บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๖ - ไม้ผลหรือผลไม้ชนิดหนึ่งสมัยเมื่อ ๕-๖๐ ปีก่อนเป็นที่นิยมกันอยู่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งถือว่าเป็นของดีที่หายาก ต่อมาแพร่หลายจนเป็นที่รู้จักมักคุ้น และปลูกกันทั่วประเทศไทยแล้ว นั่นคือ มะม่วงหิมพานต์ ปัจจุบันเป็นเครื่องปรุงประกอบหาอาหารหลายอย่าง เช่น ผัด ยำ อาหารว่าง และเป็นขบเคี้ยวเล่นเพลิน ๆ ด้วย มะม่วงนี้มีชื่อหลายชื่อตามท้องถิ่นต่าง ๆ ประวัติความเป็นมาอย่างไรตามไปดูกันครับ
“มะม่วงหิมพานต์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะม่วงสิโห (เชียงใหม่), มะโห (แม่ฮ่องสอน), มะม่วงกาสอ (อุตรดิตถ์), มะม่วงเล็ดล่อ มะม่วงยางหุบ (ระนอง), กายี (ตรัง), ส้มม่วงทูนหน่วย มะม่วงทูนหน่วย (สุราษฎร์ธานี), กะแตแก (นราธิวาส), นายอ (ยะลา), ยาโงย ยาร่วง (ปัตตานี), มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงไม่รู้หาว (ภาคกลาง), มะม่วงกุลา มะม่วงลังกา มะม่วงหยอด มะม่วงสินหน (ภาคเหนือ), กาหยู กาหยี ม่วงเม็ดล่อ ม่วงเล็ดล่อ หัวครก ท้ายล่อ ตำหนาว ส้มม่วงชูหน่วย (ภาคใต้) เป็นต้น
มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงโดยเฉลี่ย ๖ เมตร (สามารถสูงได้ถึง ๑๒ เมตร) ลำต้นเนื้อไม้แข็ง มีกิ่งแขนงแตกออกเป็นพุ่มแน่นทรงกลมถึงกระจาย เปลือกหนาผิวเรียบมีสีน้ำตาลเทา ในบ้านเราสามารถพบมะม่วงหิมพานต์ได้ทั่วไปในภาคใต้ ดอกออกเป็นช่อกระจาย มีสีขาวหรือสีเหลืองนวล และจะเปลี่ยนไปเป็นสีชมพู ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก โคนดอกเชื่อมติดกัน ดอกหนึ่งมีปลายแยกเป็นกลีบ ๕ กลีบ ปลายแหลมเรียว ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ ๘-๑๐ อัน หลังจากดอกร่วงจะติดผล ซึ่งมีลักษณะคล้ายผลชมพู่หรือลูกแพร์ ผลเป็นพวงห้อยลงมา ขนาดผลยาวประมาณ ๕-๘เซนติเมตร เนื้อผลฉ่ำน้ำมีกลิ่นหอม ผลอ่อนมีสีเขียวหรือเหลืองอมชมพู แต่เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง ที่ปลายผลมีเมล็ดอยู่ ๑ เมล็ด มีลักษณะคล้ายรูปไต เปลือกนอกแข็งและยาวประมาณ ๒-๔ เซนติเมตร สีน้ำตาลอมเทา แพทย์ในอินเดียใช้เมล็ดเลี้ยงเด็กทารกที่อายุเกิน ๖ ขวบ เพื่อช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรง ในเม็ดมะม่วงหิมพานต์อุดมไปด้วยธาตุทองแดง จึงช่วยบำรุงเส้นผมและผิวหนังได้เป็นอย่างดี ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มีธาตุแมกนีเซียมในปริมาณมาก จึงช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก สุขภาพฟันและกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุได้ ช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้”
คัดย่อจากความเรียงเชิงวิชาการมาให้รู้จักมะม่วงหิมพานต์กันพอสมควร ชื่อนี้เป็นชื่อทางการที่ต้องแปลศัพท์กันอีกที “หิมพานต์” หากแปลตรงๆก็คือ “ป่าน้ำค้าง” หรือ “ป่าน้ำแข็ง” ป่าเย็น อะไรทำนองนั้น เห็นชื่อแล้วก็ทำให้นึกถึงเทพนิทานในตำนานพราหมณ์ผสมพุทธเรื่องป่าหิมพานต์นั่นเลย บางท่านอาจคิดว่า มะม่วงชนิดนี้มาจากป่าหิมพานต์เป็นแน่ แต่ตามประวัติระบุว่า “มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชพื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ซึ่งเรียกเป็นภาษาโปรตุเกสว่า ผล" กาฌู" (caju ) หรือ ต้น "กาฌูเอย์รู" (cajueiro ) ปัจจุบันเติบโตแพร่หลายทั่วไปในภูมิภาคเขตร้อน เพื่อใช้ประโยชน์จากเมล็ด และผล มีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกที่ภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) แล้วแพร่ไปทั่วจังหวัดภาคใต้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปว่า มะม่วงหิมพานต์ กาหยู กาหยี (เข้าใจว่าเป็นคำยืมจากภาษามลายู ซึ่งยืมจากภาษาโปรตุเกสอีกทอดหนึ่ง) เม็ดล่อ ยาร่วง หัวครก ยาโห้ย เป็นต้น
ชาวสงขลาเรียกมะม่วงหิมพานต์ว่า “หัวครก” ตามตำนานที่บอกเล่ากันสืบมาว่า
“ครั้งหนึ่งมีเรไรกับจักจั่นบังเกิดแข่งกัน เรไรว่าฉันเสียงเพราะกว่า ต่างคนต่างเบ่งกันว่าตนร้องได้เพราะกว่า ก็ร้องแข่งกันถ้าเสียงไหนขาดก่อนฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายแพ้ เรไรทำสัญญาณ พอได้เวลาก็ หริ่ง ๆ หริ่ง ๆ จักจั่นก็ แร้ง ๆ แรง ๆ หริ่ง ๆ หริ่ง ๆ แร้ง ๆ แรง ๆ หริ่ง ๆ หริ่ง ๆ แร้ง ๆ แร้ง ๆ ร้องกันตามภาษาสัตว์เสียงดังกังวานทั่วป่า สัตว์ทั้งหลายได้ยินก็ประหลาดใจ ผลไม้ทั้งหลายได้ยินต่างก็ชื่นบานตามธรรมชาตินั้น ผลของไม้หัวครกอยู่ใกล้ ๆ ที่สนามแข่งก็ล่อ (โผล่) ออกมาฟังเรไรกับจักจั่นแข่งขันกันต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้ ผลไม้หัวครกฟังเพลินจนเกินไปและจนลืมตั ว ลืมกลับเข้าไปข้างในเต้าล่อออกมาหลุบ หุบไม่เข้าจนกระทั่งทุกวันนี้”
ปัจจุบัน “หัวครก” ของชาวสงขลา หรือมะม่วงหินพานต์ที่รู้จักกันทั่วไป เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่คนไทยมากทีเดียว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, เป็น อยู่ คือ, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ, ต้นฝ้าย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, malada, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก, กรกันต์, เฟื่องฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๗ - วัฒนธรรมประเพณีไทยส่วนมากเกิดจากคติพราหมณ์ผสมพุทธศาสนา มีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น อย่างเช่นประเพณีสารทไทยเดือน ๑๐ ในภาคกลางมีกำหนดจัดทำกันในวันสิ้นเดือน ๑๐ แต่ในภาคใต้จัดทำกันโดยเริ่มแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๐ ไปสิ้นสุดในวันสิ้นเดือน ๑๐ จุดประสงค์ตรงกันที่การทำบุญอุทิศให้ผู้วายชนม์ทั้งที่เป็นญาติและมิใช่ญาติ ทางปักษ์ใต้มีการจัดงานนี้อย่างใหญ่โตเรียกว่า ประเพณีสารทเดือนสิบ ที่นครศรีธรรรมราช ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้รวมทั้งจังหวัดสงขลาด้วยก็จัดงานนี้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่าที่นครศรีธรรมราชอันเป็นเมืองหลวงของปักษ์ใต้ ที่มาของงานนี้มีอย่างไร เราไปค้นหาดูกันครับ
“ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว มีต้นกำเนิดมาจากพิธีของพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ต่อมาเมื่อคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติด้วย เรื่องนี้ พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหล่นลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น”
ความที่ท่านพระยาอนุมานราชธนกล่าวไว้นั้น เป็นภาพรวมของประเพณีสารทเดือน ๑๐ จากนี้เราไปดูประเพณีสารทเดือน ๑๐ ของภาคใต้กันซึ่งพอจะสรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้
งานบุญประเพณีของคนภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อกันว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ขึ้นมายังโลกมนุษย์ เพื่อให้มาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (วันสิ้นเดือน ๑๐)
วันสารทนี้เป็นวันที่ตรงกันข้ามกับวันสงกรานต์ วันสงกรานต์ถือว่าเป็นวันที่โลกเข้าสู่ราศีเมษวันแรก และราศีเมษเป็นราศีที่โลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่วนวันสารทเป็นช่วงที่โลกออกห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยถ้านับจากวันสงกรานต์จนถึงวันสารทจะเป็นเวลาประมาณหกเดือนพอดี ท่านจะเอาช่วงเวลาทางจันทรคติคือแรม ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันเดือนดับ ซึ่งเป็นเวลาที่โลกมืดมิดที่สุด ความเชื่อของคนโบราณในแถบภูมิภาคนี้ จึงถือว่าเป็นเวลาที่วิญญาณกลับจากนรก ญาติพี่น้องจึงควรทำบุญ เพื่อแผ่ส่วนกุศลผลบุญไปให้ ถ้าผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญได้อิ่มท้องก็จะให้พร ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจโกรธและสาปแช่ง วันนี้จึงถือเป็นวันรวมญาติ วันบูชาบรรพบุรุษ ใครไม่ร่วมจะโดนดูถูกว่าอกตัญญู
เมื่อถึงวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า "วันหลองหฺมฺรับ" แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ การจัดหฺมฺรับนั้น ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาดหรือกะละมังมาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยกระเทียม พริก เกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม ผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น ลางสาด เงาะ ลองกอง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม-ด้าย และเครื่องเชี่ยนหมาก สุดท้ายใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหฺมฺรับ คือ ขนม ๕ อย่าง ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายที่แต่งต่างกันได้แก่
ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่ม ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น
ในกรณีที่มีขนม ๖ อย่าง จะเพิ่มขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน
ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือการยกหฺมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุก วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวด หฺมฺรับ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นจะจัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาทุกปี โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และร่วมการประกวด ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชมากยิ่งขึ้น เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "หลาเปรต" หรือร้านเปรต โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนมดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชื่นชอบ เมื่อตั้งเปรตเสร็จพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน "ชิงเปรต" โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว”
หฺมฺรับ คำนี้อ่านออกเสียงยากหน่อย ฟังคล้ายเสียงว่า ”หมับ” หมายถึงสำรับกับข้าวเครื่องครัว มีทั้งอาหารคาวหวานผลไม้นานา ทางภาคกลางใช้กระยาสารท กล้วยไข่ แต่ขนมทางปักษ์เขาไม่มีกระยาสารท มีแต่ขนมดังกล่าวข้างต้น พิธีกรรมต่อจากนี้พวกเด็กชอบกันมาก เขาทำกันอย่างไรพรุ่งนี้จะเล่าให้ฟังครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, malada, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๘ - เมื่อจะเข้าสู่พิธีการรับเปรตส่งเปรตในงานบุญเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ให้ทำความรู้จักกับ “เปรต” เสียก่อนนะครับ คำว่าเปรตเป็นคำสันสกฤต (คำบาลีว่าเปต) หมายถึงผี ตามความเชื่อในหลายศาสนาทั้ง ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และศาสนาเชน ในความเชื่อนั้นเปรตเป็นผีที่ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าเมื่อครั้งเป็นมนุษย์มาก โดยต้องทรมานกับความหิวโหยและความเจ็บปวดทางกาย เป็นสัตว์ประเภทโอปปาติกะ คือเกิดผุดขึ้นเช่นเดียวกับสัตว์นรกและเทวดา การจะหลุดพ้นจากการเป็นเปรตนั้นต้องอาศัยเวลานานชั่วกัปชั่วกัลป์ เหตุให้เกิดเป็นเปรตนั้น ท่านว่าทำบาปไว้ เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การทำร้ายผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และ ใจ การพูดปด พูดส่อเสียด การลักทรัพย์ รวมถึงความโลภ เป็นต้น , เกิดขึ้นจากการเคยเป็นสัตว์นรกที่เวียนว่ายอยู่ในนรกนานนับโกฏิปี พันจากนรกแล้วดวงวิญญาณยังไม่บริสุทธิ์พอที่จะไปเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้น ต้องชดใช้กรรมต่อด้วยการเกิดเป็นเปรต
เปรตมีในคัมภีร์ต่าง ๆ ท่านแบ่งประเภทไว้คือ แบ่งตามเปตวัตถุอรรถกถาได้ ๔ ประเภท แบ่งตามคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และฉคติทีปนีปกรณ์ได้ ๑๒ ประเภท แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลีได้ ๒๑ ประเภท แต่ละประเภท ขออย่าให้พรรณนารูปลักษณ์ของเขาเลย เปรตที่เราอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้ และเขาจะได้รับนั้นดูเหมือนจะมีประเภทเดียวได้แก่ “ปรทัตตูปชีวิเปรต คือ เปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้ หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร” นอกนั้นท่านว่าไม่อาจรับได้ เปรตที่มาขอส่วนบุญในงานเดือนสิบก็คือ “ปรทัตตูปชีวีเปรต” นี่เอง
ด้วยความเชื่อที่ว่าวันแรม ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันเดือนดับ ซึ่งเป็นเวลาที่โลกมืดมิดที่สุด บรรดาเปรตทั้งหลายจะถูกปล่อยตัวให้มาแสวงหาอาหารจากกุศลผลบุญที่มนุษย์พากันทำอุทิศให้ ดังนั้นชาวใต้จึงจัดงานประเพณีสารทเดือนสิบ กำหนดตั้งแต่วันกลางเดือน ๑๐ เป็นต้นไป วันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันรับเปรต วันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบเป็นวันส่งเปรตกลับอบายภูมิ การรับเปรต ส่งเปรต มีการชิงเปรตกันด้วย เขาทำอย่างไรไปดูกันครับ
“ประเพณีชิงเปรตเป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีเมืองมนุษย์ ๑๕ วัน โดยมาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นั้นคือวัน " ส่งเปรต" กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่ อาหารที่ใช้ตั้งเปรต ส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดละหน่อย ขนมที่ไม่ค่อยขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู (ขนมเมซำ เบซำ หรือดีซำ) ขนมไข่ปลา ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย ธูปเทียน นำลงจัดใน หฺมฺรับ โดยเอาของแห้งดังกล่าวรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอกปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นใดแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนั้นนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำหฺมฺรับที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บนร้านเปรต ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียกว่า "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "ชิงเปรต" ผู้ที่มาร่วมทำบุญ ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตนั้นด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่าการแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่งนัก และขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนาจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อจะให้มีผลดก
ร้านเปรต อีกลักษณะหนึ่ง คือจัดสร้างขึ้นในบริเวณวัด ไม่ห่างไกลจากร้านเปรตกลางวัดเท่าใดนักโดยใช้ลำต้นของไม้หมาก หรือไม้ไผ่ หรือไม้หลาโอน (เหลาชะโอน) ยาวประมาณ 3 เมตร เอาเปลือกหยาบภายนอกตบแต่งให้ลื่น ถ้าเป็นไม้ไผ่มักใช้ไม้ไผ่ตงเพราะลำใหญ่ ไม่ต้องเอาผิวออก เพียงแต่เกลาข้อออกแล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมจนทั่วเพื่อเพิ่มความลื่นให้มากขึ้น เอาโคนเสาฝังดิน ปลายเสาใช้ไม้ทำแผงติดไว้ พร้อมกับผูกเชือกไว้ใต้แผงปลายเชือกผูกขนมต่าง ๆ ของเปรตห้อยไว้ จัดให้บุตรหลานของเปรตปีนขึ้นไปชิงขนมเหล่านั้นแทนเปรต ใครปีนขึ้นไปชิงได้มากก็ให้รางวัลมาก ได้น้อยให้รางวัลน้อยลดลงตามส่วน จัดผู้ปีนให้ขึ้นไปทีละคนโดยให้นุ่งแต่ผ้า ห้ามสวมเสื้อ ห้ามสวมร้องเท้า ทั้งนี้เกรงเสื้อและรองเท้าจะเช็ดน้ำมันออกเสียเมื่อปีนขึ้นไปจะทำให้ความลื่นลดลง ก็จัดเป็นการเล่นที่สนุกสนานได้มาก น้อยคนที่จะปีนขึ้นไปได้ ส่วนใหญ่จะลื่นตกลงมา การปีนเสาขึ้นชิงเปรตนี้ จะกระทำหลังจากร่วมชิงกันที่ร้านเปรตแล้วเสาที่ทำดังกล่าวก็ถือกันว่าเป็นร้านเปรตอีกชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีเสาเดียวและอยู่สูง ขึ้นชิงได้เพียงครั้งละคน ไม่เหมือนกับร้านเปรตเตี้ย ๆ ซึ่งไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปและเข้าชิงได้พร้อมกันหลังจากนั้นก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทานโดยใช้เหรียญสตางค์โยนไปทีละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชนที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างสนุกสนาน”
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงความย่อ ๆ ความพิสดารมีมากเกินพรรณนา ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ข้าพเจ้าได้พบเห็นเพียงภาพข่าวก็ได้แต่นึกสนุกไปด้วย ส่วนที่สงขลานี่ข้าพเจ้าสัมผัสด้วยตนเอง พูดได้คำเดียวว่า “สนุกนัก” ในวันรับเปรตคือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๐ นั้นไม่ตรงกีบวันพระ ข้าพเจ้าไม่ต้องเทศน์ แต่ก่อนวันรับเปรตเป็นวันพระ ภาคเช้าข้าพเจ้าเทศน์ตามปกติ ตอนบ่ายลงอุโบสถ ภาคกลางคืนจึงเทศน์เรื่องเปรตที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ต่างๆ และเน้นเรื่องเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารที่เป็นปรทัตตูปชีวีเปรต มีรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ขอแสดงในที่นี้นะครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, malada, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๙ - เกาะของจังหวัดสงขลาที่คนส่วนมากรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันก็คือ เกาะหนู เกาะแมว ในทะเลอ่าวไทย และเกาะยอ ในทะเลสาบสงขลา วันนี้จะขอกล่าวถึงเกาะยอในทะเลสาบ ซึ่งเป็นเกาะหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบตอนล่าง มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตัวเกาะมีพื้นที่ทั้งหมด ๑๕ ตารางกิโลเมตร ประชากรเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีผลิตภัณฑ์จากหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงคือ ผ้าทอเกาะยอ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะลาย "ราชวัตถ์" ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อลายผ้าดังกล่าว หลังจากสร้างสะพานติณสูลานนท์แล้ว เกาะยอกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสงขลาอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นอย่างไรขอละไว้ ในที่นี้จะพาท่านดูอดีตถอยหลังไปเป็นร้อยปี ก่อนจะเข้าถึงเกาะยอขอแวะวัดสำคัญตรงปากทางหน่อย วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีชื่อเสียงโด่งดังมากคือวัดพะโคะของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มีบันทึกเกี่ยวกับวัดนี้ไว้คือ
“วัดพะโคะ หรือ วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่บนเขาพะโคะ หรือเขาพัทธสิงค์ หมู่ที่ ๖ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระเมาลักเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมทางใต้ สมัยกรุงศรีอยุธยา แบบอย่างศิลปะลังกา และเกี่ยวข้องกับตำนานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ตามพงศาวดาร เล่ากันว่า วันหนึ่งมีโจรสลัดแล่นเรือเลียบมาตามฝั่ง เห็นสมเด็จพะโคะเดินอยู่มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลายจึงใคร่จะลองดี โจรสลัดจอดเรือและจับสมเด็จพะโคะไป เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่เกิดเหตุเรือแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องจอดอยู่หลายวัน จนในที่สุดน้ำจืดในเรือหมดลงโจรสลัดเดือดร้อนมาก สมเด็จพะโคะสงสาร จึงเอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเลเกิดเป็นประกายโชติช่วง น้ำทะเลที่เค็มนั้นกลายเป็นน้ำจืด โจรสลัดเกิดความเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ขอขมา และนำสมเด็จพะโคะขึ้นฝั่ง ตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงพากันไปกราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก”
เรื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเป็นตำนานที่เล่าไม่รู้จบ ใครอยากรู้ความพิสดารก็ไปหาอ่านกันเองเถิด หวนกลับเข้าเรื่องของเกาะยอตามความเรียงของท่านผู้รู้กันต่อไปดังนี้
“ประวัติเกาะยอ ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ครั้งแรกจากแผนภาพการกัลปนาวัดพะโคะ ที่เขียนขึ้นช่วงปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ถึง พ.ศ. ๒๒๔๒ ระบุชื่อว่า "เข้าก้อะญอ" ปรากฏอยู่ปลายสุดของแผนที่ เป็นภาพเขาเกาะยอที่มีพรรณไม้บนภูเขาแต่ไม่ปรากฏรูปสัตว์ป่า และปรากฏอีกครั้งในแผนที่เมืองสงขลาที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยมองเดียร์ เดอลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ในแผนที่นี้ปรากฏชุมชนบนเกาะ ๙ แห่งบริเวณที่ราบเชิงเขารอบเกาะ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านนาถิน, บ้านท้ายเสาะ, บ้านท่าไทร, บ้านสวนทุเรียน และบ้านนอก ในพระนิพนธ์เรื่อง ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๗ โดยสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พ.ศ. ๒๔๒๗ เขียนเกี่ยวกับเกาะยอว่า "เกาะยอ มี เขาเป็นสามเหลี่ยม เรียกว่าแหลมภอ ช่องเขาเขียว และแหลมหัวการัง มีตำบลบ้าน 3 หลังได้แก่ บ้านท่าไทร บ้านอ่าวทราย และ บ้านสวนใหม่ ในเกาะยอมีสวนเรียงรายอยู่ในเกาะ รอบเกาะเป็นสวนผลไม้ หมาก มะพร้าว จำปาดะ ขนุน สะตอ พุมเรียง ละมุด ทุเรียน และมีสวนผัก มีบ้านราษฎรเรียงรายอยู่รอบเกาะ มีบ่อน้ำจืดสนิทหลายหลัง บ่อหินเป็นบ่อเก่า มีคราบโสโครก มีศาลาเล็กที่นั้นหลังหนึ่ง ในเกาะนั้นมีวัด ๒ วัด ชื่อวัดแหลมภอวัดหนึ่ง วัดทายเสาะวัดหนึ่ง"
ประชากรชนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ ว่ากันว่าเป็นชาวจีนจากบ้านน้ำจากระจาย, บ้านน้ำน้อย และบ้านทุ่งหวัง ซึ่งตั้งถิ่นฐานกันมาอย่างน้อยก็ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมีวัดในพุทธศาสนา ๔ แห่ง มีสำนักสงฆ์, ศาลเจ้าจีน และสถานปฏิบัติธรรมอย่างละหนึ่งแห่ง ทั้งนี้เกาะยอมีประเพณีโบราณสืบทอดกันมาคือ ประเพณีแห่เดือนสิบ และประเพณีขึ้นเขากุฎ มีโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะยอสองแห่ง คือ โรงเรียนวัดแหลมพ้อ และโรงเรียนวัดท้ายยอ มีสถานีอนามัยสองแห่งที่บ้านสวนทุเรียนและบ้านท่าไทร
เกาะยอตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีเนื้อที่รวมทั้งพื้นน้ำ ๑๗.๙๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๑,๒๒๐ ไร่ และมีเนื้อที่เฉพาะพื้นดินเพียง ๑๕ ตารางกิโลเมตร หรือ ๙,๓๗๕ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเขา สูง ๑๐ ถึง ๑๕๑ เมตร มีที่ราบขนาดน้อยโดยเป็นที่ราบเนินเขาริมชายฝั่ง บนเกาะมีแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยต้องขุดบ่อน้ำโดยใช้น้ำจากใต้ดิน จากที่นี่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา ๒๐ กิโลเมตรทางบก และ ๖ กิโลเมตรหากเป็นทางเรือ”
มีคำถามอยู่เหมือนกันว่า น้ำทะเลที่หลวงพ่อทวดเหยียบจนจืดนั้นคือทะเลสาบสงขลาไหม? คำตอบคือไม่ใช่ดอก เพราะทะเลสาบสงขลามีมาก่อนยุคหลวงพ่อทวดแล้ว เรื่องหลวงพ่อทวดนี้เชื่อได้ว่าเกิดขึ้น ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยานี่เอง อย่างไรก็ตามทีเถิด น้ำในทะเลสาบสงขลามิใช่ว่าจะมีรสจืดจนดื่มกินได้ หากแต่เป็นน้ำกร่อยน่ะ ดังนั้นคนที่อยู่บนเกาะยอจึงต้องขุดดินเพื่อมีบ่อน้ำจืดสนิทไว้ใช้บริโภค ด้วยน้ำใต้ดินบนเกาะนั้นเป็นน้ำจืดสนิทใช้ดื่มอาบซักล้างได้ดีเหมือนน้ำบนแผ่นดินใหญ่นั่นเทียว
ไม้ผลในเกาะยอจากบันทึกข้างต้นมี “หมาก มะพร้าว จำปาดะ ขนุน สะตอ พุมเรียง ละมุด ทุเรียน” ผลไม้ส่วนใหญ่เรารู้จักกันค่อนข้างดีอยู่แล้ว พุมเรียงจะไม่ค่อยคุ้นกันนัก "พุมเรียง" นี้มีชื่ออื่นคือ ชำมะเลียง พุเรียง หมากหวด หวดข่าใหญ่ มีสรรพคุณทางยา รากแก้ปวดศีรษะ ผื่นคัน เปลือกแก้บิด ผลบำรุงกำลัง เมล็ดแก้ไอหอบ เป็นต้น อีกทั้งเนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำฟืนได้ด้วย ในสมัยที่ข้าพเจ้าไปอยู่สงขลานั้น เขาว่ากันว่าทุเรียนของเกาะยอเป็นทุเรียนดีที่สุด เนื้อหนา (เหมือนหมอนทอง) รสหวานมันอร่อยมาก พระประเสริฐให้ความหวังว่า ออกพรรษาแล้วต้องได้กินทุเรียนเกาะยอแน่นอน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ, ข้าวหอม, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, malada, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๐ – มีประเพณีงานบุญของชาวพุทธในเมืองไทยอย่างหนึ่งกระทำกันในวันออกพรรษา ทางภาคกลางเรียกว่าวันเทโวซึ่งมีคำเต็มว่า "เทโวโรหณะ” หรือ วันพระเจ้าเปิดโลก ความเป็นมาของวันนี้มีอยู่ว่า พระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ แล้วเสด็จขึ้นไปประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดโปรด พระพุทธมารดาซึ่งอุบัติเป็นสันตุสิตเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต และลงมาเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ดาวดึงส์ ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาเป็นเวลา ๓ เดือนจนพระพุทธมารดาบรรลุธรรมวิเศษเป็นพระโสดาบันแล้ว ในวันออกพรรษา คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจากสวรรค์มาสู่มนุษยโลก ณ เมืองสังกัสสะนคร ทรงเปิดโลกทั้งสามให้สัตว์ทั้งหลายในจักรวาลได้แลเห็นกัน คือมนุษย์เห็นสวรรค์ นรก สวรรค์เห็นมนุษย์ นรก และ นรกเห็นมนุษย์ สวรรค์ โบราณไทยจึงเรียกวันนี้ว่า วันพระเจ้าเปิดโลก ในวันดังกล่าวนี้มีการใส่บาตรหรือตักบาตรกันมากเป็นกรณีพิเศษจนเป็นที่มาของประเพณีตักบาตรเทโวฯแพร่หลายไปทั่วไทย และเรียกชื่อประเพณี พิธีกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
เหตุให้ใส่บาตรหรือตักบาตรกันเป็นกรณีพิเศษนั้นท่านกล่าวว่า เพราะพระพุทธองค์เสด็จประทับบนสวรรค์นานถึง ๓ เดือน ชาวพุทธทั้งปวงในมนุษยโลกล้วนพากันคิดถึงมาก เมื่อทราบจากพระโมคคัลลานะว่าจะเสด็จกลับคืนมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสนครในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ พุทธบริษัททั้งหลายจึงพากันชุมนุม ณ ที่นั้นจนล้นเมือง ผู้คนมากมายที่ไปชุมนุมกันนานเป็นเดือน สิ่งสำคัญที่ต้องมีคืออาหารการกิน คนสมัยสองพันห้าร้อยปีก่อนโน้นเขารู้จักการถนอมอาหารไว้กินนานๆแล้ว จึงทำอาหารชนิดหนึ่งเรียกว่า “สัตตุ คือข้าวคั่วผง, ขนมผง ขนมแห้งที่ไม่บูด เช่น ขนมที่เรียกว่า จันอับและขนมปัง เป็นต้น หรือที่เรียกกันว่า สัตตุผง สัตตุก้อน อันได้แก่ข้าวตู เสบียงเดินทางที่ ๒ พ่อค้า คือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ขณะที่ประทับอยู่ใต้ต้นราชายตนะนั้น อาหารชนิดนี้ ‘สัตตุผง’ บาลีเรียกว่า “มันถะ” คือข้าวตากที่ตำละเอียด ส่วน ‘สัตตุก้อน’ บาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ” พวกเขาทำไปกินเองบ้าง ถวายพระภิกษุบ้าง กาลเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ถึงพื้นดิน พวกเขาปรารถนาจะใส่บาตรพระพุทธองค์ แต่เบียดคนเข้าไปไม่ไหว จึงโยนก้อนข้าวตูใส่พระพุทธองค์ นี้เป็นที่มาของการทำขนมข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระในงานเทโวโรหณะทั่วไป
จังหวัดภาคกลางนั้น สถานที่จัดงานเทโวฯยิ่งใหญ่ที่สุดคือ วัดสังกัสรัตนคีรี เขาสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี มีพิธีตักบาตรเทโว ข้าวสารอาหารแห้ง ข้าวต้มลูกโยน การแสดงโต๊ะหมู่บูชาประดับงาช้าง ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด และจัดได้สอดคล้องกับตำนานมาก โดยสมมติ ให้มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง เป็น "สิริมหามายากุฎาคาร” มีบันไดทอดยาวจากมณฑปลงสู่บริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง เปรียบเสมือนบันไดทิพย์ที่ทอดยาวจากสวรรค์ดาวดึงส์ สู่เมืองสังกัสสนคร รุ่งอรุณของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่อุ้มบาตรเดินลงตามบันไดจากยอดเขาสะแกกรังสู่พื้นดิน เป็นภาพที่สวยงามมาก
งานประเพณีตักบาตรเทโวฯดังกล่าวของต้น ทางปักษ์ใต้เรียกว่างาน “ชักพระ” บ้าง “ลากพระ” บ้าง มีวิธีการแตกต่างกันไปตามความคิดของคนแต่ละท้องถิ่น อย่างที่สุราษฎร์ธานี เป็นงานใหญ่ที่รู้จักกันทั่วไป เขามีวิธีการจัดกันดังบันทึกเรื่องต่อไปนี้
“เมื่อถึงวันออกพรรษาของทุกปี จ.สุราษฎร์ธานี จะมีงานบุญที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ได้แก่ ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ซึ่งอนุรักษ์สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี จนนับได้ว่าเป็นมรดกแห่งศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของจังหวัด โดยเฉพาะ "การชักพระ" ทางวัดจะถือเอาวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อัญเชิญพระพุทธรูปให้พุทธศาสนิกชนชักลากแห่ไปบำเพ็ญกุศล และสมโภชเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกว่า "ชักพระทางบก" และ "ชักพระทางน้ำ" เป็นการจำลองเหตุการณ์ตามเรื่องราวในเทโวโรหนสูตร สุราษฎร์ธานี มีประเพณีชักพระทั้ง ทางบกและทางน้ำ โดยก่อนถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านจะ ช่วยกันจัดเตรียม รถ เรือ ประดับประดาตกแต่งสวยงาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก เมื่อถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรอาหารคาวหวาน ที่ขาดไม่ได้คือ ขนมต้ม ต่อจากนั้นจะเริ่มชักเรือพระ-รถพระ ออกจากวัดไปสมโภช พร้อมกับตีกลองโพนไปตลอดทาง พร้อมกันนั้นก็มีการ “ทอดผ้าป่าหน้าบ้าน” นอกเหนือจากประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความสนุกสนานและสีสันให้ลำน้ำตาปี คือ "การแข่งขันเรือยาว" ซึ่งจัดขึ้นพร้อมๆ กับการแข่งขันเรือพายและการประกวดเรือแต่งด้วย
งานประเพณีชักพระหรือลากพระของจังหวัดสงขลา มีความเป็นมาตามคติความเชื่อของเขาว่า
“ประเพณีชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีที่พราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ สันนิฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรก ในประเทศอินเดียตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่นิยมนำเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การแห่เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระนารายณ์ เป็นต้น ต่อมาพราหมณ์ในวรรณะทั้งหลายหันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น และได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวติดตนมา แล้วดัดแปลงปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา และเมื่อพุทธศาสนาได้เผยแพร่ถึงภาคใต้ของประเทศไทย จึงได้นำประเพณีชักพระเข้ามาด้วย”
ก่อนวันเทโวโรหณะอันเป็นวันชักพระลากพระนั้นเป็นวันมหาปวารณา(ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑) ชาวบ้านชาววัดช่วยกันจัดแต่งรถเทโวฯ ภาคเช้าข้าพเจ้าเทศน์อุโบสถตามปกติ ภาคบ่ายร่วมทำสังฆกรรมในอุโบสถ ภิกษุสงฆ์ทำการปวารณาตนให้เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ ภาคค่ำข้าพเจ้าจึงแสดงธรรมเรื่องเทโวโรหณสูตร ให้ทราบความเป็นมาของวันดังกล่าว เพื่อประกอบบุญพิธีในการตักบาตรเทโวและชักพระลากพระตามประเพณีในวันรุ่งขึ้นต่อไป/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, malada, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๑ - ได้กล่าวถึงประเพณีการจัดงานวันเทโวโรหนะมาแล้ว ว่าเขาจัดทำอะไรกันบ้าง วันนี้จะไม่กล่าวซ้ำอีก จะกล่าวเฉพาะงานชักพระที่เมืองสงขลาเท่านั้น คือ การเตรียมการลากพระมีคำกล่าวกันว่า
“เมื่อเดือน ๙ ผ่านไปแล้ว หลายวัดที่ตั้งใจว่าจะร่วมประเพณีลากพระในเดือน ๑๑ ก็จะเริ่มเตรียมการหุ้มโพนเพื่อใช้ "คุมโพน" (ประโคมล่วงหน้า) และใช้ประโคมในวันพิธีรวมทั้งให้ชาวบ้านนำประชัน หรือแข่งขันกับของวัดอื่น ๆ การหุ้มโพนมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนทั้งในการขุดและขึงหนังให้ตึงเต็ม ให้ใช้เวลานานแรมเดือน บางวัดมีพิธีไสยศาสตร์ประกอบด้วย ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการนี้โดยตรง แต่ละวัดจะต้องมีโพน ๒ ใบ ให้เสียงทุ้ม ๑ ใบ เสียงแหลม ๑ ใบ วัดไหนโพนเสียงดีแข่งขันชนะ ชาวบ้านก็พลอยได้หน้าชื่นชมยินดีกันไปนานเป็นแรมปี เมื่อใกล้วันลากพระประมาณ ๗ หรือ ๓ วัน ทุกวัดที่จะลากพระในปีนั้นก็จะเริ่มคุมโพน (ตีประโคม)เพื่อปลุกใจชาวบ้านให้กระตือรือร้นร่วมพิธีลากพระ และอาจนำไปท้าทายแข่งขันกับวัดใกล้เคียง พร้อมกันนั้นทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาที่มีฝีมือทางช่างก็จะช่วยกันจัดตกแต่งเรือพระและ "บุษบก" ซึ่งต้องทำกันอย่างสุดฝีมือ เพราะถ้าของวัดใดไม่สวยเท่าที่ควร บรรดาทายกทายิกา แม้ศิษย์วัดและพระภิกษุสามเณรก็จะรู้สึกน้อยหน้าวัดอื่นที่ตกแต่งดีกว่า สิ่งที่ทุกครอบครัวจะต้องกระทำอีกอย่างก็คือ การเตรียม "แทงต้ม" โดยหาใบกะพ้อ และ ข้าวสารข้าวเหนียว เพื่อนำไปทำขนมต้ม "แขวนเรือ-รถพระ"
ในตัวเมืองสงขลาไม่มีแม่น้ำลำคลองมีแต่ถนนหลวง จึงไม่มีการชักพระทางน้ำมีแต่การลากพระทางบกเรียกว่า "ลากพระบก" ซึ่งโบราณนิยมใช้ล้อเลื่อนแต่งเป็นรูปเรือ เรือพระจึงหนักต้องอาศัยคนลากเป็นจำนวนมาก โดยมีเชือกลากเป็น ๒ สาย สายหนึ่งสำหรับผู้หญิงอีกสายหนึ่งสำหรับผู้ชาย เรือหรือรถ หรือล้อเลื่อนที่ประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบกซึ่งเรียกตามภาษาพื้นเมืองภาคใต้ว่า "นม" หรือ "นมพระ" (คือพนม) ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปประดิษฐานแล้วชักลากในวันออกพรรษา เรียกว่า "เรือพระบก" ที่ใช้รถหรือล้อเลื่อนมาประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือ
การทำเรือพระบก สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือให้คล้ายเรือจริงมากที่สุด และจะต้องพยายามให้มีน้ำหนักน้อยที่สุด จึงมักใช้ไม้ไผ่สานหรือเสื่อกระจูดมาตกแต่ง ตรงส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือคงทำให้แน่นหนา เฉพาะส่วนพื้นเพื่อนั่งและวางบุษบกกับส่วนที่จะผูกเชือกชักลากเท่านั้น แล้วใส่ล้อหรือเลื่อนที่ทำขึ้นจากไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อนรองรับข้างล่างเพื่อให้ชักลากเรือพระไปได้สะดวก ไม้สองท่อนนี้ทางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือแล้วตกแต่งเป็นรูปตัวพญานาค อาจทำเป็น ๑ ตัว หรือมากกว่าก็ได้ ใช้กระดาษสีเงินสีทองหรือกระดาษสีสะท้อนแสงทำเป็นเกล็ดนาค ซึ่งจะทำให้สะท้อนแสงระยิบระยับไปทั้งลำ เมื่อขณะชักลาก กลางลำตัวพญานาคทำเป็นร้านสูงราว ๑.๕๐ เมตร เรียกว่า "ร้านม้า" สำหรับวางส่วนสำคัญที่สุดของเรือพระ คือ บุษบก หรือ นมพระ ซึ่งนายช่างแต่ละท้องถิ่นจะมีเทคนิคในการออกแบบบุษบกเพื่อให้เหมาะสมทั้งลวดลาย และรูปร่าง มีการประดิดประดอยอย่างสุดฝีมือ หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจัตุรมุข หรือทำเป็นจัตุรมุขซ้อน รูปทรงชะลูด งามสง่าสะดุดตา ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ตัวลำยอง กระจังฐานพระ บัวปลายเสา คันทวย เป็นต้น”
เรือเทียมที่ประดิษฐานพระพุทธรูปตามภาพพจน์ข้างต้นช่างงดงามนัก วัดใหญ่ ๆ ในเมืองสงขลาประดับตกแต่งกันอย่างสวยงาม แต่วัดชัยมงคลที่ข้าพเจ้าไปอยู่จำพรรษานั้นมิได้จัดทำเรือพระบกกับเขา ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าวัดเราเป็นวัดเล็กไม่มีกำลังพอที่จะจัดทำเรือลากพระบกเหมือนเขาได้ แต่ชาววัดชัยมงคลก็ไปร่วมกับวัดโรงวาสบ้าง วัดเพชรมงคลบ้าง วัดเลียบบ้าง วัดดอนแย้บ้าง ตามแต่ศรัทธาของแต่ละคน อุปกรณ์ที่ต้องทำล่วงหน้านานเป็นเดือนก็คือการทำ “โพน” มีคำอธิบายชื่อนี้ไว้ว่า
“โพน หรือตะโพน คือกลองหรือกลองเพลของภาคกลาง รูปร่างคล้ายกลองทัด มีขาตั้ง จำนวน ๓ ขา ตีด้วยไม้แข็ง ๒ มือ ตัวโพนทำด้วยการขุดเจาะจากไม้เนื้อแข็ง เช่น จากไม้ต้นตาล ไม้ขนุน ฯลฯ มีขนาดรูปทรงต่าง ๆ กัน ส่วนมากมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๕ – ๘๐ เซนติเมตร หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายทั้ง ๒ หน้า ไม้ตีโพน กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สาวดำไม้หลุมพอ เป็นดนตรี ประเภทเครื่องตี ในภาคใต้มีไว้ประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือชักพระ เรียกว่า “คุมโพน” ใช้ตีประชันเสียงเป็นกีฬาอย่างหนึ่งเรียกว่า “แข่งโพน” และนำไปเล่น “หลักโพน” โพนจะมีค่าเพียงใดขึ้นอยู่กับความนุ่มนวลและความดังของเสียง ซึ่งขึ้นอยู่กับการทำตัวโพน (หรือหน่วยโพน) กับวิธีหุ้มโพน”
การกลึง ขุด เจาะ กลอง (โพน) แต่ละใบไม่ใช่เรื่องง่าย ขุดเจาะกลึงเป็นรูปกลองเสร็จแล้ว ยังต้องเหนื่อยในการหุ้มโพนอีก สมัยเป็นเด็กวัดข้าพเจ้าเคยถูกใช้ให้ตีหนังหน้ากลอง คนทำกลองเอาหนังควายแช่น้ำเกลือจนอ่อนแล้วปะหน้ากลอง ขึงให้ตึงแล้วให้คนตีหนังหน้ากลอง ตีไปดึงหนังไปจนกว่าจะได้ที่ บางใบใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๗ วันทีเดียว เสียงกลองจะดังทุ้ม แหลม ก็ขึ้นอยู่กับการขึงหนังหน้ากลองนี่และครับ
วันนั้นข้าพเจ้าออกจากวัดแต่เช้าไปยืนอยู่ริมถนนหน้าวัดโรงวาสเพื่อดูขบวนแห่ชักลากเรือพระบก มีหลายขบวนที่ชักลากเรือจำลองที่ประดิษฐานองค์พระผ่านไปตามถนนสายนี้มุ่งสู่แหลมสมิหลา เรือพระบกแต่ละลำตกแต่งงดงามตระการตายิ่งนัก คนชักลากแต่งกายสวยงามหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสร่าเริงดูเหมือนไม่เหน็ดเหนื่อยกันเลย เด็ก ๆ ของข้าพเจ้าชวนให้เดินตามขบวนไปจนสุดทาง แต่ข้าพเจ้าไม่ไป (ระยะทางยาวปราณ ๖ กม.) กลัวเดินไม่ไหว จึงเดินตามไปแค่วัดดอนแย้ก็กลับวัด ได้รู้ได้เห็นเท่านี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, หยาดฟ้า, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, malada, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๒ - ออกพรรษาและรับกฐินแล้ว พระประเสริฐซึ่งลาราชการบวชเอาพรรษาครบกำหนด จึงลาสิกขากลับไปเป็นปลัดอำเภอตามเดิม ข้าพเจ้าไม่คิดจะอยู่สงขลาต่อไป เพราะคิดถึงเพื่อน ๆ และวัฒนธรรมประเพณีในภาคกลาง สงขลาแม้จะให้ความสะดวกสบายแก่ข้าพเจ้า แต่ไม่ได้ให้ความสนุกเพลิดเพลินเท่าที่ควร วัฒนธรรมประเพณีของภาคใต้ไม่คุ้นเคยสำหรับข้าพเจ้า จะว่าไม่ชอบวัฒนธรรมประเพณีของภาคใต้ก็ได้ จึงคิดจะกลับกรุงเทพฯ ไปอยู่วัดจันทร์นอกตามเดิม และทราบข่าวว่าพระมหาปานที่อยู่กุฏิของข้าพเจ้านั้น ท่านได้สำนักอยู่ใหม่ทางฝั่งธน นัยว่าดีว่าวัดจันทร์นอก กำลังจะย้ายออกไปอยู่สำนักใหม่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านเจ้าอาวาสวัดชัยมงคลว่าสิ้นเดือน ๑๑ นี้จะกลับกรุงเทพฯ ท่านบอกว่าอย่าเพิ่งรีบกลับ ขอให้อยู่อีกหน่อย เพราะทางวัดเรากำหนดจะจัดงานบุญทุเรียน คือว่าตอนนี้ทุเรียนของภาคใต้กำลังออกมาก ชาวบ้านจัดงานทุเรียนที่วัดเรา โดยนำทุเรียนมากองเป็นกัณฑ์เทศน์ถวายพระและจำหน่ายแก่ประชาชนหารายได้เข้าวัด ทางวัดกำหนดให้คุณอภินันท์เป็นองค์แสดงธรรม “เทศน์เรียน” คุณเทศน์งานทุเรียนก่อนแล้วค่อยกลับกรุงเทพฯ นะ
คัมภีร์เทศน์เรื่องทุเรียนและเรื่องผลไม้ใด ๆ ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านมาก่อนเลย มีคัมภีร์เทศน์เรี่องนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เรียนท่านเจ้าอาวาสไปว่าไม่มีคัมภีร์เทศน์เรื่องนี้ผมคงเทศน์ไม่ได้หรอกครับ ท่านหัวเราะแล้วบอกว่า คุณจะเทศน์เรื่องอะไรก็ได้ ไม่มีคัมภีร์ก็เทศน์ปากเปล่าซี่ เชื่อว่าคุณต้องเทศน์ได้ จนใจจริง ๆ จึงหาข้อมูลจากพ่อหลวงเซ่งขอให้ท่านบอกเล่าเรื่องทุเรียนตามที่รู้มา จึงได้ข้อมูลมาบ้างดังนี้
“ทุเรียน เป็นไม้ผลที่มีแหล่งดั้งเดิมในคาบสมุทรมลายู ก่อนจะกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยคาดว่า ได้รับสายพันธุ์ทุเรียนมาจากประเทศมาเลเซีย โดยเริ่มปลูกครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมาปลูกในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จังหวัดนนทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา ประวัติทุเรียนประเทศไทยในหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยสมัยอยุธยา ที่เขียนขึ้นโดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้น ตอนหนึ่งได้ระบุเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า "ดูเรียน (Durion) หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้..." จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง
สมัยรัตนโกสินทร์ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมายังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๘ ในอดีตไทยปลูกทุเรียนพื้นบ้านหลายร้อยสายพันธุ์ โดยนำมาปลูกเชิงการค้า ประมาณ ๖๐-๘๐ พันธุ์ เท่านั้น ในปัจจุบันทุเรียนพื้นบ้านซึ่งเป็นสายพันธุ์โบราณเหล่านั้นปลูกน้อยลงและหายาก บางสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ ทุเรียนสายพันธุ์โบราณ โดดเด่นเรื่องความทนทาน โรค-แมลง และการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งตามลักษณะของผลจะสามารถแบ่งออกได้เป็น ๖ กลุ่ม ดังนี้
๑. กลุ่มกบ มีลักษณะใบรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบแหลมโค้ง ฐานใบกลมมน ทรงผลมี ๓ ลักษณะคือ กลม กลมรี และกลมแป้น หนามผลมีลักษณะโค้งงอ จำแนกพันธุ์ได้ ๔๖ พันธุ์ เช่น กบตาดำ กบทองคำ กบวัดเพลง กบก้านยาว ๒. กลุ่มลวง มีลักษณะใบแบบป้อมกลางใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลมและมน ทรงผลมี ๒ ลักษณะ คือ ทรงกระบอก และรูปรี หนามผลมีลักษณะเว้า จำแนกพันธุ์ได้ ๑๒ พันธุ์ เช่น ลวงทอง ชะนี สายหยุด ชะนีก้านยาว ๓. กลุ่มก้านยาว มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเรียว ทรงผลเป็นรูปไข่กลับและกลม หนามผลมีลักษณะนูน จำแนกพันธุ์ได้ ๘ พันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง ๔. กลุ่มกำปั่น มีลักษณะใบยาวเรียว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ทรงผลเป็นทรงขอบขนาน หนามผลมีลักษณะแหลมตรง จำแนกพันธุ์ได้ ๑๓ พันธุ์ เช่น กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง ปิ่นทอง หมอนทอง ๕. กลุ่มทองย้อย มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ทรงผลเป็นรูปไข่ หนามผลมีลักษณะนูนปลายแหลม จำแนกพันธุ์ได้ ๑๔ พันธุ์ เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร ทองใหม่ ๖. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นทุเรียนที่จำแนกลักษณะพันธุ์ได้ไม่แน่ชัด มีอยู่ถึง ๘๓ พันธุ์ เช่น กะเทยเนื้อขาว กะเทยเนื้อแดง กะเทยเนื้อเหลือง”
พ่อหลวงเซ่ง ท่านรู้เรื่องทุเรียนมาก ข้าพเจ้าจดจำไม่ไหวจึงจดย่อไว้ได้แค่นี้ งานบุญทุเรียนวัดชัยมงคลตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นวันพระสิ้นเดือนพอดี เช้าวันนั้นมีผู้คนนำทุเรียนมากกองรวมกันในศาลารายรอบพระธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก (เรียกได้ว่าเป็นภูเขาเลากา) หลังจากทำพิธีบุญตามปกติแล้วประมาณ ๙ โมงเศษข้าพเจ้าก็แสดงธรรมตามแบบของข้าพเจ้า กล่าวถึงการทำบุญที่เรียกว่า บูญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง คือให้ทาน ๑ รักษาศีล ๑ เจริญภวนา(ฟังธรรม) ๑ แล้วอธิบายถึงทาน คือการให้ในส่วนที่เป็นอามิสทาน การให้สิ่งของมีอาหารเป็นต้น
ได้แจกแจงคำว่าอาหารออกไปเป็นชนิดต่าง คือข้าวน้ำ ผลไม้ ยกตัวอย่างว่า ทุเรียนที่นำมาบูชากัณฑ์เทศน์วันนี้เป็นอาหารหายากมีเฉพาะฤดูกาล ถ้าพ้นฤดูแล้วก็หารับประทานกันไม่ได้ จากนั้นก็พูดถึงความเป็นมาของทุเรียนและชนิดของทุเรียนอย่างยืดยาว แล้วสรุปว่าการนำทุเรียนมาเป็นอามิสทานวันนี้จัดเป็นทานอันเลิศกว่าข้าวน้ำและอย่างอื่นที่หาได้ไม่ยาก บทสรุปดังกล่าวเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ฟังทั้งพระและอุบาสกอุบาสิกาในที่นั้นมากทีเดียว หลังจบเทศนาแล้ว ทางวัดจัดทุเรียนส่วนหนึ่งถวายพระทั้งวัด ที่เหลือจากถวายพระก็จำหน่ายให้แก่ทุกคนเพื่อนำเงินเข้าวัดต่อไป
ส่วนที่ถวายพระคณะเจ้าอาวาสนั้น นำไปกองรวมใต้ซุ้มกระดังงาหน้ากุฏิเจ้าอาวาส แล้วพระในคณะนี้ก็นั่งล้อมวงฉีกทุเรียนฉันกัน ทุเรียนที่กล่าวถึงนี้เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองผลไม่โตนัก เมล็ดใหญ่เนื้อน้อย ส่วนมากเมล็ดออกนอกเนื้อ รสชาติแตกต่างกันไป เจ้าอาวาสบอกว่าลูกไหนฉีกออกฉันแล้วถ้ารสไม่ถูกปากก็ทิ้งไป เลือกฉันเฉพาะลูกที่เนื้อถูกปากก็แล้วกัน วันนั้นมีผู้นำทุเรียนเกาะยอมาถวายหลายลูก เขาฉีกเอาเฉพาะเนื้อพูงาม ๆ ใส่จานมาถวาย เป็นทุเรียนเนื้อหนารสชาติหวานมันอร่อยมาก เสียดายว่าข้าพเจ้าจำชื่อเฉพาะของทุเรียนเหล่านั้นมิได้เลย จำได้แต่ว่าเงินติดกัณฑ์วันนั้นหลายหมื่นบาท ท่านเจ้าอาวาสบอกทายกให้แบ่งถวายพระเทศน์ ๑ หมื่นบาท ที่เหลือนั้นเข้าบัญชีวัดไปพร้อมกับเงินที่ได้จากขายทุเรียน
วันขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นกำหนดเวลาเดินทางกลับกรุงเทพฯ ของข้าพเจ้า กราบลาเจ้าอาวาสท่านกล่าวว่า เบื่อกรุงเทพฯ ก็กลับมาอยู่ที่นี่อีกนะยินดีต้อนรับทุกเวลาเลย กราบลาหลวงพี่พระมหาแฉล้ม พระชวน ผู้อาวุโสในวัด และพ่อหลวงเซ่ง กับพระทุกองค์ก่อนเดินทางจากสงขลาไปขึ้นรถไฟที่หาดใหญ่ โดยมีพระเชือนและเด็ก ๆ ตามไปส่งด้วย แวะร้านกาแฟหน้าวัดเพื่อบอกลาเจ๊เจ้าของร้านกาแฟ เธอบอกว่าเสียดายต้นจังเลย หมวยน้อย (ข้าพเจ้าเรียกเธออย่างนั้น) ผู้นำน้ำชากาแฟไปถวายตอนเย็นบ่อย ๆ พูดกับข้าพเจ้าเป็นประโยคสุดท้ายว่า “พี่หลวงอย่าลืมสงขลา แล้วกลับมาอีกนะ” ข้าพเจ้ามองหน้าเธอเห็นตาแดง ๆ แล้วอดสะท้อนใจไม่ได้
ลาก่อนสงขลา /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, malada, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๓ -
กลับจากสงขลาเข้าอยู่วัดจันทร์นอกบางคอแหลมตามเดิม เพื่อนฝูงต้อนรับการกลับมาอย่างอบอุ่น พระมหาปานที่อยู่กุฏิข้าพเจ้าออกไปอยู่ในสำนักใหม่ทางฝั่งธนแล้วจึงไม่ได้พบกัน สภาพวัดจันทร์นอกยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้ายังไม่กล่าวถึงคือเรื่อง “กระหรี่เรือใหญ่” (ขออภัยที่ใช้คำนี้) เขาเรียกกันอย่างนั้นจริง ๆ ที่ มาของเรื่องนี้ก็คือ บ้านไม้ชั้นเดียวที่ปลูกสร้างเรียงรายริมคลองบางคอแหลมฝั่งตะวันตก ตรงข้ามกับวัดจันทร์นอกนั้น เป็นบ้านเช่าบ้างบ้านส่วนตัวบ้าง คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายกับเรือสินค้า ซึ่งเรียกกันว่า “เรือใหญ่” เรือดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเรือรับส่งสินค้าต่างประเทศ นำสินค้าจากไทยไปขายบ้าง นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายบ้าง ลูกเรือในเรือนี้เป็นชายล้วน ๆ นอกจากจะจอดอยู่แถวท่าเรือคลองเคยแล้ว ก็เข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาจากพระประแดงถึงถนนตกจำนวนไม่น้อย แถว ๆ หน้าวัดจันทร์นอก วัดอินทร์บรรจงฯ ก็มีหลายลำ เรือสินค้านี้จะมาจอดทอดสมอลอยอยู่ครั้งละหลาย ๆ วัน
เมื่อเรือใหญ่มาจอดลอยลำอยู่ ผู้หญิงสาวโสดและไม่โสดที่อยู่ตามบ้านริมคลองบางคอแหลมย่านย่านวัดจันทร์นอก ก็จะพากันนำสินค้าประเภทของกินขึ้นไปขายในเรือ ซึ่งลูกเรือเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย พวกหญิงไทยนำของกินขึ้นไปขายแล้วนำสินค้า (หนีภาษี) กลับมาขายในกันหลายอย่าง เท่าที่รู้เห็นก็มีสุราต่างประเทศหลายยี่ห้อ บุหรี่ต่างประเทศก็หลายยี่ห้อ ผลไม้ต่างประเทศเช่น แอปเปิ้ล องุ่น เป็นต้น เป็นการซื้อ ขายกันอย่างผิดกฎหมายนั่นแหละ
วิธีการนำสินค้าหนีภาษีลงจากเรือสินค้ามาขายกันนั้นหลายรูปแบบ เช่นเอาสุราบุหรี่และสินค้าต่าง ๆ ผูกติดหน้าท้องท่อนขาเป็นต้น มีหลายคนที่รู้จักมักคุ้นกับข้าพเจ้าและพระในวัดเปิดเผยเรื่องนี้ให้ฟัง บางคนก็นำบุหรี่ผลไม้มาถวายพระในวัดองค์ที่ชอบพอกันด้วย ข้าพเจ้าก็เคยรับของเหล่านั้น ครั้นมารู้วิธีการลักลอบของลงมาขากเรือแล้ว ไม่ยอมรับอีกเลย
หญิงสาวโสดคนหนึ่งชื่อเล่นว่า เป้า รูปร่างหน้าตาสวยงามมาก เธอบอกว่าเป็นชาวญวนแถว ๆ สามเสน เป็นเด็กเรียนดีมาตลอดจนถึงชั้น ม.๘ ถูกอาจารย์ปล้ำข่มขืน เสียใจมาก จึงเลิกเรียน แล้วประพฤติตัวเหลวแหลกจนที่สุดก็กลายมาเป็น “กระหรี่เรือใหญ่” ตอนนั้นเธอมีอายุ ๒๐ ปีเศษเท่านั้น เป้าชอบมาที่กุฏิข้าพเจ้า เอาบุหรี่ซาเล็ม ลักกี้ มาถวายด้วย ข้าพเจ้าไม่รับบุหรี่เธอ เพราะซาเล็มรสจืดไป ลักกี้ ก็แรง (ฉุน) เกินไป และยิ่งมารู้ว่าเธอเอาผูกติดท่อนขาหนีภาษีมาด้วยก็ยิ่งกระอักกระอ่วน จึงให้เธอนำไปขายในตลาดมืด สมัยนั้นสินค้าหนีภาษีที่นำไปขายกันในตลาดมืดซึ่งทางการเหมือนไม่รู้เห็นก็คือสินค้าจากเรือใหญ่ย่านหน้าวัดจันทร์นอกนี่เอง
“เป้า” ขายของได้แล้วก็มักนำเงินมาฝากข้าพเจ้าไว้ เธออ้างว่าปลอดภัยดีกว่าเก็บไว้เอง เคยแนะนำให้เธอกลับไปเรียนต่อ หรือสมัครสอบให้ได้ ม.๘ แล้วเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เธอไม่ยอมทำตามคำแนะนำ อ้างว่า “เสียผู้เสียคนไปแล้ว” ทำอย่างไรก็ให้กลับเป็นคนดีไม่ได้หรอก นำข้อธรรมมาสอนเธอก็ไม่ฟัง อ้างว่าเธอนับถือพระคริสต์ไม่ใช่พุทธ อ้อ ใช่สิ ก็ชาวไทยเชื้อสายญวน (เวียดนาม) ย่านสามเสน บางโพ แถวริมน้ำเจ้าพระยานั้นเขานับถือศาสนาคริสต์ทั้งนั้น
สินค้าขายดีที่สุดของแม่ค้าตลาดมืดคลองบางคอแหลมก็คือ “บริการทางเพศ” ยามเย็นย่ำสนธยาพวกเธอจะลงอาบน้ำในคลองบางคอแหลมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับกุฏิแถวของข้าพเจ้า ลำคลองกว้างประมาณ ๑๐ เมตรเศษ บางวันพระเณรก็ลงอาบน้ำในคลองคนละฟากฝั่งกับพวกเธอ ก็มีการพูดจากหยอกล้อกันบ้างตามประสาหนุ่มสาว พออาบน้ำเสร็จพวกเธอก็แต่งตัวพอกหน้าทาแป้งจนเห็นว่าสวยงามที่สุด เสื้อผาที่สวมใส่นั้นเลือกแบบหลวม ๆ เพื่อเตรียมซ่อนสินค้าเถื่อนกลับลงมาจากเรือ ครั้นตะวันลับฟ้าพวกเธอก็ลงเรือเล็กออกลำน้ำเจ้าพระยาไปขึ้นเรือใหญ่ตามเป้าหมาย
ลูกเรือในเรือสินค้านั้น เขาอยู่ในเรือเดินทางกลางทะเลเหว่ว้ามานานวัน “อดอยากปากแห้ง” ในกามคุณด้วยกันทุกคน ครั้นแม่ค้าตลาดมืดไทยขึ้นไปบนเรือต่างก็จ้องมองกันด้วยตาเป็นมันด้วยความหื่นกระหายในกามรส ดังนั้นจึงไม่เป็นการยากที่พวกเธอจะขายบริการทางเพศให้พวกเขา ซื้อขายกันอย่างไรข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็น และไม่ขอชี้/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, malada, คิดถึงเสมอ, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก, เฒ่าธุลี, ลายเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๔ - กลับมาอยู่วัดจันทร์นอกตามเดิมได้ไม่กี่วัน โยมใจ-โยมสุ สองสามีภรรยาที่นับถือคุ้นเคยกันก็ชักชวนให้ไปร่วมทอดกฐินที่บ้านโป่ง ราชบุรี โดยพระมหาบุญจันทร์เจ้าอาวาสวัดจันทร์ในเป็นประธานคณะจัดกฐินไปทอด ณ วัดตาลปากลัด ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมีกำหนดทอดกฐินวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ เดินทางตอนบ่ายวันขึ้น ๑๓ ค่ำ โดยรถบัสเช่าเหมาไป-กลับจากบริษัทขนส่ง เพราะเคยได้ยินคำกล่าวขานกันมานานแล้วว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง” แต่ยังไม่เคยไปพบเห็นเลย จึงตอบตกลงไปกับคณะกฐินสามัคคีของพระมหาบุญจันทร์ตามคำชักชวนของโยมใจ
การทอดถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน คือบุญที่ทำได้เฉพาะในเวลาที่กำหนด เพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน ถวายผ้าหรือทอดผ้านอกเวลานี้ไม่เป็นกฐิน ดังนั้นก่อนจะไปทอดกฐินมาทำความรู้จักความเป็นมาของกฐินกันหน่อยก็แล้วกัน เรื่องมีอยู่ว่า
“ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์คณะนั้นจึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว จึงได้เดินทางเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ ๕ ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔) คือไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน, ฉันคณโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ, จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว”
อานิสงส์คือผลที่จะได้รับจากกฐินทานนั้น ผู้ที่จะได้รับโดยตรงก็คือ พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดหนึ่งดังความข้างต้นเท่านั้น ส่วนผู้ที่ถวายผ้ากฐินจะได้อานิสงส์ เป็นบุญอย่างไร เท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของแต่ละคน ย่อมรู้เองเห็นเอง คนอื่นรู้เห็นด้วยไม่ได้ เพราะบุญเป็นเหมือนของทิพย์ที่ไม่อาจจะจับต้องได้ด้วย ตาหู จมูก ลิ้น กาย ของใครๆเลย
บ่ายของวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ นั้น มีรถบัสของบริษัทขนส่งที่รับส่งผู้โดยสารประจำสายตะวันตกจำนวน ๕ คัน มาจอดเต็มลานวัดจันทร์ใน ทั้งพระเณรและญาติโยมมากกว่าร้อยคนพากันขึ้นรถจนเต็มทุกคน มีหลายคนมาช้าจึงอดเดินทางไปทอดกฐินด้วยกัน เพราะรถ ๕ คันมีคนเต็มหมดแล้ว ตามปกติรถที่พาคนไปทอดกฐินมักจะไปกันอย่างสนุกครึกครื้น มีการตีกลองฉิ่งฉาบกรับโหม่งร้องรำกันไปตลอดทาง แต่รถกฐินของวัดจันทร์ในไปกันอย่างเงียบ ๆ เพราะพระมหาบุญจันทร์ท่านขอร้องให้เดินทางไปกันอย่างสงบสมกับที่ไปทำบุญกุศลกัน ไปถึงวัดตาลปากลัดยามเย็นวันนั้น
วัดตาลปากลัด มีประวัติย่อ ๆ ว่า ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓ เหตุที่ตั้งชื่อวัดว่าวัดตาล เพราะบริเวณที่ตั้งวัดมีต้นตาลขึ้นมากมาย และอยู่ใกล้ปากลัดแม่น้ำแม่กลอง แต่เดิมขึ้นอยู่กับตำบลนครชุมน์ ได้มีการย้ายวัดเมื่อใดไม่ทราบ แต่เหตุที่ย้ายเพราะตลิ่งพังจึงย้ายมาอยู่ในเขตดงตาล มีอาณาเขต ทิศเหนือจดแม่น้ำแม่กลอง ทิศใต้จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันออกจดทางหลวงเก่า ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน ได้รับพระราชวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๙ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ว่ากันว่าวัดนี้เป็นวัดหนึ่งในประเทศไทยที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า (ส่วนพระอุระข้างซ้าย) จากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานไว้เพื่อให้ชาวบ้านสักการะ มีรูปปั้นหงส์มอญหลายตัว เพราะชาวบ้านที่เป็นมอญทำมาถวาย บริเวณนี้จะมีคลองกั้นระหว่างหมู่บ้านชาวมอญ และหมู่บ้านชาวไทย ซุ้มประตูหน้าโบสถ์ก็เป็นศิลปะการก่อสร้างที่สวยงามแบบรามัญ มีต้นตะเคียนหรือแม่ตะเคียน ต้นใหญ่ อายุกว่า ๗๐๐ ปี ซึ่งเป็นที่เคารพนักถือของชาวบ้านและคนทั่วไปที่มาวัดนี้
ก็ได้รู้กันละว่าวัดตาลปากลัดเป็นวัดของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “คนมอญ” ชาวมอญมีเมืองเดิมอยู่ในหงสาวดี เมาะตะมะ พุกาม มัณฑเลย์ ทวาย และอีกหลายเมืองในประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน สงครามทำให้เขาอพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่กาญจนบุรี ราชบุรี ปทุมธานี พระประแดง และอีกหลายแห่ง จนกลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว ที่ จ.ราชบุรี โดยเฉพาะอำเภอบ้านโป่งมีชุมชนมอญใหญ่และเก่าแก่ที่สุดคือวัดม่วง และวัดนครชุมน์ ส่วนวัดตาลปากลัดนี้เป็นชุมชนมอญไม่ใหญ่นัก แต่พวกเขาก็ยังรักษาศาสนาวัฒนธรรมประเพณีมอญไว้ได้เป็นอย่างดี คืนนั้นได้เห็นการแสดงต้อนรับและฉลององค์กฐินแบบมอญ มีการประโคมหรือบรรเลงปี่พาทย์มอญ ฟ้อนรำแบบมอญ อันสวยงาม เกือบเที่ยงคืนจึงยุติการแสดง
รุ่งขึ้นทำบุญเลี้ยงพระแล้วทำพิธีถวายผ้ากฐิน เมื่อเสร็จพิธีพวกเราก็ข้ามลำน้ำแม่กลองจากฝั่งวัดตาลปากลัด (ตะวันตก) มาฝั่งตลาดอำเภอบ้านโป่ง (ตะวันออก) พวกเราพบความผิดหวังมาก เพราะรถบัสที่ไปส่งเรานั้นไม่กลับมารับตามนัดหมาย ทราบว่าเขาไปวิ่งรับ-ส่งคนเที่ยวงานลอยกระทงที่นครปฐมกันหมด ท่านพระมหาบุญจันทร์บอกว่าจ่ายค่ารถเขาไปหมดแล้ว เขาไม่มารับก็ต้องเสียค่าปรับให้เราตามสัญญา ดูสัญญาแล้วเห็นว่าถ้าเขาจะเสียค่าปรับก็ไม่มากนัก วิ่งรับคนเที่ยวงานลอยกระทงได้มากกว่า เขาก็เลยเลือกทิ้งพวกเราโดยยอมเสียค่าปรับอย่างยินดี
สมัยนั้นงานลอยกระทงในภาคกลางยิ่งใหญ่ที่สุดคือที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ในเมืองนครปฐม คนกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางจะพากันไปเที่ยวงานลอยกระทงกันที่นครปฐมเป็นหลัก ทางภาคเหนือก็ที่เชียงใหม่เป็นงานใหญ่ที่สุด ตอนนั้นสุโขทัยมีเพียงชื่อในตำนานเท่านั้น การจัดงานก็จัดกันตามวัดเหมือนกับจังหวัดทั่ว ๆ ไป ไม่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเหมือนที่นครปฐมและเชียงใหม่
วันนั้นพระมหาบุญจันทร์ท่านรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าคณะ จึงจัดหาว่าจ้างรถใหญ่บ้างเล็กบ้าง ขนพวกเราจากบ้านโป่งกลับถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างทุลักทุเลเต็มที บทเรียนนี้จำได้จนตายเลย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก, เป็น อยู่ คือ, กรกันต์, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ, malada, เฒ่าธุลี, ลายเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) CR. Photo By บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๕ - จากการไปเที่ยวอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ดังที่ให้การไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้แรงบันดาลใจจากพระใบฎีกาจ้วน เจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อยที่ท่านเข้ากรุงเทพฯ แล้วเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจากวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) นำความรู้ไปสงเคราะห์ชาวบ้านที่สะบ้าย้อยและยังช่วยรักษาไข้ให้ข้าพเจ้าด้วยนั้น เมื่อกลับมากรุงเทพฯแล้ว ข้าพเจ้าไม่เรียนบาลีต่อ จึงคิดจะเอาอย่างพระใบฎีกาจ้วน คือเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณของไทยที่วัดโพธิ์บ้าง จึงไปสมัครเรียนตามความคิดนั้น
ทางสมาคมแพทย์แผนไทยที่เปิดสอนอยู่ในวัดโพธิ์รับข้าพเจ้าเข้าเรียน โดยให้เรียนวิชาเภสัชโบราณเป็นอันดับแรก คือให้เรียนรู้ต้นตอของยาแผนโบราณที่ได้จาก พืช (พืชวัตถุ) สัตว์ (สัตววัตถุ) และแร่ธาตุ (ธาตุวัตถุ) อันมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งได้มีการใช้แบบบอกเล่าต่อ ๆ กันมา ไม่มีการค้นคว้าวิจัยเหมือนอย่างยาแผนปัจจุบัน โดยพืชที่ใช้เป็นยาอาจเป็นพืชยืนต้น พืชล้มลุก หรือพืชผักสวนครัว รวมทั้งผลไม้ ใช้พืชทั้งต้นหรือส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น เปลือก แก่น ดอก เกสร ใบ ผัก ผล ฯลฯ
* ในตำราวิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ มีหัวข้อเภสัชวัตถุกล่าวไว้ว่า เภสัชวัตถุประเภทพืชได้จาก ต้น แก่น ใบ หัว เหง้า รากกระพี้ เนื้อไม้ ยางไม้ เปลือกต้น เปลือกลูก เปลือกเมล็ด ดอกเกสร กิ่ง ก้าน ฯลฯ ที่แบ่งเป็นจำพวกต้น เช่น กระเจี๊ยบ กระถินไทย กระดังงาไทย กระท่อม กานพลู ฯลฯ จำพวกเถา-เครือเช่นกระทกรก หนอนตายหยาก ชะเอมไทย ตำลึง ฯลฯ จำพวกหัว-เหง้า เช่น กระชาย กระเทียม กระวาน กลอย ขิงบ้าน ฯลฯ จำพวกผัก เช่น ผักกะเฉด ผักบุ้งจีน ผักหวานบ้าน ผักกาด ผักเบี้ย ฯลฯ จำพวกหญ้า เช่น หญ้ากระต่ายจาม หญ้าคา หญ้างวงช้าง หญ้าแห้วหมู ฯลฯ จำพวกเห็ด แบ่งเป็นเห็ดที่เป็นอาหารและประกอบเป็นยาได้ และเห็ดเบื่อเมา เห็ดที่เป็นอาหารและเป็นยา เช่น เห็ดหูหนู เห็ดฟาง เห็ดโคน ฯลฯ เห็ดที่เบื่อเมา เช่น เห็ดงูเห่า เห็ดตาล เห็ดมะขาม ฯลฯ เป็นต้น
* ยาที่ได้จากสัตว์อาจใช้สัตว์ทั้งตัวส่วนหรืออวัยวะของร่างกายสัตว์ รวมทั้งมูล เลือด น้ำดีของสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์พวกนก เช่น ตับ ดี เลือดเขา นอ กระดูก ฯลฯ ตามคัมภีร์แผนโบราณไทยท่านกล่าวไว้ว่า เภสัชวัตถุประเภทสัตว์ได้จากสัตว์ทุกชนิด และอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย เช่น ขน หนัง เขา นอ เขี้ยว งา ฟัน กราม ดี หัว เล็บ กีบ กระดูก เนื้อ เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ สัตววัตถุแบ่งออกเป็น
จำพวกสัตว์บกเช่น กวาง (เขาแก่ เขาอ่อน) งูเห่า (หัว กระดูก ดี) แรด (เลือดหนังนอ กีบเท้า) คางคก (ทั้งตัว) แมลงสาบ (มูล) แมงมุม (ตายซาก) ฯลฯ จำพวกสัตว์น้ำ เช่น ปลาช่อน (ดี หาง เกล็ด) ปลาไหล (หาง หัว) ปลาหมึก (กระดอง หรือลิ้นทะเล) ปูม้า (ก้าม กระดอง) ฯลฯ จำพวกสัตว์อากาศ เช่น อีกา หรือ นกกา (หัวกระดูก ขน) นกยูง (กระดูกแววหางขนหาง) ผึ้ง(น้ำผึ้ง) นกนางแอ่น (รัง) นกกระจอก (ใช้ทั้งตัวถอนขนออก) ฯลฯ จำพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น หอยโข่ง (เปลือก) เต่านา (หัว กระดองอก) จระเข้ (ดี) ปูทะเล (ก้าม) ปูนา (ทั้งตัว) กบ (น้ำมัน กระดูก) ฯลฯ เป็นต้น
* สำหรับแร่ธาตุที่ใช้เป็นยา ได้แก่ ดินสอพอง ดีเกลือ จุนสี ฯลฯ จากตำราแพทย์แผนโบราณตอนที่ว่าด้วยเรื่องเภสัชวัตถุ กล่าวว่า เภสัชวัตถุประเภทธาตุได้แก่ แร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่-ธาตุ ธาตุวัตถุแบ่งได้เป็นจำพวกสลายตัวง่าย (หรือสลายตัวอยู่แล้ว) เช่น กำมะถันเหลือง สารส้ม กำมะถันแดง ดีเกลือ จุนสี พิมเสน ฝรั่ง น้ำซาวข้าว ปรอท การบูร ฯลฯ จำพวกสลายตัวยาก เช่น เหล็ก (สนิม) ทองแดง ทองเหลือง ทองคำ เงิน ฯลฯ จำพวกที่แตกตัวเช่น ดินสอพอง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลกรวด ดินเหนียว ฯลฯ
* ยาแผนโบราณ ยังอาจแบ่งเป็น ยาตำรับลับ คือ ยาที่มิได้แจ้งส่วนประกอบหรือ มิได้แจ้งปริมาณของส่วนประกอบเป็นการเปิดเผย มักเป็นยาประจำครอบครัวของแพทย์แผนโบราณ, ยาผีบอกคือ ยาที่ได้จากการฝัน หรือ เข้าทรงโดยผู้มาเข้าฝันหรือผู้เข้าทรงบอกตำรับยา เพื่อให้ผู้ใช้หายจากโรคเป็นการเอาบุญ เมื่อหายแล้วผู้ใช้ยาต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของตำรับด้วย, ยาสำเร็จรูป คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับหรือประกาศให้ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้, ยากลางบ้านคือ ยาที่ได้จากสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน ในครัวหรือในสวนครัว เช่น ใบพลู หมาก ปูน (ที่กินกับหมาก) ขิง ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา มะกรูด มะนาว สับปะรด ฯลฯ
* ในตำราวิชาเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ ยังแบ่งประเภทของยาตามรสได้ดังต่อไปนี้ ยารสฝาด เช่น เปลือกมังคุด เปลือกต้นข่อย ใบฝรั่ง ใบชา ฯลฯ ยารสหวาน เช่น น้ำตาลกรวด น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ชะเอมเทศ ข้าวงอก ฯลฯ ยารสเบื่อเมา เช่น กัญชา ลำโพง (เมล็ด ราก ดอก) มะเกลือ (ลูก ราก) ฯลฯ ยารสขม เช่น เถาบอระเพ็ด รากระย่อมลูกมะแว้ง หญ้าใต้ใบ แก่นขี้เหล็ก ฯลฯ ยารสเผ็ดร้อน เช่น เมล็ดพริกไทย ดอกกานพลู กะเพรา (ใบ ราก) ฯลฯ ยารสมันเช่น เมล็ดถั่วลิสง หัวแห้ว ไข่แดง เมล็ดบัวหลวง น้ำมัน เนย ฯลฯ ยารสหอมเย็น เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล เกสรบัวหลวง ใบเตยหอม ฯลฯ ยารสเค็ม เช่น เกลือสมุทรหรือเกลือทะเล ดีเกลือไทย ดินโป่ง ใบหอม ฯลฯ ยารสเปรี้ยว เช่น น้ำในลูกมะนาว ลูกมะดัน ส้มมะขามเปียก สารส้ม มดแดง ฯลฯ ยารสจืด เช่น ใบผักบุ้ง ใบตำลึง เถารางจืด ดินสอพอง น้ำฝน ฯลฯ”
ความข้างบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของตำรายาที่นักเรียนแพทย์แผนไทยต้องท่องจำให้ขึ้นใจ เหมือนพระเรียนนักธรรม บาลี ท่องแบบเรียนนั่นเทียว ถ้าท่องจำไม่ได้ก็เรียนไม่รู้เรื่อง วิชาแพทย์แผนไทยนี้มีพระภิกษุสามเณรมาเรียนกันไม่น้อย หมอแผนไทยที่ปรุงยาจำหน่ายมีไม่น้อยที่เป็นพระเรียนจบแล้วลาสิกขาไปทำการงานต่าง ๆ แล้วใช้เวลาว่างปรุงยา มียาลม ยาหม่อง ยาหอม เป็นต้น เมื่อยานั้นขายดีก็หันมายึดเป็นอาชีพตั้งร้าน ตั้งห้างฯ ทำยาขายร่ำรวยไปหลายราย ข้าพเจ้าท่องจำได้ไม่น้อย แต่พอเรียนถึงพืชสมุนไพรนี่ชักรวนเร เพราะจำชื่อได้แต่เห็นต้นยาแล้วจำไม่ได้ว่ามันคือต้นอะไร ชื่อเดียวกันแต่ลักษณะไม่เหมือน เช่นเหงือกปลาหมอเนี่ย พอขึ้นต่างที่ต่างถิ่น ทั้งต้นทั้งใบไม่เหมือนกัน บางอย่างแม้ลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ชื่อเรียกไม่เหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น เป็นสาเหตุให้ข้าพเจ้าเริ่มไม่แน่ใจว่าเรียนไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ในช่วงเวลานั้นข้าพเจ้ามักออกจากกรุงเทพฯ ไปวัดหัวเวียง วัดบางจักร ที่คุ้นเคยนั้นบ่อย ๆ ไปทำไม เห็นว่าไม่จำเป็นต้องบอกดอกนะ นอกจากจะเรียนแพทย์แผนไทย และไปเที่ยวดั้งกล่าวแล้ว ข้าพเจ้ายังเริ่มสนใจเรื่องสังคมการเมืองบ้างแล้ว สมัครเป็นสมาชิกหนังสือวารสารเสรีภาพของสถานทูตอเมริกา สหภาพโซเวียต ข่าวสารญี่ปุ่น ซึ่งเขาส่งให้อ่านฟรี และยังไปสมัครเรียนศาสนาคริสต์ที่คริสตจักรสาธร อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวนานาของประเทศนั้น ๆ
เวลานั้นฝ่ายโลกเสรีทำการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” จนคนไทยส่วนมากพากันเกลียดกลัวมาก ข้าพเจ้าไม่กลัวผีคอมมิวนิสต์ เพราะอ่านข่าวสารจากสถานทูตโชเวียตที่ส่งมาให้อ่านเปรียบเทียบ กับฝ่ายที่ปลุกผีคอมมิวนิสต์ คือสารเสรีภาพของสถานทูตอเมริกานี่แหละ ตอนนั้นพระเพื่อน ๆ พากันล้อข้าพเจ้าว่าจะเข้าคริสต์บ้างละ จะเป็นคอมมิวนิสต์บ้างละ ก็ปล่อยให้เขาว่ากันไป ป่วยการไปโต้เถียงให้เหนื่อยเปล่า /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, malada, เป็น อยู่ คือ, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, เฒ่าธุลี, ลายเมฆ, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๖ -
สถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ยุคนั้นแห่งหนึ่ง เป็นที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ และทั่วไป นั้นคือ “เขาดินวนา” หรือ สวนสัตว์ดุสิต สถานที่แห่งนี้มีความเป็นมาพอสรุปได้ว่า
“สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา เป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ ๗๑ ถนนพระรามที่ ๕ แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเนื้อที่ ๑๑๘ ไร่ อยู่ในอาณาบริเวณของ "วังสวนดุสิต" มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๑ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนและนาในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงคลองสามเสน ด้านตะวันออกถึงทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยพระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า "สวนดุสิต" (ปัจจุบันเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ต่อมาถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เทศบาลนครกรุงเทพ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ดัดแปลงบริเวณสวนสัตว์กรุงเทพ เป็นสวนสาธารณะเปิดให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยมิต้องมีค่าเช่า และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ และยังพระราชทานลูกหลานกวางดาวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากอินโดนีเซีย ที่เมืองบุยเตนซอค (Buitenzurg) เมื่อการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๔๔ (ร.ศ. ๑๒๐) และสัตว์อื่นอีก ๒-๓ ชนิด จากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน มาเลี้ยงแล้วโอนกิจการสวนสัตว์ดุสิตของเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกระทรวงมหาดไทย มาอยู่กับองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับองค์การสวนสัตว์เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๖ จากการขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ของพลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการ และผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์”
ในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงรับสวนสัตว์ดุสิตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น ข้าพเจ้ากลับจากสงขลาพอดี จึงอยากจะไปเข้าชมอีกครั้งหนึ่งหลังเคยเข้าชมมาแล้ว วันหนึ่งชักชวนได้เพื่อนพระอีก ๒ องค์ นั่งรถเมล์สาย ๑๗ ซึ่งวิ่งผ่านเขาดินวนาไปเที่ยวชมสวนสัตว์กัน สัตว์ที่มีให้ชมในสวนนี้มีทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีกที่บินในอากาศ และเป็นทั้งสัตว์ที่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่คุมครอง เป็นสัตว์ในไทยและต่างประเทศมากมาย พวกเราเลือกชมสัตว์ที่ไม่เคยเห็นตัวจริง เช่น หมีควาย แมวน้ำ นกเงือก และนานานก สัตว์ต่างประเทศเช่นยีราฟ แมวน้ำ ลิงอุรังอัง เสือดาว เก้ง กวาง กวางดาว เป็นต้น
สัตว์บางชนิดขังไว้ในกรง บางชนิดก็ล่ามไว้ เช่น ช้าง พวกเราเดินดูไปทุกที่เท่าที่จะไปได้ ในสวนนี้มีต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่น ทางเดินที่คดเคี้ยวไปมาเป็นถนนที่เดินได้สะดวกสบาย มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งพักผ่อนหลายที่หลายมุม ผู้คนที่เข้าไปเที่ยววันนั้นมีทั้งเด็ก ๆ หนุ่มสาว เฒ่า ฉกรรจ์ จำนวนมาก เพราะเป็นวันหยุด เห็นพวกเด็ก ๆ สนุกสนานตื่นเต้นเมื่อได้เห็นและเล่นกับสัตว์ (บางชนิด) เห็นหนุ่มสาวนั่งจู๋จี๋กันในมุมสงบ เห็นอะไร ๆ หลายอย่างในสวนนี้แล้วก็อิ่มอกอิ่มใจ
เดินชมกันจนเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นเวลาบ่ายโขแล้วจึงชวนกันกลับ โดยออกทางประตูทิศตะวันตกคือด้านพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งนี้มีความเป็นมาอย่างไรเปิดตำนานดูหน่อยนะครับ
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต ชื่อของพระที่นั่งนี้ นำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคมสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สร้างไม่ทันเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต จึงสร้างต่อแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด ๘ ปี พระที่นั่งนี้ อาคารทรงยุโรปล้วน เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย ซึ่งก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวชั้นหนึ่งจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนามว่า มาริโอ ตามานโญ มีแรงบันดาลใจมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร งานก่อสร้างทั้งหมดมาจากแรงงานทั้งคนไทยและจีน ส่วนงานภายในที่มีการตกแต่งด้วยศิลปะเฟรสโก เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่าง ๆ มาจากฝีมือช่างจากอิตาลีเป็นส่วนใหญ่ มีจุดเด่นที่โดมใหญ่ตรงกลางซึ่งทำจากทองแดงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เมตร และรวมไปถึงโดมย่อยอีก ๖ โดม แต่เนื่องจากสนิมทำให้เปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอมน้ำเงินในปัจจุบัน”
พวกเรายืนดูพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยความชื่นชมพอสมควรแล้วก็เดินจากไปทางพระบรมรูปทรงม้า ขณะที่เดินอยู่ในลานพระบรมรูปฯ นั้น มีหญิงสาว ๓ คนนุ่งกางที่นิยมกันสมัยนั้น คือรัดรูปที่เรียกว่า กางเกงจิ๊กกี๋ น่ะ พวกหล่อนเดินอ้อยอิ่งคุยกันกระหนุงกระหนิงอยู่ข้างหน้า คนเดินทางขวามือดูเจ้าเนื้อหน่อย ที่สำคัญคือแก้มกันใหญ่ เดินก้นกระเพื่อมเลย ข้าพเจ้ากำลังคิดเปรียบเทียบว่า เธอเดินเหมือนช้าง ยามนั้นพระเกตุเดินลิ่วจากกลุมเพื่อน รี่เข้าหาสามสาวนั้นแล้วยกมือตบก้นคนเจ้าเนื้อนั้นฉาดใหญ่ ข้าพเจ้าตกใจมาก เธอคนนั้นแทนที่จะตกใจร้องตามประสาหญิง แต่กลับหันมามองแล้วกล่าวว่า “หลวงพี่เล่นอะไร มันเจ็บนะ” พระสุจินต์หันมาบอกข้าพเจ้าว่า “ท่านเกตุเป็นอาบัติสังฆาทิเสสแล้วใช่มั้ย” ข้าพเจ้าไม่ตอบต่อความ ส่วนพระเกตุเดินคุยกัน “สาวอ้วน” และสาวกลุ่มนั้นไปจนเลยลานพระบรมรูปไป เลี้ยวเข้าถนนศรีอยุธยาเพื่อรอขึ้นรถเมล์สาย ๑๗ กลับวัด สามสาวนั้นก็แยกไปอีกทางหนึ่ง เมื่อกลับถึงวัดข้าพเจ้าถามพระเกตุว่า ผู้หญิงนั้นรู้จักกันมานานแล้วเหรอ เขาบอกว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย วันนั้นเห็นเธอเดินก้นกระเพื่อม ๆ น่าตีเล่น ก็เลยอดหมั่นไส้ไม่ได้ จึงตบก้นเธอไป หลวงพี่ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวสอบแล้วผมจะไปอยู่กรรมล้างโทษอาบัติสังฆาทิเสสครับ
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ จากนั้นไม่ถึง ๑๐ วัน สาวอ้วนกับเพื่อนอีกคนหนึ่งก็ลงเรือจากถนนตกไปหาพระตุที่วัดจันทร์นอก เป็นเพราะติดใจจรสมือพระเกตุที่ตบกันเธอ หรือเป็นเพราะบุพเพสันนิวาสก็ไม่รู้เหมือนกัน หญิงคนนั้นกับพระเกตุคบกันอย่างสนิทสนม ข้าพเจ้าจากวัดจันทร์นอกไปแล้วรู้ข่าวภายหลังว่า พระเกตุเรียนจบและสึกออกไปหางานทำ และแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากับหญิงคนนั้น และจนบัดนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องราวของเขาอีกเลย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เฟื่องฟ้า, malada, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, เฒ่าธุลี, ลายเมฆ, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๗ - ปลายหนาวปี ๒๕๐๖ นั้นมีพระภิกษุญาติของพระสอนองค์หนึ่งแห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านออกเดินธุดงค์ไปทางเหนือตั้งแต่เดือนสิบสองสิ้นกาลฝน แล้วกลับมาแวะพักอยู่กับพระสอนที่วัดจันทร์นอก พระองค์นี้ท่านบวชเมื่อพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้ว เรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นโท ขณะเรียนนักธรรมชั้นโทนั้นวิชาที่ท่านท่านสนใจเป็นพิเศษคือการประพฤติธุดงค์ และการออกเดินทางประพฤติธุดงค์ไปยังที่ต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อบวชได้ ๓ พรรษา ท่านจึงออกเดินธุดงค์ ปีแรกไปแค่พระพุทธบาทสระบุรี ปีที่ ๒ ไปไกลถึงพิษณุโลก จากพิษณุโลกจึงนั่งรถไฟล่องลงมากรุงเทพฯ
ข้าพเจ้าเป็นพระธุดงค์เก่า หลวงน้าไหวก็เป็นพระธุดงค์ เมื่อได้พบปะกับพระธุดงค์ที่เป็นญาติพระสอนจึงคุยกันถูกคอ พระองค์นี้ท่านชื่อสมาน มีชื่อเล่นว่า “ไฮ้” ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าหลวงพี่เพราะอายุมากกว่าข้าพเจ้า ๕-๖ ปี หลวงพี่ไฮ้เล่าประสบการณ์ที่ไปนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ให้ฟังอย่างน่าตื่นเต้น พิจิตร พิษณุโลกเป็นเมืองที่ข้าพเจ้าไม่เคยไป จึงฟังท่านเล่าถึงสภาพภูมิประเทศและประชากรอย่างเพลิดเพลิน ท่านเล่าว่าไปได้วิชามาจากเมืองเหนือวิชาหนึ่งคือ “วิชาเปิดโลก” วิชานี้ผู้เข้าร่วมพิธีจะสามารถเห็นเรื่องราว บุคคล ในอดีตได้อย่างชัดเจน หลวงน้าไหวถามว่า ทำพิธีเปิดโลดได้ผลแล้วไหม หลวงพี่ไฮ้บอกว่าทำได้ผลมาแล้ว พวกเราที่ฟังอยู่ก็ขอให้ท่านทำพิธีเปิดโลกที่วัดจันทร์นอกให้เราดูบ้าง
ตกลงจะทำพิธีเปิดโลกกันที่ศาลาการเปรียญของวัดจันทร์นอกคืนวันหนึ่ง มีพระในวัด คนรอบ ๆ วัด รวมทั้งตำรวจ เมียตำรวจ สถานีตำรวจบางคอแหลมที่ตั้งอยู่ในวัดด้วย ขอเข้าร่วมพิธี ประมาณ ๒๐ คนเห็นจะได้ ข้าพเจ้าอยากรู้อยากเห็นและอยากลอง จึงไปรอร่วมพิธีแต่หัวค่ำเลย
พอได้เวลาประมาณ ๒ ทุ่ม หลวงพี่ไฮ้เริ่มทำพิธี ท่านอธิบายก่อนว่า ทุกคนที่เข้าพิธีต้องเอาผ้าสีดำหรือสีทึบ ๆ ปิดตาคาดเคียนหัวไว้ให้แน่น แล้วภาวนาว่า “พุทโธ ๆๆๆๆ” ตามจังหวะเสียงที่อาจารย์เคาะจากช้าไปหาเร็วตามลำดับ ถ้าของขึ้นแล้วจะได้เห็นภาพต่าง ๆ เช่น นรก สวรรค์ ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วแม้นานปี..... หลังจากอธิบายแล้วท่านก็ให้ทุกคนเอาผ้าปิดตา นั่งพนมมือภาวนา “พุทโธ ๆๆๆ” หลวงพี่ไฮ้เริ่มเคาะพื้นกระดานดังป้อก ป้อก ป้อก ช้า ๆ แล้วค่อยเร่งจังหวะเร็วขึ้นเร็วขึ้น ข้าพเจ้าไม่ได้เอาผ้าปิดตาทำพิธีด้วย แต่นั่งดูเหตุการณ์ด้วยใจจดจ่อ
เมื่อหลวงพี่ไฮ้เร่งจังหวะการเคาะพื้นขึ้นถี่ ๆ สักครู่หนึ่งก็เห็นหลายคนที่นั่งภาวนานั้นตัวเริ่มสั่นโยกโงนเงน ล้มลงนอนแล้วลุกขึ้นทำท่าตะกุยตะกาย บางคนร้องโวยวาย บางคนร้องไห้ บางคนก็ยังนั่งเฉยไม่มีอาการใด ๆ หลังจากหลวงพี่ไฮ้หยุดเคาะจังหวะ เลิกพิธีแล้ว คนที่มีอาการดังกล่าวก็นิ่งสงบ หลวงพี่ท่านพูดคุยซักถามคนที่มีอาการดังกล่าวว่า พบเห็นอะไรบ้าง คนที่แสดงท่าตะกุยตะกายบอกว่า เห็นคนจะมาทำร้ายบ้าง เห็นสัตว์จะมาทำร้ายบ้างจึงวิ่งหนี บางคนว่าเห็นบ้านเรือนเหมือนวิมานสวยงามจึงตะกายขึ้นไป คนที่ร้องไห้บอกว่า เห็น พ่อ แม่ ที่ตายไปแล้ว ทนทุกขเวทนาอยู่บ้าง อยู่กันอย่างสุขสบายบ้าง บางคนว่าเป็นปู่ย่าตายาย พวกญาติก็พากันถามว่า ปู่ย่าตายายนั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร สวมใส่เสื้อผ้าอะไร เขาก็ตอบได้ถูกต้องหมด แสดงว่าได้เห็นจริง ๆ
ข่าวการทำพิธีเปิดโลกแพร่ไปทำให้มีคนมาร่วมพิธีมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้าพเจ้ารู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ดังนั้นการทำพิธีครั้งที่ ๔ ทำกันในโรงอุโบสถ จึงขอเข้าร่วมพิธีด้วย พระสอนเป็นคนเอาผ้าดำผูกปิดตาให้ การเคาะจังหวะให้ภาวนาในอุโบสถเสียงดังก้องกว่าในศาลาการเปรียญ เพราะความสงบเงียบในอุโบสถมีมากกว่า หลวงพี่ไฮ้เคาะจังหวะพุทโธ ๆๆๆๆๆ ข้าพเจ้าก็ส่งกระแสจิตจับจังหวะการภาวนาเช่นเดียวกับคนอื่น สักครู่หนึ่งก็รู้สึกว่าคนในพิธีนั้นหลายคน “ของขึ้น” กันแล้ว บ้างก็ตะกายผนังโบสถ์ บ้างก็คลาน ข้าพเจ้าคิดว่าทำไมของไม่ขึ้นเราสักที เราอยากเห็นพ่อและญาติ ๆ ที่ตายไปแล้ว อยากเห็นอะไร ๆ ที่เขาเห็นกัน ก็ได้แต่คิดอยากอยู่อย่างนั้น จนจบพิธีการเปิดโลก ข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย หลวงพี่ไฮ้กล่าวว่า
“ทั่นเต็มใจแข็งเกินไป”
ข้าเจ้าคิดทบทวนคำพูดของหลวงพี่ไฮ้ที่ว่า “ใจแข็งเกินไป” แล้วคิดย้อนไปถึงคำของพระเกจิอาจารย์หลายองค์ที่ท่านพูดสมัยที่เป็นสามเณรไปเรียนวิชาอาคมจากท่านแล้วท่านพูดว่า “เณรเป็นคนใจแข็ง เล่นของไม่ขึ้นหรอก” คิดย้อนไปถึงคราวที่เป็นสามเณรไปธุดงค์อยู่ป่าช้าจีนภูเก็ต ปลุกผีไม่ขึ้น น้ำมันเสน่ห์ของโต๊ะดำก็ทำอะไรข้าพเจ้าไม่ได้ มาเข้าพิธีเปิดโลกของหลวงพี่ไฮ้ก็เปิดโลกกะเขาไม่ได้ เป็นเพราะใจข้าพเจ้าแข็งเกินไปนี่เอง เรื่องไสยศาสตร์เหมาะสำหรับคนใจอ่อน เชื่อง่ายงมงาย ข้าพเจ้าไม่มีคุณสมบัติสำหรับไสยศาสตร์จริง ๆ
กาลใกล้สิ้นเหมันต์กรายเข้าคิมหันต์ปีนั้น หลวงพี่ไฮ้จะกลับขึ้นไปพิษณุโลกตามที่รับปากญาติโยมชาวอำเภอวังทองไว้ ท่านชักชวนข้าเจ้าขึ้นไปเที่ยวด้วยกัน จึงพร้อมกับพระสอน พระลิขิต เตรียมตัวเดินทางขึ้นเหนือกัน ก่อนออกเดินทาง ๓ วัน ข้าพเจ้าเอากล่องผมเปียของน้องเปียบุรีรัมย์ที่เก็บไว้แรมปีนั้นออกมาเปิดดูอีกครั้ง แล้วนำไปคืนให้เธอที่ยามนั้นได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นพนักงานโรงงานยาสูบ มีบ้านพักอยู่ตรอกวัดจันทร์ใน (ตามจดหมายที่เธอบอกไว้) เสียดายเราไม่ได้พบกัน เพราะวันนั้นเธอไปทำงานตามปกติ จึงเอากล่องผมเปียฝากญาติเธอไว้ บอกเล่าเรื่องราวให้ญาติเธอทราบไว้ด้วย จากนั้นจึงพากันนั่งรถไฟเดินทางขึ้นไปจังหวัดพิษณุโลก
คิดไม่ถึงว่า ทางชีวิตจะเปลี่ยนไปตั้งแต่วันนั้น /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, เฒ่าธุลี, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, malada, ลายเมฆ, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
รอยพระพุทธบาทตะแคงที่วัดพระพุทธบาทเขาสมอแคลง ขอบคุณรูปภาพจาก Internet เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๘ - วัดเขาสมอแครง
หลวงพี่ไฮ้พานั่งรถไฟขบวนรถธรรมดาออกจากกรุงเทพฯมุ่งสู่เมืองพิษณุโลก รถไฟขบวนธรรมดาจอดทุกสถานีตั้งแต่สถานีสามเสนเป็นต้นไป ข้าพเจ้าเพลินกับการชมทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟจากสถานีรังสิตเรื่อยไปถึงอยุธยา เลยไปบ้านม้า ภาชี แยกทางซ้ายขึ้นไปลพบุรีจันทร์เสน ตาคลี นครสวรรค์ ปากน้ำโพ ชุมแสง ตะพานหิน พิจิตร จนถึงพิษณุโลกยามบ่ายโขแล้ว ลงจากรถไฟ ขึ้นรถสองแถวสายพิษณุโลก-วังทอง ไปตามถนน “มิตรภาพ ๒” ถนนสายนี้เชื่อมต่อพิษณุโลก-หล่มสัก เขาชื่นชมกันว่าเป็นถนนสวยงามที่สุดในเวลานั้น ว่ากันว่า อเมริกาสนับสนุนให้สร้างถนนอย่างดีนี้สายแรกคือสาย โคราช-อุดร ให้ชื่อว่า “ถนนมิตรภาพ” เสร็จจากนั้นไม่นานก็มาสร้างสาย ๒ นี้ บริษัทที่ทำการก่อสร้างถนนนี้คือ อิตาเลียนไทย หรืออะไรนี่แหละ ผิวถนนไม่ได้ราดยางมะตอยอย่างถนนไทยทั่วไป สิ่งที่ราดดูเหมือนจะเรียกว่า “แอสฟัลติกคอนกรีต” อะไรนี่แหละ ตอนที่ข้าพเจ้าไปนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่เปิดใช้ได้ไม่เกินปี รถแล่นไปอย่างราบเรียบไม่กระเทือนเลย ถึงเชิงเขาสมอแครง (เดิมเขียนอย่างนี้ ไม่ใช่สมอแคลง อย่างที่เขียนกันในปัจจุบัน) ลงจากรถเดินเลียบภูเขาเข้าไปวัดเขาสมอแครงระยะทางไม่ไกลนัก วัดนี้ตั้งอยู่เชิงเขาด้านทิศตะวันออก เป็นวัดสร้างใหม่ไม่นานปี
สภาพวัดเวลานั้น มีกุฏิใหญ่เป็นประธาน ๑ หลัง กุฏิบริวาร ๓ หลัง ตั้งล้อมศาลาใหญ่ที่ใช้เป็นศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอฉัน จะเรียกว่าศาลาอเนกประสงค์ก็ได้ กุฏิใหญ่อยู่ด้านใต้ กุฏิบริวารอยู่ด้านตะวันออก ๒ หลัง ด้านเหนือ ๑ หลัง ด้านตะวันตกเปิดโล่งใช้เป็นทางขึ้นลง ทางทิศเหนือหมู่กุฏิศาลามีอุโบสถ ซึ่งสร้างเสร็จไม่เรียบร้อยแต่ทำพิธีผูกพัทธสีมาเรียบร้อยใช้ทำสังฆกรรมได้แล้ว ทางด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขาลูกเดียว (เขาทอก) มีโบราณสถานบนภูเขาตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไป คือ รอยพระพุทธบาทตะแคงหนึ่งเดียวในโลก ขึ้นไปถึงยอดเขามีวัดเก่า เจดีย์เก่า โรงเจ... .มีข้อมูลเกี่ยวกับวัดเขสมอแครงนี้ว่า
# “ประกาศตั้งวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗๘ เดิมมีชื่อว่า “วัดพระพุทธบาท” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระพุทธบาทเขาสมอแครง” พื้นที่ตั้งวัดอยู่บริเวณเชิงเขา ตามตำนานพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสร็จไปบิณฑบาตที่บ้านพราหมณ์ และเสด็จไปฉันจังหันใต้ต้นสมอ ณ บริเวณเขาสมอแครง พระอุบาลีเถระ พระศิริมานนท์เถระ ได้นิพานที่เขาสมอแครง ท่านพระยาวิจิตรไวย ผู้สร้างเจดีย์บนยอดเขาสมอแครง ได้บรรจุพระธาตุ พระอรหันต์ ทั้ง ๒ พระองค์ไว้ในเจดีย์บนยอดเขาสมอแครงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๖ สิหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร
“เขาสมอแครง” ซึ่งเดิมเรียกว่า “พนมสมอ” ตั้งอยู่ริมถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๔ ก่อนถึงตัวอำเภอวังทอง ประมาณ ๓ – ๔ กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ ๑๗ กิโลเมตร เป็นภูเขาขนาดย่อม วัดความสูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐๐ เมตร ลักษณะทางภูมิประเทศ เป็นภูเขาเล็ก ๆ ในแนว เหนือ-ใต้ มีความสำคัญในด้านโบราณคดี โดยพบโบราณสถาน เจดีย์บนยอดเขา และโบราณวัตถุมากมาย มีซากวัดอยู่ในบริเวณเขาสมอแคลงมากถึง ๘ แห่ง”
วันที่ข้าพเจ้าไปถึงนั้นในวัดนี้ไม่มีพระอยู่เลย มีแต่คนเฝ้าวัดอยู่สองสามคนเท่านั้น พวกเขารีบไปส่งข่าวให้ชาวบ้านรู้ว่า “พระอาจารย์ธุดงค์กลับมาแล้ว” ข้าพเจ้าจึงรู้ว่าหลวงพี่ไฮ้เดินธุดงค์มาปักกลดที่เชิงเขาสมอแครงแล้วให้เลขหวย ชาวบ้านถูกหวย (ใต้ดิน) กันหลายคน จึงนิมนต์ให้มาอยู่วัดเขาสมอแครงซึ่งตอนนั้นหาพระอยู่ประจำไม่ได้ หลวงพี่รับปากชาวบ้านว่าจะมาอยู่วัดนี้ กลับไปแล้วได้รู้จักกับข้าพเจ้าที่วัดจันทร์นอก ไม่เคยบอกเล่าเลยว่าเคยมาเป็นอาจารย์ให้หวยและรับปากชาวบ้านว่าจะมาอยู่วัดเขาสมอแครง พอกลับมาพร้อมกับข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันมาหาในค่ำวันนั้นเลย
รุ่งเช้าพวกเราไม่ได้ออกเดินบิณฑบาตตามกิจของภิกษุ เพราะชาวบ้านพากันนำสำรับกับข้าวมาถวายกันมากมาย ก็ด้วยบารมีชองหลวงพี่ไฮ้นั่นแหละ
ย่ำสนธยาวันนั้นมีรถสองแถวที่วิ่งสายวังทอง-พิษณุโลก เข้าไปรับหลวงพี่ไฮ้กับพวกข้าพเจ้าไปบ้านของเขาที่ใกล้ตลาดวังทอง คนบ้านนี้ทั้งบ้านเคยถูกหวยใต้ดินจากเลขของหลวงพี่ไฮ้ทุกคนจึงเคารพนับถือท่านมาก โยมพุ่มเจ้าของบ้านนี้เป็นหญิงม่ายอายุประมาณ ๖๐ ปี มีลูกคนโตเป็นชายชื่อพ่วง อาชีพขับรถสองแถวรับส่งผู้โดยสารสายวังทอง-พิษณุโลก ลูกสาวคนหนึ่งยังเป็นสาวโสด มีบ้านที่ปลูกอยู่ในกลุ่มบ้านโยมพุ่มสามสี่หลัง แต่ละบ้านมีลูกสาวหลานสาวหลายคน นายพ่วงพาคณะพวกเราเข้าบ้านครู่เดียวก็มีคนมาชุมนุมกันที่บ้านโยมพุ่มจำนวนมา ก็พวกหวังได้เลขเด็ดจากหลวงพี่ไฮ้นั่นแหละ
บ้านโยมพุ่มกลายเป็นเหมือนสำนักของพวกข้าพเจ้า ตอนเย็นแทบทุกวันพวกข้าพเจ้าจะไปพบปะสนทนาปราศรัยกับชาววังทองที่บ้านนี้ บางคืนก็คุยกันอยู่จนดึกโยมพุ่มจัดที่นอนให้จำวัดที่บ้าน ไม่ต้องกลับไปวัด คนที่นี่ล้วนมีอัธยาศัยไมตรีดียิ่ง จึงมีคนรู้จักมักคุ้นกับพวกข้าพเจ้าหลายคน ในกลุ่มคนเหล่านั้นมีครูสาวสามสี่คนที่คุ้นเคยกับข้าพเจ้าในเวลาไม่นานนัก ไม่รู้เอาเรื่องอะไรมาคุยกันไม่รู้เบื่อ จนพระสอนกับพระลิขิต พูดว่า “ท่านเต็มคงต้องเอาบาตรมาทิ้งที่วังทองเสียแล้วแหละ ดูท่าครูน้อยชอบท่านจริง ๆ” ข้าพเจ้าตอบว่า “เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด ใครจะชอบผมอย่างไร ผมก็ไม่ยอมทิ้งบาตรหรอก ครูน้อย ครูน้ำ ครูกุล สามสาวคู่หูกันนี่ก็ดูเป็นคนดีน่ารักทุกคน แต่ผมยังไม่คิดรักเธออย่างที่ชายหนุ่มหญิงสาวรักกัน รักกันอย่างพี่อย่างน้องดีกว่านะ”
นอกจากบ้านโยมพุ่มแล้วยังมีอีกบ้านหนึ่งอยู่ในตลาดวังทอง คือบ้านโยมสายบัว เป็นร้านค้าที่ดูไม่ใหญ่โตนัก แต่เจ้าของคือโยมสายบัวเป็นเศรษฐินีอันดับหนึ่งของวังทอง นัยว่ามีที่ดินเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ จนจำไม่ได้ว่ามีที่ดินอยู่ตรงไหนบ้าง โยมสายบัวบอกข้าพเจ้าว่า ไม่คิดจะสะสมที่ดินเลย แต่ลูกค้าของโยมนั่นแหละกู้ยืมเงินไปลงทุนในการเกษตรแล้วไม่มีเงินมาใช้หนี้ ก็เอาที่โฉนดดินมายัดเยียดขายฝากบ้าง ขายขาดบ้าง โยมก็จำใจต้องรับไว้ ด้วยคิดว่าดีกว่าไม่ได้อะไรเลย โยมสายบัวเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพี่ไฮ้มากอีกคนหนึ่ง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, มนชิดา พานิช, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, เฒ่าธุลี, malada, ข้าวหอม, ลายเมฆ, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เจดีย์ยอดด้วน (เขาสมอแคลง) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒๙ - เขาสมอแครงเป็นคำที่ใช้กันมาแต่เดิม ภายหลังมีการวิพากย์วิเคราะห์ชื่อนี้แล้วตกลงเรียกกันว่า สมอแคลง แต่ข้าพเจ้าไม่แล้วใจ จึงหาที่มาของศัพท์สองคำนี้ ได้จากหนังสือภาษาไทยของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ซึ่งข้าพเจ้าถือเป็นอาจารย์ภาษาไทยและกลอนท่านหนึ่ง เคยไปพบตัวจริงท่านที่สำนักงานหนังสือพิมพ์วิทยาสาร และนับถือเป็นอาจารย์เรื่อยมา ดูคำศัพท์แครง-แคลง ของท่านแล้วได้ความว่าดังนี้ “แครง น. ชื่อหอยทะเลชนิดหนึ่ง, ภาชนะสานสำหรับตักน้ำ มีด้ามยาว, ชื่อขิงชนิดหนึ่ง. ว. อึกทึก, กึกก้อง, พราวงาม. แคลง ก. ระแวง, สงสัย เอียง, ไม่ตรง.”
ดูตามคำศัพท์แล้ว “แครง” หากใช้เป็นคำวิเศษก็แปลได้ว่า “อึกทึก,กึกก้อง,พราวงาม.
ส่วน “แคลง” เป็นคำกริยาแปลว่า “ระแวง สงสัย, เอียง ไม่ตรง” คำกริยาที่แปลว่า เอียง คือไม่ตรงนี้เองที่นักวิชาการท่านถือเอาเป็นรูปลักษณ์ของรอยพระพุทธบาทตะแคง ที่อยู่หน้าผาของภูเขาลูกนี้เป็นชื่อของภูเขาว่า เขาสมอแคลง แต่ข้าพเจ้ายังติดใจที่จะเรียกว่า เขาสมอแครง ที่แปลว่า อึกทึก,กึกก้อง. ต่อไปตามที่คนโบราณท่านเรียกกันสืบมา
อยู่ที่วัดเขาสมอแครงกลางวันก็เงียบเหงา มีญาติโยมไปมาหาสู่หลวงพี่ไฮ้หลายราย แต่ข้าพเจ้าไม่สนใจจะพูดคุยกับพวกเขานัก กลางวันจึงมักจะเดินขึ้นตามบันไดไปไหว้รอยพระพุทธบาทตะแคง แล้วเลยขึ้นไปบนโรงเจ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในสภาพโทรม ๆ มีคนแก่เฝ้าดูแลอยู่สองสามคน ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก บนยอดเขาตอนนั้นเป็นป่าไม้กับวัดร้าง นอกจากโรงเจแล้วไม่มีสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ อะไรเลย จะว่าเป็นป่าดิบก็ว่าได้
กลางวันเปิดวิทยุฟัง คลื่นเสียงของวิทยุในจังหวัดพิษณุโลกเวลานั้นก็มีวิทยุพล ๔ (ว.พล ๔) เป็นหลัก มีผู้จัดรายการต่าง ๆ หลายรายการ รายการธรรมะมีรายการหนึ่งคือเทศน์ทุกวันพระ แสดงโดยพระศรีรัตนมุนี หรือเจ้าคุณแช่ม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ท่านเทศน์แบบบรรยายองค์เดียว เวลานั้นมีสถานีวิทยุของกองบินยุทธการคลื่นหนึ่งเปิดใหม่ ไม่มีรายการอะไร เขาเปิดเพลงให้ฟังทั้งวัน เสียงดังฟังชัดมาก ข้าพเจ้าเปิดฟังมาหลายวันแล้วเกิดความคิดว่า น่าจะไปขอจัดทำรายการเทศน์แบบ ถาม-ตอบ (ปุจฉา-วิสัชนา) ตามแบบอย่างที่สภาธรรมกถึกวัดพระเชตุพนฯจัดเทศน์กันทางสถานีวิทยุ วปถ. ปรึกษาพระเพื่อน ๆ คือ พระลิขิต พระสอน ชวนเขาให้ร่วมเทศน์กันในรายการที่จะจัดนี้ แต่เพื่อนบอกว่าไม่ถนัด พอดีในเวลานั้นมีพระองค์หนึ่งจากโคกสำโรง ลพบุรี อายุรุ่นราวคราวเดียวกับชข้าพเจ้า เดินทางขึ้นไปเที่ยวที่วัดเขาสมอแครง ได้รู้จักกันไม่นาน ข้าพเจ้าเห็นว่าการพูดจาของเขาเป็นหลักเป็นฐาน มีเหตุผลดี จึงชวนให้ร่วมจัดรายการเทศน์ทางวิทยุดังกล่าว เขายินดีร่วมด้วย จึงพากันเดินทางไปที่สถานีวิทยุนั้น
ที่ตั้งสถานีวิทยุ ๐๑๐ กองบินยุทธการหายากสักหน่อย ข้าพเจ้า พระเกรียงศักดิ์ กตฺติวณฺโณ เข้าไปที่สนามบินพิษณุโลก ถามหาสถานีวิทยุนี้ได้ความว่าตั้งอยู่ท้ายสนามบินโน้น ต้องเดินเลียบเลาะขอบสนามบินไปไกลมากทีเดียว พอไปถึงก็พบว่าห้องส่งวิทยุอยู่มุมหนึ่งของโรงอาหารของทหารสื่อสารทหารอากาศกองบินยุทธการ เป็นห้องเล็กแคบ มีเจ้าหน้าที่ทำการอยู่สองสามคน จ่าอากาศเอกเชิด สุวรรณวงศ์ เป็นหัวหน้าสถานี ข้าพเจ้าแจ้งความประสงค์ว่าจะขอเวลาจัดรายการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ทุกวันอาทิตย์ในช่วงเวลา ๑๐-๑๑ น. หน.สถานียินดีมาก จึงทำผังรายการออกอากาศของสถานี มีรายการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา แสดงโดย อภินันทะ ภิกขุ กับ กิตติวัณณะ ภิกขุ ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๐-๑๑ น. เป็นผังรายการแรกของสถานี นอกเวลานั้นเป็นรายการเพลงล้วน ๆ ข้าพเจ้านัดแนะฝึกซ้อมทหารเจ้าหน้าที่ของสถานีให้รู้วิธีการอาราธนาศีล อาราธนาธรรม เป็นอย่างดี
รูปแบบการเทศน์ที่วางไว้ตายตัวคือ เริ่มด้วยมรรคนายกกล่าคำอาราธนาศีล ๕ พระผู้เทศน์ให้ศีล เจ้าหน้าที่ในห้องส่งกล่าวคำรับศีล จบแล้วมรรคนายกกล่าวคำอาราธนาธรรม พระเทศน์องค์ที่เป็นหลักตั้งนะโม และกล่าวธรรมิกถา ซึ่งพระนักเทศน์เราเรียกกันว่า “อานิสงส์หน้าธรรมาสน์” เป็นการปรารภเรื่องของการแสดงธรรมในวันนั้น
วันแรกที่เปิดรายการเทศน์ จ่าเชิดกล่าวคำอาราธนาศีลด้วยเสียงสั่น ๆ เพราะไม่เคยมาก่อน รับศีลแล้วอาราธนาธรรมด้วยเสียงตะกุกตะกัก เพราะคำอาราธนาเป็นภาษาบาลีนั้นยากหน่อย ข้าพเจ้าทำหน้าที่ในการเทศน์เป็นผู้ถาม (ปุจฉา) จึงเทศนาอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ กล่าวอภิปรายในพุทธภาษิตที่ว่า “การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา” ปรารภถึงที่มาของการจัดแสดงพระธรรมเทศนาออกอากาศทางวิทยุ ๐๑๐ กองบินยุทธการพิษณุโลก เพื่อเป็นการให้ธรรมเป็นทานแก่ชนทั่วไป ผู้ฟังไม่ต้องนั่งพับเพียบพนมมือฟัง จะยืนฟังก็ได้ เดินฟังก็ได้ นั่งฟังก็ได้ นอนฟังก็ได้ ไม่ต้องตั้งขันกัณฑ์เทศน์ ไม่ต้องถวายจตุปัจจัยแก่พระเทศน์ ขอเพียงให้ตั้งใจฟังอย่างเดียวเท่านั้นก็พอ การตั้งใจฟังชื่อว่าเป็นการฟังด้วยดี อานิสงส์ของการฟังด้วยดี คือการได้ปัญญาความรู้ ไม่โง่เขลาเบาปัญญา.... เมื่อกล่าวอารัมภบทจบแล้ว ก็กล่าวสมมุติตัวอาจารย์ผู้ปุจฉา-วิสัชนา โดยให้พระกิตติวัณโณ เป็นผู้วิสัชนา อาตมภาพพระอภินันทะ เป็นผู้ปุจฉา.....
เทศน์วันแรกข้าพเจ้าเลือกเอาเรื่องพระจักขุบาลในพระธรรมบทบั้นต้นมาให้พระกิตติวัณโณเล่าเรื่อง โดยข้าพเจ้าเป็นผู้ซักถาม วันนั้นเป็นการเทศน์ครั้งแรกของพระเกรียงศักดิ์ จึงเสียงสั่นพูดติดขัดตะกุกตะกัก ข้าพเจ้าต้องช่วยประคับประคองไปจนจบ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๐ - จบจากการเทศน์ข้าพเจ้ารีบออกจากห้องส่งกระจายเสียงด้วยเนื้อตัวชุ่มโชกด้วยเหงื่อ พระเกรียงศักดิ์ดูเหมือนจะมีเหงื่อออกมากกว่าข้าพเจ้า จ่าเชิดกับคณะนิมนต์ให้นั่งที่โต๊ะอาหารในโรงเลี้ยงของพวกเขา บนโต๊ะมีข้าวปลาอาหารชุดหนึ่งเพื่อถวายเป็นอาหารเพล ผู้อยู่ในโรงอาหารหลายคนมายกมือไหว้แล้วกล่าวชมว่าท่านอาจารย์เทศน์น่าฟัง อย่างนี้ฟังได้รู้เรื่องดีกว่าเทศน์องค์เดียวโดยการอ่านตามคัมภีร์ อย่างนั้นฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะใช้ศัพท์แสงมากเกินไป ข้าพเจ้าก็ได้แต่พยักหน้ารับคำกล่าวของพวกเขาเท่านั้น
ในขณะฉันอาหารเพล ข้าพเจ้าก็ถามจ่าเชิดผู้ทำหน้าที่หัวหน้าหรือนายสถานีวิทยุว่า ทำไมไม่ติดแอร์ห้องส่งกระจายเสียง อย่างนี้ร้อนมาก ถ้าอยู่ในห้องนั้นนานกว่าคงตับแตกตายแน่ ๆ เขาก็บอกว่ายังไม่มีเงินซื้อแอร์มาติดครับ แล้วเขาก็บอกเล่าความเป็นมาของการตั้งสถานีวิทยุว่า
“ทางกองบินไม่มีเงินงบประมาณจัดตั้งสถานี แต่พวกผมซึ่งเป็นทหารช่างสื่อสารเกิดคันไม้คันมืออยากสร้างเครื่องส่งกระจายเสียงบ้าง จึงประกอบเครื่องส่งขึ้นด้วยทุนส่วนตัวของกลุ่มผม เมื่อสร้างเครื่องส่งกระจายเสียงได้แล้ว ก็ขออนุญาตเจ้านายใช้ส่วนหนึ่งของโรงเลี้ยงอาหารนี้เป็นห้องส่งกระจายเสียง เริ่มเปิดทำการทดลองส่งกระจายเสียงมาได้ ๓ เดือนแล้ว ยังไม่มีรายการอะไร จึงเปิดเพลงทั้งวันทั้งคืนดังที่ท่านอาจารย์ได้ฟังอยู่นั่นแหละ เจ้านายเห็นชอบให้ชื่อสถานีวิทยุกระจายเสียง ๐๑๐ กองบินยุทธการไปพลางก่อน ต่อไปจะมีข่าวสารต่าง ๆ และมีผู้ประกาศข่าวเหมือนสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วไป ทุกวันนี้เรายังไม่ได้ใช้ห้องส่งกระจายเสียงอย่างเป็นงานเป็นการ เจ้าหน้าที่เข้าไปเปิดเพลงแล้วก็ออกมา ไม่ได้นั่งประจำอยู่ในห้องนั้น และไม่ต้องปิดห้องป้องกันเสียงใด ๆ รบกวน เพราะไม่ได้เปิดไมค์ใช้เสียง วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดใช้ห้องส่งกระจายเสียงเต็มรูปแบบให้ท่านอาจารย์เทศน์กัน ต่อไปจะต้องรายงานเจ้านายขอติดแอร์ละครับ” ข้าพเจ้าฟังจ่ากล่าวถึงความเป็นมาดังนั้นก็ต้องร้อง “อ้อ เป็นอย่างนี้นี่เอง”
ใกล้ค่ำวันนั้นพวกเราไปบ้านโยมพุ่ม ถนนโค้งวังทองเช่นเคย ปรากฏว่ามีคนคุ้นเคยพวกเดิมมาชุมนุมกันพร้อมหน้าพร้อมตา หลายคนกล่าวชื่นชมว่าอาจารย์เทศน์เก่งจัง ฟังสนุกตั้งแต่ต้นจนจบเลย มีหลายคนบอกว่าเสียดายที่ไม่ได้ฟัง เพราะไม่รู้ว่าจะมีเทศน์ทางวิทยุนั้น ครูน้อยหนึ่งในคนงามของคณะกล่าวกระเซ้าข้าพเจ้าว่า
“หลวงพี่เทศน์เก่งอย่างนี้น่ากลัวนะ” ครูน้ำค้างพูดต่อว่า “น่ากลัวหลวงพี่จะต้องเอาบาตรมาทิ้งที่วังทองนี่แหละ”
ทุกคนได้ฟังก็พากันหัวเราะครื้นเครง ข้าพเจ้านิ่งเสีย ไม่ยอมโต้ตอบใด ๆ
การจัดเทศน์ทางวิทยุเป็นก้าวแรกของงานทางศาสนาซึ่งข้าพเจ้าทำที่วังทอง คืนนั้นกลับจากบ้านโยมพุ่มแล้วพวกเรานั่งปรึกษากันว่า ควรจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่วัดเขาสมอแครงบ้าง ชิ้นแรกคือ ให้หลวงพี่ไฮ้รับเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาสมอแครงเพื่อเป็นหลักของพวกเรา ชิ้นสองตั้งสภาธรรมวิจารณ์ขึ้นที่วัดเขาสมอแครง รับพระภิกษุที่สนใจในการเผยแผ่ธรรมะมารวมกันหัดเทศน์เพื่ออบรมสั่งสอนประชาชนไปในแนวทางเดียวกัน โดยใช้สถานีวิทยุ ๐๑๐ เป็นสื่อ และต่อไปจะขอเวลาเผยแผ่ธรรมะทางสถานีวิทยุ ว.พล ๔ เพิ่มขึ้นอีก วันรุ่งขึ้นหลวงพ่อพันธ์ (พระครูประพันธศีลคุณ) วัดบางสะพาน เจ้าคณะอำเภอวังทองเดินทางมาฉันอาหารเพลที่วัดเขาสมอแครง หลวงพี่ไฮ้เคยรู้จักหลวงพ่อพันธ์แล้ว แต่พวกเราเป็นพระใหม่ยังไม่เคยพบปะตัวท่าน เคยได้ยินแต่ชื่อเท่านั้น จึงพากันกราบแนะนำตัวต่อท่าน หลวงพ่อพันธ์เป็นพระสมถะ ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง ทำตัวเหมือนหลวงตาแก่ ๆ องค์หนึ่งเท่านั้น เป็นคนน่ารักน่าเคารพสำหรับพวกเรามาก พระองค์นี้แหละคือผู้บุกเบิกสร้างวัดขึ้นที่เชิงเขาสมอแครงด้านตะวันออก และทำทางขึ้นไปไหว้รอยพระพุทธบาท จัดงานนมัสการวันกลางเดือน ๓ ของทุกปี ท่านพยายามสร้างโรงอุโบสถจนสำเร็จ และขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าไปวัดนี้ไม่นานนัก
หลวงพ่อพันธ์รับทราบแผนการของพวกเราและยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ และท่านปรารภเรื่องพระพุทธรูปประธานในอุโบสถยังไม่มี ควรจะทำอย่างไรกันดี ข้าพเจ้าคิดถึงพระพุทธชินราชขึ้นมาทันที ตอนที่อยู่อยุธยานั้น เจ้าอาวาสวัดสามกอ อำเภอเสนา ได้ขออนุญาตจำลองพระพุทธชินราชวัดใหญ่พิษณุโลกเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสามกอ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเราควรขออนุญาตจำลองพระพุทธชินราชประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดเขาสมอแครงบ้าง ทุกเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ จากนั้นหลวงพ่อพันธ์ปรารภอีกเรื่องหนึ่ง คือวัดวังทองตั้งอยู่ในตลาดวังทองปัจจุบันไม่มีเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสองค์เดิมต้องคดีถูกถอดถอน ตั้งองค์ใหม่แทนก็ต้องคดีถูกถอดถอนอีก ทั้งสององค์ยังคาวัดอยู่ อยากตั้งให้พระอภินันท์เป็นพระปลัดเข้าไปอยู่จัดการเรื่องให้เรียบร้อยจะได้ไหม ข้าพเจ้าไม่กล้ารับปาก กราบเรียนท่านว่า ขอดำเนินการสร้างพระพุทธชินราชจำลองก่อนดีกว่าครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : ต้นฝ้าย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), malada, เป็น อยู่ คือ, ลายเมฆ, คิดถึงเสมอ, ชลนา ทิชากร, ถ้าเขารักอยู่เฉยๆเขาก็รัก, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, หยาดฟ้า, Black Sword
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|