บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: ข้าวหอม ที่ 07, กันยายน, 2565, 08:30:22 AM



หัวข้อ: นายชิต บุรทัต
เริ่มหัวข้อโดย: ข้าวหอม ที่ 07, กันยายน, 2565, 08:30:22 AM


(https://i.ibb.co/n0X2XkD/305739642-2194713530696690-6186668293638693539-n.jpg) (https://imgbb.com/)


นายชิต บุรทัต เกิด เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕
ถึงแก่กรรม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
เป็นบุตรนายชู นางปริก เดิมนามสกุล "ชวางกูร"
เป็นผู้มีความสามารถในการแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง โดยเฉพาะฉันท์
เป็นกวีที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๖ สมรสกับนางจั่น แต่ไม่มีบุตรธิดา

ประวัติ

นายชิต บุรทัต เข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดราชบพิธ
และเข้าศึกษาจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ ที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี
บิดาจึงให้บวชเป็นสามเณร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ในเวลานั้นทรงเป็นอุปัชฌาจารย์ บวชได้ไม่นานก็ลาสิกขา

นายชิต มีความสนใจการอ่านเขียน และมีความเชี่ยวชาญในภาษาไทย
มีความรู้ภาษาบาลี และยังฝึกฝนภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้
และเริ่มการประพันธ์เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี

การประพันธ์

นายชิต กลับมาบวชสามเณรอีกครั้ง ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ในฐานะเป็นศิษย์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้เขียนงานประพันธ์ครั้งแรก โดยใช้นามปากกา "เอกชน" จนเป็นที่รู้จักกันดีในเวลานั้น

ขณะบวชนั้น สามเณรชิตได้รับอาราธนาจากองค์สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ
ให้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลที่ ๖
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ด้วย

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ นายชิต บุรทัต ซึ่งลาสิกขาแล้ว
ได้ส่งบทประพันธ์เป็นกาพย์ปลุกใจ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สมุทสาร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตร ก็พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก
โปรดฯ ให้เจ้าหน้าที่ของภาพถ่ายเจ้าของบทประพันธ์นั้นด้วย

ผลงาน

นายชิต บุรทัต ได้สร้างผลงานร้อยกรองที่มีชื่อเสียงมากมาย
โดยเฉพาะ สามัคคีเภทคำฉันท์ (พ.ศ. ๒๔๕๗ )
มีบทร้อยกรองตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ข้อความโฆษณาเป็นร้อยกรอง
และท่านยังมีชื่อเสียงในการแต่งร้อยแก้ว ซึ่งสามารถอ่านอย่างร้อยกรองไว้ในบทเดียวกัน
ขณะที่คำฉันท์นั้น ก็ยังสามารถใช้คำง่ายๆ มาลงครุลหุได้อย่างเหมาะสม
ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักแต่งฉันท์ฝีมือเยี่ยมคนหนึ่งของไทย แม้จนปัจจุบันนี้

สามัคคีเภทคำฉันท์

สามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องโดยอิงประวัติศาสตร์ครั้งพุทธกาล
ว่าด้วยการใช้เล่ห์อุบาย ทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี
กรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี เนื้อความนี้มีปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร แห่งพระไตรปิฎก
และอรรถกถาสุมังคลวิสาสินี โดยเล่าถึงกษัตริย์ในสมัยโบราณ
ทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ
ทรงมีอำมาตย์คนสนิทชื่อ วัสสการพราหมณ์ ทรงมีดำริจะปราบแคว้นวัชชี
ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีครอบครอง

แต่แคว้นวัชชีมีความเป็นปึกแผ่นและปกครองกันด้วยความสามัคคี
พระเจ้าอชาตศัตรู ปรึกษากับวัสสการพราหมณ์ เพื่อหาอุบาย
ทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี
โดยการแสร้งเนรเทศวัสสการพราหมณ์ออกจากแคว้นมคธ
เดินทางไปยังเมืองเวสาลี แล้วทำอุบายจนได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวี
และในที่สุดได้เป็นครูสอนภาษาและศิลปวิทยาแก่ราชกุมารทั้งหลาย
ครั้นได้โอกาส ก็ทำอุบายให้ศิษย์แตกร้าวกัน จากความแตกร้าวของเหล่ากุมาร
จึงมีการไปฟ้องร้องบิดาของตนซึ่งเป็นกษัตริย์ จึงเกิดการแตกร้าวระหว่างกษัตริย์ไปด้วย
จนเกิดการวิวาท และเป็นเหตุให้ความสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีถูกทำลายลง
เมื่อนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้กรีธาทัพสู่เมืองเวสาลี
สามารถปราบแคว้นวัชชีลงได้อย่างง่ายดาย
โดยวัสสการพราหมณ์เป็นผู้มาเปิดประตูเมืองให้แก่พระเจ้าอชาตศัตรู

นามปากกา ที่ใช้ในการประพันธ์

เจ้าเงาะ
เอกชน
แมวคราว

วาระสุดท้ายของชีวิต

นายชิต บุรทัต ได้สร้างผลงานอันโดดเด่นเอาไว้มากมาย
เป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานนามสกุล "บุรทัต" เป็นนามสกุลพระราชทาน
อันเป็นเกียรติแก่ตัวและวงศ์ตระกูล

นายชิต บุรทัต ถึงแก่กรรม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
ตรงกับ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย
ด้วยโรคลำไส้พิการ ณ บ้านถนนวิสุทธิ์กษัตริย์
รวมอายุ ๔๙ ปี ๗ เดือน ๒๑ วัน

ขอบคุณข้อมูล จาก
วิกีพีเดีย และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

(https://i.ibb.co/WDXmYJS/6fec89dd207ad1c7b8313b66db000551.png) (https://imgbb.com/)