บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: Black Sword ที่ 26, มีนาคม, 2562, 03:03:01 PM



หัวข้อ: ซ้ำซากด้วยความไพเราะ : โดยคุณวินทร์ เลียววาริณ
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 26, มีนาคม, 2562, 03:03:01 PM
(https://i.ibb.co/FJjtPDz/12191910-1487474424891488-8740176517379433499-n.jpg) (https://imgbb.com/)

   
ซ้ำซากด้วยความไพเราะ
-----------------------------------------------

ร้านกาแฟประจำของผมเปิดดนตรีแจ๊สแผ่นเดิมมาปีกว่าแล้ว

ฟังแรก ๆ ก็ไพเราะดี แต่สำหรับลูกค้าขาประจำ เมื่อฟังวนเวียนทุกวันก็ทำให้เกิดอาการต่อต้านโดยปริยาย ถามเด็กในร้านได้ความว่าแผ่นเพลงถูกส่งมาจากสำนักงานใหญ่ ฝ่ายการตลาดคัดสรรเพลงมาอย่างดี แล้วส่งไปให้ทุกสาขาเปิด

ฝ่ายการตลาดไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะมันเป็นชุดเพลงที่ไพเราะ แต่พวกเขาลืมหลักจิตวิทยาข้อหนึ่งว่า สิ่งที่ดีถ้าซ้ำซากก็อาจกลายเป็นสิ่งไม่ดี

การฟังดนตรีไพเราะซ้ำ ๆ กันทุกวัน อาจทำให้เกิดอาการอยากอ้วกแตกได้ ลูกค้าขาประจำอาจตีจากร้านด้วยเพลงที่แสนไพเราะนี่แหละ!

ผู้บริหารยังต้องคำนึงด้วยว่า หากพนักงานลาออก เกี่ยวข้องกับการฟังดนตรีเดิม ๆ ตลอดทั้งวันหรือไม่

มันบอกว่า สิ่งดีที่สุดก็อาจกลายเป็นไม่ดีได้ในบางสถานการณ์

ผมหนีจากร้านนี้ไปพักหนึ่ง แต่ยังติดคาเฟอีนและมุมเขียนหนังสือ จึงซมซานกลับไปดื่มและฟังดนตรีซ้ำซากต่อไป คราวนี้ทำสมาธิ ดนตรีก็คือดนตรี เราก็คือเรา ไม่เกี่ยวกัน

ได้ยินดนตรี แต่ไม่ได้ยินดนตรี

เชื่อว่าอีกไม่นานคงบรรลุซาโตริในร้านกาแฟ
:
:
:

ผมเรียนรู้เรื่อง ‘ซ้ำซากด้วยความไพเราะ’ ครั้งแรกเมื่อไปต่างประเทศ ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนหลายคน บางคนเปิดเพลงที่ชอบเสียดังทุกวันจนคนอื่นหงุดหงิด

ต่อมาไปใช้ชีวิตทำงานในโลกตะวันตก พบว่าไม่มีเพื่อนร่วมสำนักงานคนใดเปิดเพลงเผื่อให้คนอื่นฟัง ใครอยากฟังเพลงก็ใช้หูฟัง จึงเรียนรู้ปรัชญาเรื่อง ‘หูใครหูมัน’

ครั้นกลับมาเมืองไทย ก็พบว่าเพื่อนร่วมงานชอบเปิดเพลงที่เขาชอบซ้ำไปซ้ำมา โดยที่ผมมองตาปริบๆ ไม่ใช่เพราะไม่ชอบเพลง แต่ไม่ชอบความจำเจ ทว่าแปลกใจที่ไม่มีใครสักคนบ่น

คนไม่น้อยชอบทึกทักเอาว่าคนอื่นจะรับทุกสิ่งที่ตนทำได้ คนไม่น้อยคิดว่าควรเสพของดีทุกวัน

นานปีมาแล้ว สมัยที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ผมต้องใช้ชีวิตในโรงแรมห้าดาวหนึ่งสัปดาห์ กินอาหารระดับห้าดาวแทบทุกมื้อฟรี แต่กินอาหารชั้นเลิศได้ไม่กี่วัน ก็หนีไปกินข้าวแกงและอาหารขยะริมถนน เพราะทนความจำเจของความดีเลิศไม่ได้

ในโลกศิลปะโดยเฉพาะวงการวรรณกรรม เมื่องานเขียนเริ่มวนอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไปไหน เราเรียกว่า ‘น้ำเน่า’

น้ำเน่าหมายถึงสิ่งที่วนเวียนอยู่กับที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เปรียบเสมือนบ่อหรือบึงที่น้ำไม่ไหลไปไหน ไม่นานก็เน่าส่งกลิ่นเหม็น

สมัยหนึ่งบ้านเราอุดมด้วยนิยายประเภทแย่งชิงมรดก นางเอกตกระกำลำบาก และได้มรดกกับพระเอกในตอนจบ จนบางคนเรียกเรื่องแนวนี้ว่าน้ำเน่า

ความจริงน้ำเน่ามิได้หมายถึงนิยายไร้สาระเสมอไป มันอาจเป็นนิยายดีๆ ก็ได้ ทว่าเมื่อไรที่เขียนเรื่องดี ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่กับที่ มันก็นิ่ง ไร้ความเคลื่อนไหว น้ำดีก็ไม่ต่างจากน้ำเน่า

น้ำเน่าทั้งหลายในโลกมิได้เริ่มต้นจากน้ำเน่า มันเริ่มจากน้ำสะอาดนี่แหละ แต่มันเน่าเพราะไม่ขยับไหว

ความไพเราะของบทเพลง ความงามของศิลปะ สาระของงานเขียนจึงไม่ใช่อยู่แค่ที่โครงสร้างของมัน แต่อยู่ที่ตำแหน่ง ช่วงเวลา ความถี่ของการเสพด้วย

นี่ก็คือศิลปะเหนือศิลปะ

คนยุคก่อนดูหนังกลางแปลงอย่างมีความสุข ทั้งที่ระบบเสียงไม่ดี คนพลุกพล่าน ยุงกัด แต่บรรยากาศที่แตกต่างทำให้การเสพหนังนั้นน่าประทับใจได้

เพลงที่บรรเลงในสวน คอนเสิร์ตที่เล่นกลางแจ้ง ก็สามารถมีชีวิตชีวากว่าได้ เพราะมันไม่จำเจ

ชีวิตก็เช่นกัน หากอยู่กับที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เคลื่อนไหว ชีวิตที่ดูดีก็อาจกลายเป็นชีวิตที่ไม่น่าปรารถนาอย่างไม่น่าเชื่อ

ชีวิตก็เหมือนบทเพลงไพเราะ เนื้อหาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องดูกาลเทศะและจังหวะด้วย

สิ่งที่ดีถ้าซ้ำซากก็อาจกลายเป็นสิ่งไม่ดี

เพลงที่ซ้ำซากด้วยความไพเราะก็อาจเป็นเพลงที่ไม่มีใครอยากฟัง

เพราะชีวิตที่ดีไม่จำเป็นต้องไพเราะทุกท่อนทุกตัวโน้ต มันประกอบด้วยท่อนที่ไพเราะ ท่อนที่ไม่ค่อยไพเราะ ท่อนที่น่าสนใจ ท่อนที่ไม่ค่อยน่าสนใจ ท่อนที่มีตัวโน้ตและท่อนที่ว่างเปล่า แต่เมื่อมาประกอบรวมกันแล้วงดงาม

ขอบคุณบทความจาก

วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

16 ธันวาคม 2560


คมคำคนคม

The two enemies of human happiness are pain and boredom.

ศัตรูสองอย่างของความสุขมนุษย์คือความเจ็บปวดและความเบื่อหน่าย

Arthur Schopenhauer