้กระทำพระอุโบสถ  พระวิหารการเปรียญและมณฑปขึ้นใหม่  ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในพระมณฑป  ก่อพระระเบียงล้อมรอบ  แล้วสร้างกุฎีเสนาสนะฝากระดานถวายสงฆ์  กับให้ก่อตึกสามหลังถวายพระวันรัตนผู้เป็นเจ้าอาราม  แล้วให้ก่อกำแพงแก้วล้อมรอบพระอาราม  และตั้งนามวัดสลักเสียใหม่ว่า  วัดนิพพานาราม

(https://i.ibb.co/6ZH7Vdm/Untitlegsd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปีเดียวกันนั้น  เจ้าจอมทองดีบุตรีหลวงอินทรโกษา  เป็นคนหนึ่งที่อยู่งานในพระราชวังหลวง  คบคิดกับหม่อมบุญศรีพระพี่เลี้ยงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร และ แทน ผู้เป็นข้าหลวงตำหนักใหญ่  ให้ แทน ไปหาหมอเสน่ห์ เพื่อทำเสน่ห์ให้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมาก ๆ ได้รู้เห็นด้วยกันกับทั้งมารดาและทาสคนหนึ่ง  เรื่องนี้ทาสในเรือนรู้เรื่องเข้าจึงนำความมาฟ้องเจ้าขรัวนายท้าวนางผู้ใหญ่  นายท้าวนางผู้ใหญ่จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล  ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสสั่งให้  พิจารณาความจนได้ความเป็นสัตย์  มีพระราชโองการตรัสสั่งให้เอาตัวเจ้าจอมทองดีกับพวกสี่คนและหมอเสน่ห์คนหนึ่งไปประหารชีวิตเสียที่วัดตะเคียน

(https://i.ibb.co/Cn3RF0L/01.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/gmjGBT3/sdsd-230.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)  และ  วัดนิพพานนาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์)

          ท่านผู้อ่านครับ  พระอารามภายในพระราชวังดังกล่าวนั้นคือ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  หรือวัดพระแก้วในปัจจุบัน      ส่วนวัดนิพพานารามในพระราชวังหน้านั้นก็คือ  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ในปัจจุบัน

(https://i.ibb.co/DRvd3cx/30709444.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงยกย่องสมเด็จพระรามาธิบดี  หรือ   พระเจ้าอู่ทอง  ผู้สร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาว่า  เป็น  “พระเทพบิดร”  โปรดให้อัญเชิญพระรูปจากกรุงเก่า  มาแปลงเป็นพระพุทธรูปแล้วหุ้มองค์ด้วยเงินและปิดทอง  ให้พระนามว่า  “พระเทพบิดร”  แล้วให้ประดิษฐานไว้ในพระวิหารเป็นที่เคารพบูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน  ดังนั้น  “พระเทพบิดร”  จึงมิใช่เทพเจ้าองค์ใด  หากแต่เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

(https://i.ibb.co/3WfGcny/Destroyi.jpg) (https://imgbb.com/)

           “กล่าวถึงพระยานครสวรรค์ที่รับพระราชโองการให้นำทัพไปเกณฑ์กองทัพเขมรเข้าสมทบ  แล้วยกไปตีไซ่ง่อนนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า  เมื่อพระยานครสวรรค์ยกทัพไปถึงกัมพูชาแล้วก็เกณฑ์กองทัพเขมรรวมเข้ากับกองทัพไทย  จัดเป็นกองทัพเรือยกไปเมืองญวน  ฝ่ายองติงเวืองเจ้าเมืองไซ่ง่อนทราบว่ากองทัพไทยยกล่วงล้ำแดนเข้าไป  จึงเกณฑ์ทัพเรือให้ขุนนางเมืองไซ่ง่อนยกออกต่อรบป้องกันเมืองสักแดก  ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของตน  กองทัพไทยกับญวนได้รบกันเป็นสามารถ  พระยานครสวรรค์นั้นมีฝีมือเข้มแข็งยิ่งนัก  ยกทัพเรือเข้าตีทัพเรือญวนแตกเป็นหลายครั้ง  ยึดได้เรือญวนและไพร่พลญวนพร้อมศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก  แต่กลับส่งคืนไปให้แก่แม่ทัพญวนเสียทั้งสิ้น  พระยาพิชิตณรงค์กับข้าหลวงมีชื่อหลายนายเห็นพฤติการณ์ดังนั้นก็คิดเห็นตรงกันว่า  พระยานครสวรรค์กระทำผิดคิดการกบฏ  จะไปเข้าด้วยข้าศึก  จึงพากันบอกกล่าวโทษลงมา ณ กรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/1THTWVb/974276-img-rwh2i5-o6st.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในหนังสือบอกกราบทูลนั้นแล้วก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปให้หากองทัพพระยานครสวรรค์กลับคืนมา  เมื่อพระยานครสวรรค์ยกทัพกลับคืนมากรุงเทพฯ แล้ว  ทรงพระกรุณาให้เสนาบดีพิจารณาไต่สวน  ได้ความจริงตามหนังสือบอกกล่าวโทษนั้นแล้ว  จึงให้เอาตัวพระยานครสวรรค์กับขุนนางพรรคพวกสิบสองคนที่ร่วมคิดด้วยกันนั้น  ไปประหารชีวิตเสียที่ป่าช้าวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) นอกพระราชวัง  ให้เอาศีรษะเสียบประจานไว้ทั้งสิ้น”

(https://i.ibb.co/ChRRdt7/Unsstitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  การทำเสน่ห์ยาแฝดเป็นความเชื่อ  และทำกันแต่ยุคโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบัน  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังนิยมทำกันอยู่  ถึงกับเจ้าจอมบังอาจจ้างหมอเสน่ห์มาทำเสน่ห์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลงใหลในตัวนาง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงยิ่งนัก  จึงมีพระราชโองการให้เอาตัวเจ้าจอมและพวกรวมทั้งหมอทำเสน่ห์ไปประหารชีวิตเสียที่วัดตะเคียน  (ปัจจุบันคือวัดมหาพฤฒาราม)

(https://i.ibb.co/s5TMDWp/10.jpg) (https://imgbb.com/)

          การรบญวนเพื่อชิงเมืองไซ่ง่อนคืนแก่องเชียงสือไม่สำเร็จ  เพราะพระยานครสวรรค์แม่ทัพไทย  ที่รบชนะญวนแล้วเกิดเมตตาญวน  มอบเรือและไพร่พลพร้อมอาวุธคืนแก่แม่ทัพญวนเสียสิ้น  นายกองได้ทำเรื่องกราบบังคบทูล  ทรงทราบแล้วพิโรธยิ่งนัก  เรียกกองทัพพระยานครสวรรค์กลับมา  ไต่สวนแล้วได้ความเป็นจริงตามฟ้อง  จึงตรัสให้เอาตัวพระยานครสวรรค์กับขุนนางพรรคพวก  ไปประหารชีวิตที่วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) แล้วตัดศีรษะเสียบประจานไว้

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มิถุนายน, 2562, 10:51:37 PM
(https://i.ibb.co/hKRzCqY/3042.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบรมรูปทรงม้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือใต้)

- พระราชทานเพลิงศพเจ้าตาก -

ทรงขุดหีบศพพระเจ้าตากสิน
ณ วัดอินทารามคามวาสี
ตั้งพระเมรุสมโภชราชพิธี
จัดให้มีพระราชทานเพลิงผ่านไป


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงตอนที่  พระยานครสวรรค์ที่รับพระราชโองการให้ไปรบญวน  เขารบชนะญวนหลายครั้งแล้วยึดเรือรบ  อาวุธยุทโธปกรณ์และไพร่พลได้เป็นอันมาก  แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด  เขากลับคืนเรือรบ  อาวุธ  และไพร่พลที่ยึดได้มานั้น  ไปให้แม่ทัพญวนเสียสิ้น  เมื่อมีผู้ฟ้องร้องมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกกลับมา  สอบสวนแล้วได้ความจริงตามที่มีผู้ฟ้องร้องมา  จึงตรัสให้ประหารเสียที่ป่าช้าวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ)  แล้วตัดหัวเสียบประจานไว้  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/Sn6VwGp/89-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ต่อมาถึงศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพ  ถือพลทหาร ๕,๐๐๐  ยกกองทัพเรือออกไปตีไซ่ง่อนคืนแก่องเชียงสือให้จงได้  โดยให้เอาตัวองเชียงสือไปในกองทัพด้วย

(https://i.ibb.co/W6Kw3H9/liff-2-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ถวายบังคมลายกกองทัพเรือไปถึงเมืองพุทไธมาศ  จึงเกณฑ์กองทัพพระยาราชาเศรษฐี  พระยาทัศดาเมืองพุทไธมาศเข้าร่วมกองทัพไทยด้วย  แล้วยกไปตั้งค่ายอยู่ที่อ่าวมะนาวริมแม่น้ำแดงเมืองสักแดกเป็นหลายค่าย  แล้วให้องเชียงสือแต่งขุนนางญวนกับข้าหลวงไทยไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรญวนในแว่นแคว้นเมืองสักแดก  เมืองล่งโห้  เมืองสม่าถ่อ  ทั้งสามเมืองให้มาเข้าด้วยได้เป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/ZRjCjLv/115680938.jpg) (https://imgbb.com/)

          องติงเวืองเจ้าเมืองไซ่ง่อนทราบว่าทัพไทยยกมาคราวนี้ใหญ่กว่าคราวก่อน  จึงแต่งขุนนางญวนเป็นแม่ทัพเรือ  ยกออกมาตั้งรับอยู่ที่เมืองสักแดก  กองทัพทั้งสองยกเข้ารบกันเป็นสามารถหลายครั้งหลายคราไม่รู้แพ้ชนะแก่กัน    แต่แล้ววันหนึ่ง  ทัพเรือฝ่ายไทยลงไปรบญวนแล้วถอยกลับมาจอดเรือรบ  โดยเอาหัวเรือจอดหน้าค่ายปล่อยให้รี้พลขึ้นบกเข้าค่าย  ทิ้งเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยไว้ในเรือด้วยความประมาทมิได้ระวังข้าศึก

(https://i.ibb.co/7km3fhT/Picturep23.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นถึงเวลาน้ำขึ้นทัพเรือญวนยกตามขึ้นมาถึงหน้าค่ายแล้วยิงปืนขึ้นมาทำลายค่ายต้องทหารไทยตายหลายคน  พลทหารไทยเสียทีจะลงเรือออกต่อรบก็ไม่ทัน  จึงต้องทิ้งค่ายแตกหนีเป็นอลหม่านนายทัพนายกองกดไว้ไม่อยู่ก็พากันแตกหนีไปทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/WKkMYYR/Untitldgfed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ยามนั้นเป็นเทศกาลเดือนสิบสองน้ำนองเต็มไปทั้งทุ่ง  พลทหารทัพไทยต้องลุยน้ำลึกเพียงเอวบ้าง  เพียงอกบ้างหนีข้าศึกศัตรูด้วยความยากลำบากยิ่ง  ในส่วนเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์นั้นทรงจับกระบือได้ตัวหนึ่งก็ขี่ลุยน้ำพากำลังพลหนีเข้าเขตแดนกัมพูชา

(https://i.ibb.co/3hbStnX/9-fb88853e8.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายญวนนั้นเมื่อได้ชัยชนะแล้วก็มิได้รุกไล่ติดตามกำจัดพลทหารไทย  เพียงแต่เก็บได้เรือรบและเครื่องศัสตราวุธทั้งปวงในเรือรบไทยนั้นกับได้คนที่หนีไม่ทันได้บ้างแล้วก็เลิกทัพกลับไปไซ่ง่อน  กรมหลวงเทพหริรักษ์พากำลังพลพร้อมองเชียงสือหนีเข้ามาหยุดพักอยู่ในกัมพูชา  แล้วมีหนังสือบอกเรื่องการพ่ายแพ้ญวนเข้ามากรุงเทพฯ  กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ

(https://i.ibb.co/5rB7XKY/watintharam376.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือใต้)

          ในขณะที่กองทัพไทยนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์ยกไปตีญวนเมืองไซ่ง่อนนั้น  ทางกรุงเทพฯ ก็มีพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์กล่าวคือ  ดำรัสให้ขุดหีบศพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้  จัดให้มีมหรสพสมโภช  พระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล  แล้วทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ  ในเวลานั้นพวกเจ้าจอมข้างในทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้าซึ่งเป็นข้าราชการครั้งแผ่นดินพระเจ้าตาก  คิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้  พระเจ้าอยู่หัวเห็นดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสให้ลงพระราชอาชญาโบยหลังเสียทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/6ZbWZwB/014-114.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระมหาปราสาทในพระราชวังหลวง  และการสร้างปราสาทนั้นยังมิสำเร็จ  ทรงให้ขุดคลองปากลัดนั้นให้กว้างออกกว่าเดิมจนน้ำทะเลขึ้นแรงน้ำเค็มขึ้นมาถึงพระนคร

          ดังนั้น ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรงศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ.๒๓๒๗) นั้น  พระเจ้าอยู่หัวจึงพร้อมด้วยเจ้าต่างกรมทั้งปวง  เสด็จโดยทางชลมารคลงไปปิดคลองปากลัด  ให้เกณฑ์ข้าราชการขนมูลดินและอิฐหักถมทำเป็นทำนบกั้นน้ำ  และให้เกณฑ์กันขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าบรรทุกเรือลงมาถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง  น้ำเค็มจะไหลขึ้นมาทางคลองปากลัดไม่ได้ก็ไหลอ้อมไปทางแม่น้ำใหญ่  น้ำเค็มจึงไหลขึ้นมาไม่ถึงพระนคร  ราษฎรทั้งหลายก็ได้รับพระราชทานน้ำจืดเป็นสุขทั้งสิ้น”

(https://i.ibb.co/hMLjd0b/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือใต้)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้  พบเรื่องสมเด็จเด็จพระเจ้าตากสินอีกครั้ง  ประเด็นที่ว่า  พระเจ้าตากมิได้ถูกประหาร  หากแต่ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุแล้วหลบหนีไปอยู่ในเทือกเขาเขตเมืองนครศรีธรรมราชนั้น  ข้อความในพระราชพงศาวดารตรงนี้น่าจะลบล้างความเชื่อในตำนานนั้นได้บ้าง  เพราะพระราชพงศาวดารกล่าวว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์โปรดให้ขุดเอาหีบศพพระเจ้าตากสินขึ้นมา  ตั้งการพระเมรุ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม)  หลังจากนำพระศพมาฝังไว้ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕  พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินเก็บไว้เป็นเวลา ๒ ปี จึงมีพิธีพระราชเพลิง

          กองทัพไทยที่ยกไปตีญวน  พ่ายแพ้แก่ญวนอย่างหมดรูปเลยนะครับ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มิถุนายน, 2562, 11:07:43 PM
(https://i.ibb.co/gwGNF89/abca.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพพิมพ์แม่พิมพ์โลหะ
ในหลวง ร.๑ ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

- เชิญพระแก้วสถิตราชวัง -

สร้างเสร็จ“ดุสิตมหาปราสาท
ขยายราชวังอออกอีกกว้างใหญ่
เชิญพระแก้วมรกตศูนย์รวมใจ
สถิตในโบสถ์วัดพระราชวัง

เกณฑ์ผู้คนมากมายจากหลายแห่ง
ก่อกำแพงพระนครตามแผนผัง
ป้อมประตูคูคลองขุดรองรัง
เชื่อมสองฝั่งโค้งลำเจ้าพระยา


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดาร  ฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าถึงเรื่องราวของกองทัพไทย  นำโดยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ยกไปรบญวนเพื่อชิงเมืองไซ่ง่อนคืนแก่องเชียงสือ  แต่ทัพไทยกระทำการโดยความประมาท  จึงพ่ายแพ้แก่ญวนอย่างยับเยิน  แตกพ่ายมาหยุดพักอยู่ที่กัมพูชา  ในขณะที่ทัพไทยรบกับญวนอยู่นั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดหีบศพพระเจ้าตากสินซึ่งบรรจุไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (อินทาราม) ขึ้นมาตั้งพระเมรุจัดงานสมโภชแล้วพระราชทานเพลิง  จากนั้นทรงให้ขุดคลองปากลัด  ให้กว้างออกกว่าเดิมจนน้ำเค็มไหลเข้ามาถึงพระนคร  จึงต้องเสด็จไปเกณฑ์คนทำทำนบกั้นน้ำเค็มที่ปากลัด  ในการนี้ได้สั่งให้คนขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าบรรทุกเรือลงมาถมทำนบด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ขอเก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้มาบอกเล่าดังนี้ครับ

(https://i.ibb.co/ZB3sttG/Untitlesd-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           “วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓  สมุหนายกได้นำหนังสือบอกข้อราชการของกรมหลวงเทพหริรักษ์ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ  พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงพระพิโรธ  ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับเข้ามาพระนคร  แล้วลงพระราชอาชญาจำสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่  ซึ่งเสียทัพกับทั้งเรือรบเรือลำเลียง  พร้อมเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยแก่ข้าศึกนั้น  ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค์กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ์  และท้าวพระยาข้าราชการซึ่งอยู่ในเวรจำนั้นพ้นโทษด้วยกันทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/yPnpgxx/0.jpg) (https://imgbb.com/)
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

          ครั้นการสร้างพระมหาปราสาท  ยกเครื่องบนสำเร็จบริบูรณ์  ลงรักปิดทองแล้ว ถึง ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ เดือน ๔ เพลาเช้าสองโมงสี่บาท  ได้อุดมฤกษ์  จึงให้ยกยอดเอกพระมหาปราสาทข้างต้นมีพรหมพักตร์  แล้วปักพุ่มข้าวบิณฑ์ปลายยอดด้วย  พระราชทานนามมหาปราสาทนี้ว่า "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท"

(https://i.ibb.co/K0vpybQ/temple05.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/QkrxvJ8/JBK-7.jpg) (https://imgbb.com/)
พระแก้วมรกต   และ   วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

          ถึง ณ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔  ทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต  จากโรงในวังเก่าฟากตะวันตกลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง  มีเรือแห่เป็นกระบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง  อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่  ให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น  และการพระอารามนั้นสำเร็จบริบูรณ์แล้วจึงทรงตั้งนามว่า  "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)"

          ศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็งสัปตศก (พ.ศ.๒๓๒๘)  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร  ทรงพระประชวรพระโรคมารทะลุน  ถึงวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘  หลังก็สิ้นพระชนม์  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จไปสรงน้ำพระศพแล้วใส่พระโกศ  โปรดให้ปลูกพระเมรุที่วัดแจ้งในวังเก่า  เชิญพระโกศขึ้นยานมาศแห่เป็นกระบวนเข้าพระเมรุ  ให้มีการมหรสพสามวัน  นิมนต์พระสงฆ์สดัปกรณ์  ถวายไตรจีวรไทยทานแล้วพระราชทานเพลิง

(https://i.ibb.co/pP4xsf9/Untitl-ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปีมะเส็งสัปตศกนั้น  ทรงให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลก (ชายฉกรรจ์) หัวเมืองทั้งเดิมทั้งหมดขึ้น  สักหลังมือทั้งสิ้น  แล้วให้เกณฑ์เลกหัวเมืองขึ้นทั้งไทยลาวเขมรทั้งปวง  กับเลกไพร่หลวงสมกำลังให้ร่วมกันทำอิฐเพื่อใช้ก่อกำแพงสร้างพระนครใหม่  ให้รื้อป้อมวิไชเยนทร์และกำแพงเมืองเก่าเสีย  ขยายพระนครให้กว้างกว่าเก่า

(https://i.ibb.co/1rx3HPc/image.jpg) (https://imgbb.com/)
แผนผังป้อมกำแพงรอบพระนคร

          เกณฑ์เลกลาวเขมรหัวเมือง  ให้ขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก  ตั้งแต่วัดเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุข) ขึ้นมาถึงวัดสะแกไปถึงวัดบางลำพู  ออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง  วัดสะแกนั้นพระราชทานนามใหม่ว่า  วัดสระเกศ  แล้วให้มีตราให้หาท้าวพระยาหัวเมืองทั้งปวงเข้ามาเฝ้าพร้อมกัน  แล้วให้เกณฑ์หน้าที่ข้าราชการในกรุงฯทั้งพระราชวังหลวงวังหน้าวังหลังและหัวเมืองทั้งปวง  ร่วมกันขุดรากก่อกำแพงพระนครทั้งด้านแม่น้ำและด้านในคลองบรรจบกันโดยรอบ  ให้ก่อเชิงเทินและป้อมทำประตูใหญ่น้อยเป็นอันมากรอบพระนคร  

(https://i.ibb.co/fMq9S3P/a1-Untitled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วให้ขุดคลองหลอดออกจากคลองคูเมืองเดิมสองคลองไปออกบรรจบคลองคูใหม่นอกเมือง  ให้ทำสะพานช้างและสะพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครเป็นหลายตำบล  แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศ  และพระราชทานนามว่า  คลองมหานาค  เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครลงเรือไปประชุมกันเล่นเพลงเล่นสักวาเทศกาลน้ำเหมือนครั้งกรุงเก่า

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปจะให้ก่อสะพานช้างข้ามคูคลองเมืองที่เหนือคลองมหานาคนั้น  แต่พระพิมลธรรมวัดโพธาราม(วัดพระเชตุพนฯ)ออกไปถวายพระพรห้ามว่า  “สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าจะให้ทำสะพานใหญ่ข้ามคลองคูพระนครฉะนี้  หามีอย่างธรรมเนียมมาแต่บุราณไม่  แม้มีการสงครามมาถึงพระนคร  ข้าศึกก็จะได้โอกาสข้ามเข้ามาถึงชานกำแพงโดยง่าย  ประการหนึ่งแม้นจะแห่กระบวนเรือรอบพระนครก็จะเป็นที่กีดขวางอยู่”  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเห็นชอบตามที่พระพิมลธรรมถวายพระพรนั้น  จึงยกเลิกการสร้างสะพานเสีย  แล้วให้ทำแต่ท่าช้างสองฟากคลองไว้สำหรับให้ช้างเดินข้ามคูลองเท่านั้น”

          การตกแต่งพระนครยังไม่เสร็จสมบูรณ์  อ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ต่อวันพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, มิถุนายน, 2562, 11:49:49 PM
(https://i.ibb.co/FYQmtvx/Bangkok-178236.jpg) (https://imgbb.com/)

- ขนานนามพระนคร -

จัดสมโภชพระนครบวรรัตน์
ฉลองวัดเถลิงวังทั้งหลวง,หน้า
ขนานนามตามกรุงอโยธยา
ปวงประชาชื่นชมนิยมยิน

เกิดทุพภิกขภัยทวยไทยร้อน
ทรงผันผ่อนแก้ไขผ่านได้สิ้น
ข่าวข้าศึกยกมามืดฟ้าดิน
พม่าหมิ่นน้ำใจไทยอีกแล้ว


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาแสดงถึงเรื่องราวตอนที่หลังจากทรงสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเสร็จพร้อมพระอารามในพระราชวังเรียบร้อยแล้ว  จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากพระราชวังเดิมมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ  แล้วอาราธนาพระสงฆ์เถรานุเถระมาประชุมสวดผูกพัทธสีมา  จากนั้นพระราชทานนามอารามนี้ว่า  “ศรีรัตนศาสดาราม”  เสร็จการภายในพระราชวังแล้ว  ทรงเกณฑ์ไพร่หลวงสมกำลังมาก่อกำแพงพระนคร  และขุดคูคลองด้านตะวันออกพระราชวัง  มีคลองคูเมือง  และคลองมหานาค  เป้นสำคัญ  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/YXXG5ts/efault1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ครั้นการก่อสร้างพระนครใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว  โปรดให้มีงานฉลองสมโภชพระนคร  โดยให้นิมนต์พระสงฆ์ทุก ๆ อารามทั้งในกรุงนอกกรุงขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกใบเสมา  เสมาละองค์รอบพระนคร  พระราชทานเงินเกณฑ์ให้ข้าราชการทำข้าวกระทงมาเลี้ยงพระสงฆ์ทั่วทั้งสิ้น  พร้อมกันนั้นก็โปรดให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร  พระราชทานเลี้ยงยาจกวณิพกทั้งปวง  แล้วยังให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์รายรอบกำแพงเมือง  ทิ้งทานต้นละชั่งทั้งสามวัน  สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมากให้มีมหรสพต่าง ๆ ทั้งละครผู้หญิงโรงใหญ่  ให้เงินวันละสิบชั่งต่อโรง  สมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามกับทั้งพระนครด้วยครบสามวันเป็นกำหนด

(https://i.ibb.co/BGLvK5r/20131226.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเสร็จการฉลองพระนครแล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่  โดยเปลี่ยนแปลงจากกรุงเก่าว่า  “กรุงเทพมหานคร  บวรรัตนโกสินทร  มหินทรอยุธยามหาดิลกภพ  นพรัตนราชธานีบุรีรมย์  อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน  อมรพิมานอวตารสถิต  สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”  ดังนี้

          ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  เกิดฟ้าผ่าลงตรงซุ้มประตูฉนวนพระราชวังหน้า  และผ่าลงตรงยอดพระมหาปราสาทพระราชวังหลวงในวันเดียวกัน

          และในเดือน ๑๒ ปีนั้นมีน้ำมาก  ลึกถึงแปดศอกคืบสิบนิ้ว  ข้าวกล้าในท้องนาเสียหายเป็นอันมาก  จึงบังเกิดทุพภิกขภัยข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง  ประชาราษฎรทั้งหลายขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก  จึงมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายข้าวเปลือกในฉางหลวงออกแจกจ่ายแก่ราษฎรเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/nktk4Ng/Untidftled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ในปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๘ นั้น  มังโพเชียง  หรือ  ตะแคงแปงตะแล  พระอนุชาพระเจ้าปดุงคิดการกบฏ  พระเจ้าปดุงจึงให้จับกุมตัวได้แล้วประหารชีวิตเสีย  แล้วดำริว่ากรุงไทยผลัดแผ่นดินใหม่คงยังไม่ทันตั้งหลักได้มั่น  ควรจะยกทัพไปตีพระนครศรีอยุธยาคงจะชนะได้ไม่ยาก   จึงให้เกณฑ์กองทัพพม่า  มอญ  เมง  ทวาย  ยะไข่  กะแซ  ลาวและเงี้ยว  รวมกำลังพลได้หลายหมื่นหลายทัพ

(https://i.ibb.co/94DfQLx/Untitled-a5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ให้เนมโยคุงนรัด  เป็นแม่กองทัพหน้า  กับ  นัดมิแลง  ๑   แบตองจา ๑   นักจักกีโบ่ ๑   ตองพยุงโบ่ ๑   ถือพล ๒,๕๐๐  เป็นแม่ทัพบกยกมาทางเมืองมะริด  เข้าตีเมืองชุมพร  เมืองไชยา  ให้แก่งหวุ่นแมงญี  ถือพล ๔,๕๐๐ เป็นแม่ทัพยกหนุนมาทางหนึ่ง

          แล้วเกณฑ์ทัพเรือให้ญีหวุ่นเป็นแม่ทัพ  กับ  บาวาเชียง ๑   แองยิงเดชะ   ๑   ปตินยอ ๑   ถือพล ๓,๐๐๐  ยกมาตีเมืองถลาง  ให้แก่งหวุ่นแมงญีเป็นโบชุกบังคับทั้งทัพบกทัพเรือ

(https://i.ibb.co/d06yy1R/Ungstitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทางทวายนั้นให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวายเป็นแม่ทัพหน้า  กับ  จิกแกปลัดเมืองทวาย ๑   มณีจอข่อง ๑   สีหแยจอข่อง ๑   เบยะโบ่ ๑   ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาทางด่านเจ้าขว้าว  ให้จักสินโบ่เป็นแม่กองทัพหนุน  กับ  ตเรียงยามะชู ๑   มณีสินต ๑   สุรินทจอข่อง ๑   ถือพล ๓,๐๐๐ ยกหนุนมา

           และให้อนอกแผกดิกหวุ่นถือพล ๔,๐๐๐ เป็นโบชุกแม่ทัพ  ทั้งสามกองเป็นคน ๑๐,๐๐๐  ยกมาตีเมืองราชบุรีทางหนึ่ง  

(https://i.ibb.co/7kwnh4d/Untitledfad-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ทางเมาะตะมะนั้นให้เมี้ยนหวุ่นเป็นแม่กองทัพหน้าที่ ๑  กับขุนนางสิบนายคือ  กลาหวุ่น ๑   ปิลุงยิง ๑   สะเลจอ ๑   ปินญาอู ๑   อากาจอแทง ๑   ลานซางโบ่ ๑   อคุงหวุ่น ๑   ปันญีตะจวง ๑   ละไมหวุ่น ๑   ซุยตองอากา ๑   ถือพล ๑๐,๐๐๐ ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์    

          แล้วให้เมี้ยนเมหวุ่นเป็นแม่กองทัพหน้าที่ ๒  กับ  ย่อยแหลกยาแยข่อง ๑   จอกกาโบ่ ๑   จอกแยโบ่ ๑   ตะเหรี่ยงปันญี ๑   ถือพล ๕,๐๐๐ ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง

(https://i.ibb.co/jTvwbjF/1425717370-22-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          และทัพที่ ๓ นั้น  ให้คะแคงกามะพระราชบุตรที่สามเป็นแม่ทัพ  กับ  ยานจุหวุ่น ๑   จิดกองสิริยะ ๑   แยแลหวุ่น ๑   อตวนหวุ่น ๑   ถือพล ๑๐,๐๐๐ ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง

          ทัพที่ ๔ นั้นให้ตะแคงจักกุ  ราชบุตรที่สองเป็นแม่ทัพ  กับ  เมฆราโบ่ ๑   อกิตอ ๑   อากาปันญี ๑   มโยลัดหวุ่น ๑ ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง……”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  พระเจ้าปดุงแห่งพม่าทรงคิดเอาเองว่า  ไทยผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชวงศ์  ตั้งพระนครใหม่  กำลังยังอ่อนแอ  หากจะฉวยโอกาสที่ไทยเริ่มตั้งตัวใหม่นี้ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาก็คงจะได้โดยง่าย  จึงเกณฑ์กำลังจากชนชาติต่าง ๆ ในพม่า  ประกอบด้วย  มอญเมง ( มอญ เมง รามัญ เป็นอย่างเดียวกัน),  ทวาย, ยะไข่ (อาระกัน),  กะแชลาว (ลาวกะแช)  และเงี้ยว (ไทยใหญ่)  ซึ่งรวมทั้ง  กะเหรี่ยง  คะฉิ่น  ด้วย

(https://i.ibb.co/tbvQPjM/9army-cover.jpg) (https://imgbb.com/)

          การจัดทัพมาตีไทยคราวนี้  พระเจ้าปดุงกะว่าจะบดขยี้ไทยให้แหลกลาญจนไม่สามารถตั้งตัวได้อีกเลย  จึงจัดทัพใหญ่ถึง ๙ ทัพ  ยกมาทุกทิศทาง  ดูรายชื่อและจำนวนกำลังพลที่กล่าวมาแล้วนั้นก็นับว่าน่ากลัวไม่น้อยแล้ว  ยังมีทัพใหญ่ที่ยังไม่ได้นำมาบอกกล่าวอีกเล่า  เอาไว้วันรุ่งพรุ่งนี้จะนำรายชื่อแม่ทัพนายกองของพม่ามาแจ้งให้ทราบต่อไป  ไทยจะรับศึกใหญ่จากพม่าได้อย่างไร  อดใจรอผลกันต่อไปนะครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg42841#msg42841)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43202#msg43202)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มิถุนายน, 2562, 12:25:10 AM
(https://i.ibb.co/tsPHrwy/kaowTapp.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43013#msg43013)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43383#msg43383)                   .

- จัดทัพรับศึกพม่า -

พระเจ้าปดุงมุ่งหน้ามาเก้าทัพ
ไพร่พลนับเรือนแสนแน่นเถื่อนแถว
ฝ่ายสยามจัดทัพรับทุกแนว
แม้ทแกล้วทหารน้อยไม่ถอยเลย


          อภิปราย ขยายความ...............................

          เมื่อวันวานนี้ได้พูดถึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามดำรัสให้ก่อสร้างพระที่นั่งดุสิตพระมหาปราสาท  อัญเชิญพระแก้วมรกตเข้าประดิษฐาน ณ พระราชวังใหม่  ให้ก่อกำแพงพระนครและขุดคลองมหานาคและคลองอื่น ๆ  เมื่อสร้างพระนครเสร็จแล้วจัดให้การฉลอง  และขนานนามพระนครใหม่ว่า  "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร มหินทรอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"  ในขณะที่ไทยสร้างพระนครเสร็จใหม่ ๆ นั้น  พระเจ้าปดุงแห่งพม่าก็จัดกองทัพใหญ่เก้ากองยกมารุกรานไทย  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่จะเก็บความมาบอกเล่าดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/7GGsRvS/1401698644-n20-o.png) (https://imgbb.com/)

           - “กองทัพที่ ๕  ซึ่งเป็นทัพหลวงนั้น  พระเจ้าปดุงทรงเป็นแม่ทัพคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐
               ให้อแซวังมูเป็นกองหน้า  กับ  จาวาโบ ๑   ยะไข่โบ่ ๑   ปกันหวุ่น ๑   ลอกาซุงถ่องหวุ่น ๑   เมจุหวุ่น ๑   รวมเป็นหกนาย
               ปีกขวานั้นให้มหยอกวังมู เป็นแม่กอง  กับ  อำมลอกหวุ่น ๑   ตวนแซงหวุ่น ๑   แลจะลอพวา ๑   ยัดจอกโบ่ ๑   งาจุหวุ่น ๑   เป็นหกนาย
               ปีกซ้ายนั้นให้ตองแวมูเป็นแม่กอง  กับ  แลกรุยกีมู ๑   แลแซงหวุ่น ๑   ญวนจุหวุ่น ๑   เยกีหวุ่น ๑   สีบอจอพวา ๑   เป็นหกนาย
               กองทัพหลังนั้นให้อหนอกแวงมูเป็นแม่กอง  กับ  รวาลักหวุ่น ๑   ออกกะมาหวุ่น ๑   โมกองจอพวา ๑   โมเยียงจอพวา ๑   โมมิกจอพวา ๑   เป็นหกนาย
               รวมทั้ง ๕ ทัพเป็นพล ๕๕,๐๐๐ คน  ยกมาทางกาญจนบุรีทางหนึ่ง

(https://i.ibb.co/Yt49f0y/09aaa.jpg) (https://imgbb.com/)

          - ส่วนทางเมืองตากนั้น  ชุกตองเวละจอแทงเป็นแม่ทัพ  กับ  ชุยตองนรทา ๑   ชุยตองสิริยจอพวา ๑   ถือพล ๓,๐๐๐ เป็นกองหน้า
               ให้จอข่องนรทาถือพล ๒,๐๐๐ เป็นกองหนุน   ทั้งสองทัพเป็นคน ๕,๐๐๐ ยกมาทางหนึ่ง

(https://i.ibb.co/872ZnkH/Untitsdfled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

               และทางเชียงใหม่นั้นให้สะโดะมหาสิริยอุจนาเจ้าเมืองตองอูเป็นโบชุกแม่ทัพ  กับนายทัพนายกองเป็นหลายนายยกมาทางหนึ่ง
          ครั้นสะโดะมหาสิริยอุจนายกมาถึงเชียงแสนแล้ว  จึงบังคับให้เนมโยสีหชุยะเป็นแม่ทัพ  กับ  ปันญีจองโบ่ ๑   ลุยลันตองโบ่ ๑   ปลันโบ่ ๑   มัดชุมรันโบ่ ๑   มิกอุโบ่ ๑   แยจอนรทา ๑   สาระจอชู ๑   เป็นแปดนาย  ถือพล ๕,๐๐๐ ยกแยกมาตีเมืองสวรรคโลกทางหนึ่ง  เมืองสุโขทัยทางหนึ่ง  เมืองพระพิษณุโลกทางหนึ่ง

(https://i.ibb.co/vY7Ryc0/Untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทางแจ้ห่มนั้นแต่งให้อาปรกามนี  เจ้าเมืองเชียงแสนเป็นแม่ทัพ  กับ  พระยายอง ๑   พระยาไชย ๑   เชียงกเล ๑   เป็นห้านาย  ถือพลพม่า ๓,๐๐๐ เป็นกองหน้า  
               ตัวสโดะมหาสิริยอุจนาเป็นแม่ทัพ  กับ  แจกแกโบ่ ๑   อดุงหวุ่น ๑   อุติงแจกกะโบ่ ๑  เนมโยยันตมิก ๑   พระยาแพร่ ๑   เป็นหกนาย  ถือพล ๑๕,๐๐๐
               ทั้งสองทัพเป็นคน ๑๘,๐๐๐  ยกมาตีเมืองนครลำปาง

(https://i.ibb.co/SwqdN5F/Un7titled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในการจัดทัพของพระเจ้าปดุงครั้งนี้เป็นกองทัพใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา  คือมีกำลังพลทั้งหมดถึง ๑๐,๓๐๐๐ คน  มีช้างม้าเครื่องศัสตราวุธพร้อมสรรพ  ให้ยกมาพร้อมกันทุกทิศทุกทาง  พระเจ้าปดุงมอบให้อินแซะมหาอุปราชบุตรผู้ใหญ่อยู่รักษาพระนคร  แล้วพระองค์ก็ยกทัพบกทัพเรือมาอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ  แล้วเร่งให้ทัพหน้าที่หนึ่งยกมาตั้งอยู่ที่เมืองสมิ  แล้วเดินทัพล่วงหน้าเข้ามาถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ก่อนทัพอื่น ๆ”

(https://i.ibb.co/DCbcFLP/ew-Untitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  ในปีมะเส็ง  จุลศักราช ๑๑๔๗  ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๘ นั้น  พระเจ้าปดุงจัดทัพใหญ่ยกมาตีสยามประเทศ  เดินทัพเข้าทุกทิศทุกทางดังกล่าวแล้ว   วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒  พวกมอญออกไปตระเวนด่านกลับมาเข้ากราบทูลว่า  ได้ข่าวพม่ายกกองทัพมาตั้งอยู่ ณ เมืองสมิ  จะยกเข้ามาตีพระนคร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวศึกดังนั้น  จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์  กับทั้งท้าวพระยาเสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลาย  ปรึกษาราชการสงครามอยู่เป็นหลายเพลา  ในขณะนั้นก็มีหนังสือบอกจากเมืองชุมพร  เมืองถลาง  เมืองกาญจนบุรี  เมืองราชบุรี  เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร  เมืองสุโขทัย  เมืองสวรรคโลก  เมืองนครลำปาง  บอกข้อราชการศึกว่าพม่ายกทัพมาเป็นหลายทัพหลายทาง

(https://i.ibb.co/CVP4mrh/Untitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  ยกทัพหลวงไปรับทัพพม่าทางเมืองกาญจนบุรี  
          ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน ต้นตระกูล สนธิรัตน์) ผู้ว่าราชการ ณ ที่สมุหนายก  คุมทัพท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายพระราชวังหลวง  และทัพหัวเมืองทั้งปวง  โดยเสด็จพระราชดำเนินอีกทัพหนึ่ง  
          ให้เจ้าพระยาธรรมาธิบดี  กับ  เจ้าพระยายมราช  เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปรับทัพพม่า ณ เมืองราชบุรีกองทัพหนึ่ง
          ทางเหนือนั้นมีพระราชดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง  กับ  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ  และเจ้าพระยาเสนาบดีศรีสมุหกลาโหม  เจ้าพระยาพระคลัง  พระยาอุทัยธรรม  และท้าวพระยาข้าราชการในกรุงฯ และหัวเมืองทั้งปวง  ยกไปตั้งรับพม่า ณ เมืองนครสวรรค์ทัพหนึ่ง”

          * ไทยจะรับศึกพม่าไหวไหมพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, มิถุนายน, 2562, 12:34:34 AM
(https://i.ibb.co/3FtwJQR/1338707662-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- การรบยกแรกที่ลาดหญ้า -

และแล้วสองทัพใหญ่เผชิญหน้า
ณ ลาดหญ้าทันใดไม่เอื้อนเอ่ย
เข้ารบลุกบุกตะบันกันอย่างเคย
สองฝ่ายเผยธาตุแท้ให้แก่กัน

คือสู้อย่างทรหดไม่ลดละ
ฝ่ายไทยปละมือปล่อยล่าถอยยั่น
กรมพระราชวังบวรฯทรงกริ้วพลัน
สั่งให้บั่นหัวนายทัพเสียบประจาน

ประกาศว่าใครถอยไม่ปล่อยยก
จับใส่ครกโขลกแหลกสิ้นสงสาร
รบเพื่อชาติศาสน์พร้อมยอมวายปราณ
ต้องเหี้ยมหาญเหิมสู้ริปูมิกลัว


          อภิปราย ขยายความ..................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงตอนที่  พระเจ้าปดุงแห่งพม่าจัดทัพยกมาตีกรุงเทพมหานครฯ ๔ ทาง  คือ

          มาทางด่านสิงขร  ประจวบคีรีขันธ์  ทางหนึ่ง
          ทางด่านพระเจดีย์สามองค์  กาญจนบุรี  ทางหนึ่ง
          ทางล้านนา  เชียงแสน  เชียงใหม่  ทางหนึ่ง
          ทางด่านแม่ละเมา  แม่สอด  จังหวัดตาก  ทางหนึ่ง

(https://i.ibb.co/N9jyrGz/1338707662-1.jpg) (https://imgbb.com/)

จัดเป็นกองทัพใหญ่น้อยรวมได้ ๙ ทัพ  กำลังพลจำนวนแสนเศษ  โดยพระเจ้าปดุงเป็นแม่ทัพหลวง  ยกมาตั้งที่เมาะตะมะ เตรียมเดินทัพเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบข่าวศึกจึงตรัสให้จัดกองทัพรับศึกทางเหนือ  ใต้  และตะวันตก  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  เชิญอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อนะครับ

           “สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  ถวายบังคมลาเสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิปิดทองทึบ พระที่นั่งสวัสดิชิงชัยประกอบพื้นดำทรงพระชัยนำเสด็จ  พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเสด็จเป็นอันมาก  ดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงจากกรุงเทพฯ โดยทางชลมารค

(https://i.ibb.co/3BktZb8/Untitldfded-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           ดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา  พระยาจ่าแสนยากร เป็นกองหน้า  
          ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้ว่าที่สมุหนายกเป็นเกียกกายทัพ  
          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎา  เป็นยกกระบัตรทัพ  
          มีพระยามนเทียรบาลเป็นกองหลัง  มีพลทหารในกองทัพทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐  คน  ดำเนินไปทั้งทางบกทางเรือถึงตำบลลาดหญ้าเหนือเมืองกาญจนบุรี  จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้หยุดทัพหลวงอยู่ที่นั้น  ให้กองหน้ากองหนุนตั้งค่ายรายกันอยู่เป็นหลายค่าย  โดยชักปีกกาถึงกันทุก ๆ ค่าย ค่ายหลวงนั้นตั้งห่างค่ายหน้าลงมาในระยะทางห้าเส้น  ให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมเสร็จ  

(https://i.ibb.co/prYHmR3/Untitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วดำรัสให้พระยามหาโยธาคุมกองมอญ ๓,๐๐๐  ยกออกไปตั้งค่ายขัดทัพอยู่ ณ ด่านกรามช้าง
           ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาธิบดี  เจ้าพระยายมราช  ถือพล ๕,๐๐๐  ยกออกไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองราชบุรีเป็นหลายค่าย
           ส่วนกองทัพกรมพระราชวังหลังและกรมหลวงนรินทร์รณเรศ  ถือพล ๑๕,๐๐๐  คนนั้นก็ยกไปตั้งทัพหลวงอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์
           ให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นกองหน้าไปตั้งค่าย ณ เมืองพิจิตร
           ให้เจ้าพระยาพระคลัง  และ  พระยาอุทัยธรรมเป็นกองหลัง ตั้งค่ายอยู่เมืองชัยนาท  ระวังพม่าจะยกมาทางเมืองอุทัยธานี

(https://i.ibb.co/DGZxxH4/Unti-tled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

           กองทัพพระเจ้าปดุงซึ่งยกมาทางเมืองเมาะตะมะ  ทัพหน้าที่ ๑ ล่วงเลยเข้ามาทางด่านกรามช้าง เข้าตีค่ายพระยามหาโยธาแตกพ่ายเข้ามา  แล้วพม่าก็เดินทัพตามเข้าจนถึงตำบลลาดหญ้าที่กองทัพหลวงของไทยตั้งอยู่  

(https://i.ibb.co/WtRyfDY/Untitlsed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           พร้อมกันนั้นทัพที่ ๒ ของพม่ามีพล ๑๕,๐๐๐ คนก็ยกหนุนเข้ามาสมทบทัพที่ ๑  เมี้ยนหวุ่นกับเมี้ยนเมหวุ่นแม่ทัพทั้งสองกอง ก็ให้นายทัพนายกองของตนเกณฑ์พลทหารตั้งค่ายรายกันเป็นหลายค่าย  ชักปีกกาถึงกัน  
           ไล่เรี่ยกันนั้นตะแคงกามะ  ทัพที่ ๓  ก็ยกหนุนมาตั้งค่ายอยู่ ณ ท่าดินแดง
           ตะแคงจักกุ  ทัพที่ ๔  ก็ยกตามมาตั้งค่ายอยู่ ณ สามสบ  

(https://i.ibb.co/R9X4XvR/Rsiamindu175541.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงยกตามมาตั้งค่ายหลวงอยู่ ณ ด่านพระเจดีย์สามองค์แดนต่อแดนเพื่อคอยฟังข้อราชการจากกองหน้า  แล้วให้เกณฑ์รี้พลกองลำเลียงขนเสบียงอาหารส่งกองหน้ามิได้ขาด

(https://i.ibb.co/N7yTCxt/U450ntitled-14.jpg) (https://imgbb.com/)

           สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  เห็นพม่ายกทัพมาตั้งค่ายรายเรียงอยู่ดังนั้น  จึงมีพระราชบัณฑูรให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง  ยกกำลังออกโจมตีค่ายพม่าทันที  พม่าก็ต่อรบเป็นสามารถ  ทั้งไทยและพม่ายิงปืนโต้ตอบใส่กันราวห่าฝนจนเกิดล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่ทัพไทยก็ไม่สามารถตีหักเอาค่ายพม่าได้จึงล่าถอยกลับเข้าค่าย

(https://i.ibb.co/XsJ4TLK/Un-titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ยามนั้นจึงมีพระบัณฑูรให้ทำครกทำสากไว้ในค่ายสามสำรับ  แล้วให้ประกาศแก่นายทัพนายกองและทหารทั้งปวงว่า “ถ้าผู้ใดถอยหนีข้าศึก  จะเอาตัวลงใส่ในครกโขลกเสีย”   แล้วดำรัสให้พระยาสีหราชเดโช  พระยาท้ายน้ำ  พระยาเพชรบุรี  ทั้งสามเป็นนายทัพกองโจร  พระยารามคำแหง  พระเสนานนท์  เป็นปลัดทัพ  ถือพล ๕๐๐ ยกออกลัดป่าไปคอยสกัดตีตัดกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ช่องแคบ  อย่าให้พม่าส่งลำเลียงกันได้

(https://i.ibb.co/bdc0TN5/Untitlxed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระยาสีหราชเดโชนำกำลังกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชดำรัส  จับพม่าได้บ้างก็ส่งไปยังทัพหลวง  แต่แล้วก็เกิดย่อท้อต่อข้าศึก  จึงหลีกหนีไปตั้งซุ่มทัพอยู่ที่อื่น  ขุนหมื่นในกองทัพมาฟ้องกล่าวโทษให้ทรงทราบ  จึงดำรัสให้พระยามนเทียรบาลและข้าหลวงหลายนายยกกำลังไปจับตัวพระยานายทัพกองโจรทั้งสามนายประหารชีวิตเสีย  ตัดศีรษะนำมาถวาย    ส่วนปลัดทัพนั้นให้เอาดาบสับศีรษะคนละสามเสี่ยง

(https://i.ibb.co/q7pgtWR/Untit-led-44.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระยามนเทียรรับพระราชบัณฑูรแล้วดำเนินการตามดำรัสได้ทุกประการ  เอาศีรษะใส่ชะลอมนำมาถวาย ณ ค่ายหลวง  มีพระราชบัณฑูรให้เอาศีรษะทั้งหมดเสียบประจานไว้หน้าค่าย  ประกาศว่าอย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างต่อไป”

           ** ท่านผู้อ่านครับ  การรบระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกาญจนบุรีเริ่มจะเข้มข้นขึ้นแล้ว  พรุ่งนี้มาดูกันว่า  ผลการรบจะลงเอยอย่างไรครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กรกฎาคม, 2562, 12:12:18 AM
(https://i.ibb.co/cTkykvm/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ใช้อุบายลวงพม่าให้เสียขวัญ -

ตั้งนายกองโจรใหม่แทนคนเก่า
“พระองค์เจ้าขุนเณร”เป็นนายหัว
เสบียงพม่ามาปรากฏปล้นหมดครัว
ทั้งจับตัวเป็นตายได้ทุกวัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงนึกกลัวชนะช้าพม่าหยัน
เสด็จด่วนสู่ด่านเมืองกาญจน์พลัน
ปลุกปลอบขวัญทหารกล้าพม่าคร้าม

กรมพระราชวังบวรเจ้า
ทรงถือเอากลศึกอุบายสยาม
“ถ่ายกำลัง”ลวงพม่าตื่นเต้นตาม
แล้วเกิดความท้อแท้แพ้กลลวง


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ถึงพระเจ้าปดุงแห่งกรุงอังวะกรีธาทัพใหญ่มารุกรานไทย  ทั้งทางใต้ทางเหนือ  โดยพระองค์ยกทัพหลวงมาทางตะวันตก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  เป็นแม่ทัพยกพลไปรับทัพพม่า ณ เมืองกาญจนบุรี  ทรงตั้งค่ายหลวง ณ ตำบลลาดหญ้า  และได้รบกับกองทัพหน้าของพระเจ้าปดุง  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/R2yNTSD/Untit34555led-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อพระยาสีหราชเดโช  พระยาท้ายน้ำ  พระยาเพชรบุรี  นายทัพกองโจรทั้งสามเกิดความย่อท้อต่อข้าศึกไม่ปฏิบัติตามพระราชบัณฑูร  จนถูกพระยามนเทียรบาลนำข้าหลวงทั้งปวงไปจับตัวประหารชีวิต  ตัดศีรษะใส่ชะลอมมาถวาย ณ ค่ายหลวงตามพระราชบัณฑูรแล้ว  สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรเป็นนายทัพกองโจรกับข้าหลวงหลายนาย  คุมทหาร ๑,๐๐๐ ยกไปบรรจบกับกองโจรเดิมเป็นคน ๑,๕๐๐   คอยก้าวสกัดตีกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ดังก่อน  พระองค์เจ้าขุนเณรยกกำลังไปกระทำตามรับสั่งอย่างแข็งขัน  จับได้พม่าและช้างม้าโคต่าง ๆ แล้วส่งมาถวายเนือง ๆ

(https://i.ibb.co/Sd9J006/Untitle128d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเมี้ยนหวุ่นกับเมี้ยนเมหวุ่นแม่ทัพพม่าทั้งสองนายก็ให้แต่งหอรบขึ้น ณ ค่ายหน้าเป็นหลายแห่ง  เอาปืนใหญ่ขึ้นหอรบแล้วระดมยิ่งใส่ค่ายไทย  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้เอาปืนลูกไม้ครั้งพระเจ้าตาก  เข็นออกไปตั้งหน้าค่าย  แล้วให้ระดมยิงค่ายพม่าและหอรบจนหักพังลงเป็นหลายตำบล  พลพม่าในค่ายถูกกระสุนปืนที่ทำด้วยไม้ล้มตายและบาดเจ็บลำบากเป็นอันมาก  มิอาจยกออกนอกค่ายได้จึงรักษามั่นอยู่แต่ในค่าย  อีกทั้งยังขัดเสบียงอาหารจนถอยกำลังลง  ยามนั้นสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการสงครามให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ณ กรุงเทพมหานคร

(https://i.ibb.co/kDMWx90/399905293878143.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบในข้อราชการสงครามดังนั้นก็ทรงปริวิตก  เกรงว่าจะเอาชัยชนะในข้าศึกโดยเร็วไม่ได้  ถึง ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่  จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาลประกอบพื้นแดง  พระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ประกอบพื้นดำ  ทรงพระชัยนำเสด็จพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทร่วมเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นอันมาก  มีพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวง ๒๐,๐๐๐  ยาตรานาวาพลพยุหะจากกรุงเทพฯ โดยทางชลมารคถึงเมืองกาญจนบุรี

(https://i.ibb.co/Lg3K5GN/Untitled-1a5.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงทราบก็รีบเสด็จพระราชดำเนินลงมาถวายบังคมรับเสด็จ  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงช้างพระที่นั่งพังเทพลีลาผูกกูบทองพร้อมด้วยเครื่องกรรภิรมย์  และธงชัยราชกระบี่ธุชพระครุฑพาหนะแห่โดยขนาด  พลโยธาหาญล้วนสวมใส่เสื้อสักหลาดแดง  หมวกแดง  พรั่งพร้อมด้วยพลสินธพและธงทวนกระบวนปืนนกสับสรรพอเนกวิวิธาศัสตราวุธแหนแห่แลไสว  ประโคมฆ้องชัยเบญจดุริยดนตรีแตรสังข์กลองชนะโครมครึกกึกก้อง  เสียงพลทหารโห่ร้องบันลือศัพท์กาหลตลอดทาง  เสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงจวบจนถึงค่ายหลวง  เมื่อประทับ ณ พลับพลาเรียบร้อยแล้วจึงปรึกษาราชกิจการสงครามด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า

(https://i.ibb.co/KjMnw8M/Untitled-545.jpg) (https://imgbb.com/)

          กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลพระกรุณาว่าทัพพม่าข้าศึกจวนจะแตกอยู่แล้ว  ขออย่าได้ทรงพระวิตกเลย  ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชธุระอาสาในราชการสงครามเอาชัยชำนะปัจจามิตรฉลองพระเดชพระคุณให้จงได้  อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนยังพระนครเถิด  เพื่อจะได้ทรงพระราชดำริจัดการต่อสู้อริราชดัสกรในทางอื่น ๆ สืบไป  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามคำกราบทูล  ครั้นเพลาค่ำวันนั้นจึงยาตราทัพหลวงกลับมาโดยกระบวนราบถึงเมืองกาญจนบุรี  แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งดำเนินพยุหนาวาทัพกลับคืนพระนคร

(https://i.ibb.co/c8zB6xc/Unsftitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในยามที่กองทัพหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จดำเนินจากเมืองกาญจนบุรีสู่ค่ายหลวง ณ ตำบลลาดหญ้าอย่างอึกทึกกึกก้องดังกล่าวข้างต้นนั้น  ฝ่ายพม่าได้ยินเสียงรี้พลช้างม้าฆ้องกลองกึกก้องสนั่นไปทั้งป่าจึงขึ้นดูบนหอรบ  เห็นทัพหลวงยกหนุนเนื่องมาดังนั้นก็พากันครั่นคร้ามขามเดชานุภาพเป็นกำลัง  แม่ทัพทั้งสองนายให้เก็บเอาลูกปืนไม้ที่ยิงไปตกในค่ายนั้น  ให้ตอญากับไพร่นำไปถวายพระเจ้าอังวะกราบทูลว่า  ไทยเอาไม้เป็นลูกปืน  ต่อไม้หมดสิ้นทั้งป่าจึงจะสิ้นกระสุนปืนเขา  เมื่อใดไม้ในป่าจะสิ้น  ซึ่งจะตีเอาเมืองไทยให้ได้นั้นเห็นเป็นเหลือกำลัง  ทั้งกองโจรไทยก็มาตั้งซุ่มสกัดตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะส่งกันก็ขัดสน  รี้พลก็อดอยากถอยกำลังลงทุกวัน ๆ จะขอพระราชทานล่าทัพ  พระเจ้าปดุงทรงเห็นด้วยจึงให้มีหนังสือตอบถึงแม่ทัพว่า  ให้รั้งรอดูท่วงทีก่อน  ถ้ารี้พลอิดโรยหนักเห็นจะทำการไม่สำเร็จจึงค่อยล่าทัพถอย อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึก  แม่ทัพได้แจ้งในหนังสือรับสั่งดังนั้นก็รั้งรออยู่ต่อรบแต่ในค่าย  โดยมิยอมออกรบนอกค่าย

(https://i.ibb.co/hsBg2VD/df-400.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงพระราชดำริเป็นกลศึก  โดยเพลากลางคืนให้ผ่อนช้างม้ารี้พลลงมายังค่ายเมืองกาญจนบุรีอย่างเงียบเชียบ  ครั้นเพลาเช้าก็ให้ยกกลับไปยังค่ายหลวงอย่างอึกทึกครึกโครม  ให้เดินพลและช้างม้าเรี่ยรายกันเนื่องขึ้นไปอย่าให้ขาดตั้งแต่เช้าจดเย็น  ลวงให้พม่าแลเห็นกองทัพยกหนุนขึ้นมาเป็นอันมาก  ทรงให้กระทำดังนี้ทุก ๆ วันพม่าขึ้นดูบนหอรบเห็นดังนั้นก็สำคัญว่ากองทัพไทยยกมาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน  ก็ยิ่งย่อท้อกลัวเกรงเป็นอย่างมาก  และในยามนั้นในค่ายพม่าก็บังเกิดไข้ทรพิษทำให้รี้พลพม่าเจ็บป่วยลำบากและล้มตายลงก็มาก  ทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสนกำลังศึกถอยลงทุกประการ”

(https://i.ibb.co/cF8kPy2/Untisfatled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงตั้งให้พระองค์เจ้าขุนเณร  เป็นนายกองโจรคนใหม่แทนพระยาสีหราชเดโชและพวกที่ถูกตัดหัวเสียบประจานไปแล้ว  พระองค์เจ้าขุนเณรผู้นี้เป็นใครมาจากไหน  ไม่ปรากฏรายละเอียดในพระราชพงศาวดาร  ทรงเป็นหัวหน้ากองโจรที่เก่งกล้าสามารถยิ่งนัก  และอยู่มาจนถึงสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์สมัยรัชกาลที่ ๓  ในตำแหน่งหัวหน้ากองโจรนี้แหละครับ

(https://i.ibb.co/dbwKppG/Untidftled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          เราก็ได้ทราบกันจากพระราชพงศาวดารนี้แหละนะครับว่า  ลูกกระสุนปืนสำคัญที่สุดของไทยในยามนั้นคือ  “กระสุนไม้”  ท่านตัดไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นลูกกระสุนปืนยิงใส่ค่ายพม่า  กระสุนไม้นี้เริ่มใช้มาแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว  ทรงจัดทำไว้มากแต่ยังใช้ไปไม่มาก  เพราะพม่าล่าถอยกลับไปเสียก่อน  คราวนี้นำออกมาใช้ทำลายค่ายพม่า  และทำลายชีวิตทหารในค่าย  จนพม่าย่อท้อ  แม่ทัพถึงกับกราบทูลพระเจ้าประดุงว่า  “ไม้ยังไม่หมดป่า  ลูกปืนของไทยที่ยิงพม่าก็ไม่หมด”

(https://i.ibb.co/DfKHCQ9/Untitl-ed-46.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตอนนี้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงใช้กลอุบาย  “ถ่ายกำลัง” ลวงพม่าให้เข้าใจว่ามีกองกำลังจากกรุงเทพมหานครยกไปสมบทหนุนเนื่องทุกวัน  ในค่ายพม่าเกิดไข้ทรพิษ  และขาดเสบียงอาหาร  นายทัพนายกองเกิดความรู้สึกท้อแท้  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจะทรงเผด็จศึกพม่าได้อย่างไรหรือไม่  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณธ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กรกฎาคม, 2562, 11:17:39 PM
(https://i.ibb.co/Pc6MfxG/15134581.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่ายอมแพ้ถอยทัพกลับ -

แล้วแม่ทัพนายกองของพม่า
ล้วนเห็นว่าทัพไทยแสนใหญ่หลวง
หากขืนสู้ต่อไปตายทั้งปวง
จึงสิ้นห่วงชัยชนะอันจะมี

รีบย้ายแยกแหกค่ายไม่รบรับ
สลายทัพทยอยเร่งถอยหนี
ไทยเข้าค่ายพม่านั้นยึดทันที
ไล่ตามตีพม่าตายเกลื่อนรายทาง

พระเจ้าปดุงถอยทัพกลับเมาะตะมะ
ไทยชนะเด็ดขาดลาดหญ้าว่าง
ยังเหลือทัพราชบุรีมิละวาง
จึงทรงย่างยาตรามาจัดการ


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาบอกเล่าถึงตอนที่  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  มีหนังสือกราบบังคมทูลรายงานการสู้รบที่ลาดหญ้า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวิตกว่า  การรบจะยืดเยื้อ  ได้ชัยชนะพม่าช้าไป  จึงเสด็จพยุหยาตราโดยทางชลมารคสู่สมรภูมิรบที่ลาดหญ้า  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ กราบบังคมทูลให้เสด็จกลับพระนคร  เพื่อเตรียมการรบทางอื่นต่อไปไม่ต้องทรงห่วงทางกาญจนบุรี  ทรงยืนยันว่าจะเอาชนะพม่าให้ได้โดยเร็ววัน

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนครแล้ว  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯทรงใช้กลอุบาย  “ถ่ายกำลังพล”  ให้พม่าเห็นว่ามีกองทัพจากพระนครยกมาหนุนวันละเป็นจำนวนมาก  ทำให้พม่าพากันย่อท้อเสียขวัญหมดกำลังใจในการสู้รบ  รออยู่แต่ในค่ายเท่านั้น  เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร  อ่านพระราชพงศาวดารต่อไปนี้ครับ

(https://i.ibb.co/vZMXhvh/Un-titled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ถึง ณ วันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง  ยกพลทหารออกระดมตีค่ายพม่าทุกทัพทุกกอง  ให้เอาปืนใหญ่ลากล้อออกยิงค่ายพม่าทุก ๆ ค่าย  ทำให้ค่ายและหอรบหักพังทำลายลงเป็นหลายตำบล  ฝ่ายพม่าก็ต่อรบด้วยการยิงปืนใหญ่น้อยตอบโต้ตั้งแต่เช้าจนค่ำ

(https://i.ibb.co/Wvg7Pdq/chbfd5idf9fd5kbceha66.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเวลาประมาณทุ่มเศษ  แม่ทัพพม่าเห็นเหลือกำลังจะสู้รบต่อไปได้  ก็แตกฉานออกจากค่ายหนีไป  พลทหารไทยก็เข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้นจับได้ผู้คนทั้งดีและเจ็บป่วยกับเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก  สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงมีพระราชบัณฑูรให้กองทัพทั้งปวงยกติดตามพม่าไปจนถึงปลายแดน  จับพม่าที่หนีไม่ได้กับช้างม้าเครื่องศัสตราวุธอีกเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/3B09qYX/Untditled-27.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นกองโจรพระองค์เจ้าขุนเณรได้แจ้งว่าพม่าแตกหนีแล้วก็ยกออกก้าวสกัดตีตามกลางทาง  จับได้ผู้คนและเครื่องศัสตราวุธช้างม้าก็มากและส่งลงไปถวาย ณ ค่ายหลวง  แล้วยกติดตามไปจนถึงท่าดินแดงและสามสบ

(https://i.ibb.co/bX1STyg/Untdditled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายตะแคงกามะแม่ทัพที่ ๓   ทราบชัดแล้วว่าทัพหน้าของพม่าแตกแล้ว  ก็แต่งหนังสือให้ม้าใช้รีบไปแจ้งแก่ตะแคงจักกุแม่ทัพที่ ๔   และกราบทูลพระเจ้าอังวะ  แล้วก็เร่งเลิกทัพกลับไป  พระเจ้าอังวะทรงทราบว่ากองทัพหน้าแตกแล้วก็เสียพระทัย  สั่งให้เลิกทัพทั้งปวงกลับไป ณ เมืองเมาะตะมะโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/4T1KZvb/Untditled-35.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อมีชัยต่อพม่าปัจจามิตรสำเร็จราชการสงครามแล้ว  สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  จึงดำรัสให้ข้าหลวงถือหนังสือบอกเข้าไปกราบทูล ณ กรุงเทพมหานคร  แล้วให้กองทัพพระยากลาโหมราชเสนา  พระยาจ่าแสนยากร ยกทัพลงมาทางด่านเมืองราชบุรี  ส่วนพระองค์เสด็จลงเรือพระที่นั่งเคลื่อนทัพหลวงลงมาโดยกระบวนนาวาพยุหทางชลมารคมายังเมืองราชบุรี

(https://i.ibb.co/WBX6NBD/Untifdtled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          กล่าวถึงกองทัพพม่าที่ยกมาจากเมืองทวายนั้น  เดินทัพช้าและไม่พร้อมกัน  ต่อเมื่อทัพทางลาดหญ้านั้นแตกพ่ายกลับไปเมาะตะมะแล้วจึงเพิ่งเดินทางมาถึงด่านเจ้าขว้าว  ทัพเจ้าเมืองทวายกองหน้ายกล่วงเข้ามาตั้งค่ายอยู่นอกเขางูแดนเมืองราชบุรี  ทัพจิกสินโบ่กองหนุนยกมาถึงด่าน  ทัพอนอกแผกดิกหวุ่นแม่ทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณ ท้องชาตรี

(https://i.ibb.co/JjkYXMP/Untiwrqtled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          ไพร่พลพม่ากองหน้าลอบเข้ามาเก็บผลหมากมะพร้าวของสวนในแขวงเมืองราชบุรีเอาไปยังกองทัพ   เจ้าพระยายมราช  เจ้าพระยาธรรมา แม่ทัพซึ่งตั้งด่านอยู่ ณ เมืองราชบุรีนั้นมีความประมาท  มิได้จัดแจงแต่งกองลาดตระเวนไปสืบราชการศึก  จึงหาได้รู้ว่ากองทัพพม่ายกเข้ามาตั้งอยู่ ณ ที่ใดไม่"

(https://i.ibb.co/Qn1g9D8/K11158910-43.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  ศึกสงครามระหว่างไทย-พม่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  เริ่มการรบครั้งแรกที่ตำบลลาดหญ้า  กาญจนบุรี  พม่าต้องแตกพ่ายหนีไปเพราะความเหี้ยมหาญเด็ดขาดและกลอุบายอันแยบยลของสมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรฯ  ทัพหลวงของพม่าล่าถอยกลับไปแล้ว  แต่ยังมีทัพราชบุตรของพระเจ้าปดุงที่ยกมาทางทวายเข้าตั้งค่าย ณ บริเวณเขางู  และทางเชียงแสนซึ่งเป็นทัพใหญ่อีกสองทัพ

(https://i.ibb.co/f2MpqfL/Un8titled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เบื้องต้นเราทราบแล้วว่าแม่ทัพไทยที่ยกไปรับศึกทางเมืองราชบุรีนั้นมีความประมาทเลินเล่อ  กองทัพพม่าเข้ามาถึงเมืองราชบุรีแล้วยังไม่รู้เรื่องเลย   แต่ทางเหนือซึ่งกรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไปตั้งรับพม่าที่เมืองนครสวรรค์นั้นยังห่างไกลพม่าข้าศึกอยู่มาก  ผลการรบทางเมืองราชบุรีและทางเมืองเหนือจะเป็นอย่างไร  อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, กรกฎาคม, 2562, 10:38:50 PM
(https://i.ibb.co/47Ts78H/Untditled-38-00.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทรงเริ่มปราบพม่าเหนือ-ใต้ -

ไล่พม่าราชบุรีไม่ที่เหลืออยู่
ปราบริปูหดหายไปหนึ่งด้าน
ใต้กับเหนือเหลืออยู่เป็นหมู่มาร
ทรงคิดอ่านขับไล่ไมรอรี

จึงให้พระอนุชาธิราชเจ้า
ทรงเร่งเร้าจัดทัพขมันขมี
เป็นทัพเรือลงใต้ในทันที
ระดมตีพม่าจนพ้นชุมพร

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว
ทรงเตรียมตัวขึ้นเหนือเหมือนเมื่อก่อน
ทัพพม่ามากมายหลายนคร
สั่งเร่งต้อนตีไล่พ้นไปพลัน


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวไทยรบพม่าที่ตำบลลาดหญ้า  ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ถึงตอนที่  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯทรงใช้กลอุบายเอาชนะแก่ทัพหน้าพม่า  จนทัพหลวงของพระเจ้าปดุงต้องล่าถอยกลับไปเมืองเมาะตะมะ  แล้วกรมพระราชวังบวรฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินทัพกลับทางเมืองราชบุรี เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/nszYQsh/Un-titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระยากลาโหมราชเสนา  กับ  พระยาแสนยากร  รับพระราชบัณฑูรยกกองทัพอ้อมป่ามาทางบกพบค่ายพม่าตั้งอยู่นอกเขางูเมืองราชบุรี  จึงขับพลเข้าโจมตีหักเอาค่าย  เจ้าเมืองทวายนายทัพกองหน้าก็ต่อรบเป็นสามารถ  ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันอยู่ตูมตาม  ทหารไทยของพระยากลาโหมราชเสนากำลังฮึกเหิมห้าวหาญ  จึงปีนค่ายเย่อค่ายแล้วเข้ารบกันถึงขั้นตะลุมบอน  พลพม่าต้านทานกำลังมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีเป็นอลหม่าน

(https://i.ibb.co/n04J78L/Untditled-37.jpg) (https://imgbb.com/)

          พลทัพไทยไล่ติดตามไปจนถึงด่าน  กองหน้าทหารพม่าที่แตกหนีไปนั้น  ไปปะทะกับกองหนุนซึ่งตั้งอยู่ที่ด่าน  ซึ่งกองหนุนหน้าด่านพากันแตกหนีไปโดยมิได้ต่อรบ   ส่วนทัพไทยที่ไล่ตามไปจับได้ไพร่พลพม่าและเครื่องศัสตราวุธ  แล้วแม่ทัพทั้งสองก็แต่งหนังสือบอกข้อราชการซึ่งได้ชัยแก่ข้าศึก  มอบเชลยพม่าและศัสตราวุธที่ยึดได้นั้นให้นายไพร่นำมาถวายสมเด็จพระอนุชาธิราช ณ เมืองราชบุรี

(https://i.ibb.co/kgBgLyr/Untditled-36.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทราบความในหนังสือบอกดังนั้นก็ทรงพิโรธ  ให้ลงพระราชอาชญาจำเจ้าพระยายมราช  เจ้าพระยาธรรมา  สองแม่ทัพและนายทัพนายกองทั้งปวงไว้ ณ ค่ายเมืองราชบุรี   แล้วบอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครว่า จะขอพระราชทานประหารชีวิตแม่ทัพทั้งสองนั้นเสีย   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีตราตอบบอกไป  ขอชีวิตเจ้าพระยาทั้งสองไว้  เพราะมีความชอบมาแต่ก่อน  ให้ทำแต่โทษประจานตามพระอัยการศึกก็พอแล้ว

(https://i.ibb.co/ZL8qkBf/Untidftl-ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงทราบในท้องตรารับสั่งแล้ว  จึงให้ลงพระราชอาชญาแก่เจ้าพระยาทั้งสอง  โดยให้โกนศีรษะสามแฉกแล้วให้ตระเวนรอบค่าย  และถอดเสียจากฐานาศักดิ์  นายทัพนายกองทั้งปวงนั้นให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนเสียทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/742fhH1/Un-titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นให้เลิกทัพกลับเข้าพระนคร  และขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช  กราบทูลแถลงข้อราชการสงครามทั้งปวง  แล้วทั้งสองพระองค์จึงดำรัสปรึกษาราชการแก่กันว่า  กองทัพพม่าซึ่งยกมาตีหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตกนั้น  ยังหาทันได้แต่งกองทัพออกไปต่อตีช่วยหัวเมืองทั้งปวงไม่  ด้วยศึกติดพันกันอยู่ทางใกล้พระนคร  ต้องต่อรบทางที่ใกล้เสียก่อน  บัดนี้ราชการสงครามทางใกล้ก็สำเร็จแล้ว  จึงมีพระราชโองการดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ายาตรานาวาทัพหลวงออกไปทางทะเล  ให้ปราบปรามราชดัสกรหัวเมืองปากใต้ฝ่ายตะวันตก

(https://i.ibb.co/jhTVgLJ/10002-4d999410952a3-big.jpg) (https://imgbb.com/)

          ส่วนสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็จะเสด็จพระราชดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงไปปราบอริราชไพรีทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ครั้นตรัสปรึกษาตกลงกันแล้ว  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็ให้จัดแจงเรือรบเรือทะเลเป็นอันมาก  ประกอบด้วยเครื่องศัสตราวุธพร้อมเสร็จ

(https://i.ibb.co/88BJfmS/A8490184-68.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔  ได้มหาพิชัยฤกษ์  จึงสมเด็จพระอนุชาธิราช  ถวายบังคมลาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ  ยาตรามหานาวาพยุหทัพหลวงออกจากกรุงเทพมหานครไปโดยทางท้องทะเลหลวง  มีพลรบพลแจว ๒๐,๐๐๐ เศษล้วนแต่เป็นข้าหลวงพระราชวังหน้าทั้งสิ้น  ใช้ใบเรือรบทั้งปวงไปยังเมืองชุมพร

(https://i.ibb.co/wY5xC18/Untditled-46.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้เอาพลพม่าเชลยทั้งหลายซึ่งจับเป็นได้นั้นจำใส่คุกไว้ทั้งสิ้น  แล้วโปรดให้พระยาสุเทพสุดาวดีเจ้ากรมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอตำหนักใหญ่  ถือท้องตรารับสั่งขึ้นไปถึงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลังว่า .....

(https://i.ibb.co/yQZLkH6/Untitledfd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “บัดนี้ราชการศึกทางเมืองราชบุรี  เมืองกาญจนบุรี  สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราทัพหลวงไปปราบปัจจามิตรได้ชัยชำนะเสร็จแล้ว  และราชการสงครามข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือแม้นกรมพระราชวังหลังกระทำไม่สำเร็จ  พระเศียรก็จะมิได้อยู่กับพระกายเป็นแท้  และบัดนี้ทัพหลวงก็จะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาโดยเร็วอยู่แล้ว”

(https://i.ibb.co/f8h9RkD/Untitle-d-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** อ่านพระราชพงศาวดารมาถึงตรงนี้แล้วได้เห็นจุดอ่อนของไทยชัดเจน  หลายครั้งที่ทหารไทยรบแล้วพ่ายแพ้แก่ข้าศึกอย่างไม่ควรจะแพ้  สาเหตุคือความประมาทเลินเล่อ  ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัย  ล่าสุดก็เห็นทหารใหญ่ระดับแม่ทัพ บรรดาศักดิ์เป็นถึง  “เจ้าพระยา”  คือ  เจ้าพระยายมราช  กับ  เจ้าพระยาธรรมา  ที่ตั้งค่ายรับทัพพม่าอยู่ ณ เมืองราชบุรี  แต่กองทัพพม่าเขามาตั้งค่ายอยู่ไม่ไกลกันนักกลับไม่รู้เรื่องเลย  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงใช้ความเด็ดขาดจะสั่งประหารชีวิตเสีย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา  ด้วยเห็นว่าเป็นผู้มีความดีความชอบมาก่อน  จึงทรงขอไว้  ให้เปลี่ยนโทษประหารเป็นอย่างอื่น  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯจึงทรงให้  ”โกนหัวสามแฉก”  แห่ตระเวนไปรอบค่ายแล้วให้ถอดยศปลดตำแหน่ง  เฆี่ยนหลังประจาน

(https://i.ibb.co/hLpvP7b/the-king-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เสร็จศึกสงครามลาดหญ้าทางด้านตะวันตกแล้ว  พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงปรึกษาวางแผนขับไล่ทัพพม่าทางใต้ที่เข้ามาตีชุมพร  และทางเหนือที่เข้ามาตีเชียงใหม่  ลำปาง  สุโขทัย พิษณุโลก  แล้วตกลงแบ่งหน้าที่ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชยกทัพลงไปไล่พม่าทางใต้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกทัพขึ้นไปขับไล่พม่าทางเหนือ  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อ  พรุ่งนี้มาอ่านกันอีกนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี่ผึ้งไทย
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, กรกฎาคม, 2562, 10:45:10 PM
(https://i.ibb.co/mCLN0FD/1-600x338.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระยากาวิละเริ่มตั้งตัว -

ขอกลาวถึงพระยากาวิละ
ได้เป็น“พระยาวิเชียรปราการ”นั่น
ตำแหนงเจ้าเชียงใหม่เมืองสำคัญ
ณ กาลนั้นร้างเห็นเป็นป่าดง

กาวิละสะสมกำลังสร้าง
“เวียงป่าช้าง”เป็นศูนย์สมประสงค์
กะเหรี่ยงยางต่างบ้านลุ่มน้ำคง
ต่างขึ้นตรงกาวิละร่วมภักดี


          อภิปราย ขยายความ................

          เมื่อวันวานก่อนนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาแสดงถึงตอนที่สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงขับไล่พม่าข้าศึกทางด้านตะวันตกของไทยล่าถอยกลับไปหมดแล้ว  เสด็จกลับพระนคร  ทรงปรึกษาราชการกับพระเชษฐาธิราชแล้ว  ตกลงยกทัพแยกกันเป็นสองฝ่าย  คือ  พระอนุชาธิราชยกไปขับไล่พม่าทางภาคใต้  พระเชษฐาธิราชยกไปขับไล่พม่าทางภาคเหนือ  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

* “ครั้น ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔  ได้มหาพิชัยฤกษ์  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรี  ลายรดน้ำพื้นแดง  พระที่นั่งมณีจักรพรรดิ  ลายรดน้ำพื้นดำ  ทรงพระชัยนำเสด็จพร้อมเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้น้อยผู้ใหญ่โดยเสด็จ  มีพลโยธาหาญสามหมื่น  สรรพเครื่องสรรพยุทธชิงชัย  ยาตรานาวาพยุหทัพหลวง  จากกรุงเทพมหานคร  ประทับรอนแรมไปทางชลมารค  ถึงเมืองอินทรบุรี  ให้ตั้งค่ายและพระตำหนักพลับพลาชัยประทับอยู่ ณ ที่นั้น

(https://i.ibb.co/7X5QQ2V/Un-6titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ยามนั้นเชียงใหม่มีสภาพเป็นเมืองร้าง  ด้วยพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองคนเก่านั้นยกครอบครัวหนีพม่าลงมาอยู่เมืองสวรรคโลกตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าตาก  ยังไม่ทันได้กลับไปเชียงใหม่ก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน  ครอบครัวทั้งปวงของพระยาวิเชียรปราการก็กลับไปอยู่นครลำปางทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/cXM44JK/fa.png) (https://imgbb.com/)

          กองทัพพม่าฝ่ายเหนือที่มีสโดะมหาสิริยอุจนานั้นเมื่อยกมาถึงเชียงแสนแล้วจึงเดินทัพล่วงเลยเมืองเชียงใหม่ที่กลายเป็นเมืองร้างแล้ว  มุ่งตรงเข้าตีนครลำปางเลยทีเดียว  พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางจึงเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมืองเป็นสามารถ  พม่ามิอาจแหกหักเอาเมืองได้ก็ตั้งมั่นล้อมเมืองไว้

(https://i.ibb.co/wgk3KJ5/Unghgtitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ส่วนกองทัพเนมโยสีหชุยะถือพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาทางเมืองสวรรคโลก    พระยาสุโขทัย  พระยาพิษณุโลก  เห็นข้าศึกมากเหลือกำลัง  และครั้งนั้นไพร่พลหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นมีน้อย  เพราะผู้คนยับเยินเสียแต่ครั้งทัพอะแซหวุ่นกี้นั้นเป็นอันมาก  ที่ยังเหลืออยู่นั้นเบาบางนัก  เจ้าเมืองทั้งปวงจึงมิได้ต่อรบพม่า  ต่างก็ยกครอบครัวหนีเข้าป่าเสีย  ทัพพม่าจึงยกล่วงเลยเมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  ลงมาตั้งค่ายอยู่ ณ ปากน้ำพิงฝั่งตะวันออก

-------------------------

          * ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้  เห็นควรหยุดพักไว้ก่อน  เพราะเรื่องราวมีความเกี่ยวพันกับล้านนาไทยแล้ว  จึงควรย้อนกลับไปกล่าวความตามพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค)  รวบรวมและเรียบเรียงไว้  มีความสืบต่อจากเรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์  หลังจากที่พระยากาวิละได้ถวายตัวเป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้วมีความดังต่อไปนี้

           “ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก (พ.ศ.๒๓๒๕) เจ้ากาวิละซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเลื่อนยศให้เป็นพระยาวชิรปราการ  เจ้าเมืองเชียงใหม่   และพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าประเทศราช  เมื่อกลับจากกรุงเทพฯมาถึงเมืองนครลำปางแล้วก็รวบรวมสมกำลังบ่าวไพร่ได้ ๓๐๐ คน  ยกจากนครลำปางไปตั้งอยู่ ณ ตำบลวังสะแคงปากน้ำแม่ลี้ (เมืองเถิน ?) ที่พระยาจ่าบ้านเคยไปตั้งอยู่ก่อน  รวบรวมกำลังพลในที่นั้นได้อีก ๒๐๐ คนรวมเป็น ๕๐๐ คน  ก็พาครัวอพยพไปตั้งอยู่ ณ เวียงป่าช้าง (เมืองป่าซาง หรือ เวฬุคาม)  รวมสองฝั่งฟากน้ำแม่ทา  ฝั่งหนึ่งเรียกป่าช้างน้อย  ฝั่งหนึ่งเรียกป่าช้างหลวง  ยามนั้นล้านนาไทยประเทศร่วงโรยด้วยเหตุพม่าข้าศึกมาย่ำยีจนย่อยยับ  บ้านกลายเป็นป่า  นากลายเป็นพงรกร้าง  เป็นด่านช้างดงเสือ  หากำลังไพร่พลเมืองมิได้  พระยาวชิรปราการ  ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกนามท่านว่าพระยากาวิละ  ได้ร่วมกับหมู่ญาติพี่น้องสืบเสาะซ่องสุมแสวงหากำลังพลมาตั้งบ้านเมือง

(https://i.ibb.co/ftCRwJ6/Untdfitled-7.png) (https://imgbb.com/)

          พระยาวชิรปราการทราบว่าอุปราชก้อนแก้วที่พระยาเชียงใหม่จ่าบ้านฆ่าเสียนั้น  มีทหารที่ยังจงรักภักดีเหลืออยู่  จับกลุ่มเป็นหมู่โพกหัวแดง  แล้วพากันหนีไปอยู่ทางเมืองปอน  เมืองยวม  ท่าตาฝั่ง  ท่าสีทอ  ท่าสีแท  บ้านแม่  ปะผากู่ (ริมฝั่งแม่น้ำชาลวิน)  และเมืองทลาง (ผาปูน)  

          ดังนั้น ในปี ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖)  พระยาวชิรปราการจึงแต่งให้พระยาสามล้านกับไพร่ ๓๐ คน  เอาถ้วยงามชามดี ๔๐ ใบ ไปกำนัลให้ยางก๊างหัวตาด  นายด่านกะเหรี่ยงยางแดง  เกลี้ยกล่อมให้สวามิภักดิ์แล้ว  พระยาสามล้านกับขุนมีชื่อคุมไพร่พลลอบเข้าไปตีได้บ้านตองโผะเป็นอันดับแรก  ได้เชลยมาสู่เมือง

          จากนั้นพระยาวชิรปราการแต่งหนังสือเป็นคำเกลี้ยกล่อมฟ้าน้อยหมวดเมืองทลางฉบับหนึ่ง  จัดถ้วยงามชามดี ๓๐ ใบ เสื้อแพรผืนหนึ่ง  ใช้ขุนมีชื่อไปกำนัลและเกลี้ยกล่อมยางก๊างแสนหลวงหัวด่านกะเหรี่ยงฟากตะวันตกแม่น้ำคง  ยางก๊างแสนหลวงยอมสมัคร

          แล้วส่งหนังสือไปให้ฟ้าน้อยหมวด   ฟ้าน้อยหมวดก็ยอมสวามิภักดิ์  จึงพาฟ้าน้อยหมวดมาพบพระยาวชิรปราการที่เมืองป่าช้างครั้งหนึ่ง

          ในปีเดียวกันนั้นก็แต่งให้นายจันทราชาผู้เป็นหลานกับขุนมีชื่อ  คุมกำลังบ่าวไพร่ไปตีบ้านท่าตาฟากตะวันตกน้ำแม่คง  ได้ตัวพ่อเมืองทุ  พ่อเมืองกิติ  พ่อเมืองยาน  อาจารย์นันโท  กวาดครัวอพยพมาสู่เมือง

          แล้วแต่งให้แสนราชโกฐคุมรี้พลไปตีได้บ้านแม่ปะ  ได้ตัวแสนขัตติยหมื่นชมภู  กวาดครัวอพยพมาสู่เมือง

          จากนั้นให้น้อยชิณาขวา  น้อยชิณาดำ  ถือหนังสือไปเกลี้ยกล่อมพระยามลาเมืองจวาด   เมืองจวาดก็ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  งานกู้บ้านกู้เมืองของพระยาวชิรปราการ  หรือเจ้ากาวิละเป็นงานหนัก  ยังมิทันที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้มั่นคง  พม่าก็ยกทัพใหญ่มาโจมตีแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ติดตามอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, กรกฎาคม, 2562, 10:57:10 PM
(https://i.ibb.co/n30pQXV/Open-More-4-600x400.jpg) (https://imgbb.com/)

- กาวิละปักหลักที่ป่าซาง -

พระยากาวิละรบพม่า
ป้องล้านนาลำปางอย่างเต็มที่
ปักหลักอยู่“ปาซาง”สามัคคี
ยกไปตีเมืองนานามาครอบครอง


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้พักเรื่องราวทางกรุงเทพมหานครไว้ กลับไปกล่าวถึงพระยากาวิละตามความในพงศาวดารโยนกว่า หลังจากได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่  ปกครองล้านนาอย่างประเทศราชขึ้นต่อกรุงสยามแล้ว  กลับคืนนครลำปาง  เริ่มสะสมพลเมืองล้านนา  โดยยกไปตั้ง ณ เวียงป่าช้าง  หรือ  ป่าซาง(เวฬุคาม) (คืออำเภอปาซาง จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน)  แล้วกวาดต้อนหมู่บ้านต่าง ๆ ในลุมน้ำแม่ทา  สาละวิน(แม่น้ำคง)  ได้ยาง  กะเหรี่ยง  เข้ามาเป็นพวกจำนวนมาก  วันนี้มาดูความในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจวรจักร(แช่ม บุนนาค) ต่อไปนะครับ

           “ ลุศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรงนักษัตรฉอศก วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ  ปะคานแมงกี่ แม่ทัพพม่าคุมรี้พล ๔๐,๐๐๐ เศษ ยกมาล้อมเมืองนครลำปาง  พระยากาวิละ ได้ละเมืองป่าช้างไว้ให้ฟ้าชายแก้วผู้บิดา  กับพระยาอุปราชและนายน้อยธรรมผู้น้อง อยู่รักษา  ส่วนตนนั้นจัดได้กำลัง ๑,๐๐๐ คน  สู้รบกับพม่ารักษาเมืองนครลำปาง  แล้วใช้ให้แสนสุลวะถือหนังสือบอกข้อราชการทัพไปยังกรุงเทพฯ  ขอกองทัพขึ้นมาช่วย

           ฝ่ายกองทัพพม่าก็แยกกองกันไปตีเมืองแพร่  เมืองเถิน  เมืองตาก  พม่าจับได้พระยาแพร่  พระยาเถิน  พระยาเชียงเงิน  และกวาดต้อนครัวพลเมืองไปเป็นอันมาก  ฝ่ายฟ้าชายแก้วผู้รักษาเมืองปาช้างนั้น  เห็นว่ากองทัพพมายกมามากนักเห็นจะรักษาเมืองป่าช้างไว้มิได้  ก็คิดจะถอยไปอยู่เมืองสวรรคโลก  ครั้นไปถึงเมืองลี้  ทราบข่าวพม่ายกมมาทางระแหงตลอดถึงสวรรคโลก  ฟ้าชายแก้วก็กลับคืนมาอยู่เวียงปาช้างดังเก่า

           ฝ่ายพระยากาวิละต่อสู่พม่ารักษาเมืองนครลำปางโดยฝีมือเข้มแข็งสามารถ  พม่ายกเข้าหักหาญหลายครั้งก็หาได้ไม่  สู้รบกันมาได้ถึงสองเดือนกับยี่สิบหกวัน  กองทัพกรุงเทพฯขึ้นมาถึงมีรี้พล ๓๐,๐๐๐  ยกเข้าตีทัพพม่าที่ตั้งล้อมเมืองนครลำปางแตกหนึไปในวันอังคาร เดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ

           ครั้นกองทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองนครลำปางแตกไปแล้ว  พระยากาวิละจึงเขียนหนังสือใช้ม้าเร็วถือไปถึงพระยาอุปราชผู้น้องยังเวียงป่าช้างให้เร่งรีบยกกองทัพไปตีเมืองจวาดโดยเร็ว  พระยาอุปราชแจ้งหนังสือแล้วก็จัดพละกำลัง ๕๐๐ คน  ยกจากเมืองป่าช้างไปในวันพฤหัสบดี เดือน ๗ เหนือ แรม ๕ ค่ำ  ไปถึงเมืองจวาดแรม ๑๓ ค่ำ ในเดือนนั้น  ขณะนั้นพระยาจวาดต้องเกณฑ์เข้ากองทัพพม่ามาตีเมืองนครลำปาง  กลับไปยังไม่ทันถึงเมืองจวาด  กองทัพพระยาอุปราชเข้าตีเมืองจวาด  เมืองทา  เมืองแหน ได้  ก็กวาดครัวอพยพลงมาเสียสิ้น  ครั้นพระยาจวาดกลับไปถึงเมืองมีแต่เมืองเปล่า  ก็ติดตามลงมาหาบุตรภรรยา  และยอมสวามิภักดิ์ต่อพระยากาวิละ ณ เมืองป่าช้าง

           ครั้นว่างศึกแล้ว  พระยากาวิละก็พาตัวพระยามลาเจ้าเมืองจวาด  ล่องไปกรุงเทพฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แล้วพระยากาวิละกราบบังคมทูลพระกรุณา  ขอรับพระราชทานครัวชาวเมืองเถิง  เมืองระแหง  ซึ่งพากันหนีพม่าลงมาอยู่บ้านป้อมกรุงเก่านั้น  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากาวิละเอากลับขึ้นไปตั้งเมืองตาก  เมืองเชียงทอง  เมืองเถิน  ตามเดิม   พระยากาวิละก็กราบถวายบังคมลากลับไปรักษาบ้านเมือง

           ครั้นพระยากาวิละไปถึงเมืองปาช้างแล้ว  จึงแต่งพระยาอุปราช  นายคำมูล  ยายวอน คุมไพร่ ๑๐๐ เศษ  ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมนาขวาเมืองเชียงแสน  เพราะเวลานั้นกองทัพพม่าเลิกจากเมืองเชียงแสนหมดแล้ว  นาขวาก็ปลงใจด้วย  จึงได้ตัวพระยาแพร่  พระยาเถิน  ซึ่งพม่าจับไปไว้เมืองเชียงแสนนั้น  ได้คืนพร้อมทั้งครอบครัวของพระยาแพร่พระยาเถิน  ให้ส่งล่วงหน้ามายังเวียงป่าช้างก่อน  แล้วพระยาอุปราชให้นายคำมูล  นายวอนน้อยกาวิละไปเกลี้ยกล่อมพระยาเชียงตุง   พระยาเชียงตุงกลัวพม่ามิอาจลงใจด้วย  นายคำมูล นายวอนน้อยกาวิละจึงพากันเลยไปเมืองยอง  เกลี้ยกล่อมพระยายอง   พระยายองปลงใจด้วย  จึงคุมพวกเข้ารบพม่าซึ่งรักษาเมืองยอง  ครั้นไม่ชนะพม่า  พระยาเมืองยองกับนายคำมูล  นายวอนน้อยกาวิละ ก็พากันหนีมาทางเมืองโกเมืองไชย มาเมืองหลวงภูคา

           ฝายทางเมืองฝางนั้น  พระยาสุรินทร์กับพระยาเมืองพร้าว  มีสัญญาอาณัติถึงเมืองเชียงราย  พระยาเมืองสาด  พ่อเมืองปุ  ท้าวหาวทาแสนยอด  พร้อมใจกันเป็นขบถต่อรบพม่าทุกบ้านทุกเมือง

           ลุศักราช ๑๑๔๙ ปีมะเมียนพศก  พระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ  พระยาสุรินทร์เมืองฝาง  พระยาเมืองพร้าว  พระยาเมืองเชียงราย  พระยาเมืองสาด  พ่อเมืองปุ  ท้าวหาวทาแสนยอด  พาครัวอพยพหนีพม่าเข้ามาเมืองนครลำปาง  กองทัพพม่ายกตามล้อมเมืองนครลำปางไว้  ฝ่ายข้างเชียงใหม่นั้น  กองทัพพม่ายกข้ามท่าตา  ฝั่งแม่น้ำคงมามาทางเมืองยวม  ทัพพม่ามากันหนักแน่น  รบไม่หวาดไหว  ก็ลาดถอยมาตั้งรับที่ตำบลบ่อพระแวนพักหนึ่ง  ครั้นแตกจากบ่อพระแวนถอยเข้าเวียงป่าช้าง  พระยาเชียงใหม่แต่งให้พระยาอุปราช  พระยาบุรีรัตนะ  กับกองทัพหัวเมืองเมืองกำแพงเพชร  เมืองสวรรคโลก  ยกออกรับทัพพม่า  ได้สู้รบกันสองวัน  ไม่ชนะก็ล่าถอยมา  กองทัพพม่าติดตามเข้าตั้งล้อมเวียงป่าช้างไว้  พระยาเชียงใหม่กาวิละแต่งการป้องกันเมือง  สู้รบพม่าเป็นสามารถ  แล้วให้ท้าวแก้วเชิญศุภอักษร  ลงไปขอกองทัพกรุงเทพฯขึ้นมาช่วย

           ครั้นกองทัพไทยยกไปถึง  ก็เข้ารบพม่าแตกพ่ายไปในวันจันทร์ เดือน ๖ เหนือ (คือเดือน ๔) แรม ๖ ค่ำ  กองทัพไทยตั้งพักอยู่ ๗ วันก็ยกกลับไปกรุงเทพมหานคร  ครั้นพม่าแตกไปแล้ว  นายคำมูล  นายวอน  นายน้อยกาวิละ  จึงกลับมาถึงเมืองป่าช้าง

           ลุศักราช ๑๑๕๐ ปีวอก สัมฤทธิศก  พระยาเชียงใหม่กาวิละให้พระยาบุรีรัตน  นายพุทธวงศ์  นายจันทร์ราชา  นายคำมูล  นายนันทเสน  นายน้อยกาวิละ  คุมไพรลำฉกรรจ์ ๒๐๐ เศษยกไปตีเมืองปั่น  เมืองตองกาย  ได้ฟ้าหน่อคำเมืองปัน และแสนพ่อเมืองตองกาย  ครอบครัวเชลยมาสู่เมือง  แล้วพระยาเชียงใหม่พร้อมด้วยพระยาเมืองนคร  เมืองแพร่  เมืองน่าน ยกกองทัพระดมกันไปรบพม่าเมืองเชียงแสน  รบไม่ชนะก็พากันล่าทัพกลับมา  แล้วพระยาเชียงใหม่กับพระยานครลำปาง  ยกกองทัพไปตีพม่าซึ่งตั้งอยู่บ้านลองเมืองฝางแตกไป

           ลุศักราช ๑๑๕๑ ปีระกา เอกศก วันพฤหัสบดี เพ็ญเดือน ๖  พระยาเชียงใหม่กับพี่น้องได้ยกฉัตรยอดเจดีย์ดอยสุเทพ”

          * * ท่านผู้อานครับ  ให้อ่านพงศาวดารโยนกมาถึงตรงนี้แล้วเราจะเห็นได้ว่า  ในขณะที่บรรพบุรุษไทยทางกรุงเทพฯรบทัพจับศึก  ต่อสู้พม่าข้าศึกป้องกันแผ่นดินไทยจนไม่มีเวลาว่าง  ไทยล้านนานำโดยพระยาวชิรปราการ  หรือพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ  กับพี่น้องและชาวล้านนาไทยก็เหน็ดเหนื่อยกับการ   “สร้างบ้านแปงเมือง”   รบกับพม่าข้าศึกแทบไม่มีเวลาว่างเว้นเช่นกัน

          ตอนนี้พระยากาวิละได้ละเมืองนครลำปางไว้  ยกไปปักหลักอยู่ที่เวียงปาช้าง  หรือ  เมืองป่าซาง (เวฬุคาม)  กำลังจัดการบ้านเมืองได้ไม่เข้ารูปเข้ารอย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุงนี้มาอ่านพงศาวดารโยนกกันตอนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, กรกฎาคม, 2562, 11:42:46 PM
(https://i.ibb.co/YP0m1d4/Untitled-14.jpg) (https://imgbb.com/)

- ฟื้นฟูนครเชียงใหม่ได้สำเร็จ -

ขับพม่าล่าเมืองขึ้นอย่างแข็งขัน
เร่งคืนวันสร้างตนจนฟูฟ่อง
เวลาสิบสี่ปีเศษเสร็จสมปอง
พาพี่น้องบริพารครองนคร


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้คัดลอกความพงศาวดารโยนกที่ พระประชากิจกรจักร(แช่ม บุนนาค) ได้รวบรวมเรียบเรียงไว้  ถึงตอนที่  หลังจากที่กองทัพพม่าถูกกองทัพไทยจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นไปช่วยพระยากาวิละเข้าตีจนแตกพ่ายหนีไปแล้ว  พระยากาวิละได้ให้พระยาบุรีรัตน  นายพุทธวงศ์และพรรคพวกยกไปตีเมืองปั่น  เมืองตองกาย  จากนั้นพระยากาวิละพร้อมด้วยพระยาเมืองนคร  เมืองแพร่  เมืองน่าน  ยกกองทัพไปรบพม่าเมืองเชียงแสน  ครั้นรบไม่ชนะจึงล่าถอยมา  แล้วยกไปตีพม่าที่บ้านลองเมืองฝางแตกไป  รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง  พระยากาวิละพร้อมด้วยน้อง ๆ  “เจ้าเจ็ดตน”  รวมกันทำพิธียกยอดฉัตรพระมหาเจดีย์บรมธาตุดอยสุเทพ  จากนี้เรื่องอะไรจะเกิดขึ้นในล้านนาอีกบ้าง  อ่านพงศาวดารฉบับนี้ต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/7z3Wmfd/Untitlsed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ลุศักราช ๑๑๕๒ ปีระกา เอกศก วันพฤหัสบดี เดือน ๗ (คือเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๓๓) แรม ๑๓ ค่ำ  พระยาอุปราช  พระยาบุรีรัตนะ  ยกรี้พลพันหนึ่งขึ้นไปรบพม่าซึ่งตั้งอยู่เมืองต่วน  เดินทางสิบห้าวันถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๘ (คือเดือน ๖) แรม ๑๓ ค่ำ  จึงเข้าตีพม่ายานแควงศรีโป่  มีรี้พล ๓,๐๐๐ มารักษาอยู่เมืองต่วน  ห้วยยอด  เมืองจาย  แม่แกน  สู้รบกันอยู่สามวัน  ยานแควงศรีโป่แม่ทัพพม่าถูกปืนตาย  กองทัพพม่าก็แตกกระจัดกระจายไป

(https://i.ibb.co/TPD1G2T/Untitldfded-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วจึงแต่งให้นายจันทราชา  นายกาวิละน้อย  คุมพล ๑๐๐ เศษยกข้ามแม่น้ำคง  ไปตีได้บ้านชมชิดฟากตะวันตกแม่น้ำคง(สาละวิน)  แล้วนายจันทราชา  ท้าวสิทธิ์  ท้าวขุนมีชื่อคุมกำลัง ๓๕๐ คน  ขึ้นไปตีบ้านสต๋อย  สอยไร  บ้านวังลุ  วังกาศ  ได้ทุกตำบล  ได้ตัวแสนศิริและครัวเชลยเป็นอันมาก  ก็กวาดต้อนส่งมาเมืองป่าช้างเชียงใหม่  ครั้นปราบปรามพม่าข้าศึกอันมาตั้งอยู่เมืองต่วน  ห้วยยอด  เมืองจาย  แม่แกน  แตกไป  มีชัยชนะแล้ว  พระยาอุปราช  พระยาบุรีรัตน  กับนายทัพนายกอง ก็เลิกทัพกลับมาเมืองป่าช้าง

          อยู่มิช้า  พระยาเชียงใหม่กาวิละก็พานายน้อยสุภา   นายน้อยเชาวนะบุตร  ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  กราบบังคมทูลพระกรุณาข้อราชการทั้งปวง  แล้วขอรับพระราชทานนายน้อยสุภา  นายน้อยเชาวรัตนะบุตร  ให้รับราชการ ณ เมืองตาก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
          ตั้งนายน้อยสุภาเป็นพระยาวิชิตชลธี  ผู้ว่าราชการเมืองตาก  
          ตั้งนายน้อยเชาวนะบุตรเป็นพระยาอินทคีรีผู้ช่วยราชการเมืองตาก  
          ตั้งท้าวชมพูเป็นพระยาจันทบุรี ผู้ว่าราชการเมืองเถิน

ครั้นแล้วพระยาเชียงใหม่และพระยาหัวเมืองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลา  พากันกลับไปรักษาราชการบ้านเมือง

          ลุศักราช ๑๑๕๓ ปีกุน ตรีศก (พ.ศ. ๒๓๓๔) พระยาเชียงใหม่กาวิละพาหมู่ญาติวงศา  แสนท้าวพระยาไพร่พลยกขึ้นไปตั้ง ณ เมืองนพบุรีศรีพิงค์ไชยเชียงใหม่เป็นปฐม  อยู่ได้เดือนเศษหาได้ไม่  เหตุด้วยคนน้อยไม่พอแก่นครอันใหญ่  และรกร้างมานาน  เหลือกำลังที่จะแผ้วถาง  ก็พากันกลับคืนมาอยู่เวียงป่าช้างดังเก่า

(https://i.ibb.co/yqz04y7/Untitlecd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ นั้น  กองทัพพม่าชื่อสุระจอแทงโป่  คุมรี้พลโยธา ๓,๐๐๐ ยกมาตั้งอยู่เมืองฝาง  ถึง ณ วันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๔ (พ.ศ. ๒๓๓๕) ปีชวดจัตวาศก  ก็ยกไป   เดินทางสิบแปดวัน  ถึงวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ  ได้รบกับกองทัพพม่า  สุระจอแทงโป่  ซึ่งออกตั้งค่ายรับนอกเมืองฝางถอยเข้าเมือง  จึงเข้าตั้งค่ายประชิดเมือง  สู้รบกันได้หนึ่งเดือนกับสี่วัน  ปล้นเอาเมืองฝางมิได้  ก็ถอยทัพกลับคืนมา

(https://i.ibb.co/BsML3ks/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ลุศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉอศก วันอังคาร เพ็ญเดือน ๕ คือเดือน ๓)  พระยาทั้งสามพี่น้องคือ  พระยาเชียงใหม่  พระยาอุปราช  พระยาเมืองแก้ว  พร้อมกันสร้างวิหารวัดอินทขิล (คือวัดเจดีย์หลวงหรือกุฎาคารวิหาร)  แล้วสถาปนาพระสวาธุเจ้าวัดผาขาวเป็นพระสังฆราชาในเมืองเชียงใหม่  และให้แผ้วถางซ่อมแปลงปฏิสังขรณ์อารามเก่าใหม่ในเมือง  ครั้นการทั้งปวงสำเร็จแล้วมีการฉลองอารามต่าง ๆ และสมโภชนนครพร้อมกัน  เป็นการรื่นเริงเอิกเกริก  แก่ประชาชนชาวเมืองเป็นอันมาก

          ในปีศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉอศก นั้น  ฝายพระยานครลำปางคำโสมป่วยถึงแก่กรรม  ครองเมืองนครลำปางได้ ๙ ปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราหาตัวพระยาอุปราชดวงทิพ  พระยาราชวงศ์หมูล่า  นายขนานไชยวงศ์  ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

          ตั้งพระยาอุปราชดวงทิพเป็นพระยานครนครลำปาง
          พระยาราชวงศ์หมูล่า เป็นพระยาอุปราช
          นายขนานไชยวงศ์ผู้เป็นบุตรพระยานครคำโสม เป็นพระยาราชวงศ์เมืองนครลำปาง

พระราชทานเครื่องยศฐานาศักดิ์ แล้วพระยานครลำปางกับพระยาอุปราช  พระยาราชวงศ์  ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นมารักษาราชการเมืองนครลำปาง

(https://i.ibb.co/8XvdFM9/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นลุศักราช ๑๑๕๘ ปีมะโรง อัฐศก เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ  พระยาเชียงใหม่กาวิละกับญาติพี่น้องบุตรหลานแสนท้าวพระยาทั้งปวง  ก็ยกกรีธาพลากรราษฎรชายหญิงทั้งปวง  ออกจากเวียงป่าช้าง  ค่อยเคลื่อนคลาไคล  ไปโดยระยะมรรคาได้ ๗ วัน ถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ  ยามเช้า  ก็ลุถึงเมืองนครพิงค์เชียงใหม่มหานคร  กระทำปทักษิณรอบนครแล้วเวลาจวนเที่ยง  ก็เข้าประตูช้างเผือกอันเป็นประตูด้านทิศอุดร  ไปพักพล ณ วัดเชียงมั่น  อันเป็นที่ชัยภูมิแห่งนคร  แรมในที่นั้นราตรีหนึ่ง  รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาสาย  จึงเข้าสู่นิเวศสถานที่อยู่อันสร้างไว้ภายในนครนั้น  ฝ่ายเสนาท้าวพระยาไพร่พลทั้งปวงต่างก็เข้าตั้งเคหะ  สถานบ้านเรือนอยูทั่วไปในนคร  เมืองนครเชียงใหม่ซึ่งร้างแล้วนั้นจึงกลับคงคืนเป็นนครดังแต่ก่อนมา

          ตั้งแต่พระยากาวิละได้เป็นเจ้าเจ้าเมืองนครเชียงใหม่  ไปตั้งอยู่เวียงป่าช้างได้ ๑๔ ปี กับ ๔ เดือน ๒๑ วัน  จึงได้ยกมาตั้งในเมืองนครพิงค์เชียงใหม่

          ** ท่านผู้อานครับ  กว่าจะเข้าอยู่ในนครพิงค์เชียงใหม่ได้  พระยากาวิละต้องใช้เวลาขับไล่พม่าล่าเมืองขึ้นอยู่นานถึง ๑๔ ปีเศษ  จึงยกครัวจากเวียงป่าซางเข้าอยูในนครพิงค์เชียงใหม่ได้สำเร็จ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, กรกฎาคม, 2562, 10:29:30 PM
(https://i.ibb.co/nCBTCqK/Unfggfgtitled-8.jpg) (https://imgbb.com/)


- พม่าตีเชียงใหม่ ทัพใต้ช่วยทัน -

พม่ายกมาล้อมตีขยี้ซ้ำ
ยิ่งตรากตรำเหนื่อยหนักไม่พักผ่อน
เดชะ“กรมพระราชวังบวร”
ยกมาต้อนตีพม่าล่าถอยไป


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้ได้คัดลอกความในพงศาวดารโยนก  ของพระยาประชากิจกรจักร  มาให้อ่านจบลงตงที่พระยากาวิละพาครัวพร้อมยศบริวารยกจากเวียงป่าช้างเข้าอยูในนครพิงค์เชียงใหม่เมื่อปีจุลศักราช ๑๓๕๘ วันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง อัฐศก  ตรงกับ  พุทธศักราช ๒๓๓๙  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านพงศาวดารโยนกกันต่อเถิดนะครับ

           “ครั้นอยู่มาได้สิบเดือนกับห้าวัน ลุศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง นพศก วันพุธ เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ  กองทัพพม่ายกมา  แม่ทัพพม่าชื่ออึ้งแซะโป่  และ  ซิตซิงโป่  มีรี้พล ๙๐,๐๐๐ เศษ  เข้าตั้งล้อมเมืองนครเชียงใหม่ไว้  พระยากาวิละเจ้าเมืองนครเชียงใหม่แต่งพี่น้องบุตรหลานถือพลออกต่อสู้  รบกับกองทัพพม่าทุกทิศทุกด้านหลายกอง  พม่ามิอาจหักเอาเมืองนครเชียงใหม่ได้  ก็ตั้งล้อมรบกันอยู่  พม่าแตกแล้วกลับคืนมาเล่า  หลายครั้งหลายคราว  เพราะกองทัพฝ่ายพม่ามีกำลังมากกว่า  พระยากาวิละเจ้าเมืองนครเชียงใหม่จึงให้ตั้งมั่นรักษาเมืองไว้  แล้วแต่งให้แสนศิริอักษรอัญเชิญศุภอักษร  และคุมเชลยพม่าที่รบจับได้  ลงไปทูลเกล้าฯถวายแถลงการณ์ ณ กรุงเทพพระมหานคร

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เสด็จยาตราพยุหโยธาทัพหลวงขึ้นไปเมืองนครเชียงใหม่  เสด็จโดยทางชลมารคจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองตากแล้วเสด็จดำเนินทัพบก  กองทัพหลวงเดินทางลำปาง  ให้พระเจ้าลูกยาเธอลำดวนอินทปัตถ์ถือพล ๕,๐๐๐ เดินทางเมืองลี้  ตีขนาบทัพพม่าอึ้งแซะโป่แตกพายไป  จับได้อุปคองโป่และไพร่พม่าเป็นอันมาก

          พม่าล้อมเมืองเชียงใหม่ปางนั้นนานได้ ๒ เดือน ๒๘ วัน  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จงานราชการสงคราม ณ เชียงใหม่ครั้งนี้  เมื่อเสด็จกลับได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไป ณ กรุงเทพพระมหานคร

อนึ่ง ในปีนี้พระยาเชียงใหม่ให้สร้างวิหารวัดละโว้เมืองลำพูนไชย

          ลุศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก  แสนศิริพ่อเมืองปุ  พาครัวอพยพหนีพม่ามาขอสวามิภักดิ์  พึ่งพระบรมโพธิสมภาร  พระยาเชียงใหม่พาตัวแสนศิริลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งแสนศิริเป็นพระยาศิริปุวดีศรีสุนทร  พระราชทานให้กลับขึ้นไปรับราชการยังเมืองเชียงใหม่
          ครั้นพระยาเชียงใหม่และพระยาศิริปุวดีกราบถวายบังคมลากลับถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว  พระยาเชียงใหม่แต่งให้ท้าวศรีท้าวบุญเรืองคุมกำลัง ๓๐๐    ยกไปตีพม่าโป่ศิริหมอนทา  ซึ่งมาตั้งทัพอยู่เมืองสาด  แสนเมืองมาน้อยวงเมืองแจด  และครัวเชลยท่าวัว เมืองกิง  เมืองกูล  ได้เชลยเป็นอันมาก  ได้ช้างพลาย ๑ เชือก  นางงาม ๑ คน  ชื่อมิคอง  ส่งมาถวายพระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่

          แล้วให้นายคำมูลคุมกำลัง ๓๐๐ ขึ้นไปตีฟ้าคำเครื่อง  ซึ่งมาตั้งอยู่เมืองปุ  ฟ้าคำเครื่องถูกปืนตายในที่รบ  นายคำมูลตีเมืองปุได้แล้ว  ก็ยกข้ามฟากน้ำแม่คงไปฝั่งตะวันตก  เข้าตีบ้านสต๋อย  บ้านสอยไร  บ้านวัวลาย  บ้านท่าช้าง  บ้านนา  ทุ่งอ้อ  ได้ตัวหมื่นขาววัวลายกับภรรยาฟ้าคำเครื่อง  และเชลยเป็นอันมาก  แล้วก็เลิกทัพกลับมาเมืองเชียงใหม่

          ลุศักราช ๑๑๖๒ ปีวอก โทศก  พระยาเชียงใหม่ให้ท้าวมหายศ  คุมกำลังยกข้ามแม่น้ำคง  ไปตีบ้านปากแม่เทง  ได้หมื่นพรหมนายบ้านกับลูกบ้าน กวาดครัวอพยพมาสู่เมือง

          อนึ่ง ในปีวอก โทศก นั้น  พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่  ให้ประกาศตั้งนามเมืองนครเชียงใหม่ว่า  “เมืองรัตนติงษาอภินวบุรี”

          วันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๑ ค่ำ  ก่อรูปช้างเผือกหนึ่งคู่ไว้ทางหัวเวียง  นอกประตูช้างเผือก  และก่อรูปกุมภัณฑ์หนึ่งคู่  รูปฤๅษีหนึ่งตน ไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงกลางนคร

          ศักราช ๑๑๖๓ ปีระกา ตรีศก วันจันทร์ เดือน๔(ยี่) ขึ้น ๑๒ ค่ำ  ก่อรูปสิงหนึ่งคู่ ไว้ ณ ข่วงสิงห์เหนือเมือง  ต่อขวงช้างเผือกขึ้นไปหนเหนือ  เพื่อให้เป็นสิงหนาทแก่บ้านเมือง  และตั้งศาลพระเสื้อเมืองศรีเมืองขึ้นในปีนั้น

          ในสมัยนั้น  ฝ่ายข้างพม่าก็จัดให้เจ้าฟ้าเมืองไทยใหญ่ทั้งหลาย  แต่งคนเข้ามาตั้งบ้านเมืองในเขตแขวงเมืองฟากตะวันออกน้ำแม่คง  ที่รุร้างนั้น  ความทราบถึงพระยาเชียงใหม่  พระยาเชียงใหม่จึงแต่งให้ท้าวอินทศิริคุมพล ๕๐๐ เป็นกองโจรยกขึ้นไปตีเมืองปุ   ได้พระยาเมืองปุและไพร่พลไทยกวาดมาเมืองเชียงใหม่    แล้วกองทัพเลยไปตีเมืองแจด  เมืองกิง  เมืองกูล  ท่าอ้อ  ท่าแจด  ได้เป็นอาณาเขตรัฐเมืองเชียงใหม่ทุกตำบล”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  พระยากาวิละเข้าอยู่เมืองเชียงใหม่ไม่ทันถึงปี  พม่าก็ยกทัพใหญ่มาตีไม่ทันให้ตั้งตัว  ดีที่กำลังพลของพระยากาวิละกรำศึกสงครามมามาก  จึงตั้งรับยันทัพพม่าอยู่นานถึง ๒ เดือนเศษ  ว่ากันว่าในระหว่างที่รอทัพจากกรุงเทพฯยกขึ้นไปช่วยนั้น  คนในเมืองเชียงใหม่อดอยากเพราะขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก  หิวจนถึงขนาดที่ต้องกินเนื้อเชลยชาวพม่าที่จับได้มากมาย  กินเนื้อแล้วเอากระดูกถมลงในสระที่ใกล้วัดเชียงมั่นกลางเมืองนั้น  เดชะบุญที่สมเด็จกรมกระราชวังบวรสถานมงคลทรงยกทัพจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปชวยไว้ทันทวงที

          เมื่อเสด็จคืนพระนคร  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ทรงขออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์  พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ได้จากลังกามาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย  แล้วถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในที่หลายแห่ง สุดท้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ  อัญเชิญกลับลงกรุงเทพฯ และประดิษฐานไว้ ณ พระราชวังบวรสถานมงคลมาจนถึงกาลปัจจุบัน

          ส่วนชื่อเมืองเชียงใหม่ที่พระยากาวิละตั้งขึ้นใหม่ว่า  “เมืองรัตนติงษาอภินวบุรี”  นั้น เ ห็นจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน  นามนี้จึงไม่ปรากฏใตกาลต่อมา

          พรุ่งนี้มาอ่านพงศาวดารฉบับนี้ติดตามเรื่องราวกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาใช้ประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, กรกฎาคม, 2562, 10:43:00 PM
(https://i.ibb.co/GxD8jyZ/titled-4.png) (https://imgbb.com/)

- ขุนทัพไทยตื่นนกกระทุง -

กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์
แม่ทัพเขตเหนือนั้นพลันเร่งใหญ่
ตีพม่าล้างบางอย่างฉับไว
ทรงตัดใจสั่งประหารทหารตน

พระยาสระบุรีนั้นขี้ขลาด
สั่งถอยลาดลงมาโกลาหล
ด้วยฝูงนกกระทุงเห็นเป็นฝูงคน
จึงถอยร่นไม่สู้ดูให้ดี

ค่ายปากพิงแตกยับพม่าย้าย
ลงแหวกว่ายน่านน้ำหวังข้ามหนี
จมน้ำตายหลายร้อยพร้อมพาชี
จนซากผีเน่าลอยเกลื่อนกลาดธาร


          อภิปราย ขยายความ................

          เมื่อวันวานนี้ได้ยกความในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) มาแสดงถึงตอนที่พระยากาวิละยกจากเวียงป่าช้างเข้าอยู่ในนครพิงค์ไม่ทันถึงปี  พม่าก็ยกพลเป็นกองทัพใหญ่มาตีหมายปล้นเอาเมือง  พระยากาวิละระดมสรรพกำลังเท่าที่มีน้อยกว่านักนั้นต่อสู้อย่างทรหด  พร้อมกับขอกองทัพจากกรุงเทพฯขึ้นไปช่วย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพขึ้นไปช่วย  และเข้าตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปสิ้น  คราเสด็จกลับคืนกรุงเทพมหานคร  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐาน ณ กรุงเทพฯด้วย  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไป

------------------------------------------------------

          ขออนุญาตพักความในพงศาวดารโยนกไว้ก่อน  จะพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปสู่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  แต่ก่อนจะเข้าในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าว  ขอแวะดูในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรณวงศ์ (ขำ บุนนาค) ก่อน  เพื่อให้ความต่อเนื่องฉบับพระราชหัตถ์เลขา  ตอนที่ว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์แบ่งหน้าที่กับขับไล่พม่า  โดยสมเด็จพระอนุชาธิราชฯทรงยกกองทัพเรือลงไปปราบพม่าทางใต้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยกทัพขึ้นปราบพม่าทางเหนือ  ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  กล่าวไว้ดังต่อไปนี้

           “ในปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๒๘) นั้น  ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ  ได้มหาพิชัยอุดมฤกษ์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องสีลายรดน้ำพื้นแดง  พระที่นั่งมณีจักรพรรดิ์ลายรดน้ำพื้นเขียว  ทรงพระชัยนำเสด็จพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย  โดยเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนพยุหยาตราหน้าหลัง  และพหลโยธาหาญ ๓๐,๐๐๐  สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธ  ให้ยาตรานาวาทัพจากกรุเทพมหานคร  ประทับแรมไปโดยทางชลมารคถึงเมืองอินทบุรี  ให้ตั้งค่ายและพระตำหนักพลับพลาไชย  เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น

(https://i.ibb.co/4tc55nR/Untitlsfdgaed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ส่วนกองทัพสะโดะมหาสิริยอุจจนายกมาถึงเมืองนครลำปางให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้  เหตุกองทัพพม่าไม่ยกเข้าล้อมตีเชียงใหม่  ก็เพราะเชียงใหม่ในยามนั้นได้กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว  เนื่องด้วยพระยาวชิรปราการได้พาครัวหนีพม่าลงมาอาศัยอยู่เมืองสวรรคโลกแต่ครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี   และถึงแก่กรรมลง  ครอบครัวและชาวเมืองทั้งปวงได้พากันไปอยู่เมืองนครลำปางเสียสิ้น  เมื่อถูกกองทัพสะโดะมหาสิริยอุจจนาล้อมตีเมืองนครลำปางอยู่นั้น  พระยากาวิละกับน้อง ๆ  “เจ้าเจ็ดตน”  ได้สู้รบป้องกันเมืองเป็นสามารถ  พม่ามิอาจตีหักเข้าปล้นเอาเมืองได้  ก็ตั้งมั่นล้อมเมืองไว้  

(https://i.ibb.co/Yc8QxRX/Untitlddded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วพม่าแบ่งกำลังสวนหนึ่งจำนวน ๕,๐๐๐  ยกลงมาทางเมืองสวรรคโลก  พระยาสวรรคโลก  พระยาสุโขทัย  พระยาพิษณุโลก  เห็นข้าศึกยกมามากจนเหลือกำลังจะต้านทาน  ด้วยไพร่พลเมืองเหลืออยู่น้อย  เนื่องจากสูญเสียไปแต่ครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้เสียมาก  เจ้าเมืองทั้ง ๓ จะพากันหลบหนีเข้าป่าซุ่มรอดูสถานการณ์อยู่  กองทัพพม่าจึงเดินทางมาถึงตอนใต้เมืองพิษณุโลก  แล้วตั้งค่ายอยู่ ณ ปากน้ำพิงตะวันออก  ฝายซุยตองเวรจอแทง ทั้งทัพหน้าทัพหนุนพล ๕,๐๐๐ ก็ยกเข้ามาทางเมืองตาก   พระยาตาก  พระยากำแพงเพชร  เห็นเหลือกำลังสู้รบจึงหลบหนีเข้าป่าไปเช่นกัน  พม่าจึงยกมาตั้งค่าย ณ บ้านระแหง  แขวงเมืองตาก

(https://i.ibb.co/9q39FJq/tled-11.png) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  ได้ทราบในสารตรารับสังก็กลัวเกรงพระราชอาชญาเป็นกำลัง  มีรับสั่งให้กองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองพิจิตร  ให้ยกขึ้นไปตีค่ายพม่า ณ ปากน้ำพิง  เจ้าพระยามหาเสนาจึงแต่งให้กองทัพพระยาสระบุรีเป้นกองหน้า  ล่วงขึ้นไปก่อน  แล้วเจ้าพระยามหาเสนาก็ยกหนุนขึ้นไป  และทัพกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  กับ  กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์  ก็ยกทัพตามเจ้าพระยามหาเสนาขึ้นไปภายหลัง

(https://i.ibb.co/w4yj7Gx/560000002393101.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพพระยาสระบุรีกองหน้ายกขึ้นไปตามริมฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออก  แต่เวลาเช้าตรู่แลเห็นฝูงนกกระทุงข้ามแม่น้ำมาเห็นตะคุ่ม ๆ  ไม่ทันเห็นถนัด  และพระยาสระบุรีนั้นนั้นเป็นคนขลาด  สำคัญว่าพม่ายกข้ามลำน้ำมา  จึงสั่งให้รี้พลล่าถอยเป็นอลหม่าน  ต่อฟ้าสว่างแล้วจึงเห็นชัดตาว่าเป็นฝูงนกกระทุงมิใช่พม่า  กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์และเจ้าพระยามหาเสนา  ได้ทราบว่าพระยาสระบุรีตื่นฝูงนกกระทุงจนถอยทัพมา  จึงให้เอาตัวพระยาสระบุรีไปประหารชีวิตเสีย  เอาศีร์ษะเสียบประจานไว้ที่หาดทราย

(https://i.ibb.co/9WkXSZq/Untitl65ed-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทัพหลวงก็เสด็จพระราชดำเนินหนุนขึ้นไป  ดำรัสให้กองสมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์  ยกไปบรรจบกับทัพพระยาพระคลัง  พระยาอุทัยธรรม  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชัยนาท  ให้ยกขึ้นไปทางปากน้ำโพ  ตีทัพพม่าซึ่งมาตั้งค่ายยู่ ณ บ้านระแหง (ตัวเมืองตากปัจจุบัน) ให้แตกโดยเร็ว
          แล้วทัพหลวงก็จะเสด็จขึ้นค่ายใหญ่อยู่ ณ บางข้าวตอก  ให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่งกองทัพกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  และเจ้าพระยามหาเสนา  ให้ยกเข้าตีค่ายพม่า ณ ปากน้ำพิงให้แตกแต่วันเดียว  แม้นเนิ่นช้าไปจะเอาโทษถึงประหารชีวิต

(https://i.ibb.co/CPTCtxx/Un654titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  กับเจ้าพระยามหาเสนา  ได้แจ้งในรับสั่งดังนั้นก็รีบเร่งตรวจเตรียมทหารทุกทัพทุกกองพร้อมเสร็จ  ครั้นถึง ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๒๘) เวลาเช้า  ก็ยกพลทั้งปวงเข้าโจมตีค่ายพม่าทุก ๆ ค่าย  พม่าต่อรบเป็นสามารถ  ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้ง ๒ ฝ่าย  รบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ  พอเวลาทุ่มหนึ่งทัพพม่าก็แตกฉาน  พ่ายหนีออกจากค่ายทุก ๆ ค่าย  กองทัพไทยไล่รุกรบพม่าติดพัน  พวกพม่าต้องลงน้ำหนีไปฟากตะวันตก (แม่น้ำน่าน) แต่พม่าจมน้ำตายทั้งคนทั้งม้าประมาณ ๘๐๐ เศษ  ศพลอยเต็มแม่น้ำ (น่าน) จนน้ำกินมิได้  พลทัพไทยไล่ติดตามจับเป็นได้ก็มาก  กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ และ เจ้าพระยามหาเสนา  จึงให้ม้าใช้รีบลงมากราบกราบทูลพระกรุณา ณ ค่ายหลวงบางข้าวตอกว่า  ได้ตีทัพพม่าแตกพ่ายไปแล้ว”

(https://i.ibb.co/mzGcDN3/Untitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  กองทัพพม่าในสงครามเก้าทัพนี้  เราได้อ่านพงศาวดาร  พระราชพงศาวดาร  แล้วได้ข้อคิดหลากหลายดีนะครับ  สมัยนั้นการสื่อสารยังไม่ดีพอ  ทัพใหญ่ของพม่าที่ยกมาทางทางด้านตะวันตก  พ่ายกลับไปอยู่เมืองเมาะตะมะแล้ว  ทัพทางใต้กับทางเหนือดูเหมือนจะไม่รู้จึงยังยกเข้ามารบไทยอยู่  เฉพาะทางเหนือเป็นการรบที่กระจายในหลายหัวเมือง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง  ยกจากกรุงเทพฯขึ้นไปตั้งค่ายหลวง ณ บางข้าวตอก  แขวงเมืองพิจิตร  สงครามที่บ้านปากพิงแขวงเมืองพิษณุโลกดุเดือดมาก  ทหารพม่าแตกทัพข้ามน้ำหนี จมน้ำตายลอยเกลื่อนแม่น้ำน่านประมาณ ๘๐๐ ศพทีเดียว

(https://i.ibb.co/pPs23j7/Untitle654d-48.jpg) (https://imgbb.com/)

          ที่สลดใจปนขำขันก็คือ  แม่กองทัพไทยนาม  พระยาสระบุรี  เป็นทัพหน้าในกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  ยกขึ้นไปปากพิงยามค่อนคืน  ถึงตอนใกล้รุ่งเห็นเงาตะคุ่ม ๆ ของฝูงนกกระทุงว่ายน้ำสวนทางมา  เข้าใจผิดคิดว่ากองกำลังพม่าบุกลงมาแล้ว  จึงสั่งทหารถอยเป็นอลหม่าน  ครั้นฟ้าแจ้งแล้วจึงเห็นว่าเป็นฝูงนกกระทุง  กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์แม่ทัพทรงเห็นเป็นเรื่องอัปยศที่ทหารหาญรับมิได้  จึงสั่งประหารชีวิตเสีย  แล้วตัดหัวเสียประจานไว้ ณ หาดทรายเหนือเมืองพิจิตรนั้น  แม่ทัพขลาด  และไร้ความรอบคอบ  รบกี่ครั้ง ๆ ก็พ่ายแก่ศัตรูครับ

(https://i.ibb.co/M8vV6V2/Untitle-d-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          พม่าที่พ่ายจากเมืองพิษณุโลก  เหลืออยู่จำนวนเท่าไรก็พากันหนีไปสมทบกองทัพใหญ่ที่ตั้งล้อมพระยากาวิละอยู่ ณ นครลำปาง  กองทัพไทยต้องไล่ตามตีขึ้นไปช่วยพระยากาวิละ  ผลจะเป็นอย่างไร อ่านกันต่อวันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, กรกฎาคม, 2562, 11:24:04 PM
(https://i.ibb.co/TrZSZ8F/Untditled-17.jpg) (https://imgbb.com/)

- ตั้งกรมพระราชวังหลัง -

ทัพพม่าบ้านระแหงแหยงสยาม
รับรู้ความพ่ายยับทัพแตกฉาน
เมื่อทัพไทยถึงกำแพงกลัวลนลาน
หนีไปด่านแม่ละเมาทางที่มา

ทรงเลื่อนยศตำแหน่งปูนบำเหน็จ
โดยสมเด็จกรมหลวงฯแม่ทัพหน้า
เป็นกรมพระครองวังหลังราชา
เลื่อนพระยาเป็นใหญ่อีกหลายคน


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรกวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้อ่านถึงตอนที่กองทัพหน้าซึ่งมี  กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปตีค่ายใหญ่พม่า  ที่ปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก  พม่าแตกค่ายพ่ายหนี  บางส่วนว่ายแม่น้ำน่าน  หนีไม่รอดจมน้ำตายทั้งม้าทั้งคนจำนวน ๘๐๐ เศษ  ที่หนีรอดไปได้  ก็รีบขึ้นไปสมทบกองทัพใหญ่ที่ตั้งล้อมนครลำปางอยู่  กรมหลวงอนุรักเทเวศร์  จึงให้ม้าเร็วลงมากราบบังทูลพระกรุณา ณ ค่ายหลวงบางข้าวตอก  แขวงเมืองพิจิตร  วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/ynXDBv8/Untwwitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัส  ดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  แยกกองทัพออกจากทัพหลวง  ยกขึ้นไปบรรจบทัพเจ้าพระมหาเสนา ณ ปากน้ำพิง  ให้ยกติดตามทัพพม่าซึ่งแตกขึ้นไปช่วยเมืองนครลำปาง  ตีทัพพม่าซึ่งตั้งล้อมเมืองนครลำปางอยู่นั้นให้แตกฉานจงได้

(https://i.ibb.co/WvjPbSX/Unti-tled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วดำรัสสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปเชิญเสด็จกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์  ลงมาเฝ้า ณ ค่ายหลวง  กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์  ก็ให้เลิกทัพลงมาตามพระราชกำหนด  ให้คุมเอาพม่าเชลยซึ่งจับได้นั้นส่งมาถวาย  จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เลิกทัพหลวงลงมาตั้งประทับอยู่ ณ ค่ายเมืองนครสวรรค์  รอฟังขาวราชการทัพซึ่งไปตีพม่าทางระแหงนั้น

(https://i.ibb.co/xHqvn0C/Untitl245ed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์  ยกขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร  จึงให้ทัพพระยาพระคลัง  พระยาอุไทยธรรม เป็นนายกองหน้ายกขึ้นล่วงหน้าไปก่อน  ยังมิทันถึงค่ายพม่า  ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านระแหงนั้น   ซุยตองเวระจอแทงแม่ทัพพม่า ครั้นได้แจ้งข่าวว่ากองทัพทางค่ายปากน้ำพิงแตกไปแล้ว  และกองทัพไทยยกล่วงขึ้นมาถึงเมืองกำแพงเพชร  มุ่งเข้าตีค่ายบ้านระแหง  ก็มิได้คิดจะสู้รบ  รีบเลิกทัพหนีไปทางด่านแม่ละเมา (แม่สอด)  
          พระยาพระคลัง  พระยาอุไทยธรรม  แต่งกองตระเวนไปสืบรู้ว่าทัพพม่าเลิกหนีไปแล้ว  ก็บอกลงมาทูลกรมหลวงเทพหริรักษ์   กรมหลวงเทพหริรักษ์ก็บอกลงมากราบทูลพระกรุณา ณ เมืองนครสวรรค์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบศึกสิ้นไปแล้วก็ดำรัสให้ข้าหลวงไปหากองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับมายังเมืองนครสวรรค์  แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงกลับยังกรุงเทพมหานคร

           ฝ่ายกองทัพ เนมโยสีซุย ซึ่งแตกไปแต่ค่ายปากน้ำพิงถึงค่ายล้อมเมืองนครลำปาง  จึงแจ้งความแก่สะโดะมหาสิริยอุจจนา  ซึ่งเป็นโบซุกแม่ทัพใหญ่ว่า  ได้รบกับทัพไทยเสียทีมา  และกองทัพไทยก็ติดตามขึ้นมาจวนจะถึงเมืองนครลำปางอยู่แล้ว

(https://i.ibb.co/8PHwtk1/Untditled-22.jpg) (https://imgbb.com/)

           พอกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา  และ  กรมหลวงจักรเจษฎา  ยกขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง  ก็ให้นายทัพนายกองทั้งปวง  ยกพลเข้าระดมตีค่ายพม่าซึ่งล้อมเมือง  ฝายสะโดะมหาสิริยอุจจนา กับ อาประกามะนี ก็ให้พลพม่าออกรบ  ทั้งสองฝ่ายได้รบกันแต่เช้าจนเที่ยง  แล้วทัพพม่าก็ก็แตกฉานทิ้งค่ายเสีย  พ่ายหนีไปตั้งรวบรวมกันอยู่ ณ เมืองเชียงแสน

(https://i.ibb.co/s538jRw/Untit-led-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางมีฝีมือเข้มแข็ง  สู้รบพม่ารักษาเมืองอยู่ตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือนสี่  ทัพพม่าตั้งล้อมเมืองอยู่ถึงสี่เดือนจะหักเอาเมืองมิได้  จนกระทั่งกองทัพจากกรุงขึ้นไปช่วยจึงแตกพ่ายหนีไป

(https://i.ibb.co/dpbz6JR/tled-8.png) (https://imgbb.com/)

           กรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนาก็บอกลงมากราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครว่า  ได้ตีทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองนครลำปางนั้นแตกพ่ายหนีไปแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอกก็ทรงพระโสมนัส  ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับมายังพระนคร  แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบำเหน็จแก่นายทัพนายกองทั้งปวงโดยสมควรแก่ความชอบ  จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  ขึ้นเป็น กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์  ดำรงพระเกียรติยศในที่  กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข  รับพระบัญชาตามแบบกรมพระราชวังหลังแต่ก่อนมา

(https://i.ibb.co/rZb477H/Untitle-d-12.jpg) (https://imgbb.com/)

           และให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป้นพระยายมราช
           แล้วโปรดให้พระยาพิพัฒนโกษา (ทองดี)  เลื่อนที่เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์
           แล้วทรงพระราชดำริถึงเจ้าพระยาธรรมา  พระยายมราชนอกราชการ  ซึ่งเป็นโทษในการสงคราม(ที่ราชบุรี)ถูกถอดเสียนั้น ว่าเป็นข้าราชการเก่ารู้ขนบธรรมเนียมมาก
          จึงโปรดตั้งพระยาธรรมาเก่า เป็นพระยาศรีธรรมาธิราชจางวางกรมวัง
          โปรดตั้งพระยายมราชเก่า เป็นพระยามหาธิราช ช่วยราชการกรมเมือง

     พอพระยาเพ็ชรพิไชย(หงส์)ถึงแกกรรมลงจึงโปรดพระยาราชสงคราม(เป้า) บุตรพระยาราชสงครามซึ่งชะลอพระนอนวัดป่าโมกข์ครั้งกรุงเก่า เลื่อนที่เป็นพระยาเพ็ชรพิไชย  พระราชทานพานทองทั้งสิ้นด้วยกัน”

(https://i.ibb.co/WxK38tH/Un-titled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

* * ท่านผู้อานครับ ก็เป็นอันว่าพม่าข้าศึกทางเหนือถูกขับไล่หนีไปรวมกันอยูที่เมืองเชียงแสนแล้ว กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ แม่ทัพฝ่ายเหนือทรงได้รับปูนบำเหน็จเลื่อนที่เป็นกรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ตำแหน่งกรมพระราชวังหลัง

(https://i.ibb.co/RjNKrch/Untisfstled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ส่วนกองทัพพม่าทางใต้นั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราชฯจะทรงปราบปรามอย่างไร  พรุ่งนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กรกฎาคม, 2562, 12:27:39 AM
(https://i.ibb.co/JqCr7xn/Pranang2.jpg) (https://imgbb.com/)


- พม่ายึดได้หัวเมืองปักษ์ใต้ -

ทางปักษ์ใต้ไทยแย่แพ้พม่า
ทั้งชุมพรไชยาถูกเผาป่น
พระยานครถอดใจไม่อดทน
แพ้เล่ห์กลพม่าเข้าป่าไป

แต่สตรีภูเก็ตใจเด็ดนัก
นางปักหลักรบพม่ากู้หน้าได้
มหาช่วยพัทลุงยอดสงฆ์ไทย
ศูนย์รวมใจสู้พม่าน่าเชิดชู


          อภิปราย ขยายความ................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาบอกเล่าถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจัดทัพและเสด็จขึ้นไปรบพม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ  พม่าที่มาทางด่านแม่ละเมา (แม่สอด)หนีกลับไปโดยไม่สู้รบ  เพราะทราบข่าวว่ากองทัพใหญ่ที่ยกมาตีเมืองลำปางและพิษณุโลกนั้น  แตกพ่ายย่อยยับยกกลับไปรวมตัวอยู่ที่เมืองเชียงแสนหมดแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนครแล้วแล้ว  ทรงปูนบำเหน็จแก่แม่ทัพนายกองทั้งปวง  โดยโปรดเกล้าฯ เลื่อนกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ขึ้นเป็นที่ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ เป็นต้น

(https://i.ibb.co/ZB0q9TB/Untit-led-14.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขอพักเรื่องราวทางฝ่ายเหนือไว้ก่อนนะครับ  วันนี้จะขอย้อนกลับไปดูเรื่องราวการรบกับพม่าทางภาคใต้บ้าง  ดูกันว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ที่ทรงรับพระราชบัญชายกกองทัพลงไปรบไล่พม่าทางภาคใต้นั้นจะเป็นเช่นไร  ขอนำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)  มาให้อานกันดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/3cgBV7Y/Un-titled-15.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายกองทัพพม่าที่พระเจ้าอังวะให้ยกลงไปตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตกตามชายทะเลนั้น  ก็ยกทัพบกทัพเรือลงไปพร้อมกันอยู่ ณ เมืองมะริด  แต่เดือนอ้ายปีมะเส็ง สัปตศก(พ.ศ. ๒๓๒๘)  
          แกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพใหญ่จึงให้ยี่วุ่นเป็นนายทัพถือพล ๓,๐๐๐  กับนายทัพนายกองทั้งปวงยกทัพเรือลงไปทางทะเล  ไปตีเมืองถลาง (ภูเก็ต)  
          แล้วให้เนมโยคุงนรัดเป็นทัพหน้า  กับนายทัพนายกองทั้งปวงถือพล ๒,๕๐๐ ยกมาทางเมืองกระบุรี  เมืองระนอง  เข้าตีเมืองชุมพร

(https://i.ibb.co/0DzDxKF/Untitl56ed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตัวแกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพใหญ่ถือพล ๔,๕๐๐ ยกหนุนมา  ทั้ง ๒ ทัพเป็นคน ๗,๐๐๐  และเมื่อทัพหน้ายกเข้ามาถึงเมืองชุมพร  เจ้าเมืองกรมการเมืองมีไพร่พลสำหรับเมืองน้อยนัก  เห็นจะต่อรบมิได้ก็อพยพพาครัวหนีเข้าป่า  ทัพพม่าก็เผาเมืองชุมพรเสีย  แล้วกองหน้าก็ยกล่วงลงไปตีเมืองไชยา  โดยแม่ทัพตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชุมพร  และในเวลานั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังหาได้ยกลงไปถึงไม่  ด้วยราชการศึกยังติดพันกันอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี  เจ้าเมืองไชยาได้รับการแจ้งข่าวว่าเมืองชุมพรเสียแก่พม่าแล้วก็มิได้อยู่สู้รบ  อพยพครอบครัวหนีเช้าป่าไปสิ้น (เช่นเดียวกันกับเจ้าเมืองชุมพร)  ทัพพม่าเข้าเผาเมืองไชยาแล้วก็ยกออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช

(https://i.ibb.co/h9K2VkJ/Unt-itled-16.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะเมื่อทัพพม่ายกออกไปนั้น  เจ้าพระยานครพัดได้รับแจ้งข่าวว่าเมืองชุมพร  เมืองไชยา  เสียแก่พม่าแล้ว  จึงแต่งกรมการกับไพร่ ๑,๐๐๐ เศษ  ยกมาตั้งค่ายขัดตาทัพอยู่ ณ ท่าข้ามแม่น้ำหลวงต่อแดนเมืองไชยา

(https://i.ibb.co/RP1qnsC/ff10.png) (https://imgbb.com/)

          ทัพพม่าจับไทยชาวเมืองไชยาได้  ให้ไทยร้องบอกลวงพวกกองทัพเมืองนครว่า  “เมืองบางกอกเสียแล้ว  พวกเอ็งจะมาตั้งสู้รบเห็นจะสู้ได้แล้วหรือ  ให้เร่งไปบอกเจ้านาย  มาอ่อนน้อมยอมเข้าโดยดีจึงจะรอดชีวิต  แม้นยังขัดแข็งอยู่จะฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมือง  แต่ทารกก็มิให้เหลือ”  พวกกองทัพเมืองนครนำเอาเนื้อความไปแจ้งแก่เจ้าพระยานคร   เจ้าพระยานครพิจารณาดู  ก็เห็นสมคำพม่า  ด้วยมิได้เห็นกองทัพกรุงยกออกไป่ช่วย  เห็นว่ากรุงจะเสียแก่พม่าแล้วหาที่พึ่งมิได้  จึงพาบุตรภรรยาญาติวงศ์สมัครพรรคพวกทั้งปวง  หนีออกจากเมืองไปอยู่ ณ ป่านอกเขาข้างตะวันตก  บรรดากรมการและไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวง  ก็ยกครอบครัวหนีไปอยู่ตำบลต่าง ๆ

(https://i.ibb.co/23nrBRr/Untitldfded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทัพพม่ายกไปถึงเมือง  เข้าเมืองนครศรีธรรมราชได้  ให้เที่ยวจับผู้คนและครอบครัวได้เป็นอันมาก  และให้ไทยชาวเมืองนครนำพม่าไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนและครอบครัวซึ่งหนีไปอยู่ตามตำบลต่าง ๆ บ้าง  พม่าออกหาเองได้มาบ้าง  ที่ไม่เข้าเกลี้ยกล่อมหนีเข้าป่าดงไปก็มาก  และพวกไทยซึ่งได้ตัวมานั้น  บรรดาชายพม่าฆ่าเสียเป็นอันมาก  เอาไว้แต่ผู้หญิงกับทารก  และเก็บเอาเงินทองทรัพย์สิ่งของทั้งปวง  หาผู้ใดคิดอ่านสู้รบพม่ามิได้  กลัวอำนาจพม่าเสียทั้งสิ้น  พม่าก็ตั้งอยู่ในเมือง  คิดจะยกออกไปตีเมืองพัทลุง  สงขลาต่อไป

(https://i.ibb.co/0cJ8snM/Un-titled-38.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายยี่วุ่นแม่ทัพเรือพม่าก็ยกทัพเรือลงไปตีตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งแตก  แล้วยกลงไปถึงเกาะถลาง (ภูเก็ต) ให้พลทหารขึ้นบก  เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เป็นหลายค่าย  และเมื่อกองทัพพม่าไปถึงเมืองนั้น  พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่  และจันท์ภรรยาพระยาถลาง กับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุก  คิดอ่านกับกรมการทั้งปวง  เกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่าย  ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ  และตัวภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงนั้น  องอาจกล้าหาญมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก  เกณฑ์กรมการเมืองกับพลทหารทั้งชายหญิง  ออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน  ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้  แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษ  พม่าขัดเสบียงอาหารลงจะหักเอาเมืองมิได้ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป

(https://i.ibb.co/BcMz9DP/Unt-itled-21.jpg) (https://imgbb.com/)

          ข้างฝ่ายเมืองพัทลุงได้รับแจ้งข่าวว่า  เมืองชุมพร  เมืองไชยา  เมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่พม่าแล้ว  เจ้าเมืองกรมการเมืองทั้งปวงจะยกครอบครัวหนีเข้าป่า   ขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่งชื่อ  มหาช่วย  เป็นเจ้าอธิการอยู่ในอารามแขวงเมืองพัทลุง  มีความรู้วิชาการดี  ชาวเมืองนับถือมาก  จึงลงตะกรุด  ประเจียด มงคล  แจกคนทั้งปวงเป็นอันมาก  พวกกรมการนายแขวงนายบ้านทั้งหลาย  ชักชวนไพร่พลเมืองมาขอเครื่องรางของขลังมงคลพระหาช่วย  แล้วคิดกันจะยกเข้ารบพม่าผู้คนเข้าด้วยกันประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ  ตระเตรียมเครื่องศาสตราวุธพร้อมแล้ว  ก็เชิญพระมหาช่วยอาจารย์ขึ้นคานหามมาด้วยในกองทัพยกมาจากเมืองพัทลุง  มาตั้งค่ายอยู่กลางทางคอยจะรบทัพพม่าซึ่งจะยกออกไปแต่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น”

          ** ท่านผู้อ่านครับ ขอพักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ  ร่ายยาวเกินไป  ผู้ใช้มือถือไม่สะดวกในการอ่าน  ไว้พรุ่งนี้ค่อยอ่านต่อก็แล้วกันครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กรกฎาคม, 2562, 10:28:19 PM
(https://i.ibb.co/Rjcv9Tv/Untditled-44.jpg) (https://imgbb.com/)

- ขับไล่พม่าหมดภาคใต้ -

ทัพหลวงลงไปถึงชุมพรแล้ว
ไร้วี่แววพม่ารอหน้าอยู่
ทรงจัดการบ้านเมืองให้ฟื้นฟู
แล้วล่องสู่ไชยาไมรารอ

ทัพพม่ามารบละเลงเลือด
ไชยาเดือดทั้งวันไม่ยั่นย่อ
ฝนตกใหญ่ปืนด้านพวกม่านท้อ
แหกวงป้อแป้ไปไม่รบพลัน

ทรงจัดการบ้านเมืองไม่เชื่องช้า
ไปสงขลาตั้งทัพประทับมั่น
มหาช่วยได้“พระยา”เป็นรางวัล
ต่อจากนั้นเป็นอย่างไรตามไปดู


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ของเจ้าเพระยาทิพากรวงศ์( บุนนาค) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พม่ายกทัพมาเข้ายึดเมืองชุมพร  เมืองไชยา ได้โดยง่าย  เพราะเจ้าเมืองเห็นตนมีกำลังน้อยจึงไม่คิดสู้รบ  พาครัวหลบหนีเข้าป่าไปสิ้น  พม่าเผาเมืองทั้ง ๒ แล้วยกลงไปตีเมืองนคร  เจ้าเมืองนครทราบว่า  เมืองชุมพร  เมืองไชยาเสียแก่พม่าแล้ว  ไม่เห็นกองทัพกรุงเทพฯ ยกลงไปช่วยก็หมดกำลังใจในการสู้รบ  พาครัวหนีเข้าป่าไป พม่าจึงยึดเมืองนครได้โดยง่าย

(https://i.ibb.co/ygmt1xH/Untitl-ed-23.jpg) (https://imgbb.com/)

          พม่าอีกกองหนึ่งยกทัพเรือไปตีเมืองถลาง  ยามนั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรมยังมิได้ตั้งคนใหม่   จันท์ ภรรยาอดีตเจ้าเมือง  กับมุก ผู้เป็นน้องสาว  ไม่ยอมแพ้พม่า  จึงร่วมกับกรมการการเมืองปลุกเร้าชาวเมืองขึ้นสู้พม่า  จนพม่าล่าถอยไป

(https://i.ibb.co/hMqmWY2/Unti66tled-21.jpg) (https://imgbb.com/)

          ส่วนทางเมืองพัทลุงนั้น  เจ้าเมืองทราบว่าพม่ายึดเมือนครศรีธรรมราชได้แล้วก็หมดใจจะสู้ศึก  ขณะกำลังจะพาครัวหนีเข้าป่านั้น  ก็พอดีมีนายบ้านรวมตัวกันตั้งกองกำลังสู้พม่า  นิมนต์พระมหาช่วยเจ้าอธิการวิชาอาคมขลังเสกตระกรุดลงยันต์ผ้าประเจียดแจกชาวบ้าน  ยกกองกำลังออกตั้งรอทัพพม่าอยู่ชายแดน  โดยนิมนต์พระมหาช่วยนั่งคานหามมาในกองทัพประชาชนด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  อ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/51wjc2t/Untitldfaed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ฝ่ายกองทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เสด็จยาตรานาวาทัพไปทางท้องทะเลใหญ่ถึงเมืองชุมพร  จึงให้ตั้งค่ายหลวงและตำหนักที่ประทับ  เสด็จขึ้นประทับอยู่ ณ ที่นั้น  แล้วดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา  พระยาจ่าแสนยากร  กองหน้ายกทัพบกล่วงออกไปตั้งอยู่เมืองไชยาเป็นหลายค่าย

(https://i.ibb.co/VNvmgkv/Untitled-18.png) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพพม่าได้รับแจ้งข่าวกองทัพกรุงเทพฯ ยกออกมา  และแกงวุ่นยี่แม่ทัพจึงให้ เนโยคุงนะรัด นายทัพนายกอง  กองทัพหน้าเข้ามาต่อรบทัพกรุงเทพมหานคร แล้วแม่ทัพก็ยกทัพใหญ่หนุนมา และกองหน้าพม่ามาปะทะทัพไทย ณ เมืองไชยา  ยังมิทันจะตั้งค่าย  ทัพไทยก็เข้าล้อมไว้รอบ  ขุดสนามเพลาะรบกันกลางแปลงตั้งแต่เช้าจนค่ำ

(https://i.ibb.co/ZMPngzB/Un-titled-34.jpg) (https://imgbb.com/)

          พอฝนห่าใหญ่ตกยิงปืนไม่ออก  ทัพพม่าก็แหกหนีไปได้  แต่ตองพยุงโบนายทัพคนหนึ่งต้องปืนตายในที่รบ  พลทหารไทยติดตามพม่าไปในเวลากลาคืน  ฆ่าฟันพม่าเสียเป็นอันมาก  พม่ามิได้รั้งรอต่อรบแตกกระจัดพลัดพรายกันไปสิ้น  ที่จับเป็นได้ก็มาก  และแม่ทัพซึ่งยกหนุนมา  รู้ว่าทัพหน้าแตกแล้ว  ก็มิได้ยกมาสู้รบ  เร่งรีบบากทางหนีไปข้างตะวันตก  กองทัพไทยได้ชัยชำนะแล้วก็บอกมากราบทูลยังค่ายหลวงเมืองชุมพร แล้วส่งพม่าเชลยทั้งปวงมาถวาย

(https://i.ibb.co/LPHDjt8/Untit65ed-43.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งหนีพม่าไปนั้น ก็กลับมาเฝ้าทั้งสิ้น  จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้รวบรวมราษฎรหัวเมืองและครอบครัวเดิม  ซึ่งแตกฉานซ่านเซ็นหนีพม่าไปนั้น  ให้กลับมาอยู่บ้านเมืองตามภูมิลำเนาเดิมดุจก่อน  และให้เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงอยู่รักษาเมืองตามตำแหน่งทุก ๆ เมือง  แล้วดำรัสให้เอาพม่าเชลยจำลงเรือรบไปด้วย  จึงเสด็จยาตรานาวาทัพหลวงจากเมืองชุมพรไปประทับเมืองไชยา  ให้ทัพหน้าเดินพลไป ณ เมืองนครศรีธรรมราชโดยทางบก  แล้วเสด็จทัพหลวงไปโดยทางชลมารค

(https://i.ibb.co/61nqs0G/Un-titled-44.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึงเมืองนครศรีธรรมราชเสด็จขึ้นประทับอยู่ในเมือง  ให้ชาวเมืองพาข้าหลวงไปสืบเสาะตามหาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช  ได้ตัวมาจะให้ลงพระราชอาชญา  แล้วทรงพระราชดำริเห็นว่าศึกเหลือกำลังจะสู้รบ  จึงภาคทัณฑ์ไว้  รับสั่งให้อยู่รวบรวมราษฎร์รักษาบ้านเมืองดังเก่า  แล้วเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงทั้งทางชลมารคสถลมารคไปประทับ ณ เมืองสงขลา

(https://i.ibb.co/kmjTL0H/Un-titled-23.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาแก้วเการพพี่ชายพระยาพัทลุง   หลวงสุวรรณคีรีเจ้าเมืองสงขลา  และกรรมการทั้ง ๒ เมืองมาเฝ้าพร้อมกัน  จึงดำรัสถามว่า  ผู้ใดคิดสู้พม่าบ้าง  พระยาพัทลุงกราบทูลว่า  กองทัพเมืองพัทลุงได้ยกไปรบพม่า  เพราะได้พระมหาช่วยเป็นอาจารย์คุ้มครองไปในกองทัพ  ยังหาทันได้สู้รบกันไม่  ด้วยพม่ามิได้ยกออกไปตีเมืองพัทลุง  ก็ถอยกลับไปเมืองนครศรีธรรมราชเสีย

(https://i.ibb.co/0Ft1Gdh/Untitl-ed-43.jpg) (https://imgbb.com/)

          จึงดำรัสยกความชอบพระมหาช่วยว่า  เป็นใจด้วยราชการมีความชอบมาก  และพระมหาช่วยสมัครปริวัตร (ลาสิกขา สึก) ออกจากสมณะเพศ  จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็น  พระยาทุกขราษฎร์  ช่วยราชการเมืองพัทลุง พระราชทานบำเหน็จรางวัลโดยสมควรแก่ความชอบ”

(https://i.ibb.co/pZm2Lvc/Un-titled-35.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านคิดไหมครับว่า  การปราบพม่าภาคใต้ของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ช่างง่ายดายเหลือเกิน  การรบกับพม่าในภาคใต้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น  คือ  ทัพหน้าต่อทัพหน้ารบกันที่เมืองไชยา  ยิงปีนใส่กัน เข้าตีรันฟันแทงกันกลางแจ้ง  เพราะพม่ายกมาจากเมืองนครไม่ทันตั้งค่าย  ก็ถูกทัพหน้าไทย  นำโดยพระยากลาโหมราชเสนา  เข้าล้อมโจมตีในทันที  การรบกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดยังไม่มีใครแพ้ชนะ  ก็มีกรรมการเข้ามาห้ามทัพ  คือ  ฝนห่าใหญ่ตกลงมา (ฝนทางภาคใต้มักตกลงมาโดยไม่มีการตั้งเค้า)  ดินปืนเปียกชื้นจุดไฟไม่ติด  ปืนยิงไม่ออก  พม่าก็เลยถือโอกาสตีแหกวงล้อมออกไปแบบทุลักทุเล  ทหารไทยไล่ตามตีในยามค่ำมองไม่ค่อยเห็นตัว  แต่ก็ฆ่าฟันพม่าล้มตายและบาดเจ็บเป็นอันมาก  กองทัพใหญ่พม่าที่ยกหนุนมาทราบว่าทัพหน้าแตกพ่ายไปแล้ว  ก็ไม่คิดสู้รบ  บากหน้าหนีไปทางด้านตะวันตกไม่มีหลงเหลือ

(https://i.ibb.co/wLNzM1k/Unti-tled-44.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จพระราชดำเนินเข้าเมืองนครศรีธรรมราช  จัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว  ทรงยกทัพลงไปประทับ ณ เมืองสงขลา  ทราบเรื่องการจัดทัพรอรับรบพม่า  กองกำลังนั้นมีพระมหาช่วยเป็นหัวหน้ากองกำลังสำคัญ  ทรงตรัสยกย่องความชอบพระมหาช่วย  ครั้นพระมหาช่วยยินดีลาสิขาออกมารับราชการ  จึงทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์  ช่วยว่าราชการเมืองพัทลุง

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปติดตามกันในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กรกฎาคม, 2562, 12:00:45 AM
(https://i.ibb.co/yX7zHW7/1399196716-10legendts-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- ปราบได้เมืองมลายู -

เมืองตานีเป็นเมืองหลักของปักษ์ใต้
เมื่อสมัยอยุธยาเคยมาอยู่-
ในขอบขัณฑสีมาไทยอุ้มชู
มลายูถ้วนทั่วทุกหัวเมือง

เมื่อกรุงแตกแยกออกไม่บอกเล่า
อนุชาธิราชเจ้าจึงเอาเรื่อง
ยกกองทัพลงไปไม่สิ้นเปลือง
ใครทำเขื่องปราบสิ้นทุกดินแดน


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้อ่านถึงตอนที่สมเด็จพระอนุชาธิราชกรีธาทัพลงไปขับไล่พม่าทางภาคใต้  ทรงจัดการบ้านเมือง  เมืองชุมพร  ไชยา  นครศรีธรรมราช  เสร็จเรียบร้อยแล้วยกทัพเลยลงไปประทับ ณ เมืองสงขลา  ทรงตั้งพระมหาช่วย เจ้าอธิการเมืองพัทลุงที่ลาสิกขาออกมา  ให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์  ช่วยราชการเมืองพัทลุง   แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไร  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/bBf2FNs/Unti-tled-18.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้นเสร็จการศึกพม่าแล้ว  สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  ทรงพระดำริว่า  เมืองมลายูเคยเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแต่ครั้งกรุงเก่า  ครั้นกรุงเก่าเสียแก่พม่าแล้ว  พวกเมืองมลายูก็พากันกระด้างกระเดื่อง  เจ้ากรุงธนยังหาได้ปราบปรามหัวเมืองมลายูให้เรียบร้อยไปดังแต่ก่อนไม่  และครั้งนี้ได้เสด็จลงไปรบพุ่งพม่าข้าศึกแตกฉานไปแล้ว  กองทัพกรุงเทพฯ ก็มีกำลังพรักพร้อมกันอยู่ที่เมืองสงขลา  สมควรจะปราบปรามหัวเมืองมลายู  ให้มาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังแต่ก่อน  จึงดำรัสให้ข้าราชการเป็นข้าหลวงเชิญรับสั่งออกไปยังหัวเมืองแขกมลายู  ให้เข้ามาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังแต่ก่อน

(https://i.ibb.co/7bcbLN6/680queenoflung05.jpg) (https://imgbb.com/)

          สุลต่านเจ้าเมืองตานี  ได้ทราบรับสั่งแล้วขัดแข็งอยู่ไม่ยอมมาอ่อนน้อม  จึงดำรัสให้กองหน้ายกไปตีเมืองตานี  ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไป  ด้วยเดชะบารมีพระราชกฤษฎาธิการ  บันดาลพวกแขกทั้งปวงให้พ่ายแพ้พลข้าหลวงทั้งสิ้น  ที่สู้รบปราชัยก็มีบ้าง  ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง  ที่มาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง  และเมืองตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่  ได้ปืนทองใหญ่ในเมือง ๒ บอก  ทรงพระกรุณาให้เข็นลงในสำเภา  และได้เครื่องสรรพศาสตราวุธต่าง ๆ กับทรัพย์สิ่งของทองเงินเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/Cmbg7w4/Unzztitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          บรรดาเจ้าเมืองกรมการเมืองแขกมลายูทั้งปวงนั้น  ที่สู้ตายในที่รบบ้าง  จับได้บ้าง  ที่หนีไปได้บ้าง  ที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีก็มิได้ลงโทษบ้าง  และพระเดชานุภาพก็ผ้านแผ่ไปในมลายูประเทศทั้งปวง

(https://i.ibb.co/6mM3zfJ/Unticvtled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพระยาไทร ๑   พระยากลันตันซึ่งขึ้นแก่เมืองตรังกานู ๑   พระยาตรังกานู ๑   ก็เกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชาธิการ  ก็แต่งเครื่องราชบรรณานำมาทูลเกล้าฯ ถวาย  ขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯต่อไป  จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้แต่งหนังสือบอกข้าราชการ  ซึ่งได้ชัยชนะแก่พม่าปัจจามิตร  และเสด็จไปปราบปรามหัวเมืองแขกปราชัย  ได้เมืองตานีและเมืองอื่นที่มาขอขึ้นก็หลายเมือง  ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า  ยังกรุงเทพมหานคร  ข้าหลวงซึ่งถือหนังสือบอกข้อราชการทัพเมืองตานีเข้ามายังกรุงเทพมหานคร  ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัส  ดำรัสสรรเสริญพระกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  แล้วโปรดให้มีตราตอบออกไป  แจ้งข้อราชการซึ่งเด็จพระราชดำเนินทัพหลวง  ขึ้นไปปราบอริราชไพรี ณ หัวเมืองฝ่ายเหนือ  พม่าปราชัยไปสิ้นแล้ว  ให้เชิญสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  เสด็จยาตราพยุหทัพกลับคืนมายังพรระนคร

          สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  จึงดำรัสให้กวาดครอบครัวแขกเชลยที่ตีทัพ  จับบรรทุกลงเรือรบ  เก็บทั้งทรัพย์สิ่งของทองเงิน  แลเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ  ซึ่งได้ในการสงคราม  และให้แบ่งครอบครัวแขกสำหรับบ้านเมืองบ้าง  ทุก ๆ เมือง แล้วโปรดตั้งพระจะหนะซึ่งมีความชอบในการสงครามครั้งนั้นเป็นเจ้าเมืองอยู่รักษาหัวเมืองตานีซึ่งตีได้นั้น

(https://i.ibb.co/n7wr13n/Unti-tled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ทรงทราบว่าธัญญาหารในกรุงยังไม่บริบูรณ์  จึงดำรัสให้ขนข้าวในเมืองแขกลงบรรทุกในเรือกองทัพทุก ๆ ลำ  เสร็จแล้วจึงให้เลิกกองทัพกลับมาทางบกทางเรือถึงกรุงเทพมหานครในเดือน ๑๑ ปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ (พ.ศ. ๒๓๒๙) เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า  กราบทูลถวายปืนใหญ่ยาว ๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วกึ่ง กระสุน ๑๑ นิ้ว บอก ๑      ยาว ๕ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว กระสุน ๓ นิ้วกึ่ง บอก ๑   ซึ่งได้มาแต่เมืองตานี

          และกราบทูลถวายครอบครัวแขก และพม่าเชลย  กับทั้งเครื่องศาสตรวุธตาง ๆ  ซึ่งไปได้มา  และพม่าเชลยซึ่งจับได้มานั้นโปรดให้จำไว้ ณ คุกทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/SQKYSb0/a.jpg) (https://imgbb.com/)
ปืนใหญ่พญาตานี
(พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหมปัจจุบัน)

          ปืนบอกใหญ่ที่ได้มาแต่เมืองตานีนั้น  ก็โปรดให้แก้ไขตกแตงลวดลายท้ายสังข์ขัดสีเสียใหม่  ให้จารึกนามลงไว้กับบอกปืนว่า  พระยาตานี  แล้วให้ทำโรงไว้ที่ข้างหน้าศาลาลูกขุนในฝ่ายขวา

(https://i.ibb.co/sj3Csvy/Unti-ztled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานคิดหล่อปืนขึ้นอีกบอก ๑  ให้เป็นคู่กันกับปืนที่ชื่อว่าพระยาตานี   และเมื่อจะหล่อปืนนั้นเกณฑ์ทองข้าราชการ ทองบุม้า  ฬ่อไม่เอา  เอาแต่ทองเหลืองทองแดงตามเบี้ยหวัดตั้งแต่ ๑๐ ตำลึงขึ้นไป  เบี้ยหวัดชั่ง ๑ ก็เอา  น้ำหนักทองชั่งหนึ่งเท่ากับเงิน  ให้เกณฑ์เอาทองมาส่งตามเบี้ยหวัด  ตั้งกองรับทองส่งทองที่โรงละครใหญ่  ที่หล่อปืนนั้นหล่อที่หน้าโรงละครข้างทิศตะวันตก  ริมถนนประตูวิเศษไชยศรี

(https://i.ibb.co/9NqWRtX/20180327130148.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อสุมพิมพ์เวลาบ่ายนั้น  โปรดให้จัดพวกโขนข้าหลวงเดิม  กับพวกละครสมทบเข้าบ้าง  ให้เล่นโขนละครกลางแปลงตั้งแต่เวลาบ่ายจนค่ำ  เสด็จทอดพระเนตรอยู่จนโขนละครเลิก

(https://i.ibb.co/xq2BJwj/a-01.jpg) (https://imgbb.com/)
ปืนใหญ่นารายณ์สังหาร
(พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหมปัจจุบัน)

          รุ่งขึ้นเวลาเช้าจึงหล่อปืน  ครั้งนั้นหล่อทีเดียวก็ได้บริสุทธิ์  พระราชทานชื่อ   "นารายณ์สังหาร"  คู่กับพระยาตานี

(https://i.ibb.co/TH4CvCD/a-02-300-177.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/Q6RK2zm/a-03-300-177.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/b24xQRg/a-04-300-177.jpg) (https://imgbb.com/)
(https://i.ibb.co/wrG8Lvq/a-05-300-177.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/PQfQr9h/a-06-300-177.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/zby3tB9/a-07-300-177.jpg) (https://imgbb.com/)
ปืนใหญ่ทั้ง 6 กระบอก
(พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหมปัจจุบัน)

          แล้วโปรดให้หล่ออีก ๖ บอก  ชื่อมารประไลย ๑   ไหวอรนพ ๑   พิรุณแสนห่า ๑   พลิกพระสุธาหงาย ๑   พระอิศวรปราบจักรวาล ๑   พระกาฬผลาญโลก ๑   ทำโรงขึ้นไว้เป็นคู่ ๆ กัน  ข้างถนนประตูวิเศษไชยศรี

(https://i.ibb.co/n3kcCcK/1399193058-28307large-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  สมัยกรุงศรีอยุธยา  เมืองปัตตานีและเมืองบริวารในมลายูประเทศขึ้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทย  ครั้นเสียกรุงให้แก่พม่า  บรรดาหัวเมืองในมลายูประเทศได้แยกตัวเป็นอิสระอยู่ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ตกมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์  สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงลงไปตี  แล้วยึดกลับมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงสยามอีกครั้ง  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๙  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้อ่านกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ มิถุนายน ๒๕๖๓
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กรกฎาคม, 2562, 12:00:58 AM
(https://i.ibb.co/SKy58SH/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

- ตั้งท้าวเทพสตรี  ท้าวศรีสุนทร -

ทรงตั้ง“ท้าวเทพสตรีท้าวศรีสุนทร”
สองบังอรเมืองถลางช่างกล้าแสน
กรมการเมืองเป็นพระยาถลางแทน
ไม่ขาดแคลนเจ้าเมืองแต่นั้นมา

ทรงยกทัพไปตีทวายบ้าง
เพื่อลบล้างรอยแค้นของพม่า
ทนทุรกันดานในมรรคา
ทหารกล้าไม่ท้อต่อการเดิน

          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  ยกทัพลงไปปราบหัวเมืองมลายู  ข้าขอบขัณฑสีมาไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  แล้วแยกตัวเป็นอิสระ  ทรงปราบเมืองตานีและหัวเมืองมลายูทั้งปวงได้ราบคาบ  แล้วนำปืนใหญ่จากเมืองตานีมากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จารึกชื่อว่า  พระยาตานี  แล้วโปรดให้หล่อปืนใหญ่ชื่อนารายณ์สังหาร  ให้เป็นคู่กัน  พร้อมกับให้หล่อปืนใหญ่ขึ้นอีก ๖ บอกแล้วนั้น  วันนี้มาอ่านเรื่องราวในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/4fJth1v/Un-titled-41.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นทัพพม่าถอยไปแล้ว ได้ข่าวกองทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว  จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณา  ขณะเมื่อทัพหลวงยังเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสงขลาฉบับ ๑   บอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครฉบับ ๑   และขณะเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เสด็จกลับเข้ามาถึงพระนครแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการ โปรดให้มีตราออกไปยังเมืองถลาง

(https://i.ibb.co/ByjhvPD/Unt-itled-42.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่
          แล้วโปรดตั้งจันท์ภรรยาพระยาถลางเก่าซึ่งออกต่อรบพม่านั้น  เป็นท้าวเทพสตรี
          โปรดตั้งมุกผู้น้องหญิงนั้น  เป็นท้าวศรีสุนทร
พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คนตามสมควรแก่ความชอบในการสงครามนั้น
          แล้วโปรดตั้งให้หลวงสุวรรณคีรีเป็นพระยาสงขลา  ให้ยกเมืองนั้นเป็นเมืองตรี  ขึ้นกรุงเทพมหานคร   แล้วให้เมืองตานี  เมืองจะหนะ  และเมืองเทพา  ทั้งหัวเมืองประเทศราชมลายู  ขึ้นเมืองสงขลา

          ต่อมาในปีมะเมียนั้น  โปรดให้สร้างวังขึ้นริมคลองคูพระนคร  เยื้องปากคลองหลอดข้าม  ครั้นทำเสร็จจึงโปรดให้นักองเองกับญาติวงศ์  ย้ายจากบ้านที่คอกกระบือมาอาศัยอยู่ที่วังนั้น  จึงได้เรียกว่า  วังเจ้าเขมร  แต่นั้นมา

(https://i.ibb.co/zRFnYSb/Untitled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  เสด็จขึ้นไปจัดแจงบ้านเมืองในล้านนาไทย  โดยให้เอาพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง  ไปเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่  สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯก็เสด็จขึ้นไปจัดการบ้านเมืองในล้านนาไทยตามพระราชดำรัสทันที

(https://i.ibb.co/YPHHz0s/Untitlfgfed-36.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ในขณะที่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จขึ้นไปจัดการบ้านเมืองในล้านนาไทยนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริจะเสด็จดำเนินทัพหลวงไปตีเมืองทวาย  ดำรัสให้เตรียมทัพไว้ให้พร้อมสรรพ
          ครั้นถึงวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่  ปลายปีมะแม  นพศกนั้น  เวลา ๓ โมงเช้าเศษ  ได้เวลามหาพิชัยฤกษ์  ก็เสด็จยกพยุหยาตรานาวาทัพหลวงจากกรุง เทพมหานครโดยทางชลมารค  มีพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวงนั้น ๒๐,๐๐๐ เศษ  มีเรือพระราชวงศานุวงศ์และเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยเป็นอันมาก

          ดำรัสให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ(สน)  เจ้าพระยามหาเสนา  เจ้าพระยายมราช  เป็นกองหน้า
          เจ้าพระยาพระคลังเป็นเกียกกาย
          สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทรเป็นยกกระบัตร
          สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นทัพหลัง

เสด็จประทับรอนแรมไปตามระยะทางชลมารคถึงท่าตะกั่วแม่น้ำน้อย จึงเสด็จประทับ ณ ตำหนักค่ายที่กองทัพหน้าตั้งไว้รับเสด็จ  ให้กองหน้ากองหนุนคน ๑๐,๐๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน

(https://i.ibb.co/q0rTk3D/Untitlfgded-21.jpg) (https://imgbb.com/)

          การยกทัพไปครั้งนั้นต้องเดินทัพไปทางเขาสูงข้ามเขาไปลงด่านวังปอ  ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินตามไป  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างต้นพังเทพลีลาเป็นพระคชาธารผูกพระที่นั่งกูบทอง  ประดับด้วยเครื่องพระกรรภิรมย์แห่โดยขนาด  พรั่งพร้อมด้วยพลสารดั้งกันแทรกแซงเป็นขนัด  พลอัสดรดุรงค์เรียบเรียงโดยพยุหยาตราหน้าหลัง  คับคั่งด้วยพลบทจรเดินเท้าแปดพันเศษ  ล้วนสวมใส่สรรพยุทธอาภรณ์  กรกุมอเนกวิธอาวุธ  ส่งเสียงโห่ร้องกึกก้องท้องทุรัถยาพนาสณฑ์ เคลื่อนทัพไปโดยลำดับ  ทรงให้ตั้งค่ายและพลับพลาหยุดประทับร้อนแรมไปตามทางนั้น

          * ทางฝ่ายเมืองทวายนั้น  พระเจ้าอังวะตั้งแมงแกงซาบุตรเมฆราโบลงมาเป็นเจ้าเมือง  และกองทัพซึ่งเคยยกลงไปทางเมืองมะริดแต่ครั้งก่อนนั้นก็ยังอยู่พร้อมกันที่เมืองทวายทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/RSdX7P7/Un-titled-27.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทวายหวุ่นกับแก่งหวุ่นแมงญี  แม่ทัพและนายทัพนายกองทั้งปวงได้ทราบว่ากองทัพไทยยกมาทางด่านวังปอเขาสูง  จะเข้าตีเมืองทวาย
          แม่ทัพจึงให้นัดมิเลงถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ วังปอทัพหนึ่ง
          ให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวายถือพล ๔,๐๐๐ ยกมาตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองกลิอ่องเหนือเมืองทวายทัพหนึ่ง
     ให้ตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่งทางซึ่งจะมาแต่เมืองกลิอ่องถึงเมืองทวาย
     เกณฑ์ให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกพล ๕,๐๐๐ ออกไปตั้งรับอยู่อีกตำบลหนึ่ง
     แล้วจัดแจงพลทหารทั้งพม่าและทวายชาวเมือง  ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ
     ตัวแก่งหวุ่นแมงญีแม่ทัพนั้นตั้งมั่นรักษาอยู่ในเมือง  จัดแจงป้องกันเมืองเป็นสามารถ
     พร้อมกับมีหนังสือบอกขึ้นไปทูลพระเจ้ากรุงอังวะให้ทราบว่าพระเจ้ากรุงสยามยกทัพหลวงมาตีเมืองทวาย

(https://i.ibb.co/ZTSt8hc/dfdf37.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ คราวนี้ไทยเป็นฝ่ายรุกบ้าง หลังจากเป็นฝ่ายตั้งรับมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว การยกทัพไปตีทวายคราวนี้จะมีผลเป็นประการใด ตามไปอ่านต่อกันในตอนต่อไปครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43013#msg43013)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43383#msg43383)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กรกฎาคม, 2562, 10:50:06 PM
(https://i.ibb.co/rFW66fV/Untitlesfada-1.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43202#msg43202)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43645#msg43645)                   .

- ยกทัพไปตีเมืองทวาย -

ยกทัพข้ามเขาสูงแสนลำบาก
ทรงทนตรากตรำจนพ้นเขาเขิน
ตีพม่าทุกค่ายพ่ายยับเยิน
ทัพดำเนินต่อเนื่องถึงเมืองทวาย

          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดาร ๒ ฉบับมาวางให้ท่านอ่านกันถึงตอนที่  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพไปตีเมืองทวายด้วยพระองค์เอง  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  เชิญอ่านความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ขอยกมาแสดงดังนี้

(https://i.ibb.co/4f2wFPC/Un-titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) แม่ทัพหน้าของไทยที่เดินทัพข้ามเขาสูงไปนั้น  ให้พระยาสุรเสนา  พระยามหาอำมาตย์ และท้าวพระยานายทัพนายกองหลายนายคุมพลทหาร ๕,๐๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน  เมื่อข้ามเขาลงไปถึงเชิงเขาก็เห็นค่ายพม่าตั้งรับอยู่  พระยาสุระเสนา  พระยามหาอำมาตย์  นายกองหน้าจึงให้ตั้งค่ายลงเป็นหลายค่ายเข้าประชิดค่ายพม่า  พม่าก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่ายเข้าใส่ทหารไทย  ฝ่ายไทยก็มิได้หวั่นเกรง  คงตั้งค่ายมั่นอยู่รอโอกาสเข้าปล้นค่ายพม่า

(https://i.ibb.co/23h2wxV/Untitle-d-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นถึงวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ เพลาเช้า  พระเสนานนท์กับขุนหมื่นและไพร่พลในกองยกเข้าปล้นค่ายพม่า  พม่ายิงปืนนกสับออกมาถูกขาซ้ายพระเสนานนท์ล้มลง  พลทหารเข้าช่วยพยุงถอยกลับมาเข้าค่าย  พระยามหาอำมาตย์ก็ขับพลทหารหนุนเข้าไปปล้นค่ายพม่า  ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ  เมื่อหักเอาค่ายพม่าไม่ได้ก็ถอยกลับมา  ได้ยกเข้าปล้นค่ายเป็นหลายวันก็ไม่สำเร็จ  ฝ่ายไทยต้องสูญเสียพระยาสุรเสนา  พระยาสมบัติบาล  ซึ่งถูกปืนข้าศึกตายในที่รบ

(https://i.ibb.co/MChGxhZ/Untisfaled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          วันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓  เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เจ้าพระยามหาเสนา  ก็ยกพลทหารหนุนไปช่วยกองหน้าเข้าระดมตีค่ายพม่า  ฝ่ายพม่าก็ต่อรบเป็นสามารถ  รบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ  โดยพลทหารไทยหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ท้อถอย  บ้างเย่อค่าย ปีนค่าย  พม่าสู้รบต่อต้านอยู่จนถึงเวลาประมาณยามหนึ่ง  นัดมิแลนายทัพเห็นเหลือกำลังจะต้านทานไหว  ก็พาพลทหารแตกออกข้างหลังค่ายหนีไป ณ ค่ายเมืองกลิอ่อง  กองทัพไทยก็ได้ค่ายวังปอ  แล้วให้ม้าใช้รีบลงมากราบทูลพระกรุณายังทัพหลวง  แล้วเข้าตั้งพักรี้พลอยู่ค่ายวังปอสองวัน

(https://i.ibb.co/0FZPJ38/Untisftled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ณ วันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓  กองทัพหน้าของไทยก็ยกตามลงไปถึงค่ายเมืองกลิอ่อง   เข้าตั้งค่ายติดเมืองกลิอ่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงดำเนินทัพหลวงข้ามเขาสูงหนุนไป  ภูเขาลูกนั้นชันนัก  จะทรงช้างพระที่นั่งขึ้นไปมิได้  จึงดำรัสให้ผูกราวแล้วต้องทรมานพระกายเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท  ยุดราวขึ้นไปตั้งแต่เชิงเขา  แต่เช้าจนเที่ยงจึงถึงยอด  ส่วนช้างซึ่งขึ้นเขานั้นต้องเอางวงยึดต้นไม้เหนี่ยวกายขึ้นไปได้อย่างยากลำบากยิ่ง  มีพระราชดำรัสว่า  ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยากพาลูกหลานมาได้ความลำบากยิ่งนัก  เมื่อลงเขาก็ต้องเสด็จพระราชดำเนินยึดราวลงไปเหมือนกัน  ครั้นกองทัพหลวงยกข้ามภูเขาสูงล่วงพ้นไปแล้ว  จึงเสด็จยั้งทัพหลวงประทับแรม ณ ค่ายวังปอ  ให้ตำรวจไปเร่งกองหน้าตีเมืองกลิอ่องให้แตกโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/jwZSDT0/Un-titled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เจ้าพระยามหาเสนา  เจ้าพระยายมราช  ก็ขับพลเข้าหักค่ายเมืองกลิอ่อง  พม่าก็ต่อรบเป็นสามารถ  รบกันทั้งกลางวันกลางคืน  เสียงปืนยิงโต้ตอบกันมิได้หยุดหย่อน  จนถึงวันเสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔  เพลากลางคืนประมาณยามเศษ  เจ้าเมืองทวายและนัดมิแลเห็นว่าเหลือกำลังจะต้านทานต่อรบ  ก็แหกหนีออกทางหลังค่ายแตกพ่ายไป ณ เมืองทวาย  กองทัพไทยก็ได้ค่ายเมืองกลิอ่อง  หยุดพักพลจัดแจงเสบียงอาหารอยู่ที่นั้นหลายวัน  แต่งกองสืบแนมไปสืบก็ทราบว่าพม่าตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่งคอยรับอยู่กลางทางที่จะไปเมืองทวาย  จึงบอกไปกราบทูลพระกรุณายังค่ายหลวง  ทรงทราบดังนั้นจึงมีพระราชดำรัสให้กองหน้าตรวจเตรียมรี้พลอย่างกวดขันทุกทัพทุกกอง  อย่าประมาทให้เสียทีแก่ข้าศึก  แล้วให้ยกไปตีค่ายปีกกาพม่าให้แตกในวันเดียว  ถ้าล่วงวันไปจะเอาโทษนายทัพนายกองถึงสิ้นชีวิต

(https://i.ibb.co/hRSfB9v/Untifgtledgd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึงวันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเช้า  แม่กองหน้าของไทยก็ยกเข้าตีค่ายปีกกาของพม่า  โดยท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายนั้นกั้นสัปทนแดงดาดไปทั้งท้องทุ่ง  แบ่งหน้าที่กันเร่งขับพลทหารเข้าหักค่ายปีกกาพร้อมกันทุกทัพทุกกอง  ให้ระดมยิงปืนใหญ่น้อยเสียงสะเทือนสะท้านไปทั้งท้องทุ่ง  พม่าก็ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบจากทุกค่ายปีกกา  รบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ  พลทหารไทยเยียดยัดกันหนุนเนื่องเข้าไปมิได้ท้อถอย  เข้าปีนค่ายเย่อค่ายสู้รบกันถึงขั้นอาวุธสั้น  พลพม่าต่อสู้ต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีไปเข้าเมืองทวาย  กองทัพไทยก็ไล่ติดตามไปจนถึงเมืองทวายในเพลากลางคืนวันนั้นเอง

(https://i.ibb.co/jR34K98/Ufdfntitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          * แก่งหวุ่นแมงญีแม่ทัพใหญ่  และแมงแกงซาเจ้าเมืองทวาย  กับทั้งนายทัพนายกองทั้งปวงก็พากันตื่นตกใจเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้  ก็ชวนกันหนีออกจากเมือง  ที่ข้ามน้ำไปฟากข้างโน้นก็มีบ้าง  ที่ยังอยู่ในเมืองก็มีบ้าง  แต่มิได้มีคนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองเลย

          วันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเช้า  พลทัพไทยกองหน้าก็ยกไปถึงเชิงกำแพงเมืองทวาย  แลไม่เห็นผู้คนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทิน  แต่ประตูเมืองปิดอยู่  แม่ทัพหน้าจึงปรึกษากันแล้วเห็นว่ายังไม่ควรจู่โจมทำลายประตูเมืองเข้าไป  ด้วยพม่าอาจจะแต่งกลซุ่มพลไว้  จึงให้รอทัพอยู่นอกเมืองคอยดูท่วงทีพม่าว่าจะทำประการใด  อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึก  แล้วก็ถอยออกมาตั้งค่ายล้อมเมืองไว้สามด้าน  เว้นทางริมแม่น้ำไว้”

(https://i.ibb.co/1KHwmJX/Untitlesfad-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้ก็ได้เห็นพระวิริยานุภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ที่ทรงตรากตรำลำบากในการเดินทัพไปตีเมืองทวาย  เสด็จรอนแรมไปในทางทุรกันดารเท่านั้นมิพอ  ยังต้องทรงเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาททรมานพระกายในการไต่ภูเขาสูง  เสี่ยงอันตรายนำทัพไทยไปจนถึงเมืองทวาย  พระองค์มิได้ทำเพื่อพระองค์เอง  หากแต่ทรงทำเพื่อประเทศชาติไทยโดยแท้  และมิใช่ว่าพระองค์ทรงคิดจะรุกรานพม่าเพื่อแสวงหาอำนาจ  หากแต่พระองค์จำต้องยกไปตีพม่า  เพื่อป้องกันมิให้พม่ายกมาตีไทยอีก  เพราะหากว่าไทยมีแต่คอยจะตั้งรับอยู่ก็จะเสียเปรียบพม่า  จึงจำเป็นต้องเป็นฝ่ายรุกไปบ้าง  เพื่อให้พม่าเกิดความยำเกรงจนไม่กล้ายกมารุกรานไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เมื่อยกทัพไปถึงเมืองทวายแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  รออ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, กรกฎาคม, 2562, 10:38:46 PM
(https://i.ibb.co/wWWcQ9G/Untisdsstled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- ยึดทวายไม่สำเร็จ -

ยึดทวายไม่สำเร็จเสด็จกลับ
ทรงเลิกทัพลาจรก่อนเสียหาย
องเชียงสือคิดกลับญวนชวนเพื่อนตาย
ทั้งแจวพายนาวาออกทะเล


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานก่อนนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาบอกเล่าถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยกทัพหลวงไปตีเมืองทวาย  ทรงพยามยามเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทข้ามยอดเขาสูงไปได้ด้วยความลำบากยิ่ง  กองทัพหน้าตีค่ายพม่าที่ยกมาตั้งรับแตกพ่ายไปทั้ง ๓ ค่าย  แล้วยกเข้าประชิดเมืองทวาย  นายทัพนายกองพม่าส่วนมากหนีออกจากเมืองข้ามแม่น้ำไป  แต่ปิดประตูเมืองไว้  ทัพหน้าทหารไทยไม่กล้าทลายประตูเมืองเข้าไปด้วยเกรงว่าจะเป็นกลอุบายของข้าศึก  จึงตั้งค่ายล้อมเมืองอยู่ทั้ง ๓ ด้าน  โดยเว้นทางด้านแม่น้ำไ ว้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปมาดูกันต่อครับ

          * “ นายทัพนายกองพม่าเห็นว่ากองทัพไทยไม่กล้าเข้าตีเมืองทวาย  จึงพากันข้ามแม่น้ำลอบกลับเข้าในเมือง  แล้วเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองเป็นสามารถ  ในขณะนั้นกองทัพหลวงของไทยก็ยกตามกองทัพหน้าเข้าไปตั้งใกล้กำแพงเมืองทวาย  ห่างจากค่ายกองทัพหน้าประมาณห้าสิบเส้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร  ยกไปตั้งค่ายใหญ่หนุนค่ายกองทัพหน้าอยู่หน้าทัพหลวง

          ขณะนั้นช้างต้นพังเทพลีลาพระราชคชาธารเกิดป่วยลง  โดยไม่จับหญ้าถึงสามวัน  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกยิ่งนัก  ด้วยพังเทพลีลาเชือกนี้เป็นช้างพระที่นั่งข้าหลวงเดิม  ได้เคยทรงเสด็จไปงานพระราชสงครามมาแต่ก่อนทุกครั้ง  ทรงพระอาลัยด้วยเกรงว่าพระราชพาหนะเพื่อนทุกข์เพื่อนยากจะล้มเสีย  จึงทรงพระอธิษฐานเสกข้าวสามปั้นให้ช้างกิน  ด้วยเดชะพระบารมีเป็นอัศจรรย์ปรากฏว่าช้างนั้นหายไข้เป็นปกติ  ทรงดีพระทัยเป็นยิ่งนัก  นายทัพนายกองพม่าที่ตั้งรักษาเมืองทวายอยู่นั้นเห็นจะเกรงกลัวพระเดชานุภาพเป็นกำลัง  จึงมิได้ยกพลออกมาต่อรบนอกเมือง  พากันนิ่งรักษาเมืองมั่นอยู่  กองทัพไทยก็ไม่กล้ายกเข้าหักเอาเมืองทวายจึงตั้งล้อมเมืองอยู่นานถึงกึ่งเดือน  เสบียงอาหารก็เบาบางลง

          ขณะนั้นเจ้าอินซึ่งเป็นบุตรพระเจ้าล้านช้างเก่าจึงกราบทูลขออาสายกเข้าปีนปล้นเอา  มีพระราชโองการตรัสห้ามว่า ทัพหลวงตั้งใกล้เมืองนัก  เกรงจะไม่สมคะเนลาดถอยมาแล้วข้าศึกได้ทีจะยกออกมจากเมืองไล่ติดตามกระทั่งปะทะค่ายหลวง  จะเสียทีเหมือนเมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งก่อน

          จากนั้นพระยาสีหราชเดโชและท้าวพระยานายทัพนายกองหลาย  กราบบังคมทูลอาสาจะเข้าปล้นเอาเมือง  ก็ดำรัสห้ามเสียเหมือนเดิม  พอเสบียงอาหารขัดลงก็ดำรัสให้เลิกทัพถอยมาทางถม่องส่วย  ให้กองทัพหน้ารอรั้งมาเบื้องหลัง  พม่าก็ยกทัพมาติดตาม  กองหน้าก็รอรบมาจนสิ้นแดนเมืองทวาย

          * กล่าวถึงสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ  ขณะประทับจัดแจงบ้านเมืองอยู่ในล้านนาไทยนั้นทรงทราบว่า  สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงยกทัพหลวงไปตีเมืองทวาย  ก็เสด็จยาตราทัพจากเมืองนครลำปางกลับมายังกรุงเทพมหานคร  แล้วเสด็จทางชลมารคออกไปตามสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า  เมื่อไปถึงแม่น้ำน้อยก็พอดีกับทัพหลวงเสด็จกลับมาถึงพระตำหนักค่ายท่าเรือ  จึงเสด็จเข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลให้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร  โดยพระองค์จะตั้งทัพอยู่ดูทีพม่าว่าจะเป็นประการใด  จะคิดอ่านป้องกันสู้รบรักษาพระราชอาณาเขตจนสุดความสามารถ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย  จึงเสด็จกรีธานาวาทัพกลับคืนยังกรุงเทพมหานคร

          กองทัพพม่าที่ยกติดตามกองทัพไทยมานั้น  เมื่อมาสิ้นสุดแดนเมืองทวายก็ยั้งทัพ  โดยไม่กล้าล่วงล้ำเข้าเขตแดนไทย  แล้วก็เลิกทัพกลับเมืองทวายในที่สุด  สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯทรงจัดแจงให้พลเมืองอยู่รักษาด่านทางมั่นคงแล้วก็เลิกทัพเสด็จกลับพระนคร

(https://i.ibb.co/DCR9Tkh/Untit-led-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          * กล่าวถึงองเชียงสือซึ่งโดยเสด็จทัพหลวงไปตีเมืองทวายนั้น  เมื่อกลับมาแล้วได้ปรึกษาขุนนางญวนและพรรคพวกของตนว่า   “เราหนีข้าศึกเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงได้ความสุข  แล้วโปรดให้กองทัพยกไปตีข้าศึก  จะคืนเอาเมืองให้ถึงสองครั้งก็ยังหาสำเร็จไม่  บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกังวลด้วยการศึกพม่า  ยังรบติดพันกันอยู่  เห็นจะช่วยธุระเรามิได้  ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลาออกไปรบข้าศึกตีเอาบ้านเมืองคืนด้วยกำลังเราเอง  ก็เกรงพระราชอาชญาอยู่  เห็นจะไม่โปรดให้ไป  จำจะหนีไปจึงจะได้”   ครั้นปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วก็เขียนหนังสือทูลลาเอาไว้ในเรือน  แล้วจัดแจงเรือทะเลได้สี่ลำ  ลอบพาสมัครพรรคพวกขุนนางและไพร่ครอบครัวทั้งปวงลงเรือหนี  รีบแจวเรือออกไปทางปากน้ำเมืองสมุทรปราการในเพลากลางคืน  พวกชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงบ้านพักองเชียงสือรู้เรื่องจึงเข้าแจ้งต่อเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังจึงเข้ากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทันที”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  การยกทัพไปตีทวายไม่สำเร็จ  เพราะทัพหน้าที่ไล่ตีพม่าจากค่ายนอกเมืองหนีเข้าเมือง  เจ้าเมืองและกรมการเมืองพากันปิดประตูเมืองแล้วหนีออกทางหลังเมือง  นายทัพหน้าไทยไม่กล้าบุกเข้ายึดเมือง  เพราะเกรงพม่าซ่อนกลศึกไว้ในเมือง  ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้จนพม่าพากันกลับเข้ารักษาเมืองได้อีก  จึงพลาดโอกาสยึดครองเมืองทวายไปอย่างน่าเสียดาย

          เสร็จศึกทวายแล้ว   องเชียงสือ  อดีตกษัตริย์ญวน  ซึ่งร่วมไปในการศึกสงครามด้วย  ได้เกิดความคิดที่จะกลับไปกอบกู้ราชบัลลังก์ของตนคืนด้วยตนเอง  จึงพาสมัครพรรคพวกลงเรือหนีไป  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ติดตามอ่านต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, สิงหาคม, 2562, 12:01:48 AM
(https://i.ibb.co/sQJX084/Untit4-21led-19.jpg) (https://imgbb.com/)

- องเชียงสือหนีกลับญวน -

ทรงตรัสห้ามมิให้ใครตามจับ
ปล่อยให้กลับญวนไปไม่ร่อนเร่
เปิดโอกาสตั้งตนไม่ปนเป
เห็นเขาเซเราซ้ำทำไม่ลง

องเชียงสือเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน
ลมว่าวผ่านพัดแรงเป็นแรงส่ง
เรือแล่นใบไวว่องสิ้นพะวง
มุ่งหน้าตรงเกาะกูดเกาะร้างไกล


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาให้ได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงยกทัพไปตีเมืองทวาย  ตั้งค่ายล้อมเมืองอยู่จนขาดเสบียงอาหารจึงเลิกทัพกลับกรุงเทมหานคร  ในการศึกครั้งนี้องเชียงสือกษัตริย์ญวนพลัดถิ่นได้ร่วมไปในกองทัพด้วย  เมื่อกลับมากรุงเทพฯแล้ว  ได้ปรึกษาสมัครพรรคพวกในการกลับไปกอบกู้ราชบัลลังก์บ้านเมืองด้วยตนเอง  ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลาก็มิกล้า  ด้วยเกรงพระราชอาชญา  จึงเขียนหนังสือกราบทูลถวายบังคมลาใส่พานวางไว้บนโต๊ะบูชา  แล้วลงเรือหนีออกไปในยามค่ำคืน  ชาวบ้านรู้เรื่องจึงแจ้งให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ  เจ้าพระยาพระคลังจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร อ่านต่อเถิดครับ

(https://i.ibb.co/bLG1SFN/Unt-itled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยเรือข้าราชการทั้งปวงออกติดตามไปก็มิทัน  ด้วยเรือองเชียงสือได้ออกพ้นปากน้ำตกถึงท้องทะเลเสียแล้ว  จึงเสด็จกลับพระนคร  ครั้นรุ่งเช้าเสด็จขึ้นเฝ้ากราบทูลว่าจะจัดแจงเรือรบเรือทะเลยกกองทัพออกไปติดตามเอาตัวองเชียงสือให้จงได้  พอดีเวลาเช้าวันนั้นพวกข้าหลวงไปค้นเรือนองเชียงสือ  พบหนังสือที่เขียนทูลลาไว้จึงนำมาถวาย  ทรงพระกรุณาให้อ่านเป็นใจความว่า

(https://i.ibb.co/KF8tLVm/Unti-5595tled-16.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ข้าพระพุทธเจ้าองเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงก็ได้ความสุข  บัดนี้มีความวิตกถึงบ้านเมือง  ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลากลับออกไปก็กลัวพระราชอาชญานัก  จึงต้องคิดอ่านหนีด้วยเป็นความจำเป็น  ใช่จะคิดการกบฏกลับมาประทุษร้ายนั้นหามิได้  ขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทไปตราบเท่าชีวิต  ซึ่งถวายบังคมลาไปทั้งนี้ ด้วยจะไปตั้งซ่องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าตีเอาเมืองคืนให้จงได้  แม้นขัดสนกระสุนดินดำและเหลือกำลังประการใด  ก็จะบอกมาขอพระราชทานลูกดินและกองทัพออกไปช่วยกว่าจะสำเร็จ  การสงครามคืนเอาบ้านเมืองได้แล้ว  ก็จะขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป”

(https://i.ibb.co/0KRgzvZ/Untitldsfed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นได้ทรงทราบความในหนังสือนั้นแล้ว  จึงตรัสห้ามสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าว่า  อย่ายกทัพไปติดตามจับเขาเลย เขาเห็นว่าเราจะช่วยธุระเขามิได้  ด้วยมีการศึกติดพันกันอยู่  จึงหนีไปตีเอาบ้านเมืองคืน  เรามีคุณแก่เขาเขียนด้วยมือแล้วจะลบด้วยเท้ามิควร  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจึงกราบทูลว่า  "องเชียงสือคนนี้  แม้นทรงพระกรุณาจะละไว้  มิให้ติดตามเอาตัวให้ได้  นานไปภายหน้าหาบุญเราไม่แล้ว  มันจะทำความลำบากเดือดร้อนแก่ลูกหลานเราเป็นแท้อย่าสงสัยเลย"  ตรัสดังนั้นแล้วก็กราบถวายบังคมลากลับไป”

(https://i.ibb.co/4KCy0ZP/Untitlsfaed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ความตอนที่องเชียงสือหนีกลับญวนนี้  เจ้าพระทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เขียนไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑   ให้รายละเอียดมากกว่าความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  คือ  ให้รายละเอียดว่า  องเชียงสือนั้น  เวลาเสด็จพระราชดำเนินการทัพศึก  ก็ได้ตามเสด็จไปช่วยราชการบ้าง  เวลาเสด็จอยู่ในพระนครก็เข้าเฝ้าแหนและรับราชการบ้าง  และยังได้คิดฝึกหัดซักซ้อมญวนหก  ญวนรำกระถาง  สิงโตล่อแก้วสำหรับเล่นกลางวัน  สิงโตคาบแก้วสำหรับเล่นในเวลากลางคืน  เป็นการเล่นอย่างญวนถวายตัว  จึงโปรดให้เล่นหน้าพลับพลาในเวลามีการมหรสพ  เป็นแบบแผนสืบมาจนทุกวันนี้

          ตอนที่หนีจากกรุงเทพฯนั้น  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้รายละเอียดว่า  หลังจากปรึกษาจนเห็นพ้องต้องกันและเขียนหนังสือกราบถวายบังคมลาแล้ว  วางหนังสือนั้นไว้ที่โต๊ะบูชา  สั่งให้องกว้าน   องญี่  เอาเรือใหญ่เดิมของตัวไปคอยอยู่ที่เกาะสีชัง  ครั้นเพลาค่ำ  องเชียงสือจึงให้หาตัวนายจันท์  นายอยู่  นายเมือง  ตำรวจในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ซึ่งเป็นคนชอบพอกันไปเลี้ยงสุราที่เรือนองเชียงสือ  แล้วให้แพรย่นสีทับทิมคนละผืน  ทั้งสามคนเมาสุราถึงขนาดไม่รู้สึกสมประดี  จึงให้จับตัวคนทั้งสามมัดมือแล้วให้คนหามลงไว้ในท้องเรือ  จากนั้นองเชียงสือก็พาครอบครัวกับพวกญวนเก่าที่กรุงเทพฯไป  องเฮียวเจ้ากรมช่างสลัก ๑   องหับเจ้ากรมช่างไม้ ๑   องเกาโลเจ้ากรมช่างหล่อ ๑   รวม ๓ คนลงเรือแล้วถอนสมอรีบแจวไปในเวลากลางคืนวันนั้น  เรือ ๔ ลำ  คนประมาณ ๑๕๐ เศษ

(https://i.ibb.co/3WDZD7F/Untitlfgded-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตอนที่กรมพระราชวังบวรฯเสด็จตามไปนั้น  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่า  เสด็จไปถึงปากอ่าวยามรุ่งอรุณแลเห็นเรือองเชียงสือ  ฝ่ายองเชียงสือก็เห็นเรือตามมา  ออกปากอ่าวแล้วใช้ใบไม่ได้เพราะไม่มีลม  องเชียงสือตกใจคิดว่าคงจะถูกจับได้และถูกฆ่าเสียแน่แล้ว  ตัดสินใจว่า  เราเป็นคนไม่มีวาสนาแล้วจะอยู่ไปไยให้หนักแผ่นดิน  ว่าแล้วก็ชักดาบออกจะเชือดคอตายเสีย  องภูเวกระโดดเข้าชิงดาบในมือองเชียงสือไว้  จากนั้นองภูเวก็แนะนำให้อธิษฐานเสี่ยงทายดู  หากมีบารมีพอจะเป็นเจ้าแผ่นดินญวนก็คงจะมีลมมาช่วยให้ใช้ใบแล่นเรือหนีไปได้  หลังจากนั้นก็ปรากฏว่ามีลมว่าวพัดมา  เรือญวนทั้งสี่ลำก็ใช้ใบแล่นหนีไปโดยเร็ว  จากนั้นก็แล่นเรือไปพำนักอยู่ที่เกาะกูดซึ่งมีน้ำจืดบริบูรณ์  และในเวลานั้นเกาะนี้เป็นเหมือนเกาะร้าง เพราะหาผู้คนอยู่อาศัยมิได้เลย”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  องเชียงสือหนีกลับญวน  จะชิงเมืองคืนได้หรือไม่  อย่างไร  ติดตามอ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, สิงหาคม, 2562, 12:02:05 AM
(https://i.ibb.co/JzBRWPB/Untit4-21led-19.jpg) (https://imgbb.com/)

- องเชียงสือตั้งหลักกู้บัลลังก์ -

องเชียงสือซ่อนตนบนเกาะกูด
รอพิสูจน์ให้เห็นตนเป็นใหญ่
อุปสรรคนานาฟันฝ่าไป
เดินเข้าใกล้ความหวังบัลลังก์ญวน


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้พูดถึงองเชียงสือพาพรรคพวกหนีกลับญวน  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ  กราบทูลขอส่งกองเรือรบออกตามจับตัวกลับมา  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามไว้  เพราะได้ทอดพระเนตรหนังสือที่องเชียงสือเขียนข้อความกราบบังคมลาใส่พานไว้ในเรือน  ว่าจะกลับไปกู้เมืองญวนคืนมา  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าไม่พอพระทัย  กราบทูลว่า  "องเชียงสือคนนี้  แม้นทรงพระกรุณาจะละไว้มิให้ติดตามเอาตัวให้ได้  นานไปภายหน้า  หาบุญเราไม่แล้ว  มันจะทำความลำบากเดือดร้อนแก่ลูกหลานเราเป็นแท้อย่าสงสัยเลย"  ดำรัสดังนั้นแล้วก็กราบถวายบังคมลาเสด็จกลับไปพระราชวัง  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาดูกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/kgLD0CL/Untitledfsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  ในปีมะแม จุลศักราช ๑๑๔๙ พ.ศ. ๒๓๓๐ นั้น  พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองพุทไธมาศถึงแก่พิราลัย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้บุตรพระยาราชาเศรษฐีญวนเจ้าเมืองพุทไธมาศคนเก่านามว่าองเทียม  เป็น พระยาราชาเศรษฐี  ออกไปครองเมืองพุทไธมาศแทน  แล้วตรัสปรึกษาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  ถึงเมืองสมุทรปราการว่า  เมืองนี้หามีกำแพงเมืองไม่  เกรงว่าจะมีราชศัตรูหมู่ปัจจามิตรยกมาทางทะเล  ไม่มีที่มั่นจะป้องกันรับข้าศึกศัตรู  ทรงเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงให้เกณฑ์ทำอิฐแล้วเกณฑ์ข้าราชการให้ก่อป้อมและกำแพงไว้ที่ริมแม่น้ำใต้ปากลัด  ฟากฝั่งตะวันออก  เป็นที่มั่นป้องกันอริราชไพรีอันจะมีมาทางทางทะเลนั้น

(https://i.ibb.co/XWHq6ZH/Y8034244-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          และในปีเดียวกันนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กอง  ปรุงเครื่องบนพระมณฑปพระพุทธบาทขึ้นใหม่  ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในคราวที่พม่ายกมาล้อมกรุงเก่านั้น  พวกจีนค่ายคลองสวนพลูคบคิดกันเอาเพลิงไปจุดเผาพระมณฑปเดิมนั้นเสีย  ตกมาถึงสมัยพระเจ้าตากสินนั้นทรงให้ทำเป็นแต่หลังคามุงกระเบื้องกั้นพระพุทธบาทไว้  หาได้สร้างเป็นพระมณฑปดังแต่ก่อนเก่าไม่  เมื่อก่อนยังมิได้เสด็จยกทัพหลวงไปตีทวายนั้นทรงตรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  เป็นแม่การยกพระมณฑปพระพุทธบาท  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจึงเสด็จทางชลมารคถึงที่ประทับท่าเจ้าสนุก  แล้วมีพระราชบัณฑูรให้เกณฑ์ข้าราชการไพร่นายช่วยกันขนตัวไม้เครื่องบนพระมณฑปขึ้นไปยังพระพุทธบาท  ด้วยพระราชศรัทธาเปี่ยมล้น  พระองค์ทรงยกตัวลำยองเครื่องบนพระมณฑป  ทรงแบกด้วยพระองค์เองแล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทไปตามทาง  ให้ตั้งขาหยั่งและพลับพลาที่ประทับไปตามระยะทางจนถึงพระพุทธบาท  เมื่อให้ช่างยกเครื่องบนพระมณฑปเสร็จแล้ว  ให้จัดการลงรักปิดทองประดับกระจก  ให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑปใหญ่  เสาทั้งสี่กับเครื่องบนและยอดล้วนแผ่ทองคำหุ้มทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/RHZcVt8/Untit-led-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          * คราวนี้ขอกล่าวถึงเรื่องราวขององเชียงสือ(เหงียน ฟลุ๊ค แอ๋ง ?)  ที่หนีจากกรุงเทพมหานครกลับไปเมืองญวน โดยจะขอเก็บความในพระราชพงศาวดารกัมพูชา  ฉบับนักองค์นพรัตน  ที่  พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) แปลจากภาษาเขมร  ตอนที่ว่าด้วยองเชียงสือ (หรือ เหงียน ฟลุ๊ค แอ๋ง)  กอบกู้เมืองญวน ดังต่อไปนี้

(https://i.ibb.co/wrJ2NHv/Untitle-tl854ed-17.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึงปีจุลศักราช ๑๑๔๙ (พ.ศ.๒๓๓๐)  ปีมะแม  องเชียงสือเจ้าเวียดนาม  ซึ่งพ่ายเจ้าไกเซิน  พาครอบครัวหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยามนั้น  ได้ลอบพาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองไทยมาปักหลักอยู่ ณ เกาะตรน (เกาะกูด?)  เกลี้ยกล่อมได้ไพร่พลญวนเป็นสมัครพรรคพวกจำนวนมากพอสมควรแล้วจึงยกไปตีได้เมืองตึกเขมา  เมืองกระมวนสอ  ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์(แป้น) หรือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(แบน)  เมื่อได้ทราบข่าวว่า  องเชียงสือเจ้าเวียดนามกลับมาตีเมืองญวนคืน  ก็จัดแจงไพร่พลออกจากเมืองพระตะบอง  มาที่เมืองอุดงฦๅชัย  ทั้งนี้ด้วยมีพระราชดำรัสจากพระเจ้ากรุงสยามให้ยกกองทัพไปช่วยองเชียงสือ  ความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาตอนนี้กล่าวไม่ค่อยชัดเจนนัก  ดังนั้นจึงจักขอนำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  ที่ท่านเขียนไว้ชัดเจนที่สุดมาแสดง ดังนี้

(https://i.ibb.co/0BWxVmw/6-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          * องเชียงสือซึ่งหนีไปอยู่ที่เกาะกูดนั้น  หมดสิ้นเสบียงอาหารจนต้องกินแต่เนื้อเต่ากับมันกลอย  วันหนึ่งแลเห็นเรือแล่นเข้าไปใกล้เกาะกูด ๑ ลำ  องเชียงสือตกใจจึงให้ครอบครัวเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า  แล้วให้องจวงลงเรือเล็กไปถามว่าเรือนี้มาแต่ไหน   จีนฮุ่นสามีอำแดงโตด  ญวนเมืองจันทบุรีบอกว่า  เรือบรรทุกข้าวสารมาแต่เมืองจันทบุรี ๓๐ เกวียน  จะไปจำหน่ายที่เมืองเขมา  เมืองเต๊กเซีย  ต้องพายุซัดเรือออกไป  องจวงจึงบอกความจริงแก่จีนฮุ่นว่าองเชียงสือหนีมาอยู่ที่เกาะนี้  ให้จีนฮุ่นขึ้นไปเฝ้าด้วยกัน  จีนฮุ่นก็คิดว่าเรือเราลำเดียวพลัดเข้ามาถึงที่นี่  หากไม่ไปหาองเชียงสือ  เขาก็จะหักหาญเอา  ที่ไหนจะพ้นมือไปได้  จำจะคิดทำคุณไว้ดีกว่า  คิดแล้วจึงลงเรือไปกับองจวง  เมื่อพบกับองเชียงสือแล้วก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี  โดยองเชียงสือบอกเล่าว่ามาอยู่ที่เกาะนี้นานแล้วจนเสบียงอาหารหมดสิ้น  ไม่มีข้าวจะกิน  เมื่อเรือจีนฮุ่นบรรทุกข้าวสารมาถึงที่นี่ก็ดีแล้ว  ยังพอมีเงินตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ไว้เหลืออยู่ ๑๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง  เงินทั้งหมดนี้จะขอซื้อข้าวสารจีนฮุ่นตามแต่จะขายให้ได้  จีนฮุ่นบอกว่า  ท่านมาอยู่ที่ลำบากยากแค้น  ข้าวสาร ๓๐ เกวียนของเรานั้นจะขอมอบให้ท่านทั้งสิ้นโดยให้เปล่าไม่ขอรับเงินแม้แต่น้อย  องเชียงสือจึงเขียนหนังสือสัญญาประทับตรารูปมังกรให้จีนฮุ่นไว้ว่า  ถ้าออกไปตีเอาบ้านเมืองคืนได้เป็นเจ้านายฝ่ายญวนแล้ว  ขอให้จีนฮุ่นออกไปหาองเชียงสือ  จะทดแทนคุณให้ถึงขนาด จ ากนั้นก็ให้คนลงไปขนข้าวสารจากเรือจีนฮุ่นจนสิ้น  จีนฮุ่นก็อำลากลับเมืองจันทบุรี”

(https://i.ibb.co/sRGj1vL/younramkratang3.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  ในที่สุดองเชียงสือก็หนีจากกรุงเทพมหานครไปได้สำเร็จ  เขาขึ้นไปอยู่บนเกาะร้างชื่อ  เกาะกูด  อยู่กลางทะเลระหว่างแดนต่อแดน ไทย กัมพูชา และเวียดนาม  เขาเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามก็มิได้เข้ามาอยู่เปล่า  นอกจากร่วมออกรบในราชการสงครามกับกองทัพไทยแล้ว  ยังรับราชการเฝ้าแหนมิได้ขาด  ผลงานที่ยังคงอยู่ขององเชียงสือคือ  การแสดงญวนหก  ญวนรำกระถาง  สิงโตล่อแก้วสำหรับแสดงเวลากลางวัน  และ  สิงโตคาบแก้วสำหรับแสดงเวลากลางคืน  เพลงประกอบการรำที่ชื่อว่า  ญวนรำกระถาง  นั้นสำเนียงทำนองดนตรีไพเราะมาก  ท่ารำก็สวยงามอย่างหาที่ติมิได้

(https://i.ibb.co/XY1GQph/Untitlcf-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ดวงชะตาขององเชียงสือจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินญวน  ตอนที่หนีออกจากกรุงเทพฯ  สมเด็จพระอนุชาธิราชติดตามจับตัวใกล้จะได้แล้ว  ก็เกิดลมว่าวพัดมาอย่างแรง  ช่วยให้กางใบแล่นเรือหนีไปได้อย่างรวดเร็ว  เป็นที่น่าอัศจรรย์  ตอนที่ตกอยู่บนเกาะกูดซึ่งเป็นเกาะร้างโดดเดี่ยวนั้น  เกิดความขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก  ก็เกิดมีลมพัดพาเรือบรรทุกข้าวสารของจีนฮุ่น  จากจันทบุรีที่จะไปค้าขายนั้น  ลอยไปถึงเกาะกูด  เขาจึงได้ข้าวสารเลี้ยงชีวิตทุกคนบนเกาะพ้นความเดือดร้อนไปได้

          เรื่องราวขององเชียงสือ(หรือจักรพรรดิยาลอง) จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้  วันพรุ่งนี้เปิดอ่านกันได้ตามใจครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, สิงหาคม, 2562, 10:50:32 PM
(https://i.ibb.co/YWQGFxL/Untitle-d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- หนุนองเชียงสือตีไซ่ง่อน -

ทรงให้เรือให้ปืนดินดำกระสุน
สนับสนุนตามขออย่างครบถ้วน
องเชียงสือไม่จบการรบกวน
ทุกอย่างล้วนได้จากแผ่นดินไทย


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาบอกเล่าถึงตอนที่  องเชียงสือใช้เรือแล่นใบจากกรุงเทพฯไปถึงเกาะกูดอันเป็นเกาะร้าง  ได้พาพรรคพวกขึ้นอยู่อาศัยจนเสบียงอาหารหมดลง  ก็พอดีมีเรือค้าข้าวสารของจีนฮุ่นจากเมืองจันทบุรีนำข้าวสารไปขายยังต่างเมือง  ถูกลมพัดพาไปถึงเกาะกูด องเชียงสือได้ขอซื้อข้าวสารทั้งหมด  แต่จีนฮุ่นกลับยกให้ทั้งหมด  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านความต่อจากนี้ครับ
 
(https://i.ibb.co/Mcsy18s/1528470632-1903102184-troya-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าองเชียงสือไปตั้งอยู่ ณ เกาะกูด  จึงโปรดให้จัดเรือตระเวนหลายลำพร้อมปืนและกระสุนดินดำ  ให้กรมการเมืองตราดส่งไปพระราชทานแก่องเชียงสือที่เกาะกูด  ให้เป็นกำลังและช่วยลาดตระเวนสลัดให้ด้วย  องเชียงสือได้รับพระราชทานเรือลาดตระเวนและเครื่องศาสตราวุธดังนั้น  ก็พาสมัครพรรคพวกลงเรือไปตีเอาเมืองเขมา  เมืองประมวนสอได้  แล้วแต่งให้เรือออกไปลาดตระเวนสลัด  จับสลัดญวนได้บ้าง  ยอมเข้าสวามิภักดิ์องเชียงสือบ้าง  องเชียงสือให้ฆ่านายสลัดเสียคนหนึ่ง  ให้เอาศีรษะใส่ถังมอบให้พระยาราชาเศรษฐีส่งเข้ามากรุงเทพมหานคร  ก่อนที่จะไปตีเมืองเขมา  และเมืองประมวนสอได้นั้น  ได้ให้องจวงลอบไปสืบการบ้านเมืองตลอดถึงเมืองไซ่ง่อน   องจวงกลับมาแจ้งว่าได้ไปเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองพระตะพัง  สมัครเข้าด้วยเป็นอันมาก  แล้วองจวงก็พาองเชียงสือไปพักอยู่ที่ปากน้ำเมืองป่าสัก

          กล่าวถึงญวนสองพี่น้องคือ  องโหเตืองดึก  กับ  องทงยุงยาน  พาครอบครัวหนีจากเมืองญวนมาทางเมืองลาว มาตามองเชียงสือถึงกรุงเทพมหานคร  เจ้าพนักงานนำขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชดำริว่า องเชียงสือนั้นให้ลงไปอยู่ข้างล่างใกล้ทะเลจึงหนีไปโดยง่าย  ญวนพวกนี้ต้องให้อยู่ข้างบน  ถึงจะคิดหนีออกไปก็ลำบากไม่สะดวก  จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯว่า  องเชียงสือหนีออกไปจากกรุงเทพมหานครเสียแล้ว  ขอให้องโหเตืองดึก องทงยุงยาน พักครอบครัวไว้ที่บ้านบางโพก่อนเถิด

(https://i.ibb.co/KqX3JB1/37.jpg) (https://imgbb.com/)

          อยู่มาถึงวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ  องเชียงสือได้มีหนังสือเข้ามาถึงพระยาพระคลังให้นำความกราบบังคมทูลว่า
          “ข้าพเจ้าได้หนีเข้ามาพึ่งพระบารมีพระเดชพระคุณ  ทรงพระเมตตากรุณาให้กองทัพออกไปตีเมืองญวนคืนให้  การก็ยังไม่สำเร็จ  เพราะด้วยที่กรุงมีการศึกพม่าติดพันอยู่  และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีพระคุณแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก  เมืองประเทศราชทั้งปวงก็รู้แจ้งอยู่แล้ว  ข้าพเจ้าได้รับหนังสือเจ้าเมืองตังเกี๋ยและญวนพวกพ้องข้าเก่าของปู่และบิดาข้าพเจ้าว่า  ให้ออกไปคิดเอาบ้านเมืองคืนให้จงได้  ข้าพเจ้าจะกราบบังคมก็เกรงพระราชอาชญาจะไม่โปรด จึงได้ทำหนังสือตามเรื่องความกราบถวายบังคมลาวางไว้ที่โต๊ะเครื่องบูชาแล้ว  จึงได้หนีออกมา  ทราบว่าพวกญวนที่รบพุ่งเป็นศึกกับพวกไกเซินไม่มีที่พึ่ง  ลงเที่ยวเป็นโจรผู้ร้ายอยู่ในท้องทะเล  ข้าพเจ้าปราบปรามไม่ทิ้งพยศร้าย  จึงได้ตัดศีรษะให้เจ้าเมืองบันทายมาศส่งเข้ามาครั้งก่อนแล้ว  ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้กายดาวคุมเครื่องยศที่พระราชทานแก่ข้าพเจ้า  คือกระบี่บั้งทอง เล่ม ๑   คนโททอง ๑   ถาดหมากทอง ๑   เข้ามาส่ง   ขอรับพระราชทานเรือตระเวนปืนกระสุนดินดำที่พระราชทานให้ข้าพเจ้าออกไปลาดตระเวนนั้น  ไปทำศึกกับไกเซินต่อไป  ถ้าเสร็จการแล้วจึงจะส่งคืนเข้ามาถวาย”  
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความตามหนังสือนั้นแล้ว  จึงพระราชทานปืน  กระสุนดินดำ  เพิ่มเติมออกไปให้อีก  ครั้นกายดาวถวายบังคมลากลับไปแล้ว  ได้บอกความแก่องเชียงสือว่า  องโหเตืองดึก  องทงยุงยาน  ได้พาครอบครัวอพยพหนีไกเซินเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครแล้ว

(https://i.ibb.co/kDR5Rsk/1149redcliff02c.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑  องเชียงสือมีหนังสือมากราบทูลฉบับหนึ่ง  ใจความว่า  “ด้วยโปรดให้กายดาวคุมสิ่งของออกไปพระราชทานนั้น  ระยะทางไกลไปมากันดารนัก  ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมาก  บัดนี้นายทัพนายกองและไพร่พลพวกไกเซินหาปรกติกันไม่  หนีมาหาข้าพเจ้าหลายพวกหลายเหล่า  ข้าพเจ้าทราบว่าองโหเตืองดึก  องทงยุงยาน  หนีไกเซินมาอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร  และองโหเตืองดึก  องทงยุงยาน  รู้แยบคายกลศึกอยู่  ขอรับพระราชทานองโหเตืองดึก  องทงยุงยาน ออกไป  จะได้ช่วยข้าพเจ้าทำศึกกับไกเซินต่อไป  และปืนกระสุนดินดำมีน้อย ขอรับพระราชทานปืนกระสุนดินดำให้องโหเตืองดึก  องทงยุงยานคุมออกไปพระราชทานข้าพเจ้าด้วย”

(https://i.ibb.co/WvH4Wf9/K6743167-19.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  โปรดพระราชทานเรือรบให้องโหเตืองดึก ๑ ลำ  องทงยุงยาน ๑ ลำ  มีปืนกระสุนดินดำพร้อม  ให้ออกไปช่วยการศึกองเชียงสือยึดเมืองญวนให้จงได้  องโหเตืองดึก  องทงยุงยาน  กราบถวายบังคมลาไปด้วยกายดาวเมื่อพบกับองเชียงสือที่ปากน้ำเมืองป่าสักแล้ว  ก็ร่วมกับองเชียงสือเกลี้ยกล่อมญวน เขมร เข้าเป็นพวกด้วยเป็นอันมาก  ครั้นตระเตรียมพลรบพรักพร้อมแล้วก็ยกทัพเรือ  จากเมืองป่าสักขึ้นไป  ถึงแพรก ทะเลิง  ญวนพวกไกเซินชื่อองดกเซม  ยกลงมาจากเมืองไซ่ง่อนได้สู้รบกันเป็นสามารถ  องดกเซมสู้มิได้ก็แตกทัพหนีไป  องเชียงสือก็ได้รี้พลเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก  โดยรี้พลเหล่านี้นับถือว่าองเชียงสือเป็นเป็นเจ้านายของตน  จึงเข้าเป็นไพร่พลขององเชียงสือพร้อมกันด้วยความยินดี  เป็นเหตุให้องเชียงสือยกกองทัพเรือขึ้นไปยึดเมืองไซ่ง่อนได้โดยง่าย”

(https://i.ibb.co/5MB5WqX/Unti-5595tled-18.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  งานกอบกู้บ้านเมืองขององเชียงสือเริ่มขึ้นแล้ว  ด้วยความยากลำบากยิ่ง  เพราะแม้จะได้กำลังพลเพิ่มขึ้น  แต่อาวุธยุทโธปกรณ์นั้นไม่มีมากพอที่จะทำศึกใหญ่  ดีที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระเมตตาให้การช่วยเหลือในเรื่องนี้ ผลจะเป็นอย่างไร ติดตามรับอ่านกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทบ
๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, สิงหาคม, 2562, 10:50:14 PM
(https://i.ibb.co/yR8HNxh/Untxvitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- องเชียงสือกู้บัลลังก์ได้ -

องเชียงสือยึดไซ่ง่อนสำเร็จ
เป็นบำเหน็จความยากที่อยากได้
ชาวเวียดนามมากมวลล้วนร่วมใจ
ยกย่องให้นั่งแท่นเจ้าแผ่นดิน


          อภิปราย ขยายความ ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกกล่าวถึงองเชียงสือมีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทูลขอตัวองโหเตืองดึก  กับ  องทงยาน  ไปช่วยรราชการสงคราม  พร้อมทูลขอกระสุนดินดำเพิ่ม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา  พระราชทานให้ตามคำทูลขอ  เรื่องราวจะเป็นอยางไรต่อไป  วันนี้มาดูกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/FKh6Ng4/1401683769-u31-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          * พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้โดยย่อว่า  “เจ้าฟ้าทะละหะ (แทน)  กับ  ออกญากระลาโหม (อุก)  แห่งเขมรได้ไปร่วมประชุมกับองพดเส็ม(องดกเซม?)  พวกญวนไกเซิน  ที่ตำบลคลองเถลิง  ในเขตเมืองป่าสัก  
          เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์(แป้น)  ผู้รับคำสั่งจากกรุงเทพมหานครให้ยกทัพไปช่วยองเชียงสือนั้น  ได้ให้ออกญาจักรี(แกบ)  เป็นแม่กองใหญ่กับออกญายมราช(กัน)  เป็นที่ปรึกษา  ยกกองทัพเรือไปทางน้ำ  ผ่านทะเลตึกวิล(น้ำวน)  อันลงสาน(วังสาน)  ถึงเมืองเมี๊ยดจรูก(ปากหมู)  แลพระสตึงจาสเดา(แม่น้ำจาสเดา)  ก็ได้ปะทะกับกองทัพญวนขององพดเส็มที่เจ้าฟ้าทะละหะ(แทน)  เป็นผู้ควบคุม  ทัพญวนผสมเขมร  กับทัพไทยผสมเขมรได้รบกันเป็นสามารถ  กองทัพออกญาจักรี(แกบ) เข้มแข็งกว่าจึงได้รับชัยชนะ  ตีทัพญวนผสมเขมรแตกกระเจิง  องพดเส็มหนีรอดไปไซ่ง่อน  เจ้าฟ้าทะละหะ(แทน)  และพรรคพวกชาวเขมรถูกจับตัวได้  ออกญาจักรีจึงบอกส่งตัวไปให้เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (อภัยภูเบศร์) ณ เมืองอุดงฦๅไชย

          เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ให้ชำระไต่สวน  ผู้ใดมีโทษหนักก็ให้ฆ่าเสีย  ผู้ใดโทษเบาก็เอาตัวไว้  ส่วนตัวเจ้าฟ้าทะละหะ(แทน) นั้น  ได้บอกส่งตัวไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาไม่เอาโทษ  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้คงเป็นที่เจ้าฟ้าทะละหะตามเดิม

(https://i.ibb.co/zsWP35k/7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ลุถึงจุลศักราช ๑๑๕๑ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๓๒  เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์(แป้น)  พร้อมด้วยออกญาจักรี(แกบ)  ออกญายมราช(กัน)  ร่วมกับองเชียงสือ  ได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองไซ่ง่อน  ได้รบกับกองทัพญวนไกเซินจนมีชัยชนะ  จับตัวองพดเส็มได้แล้วให้ฆ่าเสีย”

(https://i.ibb.co/PTw3cbk/Un-titled-43.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้กล่าวถึงเรื่องการตีเมืองไซ่ง่อน  โดยเมื่อตีเมืองไซ่ง่อนได้แล้ว  องเชียงสือถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ ๑ ว่า  “ครั้นมาถึง เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ  ในปีวอกสัมฤทธิศกนั้น  องเชียงสือมีหนังสือบอกเข้ามาฉบับ ๑  ใจความในหนังสือว่า  เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ  องเชียงสือตีได้เมืองไซ่ง่อน เมืองโลกนาย  เมืองบาเรียแล้ว  ครั้นมาถึงเดือน ๑๒ องเชียงสือคิดถึงพระเดชพระคุณ  จึงได้ทำต้นไม้เงิน ๑  ทอง ๑  ด้วยฝีมือช่างลายแทงทั้งต้น  และกระถางสูง ๒๐ นิ้ว  แต่งให้องโบโฮคุมเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย  ก็โปรดให้ไปบูชาไว้ในหอพระเจ้า ในหนังสือนั้นว่า  อ้ายเชียงซำผู้รักษาเมืองไซ่ง่อนแตกหนีมาอยู่เมืองป่าสัก  และขอพระราชทานยืมเรือรบ ๓๐ ลำ  กับปืนหน้าเรือปืนท้ายเรือ  กระสุนดินดำออกไป  และขอกองทัพเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมร  ๓,๐๐๐ คน  จะให้ตัดผมเป็นไทยไปช่วยตีเมืองป่าสักจับอ้ายเชียงซำ  ก็โปรดให้องโบโฮ  องโหเตืองดึก  องไกจัด  ไปเลือกเรือรบ  ก็มีแต่เรือชำรุด  ได้เรือดี ๕ ลำ  พระราชทานปืนนกโพรงออกไปด้วย ๗๐ กระบอก  กระสุนดินดำสำหรับเรือพร้อม  และมีตราออกไปให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์  แต่งกองทัพเขมรลงไปช่วยองเชียงสือ  เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ไปถึงพร้อมกับองเชียงสือ  ก็เข้าล้อมเมืองป่าสักไว้  อ้ายเชียงซำก็เข้าหาองเชียงสือ  แล้วองเชียงสือก็ให้พระยาจักรี(แกบ)เขมรรักษาเมืองป่าสักไว้เป็นเมืองเขมร  เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ก็กลับไปเมืองเขมร”

          รุ่งขึ้นปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑  ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๒  ปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่า  เดือน ๕ แรม ๑ ค่ำ  องเชียงสือได้จัดข้าวสาร ๒๐๐ เกวียนเข้ามาถวายตามที่มีท้องตราออกไป  แสดงให้เห็นว่าองเชียงสือยังคงมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงสยามอยู่อย่างมั่นคง  จากนั้นถึงปีจุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๓  ความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันนี้กล่าวถึงองเชียงสือไว้ว่า

(https://i.ibb.co/MRKsQmb/image.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ลุจุลศักราช ๑๑๕๒ ปีจอ โทศก  องเชียงสือซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอนัมก๊ก  แต่งให้องโบโฮ ๑   องเบ็ดเลือง ๑   องโดยเวียน ๑   คุมต้นไม้ทองเงิน กับเครื่องราชบรรณาการระย้าแก้วคู่ ๑  เชิงเทียนคู่ ๑  กระจกคู่ ๑  ตัวอย่างเรือพระที่นั่งที่จะต่อถวาย ๑ ลำ  เข้ามาทูลเกล้าฯถวาย  และมีหนังสือให้โบโฮถือเข้ามาถึงพระยาพระคลังว่า  ฝนแล้ง  อาณาประชาราษฎรเมืองไซ่ง่อนทำนาได้ผลน้อย  ถ้าเรือลูกค้าจะออกไปค้าขาย ณ เมืองไซ่ง่อน  ขอได้โปรดให้บรรทุกข้าวสารออกไปจำหน่าย จะได้เป็นกำลังแก่ไพร่พลทำการศึกต่อไป”

(https://i.ibb.co/N77VbTL/Untitl-ed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เรื่องของญวนและองเชียงสือยังมีในบันทึกพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  พอสรุปได้ว่า  พวกญวนไกเซินยกมารุกรานลาว  โดยเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์บอกลงมายังกรุงเทพมหานครว่า  องลองเยือง  องดึก  องแอม  ให้องเจียงบา  องเจียงเวียน  เป็นแม่ทัพคุมญวนไกเซิน ๓,๐๐๐  สมทบกับกองทัพลาวเมืองพวนอีก ๓,๐๐๐ ยกมารุกราน  เจ้าเวียงจันทน์แต่งทัพลาวออกไปสู้รบกับพวกญวนที่เมืองพวน  กองทัพลาวใช้ความเข้มแข็งเข้าตีทัพญวนเมืองตังเกี๋ยแตกกระจัดกระจายล้มตาย  ยึดได้ปืนและเครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก  จับได้ลาวคือนายภูทหาร  นายทอง  นายปาน  กับไพร่ ๓๐ คน  ส่งลงมากรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอาตัวนายภูทหาร  นายทอง  นายปาน  กับญวนมีชื่อ ๓๐ คน  ไปให้องโบโฮ  องเบ็ดเลือง  องโดยเวียน  ถามเอาปากคำนำความไปแจ้งแก่องเชียงสือเจ้าอนัมก๊ก  และจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่างเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กับองเชียงสือ

(https://i.ibb.co/pZT3Q24/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทางฝ่ายองเชียงสือมีหนังสือเข้ามากราบทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์  ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ก็มีหนังสือกราบทูลกล่าวโทษองเชียงสือ  แต่เรื่องก็สงบระงับไปด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความ  “นิ่ง”  ไม่สอบสวนทวนความใด ๆ  สาเหตุของเรื่องนี้ก็คือ  หลวงจำนง  กับ  ขุนสนิทเสนหา  ข้าหลวงของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ไปลักผู้หญิงญวนเข้ามาแล้วถูกจับได้แล้วก็โกรธ  ขู่ว่าเมื่อเข้ากรุงเทพฯแล้วจะทูลกล่าวโทษองเชียงสือ  และก็มีหนังสือกล่าวโทษถึง ๓ ฉบับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงเชื่อ  ภายหลังทรงให้มีหนังสือไปถึงองเชียงสือว่าป่าวร้องให้บรรดาเรือลูกค้านำข้าวสารไปขายเมืองไซ่ง่อนตามที่ทูลขอ  พร้อมกันนั้นก็ให้จัดม้าผู้สีขาว สูง ๒ ศอกคืบ ๑ ม้า   สีแดง สูง ๒ ศอกคืบ ๑ ม้า  เครื่องม้าอย่างไทยคร่ำเงิน ๑ สำรับ  อย่างฝรั่ง ๑ สำรับ  พรมใหญ่ ๑ ผืน  ศิลาปากนก ๑๐,๐๐๐  ศิลาฝนหมึก ๑ อัน  พู่กัน ๑ หีบ  แพรมังกรอย่างดีสีต่าง ๆ ๑๐ ม้วน  ฆ้องใหญ่ ๔ ฆ้อง  และสิ่งของอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก  ให้พระราชมนตรี  ขุนศรีเสนา นำออกไปกับองโบโฮ  องเบ็ดเลือง  องโดยเวียน  ซึ่งมาถวายต้นไม้ทองเงินนั้นคุมออกไปพระราชทานเจ้าอนัมก๊ก  โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องหลวงจำนง  และพวกข้าหลวงเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์   ที่องเชียงสือกล่าวโทษนั้นเลย”

          ** ท่านผู้อ่านครับเรื่องขององเชียงสือก็ได้กล่าวมาอย่างยืดยาวแล้ว  เห็นควรพักไว้แค่นี้  เพราะยังมีเรื่องอื่น ๆ  เช่นสงครามพม่า  รออยู่  วันพรุ่งนี้พบกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, สิงหาคม, 2562, 11:24:15 PM
(https://i.ibb.co/grrNZrF/401368.jpg) (https://imgbb.com/)

- ปราบนักมวยพนันฝรั่งเศส -

มีกำปั่นฝรั่งเศสสองพี่น้อง
หยิ่งผยองท้าพนันกันถึงถิ่น
ชกมวยไม่มีรูปแบบบ่งระบิล
แล้วแต่ศิลปะใครจะใช้กัน

สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า
คัดเลือกเอามวยดีที่ก๋ากั๋น
“หมื่นผลาญ”ล่ำคนเหิมสู้เดิมพัน
ทาน้ำมันว่านลื่นขึ้นเวที

เชิงมวยไทยร้ายกาจฉลาดสู้
ฝรั่งจู่โจมจับขยับหนี
จับคว้าไหล่ไม่ติดถูกโต้ตี
ฝรั่งพี่ผลักหลังหวังช่วยน้อง

จึงถูกรุมอุตลุดหยุดไม่อยู่
ฝรั่งคู่ล้มดิ้นสิ้นผยอง
เข็ดจนตายไม่อยู่ยอมประลอง
กางใบล่องเรือลับไม่กลับมา


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานนี้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกเล่าถึงเรื่องราวขององเชียงสือกอบกู้แผ่นดินญวน  โดยได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามจนสำเร็จ  วันนี้ขอพักเรื่องญวนไว้ก่อน  หันมาดูเรื่องราวของไทยกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/xh1r1zh/4-DQpj-Utz-LUwm-JZZPEb-Sfn-KRzfb5s-Yi-Yk-VDv8-A0vm-K6-K4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวเรื่องแทรกเข้ามาว่า  ในปีวอกจุลศักราช ๑๑๕๐  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๑ นั้น  มีเรือกำปั่นฝรั่งเศสเข้าสู่กรุงเทพมหานครลำหนึ่ง  นายกำปั่นฝรั่งเศสสองคนพี่น้องมีจิตใจกล้าหาญ  คนน้องนั้นเป็นคนมวยมีฝีมือ  ในขณะเดินทางยังเมืองต่าง ๆ นั้น  ได้เที่ยวท้าพนันชกมวยและชนะมาหลายเมืองแล้ว  เมื่อมาถึงกรุงเทพมหานครก็บอกให้ล่ามกราบเรียนเจ้าพระยาพระคลังว่า  จะขอชกมวยพนันกับคนมวยในพระนครนี้

          เจ้าพระยาพระคลังนำความขึ้นกราบบังคมทูล  ได้ทรงทราบแล้วจึงตรัสปรึกษากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯกราบทูลว่าหากเรามิจัดแจงคนมวยของเราออกต่อสู้คนมวยฝรั่งแล้ว  ฝรั่งซึ่งเป็นคนต่างประเทศก็จะดูหมิ่นว่า  พระนครนี้หาคนมวยดีจะต่อสู้มิได้  ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศปรากฏไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง  “ข้าพระพุทธเจ้าจะจัดแจงแต่งคนมวยที่มีฝีมือออกต่อสู้กับฝรั่งเอาชัยชำนะให้จงได้”  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย  จึงดำรัสให้เจ้าพระยาพระคลังบอกแก่ฝรั่งรับพนันชกมวยกัน  โดยวางเดิมพันกันเป็นเงิน ๕๐ ชั่ง

(https://i.ibb.co/fdPfdDM/Untitdgdled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรสั่งให้คัดเลือกหาคนมวยฝีมือดีที่สุดในกรมทนายเลือก (กรมหนึ่งมีหน้าที่กำกับมวย)  ทั้งในพระราชวังหลวงและวังหน้า  ก็ได้หมื่นผลาญผู้หนึ่งเป็นทนายเลือก (นักมวยผู้มีหน้าที่ป้องกันพระราชา)  เป็นคนรูปกายล่ำสัน  มีฝีมือดีกว่านักมวยทั้งหมดในกรมนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้โรงละครด้านตะวันตกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)  จัดตั้งสนามมวยชั่วคราวขึ้นที่นั้น แล้วกำหนดวันชกมวยพนันกับฝรั่ง

          * ครั้นจะถึงวันที่กำหนดนัดชกมวยกัน  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ามีพระราชบัณฑูรให้แต่งตัวหมื่นผลาญ  เอาน้ำมันว่านอันอยู่คงชะโลมทั่วทั้งกาย  แล้วให้ขี่คอคนลงมายังพระราชวังหลวง  ฝ่ายฝรั่งเศสนายกำปั่นสองพี่น้องกับพวกบ่าวไพร่  ก็ขึ้นจากเรือกำปั่นมาสู่ที่สนามมวยชั่วคราวในพระราชวังหลวง  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พลับพลา  เพื่อทอดพระเนตรการชกมวยพนันพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง

(https://i.ibb.co/DCTHghd/Untfgsitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทรงให้เอาเส้นเชือกขึงวงรอบสนามมวยชั่วคราวนั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จสถิตบนพลับพลาชั้นลดที่สองเตรียมพระองค์คอยทีอยู่  ดำรัสให้พวกทนายเลือกทั้งวังหลวงและวังหน้าเตรียมตัวอยู่พร้อมกัน  ก่อนที่จะชกกัน  หมื่นผลาญกับฝรั่งเศสคู่มวยก็เข้ากราบถวายบังคมในกลางสนาม  แล้วยืนขึ้นตั้งท่าเข้าชกกัน  มวยฝรั่งเศสนั้นล้วงมือจะจับหักกระดูกไหปลาร้าหมื่นผลาญ  หมื่นผลาญก็ยกมือขึ้นกันแล้วชกพลางถอยพลาง  มวยฝรั่งเศสถูกต้องหมัดมิได้ฟกช้ำจึงไม่ย่อท้อ  ตั้งแต่ท่าล้วงอย่างเดียว  เดินหน้าไล่ตามมาจนใกล้วงเชือกซึ่งขึงไว้  แต่ก็ยังไม่สามารถจับต้องตัวหมื่นผลาญได้

          ฝ่ายฝรั่งเศสนายกำปั่นผู้เป็นพี่ชายเห็นดังนั้นจึงยืนขึ้นข้างหลังหมื่นผลาญแล้วยกมือผลักหมื่นผลาญให้เลื่อนเข้าไปในกลางวงไม่ให้ถอยหนีได้  ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้มวยน้องชายจับหักกระดูกไหปลาร้าให้จงได้  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทอดพระเนตรเช่นนั้นก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสว่า  “เล่นชกพนันกันแต่ตัวต่อตัว  ไฉนจึงช่วยชกเป็นสองคนเล่า”  ดำรัสแล้วก็โดดลงจากพลับพลายกพระบาทถีบเอาฝรั่งเศสพี่ชายล้มลง  ขณะนั้นพวกทนายเลือกก็วิ่งกรูกันเข้าชกต่อยปะเตะถีบทุบถองฝรั่งเศสทั้งสองคนพี่น้องจนบาดเจ็บสาหัส  แล้วลากออกไปจากสนามมวย  พวกบ่าวไพร่ฝรั่งเศสก็เข้าแบกหามนายลงไปยังกำปั่น

          ยามนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาดำรัสพระราชทานหมอนวดหมอยาให้ลงไปรักษาพยาบาลฝรั่งเศสทั้งสองนั้น  ครั้นหายเจ็บป่วยแล้วก็บอกล่ามให้กราบเรียนเจ้าพระยาพระคลังช่วยกรายทูลถวายบังคมลา  แล้วถอยกำปั่นเลื่อนลงไปจากพระนคร  ออกปากน้ำเมืองสมุทรปราการสู่ท้องทะเลหลวง  ใช้ใบกลับไปยังเมืองฝรั่งเศส  และกำปั่นลำนั้นก็มิได้หวนเข้ามาสู่กรุงเทพมหานครอีกเลย”

(https://i.ibb.co/wch6Q2t/20190614141550-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  เรื่องนายกำปั่นชาวฝรั่งเศสมาท้าชกมวยพนันเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่ารู้ไว้บ้าง  นำมาให้อ่านคั่นอารมณ์เครียดจากการอ่านเรื่องการสงคราม  หลังจากเรื่องปราบนักมวยชาวฝรั่งเศสแล้ว  จะมีเรื่องอะไรในพระราชพงศาวดารอีกบ้าง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, สิงหาคม, 2562, 11:30:22 PM
(https://i.ibb.co/cXp918y/Untistled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- ปรารภชำระพระไตรปิฎก -

โปรดให้ลูกยาเธอทรงผนวช
สามองค์รวดรวมหลานไร้ปัญหา
จากนั้นทรงพินิจพิจารณา
ถึงตำราไตรปิฎกบกพร่องคำ


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนีได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้อ่านถึงตอนที่ชาวเรือกำปั่นสองพี่น้องสัญชาติฝรั่งเศสมาท้าชกมวยพนัน  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าคัดเลือกนักมวยไทยจากทนายเลือก  ได้หมื่นผลาญเป็นตัวแทนฝ่ายไทย  การแข่งขันเริ่มขึ้น  นักชกฝรั่งเศสเดินเข้าหาจ้องจะจับไหปลาร้าไทยหัก  แต่จับไม่ติด  ไล่จับรอบ ๆ เวที  ฝ่ายพี่ชายยืนอยู่ข้างเวทีเอามือผลักหลังนักชกไทย  สมเด็จพระอนุชาธิราชตรัสว่าฝรั่งโกง  จึงโดดเตะฝรั่งผู้พี่จนเกิดการรุมบาทาใส่ฝรั่งเศสสองพี่น้องนั้น บาดเจ็บบอบช้ำสะบักสะบอม  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวารกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/k83ypzy/large-57a83858a0c53.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  กับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ของเจ้าพระ ยาทิพากรวงศ์  บันทึกไว้ตรงกันว่า  ในปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๑ นั้น  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่  คือ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  เจริญพระชนม์ได้ ๒๑ พรรษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเห็นควรที่ให้ทรงบรรพชาอุปสมบทได้แล้ว  อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศร์   เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ทั้งสองพระองค์นั้นก็มีพระชนมายุเกินอุปสมบทแล้ว  ยังหาได้ทรงผนวชเป็นภิกษุไม่  ดังนั้น  จึงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตให้ออกทรงผนวชทั้งสามพระองค์พร้อมกัน ในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๓ โมงเช้า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)

          ครั้นถึงกำหนดพิธีผนวช  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ  ก็เสด็จพระราชดำเนินสู่พระอุโบสถวัดพรศรีรัตนศาสดาราม  พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์  ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายก็สโมสรสันนิบาตโดยอันดับ  เสนาบดีผู้ใหญ่ปรึกษาให้พ้องกันว่า  ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงผนวชก่อน  หรือที่เรียกกันว่า  “เป็นนาคเอก”  เพราะแม้จะอ่อนพระชันษาก็เป็นลูกหลวงเอก  มีบรรดาศักดิ์สูงกว่าพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ซึ่งเป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  ซึ่งแม้จะมีพระชันษาแก่กว่า  แต่บรรดาศักดิ์ต่ำกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  จึงควรเป็น “นาครอง”  ให้เข้าขอผนวชทีหลัง  เมื่อพระสงฆ์ราชาคณะ  พระอุปัชฌาย์  พระกรรมวาจาจารย์และพระอันดับมาประชุมพร้อมในโรงพระอุโบสถแล้ว  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอก็เข้าขออุปสมบทเป็นอันดับแรก  ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์  ครั้นเสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว  พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จกลับราชวัง

(https://i.ibb.co/d4ZpWPv/580416-d-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในปีเดียวกันนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกอันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา  ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เป็นค่าจ้างช่างจารจารึกข้อความในพระไตรปิฎกลงในใบลานสิ้นพระราชทรัพย์ไปเป็นอันมาก  ทรงให้แยกแยะชำระตำหรับตำราฉบับที่เป็นอักษรลาว  อักษรรามัญ  ให้แปลออกเป็นอักษรขอมไทย  จารึกลงลานเสร็จแล้วให้ใส่ตู้ไว้ในหอพระมนเทียรธรรม  และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียนกันทุกๆพระอารามหลวง

          ยามนั้นเจ้าหมื่นไวยวรนาถกราบทูลว่า  พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้  ปรากฏว่าอักษรบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา  หาผู้จะทำนุกบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นยังมิได้  ทรงสดับดังนั้นก็ทรงพระราชปรารภว่า  พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้  เมื่อมีผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้  จะเป็นเค้ามูลปริยัติปฏิปัตติศาสนาปฏิเวธศาสนานั้นมิได้  อนึ่ง  ท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนัก  ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้ว  เห็นว่าปริยัติศาสนา  และปฏิปัตติศาสนา  และปฏิเวธศาสนา  จะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนัก  สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งมิได้ในอนาคตกาลเบื้องหน้า  ควรจะทำนุกบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการเป็นประโยชน์แก่เทพามนุษย์ทั้งปวง  จึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี

(https://i.ibb.co/wC3zrm7/Untiqwerqtled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้วจึงให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์  มีสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเป็นประธานบนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท  และให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช  พระราชาคณะ  ถานานุกรมบาเรียนร้อยรูป  มารับพระราชทานฉัน  ครั้นพระสงฆ์กระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว  จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด

(https://i.ibb.co/Xk0VtGm/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรพร้อมกันว่า  พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมากมาช้านานแล้ว  หากษัตริย์พระองค์ใดจะทะนุบำรุงเป็นศาสนูปถัมภกมิได้  แต่กำลังอาตมาภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทะนุบำรุงอยู่เห็นจะไม่สำเร็จ  และยังถวายพระพรอีกว่า  กาลเมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารานั้น  มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรสงฆ์ทั้งปวง  พระธรรมวินัยอันใดทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์  อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน  เมื่อตถาคตนิพพานแล้ว  พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น จะเป็นครูสั่งสอนท่านและสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างพระตถาคต  พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้แก่พระปริยัติธรรมฉะนี้แล้วก็เข้าสู่พระปรินิพพาน”

(https://i.ibb.co/SKsjN2c/580416-d-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  พระปริยัติศาสนาอันได้แก่พระไตรปิฎกเป็นเสมือนธรรมนูญพระพุทธศาสนา  มีประวัติความเป็นมายาวนานอย่างไร  มีการแก้ไขปรับปรุงกันอย่างไร  เป็นเรื่องที่ชาวพุทธทุกคนควรรับรู้ไว้บ้างนะครับ  เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพระไตรปิฎกที่มีอายุตกมาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  มีความบกพร่องผิดเพี้ยนไปไม่น้อย  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะมีบทบาทต่อพระไตรปิฎกอย่างไร  วันพรุ่งนี้จะมาเขียนบอกเล่าให้อ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, สิงหาคม, 2562, 10:57:58 PM
(https://i.ibb.co/B3gvqXG/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ความเป็นมาพระไตรปิฎก -

อายุกาลยาวไกลพระไตรปิฎก
พระสงฆ์ยกมาเล่าเรื่องราวร่ำ
สังคายนายแปดครั้งยังจดจำ
โดยกระทำที่อินเดียลังกาไทย


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานได้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกเล่าถึงตอนที่ว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชปรารภถึงพระปริยัติศาสนา  แล้วประชุมพระราชาคณะในพระราชวังตรัสถามถึงเรื่องพระไตรปิฎก  ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพรว่ามีผิดเพี้ยนบกพร่องไปตามกาลเวลา  ยังหาผู้อุปถัมภ์บำรุงให้เต็มบริบูรณ์ได้ไม่  วันนี้มาอ่านเรื่องนี้กันต่อไปตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่จะเก็บความมาให้อ่านดังนี้

(https://i.ibb.co/LxbFFDw/First-Buddhist-council-at-Sattapani-Cave-in-Rajgir.jpg) (https://imgbb.com/)
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา  ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา

          * “สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพรให้ทราบความเป็นมาของพระไตรปิฎกพอเก็บความได้ว่า  เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน  และถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว  พระมหากัสสปเถระเจ้าปรารภถ้อยคำสุภัททะภิกษุผู้เฒ่า  ที่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย  แล้วชักชวนพระสงฆ์องค์อรหันต์ได้จำนวน ๕๐๐ รูป  กระทำสังคายนายรวบรวมพระธรรมวินัยไว้ให้เป็นหมวดหมู่  โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรู  พระเจ้าแผ่นดินมคธเป็นองค์เอกอัครศาสนูปภัมภก ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา  เชิงเขาเวภารบรรพต  ใกล้กรุงราชคฤห์  ใช้เวลา ๗ เดือนจึงสำเร็จ  นับเป็นปฐมสังคายนาย

(https://i.ibb.co/rvCmc6N/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เมืองเวสาลี ประเทศอินเดีย สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๒

          ๒. ครั้นพระพุทธศาสนายุกาลล่วงได้ ๑๐๐ ปี  ภิกษุชาววัชชีไม่มียางอายบังอาจเหยียบย่ำพระธรรมวินัย  ยกวัตถุ ๑๐ ประการขึ้นมากระทำผิดพุทธบัญญัติ  พระสงฆ์องค์อรหันต์ ๘๐๐ องค์  มีพระสัพพกามีเถระเจ้าเป็นประธานกระทำสังคายนาย เป็นครั้งที่ ๒  ณ วัดวาลุการามวิหาร  ใกล้เมืองเวสาลี มีพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  ใช้เวลา ๘ เดือนจึงสำเร็จ

(https://i.ibb.co/VDYvtyw/Moggaliputta-Tissa-at-the-Third-Buddhist.jpg) (https://imgbb.com/)
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
พระโมคคลีบุตรติสสเถระ และพระเจ้าอโศกมหาราช ขณะทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๓

          ๓. ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๑๘ ปี  พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนเจริญเฟื่องฟูที่สุด  เหล่าเดียรถีย์ (นักบวชนอกพุทธศาสนา) หวังได้ลาภสักการะ  จึงปลอมตัวเข้ามาบวชเป็นภิกษุแล้วใช้ธรรมจอมปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) กล่าวสอนประชาชนเพื่อได้ลาภสักการะ  พระโมคลีบุตรติสเถระจึงดำเนินการให้พระเจ้าอโศกมหาราชชำระคดีจับพระปลอมสึกเสีย ๖๐,๐๐๐ เศษ  จากนั้นจึงกระทำสังคายนายเป็นครั้งที่ ๓  โดยพระโมคลีบุตรติสเถระเป็นประธาน  ร่วมด้วยพระสงฆ์องค์อรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ ณ อโสการามวิหาร  ใกล้กรุงปาตลีบุตร  มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  ใช้เวลากระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ  แล้วพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงส่งคณะพระสมณะทูตนำพระธรรมวินัยที่ได้กระทำสังคายนายนั้น  เดินทางไปเผยแผ่ในนานาประเทศ ๙ คณะ  โดยมีพระโสณะเถระกับพระอุตตรเถระนำคณะสมณะทูตนั้นมาสู่สุวรรณภูมิ

(https://i.ibb.co/mBZpvGC/Thuparama-Pagoda.jpg) (https://imgbb.com/)
เจดีย์ถูปาราม (Thuparama Pagoda) เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา
สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๔

          ๔. ครั้นพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๓๘ ปี  พระมหินทเถระเจ้า  พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศกมหาราช  เป็นหัวหน้าคณะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ ณ ลังกาทวีป  ปรารภให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในลังกาทวีป  จึงร่วมกับพระอรหันต์ ๓๘ องค์  กับพระสงฆ์ทรงพระปริยัติธรรม ๑๐๐ รูป  กระทำสังคายนายเป็นครั้งที่ ๔  ณ ถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี  มีพระเจ้าเทวานัมปิย-ดิส  เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  ใช้เวลา ๑๐ เดือนจึงสำเร็จ

(https://i.ibb.co/dBLZrjr/PD005-16.jpg) (https://imgbb.com/)

          ๕. เมื่อพระพุธศาสนาล่วงมาได้ ๔๓๓ ปี  พระอรหันต์ในลังกาทวีปมีความเห็นตรงกันว่า  พระพุทธศาสนากำลังจะเสื่อมลง  เนื่องจากพระสงฆ์ที่ทรงพระไตรปิฎกโดยการท่องจำกันไว้ด้วยปากนั้นมีจำนวนน้อยลง  ควรที่จะทำการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษร ไว้ให้เป็นหลักฐานมั่นคงดำรงพระพุทธศานาสืบไปนานเท่านาน  จึงคัดเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ  และพระสงฆ์ปุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมได้มากกว่าพันองค์  ประชุมกันทำสังคายนายแล้วจารึกพระธรรมวินัยที่สอบทานไว้ถูกต้องเป็นอันดีนั้น  ลงในเปลือกไม้เป็นภาษาสิงหฬ  นับเป็นสังคายนายครั้งที่ ๕  ณ อภัยคีรีวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี  มีพระเจ้าวัฏคามินีอภัยเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ

(https://i.ibb.co/FxnzPL5/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ๖. ครั้นอายุพระพุทธศาสนาล่วงได้ ๙๕๖ ปี  พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าจากชมพูทวีปเดินทางสู่ลังกาทวีป  ทำการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสิงหฬเป็นภาษามคธ (บาลี)  นับเป็นสังคายนายครั้งที่ ๖โลหปราสาท  เมืองอนุราธบุรี  มีพระเจ้ามหานามเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ

(https://i.ibb.co/Sr5XgJj/101-560.jpg) (https://imgbb.com/)

          ๗. ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๑๕๘๗ ปี  พระเจ้าปรักมพาหุราชได้เสวยราชในลังกาทวีปแล้วทรงย้ายเมืองหลวงจากอนุราธบุรีมาตั้ง ณ จลัตถิมหานคร  แล้วทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกในการทำสังคายนายเป็นครั้งที่ ๗  ซึ่งพระมหากัสสปเถระกับพระสงฆ์ปุถุชนมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ประชุมกระทำกัน  เป็นการชำระพระไตรปิฎกซึ่งเป็นภาษาสิงหฬบ้าง มคธบ้างปะปนกันอยู่  จึงแปลงแปลให้เป็นภาษามคธทั้งหมด  แล้วจารึกลงในใบลาน  จัดเป็นคัมภีร์  เป็นหมวดเป็นหมู่ได้ ๓ หมู่  คือ  พระวินัยปิฎก  พระสุตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ให้ยึดถือเป็นหลักพุทธศาสนาแต่นั้นมา  และนานาประเทศทั้งปวงที่เป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้นได้ลอกต่อ ๆ กันไป  เปลี่ยนแปลงอักขระ  ลายลักษณ์อักษรตามประเทศภาษาของตน ถ้อยคำและข้อความจึงผิดเพี้ยนวิปลาสไปมากบ้างน้อยบ้างทุก ๆ คัมภีร์

(https://i.ibb.co/t3J9z45/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่ สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๘

          ๘. เมื่อพุทธศาสนายุกาลล่วงได้ ๒๐๒๐ ปี  พระธรรมทินเถระเจ้าแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ได้พิจารณาเห็นว่า  พระไตรปิฎก  ทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกามีพิรุธมาก  จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าติโลกราช  เจ้านครพิงค์เชียงใหม่  ว่าจะชำระพระปริยัติให้บริบูรณ์  มหาราชนครเชียงใหม่จึงให้สร้างมหามณฑปในมหาโพธารามวิหาร  ให้เป็นที่ประชุมชำระพระปริยัติธรรม  พระธรรมทินมหาเถระจึงคัดเลือกพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกกว่า ๑๐๐ รูปประชุมสังคายนาย  กระทำชำระพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์  โดยมีพระเจ้าติโลกราชมหาราชนครพิงค์เชียงใหม่เป็นองค์เอกอัคครศาสนูปถัมภก  ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ  นับเป็นการสังคายนายครั้งที่ ๘  และเมื่อเสร็จการสังคายนายแล้ว  จึงเฉลิมพระนามาภิไธยพระเจ้าติโลกราชว่า พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่  จากนั้นเป็นต้นมายังไม่มีการทำสังคายนายหรือชำระพระไตรปิฎกกันอีกเลย”

(https://i.ibb.co/TKMB5Fc/hqdefault-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  ความเป็นมาของพระไตรปิฎกที่ยกย่อมาให้อ่านนี้ ก็พอเห็นที่มาของคัมภีร์ที่ชาวพุทธในเมืองไทยเราถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  บางคนไม่เคยอ่านความในคัมภีร์นี้เลย  บางคนอ่านมาแล้วบ้างแต่ไม่เข้าใจ  พระมหาเถรานุเถระแต่โบราณกาลได้ชำระแก้ไขตกทอดมาเป็นเวลานานนับพันปี  สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะร่วมกันถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้ทรงทราบความเปลี่ยนแปลงเป็นมาของพระไตรปิฎกดังนี้แล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้วจะมีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยประการใด  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณหุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, สิงหาคม, 2562, 11:34:05 PM
(http://upic.me/i/h7/hqdefault3.jpg) (http://upic.me/show/62470331)

- กรุงสยามทำสังคายนาย -

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ถวายตัวอุปถัมภ์บำรุงให้
ทำสังคายนายหมายการณ์ไกล
ครั้งที่เก้าก้าวไปในสากล


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเรขา  ว่าด้วยสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพร  ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบประวัติความเป็นมาของพระไตรปิฎก  ที่บันทึกเรื่องราวการกระทำสังคายนาย  ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๘  โดยครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๔ นั้น  เมื่อชำระพระธรรมวินัยให้ถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว ก็ประกาศรับรอง  และให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันท่องจำเป็น  “มุขปาฐะ”  หมั่นสาธยายให้ติดปากติดใจ  ถ่ายทอดกันด้วยปากต่อปากเรื่อยมา

(https://i.ibb.co/HgRtKMd/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          จนถึงปี พ.ศ. ๔๓๓ พระสงฆ์องค์อรหันต์ในลังกาทวีปปรารภว่า  การท่องจำพระธรรมวินัยแล้วถ่ายทอด“ปากต่อปาก” นั้น  พระภิกษุผู้ท่องสาธยาย  มีความจำไม่แมนยำมั่นคง  มักผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป  และหาผู้ทรงจำได้น้อยลง  จึงควรทำสังคายนายชำระพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง  แล้วจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้มิให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอีกต่อไป  การจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกนั้น  จารึกเป็นอักษรภาษาสิงหฬ  ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๙๕๖  มีพระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งเป็นผู้แตกฉานในนิรุกตศาสตร์  มีนามวา  พระพุทธโฆษาจารย์  เดินทางจากชมพูทวีปไปยังลังกาทวีป  แล้วทำการแปลพระคัมภีร์ธรรมวินัยที่จารึกไว้เป็นภาษาสิงหฬนั้นให้เป็นภาษาบาลีทั้งหมด  แล้วให้เผาต้นฉบับภาษาสิงหฬนั้นเสีย    

(https://i.ibb.co/SJBRrF8/101-560.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตกมาถึงปี พ.ศ. ๑๕๘๗ พระมหากัสสปะ กับสงฆ์ปุถุชนชาวลังกามากกวาพันรูปประชุมกระทำสังคายนาเป็นครั้งสำคัญขึ้นในลังกา  ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่า  การทำสังคายนายครั้งนี้  เมื่อชำระพระธรรมวินัยที่เป็นภาษาสิงหฬปนคละกันกับภาษาบาลี  ให้เป็นเป็นบาลีทั้งสิ้นแล้วจารึกลงในใบลาน  แยกเป็นคัมภีร์  เป็นหมวดหมู่ได้ ๓ หมู่  เรียกว่า  “ปิฎก”  คือ  วินัยปิฎก ๑   สุตันตปิฎก ๑   อภิธรรมปิฎก ๑   รวมเรียกว่า “พระไตรปิฎก”  คำว่า  พระไตรปิฎกจึงเกิดขึ้นในโลกตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๑๕๘๗ เป็นต้นมา    ครั้นสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพรดังนี้แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จะทรงมีพระราชดำริประการใด  อ่านความในพระราชพงศาวดารกันต่อไปนะครับ

(https://i.ibb.co/6YkdTRT/101-01-01.jpg) (https://imgbb.com/)

          "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับคำถวายพระพรดังนั้น  จึงดำรัสว่า  อาราธนาพระมหาเถรานุเถระทั้งปวงรับหน้าที่ชำระพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์บริบูรณ์  เป็นการกระทำสังคายนายครั้งที่ ๙  โดยพระองค์ขอเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  พระสงฆ์ทั้งหลายถวายพระพรลาออกมาแล้วสมเด็จพระสังฆราชจึงเรียกประชุมพระราชาคณะถานานุกรมบาเรียน ณ วัดบางหว้าใหญ่ แล้วเลือกคัดจัดสรรพระภิกษุผู้ทรงภูมิปริยัติได้ ๒๑๘ รูป  กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน  เพื่อจะกระทำการชำระพระไตรปิฎกต่อไป

(https://i.ibb.co/B38srmv/sdsd.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นจึงให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถกราบบังคมทูลพระกรุณา  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จึงมีพระราชดำรัสให้จัดแจงสถานที่จะกระทำสังคายนาย  โดยเลือกเอาวัดนิพพานาราม  ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระราชวังหลวงกับพระราชวังหน้า  เป็นสถานที่กระทำสังคายนาย  แล้วเปลี่ยนนามใหม่เป็น  วัดพระศรีสรรเพชดาราม  และทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมากแจกจ่ายเพื่อการนี้

(https://i.ibb.co/4pRmGHj/Untitledsf-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง  วังหน้า  และวังหลังให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎกทั้งเช้าทั้งเพล  เพลาละสี่ร้อยสามสิบหกสำรับ ณ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ พุทธศักราช ๒๓๓๑  เวลาบ่ายสามโมง  พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินสู่วัดพระศรีสรรเพชดาราม(คือวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ ในปัจจุบัน)   เข้าโรงพระอุโบสถถวายนมัสการพระรัตนตรัยแล้ว อาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านประกาศเทวดาในท่ามกลางสังฆสมาคม  ขออานุภาพเทพเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภ์มหาสังคายนายได้สำเร็จกิจ

(https://i.ibb.co/WPjz7t2/Untitdddled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          จากนั้นแบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสี่กอง

          สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตันตปิฎก
          พระวันรัตนเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
          พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก
          พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเศษ

          โปรดให้แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกองหนึ่ง  ณ พระวิหารกองหนึ่ง  ณ พระมณฑปกองหนึ่ง  ณ การเปรียญกองหนึ่ง

(https://i.ibb.co/1GLjNmq/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระสงฆ์กับทั้งราชบัณฑิตนั้นประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ  สอบสวนพระบาลี  กับ อรรถกถา  ฎีกา  ที่ผิดเพี้ยนวิปลาส  ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกต้องบริบูรณ์ทุก ๆ พระคัมภีร์น้อยใหญ่ทั้งสิ้น  เริ่มทำการชำระตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสิบสอง  ไปตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือนห้า  เป็นเวลา ๕ เดือน  ก็สำเร็จกิจสังคายนาย

(https://i.ibb.co/7QhqCTT/Untitl458ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเสร็จสิ้นการสังคายนายแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จำหน่ายพระราชทรัพย์ให้เป็นค่าจ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกที่ชำระบริสุทธ์บริบูรณ์แล้วนั้นลงในลานใหญ่  เสร็จแล้วให้ปิดทองทึบทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง  ห่อด้วยผ้ายกเชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ  มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก  และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุก ๆ คัมภีร์

(https://i.ibb.co/wWCZPkD/image.jpg) (https://imgbb.com/)
ตู้พระไตรปิฎกประดับมุก สมัยรัชกาลที่ ๑

          ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว  จึงให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศพระราชยานต่าง ๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก  เชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก  ตั้งในหอพระมนเทียรธรรมกลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ภายในพระราชวัง

(https://i.ibb.co/g6ZdkN5/Un-titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วให้มีงานมหรสพฉลองพระไตรปิฎกและหอพระมนเทียรธรรม  ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย  และมีการจุดดอกไม้เพลิง  ลูกพลุไปตกบนหลังคาหอพระมนเทียรธรรมเพลิงติดไหม้ขึ้น  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้ข้าราชการทั้งปวงเข้าไปยกตู้ประดับมุกและขนพระไตรปิฎกออกมาได้ทั้งสิ้น”

(https://i.ibb.co/2FrvjKM/Untitled753-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับการสังคายนายครั้งที่ ๙ เสร็จสิ้นแล้ว  แต่การจัดเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกเกิดมีปัญหาขึ้นมาอีก  ต้องไปอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, สิงหาคม, 2562, 12:46:17 AM
(https://i.ibb.co/25620Dc/400.jpg) (https://imgbb.com/)
“ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช 2332”
จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร

- ไฟไหม้พระมหาปราสาท -

เกิดฟ้าผ่าลงพระมหาปราสาท
เพลิงเกรี้ยวกราดเกิดกล้าโกลาหล
พระชาวบ้านถ้วนทั่วทุกตัวตน
ช่วยกันขนน้ำสลับสาดดับไฟ


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกเล่า  ว่าด้วยการทำสังคายนายพระไตรปิฎกซึ่งนับเป็นการสังคายนายครั้งที่ ๙  ในฝ่ายเถรวาท  เหตุที่ทำสังคายนายครั้งนี้ก็ปรารภเรื่องที่ข้อความและถ้อยคำในพระไตรปิฎกซึ่งสืบทอดกันมาเป็นเวลานานนั้น  ขาดตกบกพร่องคลาดเคลื่อนไปมากแล้ว  เมื่อทำสังคายนายเสร็จสิ้น  ทรงเชิญพระคัมภีร์พระไตรปิฎกประดิษฐานในหอพระมนเทียรธรรม  ทำการฉลองและมีการจุดพลุไฟด้วย  พลุไฟตกลงบนหลังคาหอพระมนเทียรธรรมจนเกิดไฟไหม้  ทรงให้ช่วยกันขนคัมภีร์พระไตรปิฎกออกมาทั้งหมดได้อย่างปลอดภัย  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้อ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/xXqQmyW/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
Cr. Photo By คุณพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์

          “ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  เพลิงไหม้แต่เพียงหอพระมนเทียรธรรมพินาศไปเท่านั้น  ส่วนพระอุโบสถพระแก้วมรกตซึ่งอยู่ใกล้กันนั้นเพลิงลามไปไม่ถึง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า ..เทพยาดาผู้บำรุงรักษาพระพุทธศาสนาเห็นว่าหอไตรยังต่ำอยู่  จึงบันดาลให้เพลิงไหม้แต่เฉพาะหอไตร  มิให้ไหม้พระอุโบสถด้วย  จะให้สร้างพระมณฑปขึ้นใส่พระไตรปิฎกธรรมใหม่”   ดำรัสดังนั้นแล้ว  ทรงมอบหมายให้พระยาราชสงครามเป็นแม่การทำพระมณฑป  ให้ถมสระเดิมนั้นเสีย  แล้วขุดรากก่อพระมณฑปลงที่นั้น  มีชาลาและกำแพงแก้วเป็นที่ปทักษิณล้อมพระมณฑป ลดพื้นลงมาสามชั้น  แล้วให้ขุดสระใหม่ลงเบื้องทิศตะวันออกแห่งพระมณฑป  ก่ออิฐถือปูนทั้งรอบ  แล้วให้ก่อหอพระมนเทียรธรรมขึ้นใหม่ฝ่ายทิศอีสานแห่งพระมณฑป  การทั้งปวงดังกล่าวนั้นยังมิได้สำเร็จ

(https://i.ibb.co/25620Dc/400.jpg) (https://imgbb.com/)
“ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช 2332”
จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร

          ลุศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๒ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗  เวลาบ่ายสามโมงเศษ  ขณะที่ฝนตกลงมานั้นก็เกิดฟ้าฝ่า  ลงต้องหน้าบันมุขเด็จพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท  ติดเป็นเพลิงโพลงขึ้นไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาท  กับทั้งหลังคามุขทั้งสี่ทำลายลงสิ้น  แล้วเพลิงก็ลามไปติดไหม้พระปรัศว์ซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง  ในขณะที่เพลิงฟ้าแรกติดไหม้พระมหาปราสาทนั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ และพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวงกับข้าราชการใหญ่น้อย  รวมทั้งพระราชาคณะฐานานุกรมทุก ๆ พระอารามหลวงก็พากันเข้ามาในพระราชวัง  ช่วยกันดับเพลิงพร้อมกันทั้งสิ้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ข้าราชการช่วยกันยกพระที่นั่งราชบัลลังก์ประดับมุก  ซึ่งกั้นเศวตฉัตรบนพระมหาปราสาทนั้นลงมาได้ก่อนที่จะถูกเพลิงไหม้  พวกเจ้าจอมข้างในต่างตื่นตกใจเพลิงพากันหนีออกจากพระราชวัง ไปอาศัยอยู่บ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธบ้าง  บ้านเจ้าพระยายมราชบ้าง  บ้านเจ้าพระยาธรรมาบ้าง  บ้านเจ้าพระยาพลเทพบ้าง  ที่ยังอยู่ในพระราชวังก็มีบ้าง  ฝ่ายพระสงฆ์และคฤหัสถ์ข้าราชการทั้งปวงช่วยกันสาดน้ำดับเพลิงบ้าง  ช่วยกันขนถุงพระราชทรัพย์ในพระคลังในลงทิ้งในสระในพระอุทยานภายในพระราชวังบ้าง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงง้าวเร่งให้ข้าราชการดับเพลิงอยู่อย่างใกล้ชิด

(https://i.ibb.co/wpYGNXg/image.jpg) (https://imgbb.com/)


          ครั้นเพลิงดับสงบแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้พวกชาวที่ชาววังและจ่าโขลนแยกย้ายกันไปตามพวกเจ้าจอมข้างใน  ซึ่งหนีเพลิงไปอาศัยอยู่ตามบ้านเสนาบดีทั้งนั้น  รับกลับเข้ามาพระราชวัง  ตรัสถามมุขมนตรีทั้งปวงว่า  ไฟฟ้าไหม้พระมหาปราสาทดังนี้จะมีดีร้ายประการใด  พระยาราชวังเมืองกราบทูลว่า  แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง  อสนีบาตลงพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท  ไฟฟ้าไหม้เหมือนครั้งนี้มิได้มีเหตุร้าย  เป็นศุภนิมิตมหามงคลอันดี  ได้พระราชลาภต่างประเทศเป็นอันมาก  ทรงทราบความดังนั้นจึงทรงพระกรุณาพระราชทานเงินตราชั่งหนึ่งแก่พระยาราชวังเมือง  เป็นรางวัลที่กราบทูลทำนายเป็นศุภนิมิตนั้น  ซึ่งต้องกับคำพระโหรากราบทูลทำนายเมื่อครั้งผึ้งจับต้นจันทน์ที่เกยฝ่ายปัจจิมทิศ  ถวายพยากรณ์ว่า  จะได้พระราชลาภต่างประเทศ
          จากนั้น  ดำรัสสั่งสมุหนายกให้จัดแจงรื้อปราสาทเก่าเสีย  แล้วสร้างปราสาทขึ้นใหม่ย่อมเข้ากว่าองค์ก่อนนั้น  สูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทกรุงเก่า  มุขหน้ามุขหลังนั้นยาวกว่ามุขข้าง  และมุขเบื้องหลังนั้นอยู่ที่ข้างในยาวไปจดถึงพระปรัศว์ซ้ายขวา  กระทำปราสาทองค์ใหม่นี้ยกออกมาตั้ง ณ ที่ข้างหน้าทั้งสิ้น  มุขทั้งสี่นั้นก็เสมอกันทั้งสี่ทิศ  ใหญ่สูงเอาแต่เท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์กรุงเก่า  ยกบราลีเสีย  มิได้ใส่เหมือนองค์เก่า  แต่ที่มุมยอดทั้งสี่มุมนั้นยกทวยเสีย  ใส่รูปครุฑเข้าแทน  แล้วให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ที่ข้างในต่อมุขหลังเข้าไปอีกหลังหนึ่ง  พอเสมอท้ายมุขปราสาทองค์เก่า  พระราชทานนามว่าพระที่นั่งพิมานรัตยา  และให้ทำพระปรัศว์ซ้ายขึ้นใหม่คงตามเดิม  และหลังคาปราสาทและมุขกับทั้งพระที่นั่งพิมานรัตยา และพระปรัศว์ดาดดีบุกทั้งสิ้นเหมือนอย่างเก่า

(https://i.ibb.co/3WNRC7J/867393c2-By-Supawan.jpg) (https://imgbb.com/)
สิงห์สัมฤทธิ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
Cr. Photo By Supawan

          ครั้นการมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จแล้วจึงพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่  ชื่อพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  แล้วเร่งให้ทำการพระมณฑปและหอพระมนเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น  ลงรักปิดทองแล้วเสร็จบริบูรณ์  แล้วให้แผ่แผ่นเงินลาดพื้นในองค์พระมณฑปนั้นด้วย  จึงให้เชิญตู้พระไตรปิฎกฉบับทองขึ้นตั้งไว้ในพระมณฑป   ส่วนฉบับครูเดิม  และฉบับอื่นซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่นั้น  ให้ใส่ตู้ปิดทองลายรดน้ำในหอพระมนเทียรธรรมใหม่  เป็นที่อยู่กรมราชบัณฑิตให้บอกกล่าวพระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์สามเณรเหมือนอย่างแต่ก่อน  แล้วทรงให้ช่างหล่อหล่อรูปสิงห์ด้วยทองสัมฤทธิ์ขึ้นใหม่สิบรูป  รวมกับรูปสิงห์ทองสัมฤทธิ์ที่ได้มาแต่เมืองพุทไธมาศแต่ก่อนนั้นสองรูป  เป็นสิบสองรูป  ก่ออิฐเป็นพานรองถือปูนเป็นอันดีตั้งไว้นอกประตูกำแพงแก้วล้อมพระมณฑปชั้นล่างทั้งสองข้างประตู ประตูละคู่  ทั้งสี่ประตูเป็นแปดรูป  กับตั้งไว้ที่มุมกำแพงแก้วทั้งสี่มุม  มุมละสี่รูป  รวมเป็นสิงห์สิบสองรูปด้วยกัน  บนหลังกำแพงแก้วทั้งสามชั้นนั้นให้ทำโคมเป็นรูปหม้อปรุ  แล้วไปด้วยทองแดงเป็นที่ตามประทีป  ตั้งเรียงรายไปโดยรอบ  หว่างโคมนั้นให้ปักฉัตรที่ทำด้วยทองแดงลงรักปิดทอง   มีใบโพธิแก้วห้อยทุกชั้นทั้งสิ้นด้วยกันเป็นการบูชาพระปริยัติไตรปิฎกธรรมเป็นมโหฬารยิ่งนัก”

(https://i.ibb.co/drD9h3M/Untitsfaled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึงตรงนี้  ระทึกใจกับเหตุการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นนะครับ  ปัจจุบันเราไม่ค่อยเห็นฟ้าผ่าแล้วเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงมากนัก  แต่กาลนั้นเกิดฟ้าผ่าลงยังมหาปราสาทในพระบรมมหาราชราชวังเกิดเพลิงไหม้ใหญ่โต  พระภิกษุสงฆ์ทุกพระอารามหลวงพากันออกจากวัดมาช่วยดับเพลิงกันอย่างพร้อมเพรียง  บรรดาเจ้าจอมทั้งหลายพากันหนีออกจากพระราชวังไปอาศัยอยู่ในบ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธ(สน)  และเจ้าพระยาอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้พระราชวัง  หลังจากนั้นทรงให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, สิงหาคม, 2562, 11:22:11 PM
(https://i.ibb.co/MPyBKGd/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- เผาร่างกายบูชาธรรม -

นายบุญเรืองเคร่งครัดศรัทธามั่น
มีความฝันสูงสุดจุดหมายใหญ่
“โพธิญาณ”อนาคตกำหนดไว้
ด้วยมั่นใจสำเร็จเสร็จสมจินต์

รักษาศีลฟังธรรมประจำแหล่ง
ณ วัดแจ้งจิตไม่วายถวิล
บูชาธรรมกำจัดขัดมลทิน
ล้างให้สิ้นกิเลสเหตุเสื่อมทราม

เอาน้ำมันราดร่างตั้งจิตมั่น
จุดเพลิงพลันเผากายไร้คนห้าม
ประกาศชัดชัยชนะอย่างงดงาม
คนล้นหลามโมทนาสาธุการ


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาแสดงถึงตอนที่  เกิดฝนตกฟ้าคะนองและฟ้าผ่าลงมาต้องพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท  เกิดเพลิงไหม้มหาปราสาทกับทั้งหลังคามุขทั้งสี่ทำลายลงสิ้น  หลังจากฟ้าผ่าเพลิงไหม้พระที่นั่งดังกล่าวแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้สมุหนายก(เจ้าพระยารัตนาพิพิธ(สน)) ดำเนินการรื้อปราสาทเก่าแล้วสร้างขึ้นใหม่  มีขนาดใหญสูงเท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์กรุงเก่า  ครั้นการกอสร้างมหาปราสาทเสร็จแล้วลงรักปิดทอง  พระราชทานนามใหม่ว่า  พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  อ่านพระราชพงศาวดารต่อครับ

          * “ ถึงปีจุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๓  ชายคนหนึ่งชื่อบุญเรือง  เป็นคนมีศรัทธายิ่ง  ร่วมด้วยสหายสองคนคือ  ขุนศรีกัณฐัศว์กรมม้า  กับ  นายทองรัก  พากันไป ณ พระอุโบสถวัดครุธาราม  ต่างปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสามคน  ชวนกันนมัสการพระพุทธรูปประธาน  แล้วตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละดอก  บูชาพระพุทธเจ้าว่า  ถ้าผู้ใดจะสำเร็จพระโพธิญาณในอนาคตขอให้ดอกบัวของผู้นั้นจงบานเห็นประจักษ์โดยแท้

          ครั้นรุ่งขึ้นดอกบัวของนายบุญเรืองนั้นบานดอกเดียว  ของขุนศรีกัณฐัศว์และนายทองรักนั้นหาบานไม่  ตั้งแต่นั้นมา  นายบุญเรืองก็มาอาศัยการเปรียญเก่า ณ วัดแจ้ง  ตั้งสมาทานอุโบสถศีลฟังพระธรรมเทศนา  เอาน้ำมันชุบสำลีเป็นเชื้อ  พาดแขนทั้งสองข้าง  จุดเพลิงบูชาต่างประทีปทุก ๆ วัน  ครั้นถึงวันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ยามค่ำประมาณทุ่มเศษ  นายบุญเรืองฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็นุ่งห่มผ้าชุบน้ำมัน  เดินออกมาหน้าการเปรียญ  นั่งพับเพียบพนมมือ  ตั้งสติรักษาจิตรำงับสงบดีแล้วก็จุดเพลิงเผาตัว  ขณะเมื่อเปลวเพลิงลุกวูบขึ้นท่วมตัวนั้น  นายบุญเรืองก็ร้องประกาศแก่คนทั้งปวงว่า

“สำเร็จความปรารถนาแล้ว”

คนทั้งหลายซึ่งดูอยู่ในที่ประมาณ ๖๐๐ เศษก็พากันชื่นชมยินดี  บ้างก็ร้องสาธุการเอิกเกริกอื้ออึง  แล้วเปลื้องผ้าห่มโยนเข้าไปบูชาในกองเพลิง  แม้แต่พวกแขกมิจฉาทิฐิภายนอกพระพุทธศาสนาก็เกิดศรัทธา  ถอดหมวกคำนับแล้วโยนหมวกเข้าไปในกองเพลิงด้วย”

* ท่านผู้ฟังครับ ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาสิ้นสุดลงตรงนี้

          แต่เรื่องราวของกรุงสยามกับประเทศรอบข้างยังไม่จบ  เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรรับรู้กันไว้เพื่อเป็นบทเรียนในการสร้างและรักษาประเทศชาติของไทยเราต่อไป

          ยังมีความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ และ ที่ ๒ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และความที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงชำระเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ ( พ.ศ. ๒๔๔๕)  เป็นประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ซึ่งมีเรื่องราวการรบระหว่างไทย-พม่าอย่างเข้มข้น  บรรพชนไทยใช้ชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้ข้าศึกศัตรูปกป้องแผ่นดินไทยไว้อย่างไร  เราสามารถศึกษาเอาความรู้ได้จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ที่จะนำมาแสดงต่อไป

          เรื่องราวของกัมพูชาและญวนที่คาราคาซังมาตั้งแต่ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามและสะสมเป็นความรู้ไว้ไม่น้อย  โดยเฉพาะเรื่องขององเชียงสือเจ้าอนัมก๊ก  หรือพระเจ้าแผ่นดินญวน  หลังจากได้เป็นเจ้าอนัมก๊กแล้ว  จะแสดงบทบาทอย่างไร  เป็นเรื่องน่าติดตาม

          ท่านผู้นี้ในขณะที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้น  ได้สร้างและปลูกฝังศิลปวัฒนธรรมญวนไว้ในสังคมไทยด้วย  นั่นก็คือทำนองเพลงและท่าร่ายรำในเพลง  “ญวนรำกระถาง”  และการแสดงสิงโตล่อแก้ว  สิงโตคาบแก้ว  เป็นต้น  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยที่องเชียงสือถ่ายทอดไว้ให้ไทยเรา

          วันพรุ่งนี้มามาดูเรื่องราวในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๑-๒ จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)กันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, สิงหาคม, 2562, 10:23:20 PM
(https://i.ibb.co/w7hKVdt/pattani02.jpg) (https://imgbb.com/)

- ตานีกับแขกเซียะตีสงขลา -

ทั้งรายานี,แขกเซียะกล้า
ตีสงขลาสำแดงกำแหงหาญ
ถูกปราบปรามสิ้นพลันไม่ทันนาน
เป็นคนพาลที่ไม่ประมาณตน


          อภิปราย ขยายความ ................

          เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าถึงตอนที่นายบุญเรืองใช้น้ำมันราดเสื้อผ้าเผาตัวเองเป็นพุทธบูชา  ที่วัดแจ้ง  แล้วสิ้นความในฉบับพระราชหัตถเลขา  แต่เรื่องของสยามยังไม่จบ  เพราะยังมีข้อความที่สมเด็จพระเจ้าบรมเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงชำระเมื่อปีรัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๕)  นำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจนจบตลอดรัชกาลที่ ๑  และความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  บอกเล่าเรื่องราวในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ไว้อีกด้วย  ดังนั้นจึงขอนำความในพระราชพงศาวดารดังกล่าวมาแสดงให้ท่านได้อ่านกันต่อไป  มีความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  กล่าวถึงเรื่องรายาเมืองตานีและแขกเซียะตีเมืองสงขลาไว้ว่า  ดังนี้

          * “ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ. ๒๓๓๒) พระยาพระคลังมีหนังสือออกไปถึงองเชียงสือฉบับ ๑  ใจความว่า  องเชียงสือบอกข้อราชการศึกเข้าไปเมื่อใด  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะให้ยกกองทัพออกมาช่วย แต่จะให้ไปทางบกนั้นไกลนัก  จะให้ไปทางเรือเล่า  เรือรบที่กรุงก็มี ๗๐–๘๐ ลำ  บรรจุไพร่พลก็ได้น้อย  ถ้าองเชียงสือว่างการศึกแล้วให้คิดต่อเรือกูไลให้ได้สัก ๖๐–๗๐ ลำ  กับเรือกูไลอย่างดีสำหรับเป็นเรือพระที่นั่งเข้าไปถวายด้วย  ส่วนครอบครัวองโหเตืองดึกชายหญิง ๖๓ คนนั้น  ได้มอบให้องไกจัดคุมออกมาด้วยแล้ว

          ครั้นถึง ณ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย องเชียงสือก็มีหนังสือบอกเข้ามามีใจความว่า  เมื่อเดือน ๑๑ ปีระกา  ศักราช ๑๑๕๑ นี้  รายาแขกเมืองตานีให้นักกุดาสุงถือหนังสือและคุมเอาปืนคร่ำทอง ๒ บอก  ดาบด้ามทอง ๒ เล่ม  แหวนทองประดับเพชร เข้ามาให้  ในหนังสือเมืองตานีนั้นว่า  รายาตานีมีความพยาบาทอยู่กับกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา  ราชาตานีจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุง  ให้องเชียงสือแต่งกองทัพเรือยกเข้ามาช่วยรายาตานีตีกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาด้วย  แต่องเชียงสือยังรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในยามที่หนีไกเซินเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  จึงมิได้รับของที่รายาตานีให้นั้น  ส่วนนักกุดาสุงนั้นครั้นจะจับกุมตัวส่งมาก็เห็นว่าเป็นแต่เพียงนายเรือเล็กน้อย  และธรรมเนียมจีนกับญวนมีกฎหมายห้ามมิให้ทำร้ายแก่ผู้ถือหนังสือ  เกรงจะเสียประเพณี  จึงให้พระยาพิมลวารี  พระราชมนตรี  นำต้นหนังสือรายาตานีเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดังนั้น  ทรงพระราชดำริว่า  รายาตานีผู้นี้เป็นเทือกเถาเจ้าเมืองตานีเก่า  มีใจกำเริบโอหังนัก  ไม่เจียมตัวว่าเป็นผู้น้อย  คิดองอาจจะมาตีเมืองใหญ่  จะละไว้มิได้  หากละไว้ก็จะไปเที่ยวชักชวนเมืองแขกทั้งปวงพลอยเป็นกบฏขึ้นหมด  จึงโปรดให้พระยากลาโหมราชเสนา  ซึ่งเป็นบิดาเจ้าพระยายมราช(ทองสุก)  เป็นแม่ทัพเรือกับนายทัพนายกองยกออกไปเมืองตานี  และก็ได้สู้รบกับพวกรายาตานีเป็นสามารถ  ฝ่ายรายาตานีสู้มิได้ก็หนีไป  กองทัพไทยไล่ติดตามไปจับตัวได้ในกุฎีสงฆ์ที่วัดแห่งหนึ่ง  พระยากลาโหมจึงให้จองจำไว้มั่นคงแล้วกวาดครอบครัวเมืองตานีกลับเข้ามา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เอาตัวรายาตานีไปจำคุกไว้จนกว่าจะตาย”

          * ท่านผู้อ่านยังคงจำกันได้นะครับว่า  เมื่อปีจุลศักราช ๑๑๔๘ ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๒๙ นั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ  รับพระราชบัญชาให้ยกทัพลงไปขับไล่พม่าทางชายทะเลตะวันตก  เมื่อรบและขับไล่พม่าพ้นไปจากเขตแดนไทยในภาคใต้ของประเทศหมดแล้ว  ก็ทรงยกทัพเลยไปปราบเมืองมลายูซึ่งมีตานีเป็นศูนย์กลาง  เมื่อทรงปราบพระยาตานีได้แล้ว  ให้กวาดครอบครัวชาวมลายูจำนวนมากลงเรือรบขึ้นมากรุงเทพมหานคร  พร้อมกับนำปืนใหญ่มากรุงเทพฯด้วย  จากนั้นมาเป็นเวลาล่วงได้เพียง ๓ ปี  ราชาตานีก็กลับคิดแข็งเมืองอีก  แสดงว่าชาวปัตตานีมิได้ยินยอมพร้อมใจเข้าอยู่ในปกครองของสยามตั้งแต่นั้นมาจนถึงกาลปัจจุบัน

           “ปราบรายาตานีราบคาบลงได้ไม่นานนัก  ตกมาถึงเดือน ๖ ปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๔  ก็เกิดมีแขกเซียะซึ่งอยู่ภายนอกราชอาณาเขต  ไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากที่ใด  ได้ยกกองทัพเรือมาตีเมืองสงขลา  เจ้าเมืองกรมการสู้รบต้านทานมิได้ก็พาครอบครัวและชาวเมืองส่วนหนึ่งหนีไปอยู่แขวงเมืองพัทลุง  ฝ่ายพระศรีไกรลาศซึ่งเป็นพระยาพัทลุงทราบข่าวก็พลอยตื่นตกใจกลัวแขกข้าศึก  ข้าศึกยังยกมาไม่ทันถึงเมืองพัทลุงก็พากรมการและครอบครัวอพยพหนีเข้าป่า  โดยมิได้คิดจะตั้งมั่นอยู่ต่อรบดูท่วงทีข้าศึกก่อนเลย

          ครั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ทราบข่าวว่ากองทัพแขกมลายูเมืองเซียะยกมาตีเมืองสงขลา  จึงเกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชยกออกไปช่วยเมืองสงขลา  ได้รบกันกับทัพแขก  ทัพแขกเซียะสู้ไม่ได้ก็แตกพ่ายหนีไป  จึงบอกข้อราชการทั้งปวงเข้ามายังกรุงเทพมหานคร  ให้สมุหพระกลาโหมกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระพิโรธพระยาพัทลุง  ดำรัสว่า  ข้าศึกมายังมิทันจะถึงเมืองก็แตกหนี  จากนั้นจึงดำรัสให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปถอดพระยาพัทลุงเสีย  แล้วลงพระราชอาชญาจำคุกเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร  แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก  ซึ่งเป็นบุตรพระยาพัทลุงคนก่อน ออกไปว่าราชการเมืองพัทลุงป้องกันพระราชอาณาเขตสืบไป”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  เมืองตานีหรือปัตตานี  รบกับกรุงเทพฯทีไรก็สู้ไม่ได้ทุกที  แต่เขาไม่ยอมแพ้  มีโอกาสก็แข็งเมืองเรื่อยมา  ทางกรุงเทพฯก็ปราบปรามราบคาบเรื่อยมาเช่นกัน  สำหรับแขกเซี๊ยะนั้น  ยกมาจากบนฝั่งเกาะสุมาตรา  หัวหน้านามว่า  โต๊ะสาเหย็ด  หรือ  ไซยิด  รายาตานีชักชวนมาช่วยตีสงขลา  แล้วพ่ายแพ้ยับเยินในที่สุด  เรื่องราวจะมีอะไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, สิงหาคม, 2562, 11:09:12 PM
(https://i.ibb.co/X2Tb4fg/oda2.jpg) (https://imgbb.com/)


- ให้เวียงจันทน์ตีหลวงพระบาง -

หลวงพระบางปันใจให้พม่า
ทรงโกรธาสั่งทัพไม่สับสน
ให้เจ้าเมืองเวียงจันทน์นั้นจัดพล
ยกไปปล้นตีช่วงชิงหลวงพระบาง

เจ้าเวียงจันทน์จัดทัพกระฉับกระเฉง
ยกไปเร่งตีลาวรวมเผ่า...ผาง!
จับพระเจ้าร่มขาวเข้าตะราง
แคว้นล้านช้างจึงสยบสงบดี


          อภิปราย ขยายความ ...........

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  มาแสดงถึงเรื่องรายาตานีเป็นกบฏขอให้แขกเซียะยกจากเกาะสุมาตรามาตีเมืองสงขลา  แต่ถูกปราบปรามได้สิ้น  วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ

          * มีความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระ  กล่าวความจากเรื่องแขกเซียะต่อไปว่า

           “ครั้นถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุนนั้น  เจ้าอนัมก๊กมีหนังสือเข้ามาจัดซื้อปืนคาบศิลา ๑,๐๐๐ บอก  เหล็กท่าซุง หนัก ๑,๐๐๐ หาบ  แล้วจัดเปลญวนเข้ามาถวาย ๓๐ สำรับ  และส่งเรือรบที่เกณฑ์ให้ต่อเข้ามาด้วย ๗๐ ลำ  เรือนั้นโปรดให้เอาไปไว้ที่แหลมบางอ้อ  ล่วงมาถึงวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓  โปรดพระราชทานเหล็กท่าซุง ๒๐๐ หาบ  ปืนลำกล้องเปล่า ๒๐๐ บอก  ออกไปให้เจ้าอนัมก๊ก

          ในปีเดียวกันนั้น  พระเจ้าจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิรัตนราชธานีบุรีรมย์ล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์  ให้ข้าหลวงถือศุภอักษรลงมายังกรุงเทพมหานคร  ให้สมุหนายกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  เจ้ามหาอุตมวงศ์ฯล้านช้างหลวงพระบาง คิดการเป็นกบฏไปเข้าด้วยพม่า  ใช้คนไปถึงเมืองอังวะ  ฝ่ายพม่าก็ใช้คนมาถึงเมืองหลวงพระบาง  ต่างไปมาถึงกัน  จึงได้แต่งคนไปสืบราชการได้ความเป็นแน่ชัดแล้ว

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในหนังสือบอกของเมืองเวียงจันทน์ก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสสั่งสมุหนายกมีศุภอักษรตอบไปว่า  มีพระราชโองการดำรัสให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต  ยกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบางให้แตกฉานจงได้  แล้วจับตัวพระเจ้าร่มขาวจำส่งลงมาถวาย ณ กรุงเทพมหานคร

          พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ทราบรับสั่งโปรดขึ้นมาดังนั้น  จึงเกณฑ์กองทัพพลทหารเป็นอันมาก  ทั้งทัพเรือทัพบกยกขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง  ให้ตั้งค่ายล้อมเมือง  ฝ่ายพระเจ้าร่มขาวนั้นเป็นอริกับพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมาแต่ก่อน  เมื่อกองทัพเวียงจันทน์ยกมาล้อมเมืองก็แต่งกองทัพยกออกต่อรบทันที

          ทั้งสองฝ่ายได้ต่อรบกันเป็นสามารถ  เจ้าอุปราชเวียงจันทน์พลาดท่าต้องปืนจากฝ่ายหลวงพระบางถึงแก่พิราลัยในที่รบ  พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขับพลทหารเข้าป่ายปีนปล้นเอาเมือง  ชาวเมืองหลวงพระบางก็ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมือง  ทั้งสองฝ่ายยิงปืนใหญ่น้อยตอบโต้กันอยู่ประมาณ ๑๔–๑๕ วัน  พวกทหารเมืองเวียงจันทน์เอาบันไดพาดกำแพงเมืองปีนเข้าไปปล้นเอาเมืองได้  ไล่ฆ่าฟันชาวเมืองล้มตายเป็นอันมาก

          พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจับตัวพระเจ้าร่มขาวและบุตรภรรยาญาติวงศ์ได้ทั้งหมด  จึงให้จำพระเจ้าร่มขาว  แล้วตั้งแสนเมืองขุนนางผู้ใหญ่เมืองหลวงพระบางซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์นั้น  ให้เป็นพระยาหลวงพระบางอยู่รั้งเมือง  แล้วเลิกทัพกลับกรุงเวียงจันทน์  บอกข้อราชการให้ขุนนางและไพร่คุมตัวพระเจ้าร่มขาวส่งลงมา ณ กรุงเทพมหานคร

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ลงพระราชอาชญาจำพระเจ้าร่มขาวไว้ในคุก  ครั้นภายหลังทรงพระกรุณาโปรดให้พระเจ้าร่มขาวพ้นโทษ  พาสมัครพรรคพวกกลับขึ้นไปครองเมืองหลวงพระบางดังเก่า”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  เรื่องของลาว  เขมร  ญวน  ที่เกี่ยวข้องกับไทยในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์   ยังมีอีกหลายช่วงตอน  ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่  ลาว  เขมร  ญวน  ล้วนพึ่งพาอาศัยไทย  มีการรบกันก็รบกันอยู่ในชนชาติเดียวกัน  คือ  ลาวรบลาว  เขมรรบเขมร  ญวนรบญวน  โดยมีไทยเป็นผู้ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด

          ประเทศชาติที่เป็นคู่ศึกสำคัญของไทยก็คือพม่า  ซึ่งส่วนใหญ่พม่าจะยกทัพมารุกรานแผ่นดินไทย  เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงครองกรุงศรีอยุธยาได้เพียง ๗ เดือน  พระเจ้าหงสาปังเสวกีก็ยกมารุกรานกรุงศรีอยุธยา  จากนั้นก็รบกับไทยมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา  ขึ้นกรุงธนบุรี  และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังยกมารุกรานรบราฆ่าฟันกันแทบมิได้ว่างเว้น  วันพรุ่งนี้จะเล่าเรื่องไทยรบกับพม่าต่ออีกครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันหวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย
๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, สิงหาคม, 2562, 10:17:07 PM
(https://i.ibb.co/xmg0BsB/Untitl-ed-6.jpg) (https://imgbb.com/)


- เมืองทวายแปรพักตร์พม่า -

เจ้าเมืองทวายแปรพักตร์จากพม่า
ขอเข้ามาพึ่งพระเจ้ากรุงศรี
ส่งเจ้าหลานสาวแท้เป็นแม่ชี
พร้อมนารีรูปงามมากำนัล


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความจากพระราชพงศาวดารมาแสดงถึงเรื่องเมืองลาว  ญวน  เขมร  ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  และ  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ ๒  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระ  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกัน  ซึ่งว่าด้วยพม่าเตรียมทัพใหญ่มาตีกรุงเทพมหานครอีก  จัดทัพอย่างไร  เดินทัพมาทางไหน  อ่านกันครับ

          * “แต่ก่อนจะกล่าวถึงการศึกกับพม่า  ขอย้อนไปดูเรื่องราวในพม่าก่อนที่จะจัดทัพมาตีไทย  โดยในปีกุน จุลศักราช ๑๑๕๓ (พ.ศ.๒๓๓๔) นั้น  พระเจ้าอังวะซึ่งทรงตั้งขุนนางลงมาเป็นเจ้าเมืองกรมการเมืองทวาย  จะให้เปลี่ยนเจ้าเมืองคนเก่าออก  และให้กลับขึ้นไปอังวะ  แต่แมงจันจาเจ้าเมืองทวายกับจิกแคปลัดเมืองนั้น  เมื่อแจ้งว่าพระเจ้าอังวะตั้งเจ้าเมืองกรมการลงมาผลัดใหม่  จึงคิดกันว่าไม่ยอมกลับไปอังวะ  ครั้นทราบว่าเจ้าเมืองคนใหม่เดินทางจากอังวะมาใกล้จะถึงเมืองทวายแล้ว  ก็คิดเป็นกลอุบายออกไปต้อนรับแต่นอกเมือง  จัดสุราอาหารอย่างดีออกไปเลี้ยงดูให้กินกันอย่างอิ่มหมีพีมัน  แล้วก็ให้ทหารล้อมจับเจ้าเมืองคนใหม่กับพรรคพวกนั้นฆ่าเสียสิ้น  แล้วก็กลับเข้าเมืองคิดการกบฏตั้งแข็งเมืองอยู่

          ฝ่ายกรมการเมืองเมาะตะมะแจ้งว่าแมงจันจาเป็นกบฏจับเจ้าเมืองคนใหม่ฆ่าเสียแล้ว  จึงมีหนังสือบอกไปยังกรุงอังวะ   พระเจ้าอังวะทราบดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ  สั่งให้จับสะดุแมงกองบิดาแมงจันจาจะให้ประหารชีวิตเสีย  สะดุแมงกองจึงกราบทูลขอโอกาสจะมีหนังสือส่งไปบอกให้แมงจันจามาเฝ้า  ถ้าไม่มาจึงจะขอรับพระราชอาชญาตามโทษ  พระเจ้าอังวะจึงให้จำสะดุแมงกองกับภรรยาให้ข้าหลวงคุมตัวลงมาเมืองเมาะตะมะแล้วให้มีหนังสือไปถึงบุตร

          แมงจันจาเจ้าเมืองทวายคิดเกรงกลัวพระเจ้าอังวะจะยกทัพมาตีเมืองทวายจะสู้รบต้านทานมิได้ด้วยไม่มีที่พึ่ง  จึงตัดสินใจขอขึ้นกรุงเทพฯ  เอาพระเดชพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยเป็นที่พึ่งพำนัก  ขอกองทัพไทยไปช่วยป้องกันรักษาเมือง ในยามนั้นเจ้าเมืองทวายสืบรู้ว่าพระราชภาคิไนยหญิงพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามได้ตกมาอยู่เมืองทวายตั้งแต่ครั้งพม่าไปตีกรุงเก่าและได้กวาดต้อนครอบครัวไทยนั้นมา  ดังนั้นจึงไปเชิญพระราชภาคิไนย (หลาน=ลูกของพี่สาวหรือน้องสาว) ซึ่งขณะนั้นบวชเป็นรูปชีอยู่  ไต่ถามจนได้ความว่าเป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้ว  จึงจัดส่งคณะทูตเข้ากรุงเพทฯ  ได้นางรูปงามคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องภรรยาเจ้าเมืองทวายส่งเข้ามาถวาย  ให้แต่งศุภอักษรจารึกลงแผ่นทองเป็นอักษรภาษาพุกามตามจารีตพม่า  ใจความอ่อนน้อมขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเมืองขึ้นพระมหานครศรีอยุธยา  ขอกองทัพออกไปช่วยป้องกันรักษากับถวายนางงามเข้ามาด้วย  พร้อมกันนั้นก็ให้พระเจ้าหลานเธอมีหนังสือเป็นอักษรภาษาไทย ๑ ฉบับ  เข้ามากราบบังคมพระกรุณา  และได้ให้จัดพระสงฆ์ไทย ๑ รูป  ชื่อมหาแทน  เข้าร่วมในคณะทูตเมืองทวาย

          ขุนนางทวายทูตานุทูตถือเครื่องราชบรรณาการ  พานางตะแคงหรือเจ้าน้องภรรยาเจ้าเมืองทวาย  กับมหาแทนให้ถือหนังสือพระเจ้าหลานเธอฉบับหนึ่งมาด้วย  คณะทูตเดินทางมาทางกาญจนบุรี  กรมการเมืองราชบุรีจึงบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดมีตราแต่งให้ข้าหลวงออกไปรับทูตทวาย  และคณะทูตคือพระสงฆ์ ๑๐ รูป  นำโดยมหาแทน  กับ  เจสูนาระตะมิดกอยอชวา ๑   นาขันตะเรียงสา ๑   อดุนนเรสร้อยตองลักแวนอรมา ๑   และหญิงที่เข้ามาด้วย  ก็ได้เข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔  แปลหนังสือพระยาทวายนั้นได้ความว่า

          “แมงจันจาพม่าเจ้าเมืองทวาย  เป็นบุตรสะดุแมงกองกินเมืองส่วยชื่อเมืองมัคราโบ  เป็นแม่ทัพใหญ่เมืองอังวะ  ขอกราบถวายบังคมมายังใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา  ด้วยแมงจันจาเป็นเชื้อพม่า  บิดามารดาปู่ย่าตาแมงจันจาทำราชการมาแต่ครั้งพระอัยกาของพระเจ้าอังวะมาจนถึงแมงจันจา  จะได้มีความผิดสักครั้งหนึ่งก็หามิได้  พระเจ้าอังวะทุกวันนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  และสังคหวัตถุ ๔ ประการ  ตามพระราชประเพณีสมเด็จพระบรมมหากษัตราธิราชสืบมาแต่ก่อน  กลับความจริงเป็นเท็จ  กลับความเท็จเป็นจริง  ขาดจากเมตตากรุณา  และผู้รั้งเมืองผู้ครองเมืองปลายด่านทำราชการสู้เสียชีวิตก็ไม่ว่าดี

          เมื่อเดือน ๑๑ ปีกุน ตรีศก  ตั้งมองละเจสูลงมากินเมืองเมาะตะมะ  ให้บังคับบัญชาชาวเมืองทวาย  เมืองมะริด  เมืองตะนาว  เจ้าเมืองเมาะตะมะให้มาเรียกเอาเงินแก่เมืองทวาย  เมืองมะริด  เมืองตะนาว  สองเดือนสามเดือนครั้ง ๑ เงินถึง ๒๐๐ ชั่ง ๓๐๐ ชั่ง  อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อนนัก  แล้วเจ้าเมืองเมาะตะมะแต่งให้มะรุวอนโปจักกายเดิงคุมพม่า ๓๐๐ คน  ลงมากินเมืองทวายจะให้ถอดข้าพระพุทธเจ้าเสีย  ข้าพระพุทธเจ้าจึงแต่งให้ปลัดเมืองคุมไพร่ ๕๐๐ คน  ออกไปพบมะรุวอนโปจักกายเดิงนอกเมือง  ทางประมาณ ๒๐๐ เส้น  จึงกลุ้มรุมฆ่ามะรุวอนโปจักกายเดิงและไพร่ตายสิ้น  เมืองมะริด  เมืองตะนาว  รู้ว่าเมืองทวายยอมเข้ามาพึ่งพระราชกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  เมืองมะริด  เมืองตะนาว  ก็ยอมเข้ามาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วย  จึงจัดได้นางและต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวาย  แล้วขอรับอาสาตีเมืองเมาะตะมะ  เมืองร่างกุ้ง  เมืองจิตตอง  เมืองพสิม  ถวายให้ได้ในเดือน ๔ ปีกุน”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  เมืองทวายเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในภูมิภาคนี้ ในยุคทวาราวดี  เมืองทวายเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรทวาราวดี  ในยุคสุโขไท  เมืองก็เป็นเมืองหนึ่งในราชอาณาจักรสุโขไท  เมื่อสิ้นยุคพ่อขุนรามคำแหง  โอรสพระเจ้าฟ้ารั่ว (พระเจ้าหลานพ่อขุนรามฯ)ยึดเมืองนี้ไปขึ้นกับรามัญ(มอญ)  จากนั้นมาก็อยู่ในปกครองมอญ  แล้วเปลี่ยนมือเป็นพม่าบ้าง  กลับมาขึ้นกับไทยบ้าง  ทำนองว่า ถูกมอญ พม่าลากไป  ไทยลากมา  จนกระทั่งอยู่ในปกครองพม่าถึงยุค  แมงจันจา (พม่า)เป็นเจ้าเมืองทวาย  เกิดความไม่พอใจในความไร้ยุติธรรมของพระเจ้าปดุงแห่งพม่า  จึงขอเป็นเมืองขึ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง เรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43202#msg43202)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43645#msg43645)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, สิงหาคม, 2562, 11:31:41 PM
(https://i.ibb.co/sJhXWm8/Untitledf45d-2.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43383#msg43383)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43815#msg43815)                   .

- ทวาย มะริด ตะนาว เป็นเมืองขึ้น -

เมืองทวาย,มะริด ,ตะนาวศรี
ล้วนยินดีโอนประเทศมอบเขตขัณฑ์
ให้สยามปกครองอยู่ร่วมกัน
กระชับมันไมตรีแต่นี้ไป


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ มาให้ท่านอ่านกันถึงตอนที่แมงจันจาชาวพม่าเจ้าเมืองทวาย  ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม  ขอนำเมืองทวาย  ตะนาวศรี  และ มะริด  มาขึ้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านความต่อจากเมื่อวันวานครับ

          * “ สมุหนายกนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ทูตทวายอาศัยพักอยู่ ณ โรงรับแขกเมือง  ทรงพระกรุณาให้เลี้ยงดูพวกแขกเมืองทวายทั้งนายและไพร่ให้บริบูรณ์  ส่วนพระมหาแทนนั้นก็ให้ส่งไปสำนัก ณ วัดบางว้าใหญ่ (ระฆังโฆสิตาราม)  ครั้นดำรัสให้จัดการทั้งปวงตามอย่างออกแขกเมือง  โดยโบราณราชประเพณีพระบรมราชาธิราชแต่ปางก่อนแล้ว  เสด็จออก ณ มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  เสนาบดีมนตรีหมู่มุขมาตย์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  ฝ่ายทหารพลเรือนประชุมเฝ้า ณ ทิมดาบซ้ายขวาตามตำแหน่ง  จากนั้นให้เบิกแขกเมืองทวายเข้ากราบถวายบังคมในปะรำระหว่างทิมดาบคด  พระยาราชนิกูลกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายเครื่องราชบรรณาการแล้วอ่านศุภอักษรเจ้าเมืองทวายเนื้อความในแผ่นทองว่า

           “ ข้าพระพุทธเจ้าแมงจันจา ขอกราบบังคมมาแทบพระบวรบาทบงกชมาศ  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา  ด้วยข้าพระองค์เดิมเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากรุงรัตนบุระอังวะ  บัดนี้มีความผิดขัดเคืองกันกับพระเจ้าอังวะ  พระเจ้าอังวะให้กองทัพพม่ายกมากระทำวิหิงสาการย่ำยีเมืองทวาย   ให้สมณะพราหมณาจารย์ไพร่ฟ้าประชาราษฎรได้รับความเดือดร้อน  ข้าพระพุทธเจ้าหาที่พึ่งที่พำนักมิได้  จะขอเอาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพพระบารมีสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวปราสาททอง  ไปปกครองป้องกันเกศสรรพสัตว์นิกรในเมืองทวายให้พ้นภยันอันตรายแห่งปัจจามิตร  ขอรับพระราชทานกองทัพออกไปช่วยป้องกันรักษาเมือง

           อนึ่ง  ข้าพระองค์ถวายนางอันเป็นประยูรวงศ์เข้ามาเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย  แล้วจะขอส่งพระราชภาคิไนยซึ่งไปตกอยู่เมืองทวายเข้ามาถวายต่อภายหลัง  บัดนี้ให้มหาแทนถือหนังสือของพระราชภาคิไนยเข้ามาถวายด้วย  อนึ่ง  ข้าพระพุทธเจ้ากับทั้งกรมการเมืองทวาย  เมืองมะริด  เมืองตะนาว  และอาณาประชาราษฎรทั้ง ๓ เมือง  ขอเป็นเมืองขึ้นขอบขัณฑสีมากรุงเทพมหานครศรีอยุธยา  เหมือนดังกาลก่อนสืบไปตราบเท่ากัลปาวสาน”

           * ครั้นอ่านศุภอักษรถวายเสร็จแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสปฏิสันถารด้วยทูตานุทูตตามขัตติยราชประเพณีแล้วเสด็จขึ้น  ฝ่ายอัครมหาเสนาบดีก็พาแขกเมืองออกจากที่เฝ้านำไปรับประทานอาหารเลี้ยงดู ณ ศาลาลูกขุนมหาดไทย  ทรงพระกรุณาโปรดให้เถ้าแก่จ่าโขลนและกรมวังออกไปรับนางทวายคือ  นางเอก ๑   นางโท ๒   สาวใช้ข้าไท ๕๗   รวม ๖๐ คนนั้นส่งเข้าไปในพระราชวัง

           แล้วโปรดให้เสนาบดีพิจารณาดูหนังสือพระราชภาคิไนยที่พระมหาแทนถือเข้ามาถวายนั้น  ได้ไต่ถามไล่เลียงพระมหาแทนจนได้ความแน่ชัดว่า  เป็นพระธิดาของพระเจ้าขุนรามรณรงค์สมเด็จพระเชษฐาธิราช  เป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้ว จึงให้ถวายไตรจีวรเครื่องสมณะบริขารแด่พระมหาแทน  พระราชทานเสื้อผ้าเงินตราเป็นรางวัลแก่ทูตานุทูต  และจัดสิ่งของพระราชทานตอบแทนออกไปให้แก่พระยาทวายโดยสมควร

           ดำรัสสั่งสมุหนายก(เจ้าพระยารัตนาพิพิธ) ให้มีตราออกไปถึงพระยาทวาย  และส่งทูตานุทูตกับพระมหาแทนกลับออกไปเมืองทวายก่อน  แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ  นำท้าวพระยาหัวเมืองถือพล ๕,๐๐๐ ยกออกไปช่วยรักษาเมืองทวาย  พร้อมกับพระราชทานพานทองเครื่องยศให้พระยายมราชคุมออกไปพระราชทานพระยาทวายด้วย”

           ** ท่านผู้อ่านครับ  แมงจันจาเจ้าเมืองทวาย  เป็นกบฏต่อพระเจ้าอังวะ(พระเจ้าปดุง)  ขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพมหานคร ดังกล่าวมาแล้วนั้น  นับได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยกับพม่าทำสงครามใหญ่กันอีก  โดยในรัชกาลที่ ๑ มีการรบกันเข้มข้นถึง ๗ ครั้ง   ในรัชกาลที่ ๒ รบกัน ๑ ครั้ง   รัชกาลที่ ๓ รบกัน ๑ ครั้ง   ในรัชกาลที่ ๔ รบกัน ๑ ครั้ง   ในรัชกาลที่ ๕ ไม่มีการรบกัน   หากแต่ทัพไทยยกไปขับไล่พม่าให้พ้นแผ่นดินไทยเท่านั้น   การรบกับพม่าในรัชกาลที่ ๑ อย่างเข้มข้นนั้นมีรายละเอียดอย่างไร  คอยติดตามอ่านกันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, สิงหาคม, 2562, 10:58:38 PM
(https://i.ibb.co/cYJk4qv/Untitffdled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- รับพระองค์เจ้าชีเข้ากรุง -

ญวนเหนือรุกรานไทยในล้านช้าง
เข้ามาทางเมืองพวนเป็นส่วนใหญ่
ถูกตีโต้แตกพ่ายมิทันไร
เจ้าญวนใต้กราบทูลร่วมรุมตี

ทรงสั่งรอเรื่องญวนไม่ด่วนรุก
ขอบั่นบุกทางพม่าอย่างเร็วรี่
ยาตราทัพไปด่านกาญจนบุรี
รับเจ้าชีคืนกรุงก่อนพุ่งรบ


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาให้อ่าน  ถึงตอนที่แมงจันจาเจ้าเมืองทวายเป็นกบฏต่อพระเจ้าอังวะ  แล้วขอมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพมหานครศรีอยุธยา  ส่งเครื่องบรรณาการพร้อมนางงามเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และขอกองทัพไทยไปช่วยป้องกันรักษาเมืองทวาย  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้วดำรัสให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ ไปช่วยรักษาเมืองทวาย พร้อมกับพระราชทานพานทองเครื่องยศให้พระยายมราชคุมออกไปพระราชทานแก่เจ้าเมืองทวายด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          * “ ก่อนจะเกิดสงครามกับพม่าอีกครั้งก็มีเรื่องจากทางเมืองญวนเข้ามาแทรก  กล่าวคือ  ในปีจุลศักราช ๑๑๕๕ (พ.ศ. ๒๓๓๖) ปีชวด จัตวาศก  อันเป็นปีที่ ๑๑  ในรัชกาลที่ ๑ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕  องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กมีหนังสือเข้ามาฉบับหนึ่ง  มีใจความว่า  ในคราวที่องลองเยืองยกทัพมาตีเมืองไซ่ง่อนนั้น  ได้จับพวกขุนนางของเจ้าอนัมก๊กเอาไปไว้เมืองเว้แล้วตั้งเป็นขุนนาง  ดังนั้นเมื่อองลองเยืองคิดการประการใด  ขุนนางดังกล่าวก็จะแต่งคนถือหนังสือเล็ดลอดมาให้ทราบทุกครั้ง  จึงได้รู้ว่าองลองเยืองแต่งให้นายทัพนายกองออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองตังเกี๋ย  

          และยังว่าเมืองลาวจับเอาทูตขององลองเยืองที่ไปพม่าส่งลงมากรุงเทพมหานคร  แล้วโปรดให้จำไว้  องลองเยืองผูกพยาบาทคิดจะยกไปตีเมืองลาว   เมื่อได้เมืองลาวก็จะให้ยกไปตีเขมร   ได้เขมรแล้วก็จะยกทัพบกทัพเรือเข้าไป ณ กรุงเทพฯ  ดังนั้น  ถ้ากรุงเทพฯจะยกกองทัพไปตีองลองเยืองขอให้ยกไปทางเหนือเข้าตีเมืองตังเกี๋ย  เจ้าอนัมก๊กจะยกกองทัพบกทัพเรือไปตีเมืองกุยเยิน   เมืองเว้   ถ้าจะยกไปตีเมื่อใดขอให้มีตราออกไปให้แจ้ง จะไปด้วย

          ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีหนังสือพระยาพระคลังออกไปมีใจความว่า  ญวนเมืองตังเกี๋ยยกกองทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์  กองทัพเมืองเวียงจันทน์ยกออกไป  ได้รบกันที่เมืองพวน  กองทัพญวนเมืองตังเกี๋ยแตกไป  จึงกวาดเอาครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยส่งมา ๔๐๐ เศษ  และซึ่งองลองเยืองมีความพยาบาทจะยกกองทัพไปตีเมืองลาว   ได้แล้วจะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯนั้น   ตามแต่มันจะคิดเถิด  หาวิตกไม่

          และข้อซึ่งว่าจะแต่งกองทัพไปเมื่อใดให้บอกออกไปให้แจ้ง  เจ้าอนัมก๊กจะยกกองทัพไปตีเมืองกุยเยิน, เมืองเว้  พร้อมกันทีเดียวนั้น  ฝ่ายกรุงก็จัดเตรียมกองทัพหัวเมืองฝ่ายตะวันออก  และกองทัพกรุงอยู่  เพราะบัดนี้แมงจันจาพม่าเมืองทวายสวามิภักดิ์มาขึ้นกรุงสยาม   แมงจันจากับขุนนางพม่าที่มาขอพึ่งพระบรมราชกฤษฎาภินิหาร  จะอาสาไปตีเมืองเมาะตะมะ,เมืองร่างกุ้ง  การศึกเมืองอังวะครั้งนี้เป็นท่วงทีอยู่  จะต้องคิดทำให้สำเร็จเสียก่อน  ถ้าจะไปทำแก่องลองเยืองได้เมื่อใด จึงจะมีตรากำหนดออกมาให้แจ้งครั้งหลัง  และให้เจ้าอนัมก๊กรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง  บัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้องเบ็ดเลือง  คุมสิ่งของออกมาพระราชทานเจ้าอนัมก๊ก  แพรมังกรสีม่วง ๒ สีดำ ๒ กระดาษหีบ ๑ หมึกหีบ ๑

          * ทีนี้กล่าวถึงพระยายมราชผู้รับพระราชบัญชาให้เป็นแม่ทัพคุมพล ๕,๐๐๐ ไปช่วยรักษาเมืองทวายนั้น  เมื่อเดินทัพไปถึงเมืองทวายแล้วก็ตั้งค่ายอยู่นอกเมือง  พระยาทวายทราบเรื่องก็จัดให้ขุนนางกรมการนำเอาเสบียงอาหารออกมาต้อนรับกองทัพไทยโดยตนเองมิได้ออกไปรับด้วย  พระยายมราชจึงให้ขุนนางไทยเข้าไปในเมืองกับกรมการเมืองทวาย  ขอให้เจ้าเมืองทวายออกมาคำนับท่านแม่ทัพ  พระยาทวายก็ออกมาต้อนรับนับถือยำเกรงเรียบร้อย  พระยายมราชจึงให้พระรองเมืองคุมคนเข้าไปตั้งรักษาเมืองทวายอยู่ในกำแพงเมือง  จากนั้นพระยายมราชจึงบอกกำหนดจะส่งพระองค์เจ้าชีลงมาให้ถึงแม่น้ำน้อย  ขอเรือขึ้นไปรับ  ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  โปรดให้เรือศรีประกอบหลังคาสีม่านทองลำ ๑   สำหรับจะได้รับพระองค์เจ้าชี

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ  เสด็จยกพยุหยาตราออกไปเมืองกาญจนบุรีโดยทางชลมารค  ถึงแม่น้ำน้อยก็เสด็จขึ้นประทับอยู่ที่พลับพลาค่ายหลวง  เวลาบ่าย ๒ โมงวันนั้นพระยายมราชก็ส่งพระองค์เจ้าชีมากับพระราชาภิมณฑ์และข้าไทชาวกรุงตามเสด็จพระองค์เจ้าชีลงมาเป็นอันมาก  ถึงพลับพลาที่ประทับก็เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ   ทั้งสองพระองค์ทรงไต่ถามถึงทุกข์สุขตั้งแต่ตกไปอยู่เมืองอังวะแล้วหลบหนีลงมาจนถึงเมืองทวาย  พระองค์เจ้าชีเล่าถวายถึงความทุกข์ยากลำบากพร้อมกับทรงพระกันแสง  ทั้งสองพระองค์ทรงฟังแล้วก็กลั้นน้ำพระเนตรไว้มิได้  จากนั้นรับสั่งให้พระองค์เจ้าชีลงสรงน้ำ ณ ที่สรงซึ่งทำไว้ที่ท่าหาดทรายในแม่น้ำน้อย  และสรงน้ำพระปริตเสร็จแล้วก็ให้เรียกเรือมารับพระองค์เจ้าชีและข้าไทที่ตามมานั้น  เป็นเรือหลายลำด้วยกัน ใ ห้สนมกรมวังนำส่งพระองค์เจ้าชีเข้ากรุงเทพมหานคร

          ** ท่านผู้อ่านครับ  เกิดเรื่องพะวักพะวงขึ้นกับพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามขึ้นแล้ว  กล่าวคือทางฝ่ายญวนนั้น องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กกราบทูลให้สยามยกกองทัพไปตีตังเกี๋ยทางด้านเหนือ  โดยองเชียงสือจะยกทัพญวนตะลุยตีเมืองกุยเยิน เมืองเว้   ขึ้นไปตีตังเกี่ยทางด้านใต้  ซึ่งก็เป็นยุทธวิธีที่ดี  สามารถตีตังเกี๋ยให้สำเร็จได้ไม่ยาก  แต่ทรงทำดังนั้นมิได้ เพราะแมงจันจาเจ้าเมืองทวายพร้อมเมืองมะริด ตะนาวศรี ขอเป็นเมืองขึ้น  และอาสายกไปตีเมาะตะมะ  เมืองร่างกุ้ง  เมืองจิตตกอง  เมืองพสิม  ถวายให้จงได้ในเร็ววัน  และทรงรับปากแมงจันจาไปแล้ว  จึงตรัสให้รอเรื่องทางเมืองญวนไว้ก่อน จากนั้นเสด็จยกพยุหยาตราทัพออกไปเมืองกาญจนบุรี  แล้วทรงรับพะราชนัดดาพระองค์เจ้าชี  ส่งกลับเข้ากรุงเทพมหานคร เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, สิงหาคม, 2562, 11:12:24 PM
(https://i.ibb.co/SQSX0cp/Untdf447itled-1.jpg) (https://imgbb.com/)


- ทรงห้ามรื้อเมืองทวาย -

กิริยาเจ้าเมืองทวายไม่เรียบร้อย
ประหนึ่งคอยเล่นแง่ไม่สงบ
กรมพระราชวังบวรฯทรงเว้นคบ
หมายให้กลบเกลื่อนทวายไม่เหลือมี

กราบทูลเรื่องรื้อกำแพงแปลงเมืองสิ้น
เหลืองเพียงดินเปล่าเปลือยไว้แทนที่
กวาดต้อนครัวทั่วหน้าประชาชี
ทั้งผู้ดีแลไพร่ไปเมืองกรุง

ตรัสห้ามไว้ให้เมืองนี้มีเป็นหลัก
เป็นที่พักทัพได้ไม่ยากยุ่ง
ประโยชน์เมืองทวายล้วนควรปรับปรุง
และบำรุงรักษาอย่าทำลาย


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พร้อมด้วยพระอนุชาธิราช  ยกพยุหโยธาทัพหลวงไปเมืองกาญจนบุรีทางชลมารค  ถึงที่ตั้งพลับพลาแม่น้ำน้อยทรงประทับรอรับพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าชี  ครั้นพระยายมราชรับตัวพระองค์เจ้าหลานชีจากเจ้าเมืองถวายแล้ว  ส่งมาถวาย ณ ค่ายหลวง  ทรงซักถามทุกข์สุขแล้วจัดขบวนเรือส่งพระองค์เจ้าหลานชีเข้ากรุงเทพมหานคร  แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

          * “ครั้นส่งพระเจ้าหลานเธอเข้ากรุงเทพมหานครแล้วได้ ๓ วัน  กรมพระราชวังบวรฯก็ทูลลายกทัพขึ้นไปเมืองทวาย จะไปดูแยบคายพระยาทวายว่าจะสุจริตหรือจะคิดประการใด  ครั้นเสด็จไปถึงเมืองทวาย  ทรงพิจารณาการทั้งปวงแล้วก็เห็นว่า  จะรักษาเมืองทวายไว้มิได้  ทั้งพระยาทวายกิริยาก็ไม่เรียบร้อย  ดูกระด้างกระเดื่องอยู่  ทรงพระดำริที่จะกวาดครอบครัวอพยพรื้อกำแพงเมืองทวายเสีย  พวกกองทัพทราบพระดำรินั้นก็พากันหาครอบครัวมาใช้สอย  ไปลักลอบพาหญิงชาวเมืองทวายผ่อนปรนให้บ่าวไพร่คุมลงมาเป็นอันมาก

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จประทับอยู่ค่ายหลวงแม่น้ำน้อย  ได้ทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ  รับสั่งให้ข้าหลวงออกเที่ยวจับตัว  คนเหล่านั้นรู้ก็หนีลัดเข้าป่าไป  หมื่นสิทธิโสมตำรวจพาหญิงมาด้วย ๒ คน  พวกในกองทัพหลวงออกไล่ตามจับ  ได้ตัวหมื่นสิทธิโสมมาลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วจำไว้  พวกข้าหลวงในกรมพระราชวังบวรฯที่เป็นผู้ใหญ่ ๆ นั้น  รู้ว่าหมื่นสิทธิโสมถูกจับได้แล้วลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ดังนั้น  ก็เกิดความเกรงกลัว  พากันสงบหาได้เกลี้ยกล่อมเอาชาวเมืองทวายลงมาอีกไม่

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ถามเจ้าพระยามหาโยธา  อำมาตย์สายสมร  พระยาไทรโยค  ถึงระยะทางจากพระเจดีย์สามองค์ไปถึงเมืองเมาะตะมะ    และจากบ้านระแหงไปถึงเมืองเมาะตะมะว่าเป็นระยะทางเท่าใด  จากเมืองเมาะตะมะไปถึงหงสาวดีเป็นระยะทางเท่าใด  เจ้าพระยามหาโยธา อำมาตย์สายสมร และพระยาไทรโยค  กราบบังคมทูลว่า  เมื่ออยู่เมืองมอญเดินไปมาอยู่บ้าง
          ประมาณตามระยะทางตั้งแต่เมืองกาญจนบุรีไปถึงไทรโยคประมาณ ๑,๗๗๕ เส้น  ตั้งแต่เมืองไทรโยคเก่าถึงด่านผาวน ๕๕๒ เส้น  ตั้งแต่ด่านผาวนถึงคลองปิลอก ๗๕๘ เส้น  ตั้งแต่คลองปิลอกถึงสามสบ ๘๐๐ เส้น  ตั้งแต่สามสบถึงแม่น้ำสังขะลา ๖๐๐ เส้น  แต่แม่น้ำสังขะลาถึงพระเจดีย์สามองค์ทาง ๕๐๐ เส้น
 แต่พระเจดีย์สามองค์ถึงแม่น้ำกษัตริย์ ๘๐๐ เส้น  แต่แม่น้ำกษัตริย์ถึงแม่น้ำสกลิก ๑,๐๐๐ เส้น  แต่แม่น้ำสกลิกถึงสมิ ๒,๗๐๐ เส้น  ทางเรือแต่สมิถึงเมืองเมาะตะมะ ๒,๗๐๐ เส้น  แต่เมืองเมาะตะมะถึงเมืองยางเงิน ๑,๕๐๐ เส้น  แต่เมืองยางเงินถึงเมืองสะเทิม ๑,๐๐๐ เส้น  แต่เมืองสะเทิมถึงเมืองวาน ๑,๕๐๐ เส้น  แต่เมืองวานถึงเมืองดัดคล้า ๑,๒๐๐ เส้น  แต่เมืองดัดคล้าถึงเมืองกะเตา ๑,๒๐๐ เส้น  แต่เมืองกะเตาถึงเมืองหงสาวดี ๑,๒๐๐ เส้น  รวมเป็นระยะทาง ๑๙,๗๘๕ เส้น

          ส่วนทางบ้านระแหง(จังหวัดตากปัจจุบัน)นั้น  ตั้งแต่บ้านระแหงถึงด่านแม่ละเมา ๒,๕๐๐ เส้น  แต่ด่านแม่ละเมาถึงแม่น้ำเม้ย ๒,๐๐๐ เส้น  แต่แม่น้ำเม้ยถึงแม่น้ำกลีบ ๒,๐๐๐ เส้น  แต่แม่น้ำกลีบถึงบ้านตะพู ๑,๒๐๐ เส้น  ทางเรือตั้งแต่บ้านตะพูขึ้นไปเมืองเมาะตะมะขึ้นบก ๒,๗๐๐ เส้น  รวมตั้งแต่บ้านระแหงถึงเมืองเมาะตะมะ ๑๐,๔๐๐ เส้น  แต่เมืองเมาะตะมะถึงเมืองหงสาวดี ๗,๖๐๐ เส้น  รวม ๑๘,๐๐๐ เส้น  ทางพระเจดีย์สามองค์ถึงปากแพรกมากกว่าทางบ้านระแหง ๑,๘๘๕ เส้น

          * ในขณะที่ตรวจสอบระยะทางไปเมืองหงสาวดีนั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯก็มีรับสั่งให้พระยายมราชมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล  สรุปความได้ว่า  ขอรื้อเมืองทวายเอาอิฐลงแม่น้ำเสียให้หมด  อย่าให้ทำขึ้นได้อีก แล้วจะกวาดเอาครอบครัวลงมาใส่บ้านเมือง  เมืองทวายไกลนักเมื่อมีราชการทัพศึกมาช่วยไม่ทัน  จะเอาพระยาทวายล่วงไปเสียก่อนจึงค่อยคิดต่อไป

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบหนังสือบอกมาดังนั้นก็ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก  รับสั่งให้มีหนังสือตอบขึ้นไปว่า  พม่ายกมาตีกรุงกวาดครอบครัวชาวกรุงและพี่น้องขึ้นไปไว้แต่ที่เมืองทวายเมืองเดียวดอกหรือ  เมืองอังวะและเมืองอื่น ๆ ไทยชาวกรุงไม่มีหรือ  ไม่ช่วยเจ็บแค้นขึ้งโกรธบ้างเลย  ได้เมืองทวายไว้จะได้เป็นเมืองพักผู้คน  ไว้เสบียงอาหารเป็นกำลังทำศึกต่อไป  ห้ามอย่าให้รื้อกำแพงเมืองและกวาดครอบครัว  ให้รักษาเมืองระวังเหตุการณ์ให้มั่นคงให้ดี”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  เรื่องเมืองทวายขอสวามิภักดิ์  เห็นจะมีปัญหาเสียแล้ว  มีปัญหาอย่างไร  ติดตามอ่านกันต่อไปในวันพรุ่งนี้นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, สิงหาคม, 2562, 11:49:56 PM
(https://i.ibb.co/NpHRwFs/Untitle56dsfq-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- จัดทัพเตรียมตีพม่า -

ให้เจ้าเมืองทวายและพวกพ้อง
ละเลิกครองเมืองเก่าเป็นเป้าหมาย
พม่าเขม่นเผ่นล่าฆ่าถึงตาย
จึงให้ย้ายเข้ากรุงเทพฯเสพสุขพอ

อยู่ ณ คอกกระบือไม่ดื้อแพ่ง
มีตำแหน่งงานคิดทำติดต่อ
ตั้งเจ้าเมืองทวายใหม่ไม่รั้งรอ
วางแผนก่อศึกพม่ารุกราวี


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  มาให้อ่านถึงตอนที่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ  ยกทัพไปเมืองทวาย   เมื่อไปถึงแล้วก็ทรงพิจารณาเห็นว่าจะรักษาเมืองทวายไว้ไม่ได้  จึงมีพระราชดำริจะรื้อกำแพงเมืองทวายเสีย  แล้วกวาดต้อนผู้คนมากรุงเทพฯ  เมื่อมีหนังสือกราบบังคมทูลลงมา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองแล้วให้ตอบไปว่าไม่ให้รื้อกำแพงเมืองทวาย  ให้รักษาเมืองระวังเหตุการณ์ให้มั่นคง  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาติดตามพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อครับ

          * “มีความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ  ทรงชำระว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีตราขึ้นไปให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  รักษาเมืองทวายไว้ให้ดี  อยู่มาสักสี่ห้าวัน กล่าวถึงชายไทยชาวกรุงเก่าคนหนึ่งชื่อตามา  เคยรู้จักใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาแต่ครั้งกรุงยังไม่เสีย  ครั้งนั้นมีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันกับบ้านหลวง  ครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งนั้น  ตามาถูกกวาดต้อนไปตกอยู่เมืองทวาย  แต่ไม่ได้เข้าอยู่ในกลุ่มพระองค์เจ้าชี  เมื่อพระองค์เจ้าชีเสด็จลงมากรุงเทพฯ  จึงไม่ได้ติดกลุ่มลงมาด้วย  คงอยู่ในเมืองทวายนั้นเอง

          ตามาทราบว่า  พระยาทวายรู้ว่าพระเจ้าอังวะจะเอาสะดุแมงกองบิดาของตนขึ้นม้าเอาเลื่อย ๆ เสียเหมือนเลื่อยไม้  แล้วจะยกกองทัพมาตีเมืองทวาย  พระยาทวายเสียใจคิดรวนเรวุ่นวายด้วยกลัวบิดาตนจะต้องรับอาชญา  ใจจึงไม่เป็นหนึ่งแน่เหมือนแต่ก่อน  ได้ให้ปลัดต่าย  มองนุ  น้องของตน  พาไพร่พลพม่าเมืองทวายหลายคนลงมาดูทาง  พบเห็นทางไหนแคบก็จะตัดไม้ทับทางเสียจะเอาคนระวังที่ช่องแคบ  แล้วจะยกเข้าปล้นกองทัพที่รักษาเมืองทวาย  เมื่อรู้ความดังนั้นแล้ว  ตามาจึงเข้ากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทราบแล้วจึงบอกส่งลงมา ณ ค่ายหลวงแม่น้ำน้อย

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบความแล้วทรงพระราชดำริว่า  อ้ายมองนุเป็นน้องพระยาทวาย  อ้ายปลัดต่ายก็เป็นคนใช้สอยของพระยาทวาย  จึงให้จับเอาตัวอ้ายมองนุ  อ้ายปลัดต่ายมาถาม  อ้ายมองนุ  อ้ายปลัดต่าย ให้การว่ามาเที่ยวเล่นก็เลยลงมา  คำแก้ตัวของทั้งสองฟังไม่ขึ้น  จึงให้เอาตัวมองนุกับพวกทั้งหมดจำไว้ที่ค่ายหลวงแม่น้ำน้อย  ไม่ให้เหลือกลับไปบอกข่าวกันได้  แล้วรับสั่งให้มีตราออกไปถึงพระยายมราชให้กราบทูลสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฯว่า  ไม่ไว้ใจแมงจันจาเจ้าเมืองทวายและปลัดกับพวกพ้องพระยาทวาย   ให้ส่งตัวลงมาให้สิ้น  จะทรงชุบเลี้ยงเป็นขุนนางอยู่ในกรุงเทพฯ   ด้วยมีความชอบที่ยกเอาเมืองทวายมาขึ้นกับกรุงเทพมหานคร  แล้วให้ตั้งเจ้าเมืองทวายขึ้นใหม่  โดยเอาพวกพ้องนางทวายที่ส่งลงมาถวายนั้น  ดูว่าคนใดเหมาะสมก็ให้ตั้งเป็นเจ้าเมืองต่อไป

          สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฯ  จึงรับสั่งให้พระยายมราชหาตัวพระยาทวายมาบอกว่า  มีตราให้พระยาทวายเข้าไปเฝ้า  จะทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเป็นขุนนางอยู่ที่กรุงเทพฯ  หากจะให้อยู่รักษาเมืองทวายก็จะต้องให้กองทัพสยามอยู่รักษาเมืองด้วยทั้งตาปี  จะไว้ใจพม่ามิได้  ถ้าไปอยู่เสียที่กรุงเทพฯแล้ว  พม่าก็จะสิ้นความอาฆาต  ส่วนทางเมืองทวายตั้งให้ผู้อื่นอยู่รั้งเมืองก็จะได้

          พระยาทวายฟังแล้วก็ไม่เต็มใจที่จะเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ  แต่ขัดมิได้ด้วยเห็นกองทัพกรุงสยามตั้งอยู่ที่ทวายเป็นอันมาก  ต้องยอมตามรับสั่ง  จึงจัดเตรียมพรรคพวกครอบครัวของตนได้หลายร้อยคน  พระยายมราชก็ส่งลงมาถึงแม่น้ำน้อย  และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ค่ายหลวงแม่น้ำน้อย  โปรดให้จัดเรือส่งพระยาทวายเข้ากรุงเทพฯ  และพวกพระยาทวายทั้งหมดนั้นโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนพักอยู่นอกป่าช้าวัดสระเกศพลางก่อน  ครั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฯ เสด็จจากทวายลงมาถึงแม่น้ำน้อยแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกรมพระราชวังบวรฯก็เสด็จพระราชดำเนินกลับคืนพระนคร  จากนั้นโปรดตั้งพระองค์เจ้าชีขึ้นเป็นเจ้าฟ้าฝ่ายในอีกพระองค์หนึ่ง  และพวกพระยาทวายนั้นก็คัดเอาไว้เป็นช่างเรือบ้าง  ที่เหลือนั้นให้ไปอยู่คอกกระบือกับพระยาทวาย

          * ในปีฉลู จุลศักราช ๑๑๕๕ (พ.ศ. ๒๓๓๖) นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริกับด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฯว่า  เมืองมะริด  เมืองตะนาว  เมืองทวาย  ก็ได้เป็นของสยามแล้ว  ควรจะไปตีเมืองเมาะตะมะ(นครพัน)  เมืองร่างกุ้ง  เขตแดนพม่าต่อเข้าไปลองดู  ถ้าสมคะเนได้การก็จะตีให้ถึงเมืองอังวะทีเดียว  จึงโปรดให้เกณฑ์ทัพ  โดยให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เจ้าพระยามหาเสนา  ยกไปสมทบเจ้าพระยายมราชที่เมืองทวายก่อน

          สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฯ เสด็จไปทางสิงขรแล้วตั้งต่อเรือรบอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก  เพื่อเตรียมยกทัพเรือไปเมืองมะริด  ส่วนทัพหลวงซึ่งจะยกไปทางบกนั้นยังมิได้ยกไปในทันที  ให้พระยากลาโหมราชเสนาออกไปเกณฑ์ทัพเมืองเขมร  และให้พระยาไกรโกษาไปเกณฑ์ทัพเมืองลาว  ส่วนเมืองเหนือนั้นมีตราให้ข้าหลวงถือขึ้นไป  กำหนดให้เกณฑ์ทัพ ๔๐,๐๐๐ ให้พร้อมกันในเดือน ๑๒ ปีฉลูนั้น”

          ** อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระแล้วได้ความชัดเจนว่า  ชาวบ้านชื่อตามากราบทูลสมเด็จพระอนุชาฯว่า  แมงจันจา  เจ้าเมืองทวายคิดมิซื่อเพราะทราบข่าวพระเจ้าอังวะจะฆ่าบิดาตนอย่างโหดเหี้ยม  จึงทรง “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” ตรัสให้นำตัวเจ้าเมืองทวายและครัวครัวเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานคร  โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณคอกกระบือ (วัดทวาย แถว ๆ วัดดอนยานนาวา)  จากนั้นตรัสให้จัดเตรียมกองทัพเพื่อจะยกไปตีเมืองเมาะตะมะ (นครพัน) เมืองร่างกุ้ง  หากสำเร็จก็จะยกบุกไปยึดเมืองอังวะเลยทีเดียว  เรื่องราวจะดำเนินการต่อไปอย่างไร  พรุ่งนี้ตื่นมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, สิงหาคม, 2562, 10:55:16 PM
(https://i.ibb.co/pjZ2rSJ/222.png) (https://imgbb.com/)

- ทวายเป็นกบฏ -

ทัพพม่ามาทวายใกล้ถึงแล้ว
ชาวทวายรู้แกวก็กล้าหนี
เลิกเกรงกลัวทัพไทยในทันที
เริ่มโจมตีทัพไทยในทางเรือ

อ้ายวุ่นทอกออกสร้างกระด้างกระเดื่อง
ให้ชาวเมืองทั้งหมดลดความเชื่อ
กลับใจเป็นกบฏไทยไม่คลุมเครือ
แตกหักเมื่อชาวทวายใช้ปืนยิง

ค่ายไทยที่นอกเมืองต้องเคืองแค้น
ขยับแดนถอยไกลไม่อาจนิ่ง
พ้นทางปืนรอทีเข้าช่วงชิง
หาความจริงก่อนบุกเข้ารุกรบ


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาให้อ่านถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตรัสให้เจ้าเมืองทวายอพยพครอบครัวเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานคร  จากนั้นตรัสให้เตรียมกองทัพเพื่อยกไปตีเมืองเมาะตะมะ เมืองร่างกุ้ง  และเมืองอื่น ๆ ต่อไป  เรื่องจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อนะครับ

          * “ในเวลานั้น  เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เจ้าพระยามหาเสนา  พระยายมราช  บอกเข้ามาว่า  พม่ายกกองทัพใหญ่มาแต่เมืองอังวะ  จะมาตีเมืองทวาย  พม่าเมืองทวายลอบออกไปหาแม่ทัพเมืองอังวะ  จัดหญิงชาวเมืองทวายลงไปให้ ๒ คน  หาให้กองทัพไทยรู้ไม่  แม่ทัพเมืองอังวะจับกรมการเมืองทวายนั้นฆ่าเสีย  แล้วส่งตัวผู้หญิงกลับเข้ามาเมืองทวาย  ไพร่พลในเมืองทวายนั้นตั้งแต่รู้ว่ากองทัพพม่ายกมาแต่เมืองอังวะ  ความซึ่งยำเกรงกองทัพไทยนั้นก็น้อยลงกว่าเก่ามาก  จะใช้สอยการงานบังคับบัญชาก็ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอกแล้ว  ก็เป็นเวลาพอดีกันกับที่กองทัพหัวเมืองเข้ามาพร้อมกัน  จึงเสด็จยกพยุหยาตราโยธาทัพบกทัพเรือไปขึ้นเดินที่ทัพหลวงแม่น้ำน้อย

          ที่เมืองทวายในเวลานั้นก็ขัดเสบียงอาหารลง  เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เจ้าพระยามหาเสนา  พระยายมราช  จึงปรึกษากันว่า  ชาวเมืองทวายเสบียงอาหารก็ฝืดเคืองเกือบจะอดอยู่แล้ว  จะชักเอาผู้ชายไปขนข้าวที่ฉางแม่น้ำน้อย  คนก็จะติดรักษาหน้าที่เชิงเทินอยู่  ให้แต่พวกผู้หญิงลงมาขนข้าว  พวกพ้องของใครก็ให้คุมพวกพ้องลงมา  แล้วให้พวกไทยกำกับลงมาด้วย

          เมื่อเป็นดังนั้นก็เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น  โดยชาวเมืองทวายพากันสงสัยว่า  ไทยจะผ่อนครัว  ก็หาฟังบังคับบัญชาไม่  ทุ่มเถียงเกะกะเอะอะโวยวายไป  เจ้าพระยามหาเสนาจึงจับเอาอ้ายวุ่นทอกพม่าเมืองทวายตัวหัวโจกนั้นมาเฆี่ยนตี ๓๐ ที

          * ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เสด็จจากแม่น้ำน้อยขึ้นไปทางคะมองสวยแล้วตั้งค่ายอยู่ที่หินดาด  ซึ่งไกลจากเมืองทวายเป็นระยะทาง ๒ คืน

          สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฯ  ซึ่งยกออกไปต่อเรือรบอยู่ที่สิงขรนั้น  เมื่อต่อเรือรบได้ตามพระราชประสงค์แล้วก็พอดีกับที่ได้โปรดให้พระยาจ่าแสนยากร  พระยาไกรโกษา  ไปเกณฑ์กองทัพนั้นตามเสด็จมากับพระยาพิไชยบุรินทรา  พระยาแก้วเการพ  จึงโปรดให้คุมกองเรือยกออกไปเมืองทวาย  ครั้นส่งทัพไปแล้วก็เสด็จกลับมาประทับอยู่แขวงเมืองชุมพร

          ส่วนกองทัพที่ยกไปนั้น  เมื่อไปถึงเมืองมะริดก็ได้ข่าวว่าเมืองมะริดกลับใจเป็นกบฏ  จึงยกเข้าตีเมืองมะริด  ปืนป้อมและปืนหน้าเมืองชาวเมืองมะริดยิงระดมหนาแน่นนัก  เข้าเมืองหาได้ไม่  จึงแจวเรือเข้าหาเกาะหน้าเมืองมะริด  เกาะหน้าเมืองนั้นมีเขาอยู่  พระยาเสนหาภูธรทำพิณพาทย์อยู่ในเรือ  เมื่อข้ามไปจะเข้าเกาะนั้นปืนพม่ายิงมาถูกวงฆ้องกระจายไปถูกคนตีฆ้องบาดเจ็บ
 
          พระยาไกรโกษา  พระยาพิไชยบุรินทรา  พระยาจ่าแสนยากร  พระยาแก้วเการพ  และนายทัพนายกองไปถึงเกาะได้พร้อมกัน  เอาปืนใหญ่ขึ้นบนเขาช่วยกันยิงระดมเข้าไปในเมืองมะริด  พม่าทนลูกปืนไม่ได้ก็ขุดหลุมทำสนามเพลาะ  เอากระดานบังตัวกันลูกปืน  ปืนทางฝ่ายเมืองมะริดก็ซาลงรอทีว่าจะแตก

          ทางเมืองทวายนั้น  อ้ายวุ่นทอกคนที่เจ้าพระยามหาเสนาเฆี่ยนนั้นเจ็บแค้นเจ้าพระยามหาเสนา  จึงป่าวร้องยุยงพวกทวายว่าไทยจะไล่พลผ่อนครัวลงไปขนข้าว  แล้วจะเลยกวาดคนและพวกครัวเมืองทวายไปไว้แม่น้ำน้อย  พวกทวายทั้งปวงที่รักษาหน้าที่ก็เชื่อคำอ้ายวุ่นทอก  แล้วกลับใจคิดเป็นกบฏขึ้น  ช่วยกันเอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้าไปในค่ายไทยที่ตั้งอยู่นอกเมือง  กองทัพเจ้าพระยามหาเสนา  เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เห็นดังนั้นจึงล่าถอยขยับค่ายออกให้ห่างไกลกำแพงเมืองจนพ้นทางปืน

          ** ท่านผู้อ่านครับ  มีคำกล่าวอยู่ว่าการรบเพื่อยึดครองดินแดนนั้นไม่ยากนัก  แต่เมื่อยึดได้แล้วจะปกครองผู้คนที่อยู่ในดินแดนนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง  จึงปรากฏว่าเมื่อเข้าตียึดบ้านเมืองได้แล้วมักจะเผาทำลายบ้านเมืองและทำลายวัฒนธรรมประเพณีของผู้คนในดินแดนนั้นด้วย  หาไม่แล้วผู้คนในดินแดนนั้น ๆ มักจะลุกฮือขึ้นต่อต้านปลดแอกได้ในภายหลัง  ดังเช่นเมืองทวายที่ไทยยึดครองตามความที่กล่าวมานี้  แสดงให้เห็นว่า  เราได้แต่เมืองทวาย  แต่ไม่ได้ประชาชนชาวเมืองทวาย เมื่อเกิดกบฏขึ้นแล้ว  เรื่องจะลงเอยอย่างไร  อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, สิงหาคม, 2562, 10:34:21 PM
(https://i.ibb.co/QPsc2Pc/Untitlead-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- เสียแม่ทัพไทยแก่ทวาย -

ชาวทวายในเมืองเคืองไทยมาก
ไทยลำบากเมื่อทวายไม่สยบ
ได้กำลังพม่ามาสมทบ
ไทยจึงพบความพ่ายไร้เชิงชาญ

แม่ทัพหน้าโง่แล้วอวดฉลาด
ผสมขลาดขามศึกไม่ฮึกหาญ
ปล่อยแม่ทัพหนึ่งหายลับวายปราณ
โทษประหารคนโง่งมเห็นสมควร


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  กองทัพเรือไทยเข้าตีเมืองมะริดที่คิดกลับใจเป็นกบฏ  และชาวเมืองทวายก็คิดกลับใจเป็นกบฏ  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

          * “ กล่าวถึงพระรองเมือง  ผู้ซึ่งพระยายมราชให้เข้าไปรักษาอยู่ในเมืองทวายนั้น  เห็นพวกทวายเป็นกบฏ  จึงจะพาพวกออกจากเมืองทวาย  แต่พวกทวายก็ปิดประตูเมืองเสียหมด  จึงพานายทัพนายกองเดินเลียบตามริมเชิงเทินข้างเหนือเมือง  พอถึงประตูด้วยหมายจะออกทางประตูนั้น  แต่มีผู้รักษาประตูอยู่ห้าหกคนไม่ยอมให้ออก  จึงฟันผู้รักษาประตูนั้นตายไป ๒ คน  ที่เหลือนั้นพากันวิ่งหนีไป  พระรองเมืองจึงร่วมกับพรรคพวกกระทุ้งกลอนประตูจนกุญแจหัก  เปิดประตูออกได้แล้วรีบไปหาพระยายมราช

          ในขณะที่เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เจ้าพระยามหาเสนา  และพระยายมราช  ล่าถอยไปนั้นตั้งค่ายมิทันแล้วเสร็จ  ก็ปรากฏว่ากองทัพพม่ากับทวายพลเมืองสมทบกันยกออกมาเป็นอันมาก  จู่โจมเข้ารบรุกบุกบัน  ไล่ยิง  ฟันแทงกลางแปลง เหลือกำลังที่จะต่อรบ  กองทัพไทยก็รับรบล่าถอยมาจนถึงค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ  ซึ่งเป็นกองหน้าของทัพหลวงตั้งค่ายปิดทางอยู่

          กองทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธกับพวกที่ถอยร่นมาจะขอเข้าอาศัยผ่อนพักในค่ายรับทัพพม่า  แต่พระยาอภัยรณฤทธิไม่ยอมให้เข้าค่าย  อ้างว่าตนเป็นทัพหน้าของทัพหลวง  ถ้าเข้ามาในค่ายคนกำลังตื่นแตกพม่าเข้าไป  ค่ายจะเสีย  ถ้าค่ายหน้าแตกแล้วข้าศึกก็จะถึงค่ายหลวงทีเดียว  ตนก็จะถูกตัดศีรษะ  จึงขอให้รับทัพพม่าอยู่แต่นอกค่าย

          เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  เจ้าพระยามหาเสนา  พระยายมราช  เข้าค่ายไม่ได้ก็ตั้งรับพม่าอยู่หน้าค่าย  จมื่นราชาบาล(กระต่าย)  จมื่นสมุหพิมาน(แสง) บุตรเจ้าพระยาราชบุรี  ได้ขอร้องให้พระยาอภัยรณฤทธิเปิดประตูรับพวกเจ้าพระยารัตนาพิพิธเป็นหลายครั้ง  พระยาอภัยรณฤทธิก็ไม่ยอม  พระอินทรเดช (บุญเมือง)  พระยามหามนตรี(ปลี)  ก็เห็นด้วยกับพระยาอภัยรณฤทธิ  กล่าวห้ามว่า  อย่าเปิดค่ายรับ  เพราะคนจะละเล้าละลุมเข้ามา  ให้รับรบอยู่นอกค่ายนั่นแหละดีแล้ว

          กองทัพพม่าตามมาถึงก็เข้ารบรุกบุกบัน  พวกเจ้าพระยารัตนาพิพิธรับไม่หยุด  เพราะไม่มีค่ายมั่นรักษาตัว  จึงแตกพ่ายกระจายไป  เสียเจ้าพระยามหาเสนาในที่รบหาศพก็ไม่ได้  ส่วนค่ายพระยาอภัยรณฤทธินั้นพม่าก็เข้าตีเอาได้  สูญเสียไพร่พลคราวนั้นมากนัก

          * พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  จะทำการต่อไปไม่ตลอด  จึงให้ถอยกองทัพทั้งปวงลงมาแม่น้ำน้อย  ครั้นมาถึงแม่น้ำน้อยแล้วทรงทราบว่าเจ้าพระยามหาเสนาหายไป  และทรงทราบอีกว่า  เมื่อเจ้าพระยามหาเสนากับพวกถอยมาถึงค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ  จะเข้าอาศัยค่ายยิงปืนรับพม่า  แต่พระยาอภัยรณฤทธิไม่ยอมให้เข้าอาศัย  ปิดประตูค่ายเสีย

          ทรงพระพิโรธพระยาอภัยรณฤทธิมาก  ดำรัสว่า  เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง ๓ นายมาถึงแล้วควรให้เข้าพักอยู่ในค่าย  นี่มันถือกฎหมายอะไรของมัน  ไม่ให้เสนาผู้ใหญ่เข้าอยู่ในค่าย  จนเสียแม่ทัพนายกองและไพร่พลเป็นอันมาก  ทรงให้ซักถามพระยาอภัยรณฤทธิ   พระยาอภัยรณฤทธิก็รับสารภาพผิด  จึงให้ลงพระราชอาชญาประหารชีวิตพระยาอภัยรณฤทธิเสียที่ค่ายแม่น้ำน้อย  ส่วนพระอินทรรเดช  พระยามหามนตรี  ที่เห็นด้วยกับพระยาอภัยรณฤทธินั้น  ให้ถอดเสียจากที่เจ้ากรมพระตำรวจ  แล้วลงพระราชอาชญาให้จำไว้ทั้ง ๒ คน  และจมิ่นราชาบาล  จมื่นสมุหพิมาน  ที่บอกให้พระยาอภัยรณฤทธิเปิดประตูค่ายรับทัพ ๓ เสนาบดีผู้ใหญ่นั้น  ถือว่ามีความชอบ  จึงโปรดให้จมิ่นราชาบาลเป็นที่พระอินทรเดช  ตำแหน่งพระราชรินทร์ว่างอยู่หามีตัวไม่นั้น  โปรดให้จมื่นสมุหพิมาน  เป็นที่พระราชรินทร์  แล้วโปรดเกล้าฯให้นายจ่าเรศ(เกด) บุตรพระยาเพชรพิไชยที่ถึงแก่กรรมถือหนังสือเข้ามาถึงผู้รักษาพระนคร  ให้ระวังพวกพม่าที่จำไว้ทุกคุก  และระวังรักษาพวกพระยาทวาย  ถ้าเห็นว่าผู้ใดกำเริบขึ้นก็ให้จับจำเสีย

          ผู้รักษาพระนครครั้งนั้นคือกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์  พระยาพลเทพ(ปิ่น)  พระยาธรรมา(ทองดี)  พระยาเพชรพิไชยที่เป็นที่หลวงนายสิทธิ์ครั้งกรุงเก่า  พระยามหาธิราชอยู่กรมเมือง  แล้วโปรดให้นายฉิมมหาดเล็กผู้เป็นเชื้อชาวชุมพรถือตรารีบไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯฉบับ ๑   นายฉิมถือตรารีบเดินทางไปขึ้นที่เมืองเพชรบุรี  เดินบกไปเฝ้าที่เมืองกระ  กราบทูลราชการเมืองทวายตามท้องตรา

          กรมพระราชวังบวรฯทรงทราบก็เสียพระทัยนัก  รับสั่งว่า  การจะสำเร็จอยู่แล้วกลับไม่สำเร็จไปได้  จึงสั่งให้ขึ้นไปบอกนายทัพนายกองให้ล่าทัพจากเมืองมะริด  ขณะที่กองทัพไทยกำลังจัดการจะล่าทัพเรือนั้น  กองทัพพม่าก็ลงมาถึงเมืองมะริดแล้วเข้าตีทัพไทยทันที  กองทัพไทยต่อเรือรบครั้งนั้นมีตะกูดทั้งหน้าทั้งท้าย  เวลาล่าถอยเอาท้ายลงมายิงปืนหน้ารับพม่าแข็งแรง  พม่าก็ยิง  ต่างคนต่างยิงกัน  ไทยยิงพลางถอยพลางจนถึงฝั่งจึงทิ้งเรือเสียแล้วขึ้นบก  พม่าก็ยกขึ้นบกตามตีกองทัพไทย  พระยาจ่าแสนยากร(ทุเรียน) รับรบพม่าอย่างแข็งแรง  พม่าหาอาจล่วงเกินเข้ามาได้ไม่

          นายทัพนายกองพลฝ่ายไทยก็ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย  เสียแต่เรือรบและปืนบาเหรี่ยมประจำเรือไป  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากแม่น้ำน้อยกลับคืนพระนคร  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯตั้งรอทัพอยู่จนทัพจากเมืองมะริดถอยกลับมาหมดแล้วก็เด็จกลับคืนพระนครเช่นกัน”

          ** การพ่ายแพ้ของไทยที่ไปรบเมืองทวาย  เป็นบทเรียนที่เจ็บปวดสำหรับกองทัพไทยอีกบทเรียนหนึ่ง  หลายบทเรียนที่ไทยพ่ายแพ้แก่ศัตรูล้วนเกิดจากความขลาด  ความโง่เขลา  ความเห็นแก่ตัวของขุนศึกขุนพลในกองทัพไทย  คนอย่างพระยาอภัยรณฤทธิ์  พระอินทรเดช  พระยามหามนตรี  จึงควรแก่การประหารเสียเป็นอย่างยิ่ง

          เป็นอันว่าไทยต้องเสียทวาย  มะริด  ให้แก่พม่าไปอีกครา  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, สิงหาคม, 2562, 10:40:56 PM
(https://i.ibb.co/DwyzzyX/Untitlfgded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าเจรจาขอเป็นไมตรี -

พม่ามีหนังสือหารือผ่าน-
เจ้าเมืองกาญจน์มาเห็นเป็นน่าสรวล
ผิดจรรยามารยาทเหมือนยียวน
ทรงตรัสทวนความใหม่ตรองให้ดี

ให้เจ้าเมืองกาญจน์ตอบเมาะตะมะ
ข้อความสะใจนักสมศักดิ์ศรี
อันจะมาเพาะปลูกผูกไมตรี
ควรจะมีมรรยาทปราศเล่ห์กล


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาให้อ่าน  ถึงตอนที่ชาวทวายเป็นกบฏรวมกำลังกับกองทัพพม่า  โจมตีทัพหน้าไทยแตกพ่าย  เสียแม่ทัพไทยให้แก่ทวาย  และเสียเมืองทวาย  ตะนาว  มะริด  ให้แก่พม่าไปสิ้น  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศ์ฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          * “กล่าวถึงเจ้าอนัมก๊กแห่งเวียดนาม  เมื่อแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู นั้น  ได้มีหนังสือให้องเบ็ดเลืองถือเข้ามากรุงเทพฯ  ความในหนังสือนั้นว่า  เจ้าอนัมก๊กจะยกทัพไปตีเมืองกุยเยิน  ขอตราสำหรับกองทัพออกไปเมืองลาว  ขัดสนเสบียงอาหารลงจะได้ไปจัดซื้อโดยสะดวก  กับจะให้ญวน ๗ คนไปทางเมืองลาว  ให้ลาวจัดเสบียงอาหาส่งขึ้นไปเมืองตังเกี๋ย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดพระราชทานตรารูปพระอาทิตย์ทรงราชรถดวง ๑  ตราประจำผนึกดวง ๑  ตราพระราชสีห์สำหรับเดินทางไปเมืองลาวฉบับ ๑  มอบให้องเบ็ดเลืองออกไปพระราชทานเจ้าอนัมก๊ก  ครั้นถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย  เจ้าอนัมก๊กจัดได้ต้นไม้ทองเงินกับเรือพระที่นั่งรูปมังกรลำ ๑  กระลำพักหนัก ๑๐ ตำลึงจีน  ขี้ผึ้งหนัก ๕ หาบ น้ำตาลทรายหนัก ๕ หาบ  ให้องเบ็ดตรึง  องเบ็ดจัด  คุมมาทูลเกล้าฯถวาย

          * ครั้นมาถึงเดือน ๓  พระเจ้าอังวะสั่งให้เจ้าเมืองเมาะตะมะมีหนังสือให้เนรายยันกิสู  พม่ากับพระยาปรากฏรามัญ  ถือเข้ามาถึงพระยากาญจบุรี  พระยากาญจบุรีส่งต้นหนังสือเข้ากรุงเทพฯ  หนังสือนั้นแปลได้ความว่า  จะขอเป็นทางพระราชไมตรี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่า  พระเจ้าอังวะให้เจ้าเมืองเมาะตะมะมาเจรจาความเมืองกับพระยากาญจนบุรีนั้น  ไม่ต้องด้วยแบบอย่างธรรมเนียม  จึงโปรดให้มีตราสั่งให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือตอบไปยังเจ้าเมืองเมาะตะมะว่า

           “อักษรบวรสันถวมิตรสนิทเสน่หาเมตยาภิธยาศัยในท่านผู้ครองเมืองกาญจนบุรี  มาถึงท่านผู้ครองเมืองเมาะตะมะ ด้วยให้พม่า  มอญ ๙ คน  ถือหนังสือเป็นเรื่องราวสรรเสริญพระเกียรติคุณ  ในพุทธจักรอาณาจักรเป็นทางเจรจาความเมืองนั้น  ได้ส่งเข้าไปยังท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ได้แจ้งทุกประการแล้ว  จึงประชุมเสนาพฤฒามาตย์ปรึกษาพร้อมกันว่า  ครั้นจะนำความขึ้นกราบทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ  ด้วยเหตุว่าเป็นหนังสือเจ้าเมืองเมาะตะมะ  เกลือกจะเหมือนหนึ่งเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๖ ปี  พม่ากับไทยก็ได้เจรจากัน ณ อังงิว ปลายน้ำปิลอก ตำบลพระเจดีย์สามองค์ว่า  จะเป็นทางพระราชไมตรี  จนถึงได้ให้ของตอบแทนกัน  ในเดือนนั้นฝ่ายพม่าก็มาจับคนทางเมืองเพชรบุรีไป ๙ คน  ครั้นจุลศักราช ๑๑๔๗ ปี พระเจ้าอังวะก็ยกทัพมา  ฝ่ายกรุงเทพฯตั้งอยู่ในกรุณาการุญแก่ประชากรพวกพลทั้งสองฝ่าย  เพื่อพ้นชีวิตอันตรายอกุศลกรรม  จึงให้นาข่านส้อยตองสิงคะสู่  ซึ่งเป็นพม่าด้วยกัน  ถือหนังสือออกมาว่ากล่าวก็มิฟัง  อันพม่ากับไทยทำศึกแก่กันหานิยมมิได้  เหมือนน้ำกับน้ำมัน  แล้วมีหนังสือกลับเข้ามาว่า  นาข่านส้อยตองสิงคะสู่ ออกไปเหมือนน้ำขุ่น ครั้งนี้เหมือนเอาแก้วทิ้งให้น้ำใสนั้น  ถ้าจะใสจริงชอบจะให้นาข่านส้อยตองคะสิงสู่ผู้ถือหนังสือเดิม  กลับถือหนังสือเข้ามาจึงจะชอบ

          ประการหนึ่ง  ซึ่งพระเจ้าอังวะปรารถนาโพธิญาณเมตตากรุณาแก่สัตว์  ชุบเลี้ยงท้าวพระยานายกองให้งามดี  ความข้อนี้ดีชั่วก็ไว้แต่ในใจของท่านเถิด  เราแจ้งอยู่แล้ว  ข้อซึ่งว่าทั้งสองพระนครปราศจากปัจจามิตรเป็นทางพระราชไมตรีมีความสุขนั้น  คำอันนี้เป็นสัตย์จริงหรือ  หรือเป็นกลอุบาย  ถ้าจะเป็นกลอุบายแล้ว  อย่าคิดว่าพม่าจะลวงไทยได้

          ถ้าจะเป็นทางพระราชไมตรีกันนั้น  จะให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่ายร่วมเศวตฉัตรกันหรือ  หรือจะให้แต่เสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยทแกล้วทหารทำสัตย์กัน  หรือจะไม่ทำสัตย์  แล้วเป็นแต่จะไม่ทำยุทธสงครามแก่กัน  ต่างคนต่างอยู่ประการใด  ให้เสนาบดีเอาเนื้อความทูลแก่พระเจ้าอังวะ  จะประพฤติฉันใดก็ให้แต่งขุนนางพม่าเป็นทูตานุทูต กับขุนนางไทยผู้ใหญ่ซึ่งไม่พอใจรบศึกเสียกรุง  ซึ่งพม่ากวาดเอาไปไว้นั้น  ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีแล้วจนแต่หัวหมื่นมหาดเล็กก็เอาเถิด  ให้มาสักสามนายสี่นาย  กับพระสงฆ์อันทรงศีลสังวรบริสุทธิ์  จะได้เป็นสักขีพยาน  จึงจะเป็นสัตย์มั่นคงได้

          ถ้ากรุงอังวะแต่งมาได้ดังนี้  จะบอกเข้าไปให้ท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่เอาเนื้อความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงพระคุณอันมหาประเสริฐ  ถ้าทำมิได้อย่าเจรจากันต่อไปเลย  ต่างคนต่างประพฤติในราชกิจโดยยถานุชฌาศัยนั้นเถิด”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทพากรวงศ์(ขำบุนนาค)  มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระเมตตา  พระกรุณาแก่องเชียงสือเป็นอย่างยิ่ง  จึงช่วยเหลือเกื้อกูลหนุนให้องเชียงสือรบเอาชนะญวนไกเซินให้จงได้  สำหรับการที่พระเจ้าอังวะให้เจ้าเมืองเมาะตะมะมีหนังสือถึงเจ้าเมืองกาญจบุรีเพื่อขอเป็นพระราชไมตรีนั้น  ก็เป็นพฤติกรรมที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงไว้พระทัย  ทรงให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือตอบไปดังแสดงข้างต้นนั้น  อ่านแล้วก็สะใจคนไทยผู้รักชาติรักแผ่นดินนักเชียวครับ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ก็ต้องไปดูกันในวันพรุ่งนี้ครับ”

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พืะธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, สิงหาคม, 2562, 10:47:54 PM
(https://i.ibb.co/jTT23X4/Untit456led-2.jpg) (https://imgbb.com/)


- ปฏิเสธคู่ศึกองเชียงสือ -

พักเรื่องราวทางพม่าเอาไว้ก่อน
ขอกล่าวย้อนสู่ยังญวนอีกหน
องกันถินส่งทูตจากญวนบน
มาหวังผลไทยช่วยด้วยอีกแรง

ให้รอจับแล้วส่งองเชียงสือ
คำตอบคือเป็นน่าขยะแขยง
ไทยไม่ทำดำขลับกลับเป็นแดง
ทรงชี้แจงสมเหตุเจตนา


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาให้อ่าน  ถึงตอนที่พระเจ้าอังวะให้เจ้าเมืองเมาะตะมะมีหนังสือถึงพระยากาญจนบุรีขอเป็นไมตรีกับไทย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไม่ต้องด้วยแบบอย่างธรรมเนียม  จึงให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือตอบไปถึงเจ้าเมืองเมาะตะมะในทำนองว่า  ทางฝ่ายไทยไม่เชื่อใจพม่า  เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระครับ

          * “ ความตอนนี้ได้พักเรื่องทางเมืองพม่าไว้  แล้วกล่าวถึงเรื่องราวทางเมืองญวนและกัมพูชา  โดยกล่าวว่า  ถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีเดียวกันนั้น  องกันถินบุตรองลองเยือง  คู่ศึกขององเชียงสือ  ได้แต่งทูต ๖ นาย ถือหนังสือเดินทางมาทางบก  เพื่อขอเป็นทางพระราชไมตรีกับกรุงเทพมหานคร

          ความในหนังสือนั้นสรุปได้ว่า  องเชียงสือหนีเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพฯ  ไม่รู้พระเดชพระคุณกลับหนีออกไปตั้งตัวเป็นเจ้าอนัมก๊ก  แล้วไปตีเอาเมืองพูเวียน เมืองมินคาง เมืองเตียนขัน  ถ้ากองทัพองกันถินตีแตก  องเชียงสือจะหนีเข้ามาในเขตแดนกรุงอีก  ขอให้กองทัพกรุงเทพมหานครจับให้จงได้  ทางพระราชไมตรีจะได้ยืดยาวไปชั่วฟ้าและดิน  ได้จัดขนจามรีแดง ๕๐๐ พู่  เข้ามาทรงยินดี  ถ้ากรุงเทพฯจะต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้มีพระราชสาส์นออกไปให้แจ้ง  จะได้เข้ามาถวาย  และยังมีข้อความอื่นอีกเป็นหลายประการ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีพระราชสาส์นตอบออกไปว่า

           “กรุงเทพฯนี้ดำรงทศพิธราชธรรมอันเสมอ  มิได้คิดเบียดเบียนแก่บ้านใหญ่เมืองน้อยและลูกค้าวาณิชนานาประเทศ  มีแต่เมตตากรุณาเป็นต้น  อุปมาดุจดังเขาพระสุเมรุราชและมหาสาครสมุทร  อันเป็นที่อาศัยแก่เทวามนุษย์แลฝูงมัจฉาชาติทั้งปวง  มิดังนั้น  เหมือนพฤกษาชาติต้นใหญ่เป็นที่อาศัยแก่สกุณปักษาชาติ  อันเข้ามาพึ่งพักกระทำรวงรังฟักฟอง  ครั้นสกุณโปดกมีขนปีกหางบริบูรณ์แล้ว  ก็บินไปทั่วทิศานุทิศโดยความปรารถนาผาสุกแห่งตน

          และซึ่งครั้งก่อนองเชียงสือแตกจากเมืองโลกนาย  หนีเข้ามาพึ่งกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา  ก็ทำนุบำรุงเลี้ยงดูให้เป็นสุขโดยตระกูลอันสูงศักดิ์สุริยวงศ์  แล้วก็กลับคืนไปยังเมืองโลกนาย  อุปไมยเหมือนสกุณปักษาอันมีปีกหางบริบูรณ์  และบินไปสู่ประเทศแห่งตนโดยปรารถนา  หาภัยอันตรายมิได้  ก็เป็นที่ยินดีแห่งกรุง  โดยกรุณาหารังเกียจมิได้  และซึ่งว่าองเชียงสือไม่อยู่แต่เมืองโลกนาย  ยกกองทัพไปรุกรบตีบ้านน้อยและเมืองใหญ่จนแดนเมืองตังเกี๋ย  เมืองตังเกี๋ยแต่งกองทัพตีองเชียงสือแตกคืนมานั้น  ความข้อนี้เป็นระยะทางไกล  ยังหาแจ้งเหตุผลตระหนักไม่  และซึ่งว่ากองทัพเมืองตังเกี๋ยจะยกมาตีองเชียงสือ  ขอให้กรุงแต่งกองทัพไปตั้งอยู่ปลายด่านแดน  ถ้าองเชียงสือแตกมาให้ช่วยจับกุมให้  เจ้าตังเกี๋ยจะตอบแทนสนองพระคุณนั้น  ฝ่ายกรุงมิรู้ที่จะเจรจาเลย  ด้วยเหตุว่ามีคุณแล้วจะให้กลับเป็นโทษ  ดังนี้ผิดพระราชประเพณีธรรม  ประการหนึ่งกิตติศัพท์จะลือไปในนานาประเทศเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง  จะหาว่ากรุงเทพมหานครเห็นแก่ลาภสักการเมืองตังเกี๋ยเท่านั้น  ช่วยกันจับองเชียงสือส่งให้ไม่มีความเมตตากรุณา  ความครหาติเตียนข้อนี้จะปรากฏอยู่ชั่วฟ้าและดิน  ดูมิบังควร  อันกรุงเทพมหานครจะประพฤติการที่จะทำได้ก็แต่คลองทศพิธราชธรรมตามประเพณี  เจ้าตังเกี๋ยเป็นข้าศึกกัน  ถ้าจะให้ระงับว่ากล่าวกันทั้งสองฝ่ายพอจะเจรจาได้  อนึ่ง  ซึ่งว่าไม่รู้จักเขตแดน  ขอให้กรุงแต่งกองทัพไปตั้งอยู่ปลายแดนนั้น  อันกษัตราธิราชเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงก็ย่อมรู้จักกำหนดเขตแดนขอบขัณฑสีมา  ราชธานีเขตแดนซึ่งกันและกันอยู่สิ้น  เจ้าตังเกี๋ยจะทรงปัญญาดำรงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน  ให้ดำริจงชอบเถิด”

          คณะทูตญวนไกเซินได้รับพระราชสาส์นตอบดังกล่าวนั้นแล้วก็ถวายบังคมลากลับไป  ในเวลาต่อมา  องเชียงสือเจ้าอนัมก๊ก  แต่งให้องเบ็ดลือง  องโดยเวียน  เป็นทูตถือหนังสือเข้ามากราบทูลข่าวสารการสงคราม  เมื่อเดือนยี่ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๗  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้คัดสำเนาหนังสือญวนไกเซินที่มีมาถวาย และหนังสือที่ทรงตอบญวนไกเซิน  มอบให้องเบ็ดเลืองนำไปแจ้งแก่เจ้าอนัมก๊กเพื่อทราบด้วย”

          ** หนังสือโต้ตอบพม่าเรื่องการทำสัมพันธไมตรีในนามเจ้าเมืองกาญจนบุรีนั้น  ยังไม่ได้รับคำตอบจากพม่า  ก็พอดีองกันถิน  บุตรองลองเยือง  คู่ศึกขององเชียงสือ  ได้ให้ทูตถือราชสาส์นเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี  ในหนังสือนั้นกล่าวโทษองเชียงสือว่าเข้ามาพึ่งพระโพธิสมภาร ณ กรุงเทพฯแล้วไม่รู้บุญคุณ  หนีกลับไปตั้งตนเป็นใหญ่แล้วยังยกทัพไปรุกรานบ้านเมืองต่าง ๆ  ขอกรุงสยามยกกองทัพไปตั้งรอ ณ ชายแดน  ต่อเมื่อตังเกี๋ยตีทัพองเชียงสือแตกหนีมาจะขอพึงพระโพธิสมภารอีก  ขอให้จับตัวส่งให้ตังเกี๋ยด้วย  ทางพระราชไมตรีจะได้ยืดยาวไปชั่วฟ้าและดิน

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวทรงให้ตอบพระราชสาส์นไปดังความที่ยกมาข้างต้นนั้น  เป็นความที่ไพเราะสมเหตุสมผลมาก  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งมาอ่านกันใหม่ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, สิงหาคม, 2562, 10:43:34 PM
(https://i.ibb.co/B686XDT/maxresdefault-3.jpg) (https://imgbb.com/)


- ตั้งนักพระองค์เองเป็นกษัตริย์ -

นักพระองค์เองอายุยี่สิบสอง
ตั้งให้ครองเขมรพลันหมดปัญหา
ตัดเสียมราฐ,พระตะบองสองเมืองมา
กัมพูชาครองสิ้นถิ่นทั้งมวล


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงตรวจชำระมาให้อ่านถึงตอนที่  องกันถิน  บุตรองลองเยือง  ให้ทูต ๖ นายถือหนังสือมาถวาย  ขอเป็นทางพระราชไมตรี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ตอบเชิงปฏิเสธไปแล้ว  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปนะครับ

          * “ณ ปีจุลศักราช ๑๑๕๖ อันเป็นปีที่ ๑๓  ในรัชกาลที่ ๑ นั้น  สมเด็จพระสังฆราชศรี  อยู่วัดระฆัง  อาพาธถึงแก่มรณภาพในเดือน ๕  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาพระวันรัตน (สุข)  วัดพระศรีสรรเพชญ์  ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

          ครั้นถึงเดือน ๘ ทรงพระราชดำริว่า  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์  พระชนมายุครบ ๒๑  ควรทรงผนวชแล้ว  และนักพระองค์เองซึ่งเข้ามาอยู่กรุงเทพฯตั้งแต่ชนมายุ ๑๐ ขวบ  บัดนี้ชนมายุก็ได้ ๒๒ ปี  ครบอุปสมบทแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานจัดกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์  และพระพงศ์อมรินทร์  ซึ่งเป็นบุตรเจ้ากรุงธนบุรี  กับนักพระองค์เอง  ไปทรงผนวชและอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในกระบวนแห่นั้นมีเครื่องเล่นต่าง ๆ มาก  เมื่อทรงผนวชแล้ว  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปอยู่วัดสมอราย

          เมื่อออกพรรษา  นักพระองค์เองลาสิกขาแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้นักพระองค์เองออกไปครองกรุงกัมพูชาสืบราชวงศ์ต่อไป  จึงพระราชทานนามแก่นักพระองค์เองให้เป็น  สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณบรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช  บรมนาถบพิตรเจ้ากรุงกัมพูชา  ให้พระยากลาโหม (ปก) ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีมาแต่เยาว์นั้น  เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะเอกอุมนตรีอภัยพิริยปรากรมพาหุ  มีอำนาจสิทธิ์ขาดบังคับบัญชาการได้ทั่วไป  และให้ทำนุบำรุงสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีเจ้ากรุงกัมพูชาด้วย

          และทรงพระราชดำริอีกว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) นั้น  ก็ได้ว่าราชการกรุงกัมพูชาเรียบร้อยราบคาบมาได้ ๑๒ ปี  มีความชอบ  แต่ว่าเป็นพวกนักองค์โนน สมเด็จพระรามราชา  ซึ่งเคยวิวาทกับบิดานักองค์เองมาแต่ก่อน  เกรงจะไม่สนิทกับสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีและสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ  จึงได้ทรงขอเขตแว่นแคว้นเมืองพระตะบองและเมืองขึ้นและเมืองนครเสียมราฐ  ซึ่งเป็นเมืองใกล้เขตแดนไทยตัดออกเป็นส่วนหนึ่ง  ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่ากล่าวบังคับบัญชา  โดยให้มาขึ้นต่อกรุงเทพมหานครทีเดียว  เพื่อจะไม่ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีความโทมนัส

          * สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี  กับ  สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ  ก็มีความยินดี  ถวายเมืองพระตะบองและเมืองนครเสียมราฐ  เมืองดังกล่าวจึงถูกตัดขาดจากกรุงกัมพูชามาขึ้นกรุงเทพมหานครแต่นั้นมา  ครั้นตกลงกันได้ดังนั้น  สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี  สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ  ก็กราบถวายบังคมลา  พาบุตรภรรยาครอบครัวออกไปครองกรุงกัมพูชา ณ เดือนยี่ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖  ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๗ นั้นเอง

          * เรื่องการตั้งนักองค์เองเป็นกษัตริย์เขมรนี้  ความในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ฉบับนักองค์นพรัตน์ ตอนที่ ๓ กล่าวไว้ว่าดังนี้

          ในปีขาล ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) นี้  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาอภิเศกพระบาทบรมบพิตรพระองค์เอง  ทรงพระนามเปนพระบาทสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรา มหาจักรพรรดิราช บรมนาถพระบาทบรมบพิตร สถิตย์เปนยอดรัฐราษฎร์ โอภาษชาติวงษ์ ดำรงกรุงกัมพูชา พระมหานครอินทปัต กุรุรัฐราชธานีบุรีรมย์ อุดมมหาสถาน   แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ออกญากลาโหม (ปก)  เปนเจ้าฟ้าทะละหะ  เอกอุมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ   เปนพระบิดาเลี้ยง  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกมาครอบครองกรุงกัมพูชาธิบดี  เมื่อ ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล

          ส่วนเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (เจ้าฟ้าทะละหะ) นั้น  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งเปนขุนนางผู้ใหญ่  แล้วให้กลับไปว่าราชการอยู่ ณ เมืองพระตะบอง  มีเมืองเสียมราฐเปนเมืองขึ้น
          ครั้นสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช (องค์เอง) เสด็จมาถึงเมืองอุดงฦๅไชย  เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (เจ้าฟ้าทะละหะ) นำบรรดาขุนนางใหญ่น้อยเข้ามาเฝ้ากราบถวายบังคมทุกคน  แล้วถวายตราสำหรับแผ่นดินแด่สมเด็จพระบรมบพิตร  เสร็จแล้วก็กราบถวายบังคมลาพาสมัครพรรคพวกไปอยู่เมืองพระตะบอง  ตามพระราชโองการแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ”

          ** ท่านผู้อ่านครับ วันนี้เราได้รู้แน่ชัดแล้วว่า  เมืองพระตะบองและเสียมราฐที่เคยขึ้นอยู่กับกัมพูชานั้น  มาขึ้นกับกรุงเทพมหานครเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๓๗  โดย  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงสถาปนานักองค์เองเชื้อสายกษัตริย์เขมรที่ทรงชุบเลี้ยงไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรมนั้น  ให้กลับเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร  ไปปกครองกรุงกัมพูชา  แล้วขอแบ่งเอาเมืองพระตะบอง  กับเสียมราฐ  มาขึ้นกับกรุงเทพมหานคร  โดยมอบหมายให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( เขมรว่าเดิมชื่อ แป้น – ไทยว่า แบน) ปกครอง  เรื่องของนักองค์เอง  หรือสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช  น่าติดตามดูต่อไปนะครับ  วันพรุ่งนี้จะนำมาให้อ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ฃ
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, สิงหาคม, 2562, 10:47:34 PM
(https://i.ibb.co/C94HHzX/5.jpg) (https://imgbb.com/)


- นักองค์เองสร้างวังใหม่ -

ปรางค์ปราสาทราชวังยังสิ้นไร้
ประทับวังไม้ไผ่อยู่ในสวน
กษัตริย์ใหม่ไม่ระกำทุกข์คร่ำครวญ
เร่งสร้างจบครบถ้วนพระราชวัง

กราบทูลขอแม่ผองพวกพ้องเก่า
กลับลำเนาเมืองขะแมร์แต่หนหลัง
กัมพูชาคืนสภาพไม่ผุพัง
เสมือนตั้งต้นใหม่ไทยประคอง


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงชำระมา  ให้ทานอ่านถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  สถาปนานักองค์เองเป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา  โดยขอแบ่งเมืองพระตะบอง และเมืองเสียมราฐ  มาขึ้นกับกรุงเทพมหานครแล้วให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรปกครอง  วันนี้มาดูเรื่องราวของเขมรต่ออีกวันนะครับ

          * มีความในพระราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาฉบับที่นักองค์นพรัตน์  ราชบุตรสมเด็จพระนโรดม  แต่งเมื่อปีฉลู นพศก  พุทธศักราช ๒๔๒๐  ห่างจากปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสถาปนานักองค์เองเป็นกษัตริย์กัมพูชา ๘๐ ปีเศษ  ดังนั้นเรื่องราวคงไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากนัก  เรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช หรือนักองค์เอง  เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงกัมพูชาแล้ว  เสด็จไปถึงเมืองอุดงฦๅไชย  รับตราสำหรับแผ่นดินจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแล้ว  ความในพงศาวดารฉบับนี้กล่าวต่อไปว่า

           “ส่วนสมเด็จพระบรมบพิตรนั้น  เสด็จประทับอยู่ที่พระตำหนักซึ่งทำด้วยไม้ไผ่  อยู่ข้างใต้วัดวิหารสำนอ (วิหารตะกั่ว)  ครั้นถึงเดือนอ้าย  ทรงให้สร้างพระราชวังทำด้วยไม้กระดาน  แลปลูกพระมณเฑียรมุขเด็จ  อยู่ข้างทิศอาคเณย์แห่งพระวิหารวัดวังกระดาน

          พระองค์ทรงใช้ให้ออกญาเดโช แทน นิมนต์ต้นโพธิซึ่งอยู่ในพระราชวังนั้นออกไปประดิษฐาน  ปลูกไว้ข้างทิศตะวันตกพระราชวัง  แล้วพระราชทานชื่อออกญาเดโช แทน เปนออกญาโพธิสกลราช”

          * ท่านผู้อ่านครับ  การเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชาของนักองค์เอง  เริ่มต้นอย่างขัดสนมากนะครับ  ไม่มีปราสาทราชมนเทียรเป็นที่ประทับ  ต้องใช้ไม้ไผ่มาสร้างพระตำหนักอาศัยอยู่ข้างวัดไปพลาง  จากนั้นจึงทรงสร้างพระราชมนเทียรด้วยไม้กระดาน  ในบริเวณพระราชวังที่สร้างใหม่นั้นมีต้นโพธิอยู่  ไม่กล้าตัดโค่นทิ้ง  เพราะถือว่าเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  ด้วยความเคารพในพระบรมศาสดาอย่างชาวพุทธที่เคร่งในพระศาสนา  จึงโปรดให้พระยาเดโชผู้มีนามเดิมว่า แทน  ทำการขุดต้นพระศรีมหาโพธิ  แล้วย้ายออกไปปลูกไว้นอกพระราชวังทางด้านทิศตะวันตก  ความสามารถในการขุดย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่ของพระยาเดโชปรากฏเป็นที่พอพระทัย  สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชจึงโปรดพระราชทานชื่อใหม่ให้พระยาเดโช  เป็นพระยาโพธิสกลราช  ว่ากันว่านามนี้เทียบเป็นชั้นสมเด็จเชียวนะครับ  กว่าจะสร้างพระราชวังใหม่เสร็จก็ใช้เวลาพอสมควร  ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชากล่าวต่อไปว่า

           “ถึงปีเถาะ ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๘) พระบาทบรมบพิตรได้เสด็จขึ้นสถิตยพระมณเฑียรมุขเด็จ  ในพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่  แล้วตรัสใช้ให้ออกญาวัง สัวะซ์ กับออกญาวิบุลราช เอก  ให้เข้าไปที่กรุงเทพมหานคร กราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ ขอรับพระราชทานสมเด็จพระเอกกษัตรี  กับสมเด็จพระท้าวและท้าวมหากษัตรีผู้เป็นพระมารดาเลี้ยง  กับนักนางโอด  นักนางแก  นักนางรศ  และบรรดาครอบครัวมุขมนตรีซึ่งเคยเป็นข้า  กลับคืนไปยังเมืองเขมร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็พระราชทานให้  ครอบครัวได้ออกจากกรุงเทพฯมาเมื่อเดือน ๗ ปีเถาะ

          พระบาทสมเด็จบรมบพิตรได้ทรงบัญญัติจัดการบ้านเมือง  คือได้ทรงจัดตั้งให้มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในตำแหน่งจตุสดมภ์เอก ๔ นาย  ถือศักดินานายละ ๑๐,๐๐๐  ให้กั้นร่มหุ้มแพรแดง  มีระบาย ๓ ชั้น  สวมเสื้อครุยแดง  ถือถุงเครื่องยศ ๖ เหลี่ยมเข้าเฝ้า  ตั้งตำแหน่งจตุสดมภ์โท ๔ นาย  ถือศักดินา ๘,๐๐๐  ให้กั้นร่มแพรสีตอง มีระบาย ๒ ชั้น  สวมเสื้อครุยสีตอง  ขุนนางที่มีศักดินา ๖,๐๐๐  ให้กั้นร่มสีม่วง  มีระบายชั้นเดียว  สวมเสื้อครุยสีม่วง  ขุนนางที่มีศักดินา ๕,๐๐๐-๔,๐๐๐ ให้กั้นร่มญวน  สวมเสื้อครุยพื้นเขียว  แลขุนนางที่มีศักดินาแต่ ๓,๐๐๐ ลงมาให้สวมเสื้อครุยขาว  ส่วนภรรยาขุนนางชั้นผู้ใหญ่จตุสดมภ์ที่มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ กับ ๘,๐๐๐  นั้นทรงตั้งให้มียศ(เปนท่านผู้หญิง)ด้วย

          ฝ่ายสมเด็จพระองค์แก้ว(องค์ด้วง)นั้น  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสให้ไปรักษาเมืองเปี่ยมได้ ๑ ปีแล้ว  ได้เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่เมืองบันทายเพ็ชร

          ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ๑๑๕๗  สมเด็จพระบรมบพิตรผู้ทรงราชย์ได้เสด็จไปกรุงเทพมหานคร  เพื่อเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว  แล้วเสด็จออกจากกรุงเทพฯกลับคืนกรุงกัมพูชาเมื่อเดือน ๖ ปีมะโรง ๑๓๕๘ (พ.ศ. ๒๓๓๙)”

          ** ก็เป็นอันว่า  การสถาปนานักพระองค์เองเป็นกษัตริย์ครองประเทศกัมพูชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  แม้พระราชอาณาจักรกัมพูชาจะลดน้อยลง  สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชก็ทรงยินดีตัดเมืองเสียมราฐ  พระตะบอง  ถวายพระเจ้ากรุงสยาม  เมื่อทรงสร้างพระราชวังใหม่เรียบร้อยแล้ว  จึงให้ขุนนางผู้ใหญ่เข้ากรุงเทพฯกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานสมเด็จพระเอกกษัตรีพร้อมข้าราชบริพารกลับไปประทับ ณ กรุงกัมพูชาตามเดิม เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ตามอ่านกันต่อวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, สิงหาคม, 2562, 10:59:49 PM
(https://i.ibb.co/Yf9Ymwd/udong.jpg) (https://imgbb.com/)


- พระนารายณ์ราชาสวรรคต -

การครองราชย์สมบัติกษัตริย์เขมร
สามปีเด่นดีล้นไม่หม่นหมอง
มีราชบุตรหนึ่งองค์ทรงสมปอง
เป็นบุญของชนชาวกัมพูชา

แต่เคราะห์ร้ายมาฟาดชาติเขมร
หรือกรรมเวรเกิดแกล้งอย่างแรงกล้า
กษัตริย์หนุ่มครองราชกษัตรา
สามวัสสาสิ้นพระชนม์บนบัลลังก์

กัมพูชาว่างกษัตริย์ไม่ขัดสน
ด้วยมีคนรักษาการงานเบื้องหลัง
กรุงสยามดูแลเฝ้าระวัง
เป็นอยู่ดั่งมิขาดกษัตริย์เลย


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  นักพระองค์เองได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ให้เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศกัมพูชา  เฉลิมพระนามว่า  สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช  เสด็จไปประทับ ณ เมืองอุดงฦๅไชย  ทรงสร้างปราสาทราชวังเสร็จแล้ว  เชิญสมเด็จพระเอกกษัตรี  สมเด็จและท้าวพระยาบริพารกลับไปกรุงกัมพูชา  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรอ่านความในพระราชพงศาวดารฯต่อไปครับ

          * สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี  หรือนักองค์เองเป็นโอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชา(นักองค์นนท์)ซึ่งพระยายมราช(แบน) กับพระยากลาโหม(ปก) พาหลบหนีข้าศึกมาจากเมืองเขมรตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๕  มีพระชนม์เพียง ๑๐ พรรษา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม  ประทับอยู่กรุงเทพมหานครจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๓๗  จึงได้รับการอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา  เวลาที่ประทับอยู่กรุงเทพมหานครนานถึง ๑๒ ปี  จึงมีความรักผูกพันกับผู้คนในกรุงเทพฯ  โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นเหมือนพระราชบิดาแท้ ๆ ของพระองค์  ดังนั้นเมื่อกลับมาครองกรุงกัมพูชาแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องเดินกลับเข้ากรุงเทพฯ  และประทับอยู่เป็นเวลานานพอสมควร  เมื่อเสด็จกลับกรุงกัมพูชาแล้ว  ความในพระราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา  ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระองค์ต่อไปอีกว่า

           “ปีมะโรง ๑๑๕๘(พ.ศ.๒๓๓๙) นี้  นักองรศได้สมภพพระราชบุตรองค์ ๑  ทรงนามนักองค์ด้วง  ครั้นถึงเดือน ๙ ปีมะโรง ๑๑๕๘ (พ.ศ.๒๓๓๙)  สมเด็จพระบรมบพิตรทรงพระประชวร  จนถึงวันพุธ แรม ๑๔ เดือน ๑๒ ในปีมะโรง ๑๑๕๘ (พ.ศ.๒๓๓๙) นั้น  พระองค์เสด็จสู่สวรรคต  พระชนมายุ ๒๔ พรรษา  อยู่ในราชสมบัติได้ ๓ ปี

          เจ้าฟ้าทะละหะ ปก จึงใช้ให้ออกญาจักรี แกบ  นำความเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ทรงทราบ  แล้วมีรับสั่งให้เจ้าฟ้าทะละหะ ปก  จัดส่งพระศพเข้ากรุงเทพฯ เจ้าฟ้าทะละหะ ปก  ให้จัดการทำราชรถมีรูปราชสีห์เทียม  แล้วให้ทำมรคา  จัดทำบรรดากระบวนแห่

          ครั้นถึงเดือนยี่ ปีมเสง ๑๑๙๕ (พ.ศ.๒๓๔๐) ก็อัญเชิญพระศพออกจากพระราชมณเฑียร  ยกขึ้นประดิษฐานบนราชรถ  ให้เคลื่อนกระบวนแห่ลงมาถึงกำปงหลวง  ยกพระศพตั้งบนเรือพระที่นั่งซึ่งทำเปนมุขเด็จ  เสร็จแล้วแห่ออกไปโดยทางชลมารคถึงกำปงชโดข้างเหนือเมืองพะเนียด  จึงเชิญพระศพขึ้นตั้งบนพระที่นั่งราชรถ  แห่ทางบกไปถึงห้วยลำเจียก  แล้วหยุดพักอยู่คืนหนึ่ง

          ครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้บอกมาว่า  ให้เจ้าฟ้าทะละหะ ปก  นำพระศพคืนกลับหลัง  ไม่ต้องนำเข้าไปกรุงเทพฯ   ด้วยพม่ายกทัพมารบกวนวุ่นวายอยู่  ให้แต่ออกญาจักรี แกบ  นำไพร่พล ๕,๐๐๐ คนเข้าไปช่วยทำราชการศึก  

          เมื่อเจ้าฟ้าทะละหะ ปก  ได้รับกระแสพระราชโองการดังนั้น  จึงจัดให้ออกญาจักรี แกบ  คุมไพร่พล ๕,๐๐๐ คน  เข้ากรุงเทพฯ  แล้วก็นำพระศพแห่กลับคืนมายังเมืองบันทายเพ็ชร

          ครั้นถึงเดือน ๖ ปีมเมีย ๑๑๖๐(พ.ศ.๒๓๔๑) เจ้าฟ้าทะละหะ ปก  ได้จัดการให้ทำพระเมรุมณฑป  แล้วยกพระศพมาตั้งถวายพระเพลิง  ที่น่าพระราชวังเปนโอฬารึกอธึกมหิมา  เสร็จแล้วให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์ ๑  อยู่ข้างตวันออกแห่งพระเจดีย์ใหญ่องค์เก่าบนเขาพระราชทรัพย์  ปีหนึ่งสำเร็จบริบูรณ์  ครั้นถึงเดือน ๗ ปีมแม ๑๑๖๑(พ.ศ.๒๓๔๒)  เจ้าฟ้าทะละหะได้จัดทำบุญฉลองพระอัฐิ  แล้วเชิญไปบรรจุในพระเจดีย์ใหญ่ที่สร้างใหม่  กับให้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองสำริดองค์ ๑  ด้วยตะกั่วองค์ ๑  เปนพระพุทธรูปสนองพระองค์สมเด็จพระบรมบพิตร  แล้วนิมนต์ไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ใหญ่ใหม่นั้น เพื่อเปนที่นมัสการด้วย…..”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  นักองค์เองได้รับการอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นกรุงกัมพูชา  ทรงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๓ ปี  ก็เสด็จสวรรคต  พระราชพงษาวดารกรุงกัมพูชากล่าวว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้นำพระศพเข้ากรุงเทพฯเพื่อจะจัดการพระศพด้วยพระองค์เอง  แต่ภายหลังตรัสให้เชิญพระศพคืนไปด้วยอ้างว่าทางกรุงเทพฯกำลังมีพม่ามาวุ่นวายนั้น  ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๑  กล่าวต่างออกไปว่า  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เชิญพระศพเข้ากรุงเทพฯเพื่อทรงจัดการพระศพและพระราชทานเพลิง  ดำรัสให้เจ้าฟ้าทะละหะ ปก  เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและทำนุบำรุงเจ้าชาย ๕ องค์  ผู้เป็นโอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดีนั้นไปพลางก่อน

          ครั้งนั้น  ข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยได้เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลคัดค้านในการเชิญพระศพสมเด็จพระนารายณ์ราชาเข้ามาพระราชทานเพลิงในกรุงเทพฯ  อ้างว่าผิดเยี่ยงอย่างธรรมเนียม  เกรงจะเป็นอุบาทว์แก่บ้านเมือง  คำคัดค้านของข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยมีผล  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วย  จึงให้สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะเชิญพระศพกลับไปดังความที่กล่าวในพระราชพงษาวดารกรุงกัมพูชานั้น

          เรื่องราวทางเขมรเห็นจะต้องพักไว้ก่อน  เพราะศึกพม่าจะเริ่มขึ้นอีกแล้ว  วันพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, สิงหาคม, 2562, 10:36:48 PM
(https://i.ibb.co/mT6gBMg/Untitle-45d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าตีเชียงใหม่อีกแล้ว -

พม่ายังหวังได้เมืองไทยอยู่
ลอบมาจู่โจมเชียงใหม่ไทยเฉยเฉย
ถูกไทยตีแตกพ่ายไปดั่งเคย
ผลลงเอยรบพ่ายแล้วไม่จำ


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้อ่าน  ถึงตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชสวรรคต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญพระศพเข้ากรุงเทพฯเพื่อจะทรงจัดการพระศพเอง  แต่ขุนนางผู้ใหญ่พากันกราบบังคมทูลทัดทานไว้  จึงให้เจ้าฟ้าทะละหะเชิญพระศพกลับไปถวายพระเพลิง ณ เมืองบันทายเพ็ชร  กัมพูชา  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงชำระต่อไปไปดังนี้ครับ

          * “ ในปีขาลจุลศักราช ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) นั้น  มีผู้ฟ้องว่า  เจ้านันทเสนแห่งล้านช้างเวียงจันทน์ กับพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนม  คบคิดกันเป็นกบฏ  จึงมีศุภอักษรขึ้นไปถึงเจ้านครล้านช้างและพระบรมราชา  มีใจความว่า  มีผู้ฟ้องว่าเป็นกบฏ  แต่ไม่ทรงเชื่อให้เอาตัวโจทก์จำไว้  ครั้นจะนิ่งเสียไม่ว่ากล่าวก็เป็นการแผ่นดินสำคัญอยู่  ถ้าเจ้านครล้านช้างและพระบรมราชาซื่อสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว  ก็ให้ลงไปเฝ้าสู้ความเขาโดยเร็ว  ถ้าคิดประทุษร้ายจริงแล้วก็ให้ตกแต่งบ้านเมืองไว้รับกองทัพเถิด  แล้วให้หลวงทรงพลราบเจ้ากรมเกราะทองขวาเชิญศุภอักษรนั้นขึ้นไป  เจ้านันทเสนและพระบรมราชาก็ลงมาเฝ้าแต่โดยดี  โปรดให้ชำระความก็ปรากฏว่าเจ้านันทเสนแพ้โจทก์  จึงรับสั่งให้ลงโทษถึงประหารชีวิต  แต่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯทูลขอพระราชทานโทษประหารไว้  จึงโปรดให้เจ้าอินทร์ผู้น้องเจ้านันทเสนขึ้นไปครองเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อไป  โดยยกจากกรุงเทพมหานครไปเมื่อ วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาลนั้น

          ในเวลานั้น  พระยานครราชสีมาบอกเข้ามาว่า  เมืองภูเขียวคล้องได้ช้างพังสีประหลาดช้าง ๑  เมื่ออาบน้ำขึ้นมาใหม่ ๆ ตัวแห้งแล้วจะมีสีตัวนวลเหมือนสีใบตองแห้ง  ดวงตา  เล็บ  ขนตัว  ขนหาง  เป็นสีขาว  เจ้าของฝึกหัดเชื่องราบแล้วก็ใช้สอย  มีผู้รู้เห็นเข้าก็ทักท้วงขึ้นว่าเป็นช้างสำคัญไม่ควรเก็บไว้ใช้งานอย่างนี้  เจ้าของนั้นได้ฟังคำท้วงก็กลัวจะต้องถูกเก็บเป็นช้างหลวง  จึงตัดหางช้างนั้นทิ้งเสีย  ทรงทราบดังนั้นจึงโปรดให้มีตราขึ้นไปให้ส่งลงมาทอดพระเนตร ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙  ช้างลงมาถึงกรุง  ได้ทอดพระเนตรแล้วดำรัสว่า  เป็นเผือกตรี  เสียดายแต่หางด้วนเสีย  ทรงพระพิโรธเจ้าของช้างนั้นมาก  มิได้พระราชทานสิ่งใด  หางนั้นให้เอาหางโคผูกเข้าต่อเป็นช้างโคบุตร  เข้าโรงสวดมนต์สมโภชแล้ว พระราชทานชื่อขึ้นระวาง เป็น  “พระอินทร์ไอยราคชาชาติฉัตรทันต์ ผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิษณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า”

          ลุถึงเดือน ๕ จุลศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๘) ปีเถาะ  กองทัพพม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่  เข้าตั้งล้อมเมืองไว้  พระยาเชียงใหม่มีใบบอกลงมาขอกองทัพกรุงเทพฯขึ้นไปช่วย  จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกกองทัพขึ้นไป  กรมพระราชวังบวรฯให้พระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัต  ซึ่งเป็นพระโอรสผู้ใหญ่คุมทัพกองหนึ่งยกขึ้นไปทางเมืองลี้  ทัพหลวงเสด็จทางเมืองนครลำปาง  กองทัพพม่าล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ ๒ เดือนเศษ  ยังตีหักเอาเชียงใหม่ไม่ได้  เมื่อทัพกรุงยกขึ้นไปถึง  ก็เข้าโจมตีทัพพม่าแตกพ่ายไป  จับได้อุบากองนายทัพกับไพร่พลพม่า  และได้เครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก

          เมื่อเสร็จสิ้นการสงครามแล้วกรมพระราชวังบวรฯจะเสด็จกลับ  พระยาเชียงใหม่ยอมถวายพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า  พระพุทธสิหิงค์  เสด็จเชิญลงมาประดิษฐานไว้ในกรุงเทพมหานครแต่นั้นมา”

          * * ท่านผู้ฟังครับ  เรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปสำคัญของแผ่นดินองค์นี้  มีตำนานกล่าวไว้พิสดารดังได้เคยแสดงมาแล้ว  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็กล่าวความเป็นมาโดยพิสดารเช่นกัน  โดยสรุปได้ว่า  “พระเจ้ากรุงสุโขทัยเสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราชและปรารภใคร่ได้พระพุทธรูปอันงามสักองค์หนึ่ง  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงอาสาติดต่อพระเจ้ากรุงลังกา  แล้วได้พระพุทธรูปชื่อพระพุทธสิหิงค์อันงดงามมาถวาย  เจ้ากรุงสุโขทัยอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัยสืบมาหลายชั่วกษัตริย์  ต่อเมื่อเจ้ากรุงศรีอยุธยายกขึ้นมาตีกรุงสุโขทัยได้  จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงไปประดิษฐาน ณ กรุงศรีอยุธยา  ต่อมาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาองค์หนึ่งมีพระชายาเป็นพระมารดาเจ้าเมืองกำแพงเพชรและหลงอุบายของพระชายานั้น  ลวงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นมาประดิษฐาน ณ เมืองกำแพงเพชร  ต่อมาพระยามหาพรหมเมืองเชียงราย   พระอนุชาเจ้าเมืองเชียงใหม่  ขอกำลังเมืองเชียงใหม่ยกลงมาตีเมืองกำแพงเพชร  แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นไปเชียงใหม่แล้วอัญเชิญเลยขึ้นไปประดิษฐาน ณ เชียงราย ทำการหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์ขึ้นได้อีกองค์หนึ่ง  แล้วเก็บรักษาไว้ที่เชียงรายหาได้ส่งให้เมืองเชียงใหม่ไม่  ต่อมาพระเจ้าเชียงใหม่ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา  ยกไปตีเมืองเชียงรายได้ฆ่าพระเจ้ามหาพรหมผู้เป็นอาเสียแล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่   ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ได้แล้วอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับคืนกรุงศรีอยุธยา  และเมื่อสิ้นสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ส่งคืนพระพุทธสิหิงค์ให้เชียงใหม่ตามเดิม”

          ** พักเรื่องนี้ไว้ก่อนครับ พรุงนี้เช้ามาอ่านกันต่อก็แล้วกันนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิะนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หะนขี้ผึ้งไทย
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, สิงหาคม, 2562, 10:07:07 PM
(https://i.ibb.co/rkPBft7/Undftitlsfed-3.jpg) (https://imgbb.com/)


- กรมพระราชวังบวรผนวช -

สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า
ทรงเข้าเฝ้าทูลขออุปถัมภ์
ปล่อยนักโทษนันทเสนพ้นเวรกรรม
เพื่อจะนำไปบวชด้วยพระองค์

ทรงประทานปล่อยปลดนักโทษเว้น
นันทเสนไม่ต้องในประสงค์
เชลยพม่าทั้งมวลก็ล้วนคง
อยู่ในกรงขังเศร้ากับ “เจ้าลาว”

ทรงผนวชเจ็ดวันเป็นบรรพชิต
เพื่ออุทิศบุญไปโดยไม่กล่าว
เจาะจงใครเป็นพืดอย่างยืดยาว
แต่ทรงน้าวน้อมไปไร้ประมาณ


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อานถึงตอนที่  เจ้านันทเสนผู้ครองศรีสัตนาคนหุตถูกกล่าวหาเป็นกบฏ  ทรงเรียกเข้ามาไต่สวนแล้วแพ้โจทก์จึงสั่งประหาร  แต่สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงทูลขอไว้  จึงโปรดให้เจ้าอินทร์ผู้น้องเจ้านันทเสนขึ้นไปครองศรีสัตนาคนหุตแทน  ไม่นานก็ได้รับรายงานว่า  พม่ายกกองทัพมาตีเชียงใหม่และตั้งล้อมเมืองไว้  จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ายกทัพขึ้นไปขับไล่พม่า  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรยกทัพขึ้นไปตีกทัพพม่าแตกพ่ายไป  เมื่อเสร็จสงครามแล้วจะเสด็จกลับ  เจ้าเมืองเชียงใหม่ยอมถวายพระพุทธสิหิงค์  ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพมหานคร เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอานกันต่อครับ

          * “ปัญหาของพระพุทธสิหิงค์ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่า  องค์เดิมนั้นสร้างในลังกาแล้วมอบให้เจ้านครศรีธรรมราช  ถวายพระเจ้ากรุงสุโขทัยจริงหรือไม่  ปัจจุบันมีการอ้างกันว่า  พระพุทธสิหิงค์ในบ้านเมืองของตนนั้นเป็นองค์จริง  ทำให้เกิดความสงสัยว่าพระพุทธสิหิงค์มีกี่องค์กันแน่  องค์ไหนเป็นองค์จริง  องค์ไหนเป็นองค์ไม่จริง  ปัญหานี้  อาจารย์พิเศษ เจียจันทรพงษ์  สรุปตัดบทลงไปว่า    พระพุทธสิหิงค์ทุกองค์เป็นองค์จริง    ซึ่งก็เป็นการสรุปตัดบทที่ไม่เด็ดขาด  องค์ที่ประดิษฐาน ณ กรุงเทพฯปัจจุบัน  ผมเห็นแล้วเชื่อว่า  เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย  หาใช่ลังกาไม่  เรื่องนี้จึงยุติลงไม่ได้  เมื่อยังหาข้อยุติไม่ได้  ก็ทิ้งปัญหาไว้ให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์โบราณคดีค้นความหาข้อยุติกันต่อไป

          * ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า  ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๕๗ ( พ.ศ. ๒๓๓๘) นั้น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ  เสด็จเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาทรงผนวช  และขอรับพระราชทานโทษเจ้านันทเสน  เจ้านครล้านช้างที่ต้องโทษกับสมัครพรรคพวกเจ้านันทเสน  พร้อมกับบรรดานักโทษที่ต้องพันธนาการอยู่ในเรือนจำให้พ้นโทษด้วย

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานโทษนักโทษออกจากเวรจำ  ตามที่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ากราบทูลขอ  แต่เจ้านันทเสนและพรรคพวกที่เป็นกบฏ  กับพวกพม่ารามัญข้าศึกรวมทั้งพวกโจรสลัดนั้น  หาได้โปรดพระราชทานโทษไม่  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระราชศรัทธาบวชนักโทษในครั้งนั้นรวม ๓๒ คน

          ครั้น ณ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงเสด็จเข้าบรรพชาอุปสมบท ณ วัดพระศรีสรรเพชฌ์  มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌายาจารย์  พระญาณสังวร วัดพลับ(ราชสิทธาราม)  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระธรรมกิติเป็นอนุสาวนาจารย์  สำเร็จกิจการบรรพชาอุปสมบท  เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ

          รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำ ทรงขึ้นเพลาพระปริยายบำเพ็ญพระธรรมภาวนา  วันแรม ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง  พระสงฆ์ ๕๐๐ รูปเจริญพระปริต ณ พระระเบียงพระอุโบสถวิหารวัดพระศรีสรรเพชฌ์  รุ่งขึ้นแรม ๕ ค่ำ  ฉันเช้าเป็นการฉลอง  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯทรงผนวชอยู่ในสมณเพศครบ ๗ วัน  จึงลาผนวชในวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ เพลา ๔ โมงเช้าเศษ

          ในปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๘) นั้น  การศึกว่างลง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดีสนองพระเดชพระคุณ  เพราะว่าในเวลาที่สมเด็จพระชนกสวรรคตนั้น บ้านเมืองเกิดการจลาจล  พระราชวงศานุวงศ์กระจัดพลัดพรายกัน  จึงหาได้มีโอกาสถวายเพลิงพระบรมศพไม่  เมื่อว่างจากการศึกครั้งนี้จึงโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่  และเครื่องมหรสพสมโภชอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า

          การสร้างพระเมรุเสร็จเรียบร้อยในปีมะโรง เดือน ๕ จุลศักราช ๑๑๕๘ ถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ  จึงโปรดให้แห่พระบรมสารีริกธาตุออกสู่พระเมรุ  มีมหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน  แล้วโปรดให้แห่พระบรมอัฐิสมเด็จพระชนากาธิบดีออกสู่พระเมรุ  กระบวนแห่พระบรมอัฐิครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงพระราชยานโยงพระบรมอัฐิเอง  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฯทรงพระราชยานโปรยข้าวตอกนำมาในกระบวน  และพระราชวงศานุวงศ์ทรงรูปสัตว์  สังเค็ดประคองผ้าไตรเข้าในกระบวนแห่ด้วยหลายพระองค์  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งนั้นเป็นอเนกประการ”

          ** ท่านผู้อานครับ  การทรงพระผนวชของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  พระองค์มิได้เข้าพิธีผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ดังเช่นพระราชวงศ์องค์พระองค์อื่น ๆ  หากแต่ทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชฌ์  หรือวัดนิพพานาราม  คือวัดมหาธาตุฯในปัจจุบัน  ทั้งนี้เพราะวัดนี้เป็นพระอารามประจำพระราชวังบวรสถานมงคล  เป็นที่น่าสังเกตว่า  สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นองค์พระอุปัชฌาย์นั้นมีนามเดิมว่า  “สุข”  และพระกรรมวาจาจารย์คือ พระญาณสังวรวัดพลับนั้นมีนามเดิมว่า  “สุก”(หรือศุข) เช่นกัน  และต่อมาพระราชกรรมวาจาจารย์องค์นี้  ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช  “สุข”  คนทั่วไปเรียกสมเด็จพระญาณสังวร “สุก”  ว่า  “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน”  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้เช้าตื่นมาอ่านกันได้เลยนะครับ.

(................ มีต่อพรุ่งนี้ ................)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, สิงหาคม, 2562, 10:56:17 PM
(https://i.ibb.co/C0t43jb/Untwwitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)


- สองวังบาดหมางตั้งปืนรอ -

การแข่งเรือผิดคาดเกิดบาดหมาง
เรื่องลามอย่างใหญ่โตตั้งต่อต้าน
ลากปืนใหญ่ใส่ป้อมพร้อมประจัญบาน
เกือบเกิดการณ์เปรี้ยงปร้างศึกกลางเมือง

พระพี่นางทั้งสองต้องออกหน้า
หลั่งน้ำตาวอนน้องปรองดองเรื่อง
ทั้งสองพระองค์ทรงสลัดความขัดเคือง
และปลดเปลื้องโกรธามาดีกัน


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระชนากาธิบดี  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นอเนกประการดังกล่าวมาแล้ว  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกันต่อไปครับ

          * ความตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่าในการสมโภชพระบรมอัฐินั้น  มีโขนชักรอกโรงใหญ่  ทั้งวังหลวงและวังหน้ามาเข้าประสมโรงเล่นกลางแปลง  จับเรื่องตอนศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับสิบขุนสิบรถ  โขนวังหลวงแสดงเป็นทัพพระรามยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง  โขนวังหน้าแสดงเป็นทัพทศกัณฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ  มาเผชิญหน้าเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา  การรบกันนั้นมีการใช้ปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป

          ถึงวันแรม ๔ ค่ำ  เชิญพระบรมธาตุแห่กลับแล้ว  เวลาบ่ายวันนั้นจึงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิด้วยไม้หอมต่าง ๆ  รุ่งขึ้นโปรดให้แห่พระอังคารไปลอยตามพระราชประเพณี

          ครั้นถึงเดือน ๑๑ มีการแข่งเรือกัน (นัยว่าเป็นประเพณี)  และเรือที่จะเข้าแข่งกันนั้น  เรือของวังหลวงชื่อ  ตองปลิว  เรือของวังหน้าชื่อ  มังกร  ในตอนที่เปรียบฝีพายก่อนจะแข่งกันนั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เอาฝีพายที่อ่อนเข้าเปรียบโดยซ่อนฝีพายที่แข็งไว้  เมื่อเวลาลงแข่งก็ให้เอาฝีพายที่เปรียบนั้นออก  แล้วเอาสำหรับที่ซ่อนไว้นั้นลงแข่ง  ฝ่ายข้าราชการวังหลวงทราบความจริงดังนั้น  จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสว่า  เล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้  แล้วทรงให้เลิกการแข่งเรือทันที  ตั้งแต่นั้นมาสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯก็บาดหมางพระทัยไม่ได้เสด็จลงมาเฝ้า

          อยู่มาจนถึงวันอาทิตย์ขึ้น ๑๐ ค่ำ  เดือนอ้าย  สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯจึงเสด็จลงมาเฝ้า  แล้วกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า  เงินที่พระราชทานขึ้นไปปีละพันชั่งนั้นไม่พอแจกเบี้ยหวัดข้าราชการในวังหน้า  จะขอรับพระราชทานเงินเติมอีกให้พอแจกจ่ายกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสว่า  เงินเก็บมาได้แต่ส่วยสาอากรก็พอใช้ทำนุบำรุงแผ่นดิน  เหลือจึงได้เอามาแจกเบี้ยหวัด  ก็ไม่ใคร่พอ  ต้องเอาเงินกำไรตกแต่งสำเภามาเพิ่มเติมเข้าอีก  จึงพอใช้ไปได้ปีหนึ่ง ๆ  เงินคงคลังที่สะสมไว้ก็ยังไม่มี  สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯเมื่อไม่ได้ตามพระราชประสงค์ก็ขัดเคือง  มิได้ลงมาเฝ้าอีกเลย

          ฝ่ายพระยาเกษตร(บุญรอด) ข้าราชการวังหน้า  เห็นว่าเจ้านายทรงขัดเคืองกันดังนั้นก็กะเกณฑ์ข้าราชการเอาปืนขึ้นป้อมวังหน้า  ให้เตรียมศัสตราวุธตั้งนอนกองระวังอยู่  ส่วนเจ้าพระยารัตนาพิพิธสืบรู้ว่าที่วังหน้าจัดเตรียมการเป็นสงคราม  ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  ก็กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ขอรักษาพระราชวังให้มั่นคงแข็งแรงเกณฑ์กันรักษาหน้าที่  และเอาปืนขึ้นป้อมบ้าง  ครั้งนั้นเกือบจะเกิดการยุทธสงครามแก่กัน

          ขณะที่เหตุการณ์กำลังตึงเครียดนั้น  ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์  ดังนั้นก็รีบเสด็จขึ้นไปในพระราชวังบวรสถานมงคล  ทั้งสองพระองค์ทรงพระกันแสงแล้วตรัสประเล้าประโลมไปถึงความเก่า ๆ แต่ครั้งตกทุกข์ได้ยากจนได้ราชสมบัติขึ้น  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯก็มีพระทัยลดหย่อนอ่อนจนสิ้นพระพิโรธ  สมเด็จพระพี่นางทั้งสองจึงเชิญเสด็จลงมาเฝ้าสมัครสมานกันในวันนั้นเอง  และพระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็กลับเป็นปรกติกันแต่นั้นมา

          * ลุถึงปีจุลศักราช ๑๑๕๙ (พ.ศ. ๒๓๔๐) ปีมะเส็ง อันเป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลที่ ๑ ปรากฏว่า ในวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒  พม่าเอาหนังสือเข้ามาแขวนที่ด่านเมืองเพชรบุรี  เมืองราชบุรี  เมืองไทรโยค  เมืองอุทัยธานี  เมืองตาก  เมืองเชียงใหม่  เมืองหลวงพระบาง  ความต้องกันว่า  พม่าจะเข้าตีกรุง  และอังกฤษจะมาช่วยเป็นทัพเรือ  ยกเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา

          ครั้นถึงเดือนยี่ปีเดียวกัน  พระเจ้าอังวะให้อินแซะหวุ่นเป็นแม่ทัพ  คุมไพร่พลมาตีหัวเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่  เมืองเชียงใหม่ออกมารบพุ่งต่อสู้  จับพม่าได้ ๑๒ คน  ถามให้การว่าพระเจ้าอังวะเกณฑ์กองทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  อังกฤษจะเอาสลุบกำปั่นเข้ามารบทางทะเล”

          ** อ่านมาถึงตรงนี้  เห็นภาพการสมโภชพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนก  การแสดงโขนกลางแปลงทำเหมือนเป็นเรื่องจริง  กองทัพพระรามยกออกจากวังหลวง  กองทัพทศกัณฐ์ยกออกจากวังหน้า  ในการรบกันนั้นมีการยิงปืนปลอดลูกกระสุน  ดังสนั่นหวั่นไหวตื่นเต้นเร้าใจมาก  การแสดงที่เหมือนจริงอย่างนี้คงจะมีเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวในโลกเลยทีเดียว

          หวาดเสียวมากก็ตอนที่หลังจากการแข่งเรือของสองวัง  มีการโกงเรื่องฝีพาย  จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งเลิกกะทันหัน  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงขัดเคืองจนไม่ยอมเสด็จเข้าเฝ้าเป็นนาน  แล้วเสด็จเข้าเฝ้าอีกทีก็ทูลขอเพิ่มเงินค่าใช้จ่ายสำหรับวังหน้า  เมื่อไม่ได้ตามที่ทูลขอ  ก็ไม่ยอมเข้าเฝ้าอีกเลย  ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายวังหน้าเห็นการณ์เป็นเช่นนั้นจึงเตรียมการรบ  โดยเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมกำแพงวัง  ตั้งกำลังพลขึ้นรักษาการเต็มที่  ฝ่ายข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายวังหลวงทราบข่าวเช่นนั้น  ก็เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมกำแพงเตรียมการรบเช่นเดียวกัน  ร้อนถึงสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ต้องออกมาไกล่เกลี่ยให้พระเจ้าอยู่หัวทั้งพระองค์คืนดีกัน

          ศัตรูคู่ศึกสำคัญมาอีกแล้ว  พม่าให้คนมาปิดประกาศทุกทิศทางประเทศไทย  ว่าจะยกมาตีไทยอีกครั้ง  โดยมีกองทัพเรืออังกฤษมาช่วยรบ  จะยกเข้าตีไทยทางทะเลด้วย  เรื่องราวจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไรพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, สิงหาคม, 2562, 10:12:10 PM
(https://i.ibb.co/dpVzSY7/Untit57led-31.jpg) (https://imgbb.com/)


- พม่าตั้งท่าดีแต่ทีเหลว -

เค้าสงครามตั้งคึกศึกพม่า
ทำทีท่าเข้าสู้ดูแข็งขัน
ถูกตีโต้ตอบหน่อยถอยหนีพลัน
ไปตั้งมั่นห่างประเทศไกลเขตแดน

ข่าวศึกมาให้พะวงทรงตั้งรับ
สั่งจัดทัพญวนลาวรวมกันแน่น
ไม่ประมาทศัตรูหมิ่นดูแคลน
จะตอบแทนศึกพม่าจนสาใจ

พม่าม่อยไม่มาตามประกาศ
คงขยาดคนสยามยามยิ่งใหญ่
หรือพม่ามีศึกลึกภายใน
จึงนิ่งไว้ไม่โจมจู่อย่างวู่วาม


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้ท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่พม่ามีหนังสือมาปิดประกาศข่าวว่า  จะยกทัพมาตีไทยหลายทาง  และให้อินแซะหวุ่นคุมไพร่พลมาตีหัวเมืองเชียงใหม่  พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ออกรบพุ่งต่อสู้กองทัพอินแซะหวุ่นแตกพ่ายหนีไป  จับพม่าได้ ๑๒ คน  จึงส่งลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรตอไป อ่านความต่อไปนี้ครับ

          * “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบคำให้การของเชลยพม่าดังนั้น  จึงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ยกกองทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่  แล้วให้เกณฑ์กองทัพไปรักษาเมืองตาก  เมืองระแหง  เมืองกาญจนบุรี  เมืองราชบุรี  เมืองอุทัยธานี  ตามทางซึ่งพม่าเคยมาแต่ครั้งก่อน ๆ  พร้อมกันนั้นก็ทรงสงสัยอยู่ว่า อังกฤษจะเข้าด้วยจริง  เพราะคำให้การกับหนังสือแขวนประกาศนั้นก็ต้องกัน

          จึงโปรดให้มีตราออกไปเกณฑ์กองทัพ  ให้เจ้าอนัมก๊กยกมาช่วยรักษาเมืองสมุทรปราการ  องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กก็บอกเข้ามาว่าจะให้องฮีกุนเป็นแม่ทัพ  ให้องยำเกือนเป็นปลัดทัพ  องโปโฮ  องทำตรีบินโป  องทุงวาย  องพนวาย  องโววาย  องเป็ดวาย  องพอเตียง  เป็นนายกองคุมเรือรบใหญ่ปากกว้าง ๔ วา ๑๕ ลำ  เรือกูไล ๑๕ ลำ  เรือแง่ซาย ๗๘ ลำ  รวมเป็นเรือ ๑๐๘ ลำ  ไพร่ ๗,๗๒๐ คน  พร้อมเครื่องศัสตราวุธ  จะยกเข้ามาช่วยราชการทัพ ณ วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕  

          เวลาต่อมาได้ทราบความที่พม่าว่าอังกฤษจะยกทัพเรือมาช่วยตีกรุงเทพมหานครนั้นเป็นความไม่จริง  จึงโปรดให้มีตราออกไปบอกเลิกกองทัพญวนว่าไม่ต้องให้ยกมา

          พระราชพงศาวดารบันทึกความต่อไปว่า  เมื่อข่าวศึกพม่าผ่านพ้นไปแล้ว  องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กก็จัดต้นไม้เงินทองและสิ่งของต่าง ๆ ให้คณะราชทูตนำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  ครั้นคณะทูตทูลลากลับก็ทรงจัดสิ่งของพระราชทานตอบแทนไปด้วย  จากนั้นจึงโปรดให้มีการสมโภชฉลองพระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งปลูกแทนหอพระมนเทียรธรรมที่ถูกไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ นั้น

          * ลุถึงจุลศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมีย (พ.ศ. ๒๓๔๑) อันเป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลที่ ๑  ณ วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่  พระยาเชียงใหม่กาวิละมีหนังสือบอกส่งตัวอ้ายจันต๊ะเงี้ยว  อ้ายจันสา   พม่า ๒ คนลงมาถวาย  ให้ไต่ถามแล้วได้ความว่า  พระเจ้าอังวะแต่งให้จอจีนบุนส้อย  สินโบขิวุ่นส้อย  ยิวุ่นชีแวงมู  เป็นแม่ทัพคุมพล ๕,๐๐๐ ยกมาทางเมืองตองอู  มาตั้งอยู่เมืองตะราง  ริมแม่น้ำโขง  ซึ่งจะข้ามมาทางเมืองเชียงใหม่  ตั้งยุ้งฉางไว้เสบียงอาหารเป็นอันมาก

          ในเวลานั้น  เจ้านครหลวงพระบางก็บอกลงมาว่า  ได้แต่งกองทัพออกไปลาดตระเวนทางเมืองเชียงแสน  จับได้อ้ายน้อยจิจากับบุตรชายคนหนึ่งจึงส่งลงมาถวาย  ให้ไต่ถามได้ความว่า  พม่ายกกองทัพมาว่าจะตีเมืองเชียงใหม่   ถ้าตีได้แล้วจะออกทัพเรือไปทางลำน้ำแม่โขง  ตีเอาเมืองลาวฝ่ายตะวันออก  เพื่อมิให้ลงไปช่วยกรุงเทพมหานครได้  และในยามนั้นเจ้านครหลวงพระบางก็ได้เตรียมกองทัพรับพม่าไว้พร้อมแล้วด้วย

          ต่อมาถึงวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีเดียวกันนั้น  พระยาเชียงใหม่กาวิละบอกลงมาว่า  ได้แต่งให้หมู่เดโชไปลาดตระเวนถึงเมืองกุ  พบกองตระเวนพม่าแล้วได้รบพุ่งกัน  กองตระเวนพม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีไป  จับได้พม่า ๓ คน  ไต่ถามแล้วได้ความในคำให้การว่า  พระเจ้าอังวะแต่งให้อะตนหวุ่นเป็นแม่ทัพคุมเงี้ยว ๑๙ เมือง  ยกลงมาทางเมืองกุทัพ ๑    พม่ากำกับมาด้วยทัพ ๑    และศึกพม่าที่ได้ความมาทั้ง ๔ ทางก็ต้องกัน   แต่กองทัพพม่ายังตั้งรออยู่จนเดือน ๔ นี้   มิได้ยกเข้ามาตีบ้านเมือง  เหตุผลจะเป็นประการใดก็หาได้ความไม่  หรือจะเป็นกลศึกล่อลวงหน่วงไว้ให้ประมาทว่าพ้นเทศกาลจะได้เลิกกองทัพกลับไปเสีย  พม่าได้ทีจึงจะจู่โจมเข้าตีเอาเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองฝ่ายเหนือก็ไม่แจ้ง  จึงมิไว้ใจแก่ราชการ  และได้ส่งพม่า ๓ คนที่จับได้นั้นลงมาถวาย

          ได้ทรงทราบหนังสือบอกจากพระยาเชียงใหม่กาวิละดังนั้น  จึงโปรดให้มีตราเกณฑ์ทัพเจ้านครล้านช้างเวียงจันทน์ไปตั้งรักษาอยู่ทางระแหง  แต่ครั้งนั้นพม่าอยู่จนฤดูฝนก็เลิกกลับไป  หาได้เกิดการศึกไม่”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  ก็เป็นอันว่าข่าวศึกจากพม่าที่ได้เตรียมการเข้าตีกรุงเทพมหานครและหัวเมืองต่าง ๆ นั้น  ดูว่าเป็น  “ท่าดีทีเหลว”  ข่าวจึงกลายเป็นเหมือนข่าวโคมลอย  ซึ่งน่าจะเป็นกลศึกของพม่าดังที่พระยาเชียงใหม่กาวิละสันนิษฐาน  พม่าจะรบกับไทยอีกหรือไม่  ติดตามอ่านกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43383#msg43383)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43815#msg43815)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, สิงหาคม, 2562, 11:08:54 PM
(https://i.ibb.co/tm0CznB/image.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43645#msg43645)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43963#msg43963)                   .

- สิ้นสมเด็จพระพี่นาง -

เกิดเรื่องเศร้าเจ้านายฝ่ายในที่-
สองพระพี่นางเจ้าจอมสยาม
สิ้นพระชนม์น้องหนีแล้วพี่ตาม
จึงสร้างความเศร้ารุมสุมเวียงวัง

เกิดเพลิงไหม้“สำเพ็ง”จีนเจ๊งมาก
สาเหตุจากอะไรไร้เบื้องหลัง
มีเรื่องราวในพงศาวดารดัง
เล่าให้ฟังเพียงย่อพอรู้กัน


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ  มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่พม่าออกข่าวว่าจะยกมาตีเมืองไทยอีก  ทางฝ่ายไทยก็ตั้งท่าคอยรับพม่า  แต่แล้วพม่าก็ไม่ยกมาตามข่าว  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระต่อไปครับ
          
          * “ความในพระราชพงศาวดารบันทึกเรื่องราวไว้ว่า  ในปีมะแม จุลศักราช ๑๑๖๑ (พ.ศ. ๒๓๔๒)นั้น  กรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางพระองค์น้อยทรงพระประชวร  แล้วสิ้นพระชนม์ในวันอาทิตย์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘

          ต่อมากรมพระเทพสุดาวดีสมเด็จพระเจ้าพี่นางพระองค์ใหญ่ก็ทรงพระประชวร  แล้วสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ในปีเดียวกัน

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำพระโกศ ๘ เหลี่ยมยอดมณฑปทำด้วยไม้จำหลักลายกุดั่น ๒ พระโกศ  บรรจุพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางทั้งสองพระองค์  เรียกว่ากุดั่นใหญ่พระโกศ ๑ กุดั่นน้อยพระโกศ ๑

          โปรดให้มีตราออกไปถึงเจ้าอนัมก๊กขอซื้อเสน  ทองอังกฤษ  กระดาษทอง  กระดาษเงิน  ใช้ในการพระศพ  ฝ่ายเจ้าอนัมก๊กทราบความดังนั้น  จึงจัดขี้ผึ้งหนัก ๓ หาบ  น้ำตาลทรายหนัก ๑๐ หาบ  เข้าร่วมสดับปกรณ์ในการพระศพ

          กับส่วนถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีกระลำพักหนัก ๑๐ ตำลึง  ผ้าปัดสะตูสีเขียว ๒๐ พับ  สีม่วง ๑๒ พับ  เสนหนัก ๕ บาท  ทองอังกฤษ ๒๓๐ ม้วน  กระดาษเงินใหญ่ ๑๕,๐๐๐  กระดาษเงินเล็ก ๓๐,๐๐๐  สิ่งของทั้งหมดนั้นส่งเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย

          ต่อมาถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือน เดือน ๓ ปีเดียวกันนั้น  องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กส่งปืนบาเหรี่ยม ๑๐ บอกเข้ามาถวาย  และมีศุภอักษรขอจัดซื้อเหล็กหล่อไปหล่อกระสุนปืน  ขอกองทัพลาว  กองทัพเขมร  ออกไปตีเมืองแง่อาน (ลาวเรียกเมืองนี้ว่าล่าน้ำ) เพื่อหน่วงไว้ทำให้พวกไกเซินพะว้าพะวังหลัง  เจ้าอนัมก๊กจะได้ทำศึกโดยสะดวก

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานดินประสิวตอบแทนออกไป ๕๐๐ หาบ  และให้องทุงซายเซินจัดซื้อเหล็กหล่อได้ตามความปรารถนา  ส่วนกองทัพลาวเขมรนั้นทรงตอบไปว่า  จะให้ออกไปเกณฑ์ในแล้งนี้  กว่าผู้คนจะพรักพร้อมพอเข้าฤดูฝนเสียแล้ว  จะยกไปเมืองแง่อานก็เป็นทางไกลกันดารไพร่พลจะเจ็บป่วยมาก  จะให้แต่เขมรไปช่วยเจ้าอนัมก๊กตีเมืองกุยเยินก่อน

          จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีตราไปถึงสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ(ปก)  ให้จัดทัพไปช่วยเจ้าอนัมก๊กตีเมืองกุยเยิน  เจ้าฟ้าทะละหะรับทราบแล้วจึงให้พระยาวังเป็นแม่ทัพคุมไพร่พล ๕,๐๐๐  ยกไปเมืองลำกวน  แต่พระยาวังกดคนไว้ไม่อยู่  ไพร่พลในกองทัพหนีเสียเป็นอันมาก  เจ้าฟ้าทะละหะจึงให้เอาตัวพระยาวังฆ่าเสีย  แล้วเกณฑ์คนได้ ๕,๐๐๐  มอบให้พระยากลาโหม (พรหม) ยกไปช่วยเจ้าอนัมก๊กตอไป

          ** ความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้มิได้บอกเล่าถึงผลการรบระหว่างองเชียงสือกับญวนไกเซินในครั้งนี้  จึงไม่ทราบผลการรบระหว่างองเชียงสือ(ญวนใต้) กับเจ้าไกเซิน(ญวนเหนือ)  แต่พระราชพงศาวดารฉบับนี้กลับกล่าวถึงเรื่องราวในกรุงเทพมหานครดังต่อต่อไปคือ

           “ในปีวอกจุลศักราช ๑๑๖๒ (พ.ศ.๒๓๔๓) วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ เวลา ๕ โมงเศษ  ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่วัดสามปลื้ม  แล้วลุกลามไหม้ตลอดไปจนถึงตลาดน้อยวัดสามเพ็ง

          *** ท่านผู้อ่านครับ  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงฯทรงชำระ  กับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)  มีความตรงกันทั้งหมด  ให้แต่เพียงเรื่องย่อ ๆ  ไม่มีรายละเอียดของเรื่องการจัดงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค์ ว่ามีการตั้งพระเมรุพระราชทานเพลิงที่ใดหรือไม่อย่างไร

          สงครามการรบระหว่างองเชียงสือกับญวนไกเซินมีผลลงเอยเป็นเช่นไร  กองทัพเขมรที่พระยากลาโหม(พรหม)ยกไปตีเมืองแง่อานนั้นเป็นอย่างไร  ไม่มีรายละเอียดในพระราชพงศาวดารนี้เช่นกันครับ

          ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔๓ เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชนชาวจีน  ตั้งแต่วัดสามปลื้ม(จักรวรรดิราชาวาส) ลามไปถึงวัดสำเพ็ง (คงคาราม=ปทุมคงคาราม) ตลาดน้อยนั้น  ไม่มีรายละเอียดเช่นกัน  แม้เรื่องนี้ไม่มีรายละเอียดในพระราชพงศาวดารฯ แต่ก็มีตำนานบอกเล่าถ่ายทอดสืบกันมาปากต่อปากพิสดารพันลึกมาก  ย่านชุมชนชาวจีนตั้งแต่วัดสามปลื้มไปถึงสำเพ็งตลาดน้อย  อาคารบ้านเรือนร้านค้าสวนใหญ่ทำด้วยไม้จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี  เมื่อเกิดเพลิงไหม้ลุกลามใหญ่โต  การดับเพลิงที่ทำกันได้อย่างดีที่สุด  คือการช่วยกันเอาน้ำมาสาดใส่กองเพลิง  แล้ว “น้ำน้อยแพ้ไฟ” ชนชาวจีนพากันอุ้มลูกจูงหลาน  แบกขนข้าวของเท่าที่จะเอาไปได้  พากันหนีไฟอย่างโกลาหล  สับสนอลหม่านจนเกิดที่มาของคำว่า  “เจ๊กตื่นไฟ”  แต่นั้นมา

          เรื่องราวในพระราชพงศาวดารจะมีอะไรอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาเปิดอ่านกันต่อครับ


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, สิงหาคม, 2562, 10:16:54 PM
(https://i.ibb.co/x1VG5Bc/20190311-112808.jpg) (https://imgbb.com/)


- บูรณะวัดโพธาราม -

ทรงบูรณะวัดโพธิ์ขึ้นโตใหญ่
อยู่ด้านใต้พระราชวังนั่น
ถือได้ว่าเป็นอาวาสอัศจรรย์
ราวสวรรค์บนดิน ณ ถิ่นไทย


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ในเวลาไร่เรี่ยกัน  ทรงโปรดให้สร้างพระโกศ ๘ เหลี่ยมยอดมณฑปทำด้วยไม้ ๒ พระโกศ ชื่อกุดั่นใหญ่ ๑  กุดั่นน้อย ๑  ในการพระศพนี้เจ้าอนัมก๊กจัดถวายเครื่องในการพระศพ  จากนั้นโปรดให้เขมรจัดกองทัพไปช่วยองเชียงสือรบญวนไกเซิน รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๓๔๓ เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่  เริ่มต้นเพลิงที่วัดสามปลื้มแล้วลามไปถึงวัดสำเพ็ง ตลาดน้อย  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารกันต่อไปครับ

          * “ แล้วความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวย้อนกลับไปถึง  “เมื่อปีระกา จุลศัก ราช ๑๑๕๑ นั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรเห็นวัดโพธารามเก่าชำรุดปรักหักพังเป็นอันมาก  จึงทรงมีพระราชศรัทธาจะสร้างให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า  พื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น  ทรงให้ขอแรงคน ๑๐,๐๐๐ เศษ  ช่วยกันขนดินมาถมจนเต็มแล้ว  รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบลุ่มไป  จึงให้ซื้อมูลดินถม  สิ้นพระราชทรัพย์ ๒๕๐ ชั่ง ๑๕ ตำลึง  จึงให้ปราบที่พูนมูลดินเสมอดีแล้ว  ถึงวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี ฉลู จุลศักราช ๑๑๕๕  ทรงให้จับการปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถ  มีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุล้อมรอบ  พื้นในกำแพงแก้วระหว่างพระระเบียงชั้นในก่ออิฐ ๕ ชั้น  แล้วดาดปูนทำพระระเบียงล้อม ๒ ชั้น  ผนังระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุ  ผนังห้องพระระเบียงเขียนลายแย่ง  มุมพระระเบียงนั้นเป็นจัตุรมุขทุกชั้น  มีพระวิหาร ๔ ทิศ  บรรดาหลังคาพระอุโบสถ  พระวิหาร  พระระเบียงนั้น  มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง  สีเขียวสิ้น  ตรงพระวิหารทิศตะวันตกออกไป  ให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่กว้าง ๑๐ วา  ลึก ๕ ศอก  ดอกเข็มเอาอิฐหักกระทุ้งให้แน่น แล้วเอาไม้ตะเคียนยาว ๙ วา  หน้าศอกจตุรัส  เรียงระดับประกับกันตาราง ๒ ชั้น  แล้วจึงเอาเหล็กดอกเห็ดใหญ่ยาว ๒ ศอก ตรึงตลอดไม้แกงแนง ๒ ชั้น  หว่างช่องแกงแนงนั้นเอาอิฐหักทรายถมกระทุ้งให้แน่นดี

          รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ เวลาเช้า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์  เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตโหราจารย์  มายังที่ลานพระมหาเจดีย์  จึงให้ชักชะลอพระพุธปฏิมากรทรงพระนามพระศรีสรรเพชญซึ่งชำรุด  รับมาแต่กรุงเก่า  เข้าวางบนราก  ได้ศุภฤกษ์ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางคดนตรีพิณพาทย์  เสด็จทรงวางอิฐทอง  อิฐนาก  อิฐเงิน ก่อราก  ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงก็ระดมกันก่อฐานกว้าง ๘ วา  ถึงที่บรรจุ  จึงเชิญพระบรมธาตุ  และฉลองพระเขี้ยวแก้วองค์ ๑  พระเขี้ยวทององค์ ๑  พระเขี้ยวนากองค์ ๑  บรรจุในห้องพระมหาเจดีย์  แล้วก่อสืบไปจนสำเร็จ  ยกยอดสูง ๘๒ ศอก  ทำพระระเบียงล้อม ๓ ด้าน  ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกียรติ์ จึงถวายนามว่าพระเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ  ตามพระนามพระพุทธปฏิมากรซึ่งฝังไว้ในพระเจดีย์นั้น

          และพระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชญนี้  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช ๘๓๒ ปี เ ป็นพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา  หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มทองคำทั้งองค์  ประดิษฐานไว้ในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงเก่า  เมื่อกรุงเสีย  พม่าลอกทองคำที่หุ้มพระองค์ไปหมด  ภายหลังพระอารามนั้นทิ้งร้าง  พระวิหารพังทับพระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชญแตกหักบุบสลายมาก  เมื่อทรงสร้างวัดพระเชตุพน  โปรดให้เชิญลงมา  หมายจะทรงปฏิสังขรณ์ให้เป็นรูปดีดังเก่าอย่างพระโลกนาถ  แต่พระศรีสรรเพชญชำรุดมากนัก  จะปฏิสังขรณ์ให้คงตามรูปเดิมไม่ได้  จึงทรงพระราชดำริจะเอาทองรวมหลอมหล่อพระพุทธรูปขึ้นใหม่  ครั้นมีพระราชปุจฉาแก่พระสงฆ์ราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน พร้อมกันถวายพระพรว่า  ที่จะเอาทองอันเป็นพระพุทธรูปอยู่แล้วกลับหลอมหล่อใหม่เห็นไม่สมควร  จึงโปรดให้เชิญเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์  และในวงพระระเบียงรอบพระอุโบสถชั้นในมีพระมหาธาตุ ๔ ทิศ  นอกพระระเบียงชั้นนอกหว่างพระวิหารคดนั้น  มีพระเจดีย์ฐานเดียว ๕ พระองค์  ๔ ทิศ ๒๐ พระองค์  รวมกันทั้งพระมหาเจดีย์ใหญ่พระมหาธาตุเป็น ๒๕ พระองค์  บรรจุพระบรมธาตุสิ้นทุกพระองค์  และมีพระวิหารคด ๔ ทิศ  กำแพงแก้วคั่น  ประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบ ๒ ประตู  มีรูปสัตว์ประตูละคู่

          ทำหอไตรมุงกระเบื้องหุ้มดีบุก  ฝาและเสาปิดทองลายรดน้ำ  และตู้รูปปราสาทไว้คัมภีร์พระปริยัติไตรปิฎกทำการเปรียญ  หอระฆัง  พระวิหารน้อยซ้ายขวา  สำหรับทายกไหว้พระพุทธรูป  ขุดสระน้ำ  ปลูกพรรณไม้  ศาลาราย ๕ ห้อง ๗ ห้อง ๙ ห้อง  เป็น ๑๗ ศาลา  เขียนเรื่องพระชาดก ๕๕๐ ชาติ  ตั้งตำรายาและฤๅษีดัดตนไว้เป็นทาน  ทำกำแพงแก้วล้อมรอบนอก  มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องถ้วย ๔ ประตู  มีรูปอสูรประจำประตูละคู่  มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบ ๙ ประตู  ทั้งประตูกำแพงคั่น ๒ เป็น ๑๑ ประตู  มีรูปสัตว์ประตูละคู่  เป็นรูปสัตว์ ๒๒ รูป  แล้วทำตึกและกุฎีสงฆ์หลังละ ๒ ห้อง ๓ ห้อง ๔ ห้อง ๕ ห้อง ๖ ห้อง ๗ ห้อง  ฝากระดานพื้นกระดานมุงกระเบื้อง  เป็นกุฎี ๑๒๙ หลัง  ทำหอฉัน  หอสวดมนต์  ศาลาต้มกรัก  ตากผ้า  สระน้ำ  ทำกำแพงล้อมกุฎีอีกวง ๑  และริมฝั่งน้ำนั้นมีศาลา ๓ หน้า  ต้นสะพานพระสงฆ์สรงน้ำ  ทำเว็จ  กุฎี ๔ หลัง  ในพระอุโบสถ  พระวิหาร  พระระเบียงนั้น  เชิญพระพุทธปฏิมากรหล่อด้วยทองเหลือง  ทองสัมฤทธิ์  ซึ่งชำรุดปรักหักพังอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก  เมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  เมืองลพบุรี  กรุงเก่า  วัดศาลา ๔ หน้า  กรุงเทพฯ ใหญ่น้อย ๑,๒๔๘ พระองค์  ลงให้ช่างต่อหล่อพระศอ  พระเศียร  พระหัตถ์  พระบาท  แปลงพระพักตร์พระองค์ให้งาม  แล้วประดิษฐานไว้ตามที่อันสมควร…”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  ผมยกรายละเอียดเรื่องการปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือวัดพระเชตุพนฯให้อ่านทั้งหมด  ท่านอ่านแล้วมองเห็นความยิ่งใหญ่อลังการของวัดนี้ไหมครับ  เฉพาะในเขตพุทธาวาสนั้น  มีสิ่งที่เรียกว่า  พิเศษ  ก็เห็นจะเป็นตำรายาและรูปปั้นฤๅษีดัดตน  ซึ่งให้คุณประโยชน์แก่สาธารชนตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงกาลปัจจุบัน  และน่าจะถือได้ว่าเขตพุทธาวาสของวัดโพธารามนี้เป็นเสมือน  “กรุพระพุทธรูป” ใหญ่ที่สุดของประเทศก็ว่าได้  เพราะเก็บรวบรวมพระพุทธรูปองค์สมบูรณ์และองค์ชำรุดต่าง ๆ มาซ่อมแซมตั้งไว้จำนวนมากถึง ๑,๒๔๘ องค์ทีเดียว  ในเขตสังฆาวาสก็ใหญ่โต  เพราะมีกุฏีสงฆ์มากถึง ๑๒๙ หลัง  บริเวณที่เรียกว่า  “ท่าเตียน” ในปัจจุบันนั้น มีศาลา ๓ หน้าสำหรับพระสงฆ์ใช้เป็นที่พักลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย  เรื่องของวัดโพธิ์ยังไม่จบ  วันพรุ่งนี้ผมจะนำความในพระราชพงศาวดารฯนี้มาให้อ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, สิงหาคม, 2562, 10:10:46 PM
(https://i.ibb.co/VNWB2JS/20190311-114129.jpg) (https://imgbb.com/)


- พระพุทธรูปวัดโพธิ์มีที่มา -

ให้ซ่อมแซมบูรณะพระพุทธรูป
ทั้งก่อกูบกุฏิ์สงฆ์หลังน้อยใหญ่
เป็นอารามงามตระการเบิกบานใจ
แก่ผู้ได้พบเห็นเป็นบุญตา

          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม  แล้วรวบรวมพระพุทธรูปองค์ที่สมบูรณ์และองค์ที่ชำรุดไปไว้ในวัดโพธาราม โดยองค์ที่ชำรุดนั้นก็จัดการบูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์ องค์ที่ซ่อมไม่ได้มีอยู่องค์เดียวคือ  พระศรีสรรเพชญจากกรุงเก่า  ทรงนำลงฝังไว้ใต้พระเจดีย์ศรีสรรเพชญ  พระพุทธรูปต่าง ๆ นั้นทรงนำไปจาก พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย ลพบุรี กรุงเก่าอยุธยา  หลายองค์มีประวัติที่น่าศึกษาจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระดังต่อไปนี้

          * “พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลา ๔ หน้า หน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว  เชิญมาปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ  บรรจุพระบรมธาตุ  ถวายพระนามว่า  พระพุทธเทวปฏิมากร  และผนังพระอุโบสถเขียนเรื่องทศชาติ ทรมานท้าวมหาพรหมและเทพชุมนุม

          พระพุทธรูปยืนสูง ๒๐ ศอก  ทรงพระนามว่าพระโลกนาถศาสดาจารย์  ปรักหักพัง  เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชญกรุงเก่า  ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลังบรรจุพระบรมธาตุด้วย  ผนังเขียนพระโยคาวจรพิจารณา อศุภ ๑๐  และอุปมาญาณ ๑๐

          พระพุทธรูปวัดเขาอินทร์  เมืองสวรรคโลก  หล่อด้วยนาก  หน้าตัก ๓ ศอกคืบ  หากรมิได้  เชิญลงมาปฏิสังขรณ์ด้วยนาก  เสร็จแล้วประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก  บรรจุพระบรมธาตุ  ถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้มหาโพธิ์ มี ต้นพระมหาโพธิ์ด้วย  และผนังนั้นเขียนเรื่องมารผจญ

          พระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก ๕ นิ้ว  เชิญลงมาแต่กรุงเก่า  ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศใต้  ถวายพระนามว่าพระพุทธเจ้าเทศนาพระธรรมจักร  มีพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วย  และผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักร  และเทศนาดาวดึงส์

          พระพุทธรูปหน้าตัก ๓ ศอกคืบ ๔ นิ้ว  เชิญมาแต่เมืองลพบุรี  ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตก  บรรจุพระบรมธาตุ  ถวายพระนามว่าพระนาคปรก  มีพระยานาคแผลงฤทธิ์เลิกพังพาน   มีต้นจิกด้วย  และผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกศธาตุ

          พระพุทธรูปหล่อใหม่สูง ๘ ศอก ๕ นิ้ว  ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศเหนือ  บรรจุพระบรมธาตุ  ถวายพระนามว่าพระปาเลไลยก์  มีช้างถวายคณฑีน้ำ  มีวานรถวายรวงผึ้ง  และผนังนั้นเขียนไตรภูมิ  มีเขาพระสุเมรุราช  และเขาสัตตบริภัณฑ์ ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ และ  เขาพระหิมพานต์สระอโนดาดและปัญจมหานที

          พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่า  หน้าตัก ๔ ศอก  เชิญเข้าประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในการเปรียญ  แล้วจัดพระพุทธรูปไว้ในพระระเบียงชั้นในชั้นนอก  และพระวิหารคด  เป็นพระพุทธรูปมาแต่หัวเมืองชำรุด  ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ๖๘๙ พระองค์  พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูนสำหรับพระอารามชำรุดอยู่ ๑๘๓ พระองค์  รวมกันเป็นพระพุทธรูปและพระอรหันต์ ๘๗๒ พระองค์   ลงรักปิดทองสำเร็จ  เหลือนั้นข้าทูลละอองธุลีพระบาทสัปบุรุษชายหญิงรับไปบูรณะไว้ในพระอารามอื่น

          การฐาปนาพระอาราม ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงสำเร็จ  สิ้นพระราชทรัพย์แต่ที่จำได้  คิดค่าดินถม  อิฐ  ปูน  ไม้ขอนสัก  ไม้แก่น  เหล็ก  กระเบื้อง  พื้นไม้  จากทำโรงงาน  ร่างร้าน  เรือนข้าพระ  เสา  กระดาน  กุฎี  น้ำอ้อย  น้ำมันยาง  ชัน ดีบุก  ทองเหลือง  ทองแดง  ขี้ผึ้งหล่อฐาน  และกระจก  น้ำรัก  ทองคำ  กระดาษ  ชาด  เสน  เครื่องเขียน  รง  ดินแดง  พระราชทานช่าง  เลี้ยงพระสงฆ์  เลี้ยงช่าง  ช่วยคนชายฉกรรจ์ ๑๖ สำมะโนครัว ๑๒๔ คน เป็นเงิน ๙๕ ชั่ง ๑๑ ตำลึง สักแขนขวาถวายเป็นข้าพระขาดไว้ในพระอาราม

          ตั้งหลวงพิทักษ์ชินสีห์เจ้ากรม    ขุนภักดีรสธรรมปลัดกรม  ควบคุมข้าพระและรักษาพระอาราม  รวมพระราชทรัพย์ทั้งสิ้นที่สร้างและช่วยคนเป็นเงินตรา ๓,๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง

          แล้วทรงพระกรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่งทรงพระพุทธรูปในพระวิหารทิศ  พระระเบียงพระวิหารการเปรียญพระมหาธาตุ  พระเจดีย์ใหญ่น้อย  สิ้นแพร ๑๐๐ พับ  แต่พระพุทธเทวปฏิมากรในพระอุโบสถ  ทรงผ้าสีทับทิมชั้นใน  ตาดชั้นนอก”

          ** อ่านพระราชพงศาวดารฯมาถึงตรงนี้แล้วได้ทราบว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑  โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปต่าง ๆ มาจาก เมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) สุโขทัย พิษณุโลก ลพบุรี กรุงเก่าอยุธยา เป็นจำนวนมาก  ด้วยในยามนั้นเมืองดังกล่าวมีสภาพเป็นเมืองร้างไร้คนทะนุบำรุงรักษาดูแล  มีองค์หนึ่งอัญเชิญจากวัดศาลาสี่หน้า คือวัดคูหาสวรรค์ กรุงธนบุรี  คือองค์ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

          พระพุทธรูปที่ชำรุดก็โปรดให้ช่างทำการบูรณะซ่อมแซมให้บริบูรณ์  เช่นพระโลกนาถศาสดาจารย์ยืน สูง ๒๐ ศอก เชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชฌ์กรุงเก่า  พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย  เนื้อหล่อด้วยนาก จากวัดเขาอินทร์  เมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก)  พระพุทธรูปปางนาคปรก  เชิญมาจากลพบุรี เป็นต้น

          รวมพระพุทธรูปที่โปรดให้อัญเชิญมาแล้วปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่  ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญ  พระระเบียงชั้นใน ชั้นนอก  พระวิหารคดรวม ๖๗๙ องค์  พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูน  ชำรุดอยู่ ๑๘๓ องค์  รวมกันเป็นพระพุทธรูปและพระอรหันต์ ๘๗๒ องค์  ลงรักปิดทองสำเร็จ  ประดิษฐานไว้ในวัดโพธาราม  เหลือนั้นอีกจำนวนมาก  มอบให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและสัปบุรุษชายหญิงรับไปบูรณะไว้ในอารามอื่น

          ทรงสิ้นพระราชทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปเป็นเงินตรา ๓,๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง

          พรุ่งนี้มาอ่านความกันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, สิงหาคม, 2562, 10:21:05 PM
(https://i.ibb.co/RBN0cgT/20190311-113248.jpg) (https://imgbb.com/)


- ขนานนามวัดพระเชตุพนฯ -

สร้างเสร็จสรรพจับการงานสมโภช
แล้วทรงโปรดตั้งนามอารามสง่า
“พระเชตุพนวิมลมังคลา-
ราม”สมญาวัดโพธิ์อันโอฬาร


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑  ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม  อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดร้างในเมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก)  สุโขทัย  ลพบุรี  กรุงเก่าศรีอยุธยา มาประดิษฐานไว้วัดโพธาราม  องค์ที่ชำรุดก็โปรดให้ช่างทำการบูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์งดงาม  ประดิษฐานไว้ในวัดโพธารามรวม ๘๗๒ องค์  ที่เหลือนอกนี้อีกจำนวนมาก  มอบให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและสัปบุรุษรับไปบูรณะไว้ในอารามต่างทั่วกรุงเทพมหานคร  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อการนี้รวมทั้งสิ้น ๓,๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ

          * “ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓  ให้ตั้งการฉลอง  อาราธนาพระราชาคณะฐานานุกรม  อธิการอันดับ  ฝ่ายคันถธุระ  วิปัสสนาธุระ ๑,๐๐๐ รูป  พร้อมกันในพระอุโบสถ  เวลาบ่ายแล้ว ๔ โมง ๕ บาท  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช  พระราชวงศานุวงศ์  เสนาพฤฒามาตย์ ราชปโรหิตาจารย์  มายังพระอุโบสถ  ทรงสมาทานพระอุโบสถศีลแล้ว  หลั่งอุทิโสทกลงเหนือพระหัตถ์พระพุทธปฏิมากร  ถวายพระอารามตามบาลีแก่พระสงฆ์  มีองค์พระพุทธปฏิมากรเป็นประธาน  และพระราชทานนามพระอารามว่า  “วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม”  มอบถวายสมเด็จพระวันรัตน  พิพัฒนญาณ  อดุลยสุนทรนายก  ปิฎกธรามหาคณิศร  บวรทักขิณาคณะสังฆาราม  คามวาสี  สถิตในวัดพระเชตุพน  แล้วถวายแด่พระพุทธปฏิมากร  แพรยกไตร ๑ บาตรเหล็ก  เครื่องอัฐบริขารพร้อมย่ามกำมะหยี่  เครื่องย่ามพร้อมพัดแพร  ร่มแพร  เสื่ออ่อน  โอเถา  โอคณะ  กาน้ำ  ช้อนมุก  ขวดแก้วเต็มด้วยน้ำผึ้ง  น้ำมันมะพร้าว  น้ำมันยา  กลัก  ธูป  เทียน  สิ่งละ ๑๐๐  ไม้เท้า  สายระเดียง  พระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูปได้รับไทยทานทั่วกันทุกรูป

          ครั้นจบพระบาลีที่ทรงถวายพระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน  ประโคมดุริยางคดนตรีแตรสังข์ฆ้องกลอง  สนั่นไปด้วยศัพทสำเนียงกึกก้องโกลาหล  พระสงฆ์รับไทยทานแล้วไปสรงน้ำ  ครองผ้าไตร  มาสวดพระพุทธมนต์เวลาเย็นวันละ ๑,๐๐๐ รูป  ปฏิบัติสงฆ์ฉันเช้า เพล ๓ วัน ๑,๐๐๐ รูป  ถวายกระจาดทุกองค์  ให้มีพระธรรมเทศนาบอกอานิสงส์ทุกวัน  แล้วปฏิบัติพระสงฆ์ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนตรัย  ฉันเช้าทั้ง ๗ วัน  เป็นพระสงฆ์ ๖๒๔ รูป  ถวายผ้าสบงทุกองค์  ถวายบาตรเหล็กซึ่งพระสงฆ์ไม่มีครอง  แล้วถวายกระจาด  เสื่อ  ร่ม  รองเท้า  ธูป  เทียน  ไม้เท้า  แล้วให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง  แลมีโขนอุโมงค์โรงใหญ่  หุ่น  ละคร  มอญรำ  ระบำ  โมงครุ่ม  คุลาตีไม้  ปรบไก่  งิ้วจีน  ญวนหกคะเมน  ไต่ลวด  ลอดห่วง  รำแพน  นอนหอก  นอนดาบ  โตล่อแก้ว  และมวย

          เวลากลางคืนประดับไปด้วยประทีปแก้ว  ระย้าแก้ว  โคมพวง  โคมราย  และดอกไม้รุ่งสว่างไปทั้งพระอาราม  แล้วให้มีหนังคืนละ ๙ โรง  มีดอกไม้เพลิงคืนละ ๒๐๐ พุ่ม  ระทาใหญ่ ๘ ระทา  พลุ  ประทัด  พะเนียง  ดอกไม้ม้า  ดอกไม้กระถาง  ดอกไม้กลต่าง ๆ  และมังกรล่อแก้ว  ญวนรำโคม  เป็นที่โสมนัสบูชาโอฬารึกวิเศษ  เป็นพระราชทรัพย์ทิ้งทาน  ต้นกัลปพฤกษ์  ฉลากพิกัดราคา  พระราชบุตรา  และพระราชบุตรี  พระราชภาคิไนยราช  และนางพระสนม  ราชกุญชร  อัสดร นาวา  ฉลากละ ๕ ชั่ง ๔ ชั่ง ๒ ชั่ง เป็นเงินตรา ๓๓๘ ชั่ง  เงินเข้าผลมะนาว ๑๖๘ ชั่ง  รวมกับเงินทิ้งทานเป็นเงินตรา ๕๐๖ ชั่ง  คิดทั้งเงินราคาผ้าทรงพระ  ค่าดอกไม้สดบูชา  เลี้ยงพระสงฆ์กระจาด  และโรงฉ้อทาน  เครื่องไทยทาน  ทำเครื่องโขน  โรงโขน  เครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ  พระราชทานการมหกรรมสมโภชและถวายระย้าแก้ว  โคมแก้วบูชาไว้ในพระอาราม  เป็นเงินตราในการฉลอง เงิน ๑,๙๓๐ ชั่ง ๔ ตำลึง  คิดรวมกันทั้งสร้างเป็นพระราชทรัพย์ เงิน ๕,๘๑๑ ชั่ง

          ครั้นเสร็จการฉลองพระอารามแล้ว  ภายหลังทรงพระกรุณาให้เชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒  ซึ่งสถิตในพระวิหารฝ่ายทักษิณทิศ  และประจิมทิศนั้น  ขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์  แล้วให้เชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ซึ่งเชิญมาแต่เมืองสุโขทัย  หน้าตัก ๖ ศอกคืบกับนิ้ว ๑ เท่ากัน  พระองค์ ๑   ทรงพระนามว่าพระพุทธชินราช ประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารทักษิณทิศ    พระองค์ ๑ ทรงพระนามพระพุทธชินสีห์ประดิษฐานไว้แทนที่ฝ่ายประจิมทิศคงดังเก่า”

          **ท่านผู้อ่านครับ  อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาจบลงตงนี้พร้อมกับปัญหาเกิดขึ้น  กล่าวคือ  เมื่อฉลองวัดพระเชตุพนฯเสร็จแล้ว  โปรดให้เชิญพระพุทธเจ้าเทศนาธรรมจักรในพระวิหารทิศใต้  และ  พระนาคปรกในพระวิหารทิศตะวันตก ไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์(คือวัดมหาธาตุฯปัจจุบัน)
          แล้วเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย ๒ พระองค์ คือ พระพุทธชินราช เข้าประดิษฐานในพระวิหารทิศใต้  เชิญพระพุทธชินสีห์เข้าประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันตก  แทนที่ทั้ง ๒ องค์ที่เชิญออกไป

          ปัญหาก็เกิดขึ้นว่า  พระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์  นั้น  เป็นพระพุทธรูปประจำอยู่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  หรือวัดใหญ่พิษณุโลก  ไม่ใช่พระพุทธรูปจากสุโขทัย  ถ้าถือเอาความตามนี้ก็เป็นอันว่า  พระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปอยู่เมืองสุโขทัย  ถูกอัญเชิญลงไปประดิษฐานไว้ในวัดพระเชตุพนฯ  ในสมัยรัชกาลที่ ๑  แล้วถ้าอย่างนั้นท่านกลับขึ้นมาอยู่พิษณุโลกได้อย่างไร  เมื่อไร ??  ปัญหานี้ผมจนปัญญาจะหาคำตอบได้  ใครรู้ช่วยบอกเอาบุญด้วยเถิด.

          พรุ่งนี้มาอ่านความกันต่อไปนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กันยายน, 2562, 10:25:07 PM
(https://i.ibb.co/JmXTRdc/K7677562-0.jpg) (https://imgbb.com/)


- องเชียงสือได้ครองบัลลังก์ -

องเชียงสือเป็นสิงห์ยิ่งกว่าเสือ
เป็นใหญ่เหนือญวนแจ้งทุกแห่งหน
ยึดกุยเยิน,เว้,ตังเกี๋ยหมดญวนบน
ประกาศตนตั้งวงศ์ว่า“ยาลอง”

เป็นพระเจ้าแผ่นดินปิ่นประเทศ
อาจเป็นเหตุให้ยิ่งหยิ่งผยอง
เคยขอโน่นให้นี่ที่สมปอง
ดอกไม้ทองเงินใดไม่ส่งเลย


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบูรณะวัดโพธารามจนเสร็จสิ้น  ได้ฉลองมหรสพสมโภชและพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม”  วันนี้มาดูความพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓  เวลายามเศษ  ได้เกิดเพลิงไหม้พระมณฑปวัดพระศรีสรรเพชญ์ (คือวัดมหาธาตุฯปัจจุบัน)  เหตุเพราะสามเณรจุดดอกไม้เพลิงเล่นกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จด่วนเข้าช่วยดับเพลิง  สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงพระพิโรธมาก  หลังจากได้สอบสวนคดีแล้ว  ทรงให้สึกสามเณรแล้วจะประหารชีวิตเสีย  สมเด็จพระสังฆราชถวายพระพรขอชีวิตไว้  ก็โปรดยกโทษพระราชทานให้  ภายหลังเติบโตขึ้นอุปสมบทแล้ว  ได้ไปเป็นพระครูอยู่วัดเมืองสมุทรปราการ  ส่วนพระมณฑปนั้นก็โปรดให้ทำเป็นหลังคา จัตุรมุขมิได้ทำเครื่องยอดตามเดิม

          * “ปีจอ จุลศักราช ๑๑๖๔ (พ.ศ. ๒๓๔๕)  เจ้าอนัมก๊กมีราชสาส์นเข้ามาฉบับ ๑  ใจความว่า  พระยากลาโหมเขมร ซึ่งยกกองทัพไปช่วยตีกองทัพไกเซินที่ล้อมเมืองกุยเยินนั้น  องเชียงสือได้จัดให้พระยากลาโหมตั้งค่ายล้อมอยู่กอง ๑  หาได้ใช้ให้รบพุ่งกันเหมือนกองทัพญวนไม่  มีขุนนางเขมรพวกพระยากลาโหมหลายคนแจ้งแก่เจ้าอนัมก๊กว่า  พระยากลาโหมไม่ซื่อตรงต่อเจ้าอนัมก๊ก  มีหนังสือลับไปถึงวิตีเขาดึง  วิตีโดยวง ขุนนางพวกไกเซินซึ่งล้อมเมืองกุยเยิน   เจ้าอนัมก๊กทราบแล้วก็ไม่อาจทำอะไรได้  ครั้นตีได้เมืองกุยเยินแล้ว  งุยทำดกเวียนที่ถูกจับตัวได้บอกว่า  เมื่อคราวที่พระยากลาโหมมีหนังสือลับไปถึงวิตีเขาดึง วิตีโดยวง นั้น  งุยทำดกเวียนเป็นผู้แปลหนังสือลับ  ก็สอดคล้องต้องกันกับคำเขมรที่แจ้งความแก่เจ้าอนัมก๊ก  เมื่อพระยากลาโหม  เขมรมีชื่อ  ยกกองทัพกลับมานั้น  เจ้าอนัมก๊กก็ได้จัดเงินทองแจกจ่ายแก่พระยากลาโหมและเขมรมีชื่อด้วย  แต่พระยากลาโหมคุมกองทัพกลับเมืองเขมรเสีย

          ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  มีพระราชดำรัสให้พระยาพระคลังมีหนังสือตอบไปถึงเจ้าอนัมก๊กใจความว่า  ซึ่งเจ้าอนัมก๊กมีหนังสือเข้าไปว่า  ได้ยกทัพบก  ทัพเรือ  ไปตีเมืองกุยเยินได้  แล้วบัดนี้จะยกกองทัพไปตีเมืองตังเกี๋ย  เมืองเว้ นั้น  ถ้าราชการหนักเบาประการใดจงบอกเข้ามาให้แจ้ง  และซึ่งพระยากลาโหมเขมรมิได้ซื่อตรงต่อเจ้าอนัมก๊ก  ความข้อนี้  นักเตียง  นักเภา  เขมรมีชื่อ ๕ คนในกองทัพพระยากลาโหม  หนีเข้ามาให้กราบบังคมทูลกระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า  เจ้าอนัมก๊กจับพระยากลาโหม  ว่าพระยากลาโหมมีหนังสือลับถึงแม่ทัพไกเซิน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่าจริงหรือไม่จริง

          เขมรมีชื่อกราบทูลว่าจริง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบอยู่แล้ว  ถึงพระยากลาโหมจะเข้ามากราบทูลประการใดก็หาทรงเชื่อไม่  อย่าให้เจ้าอนัมก๊กวิตกเลย  และพระยากลาโหมทำทั้งนี้โทษผิดหนักหนา  เจ้าอนัมก๊กอดออมไม่ถือโทษแล้ว  ซ้ำให้เงินทองแก่พระยากลาโหมเขมรมีชื่ออีกนั้น  ขอบพระทัยเจ้าอนัมก๊กยิ่งนัก  เมื่อพระยากลาโหมเข้ามาแจ้งราชการ ณ กรุงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทำโทษ

          ในปีนั้นเจ้าอนัมก๊กมีราชสาส์นส่งมาทางเวียงจันทน์อีกฉบับ ๑  บอกว่า  ได้เมืองเว้เมื่อ ณ เดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑   ได้เมืองตังเกี๋ย เมื่อ ณ เดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ   ยกตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่  ใช้ยี่ห้อว่า ยาลองปีที่ ๑  ลงชื่อในพระราชสาส์นว่า  ดึกกวางเทือง  ตั้งแต่นั้นก็มิได้ส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามาเหมือนแต่ก่อน”

          * ท่านผู้อ่านครับ  ชื่อ  “ท่าช้าง”  อันเป็นท่าเรือริมน้ำเจ้าพระยาอยู่เหนือท่าราชวรดิตถ์นั้น  เห็นทีว่าจะได้มาจากการที่ได้นำช้างพังเผือกจากป่าภูเขียวใส่แพ  ล่องลงมาตามลำน้ำป่าสัก  ออกเจ้าพระยามาถึงกรุงเทพมหานคร  แล้วขึ้นบกตรงท่าน้ำนี้เอง  ช้างพังเผือกเชือกนี้ได้รับพระราชทานนามไพเราะมากทีเดียว  โดยขนานนามว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมเรศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์วิลัยลักษณเลิศฟ้า  ไม่ไกลจากท่าช้างนัก  คือวัดพระศรีสรรเพชญ์  หรือวัดมหาธาตุฯในปัจจุบัน  อันเป็นพระอารามประจำพระองค์ในสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ  เกิดเพลิงไหม้พระมณฑป  หลังจากรับและสมโภชนางพระยาช้างเผือกได้ไม่นาน

          องเชียงสือที่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯตรัสในคราวที่หนีจากกรุงเทพมหานครไปนั้นว่า  บุคคลผู้นี้ไว้วางใจมิได้ก็เริ่มจะเห็นลายแล้ว  กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ นั้น  องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครในการทำศึกกับญวนไกเซินตลอดมา  จนรบชนะไกเซิน  ยึดครองเมืองกุยเยิน  เมืองเว้  เมืองตังเกี๋ยได้   แล้วตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินญวน  เป็นใหญ่สมตามความประสงค์จากนั้นเป็นต้นมา  ก็ไม่ได้ส่งต้นไม้ทองเงินและเครื่องบรรณาการมากรุงเทพมหานครอีกเลย  ก็เป็นอันวาทางเมืองญวนก็เรียบร้อยองเชียงสือไปแล้ว  แต่ทางเมืองไทยยังไม่เรียบร้อย  เพราะพม่าข้าศึกคู่รักคู่แค้นของไทยเริ่มก่อสงครามอีกแล้ว  เรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, กันยายน, 2562, 11:24:55 PM
(https://i.ibb.co/hsP0GK8/Usfan-titled-8.jpg) (https://imgbb.com/)


- ศึกพม่าเริ่มอีกแล้ว -

พม่ายกมาล้อมเมืองเชียงใหม่
เป็นทัพใหญ่เจ็ดกอง อย่างเปิดเผย
ตั้งค่ายล้อมพร้อมรบครบอย่างเคย
ไทยอยู่เฉยอย่างไรเมื่อภัยมา

กรมพระราชวังบวรฯทรงร้อนรุ่ม
เร่งควบคุมกองทัพอันแกร่งกล้า
เสด็จถึงเมืองเถินเกิดโรคา
พักรักษาวรกายไปไม่ทัน

สั่งลูกทัพเดินทางอย่างเร่งด่วน
ทุกกระบวนทัพขออย่าย่อยั่น
ไล่พม่าอริราชพินาศพลัน
อย่าให้มันราวีย่ำยีไทย


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้  ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  องเชียงสือได้ฟ้องมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามว่า  พระยากลาโหมมิได้ช่วยรบ  หากแต่ไปเข้าข้างญวนไกเซิน  ทรงให้ตอบไปว่าจะจัดการลงโทษพระยากลาโหมตามควร  จากนั้น  องเชียงสือมีหนังสือมากราบทูลว่า  ได้ยกกองทัพไปตีละยึดเมืองกุยเยิน  เมืองเว้  และ  ตังเกี๋ย  ได้ทั้งหมดแล้ว  และได้ยกตนขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ใช่ยี่ห้อว่า  ยาลอง ปีที่ ๑  ลงชื่อในพระราชสาส์นว่า  ดึกกวางเทือง  และตั้งแต่นั้นมา  องเชียงสือ หรือ ยาลอง  ดึกกวางเทือง  ก็มิได้ส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงสยามอีกเลย  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) ต่อไปครับ

          * “ ครั้น ณ เดือน ๑๒ พม่าแต่งทูตถือหนังสือเสนาบดีเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีว่า  จะขอเจริญทางพระราชไมตรีให้ติดสนิทดุจเป็นทองแผ่นเดียวกันกับกรุงเทพ พระมหานครศรีอยุธยา  จึงมีพระราชดำรัสว่า  ซึ่งพม่ามีหนังสือมาเจรจาความเมืองว่าจะขอเจริญทางพระราชไมตรีนั้น  เห็นจะไม่จริง  มาเจรจาครั้งไรในปีนั้นก็มีศึกพม่ามาทุกครั้ง  จะไว้ใจมิได้  ก็ให้พระยากาญจนบุรีไล่เสีย  มิให้เข้ามาเห็นบ้านเมือง  และให้แต่งกองอาทมาตออกไปสืบราชการ

          ในปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๖๔ (พ.ศ. ๒๓๔๕) ปีนั้น  พระยาเชียงใหมมีใบบอกลงมาว่า  ได้แต่งกองทัพไปโจมตีเอาเมืองสาก  จับได้ตัวราชาจอมหงส์เจ้าเมือง  กับลูกชายชื่อไหมขัติยะคน ๑  ครอบครัวเมืองสาก ๕,๐๐๐ เศษ  และจับได้สุริงมะนีพม่า  ซึ่งเจ้าอังวะแต่งให้ถือหนังสือราชสาส์นไปเมืองตังเกี๋ย  กับหนังสือญวนประทับตรามาถึงพระเจ้าอังวะ ๒ ฉบับ   พระยาเชียงใหม่ให้คุมเอาตัวราชาจอมหงส์  ไหมขัติยะ  สุริงมะนี  อ้ายจเรพม่ากับหนังสือญวนลงมา  พระยาเชียงใหม่กาวิละมีหนังสือบอกซ้ำลงมาอีกว่าสืบได้ความว่า  พม่ายกกองทัพจะมาตีตีเมืองเชียงใหม่

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบตามหนังสือบอกแล้ว  ทรงพระราชดำริราชการพร้อมกันว่า  ควรจะเกณฑ์กองทัพไปรักษาเมืองเชียงใหม่  จึงดำรัสสั่งให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  คุมคนเมืองเหนือ ๘ หัวเมือง   ทัพ ๑ เจ้าอนุรุธคุมพลลาวเวียงจันทน์   ทัพ ๑ รวมกัน ๒ ทัพ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็เสด็จยกทัพขึ้นไปด้วย

          สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ สด็จไปถึงเมืองเถิน  ทรงพระประชวรพระโรคนิ่ว  พระอาการมาก  เวลามีพิษร้อนถึงต้องลงแช่อยู่ในพระสาคร  เสด็จขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่หาได้ไม่  จึงรับสั่งให้เจ้าบำเรอภูธรซึ่งเป็นกรมขุนสุนทรภูเบศร์เป็นแม่ทัพ   พระยาเสน่หาภูธรซึ่งว่าที่กลาโหม   พระยามหาวินิจฉัยซึ่งว่าที่พระยาจ่าแสนยากร   ยกขึ้นไปด้วยพระยาไกรภพ พวก ๑๐ หมู่  แลกองกลางในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  พร้อมกันยกขึ้นไปกอง ๑   และทัพสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  ยกขึ้นไปทางเมืองลี้ทางนั้นเป็นทางที่พม่ามาได้  และกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราช  ยกรีบเร่งขึ้นไป  ผู้คนในกระบวนทัพหาพร้อมกันไม่  จึงรั้งรอกระบวนทัพอยู่ให้คงลงมาเร่งกองทัพให้รีบยกขึ้นไป  พอกองทัพมาพร้อมมูลกัน  จึงยกขึ้นไป

          ที่เมืองเชียงใหม่นั้น  พระยากาวิละเจ้าเมืองรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้มั่นคง  พม่ายกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น  อินแซะหวุ่นเป็นแม่ทัพ  ชิดชิงโป่กอง ๑   ปะไลโวกอง ๑   มะเดมะโย  โกงดอรักกอง ๑  ตองแพกะเมียวุ่นกอง ๑   มะยอกแพกะเมียวุ่นกอง ๑   รวม ๗ ทัพ  ล้อมเมืองเชียงใหม่รอบทั้ง ๔ ด้าน  เสาค่ายพม่าซึ่งล้อมเมืองนั้นใหญ่ ๓ กำ  ยาว ๘ วา ลงดิน ๔ ศอก  ไว้หลังดิน ๘ ศอก  มีเอ็นร้อยตลอดกัน ๓ ชั้น  มีกรอบกันปืนและแผงบังตา  สนามเพลาะสูง ๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก ลึก ๓ ศอก  มีช่องปืนรายๆรอบค่ายไป”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  พระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้รายละเอียดกองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้มาก  เพียงแค่ชื่อแม่ทัพนายกองต่าง ๆ ก็น่าตื่นเต้นแล้ว  ยังมาให้รายละเอียดถึงการตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ของพม่าอีกเล่า  ขนาดของไม้ทำเสาค่ายทั้งใหญ่และยาว  ฝังเสาลึกเท่าไหร่  ขันสนามเพลาะ  ลึกและกว้างเท่าไหร่  ให้รายละเอียดยิบเลย

          ในขณะที่อินแซะหวุ่นแม่ทัพพม่ายกมาตั้งค่ายรายล้อมเมืองเชียงใหม่อย่างหนาแน่นนั้น  กองทัพไทยจากกรุงเทพฯก็เกิดมีปัญหา  สมเด็จพระอนุชาธิราชยกมาถึงเมืองเถินแล้วพระองค์ก็เกิดทรงพระประชวรด้วยพระโรคนิ่วอย่างหนัก  เสด็จต่อไปไม่ได้จึงตรัสให้เจ้าบำเรอภูธรนำทัพแทนพระองค์  กระบวนทัพเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อย  จนทำให้เกิดความล่าช้า  เหตุการณ์ทางเมืองเชียงใหม่นั้น  เข้าสู่สถานการณ์ที่เรียกได้คับขั้นยิ่งแล้ว   ๗ กองทัพของพม่าที่รายล้อมเชียงใหม่ดังกล่าวนี้จะยกเข้าโจมตีเชียงใหม่อย่างไร  กองทัพเมืองใต้จะยกเข้าช่วยอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, กันยายน, 2562, 10:02:55 PM
(https://i.ibb.co/DknTX5n/Un-titled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

- ตีทัพพม่าแตกยับเยิน -

อีกครั้งหนึ่งพม่ามาพ่ายแพ้
ถูกกระหน่ำย่ำแย่สุดแก้ไข
กองทัพแตกที่ตายก็ตายไป
เหลือรอดได้คั่งแค้นแสนบอบช้ำ


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้รับรู้ถึงตอนที่อินแซะหวุ่นแม่ทัพพม่า  ยกกองทัพใหญ่มาตั้งค่ายรายล้อมเมืองเชียงใหม่รอบเมืองรวม ๗ ค่าย  กองทัพจากกรุงเทพฯยกขึ้นไปช่วย  เดินทัพถึงเมืองเถิน  สมเด็จพระอนุชาธิราชฯทรงประชวรหนักด้วยพระโรคนิ่ว  เสด็จนำทัพขึ้นไปไม่ได้  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านความต่อครับ

          * “ พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่รักษาเมืองครั้งนั้นองอาจแข็งแรง  เวลาบ่ายออกเลียบเมืองตรวจตามเชิงเทิน  กองทัพลาวตามพระยาเชียงใหม่ ๑,๐๐๐ เศษเสมอทุกวัน  ครั้นพระยาเชียงใหม่ทราบว่า  สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ทรงพระประชวรเสด็จประทับรักษาพระองค์อยู่ ณ เมืองเถิน  พระยาเชียงใหมจึงให้ท้าวมหายักษ์ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแจ้งข้อราชการ  เวลากลางคืนท้าวมหายักษ์ออกมาทางประตูน้ำที่พม่าล้อมไว้มั่นคงนั้น  ออกมาได้แล้วท้าวมหายักษ์เขียนหนังสือปักไว้ว่า    “กูชื่อท้าวมหายักษ์  พระยาเชียงใหม่ใช้กูลงไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  แจ้งข้อราชการแล้วก็จะกลับเข้ามาทางประตูนี้ให้เองคอยอยู่จับกูเถิด”

          ท้าวมหายักษ์ลงมาเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เมืองเถิน  แจ้งข้อราชการว่า  ค่ายพม่าตั้งล้อมอยู่ ๗ ค่าย  ในคำพระยาเชียงใหม่สั่งลงมาให้กราบทูลพระกรุณานั้น  พระยาเชียงใหม่จะรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้คอยท่ากองทัพกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาขึ้นไปช่วย  ขอให้ทรงพระเมตตากรุณาแก่ชาวเชียงใหม่ข้าแผ่นดิน  ให้เร่งรีบยกกองทัพขึ้นไปช่วยให้ทัน

          จึงโปรดให้มีตราให้ท้าวมหายักษ์ถือขึ้นไปให้พระยาเชียงใหม่ว่า   ได้ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือกอง ๑  กรมขุนสุนทรภูเบศร์  พระยาเสนหาภูธร  คุมกองทัพในพระราชวังบวรสถานมงคลกอง ๑  เจ้าอนุคุมทัพเมืองเวียงจันทน์กอง ๑   รวมเป็กันเป็น ๓ ทัพ  ยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ และให้พระยาเชียงใหม่รักษาเมืองเชียงใหม่ไว้คอยท่าทัพกรุงให้จงได้  ท้าวมหายักษ์ได้รับแล้วกราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่  เข้าทางประตูน้ำที่ออกมา  พม่าก็จับไม่ได้

          และกองทัพสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  และกองทัพกรมขุนสุนทรภูเบศร์  พระยาเสนหาภูธร  กองทัพในพระราชวังบวร  ยกขึ้นไปถึงเมืองลำพูนแล้ว  พระยาเสนหาภูธรบอกลงมากราบทูลสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า  พระยาจ่าแสนยากรเป็นคนอ่อนแอไป  ขอรับพระราชทานพระไกรภพ(บุญรอด)เป็นที่พระยาจ่าแสนยากร  โปรดให้มีตราขึ้นไปให้ตั้งพระไกรภพเป็นพระยาจ่าแสนยากรตามขอแล้ว  กองทัพไทยก้เข้าตีเมืองลำพูน  พม่าที่รักษาเมืองลำพูนสู้รบกองทัพกรุงไม่ได้  ก็แตกหนีกองทัพกรุงกลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่

          กองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  จับได้ตัวเยสิดองปลัดทัพพม่ากับไพร่หลายคน  เยสิดองคนนี้เป็นลูกไทยชาวกรุงเก่า  บ้านบิดามารดาอยู่บางกระจะริมวัดพนัญเชิง  เมื่อพม่าตีกรุงเก่าได้นั้น  เยสิดองชื่อตัวชื่อมาก  พม่าได้เป็นเชลยไปใช้สอยคุ้นเคยมา  เมื่อยกมาตีเมืองเชียงใหม่ได้เป็นเยสิดองปลัดทัพมาด้วย

          ฝ่ายที่กรุงนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบว่า  กรมพระราชวังบวรฯประชวรอยู่ที่เมืองเถิน  เสด็จขึ้นไปเชียงใหม่ไม่ได้  จึงโปรดให้กรมพระราชวังหลัง  ยกกองทัพตามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นไป  กรมพระราชวังหลังเสด็จยกขึ้นไปถึงเมืองเถิน  เห็นทรงพระประชวรอาการหนักมาก  กรมพระราชวังหลังทรงพระกันแสง  และสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ  ตรัสแก่กรมพระราชวังหลังว่า  จะขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่นั้นเห็นจะไม่ได้แล้ว  ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์เถิด  จึงพระราชทานพระแสงดาบให้กรมพระราชวังหลังขึ้นไปด้วยองค์ ๑  แล้วให้มหาดไทยร่างตราใจความนั้นว่า  ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์  ถ้ากรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึงกองทัพกรุงแล้ว  ให้เร่งระดมเข้าตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนให้จงได้  อย่าให้คิดว่าพี่น้อง  เอาแต่การแผ่นดินตามอาญาทัพศึก

          เมื่อกรมพระราชวังหลังจะทูลลากรมพระราชวังบวรสถานมงคลออกจากเมืองเถินนั้น  เห็นพระองค์ทรงพระประชวรซูบผอมพระอาการมากอยู่  ก็ทรงพระกันแสงมิใคร่จะเสด็จไป  จึงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ตรัสแก่กรมพระราชวังหลังว่า  เจ็บไข้ยังไม่เป็นไรดอก  เอาชีวิตไว้คอยท่าให้ได้  เร่งยกขึ้นไปถิด

          และที่เมืองเชียงใหม่นั้น  อินแซะหวุ่นแม่ทัพได้ยินเสียงปืนที่เมืองลำพูนยืดยาวแน่นหนามาก  ก็คิดว่าทัพกรุงยกขึ้นมาช่วยเมืองลำพูน  จะชักคนลงมาช่วยลำพูนซึ่งตีได้ไว้ก็ชักไม่ออก  ด้วยค่ายประชิดเมืองเชียงใหม่อยู่  จึงกำชับนายทัพนายกองให้ตระเตรียมจะเข้าปล้นเอาเมืองเชียงใหม่ให้ได้เสียก่อนกองทัพกรุงจะมาช่วย  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และกองทัพกรมขุนสุนทรภูเบศรร์  ก็เร่งยกกองทัพออกจากเมืองลำพูนขึ้นไปเชียงใหม่  ตั้งค่ายล้อมพม่าไว้  และกรมพระราชวังหลังทูลลากรมพระราขวังบวรสถานมงคลจากเมืองเถินแล้ว  ก็รีบยกขึ้นไปเชียงใหม่  ไปทางริมแม่น้ำ  ไปถึงกองทัพที่ตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่

          กรมพระราชวังหลังให้หานายทัพนายกองมาพร้อมกันแล้ว  เชิญท้องตรารับสั่งอ่านให้ฟังแล้ว  กรมพระราชวังหลังจึงมีพระบัญชาสั่งนายทัพนายกอง  ให้ตีพม่าให้แตกแต่ในเวลาพรุ่งนี้  ไปกินข้าวเช้าในเมืองเชียงใหม่ให้จงได้  ถ้าผู้ใดย่อท้อจะเอาโทษตามพระอัยการศึก  นายทัพนายกองพร้อมกันทั้งทัพกรมพระราชวังหลัง  และทัพในพระราชวังหน้า  ทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์  ก็ยกระดมคนเข้าตีค่ายพม่า  ซึ่งล้อมเมืองเชียงใหม่แต่เวลา ๓ ยาม  และพม่านายทัพนายกองเอาคนออกมาวางงตามสนามเพลาะนอกค่าย  ให้ยิงปืนตับกราดไว้  พวกนายทัพไทยก็กรูเข้าไปจะแหกค่าย  เห็นปืนพม่ายิงหนานัก  ต้องแอบอยู่ตามคันนา  ต่างคนต่างยิงกัน

          พอสว่างขึ้น  พระยาพิชัย (โต) เป็นคนกล้าหาญจึงร้องว่า  “ไล่ฟันไล่แทงเถิดแตกดอก”  พระยาพิชัยก็นำกองทัพเข้าไส่บุกบั่นฟันแทงเข้าไปก่อน  นายทัพนายกองทั้งนั้นก็ตามกองทัพพระยาพิชัยเข้าไป  ไล่ฟันไล่แทงพม่า ๆ สู้ไม่ได้วิ่งหนีเข้าค่ายบ้าง  เข้าค่ายไม่ทันวิ่งเลยไปบ้าง  กองทัพไทยก็ปีนค่ายพังค่ายพม่าเข้าไปได้ทุกค่ายพม่าก็แตกไป  อินแซะหวุ่นแม่ทัพใหญ่หนีไปได้แล้ว  พระยาเชียงใหม่จัดพวกชาวเชียงใหม่ ๑,๐๐๐ เศษ  ให้ตามพม่าติดไปทีเดียว  ฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก  ฝ่ายพระยาเสนหาภูธรก็เรียกเอาตัวเยสิดองมาจากกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์  บอกส่งตัวมา ณ ค่ายหลวงเมืองเถิน  พร้อมกับใบบอกข้อราชการเมืองลำพูน  เมืองเชียงใหม่”

          ** ก็เป็นอันว่า  พม่าต้องพ่ายแพ้ไทยยับเยิน  ซมซานหนีกลับไปด้วยความบอบช้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วนะ  จบศึกพม่าแล้วจะมีเรื่องอะไรในพระราชพงศาวดารฉบับนี้อีก  พรุ่งนี้มาเปิดอ่านต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิะธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, กันยายน, 2562, 10:20:48 PM
(https://i.ibb.co/y6TcDr2/tnews-1511241298-26.jpg) (https://imgbb.com/)

- ตั้งกาวิละเป็นเจ้าเชียงใหม่ -

พระยากาวิละมีความชอบ
จึงทรงมอบยศใหญ่มิให้ต่ำ
ตั้งเป็นเจ้าเชียงใหม่ให้เลิศล้ำ
ฐานผู้นำล้านนาเลิศบารมี


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงพระประชวรหนักอยู่ที่เมืองเถินไม่อาจนำทัพขึ้นไปเชียงใหม่ได้  จึงให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  เป็นผู้นำทัพขึ้นไปแทนพระองค์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบอาการพระประชวรสมเด็จพระอนุชาธิราช  จึงโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังหลังยกทัพขึ้นไปช่วย  กรมพระราชวังหลังยกทัพไปถึงเมืองเถินแล้ว  สมเด็จพระอนุชาธิราชตรัสมอบพระราชอำนาจแม่ทัพใหญ่ให้รีบยกทัพขึ้นไปช่วยเชียงใหม่โดยเร็ว  เมื่อกองทัพกรมพระราชวังหลังยกขึ้นไปถึงเชียงใหม่แล้ว  จึงตรัสให้เร่งระดมตีคายพม่าทั้ง ๗ ทันที  ค่ายพม่าทุกค่ายถูกตีแตกในเวลาอันรวดเร็ว  อินแซะแม่ทัพพม่าหนีรอดกลับไปได้  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  เปิดอ่านพระราชพงศาวดารกันต่อครับ

          * “ ครั้นมาถึง ณ เดือน ๓  สมเด็จฟ้าทะละหะพานักองจันท์  นักองสงวน  เข้มากรุงเทพฯ  เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  นักองพิมถึงแก่พิราลัยเมื่อปีมะแม เอกศกแล้ว  พระยากลาโหม (พรหม) ซึ่งกลับแต่ทัพ  มีความผิดก็จับเข้ามาด้วย  โปรดเกล้าให้พระยากลาโหม (พรหม) ไว้ในทิมตำรวจ  ให้ตั้งหลวงเพ็ชรดาพิจิตร (เมือง) ขึ้นเป็นพระยากลาโหม   ครั้น ณ เดือน ๔ ข้างแรม  สมเด็จพระทะละหะ  นักองจันท์  นักองสงวน  ก็กราบถวายบังคมลากลับไป

          ลุจุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) ปีกุน  เบญจศก  เป็นปีที่ ๒๒ ในรัชกาลที่ ๑  พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาสน์แต่งทูตเข้ามาถึง เมื่อ ณ เดือน ๖ เบญจศก  ลงวันในพระราชสาสน์เดือน ๕ แรม ๕ ค่ำ  ใจความในพระราชสาสน์  ว่า  เมื่อปีจอ  จัตวาศก  ยกทัพบกทัพเรือไปตีเมืองตังเกี๋ย  จับได้วังเกริดพี่น้องขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก  และเมืองขึ้นกับเมืองตังเกี๋ย ๑๓ เมืองนั้น  ก็มาขึ้นด้วย  ครั้น ณ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ  พระเจ้าเวียดนามยกกองทัพมา ณ เมืองเว้  เดือนอ้ายข้างขึ้น  พระเจ้าเวียดนามให้แต่งเครื่องสักการบูชาพระอัยกา  พระชนก  พระชนนี  พระญาติวงศา  ซึ่งสิ้นพระชนม์ชีพแต่ก่อนแล้ว  เอาวังเกริดพี่น้องวังเกริดกับขุนนางผู้ใหญ่  พวกวังเกริดที่เป็นกบฏมาประหารชีวิตเสียที่หน้าโต๊ะเครื่องบูชา  พลีกรรมสนองคุณพระญาติวงศ์ที่พวกกบฏทำลายชนมชีพเสียนั้น

          ครั้นเสร็จการสนองพระคุณแล้ว  พระเจ้าเวียดนามคิดถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพรพะราชวังบวรฯ ที่ได้พระราชทานปืนกระสุนดินดำ  สุพรรณถัน  เหล็กก้อน  เหล็กหล่อ  ดีบุกดำ  ดีบุกขาว  ศาลาปากนก  และฝาง  ออกไปพระราชทานบ้าง  โปรดให้จัดซื้อไปได้บ้าง  เป็นกำลังสงคราม  จึงได้ทำการศึกสำเร็จ จัดได้สิ่งของเข้ามาทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทองคำ ๑๐ แท่ง  เงิน ๑๐๐ แท่ง  ง้าวเล่ม ๑  ขี้ผึ้งหนัก ๖ หาบ  น้ำตาลทรายหนัก ๖๐ หาบ  แพรญวนต่างสี ๒๕๐ พับ

          ส่วนถวายในสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ทองคำ ๕ แท่ง  เงิน ๕๐ แท่ง  ขึ้ผึ้ง ๔ หาบ  น้ำตาลทราย ๔๐ หาบ  แพรญวนต่างสี ๑๕๐ พับ  จึงโปรดให้พระยามหาเทพเชิญท้องตรา  บอกข่าวราชการและพระราชสาสน์พระเจ้าเวียดนามกับสิ่งของขึ้นไปพระราชทานสมเด็จพระอนุชาธิราช  และฟังข่าวราชการและพระอาการด้วย  สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงมีพระราชบัณฑูรให้มีใบบอกข้อราชการ  และมอบตัวเยสิดองให้พระยามหาเทพพาลงมา ณ กรุงเทพมหานคร

          ฝ่ายเจ้าอนุเวียงจันทน์ยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่หาทันไม่  พม่าแตกไปเสียก่อนได้ ๗ วันแล้ว  ทัพเมืองเวียงจันทน์จึงไปถึงเมืองเชียงใหม่  พอสงบราชการเรียบร้อยแล้ว  กรมพระราชวังหลัง  กรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยาเชียงใหม่และท้าวพระยาก็ลงมาเฝ้า  เยี่ยมพระประชวรกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ณ เมืองเถิน  กราบทูลข้อราชการเมืองเชียงใหม่ให้ทรงทราบ  จึงรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราชทัพ ๑   ทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ทัพ ๑   ทัพเมืองนครลำปางทัพ ๑   ทัพเมืองน่านทัพ ๑   กับเมืองเชียงใหม่ทัพ ๑   ยกตามขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนที่พม่าแตกไปอาศัยอยู่นั้นให้จงได้  พอพระโรคค่อยคลายขึ้น  กรมพระราชวังบวรฯ   กรมพระราชวังหลัง ก็เสด็จยกกองทัพกลับลงมาถึงกรุงในปีกุนนั้น

          ครั้นรุ่งเวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ดำรัสว่าทรงผ่ายผอมมากทีเดียว  ตรัสถามพระอาการเสร็จแล้ว  ก็ตรัสถามเรื่องราชการต่อไป  กรมพระราชวังบวรก็กราบทูลกล่าวโทษว่า กรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  ยกกองทัพขึ้นไปเชียงใหม่  ไปถึงทางเมืองลี้ทางนั้นพม่ามาได้  กรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช ก็ถอยกองทัพมาตั้งอยู่ใต้เมืองลี้   ต่อกองทัพวังหน้าขึ้นไปถึงลำพูนแล้วจึงได้ยกขึ้นไป  และกองทัพซึ่งยกขึ้นไปตีพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น  พวกกองทัพวังหน้าตีได้ก่อนทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์  และทัพเมืองเวียงจันทน์นั้นก็มาไม่ทัน  จึงปรับโทษกรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  ให้ไปตีเมืองเชียงแสนกับด้วยเจ้าอนุ   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองกรมพระราชวังหลังว่า  ตีพม่าแตกแล้วไม่รีบยกติดตามไปกระทำเสียให้ยับเยิน  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงกราบทูลแก้ไขว่า  กรมพระราชวังหลังเห็นว่าข้าพระพุทธเจ้าป่วยมากอยู่  พอตีทัพแตกก็รีบกลับลงมา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงหายขัดเคืองกรมพระราชวังหลัง

          * ตามพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ว่าในคราวนี้  พระยากาวิละมีความชอบ  ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนเกียรติยศให้เป็นเจ้าขัณฑสีมา  มีนามว่า  “พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ อินทรสุริยศักดิ์สมญา มหาขัติยราชชาติราไชสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี เป็นใหญ่ในลานนา ๕๗ เมือง”

          * * ก็เป็นอันว่ากองทัพพม่าโดยการนำของอินแซะหวุ่นที่ยกมาตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น  ถูกกองทัพไทยจากกรุงเทพมหานครยกขึ้นไปช่วยพระยากาวิละตีพม่าแตกพ่ายไปอยู่เมืองเชียงแสน  กรมพระราชวังบวรฯตรัสให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์กับพวกยกกองทัพไปตีเชียงแสน  ขับไล่พม่าต่อไป

          พระยากาวิละมีความดีความชอบยิ่งใหญ่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปูนบำเหน็จความชอบ  ด้วยการสถาปนาพระยากาวิละขึ้นเป็นเจ้าต้นพระราชวงศ์กาวิละ  มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏ  ดังความข้างต้นนี้  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, กันยายน, 2562, 10:05:07 PM
(https://i.ibb.co/tZrm39K/1-46.jpg) (https://imgbb.com/)


- กรมพระราชวังบวรฯสวรรคต -

กรมพระราชวังบวรสวรรคต
พระโอรสสององค์ทรงสิ้นศรี
ถูกถอดยศแล้วประหารเสียทันที
อ่านเรื่องนี้แล้วเล่าแสนเศร้าใจ


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระยากาวิละขึ้นเป็นเจ้าปกครองพระนครเชียงใหม่ราชธานี  เป็นใหญ่ในล้านนา ๕๗ เมือง  พระราชพงศาวดารฉบับนี้จะกล่าวถึงเรื่องอะไรต่อไป  วันนี้มาอ่านไปพร้อมๆกันครับ

          * “ และเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน  จับช้างได้ที่เพนียดช้าง ๑ สูง ๖ ศอก  สีตัวเป็นสีทองแดง  ฝึกหัดเชื่องราบแล้ว  ส่งมาถึงกรุง เมื่อ ณ เดือน ๙  สมโภชแล้วพระราชทานชื่อขึ้นระวาง  เป็นพระบรมฉัตทันต์สุพรรณรัศมี ศรีศุภลักษณ์ อรรคทศคชาพงศ์ มงคลเลิศฟ้า

          ครั้นถึง ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเพ็ชรปาณีศรีสุนทรเป็นราชทูต  หลวงราชนาคนราราชมนตรีเป็นอุปทูต  นายเสน่ห์มหาดเล็กเป็นตรีทูต  ขุนศรีเสนาประชาบาลท่องสื่อ  เชิญพระราชสาสน์คุมสิ่งของเครื่องสำหรับกษัตริย์  ออกไปพระราชทานพระเจ้าเวียดนาม  พระมาลาเบี่ยงองค์ ๑   พระภูษาเข้มขาบคลุมประทมปักมีกรวยเชิง ๑   พระภูษาเข้มขาบคลุมประทมปักมีสังเวียน ๑   พระภูษาคลุมประทมปักหน้าดอกไม้ ๑   รวม ๓ ผืน   เข้มขาบทำเสื้อริ้วแย่ง พับ ๑   เกล็ดพิมเสน พับ ๑   ริ้วมะลิเลื้อย พับ ๑   คดกฤช พับ ๑   รวม ๔ พับ  ตาดทองทำเสื้อริ้วปัดตร่า ม้วน ๑   ตากตั๊กแตน ม้วน ๑   สุจหนี่พื้นทองปักไหม ผืน ๑   ส่านหน้าดอกไม้สีแดง ผืน ๑   สีแสดผืน ๑   แพรมังกรลายทอง ๔ ม้วน   พระยานุมาศ ๑   พระกรดคัน ๑   เครื่องสูง ๑๐   บุงสูรย์คัน ๑   บังแทรก ๖   แล้วพระเจ้าเวียดนามมีพระราสาสน์ตอบขอบพระเดชพระคุณ  ให้พระเพ็ชรปาณีศรีสุนทรราชทูตเข้ามาว่า  พระมาลานั้นเป็นของสูงไม่เคยสวมขอถวายคืน ของทั้งปวงนั้นได้รับไว้แล้ว

          * กรมพรระราชวังบวรสถานมงคล  ประชวรพระโรคนิ่วตั้งแต่เสด็จขึ้นไปเมืองเถิน  พระอาการค่อยคลายขึ้นคราวหนึ่งแล้ว  ครั้น ณ เดือน ๘ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖)  พระโรคกลับมีพิษกำเริบขึ้น  พระอาการประชวรก็หนักลงโดยลำดับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรพระอาการหนัก  จะเสด็จขึ้นไปทรงพยาบาล  ครั้นข้าราชการวังหลวงจะขึ้นไปล้อมวงตามธรรมเนียม  เห็นกิริยาพวกข้าราชการวังหน้ากระด้างกระเดื่อง  จะเกิดวิวาทกันขึ้น  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ต้องเสด็จขึ้นไปพร้อมด้วยเจ้าพระยารัตนาพิพิธ และพระยายมราช  เดินยืดไปสองข้างพระเสลี่ยง  ไปทรงจัดการล้อมวงเอง  จึ่งเป็นการเรียบร้อย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปประทับแรม  ทรงพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่ที่ในพระราชวังบวรฯ ถึง ๖ ราตรี

          ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เบญจศก  เวลา ๒ ยามเศษ  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตในพระที่นั่งบูรพาภิมุข  พระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา  เสด็จดำรงเกียรติยศ  อยู่ในที่มหาอุปราช ๒๑ ปี ๔ เดือน ๕ วัน

          จึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก  เจ้านายฝ่ายพระบรมมหาราชวังขัดดาบทุก ๆ พระองค์ตามเสด็จเข้าไปสรงและทรงเครื่องพระศพเสร็จแล้ว  เชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศไม้ ๑๒  ซึ่งทรงพระราชดำริให้จัดไว้เมื่อประชวรหนัก  โปรดให้รื้อเอาทองคำที่หุ้มพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อย  ที่ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้ง ๒ นั้น  มาหุ้มพระโกศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  และพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อยนั้น โปรดให้ลงรักปิดทองประดับกระจก  ไว้สำหรับพระศพเจ้านายเชิญพระศพไว้ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน  โปรดให้มีหมายประกาศให้โกนผมทั้งแผ่นดิน  เว้นแต่คนผมมวย  ผมเปีย  ผมจุก

          สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑  ซึ่งพระนามปรากฏต่อมาว่า  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระองค์นี้  ประสูติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ คำ ปี กุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๐๕ (พ.ศ. ๒๒๘๖)

          ได้ทรงปฏิบัติราชการในครั้งกรุงเก่าเป็นตำแหน่งนายสุจินดาหุ้มแพร  มหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์  เมื่อกรุงเสียแก่พม่าข้าศึก  เสด็จออกไปอาศัยอยู่เมืองชลบุรี  ครั้นเมื่อเจ้าตาก (สิน) ตั้งมั่นได้ที่เมืองจันทบุรีแล้ว  จะยกเข้ามาปราบปรามข้าศึก  พระองค์ได้ทรงคุ้นเคยมากับเจ้าตาก (สิน) แต่ครั้งกรุงเก่า  จึงขอเข้าทำราชการด้วยเจ้าตาก (สิน)  ได้เป็นตำแหน่งพระมหามนตรีเจ้ากรมพระตำรวจ  ทำการศึกสงครามมีความชอบ  ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับเป็นที่พระยาอนุชิตราชา  แล้วเลื่อนเป็นพระยมราชในปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒

          ในปีนั้น  เจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปปราบปรามเจ้าพระฝาง  พระองค์ได้เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปก่อนทัพหลวง  ตีได้หัวเมืองฝายเหนือตลอดจนเมืองฝาง  มีความชอบได้เป็นตำแหน่งที่เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช  ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก  บังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรอยู่ข้างฝ่ายเหนือแต่นั้นมา  พระเดชานุภาพเลื่องลือจนพวกพม่าข้าศึกเรียกพระนามว่า  พระยาเสือ  ในครั้งนั้นได้ทรงช่วยสมเด็จพระเชษฐาธิราชทำการศึกสงครามตั้งแต่แรกมาตลอดเวลากรุงธนบุรี จนได้เถลิงพระราชมณเฑียรเป็นพระมหาอุปราชา  เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  ในที่สุดสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ขุนพลผู้กล้าสองแผ่นดิน  ก็สวรรคตด้วยพระโรคนิ่ว  ในพระชนมายุ ๖๐ พรรษา  พระราชพงศาวดารฯ ได้นำเอารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของกรมพระราชวังบวรฯ  เช่นวังต่าง ๆ เป็นต้น  มาแสดงไว้  ผมขออนุญาตไม่ยกมาให้อ่านในที่นี้นะครับ  แต่ว่ามีเรื่องที่ควรได้อ่านและรับรู้ไว้  คือ  เรื่องหม่อมลำดวน  หม่อมอินทปัด  ที่พระราชพงศาวดารฯจดบันทึกไว้หลังการสวรรคตของกรมพระราชวังบวรฯ  มีความดังต่อไปนี้

           “เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระประชวรมากนั้น  ความปรากฏว่า  แต่ก่อนมาได้มีพระราชบัณฑูรประภาษเป็นนัยอุบายแก่พระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัด  ซึ่งเป็นพระโอรสใหญทั้ง ๒ พระองค์  ให้คิดการแผ่นดิน  มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปากว่า  เมื่อครั้งกรมพระรราชวังบวรฯ  ทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น  มีรับสั่งว่า  พระที่นั่งนั้น ๆ ได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมาย  เป็นของประณีตบรรจงงามดี  ทรงพระประชวรนาน  ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นรอบคอบเลย  จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย  จึงให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยแล้ว  เชิญเสด็จไปรอบพระที่นั่ง  เมื่อเสด็จไปนั้น  ทรงบ่นว่าของนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา  หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ  ก็ครั้งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว  จะได้เห็นครั้งนี้เป็นที่สุด  ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น  ภายหลังเมื่อทรงพระประชวรพระอาการมากแล้ว  ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงเสด็จออกมาวัดมหาธาตุ  รับสั่งว่า  จะนมัสการพระพุทธรูป  ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ  มีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสง  ว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้เป็นราวเทียน  ครั้นเจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไป  ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสง  ทำเป็นพุทธบูชาครู่หนึ่งแล้ว ทรงปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ  ครั้งนั้นพระองค์เจ้าลำดวนเข้าปล้ำปลุกแย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์  ทรงพระโทมนัสลดพระองค์ลงทรงพระกันแสง  ด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนต่าง ๆ  เจ้านายเหล่านั้นก็พากันเข้าปล้ำปลุกเชิญเสด็จขึ้นทรงพระเสลี่ยงแล้ว เชิญเสด็จกลับเข้าพระราชวังบวรฯ  เมื่อเสด็จมากลางทางก็ทรงขัดเคืองพระองค์เจ้าเหล่านั้นต่าง ๆ  ว่าพากันขมเหงท่าน

          ภายหลังอีกมีพระราชดำรัสว่า  สมบัติทั้งนี้พระองค์พระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นได้  ก็เพราะพระองค์ ทั้งสิ้น  ไม่ควรจะให้สมบัติตกไปแก่ลูกหลานวังหลวง  ผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด  แต่นั้นมาพระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัด  ก็มีความกำเริบ  จึงไปร่วมคิดกับพระยากลาโหม (ทองอิน) เป็นคนแข็งทัพศึก  กรมพระราชวังบวรฯก็โปรดปรานไว้พระทัย  ตรัสว่ารักเหมือนบุตรบุญธรรม  พระยากลาโหม (ทองอิน) กับพระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัด ตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน  ถ้าพลั้งพลาดล้มตายลงก็ฝังเสียในกำแพงวังเป็นหลายคน  จนความนั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          ครั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตแล้ว  จะชำระจับกุมก็ยังไม่มีโจทก์  จึงแต่งข้าราชการที่สัตย์ซื่อคิดไปเข้าเกลี้ยกล่อมกับพระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัด  จึงได้ความจริงมากราบทูลทรงทราบทุกประการ  ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ  ก็ให้จับพระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัดมาชำระ  รับเป็นความสัตย์ ซัดถึงพระยากลาโหม (ทองอิน)

          ครั้นถึง ณ วันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ  จับพระยากลาโหม (ทองอิน) กับพรรคพวกได้สิ้น  ให้การว่า  วันถวายพระเพลิงเป็นวันจะลงมือทำการประทุษร้าย  ได้ความจะแจ้งแล้วจึงโปรดให้ถอดยศพระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัด  จากยศพระองค์เจ้าแล้ว  เอาหม่อมลำดวน  หม่อมอินทปัดไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์  อ้ายทองอินกลาโหมกับพวกทั้งนั้น  ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสียกับด้วย  พระยาเกษตราธิบดี (บุญรอด) ที่เป็นคนยุยงสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าให้เอาปืนขึ้นป้อมจะทำยุทธสงคราม  และหม่อมวันทาพระสนมเอกโปรดปรานมาก  มิได้มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณ  ทำชู้ด้วยอ้านทองอินกลาโหม  ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสียด้วย”

          * ต้องขออภัยทุกท่านที่ใช้มือถือ  อ่านยาวจนตาลายลายเลยนะครับ  เรื่องวันนี้ยาวจบยากก็เลยลากยาวมาหน่อย พรุงนี้อ่านต่อใหม่นะ  อย่าเพิ่งเข็ดเสียเลยครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, กันยายน, 2562, 10:08:06 PM
(https://i.ibb.co/nnRBTM8/Unti-tledc-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทัพลาวตีเชียงแสนได้ -

การล้อมตีทัพพม่าเมืองเชียงแสน
แม่ทัพแล่นล่าถอยคิดเหลวไหล
ทัพล้านนาล้านช้างมิล้างไกล
เป็นเหตุให้ชาวเชียงแสนแล่นเข้ารวม

ทัพพม่าล่าหนีสู้มิได้
ล้านนาไล่ตีดะไม่หละหลวม
ยิงปืนฟันแทงใส่ไม่กำกวม
จนเลือดท่วมสนามรบกลบแดนดิน


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันอย่างยืดยาวถึงตอนที่  หลังจากสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯสวรรคตแล้ว  มีการจับกุมพระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัด  พระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ  ข้อหาเป็นกบฏ  ชำระคดีแล้วได้ความเป็นสัตย์จริง จึงโปรดฯให้ถอดยศแล้วให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์  และพระยากลาโหม(ทองอิน)ผู้ร่วมก่อการและพรรคพวก  กับทั้งพระยาเกษตราธิบดี(บุญรอด)  ผู้ยุยงสมเด็จพระอนุชาธิราชให้เอาปืนขึ้นป้อมจะทำยุทธสงคราม  ก็ให้ประหารเสียในคราวเดียวกัน  วันนี้มาอ่านความในระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ

          * “ และในปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๖๕(พ.ศ. ๒๓๔๖) นั้น  ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์  ขึ้นเป็นกรมหลวงเสนานุรักษ์   และตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย เป็นกรมขุนพิทักษ์มนตรี

          ฝายสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  ปรึกษาด้วยเจ้าอนุเวียงจันทน์  พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ว่า  เราจะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน  กำลังนี้เป็นเทศกาลฝนผู้คนก็ผู้บอบช้ำอยู่แล้ว  จะต้องปล่อยไปทำไร่นาเสียก่อน  ต่อตกฤดูแล้งลง  จึงนัดหมายให้มาพร้อมกัน  นายทัพนายกองไทย  ลาว  ก็เห็นพร้อมกัน  กรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  ก็พักอยู่เมืองเหนือ   ครั้นถึง ณ เดือน ๔ ก็กะเกณฑ์ผู้คนนัดกองทัพหัวเมืองลาวมาพร้อมกันแล้ว

          ลุจุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวด ฉศก (พ.ศ. ๒๓๔๗) เป็นปีที่ ๓๓ ใน รัชกาลที่ ๑  เมื่อเดือน ๕  กรมหลวงเทพหริรักษ์  พระยายมราช  นายทัพนายกอง  ไทย  ลาว  ก็ยกขึ้นไปเมืองเชียงแสน  พม่ามิได้ออกสู้รบ  เป็นแต่รักษาเมืองมั่นอยู่  กองทัพเข้าตั้งล้อมเมืองเดือนเศษจะหักเอามิได้  ด้วยพม่าอยู่ประจำรักษาหน้าที่และบนกำแพงเมืองเป็นสามารถ  และกองทัพก็ขัดเสบียงอาหาร  แล้วได้ข่าวว่ากองทัพเมืองอังวะจะยกมาช่วยเมืองเชียงแสน  ครั้นเดือน ๖  ข้างแรม  เป็นเทศกาลฝนตกประปรายลงมา  แผ่นดินก็ร้อนขึ้น  ผู้คนในกองทัพป่วยเจ็บมาก  จะอยู่สู้รบพม่าก็เห็นว่าผู้คนเจ็บไข้มาก  เสบียงอาหารก็น้อยลง  จะทำการปีไปมิได้  กรมหลวงเทพหริรักษ์ก็ให้ล่าทัพลงมา  ยังแต่ทัพลาว  พวกลาวในเมืองเชียงแสนอดเสบียงอาหาร  ฆ่าโค กระบือ ช้าง ม้า กินจนสิ้น  พวกลาวชาวเมืองก็ยอมออกสวามิภักดิ์แก่กองทัพเมืองลาว

          เมื่อกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์เลิกถอยมาแล้ว  โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าเห็นพลเมืองออกหาแม่ทัพลาว  เหลือที่จะกดขี่ห้ามปรามไว้ได้  ก็ยกทัพหนีไปบ้าง  กองทัพลาวก็ไล่ตีพวกพม่าแตกหนีไป  โปมะยุง่วนแม่ทัพถูกปืนตายในที่รบ  นาขวาที่พม่าตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน  ก็พาครอบครัวอพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงเข้าแดนพม่าไป  กองทัพได้ครอบครัว ๒๓,๐๐๐ เศษ  ก็รื้อกำแพงเผาบ้านเมืองเสีย  แล้วแบ่งปันครอบครัวกันเป็น ๕ ส่วน  ให้ไปเมืองเชียงใหม่ส่วน ๑   เมืองนครลำปางส่วน ๑   เมืองน่านส่วน ๑   เมืองเวียงจันทน์ส่วน ๑   อีกส่วนหนึ่งถวายลงมา ณ กรุงเทพฯ  โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง  แบ่งไปอยู่เมืองราชบุรีบ้าง  แต่ทัพกรุงนั้นกลับมาเปล่ามิได้ราชการสิ่งใด  ก็ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก  ตรัสว่าไม่รู้เท่าลาว  ให้ลงพระราชอาชญาจำกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราชไว้ที่ทิมดาบชั้นนอกตรงหลังศาลาลูกขุนฝ่ายซ้าย  ไว้ ๔ วัน ๕ วัน ก็โปรดให้พ้นโทษ

          การพระเมรุกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น  ทรงพระราชดำริโดยทรงพระโทมนัสในเรื่องหม่อมลำดวน  หม่อมอินทปัด  จึงตรัสว่ากรมพระราชวังบวรฯรักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน  ให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนถึงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน  เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว  เสนาบดีข้าราชการหลายนายช่วยกันกราบทูลทัดทานว่า  ซึ่งจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงนั้นไม่ควร  ด้วยราษฎรและหัวเมืองเป็นอันมาก  ที่ทราบก็จะมี  ที่ไม่ทราบก็จะมี  จะติเตียนต่าง ๆ ไป  จึงรับสั่งว่า  ขุนนางจะให้เผาก็จะเผา  แต่จะทำพระเมรุนั้นจะทำบูชาพระบรมธาตุ  เมื่อสมโภชพระบรมธาตุแล้วจึงจะเผาต่อภายหลังกันความนินทา

          ครั้นมาถึง ณ เดือน ๗ ปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ (พ.ศ.๒๓๔๗) การพระเมรุแล้ว  จึงเชิญพระบรมธาตุซึ่งประดิษฐานระย้ากินร  ออกไปสมโภชเวียนเทียนแล้ว  จึงได้เชิญพระศพไปยังพระเมรุ  ได้มีการมหรศพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน แล้วเสด็จพระราชทานเพลิง  มีการสมโภชพระอัฐิอีกวัน ๑ กับคืน ๑ เป็นคำรบ ๘ วัน ๘ คืน  แห่พระอัฐิกลับ”

          * * พม่ามายึดครองเมืองเชียงแสนอยู่เป็นเวลานาน  เมื่อพ่ายแพ้ไปจากเชียงใหม่  ก็หนึไปตั้งมั่นอยู่เมืองเชียงแสน  กองทัพผสม ไทย ลาวเวียงจันทน์ เชียงใหม่ น่าน ลำปาง  ยกไปตีตามคำสั่งสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมกระราชวังบวรฯ  โดยมีสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพ  แต่ท่านแม่ทัพพระองค์นี้เป็นผู้อ่อนแอ  นำทัพไปตั้งล้อมเมืองเชียงแสนอยู่เดือนเศษตีหักเอาเมืองมิได้  ทราบข่าวว่าอังวะยกทัพมาช่วยเชียงแสน  ประกอบกับกองทัพขาดเสบียง  และไพร่พลเจ็บป่วย  จึงล่าทัพกลับมา  ส่วนกองทัพของพระยากาวิละเมืองเชียงใหม่  กองทัพนครลำปาง  กองทัพเมืองน่าน  กองทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ (พระราชพงศาวดารฯเรียกรวมว่า ทัพลาว)  ยังคงตั้งล้อมและโจมตีเมืองเชียงแสนอยู่  ภายในเมืองเชียงแสนยามนั้นก็ขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก  ชาวเมืองพากันออกมาเข้ากับกองทัพพระยากาวิละและพรรคพวก  จนโปมะยุง่วนสะกดไม่อยู่  จึงพากองกำลังของตนหนีออกจากเมืองเชียงแสน  กองทัพพระยากาวิละและพวกตามตีไม่ลดละ  โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าถูกปืนตายในสนามรบ  จุดจบของผู้รุกรานเป็นที่น่าอนาถนะ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไท เมืองสุโขทัย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, กันยายน, 2562, 10:34:22 PM
(https://i.ibb.co/sWCxjQT/anuwong.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์พระเจ้าอนุวงศ์


- ตั้งเจ้าอนุครองเวียงจันทน์ -

ตั้งเจ้าหญิงแม่ลาวเป็นเจ้าฟ้า
พระอัยกาเวียงจันทน์นั้นด่วนสิ้น
ตั้งอนุเวียงจันทน์แทนพี่อินทร์
ครองธานินทร์ล้านช้างที่เวียงจันทน์


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  ขับไล่กองกำลังพม่าพ้นไปจากเมืองเชียงแสน โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าถูกปืนตายในขณะที่พากำลังหนีจากเมืองเชียงแสน  จากนั้นจึงมีการจัดงานพระเมรุศพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) กันต่อไปนะครับ

          * “ครั้นมา ณ เดือน ๘  ราชทูตญวนเข้ามาถึง  พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาสน์แต่งให้กวานเทียงดาว  กำซาบเจือง  คุมสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย  และช่วยในการพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช  ส่วนของถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทองคำ ๕ ลิ่ม  เงิน ๕๐ ลิ่ม  แพรต่างสี ๑๐๐ พับ  ผ้าขาว ๑๐๐ พับ  ส่วนสดัปกรณ์พระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯ  ขี้ผึ้ง ๕ หาบ  ผ้าขาว ๑๐๐ พับ  น้ำตาลกรวด ๕ หาบ  นำตาลทราย ๓๐ หาบ  น้ำตาลปึก ๕ หาบ  กับมีพระราสาสน์เตือนพระสติเข้ามาด้วยฉบับ ๑ ว่า  สมเด็จพระอนุชาธิราช ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรฯสวรรคตแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระชราลงทุกวัน  ยังแต่พระเจ้าลูกยาเธอ  มีกำลังเสมอกันอยู่  การข้างหน้ากลัวจะไม่เรียบร้อย  ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมกรมหลวงอิศรสุนทร  ขึ้นดำรงที่เป็นกรมพระราชวังบวรฯ  จะได้มีกำลังและพาหนะมากขึ้น  บ้านเมืองจะเรียบร้อย  ทูตเข้ามาครั้งนั้นไม่ทันการพระศพ  ได้สดัปกรณ์แต่พระอัฐิในพระราชวังบวรฯ เสร็จการแล้ว  ทูตจะกราบถวายบังคมลากลับไป

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้จัดสิ่งของพระราชทานตอบแทนพระเจ้าเวียดนาม  พระแสงปืนคาบศิลาเครื่องทองคำ บอก ๑   เครื่องนากบอก ๑   ปืนแฝดบอก ๑   คลุมประทมปักทองมาแต่เมืองเทศผืน ๑   พระธำมรงค์เพชรมณฑปถมยาราชาวดีองค์ ๑   จุฑาเพชรรังแตน ๒ องค์   กุณฑลเพชรรังแตน ๒   พลอยเพชรใหญ่ ๓   พลอยเพชรน้อย ๕๐   พลอยไพฑูรย์เม็ดใหญ่ ๑   พลอยสำหรับประดับเครื่องรัดพระองค์ ๕   สุจหนี่เทศพื้นแดงแกมไหม ๑   ของส่วนในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ปืนคาบศิลาเครื่องเงินประดับพลอยเพชร บอก ๑   กำมะหยี่หุ้มเปลปักทองขวางผืน ๑   ลายทอง ๒ ผืน   ทองคำเปลว ๕,๐๐๐ แผ่น   เป็นของทรงยินดีต่อพระเจ้าเวียดนาม  ครั้น ณ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ราชทูตกราบถวายบังคมลาไป

          ในเดือน ๙ นั้น  โปรดเกล้าฯให้มีตราไปเกณฑ์ทัพเมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  เมืองแพร่  เมืองน่าน  เมืองหลวงพระบาง  เมืองเวียงจันทน์  กับให้เกณฑ์กองทัพเมืองพิษณุโลก  เมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  เมืองพิจิตร  เมืองพิชัย  ให้หนุนทัพลาวขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง  เมืองเชียงรุ้ง  และเมืองลาวฟากโขงตะวันออกแดนพม่า  ให้ถึงพร้อมกันในฤดูแล้ง

          ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เสด็จพระราชดำเนินลงไปทรงลอยพระประทีป  พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงองค์ ๑  ปรากฏพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี  พระชนม์ได้ ๖ พรรษา  ตามเสด็จลงไปที่ตำหนักแพ  เมื่อเวลาจุดดอกไม้รับสั่งว่าประชวรพระเนตรอยู่  ให้กลับขึ้นไปพระราชวังเสียก่อน  พระองค์เจ้าหญิงนั้นก็เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกัน  พลาดตกลงน้ำหายไป  พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น  คนทั้งปวงตกใจพากันลงน้ำเที่ยวค้นหา  จึงพบพบพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นเกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายน้ำ  หาได้เป็นอันตรายไม่  เป็นอัศจรรย์  จึงมีพระราชโองการตรัสว่า  พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรีเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต  สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก  แต่พระชนม์พระองค์เจ้าได้ ๕ พรรษา ไม่มีมารดา  ทรงพระกรุณามาก  พระองค์เจ้านี้อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่  ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า  ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ  จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม  พระราชทานพระสุพรรณบัฏเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  แล้วมีงานสมโภชอีก ๓ วัน

          ในปีนั้น  เจ้านครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างชื่ออินทร์  ซึ่งเป็นอัยกาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ป่วยถึงแก่พิราลัย ณ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ  ครองเมืองได้ ๑๐ ปี  โปรดให้ข้าหลวงเชิญศุภอักษรและพระราชทานโกศ  และสิ่งของพระราชทานเพลิงขึ้นไปปลงศพ  เสร็จแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรด  ตั้งเจ้าอนุผู้น้องให้ครองนครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างต่อไป

          ครั้นถึง ณ เดือน ๔  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ  ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเลียบ  ภายหลังพระราชทานนามว่า  วัดราชบูรณะ

          ** พระราชพงศาวดารฯ ได้บันทึกความสั้น ๆ เป็นทำนองจดหมายเหตุด้วยเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญมากนัก  อย่างไรก็ดี เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็เป็นเกร็ดความรู้ที่น่ารู้ไม่น้อย  อย่างเช่นพระเจ้าเวียดนาม(องเชียงสือ)  บังอาจเตือนพระสติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงรีบตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ  เป็นต้น  อีกเรื่องเกณฑ์กองทัพไปตีเชียงตุง  เชียงรุ้ง  ให้เรารู้ว่ามีกองทัพจากเมืองใดบ้าง  การสถาปนาพระองค์เจ้าหญิงจันทบุรีขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ทำให้เราทราบว่าพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้มีนามว่า “จันทบุรี”  เพราะมีเจ้าจอมมารดาเป็นพระธิดาของเจ้าประเทศราชศรีสัตนาคนหุต  ซึ่งมีจันทบุรี (เวียงจันทน์) เป็นเมืองหลวง  พระอัยกานามว่า  อินทร์  เป็นพระเชษฐาของเจ้าอนุเวียงจันทน์  หลังจากพระนัดดาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าไม่นานก็ถึงแก่พิราลัย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าอนุเป็นเจ้าครองศรีสัตนาคนหุตสืบแทน  พระเจ้าอนุเวียงจันทน์พระองค์นี้  คนไทยรู้จักกันในนาม  “เจ้าอนุวงศ์”  ท่านผู้นี้มีเรื่องราวก่อเกิดสงครามกับไทยพัวพันไปถึง  ญวน  เขมร  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ (ร. 3)  ซึ่งจะนำมาบอกเล่ากันต่อไปในโอกาสอันควร  ......พรุ่งนี้พบกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, กันยายน, 2562, 10:17:08 PM
(https://i.ibb.co/HxG7K2H/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ได้เมืองเชียงตุง, เชียงรุ้ง -

ทัพผสมลาวไทยไปรบพุ่ง
ตีเชียงรุ้งแหล่งรวมเจ้าเมืองนั่น
หลายเจ้าเมืองหลบมาอาศัยกัน
เห็นคับขันจึงยอมอ่อนน้อมดี

เจ้าเชียงตุงมุ่งมาสวามิภักดิ์
ไม่สู้ศึกฮึกฮักอวดศักดิ์ศรี
ด้วยระย่อพระเดชาบารมี
องค์จักรีศรีสยามนามเกริกไกร


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่าน  ถึงเรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯโปรดเกล้าฯให้มีตราไปเกณฑ์ทัพหัวเมืองฝายเหนือและเมืองหลวงพระบาง  เมืองเวียงจันทน์ยกไปตีเมืองเชียงตุง  เมืองเชียงรุ้งและเมืองลาวฟากโขงตะวันออกแดนพม่า  จากนั้นกล่าวถึงเรื่องการตั้งเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ตั้งเจ้าอนุครองเมืองเวียงจันทน์  และกรมหลวงเทพหริรักษ์สิ้นพระชนม์  วันนี้มาอ่านความพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ

          * “ ปีจุลศักราช ๑๑๖๖ ( พ.ศ. ๒๓๔๗) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  ในฝ่ายพุทธจักรนั้น พระไตรปิฎกซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ต่อมาได้ฟั่นเฟือนวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอันมาก ยากที่จะเล่าเรียนเป็นอายุพระพุทธศาสนาสืบไป  ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน  ประชุมกันกระทำสังคายนายชำระพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนผ่องใสขึ้น  ได้เป็นที่เล่าเรียนง่ายใจแก่กุลบุตรสืบไปภายหน้า  เป็นพุทธการกกรรมกองการกุศลอันประเสริฐแล้ว  และในฝ่ายอาณาจักรนี้  กษัตริย์ผู้ดำรงแผ่นดินนั้นอาศัยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมายพระอัยการ  อันกษัตริย์แต่ก่อนบัญญัติไว้ได้เป็นบรรทัดฐาน  จึงพิพากษาตราสินเนื้อความราษฎรทั้งปวงได้โดยยุติธรรม  และพระราชกำหนดบทพระอัยการนั้น  ก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันเป็นอันมาก  ด้วยคนอันโลภหลงหาละอายแก่บาปมิได้  ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิพากษา  ให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นดินก็มีบ้าง

          ด้วยพระราชดำริดังกล่าว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรด  จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญา  คือ  ขุนสุนทรโวหาร ว่าที่พระอาลักษณ์ ๑   ขุนสารประเสริฐ ๑   ขุนวิเชียรอักษร ๑   ขุนวิจิตรอักษร ๑   รวมเป็นกรมพระอาลักษณ์ ๔ นาย

          ขุนหลวงไกรสีห์ ๑   พระราชพินิศจัยราชปลัด ๑   หลวงอัธยา ๑   รวมเป็นลูกขุน ๓ นาย

          หลวงมหาวิชาธรรม ๑   ขุนศรีโวหาร ๑   นายพิมพ์ ๑   นายด่อนเปรียญ ๑   รวมเป็นราชบัณฑิต ๔ นาย

          ให้ร่วมกันชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการอันมีอยู่ในหอหลวง  ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกต้องตามบาลี  และเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้  จัดเป็นหมวดหมู่เป็นเหล่าเข้าไว้  ทรงพระอุตสาหะชำระดัดแปลงบทอันวิปลาสนั้น ๆ ให้ชอบโดยยุติธรรมไว้  ครั้นชำระแล้วให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึก ๓ ฉบับ  ไว้ห้องเครื่องฉบับ ๑   ไว้หอหลวงฉบับ ๑   ไว้ศาลหลวงสำหรับลูกขุนฉบับ ๑   ปิดตราพระราชสีห์  ตราพระคชสีห์  ตราบัวแก้ว  ทุกเล่มเป็นสำคัญ

          จุลศักราช ๑๑๖๗ ปีฉลู  ได้ช้างเล็บครบมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช ๑ ช้าง  ได้ช้างกระมาแต่เมืองเวียงจันทน์ ๑ ช้าง  โปรดให้ขึ้นระวาง  ช้างเมืองนครศรีธรรมราชนั้นพระราชทานนามว่า  "พระบรมนัขมณี  ศรีรัตนคเชนทร  บวรวิษณุพงศ์ ว งศ์คชพรรค์  อนันตคุณ  สมบุรณเลิศฟ้า"  และช้างเมืองเวียงจันทน์พระราชทานนามว่า  "พระบรมคชลักษณ์  อัครคเชนทร์  สุเรนทร์ฤทธิ์  สิทธิสมพงศ์  มงคลเลิศฟ้า"

          * ในเดือน ๖  ปีเดียวกันนั้น  มีหนังสือจากเมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  เมืองแพร่  บอกลงมาว่า  กองทัพยกไปถึงเมืองยอง  ในเดือน ๔ ข้างขึ้น  ปีชวด  พระยายองมิได้ต่อสู้  ออกมาอ่อนน้อมขอเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว  แต่เมืองเชียงตุงนั้น  เจ้าเมืองยอมเข้าสวามิภักดิ์จึงมิได้ยกเข้าตี  พระยาเชียงตุงลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ  โดยให้มหาขนานผู้น้องอยู่รักษาเมือง  คนในเมืองยองซึ่งยกออกหากองทัพเมืองเชียงใหม่  นครลำปาง  แพร่  นั้น เป็นคนชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๑๐,๐๐๐ เศษ  ได้ปืนใหญ่น้อย ๑,๐๐๐  ช้างม้าเป็นอันมาก  ฝ่ายหัวเมืองที่ขึ้นกับเมืองยองก็เข้าหากองทัพทั้งสิ้น  แต่ว่ายังหาได้จำนวนคนและปืนช้างม้ามากน้อยเท่าใดไม่  กองทัพยังจะยกเข่าตีเมืองแรมต่อไปอีก

          ฝ่ายกองทัพเมืองน่าน  เมืองหลวงพระบาง  ก็บอกลงมาว่า  ได้ยกทัพไปถึงเมืองหลวง  เมืองภูคา  เจ้าเมืองภูคาออกมาหากองทัพ  แต่เจ้าเมืองหลวงนั้นขึ้นไปอยู่เมืองมาง  แขวงเมืองพง  ยังหากลับมาไม่  ครั้นกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองพง  เจ้าเมืองพงก็หนีขึ้นไปอยู่เมืองนูน  เมืองรำ  และเจ้าเมืองนูน  เจ้าเมืองรำ  กับเจ้าเมืองพง  เจ้าเมืองขอน  เจ้าเมืองล่า  พากันหนีขึ้นไปอยู่เมืองเชียงรุ้งทั้งสิ้น  ครั้นยกขึ้นไปตีเมืองเชียงรุ้ง  ด้วยเดชะพระบารมีพระบรมราชกฤษฎานิหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทำให้เจ้าเมืองเชียงรุ้งมิได้ต่อสู้  แต่งให้นามวงศ์กับพระยาคำลือเจ้าเมืองล่า  พระยาพาบเจ้าเมืองพง  และเจ้าเมืองนูนเจ้าเมืองขอน  เจ้าเมืองรำ  ซึ่งหนีไปอยู่เมืองเชียงรุ้งนั้น  ถือหนังสือมาเข้าด้วยกองทัพ  ขอสวามิภักดิ์เป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ขอพึ่งพระบรมเดชานุภาพสืบไป”

          ** ก็เป็นอันได้ความแล้วว่า  กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือนำโดย  พระเจ้ากาวิละเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นไทยใหญ่  ไทยยอง  ไทยขึน  ล้วนเป็นสายเลือด (เชื้อชาติ) เดียวกันได้หลายเมือง  เมืองใหญ่ ๆ ที่สำคัญคือ  เชียงตุง  เชียงรุ้ง  ก็ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระจ้ากรุงสยามสิ้นแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทบ
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, กันยายน, 2562, 10:50:02 PM
(https://i.ibb.co/3m1zkPQ/King-1.jpg) (https://imgbb.com/)


- กรุงสยามยิ่งใหญ่ไพศาล -

กองทัพเหนือเชื้อไทยยกไปเยี่ยม
ญาติยังเปี่ยมไมตรีที่ยิ่งใหญ่
มีสู้รบนบญาติรวมชาติไทย
เข้าอยู่ในกรุงสยาม..ความยินดี

ไทยทางเหนือมีชื่ออยู่อื้อฉาว
เรารียก“ลาว”และรับนับน้องพี่
ทั้ง“พุงดำ,พุงขาวลาวลื้อ”มี
“ยอง,ขืน”นี้รากเหง้าเผ่าไทยเดิม


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โปรดให้มีการชำระกฎหมายไทยที่ใช้มาแต่กรุงสุโขไท  กรุงศรีอยุธยา  ให้เกิดความยุติธรรมแก่อาณาประชาราษฎร  เป็นที่ยุติธรรมดีแล้ว  ในปีนั้นได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ๒ ช้าง  ส่วนกองทัพไทยที่ทรงตรัสให้หัวเมืองต่าง ๆ  นำโดยพระเจ้ากาวิละยกไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ในฝ่ายเหนือนั้นก็มีข่าวดีลงมาถวายเนือง ๆ  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปนะครับ

          * “ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงแขงรู้ว่าเจ้าเมืองเชียงรุ้งออกหากองทัพแล้ว  กลัวกองทัพจะไปตีเมืองของตน  จึงคิดฆ่าพม่าซึ่งอยู่ในเมืองเชียงแขงเป็นอันมาก  แล้วมีหนังสือมาขอสวามิภักดิ์ด้วยกองทัพอีกเมืองหนึ่ง  กองทัพเจ้าฟ้าเมืองน่านยกขึ้นไปครั้งนี้  ตีได้เมืองใหญ่น้อยสิบเอ็ดสิบสองหัวเมือง  ได้ครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยประมาณสี่ถึงห้าหมื่นเศษ  กับปืนใหญ่น้อยเครื่องศัสตราวุธช้างม้าเป็นอันมาก

          เมืองลาวฟากตะวันออกแม่น้ำโขงซึ่งขึ้นแก่พม่านั้น  ได้ถูกกองทัพเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงยกขึ้นไปตีได้ทั้งสิ้น  เป็นเมืองใหญ่น้อยรวม ๔๐ เมือง  ได้ครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๖–๗๐,๐๐๐ เศษ  พระยาเชียงตุงนั้นจะกลับเมืองก็มิได้  ด้วยพม่ายกมารักษาอยู่  ตั้งมหาขนานผู้น้องเป็นเจ้าเมืองเสียแล้ว  จึงต้องตกอยู่เมืองเชียงใหม่
 ศึกครั้งนี้พม่ามีเหตุสิ่งใดก็ไม่แจ้ง  จึงมิได้ยกมาช่วยเมืองขึ้นของตน  โดยปล่อยให้กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยยกขึ้นไปตียึดเอาตามใจชอบ

          * พระยามหาอุปราชเมืองเชียงใหม่เลิกทัพกลับมาถึงเชียงใหม่แล้ว  ก็พาเจ้าแสนหวีฟ้า  ท้าวพระยาเมืองสิบสองปันนา  กับหัวเมืองลาวที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีทั้งหมด  ลงมากรุงเทพมหานคร  เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ถวายเครื่องราชบรรณาการช้างม้าสิ่งของต่าง ๆ  ขอเป็นเมืองขึ้นถวายต้นไม้ทองเงิน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอุปโภคบริโภคท้าวพระยาลาวเป็นอันมากแล้วทรงพระราชดำริว่า

           “หัวเมืองเหล่านี้ถึงจะสวามิภักดิ์ได้ไว้เป็นเมืองขึ้นก็คงรักษาไว้ไม่ได้  ด้วยใกล้เคียงเมืองพม่า เมืองจีนนัก  มีการศึกมาแล้วจะยกไปช่วยก็ไม่ทันท่วงทีราชการ  ถ้าพม่าและจีนยกมาก็คงจะกลับใจไปขึ้นดังเก่า  ครั้นจะเอาครอบครัวไว้ในบ้านเมืองเราเขาก็ไม่มีความผิดสิ่งไร  ไม่ได้สู้รบยอมสวามิภักดิ์โดยดี  จะทำดังนั้นก็เป็นอันธพาลไป  หาเป็นยุติธรรมไม่”

          ทรงพระราชดำริดังนั้นแล้วจึงโปรดให้ปล่อยเจ้าแสนหวีฟ้า  และท้าวพระยาเจ้าเมืองต่าง ๆ กับครอบครัวกลับขึ้นไปบ้านเมืองทั้งสิ้น

          ครั้งนั้นพระเกียรติยศพระเจ้ากรุงสยามก็แผ่ผ้านไปทั้ง ๔ ทิศ  มีเมืองประเทศราชลาวพุงดำ  ลาวลื้อ  ลาวพุงขาวทั้งสิ้น  มาจนถึงเขมรกัมพูชา  เมืองแขก  เมืองปักษ์ใต้  พระราชอาณาจักรกว้างขวางยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า  เว้นแต่เมืองทวาย  เมืองตะนาว  เมืองมะริด  ที่ได้มาแล้วกลับคืนไปเสีย

          มาถึงข้างแรม  เดือนยี่  ปีเดียวกันนั้น  พระเจ้ากรุงเวียดนามแต่งให้ฮาเตียนถูคำซาย  ซึ่งเป็นที่พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศ  เป็นทูตเชิญพระราชสาส์นเข้ามาถึง  มีใจความสำคัญเพียงกล่าวถวายพระพรพร้อมกับถวายสิ่งของต่าง ๆ  ครั้นพระยาราชาเศรษฐีกราบบังคมลากลับ  ก็ทรงตอบพระราชสาส์นพร้อมมอบสิ่งของถวายตอบแทนตามพระราชประเพณี”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนนี้  สรุปความสำคัญได้ว่า  กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือมีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นหัวหน้า  ยกขึ้นไปตีเมืองใหญ่น้อยในการยึดครองของพม่า  ซึ่งคนในหัวเมืองเหล่านั้นล้วนมีเลือดเนื้อเชื้อไทย  ที่คนไทยในภาคกลางสยามประเทศเรียกพวกเขาว่า  ลาว  การสงครามจึงไม่ดุเดือดรุนแรงเหมือนในการรบกับพม่าซึ่งเป็นคนละเชื้อชาติกับไทย

          หัวเมืองฝ่ายเหนืออตั้งแต่เมืองยอง  หรือมหิยังครัฐ  ขึ้นไปถึงสิบสองปันนาเชียงรุ้ง  ส่วนใหญ่ไม่ยอมสู้รบ  หากแต่เข้ามาสวามิภักดิ์อยู่ในพระบรมโพธิสมภารแห่งพระเจ้ากรุงสยามแต่โดยดี  ครั้นเจ้ามหาอุปราชเชียงใหม่พาเจ้าเมืองที่สวามิภักดิ์เหล่านั้นเข้าเฝ้า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้กลับไปปกครองบ้านเมืองตามเดิมทั้งหมด  ด้วยทรงพระราชดำริว่า  เป็นหัวเมืองที่อยู่ไกลกรุงเทพฯ  ใกล้พม่าและจีน  เป็นการยากที่จะรักษาไว้ได้  ถ้าพม่าและจีนบกเข้ามายึดครอง   อย่างไรก็ตาม  ในสมัยนั้นถือได้ว่าพระราชอาณาเขตสยามประเทศกว้างไกลกว่ายุคใด ๆ ทั้งสิ้น

          สมัยกรุงสุไทเป็นราชธานีไทย  อาณาเขตของประเทศทางภาคเหนือเว้นลำพูน  เชียงใหม่  พะเยา  เชียงราย  เชียงแสนไว้  มีเมืองในปกครองคือ  แพล  น่าน  เซ่า(หลวงพระบาง)  ทางด้านตะวันออก  ข้ามโขงไปเวียงคำ  เวียงจันทน์  ส่วนตะวันออกเฉียงใต้  เว้นเมืองตั้งแต่ละโว้  อโยธยาเป็นต้นไป  ส่วนทางใต้ลงไปถึงสิงคโปร์  ทางตะวันตกถึงหงสาวดี  ตกมาถึงยุคกรุงศรีอยุธยา  มีอาณาเขตแคบเข้ามา  เกือบทุกทิศทาง  มีเพียงทางทิศตะวันออกเท่านั้น  ที่ไปปกครองถึงกัมพูชา

          มาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  แม้ทางทิศตะวันตกจะถูกพม่ายึดครองเมืองที่เคยขึ้นกับไทยไปหมด  แต่ทางเหนือ  ล้านนาประเทศทั้งหมด  รวมไปถึงหัวเมืองที่เป็นคนเชื้อสายเดียวกับไทย  ซึ่งมีเมืองเชียงตุง  เชียงรุ้ง  เป็นศูนย์กลาง  ก็เข้ามาขึ้นกับกรุงสยามทั้งหมด  ล้านช้าง  กัมพูชา  ก็มาขึ้นกับกรุงสยามทั้งหมด  ทางใต้ รวมเมืองรัฐตานี  มลายู  ก็มาขึ้นกับกรุงสยาม  สรุปได้ว่า  กรุงสยามสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์  มีอาณาเขตกว้างไกลที่สุด

          ในช่วงนี้เป็นปลายรัชการที่ ๑  กรุงรัตนโกสินทร์จะมีและเป็นอย่างไรบ้าง  ติดตามอ่านกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, กันยายน, 2562, 10:46:49 PM
(https://i.ibb.co/v1tGmck/1735471200-x-675.jpg) (https://imgbb.com/)

- นักองค์จันทร์ครองกัมพูชา -

กัมพูชาอยู่อย่างว่างกษัตริย์
สตวรรษหนึ่งผ่านแล้วสานเสริม
ฟ้าทะละหะดูแลมาแต่เดิม
รู้ตัวเริ่มชราภาพจึงกราบลา

ทรงโปรดเกล้าฯตั้งกษัตริย์ในบัดนั้น
นักองจันทร์วัยตกสิบหกพรรษา
อภิเษกเป็น”พระอุทัยราชาฯ”
เป็นมหากษัตริย์มีบัดดล


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือแห่งสยามประเทศ  ยกขึ้นไปตีเอาหัวเมืองใหญ่น้อยซึ่งเป็นชนเชื้อชาติไทยในปกครองของพม่า  ได้ตั้งแต่เมืองยองไปจนถึงสิบสองปันนาเชียงรุ้ง  มาขึ้นกับสยามประเทศ  ทำให้อาณาจักรแห่งกรุงสยามในยามนั้นมีอาณาเขตกว้างขวางมากกว่ายุคใด ๆ  วันนี้มาอ่านเรื่องราวในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑  กันต่อไปครับ

          * “ จุลศักราช ๑๑๖๘ ปีขาล (พ.ศ. ๒๓๔๙) พระยารัตนากาศ  พระยาสุริยวงศา  กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า  นายคำเทพ  นายขนานมหาวงศ์  ตกไปอยู่เมืองทันมาช้านานแล้ว  จะขอให้ลงมาทำราชการ ณ กรุงเทพมหานคร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาเชียงเงินขึ้นไปรับ  พระยาเชียงเงินขึ้นไปถึงก็ชักชวนครอบครัวเมืองทัน ๑๐๐ คนเศษลงมาด้วย  ญวนจึงยึดตัวพระยาเชียงเงินไว้  แล้วองเลโบมีหนังสือฟ้องพระยาเชียงเงินส่งเข้ามาทางเมืองเขมร  จึงได้ทรงทราบว่าพระยาเชียงเงินขึ้นไปทำการเกินรับสั่ง  เกรงว่าพระเจ้าเวียดนามไม่รู้ความก็จะสงสัยว่า พระยาเชียงเงินไปกวาดครอบครัวแดนเมืองญวนนั้นเพราะกรุงเทพฯ ใช้ไปกระทำการ

          ดังนั้นจึงรับสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปจำพระยาเชียงเงินลงมา  และให้ครอบครัวเมืองทันนั้นกลับคืนไป  แล้วทรงจัดทูตออกไปแจ้งความแก่พระเจ้าเวียดนามให้สิ้นสงสัยโดยเร็ว  ด้วยพระราชดำริว่า  หากจะให้ราชทูตไปทางเรือดูจะไม่เหมาะ  เพราะว่า  ทะเลในเดือน ๗ เดือน ๘ นั้นเป็นเทศกาลคลื่นลมกล้า  ควรให้ไปทางบก  จึงให้แต่งพระราชสาส์นให้พระยาจักราราชมนตรี  พระยาราชวังสัน  นายเสน่ห์มหาดเล็ก  เชิญพระราชสาส์นไปทางบก  ราชทูตถวายบังคมลาออกเดินทาง ณ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๖๘

          คณะราชทูตไทยทั้งไพร่นาย ๙๕ คน  เดินบกไปทางเมืองลาว  มีลาวเมืองเวียงจันทน์เป็นล่ามไปด้วย ๑๖ คน  รวมเป็นคณะราชทูตทั้งสิ้น ๑๑๑ คน  เมื่อเดินทางไปถึงด่านกำโล  เจ้าเมืองกวางตีบอกไปกรุงเวียดนาม  เจ้าพนักงานจึงจัดเรือให้ขุนนางและไพร่ขึ้นไปรับลงมากรุงเวียดนาม ณ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง   คณะราชทูตอยู่ที่กงกวนเกิดไข้ป่าติดไป  ทำให้ทูตป่วยตาย  คือ  พระยาจักราราชมนตรี ราชทูต ๑   นายเสน่ห์มหาดเล็ก ตรีทูต ๑   และไพร่ ๑๔ คน  กับลาวเวียงจันทน์อีก ๗ คน  รวมเป็นผู้ป่วยตาย ๒๓ คน  เหลือที่รอดตาย  คือ  พระยาราชวังสัน ๑   ขุนหมื่น ๖   ไพร่ ๗๒ ลาวเมืองเวียงจันทน์ ๙ คน   รวมเป็น ๘๘ คน  

          เมื่อความไข้สงบแล้ว  พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นให้พระยาราชวังสันเข้าเฝ้าเมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล  ครั้นอ่านพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว  พระเจ้าเวียดนามก็มิได้มีความสงสัยใด ๆ  จึงมีหนังสือไปให้ปล่อยตัวหมื่นศรี  เพี้ยจันอาสา  กับไพร่ที่ยึดไว้ ณ เมืองซือหงีนั้น  ให้กลับไปบ้านเมืองทันที  เมื่อคณะทูตเดินทางกลับนั้น  พระเจ้าเวียดนามให้จัดเรือส่งกลับกรุงเทพฯ  ส่วนคนลาวนั้นให้เดินกลับในทางบกตามทางเดิม

          กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)  ซึ่งทรงพระประชวรมาแต่เดือน ๑๑ นั้น  ได้ถึงแก่ทิวงคต ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑ ด้วยพระชนมายุได้ ๖๑ พรรษา  ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าน้อย  ได้พระราชทานนามวัดอมรินทราราม ๑   วัดเชิงเลนอีกวัดหนึ่ง  ได้พระราชทานนามวัดบพิตรพิมุข

          ในปีขาล จุลศักราช ๑๑๖๘ นั้น  สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ เมืองเขมร  เห็นว่าตนเองมีอายุมาก  ชราลงแล้ว  นักองค์จันทร์อายุได้ ๑๖ ปี  นักองค์สงวนอายุได้ ๑๓ ปี  สมควรที่จะว่าราชการแผ่นดินได้แล้ว  จึงพาเจ้าทั้ง ๒ องค์มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบทูลว่า   “ได้ว่าราชการมาถึง ๑๐ ปีแล้ว  ก็ชราลง  แล้วเคลิบเคลิ้มไป  ขอให้ตั้งนักองค์จันทร์ขึ้นเป็นเจ้าเมืองกัมพูชา  จะได้รักษาแผ่นดินต่อไป”   ครั้นอยู่มาสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะก็ป่วยถึงแก่กรรมลงเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ แรก ในปีเดียวกันนั้น รวมอายุได้ ๖๕ ปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทำการศพสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ

          ครั้นถึงวันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง  จึงทรงพระกรุณาตั้งนักองค์จันทร์เป็น  “สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนาถบพิตร สถิตเป็นอิศวรกัมพุชชรัฐราชโอภาศ ชาติวรวงศ์ ดำรงกรุงกัมพูชาธิบดี ศรียโสธร นครอินปัต กุรุรัฐบุรีรมย์ อุดมมหาสถาน เจ้ากรุงกัมพูชา”   แล้วพระราชทานชฎาเครื่องยศเครื่องสูง  ตามอย่างเจ้าประเทศราช  โปรดให้ไปครอบครองบ้านเมืองต่อไป  แล้วโปรดให้ทำการเกศากันต์นักองค์สงวนด้วย  และโปรดให้พระยาจักรี(แบน)  พระยากลาโหม(เมือง) เป็นผู้ใหญ่ทำนุบำรุง  สมเด็จพระอุทัยราชากับพระยาเขมรกราบถวายบังคมลาไปเมื่อเดือน ๙ ในปีเดียวกัน”

          ** ท่านผู้อ่านคงยังจำได้นะครับว่า  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงโปรดเกล้าฯราชาภิเษกให้นักองเอง  โอรสกษัตริย์กัมพูชาที่ทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรม  ไปเป็นเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงกัมพูชา  เฉลิมพระนามว่า  สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ  โดยขอแบ่งดินแดนส่วนหนึ่งคือเมืองพระตะบองและเสียมราฐมาขึ้นกับกรุงสยาม  ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ปกครองดูแล  ต่ออีก ๔ ปี  สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีสวรรคต  มีพระราชโอรส  คือ  นักองจันทร์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะปกครองดูแลกรุงกัมพูชา  และอภิบาลนักองจันทร์เรื่อยมา  จนนักองจันทร์มีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา  จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็น  สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชฯ  ปกครองกัมพูชาสืบไป  จึงเป็นอันว่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงตั้งพระเจ้าแผ่นกรุงกัมพูชาปกครองเขมร ถึง ๒ พระองค์  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, กันยายน, 2562, 10:38:58 PM
(https://i.ibb.co/Rh2tjKK/13615085091361508544l.jpg) (https://imgbb.com/)


- ความในพงศาวดารเขมร -

กัมพูชาว่าไว้คล้ายไทยว่า
กัมพูชาน้อมรับไม่สับสน
กษัตริย์ใหม่กัมพูชาหนุ่มหน้ามน
ได้เริ่มต้นฟื้นฟูกัมพูชา

“เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์”
เหมือนมีเจตน์จำนงใดในเบื้องหน้า
นำนางเทพนารีผู้ธิดา
ถวายพระราชาเพิ่มบารมี


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงเรื่องราวที่ว่ากรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) ทรงพระประชวรแล้วสวรรคตด้วยพระชนมายุ ๖๑ พรรษา  ในปีเดียวกันนั้น  สมเด็จเจ้าฟ้าทะหะละ  ผู้ปกครองดูแลประเทศกัมพูชา  ได้นำพานักเองจันทร์  นักองสงวน  เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งด้วยอ้างว่าชรามากแล้ว  ขอให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนักองจันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกัมพูชาต่อไป  ยังไม่ทันที่จะกลับไปกัมพูชา  สมเด็จฟ้าทะละหะก็ถึงแก่กรรมลง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดการศพให้ ณ ที่วัดสระเกศ  จากนั้นทรงประกาศสถาปนาให้นักองจันทร์เป็น สมเด็จพระอุทัยรารชาธิราช รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ...  เสด็จจากกรุงเทพฯ ไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ นั้นเอง  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

          ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับนักองค์นพรัตน  แม้จะมีเนื้อความในทำนองเดียวกัน  แต่ก็มีความต่างกันอยู่บ้าง ดังต่อไปนี้

          * “ลุ ณ วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน อ้าย ปี ฉลู ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๔๘)  เจ้าฟ้าทะละหะได้ตามเสด็จนักองค์จันทร์  ซึ่งเป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่เข้าไปกรุงเทพฯ  เฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถึง ณ วันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปี ขาล ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙)  เจ้าฟ้าทะละหะป่วยมีอาการหนักลง  ครั้นถึงวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือนแปดปฐมาสาธ ปีขาล ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) เจ้าฟ้าทะละหะก็ถึงแก่อนิจกรรมลง ณ ที่พักในกรุงเทพฯ  อายุได้ ๖๕ ปี  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการปลงศพเจ้าฟ้าทะละหะตามควรแก่เกียรติยศแลตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ฯ

          ลุ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ทุติยาสาธ ปีขาล ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙)  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อภิเศกนักองค์จันทร์ซึ่งเปนพระราชบุตรองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช  กรุงกัมพูชา  มีพระชันษาได้ ๑๖ ปี  ขึ้นทรงราชย์  ทรงพระนาม  สมเด็จพระอุไทยราชาธิราช มหาจักรพรรดิราช บรมนาถ พระบาทบรมบพิตร สถิตย์เปนอิศระยอดรัฐราษฎร์ โอภาษชาติวงษ์ ดำรงกัมพูชาธิบดี ศรียโสธร นครอินปัต กุรุรัฐราชธานี บุรีรมย์ อุดมมหาสถาน   แล้วพระราชทานเครื่องยศ  พระพัตรภูษาอันประเสริฐ  แลโปรดเกล้าฯ ให้จัดการส่งเสด็จพระบาทบรมบพิตร  ออกจากกรุงเทพมหานครมาเมื่อข้างขึ้นเดือนเก้า ปีขาล ๑๑๖๘ ถึงเมืองบันทายเพ็ชร  เสด็จขึ้นประทับบนพระราชมณเฑียร  เมื่อวันจันทร์  ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาลนั้น”

          * ท่านผู้อ่านครับ  ราชสำนักกรุงกัมพูชาอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลานติดต่อกันมาหลายปี  เห็นจะตั้งมั่นได้ตั้งแต่นักองค์จันทร์ได้รับการอภิเษกเป็นสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช  ครองราชสมบัติกรุงกัมพูชา  ในปีพุทธศักราช ๒๓๔๙ นี้เอง  เมื่อได้พระเจ้าแผ่นดินครองราชย์ใหม่แล้ว  เหตุการณ์ในกรุงกัมพูชาจะเป็นอย่างไรต่อไป  ดูความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา กันนะครับ

           “ลุถึงเดือนอ้ายในปีขาลนี้  เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (เจ้าฟ้าทะละหะ)  ซึ่งอยู่เมืองพระตะบอง  ได้นำบุตรีชื่อนักนางเทพมาถวายพระบาทผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระอุไทยราชา  ผู้ทรงราชย์  ในครั้งนั้นสมเด็จพระไอยกีพระนามเดิม นักองค์อี  เปนพระศรีสุชาดากระษัตรี  ซึ่งเป็นบุตรีในสมเด็จพระแก้วฟ้านั้น  ได้เสด็จมาจากพระตะบองพร้อมกับเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ด้วย  เสด็จมาประทับอยู่ที่พระตำหนักตำบลโพธิกำโบ (โพธิปูน)  กับนักองค์เภาซึ่งเป็นพระบุตรี

          ลุ ณ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ในปีขาลนั้น  นักท้าวมหากษัตรี  ผู้เปนพระมารดาเลี้ยงป่วยมีอาการหนัก  แล้วถึงอนิจกรรม อายุได้ ๖๗ ปี

          ถึงข้างแรมเดือน ๓ ปีขาล  เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์  ได้ทูลลากลับคืนไปเมืองพระตะบอง

          * * ท่านผู้อ่านครับ  เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์  คือ  เจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองพระตะบองอันมีเมืองเสียมราบเป็นบริวาร  ตามที่ได้ตกลงแบ่งปันเขตแดนกันดังกล่าวมาแล้ว  ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาระบุว่า  เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ได้นำธิดาของตนนามว่า  เทพ  ถวายแด่สมเด็จพระอุทัยราชา  เป็นความที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารไทย  ซึ่งก็น่าจะจริงตามความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา  เพราะว่าพระยาอภัยภูเบศรมีเชื้อชาติเขมรมาถือสัญชาติไทย  และเป็นขุนนางในราชสำนักไทย  ก็ย่อมมีใจฝักใฝ่ในราชสำนักเขมรอยู่บ้างเป็นเรื่องธรรมดา

          ความในพงษาวดารฉบับนี้ยังกล่าวต่อไปว่า  นักนางเทพ  ธิดาพระยาอภัยภูเบศรซึ่งเป็นพระเทพีในสมเด็จพระอุทัยราชานั้น  มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งนามว่านักองค์แป้น  ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้นป่วยหนักถึงแก่อนิจกรรมในปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๗๑ (พ.ศ. ๒๓๕๒)  อันเป็นปีเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร. ๑)เสด็จสวรรคต  และต่อมาสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้  ออกญาวิบุลราช แบน  เป็นเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์  ปกครองพระตะบองแทนคนเก่า  เรื่องนี้จะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไปภายหน้า

          พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43645#msg43645)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43963#msg43963)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, กันยายน, 2562, 10:14:56 PM
(https://i.ibb.co/xfCnwCz/activit.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43815#msg43815)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44142#msg44142)                   .

- พิธีอุปราชาภิเษกวังหน้า -

อุปราชาภิเษกราชโอรส
ให้ปรากฏประจักษ์เกียรติศักดิ์ศรี
เป็นอุปราชสืบองค์วงศ์จักรี
สถิตที่วังหน้ารองราชัน


          อภิปราย ขยายความ..............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน  ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงสถาปนานักองค์จันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรครองกรุงกัมพูชา  คราวนี้หันกลับมาดูเรื่องราวในกรุงรัตนโกสินทร์ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันบ้าง  จะนำความมาให้อ่านกันทุกตัวอักษร  จนจบตอน  เพื่อให้ทราบรายละเอียดในการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ว่ามีขั้นตอนเป็นอย่างไร  จะตัดตอนยกมาสั้น ๆ ก็ไม่ได้  เพราะอ่านไม่รู้เรื่องชัดเจน  ขออภัยท่านที่ใช้มือถือต้องใช้สายตาอ่านยาวกว่าทุกวันที่ผ่านมา  เริ่มอ่านกันเลยนะครับ

          * ครั้นถึงปีจุลศักราช ๑๑๖๘ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีขาล  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ตั้งพลับพลาที่ประทับแรมที่โรงหล่อท้ายพระราชวังภายในกำแพง  ซึ่งเป็นที่สวนกุหลาบในภายหลัง  ตั้งเกยที่ข้างหลังข้างหลังพระที่นั่งสุทไธศวรรย์  พลับพลาเปลื้องเครื่องตั้งนอกกำแพงแก้วที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  และมณฑปที่สรงสนานตั้งที่ชาลาในกำแพงแก้วด้านตะวันออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  โรงพิธีพราหมณ์ตั้งหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันตกเฉียงเหนือ  ในการพระราชพิธีนั้น  พระสงฆ์ราชาคณะคามวาสี ๓๒   อรัญวาสี ๒   พระองค์เจ้า ๑   ฐานานุกรม ๑๒   อาจารย์ในกรุง ๓   อาจารย์นอกกรุง ๓  รวม ๕๓ รูป  เจริญพระพุทธมนต์ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ไป ๓ วัน เวลาบ่าย ๒ โมง ๕ บาท  ตั้งกระบวนแห่  มีข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนและมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง  และพระราชวังบวรฯ  และตำรวจซึ่งต้องเกณฑ์ในกระบวนแห่นั้น  นุ่งถมปักลายสวมเสื้อครุยขาว  ขัดดาบขัดกระบี่สะพายแล่งตามกระบวน  บรรดาศักดิ์เป็นคู่ ๆ ทั้งหน้าหลัง  แห่เป็น ๔ สาย  แล้วถึงข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย  ทหารพลเรือนในพระบรมมหาราชวัง  และพระราชวังบวรฯ นุ่งถมปักลายสวมเสื้อครุยขาวตามเสด็จท้ายกระบวนหลังอีก ๑๓๔ คู่  รวม ๒๖๘ คน  แห่ตั้งแต่เกยที่ประทับมาโดยราชวิถี  มีราชวัติฉัตรเบญจรงค์รายเป็นระยะตลอดมา  เข้าประตูสุวรรณบริบาลหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  แล้ววงมาตามแนวกำแพงแก้ว  เสด็จขึ้นพลับพลาเปลื้องพระวิภูษิตาภรณ์เครื่องที่ทรงมานั้นแล้ว  ทรงพระภูษาลายพื้นขาว  โจงหางหงส์  รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพชร  ทรงพระธำมรงค์เพชรครบนิ้วพระหัตถ์ขวาพระหัตถ์ซ้าย  ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทองแล้ว  ทรงพระเสลี่ยงน้อยไปถึงที่เสด็จขึ้นทางมุขหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  เสด็จอยู่ข้างในพระฉาก  ทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จนจบทั้ง ๓ วัน  แล้วเสด็จลงทางมุขหลังมาประทับที่พลับพลาเปลื้องเครื่องทรง  ผลัดเครื่องแต่งพระองค์  ทรงพระมาลาเส้าสูง  ตั้งกระบวนแห่เสด็จกลับทางประตูพิมานชัยศรีทั้ง ๓ วัน

          เวลาเช้าวันที่ ๑ วันที่ ๒ นั้นทรงพระเสลี่ยงน้อยเสด็จมาทรงปฏิบัติพระสงฆ์ฉัน  แล้วเสด็จทางประตูพิมานชัยศรีกับพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง  ไปประทับ ณ ทิมสงฆ์  ดำรัสให้ทิ้งทาน ณ ต้นกัลปพฤกษ์ทั้ง ๔ ต้น  ซึ่งตั้งอยู่หว่างโรงละคร นอกพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เฟื้องทองเฟื้องเงิน  ไว้ในผลมะกรูดในผลมะนาว  รวมทั้ง ๓ วัน  เป็นทอง ๑๘ ตำลึง เงิน ๒๔ ชั่ง

          ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล อัฐศก เวลาเช้า  ทรงเครื่องต้น  ทรงมหากฐินน้อย  เสด็จโดยกระบวนแห่ล้วนสวมพอกขาวมีเกี้ยวมาตามทาง  เข้าประตูสุวรรณบริบาล  ประทับพลับพลาเปลื้องเครื่อง  แล้วทรงพระภูษาลายพื้นขาวโจงหางหงส์  รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพชร  ทรงพระธำมรงค์ครบนิ้วพระหัตถ์ขวาพระหัตถ์ซ้าย  ทรงฉลองพระองค์ครุย  เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยมุขหลัง  ถวายนมัสการพระศรีรัตนตรัย  จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมา ณ ที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ทรงศีลและทรงพระราชอุทิศถวายสังฆภัตตานิสงส์ครบตติยวาร  แล้วทรงประเคนสำรับพระสงฆ์ราชาคณะรับพระราชทานฉัน  

          ครั้นได้เวลามหามงคลฤกษ์  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  จึงเสด็จลงมาที่สรงสนานริมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออก  พระราชโกษาถวายพระภูษาขาวเครื่องถอด  เสด็จประทับเหนือตั่ง  ตั้งบนถาดทองแดงบ่ายพระพักตร์ต่อบุรพทิศแล้ว  หลวงพิพิธภูษาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องมุรธาภิเษกสรงสนานเสร็จแล้ว  พระราชาคณะคามวาสี ๙  พระราชาคณะอรัญวาสี ๒  พระอาจารย์วัดบางช้าง ๓  รวม ๑๔ รูป  ถวายน้ำพระพุทธมนต์  จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเต้าเบญจคัพย์  และพระมหาสังขทักษิณาวัฏ  พระสังข์ทองคำ  พระสังข์เงิน  อันเต็มด้วยน้ำปัญจสุทธินที  ทรงรดพระราชทานเสร็จ  และพระครูพราหมณ์ผู้ใหญ่ถวายน้ำสังข์น้ำกลดต่อพระหัตถ์แล้ว  ถวายใบเวฬุทรงรับ  พราหมณ์ผู้ใหญ่จึงร่ายพระเวทอิศวรมนต์  พระพิษณุมนต์  พระพรหมมนต์  ถวายชัยมงคล  เสร็จแล้วผลัดพระภูษาขาว  ทรงพระภูษาลายเทศพื้นแดงเขียนทอง  ทรงสะพักกรองขาว  เสด็จขึ้นพลับพลาเปลื้องพระเครื่องคอยพระฤกษ์

          ครั้นได้ศุภวารมหุรดิฤกษ์แล้ว  เสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อย  จมื่นมหาดเล็กจึงเชิญธูปเทียนดอกไม้ตามเสด็จไปพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  เสด็จลงจากพระเสลี่ยงเข้าไปประทับอยู่ท้องพระโรง  ขุนมหาสิทธิโวหารอาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไว้ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานข้างใน  จึงมีพระราชโองการดำรัสใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ให้ออกมาเชิญเสด็จ ๆ เข้าไปในพระที่นั่งข้างใน  พระเจ้าลูกเธอพระเจ้าหลานเธอหลายพระองค์  ทรงเชิญพานดอกไม้ธูปเทียนตามเสด็จเข้าไป  จึงทูลเกล้าถวายดอกไม้ธูปเทียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แล้วมีพระราชโองการดำรัสใช้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย  ให้ออกมาเชิญพานพระสุพรรณบัฏเข้าไปในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

          ครั้นเวลาเช้า ๔ โมง ๕ บาท  ได้พระสิริราชาฤกษ์  หลวงโลกทีป  ขุนโชติพรหมา  ขุนเทพากร  โหรทั้ง ๓ สั่งให้ประโคม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว  พระราชทานพระแสงดาบญี่ปุ่นฝักมะขามสีแดง  จึงดำรัสฝากพระบวรพุทธศาสนา และพระราชทานพระราชโชวาท  ให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรมโดยพระราชประเพณีแล้ว  พระราชทานพระพรชัยให้ทรงเจริญพระสิริสวัสดิ์วัฒนาอายุยืนสืบไป  เสร็จการพระราชพิธีแล้ว  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา  พลพาย ๓๓  ซึ่งประทับ ณ ฉนวนประจำท่าเหนือตำหนักแพ  มีเรือดั้งคู่ชก ๓ คู่  เรือนำและเรือกลองแขก  เรือตำรวจ  เรือข้าราชการตามเสด็จ ๒๓ ลำ  เสด็จข้ามไปพระราชวังเดิม  มิได้โปรดให้เสด็จไปสถิตในพระราชวังบวรฯ”

          * นอกจากจะทรงสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ใหม่แล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์รับพระบัณฑูรด้วย  ซึ่งครั้งนั้นข้าราชการกราบบังคมทูลพระกรุณาออกพระนามว่า  “พระบัณฑูรใหญ่พระบัณฑูรน้อย”  

          พร้อมกันนั้นก็โปรดตั้งสมเด็จพระราชธิดา เจ้าฟ้าประภาวดี  เป็นกรมขุนเทพยวดี  
          เลื่อนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิทักษ์มนตรี  ขึ้นเป็นกรมหลวงพิทักษ์มนตรี  
          ตั้งพระราชนัดดา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์นี้  ครั้งกรุงธนบุรีมีพระนามว่า  เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์  เมื่อสิ้นกรุงธนบุรี  ก็ทรงพระราชทานพระนามใหม่ว่า  เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์  แต่ข้าราชการขานพระนามย่อว่า  “เจ้าฟ้าอภัย”  ได้ทรงสดับแล้วรับสั่งว่าพ้องกับพระนามเจ้าฟ้าอภัยทศครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์  และเจ้าฟ้าอภัยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ  ไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น  จึงทรงเปลี่ยนใหม่ว่า  “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์”  
          นอกจากนี้ยังโปรดให้ตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้าเกศ  ในกรมขุนศรีสุดารักษ์ เป็นกรมขุนอิศรานุรักษ์
          ตั้งพระราชธิดาในสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  เจ้าฟ้าพิกุลทอง  เป็นกรมขุนศรีสุนทร
          ตั้งพระเจ้าหลานเธอ  พระองค์เจ้าอรุโณทัย  เป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพย์
          ตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ  พระองค์เจ้าอภัยทัต  เป็นกรมหมื่นเทพพลภักดิ์
          ตั้งพระองค์เจ้าอสนีในสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า  เป็นกรมหมื่นเสนีเทพ

          ตั้งพระองค์เจ้าในกรมพระราชวังหลัง ๓ พระองค์  คือ

          พระองค์เจ้าปาน  เป็นกรมหมื่นนราเทเวศร์
          พระองค์เจ้าบัว  เป็นกรมหมื่นนเรศร์โยธี
          พระองค์เจ้าแดง  เป็นกรมหมื่นเสนีบริรักษ์

          เมื่อเสร็จพิธีแล้วสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯมิได้เสด็จออกจากวังหลวงไปประทับ ณ วังหน้า  แต่เสด็จลงเรือข้ามฟากไปประทับ ณ วังเดิม  ทั้งนี้ก็เห็นจะเป็นเพราะว่า  สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  เมื่อใกล้จะถึงแก่พิราลัยนั้นทรงแสดงความห่วงใยหรือหวงในสมบัติที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น  ไม่ปรารถนาจะให้ใครนอกจากลูกหลานของพระองค์เข้าครอบครอง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่เสด็จไปประทับ ณ วังหน้า

          รุ่งขึ้นปี จุลศักราช ๑๑๖๙ ปีเถาะ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖  โปรดให้เชิญพระศพกรมพระราชวังหลังเข้าสู่พระเมรุ  ท้องสนามหลวง  มีการมหรสพสมโภช ๓ วัน  แล้วพระราชทานเพลิงพระศพ  และมีการสมโภชพระอัฐิอีก ๑ วัน  ในการนี้พระเจ้าเวียดนามได้จัดสิ่งของส่งมาเข้าร่วมสดับปกรณ์ด้วย

          วันรุ่งพรุ่งนี้ หายตาลายแล้วมาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบะนกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุนขี่ผึ้งไทย
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, กันยายน, 2562, 10:48:20 PM
(https://i.ibb.co/9bRHt6K/1908123-876481875764392-2288340978399256597-n.jpg) (https://imgbb.com/)
นักองค์มี (นักองค์เม็ญ) จากละคร ข้าบดินทร์

- นักองจันทร์ทูลขอพระญาติ -

นักองค์จันทร์ทูลขอพระญาติกลับ
เป็นความสับสนอยู่ดูน่าขัน
พงศาวดารอ้างความต่างกัน
นักองจันทร์ถือทุนมูลขัดเคือง


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้อานกันยาวเหยียด  ในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลและพระเจ้าลูกยาเธอพระเจ้าหลานเธอหลายพระองค์ทรงกรมต่าง ๆ เป็นไปตามพระราชประเพณี  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ

          * “ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๐  อันเป็นปีที่ ๒๖ แห่งรัชกาลที่ ๑ พระเจ้ากรุงสยามนั้น  ยาลอง  หรือ  องเชียงสือ  พระเจ้าเวียดนามให้ทูตถือพระราชสาส์นเข้ามาถวาย  แสดงความยินดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้อุปราชาภิเษกให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  เป็นพระราชวังบวรสถานมงคล  อาณาประชาราษฎรได้พึ่งพระบารมีอยู่เย็นเป็นสุข

          พร้อมพระราชสาส์นนั้นพระเจ้าเวียดนามได้แต่งให้คำซายกาย  เกอทินลกเหา  ราชทูตคุมสิ่งของเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นจำนวนมาก  เมื่อทูตเวียดนามถวายบังคมลากลับ  ก็ทรงจัดสิ่งของถวายพระเจ้าเวียดนามเป็นการตอบแทน  พร้อมกับมีพระราชสาส์นตอบขอบพระทัยที่พระเจ้าเวียดนามมีพระทัยรักใคร่กรุงเทพมหานครเสมอต้นเสมอปลาย  หาได้รังเกียจประการใดไม่  ขอให้พระเจ้าเวียดนามเจริญอยู่ในราชสมบัติสืบพระญาติวงศ์ครอบครองอาณาจักรไพร่ฟ้าประชากรข้าขอบขัณฑสีมายืนยาวไปชั่วฟ้าดิน

          ในเดือน ๗ ปีเดียวกันนั้น  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  ประชวรสิ้นพระชนม์  ต่อมาในเดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ  ได้ช้างสีทองแดง ๒ ช้าง  พระยานครราชสีมาถวายช้าง ๑   เจ้าทุ่งถวายช้าง ๑   ช้างงาเดียวใหญ่ช้าง ๑   โปรดให้ทำโรงพักไว้ ณ วัดสระเกศ  เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชแล้ว  พระราชทานชื่อ  ช้างนครราชสีมาขึ้นระวางเป็นพระยาบรมนาเคนทร์คเชนทรชาติตามพหัตถี  ศรีสุวรรณเลิศฟ้า
          พระราชทานช้างเจ้าทุ่งขึ้นระวางเป็นพระบรมคชลักษณ์  อัครชาติตามพหัตถีศรีคชพงศ์  รณรงค์เลิศฟ้า
          พระราชทานชื่อขึ้นระวางช้างงาเดียวเป็นพระบรมเมฆ  เอกทนต์  วิมลสุประดิษฐ์ สิทธิสนธยา  มหาศุภมงคล  วิมลเลิศฟ้า   แล้วให้แห่ช้างทั้งหมดเข้ามายืนไว้ในพระบรมมหาราชวัง

          ณ เดือน ๔ ปีเดียวกันนั้น  สมเด็จพระอุทัยราชาแห่งกรุงกัมพูชา  มีศุภอักษรให้พระองค์แก้วกับพระยาจักรีเข้ามากราบทูลขอนักองค์อี  นักองค์เภา  ซึ่งเป็นปิตุฉาของพระองค์  และเป็นพระสนมเอกในสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดพระราชทานให้  โดยมีพระราชดำรัสว่า  “มีพระองค์เจ้าอยู่  จะให้ออกไปมิได้  มารดากับบุตรจะพลัดกัน”   แต่ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา  ฉบับนักองค์นพรัตน์  มีความต่างออกไปว่าดังนี้

           “ ลุเดือน ๓ ปีเถาะ ๑๑๖๙ (พ.ศ.๒๓๕๐)  พระบาทผู้เปนเจ้าตรัสใช้ให้พระองค์แก้ว (ด้วง)  กับออกญาจักรี (แกบ)  ให้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  และขอรับพระราชทานสมเด็จพระมาตุจฉาที่อยู่ ณ กรุงเทพฯ  กลับคืนกรุงกัมพูชาด้วย  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาอนุญาตให้กลับ  คือ :-

            (๑) สมเด็จพระมาตุจฉา  ซึ่งเปนสมเด็จพระท้าว  พระนามเดิม  นักองค์เม็ญ ๑
            (๒) พระภัควดี  พระเอกกระษัตรีที่แต่ก่อนเปนพระแม่นางบุบผาวดี  เดิมชื่อ  วง  แลเปนพระมารดานักองค์เม็ญ ๑
            (๓) สมเด็จพระมาตุจฉา  ทรงพระนามนักองค์เภา ๑  อันนักองค์เภานี้ได้เปนพระเทพีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังน่า  มีพระราชบุตรีองค์หนึ่งทรงนามพระองค์เจ้ากัมพูช์ฉัตร  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหลวงทรงอนุญาตให้แต่นักองค์เภากลับได้  แต่ส่วนพระองค์เจ้ากัมพูช์ฉัตรนั้นโปรดเกล้าฯ ให้คงอยู่กรุงเทพฯ

           อนึ่ง  สมเด็จพระมาตุจฉาองค์หนึ่งทรงพระนามเปนสมเด็จพระศรีราชธิดา  เดิมทรงพระนาม  นักองค์อี  ที่นักนางแป้น  ซึ่งเปนน้องออกญาบวรนายกโสร์เป็นพระมารดานั้น   ก็เปนพระเทพีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังน่าเหมือนกัน  มีพระราชบุตร ๒ พระองค์  ทรงพระนาม พระองค์เจ้าปุก ๑   พระองค์เจ้าวง ๑   เหตุดังนั้น  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหลวงจึงทรงห้ามไว้ให้คงอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งพระมารดาและพระราชบุตร

           แต่ที่กลับคืนเมืองเขมรคราวนั้น  ก็มีแต่สมเด็จพระมาตุจฉา ๒ พระองค์  กับพระภัควดี  พระเอกกระษัตรีอีกองค์หนึ่งเท่านั้น”

           * * ท่านผู้อ่านครับ  ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  นักองค์เม็ญนั้นมิได้กลับไปกัมพูชา  เพราะว่าท่านถึงแก่อนิจกรรมเสียในกรุงเทพฯแล้ว  และแม้นักองค์เภาก็มิได้ทรงอนุญาตให้กลับไปกรุงกัมพูชาด้วยข้ออ้างเช่นเดียวกันกับที่ไม่อนุญาตให้นักองค์อีกลับไป  คือว่า  “แม่ลูกจะพลัดกัน”  นั่นเอง  และเรื่องนี้เป็นสาเหตุให้สมเด็จพระอุทัยราชาทรงพระโทมนัสแล้วกระด้างกระเดื่องในกาลต่อไป

           เรื่องระหว่างไทยกับเขมรนี่เป็น  “รามเกียรติ์”  คือ เ รื่องยาวที่จบยาก  เอาไว้นำมาบอกเล่าสลับกับเรื่องอื่น ๆ เป็นระยะ ๆไป  พรุ่งมีเรื่องอื่นมาคั่นไว้  เป็นเรื่องอะไรนั้น  มาเปิดอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กันยายน, 2562, 10:04:21 PM
(https://i.ibb.co/Xt9J64W/728x485.jpg) (https://imgbb.com/)

- เชิญพระพุทธรูปใหญ่เข้ากรุง -

มีพระพุทธรูปใหญ่ในเมืองเก่า
อัญเชิญเข้ากรุงฉาวข่าวลือเลื่อง
เป็นพระใหญ่โด่งดังไปทั้งเมือง
ชักลากเปลืองแรงงานบานตะไท

เข้าวิหารไม่ได้เพราะใหญ่อยู่
ทุบประตูทิ้งจึงเข้าถึงได้
วัดสุทัศน์ที่อยู่ชื่นชูใจ
มีนามใหม่ “ศรีศากยมุนี”


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ฉบับนักองนพรัตน์มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  เรื่องที่สมเด็จพระอุทัยราชาฯ นักองจันทร์  มีหนังสือเข้ามากราบทูลขอพระญาติผู้ใหญ่  เช่น  นักองอี  นักองเภา  กลับคืนสู่กัมพูชา  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ  มีความในพระราชพงศาวดาร  ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า

(https://i.ibb.co/85cBQL6/728x473.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ลุจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก  เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๑   ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ  เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่  ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุลงมาจากเมืองสุโขทัย  หน้าตัก ๓ วา คืบ  สมโภชที่หน้าตำหนักแพ ๓ วัน  ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ  เชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้าง  ไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า  ประตูนั้นก็เรียกว่าประตูท่าพระมาจนทุกวันนี้  เหตุว่าต้องรื้อประตูจึงเชิญเข้าไปได้  พระพุทธรูปพระองค์นี้  ภายหลังได้ถวายพระนามว่า  พระศรีศากยมุนี”

          * พระพุทธรูปใหญ่องค์นี้  มีความปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยวัดป่ามะม่วงหลักที่ ๑ (ภาษาไทย)  บอกเล่าเรื่องราวที่พระยาลิไท  ทรงอาราธนาพระอุทุมพรบุปผมหาสามีสังฆราช  ประมุขพระภิกษุคณะลังการวงศ์  นิกายมหาวิหาร  จากนครพัน (เมาะตะมะ)  มาสู่กรุงสุโขไท  แล้วพระองค์ทรงพระผนวช  โดยสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๔  ณ วัดป่ามะม่วง  แล้วทรงให้หล่อพระพุทธรูปด้วยเนื้อทองสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองสุโขไท (คือหน้าตัก ๓ วาคืบ = ๑๒ ศอก ๑ คืบ)  ประดิษฐานในพระวิหารทางด้านทิศตะวันออกแห่งองค์พระมหาธาตุเจดีย์กลางเมืองสุโขไท  เมื่อออกพรรษาแล้วทรงกระทำมหาทานฉลองพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่นั้น  มีการแสดงและสดับธรรมทุกวันจนครบ ๑๐๐ วัน  แล้วทรงถวายกระยาทานอันมี  ทองหมื่นหนึ่ง  เงินหมื่นหนึ่ง  เบี้ยสิบล้าน  หมากสิบล้าน  ผ้าจีวรสี่ร้อย  บาตรสี่ร้อย  หมอนนั่งสี่ร้อย  หมอนนอนสี่ร้อย  เป็นต้น

          พระพุทธรูปใหญ่องค์นี้เดิมไม่ปรากฏนาม  เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  โปรดให้อัญเชิญจากวัด(มหาธาตุ)ร้างกลางป่าเมืองเก่าสุโขทัย  ลงไปกรุงเทพมหานครนั้น  เห็นจะทุลักทุเลในการขนย้ายมากทีเดียว  ดีที่ในช่วงเวลานั้นแม่น้ำสำพายหรือแม่ลำพันยังมีสภาพเป็นแม่น้ำที่ลึกและกว้าง  จึงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ลงแพไม้ขนาดใหญ่  ล่องจากเมืองเก่าสุโขทัยตามลำน้ำแม่ลำพัน  ออกสู่แม่น้ำยมที่บ้านธานี  แล้วล่องตามลำน้ำยมอันคดเคี้ยวจากธานี  ผ่านบ้านกง  บ้านลาด  บางแก้ว  บางระกำ  และหลายตำบลในเขตจังหวัดพิจิตร  ออกลำน้ำน่าน  ที่บ้านเกยชัย  ลงบรรจบแม่น้ำปิงตรงเมืองปากบาง (นครสวรรค์)  หรือปากน้ำโพ แ ล้วสู่แม่น้ำเจ้าพระยาล่องลงเข้ากรุงเทพมหานคร

(https://i.ibb.co/s3MqPgL/2ece98.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความในพระราชพงศาวดารมิได้ให้รายละเอียดมากไปกว่าที่อ่านให้ฟังข้างต้น  แต่ก็ได้เห็นความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้  กล่าวคือ  เมื่อพระพุทธรูปล่องลงถึงกรุงเทพฯแล้ว  โปรดให้จอดแพไว้ตรงหน้าพระตำหนักแพ  จัดให้มีการสมโภชนานถึง ๓ วัน  แล้วจึงอัญเชิญขึ้นจากแพสู่วัดสุทัศน์เทพวราราม  ครั้นถึงแล้วก็อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระวิหารมิได้  เพราะองค์พระใหญ่กว่าประตูพระวิหาร  จึงตั้งไว้ริมถนนเสาชิงช้าทำร่มบังแสงแดดไว้  ต่อมาจึงทำการรื้อประตูพระวิหาร แล้วอัญเชิญองค์พระใหญ่เข้าไปประดิษฐาน  นัยว่า  พระพุทธรูปใหญ่เนื้อทองสำริดองค์นี้  ขณะที่อัญเชิญมากรุงเทพมหานครนั้น  มีสภาพชำรุดไม่สมบูรณ์นัก  ภายหลังจึงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์จนสมบูรณ์ดี  แล้วถวายพระนามว่า  พระศรีศากยมุนี  ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ แต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงกาลปัจจุบัน

(https://i.ibb.co/9NvQJHt/paragraph-15-175.jpg) (https://imgbb.com/)

          มีพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ที่อัญเชิญจากสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลายองค์  เช่น  พระพุทธรูปเนื้อนากหน้าตัก ๓ ศอกคืบ  จากวัดเขาอินทร์  ศรีสัชนาลัย  ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศตะวันออก  วัดพระเชตุพนฯ

(https://i.ibb.co/KGM3ywr/126963-attachment.jpg) (https://imgbb.com/)


          พระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิปางลีลา  ซึ่งมีพุทธศิลป์งดงามที่สุดในโลก  ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรฯ  พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์แก่บรรดาสถาปนิกชาวโลกตะวันตกมาก  เพราะองค์พระประทับยืนในลักษณะก้าวเท้าเดิน  ตั้งอยู่ได้โดยไม่ล้ม  ซึ่งช่างศิลป์ชาวตะวันตกปัจจุบันทำไม่ได้  ในการพิจารณาเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔  คณะกรรมการเห็นเป็นเอกฉันท์ให้สุโขทัยเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม  เพราะพุทธรูปปางลีลาองค์นี้เป็นแรงจูงใจคณะกรรมการฯ  เสียดายว่าในพระราชพงศาวดารมิได้บันทึก  วัน  เดือน  ปี  ที่อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ลงไปกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกันกับพระศรีศากยมุนีองค์นี้  แม้พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร  ก็ยังมีประวัติการขนย้ายลงมาอย่างมืดมนจนถึงวันนี้  ยังมีพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัย  ซึ่งมาเป็นพระพุทธรูปสำคัญอยู่ในวัดต่างทั่วกรุงเทพฯ อีกหลายองค์ที่ยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, กันยายน, 2562, 10:08:29 PM
(https://i.ibb.co/34VQKkc/623px-Vessantara-merit.jpg) (https://imgbb.com/)

- มหาชาติกระจาดใหญ่ -

มีพระราชพิธีโสกันต์เป็นงานใหญ่
ปรากฏในราชสำนักทรงศักดิ์ศรี
อีกงานมหาชาติกึ่งราชพิธี
เป็นเรื่องที่ควรรู้เล่าสู่ฟัง


          เมื่อวันเมื่อวันก่อนนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑   มาบเอกเล่าถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ให้เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่จากวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัย  ใส่แพล่องลงไปกรุงเทพฯแล้วเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ  ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้นามพระราชทานว่า  พระศรีศากยมุนี  วันนี้มาดูเรื่องราวในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ต่อไปครับ]

          ในปีเดียวกันกับที่เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่จากวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัยเข้ากรุงเทพฯนั้น  เจ้าพระยาสงขลาบอกเข้ามาว่า  พระยาตรังกานูกับดาตูปักลันเมืองยิริง  คบคิดกันไปเชิญแขกเมืองเซียะ  เมืองลานน  ซึ่งเป็นสลัดในท้องทะเล  จะยกมาตีเมืองสงขลาในเดือน ๕ เดือน ๖  ทางสงขลาได้เกณฑ์คนไว้คอยสู้รบ  แต่มีคนน้อยเกรงว่าจะสู้ไม่ได้  ขอได้โปรดให้กองทัพจากกรุงเทพฯออกไปช่วยด้วย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ(บุนนาค)  บ้านแม่ลา  ซึ่งเป็นผู้รักษากรุงเก่าแต่ก่อน  เป็นแม่ทัพเกณฑ์คนหัวเมืองฝ่ายใต้เข้ากองทัพไปช่วยเจ้าพระยาสงขลาตีเมืองยิริง  เจ้าพระยาพลเทพยกทัพจากกรุงเทพฯ ไปเมื่อเดือน ๗  แล้วปราบปรามเมืองยิริงได้เรียบร้อยในปีเดียวกัน

          ณ วันอาทิตย์แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เวลาเช้า  เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์  ถึงวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓  เชิญพระศพแห่ไปสู่พระเมรุซึ่งสร้างเสร็จแต่เดือนยี่  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จแล้ว  วันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓  จึงพระราชทานเพลิง  ในการพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพนั้น  ทรงพระภูษาลายพื้นขาวทุกวัน  ดำรัสว่า  “ลูกคนนี้รักมากต้องนุ่งขาวให้”   ครั้นเสร็จการพระศพแล้ว  โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอัฐิขึ้นเป็นกรมหลวงเทพยวดี

          ในปีเดียวกันนั้น  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  มีพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา  ถึงกำหนดโสกันต์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่า  “ตั้งแต่ตั้งแผ่นดิน  ยังหาได้ทำพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราไม่  และแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างกรุงเก่านั้น  เจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ได้ทรงแนะสอนไว้ในพระราชวังบวรฯ ครั้งโสกันต์พระองค์เจ้า ๓ พระองค์เป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว”  ทรงพระดำริดังนี้แล้วจึงโปรดให้เจ้าพนักงานตั้งเขาไกรลาศ ณ ชาลาในพระราชวัง  ตั้งการพระราชพิธี  มีเตียงพระมณฑลบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  และตั้งราชวัติฉัตรรายทางนั่งกลาบาต  และมีการเล่นต่าง ๆ ตลอดสองข้างทางที่จะเดินกระบวนแห่แต่ประตูราชสำราญมา

          ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ  เวลาบ่าย  ให้ตั้งกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  เสด็จทรงยานุมาศตั้งแต่เกยในพระราชวังมาออกประตูราชสำราญ  แล้วมาตามถนนริมกำแพงพระราชวัง  เข้าประตูพิมานไชยศรี  จากนั้นประทับเกยกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  เสด็จลงจากพระยานุมาศ  แล้วเสด็จทางผ้าขาวลาดขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ๓ วัน  ถึงวันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเช้า  แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท  แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายท้ายที่ทรงบาตร  ที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน

          จากนั้นทรงพระเสลี่ยงน้อย  ขับไม้พราหมณ์นำเสด็จ  พระยาศรีธรรมาธิราช  พระยาธรรมา  พระยาบำเรอภักดิ์  พระยาอนุรักษ์มนเทียร  คู่เคียง ๒ คู่  เคียงพระเสลี่ยงมาสรงน้ำที่สระอโนดาด ณ เชิงเขาไกรลาส  สรงแล้วเสร็จประทับพลับพลาทรงเครื่องเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาส  จึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย  ทรงชฎาเดินหน  สมมติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาส  ทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณเขาไกรลาส ๓ รอบ  แล้วแห่กลับมาตามทางออกประตูพิมานไชยศรี  ไปเข้าในพระราชวังทางประตูราชสำราญ  ครั้นเพลาบ่ายตั้งกระบวนแห่เครื่องแดงมาสมโภชวันนั้น  แล้วตั้งกระบวนแห่มาสมโภชต่อไปอีก ๒ วัน  วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๔  อันเป็นวันที่ ๗ จึงแห่พระเกศาไปลอย  เป็นเสร็จพิธีโสกันต์

          พิธีโสกันต์  คือการโกนจุกพระกุมาร - กุมารี  เป็นพิธีที่กระทำกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  ย้อนไปดูในสมัยกรุงสุโขไทแล้ว  ไม่พบพิธีกรรมนี้  จึงเชื่อได้ว่าคงไม่มี  และประเพณีการไว้ผมจุก  ผมแกละ  ผมเปีย  ของเด็กชายหญิง  เห็นทีว่าจะมีขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา  เรื่องนี้  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง  “ประเพณีไทย”  ไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์  มีความตอนหนึ่งว่า

           “………..การศึกษาโลกเขาแบ่งเป็น ๔ ประเภท  เรียกว่า  ขนาดอุ้ม  ขนาดจูง  ขนาดเล่น  ขนาดรุ่น  ฉันเอาหลักนี้มาสันนิษฐานประกอบเข้ากับการศึกษา  เด็กที่เรียกว่าอุ้มนั้น  สันนิษฐานว่าตั้งแต่เกิดมาจนมีอายุ ๓ ขวบ  ขนาดจูงนั้นตั้งแต่ ๔ ขวบถึง ๗ ขวบ  ซึ่งจะไปไหนยังไปตามลำพังไม่ได้  ต้องมีคนคอยจูง  ต่อนั้นขึ้นไปถึงขั้นเล่น  เด็กที่เป็นขนาดเล่น  ผู้ชายอายุ ๘ ปีจนถึง ๑๓ ปี  ผู้หญิงตั้งแต่ ๘ ปี จนถึง ๑๑ ปี  คนโบราณเมื่อโกนผมไฟแล้วมักจะเอาไว้จุก  และเคยกระทำพิธีกันใหญ่โต  คนหลัง ๆ ก็ประพฤติตามกันมาจนบัดนี้  จึงได้เกิดความสงสัยขึ้นด้วยเรื่องไว้จุก  ต้นเดิมมาจากไหน  ฉันสันนิษฐานได้  ทำไมจึงไว้จุก  คือว่าจะได้เป็นเครื่องหมายแสดงให้ปรากฏในที่ประชุมชนทั้งหลายว่าเป็นเด็กเท่านั้น  เมื่อเข้าที่ชุมนุมผู้ใหญ่จะได้มีความเมตตาอุปการะ  ให้ความเสมอภาคตามสมควรแก่เด็ก  ต่อเมื่ออายุย่างเข้าเขตเดียงสา  พ่อ,แม่,ปู่,ย่า,ตา,ยายของเราก็จัดการโกนจุก  มีพิธีรีตองกันอีก  เพื่อให้พ้นจากเขตเดียงสา…….”

          กรมพระยาดำรงฯ มิได้ทรงบอกว่าการไว้ผมจุกมีตั้งแต่สมัยใด  แต่ก็ให้ความรู้ว่าเริ่มไว้กันตั้งแต่วันโกนผมไฟ  ในวันโกนผมไฟนั้นมักจะทำพิธีกันใหญ่โต  เหตุผลของการไว้จุกนั้นท่านว่า  เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นเด็กในที่ชุมชนทั่วไปว่า  ยังเป็นเด็กไร้เดียงสา  ต่อเมื่ออายุเข้าเขตเดียงสาแล้วจึงทำพิธีโกนจุก  เด็กชายจะเข้าเขตเดียงสาเมื่อมีอายุได้ ๑๓ ปี  เด็กหญิงจะเข้าเขตเดียงสาเมื่ออายุ ๑๑ ปี  นั่นหมายถึงเด็กหญิงจะได้เดียงสาก่อนเด็กชาย ๒ ปี

          คำว่า  เดียงสา  แปลว่า  “ความรู้ผิดรู้ชอบตามปรกติสามัญ”  ผู้หญิงที่ไร้เดียงสาจึงอยู่ในเขตอายุ ๑–๑๑ ขวบปี  ผู้ชายไร้เดียงสามีอายุอยู่ในเขต ๑-๑๓ ขวบปีครับ

          ดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ  เป็นการบุญทานอันยิ่งใหญ่  คือ  แห่สระสนานใหญ่  แห่พระกฐิน และมีกระจาดใหญ่กัณฑ์เทศมหาชาติ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดตั้งทำเนียบระวางช้าง  ม้า  และโปรดให้มีสระสนานอย่างใหญ่  ขุนนางผู้ใหญ่ต้องแห่เป็นกระบวน ๆ กันครั้งหนึ่ง  ครั้งนั้นเครื่องอาวุธที่แห่ใช้ทำด้วยไม้จริงทั้งหมด

          ได้ทรงสร้างเรือพระที่นั่ง  มี  เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชยเป็นต้น  และเรือกระบวนเป็นอันมาก  ครั้งหนึ่งโปรดให้มีการแห่พระกฐินเป็นการใหญ่  ผ้าไตรพระกฐินที่จะพระราชทานและผ้าไตรปีอันเป็นบริพารผ้าพระกฐินลงเรือกิ่ง  เรือเอกไชย กระบวนแห่พยุหเรือแล้ว  เกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์  และขุนนางข้าราชการทำเรือแห่ต่าง ๆ ตามแต่ปัญญา  ทำเป็นจรเข้บ้าง  เป็นหอยบ้าง  เป็นปลาบ้าง  เป็นสัตว์น้ำต่าง ๆ  และมีเครื่องเล่นไปในเรือนั้นด้วย  แห่รอบพระนครแล้วจึงได้เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินตามธรรมเนียมเป็นการเอิกเกริกมาก

          กระบวนแห่ผ้าพระกฐินตามที่พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ดังกล่าว  แลเห็นภาพได้ชัดเจนว่า  เป็นกระบวนนาวาพยุหะอันสวยงาม  คลาคล่ำเต็มลำคลองจากคลองที่ขุดรอบพระนคร ผ้าพระกฐินนั้นทรงถอดถวาย ณ วัดพระเชตุพนฯ บ้าง  วัดอรุณราชวรารามบ้าง  วัดมหาธาตุฯ บ้าง  ซึ่งวัดดังกล่าวล้วนเป็นพระอารามหลวงชั้นพิเศษ  เป็นที่สำหรับทอดผ้าพระกฐินหลวงเป็นประจำทุกปี  นอกจากจะจัดกระบวนเรือแห่ผ้าพระกฐินทอดถวายตามพระอารามหลวงแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑  ยังทรงจัดให้มีเทศน์มหาชาติ  โดยตั้งกัณฑ์เทศน์เป็นกระจาดใหญ่อีกด้วย  ซึ่งพระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า

           “อีกครั้งหนึ่ง  มีเทศนามหาชาติแผ่พระราชกุศลถึงพระองค์เจ้าต่างกรมและข้าราชการผู้ใหญ่ ๆ ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  และเจ้าจอมพระสนมเอกที่มีกำลังพอจะทำได้  กระทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์มหาชาติ ๑๓ กระจาด  ตั้งกระจาดหน้ากำแพงพระมหาปราสาทรายตลอดมาถึงหน้าโรงทอง  และโรงนาฬิกา  และข้างลานชาลาด้วย  ประกวดประขันกันนัก  กระจาดคุณแว่นพระสนมเอกที่เขาเรียกว่า  คุณเสือ  แต่งเด็กศีรษะจุกเครื่องแต่งหมดจด  ถวายพระเป็นสิทธิ์ขาดทีเดียว  ก็เป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  แต่จะเป็นปีใดหาจดหมายเหตุไม่ได้”

          เด็กหัวจุกที่พระสนมเอกจัดเป็นกระจาดกัณฑ์เทศน์ถวายพระเทศน์นั้น  เป็นทาสที่พระนางซื้อมาให้เป็นไทแล้วถวายพระเทศน์  ควรจะเรียกว่าบริจาคทาสให้เป็นทานก็ได้นะครับ

          อ่านพระราชพงศาวดารกรุงรันโกสินทร์มาถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๑  ได้ความรู้หลายเรื่องแล้ว  วันนี้ยุติไว้แค่นี้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาต่อกันใหม่ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กันยายน, 2562, 10:26:43 PM
(https://i.ibb.co/7rtGSN6/image.jpg) (https://imgbb.com/)


- ร.๑ เสด็จสวรรคต -

ทรงสมโภชพระแก้วมรกต
เสมือนหมดภาระที่ทรงหวัง
ประชวรด้วยพระชราอ่อนพลัง
ลาเวียงวังประเทศประชาสวรรคต


          เมื่อวันวานได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาให้อ่านกัน  ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทำบำเพ็ญพระราชกุศลยิ่งใหญ่  นอกจากจัดพยุหนาวากระบวนแห่ผ้าพระกฐินรอบพระนครไปทอดถวายในพระอารามหลวงแล้ว  ทรงจัดให้มีเทศน์มหาชาติ  แผ่พระราชกุศลให้พระบรมวงศานุวงศ์จัดกัณฑ์เทศน์กระจาดใหญ่ตามกำลัง  ในกัณฑ์เทศน์นั้นพระสนมเอกนาม  “คุณเสือ”   ได้ไถ่ลูกทาสชายให้เป็นไท  ไว้ผมจุกแล้วนำมาแต่งตัวสะอาดสะอ้าน  จัดเข้าในกัณฑ์เทศน์ถวายพระเทศน์ประจำกัณฑ์ด้วย  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมในตอนสุดท้ายของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกันต่อครับ

           “ในรัชกาลที่ ๑ เริ่มตั้งกรุง และราชวงศ์ใหม่ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย  จำต้องหาผลประโยชน์จากภาษีอากรทุกทางมาใช้จ่าย  ผลประโยชน์ที่ได้มานั้นคือ  อากรสุรา  อากรบ่อนเบี้ย  อากรขนอนตลาด  ค่าน้ำเก็บตามเครื่องมือ  อากรสมพัดสร  อากรสวน  ส่วนค่าทำนานั้นเก็บเป็นหางข้าว  นอกนั้นก็เก็บของส่วยสินค้าต่าง ๆ  เงินจากภาษีอากรดังกล่าวนั้นได้ปีละไม่มากนัก  ผลประโยชน์ที่ได้มากในครั้งนั้นได้จากการค้าสำเภา  มีสำเภาเป็นรูปเรือตั้วกั๋งอย่างจีนหน้าราหู  ศีรษะเขียวบ้าง  แดงบ้าง  ปากกว้าง ๕ วา ถึง ๗ วา  มีทั้งของหลวงและของเจ้านายข้าราชการพ่อค้าเป็นอันมาก  เรือเหล่านี้ต่อในกรุงเทพฯ บ้าง  ตามหัวเมืองบ้าง  บรรทุกสินค้าต่าง ๆ ออกไปขายที่เมืองจีนทุก ๆ ปี  บางลำก็ขายแต่สินค้า  บางทีก็ขายทั้งสินค้าและเรือด้วยกัน  ได้กำไรในการค้าสำเภาเป็นอันมาก  เงินตราในรัชกาลที่ ๑  เป็นเงินพดด้วงอย่างเดิมแต่แรกใช้  ตีตรารูปจักรดวง ๑   รูปกรีดวง ๑   เมื่อภายหลังบรมราชาภิเษกครั้งหลังโปรดให้เปลี่ยนตรารูปกรีเป็นตรารูปบัวผัน  ส่วนตราจักรนั้นให้คงไว้ตามเดิม

          วัดที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์  ในด้านศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนานั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัด  คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  วัดสระเกศราชวรวิหาร  และทรงปฏิสังขรณ์พระอารามอื่น ๆ อีกหลายพระอาราม  เช่น

          วัดเลียบ  ซึ่งเดิมพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ได้ทรงปฏิสังขรณ์ไว้เพียงพระอุโบสถ  และกุฎีสงฆ์  ได้ทรงปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จบริบูรณ์  แล้วพระราชทานนามเปลี่ยนเป็นว่า  วัดราชบุรณะ ๑
          วัดบางหว้าใหญ่ ทรงปฏิสังขรณ์แล้ว  พระราชทานนามเปลี่ยนเป็นว่า  วัดระฆัง  ให้เหมือนวัดระฆังครั้งกรุงเก่า ๑
          วัดศาลาสี่หน้า ในคลองบางจาก  ซึ่งโปรดให้เชิญพระประธานมาเป็นพระประธานวัดพระเชตุพนฯนั้น  ทรงปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานนามเปลี่ยนใหม่เป็นว่า  วัดคูหาสวรรค์ ๑
          วัดพลับ ในคลองบางกอกใหญ่ ๑   วัดทองคลองบางกอกน้อย ๑   วัดสมอราย ๑   วัดแจ้ง ๑   วัดท้ายตลาด ๑   วัดคอกกระบือ ๑   วัดสุวรรณที่กรุงเก่ า ซึ่งเป็นวัดเดิมของสมเด็จพระชนกาธิบดี  ก็ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย

          พระราชานุกิจตั้งแต่ดำรงสิริราชสมบัติมา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอิริยาบทในพระราชานุกิจโดยปกติ กล่าวคือ

          เวลาเช้าเสด็จทรงบาตรแล้วเสด็จออกท้องพระโรงถวายภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์ฉันเวร  พระสงฆ์กลับแล้วทรงฟังรายงานชาวพระคลังมหาสมบัติกราบบังคมทูลการจ่ายเงินพระคลัง  แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นที่ออกขุนนาง  พระราชวงศานุวงศ์และตำรวจเฝ้าก่อน  ในเวลานี้ข้าราชการมีจางวางและเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจเป็นต้น  ที่ได้ว่าความรับสั่ง  นำรายงานการคดีขึ้นกราบบังคมทูล  ทรงพระราชวินิจฉัยด้วยอรรถคดีของราษฎรตามสมควร  แล้วจึงให้เบิกข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนกรมอื่นเข้าเฝ้า  ทรงประภาษด้วยราชการแผ่นดินในเวลาเช้าแต่เล็กน้อย  แล้วเสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหาร  แล้วเสด็จออกข้างใน  ข้าราชการฝ่ายในเฝ้า  ทรงประภาษด้วยราชการภายในพระบรมมหาราชวังพอสมควรแล้วเสด็จขึ้นในที่

          เวลาค่ำเสวยพระกระยาหารแล้วเสด็จออกท้องพระโรง  ทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑  แล้วทรงฟังรายงานชาวพระคลังในซ้ายคลังในขวา และคลังวิเศษกราบบังคมทูลรายจ่ายของพระคลัง  และรายงานมหาดเล็กกราบบังคมทูลพระอาการประชวรของพระราชวงศานุวงศ์  หรืออาการป่วยของข้าราชการผู้ใหญ่  บรรดาที่ได้โปรดให้มีรายงานอาการกราบบังคมทูลนั้น  ถ้ามีการก่อสร้างซึ่งโปรดให้มหาดเล็กตรวจ  ก็รายงานกราบบังคมทูลในเวลานั้นด้วย  เมื่อหมดรายงานแล้วจึงเสด็จขึ้นพระแท่นที่ออกขุนนาง  เบิกข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน  มหาดไทย  กลาโหม  กรมท่า  นำใบบอกราชการหัวเมืองกราบบังคมทูล  และทรงพระราชวินิจฉัยด้วยราชการแผ่นดินจนเวลาประมาณยามเศษ   ๔ ทุ่มจึงเสด็จขึ้น  ถ้าคราวปรึกษาการทัพศึกหรือเวลามีราชการสำคัญก็เสด็จขึ้นถึง ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม

          ทรงปฏิบัติพระราชานุกิจดังนี้เสมอมา  จนพระชราลง  มีพระโรคชราเบียดเบียน  ไม่สามารถจะเสด็จออกท้องพระโรงได้  จึงเสด็จลงมาประทับอยู่ในพระที่นั่งหลัง ๑๑ ห้อง  ซึ่งมีนามภายหลังว่า พระที่นั่งไพศาลทักษิณ  ครั้นเวลาเช้า ๆ  โปรดให้ข้าราชการเข้าเฝ้าที่ชาลาข้างท้องพระโรงด้านตะวันตก  ทรงพระอุตสาหะเสด็จออกขุนนางที่พระบัญชรพระที่นั่งไพศาลทักษิณมิได้ขาด

          จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเส็ง เอกศก พุทธศักราช ๒๔๕๒  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาโปรดให้มีการสมโภชพระแก้วมรกตอีกครั้งหนึ่ง  ตั้งสวดพระพุทธมนต์ตั้งแต่  วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ไปจนถึง  วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๖  อาราธนาพระสงฆ์ทั้งในกรุงนอกกรุงและหัวเมืองสวดวันละ ๒,๐๐๐ รูป  ทั้ง ๓ วัน  สำรับเลี้ยงพระสงฆ์ของหลวง ๑,๐๐๐ รูป  เป็นของพระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการ ๑,๐๐๐ รูป  แบ่งเลี้ยงวันละ ๖๖๗ รูป  ฉัน ๓ วัน  ครบพระสงฆ์ ๒,๐๐๐ รูป

          เวลาเพลเลี้ยงพระสงฆ์ทำดอกไม้เพลิงด้วย ๑๐๐ รูป  ทั้ง ๓ วัน  พระราชทานเงินผู้ที่ทำสำรับเลี้ยงพระสงฆ์สำรับละบาท  แล้วมีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ  บอกอานิสงส์วันละกัณฑ์ ๑ วันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖  เวลาบ่ายตั้งบายศรีแก้ว  บายศรีเงิน  บายศรีทอง  ในพระอุโบสถ  เครื่องบายศรีมีกระทงดอกไม้  เวียนเทียนวันหนึ่ง  แล้วตั้งบูชาไว้

          เวลาค่ำมีหนัง  มีดอกไม้เพลิง สมโภชเป็นคำรบ ๗ คืน  มีละครผู้หญิงข้างในที่โรงละครใหญ่  และการเล่นต่าง ๆ สมโภชเวลากลางวันพร้อมกันตั้งแต่วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖   จนถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ เป็นคำรบ ๗ วัน   มีต้นกัลปพฤกษ์วันละ ๖ ต้น  รุ่งขึ้นวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗  เวลาเช้าตั้งบายศรีแก้ว  บายศรีเงิน  บายศรีทอง  ในพระอุโบสถ  เครื่องบายศรีของกระยาบวชตามอย่างแบบธรรมเนียมบายศรี  เวียนเทียนอีกครั้งหนึ่ง

          การครั้งนี้โปรดให้ตั้งโรงฉ้อทาน  ที่หน้าวัดมหาธาตุ  เจ้าครอกใหญ่อัครชายาของกรมพระราชวังหลัง  ตั้งโรง ๑   ที่ท่าพระ
          พระเจ้าน้องยาเธอซึ่งปรากฏพระนามในภายหลังว่า  กรมหลวงนรินทรเทวี  กับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ตั้งโรง ๑  ที่โรงรองาน
          พระยาศรีธรรมาธิราช  ตั้งโรง ๑  ที่สะพานช้างโรงสี  
          เจ้าพระยามหาเสนาตั้งโรง ๑ ที่สะพานตรงวังหน้า
          พระยาธรรมาตั้งโรง ๑  ที่หอกลอง
          เจ้าพระยาพระคลัง ตั้งโรง ๑    รวมเป็น ๖ โรงด้วยกัน

          ท่านข้างในทำโรงน้ำยาโรง ๑  เลี้ยงพระสงฆ์สามเณร  ข้าทูลละอองธุลีพระบาท  และราษฎรชายหญิง  ตั้งแต่วันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖  เวลาเช้าไปจนถึง   ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ ครบ ๑๐  วันเวลาบ่ายจึงเลิก”

          * ท่านผู้อ่านครับ  งานสมโภชพระแก้วมรกตครั้งหลังนี้ยิ่งใหญ่มากทีเดียว  การตั้งโรงฉ้อทาน  คือ  โรงทาน ๖ โรง (ฉ้อ= ๖)  ดูเหมือนจะเป็นประเพณีของงานสมโภชใหญ่ ๆ ทุกงาน  เพื่อให้คนที่ไปร่วมงานนั้นได้บริโภคอาหารหวานคาวกันอย่างอิ่มหนำ  โดยไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหนไปรับประทานกัน  ประเพณีตั้งโรงทานนี้แม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่บ้างนะครับ  งานสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนี้  และงานสมโภชพระนครที่แล้วมา  ได้เห็นความสนุกสานอย่างหนึ่งคือ  การเล่นดอกไม้เพลิง  และผู้ที่ทำดอกไม้เพลิงนั้นคือพระภิกษุสงฆ์  ซึ่งถูกนิมนต์ให้มาร่วมกันทำดอกไม้เพลิงจำนวนมากถึง ๑๐๐ องค์ทีเดียว  แสดงว่าดอกไม้เพลิง  หรือ  พลุ  ตะไล  ไฟพะเนียง  ดอกไม้เพลิงต่าง ๆ นั้น  มีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทำชำนิชำนาญ  หรือเชี่ยวชาญ ทำได้ดีกว่าฆราวาสนะครับ

          ในการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนี้  เป็นงานสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เพราะหลังจากเสร็จงานนี้แล้วไม่นานักพระองค์ก็เสด็จสวรรคต  ดังความในพระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่าดังนี้

           “ตั้งแต่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว  ก็ทรงพระประชวรพระโรคชรา  พระอาการทรุดลงโดยลำดับ  จึงทรงมอบสิริราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว  ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ปี เวลา ๓ ยาม ๗ บาท  ก็เสด็จสวรรคตในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ  พระชนมายุ ๗๔ พรรษา  เสด็จดำรงอยู่ในราชสมบัติ ได้ ๒๘ ปี”

          *พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์เสด็จสวรรคตแล้ว  แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่จบนะครับ  พรุ่งนี้จะนำความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑  ซึ่งสรุปเรื่องตอนท้ายมาแสดงต่อ  และเมื่อจบพระราชพงศาวดารรัชการที่ ๑  แล้วก็ยังมีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒  มาแสดงต่อไปอีกยืดยาวทีเดียว  พรุ่งนี้มาพบกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กันยายน, 2562, 10:41:26 PM
(https://i.ibb.co/cXp918y/Untistled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- รัชกาลที่ ๑ องค์พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ -
(กว่าได้จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน)

พระราชานุกิจเจ้าอยู่หัว
ทรงทำทั่วทุกอย่างทุกสถาน
มิว่างเว้นทั้งทิวาราตรีกาล
พระทรงงานเพื่อประเทศชาติประชา

ทรงกรากกรำทำงานสานสร้างชาติ
สร้างอำนาจความเป็นไทยให้แกร่งกล้า
กรำการศึกฮึกหาญรบนานมา
ขยายอาณาเขตประเทศไกล

ตั้งราชวงศ์ทรงเดชวิเศษศักดิ์
ให้เป็นหลักชาติงามสยามสมัย
ศาสนาวัฒนธรรมคู่อำไพ
สมเป็นไทยพัฒนาก้าวหน้าเดิน

ทั้งวัดวังรังรองงามฟ่องฟ้า
ให้นานาประเทศนั้นสรรเสริญ
สยามราษฎร์ร่วมรัฐจรัสเจริญ
แสนงามเกินมนุษย์เฟื่องปานเมืองอินทร์

กว่าจะเป็นเจ้าแผ่นดินปิ่นพิภพ
พระทรงรบข้าศึกทั่วฐานถิ่น
เป็นขุนศึกขุนพลเดชล้นดิน
ทั่วธานินทร์ไร้ผู้เยี่ยมเทียมพระองค์


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต  สิ้นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ของไทยไปอีกพระองค์อนึ่ง  วันนี้มาดูพระราชประวัติของพระองค์ท่านซึ่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  และ  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑  ได้บันทึกไว้ตรงกันดังต่อไปนี้

           “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นปฐมในพระราชวงศ์พระองค์นี้  มีพระนามปรากฏต่อมาในภายหลังว่า   "พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา  มหาจักรีบรมนาถ  นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์  ปฐมพงศาธิราช  รามาธิบดินทร์  สยามพิชิตินทรวโรดม  บรมนาถบพิตร  พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก"   พระองค์ประสูติ ณ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๐๙๘ (พ.ศ.๒๒๗๙) ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา  มีนิวาสสถานอยู่ภายในกำแพงพระนคร  เหนือป้อมเพชร

          ครั้นปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๑๙ (พ.ศ. ๒๓๐๐) พระชนมายุครบ ๒๑ ปี  เสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลายพรรษา ๑ แล้วลาผนวช  เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓  ซึ่งปรากฏนามเรียกเป็นสามัญว่า   ขุนหลวงดอกมะเดื่อ  นั้น  ครั้นต่อมาพระองค์ได้วิวาหมงคลกับธิดาในตระกูลเศรษฐีที่ตำบลอัมพวา  แขวงเมืองสมุทรสงคราม อยู่ต่อพรมแดนเมืองราชบุรี  จึงเสด็จออกไปรับราชการอยู่ในเมืองราชบุรี  ได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตร  เมื่อพระชนมพรรษา ๒๕ ปี

          ครั้นเมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว  เจ้าตาก (สิน) ตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี  จึงเสด็จเข้ารับราชการในกรุงธนบุรี  เมื่อปีชวด  สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ (พ.ศ. ๒๓๑๑)  พระชนม์ได้ ๓๒ พรรษา  ได้เป็นตำแหน่งที่ พระราชรินทร  ในกรมพระตำรวจ  ได้รับราชการเป็นกำลังของเจ้ากรุงธนบุรีทำการศึกสงครามต่อมา  คือ

          ครั้งที่ ๑  ในปีชวด  สัมฤทธิศกนั้น  ได้เสด็จคุมกองทัพกอง ๑  ไปตีด่านขุนทดแขวงเมืองนครราชสีมา  ซึ่งเจ้าพิมายให้พระยาวรวงศาธิราชมาตั้งรับทัพกรุงธนบุรีอยู่  ตีด่านขุนทดแตกแล้ว  ยกตามพระยาวรวงศาธิราชลงไปตีได้เมืองนครเสียมราฐอีกเมือง ๑  เมื่อเสร็จศึกเมืองนครราชสีมาครั้งนั้น  ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็น  พระยาอภัยรณฤทธิ  จางวางกรมพระตำรวจโดยความชอบ

          ครั้งที่ ๒  ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑  ได้เป็นแม่ทัพเสด็จไปตีเมืองเขมร  ตีได้เมืองพระตะบอง  และเมืองนครเสียมราฐ  แล้วกำลังทำการศึกค้างอยู่  พอได้ข่าวลือว่าเจ้ากรุงธนบุรีทิวงคตจึงยกกองทัพกลับมา

          ครั้งที่ ๓  ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒  โดยเสด็จเจ้ากรุงธนบุรีไปปราบปรามเจ้าพระฝาง  มีชัยชนะ  ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็น  พระยายมราช  ว่าที่สมุหนายกเมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา

          ครั้งที่ ๔  ปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓  พระชนมพรรษา ๓๕  ได้เลื่อนตำแหน่งยศเป็น  เจ้าพระยาจักรี  เป็นแม่ทัพยกลงไปตีเมืองเขมรพร้อมกับเจ้ากรุงธนบุรี  ซึ่งเสด็จไปทางทะเล  ตีได้เมืองบันทายเพชรและเมืองบาพนม

          ครั้งที่ ๕  ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๗)  เป็นแม่ทัพหน้าของเจ้ากรุงธนบุรี  ยกไปตีเมืองนครเชียงใหม่  ตีได้เมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  เมืองลำพูน  แล้วเสด็จอยู่จัดการบ้านเมือง  ได้เมืองน่านมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอีกเมือง ๑

          ครั้งที่ ๖  พม่ายกทัพมาตีเมืองราชบุรี  ในปีนั้นเสด็จยกกองทัพจากเมืองนครเชียงใหม่ลงมาช่วยทัพหลวงรบพม่าได้ชัยชนะ

          ครั้งที่ ๗  ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗  พม่ายกมาตีนครเชียงใหม่  เสด็จเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปช่วย  แต่พม่าทราบข่าวถอยทัพไปเสียก่อนหาได้รบไม่

          พออะแซหวุ่นกี้ยกทัพพม่าเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ  จึงเสด็จลงมาตั้งรับกองทัพอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองพิษณุโลก นับเป็นครั้งที่ ๘  ศึกพม่าครั้งนั้นเป็นศึกใหญ่ยกมาหลายทัพหลายทาง  ตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ทุกด้าน  แต่กองทัพไทยต่อรบป้องกันเมืองเป็นสามารถ  พม่าเข้าตีหักเอาหลายครั้งก็ไม่ได้เมืองพิษณุโลก  จนอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าขอดูพระองค์และสรรเสริญพระปรีชาสามารถที่ทรงต่อรบรักษาเมืองในครั้งนั้น  ต่อมาพม่าตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกไว้  และคอยตัดลำเลียงจากกองทัพหลวง  มิให้ส่งเสบียงเข้าไปในเมืองพิษณุโลกได้  แต่รักษาเมืองมาถึง ๓ เดือนเศษ  จนเสบียงอาหารในเมืองหมดลง  ผู้คนอดอยากระส่ำระสาย  จึงจำเป็นต้องทิ้งเมืองพิษณุโลก  ตีหักค่ายพม่าออกไปได้ทางด้านตะวันออก  ไปชุมนุมทัพอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์

          ครั้งที่ ๙  ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) เสด็จเป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองลาวตะวันออก  ได้เมืองนครจำปาศักดิ์  เมืองสีทันดร  เมืองอัตปือ  และได้เมืองเขมรดงหลายเมือง  คือ  เมืองตลุง  เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองขุขันธ์  เป็นต้น  ได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น  สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  พิลึกมหิมา  ทุกนคราระอาเดช  นเรศวรราชสุริยวงศ์  องค์บาทมุลิกากร  บวรรัตนปรินายก  มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม  ในปีระกา  นพศก  จุลศักราช ๑๑๓๙  พระชนม์ได้ ๔๑ พรรษา

          ครั้งที่ ๑๐  เมื่อปีจอ  สัมฤทธิศก  จุลศักราช ๑๑๔๐  เสด็จเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองล้านช้าง  ตีได้เมืองเวียงจันทน์และเมืองขึ้น  และได้เมืองหลวงพระบางมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาด้วย  ในครั้งนี้ได้ทรงเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต  และพระบาง  ลงมากรุงธนบุรี

          ครั้งที่ ๑๑  เสด็จเป็นแม่ทัพออกไปปราบปรามจลาจลในเมืองเขมร  ทำการยังไม่ทันตลอด  พอได้ทราบข่าวว่าเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี  ด้วยเจ้ากรุงธนบุรีเสียพระสติ  กระทำการกดขี่สมณะและข้าราชการอาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนร้ายแรง  ราชการผันแปรป่วนปั่นไปทั้งพระนคร  ก็เสด็จยกกองทัพกลับจากเมืองเขมร  เข้าถึงกรุงธนบุรีเมื่อ ณ วันเสาร์  เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ  ปีขาล  จัตวาศก  จุลศักราช ๑๑๔๔ ปี (พ.ศ. ๒๓๒๕)  มุขมนตรีและประชาราษฎรเป็นอันมากพร้อมกันกราบทูลอัญเชิญพระองค์ให้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ  ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกเมื่อ  ณ  วันพฤหัสบดี  เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีขาล  จัตวาศก  จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีนั้น  พระชนมายุได้ ๔๗ พรรษา”

          * * ยกมาให้อ่านเพียงนี้ก่อนนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กันยายน, 2562, 10:41:53 PM
(https://i.ibb.co/6YkdTRT/101-01-01.jpg) (https://imgbb.com/)


- ว่าด้วยเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑ -

เหล่าเสนาบดีที่คบคุ้น
เป็นคู่บุญบารมีเสริมสูงส่ง
งานเวียงวังคลังนากรมท่าธง
ทำให้ทรงงานได้ไม่ยากเย็น


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ  ว่าด้วยพระราชประวัติโดยย่อของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาให้ทุกท่านได้อ่านกันแล้ว  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) กันต่อไปครับ

          * “ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ  ก็ทรงพระอุตสาหะครอบครองแผ่นดิน  โดยขัตติยานุวัตร  ต่อสู้ข้าศึกซึ่งบังอาจมาย่ำยีให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปทุกครั้ง  ทั้งปราบปรามศัตรูหมู่ร้ายทั้งภายในและภายนอกราบคาบ  แผ่พระราชอาณาจักรกว้างขวางยิ่งกว่าแผ่นดินใด ๆ ในครั้งกรุงเก่าแต่ก่อนมา  ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและประชาชนทั่วพระราชอาณาจักรเป็นอเนกประการ  ดังข้อความพิสดารที่ได้กล่าวมาในพระราชพงศาวดารนี้”

          นอกจากกล่าวพระราชประวัติย่อในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เพื่อย้ำความทรงจำแล้ว  ยังได้กล่าวถึงเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑  ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่คนไทยรุ่นหลังควรรู้ไว้ด้วย  คือ

           “ มหาดไทย
          - เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน)  ข้าหลวงเดิม  เป็นที่พระอักขระสุนทร  เสมียนตรากรมมหาดไทยครั้งกรุงธนบุรี  ตามเสด็จการสงครามมีความดีความชอบหลายครั้ง  รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณโดยมิได้มีความผิด  เมื่อปราบดาภิเษกแล้วจึงโปรดให้เป็นที่สมุหนายก  ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

          กลาโหม
          - เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี)  บุตรพระยากลาโหมครั้งกรุงเก่า  เป็นพระยาเพชรบูรณ์ครั้งกรุงธนบุรี  ตามเสด็จการสงครามมีความชอบด้วยกล้าหาญในการศึก  เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว  โปรดให้เป็นสมุหกลาโหม  อสัญกรรมในกลางศึกเมืองทวายในรัชกาลที่ ๑

          - เจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น) ข้าหลวงเดิม  เป็นกำลังสำคัญช่วยกรมพระราชวังหลังปราบปรามจลาจลในกรุงธนบุรี  มีความชอบได้เป็นพระยาพลเทพ  เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว  ทรงเลื่อนให้เป็นที่สมุหกลาโหม  แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา  อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒

          - เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก)  บุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า  ตามเสด็จราชการสงครามหลายครั้ง  มีความชอบได้เป็นพระยาอุทัยธรรม  เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว  โปรดตั้งให้เป็นพระยายมราช  และเป็นสมุหกลาโหม  อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

          กรมท่า
          - เจ้าพระยาพระคลัง (สน)  เป็นพระยาพิพัฒน์โกษาครั้งกรุงธนบุรี  และได้เป็นเจ้าพระยาพระคลังก่อนปราบดาภิเษก  ต่อมาเกิดมีสติฟั่นเฟือนไป  จึงโปรดให้ถอดเสีย  ภายหลังได้เป็นพระยาศรีอัครราช  ช่วยราชการในกรมท่า

          - เจ้าพระยาพระคลัง (หน)  ครั้งกรุงธนบุรีเป็นหลวงสรวิชิต  เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว  โปรดตั้งให้เป็นพระยาพระคลัง  ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง  เป็นจินตกวีแต่งหนังสือหลายเรื่อง  อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

          - พระยาพระคลัง (กุน)  เป็นพระราชประสิทธิ์ครั้งกรุงธนบุรี  เมื่อปราบดาภิเษกแล้วได้เป็นพระยาศรีพิพัฒน์  แล้วเลื่อนเป็นพระยาพระคลัง  ท่านผู้นี้เป็นเศรษฐีค้าเรือสำเภา  และได้เป็นสมุหนายกในรัชกาลที่ ๒

          กรมเมือง
          - พระยายมราช  ไม่ปรากฏนามเดิม  ครั้งกรุงธนบุรีเป็นหลวงอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง  เป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมกรมพระนครบาลมาก  มีความชอบเมื่อตามเสด็จในการสงคราม  เมื่อปราบดาภิเษกแล้วได้เป็นพระยายมราช  ครั้นศึกพม่าครั้งที่ ๑  ได้เป็นแม่ทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี  ไม่เอาใจใส่ในราชการจึงถูกถอดออก  ภายหลังได้เป็นพระยามหาธิราช  ช่วยราชการในกรมพระนครบาล

          - พระยายมราช (บุนนาก)  คือเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก)

          - พระยายมราช (บุญมา)  บุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า  เป็นพี่ต่างมารดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาก)  เดิมรับราชการในพระองค์ได้เป็นพระยาตะเกิง  เมื่อปราบดาภิเษกแล้วจึงได้เลื่อนเป็นพระยายมราช  และเป็นที่สมุหพระกลาโหมในรัชกาลที่ ๒

          กรมวัง
          - เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) เ ชื้อพราหมณ์พฤฒิบาศ  เป็นบุตรพระยามนเทียรบาลกรุงเก่า  เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ครั้งกรุงธนบุรี  และเป็นผู้คุ้นเคยรักใคร่ในพระองค์  มีความชอบเมื่อตามเสด็จราชการสงคราม  เป็นผู้รู้แบบแผนกรมวังมาก  จะย้ายไปกรมอื่นมิได้  จึงเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว  เมื่อศึกพม่าครั้งที่ ๑  ได้เป็นแม่ทัพออกไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี  ไม่เอาใจใส่ในราชการสงคราม  มีความผิดจึงถูกถอดออก  ภายหลังได้เป็นพระยาศรีธรรมาธิราช  ช่วยราชการในกรมวัง  ในรัชกาลที่ ๒ ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช  อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒

          - พระยาธรรมาธิการณ์ (ทองดี)  ข้าราชการในพระองค์  เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์เมื่อปราบดาภิเษกแล้วได้เลื่อนเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา  แล้วเป็นพระยาธรรมาธิกรณ์  อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๑

          พระยาธรรมาธิกรณ์ (สด)  ข้าหลวงเดิมในกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท  ได้เป็นพระยามนเทียรบาลเมื่อปราบดาภิเษกแล้ว  และเลื่อนเป็นพระยาธรรมาธิกรณ์  อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒

          กรมนา
          - พระยาพลเทพ (ปิ่น)  คือเจ้าพระยามหาเสนาที่เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา

          - เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก)  เดิมอยู่บ้านแม่ลากรุงเก่า  ต้นคิดตีกรุงธนบุรี  ได้เป็นเจ้าพระยาไชยวิชิต  ผู้รักษากรุงเก่า  แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ  เป็นโทษต้องประหารชีวิตในรัชกาลที่ ๒

          ตำแหน่งเสนาบดีในรัชกาลที่ ๑  อัครมหาเสนาบดีมหาดไทยและกลาโหมเป็นเจ้าพระยา  แต่เสนาบดีตำแหน่งจตุสดมภ์  เมือง  วัง  คลัง  นา  นั้น  ในหนังสือรัชกาลที่ ๑  ที่ได้พบเห็นปรากฏเป็นแต่พระยาโดยมาก  ที่ได้พบหลักฐานแน่นอนว่าเป็นเจ้าพระยานั้น  คือ  เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) ๑   เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ๑   เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาก) ๑  นอกนั้นยังไม่พบหลักฐาน  นอกจากที่กล่าวในพงศาวดาร  ซึ่งเรียบเรียงขึ้นภายหลัง”

          ** พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ฉบับเจ้าพระทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  บอกกล่าวให้เรารู้จักเสนาบดีบุคคลสำคัญ ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย  ทุกท่านที่ปรากฏนามในพระราชพงศาวดารฯนี้  ล้วนเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ  และมีบุญคุณต่ออนุชนชาวไทยเป็นอย่างมาก  ถ้าไม่มีพวกท่านดังกล่าว  ลำพังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๑  คงไม่สามารถปกป้องรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้พวกเราได้เป็นแน่  เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯยังไม่จบนะ  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กันยายน, 2562, 11:28:35 PM
(https://i.ibb.co/M2yNkgX/24.jpg) (https://imgbb.com/)


- สิ้นพระเจ้ากาวิละ -

กาวิละเจ้าประเทศเขตเชียงใหม่
ทรงเป็นใหญ่ดับทุกข์กู้ขุกเข็ญ
ปลายชีวิตเรียวลงทรงบำเพ็ญ
สิ่งที่เป็นบุญกุศลคนชื่นชม

หลังจากสิ้นพระพุทธยอดฟ้าฯ
ได้เพียงห้าปีเวียงพิงค์ยิ่งขื่นขม
กาวิละพิราลัยร่างไร้ลม
นาครซมโศกซ้ำสุดรำพัน

          อภิปราย ขขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงเรื่องราวของเสนาบดีในพระบาทเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑  ก็ได้ทราบกันแล้วนะครับว่ามีใครเป็นใครบ้าง  วันนี้มาอ่านเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ

           “ คราวนี้กลับไปดูเรื่องราวทางล้านนาตามความในพงศาวดารโยนกบ้าง  หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าบุรีรัตนเป็นเจ้าครองเมืองนครลำพูนแล้ว  เจ้ากาวิละพระเจ้านครเชียงใหม่  จึงพร้อมด้วยประยูรญาติและบริพารพร้อมพระสงฆ์จึงแห่แหนเจ้าบุรีรัตน  และเจ้าเจ้าศรีบุญมาอุปราชเข้าตั้งยังเมืองหริภุญไชยนครลำพูน ณ วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๖๗

          รุ่งขึ้นปี จุลศักราช ๑๑๖๘ พระเจ้ากาวิละให้ตั้งพิธีสังฆราชาภิเษก  พระมหาสวาธุเจ้าปัญญวชิระมหาบาเจ้า  ขึ้นเป็นมหาราชครู  ต่อมาอีก ๑๔ วัน ยกสวาธุเจ้านันทาวัดศรีเกิดขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชา  และ  ยกพระมหาคัมภีระวัดพันเท่าขึ้นเป็นสวามิสังฆราชา  ตั้งการอภิเษกในวัดพระสิงห์ทั้งสามรูป  จากนั้นได้สร้างพระวิหารหลวงเบื้องทิศตะวันออกแห่งพระธาตุเจดีย์สุเทพ  และสร้างศาลาลูกขุน (สนามหลวง) เมืองเชียงใหม่ในเวลาเดียวกัน  ถัดนั้นมาได้ ๑๒ วัน  เจ้ามหาอุปราชเชียงใหม่ก็ได้สร้างอุโบสถหลวงวัดพระสิงห์  จากนั้นบ้านเมืองก็ได้วัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ  ว่างเว้นศึกสงคราม  คืนคงเป็นมหานครดังแต่ก่อน

          พระเจ้ากาวิละและพี่น้องได้ร่วมกันบำเพ็ญบุญกุศลเป็นอเนกประการ  เช่น  พากันนำเครื่องสักการบูชาไปยังเมืองนครไชยสุภวดี  คือพระธาตุลำปาง  กระทำการสมโภชสักการบูชาพระมหาชินธาตุลำปาง  แล้วจำแนกแจกทาน  ตั้งฉัตรหลวงสี่มุมและยกฉัตรยอดพระมหาชินธาตุเมืองหริภุญไชยนครลำพูน  ตั้งรั้วเหล็กรั้วทองเหลืองล้อมองค์พระมหาธาตุนั้น

          ในปีจุลศักราช ๑๑๗๑ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต  และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒)  ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทนนั้น  พระเจ้ากาวิละแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ได้แต่งให้เจ้าอุปราชออกไปตรวจด่านทางเมืองยวมฝ่ายตะวันตกเมืองเชียงใหม่  ฝั่งฟากแม่น้ำคง(สาลวิน)  เห็นว่าเมืองยางแดงซึ่งอยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำคงนั้น  เป็นอิสระมิได้ขึ้นต่อกรุงอังวะ  เจ้ามหาอุปราชจึงเกลี้ยกล่อมฟ้าฝ่อ (พระพ่อ) เจ้าเมืองยางแดงเป็นมิตรไมตรีกัน  ได้ตั้งพิธีทำสัตย์สาบานตามจารีตกะเหรี่ยงยางแดงที่ตำบลท่าสะยา  อันเป็นท่าข้ามน้ำแม่คง  พิธีกรรมนั้นคือให้ฆ่ากระบือตัวหนึ่ง  เอาเลือดกระบือผสมกับสุราเป็นน้ำสัจจบาน  เขากระบือที่ฆ่านั้น  ผ่าออกเป็นสองซีก  ซีกหนึ่งฝ่ายเมืองยางแดงรักษาไว้  อีกซีกหนึ่งฝ่ายเมืองเชียงใหม่รักษาไว้  ตั้งคำสัตย์ปฏิญาณต่อกันไว้ว่า  “ตราบใดน้ำแม่คงบ่หาย  เขาควายบ่ซื่อ  ถ้ำช้างเผือกบ่ยุบ  เมืองเชียงใหม่กับเมืองยางแดงคงเป็นไมตรีกันอยู่ตราบนั้น”  แต่นั้นเมืองยางแดงกับเมืองเชียงใหม่ก็เป็นมิตรไมตรีกันสืบมา

          ในปีเดียวกันนั้น  พระเจ้าเชียงใหม่แต่งให้นายจันทราชา  นายกาวิละน้อย  นายขนานมหาวงศ์  นายน้อยมหาเทพ  นายขนานมหายศ  นายขนานศรีวิไชย  เมืองลำพูน  คุมกองทัพไปตีบ้านกะเตนกองหนึ่ง

          ให้นายคำมูล  นายนันทเสน  นายขนานไชยวงศ์  คุมกำลังเมืองลำพูน  นายน้อยมหาพรหม  คุมกำลังเมืองนครลำปาง  นายคำลือ  คุมกำลังเมืองเชียงใหม่  ยกไปตีเมืองสอกพร้อมกันทั้งสามทัพ  ตีได้เมืองสอกกวาดครัวเชลยสิ่งของเครื่องสรรพาวุธเป็นอันมาก  จากนั้นให้นายคำมูลเป็นแม่ทัพถือพลไปตีเมืองเชียงคำ  ได้ครอบครัวเจ้าฟ้าเชียงคำและพลเมืองเป็นอันมาก  ให้อินทศิริคุมไพร่พลไปตีบ้านสายเมือง  กวาดครัวเงี้ยวมาเป็นเชลยศึกก็มาก

          ในปีนั้นพม่ายกมาตีมหาขนานเมืองยาง  มหาขนานแตกหนีข้ามน้ำแม่โขงไปอยู่เมืองสิงห์  แล้วมีหนังสือบอกมาถึง  พระเจ้าเชียงใหม่จึงให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองยกขึ้นไปก่อน  แล้วให้เจ้าอุปราชคุมรี้พลเป็นกองทัพยกไปรบพม่า  ฝ่ายเมืองลำพูนก็จัดทัพหนุนขึ้นไปอีกทัพหนึ่ง  กองทัพทั้งสองยกไปถึงเมืองยาง  ได้รบกับพม่าข้าศึกเป็นสามารถ  พม่ายกหนุนกันมามากกว่ามาก  กองทัพเชียงใหม่ต้านทานมิได้ก็ถอยลงมาอยู่เมืองยอง  แล้วเทครัวเมืองยองอพยพลงมาอยู่เมืองเชียงแสน

          ครั้งนั้นมหาขนานกลับใจหนีไปเข้าหากองทัพพม่า  แต่กองทัพพม่าหาได้ยกตามมาเมืองเชียงแสนไม่  เจ้ามหาอุปราชส่งครัวเมืองยองลงมาเมืองเชียงใหม่  พระเจ้าเชียงใหม่จึงนำครัวเชลยลงมาทูลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานครัวเชลยนั้นไว้เป็นพลเมืองเชียงใหม่  พระเจ้าเชียงใหม่ก็กราบถวายบังคมลาพาครัวเชลยกลับไปเชียงใหม่

          ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๗๕ ปีระกา เบญจศก  พระบรมราชาธิบดี  ศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์  สมญามหาขัตติยราช  ชาติราชาไชยสวรรย์  เจ้าขัณฑสีมา  พระนครเชียงใหม่ราชธานี  ก็ป่วยหนักจนถึงแก่พิราลัยด้วยชนมายุ ๗๔ ปี  ตั้งแต่ได้เป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่  ไปตั้งอยู่ที่เวียงป่าช้างได้ ๑๔ ปี  แล้วยกมาตั้งอยู่นครเชียงใหม่ได้ ๑๙ ปี  รวมเวลาที่ได้เป็นเจ้าเมือง ๓๓ ปี  พระยาอุปราชน้อยธรรมผู้น้องรักษาราชการเมืองต่อมา  และในปีนั้นทางเชียงใหม่ได้ช้างเผือกเอก ๑ ช้าง  จึงนำลงมาทูลเกล้าฯถวาย  ครั้นมาถึงกรุงเก่า  พระยาราชวงศ์หมู่ล่าป่วยจนถึงแก่กรรม  ญาติพี่น้องจึงฝังศพไว้ ณ กรุงเก่า  แล้วน้ำช้างเผือกใส่แพล่องลงกรุงเทพฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับช้างเผือกแห่ขึ้นระวางสมโภชพระราชทานนามว่า  พระยาเศวตอัยรา  คชาชาติสมพงศ์ ฯลฯ  มงคลเลิศฟ้า

          แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระยาอุปราชน้อยธรรมขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่
          ให้พระยาลำพูนคำฟั่นเป็นพระยาอุปราชเชียงใหม่
          เลื่อนพระยาอุปราชบุญมาเมืองลำพูนขึ้นเป็นพระยาลำพูน”

          * * พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตได้ ๕ ปี  พระเจ้ากาวิละก็ถึงแก่พิราลัย  ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุเท่ากัน  คือ ๗๔ พรรษา  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๔ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, กันยายน, 2562, 10:00:48 PM
(https://i.ibb.co/2yN9HP2/220px-King-dummalungka.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระยาเชียงใหม่ชัางเผือก -

อุปราชน้อยธรรมนำช้างเผือก
งามหนึ่งเชือกเข้ากรุงพร้อมคำฟั่น
พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้เลื่อนชั้น
เป็นสำคัญแทนพี่ผู้พิราลัย

ชาวล้านนาเรียกนามตามท้องเรื่อง
เป็นขวัญเมืองนครพิงค์ที่ยิ่งใหญ่
คือ“พระยาช้างเผือก”ผู้อำไพ
ปรากฏในตำนานแตนั้นมา


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงเรื่องราวทางลานนาเชียงใหม่ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๑  กรุงรัตนโกสินทร์  ว่าได้ทำบุญกุศลเป็นการใหญ่  และในปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตนั้น  ได้ให้พระยาอปุราชยกกำลังไปตีเมืองต่าง ๆ ในฝ่ายเหนือได้มาอีกจำนวนหนึ่ง  แล้วพาครัวเชลยชาวเมืองยองลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒)  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานครัวเชลยเหล่านั้นให้ไว้เป็นพลเมืองเชียงใหม่  ต่อมาอีก ๕ ปี  คือ  จุลศักราช ๑๑๗๕  พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละก็ป่วยจนถึงแก่พิราลัย  พระยาอุปราชน้อยธรรมผู้น้องรักษาราชการเมืองต่อมา  ครั้นได้ช้างเผือก ๑ ช้าง  จึงนำลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศให้พระยาอุปราชเป็นพระยาเชียงใหม่  ให้พระยาลำพูนเป็นพระยาอุปราชเชียงใหม่  ให้พระยาอุปราชบุญมาเป็นพระยาลำพูน  เรื่องราวทางล้านนาจะเป็นอย่างไรตอไป  วันนี้มาดูกันต่อครับ

          * “เมื่อพระยาอุปราชน้อยธรรมได้รับยศเป็นพระยาเชียงใหม่แล้ว  ก็พาพระยาอุปราชคำฟั่นและพระยาลำพูนกราบบังคมลากลับเชียงใหม่  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงให้ขึ้นไปปลงศพพระยาราชวงศ์หมูล่าที่กรุงเก่าด้วย  พระยาเชียงใหม่  พระยาลำพูน ไปพักจัดการศพพระยาราชวงศ์หมูล่าที่กรุงเก่าเสร็จแล้วกลับขึ้นไปเชียงใหม่  ลำพูน  เพื่ออยู่รักษาราชการบริหารบ้านเมืองต่อไป  ด้วยเหตุที่พระยาเชียงใหม่น้อยธรรมนำช้างเผือกลงไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  คนทั้งหลายจึงพากันเรียกพระยาเชียงใหม่น้อยธรรมว่า  พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก  ตั้งแต่นั้นมา

          อยู่ต่อมาพระยาเชียงใหม่ช้างเผือก  แต่งพระยาพานกับท้าวศรี  คุมไพร่พล ๑๐๐ เศษ ยกข้ามแม่น้ำคงไปตีบ้านเชียงเกือ เงี้ยวฝ่ายตะวันตก  ได้เชลยมาจำนวนหนึ่ง

          ถัดนั้นมาก็แต่งให้นายคำมูลกับนายแก้วเมืองมา  คุมพล ๒๐๐ คน  ยกไปตีพม่าซึ่งมาตั้งอยู่ปากน้ำแม่ปุ  พม่ายกถอยหนีไป  จับได้เชลยพม่า ๔ คน  ส่งมาเชียงใหม่  แล้วยกข้ามฟากน้ำแม่คงไปฝั่งตะวันตก  เข้าตีเมืองตองกาย  บ้านวัวลาย  แขวงเมืองปั่น  กวาดครัวเชลยมาข้ามน้ำแม่คงที่ท่าผาแดง  จับพม่าที่นั้นได้อีก ๕ คน  จากนั้นก็แต่งให้นายน้อยกาวิละ  นายน้อยมหาพรหม  คุมกำลัง ๑๐๐ เศษยกไปตีกวาดกะเหรี่ยงยางซอยกระบาง  ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ได้เชลยมาเป็นอันมาก

          ลุศักราช ๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔)  พระยาเชียงใหม่ช้างเผือกป่วยหนักจนถึงแก่อสัญกรรม  หลังจากครองเมืองได้ ๘ ปี  อายุได้ ๗๖ ปี  พระยาอุปราชคำฟั่นผู้น้องรักษาราชการเมืองแทน

          ปีจุลศักราช ๑๑๘๔  มหาขนานเมืองเชียงตุง  แต่งให้พระสมณโคบุตรสวามิ  กับสามเณรด้วง  และคฤหัสถ์มีชื่อ  กับพม่าชื่อมองเมียดโย  ลงมา ณ เมืองเชียงใหม่  พระยาอุปราชคำฟั่นผู้รักษาราชการเมืองจึงส่งต่อลงไปยังกรุงเทพมหานคร

          ในปีเดียวกันนั้น  พระยาอุปราชคำฟั่นได้แต่งให้พระยาหัวเมืองแก้ว  นายแก้วเมืองมา  นายพรหม  นายอุ่นเรือน  คุมกำลัง ๓๐๐ คนเศษ  ยกไปเข้ากองทัพพระยามหาโยธาซึ่งไปตั้งขัดตาทัพรับครัวรามัญยังน้ำแม่สมิ  เสร็จราชการแล้วยกลับมาทางน้ำแม่มะเลิง

          ครั้นถึงปีจุลศักราช ๑๑๘๕ (พ.ศ. ๒๓๖๖)  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  มีตราโปรดเกล้าฯ ให้หาพระยาอุปราชคำฟั่นเมืองเชียงใหม่  พระยาลำปางดวงทิพ  นายพุทธวงศ์  นายคำมูล  นายน้อยกาวิละ  ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระ บาท ณ กรุงเทพมหานคร

          แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระยานครลำปางดวงทิพ  ขึ้นเป็นเจ้านครลำปาง
          ให้พระยาราชวงศ์ไชยวงศ์บุตรพระยานครลำปางคำโสม  เป็นพระยาอุปราชเมืองนครลำปาง
          พระยาอุปราชคำฟั่น  เป็นพระยาเชียงใหม่
          ให้นายพุทธวงศ์บุตรนายพ่อเรือน  เป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่
          ให้นายคำมูลบุตรนายพ่อเรือน  เป็นพระยาราชวงศ์
          ให้นายน้อยกาวิละบุตรนายพ่อเรือน  เป็นพระยาเมืองแก้ว

          พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่ฐานาศักดิ์  เสร็จแล้วพระยาเชียงใหม่  พระยานครลำปาง  พร้อมคณะกราบถวายบังคมลากลับไปบ้านเมืองของตน”

          * หลังจากพระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัยแล้ว  เชียงใหม่ยังคงความเข้มแข็งอยู่ดังเดิม  เพราะว่าผู้ปกครองดูแลเชียงใหม่สืบมาเป็นน้อง ๆ ผู้กรำศึกกันมากับพระเจ้ากาวิละ  จึงมีบารมีมากพอที่จะปกครองดูแลล้านนาประเทศได้  พระยาอุปราชน้อยธรรมเมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่แล้ว  ได้รับการเรียกขานนามใหม่จากชาวล้านนาว่า  พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก  เหตุเพราะขณะรักษาเมืองเชียงใหม่อยู่นั้นได้ช้างเผือกช้างหนึ่ง  นำลงกรุงเทพฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒  และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาเชียงใหม่  อยูในตำแหนงได้ ๘ ปี  ก็ถึงอสัญกรรม

          พระยาอุปราชคำฟั่นผู้น้องได้สืบทอดอำนาจต่อ  และส่งกำลังคนไปตีบ้านเล็กเมืองน้อยนอกราชอาณาจักรได้หลายเมืองเช่นเดียวกันกับที่พระยาเชียงใหม่ช้างเผือกได้ทำมาแล้ว  จากนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้  พระยาอุปราชคำฟั่นเป็นพระยาเชียงใหม่สืบไป  เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  และ  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  จะบอกเล่าเรื่องราวอะไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กันยายน, 2562, 10:16:29 PM
(https://i.ibb.co/h1XWnGv/Untitlsdfed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- ความรู้เรื่องพระโกศ -

กลับเข้าเรื่องเมืองหลวงยุครอสอง
ทรงขึ้นครองบัลลังก์สิ้นกังขา
ทรงจัดการพระศพราชบิดา
ตามมรรคาสืบกระแสแต่โบราณ


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพงศาวดารโยนกฉบับของพระยาประชากิจกรจักร  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวในล้านนาประเทศในยุคหลังจากที่พระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัยแล้ว  พระอนุชาคือพระยาอุปราชน้อยธรรมได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาเชียงใหม่  ชาวล้านนาเรียกท่านว่าพระยาเชียงใหม่ช้างเผือก  หรือเจ้าหลวงธรรมลังกา  เมื่อสิ้นพระยาเชียงใหม่ช้างเผือกแล้ว  พระยาอุปราชคำฟั่น  อนุชาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยาเชียงใหม่  ซึ่งชาวล้านนาเรียกท่านว่า  เจ้าหลวงเสฎฐีคำฟั่น  วันนี้มาดูเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์กันต่อไปครับ

          * ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๒  ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  ฉบับตัวเขียน  ซึ่ง  นฤมล ธีรวัฒน์  ชำระต้นฉบับ  และ ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์  เป็นบรรณาธิการ  สำนักพิมพ์อมรินทร์  พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก  เมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๘  เริ่มด้วยประวัติย่อของผู้เขียนว่า

           “เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เกิดในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) เป็นบุตรของเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับหม่อมรอด  เป็นน้องชายร่วมบิดาเดียวกันกับ  ช่วง บุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์) เริ่มรับราชการในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เจริญในหน้าที่ราชการอยู่มาจนถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕  ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๑๓ สิริอายุได้ ๕๗ ปี

          ท่านได้รวบรวมและเรียบเรียงพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ๒ ฉบับ  คือ  ฉบับรัชกาลที่ ๑  ตามที่ได้นำมาให้อ่านสลับกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาแล้ว  อีกฉบับหนึ่ง  คือ  ฉบับรัชกาลที่ ๒  ซึ่งเรียบเรียงจากจดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร  ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทั้งนี้โดยรับสนองพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๒  ท่านทำต้นฉบับเป็นตัวเขียนไว้ ๗ เล่มสมุดไทย  ดังต่อไปนี้

           “ ความในแผ่นดินพระบาทสมเดจพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้นว่า  ครั้นรุ่งขึ้นวันศุกรแรมสิบสี่ค่ำเวลาเช้า  สมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบัณฑูรใหญ่  กับสมเดจพระอนุชาธิราชเจ้า เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ  ซึ่งดำรงที่พระบัณฑูรน้อย  พร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ  ฝ่ายน่าฝ่ายใน  เสดจเข้าไปสรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพสำหรับกษัตรเสรจแล้ว  เชิญพระบรมศพลงพระลองเงิน  กรมพระตำรวจแห่แต่พระมหามณเฑียรออกประตูสนามราชกิจ  เชิญขึ้นพระยานมาศประกอบพระโกฎ  ชั้นนอกทำด้วยทองคำจำหลักประดับพลอยเนาวรัตน*  พระโกฎนั้นรับสั่งให้ช่างทองทำไว้แต่ยังไม่ทรงพระประชวร”

          * ความที่กล่าวถึงพระโกศว่า  “ชั้นนอกทำด้วยทองคำจำหลักประดับพลอยเนาวรัตน”  มีปัญหาขึ้น  เพราะมีความใน “จดหมายเหตุพระราชพงษาวดารแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย”  ซึ่งคัดจากฉบับของเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดีฯ ฉบับพิมพ์ดีด  มีความต่างออกไปว่า  “ชั้นนอกทำด้วยทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรัตน์”  และที่องค์การค้าคุรุ  สภาพิมพ์จำหน่ายก็มีความเหมือนกันกับฉบับพิมพ์ดีดดังกล่าว  พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯนั้นเรียก “พระโกศทอง” และมีเชิงอรรถอธิบายว่า

           “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๔)  พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์หน้า ๓๕๘ ดังนี้  “ในพงศาวดารพยายามที่จะกล่าวเรื่องพระโกศอย่างหลง ๆ ว่า  (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด) ให้รื้อทองหุ้มพระโกศ  พระโกศอะไรก็ไม่รู้  มาเติมทองขึ้นอีก  ทำเป็นพระโกศทองกุดั่นแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎขึ้นไว้องค์ ๑  สำหรับพระองค์ดังนี้  ความที่ถูกต้องนั้นคือ  รับสั่งให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นทรงพระศพพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์นั้น  มารวมกันทำพระโกศทองใหญ่  ไม่ใช่มาทำโกศกุดั่น  ผู้เขียนพงศาวดารหมายว่ากุดั่น  แปลว่า  ลวดลาย  ลวดลายอย่างเช่นพระโกศทองใหญ่นั้น  ควรจะเรียกว่ากุดั่น  แต่ภาษาในราชการเขาเรียกพระโกศสมเด็จพระพี่นางนั้นว่า  กุดั่นน้อยกุดั่นใหญ่  พระโกศแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ  เขาเรียกพระโกศทองใหญ่”  

          ส่วนความที่ว่า  “พระโกฎนั้นรับสั่งให้ช่างทองทำไว้แต่ยังไม่ทรงพระประชวร”  ก็มีปัญหาอีกเช่นกัน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือฉบับเดียวกันว่า  “พระโกศทองใหญ่นี้ทำแล้วเสร็จในปีมะโรง(สัมฤทธิศก พ.ศ.๒๓๕๑) นั้น  ทั้งพระลองเงินด้วย  มีรับสั่งให้เชิญมาถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ  ซึ่งเสด็จประทับอยู่  คุณเสือสนมเอกทูลห้ามปรามว่าทรงอะไรเช่นนั้น  น่ากลัวเป็นลาง  เห็นพระโกศเข้าก็ร้องไห้ล่วงหน้าเสียก่อน  รับสั่งว่า  กูไม่ถือ  ไม่เอามาตั้งดูทำไมกูจะได้เห็น  ตั้งถวายทอดพระเนตรอยู่เป็นหลายวัน”

          *ในการพระศพนั้น  พระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวให้รายละเอียดไว้ว่า

           “….ตั้งกระบวนแห่เชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านมุขประจิมทิศ  ประดับด้วยพระมหาเศวตรฉัตรแลเครื่องสูง  ตั้งเครื่องต้นเครื่องราชูประโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามบุรพราชประเพณีพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า  สมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ  ได้สำเรจราชการแผ่นดินเสดจประทับ ณ พระที่นั่งจักรพัตรพิมาน*  เวลาเช้าเยนเสดจไปถวายบังคมพระบรมศพ  ถวายไทยธรรมพระสงฆสดัปกรณ*

           ครั้นเดือนสิบขึ้นสองค่ำ  มีกาคาบหนังสือมาทิ้งที่ต้นแจงน่าพระมหาปราสาท*  พระยาอนุชิตราชาเปนผู้เกบได้*  อ่านดูใจความว่า  พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร  ซึ่งเปนกรมขุนกระษัตรานุชิต  เปนบุตรเจ้ากรุงธนบุรี*  กับพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคน  คือนายหนูดำหนึ่ง  จอมมารดาสำลีในพระบัณฑูรน้อยหนึ่ง  คบคิดกับขุนนางเปนหลายนายจะแย่งชิงเอาราชสมบัติ  จึ่งนำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่สมเดจพระเจ้าอยู่หัว  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลโปรดให้ไต่สวนได้ความจริงแล้ว

           รุ่งขึ้น ณ วันจันทร  เดือนสิบ  ขึ้นสามค่ำ  จึ่งให้นายเวรกรมพระตำรวจวังไปหากรมขุนกษัตรานุชิตเข้ามาทางประตูพิมานไชยศรีสองชั้น  จับแล้ว*โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองคใหญ่ชำระ  ซัดถึงเจ้าพระยาพลเทพบุนนาก*  พระยาเพชรปราณีกล่อม  พระอินทรเดชกระต่าย*  จมื่นประธานมณเฑียรอ่อน*  พระยาพระรามทอง  นายขุนเนนหลานเจ้าพระยาพลเทพ  สมิงรอดสองราม*  สมิงสิริบุนโดดบุตร  เจ้าพระยามหาโยธา  สมิงพัตเบิดม่วง  สมิงปอนทะละ  รวม ๑๐ คน  กับข้าในกรมทั้งชายทั้งหญิงอีก ๓๐ คน  ได้ตัวมาชำระเปนสัตย์แล้ว  จึ่งมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้ถอดกรมขุนกระษัตรานุชิตออกจากตำแหน่งที่  เรียกตามชื่อเดิมว่าหม่อมเหมน  ลงพระราชอาชญาแล้วชำระอยู่สองวัน

           ครั้นรุ่งขึ้นวันพุฒ  เดือนสิบ  ขึ้นห้าค่ำ  ก็ให้เอานักโทษ ๔๐ ทั้งตัวนายไปประหารชีวิตเสีย  พร้อมด้วยหม่อมเหมนแลนายหนูดำ  เจ้าจอมมารดาสำลี  แต่หม่อมเหมนนั้นให้เอาไปสำเรจโทษด้วยท่อนจันท์นที่วัดประทุมคงคา  ฝ่ายบุตรชายนั้นให้ถ่วงน้ำเสียที่ปากอ่าวทั้งสิ้น  บุตรภรรยาพวกอ้ายกระบถที่เปนแต่ปลายเหตุนั้น  โปรดให้ยกโทษประหารชีวิต  พระราชทานให้ส่งไปเปนโทษระบาทว์  ดำรัสว่ากามีความชอบโปรดให้พระราชทานข้าวกาตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้*  แต่ที่วังแลทรัพย์สิ่งของผู้คนข้าไทยของหม่อมเหมน  พระราชทานให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ทั้งสิ้น”

          * * อ่านพระบรมราชาธิบายแล้วก็ได้ความรู้เรื่องพระโกศดีขึ้นมากทีเดียว  เรื่องจัดการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, กันยายน, 2562, 10:27:18 PM
(https://i.ibb.co/717ZYf8/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ราชาภิกเษกรัชกาลที่ ๒ -

ชำระคดีกบฏหมดเสี้ยนหนาม
ประชาสยามพร้อมเพรียงเสียงประสาน
เทิดทูนอุปราชเจ้าไม่นิ่งนาน
ทรงรับการอภิเษกเป็นราชา


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฯ  มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่  หลังจากการแห่พระศพสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ตั้งในพระที่เรียบร้อยแล้ว  มีผู้นำหนังสือที่กาคาบมาทิ้งไว้  เข้าถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราวังบวรฯ  เป็นหนังสือกล่าวโทษเจ้าฟ้าเหม็นและพวกก่อการเป็นกบฏ  จึงทรงชำระคดีจนได้ความจริงแล้ว ให้ถอดยศปลดตำแหน่ง  และสำเร็จโทษเจ้าฟ้าเหม็นด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดปทุมคงคา  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  มาอ่านความพระราชพงศาวดารฯ กันต่อครับ

          * มีบุคคลสำคัญของเรื่องในตอนนี้ที่ควรขยายความให้รู้จักมากขึ้นอีกคือ  พระยาอนุชิตราชา  ผู้เก็บหนังสือร้องกล่าวโทษกรมขุนกระษัตรานุชิตและพวกได้นั้น  มีเดิมชื่อน้อย  ตำแหน่งเป็นจางวางพระตำรวจ  ต่อมาภายหลังได้เป็นพระยาอภัยภูธร  สมุหนายก

          พระเจ้าหลานเธอกรมขุนกระษัตรานุชิต  มีนามเดิมว่า  เหม็น  พระมารดาคือ  ฉิมใหญ่  พระธิดาองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เป็นชายาพระเจ้าตากสิน  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงไว้  และเปลี่ยนพระนามเป็นหลายครั้ง  จนที่สุดตั้งให้ทรงกรมที่  กรมขุนกระษัตรานุชิต

          ความในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า  “ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ  เจ้าพระยาอภัยภูธรจับกรมขุนกษัตราธิราช”   พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่  ผู้รับพระราชบัณฑูรให้ชำระคดีคือ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  และต่อมาคือ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

          พระยาพลเทพบุนนาก  ชื่อเดิมว่าบุนนาก  อยู่บ้านแม่ลากรุงเก่า  เคยดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาไชยวิชิต  ผู้รักษากรุงเก่า

          พระอินทรเดชกระต่าย  ท่านผู้นี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายไว้ในเชิงอรรถ  หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ว่า  “เหตุเรื่องเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตนี้  ตามเนื้อความที่ปรากฏในหนังสือโคลงยอพระเกียรติ  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แต่ยังเสด็จดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร  ทำนองว่าพระอินทรเดช (กระต่าย)  เป็นต้นเหตุตัวการยุยงเจ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต  แลเป็นสื่อสายเที่ยวชักชวนผู้อื่น”

          จมื่นประธานมณเฑียรอ่อน  มีชื่อเดิมว่าอ่อน  ในฉบับพิมพ์ดีด  และ  ฉบับคุรุสภา  เรียกว่า  จะหมื่นประท้านมณเฑียรอ่อน  ฉบับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯเรียกว่า  จมื่นสท้านมณเฑียร (อ่อน)

          สมิงรอดสองราม  ในฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เรียก  สมิงรอดสงคราม  แต่ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทร์เทวี  เรียกว่า  รอดทรงราม  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระราชวินิจฉัยในพระราชวิจารณ์ว่า  “รอดทรงรามในที่นี้เห็นจะเป็นรอดสงคราม”  จากนี้ดูความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับตัวเขียนต่อไปครับ

           “ครั้นชำระพวกกระบถแล้ว  พระราชวงษานุวงษเสนาบดีแลสมเดจพระสังราช  ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันเชิญเสดจสมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกเปนพระองคเอกอรรคมหาราชาธิราช  ดำรงพิภพสยามประเทศ  จึ่งตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก  พิธีสงฆพิธีพราหมณ์เจริญพระปริตพุทธมนต์ ณ วันพฤหัศบดี  เดือนสิบ  ขึ้นหกค่ำ  ขึ้นเจดค่ำ  ขึ้นแปดค่ำ

          ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบ ขึ้นเก้าค่ำ  เวลาได้พระฤกษจะได้สรงสหัศธาราปัญจสุทธิมหานทีมุรธาภิเศก  ทรงผลัดเครื่องขาวเสดจยังที่สรง  เสรจแล้วเสดจขึ้นบนพระที่นั่งอัฐทิศ  รับน้ำกรดน้ำสังข์ทั้งแปดทิศ  แล้วเสดจไปประทับพระที่นั่งภัทธบิฐ  พระมหาราชครูพราหมณ์โหรตาจาริย์ถวายพระราชสุพรรณบัตรจาฤกพระนามแลเครื่องราชกกุธภัณฑ์  ทั้งพระแสงขรรค์พระแสงอัษฎาวุธ  เครื่องสรรพยุทธทั้งปวง  ตามเยี่ยงอย่างพระราชพิธีสมเดจพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติใหม่  ทรงพระนามว่า  สมเดจพระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุทธยา  อย่างพระนามในพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสดจสวรรคตแล้วไม่ยักเยื้องอไร  พระนามวิเสศนั้นแจ้งอยู่ในพระสุพรรณบัตรนั้นแล้ว

          รุ่งขึ้นพระราชวงษานุวงษ  ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนก็ได้ถือน้ำพระพิพัฒสัตยา  แล้วถวายดอกไม้ธูปเทียน  ขอยอมกายถวายตัวเปนข้าพระเจ้าแผ่นดินไปจนกราบเท่าสิ้นชีวิตร*  แล้วมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานส่งหมายกระบวนเสดจพระราชดำเนินเลียบพระนครให้ราษฎรถวายบังคมทั่วกันโดยเยี่ยงอย่างโบราณราชประเพณี

          เจ้าพนักงานได้จัดการแต่งทางสถลมารคเกลี่ยทรายรื่นราบทั่วไป  ปักฉัตรเบญจรงคเจดชั้น  ราชวัดรายไปสองฟากทาง  ตั้งร้านน้ำปักต้นกล้วยต้นอ้อยแลธงกระดาษตามราชวัด  แลมีปี่พาทย์กลองแขกประจำตามระยะ ๆ  กรมอาษาหกเหล่าซ้ายขวาตั้งกองจุกช่องรักษาพระองคกำกับประจำทุกกองทุกทาง  กระบวนแห่พยุห ๘ แถว  กระบวนน่าขุนหมื่นกรมมหาดไทย  แต่งตัวนุ่งสนับเพลาสรวมเสื้อต่างศีโพกผ้าขลิบ  ขัดดาบขึ้นม้าถือธงฉานนำน่ากระบวนคู่หนึ่ง  ขุนหมื่นกรมม้าแต่งตัวนุ่งสนับเพลาสรวมเสื้ออัตตลัดโพกผ้าขลิบ  ขัดดาบขึ้นหลังม้าผูกแพนหางนกยูงมีหอกซัดทุกม้า  กรมอาษาเกณฑ์หัด เจ้ากรมปลัตกรม  สรวมเสื้อทรงประภาสหมวกตุ้มปี่  ขัดกระบี่บั้งทอง  กระบี่บั้งเงิน  ขุนหมื่นพันนายเวรแลไพร่นุ่งกางเกงสรวมเสื้อเสนากุฎหมวกหนั ง ถือปืนคาบสิลาปลายหอกรางแดงหมู่หนึ่ง  กรมทำลุถือธนูหมู่หนึ่ง  กรมทวนทองถือทวนหมู่หนึ่ง  กรมทหารในถือง้าวหมู่หนึ่ง  กรมดาบสองมือถือดาบสองมือหมู่หนึ่ง  กรมล้อมพระราชวังถือโลหแบกดาบหมู่หนึ่ง  กรมดั้งทองถือดั้งทองหมู่หนึ่ง  กรมเขนทองถือเขนทองหมู่หนึ่ง  กรมอาษาใหญ่ถือดาบชะเลยหมู่หนึ่ง  กรมอาษารองถือตรีหมู่หนึ่ง  กรมเรือกันถือกระบองทองหมู่หนึ่ง  กรมอาษาญี่ปุ่นถือขวานจีนหมู่หนึ่ง  เกณฑ์หัดอย่างฝรั่งถือปืนหลังม้าหมู่หนึ่ง  กรมอาษาจามถือหอกคู่  กรมแขกมุหงิดสรวมเสื้อวิลาศโพกผ้าตบิดริ้วทองเหน็บกฤชหมู่หนึ่ง  กรมคู่ชักกรมรักษาพระองคสรวมเสื้อตามบันดาศักดิ์  โพกผ้าศีถือหอกเดินกระบวน ๔ ริ้ว  แต่กระบวนนั้น ๆ มีธงยันต์นำริ้วซ้าย-ขวา ทุกกระบวน…..”

          * * ท่านผู้อ่านครับ พระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ควรจะถือได้ว่ามีเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์  เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น  มิได้มีพิธีกรรมอย่างยิ่งใหญ่เช่นพิธีขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๒  ดูกระบวนแห่ตามหมายกระบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร  เพื่อให้ราษฎรถวายบังคมแล้วได้เห็นกองเกียรติยศอันยิ่งใหญ่โดยกำลังไพร่พลในกรมกองต่าง ๆ แต่งกายเต็มยศเป็นกระบวนแห่พยุหะ ๘ แถว  เริ่มตั้งแต่ขุนหมื่นกรมมหาดไทยนำหน้า  ไปจนถึงกรมรักษาพระองค์โพกผ้าถือหอกเดินกระบวน ๔ ริ้ว  อันเป็นตอนสุดท้ายของกระบวนหน้า  คำบรรยายสั้น ๆ แต่ได้แลเห็นภาพละลานตายิ่งนักทีเดียว  สำนวนภาษาอักขวิธีที่นำมาให้อ่านกันนี้  ท่านคงแปลกใจนะครับว่าทำไมเขียนสะกดการันต์ไม่เหมือนปัจจุบัน  และนี่ก็เป็นอีกความรู้หนึ่งให้นักภาษาได้ทราบว่า  สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นท่านเขียนหนังสือกันอย่างไร  กระบวนตอนต่อไปซึ่งเป็นบุคคลชั้นนาย  ที่สูงกว่าไพร่พล  จะมีภาพยิ่งใหญ่ละลานตาเพียงใด  วันนี้ยังไม่เอามาให้อ่านนะครับ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อก็แล้วกัน.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, กันยายน, 2562, 10:07:49 PM
(https://i.ibb.co/4ZzwpFM/R2-01.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒)

- พระราชพิธีเถลิงราชสมบัติ -

เสร็จพิธีราชาภิเษกสั่ง
เลื่อนวังหลังโดดเด่นเป็นวังหน้า
จัดพิธีต่อเนื่องสถาปนา
ยังมิเคยมีมาแต่ครั้งใด


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ไดันำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านอ่านกัน  ถึงตอนเริ่มต้นความตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๒  ในฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  ได้กล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และบรรยายถึงกระบวนแห่เลียบพระนคร  ยังไม่จบกระบวนแห่  เพราะเป็นกระบวนที่ยิ่งใหญ่มาก  ยังเหลือกระบวนสำคัญในระดับผู้ใหญ่  ซึ่งท่านบรรยายภาพไว้  ดังต่อไปนี้ครับ

           “….แล้วจึ่งถึงหมู่ขุนตำรวจทั้ง ๘ กรม  แต่งตัวตามยศโพกผ้าขลิบขัดดาบเดิน ๔ ริ้ว  ถัดมาริ้วในกรมมหาดเลกหัวหมื่นจ่านายเวรหุ้มแพร  นุ่งสมปักลาย  สรวมเสื้อครุยโพกผ้าขลิบมีครุยขัดดาบบั้งทอง  ริ้วนอกเจ้ากรมปลัตกรมพระตำรวจ  นุ่งสม  ปักลายเกี้ยวสนับเพลาเจียรบาด  สรวมเสื้อเข้มขาบอัตตลัดเสื้อครุยโพกผ้าขลิบมีครุย  ขัดกระบี่บั้งทองสรวมประคำทอง  หมู่แตรสังข์  แตรฝรั่งแตรงอน  กลองชนะ  กลองเงิน  กลองทอง  จ่าปี่  จ่ากลอง  นุ่งกางเกงสรวมเสื้อปสะตุแดงหมวกแดง  เดินในกลางริ้ว  กรมอภิรมย์เชิญเครื่องสูงห้าชั้น  เจดชั้น  บังแทรกบังสูริย์พระกลดพัดโบก  นุ่งกางเกงยก  สรวมเสื้อมันรู่มีเจียรบาด  สรวมพอกแดงดูสลับสลอน  แลมหาดเลกเชิญพระแสงวาง  เครื่องนุ่งสมปักลาย  สรวมเสื้อเข้มขาบ  สรวมเสื้ออัตตลัด  เสื้อครุยโพกผ้าขลิบมีครุย  อินทรพรหมนุ่งสนับเพลา  สรวมเสื้อศีเขียวศีแดง  สรวมเซิด  แห่ข้างละ ๔ คู่  ออกญาปลัตทูลฉลองนุ่งสมปักลายเกี้ยว  สนับเพลาเจียรบาด  สรวมเสื้อเข้มขาบเสื้อครุย  โพกผ้าขลิบกรองทองหกคู่  ขัดดาบบั้งทองเคียงสองข้างพระราชยานกระบวนหลังเดิน ๔ แถว

          กรมทหารในกรมพระตำรวจพลพันกรมทนายเลือก  กรมรักษาพระองค์ล้วนนุ่งสมปักลายสนับเพลา  สรวมเสื้อเข้มขาบเสื้ออัตตลัดเสื้อครุย  โพกผ้าขลิบกรองทองขัดดาบบั้งทอง  เครื่องสูงห้าชั้นเจดชั้นบังแทรก  มหาดเลกเชิญพระแสงวางเครื่องพระแสงง้าว  พระแสงหอกง่าม  เชิญเครื่องพานพระขันหมาก  พระเต้าสุพรรณศรี  กรมแสงปืนเชิญพระแสงปืน  กรมแสงหอกดาบเชิญพระแสงทวน  กรมม้าผูกม้าเทศพระที่นั่งเครื่องกุดั่นเบาะผ้าลาดจูงตามสองม้า  พวกขุนหมื่นพันทนายละหมู่ละกรมล้วนนุ่งกางเกงสรวมเสื้อเสนากุฎหมวกหนัง  ถือสรรพาวุธต่าง ๆ สล้างสลอนพร้อมสพรั่งสิ้นสุดริ้วแล้ว  กรมฝรั่งทหารแม่นปืนลากปืนจ่ารงตามท้ายกระบวนคู่หนึ่งดูสง่า  สิ้นกระบวนข้าราชการแล้ว  จึ่งพระบรมราชวงษานุวงษ  ทรงพระภูษาลายเขียนทองฉลองพระองค์กรองทองรัดพระองค์  ทรงพระมาลาขึ้นทรงม้าแต่งเครื่องกุดั่นกั้นกลดหักทองขวาง  ตามท้ายระบวนเปนคู่ ๆ  หมู่มหาดเลกเชิญเครื่องยศตามสพรั่งพร้อมแล้ว  เจ้าพระยาสมุหนายกขึ้นแคร่  พวกขุนหมื่นพันทนายถือเครื่องยศตามสกัดกระบวนเปนที่สุด

          ครั้นได้เวลาเช้านาฬิกาสองโมงเสศ  พระบาทสมเดจพระบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว  เสดจ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  แล้วทรงราชวิภูษนาภรณ์ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน  พระภูษาลายสุวรรณกนกแย่ง  รัดพระองค์เนาวรัตน์ ฉลองพระองค์อย่างต่างประเทศ เจียรบาดเกี้ยวชายกระหวัด ทรงพระสังวาลย์พระนพรัตน์เพชร พระธรรมรงค์เพชรมีราคาครบนิ้วพระหัถ  ทรงพระมาลาเพชร  ทรงเหน็บพระแสงกั้นหยั่นแลพระแสงเวียดสำหรับพระองค์  แล้วเสดจประทับเกยน่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  พระราชยานประทับรับเสดจ  แตรสังข์ประนังเสียงอุโฆษนฤนาท  พระยาพระหลวงขุนหมื่นกราบถวายบังคมสามลา  กระบวนน่าก็คลี่คลายขยายกระบวนพยุหยาตรา  หลวงอินท์เภรีก็ตีประนังศับทสำเนียงคฤ้านคฤกพิฦกลั่น( คร้านครึกพิลึกลั่น)  นี่สนั่นด้วยเสียงกาหฬดนตรี  พิณพาทย์ฆ้องกลอง  ออกทางประตูวิเสศไชยศรีมาตามสถลรัฐยา  ทรงโปรยหิรัญแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร  ซึ่งมาแซ่ซ้องเชยชมพระบรมเดชาภินิหารอยู่สองคราบข้างสถลวิถี  บ้างก็ยกอัญชะลีถวายไชยพรพร้อมสพรั่ง  บางพวกที่มั่งคั่งผู้ดีมีทรัพย์สมบัติ  ก็จัดเครื่องสักการบูชาเทียนธูปบุปผามาลาวิกัติต่าง ๆ ตามระยะทางเสดจพระราชดำเนินไปโดยรอบพระราชวัง  ครั้นเสดจถึงเกยที่ประทับแล้วเสดจเข้าสุ๋พระมหามณเฑียร  มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานพระคลังแจกเงินให้ถ้วนทั่วกระบวนแห่เสดจพระราชดำเนิน  ทั้งซ้ายขวา  รวมเปนคน ๘,๐๐๒+  แลเมื่อได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้ ๔๓ พรรษา

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเดจพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษพระบัณฑูรน้อย  ขึ้นดำรงที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ได้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเศกเฉลิมพระราชมณเฑียร  วันอังคาร  เดือนสิบ  แรมสามค่ำ  พระราชาคณะ ๖๐ รูปสวดพระปริตพุทธมนต์ร ณ พระที่นั่งพรหมภักต์พุทไธสวรรย์  สวดมนต์สามวัน  ตั้งพลับพลาที่เสดจประทับ ณ โรงลครข้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก  ตั้งกระบวนแห่เปนพยุหยาตราเวลาบ่ายทั้งสามวัน

          ครั้น ณ วันศุกร เดือนสิบ แรมหกค่ำ  ได้ศุภวารมหามงคลฤกษ  เสดจเข้าสู่ที่สรงน้ำพระมุรธาภิเศกทรงเครื่องเสรจแล้ว  พระสงฆฉัน ถวายไทยธรรมพระสงฆราชาคณะ แล้วเสดจลงมารับพระสุพรรณบัตรต่อพระหัถพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  ครั้นได้อุดมฤกษพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานพระสุพรรณบัตร  จาฤกพระนามตามโบราณราชประเพณี  ในเวลานั้นพระชนม์ ๓๖ พรรษาได้ดำรงที่พระมหาอุปราช”

          * เสร็จพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (พระราชวังหลัง)  หรือพระบัณฑูรน้อย  ขึ้นเป็น  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล( พระราชวังหน้า)  ที่กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  โดยจัดพระราชพิธีอุปราชาภิเษกต่อเนื่องจากพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างมิเคยมีมาก่อนเลย  กรมพระราชวังบวรมหาเสนารักษ์พระองค์นี้มีพระนามเดิมว่า  จุ้ย  ราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  พระองค์ที่ ๗  หลังจากรับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว  ทรงช่วยบริหารงานประเทศพระเชษฐาธิราชได้ไม่นานนักก็ทิวงคตด้วยพระชนมายุเพียง ๔๕  สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมิตั้งผู้ใดครองตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาลของพระองค์  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย
๘ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กันยายน, 2562, 12:10:56 AM
(https://i.ibb.co/ZTyGNCY/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

- การสถาปนาพระราชวงศ์ -

สถาปนาราชวงศ์ดำรงยศ
เกียรติปรากฏรูปนามความยิ่งใหญ่
โอรสพรองค์โตโก้กว่าใคร
รับตั้งให้เป็น“เจษฎาบดินทร์”


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงความตอนการสถาปนาพระมหาอุปราช  และมีพระราชพิธียิ่งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน  พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระพุทธเลิศหลานภาลัยมีขึ้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐  ส่วนพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคลมีขึ้น ณ วันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐  กรุงเทพมหานครในยามนั้นจึงอยู่ในช่วงมหามงคลสมัยตลอดทั้งเดือนเลยทีเดียว  เมื่อพระราชพิธีอุปราชาภิเศกจบลงแล้ว  ข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒  ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ได้บันทึกต่อไปว่า

           “ครั้นการอุปราชาภิเศกเสรจแล้ว  พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งเสนาบดีให้ทำบาญชีคนนักโทษนอกจากพม่าข้าศึกที่ต้องเวรจำอยู่ ณ คุก  เปนคน ๔๔๓ คน  ทรงพระกรุณาโปรดให้พ้นโทษ  อนึ่ง ราษฎรซึ่งฟ้องร้องกล่าวหาแก่กันค้างอยู่ในโรงศาลใดยังมิได้สำเรจนั้น  ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ใ ห้ลูกขุนแลเสนาบดีชำรว่ากล่าวเสียให้แล้วโดยเรว  ห้ามมิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมแต่ฝ่ายโจทฝ่ายจำเลย  ซึ่งโทษหลวงแลเงินพิไนยนั้นยกพระราชทานให้

          แล้วจึ่งตั้งแต่งพระราชาคณเปนฤกษก่อน  แล้วตั้งพิธีเฉลิมพระนามเปนการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี  สฐาปนาขึ้นเป็น  กรมสมเดจพระอัมรินทรามาตย์  แล้วจึ่งพระราชทานตำแหน่งที่พระราชวงษานุวงษแลเสนาบดี  ให้มีอิศริยยศโดยสมควรแก่ความชอบในเวลานั้น

          พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าทับทิม  โปรดให้เปนกรมหมื่นอินทรพิพิธหนึ่ง
          พระองค์เจ้าทับ  เป็นกรมหมื่นจิตรภักดีหนึ่ง
          พระองค์เจ้าคันธรส  เปนกรมหมื่นศรีสุเรนท์รหนึ่ง
          พระองค์เจ้าสุริย  เปนกรมหมื่นอิศเรศร์หนึ่ง
          พระองค์เจ้าฉัตร  เปนกรมหมื่นศรีสุรินทรรักษหนึ่ง
          พระองค์เจ้าไกรสร  เปนกรมหมื่นรักษ์รณเรศหนึ่ง
          พระองค์เจ้าวาศุกรีซึ่งทรงผนวชอยู่  เปนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัติยวงษหนึ่ง

          จึ่งโปรดให้สฐาปนาพระเจ้าลูกเธอให้มีราชอิศริยยศ  พระองค์เจ้าสี่พระองค์  

          พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่  เปนกรมหมื่นเจษฎาบดินท์รหนึ่ง
          พระองค์เจ้ากล้วยไม้  เปนกรมหมื่นสุนทรธิบดีหนึ่ง
          พระองค์เจ้ามั่ง  เปนกรมหมื่นเดชอดิศรหนึ่ง
          พระองค์เจ้าวัณ*  เปนกรมหมื่นพิพิธภูเบนท์รหนึ่ง

          จึ่งโปรดให้พระเจ้าหลานเธอในกรมพระราชวังหลัง  พระองค์เจ้ายงเปนกรมหมื่นธิเบศบวรหนึ่ง*
          พระองค์เจ้าฉิมในกรมหมื่นนรินท์รพิทักษ์  เปนกรมหมื่นนรินทรเทพหนึ่ง”

           “…..แล้วจึ่งพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีมุขมนตรีซึ่งตำแหน่งว่างอยู่

          โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาพระคลังกุน  เปนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก
          เลื่อนเจ้าพระยายมราชบุญมา  ขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม
          เลื่อนพระยาอนุชิตราชาน้อย  ซึ่งเกบกาคาบได้นั้นเปนเจ้าพระยายมราช

          ครั้นภายหลังมา  เจ้าพระยารัตนาธิเบศรถึงอนิจกรรมลง  โปรดให้เจ้าพระยายมราชน้อยเลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก  จึ่งโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยพาหน้อยเปนเจ้าพระยายมราช  ท่านทั้งสองนี้อยู่มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

          แล้วโปรดให้พระยาไกรโกษาข้าหลวงเดิมมาเปนพระยาพระคลัง  ภายหลังมาพระยาพระคลังถึงอนิจกรรมแล้ว  จึงโปรดให้พระยาศรีสุริยวงษ  เชื้อพระวงษจางวางมหาดเลกเปนเจ้าพระยาพระคลัง  เขาเรียกว่าเจ้าคุณโกษาสัง

          ครั้นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบุญมาถึงอนิจกรรมแล้ว  โปรดให้พระยาราชบูรีแสงมาเปนเจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ์ที่สมุหพระกลาโหม  ครั้นถึงอนิจกรรมแล้ว  จึ่งโปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาพระคลังขึ้นเปนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา  อยู่ตลอดมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่ที่โกษานั้นว่างมาจนถึงปลายแผ่นดิน  จึ่งได้ตั้งพระยาสุรวงษมนตรีเปนที่โกษา  เขาเรียกว่าเจ้าคุณพระคลัง  อยู่ตลอดมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ที่กรมวังนั้นเจ้าพระยาธรรมาสดถึงแก่อนิจกรรมแล้วที่ว่างอยู่  จึ่งโปรดให้พระยาเพชรบูรีเทดเปนเชื้อพระวงษฝ่ายกรมสมเดจพระอัมรินทรามาตย์มาเปนเจ้าพระยาธรรมาธิบดี  แล้วโปรดให้พระยาสันทมิตรสาเปนเจ้าพระยาพลเทพ  ครั้นถึงอนิจกรรมแล้ว  จึ่งโปรดให้พระยาราชภักดีทองอินเปนเจ้าพระยาพลเทพ  ท่านทั้งสองนี้อยู่จนแผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ครั้นโปรดเกล้าฯ ตั้งข้าหลวงใหญ่-เดิมขึ้นเตมตามตำแหน่งที่ทุกพนักงานแล้ว  ถึงเดือนสิบเอดแต่งให้พระยาเพชรปราณีเปนทูตออกไปกรุงเวียดนาม  บอกการสวรรคตแลการบรมราชาภิเศก  สืบพระวงษใหม่ด้วย”

          * การเลื่อนและตั้งตำแหน่งเสนาบดีมีข้อปลีกย่อยที่ควรรู้คือ

          เจ้าพระยาศรีสุริยพาห  นามเดิมว่าน้อยนั้น  พระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ว่า มียศเป็นพระยามิใช่เจ้าพระยา  แต่  ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒  ระบุว่ามียศเป็นเพียง  พระ  เท่านั้น

          พระยาไกรโกษา  ข้าหลวงเดิมที่ได้เป็นพระยาพระคลังนั้น  มีนามเดิมว่า  กร  พระยาสุริยวงษมนตรีที่ได้เป็นที่โกษานั้น  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า  “โปรดให้พระยาสุริยวงษ์มนตรี (ดิศ)  จางวางมหาดเล็กมาบัญชาการกรมท่าเป็นพระยาสุริยวงษ์โกษาที่พระคลัง  แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง  เป็นเจ้าพระยาพระคลังต่อมาตลอดรัชกาลที่ ๓  เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นี้ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมหมาประยุรวงษ์)  เป็นบุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)   เจ้าคุณนวล น้องสาวสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นมารดา”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณแล้วว่า  เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจะต้องมีการสถาปนาพระราชเทวีเป็นพระมเหสี  และวงศานุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม  กับแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามพระราชอัธยาศัย  รวมทั้งทรงตั้งพระภิกษุให้ดำรงสมณะศักดิ์ต่าง ๆ อีกด้วย  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงสถาปนาเจ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นดำรงตำแหน่งพระอุปราชแล้ว  ทรงตั้งพระภิกษุเป็นพระราชาคณะก่อนแล้วจึงตั้งตำแหน่งยศให้พระบรมวงศ์และราชวงศานุวงศ์เป็นลำดับมา  จนสิ้นแล้วจึงจะทรงตั้งข้าราชการต่อไป  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ซึ่งตั้งให้ทรงกรมเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นั้น  ภายหลังได้เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓

          สำหรับพระองค์เจ้าวาสุกรีซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธารามนั้น  ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรมด้วย  คือให้เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสฯ  ท่านผู้นี้มิได้ลาผนวช  ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  และสถาปนาขึ้นเป็น  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ  ทรงเป็นนักกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในระดับ  “รัตนกวี”  ทีเดียว

          พระองค์เจ้าวัณ  ที่ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิพิธภูเบท์ร  นั้น  บางแห่งว่าพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าจำรัสบ้าง  พระองค์เจ้าวันบ้าง  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ออกพระนาว่า  พระองค์เจ้าพนมวัน    และ  พระองค์เจ้ายงที่ทรงกรมเป็นกรมหมื่นธิเบศบวรนั้น  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ออกพระนามว่า  พระองค์เจ้าประยงค์  จบเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งตามพระราชประเพณีแล้ว  เรื่องาวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กันยายน, 2562, 10:25:20 PM
(https://i.ibb.co/TgpNkjW/Untitlesfad-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่ามาตีชุมพร-ถลาง -

พม่ายกทัพมาตีภาคใต้
แล้วยึดได้หลายเมืองเกือบหมดสิ้น
เมืองถลางร่อแร่น้ำตาริน
ทั้งของกินของใช้เกือบไม่มี


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้นี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันโดยละเอียด  ถึงเรื่องราวพระราชพิธีราชาภิเษกและอุปราชาภิเษกจบสิ้นไปแล้ว  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒  ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บันนาค)  ซึ่งจะขอเก็บความมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

          * “ในปีเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต  และ  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลราชโอรสทำพิธีบรมราชาภิเศกเถลิงราชสมบัติ  ในพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  ถึง ณ เดือนยี่  ปีมะโรง  สัมฤทธิศก  ศักราช ๑๑๗๐  พระเจ้ากรุงอังวะแห่งพม่า  ให้อเติงวุ่นแม่ทัพ  ลงมาเกณฑ์คนหัวเมืองร่างกุ้ง (แรงกูน=ย่างกุ้ง)  เมืองพม่า  เมืองมอญ  ตลอดถึงเมืองทวาย  รวมพลได้ ๔ หมื่น  เตรียมจะลองยกเข้าตีกรุงเทพฯ ดูอีกสักครั้งหนึ่ง

          ครั้นอเติงวุ่นยกลงมาตั้งอยู่เมืองเมาะตะมะ  พลในกองทัพพม่าก็หนีทัพคราวละพันหนึ่ง  สองพัน  สามพันบ้าง  สี่ร้อยห้าร้อยบ้าง  อเติงวุ่นสั่งให้กองทัพเที่ยวตามจับได้ทีละร้อยหนึ่งบ้าง  ห้าสิบหกสิบบ้าง  แล้วก็ใช้วิธีโหดร้ายทารุณ  สั่งให้ตัดศีรษะบ้าง  ผ่าอกเสียบ้าง  เพื่อเป็นการข่มขู่มิให้พลในกองทัพพากันหลบหนีอีกต่อไป  แล้วก็ยกข้ามฟากมาตั้งอยู่เมาะลำเลิง  แต่งเรือออกลาดตระเวนไม่ให้พลในกองทัพหนีข้ามฟากไป  ยามนั้นขุนนางเมืองอังวะพากันกราบทูลทัดทานพระเจ้ากรุงอังวะว่า  ในเมื่อพระองค์ได้แต่งพระราชสาส์นไปขอเจริญทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแล้ว  จะมาเกณฑ์กองทัพให้ไปตีบ้านเมืองไทยอีกจะไม่เสียพระเกียรติยศหรือ ?  พระเจ้ากรุงอังวะทรงเห็นชอบด้วยก็โปรดให้มีตราให้หาอเติงวุ่นเลิกทัพกลับไป

          อเติงวุ่นทราบความตามท้องตราเรียกหาให้กลับแล้วตอบไปว่า  “ได้ลงทุนเสบียงอาหารเกณฑ์ไพร่พลมาได้มากแล้ว  ไม่โปรดให้ไปตีกรุงศรีอยุธยา  ก็จะขอไปตีเมืองชุมพร  เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  เกาะถลาง  กวาดต้อนครอบครัวใช้ทุนรอนเสียก่อนจึงจะกลับไป”  แล้วอเติงวุ่นก็ยกกองทัพไปตั้งอยู่เมืองทวาย  กะเกณฑ์ให้ต่อเรือรบใหญ่น้อยขึ้นเป็นอันมาก  ครั้งนั้นไพร่พลในกองทัพอเติงวุ่นเกิดโรคลงท้อง (ท้องร่วง) ตายวันละห้าสิบหกสิบคนทุกวัน

          เมื่อต่อเรือรบเสร็จแล้ว  ถึงเดือน ๑๑ ปีมะเส็ง เอกศก ศักราช ๑๑๗๑  อเติงวุ่นก็ให้แย้ฆอง  คุมนายทัพนายกองและไพร่พล ๔,๐๐๐ คน  ลงเรือรบไปตีเกาะถลางกองหนึ่ง  ให้ดุเรียง  สาละกะยอ  คุมพล ๓,๐๐๐ คน  ขึ้นไปที่เมืองระนอง  เมืองกระ  ตีเมืองชุมพร  พระยาเคางะธราธิบดีผู้รักษาเมืองชุมพรบอกเข้ามา ณ กรุงเทพฯว่า  “อ้ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ปากจั่นยกเข้ามาตีเมืองชุมพร  เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ”

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้ว  โปรดให้พระยาจ่าแสนยากรคุมพล ๕,๐๐๐ คน  เดินบกยกลงไปก่อน
          ให้เจ้าพระยาพลเทพไปรักษาเมืองเพชรบุรี
          โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี  ไปจัดการคอยส่งกองทัพอยู่ที่เมืองเพชรบุรี  ถ้าการหนักแน่นมาประการใด  ก็ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นทัพหน้า  กรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นทัพหลวงยกหนุนไปอีกทัพหนึ่ง  แล้วจะโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นจอมพยุหะพล  ยกออกไปทางบกอีกทัพหนึ่ง  รวม ๒ ทัพ  เป็นพล ๒๐,๐๐๐ คน

          ฝ่ายแย้ฆองพม่าที่ยกมาตามคำสั่งอเติงวุ่นนั้น  เข้าตีเมืองตะกั่วป่าได้เมื่อวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๑  แล้วยกลงไปตีตะกั่วทุ่งได้โดยไม่ต้องรบ  เพราะผู้คนหนีเข้าป่าไปหมดแล้ว  จึงยกเลยไปเกาะถลาง  คือ  ภูเก็ต  เจ้าเมืองตะกั่วป่า  ตะกั่วทุ่ง  ก็บอกมายังกรุงเทพมหานคร

          พม่ายกทัพไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ปากพระ  พระยาถลางได้บอกข้าราชการมายังกรุงเทพฯ พร้อมกับเกณฑ์พลไพร่เข้ารักษาเมืองอยู่พรักพร้อม  พม่ายกเข้าตีค่ายบ้านดอนเมืองถลาง  ตั้งค่ายล้อมอยู่ ๑๕ ค่าย  พวกชาวเมืองถลางก็ต่อสู้กับพม่าเป็นสามารถ  พม่าหักเอามิได้ก็คิดอุบายถอยทัพกลับลงเรือแล่นไปเมื่อเดือน ๑๒ ข้างแรม  พระยาถลางแต่งให้คนสอดแนมสืบดูก็ได้ความว่า  พม่ายกกองทัพไปหมดแล้ว  จึงปล่อยคนออกจากค่ายไปเที่ยวหากิน  เพราะในเวลานั้นอดเสบียงอาหารหนักอยู่แล้ว  พม่าคาดคะเนการณ์เห็นว่า  ไทยปล่อยคนออกจากค่ายแล้ว  ก็กลับยกกองทัพมาขึ้นเดินที่ปากพระบ้าง  มาขึ้นที่ท่ายามูแขวงเมืองภูเก็ตบ้าง  เข้าล้อมเมืองถลางไว้  อีกเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ พระยาถลางทราบดังนั้นก็ตกใจรีบเรียกคนกลับเข้าค่าย  แต่ก็ไม่อาจเรียกได้เต็มหน้าที่

          ฝ่ายทางกรุงเทพฯ นั้น  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับทราบหนังสือบอกจากพระยาถลางแล้ว  จึงโปรดให้เกณฑ์พระยาทศโยธา  พระยาราชประสิทธิ์  คุมทัพเมืองไชยาขึ้นทางปากพนมเดินไปช่วยเมืองถลางทางหนึ่ง  

          โปรดให้เจ้าพระยายมราช น้อย  เป็นแม่ทัพ  พระยาท้ายน้ำเป็นกองหน้า  ให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้เกณฑ์ทัพไปกับเจ้าพระยายมราช  ช่วยราชการเมืองถลางให้ได้

          เจ้าพระยายมราช  พระยาทศโยธา  พระยาราชประสิทธิ์  ได้ยกออกจากปากน้ำเจ้าพระยา ณ วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรฯ  ได้ยกออกไปเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑ ขึ้นที่เมืองเพชรบุรี

          เจ้าพระยายมราชไปถึงนครศรีธรรมราชแล้ว  จึงพร้อมด้วยเจ้าพระนครศรีธรรมราชยกไปตั้งอยู่เมืองตรัง  เรือที่จะบรรทุกคนข้ามไปนั้นมีน้อยจึงให้ต่อเรืออยู่ที่นั้น  จัดเรือที่เมืองตรังให้พระยาท้ายน้ำยกข้ามทะเลไปก่อน  

          พระยาท้ายน้ำไปถึงเกาะฉนักพบเรือพม่าที่มาขึ้นท่ายามู  พม่าออกรบต้านทานไว้  พระยาท้ายน้ำและกองทัพไทยเข้ายิงเรือพม่าแตกแล่นหนีกระจัดกระจายไป  เพราะพม่าเอาปืนใหญ่น้อยขึ้นบกไปล้อมเมืองภูเก็นจนหมดจึงไม่มียิงต่อสู้ทัพไทย

          ในขณะรบนั้น  พระยาท้ายน้ำประมาทมิได้ปิดระวังถังดินปืนให้ดี  เมื่อยิงปืนไฟนั้นละอองไปปลิวตกในถังดินปืน  ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นจนเรือแตก  พระยาท้ายน้ำและคนในเรือนั้นตายเกือบหมด  เหลืออยู่เพียง ๑๕ คนเท่านั้น  เรือหลวงสุนทรกับเรือหลวงกำแหงช่วยกันเก็บศพพระยาท้ายน้ำและพวกมาส่งขึ้นที่คลองปากลาวแขวงเมืองนคร  จัดให้คนคุมศพระยาท้ายน้ำเข้ากรุงเทพฯ”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  เรื่องการรบพม่าที่เกาะถลางหรือภูเก็ต  ตามความในพระราชพงศาวดารที่จับความมาบอกเล่าข้างต้นนี้  รู้สึกว่า  พม่าฝีมือไม่เก่งกล้าเท่าไหร่  แต่สติปัญญาในกลศึกลึกล้ำรอบคอบกว่าไทยนะครับ  ผลจะลงเอยอย่างไร  อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กันยายน, 2562, 10:01:40 PM
(https://i.ibb.co/jVkZF3W/Unt-itled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าปล้นเมืองถลางได้สำเร็จ -

พม่ากองกำลังมีสี่พันเศษ
ยกเข้าเขตไทยพลันขมันขมี
ปล้นถลางอย่างสบายได้ง่ายดี
ทัพไทยมีมากกว่าละล้าละลัง

เสียภูเก็ตแก่พม่าไม่น่าเสีย
เพราะไทยเรี่ยราดรบอย่างล้าหลัง
มัวโอ้เอ้เลินเล่อจนเผลอพลั้ง
เป็นละมั่งกวางทรายเหยื่อนายพราน

กำลังมากไร้ปัญญาเป็น“บ้าบิ่น”
เสียทรัพย์สินมากมายหลายสถาน
ผู้นำโง่ขลาดซ้ำไม่ชำนาญ
มีทหารมากยากรักษาเมือง

รบศึกแรก“รอสอง”ต้องพ่ายพม่า
ทหารกล้าไม่ฉลาดขาดรู้เรื่อง
เป็นบทเรียนให้พระองค์ทรงขัดเคือง
ขุนพลเชื่องช้าอยู่ดูอ่อนแอ


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒  ฉบับตัวเขียนของ  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  มาให้อ่านกัน  ถึงตอนที่พม่ายกมาตีเกาะถลาง  พระยาท้ายน้ำนำเรือรบจากเมืองตรังไปช่วย  ขณะยิงพม่าแตกกระจายนั้น  เกิดความปะมาทมิได้ปิดถังดินปืนในเรือ  ประกายไฟจากกระบอกปืนปลิวไปลงถังดินปืนจนเกิดระเบิดขึ้น  เรือแตก  พระยาท้ายน้ำตาย  นายทัพนายกองกระจัดกระจาย  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

          ความในพระราชพงศาวดารกล่าวต่อไปว่า  เมื่อจัดเรือให้พระยาท้ายน้ำยกไปเกาะถลางแล้ว  พระยายศโยธายกไปตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพังงา  หาได้ข้ามไปเกาะถลางไม่  แย้ฆองนายทัพของอเติงวุ่นพอรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพฯ ยกลงไปช่วยเกาะถลาง  จึงรีบเร่งระดมตีค่ายเมืองภูเก็ตจนแตก  แล้วสมทบกันตีค่ายเมืองถลาง  ตั้งล้อมเมืองอยู่ ๒๗ วัน  ก็ตีเมืองถลางแตกได้เมือง  แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองถลาง  เก็บทรัพย์สินต่าง ๆ ได้มากแล้วยกลงเรือกลับไป

          สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ นำทัพเสด็จถึงเมืองชุมพรก็สั่งให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) จัดทัพเข้าตีพม่าเมืองชุมพรแตกพ่ายไป  จับพม่าที่ตกค้างในเมืองชุมพรได้บ้าง  เมืองตะกั่วป่าบ้าง  เอาเข้ามากรุงบ้าง  ฆ่าเสียบ้าง  ครั้นสืบได้ความว่า  พม่าที่ยกไปตีเกาะถลางแตกแล้วเลิกทัพกลับไปหมดแล้ว  จึงให้พระยาจ่าแสนยากรอยู่รั้งเมืองชุมพร  แล้วยกทัพหลวงเสด็จกลับกรุงเทพมหานครโดยเรือพระที่นั่งทางชลมารค  ส่วนที่เหลือลงเรือไม่หมดก็ให้เดินกลับทางบก

          เมื่อมาถึงเมืองสมุทรปราการแล้วพักอยู่  บอกขึ้นมากราบังคมทูลตามพระราชกำหนดกองทัพกลับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีตราเชิญเสด็จขึ้นมา ณ กรุงเทพฯ  จึ่งเสด็จขึ้นมาเฝ้ากราบทูลข้อราชการสงครามให้ทรงทราบทุกประการ

          กล่าวทางฝ่ายเมืองนครพนม  เมื่อเดือนอ้าย  ปีนั้น  พระบรมราชาเจ้าเมือง  อุปฮาดชื่อท้าวไชย  เกิดวิวาทกันขึ้นด้วยบ่าวไพร่อุปฮาดไม่ยอมเป็นผู้น้อย  จึงพาสมัครพรรคพวกประมาณ ๒,๐๐๐ เศษมากรุงเทพมหานคร เข้าขอสวามิภักดิ์เมื่อเดือนยี่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาหงส์เมืองสมุทรปราการ  ครั้นทำบาญชีตรวจดูได้ชายฉกรรจ์ ๘๖๐ คน  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งท้าวอินพิสาร  บุตรผู้ใหญ่ของอุปฮาด  เป็นพระยาปลัดเมืองสมุทรปราการ เพื่อจะได้ดูแลไม่ให้กรมการไทยคุมเหงลาว

          ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยายมราช ใจความว่า  “พม่ามาตีเมืองถลางถึงสองกลับ  ถ้าทัพเจ้าพระยายมราช  เจ้าพระยานครศรีธรรมราช  รีบยกไปช่วยเมืองถลางให้ทันเวลาก็คงจะไม่เสียแก่ฆ่าศึก  ด้วยพม่าขัดสนเสบียงอาหารลงแล้ว  ก็บอกว่าตั้งต่อเรือรบอยู่ยังไม่แล้ว  จนพม่าข้าศึกเลิกทับกลับไปเรือรบจึ่งแล้ว  พม่าไปครั้งนี้แล้วมันจะกลับมาตีเมืองตรังเมืองนครศรีธรรมราชอีกดอกกระมัง  เมืองตรังเปนเมืองที่ไว้เรือรบเปนอันมาก  ให้เจ้าพระยายมราช  เจ้าพระยานครศรีธรรมราช  คิดอ่านจัดการรักษาบ้านเมืองไว้ให้จงดี  ถ้าการหนักแน่นมาประการใด  จะโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ  ยกพยุหทัพเรือไปช่วยอีก*”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  อเติงวุ่นแม่ทัพพม่าส่งเพียงนายทัพชื่อแย้ฆองนำพลเพียง ๔,๐๐๐ คน  ยกเป็นกองเรือเข้าตีเมืองถลาง  กองทัพจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพ  ร่วมด้วยกองทัพเมืองไชยยา  เมืองนครศรีธรรมราช  แม้พระราชพงศาวดารฯ มิได้บอกจำนวนกำลังพล  ก็พอจะประมาณได้ว่าไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ คน  ทางเมืองถลางแม้จะมีกำลังพลไม่มากนักแต่ชาวเมืองถลางก็สู้กับพม่าได้อย่างเข้มแข็ง  ถ้าเจ้าพระยายมราชไม่มัวโอ้เอ้กับการต่อเรือรบอยู่ที่เมืองตรัง  จนพม่าตีเมืองถลางแตกแล้ว  ก็คงไม่เสียเมืองถลางให้แก่แย้ฆอง  หรืออย่างน้อยถ้าพระยายศโธยาที่ยกไปตั้งอยู่ปากน้ำเมืองพังงานั้น  ยกข้ามไปภูเก็ตก็คงจะช่วยป้องกันเมืองไว้ได้  แต่ท่านกลับไม่ยกข้ามไป  นี่คือความไม่เอาใจใส่ในราชการสงครามของแม่ทัพนายกองในบังคับบัญชาของเจ้าพระยายมราช  ดูข้อความจากหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่มีไปถึงเจ้าพระยายมราช  ข้างต้นนั้นก็จะเห็นว่า  ทรง  “เหน็บแนม”  หรือ  “ตัดพ้อต่อว่า”  เจ้าพระยายมราชอย่างชัดเจน  นี่หากเป็นสมเด็พระเจ้าตากสินแล้ว  ไม่แคล้วที่เจ้าพระยายมราช  เจ้าพระยานคร  พระยายศโยธา  จะต้องถูกตัดศีรษะเสียบประจานเป็นแน่  หรือแม้หากเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เจ้าพระยายมราชกับพวกต้องถูกถอดยศปลดตำแหน่งอย่างแน่นอน  เรื่องกองทัพไทยปล่อยให้กองกำลังเล็ก ๆ ของพม่าปล้นเกาะถลางได้นี้  ควรถือได้ว่าเป็นความอัปยศของกองทัพไทยในอดีต

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43815#msg43815)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44142#msg44142)


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, กันยายน, 2562, 10:29:21 PM
(https://i.ibb.co/YbQPtf2/cambodia.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43963#msg43963)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44271#msg44271)                   .

- อุไทยราชากระด้างกระเดื่อง -

กลับกล่าวถึงกัมพูชาอีกคราหนึ่ง
เจ้าไม่ซึ้งคุณสยามยังเล่นแง่
กระด้างกระเดื่องไมตรีที่เริ่มแปร
เหมือนเด็กดื้องอแงเอาแต่ใจ


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาบอกเล่าถึงเรื่องราวการรบระหว่างพม่า-ไทยทางภาคใต้  ผลลงเอยที่พม่าแม้มีกำลังพลน้อยก็สามารถปล้นเมืองถลาง หรือภูเก็ตได้  เพราะแม่ทัพไทยอ่อนแอ  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเดิม  ได้กล่าวถึงเรื่องทางฝ่ายกัมพูชา  ซึ่งเจ้ากรุงกัมพูชาแสดงอาการกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้ากรุงสยามว่าดังต่อไปนี้

           “พระอุไทยราชาเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี  ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตแล้ว  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทน  ก็ไม่ยอมเข้ามาเยี่ยมพระบรมศพโดยเยี่ยงอย่างธรรมเนียม  เหตุที่บิดพลิ้วเสียก็ด้วยมีเหตุ ๓ ประการ  คือ  

           ตอนที่พระอุไทยราชาทูลขอนักองค์อีกลับไปกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิโปรดพระราชทานให้ ๑
           ทูลขอพระยาเดโช (เมง) ซึ่งมีความอริกันแล้วหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯก็ไม่ได้ ๑
           ทรงขัดเคืองเมื่อตอนที่เข้าเฝ้ากราบบังคมลาจะกลับออกไปกัมพูชา  โดยที่ยังมิได้รับสั่งให้หา  ผลีผลามเข้าไปจนถูกตำหนิ ๑

          เหตุทั้ง ๓ ประการนั้นทำให้ไม่ยอมเข้ามาถวายบังคมพระบรมศพและร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ใหม่  หากแต่ทรงให้นักองค์สงวน  พระองค์แก้ว กับพระยากลาโหม (เมือง)  พระยาจักรี (แบน)  เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแทนพระองค์  นักองค์สงวน  พระองค์แก้ว  เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๔ ข้างแรม  เข้าเฝ้าแล้วกราบทูลว่า  พระอุไยราชาไม่สบายจึงให้ตนมาแทน

          ครั้นนักองค์สงวน  พระองค์แก้ว  และพระยาเขมรเข้ามากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่า  กรุงกัมพูชาแต่ก่อนนี้เคยมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า พระมหาอุปโยราชฝ่ายหลัง  ตั้งขุนนางตามตำแหน่งสืบต่อมา  “แลพระองค์แก้วก็มีไวยเจริญมากอยู่แล้ว  องค์สงวน  องค์อิ่มอนุชาพระอุไทยราชาธิราชนั้น  เจริญชนมายุควรจะเปนกำลังราชการได้อยู่แล้ว  ครั้งนี้ควรจะให้อิศริยยศมีถานันดรศักดิ์ออกไปเสียทีเดียว”

          * ความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ตอนนี้มิได้บอกรายละเอียดว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนาพระองค์แก้ว  นักองค์สงวนทรงอิศริยยศอะไร  แต่ความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชามีระบุไว้ชัดเจนว่า

           “ ลุศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียโทศก (พ.ศ. ๒๓๕๓)  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  ได้โปรดเกล้าฯทรงสถาปนาให้นักพระองค์สงวนทรงพระนามเปนสมเด็จพระไชยเชษฐา   พระมหาอุปโยราช  นักพระองค์อิ่ม  ทรงพระนามเปนสมเด็จพระศรีไชยเชฐ  พระมหาอุปราช  กับได้ทรงทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องยศตามถานันดรศักดิ์ทั้ง ๒ พระองค์  เสร็จแล้วก็พากันกราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพฯ มายังบันทายเพ็ชร  พร้อมกับขุนนางข้าราชการที่ตามเสด็จนั้นทุกคนฯ

          ในครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังน่ากรุงเทพฯ  ได้โปรดเกล้าฯให้ออกญาเดโชเม็ง  กลับคืนมาอยู่เมืองเขมรตามเดิม พร้อมกับสมเด็จพระอนุชาทั้ง ๒  แต่เมื่อมาถึงทางแยกแล้วก็ทูลลาสมเด็จพระอนุชา  พระมหาอุปโยราช  แลพระมหาอุปราช เลยไปอยู่เมืองกำปงสวายทีเดียว  ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาทั้ง ๒  พร้อมด้วยขุนนางข้าราชการที่ตามเสด็จ  ได้มาถึงเมืองบันทายเพ็ชรในเดือน ๗ ปีมะเมียโทศกนั้น  สมเด็จพระอนุชาทั้ง ๒  พร้อมด้วยข้าราชการได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมบพิตรพระบาทผู้เปนเจ้า  กราบทูลแถลงข้อราชการให้ทรงทราบข้อความทุกประการแล้ว  สมเด็จพระอุชาทั้ง ๒ พระองค์  ก็กราบถวายบังคมลาออกมาประทับยังพระตำหนักเดิมของพระองค์  ส่วนข้าราชการต่างก็กราบถวายบังคมลาออกจากที่เฝ้าไปยังบ้านเรือนสถานที่แห่งตนฯ”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  สมเด็จพระอุทัยราชา  คือนักองค์จันทร์  ราชบุตรองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนารายณ์ราชา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๙  ภายหลังเสด็จมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  เมื่อจะกลับกัมพูชาก็  “ผลีผลาม”  เข้าเฝ้าถวายบังคมลาแบบถือวิสาสะ  โดยยังมิทันได้เบิกตัวเข้าเฝ้า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ  เป็นเหตุให้สมเด็จพระอุทัยราชาไม่พอใจ  เมื่อสวรรคตลงจึงไม่ยอมมากราบถวายบังคมพระบรมศพ  พฤติกรรมอันไร้มรรยาทของเขมรมิใช่แต่จะเพิ่งมีในสมัยนี้  แม้ในอดีตก็เคยมีมาแล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท มืองสุโขทัย
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, ตุลาคม, 2562, 11:08:50 PM
(https://i.ibb.co/CMd7gWH/K10000646-12.jpg) (https://imgbb.com/)

- ญวนขอเมืองบันทายมาศ -

กล่าวถึงญวน“ยาลององเชียงสือ”
เคยนับถือเคารพนอบนบไหว้
ครั้น“รอหนึ่ง”สวรรคตมิทันไร
“ยาลอง”ไม่เคารพนบบูชา

ทูลขอเมืองบันทายมาศปราศเคารพ
สยามพบเรื่องยากมากปัญหา
ยอมยกเมืองให้ญวนตามขอมา
ด้วยเห็นว่ายากจักรักษาเมือง


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้อ่าน  ถึงตอนที่นักองค์จันทร์  หรือ  พระอุทัยราชา  เจ้ากรุงกัมพูชาแข็งข้อกระด้างกระเดื่องต่อกรุงสยาม  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเดิมต่อไปซึ่งว่าด้วย  ยาลอง  หรือ  องเชียงสือ  เจ้าแผ่นดินเวียดนามทูลขอเมืองบันทายมาศครับ

          * “ปีจุลศักราช ๑๑๗๒  อันเป็นปีที่ ๒  แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  พระเจ้ากรุงเวียดนามแต่งทูตญวนเข้ามากรุงเทพมหานคร  มีราชทูต อุปทูต ตรีทูต เข้ามา ๒ สำรับ  สำรับหนึ่งกราบถวายบังคมพระบรมศพมีของสดัปกรณ์  น้ำตาลทราย ๕๐ หาบ  น้ำตาลปึก ๑๐ หาบ  น้ำตาลกรวด ๑๐ หาบ  ขี้ผึ้ง ๕ หาบ  แพรเกวียนขาว ๑๐๐ พับ  ผ้าขาวตังเกี๋ย ๑๐๐ พับ

          ทูตอีกสำรับหนึ่งเข้ามากราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติดำรงแผ่นดินใหม่  คุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทรงยินดี  กระลำพักหนัก ๒ ชั่ง  อบเชย ๓ ชั่ง  แพรเกวียนขาว ๑๐๐ พับ  แพรเลือดต่างสี ๒๐๐ พับ  แพรแถบบางต่างสี ๑๐๐ พับ  ผ้าขาวตังเกี๋ย ๑๐๐ พับ  และมีราชสาส์นอีกฉบับหนึ่ง

          ความในพระราชสาส์นนั้น  กล่าวโทษเจ้าเมืองบันทายมาศว่าเป็นคนไม่ดีหลายประการ  พระเจ้ากรุงเวียดนามจึงให้ขุนนางญวนมาว่าราชการรักษาเมืองอยู่  และอ้างว่าเมืองบันทายมาศหรือพไทมาดนี้แต่ก่อนเป็นเมืองขึ้นของญวน  บัดนี้พระเจ้ากรุงเวียดนามจะขอยกไปเป็นเมืองขึ้นของญวนเหมือนอย่างแต่ก่อน

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในพระราชสาส์นนั้นแล้ว  ทรงมีพระราชดำริในการทรงปรึกษาหารือกับพระราชวงศานุวงศ์และเสนาข้าราชการทั้งปวงเห็นว่า  “จะขัดขาวงไว้นั้นด้วยเป็นแผ่นดินใหม่  การจะไม่ตลอดไปได้  ญวนคงจะคิดรบกวนทำให้หมองหมางทางพระราชไมตรีไป  จึ่งยอมให้เมืองบันทายมาศ  เมืองบันทายมาศจึ่งตกไปเป็นของญวนตั้งแต่นั้นมา”

          ทูตญวนที่เข้ามาครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้รับรองแข็งแรงมากกว่าทูตญวนที่เข้ามากรุงเทพฯ ในครั้งก่อน ๆ  โดยรับสั่งให้จัดเรือเอกไชยไปรับพระราชสาส์นถึงเมืองสมุทรปราการ  มีเรือพิฆาต  เรือเหรา  เขียนรูปสัตว์ ๘ ลำ  เรือกันยารับทูตญวน ๘ ลำ  มีปี่พาทย์ฆ้องกลองแตรสังข์แห่ขึ้นมาจนถึงกงกวนที่รับทูตญวน  แล้วโปรดให้ทูตญวนเข้าเฝ้าทุกวัน  เหมือนขุนนางในกรุง  พระราชทานสำรับคาวหวานวันละ ๙ คู่  เลี้ยงรายวันทุกวัน  ทูตญวนพักอยู่จนเสร็จราชการ  ได้พระราชทานเงินตราเสื้อผ้าตามผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกราย  แล้วให้มีพระราชสาส์นตอบขอบพระทัย  และโปรดให้จัดของทรงยินดีออกไปด้วย  พลอยจันทบุรีขนาดใหญ่ ๑ ชั่ง  ขนาดเล็ก ๒ ชั่ง  แพรต่วนดำ ๒ ม้วน  แพรต่วนสีม่วง ๒ ม้วน  แพรกระบวรลายทอง ๑ ม้วน  ผ้าขาว ๓๐ พับ  จันทน์เทศ ๒ หาบ  เหล็กก้อน ๑๐๐ หาบ  เสื่ออ่อนสองชั้น ๕๐ ผืน  ทูตรับพระราชสาส์นและของทรงยินดีแล้วกราบถวายบังคมลากลับเมื่อ  วันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ  เดือน ๖  ในปีเดียวกันนั้น

          * ผู้อ่านคงยังจำได้นะครับว่า  ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเริ่มตั้งตัวกอบกู้ชาติไทยนั้น  ทรงยกทัพไปตีกัมพูชา โดยพระองค์ยกไปทางเรือแล้วเข้ายึดเมืองพุทไธมาศได้เป็นแห่งแรก  เมืองพุทไธมาศนั้นก็คือบันทายมาศที่ญวนขอ  ด้วยอ้างว่าเป็นของญวนมาแต่เดิมนี่เอง  ปัจจุบันเมืองนี้มีชื่อเรียกว่า  เมืองฮาเตียน  เขมรเรียกว่า  เมืองเปี่ยม  ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวญวน  นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  มีชาวเขมรกรอมเป็นประชากรส่วนน้อย  นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท  ในคราวที่องเชียงสือหนีออกจากกรุงเทพฯ และสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ จะตามจับตัวคืนมา  แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงห้ามไว้  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงขัดเคืองและตรัสว่า  องเชียงสือจะกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหลานไทย  นี่ก็เริ่มเห็นเค้าความเป็นจริงแล้ว  เมื่อสิ้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  องเชียงสือเริ่มขอเมืองบันทายมาศดังกล่าวแล้ว

          ความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวต่อไปว่า  สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ซึ่งยกทัพไปขับไล่พม่าที่เมืองชุมพรนั้น  เมื่อเสด็จกลับมากรุงเทพฯ แล้ว  “ทรงพระประชวรไข้พิศม์”  ทรงบนบานว่าถ้าหายจากพระอาการประชวรแล้วจะทรงบรรพชา  ก็ปรากฏว่าทรงหายจากอาการพระประชวรนั้น  จึงทรงบรรพชาประทับอยู่วัดมหาธาตุฯครบ ๗ วันแล้วก็ลาผนวช  การบวชแก้บนของกรมพระราชวังบวรฯ ครั้งนี้  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มิได้ให้รายละเอียดไว้  แต่ก็เข้าใจได้ว่า  ทรงบวชเป็นสามเณร  เพราะคำว่า  “บรรพชา”  หมายถึงการบวชเป็นสามเณร  ถ้าบวชเป็นพระภิกษุจะต้องใช้คำว่า  “อุปสมบท”

          ในปีมะเมีย  โทศกนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯใ ห้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี  เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  ให้ข้ามฟากไปประทับอยู่พระราชวังเดิม
          ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์  เป็นผู้สำเร็จราชการในกรมมหาดไทย
          ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์  สำเร็จราชการในกรมพระกลาโหม
          ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  สำเร็จราชการในกรมท่า

** ท่านผู้อ่านครับ  ไทยเริ่มสูญเสียดินแดนแล้วนะครับ  คือเสียเมืองบันทายมาศ  หรือเมืองเปี่ยม  ที่ญวนเรียกว่าเมืองฮาเตียน  แล้วขอคืนไป  สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพิจารณาแล้ว  เห็นว่ายากที่จะรักษาเมืองนี้ไว้ได้  จึงยอมยกให้แก่พระเจ้าเวียดนามไปตามที่ขอมา  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, ตุลาคม, 2562, 11:44:19 PM
(https://i.ibb.co/z47fMvv/Emperor-called-Jiaqing.jpg) (https://imgbb.com/)


- ทรง “จิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีน” -

ทรงส่งทูตนำสาส์นสมานมิตร
โดยสืบสิทธิ์ดีงามความต่อเนื่อง
ผูกไมตรีกรุงจีนถิ่นประเทือง
เรียกเป็นเรื่อง “จิ้มก้อง” คล้องสัมพันธ์


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทราบกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒  ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอสำเร็จราชการกรมต่าง ๆ  โดยทรงตั้งให้  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่ากรมท่า  เป็นต้น  วันนี้มาดูเรื่องในพระราชพงศาวดารฯฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          * “เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ในตอนที่นักองค์สงวน  นักองค์อิ่ม  เป็นตัวแทนพระอุทัยราชาเข้ามากราบถวายบังคมพระบรมศพในพระโกศนั้นว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริ  “ควรจะให้อิศริยยศมีถานันดรศักดิ์ออกไปเสียทีเดียว”  แต่มิได้ให้รายละเอียดว่า  ได้ทรงสถาปนาอย่างไร  มาให้รายละเอียดต่อจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอสำเร็จราชการแล้วว่า

           “แล้วโปรดเศกให้นักองค์สงวนเป็นมหาอุปโยราชฝ่ายหลัง  พระราชทานสุพรรณบัตรจารึกพระนามว่า  พระไชยเจษฎาราชามหาอุปโยราชฝ่ายหลัง
          เศกให้องค์อิ่มเป็นที่พระศรีไชยเชษฐราชา  พระมหาอุปราชฝ่ายหน้า  เพราะเขมรนับถือมหาอุปโยราชฝ่ายหลังเป็นใหญ่กว่ามหาอุปราชา”

          ได้พระราชทานกลดหนึ่ง  มาลาเส้าสเทินหนึ่ง  ฉลองพระองค์ทรงประพาสหนึ่ง  พานหมากเสวยทองคำหนึ่ง  เต้าน้ำทองคำหนึ่ง  พานรองเต้าน้ำทองคำหนึ่ง  บ้วนพระโอฐทองคำหนึ่ง  แก่องค์สงวนผู้เป็นพระไชยเจษฎามหาอุปโยราช  แต่องค์อิ่มผู้เป็นพระศรีไชเชษฐราชามหาอุปราชนั้นมิได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ก็ไม่ทรงถือโทษ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเครื่องอิสริยยศเหมือนอย่างองค์สงวน  โดยมอบให้พระองค์แก้วเชิญไปพระราชทานองค์อิ่ม

          เมื่อองค์สงวนและคณะกราบบังคมลากลับเขมร  ก็โปรดให้พระยาเดโชเม็งกลับออกไปเขมรด้วย  พร้อมกันนั้นก็โปรดให้แต่งศุภอักษรเกณฑ์กองทัพเมืองเขมรให้เข้ามาช่วยราชการรักษาพระนคร  เพราะว่าทรงมีความกริ่งเกรงพม่าจะถือโอกาสยามที่ผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่  แล้วจะยกทัพใหญ่มารุกรานไทย  ด้วยมีตัวอย่างที่อเติงวุ่นยกมาตีเมืองชุมพรและเกาะถลางไปครั้งหนึ่งแล้ว

          พระอุปโยราชและมหาอุปราชใหม่ของกัมพูชาเมื่อได้รับการสถาปนาแล้ว  ก็กราบถวายบังคมลาออกไป  ถึงเมืองพระตะบอง  พระยาเดโชเม็งก็ทูลลาพระอุปโยราชและมหาอุปราชไปอยู่เมืองกำพงสวาย  พระมหาอุปโยราชและคณะเดินทางไปถึงเมืองบันทายเพชรเมื่อเดือน ๗ ปีมะเมีย โทศก ศักราช ๑๑๗๒ (พ.ศ.๒๓๕๓) เข้าเฝ้าสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช  พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงทราบว่า  พระเจ้ากรุงสยามทรงสถาปนาพระอนุชาทั้งสองให้มีพระอิสริยยศเป็นฝ่ายหน้าฝ่ายหลังแล้ว  ก็ทรงขัดเคืองในใจ  เมื่อได้ทราบความในศุภอักษรแล้วก็นิ่งเสีย  ไม่ทรงกะเกณฑ์กองทัพให้เข้ามาช่วยราชการ ณ กรุงเทพมหานคร

          ครั้นสถาปนามหาอุปโยราชและมหาอุปราชกรุงกัมพูชา  ซึ่งทั้งสองท่านนั้นได้กราบถวายบังคมลากลับบ้านเมืองตนแล้ว  ถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้แต่งทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ณ ปักกิ่ง  คำในพระราชสาส์นนั้นมีว่า  “พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาปราบดาภิเษกใหม่คิดถึงทางพระราชไมตรีสมเด็จพระเจ้าเกียเข้งผู้ใหญ่  ซึ่งมีมาแต่ในกาลก่อน  จึ่งแต่งทูตานุทูตจำทูลพระสุพรรณบัตรพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการ  ยกช้างออกเสีย  สิ่งของตามอย่างธรรมเนียมออกมาจิ้มกองเชิญหองสมเด็จพระเจ้าเกียเข้งตามโบราณราชประเพณีสมเด็จมหากระษัตราธิราชเจ้าสืบมาแต่ก่อน  ถ้าแลราชทูตอุปทูตตรีทูตข้าหลวงมีชื่อมาถึงเมื่อใด  ขอให้ได้เฝ้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าเกียเข้งผู้ใหญ่โดยสวัสดิมงคล  ได้ประทับตราโลโตออกมา  จะเหลือเกินประการใดขอได้ทรงพระเมตตาด้วย”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  คำว่า  “จิ้มก้อง”  แปลว่า  “เจริญทางพระราชไมตรีบรรณาการ”  ดูจะเป็นธรรมเนียมประเพณีที่พระเจ้ากรุงสยามหลาย ๆ พระองค์  ที่เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว  มักจะส่งราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน  ในสมัยกรุงธนบุรีเรียกกิริยานี้ว่า  “จิ้มกอง”  ที่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า  การจิ้มก้องเสมือนเป็นการแสดงความอ่อนน้อมขออยู่ใต้อำนาจ  อันที่จริงก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น  ด้วยเจตนาอันแท้จริงแล้วก็คือการผูกมิตรกับประเทศชาติต่าง ๆ ตามที่เห็นสมควร  หาได้คิดฝากตัวเป็นเสมือนบริวารของประเทศชาตินั้นไม่

          สถานการณ์ไทย-พม่าในช่วงต้นรัชกาลที่ ๒  ดูจะยังไม่มีอะไรรุนแรงนัก  แต่สถานการณ์ทางกัมพูชา-ญวนกับไทยดูท่าจะเกิดความยุ่งยากขึ้นแล้ว  เริ่มที่เมืองพุทไธมาศ  หรือเมืองบันทายมาศ  ที่ไทยได้มาแต่ต้นสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น  ไทยต้องยอมยกให้ญวนตามคำขอขององเชียงสือ  และเมืองนี้ก็คงอยู่ในปกครองของญวนในนามเมือง  “ฮาเตียน”  ต่อมาจนถึงปัจจุบัน  ถือได้ว่า  เป็นดินแดนแห่งแรกที่ไทยได้มาแต่ครั้งกรุงธนบุรี  แล้วต้องเสียไปในตอนต้นรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          เหตุการณ์ทางกัมพูชานั้น  ไม่น่าจะมีปัญหา  เพราะว่าไทยโอบอุ้มอุปการะเชื้อพระวงศ์กัมพูชามาแต่สมัยกรุงธนบุรี  โดยในปี พ.ศ. ๒๓๐๑  เกิดความวุ่นวายขึ้นในกัมพูชาด้วยการแย่งชิงความเป็นใหญ่จนเกิดการฆ่าฟันกันตาย  กรุงสยามได้รับอุปการะโอรส-ธิดาสมเด็จพระนารายณ์ราชาเจ้า  โดยโอรสนามว่าพระองค์เองนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรมจนเจริญพระชนม์ ๒๒ พรรษา  ทรงจัดการอุปสมบทให้แล้ว  ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ  แล้วส่งไปเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร  เมื่อสิ้นสมเด็จพระนารายณ์ราชาแล้ว  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนานักองค์จันทร์โอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาแทนในพระนาม  สมเด็จพระอุทัยราชา  แต่ดูเหมือนนักองค์จันทร์จะมิได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  สยามกับกัมพูชาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒  จึงมีปัญหาบาดหมางกัน  ดังเรื่องที่จะกล่าวต่อไป

          พรุ่งนี้มาอ่านความกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, ตุลาคม, 2562, 09:30:08 AM
(https://i.ibb.co/1XrWvJz/2772241.jpg) (https://imgbb.com/)

- เขมรตีตัวออกห่างไทย -

พระอุไทยราชามารยานัก
เมื่อแปรพักตร์สร้างเรื่องราวปลุกปั่น
ขอกำลังยาลองช่วยป้องกัน
อ้างว่าหวั่นเกรุงสยามคุกคามตน


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒  ทรงส่งคณะราชทูตไปเจริญพระราชไมตรี (จิ้มก้อง) พระเจ้ากรุงจีน  แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

          * กล่าวถึงเรื่องราวทางกัมพูชา  ต่อจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งราชทูตเดินทางไปจิ้มก้องทางเมืองจีนแล้ว  สมเด็จพระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน)  พระยาจักรี  พระยากลาโหม  และพระยาสังขโลกย์ (สวรรคโลก)  เห็นสมเด็จพระอุทัยราชารับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงสยามให้เกณฑ์กองทัพไปช่วยรักษาพระนครแล้วเพิกเฉยเสีย  ก็กลัวจะมีความผิด  จึงปรึกษากันแล้วเกณฑ์คนจะยกเข้ากรุงเทพมหานครตามศุภอักษร  สมเด็จพระอุทัยราชาทรงทราบดังนั้นก็เสียพระทัย  จึงสั่งให้พระยาแสนทองฟ้า  พระยาราชอาญา  นำกำลังเข้าจับกุมพระยาจักรี (แบน)  พระยากลาโหม (เมือง)  ฆ่าเสียเมื่อวันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๗๒  พระยาสังขโลกย์ (สวรรคโลก) กับไพร่ ๒๓ คน  หนีเข้ามากรุงเทพมหานครได้

          จากนั้นสมเด็จพระอุทัยราชามีหนังสือบอกกล่าวโทษพระยาจักรี  พระยากลาโหม  ไปถึงองต๋ากุนเมืองไซ่ง่อนว่า  “พระยาจักรี  พระยากลาโหม  ยุให้พี่น้องวิวาทกันขึ้น  ทำให้เมืองเขมรเป็นสองแผ่นดินออกไป  แล้วกะเกณฑ์ผู้คนตามอำเภอใจตน  จึงได้ฆ่าเสีย  จะขอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงเวียดนามเป็นที่พำนัก”

          พร้อมกันนั้นก็มีศุภอักษรตอบเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร  ว่า  “ได้กะเกณฑ์กองทัพจะยกเข้ามาตามศุภอักษรแล้ว  พอพระยาจักรี  พระยากลาโหม  พระยาสังขโลกย์ (สวรรคโลก) เป็นขบถขึ้น  จึ่งให้งดกองทัพไว้”  เพื่อให้หนังสือฉบับดังกล่าวของตนมีน้ำหนักมากขึ้น  จึงให้สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะและพระองค์แก้วมีหนังสือบอกเข้ามาเป็นพยานอีกฉบับหนึ่งว่า  พระยาจักรี  พระยากลาโหม  พระยาสังขโลกย์ (สวรรคโลก)  คบคิดกันเป็นขบถจึงได้จับฆ่าเสีย  แต่พระยาสังขโลกย์ (สวรรคโลก) นั้นหนีเข้ามา ณ กรุงเทพมหานครแล้ว

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงทราบหนังสือบอกจากสมเด็จพระอุทัยราชาและเจ้าฟ้าทะละหะ พระองค์แก้วแล้ว  มีพระราชดำริว่า  “ครั้นจะไม่ทำโทษพระยาสังขโลกย์ (สวรรคโลก) เล่า  เขาก็จะว่าเข้าด้วยคนผิด  จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จำพระยาสังขโลกย์ไว้”  ฝ่ายพระยาเดโช เม็ง  เมื่อรู้ข่าวว่า สมเด็จพระอุทัยราชาฆ่าพระยาจักรี พระยากลาโหมเสีย  ด้วยหาความผิดมิได้  ก็เกรงภัยจะมาถึงตน  จึงอพยพครอบครัวหนีเข้ากรุงเทพมหานคร

          องต๋ากุนแห่งเวียดนามได้รับหนังสือบอกของสมเด็จพระอุทัยราชาแล้ว  จึงให้กิมเติงตรันคุมไพร่พล ๑,๐๐๐ คนมาตั้งอยู่เกาะจีน   กิมเติงตรันจึงได้มีหนังสือบอกถึงพระยาอภัยภูเบศร์ (รศ)  บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ถึงแก่อนิจกรรม   พระยาอภัยภูเบศร (รศ)  จึงมีหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร  ในขณะนั้นสมเด็จพระอุทัยราชาก็เกณฑ์พระยาเขมรคุมทัพไปตั้งรักษาอยู่ที่ด่านทุกตำบล  

          กิมเติงตรันทราบดังนั้นก็คิดว่าไม่มีราชการสิ่งใดแล้ว  เมื่อถึงเดือนยี่ข้างแรมก็ยกกองทัพกลับคืนไปยังเมืองไซ่ง่อน  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทราบหนังสือบอกจากพระยาอภัยภูเบศร  ทรงพระราชดำริแล้วโปรดให้พระยาพิชัยรณฤทธิ์  พระยาราชรองเมือง  หรือพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง  หลวงสุเรนทรวิชิต  คุมไพร่พลจำนวนหนึ่งถือหนังสือออกไป  เพื่อจะได้เจรจากันกับกิมเติงตรัน  เมื่อออกไปถึงเมืองพระตะบองก็ทราบว่า  กิมเติงตรันกลับไปไซ่ง่อนแล้ว  จึงยั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง

          ในเรื่องเดียวกันนี้  ความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวว่า  “ครั้นอยู่ต่อมาออกญากระลาโหม เมือง  กับออกญาจักรี แกบ  คิดดคทรยศ  เป็นขบถต่อสมเด็จพระบาทผู้เป็นเจ้าผู้ทรงราช ๆ จึงตรัสให้ลงพระราชอาญา  ประหารชีวิตออกญาทั้ง ๒ ซึ่งคิดมิชอบนั้นเสีย เมื่อ ณ วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมเมียโทศกนั้น   ออกญาเม็งเมื่อได้ข่าวว่าสมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์  ได้ลงพระราชอาญาให้ประหารชีวิตออกญากระลาโหม เมือง  กับออกญาจักรี แกบ  เสียดังนั้น  ก็ครั่นคร้าม  มีความมลทินในใจ  จึงจัดการเกณฑ์ไพร่พลมาตั้งเปนกระบวนทัพอยู่ที่เมืองกำปงสวาย

          ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (คนใหม่) ซึ่งอยู่รักษาเมืองพระตะบองนั้น  ก็จัดการกะเกณฑ์ไพร่พลแลก่อกำแพงทำค่ายคูประตูหอรบอย่างแขงแรงแน่นหนาอยู่ ฯ   ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์อยู่ที่บันทายเพ็ชรนั้น  ทรงใช้ให้ออกญามหามนตรี เภา  กับออกญามหาธิราช มาศ  ไปที่เมืองเว้  ทูลพระเจ้าเวียดนามเจ้าเมืองญวน  ขอให้ยกกำลังมาช่วย  แล้วทรงตั้งให้ออกญาวงษาอรรคราช ตี  ซึ่งรับราชการในตำแหน่งออกยาจักรีนั้นเป็นออกญาเดโช  แล้วทรงโปรดให้เปนแม่ทัพยกไพร่พลไปราบปรามออกญาเดโช เม็ง  ซึ่งตั้งแขงเมืองอยู่ที่กำปงสวายฯ   ฝ่ายออกญาเดโช เม็ง  เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพหลวงยกมาดังนั้นก็ไม่อาจจะอยู่ต่อสู้รบ  หนีออกจากเมืองกำปงสวายไปอยู่เสียที่เมืองไทย

          ลุถึงข้างขึ้นเดือนอ้าย ปีมะเมีย โทศก ๑๑๗๒ (พ.ศ. ๒๓๕๓)  พระเจ้าเวียดนามเจ้าเมืองญวน  ตรัสใช้ให้องสลกกับองผอเส็ง ยกไพร่พล ๑,๐๐๐  กับเรือรบชนิดแง่โอ  แง่สาย  แง่ลาย  ขึ้นมาตั้งทัพอยู่ที่เกาะจีนฯ

          ลุถึงข้างแรมเดือนอ้ายปีมเมียโทศก ๑๑๗๒ (พ.ศ. ๒๓๕๓)  เจ้าเวียดนามเจ้าเมืองญวนตรัสใช้ให้องติญดายกไพร่พล ๑๐,๐๐๐  กับเรือรบชนิดแง่โอ  แง่สาย  แง่ลาย  ขึ้นมาตั้งทัพเพิ่มเติมอยู่ที่เกาะจีนอีกฯ

          ลุถึงข้างขึ้นเดือนยี่ปีมเมียโทศก ๑๑๗๒ (พ.ศ.๒๓๕๓) องลิวกิญ  ซึ่งเปนใหญ่อยู่ที่เมืองไซ่ง่อน  กับองทุนกูน  ได้ยกไพร่พลกับเรือรบชนิดต่าง ๆ เปนอันมาก  มาตั้งทัพอยู่ตั้งแต่ตำบลคลองมีลาภ (เปรกเมียนเลียบ) จนตลอดมาถึงเกาะจีนฯ  ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ตรัสใช้ให้พระยาสีหราชรองเมือง ๑   พระยาอภัยรณฤทธิ์ ๑   กับพระยาปลัดเมืองนครราชสิมา ๑   รวม ๓ นาย  ให้ยกไพร่พลเปนอันมากมาตั้งทัพอยู่ที่เมืองพระตะบองฯ

          * * รายละเอียดในเรื่องเดียวกันของพระราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา  กับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒  ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ไม่เหมือนกัน  แต่โดยพลความแล้วเหมือนกัน  กล่าวคือ  สมเด็จพระอุทัยราชากระด้างกระเดื่องต่อราชวงศ์จักรีที่อุปถัมภ์บำรุงราชวงศ์กัมพูชามาแต่ต้น  แล้วหันไปยึดถือเวียดนามเป็นที่พักพิง  ตั้งป้อมจะทำสงครามกับกรุงสยาม  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ติดตามอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, ตุลาคม, 2562, 10:11:59 PM
(https://i.ibb.co/qJLMYbz/cambodia-angkor-temple-stone-face-bayon.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระอุไทยราชาทรงผนวช -

ภิกษุไทยไปประจำอยู่กัมพุช
บริสุทธิ์ศีลวัตรมิขัดสน
ได้รับการยกย่องเหนือผองชน
เป็นสกลสังฆราชตามศรัทธา

พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงผนวช
สามองค์รวดรวมญาติศาสนา
พระสังฆราชอาจารย์ท่านบิดา
ทรงเมตตาพำนักเป็นหลักชัย

          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่สมเด็จพระอุทัยราชาฆ่าพระยาจักรี กับพระยากระลาโหม  เพราะทั้งสองพระยานั้นกะเกณฑ์กำลังพลจะมารักษาพระนครตามศุภสาส์นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เมื่อได้ฆ่าสองพระยานั้นแล้วก็มีหนังสือกล่าวโทษเข้ามายังกรุงเทพฯ  พร้อมกับมีหนังสือไปขอกำลังญวนมาช่วย  วันนี้มาดูความในพระราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาที่ให้รายละเอียดเรื่องนี้ไว้ยึดยาวทีเดียวครับ

          * “พงศาวดารกัมพูชากล่าวว่า  ในขณะญวนยกมาตั้งที่ตำบลคลองมีลาภ  รายลงมาถึงเกาะจีนนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ให้พระยาสีหราชรองเมืองเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลยกไปตั้งทัพที่เมืองพระตะบอง  ฝ่ายสมเด็จพระอุทัยราชาแห่งกัมพูชา ก็จัดส่งกำลังจากบันทายเพชรออกไปรักษาด่านทางต่าง ๆ เพื่อป้องกันบ้านเมืองคือ

          ๑. ให้ออกญาเดโช  เป็นแม่กอง  กับไพร่พล  ยกไปตั้งรักษาด่านทางที่ตำบลเปี่ยมประลายมาศ
          ๒. ให้ออกญาเสนานุชิต  เป็นแม่กอง  กับไพร่พล  ยกไปตั้งรักษาด่านทางที่ตำบลเปี่ยมแสน
          ๓. ให้ออกญาบวรนายก สัวะซ์  เป็นแม่กอง  กับไพร่พล  ยกไปตั้งรักษาด่านทางที่ตำบลกำปงฉนัง
          ๔. ให้ออกญาเทพวรชุน เหียบ  เป็นแม่กอง  กับไพร่พล  ยกไปตั้งรักษาด่านทางที่ตำบลแม่น้ำปักกันเตล

รวมทั้ง ๔ กองนี้ให้ระวังรักษาเหตุการณ์เพื่อป้องกันบ้านเมืองโดยกวดขันฯ”

          * ความตรงนี้พ้องกันกับพระราชพงศาวดารของไทยคือ  กองทัพญวนที่มาตั้งอยู่ ณ เกาะจีนนั้น  เห็นว่าบ้านเมืองสงบปราศจากการรบราฆ่าฟันกัน  กองทัพญวนจึงอำลาสมเด็จพระอุทัยราชากลับคืนไปยังไซ่ง่อน  โดยกองทัพไทยกับญวนก็มิได้ปะทะหรือเจรจาความเมืองใด ๆ ต่อกัน  เมื่อกองทัพญวนยกกลับไปแล้ว  ความในราชพงษาวดารกัมพูชาได้กล่าวถึงพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่ง  ที่เข้ามามีบทบาทในรัชกาลสมเด็จพระอุทัยราชา  ดังความต่อไปนี้

           “ครั้นถึงข้างขึ้นเดือน ๓ ในปีมเมียโทศกนั้น  พระสังฆราชพระธรรมวิปัสนา  นิมนต์มาจากนครวัด  มาถวายพระพรเยี่ยมเยียนสมเด็จพระอุไทยราชา  พระอุไทยราชาทรงพระโสมนัศนับถือรับรองเป็นอันดี  ด้วยพระสังฆราชพระธรรมวิปัสนาองค์นี้  เคยเป็นพระราชครูในสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์  เมื่อครั้งทรงพระผนวชอยู่ที่วัดสมอราย ณ กรุงเทพฯ นั้น  ได้สั่งสอนพระกรรมฐานแลพระธรรมทั้งหลายถวายแด่พระราชบิดา  เหตุดังนั้นพระบาทผู้เป็นเจ้าพร้อมด้วยพระราชมารดาแลพระวงศานุวงศ์  จึงมีความเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก  ได้นิมนต์พระสังฆราชพระธรรมวิปัสนา ไปบำเพ็ญพระราชกุศลบนเขาพระราชทรัพย์  เสร็จแล้วพระบาทผู้เป็นเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาทั้ง ๓ พระองค์ได้ทรงพระผนวช ในสำนักพระสังฆราชพระธรรมวิปัสนาเป็นประธาน  แลได้ทรงศึกษาพระธรรมกรรมฐานจากพระสังฆราชพระธรรมวิปัสนา ด้วยฯ”

          * * สมเด็จพระสังฆราชพระธรรมวิปัสสนา  นัยว่าเป็นคนไทยบวชอยู่ประจำ ณ วัดสมอราย (ราชาธิวาส) กรุงเทพฯ  ไม่ปรากฏนามสมณะศักดิ์นี้ในทำเนียบพระสมณะศักดิ์สงฆ์ไทยในขณะอยู่ที่วัดสมอราย  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงชุบเลี้ยงนักองค์เอง  โอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชาเป็นบุตรบุญธรรม  และเมื่อมีพระชนม์ได้ ๒๒ พรรษาทรงจัดการอุปสมบทให้พำนักอยู่วัดสมอราย  เห็นทีว่า  พระธรรมวิปัสสนาคงจะเป็นพระพี่เลี้ยงให้การอบรมสั่งสอนอยู่ตลอดพรรษา  ต่อเมื่อนักองค์เองได้เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาแล้ว  จึงยกย่องเชิดชูพระอาจารย์แห่งตน  โดยอาราธนาให้ไปอยู่กัมพูชา  แล้วสถาปนาขึ้นเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช  พำนักอยู่ที่นครวัด  ตกมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระอุทัยราชาท่านก็ได้รับการเคารพนับถือจากราชวงศ์กัมพูชายิ่งขึ้น  พระธรรมวิปัสสนาสังฆราชจากนครวัดมาอยู่บันทายเพชรระยะหนึ่งแล้วถวายพระพรลาไปพำนักอยู่ ณ ยอดเขาสันธุก  เพื่อจะสร้างพระพุทธบาทศิลาที่นั้น  สมเด็จพระอุทัยราชาจึงตรัสใช้ให้ออกญาพระคลัง นวง   ออกญาศรีธิเบศร์ราชาไชย   ออกญาอธิกรวงษา อง   เจ้าพระยาราชศึก แก้ว   รวม ๔ นาย  ไปส่งพระธรรมวิปัสสนา เพื่อสร้างรอยพระพุทธบาทศิลา ณ ยอดเขาสันธุก  ตามประสงค์ของท่าน

          พรุ่งนี้มาดูความในราชพงษาวดารกัมพูชากันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, ตุลาคม, 2562, 10:25:29 PM
(https://i.ibb.co/MgffGVh/banan4.jpg) (https://imgbb.com/)

- กำเนิดเขมรโพธิสัตว์ -

อยู่มินานมากนัก “นักองสงวน”
คิดทบทวนพฤติกรรมองค์พี่ใหญ่
หันหาญวนเป็นหลักตีจากไทย
ตัดสินใจแยกตัวไม่พัวพัน

ไปประทับเมืองดี “โพธิส้ตว์”
ครองสมบัติส่วนหนึ่งปักตรึงมั่น
พระอุไทยราชาเชษฐานั้น
ต้องรีบหันหาญวนให้คุ้มครอง


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่  พระธรรมวิปัสสนาสังฆราชจากนครวัดมาอยู่บันทายเพชรระยะหนึ่ง  แล้วถวายพระพรลาไปพำนักอยู่ ณ ยอดเขาสันธุกเพื่อจะสร้างพระพุทธบาทศิลาที่นั้น  สมเด็จพระอุทัยราชาจึงตรัสใช้ให้ออกญาพระคลัง นวง   ออกญาศรีธิเบศร์ราชาไชย   ออกญาอธิกรวงษา อง   เจ้าพระยาราชศึก แก้ว  รวม ๔ นาย  ไปส่งพระธรรมวิปัสสนา  เพื่อสร้างรอยพระพุทธบาทศิลา ณ ยอดเขาสันธุก  ตามประสงค์ของท่าน วันนี้มามาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

          * " ถึงเดือน ๗ ปีมะแม ตรีศก ๑๑๗๓ (พ.ศ.๒๓๕๔)  พระสังฆราชพระธรรมวิปัสสนาซึ่งไปสร้างพระพุทธบาทบนยอดเขาสันธุกนั้นก็สร้างเสร็จ  ลงรักปิดทองเรียบร้อยแล้วกลับเข้ามาบันทายเพชร  เข้าถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอุทัยราชา  สมเด็จพระอุทัยราชาตรัสสั่งให้สร้างกุฎีและศาลาถวายพระสังฆราชและพระภิกษุสงฆ์บริวาร  ให้จำพรรษาอยู่ข้างเขาพระราชทรัพย์  สมเด็จพระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน)  ทรงพระผนวชจำพรรษาอยู่กับพระสังฆราช พระธรรมวิปัสสนา  ส่วนนักองค์ด้วงพระอนุชาองค์เล็กนั้น  ได้ไปทรงพระผนวชประทับอยู่กับพระมหาพรหมมุนี นอง ณ วัดจัตุรทิศ

          ในเดือน ๑๑ ปีเดียวกันนั้น  เกิดมีคนแต่งตนเป็นนักบุญ  ตั้งชื่อตัวเองว่า  ศิลป์ไชย  ตั้งสำนักอยู่เขากระโจล  สมเด็จพระอุทัยราชาทรงทราบพฤติกรรมของนักบุญผู้นี้แล้วจึงตรัสใช้ให้ออกญายมราช คง  กับนายทัพนายกองยกไปปราบปราม จับได้ตัวศิลป์ไชยแล้วก็ให้ฆ่าเสียในทันที

          ครั้นถึงวันออกพรรษา  สมเด็จพระอุทัยราชาได้นิมนต์พระมหาสังฆราช นวง ๑   พระสังฆราช บวรสัตถา เรือง ๑   สมเด็จ หิ่ง ๑   และตรัสให้ออกญาพระเสด็จ คำ ๑   ออกญาพระคลัง นวง ๑   ไปประชุมพร้อมกันกับพระสงฆ์ราชาคณะ ณ เขาพระวิหารบนเขาพระราชทรัพย์ แปลคัมภีร์พระวินัยไตรปิฎก  ถวายพระสังฆราชพระธรรมวิปัสสนา  จากนั้นพระสังฆราชก็ได้ถวายพระพรลาไปสร้างพระวิหารที่พระพุทธบาทบนเขาสันธุก

          ปีจุลศักราช ๑๑๗๓ (พ.ศ.๒๓๕๔)  สมเด็จพระมหาอุปโยราช (นักองสงวน) เสด็จทรงหลีกพระองค์ออกจากบันทายเพชรไปในเวลากลางคืน  วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓  โดยมีออกญาสวรรคโลกเจ้าเมืองโพธิสัตว์  กับออกญาเบ็ง  ออกญามาศ  ออกญานพ  และราษฎรเมืองโพธิสัตว์มารับ  แห่เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์  สมเด็จพระอุทัยราชาจึงได้นิมนต์พระมหาสังฆราช และพระราชาคณะให้ติดตามไปเชิญสมเด็จพระมหาอุปโยราช  ขอให้เสด็จกลับคืนมาบันทายเพชร  สมเด็จพระมหาอุปโยราชก็หาทรงยอมเสด็จกลับคืนไม่

          ต่อมาสมเด็จพระอุทัยราชาได้ตรัสใช้ให้ ออกญาสวรรคโลก มก  ออกญาธิราชวงษา แก้ว  ออกญาราชอิศวร เทียน  เจ้าพระยามนตรีอนุชิต  รวม ๔ นาย  ไปทูลเชิญสมเด็จพระมหาอุปโยราชให้เสด็จกลับคืนพระนคร  ก็หายอมรับที่จะเสด็จกลับคืนไม่  ซ้ำยังกักตัวขุนนางทั้ง ๔ นายนั้นให้อยู่ที่เมืองโพธิสัตว์เสียด้วย  เมื่อเป็นดังนั้น สมเด็จพระอุทัยราชาจึงใช้ให้ออกญาบวรราชไปทูลพระเจ้าเวียดนาม เจ้าเมืองญวน  ขอกำลังจากญวนมาช่วยรักษาพระองค์  เจ้าเมืองญวนจึงให้องเดืองเผ็ญนำพลญวน ๕,๐๐๐  กับเรือรบชนิดแง่โอ  แง่สาย  แง่ลาย  มาจอดอยู่ที่เกาะจีน  เพื่อรักษาองค์สมเด็จพระอุทัยราชา

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ กรุงเทพมหานคร  โปรดเกล้าฯ ให้ออกญายมราช ควน  ออกมาช่วยทำงานปลงพระศพสมเด็จพระองค์แก้ว (ด้วง) ผู้ประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนม์ ๘๒ ปี  เมื่อเดือน ๑ ปี มะแม จุลศักราช ๑๑๗๓ (พ.ศ. ๒๓๕๔)  ออกญายมราช ควน ครั้นมาถึงเมืองโพธิสัตว์แล้วก็ได้พบกับสมเด็จพระอุปโยราช แต่ไม่มีรายงานว่าได้ปรึกษาข้อราชการในเรื่องใดบ้าง

          หลังจากนั้น  สมเด็จพระมหาอุปโยราชได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระอุทัยราชา  ขอหัวเมืองไปขึ้นกับพระองค์  คือ  เมืองกรอกัว ๑   เมืองกรวง ๑   เมืองขลุง ๑   รวม ๓ เมือง  ขอให้อยู่ในปกครองของสมเด็จพระมหาอุปโยราชต่อไป

          * * ท่านผู้อ่านครับ  นักองค์สงวนหรือสมเด็จพระมหาอุปโยราช  พระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันกับสมเด็จพระอุทัยราชา  ไม่พอพระทัยที่พระเชษฐาธิราชไม่เกณฑ์กองทัพไปช่วยรักษาพระนครตามศุภอักษรสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และยังหันไปอิงอาศัยญวนอีกด้วย  จึงได้ปลีกตัวออกไปตั้งตนเป็นอิสระอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์  ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในบริเวณตอนใต้ของเมืองพระตะบอง  คำว่า  “เขมรโพธิสัตว์”  เห็นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สมเด็จพระอุปโยราช (นักองค์สงวน) เสด็จมาประทับตั้งตนเป็นอิสระจากกัมพูชานี่เอง

          ในเวลานั้นเห็นจะเป็นการแบ่งแยกเขมรออกเป็น ๒ ฝ่าย  คือ  เขมรกัมพูชากับเขมรโพธิสัตว์  สมเด็จพระอุทัยราชาไม่กล้าที่จะทำอะไรรุนแรงกับสมเด็จพระอุปโยราช  จึงทรงตรัสสั่งให้เสนาบดีไปทูลเชิญให้พระอนุชากลับกรุงกัมพูชา  เพื่อแสดงภาพความกลมเกลียวกันในพระราชวงศ์  แต่สมเด็จพระอุปโยราชก็ไม่ยอมกลับ  แม้จะให้พระสังฆราชพระราชาคณะไปเชิญให้กลับก็ไม่ยอมกลับ  และยังได้มีหนังสือทูลสมเด็จพระอุทัยราชาขอหัวเมืองเข้าไว้ในปกครองของพระองค์อีก ๓ เมืองด้วย

          ดังนั้น  สมเด็จพระอุทัยราชาคงเห็นท่าจะไม่ปลอดภัย  ด้วยเกรงว่าสมเด็จพระอุปโยราชจะไปเข้ากับกรุงสยามแล้วขอกำลังจากกรุงเทพมหานครเข้ายึดกรุงกัมพูชา  จึงมีหนังสือไปขอให้พระเจ้าเวียดนามยกกองทัพลงมาช่วยปกป้องพระองค์  ยาลองหรือองเชียงสือนั้นอาจจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับกรุงสยามเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกผู้มีพระคุณได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว  เมื่อได้รับหนังสือขอความช่วยเหลือจากพระอุทัยราชาจึงได้จัดส่งกองทัพเคลื่อนพลลงมาประจำการอยู่ ณ เกาะจีน  เพื่อปกป้องกัมพูชาตามคำขอของสมเด็จพระอุทัยราชา

          ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า  ไทยจะต้องรบกับเขมร-ญวน  แทนที่จะรบกับพม่า  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, ตุลาคม, 2562, 10:27:14 PM
(https://i.ibb.co/hYfDM5p/1866warelephant.jpg) (https://imgbb.com/)

- ไทย เขมร ญวน เตรียมรบ -

พระเจ้ากรุงสยามทราบความชัด
จึงดำรัสให้เอาเจ้าทั้งสอง
เลิกขัดแย้งโกรธกันหันปรองดอง
เป็นพี่น้องร่วมรักสามัคคี

จะปราศรัยไกล่เกลี่ยเสียแรงเปล่า
เห็นควรเอาทัพใหญ่ไปถึงที่
ขมขู่ให้เชื่อฟังอยู่อย่างดี
ดำรัสนี้ผลนั้นประการใด


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านอ่านกัน  ถึงตอนที่นักองค์สงวนหรือพระอุปโยราช  ไม่พอพระทัยในสมเด็จพระอุทัยราชา  จึงทรงปลีกตนจากราชสำนักกัมพูชาไปประทับตั้งตนเป็นอิสระอยู่ ณ เมืองโพธิสัตว์  สมเด็จพระอุทัยราชาเห็นท่าไม่ดีจึงมีหนังสือไปขอความคุ้มครองจากพระเจ้าเวียดนาม  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ และ กรุงกัมพูชา ฉบับเดิมต่อไป

           “กล่าวทางฝ่ายกรุงสยามนั้น  พระยาอภัยภูเบศร์ผู้รักษาเมืองพระตะบอง  ได้รับรู้เรื่องราวที่นักองค์สงวนแยกตัวออกจากนักองค์จันทร์  ไปอยู่เมืองโปริสาท(โพธิสัตว์)  จึงกราบทูลเรื่องราวให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทราบ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า  “พี่น้องวิวาทกันใหญ่โตจนถึงฆ่าขุนนางผู้ใหญ่  แล้วองค์สงวนหนีมาตั้งอยู่เมืองโปริสาท  จะมีแต่ศุภอักษรไปว่ากล่าวให้สมักสมานดีกันเปนปรกตินั้นเห็นจะไม่ได้  จะต้องให้มีกองทัพออกไปด้วยจึ่งจะได้เปนที่ยำเกรง”  ดำรัสดังนั้นแล้วจึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (น้อย)  คุมกองทัพไปสมทบกับทัพพระยาพิชัยรณฤทธิ์  พระยาราชรองเมือง  ซึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบองก่อนหน้านั้นแล้ว  พร้อมกันนั้นก็ให้เชิญศุภอักษรออกไปพูดจากไกล่เกลี่ยให้พี่น้องร่วมสามัคคีกัน  เจ้าพระยายมราชยกทัพเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครในเดือน ๔ ปีมะแม  ไปถึงเมืองพระตะบองในต้นปีวอกจุลศักราช ๑๑๗๔

          ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศรผู้รักษาการเมืองพระตะบองได้ทราบว่า  สมเด็จพระอุทัยราชาสั่งให้กองทัพมาคอยจับสมเด็จพระอุปโยราชอยู่หลายทาง  จึงให้พระยาโกษา  พระวิเศษ  พระยาสุนทรเขมร  คุมคนลงไปเมืองโพธิสัตว์ (โปริสาท)  คอยห้ามปรามอยู่   เมื่อเจ้าพระยายมราชยกไปถึงเมืองพระตะบองแล้วได้ทราบความจากพระยาอภัยภูเบศรดังนั้น  ก็รีบยกทัพลงไปเมืองโพธิสัตว์ทันที  ทราบว่าสมเด็จพระอุทัยราชาได้ให้พระยาพิษณุโลก  พระยาเอกราช  พระยาเพชรเดโช  เจ้าเมืองลาศปะเอีย (ลาตปเอือย-ลาดปเอือย)  ยกกองทัพมาตั้งอยู่ตำบลระวิฉนากทัพหนึ่ง  เรื่องราวตรงนี้ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชากล่าวว่า

           “ครั้นต่อมา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๒) กรุงเทพฯ  ได้ตรัสให้พระยายมราชเปนแม่ทัพใหญ่  กับพระยาราชรองเมือง  พระยาไผทนา  พระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาสุรสงคราม  ยกพล ๕,๐๐๐ มาทางเมืองพระตะบอง    กับตรัสใช้ให้พระยาพหลเทพ พร้อมด้วยนายทัพนายกองแลไพร่พลยกมาทางเมืองสตึงแตรง

          เมื่อสมเด็จพระอุปโยราชได้ทรงทราบว่า กองทัพไทยได้ยกมาเปนอันมากดังนั้น  ก็ทรงทำหนังสือส่งมากราบทูลสมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์  ขอเมืองบริบูรณ์เป็นเมืองขึ้นอีก

          ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์  ครั้นทรงทราบว่ากองทัพไทยยกมาเปนอันมากดังนั้น  พระองค์จึงจัดส่งกำลังไปรักษาด่านทางเพื่อป้องกันบ้านเมือง คือ

          ๑. ตรัสใช้ให้ออกญายมราช คง   กับไพร่พล ๑,๐๐๐ ยกไปตั้งรักษาด่านทางที่ตำบลระเวงไม้ฉัตร  ในเขตแขวงเมืองละเวียผะเอีย

          ๒. ตรัสใช้ให้ออกญาโยธาสงคราม มา   ออกญามนตรีเสน่หา เมียน   แลออกญานราธิบดี ไชย   รวม ๓ นาย  พร้อมกับไพร่พลยกไปตั้งรักษาด่านทางที่เมืองกำปงฉนัง  รวมกับออกยาบวรนายก สัวะซ์

          ๓. ตรัสใช้ให้ออกญาธรรมเดโช เมียน   เปนแม่กองใหญ่  ตรวจตราระวังรักษาทางลำน้ำ

          ฝ่ายสมเด็จพระมหาอุปโยราช  ได้ตรัสใช้ให้ออกญาอธิกรวงษา กุย   ไปยุยงราษฎรให้ก่อการกำเริบขึ้นที่เมืองพนมเปญ  สมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์จึงตรัสใช้ให้ตวนพอ  กับออกยาจักรี บัด   ยกทัพไปปราบปรามราษฎรที่ก่อการวุ่นวายในเมืองพนมเปญ

          ฝ่ายองเดืองติญผอเส็ง  ได้ใช้ให้องบัญกวานไปเมืองพระตะบอง  ครั้นองบัญกวานกลับจากเมืองพระตะบองมาถึงเมืองโพธิสัตว์  สมเด็จพระมหาอุปโยราชก็ทรงกักเอาตัวองบัญกวานไว้

          ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์  ได้เสด็จลงจากพระราชมณเฑียรมาประทับอยู่ที่ท่าโพธิเล็ก (กำปงโพธิโตจ)

          * ท่านผู้อ่านครับ  ชื่อเมืองชื่อตำบลในพงศาวดารไทยกับเขมรมักจะออกเสียงไม่ตรงกัน  เช่นเมือง  “ลาศปะเอีย”  ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวถึงนั้น  ฉบับคุรุสภาออกชื่อว่า  “ลาตปเอือย”  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯออกชื่อว่า  “ลาดปเอือย”  ซึ่งก็น่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับที่กล่าวในพงศาวดารกัมพูชาที่ว่า  “เมืองละเวียผะเอีย”  และเป็นที่แน่นอนว่า  “เมืองโปริสาท”  ชื่อที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกนั้น  คือ   “เมืองโพธิสัตว์”   ในปัจจุบันนี้เอง

          นักองค์สงวน หรือ สมเด็จพระอุปโยราช  ปลีกพระองค์จากบันทายเพชรมาประทับเป็นอิสระอยู่ ณ เมืองโพธิสัตว์  สมเด็จพระอุทัยราชาทรงใช้ให้ขุนนางผู้ใหญ่มาทูลเชิญให้เสด็จกลับก็ไม่กลับ  มิหนำซ้ำยังกักตัวขุนนางเหล่านั้นไว้เสียอีก  และล่าสุด  ขุนนางญวนชื่อ องบัญกวาน  ที่องเดืองติญผอเส็งใช้ให้ไปเมืองพระตะบอง  มาถึงเมืองโพธิสัตว์ก็ถูกสมเด็จพระอุปโยราชกักตัวไว้ด้วย  เมื่อเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว  สมเด็จพระอุทัยราชาก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก  ความในพงศาวดารกรุงกัมพูชาได้บันทึกไว้ต่อไปอีกว่า

           “ลุวันอาทิตย์แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีมแม ตรีศก ๑๑๗๓ (พ.ศ. ๒๓๕๔)  เจ้าพระยามนตรเสน่หา ศุข   เข้ามากราบทูลสมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์  ว่า  ออกญายมราช ควน ๑   ออกญาจักรี เชษฐ ๑   พระยาไผทนา ๑   ออกญาวงษาธิราช แก้ว ๑    ยกพล ๑,๐๐๐ มาทางน้ำ
          และพระยายมราช ๑   พระยาราชรองเมือง ๑   พระวิเศษสุนทร ๑   ออกญาสวรรคโลก ๑   ยกพลมาทางบก  พร้อมกับสมเด็จพระมหาอุปโยราช”

          ** วันนี้ให้อ่านความยาวมากแล้ว  ต้องขอยกความไปวางให้อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกฝีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, ตุลาคม, 2562, 08:36:42 AM
(https://i.ibb.co/LxHvswJ/1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อุไทยราชาหนีไปพึ่งญวน -

ทัพพระยายมราชฉกาจกล้า
พระอุไทยราชาแสนหวั่นไหว
มิกล้าอยู่สู้หน้ารีบคลาไคล
หลบหนีไปพึ่งญวนอยู่เดียวดาย


          อภิปราย ขยายความ...............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน  ถึงตอนที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยตรัสให้พระยายมราช (น้อย)  คุมกองทัพไปพระตะบอง  เพื่อระงับข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างพระอุทัยราชากับพระอุปโยราช  ให้เกิดความปรองดองอย่างพี่น้องกัน  แต่พระอุไทยราชาเกิดความเกรงกลัว  จึงตั้งกองกำลังรักษาเมืองพร้อมกับขอให้พระเจ้าเวียดนาม  ยาลอง  ยกกองทัพมาช่วยคุ้มครอง  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านความในราชพงศาวดารกัมพูชาต่อนะครับ

          * “ลุ ณ วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก จัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕)  สมเด็จพระอุไทยราชาผู้ทรงราชย์  เสด็จลงสู่เรือพระที่นั่ง  พร้อมด้วยสมเด็จพระไอยกี  นักองค์เม็ญ  สมเด็จพระท้าวซึ่งเปนพระมารดา  กับบรรดามุขมนตรีซึ่งเปนข้าในพระองค์  ได้พากันลงเรือเพื่อตามเสด็จเสร็จแล้ว  องเดืองผอเส็งก็ให้โยงเรือพระที่นั่งออกจากท่าหลวงเมืองบันทายเพ็ชร  ไปได้ ๔ วัน  ถึงตำบลคลองปักเปรียด (คลองบางเชือกหนัง)  ให้จอดเรือพระที่นั้นพักอยู่ที่นั้น  แล้วองลิวกิญซึ่งเปนใหญ่อยู่ที่เมืองไซ่ง่อน  ได้จัดให้องผอไวถือหนังสือมากราบทูลสมเด็จพระอุไทยราชา  ขออัญเชิญเสด็จให้เสด็จเข้าไปประทับอยู่ที่เมืองบัญแง  องลิวกิญได้สั่งให้ปลูกพระตำหนักถวายให้เสด็จประทับ  แลปลูกเรือนให้ขุนนางที่ตามเสด็จนั้นอยู่ที่เมืองบัญแงทุกคน  แล้วองลิวกิญได้ถวายอีแปะ ๑,๐๐๐ พวง  กับข้าวสาร ๑,๐๐๐ ถัง  เพื่อจะได้จ่ายให้ข้าราชการที่ตามเสด็จด้วย

          ในครั้งนั้น  องเดืองเพ็ญเล็ง  กับ  องทุงงวน  พาญวนเขตเมืองพระตะพัง  ยกเปนกองทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองละเวียแอม (เขตรเมืองเขมร) ได้ปะทะกับทัพไทยที่ตำบลจรวยจังวา  แล้วได้ใช้ให้องเดืองเพ็ญจัน  ยกไพร่พลไปตั้งอยู่ที่เปี่ยมเมียดจรูก คอยฟังข้อราชการ

          ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชา  ซึ่งประทับพักอยู่ที่เมืองบัญแงนั้น  ได้ตรัสใช้ให้ ๑. ออกญาบวรราช อุก    ๒. ออกญาพหลเทพ ขวัญ    ๓. ตวนพอ ซึ่งเป็นที่พระพุฒ     รวม ๓ นายเข้าไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามเจ้าเมืองญวนกรุงเว้  กราบทูลเรื่องราชการเมืองเขมรซึ่งเกิดการวุ่นวาย

          เมื่อพระเจ้าเวียดนามทรงทราบแล้ว  รับสั่งว่า  จะทรงช่วยทำนุบำรุงอย่าได้มีความวิตกเปนทุกข์เลย  ท่านออกญาทั้ง ๒ กับตวนพอก็กราบถวายบังคมลาพระเจ้าเวียดนาม  นำข้อความกลับคืนมากราบทูลสมเด็จพระอุไทยราชาให้ทรงทราบข้อความทุกประการ

          ลุเดือน ๙ ปีวอก จัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ.๒๓๕๕) พระเจ้าเวียดนามตรัสใช้ให้องเหียบกิญ  นำทองแลเงินกับผ้าแพรพร้อมด้วยอีแปะ ๕,๐๐๐ พวง  มาถวายสมเด็จพระอุไทยราชากับนักองค์เม็ญ  ซึ่งเปนสมเด็จพระไอยกี  แลนักนางโอดซึ่งเปนสมเด็จพระมารดา  กับพระราชทานให้บรรดาขุนนางกับไพร่พลที่ตามเสด็จ  ได้รับพระราชทานโดยทั่วทุกคน”

          * ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้รายละเอียดตอนนี้ไว้ว่า  เมื่อเจ้าพระยายมราชทราบว่า  สมเด็จพระอุทัยราชาจัดกำลังพลมาตั้งรักษาด่านทางดังนั้น  ก็คิดว่า  หากจะยกทัพลงไปเมืองบันทายเพชรเลยทีเดียวก็เกรงว่า  สมเด็จพระอุทัยราชาไม่ทันได้รู้เหตุผลหนักเบาแล้วจะตื่นตกใจหนีไป  จึงให้พระยาสีหราชรองเมืองมีหนังสือแจ้งความไปถึงสมเด็จพระอุทัยราชาให้รู้เรื่องราวรายละเอียดก่อน

           สมเด็จพระอุทัยราชาได้รับหนังสือแล้วก็นิ่งเสียหาได้ตอบไม่  เจ้าพระยายมราชรอคอยอยู่นานเห็นเรื่องเงียบหายไป  จึงแต่งให้พระภักดีนุชิตปลัดแทน  เชิญศุภอักษรลงไปแจ้งอีกครั้งหนึ่ง  ครั้นพระภักดีนุชิตเชิญศุภอักษรไปถึงตำบลระวิฉนาก  พระยายมราชเขมร  พระยาพิษณุโลก  พระยาเพชรเดโช  ที่สมเด็จพระอุทัยราชาให้คุมทัพมาตั้งอยู่นั้น  ก็คุมตัวพระภักดีนุชิตและข้าหลวงผู้เชิญศุภอักษรนั้น  แล้วบอกความลงไปกราบทูลสมเด็จพระอุทัยราชา   สมเด็จพระอุทัยราชาให้พระยาเขมรไล่พระภักดีนุชิตและข้าหลวงเสียโดยมิได้รับศุภอักษรไว้  เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้  เจ้าพระยายมราชจึงพานักองค์สงวนหรือสมเด็จพระอุปโยราชยกทัพบกลงมา เมื่อถึงตำบลระวิฉนากก็พบเห็นแต่ค่ายเปล่า  เพราะเขมรพากันยกหนีไปแล้ว

          พระยาสุรสงครามซึ่งคุมทัพเรือเสบียงมาถึงตำบลกำปงชนัง  พบกองเรือพระยาธรรมเดโช  พระยาโยธาสงคราม  พระยามนตรีเสน่หา   ทั้ง ๓ พระยาเขมรก็เอาปืนใหญ่ตั้งหน้าเรือยิงใส่กองเรือพระยาสุรสงคราม   พระยาสุรสงครามมิได้ยิงโต้ตอบ  หากแต่รีบรุดลงไป  เมื่อเรือใกล้กันแล้วพระยาเขมรทั้ง ๓ ก็ล่าถอยหนีไป

          พระยาธรรมเดโชให้พระยามนตรีสงคราม ลงเรือเร็วรีบไปทูลสมเด็จพระอุทัยราชาว่า  กองทัพเจ้าพระยายมราชมาทางบกทางเรือมีกำลังพลมากหนักเหลือที่จะสู้รบได้  สมเด็จพระอุทัยราชาทราบดังนั้นก็รวบรวมสิ่งของอพยพครอบครัวลงเรือหนีออกจากเมืองบันทายเพชรเมื่อวันพุธ  แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕  ไปพักอยู่ที่เมืองพนมเปญ

          รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง  นักองค์อิ่ม  นักองค์ด้วง  ซึ่งไปในเรืออีกลำหนึ่งก็ปรึกษากันว่า  เราจะไปด้วยพระอุทัยราชาผู้พี่ก็จะพลอยเป็นขบถไปด้วย  เมื่อไปพึ่งพาอาศัยญวน  ต่อไปภายหน้าถ้าญวนกักเราไว้  ไม่ปล่อยคืนมาก็จะไปตายอยู่เมืองญวน  ถ้าเราหนีขึ้นบกไปอยู่ด้วยองค์สงวนจะดีกว่า  เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้วก็คงจะได้กลับมาอยู่บ้านเมืองของเรา  ครั้นปรึกษาเห็นพ้องกันแล้ว  ในเวลากลางคืนนั้น  ก็พาสมัครพรรคพวกหนีขึ้นบกไป  รุ่งขึ้นสมเด็จพระอุทัยราชาทราบความแล้วให้คนรีบติดตามไปก็ไม่ทัน

          ฝ่ายพระยาสุรสงครามมาถึงโพโตกแล้วได้ทราบจากเขมรว่า  สมเด็จพระอุทัยราชาพาครอบครัวลงเรือหนีไปทางพนมเปญ  จะรีบไปห้ามก็ไม่ทัน  พบแต่เรือครอบครัวชาวเขมรสับสนวุ่นวายอยู่  จึงไล่ต้อนให้กลับขึ้นมาอยู่บ้านเรือนของตนตามเดิม  

          เจ้าพระยายมราชมาถึงบันทายเพชรทราบว่าสมเด็จพระอุทัยราชาพาครอบครัวหนีไปถึงเมืองไซ่ง่อนตั้งแต่วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แล้ว  จึงให้มีหนังสือไปถึงองต๋ากุนฉบับหนึ่ง  ถึงพระอุทัยราชาฉบับหนึ่ง  แต่ก็ไม่มีคำตอบมาแต่ประการใด จึงรั้งรอคอยฟังราชการอยู่ ณ ที่นั้น

          ฝ่ายนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง ทราบว่าเจ้าพระยายมราชกับองค์สงวนมาตั้งอยู่ ณ บันทายเพชร  ก็มาอยู่ด้วย  แล้วเจ้าพระยายมราชก็บอกข้อราชการเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร

          * * ท่านผู้อ่านครับเรื่องยุ่งยากทางเขมรยังไม่จบ  วันรุ่งพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, ตุลาคม, 2562, 10:16:41 PM
(http://upic.me/i/67/1433035578-566-o.png) (http://upic.me/show/62507859)

- ญวนส่งเจ้าเขมรกลับกัมพูชา -

“ยาลอง”สั่งส่งอุทัยราชากลับ
หลังจากรับราชสาส์นไทยถวาย
ความตึงเครียดกัมพูชามีมากมาย
เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายในทางดี


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)  ถึงตอนที่สมเด็จพระอุทัยราชาอพยพครอบครัวหนีกัมพูชาไปอยู่ไซ่ง่อน  เพราะเกรงกลัวกองทัพสยามที่เจ้าพระยายมราชยกไปเพื่อไกล่เกลี่ยให้พี่น้องสามัคคีกันตามพระราชดำริของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิดของสมเด็จพระอุทัยราชา  และเป็นเหตุให้นักองค์อิ่ม  นักองค์ด้วง  ปลีกพระองค์จากสมเด็จพระอุทัยราชาไปอยู่กับนักองค์สงวนหรือสมเด็จพระอุปโยราช  และเจ้าพระยายมราชแม่ทัพใหญ่จากกรุงเทพมหานคร ณ เมืองพระตะบอง-โพธิสัตว์

          เจ้าพระยายมราชมีหนังสือไปถึงองต๋ากุนผู้รักษาเมืองไซ่ง่อน  และสมเด็จพระอุทัยราชา  ทั้งสองท่านนั้นก็มิได้ตอบมาแต่ประการใด  เจ้าพระยายมราชและสมเด็จพระอุโปยราช  ก็รอคอยรับคำตอบ อยู่ ณ เมืองบันทายเพชร  วันนี้มาดูเรื่องราวในพงษาวดารกรุงกัมพูชาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ต่อไปครับ

          * “ลุ ณ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก จัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕) สมเด็จพระมหาอุปโยราช  กับพระองค์ด้วง  ซึ่งเป็นพระอนุชาองค์สุดท้อง  ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ณ กรุงเทพมหานคร  เอาไว้แต่แม่ทัพไทย  แม่ทัพเขมร  กับไพร่พลอยู่รักษาเมืองบันทายเพชร

          ลุ ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก จัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕)  พระเจ้าเวียดนามตรัสใช้ให้ขุนนางญวนชื่อ  องต๋ากุน  เปนแม่ทัพออกจากกรุงเว้มาที่เมืองไซ่ง่อน  ให้จัดการต่อเรือสำเภา  เรือแง่สาย  แง่ลาย  แลเกณฑ์ไพร่พลญวนไว้สำรอง  สำหรับในการที่จะส่งสมเด็จพระอุไทยราชา  ให้เสด็จกลับคืนไปทรงราชย์ยังเมืองเขมรตามเดิม

          ในปีวอกจัตวาศก ๑๑๗๔(พ.ศ.๒๓๕๕) ออกญาสวรรคโลก เอก  ให้หมอช้างซึ่งอยู่ที่เมืองโพธิสัตว  คล้องได้ช้างเผือกผู้ เชือกหนึ่ง  ประกอบด้วยลักษณอันงาม  จึงนำเข้าไปถวายสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ณ กรุงเทพฯ

          ลุ ณ วันแรม ๕ ค่ำ เดือยยี่ ปีวอก จัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕)  พระเจ้าเวียดนามตรัสใช้ให้ขุนนางญวนนำอีแปะ ๑,๐๐๐ พวง  มาพระราชทานบรรดาขุนนางแลไพร่พลที่ตามเสด็จสมเด็จพระอุไทยราชา  ได้รับพระราชทานทั่วทุกคน  แลถวายเงินสมเด็จพระไอยกีนักองค์เม็ญเงิน ๒๐ แน่น   ถวายเงินสมเด็จพระมารดา เงิน ๒๐ แน่น (แน่น ๑ น้ำหนักราว ๒๕ บาท)

          ลุ ณ เดือน ๓ ปีวอกจัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยตรัสใช้ให้พระยามหาอำมาตย์  นำหนังสือรับสั่งไปทูลพระเจ้าเวียดนาม  กล่าวถึงข้อราชการเมืองเขมร

          ลุ ณ วันศุกร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก จัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕)  พระเจ้าเวียดนามมีหนังสือรับสั่งฉบับ ๑  ถึงองต๋ากุนมีข้อความว่า  ให้จัดการส่งสมเด็จพระอุไทยราชากลับคืนยังเมืองบันทายเพ็ชร  แล้วให้จ่ายเงิน ๓๕๗ แน่น  กับเข้าเปลือก ๒,๐๐๐ ถัง  กับอีแปะ ๕,๐๐๐ พวงถวายแต่สมเด็จพระอุไทยราชา  จะได้ทรงแจกจ่ายให้แก่บรรดาขุนนางแลไพร่พลที่ตามเสด็จ”

          * ท่านผู้อ่านครับ  อ่านเรื่องในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒  มาถึงตรงนี้แล้วเห็นได้ชัดเลยว่า  นักองค์จันทร์คือสมเด็จพระอุทัยราชา  ทรงขลาดหวาดระแวงพระเจ้ากรุงสยามมาแต่ต้น  สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสถาปนานักองค์อิ่ม  และ  นักองค์ด้วง  พระราชอนุชานักองค์จันทร์  เป็นสมเด็จพระอุปโยราชและสมเด็จพระมหาอุปราช  ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ช่วยบริหารราชการบ้านเมืองตามพระราชประเพณี  สมเด็จพระอุทัยราชาก็ไม่พอพระทัย  ด้วยระแวงว่าจะเป็นการทอนพระราชอำนาจของพระองค์  ครั้นทรงขัดแย้งกันกับสมเด็จพระอุปโยราช จนถึงการแยกปกครองบ้านเมืองเป็น  เขมรโพธิสัตว์ – เขมรกัมพูชา

          พระบาทสมเด็จพระพุทธ้เลิศหล้านภาลัยทรงให้เจ้าพระยายมราชไปไกล่เกลี่ย  ก็เข้าใจว่าจะไปยึดอำนาจของพระองค์จนต้องอพยพครอบครัวไปพึ่งพระเจ้าเวียดนาม

          ในปีเดียวกันนั้น  สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งไม่เคยมีพระทัยประทุษร้ายสมเด็จพระอุทัยราชามาก่อน  จึงมีหนังสือไปทูลพระเจ้าเวียดนาม  กล่าวถึงข้อราชการในเมืองเขมร  แต่ในราชพงษาดารกรุงกัมพูชาไม่ได้ให้รายละเอียดว่า  กล่าวถึงข้อราชการด้วยเรื่องอะไร  แต่ก็พอจะสันนิษฐานได้  ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  คงจะขอให้พระเจ้าเวียดนามทรงส่งสมเด็จพระอุทัยราชากลับไปครองกัมพูชาตามเดิม  เพราะหลังจากนั้น  พระเจ้าเวียดนามก็ได้สั่งให้  องต๋ากุน  ผู้รักษาเมืองไซ่ง่อน  จัดขบวนเรือส่งเสด็จสมเด็จพระอุทัยราชากลับกรุงกัมพูชา

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ นั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ให้รายละเอียดไว้อย่างไร  พรุ่งนี้จะนำมาให้อ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, ตุลาคม, 2562, 10:00:09 PM
(http://upic.me/i/tb/0image6.jpg) (http://upic.me/show/62508389)

- ญวนข่มขวัญไทยเอาใจเขมร -

ญวนขย่มข่มไทยให้ยอมรับ
องจันทร์กลับขึ้นนั่งบัลลังก์ศรี
องต๋ากุนมารยาเอื้ออารี
ผูกไมตรีเขมรแน่นแผนแนบเนียน


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพงศาวดารกัมพูชามาให้ท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่ญวนจัดการส่งพระอุทัยราชากลับคืนกรุงกัมพูชา  ซึ่งไม่มีรายละเอียดของเรื่องราวที่ชัดเจน  แต่ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  มีรายละเอียดของเรื่องมากกว่า  จะนำมาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

          * “……. ด้วยความในพระราชสาสนก็เล่าความตามเรื่องที่พี่น้องวิวาทกันขึ้น  โปรดให้เจ้าพระยายมราชออกไประงับจะให้ตีกัน  พระอุไทยราชาก็หนีเสีย  ศุภอักษรที่มีไปก็ไม่รับ  กลับไล่ส่งผู้ถือหนังสือเสีย  พระอุไทยราชาจันนี้ก็ได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงมาแต่ยังเยาว์อยู่  ไม่รู้จักพระเดชพระคุณ  มิได้เข้าเฝ้าเคารพพระบรมศพแลแผ่นดินใหม่”

          ขุนอนุรักษภูธรผู้เชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าเวียดนาม  เดินทางไปเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนแปดแรก ปีวอก จัตวาศก ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๕๕)  พระเจ้าเวียดนามรับและทราบความในพระราชสาส์นแล้วก็ตอบโดยมีใจความว่า  

           “เจ้าเมืองไซ่ง่อนมีหนังสือบอกขึ้นไปถึงกรุงเวียดนามว่า  พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาให้ยกกองทัพใหญ่ไปตั้งอยู่แดนพนมเปญ  เจ้าเมืองเขมรตกใจกลัวจึงหนีไปอยู่เมืองไซ่ง่อน  กองทัพตั้งแต่ไปอยู่เมืองเขมร  เบียดเบียนริบราชรบาทว์ไพร่พลเมืองเขมรได้ความเดือดร้อนนัก  จนชั้นแต่ระเนียดค่ายวังของพระอุไทยราชาก็รื้อเอาไปทำฟืนเสีย  พระเจ้ากรุงเวียดนามก็คอยฟังราชสาส์นอยู่  จะได้รู้เหตุผลต้นปลาย  ก็พอมีพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงเทพมหานครศรีอยุธยาออกไป  ในพระราชสาส์นมีความจะแจ้งอยู่ว่า  ขอให้พระเจ้ากรุงเวียดนามช่วยดำริอย่าให้เสียประเพณีที่เมืองใหญ่โอบอ้อมเมืองน้อยดังนี้    พระเจ้ากรุงเวียดนามเห็นว่า  ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระนครจะยืนยาวไปก็เพราะตั้งอยู่ในประเพณีกษัตริย์ซึ่งตั้งอยู่ในสัตยธรรม  เหมือนองค์สงวนนั้นเป็นข้าก็ไม่ตรงต่อเจ้า  เปนบุตรก็หามีความกตัญญูไม่  เปนน้องก็ไม่อดออม  โทษขององค์สงวนนั้นใหญ่นัก     คิดอย่างหนึ่งเล่า  องค์สงวนก็ยังเยาว์อยู่  ถ้ารู้ว่าตัวผิดรับขอโทษต่อพี่ก็พอจะหายโทษ  ถ้าเป็นได้ดังนี้แล้ว  เนื้อกับกระดูกจะได้ร่วมกัน  กรุงเวียดนามจะได้แต่งให้ขุนนางพาองค์จันกลับเข้ามาเมืองเขมร  กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะต้องมีขุนนางผู้ใหญ่ออกไป  กรุงเวียดนามจะได้ชี้แจงข้อความพร้อมด้วยขุนนางเมืองญวน  เมืองญวนจะได้พาองค์จันคืนไปเมืองเขมร  อย่างนี้จึงจะควรกับสองพระนครเปนใหญ่  จำจะปลูกฝังทำนุบำรุงเมืองน้อยขึ้น”

           เมื่อได้รับหนังสือตอบจากพระเจ้าเวียดนามมาดังนั้น  ก็เห็นได้แน่ชัดว่าฝ่ายญวนต้องการให้นักองค์จันทรครองกัมพูชาต่อไป  ฝ่ายไทยจำต้องยอมให้นักองค์จันทร์เป็นสมเด็จพระอุทัยราชาครองกัมพูชาตามเดิม  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งทูตไทยไปญวน  โดยให้พระยามหาอำมาตย์เป็นราชทูต  พระยาราชโยธาเป็นอุปทูต  พระท่องสื่อเป็นตรีทูต  คณะราชทูตกราบบังคมลาไป ณ วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๒

           เมื่อไปถึงไซ่ง่อน  องต๋ากุนผู้รักษาเมือง  ได้แห่พระราชสาส์นแล้วจัดงานเลี้ยงรับรองราชทูต  มีการแสดงงิ้วให้ดูด้วย  ในงานนั้นมีการช้างแสดงที่ฝึกหัดไว้สำหรับสู้เสือ  สู้ไฟ  สู้ปืน  ช้างนั้นมิได้ตกใจกลัว  แต่กลับเข้าแย่งร้านไฟและแทงเสือ  เสียงปืนดังสนั่นก็ไม่ถอยหนี  และยังได้เอาคนโทษที่ถึงตายมาผูกมัดให้ช้างแทงอวดคณะราชทูต  คล้ายจะเป็นการข่มขวัญอยู่ในที

           จากนั้นได้ส่งคณะราชทูตขึ้นไปเมืองเว้  เมื่อไปถึงเมืองเว้แล้วก็ให้จัดการต้อนรับในลักษณะเดิม  คือให้ดูงิ้วกับการแสดงช้าง  และการหัดทหาร  ในการแสดงช้างนั้นได้เพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจมากขึ้น  ด้วยการเล่นที่สนามนอกกำแพงเมือง  ทำเป็นแผงกั้น ๓ ชั้น  ห่างกันประมาณ ๓ เส้น  หน้าค่ายนั้นปักรูปหุ่นร้านไฟสลับ ๓๘ ร้าน  มีคนถือปืนคาบศิลาปลายหอกอยู่ในค่ายนั้นประมาณชั้นละร้อยเศษ  มีธงทวนสลับกับปืน  มีกลองใหญ่คู่หนึ่ง  มีร่มแดงสองคัน  มีคนหามองธงเจนั้นอยู่กับกลองทำนองเป็นแม่ทัพ  มีธงใหญ่อยู่กับองธงเจนั้น ๕ คัน  สีเหลืองคันหนึ่ง  สีแดงข้างละ ๒ คัน  แล้วจึงตีกลองสัญญา ๓ ที ให้คนขึ้นม้ามาหน้าช้างประมาณ ๓๐ เศษ  มีม้าเทศสีขาวสูงประมาณ ๓ ศอกเศษม้าหนึ่ง  ห่างต่อมาช้างพลาย ๓๘ ช้าง  ผูกห่วงมีธงสักหลาดแดงปักข้างละคัน  แล้วก็ไสให้วิ่งเข้าแทงหุ่นหน้าค่าย  แล้วเสยร้านไฟ  คนถือปืนอยู่ในแผงค่ายก็ยิงปืนจุดพลุ  ตีฆ้องกลองม้าฬ่อเสียงโห่อื้ออึง  แย่งแทงแผงค่ายล้มกระจัดกระจาย  ทำอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง  แล้วจึงให้ทูตเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงเวียดนาม  ยาลองหรือองเชียงสือพระเจ้ากรุงเวียดนามรับสั่งว่า  จะให้องจันไปขึ้นกับกรุงเทพมหานครดังเก่า  แล้วจะให้ตัวไปเข้าเฝ้าด้วย  ที่ทำผิดมาแต่ก่อนนั้นพระเจ้าเวียดนามจะยกโทษเสียครั้งหนึ่ง  จากนั้นจึงให้องต๋ากุนพร้อมกับพระยามหาอำมาตย์  พระยาราชโยธา  พระท่องสื่อ  พาองค์จันไปส่งเมืองบันทายเพชร

           ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาให้รายละเอียดในครั้งที่สมเด็จพระอุทัยราชากลับเมืองบันทายเพชรไว้ว่า

            “ลุศักราช ๑๑๗๕ (พ.ศ.๒๓๕๖) ณ วันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีระกา เบญจศก  องต๋ากุนได้จัดกระบวนแห่  ที่จะแห่สมเด็จพระอุไทยราชาเสด็จกลับคืนเมืองเขมร  คือ

           ๑. ได้จัดให้ตวนพอซึ่งเป็นออกญาราชเดชะกับองทุงโพน  เป็นผู้บังคับกระบวนที่ ๑   นำพล ๒,๐๐๐ แห่นำมาข้างหน้า  ออกจากเมืองบัญแง ณ วันแรม ๑๓ ค่ำ

           ๒. กระบวนแห่ถัดลงมา  ได้จัดให้องติญเหากับองสุรโสร์  ซึ่งเป็นเจ้าเมือง  เป็นผู้บังคับกระบวนที่ ๒   นำพล ๒,๐๐๐ แห่นำมาอีกกระบวนหนึ่ง  ออกจากเมืองบัญแง ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ

           ๓. กระบวนแห่ที่ ๓  คือกระบวนหลวง  มีองต๋ากุนแลสมเด็จพระอุไทยราชา  พร้อมด้วยสมเด็จพระท้าว  พระราชมารดา  พระสนมกำนัล  ราชบริพารมุขมนตรีน้อยใหญ่  ไพร่พลข้าในพระองค์   กระบวนหลวงนี้ออกจากเมืองบัญแง ณ วันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา เบญจศก ๑๑๗๕ (พ.ศ. ๒๓๕๖)  ถึงท่าหลวงบันทายเพชร ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกานั้น

           เมื่อได้เสด็จมาถึงบันทายเพชรแล้ว  บรรดาขุนนางไทยเขมรที่อยู่ในเมืองบันทายเพชร  ได้เข้ามาเฝ้าพระองค์  คือ  พระยาพิไชยอินทรา  พระยาพิพัฒน์โกษา  ออกญายมราช ควน   ออกญาจักรี เชษฐ   พระวิเศษสุนทร   กับบรรดาขุนนางเขมรซึ่งยังคงค้างอยู่ที่บันทายเพชรเท่าใดก็ไม่อาจดื้อดึง  ได้พากันเข้ามาเฝ้าทุกคน  แล้วตรัสใช้ให้ไปไหว้องต๋ากุน  ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ด้วย  แล้วมุขมนตรีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่ปืนเล็กกระสุนดินดำ  เสบียงอาหารแลพระราชทรัพย์ที่ยังตกค้างอยู่เท่าใด  ก็ทำบาญชีนำมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพรพะอุไทยราชาผู้ทรงราชย์ทั้งสิ้น”

           * * ท่านผู้อ่านครับ  ถึงตอนนี้ก็มองเห็นลายของญวนและเขมรที่แสดงกับไทยแล้วนะครับ  ยาลองหรือองเชียงสือกล่าวความในทำนองบีบไทยให้ยอมรับนักองค์จันทร์หรือสมเด็จพระอุทัยราชาให้เป็นเจ้าแผ่นดินกัมพูชาต่อไป  ไทยก็จำต้องยอมทำตามข้อเสนอของญวน  จากนั้นญวนก็แสดงการข่มขวัญคณะราชทูตไทยต่าง ๆ นานา  มีรายงานจากพระยามหาอำมาตย์ว่า  องต๋ากุนแสดงอาการโอบอ้อมอารีต่อชาวเขมร  เพื่อเรียกคะแนนนิยมในญวนด้วยประการต่าง ๆ  เป็นเหตุจูงใจให้เขมรตีจากไทยไปเข้ากับญวนในอนาคต  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรอีก  อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ปึ้งไทย
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, ตุลาคม, 2562, 10:36:38 PM
(https://i.ibb.co/TDfy5VR/1656.jpg) (https://imgbb.com/)

- เริ่มไมตรีฝรั่งชาติตะวันตก -

ขอพักเรื่องเขมรญวนไว้ส่วนหนึ่ง
จะกล่าวถึงเรื่องฝรั่งทางโล่งเลี่ยน
หลายประเทศเขตถิ่นดินแดนเจียน-
จะถูกเปลี่ยนเจ้าของครอบครองแล้ว

โปตุเกสเป็นใหญ่ในมาเก๊า
ไทยจึงเข้าคบค้าขายแน่แน่ว
เริ่มไมตรีสัมพันธ์ผันตามแนว-
ทางวี่แววต่างชาติอำนาจอิง


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  มาบอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระอุทัยราชาแห่งกัมพูชา  ที่กระด้างกระเดื่องต่อสยาม  หันไปพึงพาอาศัยองเชียงสือ  จักรพรรดิยาลองแห่งเวียดนาม  สุดท้าย  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชสาส์นไปถึงยาลอง  บอกเล่าเรื่องราวให้ทราบแล้ว  ยาลองขอให้สยามยอมรับสมเด็จพระอุทัยราชากลับครองราชย์สมบัติกรุงกัมพูชาตามเดิม  จากนั้นญวนกับเขมรก็ใกล้ชิดสนิทสนมกันจนเกิดเรื่องราวขัดแย้งกับสยามมากมาย  ดังจะได้พบเรื่องต่อไปข้างหน้า

          วันนี้ขอพักเรื่องราวทางกัมพูชาไว้ก่อน  เพราะช่วงเวลารัชสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น  ฝรั่งชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาสู่เอเชียอาคะเนย์มากขึ้นเรื่อย ๆ  จนเป็นเหตุให้ภูมิภาคนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  จึงขอนำเรื่องราวการมีไมตรีกับฝรั่งชนชาติตะวันตกกับสยาม  ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒  ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)  ได้บันทึกไว้ดังต่อไปนี้

          * “ในปลายปีขาล  อันเป็นปีที่ ๑๐ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพะพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  โปรดให้แต่งกำปั่นมาลาพระนคร  ให้หลวงสุรสาครเป็นนายกำปั่นออกไปค้าขายเมืองมาเก๊า  เจ้าเมืองมาเก๊าให้การรับรองเป็นอันดี  โดยมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้  ทั้งตั้งให้หลวงสุรสาครเป็นกัปตันวิโปด  ตามยศอย่างฝรั่งอีกด้วย

          ครั้นหลวงสุรสาครเดินทางกลับ  เจ้าเมืองมาเก๊าแต่งให้กาลลดมัน แวนด์สินไวร์   เป็นราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี   กาลลดมันมาด้วยเรือกำปั่นชื่ออิยันเต สองเสา  ถึงปากน้ำเจ้าพระยา ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑ ค่ำ  เดือน ๔ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๘๐ ปี  จึงโปรดให้นำเรือเข้ามาจอดในลำน้ำเจ้าพระยา  ทอดอยู่ที่หน้าบ้านพระยาสุริยวงษ์มนตรี  ราชทูตนำหนังสือเจ้าเมืองมาเก๊าเข้ามาถวาย เจ้าพนักงานแปลออกมีความว่า

           “ทางพระราชไมตรีกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  กับกรุงโปรตุคอลเสื่อมสูญไปช้านานแล้ว  จึงแต่งให้กาลลดมัน  แวนด์สินไวร์  เข้ามากราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ขอสืบต่อทางพระราชไมตรี  แลคุมสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  คือฉากเขียนรูปเจ้าแผ่นดินโปรตุคอลแผ่นหนึ่ง  พิณอย่างฝรั่ง  เครื่องเงินสำรับหนึ่ง  ระย้าแก้วมีโคมคู่หนึ่ง  กระจกใหญ่รูปกลมสองแผ่น  เชิงเทียนแก้วสำหรับกระจกสองคู่  เชียงเทียนแก้วมีโคมคู่หนึ่ง  กระบี่ฝักกะไหล่ทองสองเล่ม  สุจนีพื้นกำมะหยี่ริมเลี่ยมเงินมีพรมรองสองผืนอย่างกำปั่นสองลำ   แล้วว่าจะต้องพระราชประสงค์สิ่งไรก็ให้สั่งกาลลดออกไป  จะได้จัดหาเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย”

          หนังสือเจ้าเมืองมาเก๊ามีข้อความเป็นหลายประการ  เจ้าพนักงานได้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบแล้ว  โปรดให้กาลลดเข้าเฝ้าออกใหญ่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  เมื่อกาลลดเข้าเฝ้าแล้ว  จึงไปหาพระยาสุริยวงศ์มนตรี  แจ้งว่าสินค้าที่บรรทุกเข้ามาจะขอจำหน่ายเสียให้สิ้น  แล้วจะขอซื้อน้ำตาลทรายบรรทุกออกไปที่เมืองเกาะหมาก  และกาลลดนั้นจะขอขึ้นอยู่บนบกสักชั่วคราวก่อน  พระยาสุริยวงศ์มนตรีจึงกราบทูลพระกรุณาทราบแล้ว  โปรดให้ตามใจกาลลด  กาลลดได้ขึ้นอยู่ที่เรือนหน้าบ้านพระยาสุริยวงศ์มนตรี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินเบี้ยเลี้ยงให้เดือนละ ๒ ชั่ง

          ครั้นกาลลดมัน  แวนด์สินไวร์  ขายสินค้าเสร็จแล้วก็ซื้อน้ำตาลทรายได้ ๔,๐๐๐หาบ  ให้นายกำปั่นออกไปขายที่เมืองเกาะหมาก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระยาสุริยวงศ์มนตรี  แต่งกำปั่นชื่อมาลาพระนคร  บรรทุกสินค้าให้หลวงฤทธิสำแดงเป็นนายกำปั่น  และถือหนังสือไปถึงเจ้าเมืองมาเก๊า  หนังสือนั้นมีใจความว่า

           “ในกรุงได้ทำนุบำรุงกาลลดให้มีที่อยู่  แลพระราชทานเงินให้เป็นเบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๒ ชั่ง  แลได้นำกาลลดเข้าเฝ้าถวายสิ่งของ  โปรดให้ลดค่าธรรมเนียมเรือให้กาลลดแล้ว  แล้วว่าหลวงฤทธิสำแดงออกมาค้าขายขอให้ช่วยทำนุบำรุงด้วย  แล้วว่าจะต้องการปืนคาบศิลาเป็นอันมาก  ขอให้เจ้าเมืองมาเก๊าช่วยซื้อปืนคาบศิลาให้หลวงฤทธิสำแดงเข้าไปด้วย”

          หลวงฤทธิสำแดงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ  เจ้าเมืองมาเก๊ามีหนังสือเข้าความใจว่า  “เจ้าเมาเก๊าได้ทำนุบำรุงหลวงฤทธิสำแดงเหมือนอย่างหลวงสุรสาครออกไปเที่ยวก่อน  แลได้ยกค่าธรรมเนียมเมืองมาเก๊าให้  ต้องเสียแต่ค่าธรรมเนียมปากเรือที่เจ้าปักกิ่งตั้งขุนนางจีนมากำกับเรียกอยู่  แลได้มอบปืนคาบศิลา ๔๐๐ บอกให้หลวงฤทธิสำแดงเข้ามา ราคาบอกละ ๘ เหรียญ  แล้วว่าปืนคาบศิลาซึ่งยังค้างอยู่อีกนั้น  ยังให้ไปจัดซื้อที่เมืองเบงคอล  จะสั่งเข้ามาครั้งหลัง”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  เป็นอันได้ความตอนนี้ว่า  หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงขึ้นครองราชย์ได้ ๑๐ ปี เป็นยามว่างจากศึกสงคราม  พระองค์ทรงดำริทำการค้าขายกับพวกฝรั่ง  ชาติแรกที่ทรงติดต่อทางพระราชไมตรีและค้าขายคือ  โปรตุเกส  ซึ่งในสมัยนั้นฝรั่งชาติโปรตุเกสได้แผ่อิทธิพลเข้ายึดครองเกาะมาเก๊าของจีนไว้ในอำนาจ

          ฝรั่งชาติโปรตุเกสนี้เคยมีความสัมพันธ์กับไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสก็ขาดหายไป  แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          ท่านผู้อ่านคงสังเกตเห็นแล้วว่า  ชื่อคนและสถานที่ในพระราชพงศาวดารฉบับนี้  ออกเสียงผิดเพี้ยนไป  เช่น  โปรตุเกส  ก็ออกเสียงว่า  โปรตุคอล  เป็นต้น  จากบันทึกนี้  เราได้ทราบชัดว่า  แม้เมืองมาเก๊าจะถูกโปรตุเกสยึดครอง  แต่จีนซึ่งเป็นเจ้าของเกาะก็ยังมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีปากเรืออยู่  และเป็นภาษีที่ทางโปรดตุเกสไม่อาจก้าวก่ายได้ด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  พรุ่งนี้มาอ่านกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, ตุลาคม, 2562, 10:27:27 PM
(https://i.ibb.co/nD07rhp/K8435679-27.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระเจ้าอังวะสึกพระเป็นทหาร -

กลับกล่าวถึงเรื่องทางพม่าที่น่ารู้
พระเคียนอูให้การน่าขันยิ่ง
พระเจ้าอังวะสติคลากไร้หลักอิง
บังคับหญิงนุ่งผ้าแว้บแว้บแวมแวม

ให้พระหนุ่มมองดูอยากรู้ลึก
พากันสึกมาหมายจะได้แอ้ม
จึงถูกเกณฑ์เป็นทหารเหนื่อยงอมแงม
ถือเป็นแต้มต่องานการสงคราม


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงมีสัมพันธไมตรีกับฝรั่งชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรก  ดังความปรากฏแล้วนั้น  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกความไว้ในพระราชพงศาวดารต่อไปว่า  สมเด็จพระสังฆราช มี  ซึ่งสถิต ณ วัดมหาธาตุนั้น  ได้สิ้นพระชนม์ลง ณ วันอังคารแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีเถาะ  จุลศักราช ๑๑๘๑  อันเป็นปีที่ ๑๑ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ต่อมาถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีเดียวกัน  กาลลดมัน แวนด์สินไรว์  ราชทูตโปรตุเกสก็ได้กราบถวายบังคมลากลับมาเก๊า  เจ้าพระยาพระคลังได้มีหนังสือออกไปถึงเจ้าเมืองมาเก๊ามีความว่า

           “ได้ช่วยทำนุบำรุงพากาลลดเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมแลถวายเครื่องราชบรรณาการ  กับได้นำกาลลดเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาแล้ว   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โปรดพระราชทานเสื้อผ้าให้แก่กาลลด  แล้วยกค่าธรรมเนียมปากเรือกำปั่นให้กาลลดเป็นเงินสามสิบเอ็ดชั่งสามบาทสามสลึง  แล้วพระราชทานพริกไทหนักห้าสิบหาบ  งาช้างหนักสองหาบ  ดีบุกหนักสิบห้าหาบ  มอบให้กาลลดออกมาให้เจ้าเมืองมาเก๊าด้วย”

          ตามที่สมเด็จพระสังฆราชมี  ได้สิ้นพระชนม์ลงเมื่อเดือน ๑๐ ปี เถาะ จุลศักราช ๑๑๘๑ นั้น  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกเรื่องต่อไปว่า  ถึงเดือนอ้ายปีเดียวกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง  เมื่อทำเมรุเสร็จแล้วก็ชักศพสมเด็จพระสังฆราชเข้าสู่เมรุ  มีการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน  ถึงวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย  ก็ได้พระราชทานเพลิง

          * ในปี เถาะ จุลศักราช ๑๑๘๑ นั้น  สมีเคียนอู  หรือเคียนอู่  พระภิกษุชาวพม่า  หรือชาวทวาย  ได้เดินทางเข้ามาแล้วให้การว่า  เจ้าอังวะปะดงถึงแก่ทิวงคตแล้ว  เจ้าปะดงหรือปะดุงมีราชบุตรด้วยมเหสี  ชื่อจันกาสุริย  ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอินแซะมหาอุปราช  และยังมีราชบุตรชายอีก ๘ พระองค์  ชื่อตะแคงปรอน  ตะแคงตองอู  มูมิตตะแคง  มุปะแยตะแคง  ตะแยเลิงอะแมง  ปะเยืองแตงแมง  ปเยียดซาแมง  เสียงแคงตะแคง

          อินแซะมหาอุปราชนั้นมีราชบุตร ๔ พระองค์  ชื่อ  สะโกสิงขยา  จักไกแมง  แสรกแมง  โปมุแมง.

          สะโกสิงขยา   มีบุตร ๒ องค์  ชื่อ  โพมองตะแคง  ตแคงอูตัว
          โปมูแมง  มีบุตรชายคนหนึ่ง  ชื่อมองลอก
          จักไกแมง  มีบุตรชายคนหนึ่ง  ชื่อจักจาแมง

          และจันกาสุริยได้เป็นอินแซะอุปราชอยู่ประมาณ ๑๐ ปี  ก็สิ้นพระชนม์ก่อนพระเจ้าปะดุง  เมื่อสิ้นจันกาสุริยอินแซะอุปราชแล้ว  พระเจ้าปะดุงจึงตั้งบุตรชายจันกาสุริยชื่อ  จักไกแมง  ให้เป็นอินแซะอุปราชแทนบิดา  ครั้นพระเจ้าปะดุงทิวงคตแล้ว  จักไกแมงอินแซะอุปราชจึงสืบราชสมบัติเป็นเจ้ากรุงอังวะแทนพระเจ้าปู่  เมื่อได้ราชสมบัติแล้วเกิดอารมณ์วิปริตคลุ้มดีคลุ้มร้ายอยู่

          ครั้งนั้นมีพวกแขกมากราบทูลพระเจ้าอังวะว่า    “พระอาทิตย์ขึ้นเมืองไทยเวลาเที่ยง  เป็นเวลาเช้าของพม่า  เวลาเที่ยงของพม่าเป็นเวลาเช้าของเมืองพราหมณ์  สมเด็จพระพุทธเจ้าเกิดในแผ่นดินพราหมณ์  บัญญัติให้พระฉันเช้าเพลในแผ่นพราหมณ์ต่างหาก  ก็ที่เมืองนี้พระสงฆ์จะมาฉันเช้าฉันเพลตามที่นี้ผิดจากพุทธบัญญัติไป  จะต้องให้ฉันตรงวันเวลาที่เมืองพราหมณ์จึ่งจะสมควร”    ครั้นฟังความดังนั้น  จักไกแมงจึงคิดว่า  “นาฬิาเขาก็ตั้งเอาเวลาเที่ยงเป็นเช้า  ก็เห็นด้วยอาจารย์แขก”   จึงมีหมายประกาศ   “ให้พระฉันเช้าเวลาเที่ยง ฉันเพลเวลาพลบค่ำ”

          สมีเคียนอูให้การต่อไปอีกว่า   “แลที่เมืองพม่านั้นมักถือวิปริตต่าง ๆ  เมื่อโบราณขึ้นไปไม่ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดทรงเห็นว่าพระสงฆ์ในแขวงเมืองอังวะแลเมืองขึ้นเมืองอังวะบวชอยู่มากกว่ามาก  จะกะเกณฑ์ทัพศึกราชการก็ได้ไพร่พลน้อยไป  จึ่งประกาศให้พระสงฆ์หนุ่ม ๆ สึกออกเสีย  ครั้งนั้นมีขุนนางกราบทูลว่า  จะทำดั่งนั้นขึ้น  พระสงฆ์และญาติโยมก็จะได้ความเดือดร้อนไปทั่วทั้งแผ่นดิน  ขอให้หมายประกาศว่า  พวกผู้หญิงที่นุ่งผ้าถุงอยู่นั้น  ให้แปลงนุ่งเป็นผ้าชายประจบกันพอปิดความละอาย  ถ้าผู้ใดขืนนุ่งผ้าถุงจะเอาตัวเป็นโทษ  ถ้าทำได้ดังนี้เห็นพระสงฆ์จะสึกออกมาเองไม่ต้องกดขี่ให้สึก  เจ้าอังวะก็ทรงเห็นด้วย  จึงประกาศให้หญิงพม่า  มอญ  ลาว  ทวาย  แลหัวเมืองขึ้นทั้งปวง  นุ่งผ้าแวบให้หมดจงทั่ว  ครั้งนั้นพระสงฆ์สึกออกมาเป็นอันมาก”

          * ท่านผู้อ่านครับ  คำให้การสมีเคียนอู่  ภิกษุชาวพม่าหรือชาวทวายนั้น  ฟังแล้วดูเป็นเรื่องขบขันอยู่มากทีเดียว  ยังจำได้ว่า  มีพระภิกษุชาวพม่าหนีเข้าเมืองไทยแล้วเปิดเผยว่า  พระเจ้าปะดุงทรงเสียพระสติ  ไม่รู้ว่าไปจำมาจากคัมภีร์ไหนที่บอกว่า  อายุพระพุทธศาสนามีเพียง ๕๐๐ ปี  เมื่อมาถึงยุคของพระองค์นั้นอายุพระพุทธศาสนาได้สิ้นไปแล้ว  พระภิกษุที่บวชหลังจาก พ.ศ. ๕๐๐ ปี  ถือว่าญัติไม่ขึ้น  เพราะอายุพระพุทธศาสนาสิ้นไปแล้ว  พระองค์จึงทรงสร้างพระพุทธรูป  และรูปพระอรหันต์ขึ้นมาให้ผู้คนกราบไหว้บูชาและทำทานกัน  อ้างว่าจะได้บุญ  หากทำทานแก่ภิกษุจะไม่ได้บุญ  เพราะภิกษุเหล่านั้นญัติไม่ขึ้น  ไม่ได้เป็นภิกษุแล้ว  ทั้งยังประกาศว่าใครจะบวชเล่าเรียนอยู่ก็ได้  แต่อย่ารับอาหารบิณฑบาตจากญาติโยม  ขอให้ทำนาทำไร่หาเลี้ยงชีพเอาเอง  คำให้การของภิกษุพม่าดังกล่าวนั้นก็ดูเป็นเรื่องน่าหัวเราะมากอยู่แล้ว  คราวนี้มาพบคำให้การของพระเคียนอู่เข้าอีกก็ยิ่งเป็นเรื่องน่าขำมากขึ้น

          พระเคียนอูมิได้บอกว่าพระเจ้าปะดุงเสียพระสติ  แต่ท่านบอกว่า  หลานชายของพระเจ้าปะดุง  คือ  จักไกแมงอินแซะมหาอุปราช  โอรสของจันกาสุริยอินแซะมหาอุปราช  โอรสพระเจ้าปะดุง  ครั้นได้เป็นพระเจ้าอังวะสืบต่อพระเจ้าปะดุงแล้ว  จักไกแมงก็มีพระสติคลุ้มดีคลุ้มร้าย  เชื่ออาจารย์แขกจากอินเดียว่า  พระวินัยของพระภิกษุสงฆ์เป็นพุทธบัญญัติ  คือข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นใช้กับพระพภิกษุ  เฉพาะข้อห้ามที่มิให้บริโภคอาหารในเวลาวิกาลนั้น  คำว่า  วิกาล  หมายถึงตั้งแต่เวลาเที่ยงแล้วไปจนถึงรุ่งขึ้นวันใหม่  หมายความว่า  พระภิกษุจะฉันอาหารได้แต่ในเวลาตั้งแต่ได้อรุณของวันใหม่ไปจนถึงเวลาเที่ยงวัน  หลังจากนั้นถ้าฉันอาหารแล้วต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์

          ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่ออาจารย์แขกถวายพระพรว่า   “เวลาเที่ยงของไทยเป็นเวลาเช้าของเมืองพม่า  เวลาเที่ยงของเมืองพม่าเป็นเวลาเช้าของเมืองพราหมณ์   คืออินเดีย  พระพุทธเจ้าเกิดในอินเดีย  และบัญญัติวินัยขึ้นในอินเดีย  พระภิกษุพม่าฉันเช้าเพลไม่ตรงเวลาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยไว้”   พระเจ้าจักไกแมงทรงเห็นด้วยกับคำของอาจารย์แขก  จึงประกาศให้พระภิกษุพม่าฉันอาหารเช้าในเวลาเที่ยง  และฉันอาหารเที่ยงในเวลาพลบค่ำ  เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องขำขันได้เรื่องหนึ่ง

          อีกเรื่องหนึ่งพระเคียนอูให้การว่า  พระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์หนึ่งจำไม่ได้แล้วว่าเป็นพระองค์ใด  เพราะเป็นเรื่องโบราณนานมาแล้ว  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เห็นว่าชายหนุ่มในเมืองพม่าพากันบวชเสียเป็นจำนวนมาก  เวลาจะเกณฑ์ออกรบทัพจับศึกก็ได้ไพร่พลน้อย  จึงประกาศให้พระภิกษุหนุ่มพากันสึกเสีย  อำมาตย์คนหนึ่งค้านว่าไม่ควรบังคับให้พระหนุ่มสึก  เพราะสร้างความเดือดร้อนแก่พระสงฆ์และญาติโยม  ควรบังคับให้หญิงพม่าเลิกนุ่งผ้าถุง  ให้นุ่งผ้าชายประจบกันพอปิดความละอาย  แล้วพระหนุ่มจะสึกเอง  พระเจ้าแผ่นดินเห็นด้วย  จึงประกาศให้ผู้หญิงพม่านุ่งผ้าแบบแว้บ ๆ แวม ๆ  แล้วก็ได้ผล  พระหนุ่มพากันสึกออกมาเป็นจำนวนมากทีเดียว  ทั้งนี้ก็เพราะเห็นแว้บ ๆ แวม ๆ แล้วตบะแตก  ผ้าเหลืองร้อน  ปลงไม่ตก  เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องขำขันที่สุด  จากพระเคียนอู  จะมีเรื่องราวต่อไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิฑภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, ตุลาคม, 2562, 10:17:20 PM
(https://i.ibb.co/GCCvvXF/533578-10151861028759638-1804335574-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- "อ้ายสาเกียดโง้ง"  เป็นกบฏ -

เกิดกบฏเล็กน้อยศึกไม่หนัก
จำปาศักดิ์ในเขตประเทศสยาม
เมื่อ“อ้ายสาเกียดโง้ง”ข่าเห็นงาม
ร่วมคุกคามครองเมืองอย่างง่ายดาย

ปราบไม่ยากจับอ้ายสามาคุมขัง
แล้วทรงตั้งเจ้าเมืองใหม่เปลี่ยนเชื้อสาย
ให้บุตรเจ้าอนุวงศ์หนึ่งองค์ชาย
เป็นเจ้านายจำปาศักดิ์จากนั้นมา


          อภิปราย ขยายความ..............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มาให้อ่านถึงเรื่องราวของการเริ่มทำไมตรีกับชาติฝรั่งชาวโปรตุเกส ณ เมืองมาเก๊า  แล้วต่อด้วยเรื่องที่พระเคียนอูชาวพม่านำข่าวมาเปิดเผยถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าปะดุงแห่งอังวะ  และพระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่ทรงมีพระสติคลุ้มดีคลุ้มร้าย  ให้เปลี่ยนแปลงเวลาฉันอาหารของพระภิกษุในพม่า  เป็นการฉันอาหารเช้า  คือมื้อแรกของวัน  ในเวลาเที่ยง  แล้วฉันอาหารเพลในเวลาพลบค่ำ  ความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ยังมีอีกหลากเรื่องราว  มาตามดูกันต่อไป  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกเรื่องราวต่อไปอีกว่าดังนี้

          * “ ณ วันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔  เพี้ยสุพรรณมาศ  เพี้ยจันทวงศ์  ถือศุภอักษรเจ้าจำปาศักดิ์ลงมาถวายความในศุภอักษรนั้นมีว่า

           “อักษรสุนทรวรราชกถาสัมปัตตาภิรมย์  พรหมสุจริตวิสุทธิเสน่หา  ปรมาพิทธยาศัย  ในเจ้านครจำปาศักดิ์  ขอบอกปฏิบัติมาให้ทราบว่า  อ้ายสาเกียดโง้งลาวตั้งตัวเป็นผู้วิเศษมีบุญ  สำแดงวิชาให้พวกข่าเห็น  พวกข่าสาลวัน  ข่าคำทอง  ข่าอัตปือ  เข้าเกลี้ยกล่อมอ้ายสาเกียดโง้ง  ประมาณแปดพันคนยกมาตั้งอยู่ ณ ทุ่งนาทวา  ไกลเมืองจำปางศักดิ์ทางสามคืน  เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือนสามขึ้นแปดค่ำ  ข้าพเจ้าให้ท้าวเพี้ยคุมไพร่ข้ามฟากไปตั้งอยู่บ้านพะโพ  ได้รบกันครั้งหนึ่ง  เหลือกำลังรับไม่ได้  ถอยข้ามมาตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงตะวันออก ณ วันเดือนสามขึ้นเก้าค่ำ  อ้ายสาเกียดโง้งยกเข้ามาตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำใกล้เมืองจำปาศักดิ์  ข้าพเจ้าแต่งให้เจ้าสุวรรณสาร  เพี้ยเมืองกลาง  เพี้ยหมื่นนา  เพี้ยไชยภาพ  เป็นแม่ทัพ  กับท้าวเพี้ยคุมไร่พันเศษ  ยกไปตั้งฝั่งน้ำโขง  ให้ลาดตระเวนทางบกทางเรือ

          ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดีเดือนสามขึ้นสิบสองค่ำ  อ้ายสาเกียดโง้งยกข้ามน้ำมา  คนประมาณหกพันเศษ  จุดเผาเมืองจำปาศักดิ์  ผู้คนแตกกระจัดกระจาย  ข้าพเจ้าคอยท่ากองทัพเมืองอุบลราชธานี  เมืองยโสธร  เมืองเขมราฏ  ก็ไม่มา  ไพร่พลที่เมืองจำปาศักดิ์น้อยนัก  ข้าพเจ้าเห็นจะต่อสู้มิได้    ณ วันศุกร์  เดือนสามขึ้นสิบสามค่ำ  อ้ายสาเกียดโง้งยกเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองจำปาศักดิ์  ข้าพเจ้าพาครอบครัวหนีขึ้นมาอยู่บ้านเจียม  แขวงเมืองอุบลเมืองเขมราฏต่อกัน”

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในหนังสือเจ้าจำปาศักดิ์ดังนั้น  จึงมีตราโปรดให้เจ้าพระยานครราชสีมา กับเจ้าอนุเมืองเวียงจันท์  ร่วมกันยกทัพไปจับอ้ายสาเกียดโง้ง  อ้ายสาเกียดโง้งพยายามสู้รบ  แต่ก็สู้ไม่ได้จึงถูกจับตัวได้  แล้วถูกจำส่งตัวเข้ากรุงเทพมหานคร  พร้อมกับครอบครัวข่าอีกเป็นอันมาก  อ้ายสาเกียดโง้งนั้นให้จำคุกไว้  แต่พวกครอบครัวข่านั้นโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง  ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางบอน  จึงเรียกว่า  ข่าตะพุ่นหญ้าช้าง  มาจนทุกวันนี้  ส่วนเมืองจำปาศักดิ์นั้น  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  ให้ราชบุตรเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์ไปเป็นเจ้าเมือง

          {ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  นครจำปาศักดิ์  เป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์  ผู้ครองเมืองนี้ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงเทพมหานคร  เมืองนี้อยู่ในลาวตอนใต้สุดติดต่อกับเขมร  นักประวัติศาสตร์โบราณคดีเชื่อกันว่าเป็นที่กำเนิดของเขมร  กล่าวคือผู้นำหรือประมุขเมืองจำปาศักดิ์เรียกวงศ์ของตนว่า  “จันทรวงศ์”  นับถือพระจันทร์ (พระแข)  ภายหลังธิดาของกษัตริย์จันทรวงศ์ได้อภิเศกกับเจ้าชายใน  “ไศเลนทรวงศ์”  ซึ่งนับถือพระอาทิตย์  ตั้งเมืองอยู่บริเวณเขาพระวิหาร  โอรสที่เกิดจากเจ้าหญิงจันทรวงศ์แห่งจำปาศักดิ์ กับเจ้าชายไศเลนทรวงศ์  ได้สัญชาติใหม่ว่า  “ขอม”  เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวที่ยังหาข้อยุติไม่ได้  จึงขอละไว้ก่อนก็แล้วกัน}

          * เมืองจำปาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่าในยุคนั้น  เกิดมีชายชาวลาวคนหนึ่งชื่อ อ้ายสาเกียดโง้ง  ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ  มีชาวข่าเคารพนับถือมาก  จนเหิมเกริมถึงขนาดรวบรวมกำลังเป็นกองทัพ  ยกเข้าตีเมืองจำปาศักดิ์ได้สำเร็จ  เจ้าเมืองหนีไปอยู่บ้านเจียม (โขงเจียม) ในเขตเมืองอุบลราชธานี  แล้วมีหนังสือกราบทูลเรื่องราวเข้ากรุงเทพมหานคร  เจ้าเมืองจำปาศักดิ์คนนี้เห็นจะเป็นคนอ่อนแอ  เพราะหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตรัสสั่งให้เจ้าพระยานครราชสีมา  กับ  เจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์  ยกกำลังไปปราบปรามอ้ายสาเกียดโง้งสำเร็จแล้ว  แทนที่จะทรงตรัสให้เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์คนเดิมกลับไปครองเมืองดังเก่า  พระองค์ก็ไม่โปรด  แต่กลับไปตั้งให้ราชบุตรองค์หนึ่งของเจ้าอนุวงศ์ไปครองเมืองจำปาศักดิ์แทน  อ้ายสาเกียดโง้งนั้นแม้จะมีความผิดหนักก็มิได้ทรงให้ประหารชีวิต  เป็นแต่ให้จำคุกไว้เท่านั้น  พวกข่าบริวารของอ้ายสาเกียดโง้งก็ลงโทษเพียงให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง  โดยให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบบางบอน  เรียกพวกเขาว่า   “ข่าตะพุ่นหญ้าช้าง”   ปัจจุบันยังมีหลงเหลืออยู่ในแถบบางบอนบ้างไม่ก็สุดรู้ได้  ในบันทึกพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวต่อไปว่า

           “ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง โทศก ศักราช ๑๑๘๒ (พ.ศ. ๒๓๖๓)  พระเจ้าแผ่นดินโปรตุกัน  ให้เจ้าเมืองงัวโครง  ขอสัญญาทางพระราชไมตรีฝ่ายกรุงเทพมหานคร  เป็นสัญญา ๒๓ ข้อ  มอบให้กาลลดนำเข้ามา  และขอให้กาลลดเป็นกงศุลเยเนราล  และขอที่ตั้งบ้านเรือนให้กาลลดอยู่ได้ปักเสาธงด้วย  แล้วขอให้ท่านเสนาบดีตริตรองดูข้อสัญญาทุก ๆ ข้อ  ข้อไรที่ไม่ชอบใจก็ให้แก้ไขตามชอบใจ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯพระราชทานให้กาลลดอยู่บ้านที่องเชียงสือเคยอยู่แต่ก่อน  ซึ่งกงสุลโปรตุเกสอยู่ทุกวันนี้  แล้วโปรดให้กาลลดกงสุลเยเนราลเป็นที่หลวงอภัยพานิช  พระราชทานเครื่องยศเหมือนอย่างขุนนางในกรุง  หนังสือสัญญานั้นยังหาได้ตรวจไม่  ล่วงมาจนเกิดความไข้ก็งดอยู่”

          พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หั่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, ตุลาคม, 2562, 10:01:36 PM
(https://i.ibb.co/JF7N4LX/pod19ba4u-Qr2-ASyu7gf-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- เกิดไข้โรคระบาดตายเป็นเบือ -

เกิดโรคระบาดแห่มาเป็นห่าใหญ่
คนเป็นไข้ตายเกลื่อนอนาถา
เจ้าแผ่นดินสู้อุบาทว์ด้วยศรัทธา
“อาฏานาฏิยปริตร”พิชิตชัย


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ท่านได้อ่านกัน  ถึงตอนที่ฝรั่งชาติโปรตุเกสขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี   ตั้งสถานกงสุล ณ กรุงเทพมหานคร  โดยให้กาลลดเป็นกงสุลเยเนราล  เขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงอภัยพานิช  แต่งเครื่องยศเหมือนข้าราชการไทย  จากนี้มีเรื่องน่าสลดใจเกิดขึ้นกับกรุงสยาม  ขอคัดลอกคำของท่านเจ้าพระทิพากรวงศ์มาอ่านให้อ่านทั้งหมด  ดังต่อไปนี้

          * “ ครั้นมาถึงเดือนเจ็ดข้างขึ้นเวลายามเศษ  ทิศพายัพเห็นเป็นแสงเพลิงติดอากาศเรียกว่า ธุมเพลิง  เกิดไข้ป่วงมาแต่ทะเล  ไข้นั้นเกิดมาแต่เมืองเกาะหมากก่อน  แล้วข้ามมาหัวเมืองฝ่ายตะวันตก  เดินขึ้นมาจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา  ชาวเมืองสมุทรปราการตายลงเป็นอันมาก  ก็พากันอพยพขึ้นมา ณ กรุงเทพมหานครบ้าง  แยกกันไปทิศต่าง ๆ บ้าง  ที่กรุงเทพมหานครก็เป็นขึ้น  เมื่อ ณ วันเดือนเจ็ดขึ้นหกค่ำไปถึงวันเพ็ญ  คนตายทั้งชายหญิง  ศพทิ้งตามป่าช้าแลศาลาดินในวัดสระเกศ  วัดบางลำพู  วัดบพิตรภิมุข  วัดประทุมคงคา  แลวัดอื่น ๆ ทับกันเหมือนกองฟืน  ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก  แลทิ้งลอยไปในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง  จนพระสงฆ์ก็หนีออกวัด  คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน  ดูน่าอเนจอนาถนัก  ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน  ตลาดก็มิได้ออกซื้อขายกัน  ต่างคนต่างรับประทานแต่ปลาแห้ง  พริกกับเกลือเท่านั้น  น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ปฏิกูลไปด้วยซากศพ”

          * ข้อความเพียง ๑๐ กว่าบรรทัดที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้  แต่ได้เห็นภาพมากจนสุดพรรณนา  คำว่า  “ธุมเพลิง”  แปลว่า  แสงสว่างที่เกิดขึ้นในอากาศทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือคราวนั้นผิดธรรมดา  เป็นลางร้ายที่น่ากลัวยิ่ง  ผลร้ายเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยในทันที  กล่าวคือมีไข้ป่วงมาทางทะเลตะวันตก  ไข้นี้เกิดขึ้นที่เกาะหมาก  คือปีนัง  แล้วข้ามมาทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตก  เข้ามาถึงเมืองสมุทรปราการ  และลามเข้ากรุงเทพมหานคร

          คำว่า  “ไข้ป่วง”  ไม่ใช่ลมป่วง  หากแต่เป็น  “อหิวาตกโรค”  คือโรคที่มีพิษร้ายเพียงพิษงู  โรคนี้น่าจะเกิดมีขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรก  เพราะเป็นโรคที่คนไทยยังไม่รู้จัก  ไม่รู้วิธีต่อต้านรักษา  เรียกได้ว่า  “ใครพบโรคนี้ก็มีแต่ตายกับตายเท่านั้น”  จึงปรากฏภาพสยดสยองขึ้นในกรุงเทพมหานคร  วัดต่าง ๆ เต็มไปด้วยซากศพ  ตามวัดต่าง ๆ คือที่วัดสระเกศ( วัดสระแก)  วัดบางลำพู (วัดสังเวชฯ)  วัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน)  วัดประทุมคงคา เป็นต้น  ทำการเผาไม่ทันก็เอาศพกองสุมกันไว้จนดูราวกะกองฟืน

          เฉพาะที่วัดสระเกศนั้นกล่าวกันว่ามีศพมากที่สุด  กองสุมกันในป่าช้าและศาลาดิน  เน่าเหม็นคลุ้งชวนสะอิดสะเอียนยิ่งนัก  นกแร้งได้กลิ่นซากศพก็พากันบินมาจากทิศต่าง ๆ ลงกินซากศพเป็นฝูงใหญ่  แต่ก็กินไม่รู้หมด  ด้วยเหตุนี้วัดสระเกศจึงถูกกล่าวขานกันว่า  “อีแร้งวัดสระเกศ”  มาจนถึงปัจจุบัน

          นอกจากจะเอาศพไปเผาในวัด  และทิ้งในวัดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯแล้ว  ยังเอาซากศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง  ซากศพลอยระเกะระกะบวมพองขึ้นอืด  เน่าเหม็น  มีหนอนชอนไช  และปลาตอดกินกันเป็นอันมาก  น้ำในแม่น้ำลำคลองกินไม่ได้  เพราะสกปรกด้วยซากศพ  ถนนหนทางแทบไม่มีคนเดิน  ตลาดไม่ปิดก็เหมือนปิด  เพราะไม่มีผู้คนออกหาซื้อเข้าของ  ต่างคนต่างก็กินปลาแห้ง  พริกกับเกลือ  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้ภาพอีกภาพหนึ่งว่า   “จนพระสงฆ์ก็หนีออกวัด  คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน”   ทำนองว่าในวัดเป็นเหมือนวัดร้างไม่มีพระอยู่ประจำ  เพราะพากันหนีออกไปหมด  ในบ้านก็เป็นเหมือนบ้านร้าง  ไม่มีคนอยู่  เพราะพากันหนีออกไปหมด  แต่ท่านมิได้บอกว่า  ทั้งพระและคฤหัสถ์นั้นพากันหนีวัดหนีบ้านไปอยู่ที่ไหนบ้าง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า   “ความไข้ซึ่งบังเกิดทั่วไปแก่สมณชีพราหมณ์และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินครั้งนี้เพื่อกรรมของสัตว์  ใช่จะเป็นแต่ที่กรุงเทพมหานครก็หาไม่  เมืองต่างประเทศแลเกาะหมากเมืองไทรก็เป็นเหมือนกัน  ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไขด้วยคุณยาเห็นจะไม่หาย”

          ครั้นมีพระราชดำริดังนั้นแล้ว  จึงให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร  ขึ้นเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗  ยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนเป็นเวลา ๑ คืน  แล้วเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุ  ทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทราย  ประพรมน้ำพระปริตทั้งทางบกทางเรือ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสมาทานศีล  ทรงศีลอยู่อย่างเคร่งครัด  พระราชวงศานุวงศ์ที่มีกรมและไม่มีกรม  รวมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในก็โปรดสั่งมิให้เข้าเฝ้า  ให้งดกิจราชการเสียมิให้ว่าให้ทำ  ให้ทุกคนตั้งใจสวดมนต์ทำบุญให้ทาน  บรรดาไพร่ซึ่งนอนเวรประจำซองรักษาพระราชวังทั้งชั้นในและชั้นนอก  ก็ให้เลิก  ปล่อยไปบ้านเรือน  โดยทรงพระเมตตาว่า   “ประเพณีสัตว์ทั่วกัน  ภัยมาถึงก็ย่อมรักชีวิต  บิดามารดาภรรยาและบุตร  ญาติพี่น้องก็เป็นที่รักเหมือนกัน  จะได้ไปรักษาพยาบาล  ที่ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษามิได้ไปนั้น  ก็พระราชทานเงินตราให้ความชอบ  แลให้จัดซื้อปลาแลสัตว์สี่เท้าสองเท้าที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาด  ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร  แล้วทรงปล่อย  สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก  คนโทษซึ่งต้องจำเวรอยู่นั้นก็ให้ปล่อยออกสิ้น  ยกเว้นแต่พม่าข้าศึก  อีกทั้งยังทรงห้ามอาณาประชาราษฎรมิให้ไปเที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งสัตว์น้ำแลสัตว์บก  ให้อยู่แต่บ้านเรือน  ถ้ามีเรื่องร้อนจำเป็นก็ให้ไปได้”

          และด้วยเดชะอานิสงส์ศีลและทาน  พระบารมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งทรงพระมหากรุณาแด่อาณาประชาราษฎร  ทรงให้กระทำดังกล่าวแล้วนั้นมาจนถึงวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗  ความไข้ก็ระงับเสื่อมไปโดยเร็ว  บรรดาศพที่ยังหาญาติจะฝังจะเผามิได้นั้น  ทรงพระราชทานเงินค่าจ้างและฟืนให้พวกพม่าและนักโทษช่วยกันเก็บเผาจนสิ้น  ในส่วนพระบรมราชวงศานุวงศ์  และพระองค์เจ้าหญิง  มี ๒ พระองค์สิ้นพระชนม์  ส่วนข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในที่เป็นผู้ใหญ่นั้นเป็นปกติดี  ไม่มีเจ็บตาย  โรคระบาดใหญ่คราวนั้นปรากฏว่า  ผู้หญิงตายมากกว่าผู้ชายสองส่วน

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับท่านผู้อ่าน  การสวดอาฏานาฏิยสูตรและการรักษาศีลของพระเจ้าแผ่นดิน  บันดาลให้โรคห่าใหญ่ที่เกิดระบาดขึ้นมานั้น หายไปได้  คำว่า   “อาฏานาฏิยสูตร”  เป็นการกล่าวถึงเรื่องราวของยักษ์  ท่านผู้อ่านไม่น้อยกระมังที่เคยเข้าร่วมพิธี   “สวดภาณยักษ์”   บทสวดในพิธีนั้นแหละครับคือ  อาฏานาฏิยสูตร  มีรายละเอียดอย่างไรไม่ขอแจงในที่นี้  เพราะเป็นเรื่องยาวเกินไป  เอาเป็นว่าให้รู้ที่มาของการสวดภาณยักษ์นั้นก็มาจากพิธีสวดอาฏานาฏิยสูตร  ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงทำพิธีขึ้นเพื่อขับไล่โรคร้ายที่ระบาดในกรุงเทพมหานคร  คร่าชีวิตคนไทยตายเป็นเบือ  ดังที่ท่านเจ้าพระทิพากรวงศ์บันทึกไว้ตามที่ได้อ่านกันแล้ว  เรื่องจะเป็นอย่างไรหรือพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, ตุลาคม, 2562, 10:19:31 PM
(https://i.ibb.co/XbSbZ5z/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พระญาณสังวรครองวัดมหาธาตุ -

เกิดคดี“พระตุ๊ด”เรื่องอุจาด
พระชื่อ“อาด”ปรากฏมียศใหญ่
“รักร่วมเพศ”ประพฤติผิดวินัย
จึงมิให้เป็น “สังฆราชา”

ถูกถอดยศปลดตำแหน่งเนรเทศ
เป็นเหมือนเปรตร่อนเร่ไร้เคหา
แล้วโปรดเกล้าฯดำรัสอาราธนา
พระนามว่า“ญาณสังวร”เข้าอยู่แทน


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ที่ได้บันทึกเรื่องราวซึ่งเกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพมหานคร  ผู้คนล้มตายลงเป็นเบือ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแก้ด้วยการจัดพิธีอาฏานาฏิยสูตร  และทรงศีล  จนโรคร้ายนั้นสงบระงับไป  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันไปแล้ว  วันนี้มาดูเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกถึงเรื่องควันหลงของพิธีอาฏานาฏิยสูตรไว้ด้วยว่า   “คนครั้งนั้นยังโง่เขลามาก  พูดซุบซิบกันว่า  เพราะไปเอาก้อนศิลาใหญ่ ๆ ในทะเลมาก่อเขาในพระราชวัง  เจ้าโกรธ  ผีโกรธ  จึ่งบันดาลให้เป็นไข้เจ็บดังนี้  ไม่เคยพบไม่เคยได้ยิน  มิได้มีปัญญาพิจารณาเห็นว่า  โรคอันนี้มีด้วยกันทั่วทั้งพิภพ  ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าก็มีขึ้นครั้งหนึ่งที่เมืองไพสาลี  ข้างแผ่นดินฮินดูสตานเป็นต้นเหตุที่จะเกิดโรคอันนี้เนือง ๆ  เกิดขึ้นแล้วก็เป็นต่อไปเมืองนั้นบ้างเมืองนี้บ้าง  เมืองใดที่จะไม่พบโรคอย่างนี้ไม่มีเลย

          เมื่อปีขาลสัมฤทธิศกที่เมืองพม่าก็เป็นขึ้น  แต่แผ่นดินข้างยุโรปได้ยินว่าเป็นเนือง ๆ มากบ้างน้อยบ้าง  แผ่นดินจีนนั้นเป็นห่าง ๆ  การแผ่นดินนั้นนักปราชญ์เขาคิดอยู่เสมอ  ก็ไม่ได้เหตุผลว่าเป็นขึ้นด้วยเหตุอะไร  เห็นอยู่แต่โรคนี้ชอบกับของโสโครกโสมมมักตายมาก  คนที่สะอาดเหย้าเรือนไม่เปื้อนเปรอะก็ตายน้อย  เพราะฉะนั้นชาวประเทศยุโรปจึงถือความสะอาดนัก”

           “ในขณะที่โรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดหนักในกรุงเทพมหานครนั้น  ทูตญวนได้ถือราชสาส์นพระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่เข้าแจ้งว่า  พระเจ้ายาลองหรือองเชียงสือได้สวรรคตแล้ว  และทูตญวนที่เข้ามาครั้งนั้นก็ถูกโรคร้ายคร่าชีวิตไปหลายคน  ครั้นโรคร้ายระงับหายไปเมื่อเดือน ๗ แล้ว ถึง ณ เดือน ๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงแต่งให้พระยาทิพโกษาเป็นราชทูต  พระจิตรเสน่ห์เป็นอุปทูต  หลวงสำแดงฤทธิรงค์เป็นตรีทูต  เชิญพระราชสาส์น  คุมสิ่งของทรงยินดีไปถึงพระเจ้ากรุงเวียดนามพระองค์ใหม่

          ในเดือน ๑๑ ปีเดียวกันนั้น  พระวันรัต อาด  ซึ่งแห่มาแต่วัดสระเกศ  ให้อยู่ ณ วัดมหาธาตุ  เพื่อรอการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น  ต้องอธิกรณ์ขึ้น  กล่าวคือ  มีผู้ฟ้องร้องว่า  ท่านพอใจลูบคลำเล่นของที่ลับของพวกศิษย์รุ่นหนุ่มหล่อ ๆ สวย ๆ  จึงโปรดให้ตระลาการชำระ  ได้ความจริงตามนั้น  แม้ไม่ถึงปาราชิก  ก็ทรงเห็นว่ามัวหมองอยู่  ไม่เหมาะสมที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช  จึงให้ถอดเสียจากที่พระวันรัตแล้วเนรเทศเสียจากวัดมหาธาตุ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒  โปรดให้แห่พระญาณสังวรเถร  วัดพลับ (ราชสิทธาราม)  มาอยู่วัดมหาธาตุ

          พระญาณสังวรเถรองค์นี้  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ให้รายละเอียดว่า  ท่านมีนามเดิมว่า  สุก  เดิมอยู่วัดท่าหอยคลองคูจาม  กรุงเก่า  เป็นพระวิปัสสนาจารย์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอาราธนาให้มาครองวัดพลับ (ราชสิทธาราม)  เป็นที่เคารพนับถือในพระราชวงศ์มาแต่รัชการที่ ๑  เป็นสมเด็จพระญาณสังวรในสมัยรัชกาลที่ ๒

          * สมเด็จพระญาณสังวร  สังฆราชพระองค์นี้นะครับท่านผู้อ่าน  ว่ากันว่าพระองค์เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระที่มีฌานและญาณแก่กล้า  มีพระเมตตาธรรมสูงสุดยากที่จะหาผู้เสมอเหมือนได้ในยุคนั้น  ว่ากันว่าบรรดาสัตว์ที่ดุร้ายและเปรียวทั้งหลายนั้น  เมื่อพระองค์พบเห็นแล้วจะทำให้คลายความดุร้าย  ความปราดเปรียว  จนเชื่องลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว  ไก่ป่า หรือ  ไก่เถื่อน  ที่ไม่มีใครเลี้ยงให้เชื่องได้  เพียงพระองค์เสกข้าวให้กินครั้งเดียว  ไก่เถื่อนนั้นก็กลายเป็นไก่เชื่องเหมือนไก่บ้าน  จนคนทั่วไปเรียกฉายาของพระองค์ว่า   พระสังฆราชไก่เถื่อน   จนถึงปัจจุบัน

          เรื่อง “พระตุ๊ด” มิใช่มีดังที่เป็นข่าวในยุคปัจจุบัน  เรื่องทำนองนี้มีมาแต่ครั้งก่อนพุทธกาล  ครั้งพุทธกาล  เรื่อยมาจนปัจจุบัน  และจะมีต่อไปในอนาคต  เป็นโลกียวิสัยของปุถุชน (ผู้มีกิเลสหนาแน่น)  ตกมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ก็มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น  โดยมีผู้กล่าวหาว่า  พระวันรัตน อาด  วัดสระเกศ  ที่แห่มาครองวัดมหาธาตุรอการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ท่านมีความกำหนัดพอใจรักใคร่ในพระ  เณร  ศิษย์ของท่านที่รูปหล่อ  หน้าตาดี  เรียกเข้าปรนนิบัติ  นวดเฟ้น  แล้วท่านก็กอดจูบลูบคำอวัยวะเพศ  เมื่อถูกกล่าวหาแล้ว  สอบสวนได้ความเป็นจริง  จึงโปรดเกล้าฯให้ถอดจากสมณะศักดิ์  และเนรเทศให้ไปจากวัดมหาธาตุเสียในที่สุด

          เรื่องราวจะมีว่าอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43963#msg43963)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44271#msg44271)


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทบ
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, ตุลาคม, 2562, 11:16:31 PM
(https://i.ibb.co/YB8K3LC/vu-chua-phuc-dung-2.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44142#msg44142)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44436#msg44436)                   .

- มินมางประกาศแผ่นดินใหม่ -

องเชียงสือสิ้นไปเจ้าไม่ว่าง
องมินมางสืบต่อเป็นปึกแผ่น
จักรพรรดิยาลองครองดินแดน
ไม่ขาดแคลนข้าวปลาประชาชน

ไมตรีก่อต่อไทยไว้ดังเก่า
แม้มีเค้าบาดหมางอย่างสับสน
ทั้งเขมรลาวญวนล้วนพิกล
ไทยต้องทนคบค้ามาเรื่อยมานาน


          อภิปราย ขยายความ...............

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านความถึงตอนที่  พระวันรัตน์วัดมหาธาตุว่าที่สมเด็จพระสังฆราชต้องคดีอนาจารศิษย์  จนถูกถอดถอนและเนรเทศ  แล้วแห่พระญาณสังวร สุก  วัดพลับมาครองวัดมหาธาตุ  เตรียมสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบไป

          วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับเดิมกันต่อนะครับ  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกเรื่องต่อไปว่า  เมื่อความไข้สงบลงแล้ว  ถึงเดือน ๑๒  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เสนาบดีประชุมตรวจดูข้อสัญญาที่พระเจ้าโปรตุเกสมอบให้กาลลดถือมาให้นั้น  ดูว่าข้อใดไม่ชอบใจก็แก้ไขเสียบ้าง  แล้วจึงเขียนเป็นอักษรไทยฉบับหนึ่ง  อักษรโปรตุเกสฉบับหนึ่ง  มีเนื้อความตรงกัน  ประทับตราแผ่นดินแล้วให้ส่งออกไปเมื่อวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒  การทำสัญญากันแต่ก่อนไม่เหมือนทุกวันนี้  เป็นแต่เขียนข้อสัญญายอมกัน  ประทับตราส่งออกไปแล้วเป็นอันใช้ได้

          ครั้น ณ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒  คณะทูตไทยที่เดินทางไปญวน  คือ  พระยาทิพโกษา  พระจิตรเสน่ห์  หลวงสำแดงฤทธิรง  เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร  พระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระราชสาส์นตอบเข้ามาฉบับหนึ่งใจความว่า

           “กรุงพระมหานครศรีอยุธยาให้ทูตานุทูตคุมสิ่งของออกไปทรงยินดี  แลช่วยในการพระศพนั้น  กรุงพระมหานครศรีอยุธยามีพระทัยไมตรีเสมอต้นเสมอปลาย  ขอบพระทัยยิ่งนัก  บัดนี้ได้จัดทองคำห้าสิบตำลึงจีน  เงินหกร้อยตำลึงจีน  มอบให้ทูตคุมเข้ามาทรงยินดี  ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาอยู่เย็นเป็นสุข  จะได้เป็นทางพระราชไมตรีสืบไป”   ทูตกลับมาครั้งนั้น  ได้จดหมายประกาศแผ่นดินใหม่เข้ามาด้วยมีความว่า

           “หนังสือประกาศด้วยเรามีกตัญญูรู้คุณแก่บิดามารดา  จึงได้เป็นเจ้าของสำหรับได้เซ่นในที่ไว้อักษรจากฤกชื่อปู่แลบิดาญาติทั้งปวงในหอท้ายเหมี้ยว  ได้เป็นใหญ่แก่อาณาประชาราษฎรในแว่นแคว้นแดนเมืองญวน  เดชะที่เราถือกตัญญูจึ่งได้สมบัติซึ่งเป็นสินมรดกตามบิดาเราสั่งโดยง่าย  มิได้เหน็ดเหนื่อยสิ่งใด  อุปมาเหมือนหนึ่งสรวมเสื้อแต่งตัวเดินสบายเข้ามาครองราชสมบัติ  ทั้งนี้ด้วยเทพยุดาเอ็นดูเรา  อันราชสมบัติแล้วก็คงจะได้แต่แก่คนมีบุญ  ซึ่งท่านแต่ก่อนได้รักษาแผ่นดินมาหลายชั่วคน  กำหนดถึงสองร้อยเศษปี  ครั้นตั้งแต่สองร้อยเศษปีมาแล้ว  สมบัติ ณ เมืองญวนกระจัดกระจายไป  อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน  ว้างข่าวบิดาเราทรงพระอุส่าห์ไม่คิดเหน็ดเหนื่อย  ออกน้ำพักน้ำแรงปราบข้าศึกศัตรูเมืองญวนจึงได้กลมกล่อมปรกติราบคาบ  เหมือนหนึ่งสร้างแผ่นดินใหม่  อันพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ซึ่งได้บำรุงเมืองมาแต่ก่อนเป็นอันมาก  หามีเกียรติยศเหมือนหนึ่งว้างข่าวบิดาเราไม่  อันว้างข่าวบิดาเรานั้นมีบุญดุจหนึ่งลงมาแต่ฟ้า  ครั้นได้เสวยราชแล้วก็ตั้งอยู่ในสัจจเมตตาแก่อาณาประชาราษฎร  ตั้งพระทัยแต่ที่จะบำรุงบ้านเมือง  จะเหน็ดเหนื่อยก็มิได้คิดแก่พระองค์  ทุกข์ร้อนแทนขุนนางแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาได้สิบแปดปี  บัดนี้ท่านสิ้นทุกข์ไปหาที่สบายแล้ว  เหตุทั้งนี้ก็เพราะเทพยุดาให้เป็นไป อุปมาเหมือนหนึ่งภูเขาใหญ่พังลงถ้ำเหว  แลต้นไม้ใหญ่เล็กทั้งปวงก็หวาดไหวสะเทือนสะท้านทั่วกัน ……..”

          ข้อความในประกาศนี้ยังมีอีกยืดยาวซึ่งก็พอสรุปความต่อได้ว่า  เมื่อกล่าวยกย่องสรรเสริญพระราชบิดาแล้ว  กษัตริย์เวียดนามพระองค์ใหม่ (มินมาง)  กล่าวว่า  ได้รับพระเมตตาจากพระราชบิดามอบราชสมบัติให้ครองต่อจากพระองค์  แต่พระองค์ก็วิตกนัก  ด้วยเห็นว่าทรงใหม่ต่อพระราชอำนาจ  ขอให้ขุนนางข้าราชการช่วยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องระเบียบกฎหมาย  แบบแผนธรรมเนียมประเพณี  การบริหารบ้านเมืองสำหรับกษัตริย์  ที่จะรักษาแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข  ในส่วนพระศพพระราชบิดานั้น  ทรงประกาศว่าได้จัดแจงไว้ที่พระศพ  การทั้งปวงเสร็จในเดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ  ได้จารึกพระนามว้างข่าวเชิญเข้าไว้ในหอท้ายเหมี้ยวสำหรับเซ่น  และคำนับพระศพเซ่นสี่ทิศตามธรรมเนียม  กษัตริย์พระองค์ใหม่ของเวียดนามได้ทำพิธีรับราชสมบัติ ณ พระที่นั่งท้ายว้าเดี้ยน  ตั้งศักราชมินมางปีต้น  ทรงยกส่วยสาอากรแก่ราษฎรปีหนึ่ง  พระราชทานเพิ่มเบี้ยแก่เจ้าน้องเจ้าหลานขึ้นเป็นปีละห้าร้อยพวง   เข้าสารปีละห้าร้อยถัง   แล้วให้เลโบนำรายชื่อเชื้อพระวงศ์ที่ยังไม่มียศมาทูลเพื่อตั้งยศต่อไป  จากนั้นก็ทรงตั้งยศเลื่อนยศ  ขุนนางข้าราชการ  ในเมืองและหัวเมืองทั้งปวงตามธรรมเนียม

          พระยาทิพโกษา  กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า  เมื่อไปอยู่ที่เมืองเว้นั้นได้ทราบว่า  เกิดไข้ป่วง (อหิวาตกโรค)  มีคนตายที่เมืองกวางนาม  ๑๐,๐๐๐ เศษ   เมืองกวางงาย ๓,๐๐๐ เศษ   เมืองกุยเยิน ๔,๐๐๐   เมืองภูเวียน ๒,๐๐๐ เศษ  เมืองยะตราง ๑,๕๐๐ เศษ  เมืองบิ้นถุ่น ๑,๕๐๐ เศษ  เมืองไซ่ง่อน ๓๐,๐๐๐ เศษ  เมืองสะมิถ่อ ๑,๐๐๐ เศษ  เมืองล่องโห้ ๒,๐๐๐ เศษ   เมืองแตกเซีย ๓๐๐   เมืองบันทายมาศ ๗๐๐   เมืองเว้ก็ตายถึง ๓๐,๐๐๐   ทรงสดับเหตุโรคระบาดที่เมืองญวนคล้ายกับที่กรุงเทพฯ ดังนั้น  ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย

          * * อ่านพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ มาถึงตรงนี้  ได้ทราบนามขององเชียงสืออีกนามหนึ่งว่า  “ว้างข่าว”  ตามประกาศสรรเสริญของราชโอรสองค์ที่ ๔ นามว่า  “มินมาง”  ซึ่งขึ้นครองแผ่นดินญวน  เป็นพระจักรพรรดิยาลองที่ ๒   พระยาทิพโกษาราชทูตไทย  นำความกราบบังคมทูลด้วยว่า  ในขณะที่อหิวาตกโรคระบาดในเมืองไทยคนตายเป็นเบือนั้น  ในแผ่นดินญวนก็มีโรคนี้ระบาดคนตายมากมาย  หลังจากองเชียงสือวรรคตแล้ว  พระราชโอรสนั่งบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดินญวนสืบแทน  บทบาทพระเจ้ามินมางแห่งราชวงศ์  "เหงียน"  จะมีอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, ตุลาคม, 2562, 10:26:18 PM
(https://i.ibb.co/xs6Sb6Z/img-1485758435-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- เสียงสวดมนต์ในพระราชวัง -

เสียงมโหรีปี่พาทย์ระนาดฆ้อง
เคยกึกก้องกล่อมวังกังวานหวาน
กลับสงบซบเซาเบาเบิกบาน
เกิดเสียงขานคำพระพุทธมนต์

ให้ชาววังซ้อมซักคำนักบวช
แล้วร่วมสวดวันคืนชื่นกุศล
ทรงสดับตรับฟังทั้งเยี่ยมยล
และทุกคนนั้นต่างได้รางวัล


          อภิปราย ขยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระยาทิพโกษาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นราชทูตไปเวียดนาม  ปฏิบัติภาระตามพระราชประสงค์แล้วกลับมาพร้อมกับนำประกาศสรรเสริญพระเจ้ายาลอง องเชียงสือมาถวาย  และกราบทูลว่า  ในประเทศเวียดนามเกิดโรคระบาดเช่นเดียวกันกับกรุงสยาม  มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก  ทรงทราบแล้วมีความสลดพระราชหฤทัยมาก  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านความต่อจากเมื่อวันวานครับ

          * “ มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าศศิธร  กับเจ้าจอมมารดาแมว  หัดเจ้าจอมคนรำสวดมนต์  ด้วยเห็นว่าเคยฝึกหัดสวดมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก    ให้ราชบัณฑิตเข้ามาหัดที่พระทวาร  เจ้าจอมสวดอยู่ในลับแลบนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ  หัดซ้อมจนชำนาญทั้งอักษรแลสังโยค  ครุ  ละหุชัดเจนดีกว่าพระสงฆ์  จัดคนเสียงดีขัดตำนาน  แลสวดได้ทุกสูตรตลอดถึงภาณยักษ์ทั้งสี่ภาณวาร  จนมหาชัยมหาสาร  ก็หัดสวดได้  ที่ไล่เดี่ยวได้ทุกสูตร  กับคนเสียงดังจัดเป็นภาณยักษ์ ๓๐ คน

          ครั้งนั้นสวดได้มากด้วยกัน  จึงโปรดให้แบ่งสวดเป็นพวก  พวกละสูตร  เวลากลางวันทรงซ้อมบนท้องพระโรง  เวลาค่ำเสด็จลงฟังสวดที่โรงละคร  มีการสวดถวายคืนละ ๑ จบบ้าง ๒ จบบ้าง  สวดจบแล้วพระราชทานคนละสลึงทุกคน  ถ้าสวดดีเรียบร้อยไม่ผิดพลั้งก็พระราชทานรางวัลเพิ่มเงินบ้าง  เป็นสิ่งของบ้าง

          การฟังซ้อมสวดมนต์นั้น  ทรงฟังเสมอทุกวันทุกคืน  ซึ่งในภายหลังการเล่นอื่น ๆ ค่อยเสื่อมลง  ถึงคราวพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท  เดือน ๔  ข้างในก็สวดที่โรงละคร  สวดบทพระธรรมจักกัปวัตนสูตร พระมหาสมัยสูตร  พระอาฏานาฏิยสูตรเหมือนกัน

          * * ท่านผู้อ่านครับ  ในพระราชวังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  หลังจากโรคร้ายสงบลงแล้วนั้น  กึกก้องไปด้วยเสียงสวดพระพุทธมนต์ทั้งกลางวันกลางคืน  แต่แทนที่จะเป็นเสียงพระภิกษุสงฆ์สวดพระพุทธมนต์  กลับเป็นเสียงของคฤหัสถ์  ซึ่งมีทั้งเจ้าจอม  ราชบัณฑิต  คนรำ  โดยมีพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าศศิธร  เป็นองค์นำสวด  ด้วยพระนางกับเจ้าจอมมารดาแมว  เคยฝึกหัดสวดมาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว  และบทสวดนั้นก็เป็นสูตรใหญ่ ๆ  เช่น  พระธรรมจักกัปวัตนสูตร  มหาสมยสูตร  อาฏานาฏิยสูตร  เป็นต้น

          มีการเลือกคนเสียงดี   “ขัดตำนาน”  ด้วย  การขัดตำนาน  คือการสวดเดี่ยวในบทนำของพระปริต  พระสูตรต่าง ๆ เช่น บทขัดเจ็ดตำตาน  ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า  “สมันตา จักกวาเลสุ”  หรือ  ผริตตวา.. …สัคเค กาเม.. เป็นต้น  แต่ละสูตรหรือแต่ละตำนานมีบทขัดไม่เหมือนกัน  ผู้สวดบทขัดต้องคัดเลือกเอาคนเสียงดีมาสวดขัด  เพื่อความน่าฟัง  และฟังแล้วรู้สึกขลัง ศักดิ์สิทธิ์

          ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้เลือกคนเสียงดีสวดภาณยักษ์  อันนี้น่าฟังมาก  เพราะการสวดภาณยักษ์นั้นยาก  พระภิกษุที่สวดภาณยักษ์ต้องหัด-ซ้อมให้เสียงเข้ากันและเสียงอยู่ตัว  คนฟังจะรู้สึกว่าได้ยินเสียงยักโข  คือยักษ์ตัวพ่อ  ยักขี คือยักษ์ตัวแม่  และยักษ์ตัวลูก  ยักษ์ตัวเสนาบริพาร (ยักโข วา  ยักขิณี วา  ยักขโปตโก วา  ยักขเสนาย วา...)  สารพัดยักษ์ที่มาร่วมร้อง (กล่าวขาน) อยู่ในสมาคมนั้น  นักสวดภาณยักษ์ที่เป็นยักษ์ตัวพ่อ  ต้องเลือกคนเสียงทุ้มกังวาน  ออกเสียงคำรามจากลำคอฟังแล้วน่าเกรงขาม

          ว่ากันว่านอกจากจะมีการสวดภาณยักษ์  สวดพระธรรมจักรและสูตรอื่น ๆ ดังกล่าวแล้ว   ยังมีการสวดที่ต่างออกไปอีก  คือ  “ลำสวด”  หรือสวดคฤหัสถ์  และ   สวด “โอ้เอ้วิหารลอย”  เป็นต้น

          ยังจำได้ไหมครับว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้แห่พระญาณสังวรเถร สุก  จากวัดพลับมาอยู่วัดมหาธาตุ เมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ นั้น  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกถึงตรงนี้ว่า  “ครั้นมาถึงวันพฤหัสบดีเดือนอ้ายขึ้นสองค่ำ  ได้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรเถรเป็นสมเด็จพระสังฆราชอธิบดีสงฆ์”

          สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้  ขณะมีสมณะศักดิ์เป็นที่พระญาณสังวรเถร  อยู่วัดพลับได้สร้างพระพิมพ์เนื้อผงแจกให้ผู้เคารพนับถือเป็นหลายแบบพิมพ์  เช่นพิมพ์ตุ๊กตา  เป็นต้น  ครั้นเข้าอยู่วัดมหาธาตุฯ และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว  ทรงสร้างพระพิมพ์ (พระเครื่อง) เนื้อผงแบบรูปสี่เหลี่ยม  ด้านหลังองค์พระประทับอักขระขอมว่า  “อรหัง”  แจกจ่ายแก่ผู้เคารพนับถือ  คนทั่วไปเรียกพระพิมพ์นี้ว่า  “สมเด็จอรหัง”  และพระพิมพ์นี้เองที่เป็นรูปแบบสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างขึ้นแจกจ่ายแก่ผู้เคารพนับถือ  จนกลายเป็นพระเครื่องยอดนิยมแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

          เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, ตุลาคม, 2562, 10:19:11 PM
(https://i.ibb.co/qDDMmP7/Untitlesfd-7.jpg) (https://imgbb.com/)

- เตรียมการรับพม่าข้าศึก -

พม่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ไม่นานนัก
เริ่มฟูมฟักสงครามรุกคามขวัญ
ฝ่ายสยามตามดูแล้วรู้ทัน
เตรียมป้องกันด้านทางไว้อย่างดี


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวานที่แล้วได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพมหานคร  ผู้คนล้มตายลงเป็นเบือ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแก้ด้วยการจัดพิธีอาฏานาฏิยสูตร  และทรงศีล  จนโรคร้ายนั้นสงบระงับไป  ในขณะเดียวกันนั้น  โรคร้ายอย่างเดียวกันนี้ก็ได้ระบาดในเวียดนาม  คนญวนล้มตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสลดพระทัย  จึงโปรดให้มีการสวดพระสูตร  พระปริตต่าง ๆ  ในพระราชวังทั้งกลางวันกลางคืนแล้วนั้น  วันนี้มาดูเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไป  ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกความต่อไปอีกว่า.........

          * “เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นั้น  พระยาภักดีสงคราม  สมิงอาทมาทกองลาดตระเวนกรุงเทพมหานคร  ได้ออกไปลาดตระเวน  จับได้นายด่านโบ้ง (นายด่านโป่ง) ชื่อ  มะเยละ  พร้อมด้วยลูกน้องชื่อ  งะจันตน  กับ  งะโค  โดยเจ้าเมืองเมาะตะมะให้คุมไพร่เข้ามาจับคนไป  เพื่อสืบราชการที่ตำบลด่านล่มช้าง  เมื่อส่งตัวนายด่านโบ่งเข้ามาสอบถามแล้ว  พม่าให้การว่า เจ้าอังวะองค์เก่า (ปะดุง) ทิวงคตแล้ว   อินแซะผู้หลาน (จักไกแมง) ได้ราชสมบัติเป็นเจ้าอังวะ  แล้วให้หาเจ้าเมืองมะริด  เจ้าเมืองทวาย  เมืองเชียง  เมืองเกาะละเงิ่ง (เมาะลำเลิง)  ขึ้นไปประชุมปรึกษาราชการจะเข้าตีกรุงเทพมหานคร

          และเมื่อเดือน ๙  สมิงหาญหักค่าย  ซึ่งเป็นรามัญใหม่  หนีความไข้ออกไปเมืองมะริดแล้วบอกแก่พม่าว่า  กรุงเทพมหานครเกิดความไข้ผู้คนล้มตายระส่ำระสายเป็นอันมาก  เจ้าเมืองเมาะตะมะจึงแต่งให้  มะส่วยคา  เจ้าเมืองพังคาน  พร้อมนายไพร่ ๘๓ คน  เข้ามาจับคนทางท่าดินแดงไปสืบ  ถ้าได้ความดังคำสมิงหาญหักค่ายแล้ว  เจ้าเมืองเมาะตะมะ  เจ้าเมืองมะริด  จะขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะ  ให้ยกกองทัพลงมาทางเมืองเมาะตะมะ  เพื่อเข้าตีกรุงเทพมหานครต่อไป

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความดังนั้น  จึงทรงปรึกษาพระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดี  ทุกคนเห็นพร้อมกันกราบทูลว่า  เมื่อข่าวพม่าข้าศึกมีมาแล้วจะนิ่งประมาทอยู่มิได้  ควรยกกองทัพไปตั้งขัดทัพอยู่  เมื่อพม่ารู้ว่ามีกองทัพตั้งสกัดอยู่ก็จะเลิกไป  ลางทีถ้าพม่ายกทัพมาจริง  กองทัพฝ่ายเราก็จะได้ปะทะปะทังอยู่จนถึงกะเกณฑ์กองทัพไปช่วยกันได้  เมื่อปรึกษาเห็นพร้อมกันดังนั้น  จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์  คุมนายทัพนายกองไปขัดทัพอยู่เมืองเพชรบุรี  ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เป็นแม่ทัพคุมคน ๑๐,๐๐๐ ออกไปขัดทัพด่านเมืองราชบุรี  กาญจนบุรีทางหนึ่ง  โดยให้ยกออกจากกรุงเทพมหานครพร้อมกัน ณ วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย

          พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ไปตั้งทัพหลวงอยู่ที่แม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี  แต่งให้พระยารัตนาจักรไปสืบราชการ  จับพม่าได้ที่ด่านมองละ  แขวงเมืองทวาย  เป็นชาย ๖ คน  หญิง ๒ คน  พม่าที่ถูกจับได้นั้นให้การว่า  เจ้าเมืองทวายจะให้ปลูกฉางเข้าขึ้น ๓ ฉาง  จะขนข้าวเมืองยะไข่มาใส่ฉางไว้  ในเดือน ๖-๗  จะให้ตั้งกองทำนาที่เมืองทวาย  และในปีมะเส็งตรีศก  กองทัพพม่าก็จะยกเข้าตีกรุงเทพมหานคร  ครั้นทราบความดังนั้น  กองทัพกรุงเทพมหานครก็ตั้งรั้งรออยู่  พร้อมที่จะรับรบกับพม่าทุกเวลา

          * ในระหว่างที่รอรับทัพพม่าอยู่นั้น  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็บันทึกตัดความเข้าสู่เรื่องจากเมืองจีนว่า  เมื่อเดือน ๓  มีสำเภาจีนเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร  สมเด็จพระเจ้ากรุงปักกิ่งมีพระราชสาส์นเข้ามาฉบับหนึ่ง  ใจความว่า

           “เจ้าปักกิ่งองค์ใหม่ยังใช้ยี่ห้อเกียเข้งอยู่  มีราชสาสนประกาศไปตามเมืองที่เป็นไมตรีกันว่า  สมเด็จพระเจ้าเกียเข้งพระราชบิดา  เสวยราชสมบัติได้ยี่สิบห้าปีสวรรคต  เมื่อยังมีพระชนม์อยู่ได้ทรงพระอักษรไว้ว่า  ตั้งแต่ได้ราชสมบัติก็ทรงพระอุตสาหทำนุบำรุงแผ่นดิน  ข้าศึกศัตรูมีมาได้จัดกองทัพไปปราบปรามจนราบคาบ  บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข  

          เมื่อปีมะโรงโทศกนี้พระชนม์ได้ ๖๑ ปี  ศักราชเกียเข้ง ๒๕ ปี  ทำบั้นซื่อใหญ่  แต่บรรดาเมืองขึ้นใหญ่น้อยมาบั้นซื่อ  จึงโปรดให้ยกส่วยแลอากรเงินติดค้างพระราชทานให้  เป็นเงิน ๒๐ ล้านตำลึงจีน  คิดเป็นเงินไทย ๖๒๕,๐๐๐ ชั่ง  ซึ่งยกส่วยแลอากรให้ขุนนางแลราษฎรทั้งนี้เพื่อจะให้ความสุขทั่วกัน ณ  ปีมะโรง โทศก  ขุนนางแลเมืองขึ้นมาแจ้งว่าฤดูฝนนี้บริบูรณ์  อาณาประชาราษฎรทำไร่นาได้ผลมาก  ก็มีความยินดีนัก  

          เมื่อวันเดือนเก้าขึ้นสิบห้าค่ำเป็นฤดูร้อน  เสด็จไปประพาสสวนเยียนโห  เป็นที่เย็นสบายยังหามีพระโรคสิ่งใดมาเบียดเบียนไม่  ยังมีพระกำลังอยู่  ขึ้นเขาลงเขาก็แข็งแรง  แลสวนนี้เป็นที่เย็นมาแต่ก่อน  ครั้งนี้เสด็จมากลางทางเป็นฤดูร้อน  จึงเกิดโรค  วานนี้ข้ามเนินมาถึงสวนเยียนโห  ให้บังเกิดเสมหะประทะขึ้นมา  ครั้นเวลาค่ำพระโรคกำเริบมากขึ้น  ทรงพระดำริเห็นว่าจะไม่คงพระชนมชีพแล้ว  ทรงคิดถึงความหลังอย่างพระไอยกาไอยกีทรงประพฤติมา  จึงสั่งขุนนางผู้ใหญ่ให้เอาหนังสือที่จดหมายเหตุยกความชอบไถจื้อ  มาตรัสบอกกับขุนนางผู้ใหญ่ว่าจดหมายนี้   เมื่อ ณ วันเดือนหกขึ้นสิบค่ำเวลารุ่ง  ศักราชเกียเข้งได้ ๑๘ ปี  มีอ้ายเหล่าร้ายลอบเข้าไปในวัง  ขึ้นบนหลังคาไถจื้อเบียนเหลง  พระราชบุตรยิงอ้ายเหล่าร้ายตายสองคน  พวกเพื่อนพลัดตกลงมา  จับได้อ้ายเหล่าร้ายหลายคน  มีความชอบ  ได้ตั้งให้เป็นเจ้าติชินอ๋อง  แล้วบุตรคนนี้รู้จักคุณบิดามารดากล้าแข็ง  มีสติปัญญามาก  ควรจะครองสมบัติกรุงปักกิ่งได้  แล้วตรัสสั่งสอนติชินอ๋องว่า    ธรรมดาเป็นกษัตริย์ให้รู้จักคนดีแลคนชั่ว  แลให้รักใคร่อาณาประชาราษฎร  ความทั้งนี้ได้สั่งสอนอยู่เนือง ๆ  ให้จำไว้จะได้รักษาบ้านเมือง  เราเป็นกษัตริย์อายุได้ ๖๑ ปี  ก็เป็นบุญมากอยู่แล้ว  อยู่ภายหลังถ้าตั้งอยู่ในคำสั่งสอน  ถึงจะตายไปก็ไม่เป็นห่วง  แลพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนออกไปสวรรคตนอกพระราชวังก็มีอยู่  แลที่สวนนี้เคยเสด็จไปมามิได้ขาดเหมือนพระราชวัง  เมื่อสวรรคตแล้วให้นุ่งห่มขาวแต่ ๒๗ วัน  แล้วให้แจกกฎหมายประกาศป่าวร้องไปทุกหัวเมืองให้จงทั่ว  พระเจ้าเกียเข้งสิ้นพระชนม์วันเดือนเก้าแรมสิบค่ำ  ศักราชเกียเข้งยี่สิบห้า  ปีมะโรง  โทศก”

          * * ขณะที่เตรียมการรับศึกจากพม่า  และพม่ายังไม่ยกมานั้น  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้นำเรื่องทางประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มาบอกเล่าว่า  พระเจ้าเกียเข้งเจ้ากรุงจีนเสด็จประพาสราชอุทยานแล้วเกิดประชวรกะทันหัน  จึงประกาศตั้งให้ราชบุตรผู้เป็นเจ้าติซินอ๋อง  ขึ้นครองบัลลังก์จีนสืบแทนพระองค์ จบเรื่องทางเมืองจีนแล้วจะมีเรื่องอะไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หะนขี้ผึ้งไทย
๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, ตุลาคม, 2562, 10:24:54 PM
(https://i.ibb.co/BK5zk5d/1198250724.jpg) (https://imgbb.com/)


- พิธีโสกันต์เจ้าฟ้าพระองค์น้อย -

มาเก๊าขอต่อเรือเพื่อการค้า
ทรงเมตตาโดยตลอดปลอดภาษี
ต่อเรือเสร็จแล้ววุ่นทุนไม่มี
ทรงปรานีน่าปลื้มให้ยืมทุน

จากนั้นทรงจัดพิธีที่ย่อย่อย
“เจ้าฟ้าน้อย”โสกันต์พลันเรื่องวุ่น
ทรงอาเจียนเป็นลมล้มกลางบุญ
ชุลมุนแก้ไขได้เป็นนาน

เหตุเพราะเครื่องที่ทรงองค์หนักหนา
“แต่งคนเล่นเป็นตุ๊กตา”ทรงว่าขาน
วันต่อมาไม่แต่งตลอดงาน
เป็นนิทานสอนใจให้คิดกัน


          อภิปราย ขยายความ...............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน  ถึงตอนที่พระเจ้ากรุงปักกิ่งมีพระราชสาส์นเข้ามาฉบับหนึ่ง  แจ้งเรื่องราวที่พระเจ้าเกียเข้งประพาสราชอุทยานแล้วประชวรกระทันหัน  ทรงมองราชสมบัติให้แก่เจ้าติซินอ๋องราชโอรสก่อนสวรรคต  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไป  ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกต่อไปอีกว่า........

           “ครั้นมาถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง โทศกนั้น  เจ้าเมืองมาเก๊ามีหนังสือให้มิสเตอรแงนเดรันโยยิกา บิดามัสลินโน  เข้ามาขอต่อกำปั่น  ก็โปรดให้ต่อขึ้นที่หน้าบ้านกงศุลเยเนราล  ปากกว้าง ๔ วา ๓ ศอก  ครั้นต่อเรือกำปั่นเสร็จแล้วไม่มีทุนที่จะซื้อสินค้าบรรทุกออกไป  จึงถวายระวางให้บรรทุกของหลวงออกไป  แล้วยืมเงินหลวง ๑๒๐ ชั่ง  เพื่อใช้ในการเรือ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเมตตาพระราชทานให้  ซ้ำยังยกค่าธรรมเนียมต่อเรือปากเรือให้อีกด้วย”

          จบเรื่องการขออนุญาตเข้ามาต่อเรือของมาเก๊าแล้ว  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็กล่าวถึงเรื่องการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าพระองค์น้อย  มีรายละเอียดน่ารู้ดังต่อไปนี้

           “ในเดือนสี่นั้น  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจะให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าพระองค์น้อย (คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔)  มีพระราชดำรัสแก่พระราชวงศานุวงศ์แลเสนาบดีว่า  ในปีนี้ความไข้เป็นทุกข์ร้อนมาก  แลมีการทัพศึก  ต้องจัดกองทัพไปรักษาด่านทาง  ป้องกันข้าศึก  ไม่ได้อยู่พรักพร้อมแล้วทำแต่เล็กน้อยเถิด  จึงโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงพิทักษมนตรี กรมขุนอิศรานุรักษ  เป็นผู้บังคับบัญชา  จับการทำเขาไกรลาศ  เขาไกรลาศนั้นย่อมกว่าครั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่  เครื่องจักรเครื่องกลการทั้งปวงก็ไม่มีอะไรนัก  มีแต่รูปสัตว์บ้าง  ไม่ครบครัน  ในพระมณฑปบนยอดเขาไกรลาศนั้น  ตั้งระย้าที่บรรจุพระบรมธาตุเป็นของในพระบวรราชวัง

          ถึง ณ วันเดือนสี่  แรมค่ำหนึ่ง  แรมสองค่ำ  แรมสามค่ำ  พระสงฆ์ราชาคณะสวดพระปริตพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  เมื่อวันสวดมนต์ที่หนึ่งยังมิทันจบ  เกิดเพลิงไหม้หน้าวัดมหาธาตุริมแม่น้ำ  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปให้ข้าราชการช่วยกันดับเพลิง

          ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนสี่ แรมสี่ค่ำ เป็นวันพระฤกษ์โสกันต์  ครั้นโสกันต์แล้วเวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่มาสมโภชทรงเครื่องต้น  เสด็จนั่งในที่มณฑล  กำลังสมโภชอยู่ให้ทรงพระอาเจียรประชวรพระวาโย  ดำรงพระองค์อยู่มิได้  ล้มลงมาจากพระแท่นทั้งเครื่องทรง  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้แพทยหมอแก้ไขอยู่จนเวลาย่ำค่ำ  พระอาการปกติแล้วจึ่งได้ตั้งกระบวนแห่กลับถึงข้างในพระราชวังเวลาทุ่มเศษ  ในวันสมโภชที่สองที่สามต่อมา  ก็ไม่ทรงเครื่องต้นอีกเลย  ทรงแต่พระภูษาทรงหางหงส์  พระมาลาแลฉลองพระองค์อย่างเทศ  พระองค์ท่านไม่ยอมทรงเครื่องต้น  ตรัสว่า  จะเอาคนมาปั้นแต่งเล่นอย่างตุ๊กตาจะได้ฤๅ  สมโภชครบกำหนดสามวันเป็นเสร็จการพระราชพิธี”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  ในปีจุลศักราช ๑๑๘๒  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๖๓นั้น  มีเรื่องราวเกิดขึ้นในกรุงสยามมากมาย  ความไข้คืออหิวาตกโรคระบาดหนัก  ผู้คนล้มตายลงมากมาย  ครั้นความไข้สงบแล้ว  เจ้าเมืองมาเก๊าก็ขอส่งคนของตนเข้ามาต่อเรือสินค้าที่บางกอก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาตให้ดำเนินการได้  ครั้นต่อเรือเสร็จก็หมดทุน  ไม่มีเงินซื้อสินค้ากลับเมือง  ก็ทรงเมตตาให้ยืมเงินไปใช้ในการเรือนั้น  ส่วนข่าวพม่าที่เตรียมการจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ อีกนั้น  ทางกรุงเทพฯ จัดกองกำลังไปขัดตาทัพแล้วก็ไม่มีทัพพม่ายกมา

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงถือโอกาสว่างศึกนั้น  จัดพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าน้อย  ซึ่งมีพระชนมายุครบวาระที่จะทรงโสกันต์แล้ว  ในพระราชพิธีโสกันต์นั้นท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้บันทึกรายละเอียดไว้มาก  มีประเด็นสำคัญที่แปลกออกไปก็คือ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าน้อยทรงเครื่องต้นประทับนั่งในพิธีแล้วทรงอาเจียร  เป็นลมตกจากพระแท่น  ต้องพยาบาลกันเป็นเวลานาน  ครั้นรุ่งขึ้นต้องเข้าพิธีต่อ  พระองค์ไม่ยอมทรงเครื่องต้นอีก  ตรัสว่า  “จะเอาคนมาปั้นแต่งเล่นอย่างตุ๊กตาจะได้หรือ”  พระชันษาเพียงแค่ ๑๐ กว่าปี  ทรงมีความคิดอย่างที่เรียกว่า  “โตเกินวัย”  อย่างน่าทึ่งทีเดียว

          เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯจะมีอะไรต่อไป  อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, ตุลาคม, 2562, 10:10:12 PM
(https://i.ibb.co/tJ1zFck/800px-003-The-Imperial-Portrait-of-a-Chinese-Emperor-called-Daoguang.jpg) (https://imgbb.com/)

- จิ้มก้องพระเจ้าเตากวาง -

กองทัพทางเพชรบุรีไม่ดีนัก
ใช้ยศศักดิ์หาประโยชน์โหดมหันต์
เก็บภาษ๊ราษฎรไม่วันวัน
ข่าวโษจันดังไกลถึงในกรุง

พระเจ้าอยู่หัวเลิกคอยสั่งถอยทัพ
มาตั้งรับเมืองหลวงไร้เรื่องยุ่ง
ทุกสิ่งอย่างสร้างสรรพ์รู้ปรับปรุง
เร่งบำรุงบ้านเมืองเรืองรำไร

กับกรุงจีนรุ่งเรืองเมืองมิตรเก่า
ส่งทูตเข้า“จิ้มกล้อง”ฮ่องเต้ใหม่
สานสัมพันธไมตรีมีต่อไป
ถือจีนไทยเกี่ยวข้องพี่น้องกัน


          อภิปราย ขยายความ...............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมา ใ ห้ทุกท่านอ่านกันถึงเรื่องราวในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าจุฑามณี  หรือเจ้าฟ้าน้อย (ต่อมาคือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)  ได้ทราบรายละเอียดกันไปแล้ว  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไป  ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกถึงเรื่องกองทัพที่ยกไปขัดตาทัพพม่า  เป็นเรื่องไม่สู้ดีนักว่า......

           “ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๘๓  กองทัพไทยซึ่งไปตั้งฟังราชการอยู่ที่แม่น้ำน้อย  กาญจนบุรีนั้น  เห็นว่าไม่มีศึกสงครามแน่แล้ว  จึงให้กำลังพลตัดไม้ทำแพขนเอาศิลาก้อนใหญ่ ๆ ลงแพ  บรรทุกเข้ามาถวายเพื่อใช้ในการก่อภูเขาในพระราชวังอีก  ฝ่ายกองทัพพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ ซึ่งไปตั้งอยู่เมืองเพชรบุรีนั้น  ปรากฏข่าวออกมาว่านายทัพนายกองเบียดเบียนราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อนหนัก  กรมหลวงพิทักษ์มนตรีทราบความแล้ว  มีจดหมายไปถึงพระยาโกษาธิบดี  พระยาเสนาธิเบศร  ให้กราบทูลกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์  ใจความว่า

           “จะมีหนังสือห้ามปรามเตือนสติออกมา  เกลือกจะไม่เห็นด้วย  จะว่าอิจฉา  แกล้งใส่ความด้วยไม่มีตัวว่า  เป็นแต่คำเล่าลือ  บัดนี้ได้ความชัดรู้ด้วยกันมากแล้วว่า  กักเรือราษฎร  เก็บเรือลำเลียงเข้า เ จ้าของเรือก็เป็นบ่าวนายทัพนายกอง  ต่างมีอาญาสิทธิคุ้มครองเสียสิ้น  เวียนแต่ลากไปลากมา  เกือบจะวิวาทชกต่อยกันขึ้น  ที่ใครโฉดเขลาเก็บได้ก็สั่งไปลำเลียง  ที่มีสติปัญญาช่ำชองถึงใจก็รอดตัว  โดยแต่เรือจะเข้าออกก็ต้องเสียเบิกล่องน้ำตาลหม้อหนึ่งจึ่งได้เข้ามา  แล้วราษฎรมีข้าวอยู่เกวียนหนึ่งก็ต้องจัดซื้อเสียบั้นหนึ่ง  น้ำตาลราษฎรซื้อขายกันหกหม้อเป็นเงินบาทเฟื้อง  ก็จัดซื้อว่าเป็นของหลวงเจ็ดหม้อบาท  จะปรึกษาราชการก็เป็นพวก ๆ กัน  ถ้อยความเก่าใหม่ก็เอามากล่าวสับสน  บรรดาสิ่งของในเมืองเพชรบุรี  หาพอความนายทัพนายกองแต่ที่ประโยชน์ไม่  ละเอียดลงไปจนไม้ไผ่และเขาโคก็เป็นของต้องการไปเสียสิ้น  ในข่าวเล่าลือว่าดังนั้น  ก็พลอยวิตกกลัวจะเสียรางวัดด้วย  ด้วยเป็นผู้กราบทูลพระกรุณาให้ออกมาสำเร็จราชการแล้ว  เห็นว่ามิใช่ผู้อื่น  ตั้งพระทัยจะให้มีความดีไปภายหน้า  จะได้ช่วยราชการแผ่นดินเบาแรง  ครั้นความเป็นดังนี้ทรงพระวิตกอยู่  ด้วยทางปากแพรกเมืองราชบุรีนั้น  มีแต่คำไพร่บ้านพลเมืองซ้องสาธุการสรรเสริญ  ไม่เหมือนทางเมืองเพชรบุรี  มีแต่ต่างคิดต่างทำ  ด้วยเหตุที่ว่าหามีผู้เตือนสติไม่  จึ่งเกิดความฟุ้งเฟื่องเข้าไปถึงกรุงดังนี้ไม่ควร  จะเกิดความเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  ละอายแก่ชาวเมืองเพชรบุรี  ด้วยการข้างหน้ายังมีอยู่เป็นอันมาก  ซึ่งว่ากล่าวมาทั้งนี้มิใช่จะเอาความผิดนายทัพนายกองฤๅก็หาไม่  ด้วยเห็นว่าเพิ่งแรกออกโรงใหม่อยู่  ได้พลั้งเกินไปคนละเล็กละน้อยแล้ว  ให้พระเจ้าน้องยาเธอหาตัวมาพร้อมกันสะสางผ่อนปรนเสียโดยควรโดยชอบราชการ”

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  พม่าปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงมาไว้  แล้วให้ทำไร่นา  เห็นจะมีราชการศึกเป็นแน่  แต่เดี๋ยวนี้เข้าฤดูฝนแล้วคงจะยังไม่ยกทัพมา  จึงควรให้เลิกทัพกลับมาเสียคราวหนึ่งก่อน  จึงโปรดให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์  พระยากลาโหมราชเสนา  พระยามหาโยธา  คุมคน ๘,๒๐๐ ไปตั้งขัดทัพอยู่เมืองราชบุรี  แล้วมีตราให้หากองทัพกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  และกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ กลับเข้ากรุงเทพมหานคร

          ในปีเดียวกันคือปี พ.ศ. ๒๓๖๔ นั้น  หลังจากที่ได้รับหนังสือประกาศของไถจื๊อติชินอ๋อง  ราชบุตรพระเจ้าเกียเข้ง  พระเจ้าแผ่นดินจีนแจ้งว่า  พระราชบิดาสวรรคต  และพระองค์ได้สืบราชสมบัติกรุงปักกิ่ง  โดยตั้งยี่ห้อว่า  เตากวางที่ ๑  แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงแต่งทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปคำนับศพฉบับหนึ่ง  จิ้มก้องพระเจ้าเตากวางแผ่นดินใหม่ฉบับหนึ่ง  ให้พระสวัสดิสุนทรอภัยเป็นราชทูต  หลวงบวรเสนาเป็นอุปทูต  หลวงพจนาพิมลเป็นตรีทูต  ขุนพินิจวาจาเป็นบั้นสื่อ  ขุนพจนาพิจิตรเป็นท่องสื่อใหญ่  เชิญพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ  และราชสาส์นคำหับ  นำเครื่องมงคลราชบรรณาการออกไปทรงยินดีเป็นจำนวนมาก

          ถึงเดือน ๙ ในปีนั้น  เกิดข้าวมีราคาแพงถึงเกวียนละ ๑ ชั่ง  ถึงเดือน ๑๐ ลูกค้าชาวอเมริกันชื่อ กปิตันแฮน  เข้ามาค้าขาย  มีปืนคาบสิลาเข้ามาจำหน่ายด้วย  จำนวนมากน้อยเท่าใดไม่ปรากฏ  เจ้าพนักงานขอแลกน้ำตาลทราย  โดยตกลงกันในจำนวนน้ำตาลทราย ๑ หาบ  แลกปืนได้ ๑ บอก  และกปิตันแฮนขอเข้าเฝ้าถวายปืนคาบสิลา ๕๐๐ บอก  จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตรัสว่า  กปิตันแฮนเอาปืนเข้ามาขายให้เป็นกำลังแผ่นดินถึงสองครั้ง  มีความชอบ  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้กปิตันแฮน  เป็น  หลวงภักดีราชกปิตัน  พระราชทานหมากคนโทกะหลั่ยเป็นเครื่องยศ  ส่วนปืนที่ถวายนั้นก็พระราชทานน้ำตาล น้ำตาลทราย ให้ตอบแทนตามราคา  และยกภาษีพระราชทานให้เป็นเงิน สามสิบชั่งสิบสี่ตำลึง”

          * อ่านพระราชพงศาวดารฯถึงตรงนี้แล้วพบอีกว่า  กองทัพไทยยามว่างศึกนั้น  ทหารขาดระเบียบวินัยมาก  มุ่งแต่จะหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง  โดยมิได้คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี  หนังสือกรมหลวงพิทักษ์มนตรีที่มีไปถึงพระยาโกษาธิบดี  และ  พระยาเสนาธิเบศร  ให้กราบทูลกรมหมื่นเจษฏาบดินทร  ถึงเรื่องราวทางกองทัพเพชรบุรีข่มเหงรังแกราษฎรนั้น  เป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณี  “ความเกรงใจ”  แบบอย่างไทยแท้แต่โบราณ

          วัฒนธรรมประเพณีไทยที่ยังรักษาไว้อีกประการหนึ่งคือ  “จิ้มก้อง”  กับพระเจ้ากรุงจีน  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงได้รับพระราชสาส์นประกาศจากกรุงจีนว่าฮ่องเต้องค์เก่าสิ้นพระชนม์แล้ว  ไท้จื่อติซินอ๋องราชโอรสขึ้นครองแผ่นดินสืบแทนเป็นพระเจ้าเตากวางที่ ๑  จึงทรงส่งราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแสดงความยินดีตามธรรมเนียม  ในเวลานั้นพ่อค้าชาวอเมริกัน  ชื่อกปิตันแฮน  เข้ามาทำการค้า  นำปืนคาบสิลา ๕๐๐ บอกมาถวาย  ทรงยินดียิ่งนัก  โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นภักดีราชกปิตัน  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, ตุลาคม, 2562, 10:08:24 PM
(https://i.ibb.co/FHqjFNN/20228263-1914280225487425-1595483189847402427-n.jpg) (https://imgbb.com/)

- ได้เมืองไทรเป็นประเทศราช -

พม่าชวนญวนฝรั่งทั้งแขกให้-
รุมตีไทยเข้าอับจนคับขัน
เห็นควรปราบเมืองไทรให้เร็ววัน
ก่อนจะผันแปรไปเป็นศัตรู

เจ้าพระยานครน้อยคอยทีท่า
เมื่อเห็นว่าเมืองไทรหมายต่อสู้
จึงยกทัพลงไปเข่นมิเอ็นดู
ปราบหมดหมู่เมืองทั้งลังกาวี

ยึดเมืองไทรได้หมดกำหนดเขต
เป็นประเทศราชสยามงามศักดิ์ศรี
หัวเมืองใต้ไทยพบสงบดี
บารมีพระเลิศหล้าสง่างาม


          อภิปราย ขยายความ...............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ถึงเรื่องราวที่พระเจ้ากรุงสยามส่งราชทูตนำเครื่องบรรณาการไป  “จิ้มก้อง” พระเจ้ากรุงจีน  และมีพ่อค้าชาวอเมริกันเข้ามาค้าขายในกรุงสยาม  นำปืนคาบสิลาขึ้นทูนเกล้าฯถวาย ๕๐๐ บอก  โปรดเกล้าฯตั้งให้นายกปิตันแฮนชาวอเมริกันนั้น  เป็น  หลวงภักดีราชกปิตัน  วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ

          * “และต่อมาในปีเดียวกันนั้นก็สืบได้ความว่า  ทางพม่าได้มีหนังสือไปชวนฝรั่งบ้าง  ญวนบ้าง  พระยาไทรบุรีบ้าง  ให้เข้ามาตีกรุงเทพมหานคร  ภายหลังจีนลิ่มหอยมะเกาชาวเมืองถลางซึ่งไปค้าขายยังเมืองเกาะหมากกลับมา  เห็นเรือพม่ามีลักษณะผิดไปจากเรือลูกค้าน่าสงสัย  จึงเข้าตีเอาเรือพม่านั้นได้  เมื่อค้นเรือแล้วจึงพบราชสาส์นพม่าที่มีไปถึงพระยาไทรบุรี  จึงจับคนพม่าและยึดเรือนั้นส่งให้ผู้รักษาเมืองถลาง  พระยาถลางจึงบอกส่งพม่าและหนังสือพม่ากับจีนลิ่มหอยเข้ากรุงเทพมหานคร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้แปลหนังสือพม่าฉบับนั้นก็ได้ความว่า  พม่าไปชวนให้พระยาไทรบุรีเป็นขบถ  จึงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลจีนลิ่มหอย  ตั้งให้เป็นหลวงราชกปิตัน  ทำอากรดีบุกอยู่  ที่เกาะถลาง

          จากการที่ได้หนังสือพม่าชวนพระยาไทรบุรีให้เป็นขบถนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่า  เมืองไทรบุรีร่วมคิดด้วยพม่าจะปล่อยไว้มิได้  จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกไปให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช  หาตัวตนกูปะแง่รัน  ซึ่งเป็นเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ามา  เจ้าพระยาไทรบุรีก็มิได้เข้ามาตามท้องตรา  ดังนั้นจึงมีพระราชบัญชาให้ยกกองทัพไปตีเอาเมืองไทรบุรีไว้เป็นเมืองขึ้น  มิให้เป็นเมืองประเทศราชเหมือนแต่ก่อน

          ครั้งนั้นโปรดให้เจ้าพระยานคร พัด  เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจางวาง  ตั้งพระยาเสน่หามนตรี น้อย  บุตรคนโตของท่านขึ้นเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

          ครั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช น้อย   ได้ทราบท้องตราแล้ว  ก็คิดอุบายโดยมีหนังสือไปถึงเจ้าพระยาไทรบุรีว่า   “ที่กรุงจับได้พม่ามาถามได้ความว่า  อวุ่นกีแม่ทัพพม่าตั้งอยู่เมืองหมัดหมะ  จะยกทัพมาตีเมืองฝ่ายตะวันตกตลอดมาถึงเมืองไทร  ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึ่งโปรดให้เจ้าพระยานครยกทัพมาตั้งต่อเรือรบอยู่เมืองตรัง  คอยสู้รบพม่า  ป้องกันเมืองไทรแลเมืองตะวันตกไว้  ให้เจ้าพระยาไทรเอาเงินส่วยรังนกของหลวงจัดซื้อข้าวขึ้นฉางไว้ให้มาก  จะได้จ่ายกองทัพ”

(https://i.ibb.co/v42sHvc/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาไทรบุรีได้มีหนังสือตอบมาว่า   “จัดซื้อข้าวไว้ได้มากแล้ว”   ถึงวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒  เจ้าพระยานครยกทัพลงไปตั้งต่อเรือรบอยู่เมืองตรัง   เมื่อต่อเรือเสร็จแล้ว  จึงให้เรือลงไปรับบรรทุกข้าว  ก็ไม่ได้  จึงทราบว่าเจ้าพระยาไทรบุรีพูดปดว่าได้จัดซื้อข้าวไว้มากแล้ว  เจ้าพระนครนคร  “น้อย”  เห็นเป็นทีแล้วก็ยกทัพลงไปทางบก  ให้นายทัพนายกองยกทัพเรือลงไปเข้าปากน้ำ  และยกเข้าตีเมืองไทรบุรีพร้อมกัน  ได้สู้รบกันอย่างดุเดือด  ไพร่พลไทยแขกล้มตายลงเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/Yfwhv1G/20108357-1914280262154088-8107248820440373491-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ณ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๓  เจ้าพระยาไทรบุรีเห็นทีจะสู้มิได้ก็หลบหนีไปอยู่เกาะหมาก (ปีนัง)  ส่วนบุตรหลานศรีตวันกรมการนั้นหนีไปอยู่เกาะนางกาวี (ลังกาวี)  เมื่อยึดเมืองไทรบุรีได้แล้ว  เจ้าพระยานคร “น้อย”  จึงจัดให้นายฉิม  นายปาน  น้อง ๆ หลายคนคุมเรือรบ ๗๐ ลำ  ไปตีเกาะนางกาวี  พวกแขกหนีกระจัดกระจายไป  นายฉิมกับพวกจึงยึดเกาะนางกาวีได้ในที่สุด

          ในการรบครั้งนั้นปรากฏว่า  ได้สูญเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก  เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงตั้งพระยาเสนานุชิตผู้บุตร อยู่รักษาเมืองไทรบุรี  แล้วกวาดต้อนครอบครัวแขกเข้ามาไว้ใช้ก็มาก  ส่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และ ให้ขุนนางที่ชอบพอกันเป็นหลายแห่ง

          ความที่ว่า  “จึงตั้งพระยาเสนานุชิตผู้บุตรอยู่รักษาเมืองไทร”  นั้น  ความในฉบับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ได้ให้และรายละเอียดไว้ว่า  “จึงให้พระภักดีบริรักษ์ (แสง) บุตรพระยานครฯ เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี  แลให้นายนุชมหาดเล็กบุตรอีกคน ๑  เป็นปลัดอยู่รักษาราชการที่เมืองไทรบุรี  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์  มหาประเทศราชธิบดินทร์  อินทรไอศวรรย์  ขัณฑเสมา  มาตยานุชิต  สิทธิสงคราม  รามภักดี  พิริยพาหะพระยาไทรบุรี   แลตั้งนายนุชมหาดเล็ก  เป็นพระเสนานุชิต  ตำแหน่งปลัด  เมืองไทรบุรีจึงอยู่ในอำนาจเมืองนครศรีธรรมราช  สิทธิขาดแต่นั้นมา”

          ** ท่านผู้อ่านเห็นความร้ายกาจของพม่าไหมครับ  สู้รบกับไทยตัวต่อตัวไม่ได้  ก็เที่ยวไปชักชวนให้ฝรั่ง  ญวน  แขกเมืองไทร (บุรี)   เข้าเป็นพันธมิตรร่วมรบล้อมตีเมืองไทย  เมืองไทรเริ่มมีใจออกห่างไทยตามคำชักชวนพม่าแล้ว  ดีที่เจ้าพระยานครน้อยวางอุบายเข้าโจมตีเมืองไทรได้เสียก่อน  แล้วยึดครองเมืองไทรไว้ในอำนาจได้อย่างเด็ดขาด  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฯฉบับนี้ต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, ตุลาคม, 2562, 08:40:20 AM
(https://i.ibb.co/VgyTq4j/1394074662.jpg) (https://imgbb.com/)

- ทูตไมตรีอังกฤษผิดหลักการ -

อังกฤษส่งทูตมาทำหน้าที่
ผูกไมตรีเป็นมิตรชิดสยาม
ทูตยโสโอหังอย่างคุกคาม
กล่าวติความล้าหลังทหารไทย

ไปเที่ยวหยั่งน่านน้ำวัดความลึก
เป็นเชิงศึกษาทางวางแผนใหญ่
มองเห็นชัดว่าอังกฤษคิดพาภัย
เลวร้ายให้สยามมากกว่ามาดี


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน  ถึงเรื่องราวที่พม่ามีหนังสือไปเที่ยวชักชวนฝรั่ง  ญวน  และไทรบุรี  ร่วมตีสยาม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงทราบ  จึงตรัสให้เจ้าพระยานครฯยกทัพไปปราบปรามเมืองไทรบุรีได้สำเร็จ  แล้วตั้งบุตรเจ้าพระยานครเป็นเจ้าประเทศราชปกครองไทรบุรี  ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช เด็ดขาดแต่นั้นมา  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/2PwkpQG/John-Crawfurd.jpg) (https://imgbb.com/)
จอห์น  ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด)

          * “ ในเดือน ๔ ปีเดียวกันนั้น  เจ้าเมืองแบงคอลได้มีหนังสือบอกมาว่า  จะให้การะฝัดเข้ามาทำหนังสือสัญญา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาสุรวงศ์มนตรีขึ้นเป็นที่เจ้าพระยาพระคลัง  เพื่อจะได้รับรองทูตอังกฤษ

          ครั้นถึงปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๘๔ (พ.ศ. ๒๓๖๕)  อันเป็นปีที่ ๑๔  แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เจ้าเมืองมังกลาแต่งให้การะฝัดเป็นราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการ  เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี  ราชทูตอังกฤษเดินทางเข้ามาด้วยเรือกำปันสองเสาครึ่ง  ได้เข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕  จึงโปรดให้ถอยเรือขึ้นมาทอดอยู่หน้าบ้านเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าเมืองมังกลามีอักษรสาส์นมาถึงเจ้าพระยาพระคลังใจความว่า

           “แต่งให้การะฝัดขุนนางถืออักษรสาส์นคุมสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยความยินดี  จะขอให้เมืองมังกลากับกรุงเป็นทางพระราชไมตรียิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน     แลว่าที่เมืองรอบนั้น  รบพุ่งกับฝรั่งเศสมาหลายปีแล้ว  บัดนี้ฝรั่งเศสกับอังกฤษแลเมืองฮินดูสะตานก็ราบคาบปรกติกัน  เพราะอังกฤษมีกำลังมากกว่าชาติฝรั่งทั้งปวง  ทางทะเลตั้งแต่เกาะลังกาไปจนถึงแดนเมืองจีน   แต่แดนอังวะไปถึงทวีปอินเดีย  คนประมาณเก้าโกฏิสิบโกฏิอยู่ในบังคับอังกฤษ  อังกฤษหาต้องการที่จะคิดรบพุ่งเอาบ้านเมืองต่อไปไม่  แลเมืองอื่นนอกจากที่ขึ้นอังกฤษก็เป็นไมตรีรักใคร่กันทั้งสิ้น  แลลูกค้าอังกฤษไปมาค้าขายถึงกัน  เป็นไมตรีกันทั้งสองฝ่าย  แลเมืองรอบนั้นเมืองขึ้นก็มากเหลือที่จะบังคับบัญชา    จึ่งอาญาสิทธิ์ให้แก่เจ้าเมืองมังกลาเป็นใหญ่ในทวีปอินเดีย  ถ้าเมืองอังกฤษกับกรุงเทพฯ เป็นไมตรีกันแล้ว  ลูกค้าวานิชจะไปมาค้าขายเห็นจะเกิดผลประโยชน์มาก  ขอให้ลูกค้ากรุงออกไปค้าขาย ณ เมืองอังกฤษ  ถ้าลูกค้าเมืองอังกฤษเข้ามาค้าขายขอให้ทรงพระเมตตาด้วย  แล้วจะได้คิดตั้งตึกป้อมกำแพงกรุงเทพฯ  แลเมืองซึ่งขึ้นกับกรุงเทพฯหามิได้  แลมิให้ลูกค้าอังกฤษอย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯ  แต่อย่างธรรมเนียมกรุงเทพฯนั้นยากนัก  ลูกค้าจึ่งไม่อาจจะเข้ามาค้าขาย  ถ้าทรงพระเมตตาลดค่าธรรมเนียมลงบ้าง  ลูกค้าทั้งปวงก็ก็จะได้มีน้ำใจเข้ามา  แลว่าการะฝัดเข้ามาครั้งนี้เหมือนแทนตัวเจ้าเมืองมังกลา  ถ้าการะฝัดจะคิดการงานกับเจ้าพนักงานกรุงเทพฯ ตกลงกันประการใด  เจ้าเมืองมังกลาจะทำตามแลขอให้ช่วยทำนุบำรุงการะฝัดด้วย “

          ครั้งนั้นโปรดให้การะฝัดขึ้นพักอาศัยอยู่ที่ตึกสูงหน้าบ้านเจ้าพระยาพระคลัง  พระราชทานเงินให้เป็นเบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๓ ชั่ง  เมื่อพนักงานพาเข้าเฝ้าในวันแรก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกรับแขกเมืองเป็นการใหญ่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  เครื่องราชบรรณาการที่นำมาถวายนั้นประกอบด้วย  ปืนคาบสิลาปลายหอก ๓๐๐ บอก  ปืนคาบสิลาแฝด ๑ บอก  ผ้าขาวส่าน ๔ ผืน  พรมเทศ ๒ ผืน  เครื่องแต่งตัวหญิงอย่างฝรั่ง ๒ สำรับ  เครื่องโต๊ะแก้วเจียรไน ๑ สำรับ  ฉากอย่างดี ๕ แผ่น  พรมอย่างดี ๒ ผืน  หนังสือเรืองราวพงศาวดารอังกฤษ ๑ เล่ม  รถมีเครื่องพร้อม ๑ คัน  ม้าเทศสำหรับรถม้า ๑ ม้า  ฉากเขียนด้วยหนัง ๔ บาน  ฉากกระจก ๓ บาน  รวม ๗ บาน   และยังมีสิ่งของไปถวายพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์บ้าง”

(https://i.ibb.co/2PwkpQG/John-Crawfurd.jpg) (https://imgbb.com/)
จอห์น  ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด)

          ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวอีกว่า  ในคราวนั้นไม่มีการทำสัญญากับอังกฤษ  เพราะเหตุว่า  การะฝัดราชทูตได้ให้ขุนนางไปเที่ยวหยั่งน้ำทำแผนที่ตามลำแม่น้ำและคลองใหญ่น้อยทุกแห่ง  แล้วการะฝัดก็พูดว่า

           “เมืองไทยเล็กนิดเดียว  จีนมากกว่าไทยสิบส่วน  ถ้าจะตีเอาเมือง  กำปั่นรบสักสองลำสามลำก็จะได้  เอากระสุนเผาบ้านเรือนยิงเข้าไปก็จะไหม้หมด  ครั้นการะฝัดเข้าไปเห็นทหารที่นั่งกาลบาทอยู่เป็นกอง ๆ  เด็กบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง คนแก่บ้าง  นั่งบ้างนอนบ้าง  ปืนที่ถือสิลาปากนกก็ไม่มี  สนิมกินไม่ได้ขัดสี  เสื้อขาดกางเกงขาด  เมืองไทยเหมือนคนเปลือยผ้าอยู่  มีป้อมก็ไม่มีปืน  คนรักษาก็ไม่มี  ปืนที่มีอยู่ก็มีสนิม  จะใช้สู้รบใครได้”

          พฤติกรรมและคำพูดของการะฝัดดังกล่าว  เจ้าพนักงานได้กราบทูลขึ้นทรงทราบ  ก็ทรงขัดเคืองมีพระราชดำรัสว่า   “มันจะไม่มาทำหนังสือสัญญาโดยสุจริต  จึ่งว่ากล่าวติเตียนบ้านเมือง  หยั่งน้ำ  ทำแผนที่  จะเป็นไมตรีด้วยกันอย่างไรได้”   ดังนั้นการสัญญาจึงมิได้ทำกัน

          * * นายการะฝัดราชทูตปากเสียของอังกฤษผู้นี้  มีชื่อที่ถูกต้องคือ  ดร.จอห์น  ครอว์ฟอร์ด  และคำว่า  “ครอว์ฟอร์ด”  คนไทยฟังเสียงเป็น  “การะฝัด”  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จึงบันทึกลงไปว่า  นายการะฝัด

          บุคคลผู้นี้  มาร์ควิส เฮสติงส์  ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย  ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกว่าเจ้าเมืองมังกลา  ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง  ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด  แห่งหน่วยบริการแพทย์ให้เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับราชสำนักแห่งกรุงสยามและญวน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสัมพันธภาพทางการค้าด้วย

          เรื่องนี้  ครอว์ฟอร์ดได้บันทึกไว้เป็นเอกสารจำนวนมาก  ซึ่งกรมศิลปากรได้ให้มีการแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ แล้ว  ในที่นี้จะไม่ขอนำรายละเอียดมาแสดงให้เยิ่นเย้อนะครับ

          เอาเป็นว่าการทำสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างไทย-อังกฤษครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๕  ไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะทางอังกฤษส่งเจ้าหน้าที่หน่วยบริการแพทย์ให้เป็นทูตเข้ามาเจรจาดังได้กล่าวแล้ว  เรื่องนี้ยังจบไม่ลงนะครับ  วันพรุ่งนี้จะได้นำมาแสดงให้ทราบต่อไป.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, ตุลาคม, 2562, 10:24:25 PM
(https://i.ibb.co/Lrb699H/3.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธศรีศากยมุนี (พระโต)

- สร้างวัดและบูรณะพระโต -

องค์พระโตสุโขทัยอยู่ไร้วัด
ธ ทรงจัดสร้างแจงสร้างกลางกรุงศรี
เป็นวัดใหญ่ไว้พระศากยมุนี
ให้นามที่ “สุทัศน์เทพวราราม”


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  มาให้อ่านกันถึงเรื่องอังกฤษขอมีสัมพันธไมตรี  โดย  มาร์ควิส เฮสติงส์  ผู้สำเร็จราชการอังกฤษแห่งอินเดีย  ได้แต่งตั้งให้ ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด  เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับสำนักแห่งกรุงสยามและญวน  แต่นายครอว์ฟอร์ดทำงานไม่สำเร็จ  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไป  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า  แม้การสัญญาไม่ได้ทำกัน  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้พระยาจุฬาราชมนตรีทำสัญญาให้ฉบับหนึ่ง  ใจความว่าดังนี้........

           “ถ้ามีลูกค้าอังกฤษเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพฯ  แลสลุบกำปั่นเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา  ให้เจ้าเมืองกรมการตรวจดูผู้คน  แล้วให้เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นไว้ที่เมืองสมุทรปราการ  ให้กรมการกำกับขึ้นมาส่ง  ถ้าสลุบกำปั่นทอดท่าแล้ว  ให้พระยาจุฬาทำนุบำรุงซื้อขายแก่ลูกค้า  แล้วให้เจ้าพนักงานเรียกจังกอบภาษีตามอย่างธรรมเนียมอย่าให้เหลือเกิน”

          ความแจ้งอยู่ในหนังสือพระยาจุฬานั้นแล้ว  แล้วโปรดให้มีหนังสือลงชื่อเจ้าพระยาพระคลังตอบไปถึงเจ้าเมืองเบงคอลกล่าวโทษการะฝัดว่า

           “การะฝัดจะทำสัญญาจะให้อังกฤษเข้าไปตั้งกงสุล ณ กรุงเทพฯ  ข้อความนี้ผิดกับหนังสือเจ้าเมืองเบงคอลที่ว่า  อังกฤษจะไม่คิดตั้งป้อมแลตั้งตึกในเมืองไทยแลหัวเมืองไทยตามหนังสือเจ้าเมืองเบงคอล  การะฝัดเข้าไปอยู่ ณ กรุงเทพฯสามเดือนเศษ  จะพูดจาการสิ่งใดมีแต่เหลือเกิน  แล้วให้เสมียนทำบาญชีเรือขึ้นล่อง  ประมาณภูมผู้คน  ทำแผนที่ห้วยคลอง หยั่งร่องน้ำตื้นลึก  วัดเกาะใหญ่น้อยนอกปากน้ำเป็นหลายตำบล  ความแจ้งอยู่ในหนังสือนั้นแล้ว”

(https://i.ibb.co/2PwkpQG/John-Crawfurd.jpg) (https://imgbb.com/)
จอห์น  ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด)

          การะฝัดรู้ความเข้าว่ากล่าวโทษตัว  ไม่ยอมให้มีเป็นหนังสือเจ้าพระยาพระคลังออกไป  จะให้เป็นพระราชสาส์นออกไปให้ได้  ความเรื่องนี้ได้โต้ตอบกัน  การะฝัดก็บึงบันทำแข็งแรง  จึ่งว่าถ้าดังนั้น  ให้เจ้าพระยาพระคลังเซ็นชื่อไปถึงที่สองเจ้าเมืองเบงคอลจึ่งจะยอม  หนังสือเจ้าพระยาพระคลังก็ค้างอยู่  จึงโปรดให้พระยาพิพัฒนราชปลัตมีหนังสือไปถึงที่สองเจ้าเมืองเบงคอลว่า  ท่านเจ้าพระยาพระคลังผู้ใหญ่ได้ช่วยทำนุบำรุงการะฝัดเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมถวายสิ่งของ  แลข้อความในหนังสือเจ้าเมืองเบงคอลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบทุกประการแล้ว  ได้ให้เจ้าพนักงานจัดของตอบแทน  งาช้างสิบกิ่งหนักสองหาบ  เนื้อไม้หนักสองหาบ  กำยานหนักสองหาบ  กระวานหนักหาบหนึ่ง  เร่วหนักสามหาบ  ดีบุกบริสุทธิหนักสิบห้าหาบ  พริกไทยหนักร้อยห้าสิบหาบ  น้ำตาลทรายหนักร้อยห้าสิบหาบ  รงหนักห้าหาบ  มอบให้การะฝัดคุมออกมา  และในการนี้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็จัดของตอบแทนให้เจ้าเมืองเบงคอลด้วย  การะฝัดได้รับหนังสือแต่ ณ วันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗

          มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่อังกฤษส่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี  ซึ่งท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดบันทึกไว้ ๒-๓ เรื่อง  คือ  กรมหลวงพิทักษมนตรีซึ่งประชวรพระยอดในพระศอ (เป็นฝีที่คอ)  ตั้งแต่ปีมะเส็ง ตรีศก  มาถึงวันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๕ โมงเศษ  ก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระชนม์เพียง ๕๐ พรรษา  เสด็จในกรมพระองค์นี้มีผลงานที่สำคัญคือ  ได้ทรงสร้างวัดเกาะขึ้นแล้วมีงานฉลองด้วยอีเหนาโรงใหญ่  พระราชทานชื่อวัดที่ทรงสร้างว่า  วัดเกาะแก้วลังการาม

          เกี่ยวกับเจ้าต่างกรมพระองค์นี้  ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี  มีข้อความว่า  “ ณ ปีมะเมีย จัตวาศก  กรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์  วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก  พระชนมพรรษา ๕๒ ปี”   ส่วนวัดเกาะแก้วลังการามที่ทรงสถาปนานั้น  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯกล่าวว่า   “วัดนี้เปลี่ยนนามเป็น  วัดสัมพันธวงศ์  ในรัชกาลที่ ๔”

(https://i.ibb.co/25wZmv2/Robert-Hunter-portrait.jpg) (https://imgbb.com/)
นายหันแตร (โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter))

          เวลาต่อมาถึงเดือน ๘  การะฝัดได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปเมืองญวน  เพื่อทำสัญญาตามภาระที่ได้รับมอบหมายมา  แต่ก็ปรากฏว่าทางเมืองญวนไม่ยอมทำสัญญาด้วยโดยไม่ทราบสาเหตุ  การะฝัดจึงเดินทางไปสิงคโปร์  และเจ้าเมืองเบงคอลได้ตั้งให้การะฝัดเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์  จึงเป็นอันว่าสิงคโปร์ก็ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองแต่นั้นมา  เมื่อการะฝัดเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว  ก็มีลูกค้าชาวอังกฤษเข้ามากรุงเทพฯ และตั้งห้างซื้อขายขึ้น  ชาวอังกฤษผู้นั้นชื่อ  มิสเตอร์หันแตร (กรมพระยาดำรงฯ ว่าชื่อ ฮันเตอร์)  โดยเช่าตึกสูงอยู่หน้าบ้านเจ้าพระยาพระคลัง ๒ หลัง  เป็นที่อยู่อาศัยหลังหนึ่ง  เป็นที่ไว้สินค้าหลังหนึ่ง  ห้างหันแตรจึงเป็นห้างแรกที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

(https://i.ibb.co/n32JSyB/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธศรีศากยมุนี (พระโต)

          ในปีเดียวกันนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า    “พระโตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เสาชิงช้านั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเชิญลงมาไว้  ทรงพระราชดำริจะทำวัดขึ้นในกลางพระนครเป็นวัดใหญ่อีกวัดหนึ่ง  การก็ยังหาได้ทำไม่  จะต้องทำฉลองพระเดชพระคุณเสียให้แล้ว”    เมื่อทรงพระราชดำริดังนั้นแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานจับการทำวิหารใหญ่ขึ้น  ส่วนองค์พระพุทธรูปนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นว่าพระเศียรย่อมไปกว่าองค์  ไม่สมกัน  จึงให้ช่างถอดออก  หล่อพอกพระเศียรพระพักตร์ให้ใหญ่ขึ้น  และนิ้วพระหัตถ์ของเดิมสั้น ๆ ยาว ๆ อยู่  ก็โปรดให้ต่อนิ้วพระหัตถ์ให้เสมอกันเหมือนอย่างพระพุทธรูปทุกวันนี้  เมื่อการเสร็จแล้วจึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปนั้นขึ้นประดิษฐานบนพระวิหาร  ซึ่งพระวิหารนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์  คือยังค้างคาอยู่แต่ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์  และอื่น ๆ อีก

          และจากนั้นก็เกิดความสูญเสียพระมหาเถระองค์สำคัญขึ้น  คือ  สมเด็จพระญาณสังวรที่อาราธนามาแต่วัดพลับ  ประทับเป็นสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุนั้น  ได้เกิดอาพาธหนักและสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐    ต่อมาถึงเดือน ๑๒ ปีเดียวกัน  ก็โปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง  เมื่อเสร็จแล้วก็ชักศพสมเด็จพระญาณสังวรสังฆราชเข้าสู่พระเมรุ  มีการสมโภชเป็นเวลา ๓ คืน  แล้วก็ได้พระราชทานเพลิง”

(https://i.ibb.co/2PwkpQG/John-Crawfurd.jpg) (https://imgbb.com/)
จอห์น  ครอว์ฟอร์ด (โยน การะฝัด)

          ** นายการะฝัด  หรือ  ดร.จอห์น ครอว์ฟอร์ด   ทูตจอมโอหังของอังกฤษนี่ฤทธิ์เดชไม่เบานะครับ  แม้จะผิดหวังจากไทยและญวนแล้ว  เขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์  เกาะปลายแหลมมลายูที่อังกฤษยึดครองแล้วตั้งขึ้นเป็นเมือง  โดยนายการะฝัดเป็นเจ้าเมืองคนแรก  ในช่วงเลานั้น  กรุงสยามมีเรื่องสำคัญ ๆ คือ  กรมหลวงพิทักษมนตรีสวรรคต   สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรสิ้นพระชนม์   และทรงสร้างวัดใหญ่ขึ้นกลางกรุง  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่อัญเชิญจากสุโขทัยมาตั้งอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, ตุลาคม, 2562, 09:14:08 AM
(https://i.ibb.co/2YwbY08/4-DQpj-Utz-LUwm-JZZPG19h2b-Xe-J45ar-QRpk-Q9y-WCx-Aw7u-C.jpg) (https://imgbb.com/)

- พ่อค้าอังกฤษฆ่าม้าประชด -

ชาวอังกฤษลูกค้ามาค้าขาย
นำถวายม้าเทศเจ้ากรุงสยาม
ครั้นพินิจเห็นว่าม้าไม่งาม
จึงทรงห้ามรับไว้ไม่ดูแล

พ่อค้าชาวอังกฤษคิดแปลกยิ่ง
ฆ่าม้าทิ้งน้ำไปไม่แยแส
ทรงขัดเคืองเสือกไสไล่ลอยแพ
เพราะต่างแง่คิดอย่างเห็นต่างมุม


          อภิปราย ขยายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ  มาให้ได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างวัดใหญ่ขึ้นกลางกรุง  พร้อมสร้างพระวิหารใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระโตที่รัชกาลที่ ๑ อัญเชิญจากเมืองเก่าสุโขทัยมาตั้งไว้กลางแจ้ง  ทรงเห็นว่าพระพุทธรูปชำรุด  ไม่สมส่วนจึงโปรดให้บูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์  ภายหลังพระพุทธรูปองค์นี้ได้นามพระราชทานว่า  พระศรีศากยมุนี  ส่วนวัดที่สร้างใหม่นั้นพระราชทานนามว่า  สุทัศน์เทพวราราม  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

          * “ในปีมะเมียจัตวาศกนั้น  มีลูกค้าชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ อีก  คือมีกำปั่นลำหนึ่ง  นายกำปั่นชื่อ  มิสเตอร์สมิส  ล้าต้าชื่อมิสเตอร์ตัม (ในเอกสารครอว์ฟอร์ดว่า มร.เอส.อี.สมิธ   มร.ดับบลิว สตอร์ม  เรือที่เข้ามาชื่อ  โฟนิกซ์)    มีม้าเทศขาวสูงสามศอกสี่นิ้ว  เข้ามาถวายม้าหนึ่ง  เจ้าพนักงานได้รับนำขึ้นถวาย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วไม่โปรด  ด้วยทรงเห็นว่า   “เป็นม้าขาวแซมเลือด  จะรับไว้ก็เป็นม้าโทษ”   จึงให้เอาไปคืนเจ้าของเสีย  เมื่อเจ้าพนักงานนำม้ากลับไปส่งถึงเรือ  มร.สมิธ พูดแก่หลวงสุรสาครผู้เป็นล่ามว่า   “ของตั้งใจจะเอาเข้ามาถวาย  เมื่อไม่โปรด  ว่าไม่ดีแล้ว  จะเอากลับไปทำไมเล่า  อายแก่เพื่อนฝูงเขา”    ว่าดังนั้นแล้ว มร.สมิธ ก็ควักเอาผ้าเช็ดหน้าในกระเป๋าเสื้อของตนออกมาคลี่คลุมหน้าม้าตัวนั้น  แล้วเอาฆ้อนเหล็กตีหน้าม้าล้มลงขาดใจตาย  และให้กลาสียกร่างอันไร้วิญญาณของม้านั้นทิ้งลงน้ำ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒

          พนักงานก็นำความมากราบทูลพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  พระเจ้าลูกยาเธอฯ ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ครั้นทรงทราบแล้วก็ทรงขัดเคือง  ดำรัสว่า  “ดูถูก  ทำเย้ยหยันประชดให้”   ตรัสดังนั้นแล้วก็ให้ไล่ มร.สมิธเสีย  อย่าให้ค้าขายในบ้านเมืองต่อไป

          มีพระราชดำรัสสั่งให้หลวงสุรสาครไปหาตัว มร.สมิธ  กับ  มร.สตอร์ม ขึ้นมาที่วัง  แล้วรับสั่งให้หลวงสุรสาครแปลคำบอกว่า   “ตัวทำดังนี้ผิดกฎหมายเมืองไทยเป็นข้อใหญ่  ต้องลงโทษจำใส่คุกไว้  แลตัวเป็นแขกเมืองมาก็ไม่ให้ค้าขาย  ให้ไปเสียให้พ้นบ้านเมือง”   นายกำปั่นทั้งสองก็ลากลับลงกำปั่น  แต่ยังไม่ยอมถอยกำปั่นออกไป  จึงโปรดให้กรมอาสาจามและกรมแปดเหล่า  ลงเรือพิฆาต  เรือเหรา  ทหารสวมเสื้อแดงหมวกแดงไปล้อมเรือกำปั่นอยู่ทั้งสองฟากน้ำ  จนกำปั่นล่องไปโดยไม่แวะมารับเอาปืนสำหรับลำเรือ  หากแต่รีบแล่นเลยไปทีเดียว  ปืนนั้นเจ้าพนักงานต้องฝากเรือลูกค้านำไปส่งการะฝัดเจ้าเมืองสิงคโปร์

          * เรื่องลูกค้าชาวอังกฤษฆ่าม้าทิ้งและถูกนำตัวขึ้นเฝ้าดังกล่าวนี้  ดับบลิว สตอร์ม  เขียนไว้ในเอกสารของครอว์ฟอร์ด (การะฝัด) ว่า   “เราได้ถูกซักถามถึงเรื่องม้า  ซึ่งได้ข่าวมาว่าพระเจ้ากรุงสยามได้พระราชทานคืนมาให้เรา  หลังจากได้ทรงรับไว้เป็นเวลา ๖ เดือน  เนื่องจากเราไม่มีที่จะเก็บม้าตัวนี้  หรือแม้แต่เสบียงอาหารสำหรับจะเลี้ยงม้าก็ไม่มี  เราจึงจำเป็นต้องฆ่าเสีย  และเนื่องจากขณะนี้ก็กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอีกครั้งหนึ่ง  เราจึงควรมีสิทธิที่จะทำอะไรกับมันก็ได้”   และมีคำอธิบายเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นในวังของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕) โดย มร.สตอร์ม  เล่าเหตุการณ์ไว้ในเอกสารครอว์ฟอร์ดว่า

           “กัปตันสมิธและตัวเขาถูกทำร้ายร่างกายในวังกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  และถูกตีตรวน  ได้รับการแจ้งข้อหาว่า  เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมายของสยาม  และได้รับอนุญาตให้ออกเดินทางไปได้  หลังจากที่ถูกคุมตัวไว้เป็นเวลาถึง ๔ วัน”

          ในเรื่องอาวุธปืนประจำเรือนั้น  มร.สตอร์ม  เล่าเรื่องในคำอธิบายเหตุการณ์รุนแรงไว้ในเอกสารของครอว์ฟอร์ดว่า

           “ข้อที่เจ็ด  ให้สำเภาของเราออกเรือถอยลงไปที่ปากน้ำทันที….   ข้อที่แปด  จะไม่คืนอาวุธปืนให้แก่เรา  เพราะเกรงว่าเราจะเอาไปทำการประทุษร้ายแก่เรือสยามนอกอ่าว  แต่ว่าจะได้ส่งกองเรือติดตามเราไปด้วย  และจะส่งตัวเราไปที่ปากน้ำโดยเรือของพระเจ้าอยู่หัว  และล่ามของเรามาขอลาจากเราไปเมื่อตอนเช้าวันพฤหัสบดี  เมื่อตอนเราจะออกเรือ  สัญญากับเราว่าจะกลับมาพร้อมด้วยผู้นำร่อง  แต่ไม่ปรากฏว่าเขาได้กลับมาหาเราอีก  ล่ามผู้นี้ได้ไปบอกแก่ผู้คอยดูแลปืนของเราที่บางกอกว่า  ไม่ต้องจัดส่งทั้งปืนและผู้นำร่องไปให้เรา  ฉะนั้นจึงดูประหนึ่งว่า  พวกสยามนั้นไม่ใช่อยากจะได้ปืนของเราเท่านั้น  แต่ยังอยากจะยึดเอาเรือเราไว้เสียด้วย  เรารู้สึกอึดอัดใจเป็นล้นพ้น  เพราะยังอยู่ในระยะที่ไม่สู้ปลอดภัย  พวกสยามอาจจะคิดทรยศหักหลังไล่กวดตามเรามาอีกเมื่อไรก็ได้  เราจึงได้แต่พยายามเร่งฝีจักรออกไป”

          จบเรื่อง มร.สมิธ  กับ  สตอร์ม  ลูกค้าชาวอังกฤษแล้ว  ท่านพระยาทิพากรวงศ์บันทึกต่อไปว่า    “ครั้นมาถึงเดือนสาม โปรดให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง  ครั้นพระเมรุเสร็จแล้วได้ชักพระศพกรมหลวงพิทักษมนตรี ออกสู่พระเมรุ  ทำการสมโภชสามวันสามคืน  ถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก  ครั้น ณ วันเดือนสามขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  ก็ได้พระราชทานเพลิง”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  เรื่องของเรื่องก็เห็นจะเป็นเพราะว่าการสื่อสารของทั้งสองฝ่ายไม่ชัดเจน  การที่  มร.สมิธ  ฆ่าม้าทิ้งนั้นดูเพียงผิวเผินแล้วก็น่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นการ   “ดูถูกทำเย้ยหยันประชดให้”   แต่ถ้าเจ้าพนักงานสอบถามขอฟังคำอธิบายถึงเหตุผลของการฆ่าม้าทิ้ง  และ มร.สมิธ อธิบายให้ทราบเหตุผล  ดังที่ มร.สตอร์ม กล่าวไว้ในเอกสารของ ครอว์ฟอร์ด   แล้วนำความกราบบังคมทูลแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คงไม่ทรงขัดเคืองจนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้นเป็นแน่  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ไม่ชัดเจน  ด้วยอาจจะเป็นเพราะไม่ทราบข้อเท็จจริง  เพียงแต่ฟังเขาเล่าต่อ ๆ กันมาอย่างนั้นก็บันทึกไว้ตามที่ได้ยินได้ฟัง  ความจึงขัดแย้งกับคำกล่าวของ มร.สตอร์ม ดังกล่าวแล้ว

          ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า  อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องกับไทยมากขึ้น  เริ่มจากพ่อค้าชาวอังกฤษคนแรกที่เข้ามาตั้งห้างในกรุงเทพฯ คือ มร.ฮันเตอร์  ซึ่งคนไทยเรียกชื่อเขา  “หันแตร”  ห้างของเขาก็พลอยมีชื่อว่า   “ห้างหันแตร”  ไปด้วย (ความจริง มร.ฮันเตอร์ หรือหันแตร เป็นชาวสก๊อต)  ในเวลานั้นอังกฤษได้เข้าครองอินเดีย  พม่า  มาเลเซีย  และได้แยกเกาะทางตอนใต้ของมาเลเซียออกไปเป็นเอกเทศ  ตั้งขึ้นเป็นเมือง  โดยให้ ครอว์ฟอร์ด เป็นเจ้าเมืองคนแรก  ไทยกำลังจะถูกมหาอำนาจในยุโรป  คือ  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เข้ามายึดครองดินแดนบางส่วนไป  เหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒  เป็นแต่เพียงการเริ่มต้นของอังกฤษ  ฝรั่งเศส  เท่านั้น  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ต้องติดตามดูนะครับ.
 
(.....................  มีต่อพรุ่งนี้  .....................)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๔ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, ตุลาคม, 2562, 10:04:37 AM
(https://i.ibb.co/3TbFF1x/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ขุดคลองสร้างป้อมเมืองปากน้ำ -

ญวนเขมรกัมพุชขุดคลองใหญ่
สร้างเมืองใหม่เพิ่มถิ่นดินน้ำชุ่ม
จากญวนถึงบันมายมาศทางชุมนุม
อยู่ในกลุ่มญวนยกการปกครอง

ฝ่ายสยามจับจุดขุดคลองลัด
และสร้างวัดสร้างป้อมในเมืองสอง
คือนครเขื่อนขันธ์ปากน้ำนอง
และเมืองร่องน้ำสุดสมุทรปราการ

สร้างหลายป้อมปราการอันต่อเนื่อง
ทำเสาเมืองลงปักเป็นหลักฐาน
สร้างเจดีย์เกาะกลางน้ำเป็นตำนาน
ให้ชาวบ้านชาววัดปลูกศรัทธา


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวที่มีลูกค้าชาวอังกฤษ  นำม้าเทศมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แต่พระองค์มิโปรดจึงส่งคืน  ลูกค้านายกำปั่นนั้นจึงฆ่าม้าทิ้ง  จนเป็นเหตุให้ถูกลงโทษเป็นการสยบความโอหังของชาวอังกฤษ  หลังจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง  เสร็จแล้วชักพระศพกรมหลวงพิทักษมนตรีออกสู่พระเมรุ  ทำการสมโภชสามวันสามคืน  แล้วพระราชทานเพลิง  เรื่องราวจะมีอะไรอย่างไรอีกบ้าง  วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้กล่าวถึงเรื่องทางเมืองญวนว่า   “องต๋ากุนให้เกณฑ์ญวนและเขมรผลัดเปลี่ยนกันผลัดละหมื่นคนให้ขุดคลอง  โดยลงมือขุดเมื่อปีเถาะ  เอกศก  ตั้งแต่เมืองมัจรุกตัดผ่านเมืองตรัง  มาทะลุคลองเอียมซิวออกทะเลสาบบันทายมาศ  ความกว้างของคลองนั้น ๑๒ วา  ลึก ๗ ศอก  เป็นระยะทางเดินเรือวันหนึ่งกับคืนหนึ่งถึงเมืองบันทายมาศ  ที่ปากคลองขุดนั้นก็สร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งให้ชื่อว่าเมืองโจฎก  แล้วองต๋ากุนก็แจกเบี้ยแปะให้ญวนและเขมรที่เกณฑ์มาขุดคลองนั้นเป็นบำเหน็จรางวัล  ให้นายคนละ ๑๐๐ พวง  ให้ไพร่คนละ ๒๐ พวง  แต่คนที่ถูกเกณฑ์มาขุดคลองนั้นเกิดเป็นโรคบิดและไข้ป่วงล้มตายลงเป็นอันมาก”

          ทางกรุงเทพมหานครในเวลานั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  ที่เมืองสมุทรปราการนั้น  การที่จะรับรองข้าศึกศัตรูก็ยังไม่ได้ทำ  เมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ทำไว้แล้วนั้นก็ยังไม่มั่นคง  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ  ไปทำเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ทำค้างอยู่  ให้ทำป้อมขึ้นป้อมหนึ่งพระราชทานชื่อป้อมเพชหึง  แล้วจ้างจีนขุดคลองลัดหลังเมืองทะลุออกคลองตาลาว  คลองนั้นกว้างหกวายาวสิบห้าเส้น  ลึกห้าศอก  แล้วทำการซ่อมแซมที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ให้มั่นคงดีขึ้น

          กรมหมื่นศักดิ์พลเสพทรงสร้างวัดขึ้นในคลองวัดหนึ่ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อให้ว่า  วัดไพชยนต์พลเสพ    พระยาเพชรพิไชยเดิมชื่อเกดซึ่งเป็นนายงานทำเมืองนครเขื่อนขันธ์นั้น  ได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อวัด  โปรดเกษเชษฐาราม

          ส่วนที่เมืองสมุทรปราการนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เป็นแม่กองไปทำเมืองสมุทรปราการ  ให้เจ้าพระยาพระคลังลงไปประจำอยู่ที่นั้น  ให้รื้อบ้านเจ้าเมืองกรมการและราษฎรฟากตะวันออก  แล้วสร้างเป็นเมืองขึ้น  ทำป้อมขึ้นสี่ป้อม  ชื่อป้อมประโคนชัยหนึ่ง   ป้อมนารายณ์ปราบศึกหนึ่ง อยู่ข้างหน้า    ป้อมปราการหนึ่ง  ป้อมกายสิทธิ์หนึ่ง  อยู่ข้างหลัง    ชักกำแพงถึงกัน  มีตึกดิน  ฉางเข้า  และที่ไว้เครื่องสาตราวุธอยู่ในกำแพงเมืองนั้นด้วย  ที่เกาะกลางน้ำก็ได้สร้างป้อมขึ้นอีกป้อมหนึ่ง  มีพื้นสองชั้น  ชื่อป้อมผีเสื้อสมุทร   ป้อมฟากตะวันตกอีกป้อมหนึ่ง ชื่อป้อมนาคราช   มีทรายเกิดเป็นเกาะขึ้นอีกแห่งหนึ่ง  ทรงพระราชดำริไว้ว่าจะให้สร้างพระเจดีย์กลางน้ำ

          ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔  ได้ตั้งพิธีฝังหลักเมืองและฝังอาถรรพณ์  พระสงฆ์สวดมนต์ไปจนถึงวันพุธ  ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ย่ำรุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๖ บาท  พระฤกษ์  เอาแผ่นยันต์ทองคำ  แผ่นยันต์เงิน  แผ่นยันต์ทองแดง  แผ่นยันต์ดีบุก  แผ่นยันต์ศิลา  ลงสู่ภูมิบาท พระสงฆ์สวดชัยมงคล  แล้วยกเสาหลักเมืองด้วย วันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๖ บาท  พระสงฆ์สวดชัยมงคล  เชิญแผ่นยันต์องครักษ์อาถรรพณ์ลงสู่ภูมิบาทอีกครั้งหนึ่ง  เป็นเสร็จพิธี

          และในเดือนเดียวกันนั้น  ทรงตั้งพระวันรัตนด่อนวัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช  มหาจีเปรีญเอกวัดเลียบ เป็นพระอมรโมฬี   มหาถึกเปรียญเอกวัดพระเชตุพนเป็นพระศรีวิสุทธิวงศ์   พร้อมกันที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย  มีการสมโภชเวียนเทียน  มีมโหรีข้างใน  ตั้งแล้วโปรดให้แห่สมเด็จพระสังฆราชด่อนไปสถิตย์อยู่วัดมหาธาตุ

          ลุถึงศักราช ๑๑๘๕ (พ.ศ. ๒๓๖๖) ปีมะแมเบญจศก  ในเดือน ๕ นั้น  กำปั่นเหราข้ามสมุทร  ซึ่งไปค้าขายที่เมืองสิงคโปร์นั้น  เมื่อจะกลับมา  การะฝัดเจ้าเมืองสิงคโปร์ฝากสำเนาราชสาส์นพม่าซึ่งมีไปถึงญวน  เรือพม่าที่นำสาส์นไปนั้นเกิดไหม้เสียที่เกาะหมาก  อังกฤษขอคัดสำเนาไว้  เจ้าเมืองเบงคอลว่าที่กรุงอังกฤษไม่มี  มีแต่บาทหลวงฝรั่งเศส  จึงให้แปลเป็นอักษรฝรั่งเศสส่งเข้ามา  แล้วว่าญวนซื่อตรงต่อไทย  หาเข้าด้วยพม่าไม่  พม่าเป็นคนโกง  อังกฤษจะต้องรบกับพม่าเสียให้เข็ดหลาบ  ราชสาส์นพม่านั้น  เจ้าพนักงานได้ให้บาทหลวงแปลออกมามีข้อความยืดยาว  รายละเอียดของพระเจ้าจักไกแมงแห่งอังวะที่มีไปถึงพระเจ้ายาลองมินมางแห่งเวียดนาม  มีข้อความที่น่าศึกษาไม่น้อย  เป็นเพราะมีข้อความยาวมาก  ยังนำมาให้อ่านวันนี้ทั้งหมดไม่ได้  จึงต้องขอยกไปวางให้อ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๕ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, ตุลาคม, 2562, 10:36:56 AM
(https://i.ibb.co/nz2WpSL/shutterstock-191987825-e1478577671812.jpg) (https://imgbb.com/)

- ความในสาส์นพม่าถึงญวน -

สาส์นพม่าว่าร้ายไทยหลายส่วน
ยุยงญวนเกลียดไทยเลื่อมใสพม่า
ก่อสงครรามข้ามชาติรวมปัจจา
เคราะห์ดีว่าข่าวไหลไทยรู้ความ


          อภิปราย ขยายความ..........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกันถึงตอนที่  การะฝัด เจ้าเมืองสิงคโปร์ได้สาส์นของพม่าที่มีไปถึงญวนจากเรือพม่าที่พลัดไปถึงสิงคโปร์  เขาได้ส่งมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม  ความในสาส์นพม่าถึงญวนนั้น  บาทหลวงฝรั่งเศสอ่านแล้วแปลเป็นภาษาไทยได้ความดังต่อไปนี้

          * “ราชสาส์นมาแต่เมืองใหญ่ถือศาสนาพระเที่ยงแท้  เป็นเจ้าที่สูง  เป็นผู้ทำนุบำรุงเมือง  มีเมืองหลวงขึ้นถึงร้อยเมือง  มีช้างเผือกชื่อเสหะดันเจนเมน  แลช้างเผือกอื่น ๆ ที่มีอยู่ที่เมือง  มีอยู่ที่ป่า  เป็นเจ้าขุมเงินขุมทองแลของประเสริฐอื่น ๆ  เป็นเจ้าแผ่นดินแลเป็นเจ้าทะเล  เป็นผู้ทำนุบำรุงศาสนา  เป็นจักรพรรดิทรงธรรมแลมีฤทธิ์ทุกประการ  ครอบครองบ้านเมืองทั่วทั้งปวงด้วยพระบาทอันศักดิ์สิทธิ์  ทำราชสาส์นนี้พร้อมด้วยเสนาบดีแม่ทัพแลผู้ใหญ่ทั้งปวง  มาถึงมหาจักรพรรดิเมืองญวน

          เมื่อแรกตั้งแผ่นดินพระอาทิตย์พระจันทร์  ราษฎรทั้งปวงประชุมกันเลือกขุนนาง  เลือกเอาคนตรงแน่นอน  ถือศีลสิบเป็นลูกพระอาทิตย์  แลลูกเทวดา  ชื่อว่า  มูกาซามากา  แปลว่ามีขุนหลวงที่สูง  เป็นจักรพรรดิต่อ ๆ มาจนถึงองค์นี้  บังคับบัญชาแผ่นดินทุกวันนี้  ด้วยบุญของมูกาซามากา  จักรพรรดิพระองค์นี้  เมื่อได้ครอบครองอาณาประชาราษฎร  เหมือนหนึ่งบิดารักษาบุตร  แล้วลดส่วยสาอากรไพร่บ้านพลเมืองก็มีความยินดี  เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัตินั้นสว่างสุกใส  เหมือนพระจันทร์ทรงกลด  แล้วให้มีพระธรรมเทศนาสั่งสอนไพร่บ้านพลเมือง  ให้พรว่าให้อยู่เย็นเป็นสุข  ให้ครอบครองบ้านเมืองให้ยืนยาวไป  แล้วได้เมืองขึ้นอีกชื่อเมืองปรันดาหนึ่ง   เมืองชาปูเดปาหนึ่ง   เมืองดุรักกาหนึ่ง   เมืองยะมินฮาหนึ่ง   เมืองศิริยกินเดรามาหนึ่ง   เมืองรายาวุดดานาหนึ่ง   เมืองกำปุราหนึ่ง   เมืองโยดีหนึ่ง   เมืองนการาหนึ่ง   เมืองเกมายาทาหนึ่ง   เมืองมหานักราหนึ่ง   เมืองศรีวิเจือนหนึ่ง   เมืองวลาอิปุราหนึ่ง   เมืองงาเซงงาลาหนึ่ง   เมืองลารายาทาหนึ่ง   เมืองท่าอุโมอุนชาฮาหนึ่ง   แลเมืองอื่น ๆ ที่ส่งส่วย   ชื่อมหาวิหิกากาเยกปุรา ที่พระมหามุนีออก  มีเมืองขึ้นชื่อเดนหาวรตีหนึ่ง   เมืองดุราวดีหนึ่ง   เมืองมิกาวดีหนึ่ง   เมืองรามาวดีหนึ่ง   แลเมืองขึ้นทั้งนี้ส่งส่วยหญิงสาวที่ยังไม่มีผัว  แลส่งส่วยเครื่องสาตราวุธช้างม้าแลของทั้งปวง  ตามระยะเมืองใกล้แลเมืองไกลทุกปี

          แลเมื่อครั้งขุนหลวงชื่อเจกาวะดีที่เหาะได้ขึ้นครองราชสมบัตินั้น  ยกย่องพระศาสนาแลทำนุบำรุงพระสงฆ์  วัดวาอาราม  ทำบุญให้ทาน  จำศีลภาวนาจนลืมตัว  ทรงธรรมเมตตา  แก่อาณาประชาราษฎร  ไพร่บ้านพลเมือง  ถ้าราษฎรผู้ใดกระทำความผิดกับตัวเธอ  ก็หาเอาโทษไม่  แลเจ้าอังวะได้ครองราชสมบัติครั้งนี้  ถืออย่างเหมือนเมื่อขุนหลวงเจกาวะดี  เมื่อครั้งมหาสมณโคดม  กว่าแผ่นดินจะสิ้นทั้งสี่ทิศ  แต่ครั้งตาเจ้าอังวะองค์นี้  เมื่อครองราชสมบัติส่งทูตไปเมืองญวน  ไปทางบกทางเรือก็หลายครั้งแล้วหาถึงไม่  ครั้นเจ้าอังวะตายแล้ว  เจ้าอังวะผู้หลานได้ครองราชสมบัติ  จึ่งคิดฟื้นทางไมตรีกับเมืองญวน  พอองโดยลำ  องทูหับตรึง  มาถึงเกาะหมาก  แจ้งความแก่จีนส่วยรังนกแขวงพม่า  จีนส่วยรังนกรู้ความแล้วจึงนำองโดยลำ  องทูหับตรึง  ขึ้นที่เมืองทวาย  ไปหาเมืองมาหัยเสนาบดีเป็นแม่ทัพเมืองเมาะตะมะ  ขุนนางผู้ใหญ่สองคน  จึ่งเอาญวนลงเรือแห่ไปส่งถึงเมืองอิน  แลหัวเมืองส่งต่อขึ้นไปจนถึงเมืองหลวง  ปลูกเรือนให้อยู่ใหญ่โตงามดี  ให้เลี้ยงดู  แต่สงสัยอยู่ว่ามิใช่ทูตจริงจึ่งไม่สู้นับถือ  ครั้นไต่ถามไล่เลียงดู  เป็นทูตมาแต่เมืองอาเมราปุราค้างลมสำเภา  จึ่งนับถือทูตญวนมากขึ้น

          องโดยลำ  องทูหับตรึง  ก็ได้เฝ้าแล้ว  ได้ไต่ถามทูตญวนหลายข้อ  ทูตญวนทูลว่ามหาจักรพรรดิยาลองคิดนานแล้วจะให้ทูตมา  พอยาลองตายลง  แลมินมางขึ้นเสวยราชได้สองปีจึงให้มาเฝ้า  องโดยลำทูลต่อไปว่า  ญวนกับไทยมีสาเหตุกันหน่อยหนึ่งด้วยเมืองเขมร  ถ้าญวนกับพม่าเข้าตีเมืองไทยก็จะได้โดยง่าย  แต่ครั้งเจ้าอังวะเสวยราชสมบัติเมื่อศักราชพม่าได้ ๙๐๐ ปี  กรุงไทยเป็นเมืองขึ้นอังวะอยู่นั้น  เจ้ากรุงไทยไปอาศัยอยู่ที่เมืองขึ้นกับเมืองอังวะ  ได้นับถือทำตึกให้อยู่  คิดมาจนทุกวันนี้ได้ ๒๐๐ ปี  ได้ยกที่แผ่นดินเมืองไทยให้แก่บุตรเจ้าเมืองไทย  ให้เสียส่วยปีหนึ่งช้างสามสิบช้าง  เงินสามหมื่นบาท  แล้วก็หาเสียให้ไม่  บิดาของตาเราให้กองทัพมาตีเมืองไทยคืน  เมืองไทยต่อสู้ลอบลักทำเหมือนอย่างผู้ร้าย  เราก็ทนมาจนทุกวันนี้

          องโดยลำ  องทูหับตรึง  ทูลว่า  เมื่อจะกลับไปจะทำเหมือนเรือลูกค้า  เจ้าอังวะเห็นว่าทูตญวนจะไปแต่ลำพังเห็นไม่ควร  จึ่งจัดให้เนมโยนรทาหนึ่ง  เนมโยเสาวนีหนึ่ง  เนมโยกังนรัดหนึ่ง  เนมโยเสนรักหนึ่ง  เสสะลินนรธาหนึ่ง  เนมโยเสริกอยาหนึ่ง  เสริกจุนดานรธาหนึ่ง  รวม ๗ นาย    ให้ดวงตราทองสำหรับเมืองหลวงไปดวงหนึ่ง  แหวนทับทิมสิบวง  แหวนไข่มุกยี่สิบวง  แหวนนิลยี่สิบวง  พลอยทับทิมยังมิได้เจียรไนสามกระสอบ  ผ้าห่มนอนทอเมืองหม่าผืนหนึ่ง  แพรสี่ไม้  ลูกประคำศิลาเหลืองหนึ่ง  เขียวหนึ่ง  สองสาย  ตะบะลายสี่ใบ  หีบมีท้าวใบหนึ่ง  โคมมีท้าวสี่ใบ  โต๊ะไม้ทาแดงใบหนึ่ง  ถ้วยชาฝาใบหนึ่ง  น้ำมันดินสามสิบหม้อ    มีความไว้ใจจึงให้ขุนนางออกมาแจ้งความคิดทำลายเมืองไทย  ซึ่งเป็นศัตรูเราทั้งสองเมือง  ได้มอบอาญาสิทธิ์ให้ขุนนางทั้ง ๗ นายนี้  ซึ่งจะว่ากล่าวคิดอ่านทำกับกรุงไทย  เสร็จอยู่กับขุนนาง ๗ นายนี้  แล้วให้จักรพรรดิเมืองญวนมีราชสาส์นตอบด้วย  ข้อความเรื่องนี้  ให้ขุนนางทั้ง ๗ นายถือไปโดยเร็ว  แล้วให้แต่งขุนนางญวนที่ไว้ใจกำกับไปด้วย  สิ้นความราชสาสนแต่เท่านี้  กล่าวไว้เพื่อที่จะให้รู้สำนวนพม่า  ได้ทราบแล้วก็คอยฟังเหตุผลที่เมืองญวนอยู่”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  พระเจ้ากรุงอังวะที่มีพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้ากรุงเวียดนามตามเอกสารที่  ครอว์ฟอร์ด(การะฝัด)  เจ้าเมืองสิงคโปร์  คัดสำเนาส่งมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม  มีข้อความดังแสดงแล้วนั้น  พระเจ้ากรุงเวียดนามคือ  พระเจ้ามินมาง  ผู้บุตรองเชียงสือหรือยาลอง  ส่วนพระเจ้ากรุงอังวะนั้น  คือ  จักไกแมง  ผู้หลานพระเจ้าปะดุง

          ยังจำได้ไหมครับ  เมื่อปีจุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๖๒  อันเป็นปีที่ ๑๑ แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  มีพระภิกษุชาวพม่าเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ  พระภิกษุรูปนั้นชื่อ  สมีเคียนอู่  หรือ  เคียนอู่  มีเชื้อชาติเป็นพม่าหรือทวายไม่แน่ชัด  ท่านได้ให้การว่า  พระเจ้าปะดุงตั้งให้จันกาสุริยะเป็นอินแซะอุปราช  แต่อยู่ได้ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ไป  พระเจ้าปะดุงจึงตั้งจักไกแมง  บุตรจันกาสุริยะ  ซึ่งเป็นหลานของพระองค์ให้เป็นอินแซะอุปราชแทนบิดา  จากนั้นพระเจ้าปะดุงก็สิ้นพระชนม์  จักไกแมงได้เป็นพระเจ้ากรุงอังวะสืบแทนพระเจ้าปะดุง  แต่เมื่อได้ราชสมบัติแล้ว  พระเคียนอูบอกว่า  พระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่นี้   “ได้ราชสมบัติก็เสีย อารมณ์คลุ้มดีคลุ้มร้ายอยู่”   อ่านความในพระราชสาสนที่พระเจ้าจักไกแมงมีไปถึงพระเจ้ามินมางแห่งเวียดนามแล้วก็น่าเชื่อได้ว่า  พระสมีเคียนอูให้การไว้นั้นมีความจริงอยู่มากทีเดียว

          ความที่พระเจ้าจักไกแมงกล่าวว่า     “เมื่อศักราชพม่าได้ ๙๐๐ ปี  กรุงไทยเป็นเมืองขึ้นอังวะอยู่นั้น  เจ้ากรุงไทยไปอาศัยอยู่ที่เมืองขึ้น…”     นั้น   เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าบุเรงนองโดย  เจ้ากรุงไทยที่ไปอาศัยอยู่ในพม่านั้น  คือสมเด็จพระนเรศวรครั้งทรงพระเยาว์  เป็นเรื่องที่คนไทยในปัจจุบันรับรู้กันดีอยู่แล้ว  แต่พระเจ้าจักไกแมงท่านบิดเบือนเรื่องว่า     ”ได้ยกที่แผ่นดินไทยให้แก่บุตรเจ้าเมืองไทย…”     ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วพม่าหาได้ยกแผ่นดินให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรไม่  หากแต่ไทยได้แผ่นดินคืนมาด้วยการกอบกู้เอกราช  ใช้ชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยช่วงชิงคืนมาได้  พระเจ้าจักไกแมงยังใส่ร้ายไทยอีกว่า     “บิดาของตาเราให้กองทัพมาตีเมืองไทยคืน  เมืองไทยต่อสู้ลอบลักทำเหมือนอย่างผู้ร้าย”     ที่จริงแล้ว  พม่านั่นแหละคือผู้ร้ายที่ยกมาแย่งชิงแผ่นดินไทย  ไทยเป็นฝ่ายทวงคืนมาได้แล้วป้องกันรักษาไว้  ฝ่ายพม่ากลับมารุกรานแย่งชิงของไทยอีกเป็นหลายครั้ง  และล่าสุดก็ยังไปชักชวนญวนมาร่วมตีเมืองไทยอีก  โดยเกลี้ยกล่อมญวนว่า     “มีความไว้ใจจึ่งให้ขุนนางออกมาแจ้งความคิดทำลายเมืองไทย  ซึ่งเป็นศัตรูเราทั้งสองเมือง  ได้มอบอาญาสิทธิ์ให้ขุนนางทั้งเจ็ดนายนี้  ซึ่งจะว่ากล่าวคิดอ่านทำกับกรุงไทย  เสร็จอยู่กับขุนนางเจ็ดนายนี้…”     ก็น่าแปลกนะครับว่า พม่ามองเห็นไทยว่าเป็นศัตรูมาตลอด  ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ดูกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, ตุลาคม, 2562, 09:12:54 AM
(https://i.ibb.co/0cpsnKT/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- อังกฤษเริ่มบุกรุกพม่าแล้ว -

ยุคฝรั่งมังค่าตะวันตก
พากันยกพวกครอบรอบสยาม
หลายประเทศชาติถูกภัยคุกคาม
ทั้งสงครามการค้าล่าดินแดน

อังกฤษเริ่มเข้าคลุกรุกพม่า
จากการค้าเข้าชิงสิ่งหวงแหน
พม่าแข็งต้านศัตรูที่ดูแคลน
เริ่มโกรธแค้นสมทบถึงรบกัน


          อภิปราย ขายความ...........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  กล่าวถึงพระเจ้าจักไกแมงแห่งอังวะมีราชสาสนไปถึงพระเจ้ามินมางแห่งเวียดนาม  ชักชวนให้ร่วมกันทำลายเมืองไทย  ราชสาสนนั้นอังกฤษยึดได้ที่ปีนัง

          ครอว์ฟอร์ด  ส่งสารเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงสยาม  แล้วยังพูดกับนายเรือกำปั่นเหราข้ามสมุทรของไทยด้วยว่า  “พม่าเป็นคนโกง  อังกฤษจะต้องรบกับพม่าเสียให้เข็ดหลาบ”   เรื่องราวระหว่างพม่ากับอังกฤษจะเป็นอย่างไร  ก่อนจะไปดูรายละเอียดในเรื่องนั้น  มาดูเรื่องสั้น ๆ ที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้  ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องอังกฤษกับพม่าต่อไปก่อนวา

          * “ในปีเดียวกันนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า  ตั้งแต่ได้ผ่านพิภพถวัลยราชสมบัติมา  ยังมิได้สถาปนาพระอารามใดอารามหนึ่งขึ้นเป็นคุณแก่พระศาสนา  เป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ  เป็นเหตุที่จะให้ผลไปในปรโลก  ทรงเห็นว่าวัดแจ้งก็ยังชำรุดทรุดโทรมอยู่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงสร้างกุฎีสงฆ์ขึ้นไว้  พอได้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เท่านั้น  การอื่น ๆ ยังมิได้กระทำ  จึงดำรัสสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เป็นแม่กองทำ  ขอแรงพระวงศานุวงศ์  ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีกำลังพอจะทำได้  พระราชทานเงินให้เป็นค่าจ้าง  ทำตามราคาพอสมควร  กุฎีนั้นจะทำเป็นตึกเห็นว่าจะช้านักจึงทำเป็นฝาขัดแตะถือปูน  และทำพระอุโบสถพิหารการเปรียญขึ้นใหม่ทั้งสิ้น  พระอุโบสถเดิมอยู่ริมน้ำก็ให้ปฏิสังขรณ์อุทิศถวายเป็นพระวิหาร  การครั้งนั้นทรงอุสาหะเสด็จทุกวัน  ครั้นทำการเสร็จแล้วพระราชทานนามว่า  วัดอรุณราชธาราม  ณ เดือน ๙ ปีมะแม เบญจศก  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพวะดี ประชวรพระโรคโบราณกรรมสิ้นพระชนม์  เมื่อวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ  พระองค์ได้สถาปนาวัดบางจากขึ้นจนแล้ว ประทานชื่อว่า  วัดภักคินีนาฏ”

          จากนั้นท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้บันทึกเรื่องราวที่อังกฤษกับพม่ามีความบาดหมางกัน  จนเกิดการรบกันขึ้นในที่สุด  รายละเอียดของเรื่องได้มาจากจดหมายเหตุของสิเกรตตารี  เจ้าเมืองเบงคอล  โดย  ขุนศิริยภาษา  ต้นหนกำปั่นเหราข้ามสมุทรซึ่งเดินทางกลับมาจากเมืองสิงคโปร์เมื่อปลายปีมะแมนั้น  นำมาแจ้งว่า  การะฝัดรัศดิน เจ้าเมืองสิงคโปร์บอกว่า  พม่ากับอังกฤษเห็นจะได้รบกันในครั้งนี้แล้ว  ด้วยพม่าดูถูกดูหมิ่นลูกค้าอังกฤษมาช้านานหลายปีมาแล้ว  อังกฤษได้อดทนความดูถูกของพม่า  พม่าก็ยิ่งกำเริบขึ้นทุกที  ครอว์ฟอร์ด (การะฝัด)  พูดดังนั้นแล้วก็ได้คัดจดหมายเหตุของสิเกรตตารีเจ้าเมืองเบงคอล  ซึ่งจดหมายไว้แต่ก่อนนั้น  แล้วมอบให้ขุนศิริยภาษานำเข้ามาด้วย  ความในจดหมายเหตุนั้น  แปลออกมีความว่าดังต่อไปนี้

           “เมื่อ ค.ศ. ๑๖๐๐ ตรงกับ จ.ศ. ๙๖๒ (พ.ศ.๒๑๔๓) ปีชวด โทศก  พม่าได้เป็นใหญ่แก่มอญทั้งปวง  เมื่อแรกอังกฤษไปอยู่ในเมืองพม่านั้น  จะเป็นปีเดือนใดไม่รู้แน่  แต่หลายปีมาแล้วมีลูกค้าอังกฤษเข้าไปตั้งห้างค้าขายอยู่ ณ เมืองปรอน  เมืองอังวะ  แลเมืองปามอ  ซึ่งอยู่ใกล้แดนจีน   ครั้นอยู่มาพวกฮอลันดาที่ตั้งห้างอยู่ในเมืองพม่านั้นทำผิด  พม่าโกรธพวกฮอลันดา  สำคัญว่าอังกฤษกับฮอลันดาเป็นพวกเดียวกัน  ก็ขับไล่พวกฮอลันดา พวกอังกฤษ ฝรั่งทั้งปวงบรรดาที่ตั้งห้างอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นพม่านั้นเสีย  มิให้ตั้งห้างค้าขายอยู่ได้

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๖๘๗ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๔๙ (พ.ศ. ๒๒๓๐) ปีเถาะ นพศก  อังกฤษชื่อกัปตันเวลดัน  ได้รับใช้อังกฤษที่เป็นผู้สำเร็จราชการ  ให้มาตีเอาเกาะนิกะเรส  ซึ่งอยู่หน้าเมืองมะริดแต่ก่อนเป็นของไทย  ครั้นตีได้เกาะนิกะเรสแล้ว  กัปตันเวลดันก็กลับไปแจ้งความแก่อังกฤษที่เป็นผู้สำเร็จราชการ  แล้วพวกอังกฤษจึงได้ไปตั้งห้างค้าขายแลต่อเรืออยู่ในเกาะนิกะเรส  แล้วอังกฤษได้ส่งทูตไปเมืองพม่าสองครั้ง  จะขอตั้งห้างค้าขายอยู่ที่เมืองปามอของพม่า  ที่พม่าขับไล่เสีย  พม่าก็ไม่ยอม  หนังสือสัญญาก็ไม่ทำ  แต่พวกอังกฤษที่ไปอาศัยทำมาหากินอยู่นั้นก็มีบ้าง  แต่ได้ไปอยู่ก่อน ค.ศ. ๑๖๙๐  ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๕๒ (พ.ศ. ๒๒๓๓) ปีมะเมีย โทศก

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๖๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๕๗ ปีกุน สัปตศก  อังกฤษจึงใช้ให้ มร.ฝลิดวุส  กับ  มร.เกลี  สองคนเป็นทูตไปเมืองพม่าว่าด้วยทางไมตรี  ทำหนังสือสัญญาให้เป็นผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๖๙๗ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๕๙ ปีฉลู นพศก  เจ้าเมืองมัทราชใช้ให้ มร.เบาเยีย  เป็นราชทูตไปเมืองพม่าอีกครั้งหนึ่ง  แต่ความว่าทูตไปทำไมตรีสัญญากับพม่าให้แน่นหนาขึ้น  เพื่อจะให้พวกลูกค้าอังกฤษค้าขายสบาย  ก็หาได้ทำไม่  เพราะไปไม่ถึงเมืองอังวะ  แต่พวกลูกค้าอังกฤษก็ยังค้าขายอยู่ในเมืองพม่าตามเคย

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๐๙ ตรงกับ จ.ศ. ๑๐๗๑ (๒๒๕๒) ปีฉลู เอกศก  มร.บัด  เจ้าเมืองมัทราช  ใช้ให้  มร.อาลันซัน เป็นทูตไปเมืองอังวะ  ทูตคนนี้ได้ไปถึงเมืองอังวะสองครั้ง  ทำหนังสือสัญญาไว้ได้  พวกอังกฤษกับพม่าจึ่งค้าขายกันอยู่ในเมืองสิริยำคือเซียงนั้นหลายปี  ตั้งแต่นั้นมาพวกอังกฤษที่เป็นลูกค้ากับบรรดาอังกฤษที่อยู่ในเมืองเซียงนั้น  ก็คุ้มครองรักษากันเอง  กุมปันนีมิได้คุ้มครองรักษาให้  ตั้งแต่กุมปันนีเป็นอริกับพม่า  พม่าขับไล่พวกลูกค้าอังกฤษเสียนั้น  พวกลูกค้าของกุมปันนีไม่มีในเมืองพม่าตั้งแต่นั้นมา”

          ** อ่านจดหมายเหตุของสิเกรตตารี  เจ้าเมืองเบงคอล  ที่การะฝัดฝากขุนศิริยภาษามาแล้วก็เห็นความขัดแย้งระหว่างพม่ากับอังกฤษชัดเจน  อันที่จริงอังกฤษเป็นฝ่ายรุกราน  เริ่มจากการส่งพ่อค้าเข้าไปตั้งห้างทำการค้าในพม่า  ยังไม่พอ  ซ้ำให้กัปตันเวลดันยกกองเรือไปตีเอาเกาะนิกะเรสของพม่า  ที่ตั้งอยู่หน้าเมืองมะริดของไทยเป็นขุมกำลังตั้งมั่นอีกด้วย  พม่าเป็นฝ่ายถูกรุกรานจึงยอมมิได้  ได้หาวิธีต่อต้านอังกฤษในทุกวิถีทาง  เมื่อพม่าขับไล่พ่อค้าชาวอังกฤษและฝรั่งทุกชาติ อังกฤษก็โกรธแค้น  เขาพยายามส่งทูตไมตรีเข้าไปขอตั้งกงสุล  แต่พม่าแข็งกร้าวใส่อังกฤษไม่ยอมรับไมตรี  และนี่คืออังกฤษอ้างเป็นเหตุให้ยกกำลังเข้ารุกราน  ยึดครองพม่าต่อในที่สุด

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านจดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, ตุลาคม, 2562, 10:01:12 PM
(https://i.ibb.co/GTHQjKq/K8435679-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อังกฤษช่วยพม่ารบมอญ -

อังกฤษช่วยพม่ารบมอญมั่ว
โดยซ่อนตัวเบื้องหลังหวังห้ำหั่น
ฝรั่งเศสช่วยมอญซ่อนตัวครัน
สองชาตินั้นแย่งประโยชน์อย่างไม่อาย


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ ที่นำความในจดหมายเหตุของอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล  มาเปิดเผยถึงเบื้องหลังที่อังกฤษจะกรีธาเข้ายึดครองพม่า  จดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวยาวมาก  เมื่อวานนี้ยังให้อ่านไม่จบ  วันนี้มาอ่านกันต่อไปเลยครับ

           “ครั้นมาถึง ค.ศ.๑๗๔๐ ตรงกับ จ.ศ.๑๑๐๒ (๒๒๘๓) ปีวอก โทศก  ครั้งนั้นพวกมอญเมืองทละ  เมืองเมาะตะมะ  เมืองตองอู  เมืองปรอน  คิดขบถต่อพม่า  เกิดรบพุ่งฆ่าฟันกันเป็นสามารถทั้งสองฝ่าย  ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๔๔  ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๐๖ ( ๒๒๘๗) ปีชวด ฉศก  อังกฤษที่ตั้งห้างค้าขายอยู่ในเมืองเซียงนั้น  มอญกับพม่าทำลายเสียสิ้น  อังกฤษกับพม่ามอญก็มิได้ค้าขายกันต่อไป  ด้วยพม่ากับมอญยังรบพุ่งกันอยู่  อังกฤษพวกลูกค้าคิดกลัวก็รักษาตัวอยู่  แต่พม่ากับมอญรบพุ่งกันอยู่ช้านานหลายปี  หารู้ว่าข้างไหนจะมีชัยชำนะไม่

          ครั้นมาถึง ค.ศ.๑๗๕๑ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๓ (๒๒๙๔) ปีมะแม ตรีศก  มอญก็ซื้อเครื่องอาวุธจากลูกค้าฝรั่ง  กับพวกฮอลันดา  พวกโปรตุเกตที่ทำความชั่วหนีมาจากเมืองฮอลันดา  เมืองโปรตุเกต  มาอาศัยอยู่ในเมืองมอญนั้น  เข้าช่วยมอญทำศึกกับพม่า  มอญจึ่งได้ชัยชนะแก่พม่า  เพราะเหตุนั้นมอญจึงได้มีใจกำเริบ  ยกทัพไปล้อมเมืองอังวะ ค.ศ. ๑๗๕๒  ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๔ ปีวอก จัตวาศก  พม่ากลัวฝีมือมอญ  มอญล้อมเมืองอังวะอยู่ไม่ช้านานก็ได้เมืองอังวะ

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๕๔ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๑๖ ปีจอ ฉศก  พวกอังกฤษพวกฝรั่งเศสก็กลับตั้งห้างค้าขายในเมืองเซียงอีก  พวกอังกฤษ  พวกฝรั่งเศส  ที่อาศัยอยู่ในเมืองเซียงนั้น  ก็ผิดใจกัน  ฝ่ายข้างฝรั่งเศสก็เข้ากับมอญ  ฝ่ายข้างอังกฤษก็เข้ากับพม่า  แต่เป็นในหน้ากันอยู่  ทั้งสองข้างยังไม่ออกตัว  จนมอญกับพม่ารบกันขึ้นในเมืองเซียงนั้น  ฝรั่งเศสช่วยมอญรบ  อังกฤษช่วยพม่ารบ

          ครั้งนั้นเจ้าพม่าชื่อ  อะลัมพรา  คือมังลอง เป็นเจ้าเมืองบุกโชโบ  คิดเห็นว่า  พม่ากับมอญจะรบกันมากที่แม่น้ำใหญ่ฝ่ายข้างทะเล  มีความปรารถนาจะเป็นไมตรีกับเมืองที่ชำนาญการทะเล  จึงให้ขุนนางพม่าเป็นทูตไปที่เกาะนิกะเรส  ไปหาอังกฤษชื่อ  มร.เบอร์ก  ผู้เป็นนายห้างใหญ่อยู่ที่นั้น  ไปด้วยกำปั่นของกัปตันชื่อ  เบกกา  เบกกาก็พาไปถึงเกาะนิกะเรส  ไปหา มร.เบอร์ก ในเดือน มารช (มีนาคม) ค.ศ.๑๗๕๕ ตรงกับ  เดือน ๔ จ.ศ.๑๑๑๗ ปีกุน สัปตศก  มร.เบอร์กก็เขียนหนังสือฉบับหนึ่งให้แก่ทูตพม่า  ทูตพม่าก็กลับมาเมืองย่างกุ้ง  ด้วยคราวนั้นเจ้ามังลองมาอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง

          ฝ่ายพวกฝรั่งเศสที่เข้ากับมอญ  พวกอังกฤษที่เข้าด้วยพม่านั้น  เกิดอิจฉาขัดเคืองกันมากขึ้น  ถึงคราวอังกฤษจะออกตัว  อังกฤษก็เข้าช่วยพม่ารบ  แล้วกุมปันนีก็ให้กำปั่นหลายลำที่อยู่ในเมืองเซียงนั้น  ไปเมืองย่างกุ้งช่วยพม่ารบมอญ  มีความว่ากุมปันนีให้กำปั่นไปที่เกาะนิกะเรสสองลำ  กับให้อังกฤษชื่อ มร.เวเทน ที่ให้มาเป็นใหญ่ที่เกาะนิกะเรสนั้นมาในลำกำปั่นด้วย  กำปั่นสองลำถูกพายุใหญ่ต้องแวะเข้าเมืองย่างกุ้ง  เจ้ามังลองรู้ว่าอังกฤษชื่อ มร.เวเทนจะมาเป็นใหญ่ในเกาะนิกะเรส  ก็ต้อนรับเลี้ยงดูด้วยธรรมเนียมอันดี  มิให้พวกอังกฤษติเตียนได้  ขณะเมื่อพม่ากับมอญรบกันอยู่นั้น  มร. เบอร์กกับเจ้ามังลองยังจัดแจงทำหนังสือสัญญากันอยู่  ยังหาแล้วไม่

          มร.เบอร์กจึงใช้ให้อังกฤษสองคน  เป็นทูตถือหนังสือแลสิ่งของมาให้กับเจ้ามังลอง  ด้วยคิดว่าจะเป็นไมตรีกันให้ได้  ทูตนั้นมาตามลำแม่น้ำ  เดือนแสบเตมเบอร์ (พฤศจิกายน) ตรงกับเดือน ๑๐  มาถึงเมืองอังวะก็ไม่พบกับเจ้ามังลอง  เจ้ามังลองไปอยู่เมืองบุกโชโบ  ด้วยเมื่อเมืองอังวะแตกแล้วก็ตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นที่เมืองบุกโชโบ

          ครั้นทูตมาถึงเมืองคะยกมะยงอยู่ที่ริมแม่น้ำเอราวะดี ฝั่งตะวันตก  เจ้ามังลองก็ใช้ให้ขุนนางไปรับทูตอังกฤษสองคนนั้นมาเมืองบุกโชโบเข้ามาในที่เฝ้า  เจ้ามังลองจึงปราศรัยแก่ทูตอังกฤษแล้วอวดว่า  เมื่อรบกับมอญนั้นได้มีชัยชำนะมาก  แล้วก็อวดว่าบ้านเมืองแลแว่นแคว้นของพม่านั้นใหญ่โตนัก  แล้วยกโทษว่าเมื่ออยู่เมืองย่างกุ้งนั้น  เราได้รักใคร่อังกฤษและทำนุบำรุงไว้  อังกฤษหารู้จักคุณไม่  กลับเอาปืนยิงเอาพวกพม่าเสียอีก  ทูตอังกฤษได้ฟังดังนั้นไม่รู้ที่จะตอบประการใด  ด้วยหารู้ในการอันนั้นไม่  จึ่งขอทุเลาในการอันนี้ไว้  จะตรึกตรองดูก่อนแล้วตอบว่า มร.เบอร์กซึ่งเป็นใหญ่ในเกาะนิกะเรส  ไม่ได้สั่งให้พวกอังกฤษทำร้ายแก่พม่า  แลพวกอังกฤษจะทำร้ายแก่พม่าประการใดนั้น มร.เบอร์กหารู้ไม่

          ครั้นหลายวันมา  ทูตอังกฤษเข้าเฝ้าทูลลาอีกครั้งหนึ่ง  เจ้ามังลองจึ่งให้เขียนหนังสือตอบ  มอบให้ทูตเอาไปให้แก่ มร.เบอร์ก  ใจความหนังสือนั้นว่า  ยอมให้พวกอังกฤษเข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในเมืองย่างกุ้งกับเมืองปะสิม (พะสิม)  ด้วยคิดว่าจะทำลายเมืองเซียงนั้นเสีย  ทูตอังกฤษก็ขอเกาะนิกะเรสต่อเจ้ามังลองให้เป็นของอังกฤษ  เจ้ามังลองจะให้ก็ไม่ว่า  จะไม่ให้ก็ไม่ว่า  แล้วเจ้ามังลองว่าแก่ทูตอังกฤษว่า  จะใคร่ไปเมืองย่างกุ้งจัดแจงเตรียมการรบกับพวกมอญ  การที่ขอเกาะนิกะเรสนั้นให้งดไว้ก่อน  แล้วทูตก็ลามาเมืองคะยกมะยง  เดือนแสบเตมเบอร์ (พฤศจิกายน) ตรงกับเดือนสิบ  ทูตก็ลงกำปั่นกลับไปเกาะนิกะเรส

          อนึ่งความว่า  เมื่อพม่ากับมอญรบพุ่งกันวุ่นวายอยู่  ขณะนั้นแผ่นดินฮินดูของอังกฤษนั้นยังไม่ราบคาบ  เพราะเหตุดังนั้น  การที่อังกฤษจะมาขอเกาะนิกะเรสกับพม่าจึงงดอยู่  เมื่อไรอังกฤษปราบแผ่นดินฮินดูได้ราบคาบเรียบร้อยแล้ว  จะมาขอเกาะนิกะเรสกับพม่าต่อไปอีก

          อนึ่งความว่า  มอญกับพม่ารบกันนั้น  มอญแพ้พม่าแล้ว  พม่าได้เป็นใหญ่แก่มอญ  พวกอังกฤษฝรั่งทั้งปวงก็เข้าพึ่งอยู่ในเจ้ามังลองนั้นสิ้น  เจ้ามังลองก็ให้ไปเชิญอังกฤษชื่อ  มร.นูตัน  ซึ่งกุมปันนีตั้งให้เป็นใหญ่อยู่ที่เกาะนิกะเรส  จะให้มาพบกันที่เมืองปรอน

          ขณะเมื่อให้ไปเชิญ  มร.นูตันนั้น  เจ้ามังลองได้เขียนหนังสือราชสาสนใส่แผ่นทองฉบับหนึ่ง  แผ่นทองนั้นประดับพลอยทับทิม  แล้วมอบให้อังกฤษชื่อ  มร.ยอนใดยา  กับพวกอังกฤษหลายคนให้ส่งออกไปถึงเจ้าแผ่นดินอังกฤษ  แล มร.นูตันรู้ว่าเจ้ามังลองให้เชิญตัว มร.นูตันไป  แต่ มร.นูตันไม่ได้ไป  จึ่งใช้ให้อังกฤษนายทหารชื่อ มร.ลิดตา คุมสิ่งของถือหนังสือไปถวายเจ้ามังลอง  แล้วสั่งให้ขอเกาะนิกะเรส  แลขอให้ลูกค้าอังกฤษได้ค้าขายในเมืองพม่าโดยสะดวก  มร.ลิดตาได้ออกจากเกาะนิกะเรสไปเมื่อเดือนยุน ค.ศ. ๑๗๕๗  ตรงกันเดือน ๗ จ.ศ. ๑๑๑๙ (๒๓๐๐) ปีฉลู นพศก  แต่ความว่า  เมื่อ มร.ลิดตามาถึงอยู่หลายวัน  จึ่งได้เข้าเฝ้า  แล้วทำสัญญากันไว้เป็นเนื้อความ ๕ ข้อ คือ

          ข้อ ๑  พม่ายกเกาะนิกะเรสให้เป็นสิทธิแก่กุมปันนี
          ข้อ ๒  ยกที่ตำบลหนึ่งตรงเมืองปะสิมให้อังกฤษตั้งห้างได้
          ข้อ ๓  กุมปันนีต้องจัดแจงเครื่องสาสตราวุธกับสิ่งของที่สำหรับรบข้าศึกนั้น  ให้พม่าทุก ๆ ปี
          ข้อ ๔  ว่าถ้าเจ้าอังวะมีการศึกกับเมืองใด ๆ ก็ดี  กุมปันนีต้องยกมาช่วย  แต่เจ้าอังวะต้องเสียค่าจ้างให้พวกทหารกุมปันนี  ตามแต่ที่เจ้าอังวะจะเอาไว้ใช้นั้น
          ข้อ ๕  ถ้าพม่ากับทวายเป็นศึกรบพุ่งติดพันกันแล้ว  กุมปันนีต้องเร่งรีบมาช่วยให้ได้

          มีความว่าถ้าพม่าประพฤติตามความสัญญาทั้ง ๕ ข้อแล้ว  ก็จะเป็นผลประโยชน์กับพวกอังกฤษมาก  แต่พม่าหาประพฤติตามไม่  คำเลื่องลือนั้นว่า  เจ้ามังลองหาได้รู้เนื้อความในสัญญาห้าข้อนี้ไม่”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  ความในจดหมายเหตุของอังกฤษที่ครอว์ฟอร์ดคัดมาให้สยามดังกล่าวนี้  บอกให้เรารู้เบื้องหลังของอังกฤษกับพม่า  นอกจากจะช่วยพม่ารบมอญแล้ว  เป็นไปได้ว่าเขายังช่วยพม่ารบไทยด้วย  จดหมายเหตุดังกล่าวยังไม่จบ  วันพรุ่งนี้จะนำมาแสดงต่อ  เพื่อเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อนครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, ตุลาคม, 2562, 10:48:03 PM
(https://i.ibb.co/0mSqDsc/K8420681-23.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่ายึดเกาะนิกะเรสได้คืน -

แล้วพม่าก็แผลงสำแดงฤทธิ์
หักอังกฤษนิกะเรสเผด็จง่าย
อังกฤษซื่อถือมิตรมิคิดคลาย
ถูกฆ่าตายหมดเกาะเพราะไว้ใจ


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  มาให้อ่านกันถึงเรื่องที่มีความในจดหมายเหตุของอังกฤษ  ที่เกี่ยวกับความร้ายกาจของพม่าอีก  ซึ่งทุกท่านก็ได้อ่านกันไปแล้วแต่ยังไม่จบ  เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไทยควรรู้  เพราะมีบางเรื่องบางตอนเกี่ยวข้องกับไทยด้วย  วันนี้จึงขอนำมาให้อ่านกันต่อดังนี้ครับ

           “ในเดือนออกัสต์  ตรงกับเดือนเก้า  มร.ลิดตาไปวัดดูที่พม่ายกให้หน้าเมืองปะสิมนั้น  แล้วก็ยกธงอังกฤษขึ้น  ยิงปืนสามคราวเป็นสำคัญ  บอกว่าที่นั้นเป็นสิทธิ์ของอังกฤษ  คราวนั้นแผ่นดินฮินดูอันเป็นของอังกฤษยังไม่ราบคาบ  ยังวุ่นวายอยู่  เพราะเหตุนี้การจัดแจงส่งสิ่งของทั้งปวงซึ่งจะเลี้ยงดูผู้คนที่เกาะนิกะเรส  แลเครื่องสาสตราวุธสำหรับรักษาป้องกันเกาะนิกะเรสให้มั่นคงยังไม่ได้  จึ่งมิได้ให้พวกอังกฤษไปอยู่ที่เกาะนิกะเรส  แล มร.นูตันซึ่งอยู่ที่เกาะนิกะเรสนั้นกลับมาเสีย

          ค.ศ. ๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๒๑ ( ๒๓๐๒ ) ปีเถาะ เอกศก  มร.นูตันมาถึงเมืองเบงคอล  ที่เกาะนิกะเรสเหลือคนอังกฤษอยู่เล็กน้อย  พอรักษาไม้แลเครื่องมือสำหรับต่อกำปั่นต่าง ๆ ที่เอาไปจากเมืองเบงคอลยังไม่ได้เอากลับคืนมานั้น  เจ้าเมืองเบงคอลจึงให้ มร.โซบีอังกฤษไปเฝ้าของที่ยังตกค้างอยู่ในเกาะนิกะเรส  แล้วให้รักษาเกาะนั้นไว้ด้วย

          แลเหตุด้วยเกาะนี้เจ้าเมืองเบงคอลให้กำปั่นสองลำมาทอดอยู่ที่หน้าเกาะนิกะเรส  ในเดือนออกโตเบอร์  ตรงกับเดือนสิบเอ็ด  เวลาค่ำกำปั่นมาถึงที่นั่น มร.โซบีขึ้นไปบนเกาะ  ฝรั่งดำชื่ออันโตเนียเป็นล่ามของพม่ามาที่เกาะนิกะเรส  พบกับ มร.โซบีแล้วเอาหนังสือฉบับหนึ่งให้กับ มร.โซบี   แล้วบอกว่าหนังสือนี้ของเจ้าอังวะ  มร.โซบีก็เรียกให้อันโตเนียกินโต๊ะด้วยกัน เพื่อจะให้พร้อมหน้ากันกับอังกฤษทั้งปวงที่อยู่เกาะนั้น

          ขณะเมื่อกินโต๊ะอยู่นั้น  อันโตเนียก็ลุกขึ้นลาออกไปข้างนอก  ประเดี๋ยวหนึ่งพวกพม่ามาเป็นอันมาก ถือเครื่องสาสตราวุธวิ่งตรูกันเข้ามาล้อม  ฆ่าอังกฤษเสียเหลือสี่คน  ก็สู้พลางถอยหลังเข้าในห้องไว้ของแล้วสู้รบอยู่  ครั้นพม่าสัญญาว่าจะไม่ฆ่าอังกฤษสี่คน  ก็หยุดการที่สู้รบวางอาวุธเสีย  ขณะเมื่อพม่าฆ่าอังกฤษวุ่นวายกันอยู่นั้น  อังกฤษที่เป็นนายร่องในกำปั่นรบขึ้นมาจะกินโต๊ะด้วย  ครั้นเห็นพม่าฆ่าอังกฤษก็หนีไปที่ริมชายทะเลลงเรือไปกำปั่น

          เมื่อพม่าฆ่าพวกอังกฤษที่กินโต๊ะแล้ว  ก็ไล่ฆ่าฟันบรรดาคนที่อยู่ในเกาะเสียสิ้น  คนชาวเกาะหนีลงเรือไปอาศัยอยู่ในกำปั่น  ชายหกสิบคน  หญิงสี่คน  เด็กหนึ่ง  รวมหกสิบห้าคน  แล้วพม่าก็เอาปืนของอังกฤษที่สำหรับเกาะนั้นยิงกำปั่น  กำปั่นนั้นก็ยับเยินไปบ้าง

          ความว่า  ฝรั่งเศสชื่อละแวน  เป็นผู้ช่วยคิดการให้พม่าทำแก่อังกฤษ  แต่กัปตันอาละวิตนายกำปั่นรบนั้น  เมื่อพม่าฆ่าฟันอังกฤษวุ่นวายกันอยู่นั้น  อยู่ที่กำปั่น  หาได้อยู่บนบกไม่  ก็ใช้ใบกำปั่นกลับไปเมืองเบงคอล  แจ้งความตามเรื่องราวซึ่งเกิดเหตุที่เกาะนิกะเรสนั้นแก่เจ้าเมืองเบงคอลทุกประการ

          เจ้าเมืองเบงคอลเห็นว่าพม่าทำผิดมากควรจะไปลงโทษได้แล้ว  แต่การบ้านเมืองข้างฮินดูยังไม่เรียบร้อย  จะต้องทำการรบเป็นสองกังวลขึ้น  จึ่งได้เอาใจดีต่อพม่าไว้ก่อน

          แล้ว มร.ฮอละแวน ผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอลกับ มร.ปิด เจ้าเมืองมัทราช  จึ่งตั้งให้กัปตันอาละวิสซึ่งได้พา มร.โซบีไปส่งที่เกาะนิกะเรสปีก่อนนั้น  เป็นทูตถือหนังสือกับสิ่งของไปเมืองพม่าเดือนยุน  ตรงกับเดือนเจ็ด  กัปตันอาละวิสก็ไปถึงเมืองปะสิม  การที่เมืองปะสิมก็ต้อนรับด้วยธรรมเนียมอันดี  ขณะนั้นเจ้าเมืองปะสิมหาอยู่ไม่  ไปเมืองย่างกุ้ง  ก็ใช้คนมารับสิ่งของที่กัปตันอาละวิส  กัปตันอาละวิสก็ไม่ให้  จะเอาไปถวายพระเจ้าอังวะเอง  ด้วยพม่าไม่เอาเรืออันสมควรมารับทูตไป  แล้วพม่าก็ลักเอาสิ่งของเล็กน้อยกับปืนคาบศิลาไป

          ครั้นกัปตันอาละวิสทูตได้เรือแล้ว  เดือนยุไลย  ตรงกับเดือนแปด  ก็ไปจากเมืองปะสิม  ถึงเมืองย่างกุ้งแล้ว  เจ้าเมืองปะสิมที่ไปอยู่เมืองย่างกุ้งก็เรียกเอาสิ่งของเครื่องบรรณาการไว้  จะส่งขึ้นไปเอง  กัปตันอาละวิสก็ไม่ยอมให้  เจ้าเมืองปะสิมก็ไม่ฟัง  ทำดูถูกดูหมิ่นทูตต่าง ๆ  กัปตันอาละวิสจะขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอังวะให้ได้  พม่าก็ห้ามเสีย  กัปตันอาละวิสก็ไม่ฟัง  จะไปให้ได้

          เดือนออกเกิด  ตรงกับเดือนเก้า  กัปตันอาละวิสก็ไปถึงเมืองสาใด  อันเป็นเมืองที่อาศัยของเจ้าอังวะ  ในครั้งนั้นก็ได้เฝ้าถวายหนังสือ  ทูตก็ว่าขึ้นถึงเรื่องฆ่าฟันกันในเกาะนิกะเรส  เจ้าอังวะก็ไม่ตอบว่ากะไร  ว่าแต่สิ่งของ ๆ กุมปันนีที่พม่าเก็บไว้นั้นจะคืนให้  กับพวกอังกฤษที่ติดอยู่ในเรือนจำในแว่นแคว้นของพม่านั้น  จะปล่อยไปให้ด้วย  จะยกที่แห่งหนึ่งที่เมืองปะสิมให้พวกอังกฤษตั้งห้างค้าขาย  แต่ให้พวกอังกฤษมาอยู่ในที่แห่งเดียวกัน  ไม่ให้อยู่ในที่เกาะนิกะเรสต่อไปอีก

          มีความว่า  ซึ่งเจ้าอังวะจัดแจงทำดังนี้เหมือนทำลายความสัญญาที่ทำไว้กับ มร.ลิดตานายทหารแต่ก่อนนั้นเสียสิ้น  แล้วเจ้าอังวะจึ่งถอดพวกฮอลันดาสามคน  ซึ่งอยู่ในเรือนจำที่เจ้ามังลองจำไว้แต่ครั้งเมื่อยกกองทัพไปตีเมืองไทยนั้น  มอบให้ตามคำของกัปตันอาละวิส  แล้วกัปตันอาละวิสก็ลาออกจากเมืองสาใด  กลับไปในเดือนออกโตเบอร์  ตรงกับเดือนสิบเอ็ด  ถึงเมืองปะสิม  จึ่งมอบสิ่งของของกุมปันนีไว้กับ มร.โรเบ็ดเซน   มร.ทีเลด  แล้วก็กลับไปเมืองกะละกะตาในปลายปีนั้น”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  อ่านจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอลซึ่งเป็นชาวอังกฤษแล้วเหนื่อยมั้ย  ถ้อยคำสำนวน  อังกฤษ  ที่บาดหลวงฝรั่งเศสแปลเป็นไทย  ชื่อบุคคลและชื่อเมืองไม่คุ้นหูคนไทยเลยนะ  เช่นเมืองปะสิมในจดหมายเหตุนี้  คือเมืองพะสิมที่เรารู้จักกัน   เจ้าเมืองนี้เคยเป็นแม่ทัพน้อย  ยกมารบกับไทยที่สุพรรณบุรีในสมัยสงครามยุทธหัตถี  พระเจ้ามังลองแห่งชเวโบนั้น   ไทยรู้จักในนามว่า  พระเจ้าอลองพญา  เป็นต้น

          การะฝัดพูดว่าพม่าร้ายกาจคดโกงนั้น  เห็นทีว่าจะมาจากเรื่องที่พม่าเข่นฆ่าชาวอังกฤษที่เกาะนิกะเรสนี่เอง  นับเป็นแค้นแรกที่อังกฤษต้องจดจำไว้ชำระในกาลต่อมา  ตอนนี้เรื่องทางอินเดียที่อังกฤษเข้าครอบครองยังไม่สงบเรียบร้อย  ต่อเมื่อจัดการอินเดียเรียบร้อยแล้ว  ก็จะเข้าจัดการกับพม่าต่อไป  ความในจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอลตอนนี้เป็นตอนที่สยามยังมีเมืองหลวงอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา  จดหมายเหตุนี้จึงบอกให้เรารู้เบื้องหลังของพม่าในการรุกรานกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดีทีเดียว  พรุ่งนี้มาอ่านจดหมายเหตุนี้ต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, ตุลาคม, 2562, 10:35:40 PM
(https://i.ibb.co/mc44k4S/burma11.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าชนะไทยแล้วพ่ายจีนฮ่อ -

อลองพญาชนะไทยได้กรุงศรี
ทั้งยังตีจนชนะเมืองยะไข่
แต่แพ้ฮ่อขอสงบพักรบไว้
ยินยอมให้บรรณาการทุกสิบปี

แล้วมารยาว่าแพ้เพียงแม่ทัพ
ไม่ยอมรับปราชัยไร้ศักดิ์ศรี
สั่งลงโทษแม่ทัพในทันที
ผ้าสตรีให้นุ่งเน้นประจาน


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ  ซึ่งนำจดหมายเหตุอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล  มาบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของพม่ากับอังกฤษในอดีตอันยาวนาน  ชี้ให้เห็นว่าพม่าเป็นคนคดโกงคบค้าสมาคมไม่ได้  เรื่องที่เจ้าเมืองเบงคอลบันทึกเป็นจดหมายเหตุที่ให้อ่านมาแล้วนั้น  เป็นเรื่องราวสมัยเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา  จึงมีความพาดพิงถึงพม่ายกทัพมาตีเมืองไทยหลายครั้ง  จดหมายเหตุนี้มีความยาวมาก  ยังไม่จบกระแสความ  วันนี้มาอ่านกันต่อไปอีกนะครับ

           “ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๖๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๒๗ ปีระกา สัปตศก (๒๓๐๘)  พม่าแต่งกองทัพมาตีเมืองไทยทัพหนึ่ง  ไปตีเมืองกะแซทัพหนึ่ง

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๖๗ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก (๒๓๑๐)  กรุงไทยก็เสียแก่พม่า  แลทัพพม่าซึ่งยกไปที่เมืองมะนีบุระคือเมืองกะแซนั้น  ตีได้แล้วก็เที่ยวเก็บทรัพย์สิ่งของทั้งปวงในเมืองนั้นได้เป็นอันมาก  แล้วก็พักกองทัพอยู่เดือนหนึ่ง

          ฝ่ายจีนฮ่อโกรธว่าพม่าฆ่าพวกจีนฮ่อเสีย  จีนฮ่อขอให้ส่งตัวผู้ฆ่าให้กับจีนฮ่อ  พม่าก็ไม่ส่ง  จึ่งยกกองทัพมาตีเมืองพม่า

          ครั้นกองทัพพม่ามาตีเมืองไทย เมืองกะแซ ได้แล้ว  ก็ยกกลับไปเมืองพม่า  ช่วยกันสู้รบจีนฮ่อ  จีนฮ่อสู้ไม่ได้ก็ยกทัพกลับไป

          ครั้นมาถึง ค.ศ.๑๗๖๘ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก  จีนฮ่อยกมารบพม่าอีก  จีนฮ่อสู้พม่าไม่ได้ก็ยกกลับไป

          ครั้นมาถึงเดือนดีแซมเบอร์ ค.ศ. ๑๗๖๙ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๓๑ ปีฉลู เอกศก  จีนฮ่อยกมารบกับพม่าอีก  พม่าเสียทีกับจีนฮ่อ  ก็ยอมทำหนังสือสัญญาขอเลิกการรบ  แลขอส่งราชสาสนเครื่องราชบรรณาการ ๑๐ ปีครั้งหนึ่ง  แม่ทัพจีนฮ่อก็ยอมเลิกทัพกลับไป

          เจ้าอังวะทำโกรธแม่ทัพว่า  ไปทำสัญญากับจีนฮ่อจะให้เครื่องบรรณาการ ๑๐ ปีครั้งหนึ่ง  เป็นความคิดของแม่ทัพต่างหาก  เจ้าอังวะไม่ได้รู้เห็นด้วย  ทำทั้งนี้เป็นการแก้อาย  แต่คนมีปัญญาเขาคิดเห็นว่า  จีนฮ่อยกมาถึงสามคราว  เจ้าอังวะจึงคิดอ่านยอมถวายราชสาสนเครื่องบรรณาการ  เพื่อจะระงับการศึกจีนฮ่อเสียฝ่ายหนึ่ง  แต่ทำท่าทีเป็นขัดเคืองแม่ทัพหนัก  ปรารถนาสำแดงความโกรธให้ปรากฏ  จึ่งเอาโทษแม่ทัพพม่า  ให้เอาผ้าผู้หญิงให้แม่ทัพนุ่งให้ได้อายแก่คนทั้งปวง

          เพราะเหตุนั้น  เมื่อครั้งอังกฤษกับพม่าทำหนังสือสัญญากันที่เมืองยันตะบู  พม่าจึ่งชักเอาเรื่องจีนฮ่อนี้ขึ้นมาเปรียบเทียบให้อังกฤษฟัง  จะให้อังกฤษประพฤติตามธรรมเนียมที่พม่ากับจีนฮ่อได้ทำกันนั้น  แม่ทัพพม่าจึ่งว่าแก่แม่ทัพอังกฤษว่า  ครั้งพม่ารบกับจีนฮ่อแล้วเป็นไมตรีกัน  ต่างคนต่างเลิกทัพกลับไป  จีนฮ่อก็ไม่ออกตัวว่าชนะพม่าเหมือนอย่างอังกฤษ  แล้วจีนฮ่อก็มิได้ขอที่บ้านเมือง  แลขอเชิญให้ค่าจ้างทหารเหมือนอย่างอังกฤษ

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๗๔ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๓๖ (๒๓๑๗) ปีมะแม ฉศก  พม่ายกทัพไปตีเมืองนุนิคุระ  ซึ่งเป็นเมืองกะแซอีกครั้งหนึ่ง  กับไปตีเมืองกะซาด้วย  แล้วคิดไปตีเมืองอาระกัน  คือเมืองยะไข่  จึ่งยกทัพออกจากเมืองพม่าไปในเดือน แสบเตมเบอร์ ค.ศ. ๑๗๘๓   ตรงกับเดือนสิบ จ.ศ. ๑๑๔๕ (๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก    พม่าก็ตีเมืองอาระกันแตก  จับตัวเจ้าเมืองได้เอาไปไว้ที่เมืองอำมะระโปรา (อมรปุระ)

          ไม่ช้าไม่นานเจ้าเมืองอาระกันก็ตายในเมืองอำมะระโปรานั้น  ครั้นพม่าได้เมืองอาระกันแล้ว  อยู่มาเกาะจักวา  เกาะนาวารี  เกาะกับปะกา  หลายเกาะซึ่งอยู่หน้าเมืองอาระกันนั้น  ก็มาขึ้นกับพม่าทั้งสิ้น  พม่าก็ตั้งให้คนของพม่าเป็นเจ้าเมืองอาระกัน  เป็นหัวเมืองอันหนึ่งมาขึ้นกับเมืองอังวะ

          ** จดหมายเหตุฉบับนี้ยังไม่จบครับ  อ่านยากหน่อยก็เลยตัดตอนเป็นบันทึกย่อย ๆ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น  ความที่เจ้าเมืองเบงคอลบันทึกย่อ ๆ ว่า    ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ที่ไทยเสียเมืองแก่พม่า  และมณีปุระ  ลาวกะแชก็เสียเมืองแก่พม่าด้วยนั้น จีนฮ่อได้ยกมาตีพม่าทางด้านเหนือ  อลองพญาให้ทัพที่กลับจากไทยยกขึ้นไปช่วยรบจีนฮ่อ  ทัพฮ่อถอยกลับไป  ตั้งตัวได้แล้วก็ยกลงมาอีก  ถอยกลับแล้วยกมาอีกเป็นหลายครา  ครั้งล่าสุดทัพฮ่อมีกำลังมาก  แม่ทัพพม่าสู่ไม่ได้จึงยอมแพ้  ทำสัญญาสงบศึกยอมส่งเครื่องราชบรรณาการ ๑๐ ปี ต่อครั้ง

          ความตรงนี้เจ้าเมืองเบงคอลบันทึกว่า  เรื่องการรบกับฮ่อนั้น  เจ้าอลองพญายอมแพ้ฮ่อ  แต่กลัวเสียหน้า  ให้แม่ทัพทำสัญญาสงบศึกยอมส่งบรรณาการ  แล้วก็แสร้งโกรธแม่ทัพหาว่ายอมทำสัญญาเองโดยพระเจ้าแผ่นดินมิได้เห็นดีด้วย  สั่งลงโทษแม่ทัพด้วยการเอาผ้าถุงผู้หญิงให้แม่ทัพนุ่งประจานความอ่อนแอ  เจ้าเมืองเบงคอลรู้ทันเล่ห์พม่าในเรื่องนี้

          อย่างไรก็ตาม  หลังจากอลองพญายกทัพมารุกรานไทย  ตีกรุงศรีอยุธยาแตกราบไปแล้ว  ก็ได้ยกทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ได้จนหมดสิ้น  ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่พระยาตากสินรวบรวมกำลังปราบปรามก๊กต่าง ๆ ในเมืองไทยแล้วตั้งกรุงธนบุรี  กู้ชาติไทยขึ้นมาใหม่

          เรื่องราวในจดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลจะมีอะไรให้เรารู้อีกบ้าง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44142#msg44142)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44436#msg44436)


เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, ตุลาคม, 2562, 10:27:29 PM
(https://i.ibb.co/hV1mhXn/image.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44271#msg44271)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg45753#msg45753)                   .

- ไทยได้แล้วเสียเมืองทวาย -

พม่ายกทัพหมายบุกไทยอีก
ไทยมิหลีกหลบระย่อตั้งต่อต้าน
พม่าพ่ายย่อยยับอัประมาณ
เลิกรุกรานรบไทยไว้ชั่วคราว

สยามรับแคว้นทวายไว้ในเขต
เป็นประเทศราชไทยหลายร้อนหนาว
แล้วกลับเสียคืนไปอยู่ไม่ยาว
เป็นเรื่องราวถูกครองสองแผ่นดิน


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอล  จากพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน  ถึงตอนที่เจ้าเมืองเบงคอลเล่าเรื่องของพระเจ้าอลองพญายกทัพพม่ารุกรานไทยได้กรุงศรีอยุธยา  และได้เมืองยะไข่  แต่พ่ายแพ้แก่จีนฮ่อที่ยกลงมาตีพม่าทางด้านเหนือ  ทรงให้แม่ทัพใหญ่ทำสัญญาสงบศึก  โดยยินยอมส่งราชบรรณาการสิบปีต่อหนึ่งครั้ง  แต่พระเจ้าอลองพญากลัวจะเสียหน้าจึงแกล้งโกรธแม่ทัพ  หาว่าทำสัญญาสงบศึกโดยลำพัง  พระเจ้าแผ่นดินมิได้รู้เรื่องด้วย  และลงโทษแม่ทัพด้วยการให้นุ่งผ้าถุงสตรี  เป็นการประจานให้อับอายไปทั้งประเทศ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านจดหมายเหตุจากเจ้าเมืองเบงคอลต่อกันไปครับ

          * “ ค.ศ. ๑๗๘๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๔๗ ปีมะเส็ง สัปตศก (๒๓๒๘)  เจ้าอังวะคิดจะยกทัพไปตีเมืองไทยอีก  ก็ตระเตรียมกองทัพเป็นอันมาก  แล้วก็ยกไปจากเมืองเมาะตะมะเป็นทัพใหญ่  มายังไม่ทันถึงแดนไทย  กองทัพไทยไปตั้งรับ  ได้สู้รบกันเป็นสามารถ  กองทัพพม่าก็แตกยับเยินหนีไปทั้งสิ้น  แต่เจ้าอังวะนั้นเล็ดลอดหนีไปได้

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๗๙๐ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๒ (๒๓๓๓) ปีจอ โทศก  พม่ายอมยกเมืองทวายให้แก่ไทยด้วยกลัวไทยจะรบเลยไป

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๑๙๑ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๓ ปีกุน ตรีศก  พม่าคิดอุบายเอาเมืองทวายคืนได้

          ครั้นถึง ค.ศ.๑๗๙๓ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๕ (๒๓๓๖) ปีฉลู เบญจศก  ไทยไปขอให้พม่าเลิกการรบกันเสีย  ทำสัญญาให้เป็นผลประโยชน์แก่พม่าเป็นอันมาก  ในหนังสือสัญญานั้น  ไทยยอมยกเมืองข้างตะวันตกริมชายทะเล จนถึงเมืองมะริดข้างใต้นั้น  ทั้งเมืองตะนาวก็เป็นของพม่าด้วย

          อนึ่งมีความว่า  เมืองอาระกันเมื่อเป็นของพม่านั้น  พวกพม่าเบียดเบียฬคุมเหงชาวเมืองอาระกันหนัก  ชาวเมืองอาระกันก็หลีกหนีเข้าไปอยู่ในป่า  แลไปอยู่ตามเกาะข้างทิศใต้แว่นแคว้นอังกฤษบ้าง  แล้วมาประชุมพร้อมกันยกมารบแก้แค้นพม่าเนือง ๆ  แล้วก็กลับไปซุ่มซ่อนอยู่ในเมืองจิตตะกองของอังกฤษ  อังกฤษหารู้ไม่

          ครั้งนั้นพม่ารู้ว่าชาวเมืองอาระกันสามคนเป็นตัวนายคุมพวกชาวเมืองอาระกันให้มาทำร้ายพม่า  ไปซุ่มซ่อนอยู่ในเขตแดนอังกฤษ  พม่าก็ยกทัพล่วงเข้าไปในเขตแดนอังกฤษ  จะจับชาวอาระกัน  มิได้บอกให้อังกฤษรู้ก่อน  ทัพหน้าล่วงเข้าไปในแดนอังกฤษ  ทัพหลวงมีคนประมาณสองหมื่นตั้งอยู่ในเมืองอาระกัน  เพื่อจะได้หนุนกองหน้า

          อังกฤษรู้ข่าวดังนั้นจึงสั่งให้อาระสะกินอังกฤษเป็นแม่ทัพ  ยกทัพไปตั้งอยู่ริมเมืองจิตตะกอง  จะได้ป้องกันทัพพม่า  ครั้นพม่ารู้ว่าอังกฤษยกทัพมาตั้งรับ  จึงใช้ให้ทูตพม่าไปหาอังกฤษ  ว่ากล่าวกันโดยดี  ภายหลังแม่ทัพพม่าก็ไปหาแม่ทัพอังกฤษเอง  แม่ทัพอังกฤษมิได้ว่าประการใด  ให้แต่แม่ทัพพม่ายกกลับไปเสียให้พ้นเขตแดน  แล้วอังกฤษจึงจะพูดเนื้อความต่อไป   พม่าก็ทำตามอังกฤษ  อังกฤษแม่ทัพจึ่งจับคนชาวเมืองอาระกันซึ่งเป็นนายสามคนนั้น  มาซักไซ้ไถ่ถามดู  เห็นว่าเป็นคนผิด  ก็มอบคนสามคนให้แก่พม่าไป

          อนึ่งว่า  ขุนนางผู้ใหญ่อังกฤษชื่อ  เซอร์ยอนช้อ  มาเป็นผู้สำเร็จราชการในเมืองเบงคอล  ครั้นรู้ว่าพวกฝรั่งเศสไปอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นเมืองพม่าแลเมืองที่อยู่ริมเขตแดนพม่าเป็นอันมาก  ก็คิดเห็นว่า  ถ้าอังกฤษได้ทำไมตรีแก่พม่าให้สนิทยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าแต่ก่อน  ก็จะเป็นผลประโยชน์กับอังกฤษเป็นอันมาก

          ใน ค.ศ.๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ (๒๓๓๘) ปีเถาะ สัปตศก  จึ่งให้กัปตันไมแกลซิน  เป็นทูตถือหนังสือแลคุมสิ่งของเครื่องบรรณาการไปเมืองพม่า  ครั้นทูตมาถึงเมืองย่างกุ้ง  ก็คอยอยู่ช้านานตามธรรมเนียมของพม่าที่เคยดูถูกมาแต่ก่อนนั้น  ทูตอังกฤษทนพม่าดูถูกในเมืองย่างกุ้งอยู่นานแล้ว  จึ่งไปว่ากับเจ้าเมืองย่างกุ้งว่า  ถ้าไม่ต้อนรับตามธรรมเนียมทูตแลส่งขึ้นไปให้ถึงเมืองอังวะโดยเร็วแล้ว  ทูตจะพาหนังสือแลสิ่งของเครื่องบรรณาการกลับไปคืนให้แก่เจ้าเมืองเบงคอลเสีย

          เมื่อทูตว่ากล่าวขึ้นดั่งนี้  เจ้าเมืองย่างกุ้งก็จัดเรืออันสมควรส่งทูตกับสิ่งของเครื่องบรรณาการขึ้นไปเมืองอังวะ  ทูตอังกฤษได้สำเร็จความปรารถนา  แล้วพม่ายอมให้ตั้งกงสุลอยู่ในเมืองย่างกุ้ง  สำหรับดูผิดชอบแลรักษาลูกค้าอังกฤษทั้งปวงแต่บรรดาที่อยู่ในแว่นแคว้นพม่านั้น  แล้วเจ้าอังวะให้ป่าวร้องประกาศพวกพม่า  ให้เก็บภาษีอากรแก่พวกลูกค้าอังกฤษแต่ตามธรรมเนียมบ้านเมือง  ครั้นทูตอังกฤษจัดการสำเร็จแล้ว  ก็กลับเมืองเบงคอล…..”

* * ท่านผู้อ่านครับ  จดหมายเหตุของอังกฤษที่เกี่ยวกับพม่าดังให้อ่านแล้ว  มีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นความร้ายกาจของพม่าเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะคือความไม่ซื่อตรงต่อต่างชาติไม่ว่าแต่กับไทย  แม้อังกฤษมหาอำนาจในยุคสมัยนั้น  พม่าก็ไม่เว้นที่จะ  “หักหลัง”  บิดพลิ้วและยกเลิกสัญญา  และเข่นฆ่าชาวอังกฤษอย่างเลือดเย็น  จดหมายเหตุของอังกฤษฉบับนี้ยังไม่จบ  ที่เหลืออยู่จะยกมาให้อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๑ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, พฤศจิกายน, 2562, 10:15:57 PM
(https://i.ibb.co/vkNVJx1/mqixogbee-W5.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าหยามทรมานทูตอังกฤษ -

อังกฤษส่งทูตเฝ้าเจ้าอังวะ
ทูตพบกะการหลู่หยามดูหมิ่น
ทรมานเดือดร้อนการนอนกิน
ขุนนางปลิ้นปล้อนปอกหลอนหลอกลวง

ถูกกีดกันรังแกตั้งแต่ต้น
สุดทานทนอยู่ได้ในบ่อบ่วง
หาทางถอยยอมทิ้งสิ่งทั้งปวง
แม้ถูกหน่วงเหนี่ยวไว้ก็ไม่ยอม


          อภิปราย ขยายความ...................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  มาให้อ่านถึงเรื่องราวระหว่างอังกฤษกับพม่า  ที่อังกฤษพยามสร้างไมตรีต่อพม่า  เพื่อผลประโยชน์ที่ปรารถนา  ล่าสุดพม่ายอมให้อังกฤษตั้งกงสุลอยู่ในเมืองย่างกุ้ง  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านจดหมายเหตุอังกฤษที่บันทึกไว้ต่อจากเมื่อวานนี้ครับ

          * “มีความว่า  อังกฤษประพฤติตามหนังสือของเจ้าอังวะที่ตอบให้กัปตันไมแกลซินซึ่งเป็นทูตมานั้น  แลหนังสือนั้นจะเรียกว่าเป็นหนังสือสัญญาก็ไม่ถูก  แล้วเจ้าเมืองเบงคอลจึ่งตั้งกัปตันกอกเปนเรสิเดนของเจ้าเมืองเบงคอลให้ไปอยู่เมืองย่างกุ้ง  การที่ใช้ให้กัปตันกอกไป  มีกิจการที่จะทำสามข้อ

          ข้อ ๑   จะให้ทำการที่อังกฤษกับพม่าเป็นไมตรีกันให้สนิทยิ่งขึ้นไป  เป็นทองแผ่นเดียวกันตามหนังสือสัญญา  ซึ่งได้ทำไว้ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ. ๒๓๕๖)

          ข้อ ๒  ให้เรสิเดนรักษาพวกลูกค้า  แลแว่นแคว้นของอังกฤษนั้น  อย่าให้พวกพม่าเบียดเบียนได้  กับให้ระวังการงานของอังกฤษอย่าให้พม่าทำลายเสีย

          ข้อ ๓  ถ้าจะมีศัตรูคิดประทุษร้ายต่ออังกฤษ  ให้เรสิเดนคิดทำลายเสียด้วยการลูบไล้เกลี่ยไกล่ให้ดี  แล้วอย่าให้เรสิเดนถือตัว  แล้วให้คิดอ่านชักชวนเจ้าเมืองอังวะให้มีทูตไปถึงเจัาเมืองเบงคอลให้ได้


          ครั้นเดือนออกโตเบอร์  ตรงกับเดือนสิบเอ็ด  กัปตันกอกก็ไปถึงเมืองย่างกุ้ง  พวกพม่าก็ต้อนรับด้วยธรรมเนียมอันดี  แล้วเจ้าอังวะก็มีตราลงมาถึงเจ้าเมืองย่างกุ้ง  ให้ส่งกัปตันกอกขึ้นไปเฝ้าเจ้าเมืองย่างกุ้ง  จึ่งเรี่ยไรชาวเมืองได้เงินสามหมื่นรูเปีย  จะเอามาใช้ในการที่จะส่งกัปตันกอกขึ้นไปเฝ้า  ถึงว่าเรี่ยไรได้เงินมากก็ดี  กัปตันกอกทูตก็ไม่ได้ขี่เรือดีขึ้นไป  เงินนั้นเป็นผลประโยชน์ของพม่าเอง

          เดือนยันนุวารี ค.ศ. ๑๗๙๙  ตรงกับเดือนยี่ จ.ศ. ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง นพศก ( พ.ศ. ๒๓๔๐)  กัปตันกอกไปถึงเมืองอำมะระโปรา(อมรปุระ)  ที่เจ้าอังวะไปพักอยู่นั้น  กัปตันกอกก็ต้องทรมานทนความดูถูกของพม่า  ที่พม่าคิดไว้จะทำอยู่หลายวัน  คราวนั้นเจ้าอังวะเคยออกขุนนางที่เมืองมังวน  ที่อยู่เหนืออำมะระโปราหน่อยหนึ่ง  ด้วยเจ้าอังวะไปสร้างวังใหญ่อยู่ที่นั้น  กัปตันกอกก็ตามไปอยู่ที่เมืองมังวนหลายวัน  หามีขุนนางพม่ามาถามข่าวคราวไม่

          ครั้นถึงเดือนเฟบรุวารี  ตรงกับเดือนสาม  มีขุนนางมาบอกว่า  เจ้าอังวะจะให้ไปเฝ้า  แลการที่จะได้เฝ้าเร็ว ๆ นั้น  เห็นว่าเจ้าอังวะจะใคร่ได้รถฝรั่งแลพิมพ์หล่อเงิน  แลสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งได้สั่งทูตอังกฤษคนก่อนออกไป  กับสิ่งของซึ่งเป็นเครื่องบรรณาการของกัปตันกอกเอามานั้น  เพราะสิ่งเหล่านี้จึ่งได้เฝ้าง่ายโดยสบาย  ครั้นเฝ้าแล้วออกมาพักอยู่ที่อาศัยก็หามีขุนนางไปมาหาสู่ไม่

          ครั้งนั้นในเมืองอะซำเกิดชิงสมบัติกัน  วงศ์ของเจ้าเมืองอะซำคนหนึ่งชิงเอาสมบัติได้  อังกฤษเห็นว่า  วงศ์ของเจ้าอะซำคนนั้นไม่สมควรแก่สมบัตินั้น  จึ่งไปขอกองทัพพม่า  กองทัพพม่าก็เตรียมกองทัพจะยกไปช่วย  กัปตันกอกก็ห้ามปรามพม่าว่าเมืองอะซำนี้อยู่ในบำรุงของอังกฤษ  อังกฤษได้เอาธุระอยู่แล้ว  ก็ห้ามปรามหลายครั้ง  พม่าก็ไม่ฟัง  กัปตันกอกจึ่งขอเรือให้ส่งตัวกลับไป

          ครั้นถึงเดือนมาศตรงกับเดือนสี่  พม่าก็แกล้งทำนับถือกัปตันกอกมากขึ้น  แล้วทำนุบำรุงไว้ด้วยธรรมเนียมอันสมควร  เพราะด้วยเจ้าอังวะจะใคร่ได้ฟันซีกหนึ่งของพระสมณโคดม  ที่อยู่เมืองกันดีในเกาะลังกา  คือพระทันตธาตุ  จะต้องอาศัยอังกฤษให้ช่วยเอามาให้

          อยู่ไม่ช้าไม่นานพม่าก็ทำดูถูกดูหมิ่นอีก  กัปตันกอกอยู่ในเมืองมังวนสองเดือน  ก็ไปเมืองอำมระโปราในเดือนยุน ตรงกับเดือนเจ็ด  กัปตันกอกได้ความทรมานอยู่ในเมืองอำมระโปราเพราะพม่าดูถูกดูหมิ่น  จึ่งว่ากับขุนนางผู้ใหญ่ว่าตัวจะไม่อยู่ในเมืองอำมระโปราแล้ว  ขุนนางได้ฟังดังนั้น  จึ่งคิดอ่านกันจะเกาะตัวกัปตันกอกไว้เป็นจำนำกว่าจะได้พวกเมืองอาระกันเจ็ดพันคน  ที่หนีไปอาศัยอยู่ในเมืองจิตตะกอง  เมื่อครั้งพม่ายกกองทัพไปตีเมืองอาระกันได้นั้น  อีกอย่างหนึ่งจะเกาะตัวกัปตันกอกไว้กว่าเมืองจิตตะกอง  เมืองดากา  เมืองลูบกิโป  เมืองโคสิมปะษา  สี่เมือง  ซึ่งเคยขึ้นแก่เมืองอาระกันแต่ก่อน  ที่ไปอาศัยพึ่งอังกฤษอยู่  เดี๋ยวนี้จะให้กลับมาขึ้นแก่พม่า  อีกอย่างหนึ่ง  พม่าจะคิดเอาอากรกับเมืองสี่เมืองตั้งแต่ไปขึ้นแก่อังกฤษ  จนอังกฤษส่งมานั้นครั้งหนึ่ง  กัปตันกอกกลัวพวกพม่าจะทำอันตรายแก่ตัว  แต่ทนทรมานอยู่ในเมืองอำมระโปรานั้นเก้าเดือน

          เดือนออกโตเบอร์ ค.ศ.๑๗๙๗  ตรงกับเดือนสิบเอ็ด จ.ศ. ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง นพศก (พ.ศ. ๒๓๔๐)  กัปตันกอกก็พาสมัครพรรคพวกลงเรือไปจากเมืองอำมระโปรา  ทางประมาณสองร้อยเส้น  มีคนพม่ารับใช้มาแต่บุตรองค์ใหญ่ของเจ้าอังวะมาพูดจาปราศรัยด้วยธรรมเนียมอันดี  กัปตันกอกก็กลับไปหาบุตรองค์ใหญ่ของเจ้าอังวะถึงที่อยู่  พูดจาปราศรัยกันอยู่หน่อยหนึ่งก็เห็นว่าเป็นกลอุบายของพม่า  กัปตันกอกคิดอายหนัก  จึ่งออกจากที่อยู่ไปเมืองย่างกุ้ง

          ถึงในเดือนนอแวมเบอร์  ตรงกับเดือนสิบสอง  อยู่ที่นั้นได้สองสามวัน  เจ้าเมืองย่างกุ้งตามมาจากเมืองอำมระโปราถึงเมืองย่างกุ้ง  แล้วก็บอกแก่กัปตันกอกว่า  มีรับสั่งห้ามไม่ให้ไปจากพม่า  แล้วสั่งคนนำร่องน้ำว่า  ถ้าเรือจะเข้ามามีเครื่องสาสตราวุธแล้ว  ให้คนนำร่องน้ำแกล้งนำไปติดอยู่  อย่าให้เข้ามาได้  ครั้งนั้นเจ้าอังวะผูกพันธ์จะใคร่ได้ปืนคาบสิลา  มีความปรารถนาจะให้กัปตันกอกช่วยสั่งให้เอาเข้ามาให้  จึ่งใช้ขุนนางไปบอกกัปตันกอกว่า  เจ้าอังวะยอมรับตัวไว้เป็นเรสิเดนในเมืองย่างกุ้งแล้ว  แลยอมยกที่ให้ตั้งห้างแลทำสวน  แต่ข้อรับสั่งนี้ขุนนางนำมาหาทันไม่  ด้วยกัปตันกอกกับพรรคพวกพากันไปอยู่ในกำปั่น  กำปั่นก็อยู่ปากน้ำ  แล้วกัปตันกอกก็ออกจากเมืองย่างกุ้งในเดือนมาศตรงกับเดือนสี่”

          ** อ่านจดหมายเหตุถึงตอนนี้แล้ว  เห็นความร้ายกาจของพม่ามากมายเลยนะครับ  จดหมายเหตุนี้ยังไม่จบ  ขอพักไว้ก่อน  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, พฤศจิกายน, 2562, 10:03:39 PM
(https://i.ibb.co/Np0x8sK/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่าแข็งกร้าวอังกฤษผิดหวัง -

อังกฤษแต่งทูตใหม่ไปพม่า
เจรจาความเมืองหมายตะล่อม
ให้พม่าไมตรีไม่มีปลอม
ทั้งสองพร้อมค้าขายไม่กีดกัน

แต่พม่าแข็งกร้าวไม่เอาด้วย
ทูตเห็นป่วยการกล่าวเห็นคับขัน
กลับมือเปล่าอีกครั้งอย่างงกงัน
ความสัมพันธ์ปีนเกลียวอย่างน่ากลัว


          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯที่นำจดหมายเหตุอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล  ซึ่งบันทึกเป็นประวัติศาสตร์พม่ารบกับมอญและไทย  เกี่ยวข้องกับอังกฤษมาให้ท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวที่พม่ายกมาตีสยามได้กรุงศรีอยุธยา แล้วพ่ายแพ้แก่จีนฮ่อ  หลังจากไทยตั้งตัว  ตั้งกรุงธนบุรี  กู้ชาติได้สำเร็จแล้ว  พม่ายกทัพมาจะรุกรานอีก  แต่ถูกกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีตีแตกพ่ายยับเยินกลับไป  ไทยได้เมืองทวายไว้ในปกครอง  หลังจากสิ้นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว  พม่าได้เมืองทวายคืนไป  และในช่วงเวลานั้น  อังกฤษส่งทูตเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะ  เพื่อดำเนินการจัดตั้งกงสุลฯ ตามสัญญา  แต่ทูตอังกฤษถูกพม่าเหยียดหยามรังแกนานาประการ  ทนรับไม่ได้จึงหลบหนีกลับเมืองเบงคอล  เรื่องราวในจดหมายเหตุฉบับนี้จะเป็นอย่างไรอีกบ้าง  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

          * “ ครั้นมาถึงเดือนนอแวมเบอร์ ค.ศ. ๑๗๙๘  ตรงกับเดือนสิบสอง  ปีมะเมีย สัมฤทธิศก  เจ้าเมืองอาระกันซึ่งเป็นพม่าเขียนหนังสือฝากไปถึงเจ้าเมืองเบงคอล  ในหนังสือนั้นว่าเป็นคำหยาบช้าหนัก  ว่าให้เจ้าเมืองเบงคอลส่งตัวพวก มุก  คือโจรที่หนีพม่ามาอาศัยอยู่ในเมืองจิตตะกองนั้น  ให้ส่งมาโดยเร็ว  เจ้าเมืองเบงคอลชื่อมาควิสเวนแลสลีรู้ความในหนังสือนั้นแล้วก็คิดว่าการอังกฤษกับพม่าก็ยังไม่สำเร็จ  จะต้องใช้อังกฤษไปเมืองพม่า  จะได้ทำการนั้นสำเร็จ

          ครั้นมาถึง ค.ศ. ๑๘๐๒ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๖๔ ปีจอ จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๔๕)  กัปตันซิม ซึ่งได้เลื่อนที่เป็น ลุดแตนแนน กลับมาแต่เมืองลอนดอน  เจ้าเมืองเบงคอลจึ่งให้ไปเมืองอังวะ  ว่าด้วยความ ๕ ข้อ

          ข้อ ๑   ว่าให้ทูตไปจัดแจงหนังสือสัญญาที่ว่าเป็นไมตรีกันนั้นให้ละเอียดเข้า
          ข้อ ๒   ว่าให้รักษาการค้าขายอย่าให้พม่าเบียดเบียนได้  ตามที่พม่าเคยทำ
          ข้อ ๓   ว่าให้ถามเจ้าอังวะดูถึงเรื่องที่เจ้าเมืองอาระกันมีหนังสือไปว่าหยาบช้าต่อเจ้าเมืองเบงคอลนั้น  จะรับหรือจะปฏิเสธ  แล้วให้บอกเจ้าอังวะให้รู้ว่า  การที่จะทำตามกฎหมายบ้านเมืองที่มีธรรมเนียมอันดีอันสูง  แลพวกมุกที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น  ส่งให้ไปไม่ควร  เพราะเจ้าเมืองเบงคอลคิดสงสัยหนังสืออยู่ว่า  เป็นหนังสือปลอมมิใช่เจ้าเมืองสั่งให้ทำ  จึ่งมิได้ยกกองทัพมารบพม่า  ถ้าครั้งนั้นอังกฤษได้ยกมารบพม่าแล้ว  ก็จะให้พม่ารู้ตัวว่า  อังกฤษอดทนดูถูกดูหมิ่นของพม่า  ด้วยอังกฤษไม่มีความผิด
          ข้อ ๔   ให้ทูตว่ากับเจ้าอังวะขอตั้งเรสิเดนคนหนึ่งไว้ในเมืองอังวะ  เพื่อจะให้เจ้าเมืองอังวะทำให้ถูกตามหนังสือสัญญาที่ทำไว้ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก  กับให้ตั้งกงสุลคนหนึ่งที่เมืองย่างกุ้ง  เพื่อจะได้ตัดสินความแลรักษาการค้าขายของพวกลูกค้าอังกฤษ
          ข้อ ๕   อังกฤษจะเอาเกาะนิกะเรสอันเป็นของค้างอยู่ก่อนเป็นสิทธิ  ถ้าเจ้าอังวะไม่ให้เกาะนิกะเรสก็ต้องยอมให้ให้อังกฤษมีผลประโยชน์อย่างอื่นเท่ากับเกาะนิกะเรส

          ครั้นทูตอังกฤษมาถึงเมืองย่างกุ้ง  เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ต้อนรับเลี้ยงดู  รักษาไว้ด้วยธรรมเนียมอันดี
          ครั้นเดือนเสบเตมเบอร์ ตรงกับเดือนสิบ  ก็ไปถึงเมืองที่เจ้าอังวะอยู่  แล้วทูตอังกฤษก็ต้องทนทรมานดูถูกดูหมิ่นของพม่าเหมือนกัปตันกอกคนก่อน  ทูตคอยจะเฝ้าอยู่หลายวัน  ได้ความลำบากหนัก  ในเดือนนอแวมเบอร์ ตรงกับเดือนสิบสอง  เจ้าอังวะก็ให้มารับทูตเข้าไปเฝ้า
          ครั้นมาถึงเดือนดิแซมเบอร์ตรงกับเดือนอ้าย  ทูตก็ลากลับไป

          แลความที่พม่าตอบหนังสือเจ้าเมืองเบงคอลนั้นใจความว่า  ภายหน้าพม่าจะไม่ขอพวกชาวเมืองอาระกันที่เรียกว่ามุก ซึ่งหนีไปอาศัยอยู่ในแดนอังกฤษนั้นต่อไปอีก

          อนึ่ง  เจ้าอังวะไม่ได้สั่งให้เจ้าเมืองอาระกันซึ่งเป็นพม่า  มีหนังสือไปว่ากล่าวหยาบช้าต่อเจ้าเมืองเบงคอล  เจ้าอังวะไม่ยอมสารภาพ

          อนึ่ง  เจ้าอังวะไม่ยอมให้ทำหนังสือสัญญาใหม่  แล้วไม่ยอมให้ตั้งเรสิเดนในเมืองอังวะ  แลไม่ยอมทำตามหนังสือสัญญาที่กัปตันกอกทำไว้นั้นด้วย  แต่การค้าขายคงอยู่ตามเดิม  ตามที่ได้สัญญาไว้ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๗ ปีเถาะ สัปตศก  กับเจ้าอังวะไม่ยอมให้ที่แผ่นดินแก่อังกฤษทั้งปวงอยู่ในเมืองพม่าต่อไป

          ครั้นลุดแตนแนนซิมทูต  กลับมาเมืองย่างกุ้งพม่าก็ทำดูถูกดูหมิ่นมาก  ทูตก็คิดจะเขียนหนังสือกล่าวโทษเจ้าเมืองย่างกุ้งฝากไปฟ้องแก่เจ้าอังวะ”

          ** ก็เป็นอันว่าอังกฤษเจ้าเมืองเบงคอล  ผิดหวังอีกครั้ง  เมื่อทูตที่ส่งเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะทำงานไม่สำเร็จ  พระเจ้าอังวะไม่ยอมให้ทำหนังสือสัญญาใหม่ตามที่อังกฤษต้องการ  ไม่ยอมให้ตั้งกงสุลในเมืองอังวะ  ทั้งไม่ยอมทำตามหนังสือสัญญาที่กัปตันกอกทำไว้ก่อนหน้านั้นด้วย  ซ้ำยังไม่ให้ที่แผ่นดินทุกตารางนิ้วในเมืองพม่าแก่อังกฤษอีกต่อไป  ส่วนการค้าขายนั้นให้คงอยู่ได้ตามเดิม

          ลุตแตนแนนซิม ทูตอังกฤษคนล่าสุด  กลับจากการเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะมาอยู่เมืองย่างกุ้ง  ทนรับการดูถูกดูหมิ่นจากขุนนางพม่า  แล้วเขาจะทำอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านจดหมายเหตุฉบับนี้กันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, พฤศจิกายน, 2562, 10:15:43 PM
(https://i.ibb.co/2jvwjdz/images-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อังกฤษเริ่มคุกคามข่มขวัญพม่า -

อังกฤษเริ่มคุกคามพม่ามาก
เนื่องมาจากพม่าแสนมากแผนชั่ว
ทำโอนอ่อนซ่อนเร้นเห็นแก่ตัว
เล่น“ตบหัวลูบหลัง”อย่างชำนาญ

อังกฤษจึงจับพลันกำปั่นพม่า
ที่ขายค้าฝรั่งเศสในทุกด้าน
ปิดเส้นทางกลางทะเลเป็นปราการ
เพื่อต่อต้านศัตรูตนทุกหนทาง


          อภิปราย ขายความ................................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำพระราชพงศาวดารฯ ที่เผยแผ่จดหมายเหตุอังกฤษผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอล  ถึงเรื่องราวระหว่างอังกฤษกับพม่า  ซึ่งทางอังกฤษพยายามผูกมิตร  ขอตั้งกงสุลในพม่า  จนแล้วจนรอดก็ยังตั้งไม่ได้  ครั้งล่าสุด  เจ้าเมืองเบงคอลมอบหมายให้  ลุดแตนแนซิม  เป็นทูตนำหนังสือสัญญาเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะ  แต่ก็ถูกปฏิเสธจากพระเจ้าอังวะโดยสิ้นเชิง  ทูตอังกฤษต้องถอยไปตั้งหลักที่เมืองย่างกุ้ง  ดังความที่ทุกท่านได้อ่านกันไปแล้วนั้น  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรอีกบ้าง  วันนี้มาอ่านจดหมายเหตุนั้นกันต่อไปครับ

           “ครั้นมาถึงเดือนยันนุวารี  ค.ศ.๑๗๐๓  ตรงกับเดือนยี่ จ.ศ. ๑๑๖๕ ปีกุน เบญจศก (พ.ศ. ๒๓๔๖)  ลุดแตนแนซิมทูตก็ออกจากเมืองย่างกุ้งกลับไปเมืองเบงคอล  ลุดแตนแนนซิมเข็ดพม่า  จะไม่ไปเมืองพม่าต่อไป  จึ่งตั้งให้ลุดแตนแนนแกนนึงเป็นทูต  ไปอยู่สำหรับเมืองย่างกุ้งแทนตัว

          แล้วลุดแตนแนนแกนนึง  ซึ่งเป็นทูตแทนตัวลุดแตนแนนซิม  ก็ไปเมืองย่างกุ้ง  ด้วยการที่จะทำ ๒ ข้อ

          ข้อ ๑   ให้พม่ามีช่องมีโอกาสที่จะสารภาพโทษที่พม่าได้ทำผิดไว้กับกับทูตอังกฤษทั้งสองซึ่งมาครั้งก่อนนั้น
          ข้อ ๒   ให้สืบดูว่า  พวกฝรั่งเศสจะชอบพอกลมเกลียวกับพม่าอย่างไรบ้าง  แล้วคอยดูกิริยาแลใจของพม่าจะคิดดีคิดร้ายประการใดแก่อังกฤษบ้าง  ถ้าได้ความประการใดก็ให้บอกหนังสือไปให้รู้โดยเร็ว

          ครั้นลุดแตนแนนแกนนึงมาถึงเมืองย่างกุ้ง  เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ต้อนรับด้วยธรรมเนียมอันดี  แล้วส่งหนังสือลุดแตนนแนนซิมที่เป็นทูตมาก่อนนั้นให้ไปถึงเจ้าอังวะ  จึ่งมีรับสั่งเจ้าอังวะให้เจ้าเมืองย่างกุ้งตอบทูตอังกฤษว่า  เจ้าอังวะยอมทำตามหนังสือลุดแตนแนนซิมผู้เป็นทูตซึ่งมาขอนั้นทุกประการ  แลการที่จะให้ทูตพม่าไปเมืองเบงคอล  อังกฤษปรารถนาจะพึ่งเรา  เราก็จะยอมให้พึ่ง

          มีความว่า  ซึ่งเจ้าอังวะมีใจอารีกว้างขวาง  แลเจ้าเมืองย่างกุ้งได้ต้อนรับลุดแตนแนนแกนนึงด้วยธรรมเนียมอันดีนั้น  เพราะด้วยสะดุ้งตกใจกลัวแก่พวกไทย  ด้วยกองทัพไทยแทบจะถึงกำแพงเมืองอยู่แล้ว

          ความว่า  ไทยได้ชำนะพม่าแล้วก็ขับไล่พม่าเสียจากเมืองเชียงใหม่  แล้วกองทัพไทยก็กลับมาพักอยู่ริมแม่น้ำสาระอิน (สาละวิน) ฟากข้างตะวันออก  แลการที่พม่าต้อนรับลุดแตนแนนแกนนึงด้วยอัชฌาศัยดีนัก  หาดีตลอดไม่

          ด้วยในเดือนนอแวมเบอร์ ตรงกับเดือนสิบสอง  เจ้าเมืองย่างกุ้งลงมาจากเมืองหลวง  ก็สั่งให้เรียกเอาหนังสือฝากของอังกฤษบรรดาที่ได้รับไว้นั้นมาฉีกผนึกออกดูทั้งหมด  ลุดแตนแนนแกนนึงเห็นผิดธรรมเนียม  ก็ห้ามปรามเจ้าเมืองย่างกุ้ง  เจ้าเมืองย่างกุ้งไม่รู้ผิดชอบประการใด  ก็หาฟังไม่  ลุดแตนแนนแกนนึงโกรธก็ออกจากเมืองย่างกุ้งไปเมืองเบงคอล

          ครั้น ค.ศ. ๑๘๐๘ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๗๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๕๑)  เจ้าอังวะให้เจ้าเมืองอาระกันแต่งทูตพม่าไปเมืองเบงคอลตามสัญญา

          อนึ่ง  มีความว่าเกาะที่ขึ้นกับฝรั่งเศสหลายเกาะ  อังกฤษยกไปล้อมไว้แล้ว  เจ้าเมืองเบงคอลจึ่งให้กัปตันแกนนึงเป็นทูตไปเมืองย่างกุ้งอีก  ว่าด้วยการ ๔ อย่าง

          ข้อ ๑   ไปบอกให้พม่ารู้ว่าอังกฤษยกไปล้อมเกาะที่ขึ้นกับฝรั่งเศสไว้  กับให้พม่ารู้ในธรรมเนียมที่พม่าควรจะประพฤติ ตามอังกฤษได้ทำไว้กับฝรั่งเศสนั้น
          ข้อ ๒   ให้ไปพูดจาว่ากล่าวให้พม่าสบายใจ  อย่าให้มีความสงสัยแก่อังกฤษ  ด้วยอังกฤษยกไปรบฝรั่งเศสอยู่ที่แผ่นดินยุโรปใหญ่โต  ฝรั่งเศสจึ่งมาค้าขายที่เมืองมรแมนไม่ได้  แล้วบอกให้พม่ารู้ธรรมเนียมที่อังกฤษจะรบแลล้อมบ้านเมืองนั้นด้วย
          ข้อ ๓   บอกให้พม่ารู้ว่าอังกฤษจับเอากำปั่นสองเสาที่มีชื่อพม่าได้ลำหนึ่ง  ชำระไต่ถามได้ความว่า  ของที่บรรทุกมาในลำกำปั่นเป็นของฝรั่งเศส  ด้วยธรรมเนียมเป็นศึกกันแล้วต้องจับเรือลูกค้า
          ข้อ ๔   ให้กัปตันแกนนึงพิทักษ์รักษาสิ่งของแลพวกอังกฤษซึ่งอยู่ในเมืองพม่านั้น  แลตรึกตรองระวังกลอุบายแห่งศัตรูด้วย”

          ** ท่านผู้อ่านที่อ่านมาทั้งหมดนี้  เป็นบันทึกจดหมายเหตุของเจ้าเมืองเบงคอล  เกี่ยวกับพม่า  ที่ การะฝัดรัสติน  เจ้าเมืองสิงคโปร์คัดลอกให้ขุนสิริยภาษา  ต้นหนกำปั่นเหราข้ามสมุทร  นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  มีความยึดยาวมาก  เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับไทยในบางช่วงบางตอนด้วย  จึงนำมาให้อ่านกันโดยไม่รวบรัดตัดตอน  เพื่อให้คนไทยได้รู้เบื้องหลังของพม่าอีกด้านหนึ่ง

          ตอนที่อ่านจบลงไปนี้  เป็นตอนที่เห็นชัดขึ้นว่าอังกฤษเริ่มรุกพม่าในทางการทูตหนักขึ้น  โดยมอบหมายให้  ลุดแตนแนนแกนนึงผู้รับหน้าที่เป็นทูตแทนลุดแตแนซิม  ทำเรื่องสำคัญ ๔ ข้อ  เป็นการข่มขู่คุกคามพม่ามากขึ้น  ข่าวการที่อังกฤษนำแสนยานุภาพทางกองทัพเรือเข้าปิดล้อมเกาะทุกเกาะที่ฝรั่งเศสเข้าไปอยู่นั้น  จะให้พม่าเกรงกลัวอังกฤษหรือไม่อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านความในจดหมายเหตุฉบับนี้กันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, พฤศจิกายน, 2562, 10:30:36 PM
(https://i.ibb.co/q75DVny/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- ศึกอาระกันในพม่า -

สงครามอังกฤษพม่าเค้าปรากฏ
เมื่อกบฏอาระกันปั่นบาดหมาง
อังกฤษรีบแจงไม่เกี่ยวขอเป็นกลาง
พม่าหมางระแวงมากแคลงใจ


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ซึ่งได้แปลหนังสือจดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลที่กล่าวถึง  เรื่องราวของอังกฤษที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพม่า  และมีเรื่องราวของพม่ากับไทยในจดหมายเหตุนั้นด้วย  ทุกท่านได้อ่านจดหมายเหตุนั้นมามากแล้วแต่ยังไม่จบ  เป็นจดหมายเหตุอีกแง่มุมหนึ่งที่น่ารับรู้นะครับ  ใจความเป็นเรื่องที่อังกฤษบันทึกไว้  แต่ถ้อยคำสำนวนเป็นของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ที่เขียนตามคำแปลในสมัยนั้น  บางคำอาจจะแปร่งหูไปบ้าง  เช่นชื่อคน  ชื่อเมือง  และชื่อเดือนในภาษาอังกฤษ  อย่างเมืองอมรปุระ  ก็ออกเสียงว่า อำมะระโปรา  เป็นต้น  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

          * “กัปตันแกนนึงมาถึงเมืองย่างกุ้งในเดือนออกโตเบอร์  ตรงกับเดือนสิบเอ็ด  แล้วได้ไปเฝ้าเจ้าอังวะถึงที่อยู่เจ้าอังวะ ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ ตรงกับ จ.ศ. ๑๑๗๒ ปีมะเมีย โทศก (พ.ศ.๒๓๕๓)  พม่าก็รับเลี้ยงดูด้วยธรรมเนียมอันดี

          พวกขุนนางพม่าก็จัดแจงหนังสือตอบให้กัปตันแกนนึงเอาไปให้เจ้าเมืองเบงคอล  ในหนังสือนั้นยกตัวเป็นสูงสุด  อวดสติปัญญา  ว่าเป็นนัย ๆ จะให้อังกฤษคืนเมืองจิตตะกอง  เมืองดากา  เมืองลุบกิโป  เมืองโคสิมปะษา  รวม ๔ เมืองให้แก่พม่า

          แล้วกัปตันแกนนึงจึงบอกให้เจ้าอังวะรู้อย่างธรรมเนียม  ที่อังกฤษจะต้องรบตามกฏหมายอังกฤษ  แล้วก็ห้ามเจ้าอังวะว่า  กำปั่นทั้งปวงที่อยู่ในเมืองพม่า  ถ้ามาขอเบิกล่องจะไปที่เกาะอันขึ้นกับฝรั่งเศสอย่าให้ไปเลย  ด้วยอังกฤษกับฝรั่งเศสยังทำศึกกันอยู่  ครั้นกัปตันแกนนึงจัดแจงการสำเร็จแล้ว  ก็กลับไปเมืองกะละกะตาในเดือนเมล์ ค.ศ. ๑๘๑๐  ตรงกับเดือนหก จ.ศ. ๑๑๗๒ ปีมะเมีย โทศก

          รุ่งขึ้นปีใหม่  ต้นปี  ชาวอาระกันคนหนึ่งชื่อเคียนเบียน  เป็นใหญ่ในพวกมุก  เมื่อครั้งก่อนได้พาพรรคพวกหนีไปอยู่เมืองจิตตะกอง  เดี๋ยวนี้คุมสมัครพรรคพวกกลับไปปล้นตีเมืองอาระกัน  กับมีพวกมุกอีกเป็นอันมากทั้งชาวเมืองอาระกันที่อยู่ในแว่นแคว้นเมืองอาระกัน  ก็พร้อมกันเข้าปล้นชิงเอาหัวเมืองอาระกันได้สิ้น  เว้นไว้แต่เมืองหลวงที่พม่าเป็นเจ้าเมืองอยู่นั้น

          ครั้งนั้น  เจ้าเมืองเบงคอลรู้ว่าเจ้าเมืองอาระกันซึ่งเป็นพม่า  สงสัยว่าอังกฤษไปตีเมืองอาระกัน  ก็คิดกลัวพม่าจะแก้แค้นทำอันตรายแก่พวกอังกฤษแลสิ่งของ ๆ อังกฤษที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง  จึ่งให้กัปตันแกนนึงเป็นทูตไปเมืองพม่าเป็นคำรบสาม  แลการที่ทูตจะว่ากล่าวแก่พม่านั้นมี  ๓ ข้อ

          ข้อ ๑   ให้ชี้แจงแก่เจ้าอังวะแลขุนนางพม่าทั้งปวงหายสงสัยว่า  อังกฤษหาได้คบคิดให้ชาวเมืองอาระกันมาตีเมืองอาระกันของพม่าไม่
          ข้อ ๒   ให้ชี้แจงแก่เจ้าอังวะให้เห็นการว่า  ซึ่งพม่าที่เป็นเจ้าเมืองมอญทำกับพวกอังกฤษแลกำปั่นอังกฤษนั้นไม่ควร  แลซึ่งเจ้าเมืองมอญให้เก็บเอากำปั่นลำหนึ่งแล้วถอดกัปตันเสีย  แล้วตั้งคนอื่นเป็นกัปตัน  ให้บรรทุกทหารพม่าไปเมืองทวาย แล้วมิได้คิดค่าจ้างให้นั้นมิชอบ
          ข้อ ๓   ให้ชี้แจงให้เจ้าอังวะเข้าใจในข้อความต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งสองฝ่ายนั้น  ว่าด้วยอังกฤษจับกำปั่นพม่าไว้  เพราะมีเหตุร้ายต่าง ๆ    กับว่าด้วยคนที่ในกำปั่นอีกลำหนึ่งอังกฤษได้จับไว้แล้วทำโทษคนเหล่านั้น  ว่าเป็นสลัดฆ่าฟันผู้คน  กับว่าด้วยเครื่องสาสตราวุธในกำปั่นสองเสาลำหนึ่ง  ที่นายกำปั่นรบจับได้  เมื่อกำปั่นนั้นใช้ใบมาจากเมืองฉลางจะไปเมืองทวายนั้นด้วย

          ครั้นกัปตันแกนนึงมาถึงเมืองย่างกุ้ง  เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ต้อนรับอัชฌาศัยอันดี  กัปตันแกนนึงก็บอกชี้แจงข้อความที่เมืองอาระกันนั้นให้เจ้าเมืองย่างกุ้งฟัง  เจ้าเมืองย่างกุ้งมีความชื่นชมยินดี  ด้วยว่าอังกฤษไม่ได้เป็นใจด้วยชาวเมืองอาระกัน  ให้ไปตีเมืองอาระกัน  กัปตันแกนนึงอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง  มีรับสั่งเจ้าอังวะให้ไปเฝ้า”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  เมืองอาระกันในจดหมายเหตุนี้  คือเมืองยะไข่ในประวัติศาสตร์ไทย  อยู่ทางตอนเหนือของพม่า  ติดแดนบังกลาเทศ (เบงคอล)  ชนชาวเมืองนี้เป็นเชื้อชาติเดียวกันกับพม่า (เมียนมาร์)  แต่ชาวพม่ามองชาวยะไข่ว่าเป็นชนชาวบังกลา-อินเดีย  ไม่ใช่ชาวพม่า  ก็คงจะเหมือน ๆ กับคนไทยภาคกลาง  ที่มองคนไทยทางล้านนา อีสาน ว่า ลาว  มองชาวภาคใต้หลายเมืองว่า  แขก  ไม่ใช่ไทย  ซึ่งความรู้สึกการแบ่งเชื้อชาติชนดังกล่าว  มีอยู่ในชนชาติทุกประเทศชาติเลยก็ว่าได้

          เมืองอาระกัน หรือ ยะไข่  เป็นเมืองใหญ่ที่เคยยกทัพลงมาตีเมืองหงสาวดี  กวาดทรัพย์สินผู้คนและเผาเมืองไปก่อนหน้าที่สมเด็จพระนเรศวรจะยกทัพไทยไปตีหงสาวดี   ภายหลังพระเจ้าปดุงก็ยกทัพไปเหยียบเมืองยะไข่เสียเรียบราบเป็นหน้ากลอง  ว่ากันว่านักรบยะไข่มีความเก่งกล้าสามารถมากที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคนี้

          เมืองอาระกันอยู่ในสายตาของอังกฤษที่จ้องจะยึดครองต่อจากจิตตะกอง  ดังนั้นจึงหนุนหลังพวกกบฏอาระกันอยู่ห่าง ๆ  ครั้นพวกมุกชนอีกกลุ่มหนึ่งของอาระกันยกพวกเข้าปล้นเมือง  โดยมีชาวเมืองอาระกันอีกหลายกลุ่มร่วมก่อการด้วย  อังกฤษก็ร้อนตัวกลัวว่าพม่าจะหาว่าอังกฤษหนุนหลังพวกกบฏ  จึงรีบแต่งให้กัปตันแกนนึงเป็นทูตเข้าไปเจรจาชี้แจงแก่พระเจ้าอังวะ  ดังความที่ทุกท่านอ่านกันแล้วนั้น

          เริ่มมองเห็นเค้าสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าทะมึนขึ้นมาแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, พฤศจิกายน, 2562, 10:19:36 PM
(https://i.ibb.co/Vtf9Cj8/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- พม่ากับอังกฤษรบกันแล้ว -

พม่ารุกอังกฤษที่จิตตะกอง
อังกฤษต้องตีรุกบุกยะไข่
ต่างคนต่างรุกรับรบฉับไว
สงครามใหญ่ลุกลามเกิดตามมา


          อภิปราย ขยายความ ..............................

          เมื่อวันวานนี้ผมนำจดหมายเหตุอังกฤษผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอล  จากพระราชพงศาวดารฯมาให้อ่านกัน  ยังไม่จบสิ้นกระบวนความ  วันนี้มาอ่านต่อกันให้จบไปเลยนะครับ

          * “ในเดือนยันนุวารี ค.ศ. ๑๘๑๑ ตรงกับเดือนยี่ จ.ศ. ๑๑๗๓ ปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. ๒๓๔๕)  พระยาบริง  ชื่อ  เพียนยา  เป็นเจ้าเมืองอาระกัน  กับสมัครพรรคพวก  เมื่อแตกพม่าก็พาสมัครพรรคพวกหนีไปอาศัยอยู่ในป่าริมเมืองจิตตะกอง  พม่ารู้ก็ยกกองทัพรุกไล่เข้าไปในเขตแดนอังกฤษ  แล้วว่าให้อังกฤษส่งตัวพวกเหล่านั้นด้วยคำดุดันว่า  ถ้าอังกฤษไม่ส่งตัวพวกอาระกันให้แล้ว  กองทัพพม่าได้ตระเตรียมไว้ถึงแปดหมื่นคน  จะมาล้อมเมืองรบอังกฤษ  ทั้งฝรั่งเศสก็จะมาช่วยพม่ารบด้วย  แล้วก็ว่ากล่าวตอบโต้กับอังกฤษ  ผู้เป็นตระลาการในเมืองจิตตะกอง  แล้วพม่าจึงถอยทัพกลับไป  แล้วแม่ทัพพม่าก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ยกกองทัพเข้าไปในเขตแดนอังกฤษ

          เพราะเหตุนี้  เจ้าเมืองเบงคอลจึ่งสั่งให้กัปตันแกนนึงไปฟ้องต่อเจ้าอังวะว่า  แม่ทัพพม่าทำลายไมตรีเสีย  แล้วบังอาจยกกองทัพล่วงเข้ามาเหยียบเขตแดนอังกฤษมิได้บอกให้รู้  แล้วแม่ทัพพม่าที่เป็นเจ้าเมืองอาระกันให้หนังสือมาว่ากล่าวเป็นข้อหยาบช้าต่อเจ้าเมืองเบงคอล  บอกให้เจ้าอังวะรู้ว่าการทั้งนี้เป็นเหตุที่เจ้าเมืองเบงคอลจะยกทัพมารบพม่า  แต่ทว่าเจ้าเมืองเบงคอลนั้นมีใจรักใคร่ในทางไมตรี  จึ่งมิได้ยกกองทัพมา  แลการเป็นดังนี้  เดี๋ยวนี้อังกฤษกับพม่าจะพูดจากันต่อไปนั้นไม่ได้  กว่ากองทัพพม่าจะยกกองทัพกลับไปพ้นแดนต่อแดนจึ่งจะพูดจากันต่อไปได้  แลซึ่งอังกฤษตั้งค่ายไว้ที่เมืองจิตตะกองนั้น  จะป้องกันรักษาเมืองไว้ดอก  ใจเจ้าเมืองเบงคอลนั้น  จะใคร่ให้เป็นไมตรีอยู่สุขสบายด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่ทว่าอังกฤษก็ได้จัดตระเตรียมการไว้พร้อมอยู่เป็นนิจ  ถ้าผู้ใดทำดูถูกยกทัพรุกล่วงเข้ามาในแดนแล้ว  ก็คงจะต้านทานรับไว้ไม่ให้ข้าศึกดูหมิ่นได้  แต่ผู้ใดจะมาพูดจาตามธรรมเนียมโดยสุภาพ  อังกฤษก็คงจะยอมตามบ้าง  อันการที่จะคืนพวกมุกให้นั้น  ถ้ามาสู่ขอว่ากล่าวกันโดยธรรมเนียมอันดี  เห็นสมควรแล้วคงจะคืนให้

          มีความว่า  ข้อความซึ่งพม่ากับอังกฤษจะผิดกันนั้น  อังกฤษได้คิดจัดแจงทำไว้พร้อมอยู่แล้ว  ทูตอังกฤษจัดแจงเตรียมตัวไว้คอยจะไปเฝ้าเจ้าอังวะ  แลมีข่าวบอกมาแต่เมืองเบงคอลในเดือนมาร์ชตรงกับเดือนสี่ว่า  กองทัพพม่ายกไปล้อมเมืองจิตตะกองอีกครั้งหนึ่ง  เพราะเหตุนี้  กัปตันแกนนึงจึ่งยังมิได้ขึ้นไปเฝ้าเจ้าอังวะ  เจ้าเมืองย่างกุ้งก็ได้ชักชวนด้วยอุบายหลายอย่าง  กัปตันแกนนึงก็ไม่ไป  เจ้าเมืองย่างกุ้งก็คิดจัดแจงจะให้คนเป็นอันมากช่วยกันฉุดเอาไปให้ได้  แต่ว่ากัปตันแกนนึงกับพรรคพวกหลบหนีขึ้นกำปั่นได้ก่อน  เจ้าเมืองย่างกุ้งครั้นคิดเห็นความที่ตัวทำแก่กัปตันแกนนึงนั้น  ก็รู้ว่าตัวมีผิดจะแก้ตัวให้พ้นผิด  กัปตันแกนนึงลงเรือกำปั่นได้แล้วก็กลับมาแจ้งความแก่เจ้าเมืองเบงคอลต่าง ๆ  เจ้าเมืองเบงคอลก็สู้อดทนไว้

          อนึ่ง  เมื่อทูตอังกฤษไปเฝ้าเจ้าอังวะที่กล่าวมาแล้วว่า  พม่าทำดูถูกดูหมิ่นนั้น  คือทูตไปถึงเมืองอังวะแล้ว  มีขุนนางพม่ามาห้ามว่า  เจ้าอังวะไม่อยู่  มีที่เสด็จไปในที่ต่าง ๆ  ให้ทูตพักอยู่นอกเมืองก่อน  ประมาณเดือนหนึ่งบ้างสองเดือนบ้าง  แล้วก็มีขุนนางมาบอกทูตว่า  เจ้าอังวะเสด็จกลับมาแล้ว  ให้รับทูตเข้าไปในเมือง  ทูตต้องทนความลำบากอยู่ช้านาน

          ครั้นเข้าไปถึงในเมืองแล้วเดินไปตามทาง  ถ้าเห็นยอดปราสาทราชมณเฑียรที่ใดก็ให้ทูตกราบถวายบังคมเสียครั้งหนึ่ง  ทูตก็ตอบว่าไม่มีธรรมเนียมที่จะกราบไหว้บ้านเรือนที่อยู่ดั่งนี้  ไม่คำนับ  ขุนนางพม่าก็โกรธ  ครั้นพาไปถึงเรือนรับแขกเมืองแล้ว  ก็ให้ทูตอาศัยอยู่  ไม่มีขุนนางพนักงานมาเยี่ยมเยียนไต่ถามประการใด  ทูตต้องทนความดูถูกดูหมิ่นอยู่หลายวัน  

          ทูตจึงคิดว่า  เหตุไรพม่าจึ่งไม่รับเข้าไปในเมืองโดยเร็ว  เห็นพม่าจัดแจงตกแต่งบ้านเมืองยังไม่แล้ว  จึ่งยังไม่ให้เข้าไป  ครั้นเข้าไปในเมืองแล้ว  ดูถนนหนทางก็เรียบร้อยหมดจด  สองข้างถนนก็มีร้านขายของต่าง ๆ  ที่วังแลบ้านขุนนางนั้น  ก็ตกแต่งฉาบปูนใหม่ให้สะอาด  ทูตจึ่งคะเนการว่า  ที่บอกว่าเจ้าอังวะไม่อยู่นั้น  คือจัดการบ้านเมืองอวดแขกเมืองเท่านั้น  ต้องเอาความเท็จมาบอก

          ครั้นเมื่อเวลาทูตจะได้เฝ้า  มีขุนนางมาพาไปอยู่ที่ศาลาใหญ่ริมทางที่ขุนนางจะเข้าไปเฝ้า  ต้องคอยอยู่หลายชั่วโมง จึ่งเห็นกระบวนแห่ตัวนายขี่ช้าง  แลมีคนแต่งตัวสวมเสื้อกำมะหยี  เสื้อสักหลาด  ถือเครื่องอาวุธแลเครื่องยศ  แห่มาข้างหน้าข้างหลังเป็นอันมาก  ตามเข้าไปเข้าไปถึงประตูวังก็ถาม  บอกว่าอินแซะมหาอุปราช  ครั้นสิ้นกระบวนอินแซะแล้ว  ก็ถึงกระบวนเจ้าขี่ช้างบ้างขี่ม้าบ้าง  มีคนแห่มามาก ๆ กระบวนหนึ่งก็หลายร้อย  ครั้นสิ้นเจ้าแล้วถึงขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ตบแต่งไปเหมือน ๆ กัน   ทูตได้ถามล่ามไปทุก ๆ กระบวน  ล่ามก็บอกว่าเป็นกระบวนเจ้าน้องบ้าง  เจ้าลูกบ้าง  เจ้าหลานบ้าง  ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยบ้าง

          ทูตถามว่า  เจ้าแลขุนนางมาเฝ้า  ตกแต่งมาอย่างนี้ทุกวันฤๅ  ฤๅเป็นแต่ตกแต่งออกรับแขกเมืองครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง  ขุนนางพนักงานให้ล่ามบอกว่าเป็นธรรมเนียมดั่งนี้เสมอทุกวัน  ทูตว่าไม่จริง  ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน  เสื้อแลเครื่องแห่ก็จะเก่าไปบ้าง  นี่เป็นของใหม่ทั้งนั้น  เห็นจะเย็บในเร็ว ๆ นี้เอง   ประการหนึ่ง  เอาคนมาไว้มาก ๆ สำหรับทำยศ  จะเอาเข้าปลาอะไรมาเลี้ยงได้ทุกวัน ๆ  ล่ามตอบว่าคนในเมืองพม่ามากนัก  ผลัดเปลี่ยนกันมารับราชการ  มันหาของมันกินเอง  ทูตถามว่า  ผ้ากำมะหยี่ผ้าสักหลาดเอามาทำเสื้อให้บ่าวใส่  พม่าทำได้เองที่นี่ฤๅซื้อมาแต่ไหน  ล่ามบอกว่าทำได้ที่เมืองพม่าเอง  ทูตว่าพม่าพูดไม่จริง  ของนี้มาแต่เมืองอังกฤษ  ปีหนึ่งพม่าใช้สิ้นมากน้อยเท่าใด  เขาก็รู้บาญชี

          พอได้ยินเสียงประโคมขึ้นข้างในวัง  แลมีคนมาเชิญทูตเข้าไปเฝ้า  ทูตเข้าไปในที่เฝ้าแล้วก็มองไม่เห็นเจ้าอังวะ  เห็นแต่ประตูแย้มออกหน่อยหนึ่ง  พวกขุนนางก็กราบถวายบังคม  แล้วบอกให้ทูตกราบถวายบังคมด้วย  ทูตก็ถามว่าเจ้าอังวะอยู่ที่ไหนจะได้คำนับ  ขุนนางบอกว่าเสด็จออกอยู่ที่พระทวาร  ทูตว่าไม่เห็นตัวเจ้าคำนับไม่ได้  ให้เจ้าออกมาให้ข้าเห็นตัวก่อน  จึ่งจะคำนับ

          ในเวลานั้นก็เกิดทุ่มเถียงกันไม่ได้เฝ้า  พวกทูตก็กลับออกมาเสียอยู่หลายวัน  ขุนนางพม่าจึ่งมานัดใหม่  บอกว่าเจ้าอังวะจะออกมาให้เห็นตัว  แล้วทูตก็ยอมเข้าไป  พม่าก็ตั้งกระบวนแห่ตกแต่งเหมือนเฝ้าครั้งก่อน  ครั้นทูตเข้าไปเฝ้าในที่ประชุม  เจ้าอังวะก็เสด็จออกมาให้เห็นตัว  ทูตจึ่งได้คำนับตามอย่างธรรมเนียมอังกฤษ  ทูตแลขึ้นไปเห็นเจ้าอังวะดำนัก  คล้ายกับพวกแขกดำ  จึ่งนึกว่า  เพราะมันดำอย่างนี้  มันอายอยู่จึ่งไม่ออกมาให้เห็นตัวมัน  ออกมาให้เห็นตัวก็เพราะอยากได้ของถวาย  ครั้นเฝ้าพูดจากันแล้วทูตก็กลับมาที่อยู่  จึ่งคิดว่า  พม่านี้เหมือนกับคนป่าไม่รู้จักอะไร  จะพูดจาการงานอะไรให้แขงแรงไปก็ไม่ได้  กลัวมันจะทำร้ายต้องเอาใจดีต่อ  ทนความลำบากเอาแต่พอได้ราชการบ้างเล็กน้อย”

          ** จดหมายเหตุอังกฤษโดยเจ้าเมืองเบงคอล  ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ จบลงเพียงนี้  จะมีเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯอะไรอีกบ้าง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, พฤศจิกายน, 2562, 10:08:34 PM
(https://i.ibb.co/317jD1D/image.png) (https://imgbb.com/)

- อังกฤษยึดครองพม่าได้ทั้งหมด -

อังกฤษค่อยคืบคลานในการรบ
เข้าสยบกลืนกินถิ่นพม่า
ยึดยะไข่ย่างกุ้งได้ด้วยปัญญา
แล้วควานคว้าประเทศไว้ครอบครอง


          อภิปราย ขยายความ..................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำจดหมายเหตุชาวอังกฤษผู้เป็นเจ้าเมืองเบงคอล  จากพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบ  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กันต่อไปครับ

           “ สิ้นความในจดหมายเหตุแต่เท่านี้  แล้วการะฝัดก็เล่าความนอกจดหมายเหตุให้ขุนศิริยภาษาเข้ามากราบเรียนเสนาบดีให้ทราบว่า  เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๒๒ ตรงกับเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕  อังกฤษกับพม่าเกิดการวิวาทกันขึ้น  ทางเหนือเมืองพม่าต่อเขตแดนอังกฤษ  เจ้าเมืองมณีปูเสียชีวิตลง  พม่าตั้งคนอื่นมาเป็นเจ้าเมืองสืบแทน  บุตรเจ้าเมืองมณีปูคนเก่าไม่ได้รับการแต่งตั้งจึงหนีไปอยู่กับอังกฤษที่เมืองจิตตะกอง  แล้วขอกองทัพจากอังกฤษยกไปตีเอาเมืองคืน  ได้รบกันกับเจ้าเมืองมณีปูคนใหม่  กองทัพอังกฤษแตก  ทหารอังกฤษตายหลายคน  พม่าจึงมีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองจิตตะกองให้ส่งบุตรเจ้าเมืองมณีปูคนเก่าคืนไป  เจ้าเมืองจิตตะกองไม่ยอมให้

          เจ้าเมืองระแคงที่เรียกว่ายะไข่  กับเจ้าเมืองมณีปูจึงยกทัพไปตั้งอยู่เมืองอาซำและแม่น้ำเมืองศรีลัด  ทางใกล้กับเมืองจิตตะกองประมาณวันหนึ่ง  เจ้าเมืองจิตตะกองเกณฑ์กองทัพอังกฤษประมาณ ๒,๐๐๐  ยกไปตีทัพเมืองยะไข่  เมืองยะไข่แตกไปจากเมืองอาซำ  โดยเสียกำลังพลตายในการรบประมาณ ๕๐๐ เศษ

          พม่าจึงเกณฑ์กองทัพหลายหัวเมืองยกขึ้นไปทางบกตามลำน้ำศรีลัดถึงเมืองดากาของอังกฤษ  แล้วข้ามน้ำไปตั้งค่ายฟากเมืองดากาทางประมาณครึ่งวัน  เจ้าเมืองดากาให้คนออกไปนัดกองทัพพม่าว่าอีกสองวันจะยกออกไปรบกับพม่า

          พม่าได้รับฟังคำบอกนัดรบดังนั้น  จึงขุดสนามเพลาะไว้ห้าค่ายยาวประมาณ ๕๐ เส้น  แล้วพากันลงไปซุ่มอยู่ในสนามเพลาะนั้น  อังกฤษไม่รู้กลพม่า  เมื่อยกไปถึงสนามเพลาะโดยไม่ระแวงระวัง  พม่าจึงขึ้นจากสนามเพลาะและระดมยิงกองทัพอังกฤษแตก  ทหารทั้งนายและไพร่ของอังกฤษตายลงเป็นอันมาก  เจ้าเมืองดากาเกณฑ์กำลังพลเพิ่มเติมเข้ามาอีกก็ไม่ทันการณ์

          ยามนั้นพม่าก็พากันลอบเข้าไปเผาบ้านนอกกำแพงเมืองดากา  กองทัพอังกฤษประสบความพ่ายแพ้แล้วก็พากันยกกลับไป  แล้วเจ้าเมืองจิตตะกอง  เจ้าเมืองดากาก็มีหนังสือบอกมายังเจ้าเมืองเบงคอล

          เจ้าเมืองเบงคอลจึงมีหนังสือให้คนถือขึ้นไปถึงเจ้าเมืองอังวะ  หนังสือนั้นมีความว่า  “เจ้าเมืองยะไข่  เจ้าเมืองมณีปู ยกกองทัพลงมารบหัวเมืองขึ้นกับเมืองเบงคอลนั้น  เจ้าอังวะให้เกณฑ์กองทัพลงมารบฤๅ   ฤๅเป็นแต่เจ้าเมืองยะไข่  เจ้าเมืองมณีปูเณฑ์ทัพมารบเอง”

          ผู้ถือหนังสือขึ้นไปถึงเจ้าเมืองอังวะยังมิทันกลับลงมา  เจ้าเมืองเบงคอลก็ให้เกณฑ์กองทัพเมืองเบงคอลและเมืองมัทราชไว้  ด้วยคิดว่าถ้าพม่าตอบหนังสือมาประการใด  จะให้กองทัพอังกฤษยกไปตีเขตแดนพม่าให้รบต่อเนื่องมิให้หยุดจนกว่าจะได้เมืองอังวะ  การให้ยกกองทัพไปตีครั้งนี้  จะปรารถนาเอาบ้านเมืองก็หามิได้  แต่จะทำให้เข็ดหลาบ  พม่าจะมิได้ฉ้อลูกค้าวานิชนานาประเทศต่อไป”

          * * ท่านผู้อ่านครับ  จดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลที่บันทึกเรื่องราวความขัดแย้งกับอังกฤษ  และข่าวการรบระหว่างอังกฤษกับพม่าที่ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้มา  ก็มีเพียงแค่อังกฤษเกณฑ์กองทัพใหญ่เข้าตีพม่ามีเป้าหมายเพื่อจะยึดเมืองอังวะให้ได้  โดยอังกฤษบอกว่าไม่ปรารถนาจะเอาบ้านเมือง  แต่ต้องการจะทำให้พม่าเข็ดหลาบ  ไม่ข่มเหงรังแกลูกค้าวานิชและนานาประเทศเท่านั้น  จดหมายเหตุเจ้าเมืองเบงคอลดังกล่าว  บอกให้เรารู้ถึงนิสัยใจคอของคนชาวพม่ากับคนชาวอังกฤษว่าเแตกต่างกันอย่างไร

          คนอังกฤษแสดงภาพความเป็นผู้ดีให้เป็นที่ประจักษ์  ส่วนคนพม่าก็แสดงภาพความเป็นไพร่ผู้ร้ายให้ประจักษ์ตามความในจดหมายเหตุดังกล่าว  ความสัมพันธ์ของอังกฤษกับพม่าไม่ราบรื่น  เพราะอังกฤษหวังผลประโยชน์จากพม่า  ฝ่ายพม่าก็ไม่มีความจริงใจต่ออังกฤษ  ผลสุดท้ายก็เกิดการรบกันขึ้นและแล้วอังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ในที่สุด  ก่อนที่อังกฤษจะเข้ายึดครองพม่าได้นั้น  เริ่มมีการรบกันขึ้นทางทางตอนเหนือของพม่า  กล่าวคือ

          ปีพ.ศ. ๓๒๗-๘  อังกฤษรบชนะยะไข่หรืออาระกันแล้วยึดครองไว้ได้ทั้งหมด
          ปี พ.ศ.๒๓๗๖  อังกฤษยกกองเรือเข้ายึดครองย่างกุ้งไว้ได้
          ปี พ.ศ. ๒๓๘๙  ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง อังกฤษปิดหูปิดตาพม่า ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง
          ปี พ.ศ. ๒๔๒๑  เป็นยุคมืดของพม่า เมื่อพระเจ้าธีบอโอรสพระเจ้ามินดงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดาที่สวรรคต ว่ากันว่ากษัตริย์พระองค์นี้ของพม่ามัวเมาในสุรานารี(เหมือนใครหนอ)
          ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ อังกฤษยึดครองพม่าหมดสิ้นเชิง ประเทศพม่ากลายเป็นอาณานิคมในเครือจักรภพอังกฤษในที่สุด.

          เรื่องของพม่ากับอังฤกษ  มีรายละเอียดมากมาย  จนไม่อาจนำมากล่าวในที่นี้ได้หมดสิ้น  จึงขอพักไว้เพียงแค่นี้  พรุ่งนี้จะให้ทุกท่านได้อ่านเรื่องของไทยจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์กันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๗ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤศจิกายน, 2562, 10:19:50 PM
(https://i.ibb.co/9Zpd36h/images-12.jpg) (https://imgbb.com/)

- ขุนนางใหญ่เกิดทะเลาะกัน -

ไร้ข้าศึกติดพันจัดงานพระศพ
พระน้องนางอย่างครบเครื่องทั้งผอง
การสมโภชสี่คืนครื้นทำนอง
ละครร้องและรำตามนิยม

ดอกไม้เพลิงเริงโรจน์โชติช่วงเสร็จ
พระเสด็จกลับวังอย่างสุขสม
เสนาบดีที่กลับการรับชม
เกิดการข่มขู่เคาะเบาะแว้งกัน


          อภิปราย ขยายความ.................................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำจดหมายเหตุอังกฤษที่บันทึกเรื่องราวของอังกฤษกับพม่า  ที่ขัดแย้งกันก่อนที่อังกฤษจะยึดครองประเทศพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  จบความในจดหมายเหตุไปแล้ว  วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กันต่อไปครับ

          * “ ล่วงมาถึงปี จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก (พ.ศ. ๒๓๖๗)  อันเป็นปีที่ ๑๖  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เมื่อเดือน ๕  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งกองอาทมาตออกไปสืบราชการที่เมืองพม่า  กองอาทมาตกลับมาแจ้งความว่า  พม่ากับอังกฤษได้รบกันเข้าแล้ว  ทรงมีพระราชดำริว่า  การศึกนี้ก็ใหญ่อยู่  ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จะต้องให้มีกองทัพไปตั้งขัดตาทัพฟังราชการอยู่”

          เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มิได้ให้รายละเอียดว่า  โปรดให้ใครผู้ใดเป็นแม่ทัพยกกองทัพไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ใด  หรือไม่อย่างไร  ความเรื่องนี้จึงหายไป  แต่ข้ามเรื่องไปกล่าวถึงเหตุการณ์ในสยามประเทศไปว่า

           “ในเดือนห้านั้น  เกิดธุมเพลิงขึ้นทางทิศอีสาน  ท้องฟ้าดูประหนึ่งเพลิงไหม้  ครั้นถึงวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ เวลาทุ่มเศษ  เห็นดาวพฤหัสบดีเข้าในวงพระจันทร์”

          การเกิดธุมเพลิง  และดาวพฤหัสบดีเข้าในวงจันทร์นั้น  นัยว่าเป็นลางไม่ดี  แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็มิได้บอกว่ามีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง”

          ท่านผู้อ่านคงยังจำได้นะครับว่า เมื่อเดือน ๙ ปีมะแม เบญจศก นั้น  สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพยวะดี ประชวรจนถึงสิ้นพระชนม์  แล้วยังมิได้จัดการพระศพ  ล่วงมาได้ ๑ ปี  คือ  จุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้กล่าวถึงเรื่องไว้ว่า

           “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพนักงานทำพระเมรุสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพยวะดี  ครั้นพระเมรุเสร็จแล้ว  ในเดือนหกขึ้นสิบค่ำ  ได้ชักพระศพออกสู่พระเมรุ  ได้มีการมหรสพสี่วันสี่คืน  ถวายไตรปริขารแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมสงฆ์อันดับเป็นอันมาก

          ครั้น ณ วันเดือนหกขึ้นสิบสามค่ำ  ก็ได้พระราชทานเพลิง  แลเมื่อทำการพระศพนั้น  เจ้าพระยามหาเสนา บุญสังข์  กับเจ้าพระยาอภัยภูธร  เกิดวิวาทกันขึ้น  ด้วยเจ้าพระยามหาเสนาพาภรรยาน้อยไปดูงานที่พลับพลามวย  ครั้นเวลาค่ำ  เลิกดอกไม้แล้วเสด็จกลับเข้าพระราชวัง  เจ้านายแลขุนนางก็พากันกลับ  เจ้าพระยามหาเสนาก็พาภรรยาน้อยตามหลังแคร่มา  แล้วจึ่งถึงทนายถือเครื่องยศตามหลังหม่อม  หม่อมมาถึงมุมวังกรมหมื่นเทพพลภักดี  จะเข้าประตูวิเศษไชยศรี  มาออกประตูรัตนพิศาล  มาลงเรือที่ท่า  ขุนนางที่ประตูวิเศษไชยศรีนั้นคั่งกันอยู่  แคร่เจ้าพระยามหาเสนาจะเข้าไปยังไม่ได้  พอแคร่เจ้าพระยาอภัยภูธรตามมาข้างหลังก็บุกรุกเข้าไป  พวกทนายห้ามก็ไม่ฟัง  เกิดตีกันขึ้น  พวกทนายเจ้าพระยามหาเสนาแย่งเอากระบี่เครื่องยศฝักทองของเจ้าพระยาอภัยภูธรไว้ได้  แต่พวกภรรยาน้อยเจ้าพระยามหาเสนานั้นยับเยินเต็มที  ครั้นรวบรวมกันเข้าได้แล้วก็พากันไปลงเรือ

          ฝ่ายบุตรหลานเจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นเจ้ากรมปลัด กรมพระตำรวจ อยู่หลายนาย  ครั้นส่งเสด็จขึ้นพระมหามนเฑียรแล้ว ก็พากันกลับออกมาพบเจ้าพระยาอภัยภูธรที่จะเลี้ยวไปหน้าศาลาลูกขุน  เจ้าพระยาอภัยภูธรก็เล่าความซึ่งเกิดวิวาทนั้นให้ฟัง  พวกบุตรหลานญาติพี่น้องเจ้าพระยาอภัยภูธรแจ้งดั่งนั้น  ก็พากันวิ่งตามเจ้าพระยามหาเสนาลงมาทันที่ท่าเรือ  ก็แย่งชิงเอากระบี่คืนไปได้  เวลานั้นก็ได้วิวาทกันอีกครั้งหนึ่ง  เจ้าพระยามหาเสนาก็ลงเรือข้ามไปบ้าน   เจ้าพระยาอภัยภูธร บุตรหลานก็พากันข้ามไปบ้าน

          ครั้นงานพระศพแล้ว  เจ้าพระยามหาเสนาก็กราบบังคมทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยภูธร  จึ่งโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์   พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ   เป็นตระลาการชำระ  การที่ตระลาการชำระนั้นก็เป็นล้อเจ้าพระยามหาเสนาเล่น  ด้วยท่านทำผิดทำเนียม  หลงไปด้วยมาตุคาม  ความยังไม่ทันแล้วก็บังเกิดช้างเผือกล้ม  แลสิ้นแผ่นดิน  ต้องด้วยคำโบราณว่า  ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่วิวาทกันเป็นอุบาทว์  มักเกิดเหตุใหญ่ต่าง ๆ”

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้  เป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ผลการชำระคดีที่เจ้าพระยามหาเสนากับเจ้าพระยาอภัยภูธรวิวาทกันนั้น  ยังมิทันได้ตัดสินคดีก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่า   “ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่วิวาทกันเป็นอุบาทว์”   เป็นเรื่องที่โบราณท่านถือกันมาก  ประเทศใดที่เสนาบดีผู้ใหญ่  แม่ทัพนายกองเกิดการวิวาทกันแล้ว  ประเทศนั้นย่อมหาความสงบสุขมิได้”

          * * ขุนนางไทยสมัยโบราณดูเหมือนจะไม่มีใครเลยที่จะไม่มีอนุภรรยา  เพราะการมีอนุภรรยาถือว่าเป็นบุญญาบารมีอย่างหนึ่ง  อนุภรรยาเรียกรวมเป็นทรัพย์ว่า  “ทรัพย์ศฤงคารบริวารยศ”  ท่านเจ้าพระยามหาเสนา บุญสังข์  ผู้นี้  นัยว่ามีอนุภรรยามากกว่าขุนนางคนอื่น ๆ  และท่านเอาอกเอาใจอนุภรรยามากเกินงาม  จนเป็นที่สนุกปากในการพูดคุยถึงท่านของบรรดาขุนนางในราชสำนักนี้

          เหตุเกิดการวิวาทกันกับเจ้าพระยาอภัยภูธร  ก็เพราะท่านเอาใจอนุภรรยาที่อยากชมงาน  จึงพาขึ้นแคร่ไปด้วยหลายนาง  เวลาเดินทางจึงดูเป็นขบวนใหญ่กว่าเสนาบดีคนอื่น ๆ  น่าจะเป็นที่หมั่นไส้ของใคร ๆ พอสมควร  จึงเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น

 เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯ จะมีอย่างไรอีกบ้าง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, พฤศจิกายน, 2562, 10:01:14 PM
(https://i.ibb.co/rZRL32g/Untitlered-2.png) (https://imgbb.com/)

- เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จออกผนวช -

กาลภายหลังช้างเผือกสองเชือกล้ม
ทรงเห็นสมควรปลูกพระลูกขวัญ
ผนวชตามประเพณีที่สำคัญ
โดยลดขั้นตอนย่องามพอดี

เป็นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ
บริสุทธิ์ศักดิ์ศีลศิษย์ชินสีห์
สังฆมณฑลไทยเสื่อมหลายปี
เจ้าองค์นี้ปรับปรุงให้รุ่งเรือง


          อภิปราย ขยายความ.................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านอ่านกัน  ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้จัดงานพระศพพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงเทพยะวดี  มีการมหรสพสมโภชตลอดงาน  ในการนี้เจ้าพระยามหาเสนา บุญสังข์  กับ  เจ้าพระยาอภัยภูธร  เกิดวิวาทกัน  ดังที่ท่านได้อ่านไปแล้วนั้น  วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับเดิมกันต่อไปครับ

          ท่านผู้อ่านคงยังจำความที่ผมได้นำมาให้อ่านไปแล้วได้นะครับว่า  ในปีจุลศักราช ๑๑๘๕ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๖๖ นั้น  การะฝัดเจ้าเมืองสิงคโปร์ยึดราชสาส์นของพระเจ้าอังวะ  ที่มีไปถึงพระเจ้าเวียดนามได้ที่เกาะหมาก  แล้วส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ความในราชสาส์นพระเจ้าอังวะนั้น  ชักชวนให้พระเจ้าเวียดนามร่วมกับพม่ารบไทย  แล้วเรื่องก็เงียบหายไป  ตกมาถึงปีนี้ คือ ปี พ.ศ. ๒๓๖๗  อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระทิพากรวงศ์ได้นำเรื่องนี้กลับมากล่าวถึงอีกว่า

           “ในเดือนหกนั้น  เจ้าเมืองไซ่ง่อนแต่งให้ญวนถือหนังสือเลโบเสนาบดีเข้ามาส่งฉบับหนึ่ง  ได้แปลหนังสือเลโบเมื่อวันเดือนหกแรมสิบสองค่ำใจความว่า  เมื่อ ณ ปีมะแม เบญจศก  มีพม่าถือราชสาส์นแลคุมเครื่องบรรณาการมาถึงเมืองไซ่ง่อน  นายไพร่ ๔๗ นาย  แจ้งว่า  เรือที่ขี่มาแต่เมืองพม่าไฟไหม้เสียที่เกาะหมาก  ต้องจ้างกำปั่นอังกฤษมาส่ง  ในราชสาสนพม่าว่าหยาบคายเป็นอันมาก  ตัดเอาแต่ใจความออกมากราบทูลเจ้าเวียดนาม  ว่าครั้งพระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง  ได้จัดให้ทูตมาหลายครั้งแล้วหาถึงไม่  ครั้งนี้ได้ยินว่าพระเจ้ากรุงเวียดนามขึ้นครองราชสมบัติใหม่  เมืองพม่ายินดีหาที่สุดมิได้  จึ่งขุนนางใหญ่ให้เชิญราชสาสนมาขอให้กรุงเวียดนามตัดทางไมตรี  เมืองพม่าจะได้ทำศึกกับกรุงมหานครศรีอยุธยา  แล้วมีรับสั่งเจ้าเวียดนามว่า  จะคบค้าด้วยพม่าก็จะเสียทางไมตรีกับกรุงไป  จึ่งมิให้ทูตขึ้นไปเฝ้าให้กลับไปเสีย  แล้วทูตพม่าอ้อนวอนให้รับเครื่องบรรณาการไว้  ขุนนางญวนพร้อมกันรับแหวนทับทิมไว้วงหนึ่ง  แลของทั้งปวงนั้นคืนให้ทูตไปสิ้น  ณ เดือนสามปีมะแมเบญจศก  จึ่งมีรับสั่งให้เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดเรือพระราชทานให้ทูตพม่ากลับไป  แลจัดอีแปะเสบียงอาหารพร้อมจ่ายให้ทูตกลับไปเมืองพม่าแล้ว  พระเจ้ากรุงเวียดนามเห็นแก่ทางพระราชไมตรีจึ่งให้บอกข้อความเข้ามาให้แจ้ง  ราชสาสนพม่าหาได้ส่งมาไม่”

          เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่าในปีเดียวกันนั้น ในเดือน ๗  ช้างเผือกคู่พระบารมี ๒ ช้างคือ  พระยาเศวตอัยรากับพระยาเสวตคชลักษณ์  เจ็บจนไม่จับหญ้าน้ำ  ถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ พระยาเสวตอัยราล้มลง  ต่อมาวันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗  พระยาเสวตคชลักษณ์ก็ล้มตามไปด้วย

          ต่อมาถึงเดือน ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสต่อพระราชวงศานุวงศ์ว่า   “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงศ์มีพระชนม์ควรจะอุปสมบทแล้ว  แต่เป็นคราวเคราะห์ร้าย  ช้างสำคัญของสีบ้านสีเมืองเป็นเหตุลงอย่างนี้  ให้จัดการโดยควร  อย่าให้เสียปีเสียเดือนเลย”

          ครั้นมาถึง ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘  จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพนักงานสมโภชเวียนเทียน  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

          รุ่งขึ้น ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘  เสด็จทรงพระเสลี่ยงตามธรรมเนียม  ได้ตั้งกระบวนแห่ออกประตูวิเศษไชยศรี  มีกระบวนช้าง  กระบวนม้า  พลเดินเท้า  ถือธนูเกาทัณฑ์  สรรพาวุธทุกภาษา  มีเครื่องสูงชุมสายพัดโบก  จามรทานตะวัน  บังแทรกบังสูรย์  กลองชนะ  แตร  สังข์  ประโคมมาหน้าพระที่นั่ง  พร้อมพรั่งด้วยกระบวนหลังแลกระบวนหน้า  เลี้ยวเข้าประตูสวัสดิโสภามาประทับหน้าเกยมาศ  เสด็จยุรยาตรขึ้นเกยหน้าพลับพลาเปลื้องเครื่อง  เสด็จโดยพระราชยานจนถึงอัฒจันทร์พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ทรงโปรยเงินเสร็จเสด็จมาสู่พลับพลาเปลื้องเครื่องต้นแล้วสรงอุทกธารา  ทรงพระภูษาจีบเขียนทอง  ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง  รัดพระองค์ธำมรงค์เพชร  เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ  ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ต่อสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์  พระราชาคณะเป็นอันดับ  ครั้นอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลสมเด็จพระพรรษา  พระราชวงศานุวงศ์  ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในก็ได้ถวายเครื่องบริขารแลไตรจีวรเป็นอันมาก

          ครั้นเสร็จการผนวชแล้วก็ประทับอยู่ในพระอุโบสถ  เวลาบ่ายพระสงฆ์ราชาคณะได้สวดพระพุทธมนต์  ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า  พระสงฆ์ฉันเป็นการฉลองเสร็จแล้ว  เสด็จไปสถิตอยู่วัดมหาธาตุในวันนั้น”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงษ์ ทรงผนวชแล้วไม่นานก็สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระองค์มิได้ลาผนวชออกมาขึ้นครองราชย์  หากแต่ทรงอยู่ในสมณะเพศเป็นเวลานาน  และพระองค์ทรงมีบทบาททางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่สำคัญประการหนึ่งคือ  ทรงทำทัฬหีกรรม  คือการบวชซ้ำในสงฆ์นิกายรามัญ   และทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายขึ้นมา  สงฆ์นิกายนี้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นเป็นอย่างมาก  ปัจจุบันนี้ก็ยังคงอยู่ในวงการคณะสงฆ์ไทย  ซึ่งเรื่องราวของพระองค์จะได้นำมาแสดงกันให้ทราบเมื่อถึงเวลาอันควร

          เรื่องราวในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับนี้ยังไม่หมดสิ้นกระแสความ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๙ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, พฤศจิกายน, 2562, 10:12:54 PM
(https://i.ibb.co/4ZzwpFM/R2-01.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒)

- รัชกาลที่ ๒ สวรรคต -

รัชกาลที่สองทรงครองราชย์
เป็นหลักชาติสืบสร้างอย่างต่อเนื่อง
สิบหกปีที่สยามงามประเทือง
มวลชาวเมืองสุขใจไร้สงคราม

เป็นยุคทองวรรณกรรมศิลป์ล้ำเลิศ
ละครเกิดฟูเฟื่องกระเดื่องสยาม
กวีรัตน์ปรากฏงอกงดงาม
สมพระนาม“เลิศหล้านภารลัย”


          อภิปราย ขยายความ............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  โดยเก็บความมาบอกเล่าถึงตอนที่  พระเจ้ามินมางแห่งเวียดนามส่งทูตและหนังสือเลโบเสนาบดีญวนมากราบทูลถึงเรื่องที่พระเจ้าจักกายแมงแห่งอังวะมีหนังสือไปชักชวนให้เวียดนามประทุษร้ายประเทศไทย  เป็นพระราชสาสนพม่าข้อความเดียวกันกับที่การะฝัด  หรือครอว์ฟอร์ด  เคยส่งมาถวายครั้งก่อน  จากนั้นก็เป็นเรื่องที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ทรงผนวช  วันนี้มาดูความในตอนท้ายพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าจะจบลงอย่างไร เจ้าพระยาทิพากรวงศ์สรุปในตอนสุดท้ายพงศาดารฉบับของท่านว่า......

           “แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น  ไม่มีการรณรงค์สงครามสิ่งไร  เวลาเช้าเสด็จออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์  แล้วว่าราชการแผ่นดินเหมือนอย่างแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ  เวลาบ่ายห้าโมงเสด็จออกฟังรายงานบ้าง  ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บ้าง  อีเหนาบ้าง  แล้วก็ทรงธรรม  ครั้นจบธรรมเทศนาแล้ว  พระสงฆ์ถวายพระพรลา  แล้วเสด็จออกประทับที่พระที่นั่งสนามจัณฑ์  เจ้านายแลขุนนางเข้าเฝ้าทุกเวลาว่าราชการบ้างเล็กน้อย  พอย่ำยามก็เสด็จขึ้นทอดพระเนตรละคร

          แลความฎีกานั้น  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้ไปร้องที่ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เป็นผู้รับฎีกาของราษฎร  ท่านได้ว่ากรมพระตำรวจด้วย  ก็แจกให้เจ้ากรมปลัดกรมตำรวจชำระทุก ๆ กรม  เอาพระทัยใส่ความก็แล้วไปไม่ได้สะสมอยู่  แลการภาษีอากรก็ยังไม่มีมาก  มีอยู่ก็แต่อากรสวน  ค่าน้ำ  เตาสุรา  บ่อนเบี้ย  สมพักศร (สมพัตสร=อากรที่เก็บจากผลของไม้ยืนต้นเป็นรายปี)   ขนอนตลาด (=ที่เก็บเงินค่าสิ่งของหรือสินค้าผ่านตลาดเข้าหลวง)  ภาษีสินค้าขาออก  นอกจากนั้นก็ไม่มีสิ่งไรทรงทะนุบำรุงพระนครด้วยการแต่งสำเภาไปค้าขาย  ได้เงินมาใช้สอยราชการแผ่นดินบ้างก็ไม่พอใช้จ่ายเบี้ยหวัด  ลางปีก็ได้เต็ม  ลางปีก็สามส่วน  ลดส่วนหนึ่งบ้าง  ลางปีก็ลดกึ่งบ้าง  ลางปีก็เติมผ้าลายให้บ้าง

          ในครั้งนั้นมีเรือกำปั่นหลวงสองลำ  ชื่อมาลาพระนครหนึ่ง  ชื่อเหราข้ามสมุทรหนึ่ง  ก็แต่งไปค้าขายเมืองเบงคอล  แลเมืองเกาะหมาก  สิงคโปร์  เมืองมาเกาบ้าง  โปรดให้ช่างกระทำเรือกิ่ง  เรือเอกชัย  เรือประกอบ  เรือกราบ

          ครั้งนั้นพระยาไชยาถวายมาดเข้ามาลำหนึ่ง  ยาวสิบเจ็ดวาสามศอกคืบ  กำลังห้าศอกคืบแปดนิ้ว  ทรงเห็นว่าเป็นมาดยาวใหญ่  แต่ก่อนยังไม่เคยมี  ให้เหลาเป็นพระที่นั่งกราบมาดนั้นงอนข้างท้ายไม่ต้องใช้ไม้ทับติดแต่ไม้โขน  เหลาขึ้นแล้วประทานชื่อพระที่นั่งประจำทวีป  แลช้างเผือกเอกสามเล็บครบกระเนียมหกช้าง  ได้มรดกพระเทพกุญชรเผือกหนึ่ง  พระบรมฉัททันต์ทองแดงหนึ่ง  เป็นพระราชพาหนะช้างต้น  ม้าต้น  ม้าเทศ  ม้าไทย  ขึ้นระวางตามชื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็มีเป็นอันมาก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสที่ใดตำบลใด  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปก็แต่พระราชทานผ้าไตรพระกฐินเท่านั้น  ในแผ่นดินนั้นเจ้าแลขุนนางแต่งข้าไปเที่ยวซ่องสุมผู้คนอยู่ในป่า  สำหรับหาของป่าต่าง ๆ มาส่งส่วย  ทาสลูกหนี้ผู้ใดหนีเข้าซ่องแล้วก็เอาตัวไม่ได้  เพราะนายซ่องมีเจ้านายมีอำนาจแข็งแรง

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรงราชสมบัติมาตั้งแต่ปีมะเส็ง เอกศก มาถึงวันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีวอก ฉศก  ทรงพระประชวรให้มึนพระองค์  เรียกพระโอสถชื่อจรไนเพชรข้างที่ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย  ครั้นเสวยแล้วก็ให้ร้อนเป็นกำลัง  เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก  พระอาการก็ไม่ถอย  ให้เซื่องซึมไป  แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้  มิได้ตรัสสั่งสิ่งไรมาจนถึงวันพุธ  เดือนแปด  แรมสิบเอ็ดค่ำ  เวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาท  เสด็จสวรรคต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ พรรษา  พระองค์ประสูติวันพุธ  เดือนสี่  ขึ้นเจ็ดค่ำ  ปีกุน นพศก ศักราช ๑๑๒๙ ปี  พระชนม์ได้ ๕๘ พรรษา  คิดอายุโหราได้ ๕๖ ปี ๔ เดือน ๑๙ วัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสแลพระราชธิดา  สมเด็จเจ้าฟ้าแลเจ้าฟ้า  พระเจ้าลูกยาเธอแลพระเจ้าลูกเธอ  ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  พระราชบุตร ๔๐   พระราชบุตรี ๓๓   รวม ๗๓ พระองค์”

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จบเพียงแค่นี้ ในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้  ในเอกสารของครอว์ฟอร์ด (การะฝัด) ได้เขียนจดหมายถึง  เจ สวินตัน  วันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๒๔  แจ้งเรื่องพระเจ้ากรุงสยามสวรรคต  และผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์  ซึ่งก็ปรากฏความในฉบับพิมพ์ดีดของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ในเรื่องเดียวกันนั้นว่าไว้ดังนี้

           “พระวงศานุวงศ์เสนาบดีพร้อมกันเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ซึ่งเป็นราชโอรสผู้ใหญ่ขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดิน  เสด็จประทับอยู่ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย  ฝ่ายพระเฉลียงด้านตะวันออก  ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า  พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  เสด็จเข้าไปสรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพ  เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพประดิษฐานในพระโกศลองเงิน  แล้วตำรวจแห่ออกมาทางประตูสนามราชกิจ  เชิญพระโกศขึ้นพระยานณุมาศสามคาน  ประกอบด้วย  พระโกศทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรัตน  ตั้งกระบวนแห่ไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมุขข้างประจิมทิศ  ประดับด้วยเครื่องสูงมีพระมหาเศวตรฉัตรครบเครื่องบูชา  เฉลิมพระเกียรติยศตามราชประเพณีบรมศพพระมหากษัตริย์  ครั้นเวลาเช้าเย็นก็เสด็จไปจุดธูปเทียนเครื่องสักการบูชา  กราบถวายบังคมบรมศพ  ถวายไทยธรรมอังคาสแก่พระสงฆ์  มีพระธรรมเทศนา  แลสดัปกรณ์  บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิตย์มิได้ขาด”

(https://i.ibb.co/bgDrPyh/images-7-ds.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
(พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓))

          ** ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จบลงแต่เพียงว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต  เมื่อเสวยรราชสมบัติได้ ๑๖ พรรษา  ด้วยพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา  มีพระราชบุตร ๔๐  พระราชบุตรี ๓๓  รวม ๗๓ พระองค์  บรมวงศานุวงศ์เสนาบดีพร้อมกันเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ราชโอรสผู้ใหญ่ขึ้นสำเร็จราชการแผ่นดิน

          แต่เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัยนอกจากพระราชพงศาวดารนี้  ยังมีให้กล่าวถึงอีกหลายประการ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ กันยายน ๒๕๖๓
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, พฤศจิกายน, 2562, 10:02:14 PM
(https://i.ibb.co/wQPFNpd/images-13.jpg) (https://imgbb.com/)

- สรุปพระราชประวัติ ร.๒ -

พระเลิศหล้าเลิศลักษณ์อนรรฆค่า
ทรงปัญญาคุณเด่นไม่เร้นหาย
ปราชญ์กวีบรมสมชาติชาย
เกินบรรยายปัญญาสาธุการ


          อภิปราย ขยายความ.............................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเจพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ จบลงโดยที่เรื่องราวในรัชกาลของพระองค์ยังมิได้กล่าวถึงอีกมาก ดังนั้นผมจึงใคร่ขอนำเรื่องราวในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๒ จากเอกสารต่าง ๆ มากล่าวเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่จะค้นหามาได้เพื่อให้เรื่องในรัชกาลนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนะครับ

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นทั้งนักรบ  นักปราชญ์  นักกวี  นักดนตรี  ในรัชสมัยของพระองค์มีนักกวีคนสำคัญในระดับรัตนกวีอยู่หลายท่าน  เช่น  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส  ขุนสุนทรโวหาร (สุนทรภู่)  พระยาตรัง  นายนรินทร์ธิเบศ (อิน) เป็นต้น  ยุคสมัยของพระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็น  “ยุคทองแห่งวรรณคดี” เลยทีเดียว  ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มิได้กล่าวถึงพระราชประวัติในพระองค์ตั้งแต่ต้นไว้  ดังนั้นในที่นี้จึงใคร่ขอย้อนกลับไปดูพระราชประวัติของพระองค์โดยสรุปดังต่อไปนี้

           “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  มีพระนามเดิมว่า  ฉิม  ทรงกำเนิดขึ้นในแผ่นดินสยามก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า  โดยประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐  ณ ตำบลอัมพวา  เมืองสมุทรสงคราม  รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์  แห่งกรุงศรีอยุธยา  บิดามียศตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี  ทรงลืมตาดูโลกได้เพียงเดือนเศษ  กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า  เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ พุทธศักราช ๒๓๑๐

          ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้ชาติได้แล้วตั้งกรุงธนบุรีขึ้น  บิดาได้เข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน  จึงพาบุตรภรรยาเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี  ขณะนั้น  เด็กชายฉิมมีอายุได้ ๒ ขวบปี  เมื่อเจริญวัยแล้วได้เข้าเล่าเรียนอักษรสมัยในสำนักพระวันรัตน (ทองอยู่)  วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม)

          ลุถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๕  สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  บิดาได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  เมื่อพระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา  ได้ทรงออกราชการสงครามรบทัพจับศึกร่วมกับพระราชบิดามาแต่ครั้งทรงพระเยาว์  จนได้ดำรงตำแหน่งยกกระบัตรทัพในคราวที่สยามกรีธาทัพไปตีเมืองทวาย

          ต่อเมื่อพระชนม์ได้ ๔๐ พรรษา  จึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ตำแหน่งมหาอุปราช  สืบต่อจาก  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้วนั้น  ทรงอภิเศกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด  พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (เจ้าฟ้าแก้ว)  ซึ่งต่อคือ  สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา พระบรมราชินี  มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ (ไม่มีพระราชธิดา)  คือ

          เจ้าฟ้าชาย (สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ)
          สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติเทวาวงศ์  (ร. ๔)
          สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี (สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)

และ กับ  สมเด็จพระศรีสุลาลัย  มีพระราชโอรส พระราชธิดา รวม ๓ พระองค์ คือ

          พระองค์เจ้าชายทับ ( ร.๓)
          พระองค์เจ้าหญิงป้อม  สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์
          พระองค์เจ้าชายดำ  สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์ เช่นกัน

นอกจากมีสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี  และ  สมเด็จพระศรีสุลาลัย แล้ว  พระองค์ยังมีเจ้าจอมมารดาอีก ๓๕ พระองค์ คือ.........

          เจ้าจอมมารดาสี, เจ้าจอมมารดาสวน, เจ้าจอมมารดาแจ่มใหญ่, เจ้าจอมมารดาเหมใหญ่, เจ้าจอมมารดาศิลา, เจ้าจอมมารดาสั้น, เจ้าจอมมารดากุด, เจ้าจอมมารดานิ่ม, เจ้าจอมมารดาเกด, เจ้าจอมมารดาอิน, เจ้าจอมมารดาทรัพย์, เจ้าจอมมารดาเหมเล็ก, เจ้าจอมมารดาบุนนาค, เจ้าจอมมารดาทองอยู่, เจ้าจอมมารดาม่องซอ, เจ้าจอมมารดาน้อย, เจ้าจอมมารดาทิม, เจ้าจอมมารดาเลี้ยง, เจ้าจอมมารดาน้อยระนาด, เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่, เจ้าจอมมารดาทองดี, เจ้าจอมมารดาพะวา, เจ้าจอมมารดากล่ำ, เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ใหญ่, เจ้าจอมมารดาพิม, เจ้าจอมมารดาเอม, เจ้าจอมมารดาอัมพา, เจ้าจอมมารดานวล, เจ้าจอมมารดาพุ่ม, เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์, เจ้าจอมมารดาแย้ม, เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก, เจ้าจอมมารดาม่วงใหญ่, เจ้าจอมมารดาอัน, เจ้าจอมมารดาเลิ้ง     และยังมีท่านท้าวอีก ๒ ท่าน  คือ  ท่านท้าววรจันทร์  กับท่านท้าวทรงกันดาล  จึงไม่เป็นการแปลกเลยที่ทรงมีเจ้าจอมมากมายดังกล่าวจะทรงมีพระโอรสพระธิดามากถึง ๗๓ พระองค์  พระโอรสพระธิดามีพระนามอะไร  และทรงเป็นต้นสกุลอะไรบ้าง  มีครบอยู่ในเอกสารแล้ว  แต่จะยังไม่ขอนำมาเปิดเผยในที่นี้นะครับ

          นอกจากนี้  ยังมีพระราชชายาอีกพระองค์หนึ่ง  คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี  ในเจ้าจอมทองสุข  พระธิดาเจ้าอินทรวงศ์แห่งเวียงจันทน์ซึ่งถวายเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  หลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว  จนพระนางมีพระชนม์ได้ ๑๗-๑๘ พรรษา  ทรงมีพระรูปพระโฉมงดงาม  จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงนำไปกล่าวในบทละครเรื่องอิเหนา  เปรียบเทียบพระนางเป็นนางบุษบา  และพระนางก็ได้ทรงเป็นพระราชชายาแต่นั้นมา

(https://i.ibb.co/2vSyw36/1431661740.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นศิลปินครบทุกแขนง  คือ  การประพันธ์  การดนตรี  การแกะสลัก  การปั้น  ในด้านการประพันธ์นั้นมีผลงานการร้อยกรองที่ทรงไว้หลายเรื่อง  เช่นบทละครเรื่องอิเหนา,  รามเกียรติ์,  ไชยเชษฐ์,  คาวี,  มณีพิชัย,  สังข์ทอง,  ไกรทอง,  กาพย์เห่เรือ,  บทพากย์โขนตอนนางลอย,  และตอนนาคบาศ  เป็นต้น  เฉพาะอิเหนานั้น  ถ้อยคำสำนวนมีความไพเราะเพราะพริ้ง  กระทัดรัดเข้ากับจังหวะท่ารำและจังหวะดนตรีได้เป็นอย่างดียิ่ง  จนวรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของกลอนบทละครรำ

(https://i.ibb.co/2F9wzxh/pic07.png) (https://imgbb.com/)

          ในด้านการดนตรีนั้น  ทรงมีความชำนาญและโปรดการเล่นซอสามสายมาก  ทรงมีซอคู่พระหัตถ์อยู่คันหนึ่ง  พระราชทานนามว่า  “ซอสายฟ้าฟาด”  ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง  “บุหลั่นลอยเลื่อน”  หรือ  “บุหลันเลื่อนลอยฟ้า”  บางทีก็เรียกว่า  “สรรเสริญพระจันทร์”  นับเป็นเพลงที่มีความไพเราะมากเพลงหนึ่งของเพลงไทยเดิม

(https://i.ibb.co/7KTsbQZ/2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ศิลปะการปั้นนั้น  ทรงปั้นพระพักตร์พระพุทธรูปพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก  พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม  เป็นแบบที่ทรงคิดขึ้นใหม่  ด้านการแกะสลักนั้น  ทรงแกะหน้าหุ่นคู่หนึ่งด้วยไม้รัก  คือหน้าพระใหญ่กับหน้าพระน้อย  และทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามร่วมกับช่างฝีมือชั้นเยี่ยมในสมัยนั้น  เป็นรูปป่าเขาลำเนาไพรและสิงห์สาราสัตว์นานาชนิดวิจิตรบรรจง  ประณีตงดงามยิ่ง

          พระราชประวัติและผลงานรวมทั้งประวัติการกวีในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังมีอีกมาก พรุ่งนี้จะนำมาบอกเล่ากันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, พฤศจิกายน, 2562, 10:02:30 PM
(https://i.ibb.co/Vpt1J7r/580507-8.jpg) (https://imgbb.com/)

- โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีวิสาขบูชา -

ทรงฟื้นฟูวิสาขบูชาขึ้น
ไทยเคยมึนเมาปลื้มลืมรากฐาน
ประเพณีเก่าแก่แต่เบาราณ
หายไปนานแล้วพระองค์ทรงฟื้นฟู


           อภิปราย ขยายความ....................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันจนจบสิ้นกระแสความไปแล้ว  แต่เรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ที่ไม่ได้เก็บไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าว  ยังมีปรากฏในเอกสารอื่น ๆ อีกมาก  หากไม่นำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้  ก็เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง  ดังนั้นจึงใคร่ขอรวบรวมเรื่องราวของพระองค์จากเอกสารต่าง ๆ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันดังต่อไปนี้

          * ในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับฟังการถวายพระพรจากสมเด็จพระสังฆราช (มี) ว่าในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  ได้มีพระราชพิธีบูชาพระรตนตรัยในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี  เรียกว่า   “วิสาขบูชา”   พระราชพิธีนี้ได้รับการสืบทอดมาถึงกรุงศรีอยุธยา  ต่อเมื่อมีศึกสงครามเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา  ความวุ่นวายเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า  พระราชพิธีวิสาขบูชาจึงถูกละเลยจากราชสำนักจนเลือนหายไป

           ทรงทราบดังนั้นแล้วมีพระราชดำริฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาให้เหมือนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีวิสาขบูชาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ นั้น  ดังความที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงนิพนธ์ไว้ในพระราชพงศาดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ ว่า

           “ ศุภมัศดุ ๑๑๗๙ ศก...พระบาทสมเด็จบรมธรรมมิกมหาราชารามาธิราช บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว....ทรงพระราชศรัทธาจะยกรื้อวิสาขบูชามหายัญพิธีอันขาดประเพณีมานั้น  ให้กลับคืนเจียรฐิติกาลปรากฏสำหรับแผ่นดินสืบไป  จะให้เป็นอัคอัตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์  ทรงพระราชศรัทธาจะให้สัตว์โลก  ข้าขอบขัณฑเสมาทั้งปวงจำเริญอายุแลอยู่เป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยในชั่วนี้แลชั่วหน้า  จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท  ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า

           แต่นี้สืบไปเถิง ณ วัน เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ เป็นวันพิธีวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะทรงรักษาอุโบสถศีล  ปรนนิบัติพระสงฆ์ ๓ วัน  ปล่อยสัตว์ ๓ วัน  ห้ามมิให้ผู้ใดข้าสัตว์ตัดชีวิตเสพสุราเมรัยใน ๓ วัน  ถวายประทีปตั้งโคมแขวนเครื่องสักการบูชาดอกไม้เพลิง ๓ วัน  ให้เกณฑ์ประโคมเวียนเทียนพระพุทธเจ้า ๓ วัน  ให้มีพระธรรมเทศนาในพระอารามหลวง  ถวายชัยนาท ๓ วัน

           ส่วนพระบรมราชวงศานุวงศ์แลข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ลูกค้าวาณิช  สมณะชีพราหมณ์ทั้งปวงจงมีศรัทธา  ปลงใจลงในกุศล  อุตส่าห์กระทำวิสาขบูชาให้เป็นประเพณียั่งยืนไปทุกปีอย่าได้ขาด  ฝ่ายฆราวาสนั้นจงรักษาอุโบสถศีล  ถวายบิณฑบาตทาน  ปล่อยสัตว์ตามศรัทธาทั้ง ๓ วัน  ดุจวันตรุษสงกรานต์  เพลาเพลแล้วมีพระธรรมเทศนาในพระอาราม  ครั้นเพลาบ่ายให้ตกแต่งเครื่องสักการบูชาพวกดอกไม้มาลา  กระทำให้วิจิตรต่าง ๆ  ธูปเทียนชวาลาทั้ง (ธง) ผ้า  กระดาษ  ออกไปยังพระอาราม  บูชาพระรัตนตรัย  ตั้งพนมดอกไม้  แขวนพวงดอกไม้  ธูปเทียน  ธงใหญ่ธงน้อยในพระอุบสถพระวิหารที่ลานพระเจดีย์  และพระศรีมหาโพธิ แ ละผู้ใดจะมีเครื่องดุริยดนตรีมโหรีพิณพาทย์  เครื่องเล่นสมโภชประการใด ๆ  ก็ตามแต่ใจศรัทธา

           ครั้นเพลาค่ำให้บูชาพระรัตนตรัยด้วยเครื่องบูชา  ประทีปโคมตั้ง  โคมแขวน  จงทุกหน้าร้านโรงเรือน  และเรือแพทุกแห่งทุกตำบล  ให้ฆราวาสทำดังกล่าวนี้จงถ้วนครบ ๓ วัน”

          ** จากพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีวิสาขบูชาข้างต้นนี้  เห็นภาพชัดเจนว่า เ มื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๐ เป็นต้นมานั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนำในการรักษาอุโบสถศีลตลอดเวลา ๓ วัน ๓ คืนทุกอาคารบ้านเรือนประดับธงทิว  ไม่เว้นแม้ในเรือแพ  ดูเป็นพระราชพิธีบูชาที่ยิ่งใหญ่มาก  เป็นที่น่าเสียดายว่า  ในปัจจุบันนี้ความประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนย่อหย่อนลงแล้ว  โดยไม่มีการรักษาอุโบสถศีล  ประดับบ้านเรือนด้วยธงใหญ่น้อย  จัดพิธีบูชากันเพียงวันเดียว  คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖  เท่านั้น

           ตามสมเด็จพระสังฆราชมีถวายพระพรว่า  พิธีวิสาขบูชามีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว  แต่ในศิลาจารึกสุโขทัย  ผมยังไม่พบความบรรยายถึงพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่นี้  แม้กระนั้นก็มีความพาดพิง  ให้เชื่อถือได้ว่าวันวิสาขบูชามีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจริง

           ที่กล่าวมานี้เป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจ  ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงบำเพ็ญ  ยังมีอีกหลายพระราชกรณียกิจนะครับ  ผมจะค่อย ๆ เก็บมานำเสนอให้ทราบกันต่อไป  พบกันใหม่วันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๒ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤศจิกายน, 2562, 10:00:13 PM
(https://i.ibb.co/5rYDY1L/images-13.jpg) (https://imgbb.com/)

- ออกกฎหมายห้ามสูบฝิ่น -

ฝิ่นเป็นยามากฤทธิ์พิษแรงร้าย
จึ่งทรงตรากฎหมายมิให้อยู่
ห้ามซื้อขายสูบกินสิ้นเลี้ยงดู
หากมีผู้ฝ่าฝืนยื่นโทษทัณฑ์


           อภิปราย ขายายความ.....................

           เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าความถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชาขึ้น  ตามคำถวายพระพรของสมเด็จพระสังฆราช (มี)  ดังที่ทุกท่านได้อ่านกันมาแล้ว  วันนี้จะขอนำพระราชกรณีกิจอีกเรื่องหนึ่งมาให้ทุกท่านได้ทราบกัน  เรื่องอะไรเชิญอ่านดูครับ

           * ฝิ่น  เป็นยาเสพติดมีพิษร้ายแรงชนิดหนึ่ง  เดิมทีนั้นไม่มีในแผ่นดินไทยมาก่อน  หากแต่มีอยู่ในแผ่นดินประเทศจีนโพ้นทะเล  เข้ามาสู่สยามประเทศตั้งแต่เมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  เป็นแต่สันนิษฐานกันว่า  ฝิ่นเข้าสู่แผ่นดินไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  โดยสำเภาจีนนำสินค้าเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา  ลูกเรือสำเภาที่เสพฝิ่นจนติดงอมแงม  นำเข้ามาเสพกันเอง  แล้วแพร่หลายสู่คนไทยที่คบค้าสมาคมกับลูกเรือสำเภาจีน  จนต่อมาชาวจีนก็นำมาเป็นสินค้าขายให้คนไทยเสพกันอย่างแพร่หลายไปด้วย

           คนไทยจำนวนมากนิยมชมชอบในการเสพฝิ่น  โดยหาซื้อได้จากชาวจีนที่นำมาจากเมืองจีน  ต่อเมื่อชาวจีนเข้ามาค้า ขายอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น  มีบางคนตั้งโรงยาฝิ่นให้เป็นที่สูบ-เสพยาฝิ่นขึ้นเป็นสถานการค้าชนิดหนึ่ง  ทางรัฐจัดเก็บภาษีรายได้จากโรงยาฝิ่นได้ปีละไม่น้อย

           ร้านหรือโรงสถานที่เสพยาฝิ่นนี้  คนไทยสมัยก่อนเรียกกันว่า   “โรงยา”   คนที่สูบหรือเสพยาฝิ่นประจำ  เรียกว่า   “คนขี้ยา”   ก่อนที่ฝิ่นจะเข้ามาเป็น   “ยา”   ในเมืองไทยนั้น  คนไทยมีสิ่งเสพติดที่ร้ายแรงกว่ายาสูบอยู่ชนิดหนึ่งคือ   “กัญชา”   คนไทยจำนวนไม่น้อยสูบ-เสพกัญชากันจนถึงกับตั้งเป็นก๊วน  นั่ง-นอนล้อมวงกันสูบกัญชา  โดยใช้ปล้องไม้ไผ่ทำเป็น   “บ้องกัญชา”

           นักเลงกัญชา  หรือ  คนขี้กัญชา  ผู้มีฐานะการเงินดีก็หันมาสูบฝิ่นแทนกัญชา  ส่วนคนผู้มีฐานะที่เรียกว่า   “เบี้ยน้อยหอยน้อย”   ก็ยังคงเฝ้าบ้องกัญชาอยู่เหมือนเดิม  นาน ๆ จึงจะได้สูบฝิ่นสักครั้ง  เพราะฝิ่นมีราคาแพงมาก

           เพราะฝิ่นมีราคาแพงมาก  เจ้าของโรงยาฝิ่นจึงหาวิธีเพิ่มลูกค้าด้วยการ  แปรฝิ่นให้เป็น   “ขี้ฝิ่น”   ผสมกับใบพลูที่หั่นเป็นฝอยสำหรับให้ผู้ที่มีเงินน้อยซื้อสูบกัน  แล้วก็ได้ผลคือ  คนไทยพากันสูบฝิ่นที่ผสมใบพลูมากขึ้นเรื่อย ๆ

           คำว่า   “ขี้ยา”   น่าจะเกิดมีขึ้นเพราะการนี้เอง  โรงยาฝิ่น  เป็นบ่อเกิดหรือที่มาของอาชญากรรม  โดยพวกขี้ยาที่ไม่มีเงินซื้อยาฝิ่นสูบ  ก็ทำตัวเป็นผู้ลักเล็กขโมยน้อย  หาเงินไปซื้อยาฝิ่นสูบกัน  มิหนำซ้ำยาฝิ่นยังทำลายสุขภาพร่างกายผู้เสพอีกด้วย

           พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตระหนักพิษภัยของยาฝิ่นว่า  ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้เสพ  และบั่นทอนกำลังปัญญาของผู้สูบ  ทั้งยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมอีกด้วย  มีพระราชประสงค์ให้คนไทยเลิกเสพฝิ่นเสีย  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติห้ามสูบฝิ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒  ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ตราขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๔  มีความดังรายละเอียดต่อไปนี้.....

           “ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว  ทรงพระเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก  จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ  สั่งให้ตราพระราชบัญญัติไว้เพื่อจะให้เป็นหิตตานุหิตประโยชน์

           หนึ่ง  จะทรงพระราชสงเคราะห์ช่วยระงับดับทุกข์โทษแห่งคนร้ายในอนาคตปัจจุบัน  แลให้พระราชบริหารบัญญัตินั้นว่า  แต่บรรดาผู้สูบฝิ่น  กินฝิ่น  ที่เคยสูบมาแต่ก่อนวันละมากน้อยเท่าใด  ก็ให้ลดหย่อนผ่อนสูบให้น้อยลง  มากกว่าแต่ก่อนจงทกวัน  กว่าจะอดได้ให้เด็ดขาดแต่ในกำหนดเดือน ๔ ปี เถาะ เอกศกนี้ (พ.ศ. ๒๓๖๒)  ถ้าถึงขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง โทศก (พ.ศ. ๒๓๖๓)  ผู้ใดยังฝืนสูบฝิ่นกินฝิ่นอยู่อีก  จับได้พิจารณาเป็นสัจ  ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยน ๓ ยก  ริบราชบาตรเอาทรัพย์สิ่งของเป็นของหลวงให้สิ้นเชิง  ทะเวนบก ๓ วัน  ทเวนเรือ ๓ วัน  ส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง  แลบุตรภรรยาผู้สูบฝิ่นกินฝิ่นนั้น  ให้ส่งไปสีข้าวฉางหลวงใช้การที่อันหนัก

          อนึ่ง  เจสัวแลลูกค้าวาณิช  ซึ่งแต่งเรือไปค้าขายฝ่ายตะวันตก  ให้เจสัวกำชับนายเรือแลลูกเรือ  ห้ามอย่าให้ซื้อฝิ่นนานาเข้ามาขาย ณ กรุงเทพพระมหานคร  แลแว่นแคว้นกรุงฯ เป็นอันขาดทีเดียว...... แลเจสัวนายเรือลูกเรือขืนลักลอบซื้อฝิ่นก้อนเข้ามา  ลูกค้ารับซื้อไว้ต้มขาย  ตั้งแต่เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง โทศก (พ.ศ. ๒๓๖๓)  ให้มีผู้จับ  ถ้าจับได้พิจารณาเป็นสัจ ให้......(กำหนดโทษที่จะได้รับ)......

          กฎให้ไว้ ณ วันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๑๘๓ ปีเถาะ นักษัตร เอกศก”

          * * ความในพระราชบัญญัติทั้งหมดข้างต้นนี้  เสถียร ลายลักษณ์  คัดลอกมาจากประชุมกฎหมายประจำศก เล่ม ๔. ๒๕๔๗  ปรากฏในหนังสือชื่อ  “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)"  ซึ่ง  อุดม เชยกีวงศ์  เป็นผู้เรียบเรียง

          การเลิกฝิ่นเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เราก็ได้ทราบกันแล้วนะครับ  ยังมีพระราชกรณียกิจอื่น ๆ อีก พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๓ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, พฤศจิกายน, 2562, 10:03:35 PM
(https://i.ibb.co/6P8NHW6/561000009803801.jpg) (https://imgbb.com/)

- ยุคทองของวรรณกรรม -

ถึงยุคทองวรรณกรรมล้ำสมัย
กวีไทยเฟื่องฟูสู้สวรรค์
ราชสำนักคักคึกนึกประชัน
แข่งสร้างสรรค์งานกวีที่งดงาม

บทละครบทเห่เสภาสนุก
สร้างความสุขด้วยศิลป์อักษรสยาม
กวีแก้วแพราวพราววาววับวาม
สืบสานนามความไม่แล้งแหล่งกวี

พระราชนิพนธ์ยอดเยี่ยมเรื่องอิเหนา
จากบทเก่าเกลาแต่งแปลงเสริมศรี
เป็นเรื่องยาวขยายความงดงามดี
ทรงแต่งลีลาคำและรำฟ้อน

อีกสังข์ทองก้องเมืองเรื่องเงาะป่า
รจนานนารีศรีสมร
บทเสภาขุนช้างขุนแผนตอน-
ขุนแผนนอนกอดแก้วกิริยา

พระราชนิพนธ์ล้นค่าภาษาสวรรค์
ทรงสร้างสรรค์แบบรำนำภาษา
ละครในละครนอกฟ้อนออกมา
ร่อนถลารำร้องงามต้องใจ


          อภิปราย ยายความ.........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาแสดงให้ทุกท่านได้อ่านกัน  คือเรื่องการออกพระราชบัญญัติห้ามสูบและกินฝิ่น  กับห้ามการค้าขายฝิ่น  ดังเป็นที่ทราบไปแล้วนั้น  วันนี้มาดูพระราชกรณียกิจทางด้านวัฒนธรรม  ทางด้านภาษา  และวรรณกรรมของพระองค์บ้างครับ

          เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็น   “ยุคทองของวรรณกรรม”   เนื่องด้วยพระองค์เองทรงเป็น  “รัตนกวี”  พระราชนิพนธ์บทร้อยกรองเป็นบทละครไว้หลายเรื่อง  คือ  บทละครเรื่องอิเหนา  รามเกียรติ์  ไชยเชษฐ์  คาวี  สังข์ทอง  มณีพิไชย  กาพย์เห่เรือ  บทพากย์โขนตอนนาคบาศและนางลอย.....

          นัยว่า  บทละครนั้น  ทรงปรารภถึงบทละครที่  พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงนิพนธ์คำร้องเรื่องอิเหนา สำหรับงานฉลองกองการกุศลตั้งแต่สมัยปี พ.ศ. ๒๒๗๕ –๒๓๐๓  แล้วเลือนหายไป  เนื่องจากสยามประเทศเผชิญกับภาวะสงครามจน   “บ้านแตกสาแหรกขาด”   ตกมาถึงกาลสมัยพระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระองค์จึงทรงสืบสานงานวรรณกรรมนี้อย่างจริงจัง  โดยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา  สำหรับร้องรำในราชสำนัก เป็นที่นิยมชมชอบในเหล่าข้าราชบริพารและประชาราษฎรมาก

          ในราชสำนักของพระองค์  มีการประชุมนักกวีแต่งบทร้อยกรองทุกวัน  นักกวีคนสำคัญ ๆ ในราชสำนัก  เช่น  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๓)   สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส   ขุนสุนทรโวหาร (สุนทรภู่)   พระยาตรัง   นายนรินทร์ธิเบศร์ (อินทร์)   เป็นต้น

          ว่ากันว่า  บทละครในละครนอกที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลายเรื่อง  ทรงนำมาแต่งแปลงใหม่เพื่อใช้ในการแสดง  ให้ถ้อยคำขับร้องได้ลื่นไหลไพเราะไม่ติดขัด  เข้ากันได้กับท่ารำทุกลีลา  โดย

          ใช้กับละครใน ๓ เรื่อง  คือ  รามเกียรติ์  อุณรุท และ อิเหนา
          ใช้กับละครนอก ๕ เรื่อง  คือ  ไกรทอง  สังข์ทอง  คาวี  มณีพิไชย  และ ไชยเชษฐ์
          ใช้กับเสภา ๑ เรื่อง  คือ  ขุนช้างขุนแผน

          เฉพาะบทละครเรื่องอิเหนา  เป็นพระราชนิพนธ์ยาวที่สุดของพระองค์  ต่อมาได้รับรับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า  เป็นยอดบทละครรำที่ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ  ทำนองกลอน  และกระบวนการเล่น (ทั้งร้องและรำ)  รวมทั้งเป็นประโยชน์ด้านให้ความรู้เรื่องโบราณราชประเพณี  และพระราชพิธี  ความเป็นอยู่ของคนชั้นสูงถึงสามัญชนทั่วไป

          สำหรับบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น  เป็นนิทานพื้นบ้านที่มีการนำไปร้องเป็นบทเสภาซึ่งเรียกกันว่า  “ขับเสภา”  มีถ้อยคำสำนวนหลากหลาย  ตามแต่ศิลปินผู้ขับเสภาจะร้องกัน  ในราชสำนักก็มีกวีแต่งบทขับเสภากันหลายสำนวน  มีนักขับเสภาฝีปากเอกหลายคน  เช่น   “ครูแจ้ง”   เป็นต้น

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปรารภที่จะให้มีบทขับเสภาเป็นมาตรฐานแน่นอนตลอดไป  จึงประชุมกวีราชสำนัก  แล้วแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนเลือกที่จะแต่งบทเสภาตอนใดตอนหนึ่ง  เมื่อแต่ละคนแต่งแล้วให้นำมาช่วยกันตรวจรับรองในที่ประชุมกวี  ซึ่งพระองค์ทรงเป็นประธานวินิจฉัย  โดยพระองค์ทรงเป็นผู้รับหน้าที่พระราชนิพนธ์ตอนพลายแก้วได้นางพิมพิลาไลย   ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   เข้าห้องนางแก้วกิริยา   และขุนแผนพานางวันทองหนี

          กวีในราชสำนัก  ต่างแต่งบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกันอย่างสุดฝีมือ  เพราะถือว่าเป็นการประกวดประชันกันครั้งสำคัญที่สุด  ดังนั้นจึงปรากฏว่าบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงอ่านกันได้ไม่รู้เบื่อหน่ายในทุกยุคทุกสมัย  เฉพาะขุนสุนทรโวหาร  กวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระองค์ซึ่งแต่งเสภาเรื่องนี้ตอนกำเนิดพลายงาม  ท่านแต่งได้ไพเราะเพราะพริ้งที่สุด  และจะได้กล่าวถึงท่านผู้นี้โดยละเอียดต่อไป

          พรุ่งนี้จะเริ่มเล่าเรื่องชีวิตและงานของขุนสุนทรโวหาร  หรือสุนทรภู่ให้ทราบกันทุกแง่ทุกมุม  อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ

(.....................  มีต่อพรุ่งนี้  .....................)

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๔ กันยายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, พฤศจิกายน, 2562, 10:22:56 PM
(https://i.ibb.co/rc5zSXV/2-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- กวีเอกพระพุทธเลิศหล้า -
(ชีวิตและงานสุนทรภู่ ๑)

พระสุนทรโวหารนามหวานหู
เดิมชื่อภู่งานกวีมิล้าสมัย
เป็น“อาลักษณ์ขี้เมา”แต่เชาว์ไว
ซึ่งชาวไทยรู้ดีกลอนมีมนต์

ยี่สิบหกมิถุนาฟ้าสลัว
ทราบกันทั่วว่าสู่ฤดูฝน
เด็กชายหนึ่งตาแป๋วแววซุกซน
ปรากฏตนดูโลกด้วยโชคพา

เป็นมหาดเล็กวังหลังครั้ง”รอหนึ่ง”
“รอสอง”จึงปรากฏมียศฐาน์
“ขุนสุนทรโวหาร”เปรื่องปัญญา
พระราชายกเด่นเป็นอาลักษณ์

ครั้ง “รอสาม”ความซนส่งผลให้
ท่านยากไร้ที่พึ่งถึงทุกข์หนัก
บวชเป็นสงฆ์วัดมีเป็นที่พัก
แล้วโยกยักย้ายเหร่อนเร่ไป

ครั้ง “รอสี่”พ้นทุกข์สบสุขสม
เป็น “เจ้ากรมอาลักษณ์”วังหน้าได้
“พระสุนทรโวหาร”สราญใจ
ทิ้งงานไว้ทั้งหมดเป็นบทกลอน

นิยายนิราศภาษิตไม่ผิดหลัก
ล้วนประจักษ์จริงอยู่เป็นครูสอน
ไม่มีใครกล้าขัดค้านตัดทอน
ทุกวรรคตอนสูงค่าไร้ราคี


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องที่ทรงเป็นนักกวี  ทรงตั้งนักกวีเป็นที่ปรึกษาในการพระราชนิพนธ์บทละคร  จนเรียกได้ว่ายุคของพระองค์เป็น  “ยุคทองของวรรณกรรม”  มีนักกวีในราชสำนักมากมาย  ในบรรดานักกวีที่ปรึกษานั้น   “ขุนสุนทรโวหาร”   เป็นกวีคนโปรดของพระองค์  ท่านผู้นี้คนไทยรู้จักและเรียกกันว่า  “สุนทรภู่”  ชีวิตและงานของท่านน่าศึกษามาก  ดังนั้น  จึงใคร่นำประวัติชีวิตละงานของท่านมาให้ทราบกันดังต่อไปนี้

  - อ่านต่อ  ชีวิตและงานสุนทรภู่ -   คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44511#msg44511)


          สำหรับ  “ชีวิตและงานท่านสุนทรภู่”  ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง  โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ   คลิก >> ที่นี่ << (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44511#msg44511)    เข้าอ่านต่อได้  หรือจะข้ามไปอ่านเหตุการณ์ต่อไป ก็คลิกอ่านหน้า ต่อไป ด้านล่างนี้ได้ครับ /  (หมายเหตุโดยผู้โพสต์)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44271#msg44271)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg45753#msg45753)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ กันยายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มีนาคม, 2563, 10:47:33 PM
(https://i.ibb.co/w0yPXsk/8s7ds-2-678x367.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44587#msg44587)                                                             .

- สิ้นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย -

“กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันลอยเลื่อนฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน

พระนั่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา..”

………………(อิเหนา)


          อภิปราย ขยายความ............

         หลังจากได้เล่าถึงเรื่องราว     - ชีวิตและงานสุนทรภู่ -  คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12133.msg44511#msg44511)    กวีที่ปรึกษาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ไปแล้ว   วันนี้มาเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยกันต่อไปครับ

y10bpAlcpRo


          บทกลอนข้างบนนี้  เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จากละครเรื่องอิเหนา  ซึ่งนำมาเป็นเนื้อร้องในทำนองเพลงบุหลันลอยเลื่อน  ซึ่งทำนองเพลงนี้พระราชนิพนธ์ขึ้นตามพระสุบินในราตรีหนึ่ง  ที่มาของเพลงนี้มีเรื่องเล่ากันมาว่า...

(https://i.ibb.co/DWJMn25/image.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระบาสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงซอสามสายคู่พระหัตถ์ที่ชื่อว่า  “ซอสายฟ้าฟาด”  แล้วก็เสด็จเข้าที่พระบรรทม  ได้ทรงพระสุบิน (ฝัน) ไปว่า  พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่แห่งหนึ่งมีความสวยงามมาก  ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน  ขณะนั้น  พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ได้ลอยเลื่อนเข้ามาใกล้พระองค์  และดวงจันทร์นั้นได้ฉายแสงสว่างไปทั่วบริเวณ  มีความงามยิ่งนัก  ทันใดนั้น  เสียงทิพย์ดนตรีก็กังวานหวานไพเราะ  พระองค์สดับเสียงทิพย์ดนตรีนั้นด้วยความเพลิดเพลินในพระราชหฤทัย  จนดวงจันทร์ค่อยลอยเคลื่อนห่างไป  เสียงทิพย์ดนตรีก็จางหายไป  ก็เสด็จตื่นบรรทม  แม้พระองค์จะทรงตื่นบรรทมแล้ว  เสียงดนตรีก็ยังก้องอยู่ในพระกรรณ  จึงโปรดให้เจ้าพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงนั้นไว้  แล้วได้พระราชทานชื่อเพลงนี้ว่า  “บุหลันลอยเลื่อน”  หรือเพลง  “บุหลันลอยเลื่อนฟ้า”

          ต่อมามีการเรียกชื่อกันว่า  “เพลงพระสุบิน”  และเคยเรียกกันอีกว่า  “เพลงสรรเสริญพระจันทร์”  เพราะเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีมาสมัยหนึ่ง  ภายหลังเมื่อได้มีการแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นทำนองฝรั่ง  จึงเรียกเพลงนี้ว่า  เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย”

(https://i.ibb.co/Cz4NStF/Image21.jpg) (https://imgbb.com/)

          ความสนุกสนานครึกครื้นด้านการดนตรี  โขน  ละคร  การกวี  ในราชสำนัก  ซึ่งมีมาแต่เริ่มต้นรัชกาลนี้  ได้ซบเซาลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย องค์เอกอัครศิลปิน  ทรงพระประชวร  มีอาการมึนและเมื่อยพระองค์  เสวยพระโอสถหลายขนานพระอาการไม่คลาย  กลับเซื่องซึมลงไป  แพทย์หลวงประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้  ทรงพระประชวรอยู่เพียง ๘ วัน  ถึงวันพุธที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗  ก็เสด็จสู่วรรคต  เมื่อเวลาย่ำค่ำเศษ ณ พระที่นั่งจักพรรดิพิมาน (องค์ตะวันออก)  ในพระบรมมหาราชวัง

          สิริรวมพระชนมพรรษา ๕๗ พรรษา ๕ เดือน ๖ วันดำรงในสิริราชสมบัติ ๑๔ ปี ๑๐ เดือน ๑๕ วัน

          ด้วยพระชนมายุย่างเข้า ๕๘ พรรษา  โดยพระองค์เองและใคร ๆ ไม่คิดว่าจะเสด็จสวรรคตด้วยเวลาอันรวดเร็ว  ไม่ทันที่พระองค์ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) จะทรงเตรียมการสั่งเสียใด ๆ  จึงมิได้ทรงมอบราชสมบัติให้แก่ผู้ใด

          ยามนั้นพระราชวงศานุวงศ์และเสนาอำมาตย์ข้าราชการผู้ใหญ่ต่างมีความเห็นร่วม  พร้อมใจกันทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ซึ่งรับราชการกรมท่า  กรมพระคลังมหาสมบัติ  กรมพระตำรวจ  ผู้ว่าความฎีกา  และทรงรับหน้าที่ต่าง ๆ  ต่างพระเนตรพระกรรณแทนสมเด็จพระราชบิดามาตลอด  ให้ทรงขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทนสมเด็จพระราชบิดาต่อไป

(https://i.ibb.co/0qLNssB/DSC2527-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  พระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าทับ  เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม (สมเด็จพระศรีสุราลัย) เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐  ครั้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วเฉลิมพระนามว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์  ขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  และทรงแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์  ให้มีพระยศสูงขึ้น  ตามโบราณราชประเพณี

(https://i.ibb.co/8xr7MLt/British-attack-in-Burma-1824.png) (https://imgbb.com/)

          ในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. ๒๓๖๗) อังกฤษได้ชวนไทยไปช่วยรบพม่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเห็นว่า ไทยควรมีกองทัพไป  เพื่อจะได้รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง  จึงโปรดฯ ให้พระยามหาโยธาคุมกองทัพหนึ่ง
          พระยาสุรเสนา  พระยาพิพัฒโกษา  ทัพหนึ่ง  ไปทางด่านเจดีย์สามองค์
          ให้พระยาชุมพรคุมกองทัพเรือไปทางระนองทัพหนึ่ง

          ให้ออกข่าวว่า  จะไปช่วยอังกฤษ  ฝ่ายอังกฤษทราบข่าวบอกดังนั้นจึงยอมให้กองทัพไทยเข้าไปตั้งในเขตแดนที่ดี

(https://i.ibb.co/DVhRzzN/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๓๖๘  ทรงแต่งให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์น  เครื่องบรรณาการตามธรรมเนียมออกไป  “จิ้มก้อง”  สมเด็จพระเจ้าเตากวางตามธรรมเนียมพระราชประเพณี  จากนั้นจึงจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยตามโบราณราชประเพณี

(https://i.ibb.co/rcJpfZ0/anuwong25.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพดังกล่าวนี้  ปรากฏว่าเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์เข้ามาร่วมในพระราชพิธี  หลังการพระราชพิธีแล้ว  บังอาจเข้ากราบทูลขอพระราชทานพวกหม่อมละครเล็ก ๆ ผู้หญิงข้างใน  กับขอพระราชทานเจ้าดวงคำ  ลาวชาวเวียงจันทน์  ซึ่งตกมาแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี  ให้กลับคืนเวียงจันทน์  พระบาทสมเด็จเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ไม่พระราชทานให้ตามที่ทูลขอ  เจ้าอนุเสียใจมาก  และขัดเคืองเป็นอย่างยิ่ง

(https://i.ibb.co/MN7sxZv/978-616-7119-96-1-713x1024.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นกลับคืนเวียงจันทน์แล้ว  เจ้าอนุจึงจัดกองทัพยกเข้าไทยหมายมั่นจะยึดสยามประเทศให้จงได้  เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กลายเป็นสงครามระหว่าง ไทย  เวียงจันทน์  เขมร  และญวน   สงครามครั้งนี้เกิดวีรบุรุษวีรสตรีขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย  เรื่องราวรายละเอียดมีอย่างไร  จะขอนำความตามบันทึกของ   “ขุนศึกคู่บัลลังก์”   ในรัชกาลที่ ๓ คือ  เจ้าพระยาบดินเดชา (สิง สิงหเสนี)  ที่ท่านบันทึกไว้ด้วยตนเอง  ตามหนังสือที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ จัดพิมพ์ขึ้นในชื่อเรื่องว่า   “อานามสยามยุทธ”   ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว  เขมร  และญวน

          มีรายละเอียดอย่างไร

          ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องใด ๆ พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มีนาคม, 2563, 10:29:49 PM
(https://i.ibb.co/VHRP9pt/hqdefault-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑ -

จะกล่าวเรื่องสงครามสยามสมัย
เฉพาะใน “รัชกาลที่สาม”
“เจ้าอนุ”เวียงจันทน์นั้นลามปาม
ยกทัพรุกคุกคามสยามไทย.......


          อภิปราย ขยายความ.................

          ประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  มีสงครามระหว่างประเทศเกิดขึ้นกับชนชาติเบื้องบูรพาทิศ  เป็นศึกสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานควรแก่การศึกษาหาข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่น้อยเลย

(https://i.ibb.co/grBnWX8/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ
ในละคร "ข้าบดินทร์"

          จากวันนี้เป็นต้นไป  หน้าเพจนี้จะนำเสนอเรื่องราวของสงครามระหว่างไทย  ลาว  เขมร  ญวน  โดยยกความในหนังสือชื่อ  “อานามสยามยุทธ”  ที่สำนักพิมพ์โฆษิต จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐  มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ซึ่งสำนักพิมพ์โฆษิต  ได้ชี้แจงในการจัดพิมพ์ว่า

           “ อานามสยามยุทธเป็นหนังสือว่าด้วยการศึกสงครามระหว่างไทย  กับลาว  เขมร  และญวน  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ่อยู่หัว รัชกาลที่ ๓  เรียบเรียงจากบันทึกรายงานราชการกองทัพในระหว่างศึกสงครามนั้น  ตั้งแต่มูลเหตุของการศึกสงครามจนกระทั่งสงครามยุติ  รวมเวลา ๒๑ ปี

  - อ่านต่อ  มหาศึกอานามสยามยุทธ -   คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg45766#msg45766)


          สำหรับเหตุการณ์มหาศึก  “อานามสยามยุทธ”  ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง  โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ   คลิก >> ที่นี่ << (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg45766#msg45766)    เข้าอ่านต่อได้ครับ  /  (หมายเหตุโดยผู้โพสต์)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg44436#msg44436)                                                             .

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต