บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา => ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กันยายน, 2565, 11:17:04 PM



หัวข้อ: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๑)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กันยายน, 2565, 11:17:04 PM
(https://i.ibb.co/51CqvYm/2564-1855663754604690-2807704574072901663-n.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
ตอนที่  - ๑ -
          ข้าพเจ้าเป็นลูกคนที่ ๔ ในครอบครัวเกษตรกร  บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า  “เต็ม”  เป็นชื่อแบบไทยแท้  ชีวิตเติบโตในท่ามกลางกลิ่นโคลนสาบควาย  เด็ก ๆ ลูกหลานชาวนาเริ่มการงานด้วยการเลี้ยงควายแล้วต่อด้วยการหัดไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว ไปตามประสาชาวนา  บ้านของข้าพเจ้าอยู่ไกลปืนเที่ยงจากตัวเมืองสุพรรณบุรี  ชนิดที่เรียกว่า “บ้านป่าขาดอน”  เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ  บิดาเสียชีวิต  มารดาจึงนำไปฝากไว้กับพระน้องชายของท่าน  ซึ่งเป็นสมภารอยู่ที่วัดกลางหมู่บ้าน  หลวงน้ารับภาระเลี้ยงดูข้าพเจ้าแทนทางบ้าน  ด้วยความเมตตาปรานีตามสำนึกญาติผู้ใหญ่และสมณะวิสัยของท่าน  เพราะเป็นเด็กวัดประเภท  “หลานเจ้าวัด”  ที่เด็กวัดด้วยกันยำเกรง  ข้าพเจ้าจึงมีฐานะเป็น  “หัวโจก”  ของเด็กในวัดนั้นไปโดยปริยาย

          ได้กล่าวแล้วว่า  “บ้านอยู่ไกลปืนเที่ยง”  ดังนั้นโรงเรียนประจำหมู่บ้านของข้าพเจ้าจึงเป็นโรงเรียนที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลจากผู้บริหารบ้านเมือง  สถานที่เรียนก็ใช้ศาลาวัดที่มีสภาพที่เรียกได้ว่า  “โกโรโกโส”  จะพังแหล่มิพังแหล่  มีครูประจำอยู่ ๒ คน  คือครูใหญ่ขี้เหล้า  กับ ครูน้อยขี้ยา  บางวันครูท่านก็ไม่มาสอนเด็ก  เด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ทุกคนเรียนกันสูงสุดเพียงชั้น ป.๒   สมัยนั้นเขาเรียนกันตั้งต้นด้วยชั้น เตรียม ๑ เตรียม ๒  แล้วขึ้น ป.๑  ป.๒   เป็นเพราะชั้น ป.๓  ป.๔ ไม่มีครูสอนนักเรียนในโรงเรียนนี้อย่างเพียงพอ  จึงจำต้องเรียนจบเพียงชั้น ป.๒ เท่านั้น  แต่อย่าดูถูกดูหมิ่นเชียวนะครับ  เด็ก ป.๒ สมัยนั้นอ่าน-เขียนหนังสือไทยได้ดีกว่าชั้น ม.๓ ในสมัยปัจจุบันนี้เสียอีก

          ข้าพเจ้าเรียนจบชั้น ป.๒ แล้ว  ลาหลวงน้าออกจากวัดไปอยู่บ้าน  เลี้ยงควายทำไร่ไถนา  เที่ยวเตร่เฮฮาไปตามประสาวัยรุ่นบ้านนอกสมัยนั้น  เป็นเด็กค่อนข้างจะเกเร  ชอบเที่ยวหาความแปลกใหม่  ไม่ชอบความจำเจ  ในเวลานั้นพี่สาวของข้าพเจ้าคนหนึ่งได้สามีเป็นคนต่างบ้านต่างเมือง  และแยกจากบ้านไปอยู่บ้านสามีที่ กกม่วง-เลาขวัญ  คาบเกี่ยวเขตแดนจังหวัดกาญจนบุรี  ข้าพเจ้าหนีมารดาไปอยู่กับพี่สาวที่นั่น  ใช้ชีวิตเป็นเด็กบ้านป่าขาดอนนานนับปี   ป่าเลาขวัญสอนให้เรียนรู้การเป็นพรานป่าได้ไม่น้อยกว่าเด็กวัยรุ่นในละแวกนั้น  เสียดายว่าอยู่กับพี่สาวได้ปีเศษก็ต้องหนีกลับบ้านเดิม  เพราะความเป็นหนุ่มคะนองของข้าพเจ้าสร้างเรื่อง  “มิดีมิร้าย”  เกิดขึ้น   คือลักลอบเข้าหาลูกสาวคนสำคัญของหมู่บ้าน  แรก ๆ เหตุการณ์ก็ราบรื่นดี  นานวันเข้าเรื่องก็ชักจะแดงขึ้น  เธอบอกข้าพเจ้าว่า  “น่าจะท้องแล้ว”  และ  “พ่อกำลังสงสัย”  เห็นท่าไม่ดีจึงหนีกลับสุพรรณเสียดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ

          ก่อนเข้าพรรษาปีนั้น  หนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านเขานัดบวช  “ตามประเพณี”  กันหมดทั้งหมู่บ้าน  พวกเด็กวัยรุ่นเพื่อน ๆ ของข้าพเจ้าก็พากันบวชเณรหางนาคเกือบหมด  ตอนนั้นข้าพเจ้ามีอายุย่างเข้า ๑๘ ขวบปีแล้ว  เห็นว่าเพื่อนรุ่นพี่  รุ่นน้อง  และรุ่นเดียวกันบวชจนเกือบหมด  เพื่อนเล่นเพื่อนเที่ยวก็เกือบไม่มี  จึงไม่อาจทนว้าเหว่อยู่ได้  ข้าพเจ้าจำต้องตัดสินใจบวชเณรหางนาคกับเขาด้วย  การบวชในลักษณะนี้โบราณท่านเรียกว่า  “บวชสนุกตามเพื่อน”  นับเป็นวิธีหนึ่งของการบวชที่มีอยู่หลาย ๆ วิธี

          การบวชทางบ้านข้าพเจ้าสมัยนั้นไม่ใช่จะบวชกันได้อย่างง่าย ๆ ต้องเข้า  “โรงเรียนเตรียมบวช”  เสียก่อนจึงจะบวชได้   กล่าวคือ ผู้ปกครองต้องพาผู้ที่จะบวช  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า  “นาค”  ไปฝาก (หรือมอบ) ตัวเป็นศิษย์กับท่านสมภารวัดที่จะบวชอยู่ประจำ  หรือไม่ก็วัดพระผู้เป็นอุปัชฌาย์  และขอให้ท่านกำหนดวันบวชต่อไป

          วัดบ้านข้าพเจ้าไม่มีโบสถ์ (พัทธสีมา หรือ วิสุงคามสีมา) คนในหมู่บ้านต้องไปบวช ณ พัทธสีมาวัดใหม่จำปี (หัวโคก) ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๘ กม.  ดังนั้นพวกข้าพเจ้าผู้จะบวชจึงถือพานดอกไม้ธูปเทียนเดินทางตามผู้ปกครองเข้าวัดหัวโคก ซึ่งมี  “หลวงพ่อส้ม”  เป็นสมภารและเป็นพระอุปัชฌาย์  หลวงพ่อองค์นี้เดิมท่านชื่อส้ม  บวชมานานจนได้เป็นสมภารวัดหัวโคก  และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์  ได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน   ชาวบ้านมักเรียกท่านลับหลังว่า  “หลวงพ่อส้มเปรี้ยว”  หรือ  “พระครูส้มเปรี้ยว”  ท่านเป็นคนดุมากและเจ้าระเบียบ  เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างหาตัวจับได้ยาก

          ครั้นผู้ปกครองกล่าวมอบตัวพวกข้าพเจ้าให้หลวงพ่อส้มเสร็จแล้ว  ท่านก็เรียกพระพี่เลี้ยงมาช่วยกันโกนผมให้กลายเป็นคนหัวโล้นไปทันที  เมื่อโกนผมเสร็จอาบน้ำแต่งตัวให้เรียบร้อยแล้วก็สมาทาน (ถือเอา) ศีล ๕  พร้อมกันหมดทุกคน  เรียกกันว่า  เป็นนาคโดยสมบูรณ์  นาคทุกคนต้องเตรียมตัวบวชด้วยการท่องคำสวด (ขานนาค) ในพิธีอุปสมบท (คือบวช) ให้คล่องแคล่ว  หัดเดินเข่า  หัดกราบ  และหัดขานนาค  หัดนุ่งสบง  ห่มจีวร (คือการแต่งตัวแบบพระภิกษุ)    เท่านั้นยังไม่พอ ต้องท่องบทสวดที่สำคัญ ๆ เช่น  คำกรวดน้ำ  คำให้พร (ยถา สัพพี...)  คำถวายพรพระ  (อิติปิโส...พาหุง...มหาการุณิโก)  คำพิจารณา (ปฏิสังขาโย...)  ทำวัตรเช้าวัตรค่ำ  และบทสวดมนต์ต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

          หลวงพ่อส้มบอกกับผู้ปกครองพวกข้าพเจ้าว่า  “ให้มันเป็นคนหัวโล้นแล้วจะได้ไม่หนีเที่ยว  มีเวลาท่องหนังสือเป็นนาคเตรียมบวชได้เต็มที่”  แต่การณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่หลวงพ่อส้มกล่าว   แทนที่พวกนาค (พวกข้าพเจ้า) จะเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมเนื้อเจียมตัว  ท่อง “ขานนาค” และบทสวดต่าง ๆ ในหนังสือเจ็ดตำนาน  กลับเล่น “เป็นลิงหลอกเจ้า” กับพระพี่เลี้ยงด้วยการหนีออกจากวัดไปเที่ยวตามบ้านบ้าง  หยอกล้อเล่นกันแบบพิเรนทร์ ๆ บ้าง  จนข้าพเจ้าเกือบจะไม่ได้บวชเสียแล้ว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕
(https://i.ibb.co/kc2gnCj/294455258-3487539324802942.jpg) (https://imgbb.com/)


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, กันยายน, 2565, 11:27:01 PM
(https://i.ibb.co/68YC5Yg/101063-20111008-053444-1.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อส้ม วัดใหม่จำปี

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒ -
          วัดใหม่จำปีมีชื่อเดิมว่า  “วัดหัวโคก”  เพราะตั้งอยู่ใกล้ตลาดหัวโคก ที่ได้ชื่อว่า  “หัวโคก”  เห็นจะเป็นเพราะว่าบริเวณที่ตั้งตลาดนั้นเป็นเนินดินสูงอยู่ริมแม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อว่าแม่น้ำท่าว้า  แม่น้ำสายนี้ว่ากันว่าเป็นแม่น้ำที่ตายแล้ว  ต้นน้ำเดิมเขาว่ามาจากอำเภอเดิมบางนางบวช  ผ่านหนองหญ้าไซในเขตสามชุก  ศรีประจันทร์  ตลิ่งชัน  ที่ตั้งวัดสกุณปักษี  วัดใหม่จำปี  วัดท่าเสด็จ  ล่องลงใต้ นัยว่าเป็นสายเดียวกันกับแม่น้ำจระเข้สามพัน  บริเวณตอนบนแม่น้ำสายนี้ตื้นเขินจนกลายเป็นที่ไร่นาของชาวบ้านไปแล้ว  จึงกลายเป็น  “แม่น้ำด้วน”  คงมีสภาพเป็นแม่น้ำอยู่ในเขตตำบลตลิ่งชันตั้งแต่วัดสกุณปักษี (วัดนกกระจอก) ลงมาถึงท่าว้า (หัวโคก) ท่าเสด็จ  ดอนกำยาน เท่านั้น

          หญิงสาวหญิงแก่แม่ม่ายที่บ้านอยู่ริมแม่น้ำท่าว้าหน้าวัดหัวโคกมีหลายคน  พวกเธอนุ่งผ้ากระโจมอกลงมาอาบน้ำเล่นน้ำในแม่น้ำหน้าวัดตอนเย็นยันค่ำทุกวัน  พวกข้าพเจ้าเป็นนาคหัวโล้นก็ถือโอกาสลงอาบน้ำที่ท่าน้ำหน้าวัดยามเย็นทุกวันเช่นกัน

          แม่น้ำท่าว้า  หน้าวัดหัวโคกไม่กว้างใหญ่นัก  คนอยู่คนละฟากฝั่งส่งเสียงดัง ๆ ก็พูดคุยกันรู้เรื่อง  ส่งภาษามือบอกใบ้ให้กันกันก็แลเห็นได้ชัดเจน  ดังนั้น  พวกนาคหัวโล้นในวัดหัวโคกจึงเกี้ยวพาราศีพวกสาว ๆ หน้าวัดได้อย่างสนุกสนาน  บางคนถึงกับว่ายน้ำข้ามไปหาเจ้าหล่อนเลยทีเดียว  คนที่ไม่มีกำลังวังชาแข็งแรง  หรือว่ายน้ำไม่เก่งอย่างข้าพเจ้าก็ใช้เรืออีโปงพายข้ามไปหาพวกหล่อน  

           “เรืออีโปง”  ทำด้วยไม้ตาลหรือต้นตาลโตนด  โดยเอาทางโคนต้นเป็นหัวเรือทางปลายเป็นท้ายเรือ  ขุดเอาไส้มันออกหมด  ใช้ไม้กระดานแปะปิดท้ายเรือไว้ไม่ให้น้ำเข้าในลำเรือ  การพายเรืออีโปงไม่เหมือนพายเรืออีแปะ เรือมาด เรือพายม้า ที่ต้อง  “พาย งัด”  ให้เรือแล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการ  ส่วนเรืออีโปงต้อง  “พายวาด”  คือปาดซ้ายที  ขวาที  เรือมันจึงจะแล่นทื่อไปสู่ที่หมายได้   ข้าพเจ้าหัดพายเรืออีโปงจนพอพายข้ามแม่น้ำได้แล้ว  ก็พายเรือไปหาสาวเจ้าคนที่หมายตากันไว้  นั่นแหละเป็นเหตุให้เกือบไม่ได้บวชเณรเลยทีเดียว

          นาคพี่ ๆ และเพื่อน ๆ เขา  “จีบสาว”  กันอย่างสนุกสนาน  ข้าพเจ้าก็เอาอย่างเขาบ้าง   แต่คิดเพียงเล่น ๆ เจ้าหล่อนกลับคิดเอาจริง ๆ  คุณพ่อเธอรู้เรื่องเข้าก็ไปฟ้องหลวงพ่อส้ม  จนข้าพเจ้าถูกอบรมอย่างยกใหญ่  ร้อนถึงผู้ปกครองของต้องรีบไปรับรองความประพฤติใหม่  จึงรอดตัวได้อย่างหวุดหวิด   นาครุ่นข้าพเจ้าใช้เวลาเตรียมบวชอยู่ในวัดหัวโคกนานถึง ๒ เดือน  หลวงพ่อส้มจึงกำหนดวันให้บวชได้

          มีความเชื่อถือสืบต่อกันมาอย่างหนึ่งว่า  นาคที่ใกล้บวชมักมีเสน่ห์แรงเป็นที่พึงพอใจของเพศตรงข้าม   เพราะในการท่องคำขานนาคนั้น  มีคำที่เรียกกันว่า  “คาถามหาเสน่ห์”  รวมอยู่ด้วย  นั่นก็คือ  คำอ้อนวอนขออุปสมบทหรือขอบวชที่ว่า   “สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ”   พระอาจารย์ส่วนมากมักจะให้นาคท่องบทนี้ก่อนวันบวชเพียง ๑-๒ วันเท่านั้น   ด้วยเชื่อว่า หากให้ท่องเสียแต่เนิ่น ๆ แล้วนาคมักจะไม่ได้บวช  เพราะคาถามหาเสน่ห์บทนี้จะไปดลใจให้สตรีเพศมาหลงรักนาคแล้วทำให้นาคต้อง  “เบียดก่อนบวช”  หรือ  “เบียดจนลืมบวช”  ไปเลยทีเดียว  
      
          เรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่ยอมรับว่า  คำอ้อนวอนขออุปสมบทเป็นคาถามหาเสน่ห์  แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรอกครับ

          หลังสงกรานต์ปีนั้น  ในหมู่บ้านข้าพเจ้าจัดงานบวชวันเดียวกัน ๕ หลังคาเรือน  มีนาคผู้จะบวชเป็นพระ ๖ นาค  บวชเณรหางนาค ๙ คน   ข้าพเจ้าบวชเณรหางนาคพี่ชาย (ลูกติดพ่อเลี้ยง)  การจัดงานบวชทุกบ้านจะไม่ยอมให้น้อยหน้ากัน  โดยมีลิเกคณะดัง ๆ มาแสดง  มีรำวงที่จ้างนางรำวงมีชื่อจากต่างบ้านต่างเมืองมารำ   หาหมอทำขวัญนาคชื่อดังมาร้องแหล่ประชันกัน  หมู ไก่ ถูกเชือดมาปรุงอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อกันมากมาย  บางรายถึงกับล้มวัวทำอาหารเลี้ยงกันเลยทีเดียว  บางบ้านมีรำวงโต้รุ่ง  ฟ้าสางจึงเลิกรา   ทุกนาคเข้าขบวนแห่จากบ้านพร้อมกัน  บางนาคที่มีฐานะดีหน่อยก็จ้างม้าทรงนาคมาให้นาคขี่ไปวัด  ที่มีฐานะปานกลางและยากจนก็ให้นาคขี่คอเพื่อนชาย  หน้าขบวนแห่นาคมีทั้งกลองยาว  แตรวง  เป่าระดมตีประโคมกันจนเสียงดังสนั่นลั่นทุ่ง  ทั้งหญิงและชายร่วมกันรำเต้นป้อไปป้อมา  เด้งหน้าเด้งหลังอยู่หน้านาคตลอดทาง  ดูเป็นที่สนุกสนานครึกครื้นยิ่งนัก

          ขบวนแห่นาคทั้งหมดมาถึงประตูเข้าวัดก็หยุด  นาคลงจากหลังม้าและคอคน  เครื่องดนตรีหยุดตีประโคม  เสียงโห่ร้องเต้นรำทั้งหมดหยุดเงียบ  ทุกคนเดินเข้าวัดด้วยอาการสำรวมสงบเสงี่ยมดูเคร่งขรึมเหมือนนักปฏิบัติธรรมผู้เคร่งครัด  เป็นไปตามกติกาของหลวงพ่อส้มที่ท่านวางไว้  คือห้ามมิให้ใครใช้เครื่องคนตรีทุกชนิดตีประโคม  โห่ร้องแห่นาค  และเต้นรำหน้านาคภายในเขตวัดของท่านอย่างเด็ดขาด!

          เคยมีคนดื้อรั้นในงานบวชลูกชายผู้ใหญ่บ้านผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง  แห่นาคจากบ้านท่าว้าหน้าตลาดหัวโคกไปเข้าวัดโดยใช้กลองยาวตีประโคมสลับแตรวง  นาคขี่ม้าทรงแต่งตัวสวยงาม  เมื่อขบวนแห่นาคอันมโหฬารผ่านบ้านร้านตลาดไปถึงวัดแล้วก็แห่เข้าวัดทันที   ขบวนแห่นาคเดินเวียนรอบโบสถ์  ผู้คนในขบวนมากมายทั้งเมาสุราและไม่เมาฟ้อนรำนำหน้านาค  มีแตรวงเป่านำขบวน  และกลองยาวตีประโคมปิดท้ายขบวน

          ขณะที่วนรอบโบสถ์ได้ครึ่งรอบ  แตรเป่าเพลงทำนองอัศวลีลา (ม้าย่อง) ม้าทรงก็เต้นเหยาะ ๆตามจังหวะเสียงแตร   หลวงพ่อส้มในชุด   “ห่มดอง”   ถือไม้ตะพดคู่กายเดินปรี่ลงจากกุฏิไปยืนขวางอยู่หน้าโบสถ์  แล้วใช้  “อาญาวัด”  ควงไม้ตะพดตีดะไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร  ตะโกนด่าขับไล่เสียงดังลั่น

           “มึงจะแห่ไปลงนรกขุมไหนก็ไปไป๊!  วัดกูเป็นสวรรค์  ห้ามสัตว์นรกขึ้นมารบกวนโว้ย....ไป๊!  มึงรีบไปก่อนที่หัวจะแตก!”

          ไม่ได้ตีและด่าอย่างเดียวหรอกครับ  ท่านปิดโบสถ์ไม่ยอมให้ใครเข้าไปด้วย  นาคลูกผู้ใหญ่รายนั้นต้องหนีกระเจิดกระเจิงยกขบวนไปวัดป่าเลไลยก์  กราบขอร้องหลวงพ่อถิร  เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้   เหตุการณ์ดังกล่าวถูกร้องเรียนไปถึงเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี   ท่านเจ้าคณะจังหวัดมีคำสั่งพักการทำ (นั่ง) หน้าที่พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อส้มไว้   ซึ่งเป็นการลงโทษทางการปกครองของคณะสงฆ์   แม้จะถูกสั่งห้ามไม่ให้นั่งเป็นพระอุปัชฌาย์  หลวงพ่อส้มก็ไม่ยอมยกเลิกกติกาของท่าน  เพราะเห็นว่ามิได้ทำผิดพระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติ  ผลที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ยกเลิกคำสั่งห้ามนั้นเสีย  ประเพณีการไม่แห่นาคเข้าโบสถ์จึงมีประจำวัดหัวโคกของหลวงพ่อส้มแต่นั้นตลอดมา /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากอินเตอร์เน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กันยายน, 2565, 10:49:16 PM
(https://i.ibb.co/Y76jCc5/281216351.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
         ~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓ –

          ในบรรดาพระเณรที่บวชรุ่นเดียวกันนั้น  ข้าพเจ้าได้รับการโปรดปรานจากหลวงพ่อส้มมากที่สุด  สาเหตุมิใช่เพราะมีกิริยาเรียบร้อยนิสัยดี  อ่อนน้อมถ่อมตน  ปฏิบัติเอาอกเอาใจพระอุปัชฌาย์อาจารย์  หรือประจบประแจงเก่งอะไรหรอกครับ  หากแต่ว่าข้าพเจ้ามีความสามารถสาธยายคำสวดต่าง ๆ เช่นบทสวดทำวัตรเช้า-ค่ำ  ถวายพรพระ  และตำนานได้ครบทั้ง ๗ บท (เจ็ดตำนาน)  สวดมาติกาบังสุกุล (สวดศพ-ผี)   บทสวดต่าง ๆ นี้มิใช่ท่องได้ตอนบวชแล้ว หากแต่ว่าท่องจำได้เมื่อครั้งเป็นเด็กวัด  และมาต่อเพิ่มเติมตอนเป็นนาค ๒ เดือน

          สมัยเป็นเด็กวัดนั้น  ท่านสมภาร (คือหลวงน้าของข้าพเจ้า) บังคับให้เด็กวัดทุกคน  “ต่อหนังสือค่ำ”  คือก่อนเข้านอนทุกคืนเด็กวัดทุกคนต้องนั่งรวมกันในหอสวดมนต์  มีพระคอยบอกบทสวดมนต์ให้ท่องเป็นตอน ๆ  เมื่อท่องได้จนคล่องปากและสอบทานจนถูกต้องดีแล้วก็บอกตอนใหม่ให้ท่องต่อไป  จบบทหนึ่งก็ให้ท่องอีกบทหนึ่ง  เวลาที่พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า-ค่ำ  เด็กวัดทุกคนก็ต้องเข้าไปนั่งข้างหลังหมู่พระสงฆ์ว่าสวดมนต์ตามพระไปด้วย  

          ผลของการต่อหนังสือค่ำ  ทำให้จำบทสวดต่าง ๆ นั้นได้อย่างแม่นยำมั่นคง  แม้เวลาจะผ่านเลยไปเป็นเวลานานก็ยังจำได้ไม่ลืมเลย  ไม่เหมือนกับความจำที่ท่องได้จากตำรา  ซึ่งผู้ท่องได้นั้น ๆ ถ้าไม่หมั่นสาธยายหรือสวดทบทวนบ่อย ๆ แล้วความจำนั้น ๆ ก็จะ  “กลับคืนเข้าตำรา”  คือหลงลืมไปหมด   ส่วนการท่องจำด้วยการต่อจากปากหรือคำบอก (มุขปาฐะ) นั้น  แม้จะไม่สาธยายบ่อย ๆ   ความจำนั้นก็จะไม่ลืมเลือน เพราะว่ามันจำ  “เข้าไส้เข้าพุง”  ไปแล้ว

          อย่างเช่นหลวงพ่อส้ม  พระอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า  ท่านบวชเมื่ออายุครบบวช (คือ ๒๐ ปีบริบูรณ์)  โดยมาจากตระกูลเกษตรกรเป็นคนบ้านนอกที่สมบูรณ์แบบ  ผิวกายดำเกลี้ยง  โครงร่างกระดูกใหญ่  ไม่อ้วนท้วนจนลงพุง  พูดจายานคาง  เสียงเหน่อ ๆ ตามแบบของชาวสุวรรณภูมิ (คนไทยหลายจังหวัดในภาคกลาง) เสียงดังฟังชัด  ไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อน  เพราะในตำบลที่ท่านอยู่สมัยเป็นเด็กนั้นไม่มีโรงเรียนให้ท่านเรียน  ด้วยความขยันหมั่นเพียรและมีไหวพริบปฏิภาณดีเป็นสันดาน   เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านเริ่มท่องสวดมนต์เจ็ดตำนาน  สิบสองตำนาน  ด้วยการ  “ต่อหนังสือ”  จากพระอาจารย์จนจำได้หมดทุกตำนาน  และยังพยายามหัดอ่าน-เขียนหนังสือไทยจนสามารถอ่านออกเขียนได้  มีความรู้แบบที่เรียกว่า  “งู ๆ ปลา ๆ”  แล้วสมัครเรียนนักธรรมชั้นตรี  ด้วยการ  “ต่อหนังสือ”  ท่องจำแบบเรียนนวโกวาทจนจบบริบูรณ์  จำได้หมดว่า  หน้าที่เท่าไร  บรรทัดที่เท่าไร  มีความว่าอย่างไร  ใครถามก็ตอบได้หมดไม่มีผิดเพี้ยน   มิใช่แต่จะท่องจำได้ทั้งหมดเท่านั้น  ท่านยังเข้าใจเนื้อหาสาระของพระวินัยบัญญัติ  ธรรมวิภาค  และพุทธประวัติ ได้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย   แต่การสอบนักธรรมในสนามหลวงท่านมีปัญหามาก  สอบตกติดต่อกันถึง ๕ ปีซ้อน  เหตุที่สอบตกก็เพราะท่านเขียนหนังสือด้วยลายมือที่อ่านยาก  ลายมือ  “เหมือนไก่เขี่ย”  ซ้ำยังเขียนสะกดการันต์ไม่ถูกอีกด้วย  กรรมการท่านเห็นลายมือแล้วก็ไม่พยายามอ่าน  จึงสอบตกซ้ำซาก  จนปีที่ ๖ กรรมการตรวจให้คะแนนท่านสงสารจึงอนุโลมให้ท่านสอบผ่านได้เป็น  “นักธรรมชั้นตรี”  จากนั้นท่านก็พยายามท่องหนังสือคัมภีร์เทศน์ทั้งแบบเทศน์เดี่ยวและเทศน์คู่  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ๆ ได้หมด  เวลาใครนิมนต์เทศน์ท่านก็สามารถเทศน์ได้อย่างคล่องแคล่ว  เสียงดังฟังชัดฉาดฉาน  วางจังหวะทำนองลีลาได้อย่างเหมาะเจาะเพราะพริ้งน่าฟัง  ในการเทศน์คู่ที่เรียกกันว่า  “ปุจฉาวิสัชนา”  ถ้าคู่เทศน์พูดนอกคัมภีร์ที่ท่านท่องมา  ก็จะค้านว่าคำเทศน์นั้นไม่มีในคัมภีร์  ทำให้คู่เทศน์ต้องกล่าวแก้ตัวเป็นพัลวันทีเดียว

          โดยปกติหลวงพ่อส้มเป็นคนอารมณ์ร้อน  โมโหร้าย  ปากร้าย  ด่าคนได้อย่างเผ็ดร้อนเจ็บแสบที่สุด  วันไหนอารมณ์เสียขึ้นมาก็สั่งให้ลูกศิษย์ติดเครื่องไฟฟ้าเปิดเครื่องกระจายเสียงด่ากราดตั้งแต่เด็กวัด  พระ  เณร  และลามออกไปนอกวัดถึงชาวบ้าน  แล้วก็จบลงด้วยการด่าตัวเองอย่างน่าขำขัน    

           “ชิบผาย...ไอ้กูก็มันก็ไม่ดี  ด่ามันปาว ๆ จนปากเปียกปากแฉะ  มันจะฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้    เฮ้ย...ปิดเครื่องได้แล้วโว้ย !”   เป็นอย่างนี้ทุกทีเลยครับ

          แล้วก็มีเรื่องที่ชาววัดชาวบ้านโจษจันและจดจำกันได้ไม่มีวันลืม  เป็นเรื่องที่หลวงพ่อส้มสร้างไว้  นั่นคือ  วันหนึ่ง  “เจ๊กจิ๋ว”  หรือเถ้าแก่จิ๋ว  พ่อค้าคนจีนในตลาดหัวโคกซึ่งอยู่บริเวณใต้วัดจำปีหรือวัดหัวโคก  จัดงานทำบุญครบรอบวันตายให้ภรรยาของเขา  นิมนต์พระวัดจำปี ๔ องค์   พระวัดท่าเสด็จซึ่งอยู่ทางใต้ตลาด ๕ องค์  มาสวดพระพุทธมนต์ทำบุญตอนเช้า    หลวงพ่อส้มพาพระวัดหัวโคก ๓ องค์ไปถึงร้านเถ้าแก่จิ๋วก่อนพระวัดท่าเสด็จ  ซึ่งก็เป็นขณะที่เถ้าแก่ไม่อยู่ในร้าน  คนในร้านก็นิมนต์หลวงพ่อส้มกับพระ ๓ องค์เข้าไปนั่งในร้านก่อน  เถ้าแก่จิ๋วกลับมาเห็นพระอยู่ในร้าน ๔ องค์ก็ร้องโวยวาย

           “ไอ๋หยา....พะมาอยู่ในบ้างอั๊วะสี่คง  คงในบ้างอั๊วะต้องตายอีกแน่ ๆ”   เถ้าแก่ไม่ยอมเข้าร้าน  เดินวนเวียนไปมาอยู่หน้าร้านพร้อมกับบ่นดัง ๆ ว่า  “ต้องมีคงตายอีกแน่ๆ”   ใครจะพูดอธิบายห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง    ทั้งนี้ก็เพราะเถ้าแก่จิ๋วเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่มีความเชื่อประเภท  “มงคลตื่นข่าว”  คือเชื่อกันว่า  พระ ๔ องค์เข้าบ้านไม่เป็นมงคล  เพราะพระ ๔ องค์ใช้สำหรับสวดศพ  ไม่นิยมให้พระมีจำนวน ๔ องค์เข้าบ้านร้านเรือน  ซึ่งจะทำให้มีคนตายได้

          หลวงพ่อส้มได้ยินเสียงและเห็นอาการกิริยาของเถ้าแก่จิ๋วดังนั้น  ทนนั่งนิ่งอยู่ไม่ได้  คว้าไม่ตะพดคู่มือ (ที่ท่านถือไปไหนมาไหนด้วยเสมอ) ลุกขึ้นยืนด้วยโทสะ

           “เฮ้ย...ทั่นสน  ทั่นเล็ก  ทั่นผล  กลับวัดโว้ย.....ไม่ต้องกินข้าวไอ้เจ๊กจิ๋วมันหรอก  ข้าววัดเราก็มีกิน  ปล่อยให้คนบ้านนี้มันตายโหงตายห่าให้หมดเถอะ  ถ้ามันตายจริง ๆ ก็อย่ามาสวดให้มัน!”

          หลวงพี่สนธิ  หลวงพี่เล็ก  และหลวงพี่ผลตกใจ  นั่งมองหน้ากันเลิกลั่ก!

           “ใครไม่ไปกูตีหัวแตกเดี๋ยวนี้แหละ”   หลวงพ่อส้มกล่าวสำทับพร้อมกับยกไม้ตะพดขึ้นเงื้อง่า.....
            
          หลวงพี่ทั้ง ๓ องค์จำต้องลุกขึ้นเดินตามหลวงพ่อส้มกลับวัดไป  ท่ามกลางความตกใจของคนที่มาร่วมงานบุญนั้น

          เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อส้มเป็นพระภิกษุสาวกพระพุทธเจ้าแท้จริง  ไม่เชื่อถือในเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์  “มงคลตื่นข่าว”  ใด ๆ  และไม่เอาอกเอาใจใครที่คิดเห็นผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า./

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒  มีนาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, กันยายน, 2565, 10:36:07 PM
(https://i.ibb.co/1zj7DZj/80061092.jpg) (https://imgbb.com/)
เรืออีแปะ
ขอบคุณรูปภาพต้นแบบจาก Internet

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
         ~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔ -
          ย้ายสังกัดวัดเรียนนักธรรม

              ใกล้เข้าพรรษาแล้ว  ข้าพเจ้าต้องลาหลวงพี่และเพื่อนเณร  และกราบลาหลวงพ่อส้มพระอุปัชฌายาจารย์จากวัดใหม่จำปี (หัวโคก) เดินทางข้ามจังหวัดไปอยู่วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย) กลางทุ่งนาในเขตกิ่งอำเภอบางซ้าย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ทั้งนี้ก็เพราะหลวงน้าของข้าพเจ้าเห็นว่าหากให้อยู่วัดใหม่จำปีต่อไปคงไม่  “งอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา”  จึงพาไปฝากเป็นศิษย์และเป็นลูกหลวงพ่อแปลกสมภารวัดรางเนื้อตายที่ท่านเคารพนับถือ  หลวงพ่อแปลกรับข้าพเจ้าไว้เป็นศิษย์และเลี้ยงดูเหมือนลูกของท่าน

          ดังได้ให้การมาแต่แรกแล้วว่า  ข้าพเจ้า  “บวชสนุกตามเพื่อน”  ไม่ได้บวชเพราะเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา หรือ ซาบซึ้งในรสพระธรรมวินัยอย่างที่ใคร ๆ มักกล่าวอ้างกัน  แต่ครั้นบวชเข้ามาอยู่ในร่มเงาแห่งผ้าเหลืองแล้ว  ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึก  “สนุกในดงขมิ้น”  คือวงการของนักบวช  อยากรู้อยากเห็นอยากทดลองอยากสัมผัสชีวิตนักบวชให้มากขึ้น  อยากเรียนนักธรรม  บาลี  อยากเรียนคาถาอาคม  เพราะได้พบเห็นพระภิกษุที่ท่านเป็นพระนักธรรม  พระมหาบาเรียน  พระอาจารย์แล้วก็อยากเป็นอย่างพวกท่านเหล่านั้นบ้าง  ก็ดูมันโก้ดีนี่ครับ

          วัดมฤคทายวันหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า  “วัดรางเนื้อตาย”  นั้นเป็นวัดประเภท  “บ้านนอก”  ตั้งอยู่ริมคลองหรือลำราง (ที่มีชื่อว่า “รางเนื้อตาย”) ฝั่งตะวันตก  ทุ่งนาในย่านนี้กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา  การเดินทางไปสู่วัดแห่งนี้  ถ้าเป็นฤดูน้ำหลากท่วมทุ่งก็ใช้เรือยนต์ (เรือเมล์) ตามลำคลอง (หรือลำราง) ที่เริ่มจากแม่น้ำน้อยสายสุพรรณ-บ้านแพน  ซึ่งแยกจากบริเวณตลาด (แพ) บ้านเจ้าเจ็ดเขตอำเภอเสนา  ผ่านวัดหนองคด  วัดเทพมงคล (รางไอ้ทึม)  วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย)  ลงไปเชื่อมคลองญี่ปุ่น (พระยาบันลือ) เขตอำเภอลาดบัวหลวง  ถ้าเป็นฤดูแล้งน้ำในคลองหรือลำรางนี้จะแห้งขอด  เรือยนต์ (และเรือพาย) เดินไม่ได้  ต้องนั่งเรือเมล์ที่แล่นรับ-ส่งคนโดยสารระหว่างบ้านแพน-แผงลอย  โดยผ่านเจ้าเจ็ด บางซ้าย บ้านสุด (ในเขตอำเภอบางปลาม้า สุพรรณบุรี) เลยตลาดบ้านสุดไปเล็กน้อยมีคลองที่เรียกว่า  “คลองขุด”  ล่องลงไปทางใต้เชื่อมต่อคลองญี่ปุ่น (พระยาบันลือ) ก่อนลงไปเชื่อมต่อคลองญี่ปุ่นก็ผ่านตลาดขนาดเล็กกลางทุ่งกว้างเรียกชื่อว่า  “ตลาดแผงลอย”  ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่ตั้งของวัดหนึ่ง  เมื่อมีการขุดคลองผ่านจึงถูกเวนคืน  เลื่อนวัดห่างออกไปทางทิศตะวันตก  ชื่อวัดนี้ว่า  “สุคนธาราม”  แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดกระเถิบ”  ตลาดแผงลอยนี้เองเป็นท่าเรือเมล์ที่คนจากหมู่บ้านรางเนื้อตายใช้เป็นที่ขึ้น-ลงเรือในการเดินทางไปที่ว่าการกิ่งอำเภอบางซ้าย ไปบ้านแพน  และแม้ไปสุพรรณบุรีในฤดูแล้ง   คลองขุด ตลาดแผงลอยนี้ อยู่ห่างจากวัดมฤคทายวันประมาณ ๘ กม.เห็นจะได้

          ข้าพเจ้าเกิดและโตในดินแดนบ้านป่าขาดอน  แม้มาบวชเป็นสามเณรอยู่วัดใหม่จำปีที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าว้าก็ยังถือว่า  “อยู่ดอน”  เพราะไม่มีท้องทุ่งที่ถูกน้ำท่วม  เมื่อย้ายมาอยู่ทุ่งรางเนื้อตายที่หน้าแล้งน้ำแห้งให้เดินไปไหนมาไหนได้ตามใจก็จริง  แต่หน้าน้ำหลังจากที่ชาวนาเขาทำนาหว่านข้าวเปลือกกล้าจนขึ้นงอกงามแล้ว  น้ำก็จะหลากนองท่วมหมดทั้งท้องทุ่ง  การไปไหนมาไหนต้องใช้เรือพาย  ข้าพเจ้าพายเรือไม่เป็น  จึงต้องเริ่มต้นหัดพายเรือกันใหม่  เวลาออกบิณฑบาตก็ต้องใช้เรือพายไปตามละแวกบ้าน  เรือพายที่ใช้กันในทุ่งนี้เป็นเรือป๊าบหรือเรืออีแปะ  กับเรือบด   “มือใหม่หัดพาย”  อย่างข้าพเจ้าจึงต้องพบกับปัญหา  “เรือล่ม”  ให้ได้รับความอับอายเป็นหลายครั้ง  กว่าจะเก่งทางเรือได้ก็ต่อเมื่อน้ำลดแห้งลงแล้วนั่นเทียว

          เริ่มเรียนนักธรรมชั้นตรีก็พบปัญหายุ่งยากลำบากไม่น้อย  การท่องการอ่านบทเรียนไม่เป็นการยาก  แต่การเขียนหนังสือนี่สิข้าพเจ้าแย่มาก  เพราะมือมันไม่คุ้นเคยกับดินสอปากกามาก่อน  จึงเขียนหนังสือแทบไม่เป็นตัว (ดีกว่าหลวงพ่อส้มนิดหน่อยเท่านั้น)  และที่ร้ายก็คือข้าพเจ้าเป็นคนขี้เกียจเขียนหนังสือชะมัดเลย   ดังนั้นในปีแรกของการเข้าสอบธรรมสนามหลวงปรากฏว่า

               สามเณรเต็มสอบตกอย่างไม่เป็นท่าเลยครับ

          อาจารย์ผู้สอนพระปริยัติธรรมของข้าพเจ้าท่านบอกว่า  ความรู้  หรือภูมินักธรรมของข้าพเจ้าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก   แต่สอบตกเพราะเขียนหนังสือไม่เป็นตัว  ต้องขยันหัดเขียนหนังสือให้มากขึ้นอีกหน่อย   คณะกรรมการตรวจข้อสอบท่านเป็นพระผู้เฒ่า  และถือคติว่า  “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ”  ใครเขียนหนังสือไม่สวยงาม  อ่านยาก  และตัวสะกดการันต์ไม่ค่อยจะถูก  ท่านกรรมการ  “ผู้เฒ่า”  จะไม่ยอมลงตัว   “ห.”   ให้ในกระดาษคำตอบนั้น  (อักษร  ห.  นั้นท่านแปลว่า  “ให้”  หมายถึงสอบผ่านวิชานั้นได้ครับ)

          การตรวจข้อสอบให้คะแนนสมัยนั้น  เขาไม่ตรวจความถูกผิดให้คะแนนกันเป็นข้อ ๆ แล้วรวมคะแนนเหมือนสมัยนี้หรอกครับ   ท่านจะรวมตรวจกันในที่เดียว ตามที่เจ้าคณะจังหวัดกำหนดให้  คณะกรรมการตรวจข้อสอบจะได้มาจากครูสอนนักธรรม  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสมภารวัดผู้มีอายุ  ตั้งเป็นคณะๆละ ๓ องค์  ประธานคณะกรรมการ (มักจะเป็นเจ้าคณะจังหวัด) จะสั่งพระเจ้าหน้าที่เคล้าคละซองบรรจุข้อสอบในแต่ละวิชา  แล้วแจกจ่ายให้คณะกรรมการตรวจข้อสอบประจำโต๊ะต่าง ๆ ที่ท่านจัดไว้   ให้กรรมการทั้ง ๓ องค์ที่ประจำโต๊ะนั้น ๆ ตรวจความเรียบร้อยของซองบรรจุข้อสอบ  แล้วเซ็นชื่อรับรองก่อนเปิดซองนำกระดาษใบตอบปัญหาออกมาอ่านตรวจดูความถูกต้องดีงาม  ข้อสอบทั้งหมดเป็นแบบ  “อัตนัย”   วิชาที่สอบมีทั้งหมด ๔ วิชา คือ

            ๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม  เป็นการตั้งกระทู้โดยนำเอาพุทศาสนสุภาษิตมาให้เขียนเป็นบทเรียงความอธิบายความหมายของภาษิตนั้นเช่น  อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ  ให้อธิบายว่า  ตนคืออะไร  ที่พึ่งคืออะไร  และตนเป็นที่พึ่งของตนนั้นอย่างไร
            ๒. ธรรมะ  ตั้งคำถามในวิชาธรรมวิภาค  เป็นข้อ ๆ  ให้ตอบและอธิบายความหมายของข้อธรรม  รวม ๗ ข้อ
            ๓. พุทธประวัติ   ตั้งคำถามเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นข้อ ๆ ให้ตอบ  รวม  ๗ ข้อ
            ๔. วินัยบัญญัติ  ตั้งคำถามเรื่องอาบัติของภิกษุเป็นข้อ ๆ ให้ตอบรวม  ๗ ข้อ

               ใบคำตอบทุกใบจะต้องผ่านมือกรรมการทั้ง ๓ องค์  แต่ละท่านจะอ่านความในกระดาษคำตอบนั้น ๆ  ถ้าเห็นว่าลายมือไม่สวยงาม  อ่านยาก  เขียนผิดมาก  บางท่านจะไม่ยอมอ่านจนจบให้เสียเวลา  ท่านจะเอาดินสอ (หมึก) สีแดงเขียนวงกลมลงบนหัวกระดาษ  เป็นการแสดงว่าท่านให้สอบตกไปเลย  แต่กระดาษคำตอบใบนั้นยังจะต้องไปเข้ามือกรรมการอีก ๒ ท่าน  บางท่านอาจจะวงกมสีแดง  บางท่านอาจจะเขียนตัว  ห.  แสดงว่าท่านให้สอบผ่านได้  หัวกระดาษคำตอบวิชาใดมีวงกลมสีแดง ๒ วง  วิชานั้นก็ถือว่าตก  ถ้ามีวงกลมแดง ๑ วงกลม  อักษรตัว  ห.  ๒ ตัวก็ถือว่าสอบผ่าน  ใครสอบผ่านได้ ๓ วิชาไม่ผ่าน ๑ วิชาก็ถือว่าสอบตก  ใครได้ ๓ ห.ทั้ง ๔ วิชาถือว่าเก่งมาก  

          วิชาที่พระเณรสอบตกมากที่สุดคือ  เรียงความแก้กระทู้ธรรม ครับ

          สอบปีแรกข้าพเจ้าได้ ๒ ห. ใน ๒ วิชา  ได้ ๓ ห. ใน ๑ วิชา  แต่ในวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม ได้ ๓ วงกลมแดง  ก็คือไม่ได้เลยสัก ห.เดียว  จึงสอบตกไปอย่างน่าเสียดาย

          นี่เป็นเพราะเจ้าลายมือ  ”ไก่เขี่ย”  ของข้าพเจ้าแท้ ๆ

           “เณรไหว”  นักเรียนร่วมชั้น  อายุน้อยกว่าข้าพเจ้า ๑ ปี  เป็นคนทุ่งรางเนื้อตาย  สอบนักธรรมชั้นตรีพร้อมกัน  เพียงครั้งเดียวเขาก็สอบได้  เพราะเขียนหนังสือลายมือสวยงามมาก  พอประกาศผลสอบว่าเขาสอบได้  ก็เบ่งทับ  ดูถูกดูหมิ่นข้าพเจ้าอย่างน่าเกลียด   อันที่จริงแล้วความรู้เณรไหวสู้ข้าพเจ้าไม่ได้  สวดมนต์ข้าพเจ้าก็สวดได้มากกว่า   แบบเรียนข้าพเจ้าก็ท่องได้มากกว่า   แพ้เขาเพียงอย่างเดียวคือลายมือที่เขาเขียนหนังสือได้สวยงามมากกว่าข้าพเจ้า   แม้สอบตกข้าพเจ้าก็ไม่ท้อแท้หมดกำลังใจ   เณรไหวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้ามุมานะหัดเขียนหนังสือจนมีลายมือสวยงามได้ใกล้เคียงกับเขา  หลวงพ่อแปลกให้เณรไหวย้ายไปเรียนนักธรรมชั้นโทในสำนักเรียนวัดบางซ้ายใน    และให้ข้าพเจ้าย้ายไปเรียนซ้ำนักธรรมชั้นตรีซ้ำชั้นในสำนักเรียนวัดเดียวกับเณรไหวด้วย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓  มีนาคม ๒๕๖๕



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, กันยายน, 2565, 11:48:51 PM
(https://i.ibb.co/vq8qnb6/374576989.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อไวย์ อินทวังโส
ขอบคุณเจ้าของรูปภาพนี้จาก Internet

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕ –
          วัดบางซ้ายใน  เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งทิศเหนือ  กึ่งกลางของหมู่บ้าน  คือทางทิศตะวันตกเป็นหมู่บ้านบางซ้าย  ทิศตะวันออกเป็นหมู่บ้านเต่าเล่า  ทั้งสองหมู่บ้านรวมกันแล้วมีบ้านไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ หลังคาเรือน  ประชากรหลายหมื่นคนทีเดียว  มีแม่น้ำที่แยกสายมาจากแม่น้ำท่าจีนตรงอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ไหลผ่านบ้านสุด ไผ่กองดิน  บางซ้าย  เต่าเล่า  เจ้าเจ็ด  บรรจบกับแม่น้ำน้อยที่บ้านแพน อำเภอเสนา  แล้วออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางไทร  เดิมวัดนี้อยู่ในเขตปกครองของอำเภอเสนา  ภายหลังแยกออกเป็นกิ่งอำเภอบางซ้าย  และเป็นอำเภอบางซ้ายในที่สุด

          แน่นอนละ  ในเมื่อตั้งอยู่กลางหมู่บ้านใหญ่  วัดนี้ก็ต้องเป็นวัดใหญ่  มีพระเณรมากสมฐานะของหมู่บ้านสองตำบล (บางซ้าย-เต่าเล่า)  กุฏิของวัดนี้เป็นอาคารไม้เครื่องสับฝากระดานแบบบ้านทรงไทยสมัยอยุธยา  ตั้งเรียงเป็นแถวยาว  แถวละ ๙ หลัง  มีสกัดด้านท้ายอีก  ๔ หลัง  ตรงกลางแถวกุฏิมีหอสวดมนต์หลังใหญ่  อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีมุขแยกออกเป็นสี่มุข  ศาลาการเปรียญอาคารไม้ทรงไทยบรรจุคนทำบุญได้เป็นหมื่นคนทีเดียว  มีสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทอดยาวไปตามแถวกุฏิ (ด้านหน้า) เป็นรูปเกือกม้า  และแยกไปศาลาการเปรียญ  สิ้นสุดที่โคกโบสถ์  หน้าวัดมีศาลาท่าน้ำทรงไทย  เหตุที่ต้องมีสะพานคอนกรีตถาวรก็เพราะว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในทุ่งริมแม่น้ำ  ในฤดูน้ำหลากท่วมทุ่ง  น้ำจะท่วมพื้นที่ของวัดทั้งหมดเช่นเดียวกันกับบ้านเรือนสองฟากฝั่งแม่น้ำสายนี้  ไม่มีพื้นดินให้เดิน  ต้องใช้เรือพายในการไปมาหาสู่กัน  สะพานจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีใช้ภายในวัดทุกวัดของท้องทุ่งนี้

          สมภารวัดบางซ้ายในสมัยที่ข้าพเจ้าไปอยู่นั้น  ท่านเป็นพระมหาเปรียญศิษย์สำนักวัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ  บ้านเดิมท่านอยู่บ้านขนมจีน (ตอนใต้บ้านแพน) อำเภอเสนา  ท่านสอบเปรียญธรรมได้ ๖ ประโยคและไม่ประสงค์จะเรียนต่อ  จึงกลับไปอยู่วัดบ้านเดิมของท่าน   ทางคณะสงฆ์ขอร้องให้ท่านไปเป็นสมภารวัดบางซ้ายใน  และเปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลีด้วย   ท่านจึงไปตามความต้องการของคณะสงฆ์   สมภารวัดบางซ้ายในองค์ก่อนหน้านี้ทราบว่าท่านเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๖ ประโยคเช่นกัน  ชื่อพระมหาเที่ยง สุทธิญาโณ  นัยว่าไปจากสำนักวัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพฯ    ยังไม่ทันได้จัดการเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เข้าที่เข้าทางได้ตามต้องการ  ท่านก็ตัดสินใจลาสิกขาออกไป  สมัครเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกเสียในที่สุด    สมัยนั้นพระมหาเปรียญในภูมิภาคหาได้ยากมาก  พระภิกษุที่เป็นเปรียญหรือที่เรียกว่า  “พระมหา”  ในอำเภอเสนาและกิ่งอำเภอบางซ้ายสมัยนั้นดูเหมือนจะเพียง ๓ องค์  คือ   พระมหาเทพ  หรือ ท่านเจ้าคุณพระเขมเทพาจารย์ วัดหัวเวียงเจ้าคณะอำเภอเสนา   พระมหาสังวาลย์ หรือ พระครูวิบูลย์ธรรมานุศาสน์ วัดกระโดงทอง  และ  พระมหาไวย์ อินทวังโส วัดบางซ้ายใน (ซึ่งต่อมาคือ พระครูอดุลย์วรวิทย์  เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย  และเลื่อนเป็นพระอดุลธรรมเวที  เจ้าอาวาสวัดบรมวงศ์ฯ เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)   ที่ทั้งพระและเณรในวัดบางซ้ายในเรียกท่านด้วยความเคารพว่า  “หลวงพ่อไวย์”   ส่วนเจ้าคณะกิ่งอำเภอบางซ้ายสมัยนั้นก็ไม่ได้เป็นพระมหาเปรียญ  ท่านเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า   หลวงพ่อพระครูยิ้ม (พระครูพรหมวิหารคุณ) เจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดใน อำเภอเสนา  ซึ่งเป็นพระเถระผู้เฒ่าที่มีจริยาวัตรงดงามน่าเคารพกราบไหว้เป็นอย่างยิ่ง

          หลวงพ่อไวย์  เป็นคนสุภาพ  นุ่มนวล  อ่อนโยน  เรียกพระหนุ่มและเณรในวัดของท่านว่า  “ลูก”  ทุกองค์  เป็นพระนักเทศน์มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้ใครในภูมิภาค  มีพระนักเทศน์ในตัวเมืองอยุธยา อ่างทอง และกรุงเทพฯ ไปมาหาสู่มิได้ขาด

          สามเณรวัดบางซ้ายในรุ่นข้าพเจ้ามีไม่น้อยกว่า ๒๐ องค์  เพราะหลวงพ่อไวย์มีโครงการจัดการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี  จึงรับสามเณรเข้าสำนักไว้มาก  พระหลวงตาในวัดนี้ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน  ส่วนพระหนุ่มนั้นจะมีมากเฉพาะในช่วงเวลาเข้าพรรษา  โดยมีลูกหลานชาวบ้านในตำบลบางซ้าย-เต่าเล่าบวชเอาพรรษา  เมื่อออกพรรษารับกฐินแล้วส่วนใหญ่ก็จะลาสิกขาไปทำนาตามวิถีชีวิตเกษตรกร  ที่จะอยู่ศึกษาเล่าเรียนต่อนั้นมีเป็นส่วนน้อย

          นอกจากเลี้ยงเณรไว้มากแล้ว  หลวงพ่อไวย์ยังเลี้ยงหมา (สุนัข) ไว้มากพอ ๆ กับเณรเลยทีเดียว  หมาวัดนี้ส่วนใหญ่เป็น  “หมาขี้เรื้อน”  เสียด้วย   หมาขี้เรื้อนกับเณรไม่ค่อยจะถูกกันนัก  เพราะหมามันทำท่าหยิ่งยามอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อ  ยามเมื่อหลวงพ่อไม่อยู่วัดรับนิมนต์ไปเทศน์หรือไปไหน ๆ พวกเณรจะพากันไล่เตะ-ตีหมาเป็นประจำ  ก็จะไม่ให้ไล่เตะไล่ตีเจ้าพวกขี้เรื้อนนั่นอย่างไรเล่า  เพราะนอกจากมันทำท่าหยิ่งยามอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อแล้ว  มันยังขี้บนสะพานตามหน้ากุฏิและหอสวดมนต์  พวกเณรต้องล้างขี้หมาทำความสะอาดไม่เว้นแต่ละวัน  พวกเราก็เกลียดมันน่ะซี

          มีอยู่คืนวันหนึ่ง  เป็นคืนข้างแรมเดือนสิบสองน้ำยังนองเต็มทุ่งบางซ้าย  อากาศค่อนข้างหนาวเย็นด้วยลมเหนือเริ่มโบกโบยมา   หมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งกำลังเบ่งขี้ตัวโก่งอยู่บนสะพานทางเดินไปศาลาการเปรียญ  ข้าพเจ้าเดินขึ้นมาจากโคกโบสถ์พบเห็นเข้าพอดี  ก็เลยเตะมันตกลงไปในน้ำ  แล้วรีบเดินเข้ากุฏิไปนอนฟังมันว่ายน้ำป๋อมแป๋มส่งเสียงครางหงิง ๆ ด้วยความสะใจ   สักครู่หนึ่ง ได้ยินเสียงคนพาเรือไปที่หมาขี้เรื้อนซึ่งกำลังร้องหงิง ๆ นั้น    ข้าพเจ้าแง้มหน้าต่างดูในความมืดสลัว  เห็นหลวงพ่อไวย์อุ้มหมาขี้เรื้อนขึ้นจากน้ำพร้อมกับพูดว่า    “โถ...หนาวแย่เลยนะลูก  ไอ้หน้าผีตัวไหนมันทำลูกตกน้ำนะ  ชิงผีเปรตมาเกิดแท้ ๆ...!”     เห็นการกระทำและได้ยินคำพูดของหลวงพ่อ แล้วสะอึก  ตั้งแต่วันนั้นมาข้าพเจ้าไม่รังแกหมาขี้เรื้อนและหมาทั่ว ๆ ไปอีกเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔มีนาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, กันยายน, 2565, 10:22:35 PM
(https://i.ibb.co/GnZwv1N/275943177.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณรูปภาพนี้จาก Internet

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖ –
          หลวงพ่อไวย์เป็นคนรักหมาที่หาคนเทียบเทียมได้ยากมาก  พวกข้าพเจ้าคิดเข้าใจกันเอาเองว่า  ระหว่างหมากับเณรลูกศิษย์นั้น  หลวงพ่อจะต้องรักหมามากกว่าเป็นแน่แท้เทียว

           “อีตูบ” หมาไทย เพศเมีย หางชี้ สีแดง ขนเกรียน ตำราไทยเขาว่า  หมาไทยแท้ต้องมีลักษณะเด่นชัด คือ   “หูตั้ง หางชี้ สีเดียว”   อีตูบ ผิดลักษณะหมาไทยตรงที่หูมันไม่ตั้งเท่านั้นเอง  มันเป็นหมาที่ฉลาดมาก  และเป็นหมาตัวเดียวในวัดนี้ที่ไม่เป็นขี้เรื้อน  และมันก็เป็นหมาตัวเดียวที่พวกข้าพเจ้าไม่เกลียด  ไม่รังแกมันทั้งต่อหน้าและลับหลังหลวงพ่อ   ใครจะไปเกลียดมันลงคอเล่าครับ  อีตูบมันประจบประแจงเป็นที่หนึ่ง   ยามหลวงพ่ออยู่มันก็จะทำหยิ่งแต่พองาม  ยามหลวงพ่อไม่อยู่มันจะทำตัวอ่อนน้อมสงบเสงี่ยมน่ารัก  ความดีของอีตูบประการหนึ่งที่พวกข้าพเจ้าชื่นชอบมาก  คือมันเป็น   “สัญญาณเตือนภัย”   ให้พวกข้าพเจ้าเป็นอย่างดียิ่ง  เพราะว่าหลวงพ่อไวย์เอากระดิ่งผูกห้อยคอมันไว้ลูกหนึ่ง  เวลาหลวงพ่อเดินไปไหนมาไหน  หรือ ตรวจการภายในวัด  อีตูบจะวิ่งนำหน้าบ้างตามหลังบ้าง  เขย่ากระดิ่งที่คอมันเสียงดังกริ๊ง ๆ ตลอดทาง

          ถ้าหลวงพ่ออยู่วัด  ตอนกลางคืนท่านจะเดินตรวจตราตามกุฏิทั้งวัด  เพื่อจะดูว่าลูกศิษย์ของท่านองค์ใดขยันท่องหนังสือ  องค์ใดขยันพูดคุย  องค์ไหนขยันเล่นและนอน  เมื่อรู้แล้วก็จะนำไปพูดยกย่องชมเชยและตำหนิติเตียนในที่ประชุมตามโอกาสอันควร  หลวงพ่อมักจะจับผิดลูกศิษย์ของท่านไม่ได้  เพราะในขณะที่พวกข้าพเจ้านั่ง-นอนคุย  เล่นกันเพลิน ๆ อยู่นั้น  พอได้ยินเสียงกระดิ่งกริ๊ง ๆ จากคออีตูบก็รู้ทันทีว่าหลวงพ่อมาแล้ว  ก็จะรีบแยกตัว  ส่งเสียงท่องหนังสือกันแจ้ว ๆ  ต้อนรับการเดินตรวจการของหลวงพ่อทุกครั้งเลย

          หมาดีอายุมักสั้น  เหมือนคนดีอายุมักไม่ยืนนั่นแหละครับ

          อีตูบครองชีวิตความเป็นหมาสาวของมันอยู่ได้ ๒ ปีเศษ  มันไม่เคยตั้งท้อง  ไม่เคยมีลูก  ไม่เคยเห็นมัน  “ติดสัด”  ช่วงเวลานั้นหลวงพ่อไวย์ไม่อยู่วัดเสียหลายวัน  อีตูบมีอาการเซื่องซึม  ข้าวปลาอาหารไม่ยอมกิน  นอนตาปริบ ๆ ทั้งวันทั้งคืนอยู่หน้ากุฏิของข้าพเจ้า (ซึ่งติดกับกุฏิหลวงพ่อไวย์) ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นอะไรไป  หลวงพ่อกลับจากภารกิจนิมนต์ในต่างถิ่น  พอเข้านั่งข้างประตูห้องหน้ากุฏิอันเป็นที่นั่งประจำแล้ว  แขกฆราวาสสองคนคือ  ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอบางซ้ายกับผู้กอง นายสิบและพลฯตำรวจอีก ๓ คนที่มารอพบอยู่  ก็เข้ากราบนมัสการ  ขณะที่คณะแขกนั่งสนทนากับหลวงพ่ออยู่นั้น  อีตูบรู้ว่าหลวงพ่อกลับมาแล้วมันดีใจมาก  รีบวิ่งจากหน้ากุฏิข้าพเจ้าเข้าหาหลวงพ่อ  แต่โยมปลิว  หนึ่งในกรรมการวัดจับตัวห้ามไว้  มันร้องดิ้นรนจะเข้าหาหลวงพ่อให้ได้  หลวงพ่อเห็นเช่นนั้นก็บอกโยมปลิวให้ปล่อยมัน  ครั้นโยมปลิวปล่อยตัวแล้ว  แทนที่มันจะรีบวิ่งเข้าหาหลวงพ่อ  มันกลับคลานช้า ๆ เข้าไป  พอเข้าถึงตัวหลวงพ่อก็เอาคางของมันเกยตักหลวงพ่อแล้วนอนหลับตานิ่ง  หลวงพ่อเอามือลูบหัวมันด้วยความเมตตา

          อีตูบนอนนิ่ง  และนอนหลับตลอดชีวิตของมัน  หลวงพ่อน้ำตาไหลพรากเมื่อรู้ว่าอีตูบสิ้นใจตายเสียแล้ว!

          แขกคนสำคัญของหลวงพ่อ และใคร ๆ ที่อยู่ใกล้ได้พบเห็นเหตุการณ์นั้นต่างเงียบงัน  บางคนน้ำตาซึม  พากันคลานออกจากกุฏิหลวงพ่อทีละคนจนหมด

          พวกข้าพเจ้าได้สตางค์จากศพอีตูบคนละหลายบาท  เพราะหลวงพ่อไวย์จัดการศพอีตูบเหมือนจัดการศพคน  ผิดกันเพียงตรงที่หลวงพ่อให้นิมนต์เณรทั้งวัดสวดศพอีตูบ.


                         “หมากรุกไทยในวัด”

          ดูเหมือนจะเป็นความจริงที่ว่า  “วัดไหนไม่มีหมากรุกวัดนั้นเงียบเหงา”  โบราณไทยท่านว่า  “หมากรุกหัวแตก หมากแยกควายหาย”  หมายความได้ว่า  คนเล่นหมากรุกมักจะเกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อยและตีกันจนหัวแตกก็ได้  หมายความว่า  คนเล่นหมากรุกจะทำให้ความคิดแตกแยกหรือแตกฉาน  ปัญญาเฉลียวฉลาด   ไม่โง่เหมือนควายก็ได้    ส่วนคนเล่นหมากแยกนั้นถ้าเล่นในยามเลี้ยงควาย  ควายมักจะหายเพราะเล่นเพลินจนลืมดูแลควายก็ได้    มีคำเป็นปรัชญาในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายเซ็นกล่าวว่า   “มีหมากรุกควรเดินบ้าง  เพื่อจางในศาสตราการฆ่าฟัน”   คำนี้ช่างให้ความหมายได้ลึกซึ้งดีแท้
 
          วัดในเมืองไทยส่วนมากจะมีหมากรุกไทย  และพระเณรกับเด็กวัดส่วนมากก็จะเล่นหมากรุกเป็น  วัดบางซ้ายในของข้าพเจ้าก็มีหมากรุกไทย  หลวงตาหลายองค์เป็นเจ้าของกระดานหมากรุก  แม้หลวงพ่อจะห้ามเล่นหมากรุก  พวกข้าพเจ้าก็แอบเล่นกันเป็นประจำ  ดูเหมือนว่าหลวงพ่อท่านจะห้ามเฉพาะพระหนุ่มและเณรน้อยใหญ่ไม่ให้เล่นหมากรุก  ส่วนพระหลวงตานั้นท่านไม่ได้ห้าม  อาจจะเป็นเพราะว่าท่านเห็นใจพระหลวงตา  จึงเปิดช่องให้เล่นหมากรุกแก้เหงาได้บ้าง (ข้าพเจ้ามารู้ภายหลังว่าหลวงพ่อไวย์เป็นนักเล่นหมากรุกมีฝีมือระดับต้น ๆ ของวัดสระเกศ)  พวกข้าพเจ้าไม่โง่พอที่จะเล่นหมากรุกกันลำพังพระหนุ่มและเณร  ทุกครั้งที่เล่นจะต้องมีหลวงตาเจ้าของกระดานนั่ง  “หน้าแป้น”  เป็นเครื่องเกรงใจหลวงพ่อไวย์อยู่ด้วย  และพระเณรประเภท  “ลูกคุณช่างฟ้อง”  ก็ไม่มี   พวกข้าพเจ้าจึงแอบเล่นหมากรุกกันอย่างสบายใจเฉิบ

          พูดแล้วอย่าหาว่าคุย  ข้าพเจ้าเป็นนักเล่นหมากรุกมีฝีมือระดับแนวหน้าคนหนึ่งของวัด  เพราะเล่นมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กวัดแล้ว  พระหลวงตาที่เล่นเก่ง ๆ น่ะข้าพเจ้าไม่กลัวหรอกครับ  เณรหนุ่มอย่างข้าพเจ้าเล่นหมากรุกแพ้หลวงตาก็ผิดไปละ

          การเล่นหมากรุกจะให้สนุกก็ต้องมีการ  “โกง”  กันบ้าง  พระหลวงตาทั้งหลายถูกข้าพเจ้าหลอกล่อ  ยกเรือข้ามเบี้ยซะบ้าง  เดินม้าตาโป่ง รุกฆาตซะบ้าง  เดินโคนแบบขุนซะบ้าง   เดินเบี้ยคว่ำแบบเบี้ยหงายซะบ้าง  แอบเพิ่มเบี้ยเข้ามาซะบ้าง  พอหลวงตาจับได้ก็ยกมือไหว้กล่าวคำขอโทษ  ท่านก็ไม่ถือสาหาความอะไร  หลวงตามักจะเงอะงะงุ่มง่าม  ดูหมากไม่ทั่วกระดาน  ถูกข้าพเจ้าเล่นโกง ๆ ให้ท่านพ่ายแพ้มาเสียนักต่อนักแล้วครับ

          มีโยมวัดคนหนึ่งแก่ชื่อตาฉาว  ชอบใช้เวลาว่างเข้าวัดเล่นหมากรุกกับพระเณร  เดิมทีนั้นแกเล่นหมากรุกเก่งพอสมควร  แต่ความชราทำให้นัยน์ตาฝ้ามัว  การตัดสินใจเชื่องช้า  ดูหมากไม่ทั่วกระดาน  จึงกลายเป็น  “คู่ซ้อม”  คนหนึ่งของข้าพเจ้า  และแกก็ชอบเล่นกับข้าพเจ้าเสียด้วย   เพราะข้าพเจ้าเล่นกับแกแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย  เอาชนะแกไม่มากนัก  ชนะอย่างหวุดหวิดบ้าง  เสมอบ้าง  แพ้แกอย่างหวุดหวิดบ้างแกก็เลยชอบใจ

          วันหนึ่ง  โยมฉาวนั่งเล่นหมากรุกกับข้าพเจ้าตามปกติ  หลังจากแพ้ข้าพเจ้าไปหลายกระดานแล้ว   เณรแถม ซึ่งเป็นเณรมีอายุรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าก็เข้าร่วมวงด้วย  เขาช่วยโยมฉาวเล่นรุมข้าพเจ้า  เณรแถมมีฝีมืออยู่ในขั้น  “อ่อนหัด”  มือไวใจเร็ว  พอเข้านั่งข้างโยมฉาวก็จับตัวโน้นเดินตัวนี้วุ่นวายไปหมด  โยมฉาวห้ามไม่ค่อยทัน  บางครั้งโยมฉาวจับตัวหมากได้ยังไม่ทันวางลงในตาที่จะเดิน  เขาก็คว้าข้อมือไว้ร้องห้าม   “อย่าเพิ่งวาง  ต้องวางตานี้”   โยมฉาวก็ต้องวางตามใจ

          เล่นกันถึงกระดานหนึ่งนั้น  หมากข้าพเจ้าเป็นรองจวนเจียนจะแพ้อยู่แล้ว  เพราะถูกเณรแถมกับโยมฉาวกินเสียเกือบจะหมดตัว   บังเอิญขุนของฝ่ายโยมฉาวตั้งอยู่ในตาอับ  ถ้าข้าพเจ้ารุกด้วยม้าก็จะจนทันที  แต่ม้าข้าพเจ้ารุกไม่ได้  เพราะมีโคนของเขายืนกันท่าอยู่   ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีหลอกล่อ  เอาเรือไปวางให้โคนขยับกินฟรี  ถ้าเขาขยับโคนมากินเรือข้าพเจ้า  ม้าก็จะรุกได้ทันที   แผนตกเบ็ดหรือแผนล่อเหยื่อของข้าพเจ้าได้ผล  พอวางเรือปุ๊บ  เณรแถมก็รีบคว้าโคนกินเรือปั๊บ  โยมฉาวเห็นอยู่แล้วแต่ห้ามเณรแถมไม่ทัน  จะขอเดินใหม่ก็ไม่ได้  เพราะเรามีกติกา “จับตัววางตาย”  ในการเล่น   โยมฉาวโมโหเณรแถมมาก  ยกมือเกาหัวแกรก ๆ พร้อมปล่อยคำผรุสวาท (คำหยาบ) ออกมาดัง ๆ ว่า

           “ แหม...ไอ้เณรนี่มัน เซ่อ โง่ บ้า ฉิบผายเลย หมากเราชนะอยู่แท้ ๆ”

          จึงเป็นอันว่าวันนั้นเราเล่นกันได้แค่นั้น  โยมฉาวรู้ตัวว่าเผลอด่าเณรจนกลายเป็นการทำบาปแบบไม่รู้ตัวไปแล้ว  ก็รีบลากลับบ้านด้วยความละอาย  คำด่าของโยมฉาวที่ว่า “เซ่อ โง่ บ้า ชิบผาย”  กลายเป็นคำด่าฮิตติดปากพระเณรในวัดบางซ้ายในไปนานวันทีเดียวครับ./

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กันยายน, 2565, 10:27:47 PM
(https://i.ibb.co/kx6yhP9/slide1.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณรูปภาพนี้จาก Internet

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
         ~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗ -
          หลวงตาองค์หนึ่งชื่อ  “เบี้ยว”  เป็นพระผู้เฒ่าที่มีอายุพรรษาสูงที่สุดในวัดบางซ้ายใน  อายุท่านอยู่ในรุ่นเดียวกับหลวงตาโต  หลวงตาเปลี่ยน  หลวงตาพัน  แต่พรรษาท่านแก่กว่า  เพราะบวชตั้งแต่เป็นหนุ่มอายุครบบวชไม่เคยสึก  เหตุที่ท่านบวชไม่สึกเห็นจะเป็นเพราะว่าท่านเป็นคนพิการ  มีแขนข้างซ้ายคดงอหรือที่เรียกกันว่า  “แขนคอก”  ซึ่งเป็นมาแต่เกิดแล้ว  ส่วนหลวงตาองค์อื่น ๆ บวชตอนมีเมียมีลูกมีหลานแล้ว  อาวุโสทางพระวินัยจึงมีน้อยกว่าหลวงตาเบี้ยว  ในบรรดาพระหลวงตานั้น  หลวงตาเบี้ยวมีฝีมือการเล่นหมากรุกเก่งกว่าเพื่อน  พวกเรายอมยกให้ท่านเป็น  “แชมป์  ”หมากรุกในวัดนี้  ข้าพเจ้ากับเพื่อนมักจะขอ  “ต่อแต้ม”  กับท่านบ่อย ๆ

           “ต่อแต้ม”  เป็นภาษาในวงการเล่นหมากรุก  เห็นทีว่าจะมาจากการที่ผู้มีฝีมืออ่อนกว่าไปขอเล่นกับคนที่มีฝีมือสูงกว่า  โดยขอให้คนที่เก่งกว่านั้นลดจำนวนหมากให้  เช่น  ขอให้ตะแคงเรือ  คือให้ใช้เรือเดินแบบเบี้ยหงาย ๑ ลำบ้าง ๒ ลำบ้าง   ให้ลดเรือขาด  คือให้ยกเรือออกเสีย ๑ ลำ  ให้เหลือเพียงลำเดียวบ้าง  ลดเรือขาด ๒ ลำบ้า ง ดูตามความเก่งของท่านผู้นั้น

           “หมากรุกสู้ครู”   คำกล่าวนี้ไม่ผิดหรอกครับ  คนที่เล่นหมากรุกเก่ง ๆ ถ้าเล่นกับคนฝีมืออ่อนกว่าบ่อย ๆ แล้วความเก่งของผู้นั้นมักจะถอยน้อยลง  ผู้มีฝีมืออ่อนกว่าก็มักจะเก่งกล้าขึ้นจนสามารถเอาชนะผู้เก่งกว่านั้นได้  เหมือนคำปรัชญาของจีนที่ว่า  “คลื่นลูกหลังทยอยทับคลื่นลูกหน้า”   ข้าพเจ้าเล่นหมากรุกกับหลวงตาเบี้ยว  แรก ๆ ก็ขอให้ท่านลดเรือให้ ๑ ลำ  พอสามารถเอาชนะท่านได้บ่อย ๆ  ก็ให้เอาเรือที่ลดนั้นมาลงเป็นเบี้ยหงาย  ครั้นชนะท่านได้อีก  จึงให้ท่านใช้เรือ ๒ ลำ เต็มอัตราศึก  แสดงให้เห็นว่าฝีมือข้าพเจ้า  “สู้ครู”  ได้แล้ว

          ข้าพเจ้าชอบเล่นหมากรุกกับหลวงตาเบี้ยว  เพราะได้เรียนรู้แต้มเด็ด ๆ จากท่านหลายอย่าง  และที่สำคัญคือ  เดินหมากโกงท่านได้ง่าย  ก็คนแก่นี่  หลอกง่ายออกจะตายไปครับ

          คืนนั้น  ข้าพเจ้ากับเณรเชียรซึ่งก็เป็นนักเล่นหมากรุกฝีมือฉกาจในรุ่นหนุ่มด้วยกันทั้งคู่   ได้ร่วมมือกัน  “รังแกคนแก่”  โดยท้าหลวงตาเบี้ยวเล่นหมากรุกแบบเต็มกระดาน  ไม่มีการลดแต้มต่อแต้มแต่ประการใด  ท่านมีเลือดนักสู้อยู่เต็มตัวจึงรับคำท้าอย่างไม่ลังเล  พวกข้าพเจ้าเริ่มเล่นกันตั้งแต่เวลาประมาณ ๑ ทุ่ม  ผลัดกันแพ้-ชนะเป็นไปอย่างสูสี   ตอนแรก ๆ มีพระเณรนั่งล้อมวงดูกันเยอะ  ส่งเสียงเชียร์และแย่งกันเดินหมากอย่างสนุกสนานเฮฮา  ส่วนมากจะช่วยฝ่ายข้าพเจ้าโกงหลวงตาเบี้ยว  พอตกเวลาดึกพระเณรที่ช่วยโกงหลวงตาคงจะง่วงนอนจนหมดสนุก  จึงพากันหายไปทีละองค์สององค์  จนที่สุดเหลือแต่เพียงหลวงตาเบี้ยวกับเณรเชียรและข้าพเจ้า ๓ องค์เท่านั้น

          ยิ่งเวลาดึกมากหลวงตาเบี้ยวก็ยิ่งเล่นหมากแพ้มากขึ้น  เพราะนัยน์ตาท่านเริ่มพร่ามั  วอาจจะเป็นด้วยใช้สายตามากเกินไป และ ยังมีควันบุหรี่ที่ทั้งหลวงตาและพวกข้าพเจ้าสูบพ่นควันกันโขมง  รอบ ๆ ตัวและบนกระดานหมากรุกเต็มไปด้วยขี้เถ้าบุหรี่  ส่งกลิ่นเหม็นอบอวล  ทำให้แสบตา  หลวงตาเบี้ยวเป็นคนที่มีทิฐิมานะแรงกล้ามาก ยิ่งแพ้ท่านก็ยิ่งสู้ไม่ยอมเลิกรา  คงจะคิดว่า   “ยอมแพ้ก็อายเด็กมัน”  กระมัง   ถ้าจะเปรียบเป็นนักมวย  ตอนดึกมากนี่ท่านก็เหมือนแชมป์ขึ้นคานที่กลายเป็น  “กระสอบทราย”  ให้พวกข้าพเจ้าถลุงเล่นกันอย่างสนุกมือนั่นแหละครับ  พวกเราเล่นกันเพลิดเพลินจนยามวิกาลผ่านพ้นไปอย่างไม่รู้ตัว  หลวงตาเดินม้าไปวางตาริมกระดาน ข้าพเจ้าก็ยกเรือไปกดม้าหมายจะกินฟรี   เณรเชียรหัวเราะชอบใจพร้อมพูดเย้าหยอก

           “ไอ้ม้าแก่ตัวนี้กลายเป็นหมูไปแล้วหลวงตา”

          หลวงตาเบี้ยวหยิบเรือลำเดียวของท่านที่ยังเหลืออยู่ไปกดหลังม้าของท่าน (เป็นการผูกม้า) แล้วหัวเราะตอบด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง

           “นี่แน่ะหมู  ถึงเป็นหมูก็หมูเขี้ยวตันโว้ยไอ้เณร”

          ข้าพเจ้าได้ทีชักเบี้ยหงายกลับมาแยงไล่ม้าหลวงตาทันที

           “เขี้ยวตันรึเขี้ยวกลวงก็รู้กันทีนี้แหละหลวงตา”

          โดนเข้าตานี้หลวงตาเบี้ยวถึงกับผวาจับม้ายกขึ้นแล้วนั่งอึ้งไม่ยอมวาง

           “วางตรงไหน  วางตรงไหนหลวงตา  อย่าเดินตาโป่งนะ  ตายแหงแก๋”

          เณรเชียรกล่าวสำทับพร้อมหัวเราะเสียงร่วน   หลวงตาเบี้ยวค่อย ๆ วางม้าลงในตาเดิม  เห็นแล้วว่ายกหนีเบี้ยหงายของข้าพเจ้าไม่ได้  ถ้ายกหนีไปเสีย  เรือที่กดหลังม้าไว้ก็จะขาดลอย  ต้องถูกข้าพเจ้าใช้เรือกินฟรี

           “อ้าว...ไม่ไปแฮะ  ม้าสปริงโว้ย  ไหนล่ะว่าเป็นหมูเขี้ยวตัน เฮอะ ๆ!  มันไม่ใช่หมูเขี้ยวตันอะไรหรอกโว้ยเต็ม  กลายเป็นหะมาไปซะแล้ว”

          เณรเชียรหยอกเย้าด้วยความคะนองปาก  หลวงตาเบี้ยวมองหน้าเณรเชียรด้วยความเคียดแค้นตาขวางเชียว   ในขณะที่หลวงตากำลังตัดสินใจว่าจะเดินตัวไหนดีนั้น

                “หลวงตาไปกันเถอะ  เขาไปกันหมดแล้ว”

                ไอ้วัน  ศิษย์รักของหลวงตาเบี้ยวมาสะกิดเตือน

           “ไปเหร่อ  ไปได้ยังไงวะ  ก็เรือมันลอยมึงไม่เห็นเรอะ?”

          หลวงตาเบี้ยวถามงง ๆ เหมือนคนละเมอ

           “อ้าว ! ก็ไปบิณฑบาตกันซีครับ  ผมจัดเรือรอคอยอยู่นานแล้ว”

           “อ้อ งั้นเหร่อ...ฝากไว้ก่อนเถอะวะไอ้เณร”

          หลวงตาเบี้ยวลุกขึ้นเดินโซเซห่มจีวรโดยไม่มีการล้างหน้าล้างตารีบลงเรือออกบิณฑบาตทันที   ข้าพเจ้ากับเณรเชียรก็ล้างหน้าแปรงฟันห่มจีวรลงเรือออกบิณฑบาตเหมือนกัน

          การออกบิณฑบาตของพระเณรในวัดสองฟากฝั่งแม่น้ำนั้นไม่ต้องอุ้มบาตรเดินเหมือน  “พระเดินหน”  เพราะการคมนาคมในย่านนั้นเขาใช้เรือเป็นพาหนะ  เรือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเรือพาย  เรือแจว  และเรือยนต์  พระเณรบิณฑบาตก็ต้องใช้เรือพาย  เรือพายของพระเณรมีนั้น ๓ ลักษณะ  คือเรือแบบสำปั้นเล็ก ๑  เรือรูปแบบผสมเรือมาดและพายม้าไม่มีชื่อเรียก  เรือลักษณะนี้ชาวบ้านจะไม่ใช้  เพราะถือว่าเป็นเรือสำหรับวัดที่พระเณรและเด็กวัดเรียกกันว่า “เรือยาว” ๑    และเรือบดขนาดใหญ่และเล็ก ๑   เรือแบบสำปั้นและเรือบดนั้นจะตั้งวางบาตรและถ้วยโอสำหรับใส่อาหารคาวหวานไว้ข้างหน้า  พระหรือเณรนั่งกลางลำ  มีพระอาวุโสน้อยหรือเณร-เด็กนั่งพายท้าย  ส่วนเรือยาวนั้นจะมีเด็กนั่งพายตอนหัว ๑-๒ คน  แล้วตั้งบาตร ๑-๓ ลูกไว้หน้าพระ ๑ องค์กลางลำเรือ  มีถ้วยโอสำหรับใส่อาหารคาวหวานวางเรียงไว้เป็นกลุ่ม  และมีพระอาวุโสน้อยหรือเณร-เด็กนั่งพายท้าย

          คนใส่บาตรจะนั่งคอยพระอยู่บนหัวสะพานหน้าบ้านของตน  บางบ้านที่ใส่บาตรประจำ (เป็นขาประจำว่างั้นก็ได้) แม้คนจะไม่ลงมาคอยที่หัวสะพาน  พระเณรก็มักจะจอดเรือคอยจนกว่าจะมีคนถือขันข้าวลงมาใส่บาตร  หรือไม่ก็มีคนลงมาบอกว่า  “วันนี้ใส่บาตรไม่ทันแล้ว”  จึงจะพายเรือเลยไป

          การรับบิณฑบาตและใส่บาตร (หรือตักบาตร) นั้น  ผู้ใส่บาตรจะตักข้าวจากขันใส่ลงในบาตรที่ตั้งไว้ข้างหน้าพระในเรือ   ถ้าหัวสะพานอยู่สูงเกินที่คนจะก้มลงใส่บาตรได้  พระท่านก็จะใช้ฝาบาตรยื่นขึ้นไปรับข้าวจากคนใส่แล้วเทใส่บาตรอีกทีหนึ่ง   หรือไม่ก็ยกบาตรขึ้นรับข้าว   เรือบิณฑบาตของพระเณรจะพายเรียงตามลำดับอาวุโสของผู้บวชก่อน-หลัง  โดยถือเอาองค์ที่นั่งเป็นประธานในเรือเป็นสำคัญ  ไม่มีการรับบิณฑบาตตัดหน้ากันหรือข้ามอาวุโสเป็นอันขาด

          วัดบางซ้ายใน  เป็นวัดใหญ่  มีพระเณรมาก  เรือบิณฑบาตแบ่งเป็น ๒ สาย  คือสาย (ตำบล) เต่าเล่าทางทิศตะวันออกสายหนึ่ง   สาย (ตำบล) บางซ้าย ทางทิศตะวันตกสายหนึ่ง   ในแต่ละสายมีเรือไม่น้อยกว่าสายละ ๑๐ ลำ  พายสลับรับบิณฑบาตทั้งสองฝั่งลำน้ำ  พระที่มีอาวุโสสูงย่อมได้เปรียบในการรับบิณฑบาต เพราะคนใส่บาตรมักจะมีกับข้าวและของหวานใส่บาตรน้อยกว่าข้าวสุก  เรือพระลำหน้า ๆ จึงได้อาหารคาวหวานก่อนเรือลำหลั งๆ   ส่วนผู้มีอาวุโสน้อยพายเรืออยู่ข้างหลังมักจะได้ข้าวและกับข้าวเล็กน้อย  บางองค์ได้เพียงข้าวสุกเท่านั้น  จึงมีคำเล่ากล่าวกันว่า  “ข้างหน้ามั่งคั่ง ข้างหลังกินค.....”  นั่นแหละครับ

          คืนที่หลวงตาเบี้ยวกับข้าพเจ้าเล่นหมากรุกโต้รุ่งกันนั้น  ปรากฏว่า บ้านหลังแรกที่พระในสายของข้าพเจ้าไปรับบิณฑบาต (สายบางซ้าย) เป็นบ้านของโยมสม  ผู้มีอันจะกินซึ่งเป็นขาประจำ  พระเณรต้องไปจอดเรือคอยทุกวัน  พวกเราไปจอดเรือเรียงคอยกันอยู่ตามเคย  หลวงตาเบี้ยวเป็นผู้อาวุโสสูงสุดของพระสายนี้จึงจอดเรือสำปั้นเล็กของท่านรอคอยอยู่ที่หัวสะพานเลยทีเดียว  วันนั้นคนในบ้านโยมสมตื่นสายผิดปกติ  หลวงตาเบี้ยวจอดเรือรอคอยนั่งหลับตานิ่งเหมือนเข้าฌาน  ไอ้วันจับเสาสะพานไว้ไม่ให้เรือลอยออกห่างหัวสะพาน  คุณระเบียบสาวรุ่นวัยขบเผาะ  หลานสาวโยมสมถือขันข้าวลงมาที่หัวสะพานใส่บาตรแทนโยมสม   เธอยกขันข้าวขึ้นจบเหนือหัวตามประเพณี  ตักข้าวจะใส่บาตร  หลวงตาเบี้ยวนั่งนิ่งไม่เปิดฝาบาตรสักที  จนคุณระเบียบต้องร้องเตือน

           “เปิดซี่หลวงตา”

           “เปิดไม่ได้โว้ย  เรือลอย”  หลวงตานั่งหลับตาตอบ

          ไอ้วันเห็นท่าไม่ดีจึงเอาพายกระแทกพื้นเรือกระตุ้นเตือนให้หลวงตารู้สึกตัว  หลวงตาเบี้ยวรู้สึกตัว  ได้สติแล้วเปิดฝาบาตรช้า ๆ ให้คุณระเบียบใส่บาตรด้วยอาการเขิน ๆ  ฝ่ายคุณระเบียบก็ใส่บาตร ๓ ทัพพีด้วยอาการงวยงง  เพราะไม่รู้เบื้องหลังของคำว่า  “เปิดไม่ได้โว้ย  เรือลอย”   ที่หลวงตาโพล่งออกมา

          คำพูดของหลวงตาเบี้ยวที่ว่า  “เปิดไม่ได้  เรือลอยโว้ย”  นั้น  กลายเป็นเรื่องขำขันในวงสนทนาของพระเณรและญาติโยมเป็นเวลานานวันทีเดียว   หลวงตาเบี้ยวได้เปิดเผยถึงที่มาของคำพูดนั้นว่า  เช้าวันนั้นท่านง่วงมาก  เพราะไม่ได้นอนทั้งคื น ขณะจอดเรือรอรับบิณฑบาต  ท่านก็นั่งหลับและฝันไปว่าเล่นหมากรุกกับเณร   ถึงตาสำคัญที่ม้าของท่านถูกเรือเณรกดจะกิน  ท่านเอาเรือของท่านมาผูกไว้   แล้วเณรเอาเบี้ยหงายมาแยงม้าตัวนั้น  ท่านยกม้าหนีไม่ได้  เพราะเรือของท่านที่ผูกม้านั้นก็เป็น  “เรือลอย”   ไม่มีตัวผูก  ถ้ายกม้าหนี  ก็จะถูกเรือเณรกินเรือของท่านฟรี  ครั้นไม่ยกม้าหนีก็จะถูกเบี้ยหงายเณรกินม้าตัวนั้น     ขณะที่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดีนั้นก็ได้ยินเสียงบอกให้เปิดบาตร  เข้าใจว่ามีเสียงบอกให้เปิดม้าหนีเบี้ยไป  ท่านจึงโพล่งออกมาว่า   “เปิดไม่ได้โว้ย  เรือลอย...”/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖  มีนาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, กันยายน, 2565, 11:47:23 PM
(https://i.ibb.co/MCN5Wfj/156821-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
         ~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘ –
          เรื่องขำขันในวงการหมากรุกมีมากมาย  คุยกันไม่รู้จักจบสิ้น  คนที่เล่นหมากรุกเป็นแล้วจะรู้รสชาติของมันว่าเป็นอย่างไร  สนุกตื่นเต้นเร้าใจอย่าบอกใครเชียวครับ  สถานที่เล่นหมากรุกที่สนุก ๆ ของข้าพเจ้ามี ๒ แห่ง  คือที่วัดบางซ้ายในกับวัดมฤคทายวัน หรือรางเนื้อตาย  ข้าพเจ้ามักเดินทางกลับไปพักผ่อนที่วัดเดิมคือรางเนื้อตาย  ซึ่งอยู่กลางทุ่งนาอันกว้างใหญ่  หน้าแล้งน้ำแห้งเดินไปไหนมาไหนได้สะดวกสบาย  ไม่ต้องใช้เรือพายเหมือนที่บางซ้าย  แต่หน้าน้ำก็ต้องใช้เรือพาย  เพราะน้ำท่วมทุ่งเต็มไปหมดเลย

          ครูฉิ่ง  เป็นครูโรงเรียนวัดรางเนื้อตาย แกชอบเล่นหมากรุกมากที่สุด  มีชั่วโมงว่างการสอนและพักเที่ยงวัน  ครูจะหลบจากศาลาวัดที่เป็นโรงเรียนเข้ากุฏิพระเล่นหมากรุกกับพระเณร  ข้าวกลางวันก็ไม่ยอมกิน  บางวันเล่นเพลินจนครูใหญ่ต้องให้เด็กมาตามไปสอนนักเรียน   วันปิดเรียนครูก็มักหนีภรรยาเข้าวัดเล่นหมากรุกกับพระเณรเป็นประจำ โรงเรียนวัดรางเนื้อตายไม่มีอาคารเรียนเป็นของตนเอง  จึงอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นที่เรียน  วันโกนคือ ๗ ค่ำ ๑๔ ค่ำเปิดเรียนเพียงครึ่งวัน  วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ปิดเรียนเพื่อใช้ศาลาเป็นที่ทำบุญของญาติโยม  การหยุดเรียนวันโกนวันพระนับเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธที่น่าชื่นชม  ซึ่งปัจจุบันไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว  เพราะถูกวันสำคัญของคริสต์ ที่อ้างว่าเป็นสากลเข้ามากลืนกินไปเสียสิ้น

          วันโกนหนึ่ง  ครูฉิ่งปล่อยนักเรียนกลับบ้านแล้วก็เข้ากุฏิหลวงตาเปรม  กระแซะข้าพเจ้าที่กำลังนั่งเล่นหมากรุกกับหลวงตาเปรมอยู่  ชี้บอกให้ข้าพเจ้าเดินหมากบ้าง  แย่งเดินหมากบ้าง  พร้อมกับพูดจายั่วยวนจนหลวงตาเปรมรำคาญ

         “แน่จริงก็เข้านั่งหน้าแป้นซีวะไอ้ครู”  หลวงตาเปรมร้องท้าครูฉิ่ง      
            
         “ได้เลยหลวงตา  เณรเต็มถอยออกไป”   ครูฉิ่งรับคำท้า  

          ข้าพกระเถิบออกนั่งริมกระดานให้ครูฉิ่งเข้านั่งหน้าแป้นแทน  หลวงตาเปรมเดินหมากรุกไม่เก่งเท่าไหร่หรอก  แต่เป็นคนเสียงดัง  ชอบพูดข่มขู่คู่ต่อสู้   ฝีมือครูฉิ่งก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันกับหลวงตาเปรมนั่นแหละครับ

          วันนั้นหลวงตาเปรมนั่งโขกหมากรุกกับเณรเต็มมานานแล้ว  สมองชักจะมึน ๆ เพราะการเล่นที่ผ่านมานั้นหลวงตาแพ้เสียเป็นส่วนมาก  พอมาเล่นกับครูฉิ่งจึงมีแต่แพ้กับเสมอเท่านั้น

              “รุกแม่มันเข้าไป”   หลวงตาโขกหมากรุกลงกระดานแรง ๆ พร้อมกับส่งเสียงสำทับดัง ๆ หลังจากถูกครูฉิ่ง  “โขลก”  เสียย่ำแย่

           “รุกแม่มันเข้าไป  ไอ้ครูมันจะแน่ซักแค่ไหนวะ”   ทุกครั้งที่หลวงตาเปรมรุกขุนของครูฉิ่ง  จะรุกด้วยม้าด้วยเรือด้วยโคนหรือแม้แต่เบี้ย   ท่านจะต้องใช้คำเดียวกันนั้นกำกับการรุกด้วยทุกครั้งไป  แรก ๆ ครูฉิ่งได้ฟังคำกำกับการรุกของหลวงตาเปรมแล้วก็หัวเราะร่วน  พอเล่นไปหลายกระดานเข้า  ครูฉิ่งเริ่มมีอาการหูแดง  หน้าแดงด้วยพิษสงของความโมโหโทโสตามประสาปุถุชน    อันการเล่นหมากรุกนั้น  มีความโมโหโทโสเป็นทูตแห่งความพ่ายแพ้  ใครโมโหง่าย  โกรธง่าย  ก็พ่ายแพ้คู่ต่อสู้ง่าย  เพราะความโมโหโทโสมันทำให้หูอื้อตามัวความคิดตื้อตัน  ทำให้เดินหมากผิดพลาดไปหมด   ครูฉิ่งก็เช่นกัน  พอถูกหลวงตาเปรมรุกไปด่าแม่ไป  อารมณ์โมโหโทโสก็เกิดขึ้น  ครั้นจะด่าตอบไปก็ด่าไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระ  และยังมีฐานะเป็นพี่ชายของหลวงพ่อแปลกสมภารวัดด้วย   ครูฉิ่งเดินหมากด้วยการกระแทกตัวหมากรุกลงกระดานแรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการระบายโทสะ  แล้วครูก็ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หลวงตาเปรมมากขึ้น   “รุกแม่มันเข้าไป  ไอ้ครู”   หลวงตารุกแล้วตามด้วยคำเดิม

           “รุกหยั่งทั่นนั่นแหละ”  ครูฉิ่งกระแทกหมากรุกตอบอย่างเหลืออด

           “รุกหยั่งกูน่ะ  รุกยังไงวะไอ้ครู”  หลวงตาเอียงคอถามยียวน

           “อ้าว...ก็ทั่นรุกแม่ผม  ผมก็รุกโยมแม่ทั่นบ้างน่ะซี”  ครูฉิ่งตอบพร้อมจ้องหน้าหลวงตาเปรมอย่างสะใจ

           “ยังงี้มันหาเรื่องเตะกันนี่หว่า  ใช่มั้ยไอ้เณร”   หลวงตาหันมาถามข้าพเจ้า

           “เอ๊า...พ่อคุณ  จะแดกข้าวหรือแดกหมากรุก”  ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะตอบหลวงตาเปรมก็มีเสียผู้หญิงดังแหวขึ้น

           พี่ละอองภรรยาครูฉิ่งนั่นเอง  เข้ามาขัดจังหวะ  ก่อนที่หลวงตาเปรมกับครูฉิ่งจะต่อยตีกัน  วงหมากรุกจึงแตกก่อนที่จะมีใครหัวแตก ครับ

                          ..........................................

          ยังมีคู่ปรับหลวงตาเปรมในวงหมากรุกสนามวัดรางเนื้อตายอีกคนหนึ่ง  คือ เณรชุบ  คนที่พวกเราเรียกเขาว่า  “ไอ้โฉ่”   มีฝีมือในระดับปานกลาง  แต่ฝีปากในการพูดยั่วเย้าคู่ต่อสู้ของ  “ไอ้โฉ่”  เหลือร้ายนักเชียว

          วันนั้นเณรชุบเข้านั่งหน้าแป้นโจ้หมากรุกกับหลวงตาเปรมอยู่ที่มุมเฉลียงหอสวดมนต์  ด้วยลีลาการเล่นเช่นเดียวกันกับหลวงตา  คือเดินหมากไปใช้เสียงข่มขู่ไป

           “จะไปทางไหนไอ้(ห)ม้าแก่”  เณรชุบทิ่มเบี้ยไล่ม้าพร้อมร้องถาม

           “จะไปไหนไอ้โค(น)เฒ่า”  เอาเม็ดแยงโคนแล้วร้องถามอย่างย่ามใจ

           “รุกเข้าไปไอ้ขุนเปรมชรา”  เณรชุบคุกคามหนักเข้าไปอีก

           “เออ...ไม่ถึงทีมึงบ้างก็แล้วไปวะไอ้โฉ่”

          หลวงตาเปรมเดินขุนหนีพร้อมกล่าวคำอาฆาต  เณรชุบหัวเราะร่วนแล้วพูดเกทับไปต่าง ๆ นานาเป็นการยั่วโทสะ  พอหลวงตาเปรมโมโหก็เดินหมากเปะปะ  เณรชุบจึงเอาชนะได้อย่างสบาย

           “นี่แน่ะ  รุกแม่มันเข้าไป  ไอ้เณร”   หลวงตาได้ทีรุกบ้าง

           “โฮ่ย...รุกยังงี้หนีสบายมาก  รุกทำไมให้เสียแรงเปล่า”  เณรชุบพูดยั่วเมื่อถูกหลวงตาเปรมรุกบ้าง  

          ยามหลวงตาเปรมจับม้าหมากรุกยกขึ้นสูงค้างอยู่นานไม่ยอมวาง  เณรชุบก็จ้องมองตาหมากในกระดานด้วยกลัวว่าหลวงตาจะโกง  โดยวางม้าเอาตามใจชอบ  ซึ่งเป็นวิธีการโกงหมากรุกอีกอย่างหนึ่ง   แต่แทนที่หลวงตาเปรมจะวางม้าลงในตาใดตาหนึ่ง  ท่านกลับกระแทกหมากรุกลงบนหัวเณรชุบเสียงดังโป๊ก!   เณรชุบนั่งงงเป็นไก่ถูกเดือยตาแตก  หัวแตกเลือดไหลอาบแก้มแดงเถือกกองเชียร์ซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า  พากันตกตะลึงจังงัง  นึกไม่ถึงว่าหลวงตาเปรมท่านจะทำกับเณรชุบอย่างนั้น  เมื่อหายจากการตกใจแล้วจึงช่วยกันห้ามเลือด  ข้าพเจ้าช่วยเช็ดเลือด  หลวงพี่เจียมเอายาแดงมาใส่แผลให้  เณรไหวเอาผ้าจีวรเก่า ๆ ที่ไม่ใช้แล้วมาฉีกเป็นริ้วพันแผลให้

          หลวงตาเปรมกลับเข้ากุฏินั่งซดน้ำชาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

          เณรชุบออกเดินบิณฑบาตไม่ได้หลายวัน  เพราะอายญาติโยม  ด้วยข่าวการเล่นหมากรุกเลือดที่หลวงตาเปรมทำตามตำราที่ว่า  “หมากรุกหัวแตก”  เป็นข่าวดังไปทั้งตำบลเลย

          เรื่องหลวงตาเปรมเอาม้าหมากรุกโขกหัวเณรชุบแตก  ไม่เป็นคดีความอะไร  เพราะหลวงตาเปรมเป็นพระพี่ชายของหลวงพ่อแปลกผู้เป็นสมภารวัดนี้  จึงเป็นที่กรงอกเกรงใจพระเณรและญาติโยมพอสมควร  และดูเหมือนเณรชุบจะรู้ว่าตนเองเป็นฝ่ายผิดที่กล่าวคำพูดล่วงเกินหลวงตาเปรมรุนแรงเกินไป  เขาจึงเป็นฝ่ายเงียบ  พวกเรา (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) มีความเห็นเข้าข้างหลวงตาเปรม  ไม่ใช่เพราะหลวงตาเป็นพี่ชายหลวงพ่อแปลกหรอกครับ   แต่เพราะพวกเราเห็นว่า  “ไอ้โฉ่”  คือเณรชุบนั่น  กระเซ้าเย้าแหย่หลวงตาเปรมหนักข้อเกินไป  อย่างคำว่า  “รุกเข้าไปไอ้ขุนเปรมชรา”  อย่างนี้   หลวงตาเปรมไม่โกรธก็ผิดความเป็นปุถุชนไปละ

          เณรชุบไม่กล้าเล่นหมากรุกกับหลวงตาเปรมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา  ใคร ๆ คะยั้นคะยอให้เล่นอย่างไร  เขาก็ไม่ยอม  คงจะเข็ดจนตายแหละครับ./

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗  มีนาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กันยายน, 2565, 10:50:29 PM
(https://i.ibb.co/Z6SV2sc/610526-01-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙ -
          เป็นนักสวดศพ (ผี)

          ข้าพเจ้าเรียนและสอบได้เป็นนักธรรมชั้นโทแล้ว  เณรไหวสอบนักธรรมชั้นเอกตกแล้วหมดอาลัยใน  “ดงขมิ้น”  จึงลาสิกขาออกไปทำนาตามสถานะเดิม  ข้าพเจ้ายังสนุกสนานอยู่ใน  “ดงขมิ้น”  ไม่สิ้นอาลัย  การเขียนหนังสือของข้าพเจ้าลายมือสวยงามไม่อายเพื่อนฝูงแล้ว  วิทยฐานะนักธรรมชั้นโทในบ้านนอกสมัยนั้นจัดอยู่ในระดับสูงพอควร  สมภารวัดบ้านนอกส่วนมากมีวิทยฐานะเป็นแค่นักธรรมชั้นตรีเท่านั้นเอง  ข้าพเจ้าเป็นเณรนักธรรมโท  จึงมีวิทยฐานะสูงกว่าสมภารในอำเภอบางซ้ายหลายวัดทีเดียว  แถมยังเป็นลูกศิษย์ข้างกุฏิเจ้าคณะอำเภอเสียอีก  พระสมภารทั้งหลายจึงพากันนิยมยกย่องเณรเต็มมากเป็นพิเศษ   พระเณรทุกวัดที่มีวิทยฐานะต่ำกว่าก็ให้ความยำเกรงนับถือเณรเต็มไม่น้อย  จะไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย  แม้พระเณรที่มีวิทยาฐานะนักธรรมโทเท่าก็ยำเกรง  เพราะเณรเต็มสอบได้เป็นอันดับที่ ๑ ของอำเภอ  และเป็นศิษย์ใกล้ชิดเจ้าคณะอำเภอ  บางครั้งข้าพเจ้าก็อด “กร่าง” ไม่ได้เหมือนกัน

           “ลูก (ศิษย์) สมภารหลานเจ้าวัด”  ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ

          คนบ้านนอก (จะเรียกว่าชนบทหรือภูธรก็ตามใจ) เวลามีการตายเกิดขึ้น  เขานิยมจัดพิธีศพที่บ้านผู้ตาย  โดยนิมนต์พระภิกษุสามเณรไปสวดศพที่บ้าน  กำหนดวันสวดว่ากันไปตามฐานะ  คนมีฐานะไม่ดีและมีญาติน้อยก็จะตั้งศพสวดเพียง ๓ คืนเป็นอย่างมาก  ถ้ามีฐานะดีและญาติมากก็มักจะตั้งศพสวดถึง ๗ คืน  เสร็จแล้วจึงนำศพไปเผาที่วัดกันตามธรรมเนียม  วันเผาศพก็จัดพิธีที่วัดก่อนเผา  ถ้าคนมีฐานะดีก็ให้มีเทศน์แจง ๑ ธรรมาสน์บ้าง ๓ ธรรมาสน์บ้าง  เป็นแจงธรรมดามีพระนั่งอันดับสวดแจงตั้งแต่ ๕๐ องค์ขึ้นไปบ้าง  เป็นแจงห้าร้อย คือมีพระนั่งอันดับสวดแจง ๕๐๐ องค์บ้าง   คนมีฐานะไม่ดีก็จัดเพียงให้มีเทศน์อานิสงส์หน้าศพ  มีพระสวดมาติกาบังสุกุลเท่านั้น   การเทศน์อานิสงส์หน้าศพภาษาชาววัดเขาเรียกกันว่า   “อานิสงส์แซงแซว”   ที่มาของคำว่า  “อานิสงส์แซงแซว”  ก็คือคัมภีร์เทศน์ (ใบลาน) คัมภีร์หนึ่งสำหรับพระอ่านเทศน์หน้าศพมีชื่อว่า  “อานิสงส์การเผาศพ”  ใจความพรรณนาว่าการเผาศพคนตายมีญาติหรือไม่มีญาติก็ตาม  ผู้เผาศพย่อมได้อานิสงส์ (ผลตอบแทน) มีเป็นอเนกประการ  ถ้าเผาศพไม่มีญาติได้อานิสงส์มากกว่าศพมีญาติ  อย่าว่าแต่เผาศพคนด้วยกันเลย  เคยมีคนยากจนคนหนึ่งเห็นนกแซงแซวนอนตายอยู่ข้างทางเดิน  เกิดจิตเป็นกุศลขึ้นจึงทำการเผาซากนกแซงแซวตัวนั้น  ครั้นเขาถึงกาลสิ้นชีพแล้ว  ก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร  ด้วยอานิสงส์แห่งการเผาซากศพนกแซงแซวนั้นแล

          คัมภีร์เทศน์งานศพนี้แหละครับ  เป็นภาษาสแลงที่พระท่านเรียกกันว่า  “อานิสงส์แซงแซว”  พระเทศน์ที่ใช้ปฏิภาณโวหารของตนเองไม่ได้  ก็จะใช้คัมภีร์ใบลานที่ว่านี้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ  พระบางองค์ท่านเป็นคนประเภท  “เถรตรง”  อ่านหมดทุกตัวอักษรที่มีอยู่ในใบลานนั้น  ไม่ว่าจะเป็นตัวพิมพ์หรือตัวเขียน    บางคัมภีร์จะมีชื่อคนสร้างคัมภีร์  คือบริจาคเงินซื้อคัมภีร์ถวายวัดแล้วเขียนชื่อผู้บริจาคเงินไว้ข้างหน้าคัมภีร์บ้าง  ข้างหลังบ้าง  ตามแต่สะดวกมือผู้เขียน

          หลวงตาเปรม  องค์เดียวกันกับผู้เล่นหมากรุกแล้วชอบด่าแม่คู่ต่อสู้นั่นแหละครับ  ท่านเป็นคนประเภท  “เถรตรง”  เคยเทศน์อานิสงส์แซงแซวปล่อยไก่ตัวเบ้อเริ่มเทิ่มเลย

          เรื่องก็มีอยู่ว่า  ในงานศพตาจ้อยผู้มีฐานะไม่สู้ดีนัก  แต่มีญาติมิตรมาก  ตายและเผาในช่วงเวลาที่พระผู้ใหญ่ในวัดติดกิจนิมนต์ที่อื่นหมด  เจ้าภาพก็เลยต้องนิมนต์หลวงตาเปรมซึ่งเป็นพระผู้มีอาวุโสสูงสุดในวัดยามนั้น  ให้เทศน์อานิสงส์หน้าศพตาจ้อย  หลวงตาเปรมท่านบวชตอนอายุมากแล้ว  ไม่เคยเทศน์มาก่อนเลย  ครั้นจะไม่รับเทศน์ก็อาย  ด้วยพระเณรและญาติโยมจะเยาะเย้ยว่าไม่มีความรู้ความสามารถ  ท่านจึงแข็งใจรับนิมนต์ขึ้นเทศน์

          ได้เวลาเทศน์  พระเณรผู้สวดมาติกาบังสุกุลลงไปนั่งอาสน์สงฆ์บนศาลาการเปรียญ  หลวงตาเปรมเดินตามสะพานไม้จากกุฏิไปศาลาการเปรียญ  ข้าพเจ้าดูลักษณะการเดินของท่านแล้ว  เห็นแกว่ง ๆ อย่างไรชอบกล  เข้าไปในศาลาแทนที่ท่านจะขึ้นหัวอาสน์สงฆ์กราบพระพุทธรูปที่เป็นประธานแล้วจึงขึ้นธรรมาสน์เทศน์   แต่หลวงตากลับเดินผ่านหน้าพระเณรและญาติโยมลิ่วไปขึ้นธรรมาสน์เทศน์เลยทีเดียว (อันนี้ผิดธรรมเนียมประเพณี)    พวกญาติโยมในศาลาก็ไม่มีใครทักท้วง  เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดอะไรกันนัก  บางพวกอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ  บางพวกอยู่ในอาการมึนเมาด้วย  “น้ำเปลี่ยนนิสัย”  (ก็คือสุราอันว่าเหล้านั่นแหละ)   พอหลวงตาเปรมขึ้นธรรมาสน์นั่งเรียบร้อยแล้ว  หัวหน้าทายกวันนั้นคือ   โยมอินทร์  ก็กล่าวนำกราบไหว้พระแล้วอาราธนาศีล ๕ ว่ากันตามศาสนพิธี   หลวงตาเปรมจัดพัด (ตาลปัตร) ขึ้นตั้งบังหน้าโดยหันด้านหน้าพัดเข้าหาตนเอง  หันด้านหลังออกไปทางญาติโยม  กล่าวคำให้ศีล  ตั้งนะโมเสียงสั่น ๆ ด้วยความประหม่า  ให้ศีลไปได้ถึงข้อ ๔ คือ  มุสาวาทาเวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ท่านก็กล่าวคำสรุปว่า  อิมานิ ปัญจะสิกขาปะทานิสีเลนะสุคะติงยันติ.... จบเอาดื้อ ๆ

          โยมฟ้อนซึ่งมีอดีตเป็นสมภารวัดเก่า  ฟังหลวงตาเปรมให้เบญจศีลไม่ครบ ๕ ข้อก็ทักท้วงขึ้นทันที

           “อีกข้อหนึ่งซี่หลวงตา”

          ท่านรู้ตัวทันทีว่าให้ศีลไม่ครบ ๕ ข้อ  ก็รีบกล่าวแก้ไขในฉับพลัน

           “เอาแค่สี่ข้อก็รักษาไว้ให้ได้เถอะวะโยม  ข้อที่ ๕ สุราเมรัยอย่าเอาไปเลย  มันรักษายาก”

          อย่างนี้เรียกว่าหลวงตาเปรมท่านแก้ตัวไปได้อย่าง  “น้ำขุ่น ๆ”  เลยทีเดียวครับ

          คนฟังที่พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็พากันหัวเราะฮาครืน  หลวงตาเปรมจึงเทศน์ในบรรยากาศที่คนฟังหัวเราะกันคิกคัก  เพราะนึกขำการแก้ตัวเรื่องการให้ศีลไม่ครบไปอย่างน้ำขุ่น ๆ   ฝ่ายหลวงตาก็เข้าใจว่าคนฟังหัวเราะเพราะชอบใจในการเทศนาของท่าน  ก็เลยอ่านคัมภีร์เทศน์อานิสงส์แซงแซวเสียงอ่อนเสียงหวาน (ทำนองเสนาะของการเทศน์) ผิดบ้างถูกบ้างไปตามเรื่อง  แล้วท่านก็ปล่อยไก่เอาตอนจบว่า

           “ดั่งที่...ได้..แส....ดง...มา...ก่อ..ซ้มควน...แก่เวลา.......ขอยุดติพระธัมมะเทดสะหนาลง..คงไว้..แต่เพียง...เถ่านี....เอ่..วัง..กิ่ม...นังสือผ่อยิ้ม....เค้าสร้าง....”    อันที่จริงการเทศน์ก็ต้องจบลงว่า   “เอวัง  ก็มีด้วยประการะฉะนี้”   แค่นั้น  ที่หลวงตาเปรมอ่านว่า  “เอวังกิ่ม  หนังสือพ่อยิ้มเขาสร้าง”  นั้นก็เพราะคนสร้างคัมภีร์หรือบริจาคเงินซื้อคัมภีร์ถวายเป็นสมบัติของวัดนั้นมีชื่อว่า  พ่อยิ้ม  หลวงตาเปรมก็ใช้ปฏิภาณของท่านต่อเติมเอาตามความเข้าใจ  เป็นการอ่านครบถ้วนหมดทุกตัวอักษรที่มีอยู่ในคัมภีร์ใบลานนั้น  และก็ได้ผลคือเรียกเสียงฮาจากคนฟังได้มากมายทีเดียว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, กันยายน, 2565, 11:51:49 PM
(https://i.ibb.co/884VbBj/Recipe-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐ -
           ท่านผู้เจริญครับ  การโอ้อวดของคนเรานี่มันห้ามยาก  แก้ยาก  เช่น  อวดร่ำรวย  อวดรู้  อวดยศศักดิ์  อวดเกียรติ  อวดบารมี  จิปาถะ  และมิใช่ว่าจะอวดกันเฉพาะในขณะยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  แม้ตายแล้วก็ยังอดอวดกันไม่ได้  อย่างการจัดงานศพนี่แหละครับ  บางคนก่อนตายสั่งสามีภรรยาลูกหลานให้จัดการศพยังงั้น ยังงี้   เช่นว่ากำหนดให้เอาศพใส่โลงอะไร  ตั้งศพสวดไว้กี่วัน  สวดศพยังไง  นิมนต์พระวัดไหนบ้าง  มีเครื่องดนตรีอะไร  คณะไหน  มาบรรเลงในงาน  นิมนต์ท่านมหา  พระครู  เจ้าคุณ องค์ไหนมาเทศน์  มีเทศน์แจงธรรมดาหรือแจง ๕๐๐  เทศน์แจงกี่ธรรมาสน์  เวลาเผาให้เอาไปเผาวัดไหน  ถ้าเป็นคนจีนก็จะสั่งให้ทำกงเต๊กอย่างไร  ศพใส่โลงอะไร  ทำฮวงจุ้ยที่ไหน อย่างไร  เป็นต้น  คนที่ไปในงานเผาศพก็มักจะเห็นว่าพิถีพิถันในการแต่งกาย  เหมือนจะไปประกวดประชันกันกระนั้นเทียว

           พระท่านว่าคนห่วงใยศพตนเองดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นคนมีบุญน้อย  แม้จะบริจาคทานมากมาย  ทำความดีก็มาก  แต่เมื่อตายแล้วจะไปเกิดได้ไม่ไกลจากซากศพตนเอง  เพราะมีจิตผูกพันในศพของตัวเอง  จึงเป็นเหมือน   “ปู่โสมเฝ้าศพ”  ว่างั้นเถิด!

           การสวดศพในชนบททางภาคกลางคือ  อยุธยา  อ่างทอง  สุพรรณบุรี  ที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น  ถ้าคนตายมีฐานะดีเขาจะจัดให้มีการสวด  “สังคะหะ”  หรือ  “อภิธรรมมัตถะสังคะหะ”  พ่วงท้ายการสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์   และจะจบด้วยการสวดพระมาลัย  ซึ่งสวดโดยคฤหัสถ์  พระเณรที่สวดอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์  สวดมาติกา  บังสุกุล  ไม่ต้องหัด  บวชนานวันหน่อยก็สวดได้  เพราะบทสวดเหล่านั้นนักบวชท่านถือว่า  “เป็นเครื่องมือหากิน”  เวลามีงานศพ  องค์ที่สวดบทดังกล่าวไม่ได้ก็ไปนั่งร่วมอันดับทำปากขมุบขมิบ ๆ ก็สอบผ่านแล้ว   แต่การสวดสังคะหะจะมีผู้สวดเพียง ๔ องค์  นั่งทำปากขมุบขมิบ  ”ตีกิน”  ไม่ได้เป็นอันขาด   ผู้สวดต้องบวชนานหน่อย  อย่างน้อยก็ ๑ พรรษา  และบวชนานอย่างเดียวก็สวดสังคะหะไม่ได้  จะต้องฝึกหัดให้ชำนาญเสียก่อน  บทสวดไม่จำเป็นต้องท่องจำให้ได้  เพราะมีคัมภีร์เป็นอักษรไทยพิมพ์ตัวโต ๆ ให้เปิดอ่านในขณะสวด  เรียกว่า  “กางตำราสวด”  งั้นเถิด   ทำนองการสวดสังคะหะก็ต้องหัด  มีหลายทำนอง  คือ สรภัญญะ  กบเต้น  ช้างประสานงา  ทำนองมอญ  ทำนองแขก  ทำนองจีน  ทำนองเขมร  ทำนองลาว  เปลี่ยนทำนองทุกปริเฉท  จนครบ ๙ ปริเฉท

           ข้าพเจ้าสอบนักธรรมชั้นโทได้แล้ว  เห็นพระเณรท่านสวดสังคะหะมีคนนิยมชมชอบมาก  และได้ปัจจัย (สตางค์) มาก  ก็อยากได้อยากเป็นเหมือนเขาบ้างจึงร่วมหัด สวดสังคะหะกับหลวงพี่บัณฑิต  ซึ่งเป็นพระองค์เดียวในวัดบางซ้ายในที่สวดสังคะหะได้  โดยมีผู้ร่วมหัดสวดอีก ๒ องค์คือ  เณรเชียร  “เพื่อนซี้”  ของข้าพเจ้า  กับหลวงพี่แพร  รวมทั้งหลวงพี่บัณฑิตผู้เป็นหัวหน้าได้ ๔ องค์  ครบคณะพอดี  พวกเราฝึกหัดซักซ้อมกันจนเห็นว่าพอใช้ได้แล้ว  จึงรับนิมนต์สวดสังคะหะตามบ้านต่าง ๆ ในละแวกนั้น  สมัยนั้นอำเภอบางซ้ายทั้งอำเภอจึงมีพระสวดสังคะหะได้คณะเดียวคือคณะวัดบางซ้ายในของข้าพเจ้า

           พระสวดศพหรือสวดผีที่สวดอภิธรรมดูจะเป็นธรรมดา  ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจนัก  แต่พระสวดสังคะหะนี่ไม่ธรรมดา  โดยเฉพาะเณรหนุ่มอย่างข้าพเจ้ากับเณรเชียร (ที่เขาว่ากันว่ารูปหล่อ) ไปสวดบ้านไหน ๆ พวกสาว ๆ แม่ครัวชอบแอบมองซุบซิบกันและชะม้ายชายตามองด้วยอาการที่เห็นแล้ววาบหวามความรู้สึกดีแท้  บางคืนพวกข้าพเจ้าสวดกันผิด ๆ พลาด ๆ เพราะไม่ค่อยจะมองตำรา  ที่เปิดกางไว้ข้างหน้า  มัวแต่ส่งสายตาไปเกาะเกี่ยวสายตาสาวรุ่นสาวแก่แม่ม่ายแม่ครัว  ที่พวกหล่อนชะเง้อชะแง้แลมองบ้าง  ชมดชม้อยคอยมองบ้าง  บางอนงค์นางที่ใจกล้าและออกจะแก่นแก้วสักหน่อย  ก็จะยกจานข้าวชามแกงถ้วยขนมชูขึ้นให้ดู  แล้วพยักหน้าทำทีว่าเชิญชวน (นิมนต์) ให้ร่วมรับประทาน (ขบฉัน) กิริยาอาการดังกล่าวจะไม่ทำให้เณรหนุ่มอย่างพวกข้าพเจ้าใจแตกฟุ้งซ่านได้อย่างไรเล่าครับ?

           แล้วคณะสวดศพของข้าพเจ้าก็เจอดีเข้าจนได้

           งานศพบ้านผู้มีอันจะกินรายหนึ่งผู้คนไปร่วมงานกันมากมีการสวดสังคะหะ ๓ คืน  กำหนดสวดคืนละ ๓ ปริเฉท  คืนแรกผ่านไปด้วยความชื่นมื่น  ที่ว่า  “ชื่นมื่น”  ก็เพราะสาวรุ่นสาวแก่  แม่ม่ายแม่ร้าง  แม่สามีเผลอ  มากหน้าหลายตา  พวกหล่อนนั่งมองพระสวดสังคะหะกันตรง ๆ บ้าง  แอบเมียงมองบ้าง  แม่สาวตาหวานทั้งหลายหล่อนเล่นสายตากับพวกข้าพเจ้าอย่าง  “มันในอารมณ์”  โดยเฉพาะเณรเชียรซึ่งรูปหล่อกว่าเพื่อน  มีสาว ๆ เล่นสายตากับเขามากกว่าใคร  ข้าพเจ้าต้องคอยเอาศอกกระทุ้งสีข้างเขาบ่อย ๆ  เพราะไอ้เณรหนุ่มเพื่อนข้าพเจ้ามองสาวแล้วส่งสายตาเกี้ยวกันเพลินจนลืมสวด

           คืนวันสุดท้ายของการสวดศพ  พวกข้าพเจ้าก็เล่นสายตากับเจ้าหล่อนทั้งหลายอีกตามเคย  เจ้าภาพเห็นว่าพระสวดศพมาเป็นคืนที่ ๓ แล้วเสียงชักจะแหบแห้ง  จึงสั่งให้แม่ครัวทำ  “น้ำอัฏฐบาน”  ถวาย   น้ำอัฏฐบานเป็นน้ำที่คั้นจากผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งใน ๘ ชนิด  ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทำดื่มได้ในเวลาวิกาล  เช่นน้ำมะม่วง  กล้วยละว้า  มะนาว เป็นต้น  ที่แม่ครัวทำให้พวกข้าพเจ้าดื่มคืนนั้นเป็นน้ำมะนาวปรุงด้วยน้ำตาลทราย  เกลือ  พริก  มีรสเปรี้ยวปนหวาน  เค็ม  เผ็ด  น้ำชนิดนี้พระนักสวดถือว่าเป็นเหมือนดั่งยาวิเศษ  ทำเสียงให้ใส  ดื่มแล้วชุ่มคอดีนักเชียว

           พวกแม่ครัวปรุงน้ำอัฏฐบานเป็นพิเศษ  พวกข้าพเจ้าดื่มกันด้วยความอร่อยลิ้นอร่อยใจ  เพราะมีแม่ครัวหน้าแฉล้มแช่มช้อยสายตาหวานวาบหวามเป็นของแกล้มน้ำอัฏฐบานด้วย  พวกเธอแสดงกิริยาเย้ายวนยั่วยุให้พวกข้าพเจ้าดื่มน้ำอัฏฐบานมาก ๆ  บางนางยกแก้วชูแล้วพยักหน้าท้าทายให้ดื่มแข่งกับหล่อน   ครั้นเห็นพวกข้าพเจ้ายกแก้วน้ำอัฏฐบานขึ้นจิบ-ดื่ม  บางนางก็ยกหัวแม่มือชูแสดงว่า  “ยอด ! ยอด!”  แล้วหัวเราะต่อกระซิกกันอย่างสนุกสนาน  เหมือนรื่นเริงใจที่เห็นพวกเราดื่มน้ำอัฏฐบานรสน้ำมือเธอ

           ตามปกติ  การสวดจบแต่ละบทแล้วพักสวด  ปี่พาทย์มอญประโคมบรรเลงเพลงคั่นการสวด  พระสวดทำนองอะไรปี่พาทย์ก็จะเล่นเพลงทำนองนั้น  ตกดึกคืนนั้นปี่พาทย์เล่นเพลงเหมือนคนขี้เมา  ตะโพนออกไปทางหนึ่ง  ระนาดเอกออกอีกทางหนึ่ง  ระนาดทุ้มก็ไปทางหนึ่ง  เดี๋ยวเข้ากันเดี๋ยวแยกจากกัน  เป๋ไปเป๋มา  ข้าพเจ้ารู้สึกคอแห้งมาก  จึงกระซิบถามเณรเชียร

            “คอแห้งไหม?”

            “อย่าว่าแต่คอเลย  เหงือกก็แห้งว่ะ”  เณรเชียรตอบเสียงแหบแห้ง

           สมองของข้าพเจ้าชักมึนงง  หนังตาหนักอึ้งจะหลับท่าเดียว  ปี่พาทย์บรรเลงจบเพลงลงไปด้วยความรำคาญของผู้ฟัง  ไม่จบด้วยเสียง  “อีแร้งแกงไก่” (ข้าพเจ้าได้ยินเสียงอย่างนั้น) คือเสียง   “เก่ง เกง เก๊ง ๆๆๆ”  ตามแบบของการบรรเลงเพลงของปี่พาทย์มอญ

           ปี่พาทย์จบบรรเลงเพลงแล้วพระต้องขึ้นบทสวดใหม่  แต่คืนนี้อะไร ๆ มันก็ผิดไปหมด  หลวงพี่บัณฑิตหัวหน้าคณะสวดศพของเราท่านไม่ยอมขึ้นบทสวดใหม่  ข้าพเจ้านั่งรอรับเสียงสวดอยู่นาน  จึงชะโงกหน้าดูเห็นท่านนั่งหลับตานิ่งเหมือน  “เข้าฌาน”  จึงสะกิดเณรเชียรที่นั่งเป็น  “ทองไม่รู้ร้อน”  บอกให้เขาสะกิดบอกต่อหลวงพี่แพรให้เตือนหลวงพี่บัณฑิต  หลวงพี่แพรนั่งอยู่  “คอสอง  ”ติดกับหัวหน้าจึงสะกิดบอกให้สวดได้แล้ว  หลวงพี่บัณฑิตลืมตาเหลียวมองเห็นพวกเราตั้งตาลปัตรเตรียมพร้อมสวดอยู่แล้วก็รีบคว้าตาลปัตรตั้งขึ้นบทสวดต่อ

            “นะโมตัสสา ระหันตัสสะ.....”  อันเป็นบทเริ่มต้นสวดใหม่  หลวงพี่แพรเห็นหลวงพี่บัณฑิตขึ้นบทสวดผิด  ก็ไม่ยอมรับเสียงสวดต่อ  ท่านขึ้นเสียงบทสวดใหม่เป็นบทในปริเฉทที่ ๕ ซึ่งสวดผ่านไปแล้ว

           คืนนั้นเป็นคืนอัปยศของพวกข้าพเจ้าไปอย่างช่วยไม่ได้  เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของพวกข้าพเจ้าที่สวดสังคะหะไม่จบ  ปริเฉทที่ ๙ อันเป็นบทสุดท้ายของการสวดนั่นแหละครับ  พวกข้าพเจ้าสวดกันชนิด  “ล่มแล้วล่มอีก”  เพราะหูอื้อ ตาลาย สมองมึนงง ตัดสินใจอะไรไม่ถูก  รู้สึกว่าตัวเบาหวิวเหมือนลอยอยู่ในอากาศ  ทั้งนี้ก็เพราะเดชฤทธิ์หรือพิษสงกัญชาที่ดื่มกินเข้าไปมากเกินปริมาณ

           มารู้ความจริงเอาภายหลังว่า  แม่ครัวตัวดีทั้งหลายที่เล่นสายตากับพวกข้าพเจ้านั่นแหละครับ   เจ้าหล่อนต้ม  “กะหรี่กัญชา”  เอาน้ำมาทำเป็นน้ำอัฏฐบาน  แล้วก็มานั่งออลอยหน้าลอยตาส่งภาษาใบ้คะยั้นคะยอยั่วยุให้พวกข้าพเจ้าดื่มกันเสียจนเต็มคราบ  ไม่เมาตายคาที่ก็นับว่าบุญแล้ว

           โยมนวลเห็นท่าไม่ดี  สอบถามได้ความจริงว่าพวกแม่ครัว  “มอมกัญชา”  พระสวดและพวกปี่พาทย์  จึงรีบรวบรัดให้เจ้าภาพถวายปัจจัยไทยทาน    แล้วให้ไอ้ทิดทั้งหลายช่วยกันประคองพระสวดสังคะหะลงเรือนำส่งกลับวัด   ข้าพเจ้าต้องนอนอมน้ำตาลปี๊บแก้ปาก-คอแห้งตลอดคืน   รุ่งขึ้นทั้งวันพวกข้าพเจ้าสะลึมสะลือ  เอาแต่นอนท่าเดียว  ข้าวปลาอาหารไม่สนใจจะขบฉัน  เขาว่าการเมากัญชาที่กินปนกับน้ำและอาหารนั้นมันจะ  “เมาชนขวบ”  คือเมาตั้งแต่เวลาที่กินวันนั้นไปจนถึงเวลาที่กินของอีกวันหนึ่ง  เมานานกว่าการสูบควันมากนัก  เห็นจะจริงอย่างเขาว่า  เพราะพวกข้าพเจ้าเมาตั้งแต่คืนวันที่สวดศพไปจนถึงเที่ยงคืนของวันรุ่งขึ้นทีเดียว   ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ข้ าพเจ้าไม่กล้าดื่มน้ำอัฏฐบานที่โยมทำถวายในงานสวดศพอีกเลย
 
           เข็ดจริง ๆ ครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, กันยายน, 2565, 10:40:34 PM
(https://i.ibb.co/P94gNHR/LilNun.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๑ -
           คราวหนึ่ง  หลวงพี่บัณฑิตรับนิมนต์ไปสวดสังคะหะในท้องที่อำเภอเดิมบางนางบวช (บ้านเดิมของหลวงพี่บัณฑิต) จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นการสวดประชัน  คู่ประชันคือ “คุณชี”  หรือ  “นางชี-แม่ชี” (แล้วแต่จะเรียก) ในกรุงเทพฯ  วิธีการสวดประชันคือ  ให้สวดซ้ำกันในแต่ละปริเฉท  โดยพระเป็นฝ่ายสวดนำก่อน  คุณชีสวดตาม  ตั้งแต่ปริเฉทที่ ๑ ไปจนจบปริเฉทที่ ๙   เริ่มแต่หัวค่ำยันสว่างแจ้ง   บทสวดบาลีต้องว่าตามคำเดิม  จะต่อเติมเสริมแต่งไม่ได้  เพราะถือว่าเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์  แต่บทภาษาไทยที่เรียกว่า  “บทกล่อม”  ต่อท้ายคำบาลีทุกปริเฉท  สามารถต่อเติมเสริมแต่งได้ตามใจชอบ

            “เป็นมวยคนละชั้น”  เขาว่ากันอย่างนั้น

           คุณชีเป็นนักสวดมาตรฐานมีความเชี่ยวชาญชำนาญกว่าพวกข้าพเจ้ามากนัก   คำบาลีที่สวดก็ราบเรียบเสียงเยือกเย็นออกไปในทางขรึมขลัง  บทกล่อมที่เป็นภาษาไทยก็โศกเศร้าซึ้งใจ  คนฟังที่อารมณ์อ่อนไหวมากก็ร่ำไห้สะอึกสะอื้น  คนอารมณ์อ่อนไหวน้อยหน่อยก็จะน้ำตาซึม  คนใจแข็งก็ตั้งใจฟังอย่างสงบ  เมื่อจบบทสวดก็จะถอดหายใจเฮือกใหญ่  พวกข้าพเจ้าสวดทั้งคำบาลีและภาษาไทย (บทกล่อม) ทั้งหมด  คนฟังเขารู้สึกเฉย ๆ ไม่มีปฏิกิริยาอะไร  ก็รู้กันแน่ชัดว่า  “พระสวดแพ้ชี”  อย่างสิ้นเชิง  

           หลวงพี่บัณฑิตหัวหน้าคณะสวดของข้าพเจ้าแค้นใจมากที่สวดแพ้  “คุณชี”  จึงคิดหาทางหรือวิธีการเอาชนะ  “คุณชี”  ให้ได้  ถ้ามีโอกาสประชันกันอีก   กรรมก็มาตกที่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักสวด  “คอสี่”  คือนั่งอยู่ในอันดับที่สี่ (สุดท้าย)  โดยหลวงพี่ให้ข้าพเจ้าหัดสวดเสียงทำนองมอญ  เดิมทีเสียงข้าพเจ้าอยู่ในระดับสูงออกเสียงที่ริมฝีปาก  ท่านก็ให้หัดออกเสียงจากลำคอ  ปรับระดับเสียงให้ต่ำลง  เสียงใหญ่ห้าวขึ้น   ตรงกันข้ามกับเสียงเณรเชียรที่เล็กแหลมกังวานหวาน  เรียกว่าทำเสียงหลวงพี่ทั้งสองเป็นเสียงตัวพระ  เสียงเณรเชียรเป็นเสียงตัวนาง  เสียงข้าพเจ้าเป็นเสียงตัวโกง  งั้นเถิด!

           การทำทำเสียงออกจากลำคอเป็นเสียงทุ้มกังวานนั้น  ทำได้ยากมาก  หลวงพี่บัณฑิตไปจำความมาจากใครหรือตำราไหนก็ไม่รู้  เอามาทำกับข้าพเจ้า  โดยบังคับให้กลืนกล้วยน้ำว้าสุก  ครั้งแรก ๆ ทีละครึ่งลูก  ต่อมาก็ให้กลืนทั้งลูก  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลำคอกว้างแล้วเสียงจะได้ใหญ่ขึ้น  ก็ลองหลับตาคิดดูเถิดว่าการกลืนกล้วยน้ำละว้าทีละครึ่งลูก  ทีละลูกนั้น  มันทรมานแค่ไหน ?    ตอนทำใหม่ ๆ นั้นลำคอข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บระบมไปหลายวันทีเดียว  ผลที่ได้คือเสียงห้าวใหญ่ขึ้นนิดหน่อย  ยังไม่เป็นที่พอใจของหลวงพี่บัณฑิต  ท่านจึงเปลี่ยนวิธีที่ให้ข้าพเจ้ากลืนกล้วยน้ำละว้ามาเป็นการกลืนเปลวมันหมู   เอาเปลวมันหมูสด ๆ มาก้อนโตเกือบเท่ากำปั้น  ใช้ด้ายเหนียวผูกให้แน่น  จุ่มน้ำร้อนพออุ่น ๆ แล้วใส่ปากให้ข้าพเจ้ากลืนลงคอ  ลงไปถึงคอหอยท่านก็ดึงด้ายเอาเปลวมันออกมาจุ่มน้ำอุ่นใหม่  แล้วให้กลืนลงไปอีก  ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งหลายครา  ข้าพเจ้าอ้วกแตกไม่รู้กี่หน  ไม่ขาดใจตายไปก็นับเป็นบุญแล้ว

           กลืนกล้วยน้ำละว้าเป็นลูก ๆ ก็แล้ว  กลืนเปลวมันหมู ชักออก-กลืนลง ๆ ก็แล้ว   เสียงของข้าพเจ้าก็ยังไม่เป็นที่พอใจของหลวงพี่บัณฑิต  ท่านจึงหันมาใช้วิธีใหม่ที่ทารุณยิ่งนัก  คือจับข้าพเจ้าลงน้ำในแม่น้ำหน้าวัด  ตอนแรกอยู่ในระดับน้ำตื้น  ให้ดำลงไปแล้วส่งเสียงโห่จนเต็มเสียง  แล้วเลื่อนตำแหน่งให้ลึกลงไป ๆ  ข้าพเจ้าต้องดำลงไปเองบ้าง  ถูกหลวงพี่บัณฑิตจับกดลงไปบ้าง  ส่งเสียงโห่ใต้น้ำอยู่หลายเวลาจนเป็นหวัดงอมแงมเลย  และการถูกจับกดลงไปโห่ในน้ำนี่แหละ  ทำให้ข้าพเจ้าเป็นหวัด  หรือ  ไซนัส  เรื้อรั้งมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีทีเดียว

           ข้าพเจ้าหัดสวดสังคะหะสำเนียงทำนองมอญได้ปีกว่าแล้ว  ยังไม่มีโอกาสแก้แค้น  “คุณชี”  ยังไม่มีใครนิมนต์สวดประชันกันสักที  พวกข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าได้พบกันอีกต้องชนะแน่นอน    วิธีการเอาชนะ  “คุณชี”  ที่หลวงพี่บัณฑิตวางแผนไว้คือ   เมื่อคณะคุณชีสวดด้วยเสียงและทำนองโศกเศร้าเรียกน้ำตาจากคนฟังได้     แต่พวกเราทำอย่างคุณเธอไม่ได้ก็ต้อง  “เช็ดน้ำตาให้คนฟัง”  สวดออกไปในทางตลกขบขันให้คนฟังหัวเราะ  เรียกว่า  “หัวเราะทั้งน้ำตา”  นั่นเอง

           แล้ววันที่พวกเรารอคอยก็มาถึง  ญาติพี่น้องผู้ตายซึ่งมีฐานะอยู่ในระดับเศรษฐีมีหน้ามีตาในหลายตำบลของอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี   นิมนต์คณะสวดของข้าพเจ้าไปสวดประชันกับ  “คุณชี”  คณะเดียวกับที่ข้าพเจ้าเคยสวดแพ้มาแล้ว  เหมือนฟ้าจงใจให้เราพบกันอีกครั้ง   ความจริงก็ไม่ใช่  “ศัตรูที่พบกันในทางแคบ”  อะไรทำนองนั้นหรอกครับ      โยมที่นิมนต์ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้พวกเราไป  “ล้างแค้น”  คุณชีคณะนั้น   แค้นอะไรก็ไม่มี  ที่ผมพูดว่า  ”ล้างแค้น”  ก็พูดเล่นโก้ ๆ ไปยังงั้นเอง   ความจริงพวกเราไม่ได้แค้นคุณชีเลย  เพียงแต่เราไม่ยอมแพ้พวกเธอเท่านั้นแหละ

           คืนนั้นเราเริ่มสวดประชันกันอย่างเรียบ ๆ จนไปถึงบทกล่อมที่คุณชีเธอสวดกล่อมให้คนฟังร้องไห้กันงืดงาดจบลงแล้ว   คณะของข้าพเจ้าก็สวดต่อด้วยทำนองสำเนียงมอญ  แต่แทนที่จะเป็นมอญเศร้าตามฟอร์มของมอญ  กลับเป็น  “มอญร่าเริง”  โดยนำเอาการสวดสหัสนัยบทสุดท้ายที่ว่าด้วยความเป็นใหญ่ คือ  “อธิปเตยย” (อธิปไตย) ขึ้นต้นว่า   “ทุกคะปะต้อยปะตอง.....ช้อน....เตี่ยติป๊ะตอยยอง.... หวี่รีเหยี่ยติป๊ะตอยยอง.....ต่าลาวี่มองสา...ติป๊ะตอยยอง.....”   แล้วก็ผันมาเป็นภาษาไทยว่า   “ทุกขา...ปะฏิปทาทัณทาภิญญา...ฉันทาธิปะเต้ยยัง...แม่ชีคนหัวมีผัวรึยัง.....วิริยา..ธิปะเต้ยยัง  แม่ชีคนรอง  มีท้องรึยัง.....จิตตาธิปะเต้ยยัง..แม่ชีคน ที่สามน่าหม่ำเสียจัง  วิมังสาธิปะเต้ยยัง  แม่ชีคนที่สี่  รักพี่เณรหรือยัง .....เท่านี้แหละครับ  คนฟังหัวเราะกันฮาตึงเลย

           การร้องข้อความดังกล่าวไม่ใช่จะร้องพร้อม ๆ ทุกคำนะครับ  เราร้องกันในวิธีที่เรียกว่า  “ลูกล้อลูกขัด” (ลูกเล่นลูกขัดก็ว่า)  เช่น ร้องพร้อมกันว่า  “ฉันทาธิปะเต้ยยัง..” คอที่หนึ่ง-สอง หยุดเสียง  เณรเชียรซึ่งเป็นคอสาม  ร้องเดี่ยวว่า  “แม่ชีคนหัว...”  คอสี่คือผมก็ร้องต่อว่า  “มีผัวรึยัง”  หลวงพี่สององค์เป็นพระจะร้องถามคุณชีอย่างนั้นไม่ได้  โยมจะหาว่า  “เกี้ยวหญิง”  ถูกปรับอาบัติสังฆาทิเสสเลยทีเดียว  ดังนั้นหน้าที่ร้องถามคุณชีว่า  “มีผัวรึยัง  มีท้องรึยัง  น่าหม่ำเสียจัง  รักพี่เณรรึยัง”  จึงเป็นหน้าที่เณรเชียรกับเณรเต็มที่ไม่มีอาบัติสังฆาทิเสสค้ำคอ     ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ  พวกเราสวดวนเวียนในบทเดิม  แต่เปลี่ยนคำไทยแทรกเข้าไปอีก  คือหลังจากร้องถามคุณชีแล้ว  ก็ลามเข้าไปในครัว  ตั้งคำถามให้คล้องจองกับคำสวดบาลี  เช่นว่า  “ฉันทิปะเต้ยยัง...คนอยู่ในครัว..มีผัวแล้วรึยัง”  เล่นเอาแม่ครัวบางนางเต้นออกมาจากในครัวแล้วลอยหน้าลอยตาร้องว่า  “ยังไม่มีเลยจ้า...”  ก็ฮาครืนกันอีกรอบ

           คืนนั้นปรากฏว่า  “คุณชี”  สวดแพ้พวกเราอย่างราบคาบ  ไม่สามารถสวดให้คนฟังร้องไห้ได้อีกต่อไป  เพราะพวกเราทำให้คนฟังหัวเราะกันจนหุบปากไม่ลงเสียแล้ว  อีกประการหนึ่ง  “คุณชี”  เธอยังเป็นสาวที่อยู่ในวัยใส  พอถูกพวกเรา  “สวดเกี้ยว”  เอาอย่างว่า  ก็อายจนสวดเสียงแทบไม่ออก  มองค้อนคู่แข่งไม่รู้กี่ตลบเลยก็แล้วกัน

           การที่พระสวดประชันชีอย่างนี้  ภาษานักสวดเขาเรียกกันว่า  “ปล้ำชี”   เช่นพูดว่า  “คืนนี้ผมไม่อยู่วัดจะต้องไปปล้ำชีที่....”   ก็เป็นอันรู้กันว่า  จะต้องไปสวดสังคะหะประชันคุณชี       อย่าข้องใจเลยที่ข้าพเจ้าบอกเล่า (ให้การ) มาว่า   ดื่มน้ำอัฏฐบานผสมน้ำกัญชา  เล่นหูเล่นตากับสีกาแม่ครัว  ส่อเสียดและจีบคุณชี  ศีลขาดจนไม่เป็นสามเณรไปเสียแล้วกระมัง?

           พฤติกรรมดังกล่าวนั้น  พระภิกษุท่านต้องอาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ แสดงคืนได้  การแสดงอาบัติหรือปลงอาบัติของพระภิกษุ คือการ  “สารภาพบาป”  กันนั่นเอง

           เมื่อพระภิกษุทำการใด ๆ ที่ก้าวล่วงสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีโทษปรับเป็น  ทุกกฎ  ปาจิตตีย์  เป็นต้น  ท่านก็จะสารภาพความผิดแก่เพื่อนพระภิกษุด้วยกัน  ด้วยการนั่งหันหน้าเข้าหากัน  จะนั่งยอง ๆ  หรือนั่งคุกเข่า  หรือนั่งพับเพียบ ก็ได้  แล้วแต่ความสะดวก     องค์ที่มีอาวุโสน้อยกว่านั่งก้มศีร์ษะต่ำลง  องค์อาวุโสมากกว่าไม่ต้องก้มศีร์ษะ   องค์อาวุโสน้อยกว่ากล่าวคำสารภาพผิด (บาป) ก่อน  องค์อาวุโสมากกว่ากล่าวคำสารภาพทีหลัง  คำกล่าวนั้นว่าเป็นภาษาบาลี  คือ  “สัพพาตา อาปัตติโย.....”  แปลความได้ว่า   “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  กระผมได้ก้าวล่วงสิกขาบทฝ่าฝืนข้อห้ามของพระพุทธเจ้าแล้ว  อย่างนี้ ๆ    ขอท่านจงรับรู้ความผิดของกระผมด้วย  ผู้รับรู้ก็ตอบว่า  เออ  รู้ละ ๆ  ต่อไปอย่าได้กระทำอีกนะ  ผู้สารภาพก็รับปากว่า  ขอรับกระผมจะไม่กระทำผิดอีกแล้ว..”  อย่างนี้เป็นต้น  อาบัติหรือโทษนั้นก็เป็นอันระงับไป  แต่ถ้าล่วงอาบัติสังฆาทิเสสข้อใดข้อหนึ่ง  สารภาพความผิดอย่างนั้นไม่ได้  ต้องสารภาพท่ามกลางสงฆ์ตั้งแต่ ๒๐ องค์ขึ้นไป  และสารภาพกันในสีมาด้วย  เมื่อสารภาพแล้วก็กลายเป็น   “พระนักโทษ”   ต้องอยู่กรรม  ซึ่งภาษาพระวินัยเรียกว่า  “อยู่ปริวาสกรรม”  ตามวินัยบัญัติกำหนดประมาณ ๑๕ วัน  จึงจะพ้นผิดได้เป็นพระภิกษุสมบูรณ์ตามเดิม  การแสดงอาบัติหรือสารภาพบาปเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้เรามักจะเห็นพระท่านสารภาพกันในเวลาที่จะสวดทำวัดเช้า-วัดค่ำ บ้าง  ก่อนทำสังฆกรรมบ้าง  ที่หน้าโบสถ์ก็มี  ในโบสถ์ก็มี  มีคำพูดขำ ๆ ของพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งท่านกล่าวว่า

            “เห็นพระนั่งยอง ๆ สององค์หันหน้าเข้าหากันพนมมือแต้  รู้ได้แน่ว่าท่านปลงอาบัติ  ถ้านั่งยอง ๆ องค์เดียว  นั่นท่านเยี่ยวรดวัด”

           ถ้าต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งในสี่ข้อ  ไม่ต้องแสดงอาบัติ  เพราะพ้นภิกษุภาวะ (คือศีลขาดหรือขาดศีล)  หมดความเป็นภิกษุตามพระวินัยบัญญัติแล้ว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, ตุลาคม, 2565, 10:49:58 PM
(https://i.ibb.co/grKwyrR/635375957-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๒ -
           ส่วนสามเณรไม่มีอาบัติ  ตามศัพท์แล้วสามเณรแปลว่า  “เหล่ากอแห่งสมณะ”  คำว่า  “สมณะ”  แปลว่า  “ผู้สงบ”  สามเณรจึงเป็นเหล่ากอของผู้สงบ  คือสงบกาย  วาจา  ใจ  นั่นเอง   คุณชาย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านแปลคำสามเณรไว้น่าฟังว่า  “สามเณรคือคนครึ่งวัดครึ่งบ้าน”   คือจะเป็นคนบ้านก็ไม่ใช่  จะเป็นคนวัดก็ไม่เชิง  มีสภาพเหมือนคนที่กำลังก้าวเท้าเข้าวัด  เท้าข้างหนึ่งล่วงเข้าธรณีประตูวัดแล้ว  อีกเท้าหนึ่งยังไม่ข้ามธรณีประตูวัด

           เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ในปัจจุบันว่า  พระภิกษุมีศีล ๒๒๗     คือถือวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ๒๒๗ สิกขาบท  ส่วนสามเณรมีศีล ๑๐ ข้อ  โดยความเป็นจริงแล้วศีลของพระภิกษุที่มีมาในพระปาติโมกข์ไม่ถึง ๒๒๗ ข้อ  เพราะ  อนิยต ๒ ข้อ  กับ  อธิกรณสมถะ ๗ ข้อ  เป็นลักษณะการตัดสินอธิกรณ์  ไม่ควรนับเป็นศีล  แต่ถ้าจะว่าโดยอนุโลมก็ได้ และศีลหรือสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ยังมีอีกนับไม่ถ้วน  ส่วนศีลของสามเณรนั้น  ที่จริงก็มี นาสะนังคะ ๑๐ ข้อ  ทัณฑะกรรม ๑๐ ข้อ  และเสขิยวัตรอีก ๗๕ ข้อ  รวมเป็น ๙๕ ข้อ

           สามเณรศีลขาดแล้วสามารถต่อใหม่ได้  ส่วนพระภิกษุศีลขาดแล้วขาดเลยไม่สามารถต่อใหม่ได้  บวชใหม่ก็ไม่ได้  และศีลของพระภิกษุที่จะขาดนั้นก็มีเพียง ๔ ข้อ  คือ  ล่วงละเมิดปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งในจำนวน ๔ ข้อนั้น  เป็นเพราะว่าสามเณรศีลขาดแล้วต่อใหม่ได้นี่แหละคุณชายคึกฤทธิ์ท่านจึงว่าสามเณรเป็นคนครึ่งบ้านครึ่งวัด  ก็เห็นจริงอย่างท่านว่า  ข้าพเจ้าและเพื่อนสามเณรล้วนศีลขาดและต่อศีลกันบ่อย ๆ  พวกเรามักต่อศีลกันทุกวันโกน  เพราะหลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านกำหนดให้สามเณรต้องต่อศีลทุกเย็นวันโกน คือ  ๗ ค่ำ ๑๔  เพื่อให้มีศีลสมบูรณ์ในวันพระที่มีญาติโยมมาทำบุญในวัด  ท่านเหตุผลว่า

            “วันพระจะมีญาติโยมทำบุญกันมาก  สามเณรเป็นปฏิคาหก  คือผู้รับสิ่งของจากญาติโยมผู้เป็นทายกทายิกา (ผู้ให้ชาย-หญิง)  ดังนั้น  สามเณรต้องมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ด่างพร้อยขาดวิ่น  เพื่อทานของทายกทายิกาจะได้มีผลมาก  ไม่เป็นการทำบุญสูญเปล่า  อย่าหลอกลวงให้ญาติโยม  “ไหว้ผิด”  เขาไหว้สามเณรก็ให้ถูกสามเณร  ไม่ใช่ไหว้สามเณรแต่ไปถูกเด็กวัด  สามเณรถ้าศีลขาดเสียแล้ว  ก็กลายเป็นเด็กวัดธรรมดาเท่านั้นเอง”

           การต่อศีลของสามเณรนั้นไม่มีความยุ่งยากอะไร  ไม่เหมือนตอนบวชเป็นสามเณร  กล่าวคือตอนบวชเป็นสามเณรนั้นต้องมีพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชา  แต่ตอนศีลขาดแล้วต่อศีลใหม่ไม่ต้องมีพระอุปัชฌาย์  ต่อกับพระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้  พวกข้าพเจ้านิยมต่อศีลกันเป็นหมู่คณะ  คือมีสามเณรกี่องค์ก็รวมตัวเข้าไปพร้อมกันในอุโบสถหรือกุฏิพระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง  นุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย  กราบพร้อมกันแล้วกล่าวคำขอสมาทานศีล ๑๐ พร้อมกันว่า  “เอสาหังภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ ฯลฯ”  พระท่านกล่าวคำให้ศีล พวกสามเณรว่าตามจนจบ  เท่านี้ก็เป็นสามเณรอันสมบูรณ์ได้แล้ว

           เขาว่ากันว่าในสมัยโบราณ  สามเณรไทยกินข้าวรวมกับเด็กวัด  จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้  เพราะข้าพเจ้าเกิดไม่ทันครับ.


                     “ออกเดินทางประพฤติธุดงค์”

             ตอนที่เรียนนักธรรมชั้นโทนั้น  ในหลักสูตรวิชาธรรมวิภาคกำหนดให้เรียนเรื่องกัมมัฏฐานทั้งส่วนที่เป็นสมถะกัมมัฏฐาน  คือที่ตั้งแห่งความสงบใจ  กับ  วิปัสสนากัมมัฏฐานที่ตั้งแห่งการเรืองปัญญา  ผลของการทำใจให้เป็นสมาธิได้แล้วนั้นมีมากมาย  ผู้มีอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการทำใจให้เป็นสมาธิได้  บรรดาคาถาอาคมขลังศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้นก็ล้วนเกิดจากใจเป็นสมาธิทั้งสิ้น

           คนวัยหนุ่มมักคึกคะนองอยากเก่งเป็นธรรมดา  ข้าพเจ้าสนใจเรื่องคาถาอาคม  ความขลังความศักดิ์สิทธิ์  อิทธิปาฏิหาริย์  เสาะหา  ค้นคว้าตำราไสยศาสตร์  แสวงหาอาจารย์ไสยศาสตร์  เรียนคาถาอาคมชนิดที่เรียกว่า  “หลงใหล”  เลยก็แล้วกัน   ตำราคาถาเวทย์มนต์ต่าง ๆ ข้าพเจ้าเก็บสะสมไว้เยอะ  จดจำจากใครต่อใครไว้ก็มาก  ขนาดคาถาหัวใจ ๑๐๘ ก็ยังท่องได้จนหมดสิ้น

           ปีกึ่งพุทธกาล  ที่เรียกกันเป็นทางการว่า   “ยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ”  คือพุทธศักราช ๒๕๐๐ นั้น   ข้าพเจ้ามี  “ปีกกล้าขาแข็ง”  ขึ้นมาก  ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองเต็มเปี่ยมจนล้นใจเสียแล้ว  ครั้นหลวงพี่บัณฑิตชักชวนออกเดินทางประพฤติธุดงค์  โดยมีหลวงพี่แพรไปด้วย  ข้าพเจ้าก็ตอบตกลงทันที

           การออกเดินทางประพฤติธุดงควัตรไม่ใช่ว่าพระภิกษุสามเณรจะทำกันได้ทุกองค์  เพราะเป็นการกระทำที่ยากยิ่ง  ข้าพเจ้าเตรียมอุปกรณ์สำหรับใช้ในการออกเดินทางประพฤติธุดงค์  ที่สำคัญก็มีบาตร, กาน้ำ, ย่ามใหญ่, กลด คือร่มใหญ่มีมุ้งคลุม  ใช้ผ้าสองผืนคือ จีวร, สบง  ส่วนพระท่านมี ๓ ผืน คือจีวร, สบง, สังฆาฏิ  นอกนั้นก็มีของใช้เบ็ดเตล็ด  เช่น  มีดโกน  กล่องเข็ม ด้าย  เป็นต้น

           มีอุปกรณ์เดินทางประพฤติธุดงค์ครบแล้วไม่ใช่จะเดินทางกันได้เลยนะครับ  ต้องมี  “การขึ้นธุดงค์”  กับพระอาจารย์ธุดงค์ที่มีชื่อเสียงเสียก่อนจึงเดินทางได้   เรื่องอาจารย์ธุดงค์นี้ถือว่ามีความสำคัญมาก  ผู้ที่เป็นพระอาจารย์ธุดงค์จะต้องเป็นพระที่เจนจัดในการออกเดินทางประพฤติธุดงค์  ท่านจะมีประสบการณ์บอกเล่าหรือแนะนำลูกศิษย์ในการเดินทางเข้าป่าเข้าดงและผ่านไปตามท้องถิ่นชนบทต่าง ๆ     ควรทำอะไร  ไม่ควรทำอะไร  พร้อมกับให้คาถาวิทยาคมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการออกเดินทางประพฤติธุดงค์   คือ  คาถาอธิษฐานแผ่นดินคาถาปักกลด  คาถากางกลด  คาถาผูกสายกลด (อัพโพกาศ)  คาถาถอนกลด  คาถาประจุแผ่นดิน  เป็นต้น  ยิ่งไปกว่านั้นพระอาจารย์บางท่านยังสามารถให้การคุ้มครองป้องกันอันตรายแก่ศิษย์ในขณะออกเดินทางประพฤติธุดงค์อีกด้วย

           หลวงพี่บัณฑิตพาหลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าไปสมัครเป็นศิษย์  “ขึ้นธุดงค์”  กับ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี  อันเป็นถิ่นของไทยพวนหรือลาวพวน  หลวงพ่อโบ้ย เป็นพระภิกษุชราผู้มักน้อย  บวชเป็นสามเณรตั้งแต่เด็ก  นัยว่าชาติภูมิท่านเกิดในประเทศลาวแล้วเข้ามาอยู่เมืองไทย    เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วท่านออกเดินทางประพฤติธุดงค์ไปในถิ่นต่าง ๆ ในประเทศไทย  ลาว  เขมร  พม่า  จนกระทั่งชราภาพมากแล้วจึงหยุดการเดินทาง  ประพฤติธุดงค์อยู่กับวัด  และท่านก็ไม่ยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสด้วย  เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง  พระเครื่องรางของขลังท่านเป็นที่นิยมของคนทั่วไป  เช่นพระมเหศวร  เป็นต้น  ท่านเป็นพระที่มีความเรียบง่าย  เสมอต้นเสมอปลาย  มักน้อย  สันโดษ  ธุดงควัตรที่ท่านไม่ยอมขาดการประพฤติคือ  “การบิณฑบาต”   ท่านออกเดินรับบิณฑบาตเช้าทุกวัน  แม้ฝนตกท่านก็เดินกรำฝนไปตามทางเดินหลังหมู่บ้านที่เคยเดิน  กลับจากบิณฑบาตแล้วจะนำข้าวสุกที่ได้มาใส่บาตรพระที่วัดอีกต่อหนึ่ง  เป็นการ  “เฉลี่ยลาภให้เพื่อนภิกษุด้วยกัน”  ท่านติดหมาก  ต้องเคี้ยวหมากเป็นประจำจนปากท่านแทบไม่ว่าง  ใครไปก้มหัวให้ท่านเป่าขม่อมละก็  ท่านจะพ่นน้ำหมากใส่หัวให้ด้วยทุกคน

           นอกจากจะ  “ติดหมาก”  แล้วหลวงพ่อโบ้ยยังติดน้ำชาซึ่งเป็นชาจีนอีกด้วย  การดื่มน้ำชาของหลวงพ่อไม่เหมือนใคร  และยังไม่เคยเห็นใครเหมือนท่าน  คือท่านไม่รินน้ำชาจากกาหรือป้านใส่ถ้วยชาหรือแก้วน้ำแล้วดื่มหรือจิบเหมือนใคร ๆ   เวลาดื่มท่านก็ยกป้านน้ำชาเอาพวยป้านจ่อปาก  กระดกก้นป้านให้น้ำชาร้อน ๆ ไหลเข้าปากท่านเลย   ดังนั้นพวยป้านหรือกาน้ำชาของท่านจึงมีคราบน้ำหมากจับแดงหนาเปอะเลยทีเดียว  ข้าพเจ้าอัศจรรย์ใจมากที่เห็นบางครั้งท่านยกป้านน้ำชาขึ้นเอาพวยใส่ปากอมแล้วดื่มน้ำชาอั้ก ๆ โดยไม่รู้สึกร้อนเลย   เพราะมีความเคารพยำเกรงมากแม้สงสัยมากก็ไม่กล้าถามท่าน

           พระธุดงค์รุ่นที่ข้าพเจ้าไปรอเวลา  “ขึ้นธุดงค์”  กับหลวงพ่อโบ้ยวัดมะนาวนั้น  มีทั้งพระภิกษุสามเณรรวม ๑๗ องค์  เราพักอยู่ที่วัดมะนาว ๓ คืน  เพื่อศึกษาวิธีการเดินธุดงค์และประพฤติธุดงควัตรกับหลวงพ่อโบ้ย  แม้ข้าพเจ้าจะเรียนเรื่องธุดงค์ ๑๓ ตามตำราในหลักสูตรนักธรรมชั้นโท  ทั้งยังได้ฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์  และอ่านตำราที่หลายอาจารย์เขียนอธิบายไว้หลายแง่หลายมุมแล้วก็ตาม  ยังถือว่าไม่มีความรู้มากพอ  เพราะทั้งนั้นเป็นความรู้ในตำราที่เป็นทฤษฎี  ผู้สอนผู้เขียนอาจจะว่าตามความรู้สึกนึกคิดของท่านมากกว่าประสบการณ์ที่ได้จากการประพฤติปฏิบัติ  จึงต้องศึกษาข้อปลีกย่อยจากหลวงพ่อโบ้ย  ซึ่งเป็นความรู้จากประสบการณ์ของท่าน  ได้รายละเอียดเพิ่มเติมจากหลวงพ่อโบ้ยซึ่งท่านสอนตามประสบการณ์ที่ท่านได้พบเห็นมาจากการปฏิบัติด้วยตัวท่านเองบ้าง  ได้จากพระนักเดินธุดงค์หลายองค์ผู้เป็นศิษย์หลวงพ่อโบ้ยที่มาขึ้นธุดงค์อีก  บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังบ้าง  เป็นความรู้นอกตำราเรียนที่หาได้ยากยิ่ง

           เมื่อหลวงพ่อโบ้ยอนุญาตให้  “ขึ้นธุดงค์”  ได้แล้วข้าพเจ้าตื่นเต้นมาก  นักธุดงค์ในรุ่นทั้ง ๑๗ องค์  มีสามเณรเพียง ๕ องค์  พระภิกษุหนุ่ม ๗ องค์  นอกนั้นเป็นพระภิกษุวัยกลางคนและชราภาพ  ทั้งหมดเข้าทำพิธี  “ขึ้นธุดงค์”  ในโรงอุโบสถวัดมะนาวนั่นเอง    พอถึงตอนกล่าวคำสมาทานธุดงค์ว่า  “ฉันนังปะฏิขิปปามิ รุกขะมูลิกังคังสะมาทิยามิ”  ข้าพเจ้าว่าด้วยเสียงสั่นใจหวิวอย่างไรบอกไม่ถูก

           พิธีการขึ้นธุดงค์จบลงเมื่อเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น  หลวงพ่อโบ้ยมอบพระเครื่องแก่พวกข้าพเจ้าคนละหนึ่งพันองค์ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาองค์ขนาดหัวแม่มือ  ใต้องค์พระมีรูปสัตว์ในตำนานพระเจ้าห้าพระองค์  คือ  ไก่, โค, เต่า, นาค, ราชสีห์  บางองค์ขี่ไก่  บางองค์ขี่โค  บางองค์ขี่เต่า  บางองค์ขี่นาค  บางองค์ขี่ราชสีห์  หลวงพ่อสั่งว่าขอให้แจกจ่ายแก่ญาติโยมทั่วไป  ห้ามรับเงินทองเป็นสิ่งตอบแทน (ห้ามขายนั่นแหละ) เป็นอันขาด   ข้าพเจ้ารับพระเครื่องนั้นไว้ด้วยความจำใจ  ที่ว่าจำใจรับก็เพราะรู้สึกว่า  พระดินเผาตั้งพันองค์หนักไม่น้อยเลย  ไหนจะต้องแบกกลด  สะพายบาตร  หิ้วกาน้ำ  อีรุงตุงนังก็หนักมากพออยู่แล้ว  ยังต้องมาเพิ่มน้ำหนักจากพระเครื่องอีก  จึงไม่เป็นเรื่องที่น่ายินดีเลยครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, ตุลาคม, 2565, 10:22:28 PM
(https://i.ibb.co/XDYCyLr/946560-img-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๓ -
           พอออกจากวัดมะนาวก็เจอปัญหาหนักใจเสียแล้ว  หลวงพี่บัณฑิตหัวหน้าคณะไม่ได้ร่วมเดินทางด้วย  ท่านให้ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพรผู้ไม่เคยออกเดินธุดงค์เลย  พากันเดินทางตัดทุ่งสุพรรณบุรีมุ่งสู่ทุ่งบางซ้าย  นัดแนะให้พวกข้าพเจ้าปักกลดรอคอยอยู่ตามหลังหมู่บ้านในละแวกวัดบางซ้ายนอก-บางซ้ายใน  ส่วนตัวท่านเดินทางไปทางเหนือตัวเมืองสุพรรณบุรีเพื่อโปรดญาติโยมของท่านก่อน  ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพร  ลงเรือข้ามฟากจากวัดมะนาวได้ก็แบกกลดสะพายบาตร  ย่ามใหญ่และหิ้วกาน้ำ  เดินตัดทุ่งไปทางประตูน้ำบางยี่หน  พลบค่ำก่อนถึงประตูน้ำ  หาทำเลทุ่งนาใกล้หมู่บ้านปักกลดแรมคืนกันอย่างทุลักทุเล

           ปักกลดครั้งแรกหลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าตื่นเต้นพอ ๆ กัน  เรากะระยะปักกลดห่างกันชั่วขว้างก้อนดินตก  ว่ากันตามระเบียบเปี๊ยบเลยก็แล้วกัน  ความที่ตื่นเต้นของข้าพเจ้าทำให้ว่าคาถาอธิษฐานแผ่นดินผิด ๆ ถูก ๆ  อธิษฐานแผ่นดินเสร็จก็ปักกลด  ขณะตอกหลักกลดก็ว่าคาถาปักกลดอีกบทหนึ่ง  เมื่อตอกหลักเสร็จ  เอาด้ามเสากลดสวมลงกับหลักแล้วขึงสายอัพโพกาศ (ไม่ใช่สายอากาศ) ซึ่งมี ๓ สาย  โยงจากยอดกลด  ปลายสายปักลงดินให้กลดมั่นคงในการต้านลม  ตรงนี้ก็ต้องว่าคาถาอีก  คาถาทุกบทล้วนท่องได้มาใหม่ ๆ  และใช้เป็นครั้งแรก  บวกกับความตื้นเต้น  ใครไม่ว่าผิด ๆ ถูก ๆ ก็เก่งเกินไปละครับ

           เมื่อกางกลดได้สักพักหนึ่ง  ก็มีชาวบ้านประมาณ ๑๐ คนเห็นจะได้  พากันเข้ามาพูดคุยโดยมีน้ำตาลปึกและน้ำอ้อยงบมาถวายหลวงพี่แพรและข้าพเจ้าด้วย  และก็เริ่มวิสาสะด้วยคำถามง่าย ๆ จากชาวบ้านก่อนว่า  “ท่านมาจากไหน จะไปไหน?”   ข้าพเจ้าก็ตอบตรง ๆ แบบประหยัดคำพูดไม่อธิบายอะไรให้ยืดเยื้อ  ก่อนลากลับมีโยมบางคนกระซิบขอเลข ๓ ตัว ๒ ตัว    ข้าพเจ้าก็ปฏิเสธ  อ้างว่าเพิ่งออกธุดงค์วันแรก  ไม่รู้อะไรเลย

           ปีนั้น  “กึ่งพุทธกาล”  คือพุทธศักราช ๒๕๐๐  ที่ทางการบัญญัติศัพท์เรียกกันว่า  “๒๕ พุทธศตวรรษ”  หวยเถื่อนหรือหวยใต้ดินกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในสังคมคนไทยระดับกลางและระดับล่าง  พระเณรเถรชีคนในวัด  ญาติโยมคนนอกวัดมักเล่นกันทั้งนั้น  อาจารย์ให้หวยมีทั้งพระทั้งผี  เจ้าพ่อเจ้าแม่  ต้นไม้ใหญ่สัตว์ประหลาดต่าง ๆ มากมาย  พระพุทธรูปบางองค์  ต้นไม้บางต้น  ถูก “คนบ้าหวย”  ขูดขัดถูหาตัวเลขกันเสียจนเป็นมันเลื่อมเลย   พระเกจิอาจารย์ดัง ๆ เช่น  หลวงพ่อนอท่าเรือ, หลวงพ่อเสืออยุธยา, หลวงพ่อนกกระเต็นวัดดอน  เป็นต้น  ล้วนกลายเป็นขวัญใจ  “คนบ้าหวย”  ทั้งนั้น  ชาวบ้านเห็นพระธุดงค์เหมือนเทวดาลงมาโปรด  พากันเข้านั่งรุมล้อมขอหวยด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ

           อาจารย์หรือพระบางองค์ท่านก็  “บ้า”  ไปตามชาวบ้าน  ใครมาขอหวยท่านก็จะให้ด้วยการบอกตัวเลขตรง ๆ บ้าง  บอกใบ้ให้บ้าง  ถ้าไม่บอกให้เลข  ชาวบ้านก็จะหาวิธีขอด้วยการถามว่า  ท่านอาจารย์ฝันอะไรบ้าง  บางคนก็นั่งเฝ้าดูอาการกิริยาของพระอาจารย์ว่า  ท่านจับสิ่งของอะไร  พูดอะไร  แล้วเอาไปคิดเป็นเลขหวย  ก่อนออกเดินธุดงค์ข้าพเจ้าเองก็เคยไปเที่ยวหาอาจารย์หวย  ขอเลข  ขอใบ้ท่านมาเล่นหวยกับเขาเหมือนกัน   บรรพชิตเพศ  แต่งเครื่องแบบของนักบวช  แต่จิตใจก็เป็นเหมือนปุถุชน (คนที่หนาแน่นด้วยกิเลส)  ดังนั้น  พระเณรจึงอยากร่ำรวยเหมือนชาวบ้านทั่วไปนั่นแหละครับ  แต่ตอนออกเดินธุดงค์นี่ข้าพเจ้า  “เปลี่ยนไป”  มีความเคร่งครัดในสมณะสารูปมาก  ญาติโยมมาขอหวยก็ไม่ยอมให้  แต่จะมีใครจับคำพูดและกิริยาอาการของไปคิดเป็นเลขหวยบ้าง  ข้าพเจ้าไม่รู้จริง ๆ

           คืนแรกของการออก  “ชิมรสธุดงค์”  ปักกลดใกล้หมู่บ้านในเขตอำเภอบางปลาม้า  เวลาตกดึกแล้วขาวบ้านที่มานั่งล้อมกลดสนทนาปราศรัยด้วยความหวังในเลขหวย พากันลากลับไปหมดแล้ว  ข้าพเจ้าจุดธูปเทียนปักพื้นดินข้างกลด  ทำการไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน  ทำสมาธิภาวนา  คำภาวนาในการทำสมาธิของข้าพเจ้าก็ทำตามที่หลวงพ่อโบ้ยสอนให้ทำ  คือภาวนาพุทธคุณในบทว่า  “อะระหัง”  เป็นอารมณ์   การสวดมนต์ก่อนนั่งสมาธิภาวนานั้น  ข้าพเจ้าเริ่มสวดตั้งแต่เจ็ดตำนานเลยไปจนถึงสิบสองตำนาน  ว่าหมดทุกบทที่ท่องจำได้  โดยหวังว่าบทพระพุทธมนต์ต่าง ๆ ที่สาธยายนั้น  จะเป็นมนต์คุ้มกันภัยอันตรายให้  เพราะไม่รู้ว่าบทไหนจะขลังอย่างไร  จึงระดมสวดเสียทั้งหมด  ก็เหมือนคนที่นิยมพระเครื่องรางของขลังนั่นแหละครับ  เอาพระพิมพ์หลายองค์มาไว้กับตัวเพราะไม่แน่ใจว่าองค์ไหนจะขลังในทางคงกระพันชาตรีหรือเมตตามหานิยม  โชคลาภ  ก็เอามาเลี่ยมคล้องคอเป็นพวงใหญ่เลย

           หลังจากนั่งทำสมาธิภาวนาพอสมควรแก่เวลาแล้ว  ใช้ผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าปูนอนบนซังข้าว  นอนเอาหัวหนุนก้อน  “ขี้แต้” (คือโขดดิน)  เป็นคืนแรกในชีวิตที่นอนในสภาพดังกล่าว   ลมหนาวในคืนข้างแรมเดือนยี่โชยโกรกละเลียดทุ่งนาที่เต็มไปด้วยซังข้าว  พร้อมน้ำค้างพร่างพรม  ดวงเดือนคืนข้างแรมทอแสงเคล้าสายหมอก  อากาศเย็นยะเยือก  มีไออุ่นที่ดินคายออกมาให้พอบรรเทาความหนาวได้บ้าง  มุ้งถูกลมพัดแรงจนเชิงชายปลิวปะทะเสากลด  ข้าพเจ้าลุกขึ้นเอาบาตร  กาน้ำ  ขวานตอกเสากลด  ย่ามใหญ่  และฝาบาตรใส่เทียนไข  วางทับตีนมุ้งกันไม่ให้ลมพัดปลิวอีก  แล้วล้มตัวลงนอนภาวนาคำว่า  “อะระหัง ๆๆๆๆๆๆๆ”  จนหลับไป  สะดุ้งตื้นตอนค่อนคืนไดยินเสียง  “โฮก ๆๆๆ!”  ใจหายวาบ  นอนนิ่ง  ตัวชา  ใจคิดไปว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงเสือร้าย   เพราะเคยได้ยินได้ฟังเขาเล่ากันว่า  พระรุกขมูลหรือพระธุดงค์มักจะพบการทดลองวิชาอาคม  ความขลังจากนักไสยศาสตร์เสมอมา   นักนิยมวิชาไสยศาสตร์ที่ว่านี้มีทั้งพระและฆราวาส  เป็นชาวพุทธบ้าง  อิสลามบ้าง  พระธุดงค์บางองค์ถูกเขาลองวิชาจนมรณภาพ (ตาย) ไปก็มี  เสียสติป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ไปก็มี  พระธุดงค์ที่ถูลองวิชาจนประสบสภาพดังกล่าวส่วนมากเป็นพระออกธุดงค์ใหม่ ๆ อย่างหลวงพี่แพรกับข้าพเจ้านี่แหละ

           ได้ยินเสียง   “โกรก ๆ...โฮก ๆ”  ก็คิดเอาว่าคงจะถูกใคร  “ลองวิชา”  โดยการแปลงร่างเป็นเสือมาทำร้ายเสียแน่แล้ว!  

           พอคิดว่ามี  “เสือวิชา”  มาคุกคามเท่านั้นแหละ  ความหวาดกลัวมันวิ่งกรูกันมาจากไหนก็ไม่รู้  แล้วจู่โจมเข้าจับหัวใจของข้าพเจ้าโยนเล่นกันอย่างสนุกมือไปเลย  ใจของข้าพเจ้าเต้นไม่เป็นจังหว ะ คิดท่องคาถาอะไรไม่ได้เลยสักบทเดียว  ความหวาดกลัวมันอุดหนทางปัญญาความคิดจนตันไปหมด  นอนตัวแข็งทื่อไม่กล้ากระดุกกระดิก  แม้แต่จะหายใจแรง ๆ ก็ไม่กล้า  ดวงตาทั้งสองข้างก็ไม่กล้าลืมขึ้น  เพราะกลัวว่าจะพบภาพเสือร้าย

           อากาศกลางดึกหนาวเย็นยะเยือกก็จริง  แต่ตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันร้อนอบอ้าวจนเหงื่อแตกออกทั่วกาย  คิดว่าชีวิตคงจบสิ้นเสียเป็นแน่แท้  อย่างน้อย ๆ ถ้าคน  “บ้าวิชา”  จะกรุณาก็อาจจะทำให้ข้าพเจ้ากลายเป็นเณรบ้า ๆ บอ ๆ ไปองค์หนึ่งเท่านั้นเอง

           ข้าพเจ้านอนนิ่งปล่อยใจให้เตลิดเปิดเปิงไปในกระแสธารแห่งความกลัวนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้  สะดุ้งผวาขยับกายได้ก็ต่อเมื่อกระแสลมกระโชกแรงมากจนฝาบาตรที่ใส่เทียนไขวางทับตีนมุ้งนั้น  ถูกตีนมุ้งสะบัดกระเด็นมาตบหน้าข้าพเจ้าฉาดใหญ่  ตีนมุ้งเปิดโล่ง  ข้าพเจ้าทะลึ่งลุกขึ้นด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูกว่ากลัวหรือไม่

           นั่งนิ่งส่งสายตามองฝ่าสายหมอกออกไปในทุ่งกว้าง  ไม่เห็นร่างเสือร้ายตรงหน้า  ค่อย ๆ เหลียวซ้ายแลขวามองไปรอบกลดก็ไม่พบเห็นอะไร  มีแต่กลดหลวงพี่แพรปักตะคุ่มขาวอยู่ใต้เงาจันทร์  ความกล้าค่อย ๆ คืบคลานมาสู่ความรู้สึก  ความกลัวค่อย ๆ ล่าถอยไป  สติความระลึกได้  สัมปชัญญะความรู้ตัวเกิดขึ้น  ความโง่เขลาเบาปัญญาหมดไป  คาถาอาคมบทต่าง ๆ ก็คิดได้ท่องได้หมด

           ข้าพเจ้าจัดการกันตีนมุ้งใหม่  เอาเทียนไขใส่ฝาบาตรทับตีนมุ้งเหมือนเดิม  แล้วนั่งดูมุ้งที่ถูกลมพัดหนักเบาเป็นระยะ ๆ เห็นเทียนไขในฝาบาตรกลิ้งไปมาตามแรงลมกระพือมุ้งดังโกรก ๆ  จึงรู้ได้ชัดว่า  เจ้าเสียงโฮก ๆ เหมือนเสียงเสือร้องก็คือเสียงเทียนไขกระทบฝาบาตร

           เพราะลมพัดมุ้งพะเยิบพะยาบนี่เอง  ไม่ใช่เสียงเสือสางแม่นางโกงที่ไหนหรอกครับ   เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็นอนหลับสบาย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, ตุลาคม, 2565, 11:08:56 PM
(https://i.ibb.co/tJRwrB8/image008-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๔ -

           ตื่นเช้ากล่าวคำสมาทานธุดงค์อีกครั้งแล้วออกบิณฑบาต  โดยมีหลวงพี่แพรนำหน้าเดินเลียบเลาะไปตามริมรั้วหมู่บ้าน  พอเดินไปจนเห็นว่าไกลพอสมควรแล้วจึงย้อนกลับกลด  มาถึงกลดก็พบญาติโยมทายกทายิกานำอาหารหวานคาวนั่งรอถวายอีกนับสิบคนทีเดียว  หลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าฉันอาหารโดยวิธีเดียวกันคือ  เอาข้าวสุก  อาหารคาว  มีต้ม แกง  เป็นต้น  และของหวานทุกชนิด  ใส่บาตรแล้วคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน  ใช้มือเปิบเข้าปาก  ด้วยอาการสำรวมตามเสขิยวัตรบัญญัติ  รสชาติของอาหารรวม (หรือสำรวม) ที่กินมื้อแรกเป็นรสแปลก  มีเปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน มัน ผสมกัน  อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง  ข้าพเจ้ากินเต็มที่ไม่กล้ากินน้อยเพราะกลัวหิวตอนเย็น  ก็ขนาดที่กินวันละ ๒ มื้อตอนอยู่วัด  ตกเวลาค่ำยังหิวจนต้องแอบกินข้าวค่ำกันบ่อย ๆ  ตอนออกเดินธุดงค์นี่กินมือเดียว  “ก็ต้องล่อกันให้พุงกางละครับ”

           ฉันอาหารอิ่มแล้ว  “ยะถา สัพพี...”  ให้พรญาติโยม (ภาษาพระเรียกว่า อนุโมทนา) ตามธรรมเนียม   หลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าก็ควักพระพิมพ์ดินเผาของหลวงพ่อโบ้ย ออกจากย่าม  แจกญาติโยมตามคำสั่งของหลวงพ่อ  ข้าพเจ้าแจกให้คนละหลาย ๆ องค์ด้วยตั้งใจจะแจกให้หมดเร็ว ๆ จะได้ไม่ต้องใส่ย่ามสะพายให้หนักต่อไป  พวกญาติโยมพอรู้ว่าเป็นพระหลวงพ่อโบ้ยก็พากันรับไว้ด้วยความดีใจ  เพราะเขามีความเคารพเลื่อมใสหลวงพ่อมากอยู่แล้ว  มีบางคนที่บ้าหวยก็นับจำนวนองค์พระที่ผมแจกออกเป็นตัวเลขแล้วไปซื้อหวยใต้ดิน  และเหมาเอาว่าข้าพเจ้า   “บอกใบ้ให้หวย”  นั่นแหละ    แจกพระเสร็จแล้วก็บอกลาญาติโยมที่บ้าหวยและไม่บ้าหวยทั้งหลายนั้น   ว่าคาถาเก็บมุ้ง  คาถาถอนสายอัพโพกาศ  คาถาถอนกลดแล้วสะพายบาตร  สะพายย่ามใหญ่  หิ้วกาน้ำ  แบกกลดยืนเหยียบหลุมรอยที่ปักกลด  ว่าคาถาประจุแผ่นดิน  เสร็จแล้วเดินทางจากทุ่งบางปลาม้ามุ่งหน้าสู่ทุ่งบางซ้ายโดยยึดแนวหมู่บ้านตามริมแม่น้ำสายสุพรรณบุรีบ้านแพนเป็นหลักในการเดินทาง

           ทุ่งสุพรรณบุรีเป็นทุ่งมีเขตติดต่อกับทุ่งอยุธยารวมกันเป็นทุ่งใหญ่กว้างไกลสุดสายตา   ยามนั้น  ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วบ้างยังไม่แล้วเสร็จบ้าง  บางตอนน้ำแห้งสนิท  บางตอนแห้งพอหมาด ๆ  บางตอนนั้นยังมีน้ำขังเฉอะแฉะ  พวกข้าพเจ้าต้องเดินแบกกลดสะพายบาตร  บุกลุยเลนตมและซังข้าวผ่านบ้านคลองโมง  องครักษ์  ไผ่กองดิน  บ้านสุด  บ่อหัวกรวด  พ้นเขตสุพรรณบุรี  เข้าเขตอยุธยา  ใช้เวลาเดินทาง ๔ วัน ๔ คืน   ด้วยเหตุการณ์เป็นปกติ  ไม่พบเรื่องตื่นเต้นอะไร  ข้าพเจ้าเริ่มปรับตัวได้  ผิวเนื้อที่ถูกแดดลมเริ่มดำคล้ำเข้ากับสีกรักของสบง  จีวรที่นุ่งห่ม  คุ้นกับ   “การนอนกับดินกินกับทราย”  มากขึ้น  ที่ไม่ดีก็คือฝ่าเท้าทั้งสองถูกเปลือกหอยบาดเป็นแผลหลายแห่ง  แข้งขาทั้งสองถูกซังข้าวบาดเป็นแผลลายไปหมด  พวกชาวบ้านที่พบเห็นพวกข้าพเจ้าแล้ว  เขาพาก็กันตื่นเต้นมาก  เพราะนาน ๆ ทีจึงจะมีพระธุดงค์เดิน  “ลุยทุ่ง”  มาโปรดพวกเขาสักครั้ง

           ชาวบ้านส่วนมากเขาเรียกพระธุดงค์อย่างพวกข้าพเจ้าว่า  “พระหัสดง”  ได้ยินครั้งแรก ๆ ก็งง   และนึกขำขันที่เขาเรียกผิด  แต่พอมีเวลาว่าง ๆ นั่งนึกคิดดู  ก็เห็นว่าเขาน่าจะเรียกถูกเหมือนกัน   เพราะว่าพระธุดงค์จะแบกกลดสะพายบาตรหิ้วกาน้ำออกเดินทางในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาดวงอาทิตย์ตก   พอดวงอาทิตย์อัศดง  คือตกดิน  ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  “หัสดง”  พระธุดงค์ก็จะหยุดเดิน  ปักกลดแรมคืน  นั่งสวดมนต์ภาวนาไปตามกิจหรือภาระที่ตั้งใจรับปฏิบัติ

           วันแรกที่แบกกลดเดินลุยทุ่งถึงถิ่นของตนเอง  หลวงพี่แพรกับข้าพเจ้ามีความเห็นตรงกัน  คือปักกลดอยู่ห่างจากวัดบางซ้ายในประมาณ ๓ กิโลเมตร  โปรดญาติโยมชาวบางซ้าย  โดยจะไม่ถอนกลดจนกว่าหลวงพี่บัณฑิตกลับจากสุพรรณบุรีจะมาสมทบแล้วพาออกเดินทางต่อไป

           ญาติโยมเห็นพระธุดงค์มาปักกลดอยู่ในทุ่งหลังหมู่บ้าน  ก็ออกมาดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ  เพราะนาน ๆ จึงจะเห็นมีพระธุดงค์  “มาโปรด”  สักที      แต่พอรู้เห็นว่าพระธุดงค์ไม่ใช่ใครที่ไหน  ที่แท้คือพระแพรซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในละแวกนั้น  กับเณรเต็มศิษย์ใกล้ชิดพระมหาไวย์วัดบางซ้ายในนี่เอง  เท่านั้นแหละข่าวก็แพร่ออกไปตามบ้านอย่างรวดเร็ว  ทุกคนกล่าวชื่นชมกันว่า  หลวงพี่แพรกับเณรเต็มเก่ง  ที่กล้าสามารถออกเดินธุดงค์  และประพฤติธุดงค์ซึ่งพระเณรน้อยองค์ยากที่จะทำได้

           โยมบางคนที่สนิทสนมกับข้าพเจ้าชนิดที่เรียกว่า  “รู้ไส้รู้พุง”  กันอย่างดี  ก็พูดหยอกล้อ  กระเซ้าเย้าแหย่  เช่นว่า  “จะเอากลดเอาบาตรไปทิ้งเสียเน้อ....!”  ความหมายก็คือ  เดินธุดงค์ไปแล้วจะพบหญิงสาวมาชอบพอและชวนสึกอยู่กินกับเธอเสีย  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พระธุดงค์พบกันบ่อย ๆ  และเรียกกันว่า  “ถูกธิดาพญามารผจญ”  พระธุดงค์หลายองค์ออกธุดงค์แล้วหายเงียบไป  โผล่กลับมาอีกทีก็อุ้มลูกจูงเมียมากราบสมภารเสียแล้ว  แสดงว่าพ่ายแพ้ธิดาพญามาร  ตกเป็นทาสเมียทาสลูกไปโดยปริยาย
 
           สาว ๆ ที่เคย  “เล่นหูเล่นตา”  กันหลายคนรู้ว่าเณรเต็มออกเดินธุดงค์มาปักกลดอยู่หลังหมู่บ้านก็พากันออกมาเยี่ยมเยือน  ถามถึงเรื่องราวที่ได้พบเห็นในการเดินทาง  บางคนก็ถามว่านั่งสมาธิได้เห็นเลขอะไรบ้างไหม?   บางนางที่คะนองปากก็ว่า  “พี่เณรอย่าเอาบาตรไปทิ้งที่อื่นนะ  สงสารสาวบางนี้บ้าง”   บางนางก็กระเซ้าเย้าแหย่ว่า  “พี่เณรอย่าไปนานนะ  รู้มั้ยใครทางนี้เขาคิดถึงมากน่ะ”   คำพูดหยอกเย้าของแต่ละคนสร้างความรู้สึกสับสนในใจของข้าพเจ้ามาก  ใจหนึ่งคิดว่า  “ธิดาพญามารมาผจญเราแล้ว!  เราจะต้องต่อสู้เอาชนะธิดาพญามารให้ได้  ดาหน้าเข้ามาเถิดนางตัณหา  นางราคา  นางอรดีเอ๋ย  เราไม่กลัวเจ้า  เพราะเราเป็นศิษย์พระตถาคตเจ้า”   คิดแล้วก็นั่งยิ้มไม่โต้ตอบคารมใคร ๆ ซึ่งคิดเห็นว่าทำถูกและดีที่สุดแล้ว

           คืนนั้นข้าพเจ้า  “นอนกะดิน”  หลังหมู่บ้านใกล้วัดของตัวเองหลับอย่างมีความสุข   ความกระหยิ่มยิ้มย่องลำพองใจ  ที่ได้จากคำยกย่องชมเชยจากญาติโยมมีมาก  จนความสำคัญตนเองว่า  “เป็นผู้เลิศกว่าใคร”  เกิดขึ้นในความรู้สึกรุนแรงจนห้ามไม่ได้  ทั้ง ๆ ที่รู้จากตำราเรียนว่าความสำคัญตนดังกล่าวเป็น  “มานะ”  อกุศลธรรมที่ไม่มีความดีงามเลย  พระพุทธองค์สอนให้ละทิ้งและทำลายมันเสีย   แต่ข้าพเจ้ากลับปล่อยให้มันเกิดพอกพูนขึ้นในใจเหมือน  “ดินพอกหางหมู”  นั่นเทียว  ด้วยตระหนักว่า  มันเป็นธรรมดาของคนที่อยู่ในวัยรุ่นคะนอง  เด็กหนุ่มเด็กสาว  “วัยหวาน”  เมื่อได้รับคำชมเชย  สรรเสริญเยินยอก็มักเหิมเกริม  เด็กหนุ่มเสียคนเพราะถูกคนอื่นยกยอปอปั้นมานักต่อนัก  เด็กสาวเสียสาวเสียตัว  เสียผู้เสียคน  เพราะคำหวานป้อยอ  มีมากทุกยุคทุกสมัยเช่นกัน  จึงพยามยามข่มใจเมื่อถูกคำชมรุมเร้าอารมณ์

           ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพรปักกลดรอหลวงพี่บัณฑิตอยู่ ๖ วัน  ตลอดเวลาที่รอคอยจะมีญาติโยมเพื่อนฝูงเวียนกันมาเยี่ยมเยือนผมไม่ขาด   ตอนเย็นและตอนหัวค่ำพระเณรในวัดออกไปคุยสารพัดเรื่อง  และก็อดที่จะกระเซ้าเย้าแหย่ไม่ได้  หลวงพี่บางองค์ท่านล้อว่าเณรเต็มเป็น  “ลิงล้างก้น”  มีความหมายว่า  เดิมข้าพเจ้าอยู่วัดร่วมกับเพื่อนฝูงเป็นเณรที่ซุกซนไม่แพ้ใคร ๆ  แต่พอออกธุดงค์กลับกลายเป็นเณรที่เคร่งครัดสำรวมกายวาจาเรียบร้อยน่าเลื่อมใส  น่าเคารพศรัทธาได้อย่างไม่น่าเชื่อ   เรื่องนี้ข้าพเจ้าเองก็นึกอัศจรรย์ใจตนเองเหมือนกัน!   ความรู้สึกคึกคะนองทะลึ่งตึงตังของข้าพเจ้าไม่รู้มันหดหายไปไหนหมด  ในใจมีแต่ความละอายต่อบาปและกลัวต่อบาปทุจริต  ไม่กล้าพูดกล้าทำในสิ่งไม่ดีไม่งามนานา  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะอานุภาพของธุดงควัตรที่สมาทานมาประพฤติอยู่ก็ได้ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, ตุลาคม, 2565, 11:54:37 PM
(https://i.ibb.co/MBPxbDz/pansa01-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๕ -
           หลวงพี่บัณฑิตเดินทางจากสุพรรณบุรีมาสมทบกับพวกข้าพเจ้าที่บางซ้าย  แล้วพาออกเดินทางต่อ  โดยมุ่งหน้าไปนมัสการ (ไหว้) พระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี  เดินลัดทุ่งบางซ้ายผ่านเจ้าเจ็ด  บ้านแพน  บางบาล  เข้าสู่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา  ปักกลดอยู่ในวังโบราณที่รกครึ้มด้วยต้นพุทราเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน  มีโยมผู้ใจบุญซื้อตั๋วรถไฟถวายให้ขึ้นรถไฟเดินทางไปลงที่สถานีรถไฟบ้านหมอ  แล้วแบกกลดเดินเท้าต่อไป  ถึงพระพุทธบาทวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ เป็นเวลาใกล้วันไหว้พระพุทธบาทที่กำหนดไว้คือ   “กลางเดือน ๓”   หลวงพี่บัณฑิตพาพวกเราเข้าไปในวังโบราณ  ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคณะกรรมการจัดงานนมัสการพระพุทธบาทกำหนดให้พระธุดงค์ปักกลดรวมอยู่ด้วยกัน

           ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาพและบรรยากาศที่ได้สัมผัสพบเห็น  เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไปพระพุทธบาท  ดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในความรู้สึกของชาวพุทธ

           สมัยนั้นพุทธศาสนิกชนในจังหวัดภาคกลางแห่งประเทศไทยคนไหนได้ไปไหว้พระพุทธบาท (ท่าเรือ) จังหวัดสระบุรีแล้ว  จะคุยอวดเพื่อนได้อย่างภาคภูมิ   ข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะไปนมัสการพระพุทธบาทตั้งแต่บวชเป็นสามเณรใหม่ ๆ แล้ว   ดังนั้น  เมื่อมีโอกาสได้นมัสการพระพุทธบาทสมปรารถนาก็ต้องตื่นตาตื่นใจ  และตื่นเต้นเป็นธรรมดา  แม้ยังไม่ถึงกำหนดงานนมัสการรอยพระพุทธบาท  แต่ก็มีร้านค้าผู้คนไปเที่ยวเต็มรอบบริเวณตลาดอำเภอพระพุทธบาท    บนภูเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทก็มีผู้คนเดินขึ้นลงและเข้าถ้ำกันอย่างเนืองแน่น  พระธุดงค์จากทุกสารทิศเดินทางไปปักกลดในบริเวณวังโบราณเต็มพืดไปหมด  สถานที่ไม่พอให้ปักกลด  จึงล้นออกไปปักกลดกันในบริเวณที่เรียกว่า  “ท้ายพิกุล”  นอกวังโบราณ แน่นขนัดไปหมดเหมือนกัน  กลดพระธุดงค์ที่ปักกางอยู่ในวังโบราณและท้ายพิกุลนั้น  ถ้าขึ้นไปยืนมองลงมาจากภูเขาพระพุทธบาทแล้วจะเห็นเป็นเหมือนกับดอกเห็ดบานเต็มพื้นที่สวยงามมากทีเดียว

           ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพร  หลวงพี่บัณฑิต ปักกลดอยู่ใต้ต้นพุทราในวังโบราณ  ได้พบพระภิกษุที่รู้จักชอบพอกันมาก่อนหลายองค์  ซึ่งออกเดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ในวังโบราณเช่นกัน  บางองค์อยู่ใกล้กัน  บางองค์อยู่ไกลกัน  การปักกลดในสถานที่นี้พระธุดงค์ท่านไม่ถือกฎเกณฑ์ที่ว่าต้องปักกลดห่างกันในระยะชั่วขว้างก้อนดินตก  เพราะสถานที่ไม่อำนวยให้ทำตามกฎเกณฑ์นี้  บางองค์  “เก็บธุดงค์”  บางอย่างเหลือไว้ประพฤติเพียง  “ถือผ้าสามผืน, ถือการบิณฑบาต”  เท่านั้น

           พระธุดงค์ที่ปักกลดอยู่ในบริเวณพระพุทธบาทยามงานนมัสการพระพุทธบาทนี้มีหลายประเภท  ข้าพเจ้าได้รู้ได้เห็นพฤติกรรมของพระบางประเภท  ทั้งที่เป็นพระธุดงค์และพระไม่ประพฤติธุดงค์  ซึ่งไปในงานแล้วสลดใจ  เสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์องค์เจ้าไปมากเลยทีเดียว  จากปีนั้นมาถึงปีนี้ (ที่กำลังให้การฯอยู่นี่) เป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว  พฤติกรรมย่ำยีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระภิกษุบางองค์กระทำกันในงานนมัสการพระพุทธบาทนั้นยังมีอยู่  ข้าพเจ้าไม่ได้ไปดูไปเห็น  แต่ก็ติดตามฟังข่าวจากผู้ที่ไปพบเห็นมาบอกเล่า  ก็เหมือน ๆ กับสมัยที่ได้ไปสัมผัสมาด้วยตนเองนั่นแหละครับ

           ท่านสาธุชนทั้งหลายโปรดอย่าหาว่าข้าพเจ้านำความชั่วของพระธุดงค์ที่นั่นมาประจานกันในที่นี้เลย  ข้าพเจ้าคิดว่า  หากนำความไม่ดีไม่งามนั้น ๆ มาเปิดเผยแล้ว  อาจจะมีคนดีมีความสามารถเข้าไปช่วยแก้ไข  ขจัดความไม่ดีไม่งามนั้น ๆ ให้หมดไปก็ได้  และต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอใช้เวลาเล่าเรื่องไม่ดีไม่งามของพระหลาย ๆองค์ที่ได้พบเห็นในงานนมัสการพระพุทธบาทให้ท่านฟังกันยืดยาวสักหน่อย  สำหรับท่านที่รู้เห็นมาแล้ว  ก็ฟังเพื่อเป็นการทบทวนความจำก็แล้วกัน  ส่วนท่านที่เป็นบุคคลประเภท  “ศรัทธาจริต” (มีความเชื่อเป็นปกติ)  ได้ฟังเรื่องพระทำไม่ดีแล้วก็อย่าด่วนสิ้นศรัทธาในพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเสียเลย  เพราะมันเป็นเพียงความประพฤติผิดส่วนตัวของภิกษุ  ไม่ใช่ส่วนรวมของพระสงฆ์สาวกพระพุทธเจ้า  
  

                       “ภิกษุอลัชชีที่พระพุทธบาท”

           อรุณแห่งมาฆมาส  คือเริ่มต้นเวลากลางวันของเดือนสามปีนั้น  ประมาณ ๐๕.๓๐ น. เห็นจะได้   เป็นเวลาได้  “อรุณ”  ที่ทางกรรมจัดงานฯกำหนดให้พระธุดงค์และพระอาคันตุกะ (พระที่จรมาจากวัดอื่นๆ) ออกเดินรับบิณฑบาต  หรือ “โปรดสัตว์”  (หรือใครจะเรียกว่าขอทานกิตติมศักดิ์ก็ตามเถอะ) ในบริเวณงานงานพระพุทธบาทได้แล้ว

           คำว่า  อรุณ  เป็นที่รู้ความหมายกันในวงการนักบวชว่า  “เวลาเริ่มต้นของวันใหม่”  การจะรู้ว่าได้อรุณหรือยัง  หรืออรุณขึ้นหรือยัง  ท่านให้ดูใบไม้อ่อนเป็นเกณฑ์ ถ้ามองเห็นใบไม้อ่อนหรือใบหญ้าชัดเจน  ก็แสดงว่าได้เวลาอรุณแล้ว  หรือไม่อย่างนั้น  ท่านก็ให้เหยียดแขนยื่นออกไปข้างหน้า  แล้วทอดสายตาดูลายเส้นบนฝ่ามือ  ถ้ามองเห็นเส้นลายมือของตนชัดเจนดีแล้ว  ก็ให้ถือว่านั่นได้เวลาอรุณแล้ว  วิธีการดูเวลาอรุณนี้ใช้กันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

           กติกาของคณะกรรมการสงฆ์ในงานไหว้พระพุทธบาท  ท่านกำหนดให้พระเณรทั้งที่ธุดงค์และอาคันตุกะออกจากที่พักเดินรับบิณฑบาตได้ตั้งแต่เวลาอรุณขึ้นเป็นต้นไป   แต่ในบริเวณงานพระพุทธบาทตามห้างร้านและหมู่บ้านทุกถนนหนทางมีแสงไฟฟ้าสว่างจ้าไปทั่ว  จะใช้กฎเกณฑ์ในการ  “วัดอรุณ”  ดังกล่าวนั้นหาได้ไม่  ครั้นจะใช้นาฬิกาบอกเวลาว่า ๐๖.๐๐ น. หรือ ๐๖.๓๐ น. ก็ไม่ได้  เพราะนาฬิกาแต่ละเรือนอาจจะเดินไม่ตรงกัน  ความลักลั่นจะเกิดขึ้นได้  ท่านจึงให้ถือเอานาฬิกาของวัดพระพุทธบาทเป็นหลัก  เมื่อได้เวลาที่กำหนดแล้วก็ให้เจ้าหน้าที่   “ตีกลองสัญญาณ”  ให้พระทั้งหมดถือเอาเสียงกลองบอกสัญญาณเป็นหลักในการ  “ออกเดินหนโปรดสัตว์”  ไปตามถนนหนทางสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณงาน  กลองที่ใช้เป็นสัญญาณ  “บอกอรุณ”  เป็นกลองขนาดใหญ่มาก  ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด  เมื่อกลองลูกนี้ถูกตีขึ้นแล้ว  เสียงจะดังกังวานไปทั่วบริเวณงานพระพุทธบาททีเดียว

           เจ้าเป็นคนใหม่ของงานพระพุทธบาท  จะทำอะไรก็ต้องคอยดูและทำตามคนเก่า  กลดของข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพรอยู่ติดกัน  ส่วนหลวงพี่บัณฑิตท่านอยู่ในกลุ่มพวกเก่าของท่าน  อยู่ห่างจากข้าพเจ้ามาก  ในกลุ่มของหลวงพี่บัณฑิตนี้มารู้ทีหลังว่าทุกท่านล้วนแต่เป็นพระธุดงค์ที่คร่ำหวอดกับการออกธุดงค์มาแล้ว  แต่ละองค์ได้ชื่อว่า  “คณาจารย์”  หรือ  “เกจิอาจารย์”  ด้วยกันทั้งนั้น  หลวงพี่บัณฑิตเมื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มดังกล่าวแล้วก็อยู่ในรุ่น  “ปลายแถว”  หรือ  ระดับ “ซือตี๋”  เท่านั้นเอง   ท่านให้เหตุผลในการแยกจากข้าพเจ้าไปปักกลดอยู่ในกลุ่ม  “เกจิอาจารย์”  นั้น  ก็เพื่อไปขอวิทยาคมเพิ่มเติม  จะได้ใช้ในการเดินธุดงค์หลังจากสิ้นสุดงานพระพุทธบาทแล้ว  ท่านยังให้ความหวังกับข้าพเจ้าและหลวงพี่แพรอีกว่า  จะถ่ายทอดวิทยาคมที่ได้จากเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ให้อีกด้วย  กลุ่มคณาจารย์หรือเกจิอาจารย์นั้นข้าพเจ้าเรียกกันลับหลังท่านว่า   “กลุ่มเสือสิงห์กระทิงแรด”

           ข้าพเจ้ามักเดินเมียงไปหาหลวงพี่บัณฑิตด้วยจุดประสงค์ต้องการไปรู้จักบรรดาเกจิอาจารย์ในกลุ่มคณาจารย์นั่นเอง  การเดินเมียงไปเมียงมาของข้าพเจ้าไม่เสียเวลาเปล่า  เพราะได้รู้จักเกจิอาจารย์หลายองค์  ได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านประสบมาแล้วบอกเล่าให้ฟัง  บางองค์ก็สอนวิชาอาคมให้ด้วยความเมตตา  ดูเหมือนว่าข้าพเจ้าจะเป็นเณรที่น่ารักสำหรับเกจิอาจารย์ทั้งหลาย  เพราะทำตัวเรียบร้อย  “เรียกง่ายใช้คล่อง”  แสดงความเฉลียวฉลาดให้ปรากฏเสมอ

           ตามกลดพระเกจิอาจารย์ทั้งหลายนั้น  ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน  จะไม่ว่างเว้นขาดจาก  “แขก”   ทั้งพระเณรและญาติโยมต่างก็เข้าไปหาพระเกจิอาจารย์กันไม่ขาดสาย  ส่วนใหญ่ก็เข้าไปขอ  “ของดี”  คือพระเครื่อง  ตะกรุด  ผ้ายันต์  และที่พิเศษสุดก็คือ  “เลขหวยใต้ดินสองตัวสามตัว”  อีกทั้งขอให้ท่านทำนายโชคชะตาราศีด้วย  พระเครื่อง  ตะกรุด  ผ้ายันต์  ข้าพเจ้าได้จากพระเกจิอาจารย์น้อยใหญ่ไม่น้อยเหมือนกัน  และที่พิเศษคือ  ได้เรียนรู้วิชา  “หมอดู”  ทั้งดูลายมือและคำนวณตัวเลขจากพระหมอดูหลายองค์ที่มาในงานไหว้พระพุทธบาทนี่เอง /
 
                                   ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52985#msg52985)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, ตุลาคม, 2565, 10:35:34 PM
(https://i.ibb.co/QjKxSfb/1112309-img-tdbf40-0-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบนี้ในเน็ต


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53100#msg53100)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๖ -
           หลวงพ่อสุข (อย่ารู้นามฉายาและวัดวาอารามของท่านเลย) อายุของท่านประมาณ ๖๒ ปี  ออกบวชเมื่อมายุได้ ๔๙ ปี  หลังจากที่มีภรรยา ๑ คน ลูก ๕ คน  อาชีพเดิมรับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย  แต่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย    ออกบวชเพราะเกิดความเบื่อหน่ายในระบบราชการและสังคมของฆราวาส  บวชแล้วเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้  สอบนักธรรมชั้นเอก ๓ ครั้งไม่ได้จึงเลิกสอบ  เริ่มออกเดินธุดงค์เมื่อบวชได้ ๕ พรรษาแล้ว  แบกกลดสะพายบาตรท่องไปเกือบทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย

           หลวงพ่อเย็น  อายุของท่านประมาณ ๕๘ ปี  วัดของท่านอยู่ในกรุงเทพฯ บรรพชาเป็นสามเณรแต่งแต่อายุ ๑๕ ปี  จนอายุครบ ๒๐ ปี  จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อโดยไม่เคยลาสิกขา  ท่านเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก  เปรียญธรรม ๓ ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร   ออกเดินธุดงค์ตั้งแต่บวชเป็นพระภิกษุ (พระมหา)ได้ ๒ พรรษา  บุกป่าฝ่าดงท่องไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย  และเข้าไปในบางพื้นที่ของประเทศพม่า-ลาวมาแล้ว

           หลวงพ่อชุ่ม  อายุประมาณ ๖๐ ปี  บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี  สติปัญญาไม่ค่อยเฉลียวฉลาด (หัวไม่ค่อยดี) จึงเรียนพระปริยัติธรรมสอบได้เพียงแค่นักธรรม
ชั้นตรีเท่านั้น  ท่านเป็นพระบ้านนอก  เด๋อด๋าตามประสาคนบ้านนอก  พูดจาเสียงเหน่อ ๆ เป็นคนใจเย็นจนดู “ทึ่ม” ไปหน่อย  เคร่งครัดในระเบียบวินัยเป็นอย่างยิ่ง  ท่านออกเดินทางประพฤติธุดงค์ธุดงค์ตั้งแต่บวชเป็นพระภิกษุได้ ๔ พรรษา  เยือนย่ำไปค่อนประเทศไทยแล้ว

           หลวงพ่อหลา  อายุประมาณ ๕๕ ปี  เป็นพระบ้านนอก  บวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบบวช (ตามประเพณี) คือ ๒๐ ปีบริบูรณ์  ความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นตรี  แต่อ่าน-เขียนหนังสือไทยไม่ค่อยจะดี  เพราะความรู้สามัญท่านเรียนไม่จบชั้น ป.๔  ท่านบอกว่าพยายามเข้าสอบนักธรรมชั้นตรีอยู่ ๕ ปี จึงสอบได้  แต่บวชได้เพียงพรรษาเดียวท่านก็ตามพระพี่เลี้ยงออกเดินธุดงค์แล้ว  คาถาอาคมของหลวงพ่อหลามีถ้อยคำแปลก ๆ คือเป็นภาษาแขกปนเขมรเสียเป็นส่วนใหญ่

           หลวงพ่อม้วน  อายุประมาณ ๔๙ ปี  มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นเอก  บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี  ครั้นอายุได้ ๑๘ ปี  ก็ติดตามพระพี่เลี้ยงออกธุดงค์เดินทางไปทุกหนทุกแห่งเกือบทั่วประเทศไทย  แล้วยังเลยเข้าไปในประเทศมาเลเซีย  สิงคโปร์  พม่า  ลาว  เขมร   ท่านเล่าว่าพอบวชพระได้ ๕ พรรษาพ้นนิสัยมุตกะแล้วก็ออกธุดงค์เดินเดี่ยวไม่ให้ใครติดตาม  และไม่ติดตามใคร   ท่านบอกว่าได้เคยเผชิญ-ผจญ ช้าง เสือ  มหิงส์ กะทิงแรด ในป่ามานักต่อนักแล้ว

           หลวงพ่อเพิ่ม  ข้าพเจ้าชอบเรียกท่านว่า  “หลวงพ่อโย่ง”  เพราะท่านมีร่างกายสูงโย่ง  อายุประมาณ ๕๖ ปี  เป็นพระจากที่ราบสูง (คือภาคอีสาน)  มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นโท  และเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๔ ประโยค  บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี  ออกเดินธุดงค์ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร (โข่ง) อายุ ๒๐ ปี  ส่วนมากจะเดินทางประพฤติธุดงค์ในแถบจังหวัดภาคอีสานของไทย  และประเทศลาว-เขมร ภาคกลางและภาคเหนือ  ส่วนทางภาคใต้ของไทยท่านยังไม่เคย “ท่องธุดงค์” หลวงพ่อองค์นี้ท่านเป็นพระที่สร้างอารมณ์ขำขันแปลก ๆ ให้พวกเราได้หัวเราะเฮฮากันเสมอเลย

           นอกจากที่กล่าวถึงมาแล้ว  ยังมีหลวงพ่ออะไรต่ออะไรอีกหลายองค์ที่สนิทสนมชอบพอกับข้าพเจ้าบ้าง  ชอบพอแบบไม่สนิทสนมบ้าง  สำหรับหลวงพ่อทั้ง ๖ องค์ที่กล่าวชื่อมานั้น  เป็นผู้ที่ชอบพอสนิทสนมกับข้าพเจ้ามากมาก  หลวงพ่อสุขให้ความรู้ผมเรื่องการทำงานราชการ  การมีเมียมีลูก  การออกเดินธุดงค์  ตลอดจนคาถาอาคมต่าง ๆ   หลวงพ่อเย็นให้ความรู้ด้านพยากรณ์ศาสตร์หรือหมอดู  แม้จะมีเวลาไม่ถึง ๒๐ วัน  ท่านก็สอนให้ข้าพเจ้าคำนวณหาฤกษ์ยามและทำนายชะตาราศีได้ไม่น้อย  ทำให้ได้หลักและแนวทางให้ศึกษาค้นคว้าได้ต่อภายหลัง  เกจิอาจารย์นอกนั้นแจกเครื่องรางของขลัง  บอกคาถาอาคมให้มากบ้างน้อยบ้าง  ไม่เสียทีที่ได้คบค้าสมาคมกัน

           กฎของคณะกรรมการควบคุมดูแลสงฆ์ในงานนมัสการพระพุทธบาท  ห้ามไม่ให้มีการแจกเครื่องรางของขลังและบอกใบ้ให้หวยอย่างเด็ดขาด  ข้อห้ามสั่งกำชับเด็ดขาดก็จริง  แต่ความเด็ดขาดของข้อห้ามไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม  มีพระเณรฝ่าฝืนข้อห้ามกันมากมาย  ทั้งนี้เพราะบรรดาญาติโยมที่เข้าหาพระนั่นแหละเป็นตัวการสำคัญ  ทำให้พระเณรฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว

           พระธุดงค์จะเดินทางไปไหน ๆ ก็ไม่พ้น  “คนบ้าหวย”  ยกเว้นแต่ไปในป่าดงพงไพรที่ห่างไกลความเจริญเท่านั่นแหละ  ในบริเวณงานไหว้พระพุทธบาทนี้ผู้คนที่ไปแสวงบุญก็มักจะแสวงโชคไปพร้อมกันด้วย  งานประจำปีปิดทองไหว้พระในที่ต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นมา  ยังไม่เคยพบเห็นงานไหนจะมีคนมากมายเหมือนที่พระพุทธบาทสระบุรี    ข้าพเจ้าเห็นพฤติกรรมของชาวพุทธที่ไปในงานไหว้พระพุทธบาท  นอกจากไหว้พระปิดทองพระพุทธรูปพระพุทธบาทแล้ว  ก็คือการทำบุญให้ทาน  ขอพรและโชคลาภเครื่องรางของขลังจากพระเณรตามกลดพระธุดงค์  และขึ้นเขา  เข้าถ้ำ  เดินชมสินค้าในร้านค้าต่าง ๆ ตามอัธยาศัย

           เพราะการที่ชาวพุทธซึ่งไปในงานไหว้พระพุทธบาทถือการทำบุญให้ทานเป็น  “กิจที่ควรทำ”  นี่แหละ  เป็นเหตุให้ในบริเวณงานพระพุทธบาทมีพระภิกษุสามเณรทั้งธุดงค์และไม่ใช่ธุดงค์มีจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นองค์  ไปเพื่อ  “เป็นเนื้อนาบุญ”  ให้ชาวพุทธได้ทำบุญให้ทานกันอย่างเพียงพอตามความต้องการ   พร้อมกันนั้นก็มี  “ขอทาน”  ไปรอรับเศษเงินจากชาวพุทธผู้ใจบุญประสงค์จะให้ทานกันมากมาย  พระเณรผู้โลภมาก และขอทาน  จึงไปร่ำรวยจากบุญทานในงานไหว้พระพุทธบาทกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

           ตามกลดต่าง ๆ ของพระเณรธุดงค์จะมีญาติโยมเข้าไปหา  ขอพรบ้าง  ขอของขลังบ้าง  ขอโชคลาภบ้าง  ขอให้ทำนายชะตาราศีบ้าง  เข้าไปถวายเงินโดยไม่ประสงค์ได้สิ่งใด ๆ เป็นการตอบแทนบ้าง  และการที่มีผู้ใจบุญเข้าหาพระธุดงค์กันมากนี่เอ ง เป็นเหตุให้เกิดมี  “อาชีพขายน้ำ-บุหรี่”  ขึ้นในอาณาเขตพระธุดงค์  เขาทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  ทั้งพระเณรผู้รับและคนขายน้ำขายบุหรี่ได้เงินจากผู้ใจบุญคนละมาก ๆ  บางคนทำอาชีพนี้อยู่จนสิ้นเวลางานไหว้พระพุทธบาท  ได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนเลยทีเดียว

           วิธีการหาเงินจากผู้ใจบุญของพระเณรธุดงค์และคนขายน้ำ-บุหรี่   เป็นวิธีการง่าย ๆ  คือมีกาต้มน้ำใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยใช้ต้มน้ำ  ใส่น้ำเย็น ๒ กา  บุหรี่ยี่ห้อต่าง ๆ อย่างละซองหรือสองซอง  คอยรอท่าคนที่เดินผ่านเข้ามาในบริเวณใกล้กลดของพระธุดงค์   ถ้าเป็น “อาม้า อาซิ้ม อาโก อากู๋ เถ้าแก่ เถ้าแก่เนี้ยะ” แล้ว  ยิ่งง่ายต่อการขายน้ำ-บุหรี่ให้  โดยผู้ขายจะหิ้วกาน้ำเย็นดักหน้ากล่าวเชิญให้  “ซื้อน้ำฝนบริสุทธิ์”  ถวายพระเณรของตน

            “เชิญซื้อน้ำฝนบริสุทธิ์ถวายพระสักกาหนึ่งเถิดครับ  ท่านอาจารย์องค์นี้ยังไม่มีน้ำดื่ม”

            “เชิญซื้อบุหรี่ถวายพระสักซองซีครับ  ท่านอาจารย์องค์นี้ยังไม่มีบุหรี่สูบเลย”

           บางคนก็คะยั้นคะยอต้อนหน้าต้อนหลังรบเร้าให้คนซื้อของดังกล่าว  ผู้ใจบุญบางท่านก็ทนความรำคาญไม่ได้  จำใจต้องซื้อถวายตามต้องการของคนขาย  ถ้ามีคนเดินมาเป็นคณะกลุ่มใหญ่ด้วยแล้ว  ผู้หากินกับพระก็จะกรูกันเข้าหาเสนอขายทั้งน้ำทั้งบุรี่  พอมีคนซื้อน้ำ-บุหรี่แล้ว  ผู้ขายก็จะกุลีกุจอพาเข้าหาพระของตน  คราวนี้แหละครับรายการ  “ต้มตุ๋นนักบุญ”  ก็เกิดขึ้นอย่างน่าละอายที่สุด!

           หลวงพ่อหรือพระอาจารย์ที่คนหากินกับพระอ้างนั้น  บางองค์วางมาดเคร่งขรึม  บางองค์ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส  พูดจาจ๊ะจ๋า  เอาอกเอาใจคนเก่ง  ที่วางมาดเคร่งขรึมนั้น  พอมีคนใจบุญนำน้ำ-บุหรี่เข้าไปถวายตามคำแนะนำของคนขายแล้ว  ท่านจะรับด้วยอาการเชื่องช้าแล้วพูดด้วยเสียงเบา ๆ  “รับพรซะหน่อยนะโยม”  แล้วก็พนมมือหลับตานิ่งสักอึดใจ  เปล่งเสียงพึมพำเป็นถ้อยคำในภาษาบาลี  คนขายน้ำก็จะเข้าไปกระซิบผู้ใจบุญว่า  “ขอของดีท่านซี  องค์นี้ท่านมีดีหลายอย่าง  แต่ไม่ค่อยจะให้ใคร”   เมื่อถูกขอของดีจากผู้ใจบุญท่านก็จะนั่งนิ่งดูหน้าคนขอเชิงพิจารณาสักครู่หนึ่ง  แล้วค่อย ๆ ล้วงมือลงในย่ามใหญ่หยิบพระเครื่อง  หรือไม่ก็ตะกรุด  ผ้ายันต์  อย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้  พร้อมพูดกำชับว่า   “เก็บไว้ให้ดีนะ  ของหายาก”  มาถึงขั้นนี้คนใจบุญนั้นก็อดไม่ได้ที่จะต้องควักกระเป๋าถวายเงินหลวงพ่ออีกมากน้อยตามกำลังศรัทธา

           สำหรับองค์ที่ไม่วางมาดเคร่งขรึม  ก็มีวิธีการเรียกเงินจากกระเป๋าคนใจบุญเข้าย่ามของท่านเหมือนกัน  กล่าวคือเมื่อมีคนนำกาน้ำเย็น  บุหรี่  เข้าไปถวายตามคำแนะนำของคนขาย  ท่านก็ปฏิสัณฐานด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน  ซักถามที่อยู่  อาชีพการงาน  อะไรต่ออะไรตามแต่อัธยาศัย  ใครสนใจท่านก็จะพูดคุยด้วยเป็นเวลานาน  บางองค์งัดเอาวิชาหมอดูออกมาว่ากันเลย  คนใจบุญนั้นนอกจากจะเสียเงินซื้อน้ำฝน (ปลอม) และบุหรี่แล้ว  ยังต้องควักกระเป๋านำเงินออกมาถวายพระอีกด้วย

           ท่านสาธุชนทั้งหลายครับ  บุหรี่กับน้ำฝนที่ญาติโยมซื้อถวายพระนั้นมันเป็นเหมือนของกายสิทธิ์  เพราะบุหรี่ซองเดียว  น้ำเย็นกาเดียว  ขายได้ตั้งหลายวัน   คือเมื่อคนซื้อถวายพระ  รับพร  ถวายเงินพระ  กราบลาไปแล้ว   เจ้าศิษย์พระแสนกลคนนั้นก็นำน้ำกาเดิม  บุหรี่ซองเดิม  ถือออกมายืนจ้องจะขายให้คนต่อไปอีก  ทำวนเวียนอยู่อย่างนี้ทั้งวัน

           ตกเวลาค่ำว่างผู้คนเดินไปมาแล้ว   พระกับคนขายน้ำ (ศิษย์กับอาจารย์) ก็จะนำเงินรายได้จากการขายน้ำและบุหรี่กับทั้งที่ผู้ใจบุญถวายพระตามคำแนะนำของคนขายน้ำ  เอามารวมกันแล้วแบ่งส่วนตามที่ได้เคยตกลงกันไว้  จะได้เท่ากันหรือพระได้มากกว่า  คนได้มากกว่า  ก็แล้วแต่ข้อตกลง  บางรายแบ่งได้ไม่เป็นตามที่ตกลงกันไว้ก็เกิดทะเลาะวิวาท  จนถึงขั้น  “วางมวย”  กันก็มี /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕  มีนาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, ตุลาคม, 2565, 10:57:05 PM
(https://i.ibb.co/PjgXLJ6/557000015486503-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๗ -
           ทำเลที่ปักกลดในวังโบราณเป็นเรื่องสำคัญของพระประเภท “อลัชชี” (ไม่มียางอาย) และพระปลอม  ทำเลที่ดีคือต้องเป็นทางผ่านที่มีคนเดินมาก  ถ้าอยู่ในที่ลับคนจะไม่ค่อยเข้าไปหา  แต่ถ้ามีศิษย์เก่งแล้วก็มักจะชอบอยู่ในที่ลับแล้วให้ศิษย์ต้อนคนเข้าไปหา  และก็มักจะได้รับลาภสักการะ (เงินทอง) ดี  เพราะคนเห็นใจที่ท่านไม่ค่อยมีคนใจบุญเข้าไปถวายปัจจัยไทยทาน  ที่ข้าพเจ้าพูดว่ามี  “พระปลอม” นั้น  ขอขยายความเพื่อความเข้าใจอันดีหน่อยนะครับ

           เป็นเพราะงานไหว้พระพุทธบาทมีคนไปเที่ยว  “แสวงบุญ”  กันมาก  จึงมีพระและคนขอทานเข้าไปเป็น  “ปฏิคาหก”  คือผู้รับทานกันมาก   บรรดา  “ปาปชน” (คนบาป) หวังประโยชน์จากงานนี้   ครั้นจะไปในฐานะคนขอทานก็เห็นว่าไม่เหมาะสม  เพราะร่างกายไม่พิกลพิการ  คนร่างกายสมประกอบหากไปขอทานก็จะไม่มีเกียรติศักดิ์ศรี  ก็เลยต้องทำตนเป็น  “พระปลอม”  หรือปลอมเป็นพระ  โกนหัว  โกนคิ้ว  นุ่งเหลืองห่มเหลือง  มีบริขารของพระบริบูรณ์  หัดทำกิริยาอาการให้เหมือนพระ  ซึ่งก็ไมเป็นการยาก  เพราะชายไทยส่วนใหญ่เคยบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว     มีคนที่เชื่อถือได้เล่าให้ฟังว่า  คนในละแวกนั้น  “ปลอมเป็นพระ”  หากินในงานไหว้พระพุทธบาทปีละมาก ๆ  งานไหว้พระพุทธบาทในแต่ละปีจึงมีพระปลอมปนเปอยู่ในพระจริงเป็นจำนวนมากทีเดียว

           การบิณฑบาตของพระเณรในงานไหว้พระพุทธบาท  ได้สอดแทรกเรื่องน่ารังเกียจ  น่าเกลียดน่าชังเข้าไปไว้ไม่น้อยเลยครับ  ต้องขออนุญาตนำความไม่ดีไม่งามมาเปิดเผยในที่นี้สักเล็กน้อยก็แล้วกัน

           คณะกรรมการสงฆ์ทำหน้าที่ควบคุมดูแลความประพฤติของพระเณรในงานนี้  ท่านได้วางกฎระเบียบเกี่ยวกับการบิณฑบาตไว้   โดยให้ออกจากที่พักพร้อมกันก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงกลองสัญญาณ  ผู้ใจบุญมาใส่บาตรในงานนี่มีเป็นพันเป็นหมื่นราย  ของที่ใส่บาตรก็มีข้าวสุก  ขนมแห้ง  ไข่จืด  ไข่เค็ม  ทั้งที่เป็นฟอง ๆ และผ่าซีก  ผลไม้  อาหารกระป๋อง  และที่พิเศษสุดก็คือ  “สตางค์”  เป็นธนบัตรราคาต่าง ๆ ที่ภิกษุอลัชชี  และพระปลอมชื่นชอบกันมาก

           สถานที่พระเณรผู้แสวงลาภชอบไปรับบิณฑบาตกันมากที่สุด  ก็คือที่เรียกกันว่า  “โรงเจเก่า”  เพราะที่นั่นมีคนจีนผู้ไม่ค่อยรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทย  และคนไทยเชื้อสายจีนไปไหว้เจ้าไหว้พระและใส่บาตรกันมาก  พวกเขาไม่ได้นำข้าวปลาอาหารไปใส่บาตรเท่านั้นนะครับ   คนจีนส่วนมากเป็นคนรวยทรัพย์สินเงินทอง  และไม่ค่อยมีความลังเลสงสัยในการทำบุญให้ทาน  พวกเขานิยมเอาธนบัตร (สตางค์) ใส่บาตรกันมาก  และก็เพราะมีการใส่บาตรด้วยธนบัตรนี่แหละ  เป็นเหตุให้พระเณรผู้แสวงลาภพากันไปเบียดเสียดยื้อแย่งรับบิณฑบาตกันในโรงเจเก่า  จนโรงเจเก่าแทบจะแตก!

           วันแรก ๆ ที่ข้าพเจ้าไปอยู่ในงานพระพุทธบาท  ก็ออกเดินรับบิณฑบาตตามธรรมดา  พระเณรธุดงค์ออกจากกลดไปกันหมดแล้ว  จึงสะพายบาตรออกเดินจากกลด  และไปได้ไม่ไกลหรอกครับ  มีคนยืนรอใส่บาตรกันเยอะแยะ  เดี๋ยวเดียวก็ได้อาหารเต็มบาตร  ครั้นปิดบาตรงดการรับอาหารแล้วเดินกลับกลด  มาถึงกลดก็พบผู้ใจบุญนำอาหารคาวหวานมามานั่งรอถวายที่กลดอีกหลายราย  พวกเขาบอกว่า  “นำอาหารมาถวายเป็นสังฆทาน”  จึงต้องฉลองศรัทธาเขาไปตามธรรมเนียม    บางวัน ออกจากกลดไปได้หน่อยเดียวก็มีคนมาต้อนหน้านิมนต์ให้ไปรับ  “สังฆทาน”  ที่บ้านที่ร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งเขาทำสำรับสังฆทานจำหน่ายแก่ผู้ใจบุญ  แล้วประกาศเชิญชวนให้เป็นเจ้าภาพถวายสังฆทานพร้อมกัน  คนที่ขี้เกียจไปยืนรอใส่บาตรก็จะเข้า-ร้านที่จัดพิธีสังฆทาน  แล้วจ่ายเงินซื้อสำรับสังฆทานร่วมทำพิธีสังฆทาน  บางคนไม่มีเวลามากพอก็นำเงินไปซื้อสำรับแล้วมอบให้เจ้าของบ้าน-ร้านค้านั้นจัดถวายพระแทนตนเอง    ดังนี้ การจัดทำสังฆทานจึงกลายเป็นงานจรหรืออาชีพเสริมของคนในบริเวณพระพุทธบาทไปโดยปริยาย

           วันที่ ๕ ในการออกเดินบิณฑบาตของข้าพเจ้าได้รับรู้พฤติการณ์อันแสนสุดทุเรศของผู้ได้ชื่อว่า  “ศิษย์พระตถาคต”  ในงานพระพุทธบาท  คือข้าพเจ้าสงสัยอยากรู้จนทนไม่ไหวที่เห็นพระเณรเขาออกบิณฑบาตตั้งแต่เช้ามืดโดยไม่รักษากติกา  คือที่เสียงกลองสัญญาณยังไม่ทันดังขึ้นก็แอบอุ้มบาตรออกไปทางหลังวังโบราณกันเป็นทิวแถวแล้ว   ความอยากรู้อยากเห็นมันเร่งเร้าให้ต้องอุ้มบาตรเดินตามปะปนไปกับเขาในเช้ามืดวันนั้นเอง

           ไปถึงบริเวณหน้าโรงเจเก่ายามใกล้แจ้งวันนั้น  เห็นเนืองแน่นไปด้วยพระเณรห่มจีวรสีเหลืองบ้าง  สีแดงบ้าง  สีกรัก (แบบพระธุดงค์) บ้าง  มีพระที่เป็นกรรมการจากกรุงเทพฯ ผู้ควบคุมดูแลความประพฤติของภิกษุสงฆ์ยืนรักษาการณ์อยู่หน้าประตู (ทางเข้า) โรงเจเก่า ๓-๔ องค์  ท่านทำหน้าที่กีดกันผลักดันห้ามปรามไม่ให้พระเณรเข้าไปในโรงเจก่อนเวลาที่กำหนดไว้  ข้าง ๆ ประตูมีเรียวหนามเล็บเหยี่ยวทำเป็นรั้วล้อมเรียงรายกันไว้  มีพระเณรส่งเสียงจอแจพูดกันจนฟังไม่ได้ศัพท์  ข้าพเจ้าพยายามเบียดเสียดเข้าไปจนใกล้ปากประตู  เพราะอยากรู้ว่าพระกรรมการกับพระอาคันตุกะท่านพูดอะไรกัน

            “เฮ้ย!..ยังเข้าไม่ได้  เขายังไม่ได้ตีกลองสัญญาณบอกให้เริ่มบิณฑบาต”  พระกรรมการตะโกนบอกด้วยเสียงอันดัง

            “ตีแล้วครับท่านกรรมการ  ตีสามราเสียงดังตุ้ม ๆ ผมได้ยินเมื่อกี้นี้ครับ”  พระองค์หนึ่งรูปร่างสูงใหญ่พูดออกเสียงสำเนียงอีสาน  โต้ตอบพระกรรมการ  ผู้ได้ยินคำพูดแล้วก็อดหัวเราะกันด้วยความขบขันไม่ได้

           ความจริงเขายังไม่ได้ตีกลองสัญญาณหรอกครับ  เสียงดัง  “ตุ้ม ๆ”  ที่หลวงพี่จากภาคอีสานท่านว่านั้นเป็นเสียงเบสของเครื่องรับวิทยุ  เสียงมันดังเหมือนเสียงกลอง   ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงนั้นตอนที่เดินผ่านร้านค้าใกล้ ๆ โรงเจ

            “ตีแล้ว ! ตีแล้ว !...”พระเณรประสานเสียงร้องยืนยัน

            “ยังไม่ตี  ผมยังไม่ได้ยิน  นี่มันเพิ่งตีห้ากว่า ๆ เท่านั้น”  พระกรรมการตะโกนตอบ

            “ยังไม่ตีกลอง  ทำไมปล่อยให้พระนั่นเข้าไปรับบาตรได้เล่า?”

           มีเสียงตะโกนถาม  แล้วก็มีเสียงตะโกนสนับสนุนหลายเสียง

            “เออ..จริงด้วยโว้ย!  เฮ้ย...มีพระขโมยบิณฑบาตในโรงเจโว้ย!”   มีเสียงร้องให้พระกรรมการจับพระขโมยด้วย

            เป็นความจริงอย่างหนึ่งคือพระกรรมการ (ขอสงวนนามวัดของท่าน) ก็มีความโลภอยากได้เงินกับเขาเหมือนกัน  คนจีนในโรงเจเขาเอาธนบัตรใส่บาตร  พระกรรมการท่านอยากได้  ก็เลยให้พระพวกเดียวกัน  “กินหัวน้ำ”   ด้วยการเดินรับบิณฑบาตในโรงเจก่อนที่จะปล่อยให้พระเณรอื่น ๆ เข้าไป  ข้าพเจ้ามองเข้าไปในโรงเจก็เห็นห่มพระจีวรสีเหลืองประมาณ ๑๐ องค์เห็นจะได้   ชัดเจนแล้วว่าพระที่เดินรับบิณฑบาตอยู่นั้นไม่ใช่พระธุดงค์

            “ เฮ้ย...ชิบผายแล้ว !”  เสียงตะโกนร้องด้วยความตกใจดังขึ้น  ข้าพเจ้ามองไปที่ประตูทางเข้าโรงเจอันเป็นที่มาของเสียงร้องดังกล่าว  เห็นพระกรรมการองค์หนึ่งล้มลงไปนอนหงายอยู่ในกองหนามเล็บเหยี่ยวข้างปากประตู  รู้ภายหลังว่าท่านถูกพระอาคันตุกะองค์หนึ่งผลักอย่างแรงจนล้มลง  ไม่มีเวลาคิดอะไรแล้ว  เพราะปรากฏว่าพระเณรที่อยู่ด้านข้างด้านหลังของข้าพเจ้าเบียดและผลักดันให้เดินหน้าเข้าไปในโรงเจจนฝืนยืนอยู่ไม่ได้  เสียงเฮโล  จ้อกแจ้กจอแจจนฟังไม่ได้ศัพท์อื้ออึงไปหมด   บางองค์นั้นบาตรที่อุ้มอยู่หลุดมือตกลงพื้นก็ก้มลงเก็บไม่ได้  เพราะถูกเบียดข้างดันหลังซุกซุนซวนเซไป  บางองค์ก็ฝาบาตรตกลงพื้นก้มลงเก็บไม่ได้เช่นกัน  เสียงบาตรและฝาบาตรถูกเตะกลิ้งไปบนพื้นซิเมนต์ดังเหมือนอะไรบอกไม่ถูก  พวกที่ใช้บาตรมีสายโยก (สลกบาตร) ส่วนมากปลอดภัย  บาตรและฝาบาตรไม่หลุดตกลงพื้นให้ใคร ๆ เดินสะดุดเตะกลิ้งไป

           ข้าพเจ้าถูกคลื่นคนผู้โลภมากผลักดันเข้าไปในโรงเจอย่างทุลักทุเลเต็มที  ตอนนั้นหน้าชาดิกไปจนแทบไม่รู้สึกตัวเลย  ก็หน้าชาเพราะอับอายพวกเจ๊กจีนน่ะซีครับ  จะไม่ให้อายได้อย่างไรล่ะ  ภาพเหตุการณ์ที่พระเณรแย่งกันเข้าไปในโรงเจนั่นน่ะ  พวกเขาหัวเราะกันด้วยความขบขันเหมือนได้ชมการแสดงเรื่องตลกอะไรสักอย่างหนึ่งนั่นแหละ  ข้าพเจ้าเข้าไปในโรงเจได้ด้วยอาการงง ๆ  ไม่รู้ว่าเข้าไปได้อย่างไร  ภายในโรงเจามีบริเวณกว้าง  มีผู้คนใจบุญเต็มไปหมด  ข้าพเจ้ายืนมองดูพฤติการณ์ของเพื่อนนักบวชด้วยความรู้สึกสังเวชสลดใจอย่างบอกไม่ถูก /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณรูปภาพประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, ตุลาคม, 2565, 10:34:57 PM
(https://i.ibb.co/wgYvSRB/6b4be7c.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๘ -
           ภายในโรงเจมีการจัดตั้งโต๊ะวางของใส่บาตรเรียงรายเป็นรูปวงกลม ๒ แถว  ให้พระเณรเดินตรงกลางรับบิณฑบาตสองข้างทาง  มีเถ้าแก่ อาเสี่ย อาม้า อาซิ้ม อาซ้อ อาโก อาม่วย ฯลฯ  นำอาหารคาวหวานและสิ่งของอื่น ๆ มาวางรอใส่บาตรกันอย่างมีระเบียบเรียบร้อย  ที่โต๊ะหนึ่งมีอาซิ้ม  น่าจะเป็นเถ้าแก่เนี้ยะที่ร่ำรวยมาก  เอาธนบัตรปึกใหญ่มาใส่บาตร   พระเณรเข้ารุมล้มแย่งกันยื่นบาตรรับเงิน  บางองค์รับได้แล้วไม่ยอมเลิก  หมุนกลับไปยื่นบาตรขอรับซ้ำอีก  แย่งกันรับเวียนวนเหมือนเห็นเป็นเรื่องสนุกสนานเต็มที่  ข้าพเจ้ายืนดูด้วยความสลดใจแล้วอยากจะร้องไห้ให้กับความเลวร้ายของพวก “สี” เดียวกันกับข้าพเจ้า  ภาพความเลวนั้นยังติดตาประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้

           พระภิกษุรูปหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่  อายุอยู่ในราวกลางคน  กำลังยืนรับธนบัตรที่อาซิ้มใส่  ขณะนั้นมีสามเณรตัวน้อยอายุราว ๆ ๑๓-๑๔ ปี  มุดเข้าไปใต้ข้อศอกท่านแล้วยื่นบาตรรับเงินบ้าง  จะเป็นการจงใจหรือการบังเอิญก็ไม่รู้  ปรากฏว่าข้อศอกของพระรูปนั้นกระแทกลงบนหัวเณรค่อนข้างแรง   ฝ่ายเณรน้อยนั้นก็ช่างร้ายนัก  พอถูกศอกพระกระแทกหัวเท่านั้นแหละกระโดดเตะพระทันทีเลย  พระรูปนั้นท่านจะนิ่งเป็นพระอิฐพระปูนได้อย่างไรกัน  แต่แทนที่ท่านจะเตะถูกเณรน้อยกลับเตะไม่ถูก  เพราะเณรน้อยนั้นแทรกตัวหลบเข้าไปในกลุ่มพระภิกษุเสียก่อน  หลวงน้าจึงเตะถูกพระด้วยกันเข้าอย่างจัง  ความโกลาหลก็จึงเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

            “ไอ๋หยา....อีอย่าทีเลาะกังน่อ  เหลียวอั๊วให้เท่า ๆ กังน่อ”  อาซิ้มยกมือทั้งสองชูขึ้นพร้อมกับส่งเสียงล้งเล้งห้ามปราม  กว่าที่พระกรรมการจะเข้าไปห้ามปรามควบคุมสานการณ์ได้  พวกพระอลัชชีก็ประจานความชั่วอวดเจ๊กจีนไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว  พระกรรมการก็ได้แต่ส่งเสียงข่มขู่

            “จับสึก ! ถ่ายรูปไว้จับสึกนะ”  ก็เท่านั้นเอง  เอาจริง ๆ เข้าท่านก็จับใครสึกไม่ได้แม้แต่องค์เดียว

           วันนั้น  ข้าพเจ้าอุ้มบาตรเดินกลับกลดด้วยจิตใจอันห่อเหี่ยว  ไม่ได้เปิดบาตรรับอาหารจากใครสักคนเดียว  พอมาถึงกลดก็พบเห็นญาติโยมนำสำรับคาวหวานมานั่งรออยู่ที่กลด ๒-๓ คน  เขาถวายสังฆทานแล้วก็ลากลับไป  ข้าพเจ้าจึงได้อาหารสำรับนั้นต่อชีวิตไปได้อีกวันหนึ่ง

           ไปโรงเจเก่าครั้งเดียวแล้วเข็ดจนตาย  จากวันนั้นแล้วไม่กล้าย่างกรายไปขายหน้าญาติโยมอีกเลย   ตื่นเช้าเมื่อพระเณรออกเดินบิณฑบาตกันหมดแล้วจึงออกเดินหนบ้าง เดินไปรับบิณฑบาตไป  ดูโน่นดูนี่เรื่อยไป  บางวันก็รับนิมนต์เข้าไปทำสังฆทานในบ้านในร้านที่เขาจัดถวายสังฆทานกัน  ดูเหมือนที่ร้าน  “ธาราเกษม”  นั้นข้าพเจ้าจะรับนิมนต์เข้าไปทำสังฆทานไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง

           พระเณรทั้งจริงและปลอมส่วนมากจะรับบิณฑบาตกันมาก ๆ  มีลูกศิษย์ถือภาชนะเดินตามคอยถ่ายบาตรที่เต็มแล้ว  บางรายก็ใช้รถเข็นลำเลียงอาหารที่ถ่ายจากบาตรกลับเข้ากลดด้วย  ข้าวสุกนั้นพระเณรท่านไม่ค่อยสนใจใยดีนัก  สิ่งที่ท่านสนใจคือไข่เค็มและอาหารกระป๋อง  เพราะสิ่งของดังกล่าวนั้นท่านสามารถนำไปขายต่อได้  ยิ่งได้มากท่านก็นำไปขายได้มากจนสร้างความร่ำรวยได้

           พระธุดงค์เก่าหลายองค์เล่าให้ว่า  สมัยก่อน ๆ ชาวบ้านเขาจะนำไข่เค็มและไข่จืดต้มสุกแล้วใส่บาตรเป็นฟอง ๆ  มาภายหลังรู้แกวว่าพระเณรท่านนำไปขายต่อ  หรือเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีนักก็ได้  จึงมีการใส่บาตรด้วยไข่เป็นฟอง ๆ น้อยลง  ทั้งไข่เค็มไข่จืดที่นำมาใส่บาตรคือไข่ผ่าซีกเสียเป็นส่วนมาก

           มีพระวัยกลางคนองค์หนึ่งสมมุตติว่าท่านชื่อสินก็แล้วกัน  เป็นพระนักเดินธุดงค์  คือท่านออกเดินธุดงค์จนเกือบจะถือได้ว่า  “เป็นอาชีพ”  และท่านผู้นี้ชอบตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์  ไข่เค็มในงานพระพุทธบาทเสริมสร้างความขลังความศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านได้มากทีเดียว  ท่านจะเป็นสีสันของความเป็นคนเจ้าเล่ห์มารยาหรือเปล่าก็ช่างเถอะ  แต่วิธีการของท่านน่าเรียนรู้ไม่น้อยเลยครับ

           พระอาจารย์สินหรือหลวงพ่อสิน  ขยันเดินรับบิณฑบาตแล้วเก็บไข่เค็มสะสมไว้เยอะ  ยามอยู่ในที่ลับหรือเวลาลับตาคนท่านจะแกะเอาเฉพาะไข่แดง  ผึ่งแดดผึ่งลมจนแห้งดี  แล้วทำให้เป็นผงใส่อัดไว้ในกระป๋องนมผง     บอกกับเพื่อนพระธุดงค์ด้วยกันว่า  เห็นไข่แดงนี้เป็นของดีมีประโยชน์จะทิ้งไปก็เสียดาย  ใครมีเหลือกินแล้วจะทิ้งท่านก็ขอมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงผสมกับของท่านไว้ด้วย

           ดูจะเป็นธรรมดาของพระธุดงค์  เมื่อไปปักกลดที่ไหนก็มักมีคนเข้าไปหาที่นั่น

           นอกจากท่านจะเป็นที่พึ่งทางใจของญาติโยมแล้ว  ยังเป็นเสมือน “สื่อมวลชน” แขนงหนึ่งอีกด้วย  เพราะท่านจะนำเรื่องราวข่าวสารที่ได้พบเห็นรับรู้จากที่ต่าง ๆ มาบอกเล่าให้ชาวบ้านฟัง  เป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้วย

           หลวงพ่อสินเป็นนักประชาสัมพันธ์และนักปฏิบัติที่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อถือและเคารพเลื่อมใสได้มากองค์หนึ่ง  ท่านเป็นคนช่างจดช่างจำ  บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ประกอบคติธรรมและสอดแทรกถ้อยคำคมขำขันได้เป็นอย่างดี

           พระธุดงค์เกือบทั้งหมดจะถือ  “เอกา”   คือฉันอาหารวันละเพียงมื้อเดียว  ในมื้อเดียวนั้นจะฉันตอนสาย ๆ หน่อย  บางองค์ฉันรวม คือข้าว, แกง, ขนม นำลงรวมกันในบาตรแล้วเคล้าให้เข้ากัน  ใช้มือเปิบเข้าปาก  บางองค์ฉันแบบธรรมดาคือแยกข้าว, แกง, ขนมออกเป็นส่วน ๆ  โดยข้าวอยู่ในบาตร  แกง, ขนม อยู่นอกบาตร  ใช้มือหยิบใส่ปาก  บางองค์ฉันเฉพาะข้าว  น้ำพริก  ผักต้ม  งดเว้นเนื้อสัตว์ทุกชนิด  อย่างที่เรียกว่า  กินเจ  หรือ  มังสวิรัติ  นั่นแหละ    แต่หลวงพ่อสินท่านกลับฉันอาหารไม่เหมือนใคร  สร้างความอัศจรรย์ใจและความเคารพเลื่อมใสศรัทธาให้ผู้พบเห็นได้มากทีเดียว

           เมื่อออกจากงานไหว้พระพุทธบาทไปแห่งหนตำบลใด  หลวงพ่อสินก็ได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธาที่นั่น  สิ่งที่ทำให้ท่านได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธามากก็คือไข่เค็ม  ที่ท่านเก็บเฉพาะไข่แดงสะสมไว้ในกระป๋องนมผงนั่นเอง

           อาหารหวานคาวที่ญาติโยมนำมาถวายนั้นหลวงพ่อสินรับไว้ทั้งหมด  เมื่อทำพิธีถวายบูชาข้าวพระพุทธตามประเพณีแล้ว  ท่านจะวางอาหารเหล่านั้นไว้เฉย ๆ  ควักข้าวสุกจากบาตรใส่ในฝาบาตรทองเหลือง  แล้วควักไข่แดงเค็มในย่ามใหญ่ที่ท่านพาติดตัวมานั้นออกมา  ใช้ช้อนตักเค็มที่เป็นผงสีเหลืองเหมือนสีขมิ้นโรยลงบนข้าวสุกในฝาบาตร  คลุกให้เข้ากันแล้วใช้มือเปิบกินอย่างเอร็ดอร่อย ญาติโยมทั้งหลายเห็นดังนั้นก็พากันเข้าใจว่าท่านเคร่งครัดมาก  ฉันอาหารมังสวิรัติ  โดยฉันข้าวกับขมิ้นอ้อย  เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วกล่าวอนุโมทนา (ยะถา..สัพพี ให้พร) ทำพิธี  “ลาข้าวพระ”  แล้วบอกอนุญาตให้รับประทานกันต่อไป

           พระที่ฉันข้าวกับขมิ้นอ้อยจะหาได้ที่ไหน  เห็นจะมีก็แต่หลวงพ่อสินองค์เดียวเท่านั้นเอง  ไม่มีใครกล้าถามท่านว่าฉันข้าวกับขมิ้นอ้อยหรืออะไร  ท่านเองก็ไม่ยอมบอกว่าฉันข้าวกับอะไร  ทุกคนเห็นท่านเอาผงสีเหลืองมาคลุกเคล้าข้าวฉัน  ก็เดาเอาว่าเจ้าผงสีเหลืองนั้นคือขมิ้นอ้อย  เมื่อไข่แดงผงหมดแล้วหลวงพ่อสินก็ออกอุบายสร้างความเคารพเลื่อมใสแก่ชาวบ้านชาวเมืองใหม่  โดยท่านงดฉันอาหารในเวลากลางวัน  แต่ยามปลอดคนตอนกลางคืนท่านก็เอาขนมปังที่ซื้อซ่อนไว้ในกลดออกมาแอบฉันไม่ให้ใครเห็น  ชาวบ้านชาวเมืองไม่รู้ความจริงก็พากันเข้าใจว่าท่านไม่ขบฉันอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น    จึงเกิดความเคารพเลื่อมใสเป็นทวีคูณ  เรื่องราวของหลวงพ่อสินมีพิสดารอีกมากมาย  นำมาบอกเล่ากันเป็นปีก็ไม่จบสิ้น

           ข้าพเจ้ากับคณะออกจากงานไหว้พระพุทธบาทล่องผ่านกรุงเทพฯ ลงเรือยนต์ ๒ ชั้นสีเลือดหมูของบริษัทสุพรรณ  จากท่าเตียนกลับวัดบางซ้ายใน  ยุติการเดินธุดงค์สำหรับปีนั้น /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, ตุลาคม, 2565, 10:43:37 PM
(https://i.ibb.co/dMQLQQb/32-201.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๙ -
           พอกลับถึงวัดข้าพเจ้าก็กลายเป็น  “เณรเด่นดัง”  ของวัด  พระ เณร เด็กวัด และญาติโยมให้ความเกรงอกเกรงใจไม่น้อย  ตอนเย็นยามแดดร่มลมตก  และตอนกลางคืน ข้าพเจ้าจะเป็น  “ตัวเอก”  ในวงสนทนา  ใคร ๆ ก็สนใจที่จะฟังข้าพเจ้าบอกเล่าประสบการณ์เรื่องราวในการออกเดินธุดงค์  เรื่องที่บอกเล่าก็ย่อมมีจริงบ้างไม่จริงบ้างปะปนกันเป็นธรรมดา  ส่วนมากก็จะ  “ใส่ไข่”  ในทำนอง  “น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง”  ยิ่งมีคนอยากฟังมากก็ยิ่ง  “โม้”  มากขึ้น  ผู้ฟังส่วนใหญ่จะเชื่อ  ส่วนหนึ่งจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  คนที่ไม่เชื่อมีเป็นส่วนน้อย  เพราะในโลกนี้ “มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด” นี่ครับ.


                       “การเล่นหลอกผีในวัดบางซ้ายใน”

           สามเณรในวัดบางซ้ายในยุคเดียวกับข้าพเจ้ามีประมาณ ๒๐ องค์  รุ่นข้าพเจ้าเป็นรุ่นใหญ่หรือรุ่นแรกที่เป็นศิษย์หลวงพ่อไวย์  มีรุ่นน้องรอง ๆ ลงไปอีกหลายรุ่นหลายองค์   ก่อนหน้านี้เป็นยุคของ  พระมหาเที่ยง สุทธิญาโณ (เพื่อนหลวงพ่อไวย์) เป็นเจ้าอาวาส  ท่านไม่ได้เลี้ยงเณร  เมื่อท่านลาสิกขาออกไปเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกแล้ว  ไม่ปรากฏว่ามีสามเณรศิษย์ท่านในวัดบางซ้ายในเลย   หลวงพ่อไวย์มาเป็นเจ้าอาวาสแทน  ท่านเริ่มจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังด้วยการรับสามเณรมาอยู่ประจำเรียนนักธรรมและบาลี  ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เข้าอยู่ในสำนักเรียนนี้เป็นรุ่นแรก  ดังนั้นเณรรุ่นน้องและพระบวชใหม่จึงมักจะเกรงและเชื่อฟังเณรรุ่นนี้ไม่น้อย  โดยเฉพาะข้าพเจ้าแล้ว  แม้กระทั่งเณรรุ่นเดียวกันกันเกรงใจและยกให้เป็นหัวหน้า  เพราะมี “ธุดงค์” เป็นดีกรีพิเศษ  และพ่วงด้วยนักธรรมชั้นโทอีกต่างหาก
 
           สามเณรอนันต์เป็นเณรรุ่นกลาง  รูปร่างเตี้ยม่อต้อเป็นมะขามข้อเดียว  ผิวเนื้อค่อนข้างดำ  ใบหน้าใหญ่เป็นรูปกระด้ง  จมูกแบน  ริมฝีปากหนา  คิ้วหนา  ตาโต  หูกาง     เป็นคนประเภท  “ตลกหน้าตาย”  ชอบเล่นอะไรแผลง ๆ  หัวเราะลงลูกคอชนิดที่เรียกว่า  “หัวเราะเก้าชั้น”  เขามีเรื่องวิวาทชกต่อยกับเณรและเด็กรุ่นเดียวกันเสมอ  แม้สามเณรรุ่นพี่เณรอนันต์ก็ไม่เกรงกลัว  ยกเว้นข้าพเจ้าเท่านั้น

           ถ้าจะเปรียบเณรอนันต์เป็นช้างก็ต้องเปรียบข้าพเจ้าเป็นเหมือนควาญช้าง  เพราะมีวิธีบังคับให้เขาเกรงกลัวและเชื่อฟังได้  หลวงพ่อไวย์จัดให้เณรอนันต์อยู่ประจำในกุฏิเดียวกับเณรเต็ม  และให้เป็น  “เณรพี่เลี้ยง”  ก็ด้วยเห็นว่าสามารถบังบัญชาเขาได้นั่นเอง  เขาเป็นคนกลัวผีมากที่สุด  เวลากลางคืนจะอยู่คนเดียวในที่ต่าง ๆ ไม่ได้  ตรงข้ามกับข้าพเจ้าที่ไม่กลัวผีมาตั้งแต่เป็นเด็กวัดแล้ว  ความเป็นคนกล้าไม่กลัวผีเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่ทำให้เณรอนันต์ยอมรับนับถือให้ข้าพเจ้าเป็นลูกพี่ของเขา

           ที่วัดบางซ้ายในของข้าพเจ้า  มีส้วมหรือถานพระ (เว็จกุฎี) อาคารไม้อยู่ใกล้ป่าช้าที่เอาดินมากองถมเป็นโคกสูงจนน้ำไม่ท่วมได้ในหน้าน้ำ  ใช้เป็นเตาหรือเมรุเผาศพตลอดปี  และในที่ใกล้ส้วมนั้นมีกุดังหรือโกดังเก็บศพตั้งอยู่ด้วย   ตัวส้วมสร้างด้วยไม้เป็นอาคารที่มีใต้ถุนสูงโปร่ง  มีห้องใช้ถ่ายหนักเบาหลายห้อง  ทางเดินไปสู่ส้วมนี้มีสองสาย  คือสายหนึ่งเป็นสะพานไม้  จากศาลาการเปรียญระยะทางยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร    อีกทางหนึ่งเป็นสะพานไม้จากโคกโบสถ์เชื่อมต่อกับโคกเตาเผาศพ  ผ่านกุดังไปสู่อาคารส้วมอีกทีหนึ่ง

           เหตุที่ต้องใช้สะพานเป็นทางเดินไปส้วม  ก็เพราะท้องที่นั้นเป็นที่ราบลุ่มมีนำท่วมขังเป็นเวลานาน  วัดในลุ่มน้ำอยุธยา-สุพรรณบุรีจะมีสภาพคล้าย ๆ กันคือ  มีส้วมหรือถานพระปลูกสร้างไว้ห่างไกลกุฏิและศาลาการเปรียญ  เพื่อไม่ให้อุจจาระปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนพระเณรและญาติโยมที่มาร่วมทำบุญในศาลาการเปรียญ  ในหน้าแล้งอุจจาระที่ถ่ายออกร่วงหล่นลงสู่พื้นดินดังตุ้บ ๆ  ก็จะมีหมาบ้าง  หมูบ้าง  ไก่บ้าง  มาแย่งกันกิน  ถ้าไม่มีสัตว์ดังกล่าวมากิน  อุจจาระก็จะกองสุมกันเหมือนจอมปลวก  มีหนอนยุบยับยั้วเยี้ย กลิ่นเหม็นตลบอบอวลอย่างน่าสะอิดสะเอียน  เวลาไปนั่งถ่าย  บางคนต้องกลั้นลมหายใจ  แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกแหงนหน้ามองดูหลังคา  ค่อย ๆ สูดลมหายใจเข้าเพื่อไม่ให้กลิ่นร้ายตามลมเข้าสู่ตัวเอง

           หน้าน้ำใต้พื้นส้วมพระจะสะอาด  นั่งถ่ายได้สะดวกสบาย  บางคนนั่งถ่ายเพลินจนไม่อยากเลิกถ่าย  อยากให้มีอุจจาระในท้องมาก ๆ จะได้นั่งถ่ายนาน ๆ  ทั้งนี้ก็เพราะเวลาที่อุจจาระหล่นลงไปในน้ำดังตุ๋ม ๆ  ก็จะมีปลาใหญ่น้อยพากันว่ายกรูเข้ามาแย่งกันกิน  มีปลาไอ้อ้าว  ปลาสังกะวาด  ปลาหางแดง  ปลาแปบ  ปลาอะไรต่ออะไรอีกหลายชนิด  พอนั่งตรงร่องแล้วปัสสาวะพุ่งลงน้ำก่อน  เพียงจ๊อกเดียวปลาก็จะกรูกันมาคอยแย่งอุจจาระเป็นอาหารอันโอชะของมันแล้ว  คนที่ชอบดูปลาก็นั่งถ่ายเพลินไปเท่านั้นเอง

           ส้วมหลังที่พูดถึงนี้  พระเณรไม่ค่อยชอบใช้กันหรอกครับ  เพราะที่กุฏิพระมีส้วมซึมตั้งคั่นอยู่ระหว่างกุฏิหลายแห่ง  ส้วมไม้โบราณจึงมีไว้ให้อุบาสกอุบาสิกาที่มาทำบุญในวัดและรักษาอุโบสถที่ศาลาการเปรียญได้ใช้กัน  เวลากลางคืนก็จะหาคนไปใช้ส้วมนี้ได้ยากเย็น  ใครจะไปก็ต้องหาเพื่อนไปด้วย  เพราะกลัวผีที่ป่าช้า  เคยมีโยมบางคนบอกว่าถูกผีหลอกที่ส้วม  ข้าพเจ้าไม่เชื่อ  และเพราะความไม่เชื่อผีนี่แหละทำให้มีการพนันขันต่อกันขึ้น

           ก็หลวงพี่บัณฑิตนั่นแหละครับเป็นตัวการ  ท่านถามขึ้นในวงสนทนาว่า  “ที่ว่าเณรเต็มไม่เชื่อว่าผีหลอกโยมที่ส้วมข้างป่าช้าน่ะ  กล้าพิสูจน์ไหม?”

            “กล้าซีครับ”  ข้าพเจ้าตอบสวนทันทีโดยไม่ต้องคิดอะไร  ท่านจึงเสนอเงื่อนไขในการพิสูจน์ว่า  จะนำนมข้นหวานหนึ่งกระป๋องไปวางไว้ในโกดังเก็บศพ  เวลากลางคืนตอน ๕ ทุ่มให้ข้าพเจ้าไปเอานมข้นหวานกระป๋องนั้นออกมาให้ท่านที่กุฏิ  ถ้าทำได้จึงจะยอมรับว่าไม่กลัวผีจริง  และจะให้นมข้นหวานอีก ๑ โหลเป็นรางวัล  แต่ถ้าไปเอานมข้นหวานกระป๋องนั้นออกมาจากโกดังไม่ได้  ก็แสดงว่าเณรเต็มกลัวผี  และจะต้องเสียนมข้นหวาน ๑ โหลให้หลวงพี่บัณฑิต  ข้าพเจ้ารับคำท้าโดยไม่ลังเล

           คืนนั้นหลวงพ่อไวย์ไม่อยู่วัด  ท่านไปค้างแรมคืนที่วัดขนมจีน (สุธาโภชน์  วัดเดิมของท่าน)   พวกเราก็อยู่ในในสภาพที่เรียกว่า  “แมวไม่อยู่หนูระเริง”  สนุกกันตามเคย   พระเณรเกือบทั้งวัดสนใจเรื่องที่ข้าพเจ้ารับคำท้าพนันเข้าไปเอานมข้นหวานในโกดังเก็บศพ  จึงตั้งตาตั้งใจรอดูว่าจะทำได้หรือไม่?   หลวงพี่บัณฑิตไม่ยอมให้ข้าพเจ้าใช้ไฟฉาย  เพียงแต่มอบเทียนไข ๑ แท่ง  หัวไม้ขีดไฟสำหรับจุดเทียนไขให้ ๑ กลัก

           ครั้นได้เวลาที่กำหนดนัดพนันกันไว้  ข้าพเจ้าเดินจากกุฏิผ่านศาลาการเปรียญไปโคกโบสถ์ท่ามกลางแสงดาวในคืนข้างแรม  ท้องฟ้าโปร่งใส  ไม่มีแสงเดือนฉาย  มีเพียงดวงดาวพราวพร่างอยู่เต็มท้องฟ้า  บรรยากาศไม่มืดมิดจนมองไม่เห็นหน  แสงดาวระยิบระยับจากฟากฟ้าที่ส่องลงมาพอให้แลเห็นอะไร ๆ ได้อย่างเลือนราง  สายลมโชยมาอ่อ ๆ  เสียงเขียดร้องประสานเสียงจิ้งหรีดเรไรระงม  สร้างบรรยากาศให้เยือกเย็นวังเวง  ทุกครั้งที่สายลมกรรโชกจนไฟเทียนดับต้องรีบจุดใหม่  จนเกิดอาการ  “ขนพองสยองเกล้า”  อยู่ในภาวะที่เรียกว่า  “กลัวก็ไม่ใช่  กล้าก็ไม่เชิง”  คือแบบว่ามันกล้า ๆ กลัว ๆ น่ะ  มือหนึ่งยกขึ้นป้องแรงลมไม่ให้พัดไฟเทียนดับอีก  เดินช้า ๆ อย่างระมัดระวัง  หยุดยืนตรงหน้าธรณีประตูโกดังเก็บศพ  สำรวมจิตกล่าวคำพิจารณาบังสุกุลตายในใจว่า “อนิจจา วะตะ สังขารา”  ไปจนจบบท  ด้วยเชื่ออาจารย์ทางไสยเวทย์ท่านบอกว่าบทนี้เป็นคาถาปราบผีได้ชะงัดนัก
           เหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้นเมื่อเณรเต็มถึงโกดังเก็บศพ  จะก้าวเข้าประตู

            “ปั้ง!!!!!”

           ข้าพเจ้าตกใจกับเสียงที่ดังปั้งจนหูอื้อ  ขนหัวลุกซู่  ตัวชาดิก  เทียนหลุดจกมือตกลงบนหลังเท้าอย่างไม่รู้ตัว  ยืนจังงังอยู่ชั่วอึดใจก็มีเสียงดังปั้งปั้งบนหลังคาโกดังอีกสองสามที  ข้าพเจ้าหายจากการตกใจ  สติกลับคืนมาแล้ว  รู้ได้ทันทีว่ามีคนเอาก้อนหินหรือก้อนดินขว้างปาใส่หลังคาเพื่อให้ข้าพเจ้าตกใจคิดว่าถูกผีหลอก  ครั้นได้สติสัมปชัญญะคืนมาแล้วรู้ว่า  ไม่ได้ถูกผีหลอก  หากแต่เป็นพระเณรแกล้งทำเป็นผีหลอก    ความกลัวก็หายไปจากความรู้สึกจนหมดสิ้น   ควานหาแท่งเทียนไขบนพื้นขึ้นมาจุดไฟแล้วเดินเข้าโกดังเก็บศพ  หยิบนมข้นหวานกระป๋องนั้นเดินกลับกุฏิโดยไม่สะดุ้งตกใจต่อเสียง  “ปัง ๆ”  ที่พวก  “ผีปลอม”  คือหลวงพี่บัณฑิตขว้างปาก้อนดินก้อนหินใส่หลังคาโกดังอีกหลายครั้ง

           ข้าพเจ้าชนะการพนันอย่างเด็ดขาด  ได้นมข้นหวาน ๑๓ กระป๋องมาชงแจกจ่ายเพื่อนเณร  น้องเณรดื่มกินกันอย่างอิ่มเอมเปรมปรีดา  พระบวชใหม่และสามเณรทั้งวัดพากันยกย่องให้ข้าพเจ้าเป็นคนเก่งที่สุดในวัดตั้งแต่บัดนั้น /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, ตุลาคม, 2565, 10:40:43 PM
(https://i.ibb.co/1Q2rmt5/Untitdrled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐ -
           การกลัวผีเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน  ผิดกันก็ตรงที่ใครกลัวมากกลัวน้อยกว่ากันเท่านั้น  ข้าพเจ้าเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่กลัวผี  ความจริงก็กลัวเหมือนกัน   แต่เพราะว่ามีความกล้ามากกว่าความกลัว  จึงดูเหมือนว่าไม่กลัว

           เณรอนันต์เป็นคนกลัวผีชนิดที่เรียกว่า  “อุจจาระขึ้นสมอง”  เป็นเรื่องสร้างความรำคาญให้ข้าพเจ้ามากทีเดียว  พยายามอธิบายให้เขาฟังต่าง ๆ นานาไม่ให้เขากลัวผี  ปฏิเสธว่าในโลกนี้ไม่มีผี  ผีเป็นเรื่องที่ไร้สาระ  แต่อธิบายอย่างไร ๆ ก็มิอาจหาเหตุผลมาทำให้เขาหายกลัวผีได้     ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้อุบายอย่างหนึ่ง  คือนำเอากระดูกคนตายมาแอบใส่ไว้ในปลอกหมอนที่เขาหนุนนอน  เมื่อเขาหนุนหมอนที่มีกระดูกผีนั้นนานจนกระดูกในปลอกหมอนแตกละเอียดแล้ว  ข้าพเจ้าก็บอกความจริงให้เขารู้  และถอดปลอกหมอนออก  เทกระดูกคนตายที่เขานอนทับจนแหลกละเอียดนั้นให้เขาดู   และชี้แจงให้เขาเห็นว่า  คนเราตายแล้วจะเป็นผีเป็นสางหรือเป็นอะไร ๆ ก็ตามทีเถิด  ล้วนไม่อาจจะมาเป็นผีเที่ยวหลอกหลอนใครได้หรอก  ดูกระดูกคนตายที่ใส่ไว้ในปลอกหมอนซี  เณรนอนหนุนทับเสียจนแหลกละเอียดแล้วก็ไม่เห็นสำแดงฤทธิ์เดชอะไรออกมาเลย  ถูกสอนโดยแนวปฏิบัติดังกล่าวทำให้สามเณรอนันต์ได้แนวคิดใหม่ว่า  นอนอยู่กับกระดูกผีแท้ ๆ ผีมันยังไม่หลอก  เมื่อไม่นอนอยู่กับกระดูกผีแล้วผีมันจะมาหลอกทำไม  คิดได้ดังนั้นแล้วเขาก็หายกลัวผีอย่างเด็ดขาดตั้งแต่บัดนั้น

           เมื่อหายกลัวผีแล้วเณรอนันต์ก็กลายเป็น  “จอมเกเร”  ประจำวัดไปในที่สุด   โดยเฉพาะเรื่องผี  เขาเลิกกลัวผีแล้วก็ทำตัว  “เป็นผีหลอกพระเณร”  อย่างสนุกสนาน  เณรน้อยและเด็กวัดที่  “ขวัญอ่อน”  ถูกผีเณรอนันต์หลอกเสียจน  “ขวัญหนีดีฝ่อ”  ไปตาม ๆ กัน   ข้าพเจ้าเห็นว่าเณรอนันต์กลายเป็นภัยของเพื่อนฝูง  ก็คิดหาวิธีแก้ไข  จนกระทั่งได้โอกาส

           สามเณรประจวบ  ซึ่งเป็นเณรน้อย อายุ ๑๔ ปี  รูปร่างอ้อนแอ้นบอบบาง  ค่อนข้างจะขี้แย  ถูกเพื่อนรังแกร้องไห้แทบทุกวัน  เป็นคนขี้ขลาดตาขาวและก็กลัวผีเป็นอย่างมาก  เขากำลังเข้าอยู่ในข่ายที่เณรอนันต์จะเป็นผีหลอก   ข้าพเจ้าทราบว่า  พระเที่ยงกับเณรชุบเพื่อนร่วมกุฏิร่วมวางแผนกับเณรอนันต์จะเป็นผีหลอกเพื่อน  จึงวางแผนซ้อน  ให้เณรประจวบต้มน้ำร้อนด้วยเตาฟู่  คอยท่าผีเณรอนันต์  น้ำเดือดได้ครู่เดียว  ผีเณรอนันต์ซึ่งเข้าใจว่าเณรจวบอยู่ในกุฏิเพียงองค์เดียว (พระเที่ยงกับเณรชุบหลบไปอยู่ในกุฏิเณรอนันต์ตามแผนการแล้ว) เขาจึงค่อย ๆ ชูบาตรที่ใช้แป้งดินสอพองเขียนคิ้วเขียนตาจนดูคล้ายหน้าผี  มีผ้ามุ้งขาด ๆ คลุม  โผล่ขึ้นที่หน้าต่างตรงห้องเณรจวบ  พร้อมกับส่งเสียงครางฮือๆอย่างน่ากลัว  เณรจวบก็ทำตามแผนที่ข้าพเจ้าแนะนำ (และนั่งแอบข้างกำกับอยู่)  เณรจวบส่งเสียงร้องด้วยความตกใจกลัวพร้อมกับยกกาน้ำร้อนที่กำลังเดือดนั้นโยนใส่หัวผีทันที   พอเสียงกาน้ำร้อนกระทบหัวผีดังโป้กโครม  ก็มีเสียงร้องโอดโอยตามมา  ข้าพเจ้ารีบหนีออกจากกุฏิเณรจวบกลับกุฏิของตนเพื่อรอดูเหตุการณ์  

           ผลปรากฏว่า  เณรอนันต์ถูกน้ำร้อนลวกแขนขวาที่ถือบาตรชูขึ้นนั้นตลอดแขน  แก้มและใบหูขวาก็ถูกน้ำร้อนลวกด้วย  พระเที่ยงต้องเอายาหม่องช่วยทาตรงที่ถูกน้ำร้อนลวกให้เป็นการใหญ่  เณรอนันต์ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรกับเณรจวบได้   เพราะรู้ตัวว่าเป็นฝ่ายผิด  และเห็นว่าเณรจวบไม่มีเจตนา    ทั้งนี้เพราะเณรจวบแก้ตัวว่ากำลังต้มน้ำร้อนจะชงนมฉัน  ขณะที่ยกกาน้ำร้อนจะชงนม  ก็ได้ยินเสียงครางและมีหน้าผีโผล่ขึ้นมาที่หน้าต่าง  ตกใจกลัวมาก  อารามตกใจทำให้โยนกาน้ำร้อนใส่หน้าผีไปโดยไม่ตั้งใจ  คำแก้ตัวของเณรจวบเชื่อถือได้  มีหลักฐานการเตรียมชงนมอยู่ครบถ้วน  ทุกคนเชื่อว่าเณรจวบพูดจริง  โดยหารู้ไม่ว่ามันเป็นแผนที่เณรเต็มวางให้เณรจวบจัดการปราบผีปลอม  และได้ผลเป็นที่พอใจ  เณรอนันต์เลิกปลอมเป็นผีหลอกใคร ๆ ตั้งแต่บัดนั้น

           เรื่องผี ๆ นี่พูดกันตลอดปีตลอดชาติก็ไม่รู้จบสิ้น  ในชีวิตของข้าพเจ้าไม่เคยพบหรือถูกภูตผีปิศาจหลอกหลอนเลย  พบก็แต่คนปลอมเป็นผีหลอกกันนั่นแหละ  แต่ไม่กล้าปฏิเสธหรอกว่าในโลกนี้ละโลกไหน ๆ ไม่มีผี  และก็ไม่ยอมรับเช่นกันว่าในโลกนี้และโลกไหน ๆ มีผีอยู่จริง  เพราะแม้ไม่เคยพบเห็นผี  แต่คนอื่นซึ่งเป็นคนที่เชื่อถือได้เขาเคยพบเห็น   ถ้ามีใครถามว่า  “ผีมีจริงหรือไม่?”

           ข้าพเจ้าจะตอบว่า “ไม่รู้!”  ถามว่า  “ผีไม่มีใช่ไหม?”  ก็ตอบได้อีกว่า  “ไม่รู้!  เพราะไม่เคยพบเห็น”  อีกน่ะแหละ

           หลวงพ่อไวย์ท่านสอนนักธรรมด้วยตนเอง  พวกข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านเรื่องภูตผีปิศาจว่ามีจริงหรือไม่  ท่านก็ตอบว่า  “ไม่มี”  ข้าพเจ้าถาม  “รุก”  ท่านว่า  ถ้างั้นคนตายแล้วไม่เป็นผีจะเป็นอะไร ?   หลวงพ่อตอบพร้อมรอยยิ้มด้วยอารมณ์ดีว่า

            “ตามตำราพระท่านว่าคนตายแล้วก็เกิดทันที  ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นก็แล้วจะกรรม  บางคนไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  บางคนเกิดเป็นสัตว์นรก  บางคนเกิดเป็นมนุษย์  บางคนเกิดเป็นเทวดา  และบางคนเกิดเป็นพรหม  สำหรับท่านที่สำเร็จอรหันต์นั้นตายแล้วไม่เกิด  ท่านเรียกว่า  “ปรินิพพาน”  คือดับหมดทั้งกิเลสและเบญจขันธ์  เหมือนไฟตะเกียงที่มอดหมดทั้งไส้และน้ำมัน  ไม่สามารถจัดให้ติดอีกได้”

            “งั้น ภูตผีปิศาจที่มันเที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านชาวเมือง  เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆนั้นมันคืออะไรล่ะ?”  ข้าพเจ้าถามแบบ “รุกฆาต” ทันที่ท่านอธิบายจบประโยค

            “เฮ่ย.....ไม่ใช่ภูตผีปิศาจอะไรที่ไหนหรอก  เป็นความคิดขลาดเขลาของคนจิตอ่อนโลเล  “สัญญาวิปลาส”  เป็นคนขาดเหตุผล  ใจเบา  ไม่มีสติสัมปชัญญะขาดความใคร่ครวญ  เห็นเงาอะไรในความมืด  ความสลัว  ได้ยินเสียงอะไรกะทันหัน  ก็เกิดความตื่นตกใจกลัวคิดว่าภูตผีปิศาจมาหลอกหลอน  อย่าไปเชื่อใครว่ามีผีเลยลูก  เป็นชาวพุทธต้องไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว”    หลวงพ่อเทศน์ซะยืดยาวเลย

           ข้าพเจ้าเป็นคนประเภทที่ไม่ค่อยจะยอมแพ้คนง่าย ๆ  เมื่อฟังหลวงพ่อไวย์อธิบายเหตุผลเรื่องผีไม่มีจริงจนไม่มีเหตุผลอะไรจะยกมาโต้เถียงท่านแล้ว  ก็นั่งฟังท่านสอนไปเรื่อย ๆ รอคอยจังหวะพลาดของท่าน  ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง  ครั้นท่านพูดถึงศพของคนตายก็เผลอพูดคำว่า  “ผี”  ออกมา

            “อ้าว  ไหนหลวงพ่อบอกว่าผีไม่มีไงล่ะ  ทำไมเรียกศพในโกดังว่าผีเล่า?”  ข้าพเจ้ารีบขัดทันที

            “ฉันก็เรียกตามชาวบ้านเขาไปยังงั้นเอง”  ท่านตอบพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

           เหตุเป็นเพราะว่าข้าพเจ้าไปเอานมข้นหวานในโกดังเก็บศพเวลากลางคืนได้โดยไม่ถูกผีหลอก  คว้กระป๋องานมข้นหวานเป็นเดิมพันมาชงดื่มกันหวานคอไปแล้ว  ทำให้เณรแถม องค์เดียวกับที่โยมฉาวด่าว่า  “เซ่อ, โง่, บ้า, ชิบผายเลย”  นั่นแหละครับ  เขาถือว่า “มีดีอวด” บ้างเหมือนกัน  อยากแสดงความเก่งกล้าสามารถอย่างเณรเต็ม  จึงรับคำท้าเณรเชียรไปเอานมข้นหวานอย่างที่เณรเต็มเคยไปเอามาแล้ว

           คืนนั้นเดือนไม่มืด  แต่ก็ไม่สว่างเจิดจ้านัก  เพราะเป็นคืนข้างขึ้น ๙ ค่ำ  เณรแถมจุดเทียนไขถือเดินผ่านเตาเผาศพอย่างราบรื่น  พวกเรารอดูอยู่ที่ศาลาการเปรียญ  เณรแถมเดินเข้าไปในโกดังที่เปิดประตูแง้มไว้แล้ว  ข้าพเจ้าคิดว่าเขาคงทำสำเร็จ  เพราะไม่มีใครขว้างปาก้อนอิฐก้อนดินใส่หลังคาโกดังเหมือนคราวที่ข้าพเจ้าเข้าไปตามคำท้าของหลวงพี่บัณฑิต

           เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น  เมื่อเห็นแสงเทียนในโกดังดับวูบลง  แล้วมีเสียงเณรแถมร้องโวยวายด้วยความตกใจเผ่นออกจากโกดัง  แทนที่จะวิ่งไปทางโคกโบสถ์  เขากลับวิ่งไปทางส้วม  เสียงพื้นสะพานไม้ที่ปูไม่แน่นหนาดังโครมคราม  จากส้วมก็วิ่งไปตามสะพานไม้ที่ทอดต่อไปศาลาการเปรียญ
 
            “ตู้ม!....ช่วยด้วย !.”  เสียงเณรแถมตกลงไปในน้ำเพราะเหยียบกระดานสะพานพลาด   พวกข้าพเจ้าพากันไปช่วยนำร่างเณรแถมขึ้นจากน้ำ  หามเข้าศาลาการเปรียญอย่างทุลักทุเล  เปียกปอนไปตาม ๆ กัน  เณรแถมหนาวสั่นมีสภาพเหมือน  “หมาขี้เรื้อนตกน้ำ”  ก็จะไม่หนาวได้ยังไง ?  คืนนั้นเป็นคืนวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๑๒ น้ำยังนองเต็มทุ่งและค่อนข้างหนาวเย็น

            เณรแถมเจ็บป่วยเป็นไข้นอนซมอยู่หลายวัน  เมื่ออาการเจ็บป่วยทุเลาเบาบางลงแล้ว  เขาเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในคืนนั้นว่า

            “พอเข้าไปในห้องเก็บศพ  เห็นกระป๋องนมข้นหวานวางอยู่บนฝาโลงศพกลางห้อง  จึงตรงเข้าไปหยิบ  พลันก็มีเสียงนกอะไรไม่รู้  ตีปีกบินพึ้บพั้บ ๆ และโฉบเข้าใส่  ตกใจกลัวจนเทียนไขหลุดมือ  ตอนนั้นเหมือนมีใครตบหน้า  เข้าใจว่าเป็นผีมาตบหน้าแน่ ๆ  ยืนตะลึงตัวชาอยู่ชั่วขณะ  พอรู้สึกตัวก็รีบเผ่นออกจากโกดังโดยไม่นึกที่จะหนีไปทางโบสถ์เลย”

           ฟังเณรแถมเล่าแล้วข้าพเจ้าพอจะคาดเดาได้ว่า  นกในโกดังเก็บศพตัวนั้น  ถ้าไม่ใช่ค้างคาวก็เป็นนกเค้าแมว  เณรแถมจิตใจไม่หนักแน่นพอ  จึงตกใจกลัวจนขาดสติสัมปชัญญะ  วิ่งตาลีตาเหลือกแล้วตกสะพานลงน้ำไปในที่สุด

           พวกเราลงความเห็นกันว่า  “เณรแถมเสียคนไปแล้ว”  เพราะหลังจากนอนป่วยหนักอยู่นานเป็นเดือน  แม้ร่างกายจะเป็นปกติ  แต่จิตใจของเขาไม่เป็นปกติ  กลายเป็นคนกลัวผีมากที่สุด  ตกใจง่าย   “บ้าจี้”   ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ  เหม่อลอย  เรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง  เป็นคนน่าสงสารในสายตาของพวกเรามากเลย

           พระเณรและญาติโยมจำนวนมากเชื่อกันว่า  เณรแถมถูกผีในโกดังหลอกจน  “จับไข้หัวโกร๋น”  อุบาสกอุบาสิกาที่รักษาอุโบสถศีลแรมคืนที่ศาลาการเปรียญส่วนมากไม่ยอมไปใช้ส้วมข้างโกดังเก็บศพ  พากันเร่ไปขอใช้ส้วมซึมตามกุฏิพระแทน   ทั้งนี้ก็เพราะกลัวผีหลอกอย่างที่เณรแถมโดนมาแล้ว   ส้วมนั้นก็เลยกลายเป็น  “ส้วมต้องห้าม”  ไปโดยปริยาย  ขนาดเณรอนันต์ที่ข้าพเจ้าทำให้หายกลัวผีแล้ว  ก็ยังไม่กล้าแหยมเข้าไปเลยก็แล้วกัน. /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, ตุลาคม, 2565, 10:33:49 PM
(https://i.ibb.co/LZkz58F/7288-1.png) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑ -
                       “หลอกให้ครองใหญ่ - งมหาลูกพรรษา”

           วัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธในชนบทหรือบ้านนอกนั้น  เมื่อถึงวันพระขึ้น,แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ  และแรม ๑๔ ค่ำ (ในเดือนคี่) ในช่วงเทศกาลพรรษา  ญาติโยมจะนำอาหารหวานคาวเข้าวัดทำบุญกันเป็นประจำ  พระภิกษุสามเณรไม่ต้องออกบิณฑบาต  ส่วนในช่วงที่พ้นจากเทศกาลพรรษา  ประมาณเดือน ๑-๗ พระเณรต้องออกบิณฑบาต  เพราะญาติโยมจะไม่ไปทำบุญที่วัด  ยกเว้นเป็นเวลาตรุษสงกรานต์  และวันมาฆะวิสาขะบูชา

           ผู้ชายไทยนิยมบวชเมื่อทำนาทำไร่เสร็จแล้ว  คือช่วงประมาเดือน ๖  และอยู่จำพรรษาจนรับอนุโมทนากฐินแล้วจึงลาสิกขา  เรียกกันว่า  “บวชเอาพรรษา”  ประเพณีหรือกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรทุกวัดในชนบทนั้น  ตอนเย็น คือเวลาดวงอาทิตย์ลอยยลงต่ำใกล้จะตกดินทุกวัน  จะมีเวรยามตีกลอง, ระฆัง ที่เรียกกันว่า  “ย่ำค่ำ”  เป็นสัญญาณให้พระภิกษุสามเณรครองผ้าให้เรียบร้อยลงไปรวมกันในโรงอุโบสถ  หรือไม่ก็หอสวดมนต์ เพื่อสวดมนต์ซึ่งเรียกกันว่า  “ทำวัตรค่ำ”  ครั้นสวดมนต์จบแล้วก็ตีกลอง, ระฆังอีกครั้ง  บอกให้ญาติโยมทางบ้านรู้ว่า  พระได้ทำวัตรค่ำจบแล้ว  เพื่อผู้ใจบุญทั้งหลายรู้แล้วจะได้ยกมือขึ้นจบเหนือศีร์ษะอนุโมทนาบุญเป็น  “ปัตตานุโทนามัย” (บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา) หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรก็จะท่องบ่นสวดมนต์และท่องทวนแบบเรียนพระปริยัติธรรมไปจนกว่าจะง่วงแล้วจำวัด (นอน) ในที่สุด

           ตอนเช้ามืดเวลาประมาณตีสี่ตีห้า  พระ-เณรที่เข้าเวรยามก็จะตีระฆังปลุกให้พระภิกษุตื่นลุกขึ้นครองผ้าเข้าประชุมที่หอสวดมนต์หรือโรงอุโบสถเพื่อสวดมนต์  ซึ่งเรียกว่า “ทำวัตรเช้า”  แล้วท่องบ่นทบทวนบทสวดมนต์และแบบเรียนพระปริยัติธรรมที่ท่องได้แล้ว  จนได้เวลาอรุณขึ้น  จึงเปลื้องผ้าครองและออกบิณฑบาต  บางวัดไม่มีการทำวัตรเช้าในตอนเช้ามืด  หากแต่จะทำวัตรเช้าในเวลาหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว  โดยเมื่อพระภิกษุตื่นลุกขึ้นครองผ้าไตรแล้วก็ท่องทบทวนบทที่ท่องได้แล้วนั้น ๆ ให้คล่องขึ้น  ว่ากันว่าการท่องหนังสือตอนเช้ามืดจะทำให้จำได้มั่นคงยากที่จะลืมเลือน  เพราะตอนเช้ามืดตื่นนอนใหม่ ๆ จิตใจจะบริสุทธิ์  สงบ  ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย  เมื่อมีอะไร ๆ เข้าไปสู่จิตใจก็จำได้ดี  ด้วยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าสู่ความรู้สึกตอนเช้ามืดนั้น  “เป็นความประทับใจ”  จนยากที่จะลบเลือน  อันนี้เป็นอุบายของพระอาจารย์รุ่นโบราณท่านวางไว้  แต่ทว่าคนรุ่นหลัง ๆ มักไม่ใคร่รับรู้เจตนาของท่านโบราณาจารย์ดังกล่าวข้างต้น  ส่วนมากจะถือกันว่า  การตื่นลุกขึ้นครองผ้าไตรในตอนเช้ามืดนั้น  เป็นความขลังความศักดิ์สิทธิ์  เป็นบุญกุศลพิเศษและเป็นประเพณี  บางคนก็เข้าใจผิดไปว่าเป็นพระพุทธบัญญัติ  จึงถือทำกันอย่างเคร่งครัด  จนเกิดเรื่องขำขันขึ้นเสมอมา

           การครองผ้าไตรหมายจึงถึง  การนุ่งสบง  ห่มจีวร  พาดผ้าสังฆาฏิ  ซึ่งเป็น  “ไตรครอง”  รวม ๓ ผืน  ส่วนผ้าสบงจีวรอื่น ๆ ถ้ามีมากหรือน้อยก็ตาม  ถือว่าเป็น  “อดิเรกจีวร”  หรือผ้าอาศัย  จะไม่ใช้ครองในพิธีสำคัญ ๆ  เช่น  ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น  ในการลงอุโบสถฟังสวดพระปาติโมกข์  และในพิธีสังฆกรรมต่าง ๆ มีการ  “นั่งอันดับนาค”  เป็นต้น  ในที่บางแห่งและบางองค์ถือว่า  “ไตรครอง”   คือผ้าไตรที่อุ้มเข้าหาพระอุปัชฌาย์ในวันบวชนั้นเป็น  “ผ้าไตรอันศักดิ์สิทธิ์”  เมื่อบวชแล้วต้องรักษาไว้อย่างอย่างดี  บางองค์พับเก็บไว้บนหัวนอน  เณรและฆราวาสจะเตะต้องมิได้  ถ้าแตะต้องแล้วจะถือว่า  “ผ้าไตรขาด”  ต้องให้เณรหรือฆราวาสกราบผ้าแล้วประเคนให้พระเจ้าของ  และเจ้าของจะต้องทำการพินทุอธิษฐานใหม่จึงจะใช้เป็น  “ไตรครอง”  ต่อไปได้   สมัยเป็นเด็กวัดข้าพเจ้าเคยถูกพระบวชใหม่ผู้เคร่งครัด  ด่า  ตี  ให้กราบผ้าไตรและประเคนผ้าไตรมาแล้ว

           สมัยเป็นสามเณรอยู่วัดบางซ้ายใน  มีพระบวชใหม่องค์หนึ่ง  ท่านชื่อพระทวี  เป็นผู้เคร่งครัดต่อประเพณีมาก  ทั้งยังเป็นพระประเภท  “หัวอ่อน”  เชื่อฟังคนอื่นง่าย  จึงมักถูกพระบวชเก่า (ผู้อาวุโส) หลอกให้ท่านทำอะไร ๆ แบบพิเรน ๆ หลายอย่างจนข้าพเจ้ารู้สึกสงสารท่านมาก  หลวงพี่บัณฑิตนั่นแหละตัวการสำคัญ  ท่านเป็นพระอาวุโสสูง  มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นโท (เป็นศิษย์มหาเที่ยง) ชอบหลอกพระเณรเช่นหลอกผีข้าพเจ้า เป็นต้น  พระทวีเป็นอีกองค์หนึ่งที่หลวงพี่บัณฑิตหลอกให้ทำอะไรผิดจนเป็นเรื่อง  “โจ๊ก”  ขึ้นเมื่อพูดว่า  “พระบวชใหม่ต้องครองใหญ่  ไม่อย่างนั้นก็เหมือนไม่ได้บวช”  หลวงพี่บัณฑิตปรารภปูพื้นหลอกพระทวี

            “ครองใหญ่”  เขาทำกันอย่างไรครับหลวงพี่?”  พระทวีถามด้วยความอยากรู้และอยากทำ

            “ก็ต้องครองผ้าไตรพร้อมเครื่องบริขารน่ะซี”  หลวงพี่ตอบเรียบ ๆ

            “บริขารมีอะไรบ้างครับ”  พระทวีถามต่อด้วยความกระตือรือร้น

            “อ้าว ! ไม่รู้หรอกเร๊อะ ?  บริขารก็มี  กล่องเข็ม มีดโกน บาตร ประคดเอว ประคดอก เสื่อ มุ้ง หมอน และของใช้อื่น ๆ เท่าที่มี”  หลวงพี่แจกแจงเรื่อย ๆ ตามเคย  พระทวีก็นั่งฟังด้วยอาการสงบเสงี่ยม

            “ทำอย่างไรบ้างครับ”  พระทวีถามหลังจากนั่งคิดนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง

            “ไม่ยากหรอก  ก็นุ่งสบงครองแล้วเอาสบงอาศัยทั้งหมดที่มีอยู่นุ่งทับ  เอาจีวรอาศัยเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดซ้อนกับจีวรครอง   แล้วห่มเฉวียงบ่า  พาดสังฆาฏิ  และห่มทับด้วยมุ้ง  แล้วหุ้มด้วยเสื่อหรือพรม  ใช้ผ้าประคดอกรัดให้แน่น  เสร็จแล้วเอาบาตรใส่สลกติดสายโยกสะพาย  มือซ้ายถือพัด (ตาละปัด) ยกขึ้นบังหน้า  เดินเข้าไปกราบพระอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ (คู่สวด) เป็นอันเสร็จพิธี  ถ้าใครครองใหญ่ได้อย่างที่ว่าแล้ว  ถือว่าได้บวชเป็นพระโดยสมบูรณ์”    หลวงพี่บัณฑิตท่านอธิบายวิธีการเสียยืดยาว

           อีก ๓ วันต่อมา  เรื่องฮาใน  “ดงขมิ้น”  ที่วัดบางซ้ายในของข้าพเจ้าก็เกิดขึ้น  เวลาประมาณตีห้าของคืนนั้น  พระทวีลุกขึ้นจากที่นอนเมื่อเสียงระฆังปลุกดังกังวานขึ้น  จัดแจงแต่งตัวด้วยการ  “ครองใหญ่”  ตามที่หลวงพี่บัณฑิตแนะนำ  โดยมีเณรแถมเป็นผู้ช่วยจัดการครองใหญ่ให้จนเสร็จเรียบร้อย

           เมื่อครองใหญ่เสร็จแล้ว  ก็ไปเข้าหาพระสมุห์สาย รองเจ้าอาวาส   ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์และครูสอนพระปริยัติธรรม  ท่ามกลางสายตานับสิบคู่ที่แอบมองอยู่  พระอาจารย์สายครองผ้าตามปกติเสร็จแล้วก็นั่งเป่ายานัตถุ์อยู่หน้ากุฏิของท่าน  แลเห็นพระทวีครองใหญ่เดินตัวแข็งทื่อเข้าหาท่านก็ตกใจ  ถือกล้องยานัตถุ์ยกค้างนั่งนิ่งอยู่  พระทวีเข้าไปถึงตรงหน้า  จะนั่งลงกราบก็นั่งไม่ได้  เพราะเสื่อที่ห่มพันตัวอยู่ทำให้ตัวแข็งเป็นไม้ท่อน  ก็เลยทำท่ายงโย่ยงหยกเหมือน  “เจ๊กยืนไหว้เจ้า”

            “จะบ้าเรอะ ?  ไป๊.....ออกไปบ้าที่อื่น !  เดี๋ยวก็ซัดด้วยขวดยานัตถุ์หัวร้างข้างแตกไปเลย  อะไร  บวชมาตั้งครึ่งค่อนพรรษาแล้วยังโง่ให้เขาหลอกเอาได้นี่”

           พระอาจารย์สมุห์สายส่งเสียงดังลั่นหลังจากหายตกตะลึงและรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว  พระเณรหลายองค์ที่แอบดูอยู่อดกลั้นเสียงหัวเราะไม่ไหวก็พากันส่งเสียง  “ก๊าก!  ฮา....”  ออกมา  ทำให้พระอาจารย์สมุห์สายโมโหมากขึ้น  จึงด่ากราดด้วยคำหยาบที่ไม่อาจนำมาเปิดเผยได้  พระทวีรู้สึกตัวว่าถูกหลอกถูกต้ม  ทั้งโกรธทั้งอาย  แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้   เณรแถมต้องย้ายกุฏิไปอยู่หลังอื่น  เพราะเห็นว่าถ้ายังขืนอยู่ร่วมกุฏิเดียวกับพระทวีคงมีอันเป็นไปอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นแน่  พระทวีกลายเป็นคนเงียบขรึมไม่สมาคมกับใคร ๆ จนกระทั่งลาสิกขา (ไม่ใช่ลาสิกขาบท) ออกไปตามประเพณี  เรื่องนี้เณรแถมบอกเล่ารายละเอียดให้ฟังภายหลังว่า  เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น พระทวีรีบปลุกให้เณรลุกขึ้นช่วยครองใหญ่ให้  ขณะที่ช่วยอยู่นั้นต้องกลั้นหัวเราะเสียจนเจ็บท้องแทบตาย  ริมฝีปากห้อเลือดเพราะเม้มแรงเกินไป   ไม่งั้นก็คงต้องปล่อยเสียงก๊ากจน  “กลแตก”  ไปแล้ว

           เรื่องการ  “ครองใหญ่”  ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย  เป็นเรื่องที่มีเกิดขึ้นใน  “ดงขมิ้น”  เสมอมา   คือพระบวชใหม่มักไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของการเป็นอยู่อย่างพระภิกษุ   ก็มักจะถูกพระเก่าหลอกหยอกล้อเล่นเป็นธรรมดา  มีเรื่องเล่าว่าบางแห่งมีการครองใหญ่เข้าหาพระอุปัชฌาย์ที่ท่านเป็นคนดุมาก  ถูกตีหัวแตกหัวโนไปก็มี   นอกจากพระเก่าจะหลอกพระใหม่ให้ครองใหญ่แล้ว  ยังเล่นสนุกด้วยการหลอกให้ทำอะไร ๆ อีกหลายอย่าง  เช่นพระเฉลิมกับพระประหยัดตกเป็นเหยื่อหลวงพี่บัณฑิตอีกจนได้  ท่านถูกหลอกให้งม  “ลูกพรรษา”  ในแม่น้ำ  และพระประหยัดค้นหา  “ลูกพรรษา”  ในกอไผ่ครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, ตุลาคม, 2565, 10:41:48 PM
(https://i.ibb.co/c1wV9qw/6204-2-1.png) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒ -
                       “ลูกพรรษาของพระก็มีด้วย?”

           ที่ปลายสายประคดเอว (ก็เข็มขัดพระนั่นแหละครับ) สมัยก่อนนี้มีกระดูกหรืองาช้าง  กลึงกลมแบนแล้วเจาะรูตรงกลางเหมือนสตางค์แดงผูกห้อยไว้  ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ความหมายหรือประโยชน์การใช้สอย  ถามใคร ๆ ก็ไม่ได้ความหมายที่แท้จริงว่าเขามีไว้ทำอะไร   ประคดเอวทุกสายไม่มีเจ้ากระดูกรูปกระดุมหรือสตางค์แดงหรอกครับ  บางสายมี บางสายก็ไม่มี  คงจะเป็นไปตามความพอใจของร้านค้าขายผ้าไตรกระมัง?  พระบวชเก่าที่เป็นคนขี้เล่น  เรียกเจ้ากระดูกนี้ว่า  “ลูกพรรษา”  และเรียกเพี้ยนไปเป็น  “ลูกประสา” ก็มี  หลวงพี่บัณฑิตมีลูกพรรษาติดปลายประคดเอวของท่านห้อยต่องแต่งอยู่ ๒ ลูก

           วันหนึ่งเป็นวันข้างแรมแก่ ๆ ของเดือนสิบสองน้ำกำลังนองเต็มตลิ่ง  ลมกำลัง “โยก”  คำว่า “ลมโยก” ก็หมายความว่า  ลมพัดจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้  ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของ  “ลมหนาว”  ของเหมันตฤดู  พอลมเริ่มโยกน้ำก็เริ่มลดลง  ข้าวในท้องทุ่งนาที่ออกรวงตั้งชูอยู่นั้นก็เริ่มค้อมรวงลงและเริ่มสุกมีสีเหลืองอร่ามอยู่ในระดับที่เรียกว่า “เป็นข้าวเม่า”  คือสุกพอที่จะให้เกี่ยวไปคั่วตำเป็นข้าวเม่าแล้ว

           เวลาใกล้ค่ำวันนั้น พระ-เณรประมาณ ๗-๘ องค์นั่ง “ซดน้ำชา” แกล้มน้ำตาลเคี่ยว (เหมือนตังเม) อยู่หน้ากุฏิหลวงพี่บัณฑิตใกล้ริมแม่น้ำที่ไหลผ่านหน้าวัด  หลวงพี่บัณฑิตเป็นผู้ทำการเคี่ยวน้ำตาลปี๊บด้วยตนเองจนเหงื่อไหลไคลย้อย  พระ-เณรเหล่านั้นไม่ต้องช่วยท่านทำ  มีหน้าที่เพียงนั่งฉันน้ำตาลซดน้ำชากันอย่างเดียว  พอเคี่ยวน้ำตาลเสร็จท่านก็ลงบันไดข้างกุฏิไปอาบน้ำดำผุดดำว่ายอยู่ครู่หนึ่งก็ขึ้นมา  เดินตัวสั่น ๆ ซี๊ดปากแสดงอาการหนาว  รีบเปลี่ยนผ้าอาบน้ำที่เปียกออก  หยิบสบงแห้งมานุ่ง  และหยิบประคดเอวมาคาดอย่างชำนิชำนาญ

            “ เอ๊ะ ! นั่นลูกอะไรครับหลวงพี่?”  พระเฉลิมเห็น “ลูกพรรษา” ที่ปลายสายประคดเอวของหลวงพี่บัณฑิตจึงร้องถามด้วยความสงสัยใคร่รู้

            “ อ้าว!  คุณยังไม่มีกะเขาหรอกเรอะ?”  หลวงพี่บัณฑิตทำหน้าฉงน

            “ไม่มีครับ  ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักด้วย”  พระเฉลิมตอบด้วยใบหน้าเหรอหรา
            “ไอ้นี่คือ  “ลูกพรรษา”  พระที่บวชได้พรรษาแล้วต้องมีไอ้ลูกอย่างนี้”   หลวงพี่บัณฑิตตอบพร้อมกับมองหน้าพระทุกองค์ในที่นั้นพร้อมกับขยิบตาเป็นความหมายให้รู้กันว่าต้องช่วยกันโกหกพระเฉลิม  พระเฉลิมก็เป็นพระประเภท “ซื่อ,เซ่อ,โง่” อีกองค์หนึ่งแหละครับ  หันไปถามใคร ๆ เขาก็บอกว่าจริงอย่างที่หลวงพี่บัณฑิตว่า  พระทุกองค์ที่บวชได้ ๑ พรรษาแล้วจะต้องได้ลูกพรรษา  บางองค์ผูกไว้ปลายสายประคดเอว  บางองค์ก็เก็บไว้ในที่มิดชิด  ถือกันว่าเป็นของสำคัญที่หาได้ยาก  พระเฉลิมได้ฟังคำยืนยันจากเพื่อนพระด้วยกันดังนั้นก็เชื่ออย่างสนิทใจ

            “แล้วผมจะหาลูกพรรษานี้ได้จากไหนล่ะครับ?”  ถามด้วยความกระตือรือร้นอยากได้

            “อยู่ในแม่น้ำหน้าวัด  ลูกนี้ผมงมได้ตรงบริเวณบันไดศาลาท่าน้ำนั่นแหละ  กว่าจะได้มาต้องไปดำน้ำงมหาตั้งแต่เช้ามืดก่อนเวลาได้อรุณ  ถ้าโชคดีเมื่อดำน้ำลงไปครั้งเดียวก็ได้  ถ้าโชคไม่ค่อยดีก็ต้องดำน้ำลงไปงมหาหลายครั้งหน่อยจึงจะได้  ลูกนี้ผมดำน้ำถึง ๓ ครั้งจึงได้”  หลวงพี่บัณฑิตตอบพร้อมชูลูกพรรษาให้ดู

           วันรุ่งขึ้น  ยามเช้าได้เวลาออกบิณฑบาตพวกข้าพเจ้าออกบิณฑบาตกันตามปกติ  เห็นพระเฉลิมกำลังดำน้ำผลุบโผล่ ๆ อยู่บริเวณหน้าบันไดศาลาท่าน้ำ  ต่างก็อมยิ้มโดยไม่พูดจาทักทายอะไร  เพราะรู้เรื่องอยู่แล้วว่าหลวงพี่บัณฑิตหลอกให้ท่านงมหาลูกพรรษา  พระบางองค์ที่ไม่รู้เรื่อง  เห็นพระเฉลิมดำน้ำอยู่ก็ไม่สงสัยด้วยคิดว่าท่านลงอาบน้ำเช้าธรรมดา   จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาต  พระเฉลิมก็ยังไม่ขึ้นจากน้ำ  ท่านดำน้ำงมหาลูกพรรษา  จนหน้าซีดปากดำเพราะความหนาว   หลวงตาโตกลับจากบิณฑบาตมาเห็นเข้าก็ถาม   “ทำไมทั่นอาบน้ำนานจัง ?”

            “ผมยังงมหาลูกพรรษาไม่ได้เลยครับ”  พระเฉลิมตอบด้วยเสียงสั่น ๆ

           หลวงตาโตฟังแล้วก็หัวเราะด้วยความขบขันแกมสงสาร  และรู้ได้ทันทีว่าพระเฉลิมถูกหลอกเข้าให้แล้ว

            “ขึ้นจากน้ำเถอะ  เดี๋ยวหนาวตาย  ฉันจังหันแล้วไปเอาที่ผม  ผมมีอยู่หลายลูก”  หลวงตานึกสนุกขึ้นมาบ้าง  จึงบอกให้พระเฉลิมไปเอาลูกพรรษาที่ท่านหลังจากฉันข้าวเช้าแล้ว  พระเฉลิมจึงรีบขึ้นจากน้ำด้วยความดีใจ

           หลวงตาโตเป็นพระผู้เฒ่าที่บวชนาน  มีอาวุโสสูงเป็นอันดับ ๕ ของวัดบางซ้ายใน  จึงมีความรู้ในเรื่องราว  “แวดวงดงขมิ้น”  มากพอสมควร   เรื่อง “ลูกพรรษา” นี้ท่านก็รู้ว่ามีการหลอกให้หากันมาจนไม่รู้ว่านานเท่าไร  และยังหลอกกันได้อยู่เรื่อย ๆ   เมื่อฉันอาหารเช้าแล้วท่านก็เตรียมมอบ  “ลูกพรรษา”  ให้พระเฉลิม   เมื่อพระเฉลิมเข้าไปหา  ท่านก็ห่มจีวรเฉวียงบ่า  พาดผ้าสังฆาฏิ  รัดผ้าประคดอกเรียบร้อย  นั่งพับเพียบอยู่กลางห้องนอน  พระเฉลิมห่มผ้าไม่เรียบร้อยท่านก็ให้กลับไป  “ห่มดอง”  เหมือนอย่างท่าน  แล้วเอาดอกไม้ธูปเทียนใส่พานหรือฝาบาตรเข้ามารับ  “ลูกพรรษา”  พระเฉลิมทำตามสั่งแล้วท่านจึงมอบลูกพรรษาให้ ๑ ลูก

           พระเฉลิมดีใจมาก  ผูกลูกพรรษาไว้ที่ปลายสายรัดประคดแล้วเดินอวดเพื่อนพระบวชใหม่ด้วยกันไปรอบวัดเลยทีเดียว

           ดังได้กล่าวแล้วว่าวัดบางซ้ายในเป็นวัดใหญ่ที่สุดในอำเภอบางซ้าย (ขณะนั้นเป็นกิ่งอำเภอที่แยกจากอำเภอเสนา) มีพระเณรอยู่ประจำไม่น้อยกว่า ๕๐ องค์  ดังนั้น พระเฉลิมจึงต้องเดินอวดลูกพรรษาไปทุกกุฏิกว่าจะครบก็เหนื่อยไม่น้อยเลย     ผลของการเดินอวดลูกพรรษาของพระเฉลิมเป็นเหตุให้มีเพื่อนพระบวชใหม่ด้วยกันอีกองค์หนึ่งตกเป็นเหยื่อถูกหลอกแบบ  “พลอยฟ้าพลอยฝน”  ไปด้วย

           พระประหยัดเป็นชาวบ้านเต่าเล่าที่บวชพร้อมกันกับพระเฉลิม  ตอนที่เดินอวดลูกพรรษานั้นพระเฉลิม  “โม้”  ว่างมได้ในแม่น้ำหน้าวัด  พระประหยัดหลงเชื่อจึงทำตามอย่างพระเฉลิม  เสียเวลางมหาอยู่หลายวันก็ไม่ได้  หลวงพี่บัณฑิตเห็นว่าพระประหยัดลงไปงมหาลูกพรรษาหลายครั้งหลายวันแล้วก็ไม่ได้  จึงคิดหาวิธีกลั่นแกล้งพระใหม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง

            “ลูกพรรษาในแม่น้ำเขางมได้กันไปจนหมดแล้วคุณประหยัด  อย่าลงไปงมหาให้เหนื่อยเปล่าเลย”  หลวงพี่บัณฑิตท่านเริ่มต้นหลอกอย่างนั้น

            “แล้วผมจะหาที่ไหนได้ล่ะครับหลวงพี่”  พระประยัดถามขณะลอยคออยู่ในน้ำ

            “เห็นจะต้องไปเอาในกลางกอไผ่ข้างส้วม  ริมเตาเผาศพโน้นเสียแล้วหละคุณ”  หลวงพี่บัณฑิตตอบด้วยใบหน้าที่ขรึม ๆ

            “ทำไมมันไปอยู่ในนั้นเล่าครับ?”

            “อ๋อ...เจ้าลูกพรรษานี่นอกจากมันจะอยู่ในน้ำแล้ว  ยังมีอยู่ในปล้องกระทู้ไม้ไผ่กลางกอ  ต้องถางหนามไผ่เข้าไปตัดกระทู้ไผ่แก่ ๆ เอาออกมาผ่าดู  บางกระทู้มีลูกเดียว  บางกระทู้ก็มีหลายลูก  ถ้าไปถางหนามไผ่ตัดกระทู้ได้ลูกพรรษาในเวลากลางคืน  ลูกพรรษานั้นจะมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาก  ถ้าได้กลางวันก็จะมีความขลัง-ศักดิ์สิทธิ์น้อยหน่อย”   หลวงพี่ท่านอธิบายเสียยืดยาวเลย

           วันรุ่งขึ้น  ฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วพระประหยัดถือมีดโต้ (อีโต้) เล่มงามไปถางเรียวหนามไผ่ข้างป่าช้าเพื่อหาลูกพรรษา  ท่านไม่กล้าไปในเวลากลางคืนเพราะกลัวผีหลอก  เพลแล้วพระประหยัดก็ไม่ยอมกลับมาฉันอาหารเพลที่กุฏิ  หลวงตาชื้นพระพี่เลี้ยงของท่านจึงให้เด็กเที่ยวตามหา  เด็กไปพบเห็นเมื่อกอไผ่ถูกถางทำลายไปครึ่งกอแล้ว  เมื่อเด็กบอกว่าหลวงตาให้มาตามไปฉันเพล  ท่านก็กลับไปอาบน้ำด้วยอาการอันหมกมุ่นกังวล

            “ท่านไปถางกอไผ่ทำไม?”  หลวงตาชื้นถามในขณะฉันอาหาร

            “ถางเอาลูกพรรษาครับ”

            “บ้า..! ทั่นนี่บ้าแล้ว  ลูกพรรษาพันเสออะไรนั่นมีที่ไหนเล่า”

            “หลวงพี่บัณฑิตบอกว่ามีในปล้องกระทู้ไม้ไผ่กลางกอครับ

            “ทั่นนี่  บวชได้ตั้งพรรษาหนึ่งแล้วยังโง่ให้เขาหลอกเล่นได้”  หลวงตาชื้นดุด้วยความโมโห  พระร่วมคณะพากันหัวเราะคิกคัก  พระประหยัดรู้ตัวว่าถูกหลอกก็มีทั้งโกรธทั้งอาย  นั่งนิ่งอั้นอยู่   กินอาหารไม่ลง  วางช้อนแล้วลุกขึ้น  เดินเข้าห้องเก็บตัวเงียบอยู่เป็นเวลานาน      
            
           พระประหยัดมิได้โกรธเคืองคั่งแค้นหลวงพี่บัณฑิตเท่านั้น  ยังฝังความพยาบาทอาฆาตลงลึกในใจท่านอีกด้วย  ไม่ยอมพูดจากับหลวงพี่บัณฑิต  แม้แต่หน้าก็ไม่อยากมอง  เดินสวนทางกันท่านก้มหน้ารีบเดินผ่าน  มึนตึงอยู่กระทั่งสึกหาลาเพศไป  ตอนแต่งงานก็ห้ามเจ้าภาพฝ่ายหญิงไม่ให้นิมนต์หลวงพี่บัณฑิตไปในงานพิธีมงคลสมรสของเขา เรียกว่า  “แค้นไปจนวันตาย”  งั้นเถิดครับ./

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, ตุลาคม, 2565, 10:37:59 PM
(https://i.ibb.co/fSBM5Gt/GB102-09-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓ -
                       “เริ่มต้นการเป็นนักเทศน์”

           วัดบางซ้ายใน  มีชาวบ้านสองตำบลรวมกันทำบุญในเทศกาลพรรษาจนศาลาการเปรียญหลังใหญ่เต็มไปด้วยผู้คนใจบุญ  ถ้าเป็นวันใหญ่ ๆ จะมีคนไปร่วมทำบุญกันเป็นหมื่นคนจนล้นออกนอกศาลา  มีอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลตอนกลางวัน ๒๐๐-๓๐๐ คน  แรมคืน (ค้างคืน) ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ คน  ส่วนใหญ่เป็นคนมีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป  ชายหนุ่มไม่มี  ส่วนหญิงสาวมีแทรกอยู่พอประปราย  ซึ่งก็เป็นญาติมิตรพระบวชใหม่  และลูกหลานผู้เฒ่าทั้งหลายที่ไปอยู่เป็นเพื่อนนั่นแหละครับ

           เหตุที่มีคนรักษาอุโบสถศีลกันมาก  ก็เพราะคนที่นั่นมีอาชีพทำนามากถึง ๙๐%   พอทำนาเสร็จน้ำก็เข้าท่วมทุ่ง  คนว่างงานเป็นช่วงเวลาเข้าพรรษาพอดี  อยู่บ้านว่าง ๆ ก็เปล่าประโยชน์  จึงหันหน้าเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันตามกำลังความสามารถของตน

           ทุกวันพระในพรรษา  วัดบางซ้ายในมีประเพณีการ  “เทศน์ไตรมาส”  โดยกรรมการวัดจะจัดพิมพ์  “ฎีกากัณฑ์เทศน์”  ให้ผู้มีจิตศรัทธาจับสลากว่าใครจะได้เป็นเจ้าภาพขันกัณฑ์เทศน์ในวัน, เวลาใด  เตรียมจัดขันกัณฑ์เทศน์ไปตั้งและฟังเทศน์กันในศาลาการเปรียญตามกำหนดวันเวลานั้น  พระเทศน์ก็เป็นพระในวัดบางซ้ายในนั่นเอง  ไม่มีพระนอกวัดมาเทศน์  พระองค์ใดเทศน์  เครื่องกัณฑ์-ปัจจัยที่ติดกัณฑ์เทศน์ก็ถวายเป็นสิทธิ์เฉพาะองค์นั้น  ปีใดมีพระจำพรรษามากก็จะจัดเวลาให้เทศน์ในตอนกลางวัน วันพระละหลายกัณฑ์  เครื่องกัณฑ์เทศน์นอกจากปัจจัย (สตางค์) แล้ว  ก็มีนมข้นหวาน น้ำอ้อย น้ำตาล ข้าวสาร พริก เกลือ กะปิ น้ำปลา กล้วย ต้นอ้อย บุหรี่ หมาก พลู และอื่น ๆ ตามแต่เจ้าของกัณฑ์จะหามาถวาย  เฉพาะปัจจัยนั้นเขานิยมเอาแบ๊งค์เสียบปลายไม้ปักเป็นธงมากน้อยตามกลังศรัทธา

           วิธีการเทศน์ก็ให้พระผู้เทศน์จับสลากโดยไม่เรียงลำดับอาวุโส  องค์ใดจับได้วันเวลาใดก็เทศน์ตามวันที่จับได้นั้น   ดูไม่เป็นการยากสำหรับผู้เทศน์  เพราะกำหนดให้อ่านคำเทศน์ตามใบลานที่ทางวัดจัดให้  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปุคคลาธิษฐาน  คือมีเรื่องราวประกอบธรรมะ  เช่นว่า  พระเจ้าสิบชาติ บ้าง  ฎีกาพาหุง บ้าง  มงคลสูตร บ้าง  เปตวัตถุ บ้าง  วิมานวัตถุ บ้าง ฯลฯ  สำนวนเทศน์เป็นเทศนาโวหาร  ศัพท์แสงเป็นภาษาบาลีสันสกฤตลดรูปเสียส่วนใหญ่  พระบวชใหม่ที่ไม่คุ้นภาษาธรรมแล้วอ่านไม่ค่อยถูก  ส่วนมากก็อ่านไปโดยที่ตนเองไม่เข้าใจในเรื่องและถ้อยคำที่ตนอ่านนั้น ๆ  ก็ในเมื่อผู้อ่านไม่เข้าใจ  ผู้ฟังก็พลอยไม่เข้าใจไปด้วย  แต่ญาติโยมก็ทนฟังกันได้  เพราะเขาอยากได้บุญ  ดังนั้นจึงมีการแจกคัมภีร์เทศน์ให้พระเทศน์ได้อ่านล่วงหน้าก่อนถึงวันเทศน์อย่างน้อย ๑ สัปดาห์  เพื่อให้ทุกองค์อ่านทำความเข้าใจ  เวลาเทศน์จริงจะได้ไม่อ่านแบบตะกุกตะกักสร้างความรำคาญแก่ผู้ฟัง

           ช่วงเวลาเช้า  หลังจากตักบาตรทำบุญและพระฉันอาหารเสร็จแล้ว  “พระเถระ”  คือพระผู้ใหญ่  มีเจ้าอาวาส  รองเจ้าอาวาส  ครูสอนพระปริยัติธรรม  องค์ใดองค์หนึ่งจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์เป็นองค์แรก  เรียกกันว่า  “เทศน์กัณฑ์อุโบสถ”  ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไปถึงเวลาประมาณสี่โมงเย็น  เป็นช่วงเวลาที่  “เทศน์กัณฑ์ไตรมาส”  ปีใดมีพระจำพรรษามากการเทศน์ไตรมาสก็จะเลยไปถึงเวลากลางคืนด้วย  ปีใดมีพระน้อยเวลากลางคืนไม่มีกัณฑ์เทศน์ไตรมาส  ก็จัดให้มีเทศน์พิเศษ โดยจัดตั้งขันกัณฑ์เทศน์รวมขึ้นไว้กลางศาลาตั้งแต่เวลาเช้าของวันพระนั้น  ใครมีศรัทธาจะเอาเงินติดกัณฑ์เทศน์เท่าไหร่ก็ไปใส่ขันรวมกันไว้  ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น  บางคนมีเงินน้อยก็ติดกัณฑ์เทศน์เพียง ๑ บาท  บางคน ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท  ไปจนถึง ๑๐๐ บาทก็มี  ผู้เทศน์ไม่ใช่พระภิกษุ  แต่เป็นสามเณรในวัด  ขันกัณฑ์เทศน์พิเศษนี้บางคืนมีสตางค์ติดกัณฑ์เทศน์มากถึง ๕๐๐-๖๐๐ บาททีเดียวครับ

           การเทศน์โดยอ่านหนังสือในคัมภีร์ใบลานนี้  ดูแล้วไม่น่าจะยาก  แต่กลับเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เทศน์ไม่น้อย  บางองค์เดินขึ้นธรรมาสน์แล้วสั่นไปทั้งตัว  หูอื้อตาลาย  นั่งเป็นใบ้ไปเลยก็มี  บางองค์เทศน์แบบตะโกนเสียงหลงสั่นรัวจนฟังไม่รู้เรื่อง  บางองค์อ่านหนังสือผิด ๆ ถูก ๆ ทั้ง ๆ ที่ก่อนเทศน์จริงได้อ่านทบทวนอยู่หลายวันจนคล่องปากแล้ว  ทั้งนี้ก็เพราะเกิดความเกร็ง  ตื่นเต้น  ประหม่า  และกลัวจะเทศน์ได้ไม่ดี  ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟังนั่นเอง

           ข้าพเจ้าขึ้นธรรมาสน์เทศน์ครั้งแรกก็เกิดการประหม่าไม่แพ้ใครเหมือนกัน  เวลาประมาณ ๑ ทุ่มคืนวันหนึ่ง  เป็นเวรเทศน์ของสามเณรเต็ม  ข้าพเจ้าห่มจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อย  ผุดลุกผุดนั่งรอคอยเวลาขึ้นเทศน์อยู่ในกุฏิด้วยความกระวนกระวายใจ  พอได้ยินระฆังเป็นสัญญาณให้ขึ้นเทศน์ได้  ก็ออกจากกุฏิเดินตัวปลิว  มีพระเณรหลายองค์เดินตามไปนั่งฟังบนอาสน์สงฆ์

           คืนนั้นเป็นคืนวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ (เรียกกันว่าวันพระใหญ่)  มีอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถอยู่แรมคืนที่วัดจำนวนมาก  คะเนดูว่ามีประมาณ ๓๐๐ คน  ข้าพเจ้าเดินเข้าศาลาอย่างขลาด  ยกเท้าก้าวขึ้นบนอาสนสงฆ์แทบไม่ไหว  จนต้องใช้มือขวายันพื้นช่วย  กราบพระประธานบนอาสนสงฆ์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์โดยมีพระเณรกราบตาม  เรียบร้อยแล้วนั่งรอให้หัวหน้าอุบาสกจุดเทียนส่องธรรมข้างธรรมาสน์ตามประเพณี   เมื่อ “เทียนส่องธรรม” ถูกจุดขึ้นแล้ว  ก็กราบพระพุทธรูปประธานอีกครั้ง  ลงจากอาสน์สงฆ์ด้วยความรู้สึกเบาหวิว  เดินตัวปลิวไปด้วยอาการใจสั่น  มือสั่น  ขาสั่น  เมื่อถึงเชิงบันไดก็ใช้สองมือเกาะตัวนาคที่เป็นราวบันไดพาดขึ้นสู่ธรรมาสน์คล้ายกับคลานขึ้นไป  นั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าอุบาสกกล่าวคำเป็นภาษาบาลีว่า  “พรัหมา จะโลกา......”  ซึ่งถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็ได้ความว่า  สหัมบดีผู้เป็นใหญ่ในพรหมโลกยังอาราธนาให้พระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนา  ข้าพเจ้าขออาราธนาพระคุณเจ้าจงแสดงพระธรรมเทศนาอนุเคราะห์ข้าพเจ้าด้วยเถิด  อะไรทำนองนั้น  จบคำอาราธนาธรรม  ข้าพเจ้าก็จับคัมภีร์เทศน์ยกขึ้นจบพนมมือตั้งกลางอก  มีความรู้สึกว่าหัวของข้าพเจ้ามันพองโตจนคับธรรมาสน์เลยเชียว  พอตั้งสติได้ก็นึกถึงหลวงพ่ออาจารย์ไวย์  ด้วยคิดว่า  เรามีอาจารย์เป็นพระนักเทศน์ที่เก่งกล้ามีชื่อเสียงโด่งดัง  เราเป็นศิษย์มีครูดี  จะไปกลัวอะไร  เมื่อคิดได้ดังนั้นความประหม่าขลาดกลัวก็หายไปดังปลิดทิ้ง  เริ่มเทศน์ด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ  แล้วอ่านคำบาลีที่เรียกว่า  “จุลนีบท”  ชัดถ้อยชัดคำ  เสียงดังกังวานก้องศาลา  อ่านความในคัมภีร์ได้คล่องแคล่วไม่ติดขัด   การเทศน์ครั้งแรกของข้าพเจ้าถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  ญาติโยมผู้ฟังพออกพอใจมาก  จนเป็นที่ยอมรับกันว่า  บรรดาเณรและพระบวชใหม่ในวัดบางซ้ายใน  สามเณรเต็มเทศน์เก่งที่สุด.

           เรื่อง  “ฮา”  ในดงขมิ้น  คือสังคมพระเณรมีให้เล่าสู่กันฟังได้ไม่รู้จักสิ้น  แม้ในเรื่องการเทศน์สอนคนซึ่งเป็นเรื่องดีงามก็ยังมีการกลั่นแกล้งหลอกลวง  สร้างความสนุก ความอับอายขายหน้าให้แก่กันจนได้

           พระไปล่  รับแจกคัมภีร์เทศน์ล่วงหน้าให้ฝึกซ้อมเป็นเวลาเดือนเศษ  ท่านตั้งอกตั้งใจอ่านทบทวนวันละหลายเที่ยว  ด้วยหวังว่าจะเทศน์ให้ญาติโยมชอบอกชอบใจ  ได้รับคำชมเหมือนองค์อื่นบ้าง  บางวันท่านถึงกับซ้อมใหญ่  โดยขอร้องให้พระเณรและเด็กวัดไปนั่งฟังบนศาลา  ตัวท่านขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ทำเหมือนจริงทุกอย่าง  ครั้นถึงวันเทศน์ก็ให้   “เด็กชายกลิ้ง”  ลูกศิษย์ของท่าน  ถือห่อคัมภีร์เทศน์ขึ้นไปไว้บนธรรมาสน์  เด็กชายกลิ้งแบกห่อคัมภีร์เทศน์เดินผ่านหน้ากุฏิหลวงพี่สมพงศ์  ครูสอนพระปริยัติธรรม  หลวงพี่ก็ขอยืมห่อคัมภีร์เทศน์นั้นเข้าไปดูในกุฏิ  อ้างว่าขอตรวจดูก่อน  แล้วก็ส่งคืนให้นำไปไว้บนธรรมาสน์ได้เลย

           วันนั้นพระไปล่เดินขึ้นธรรมาสน์ด้วยความมั่นอกมั่นใจ  เมื่อหัวหน้าอุบาสกอาราธนาธรรมจบท่านก็คลี่ห่อคัมภีร์เทศน์แล้วนั่งนิ่ง  มองดูคัมภีร์เทศน์ด้วยความงุนงงสงสัย  จะไม่ให้ท่านงุนงงได้อย่างไรล่ะครับ    ก็คัมภีร์เทศน์ในมือท่านขณะนั้น  ไม่ใช่คัมภีร์ที่ท่านอ่านจนช่ำชองนั้นเสียแล้ว  เพราะหลวงพี่สมพงษ์นั่นแหละครับ  กลั่นแกล้งด้วยการเปลี่ยนคัมภีร์เทศน์ที่เด็กชายกลิ้งถือไปไว้บนธรรมาสน์  ทำให้พระไปล่ต้องนั่งอึ้งนิ่งอยู่เป็นนานจนโยมสีนวลต้องร้องเตือน

            “ว่าไงล่ะท่าน  จะเทศน์ก็เทศน์ไปเลยซี่  โยมรอฟังอยู่”

           พระไปล่ตกอยู่ในภาวะอย่างนั้นก็ต้อง  “ตกบันไดพลอยโจน”  เสียแล้ว  ท่านพยายามอ่านหนังสือในคัมภีร์ที่ไม่เคยอ่าน  ตะกุกตะกักผิด ๆ ถูก ๆ ท่ามกลางความหงุดหงิดรำคาญของผู้ฟัง  กว่าจบลงได้ก็ใช้เวลาไปนานประมาณ ๒ ชั่วโมงทีเดียว   ความรู้สึกของพระไปล่เห็นจะไม่ต้องบอกหรอกครับว่า  เกิดความเคืองแค้น  ความอับอาย  โหมเข้าสู่จิตใจของท่านรุนแรงเพียงใด

           กรรม คือการกระทำใด ๆ ของคน  ย่อมมีผลสนองเสมอ  ผิดแต่ว่าจะได้รับผลช้าหรือเร็วเท่านั้น  พระไปล่เคืองแค้นหลวงพี่สมพงษ์มากจนผูกใจเจ็บว่า  “แค้นนี้ต้องชำระ”  จึงหาโอกาสแก้แค้นให้สาสมใจ  จนวันหนึ่งถึงเวรหลวงพี่สมพงษ์เทศน์กัณฑ์อุโบสถ  พระไปล่แอบเอาคัมภีร์ไปเปลี่ยนคัมภีร์หลวงพี่สมพงษ์เป็นการแก้แค้น  แต่ไม่สำเร็จ  ปรากฏว่าหลวงพี่สมพงศ์อ่านคัมภีร์ได้คล่องแคล่วไม่ตะกุกตะกักเหมือนพระไปล่  เพราะท่านบวชมานานเกิน ๑๐ พรรษาแล้ว  ความรู้ด้านปริยัติธรรมท่านก็สอบได้เป็นนักธรรมชั้นโทและเป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรีอีกด้วย  การอ่านหนังสือเทศน์ของท่านจึงคล่องแคล่วโดยไม่ต้องซ้อมอ่านมาก่อน  เทศน์จบแล้วหลวงพี่สมพงษ์ยังมาพูดเยาะเย้ยพระไปล่เป็นการเพิ่มความโกรธแค้นอีกด้วย  ข้าพเจ้ารู้สึกหมั่นไส้หลวงพี่สมพงษ์มาก  ก็เลยวางอุบายช่วยให้พระไปล่แก้เผ็ดให้จนได้/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, ตุลาคม, 2565, 11:54:18 PM
(https://i.ibb.co/GcD97j0/5914-locdxs7z.gif) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔ -
                       “เริ่มต้นการเป็นนักเทศน์ ๒”

           หนึ่งเป็นวันพระใหญ่ที่สำคัญ  คือแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐  เป็นวันประเพณีตรุษไทย  มีคนมาทำบุญและอยู่ฟังเทศน์ไตรมาสเวลาบ่ายโมงกันมาก  วันนั้นเป็นเวรเทศน์ของพระประยูร  แต่ท่านไม่กล้าเทศน์ด้วยตนเอง  จึงขอให้หลวงพี่สมพงษ์ช่วยเทศน์แทน  หลวงพี่สมพงษ์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ด้วยความมั่นใจเช่นเคย  หัวหน้าอุบาสกอาราธนาธรรมจบแล้วท่านก็หยิบห่อคัมภีร์เทศน์ที่เตรียมไว้คลี่ผ้าห่อคัมภีร์ออกแล้วก็ผงะ  หันซ้ายหันขวา  ทำหน้าล่อกแล่ก  ยกคนโทน้ำเทใส่แก้วดื่มอั้ก ๆ แล้วบ้วนปาก  หยิบหมากพลูในพานใส่ปากเคี้ยวหยับ ๆ  บ้วนน้ำหมากแล้วกระแอมกระไอ  ไม่ตั้งนะโมเริ่มเทศน์ซักที  โยมสีนวลทนนั่งรอฟังไม่ไหวต้องร้องเตือนตามประสาคนใจร้อน

            “เมื่อไรจะเทศน์ซะทีเล่าท่านมหา?”

           ความจริงหลวงพี่สมพงศ์ไม่ได้เป็นพระมหา  เพราะท่านยังไม่ได้เรียนภาษาบาลี  และยังไม่ได้เข้าสอบเปรียญธรรมเลย  ผู้ที่ได้เป็นพระมหานั้นจะต้องสอบเปรียญธรรมได้ ๓ ประโยค  และได้รับการตั้งสมณะศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย  แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ  เมื่อเห็นพระภิกษุองค์ใดบวชนาน  พูดเก่ง  เทศน์เก่ง  ก็มักจะเรียกว่าท่านมหา  ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้องเลย

           วันนั้นหลวงพี่สมพงศ์ประสบกับการแก้แค้น  รับผลกรรมที่ทำไว้กับพระไปล่อย่างสาสมและสาหัสทีเดียว  พอโยมสีนวลร้องเตือนให้เทศน์  แทนที่ท่านจะเริ่มต้นว่านะโม....กลับจับตาละปัดขึ้นตั้งบังหน้าแล้วว่า  “ยะถา วาริวะหา......สัพพี ติโย....”  ซึ่งเป็นบทอนุโมทนาหลังการเทศน์จบลง  อนุโมทนาจบก็ลงจากธรรมาสน์  ไม่ยอมขึ้นนั่งรับเครื่องกัณฑ์เทศน์บนอาสน์สงฆ์ตามธรรมเนียม   รีบเดินก้มหน้ากลับกุฏิทันทีโดยไม่มีการเหลียวหลัง    ท่ามกลางความงงงันของญาติโยมที่นั่งฟังเทศน์อยู่เต็มศาลา  เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแก่หลวงพี่สมพงษ์  ข้าพเจ้านั่งอยู่บนอาสน์สงฆ์ไม่งงงันสงสัยอะไร  ด้วยรู้เรื่องเบื้องหลังเป็นอย่างดี  ส่วนพระไปล่ไม่ได้ลงไปดูผลบนศาลา  ท่านนั่งคอยฟังข่าวอยู่ในกุฏิของหลวงพี่บัณฑิต  ซึ่งคอยจะขึ้นเทศน์เป็นองค์ต่อไป  เมื่อเห็นหลวงพี่สมพงศ์เดินก้มหน้าจากศาลามากุฏิผ่านมาก็ออกไปยืนเย้าเยาะ

            “เอ๊ะ !  หลวงพี่  วันนี้ทำไมเทศน์จบเร็วนักล่ะ?  แหม...ทำยังกะเป็นกามนิตหนุ่มเชียว”

            “บ้า..!  อย่ามายั่วนะ”  หลวงพี่สมพงศ์ตะคอกใส่  แล้วก้มหน้าเดินเข้ากุฏิไปทันที

           หลวงพี่บัณฑิต รับเทศน์แทนพระเฉลิม  ท่านถือห่อคัมภีร์เทศน์ด้วยตนเองขึ้นศาลาเพื่อเทศน์เป็นองค์ต่อไป  ญาติโยมถามก่อนขึ้นธรรมาสน์ว่า เ มื่อตะกี้ทำไมพระสมพงศ์จึงไม่ยอมเทศน์?  หลวงพี่บัณฑิตไม่รู้เรื่องเบื้องหลัง  ได้ฟังคำถามก็รู้สึกงุนงงเหมือนกัน  พอขึ้นธรรมาสน์เทศน์จึงรู้สาเหตุที่หลวงพี่สมพงศ์ไม่ยอมเทศน์

            “ไอ้นี่เองแหละโยม  ที่ทำให้ทั่นสมพงษ์ไม่ยอมเทศน์น่ะ..”  หลวงพี่บัณฑิตพูดเสียงดังพร้อมกับหยิบคัมภีร์เทศน์ชูขึ้นให้ญาติโยมดู

            “ไอ้นั่นมันเป็นยังไงท่าน?”  โยมสีนวลถามซื่อ ๆ

            “มันคือคัมภีร์เทศน์อักษรขอมน่ะซีโยม  ยังงี้แล้วทั่นสมพงศ์จะเทศน์ได้เรอะ  อ่านไม่ออกซักตัวเดียว”  ทั้งพระเณรและโยมรู้ความจริงก็หัวเราะกันครืนเลย

            “พระสมพงษ์โดน  “ขอมดำดินเล่นงานเข้าแล้ว” ”  โยมปลิวพูดพร้อมหัวเราะหึ ๆ

           ข้าพเจ้าเองแหละครับ  บอกให้พระไปล่เอาคัมภีร์เทศน์อักษรขอมไปแอบเปลี่ยนคัมภีร์เทศน์อักษรไทยของหลวงพี่สมพงษ์  เพราะเห็นว่าถ้าเอาคัมภีร์เทศน์อักษรไทยไปแอบเปลี่ยน  ท่านก็อ่านได้อีกตามเคย  หลวงพี่ท่านเรียนหนังสือธรรมมีความรู้พอ ๆ กันกับข้าพเจ้านี่  ข้าพเจ้าเองถ้าโดนอักษรขอมก็ม่อยกระรอกไปเหมือนกัน

           ตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งสอบนักธรรมชั้นเอกได้  และลาสิกขา (สึก) ไปในที่สุด  หลวงพี่สมพงษ์ไม่ยอมเทศน์อีกเลย  แม้แต่การพูดคุยถึงเรื่องเทศน์ท่านก็ไม่ยอม

           รูปแบบการเทศน์ในสมัยนั้นมีสองอย่าง  คือเทศน์โดยอ่านคำในคัมภีร์ใบลาน, กระดาษข่อย  และหนังสือยกที่เขาพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ ๆ  มีทั้งการเทศน์เดี่ยว  คือว่าองค์เดียว  กับเทศน์คู่ คือตั้งแต่สององค์ขึ้นไป  ซึ่งก็มีทั้งการอ่านคำตามคัมภีร์ใบลานที่ผู้รู้แต่งไว้ (ทั้งเทศน์เดี่ยวและเทศน์คู่)  อีกอย่างหนึ่งคือไม่ต้องอ่านหนังสือ  หากแต่ใช้ปฏิภาณไหวพริบโวหารของตนเอง  พูดตามความจำความคิดความเข้าใจในเรื่องและข้อธรรมที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา  เทศน์โดยวิธีหลังนี้  ชาวบ้านเรียกกันว่า  “เทศน์ปากเปล่า”  ครับ

           การเทศน์โดยอ่านคัมภีร์  แม้จะอ่านได้คล่องแคล่วไม่ติดขัดตะกุกตะกัก  เสียงและจังหวะในการอ่าน วรรคตอน  ถ้อยคำชัดเจนอย่างเดียวนั้น  ยังไม่ได้ชื่อว่า  “เป็นนักเทศน์”  หรือแม้จะท่องคำในในคัมภีร์จนจำได้หมดแล้วก็ว่าตามที่ท่องได้  ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า  “เป็นนักเทศน์”  อีกน่ะแหละ  เพราะถ้อยคำสำนวนนั้นมิได้เกิดจากความคิดความเข้าใจตนเอง  เป็นการเทศน์แบบ  “นกแก้วนกขุนทอง”  เหมือนสวดมนต์ให้คนฟัง

           ผู้ที่จะได้ชื่อว่า  “เป็นนักเทศน์”  จะต้องเป็นผู้ที่สามารถแสดงได้ด้วยถ้อยคำสำนวนของตนเองซึ่งเรียกว่า  “เทศน์โดยปฏิภาณ”  หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า  “เทศน์ปากเปล่า”  นั่นแหละครับ

           การเทศน์ปากเปล่าไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย  ผู้เทศน์จะต้องเป็นคนมีความจำมาก  แม่นยำ  รู้มาก  เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ง่ายและรวดเร็ว  คำที่เทศน์ต้องมีเหตุผลที่สามารถทำให้ผู้ฟังมีความเห็นคล้อยตามได้  หรือหักล้างโต้แย้งได้  เรื่องหรือถ้อยคำที่ยกมากล่าวนั้น  ต้องมีหลักฐานอ้างอิง  ไม่ใช่พูดแบบลอย ๆ  เรื่องหลักฐานนี่ก็ต้องท่องจำกันละครับ  แบบเรียนพระปริยัติธรรมต่าง ๆ ตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี  ชั้นโท  ชั้นเอก  ไปจนเปรียญธรรมประโยค ๓-๙  รวมทั้งพระไตรปิฎก  คัมภีร์ในพระสูตร  เช่น  ขุททกนิกาย  ทีฆนิกาย  มหาวรรค  จุลวรรค  บริวารวรรค  ในชั้นอรรถกถา  ฎีกา  รวมไปถึงทั้งพระวินัย  พระอภิธรรม  อะไร ๆ   ใครท่องจำได้มากแม้พูดอธิบายไม่เก่งก็จะได้เปรียบในการเทศน์  เพราะเป็นคนมีหลักฐานมากนั่นเอง

           คืนหนึ่ง  สามเณรวิเชียร  ซึ่งเป็น  “ศิษย์ก้นกุฏิ” (เณรอุปัฏฐาก) ของหลวงพ่อไวย์เป็นเวรเทศน์  ถือหนังสือ “ทศชาติ” เล่มหนาใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มไปขึ้นธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญ   หนังสือเล่มนี้รวมพิมพ์เรื่องชาดกใหญ่ ๆ อยู่ ๑๐ เรื่อง  เริ่มตั้งแต่เรื่องเตมีย์ไปจบลงที่เรื่องพระเวสสันดร  แต่ละเรื่องล้วนยืดยาว  เณรวิเชียรเทศน์เรื่องอะไรข้าพเจ้าไม่ทราบหรอก  รู้แต่เพียงว่าเขาอ่านเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ  เริ่มเทศน์ตั้งแต่ ๒ ทุ่ม  ไปจบเอาตอนเที่ยงคืน  กว่าจะจบได้ก็เล่นเอาคนฟังย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน  คนฟังจะไม่ย่ำแย่ยังไงล่ะครับ   คนที่เคร่งครัดก็นั่งพนมมือฟังจนหลังขดหลังแข็ง  ปวดเมื่อยขาจนชาดิก  กลับการพับเพียบขวา-ซ้ายไปมาเพื่อบรรเทาความปวดเมื่อย  บางคนหมอบฟุบลงกับพื้นกระดาน  บางคนไม่ได้หมอบเฉย ๆ  หากแต่หมอบจนหลับไปเลยก็มี

           โยมปลิว  โยมสอน  และอีกหลายคนทนนั่งฟังไม่ไหว  เพราะเมื่อยจนสุดทน  จึงหลบออกไปนอกศาลา  พบกับข้าพเจ้าที่สะพานทางเข้าหอสวดมนต์  โยมปลิวบ่นว่า  “ไม่ไหว  ขืนเทศน์ยังงี้บ่อย ๆ คนฟังตายแน่ ๆ”

            “ไอ้ข้างล่างเต็มทน  ไอ้ข้างบนก็เต็มที”   โยมสอนพูดต่อ

            “เป็นไงโยมสอน  ที่โยมว่านั่นน่ะ”  ข้าพเจ้าสอดคำถามขัดขึ้นก่อนที่โยมปลิวจะพูดต่อไป

            “ก็...เณรเชียรน่ะซี  เทศน์ประสาห่าเหวอะไรก็ไม่รู้  นี่เกือบจะเที่ยงคืนแล้ว  ยังเทศน์พล่ามไปไม่จบเลย

           ไอ้ข้างล่างคือ  คนฟังนั่งกันเมื่อยจน “เต็มทน ” แล้ว  
           ส่วนข้างบนก็  “เต็มที”  คือเณรเชียรนั่งก้มหน้าอ่านคัมภีร์เทศน์โดยไม่ดูเหนือดูใต้  ตะบี้ตะบันอ่านคัมภีร์อยู่นั่นแหละ  แย่เต็มที”  

           โยมปลิวตอบและอธิบายแทนโยมสอน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, ตุลาคม, 2565, 10:20:30 PM
(https://i.ibb.co/nr0YVDr/580400-31-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕ -
           ฟังคำของโยมทั้งสองวิจารณ์เณรเชียรแล้ว  ทำให้หวนคิดถึงหลวงพ่อไวย์ที่ให้คำสอนในระดับนักธรรมชั้นโทของท่านว่า   “เป็นนักเทศน์อย่าให้เกินเวลา  เป็นนักศรัทธาอย่าให้เกินกำลัง”   โดยมีอธิบายว่า  การเทศน์และเป็นนักเทศน์ที่ดีนั้น  ไม่ใช่อ่านคล่อง  พูดคล่อง  เสียงดี  เหตุผลดี  หลักฐานแม่นยำมั่นคงเท่านั้น  สิ่งสำคัญของนักเทศน์คือ  ต้องเป็นผู้รู้เวลาและรู้บริษัท  กล่าวคือต้องดูว่าเวลาไหนควรเทศน์มาก  เวลาไหนควรเทศน์น้อย  เรื่องที่เทศน์ควรเลือกให้ถูกต้องเหมาะสมกับสถานที่และบุคคล  ไม่เอาเรื่องที่เป็นมงคลไปเทศน์ในงานที่ไม่เป็นมงคล  หรือเรื่องไม่เป็นมงคลไปเทศน์ในงานมงคล  เช่นไม่เอาเรื่องการมงคลสมรสไปเทศน์ในงานทำศพ  เป็นต้น

           พระบางองค์เทศน์ไม่รู้บริษัท คือ คนฟัง   ว่ามีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร  พอเริ่มเทศน์ก็นั่งหลับตาเทศน์ (ใช้ปฏิภาณโวหาร) ว่าคำอรรถคำแปลเจื้อยแจ้วไปตามความรู้และอารมณ์  ที่อยากแสดงอวดความรู้ความสามารถของตน  ญาติโยมที่นั่งพนมมือฟัง  ก็ฟังกันพอเป็นกิริยาบุญ  “รู้มั่งไม่รู้มั่ง”  ก็นับว่าเป็นบุญแล้ว  เมื่อนั่งพับเพียบฟังนาน ๆ ก็รู้สึกเมื่อยขบ  พลิกไปพลิกมาก็ไม่หาย  พระท่านก็นั่งหลับตาเทศน์ไม่ยอมลืมตาขึ้นดูโยมว่าปวดเมื่อยกันมาก  เมื่อทนนั่งฟังต่อไปไม่ไหว  ก็ลุกหนีไปทีละคนสองคนจนหมดศาลาแล้ว  ท่านก็ยังหลับตาเทศน์ให้เสาศาลาฟังต่อไปด้วยความมันในอารมณ์จนจบ   ครั้นจบด้วย   “เอวัง......”   พอลืมตาขึ้นมองไม่เห็นใครอยู่ในศาลาแม้แต่คนเดียว  ท่านก็อุทานออกมาว่า   “แหม........โยมคนสุดท้ายจะกะแหล่มแอมไอให้อาตมารู้สึกตัวหน่อยก็ไม่ได้”

           บางองค์ก็เอาเรื่องสวรรค์นรกมาเทศน์สอนคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง  ท่านมิได้ประยุกต์คำเทศน์ให้เหมาะแก่กาลสมัย  ดันทุรังอ่านตามสำนวนโวหารเดิมที่บางคำตนเองก็ไม่เข้าใจ  อย่างนี้เป็นการยัดเยียดความเชื่อถือให้คนฟัง  ยกนิทานชาดกเล่าเรื่องนกพูดจาปราศรัยกับคน  นกเทศน์สอนคน  พอเทศน์จบมีนักศึกษาหนุ่มถามว่า  สมัยก่อนนกพูดกับคนได้  นกเทศน์สอนคนได้  สมัยนี้ทำไมจึงไม่เห็นมีคนพูดกับนกและนกเทศน์สอนคน?   ถูกถามอย่างนี้ท่านก็จนปัญญา  ตอบไม่ได้  อายเด็กไปนานเลยก็แล้วกัน  นี่ก็เป็นอุทาหรณ์การเทศน์ไม่รู้เวลาและไม่รู้บริษัท

           ส่วนนักศรัทธาไม่รู้กำลังนั้น  ท่านหมายเอาผู้บริจาคเงินทองและสิ่งของทำบุญ   บางคน   “หน้าใหญ่ใจโต”  บริจาคเงินทองสิ่งของทำบุญเป็นการเอาหน้า หวังได้ชื่อเสียง  เห็นใครบริจาคก็บริจาคบ้าง  บางที่ในครอบครัวตนเองไม่ค่อยจะมีกินมิใช้  อยู่อย่างอัตคัดขัดสน  แต่ก็ยังเที่ยวไปบริจาคให้ปรากฏชื่อเสียงในสังคมว่า“เป็นคนใจบุญ”  บางทีไม่มีเงิน  ก็ขอยืมของคนอื่นมาบริจาค  แม้จะเดือดร้อนในภายหลังก็ยอม   บางคนจัดงานบวชลูกหลานแต่ละทีก็จัดอย่างยิ่งใหญ่  เพื่อมีหน้ามีตาทั้ง ๆ ที่ฐานะการเงินไม่ดี  จึงหยิบยืมคนอื่นมาลงทุนจัดงาน  พองานเสร็จก็นั่งกอดเข่าปรึกษากันว่าจะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้เขา?   ลูกชายบวชเป็นพระจนสึกมาแล้วก็ยังหาเงินใช้หนี้เขาได้ไม่หมดเลย  อย่างนี้เรียกว่า   “เป็นนักศรัทธาไม่รู้กำลัง”   ซึ่งมีให้เห็นอยู่ในสังคมนี้เสมอมา”

           หลังจากสามเณรวิเชียร   “เทศน์มาราธอน”   จนคนฟังเอือมระอาไปตาม ๆ กันแล้ว  ต่อมาอีกสองวันพระ  ก็ถึงเวรเณรเต็มเทศน์กลางคืนบ้าง  และก็ต้องเทศน์เรื่องชาดกในหนังสือทศชาติ  ที่เณรเชียรและใคร ๆ ยังไม่ได้เทศน์  โดยผู้จัดเวรเทศน์กำหนดให้ข้าพเจ้าเทศน์เรื่องพระมหาชนกชาดกครับ

           ข้าพเจ้าเดินถือหนังสือทศชาติเล่มเดียวกับที่เณรเชียรถือไปเทศน์  ญาติโยมเห็นแล้วถึงร้อง   “โอ้โฮ!”  ออกมาพร้อม ๆ กัน   บางคนรีบกราบพระแล้วคลานออกไปจากศาลาก่อนที่ข้าพเจ้าจะเทศน์  เพราะกลัวว่าจะต้องอยู่ในสภาพ   “ข้างล่างเต็มทน”   เหมือนคืนก่อนหน้านี้  โยมแจงใจกล้าถึงกับร้องบอกเณรเต็มว่า  “เอาครึ่งเรื่องก็พอแล้วเณรเต็ม”  ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตอบด้วยการยิ้ม  ไม่มีใครรู้ความในใจและแผนการเทศน์ของข้าพเจ้าหรอก

           หลวงพ่อไวย์มีเรือเก๋งขนาดเล็กอยู่ลำหนึ่ง  ไว้สำหรับเดินทางไปเทศน์และกิจอื่น ๆ  ส่วนใหญ่ข้าพเจ้ามักได้รับใช้ท่านในการขับเรือลำนี้ นำพาท่านและพระนักเทศน์เพื่อน ๆ ของท่านไปเทศน์ตามวัดต่าง ๆ  เวลาพระเทศน์บนศาลาเขาจะติดเครื่องขยายเสียงให้ดังมากที่สุดเท่าที่จะดังได้  เณรเต็มมักจะนั่งบ้างนอนบ้างอยู่ในเรือเก๋งหน้าศาลาวัด  ฟังเสียงหลวงพ่อไวย์และพระเพื่อน ๆ ของท่านเทศน์กัน   ฟัง ๆ แล้วอยากเป็นนักเทศน์เสียเต็มประดา  จนถึงกับตั้งความหวังว่าจะต้องเป็นพระนักเทศน์ให้ได้  และจะต้องเทศน์ให้ดีกว่าพระเพื่อนหลวงพ่อไวย์ด้วย  จึงแอบจดจำถ้อยคำลีลาวิธีการเทศน์ของหลวงพ่อและเพื่อนของท่านบางองค์ที่เทศน์ดีมากนั้นไว้  และคืนนี้โอกาสที่ข้าพเจ้ารอคอยได้มาถึงแล้ว

           สามเณรเต็มสร้าง  “ปาฏิหาริย์”  ให้ญาติโยมบนศาลาการเปรียญเห็น  และเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จในการเทศน์  แทนที่ข้าพเจ้าจะเปิดหนังสือออกอ่านอย่างที่สามเณรวิเชียรทำ  ข้าพเจ้ากลับไม่เปิดหนังสือ  หากแต่ปิดปกเรียบร้อยแล้วยกขึ้นจบเหนือศีร์ษะ  ลดลงมาประนมมือประคองตั้งไว้กลางอก ว่า    “นะโม......จุลลนีบท”   จนจบแล้วเล่าเรื่องพระมหาชนกตั้งแต่ต้นจนจบ  รวบรัดตัดใจความด้วยภาษาไทยง่าย ๆ แบบชาวบ้าน  เณรเต็มอ่านเรื่องพระมหาชนกในหนังสือนี้จบไปหลายเที่ยว  จดจำเนื้อหาสาระใจความสำคัญได้  แล้วจับเอามาบอกเล่าให้โยมฟังตามความรู้ความเข้าใจของตนเอง  นับเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเทศน์แบบปฏิภาณหรือ  “เทศน์ปากเปล่า”  ใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงก็จบบริบูรณ์  ญาติโยมฟังแล้วชอบใจ  เพราะฟังรู้เรื่องดีกว่าฟังการอ่านในสำนวนเทศนาโวหาร   และตั้งแต่นั้นมา  ข้าพเจ้าพยายามเทศน์ปากเปล่าเสมอ  เว้นแต่ว่าจะมีความจำเป็นจึงอ่านคัมภีร์เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น./

           - อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ  เณรเต็มจะออกเดินธุดงค์อีกแล้ว -

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, ตุลาคม, 2565, 10:28:01 PM
(https://i.ibb.co/VQKs0Gn/89e7302d5f3a.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖ -
                       “เดินธุดงค์ลงปักษ์ใต้”

           ปี พ.ศ. ๒๕๐๑  สามเณรเต็มสอบนักธรรมชั้นเอกได้แล้ว  มีความรู้อยู่ในชั้น  “เถรภูมิ”  อันเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาด้านพระปริยัติแผนกธรรม  อายุเข้าเกณฑ์ที่ต้องอุปสมบทเป็นภิกษุพอดี  แต่ยังไม่อยากบวชเป็นพระภิกษุ  เพราะเห็นว่าเป็นสามเณรรักษาศีลมีเพียง นาสนังคะ ๑๐ ข้อ  ทัณฑกรรม ๑๐ ข้อ  กับเสขิยวัตรอีก ๗๕ ข้อ  รวมเป็น ๙๕ ข้อเท่านั้นสบายมาก  ส่วนพระภิกษุต้องรักษาสิขาบท (ศีล) ที่มีในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ  นอกพระปาติโมกข์อีกนับไม่ถ้วน  เพราะมีเป็นหมื่น ๆ พระธรรมขันธ์เลยก็
แล้วกัน    ที่สำคัญสามเณรศีลขาดแล้วต่อใหม่ได้  พระภิกษุเมื่อล่วงละเมิดอาบัติใหญ่ (ปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งใน ๔ ข้อ) เป็นอันว่าศีลขาดแล้ว  จะต่อใหม่ไม่ได้  แม้สละเพศบรรพชิตแล้วขอบวชใหม่อีกก็ไม่ได้  ขื่นแอบไปบวชในที่ไม่มีใครรู้  ก็ไม่เป็นพระภิกษุต่อไปได้

           ฃ้าพเจ้าอยากเป็นสามเณรต่ออีกสักปีหนึ่ง  แต่ญาติโยมก็เตรียมจะพิมพ์การ์ดแจกเชิญญาติมิตรที่เคารพนับถือร่วมงานบวช  คอยอยู่แต่ว่าเณรเต็มจะบวชในเดือนไหนเท่านั้นเอง  ข้าพเจ้าหาทางให้หลบพ้นการบวชเป็นพระภิกษุด้วยการออกเดินประพฤติธุดงค์อีกครั้งหนึ่ง  คราวนี้ไปด้วยกัน ๒ องค์กับหลวงพี่บัณฑิต  โดยมีเป้าหมายลงภาคใต้ของประเทศไทย

           หลังจาก  “ขึ้นธุดงค์”  กับหลวงพ่อโบ้ยวัดมะนาว  พระอาจารย์องค์เดิมของข้าพเจ้าแล้ว  หลวงพี่บัณฑิตก็พาออกเดินทางจากตัวเมืองสุพรรณบุรี ไปทางอำเภออู่ทอง  ตัดเข้าอำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม  การออกเดินธุดงค์เที่ยวนี้หลวงพ่อโบ้ยไม่ได้มอบพระให้ไปแจกเหมือนคราวก่อน  ท่านบอกว่าได้บรรจุไว้ในท้องพระพุทธรูปองค์ใหญ่ของท่านหมดแล้ว  ข้าพเจ้าจึงไม่มีพระเครื่องรางของขลังอะไรแจกชาวบ้านเหมือนพระองค์อื่น ๆ  แต่ก็มีธรรมะที่ชอบ  “เทศน์นอกธรรมาสน์”  แจกจ่ายให้ชาวบ้านที่สนใจจะพูดคุยกันในเรื่องธรรมะ  ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

           เดินทางถึงหมู่บ้านสระยายโสม ซึ่งเป็นหมู่บ้านตำบลใหญ่  ประชาชนส่วนมากเป็นไทยทรงดำ หรือ  “ลาวโซ่ง”  ปักกกลดที่ชายทุ่งใกล้หมู่บ้าน  บริเวณนั้นเป็นนาข้าวที่เก็บเกี่ยวหมดแล้ว เ หลือแต่ซังข้าวหนาทึบนุ่มนิ่มน่านั่ง-นอนเล่น  เราปักกลดห่างกันชั่วขว้างก้อนดินตก  ไม่มีใครมานั่งคุยกับข้าพเจ้า  เพราะคงจะเห็นว่าเป็นเพียงสามเณรหนุ่ม และเป็นลูกน้อง  ไม่ใช่หัวหน้าคณะธุดงค์  ที่กลดหลวงพี่บัณฑิตมีญาติโยมไปนั่งล้อมวงพูดคุยด้วยหลายคน

           คืนนั้น  ข้าพเจ้าจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับได้ไม่ลืมเลือนจนถึงวันนี้  มันเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง  และคงจะจำไหตลอดชีวิตนั่นแหละครับ

           ข้าพเจ้าสวดมนต์จบก็นั่งขัดสมาธิภาวนา...”อะระหัง ๆๆๆ”  ดวงตาทั้งสองข้างหลับสนิท  ขณะจิตเข้าสู่สมาธิในตอนนั้น  ก็มีความรู้สึกว่ามีอะไรมาพาดท่อนขาขวา  จึงลืมตาดู  เห็นชัดว่าเป็นอะไรแล้วก็ตกตะลึงตัวแข็ง  กลั้นลมหายใจค่อย ๆ ผ่อนลมออกและค่อย ๆ สูดเข้าช้า ๆ เพื่อไม่ให้ร่างการกระเทือนเคลื่อนไหวแม้แต่น้อย

           ใช่เลย !  เจ้าสิ่งที่พาดท่อนขาขวาของข้าพเจ้านั่นมันคือ  “งูเห่า”  ตัวดำมะเมื่อมใหญ่ขนาดเท่าแขน  มันคงจะเลื้อยออกมาจากรูข้างที่ข้าพเจ้านั่งอยู่  แล้วขึ้นมาพาดตัก  จากนั้นมันค่อย ๆ เลื้อยจากตักทางขวาไปทางซ้าย  ลงจากตักหาทางออกจากกลด  ข้าพเจ้าพยายามนึกถึงคาถากันงูบทสั้น ๆ แต่ก็นึกไม่ได้สักบทเดียว  นึกได้เฉพาะบทยาวที่ว่า    “นันโท ปะนันทะภุชคัง.....”    ในฎีกาพาหุงที่ว่าด้วยพระพุทธเจ้าผจญกับพญานันโทปนันทนาคราช  ทรงได้ชัยปราบพญานาคเจ้าแห่งงูเสียราบคาบ  ท่านว่าใครภาวนาคาถาบทนี้จะป้องกันและกำหลาบสัตว์พิษร้ายนานาชนิดได้

           คนเรานี่  เมื่อตกอยู่ในภาวะคับขันอันตราย  หรือ  คับแค้น  เศร้าโศก  เสียใจ  มักจะทำ, พูด, คิดอะไร ๆ ไม่ได้  แม้ได้ก็ไม่ค่อยถูก  ขณะนั้นข้าพเจ้าเองก็เป็นเช่นนั้น  แม้จะนึกถึงบทนันโทได้  แต่ก็ว่าคาถาบทนี้ไม่ถูก  ขึ้นว่า   “นันโท...”   แล้วก็ว่าต่อไปไม่ได้  ขึ้นล้ม ๆๆ ไม่รู้กี่หน  งูเลื้อยผ่านตักไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้  พอตั้งสติได้ก็เห็นมันเลื้อยเลาะตีนมุ้งข้างหลังแล้ว  ตอนนั้นต้อง  “ทำใจสู้งู”  พยายามยกมือขวาขึ้นช้า ๆ ค่อย ๆ เอนตัวไปข้างหลัง  เอามือจับผ้ามุ้งตรงกลางยกให้ตีนมุ้งเวิกขึ้น  งูมันเห็นช่องทางที่ตีนมุ้งเปิดจึงรีบเลื้อยออกไปทันที  เมื่องูมันเลื้อยออกไปแล้วข้าพเจ้าก็รีบปิดกันตีนมุ้งอย่างหนาแน่นเพื่อไม่ได้งูมันกลับเข้ามาอีก   คืนนั้นไม่กล้านอน กลัวว่างูมันจะกลับมาเห็นตีนหรือมือผมไปติดมุ้งตุงอยู่  มันอาจจะโกรธที่กลับเข้ารูไม่ได้แล้วกัดข้าพเจ้าเสียด้วยความโกรธของมันก็ได้  จึงต้องใช้วิธีหลับนกหรือหลับลิง  คือนั่งพิงเสากลดหลับ ๆ ตื่น ๆ ไปตลอดทั้งคืน

           รุ่งเช้าแล้วข้าพเจ้าก็รวบมุ้งรวมมัดกับเสากลดตรวจดูพื้นดินในบริเวณที่เป็นปริมณฑลของกลด  พบว่ามีรูอยู่ใต้กอซังข้าว ๑ รู  เชื่อได้ว่าเป็นรูปูที่งูเข้าไปอาศัยอยู่แทนปู  แสดงว่าข้าพเจ้า  “ปักลดคร่อมรูงู”  ซึ่งก็เป็นความผิดของข้าพเจ้าเอง  การปักกลดคร่อมรูงูเห่า  นับว่าเป็นการผจญภัยอันน่าหวาดเสียวสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า

           คิดย้อนเมื่อสมัยเป็นวัยรุ่นก่อนบวชเณร  ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบเล่นทำร้ายงูด้วยความเกลียดชังมัน  พบที่ไหนไม่ว่าเป็นงูอะไร  ต้องเอาไม้ไล่ทุบไล่ตีที่นั่น  ถ้าเป็นงูเห่าหากพบมันลำพังคนเดียวก็จะใช้ไม้ปลายแหลมหรือไม่ก็ฉมวกแหลม  พุ่งแทงส่วนหางของมันให้ติดพื้นดิน  แล้วล่อให้มันแผ่แม่เบี้ยขู่ฟ่อ ๆ  ล้อเล่นมันจนหมดแรงแล้วจึงทุบให้ตายสนิท  ไม่ยอมปล่อยให้มีชีวิตอยู่รอดได้  เพราะกลัวการ  “ตีงูให้หลังหัก”  ถ้าข้าพเจ้ามีสองคนก็จะเล่นโดยวิธีที่หวาดเสียวสักหน่อย  ให้เพื่อนคนหนึ่งหลอกล่อให้มันชูคอแผ่แม่เบี้ยฉกใส่  คนหนึ่งคอยจ้องจับหาง  หลอกกันไปล่อกันมา  ทำให้งูพะวงหน้าพะวงหลังไม่รู้จะฉกกัดคนไหนดี  พอมันเผลอคนที่อยู่ทางหางก็คว้าจับหางมันได้แล้วกระตุกเบา ๆ พอให้กระดูกหลังมันเคลื่อน  แล้วจับยกขึ้นจากพื้น  มันจะเลี้ยวฉกกัดไม่ได้แล้ว  เพราะตัวมันอ่อนปวกเปียก  จากนั้นก็เหวี่ยงควงเป็นวงกลมเหนือศีร์ษะสักพักหนึ่งแล้ววางลง  เห็นมันยังกระดุกกระดิกได้อยู่  อีกคนหนึ่งก็จับหางขึ้นเหวี่ยงเล่นบ้าง  ทำอยู่อย่างนี้  สนุกสนานจนสาแก่ใจแล้วจึงทุบมันทิ้ง “ให้กากิน”

           งูเขียว  งูสายม่าน  เป็นงูขนาดเล็กไม่มีพิษร้ายแรงอะไร  เป็นของเล่นที่สนุกสนานของพวกข้าพเจ้ามาก  พวกเราเป็นลูกชาวนาและเป็นเด็กเลี้ยงควาย  มีวิธีการเล่นอะไร ๆ ที่พิลึกพิเรนทร์หลายอย่าง  งูเขียวกับงูสายม่านเป็นงูที่หาง่ายในท้องถิ่น  ทุกจอมปลวกที่มีต้นไม้มักจะมีงูชนิดนี้อาศัยอยู่มาก  พอหาพบเราก็จับหางมันกระตุกเบา ๆ จนกระดูกเคลื่อน  ดึงลงมา  “ควงสว่าน”  เหวี่ยงเควี้ยว ๆ ในท่าของโคบาลเหวี่ยงบ่วงบาศจะคล้องคอวัวยังงั้นเทียว  เมื่อมันสลบแน่นิ่งไปแล้ว  เราก็เอาหัวมันหมกขี้ควายสด ๆ (ยังเปียกอยู่) สักพักหนึ่งมันก็จะพื้นขึ้นและแข็งแรงแล้วมีสภาพเหมือนบ้าคลั่ง  มันเลื้อยปราด ๆ ไล่กัดพวกเรา  พวกเราก็เฮฮา  บ้างวิ่งหนีบ้างวิ่งไล่  แล้วจับหางมันยกขึ้นเหวี่ยงจนสลบไปอีก  เอาหัวไปหมกขี้ควาย  แล้วมันก็ฟื้นขึ้นมาให้พวกเราได้เล่นมันอีก  เล่นกันจนเบื่อแล้วก็ปล่อยมันเข้าป่าไป  บางตัวถูกพวกเราเล่นกันจนตายไปเลยก็มี

           เพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับงูไว้มาก  ทำให้ข้าพเจ้ากลัวงูเสมอมา  กลัวมันจะแก้แค้นที่เคยเล่นทรมานพวกมันมาก่อนนั่นแหละครับ  การที่งูเห่าเลื้อยออกจากรูมาพาดตักขณะที่นั่งเจริญกรรมฐานดังที่เล่าให้ฟังนี้  ที่มันไม่กัดนั้นจะเป็นเพราะคาถาของข้าพเจ้าขลัง  หรือเพราะอานิสงส์การประพฤติธุดงค์ของก็ไม่รู้  ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา  จะปักกลดที่ใดต้องตรวจดูพื้นที่บริเวณที่จะลงหลักปักกลดอย่างละเอียดทุกครั้ง  เพราะกลัวจะพบเหตุการณ์เดิมเข้าอีก

           หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าแบกกลดเดินวัดความยาวของถนนที่ราดลูกรังสู่เมืองนครปฐม  แรมคืนระหว่างทางประมาณ ๔ วันก็ถึงเมืองนครปฐม  โดยผ่านภยันตรายอันน่าหวาดเสียวมาได้ด้วยเขตแดนระหว่างสุพรรณบุรี-นครปฐม คืออำเภออู่ทองติดต่อกับกำแพงแสนนั้น  บางช่วงตอนเป็นป่าที่มีเสือร้ายอาศัยอยู่  บางแห่งมีบ้านเพียง ๒-๓ หลังคาเรือนเท่านั้น  ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเคยพบเสือร้ายชนิด  “ลายพาดกลอน”  เข้ามายุ่มย่ามอยู่ในบริเวณที่พวกข้าพเจ้าปักกลดแรมคืน  ฟังแล้วก็กลัว  ต้องนั่งภาวนาคาถาอาคมอดตาหลับขับตานอนทั้งคืน  จะไม่ให้กลัวอย่างไรเล่า  ก็เสือมันเป็นสัตว์เดียรัจฉาน  ไม่รู้จักบุญบาป  ไม่รู้จักพระรู้จักเจ้าอะไร  ถ้ามันหิวขึ้นมามันก็กินได้ทั้งพระทั้งเณรนั่นแหละ  ผ้าเหลืองและศีลของข้าพเจ้าคงป้องกันเสือร้ายไม่ได้หรอกครับ

           ในที่สุดหลวงพี่บัณฑิตก็พาข้าพเจ้าแบกกลดเดินทางถึงองค์พระปฐมเจดีย์ได้อย่างปลอดภัย  เข้าปักกลดในบริเวณลานพระปฐมเจดีย์ตรงที่เป็นสนามหญ้าสะอาดสะอ้าน  คืนนั้นนอนหลับสบาย  ไม่ต้องสะดุ้งหวาดกลัวภัยอันตรายเหมือนตอนที่นอนตามชายทุ่งชายป่าในแถว ๆ อู่ทอง กำแพงแสน ซึ่งเต็มไปด้วยพิษภัยแห่งสัตว์ร้ายนานา

           เป็นครั้งแรกในชีวิตของข้าพเจ้าที่มีโอกาสได้ไหว้พระปฐมเจดีย์  ปูชนียวัตถุสำคัญทางพระพุทธศาสนาของคนไทย  ประวัติหรือเรื่องราวของพระปฐมเจดีย์นี้  ข้าพเจ้าได้ความรู้จากตำราและปากของผู้รู้ท่านบอกเล่าให้ฟังมาหลายแง่หลายมุม  จึงสนใจและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้เยือนและกราบไหว้บูชาสักครั้งหนึ่งให้จงได้  ความปรารถนาของข้าพเจ้าได้เสร็จสมในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นี้เอง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, ตุลาคม, 2565, 10:44:16 PM
(https://i.ibb.co/Tbh7ML4/train-track.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗ -
           ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในช่วงหลังพุทธปรินิพพานได้ประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ  เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนายครั้งที่ ๓ แล้ว  กล่าวไว้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป (อันได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เนปาล ในปัจจุบัน) ผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่ในการทำสังคายนาย  ได้จัดส่งพระสมณะทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ๘ สาย รวม ๘ คณะ   มีคณะที่ประสบความสำเร็จงดงาม ๒ คณะคือ  คณะของพระมหินทเถระ (อดีตโอรสพระเจ้าอโศก) ผู้เป็นหัวหน้าคณะไปประเทศลังกา  สามารถปลูกฝังพระพุทธศาสนาในลังกาได้อย่างมั่นคง  กับพระโสณะ  พระอุตตระ  ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ  ซึ่งก็สามารถปลูกฝังพระพุทธศาสนาลงในดินแดนสุวรรณภูมิอย่างมั่นคงได้ไม่แพ้ในประเทศลังกา

           สุวรรณภูมิ  คือแหลมทองหรือแผ่นดินทอง  อันได้แก่ดินแดนที่เป็นประเทศไทย พม่า ลาว เขมร ญวน ในปัจจุบัน  มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง  พระโสณะ พระอุตตระ พาคณะธรรมทูตเดินทางจากอินเดียมาทางทะเล  ขึ้นบกที่เมืองอู่ทองแล้วเริ่มประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ  ชาวพุทธได้ร่วมกันสร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงมอบให้พระโสณะ พระอุตตระ อัญเชิญมายังสุวรรณภูมิด้วย   ขณะที่สร้างพระมหาสถูปเจดีย์นั้นนครปฐมเป็นเพียงเมืองท่าของเมืองอู่ทอง  สันนิษฐานกันว่า  คณะธรรมทูตของพระโสณะมาขึ้นบกและประกาศศาสนา ณ เมืองท่าอู่ทองแห่งนี้เป็นครั้งแรก  จึงได้สร้างพระมหาสถูปเจดีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ให้ชาวพุทธได้กราบไหว้บูชา  ปรากฏเป็นหลักฐานมาจนตราบเท่าวันนี้   เรื่องนี้ เท็จจริงประการใด  ไม่มีเวลามากพอที่จะอธิบายครับ

           ออกจากนครปฐม  มีผู้เลื่อมใสศรัทธาซื้อตั๋วรถไฟถวาย  ให้หลวงพี่บัณฑิตกับข้าพเจ้านั่งรถไฟไปเพชรบุรี  การแบกกลดสะพายบาตร  หิ้วกาน้ำ  แถมสะพายย่ามใหญ่ขึ้นรถไฟ  ดูพะรุงพะรังเหมือน  “ไอ้บ้าหอบฟาง”   แทนที่จะมีคนรังเกียจกลับได้รับการต้อนรับจากคนในตู้รถไฟเป็นอย่างดี  หลายคนกุลีกุจอช่วยรับกลดรับบาตรจัดวางบนชั้น (หิ้ง) เก็บสัมภาระ  และจัดเก้าอี้ให้นั่งอีกด้วย  พระธุดงค์ในความรู้สึกของชาวบ้านเขาคิดเห็นกันว่า  “ไม่ใช่พระธรรมดา  หากแต่เป็น  พระศักดิ์สิทธิ์”   เขาจึงให้  “อภิสิทธิ์”  พระธุดงค์เหนือกว่าพระธรรมดาและบุคคลทั่วไป

           ลงรถไฟที่สถานีเพชรบุรีแล้วหลวงพี่บัณฑิตพาเดินขึ้นเขาวังและเขาอะไรอีกหลายแห่ง  ปักกลด  ถอนกลด  วนเวียนอยู่ในเมืองเพชรบุรีหลายแห่ง  ข้าพเจ้าไม่รู้อนาคตในการเดินทางของตนเองเลย  ถึงเวลาเดินทางทุกครั้งหลวงพี่บัณฑิตจะเป็นผู้บอกอย่างกะทันหันว่าให้ถอนกลดเดินตามท่านไป  เวลาปักกลดปฏิบัติธรรมทุกแห่ง  เราไม่ได้พูดคุยกัน  ด้วยต่างคนต่างอยู่  เพราะกลดอยู่ห่างกันมาก  สังเกตดูเห็นว่าที่กลดของหลวงพี่บัณฑิตจะมีญาติโยมไปนั่งล้อมวงสนทนาปราศรัยกันมาก  แต่ที่กลดของข้าพเจ้านาน ๆ จะมีคนมาคุยด้วยสักคนสองคน  และข้าพเจ้าเป็นฝ่ายนั่งฟังเขาพูดคุยมากกว่าที่จะพูดคุยกับเขา  ที่เมืองเพชรบุรีนี้ข้าพเจ้าฟังคนเขาพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง  สำเนียงภาษาของเขาก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน  จึงไม่คุ้นหู  ว่ากันว่าชาวเมืองเพชรบุรีมีสำเนียงภาษาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน  อย่างคำว่า  “ไม่ใช่”  เขาจะพูดว่า  “ใช่ไม่”   และ  “ไม่ถูก”  ก็พูดว่า  “ถูกไม่”  เอาคำปฏิเสธไว้ท้ายทั้งหมดวางรูปประโยคเหมือนบาลีไวยากรณ์เลยครับ

           อยู่ในเมืองเพชรบุรีพอสมควรแก่เวลาแล้ว  หลวงพี่บัณฑิตก็พาแบกกลด  “เดินนับหมอนรถไฟ”  จากเพชรบุรีล่องลงใต้  จุดหมายปลายทางวันนั้นคือสถานีรถไฟห้วยเสือ  จำไม่ได้หรอกว่าระยะทางไกลห่างจากเพชรบุรีเท่าไร  ที่เดินทางต่อไปสถานีห้วยเสือก็เพราะหลวงพี่บัณฑิตกับนายสถานีรถไฟแห่งนี้รู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยนายสถานีรถไฟผู้นี้อยู่แถว ๆ อยุธยา  เมื่อทราบว่าเขาได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นนายสถานีรถไฟห้วยเสือ  ท่านจึงหวังไปแวะเยี่ยมเยือน  ทั้งหลวงพี่บัณฑิตและข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักสถานีห้วยเสือมาก่อน  จึงเดินตามทางรถไฟแบบ  “เดาดุ่มสุ่มหาไป”

           รสชาติของการเดิน  “นับหมอนรถไฟ”  เป็นอย่างไร  ก็เพิ่งได้ลิ้มรสคราวนั้นเอง  ข้าพเจ้าห่มจีวรเฉวียงบ่า (ห่มดอง  ไม่คลุมสองไหล่)  แบกกลดสะพายบาตรและย่ามใหญ่  หิ้วกาน้ำ  สองเท้าเปลือยเปล่า (เพราะพระธุดงค์เกือบทุกองค์จะไม่สวมรองเท้า  และพระบ้านนอกสมัยนั้นส่วนมากก็ไม่สวมรองเท้าเหมือนชาวบ้านนั่นแหละ)  เดินเหยียบย่ำหมอนรองรางรถไฟที่วางระยะห่างกันเป็นระเบียบ  เท้าที่ก้าวย่างเหยียบบนไม้หมอนนั้นต้องอยู่ในระยะเดียวกัน  ไม่สั้นไม่ยาว  ถ้าก้าวยาวเกินไปก็จะเหยียบไม่ตรงไม้หมอนรถไฟ  ก้าวสั้นเกินไปก็เหยียบไม่ตรงไม้หมอนรถไฟอีก  หากก้าวพลาดก็จะเหยียบถูก้อนหินที่ทั้งร้อนทั้งแหลมคม  ต้องเจ็บระบมฝ่าเท้าไปเท่านั้นเอง  ยามกลางวันอากาศร้อนแดดเปรี้ยง ๆ อย่างนั้น  อย่าว่าแต่หินบนทางรถไฟร้อนเลย  แม้กระทั่งไม้หมอนมันก็ร้อนครับ  วันนั้นจึงเป็นการเดินทางที่ทุกข์ทรมานเป็นที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า

           ร้อนแดดร้อนเท้าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากเข้าก็ลงจากทางรถไฟ  เข้าไปอาศัยร่มไม้ข้างทาง  ใช้ผ้าอาบน้ำปูพื้นนอนหนุนกลดหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย  เมื่อพักเอาแรงได้หน่อยแล้วก็ออกเดินทางต่อไปในสภาพเดิม  จนเวลา “บ่ายควาย” (คือย่างเข้ายามเย็น)  จึงแลเห็นทิวไม้สนรำไรอยู่เบื้องหน้า  คาดเดาเอาว่าคงจะเป็นสถานีรถไฟห้วยเสือ  ขณะนั้นมีชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา  เขานุ่งกางขาสั้น (ขาก๊วย?)  ใส่เสื้อสีดำแขนยาว  มีผ้าขาวม้าคาด (เคียน) พุง  มีดเหน็บใส่ฝักขัดหลัง  ตามแบบฉบับของลูกทุ่งในชนบททั่วไปของภาคกลาง  พอเข้ามาใกล้กันข้าพเจ้าก็ถามเขา

            “โยม..สถานีห้วยเสือยังอยู่อีกไกลไหม?”

           แทนที่ชายคนนั้นจะตอบในทันทีทันใด  เขากลับแก้ผ้าขาวม้าที่ดาดพุงออกแล้วพาดเฉวียงบ่า  ค่อย ๆ นั่งลงยอง ๆ  ยกมือพนมตั้งข้อศอกบนหัวเข่า  กล่าวคำตอบด้วยความนอบน้อม

            “นิมนต์...ไกลไมครับ”

           ข้าพเจ้าฟังคำตอบแล้วโมโหจนพูดอะไรไม่ถูก  ก็จะไม่ให้โมโหได้ยังไงล่ะ  ถามว่าสถานีห้วยเสือยังอยู่อีกไกลไหม  เขากลับตอบเหมือนถามย้อนว่า “ไกลไหม”  ข้าพเจ้าอยากเอากลดฟาดหัวเขาเสียเหลือเกิน  ยังไม่ทันที่จะแสดงอะไรออกมา  หลวงพี่บัณฑิตก็ถามเขาพร้อมชี้มือไปข้างหน้า

            “ที่เห็นทิวต้นสนโน่นคือห้วยเสือใช่ไหม?”

            “นิมนต์..ใช่แล้วครับ”  เขาตอบน้ำเสียงสุภาพด้วยอาการเคารพนบนอบ

           ข้าพเจ้าถึง  “บางอ้อ”  เมื่อฟังคำตอบนั้น  รู้ความหมายที่เขาตอบข้าพเจ้านั้นได้ทันทีว่า  “ไกลไมครับ”  คือ “ไม่ไกลครับ”  เพิ่งรู้ว่าคนเมืองเพชรเขามีความเคารพนับถือพระสงฆ์มาก  เวลาพูดกับพระก็จะใช้คำสุภาพโดยขึ้นต้นว่า  “นิมนต์”  ไม่ทราบว่าเขานำคำนี้มาในความหมายอะไร   ทางบ้านข้าพเจ้าใช้ความหมายของคำว่า  “นิมนต์”  ว่า  “เชิญ”  เช่น  “นิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์”  ก็หมายความว่า  “เชิญพระมาสวดพระพุทธมนต์”   หรือไม่ก็ใช้ในทางท้ายทาย  เช่นว่า  “เชิญเลย”  เป็นการท้าให้ฟ้อง  ให้ด่า  ให้ตี   คือการประชดประชัน  เป็นต้น

           ข้าพเจ้าเดินไปถึงสถานีรถไฟห้วยเสือด้วยอาการกระปรกกะเปลี้ยในเวลาที่ตะวันยอแสงลงมากแล้ว  เห็นดงตาลบริเวณหน้าสถานีรถไฟเป็นที่ร่มรื่นดี  จึงตกลงใจเข้าไปปักกลดอยู่ในดงตาลนั้น  และคืนนั้นก็  “นอนหลับเป็นตาย”  รุ่งเช้าออกเดินบิณฑบาตได้เฉพาะใกล้ ๆ สถานีรถไฟ  เพราะฝ่าเท้าระบมจนเดินไกล ๆ ไม่ได้ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, ตุลาคม, 2565, 10:56:20 PM
(https://i.ibb.co/SsMbyr2/1396364815-40f2b41569-o-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๘ -
           หลวงพี่บัณฑิตได้พบกับนายสถานีรถไฟด้วยความดีใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย  นายสถานีขอร้องให้เราปักกลดอยู่นาน ๆ  เป็นที่ถูกใจข้าพเจ้ามาก  เพราะอยากพักผ่อนนาน ๆ จนกว่าเท้าจะหายระบมแล้วจึงค่อยเดินทางต่อ  ตกลงหลวงพี่บัณฑิตรับปากพักอยู่ที่นั่น ๔ วัน  ยามเย็นในแต่ละวันมีญาติโยมนำน้ำตาลสดมาถวายวันละมาก ๆ  ข้าพเจ้าดื่มจนเอียนเลยทีเดียว  พระธุดงค์ซะอย่างสบายไปทุกอย่างแหละครับ  ผ้าสบงจีวร  นุ่งห่มเพียงผืนเดียวโดยไม่ต้องซักน้ำ  กลิ่นเหม็นสาบเหม็นสางด้วยเหงื่อไคลก็ไม่มี  จะเป็นเพราะอำนาจสีกรักที่ย้อมผ้านุ่งห่มหรืออานิสงส์ธุดงค์ก็ไม่รู้เหมือนกัน

           นายสถานีรถไฟห้วยเสือถวายตั๋วรถไฟให้คณะของเราเดินทางต่อไปลงที่สถานีรถไฟหัวหิน  หลวงพี่บัณฑิตพาไปปักกลดในบริเวณสนามอันกว้างขวางของโรงแรมรถไฟหัวหิน  ข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจกับทะเลและหาดทรายที่ได้พบเห็นเป็นครั้งแรก   สำหรับข้าพเจ้าเลือกที่ปักกลดอยู่ใต้ต้นข่อยใหญ่ที่เขาดัดและตัดเป็นพุ่มสวยงาม สถานที่สะอาดสะอ้านร่มรื่นดีมาก  หลวงพี่บัณฑิตท่านมีลูกศิษย์ทำงานอยู่ที่โรงแรมรถไฟและสถานีรถไฟหลายคน  จึงเหนี่ยวรั้งให้หลวงพี่ท่านปักกลดอยู่นานถึง ๖ วัน  ตอนกลางวันคนที่ว่างงานก็จะพาหลวงพี่กับข้าพเจ้าไปเที่ยวหลายแห่ง  เช่นเขาตะเกียบ  เขาไกรลาศ  เขาเต่า  เป็นต้น   ในช่วงเวลานั้นยังไม่ถึงฤดูกาลท่องเที่ยว  ผู้คนจึงไม่พลุกพล่าน  ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปเดินเล่นตามหาดทราย  ชื่นชมกับความของธรรมชาติได้อย่างสมใจ

           วันที่ ๓ ของการพักแรมคืน  มีคนทำงานรถไฟครอบครัวหนึ่งนำเด็กหญิงอายุ ๓ ขวบมาถวายเป็นลูกสาวข้าพเจ้าคนหนึ่ง  เหตุที่เขานำลูกสาวมาถวายก็เพราะว่า  เด็กป่วยไม่ทราบสาเหตุ  ผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก  หมอที่ไหน ๆ ก็รักษาไม่หาย  นอนซมอยู่จนมีอาการใกล้จะตายแล้ว   หมอดูทำนายว่าจะต้องยกให้เป็นลูกพระธุดงค์เด็กจึงจะหายป่วยและมีชีวิตยืนยาว  พ่อแม่เด็กก็จำต้องเชื่อหมอดู  จึงนำเด็กมาถวาย  ข้าพเจ้ารับไว้ด้วยการใช้ด้ายแดง-ขาว เสกด้วยคาถามงคลจักรวาลผูกข้อมือและคล้องคอเด็ก  แล้วเปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ให้เป็นมงคลนาม

            (ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อนะครับ  หลังจากที่ข้าพเจ้าเดินธุดงค์ต่อไปปักษ์ใต้ตามเป้าหมายของหลวงพี่บัณฑิตแล้ว  กลับมาแวะเยี่ยมเยียนชาวหัวหินอีก ปรากฏว่าเด็กหญิงลูกสาวของข้าพเจ้านั้น  หายจากการเจ็บป่วย  อ้วนท้วนสมบูรณ์ดี  ป่านนี้คงเติบโตเป็นสาวมีครอบครัวและ  “ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง”  ไปแล้วกระมัง  อนาคตลูกสาว (นอกไส้) คนแรกของข้าพเจ้าจะเจริญรุ่งเรืองหรือตกอับอย่างไรหรือไม่  อย่างไร  ไม่ได้ติดตามดูเลย)

           ออกจากหัวหินผมก็มุ่งล่องลงใต้   โดยแบกกลดเดินเท้าไปบ้าง  นั่งรถไฟบ้าง  สะเปะสะปะไปตามเรื่อง  ถ้ามีใครซื้อตั๋วรถไฟถวายก็นั่งรถไฟ  ถ้าไม่มีก็เดิน เพราะตัวข้าพเจ้าเองไม่มีสตางค์ติดตัวเลย  ในขณะประพฤตติธุดงค์นี่เคร่งครัดมาก  ไม่รับเงินรับทองสิ่งของมีค่าใด ๆ  ไม่สวมใส่รองเท้า  ไม่ฉันข้าวเกิน ๑ มื้อ (ตอนอยู่วัดไม่เคร่ง  แอบหุงข้าวกินตอนกลางคืนบ่อย ๆ  ใครรู้แล้วอย่าพูดไปนะ  บาปไม่รู้ด้วย)  ไม่กล้าทำอะไร ๆ ที่ละเมิดข้อห้ามของพระพุทธเจ้าและข้อห้ามของหลวงพ่อโบ้ย อาจารย์ใหญ่ของข้าพเจ้า  มีความรู้สึกว่าเดินทางไปไหน ๆ และทำอะไร ๆ หลวงพ่อโบ้ยท่านจะรู้หมด   เหมือนท่านเข้าฌานติดตามดูพฤติกรรมของลูกศิษย์ทุกองค์   ตอนออกธุดงค์ครั้งแรกเมื่อกลับวัดแล้วไปกราบท่านที่วัดมะนาว   ท่านถามว่า  ไปที่นั่นที่โน่นเป็นอย่างไร?   เรียนถามท่านว่า  หลวงพ่อรู้ได้อย่างไรว่าผมไปที่นั่นที่โน่น  “ฉันรู้ก็แล้วกัน”  ท่านตอบเพียงสั้น ๆ แค่นั้นก็ทำให้ข้าพเจ้า  “หงอ”  ท่านเสียแล้ว


            “ได้รู้เล่ห์เกจิอาจารย์”

           บริเวณหน้าสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์  มีลานหญ้าที่ประดับป่าละเมาะกึ่งรื่นรมย์กึ่งแห้งแล้ง  ที่นั่นมีพระธุดงค์ปักกลดอยู่ก่อนแล้วองค์หนึ่ง  หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าเข้าไปปักกลดอยู่ในบริเวณนั้นด้วย  ได้เห็นที่กลดของพระธุดงค์องค์นั้นมีคนเข้าไปหาไม่ขาดสาย  บางคนออกจากกลดพระนั้นแล้วก็มาที่กลดข้าพเจ้า  พูดคุยกันตามแบบฉบับ คือตอบคำถามว่า  มาจากไหน  จะไปไหน  การเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง  จากนั้นก็ว่ากันด้วยไสยศาสตร์  ภูตผีปิศาจนานา  ลงเอยด้วยด้วยกล่าวถึงชื่อเสียงเรียงนามของหลวงพ่อเกจิอาจารย์ทั้งหลายในอดีตและปัจจุบัน  ก่อนจากไปก็มักจะกระซิบขอเลขเด็ด สองตัว สามตัว  เผื่อว่าจะมีโชคดี

           พระองค์ที่ปักกลดอยู่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปถึงนั้น  รู้จากคนที่มาคุยกับข้าพเจ้าว่าท่านมีชื่อว่า  “หลวงพ่อโม”  เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองเวทย์วิทยาคม  มีพระเครื่องและเครื่องรางของขลังแจกชาวบ้านมากมาย  เฉพาะตะกรุดสาลิกาซึ่งดีในทางเมตตามหานิยมนั้น  ก่อนที่ท่านจะมอบให้ใคร ๆ ท่านจะเอาน้ำบริสุทธิ์ใส่ขันลงหินประมาณค่อนขัน  แล้วทำน้ำมนต์โดยใช้เทียนขี้ผึ้งที่ควักออกมาจากย่ามใหญ่ของท่าน  นั่งหลับตาเสกเทียนอยู่ครู่หนึ่งจึงจุดเทียนพร้อมกับว่าคาถาพึมพำ ๆ  พอเทียนหยดลงน้ำก็ปรากฏว่าน้ำเดือดพล่านอย่างน่าอัศจรรย์  เมื่อทำน้ำมนต์เสร็จแล้วก็จะนำตะกรุดเงินดอกเล็ก ๆ ที่ห่อไว้ด้วยผ้าแดงจำนวนมาก  ค่อย ๆ หยิบขึ้นโปรยลงในน้ำมนต์  ปรากฏว่าตะกรุดเหล่านั้นไม่จมน้ำ  ลอยฟ่องแล้ววิ่งวนหาที่เกาะเกี่ยว  ส่วนมากจะวิ่งเข้าหากันแล้วเกาะกันแน่นเป็นคู่ ๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์  ท่านยิ้มอย่างพอใจแล้วกล่าวว่า   “สาลิกาทั้งคู่เสร็จแล้ว”   ใครต้องการก็รีบแบมือแย่งกันยื่นขอรับด้วยความเลื่อมใสศรัทธา  หลวงพ่อโมจะหยิบใส่มือให้คนละ ๑ คู่  ใครจะนำไปใส่ตลับขี้ผึ้งพกติดตัว  หรือจะใส่ในดวงตาตนเองก็ได้ตามใจชอบ

           ข้าพเจ้าฟังคำบอกเล่าถึงความขลังของหลวงพ่อโมแล้ว  มีความรู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  เรื่องการทำตะกรุดสาลิกาหรือ  “หงส์ทองทั้งคู่”  เป็นของขลังทางเมตตามหานิยมนั้น  เคยได้ยินเขาเล่าให้ฟัง  และยังได้เห็นหลวงพี่บัณฑิตเคยทำให้ดู  เขาใช้แผ่นเงินบาง ๆ ลงเลขยันต์อักษรขอมเป็นหัวใจสาลิกาหรือหงส์ทองอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วม้วนกลมเป็นดอกเล็ก ๆ  บางคนใส่เข้าไปในดวงตาทั้งคู่  ซึ่งก็ไม่รู้สึกเคืองหรือเจ็บแสบเลย  แต่ส่วนมากจะใส่ตลับขี้ผึ้งสีปากเอาไว้สำหรับสีปากก่อนที่จะไปเจรจาความใด ๆ กับใครๆ  หรือไม่ก็พกติดตัวเดินทางไปไหนมาไหน  ด้วยเชื่อถือกันว่าจะโชคดีและปลอดจากภยันตรายทั้งปวง

           การทำตะกรุดดังกล่าวไม่ยุ่งยากนัก  เพียงแต่ตัดแผ่นเงินออกเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ใช้เหล็กจารลงอักขระเลขยันต์แล้วม้วนแผ่นเงินให้เป็นหลอดกลมเรียบร้อยในขนาดเท่า ๆ กัน  สุดท้ายก็ทำพิธีปลุกเสกด้วยการนำตะกรุดทั้งหมดใส่ลงในบาตรหรือขันน้ำมนต์  ใส่นำบริสุทธิ์ (ซึ่งถ้าได้น้ำฝนก็จะดี) ลงไปค่อนบาตรหรือขัน  แล้วนั่งสมาธิภาวนารวมพลังจิตลงไปในตะกรุดให้เกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์  ท่านว่าต้องเสกจนกระทั่งตะกรุดที่ก้นบาตรหรือขันน้ำนั้นลอยขึ้นเหนือน้ำแล้ววิ่งเข้าหากัน  จับคู่เป็นคู่ ๆ จึงจะประสบความสำเร็จ  แต่มีพระเกจิน้อยองค์ที่จะทำอย่างนั้น  ส่วนมากเมื่อทำตะกรุดเสร็จแล้วก็จะบริกรรมปลุกเสกโดยไม่ต้องใส่บาตรหรือขันน้ำมนต์  หลวงพี่บัณฑิตเคยเอาตะกรุดสาลิกาลอยน้ำให้ข้าพเจ้าดู  ก็เห็นว่ามีลอยน้ำบ้างไม่ลอยบ้าง  ความขลังของตะกรุดนั้น  ข้าพเจ้าก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

           อยากรู้ว่าหลวงพ่อโมทำตะกรุดสาลิกาขลังจริงหรือไม่  ข้าพเจ้าก็ลองเข้าไปทำตัวเป็นศิษย์ของท่าน  ตอนแรกเข้าไปกราบท่าน  ท่านก็ยกมือพนมรับการกราบ  ข้าพเจ้าก็บอกท่านว่าเป็นสามเณร  ท่านก็ว่าไปเป็นไร  พระรับไหว้เณรก็ได้

           เรื่องนี้มีระเบียบปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมประเพณีสำหรับพระภิกษุสามเณรในเมืองไทย  เกี่ยวกับการแสดงความเคารพระหว่างกันอยู่ว่า  พระภิกษุผู้มีอาวุโสน้อยกว่า (อายุการบวชน้อยกว่า) จะต้องแสดงความเคารพกราบไหว้พระภิกษุผู้มีอาวุโสสูงกว่า  (อายุการบวชมากกว่า)   ผู้มีอาวุโสสูงกว่าจะต้องพนมมือรับผู้กราบไหว้นั้นเป็นไปตามคำว่า  “วันทะโก ปฏิวันทะนัง”  คือผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ (ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะยึดถือระเบียบประเพณีดังกล่าว  หากแต่จะถือระเบียบใหม่ว่า  องค์ที่มียศตำแหน่งต่ำกว่าจะต้องแสดงความเคารพกราบไหว้องค์ที่มียศตำแหน่งสูงกว่า)  ส่วนสามเณรนั้นมีแต่ต้องทำความเคารพกราบไหว้พระภิกษุแม้บวชเพียงชั่วโมงเดียว  และพระภิกษุนั้นไม่ต้องพนมมือรับการกราบไหว้ของสามเณร/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, ตุลาคม, 2565, 10:57:21 PM
(https://i.ibb.co/vVjcJBN/Kasava-21-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๙ -
           ข้าพเจ้าเป็น  “สามเณรโค่ง”  อายุ ๒๑ ปีแล้ว  ตัวโตเท่า ๆ กับพระ  จึงมักจะได้รับการพนมมือไหว้จากพระเสมอ  หลวงพ่อโมไม่รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นสามเณร  หลังจากพนมมือรับไหว้แล้วจึงรู้  ก็เห็นท่านทำท่าเขิน ๆ  ปล่อยเลยตามเลย  และญาติโยมในที่นั้นก็ไม่รู้เรื่องระเบียบปฏิบัติของพระเณรด้วย  เรื่องจึงผ่านไปด้วยดี

           หลังจากที่สนทนาวิสาสะกันจนรู้ว่าเป็นใคร  มาจากไหน  จะไปไหนแล้ว  ข้าพเจ้าก็นั่งดูหลวงพ่อโมทำพิธีแจกตะกรุดสาลิกาลิ้นทองตามถนัดของท่านด้วยอาการกิริยาน่าเลื่อมใสไม่น้อย  ตะกรุดของท่านดอกใหญ่กว่าของหลวงพี่บัณฑิตและพระเกจิองค์อื่นที่เคยเห็น  การม้วนเป็นหลอดกลมก็ไม่เรียบร้อย  บิด ๆ เบี้ยว ๆ มีแง่แหลมคม  ไม่น่าเชื่อว่าตะกรุดหลอดเท่าก้านไม้ขีดไฟของท่านจะลอยน้ำและวิ่งเข้าจับคู่กันได้  แต่ก็ต้องเชื่อ  เพราะเห็นมันลอยน้ำและวิ่งเข้าหากันเกาะติดกันเป็นคู่ ๆ  พอเอาก้านธูปเขี่ยให้แยกออกจากกัน  มันก็วิ่งเข้าหากันอีก

           ตอนหยิบตะกรุดใส่มือศิษย์  ท่านจับมือผู้รับแล้วทำปากขมุบขมิบ ๆ เป็นคาถาอะไรฟังไม่รู้  แต่ตอนจบท่านว่า  “ประสิทธิ เต...”  พวกฆราวาสคลานเข้าไปแบมือรับตะกรุดกันเป็นแถวจนหมดทุกคน  เหลือข้าพเจ้าซึ่งเป็นสามเณรนับเป็นคนสุดท้าย  เมื่อรับกันครบทุกคนแล้ว  หลวงพ่อโมก็พูดกำชับว่า   “ตะกรุดนี้ถ้าเอาใส่ดวงตาแล้วห้ามแลมองของลับสตรี  ถ้ามองแล้วตะกรุดจะอันตรธาน (หาย) ไปทันที”  ข้าพเจ้ารับมาแล้วก็เอากระดาษห่อไว้  ไม่กล้าใส่ในดวงตาหรอกครับ  กลัวแง่คมของตะกรุดจะตำตาบอดน่ะ

           นอกจากตะกรุดสาลิกาหรือหงส์ทองทั้งคู่แล้ว  หลวงพ่อโมยังมีของขลังอีกอย่างหนึ่ง  คือน้ำมนต์เดือด  ข้าพเจ้าเห็นกับตาตนเอง  หลวงพ่อโมทำน้ำมนต์แจกชาวบ้าน  คือเมื่อมีใครเอาน้ำใส่ขันไปขอให้ท่านทำน้ำมนต์ให้แล้ว  ท่านก็จะควักเทียนขี้ผึ้งในย่ามใหญ่ของท่านออกมา  เสกเทียนเสียงพึมพำ ๆ แล้วก็จุดเทียน  หยดน้ำตาเทียนลงในขันน้ำพร้อมกับว่าคาถาพึมพำงำงึมที่ใครก็ฟังไม่รู้เรื่อง  เมื่อน้ำตาเทียนหยดลงถูกน้ำในขันก็ปรากฏว่าน้ำเดือดพล่านขึ้นมาทันที

           ข้าพเจ้านั่งสังเกตดูหลวงพ่อโมทำน้ำมนต์อยู่ ๒ วัน  ด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  ครึ่งที่ไม่เชื่อก็คือ  ไม่เชื่อว่าคาถาอาคมหลวงพ่อจะทำให้น้ำมนต์เดือดได้   คิดทบทวนหาเหตุผลจนได้เค้ามูลว่า  ทุกครั้งที่ท่านทำน้ำมนต์  ท่านจะล้วงเอาเทียนขี้ผึ้งในย่ามของท่านออกมาเสกและจุดไฟ  ส่วนเทียนที่ชาวบ้านเอามาถวายนั้นท่านเก็บไว้จุดต่างตะเกียงในเวลาค่ำคืน  โดยอ้างว่า  เทียนไขใช้ทำน้ำมนต์ไม่ได้  ต้องใช้เทียนขี้ผึ้งบริสุทธิ์ หนัก ๑ บาท   ข้าพเจ้าจึงแน่ใจว่าเลศนัยของน้ำมนต์เดือดต้องอยู่ที่เทียนขี้ผึ้งของท่านนั่นเอง

           รุ่งขึ้นวันที่ ๓  ข้าพเจ้าคอยจ้องขโมยเทียนของท่านเพื่อเอาไปพิสูจน์ให้จงได้  โอกาสเป็นของข้าพเจ้าเมื่อหลวงพ่อโมทำน้ำมนต์เสร็จแล้ว  เหลือเทียนครึ่งเล่มวางไว้ข้างย่าม  ท่านลุกออกจากกลดไปถ่ายอุจจาระ  ฝากข้าพเจ้าให้เฝ้ากลดของท่านไว้  ข้าพเจ้าก็เลยหยิบเทียนครึ่งเล่มนั้นใส่ย่ามของข้าพเจ้าไว้  พอท่านกลับมาก็รีบลาท่านกลับกลดตัวเองทันที

           กลับไปถึงกลดก็เอาเทียนหลวงพ่อโมชำแหละดูข้างใน  พบว่าใส่เทียนมีผงขาว ๆ เหมือนเกลือป่นผสมอยู่  ลองเอาจุ่มน้ำก็ปรากฏว่าน้ำเดือดพล่าน  ได้ความจริงว่าท่านเอาด้ายดิบคลุกโซดาไฟทำเป็นไส้เทียน  เมื่อน้ำตาเทียนที่ปนเปื้อนโซดาไฟหยดลงในน้ำ  จึงมีปฏิกิริยาเหมือนน้ำเดือด  เป็นอันรู้แน่ชัดแล้วว่าน้ำมนต์เดือดเพราะอะไร  จากนั้นก็พิสูจน์ตะกรุดสาลิกาที่ได้มานั้น  โดยการคลี่แผ่นเงินออกดูข้างใน  พบว่ามีเทียนขี้ผึ้งหรือขี้ผึ้งสีปากอยู่ในรูตะกรุดจำนวนมาก  ขี้ผึ้งในรูหลอดตะกรุดเป็นสาเหตุให้น้ำไม่ไหลเข้าไปในรูหลอดตะกรุด  เมื่อน้ำไม่เข้าไปในรู  ตะกรุดนั้นก็ไม่จมน้ำ  ธรรมชาติของเบาที่ลอยน้ำก็ต้องวนหาที่เกาะที่เกี่ยว  ดังนั้นตะกรุดที่ลอยน้ำมันจึงวิ่งเข้าหากัน

           น้ำมนต์เดือดและตะกรุดลอยน้ำเกาะกันเป็นคู่ ๆ  หาใช่เพราะหลวงพ่อโมมีคาถาอาคมขลังไม่  แต่มันเป็นการเล่นกลของท่านต่างหาก    บัดนั้นข้าพเจ้าจึงคิดเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า  “หลวงพ่อโม้”  และวางแผนจะเปิดโปงของท่านให้ชาวบ้านรู้จะได้หายโง่งมงายกันเสียที  ยังไม่ทันที่จะได้เปิดโปงวิธีการหลอกชาวบ้านของหลวงพ่อโม้  ท่านก็มาหาขาพเจ้าที่กลดด้วยใบหน้าที่เรียกกันว่า  “บอกบุญไม่รับ”  เลยก็แล้วกัน

            “ไอ้เณร  เอ็งเอาเทียนของข้ามาเรอะ?”  ท่านตะคอกถามด้วยเสียงดุดัน

            “ครับ..ผมเอามาครึ่งดอก”  ข้าพเจ้าตอบตามความจริง

            “เอามาทำไมวะ?”

            “ก็เอามาพิสูจน์ความจริงน่ะซีครับ”  ตอบแบบยั่วยวน

            “ความจริงอะไรของเอ็ง?”

            “ความจริงที่ว่า  หลวงพ่อโม้ หลอกลวงชาวบ้านไงล่ะ  ผมรู้หมดแล้ว  น้ำมนต์เดือดเพราะโซดาไฟ  ตะกรุดลอยน้ำเพราะขี้ผึ้ง  ไม่ใช่เพราะคาถาอาคาขลังของหลวงพ่อโม้เลย”

            “ไอ้ ๆๆๆ ระยำ!”   หลวงพ่อโม้พูดติดอ่าง  ยกมือที่สั่นระริกชี้หน้าข้าพเจ้าด้วยความโกรธอย่างสุดขีด  ยืนหันรีหันขวางอยู่เดี๋ยวหนึ่งก็เดินตัวปลิวกลับกลด  พอดีในเวลานั้นไม่มีใครมาหาท่านและข้าพเจ้าเลย  จึงไม่มีใครรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ตอนนั้นถ้าเตะได้แกคงเตะข้าพเจ้าแน่ ๆ  ดีที่ข้าพเจ้าตัวใหญ่กว่าแก  และกำลังเป็นหนุ่มแน่น   ซึ่งแกเสียเปรียบทุกประตูเลยไม่กล้าทำอะไร

           จากนั้นประมาณ ๒ ชั่วโมงเห็นจะได้  หลวงพ่อโม้ถอนกลดเดินทางออกไปจากที่นั้นโดยไม่รู้ว่าท่านไปที่ใด  พวกญาติโยมที่เคารพเลื่อมใสไม่รู้สาเหตุอะไร  บางคนบ่นเสียดายในการด่วนจากไปของท่าน  บางคนเร่มาคุยและถามถึงหลวงพ่อโม  ข้าพเจ้าก็เล่าให้เขาฟัง  บางคนเชื่อที่บอกเล่า  บางคนก็ไม่เชื่อ  ฝ่ายหลวงพี่บัณฑิตเมื่อทราบเรื่อง  ท่านก็ดุข้าพเจ้า  และห้ามไม่ให้กลั่นแกล้งใครอีก  ก็รับปากโดยใจไม่ยอมรับ  ด้วยยึดในหลักการว่า   “จะไม่ยอมปล่อยให้คนถูกหลอกลวงจากพวกอลัชชีเดียรถีทั้งหลายง่าย ๆ เลย”/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, ตุลาคม, 2565, 11:05:29 PM
(https://i.ibb.co/w6YsMts/Sakurai.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๐ -
           ปักกลดอยู่ที่สถานีรถไฟประจวบฯ เป็นเวลาอันสมควรแล้ว  หลวงพี่บัณฑิตก็พาเดินทางต่อ  ผ่านท้องถิ่นต่าง ๆ ไปจนกระทั่งถึงเมืองชุมพร  พอไปถึงชุมพรนี่ข้าพเจ้าเริ่มฟังคนไทยพูดไทยไม่รู้เรื่องแล้ว  เพราะสำเนียงภาษาของคนชุมพรเป็นสำเนียงภาษา  “ปักษ์ใต้”  ข้าพเจ้าจึงกลายเป็น  “คนใบ้” กลาย ๆ ไปเสียเลย

           มีเรื่องหนึ่งที่เหมือนกับเป็นความลับหรือเรื่องลึกลับ  เพราะเป็นเรื่องที่ถูกปิดบังอำพรางไว้เป็นส่วนตัวของแต่ละคน  ถ้าพูดเปิดเผยออกสู่สาธารณะ  คนส่วนมากอาจจะว่าข้าพเจ้า  “ไม่ควรพูด”  แต่ข้าพเจ้ากลับคิดเห็นว่า  “ควรพูด”  เพื่อให้ใคร ๆ เห็นความเป็นธรรมดาสามัญของผู้ทรงเพศนักบวช  ความรู้สึกนึกคิดของผู้อยู่ในเพศนักบวช (ทุกศาสนา) ซึ่งยังไม่บรรลุมรรคผลชั้นสูงสุด (อรหันต์) ก็เหมือนกับบุคคลที่เป็นปุถุชนทั่วไปนั่นเอง   ผิดกันแต่ที่นักบวชมีวินัย (ศีล) ที่คอยกีดกันไม่ให้ทำอะไร ๆ ได้ตามใจต้องการ  มีโอกาสทำบาป (ชั่ว) ได้น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ถือบวชเท่านั้น

           หลวงพี่บัณฑิตพาขึ้นนั่งรถไฟจากชุมพรล่องลงใต้  ตู้โดยสารรถไฟชั้น ๓ วันนั้นมีคนโดยสารไม่มากนัก  ข้าพเจ้านั่งอย่างสบาย  เพราะเก้าอี้แถวทางซ้ายตัวที่นั่งนั้นไม่มีใครมานั่งด้วย  เก้าอี้ตรงหน้าก็ว่าง  หลวงพี่บัณฑิตท่านนั่งแถวขวามือก็นั่งองค์เดียวเช่นกัน     ถัดจากหลวงพี่บัณฑิตไปมีเก้าอี้ที่หันหน้าขึ้นมาทางทางข้าพเจ้าตัวหนึ่ง  เก้าอี้ตัวนั้นมีปัญหาสำหรับข้าพเจ้ามาก  เพราะมีหญิงสาว (มีสามีแล้วหรือยังไม่รู้) แต่งตัวชะเวิบชะวาบหวามหวิวนั่งอยู่เพียงคนเดียว

           หญิงสาวและสวยข้าพเจ้าเคยพบเห็นมามาก  อารมณ์ใคร่ (ราคะ) ก็เกิดเมื่อเห็นหญิงสาวสวยเป็นธรรมดาของเด็กหนุ่มทั่วไปนั่นแหละ  นับแต่ออกเดินธุดงค์มานี่ได้พบหญิงสาวสวยหลายคน  แต่อารมณ์ใคร่ (ราคะ) ทางเพศยังไม่เคยเกิดขึ้น  อาจจะเป็นด้วยการเจริญธรรมในข้อสติสัมปชัญญะมีอยู่ในใจข้าพเจ้าอย่างสม่ำเสมอก็ได้  ทำให้ระลึกได้และรู้สึกตัวอยู่ว่า  “กำลังบำเพ็ญบุญบารมี”  เป็นนักแสวงบุญ  ไม่ใช่การท่องเที่ยวแสวงหารูปรสกลิ่นเสียงตามประสาบุรุษเพศทั่วไป

           วันนั้นเห็นทีว่าจะเป็นวันร้ายของข้าพเจ้า  จึงอดไม่ได้ที่จะชำเลืองมองสตรีที่นั่งแถวขวามือเบื้องหน้าของข้าพเจ้าบ่อย ๆ  บางครั้งหญิงสาวคนนั้นก็ชม้ายมองดูข้าพเจ้าด้วยใบหน้าและสายตาที่ยิ้มยวน  สัมผัสที่ดวงตาของข้าพเจ้าสร้างความรู้สึกเสียววูบซาบซ่านเข้าไปในใจจนตัวชา  เรือนร่างอันอวบอั๋นผิวขาวเหลืองของเธอที่คลุมไว้ด้วยเสื้อผ้าสีแดงลายขาวดูเปล่งปลั่ง  อกอูมอั๋นที่ถูกเสื้อรัดเสียจนดูว่าสองถันของเจ้าหล่อนจะถลันทะลักออกมา  สองขาอ่อนขาวที่ยกก่ายไขว้กันจนกระโปรงสั้นถลกขึ้นให้เห็นถนัดตา  ภาพดังกล่าวมันเป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สาดใส่ไฟราคะที่คุกรุ่นอยู่ในใจของข้าพเจ้าให้ลุกโชติโชนขึ้น

           พยายามทำใจไม่ให้คิดกำหนัดในรูปกายหญิงสาวที่เห็นอยู่เบื้องหน้า  คิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เล่าเรียนมา  เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสตรี  นึกเท่าไรก็นึกไม่ได้  ที่ได้บ้างก็เป็นเพียงลางเลือน  ไม่สามารถนำมาดับไฟราคะในใจได้

            “ อิตถี มะลัง พรัหมะจะริยัสสะ = หญิงเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์”

           พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น  คำว่าพรหมจรรย์  แปลตามตัวตรง ๆ ก็คือ  ความประพฤติอย่างพรหม  ไม่ได้หมายถึงมีคุณธรรมของพรหมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรอกครับ  ท่านหมายถึงการถือศีล   และคำว่าศีลก็หมายถึงความเป็นปกติกายวาจา  คือ  รักษากายวาจาให้เรียบร้อย  ที่ว่าสตรีเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์  ก็หมายถึง  สตรีเป็นเครื่องเศร้าหมองของศีล  ก็น่าจะหมายถึงสตรีเป็นเครื่องทำลายความเรียบร้อยของกายวาจานั่นเอง  ผู้หญิงคนนั้นแม้จะสร้างความเร่าร้อนในใจด้วยเพลิงความใคร่ (ราคะ) แต่ก็ไม่ได้ทำลายศีลจนกายวาจาของข้าพเจ้าขาดความเรียบร้อยไปได้

           พยายามปลงว่า   “อิมัง ปูติ กายัง”   ร่างกายนี้เป็นของเน่าเปื่อยสกปรก  หาความสวยงามยั่งยืนมิได้  นับวันแต่จะทรุดโทรมเหี่ยวเฉาและแตกสลายไปในที่สุด”  แต่  ”ใจมาร”  มันก็คิดขัดแย้งขึ้นมาว่า  “ก็ตอนนี้มันยังไม่สกปรกหย่อนยานเน่าเปื่อยนี่หว่า”    ฝ่าย  “ใจเทพ”  ก็เตือนสติว่า  “สตรีคือศัตรู”   ฝ่าย  “ใจมาร”  ก็เถียงว่า  “ถ้าโลกนี้ไม่มีสตรี  บุรุษจะอยู่ได้อย่างไร  โลกนี้ต้องมีสิ่งที่เป็นคู่กัน  เช่น  ดินคู่กับฟ้า  ปลาคู่กับน้ำ  ทรามคู่กับดี  ชีคู่กับเถร  ที่ไร้คู่เกะกะก็คือพระกับเณร  อดข้าวเย็นเสียจนงอม  ผอมหัวโต โธ่เอ๋ยเวร”   ฟัง  “ใจมาร”  มันว่าเข้าซี  ก็น่าฟังนะครับ

           ข้าพเจ้านั่งคิดฝันเพลิดเพลินใน  “กามรส”  นานเท่าไรไม่รู้  หลวงพี่บัณฑิตเดินผ่านมาจะไปเข้าห้องน้ำ  ท่านบอกว่า  อีก ๓ สถานีก็จะถึงปลายทางที่ต้องลงรถแล้ว  ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายไม่อยากลงจากรถไฟ   เพราะ “ใจมาร” มันเหนี่ยวรั้งให้คิดอยากนั่งดูหญิงสวยคนนั้นต่อไปอีกนานที่สุดเท่าที่จะนานได้

           ให้ตายเถอะ ! ใกล้จะถึงสถานีรถไฟที่จะลงแล้ว  แต่ข้าพเจ้าลุกขึ้นยืนไม่ได้   เพราะ “ไอ้นั่น” มันตื่นตัวเต็มที่  แข็งโด่อย่างน่าชัง  ก็พระ-เณรทุกองค์น่ะไม่ได้นุ่งกางเกงในเหมือนฆราวาสเขานี่   ถ้า “ไอ้นั่น” มันตื่นตัวแล้วไม่มีอะไรกดทับมันไว้  เวลายืน-เดินจะเป็นอย่างไร  ลองหลับตานึกดูเถิด  ข้าพเจ้านั่งเอาย่ามใหญ่กดทับมันไว้จนมันโงไม่ขึ้น  แต่พอยกย่ามออกมันก็ดีดผึงขึ้นมาอีก  หาวิธีทำให้มันอ่อนตัวนอนสงบเสงี่ยมเป็นปกติ  ขั้นแรกก็เอานิ้วใส่ปากกัดแรง ๆ เพื่อให้เจ็บ  มันจะได้หดตัว  มันก็ไม่ยอมหด  เอาเล็บหยิกใบหูจนเจ็บมันก็ยังไม่ยอมหด  แม้เอาหน้าแข้งเตะเก้าอี้ตรงหน้าอย่างแรงจนหน้าแข้งโป  มันก็ยังไม่ยอมหดอีกน่ะแหละ  หมดวิธีที่จะทรมานตนให้เจ็บปวดเพื่อให้มันยอมหด  จนปัญญาขึ้นมาก็หันหน้ามองออกไปทางหน้าต่างรถไฟ  ไม่ยอมมองหญิงคนนั้นอีก  ควักบุหรี่ออกจากย่ามมาสูบระบายอารมณ์   เอาก้านไม้ขีดมาแยงจมูกเล่นเพราะมันจั๊กจี้ดี  พอจมูกมันคันก็จามออกมา ๓-๔ ที ติด ๆ กัน

            “คุณพระช่วย !”   ไม่รู้ว่า“ไอ้นั่น”  มันหดแล้วนอนสงบนิ่งไปตั้งแต่เมื่อไร  อย่างนี้ต้องเรียกได้ว่า  “คุณพระช่วย” แท้ ๆ เทียว

           ก็เป็นอันว่า  ข้าพเจ้าได้ค้นพบวิธีปราบ “ไอ้นั่น” ที่มันคึกคะนองให้สงบราบราบลงได้ด้วยการแยงจมูกให้คันจนจาม  ออกมานี่เอง  ใครจะจำไว้ใช้ก็เชิญเลย  ถือว่าเป็นวิทยาทานจากข้าพเจ้าก็แล้วกัน/

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53100#msg53100)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, ตุลาคม, 2565, 10:24:12 PM
(https://i.ibb.co/tZHxLZx/696x624-1.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52985#msg52985)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53248#msg53248)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๑ -
           หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าเดินธุดงค์เร่ร่อนไปถึงสุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  แล้วข้าพเจ้ากับท่านก็เกิดความขัดแย้ง  โต้เถียงกันจนเกือบจะถึงขั้นลงมือลงไม้กันทีเดียว  เรื่องเกิดขึ้นที่ทุ่งสง  โดยหลวงพี่ท่านผิดสัญญา  คือตอนที่จะออกเดินธุดงค์หลวงพี่รับปากว่าจะไม่แจกเครื่องรางของขลัง  เพื่อเอาเงินเอาทองจากใคร ๆ  เมื่อไปถึงทุ่งสง ข้าพเจ้าจับได้ว่าท่านแจกของ  ขายตะกรุด  ผ้ายันต์  พระเครื่อง  จึงพูดต่อว่าต่อขานท่าน  หลวงพี่โกรธ  พูดลำเลิกบุญคุณผมต่าง ๆ นานา  ข้าพเจ้าก็เถียงท่านไม่ลดละ  ท่านคว้าขวานเล็กที่ใช้สำหรับตอกเสากลดเงื้อง่าจะฟัน  ข้าพเจ้าก็คว้าด้ามกลดที่มีปลายแหลมจ้องจะแทงท่าน  ท่านไม่กล้าฟัน  จึงเลิกรากันไปในที่สุด

           แม้จะเกิดการทะเลาะวิวาทกันแล้ว  เราก็ยังไม่แยกจากกัน  หลวงพี่ท่านไม่กล้าทอดทิ้งข้าพเจ้า  และข้าพเจ้าก็ไม่กล้าแยกจากท่าน  เพราะว่าถ้าท่านทอดทิ้งข้าพเจ้า  ท่านก็คงจะกลับไปมองหน้าใคร ๆ ที่วัดบางซ้ายในไม่ได้  ถ้าข้าพเจ้าแยกตัวจากท่าน  ก็ไม่รู้จะไปทางไหนได้  เราจึงจำต้อง  “ลงเรือลำเดียวกัน”  ต่อไป  หลวงพี่บัณฑิตพาเดินทางโดยรถไฟจากทุ่งสงไปนครศรีธรรมราช  ปักกลดพักแรมอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟ  นายสถานีรถไฟซึ่งรู้จักชอบพอกันกับหลวงพี่บัณฑิตมาก่อน  ให้คนของท่านพาไปนมัสการพระบรมธาตุและเที่ยวชมสถานที่สำคัญ ๆ ในเมืองนครศรีธรรมราชหลายแห่ง  อยู่ที่นครศรีธรรมราช ๕ วัน  นายสถานีรถไฟรวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาซื้อตั๋วรถไฟให้ย้อนกลับไปทุ่งสงและต่อไปกันตังจังหวัดตรัง

           ไปถึงท่าเรือเป็นเวลาใกล้เที่ยงวันแล้ว  หลวงพี่พาข้าพเจ้าลงเรือสินค้าจากท่าเรือกันตังมุ่งสู่จังหวัดภูเก็ตทันที  โดยไม่ได้พักแรมคืนที่กันตัง  เป็นครั้งแรกที่ได้ลงเรือเดินทะเล  รู้สึกตื่นเต้นมากทีเดียว  วันนั้นมีคนโดยสารเรือทั้งชายหญิงจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐ คน   ค่าโดยสารเรือดูเหมือนเขาจะเก็บคนละ ๕๐ บาท  แต่พระ-เณรเขาไม่เก็บค่าโดยสาร  พอเรือออกจากท่าเวลาบ่าย ๑ โมง  ข้าพเจ้าขึ้นจากท้องเรือที่เป็นห้องเก็บสินค้าและผู้โดยสาร  ไปบนดาดฟ้า  ป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ คนถือท้ายเรือ  เพราะอยากรู้อยากเห็น  อยากดูอะไร ๆ ในท้องทะเลที่ไม่เคยพบเห็น  ได้เห็นปลาบินได้  เห็นปลาโลมา  เรือโต้คลื่นน้อยใหญ่โยกไปโยนมา  โคลงเคลง ๆ มีคลื่นบางลูกใหญ่เป็นภูเขาเลากา  โตกว่าเรือหลายเท่า  เรือก็ไต่เต้าแหวกว่ายคลื่นผ่านไปได้  เคยมีคนที่เคยท่องทะเลบอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องการ  “เมาคลื่น”  พี่ชาย (ต่างบิดามารดา) ของข้าพเจ้าคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามคนทำผิดกฎหมายในน่านน้ำทะเลหลวงไทย  เขากลายเป็น  “คนขี้เมา”  ดื่มน้ำเมาชนิดที่เรียกว่า  “เช้าฮา เย็นเฮ ดึกสร่าง สว่างซ้ำ เมาหยำเป”   เขาอ้างว่าไม่ดื่มน้ำเมาไม่ได้เพราะ  “เมาคลื่น”  ถ้าเมาเหล้าเสียแล้วจะไม่  “เมาคลื่น”  ข้อนี้เท็จจริงอย่างไรไม่รู้  สำหรับข้าพเจ้าแล้วแม้จะลงเรือทะเลเป็นครั้งแรกแต่ก็ไม่  “เมาคลื่น”  กลับชอบใจที่คลื่นมันฟัดเรือจนโอนเอนไปมา เหมือนตอนเป็นเด็กนอนในเปลที่ถูกแกว่งไกวอย่างนั้นเลย

           ดวงตาวันจมน้ำทะเลหายไปจนมองไม่เห็นอะไรแล้ว  ข้าพเจ้าลงจากดาดฟ้าเรือเข้าในห้องผู้โดยสาร  พบเห็นภาพที่ไม่เคยเห็น  ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นด้วย  นั่นก็คือผู้โดยสารหลายคน  “เมาคลื่น”  บางคนอาเจียนจนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในท้อ  งนั่งโงกโงนเงน  บางคนครึ่งนั่งครึ่งนอน  บางคนนอนซมแซ่ว  บางคนนอน  “เหยียดสี่หมึง”  สลบเหมือด  ผู้หญิงต่างวัยหลายคนนอนหมดสติ ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย  บางคนกระโปรงเวิกพันเอว  ถ้าไม่มีกางเกงในคงน่าเกลียดนักเชียว  หลวงพี่บัณฑิตแม้จะเคยลงเรือทะเลมาหลายครั้งแล้วก็ยัง  “เมาคลื่น”  เหมือนกัน  ท่านอยู่ในอาการสะลึมสะลือ  ครึ่งนั่งครึ่งนอนเหมือนรู้ไม่เห็นอะไรเลย

           ข้าพเจ้าเห็นภาพอาการกิริยาของผู้คนในห้องโดยสารแล้วเกิดธรรมสังเวช  กลิ่นอาเจียนเหม็นคละคลุ้งจนรู้สึกสะอิดสะเอียน  อากาศในเรือกลายเป็นพิษสำหรับข้าพเจ้าไปแล้ว  พนักงานในเรือนำโอวัลตินร้อนมาถวายผม ๑ แก้ว  ทราบในตอนนั้นเองว่า  ทางเรือเดินทะเลจะต้องเลี้ยงอาหารผู้โดยสารฟรีทุกคน   แต่พระ-เณรฉันข้าวปลาไม่ได้  เขาจึงจัดเครื่องดื่มถวาย  ข้าพเจ้าปฏิเสธทั้ง ๆ ที่หิวมากเลย  ที่หิวก็เพราะตั้งแต่เช้าไม่ได้ฉันอาหารอะไรเลย  เหตุที่ไม่ได้ฉันอาหารอะไรมาทั้งวันก็เพราะเรานั่งรถไฟตั้งแต่เช้ามืด  ไม่ทันได้ออกเดินรับบิณฑบาตก่อน  นั่งมาในรถไฟไม่มีใครถวายอาหาร  แต่เดิมนั้นถ้าไม่ได้ฉันอาหารเช้าก่อนขึ้นรถไฟ  ขณะอยู่ในรถไฟหลวงพี่บัณฑิตท่านจะสั่งอาหารจากตู้เสบียงให้โดยอ้างว่ามีคนซื้อถวาย  หลังจากที่ข้าพเจ้าเกิดทะเลาะวิวาทกับท่านแล้ว  ท่านคงจะผูกใจเจ็บ  แกล้งพาขึ้นรถไฟแต่เช้าและไม่ยอมสั่งอาหารให้ข้าพเจ้าฉัน  วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่อดอาหาร  ต้องดื่มน้ำแทนข้าวในยามที่หิวโหย  อยากจะดื่มโอวัลตินที่พนักงานเรือนำมาถวาย  แต่ทิฐิมานะมันห้ามไว้  ด้วยคิดว่า   “ไหน ๆ ก็อดอาหารมาทั้งวันแล้ว  อดต่ออีกคืนหนึ่งจะตายก็ให้มันรู้ไป”   ออกจากห้องผู้โดยสารขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือ  นั่งดูดาวเดือนที่ส่องแสงลงมาเคล้าเคลียเกลียวคลื่นระริกระรี้  บรรยากาศที่สัมผัสบนดาดฟ้าเรือทำให้ความหิวหายไปได้บ้าง

           อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ฉันอาหารอะไรเลยนี่กระมัง  ทำให้ข้าพเจ้าไม่เมาคลื่นเหมือนคนอื่น  เวลาดึกมากแล้ว  มากเท่าไรไม่รู้เพราะไม่มีนาฬิกาดูเวลา  เรือสินค้าโดยสารร่อนเร่ไปในท้องทะเลหลวง  แหวกว่ายกระทบกระแทกกับคลื่นน้อยใหญ่ลูกแล้วลูกเล่า  กลางท้องทะเลอันเวิ้งว้างใต้แสงดาววาววามระยิบระยับนั้น  ข้าพเจ้าจำทิศจำทางอะไรไม่ได้เลย  เมื่อง่วงมากจนทนไม่ไหวก็ลงจากดาดฟ้าเข้าห้องโดยสาร  แล้วนอนหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย

           เรือเข้าเทียบท่าเกาะภูเก็ตเมื่อไรไม่รู้  ข้าพเจ้าถูกปลุกให้ตื่นขึ้นรับอรุณที่เกาะภูเก็ต  ล้างหน้าล้างตาแล้วห่มจีวรกูลีกูจอสะพายบาตร  แบกกลดขึ้นจากเรือด้วยอาการงก ๆ เงิ่น ๆ  อาจจะเป็นเพราะนอนไม่เต็มอิ่ม  หรือเมาคลื่นในขณะนอนหลับก็ไม่รู้   หลวงพี่พาขึ้นรถยนต์โดยสารเข้าตัวเมือง  ตอนนั้นมึนงงจนไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรเลย  เดินตามหลวงพี่บัณฑิตแล้วแต่ท่านจะนำพาไป  ความหิวเริ่มรุกเร้ารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  ลงจากรถยนต์เดินเข้าไปในบริเวณสนามโรงเรียนสตรีภูเก็ตเมื่อดวงตาวันเริ่มทอแสงขึ้นทางบูรพาทิศ  เข้าไปในศาลาพักหน้าอาคารเรียน  วางกลด วางย่าม กาน้ำ ไว้ในมุมหนึ่งของศาลา  แล้วออกเดินรับบิณฑบาต  “โปรดสัตว์”  ไปตามถนนหลวง

           การเดินหนรับบิณฑบาตที่ภูเก็ตนี่เห็นมีของแปลอยู่อย่างหนึ่งคือ  “แม่ชี”  ทั้งแก่และสาวอุ้มบาตรเดินรับบิณฑบาตเหมือนพระ-เณร  ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นชีที่ไหนเดินอุ้มบาตรรับบิณฑบาตอย่างที่นี่มาก่อนเลย   ทราบภายหลังว่าที่เกาะ (จังหวัด) ภูเก็ตนี่มีวัดเป็นที่อยู่ของชีล้วน ๆ อยู่วัดหนึ่งชื่อ  “วัดคุณชี”  อยู่ใกล้ ๆ เขารัง ชานเมืองภูเก็ต    ในฤดูเข้าพรรษาหญิงสาวชาวเกาะภูเก็ตนิยมบวชชีอยู่จำพรรษารวมกันในวัดนี้  และชีทุกคนออกเดินหนรับบิณฑบาตเช่นเดียวกับพระ-เณร  ญาติโยมก็ใส่บาตร  “คุณชี”  เหมือนใส่บาตรพระ-เณร  เพราะเขาถือว่าชีเป็นนักบวชอีกประเภทหนึ่งที่น่าเคารพนับถือ  ก็นับว่าเป็นความดีงามอีกอย่างหนึ่งของคนภูเก็ต  เรื่อง ”บวชชี” นี่  คนในภาคกลางของไทยส่วนมากคิดเห็นว่า  คนที่ยังเป็นสาวถ้าไปบวชชีก็เชื่อกันว่า  “เธออกหัก ผิดหวังจากความรัก คู่ครอง”   ความเชื่อหรือความคิดผิด ๆ นี้ทำให้ผู้หญิงสาวที่มีศรัทธาจะประพฤติปฏิบัติธรรมไม่กล้าบวชชี   ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมต่อทัศนคติของชาวภูเก็ตที่คิดเห็นการบวชชีของสตรีเป็นเรื่องการบำเพ็ญบุญกุศลธรรมดา  ไม่ใช่เพราะ  “อกหักแล้วบวชชี”  ตามความคิดที่เป็นอคติไร้ความยุติธรรมของคนในภาคกลางของไทย

           สามเณรเต็ม  “เดินหนโปรดสัตว์”   ได้ข้าวสุก  กับข้าว  ขนม  รวมกันถึงค่อนบาตร  กลับเข้าที่พักบนศาลาพักหน้าอาคารเรียนโรงเรียนสตรีภูเก็ต  แล้วนั่งคนละมุมกับหลวงพี่บัณฑิต  จัดการแกะห่อกับข้าว  ขนมหวาน  ที่เขาใช้ใบตองห่อ (เป็นของประเภทผัด-นึ่ง ไม่มีน้ำเหมือนต้มแกง)  เทใส่บาตรผสมกับข้าวสุก  แล้วฉันด้วยการใช้มือเปิบใส่ปากกินด้วยความเอร็ดอร่อย  การฉันข้าวในขณะเดินธุดงค์  ถ้ามีทายกทายิกานำสำรับคาวหวานมาถวาย  ข้าพเจ้าก็จะรับแล้วฉันด้วยการใช้ช้อนส้อมตักอาหารฉันเช่นปกติ   ถ้าไม่มีทายกทายิกานำสำรับอาหารมาถวาย  เป็นการอยู่ลำพังแล้ว  ก็จะเทกับข้าวและขนมลงในบาตรผสมกับข้าวสุก แล้วใช้มือปั้นเป็นก้อนกลม (เปิบ) ใส่ปากด้วยอาการสำรวม  คำว่า  “อาการสำรวม”  นั้นหมายถึงมีสติสัมปชัญญะ  คือความระลึกได้และรู้ตัวอยู่ว่ากำลังกินอะไร  เพื่ออะไร (เพื่อยังชีวิตให้ดำรงอยู่)  รู้ประมาณในการกิน  รู้จักแยกแยะรสชาติของอาหารออกเป็นอย่าง ๆ

           วันนั้นข้าพเจ้าฉันอาหารอย่างมูมมามขาดการสำรวม  เคี้ยวอาหารยังไม่ทันละเอียดก็รีบกลืนลงคอ  ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความหิวที่สะสมไว้มากมายตั้งแต่เมื่อวานนั่นเอง  คำแล้วคำเล่าที่เปิบข้าวเข้าปากอย่างกระหาย  ข้าวหมดบาตรแล้วยกกาน้ำขึ้นดื่ม  รู้สึกใจสั่น  หน้ามืดตาลาย  ยังไม่ทันได้ล้างมือล้างบาตรก็ล้มตัวนอนหนุนกลดหลับไปเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, ตุลาคม, 2565, 10:53:28 PM
(https://i.ibb.co/6P16nkQ/9552999-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๒ -
           นานเท่าไหร่ไม่รู้   ตื่นขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีเสียงจ้อกแจ้กเจี๊ยวจ๊าวของเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้  รีบลุกขึ้นนั่งมองดูรอบ ๆ ตัวอย่างงง ๆ  เด็กนักเรียนหญิงสาว ๆ ทั้งนั้นนั่งรายรอบข้าพเจ้าอยู่ประมาณ ๒๐ คน  และที่ยืนมองดูอยู่นอกศาลาก็มีไม่น้อย  เหลียวมองหาหลวงพี่บัณฑิตก็ไม่พบเห็น  เด็กสาวคนหนึ่งถามข้าพเจ้าด้วยสำเนียงภาษาปักษ์ใต้พอรู้ความ

            “ท่านมาจากไหน?”

            “มาจากอยุธยา”   ข้าพเจ้าตอบเป็นสำเนียงภาษาภาคกลางโดยไม่กล้ามองหน้าสบตาคนถาม  มันเก้อเขินยังไงก็ไม่รู้  ตั้งแต่เป็นหนุ่มมานี่ยังไม่เคยตกอยู่ท่ามกลางหมู่เด็กสาวอย่างนี้สักที  ตอนนั้นรู้สึกคอแห้งอยากดื่มน้ำ  จึงยกกาน้ำขึ้นดื่ม (ทางพวยกา)    แต่ก็แทบสำลัก!   เพราะแทนที่จะเป็นน้ำจืดธรรมดาที่ข้าพเจ้าใส่ไว้  กลับกลายเป็นน้ำกาแฟดำที่มีรสเข้มขมอมหวาน  จึงวางกาน้ำชาลงทันที  ใบหน้า  สีหน้า  ท่าทางของข้าพเจ้าตอนนั้นเป็นอย่างไรไม่รู้ (เพราะมองไม่เห็นหน้าตัวเอง) แต่มันคงน่าขำขันพิลึกละ  ไม่อย่างนั้นเด็กสาว ๆ ที่รุมล้อมอยู่คงไม่พากันหัวเราะคิกคัก ๆ ครื้นเครงอย่างนั้นหรอกครับ

           กาแฟดำร้อนในกาน้ำของข้าพเจ้านั่นเป็นฝีมือของพวกเธอ  ในขณะที่นอนหลับสลบเหมือดอยู่นั้น  เธอเอากาน้ำของข้าพเจ้าไปเทน้ำออก  แล้วซื้อกาแฟดำใส่ไว้ให้ดื่มด้วยความปรารถนาเป็นบุญกุศล  จากนั้นพวกเธอแย่งกันถามข้าพเจ้ามากเรื่องมากอย่าง  เธอถามคำ ข้าพเจ้าก็ตอบคำ  บางคำถามก็ไม่ตอบ  เพียงพยักหน้ารับและส่ายหน้าปฏิเสธเท่านั้น  ที่ไม่ตอบไม่ใช่เพราะขี้เกียจ   หากแต่ว่าฟังคำถามเธอไม่รู้เรื่อง  เพราะบางคนเธอพูดภาษาปักษ์ใต้ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่แล้ว  ถ้าระฆังสัญญาณเรียกเข้าห้องเรียนไม่ดังขึ้น  คงถูกคำถามจากปากน้อย ๆ ของพวกเธอซัก “ซ้อม” เอาย่ำแย่ไปเลยก็แล้วกัน

           เด็ก ๆ ไปเข้าเรียนกันหมดแล้ว  ข้าพเจ้าเอากาน้ำไปเทกาแฟดำทิ้ง (เพราะไม่ชอบดื่มกาแฟดำ) ไปขอน้ำเย็นจากร้านค้าหน้าโรงเรียนใส่กาจนเต็ม  ล้างบาตรล้างมือเสร็จแล้วไม่รู้จะไปไหน  ไม่รู้ทิศรู้ทางเลย  ใจยังชื้นอยู่หน่อยก็ตรงที่เห็นกลด  บาตร  กาน้ำหลวงพี่บัณฑิตยังวางอยู่ในศาลานั้น  แสดงว่าท่านคงไปธุระส่วนตัวที่ไหนสักแห่งแล้วก็จะต้องกลับมา  จึงเดินดูโน่นดูนี่ภายในบริเวณโรงเรียน เป็นการฆ่าเวลาคอยหลวงพี่บัณฑิตกลับมา  เป็นเวลาสายมากแล้วหลวงพี่บัณฑิตยังไม่กลับ  ข้าพเจ้าเดินเล่นจนเบื่อแล้วจึงกลับเข้าศาลา  นั่งพิงเสาหลับตาภาวนาขจัดความหงุดหงิดรำคาญใจอันเกิดจากการรอคอย  การภาวนาของข้าพเจ้าในวันนั้นไม่เกิดผลทางสมาธิตามทฤษฎีว่าด้วยการเจริญภาวนาหรอกครับ  แต่กลับได้ผลในทางทฤษฎีนิทรา  คือนั่งหลับ  ซึ่งดูห่าง ๆ จะเห็นว่านั่งสมาธิภาวนาท่าทางน่าเลื่อมใส

           หลับไปเป็นเวลานานจนกระทั่งโรงเรียนหยุดพักเรียนกลางวัน  นักเรียนสาว ๆ ทั้งหลายก็ยกโขยงกันมาล้อมข้าพเจ้าอีกอีก  พวกเธอคงจะนั่งรอข้าพเจ้าออกจากสมาธิ (หลับ) กันอยู่นานแล้ว  พอตื่นลืมตาก็เห็นพวกเธอนำอาหารมารอท่าถวายหลายอย่าง  ข้าพเจ้าไม่รับ  บอกให้พวกเธอรู้ว่าถือธุดงค์ในข้อที่ว่าฉันอาหารวันละมื้อเดียว  ดูท่าทางพวกเธอเพิ่มความศรัทธาเลื่อมใสในตัวข้าพเจ้ามากขึ้นอีก  บางคนที่ใจกล้าหน่อยก็เข้ามานั่งใกล้ ๆ  ซักถามอะไร ๆ ที่เธออยากรู้เกี่ยวกับเรื่องของพระ-เณรและการเดินธุดงค์  พวกเธอรู้แล้วว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทยภาคกลาง  จึงพูดคุยกันด้วยภาษาภาคกลาง  แม้จะเป็น “ทองแดง”อยู่บ้าง ข้าพเจ้าก็ฟังรู้เรื่องดี   บางคนพูดภาษากลางแบบอาย ๆ (เพราะเกรงเพื่อนจะหาว่าดัดจริต) ก็ดูน่ารักดี  เมื่อพูดคุยกันมากขึ้น  ดูเหมือนพวกเธอจะคุ้นกับข้าพเจ้าได้อย่างรวดเร็ว  เรื่องที่ไม่กล้าพูดเธอก็กล้าพูดอย่างที่ข้าพเจ้าเองก็คาดคิดไม่ถึงว่าเธอจะพูด  โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวของข้าพเจ้า

            “ท่านมีแฟนหรือยังก๊ะ?”  เธอถามด้วยภาษากลางที่ไม่หลุดพ้นสำเนียงใต้  คือคำว่า  “คะ”  เธอออกเสียงเป็น  “ก๊ะ”  ฟังคำถามแล้วก็ได้แต่ยิ้มอาย ๆ ไม่ยอมตอบ

            “ทางพระเขาห้ามมีแฟนใช่ไหมก๊ะ?”  เธอถามต่อด้วยความอยากรู้

           ข้าพเจ้ามองดูหน้าเธอ  เห็นแววตาใสซื่อบริสุทธิ์อย่างไร้เดียงสาแล้วก็ต้องถอนหายใจลึก ๆ  แล้วกวาดสายตาไปตามใบหน้านิ่ม ๆ ของคุณเธอทั้งหลาย  บางดวงหน้ายิ้มนุ่มนวล  บางดวงหน้ายิ้มยั่วยวน  บางดวงหน้ายิ้มทะเล้น  ดวงตาบางคู่ใสแจ๋วบริสุทธิ์ไร้มารยา  บางคู่เบิ่งมองฉายแววอยากรู้อยากเห็น  บางคู่ทอดสายอ่อนละมุนเปี่ยมด้วยไมตรี  บางคู่วามวาววับเห็นแล้ววาบหวามความรู้สึก  บางคู่มีแววแข็งกร้าวขมึงทึงน่าสะพรึงกลัว  บางคู่กลมโต  บางคู่เล็กหยี  หลากหลายดวงตาที่จ้องมองข้าพเจ้า  จนไม่รู้จะให้คำตอบแก่เธออย่างไร  นอกจากยิ้มเขิน ๆ ให้พวกเธอเท่านั้นเอง

            “ท่านไม่ตอบก็แสดงว่าเกลียดเรื่องนี้เพราะเคยผิดหวังในความรักใช่ไหมก๊ะ?”   เด็กตัวอ้วนตาหยี  หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ถามแทรกขึ้น  ข้าพเจ้าส่ายหน้า  นึกไม่ถึงว่าเด็กสาวพวกนี้ช่างแก่นกล้ามาถามซอกแซกอย่างเกินคาด  พวกเธออยู่ในวัยหวานที่มักเพ้อฝันในเรื่องของความรัก  คะเนดูว่าอายุพวกเธอคงอยู่ในราว ๆ ๑๖-๑๙ เป็นนักเรียน ม.ปลายทั้งหมด

            “งั้นไยไม่ตอบ”  อีกคนหนึ่งรุกคำถามพร้อมจ้องหน้าผมตาแป๋วอย่างไร้เดียงสา

            “มันเป็นเรื่องพูดยาก”  ข้าพเจ้าตอบเนือย ๆ

            “ยากพรือ?”  อีกคนหนึ่งถามเร็วด้วยภาษาปักษ์ใต้  เพื่อนสะกิดให้รู้ตัวว่าถามผิดสำเนียงภาษา  เธอรู้ตัวก็แลบลิ้นแผล็บแล้วรีบเอามือปิดปาก

            “พระพุทธองค์ตรัสว่า  ความรักและของที่รักเป็นบ่อเกิดของความทุกข์โศกเสียใจพิไรรำพัน”   เมื่อตอบด้วยสำนวนเทศนาโวหาร  บางคนก็ทำหน้าทะเล้นตอบ  บางคนก็ยิ้มเซ่อ ๆ  บางคนนั่งนิ่งใช้ความคิดพิจารณา

            “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ใช่ไหมก๊ะ?”  ในกลุ่มคนที่นั่งนิ่งถามด้วยคำปราชญ์

            “จะว่าอย่างนั้นก็ใช่  เพราะจริง ๆ แล้วความทุกข์กับความสุขมันอยู่ในที่เดียวกัน  ผลัดกันปรากฏ  ผลัดกันดับ  คือเมื่อสุขปรากฏขึ้น  ทุกข์ก็ดับหรือลดลงไป  เมื่อทุกข์ปรากฏขึ้นสุขก็ดับหรือลดลงไป”  ข้าพเจ้าตอบด้วยสำนวนเทศนาอีก

            “เอ๊ะ ! ไหงเป็นยังงั้นล่ะก๊ะ?”   หลายเสียงถามพร้อมกัน  ข้าพเจ้าปรายยิ้มก่อนตอบด้วยสำนวนเทศนาโวหาร  ก็หมายถึงเทศน์นอกธรรมาสน์ให้พวกเธอฟังนั่นแหละครับ

            “ความรัก  คือความเมตตาปรารถนาจะให้เป็นสุข  ที่คนเรามีสุขกันอยู่ทุกวันนี้  ก็เพราะมีความรักเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง  ในใจของใครมีความรักคนนั้นก็มีความสุข  ใครมีคนรักและคนรักนั้นรักตอบ  คนนั้นก็มีความสุข  ในบ้านใด  สังคมใดที่ทุกคนต่างมีความรักให้แก่กัน  ในบ้านนั้นสังคมนั้นก็มีความสุขสดชื่น   ตรงกันข้าม ในใจใครไม่มีความรัก  เขาย่อมเร่าร้อนกระวนกระวายเคียดแค้นชิงชัง  เศร้าโศกเสียใจ  อาลัยอาวรณ์  มุทะลุดุดันโหดเหี้ยมเย็นชา  คนที่ไม่มีคนรักเขาย่อมว้าเหว่เดียวดาย  ไร้ความอบอุ่น  บ้านใด  สังคมใดไม่มีความรัก  ก็ย่อมมีแต่การทะเลาะวิวาทเบียดเบียนแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น  ฆ่าแกงกัน  เดือดร้อนวุ่นวายไม่ว่างเว้น”

            “แหม....ท่านเทศน์เก่งจังเลย”  คนอ้วนตาหยีหน้ากลมกล่าวชม  พร้อมทำหน้าแบบล้อเลียน

            “หรือใครเห็นว่าที่ฉันพูดมานี่ไม่จริง ?”  ข้าพเจ้าถามย้อนไปบ้าง

            “งั้นคำว่า  ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์  ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่จริงซีก๊ะ?”   คนตัวอ้วนตาหยี  ถามรุกฆาตอีก  ข้าพเจ้าดูหน้าและแววตาเธอ  เห็นว่าเธอมีความอยากรู้จริง ๆ จึงตอบด้วยสำนวนเทศน์อีกที

            “คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำจริง  ไม่มีโกหกหลอกลวง  แต่คนที่ศึกษาเล่าเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้ามักมีความรู้ความเข้าใจไม่ตรงกัน  ตีความหมายของคำสอนกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน  ดังได้กล่าวแล้วไงล่ะว่า  ความรักกับความทุกข์มันเกิดในที่เดียวกัน  ที่นั้นคือคนที่เรารักหรือสิ่งที่เรารัก  ถ้าหากว่าคนที่เรารัก  สิ่งที่เรารัก  ยังคงอยู่กับเรา  เราก็มีความสุข  แต่ถ้าคนที่เรารัก  สิ่งที่เรารัก  พลัดพรากสูญหายไป  เราก็มีความทุกข์  ข้อนี้เป็นสัจธรรม  ไม่ผิดเลย  พูดอย่างนี้ออกจะฟังยากไปหน่อยนะ  หากจะพูดให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็ควรพูดว่า  ที่ใดมีรักที่นั้นไม่มีทุกข์  ที่ใดไร้รักที่นั้นมีทุกข์  อย่างนี้ดูจะฟังง่ายขึ้นใช่มัย?”

            “ท่านก๊ะ  หนูเข้าใจอย่างนี้ถูกไหม?  สมมุตินะก๊ะ  คือสมมุติว่า  ถ้าหนูรักท่าน  ท่านก็เป็นบ่อเกิดความรักของหนู  ถ้าท่านไม่รักหนู  หนีหนูไป  ท่านก็กลายเป็นบ่อเกิดความทุกข์ของหนู  จริงไหมก๊ะ?”

           ก็คนตัวอ้วนตาหยีหน้ากลมนั่นแหละที่กล้าถามดังกล่าว  จบคำถามของเธอก็มีเสียงฮาดังขึ้นจากเพื่อน ๆ พร้อมเพรียงกัน  ผมก็เขินซีครับ

           มีเสียงแว่วมาจากคนที่อยู่แถวหลังว่า

            “เห็นมั้ยท่านหน้าแดงแล้ว?”

           แต่ข้าพเจ้าก็ทำเป็นไม่ได้ยิน  นั่งนิ่งจนถูกยัยอ้วนร้องทวงคำถามให้ตอบ

            “จริงมั้ย ๆ?”  ด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงชัยชนะของเธอ

            “ม่ายหรอก...”   ข้าพเจ้าพูดลากเสียงพร้อมส่ายหน้าช้า ๆ  ใจก็คิดหาคำตอบที่เหมาะสม  นึกไม่ถึงว่า  “ยัยเด็กก๋ากั่น”  คนนี้จะคิดปัญหาอะไรแปลก ๆ มาถามให้เรางง  ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบโต้เถียงหาเหตุผลมาหักร้างกันอยู่แล้ว  มาเจอแม่เด็กพวกนี้  ก็อดสนุกไปกับการโต้เถียงกับพวกเธอไม่ได้  แม้จะถูกรุมถามก็ไม่ยอมแพ้ง่ายหรอกครับ

            “ที่สมมุติขึ้นมาถามนั่นน่ะ  มันเป็นวัตถุสิ่งของ ไม่ใช่สถานที่  คำว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์มันหมายถึงสถานที่อันเป็นที่อยู่หรือที่เกิดของความรักและความทุกข์  ตัวฉันเป็นวัตถุบุคคลไม่ใช่สถานที่  จึงเข้ากันได้กับคำว่า   “ความรักเกิดจากสิ่งของที่รัก  และความทุกข์ก็เกิดจากสิ่งของที่รัก” ได้  ในพระพุทธพจน์ว่า  “ความโศกเกิดแต่ของที่รัก”  ความรักกับความทุกข์นั้นถือได้ว่าอยู่ด้วยกันในสถานที่เดียวกัน"

           ข้าพเจ้าตอบแบบตะแบง ๆ ไปอย่านั้นเอง  ผิดถูกอย่างไรไม่รับรอง

           ไม่ทันที่พวกเธอจะซักถามอะไรอีกต่อไป  เสียงระฆังสัญญาณเรียกเข้าห้องเรียนก็ดังขึ้น  เด็กสาวเหล่านั้นก็กราบลาพากันกลับเข้าห้องเรียน  ข้าพเจ้าจึงรอดพ้นการเป็นเหยื่อปากถากถางของพวกเธอ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, ตุลาคม, 2565, 10:46:37 PM
(https://i.ibb.co/bm6rrg9/oZ-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๓ -
           หลวงพี่บัณฑิตท่านกลับมาเวลาประมาณบ่ายแก่ ๆ (๓ โมงเห็นจะได้)  จึงได้ทราบความจริงว่าหลวงพี่บัณฑิตหายไปนานนั้น  เพราะท่านไปเยี่ยมผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดภูเก็ต  ผู้คุ้นเคยกับหลวงพี่มาก่อน  ผบ.เรือนจำท่านนี้เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา  ย้ายมาอยู่ภูเก็ตได้ ๓ ปีแล้ว  หลวงพี่ออกเดินธุดงค์มาภูเก็ตก็แวะเยี่ยมทุกครั้งพร้อมสั่งทำเครื่องใช้ประดับมุก  เช่นทัพพี  ช้อนส้อม  โคมไฟฟ้า  ที่เขี่ยบุหรี่  เป็นต้น  เอากลับไปฝากผู้ที่เคารพนับถือ  นานทีปีครั้งได้พบกันก็เลยพูดคุยกันนานหน่อย  ปล่อยให้ข้าพเจ้าถูกเด็กสาว ๆ รุมซักซ้อมเสียแทบตาย.


            “เป็นอาจารย์ให้หวย”

           หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าเดินออกจากโรงเรียนสตรีภูเก็ตไปปักกลดที่สนามหญ้าในรั้วของบริษัทไทยวาเทรดดิ้ง  ซึ่งเป็นบริเวณกว้างขวางมาก  ยังไม่ทันจะมืดค่ำก็ปรากฏว่ามีผู้คนเข้ามาหาพร้อมของถวาย  ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม  มีกาแฟ  โอวัลติน  ชาร้อน  ชาเย็น  น้ำขวดนานา  และบุหรี่  เครื่องดื่มที่เป็นขวดนั้นเขาเปิดขวดมาแล้ว  ข้าพเจ้ารับแล้วก็จิบพอเป็นการฉลองศรัทธาเขาเท่านั้น  ขืนดื่มหมดทุกขวดเห็นจะท้องแตกตายแน่  สังเกตดูแล้วเห็นว่าผู้คนที่มาเหล่านั้น  มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  พวกอายุน้อยนั่งข้างหน้า  พวกอายุมากนั่งข้างหลัง  พวกผู้ชายที่มีส่วนน้อยนั้น เข้านั่งชิดกลดของข้าพเจ้าเลยทีเดียว  มองไปดูทางกลดหลวงพี่บัณฑิตที่ปักห่างจากผมประมาณ ๕๐ เมตร  ก็เห็นมีผู้คนไปนั่งล้อมกลดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน  พวกที่มานั่งล้อมกลดข้าพเจ้านั้นส่วนใหญ่เขาจะนั่งนิ่ง ๆ  มีอาการสงบเสงี่ยมแสดงความเคารพยำเกรง  มีพูดคุยกันบ้างก็อยู่ในลักษณะซุบซิบ  หรือ  กระซิบกระซาบ กันเอง

           มืดค่ำแล้ว  ผู้คนยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น  มองไปทางกลดหลวงพี่บัณฑิตท่ามกลางแสงไฟสลัว  เห็นว่าท่านกางมุ้งกลดแล้ว  ไม่มีผู้คนนั่งล้อมกลดท่านเหมือนตอนเย็น   แต่กลดของข้าพเจ้ากลับมีคนมารุมรายล้อมเพิ่มมากขึ้น  ข้าพเจ้านั่งเฉยไม่พูดไม่คุย  ใครถามอะไรถ้าฟังรู้ก็ตอบไปโดยไม่ต่อความยาว  ส่วนใหญ่จะพยักหน้าและนิ่งเสีย  ดึกมากแล้ว  จึงบอกให้ทุกคนกลับบ้าน  เพราะได้เวลาสวดมนต์ภาวนาก่อนนอนตามกิจวัตรของพระธุดงค์แล้ว  มีเสียงผู้นำของกลุ่มคนบอกว่า

            “ยังไม่ได้สามตัว  กลับไม่ได้  ขอสามตัวเถอะ”  รู้ได้ทันทีว่าเขาต้องการเลข ๓ ตัวท้ายรางวัลที่ ๑ สลากกินแบ่งรัฐบาล  หรือที่เรียกกันว่า  “หวยกินรวบ”  หรือ  “หวยเถื่อน”  ที่เคยถูกขอมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  แต่ข้าพเจ้าไม่เคยให้ใครเลย

            “ไม่รู้  ให้ไม่ได้  ไม่เคยให้ใคร”  ข้าพเจ้าบอกปฏิเสธไปตามความจริง

           ยามนั้นมีชายอายุประมาณ ๕๐ ปีเศษคนหนึ่ง  ลักษณะท่าทางสุภาพเรียบร้อย  คลานเข้ามากราบที่ตักผมแล้วแนะนำตัวว่า  ทำงานฝ่ายการเงินของบริษัทเดินอากาศไทยที่ภูเก็ต  พร้อมกล่าวคำอ้อนวอน

            “โปรดโยมหน่อยเถิด  โยมถูกหวยกินมามากจนย่ำแย่แล้ว”

           โดนลูกเล่นนี้ก็ต้องนั่งงง  นึกไม่ถึงว่า  “คนบ้าหวย”  จะมาไม้นี้
            
            “โปรดไม่ได้หรอกโยม  ฉันไม่รู้จริง ๆ เกิดมาไม่เคยให้หวยใคร”  ตอบด้วยความจริงใจ  แต่เขาไม่ยอมเชื่อ

            “ท่านอาจารย์กลดโน้น  บอกว่าท่านให้แม่นที่สุด  พวกชุมพร  นครศรีธรรมราชเขารวยกันเพราะท่านตั้งหลายคน”    หญิงสาวคนหนึ่งที่นั่งข้างหน้าว่าอย่างนั้น   จึงรู้ทันทีว่าถูกหลวงพี่บัณฑิตให้ร้าย  กลั่นแกล้งข้าพเจ้าเข้าให้แล้ว  รอบ ๆ กลดมีแต่เสียง    “ขอสามตัวเถอะ ๆๆๆ”    ตอบปฏิเสธอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อฟัง  บางคนเป็น  “คนหัวหมอ”  ยกเอาตัวเลขยกชูขึ้นมาถามว่า  “เลขนี้จะออกไหม?”  ข้าพเจ้าก็ส่ายหน้าปฏิเสธ  เขาก็ยกเลขอื่นมาถามอีก  ก็ได้แต่ส่ายหน้าปฏิเสธอยู่ท่าเดียว   ยามนั้นง่วงนอนจนมึนงงแล้ว  ไม่รู้จะขับไล่คนบ้าหวยพวกนั้นไปได้อย่างไร  ชายคนที่เข้ามากราบตักนั้นก็คะยั้นคะยอขอไม่เลิก  อ้างว่า พรุ่งนี้หวยออกแล้ว  ถ้าท่านอาจารย์ไม่ให้เลขชาวบ้านเขาคงจะต้องนั่งเฝ้ากลดท่านอยู่ทั้งคืนแหละ  ท่านอาจารย์ไม่ให้ตัวตรง ๆ เพียงบอกใบ้ให้ก็ยังดี  

           เกิดความรำคาญเต็มทน  และเพื่อตัดความรำคาญ  จึงควักสมุดพกเล่มเล็กออกจากย่าม  เขียนเลข ๓ ตัว  ยังจำได้ว่ามีเลข ๑๙๐  แต่เลขใดอยู่ตำแหน่งไหนจำไม่ได้แล้ว   เขียนใส่กระดาษหลาย ๆ ใบด้วยเลขตัวเดียวกัน  เสร็จแล้วฉีกออกแจก  บอกให้ไปคัดลอกแบ่งกันเอาเอง  แล้วก็ไล่ให้ทุกคนกลับบ้าน  เขาเฮโลกันรุมขอดูเลขที่เขียนให้  บางคนก็จดใส่กระดาษ  บางคนก็จำไว้ในใจ    เมื่อได้เลขแล้วเขาก็พากันจากไปจนหมด   ข้าพเจ้าจัดแจงลงมุ้ง (กางมุ้ง) จุดธูปเทียนเตรียมสวดมนต์เจริญภาวนาก่อนนอน  ยังไม่ทันที่จะปักธูปลงบนพื้นดิน  ก็มีคนมาหาอีกเป็นกลุ่มใหญ่  ประมาณ ๒๐ คนเห็นจะได้  เป็นพวกคนเก่าที่ให้เลขเขาไปแล้วนั่นแหละ  คราวนี้เขาถือบุหรี่เกล็ดทอง  พระจันทร์  มาคนละซองเพื่อถวายข้าพเจ้า

            “ขอทันใจอีกครับ ! ขอทันใจหลวงน่ะก่ะ”   เป็นคำขอหลังจากถวายบุหรี่แล้ว  ข้าพเจ้างงมากเลย

            “ทันใจอะไรกัน  ทำไมไม่ไปซื้อที่ร้านขายยาเล่า?”  ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขามาขอยาทันใจแก้ไข้แก้ปวดอะไรนั่น

            “ไม่ใช่พรรค์นั้นนะ  ทันใจคือทันใจหลวง”   คนหนึ่งตอบ

            “ทันใจหลวงยังไง ?”   ข้าพเจ้ายิ่งงงใหญ่

            “เก๊าะเลข ๒ ตัวหมุนสองครั้งของรัฐบาลนั่นไงล่ะ”    เขาขยายความให้หายงง  จึงรู้ได้ว่า  รางวัลเลขท้าย ๒ ตัวสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น  คนภูเก็ตเขาเรียกกันว่า  “ทันใจ”  ข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนเลขให้อีก  และไม่รู้จะเขียนเลขอะไรด้วย  จึงตอบโมเมไปว่า  “มันอยู่ที่ซองบุหรี่แล้ว  เอาไปเถอะ”   พวกเขาจึงลากลับด้วยความดีใจ   คืนนั้นนอนไม่ค่อยจะหลับเพราะเป็นกังวลกับตัวเลขที่ให้พวกเขาไป  มันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ให้หวยเบอร์  จะเรียกว่าเป็นการ  “ทำผิดครั้งแรก”  ของข้าพเจ้าก็ได้

           ครับ !  การให้หวยเบอร์นี้ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าผิด  ข้าพเจ้าเป็นคน  “แอนตี้”  เรื่องการให้หวยเบอร์มาตลอดเวลา  นึกไม่ถึงว่ากลับต้องกลายมาเป็นเป็นอาจารย์ให้หวยเบอร์เสียเอง  เกิดมีความวิตกกังวลว่า  เลขที่ให้ไปนั้น  ถ้าเกิดถูกเข้าจะว่ายังไง  ถ้าไม่ถูก  ชาวบ้านคงฉิบหายไปไม่น้อย   เพราะดูพวกบ้าหวยนั้นเขามีความเชื่อมั่นในตัวข้าพเจ้ามาก ๆ   คิดอย่างนี้แล้วก็อดไม่ได้ที่จะภาวนาขอให้หวยออกตรงกับเลขที่ให้ไปนั้นด้วยเถิด!

           วันรุ่งขึ้นหลวงพี่บัณฑิตพาผมไปเยี่ยมเยือนเพื่อนพระของท่านที่วัดขจรรังสรรค์  และวัดวิชิตสังฆาราม  จากนั้นไปเดินเที่ยวบนเขารัง  กลับกลดเอาตอนเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำแล้ว  ที่กลดข้าพเจ้ามีคนมานั่งอยู่เป็นกลุ่มใหญ่  ทุกคนเห็นข้าพเจ้ากลับกลดก็พากันดีอกดีใจ  ยกมือไหว้ท่วมหัว   พอนั่งเรียบร้อยแล้วพวกเขาก็คลานเข้ามาถวายบุหรี่  เครื่องดื่ม  ดอกไม้  ธูปเทียนมากมาย   ชายกลางคนที่บอกว่าทำงานอยู่บริษัทการบินไทยนั้น  กราบที่ตักผมแล้วกล่าวว่า   ท่าน “เป็นพระมาโปรดแท้ ๆ พวกเราถูกหวยทั้ง ๓ ตัว ๒ ตัว กันทั่วหน้า”   ข้าพเจ้ารู้สึกสับสนไปหมด   ดีใจที่พวกเขาถูกหวย   เสียใจที่กลายเป็นคนหลอกลวง  ก็ทำไมจะไม่หลอกลวงเล่าครับ  ข้าพเจ้ารู้เห็นซะเมื่อไรเล่าว่าหวยรัฐบาลจะออกเลขอะไร  เขียนให้เขาส่งเดชไป  บังเอิญอย่างที่ว่า  “ขี้จังร่อง”  นั่นแหละ   นี่ดีนะที่มันออกตรง  ถ้าผิดละก็คงถูกด่าเปิงไปเลยก็แล้วกัน

           รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งข้าพเจ้าตื่นแต่เช้า  มองไปที่กลดหลวงพี่บัณฑิตแล้วก็ใจหาย   ”กลดหลวงพี่บัณฑิตหายไปแล้ว”   รู้ได้ทันทีว่าหลวงพี่บัณฑิตถอนกลดเดินทางหลบหนีหรือทอดทิ้งข้าพเจ้าแน่นอน  เพราะท่านต้องรู้แล้วว่าข้าพเจ้าให้หวยชาวบ้านถูกกันมาก  กลายเป็นอาจารย์หวยไปเพราะท่านโกหกชาวบ้านว่าข้าพเจ้าให้หวยแม่นนั่นเอง/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ เมษายน ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, ตุลาคม, 2565, 10:31:33 PM
(https://i.ibb.co/5jgKsVy/a743538.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๔ -
           พอรู้ว่าหลวงพี่บัณฑิตหนีไปแล้วก็คิดอะไรไม่ออก  ทำอะไรไม่ถูก  กลัวที่สุดคือ  กลัวว่าจะกลับบ้านไม่ได้  มืดแปดด้านไปเลยทีเดียวครับ  ตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นเกาะภูเก็ตนี่ข้าพเจ้าหลงทิศหลงทาง  ไม่รู้ว่าทิศไหนเป็นทิศไหน  รู้สึกว่าดวงตะวันมันขึ้นทางเหนือตกทางใต้  แทนที่จะขึ้นทางตะวันออกตกทางตะวันตกตามปกติของมัน   ความรู้สึกตอนนั้นก็คือ  กลายเป็นคน  “ถูกปล่อยเกาะ”  ไปเสียแล้ว   เช้าวันนั้นไม่ได้ออกบิณฑบาต   ดีที่มีผู้น้ำอาหารมาถวายที่กลดมากมาย  ชายคนที่บอกว่าอยู่บริษัทการบินนั้น  รู้ว่าผมถูกพระพี่เลี้ยงหนีไปเสียแล้วก็ปลอบใจผมว่า  ไม่ต้องกลัว  จะขอเป็นโยมปวารณา รับอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างดี  เขาบอกว่าชื่อ  “แดง”  ให้เรียกเขาว่า  “โยมแดง”   มีอะไรจะให้รับใช้ก็ขอให้บอกได้ทันที  ไม่ต้องเกรงใจ  ถ้าถึงเวลาจะเดินทางกลับบ้านเขาจะส่งให้ขึ้นเครื่องบินกลับถึงกรุงเทพฯ เลย  ได้โยมอุปถัมภ์อย่างนี้ก็เบาใจคลายกังวลไปมากเลย    แล้วเหตุการณ์มันก็บังคับให้ข้าพเจ้าต้องกลายเป็นอาจารย์ให้หวยไปอย่างช่วยไม่ได้

           โยมแดงกับพวกของเขานำพาข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ในป่าช้าจีนแต้จิ๋วบริเวณตอนเหนือตีนเขารัง  โดยมีกระท่อมให้อยู่ในดงไม้ไผ่  ตั้งอยู่บนฮวงจุ้ย ๓ ฮวงจุ้ย  หลังคาและฝากระท่อมมุงด้วยใบหญ้าคา  ยกแคร่สูงด้วยฟากไม้ไผ่เป็นที่นอน ๑ แคร่  มีห้องโถงกว้างพอจุคนนั่งได้ประมาณ ๒๐ คน   นอกกระท่อมก็ทำส้วมซึมและห้องอาบน้ำไว้ ๑ แห่ง  มีถังยางมะตอย ๓ ถังตั้งไว้ใส่น้ำใช้ปะจำวัน  เพราะในที่นั้นไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้

           ป่าช้าจีนแห่งนี้มีบริเวณกว้างขวางมาก  อยู่ในหุบเขาล้อม ๓ ด้าน  ด้านที่ ๔ ติดถนนหลวง  อยู่บริเวณใกล้ชิดกับสามแยกวิชิต  กระท่อมหรือ “อาศรม” ของข้าพเจ้าอยู่ห่างถนนประมาณ ๘๐ เมตรเห็นจะได้  ภายในป่าช้าอันกว้างขวางนี้มีกระท่อมพระธุดงค์ตั้งอยู่ประมาณ ๖ หลัง  ตั้งอยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร  บางหลังก็มีพระอาศัยอยู่บางหลังก็เป็นกระท่อมร้างว่างเปล่า  ทราบจากการบอกเล่าของโยมแดงว่า  ป่าช้าแห่งนี้เป็นที่ฝั่งศพของจีนแต่จิ๋ว  ซึ่งเป็นชาวจีนที่ยากจน  ยังมีป่าช้าคนจีนที่มีฐานะร่ำรวยอีกหลายแห่ง (เช่นป่าช้าจีนฮกเกี้ยน  ซึ่งเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ของเกาะภูเก็ต)  ป่าช้าที่ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่นั้นปรากฏว่าทุกตารางเมตรของพื้นที่มีศพฝังเต็มไปหมด บางที่ก็ฝังศพทับซ้อนกัน  ข้าพเจ้าจึงต้องนอนบนหลุมศพชาวจีนแต้จิ๋วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

           โยมแดงยังบอกเล่าต่ออีกว่า  เจ้าของป่าช้าแห่งนี้เคยแสดงตนให้พระธุดงค์ที่มาพักในป่าช้านี้ได้พบเห็นมาหลายองค์แล้ว  บางองค์ได้พบเห็นแล้วเกิดความความกลัวจน  “จับไข้หัวโกร๋น”  ทีเดียว  บางองค์ก็เสียสติป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ไปเลย  บางองค์พบเห็นแล้วก็ไม่เป็นอะไร  กลับจดจำลักษณะเจ้าป่าช้านั้นมาบอกเล่าว่า  มีรูปร่างสูงใหญ่แต่งกายแบบนักรบระดับขุนพลจีนโบราณ  หน้าแดง  ผมดำ  เคราดำ  มือซ้ายถือง้าว  มือขวาถือแส้ขนม้าสีขาว  ไม่พูดจาปราศรัยใด ๆ มีแต่หัวเราะเสียงดังอย่างเดียว

           เวลาค่ำมืดลง  โยมแดงและใคร ๆ ลากลับไปหมดแล้ว  ข้าพเจ้าก็ต้องเผชิญกับความเสียวสยองพองขนอยู่คนเดียวบนหลุมศพในกระท่อม  จุดเทียนไขดอกใหญ่ให้แสงสว่างวาววาม  หลังจากสวดมนต์จบแล้วก็นั่งเจริญภาวนาตามปกติ  พอหลับตาภาวนาว่า  “อะระหัง”  ใจก็เริ่มแกว่งไกว  และมันก็ไปแกว่งไกวอยู่ในเรื่อง  “เจ้าป่าช้า”  ตามที่โยมแดงเล่าให้ฟังนั่นแหละครับ

           ภาพเจ้าป่าช้าปรากฏชัดขึ้นในองค์ภาวนาของข้าพเจ้าโดยไม่สามารถขจัดให้ออกไปได้  จึงต้องเลิกนั่งภาวนา  ลุกลงจากแคร่ (เตียง) เดินจงกรมวนไปเวียนมาอยู่ในห้องโถงของกระท่อม (อาศรม) จนรู้สึกเมื่อยเท้าแล้วจึงขึ้นแคร่ดับเทียนล้มตัวลงนอน

            “ให้ตายเถอะ!”   ข้าพเจ้านอนหลับตาไม่ได้  พอหลับตาก็เห็นภาพเจ้าป่าช้า  ร่างกายสูงใหญ่  หน้าแดง  ผมดำ  เคราดำยาวรุงรัง   แต่งตัวเหมือนงิ้ว  มือซ้ายถือง้าวมือขวาถือแส้ขนหางม้าสีขาวยกขึ้นปัดไปมา  พอลืมตาภาพนั้นก็หายไป  ครั้นหลับตาลงภาพนั้นก็ปรากฏขึ้นอีก  ใจหนึ่งคิดว่าถูกผีหลอกเข้าแล้ว  แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า มันเป็นภาพลักษณ์อุปาทานที่เกิดขึ้นตามคำบอกเล่าของโยมแดง  จึงนอนนิ่งลืมตามองดูหลังคาห้องในความมืดสลัว  ยามดึกสงัดนั้นพลันก็มีเสียงร้องโหยหวนดังมาจากเทือกเขาทะมึนทางเบื้องหัวนอน  เสียงนั้นให้ความรู้สึกว่าเหมือนเสียงเปรตร้อง

           ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเปรต  ไม่เคยได้ยินเสียงเปรตร้อง  เคยได้ยินได้ฟังคนเล่าเรื่องเปรต บ่งบอกรูปลักษณ์และเสียงของเปรต  จึงรู้จักมาจากคำบอกเล่าของคนอื่นทั้งนั้น   เสียงที่ได้ยินคืนนั้นมันโหยหวนเหมือนเสียงเปรตอย่างที่มีคนบอกเล่าให้ฟัง  ได้ยินแล้วขนลุกชันเนื้อตัวซู่ซ่า  ตัวชา  ใจหวิวสั่นไหวอย่างไรชอบกล  และยิ่งมีเสียงสัตว์อะไรวิ่งแกรกกรากตามข้างฝากระท่อมด้วยแล้ว  ก็เพิ่มความหวาดกลัวให้มากขึ้นอีก  คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้หลับเลยสักงีบเดียว  ยามนอนก็นอนลืมตา  ยามนั่งก็นั่งลืมตา  ตื่นอยู่ในอิริยาบถทั้งสี่  คือ  เดิน ยืน นั่ง นอน  จนรุ่งสางสว่างแจ้ง

           โยมแดงและใคร ๆ นำอาหารมาถวายแต่เช้า  และบอกว่าทุกวันต่อไปนี้ไม่ต้องออกบิณฑบาต  โยมจะนำอาหารมาถวายทุกเช้าเลย   ข้าพเจ้าก็ต้องเก็บธุดงค์ข้อนี้ไว้ก่อน ยังคงประพฤติธุดงค์เพียงข้อที่ว่า  ถือผ้า ๓ ผืนเป็นประจำ  ฉันอาหารหนเดียวเป็นประจำ  ถือการใช้ผ้าเก่าคร่ำคร่า (ผ้าบังสุกุล) เป็นประจำ  และเพิ่มข้อที่ว่า  ถือการอยู่ป่าช้าเป็นประจำเข้ามาแทนการถือบิณฑบาตเป็นประจำ

            “เมื่อคืนนี้นอนหลับสบายดีไหมครับ?”   โยมแดงถามยิ้ม ๆ  ข้าพเจ้าตอบว่าหลับสบายดี  ไม่มีเจตนาจะพูดโกหกหรอกครับ  แต่คิดว่าจะบอกเขาว่าไม่ได้หลับเลยได้อย่างไร  เพราะในความคิดเห็นของคนส่วนมากเขาเคารพเลื่อมใสนับถือข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ที่เก่งกล้าสามารถมากอยู่แล้ว  ก็จำต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราเก่ง  ไม่ให้พวกเขาผิดหวังได้  มีบางคนยังไม่สนิทใจในความเก่งกล้าสามารถของข้าพเจ้า  พอได้ยินคำตอบว่าข้าพเจ้านอนบนหลุมฝังศพหลับสบายดีทั้งคืน  เขาก็ทำหน้าฉงนแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  เขาคงคิดว่า  “ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ”  เพราะเห็นข้าพเจ้ายังคงอยู่เป็นปกตินั่นเอง

           ข้าพเจ้ามาได้ความจริงภายหลังว่า  ที่โยมแดงบอกเล่าเรื่องเจ้าป่าช้านั้นก็เป็นการข่มขู่  ทดลองความเข้มแข็งทางด้านจิตใจของพระเณรธุดงค์ องค์ใดขวัญอ่อนจิตใจไม่เข้มแข็งก็จะถูกภาพหลอนทำลายตบะสมาธิจนมีอันเป็นไปต่าง ๆ  บางองค์ถึงกับเสียสติไปเลยก็มี  ข้าพเจ้าสอบผ่านการทดสอบของโยมแดงได้อย่างลำเค็ญไม่น้อย  ผลของการอยู่บนหลุมฝังศพในป่าช้าของข้าพเจ้า  ทำให้ผู้คนเคารพเลื่อมใสและเชื่อถือกันมากขึ้น  เขาเรียกข้าพเจ้าตามคำเรียกของโยมแดงว่า  “พระเณร”  ชื่อเสียงพระเณรแห่งป่าช้า  “ซีเต๊กคา”  จึงกระจายไปทั่วเกาะภูเก็ต

           พระท่านว่า ลาภ สรรเสริญ เกียรติยศ อามิสสินจ้างใด ๆ ถ้าใครได้ลิ้มรสมันแล้ว  มักจะติดในรสของมัน  ข้อนี้เป็นความจริงแท้  ข้าพเจ้าได้รับเกียรติสรรเสริญ  สักการบูชาอุปถัมภ์บำรุงจากชาวภูเก็ตเป็นอย่างดี   ความรู้สึกนึกคิดของข้าพเจ้าเริ่มฟุ้งเฟ้อเห่อห่ามไปตามวิสัยของปุถุชน  พยายามรักษาความเชื่อความเลื่อมใส  ความเคารพนับถือของพวกเขาเอาไว้ให้มากที่สุด  วิธีการรักษาศรัทธาประสาทะคารวะบูชาดังกล่าวไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดหรอกครับ เพราะอย่างนี้เห็นผลช้า  คนมีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้เห็น  แต่คนโง่งมงายจะไม่รู้ด้วย  กับคนโง่งมงายที่อยู่มากมายในโลกนี้  จะต้องประพฤติปฏิบัติแบบ  “เลี่ยงพระธรรมวินัย”  เพื่อให้เป็นไปตามกิเลสของพวกเขา  เขาจึงจะรู้เห็นและนิยมชมชอบนบนอบบูชา

           มีช่างตัดผมชายคนหนึ่งชื่ออุดม  พื้นเพเดิมเขาเป็นชาวอยุธยา  บวชเป็นพระภิกษุได้เพียงพรรษาเดียวก็ออกเดินธุดงค์ร่วมกับพระพี่เลี้ยง   เขาล่องลงใต้ไปจนถึงเกาะภูเก็ตแล้วก็กลายเป็นพระอาจารย์บอกใบ้ให้หวยเพราะแรงบีบแรงดันของชาวเมือง  ด้วยชาวภูเก็ตส่วนใหญ่เขาไม่เชื่อว่าพระธุดงค์จะให้หวยไม่ได้  เชื่อกันว่าพระธุดงค์ทุกองค์ต้องรู้เลขหวยและให้หวยได้  องค์ใดไม่ให้หวยเขาจะไม่สนใจ  และไม่เลื่อมใสเลย

           ดังนั้นพระอุดมจึงต้องเป็นพระอาจารย์ให้หวยทั้ง ๆ ที่บวชได้เพียงพรรษาเดียว  เขาปักกลดเป็นพระอาจารย์ให้หวยอยู่ที่ภูเก็ตได้เดือนเศษ ๆ ก็ต้องลาเพศจากภิกษุภาวะ  เพราะสาวเจ้าเสน่ห์ชาวเกาะภูเก็ตปะเหลาะให้สึกออกไปเป็นสามีนางอย่างง่ายดาย  แม้สึกจากพระแล้ว  นายอุดมก็ยังเป็นนักบอกใบ้ให้หวยอยู่เป็นงานอดิเรก  งานหลักหรืออาชีพหลักของเขาคือเป็นช่างตัดผม  โดยเขาเป็นเจ้าของกิจการเอง  มีช่างลูกมือประจำร้านอยู่ ๕ คน  ตัวเขาเองนั้นทำหน้าที่ตัดผมบ้างไม่ตัดบ้าง  การเป็น  ”ม้าใช้ใบ้หวย” (ร่างทรงเจ้า) และออกตระเวนหาเลขหวยจากพระสงฆ์องค์เจ้า  เป็นอาชีพรองที่สร้างชื่อเสียงของเขาได้มากทีเดียว

           การเป็น  “ม้าใช้ใบ้หวย”  ของนายอุดม  คือการเป็นร่างทรงเจ้า  เมื่อเจ้าเข้าทรงร่างเขาแล้วก็จะเอามีดปลายแหลมคมกรีดปลายนิ้วชี้ให้เลือดไหล  แล้วเอาเลือดนั้นเขียน  “ฮู้”  คือยันต์ที่อ่านได้เป็นตัวเลขหลาย ๆ ตัว  อย่างนี้เรียกว่า  “ใบ้หวย”  ปรากฏว่าชาวบ้านชาวเมืองเลื่อมใสการเข้าทรงเขียนฮู้ของนายอุดมมากพอสมควร

           คนภูเก็ตส่วนมากชอบเล่นหวยเบอร์ทั้งที่เป็นหวยรัฐและหวยราษฎร์  ในวันที่รัฐบาลไม่ได้ออกสลากกินแบ่ง  คนภูเก็ตก็จะออกหวยกันเอง  เป็นหวย ๒ ตัว และ ๓ ตัว  หวย ๒ ตัวเรียกว่า  “ทันใจราษฎร์” (หวยรัฐเรียกว่า ทันใจหลวง)   ๓ ตัวเรียกว่า “ชิ้งชั้ง” จะออกเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงทุกวัน  มีหลายเจ้ามือ  วิธีการออกก็ไม่ยาก  เขาเอากระดาษแข็งทำเป็นแป้นวงกลม  เขียนตัวเลข ๑-๐  แล้วหมุนแป้นนั้นโดยให้ใครก็ได้ใช้กล้องใส่ลูกดอกเป่าใส่แป้น  ถูกเลขอะไรก็ถือว่าเลขนั้นเป็นหวยที่ออกวันนั้น  ดูก็น่าสนุกดี  เพราะมีการออกหวยเบอร์ทุกวันนี้เอง  อาจารย์บอกใบ้ให้หวยจึงต้องทำหน้าที่ให้หวยทุกวัน  และ  การหาหวยเบอร์ก็ต้องออกหาหวยเบอร์ทุกวันเช่นกัน   ดังนั้นการให้หวยจึงพอนับได้ว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของนายอุดม  มีรายได้เข้าบ้านได้มากพอสมควรทีเดียว

           นายอุดมปวารณาตัวเป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งในจำนวน ๖ คนของ  “ศิษย์ก้นกุฏิ”  ข้าพเจ้า    และก็ดูเหมือนนายอุดมนี่แหละที่เป็นต้นเหตุหรือตัวการที่ทำให้เณรเต็มเป็นอาจารย์ให้หวยที่สมบูรณ์แบบ  โดยเขาแนะนำให้ใช้วิธีการต่าง ๆ นานาในการบอกใบ้ให้หวย  บางทีเขาจะเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ  “บอกใบ้ให้หวย”  โดยให้ ”พระเณร” นั่งเฉย ๆ   เขาจะ “แหลงใต้” บอกพวกบ้าหวยที่มาหาว่า  “พระเณร” (คือข้าพเจ้า) ให้อย่างนั้นใบ้อย่างนี้   จะว่า “หน้าฉากเณรเต็มเป็นอาจารย์  แต่หลังฉากกลับเป็นศิษย์นายอุดม”  ก็ไม่ผิดหรอกครับ

           ข้าพเจ้าเขียนตัวเลขชัด ๆ ให้หวยเบอร์แก่ชาวภูเก็ตก็เพียงครั้งแรกที่เท่านั้น  หลังจากนั้นไม่เคยเขียนตัวเลขตรง ๆ ให้ใคร ๆ อีกเลย  และส่วนใหญ่ก็ไม่เขียนอะไร ๆ ให้ใคร ๆ   แม้กระทั่งการพูดก็พูดไม่มาก  ใคร ๆ มาหาเขาพูดอะไร ๆ กันก็จะเป็นฝ่ายนั่งฟัง  เหตุที่เป็นคนพูดน้อยก็เพราะ  ฟังเขาพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง  จึงต้องนั่งฟังคอยจับความและจำภาษาใต้  จนต้องนั่งยิ้มเป็น  “หลวงพ่อยิ้ม”  ไปเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, ตุลาคม, 2565, 11:10:20 PM
(https://i.ibb.co/Ptv5kPG/4093014146-daf8ee3705-z-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๕ -
            “หวั่นจายม่าหลาว”  หรือ  “หวั่นชายม่าหลาว”  เพียงประโยคเดียวนี่แหละ  ข้าพเจ้าฟังเขาพูดกันอยู่นานถึง ๒ เดือนจึงรู้คำแปลเป็นไทยกลางได้ว่า  “ตอนเย็นมาอีก”  คือคนที่เขามาหาตอนเช้าและตอนบ่าย  ครั้นเขาลากลับจะพูดว่า  “วันจายม่าหลาว”  ฟังครั้งแรก ๆ ไม่รู้ว่าเขาพูดว่าอะไร  ก็ได้แต่ยิ้มและพยักหน้ารับเท่านั้นเอง   แต่จะว่าไม่รู้อะไรเลยก็ไม่ได้  สองคำหลังที่ว่า  “ม่าหลาว”  นั้นรู้ว่า  “มาอีก”  แต่ไม่รู้ว่า  อะไรมาอีก  สังเกตอยู่นานจึงรู้ว่า  “หวั่นจาย”  หรือ  “หวั่นชาย”  แปลว่า ยามเย็น  คือ  “ตะวันชาย” ลงใกล้ลับขอบฟ้าแล้วนั่นเอง

           มี  “นายหัว”  คือเจ้าของหรือผู้จัดการเหมืองแร่คนหนึ่ง (อย่าไปรู้เลยว่าเขาชื่ออะไร  เจ้าของเหมืองแร่ไหน)  เป็นคนชอบหวยเบอร์อยู่ในสภาพที่เรียกว่า  “ทั้งเล่นทั้งเป็นเจ้ามือ”   การเป็นผู้เล่นและเป็นเจ้ามือของเขาก็คือ  เขารับแทงหวยเบอร์ (คือรับกิน-จ่าย) ถ้า  “หางเลข”  ตัวไหนมีคนซื้อกันมาก  อาจารย์ให้หวยทั้งหลาย  “เก็ง”  กันมาก  เขาก็จะไม่รับไว้  แต่จะส่งต่อไปขายให้เจ้ามือที่ใหญ่กว่าเขา  และตัวเขาก็จะเพิ่มเงินซื้อไปด้วย     “หางเลข”  ตัวไหนมีคนซื้อน้อย  ไม่ใช่เลขเด็ดของอาจารย์  และเชื่อว่าไม่ออกแน่  เขาก็จะเก็บไว้กิน “รวบ” เสียเอง  โอกาสที่จะรวยมีอยู่ไม่น้อย  แต่ก็ไม่แน่หรอก  โอกาสที่เขาจะเจ๊งก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

            “นายหัว”  เป็นคนไทยเชื้อสายจีน  อารมณ์เย็น  สุภาพเรียบร้อย  อายุประมาณ ๔๕-๕๐ ปีเห็นจะได้   เขามาหาข้าพเจ้าแบบวันเว้นวัน  ใช้ความพยายามขอเลขตัวตรงจากข้าพเจ้าทุกงวด   เลขเบอร์ที่ขอจะเน้นเฉพาะหางเลขสลากกินแบ่งรัฐบาลเท่านั้น  ก่อนหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาลออก ๑ วัน  “นายหัว” ขับรถเก๋งส่วนตัวมารับข้าพเจ้าแล้วพาตระเวนเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในเกาะภูเก็ต  มีหาดราไวย์, หาดสุรินทร์  เป็นต้น   พร้อมกันนั้นก็พูดในเชิงอ้อนวอนขอหวยเลขตัวตรง ๆ  ทุกครั้งข้าพเจ้าก็จะบอกว่าไม่รู้  ไม่มี  เขาบอกว่าพระเณรรู้แต่ไม่ยอมบอก  ไม่ยอมให้เขา  และอ้างว่าเมื่อมาถึงภูเก็ตวันแรกยังเขียนตัวตรงทั้ง ๓ ตัว ๒ ตัว  ให้คนภูเก็ตถูกกันมากมายมาแล้ว  แสดงให้เห็นว่า  รู้จริง  แต่ไม่ยอมบอกให้   “วันนี้พระเณรใจแข็งจังเลย”  เขาว่ายังงั้น   หลังหวยออกทุกครั้งข้าพเจ้าขำไม่ออก  เมื่อ “นายหัว”  นำเครื่องดื่มพร้อมบุหรี่ตรา ๑๑๑ จำนวน ๑ กระป๋องมาถวาย  เมื่อประเคนของเสร็จแล้ว  เขาจะเอามือเขกหัวตัวเอง

            “แหม...มันน่าเจ็บใจ !  พระเณรให้ตรง ๆ คิดง่าย ๆ ยั้งงี้ยังคิดไม่ออก”

           เขาจะเขกหัวตัวเองและพูดอย่างนี้ทุกครั้ง  ได้ความว่าในระหว่างที่ให้ข้าพเจ้านั่งรถพาตระเวนไปนั้นเขาจะ  “จับคำพูด”  เอายันต์ที่นายอุดมเขียนไว้หน้าหิ้งบูชาพระบ้าง  เอาไปคิดเป็นตัวเลขหวย  พอหวยออกไม่ตรงที่เขาคิดตีความ  แต่ก็ใกล้เคียง  เขาก็พิจารณาดูคำพูดและเลขยันต์นั้นใหม่  เห็นว่ามันตรงกับหวยที่ออก  จึงเข้าใจว่าข้าพเจ้าให้ถูก  แต่เขาคิดไม่ถูก  เป็นอย่างนั้นไปได้นี่เอ้า!

           ศรัทธา  คือความเชื่อของคนเรานี่  ปราชญ์บางท่านแปลคำ  “ศรัทธา”  ว่า  “ได้แก่ความโง่งมงาย”  คิด ๆ ดูแล้วก็เห็นด้วยว่าท่านแปลถูกต้องแล้ว คนส่วนมากที่มาหาข้าพเจ้านั้นส่วนมากเขามาด้วยศรัทธา  เป็นความเชื่อที่โง่งมงาย  บางคนมาคอยนั่งจับคำพูดของข้าพเจ้าไปคิดเป็นเลขหวย  บางคนมานั่งดูว่าข้าพเจ้าหยิบจับอะไรบ้าง  เห็นแล้วก็เอาไปคิดตีความเป็นเลขหวย  บางคนเอายันต์ (ฮู้) ที่นายอุดมเขียนขึ้นไว้นั้นไปคิดเป็นเลขหวย  ส่วนมากเขามักจะถูกกันมากบ้างน้อยบ้าง  ตามแต่โชควาสนาของเขา   แต่ “นายหัว” นาน ๆ จึงจะถูกสักที  แต่ก็ถูกเฉพาะตัวที่เขา  “ซื้อกัน”  ไว้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

           กิติศัพท์การให้หวยแม่นของข้าพเจ้าเลื่องลือไปทั่วเกาะภูเก็ต  และยังข้ามฟากออกไปนอกเกาะภูเก็ตถึงอำเภอท้ายเหมือง,  ตะกั่วป่า ในจังหวัดพังงาทีเดียว  มีคนจากพังงาข้ามทะเลมาหาเณรเต็ม (สมัยนั้นยังไม่มีสะพานสารสินเชื่อมระหว่างพังงา-ภูเก็ต)  เพื่อขอหวยกันมากมาย  พวกเขาบอกเล่าว่า  ได้ยินว่า  “พระเณร”  ให้เลขหวย  จึงซื้อหวยกันตามข่าวที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็ถูกกันเสมอมา  ยิ่งมีคนมาขอหวยมาก ๆ ก็มีคนถูกหวยกันมาก  โดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องบอกใบ้ให้เลขอะไรเลย  พวกเขา “คิดเองเออเอง” ทั้งนั้น  เพราะต่างคนต่างคิด  ต่างคนต่างซื้อ (แทงหวย)   มีร้อยคนถูกเพียงคนเดียวเท่านั้นก็ทำให้  “พระเณร”  ดังแล้ว   คนที่ไม่ถูก  แค่เฉียด ๆ ก็เหมือน ยั่วยุให้เขามีความหวังถูกหวยมากขึ้น  และมาหาข้าพเจ้ามากขึ้น

           คนมันจะดัง  ห้ามไม่ได้หรอกครับ

           ข้าพเจ้ากลายเป็น  “ผู้วิเศษ”  แห่งป่าช้าจีนแต้จิ๋ว (ซีเต๊กคาหรือสีตะค้า) จังหวัดภูเก็ตไปโดยไม่ตั้งใจ  และเป็นไปได้อย่างง่ายดายคล้ายความฝัน  กระท่อมหรืออาศรมที่โยมจัดให้อยู่นั้น  ตั้งแต่เวลาเช้าถึงใกล้เที่ยงคืนจะมีคนเข้าไปไม่ขาดสาย  คนที่ไปหาส่วนมากจะเป็นผู้หญิง  นาน ๆ จึงจะมีผู้ชายสักคนหนึ่ง  และผู้หญิงส่วนมากจะเป็นแม่หม้ายแม่ร้างและนางสาว (สาวแก่)   แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า  เด็กนักเรียนสาว ๆ ที่พบกันวันแรกในโรงเรียนสตรีภูเก็ตนั้น  ทำไมไม่มีใครไปหาข้าพเจ้าสักคนเดียว  จะว่าพวกเธอไม่รู้ก็ไม่ใช่  เพราะตอนนั้นข้าพเจ้าเป็นพระอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว  อันนี้เป็นเรื่องแปลกไม่น้อยเลย  มีศิษย์ที่ปฏิบัติข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นจำนวน ๒ คน  เป็นหญิงสาวทั้งคู่เลย  คนหนึ่งทำหน้าที่จัดอาหารถวายทุกเช้า  อีกคนหนึ่งจัดการเรื่องน้ำใช้น้ำดื่ม  ทั้งสองนางสาวมีลักษณะหน้าตาดี  นิสัยสุภาพเรียบร้อยน่ารัก  แต่เณรหนุ่มอย่างข้าพเจ้ากลับไม่เคยมีจิตคิดอกุศลด้านชู้สาวกับพวกเธอเลย  สาบานให้ก็ได้  เอ้า!

           ครับ !  ข้าพเจ้าถูกพวกบ้าหวย  “ปลุกเสก”  ให้กลายเป็นอาจารย์ให้หวยผู้วิเศษไปแล้ว   นายอุดมนำเอารูปปั้นฤๅษีองค์โตหน้าตักขนาด ๙ นิ้ว  มาตั้งที่หิ้งบูชาข้างหัวนอนองค์ (หรือ ตน) หนึ่ง  เขาบอกว่า  “พ่อท่านแก้ว” (หลวงพ่อแก้ว) สร้างขึ้นด้วยดินเจ็ดป่าช้าเมื่อ ๕-๖ ปีก่อนนี้   พ่อท่านแก้วเป็นพระอาจารย์ให้หวยชื่อดัง  ให้หวยแม่น  มีคนถูกหวยที่ท่านให้กันเยอะมาก  นำเงินมาถวายท่านมากจนท่านเกิดความโลภขึ้น  บอกให้เลขหวยเขาไปอย่างหนึ่ง  ตัวที่ท่านคิดว่าจะออกแน่ท่านไม่บอก  แต่เก็บเอาไว้เล่นเอง  ปรากฏว่าบาปกรรมตามท่านทันในปัจจุบัน  คือเลขที่ท่านให้เขาไปนั้นออกตรง ๆ  ส่วนที่ท่านแอบให้ศิษย์ไปซื้อนั้นไม่ออก  ท่านเล่นอย่างนี้ จนเงินที่ศิษย์นำมาถวายนั้นหมดสิ้นไป    เมื่อเงินหมดจนสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว  ท่านก็เสียสติจนคลุ้มคลั่งหายหน้าไปจากภูเก็ต  ทิ้งรูปปั้นฤๅษีให้นายอุดมรับไว้เป็นมรดกชิ้นสุดท้าย  นายอุดมจึงนำฤๅษีของพ่อท่านแก้วมาให้ข้าพเจ้าบูชา  เพื่อเพิ่มความขลังความศักดิ์สิทธิ์

           ข้าพเจ้าเป็นสามเณร (เหล่ากอแห่งสมณะ) สิ่งที่เคารพนับถือของคือพระรตนตรัย  ได้แก่พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์   ฤๅษีชีไพรและเทพยดาเจ้าใด ๆ แม้ข้าพเจ้าจะนับถืออยู่บ้าง   แต่ก็ไม่ถึงกับเคารพยกย่องให้เป็นสรณะ จนขาดตรัยสรณาคมไปได้   ข้าพเจ้าเคยคิดเห็นและกล่าวหาพระภิกษุสามเณรที่นับถือเคารพยกย่องฤๅษีและเทพต่าง ๆ ว่า   เขาขาดจากพระรตนตรัยไม่เป็นพระภิกษุสามเณรสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว   ดังนั้นรูปปั้นฤๅษีที่นายอุดมเอามาตั้งไว้ที่หิ้งบูชานั้น  ข้าพเจ้าจึงไม่เคารพบูชา  ด้วยถือว่าเป็นแต่เพียงปูชนียวัตถุให้ผู้ที่นับถือเขาบูชากัน  ฤๅษีตนนี้น่าจะมีความขลังเหมือนกัน  เพราะสร้างขึ้นจากดินเจ็ดป่าช้า  จะมีกระดูกคนตายผสมดินด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้  เป็นรูปปั้นปางสมาธิ  ดวงตาทั้งสองฝังเมล็ดมะกล่ำตาควายสีแดง  ดูขรึมขลังดีไม่น้อยเลย  คนที่มาหาข้าพเจ้าส่วนมากเมื่อไหว้  “พระเณร”  แล้วก็จะไหว้รูปปั้นฤๅษี  ยามจะกลับก็ไหว้รูปปั้นฤๅษี  แล้วกราบลา  “พระเณร”  จนดูเป็นธรรมเนียมไปเลยครับ

           บางคืนข้าพเจ้านอนหลับสบาย ๆ ก็คล้ายกับมีใครเอามือมาโบกที่ใบหน้า  พอตื่นลืมตาดูก็ไม่เห็นอะไร  ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า  ฤๅษีมาแกล้งรบกวนการนอนของข้าพเจ้า  แรก ๆ ก็ไม่ได้ถือสาหาความอะไร  และก็ไม่ได้นึกเกรงกลัวด้วย  นอนภาวนาอารมณ์กรรมฐานตามปกติจนหลับไป  เป็นอย่างนี้มาหลายคืนแล้ว

           อยู่มาคืนหนึ่ง  ข้าพเจ้ามีอารมณ์หงุดหงิดโงกง่วงอย่างไรไม่รู้  ทำใจให้เป็นสมาธิตามปกติไม่ได้เหมือนคืนก่อน ๆ  นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ พอเคลิ้มไปจะหลับทีไรก็มืมือมาโบกคลำใบหน้าทุกที   เมื่อถูกรบกวน  “นิทรารมณ์”  บ่อย ๆ เข้าก็หงุดหงิดมาก  คิดว่าตาฤๅษีดินเจ็ดป่าช้านั้นมากวน  จึงเกิดความโมโหรูปปั้นฤๅษีนั้น คว้ากระป๋องบุหรี่ ๑๑๑ ขว้างปาใส่หน้าฤๅษีเปรี้ยงเข้าให้  แล้วก็ไม่ดูผลว่าจะเป็นอย่างไรหรือไม่  หลังจากเอากระป๋องบุหรี่ขว้างใส่ฤๅษีแล้วข้าพเจ้าก็นอนหลับไปเลย

           วันรุ่งขึ้น  นายอุดมมาหาแต่เช้า  เขาเอารองเท้าแตะทำด้วยหนัง เบอร์ ๔๐ มาถวาย ๑ คู่  พอจุดธูปบูชารูปั้นฤๅษีแล้วอุทานเสียงดัง

            “เอ๊ะ!  ใบหูและลูกตาฤๅษีข้างขวาหายไปไหนล่ะอาจารย์?”

            “ฉันเอากระป๋องบุหรี่ขว้างใส่หน้าเขาเมื่อคืนนี้”  ข้าพเจ้าตอบยิ้ม ๆ

            “ขว้างทำไมครับ?”  เขาถามด้วยอาการงง ๆ

            “ก็เขากวนไม่ให้ฉันนอนหลับน่ะซี”  ตอบยิ้ม ๆ อย่างเคย

            “กวนยังไง  แล้วอาจารย์ขว้างปาหน้าท่านน่ะไม่กลัวหรือ?”

           ข้าพเจ้าบอกเล่าเหตุการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้นายอุดมฟัง  แล้วสรุปว่า   “ฉันเข้าใจว่าไอ้ที่เอามือมาลูบหน้าฉันนั้นน่ะต้องเป็นฤๅษีองค์นี้แน่ ๆ   ฉันหงุดหงิดรำคาญและโมโหขึ้นมาก็เอากระป่องบุหรี่ขว้างหน้าซะเลย  ไม่กลัวหรอก  ฤๅษีไม่ใช่นักบวชในพุทธศาสนา  เขาเป็นนักบวชในศาสนาพราหมณ์   ส่วนฉันเป็นนักบวชในพุทธศาสนา  เราเป็นคนต่างศาสนากัน  ว่ากันตามความจริงแล้ว  เขาควรจะต้องกลัวฉันและเคารพนับถือฉัน  เพราะฉันมีศีลมากกว่าเขา  แต่นี่เขากลับมาตีตนเสมอฉัน  และเห็นฉันเป็นเพื่อนเล่น อย่างนี้ต้องสั่งสอนเสียบ้าง”   นายอุดมฟังคำตอบยืดยาวของข้าพเจ้าแล้วมีสีหน้าแสดงความทึ่งให้เห็น  เขานั่งคิดอะไรของเขาอยู่เป็นนานโดยไม่พูดถึงเรื่องฤๅษีเลยจนกระทั่งลากลับไป

           สลากกินแบ่งรัฐบาลงวดใหม่ออกมาแล้ว  นายอุดมเอาของกินของใช้มาถวาย  “พระเณร”  มากมาย  โดยเฉพาะน้ำขวดหลายยี่ห้อยกมาถึง ๑๒ ลัง  บอกว่าเอาไว้เลี้ยงแขกเหรื่อที่มาหาอาจารย์  เขาคุยเสียงดังว่า  “พระเณร”  ทำให้เขารวย  โดยงวดนั้นเขาถูกใต้ดิน ๓ ตัวถึง ๒๐๐ บาทแน่ะ

            “อาจารย์เณรให้ผมตรงเผงเลย”

           ข้าพเจ้าก็งง  ไม่รู้ว่าให้เลขตรง ๆ เขาไปเมื่อไหร่   ครั้นจะถามต่อหน้าคนมาก ๆ ก็ไม่กล้า  จึงได้แต่ยิ้มแล้วพยักหน้า  โยมแดงได้ฟังนายอุดมคุยดังนั้นก็หาว่าข้าพเจ้าลำเอียง  ให้ตัวตรงแต่นายอุดมคนเดียว  นายอุดมก็ใจจืดใจดำ  ได้ตัวตรงแล้วไม่ยอมแบ่งปันศิษย์คนอื่น  นายอุดมจึงต้องอธิบายเรื่องเสียยืดยาวให้ทุกคนในอาศรมฟังว่า

            “ถึงจะบอกใคร ๆ ก็คงไม่มีใครเชื่อ  เพราะเลขที่ออกงวดนั้น  เป็นเลขตัวเดียวกันกับที่ออกมาเมื่องวดที่แล้ว  คือเป็นเลข ๒ เลข ๔ และเลข ๐ ที่เรียกกันว่า “ออกซ้ำ”  เหตุที่นายอุดมซื้อเลขซ้ำงวดที่แล้วก็เพราะ  เขาซื้อรองเท้าเบอร์ ๔๐ มาถวายพระเณร  ด้วยอยากให้ท่านใส่รองเท้าเดินไปไหนมาไหนบ้าง พอถวายรองเท้าแล้วก็แลเห็นรูปปั้นฤๅษีที่ตั้งให้บูชาอยู่นั้น  มีลูกตาขวากับใบหูขวาหายไป  เพราะถูกพระเณรเอากระป๋องบุหรี่ขว้างปาใส่  จึงคิดว่าพระเณรต้องให้เลขหวยเป็นเลข ๒๔๐ แน่ ๆ   เอาเลขนั้นไปทำเป็นเลข ๖ หาง  ซื้อไปหางละ ๒๐๐ บาท  งวดนั้นคนภูเก็ตทั้งเกาะมีผู้ถูกหวยเพียงนายอุดมคนเดียว  เพราะคนอื่นไม่มีใครซื้อเลขซ้ำอย่านั้น”

           การที่นายอุดมะถูกหวยงวดนั้นเพียงคนเดียวและเขาอ้างว่าเป็นเลขที่  “พระเณร” ให้ตรง ๆ   เป็นความเชื่อถือที่เพิ่มความงมงายแก่นายอุดมและแพร่สู่คนบ้าหวยมากขึ้น  เณรเต็มจึงกลายเป็นอาจารย์หวยที่โด่งดังดับรัศมีอาจารย์หวยทั้งหลายในเกาะภูเก็ตนั้น  ทั้งวันทั้งคืนมีคนแห่กันมาเฝ้าขอเลขหวย  แม้ข้าพเจ้าไม่บอกให้  เขาก็ดูกิริยา  จับคำพูดของข้าพเจ้า  เอาไปคิดเป็นเลขหวย  โดยถือว่ากิริยาและคำพูดของข้าพเจ้านั่นคือ  การ “บอกใบ้” หวยแก่พวกเขา   ป่วยการที่จะอธิบายแก้ตัวใด ๆ./

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, ตุลาคม, 2565, 10:33:23 PM
(https://i.ibb.co/2SVfTdC/ele6-Q2d-UMy-Um-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๖ -
            “เป็นอาจารย์ไสยศาสตร์ปลุกผี”

           ความเป็นอาจารย์ให้หวยโดยการอุปโลกน์ของนายอุดมและคนใกล้ชิดในภูเก็ต  ทำให้เณรเต็มมีชื่อเสียงโด่งดังข้ามเกาะภูเก็ตไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดพังงา  จนมี  “นายหัว”  คนหนึ่งในอำเภอท้ายเหมืองมาอ้อนวอนนิมนต์ให้ไปอยู่ในเหมืองแร่ของเขา  โดยพาชาวจังหวัดพังงายกขบวนกันมาหลายคันรถทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ยอมรับปากที่จะไป  พวกภูเก็ตรู้ข่าวว่ามีคนพังงาจะเอา  “พระเณร”  ไปไว้ในพื้นที่จังหวัดพังงาก็พากันคัดค้าน  ไม่ต้องการให้ไปจากป่าช้าซีเต๊กคาอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา  ทุกครั้งที่มีชาวพังงามาขอหวย  ชาวภูเก็ตก็จะพยายามกีดกัน  บางครั้งถึงกับโต้เถียงทะเลาะวิวาทกันจนเกือบจะถึงขั้น  “วางมวย”  กันก็มี

           ในเวลานั้นมีพระอาจารย์ให้หวยดังอยู่องค์หนึ่ง  ท่านมาอยู่ภูเก็ตก่อนเณรเต็มหลายเดือนแล้ว  เป็นพระธุดงค์จากภาคอีสาน  เข้ามาอยู่ป่าช้าจีนฮกเกี้ยนคนละทิศทางกันกับข้าพเจ้า  นายอุดมให้ข้อมูลว่าท่านชื่ออาจารย์บุญศรี  อายุอยู่ในราว ๆ กลางคน  มีนิสัยประหลาดชอบกลจนดูว่าออกจะ  “บ๊อง ๆ”  อยู่สักหน่อย   นายอุดมเคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดท่านมาก่อนแล้ว  ท่านกับข้าพเจ้าไม่เคยพบหน้าค่าตากันเลย  แต่ดูเหมือนจะมีความคุ้นเคยกันดี  เพราะญาติโยมที่มาหาข้าพเจ้าและไปหาท่าน  ได้นำเรื่องราวของ  “พระเณร”  ไปบอกเล่าให้ท่านฟัง  และนำเรื่องราวของท่านมาบอกเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอยู่เสมอ ๆ  นายอุดมบอกว่าท่านอาจารย์บุญศรีเล่นไสยศาสตร์  เลี้ยงผีทั้งกุมารทองและรักยมด้วย

           เรื่องขำขันอันเกิดจากความ  “บ๊อง ๆ”  ของอาจารย์บุญศรี คือการให้หวยเป็นเลขเด็ดที่คนภูเก็ตจำได้ไม่ลืม  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะไปถึงภูเก็ตเล็กน้อย  และเป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก

           คนภูเก็ตที่มีอายุอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นคนจีนเก่า  และมักจะอ่านเขียนหนังสือไทยไม่ได้  คนที่เข้าหาพระขอหวยกันนั้นส่วนมากก็เป็นอาม่วย (สาวแก่หรือสาวใหญ่) อาเจ๊ อาซ้อ อาซิ้ม อาม่า อาอึ้ม  พูดไทยไม่ชัด  อ่านเขียนหนังสือไทยไม่ได้  เพราะเป็น  “ลูกเจ๊กหลานจีน”  นั่นแหละครับ

           นายอุดมเล่าว่า  มีหญิงวัยกลาง ๆ คนหนึ่ง  มีชื่อแต่ข้าพเจ้าจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว  เพราะเป็นชื่อภาษาจีน  เรียกยาก  จำยาก  จึงขอเรียกแกว่า  “อาซิ้ม”  ก็แล้วกัน  อาซิ้มเป็นแม่หม้าย  มีความเคารพนับถือพระอาจารย์บุญศรีมาก  เชื่อมั่นว่าท่านให้หวยแม่นยำ (เหมือนนายอุดมเชื่อมั่นในตัวข้าพเจ้านั่นแหละ)   แกชอบไปหาอาจารย์บุญศรีในยามปลอดคน  และพยายามอ้อนวอนขอเลขเด็ด  โดยไม่ให้ใครรู้เห็นด้วย   แล้ววันหนึ่ง “อาซิ้ม” ก็ได้เลขเด็ดจากพระอาจารย์บุญศรีสมปรารถนา  พระอาจารย์บุญศรีท่านแสดงความ  “บ๊อง”  ของท่านออกมาตอนที่ให้เลขเด็ด “อาซิ้ม” นี่แหละครับ

           ไม่น่าเชื่อนะครับว่าท่านอาจารย์บุญศรีจะกล้าเขียนเลขเด็ดให้อาซิ้มตรง ๆ อย่างนั้น   ท่านไม่ได้เขียนเป็นตัวเลข  แต่เขียนเป็นอักษรไทยว่า  “ขอเย ๘ ดที”  เป็นลายมือหวัดแกมบรรจง  อาซิ้มอ่านหนังสือไม่ออก  จึงถือแผ่นกระดาษที่อาจารย์บุญศรีเขียนให้นั้นไปให้คนที่อ่านหนังสือออกช่วยอ่านให้  ผู้หญิงที่อ่านหนังสือออกทุกคน คลี่กระดาษออกเห็นข้อความแล้วก็ยกมือปิดปากเบือนหน้าหนีพร้อมยื่นกระดาษคืนอาซิ้ม  ไม่มีใครกล้าอ่านออกเสียงให้ฟัง  อาซิ้มโกรธทุกคนที่ไม่ยอมอ่านให้ฟัง  เข้าใจว่าทุกคนอ่านรู้แล้วไม่ยอมบอก  แกก็เลยคิดอ่านตีความเอาเองด้วยวิญญาณของคนบ้าหวย

           เลขท้าย ๓ ตัวของรางวัลที่ ๑ งวดนั้นออกตรงตามที่อาซิ้มคิดตีความเอง  มีเลข ๑ เลข ๖ เลข ๘ เรียงตัวอย่างไรจำไม่ได้  อาซิ้มถูกหลายหมื่นบาทเลย  อักษรไทยที่พระอาจารย์บุญศรีเขียนให้  มี สระเอ  ย ยักษ์  ไม้ไต่คู้  ด เด็กสะกดนั้น   แกคิดออกมาว่า   “สระเอ คือเลข ๖“   “ไม้ไต่คู้คือเลข ๘“   “ด เด็กคือ เลข ๑“   ดวงของคนมีโชคลาภดลบันดาลให้อาซิ้มคิดเห็นเลขเป็นอย่างนั้น  หลังจากรับเงินจากเจ้ามือแล้ว  แกก็ซื้อสิ่งของหลายอย่างไปถวายพระอาจารย์บุญศรีด้วยความเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง

           นายอุดมเล่าว่า  พระอาจารย์บุญศรียังมีพฤติกรรมบ๊อง ๆ หรือพิเรนทร์กว่านั้นอีกหลายอย่าง   เช่น พูดหยอกล้อผู้หญิงด้วยถ้อยคำอันไม่บังควร  ซึ่งภาษาวินัยของพระเรียกว่า  “พูดพาดพิงเมถุนธรรม”  คือการ  “พูดเกี้ยวหญิง”  นั่นเอง   เมื่อมีผู้หญิงรูปร่างหน้าตาดีเข้าไปหาขอโชคลาภ  ท่านก็จะหาเศษหาเลย  เริ่มต้นด้วยการนั่งทำสมาธิหลับตานิ่ง  ในทำนองว่านั่งทางในตรวจดูโชคชะตา  ค่อย ๆ ลืมตาแล้วแสดงสีหน้าอาการสงสัย   “เอ...แปลก!  เกิดวันเดือนปีอะไร  จำได้ไหม?”   เมื่อเขาบอกให้แล้ว  ท่านก็นั่งนับนิ้วบ้าง  เขียนอะไรขยุกขยิกลงกระดาษบ้าง  แล้วกล่าวคำทำนายทายทักเกี่ยวแก่ชันษา  นิสัยใจคอ  วาสนา  คู่ครองของหญิงคนนั้นด้วยคำพูดแบบ   “สองแง่สองง่าม”  เป็นการ   “หยิกแกมหยอก”  หรือ  “หมาหยอกไก่”   ผู้หญิงนั้น ๆ รู้ทันบ้าง รู้ไม่ทันบ้าง  ท่านก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากด้วยความชอบใจ  สนุกสนานอยู่กับการ  “สำเร็จความใคร่ด้วยปาก” (ไม่ใช่กายกรรมทางเพศนะครับ)

           บางนาง (สาว) ถูกท่านหลอกจับมือถือแขนเพราะเธอจำวันเดือนปีเกิดไม่ได้  จึงให้ท่านดูลายมือ  แม้บางนาง (สาว) จำวันเดือนปีเกิดได้  ก็ไม่วายถูกท่านหลอกจับมือ อ้างว่าดูตัวเลขแล้วไม่จะแจ้ง ต้องดูลายมือประกอบด้วย  แรก ๆ ท่านก็เอาดินสอหรือปากกาเขี่ยขีดลายมือบนฝ่ามือเบา ๆ จ้ำจี้เนินต่าง ๆ บนฝ่ามือและลายเส้นสำคัญ ๆ บนฝ่ามือนั้น  หนักเข้าก็ใช้มือจับฝ่ามือบีบดูความอ่อนแข็ง  แล้วทำนายว่าถ้ามือแข็งกระด้างดวงชะตาจะเป็นอย่างไร  มืออ่อนนุ่มนิ่มดวงชะตาจะเป็นอย่างไร  บางทีท่านก็จับกุมมือหญิงนั้นนิ่งนานจนเจ้าของฝ่ามือกระสับกระส่ายเลยทีเดียว

           บางนาง (สาว) ก็ถูกพระอาจารย์บุญศรีหลอกดูปทุมถันได้โดยง่าย  วิธีการหลอกดูนมสาว ๆ ของท่านก็คือ  เอาวันเดือนปีเกิดของนาง (สาว) คนนั้นมาลงเป็นตัวเลข  แล้วก็ทำนายทายทักชะตาราศีของเจ้าหล่อน  เจ้าชะตาฟังเพลิน ๆ ท่านก็เข้าสู่ตรงจุดที่ต้องการ  โดยบอกว่ามีไฝหรือปาน  ขี้แมลงวัน  อยู่ที่เต้านม  เท่านั้นแหละครับเจ้าหล่อนเกิดอุทัจจ์จนหน้าแดงเลยเชียว  ถ้ามีจริงตามคำทำนายเธอก็จะถามว่า  มีคุณมีโทษอย่างไรหรือไม่  ท่านก็จะบอกว่าขอให้เปิดเสื้อให้ดูว่าไฝหรือปาน-ขี้แมลงวันที่เต้านมนั้นมีลักษณะอย่างไร  เมื่อเห็นชัดแล้วจึงจะบอกได้ว่ามีคุณหรือมีโทษอย่างไรบ้าง  เจ้าหล่อนเกิดศรัทธาตั้งแต่ท่านทายดะจนถูกต้องแล้ว  จึงไม่ข้องใจอะไร  ความอยากรู้คุณหรือโทษของตำหนินั้นทำให้ลืมความอับอาย  รีบเปิดนมให้ดูทันที  พระอาจารย์ก็ได้ดูนมนาง (สาว) จนสมความอยากตามความพิเรนทร์ของท่าน

           สำหรับนาง (สาว) ที่ไม่มีไฝ  ปาน  หรือขี้แมลงวันที่เต้านมก็จะเถียงว่า  ไม่จริง พระอาจารย์ทำนายไม่ถูก  ท่านก็ยืนยันว่ามีแน่ ๆ  เถียงกันไป ๆ มา ๆ จนถึงขั้นท้าพิสูจน์ความจริง  ทิฐิมานะความต้องการเอาชนะคะคานมีมากจนลืมความอาย  เจ้าหล่อนถึงกับกล้าเปิดเสื้อให้พระอาจารย์ดูนมจนสมใจพระ (พิเรนทร์)  เมื่อเห็นว่าไม่มีไฝ ปาน ขี้แมลงวันใด ๆ ท่านก็ทำท่างงงัน  นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วถามย้ำว่า  เธอเกิดวันเดือนปีนี้แน่หรือ  เธอยืนยันว่าแน่นอน  ท่านก็นั่งนับนิ้ว  ขีด ๆ เขียน ๆ เลขลงในกระดาษใหม่  แล้วก็ทำท่าชะงักร้องเสียงดังว่า   “อ้อ...!  ฉันบวกเลขผิดตรงนี้เอง  ขอโทษทีนะ”   หญิงผู้นั้นรู้สึกตัวว่าเสียท่าเปิดเสื้อให้พระดูดมฟรี ๆ ไปเสียแล้ว  ก็ต้องเลยตามเลย

           เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่รู้ ๆ เห็น ๆ กันทั่วไปอย่างหนึ่ง  คือพระอาจารย์หรือเกจิอาจารย์ทั้งหลายทำผิดวินัยอย่างท่านอาจารย์บุญศรี  กลับไม่มีใครถือสาหาความ  ติฉินนินทา  แต่ถ้าพระภิกษุธรรมดาทั่วไป  จับต้องถูกเนื้อตัวหญิง  หรือพูดเกี้ยวพาราศีหญิงแม้ไม่ถึงขั้น  “พาดพิงเมถุนธรรม”  จะต้องถูกติเตียนนินทา  กล่าวหาว่าศีลขาดจนไม่เป็นพระเป็นเจ้าไปเลยทีเดียว

           ในที่สุดพระอาจารย์บุญศรีผู้ชอบเล่นพิเรนทร์กับสตรีเพศดังกล่าวก็อยู่ในเพศบรรพชิตไม่ได้  ในขณะที่เณรเต็มกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังล้ำหน้าพระอาจารย์บุญศรีไปได้เดือนเศษ ๆ  ท่านก็พ่ายแพ้แก่  “ธิดาพญามาร”  ถูกนางตัณหา  นางราคา  นางอรดี  จับสึกไปเป็นสามีหญิงหม้ายนางหนึ่งในเมืองภูเก็ตนั่นเอง  นายบุญศรีทำตัวเป็นเด็กเสิร์ฟกาแฟในร้านที่ภรรยาเขาเป็นเจ้าของและคนชงกาแฟขาย  ไม่มีวี่แววความเป็นพระอาจารย์หลงเหลืออยู่เลย  ข้าพเจ้าถามนายอุดมว่า  อาจารย์บุญศรีไม่ตั้งตัวเป็นหมอดูและบอกใบ้ให้หวยหรือ ?

            “ขืนทำอย่างนั้นก็ถูกเมียฟันหัวแบะน่ะซีเล่า  พระเณร”    เขาตอบด้วยเสียงกลั้วหัวเราะอย่างขบขันเสียเต็มประดา/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, ตุลาคม, 2565, 10:23:09 PM
(https://i.ibb.co/hfLPCwy/Q-2f-X51z-400x400-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๗ -
           ในช่วงเวลานั้นข้าพเจ้าตกอยู่ในแวดวงหรือสังคมของคนงมงายในศาสตร์แห่งความหลับ (ไสยศาสตร์)    การสนทนาปราศรัยกับใคร ๆ ก็มีแต่เรื่องของความขลังความศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์นานา  ประพฤติปฏิบัติศีลพรตด้วยมุ่งหวังความขลังความศักดิ์สิทธิ์  ยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตว่าเป็นความขลังความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น (ผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงให้ละหรือปล่อยวาง) จนข้าพเจ้าลืมไปว่าตัวเองเป็นสามเณร  เหล่ากอแห่งสมณะสาวกของพระพุทธเจ้า  กลับเคลิบเคลิ้มไปในลัทธิฤๅษีชีไพรที่มุ่งมั่นอยู่ในความขลังความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น

           นายอุดมมี  “รัก-ยม”  หรือ  “เจ้ารักเจ้ายม”  อยู่คู่หนึ่ง  เขาบอกว่าพระธุดงค์ให้ไว้  เคยใช้แล้วไม่ได้ผลจึงเก็บไว้เฉย ๆ เห็นว่าไร้ประโยชน์จึงเอามาให้ข้าพเจ้าเลี้ยงเหมือนอาจารย์บุญศรี   ข้าพเจ้าก็เคยเรียนรู้เรื่องรัก-ยมมาบ้างเหมือนกัน  คิดว่าถ้าเลี้ยงรัก-ยม  “ขึ้น”  ก็จะสามารถใช้ให้เจ้ารักเจ้ายมทำอะไร ๆ ให้ได้ตามต้องการ  เช่น  ให้ไปบังคับหวยใต้ดินออกมาตามต้องการก็ได้

           การทำรัก-ยมนี่ไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ นะครับ  ตามตำราท่านว่า  ให้เอารากไม้มะยมตายพราย (มะยมเปรี้ยวมะยมหวานก็ได้ที่ยืนต้นตายโดยไม่ล้ม)  เลือกเอาเฉพาะรากที่เลื้อยหรือชี้ไปทางทิศตะวันออกเท่านั้น  กับรากไม้รักซ้อนตายพราย เฉพาะรากที่เลื้อยหรือชี้ไปทางทิศตะวันออกเช่นกัน  พบที่ไหนให้เอาหมากพลูดอกไม้ธูปเทียนไปทำพลีกรรม  พูดเองเออเองแล้วกลั้นใจตัดรากที่ต้องการเอามาแกะทำเป็นรูปกุมารหรือเด็กหัวจุก  ตั้งท่าชกมวยหรือท่าอะไรก็ได้  เสร็จแล้วทำการปลุกเสกด้วยบทสวดพุทธมนต์  เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยอาการ ๓๒ เริ่มตั้งแต่    “อัตถิอิมัสสะหมิง กาเย เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ.....”  ไปจนจบลงที่   “มัตถะเกมัตถะรุงคันติ”   แล้วสวดพระอภิธรรมบท   “ปัญจักขันธา...”  อีก ๗ จบ   แล้วบรรจุด้วยหัวใจพระอภิธรรม  คือ   “จิเจรุนิ”  ที่ตัวกุมารรัก-ยมแล้วปลุกด้วยคาถาว่า   “ จิเจรุนิ จิตตัง เจตะสิกังรูปัง กุมาโรวา เจ้ารักเจ้ายม อาคัจฉาหิ เอหิเอหิ นะมะพะทะ”   เสร็จแล้วเอากุมารทั้งสองใส่ลงในขันสำริด  เทน้ำมันหอมใส่ลงไป  จบลงที่การปลุกด้วยคาถาว่า   “จะภะกะสะ”  เป็นอันเสร็จพิธีการทำรัก-ยม

           จะภะกะสะ คาถาบทนี้บางอาจารย์ท่านเรียกว่า  “หัวใจกาสัก”  บางอาจารย์เรียกว่า  “ธาตุกรณีย์”  ใช้เสกได้สารพัดอย่าง  สำหรับการปลุกเสก  “รัก-ยม”  ด้วยคาถาบทนี้ท่านให้ว่าด้วยการหลับตาบริกรรมจนได้นิมิตดี  คือเห็นเป็นภาพกุมารทั้งสองผุดลุกขึ้นยืนเล่นหยอกล้อกันแล้วก็เป็นอันใช้ได้   เมื่อใช้ได้แล้วก็เอากุมารทั้งสองพร้อมน้ำหอมในขันนั้นใส่ขวดเล็ก ๆ พกติดตัวไปไหนมาไหนเป็นเครื่องรางป้องกันภยันตรายนานา  หรือใช้ปลายนิ้วชี้แตะน้ำมันในขวดทาหน้าทาตาจะเป็นเสน่ห์มหานิยม  การเดินทางไปไหน ๆ ให้เรียกกุมารนั้นด้วยคาถาว่า   “เอหิตาตะปิยะปุตตะ  ปุเรถะมะมะปาระมิงหัททะยังเมสิญเจถะ  กะโรถะ วะจะนัง มะมะ”   ว่า ๓ จบหรือ ๗ จบก็ได้  แล้วบอกความประสงค์ของเรา  อธิษฐานแล้วพกติดตัวไปท่านว่าดีนักแล

           เจ้ารักเจ้ายมที่นายอุดมนำมาให้นั้น  เจ้าของเดิมทำถูกต้องตามตำราดังที่ว่าหรือเปล่าก็ไม่รู้  รูปกุมารทั้งสองไม่ได้ตั้งท่าชกมวย  แต่เป็นท่ากอดกัน  น้ำมันหอมในขวดนั้นเป็นน้ำมันจันทน์สีเหลือง (คงจะเป็นหางน้ำมันจันทน์) ที่หน้าหิ้งบูชาของข้าพเจ้านอกจากจะมีกระถางธูป  เชิงเทียน  แจกันดอกไม้เป็นเครื่องบูชาแล้ว  ก็เพิ่มอาหารสำหรับเจ้ารักเจ้ายมอีกถาดหนึ่งด้วย  ก็ญาติโยมหรือศิษย์ของข้าพเจ้านั่นแหละเขาจัดมา  “สังเวย ” เจ้ารักเจ้ายม

           ข้าพเจ้าปลุกเสกเจ้ารักเจ้ายมยังไง ๆ ก็ไม่สามารถทำให้มันตื่นขึ้นมาทำอะไร ๆ ให้ได้  เรียกว่าเณรเต็ม  “เลี้ยงรัก-ยม” ไม่ขึ้นก็แล้วกัน  แต่มันก็ไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียวหรอกครับ  มันตั้งอยู่ข้างหิ้งบูชาคนละข้างกับรูปปั้นฤๅษี  เพิ่มความขรึมจนดูขลังให้แก่บรรยากาศภายในอาศรมไม่น้อยเลย  มีหลายคนที่มาหา  “พระเณร”  เมื่อกราบไหว้ที่หิ้งบูชาแล้วก็มักจะเพ่งเล็งดูขี้ธูปที่กระถาง  เอาไปคิดเป็นเลขหวย  บางคนก็คิดถูกเลขหวยในงวดนั้น  บางคนก็เฉียดฉิวแล้วโทษตัวเองว่าคิดผิดไปเอง  พวกเขาเชื่อกันว่าเจ้ารักเจ้ายมให้หวยแก่เขา  เป็นอย่างนั้นไป   ความคิดที่จะใช้ผีไปบังคับ( จับยัด) ให้ตัวเลขหวยเถื่อนที่ออกกันเป็นประจำทุกวันที่เกาะภูเก็ต  ให้มันออกตามต้องการ  เป็นความคิดรุนแรงพอที่จะทำให้เณรเต็มทำอะไรบ้า ๆ เข้าจนได้แหละครับ

           เจ้าหวย ๓ ตัว  หรือ  “ชิ้งชั้ง”  กับเลข ๒ ตัว หรือ  “ทันใจราษฎร์”  ที่เจ้ามือหวยออกกันทุกวันนั้น  ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าปลุกเสกผีขึ้นมาใช้ได้สักตัวหนึ่ง   ลูกดอกที่ใคร ๆ เป่าใส่แป้นตัวเลขนั้นก็จะให้ผีคอยจับพุ่งปักตรงตัวเลขที่ต้องการได้แน่นอน   ทำได้อย่างที่คิดแล้วคนที่มาขอหวยก็จะถูกหวยร่ำรวยไปตาม ๆ กัน  “พระเณร”  ก็จะกลายเป็นอาจารย์หวยที่วิเศษกว่าใคร ๆ  คิดเพียงนั้นจริง  หาได้คิดเลยไปว่าตนเองจะร่ำรวยหรือไม่

           ทำอย่างไรจึงจะได้ผีมาเลี้ยงเล่าครับ?  กุมารทองหรือ?   ทำไม่ได้แน่  เพราะจะต้องได้ผู้หญิงที่  “ตายทั้งกรม”  คือตายในขณะที่เธอมีเด็กอยู่ในท้อง  หรือ  มีลูกคาท้องอยู่  ถ้าตายวันเสาร์หรือวันอังคารด้วยยิ่งดี   แต่จะหาที่ไหนเล่า?    กรรมวิธีในการทำกุมารทองก็ยุ่งยากมากมาย  เณรเต็มทำกุมารทองไม่ได้เด็ดขาด!  เมื่อทำกุมารทองไม่ได้  ก็เห็นมีอยู่เพียงอย่างเดียวที่จะได้ผีมาเลี้ยงไว้ใช้งานตามใจหวัง  คือ   “โหงพราย”

           ป่าช้าที่ข้าพเจ้าอยู่ขณะนั้นเหมาะสำหรับที่จะทำ  “โหงพราย”  มาก  เพราะเป็นป่าช้าที่มีศพมาฝังเดือนละหลายศพ   ศพคนจีนที่ยากจนส่วนมากเขาจะมอบให้สัปเหร่อนำมาฝังโดยมีญาติติดตามมาบ้างไม่มีบ้าง (ศพอนาถา)  สัปเหร่อของป่าช้านี้ก็เป็นคนจีนแก่ ๆ มีไม่กี่คน   และทุกคนก็รู้จักและเคารพนับถือข้าพเจ้า  เพราะเขามาขอหวยประจำอยู่แล้ว   บางวันสัปเหร่อเอาศพใส่รถที่มีล้อเหมือนเกวียนลากเข้าป่าช้ากันอย่างทุลักทุเล  ข้าพเจ้ายังเคยช่วยเขาลากรถและขุดหลุมฝังศพด้วยหลายศพ  เพราะเชื่อว่าการช่วยจัดงานศพไม่มีญาติเป็นบุญกุศลอย่างมหาศาล  ดังที่พรรณนาไว้ในคัมภีร์เทศน์อานิสงส์  “แซงแซว”  นั่นแหละครับ

           ข้าพเจ้าตกลงใจที่จะทำ  “โหงพราย”  จากศพคนจีนยากจนที่เขามอบให้สัปเหร่อใส่รถลากมาฝังโดยไม่มีญาติติดตาม   บอกสัปเหร่อว่าเมื่อเอาศพลงหลุมแล้วอย่ากลบดินปิดหลุม  เพื่อจะได้ให้  “พระเณร”  ทำพิธีปลุกเสก  “โหงพราย”  อย่างสะดวก    เมื่อได้ “โหงพราย” แล้วก็จะให้มันช่วยเอาเลขหวยมาให้  สัปเหร่อก็ชอบใจ ทำตามที่ข้าพเจ้าสั่งอย่างไม่ลังเล

           ศพแรกที่ใช้ทำ  “โหงพราย”  เป็นศพผู้หญิงอายุ ๕๐ ปีเศษ  ข้าพเจ้าเริ่มทำพิธีด้วยการเอาสายสิญจน์วงรอบหลุมศพ  มีเครื่องบัดพลีพร้อมสรรพ (นายอุดมจัดมาให้) จุดเทียนดอกใหญ่ตั้งไว้ทางหัวนอน ๑ ดอก  ทางปลายเท้าศพ ๑ ดอก  ข้าพเจ้านั่งขัดสมาธิทางปลายเท้าศพ   แล้วก็เสกคาถาว่า  “จิเจรุนิ จิตตัง เจตะสิกัง รูปัง นิพพานัง มะพะทะทะนะ ปะถะวีธาตุ ทีฆังวา ภะกะสะจะ ชีวังอุตเตติ”  แล้วภาวนาคาถาปลุกว่า  “โสสะอะนิ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆๆๆๆ......”  ท่านให้ภาวนาเรื่อยไปจนกว่าผีจะลุกขึ้นมา

           ตามตำราการปลุกเสกผี  “โหงพราย”  กล่าวไว้ว่า   ซากศพถูกปลุกจนลุกขึ้นมาแล้ว  มันจะลุกยืนขึ้นทำตัวสูงขนาดต้นตาลอายุ ๑๙ ปี  แล้วยืดมือยาวลงมาลูบหัวหน้าตาผู้ปลุกเสกมัน  ไม่ใช่เท่านั้น  มันยังแลบลิ้นยาวเลียหน้าตาอาจารย์ผู้ปลุกเสกมันอีกด้วย  อาจารย์จะต้องภาวนาคาถาบังคับให้มันย่อตัวลงมาคุกเข่าตรงหน้า  แล้วยื่นคางให้อาจารย์เอาไฟเทียนลนคางจนน้ำมันไหลออกจากคางลงในภาชนะที่รองรับ  จนน้ำมันหยุดไหลแล้วจึงเอาน้ำมันนั้นไปผสม  “ขี้ผึ้งปากผี”  เคี่ยวผสมให้เข้ากันจนแห้ง  แล้วปั้นเป็นหุ่นโหงพรายต่อไป   อาจารย์องค์ไหนจิตใจไม่มั่นคงพอแล้ว  เมื่อถูกผีแลบลิ้นเลียหน้าตาจนเกิดความกลัวลุกหนี  พิธีก็แตกจนกลายเป็นบ้าไปเลย

           ข้าพเจ้าทำพิธีปลุกเสกศพแรกตั้งแต่ ๓ ทุ่มถึงเที่ยงคืน  ผีมันไม่ยอมลุกขึ้น  จึงเอาผ้าปิดปากหลุมไว้แล้วกลับไปนอน  รุ่งอีกวันหนึ่งก็ทำพิธีปลุกเสกอีก  มันก็ไม่ยอมลุกขึ้น  คืนที่ ๓ ทำพิธีปลุกเสกอีก   คราวนี้มันขึ้นครับ  แต่ไม่ใช่ซากศพลุกขึ้นยืนตามตำรา  หากแต่มันเน่าอืดขึ้นพองและส่งกลิ่นเหม็นจนทนไม่ไหว  จึงต้องเลิกปลุกเสก  เอาดินกลบหลุมเสีย  จากศพแรกก็มีอีกต่อมาและต่อมาถึงประมาณ ๑๐ ศพ  มีทั้งศพหญิงศพชาย  เด็กผู้ใหญ่  พอเน่าเหม็นจนทนกลิ่นไม่ไหวก็กลบหลุมทิ้ง  ไม่เคยปรากฏเหตุอัศจรรย์อะไรให้ข้าพเจ้าเห็นเลย   ความหวังที่จะทำ  “โหงพราย”  ไว้ใช้จึงหมดไปและเลิกล้มความตั้งใจในที่สุด  ลูกศิษย์ที่รู้เรื่องการทำ  “โหงพราย”  ของ  “พระเณร”  ตอนแรกก็พากันหวังว่าจะได้เลขเด็ดจากอาจารย์จึงจ้องที่จะขอ  ครั้นรู้ว่าข้าพเจ้าเลิกทำพิธีปลุกผีทำโหงพรายเสียแล้ว  ก็รู้สึกผิดหวังไปตาม ๆ กัน

           การที่ข้าพเจ้าปลุกผีไม่ขึ้น  ก็อาจจะเป็นด้วยจิตของข้าพเจ้าไม่เป็นสมาธิ  เหตุที่จิตไม่เป็นสมาธิก็เป็นเพราะศีลคือการสำรวมกายวาจาใจไม่ดีพอ  สมาธิจิตที่ตั้งมั่นไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ  ตามธรรมชาติของจิตคนเรานี่มัน  “ดิ้นรน  กวัดแกว่ง  ห้ามยาก  รักษายาก”   พระอาจารย์แต่โบราณท่านว่า  ใครทำจิตให้เป็นสมาธิได้เพียง   “ชั่วช้างกระดิกหู”   ก็ได้บุญกุศลมหาศาลแล้ว   สมาธิที่จะเกิดกับจิตนั้นมี ๒ ระดับ  คือ อุปจารสมาธิ  ได้แก่สมาธิเป็นแต่เฉียด ๆ เป็นสมาธิที่ยังไม่แน่นอน   กับ อัปปนาสมาธิ  เป็นสมาธิที่แน่วแน่มั่นคง  มีอารมณ์เป็นอันเดียว   เวทย์มนต์คาถาจะขลังก็ต่อเมื่อผู้บริกรรมคาถามีจิตเป็นสมาธิมั่นคง  ถ้ามีสมาธิเป็นแต่เฉียด ๆ เวทย์มนต์คาถาก็จะขลังน้อย  สมาธิแน่วแน่เวทย์มนต์คาถาก็จะขลังมาก  ความสำคัญจึงขึ้นอยู่ที่สมาธิจิตครับ

           ในขณะทำการปลุกเสกผีนั้น  จิตของข้าพเจ้าไม่เป็นสมาธิ  เพราะใจมันอดคิดวิตกวิจารณ์ไม่ได้ว่ า ถ้าผีมันลุกขึ้นมาเอามือลูบหัวแลบลิ้นเลียใบหน้าแล้ว  เสกบังคับให้มันนั่งลงคุกเข้าไม่ได้  จะทำอย่างไร  จะวิ่งหนีรึ ?  หนีไม่พ้นแน่  จะต่อยจะเตะกับมันรึ?  ก็สู้มันไม่ได้อีกน่ะแหละ  เพราะมันเป็นผี  ไม่ใช่คนเหมือนเรา  ความคิดวิตกกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นจึงทำจิตให้เป็นสมาธิไม่ได้  เมื่อจิตไม่ตั้งอยู่ในองค์สมาธิ  คาถาที่ภาวนาปลุกเสกผีก็เลยไม่ขลัง  เรื่องของความขลังความศักดิ์สิทธิ์จากเวทย์มนต์คาถานี่ไม่ใช่จะเกิดมีขึ้นได้เฉพาะในทางพุทธศาสนาเท่านั้น  ทุกศาสนาทุกลัทธิย่อมทำให้เกิดมีขึ้นได้ทั้งนั้น  พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเรื่องของเดรัจฉานวิชา  คือวิชาที่ขวางทางไปสู่ความพ้นทุกข์  ทำให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร  เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด   คนที่มีศีลและไม่มีศีลก็สามารถทำเวทย์มนต์คาถาให้ขลังได้  เพราะความสำคัญขึ้นอยู่กับการทำใจให้เป็นสมาธิ  คนขี้เหล้าขี้ยา  คนชั่วช้าสามานย์ใด ๆ ถ้าทำใจเป็นสมาธิได้  ก็ทำคาถาของเขาให้ขลังได้ทั้งนั้น

           ชาวพุทธที่ใฝ่ใจในประวัติของพระพุทธเจ้าคงจำได้ว่า  เมื่อสิทธัตถะมหาบุรุษออกบวชใหม่ ๆ นั้น  ทรงไปสมัครเป็นศิษย์อยู่ในสำนักฤๅษีสองตน  คือ อาฬารดาบส  กับ อุทกดาบส  ทรงเล่าเรียนเวทย์มนต์คาถาสารพัด  ทำใจเป็นสมาธิจนได้  “ฌานสมาบัติ”  สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้  เดินบนผิวน้ำได้  ดำดินได้  หายตัวได้  ร่างกายอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า  เรียกว่าพระองค์เรียนวิชาไสยศาสตร์จนจบขั้นสุดยอดของโลกียวิสัยไม่มีใครเทียบได้ในสมัยนั้น  แต่พระองค์ไม่ทรงพอพระทัยด้วยพิจารณาเห็นว่าตามที่เรียนรู้ได้ทั้งหมดนั้นไม่พาตนให้พ้นทุกข์ได้  จึงลาอาจารย์ทั้งสองออกไปแสวงหา  “โมกษธรรม”  คือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง  ทรงบำเพ็ญความเพียรทางใจจนสำเร็จ  ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลต่อมา

           นักปราชญ์ท่านว่าเวทย์มนต์คาถาอาคมทั้งหลายเกิดนั้นขึ้นจาก  “ความกลัว"  มนุษย์มีความกลัวสิงอยู่ในสันดานด้วยกันทุกคน   กลัวไม่มีกินไม่มีใช้  กลัวความทุกข์ยากลำบากกายใจ  กลัวถูกเกลียดชังนินทา  กลัวเสื่อมจากลาภยศเกียรติศักดิ์สรรเสริญ  กลัวเจ็บไข้ได้ป่วย  กลัวผู้มีอำนาจ  กลัวพระเจ้า  กลัวความไม่มี  กลัวความไม่ได้เป็น   กลัวสูญเสียความมีความเป็น  กลัวการพลัดพราก  สารพัดที่จะกลัว    เมื่อเกิดความกลัวขึ้นดังกล่าวแล้วนั้น  ก็หาวิธีการแก้ความกลัว  สิ่งที่แก้ความกลัวดีที่สุดก็คือ  คำขอ  วิงวอน  อ้อนวอน  และคำสาปแช่ง  คำอ้อนวอนและสาปแช่งนั้น ๆ จึงกลายเป็นเวทย์มนต์คาถาอาคมไปในที่สุด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, ตุลาคม, 2565, 10:37:21 PM
(https://i.ibb.co/1XLWBrY/qayzdpl2-V.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๘ -
           คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อกันว่า  คนจะมีสุขมีทุกข์   มีลาภเสื่อมลาภ  มียศเสื่อมยศ  ได้รับการสรรเสริญ  ถูกนินทา  มีคนรักคนชัง  เจ็บไข้ได้ป่วย  ก็เพราะเหตุปัจจัยภายนอก  คือพระเจ้า  พระเป็นเจ้า  เทพไท้เทวา  ภูตผีปิศาจ  และผู้มีฤทธิ์อื่น ๆ ดลบันดาลให้เป็นไป  มีคนส่วนน้อยที่เชื่อว่าสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการกระทำของตนเอง  พวกที่เชื่อว่าสิ่งดังกล่าวเกิดเพราะเหตุปัจจัยภายนอกจึงเกิดความเกรงกลัวและเคารพนับถือบูชาสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นผู้ดลบันดาลสิ่งนั้น ๆ ให้ตน  คิดประดิษฐ์ถ้อยคำสรรเสริญ อ้อนวอนสิ่งที่คนนับถือนั้น  เป็นการเอาอกเอาใจสิ่งที่ตนเคารพนับถือเพื่อให้ดลบันดาลสิ่งที่ตนปรารถนาให้ได้  อ้อนวอนร้องขอความเมตตาสงสารช่วยเหลือจากสิ่งที่ตนเชื่อว่าจะสามารถช่วยตนได้  คิดคำข่มขู่สาปแช่งสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นโทษแก่ตนและสิ่งที่ตนชิงชัง  ส่วนพวกที่คิดเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการกระทำของตนเอง  ก็คิดหาคำกล่าวยกย่อง  ข่มขู่  บังคับเทวดา  ภูตผีปิศาจ  ให้ทำอะไร ๆ เพื่อตนเอง  เช่น  ปลุกเสกและเลี้ยงรัก-ยม โหงพราย  และผีอื่น ๆ ไว้เป็นบริวารรับใช้เอง

           ข้าพเจ้าเรียนเวทย์มนต์คาถาได้มาก  เฉพาะ “หัวใจ ๑๐๘”  นั้นท่องได้เกือบหมด  คำว่า “หัวใจ” ได้แก่ศูนย์รวมหรือศูนย์กลาง  ในเรื่องของเวทย์มนต์คาถาก็หมายถึงคำย่อความสำคัญของคาถา  การปลุกเสกพระพิมพ์และเครื่องรางของขลังนานาให้เกิดความขลังในทางโชคลาภ  ซื้อง่ายขายคล่องนั้นท่านนิยมใช้คาถาว่า  “อุ อา กะ สะ”  ซึ่งท่านเรียกว่า  “หัวใจเศรษฐี”  ทั้ง ๔ คำนี้   “อุ” ย่อมาจากคำเต็มว่า “อุฏฐานสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรลุกขึ้นทำงาน”   “อา” ย่อมาจากคำเต็มว่า  “อารักขสัมปทา = ถึงพร้อมด้วยความรู้จักรักษาทรัพย์ที่  หามาได้นั้น”    “กะ” ย่อมาจากคำว่า  “กัลยาณมิตตา = ถึงพร้อมด้วยการคบเพื่อนที่ดีงาม  ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร”   “สะ” ย่อมาจากคำเต็มว่า  “สมชีวิตา = ถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตดีงาม  ไม่ใช่จ่ายฟุ่มเฟือยและไม่ตระหนี่จนเกินไป”    หรือไม่ก็ใช้คาถาว่า  “นะชาลีติ”  ซึ่งเรียกว่า  “หัวใจพระสิวลี”  ก็ได้   ถ้าหากพูดคุยอวดภูมิรู้กันว่าใครท่องได้คาถาอาคมมากน้อยกว่ากันแล้ว  เณรเต็มจะอยู่ในระดับแนวหน้าที่ว่าคาถาได้มาก  แต่ถ้าถึงคราวใช้คาถาอาคมให้เกิดความขังความศักดิ์สิทธิ์กันแล้ว  กลับไปอยู่ในระดับท้ายสุด  เพราะใช้คาถาอาคมไม่ขลัง  คือไม่ได้ผล  สู้คนอื่นไม่ได้  บางคนเขามีคาถาใช้อยู่เพียงบทเดียว  ก็ใช้ได้ผลดีมาก  เพราะเขาเป็นคนประเภท “เล่นของขึ้น”  แต่ข้าพเจ้า  “เล่นของไม่ขึ้น”  ครับ

           ไสยเวทย์  หรือเวทย์มนต์  คาถาอาคม นี้   ผู้รู้ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ  “คุณพระ, คุณเจ้า, คุณผี”

            “คุณพระ” นั้น  ท่านจำกัดลงไปว่า  หมายถึงพระสูตรและปาฐะต่างๆที่เป็นพุทธพจน์และอนุพจน์  รวมไปถึงเถรภาษิต  เทวดาภาษิต  อิสีภาษิตต่าง ๆ ด้วย  ตัวอย่างเวทย์มนต์คาถาที่เป็นคุณพระ เช่น   พุทธัง สะระณังคัจฉามิ   ธัมมังสะระณังคัจฉามิ  สังฆังสะระณังคัจฉามิ  เป็นต้น   พูดง่าย ๆ ก็คือเวทย์มนต์ที่เป็น  “คุณพระ”  ได้แก่การยกเอาคำสั่งคำสอนในทางพรพุทธศาสนาที่เป็นภาษาบาลีโดยย่อมาเป็นองค์ภาวนา  เช่น  “สุ จิ ปุ ลิ” (หัวใจนักปราชญ์)   “จะ ภะ กะ สะ” (หัวใจกรณียเมตตสูตรฺ หรือ ธาตุกรณีย์)  บางท่านก็จะว่าบทเต็ม ๆ โดยไม่ย่อเป็นหัวใจมาเป็นองค์ภาวนา เช่น  สวดบทพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ”  เป็นต้น

            “คุณเจ้า”  คือคาถาที่เป็นคำสวดอ้อนวอนพระเจ้า  พระเป็นเจ้า  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเทวะ  มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า  “โอม.....”  ตามคติลัทธิพราหมณ์  แม้การกล่าวคำชุมนุมเทวดาที่ว่า   “สัคเค กาเม จะ รูเป....”   ก็เป็นเรื่องของคุณเจ้า

            “คุณผี”  มีลักษณะคล้ายคุณเจ้า  ผิดกันตรงที่วิธีการหรือระดับของการใช้  เช่นการเสกหนังวัว  หนังควาย  เสกตาปูให้เข้าไปในท้องของคนอื่น  ทำเสน่ห์ยาแฝด  ทำให้ผัวเมียแตกกัน  หรือทำให้ชายหลงหญิง  หญิงหลงชาย  เลี้ยงกุมารทอง  รัก-ยม  โหงพราย  บิดไส้  บังฟัน เป็นต้น

           จะเป็นคาถาประเภทคุณพระ  คุณเจ้า  หรือ คุณผี ก็ตาม  ข้าพเจ้าท่องได้ทุกประเภท  ตอนที่เรียนและท่องคาถาอาคมนั้น  ไม่รู้หรอกว่าคาถาบทไหนเป็นคุณพระ  คุณเจ้า  และคุณผี  เพราะท่องลุยดะไปเลย  คิดเอาเองว่าการท่องคาถาอาคมได้มาก  สามารถว่าให้ใคร ๆ ฟังได้มาก มันเป็นความโก้เก๋อย่างหนึ่ง  และยังสร้างความยำเกรงให้แก่คนอื่นได้ไม่น้อยเลย  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  คนที่ท่องคาถาอาคมได้มากมักจะใช้คาถาอาคมไม่ขลัง  ไม่ศักดิ์สิทธิ์  แต่คนที่ท่องคาถาอาคมได้เพียงเล็กน้อยสามารถบริกรรมให้คาถาอาคมของเขาขลัง ศักดิ์สิทธิ์ได้ดีกว่า

           สาเหตุที่ทำให้คนท่องตาถาอาคมได้มาก  ภาวนาหรือเสกคาถาไม่ขลัง  เป็นเพราะว่ า รู้จำคาถาได้มากทำให้เกิดความลังเล  ไม่มีความมั่นใจในการใช้คาถา  ไม่รู้ว่าจะใช้บทไหนดี   คิดว่า   “บทนั้นก็ดี  บทนี้ก็ดี”  เสกบทหนึ่งแล้วกลัวว่าจะไม่ขลัง  จึงเสกบทใหม่ซ้ำลงไปอีกสองสามบท  ผลที่สุดคาถาก็เลยไม่ขลัง  เพราะใจไม่มั่นคง

           ข้าพเจ้าเลิกปลุกผีปลุกสางด้วยเห็นว่าขืนปลุกเสกไปก็เหนื่อยเปล่า  ดวงของข้าพเจ้ากับพวกภูตผีปิศาจ  คงไม่สมพงศ์กันเสียเป็นแน่แท้

           ในป่าช้าเดียวกันนั่นแหละครับ  หลังจากที่ข้าพเจ้าเลิกปลุกเสกผีได้ประมาณ ๒ สัปดาห์  ก็มีสามเณรองค์หนึ่งเดินธุดงค์จากอำเภอท่าเรือ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปภูเก็ต  เข้าอยู่ในบริเวณป่าช้าจีนแห่งเดียวกันกับข้าพเจ้า  สามเณรองค์นี้อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า  พอเข้าไปอยู่ในป่าช้าก็ประกาศศักดาจะทำพิธีปลุกเสกผีทันที  นายอุดมศิษย์คนสำคัญของข้าพเจ้าสนใจการปุกเสกผีของอาจารย์เณรองค์ใหม่มาก  จึงขออนุญาตจาก  “พระเณร”  ไปเข้าร่วมพิธีปลุกเสกผีด้วย  ข้าพเจ้าก็ไม่ว่าอะไร

           คืนนั้นเป็นคืนข้างแรมอ่อน ๆ  นายอุดมนุ่งขาวห่มขาวไปเข้าร่วมปลุกเสกผีกับอาจารย์เณรองค์ใหม่  ซึ่งนายอุดมได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในพิธีกรรมด้วยเพียงคนเดียวเท่านั้น  เป็นเวลาเกือบเที่ยงคืนแล้ว  นายอุดมแบกร่างอาจารย์เณรมาที่  “อาศรม”  ของข้าพเจ้า  ในขณะที่ข้าพเจ้านั่งคุยอยู่กับศิษย์ ๓-๔ คน  ที่นั่งคุยกันอยู่จนดึกดื่นก็เพื่อรอฟังผลการปลุกเสกผีของอาจารย์เณรนั่นเอง  นายอุดมวางร่างอันไร้สติสัมปชัญญะของสามเณรนั้นลงกลางห้องโถง  บอกให้พรรคพวกช่วยกันนวดเฟ้น  ทำการพยาบาลจนกระทั่งท่านฟื้นจากการสลบ  แต่ก็กลายเป็นคนเหม่อลอยพูดจากันไม่รู้เรื่องเสียแล้ว  มีสภาพดูเหมือนเป็นคนไม่มีจิตใจยังงั้นแหละครับ

           นายอุดมเล่าให้ฟังว่า  อาจารย์เณรเอาสายสิญจน์วงรอบหลุมศพ (ฮวงจุ๊ยเก่า) ๓ รอบ  แล้วเข้าไปนั่งอยู่หน้าหลุมศพในวงล้อมของสายสิญจน์นั้น  โดยนายอุดมเข้าไปนั่งอยู่ด้วย  เอาเครื่องเซ่นสังเวย คือ กุ้งพล่าปลายำ ที่นายอุดมจัดหามาให้นั้นทำพิธีพลีกรรม  เสร็จแล้วกำชับให้นายอุดมนั่งดูเฉย ๆ  เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น  ห้ามแสดงอาการใด ๆ  จากนั้นท่านก็นั่งสมาธิบริกรรมคาถาอาคมปลุกเสกผีตามตำราที่เรียนมา  สักพักหนึ่งก็ปรากฏว่ามีตัวแมลงคล้ายตัวต่อใหญ่ขนาดท่อนแขน ๒ ตัว  บินวนเวียนรอบสายสิญจน์ด้านนอก  เสียงดังหวีดหวิวน่าหวาดเสียว  มันบินวนเวียนอยู่ประมาณ ๒๕ รอบ  อาจารย์เณรเริ่มมีอาการผิดสังเกต  คือตัวท่านสั่นเหมือนถูกเจ้าเข้า  หรือสั่นเหมือนคนปลุกตัวจน  “ของขึ้น”   สั่นแรงขึ้น ๆๆ  และมีเสียงครางดังฮื่อ ๆๆๆ  ในที่สุดก็ทะลึ่งตัวโผขึ้นในอากาศพร้อมส่งเสียงร้องโอ้ย..!   ตกลงนอนนิ่งบนพื้นดินแน่นิ่งสลบไปเลย  นายอุดมหายจากตกใจแล้วจับร่างกายอาจารย์เณร  รู้สึกว่าท่านตัวอ่อนปวกเปียกและหมดความรู้สึกไปแล้ว  มองไปรอบตัวก็ไม่รู้ว่าแมลงใหญ่ ๒ ตัวนั้นมันหายไปไหนแล้ว  จึงรีบอุ้มร่างอันหมดสติของอาจารย์เณร  แหกสายสิญจน์ออกมาให้ช่วยแก้ไขจนฟื้นขึ้นดังกล่าวแล้ว  หลังจากนั้นสามเณรองค์นี้กลายเป็นคนป้ำ ๆ เป๋อ ๆ พูดจาไม่รู้เรื่องเหมือนคนปัญญาอ่อน  เขาหายไปจากภูเก็ตเมื่อไรไม่มีใครรู้/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ เมษายน ๒๕๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, ตุลาคม, 2565, 11:37:48 PM
(https://i.ibb.co/bKpF2Mf/lt438-4.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๓๙ -
           แม้ข้าพเจ้าจะเลิกปลุกเสกผี  ไม่สามารถจับผีมาเลี้ยงได้แล้ว  ความขลังความดังของ  “พระเณร”  ก็ยังคงลือลั่นไปทั่วเกาะภูเก็ตและเลยออกไปถึงพังงา  หุ่นพระเอกลิเกของเณรเต็มทำให้สาวรุ่น  สาวแก่  แม่หม้าย หลายคนสนใจในด้าน  “สิเนหา”  ไม่น้อย  เรื่องนี้ทำความรำคาญให้ข้าพเจ้ามาก  ในตอนนั้น สมัยนั้น ความคิดเรื่องกามารมณ์ของข้าพเจ้ามีอย่างเจือจาง  ความคิดส่วนใหญ่มุ่งอยู่กับความขลังความศักดิ์สิทธิ์  เห็นตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า   “หญิงเป็นมลทินแก่พรหมจรรย์”   ถ้าสนใจในเรื่องผู้หญิง  ปล่อยให้ความรักความใคร่มันรุกเร้าลามเข้าครอบงำจิตใจแล้ว  ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ก็จะหมดไป  ข้าพเจ้ายังต้องการความขลังความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าความรักความใคร่  เมื่อมีผู้หญิงมาแสดงเลศนัยความรักความใคร่ให้รู้เห็น  “ตำตาตำใจ”   จึงเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจมากทีเดียว

            “แม่ร้าง”  นางหนึ่งอายุมากกว่าข้าพเจ้าประมาณ ๖ ปี  รูปร่างหน้าตาดี  มีอาชีพค้าขาย  ฐานะอยู่ในขั้น  “มีอันจะกิน”  แต่งงานได้ปีเศษก็หย่าร้าง  เธออ้างว่าอดีตสามีเป็นคนไม่ดี  ไม่ทำงานทำการอะไร  ชอบดื่มสุราเมรัย  เล่นการพนัน  และเจ้าชู้   เธอจึงไล่ออกจากบ้านและหย่าร้างเด็ดขาดไปแล้ว  อยู่ด้วยกันปีเศษไม่มีลูก (ไม่รู้มัวทำอะไรกันอยู่)  ทุกวันเมื่อปิดร้านเลิกขายของแล้วเธอจะมาหาข้าเจ้าที่ “อาศรม” นั่งคุยกันบ้าง  นั่งดูอยู่เฉย ๆ บ้าง  ตั้งแต่ตะวันตกดินจนถึงเวลาเที่ยงคืนจึงจะลากลับไป  ตอนเช้ามืดก็เอาขนมปังปาท่องโก๋กาแฟร้อน  ชาร้อน  และอาหารอื่น ๆ มาถวาย  แล้วรีบกลับไปเปิดร้านขายของ  ตอนลากลับเธอก็เข้ามาใกล้ ๆ แล้วพูดเบา ๆ ว่า  “หวั่นจายมาหลาว”  ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้แต่พยักหน้ารับคำเธอเท่านั้น

           วันหนึ่งข้าพเจ้าถามเธอว่า   “มาอยู่ดึก ๆ ดื่น ๆ ทุกวัน  มาเฝ้าเอาเลขเด็ดหรือไง?”   ได้ฟังคำตอบของเธอแล้วพูดไม่ออกบอกไม่ได้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร เธอบอกว่า  “ไม่ได้มาเฝ้าขอเลขเด็ด  แต่มาได้เห็นหน้า  ได้ยินคำพูดพระเณรแล้วสบายใจ”   แล้วยังพูดแสดงความคิดเห็นของเธออีกว่า  “คนบวชนาน ๆ เป็นคนเรียบร้อยนุ่มนวล  จิตใจประกอบด้วยความเมตตาปรานี  ไม่ดุดันโหดร้าย”   ยกตัวอย่างว่าเพื่อนบ้านของเธอหลายคนได้นักบวชเป็นสามีแล้วเขาอยู่กินกันอย่างมีความสุข  ไม่มีการทะเลาะตบตี  ไม่หย่าร้าง  สามีไม่กินเหล้า  ไม่เล่นการพนัน  เจ้าชู้นิดหน่อยแต่ก็น่ารักดี

            “ฉันอยากมีผัวเป็นนักบวชบ้าง”

           ฟังสรุปคำพูดอธิบายของเธอซีครับ  สั้น  และ  ดื้อ  ได้ความชัดเจนดีเหลือเกิน  ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกว่าตัวร้อนฉ่า  ใจเต้นแรง  ไม่กล้าพูด  ไม่กล้ามองหน้าเธอ  ขณะที่ยังไม่รู้จะพูดไม่รู้จะทำอะไรต่อไป  ก็พอดี  “จ่าวิชิต”  นายตำรวจคนดังของเมืองภูเก็ตเข้ามาขัดจังหวะ  ซึ่งโดยปกติแล้วจ่าวิชิตมักจะมาหาข้าเจ้าตอนกลางคืนเสมอ  คืนนั้นพอเห็นจ่าวิชิตมาก็เหมือนกับพระหรือเทวดามาโปรด

            “ยังไม่กลับอีกเรอะปรานี?”   จ่าร้องถามเมื่อเห็นเธอนั่งอยู่กลางห้อง

            “อ้อ!  จ่ามาพอดี”   ข้าพเจ้าทักอย่างเก้อเขิน

           จ่าวิชิต  จุดธูปบูชาพระแล้วกราบด้วยกิริยาอาการอันอุ้ยอ้ายตามประสาคนอ้วนท้วน

            “กำลังจะกลับจ่าก็มาพอดีค่ะ  งั้นลาเลยนะก๊ะ”  เธอฉวยโอกาสลากลับในขณะที่จ่าวิชิตกำลังงุ่มง่ามกราบพระ

            “อ้าว...ได้เลขเด็ดไปแล้วเหร่อ?”  จ่าร้องถามในขณะที่เธอกำลังออกประตู “อาศรม”  เธอไม่ตอบ  ทำเป็นเหมือนไม่ได้ยินคำถามนั้น  ข้าเจ้ามองตามหลังเธอที่พาร่างอวบอั๋นจากไปในความมืดด้วยความคิดอันสับสนอยู่ในเวทนาและเมตตาปรานี

            “พระเณรจะเอาแม่หม้ายคนนี้เรอะ  อย่าเลย  ผมจะหาสาว ๆ สวย ๆ รวย ๆ ให้ดีกว่า”   จ่าวิชิตกล่าวด้วยเสียงดังกลั้วการหัวเราะเอิ๊กอ๊ากตามนิสัยของแก  เหมือนจงใจจะให้คุณปรานีเธอได้ยินเสียงนั้นด้วย

            “ม่ายหรอกจ่า  ฉันยังไม่ได้บวชพระ  ยังไม่คิดจะมีเมีย”   ข้าพเจ้าตอบจ่าด้วยความรู้สึกที่ไม่จริงใจ

            “ดีแล้วที่พระเณรไม่เลือกแม่หม้ายคนนี้และยังไม่คิดจะมีเมีย  คนไม่มีเมียเป็นคนที่มีอิสระเสรี  ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องครอบครัว  เมื่อก่อนนี้ยังหนุ่มอยู่อยากมีเมียมาก เดี๋ยวนี้ไม่มีความคิดอยากมีเมียตกค้างอยู่ในใจเลย”   จ่าพูดด้วยเสียงเหนื่อยหน่าย เอือมระอา

            “มีเมียไม่ดีอย่างไร  โยมจ่า?” ข้าพเจ้าถามยิ้ม ๆ

            “มันพูดยากครับ  เอาไว้พระเณรสึกไปมีเมียแล้วจะรู้เองก็แล้วกัน  นี่ดีนะที่พระเณรไม่คิดจะเอาบาตรมาทิ้งที่ภูเก็ต  เหมือนพระธุดงค์องค์อื่น ๆ”

           แล้วจ่าวิชิตก็อภิปรายยกตัวอย่างอาจารย์หลายองค์ที่เดินธุดงค์มาภูเก็ต  พักอยู่ภูเก็ตไม่นานก็สึกหาลาเพศมีเมียมีลูก  บางองค์ก็ได้แม่หม้าย  บางองค์ก็ได้แม่ร้าง  บางองค์ก็ได้สาวแก่  บางองค์ก็ได้สาวรุ่น  แล้วแต่ความพอใจของแต่ละท่าน   จ่านายสิบตำรวจ  หรือ “จ่า” วิชิตผู้นี้เป็นคนชาวเมืองนครศรีธรรมราช  ไปประจำการอยู่ภูเก็ตเป็นเวลานาน  มีชื่อเสียงโด่งดังจนคนภูเก็ตทั้งเกาะรู้จักเขาดี   บางคนว่าจ่าวิชิตเป็น  “คนไม่เต็มเต็ง”    ครั้งหนึ่งเขาขับรถตระเวนไปตามถนน  พอรู้ว่าไม่ได้เอาใบขับขี่พกติดตัวไปด้วย  ก็จอดรถแล้วเรียกตำรวจมาจับตนในข้อหาขับรถไม่มีใบขับขี่   เรื่องนี้เป็นเรื่องฮือฮาในภูเก็ตพอสมควร  บางครั้งถอดเครื่องแบบแขวนไว้แล้วนั่งร่วมวงเล่นไพ่  พอรู้ว่าถูกเพื่อนร่วมวงเล่นไพ่โกงก็ลุกขึ้นสวมเครื่องแบบตำรวจแล้วจับพวกเล่นไพ่เสียดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ  พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำว่า  “จ่าวิชิตไม่เต็มเต็ง”  เพราะถ้าไม่เรียกอย่างนั้นก็ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไรแล้ว

           จ่าวิชิตเป็นเอเย่นต์ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล  มีฐานะดี  คนเล่นหวยเถื่อนส่วนใหญ่เกรงกลัวจ่าวิชิตมาก   ดังนั้น ในขณะที่จ่าเข้าไปนั่งคุยอยู่กับข้าพเจ้าจึงมักไม่ค่อยมีใครเข้าไปหา  เพราะกลัวจ่าจับในข้อหาเล่นหวยเถื่อน  แต่ในความจริงแล้วจ่ายังไม่เคยจับคนที่ไปขอหวยเลยสักคนเดียว  เรื่องที่จ่าไปคุยกับข้าพเจ้าส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของไสยศาสตร์  และมีธรรมะบ้าง  บางครั้งจ่าก็ขอหวยผมดื้อ ๆ เหมือนกัน  อ้างว่าจะเอาไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล  บอกว่าถ้าพระเณรให้เลขอะไรก็จะกลับไปเก็บสลากเลขนั้นไว้ไม่ยอมขายให้ใคร  แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยให้เลขอะไรแก่จ่าเลย  อ้างว่าไม่รู้  ไม่มี ทุกครั้งที่ถูกขอ  จ่าแกก็ไม่เซ้าซี้อะไร

           “เจ๊เกียง”  แม่หม้ายสาวร่างอ้วนจ้ำม้ำ  มาหาข้าพเจ้าจนคุ้นเคย  ข้าพเจ้าเรียกเธอว่า  “เจ๊”  และเธอก็เรียกข้าพเจ้าว่า  “น้องเณร”  จนติดปาก  วันหนึ่งเจ๊อยู่กับข้าพเจ้าตามลำพัง  เจ๊ถามว่า  “น้องเณรมีดีอะไร?  เจ๊เอายาใส่อาหารให้กินหลายครั้งแล้วไม่ได้ผล”

            “เจ๊เอายาอะไรให้ฉันกินล่ะ?”  ข้าพเจ้าถามอย่างงง ๆ

            “ยาเสน่ห์ซี  เป็นน้ำมันของโต๊ะดำเกาะยาว”   ว่าแล้วเจ๊ก็ควักขวดน้ำมันเสน่ห์ที่พกไว้ในอกเสื้อออกมาชูให้ดู  ข้าพเจ้าขอจับเอามาดู  เห็นเป็นน้ำมันสีเขียวข้น  เปิดจุกขวดดมกลิ่นแล้วก็ได้กลิ่นพิกล  จะว่าหอมก็หอม  จะว่าเหม็นก็เหม็น  ปิดขวดแล้วส่งคืนเจ๊ไป  เธอรับคืนไปพร้อมกับการยิ้มอย่างพอใจ

            “ให้กินแล้ว  น้องเณรไม่หลงรักเจ๊  ได้ดมกลิ่นคราวนี้คงจะรักจนหลงเจ๊แน่นอนเลย”  เจ๊พูดแบบที่เล่นทีจริงพร้อมหัวเราะคิกคักชอบใจ

           ข้าพเจ้าใจไม่ดีเมื่อรู้ตัวว่าเสียที  “ไก่แก่แม่ปลาช่อน”  เข้าให้แล้ว   ทำเป็น “ใจดีสู้เสือ” พูดแบบทีเล่นทีจริงว่า

            “ไม่เป็นไรหรอก  ฉันหลงรักเจ๊ก็ยังดีกว่าหลงรักคนอื่น  เพราะถึงยังไงเจ๊คงไม่ปล่อยให้ฉันอดตาย”

           คำพูดของข้าพเจ้าทำให้  “ไก่แก่แม่ปลาช่อน”  ยิ้มนัยน์ตาเยิ้มไปด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง  คงจะหวังว่าข้าพเจ้าต้อง  “เสร็จ”  เธอแน่ ๆ เลยกระมัง  เพราะเจ๊เธอเชื่อมั่นว่าน้ำมันมหาเสน่ห์ของโต๊ะดำมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์  พระธุดงค์ถูกสึกไปเพราะน้ำมันนี้นักต่อนักแล้ว

           แรก ๆ ก็หวั่นไหวเหมือนกัน  เพราะความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังมีอยู่ในความรู้สึกไม่น้อย  กลัวว่าน้ำมันเสน่ห์ของ  “ไก่แก่แม่ปลาช่อน”  ตัวนั้นจะทำให้หลงรักเธอเข้าได้  เลียบเคียงถามนายอุดมกับโยมแดงศิษย์คนสนิทดู  ทั้งสองคนยืนยันว่าน้ำมันเสน่ห์ของโต๊ะดำเกาะยาวเป็นน้ำมันที่ขลังมาก  พระธุดงค์มาถูกสึกที่เกาะภูเก็ตเพราะน้ำมันเสน่ห์นี้มากแล้ว  แม้อาจารย์บุญศรีที่กล่าวถึงแล้วนั้นก็ใช่  แต่แล้วความหวาดกลัวน้ำมันเสน่ห์นั้นก็หายไปเมื่อความคิดหนึ่งเกิดขึ้นมาว่า  “เราก็ศิษย์มีอาจารย์ เป็นศิษย์พระพุทธเจ้า  จะแพ้แขกได้ง่าย ๆ เชียวหรือ?  เวทย์มนต์คาถาก็เล่าเรียนมามาก  ความรู้ทางด้านพระปริยัติธรรมก็จบชั้นเถรภูมิแล้ว  อาจารย์ที่ขึ้นธุดงค์มา (หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว สุพรรณบุรี) ก็เป็นเกจิอาจารย์ชั้นหนึ่ง  จึงไม่น่าจะมาพ่ายแพ้แขกง่าย ๆ”

           เมื่อความคิดดังกล่าวเกิดขึ้น  ความฮึกหาญในการต่อสู้กับอำนาจฝ่ายดำของโต๊ะดำก็เริ่มขึ้น  ข้าพเจ้าคิดหาคาถาอาคมแก้  ด้วยหวังถอนมนต์เสน่ห์ที่  “เจ๊เกียง”  ให้ทั้งกินทั้งสูดดมนั้น  และในบรรดาคาถาอาคมที่ใช้ถอนนั้นข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่า  “ปัจจเวกขณะ”  คือการพิจารณาจะใช้ได้ผลดีมากที่สุด

           ปัจจะเวกขณะ  คือการพิจารณานี้  เป็นบทที่พระภิกษุจะต้องใช้เสก  ภาวนา  เป็นประจำ  ในการที่จะบริโภคปัจจัยสี่  อันได้แก่  เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่ที่อาศัย และ ยารักษาโรค  พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พุทธสาวกบริโภค  ใช้สอยปัจจัยสี่ด้วยการใช้สติพิจารณา  ให้มีความละเอียดลออ  รอบคอบ  คงที่คงทาง  แม่นยำ  มั่นคง  อย่างเช่น เครื่องนุ่งห่ม  ก่อนใช้ก็ให้พิจารณาว่าควรใช้อะไร  อย่างไร  เพื่ออะไร   ของกินก็ให้พิจารณาดูว่าสิ่งนั้นคืออะไร  กินอย่างไร  กินเพื่ออะไร   ที่อยู่ที่อาศัยก็ให้พิจารณาจะอยู่อย่างไร  ที่ไหน  เพื่ออะไร  ยารักษาโรคก็ให้พิจารณาว่าเป็นยาอะไร  แก้-รักษาโรคอะไร  กินอย่างไร  เป็นต้น /            

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, พฤศจิกายน, 2565, 10:20:54 PM
(https://i.ibb.co/gD84040/ant-carries.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๐ -
           บทบาลีที่ใช้พิจารณาก่อนบริโภคใช้สอยนั้นคือ  “ยะถา ปัจจะยัง ปะวัตตะมานังยะทิทัง...........”  ใช้พิจารณาในเรื่องอาหารนั้น  พระภิกษุจะใช้ในการออกเดินทางรับบิณฑบาต  บางองค์ขี้เกียจเดินภาวนาก็จะยืนเสกบาตรก่อนออกจากกุฏิ  หรือก่อนออกจากเขตวัด ว่า  “ยะถา ปัจจะยัง ยะทิทัง ปิณฑปาโต...”  ไปจนจบบทครบ ๓ ครั้งแล้วออกเดินบิณฑบาต  ส่วนมากแต่ละองค์จะใช้บาลีบทนี้ภาวนาขณะยืนรับอาหารบิณฑบาตจากญาติโยม  พระเกจิอาอาจารย์ท่านมีข้อห้ามไม่ให้พระว่าคาถาบทนี้ในขณะที่ผู้ใส่บาตรนั้นเป็นสตรีมีครรภ์  ถ้าจะภาวนาก็ขอให้งดข้อความที่ว่า  “สุญโญ สัพโพปะนายัง”  เพราะถ้าว่าข้อความนี้แล้วสตรีผู้ใส่บาตรคนนั้นจะแท้งลูก  จริงหรือเท็จอย่างไรก็ยังไม่เคยพบเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องยืนยัน

           ก่อนบริโภคใช้สอย ถ้าไม่เสกภาวนาคาถาว่า  “ยะถา ปัจจะยัง”  ตอนบริโภคใช้สอยก็ต้องว่า  “ตังคะนิกะปัจจะเวกขณะ”  คือบทบาลีที่ว่า  “ปะฏิสังขาโย นิโสจีวรัง....”  
           ในขณะนุ่งสบง ห่มจีวร  “ปะฏิสังขาโย นิโสปิณฑปาตัง...”
           ในขณะรับประทานอาหาร “ปะฏิสังขาโย นิโส เสนาสะนัง...”
           ในขณะนั่งนอนบนที่นั่งที่นอน  “ปะฏิสังขาโย นิโสคิลานะเภสัชชะ...”
           ในขณะรับประทานยาแก้-รักษาโรคถ้าไม่เสก-ภาวนา  หรือพิจารณาในขณะบริโภคใช้สอยอาจเกิดโทษขึ้นในปัจจุบันได้  เคยมีตัวอย่างว่า  ชายคนหนึ่งหยิบผ้ามานุ่งโดยไม่พิจารณา  รีบหยิบผ้าถุงของภรรยามานุ่งด้วยคิดว่าเป็นผ้าสะโหร่งของตนเอง  กว่าจะรู้ว่าหยิบผิดก็ถูกเพื่อนหัวเราะเยาะเสียแล้ว  หญิงคนหนึ่งหยิบผ้าถุงมานุ่งโดยไม่พิจารณา  ถูกตะขาบที่อยู่ในผ้าถุงกัด  “ของลับ”  จนต้องรีบแก้ผ้าถุงทิ้งต่อหน้าผู้คนอย่างลืมอายก็มี

           ข้าพเจ้าเคยประสบโทษของการนุ่งห่มผ้าสบงจีวรโดยไม่พิจารณามาแล้วเหมือนกัน  คือตอนที่บวชเป็นสามเณรได้พรรษาที่ ๒  วันนั้นเป็นวันพระ ญาติโยมพากันนำอาหารหวานคาวมาทำบุญที่วัดเป็นอันมาก  พระเณรต้องลงศาลาการเปรียญรับฉันอาหารบิณฑบาตที่ญาติโยมนำมาทำบุญกัน  ข้าพเจ้าไม่ได้เตรียมตัวลงศาลา  เพราะมัวนั่งคุยเพลิน  พอเขาตีระฆังสัญญาณบอกให้ลงศาลาก็รีบกลับกุฏิตัวเอง  คว้าจีวรที่กองอยู่หัวนอนมาห่มโดยไม่พิจารณา  ครั้นลงไปนั่งที่อาสน์สงฆ์บนศาลา  หลวงพ่อผู้เป็นประธานสงฆ์เริ่มให้ศีล  สายตาทุกคู่ของคนบนศาลานับร้อยดวงก็พากันจ้องมองตรงขึ้นยังอาสน์สงฆ์ที่มีพระ-เณรนั่งอยู่เรียงรายตามลำดับอาวุโส  ข้าพเจ้าส่งสายตากราดไปทั่วศาลาตามประสาเด็กหนุ่มที่มีนัยน์ตาซุกซน  ค้นหาใบหน้าแฉล้มแช่มช้อย  เพื่อทักทายสายตาไมตรีประดาสาวตาหวานทั้งหลายบนศาลา

           ขณะที่สายตากำลังแสวงหาไมตรีจากสาวงามในชุดแต่งกายหลากสีที่นั่งพับเพียบเรียบร้อยพนมมือแต้อยู่ในศาลานั้น  รู้สึกว่ามีตัวอะไรเล็ก ๆ ไต่อยู่ในร่มผ้าบริเวณโคนขาขวา  และมันก็ไต่ไปถึงอวัยวะลับ  แล้วมันก็หยุดอยู่ไม่ไปไหนอีก (เข้าใจว่ามันคือมดแดงคันหรือมดแดงไฟ) ไต่วนเวียนอยู่ตรงนั้นแหละครับ  ซ้ำร้ายกว่านั้น มันกัดตรงนั้นด้วย  รสชาติของการถูกมดแดงไฟกัดของลับเป็นอย่างไร  ใครอยากรู้ก็ลองให้มันกัดดูเถิด!  ข้าพเจ้าถูกมันกัดทีก็สะดุ้งที  นั่งตัวแข็ง  ไม่รู้จะทำอย่างไร  จะเอามือล้วงเข้าไปบี้ขยี้มันก็ไม่กล้า  เพราะสายตาคนเป็นร้อยดวงจ้องดูอยู่  ผู้เฒ่าผู้แก่เขามองดูด้วยความเลื่อมใสที่เห็นพระเณรอันเป็นเนื้อนาบุญของเขานั่งเรียงกันด้วยอาการสงบเสงี่ยม  บางคนมีลูกสาวก็อาจจะนึกเอาเองว่า  พระองค์นั้น  เณรองค์นี้น่าจะสึกไปเป็นลูกเขยตน  สาวบางคนที่มี “คนรัก” บวชเป็นพระใหม่มานั่งให้กราบไหว้อยู่บนอาสน์สงฆ์  หล่อนก็มองดูด้วยความชื่นชมยินดี  ข้าพเจ้าเป็นเณรหนุ่มก็ไม่พ้นสายตาที่พากันมองด้วยความรู้สึกแตกต่างกัน  แล้วจะกล้าเอามือล้วง เกา บดบี้ ขยี้มดในสบงได้อย่างไร?  ก็ได้แต่นั่งเกร็งตัวแข็ง  ภาวนาให้การสวดมนต์ถึงพระพระบทท้าย ๆ โดยเร็ว  เพราะตอนนั้นญาติโยมจะพากันถือขันข้าวลุกขึ้นไปใส่บาตรกันพลุกพล่าน

            “ฮึ่ม!  ถึงตอนที่โยมกราบพระลุกขึ้นไปใส่บาตรกันชุลมุนเมื่อไหร่  กูจะบี้มึงให้ตาย”

           ข้าพเจ้าคิดคำรามในใจอย่างนั้น  แต่ก็เป็นเรื่องแปลกครับ  เจ้ามดมหาวายร้ายตัวนั้นมันขย้ำเขี้ยวกัดเนื้อหนังอ่อน ๆ ของข้าพเจ้าอย่างเมามัน  พอถึงตอนที่ญาติโยมพากันกราบพระถือขันข้าวลุกขึ้นไปใส่บาตร  มันก็เลิกกัดและหายไป  ไม่ทันที่จะบดบี้ขยี้มันตามที่คิดอาฆาตมัน  จึงเป็นอันว่าข้าพเจ้าถูกมันกัดอวัยวะเพศไปฟรี ๆ

           ตั้งแต่นั้นมา  จะนุ่งห่มผ้าทุกครั้งต้องสะบัดผ้า  ตรวจดูเสียก่อนว่ามีมดแมลงอะไร ๆ เกาะอยู่หรือไม่  ไม่ผลีผลามนุ่งห่มให้เกิดความทุกข์ทรมานอีกต่อไป การนุ่งห่มที่ไม่ได้พิจารณาเป็นบาปทันตาเห็นจริง ๆ ครับ

           ข้าพเจ้าเชื่อเกจิอาจารย์ว่า  “ปัจจะเวกขณ์”  คือการพิจารณาในการบริโภคปัจจัยสี่  เป็นความขลัง  ความศักดิ์สิทธิ์  ขจัดปัดเป่าและป้องกันสรรพภัยและอัปมงคลทั้งหลายได้ทุกครั้งที่ฉันอาหาร  นุ่งสบงห่มจีวร  นั่งนอนในที่ต่าง ๆ  และรับประทานยารักษาโรค  จะต้องเสกด้วยคาถาบท  “ปะฏิสังขาโย”  หรือไม่ก็เสกด้วยคาถา  “หัวใจปัจจะเวกขณ์”  คือคำย่อทั้งสี่บทมารวมกันว่า  “จิปิเสคิ”  ถ้าลืมเสกในขณะบริโภคอีกก็ต้องว่า  “อตีตะปัจจะเวกขณะ”  คือบทบาลีที่ว่า “อัชฌะมะยา”

           การที่  “เจ๊เกียง”  เอาน้ำมันมหาเสน่ห์ของโต๊ะดำใส่อาหารให้กินและยังหลอกให้ดมอีกด้วย  แต่ไม่เป็นอะไรนั้น  คงเป็นเพราะข้าพเจ้าเสกด้วยคาถา  “ปัจจะเวกขณ์”  ทำให้น้ำมันมหาเสน่ห์ของโต๊ะดำแห่งเกาะยาวคลายมนต์ขลังไป

            “เจ๊เกียง” หมดความพยายามที่จะทำเสน่ห์เล่ห์กลเพื่อจะเอาข้าพเจ้าสึกออกไปเป็น  “หุ้นส่วนชีวิตของเธอ”  กลับใจมาเลื่อมใสศรัทธาด้วยความจริงใจเป็นอย่างมาก  ให้การอุปถัมภ์บำรุงด้วยความบริสุทธิ์ใจ

           และเจ๊คนนี้เองที่ทำให้  “แม่ร้างปรานี”  หมดหวัง  เลิกมานั่งเฝ้าข้าพเจ้าในที่สุด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, พฤศจิกายน, 2565, 11:18:20 PM
(https://i.ibb.co/NjvgLCK/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๑ -
            “เก็บวัตรธุดงค์-อำลาภูเก็ต”

           ก่อนอำลาภูเก็ตข้าพเจ้าใช้เวลา ๒ วันไปค้างแรมคืนที่เกาะแก้วอันเป็นที่ประดิษฐาน  “พระพุทธบาทสี่รอย”  โดยลงเรือของชาวประมง (ชาวเล) ที่หาดราไวจากเกาะภูเก็ตไปอีกประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง  ที่นั่นมีตำนานเล่าขานกันว่าในอดีตมีปรากฏการณ์อันประหลาดอย่างเหลือเชื่อ  กล่าวคือมีก้อนหินขนาดใหญ่อยู่ใกล้หาดทราย  บนก้อนหินนั้นมีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ชัดเจน  เมื่อถึงวันธรรมสวนะ (วันพระหรือวันฟังธรรม) จะมีปลาน้อยใหญ่หลากหลายชนิด  พากันว่ายน้ำมาลอยหัวออกันยู่แน่นขนัด  ดูเบียดเสียดยัดเยียดรอบ ๆ รอยพระพุทธบาทสี่รอยนั้น  ทุกตัวชูหัวขึ้นเหนือน้ำแลสลอน  แล้วพร้อมกันส่งเสียงร้องระงมเหมือนเสียงสวดมนต์  นัยว่าปลาเหล่านั้นพากันมาแสดงความเคารพนบไหว้รอยพระพุทธบาทนั้น

           มีตำนานหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาเล่าว่า  พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์และประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในที่ต่าง ๆ รวม ๕ แห่ง  คือที่โยนกบุรีแคว้นเหนือของชมพูทวีป ๑   ที่ภูเขาสัจพันธ์อันเป็นที่อยู่ของฤๅษีสัจพันธ์ ๑   ที่ภูเขาสุมนกูฏในลังกาทวีป ๑   ที่สุวรรณบรรพตหรือภูเขาทอง ๑   และ ที่หาดทรายริมฝั่งน้ำนัมทานที ๑   คนไทยส่วนใหญ่เชื่อกันว่าพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรีคือพระพุทธบาทที่ระบุไว้ในตำนานว่า  “สุวรรณบรรพต”  หรือภูเขาทอง  และพระพุทธบาทที่เกาะแก้วนี้  มีผู้ (สอด) รู้ทั้งหลายเชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพญานาคแล้วประทับรอยพระบาทไว้แทนองค์ให้บรรดานาคเคารพบูชา  ที่เรียกชื่อตามตำนานว่า  “นัมทานที”  นั่นเอง

           เหตุผลที่พระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาทไว้นั้น  ผู้รู้ทั้งหลายท่านกล่าวว่า  เนื่องจากในสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาล  ชาวชมพูทวีป (อินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, บังคลาเทศ) นิยมแสดงความเคารพกราบไหว้เท้า รอยเท้า ของบุคคลและเทพที่ตนเคารพนับถือ  ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดบุคคลที่  “เข้าในข่ายพระญาณ”  บางคนละมิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด) แต่ยังไม่บรรลุมรรคผล  เพียงตั้งอยู่ในไตรสรณาคม  จึงอ้อนวอนขอพระพุทธองค์ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ตนเคารพบูชาก่อนที่จะเสด็จกลับไป

           พระบาทรอยที่เกาะแก้วพิสดารภูเก็ต  จะเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าประทับไว้ให้พวกนาคบูชา ณ ริมฝั่งน้ำนัมทาตามตำนานหรือไม่ก็ตามทีเถิด  ข้าพเจ้าได้ไปกราบไหว้บูชาตามความเชื่อถือของคนส่วนมากแล้ว  ในขณะกราบไหว้ใจก็น้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์ที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานถึง ๒๕๐๑ ปี (ขณะนั้น) แล้วที่ปรากฏในปัจจุบัน  คือวันที่หลวงพี่บัณฑิต หลวงพี่บุญชาติ และข้าพเจ้าไปถึงนั้น  พบว่าก้อนหินที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทดังกล่าวไม่ได้อยู่ในน้ำ  เพราะหาดทรายงอกออกไปเชื่อมต่อติดกับก้อนหินนั้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกาะไปแล้ว  พ่อท่านคล้าย พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของปักษ์ใต้ท่านไปสร้างมณฑปไว้ที่นั่นด้วย

           พ่อท่านคล้ายหรือหลวงพ่อคล้าย  เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช  ขาของท่านขาดไปข้างหนึ่ง  ต้องเอากระบอกไม้ไผ่ต่อเป็นขาเทียม  ท่านเป็นพระที่ชาวบ้านเชื่อถือกันว่าท่านมี  “วาจาสิทธิ์” (ปากพระร่วง?)  ในขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ในเกาะภูเก็ตนั้น  ท่านเดินทางไปเกาะภูเก็ต ๓ ครั้ง  ไปแต่ละครั้งเจ้ามือหวยเถื่อนพากันหวาดไหว  เพราะนักเล่นหวยจะเอาเลขเครื่องบินลำที่ท่านนั่งไปและเลขรถยนต์คันที่รับท่านนั่งนั้น ๆ ไป ”แทงหวย” กัน  และปรากฏว่ามักจะไม่ผิดหวังเสียด้วย

           กลับจากเกาะแก้วพิสดารแล้วก็ไป  อำลาผู้บัญชาการเรือนจำภูเก็ต  ท่าน ผบ. ได้เตรียมของถวายไว้หลายอย่าง  ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นมุก คือ โคมไฟฟ้ามุก ช้อนมุก ทัพพีมุก ที่เขี่ยบุหรี่มุก  ซึ่งทำด้วยหอยมุกทั้งตัว  เป็นฝีมือของนักโทษในเรือนจำภูเก็ตทั้งสิ้น  วันนั้น ผบ. เรือนจำขอถวายภัตตาหารเพลพวกเรา  ซึ่งตอนนั้นพวกเราได้  “เก็บวัตรธุดงค์”  บางข้อ  เฉพาะ “เอกาสนิกังคธุดงค์” ไว้แล้ว  จึงฉันอาหารเพลได้  ขณะนั่งคุยกันอยู่ก่อนถึงเวลาฉันเพลนั้น  หลวงพี่บุญชาติเอาสตางค์ให้นักโทษชายชั้นดีคนหนึ่งไปซื้อของ  ท่านกระซิบบอกชื่อของที่ต้องการโดยไม่ให้พวกเรารู้  ชายคนนั้นหายไปพักหนึ่ง  กลับมาตอนที่จะเริ่มลงมือฉันอาหารแล้ว  เขาหิ้วหัวสับปะรดพะรุงพะรังมาสิบกว่าหัว

            “อ้าว...ท่านอาจารย์!  อยากฉันสับปะรดก็ไม่บอกผมด้วย  ไอ้นุ้ยเอาไปจัดการปอกใส่จานมาเร็ว...!”  ผบ. เรือนจำต่อว่าหลวงพี่บุญชาติพร้อมสั่งลูกน้องให้รีบปอกสับปะรดใส่จานมาถวาย

            “เจริญพร  อาตมาไม่ได้ให้เขาไปซื้อสับปะรดนะ”  หลวงพี่บุญชาติค้าน

            “ทั่นให้เขาไปซื้ออะไรล่ะ?”  หลวงพี่บัณฑิตถามหน้าตื่น ๆ

            “ยานัตถุ์ครับ  ยานัตถุ์ของผมหมด  จึงให้เขาไปซื้อมาให้โหลหนึ่ง”

            “แล้วกัน !  ยานัด  ภาษาปักษ์ใต้คือสับปะรด  แต่ยานัตถุ์นั้นภาษาปักษ์ใต้เขาเรียกยาเป่าครับ”

            ผบ. เรือนจำอธิบายด้วยเสียงที่กลั้วหัวเราะ  เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วทุกคนในที่นั้นก็หัวเราะกันใหญ่เลย

           หลวงพี่บุญชาติท่านติดยานัตถุ์ยี่ห้อหมอมี  ตามปกติท่านจะนัดหรือเป่าเข้าสองรูจมูกวันละ ๑ ขวด  วันไหนมีแขกมาคุยกับท่านมากก็จะเป่าเพิ่มอีกเป็นวันละ ๒ ขวด  เวลาไม่มียานัตถุ์ท่านจะหงุดหงิด  โมโหง่าย  ทุกครั้งที่ท่านนัดยาข้าพเจ้าจะต้องรีบกระเถิบหนีห่างให้พ้นรัศมีฝุ่นละอองยานัตถุ์ของท่าน  เพราะไม่ชอบกลิ่นยา  คิดเอาเองว่าสองรูจมูกของท่านน่าจะตีบตันเพราะมียานัตถุ์พอกติดอยู่มาก  สังเกตดูเห็นท่านบรรจุยาใส่กล้องเป่ายาแล้วเป่าเข้าจมูกนั้น  ยาน่าจะเข้าไปในโพรงจมูกท่านเพียงครึ่งเดียวหรืออาจจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งก็ได้  เพราะเห็นฝุ่นยากระจายฟุ้งรอบตัวท่านไม่น้อยเลย

           ก่อนถึงวันเดินทางจากเกาะภูเก็ต ๑ วัน  คนที่เคยถูกหวยเพราะข้าพเจ้าเป็นเหตุ  พากันนำอาหารเครื่องดื่มมาถวายกันมากเป็นพิเศษ  นัยว่าเป็นการเลี้ยงส่งอะไรทำนองนั้น  ทุกคนเสียดายที่  “พระเณร”  ต้องจากพวกเขากลับบ้าน  โยมแดงเอาเงินห่อผ้าผืนเล็ก ๆ มาใส่ย่ามข้าพเจ้า  นายอุดมก็เอาเงินห่อกระดาษมาใส่ย่ามให้เช่นกัน  เป็นจำนวนเงินคนละ ๑ หมื่นบาท  บอกว่าเป็นเงินที่พวกศิษย์ที่ถูกหวยเขารวบรวมไว้รอให้เป็นค่าเดินทางวันที่ข้าพเจ้าจะกลับบ้าน  ตอนนั้นข้าพเจ้า  “เก็บวัตรธุดงค์”  ไว้เกือบหมดแล้ว  จึงไม่เคร่งครัด  ยอมรับเงินทองของมีค่าจากพวกเขาได้  และยังสวมใส่รองเท้าเดินอีกด้วย

           หลวงพี่บุญชาติเป็นหัวหน้าคณะพาพวกเราเดินทางจากภูเก็ตกลับบ้านโดยทางรถยนต์  ผ่านทางจังหวัดพังงาแล้วขึ้นรถไฟในจังหวัดพัทลุงเข้ากรุงเทพฯ  หลวงพี่บัณฑิตกับข้าพเจ้าพักอยู่กับหลวงพี่บุญชาติที่วัดประยุรวงศ์ฯ ๒ วัน  จึงลงเรือเมล์จากท่าเตียนกลับวัดบางซ้ายใน  สิ้นสุดการเดินทางประพฤติธุดงค์

           เรื่องราวที่ข้าพเจ้าไปเป็นอาจารย์ให้หวยจนมีชื่อเสียงโด่งดังในเกาะภูเก็ตนั้น  ถูกหลวงพี่บัณฑิตนำมาบอกเล่าขยายเรื่องเสียจนข้าพเจ้ากลายเป็นผู้วิเศษในวงการหวยเถื่อนในย่านที่อยู่ไปเลย  พระเณรเถรชี อุบาสกอุบาสิกาผู้งมงายในหวยเถื่อนมักมาขอ  และบางรายก็อ้อนวอนขอเลขเด็ดจนเป็นที่รำคาญแก่ข้าพเจ้าไม่สิ้นสุด

           ข้าพเจ้าเริ่มเล่นหวยเถื่อนตามความบ้าของเพื่อนพ้อง  เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อว่าเณรเต็ม  “รู้เลขหวย”  จะได้คลายความเชื่อนั้นเสีย  การที่ซื้อเลขหวยเถื่อนไม่ถูกสักงวดเดียวบ่อย ๆ เข้า  คนที่เชื่อว่ารู้เลขหวยก็คลายความเชื่อถือและเลิกขอเลขข้าพเจ้าไปในที่สุด

           ก็ขนาดเล่นเองแล้วยังไม่ถูก  ใครยังเชื่อว่ารู้เลขหวยก็บ้าแล้วครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, พฤศจิกายน, 2565, 10:21:47 PM
(https://i.ibb.co/VgjfPHK/dfeg.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๒ -

           การเล่นหวยเถื่อนนี่ก็แปลก  ถ้าไม่เล่นก็ไม่เกิดความอยากความโลภอะไรนัก  พอเล่นเข้าสัก ๓-๔ งวดติดต่อกันเท่านั้นแหละครับ  มันเหมือน “ผีพนัน” เข้าสิง  ความอยากความโลภเข้าครอบงำจิตใจ  คิดแต่จะซื้อให้ถูกหวยจนได้  แม้ซื้อไม่ถูกก็ไม่หมดความหวัง  พยามยามซื้อต่อไปด้วยความหวังว่าจะถูก  บางงวดซื้อถูกก็ยังไม่พอใจ  เห็นว่าได้น้อยไป  ต้องซื้อต่อเพราะหวังถูกหวยมากเกินไปจนลืมนึกถึงเหตุผลใด ๆ  คนบ้าหวยหรือนักนิยมหวยเถื่อนจึงแสวงหาเกจิอาจารย์  เจ้าพ่อ  เจ้าแม่  ขอเลขหวยทั้งตัวตรงและการบอกใบ้ให้เป็นปริศนา  บ้างก็คิดสูตรเลขต่าง ๆ เฟ้นหาตัวเลขเด่น  ล็อคต่าง ๆ ที่เกิดจากนักคิดคำนวณหวยเถื่อนมากมาย  ข้าพเจ้าเองแม้จะเคยเป็นอาจารย์หวยมาแล้วก็ยังถูก  “ผีพนัน”  เข้าสิงไปด้วยเหมือนกัน  อยากถูกหวยเถื่อนจนถึงกับออกแสวงหาพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายองค์

            หลวงพ่อนอท่าเรือ, หลวงพ่อเสืออยุธยา, หลวงพ่อนกกระเต็น  และอีกหลายหลวงพ่อที่ไปกราบขอหวยและขอเรียนวิชานั่งดูหวย  แต่ล้วนผิดหวังทั้งสิ้น  หลวงพ่อนอท่าเรือบอกว่า

             “เณรอย่าบ้าไปตามเขาเลย  ไม่มีใครเห็นเลขหวยจริงหรอก  บางองค์อาจจะเห็นเลข  แต่เป็นเลขหลอก ๆ  พอมันออกจริงก็ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง”   ท่านยังให้คติไว้ดีมากว่า

             “อนาคตคือความฝัน  ปัจจุบันคือความคิด  อดีตที่ล่วงไปแล้วเอาคืนมาไม่ได้”

            ดังนั้นเลขหวยที่ยังไม่ออกมันเป็นความฝันที่ส่วนมากจะไม่จริง

            หลวงพ่อเสืออยุธยาท่านปักกลดอยู่ใต้ต้นพุทราในวังโบราณ  เขาเล่ากันว่ามีคนนั่งรถสามล้อไปขอหวยท่านก็บอกว่า  “หวยอยู่ที่ก้นมึงแล้ว  ที่กูไม่มีหรอก”  คนไปขอนั้นโกรธ ก็กลับโดยไม่ลา  แต่คนถีบสามล้อมีความคิดเฉลียวจึงเอาเลขทะเบียนรถสามล้อของตนไปแทงหวยถูก  ได้เงินเป็นหมื่นบาท  คำบอกเล่านี้เป็นข่าวดังนานจนเป็นตำนานไปแล้ว  ข้าพเจ้าเข้าไปหายังไม่ทันจะเอ่ยปากขอหวย  ท่านก็บอกว่า

             “เณรอย่าบ้าไปกับพวกบ้าหวยทำไม  เคยไปธุดงค์และเคยให้หวยมาแล้วไม่ใช่เรอะ?”

            เป็นงงมาก  ไม่รู้ว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าข้าพเจ้าเคยเดินธุดงค์และเคยให้หวย  ชวนท่านพูดคุยท่านก็ไม่ยอมพูดคุยด้วย  เลยต้องลากลับมือเปล่า

            หลวงพ่อนกกระเต็น วัดดอนยานนาวา  บางคนว่าท่านไม่มีตัวตน  บางคนว่าได้แก่ท่านพระครูเจ้าอาวาส  ข้าพเจ้าเข้าไปหาท่านพระครูเจ้าอาวาส  ก็เห็นว่าท่านเป็นคนใจดี  ดูยิ้มแย้มแจ่มใส  ไม่ถือเนื้อถือตัว  สิ่งที่ท่านชอบมากคือ  การดูมวยทางทีวี.  วันไหนมีรายการถ่ายทอดการชกมวยทางทีวี. จะมีพระเณรและเด็กวัดเต็มกุฏิ (หลังใหญ่) ของท่าน  ดูและเชียร์มวยกันเฮฮามาก  ตัวท่านเองก็นั่งเฝ้าหน้าจอทีวี. โดยไม่สนใจแขกเหรื่อใด ๆ  ข้าพเจ้าเข้าไปขอหวยในจังหวะที่ปลอดคน  ท่านก็บอกว่าไม่มีหรอก  คนมันบ้ากันไปเอง  ก็แย้งว่า  เห็นมีโพย  “นกกระเต็น”  ใบ้เลขแม่น  ท่านก็ว่า  “ไปขอนกกระเต็นซี่”  ท่านไม่รับและไม่ปฏิเสธว่าเป็น  “นกกระเต็น”  ก็เลยไม่รู้จริง ๆ ว่า  เจ้าขอนามอันโด่งดังและสุดขลังนี้เป็นใครกันแน่?

            คราวนั้นมีข่าวเล่าลือกันว่า  “นกกระเต็น”  วัดดอน  รู้เลขหวยจริง  ท่านเคยให้เลข ๖ ตัวรางวัลที่ ๑ ตรงเผงเลย  แต่ส่วนมากจะไม่ยอมให้ตัวตรง ท่านมักจะบอกใบ้  เขียนเป็นยันต์  ให้คำปริศนา  เช่นว่า   “นกกระเต็นเต้นหยอย ๆ กินน้อย ๆ อิ่มมาก ๆ”   หรือ  “นกกระเต็นเต้นหยอง ๆ สองคุณสองต้องเป็นศูนย์”   อะไรทำนองนี้  คำปริศนาที่ข้าพเจ้าจำได้แม่นไม่รู้ลืมคือ  “ศูนย์แฝดแปดฉะอ้อนสี่ซ้อนย้อนสอง”  คำปริศนานี้ข้าพเจ้าคิดได้เป็นเลย ๘๘  แต่นักเล่นหวยด้วยกันไม่มีใครเชื่อ

            เหตุผลที่คิดออกมาเป็นเลข ๘๘ นั้น  มีคำอธิบายได้ว่า  “ศูนย์แฝด”  นั้นหมายถึงเลขศูนย์สองตัวติดกันก็มีรูปเป็นเลข ๘   คำว่า  “สี่ซ้อน”  นั้นก็หมายถึงเลข ๘  เพราะเลขสี่สองตัวซ้อนกันนั้นเท่ากับ ๘   มิหนำซ้ำท่านยังบอกว่า  “แปดฉะอ้อน”  ก็หมายถึงว่า  เลขแปดกับเลขแปดมันกำลังออดอ้อนกันอยู่  คำใบ้ตบท้ายยังบอกย้ำอีกว่า  “สี่ซ้อนย้อนสอง”  ก็เป็นที่แน่นอนว่าเลขแปดมีสองตัว  แต่เพื่อนนักเล่นหวยด้วยกันเขาคิดไปอีกอย่างหนึ่งว่า  มีเลข ๐-๘-๔-๒  แล้วสลับจับคู่เล่นอย่างสนุก  ข้าพเจ้าซื้อตัวตรง ๆ เป็นเลขท้าย ๒ ตัวรางวัลที่ ๑  คือ  “๘๘”  ผลที่ออกมางวดนั้นข้าพเจ้าถูก ๒๐ บาท  ได้ทุนคืนมาไม่ถึงครึ่งของเงินที่เสียไปหลายงวดแล้วนั้น

            การคิดปริศนาตีความคำใบ้และเลขยันต์หวยของอาจารย์หวยต่าง ๆ  รวมถึงการคิดตีความหมายของความฝันและคำนวณตัวเลขตามล็อคหวย เป็นเรื่องสนุกและเพลิดเพลินดี  ตอนที่เป็น  “อาจารย์หวยจำเป็น”  นั้น  ไม่เคยรู้รสชาติความสนุกในการคิดปริศนาคำใบ้อะไร  นึกขำขันพวกที่คิดแล้วซื้อไม่ถูก  พอหวยออกแล้วจึงคิดได้  ลงโทษตัวเองว่าโง่ไปแล้ว  อะไรทำนองนั้น  แต่พอมาเป็นคนเล่นหวยและคิดปริศนาคำใบ้หวยบ้าง  ก็มีสภาพเดียวกันกับพวกที่ไปขอหวยผมนั่นแหละครับ  อย่างนี้เรียกว่า  “กงเกวียนกำเกวียน”  ก็ไม่ผิด  ในชีวิตการเล่นหวยเถื่อนของข้าพเจ้ามีถูกเพียงครั้งเดียว  คือเลข  “๘๘”  นอกนั้นไม่เคยถูกเลย  จนกระทั่งเลิกเล่นไปในที่สุด

            ข้าพเจ้ามีอายุครบการคัดเลือกเข้าเป็นทหารเกณฑ์ในขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่  และจะบวชเป็นพระภิกษุในปีนั้น  มีญาติพี่น้องผองเพื่อนหลายคนบอกให้ยื่นผ่อนผันการเกณฑ์ทหารตามสิทธิของพระเณรที่กำลังเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมยื่นขอรับการผ่อนผัน  เพราะในส่วนลึก ๆ ของใจอยากเป็นทหารเกณฑ์เหมือนอย่างพี่ชายที่เคยเป็นมาแล้ว  จึงเข้ารับการเกณฑ์เป็นทหารตามกำหนด

            คืนนั้นลงเรือเมล์จากวัดบางซ้ายในไปเมืองสุพรรณบุรี  เรือเมล์นี้เป็นเรือขนาดใหญ่สีแดงเลือดหมูของบริษัทสุพรรณ  มี ๒ ชั้น  คือชั้นล่างสำหรับบรรทุกสินค้านานาชนิด แม้กระทั่งหมูเป็ดไก่ก็ใส่กระชุใส่ตาเข่งลงเรือนี้  ชั้นบนเป็นห้องผู้โดยสาร  ตรงท้ายเรือยกชั้นขึ้น (ดูเหมือนเขาจะเรียกว่า “บาหลี”) สำหรับเป็นที่นั่ง-นอนของพระภิกษุสามเณร  เรือเมล์ของบริษัทนี้เขามีสายการเดินเรือหลายสาย  แข่งกับเรือเมล์ของบริษัทขนส่ง (บ.ข.ส.) ซึ่งใช้สีแดงสดทาเรือ  และยังมีเรือเมล์สีเขียวแข่งแทรกอีกในบางสาย  เฉพาะสายที่เดินทางผ่านวัดบางซ้ายในนั้น  บางลำเริ่มต้นทางที่อำเภอเดิมบางนางบวช  ผ่านสามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า บางซ้าย บ้านแพน (อำเภอเสนา) สีกุก (อำเภอบางบาล) บางไทร สามโคก ปทุมธานี ปากเกร็ด นนทบุรี  ถึงท่าเตียน  อันเป็นท่าเรือรวม  ข้าพเจ้ารอเรือที่ออกจากท่าเตียนที่ผ่านวัดบางซ้ายในไปสุพรรณ  กว่าจะได้ลงเรือก็เป็นเวลาหลังเที่ยงคืนแล้ว  เพราะวันนั้นเรือรับส่งสินค้าและผู้คนจอดตามรายทางมาก  จึงเกิดการล่าช้ากว่าปกติ  พอถึงท่าเมืองสุพรรณในเวลารุ่งแจ้ง  ขึ้นจากเรือเมล์เดินผ่านตลาดใหญ่กลางเมืองไปวัดสุวรรณภูมิอันเป็นสถานที่คัดเลือกทหารเกณฑ์  ขึ้นไปบนศาลาการเปรียญแล้วทายกก็นิมนต์ให้นั่งบนอาสน์สงฆ์ร่วมกับพระเณรที่มาจากวัดต่าง ๆ เพื่อรอคัดเลือกทหาร  ได้เวลาฉันอาหารเช้าเขาก็นำอาหารมาถวายพระเณรเหมือนการทำบุญกันตามปกติ

            วันนั้นผู้คนในบริเวณวัดสุวรรณภูมิแน่นขนัดไปด้วยชายหนุ่มวัยฉกรรจ์และญาติพี่น้องของผู้ถูกเกณฑ์มาคัดเลือกทหาร  เพื่อน ๆ ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันกับข้าพเจ้าสิบกว่าคนก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา  พบปะกันก็สนทนาฮาเฮตามประสาเพื่อนชาย  ได้เวลาคัดเลือกแล้วทางสัสดีก็เรียกไปตรวจร่างกายและวัดขนาดอกจัดประเภทเป็น  ดีหนึ่งประเภทหนึ่ง  ดีหนึ่งประเภทสอง  ดีสอง.....   ข้าพเจ้าผ่านการคัดเลือกเป็นดีหนึ่งประเภทหนึ่ง  รอจับใบดำใบแดงต่อไป

            อำเภอเมืองสุพรรณบุรีมีหลายตำบลซึ่งก็ล้วนแต่เป็นตำบลใหญ่ ๆ ทั้งนั้น  อย่างบ้านข้าพเจ้าอยู่ในตำบลตลิ่งชัน หมู่ที่ ๖ เพียงหมู่บ้านเดียวก็มีชายฉกรรจ์ถูกเกณฑ์ตั้งสิบกว่าคนไปแล้ว  ดังนั้นการคัดเลือกทหารจึงเป็นไปได้ด้วยความล่าช้า

            ข้าพเจ้านั่งรอจับใบดำใบแดงอยู่ท้ายอาสน์สงฆ์บนศาลาการเปรียญเป็นเวลานานจนม่อยหลับไปด้วยความง่วง (เพราะเมื่อคืนนี้นอนไม่เต็มตื่น) นานแค่ไหนไม่รู้  มารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเพื่อน ๆ มาเขย่าตัวปลุกให้ตื่น  จึงตื่นขึ้นอย่างงัวเงีย  คิดว่าเขาเรียกให้ไปจับใบดำใบแดง  จึงลงจากอาสน์สงฆ์เดินงง ๆ

             “เณรจะไหน?”  เพื่อนคนหนึ่งจับแขนดึงไว้

             “ก็ไปจับใบดำใบแดงไงล่ะ”  ข้าพเจ้าตอบแบบสะลึมสะลือ

             “เขาเลิกกันแล้วเณร!  กลับบ้านกันเถอะ”  เพื่อนเขย่าแขนเตือน

             “อ้าว..!  ก็ฉันยังไม่ได้จับใบดำใบแดงนี่นา?”  ยังงงอยู่

             “ไม่ต้องแล้ว  หมู่บ้านเราเขาเอาแค่ ๓ คน  และจับใบแดงได้ ๓ คนครบแล้ว  นอกนั้นเป็นใบดำทั้งหมดเลย  เณรก็ได้ใบดำด้วย”  เพื่อนอธิบายให้หายข้องใจ

            มารู้ความจริงภายหลังว่า  ขณะที่นั่งหลับรอจับใบดำใบแดงอยู่นั้น  เขาได้เรียกชายฉกรรจ์ดีหนึ่งประเภทหนึ่งจับใบดำใบแดงเรียงตำบลไปจนถึงตำบลตลิ่งชัน  เมื่อถูกเรียกชื่อจับใบดำใบแดงนั้น  ข้าพเจ้านั่งหลับไม่รู้เลย  เพื่อน ๆ ตะโกนบอกว่า  “เป็นพระ !”  ทางสัสดีก็ชูใบสลากขึ้นประกาศว่า  “ใบดำ”  คนในศาลาก็พากันส่งเสียงเฮลั่น  แสดงความดีใจว่า  พระจับได้ใบดำ   ทั้งนี้ก็เพราะคนส่วนมากไม่อยากให้พระถูกเกณฑ์เป็นทหาร  จึงเอาใจช่วยตอนที่พระเข้าจับใบดำใบแดง  ข้าพเจ้าผ่านการคัดเลือกทหารเกณฑ์มาด้วยการจับได้ใบดำทั้ง ๆ ที่นั่งหลับรอจับสลากนั่นเอง  นี่เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อที่ต้องเชื่อครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, พฤศจิกายน, 2565, 10:31:41 PM
(https://i.ibb.co/Mkd8xWd/1388749519-o.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๓ -
             เมื่อผ่านพ้นการเข้ารับคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์มาได้แล้ว  ก็ต้องพ้นจากการเป็นสามเณร  เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อไป  มีสามเณรหลายองค์ซึ่งส่วนมากเป็นนักธรรมและเปรียญธรรมอุปสมบทโดยไม่ลาเพศจากการเป็นสามเณร  คือเมื่อพระอุปัชฌาย์ประชุมสงฆ์ในสีมาเรียบร้อยแล้วสามเณรผู้จะอุปสมบท  สมาทานศีลเป็นสามเณรที่มีศีลบริสุทธิ์แล้ว  เข้าสู่หัตถบาตรในที่ประชุมสงฆ์  กล่าวคำขออุปสมบทเป็นพระภิกษุได้เลย  โดยไม่ต้องขอการบรรพชาใหม่เหมือนคฤหัสถ์ที่ต้องขอบรรพชาอุปสมบท  มีหลายคนบอกให้ข้าพเจ้าเป็นสามเณรเข้าขออุปสมบทอย่างนั้นบ้าง  แต่ขอเวลาหน่อย  คือขอลาเพศการเป็นสามเณร (สึก) ออกเป็นคฤหัสถ์เพื่อไปสนุกกับเพื่อน ๆ ก่อนบวชเป็นพระภิกษุสักระยะหนึ่ง

             จะว่าอยากออกจากผ้าเหลืองไปลิ้มรสสด ๆ คาว ๆ ของฆราวาสบ้าง  งั้นก็ได้

             ขณะที่เป็นสามเณรอยู่นั้น  มีหลายครั้งหลายคราวที่มีจิตกระหวัดไปในฆราวาสวิสัย  เห็นหนุ่มสาว (และไม่ใช่หนุ่มสาว) เขามีคู่จู๋จี๋กันก็กระสันจะทำอย่างเขาบ้าง  ความคิดนี้เป็นความคิดของปุถุชน  คือคนที่หนาแน่นด้วยกิเลสโดยแท้  พระ-เณรที่ไม่มีพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์นั้นก็เพราะมีศีลเป็นเครื่องป้องกันไว้ (อยู่ในคอกของศีล) แต่จิตใจคือความรู้สึกนึกคิดนั้น  ศีลไม่อาจกั้นกางขวางไว้ได้  เมื่อขาดสติสัมปชัญญะคราใด  จิตใจก็จะถูกตัณหาราคะชักจูงให้จินตนาการไปในอารมณ์อันน่าปรารถนา  น่าพอใจ  มีรูป  รส  กลิ่น  เสียง เป็นต้น จึงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่า มีพระภิกษุ  “แหกคอก”  ออกจากกรอบของศีลไปมีเพศสัมพันธ์กับสตรีจนกลายเป็น “ผู้แพ้” (ปาราชิก) เหมือน “ตาลยอดด้วน” ไปในที่สุด

             ตอนนั้นข้าพเจ้าเป็นหนุ่มเต็มตัว  ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า  “บรรลุนิติภาวะ”  แล้ว  ความอยากรู้อยากลองในเรื่องโลกียวิสัยจึงคุกรุ่นอยู่ในใจตามวิสัยของปุถุชน  คิดว่าจะต้องบวชเป็นพระภิกษุและคงจะต้องอยู่ในเพศนั้นอีกนานปี  ไหน ๆ ก็จะบวชเป็นพระแล้ว  ขอท่องโลกฆราวาสให้มาก ๆ ไว้ก่อน  จะได้ไม่เป็นพระโง่ ๆ ในเรื่องโลกียวิสัยเหมือนพระบางองค์ที่เคยเห็นมา  ข้าพเจ้าคิดอย่างนั้นจริง ๆ

             เพราะบวชเป็นสามเณรอยู่นานปี  พอสึกออกไปเป็นฆราวาสใหม่ ๆ ก็เก้งก้างเก้ ๆ กัง ๆ เกะกะ ด้วยไม่คุ้นเคยกับพฤติกรรมของฆราวาส  อันที่จริงเมื่อสึกจากเณรเพื่อเตรียมตัวบวชเป็นพระภิกษุควร  “เป็นนาค”  พักแรมคืนอยู่ในวัด  แต่กลับไม่ได้อยู่ในวัด  ด้วยมีครอบครัวผู้ที่ชอบพอกันชักชวนให้ไปกินนอนอยู่ที่บ้านโน้นบ้างบ้านนี้บ้าง  ซึ่งก็เป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีไทยในชนบท  โดยพวกเขาเห็นข้าพเจ้าเป็นเหมือน  “แขกบ้าน”  ที่ต้องให้การต้อนรับตามธรรมเนียมไทย  และก็เป็น “แขกบ้าน” ของเขาจริง ๆ เพราะเป็นคนต่างถิ่น  ไม่มีบ้าน  ไม่มีญาติพี่น้องของตนอยู่ในท้องถิ่นนั้นเลย

             มีอยู่บ้านหนึ่ง  เป็นบ้านหญิงม่ายอายุประมาณ ๓๐ ปีเศษ  ข้าพเจ้าเรียกเธอว่า  “พี่”  คุ้นเคยกันตั้งแต่เป็นเณร  เธอชักชวนให้ไปนอนพักแรมที่บ้านบ้าง  เป็นบ้านที่มีชายคาชิดติดกับบ้านพ่อแม่ของเธอ  “พี่” อยู่เรือนหลังนี้เพียงลำพัง  เพราะสามีเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ทันมีลูกด้วยกัน  ข้าพเจ้าก็ไปนอนด้วยใจเคารพนับถือซื่อบริสุทธิ์ “พี่” ให้ความเป็นกันเองบริการด้านอาหารการกิน  ที่หลับที่นอนอย่างดี  ยามมืดค่ำก็ปูที่นอนกางมุ้งให้  ยามเช้าลุกจากที่นอน “พี่” ก็เก็บมุ้งเก็บที่นอนเรียบร้อย  จัดข้าวปลาอาหารอย่างดีให้รับประทาน

             และแล้วก็มีเหตุที่ข้าพเจ้าคิดไม่ถึงเกิดขึ้น  ในขณะที่นอนหลับสนิทยามดึกของคืนที่สองนั้น  ต้องสะดุ้งตกใจตื่นเมื่อมีคนมานอนกอดแน่นและจูบฟัดอย่างแรง

              “พี่อยากกอดน้องเณรมานานแล้ว”  เสียงกระเส่าสั่น ๆ ของ “พี่” กระซิบที่หู ทำให้รู้สึก วาบวูบหวิวหวามอย่างไร บอกไม่ถูก

             เมื่อไฟราคะมันลุกฮือขึ้นจนสุดที่จะดับให้มอดลงได้  ข้าพเจ้าก็ตกเป็นของ “พี่” ในยามดึกของคืนนั้นเอง เรียกว่าสมอยากเลยก็แล้วกัน

             จากนั้นก็ใช้ชีวิตคลุกคลีราคีคาวอยู่ในโลกียวิสัยได้เดือนเศษ  ชักจะติดรสโลกีย์ราคีคาวจนไม่อยากบวชเป็นพระภิกษุ  แต่ก็จำต้องเลิกละฆราวาสวิสัย  ลาร้างรสโลกีย์ราคีคาวนั้น  เพราะ “หลวงพ่อแปลก” ซึ่งเสมือนเป็นพ่อแท้ ๆ ของข้าพเจ้า  ท่านได้กำหนดวันเวลาจัดงานอุปสมบทไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว  อย่างไรเสีย  เณรเต็ม  ก็ต้องบวชเป็นพระเต็มต่อไปอย่างแน่นอน

             นาคเต็ม  ไม่ต้องเข้าวัดท่องขานนาคเตรียมตัวบวชเป็นภิกษุเหมือนอย่างนาคทั่วไป  เพราะได้บวชเป็นสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบความรู้ได้เป็นนักธรรมชั้นเอก  ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของแผนกพระปริยัติธรรม  และเพิ่งจะลาสิกขาออกมาหมาด ๆ  “กลิ่นผ้าเหลือง”  ยังไม่จางหายหมดไปจากกายเลย  คำขานนาคและพิธีการขออุปสมบทก็รู้ดีอยู่แล้ว

             เพราะไม่ต้องเข้าไปอยู่ประจำในวัดนี่เอง  “นาคเนื้อหอม”  อดีตเณรเต็ม “คนดัง” แห่งวัดบางซ้ายใน  จึงทำตัวเป็น  “พ่อพวงมาลัยลอยไปลอยมา”  ในทุ่งรางเนื้อตายและบางซ้าย-เต่าเล่า  นอนค้างแรมคืนตามบ้านผู้ที่นับถือชอบพอกัน  ทุกบ้านทุกคนให้ความไว้วางใจไม่รังเกียจ   “พี่”  ม่ายสาวซึ่งเป็นคนแรกที่ข้าพเจ้าล่วงศีล “กาเมสุมิจฉาจาร”  ก็มิได้ยื้อดึงหึงหวง  เธอปล่อยข้าพเจ้าเป็นอิสรเสรีในการเป็นอยู่  โดยข้าพเจ้าเองก็มิได้เหินห่าง “พี่” จนเกินไป  คงวนเวียนไปนอนค้างอ้างแรมที่บ้านเสมอ

             ใกล้จะถึงวันเข้าพิธีอุปสมบทแล้ว  นาคเต็มไปบ้านรางเนื้อตาย  และพักแรมที่บ้าน  “น้าเหงี่ยม”  ทางตอนใต้ของวัด (ห่างวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร) ที่นี่ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์อันเหลือเชื่อ  บอกใคร ๆ ก็คงไม่เชื่อ  แม้ตัวเองเมื่อคิดย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์นั้นแล้วก็ยังไม่เชื่อว่า  “มันเป็นไปได้อย่างไร?”

             น้าเหงี่ยมกับน้านง สองสามีภรรยาที่ข้าพเจ้านับถือมาก  มีลูกสาวคนโตชื่อ  “งาม”  คนรองชื่อ  “นุช”   ปีนั้น  “งาม” อายุ ๑๗-๑๘ เห็นจะได้  วันที่ข้าพเจ้าไปพักแรมที่บ้านน้านั้น  เป็นการบังเอิญหรืออย่างไรก็ไมรู้  น้าเหงี่ยม  น้านง  ต้องเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในอำเภอบางบาล  พา “นุช” ลูกสาวคนเล็กวัย ๑๔ ปีไปด้วย  กำหนดว่าจะไป ๒ คืน  ให้ข้าพเจ้าเฝ้าบ้านอยู่กับ “งาม ”เพียงสองคน    “งาม” เป็นเด็กเรียบร้อย  เธอไม่ใช่คนสวย  แต่ก็งามสมชื่อ   ข้าพเจ้านอนตรงมุมห้องโถง  โดย “งาม” เป็นคนปูที่นอนและกางมุ้งให้  ส่วนเธอนั้นเข้านอนในห้องนอน  คืนแรกนอนหลับไม่สนิทนัก ไม่ใช่เพราะผิดที่จึงนอนไม่หลับหรอกครับ  แต่ใจมันคอยคิดไปในเรื่องอกุศลกรรม  ใฝ่ต่ำจะทำมิดีมิร้ายต่อ “งาม” เหมือนที่ทำกับ “พี่” ม่ายสาวและบางคนซึ่งผ่านมา  รุ่งเช้าตื่นนอนแล้วพบว่า  งามกำลังเข้าครัวทำอาหาร  ข้าพเจ้าบอกเธอว่าเช้านี้ไม่ต้องจัดอาหารให้  เพราะจะเข้าวัดและกินข้าวเช้าในวัดด้วย

             ข้าพเจ้าอยู่ในวัดครึ่งวัน  ใช้เวลาหมดไปด้วยการเล่นหมากรุกกับหลวงตาเปรม คู่ปรับเก่า  เล่นตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาฉันเพล  หลวงตาเปรมเลิกเล่นไปฉันเพล  ครูฉิ่งก็เข้าหน้าแป้นแทนหลวงตาเปรม  เล่นกันอยู่จนบ่ายโมง  ครูฉิ่งก็เลิกเล่นไปเข้าห้องสอนนักเรียนตามเวลา  ข้าพเจ้าเลิกเล่นหมากรุกแล้วกลับไปบ้านน้าเหงี่ยม  น้อง “งาม” จัดสำรับกับข้าวไว้คอยท่า  ข้าพเจ้าก็ “ฉลองศรัทธา” เธอตามระเบียบ    ขณะรับประทานอาหารนั้น “งาม” ไม่ได้ทานด้วย  แต่เธอนั่งฟังวิทยุอยู่ห่าง ๆ  รายการวิทยุสมัยนั้นที่นิยมกันมากคือ  ละคร-ลิเก มากกว่าเพลง  มีละครวิทยุหลายคณะออกอากาศในหลายสถานี  ที่คนติดกันมากเห็นจะเป็นคณะ  “ผาสุกวัฒนารมย์”   ลิเกดัง ๆ ก็มี  เสนาะน้อย เสียงทอง, ทองใบ รุ่งเรือง, บุญส่ง จารุวิจิตร, ประยงค์ ลูกบางแก้ว เป็นต้น

             ข้าพเจ้าอยู่กับ “งาม” ตั้งแต่วันยันค่ำ  ไม่ค่อยได้พูดคุยอะไรกันมากนัก  ก็จะคุยอะไรกันได้มากล่ะครับ ?   ข้าพเจ้าถามคำเธอตอบคำจนไม่มีอะไรจะถามเธอ  ส่วนใหญ่เธอจะเปิดวิทยุฟังละคร-ลิเก  ข้าพเจ้าก็ต้องพลอยฟังทำใจให้สนุกตามเธอไปด้วย  เด็กสาวชนบท (บ้านนอก) สมัยนั้นส่วนมากไม่ได้เรียนหนังสือในระดับชั้นมัธยม  เรียนจบชั้นประถมแล้วก็ทำนาทำไร่ค้าขายไปตามอาชีพเดิมของตระกูล   “งาม” ลูกสาวชาวนาทุ่งรางเนื้อตายก็เป็นเช่นนั้น  เรียนจบ ป.๔ แล้วก็ทำนาอยู่ในสังคมแคบ ๆ เธอโตเป็นสาวเต็มตัว  งามตามประสาสาวชาวนา  ร่างกายอวบอั๋นผิวคล้ำเป็นนวลใยน่าสัมผัสลูบไล้ไม่น้อยเลย  เวลาคุยกันเธอก็มักก้มหน้าไม่กล้าสบตา  คล้ายมีความขวยเขินสะเทิ้นอายกระนั้น /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, พฤศจิกายน, 2565, 10:38:47 PM
(https://i.ibb.co/b52x1vz/ea3fe89c8cd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๔ -
             ค่ำคืนที่สอง  เสียงวิทยุเทียบเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกาดังขึ้น  ข้าพเจ้าไม่อาจอดใจนอนคิดฟุ้งซ่านอยู่ในมุ้งมุมห้องโถงต่อไปได้แล้ว  ลุกออกจากมุ้งไปปิดเครื่องรับวิทยุริมห้องโถง  แล้วเดินไปเปิดประตูห้องนอนของงามที่ไม่ได้ลงกลอน  เธอกางมุ้งและเข้านอนแล้ว  แต่ยังไม่หลับ  มีตะเกียงน้ำมันก๊าดจุดไฟหรี่แสงตั้งไว้ทางหัวนอนดวงหนึ่ง  ข้าพเจ้าค่อย ๆ เปิดมุ้งเข้าไปด้วยใจมุ่งที่จะละเมิดทางเพศเธอ  แทนที่จะแสดงอาการตกอกตกใจลุกขึ้นโวยวาย   งามกลับนอนเหยียดยาวตัวแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้  ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ  ข้าพเจ้าเอนตัวลงนอนเคียงข้างเธอ  พร้อมบรรจงจูบแก้มซ้ายอย่างแผ่วเบา  นั่นแหละเธอจึงมีปฏิกิริยาพลิกตัวไปทางขวา  ข้าพเจ้านอนตะแคงประกบด้านหลังและโอบกอดเธอพร้อมจุมพิตตรงต้นคอ  เธอแสดงอาการสยิวร่างแล้วพลิกกายกลับมาทางซ้าย  ไม่มีเสียงพูดจาพึมพำและแม้กระเส่ากระซิบใด ๆ  ข้าพเจ้ากอดจูบลูบคลำเรือนร่างอันอวบอั๋นของเธออย่างทะนุถนอม  กลิ่นอายกายสาวบริสุทธิ์หอมกรุ่นละมุนละไม  จากหอมเย็นเจือจางแล้วค่อย ๆ ฉมฉุนขึ้นตามความร้อนแรงแห่งเพลิงใคร่  ตัณหาราคะไม่มีชั้นวรรณะและเผ่าพันธุ์  เมื่อถูกอดจูบลูบเคล้นคลึงคลำมาก ๆ เข้า  กายเธอก็สั่นสะท้านไหว  หายใจแรง  มีอารมณ์ตอบสนองตามธรรมชาติของกามโภคี

             ในขณะที่จะเริ่มเสพสมรสนั้น  งามโอบกอดข้าพเจ้าแน่นแล้วกระซิบด้วยเสียงสั่น ๆ ว่า

              “พี่บวชพรรษาเดียวแล้วสึกมาอยู่กับงามนะ”

             เสียงกระซิบสั่งนั้นแม้เพียงแผ่วเบา  แต่มันเป็นคำประกาศิตที่ดังเหมือนเสียงฟ้าผ่าฟาดเปรี้ยงลงมากลางอกจนข้าพเจ้าสะดุ้งเฮือก!

            สติสัมปชัญญะคืนกลับมาอย่างฉับพลัน  พลิกร่างลงนอนหงายผลึ่งด้วยความตื่นตระหนกตกใจ  คำกระซิบสั่งที่ว่า  “พี่บวชพรรษาเดียวแล้วสึกมาอยู่กับงามนะ”  นั้นมันฉุดกระชากตัณหาราคะให้หยุดชะงักงัน  อารมณ์ใคร่หดหายไปดังปลิดทิ้ง  นอนนิ่งทำใจอยู่จน   “งาม”พลิกครึ่งร่างขึ้นทับอกข้าพเจ้าแล้วถามเบา ๆ

              “เป็นอะไรไปเหรอพี่?”

              “ไม่ ! ไม่เป็นอะไรหรอกงาม  อื่มม์.....พี่ไม่รู้จะพูดอย่างไร  เดี๋ยวก่อน..ขอเวลาพี่คิดหน่อยนะ”

             เธอก็ช่างน่ารักเหลือเกิน  นอนเอาหน้าซบอกนิ่งอยู่โดยไม่พูดอะไรเลย

             ข้าพเจ้ากลายสภาพจากเด็กหนุ่มคะนองเป็นผู้ใหญ่ที่สุขุมรอบคอบขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ  คำพูดของเด็กสาวในอ้อมกอดอันร้อนแรงด้วยเพลิงราคะที่ว่า   “พี่บวชพรรษาเดียวแล้วสึกมาอยู่กับงามนะ”   นั้น  เป็นเหมือนคำสั่งคาดคั้นให้ต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยข้าพเจ้าจะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูเธอในฐานะภรรยาไปตลอดชีวิต  ภาพการเป็นชาวนา  ไถนา  หว่านข้าวกล้า  เกี่ยวข้าว  นวดข้าว  ขนข้าวใส่ยุ้งและกิจกรรมต่าง ๆ ของการเป็นชาวนาปรากฏขึ้นในมโนธรรมอย่างเด่นชัด  ถ้าข้าพเจ้าประกอบกามกิจเสร็จสมอารมณ์ใคร่ในคืนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ  จมชีวิตของตนเองอยู่ในปลักชาวนาแห่งทุ่งรางเนื้อตายแน่นอน

             โดยความเป็นจริงแล้วข้าพเจ้าไม่ได้รักงาม  ไม่เคยมีความคิดหวังว่าจะใช้ชีวิตคู่อย่างสามีภรรยากัน  จิตใจของข้าพเจ้าที่มีต่อหญิงสาวทั่วไปนั้นมันเป็นเพียง “ความใคร่” ไม่ใช่ “ความรัก”  ไม่มีความคิดรับผิดชอบเลี้ยงดูใคร  ไม่คิดจะให้ใครเลี้ยงดูอยู่ด้วยตลอดกาล  ไม่ต้องการพันธะสัญญาผูกพันใด ๆ  รักที่จะเป็น “คนหลักลอย” ว่างั้นก็ได้

             ข้าพเจ้ารักชีวิตที่มีอิสรเสรี  ทำตัวเหมือน “วิหคเหินลม” บินไปไหน ๆ ได้ตามใจปรารถนา  ค่ำไหนนอนนั่น  ไม่ปรารถนาเรือนรังใหญ่โตอยู่ประจำ ตกลงใจไว้ว่าหลังจากบวชเป็นภิกษุแล้วจะจาริกไปตามใจปรารถนาในทุกหนทุกแห่งเท่าที่จะไปได้  มันเป็นความรู้สึกคิดที่เกิดขึ้นในสมัยที่ออกเดินทางไปประพฤติธุดงควัตรในสถานที่ต่าง ๆ  และดำรงอยู่ในใจตลอดมา

             ครั้น “งาม” ออกคำสั่งให้สึกจากพระภิกษุมาอยู่กับเธอ  ความคิดฝันในอิสรเสรีที่เคยบรรเจิดจ้าก็ดับวูบลง  ข้าพเจ้านอนนิ่งคิดชั่งใจระหว่างการอยู่เป็นผัวเมียกับ “งาม” ไปตลอดชีวิต  และการอยู่ในบรรพชิตเพศ  ใช้ชีวิตอิสรเสรีเป็น “วิหคเหินลม” นั้น  จะเลือกเอาข้างไหน  ใจบาปหนาด้วยกิเลสมันบอกว่า  “เอามันซะเลยเถอะ  ไม่ต้องคิดอะไรมาก  รับปากแล้วทิ้งมันไปก็ได้”

             ใจบุญกิเลสเบาบางก็คิดค้านว่า   “อย่าทำกรรมอันชั่วช้าลามก  ไร้ศีลอย่าสิ้นธรรม”

             สำนึกยามนั้นของข้าพเจ้าโน้มเอียงไปทางความคิดของใจบุญกุศลมากกว่าใจบาปหยาบช้า

             คิดถึงน้าเหงี่ยม  น้านง  พ่อแม่ของงาม  ที่รักใคร่เอ็นดูข้าพเจ้า  ไว้วางใจให้อยู่เป็นเพื่อนลูกสาวท่าน  ถ้าข้าพเจ้าชำเราเด็กสาวผู้บริสุทธิ์คนนี้ก็เท่ากับว่าเป็น “คนอกตัญญู” ลบหลู่คุณท่านเป็นเหมือนอย่างคำพูดที่ว่า  “กินบนเรือน ขี้รดหลังคา”  กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว  เลวทรามต่ำช้าอย่างที่สุด  เมื่อบวชเป็นพระภิกษุไปแล้วจะให้เขายกมือไหว้  ถวายอาหารให้ขบฉันอย่างสนิทใจอย่างไรได้เล่า  เห็นจะ “มองหน้ากันไม่ติด” เป็นแน่

             คิดถึงความเป็นเด็กสาวซื่อบริสุทธิ์ของงาม   เธอบริสุทธิ์กาย โดยร่างกายของเธอยังไม่เคยถูกต้องมือชายในเชิงเชยชมด้วยอารมณ์ใคร่  เธอบริสุทธิ์ใจ  โดยยังไม่เคยคิดร่วมรักร่วมใคร่กับชายใดมาก่อน  ข้าพเจ้าเป็นชายคนแรกที่จุดไฟราคะกิเลสให้ลุกโพลงขึ้นในใจเธอ

             แล้วข้าพเจ้าจะเลวทรามต่ำช้าจนถึงกับกล้าทำลายเธอแล้วทิ้งเชียวหรือ?

             ข้อความดังกล่าวนั่นแหละครับที่เกิดขึ้นในใจ  ขณะที่นอนนิ่งคิดอยู่  ด้วยสำนึกอันดีงาม  ข้าพเจ้าเอามือลูบหลัง  ลูบหัว “งาม” เบา ๆ ด้วยความเมตตาปรานีแล้วถอนหายใจแรงๆ

              “งาม....พี่ทำไม่ได้...... ”  ผมพูดพึมพำเหมือนรำพึง

              “ทำอะไรไม่ได้หรือพี่....?”  เธอผงกหัวขึ้นมองหน้าพี่เต็มของเธอ  ข้าพเจ้าลืมตาขึ้นประสานสายตาเธอที่วาววามในความสลัวของแสงไฟตะเกียง  แล้วอารมณ์ใคร่ฝ่ายบาปก็โพลงขึ้นอีก  สองแขนกอดรัดเธอแน่นขึ้น  แล้วค่อย ๆ ผ่อนคลายเมื่ออารมณ์ฝ่ายต่ำถูกข่มให้เซาลง

              “พี่คิดถึงความดีของน้าเหงี่ยม น้านง ที่รักพี่ ไว้วางใจพี่  ให้พี่อยู่เป็นเพื่อนงามตามลำพัง  แล้วพี่จะทรยศ  ทำอะไรไม่ดีไม่งามกับลูกสาวของน้าแบบ  “กินบนเรือน ขี้รดหลังคา” ได้อย่างไร  พี่ทำความเลวทรามต่ำช้าอย่างนั้นไม่ได้จริง ๆ”

              “พ่อ แม่ ไม่คิดอย่างนั้นหรอกพี่  เขายินดียกงามให้พี่ตั้งนานแล้ว  และงามก็ยินดีอยู่เป็นเมียพี่ไปตลอดชีวิต”  เธอพูดเบา ๆ พร้อมซบหน้าลงบนอกข้าพเจ้า

              “แต่พี่ยังไม่มีความพร้อมอะไรเลยนะงาม”

              “จะเอาความพร้อมอะไรล่ะ  บ้านเรามีนาตั้งเกือบสองร้อยไร่  พ่อแม่แบ่งให้งามกับน้องคนละครึ่งก็เหลือใช้แล้ว”

              “พี่คงทำนาไม่ไหวแล้วหละ  เพราะเลิกทำนาไปบวชอยู่ตั้งนานแล้ว”

              “ไม่ต้องทำเองก็ได้  ให้เขาเช่าแล้วเก็บค่าเช่าก็พอกินพอใช้”

              “พี่เป็นคนตัวเปล่า ไม่มีสมบัติพัสถานอะไร  สินสอดทองหมั้นก็ไม่มีจะขอแต่งกับงาม”

              “ของงามมีพร้อมอยู่แล้ว  เอาเงินพ่อแม่งามเป็นสินสอดได้เลย”

             ข้าพเจ้าไม่มีคำพูดบ่ายเบี่ยงอีกต่อไป  จึงนอนกอดเธอนิ่งนาน  ใช้ความคิดในทางที่เป็นบุญกุศลจนกามราคะไม่กำเริบ  ดั่งคำพระที่ว่า “สติมา ปัญญาเกิด”  มองเห็นทุกข์อันเกิดจากการครองเรือนนานาประการ  ตัดสินใจแน่วแน่ไม่ “ร่วมเพศ” กับ “งาม” ให้เกิดปัญหาสารพันตามมา
            
              “งาม.......” ข้าพเจ้าเรียกชื่อเบา ๆ
              “ขา.....”  เธอขานรับด้วยเสียงแผ่วเบาเช่นกัน

              “พี่จะบวชไม่สึก” ข้าพเจ้าพูดด้วยเสียงหนักแน่นจริงจัง
 
              “งาม” พลันลุกขึ้นนั่งด้วยความตกใจ  ข้าพเจ้าก็รีบลุกขึ้นนั่งเช่นกัน  ขณะที่งามนั่งงงงันอยู่นั้น  ข้าพเจ้าก็จับมือเธอกุมไว้แล้วบีบเบา ๆ

              “จริง ๆ นะงาม  ชีวิตพี่ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ครองเรือน  เพราะพี่เป็นคนรักอิสรเสรี  ชอบทำอะไร ๆ เพื่อส่วนรวมมากกว่าจะทำเพื่อตนเอง  ไม่หวังสมบัติพัสถานใด ๆ  ตกลงใจแล้วว่าจะบวชไปนาน ๆ  ทำประโยชน์ให้แก่สังคมและพระศาสนา  โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าชีวิตจะจบลงตรงจุดไหน  อาจจะบวชไปจนตายคาผ้าเหลืองก็ได้  ดังนั้นเราอย่าทำอะไรให้เป็นราคีคาวแก่กันเลย  พี่ขอโทษที่ได้ล่วงเกินงามไปบ้างแล้ว  พี่จะบวชแบ่งบุญกุศลเป็นการไถ่บาปให้งามด้วย  จากนี้ไปให้เราทั้งสองนับถือเป็นญาติสนิท เหมือนพี่น้องคลานตามกันมาเถิดนะ”

              “งาม” นั่งนิ่งฟังข้าพเจ้าพูดจนจบจึงโผกอดแล้วร้องไห้กระซิก ๆ  ข้าพเจ้าเอามือขวาลูบหัวที่เต็มไปด้วยเส้นผมอันหนานุ่ม  มือซ้ายโอบกอดร่างเธอเขย่าเบา ๆ ด้วยความปรานี  พูดปลอบโยนอยู่นานจนเธอทำใจได้แล้ว  จึงกลับเข้ามุ้งนอนด้วยอาการอันสงบ

             รุ่งเช้าข้าพเจ้าบอกงามว่าไม่ต้องจัดทำอาหารให้  เพราะจะไปกินข้าววัดเช่นเคย  วันนั้นจึงเล่นหมากรุกอยู่วัด “ฆ่าเวลาให้ตายไป” ตั้งค่อนวัน เพราะไม่กล้าที่จะกลับไปต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำที่บ้านน้าเหงี่ยม  ยามเย็นจึงกลับไปที่บ้าน  ซึ่งก็เป็นเวลาที่น้าทั้งสองและลูกสาวคนเล็กกลับมาจากบางบาลแล้ว  ข้าพเจ้าพยายามวางหน้าให้เป็นปกติ  งามก็ทำหน้าเป็นปกติได้เช่นกัน  คืนนั้นนอนคุยอยู่กับน้าทั้งสองจนครึ่งคืนจึงหลับสบาย

             ข้าพเจ้าลาน้าทั้งสองเดินทางกลับไปวัดบางซ้ายใน  และก็ไปค้างแรมคืนที่บ้าน “พี่” ม่ายสาวคู่ขาคนดีของข้าพเจ้า ได้ถอนทุนคืนกลืนกินกามราคะจนสมอยาก

             มารู้ภายหลังว่าเมื่อข้าพเจ้าลาจากไปแล้ว  น้าทั้งสองซักถามให้งามบอกเล่าความจริงที่อยู่กับข้าพเจ้านานถึงสองคืนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง  เธอก็บอกเล่าความจริงทั้งหมดไม่ปิดบังอำพรางเลยแม้แต่น้อย  เมื่อรู้ความจริงแล้ว น้าทั้งสองเพิ่มความรัก นับถือในตัวข้าพเจ้ามากขึ้นไปอีก  จนบวชเป็นพระได้สองพรรษาแล้ว  “น้านง” ยังพูดกระเซ้าเย้าแหย่ข้าพเจ้าอีกว่า  “ลูกพระจะสึกหาลาเพศเมื่อไรก็บอก  ถึงวันนี้แล้วก็ยังไม่สายที่จะกลับใจใหม่นะ”
  
             ข้าพเจ้าบวชได้ ๑๐ พรรษาแล้ว  “งาม” จึงแต่งงานมีครอบครัวไปตามวิถีชีวิตชาวนาของเธอ  เพราะทนรอคอยไม่ไหวนั่นเอง

             เรื่องของข้าพเจ้ากับ “งาม” ควรถือได้ว่าเป็นเกียรติประวัติอันดีงามของชีวิต  และเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้า  ถ้าคืนนั้นข้าพเจ้ากับงาม พ่ายแพ้แก่อำนาจฝ่ายต่ำแห่งดำฤษณาจนเกิด “ได้เสียกัน”   ป่านนี้ข้าพเจ้าก็เป็นตาแก่เฝ้าที่นาอยู่ทุ่งรางเนื้อตายนั้นเอง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, พฤศจิกายน, 2565, 10:29:22 PM
(https://i.ibb.co/44QHkLr/279165207.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๕ -
             หลวงพ่อแปลก จัดงานบวชข้าพเจ้าที่วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย)  ท่านพิมพ์การ์ดเชิญแจกจ่ายไปทั่ว  ในงานบวชมีหมอทำขวัญนาคสองคนมาร้องแหล่ประชันกัน ที่สำคัญคือมีลิเกคณะจันทร์แรมซึ่งเป็นพระเอกชื่อดังของคณะหอมหวลมาแสดงอีกด้วย  ในพิธีอุปสมบทครั้งนี้มีนาคขอร่วมบวชด้วย ๑ คน  คือ  นาคแถม (คนละคนกับเณรแถมวัดบางซ้ายใน) เป็นลูกชาวนาบ้านเหนือวัดรางเนื้อตาย  นิมนต์พระครูอดุลย์วรวิทย์ (หลวงพ่อไวย์) เจ้าอาวาสวัดบางซ้ายใน  เจ้าคณะกิ่งอำเภอบางซ้าย  มาเป็นพระอุปัชฌาย์  พระสมุห์สาย ถาวโร  พระมหาแม้น อหิงสโก  ครูสอนพระปริยัติธรรมวัดบางซ้ายใน  มาเป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ (พระคู่สวด)

             วันงานนั้น  วัดรางเนื้อตายเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาจากต่างบ้านต่างตำบล (และต่างเมือง) เพราะหลวงพ่อแปลกเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีผู้คนรู้จักและเคารพนับถือมาก  ก่อนบวชท่านไม่เคยมีลูกมีเมีย  ถือว่าข้าพเจ้าเป็นลูกชายคนแรกและคนเดียวของท่านจึงแจกการ์ดเชิญไปทั่วบ้านทั่วเมืองในคนที่ท่านรู้จักนับถือ  นอกจากคนฝ่ายหลวงพ่อแปลกแล้ว  ยังมีคนที่เป็นญาติมิตรของข้าพเจ้าทางจังหวัดสุพรรณบุรีอีกส่วนหนึ่ง  เดินทางมาค้างแรมคืนที่วัดรางเนื้อตายเพื่อร่วมในพิธีอุปสมบทข้าพเจ้าอีกจำนวนมาก

             งานเริ่มด้วยพิธีทำขวัญนาคตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น.  ข้าพเจ้าต้องแต่งตัวเป็นนาค  คือโกนผม  โกนหนวด  ตัดเล็บมือเล็บเท้า  นุ่งห่มผ้าสีขาว  สมาทานเบญจศีล (ถือศีลห้า) เข้าพิธีทำขวัญนาคกลางศาลาการเปรียญ  ในพิธีทำขวัญนาคนี่  เจ้านาคต้องใช้ความอดทนทรมานนั่งหลังขดหลังแข็งฟังหมอทำขวัญร้องแหล่กันเป็นเวลานาน พิธีทำขวัญเขาใช้หมอสองคนผลัดกันร้องตั้งแต่น้องเพลไปจนเย็นค่ำ  ข้าพเจ้าปวดหลังปวดขามากจนต้องขอตัวลุกออกจากพิธีไปเข้าห้องน้ำ (เข้าส้วม) เป็นหลายครั้ง  ดีที่นาคแถมนั่งเป็นหลักอยู่ในพิธีจนเสร็จสิ้น

             นาคในวันจะบวชเป็นพระภิกษุนั้น  ต้องถูกคุมตัวเหมือนเป็นนักโทษฉกรรจ์ทีเดียว  จะไปไหน  จะทำอะไร  ต้องมีคนคอยดูแล  ทุกครั้งที่นาคเต็มหนีหมอขวัญออกไปห้องน้ำก็มีคนตามแจไม่ให้คลาดสายตา  ว่ากันว่า  วันจะเข้าโบสถ์บวชนั้นเป็นวันสำคัญที่สุดของนาค  ถ้าไม่ระวังดูแลให้ดีแล้วนาคอาจจะไม่บวชก็ได้  เพราะผู้ชายไทยมีเสน่ห์รุนแรงที่สุดคือวันสุดท้ายของการเป็นนาค  เคยมีตัวอย่างว่า  ในงานบวชนาครายหนึ่ง  นาคได้แอบหนีตามผู้หญิงไป  “เบียด”  แล้วเตลิดในเวลากลางคืน  รุ่งเช้าหานาคเข้าโบสถ์บวชไม่ได้   จนมีความเชื่อกันว่า  พญามารมักจะส่งธิดามาผจญ  ยั่วยวนด้วยตัณหาราคะจนพ่ายแพ้แก่อำนาจดำฤษณาแล้วบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้  ดังนั้น  นาคเต็ม  นาคแถม  จึงถูกคุมตัวแจตลอดงาน

             ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่าพญามารส่งนางตัณหานางราคะสองธิดาสาวโสภาที่สุดในโลกของท่านมาผจญนาคเต็ม นาคแถม หรือไม่  รู้แต่ว่าหลังจากเสร็จพิธีการทำขวัญนาคแล้ว  มีสาวน้อยสาวใหญ่  แม่ม่ายแม่ร้างที่เคยรู้จักกับนาคเต็ม นาคแถม  มาล้อมหน้าล้อมหลังพูดคุยหยอกล้อกันมากมาย  แม้คนที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน  เพียงเคยเห็นหน้าค่ากันเท่านั้นก็ยังเข้ามาทักทายใกล้ชิดด้วย  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า  “นาคเป็นคนเด่นคนดังที่สุด”  ในงานนั้น  ทำให้ใครๆอยากรู้จักใกล้ชิดก็ได้  ไม่ใช่เพราะพญามารส่งธิดางามของท่านมาผจญนาคอะไรหรอกครับ

             คืนนั้นมีผู้คนไปดูลิเกคณะจันทร์แรมกันจนแน่นวัด  จันทร์แรม เป็นชื่อของพระเอกคนหนึ่งในหลาย ๆ คนของลิเกคณะหอมหวน  ซึ่งเป็นลิเกรำที่หาชมได้ยากในสมัยนั้น  ส่วนลิเกคณะดังในยุคนั้นจะเป็นลิเกร้อง  อย่างเช่น  ทองใบ รุ่งเรือง ,เสนาะน้อย เสียงทอง (ท่าไม้สุก) ฯลฯ  พวกนี้เก่งในทางร้องกลอนด้นสด ๆ ในทำนองราชนิเกริงมากกว่าการรำ  จันทร์แรมเป็นคนรูปหล่อรำสวยเสียงดี  ร้องกลอนด้นสด ๆ ได้ไม่แพ้ทองใบและเสนาะ  จึงมีคนนิยมชมชอบกันมาก  ข้าพเจ้ากับนาคแถมนั่งชมการแสดงลิเกจันทร์อยู่หน้าโรง ซึ่งเขาจัดที่นั่งพิเศษให้  กำลังนั่งดูเพลิน ๆ ก็มีคนมาสะกิดหลัง  เหลียวไปดูก็เห็น  “นุช”  เด็กหญิงวัยรุ่นกระเตาะน้องสาวของ  “งาม”  เบียดคนเข้มานั่งยิ้มอยู่ใกล้ ๆ แสดงอาการว่ามีอะไรจะพูดด้วย

              “มีอะไรเหรอ?”  ข้าพเจ้าเอี้ยวตัวก้มลงไปถาม

              “พี่งามบอกว่า  พี่เต็มจะบวชไปจนตายจริงเหรอ?”  เธอถามพร้อมกับทำหน้าทะเล้น

              “นาคเต็มไม่สึก  แต่นาคแถมสึก”

             ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะตอบ  นาคแถมซึ่งได้ยินคำถามด้วยนั้น  ชิงตอบแทน  ข้าพเจ้าก็เลยรอดตัวไป  มองดูทั่วบริเวณนั้นแลไม่พบร่าง “งาม”  จึงเชื่อว่าเธอคงไม่ใช้ให้น้องสาวแกล้งมาสะกิดถามเป็นการหยอกเย้าข้าพเจ้าเล่นแน่ ๆ

             มีการแห่นาคเข้าโบสถ์บวชแต่เช้า (๐๙.๐๐ น.) เหมือนถือเลข ๙ เป็นฤกษ์  แต่ข้าพเจ้าไม่เคยคิดถือฤกษ์ยามตามโลกนิยม  พิธีบรรพชาอุปสมบทผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  โดยพระเต็มได้ฉายา (นามใหม่ทางสงฆ์ที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้) ว่า  นาคเขโม   พระแถมได้ฉายาว่า  ฐิตเปโม   ครั้นสงฆ์ในหัตถบาสฟังพระคู่สวดประกาศในท่ามกลางสงฆ์แล้ว  ไม่มีใครคัดค้าน  กล่าวคำว่า สาธุ ขึ้นพร้อมกัน  นาคเต็ม  นาคแถม  จึงได้ความเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์  มีฐานะเท่าเทียมกันกับพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทุกประการ  พระภิกษุใหม่ทั้งสองออกจากโบสถ์  เดินขึ้นศาลาการเปรียญ  ระหว่างทางก็รับดอกไม้ธูปเทียนที่ญาติโยมนำมารอคอยใส่ย่ามอยู่สองข้างทางเดิน  สภาพของภิกษุเต็ม  นาคเขโม   ดูเหมือนไม่ใช่พระบวชใหม่  เพราะเคยเป็นสามเณรมานานและเพิ่งสึกจากเณรมาได้เพียง ๓-๔ เดือนเท่านั้น

             ส่วน ภิกษุแถม ฐิตเปโม  ดูเคอะ ๆ เขิน ๆ เก้ ๆ กัง ๆ ไปหน่อย  สมกับเป็น  “พระบวชใหม่”  อย่างแท้จริง

             พระบวชใหม่ทั้งสององค์   นั่งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์บนศาลการเปรียญร่วมในพิธี   “ทำบุญฉลองพระบวชใหม่”  ตามประเพณีที่ว่า  เมื่อผ่านอุปสรรคนานาเข้าโบสถ์บวชเป็นพระภิกษุได้แล้วถือว่าได้รับชัยชนะพญามาราธิราช  พระเต็มกับพระแถมได้ชื่อว่าเป็นผู้เกิดใหม่ในโลกพระภิกษุสงฆ์แห่งพุทธสาสนา   โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นบิดา  พระสงฆ์ในหัตถบาสกลางอุโบสถเป็นมารดา  พระคู่สวดเป็นผู้ทำคลอด (บางท่านพูดว่า “โบสถ์เป็นมารดา”)   จึงมีการทำบุญฉลองพระบวชใหม่  นิมนต์พระอุปัชฌาย์  พระคู่สวด  พระอันดับ  และพระภิกษุสามเณรทั้งหมดในวัดนั้นร่วมเจริญพระพุทธมนต์  ในขณะที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลนั้น  ญาติโยมนั่งล้อมวงรอบพระบวชใหม่  แล้วจุดเทียนที่ติดแว่นเทียนทำพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระใหม่ ๓ รอบ  จากนั้นมีพระธรรมเทศนาอานิสงส์การบรรพชาอุปสมบทอีก ๑ กัณฑ์  แล้วพระสงฆ์อนุโทนา (ยะถา สัพพี...) เป็นเสร็จพิธี

             เวลาย่ำค่ำวันนั้นมีการถวายตัวเป็น  “โยมอุปัฏฐาก” (บ้างก็เรียกว่า โยมปวารณา) คือถวายตัวให้พระเรียกใช้  หรือคอยปฏิบัติบำรุงดูแลพระภิกษุรูปนั้น ๆ  พระแถมก็มีโยมบิดามารดาเข้าถวายตัวเป็นโยมอุปัฏฐาก

             ส่วนข้าพเจ้ามีโยมแม่ซึ่งอยู่ไกลกันคนละเมืองทีเดียว  ดังนั้น  น้าเหงี่ยม  น้านง  สองสามีภรรยาที่ไม่มีลูกชาย  จึงขออนุญาตโยมแม่พระเต็มทำหน้าที่ถวายตัวเป็นโยมอุปัฏฐากข้าพเจ้าแทนโยมแม่   ข้าพเจ้าก็เปลี่ยนสรรพนามทั้งสองน้านั้นเป็น  “โยมพ่อโยมแม่”  วันนั้นโยมเหงี่ยม  โยมนง  พางาม กับ นุช ลูกสาวทั้งสองไปร่วมถวายตัวด้วย

              “งาม กับ นุช ทั้งสองคนนี้ปวารณาตัวรับใช้ลูกพระด้วย  ขอให้ลูกพระเรียกใช้ได้ตลอดเวลา  ถือเสียว่าเป็นน้องสาวแท้ ๆ ของลูกพระก็แล้วกัน”   โยมทั้งสองว่างั้น

             ข้าพเจ้าพักอยู่วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย) ฉลองศรัทธาญาติโยมเป็นเวลาสองเดือนเศษ  ก็ต้องจากไปเพื่อการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ณ วัดบางซ้ายในที่เคยอยู่ประจำ  แต่มิได้อยู่จำพรรษาวัดนี้

             ในปีที่ข้าพเจ้าบวชเป็นพระภิกษุนั้น (พ.ศ. ๒๕๐๒) คณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทางฝ่ายตะวันตก  ประกอบด้วย  อำเภอเสนา (เป็นแกนหลัก) อำเภอบางบาล  อำเภอผักไห่  อำเภอบางซ้าย  อำเภอลาดบัวหลวง  และอำเภอบางไทร  ได้รวมตัวกันจัดตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้นที่ วัดหัวเวียง  ซึ่งเป็นวัดของเจ้าคณะอำเภอเสนา มีท่านเจ้าคุณพระเขมเทพาจารย์ (เทพ เขมเทโว) เป็นเจ้าสำนัก  อำเภอต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนั้นจัดหาพระภิกษุสามเณรที่มีความประสงค์จะเรียนต่อในแผนกบาลี  ส่งเข้าร่วมเรียนในสำนักนี้  หลวงพ่อไวย์ (พระครูอดุลย์วรวิทย์) เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย  จัดส่งพระ-เณรของอำเภอบางซ้ายเข้าร่วมเรียนด้วย ๕ องค์

             นักเรียนบาลีในสำนักเรียนวัดหัวเวียงรุ่นแรกมีพระภิกษุเพียง ๒ องค์ คือ  พระภิกษุจง จากวัดลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง   พระเต็ม จากวัดบางซ้ายใน อำเภอบางซ้าย  นอกนั้นเป็นสามเณรใหญ่สามเณรน้อย  ซึ่งทุกองค์ต้องเรียนนักธรรมจนสอบได้อย่างน้อยเป็นนักธรรมชั้นตรีแล้ว  ทั้งพระทั้งเณรรวมแล้ว ๒๕ องค์  เป็นนักธรรมเอกองค์เดียวคือพระเต็ม  นอกนั้นเป็นนักธรรมโทและนักธรรมตรี  มีอาจารย์ผู้สอน ๓ องค์ คือ  ท่านเจ้าคุณ พระเขมเทพาจารย์  พระมหาเงิน  และพระมหาเฉลิม  การเรียนในระยะเริ่มต้นไม่ต้องใช้ครูสอนมากนัก  เพราะเป็นการเรียนไวยากรณ์ของภาษาบาลี  ในปีต่อ ๆ ไปจึงต้องใช้ครูสอนเพิ่มขึ้น  มีขั้นตอนการเรียนเพิ่มขึ้นจาก นาม –อาขยาต-กิตต์-สมาส-สนธิ ไปจนขึ้นแปลธรรมบท  เพื่อสอบเป็นพระ-เณรเปรียญ (มหา) ประโยค ๓ ซึ่งเป็นชั้นแรกของ “เปรียญตรี” /

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52985#msg52985)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53248#msg53248)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, พฤศจิกายน, 2565, 10:28:16 PM
(https://i.ibb.co/JnyxKBQ/Dtbezn3mj-RMj0.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53100#msg53100)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53393#msg53393)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๖ –
             วัดหัวเวียง  เป็นวัดที่มีกุฎีที่อยู่อาศัยของพระ-เณรไม่มากนัก  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านสิงห์บุรี อำเภอโพธิทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง อำเภอผักไห่  ผ่านวัดหัวเวียงลงไปประสานกับแม่น้ำน้อยสายสุพรรณ-บ้านแพน  ที่ตลาดบ้านแพน  แล้วไปสีกุก (อำเภอบางบาล) ลงรวมเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางไทร  ตรงหน้าวัดหัวเวียงยังมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งไหลแยกจากแม่น้ำน้อยไปอำเภอบางบาล  ดังนั้นหน้าวัดหัวเวียงจึงเป็นสามแยกของแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านทุ่งราบลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก

             ข้าพเจ้าเดินทางไปอยู่วัดหัวเวียงล่าช้ากว่าเพื่อน  ผู้ที่เดินทางไปก่อนก็เข้าอยู่ประจำในกุฏิต่าง ๆ เต็มไปหมด  เมื่อไปถึงก็ไม่มีห้องให้เข้าอยู่แล้ว  แต่ก็มีที่พักสำรองไว้หลายแห่ง  มีวัดสุวรรณเจดีย์ อยู่ตรงข้ามกับวัดหัวเวียง  วัดบางกระทิง อยู่เลยวัดสุวรรณเจดีย์ขึ้นไปทางเหนือ  วัดทางใต้ก็มีวัดโบสถ์ วัดยวด  ข้าพเจ้ากับสามเณร ๔ องค์ตกลงใจไปพักอยู่วัดโบสถ์  ด้านใต้วัดหัวเวียง  ที่วัดนี้มีพระหลวงตาอยู่ประจำ ๕-๖ องค์  สมภารก็เป็นพระหลวงตาที่ไม่สนใจอะไรมากไปกว่า  “เอกลาภ”  สำหรับตน  ท่านให้ข้าพเจ้าเข้าอยู่ในกุฏิเก่า ๆ ประตูห้องไม่มี  บานหน้าต่างก็ผุใกล้จะพัง  หลังคากระเบื้องมีรอยโหว่  กุฏิหลังนี้กันแดดกันลมพอได้  แต่กันฝนเห็นจะไม่ได้  ข้าพเจ้ากับเพื่อนเณรต้องจำใจอยู่ไปก่อน  การเดินทางไปเรียนที่วัดหัวเวียงนั้น  ถ้าไม่ลงเรือเมล์ไปก็ต้องพายเรือไป  ถ้าไม่ใช้เรือก็เดินไป  โดยลงเรือข้ามฟากคลองมโนราห์แล้วเดินเท้าไป  ตอนลงเรือพายข้ามฟากนี่ก็เรือล่มเปียกปอนบ่อย ๆ

             ทางเดินจากคลองมโนราห์ไปวัดหัวเวียงนั้น  เดินไปเป็นระยะทางประมาณ ๖ กม.เศษ  พวกข้าพเจ้าสมัครใจเดินเท้ามากกว่าจะใช้เรือไปทางน้ำ  ทางเดินสายนี้เป็นกึ่งถนนดินกึ่งคันนาขนาดใหญ่ใช้  เดินตัดทุ่งนาจากคลองมโนราห์ตรงไปวัดหัวเวียง  ระหว่างทางเดินศาลาพักร้อน ๑ หลังตั้งอยู่กึ่งกลางของระยะทางเดินเลยศาลาไปประมาณ๒๐๐ เมตร  มีต้นสะตือไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านเป็นปริมณฑลร่มรื่นให้พักเหนื่อยได้เป็นอย่างดีทุกวันธรรมดา (ไม่ใช่วัดโกน วันพระ)  ข้าพเจ้ากับสามเณรไสว, สุชิน, สมยศ, สายบัว  ฉันเพลเสร็จแล้วก็ลงเรือข้ามคลองมโนราห์เดินเท้าในเส้นทางสายนี้  ไปเรียนหนังสือที่วัดหัวเวียงเป็นประจำพวกเราพำนักอยู่ที่วัดโบสถ์ได้เดือนเศษ  ก็มีเหตุให้ต้องจากวัดนี้ไปอยู่วัดหัวเวียง

             วันนั้น (จำได้ไม่ลืมเลือน) ข้าพเจ้านำพาเณรบริวารเดินทางเท้าไปเรียนหนังสือตามปกติ  แต่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้น  กล่าวคือ  เมื่อเดินผ่านศาลาพักร้อนริมทาง  แล้วผ่านต้นสะตือไปได้ประมาณร้อยเมตรเศษ  เป็นระยะค่อนทางที่ใกล้จะถึงวัดแล้ว  ก็พบกระบือ (ควาย) ฝูงหนึ่งมี ๓ ตัว  มันเห็นพระเณรห่มผ้าจีวรสีเหลืองเข้มเดินตามกันมาเป็นกลุ่ม  ก็เบิ่งตามองพร้อมกับทำท่าฮึดฮัดหันรีหันขวางเหมือนอย่างไม่พอใจ  แล้วเดิน ๆ หยุด ๆ เข้าหาพวกเราอย่างประสงค์ร้าย  พวกเณรเห็นดังนั้นก็หยุดยืนรีรออยู่ด้วยความหวาดกลัว  ข้าพเจ้าเป็นพระและเป็นผู้นำของหมู่  จึงต้องแสดงความกล้าให้ปรากฏว่าสมกับกับเป็นผู้นำ

              “ไม่ต้องกลัวมันหรอกเณร  เดินตามผม  ไป !”

             ว่าแล้วก็ยึดอกเดินนำหน้าเณรด้วยมาดที่คิดว่า  องอาจสมกับการเป็นผู้นำมากที่สุดเดินเข้าหาฝูงควายที่เดินสวนทางมา  แต่เดิมนั้นควายมันเดิน ๆ หยุด ๆ  ครั้นข้าพเจ้าเดินตรงไปหามัน  พวกมันก็พากันวิ่งเหยาะ ๆ เข้าหาข้าพเจ้า  เมื่อเห็นท่าไม่ดีก็เหลียวหลังมองดูหมู่เณร  พบว่าพวกเณรกำลังพากันหันหลังกลับ  “ใส่ตีนหมา”  วิ่งหนีไปสู่ศาลาที่พักริมทางแล้ว  ข้าพเจ้าจะทนอวดความกล้าอยู่ได้อย่างไร

             วิ่ง! ซีครับ

             พอหันหลังกลับวิ่งหนี  เจ้ากระบือทั้ง ๓ มันก็วิ่งไล่ตามอย่างรวดเร็ว  พวกเณรนั้นพากันวิ่งไปถึงศาลาริมทางหมดแล้ว  แต่ข้าพเจ้ายังห่างไกลศาลาอยู่มาก  เห็นว่าจะหนีไปที่ศาลาไม่ทันแน่  รองเท้าฟองน้ำที่ใส่เดินทางก็หลุดกระเด็นหายไปขางหนึ่ง  วิ่งถึงต้นสะตือ  ความคิดก็แว่บขึ้นมาว่า   “ให้ขึ้นต้นสะตือหนีควาย”   จึงเข้าหาต้นสะตือ  ปีนผิดปีนพลาดด้วยความลนลาน  ควายตัวหน้าวิ่งเข้าขวิดทันที  ข้าพเจ้าเบี่ยงตัวหลบพ้นหวุดหวิด  เหลือบไปเห็นกิ่งสะตือทอดยาวอยู่ไม่สูงนัก  ก็กระโดดขึ้นคว้ากิ่งไม้นั้นแล้วโหนตัวขึ้นไปนั่งบนกิ่งสะตือได้อย่างปาฏิหาริย์  พอตั้งสติได้ก็ไต่กิ่งสะตือเข้าหาลำต้น  นั่งอยู่บนค่าคบไม้เพิ่มความปลอดภัยให้ตนเอง

             เจ้าควาย ๓ ตัวนั่นมันเหมือนเป็นบ้าไปแล้ว  พากันขวิดลำต้นสะตืออย่างดุดัน

             ห่างจากต้นสะตือนั้นไปทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก  มีโรงสีข้าวนึ่งของ  “เสี่ยโอฬาร”  ขนาดใหญ่  ลานตากข้าวกว้างมาก  คนงานหญิงสาวหลายสิบคนกำลังทำงานกันอยู่  เห็นกระบือวิ่งไล่ขวิดพระเณรก็ยกมือ  “ชี้โบ้ชี้เบ้”  เอะอะโวยวาย  แต่ก็ไม่มีใครมาช่วยไล่ควายให้สักคน  ข้าพเจ้านั่งบนค่าคบสะตือ  มองดูสถานการณ์รอบ ๆ แล้ว  นึกขำตัวเอง  และอายสาว ๆ โรงสีข้าวนึ่งด้วย  เจ้ากระบือบ้า ๓ ตัวนั้นมันก็เฝ้าเดินวนเวียนอยู่ใต้ต้นสะตือไม่ยอมจากไป

             เรื่องควายไล่ขวิดพระนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว  ว่ากันว่าควายมันเกลียดสีเหลืองสีแดง (เพราะอะไรก็ไม่รู้) สมัยที่เป็นสามเณร ข้าพเจ้าก็เคยถูกควายไล่ขวิด  แต่ไม่รุนแรงน่าหวาดเสียวเหมือนครั้งนี้  ก่อน ๆ นั้น เมื่อควายมันวิ่งเข้าหา  ข้าพเจ้าถือร่มกันแดดสีดำอยู่ก็กางร่ม  “พรึ่บ!” ใส่มัน  มันก็ตกใจหยุดชะงักแล้วหันหลังหนีไป  ครั้งเป็นเด็กอยู่บ้านที่สุพรรณบุรีเคยได้ยินได้ฟังเขาบอกเล่ากันว่า  พระอาจารย์แย้ม วัดหนองหิน ถูกควายไล่ขวิด  ท่านสู้ควายจนชนะ  ในเรื่องบอกเล่ากล่าวว่า  พระอาจารย์แย้มเดินทางจากวัดไปในกิจนิมนต์ต่างบ้านต่างตำบล  พบควายดุร้ายตัวหนึ่ง  วิ่งไล่ขวัดท่าน  ท่านก็วิ่งหนีวนจอมปลวกหลายรอบจนเหนื่อย  แล้วจึงตัดสินใจสู้ควาย  เมื่อท่านหยุดชะงักฉับพลัน  ควายก็หยุดชะงักเช่นกัน  ท่านตัดสินใจเข้าจับสายสะพายที่สนจมูกควายไว้  มือหนึ่งกอดคอ  มือที่จับสายสะพายก็ดึงกดลง  เจ้าควายนั้นเมื่อถูกจับสายสะพายกดดึงก็หมดฤทธิ์  ก้มหน้านิ่งอยู่นานจนเจ้าของตามมาทันจึงช่วยพระอาจารย์แย้มได้

             ตอนที่ยังเป็นสามเณรอยู่วัดหัวโคกนั้น  เคยพบเห็นพระอาจารย์แย้มองค์ที่กล่าวถึงนี้  ท่านเป็นคนเชื้อชาติเขมร  “ชนกลุ่มน้อย”  อยู่ในตำบลตลิ่งชัน  อำเภอเมืองสุพรรณบุรี  รูปร่างกำยำล่ำสัน  ใหญ่โต  ไม่ผอมเกร็งเหมือนชาวเขมรทั่วไป  ผิวดำ  พูดจาเสียงดัง  แต่ฟังไม่ชัด  เพราะสำเนียงเขมรของท่านไม่คุ้นหูคนไทย

             พระเต็มนั่งแกร่วอยู่บนค่าคบต้นสะตือนานเป็นชั่วโมง  สำนึกย้อนไปถึงอดีตที่เป็นลูกชาวนาเติบโตมาใน  “กลิ่นโคลนสาบควาย”  เลี้ยงควายจนคุ้นเคยในนิสัยใจคอของควาย  เคยปีนขึ้นหลังควายตั้งแต่เป็นเด็กน้อยจนเป็นเด็กโต  หัดปีนขึ้นหลังมันทางก้น  โดยเหยียบโคนขาหลังถีบตัวขึ้นไปจนชำนาญ  แล้วก็หัดปีนขึ้นทางด้านข้างโดยเหยียบโคนขาหน้าของมัน  ถีบตัวขึ้นขี่หลังมัน  และยังหัดขึ้นขี่หลังมันทางคอ  โดยเหยียบโคนเขามันแล้วถีบตัวขึ้นไปทางคอ  เพื่อน ๆ เคยตกหลังควาย  บางคนบาดเจ็บถึงกับ  “แขนคอก”  ข้าพเจ้าไม่เคยตกเหมือนเพื่อน ๆ  เลี้ยงควายจนรักควายมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ  ใช้ควายไถนา  ลากคราด  ลากเกวียน  ลากล้อเลื่อน  นวดข้าว  และสารพัดที่จะใช้งานมัน  นึกไม่ถึงเลยว่าวันนี้ควายจะเห็นข้าพเจ้าเป็นศัตรูคู่อาฆาต  ไล่ขวิดอย่างไม่ปรานี  นั่งก้มลงมองดูเจ้าควายตัวหนึ่งที่ยืนเบิ่งมองข้าพเจ้าอยู่ใต้ต้นไม้  แล้วคิดจะเอาอย่างพระอาจารย์แย้ม  โดยโดดลงไปคว้าสายสะพายและกอดคอมัน  แต่ก็ไม่กล้า  เพราะกลัวว่าอีกสองตัวที่ยืนคุมเชิงอยู่นั้นจะเข้ามารุมขวิดเอาตาย

             ผู้หญิงคนงานโรงสีข้าวนึ่งไปบอกข่าวให้มรรคทายกวัดหัวเวียงรู้ว่า  ควายไล่ขวิดพระเณร  และมีพระหนีขึ้นไปอยู่บนต้นสะตือ  โยมแววจึงไปช่วยไล่ควายให้หนีไป  ข้าพเจ้าลงต้นสะตือแล้วยืนรอเณรทั้งสี่องค์มาสมทบ  เดินทางไปเข้าเรียนได้ตามปกติ

             บอกเล่าเรื่องที่ถูกควายไล่ขวิดให้หลวงพ่อเจ้าคุณเทพความฟัง  ท่านหัวเราะหึ ๆ ด้วยความขบขันแล้วชมว่าข้าพเจ้าเก่งที่โดดขึ้นต้นสะตือได้และว่า  “คนเรานี่เมื่อเกิดความตกใจกลัวอย่างสุดขีดแล้วมักทำอะไร ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่ออย่างนี้แหละ”  ก็เลยถือโอกาสกราบเรียนท่านว่า  “พวกผมขอกลับมาอยู่วัดหัวเวียง  ไม่อยู่วัดโบสถ์ต่อไปอีกแล้ว”  เพราะไม่มีกุฏิจะพักอาศัย  หลวงพ่อเจ้าคุณจึงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพักอยู่ในโรงอุโบสถกับสามเณรสนิทอีก ๑ องค์

              “เณรหนิด”  มาจากวัดสุคนธาราม (กระเถิบ) อำเภอบางซ้าย  เป็นคนเงียบขรึม ปากหนัก  ใจเย็น  เพื่อนเณรด้วยกันเรียกเขาว่า “ไอ้ที่ม”  ในวงสนทนาเขาไม่เคยปริปากพูดคุย  เอาแต่นั่งยิ้มฟังอยู่ข้างเดียว  ไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกับใคร  จึงอยู่ร่วมโบสถ์กับข้าพเจ้าได้อย่างดี  เขาพักอาศัยอยู่ตรงซอกที่ว่างหลังแท่นพระประธาน  ส่วนข้าพเจ้านอนตรงซอกที่ว่างทางเดินด้านเหนือแท่นพระประธาน  สำหรับซอกด้านใต้พระประธานนั้นละไว้เป็นทางเดินเข้าออกด้านหลังโรงอุโบสถ  ประตูโบสถ์ด้านหลังบานเหนือตรงกับที่ข้าพเจ้าพักอยู่นั้นถูกปิดตาย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤศจิกายน, 2565, 11:48:49 PM
(https://i.ibb.co/YbkGSLh/1627269519996-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๗ -
              พระอาจารย์เส็ง  ผู้ติดตามหลวงพ่อเจ้าคุณเทพมาจากกรุงเทพฯ  เป็นพระอาวุโสสูงรองจากหลวงพ่อเจ้าคุณ  บอกเล่าให้พวกเราฟังว่า  หลวงพ่อเจ้าคุณนั้น  เดิมทีเป็นคนดุ  อารมณ์ร้อน  อยู่สำนักวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ  พระมหาเทพเป็นศิษย์ใกล้ชิดองค์หนึ่งของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร)  และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสำนักเรียนวัดมหาธาตุ  มีเพื่อนคนสนิท (คู่หู) อยู่วัดโพธิ์ท่าเตียน  ชื่อพระมหาเจีย (ป.ธ. ๙)  พระมหาหนุ่มทั้งสองเป็นคนมีอารมณ์ขันชอบพูดตลก  “สองแง่สองง่าม”  และ  “คำผวน”  แต่เวลาสอนนักเรียนพระมหาเทพจะกลายเป็นคนดุที่นักเรียนพากันเกรงกลัว  ต่อมาท่านย้ายจากวัดมหาธาตุไปเป็นครูสอนบาลีที่วัดประตูฉิมพลี  ธนบุรี  ตามคำขอของ (หลวงปู่โต๊ะ) ท่านเจ้าอาวาสวัดนั้น   ว่ากันว่า  เจ้าอาวาสสร้างกรงเหล็กให้พระมหาเทพเข้าไปอยู่ในกรงเหล็กขณะทำการสอนนักเรียน  เพื่อป้องกันไม่ให้ทำร้ายร่างกายนักเรียน  ดังที่เคยปรากฏว่า  “เตะก้านคอสามเณรจนสลบ”  มาแล้วบ้าง  “ตีเณรหัวแตก”  มาแล้วบ้าง  แม้กระนั้นก็ยังไม่วาย  ยามโกรธขึ้นมาท่านก็จับซี่ลูกกรงเหล็กเขย่าโครม ๆ อยู่เสมอมา  คำบอกเล่าของอาจารย์เส็งจะเท็จจริงอย่างไรไม่รู้  ท่านอาจจะเล่าเรื่องขู่ให้พวกเรากลัวหลวงพ่อเจ้าคุณก็ได้

              แต่ที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก  ท่านไม่ดุอย่างที่เคยมีข่าวลือว่าท่านเป็นคนดุ  และ พระอาจารย์เส็งก็บอกเล่าว่าท่านดุ  เคยได้ฟังเรื่องราวของหลวงพ่อเจ้าคุณมาก่อนหน้านี้ว่า  มีคนร้ายระดับ  “ไอ้เสือ”  นักฆ่านักปล้น (โจร) หนีตำรวจมาบวชอยู่กับท่านหลายคน  ตำรวจตามมาพบเข้าก็ต่อว่า

               “ท่านเจ้าคุณบวชโจรผู้ร้ายได้อย่างไร  พวกนี้มีคดีอุกฉกรรจ์ทั้งนั้น”

               “อ้าว...! ก็ข้าจับไว้ให้แล้ว  ไม่ต้องเที่ยวหาให้เหนื่อย  อย่างนี้ไม่ดีรึ  ถ้าข้าไม่ช่วยจับไว้ให้ป่านนี้มันหนีไปไหนก็ไม่รู้?”   ท่านตอบพร้อมหัวเราะหึ ๆ  เจ้าหน้าตำรวจก็พากันนั่งจังงังเมื่อได้ฟังคำตอบของท่านที่มีเหตุผลสมบูรณ์ยิ่งนั้น

               “เอาซี่  อยากได้ตัวไปดำเนินคดี  ข้าก็จะสึกมันให้”  ว่าแล้วก็เรียกพระอดีตคนร้ายนั้นมาทำการสึกให้  ตำรวจก็กราบลาด้วยความเคารพ  พร้อมกับควบคุมตัวคนร้ายนั้นไป

              ปีที่ข้าพจ้าไปอยู่วัดหัวเวียงนั้น  มีพระอยู่ในวัยปูน หลวงน้า หลวงอา หลวงลุง หลวงตา อยู่หลายองค์  บางองค์มีอดีตเป็นนักฉกชิงวิ่งราว  นักลักเล็กขโมยน้อย  นักปล้น  นักฆ่า  ที่ทางการยังตามจับไม่ได้  บางองค์ก็ขี้เหล้าขี้ยา  นักการพนัน  บางองค์เลิกละนิสัยเลวร้ายได้  บางองค์ก็เบาบางลงมาก  บางองค์ยังละเลิกไม่ได้  เฉพาะผู้ที่ดื่มสุราและดูดกัญชา  ยังคงแอบดื่มสุรา  แอบนำใบกัญชามาผสมยาสูบ  มวนสูบกันเป็นประจำ  หลวงพ่อเจ้าคุณท่านก็รู้  แต่ทำเป็นเหมือนไม่รู้ไม่เห็น

              ทุกวันพระที่มีการทำบุญกันบนศาลาการเปรียญ  หลวงพ่อเจ้าคุณเทพไม่ลงไปนั่งเป็นประธานสงฆ์เหมือนอย่างสมภารวัดทั่วไป  ให้พระอาจารย์เส็งหรือไม่ก็องค์อาวุโสรอง ๆ ลงไปนั่งเป็นประธานแทน  ส่วนตัวหลวงพ่อเจ้าคุณจะถือขันข้าวสุกลงไปใส่บาตรร่วมกับชาวบ้าน  บางวันท่านก็ประกาศกลางศาลาว่า

               “นี่พวกแกกราบไหว้พระบนอาสน์สงฆ์น่ะ  เลือกไหว้เอาเน้อ!  พระข้ามีหลายชนิด  ขี้เหล้าขี้ยามีทั้งนั้น”

              คำประกาศดังกล่าวนี้แสดงว่าท่านรู้ว่ามีพระในวัดท่านแอบดื่มเหล้าและสูบกัญชา  ท่านไม่ว่ากล่าวตัวพระโดยตรง  แต่ต้องการให้ประชาชนพากันติเตียนนินทา  หรือ  “ปรับอาบัติโลกวัชชะ”  พระขี้เหล้าขี้ยาเหล่านั้น

              หลวงพ่อไวย์ พระอุปัชฌายาจารย์ของข้าเจ้า  เลี้ยงหมาไว้เต็มวัดดังได้กล่าวมาแล้ว  ครั้นมาอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณเทพก็ไม่พ้นที่จะต้องอยู่กับหมา  เหมือน  “หนีเสือมาปะจระเข้”  นั่นเทียว  หมาหลวงพ่อเจ้าคุณเทพร้ายกว่าหมาหลวงพ่อไวย์เป็นหลายเท่า  เจ้าตัวโปรดของท่านมันมีชื่อว่า “ไอ้จ้อน”  ไม่มีความสวยงามและน่ารักอะไรเลย  ตัวเป็นโรคขี้เรื้อน  ซ้ำนิสัยก็น่าเกลียด  มันเฝ้าอยู่หน้าห้องหลวงพ่อเจ้าคุณตลอดเวลา  ใครจะหยิบจับสิ่งของใด ๆ ที่หน้าห้องหลวงพ่อเจ้าคุณไม่ได้  มันจะโดดงับข้อมือทันที  พระเณรทุกองค์ในวัดล้วนเกลียดมัน

              หลวงพ่อเจ้าคุณเทพ ฉันอาหารเช้า-เพลทุกวัน  “ไอ้จ้อน”  และบริวาร (“ขี้เรื้อน” ทั้งนั้น) จะนั่งรายล้อมอยู่รอบตัวท่าน  เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วท่านกจะ  “ขุน”  ข้าวหมาด้วยตนเอง  “ขุนข้าว”  เสร็จก็จะเอายาทารักษาโรคขี้เรื้อนให้ทุกตัว  ยามเที่ยงวันก็จะอาบน้ำหมาแล้วจึงเข้าห้องสอนนักเรียน  เรื่องนี้ถือเป็น  “กิจวัตร”  ประจำวันอย่างหนึ่งของท่านที่พึงกระทำทุกวัน  พระเณรและญาติโยมที่เข้าไปหาหลวงพ่อเจ้าคุณเทพล้วนต้องกราบไหว้หมาขี้เรื้อนด้วยกันทั้งนั้น  โดยเฉพาะ  “ไอ้จ้อน”  ที่มันนอนอยู่หน้าตักท่าน   อย่างเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาข้าพเจ้าในพิธีบวชนาครายหนึ่ง

              บ่ายวันนั้นขบวนนาครายหนึ่งแห่แหนมาจากต่างตำบล  ขณะที่แห่นาครอบโบสถ์พระอันดับ ๒๕ รูป  ที่รับนิมนต์มาก็เข้าไปนั่งประชุมพร้อมกันในโรงอุโบสถ และมีข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในจำนวน ๒๕ รูปนั้น  เห็นนาคที่ผ่านพ้นประตูโบสถ์เข้ามา  เป็นคนอยู่ในวัยกลางคน  ดูท่าทางเด๋อด๋าชอบกล  เมื่อนาคพร้อม  พระอันดับพร้อม  หลวงพ่อเจ้าคุณเทพก็เดินตาม  “ไอ้จ้อน”  เข้าสู่พิธีกรรมในโรงอุโบสถ   “ไอ้จ้อน”  เข้ามาดมคนโน้นทีคนนี้ที  ทั้งฆราวาสและพระอันดับ  ไม่เว้นแม้แต่นาค  เหมือนจะสำรวจตรวจตราดูแลความเรียบร้อย  สร้างความหงุดหงิดรำคาญและหวาดกลัวแก่ผู้ที่ไม่คุ้นเคยไม่น้อย
 
              หลวงพ่อเจ้าคุณเทพเข้านั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว  พิธีอุปสมบทกรรมก็เริ่มขึ้น  นาคอุ้มผ้าไตรเดินเข่าเข้าหาพระอุปัชฌาย์  วางผ้าไตรแล้วก้มลงกราบด้วยท่าเบญจางคประดิษฐ์  “ไอ้จ้อน”  ที่นอนอยู่หน้าตักพลวงพ่อเจ้าคุณก็ลุกขึ้นยืนแล้วดมหัวนาค  พระอันดับผู้ยังใหม่ (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) ไม่เคยพบเห็นภาพดังกล่าวมาก่อน  ก็พากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่  บางองค์ก็ปล่อยเสียงหัวเราะคิก ๆ ออกมา   นาคหยิบผ้าไตรใส่วงแขนพนมมือแล้วกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทด้วยเสียงสั่นว่าผิด ๆ ถูก ๆ  จบแล้วประเคนผ้าไตร  พระอุปัชฌาย์รับผ้าไตรแล้วบอกบริขาร (สบง จีวร สังฆาฏิ..) และสอนกรรมฐาน (เกสา โลมา...) มอบผ้าไตรคืนให้นำไปนุ่งห่ม  เมื่อรับผ้าไตรไปนุ่งห่มเสร็จแล้ว  ก็เข้าขอไตรสรณาคมและศีล  บรรพชาเป็นสามเณรต่อพระกรรมวาจาจารย์  อุ้มบาตรเดินเข่ากลับเข้าขอนิสัยต่อพระอุปัชฌาย์   พระอุปัชฌาย์บอกให้ออกไปยืนรออยู่นอกหัตถบาสสงฆ์  พระคู่สวดก็ทำการสวด  ซ้อมเสร็จแล้วรายงานให้สงฆ์ทราบ  พระอุปัชฌาย์เรียกเข้าให้คู่สวดซักถามท่ามกลางสงฆ์ (เรียกว่าสวดญัติ) ขณะที่นั่งคุกเข่าพนมมือกล่าวคำขออุปสมบท  และตอบข้อซักถามของพระกรรมวาจาจารย์ (สวดญัติ) อยู่ท่ามกลางสงฆ์นั้น   “ไอ้จ้อน”  เดินดมรอบตัวอยู่หลายเที่ยว  ดมนั่นดมนี่ยังแถมด้วยกัดผ้าจีวรดึงเล่นอีกด้วย

              พิธีอุปสมบทเสร็จสิ้นลง  พระและญาติโยมพากันออกไปจากโบสถ์หมดแล้ว  ข้าพเจ้าทำหน้าเก็บอาสนสงฆ์และทำความสะอาดภายในโรงอุโบสถ  ปรากฏว่าตรงที่พระบวชใหม่นั่งกลางโบสถ์นั้น  มีน้ำนองอยู่บนเสื่อน้ำมัน  ไม่ใช่เหงื่อของพระบวชใหม่เด็ดขาด  เพราะเป็นน้ำที่มากกว่าเหงื่อ  ข้าพเจ้ากล้ายืนยันได้ว่ามันเป็นน้ำปัสสาวะของพระบวชใหม่นั่นเอง  ท่านคงจะกลัว  “ไอ้จ้อน”  จนปัสสาวะไหลเป็นแน่เทียว

              มีพระผู้ใหญ่บางท่านพูดสัพยอกว่า  “ไอ้จ้อนมันเป็นพระอุปัชฌาย์แทนเจ้าคุณเทพ” /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, พฤศจิกายน, 2565, 10:31:19 PM
(https://i.ibb.co/6w9P532/295015731-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๘ -
              ลูกศิษย์ก้นกุฏิ (เป็นฆราวาส) ของหลวงพ่อเจ้าคุณเทพคนหนึ่ง  มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับท่าน  ชื่อเจิม  ซึ่งใคร ๆ ก็เรียกแกว่า  “ตาเจิม”  ในความเห็นองคนส่วนมากเห็นกันว่า  ตาเจิมเป็นคนไม่เต็มบาตร  ไม่เต็มเต็ง  จะว่าบ้าก็ไม่เชิง  นอกกจากตาเจิมแล้วยังมีสามเณร  “โค่ง”  อีกองค์หนึ่งรับใช้ใกล้ชิดท่าน  เณรโค่งองค์นี้ชื่อ  “โตก”  อายุครบบวชพระแล้วยังไม่ยอมบวช  เพราะชอบที่จะเป็นสามเณร  เณรโตกเป็นคน “ไม่เต็มเต็ง” ประเภทเดียวกันกับตาเจิม  รวมความแล้ว  หลวงพ่อเจ้าคุณเทพท่านมีอะไร ๆ ไม่เหมือนใคร  มีหมาก็เป็นหมาขี้เรื้อน  มีลูกศิษย์รับใช้ใกล้ชิดก็เป็นคนไม่เต็มบาตรไม่เต็มเต็ง  พระลูกวัดส่วนหนึ่งก็เป็นพระขี้เหล้าขี้ยา  พระนักเลง

              สิ่งที่หลวงพ่อเจ้าคุณติดจนขาดไม่ได้คือ  “หมาก”  ท่านกินหมากเคี้ยวหยับ ๆ ไม่ขาดปาก  พระอาจารย์เส็ง (ศิษย์ใกล้ชิดตัวจริง) บอกว่า  หมากเป็นสิ่งที่ทำให้หลวงพ่อเจ้าคุณคลายความดุ  ถ้าเลิกกินหมากก็คงจะต้องกลับไปเป็นคนดุเหมือนเดิม  จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้  ตั้งแต่มาอยู่กับท่าน  ไม่เคยเห็นท่านหยุดเคี้ยวหมากเลย

              เล่ากันว่าสมัยที่ท่านยังหนุ่มอยู่  เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอนั้น  มีเรือสำปั้นติดเก๋งลำหนึ่ง  เป็นเรือแจว  เรือชนิดนี้ใช้ทำเป็นเรือจ้าง  เวลารับกิจนิมนต์ไปต่างวัดต่างตำบลท่านก็จะนั่งเรือเก๋ง (ประทุน) ลำนี้  ให้ตาเจิมเป็นคนแจว  ตาเจิมคนนี้มีบางคนรู้จักอดีตของเขาดี  เล่าให้ฟังว่าเดิมเป็นคนมีฐานะดี  เป็นเจ้าของโรงสีอยู่ในอำเภอผักไห่  ภายหลังติดฝิ่นติดกัญชา  และติดการพนันงอมแงม  ไม่ทำมาหากิน  ทรัพย์สมบัติหมดไป  ญาติมิตรก็พากันรังเกียจ  กลายเป็นคนคิดมากจนสติไม่สมบูรณ์  ตาเจิมมาอาศัยวัดหัวเวียง  และกลายเป็น  “คู่บุญบารมี”  หลวงพ่อเจ้าคุณเทพในที่สุด   มาอยู่เป็นศิษย์ก้นกุฏิหลวงพ่อเจ้าคุณเทพแล้ว  ตาเจิมก็ยังดูดกัญชาด้วยบ้องไม้ไผ่บ้าง  มวนใบ (กะหรี่) กัญชาสูบบ้าง  ใช้ขี้ฝิ่นผสมใบพลูมวนสูบบ้าง  
 
               (เขาเล่าว่า) วันหนึ่งหลวงพ่อเจ้าคุณรับนิมนต์ไปเทศน์ที่วัดแห่งหนึ่งในเขตติดต่อกับอำเภอผักไห่ (อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอเสนา)   ตาเจิมแจวเรือทวนน้ำขึ้นไปตามลำแม่น้ำน้อยเลยวัดประดู่ไปได้ไม่ไกลนัก  แกเกิดอาการ  “อยาก”  ดูดกัญชาจนเต็มกลั้น  ละจากด้ามแจวนั่งลงท้ายเรืองัดบ้องกัญชาออกมาบรรจุเนื้อกัญชาที่หั่นใส่กระป๋องไว้แล้ว  ยัดใส่พวยบ้องกัญชาจุดไฟดูดอย่างสบายอารมณ์  ปล่อยเรือลอยเท้งเต้ง ๆ ไปอย่างไม่ใยดี

               “เฮ้ย..! ตาเจิม  ทำไมทำยังงั้นเล่า  รีบแจวเรือต่อไปเร็ว ! เดี๋ยวไม่ทันเทศน์”   หลวงพ่อเจ้าคุณบ้วนน้ำหมากแล้วตะโกนสั่งกำชับ

               “อยากไปเร็วก็แจวเองซี่”  ว่าแล้วตาเจิมก็ถือบ้องกัญชาเข้านั่งกลางลำเรือ

              หลวงพ่อเจ้าคุณเทพแทนที่จะโกรธ  ท่านกลับลุกขึ้นเดินไปท้ายเรือ  เปลื้องจีวรออกเคียนศีร์ษะ  จัดการแจวเรือเอง  โดยมีตาเจิมนั่งเอกเขนกประคองบ้องกัญชาดูดอย่างสบายอารมณ์อยู่กลางลำเรือ  หลวงพ่อเจ้าคุณแจวเรือทวนน้ำขึ้นไป  พบเห็นใคร ๆ ก็ร้องถามว่า  “รู้จักพระครูเทพมั้ย”  คนที่รู้จักก็จะหัวเราะแทนคำตอบ  คนที่ไม่รู้จักหรือรู้จักแต่จำไม่ได้  ก็สั่นศีร์ษะเป็นคำตอบว่าไม่รู้จัก  ท่านก็จะบอกว่า   “พระองค์ที่กำลังแจวเรืออยู่นี่แหละพระครูเทพละ”  พฤติกรรมดังกล่าวไม่มีใครตำหนิตีเตียนท่าน  มีแต่พากันชื่นชอบในอารมณ์ขันของท่านเท่านั้น

              วันหนึ่ง  เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น  พระเณรพากันลงโบสถ์เพื่อ “ทำวัตรเย็น” ตามปกติ  ข้าพเจ้าเดินจากกุฏิพระมหาเงินไปเข้าโบสถ์  พบหลวงพ่อเจ้าคุณกำลังเดินไปเข้าโบสถ์เช่นกัน  ข้าพเจ้าเดินตามหลังท่านช้า ๆ  ไปถึงข้างกำแพงโบสถ์หลวงพ่อเจ้าคุณดูเหมือนจะปวดปัสสาวะจนสุดกลั้น  จึงนั่งลงข้างทางใกล้กำแพงโบสถ์  เวิกสบงจีวรขึ้นนั่งยอง ๆ ถ่ายปัสสาวะหน้าตาเฉย  ข้าพเจ้าหยุดยืนรอท่านแล้วหันไปทางหลังเห็นสาว ๆ คนงานโรงสีข้าวนึ่งกลุ่มหนึ่ง ๕-๖ คนที่เลิกงานแล้วเดินทางกลับบ้าน  กำลังยืนหันรีหันขวางอยู่ใกล้ ๆ  บางนางก็หัวเราะคิก ๆ ที่เห็นหลวงพ่อเจ้าคุณนั่ง “ฉี่” อยู่  ทุกคนไม่กล้าเดินผ่านไป  ข้าพเจ้าจึงกระแอมเสียงขึ้นเพื่อให้หลวงพ่อเจ้าคุณรู้ตัว ท่านเหลียวมามอง เมื่อรู้เห็นแล้วแทนที่ท่านจะรีบลุกขึ้นด้วยความอาย  กลับพยักหน้าที่มีปากเคี้ยวหมากหยับ ๆ อยู่

               “ไปเหอะ  ฉันจับมันไว้แล้ว”   ฟังท่านพูดซีครับ  ถ้าเป็นพระองค์อื่น  พระบวชใหม่  พระหนุ่ม  พระผู้น้อย  ทำและพูดอย่างท่านบ้าง  คงถูกติเตียนนินทาเสียหายเป็นแน่  แต่ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีฐานะ  “เป็นปาปมุตติบุคคล”  หลุดพ้นจากบาปขี้ปากชาวบ้านไปเสียแล้ว

              วัดหัวเวียงมีพื้นที่ของวัดเป็นบริเวณกว้างมาก  ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นทางหน้าวัดติดแม่น้ำน้อย  มีสะพาน่าน้ำสำหรับขึ้น-ลงเรือข้ามฟากและเดินทางไปมา  ทั้งยังเป็นที่ลงอาบน้ำของพระเณร  มีร้านกาแฟตั้งอยู่ ๑ ร้าน  มีบ้านเรือนตั้งเริมน้ำรียงรายขึ้นไปทางเหนือ  ทิศเหนือมีลำน้ำแยกโยงไปทางอำเภอบางบาล  ริมลำน้ำสายนี้ก็มีบ้านเรือนตั้งเรียงรายไปตลอด  มีที่ทำการ (สถานี) อนามัยตำบลตั้งอยู่ด้วย ๑ หลัง  เหนือโบสถ์มีศาลาการเปรียญตั้งอยู่  ใกล้กันนั้นมีอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลหลังเก่าตั้งอยู่  ด้านทิศตะวันออกมีอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลหลังใหม่  เลยไปพ้นเขตวัดมีโรงสีข้าวนึ่งและทุ่งนา  ด้านทิศใต้เป็นทุ่งนาและหมู่บ้านเรียงรายไปตามลำแม่น้ำน้อย ระหว่างอาคารโรงเรียนกับหมู่กุฏิสงฆ์ด้านตะวันออกนั้นเป็นที่ว่างกว้างใหญ่  มีโรงมหรสพ (วิก-โรงหนัง) ตั้งอยู่ให้เช่าฉายภาพยนตร์และแสดงลิเก  ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า  “วิกวัดหัวเวียง”

              ยามว่างจากการเลี้ยงหมา  สอนหนังสือ  และกิจอื่น ๆ แล้ว  หลวงพ่อเจ้าคุณจะใส่อังสะลังกาตัวเดียว (อังสะที่มีรูปลักษณ์คล้ายเสื้อกั๊กแต่มีแขนซ้ายข้างเดียว) นุ่งสบงสูงคลุมเข่าเล็กน้อย  เอาผ้าอาบคาดเคียนพุง  ผ้าจีวรเคียนศีร์ษะ  ถือพร้าหวดหญ้าเดินท่อม ๆ รอบวัด  ตัดไม้ดายหญ้าไปตามความพอใจของท่าน  ใครไม่รู้จักท่านก็คิดว่าเป็นพระหลวงตาแก่ ๆ องค์หนึ่งเท่านั้น

              หลวงพ่อเจ้าคุณเป็นคนทันสมัย  มีความรู้ดีทั้งภาษาไทย  บาลี  และอังกฤษ  ทุกวันหลังจากฉันอาหารเช้าและทำวัตรสวดมนต์เช้าแล้ว  ท่านจะเปิดสอนวิชาภาษาไทย (ท่านสอนเอง)  ภาคบ่ายเมื่อฉันเพลแล้ว เปิดสอนวิชาภาษาบาลีในระดับไวยากรณ์   ตอนค่ำเปิดสอนวิชาภาษาอังกฤษ  วิชานี้ไม่ไม่บังคับ  ใครจะไม่เรียนก็ได้  ท่านไม่ว่า

              การสอนภาษาไทยท่านเอาหนังสือไทยเก่า ๆ เช่น  อักษรประโยค, สังโยคพิธาน, พิศาลการันต์, ไวพจน์พิจารณ์, จินดามณี เป็นต้น   ท่านสอนสนุก  ข้าพเจ้าก็เรียนสนุก  แต่เพื่อนนักเรียนบางองค์เรียนไม่สนุก  เพราะเขาไม่ชอบวิชาภาษาไทย  หลวงพ่อเจ้าคุณบังคับให้นักเรียนบาลีทุกองค์ต้องเรียนวิชาภาษาไทย เพราะความจริงปรากฏว่าพวกที่เรียนจนสอบได้นักธรรมตรี  นักธรรมโท  นักธรรมเอก แล้ว   แต่ยังอ่านและเขียนภาษาไทยกันไม่ค่อยถูกต้อง  จึงต้องเรียนภาษาไทยกันใหม่

               “คนใช้พระยารามคำแหง  ชื่อไอ้แดงตกม้าทำหน้าแหง”  เป็นบทกลอนตัวอย่างที่  พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)  แต่งเป็นตัวอย่างคำพ้องไว้ในปกิรณัมพจนาถ  หลวงพ่อเจ้าคุณเอามาเป็นบทเรียนเขียนบนกระดานดำให้นักเรียนอ่านเรียงตัว  ส่วนมากจะอ่านไม่ถูกตรงคำว่า  “หน้าแหง”  ข้าพเจ้าชอบใจกลอนบทนี้มาก  จำได้มาจนถึงวันนี้เลย  ดังได้  “ให้การ”  ไว้แต่ตอนต้นแล้วว่า  ข้าพเจ้าเป็นเด็กบ้านป่าขาดอน  เรียนหนังสือในโรงเรียนเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๒  มาอ่านเขียนหนังสือคล่องก็ต่อเมื่อบวชเป็นสามเณรเรียนนักธรรม  ไม่เคยอ่านตำรับตำราภาษาไทยที่ไหนมาก่อน  เมื่อหลวงพ่อเจ้าคุณนำตำราภาษาไทยเก่า ๆ มาสอนจึงเป็นความแปลกใหม่สำหรับข้าพเจ้า

              สนุกมากกับการเรียน  ตัวควบ  ตัวกล้ำ  คำพ้องรูป  พ้องเสียง  ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนรูปต่างกัน  เขียนรูปเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกัน   คำเพียงคำเดียวมีความหมายหลายอย่าง  ความหมายอย่างเดียวกันแต่ใช้คำได้หลายคำ  ความสำคัญของการสะกด  การันต์  การผันเสียง  ตามวรรณยุกต์ และอักษร  การแปลงตัวของอักษรและสระ (ไม่ขอยกตัวอย่างมากล่าวให้ยืดยาว) ข้าพเจ้าชอบเรียนวิชาภาษาไทยมากกว่าภาษาบาลีครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ เมษายน ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, พฤศจิกายน, 2565, 12:56:48 AM
(https://i.ibb.co/c27cYnM/pngtree.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๔๙ -
               “เณรโค่น”  ครับ มีสามเณรชื่อนี้จริง ๆ เป็นคนมีลักษณะ ร่างเตี้ย ผิวดำ ตาโต ดั้งหัก หัวโหนก  สามเณรองค์นี้มีผลการเรียนอ่อนกว่าทุกองค์  เป็นคนที่ “เรียกง่ายใช้คล่อง” กว่าใครทั้งหมด  และเป็นสามเณรอีกองค์หนึ่งที่หลวงพ่อเจ้าคุณเลือกไว้รับใช้ใกล้ชิดร่วมกับสามเณรโตก   บรรดาศิษย์ในห้องเรียน  “เณรโค่น” เป็นคนที่ถูกหลวงพ่อเจ้าคุณดุด่ามากที่สุด  เวลาที่ท่านให้นักเรียนเขียนตามคำบอก  และ อ่านเรื่องตามที่กำหนดให้  เมื่อเขียนตามคำบอกแล้วไม่ต้องส่งสมุดให้ท่านตรวจเสมอไป บางครั้งท่านจะให้ผู้เขียนตามคำบอกนั้น  อ่าน “สเปลล์”  คือ “สะกด” ตัวอักษร  เป็นการอ่านทานให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์และเพื่อนนักเรียนฟัง  เณรโค่นเขียนผิด  อ่านผิด  เสปลล์ผิดให้หลวงพ่อเจ้าคุณดุด่า  พวกเราได้หัวเราะฮากันอยู่เรื่อยไป  เช่นว่า

               “เจ๊กนั่งอยู่ท้ายเรือสำเภา”  ที่หลวงพ่อเจ้าคุณบอกให้เขียน  เณรโค่นก็เขียนว่า  “เจี๊ยกนั่งยู่ไท้เลือสำเพา”  แล้วสเปลล์ว่า  “สระเอ จอจาน สระเอีย ยอยัก ไม้ตรี กอไก่สะกด นอหนู ไม้หันนะกาด ไม้เอก งองูสะกด ยอยักสระอู ไม้เอก  สระไอไมมาลัย ทอทหาร ไม้โท สระเอ ลอลิง สระเอือ สอเสือ สระอำ สระเอ พอพาน สระอา..........”  กว่าเณรโค่นจะอ่านตัวอักษรที่เขียนได้หมดพวกเราก็หัวเราะกันจนท้องขดท้องแข็งไปตาม ๆ กัน

              สมัยเป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่บ้านนอก  ข้าพเจ้าเคยร่วมกับเพื่อน ๆ หัดลิเกในคณะ  “สามพี่น้อง”  (เง, เหงี่ยม, หงัด)  ต่อกลอนลิเกมานั่งแหกปากร้องกันบนหลังควาย   เป็นลิเกไม่ใช่ตัวเอกตัวรอง  ได้เป็นเพียงตัวประกอบ  เพราะไม่ได้ตั้งใจฝึกหัดอย่างจริงจัง  คิดเพียงแค่สนุก ๆ ไปกับเขาเท่านั้น  กลอนลิเกที่เคยหัดร้องยังไม่หมดไปจากความทรงจำ  จึงชอบฟังชอบพูดคำที่คล้องจองกัน  โดยไม่รู้หรอกว่าคำคล้องจองนั้นเป็นบท บทเป็นกลอน  รู้แต่ว่า  “มันเพราะดี”  ความชอบคำคล้องจองเกิดขึ้นตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรี  ยามที่ได้ฟังพระนักเทศน์องค์ใดที่พูดคำคล้องจองแล้วจะถูกใจมาก  ตั้งใจฟังไม่เบื่อหน่าย  ตอนนั้นภาษาไทยของข้าพเจ้ายังอ่อนอยู่มาก  ไม่มีใครแนะนำสั่งสอนเรื่องบทกลอนมาก่อนเลย  ครั้นมาได้เรียนภาษาไทยกับหลวงพ่อเจ้าคุณเทพ  อ่านแบบเรียนที่เป็น  โคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  วิญญาณกวีที่มีอยู่ในสันดานของข้าพเจ้าก็ฟูเฟื่องขึ้นอย่างรวดเร็ว

              หลวงพ่อเจ้าคุณท่านไม่ได้สอนให้ศิษย์ที่เรียนวิชาภาษาไทยของท่านแต่งกลอน  ข้าพเจ้าจึงหัดแต่งกลอนด้วยตนเอง  ตำราเรียนที่เป็นบทร้อยกรองนั่นแหละที่ถือเป็นครู  โดยจะเอาบทกลอนที่อ่านแล้วประทับใจทั้งเนื้อหาสาระ  และความไพเราะเพราะพริ้งมาดัดแปลงเสียใหม่  คงเสียงสัมผัสเดิมไว้  เช่นว่า   “คนใช้พระยารามคำแหง  ชื่อไอ้แดงตกม้าทำหน้าแหง”   ก็แต่งแปลงใหม่ว่า   “เย็นย่ำสุรีย์สลัวหัวระแหง  ตาวันแดงร่วงลาคนหน้าแหง”  อะไรทำนองนี้แหละครับ  บทกลอนของข้าพเจ้าเขียนเองอ่านเอง  มีพระเณรไม่กี่องค์ที่ขออ่านดูบ้าง  เนื้อหาสาระก็วนเวียนอยู่ในเรื่องความรักความใคร่  สายลมแสงแดด  ตามอารมณ์คนหนุ่ม “วัยหวาน” นั่นเอง

              เกิดมาเพื่อเป็นหัวหน้ากลุ่มคนหรืออย่างไรก็ไม่รู้  อยู่ที่ไหน ๆ เพื่อนก็ยกให้เป็น  “หัวโจก”  อยู่เรื่อย  ในบรรดาพระ-เณรหนุ่มเณรน้อยในสำนักวัดหัวเวียง  พระมีเป็นนักธรรมเอกอยู่ ๒ องค์  คือพระจง วัดลาดบัวหลวง  ศิษย์เจ้าคณะอำเภอลาดบัวหลวง   กับพระเต็ม วัดบางซ้ายใน ศิษย์เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย   หลวงพี่นันต์ วัดหัวเวียง ศิษย์เจ้าคณะอำเภอเสนา  มีอายุมากกว่าพระจง พระเต็ม ๒ ปี  น่าจะเป็น “หัวโจก” ของพวกเรา  แต่เพราะหลวงพี่มีวิทยฐานะเป็นนักธรรมชั้นโท  ยังสอบชั้นเอกไม่ได้สักที  พระเต็มก็เลยถูกยกขึ้นนั่งในตำแหน่ง  “หัวโจก”  โดยไม่มีใครคัดค้านริษยาใด ๆ

              ดังได้ให้การไปแล้วว่า  พระในวัดหัวเวียงมีหลายชนิด  คือชนิด  “ขี้เหล้า, ขี้ยา, นักเลงนานา”  เป็นเรื่องแปลกที่บรรดาพระเหล่านั้นล้วนยอมพวกข้าพเจ้าหมด  ต่างองค์ต่างก็สำรวมความเป็นอยู่  องค์ที่ติดสุราก็เลิกดื่ม  ที่ยังเลิกไม่ได้ก็แอบดื่มไม่ให้พวกเรารู้เห็น  บางองค์ไม่แอบดื่ม แต่ดื่มให้เห็นโดยอ้างว่า  “เป็นกระสายยาเพียงเล็กน้อย”   องค์สูบกัญชา-ฝิ่นก็เหมือนกัน   การที่พระ “ขี้” ทั้งหลายพากันกลับตัวกลับใจกลับพฤติกรรมของตน  คงเป็นเพราะเกิดความละอายพวกเราก็ได้  ก่อนหน้าที่พวกข้าพเจ้าจะมาอยู่วัดหัวเวียงนั้น  ทราบว่าชาวบ้านไม่ค่อยเข้าวัดทำบุญในวัดนี้กันนัก  เวลาเช้าที่พระวัดนี้พายเรือออกรับบิณฑบาต  ชาวบ้านสองฟากฝั่งลำน้ำทั้งสองสายก็คอยจะใส่แต่บาตรพระวัดสุวรรณเจดีย์  และวัดบางกระทิง  ซึ่งพายเรือรับบิณฑบาตในเส้นทางสายน้ำเดียวกัน  เพราะชาวบ้านเขาไม่เลื่อมใสพระวัดหัวเวียง  ครั้นพวกข้าพเจ้าที่เจ้าคณะอำเภอต่าง ๆ ส่งมาอยู่รวมกันเพื่อเรียนบาลี  และปราบพระไม่ดีจนราบคาบแล้ว  ชาวบ้านก็เริ่มเลื่อมใสศรัทธาพระวัดหัวเวียงขึ้นตามลำดับ  ตอนมาอยู่กันใหม่ ๆ  อาหารการกินอัตคัดขัดสนมาก  พอคนกลับมาเลื่อมใสมากขึ้น  อาหารการกินก็ดีขึ้น  แต่ยังต้องทำครัวเลียงกันอยู่ดี  เพราะพวกเรามีมากเกินไป

              อาหารเช้าก็พอมีขบฉัน  แต่กลางวันขาดแคลนขัดสนหน่อยหนึ่ง  เจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ  และเจ้าอาวาสทุกวัดที่ส่งพวกเรามาอยู่ในสำนักวัดหัวเวียง  จึงช่วยกันรวบรวมอาหารแห้ง  มีข้าวสาร  พริก, เกลือ, กะปิ, น้ำปลา, หอม, กระเทียม, ปลาเค็ม, เนื้อเค็มและอื่น ๆ มาให้วัดหัวเวียงเป็นประจำ  เพื่อให้นักเรียนบาลีได้ทำอาหารกินกัน  เป็น “อาหารสปายะ”  ให้กำลังในการศึกษาเล่าเรียน  ดังนั้นจึงมีการตั้ง  “เวรทำครัว”  ขึ้นเป็นประจำทุกวัน  พระเต็มกับพระจง  ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเข้าเวรทำครัว  แต่ก็ให้เป็นผู้ช่วยพระอาจารย์เส็งคอยอำนวยการควบคุมดูแลการทำครัวทุกวัน

              การหุงข้าวอาจารย์เส็งกับข้าพเจ้าไม่ต้องควบคุมดูแล  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระจงกับเณรที่เป็นเวร  ส่วนการทำกับข้าวต้มแกงอะไรนั้น  อาจารย์เส็งท่านลงมือทำเองโดยมีเณรเวรเป็นผู้ช่วย  ข้าพเจ้าไม่ต้องทำอะไรเลย  คูท่าทางอาจารย์เส็งจะพอใจและภูมิใจในการทำกับข้าวของตนเองมาก  เวลาฉันข้าวพวกเรามักจะรับความรำคาญจากการซักถามของอาจารย์เส็ง  คือท่านจะถามองค์โน้นองค์นี้ว่า  รสชาติของกับข้าวมื้อนี้เป็นอย่างไร  อร่อยไหม  จืดไหม  เค็มไปไหม  เผ็ดมากน้อยอย่างไร  ใครตักกับข้าวฝีมือท่านเข้าปากที  ท่านก็มักจะถามว่า  รสชาติเป็นอย่างไร  ถ้าใครบอกว่าอร่อยดีท่านก็ยิ้มแฉ่ง  ใครบอกว่าพอกินได้ท่านจะไม่ยิ้ม  บางครั้งอาจจะหน้าบึ้งเอาด้วย  ทั้งยังจะพูดเชิงตำหนิว่า  “ทั่นนี่ลิ้นต่ำ”  และจะไม่ถามองค์นั้นไปอีกหลายวันทีเดียว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, พฤศจิกายน, 2565, 10:31:10 PM
(https://i.ibb.co/jZ3qHN4/Mahamora-05-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๐ -
              อยู่ในสำนักวัดหัวเวียง  นอกจากจะได้เรียนวิชาภาษาไทย  ภาษาบาลี  และอังกฤษแล้ว  หลวงพ่อเจ้าคุณเทพยังสอนศาสนพิธีต่าง ๆ  เริ่มด้วยการกราบไหว้ที่ถูกต้องสวยงาม  การเดินเข่าในการเข้าหาพระผู้ใหญ่  และในที่ประชุมสงฆ์  การจัดโต๊ะหมู่บูชา  การสวดมนต์   เฉพาะการสวดมนต์นี้  ท่านให้เอาแบบอย่างวัดมหาธาตุฯ สำนักเดิมของท่านมาเป็นหลัก  และให้ยึดถืออย่างเคร่งครัด  ตอนทำวัตรเช้า-เย็นท่านนำบทพระปริตร พระสูตร บทต่าง ๆ มามาสวดซ้อม  สวดให้ถูกจังหวะ  ทำนอง  ทีฆะ (เสียงยาว) รัสสะ (เสียงสั้น)  สังโยค (สะกด)  เสียง ร. ล. ให้ถูกต้องชัดเจน  ถ้าสวดผิดท่านจะสั่งให้หยุดแล้วว่าให้ฟัง  และให้สวดใหม่  บทขัดต่าง ๆ ที่เป็นคาถา (คำร้อยกรอง) ให้ว่าเป็นทำนอง ปัฐยาวัตร สรภัญญะ   หลวงพ่อเจ้าคุณท่านสอนให้ข้าพเจ้าสวดได้หมดและยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ทุกองค์ควรทำตาม  โดยท่านบอกว่า

               “มีพระเต็มองค์เดียวที่สวดบทพระปริตร  พระสูตรและบทขัดต่าง ๆ ได้ตามที่สอน”

              เมื่อมีกิจนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ตามบ้านต่าง ๆ  หากเจ้าภาพนิมนต์พระวัดหัวเวียงหลายองค์  ท่านต้องให้ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งของจำนวนพระที่ไปในงานนั้น

              หลวงพ่อเจ้าคุณเคร่งครัดการสวดมนต์มิใช่แต่เฉพาะในวัดเท่านั้น  แม้ไปสวดตามบ้าน ท่านก็เคร่งครัดในเรื่องจังหวะทำนองเหมือนกัน  วันหนึ่งท่านรับนิมนต์ไปในงาน  “ทำบุญลาน”  การทำบุญอย่างนี้ชาวบ้านนิยมทำกันเมื่อเสร็จการเกี่ยวข้าว  เก็บขนข้าวเข้ารวมเป็นกองที่ลานนวดข้าวแล้ว  ก่อนทำการนวดข้าวก็ทำบุญฉลองข้าวฟ่อน  มักจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์  แล้วอังคาส (เลี้ยง) พระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารอันประณีต  เรียกกันทั่วไปว่า  “ทำบุญลาน”

              วันนั้นพระเจริญพระพุทธมนต์เป็นพระวัดหัวเวียงทั้งหมด ๙ องค์  หลวงพ่อเจ้าคุณเทพเป็นประธานสงฆ์  ข้าพเจ้าเป็นพระอาวุโสต่ำสุดจึงนั่งเป็นองค์ที่ ๙ ท้ายสุด  แต่ท่านสั่งให้พระเต็ม “ขัดสัคเค” คือชุมนุมเทวดาเป็นทำนองตามที่ท่านสอนให้  ข้าพเจ้าก็ว่าผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  ท่านนำ “อาฏานาฏิยสูตร” มาสวดด้วย  พระสูตรบทนี้สวดค่อนข้างจะยากสักหน่อย  พอสวดไปได้ไม่ถึงครึ่งบท  เสียงสวดเกิด “เตะ” กันขึ้น  คือว่าจังหวะไม่พร้อมกัน  หลวงพ่อเจ้าคุณยกมือประกอบเสียงร้องห้ามให้หยุดสวด

               “หยุด ! หยุด !  หยุดสวดเดี๋ยวนี้นะ”  พระก็หยุดสวดตามคำห้ามของท่าน

               “ข้าสอนให้แกสวดกันยังงี้เรอะ ?  สวดใหม่ !”  ท่านว่าแล้วก็ขึ้นต้นบทสวดใหม่

              อายละซีครับ  พวกข้าพเจ้าไม่มีใครสักองค์เลยที่ไม่อาย  สวดมนต์จบแล้วไม่มีใครฉันอาหารอร่อยสักองค์เดียว  สำหรับข้าพเจ้าแล้ว  คิดว่าน่าจะอายมากกว่าเพื่อน  เพราะเป็นพระหนุ่มองค์เดียวและไม่เคยถูก  “หักหน้า”  อย่างนี้มาก่อน  ที่สำคัญก็คือ  เห็นพวกแม่ครัวสาว ๆ ซุบซิบบุ้ยใบ้กันมาทางพระหนุ่มตลอดเวลา  พวกหล่อนต้องนินทาแน่ ๆ  เหตุการณ์วันนั้น  ยังฝังใจอยู่จนวันนี้

              วันสำคัญทางพระพุทธศาสนามีหลายวัน  ที่นับเป็นวันสำคัญพิเศษก็มี  วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖  เรียกกันว่าเป็นวันวิสาขบูชา  วันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้, ปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เรียกว่าวันมาฆบูชา วันคล้ายวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์สี่ (จาตุรงคสันนิบาต) ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์  ย่อคำสอนทั้งหมดเข้าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  และยังเป็นวันคล้ายวันปลงอายุสังขารของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย  วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เรียกว่าวันอาสาฬหบูชา  เป็นวันคล้ายวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระปฐมเทศนา  คือการเทศน์ครั้งแรกหลังการตรัสรู้

              เมื่อถึงวันสำคัญดังกล่าวนั้น  หลวงพ่อเจ้าคุณเทพได้วางระเบียบจัดกิจกรรมไว้  ให้พระเณร อุบาสกอุบาสิกา อันเป็นพุทธบริษัทสี่กระทำร่วมกัน  เริ่มด้วยการใส่บาตรทำบุญในตอนเช้า  อุบาสกอุบาสิกาสมาทานอุโบสถศีล  เสร็จเรื่องอาหารแล้วเข้าประชุมกันในโรงอุโบสถ  ทำวัตรเช้า  มีการแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องความเป็นมาของวันสำคัญนั้น ๆ  จบแล้วพระภิกษุสามเณรผลัดเปลี่ยนเวียนกันเทศน์  โดยมีพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิการ่วมกันฟัง  เทศน์กันจนถึงเวลาบ่ายโมงจึงหยุดเทศน์เพื่อทำสังฆกรรม  สวดและฟังพระปาติโมกข์  จบแล้วก็เทศน์กันต่อไป  ตกเวลาเย็นก็ร่วมกันทำวัตรค่ำ  สวดพระปริตร  พระสูตร  และปาฐะต่าง ๆ  จบแล้วพระภิกษุสามเณรก็ผลัดเวรกันเวียนเทศน์ไปตลอดคืน

              การเทศน์ของพระเณรนั้น  ไม่ได้เทศน์โดยปฏิภาณโวหารของผู้เทศน์  แต่ทุกองค์อ่านคัมภีร์ใบลานเทศน์ตามที่ปราชญ์ บัณฑิตไทย ทั้งพระและฆราวาสแต่งไว้  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระพุทธประวัติ  และชาดกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้ามีทศชาติเป็นต้น  และมิใช่ว่าพระเณรในวัดนี้จะต้องอ่านคัมภีร์เทศน์ทุกองค์  หลวงพ่อเจ้าคุณท่านจะเลือกกำหนดให้องค์ที่อ่านหนังสือ  “แตกฉาน”  เท่านั้น  องค์ที่ขึ้นธรรมาสน์เทศน์มากที่สุดก็คือข้าพเจ้าแหละครับ

              วันมาฆบูชาปีนั้น  พระเต็มเป็นตัวยืนในการ  “เทศน์มาราธอน”   ภายในโรงอุโบสถวัดหัวเวียงมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร  กลางโบสถ์ยกพื้น (ไม้กระดาน)เป็นอาสน์สงฆ์  พระภิกษุสามเณรนั่งบนยกพื้นทั้งหมด  อุบาสกอุบสิกานั่งกับพื้นโบสถ์ที่มีเสื่อปูลาดไว้เต็มพื้นที่  มุมฐานชุกชีของพระพุทธประธานด้านทิศเหนือ (ข้างที่หลับนอนของพระเต็ม) มีธรรมาสน์เตี้ยตั้งอยู่สำหรับให้พระเณรขึ้นนั่งเทศน์  ตอนกลางวันพระเต็มเทศน์จบไป ๓ กัณฑ์  องค์อื่น ๆ เทศน์เพียงกัณฑ์เดียวเท่านั้น  ข้าพเจ้าอ่านหนังสือในคัมภีร์เทศน์ด้วยความฮึกเหิม  เชื่อมั่นในตนเองมาก  โยมบางคนที่เป็นนักฟังเทศน์ถึงกับกล่าวชมว่า  “สมกับเป็นลูกศิษย์พระมหาไวย์แท้ ๆ”  อย่างนี้เรียกว่า  ศิษย์ช่วยเชิดชูหน้าตาอาจารย์ได้กระมัง?

              อุบาสกอุบาสิกาที่สมาทานอุโบสถศีลอยู่ประจำในโบสถ์ตลอดวันตลอดคืน  มีหญิงสาวอยู่คนหนึ่ง  อายุก็รุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้านี่แหละ  เธอไม่ใช่คนสวย  แต่เป็นคนงาม  กิริยามารยาทเรียบร้อย  ลักษณะนุ่มนวลน่ารัก  เป็นหลานสาวเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งบ้านอยู่ไม่ไกลวัดนัก  เศรษฐีคนนั้นชอบเข้าวัดทำบุญและรักใคร่นับถือพระเต็มเป็นพิเศษเสียด้วย  หลานสาวคนงามของโยมเศรษฐีก็ชอบเข้าวัด  รักษาอุโบสถศีลทุกวันพระเป็นประจำ   มีคนกระซิบบอกว่าเธอชอบพระเต็มอยู่มาก  เวลาข้าพเจ้าขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เธอจะนั่งฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ  ข้าพเจ้าชอบสบตาซื่อ ๆ ของเธอ  เพราะสายตาของเธอให้ความอบอุ่นใจแก่ข้าพเจ้ามาก  เคยพูดจากับเธอบ้างแต่ก็ไม่มากนัก  ที่พูดกันไม่มากก็เพราะไม่กล้าพูดอะไร ๆ กับเธอ  ด้วยรู้สึกตัวว่าใจไม่ค่อยบริสุทธิ์ต่อเธอ  การที่มีสาวคนงามนั่งพนมมือฟังเทศน์อยู่ด้วย  ทำให้พระเต็มเทศน์ไม่รู้จักเหนื่อยเลยก็แล้วกัน

              เวลาเที่ยงคืนผ่านไปแล้ว  ข้าพเจ้าอ่านคัมภีร์เทศน์จบไปเป็นกัณฑ์ที่ ๔  ลงจากธรรมาสน์นั่งพิงฐานพระประธานหลังธรรมาสน์เทศน์  ฟังพระจงเทศน์ด้วยเสียงอู้อี้น่ารำคาญจนเกิดความง่วงนอนอย่างหนัก  นักเทศน์ทั้งหลายที่นั่งเรียงคิวคอยเทศน์ต่อไปก็นั่งโงกง่วงอยู่หลังธรรมาสน์  บางองค์ก็นั่ง  “หลับนก”  ข้าพเจ้าทนง่วงไม่ไหวจึงนอนเหยียดยาวหลับอยู่หลังธรรมาสน์นั่นเอง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, พฤศจิกายน, 2565, 10:29:25 PM
(https://i.ibb.co/1Q1b5Pp/1233023543.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๑ -
               “มาด” ของพระอาจารย์  พระนักเทศน์  สมภารเจ้าวัด  สมัยนั้น  นอกจากการนั่ง  “จิบน้ำชา”  แล้วก็มีการ  “สูบบุหรี่, กินหมาก”  ข้าพเจ้าไม่ใช่พระนักเทศน์  ไม่ใช่พระอาจารย์  สมภารเจ้าวัด  ยังเป็นพระเด็ก ๆ  เป็นเหมือนเด็กที่อยากโตเร็ว ๆ  จึงเอา  “มาด”  ของครูบาอาจารย์มาใช้  พอว่างจากการเทศน์ก็เคี้ยวหมาก  ว่างจากเคี้ยวหมากก็จิบน้ำชา  สูบบุหรี่   ดังนั้น หลังธรรมาสน์เทศน์จึงมีปั้นน้ำชา  พานหมากบุหรี่  กระโถนน้ำหมากตั้งอยู่ประจำนักเทศน์ได้ขบเคี้ยวตามอัธยาศัย  เฉพาะหมากพลูนั้น หลานสาวคนงามของโยมเศรษฐีคนนั้นเป็นผู้จัดทำถวาย  เธอจีบพลูและเจียนหมาก (สด) อย่างประณีตบรรจงตั้งแต่กลางวัน  หัวค่ำยันเที่ยงคืนข้าพเจ้าเคี้ยวหมากของเธอหมดไปไม่น้อยกว่า ๕ พาน  เคี้ยวอย่างอร่อย ปูนไม่กัดปาก  และไม่ “ยันหมาก” (ไม่เมา)   ก่อนที่จะนอนหลับพับอยู่หลังธรรมาสน์นั้น  ข้าพเจ้าก็เคี้ยวหมากจนจืดแล้วอมชานไว้ในปาก เรียกว่า “หลับคาหมาก”  เลยก็แล้วกัน

              หลับไปนานเท่าไรก็ไม่รู้  มารู้ภายหลังว่าเพื่อนเทศน์จบไป ๓ กัณฑ์แล้ว  สะดุ้งตื่นเพราะเณรไหว (คนละองค์กับเพื่อนเก่าที่รางเนื้อตาย) เทศน์จบแล้วลงจากธรรมาสน์ เดินสะดุดกระโถนที่มีน้ำหมากเกือบเต็มนั้นล้ม  น้ำหมากหกรดราดศีร์ษะข้าพเจ้าและกระโถนกระดอนไปถูกศีร์ษะเณรยศที่นอนถัดพระเต็มไป  น้ำหมากนองพื้นเปรอะเปื้อนตัวพระเต็มและเณรยศแดงเถือก  กลิ่นคลุ้งน่าสะอิดสะเอียน  เณรไหวยกมือไหว้ขอโทษขอโพยด้วยความเสียใจยิ่ง  ข้าพเจ้าโมโหก็โมโห  ขำก็ขำ  การเดินสะดุดกระโถนหกนั้น เกิดจากเณรไหวซึ่งขึ้นเทศน์เป็นครั้งแรกในชีวิต  เพื่อนเล่าให้ฟังว่า  เณรไหวอ่านคัมภีร์เทศน์เสียงดังลั่นเหมือนตะโกน  และสั่น ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ  มือที่ถือคัมภีร์สั่นระริก  เปิดคัมภีร์ไม่ค่อยถูก  จนอ่านความสับสนไม่ติดต่อกัน  คนฟังพากันหัวเราะด้วยความขบขัน  ปรากฏว่าเขาเทศน์ไม่จบกัณฑ์  เพราะสายเชือกที่ร้อยใบลานผูกเป็นคัมภีร์นั้นเกิดพันกันยุ่ง  เปิดคัมภีร์เทศน์ไม่ถูกหน้า  ต้องเลิกเทศน์   “เอวัง..”  เอาดื้อ ๆ  รีบลงจากธรรมาสน์อย่างลนลานเหมือนรีบหลบหนีความอับอาย  จนสะดุดกระโถนน้ำหมากหกกระดอนไปในที่สุด

              เวลายังไม่สว่าง  แต่การเทศน์ต้องยุติลง  พระเต็มกับเณรยศต้องรีบไปอาบน้ำเปลี่ยนสบงจีวรใหม่  เณรโค่นช่วยเช็ดถูทำความสะอาดพื้นโบสถ์บริเวณที่นอนของข้าพเจ้า  พวกเราลงความเห็นร่วมกันว่าควรยุติการเทศน์ไว้แค่นั้น  เวลาที่เหลือก็ใช้เป็นช่วงการสวดมนต์ภาวนา  ทำวัตรเช้า (มืด) ไปพร้อมกันทั้งพระเณรและอุบาสกอุบาสิกา จนกว่าจะได้อรุณของวันใหม่

              ดังได้ให้การแล้วว่า  ในวัดหัวเวียงมีโรงมหรสพประจำอยู่ ๑ โรง  เป็นอาคารฝาไม้หลังคามุงสังกะสี  ส่วนหลังยกพื้นเป็นเวทีแสดงลิเกและวงดนตรี  ส่วนมากจะมีผู้มาเช่าฉายภาพยนตร์  นาน ๆ จึงจะมีผู้มาเช่าแสดงลิเกครั้งละไม่น้อยกว่า ๗ คืน  ทางวัดเก็บค่าเช่าไม่แพงนัก  ค่าเช่าที่ได้มานั้นก็ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารเลี้ยงพระเณรในวัดทั้งหมด  มีภาพยนตร์มาเข้าฉายอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง  ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่มาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในตลาดบ้านแพน  แล้วจึงเร่ต่อมาฉายที่วัดหัวเวียง คนหัวเวียงและใกล้เคียงไม่ต้องลงเรือไปชมภาพยนตร์ในโรงหนังบ้านแพนให้เสียเวลา  จะว่าวิกวัดหัวเวียงเป็นสาขาของโรงภาพยนตร์บ้านแพนก็ได้  ทุกครั้งที่มีภาพยนตร์มาฉาย  พระเณรก็จะเข้าดูกันมาก  โดยผู้จัดฉายจะขึงจอบนเวทีดูเหมือนฉากลิเก  จัดกันพื้นที่ด้านข้างขวามือไว้สำรองพระภิกษุสามเณรนั่งชมกันโดยไม่ปะปนกับฆราวาส  ถ้ามีลิเกมาแสดง พระเณรที่ชอบดูก็จะเข้าไปดูปะปนกับฆราวาส  โดยที่ชาวบ้านจะไม่นินทาว่าร้ายใด ๆ  เพราะคนส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

              ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้เข้าวิกดูหนังดูลิเกกับเขานัก  มิใช่เพราะไม่ชอบดู  แต่อายชาวบ้าน  ด้วยใคร ๆ ก็รู้กันว่าพระเต็มเป็นพระระดับหัวหน้าคณะนักเรียนบาลีวัดหัวเวียง  มีความรู้สูงถึงขั้นนักธรรมเอก (เถรภูมิ) แล้ว  ไม่ควรทำตัวเหมือนพระบวชใหม่และเณรใหญ่น้อย  จะเข้าไปดูหนังก็แต่เรื่องใหญ่ ๆ ดัง ๆ เท่านั้น  ส่วนลิเกไม่ว่าคณะไหนจะไม่เข้าไปดูเลย  ผู้ที่เข้าไปดูทั้งหนังทั้งลิเกไม่เคยขาดคือ “เณรโตก” คนบ๊อง ๆ บวม ๆ ที่หลวงพ่อเจ้าคุณเลือกไว้รับใช้ใกล้ชิดท่าน  ลิเกทุกคณะที่มาเปิดการแสดง  “เณรโตก”  ต้องเข้าไปดูทุกคืน  บางคืนยังไปนั่งดูแลการเก็บบัตรผ่านประตูอีกด้วย  ชาวบ้านก็ไม่มีใครว่าอะไร  เพราะคนส่วนมากรู้จักเณรองค์นี้ดี

              มีลิเกคณะหนึ่งขอเช่าโรงเปิดการแสดง ๑ เดือนเต็ม  นัยว่าเขาแสดงดีมีคนเข้าดูกันคืนละไม่น้อย  แต่เขาไม่ได้แสดงทุกคืน  เพราะมีบางคืน  “หนังเร่”  มาขอเช่าโรงฉายภาพยนตร์  ทางวัดให้สิทธิ์ลิเกคณะนั้นตกลงกับเจ้าของหนังเร่นั้น  คณะลิเกก็เรียกเอาค่าเช่าตามความพอใจ  ลิเกคณะนี้ผู้แสดงชายส่วนใหญ่จะ  “ติดกัญชา”  เห็นตาเจิม  “ศิษย์คู่บุญ”  ของหลวงพ่อเจ้าคุณไปป้วนเปี้ยนอยู่ในโรงลิเกเวลากลางวันไม่เว้นแต่ละวัน  เณรโตกก็ไปป้วนเปี้ยนอยู่กับตาเจิมทุกวันด้วย  ข้าพเจ้ามารู้ว่าลิเกคณะนี้  “เป็นลิเกขี้ยา” ก็ต่อเมื่อเณรโตกที่เข้าไปคลุกคลีอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนนั้น  ติดกัญชาจนงอมแงมเสียแล้ว

              ในบรรดานักเรียนบาลีวัดหัวเวียงนั้น  มีสามเณรหนุ่มวัย ๑๙ ปีอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐ องค์  พ้น “วัยเด็ก” เข้าอยู่ใน “วัยคะนอง” กันแล้ว  ก็มักจะทำเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในหมู่คณะเสมอ  อย่างเช่นวันหนึ่ง  หลานสาวเศรษฐินีม่ายผู้เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงพ่อเจ้าคุณเทพ  นำอาหารเพลมาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณ  เด็กสาวคนนี้มีหน้าที่นำอาหารมาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณทุกวัน  บางวันก็มีเพื่อนมาด้วยเป็นสองคน  บางวันก็มาคนเดียว  เธอกำลังเป็นสาว “วัยขบเผาะ” หน้าตาขำคม  วันนั้นเธอถวายอาหารเพลแล้วก็เดินทางกลับบ้านตามปกติ

               “วันนี้แกงอะไรจ๊ะ?”  เณรโตกเอียงคอถาม  พร้อมฉีกยิ้มให้ด้วยไมตรี
               “แกงมะเหงก !”  เธอตอบพร้อมสะบัดหน้าเดินกระฟัดกระเฟียดผ่านกุฏิพระมหาเงิน

               “ตัดผมทรงอะไรน่ะ?”  เณรนวยโผล่หน้าต่างร้องถาม
               “ทรงมดแดงชะเง้อ !”  เธอตะคอกเสียงตอบ

               “ทำไมคนสวยตอบยังงั้น?”  เณรยศถามแซมขึ้นมา
               “บ้า ! บ้ากันทั้งวัด”  แล้วเธอก็ร้องไห้รีบเดินจากไป

              ก่อนหน้านี้พวกเณรก็เคยทักทายปราศรัยกับเธอ  ไม่เคยเห็นเธอโกรธเคืองมาก่อน  วันนี้ไม่รู้เป็นอะไรไป  เณรโตกทักเธอดี ๆ กลับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ  และพาลโกรธเณรทุกองค์เลย  ไม่ใช่โกรธแล้วหายโกรธเมื่อเดินกลับบ้าน  แต่เธอเดินร้องไห้ไปฟ้องคุณป้า กล่าวหาว่าถูกพวกเณรรุมจีบ  เกี้ยวพาราศีเธออย่างหยาบโลน  เศรษฐินีโยมอุปัฏฐากหลวงพ่อเจ้าคุณเห็นหลานสาวกลับมา  “ฟ้องทั้งน้ำตา”  ดังนั้นก็โกรธเป็นกำลัง  รีบเดินทางเข้าวัดและผลีผลามเข้าไปหาหลวงพ่อเจ้าคุณ

               “อีฉันทนไม่ไหวแล้ว  ท่านเจ้าคุณ”  ประเคนคำพูดให้หลังจากยกมือไหว้แล้ว

               “มีอะไรทนไม่ไหวอีกล่ะ?”  หลวงพ่อเจ้าคุณถามยิ้ม ๆ หลังจากบ้วนน้ำหมากลงกระโถน

               “ก็เณรของท่านน่ะซี  ร้ายนักเชียว !”

               “มันร้ายยังไงล่ะ?”  ท่านถามด้วยอาการเดิม

               “ร้ายซี  ก็รุมกันเกี้ยวยายอ้อยหลานสาวอีฉันเสียจนร้องห่มร้องไห้  เดินกลับบ้านแทบไม่ไหว  ท่านเจ้าคุณต้องลงโทษเณรร้ายนั้นให้หนักหน่อยนะ”

               “เฮ่ย....!  หลานแกมันเป็นสาว  เณรข้ามันเป็นหนุ่ม  ไอ้หนุ่มมันก็ต้องจีบอีสาวเป็นเรื่องธรรมดา  เราแก่แล้วจะไปถือสาหาความอะไรกับเรื่องของหนุ่มสาวมันเล่า?”

              หลวงพ่อเจ้าคุณพูดจบแล้วก็หัวเราะอย่างขบขัน  เศรษฐินีม่ายได้ฟังดังนั้นก็ร้องไห้โฮ.....  ไม่กราบลาแล้ว  ลุกขึ้นผลุนผลันลงจากกุฏิ  เดินตุปัดตุป่องจากวัดไปด้วยความคับแค้นใจ  ข้าพเจ้าคิดว่าโยมเศรษฐินีม่ายนั้นคงจะโกรธจนเลิกทำอาหารเพลถวายหลวงพ่อเจ้าคุณแล้ว  แต่คิดผิดถนัด  เพราะโยมนั้นยังคงทำอาหารให้หลานสาวนำมาถวายเพลเหมือนเดิม  ทุกวันหนูอ้อยหลานสาวของโยมจะนำอาหารไปพร้อมกับเพื่อนสาว  หรือไม่ก็เพื่อนชายไปด้วย  เพื่อป้องกันการ  “แทะโลม”  ด้วยวาจาของเณร

              เรื่องของสามเณรที่มีความประพฤติเกเรร้ายกาจนี่  ดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วไป  อย่างสามเณรองค์หนึ่งชื่อ  “ปอด”  ก่อนจะมาอยู่วัดหัวเวียงเขาร้ายกาจพอสมควร  ข้าพเจ้ารู้ได้เพราะเพื่อนของเขาเล่าให้ฟัง  และก็ถามเขาว่าจริงหรือไม่ ?  เขายอมรับว่าเป็นความจริง  ตามนั้นยุคสมัย  “กึ่งพุทธกาล”  นั้น  คนชนบท คือใน “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” มีพระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, นครสวรรค์, ปทุมธานี, นครปฐม เป็นต้น  มีค่านิยมในการบันเทิงด้วยการชมนาฏดนตรี (ลิเก) ในงานต่าง ๆ เช่น  งานประจำปีของวัด  งานบวชนาค  งานฉลองเสนาสนสงฆ์  งานโกนจุก  แม้งานแก้บน  ก็นิยมจัดให้มีแสดงลิเก  รองจากลิเก ก็เป็นภาพยนตร์  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น  “หนังขายยา”  วงดนตรีลูกทุ่งเริ่มสอดแทรกเข้ามาด้วย  ส่วนลำตัด  เพลงฉ่อย  ละครชาตรี  โขน นั้นมีน้อยเต็มที  เพราะคนนิยมดูกันน้อยนัก

              งานประจำปีของวัดต่าง ๆ ที่ถือว่ายิ่งใหญ่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ก็มี  วัดบางนมโค (วัดหลวงพ่อปาน)  วัดเกาะ  วัดทางหลวง  วัดลาดบัวหลวง  และวัดบางซ้ายใน  ทุกวัดต้องมีลิเกชื่อดังมาแสดงเป็นหลักของงาน  ลิเกที่เรียกว่า “ดัง” ในยุคสมัย  ต้องเป็นลิเกที่แสดงออกอากาศทางสถานีวิทยุต่าง ๆ  หรือไม่ก็  “อัดแผ่นเสียง”  จนมีชื่อเสียงติดหูคนฟังแล้ว  เช่น  ทองใบ รุ่งเรือง,  เสนาะน้อย เสียงทอง,  บุญส่ง จารุวิจิตร,  บุญเชิด ท่วมศิริ,  รำพึง ณ อยุธยา,  ประยงค์ ลูกบางแก้ว,  ขุนแผน ลูกปราจีน, หอมหวล,  จันทร์แรม  เป็นต้น

              วัดไหนจัดงานโดยไม่หาลิเกวิทยุมาแสดง  ชาวบ้านจะพูดนินทากันว่า  “จัดงานกระจอกมาก”  ค่าจ้างลิเกวิทยุมาแสดงนั้นคืนละไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท  ถ้าคณะที่มีปี่พาทย์, เครื่องไฟพร้อม  จะแพงขึ้นถึงคืนละสามหมื่นบาททีเดียว  วัดลงทุนจ้างลิเกมาแสดงมักจะไม่ขาดทุน  เพราะจะเก็บค่าชมจากคนดูด้วย  บางวัดก็หาลิเกมาแสดงประชัน แข่งขันกัน  อย่างวัดลาดบัวหลวงของพระจงนั้น  จัดงานประจำปีในเทศกาลลอยกระทง  บางปีจัดติดต่อกันถึง ๕-๗ คืนทีเดียว  หาลิเกมาแสดงประชันกันชนิดที่เรียกว่า  “ถึงพริกถึงขิง”  มีเดิมพันการแสดงเป็นเงินสดกันด้วย  วัดนี้ได้เปรียบตรงที่มีพื้นดินคันคลอง (พระยาบันลือ) ผ่านวัด ไม่ถูกน้ำท่วม  จึงใช้เป็นที่จัดงานได้ดีกว่าวัดอื่น ๆ ที่ถูกน้ำท่วมพื้นที่หมด  พื้นที่วัดที่ถูกน้ำท่วมนั้นจะปลูกสร้างโรงลิเกในน้ำยกพื้นสูงพ้นน้ำประมาณหนึ่งศอก  คนดูลิเกก็ใช้เรือพาย  เป็นเรือเล็กบ้างใหญ่บ้างจอดเรียงรายหน้าโรงลิเก  หนุ่มสาวดูลิเกกันไปจีบกันไป  สนุกไปตามประสาวัฒนธรรมประเพณีชาวลุ่มน้ำ

              การแสดงลิเกประชันกันนั้นมี ๒ แบบ  คือประชันกันแบบเผชิญหน้า  หรือซึ่ง ๆ หน้า  ในคืนและเวลาเดียวกัน  กับ ประชันลับหลัง  คือแสดงกันคนละคืน(คนละเวลา) ใครแสดงก่อนหรือหลังแล้วแต่จะตกลงกัน  หากตกลงกันไม่ได้ก็ใช้วิธีจับสลาก  กรรมการผู้ตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะคือประชาชนคนดูทั่วไปคณะใดมีคนดูมากกว่าก็ชนะไป  ตัววัดว่าคนดูมากหรือน้อยได้แก่  “ตั๋วเงินค่าผ่านประตู”  เข้าชมการแสดง

              งานประจำปีของวัดในน่านน้ำวัดหนึ่งมีลิเกประชันกัน  และเป็นการประชันแบบซึ่ง ๆ หน้า  โรงลิเกปลูกห่างกันพอสมควร   เณรปอด จอมพิเรนที่ชอบกลั่นแกล้งคน  ก็กลั่นแกล้งคณะลิเกที่เขาไม่ชอบ  คืนนั้นบรรดา “ลูกทุ่ง” ทุกวัยทั้งหลายทั้งปวงพากันพายเรือ  แจวเรือ  เข้าวัดดูลิเกกันแน่นขนัด  ลิเกแสดงไปได้ไม่นานนัก  คนดูที่เนืองแน่นหน้าโรงลิเกคณะดังที่มีแววว่าจะชนะนั้น  พากันพายเรือออกจากหน้าโรงทีละลำสองลำ  เหลือจอดดูอยู่เพียงเล็กน้อย  ที่สุดก็เป็นฝ่ายแพ้ไป

              เหตุที่ลิเกคณะเก่งนั้นพ่ายแพ้ก็เพราะ  สามเณรปอดกับไอ้ฉ่ายเด็กวัด  หนึ่งเณรหนึ่งเด็กร่วมกันกลั่นแกล้ง  โดยเอาไหกระเทียมใส่น้ำอุจจาระปัสสาวะเก็บไว้  แล้วกวาดจับตั๊กแตนขังไว้จำนวนมาก  เมื่อถึงวันประชันลิเก  ก็เอาตั๊กแตนหลายร้อยตัวใส่ลงในไหกระเทียมที่หมักอุจจาระปัสสาวะ  ปิดปากไหนำไปซ่อนไว้หลังโรงลิเกคณะที่เขาไม่ชอบ  พอเปิดการแสดงก็แอบไปเปิดฝาไห  ตั๊กแตนในไหนั้นเมื่อเห็นแสงไฟก็พากันบินออกจากไห  ไปเกาะตามเนื้อตามตัวผู้คนที่จอดเรือรายเรียงอยู่หน้าโรงลิเกนั้น  แล้วใครจะทนเหม็นอยู่ได้เล่า  ก็ต้องพาย แจว เผ่นหนีไปเป็นธรรมดา  ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่สามเณรปอดเล่นพิเรนทร์ ๆ กลั่นแกล้งผู้คน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ เมษายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤศจิกายน, 2565, 10:30:47 PM
(https://i.ibb.co/4TF5vSN/278904074-3409066755983533-1633600471873097802-n-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๒ -
              มีเรื่องไม่น่าเชื่อที่ข้าพเจ้าพบเห็นด้วยตนเองเรื่องหนึ่ง  ที่ทำให้สงสัยอยู่จนทุกวัน  คือหลาน (ห่าง ๆ)  เจ้าของโรงสีข้าวนึ่งใกล้วัดหัวเวียงคนหนึ่ง  เข้าพิธีมงคลสมรสกับชายหนุ่มมีฐานะดี  นิสัยใจคอดี  ความรู้ดี  ร่างกายแข็งแรงดี  เขาชอบพอกันกับข้าพเจ้าพอสมควร  วันทำพิธีแต่งงานนิมนต์ข้าพเจ้าไปเจริญพระพุทธมนต์ด้วย
 
              พิธีแต่งงานเขาไม่จัดใหญ่โตอะไร  ไม่มีงานเลี้ยง  ไม่มีการ  “แห่ขันหมาก”  ทั้ง ๆ ที่ฐานะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวเขาดีพอที่จะจัดงานใหญ่โตอย่างไรก็ได้ แต่เพราะเจ้าภาพเป็นบัณฑิต  จึงจัดพิธีอย่างเรียบง่าย  นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตตาหารเพียง ๕ องค์  เป็นพระวัดหัวเวียง ๔ องค์  วัดสุวรรณเจดีย์ ๑ องค์

              พระวัดหัวเวียง ๔ องค์ไปถึงบ้านงานก่อน  พระวัดสุวรรณเจดีย์ยังไปไม่ถึง  จนเวลาสายแล้ว  ข้าพเจ้าเห็นว่าจะรอไม่ไหว  โยมเจ้าของโรงสีซึ่งเป็นใหญ่ในงานบอกว่า  

               “พระสี่องค์ก็ครบองค์สงฆ์แล้ว  อีกองค์หนึ่งยังมาไม่ถึงก็ช่างเถิด  เราทำพิธีสงฆ์ให้เจริญพรพุทธมนต์ไปก่อน  องค์ที่ ๕ นั้นมาถึงเมื่อไหร่ให้เข้าพิธีเมื่อนั้นก็แล้วกัน”

              มีบางคนค้านว่า  “พระสี่องค์สำหรับสวดศพ  ไม่ใช่งานแต่งงาน”  แต่คนส่วนใหญ่ในงานนั้นเห็นด้วยกับโยมผู้ใหญ่นั้นว่าให้เริ่มทำพิธีไปได้เลย  เพราะพระสี่องค์ครบ  “องค์สงฆ์” ตามวินัยนิยมแล้ว   ดังนั้น พิธีกรรมทางศาสนาจึงเริ่มขึ้น  พระอาจารย์เส็งเป็นประธานสงฆ์  ให้ศีลจบแล้ว  โยมแววกล่าวอาราธนาพระปริตร  หลวงตาเล็กผู้นั่งในอันดับที่สองจะตั้งพัด  “ขัดสัคเค....”  ชุมนุมเทวดาตามระเบียบ  ท่านกลับส่งพัดให้หลวงตากรอผู้นั่งลำดับที่สาม  หลวงตากรอไม่ยอมขัดสัคเค... ท่านส่งพัดให้พระเต็มซึ่งเป็นพระอาวุโสน้อยที่สุดนั่งอยู่อันดับที่สี่องค์สุดท้าย  แล้วข้าพเจ้าจะส่งพัดต่อไปให้ใครได้เล่า ?

              ตกอยู่ใน  “ภาวะจำยอม”  ข้าพเจ้าตั้งพัดขัดสัคเคโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนเลย  ทำนอง  “ขัดสัคเค...”  ที่หลวงพ่อเจ้าคุณเทพสอนให้นั้น  ก็เคยว่าแต่ในโรงอุโบสถ  ไม่คุ้นเคยว่าในงานพิธีใด ๆ  จึงอดประหม่าไม่ได้เหมือนกัน  หลานสาวคนงามของโยมเศรษฐีที่ต้องตาต้องใจข้าพเจ้านั้นเธอก็มานั่งอยู่ตรงหน้าด้วย

              ข้าพเจ้าเริ่มว่าบทชุมนุมเทวดาตามทำนองที่หัดไว้ด้วยเสียงสั่น ๆ เล็กน้อย  เอาใจจดจ่อกำหนดวรรคตอนและท่วงทำนองไม่ให้ผิดได้  ด้วยเห็นว่ามี  “นักฟัง”  นั่งอยู่ข้างหน้าหลายคน  ว่าไปถึงตอนที่ว่า  “มุนิระวะวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ”   แล้วก็เกิดลืมเนื้อท่อนที่จบเสียสนิท  คิดไม่ออกว่าคำต่อไปคืออะไร  จึงเอื้อนทำนอง  “ลากยาว......”  พร้อมกับคิดหาข้อความต่อไป  แต่ก็คิดไม่ได้  จึงยกแก้วน้ำเย็นขึ้นดื่มอึกหนึ่ง  ยังคิดไม่ได้อีก  คนฟังชักนั่งมองหน้ากันเลิ่กลั่กแล้ว  ข้าพเจ้ายกกระโถนขึ้นขากถุยน้ำลายลงกระโถนอีกที  คราวนี้นึกได้ ว่ าท่อนจบนั้นคือ   “ธัมมัสสะวะนะกาโล....อะยัมภะทันตา.....”   จึงบรรจงว่าตอนจบ  ให้จบลงด้วยความโล่งอกโล่งใจของคนที่นั่งเอาใจช่วยพระเต็มอยู่ตลอดเวลา

              การเจริญพระพุทธมนต์วันนั้นเป็นไปได้ด้วยความอัตคัดเต็มที  พระอาจารย์เส็งต้นเสียงท่านขึ้นบทสวดเสียงสูง  หลวงตาเล็กกับหลวงตากรอรับเสียงต่ำ  ข้าพเจ้าพยายามรับเสียงระดับพระอาจารย์เส็ง  เสียงสวดจึงดังอยู่ทางหัวแถวกับท้ายแถว  ตรงกลางมีเสียงแก้บ ๆ เหมือนเสียงเป็ดตัวผู้  เมื่อสวดจบลง  เจ้าภาพยกอาหารมาตั้งเตรียมกล่าวคำถวายทานและประเคน  พระหนุ่มองค์หนึ่งจากวัดสุวรรณเจดีย์ก็  “โผล่” มา    เป็นพระอาวุโสน้อย  บวชภายหลังข้าพเจ้าสองเดือนเศษ  จึงให้นั่งต่อท้ายสุด ท่านแก้ตัวว่า  “หลวงพ่อพระครู (ใบฎีกา) เจ้าอาวาสท่านลืม  นึกได้ก็สายแล้ว  จึงให้พระมาแทน”   โยมก็ไม่ว่าอะไร  นิมนต์ท่านฉันภัตตาหารทันที  งานมงคลสมรสผ่านไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนที่  “เชื่อมงคลตื่นข่าว”  ถือในเรื่องโชคลาง

              เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อครับ  เจ้าบ่าวคนนั้นแต่งงานแล้วอยู่กับคู่สมรสได้ประมาณ ๓ เดือนเศษ  เขาก็เสียชีวิตโดยที่ไม่เจ็บป่วยอะไรเลย  เขาเสียชีวิตอย่างไรหรือครับ?

               “ตกบันไดคอหักตาย !”

              พวก  “ปากหอยปากปู”  พูดกันว่า  เขาตายเพราะอาถรรพณ์ในพิธีแต่งงานบันดาลให้เป็นไป  คือในพิธีเจริญพระพุทธมนต์นั้นใช้พระสวดเพียง ๔ องค์  เหมือนสวดศพ

              ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นความบังเอิญ  หรือความซุ่มซ่าม  ประมาทเลินเล่อของเขามากกว่า  หรือใครจะเชื่อ  “ปากหอยปากปู”  ก็ตามใจ.....

              ในขณะข้าพเจ้ากำลังสนุกอยู่ที่วัดหัวเวียง  เรียนวิชาภาษาไทย  ภาษาบาลี  กับท่านเจ้าคุณ  พระเขมเทพาจารย์ (เทพ เขมเทโว)  ก็มีบุคคลที่เคารพนับถือกันมากคนหนึ่ง  เป็นชาวบางซ้าย  ไปอยู่กรุงเทพฯ นานปีมาแล้ว  แต่ไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-บางซ้าย  บ้านที่กรุงเทพฯ ของโยมคนนี้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดจันทร์นอก  ในสวนบางคอแหลม  ทราบว่าวัดนี้เป็นวัดเล็ก ๆ  ด้านหน้าติดแม่น้ำเจ้าพระยา  ด้านข้างขวาติดคลองบางคอแหลม  ยังไม่เจริญนัก  ไฟฟ้า  น้ำประปา ไม่มีใช้   การคมนาคม  นอกจากใช้เรือจ้าง (เรือแจว) เรือยนต์  ที่ท่าเรือถนนตกแล้ว  ก็ต้องเดินตามสะพานไม้และคันดิน  ลัดเลาะตามร่องสวนออกสู่ถนนใหญ่ชื่อว่า  เจริญกรุง

              วัดจันทร์นอกมีเจ้าอาวาสเป็นพระมหาเปรียญ ๘ ประโยค  ที่ทางวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ส่งไป  พระภิกษุสามเณรในวัดนี้เป็นชาวอีสานเกือบทั้งหมด  มีภาคกลางเพียงเจ้าอาวาส  ซึ่งเป็นชาวบางพลี สมุทรปราการ  กับพระชาวสวนใกล้วัดนั้นองค์หนึ่ง  เจ้าอาวาสปรารภกับโยมบุญช่วยชาวบางซ้ายบ้านหน้าวัดว่า  อยากได้พระเณรคนภาคกลางมาอยู่เป็นเพื่อนบ้าง  โยมบุญช่วยก็รับปากว่าจะหาพระจากอยุธยามาอยู่ด้วยสักองค์หนึ่ง

              แล้วบุญหรือบาปก็ไม่รู้มาหล่นทับข้าพเจ้า  เมื่อถูกเลือกให้จากวัดหัวเวียง  ไปอยู่วัดจันทร์นอกโดยไม่มีการทาบทามมาก่อนเลย

              ความจริง ใจข้าพเจ้าไม่คิดอยากเข้าอยู่ในกรุงเทพฯ เลย  ตอนบวชเป็นเณรใหม่ ๆ ก็เคยมีผู้ชวนให้ไปอยู่วัดพระเชตุพนฯ บ้าง  วัดประยุรวงศ์ฯ บ้าง  วัดอินทรวิหารบ้าง  แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมไปอยู่  ด้วยกลัวอดอาหาร  เพราะได้ฟังเขาคุยกันว่า  พระเณรในกรุงเทพฯ บิณฑบาตไม่ค่อยได้อาหาร  ฟังแล้วก็เลยกลัว  แม้ตอนหลัง ๆ นี่ความกลัวอดอาหารในกรุงเทพฯ หายไปแล้ว  ก็ยังไม่คิดอยากเข้าอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ดี

              ด้วยเห็นแก่หน้าโยมบุญช่วยที่เคารพนับถือกัน  ข้าพเจ้าจึงยอมเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่วัดจันทร์นอก  ส่วนศึกษาเล่าเรียนนั้น  ตกลงว่าจะเรียนบาลีต่อในสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน) ย่านสี่พระยา  ด้วยคิดว่าเดินทางไปมาได้สะดวกที่สุด  มีทั้งรถเมล์และรถรางให้โดยสารฟรี

              เพื่อนพระเณรและญาติโยมพอรู้ว่าข้าพเจ้าจะลาจากวัดหัวเวียงเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ  ต่างก็พากันบ่นเสียดายไม่อยากให้จากไป   ท่านเจ้าคุณพระเขมเทพาจารย์บอกว่าเสียดายมาก  กำลังขอใบแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนคณะสงฆ์อำเภอเสนา  โดยจะให้สอนนักธรรมชั้นเอก  ซึ่งในเวลานั้นขาดครูสอนนักธรรมชั้นนี้  แต่จำต้องปล่อยให้ข้าพเจ้าเข้ากรุงเทพฯ ไปด้วยความเสียดาย  
                                                      
              พระภิกษุเต็มอำลาภูธรไปเป็นพระกรุงเทพฯ  เข้าอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีที่ต่างจากบ้านนอกเป็นอย่างมาก  อนาคตของพระภิกษุเต็มจะเป็นอย่างไร  ทำไมจึงต้องเปลี่ยนชื่อเดิมที่พ่อตั้งว่า   เต็ม  เป็น  อภินันท์

              มีประสบการณ์สนุกตื่นเต้นมากมายที่ได้จากวงการภิกษุสงฆ์ (ในดงขมิ้น) ทั้งในด้านการศึกษาเล่าเรียน  การปฏิบัติศาสนกิจ  พฤติกรรมอำพรางนานาที่ชาวบ้านส่วนมากไม่รู้เห็น

              ที่ให้การมาทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมพระและชาวบ้านภูธรเท่านั้น

              ยังมีเรื่องราวเกี่ยวพันกันระหว่างพระภิกษุสงฆ์กับชาวบ้านที่เป็นสังคมเมืองอีกมากมายนัก  ข้าพเจ้าจะนำมาให้การอีกในโอกาสต่อไป./

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, พฤศจิกายน, 2565, 10:30:00 PM
(https://i.ibb.co/mq72yVy/256-299999031.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๓ -
              จากภูธรเข้าอยู่ในนครบาล

           ข้าพเจ้ามอบตัวเป็นศิษย์เรียนบาลีกับหลวงพ่อเจ้าคุณเขมเทพาจารย์อยู่เพียง “นามต้น” ก็มีอันต้องจากวัดหัวเวียงไปด้วยความอาลัย  ทั้งนี้ มีเหตุให้ต้องจากสังคมวัดหัวเวียงที่ให้ความอบอุ่นและสนุกสนาน  การเปลี่ยนแปลงชีวิตบ้านนอกเกิดขึ้นเมื่อญาติของพระซึ่งข้าพเจ้ารัก-นับถือมากที่วัดบางซ้ายในคนหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ เขาคุ้นเคยกับเจ้าอาวาสวัดที่บ้านซึ่งเขาอยู่นั้น  ได้พูดฝากฝังข้าพเจ้ากับเจ้าอาวาสให้พระเต็มไปอยู่วัดนั้น  โดยที่ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องด้วยเลย  เจ้าอาวาสท่านรับและจัดกุฏิไว้คอยแล้วจึงมาบอกให้รู้  เป็นอันต้อง  “ตกบันไดพลอยโจน”  หากไม่ไปอยู่วัดนั้นก็จะทำให้ผู้ฝากฝังคนนั้นเสียหน้า  ขาดความเชื่อถือไป

           วัดจันทร์นอก  คือวัดที่พระเต็มต้องจากวัดหัวเวียงเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่สำนักวัดนี้  เป็นวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ตรงปากคลองบางคอแหลม  การคมนาคมไป-มาวัดนี้ไม่ค่อยสะดวกนัก  ส่วนใหญ่จะใช้เรือเมล์และเรือแจว (เรือจ้าง) ขึ้น-ลงที่ท่าถนนตก  หากไม่ลงเรือก็ต้องเดินเท้าเข้าในตรอกวัดจันทร์ใน  แล้วแยกออกผ่านสวนตามทางอันคดเคี้ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นสะพานไม้กระดานแคบ ๆ  เวลาเดินสวนทางกันก็ต้องเอี้ยวตัวหลบกัน  ถ้าใครเดินซุ่มซ่ามก็มักจะตกท้องร่องสวนได้

           วัดนี้จึงเป็นวัด  “สะเทินน้ำสะเทินบก”  อยู่สภาพกึ่งความเจริญกึ่งความกันดาร  ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้  กุฏิที่สมภารท่านจัดให้อยู่เป็นอาคารไม้ยอดแหลมฝากระดานแบบบ้านทรงไทยโบราณ   กลางคืนต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดจุดให้แสงสว่าง  น้ำก็ต้องใช้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด และในลำคลอง (บางคอแหลม) เล็ก ๆ ที่ไหลผ่านข้างแถวหมู่กุฏิทางด้านทิศตะวันตก  จากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเรือกสวนขึ้นไปทางวัดจันทร์ใน   ตรงวัดจันทร์นอกนี้  มีบ้านพักเรือนแถวตั้งเรียงรายอยู่จำนวนมาก  และมีวัดอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ริมคลองด้านตะวันตก  ตรงข้ามกับวัดจันทร์นอก  ชื่อ วัดอินทร์บรรจงทรงวาด  ในบริเวณวัดจันทร์นอกมีสถานีตำรวจและบ้านพักข้าราชการตำรวจประจำสถานีตำรวจบางคอแหลมตั้งอยู่ใกล้ ๆ แถวกุฏิพระด้านตะวันออก  สถานีตำรวจแห่งนี้มีหน้าที่หลักในการตรวจตราดูแลแม่น้ำเจ้าพระยา  เก็บศพคนตายที่ลอยน้ำมาไว้ชันสูตร  โดยใช้เรือลากจูงศพมาผูกมัดไว้ในแม่น้ำหน้าสถานีตำรวจ (ก็ศาลาหน้าวัดจันทร์นอกนั่นแหละ)  หลังสถานีตำรวจมีศาลาการเปรียญของวัดและอาคารเรียนโรงเรียนวัดจันทร์นอก (รร.ขนาดเล็ก) โรงอุโบสถของวัด  เป็นลำดับไป

           กุฏิแบ่งเป็นสองห้องนอน  ข้าพเจ้าอยู่ห้องหนึ่งให้พระบวชใหม่อยู่ห้องหนึ่ง  พระองค์นี้มีอายุมากแล้ว ชื่อไสว  เรียกท่านว่าหลวงน้าไหว เป็นชาวจังหวัดอุตรดิตถ์   พระเณรในวัดนี้ส่วนมากเป็นคนที่มาจากภาคอีสาน  มีภาคใต้อยู่องค์เดียว  ภาคเหนือมี ๑ องค์  ภาคกลางมีเพียงเจ้าอาวาส (คนอำเภอบางพลี)  หลวงน้าเปีย (คนข้างวัดนั่นเอง) และพระเต็ม  รวม ๓ องค์เท่านั้น

           ข้าพเจ้าสมัครใจเรียนบาลีในสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน) อยู่แถวสี่พระยา บางรัก   มีพระเณรเรียนในสำนักนี้ห้องละร่วม ๕๐ องค์  แทนที่จะเรียนต่อจากที่เคยเรียนในสำนักวัดหัวเวียงแล้ว  พระเต็มกลับเริ่มเรียนในชั้น “นามต้น” ใหม่เพราะเห็นว่าสนุกดี  พระเณรที่เรียนร่วมชั้นมาจากทั่วทุกภาคของประเทศ  จากภาคอีสานดูเหมือนจะมีมากกว่าเพื่อน

           การเดินทางไปเรียน  บางวันก็รอลงเรือเมล์ที่ผ่านหน้าวัดไปถนนตก  บางวันก็เดินตามสะพานไม้ในตรอกที่แคบและคดเคี้ยว  ออกสู่ถนนเจริญกรุง  นั่งรถเมล์ชื่อ “ร.ส.พ.” เป็นสายที่ ๑  ต้นทางออกจากท่าน้ำถนนตก  ปลายทางสุดที่วัดโพธิ์ท่าเตียน  บางวันก็ขึ้นรถรางต้นทางที่ถนนตกปลายทางสุดที่ศาลหลักเมือง  รถดังกล่าวแล่นผ่านวัดมหาพฤฒาราม  ขาไปขึ้นรถไม่ยากเพราะเป็นต้นทางที่รถยังว่างอยู่  แต่ขากลับจะยากหน่อย  เพราะเป็นระยะกลางทางที่รถไม่ค่อยว่างนัก  ส่วนใหญ่ขากลับข้าพเจ้าจะเลือกขึ้นรถรางเพราะขึ้นง่ายกว่ารถยนต์

           เรื่องอาหารการกินที่วัดจันทร์นอกค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ไม่อดอยาก  ข้าพเจ้าเลือกออกบิณฑบาตทางลำน้ำโดยใช้เรือพายเป็นพาหนะ  เรือพายที่วัดนี้ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดเล็ก  นั่งพายได้คนเดียว  มีเรือขนาดใหญ่ (แบบเรือยาวแถวอยุธยา) อยู่ลำหนึ่ง  ทอดลำขึ้นคานทิ้งไว้ไม่มีใครใช้  เพราะมันยาวดูเก้งก้าง  ไม่คล่องตัวในการเลี้ยวลัดและหนักแรงในการพาย  ข้าพเจ้าตกลงใจใช้เรือลำนี้ออกบิณฑบาตเพราะเห็นว่ามันใหญ่คงไม่ล่มง่ายนัก

           กุฏิข้าพเจ้าตั้งอยู่ริมคลอง “บางคอแหลม”  เวลาน้ำลดลงคลองนี้จะแห้ง  บางวันน้ำลดลงตอนเช้าพระเณรต้องเข็นเรือลงคลองออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  ได้รับความลำบากพอสมควร  พระเต็มพายเรือเลาะริมน้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออก  หลวงน้าเปียพระร่วมคณะของข้าพเจ้าพายเรือออกบิณฑบาตไปทางทิศตะวันตก  บ้านเรือนตามริมแม่น้ำเจ้าพระยามีค่อนข้างหนาแน่น  และมีคนใส่บาตรกันมาก  ดังนั้นเรือหลวงน้าเปียกับเรือของพระเต็มจึงมีอาหารกลับวัดวันละมาก ๆ  ดีกว่าเดินบิณฑบาตที่ได้อาหารน้อยกว่า

           สายน้ำในแม่เจ้าพระยาไหลขึ้นลงค่อนข้างจะรุนแรง  เวลาน้ำขึ้นต้องออกแรงพายเรือทวนกระแสน้ำไปอย่างหนัก  เวลาน้ำลดลงก็ต้องพายเรือทวนกระแสน้ำกลับหนักเช่นกัน  บางวันพายเรือเหนื่อยแทบขาดใจ  ไม่ใช่แต่ต้องสู้กับสายน้ำที่ไหลขึ้นไหลลงเท่านั้ น คลื่นระลอกในแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการพายเรือบิณฑบาตด้วย  คลื่นระลอกนั้นเกิดจากเรือเมล์ที่แล่นเร็ว-แรง  คลื่นร้ายกาจเกิดจากเรือปลา  เป็นเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกปลาสดจากทะเล  รีบเร่งไปส่งขึ้นสะพานปลาแถวยานนาวา  คลื่นระลอกของเรือชนิดนี้ใหญ่โตมาก  ต้องคอยระวังพายเรือโต้คลื่นให้ดี  ถ้าไม่ดีก็จะถูกคลื่นใหญ่ซัดจนเรือล่มลงได้  ข้าพเจ้าเคยถูกคลื่นใหญ่ซัดเรือล่มเป็นหลายครั้ง  บางวันกำลังรับบิณฑบาตอยู่ที่หัวสะพานบ้านผู้ใจบุญ   เรือปลาแล่นมา  ทำให้คลื่นใหญ่ซัดเรือกระแทกหัวสะพานโครม  เรือพลิกคล่ำ  โยมที่ใส่บาตรตกน้ำลงไปลอยคอพร้อม ๆ กับพระ  ทั้งบาตรและถ้วยโถโอถามใส่อาหารหวานคาวจมน้ำหายไปสิ้น  เรื่องอย่างนี้ทั้งข้าพเจ้าและพระเณรที่บิณฑบาตทางเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาผจญกันมานักต่อนักแล้ว

           ข้าพเจ้าฉันอาหารรวมกันเป็นคณะที่หน้ากุฏิเจ้าอาวาส  มีพระภิกษุ ๕ องค์  คือเจ้าอาวาส (พระมหาประยูร ป.ธ.๘) คนบางพลี สมุทรปราการ  หลวงน้าเปีย ซึ่งเป็นพระเจ้าถิ่น  พระเต็ม  หลวงน้าไสว  เป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์   พระมหาเจียร เป็นคนปักษ์ใต้ (มาจากภูเก็ต)  สามเณร ๖ องค์  คือเณรเครือ, เณรใหญ่, เณรอุทัย, เณรบุญศรี, เณรเกตุ ,เณรสร้อย    เณรเครือเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่  ผิวคล้ำ  เป็นนักเพาะกาย  ชอบเล่นกล้าม   ตอนเย็นกลับเรียนหนังสือเขาจะแวะเข้ายิมเพาะกายตรงปากตรอกวัดจันทร์ใน  ดูเขาเล่นกล้ามแล้วจำมาทำที่ป่าจากหลังกุฏิ  ซึ่งเขาทำบาร์เดี่ยว, บาร์คู่ไว้ ทั้ งยังมีลูกเหล็กสำหรับยกออกกำลังกายด้วย  เณรเครือมีกล้ามเนื้อขึ้นเป็นมัด ๆ ทั้งแขน, ขา, อก, หลัง  เวลาเดินต้องกางแขน  หุบไม่ลงเพราะกล้ามปีกข้างมันค้ำแขน  สามเณรส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนนักธรรมบาลี  แต่เขาเรียนมัธยม ๓,๖,๘ ในรูปแบบ “กวดวิชา” ที่วัดสุทัศน์บ้าง  วัดโพธิ์บ้าง  ตามแต่ใจชอบ

           ข้าพเจ้าเรียนบาลีในชั้นนามต้นได้ไม่นาน  จะเป็นเพราะเรียนมาก  ท่องหนังสือมาก  หรือคิดอะไร ๆ มากก็ไม่รู้  ทำให้เกิดอาการปวดศีร์ษะมาก  ปวดจนร้าวไปถึงกระบอกตาทั้งสองข้าง  ปวดหนัก ๆ เข้าก็ทำให้นัยน์ตาพร่ามัว  จนนัยน์ตาข้างขวามืด มองอะไรไม่เห็น  ข้างซ้ายเห็นไม่แจ่มใส  ไปหาหมอตาที่โรงพยาบาลสิริราช  หมอใหญ่ที่นั่นส่งให้ไปที่โรงพยาบาลสงฆ์ นพ. ประสิทธิ์ สำราญเวทย์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลสงฆ์  สั่งรับไว้เป็นคนไข้ใน  ต้องนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสงฆ์  โดยอยู่ประจำในตึก ๑ นานเป็นเดือนเลยทีเดียว

           โรงพยายามบาลสงฆ์จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลกับคณะสงฆ์ซึ่งมีพระสังฆนายกเป็นประธาน  มีความเห็นร่วมกันให้จัดตั้งขึ้นตรงริมถนนศรีอยุธยา  ใกล้สี่แยกศรีอยุธยา  พญาไท  เพื่อแยกการรักษาพยาบาลสงฆ์ออกจากหมู่ฆราวาสมาเป็นสัดส่วนของหมู่สงฆ์  นอกจากรัฐบาลจะจัดตั้งงบประมาณมาดำเนินการทั้งด้านบุคคลากรบริหารงานและเวชภัณฑ์แล้ว  ทางคณะสงฆ์ยังบอกบุญเรี่ยไรหาเงินทุนมาสมทบทุนสนับสนุนด้วยตลอดเวลา/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, พฤศจิกายน, 2565, 10:32:19 PM
(https://i.ibb.co/1LqZQDp/Ufdntitled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๔ -
           เรื่องราวในโรงพยาบาลสงฆ์เมื่อยุคสมัยหลัง “กึ่งพุทธกาล” ทำให้คนประเภท “เทวนิยม” ได้รู้เห็นสิ่งไม่ดีไม่งามของพระเณรแล้ว  คลายความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาไปมาก  ข้าพเจ้าเองเป็นคนไม่ใช่ประเภท  “เทวนิยม”  ก็ยัง  “เสียความรู้สึก”  ไปเป็นอย่างมากด้วย

           พระภิกษุสามเณรที่เข้าไปรับการตรวจรักษาเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลสงฆ์  ทั้งที่เป็นคนไข้นอกและคนไข้ใน  ล้วนได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก  ตอนกลางวันจะมีผู้ใจบุญพากันไปขอเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสามเณร  พระเณรที่ไปตรวจรักษาไม่ต้องกังวลในเรื่องการฉันอาหารเพล  ได้เวลา ๑๑ นาฬิกา  แพทย์จะพักการตรวจรักษานิมนต์พระเณรไปฉันภัตตาหารเพลที่หอประชุมใหญ่ของโรงพยาบาล   การณ์นี้ปรากฏว่ามีพระเณรที่ไม่ได้เข้าไปตรวจรักษาโรคจำนวนไม่น้อยที่ไปในหมู่คนไข้นอกเพื่อร่วมฉันภัตตาหารเพลด้วยประสงค์เอกลาภ  เพราะเจ้าภาพที่เข้าไปเลี้ยงอาหารเพลพระสงฆ์นั้น  มีบางรายที่จัดเงินใส่ซองถวายพระเณรทุกองค์ที่ไปฉันเพลด้วย

            “คนไข้นอก”  คือภิกษุที่มีอาการอาพาธ (เจ็บป่วย) ไม่มากจนต้องถึงกับต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น  มีญาติโยมให้การอุปถัมภ์บำรุงเพียงแค่ถวายภัตตาหารเพลและถวายปัจจัยบ้างไม่มากนัก  แต่  “คนไข้ใน”  คือภิกษุที่อาพาธ (เจ็บป่วย) หนักถึงขั้นที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น  มีญาติโยมอุปถัมภ์บำรุงด้วยอาหารและปัจจัย (เงิน) มาก  จึงมีภิกษุอยากเป็น “คนไข้ใน” กันนัก  เหตุที่ญาติโยมให้การอุปถัมภ์บำรุงภิกษุอาพาธที่โรงพยาบาลสงฆ์กันมาก  ก็เพราะทางคณะสงฆ์ร่วมกันนำเอาพระพุทธพจน์ที่ว่า  “การอุปัฏฐากภิกษุสงฆ์ผู้เป็นไข้  เท่ากับอุปัฏฐากพระพุทธองค์”  ออกเผยแผ่ทางสื่อต่าง ๆ มาก  จึงทำให้ผู้ใจบุญทั้งหลายพากันปฏิบัติบำรุงภิกษุอาพาธเพื่อเป็นการ  “ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า”  การเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้า-เพล ที่โรงพยาบาลสงฆ์  มิใช่ว่า จู่ ๆ ก็เข้าไปถวายได้  ต้องมีการจองล่วงหน้าครับ

           เจ้าภาพที่ถวายอาหารเช้า-เพลแด่พระภิกษุสามเณรที่เป็น “คนไข้ใน” นอนพักแรมรักษาตัวอยู่ตามตึกสงฆ์อาพาธต่าง ๆ นั้น  จะขึ้นไปถวาย (ประเคน) อาหารด้วยมือตนเอง (เรียกภาษาพระว่า “อังคาสด้วยมือ”)  บางรายเมื่อประเคนถาดอาหารแล้ว  ก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนและปัจจัย (เงิน) ด้วย  บางวันก็มีผู้มีฐานะดีไปเข้าเยี่ยมพระภิกษุสามเณรอาพาธตามตึกต่าง ๆ  และถวายปัจจัยมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กำลัง  พระเณรที่ไปนอนรักษาตัวอยู่นั้น  บางองค์ก็อยู่นานเป็นเดือน  ได้รับเงินที่ญาติโยมนำไปถวายมากเป็นจำนวนหมื่นบาททีเดียว   จึงมีพระเณรผู้ต้องการเอกลาภปรารถนาข้าไปเป็น  “คนไข้ใน”  ของโรงพยาบาลสงฆ์  มีบางองค์อยากเป็นคนไข้ในจนน่าเกลียด เสแสร้งเป็นป่วยหนักไปนั่งซมแซ่วอยู่หน้าห้องตรวจโรค  พยาบาลนำตัวเข้าห้องตรวจ  แพทย์ตรวจแล้วไม่พบว่าอาพาธถึงขั้นที่ต้องนอนโรงพยาบาล  ก็จ่ายยาให้นำกลับไปฉันที่วัด  ท่านไม่ยอมกลับ  แกล้งนอนซมอยู่ที่ตึกอำนวยการ  จนที่สุดทางโรงพยาบาลต้องรับตัวไว้เป็นคนไข้ในสมปรารถนาของเขา   ข้าพเจ้าจึงตั้งชื่อโรคให้พระที่แกล้งป่วยเพื่อเข้านอนโรงพยาบาลนั้นว่า  “โรคโลภเอกลาภ”  เป็นโรคที่รักษาให้หายไปได้ยาก  เพราะมันเป็นโรคที่ฝังแน่นอยู่ในสันดาน  สิ่งที่ช่วยบรรเทาโรคนี้ได้คือ  “ลาภสักการะ”  เมื่อได้ลาภสักการะสมความอยากแล้วก็มีอาการสดชื่นดีขึ้น

           พระภิกษุเป็น  “คนไข้ใน”  ด้วยความจำใจ  หมอให้พักรักษาตัวอยู่ในตึก ๑ ชั้น ๑  ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าใกล้ถนนศรีอยุธยา  พระเณรที่อยู่ตึกนี้มีอาการอาพาธไม่หนักหนาสาหัสนัก  คือป่วยเป็นโรคตา, หู, คอ, จมูก อยู่ร่วมกัน   ส่วนชั้นบน (ชั้น ๒) เป็นคนไข้โรควัณโรค (ที.บี.) กับโรคมะเร็ง  พวกที่เป็นโรค คอ, จมูก  บางองค์ก็เป็นโรคมะเร็งด้วย  ข้าพเจ้าเป็นโรคตาไม่เกี่ยวกับคอ, จมูก  ยังไม่มีแผนกนี้  จึงต้องอยู่ร่วมกับผู้เป็นโรคมะเร็งไปโดยปริยาย

           แม้ตึกที่ข้าพเจ้าพักรักษาตัวอยู่นั้นเป็นตึกผู้ป่วยที่ไม่หนักหนาสาหัส  สภาพความเป็นอยู่ของพวกเราก็ไม่เจริญหูเจริญตาเจริญใจอะไรเลย  หลวงตาหลายองค์เป็นโรคมะเร็งที่คอ  หายใจทางจมูกไม่ได้  หมอเจาะที่ลำคอตรงใต้ลูกกระเดือกใส่หลอดสำหรับให้หายใจแทนจมูก  บางองค์ถูกผ่าตัดช่องปากเวิกริมฝีปากขึ้นเพื่อสูบน้ำหนองออกจากโพรงจมูก  หมอบอกว่า  “รักษาไซนัส”  บางองค์ผ่าตัดช่องท้อง  รักษาปอด  ลำไส้  อะไรก็ไม่รู้  หลังผ่าตัดแล้วมานอนพักฟื้นในตึกนี้  แต่ละองค์นอนพะงาบ ๆ  กลิ่นยาสลบหรือยาอะไรก็ไม่รู้ระเหยลอยลมมาจากผู้ที่ผ่าตัดใหม่ ๆ  เป็นกลิ่นที่ชวนผะอืดผะอมมาก  จนข้าพเจ้าต้องหนีออกไปอยู่นอกห้องเป็นเวลานาน  รอจนกว่ากลิ่นจะละเหยหายไป

           บางคืนข้าพเจ้าตื่นนอนตอนดึกได้ยินเสียงร้องครวญคราง  เสียงกรน  เสียงเพ้อ  ของผู้ร่วมตึกอาพาธแล้วเกิดอาการขนพองสยองเกล้าอย่างบอกไม่ถูก  มันมีความรู้สึกว่าเหมือนพลัดหลงเข้าไปนอนอยู่ในป่าช้าผีดิบ  บางคืนตื่นขึ้นเห็นบุรุษพยาบาลช่วยกันยกศพหลวงตาใส่เตียง (หรือรถ) พยาบาล  เข็นไปห้องดับจิต  บางคืนเตียงข้าง ๆ มีหลวงตานอนพะงาบ ๆ ครางเบา ๆ  ต้องลุกขึ้นนั่งเฝ้าดูใจท่านจนกระทั่งท่านสิ้นใจไปต่อหน้า  เพราะไม่กลัวผีอยู่แล้ว  จึงไม่กลัวที่เห็นพระเณรเพื่อนผู้ป่วยนั้น ๆ ตายไปต่อหน้าต่อตาแทบทุกวันทุกคืน

           อาการป่วยของพระเต็มไม่เหมือนใคร ๆ  คือนัยน์ตาจะมองอะไรไม่ค่อยเห็นก็ต่อเมื่อเวลาที่ปวดหัว  ครั้นอาการปวดบรรเทาลง  นัยน์ตาก็จะมองเห็นอะไร ๆ จนเกือบเป็นปกติ  หมอให้กินยาหลังอาหารเช้าวันละ ๑ เม็ด  ฉีดยาตอนตี ๕-๖ โมงเช้าวันละ ๑ เข็ม  พยาบาลในตึกสงฆ์อาพาธทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นบุรุษพยาบาลที่มาจากทหารเสนารักษ์   หัวหน้า (ตึก) พยาบาลเป็นผู้หญิง  บุรุษพยาบาลบางคนนิสัยหยาบคาย  ชอบดุ  ตะคอกข่มขู่พระเณรผู้เป็นคนไข้ใน  บางคนนิสัยดี (จนเกินไป) รับใช้พระเณรทุกสิ่งอย่าง   มีบุรุษพยาบาลที่ข้าพเจ้าชอบเขามากคนหนึ่งชื่อ  “จำลอง”   เป็นคนอ้วนท้วนสมบูรณ์  ฝีมือการฉีดยาของเขายอดเยี่ยมมาก  บางวันข้าพเจ้ายังไม่ทันตื่นนอนเขาก็ฉีดยาเสร็จไปหมดแล้ว  พอตื่นนอนก็เรียกให้เขามาฉีดยา  เขาบอกว่าฉีดแล้ว  ข้าพเจ้าไม่เชื่อ  เพราะไม่มีความรู้สึกเลย  พระเตียงข้าง ๆ ที่เห็นเหตุการณ์กล่าวยืนยันจึงยอมเชื่อว่าเขาฉีดแล้วจริง ๆ   จุดที่ฉีดยาของข้าพเจ้าคือฉีดเข้ากล้ามเนื้อตรงตะโพก  จำลองตัวอ้วนแต่มือเบามาก  ปักเข็มฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อเหมือนยุงกัด  วิธีการฉีดของเขาคือ  เอาเข็มแหลมคมปักลงบนจุดกำหนดที่กล้ามเนื้อ  แล้วเดินยาพร้อม ๆ กับหมุนเซริงไปด้วย  น้ำยาจะกระจายแผ่ซ่านไปทั่ว  ทำให้ไม่เจ็บปวด   เขาสอนวิธีการฉีดยาให้ข้าพเจ้า  ขั้นต้นก็หัดฉีดเข้ากล้าม (เพราะฉีดง่าย)  มีพระเณรผู้ป่วยหลายองค์ยอมให้ข้าพเจ้าฉีดโดยการกำกับดูแลของ  “หมอจำลอง”  พระเต็มจึงกลายเป็นผู้ช่วยของเขาไปในที่สุด

           ข้าพเจ้าเป็นคนไข้ในอยู่ตึกสงฆ์อาพาธนานเป็นเดือนแล้ว  ไม่มีทีท่าว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาล  เพราะ นพ.ประสิทธิ์ สำราญเวช ผู้เป็นเจ้าของคนไข้  คอยดูแลอย่างใกล้ชิด  ไม่สั่งให้ออกจากโรงพยาบาลสักที  มีอยู่คราวหนึ่ง  ข้าพเจ้าทนคิดถึงวัดไม่ไหว  จึงหนีออกจากโรงพยาบาลกลับวัด  แต่พอนอนอยู่วัดได้เพียงคืนเดียว  ก็เกิดอาการปวดหัวรุนแรงจนนัยน์ตามืดลงอีก  เพื่อนพระต้องนำส่งกลับกลับเข้าโรงพยาบาลเป็นคนไข้ของหมอประสิทธิ์ตามเดิม

           พระภิกษุสามเณรจากทั่วประเทศเดินทางเข้าขอรับการตรวจรักษาไข้ในโรงพยาบาลสงฆ์แห่งนี้  มีวันละหลายร้อยองค์  เป็นพระปลอมก็มี  ครั้นเข้าเป็นคนไข้ในอยู่อยู่โรงพยาบาลนานวันเข้า  ก็มักจะมีพฤติกรรมไม่สู้ดีนัก  ทางคณะสงฆ์จึงต้องตั้งพระกรรมการไปคอยตรวจตราดูแล  ในตอนเช้าพระกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งนั้นจะเปลี่ยนเวรกันไปนั่งประจำอยู่ที่ตึกอำนวยการ  พระภิกษุสามเณรที่มาเป็นคนไข้นอกทุกองค์ต้องยื่น (แสดง) หนังสือสุทธิ (บัตรประจำตัวของพระ-เณร) ต่อแผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาล ถ้าหนังสือสุทธิไม่ถูกต้อง  บกพร่องอย่างใด  พระกรรมการที่มานั่งเป็นประธานอยู่ก็จะแก้ไขปัญหาให้   พระ-เณรบางองค์มีหนังสือสุทธิไม่เรียบร้อย  เช่น  เจ้าอาวาสยังไม่เซ็นชื่อรับรองการเข้าอยู่ในวัดนั้น ๆ  หรือเจ้าอาวาสเซ็นรับรองแล้ว  แต่เจ้าคณะอำเภอยังไม่เซ็นและประทับตรารับรอง  เจ้าหน้าที่ก็จะนมัสการให้พระกรรมการทราบเพื่อแก้ไข

           พระกรรมการบางองค์ท่านดุชะมัดเลย  เคยเห็นท่านดุพระ-เณรแล้ว  นึกอยากจะท้าท่าน  “ดวลกำปั้น”  นักเชียว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, พฤศจิกายน, 2565, 10:32:03 PM
(https://i.ibb.co/4WZC5s2/250px-thumbnail.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๕ -
           นพ.เกษม ที่พระเณรเรียกท่านว่า  “หมอเสม”  เป็นหมอที่พระ-เณรในโรงพยาบาลสงฆ์รู้จักท่านมากที่สุด  จะเรียกว่าท่านเป็น  “ขวัญใจ”  ของคนไข้ในโรงพยาบาลนี้เลยก็ได้  เป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีดี  พูดจานิ่มนวล  วินิจฉัยโรคเก่ง   สั่งยาได้ถูกต้องตรงกับการรักษาโรคมากที่สุด  แต่หมอมีโรคประจำตัวที่น่าสงสารมาก  คือท่านเป็นโรคหืด  แม้ตัวหมอเป็นโรคหืด  แต่ก็ตรวจรักษาโรคหืดให้พระ-เณรได้  บางวันฝนตก  หมอเสมเป็นหมอเวร  เดินตรวจคนไข้ทั่วทุกตึก  ละอองฝนหนาวเย็นทำให้โรคหืดของหมอกำเริบ  เห็นหมอนั่งหอบแล้วก็สงสารท่านมาก  

           พระ-เณรที่อยู่ตึกอาพาธ ๒  ส่วนมากจะมานอนอยู่เป็นแรมเดือน  บางองค์หมอไม่ได้สั่งให้ฉันอาหารในเวลาเย็น (วิกาล ตั้งแต่เที่ยงวนไปจนรุ่งวันใหม่)  ท่านก็ให้บุรุษพยาบาลบ้าง  นักการบ้าง  ไปซื้ออาหารมาให้ฉันในเวลากลางคืน  อ้างว่าหิวมาก  ร้ายกว่านั้น  บางองค์ยังดื่มสุราเสียเลยก็มี  บุรุษพยาบาลและหมอไม่รู้จะห้ามปรามอย่างไร  ไล่ให้ออกไปจากโรงพยาบาลเสียก็ทำไม่ได้  เพราะบางองค์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวนั้น  ขาหักเดินยังไม่ได้  กระดูกซี่โครงหักกระดูกยังเชื่อมไม่สนิท

           มีพระกรรมการอยู่องค์หนึ่ง  เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมหิรัญบัตร (รองสมเด็จพระราชาคณะ) เป็นที่ พระธรรมวโรดม (ปุ่น ปุณณสิริ)  ที่ใคร ๆ เรียกท่านว่า  เจ้าคุณป๋า  อยู่สำนักวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน  พระเจ้าคุณองค์นี้พระ-เณรทั่วประเทศรู้จักชื่อเสียงกิตติคุณของท่านดี   ผู้ที่มานอนป่วยอยู่โรงพยาบาลสงฆ์เกรงกลัวท่านมาก  องค์ใดทำอะไรไม่ดี  หมอและบุรุษพยาบาลมักจะขู่ว่า  “เดี๋ยวจะฟ้องเจ้าคุณป๋า”  พระ-เณรนั้น ๆ มักจะกลัว  ไม่กล้าทำอะไรผิดข้อห้าม   วันไหน “เจ้าคุณป๋า” (ต่อมาท่านได้เป็นสมเด็จพระวันรัต และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ คนก็ยังชอบเรียกท่านว่า “สมเด็จป๋า” “สังฆราชป๋า”)  มาเป็นกรรมการที่โรงพยาบาลสงฆ์  หลังจากนั่งเป็นประธานที่ตึกอำนวยการจนหมดเวลาแล้ว  จะเดินขึ้นเยี่ยมตามตึกสงฆ์อาพาธทั้งหมด  พระเณรที่นั่งจับกลุ่มคุยกันอยู่  ได้ยินบุรุษพยาบาลบอกว่า  “เจ้าคุณป๋ามาแล้ว”   พระเณรก็จะรีบแยกวงกลับไปอยู่ตามเตียงของตนทันที   บางองค์ก็นั่งอย่างสงบเสงี่ยม  บางองค์ก็นอนนิ่งอยู่บนเตียง  บางองค์ทำกิริยาป่วยหนักใกล้จะตายทีเดียว   ท่านเจ้าคุณป๋าเดินตรวจตราไปตามเตียงต่าง ๆ  เห็นเตียงใดมีพระหนุ่มและเณร  ท่านก็จะดูเฉย ๆ  ครั้นถึงเตียงพระหลวงตา  ท่านก็จะหยุดถามด้วยเสียงดัง  เหมือนขู่ตะคอก  เช่นว่า

               “เป็นอะไร?  บวชมานานหรือยัง?  รักษาเนื้อรักษาตัวนะ  อย่าประพฤติตัวเหลวไหลเลอะเทอะนะ”

           หลวงตาบางองค์เกิดอาการกลัวจนตัวสั่น  อ้าปากตอบอะไรไม่ได้  บุรุษพยาบาลคนหนึ่งบอกเล่าให้ฟังว่า  เหตุที่  “เจ้าคุณป๋า”  แสดงอาการไม่ชอบพระหลวงตาก็เพราะได้รู้เห็นพระหลวงตาที่มาจากบ้านนอกส่วนมากจะเป็นผู้บวชต่อเมื่อมีอายุมาก  ทำการงานอะไรไม่ไหวและ  “หมดที่พึ่ง”  แล้ว   เข้ามาบวชด้วยหวังอาศัยวัดหากิน  บางองค์ละโมบโลภมาก  สะสมอาหาร  ของกินของใช้ให้ลูกหลานของตน  เป็นพระไม่เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย  ไม่บำเพ็ญสมถะวิปัสสนากรรมฐาน  มีความประพฤติปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย  สร้างความเสื่อมเสียแก่วงการพระพุทธศาสนา  ดังนั้น  เมื่อท่านเจ้าคุณ “ป๋า”  พบเห็นพระหลวงตานอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลสงฆ์  จึงมักสอบถามดังกล่าว

           ข้าพเจ้าออกจากโรงพยาบาลสงฆ์กลับไปอยู่วัดได้ก็ต่อเมื่อมีอาการดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ที่ไว้วางใจได้แล้ว  แม้กระนั้นแพทย์ก็ยังนัดให้เข้าโรงพยาบาลในระยะแรก ๆ ๑ สัปดาห์ครั้ง   ๑๕ วันครั้ง   ๑ เดือนครั้ง   ๓ เดือนครั้ง   ๖ เดือนครั้ง  จนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้วจึงงดการนัดตรวจดูอาการ  ออกจากโรงพยาบาลแล้วหมอแนะนำให้ออกกำลังกายมาก ๆ ในช่วงเวลาเย็น  เพื่อเกิดความอ่อนเพลียจะได้นอนหลับง่าย  ไร้ความคิดวิตกกังวล  สุขภาพพลามัยจะได้แข็งแรงสมบูรณ์  ท่านให้เหตุผลอย่างน่าฟังและเชื่อถือได้ว่า  พระเณรฉันอาหารดี ๆ ทั้งนั้น  เมื่อฉันอาหารดี ๆ แล้วไม่มีการออกกำลังกาย  วิตามิน  โปรตีน จากอาหารเหล่านั้นมันไม่กระจายไปในร่างกาย  แต่มันไปรวมกันเป็นกลุ่มกระจุกอยู่ในส่วนหัว  ซึ่งผิดธรรมชาติ  พระเณรจึงมักเป็นโรคปวดศีร์ษะกันมาก  คำอธิบายของหมอดังกล่าวนี้ถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่รู้  แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อหมอ  ทุกวันที่เลิกเรียนกลับถึงวัดตอนเย็น ๆ เวลาใกล้ค่ำ หรือ โพล้เพล้  จะทำการออกกำลังกายด้วยการเล่นบาร์เดี่ยว  บาร์คู่  ที่เณรเครือทำไว้ในป่าจากริมลำคลองหลังกุฏิของข้าพเจ้านั่นเอง

           ข้าพเจ้าเล่นบาร์เสียจนกล้ามเนื้อแขนและอกขึ้นเป็นมัด ๆ เลยก็แล้วกัน

           พระเณรส่วนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ พากันเรียน  “กวดวิชา”  ม.๓  ม.๖  และ ม.๘  แล้วสอบเทียบ  บ้างก็เรียนวิชาภาษาอังกฤษ   และสมัครสอบวิชาครูในชุด ครู ป. พป. และ พม.  เรียนจบแล้วก็ลาสิกขา (สึก) ออกไปเรียนต่อในระดับปริญญาบ้าง  หางานทำตามฐานานุรูปบ้าง  พระเพื่อน ๆ หลายองค์ชวนข้าพเจ้าเรียนอย่างเขา  แต่ข้าพเจ้าไม่เรียน  ด้วยมีความคิดเห็นว่า  วิชาสามัญอันเป็นวิชาของทางโลกนั้น  พระเณรไม่ควรเรียนแข่งลูกหลานชาวบ้าน  เพราะขอข้าวชาวบ้านกินอยู่ไปวัน ๆ แล้วยังไปเรียนวิชาแข่งลูกหลานชาวบ้าน  ซ้ำเมื่อเรียบจบแล้วยังสึกออกไปแย่งตำแหน่งงานของลูกหลานชาวบ้านทำเสียอีกด้วย  เป็นการที่ไม่สมควรทำ

           แต่มารู้ได้ใสภายหลังว่า  ความคิดเห็นดังกล่าวนั้นเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง  เพราะมีพระเณรหลายองค์ที่มุ่งมั่นเรียนแต่นักธรรม  บาลี  สอบได้เป็นพระมหาเปรียญธรรมประโยคสูง ๆ  พอหมดบุญที่จะอยู่ในเพศบรรพชิตแล้วสึกออกไปเป็นฆราวาส  กลายเป็น “ตัวตลก” ในสังคมชาวบ้าน  ส่วนองค์ที่เรียนวิชาทางโลกนั้น  เมื่อสึกออกไปแล้วก็ไปเป็นคนฉลาดแบบชาวบ้าน  ทำงานทางราชการมียศตำแหน่งใหญ่โต  ไม่เป็น “คนโง่” ของสังคม

           ข้าพเจ้ายังคิด “แบบโง่ ๆ” มากกว่านั้นอีก  คือเรียนแต่วิชาบาลีอย่างเดียว  ไม่ยอมเข้าสอบความรู้ในสนามหลวงเพื่อรับวิทยฐานะเป็นเปรียญธรรม  เพราะไม่ต้องการเป็น  “พระมหา”   ด้วยกลัวว่าเมื่อสอบเปรียญธรรมได้เป็นพระมหาแล้ว  ถ้าสึกออกไปเป็นฆราวาสวางตัวลำบาก  สมัยที่ยังเป็นสามเณรนั้น  เคยคิดอยากเป็น  “ท่านมหา”   ด้วยเห็นว่ามันโก้ดี   แต่ตอนที่สึกจากเณรไปเป็นฆราวาสเตรียมตัวบวชเป็นพระภิกษุ  ได้ลิ้มรสโลกียวิสัยแล้วชักจะติดรสฆราวาส  ครั้นบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็คิดจะสึกหาลาเพศไปลิ้ม “โลกียรส” อีก  แต่ก็  “กล้า ๆ กลัว ๆ”  ในการไปผจญภยันตรายในสังคมสัตวโลก “กลางทะเลบาปอันกว้างใหญ่ไพศาล”

           การเรียนบาลีของข้าพเจ้าจึงเป็นการเรียนด้วยหวังให้มีความรู้ในภาษาบาลีบ้างเท่านั้น  ไม่ปรารถนาจะเป็น พระมหา  เลยแม้แต่น้อย  ประมาณตนเองได้ว่า  ถ้าสอบความรู้ในสนามหลวง (อย่างเป็นทางการ) ก็คงจะสอบเป็นเปรียญได้ได้ไม่เกิน  “เปรียญโท” (๖ ประโยค) เท่านั้น  สมัยก่อน  ผู้ที่สอบเป็นเปรียญธรรม ๖ ประโยค  เมื่อสึกออกไปแล้วสามารถสมัครเข้ารับราชการเป็นอนุสาสนาจารย์ทหารได้  แต่มาสมัยข้าพเจ้านี่  เขาไม่รับผู้เป็นเปรียญธรรม ๖ ประโยคเป็นอนุศาสนานาจารย์แล้ว  จะเอาวุฒิ ๖ ประโยคไปสมัครเข้าทำงานอะไรก็ไม่ได้ตำแหน่งดี  เพราะเทียบวิชาทางโลกให้ต่ำมาก/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, พฤศจิกายน, 2565, 10:37:48 PM
(https://i.ibb.co/MBv7ZvB/11143134-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๖ -
           การเป็นท่านมหานั้น  มิใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ  พระภิกษุสามเณรจะต้องเรียนนักธรรมสอบได้เป็นนักธรรมชั้นตรี  แล้วจึงมีสิทธิเรียนภาษาบาลีและสอบเอาวุฒิเปรียญธรรมประโยค ๓  แล้วได้มีสิทธิ์รับพระราชทานสมณะศักดิ์ตั้งให้เป็น “พระมหา”  วิชาภาษาบาลีเป็นวิชาที่เรียนได้ยากมาก  ต้องท่องจำแบบเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  คนที่เรียนเก่งเรียกว่า  “หัวดี”  ที่สุด  ต้องใช้เวลาเรียนอย่างน้อย ๒ ปี  จึงจะมีความรู้พอที่จะสอบเอาวุฒิเปรียญธรรม ๓ ประโยค   ตามปกติแล้วจะต้องเรียนไวยากรณ์บาลี  เริ่มตั้งแต่ นาม, กิริยา, อาขยาต...ฯ ไปจนจบ  ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า ๑ ปีเต็ม  แปลธรรมบทบั้นต้น (กอง ๑) ธรรมบทบั้นปลาย(กอง ๒) อีก ๑-๒ ปี  จึงสอบเอาวุฒิเปรียญธรรมประโยค ๓ ถ้าสอบได้ก็จะได้เป็นท่านมหา  มีพัดยศที่ได้รับพระราชทาน

           นักเรียนบาลีเข้าสอบความรู้ในสนามหลวง (ของทางการคณะสงฆ์ไทย) แต่ละปีมีจำนวนมาก  แต่สอบได้เป็นเปรียญธรรมปีละไม่มากนัก  บางองค์สอบครั้งเดียวได้เป็นท่านมหา  บางองค์สอบ ๒ ครั้งจึงได้  บางองค์สอบแล้วสอบเล่าเฝ้าแต่สอบ ซ้ำถึง ๑๐ ครั้งจึงสอบได้ก็มี  บางองค์ท่านมีความรู้มาก  แปลภาษาบาลีเก่งกว่าท่านมหา ๙ ประโยคเสียอีก  แต่ก็สอบไม่ได้จนเลิกสอบไปด้วยความ  “หมดอาลัยตายอยาก”  อย่างนี้ก็มี

           พระมหา เป็นชื่อ  “สมณะศักดิ์”  หรือ “ยศพระ”  ที่มิใช่ได้มาเพราะความดีความชอบ  หากแต่ได้มาด้วยการเล่าเรียนภาษาบาลีจนสอบเป็นเปรียญธรรมได้ ๓ ประโยคขึ้นไป  โดยเมื่อสอบได้เป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งสมณะศักดิ์เป็นที่  พระมหา  มีพัดยศประดับเครื่องหมายชั้น หรือ “ประโยค”  มีประโยค ๓ เป็นอันดับแรก  ไล่ไปจนถึงประโยค ๙  อันเป็นชั้นสูงสุด  ผู้ที่สอบได้ประโยค ๓-๔ อยู่ในระดับขั้น  “เปรียญตรี”  ผู้สอบได้เปรียญ ๕-๖ อยู่ในระขั้นเปรียญโท  ผู้สอบได้ประโยค ๗-๙ อยู่ในขั้นระดับเปรียญเอก  พระภิกษุที่สอบได้ประโยค ๓ ได้รับพระราชทานตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระเปรียญแล้วจะเรียกว่า  พระมหา  ส่วนสามเณรจะเรียกว่า  “สามเณรเปรียญ”  ต่อเมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วจึงเรียก  “พระมหา”  ในภายหลัง   พระมหาที่ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสแล้ว  ไม่เรียกว่า “มหา”  หากแต่เรียกว่า “นาย......เปรียญ”   แต่ว่าค่านิยมของชาวบ้านมักเรียกอดีตพระมหาว่ามห า หรือแม้ผู้บวชนาน ๆ พูดเก่งเทศน์เก่งชาวบ้านก็มักเรียกว่ามหา  โดยไม่ยอมรับรู้ระเบียบการคณะสงฆ์ในเรื่องดังกล่าวนี้

           สมณะศักดิ์หรือยศพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย  ที่ได้มาด้วยความดีความชอบในการประพฤติปฏิบัติตนและศาสนกิจ  โดยไม่ต้องเรียนและสอบได้เป็นเปรียญธรรมเหมือน  “พระมหา” นั้น  มีหลายตำแหน่ง  เริ่มจากสมณะศักดิ์หรือยศในประเภทฐานานุกรม  คือ  พระใบฎีกา  พระสมุห์  พระปลัด  ซึ่งเจ้าคณะอำเภอ  และพระราชาคณะชั้นสามัญ (เจ้าคุณ) เป็นผู้มีสิทธิ์ตั้งให้  พระครูใบฏีกา พระครูสมุห์ พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์  ซึ่งพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิ์ตั้งให้  นอกจากนี้ยังมีพระครูมีชื่อต่าง ๆ ที่ระบุในประกาศตั้งสมณะศักดิ์ของพระราชาคณะชั้นธรรม  ชั้นหิรัญบัตร  ชั้นสมเด็จพระราชาคณะอีกส่วนหนึ่ง

           พระครูประทวน  เป็นสมณะศักดิ์ที่ทางการคณะสงฆ์พิจารณาแต่งตั้งให้  ส่วนมากจะเป็นพระภิกษุผู้เฒ่าบวชนานจนได้เป็นสมภารเจ้าวัด  บางองค์เป็นถึงเจ้าคณะตำบลแต่ยังไม่ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร  จึงพิจารณาตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน  โดยใช้คำว่า  “พระครู”  แล้วต่อด้วยนามเดิมและฉายาของท่านผู้นั้น เช่น  “พระครูส้ม สุนันโท  เป็นต้น

           พระครูสัญญาบัตร  เป็นสมณะศักดิ์ที่พระราชทานให้พระภิกษุผู้บวชได้ ๑๐ พรรษาขึ้นไป  มีตำแหน่งทางการปกครองตั้งแต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงขึ้นไปจนถึงเจ้าคณะอำเภอ  เป็นยศที่พระราชทานชื่อหรือ  “พระราชทินนาม”  เช่น  พระครูวิจารณ์ธรรมกิจ เป็นต้น  พระครูสัญญาบัตรนี้แบ่งออกเป็น  พระครูชั้นตรี  ชั้นโท  ชั้นเอก  ชั้นพิเศษ  และยังแยกออกเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง  เจ้าอาวาสวัดราษฎร์  เจ้าคณะตำบล  เจ้าคณะอำเภอ อีกด้วย

           พระราชาคณะ (เจ้าคุณ) ซึ่งแบ่งออกเป็น  พระราชาคณะชั้นสามัญ, ชั้นราช, ชั้นเทพ, ชั้นธรรม, ชั้นหิรัญบัตร (หรือชั้นพรหม) รองสมเด็จพระราชาคณะ   พระราชาคณะชั้นสามัญจะต้องเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกหรือชั้นพิเศษก่อน  จึงจะเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาชั้นสามัญ   เป็นพระมหาเปรียญธรรม ๗ ประโยค (เปรียญเอก) ๑   เป็นพระครูปลัดมีชื่อของพระราชคณะชั้นธรรมขึ้นไป ๑ (มีชื่อเฉพาะไม่เหมือนกัน)  จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญโดยไม่ต้องผ่านการเป็นพระครูสัญญาบัตร  พระราชาคณะชั้นสามัญเช่น  พระปริยัติโกศล    ชั้นราชเช่น พระราชรัตนมุนี   ชั้นเทพเช่น พระเทพโมลี   ชั้นธรรมเช่น พระธรรมคุณาภรณ์   ชั้นรองสมเด็จหรือชั้นพรหม ซึ่งจะจารึกนามลงในแผ่นเงินจึงเรียกว่า “ชั้นหิรัญบัตร” เช่น พิมลธรรม, พระศาสนโสภณ, พระอุบาลีคุณูปมาจารย์, พระธรรมวโรดม เป็นต้น    ชั้นสูงขึ้นไปเรียกว่า  สมเด็จ  จารึกชื่อลงในแผ่นทอง  เรียกว่า  “สมเด็จพระราชาคณะ”  เช่น  สมเด็จพระวันรัต, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นต้น   สมณะศักดิ์ชั้นสูงสุดคือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สกลมหาสังฆปรินายก  สมเด็จพระสังฆราช  ประมุขสงฆ์  มีเพียงพระองค์เดียว

           พระภิกษุผู้ที่จะได้รับตั้งสมณะศักดิ์ ในระดับฐานานุกรมและพระครูชั้นประทวน  ไม่จำกัดวิทยฐานะ  แต่ต้องบวชนานไม่น้อยกว่า ๓ พรรษา (มียกเว้นบ้าง)  ส่วนใหญ่จะตั้งผู้บวชนานได้ ๕ พรรษาแล้ว  พระครูสัญญาบัตรนั้นก็ไม่จำกัดวิทยาฐานะ  แต่กำหนดการบวชไว้ว่าไม่ต่ำกว่า ๕ พรรษา  ส่วนใหญ่จะตั้งให้ผู้ที่บวชเป็นขั้นพระเถระคือมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป  พระราชาคณะชั้นสามัญนั้นจะเลื่อนขึ้นจากพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกหรือชั้นพิเศษ  ซึ่งไม่กำหนดวิทยฐานะเช่นกัน  แต่ถ้าไม่เลื่อนจากพระครูสัญญาบัตรขึ้นไป  ก็มีกำหนดวิทยาฐานะไว้  คือต้องเป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยคเป็นอย่างน้อย  และมีตำแหน่งอย่างน้อยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง  และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป   พระมหา ๓-๖ ประโยค  จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรก่อน  จึงค่อยเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะ  กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์และความเหมาะสม

           พระมหาและพระครูสัญญาบัตร  พระราชาคณะ  ถ้าจะลาสิกขา  ต้องถวายพระพรลาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก  หาไม่แล้วจะมีความผิด /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, พฤศจิกายน, 2565, 10:34:13 PM
(https://i.ibb.co/XFNWX0G/201111.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๗ -
           ข้าพเจ้าเรียนบาลีโดยไม่หวังสมณะศักดิ์ยศตำแหน่งใด ๆ ในคณะสงฆ์ไทย  จึงมักจะเกเรโรงเรียนเสมอ  บางวันออกจากวัดแทนที่จะตรงไปโรงเรียนกลับเถลไถลไปวัดโน้นวัดนี้  คุยกับเพื่อนพระเณรทั้งที่เป็นเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่สนุกเฮฮาไปตามเรื่อง  บางวันนั่งเรียนอยู่ดี ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่ายในการฟังอาจารย์สอน และรำคาญเพื่อนนักเรียนที่อ่านแปลธรรมบทด้วยสำเนียง  ทำนองเทศน์ธรรมวัตร  ที่ฟังแล้วง่วงนอน  พออาจารย์เผลอก็รีบหลบออกจากห้องเรียน  นั่งรถเมล์ชมโน่นชมนี่ไปตามเรื่อง

           รถเมล์กรุงเทพฯ ที่พระเณรโดยสารจะนั่งเก้าอี้ข้างหน้าได้ก็มีแต่รถ ร.ส.พ. กับรถ บ.ข.ส .(บางสาย)  นอกนั้นเขาจัดให้นั่งเก้าอี้ยาวท้ายสุดของตัวรถเพียงแถวเดียวเท่านั้น  พระเณรจึงประสบปัญหาในการโดยสารรถเมล์มาก  อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่เก็บค่าโดยสารพระเณร (นั่งฟรี)  พระเณรก็เลยอ้างสิทธิ์เลือกนั่งตามใจชอบไม่ได้  ส่วนใหญ่แล้วรถเมล์ทุกสายจะมีคนโดยสารแน่นรถตอนช่วงเช้ากับช่วงเย็น (เลิกงาน)  พระเณรจะขึ้นโดยสารได้ก็ตรงต้นทางปลายทาง  ตอนกลางทางขึ้นได้ยาก  ต้องยืนรอให้เก้าอี้ยาวท้ายรถว่างจึงขึ้นได้  บางทีเก้าอี้ยาวท้ายรถว่าง  พระเณรก็หมดสิทธิ์ขึ้นไปนั่ง  เพราะมีผู้หญิงนั่งอยู่คนหนึ่ง  พระเณรจะขึ้นไปนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกับผู้หญิงไม่ได้  บางทีผู้ชายผมยาวนั่งอยู่คนเดียว  พระเณรเห็นเป็นผู้หญิงก็ไม่กล้าขึ้นไปนั่ง  พอรถออกจากป้ายจึงรู้ว่าไอ้หมอนั่นเป็นผู้ชาย  ก็สายไปเสียแล้ว

           ข้าพเจ้าชอบนั่งเก้าอี้ตัวหน้า  เพราะรถที่นั่งประจำคือ  ร.ส.พ. สาย ถนนตก-ท่าเตียน  ออกจากวัดจันทร์นอกเดินลัดสวนไปขึ้นรถ ร.ส.พ. ต้นทางที่ถนนตกไม่ไกลนัก  รถแล่นผ่านวัดลาดบัวขาว วัดราชสิงขร พระยาไกร ไปวัดยานนาวา ตามถนนเจริญกรุง ผ่านบางรัก ถึงสี่พระยา  แล้วก็ถึงวัดตะเคียน (มหาพฤฒาราม) ลงรถหน้าพอดี  เลิกเรียนแล้วจะขึ้น ร.ส.พ. ตรงหน้าวัดตะเคียนกลับวัดไม่ได้  เพราะคนโดยสารเต็มเอี้ยด  ก็หาทางสะดวกด้วยการเดินเล่น ๆ ไปทางวงเวียน ๒๒ กรกฎา  แล้วขึ้นรถเมล์สายรอบเมืองที่วิ่งวนซ้ายไปตามถนนกรุงเกษมไปเข้าถนนสามเสนตรงสี่แยกเทเวศร์  ไปถึงบางลำพูแล้วแยกไปทางถนนพระอาทิตย์  เลาะแม่น้ำเจ้าพระยาไปธรรมศาสร์ ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ถึงท่าเตียน  ก็ลงจากรถสายนี้ ขึ้น ร.ส.พ. ต้นทางกลับถนนตก  นั่งเก้าอี้ตัวหน้าสบาย ๆ  ได้พูดคุยกับคนขับรถ  ซึ่งพวกเขามีประสบการณ์มีเรื่องเล่าให้ฟังสนุกๆมีความรู้มากมาย

           มี พ.ข.ร. คนหนึ่ง ข้าพเจ้าถามเขาว่า  โยมขับรถมานานแล้วเนี่ย  เคยขับชนคนบ้างไหม  เขาตอบว่าไม่เคยขับรถชนคนหรือสัตว์ต่าง ๆ เลยเพราะมีคาถาภาวนาเป็นประจำ  ถามเขาว่า  คาถาว่ายังไง  เขาบอกอย่างไม่ปิดบังว่า  ในการขับรถทุกเที่ยวต้องภาวนาว่า  “พระ เจ๊ก เด็ก หมา”  ว่าในใจซ้ำ ๆ กันไปตลอดทางเลย

              เอ๊ะ !  ไม่เห็นเป็นบทคาถาอะไรเลยนี่  ข้าพเจ้าอุทาน  งุนงง

               “เป็นซีครับ  นี่แหละคาถาที่ผมใช้ภาวนาในการขับรถ  ขลังนักเชียว  รถที่ขับไม่เคยชน  ไม่เคยเหยียบ (ทับ) แม้กระทั่งหมา”   เขาพูดอวดความขลังของคาถา

               “ พระ เจ๊ก เด็ก หมา”  ข้าพเจ้าพูดทวนคาถาของเขาอย่างไม่เข้าใจ  เขาหันมาสบตาข้าพเจ้าแว่บหนึ่งแล้วยิ้ม  ก่อนจะอธิบายให้ฟังต่อไปว่า

               “พระ เณร คนจีน เด็ก หมา”  พวกนี้เวลาเดินข้ามถนนหรือเดินในถนนไม่ระวังดูแลว่ารถจะชนจะทับตัวเองเลย  นึกจะข้ามถนนตรงไหนก็ข้าม  นึกจะเดินถนนตรงไหนก็เดิน  คนขับรถผู้ไม่ประมาทจะต้องคอยระวัง  “พระ เจ๊ก เด็ก หมา”  นี้ให้ดี  หากไม่ระวังละก็  อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้เสมอ  ไม่เชื่อท่านคอยสังเกตดูเถอะ”  เขาอธิบายพร้อมหัวเราะตบท้ายด้วยความขบขัน

           จริงของเขาแฮะ  ข้าพเจ้าใช้เวลาสังเกตอยู่หลายวัน  พบเห็นพระ เณร คนจีน เด็ก  และสุนัข ข้ามถนนกันตามใจชอบ  ไม่รู้จักรักษากฎจราจร  เหมือนไม่รู้ไม่ชี้อะไรกับการจราจรเลย  มิหนำซ้ำ  มีพระหลวงตาบางองค์  คนจีนแก่ ๆ บางคน  พยายามยกมือให้รถหยุดรับตรงที่ไม่มีป้ายจอด  ดูเผิน ๆ ก็เป็นเรื่องขำขัน  แต่มองให้ลึกลงไปก็ขำไม่ออก

            “เพื่อนคู่หู” ของข้าพเจ้าที่เรียนบาลีอยู่ด้วยกันมี ๒ องค์  จะว่าเป็นเพื่อนก็ไม่ถนัดนักหรอก  เพราะทั้งสองนั้นมีอายุมากกว่าข้าพเจ้า ๓-๔ ปี  ข้าพเจ้าเรียกสรรพนามเขาว่า  หลวงพี่  องค์หนึ่งเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์  มาอยู่วัดบางขวางย่านวัดพระยาไกร  อีกองค์หนึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี  เข้ามาอยู่วัดราชสิงขร ใกล้กับวัดบางขวาง  เดินทางตามถนนสายเดียวกันกับข้าพเจ้า  องค์ที่เป็นชาวอุบลราชธานีนั้นมีบุคลิกลักษณะน่าขำขัน  ร่างกายใหญ่โต  ศีรษะล้าน  ตาโต นิสัย “บ๊องๆ”  ท่านชื่อบุญเลิศ  องค์ที่เป็นชาวอุตรดิตถ์  เป็นคนร่างใหญ่ผิวคล้ำ  ลักษณะนิสัยทึ่ม ๆ ซื่อ กระเดียดไปทางเซ่อ ท่านชื่อ ชะลอ

           หลวงพี่เลิศ หลวงพี่ลอ หัวไม่ค่อยดี ต้องคอยอาศัยข้าพเจ้าช่วยบอกช่วยแนะในการเรียนตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์จนถึงชั้น (แปล) ธรรมบท  พระเต็มเป็นนักเรียนเก่งองค์หนึ่งในห้องเรียน  หลวงพี่ทั้งสองจึงชอบคบค้าคลุกคลีด้วย  และข้าพเจ้าก็ชอบนิสัยใจคอท่าน  บางวันข้าพเจ้ากับหลวงพี่ลอขึ้นรถรางกลับวัด  หลวงพี่เลิศไม่ยอมขึ้นรถรางกลับด้วย  ท่านบอกว่าไม่ทันใจ  เพราะรถรางจะค่อย ๆ คลานไปตามรางเหล็กริมถนนเจริญกรุง  แล่นเร็วไม่ได้  ด้วยมีรถยนต์วิ่งทับเส้นทางเต็มไปหมด  รถรางจึงต้อง  “คืบคลาน”  ไปช้า ๆ  บางทีก็จอดแช่รอหลีกอยู่เป็นเวลานานครึ่งค่อนชั่วโมงทีเดียว  บางวันหลวงพี่เลิศรอขึ้นรถ ร.ส.พ.ป้ายหน้า  รร. สตรีมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน)  ข้าพเจ้ากับหลวงพี่ลอไม่ยอมรอ  จึงขึ้นรถรางที่คืบคลานผ่านตึกนายเลิศไป  หลวงพี่เลิศยืนรอรถนานจนทนไม่ไหวก็เดินกลับผ่านสี่แยกสี่พระยาไปทันรถรางที่บางรัก  รถรางจอดแช่รอขบวนที่ที่สวนมาตรงนั้น (รอหลีก)  หลวงพี่เลิศเดินมาทันแทนที่ท่านจะขึ้นรถรางด้วย  ท่านกลับเดินผ่านโบกมือส่งเสียงว่า  “ไอ้น้องโว้ย...พี่ไปก่อนเน้อ...”  แล้วก็เดินนำหน้ารถรางไป ท่ามกลางสายตาของชาวบ้านชาวเมือง

           วันหนึ่งฝนตกหนัก  ข้าพเจ้ากับหลวงพี่ลอหนีโรงเรียนไปเที่ยวแถวเวิ้งนครเกษม  เดินไปตามถนนเจริญกรุงไปพอเหงื่อแตกก็ถึงที่หมาย  เที่ยวเดินดูของเก่ากันตามร้านในเวิ้ง  เพราะหลวงพี่ลอท่านชอบของเก่า  เดินไปพบ  “เต่าฟู่”  ที่ร้านแห่งหนึ่ง  เตาชนิดนี้ใช้น้ำมันกาดใส่ในเตาแล้วสูบลมเข้าไป  ให้ลมฉีดน้ำมันขึ้นหัวเตา  เอาไฟจุดก็จะติดขึ้นมีเสียงดังฟู่ ๆ เราก็เลยเรียกมันว่าเตาฟู่  พระนิยมใช้เป็นเตาต้มน้ำร้อนชงชา  มีที่เร่งที่หรี่ให้ไฟแรงไฟเบาได้ตามใจชอบ  หลวงพี่ลอถามราคา  เถ้าแก่บอกว่า  ราคา ๑๕๐ บาท  หลวงพี่บอกว่าพระไม่มีตังค์ขอราคา ๕๐ ได้มั้ย  ต่อไปต่อมาจนที่สุดเขายอมขายให้ในราคา ๕๐ บาท   หลวงพี่ลอมีเงินเพียง ๑๐ บาท  หันมากระซิบขอยืมข้าพเจ้า ๔๐ บาท  แต่ข้าพเจ้าก็มีเพียง ๒๐ บาทเท่านั้น  หลวงพี่ลอก็หน้าเสีย  ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร  ข้าพเจ้าพิจารณาดูเห็นเตาทองเหลืองนั้นมีสภาพเก่าแล้ว  จึงบอกให้เถ้าแก่ลองจุดไฟให้ดูก่อน  บังเอิญเหลือเกินที่เตาฟู่ลูกนั้นนมหนูตัน  จุดไฟไม่ติด  ข้าพเจ้าได้โอกาสก็บอกให้เถ้าแก่แก้ไข (ซ่อม) เตาใหม่ให้จุดติดดีเสียก่อน  ขณะที่เขากำลังแก้ไขอยู่นั้น  ก็สะกิดชวนหลวงพี่ลอให้เดินดูของตามร้านอื่น ๆ ไปพลางก่อน  เดินห่างออกจากร้านนั้นไปไกลทุกที ๆ  จนในที่สุดก็เดินออกพ้นจากเวิ้งนครเกษมเข้าย่านเยาวราช  ไม่กลับไปดูเตาฟู่นั้นเลย  เถ้าแก่เจ้าของร้านนั้นจะด่าพวกเราหรือเปล่าก็ไม่รับรู้ละ

           เดินจากเวิ้งนครเกษมาตามฟุตบาทถนนเยาวราช  ฝนตกหนักเพิ่งขาดเม็ดไปไม่นาน  น้ำยังท่วมถนนอยู่  ลุยน้ำที่บางตอนน้ำลึกถึงข้อเข่าจนต้องถลกจีวรสบงขึ้นเดินช้า ๆ ลุยไปตามริมถนนบ้าง  ขึ้นบนฟุตบาทบ้าง  หลวงพี่ลอเดินลุยน้ำนำหน้าข้าพเจ้าไปหน่อยเดียวก็ตกลงไปในท่อน้ำที่เขาเปิดฝาท่อทิ้งไว้  น้ำท่วมจนมองไม่เห็นปากท่อ  พลวงพี่ตกลงไปครึ่งค่อนตัว  พวก “อาหมวย” เห็นก็พากันร้องวี้ดว้ายด้วยความตกใจตามประสาผู้หญิง  ข้าพเจ้าช่วยจับแขนหลวงพี่ลอดึงขึ้นจากท่ออย่างทุลักทุเล  แล้วพาเข้าไปในร้านค้าข้างถนน  ขออนุญาตเจ้าของร้านเดินผ่านออกไปทางหลังร้านเพื่อจัดการ  “บิด”  สบงจีวรให้สะเด็ดน้ำ  อาเฮียเจ้าของร้านถามข้าพเจ้าว่า

               “ลื้อเดิงโสงคงทามมายเปียกฝงคนเลียว”

               “ไม่ได้เปียกฝน  แต่เพื่อนตกลงไปในท่อน้ำ”  ข้าพเจ้าตอบ

               “ไอ๋หยา  เซ่อซ่าชิกหายเลย”  อาเฮียด่าด้วยเสียงกลั้วหัวเราะขบขัน

           หลวงพี่ลอกลับจากหลังร้านมาได้ยินพอดี  ก็อายจนปั้นหน้าไม่ถูก  วันต่อมาข้าพเจ้าบอกเล่าให้พระเณรเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นฟัง  เพื่อน ๆ พากันหยอกล้อว่า  “หลวงพี่ลอหลอกเจ๊กให้แก้เตาฟู่แล้วหนีมาไม่ยอมซื้อ  ผลบาปมันเลยบันดาลให้คนโกหกเดินตกท่อระบายน้ำ”  เรื่องนี้หลวงพี่ลอโกรธพระเต็มนานเป็นเดือนทีเดียว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, พฤศจิกายน, 2565, 10:20:42 PM
(https://i.ibb.co/yYjjzW7/image.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๘ -
           สมัยนั้นวัดดอนยานนาวา  เป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก  ดังจาก “ป่าช้าวัดดอน” ไม่พอ  ยังเพิ่มความดังจาก “หลวงพ่อนกกระเต็น”  ซึ่งดังอยู่ในสังคมชาวบ้านผู้ชอบเล่นหวยใต้ดิน  ส่วนในสังคมพระ  เณรกรุงเทพฯ นั้นวัดนี้ดังจาก  “มวยตู้”  พระเณรส่วนมากในกรุงเทพฯ ธนบุรี (สมัยนั้น) ชอบดูมวยทางทีวี. ที่ถ่ายทอดสดจากเวทีมวยราชดำเนินและเวทีลุมพินีในวันเสาร์วันอาทิตย์  ทุกเย็นวันเสาร์อาทิตย์จะมีพระเณรจากวัดต่าง ๆ ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรีพากันไปดูมวยทาง ทีวี. ที่วัดดอนจำนวนมาก  มี “มวยตู้“ ให้ดู ๒ แห่ง  คือที่กุฏิเจ้าอาวาส  กับกุฏิพระลูกวัดอยู่ติดกับบ้านเรือนชาวบ้าน   ข้าพเจ้าชอบดูที่กุฏิเจ้าอาวาส  เพราะเห็นว่าห้องโถงกว้างขวางดี  แต่เมื่อรู้จักเพื่อนฝูงมากขึ้น  เพื่อนบอกว่ากุฏิเจ้าอาวาสดูมวยไม่สนุก  ต้องดูที่กุฏิพระลูกวัด  ที่นั่น  “มันส์มาก”  ก็ลองไปดูตามเพื่อน

           สนุกจริง ๆ ด้วยแหละครับ

           มีพระเณรหลายสิบองค์เบียดเสียดกันดู ที.วี. (มวยตู้) จอที่นี่แน่นขนัด  ส่วนใหญ่เป็นพระเณรชาวตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) พูดจาและส่งเสียงเชียร์มวยกันด้วยภาษาสำเนียงอีสาน  ข้าพเจ้าเป็นคนภาคกลางที่พอฟังสำเนียงภาษาอีสานได้  เพราะมีเพื่อนเป็นคนภาคนั้นมาก  จึงส่งเสียงเชียร์มวยผสมผสานกับพวกเขาได้สนุก  พระเณรที่ดูมวยตู้นี้ส่วนมากไม่ห่มจีวร  ใส่แต่อังสะตัวเดียว  เพราะถือว่าท่านอยู่ในวัดของท่าน  ส่วนพระเณรที่มาจากวัดอื่นห่มจีวรคลุมสะพายย่ามทางบ่าซ้าย  บ้างก็เวิกจีวรขึ้นพาดไหล่ขวา  บางองค์เอาจีวรจีบพาดบ่าบ้าง  คาดเอวบ้าง  รวมความว่านักดูมวยทั้งหมดไม่ห่มจีวรให้เรียบร้อยเลยก็แล้วกัน

           นักมวยที่ขึ้นชกทั้งสองเวทีนั้น  ส่วนมากเป็นคนทางภาคอีสาน  จึงเรียกเสียงเชยร์จากผู้ชมทางที.วี.ได้มาก

               “บักห่าเตะซี่ ศอกซี่บักห่า ต่อยซีโว้ย บักห่ามัวจ้องทำไม กอดคอตีเข่าเลย อย่ายั่นมัน เอาเลย ๆๆๆ”  

           เสียงตะโกนใส่จอเคล้าเสียงเฮฮากันอย่างสนุกสนาน  เรื่องสมณะสารูปไม่ต้องไปหาในที่นี้  เพราะจะไม่พบเห็นแม้แต่น้อย

           มารู้ทีหลังว่า  พระเณรที่ส่งเนียงเชียร์มวยกันเมามันนั้น  ส่วนใหญ่เขาเล่นพนันขันต่อกันด้วย  แต่พนันกันในวงเงินไม่มากนัก  เพราะพระเณรส่วนใหญ่ก็ไม่มีเงินมาก  เขาพนันขันต่อกันด้วยอ้างว่าให้เกิดความ “มันส์” ในการชมการเชียร์เท่านั้น  ไม่ได้หวังร่ำรวยอะไรเลย  ใครเล่นฝ่ายไหนก็จะส่งเสียงเชียร์ฝ่ายนั้น  เมื่อฝ่ายของตนตกเป็นรองก็มักจะส่งเสียงด่าด้วยความไม่พอใจ  ฝ่ายที่เป็นต่อก็จะส่งเสียงหนุนและพูดทับถมฝ่ายตรงข้าม  จึงมักจะได้ยินเสียงตะโกนว่า

               “หมัดขวา.... หมัดซ้าย ...เตะขวา ...เต๊ะซ้าย...เข่าเลยโว้ย...ศอกเลย...เอาให้ตาย บักห่า....ไอ้เซ่อ....”  ดังลั่นตามจังหวะที่นักมวยใช้อาวุธหมัดเท้าเข่าศอกเข้าห้ำหั่นกัน  ที่มีคำกล่าวว่า  “นิสัยคนไทยชอบการพนัน”  เห็นจะไม่ผิดนัก

           นักมวยดัง ๆ สมัยนั้นก็มี  ศักดิ์น้อย ส.โกสุม, จิ้งหรีดทองมหาสารคาม, อดิศักดิ์ แขวงมีชัย, สายเพชร, ศักดา, กุมารทอง, แดนชัย, เดชฤทธิ์, นำศักดิ์, เขียวหวาน, บุกเดี่ยว แห่งค่ายยนตรกิจ, วิชาญ ส.พินิจศักดิ์, อดุลย์ ศรีโสธร, ราวี เดชาชัย, สมพงษ์ เจริญเมือง,  อิศรศักดิ์ พันท้ายนรสิงห์, พรชัย ส.ท่ายาง, ธานี พยัคฆโสภณ, พายัพ สกุลศึก, อภิเดช ศิษย์หิรัญ เป็นต้น  แต่ว่ามวยดังเหล่านี้ไม่ค่อยได้ดูกันบ่อยนัก  เพราะเป็นมวยทำเงินให้ผู้จัด  เขามักจัดให้ชกกันในวันอื่นที่เป็นรายการใหญ่  ไม่มีการถ่ายทอดสดทางที.วี.  มวยทางที.วี. เป็นมวยใหม่ ๆ ที่กำลังไต่บันได้ไปสู่ความดัง  และมวยเก่าที่กำลังหรี่ดับเหมือนดาวร่วงนั่นแหละ

           มวยไทยสมัยนั้นชกกันด้วยศิลปะมวยไทย  ใช้ชั้นเชิงลวดลายแม่ไม้มวยไทยเข้าชิงชัยกัน  ไม่ค่อยใช้พละกำลังเข้าหักหาญกันอย่างมุทะลุบ้าระห่ำ  พระเณรนักดูมวยตู้วัดดอนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  การพนันขันต่อก็มีมากตามมา  เมื่อมีการพนันก็มีการโกงจนเกิดการทะเลาะชกต่อยกันขึ้นหน้าจอที.วี.  ข่าวดังไปถึงพระผู้ใหญ่ฝ่ายปกครอง  จึงมีคำสั่งห้ามปรามออกมา  ทำให้บรรยากาศมวยตู้วัดดอนซบเซาไป  พระเณรเหล่านั้นส่วนมากย้ายสถานที่ไปดูตามวัดต่าง ๆ ที่มีทีวี. และเปิดให้ดูมวย  สถานที่ ”ดัง” ขึ้นมาแทนวัดดอนยานนาวาคือ วัดดาวคะนอง ที่ท่านพระครูสมภารวัดนี้ชอบดูมวยมาก  นั่นแหละ


                             “เป็นอาจารย์สอนเรื่องธุดงค์”

           การเดินทางประพฤติธุดงควัตรสมัยเป็นสามเณร (ดังที่ให้การไปแล้ว)  กลายเป็นบารมีองพระเต็มตอนเป็นพระอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่น้อย  กล่าวคือ  พระไสว อายุ ๕๐ ปีเศษ  บวชตอนแก่ พระเต็มเรียกท่านว่า “หลวงน้าไหว”  พรรษาแรกที่ท่านบวชเป็นพระใหม่อยู่ในการดูแลของพระเต็มนั้น  ไปเรียนนักธรรมชั้นตรีในสำนักวัดจันทร์ใน  เมื่อกลับจากโรงเรียนตอนค่ำพระเต็มจะทบทวนการเรียน (ก็สอนซ้ำนั่นแหละ) ให้ท่าน  เมื่อสอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วก็เรียนต่อนักธรรมชั้นโท

           ในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทวิชาธรรมวิภาคนั้นมีเรื่อง “ธุดงค์ ๑๓” เป็นแบบเรียน  พระเต็มสอนเรื่องธุดงควัตรตามหลักทฤษฎี (ปริยัติ)  และเล่าเรื่องการเดินธุดงค์ที่เป็นประสบการของตน (ปฏิบัติ)  หลวงน้าไหวสนใจและตื่นเต้นกับประสบการของพระธุดงค์มาก  ปีนั้นออกพรรษาและสอบธรรมสนามหลวงแล้วยังไม่ทันรู้ผลสอบ  หลวงน้าไหวขอออกเดินธุดงค์  โดยเป็นอันเตวาสิกของพระอาจารย์ธุดงค์องค์หนึ่งซึ่งอยู่ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา

           เพราะหลวงน้าไหวเพิ่งบวชได้เพียงสองพรรษา  ไม่อาจออกเดินธุดงค์เพียงลำพังได้  ด้วยมีกติกาอยู่ว่า  ผู้ที่จะออกเดินธุดงค์โดยลำพังนั้นต้องมีอายุพรรษาได้ ๕ (นิสัยมุตตกะ) ขึ้นไป  ถ้าบวชไม่ครบ ๕ พรรษา  หากออกธุดงค์ต้องมีอาจารย์นำพาไปและคอยควบคุมดูแล

           ออกเดินธุดงค์ครั้งแรกหลวงน้าไหวกลับมาเที่ยวคุยฟุ้งไปทั้งวัด  มิหนำซ้ำยังคุยข่มพระที่ไม่เคยออกดินธุดงค์  แต่กับพระเต็มท่านไม่กล้า  มีแต่อ่อนน้อมถ่อมตน  บอกเล่าประสบการและขอคำแนะนำเพิ่มเติม  โดยถือว่าพระเต็มเป็นอาจารย์ธุดงค์ของท่าน  พระอาจารย์เต็มก็บอกคาถาอาคมต่าง ๆ และวิชาหมอดูให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง

           หลวงน้าไหวติดใจในการออกเดินธุดงค์  ออกพรรษาแล้วก็ออกเดินธุดงค์อีก  จนพระไสวกลายเป็นพระอาจารย์ไสว  หลังจากเดินธุดงค์ได้ ๒ ปี  กุฏิพระเต็มมีแขกมาไม่ขาด  ส่วนมากเขามาหาพระอาจารย์ไหว  มีพวกผู้หญิงสาวแก่แม่ม่ายมาขอให้อาจารย์ไหวพยากรณ์โชคชะตาราศีให้  พระเต็มสอนให้หลวงน้าไหว  “ดูหมอ”  ตามตำราเลข ๗ ตัว  ทักษาพยาการณ์  ซึ่งมีข้อปลีกย่อยมากมาย

           ขึ้นชื่อว่าการดูหมอ (หรือหมอดู) แล้วคนส่วนใหญ่จะชอบให้หมอ  ดูเรื่องโชคชะตาราศีความดีร้าย  คู่ครอง  สำหรับข้าพเจ้าแล้วคิดว่าการดูหมอหรือให้หมอดูเป็นเรื่องสนุก  ได้ฟังเรื่องแปลก ๆ จากคนที่มาให้หมอดูแล้วเล่าให้หมอฟัง  นักจิตวิทยาถือว่าวิชาหมอดูเป็นอย่างหนึ่งของจิตวิทยา  สรุปว่าข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อหมอดู  และก็ไม่ปฏิเสธหมอดูด้วย

           หลวงน้าไหวเป็นหมอดูซื่อ ๆ ไม่ใช่นักจิตวิทยา  คำทำนายของท่านจึงมักโผงผางตรงไปตรงมา  บางครั้งท่านกล้าทำนายอย่างมั่นใจว่า  “ถ้าไม่จริงตามทำนายจะเผาตำราทิ้งเลย”  พระเต็มต้องเตือนท่านเมื่อแขกไปแล้วว่า  “อย่าพูดอย่างนั้นอีก”  แต่ท่านก็อดเผลอพูดไม่ได้

           เป็นหมอดูได้ปีกว่า ๆ หลวงน้าไหวก็เลื่อนฐานะขึ้นเป็นหมอสะเดาะเคราะห์  ทำพิธีรับพระส่งพระ  รดน้ำมนต์  เข้าขั้น  “เกจิอาจารย์”  ไปในที่สุด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, พฤศจิกายน, 2565, 10:17:29 PM
(https://i.ibb.co/3cLC7my/9k8cighdkcrr-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๕๙ -
           ทุกครั้งที่หลวงน้าไหวกลับจากการเดินธุดงค์  จะมีพระเครื่องติดย่ามกลับมามากมาย  แม้ไม่ไปธุดงค์ท่านก็โคจรออกต่างจังหวัดไปเยี่ยมเยือนพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ท่านพบรู้จักกันในขณะออกเดินธุดงค์  ไม่ได้ไปมือเปล่า  ท่านนำพระเครื่องติดมือไปด้วย  เอาไปแลกเปลี่ยนพระเครื่องบ้าง  ขอพระเครื่องบ้างและเครื่องรางของขลังจากพระอาจารย์เหล่านั้นบ้าง  จนเพื่อนพระในวัดจันทร์นอกพากันพูดล้อท่านว่า  พระอาจารย์ไหวบ้าพระเครื่อง

           หลวงน้าไหวจะบ้าพระเครื่องหรือไม่ เป็นการยากที่จะตัดสินได้  ข้าพเจ้าเองไม่กล้าใช้คำว่า “บ้า” มานำหน้า “พระเครื่อง”  เพราะเห็นว่าพระเครื่องเป็นของดี  “บ้า”  เป็นของไม่ดี  ไม่ควรจะนำองไม่ดีมารวมกับของดี  ข้าพเจ้าสนใจพระเครื่องไม่น้อยเหมือนกัน  ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพระเครื่องมากนัก  ครั้นหลวงน้าไหวสะสมพระเครื่องจนได้ชื่อว่า  “นักเลงพระเครื่อง”  หรือ  “เล่นพระเครื่อง”  พระเต็มก็เลยพลอยเล่นและศึกษาประวัติและความเป็นมาของพระเครื่องไปกับหลวงน้าไหวด้วย

           พระพิมพ์หรือพระเครื่องมีหลายแบบหลายเนื้อหลากที่มา  ที่เล่นกันทั่วไปก็มีพระเนื้อดินเผา  เนื้อชินเงินชินตะกั่ว  เนื้อผง  เนื้อว่าน  พระเนื้อดินเผาที่นิยมกันคือ  พระนางพญาพิษณุโลก  พระรอดลำพูน  พระขุนแผนสุพรรณบุรี  พระซุ้มกอ  พระลีลาท่งเศรษฐี กำแพงเพชร เป็นต้น   เนื้อชินก็มี พระร่วงรางปืนสุโขทัย  พระหูยานลพบุรี  พระท่ากระดาน เมืองกาญจน์ฯ  พระพิมพ์ต่าง ๆ กรุวัดราชบูรณะอยุธยา เป็นต้น   พระเนื้อผงก็มี  สมเด็จวัดระฆัง  บางขุนพรหม  เกศไชโย เป็นต้น

           นักเลงพระเครื่องทุกคนต้องมีอุปกรณ์สำคัญคือกล้องส่องพระ  แว่นขยาย  เพื่อส่องขยายดูเนื้อและสนิม  ความสมบูรณ์ของพระ  หลวงน้าไหวใช้แว่นขยายดูลายมือของท่านส่องพระ  ยามว่างจากแขกเหรื่อท่านจะเอาพระออกมานั่งส่องดูอย่างพินิจพิเคราะห์  อย่างเอาจริงเอาจัง  บางวันตื่นนอนล้างหน้าแปรงฟันแล้ว  เอาพระมาส่องดูก่อนออกบิณฑบาต  กลับจากบิณฑบาตก็ส่องดูพระก่อนฉันอาหารเช้า  ฉันอาหารเสร็จแล้วก็ส่องดูพระอีก  จนดูเป็นกิจวัตรของท่านเลย

           บางทีหลวงน้าไหวส่องดูเนื้อพระแล้วร้องออกมาด้วยความอิ่มเอมใจว่า  “เฮ้ย องค์นี้แร่ซะเลยว่ะ  แหมองค์นี้เนื้อกังไสเชียวนะ”  จนบางครั้งเพื่อนพระก็พากันหยอกล้อตอนที่เห็นท่านกำลังส่องพระว่า  “องค์นี้แร่ซะมั้ย  องค์นี้เนื้อกังไสมั้ย ?”  ถูกหยอกล้ออย่างไรท่านก็ไม่โกรธเคือง  กลับยิ้มด้วยความพอใจเสียอีก  ข้าพเจ้าไม่เคยขัดคอขัดใจท่าน  ดังนั้นจึงได้รับมอบพระจากท่านเรื่อย ๆ  บางองค์เป็นพระเก่าของแท้ท่านส่องดูแล้วเข้าใจว่าเป็นของใหม่ไม่แท้จึงมอบให้พระเต็ม  บางทีก็เอาพระเก่าของแท้มาขอแลกเปลี่ยนพระของข้าพเจ้า (ที่เป็นของใหม่) เป็นอย่างนี้เสมอมา

           ยุคนั้น  หลวงพ่อทวดกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ฉายา  “เหยียบน้ำทะเลจืด”  ของท่านเป็นหลักประกันในความขลัง-ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างดี  พ่อท่านทิม เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ปัตตานี เป็นต้นเหตุแห่งความดังของหลวงพ่อทวด  พระพิมพ์เนื้อว่านรูปเหมือนหลวงพ่อทวดที่พ่อท่านทิมทำขึ้นนั้น  ราคาแพงจนคนฐานะอย่างพระเต็ม  “สุดเอื้อม”  เพราะความโด่งดังของหลวงพ่อทวดนี่แหละ  ทำให้พระมหา (ขอสงวนนาม) องค์หนึ่งแห่งวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ  สร้างความร่ำรวยให้แก่นเองได้อย่างง่ายดาย

           จะไม่ให้ร่ำรวยอย่างไรได้เล่า  ท่านมหาจัดสร้างหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน  หรือว่านผสมดินก็ไม่รู้  ลงทุนองค์ละไม่กี่สตางค์  แต่ให้บูชาองค์ละไม่ต่ำกว่า ๑๐ บาท  นัยว่าสร้างเป็นจำนวนหลายแสนองค์  วันที่จัดทำพิธีปลุกเสก (ไม่น่าจะเรียกพุทธาภิเษกเพราะไม่ใช่พระพุทธรูป) ที่วัดมหาธาตุ  คืนนั้นมีภาพยนตร์ฉายฉลองตลอดคืน  เสร็จพิธีปลุกเสกตอนแจ้ง  ปรากฏว่าประชาชนแห่เข้าไปขอบูชากันอย่างแน่นขนัดเป็นโกลาหล  เงินไหลเข้ากระเป๋าท่านมหาเหมือนน้ำป่าบ่าไหลเลยเชียว

           สมัยนั้นทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ ทั่วไป  ถ้าพูดกันถึงความขลังความศักดิ์สิทธิ์แล้ว  ล้วนพูดถึงหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเสมอ  ประวัติหลวงพ่อทวดนั้นกล่าวกันว่า  ท่านเป็นพระราชาคณะองค์หนึ่งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทย  เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ  คุณวิเศษประการหนึ่งของท่านคือ  สามารถเหยียบน้ำทะเลที่เค็มให้เป็นน้ำจืดเพื่อบริโภคดื่มกินได้  เพียงนี้ก็เหลือกินแล้ว  คุณวิเศษอื่น ๆ ไม่ต้องกล่าวถึงให้มากความ

           คนส่วนใหญ่ไม่มีใครปฏิเสธที่จะเป็นสานุศิษย์หลวงพ่อทวด  เพียงแค่ทำรูปเหมือนของท่านด้วยเนื้อว่าน  เนื้อดิน  เนื้อโลหะ  ให้สานุศิษย์บูชาไว้ติดตัวยังไม่หนำแก่ใจของสานุศิษย์  จึงมีผู้ริเริ่มจัดทำพิธี  “ประทับทรง”  เชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาประทับในร่างของบุคคลต่าง ๆ ผู้ที่ทำพิธีประทับทรง  คนผู้นี้จะเรียกว่าอาจารย์หรือพ่อมดหมอผีก็ตามแต่จะเรียกกัน  ยุคนั้นมีคนทำหน้าที่เป็นร่างทรงในกรุงเทพฯ จำนวนมาก  ดวงวิญาณหลวงพ่อทวดถูกเชิญเข้าประทับทรงทั้งกลางวันกลางคืน  จนดูเหมือนจะไม่มีเวลาว่างเว้นเลย  บางวันประทับทรงพร้อมในเวลาเดียวกันเป็นหลายแห่ง  ดูเหมือนท่านแยกดวงวิญญาณออกเป็นเสี่ยง ๆ ได้อย่างนั้นแหละ

           ที่บ้านหลังหนึ่งในซอยวัดจันทร์ใน (สาธุประดิษฐ์) เป็นบ้านของอาจารย์ทรัพย์สิน  เดิมเป็นอาจารย์ไสยศาสตร์  ตั้งศาลพระภูมิ  เป็นมรรคนายก  ชอบปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  ภายเกิดเบื่อหน่ายในฆราวาสจึงออกบวชภายหลังหลวงน้าไหว ๑ ปี  อยู่สำนักวัดจันทร์ในใกล้บ้าน  แม้จะบวชเป็นพระแล้ว  ที่บ้านของท่านก็เป็นเหมือนสำนักที่ชุมนุมทำพิธีทางไสยศาสตร์อยู่เหมือนเดิม  อาจารย์ทรัพย์สินมักจะนั่งเป็นประธานให้คำแนะนำสานุศิษย์ของท่านที่บ้านหลังนี้ในเวลาค่ำคืนเสมอ

           ในขณะที่หลวงพ่อทวดกำลังดังอยู่ในกรุงเทพฯ  มีอาจารย์สำนักต่าง ๆ อัญเชิญดวงวิญญาณของท่านมาประทับทรงกันนั้น  สำนักของอาจารย์ทรัพย์สินก็ไม่เว้นที่จะจัดทำพิธีประทับทรงหลวงพ่อทวดด้วย  หลวงน้าไหวกับอาจารย์ทรัพย์สินชอบพอกันมาก  ทุกครั้งที่มีพิธีประทับทรงหลวงพ่อทวดที่สำนักอาจารย์ทรัพย์สิน  หลวงน้าไหวต้องเข้าร่วมพิธีด้วย  และยังนำเรื่องที่พบเห็นในพิธีนั้นมาบอกเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอย่างละเอียด  ดูท่านเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงใจ  จนวันหนึ่งท่านขอร้องให้พระอาจารย์เต็มของท่านไปเข้าร่วมในพิธีนั้นด้วย  ข้าพเจ้าไม่ค่อยเชื่อในเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีอยู่แล้ว  พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ไปร่วมพิธี  เมื่อสุดที่จะบ่ายเบี่ยงได้ก็จำใจไปร่วมพิธีนั้น/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, พฤศจิกายน, 2565, 10:31:02 PM
(https://i.ibb.co/f0DHwsM/qpp1to1vx9.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๐ -
           ณ บ้านไม้ ๒ ชั้นอันเป็นสำนักขออาจารย์ทรัพย์สิน  ค่ำวันนั้นมีสานุศิษย์หลวงพ่อทวดมาชุมนุมคับคั่ง  ข้าพเจ้าเดินตามหลวงน้าไหวเข้าร่วมพิธีในห้องโถงชั้นบน    อาจารย์ทรัพย์สินและใคร ๆ ก็ต้อนรับด้วยความยินดี  เพราะหลวงน้าไหวเคยคุยอวดไว้ว่า  พระอาจารย์เต็มเป็นอาจารย์ธุดงค์ของท่าน  และมีความรู้เรื่องไสยศาสตร์มากองค์หนึ่ง  ทุกคนจึงยินดีที่ได้พบและรู้จักข้าพเจ้า  ในบรรดาสานุศิษย์หลวงพ่อทวดที่อยู่ในห้องโถงนั้น  มีพ่อค้าระดับอาเสี่ยใหญ่หลายคน  นายทหารยศตั้งแต่นายร้อยถึงนายพล  นายตำรวจนายร้อยนายพันอีกหลายนาย  ข้าราชการพลเรือนผู้ใหญ่หลลายท่า น อาจารย์ทรัพย์สินแนะนำให้รู้จัก  ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าท่านใดชื่อยศตำแหน่งอะไร  ก็ได้ยิ้มพยักหน้ารับไปอย่างนั้นเอง

           เวลาประมาณสองทุ่มเห็นจะได้  ร่างทรงเป็นชายหนุ่มนุ่งขาวห่มขาวเดินออกมาจากห้องเล็ก  นั่งลงบนอาสนะซึ่งเป็นเบาะปูพรมกลางห้องโถงเพื่อทำพิธีเชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาประทับทรง  ร่างทรงคนนี้เป็นเด็กหนุ่มอายุประมาณ ๑๙-๒๐ ปี  นัยว่าเป็นเด็กทำงานอยู่ในโรงภาพยนตร์สาธร  เขานั่งบนอาสนะด้วยอาการกิริยาสำรวม  ดูน่าเลื่อมใสศรัทธา  ทุกคนในห้องล้วนนั่งเงียบกริบอยู่ในอาการสำรวมเคารพยำเกรง  บุรุษหนุ่มผู้เป็นร่างทรงไม่พูดจาทักทายใครทั้งสิ้น  นั่งขัดสมาธิพนมมือหลับตาบริกรรมอยู่ประมาณ ๕ นาทีแล้วถอนหายใจแรง ๆ  ร่างเริ่มสั่นน้อย ๆ แล้วทวีความสั่นแรงขึ้น  หลังที่ตั้งตรงอยู่นั้นเริ่มงอลง  ใบหน้าที่เต่งตึงเปลี่ยนเหี่ยวย่น  ร่างที่สั่นหยุดนิ่งลืมตาขึ้น  อันเป็นที่รู้กันว่า  หลวงพ่อทวดได้เข้าประทับร่างทรงนั้นแล้ว

           ลักษณะรูปร่างหน้าตาเด็กหนุ่มกลายเป็นคนแก่หง่อม  ยกมือที่สั่นน้อย ๆ รับประเคนป้านน้ำชาและพานหมากจากลูกศิษย์ที่คลานเข้าประเคนด้วยความเคารพ  หยิบหมากพลูในพานเงินใหญ่ใส่ปากเคี้ยวอย่าเอร็ดอร่อย  พอเริ่มเคี้ยวหมากคำแรกเท่านั้นแหละครับ  หมากพลูในพานเงินใบใหญ่พร่องหมดไปอย่างรวดเร็ว  เพราะหลวงพ่อท่านเล่นเคี้ยวหมดคำต่อคำไม่ยอมให้ขาดปาก  น้ำหมากก็ไม่ยอมบ้วนทิ้ง  บรรดาสานุศิษย์ทยอยคลานเข้าหาขอให้ร่างทรงนั้นเป่าขม่อมด้วยความเคารพศรัทธา  แต่ละคนมีน้ำหมากและกากหมากจากการเป่าของหลวงพ่อทวดติดหัวแดงเถือก  แทนที่เขาจะปัดทิ้งหรือเช็ดออกด้วยความรังเกียจ  กลับชอบใจด้วยคิดว่าหลวงพ่อโปรดปรานเขามากจึงพ่นน้ำหมากใส่หัวให้  บางคนเอาผ้าเช็ดหน้าปูแผ่ให้ร่างทรงนั้นบ้วนน้ำหมากใส่มือแล้วประทับรอยฝ่ามือลงบนผ้าเช็ดหน้าของเขา  เก็บผ้าเช็ดหน้านั้นไว้เป็นเสมือนผ้ายันต์เครื่องรางของขลังอันศักดิ์สิทธิ์  อาจารย์ทรัพย์สินเอาผ้าขาวทำเป็นผ้าเช็ดหน้าให้ร่างทรงหลวงพ่อทวดประทับรอยฝ่ามือหลายผืน  แล้วมอบให้พระอาจารย์เต็มผืนหนึ่ง  ข้าพเจ้าก็รับไว้แบบว่า  “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม”  ในใจแล้วไม่คิดเลื่อมใสศรัทธาเลย

           จะว่าข้าพเจ้ามีความคิดอิจฉาริษยาเด็กโรงหนังร่างทรงหลวงพ่อทวดก็คงจะใช่  เพราะตอนนั้นคิดว่า   “แหม  ไอ้เด็กโรงหนังคนนี้มันยอดมาก  สามารถบ้วนน้ำหมากรดหัวเศรษฐี นายร้อยนายพันนายพลได้ คนรวยคนใหญ่คนโตนี่ทำไมโง่งมงายกันนักนะ  เราเป็นพระแท้ ๆ อย่าว่าแต่บ้วนน้ำหมากใส่หัวเขาเลย  แค่เป่าลมปากใส่หัวเขาก็ยังไม่ต้องการ”  จึงคิดน้อยใจอยู่ครามครัน

           นายทหารยศพันเอกที่เป็นหัวหน้าคณะศิษยานุศิษย์ในที่นั้น  เริ่มนำสนทนาซักถามหลวงพ่อทวดในร่างทรง  หลวงพ่อไม่พูดมาก  ส่วนใหญ่จะพักหน้ารับคำถามที่ถามนำของศิษย์แล้วส่งเสียง  “อือออ..”  หนักเข้าก็พูดมากขึ้น  เสียงพูดก็สั่นเครือเหมือนเสียงคนแก่อายุ่ไม่ต่ำกว่าแปดสิบปี  ข้าพเจ้ารู้สึกหมั่นไส้ตอนที่ศิษย์หัวโจกถามว่า

               “หลวงพ่อครับ  ผมกับสานุศิษย์ทั้งหลายของหลวงพ่อจะทอดกฐินสามัคคีหาเงินสร้างศาลาหน้าวัดที่จังหวัดประจวบฯ หลังหนึ่ง  ให้ชื่อศาลาที่จะสร้างว่าศาลาหลวงพ่อทวด  จะสำเร็จไหมครับ”

               “ อือออ...สำเร็จซี  ถ้าใช้ชื่อข้าต้องสำเร็จแน่ ๆ”  ร่างทรงหลวงพ่อทวดพูดด้วยเสียงสั่น ๆ และดังมาก  พร้อมพยักหน้าหงึกหงัก

           พอหลวงพ่อทวดบอกว่าสำเร็จเท่านั้นแหละ  บรรดาสานุศิษย์ในที่นั้นต่างก็ออกปากขอบริจาคเงินร่วมสมทบทุนกันคนละตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไปจนถึง ๕๐,๐๐๐ บาท  คืนนั้นได้เงินที่ศิษย์ร่วมกันบริจาคสร้างศาลาหลวงพ่อทวด ๖ แสนบาทเศษ  แสดงให้เห็นว่าคนมีศรัทธาในหลวงพ่อทวดนั้นแรงกล้ายิ่งนัก

           ตลอดเวลาที่มีการประทับทรงหลวงพ่อทวดนั้น  ข้าพเจ้านั่งอยู่เฉย ๆ  ไม่พูดจาอะไรเลย  ดูเหตุการณ์ด้วยความสลดสังเวชใจ  นายทหารคนที่เป็นหัวหน้าศิษย์หลวงพ่อทวดนั้นคะยั้นคะยอขอให้ข้าพเจ้าสนทนากับหลวงพ่อทวดบ้าง  ร่างทรวงหลวงพ่อก็พยักหน้าชวนให้สนทนาด้วย  ข้าพเจ้านึกหมั่นไส้อยู่แล้ว  พอได้โอกาสอย่างนั้นก็ถามแบบเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาเสียเลย

               “หลวงพ่อครับ  สมัยที่หลวงพ่อมีชีวิตอยู่นั้นเหยียบน้ำทะเลจึดจริงไหมครับ”  ข้าพเจ้าถามแบบปูพื้นไปก่อน
               “จริงซี”  หลวงพ่อตอบเสียงหนักแน่น

              ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อก็ต้องบรรลุฌานใดฌานหนึ่งน่ะซี”  หยอดคำถามต่อ
               “อ๊ะ ก็ต้องยังงั้นซี”  ท่านตอบอย่างวางภูมิ

               “หลวงพ่อได้รูปฌานหรืออรูปฌานครับ”  ถามรุกเข้าไปอีกที
               “อ้า..รูป..รูปฌาน”  หลวงพ่อตอบแบบตะกุกตะกัก

               “ตามตำราท่านว่า  ผู้ที่ได้รูปฌาน  เมื่อสิ้นชีวิตจากมนุษย์แล้วก็ต้องไปเกิดในสวรรค์ชั้นรูปพรหม  ถ้าได้อรูปฌานก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นอรูปพรหม ใช่ไหมครับ”  ข้าพเจ้าถามแบบคาดคั้น
              เอ้อ  ใช่ๆๆๆ”  หลวงพ่อรับคำถี่ ๆ โดยหารู้ไม่ว่าได้กระโจนลงหลุมพรางแล้ว

               “ถ้าอย่างนั้น  เป็นเวรกรรมอะไรของหลวงพ่อเล่าครับ  ได้ฌานและมรณภาพแล้ว  แทนที่จะไปบังเกิดในพรหมโลกเสวยสุขอยู่ในฌานที่ตนได้  แต่ดวงวิญญาณของหลวงพ่อกลับล่องลอยวนเวียนอยู่ในมนุษย์โลก  ถูกมนุษย์คนโน้นคนนี้เชิญเข้าประทับทรงจนไม่มีเวลาว่างเว้น  และบางเวลาก็ต้องแบ่งภาคดวงวิญญาณไปเข้าประทับทรงพร้อมกันตั้งหลายร่างหลายแห่ง  หลวงพ่อจะตอบได้ไหมว่าเป็นเวรกรรมอะไรของหลวงพ่อครับ”

           ข้าพเจ้าจบคำถามด้วยยิ้มแบบเหยียด ๆ  หลวงพ่อไม่ตอบ  แต่จ้องหน้าคนถามด้วยแววตาเขียวปัดและดุดัน  นิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วหงายหลังลงบนอาสนะดวงวิญญาณลอยออกจากร่างทรงไปในที่สุด/      

<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53100#msg53100)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53393#msg53393)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤศจิกายน, 2565, 10:26:38 PM
(https://i.ibb.co/GVpbqNc/w644-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53248#msg53248)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53504#msg53504)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๑ -
           ข้าพเจ้ายิ้มอย่างสะใจที่ได้ใช้วาทะต้อนตือจนวิญญาณร้ายในร่างทรงหนีกระเจิดกระเจิงไปได้  แต่บรรดาศิษย์หลวงพ่อทวดล้วนไม่พอใจเป็นอย่างมาก  นายตำรวจยศพันเอกนายหนึ่งถามพระเต็มด้วยเสียงไม่พอใจว่า

                “ทั่นไม่เชื่อหรือว่าเข้าทรงจริง”
                “อาตมาเชื่อ”  พระเต็มตอบอย่างไม่สะทกสะท้าน

                “เชื่อแล้วทำไมทั่นจึงซักไซ้จนหลวงพ่อรำคาญหนีไปแล้ว”  เขาถามแบบคาดคั้น  พระเต็มจึงตอบตามหลักธรรมของพุทธศาสนาให้เขาเข่าใจ

                “อาตมาเชื่อว่า  การเข้าทรงครั้งนี้เป็นการเข้าทรงจริง  แต่ไม่เชื่อว่าหลววงพ่อทวดมาเข้าร่างทรง  เพราะ หลวงพ่อทวดเป็นพระเถระที่บำเพ็ญภาวนาจนบรรลุฌานสมาบัติ  ผู้ที่ได้ฌานนั้นเมื่อตายแล้ว  ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม  ถ้าบรรลุรูปฌาน ๔ จะเกิดในชั้นรูปพรหม  หากบรรลุอรูปฌาน ๔ จะเกิดในชั้นอรูปพรหม  สวรรค์ชั้นพรหมโลกสูงกว่าสวรรค์ชั้นกามาพจร  ท่านเป็นพรหมแล้วจะไม่กลับมาสู่มนุษยโลกได้  อย่าว่าแต่เทพชั้นพรหมเลย  แม้แต่เทวดาในสวรรค์กามาพจร ชั้นดาวดึงส์ ดุสิต ยามานิมมานรดี ปรนิมมิตสวัตตี  ท่านก็ไม่ลงมาสู่มนุษยโลก  เมื่อครู่ท่านก็ได้ยินแล้วไม่ใช่หรือ  หลวงพ่อทวดท่านว่าบรรลุฌานแล้ว  อาตมาเชื่อว่าหลวงพ่อทวดท่านไปอยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมโลกแล้ว  จึงไม่ลงมาเข้าร่างทรงใครได้อีก"

                 “งั้น  ที่เข้าทรงเมื่อตะกี้นี้เป็นใครล่ะ”  มีคนหนึ่งถามต่อ

           ข้าพเจ้าตอบในเชิงสันนิษฐานว่า

                 “อาจจะเป็นภูตผีปิศาจที่เรียกกันว่า  “สัมภเวสี”  คือผู้ที่ยังแสวงหาที่เกิดไม่ได้  เห็นคนเชิญหลวงพ่อทวดมาประทับทรง  เขารู้แน่แล้วว่าหลวงพ่อทวดไม่ลงจากพรหมโลกมาแน่ ๆ  ก็เลยสวมรอยเข้าร่างทรงแอบอ้างเป็นหลวงพ่อทวด  หลอกคนเล่นไปงั้นเอง”

           ตอบตามสันนิษฐานที่เห็นว่าเป็นจริงอย่างนี้แล้วทุกคนในที่นั้นเงียบไม่มีใครแย้ง  ทั้งที่บางคนไม่พอใจแต่หาคำโต้แย้งไม่ได้

           พิธีประทับทรงหลวงพ่อทวดคืนนั้นก็สิ้นสุดลงด้วย  บางคนไม่พอใจพระเต็ม  บางคนพอใจ  บางคนก็ยังแคลงใจในการประทับทรง  เพราะได้ฟังคำซักถามและคำอธิบายดังกล่าวข้างต้น

           หลวงน้าไหวไม่พอใจอาจารย์เต็มเหมือนกันแต่ไม่มากนัก  กลับถึงวัดแล้วต่างคนต่างเข้านอน  โดยหลวงน้าไหวเก็บความไม่พอใจไว้  ข้าพเจ้าก็เก็บความพอใจที่ได้ชัยชนะวิญญาณเร่ร่อนในร่างทรงนั้นไว้ในใจ  นอนกระหยิ่มจนหลับสบายไปเลย

           รุ่งขึ้นหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว  หลวงน้าไหวก็ทำการซักฟอกข้าพเจ้าเรื่องที่ผ่านมาเมื่อคืน  กล่าวหาว่าข้าพเจ้าทำลายพิธีการสำคัญของเขา  ข้าพเจ้าก็ว่าไม่มีเจตนาทำลายพิธีนั้น  ข้อซักถามทั้งหมดนั้นเป็นความอยากรู้จริง ๆ  ด้วยเชื่อว่าดวงวิญญาณที่เข้าร่างทรงนั้นไม่ใช่หลวงพ่อทวด  เพื่อให้หลวงน้าไหวเข้าใจหลักธรรมในพุทธศาสนาเรามากขึ้น  จึงนำเอาหลักปริยัติธรรมว่าด้วยเรื่องฌานในหนังสือธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๒ แบบเรียนในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทที่หลวงไหวกำลังเรียนอยู่มาอธิบายให้ฟัง

           ฌาน  คือการเพ่งอารมณ์จนจิตเป็นสมาธิ  พูดง่าย ๆ คือการทำใจให้นิ่งอยู่กับที่จุดใดจุดหนึ่ง  หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  มีอารมณ์เดียว  ไม่ฟุ้งซ่านไปหลายอารมณ์  เช่น เอาดวงไฟมาเป็นเป้าหมายเพ่งเล็งแล  ใจจับมั่นที่ดวงไฟ  ภาวนาว่า  ไฟ ๆๆๆๆๆ  จนใจจับนิ่งอยู่กับดวงไฟ  ไม่คิดไปอย่างอื่นนอกจากดวงไฟเท่านั้น  เมื่อใจจับนิ่งอยู่กับไฟแล้วชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ  การเอาไฟมาเป็นจุดเพ่งนี้นักปฏิบัติเรียกว่า  “เพ่งเตโชกสิณ”  เป็นหนึ่งในหลาย ๆ กสิณซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมเรียกการเพ่งกสิณนี้ว่า  เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน  คืออุบายที่ทำใจให้สงบ  โดยการเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์  เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ และซากศพต่าง ๆ

           เมื่อใจเพ่งติดอยู่กับวัตถุใดวัตถุหนึ่ง  เช่นติดอยู่กับดวงไฟ  ก็จะเกิดนิมิต คือเครื่องหมายขั้นแรกเป็นอุคคหนิมิต  คือนิมิตติดตา  ลืมตาขึ้นก็มองเห็นดวงไฟ  หลับตาลงก็เห็นดวงไฟ  จากนั้นก็เป็นปฏิภาคนิมิตคือนิมิตเทียบเคียง  ไม่ต้องเอาดวงไฟมาตั้งเพ่งอยู่เฉพาะหน้า  ก็สามารถทำนิมิต คือดวงไฟให้เกิดขึ้นในอารมณ์ได้  เมื่อนึกถึงไฟดวงไฟก็เกิด  ผู้ที่ได้เตโชกสิณจนเป็นปฏิภาคนิมิตบางคนเล่นกสิณเพลินจนลืมกินลืมนอน  มัวแต่ปั้นรูปดวงกสิณเล่นตามใจนึก  ย่อให้เล็กก็ได้  ขยายให้ใหญ่ก็ได้  ดึงเข้ามาใกล้ ๆ ก็ได้  ผลักให้ออกไปไกล ๆ ก็ได้  ส่วนมากพวกฤษีชอบเล่นเตโชกสิณ  อย่างฤษีตาไฟ เป็นต้น  การเจริญสมถกัมมัฏฐานจนใจได้นิมิตเป็นอัปปนาสมาธิ คือสมาธิแน่วแน่แล้ว  เรียกว่าได้ฌาน

           ฌาน  มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่าฌานสมาบัติมีอยู่ ๘ ขั้น  แบ่งเป็นรูปฌาน ๔ ขั้น  อรูปฌาน ๔ ขั้น  ผู้ที่ได้รูปฌาน ที่ ๑ มีอารมณ์ ๕ คือ  วิตก วิจารณ์ ปีติ สุขเอกัคตา   รูปฌาน ที่ ๒ อารมณ์วิตกหมดไป   รูปฌานที่ ๓ อารมณ์วิตก วิจารณ์ ปีติ หมดไป   รูปฌานที่ ๔ อารมณ์ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข หมดไป   คงอยู่เพียงอารมณ์เดียวคือ เอกัคตา  ครั้นได้อรูปฌาน (องค์ฌานที่ ๑) อารมณ์วิตก วิจารณ์ปีติสุข เอกัคตา หมดไป  คงมีแต่ วิญญาณันจายตนะ ... จนถึงอรูปฌานที่ ๔ มีแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะ  อันเป็นองค์ฌานสุดท้ายของอรูปฌานสมาบัติ

           ผู้ที่ได้รูปฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง  ถ้าตายก่อนที่ฌานเสื่อมจะต้องไปเกิดในสวรรค์ชื่อพรหมโลกชั้นรูปพรหม  ถ้าได้อรูปฌานชั้นใดขั้นหนึ่งแล้วตายในขณะฌานไม่เสื่อมต้องเกิดในสวรรค์ชั้นอรูปพรหม  คือพรหมไม่มีรูป

           ที่ว่ากันว่า  “ฌานเสื่อม”  นั้นเป็นไปได้  เพราะฌานเป็นเรื่องของโลกกิยวิสัย  เรียกว่าโลกิยฌาน  แต่ถ้าพระอริยะเจ้าตั้งแต่พระโสดาขึ้นไปได้ฌานใดฌานหนึ่งแล้ว ฌานนั้นจะไม่เสื่อม  เพราะเป็นโลกุตรฌาน  ถ้ายังไม่สำเร็จพระอรหันต์  ตายแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์พรหมโลกในชั้นสุทธาวาส ๕  และสำเร็จอรหันต์  นิพพานในที่สุด... /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, พฤศจิกายน, 2565, 11:26:51 PM
(https://i.ibb.co/rpM3Pyt/1648177490-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๒-
           การได้ฌานในขณะที่เป็นปุถุชนนั้นเรียกว่า “ฌานโลกีย์” ใคร ๆ ก็สามารถทำได้  ผู้ที่บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานเพื่อให้บรรลุโลกิยฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง  ไม่จำเป็นต้องบวชในศาสนาใด ๆ  ฆราวาสขี้เหล้าขี้ยาก็สามารถทำได้  และเมื่อทำได้แล้ว  ก็สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ความขลังศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นานา  เช่น  อยู่ยงคงกระพัน หายตัว ดำดิน เหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น

           ชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังคลาเทศ) ในยุคอุปนิษัทก่อนกาลตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น  พวกพราหมณ์ที่ออกบวชเป็นฤษี  โยคี  ชฎิล  นักพรตต่าง ๆ และพวกที่ไม่ออกบวชจำนวนมาก  ต่างก็ได้ฌานโลกีย์กันตามกำลังความสามารถในการปฏิบัติบำเพ็ญ  มีอาจารย์เจ้าลัทธิหลายท่านตั้งสำนักสอนศิษย์และบำเพ็ญเพียรจนตนเองบรรลุฌานโลกีย์  มีอิทธิฤทธิ์ปรากฏขื่อเสียงเลื่องลือชา  เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป  อย่างเช่นกาฬเทวินดาบสหรือกบิลดาบสแห่งหิมวันตประเทศ  คราเมื่อพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรสได้ ๕ วัน  ท่านมหาดาบสผู้นี้ทราบข่าวด้วยฌานโลกีย์ของท่าน  จึงเหาะจากป่าหิมพานต์มาเข้าเยี่ยมและทำนายว่า  พระกุมารโอรสพระนางสิริมหามายานั้น  ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิราช  ถ้าออกบวชจะเป็นศาสดาเอกของโลก  คำทำนายของท่านเป็นจริง  พระกุมารนั้นต่อมาออกบวชและเป็นพระบรมศาสดาที่เราเคารพนับถือกันอยู่ทุกวันนี้

           เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะสละราชสมบัติออกบวชนั้น  ทรงเสด็จจาริกแสวงหาอาจารย์ผู้บรรลุฌานในสำนักต่าง ๆ เพื่อศึกษาหาทางพ้นทุกข์ หลายสำนักที่ทรงเข้าไปศึกษาแล้ว  เห็นว่าไม่ใช่วิชาความรู้ที่ทำให้พ้นทุกข์ได้  ก็ลาออกไปหาอาจารย์สำนักใหม่เป็นหลายสำนัก   จนไปถึงสำนักของผู้สำเร็จฌานโลกีย์ชั้นสูงคือ  อาฬารดาบสผู้บรรลุรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ (ฌานสมาบัติ ๗) กับ อุทกดาบสผู้บรรลุรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (ฌานสมาบัติ ๘) ซึ่งถือกันว่า  เป็นฌานสมาบัติสูงสุดในโลก

           สิทธัตถะมหาบุรุษศึกษาวิชาในสำนักนี้จนจบฌานสมาบัติ ๘ ในเวลาไม่นานนัก  เมื่อจบแล้วทรงพิจารณาเห็นว่าฌานสมาบัติ ๘ อันเป็นวิชาสูงสุดในโลกที่พระองค์ศึกษาจบนั้น  มิใช่ทางปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์  เพราะครั้นตายแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกที่เป็นอรูปพรหมนานเป็นกัปป์กัลป์  เมื่อฌานเสื่อมหมดอายุแล้วก็เคลื่อนย้าย (จุติ) เวียนว่ายในวัฏสงสาร  เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหม เกิดตาย ๆ ไปตามกรรม  เสวยทุกข์ไม่รู้สุดสิ้น  เห็นว่าปรมาจารย์ทั้งสองไม่สามารถสอนแนวทางให้หลุดพ้นไปจากทุกข์ได้  จึงลาออกจากสำนักไปแสวงหาแนวทางพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เอง

           มีภิกษุในพุทธศาสนาหลายรูปที่บรรลุฌานโลกีย์แล้วก็เสื่อม  อย่างเช่น  พระเทวทัต  ท่านผู้นี้ออกบวชไม่นานนักก็บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานจนบรรลุฌานสมาบัติ ๘  แต่ไม่บรรลุอริยผลประการใด  ท่านสำคัญผิดคิดว่าฌานสมาบัติที่ได้นั้นเป็น  “ธรรมวิเศษ”  มีความมักใหญ่ใฝ่สูง  อยากดำรงตำแหน่งศาสดาแทนพระพุทธเจ้า  แสดงอิทธิฤทธิ์ดำดินไปโผล่ในพระตำหนักอชาตศัตรูกุมาร  เนรมิตให้มีงูพิษพันกาย  อชาตศัตรูกุมารเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า  ถวายตนเป็นศิษย์จนถูกพระเทวทัตยุแหย่ให้ฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา  กระทำ  “ปิตุฆาต”  ชิงราชสมบัติจนสำเร็จ  ส่วนพระเทวทัตนั้นกระทำประทุษร้ายพระพุทธเจ้าหลายประการไม่สำเร็จ  เมื่อใจเป็นบาปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ใจก็เศร้าหมอง  ฌานสมาบัติก็เสื่อม  พระเทวทัตก็สิ้นฤทธิ์  ต่อมาถูกแผ่นดินสูบลงนรกดังเป็นที่ทราบดันแล้ว

           มีเรื่องเล่าในพระสูตรเกี่ยวกับการเสื่อมของโลกิยฌานอีกหลายเรื่อง  อย่างเรื่องหนึ่ง  พระภิกษุขอเรียนกรรมฐานแล้วทูลลาพระพุทธองค์เข้าป่าบำเพ็ญธรรม  เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้ฌานสมาบัติ  ครั้นออกพรรษาแล้วเข้าฌานเหาะมาหมายใจเข้าเฝ้าพระพุทธองค์  เหาะมาถึงกลางทาง  ได้ยินเสียงสตรีร้องเพลงเสียงหวานไพเราะจับใจ  แทนที่จะเหาะล่วงเลย  กลับเหาะวนไปเวียนมาในที่นั้น  ฟัง ๆ เสียงเพลงไปเกิดอารมณ์กำหนัดยินดีในเสียงนั้น  อารมณ์กำหนัดเกิดมากขึ้นทำให้อารมณ์ฌานเสื่อมไป  ภิกษุนั้นหมดฤทธิ์ร่วงหล่นลงดินนอนนิ่งเหมือนสิ้นใจ

           ข้าพเจ้าอธิบายธรรมพร้อมยกนิทานประกอบให้หลวงน้าไหวฟัง  แล้วถามว่า  หลวงน้าเชื่อว่าดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาเข้าทรงในร่างเจ้าบ๋อยโรงหนังนั้นจริง ๆ หรือ  ท่านก็ตอบแบบอ้อมแอ้ม

                 “ก็ลักษณะท่าทางมันน่าเชื่อนี่นา”

                 “แล้วหลวงน้าเชื่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเปล่าล่ะ ?”

                 “เชื่อซี  ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านี่นา  จะไม่เชื่อได้ยังไง”

                 “ ถ้าหากดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาเข้าร่างคนทรงจริง  ก็แสดงว่าก่อนตาย  ฌานหลวงพ่อท่านเสื่อมไปแล้ว  อิทธิฤทธิ์ใด ๆ ก็หมดไปแล้ว  จึงไม่ไปเกิดบนพรหมโลก  กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนหาที่เกิดไม่ได้  น่าสงสารท่านนะ”

           หลวงน้าไหวไม่มีข้อโต้แย้ง  และตั้งแต่วันนั้นหลวงน้าไหวไม่ชวนพระอาจารย์เต็มไปร่วมพิธีประทับทรงอีกเลย  ส่วนตัวท่านก็ทราบว่าแอบไปร่วมพิธีบ้างเหมือนกัน  แต่ไม่ได้ไปร่วมด้วยความเชื่อถือเหมือนก่อน  หากแต่ไปคอยจับผิดเขามากกว่า

           การทรงเจ้าเข้าผีเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่คิดเห็นว่า  เหลวไหล  โกหกหลอกลวง โดยสิ้นเชิง  แต่ไม่เชื่อว่าวิญญาณของผู้ถูกเอ่ยอ้างนั้น ๆ จะมาเข้าทรงจริง  โดยเฉพาะคนที่ทำความดี  ทำบุญกุศล  และบรรลุฌานใดฌานหนึ่งแล้ว  ไม่เชื่อว่า  “หมอผี”  เรียกร้องหรือเชิญให้ให้มาเข้าร่างทรงได้ง่าย ๆ  เพราะท่านเหล่านั้นเมื่อตายแล้วเกิดบนสวรรค์  เป็นเทพ  เป็นพรหม ทันที  ไม่เป็นผีเร่ร่อนหาที่เกิดให้ใครเชิญเข้าร่างทรงหลอกลวงชาวบ้านเลย

           ข้าพเจ้าคิดว่าวิญญาณที่รับเชิญมาประทับทรง  หรือที่มา (ยัดเยียด) เข้าร่างใคร ๆ อย่างที่เรียกว่า  “ผีเข้าเจ้าสิง”  นั้น  เป็นเรื่องของดวงวิญญาณผู้ที่อยู่ในภพภูมิต่ำประเภท  “สัมภเวสี”  (แสวงหาที่เกิด) หรือเทวดาชั้นต่ำ ภูต ผีปิศาจ ภุมเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดา เป็นต้น เท่านั้น  หาใช่ผู้วิเศษทรงฤทธิ์ล้ำเลิศอะไรไม่  เพราะการประทับทรง  หรือทรงเจ้าเข้าผี  เป็นไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง  ทางพุทธศาสนาจึงถือว่าเป็น  “เดรัจฉานวิชา”  คือความรู้ที่ไม่ล่วงพ้นไปจากวังวนแห่งความทุกข์อย่างเด็ดขาด  ทำให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่สิ้นสุด /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, พฤศจิกายน, 2565, 10:12:58 PM
(https://i.ibb.co/c1tf9rX/4u-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๓ -

                                 “ฝังรูปฝังรอย”

           ในแวดวงไสยศาสตร์จะได้ยินได้ฟังเรื่องราวการทำเสน่ห์ยาแฝด  ปล่อยคุณไสย  เสกหนังควายเนื้อหมู  ตะปู  เข้าท้องศัตรู  ฝังรูฝังรอยให้คนรักหลงใหลคลั่งไคล้จนเสียสติ  และอื่น ๆ  ซึ่งเป็นสิ่งอัศจรรย์ใจให้เห็นอยู่เสมอ  ข้าพเจ้าเคยเห็นพระอาจารย์บางองค์รดน้ำมนต์  เสกน้ำมนต์ให้คนไข้ดื่มกินแล้วปรากฏว่ามีตะปูไหลหลุดออกมาจากร่างกายคนไข้  บางคนมีน้ำมันไหลซึมออกมาจากร่างกาย  เป็นที่รู้กันว่าคนนั้นถูกกระทำ  หรือถูกคุณไสยจากอาจารย์หมอผีที่จงใจบ้างไม่จงใจบ้าง

           กาลนั้น  มีหญิงสาวคนนึ่งเป็นไทยอิสลาม  ทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์  บ้านอยู่กรุงเทพฯแถว ๆ เพลินจิต  เธอป่วยทางจิตที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย  อาจารย์ไสยศาสตร์หลายสำนักรักษาไม่หาย  ญาติจึงนำมาให้พระอาจารย์ใบฎีกาจำปีวัดจันทร์ในทำการรักษา  พระอาจารย์องค์นี้อายุอ่อนกว่าหลวงน้าไหวประมาณ ๓ ปี  ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าหลวงพี่  เป็นคนที่มินิสัยใจคอค่อนข้างนักเลง  พูดจาโผงผาง  ออกเดินธุดงค์ทุกปี  จึงคุ้นเคยกับหลวงน้าไหวแล้วพลอยคุ้นเคยกับพระเต็มไปด้วย  หญิงสาวอิสลามคนที่เป็นคนไข้ของพระอาจารย์จำปีนั้น  ไม่รู้ว่าใครเป็นคนพามาให้หลวงพี่จำปีรักษามาสองเดือนเศษแล้ว  หลวงน้าไหวเล่าให้ฟังว่า  หลวงพี่จำปีระดมอาจารย์ที่เป็นเพื่อนฝูงนักเดินธุดงค์ด้วยกันมาช่วยกันรักษา  อาการป่วยของเธอยังไม่มีอะไรดีขึ้น  อาการที่เป็นคือ  “คุ้มดีคุ้มร้าย”  ยามดีก็ทำงานได้เป็นปกติ  ยามร้ายก็ปวดหัวซึมเซาทำท่าจะตายเอาเสียให้ได้  ผลการวินิจฉัยของอาจารย์ไสยศาสตร์ทุกอาจารย์ลงความเห็นว่  าเธอถูกกระทำคุณไสย  มีผีอยู่ในร่างกายของเธอ  เป็นผีร้ายที่ไล่อย่างไรก็ไม่ออก

           วันหนึ่งข้าพเจ้าตามคำชักชวนหลวงน้าไหวไปร่วมขบวนการขับผี  เห็นรูปร่างหน้าคนไข้แล้วใจหนุ่มของข้าพเจ้าก็อดเร่าร้อนด้วยเพลิงสิเนหาไม่ได้  ผิวเนื้อ หน้าตา  ทรวดทรงองค์เอวของสาวอิสลามคนนั้นเป็นที่ต้องตาถูกใจมาก  ข้าพเจ้าชอบนัยน์ตาแขกไหนแต่ไรมาแล้วนี่ครับ  เห็นเธอนั่งสงบเสงี่ยมไม่ปรากฏอาการป่วยเลย  ไม่อยากเชื่อว่าเป็นคนป่วยไข้ทางไสยศาสตร์ที่มีผีสิงอยู่ในร่างกาย

           วันนั้นมีอาจารย์มาชุมนุมร่วมกันขับไล่ผีให้ออกจากร่าง  “สาวแขก”  ๕ องค์  นับพระเต็มด้วยเป็น ๖ องค์  หลวงพี่จำปีกล่าวในขณะฉันอาหารเพลว่า  วันนี้ต้องไล่ผีร้ายออกจากร่างสาวให้ได้  เวลาประมาณบ่ายโมงเศษ  หลวงพี่จำปีนำคณะอาจารย์ทำพิธีขับไล่ผีในร่างสาว  เริ่มทำน้ำมนต์  ข้างบาตรน้ำมนต์มีพานใส่ด้ายสายสิญจน์  มีดหมอ  หวายลงอักขระขอม  ไข่ไก่สด  หม้อดินขนาดเล็ก  สาวผู้เป็นคนไข้นั่งเท้าแขนลอยหน้าดูพระอาจารย์ ๕ องค์ที่นั่งล้อมบาตรน้ำมนต์และอุปกรณ์ไล่ผีร่วมกันสวดมนต์คาถาปลุกเสกน้ำและอุปกรณ์โดยมีข้าพเจ้านั่งอยู่ใกล้ ๆ  เมื่อเสกเป่าน้ำและอุปกรณ์เสร็จแล้ว  หลวงพี่จำปีนำขันน้ำมนต์ออกไปตั้งที่ระเบียงกุฏิ  พยักหน้าเรียกคนไข้สาวพร้อมส่งเสียงห้วน ๆ

            “ มานี่ “
            “จะทำไมเหรอ”  เธอลอยหน้าถาม

            “มา จะอาบน้ำให้”
            “เอ้า ..อาบก็อาบ”

            “นั่งตรงนี้  หันหน้าไปทางตะวันออก  เหยียดเท้าทั้งสองไปข้างหน้า”

           การขับไล่ผีออกจากร่างสาวเริ่มขึ้นเมื่อเธอนั่งเข้าที่ตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว  หลวงพี่จำปีตักน้ำมนต์ในบาตรเติมลงในถังน้ำที่เตรียมไว้แล้ว  เริ่มราดรดน้ำมนต์ลงบนศีรษะและร่างกายของเธอ  เธอก็แสดงอาการสยิวส่งเสียงร้อง  “ยื้ยย์”  ทุกครั้งที่ถูกน้ำมนต์รดราด

            “กลัวมั้ย”  หลวงพี่ถามในขณะรดน้ำมนต์และคนไข้มีอาการสั่น
            “ไม่กลัว กลัวทำไม”  หล่อนตอบเสียงห้วน ๆ

            “ไอ้นี่ล่ะกลัวมั้ย”  หลวงพี่หยิบมีดหมอในพานมาจี้ที่ศีรษะเธอ
            “ไม่กลัว กลัวทำไม”  หล่อนตอบคำเดิม

            “อันนี้ล่ะกลัวมั้ย”  หลวงพี่หยิบหวายลงอักขระขอมในพานมาพาดคอเธอ
            “โอ๊ย...กลัวแล้ว..มึงจะทำไมกู..”  หล่อนร้องแสดงอาการเจ็บปวดและโกรธ

            “กลัวก็ออกไปเร็ว ๆ ไม่ออกไปจะตีให้ตายเลย”  หลวงพี่เอาหวายนั้นจี้ไปตามตัว  พร้อมพูดขู่ขับไล่
            “โอ๊ย...กลัวแล้ว  กูออกไปไม่ได้  มึงจะให้กูออกทางไหนเล่า”

           หลวงพี่จำปีหยิบไข่ไก่ในพานกับสายสิญจน์มา  เอาสายสิญจน์ข้างหนึ่งพาดคอเธอ  อีกข้างหนึ่งพันรอบไขไก่  แล้วหลับตาเสกคาถาบริกรรม  เรียกวิญญาณร้ายในร่างสาวนั้นออกและเข้าอยู่ในฟองไข่

            “โอย....กลัวแล้ว....อย่าทำกู..ชิบผาย..มึงจะให้กูออกทางไหน”

           ผีในร่างนั้นร้องครวญครางสลับคำค่าทอเสียงดังบ้างเบาบ้าง  ข้าพเจ้าฟังเสียงและดูอาการกิริยาของเธอแล้วรู้สึกว่าไม่เป็นการเสแสร้งแต่งจริตมารยา

           พระอาจารย์ทั้งหลายรวมทั้งหลวงน้าไหว  เวียนกันราดรดน้ำมนต์  ร่างสาวได้แต่ทำตัวสยิวแล้วหัวเราะฮิ ๆ  บอกว่าเย็นสบายดี  แต่พอพระอาจารย์องค์ใดหยิบหวายมาจี้ตามตัวเธอก็ร้องโอย  กลัวแล้ว  เป็นเรื่องแปลกที่ประจักษ์แก่ตาคือ  ข้าพเจ้าลองเอาหวายนั้นมาจี้บ้าง  เธอก็ร้องว่ากลัวแล้ว ๆ  และแลเห็นเหมือนสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวหนังเธอ  พอเอาหวายจี้ท่อนแขนก็จะมีก้อนเนื้อนูนวิ่งจากบนลงล่างแล้วหายไป  จี้หัวเข่าก็วิ่งลงไปถึงข้อเท้าแล้วหายไป  ในขณะที่ลูกหนูวิ่งนั้นเธอก็ร้อง  “กลัวแล้ว  ออกไปไม่ได้”

           ข้าพเจ้าคิดถึงตำราว่าด้วยการฝังรูปฝังรอยจึงเสนอความเห็นว่า  ผีตัวนี้คงจะถูกผูกหุ่นด้วยยันต์เกราะเพชร  ใส่กล่องเหล็กฝังดินตามตำรา  “ฝังรูปฝังรอย”  เป็นแน่  ทุกท่านเห็นด้วย  หลวงพี่จำปีกล่าวว่า  คนทำคุณไสยนี้มันคงต้องเอาขี้ผึ้งผสมผงกระดูกผีปั้นเป็นหุ่นแล้วเอาสายสิญจน์พัน  ภาษาไสยเรียกว่า  “ใส่เกราะ”  เพื่อป้องกันการขับไล่ผีออกจากร่างคนที่ถูกกระทำ  ต้องค้นหาที่ฝังหุ่นนั้นให้เจอแล้วขุดขึ้นมาทำลายเสียจึงจะแก้ได้

           วันนั้นพระอาจารย์ทั้งหลายไม่สามารถขับไล่ผีออกจากร่างสาวได้  ฝ่ายขับไล่อ่อนเพลีย  ผู้ถูกขับไล่ก็อ่อนเพลีย  จึงพักรบไว้ก่อน  โดยฝ่ายขับไล่จะหาผู้ที่ชำนาญในการนั่งทางใน  ให้ดูว่าคนทำคุณไสยนี้ฝังรูปฝังรอยไว้ที่ใด  เพื่อจะได้ไปขุดทำลายเสีย

           อีกหลายวันต่อมา  ผู้เชี่ยวชาญการนั่งทางในตรวจพบตำแหน่งที่คนทำฝังรูปฝังรอยแล้ว  หลังจากตรวจอาการและซักถามสาวเจ้าจึงทราบว่า  เธอเคยไปเมืองสงขลา  ถูกหมอผีในจังหวัดนั้นเอากระดูกชายอิสลามที่ตายไปแล้วมาป่นบดละเอียดใส่อาหารให้เธอกินส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งผสมขี้ผึ่งปั้นเป็นหุ่นชายหญิงกอดกัน  เอาด้ายตราสังผูกข้อมือผูกข้อเท้าใส่กล่องเหล็กเสกเป่าผนึกแน่น  แล้วฝังไว้ใต้ต้นไทรทางทิศตะวันตก  สถานที่นี้อยู่ตรงเขตติดต่อหาดใหญ่  สงขลา  จะต้องไปขุดเอาหีบเหล็กนั้นขึ้นมาทำลายหุ่นขี้ผึ้งเสียก่อนจึงจะไล่ผีในร่างนี้ออกได้

           เรื่องก็เป็นดังที่อาจารย์ทางในนั้นกล่าว  หลังจากไปค้นหารูปรอยที่ฝังนั้นพบ  ขุดขึ้นมาทำลายแล้ว  หลวงพี่จำปีก็เรียกผีในร่างสาวออกจากร่างเข้าอยู่ในฟองไข่ไก่  แล้วถ่วงน้ำไป  หญิงสาวคนนั้นก็หายป่วยเป็นปกติในที่สุด. /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, พฤศจิกายน, 2565, 10:33:59 PM
(https://i.ibb.co/p01GmMj/hrca5j-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๔ -
                                  “ปลัดขิก เครื่องรางของขลัง”

           คำว่า  “ปลัด”  ในคำให้การต่อไปนี้ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชประจำกระทรวง ประจำจังหวัด อำเภอ และพระฐานานุกรมแต่อย่างใด  หากว่าหมายถึงวัตถุแกะสลักเป็นรูปจำลองอวัยวะเพศชาย  ที่เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า “ปลัดขิก” หรือ ”ไอ้ขิก” และ “ขุนเพ็ด”  เป็นเครื่องรางของขลังทางไสยศาสตร์ชนิดหนึ่ง  ส่วนมากจะทำด้วยไม้มงคลเช่น  คูนตายพราย  ราชพฤกษ์ตายพราย  มะยมตายพราย   เขาควาย  หิน  ดินเผา  กัลปังหา เป็นต้น
 
           สำหรับกัลปังหาเป็นของหายาก  จึงมีจำนวนน้อย  เท่าที่รู้เห็นมาก็เป็นของหลวงพ่ออี๋แห่งวัดสัตหีบ  จังหวัดชลบุรีนั่นแหละ

           มีข้อที่สังเกตตั้งไว้ว่า  ถ้าใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องรางของขลังแล้วมักจะเรียกกันว่า “ปลัดขิก”  หากไม่เป็นเครื่องรางของขลังก็มักจะเรียกกันว่า “ไอ้ขิก”  ส่วนที่ทำเป็นอันหรือตัวใหญ่ ๆ ไว้ตามศาลเจ้านั้นจะเรียกกันว่า “ขุนเพ็ด” บ้าง  ดอกไม้เจ้าแม่บ้าง  เจ้าแม่ที่เฮี้ยน ๆ ส่วนมากจะชอบให้ลูกช้าง (คือคนที่เคารพนับถือ) บูชาด้วย “ขุนเพ็ด” แทนดอกไม้  จึงมักจะเห็นรูปจำลองอวัยวะเพศชายตั้งวางเกะกะอยู่ตามศาลเจ้าแม่ทั้งหลาย

           ทำไมนักไสยศาสตร์จึงถือว่ารูปจำลองอวัยวะเพศชายเป็นเครื่องรางของขลัง  เป็นปัญหาที่ตอบให้รวบรัดชัดเจนได้ยาก  ผู้รู้บางท่านอธิบายว่า “ปลัดขิก” วิวัฒนาการมาจาก “พระศิวลึงค์”  โดยความเชื่อของคนในชมพูทวีป (มีอินเดียเป็นศูนย์กลาง) ว่า  พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้มีมหิทธานุภาพยิ่ง  เป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในโลก  มีผู้เคารพนับถือพระศิวะมาก  และได้สร้างจำลองอวัยวะเพศของพระศิวะซึ่งเรียกกันว่า  “ศิวลึงค์”  ไว้เป็นที่เคารพสักการบูชาแทนองค์พระศิวะผู้เป็นเจ้า  คนในสมัยนั้นไม่นิยมปั้นรูปตัวบุคคลที่คนเคารพนับถือ  มักจะจำลองอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งบุคคลที่เคารพนับถือนั้น  เช่น  รอยเท้า  และอวัยวะเพศ  มีรอยเท้าพระราม  รอยพระพุทธบาท  ศิวลึงค์  และ  พระโยนีแห่งอุมาเทวี  เป็นต้น

           ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ  มีพระศิวลึงค์แกะสลักด้วยหินแท่งใหญ่ตั้งโด่ชี้ฟ้าอยูในบริเวณเขตพุทธาวาส ๑ อัน (หรือจะเรียกว่าตัว?) พระศิวลึงค์หรือปลัดขิกใหญ่อันนี้เขาว่ามีความขลังศักดิ์สิทธิ์นัก  สตรีที่ไม่มีลูกอยากได้ลูก  แอบเข้าไปบนบานอ้อนวอนขอลูกจากท่านศิวลึงค์แล้วมักได้สมปรารถนา  มีบางนางใจกล้าจนถึงขนาดปีนขึ้นไปนั่งคร่อมบนหัวท่านปลัด  นัยว่าเพื่อให้ท่านเสกเป่าลูกเข้าท้องนาง  เขาว่าสมความปรารถนาไปหลายรายเหมือนกัน  ด้วยเหตุนี้กระมังจึงปรากฏว่ามีคนเอาทองคำเปลวไปปิดองค์ท่าน  และเอาผ้าแพรเยื่อไม้หลายสีไปผูกคล้ององค์ท่านเต็มไปหมด

           สมัยเป็นเด็กและเป็นสามเณร  ข้าพเจ้าได้เห็นได้ฟังเรื่องปลัดขิก  และประวัติปลัดขิกของอาจารย์วัดหนึ่งในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  ท่านทำด้วยหินมีขนาดเท่าหัวแม่มือ  เขาเล่าว่าตัวปลัดขิกของพระอาจารย์ท่านนี้อยู่ในสระน้ำหน้าโบสถ์  ใครอยากได้ต้องเอาเบ็ดไปนั่งตกในสระน้ำ  ปลัดขิกจะกินเบ็ดเหมือนปลา  พอวัดติดเบ็ดขึ้นมาพ้นน้ำแล้วปลาจะกลายเป็นปลัดขิก  แต่ถ้าตกลงน้ำก็จะกลายเป็นปลาเหมือนเดิม  

           ดังนั้นคนที่ไปตกปลัดขิกต้องใช้ความสามารถคือรวดเร็วเป็นพิเศษ  พอรู้สึกว่าปลากินเบ็ดแล้วต้องรีบวัดคันเบ็ดเอาปลาขึ้นพ้นน้ำมาอยู่บนดินทันที  จึงจะได้ท่านปลัดขิกสมใจ  บางคนไปนั่งตกปลาปลัดขิกนานเป็นวัน ๆ ก็ไม่ได้เลยสักตัวเดียว  บางคนก็ได้เป็นหลายตัว  ถือว่าเป็นโชคดี  คนที่ไม่ได้ก็ถือว่าอับโชคนั่นแหละ

           ปลัดขิกที่นิยมใช้เป็นเครื่องรางของขลังในทางเมตตามหานิยม จังงัง แคล้วคลาด และ อยู่ยงคงกระพัน จะใช้เชือกด้ายร้อยรูทางโคนแล้วคาดเอวให้หัวห้อยลงดิน  ว่ากันว่าปลัดขิกจะขลังมากขึ้นถ้าเจ้าของจะคาดเอวไปเที่ยวสำนักโสเภณี  ในขณะปฏิบัติการจองเวรอันสุนทร  ให้รูดองค์ปลัดไปไว้ข้างหลัง  ครั้นปฏิบัติกามกิจเสร็จแล้วให้รีบรูดกลับมาไว้ข้างหน้าให้องค์ท่านปลัดขิกได้สัมผัสอวยวะเพศหญิงนางนั้น  หรือแม้จะมีเพศสัมพันธ์กับหญิงใด ๆ ก็ขอให้เอาปลัดขิกไปร่วมด้วย  จะเพิ่มความขลังในทางเมตตามหานิยมมากขึ้นเป็นทวีคูณ  ไม่ทราบเหมือนกันว่าความดังกล่าวนี้เท็จจริงประการใด  ข้าพเจ้าไม่อยากเชื่อว่าปลัดขิกท่านจะพิเรนทร์พิลึกพิลั่นปานนั้น

           เป็นเรื่องแปลกสำหรับปลัดขิกอย่างหนึ่งคือ  ใครมีปลัดขิกติดตัวไปไหน ๆ แม้จะมีเสน่ห์มหานิยมก็ตาม (ถ้าขลัง)  แต่มักจะเป็นที่ติเตียนนินทาของบรรดาสุนัขทั้งหลายทั่วไปเลย  คือสุนัขทั้งเชื่องและดุร้ายเห็นแล้วจะพากันเห่ากรรโชกไม่ละเว้น  สุนัขที่ดุร้ายบางตัววิ่งเข้าใส่เหมือนดังมันตั้งใจจะกัด  แต่ก็กัดไม่ได้  บางตัววิ่งชนขาอ้างปากกัดไม่ขึ้น  บางตัววิ่งเข้าถึงตัวคนที่พกพาปลัดขิกแล้วก็หยุดชะงักตรงหน้าเหมือนถูกนะจังงัง  ไม่รู้เป็นไรสุนัขจึงไม่ชอบคนพกพาปลัดขิกติดตัว  นี่ถ้าคนนั้นเป็นขโมยคงเข้าไปลักของใครไม่ได้ เพราะสุนัขเป็นมันจะเห่ากรรโชกให้เจ้าของทรัพย์รู้เป็นแน่

           คาถาปลุกเสกปลัดขิกค่อนข้างไปทางหยาบโลน  ข้าพเจ้าจำได้ไว้ ๒ บท  นอกนั้นหยาบโลนเกินกว่าจะจดจำไว้  บทหนึ่งอาจารย์สุขศิษย์คนล่าสุดของหลวงพ่ออี๋  วัดสัตหีบท่านสอนให้จำไว้ว่า “ นะหัวโต โมหัวแดง ทิ่ม ๆ แทง ๆ หัวแดงหัวโต”  อีกบทหนึ่งไม่รู้เป็นของใคร  มีหลายอาจารย์ท่านใช้กัน  แม้หลวงพี่จำปีวัดจันทร์ในก็ใช้บทนี้  (ต้องขออภัยที่ไม่อาจนำมาเผยแผ่ตรงนี้  ด้วยเพราะถ้อยคำหวาดเสียวเหลือเกิน / ผู้โพสต์)

           ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมพิธีปลุกเสกปลัดขิกของพระอาจารย์ใบฎีกาจำปีในอุโบสถวัดจันทร์ใน  ท่านเอาปลัดขิกกองสุมบนผ้าขาวหลายร้อยตัวตรงหน้าท่าน  ในมือจับปลัดขิกมือละ ๓ ตัว  นั่งขัดสมาธิหลับตา  ภาวนาทำปากขมุบขมิบ  แล้วมีเสียงดังขึ้นพึมพำเบา ๆ  และดังขึ้นเรื่อย ๆ  ร่างที่นั่งขัดสมาธิเริ่มสั่นเทิ้มพร้องเสียงดัง.... เมื่อถึงขั้นสุดท้ายหรือสุดยอด หลวงพี่เอามือทั้งสองที่ถือกำปลัดขิกนั้นชนกัน ภาวนาย้ำคำว่า มึงตำกูกูตำมึง ๆๆๆๆ ด้วยเสียงอันดังและหัวปลัดขิกนั้นชนกันแรง ๆ สุดท้ายท่านลุกพรวดขึ้นกระโดดเต้นหยองแหยงพร้อมกับเอาหัวปลัดขิกชนกันสลับขึ้นลง  จนเหนื่อยหรือความขลังถึงสุดขีดแล้วก็ไม่ทราบ  ท่านนั่งลงภาวนาเอาหัวปลัดขิกชนกันเสียงดังเป๊ก  เป็นอันเสร็จพิธีปลุกเสก  ข้าพเจ้านั่งดูพฤติกรรมนั้นแล้วอดหัวเราะไม่ได้  แต่ก็ไม่วิพากย์วิจารณ์อะไรให้เป็นที่ระคายเคืองท่านผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, พฤศจิกายน, 2565, 10:25:27 PM
(https://i.ibb.co/swCvyyJ/ed52d3-1.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่ออี๋-วัดสัตหีบ

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๕ -
           ในบรรดาปลัดขิกเห็นจะหาโด่งเท่าของหลวงพ่ออี๋ (พระครูวรเวทมุนี) วัดสัตหีบได้ยาก  ส่วนใหญ่ปลัดขิกของท่านทำด้วยกัลปังหาสีดำ  มีเรื่องเล่าถึงอภิหารปลัดขิกของท่านเหมือนนิยายว่า  มีหญิงคนหนึ่งไปกราบท่านด้วยความเคารพ  ตอนกราบลาท่านมอบกระดาษห่อวัตถุมงคลให้ห่อหนึ่ง  หญิงคนนั้นรับแล้วถือมาลงเรือเมล์กลับบ้านถึงกลางทางนึกอยากรู้ว่าของที่หลวงให้มานั้นเป็นอะไร  คลี่ห่อกระดาษออกแล้วเห็นปลัดขิกก็ตกใจและรังเกียจจึงโยนทิ้งน้ำไป  ปลัดขิกนั้นได้แสดงอภินิหารว่ายน้ำตามเรือไปติด ๆ  นางและใคร ๆ ในเรือเห็นเช่นนั้นก็ต่างแลตะลึง  หายจากตกตะลึงแล้วนางก็รีบคว้าจับปลัดขิกนั้นมาเทินหัวด้วยความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

           หลวงพ่ออี๋ (ขื่อน่ารัก) มรณภาพไปแล้ว  ในวงการทหารเรือและชาวบ้านชาวเมืองในแถบทะเลตะวันออกและใกล้เคียงยังเคารพนับถือท่านอยู่ไม่เสื่อมคลาย  ลูกศิษย์ของหลวงพ่ออี๋ที่เป็นพระอาจารย์มีชื่อเสียงที่คนเคารพนับถือกันว่า  เก่งในการทำและปลุกเสกปลัดขิก  เช่น  หลวงพ่อหิน  หลวงพ่อหอม  อีกหลายท่านในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก  ข้าพเจ้าได้รู้จักคุ้นเคยพระลูกศิษย์หลวงพ่ออี๋องค์หนึ่งชื่อทองสุข หนุนภักดี  ท่านมีวิทยาคุณสูงไม่น้อย  แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก  เรารักกันเพราะท่านไปวัดรางเนื้อตาย (มฤคทายวัน)  วัดที่ข้าพเจ้าเคยอยู่และบวชเป็นพระที่นั่น  กลับไปกราบเยี่ยมหลวงพ่อแปลก  พบครั้งแรกเห็นว่าท่านเป็นพระที่มีอะไรแปลก ๆ ในความคิดของข้าพเจ้าว่าท่านเป็นคนประเภทที่เรียกว่า  ไม่ค่อยเต็มเต็งนัก

           หลวงพ่อทองสุขเป็นคนร่างเล็ก  ท่านบอกเล่าประวัติให้ฟังว่าเป็นลูกคนที่ ๓ ของคุณพระในตระกูลหนุนภักดี  เป็นน้องคนละแม่ของ พล.ต.ท.ฉัตร หนุนภักดี  เดิมท่านรับราชการเป็นทหารเรือ  มียศเป็นนายเรือโท เป็นศิษย์หลวงพ่ออี๋เช่นเดียวกับทหารเรือทั่วไป  บวชหลังจากที่ออกศึกรบกันแล้วถูกยิงจนไส้ขาด  รอดตายมาได้เพราะบารมีหลวงพ่ออี๋  เมื่อรักษาตัวจนหายดีแล้ว  จึงลาออกจากราชการทหาร  บวชอยู่กับหลวงพ่ออุปัฌาย์อี๋วัดสัตหีบ  เล่าเรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่ออี๋จนหมดสิ้น  จากนั้นออกเดินธุดงค์ขึ้นเหนือลงใต้ไปทั่วประเทศไทย  ยามว่างจากธุดงค์ก็ท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ จนมาพบหลวงพ่อแปลกวัดรางเนื้อตาย  แล้วอัธยาศัยต้องกัน  จึงอยู่ช่วยงานหลวงพ่อแปลกหาเงินสร้างโรงอุโบสถของวัดที่ยังไม่มี

           ท่านบอกว่าหลวงพ่ออี๋ก่อนมรณภาพไม่สมบัติอะไรมอบให้เลย  มีแต่ปลัดขิกตัวใหญ่เท่าแขนเด็ก  ทำด้วยไม้คูนตายพรายตัวเดียว  ท่านร้อยสายประคดเอวติดตัวไว้เป็นของรักของหวงที่สุด

           ปลัดขิกหลวงพ่อทองสุขแสดงอนิหารให้ข้าพเจ้าเห็นหลายครั้ง  กล่าวคือ  คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยมาหา  ท่านวินิจฉัยว่าถูกกระทำคุณไสย  จึงทำน้ำมนต์โดยใช้ปลัดขิกตัวใหญ่นั้นใส่ลงไปในถังน้ำมนต์  ปลัดขิกนั้นมีอาการเหมือนปลาช่อน  “ดำผุดดำว่าย”  ในน้ำมนต์ขณะที่ท่านกล่าวคาถาบริกรรมพึมพำ ๆ  เสร็จแล้วตักน้ำมนต์ราดรดคนไข้  ไล่ผีจากคุณไสยออกไปจากร่างคนไข้นั้นได้อย่างง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ

           อีกอย่างหนึ่งปลัดขิกบวกคาถาของหลวงพ่อทองสุข  ช่วยให้หญิงท้องแก่ใกล้คลอดดื่มกินแล้วจะคลอดบุตรได้ง่ายมาก  จึงมีหญิงท้องแก่มาขอน้ำมนต์นี้กันมาก  หลวงพ่อท่านจะทำน้ำมนต์ใส่โอ่งไว้สองโอ่ง  โอ่งหนึ่งสำหรับหญิงท้องแก่  อีกโอ่งหนึ่งสำหรับคนทั่วไปดื่มรักษาโรคนานา

           ท่านปลัดขิกใหญ่ของหลวงพ่อทองสุกช่างทะเล้นนัก  เวลามีแขกสตรีมาหานั่งสนทนากับหลวงพ่อ  ท่านจะจับเลื่อนคุณปลัดรูดไปไว้ข้างหลัง  เมื่อคุยไป ๆ ปลัดตัวนั้นก็เลื่อนมาข้างหน้าแล้วโผล่หัวเสนอหน้าให้แขกเหรื่อเห็น  ท่านต้องรูดกลับไปข้างหลังเป็นหลายครั้ง  สภาพของหลวงพ่อทองสุขยามอยู่ในวัดท่านจะแต่งตัวตามสบาย  ไม่ชอบห่มจีวรรับแขกเหมือนพระอาจารย์ทั่วไป  ท่านใส่อังสะลังกาตัวเดียว  อย่างดีก็เอาจีวรจีบแล้วพาดบ่าไว้เท่านั้น  ปลัดขิกจึงมีโอกาสโผล่หน้าให้ใคร ๆ เห็นเสมอ  บางวันท่านนอนหลับ (จำวัด) ข้าพเจ้าเอาแป้งไปทาหัวปลัดขิกของท่านเล่น  เมื่อถูกแป้งทาหัวท่านปลัดขิกก็ผงกหัวหงึกหงัก ๆ ดูเหมือนกิ้งก่า สนุกดี

           แปลก ..บางครั้งมีคนเอาน้ำใส่ขันมาขอให้หลวงพ่อทองสุขทำน้ำมนต์ให้เพื่อรักษาโรคปวดหัวตัวร้อน หรือเพื่ออาบเป็นมงคลไล่เสนียดจัญไร  ท่านนั่งคุยจ้อเรื่องโน้นเรื่องนี้ไม่เสกเป่าทำน้ำมนต์ให้สักที  จนแขกแสดงอาการกะวนกระวายเพราะรอนาน  พระเต็มกล่าวเตือนให้ทำน้ำมนต์  ท่านกลับบอกว่ากำลังทำอยู่  แล้วก็เป่าพรวดร้องว่า  เอ้า เสร็จแล้ว  เอาไปได้  บางทีท่านจับขันน้ำมนต์แล้วว่าคาถา  “อิติปิ โส ภะคะวา...ดัง ๆ ไปจนจบ  บางทีก็ว่าบทกรวดน้ำ อิมินา....บางทีว่าคำบังสุกุล อนิจจา....  ทำน้ำมนต์ไม่น่าขลัง แต่ก็ขลัง  ข้าพเจ้าเคยถามหลังจากแขกเอาน้ำมนต์ไปแล้วว่า  ทำไมจึงทำนำมนต์ด้วยบทกรวดน้ำ  บังสุกุลอย่างนั้น  ท่านตอบว่า  

           เรากรวดน้ำให้เขาแล้ว  เขาก็สิ้นเวรสิ้นกรรมไป  ส่วนบทบังสุกุลท่านตอบว่า  เราพิจารณาปลงเสียแล้วมันก็แล้วกันไป  เวรภัยก็จะไม่มี  นี่ก็แปลกดีนะ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤศจิกายน, 2565, 10:28:18 PM
(https://i.ibb.co/wSVpndw/YLw-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๖ -
           ความประหลาดของหลวงพ่อทองสุขมิใช่เพียงที่กล่าวเท่านั้น  ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่า  ท่านรับปากหลวงพ่อแปลกหาเงินสร้างโรงอุโบสถวัดมฤคทายวันให้สำเร็จเรียบร้อย  อุโบสถของวัดนี้มีใช้ทำสังฆกรรมได้แล้วก็จริง  แต่โรงอุโบสถใช้ไม้ทำฝาพอกันแดดลมฝนได้เท่านั้น  หลวงพ่อแปลกต้องการทำผนังก่ออิฐถือปูนเช่นโรงอุโบสถของวัดทั่วไป  หลวงพ่อทองสุขรับปากว่าจะหาเงินมาทำต่อให้ดังความประสงค์ของหลวงพ่อแปลก  จึงเริ่มทำการรักษาคนไข้ตามวิธีการของท่าน  คือทำน้ำมนต์รักษาโรค  ตรวจโรคด้วยการนั่งทางใน  ให้คนไข้นั่งหันหลังให้พนมมือเหยียดสองเท้าตรง  หลวงพ่อท่านมีกระดาษดินสอ  ในกระดาษนั้นวาดภาพลายเส้นเป็นโครงร่างคน  เมื่อคนไข้นั่งเข้าที่เรียบร้อยแล้ว  ท่านก็นั่งบริกรรมเพ่งดูร่างคนไข้นั้น  พบเป็นบาดเจ็บด้วยโรคอะไรตรงไหนก็เอาดินสอทำเป็นจุดนั้นตามภาพโครงร่างในกระดาษ  ตรวจเสร็จแล้วถามว่ามีอาการอย่างนี้อย่างนั้นไหม  เมื่อคนไข้รับว่าใช่  ก็เขียนใบสั่งยาให้ไปทำกิน  ยาทุกขนานต้องใส่น้ำตาล  บางทีก็สั่งให้กินนั่นกินนี่อย่างง่าย ๆ  เช่น  เป๊ปซี่  น้ำส้ม  น้ำหวาน  ไข่ไก่  ผักต่าง ๆ  ดูแล้วไม่น่าจะเป็นยารักษาโรคได้  แต่คนไข้กินตามสั่งแล้วโรคหายอย่างไม่น่าเชื่อ  ค่าตรวจรักษาคิดเพียงคนละ ๕ บาท  หลังจากเขากินยาตามสั่งหายจากโรคแล้วก็นำเงินมาถวายสมทบทุนสร้างโรงอุโบสถ  จนหลวงพ่อแปลกสร้างโบสถ์ไปได้ครึ่งหลังในเวลาเพียง ๓ เดือนเท่านั้น

           ออกพรรษาและเป็นช่วงปิดภาคการเรียนบาลีแล้ว  ปีนั้นดูเหมือนจะเป็น พ.ศ. ๒๕๐๔  ข้าพเจ้าเดินทางออกจากวัดจันทร์นอกไปวัดมฤคทายวัน  ไปเข้าร่วมขบวนการหาเงินกับหลวงพ่อทองสุข (เพื่อสร้างโรงอุโบสถหลังที่ให้กำเนิดพระเต็ม) ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสาคนวัยหนุ่มนั่นแหละครับ

           ข่าวการรักษาโรคแบบประหลาดของหลวงพ่อทองสุขแพร่กระจายไปไกลถึงอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี  จึงมีทายกวัดหนึ่ง (จำได้เลา ๆ ว่าชื่อหัวป้อม) มาขอนิมนต์ไปตั้งกองรักษาโรคที่วัดนั้น  อยู่ในเขต อ. ศรีประจันต์  ติดต่อกับอำเภอดอนเจดีย์  พระเต็มทำหน้าที่เป็นเสมียนวาดหุ่น (โครงร่างคน) และจดตัวยาตามคำบอกหลวงพ่อทองสุข  การวาดหุ่นคนก็วาดอย่างง่าย ๆ  เอาดินสอวาดส่วนหัวเป็นวงกลมลากเส้นคอเส้นเดียว  ส่วนลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขีดเส้นแยกสองแขนสองขา  เท่านี้ก็เป็นหุ่นที่ใช้ได้แล้ว  เมื่อมีคนไข้มาให้หลวงพ่อตรวจ  ก็เขียนชื่อนามสกุลคนไข้นั้นลงในแผ่นกระดาษที่มีรูปหุ่นให้ถือไว้  รอคิวเข้าตรวจต่อไป  ครั้นคนไข้นั่งพนมมือเหยียดเท้าตรงหันหลังให้หลวงพ่อทองสุขแล้ว  ท่านนั่งหลับตาบริกรรมด้วยคาบลม (เหมือนเพ่งกสิณ) เห็นพิรุธในร่างกายนั้นตรงใด  ตรงไหนพิการเจ็บป่วย  ก็จะเอาดินสอก๊อปปี้สักหุ่นตรงนั้นเป็นจุดเครื่องหมาย  ตรวจเสร็จก็จะสั่งให้พระเต็มจดบอกตัวยาให้คนไข้ไปหาเอาตามพื้นบ้าน  หรือซื้อตามร้านค้า  ปรุงรับประทานตามกำหนด  ยาทุกขนานของท่านต้องใส่น้ำตาลทรายแดงบ้าง  น้ำตาลทรายกรวดบ้าง  น้ำตาลทรายขาวบ้าง  น้ำตาลปี๊บ  น้ำตาลปึกบ้าง  ท่านว่าที่ต้องใส่น้ำตาลก็เพื่อทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น  บางโรคก็เป็นยาที่ทำได้ง่าย  เช่นสั่งให้รับประทานถั่วเขียวต้มน้ำตาล  ถั่วดำต้มน้ำตาล  เป็นต้น  คนไข้กินยาตามคำสั่งท่านแล้วส่วนมากหายเจ็บป่วยอย่างน่าอัศจรรย์

           คนไข้ประเภทหนึ่งที่หลวงพ่อทองสุขรับรักษาแล้วทำความยุ่งยากวุ่นวายให้ท่านและคณะไม่น้อย  คือคนสติไม่ดี (ก็คนบ้านั่นแหละ) คุ้มดีคุ้มร้าย  มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง  ผู้ชายมีน้อยและไม่ค่อยมีปัญหา  คนไข้หญิงมีมากกว่าชายและมีปัญหามาก  หญิงที่สติไม่ดีส่วนมากเป็นเด็กหญิงสาวรุ่น  เลือดลมไม่ดีจึงทำให้สติไม่ดีไปด้วย หลวงพ่อรดน้ำมนต์ให้บ้าง  ให้กินยาบ้าง  อาการดีขึ้นแต่ไม่หายขาด  ญาติยังไม่ให้กลับบ้าน  ให้อยู่วัดใกล้หลวงพ่อเพื่อสะดวกในการรักษาดูแล  จึงมีเด็กสาวเป็นคนไข้ประจำหรือคนไข้ภายในของหลวงพ่ออยู่ในวัดนั้น  คนไข้เหล่านี้สติไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว  ปัญหายุ่งยากจึงต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา  บางคนเหมือนเธอ “บ้าผู้ชาย”  เห็นหนุ่มชาวบ้านและพระหนุ่มเณรหนุ่มแล้วทำตาหวานเยิ้ม  ยิ้มยั่วยวนชวนใคร่  พูดจาพาดพิงเมถุนธรรมอย่างโจ่งแจ้ง  กลางค่ำกลางคืนบางคืนนางก็เที่ยวเคาะประตูห้องนอนพระเณร  กวนใจให้พระเณรหนุ่มคิดฟุ้งซ่านไปในทางอกุศลกรรม  บางครั้งกวนข้าพเจ้าจนเกือบตบะแตก  ถ้าไม่คิดว่าหล่อนเป็นบ้าแล้วละก็คงเอาตัวไม่รอด

           มีชายคนหนึ่งอายุ ๒๐ ปีเศษ  รูปร่างสูงใหญ่  ชื่อเป็งสูน  เป็นลูกชาวจีน  บ้านอยู่ไม่ไกลวัดนั้นนัก  เขาเป็นคนสติไม่ดีมาประมาณ ๓ ปีแล้ว  หลวงพ่อรดน้ำมนต์บ้างให้กินยาบ้าง  อาการดีขึ้นเรื่อย ๆ  เขาไม่กลับไปนอนบ้าน  อยู่เป็นลูกศิษย์วัดพร้อมกับรักษาตัวไปด้วย  สาเหคุการเสียสติของเขาเท่าที่แม่เล่าให้ฟังว่า  เขาเป็นลูกคนโตของครอบครัว  จบการศึกษาแค่ชั้น ม.๓   เตี่ยซึ่งมีอาชีพขับรถบรรทุกเสียชีวิตลง  เป็งสูนจึงเลิกเรียนหนังสือเพื่อดำเนินกิจการสืบแทนเตี่ย  โดยจ้างคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า มีเขาติดรถควบคุมดูแลทุกเที่ยว  จนในที่สุดเขาเลิกจ้างคนขับรถ  เป็นคนขับรถเสียเอง  วันหนึ่งเขาขับรถบรรทุกสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดหนองคาย  รถผ่านดงพญาเย็นเทือกเขาใหญ่ในยามค่ำคืน  ถึงแถวกลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  มีรถชนคนนอนตายอยู่กลางถนน  เขาไม่ทันสังเกตเห็นจึงขับรถทับซ้ำไป  มารู้เอาตอนที่ตำรวจโคราชสกัดจับได้  ถูกตั้งข้อหาว่าขับรถชนคนตาย  หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเขาเป็นโชเฟอร์ตีนผี  เขาเสียใจ  คิดมากจนเสียสติไปในที่สุด  ข้าพเจ้าชอบคุยกับเป็งสูนในยามที่เขามีอารมณ์ดี  สติสัมปชัญญะเป็นปกติ  ได้ฟังประสบการณ์ในการรับจ้างบรรทุกสิ่งของไปในที่ต่าง ๆ เพลินเลย

           ที่วัดนี้มีคนมีคนป่วยไข้หลายชนิดจากหลายหมู่บ้าน  หลายตำบล หลายอำเภอ  มาขอให้หลวงพ่อทองสุขตรวจรักษาวันละไม่น้อยกว่า ๕๐ คน  บางวันมีมากถึง ๓๐๐ คน  ข้าพเจ้าทำหน้าที่เสมียนเขียนชื่อคนไข้และจดชื่อตัวยาจนมือปวดเมื่อยไปทั้งแขน  หลวงพ่อทองสุขหนักกว่าข้าพเจ้าเสียอีก  เพราะต้องนั่งทำจิตเป็นสมาธิเพ่งดูความบกพร่องต่าง ๆ ในร่างกายคนไข้  โดยใช้  “คาบลม”  คือ  สูดลมหายใจเข้าแรงและยาวแล้วกลั้นลมหายใจนิ่งไว้ในสมาธิจิต  เพ่งดู  จึงบรรลุผล  บางวันท่านคร่ำเคร่งหนักตรวจดูโรคคนไข้ทั้งวัน  พอตกตอนเย็นปิดรับการตรวจรักษาแล้ว  ล้มตัวนอนแผ่อย่างคนหมดเรี่ยวแรง  พอฟื้นตัวขึ้นก็นั่งเอาสำลียอนหูทั้งสองข้าง  เพราะหูอื้อ  ฟังอะไรไม่ค่อยได้ยิน  บางวันเห็นมีเลือดแดงติดสำลีออกมาอย่างชุ่มโชก  ข้าพเจ้าสันนิษฐาน (คิดเอาเอง) ว่าเลือดออกในรูหูเพราะท่านใช้คาบลมและกลั้นลมหายใจมากเกินไป  เส้นโลหิตฝอยในรูหูแตก  เลือดไหลออกมา  เป็นที่น่ากลัวและน่าสงสารไม่น้อย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, พฤศจิกายน, 2565, 11:01:07 PM
(https://i.ibb.co/jgh2G00/1-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๗ -
           พระที่อยู่ประจำในวัดนี้มีเพียง ๔ องค์ และเป็นพระหลวงตาทั้งหมด  องค์ที่เป็นสมภารมีอายุประมาณ ๖๐ ปีเศษ  ทุกองค์ไม่มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเท่าที่ควร  หนังสือไทยก็พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น  บางองค์อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย  บทพระสูตรและปาฐะหรือบทสวดมนต์ต่าง ๆ ท่านก็ว่าได้ เพียงที่ต่อจากปากองค์อื่นไม่มากนัก เรียกว่า “พอยาไส้”  คือพอจะสวดในพิธีต่าง ๆ เช่นงานศพ  มีอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ มาติกา บังสกุล  ส่วนสวดแจงนั้นบางองค์ว่าไม่ได้เลย  บางองค์ก็พอกล้อมแกล้มพลอยเขาไป  บทสวดในงานมงคลต่าง ๆ ก็ว่าได้ไม่มากนัก  ข้าพเจ้าเป็นพระหนุ่มองค์เดียวที่ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวในวัดนั้น  มีฐานะเป็นพระอาคันตุกะคือพระจรที่ร่วมคณะหลวงพ่อทองสุขทำหน้าที่เลขาฯ ของหลวงพ่อ  จึงเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านทั่วไป  ใคร ๆ ก็อยากใกล้ชิดสนิทสนมด้วย  รายได้ของข้าพเจ้ามีมากขึ้นไม่ใช่จากการทำหน้าที่เลขาพระหมอ  เพราะเงินที่ได้จากการตรวจโรคคนไข้ (คนละ ๕ บาท) นั้น  มีกรรมการวัดรางเนื้อตายที่ร่วมคณะเราเป็นคนเก็บเข้าบัญชีวัดไว้ทุกบาททุกสตางค์ไม่ตกหล่นเลย  ข้าพเจ้าได้เงินเข้าย่ามจากกิจนิมนต์ต่าง ๆ  บ้านใดทำบุญพิธีอะไรในละแวกบ้านตำบลนั้นก็ล้วนแต่นิมนต์พระเต็มไปเจริญพุทธมนต์  และเทศน์อานิสงส์งานบุญนั้นเสมอ  เพราะข้าพเจ้าสวดมนต์เก่งอ่านคัมภีร์เทศน์คล่องเสียงดังฟังชัด  คนชอบฟัง

           ถ้าไม่เป็นพระภิกษุ  ข้าพเจ้าคงเป็นคน  “มากชู้หลายเมีย”  เสียแน่เลย  เพราะในยามที่อยู่วัดนั้น  มีหญิงสาวหลายคนเข้ามาทำความสนิทสนมคุ้นเคย  ให้เลศนัยเชิงชู้สาว  ทำให้พระเต็มจิตใจไหวหวั่นไปตามธรรมดาของปุถุชน  แต่ก็มิได้ล่วงละเมิดระเบียบวินัยอันใด  อาจจะเป็นเพราะหญิงสาวเหล่านั้นมิใช่คู่บุญคู่กรรมของข้าพเจ้า  จึงไม่มีนางใดถูกตาถูกใจให้เลือกเป็นเป็นคู่ครองเลย  ราคาสินสอดในการแต่งงานของคนพื้นบ้านนั้นก็ว่ากันว่าแพงลิบลิ่วทีเดียว

           มีหญิงสาวคนหนึ่ง  อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า  บ้านอยู่ไม่ไกลวัดนัก  รูปร่างหน้าตาอยู่ในเกณฑ์สวยงามพอใช้  กิริยามารยาทเรียบร้อยนุ่มนวลน่ารัก  มีน้องสาวคนหนึ่ง  สวยคม  แต่ออกจะเปรี้ยวไปหน่อย  คนพี่เข้าวัดทุกวันและต้องหาโอกาสสนทนากับพระเต็มทุกวัน  ตอนค่ำเป็นเวลาพักผ่อนของหลวงพ่อทองสุขแล้วก็นิมนต์พระเต็มไปเที่ยวบ้านบ่อย ๆ  พ่อแม่พี่น้องของเธอก็นิยมชมชอบพระเต็มมาก  เพราะสนทนากันถูกอัธยาศัยดี

           วันหนึ่งข้าพเจ้ารับนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ในงานพิธีมงคลสมรสที่บ้านซึ่งอยู่ทางเหนือวัด  เจ้าสาวเป็นคนร่างใหญ่ผิวดำคล้ำ  ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนั้นรูปร่างเหมือนพระเอกลิเกผิวเนื้อดำพอ ๆ กับเจ้าสาวนั่นแหละ  ทั้งสองฝ่ายเป็นชาวนาที่มีฐานะดีพอ ๆ กัน  ขณะที่ฉันอาหารนั้น เขายกขันหมากมาตั้งกลางห้องต่อหน้าพระสงฆ์  เถ้าแก่ได้ประกาศให้ญาติทั้งสองฝ่ายทราบว่า  ฝ่ายเจ้าบ่าวมอบสินสอดให้ฝ่ายเจ้าสาว มีเงินสดหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท  ทองคำหนัก ๑๕ บาท  แหวนเพชร ๑ วง  บ้านเป็นเรือนไทยเครื่องสับฝากระดาน ๑ หลัง  นา ๑๕ ไร่  เมื่อเถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายย้ำข้อตกลงกันแล้ว  ก็เปิดห่อขันหมากต่อหน้าพระสงฆ์ท่ามกลางญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย  มอบเงินสดให้พ่อแม่เจ้าสาว  เจ้าบ่าวสวมแหวนให้เจ้าสาว  จากนั้นก็ร่วมกันหลังน้ำพุทธมนต์อวยพรแก่คู่บ่าวสาว  เป็นเสร็จพิธี

           คืนวันเดียวกันนั้นก็ไปบ้านหญิงสาวคนที่คุ้นเคยกัน  พ่อแม่พี่น้องของเธอเข้าล้อมวงคุยด้วยเช่นเคย  ข้าพเจ้าเล่าเรื่องที่ไปงานแต่งงานเมื่อเช้านี้  แล้ววิจารณ์ว่ารูปร่างหน้าตาเจ้าสาวไม่สมราคาสินสอดทองมั่นเลย  เรียกราคาแพงอย่างนี้ออกจะโหดเกินไปนะ  ถ้าเป็นฉันหากอยากได้สาวที่นี่สักคน  ไปขายไร่ขายนาวัวควายหมดก็ยังได้เงินไม่พอเป็นสินสอดให้เจ้าสาวได้หรอก  คนที่นี่ดูเหมือน “ขายนาแถมลูกสาว” นะ

           ข้าพเจ้าสรุปคำวิพากย์ด้วยคิดว่าเป็นคำพูดเป็นตลกขบขัน  ให้คนฟังนึกสนุกเท่านั้น  แต่โยมผู้ชายพ่อบ้านนั้นดูเหมือนจะไม่สนุกขบขันด้วย  พูดโต้ตอบด้วยสีหน้าขรึมและเวียงดังหนักแน่น

            “ผมเห็นด้วยที่ท่านว่า  เหมือนขายนาแถมลูกสาว  ส่วนมากคนพื้นนี้เขาเรียกสินสอดกันตามฐานะ  มีนาให้ ๑๐ ไร่  จะเรียกเงินสินสอด ๑ แสนบาทขึ้นไป  มีบางรายที่สมบัติมากมาย  เรียกสินสอดกันเป็นสิบล้านเลย   แต่สำหรับผมแล้วไม่เคยคิดทำอย่างนั้น  ลูกสาวผมมี ๒ คน  ถ้าเขารักใครชอบใคร และใครคนที่รักลูกผมจริงแล้วมาสู่ขอ  ผมยกให้โดยไม่คิดค่าสินสอดทองมั่นใด ๆ เลยแม้สักสตางค์แดงเดียว  จะจัดงานแต่งให้เสียอีกด้วยซ้ำไป”

           คำตอบโต้ของโยมผู้ชายดังกล่าวทำให้คนในวงสนทนาพากันหัวเราะฮา.... ลูกสาวคนโตยกมือปิดหน้าลุกขึ้นวิ่งลงบันไดบ้านไปด้วยความเขินอาย  พระเต็มก็หัวเราะแหะ ๆ พูดอะไรไม่ออก  แล้วลากลับวัดในที่สุด

           รุ่งขึ้นเช้าสาวเจ้าคนที่ใคร ๆ ก็มองเห็นว่าชอบพระเต็มนั้น  นำอาหารไปถวายพระที่วัดตามปกติ  หลังจากพระฉันอาหารเช้าเสร็จและอนุโมทนาแล้ว  เธอจัดเก็บปิ่นโตเข้าเถาเตรียมกลับบ้าน  ก่อนจากเธอพูดกับพระเต็มเบา ๆ ว่า  “เมื่อคืนนี้พ่อพูดอะไรก็ไม่รู้”

           เธอไม่รู้หรอกว่าคำพูดของพ่อเธอเมื่อคืนนี้  ทำให้พระเต็มนอนไม่หลับทั้งคืน  คิดฟุ้งซ่านวุ่นวายใจไปหมด  ความหมายที่โยมผู้ชายพูดว่า  จะยกลูกสาวให้คนที่ลูกสาวรักและเขารักลูกสาวนั้น  ใคร ๆ ฟังก็รู้ความหมายว่าเขาจะยกลูกสาวให้พระเต็มฟรี ๆ  คนหนุ่มวัย ๒๓ ปีเศษอย่างพระเต็ม  จะไม่ให้คิดมากอย่างได้เล่า

           ข้าพเจ้ายังไม่เคยรักผู้หญิงอย่างจริงจัง  แม้ก่อนบวชเป็นพระจะเคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงมาบ้างแล้วก็ตามทีเถิด  แต่มันเป็นไปด้วยความใคร่ตามธรรมชาติระบายอารมณ์ใคร่ตามกิเลสกามเท่านั้น  หาใช่ความรักไม่  ความรักกับความใคร่ในความคิดของข้าพเจ้าแยกออกเป็นคนละอย่างกัน  รักคือความเมตตาปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข  ใคร่คือความกำหนัดปรารถนาจะเอาเขามาเป็นของตน

           แน่ละ “ลำเจียก” หญิงสาวงามแห่งศรีประจันต์คนที่พ่อของเธอพูดให้รู้เป็นนัย ๆ ว่า  ยินดียกให้ข้าพเจ้านั้น  ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้รักเธอ  แต่นิยมชมชอบเธอที่เป็นคนมีน้ำใจงามเท่านั้น /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤศจิกายน, 2565, 10:31:15 PM
(https://i.ibb.co/9NHk5XC/278967636-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๘ -
                                              “เมื่อถูกสาวลาวจับตัว”

           หลวงพ่อทองสุขปักหลักตรวจรักษาโรคภัยไข้เจ็บนานาอยู่ที่วัดกลางทุ่งในชนบทอำเภอศรีประจันต์นานถึง ๓ เดือนเศษ  กิติศัพท์ขจรไกลไปถึงอำเภอหันคาจังหวัดชัยนาท  มีทายกคณะกรรมการวัดเนินขามพากันมาขอร้องอ้อนวอนให้ไปโปรดชาวเนินขามบ้าง  หลวงพ่อทองสุขรับปากและนัดวันให้มารับไป เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว  คณะกรรมการวัดเนินขามเอารถจิ๊บวิลลี่ ๓ คันมารับ  หลวงพ่อให้พระเต็มเดินทางล่วงหน้าไปองค์เดียวก่อนโดยรถจิ๊บคันเดียว  ขนสัมภาระไปด้วย  วันรุ่งขึ้นรถจิ๊บอีก ๒ คันก็พาหลวงพ่อและคณะตามไป

           ทางไปเนินขามเป็นไปได้ด้วยความลำบากไม่น้อย  รถออกจากศรีประจันต์ผ่านสามชุก  เดิมบางนางบวช  หันคา  จนถึงเนินขาม  ถนนเป็นคันคลอง  บางตอนขาดเป็นห้วง ๆ รถวิ่งลำบากมาก  เมื่อหมดถนนคันคลอง  รถผ่านทุ่งนาป่าละเมาะตามทางเกวียน  บางตอนชนติดคันนา  คนขับดับเครื่งยนต์  ไปไม่ได้ต้องลงจากรถช่วยกันยกรถข้ามคันนา  แล้วติดเครื่องรถแล่นต่อไป  เพราะออกเดินทางจากศรีประจันต์เป็นเวลาเย็นแล้ว  พอเลยสามชุกก็มืดค่ำ  ดีที่เป็นคืนข้างขึ้นเดือนหงาย  พวกเราสนุกหวาดเสียวกับการเดินทางมาก  รถถูกขับให้แล่นและถูกยกข้ามคันนาจนไปถึงวัดเนินขามเป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน  พอเข้าวัด แทนที่รถจะจอดตรงหน้าบันไดกุฏิ  เจ้าคนขับกลับปล่อยให้รถแล่นเอื่อยไป (ปล่อยเกียร์ว่าง) ชนต้นขนุนข้างกุฏิ  พระเต็มถามว่าทำไมแกไม่เบรก  เขาตอบหน้าตาเฉยว่า  รถไม่มีเบรก  ฟังคำตอบแล้วใจหายวาบ  คิดว่าเรารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์แท้ ๆ

           ที่นี่วัดเนินขาม  เป็นวัดประจำหมู่บ้านเนินขาม  ตำบลเนินขาม  อำเภอหันคา  จังหวัดชัยนาท  หมู่บ้านใหญ่ ตำบลใหญ่  มีเขตติดต่ออำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี  และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี  ประชากรมีอาชีพทำนาเป็นหลัก  อยู่อย่างสงบสุขไม่มีโจรผู้ร้ายรบกวน  ประชากร ๙๙ เปอร์เซ็นต์เป็นคนมีเชื้อชาติลาวเวียง  คือคนลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์  ประเทศลาว  คนบ้านนี้ใช้นามสกุล  “ศรีเดช”  กับ  “ทาเอื้อ”  เป็นส่วนมาก

           ข้าพเจ้าฟังสำเนียงภาษาลาวเวียงพอรู้เรื่องและพูดได้บ้าง  เพราะบ้านเดิมอยู่ใกล้พวกลาวเวียง  คือบ้านหนองกุฏิ  จร้า  บ้านโข้ง  บ้านขาม  ในเขตอำเภออู่ทอง  อพยพหรือถูกกวาดต้อนมาจากนครเวียงจันทน์สมัยที่เจ้าอนุเป็นขบถ  เคยรู้จักและเป็นเพื่อนคบค้าสมาคมกับลาวเวียงหลายคน  จึงฟังเขาพูดและพูดกับเขาพอได้บ้าง

           เจ้าอาวาสวัดเนินขามเป็นพระครูสัญญาบัตร (จำนามสณศักดิ์ท่านไม่ได้)  นามเดิมของท่านว่า “ ชุณห์”  พระครูชุณห์เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าคณะตำบล  เป็นคนมีอารมณ์ดีมาก  พูดจาฉะฉานเสียงดังฟังชัด  พบกันวันแรกก็คุยกันอย่างสนุกถูกคอ  ยิ่งรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นพระมาจากกรุงเทพฯ  เรียนจบนักธรรมชั้นเอก  กำลังเรียนบาลีถึงขั้นแปลธรรมบทกอง ๒ แล้ว  ท่านก็ยิ่งนิยมชมชอบมากขึ้น

           ลาวเวียง  ลาวพวน  ในจังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท  เขาไม่กินข้าวเหนียวเหมือนทางเหนือและอีสาน  หากแต่กินข้าวเจ้าเหมือนคนไทยทั่วไปในภาคกลางและภาคใต้-ตะวันออก  เรื่องอาหารการกินของพวกเราจึงไม่มีปัญหาอะไร  พระครูชุณห์จัดกุฏิให้พวกเรานอนพักอาศัย  จัดศาลาการเปรียญหลังใหญ่ใต้ถุนสูงให้เป็นที่รับตรวจรักษาโรคทั่วไป  ศาลาหลังนี้จุคนนั่งทำบุญได้เป็นหมื่นคนทีเดียว  หลวงพ่อทองสุขขออนุญาตพักอาศัยกินนอนอยู่บนศาลานี้  ท่านอ้างว่าขี้เกียจเดินขึ้นลงไปกุฏิที่จัดให้นั้น

           คนลาวไม่ค่อยเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยของพระเท่าไรนัก  การล่วงละเมิดข้อพุทธบัญญัติหรือสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพระเณร  เขาถือว่าไม่เป็นเรื่องสำคัญ  เช่นบี้มด  ตบยุงตาย  ฉันอาหารในเวลาค่ำคืนเห็นเป็นเรื่องผิดเล็กน้อย  การเที่ยวเตร่เฮฮาของพระเณรก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา  จึงปรากฏว่าชาววัดกับชาวบ้านมีความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นกันเองมาก  ข้าพเจ้าและพวกศิษย์หลวงพ่อทองสุข มีพระ ๓ องค์  เณร ๒ องค์  ฆราวาส ๕ คน  จึงสนิทสนมคุ้นเคยกับชาวบ้านเนินขามได้รวดเร็ว

           ที่วัดเนินขามนี้มีชาวบ้านมาขอตรวจรักษาโรคและรับน้ำมนต์กันมากกว่าที่ศรีประจันต์  เพราะมีหมู่บ้านตำบลใหญ่ ๆ ใกล้เคียงเนินขามมาก  และนอกจากคนในอำเภอหันคาแล้ว  ก็มีคนจากอำเภอเดิมบางนางบวช  อำเภอบ้านไร่ อุทัยธานี  มารับการตรวจรักษาโรคด้วย  ท่านพระครูชุณห์เจ้าอาวาสมอบหมายให้พระเต็มเป็นหัวหน้าในพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เช่น  สวดศพ  เทศน์งานศพ  เจริญพุทธมนต์ในงานมงคลต่าง ๆ  พวกพระที่ร่วมงานสวดและชาวบ้านชอบ  เพราะพระเต็มตัดทอนพิธีกรรมที่เยิ่นเย้อ  และบทสวดที่ยาว ๆ ให้สั้นลงกว่าเดิมแต่ก็ไม่เสียรูปแบบ  กิจนิมนต์ตามบ้านแม้จะมีมาก  แต่เงินรายได้ไม่มากเหมือนที่ศรีประจันต์  เพราะชาวนาศรีประจันต์มีฐานะการเงินดีกว่าชาวบ้านเนินขาม

           ข้าพเจ้าไปอยู่เนินขามในช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์  ชาวลาวเวียงเขาเล่นกันอย่างไรบ้าง  ไม่ได้ไปเที่ยวดูเขาเล่นกันหรอก  แต่ก็ถูกชาวบ้านมาเล่นด้วยชนิดที่ทำให้ข้าพเจ้า  “อกสั่นขวัญหาย”  ไปเลยทีเดียว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, ธันวาคม, 2565, 10:36:38 PM
(https://i.ibb.co/vZr5VF1/thumb-174-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๖๙ -
           วันสรงน้ำพระ  เขานิมนต์พระเณรนั่งเก้าอี้เรียงแถวกลางลานวัด  นิมนต์ข้าพเจ้าลงไปนั่งร่วมกับพระเณรให้เขาสรงน้ำด้วย  แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบที่จะให้ใคร ๆ สรงน้ำจึงขอตัวไม่ลงไปร่วมด้วย  พวกเขาไม่ยอม  ต้องการให้พระเต็มลงไปร่วมสรงน้ำด้วยให้ได้  มีหญิงสาวใหญ่สาวน้อยทั้งโสดและไม่โสด (ทราบภายหลังว่า) สาวแม่ม่ายเป็นหัวหน้าพาพวกรูขึ้นบนศาลาการเปรียญ  ตรงเข้าจับตัวพระเต็มต่อหน้าหลวงพ่อทองสุข  พวกเขาเปลื้องจีวรพระเต็มออกจนเหลือแต่สบงและอังสะลังกาโดยไม่ฟังเสียงร้องห้ามของหลวงพ่อทองสุขและข้าพเจ้า  เขาช่วยกันหามร่างพระเต็มลงไปนั่งเก้าอี้กลางลานวัดจนได้  ชาวบ้านหญิงชายเฮฮาร่วมกันสรงน้ำพระอย่างสนุกสนาน  ข้าพเจ้าตกใจจนคิดอะไรไม่ออกบอกอะไรไม่ถูก  บางคนเอาน้ำแข็งใส่แช่น้ำจนเย็นเจี๊ยบราดรดตัวพระเณรทุกองค์  พระเต็มโดนหนักกว่าเพื่อน  หนาวจนสั่นเลย  พอรดน้ำจนสาแก่ใจกันแล้ว  เขาก็เอาขมิ้นผสมดินสอพองเหลืองอ๋อยมา  ชโลมทาทั่วตัวพระเต็มและอีกหลายองค์  แล้วเอาน้ำใสสะอาดมาสรงล้างขมิ้นดินสอพองออก  เอาแป้งหอม  น้ำอบไทย  ชโลมทาอีกที  กว่าจะเสร็จพิธีสรงน้ำอันพิลึกพิลั่นนั้นพระเต็มก็ปางตายนั่นแหละ

           หลังงานสรงน้ำพระผ่านไปได้ ๓ วัน  พวกชาวบ้านซึ่งนำโดยคณะสตรีกลุ่มที่ร่วมกันจับตัวข้าพเจ้าลงไปสรงน้ำนั้น  ถือพานดอกไม้ธูปเทียน มาทำพิธีขอขมาโทษข้าพเจ้าและพระภิกษุสามเณรทุกองค์ที่ได้ล่วงเกินในพิธีสรงน้ำวันก่อนนั้น  หลังจากพระเณรอภัยโทษให้แล้วก็เป็นเสร็จพิธี  พิธีกรรมอย่างนี้เป็นวัฒนธรรมประเพณีของเขาที่ทำกันทุกปี สืบทอดจากบรรพชนมายาวนานแล้ว

           การที่สตรีจับต้องกายภิกษุอย่างที่ข้าพเจ้าถูกจับไปสรงน้ำนั้น  บางท่าน (ที่ไม่รู้จริง) อาจจะเข้าใจว่า  “พระศีลขาด”  หรือไม่ก็ต้องอาบัติอย่างหนัก  ด้วยมีพระวินัยเป็นพุทธบัญญัติไว้ว่า  “ภิกษุมีความกำหนัดอยู่จับต้องกายหญิงต้องสังฆาทิเสส”  ผู้เป็นอาบัติสังฆาทิเสสนี้ต้องอยู่กรรม  ที่เรียกว่าปริวาสกรรมจึงจะพ้นโทษได้  ถ้าไม่อยู่กรรมจะปลงอาบัติไม่ตก  อาบัติสังฆาทิเสสนี้มีทั้งหมด ๑๓ ข้อ  เป็นอาบัติหนักรองลงมาจากอาบัติปาราชิกที่ผู้ต้องแล้วขาดจาก (ศีลขาด) ความเป็นภิกษุทันที

           ขณะถูกผู้หญิงจับตัวนั้น  ข้าพเจ้าไม่มีความกำหนัดจับต้องกายพวกเธอเลยสักนางเดียว  ความรู้สึกตอนนั้นมีแต่ตกใจกลัว  แม้หากพวกเธอบางนางจะมีความกำหนัดจับต้องกายข้าพเจ้า  ก็เป็นเรื่องของเธอไม่เกี่ยวกับข้าพเจ้า  อันการที่ภิกษุจะต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒ คือ  การจับต้องกายหญิงนี้  มิใช่ว่าจะต้องอาบัติกันได้ง่าย ๆ มีข้อแม้อยู่หลายประการ  ข้อสำคัญคือจะต้อง  “มีความกำหนัดอยู่  แล้วจับต้องกายหญิงด้วยความกำหนัดนั้น”  ถ้าไม่มีความกำหนัดก็ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส

           ก็แหละอาการที่จะต้องอาบัตินั้น  ท่านว่าไว้ด้วยอาการ ๖ อย่างคือ  “ต้องด้วยไม่ละอาย ๑   ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ ๑   ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง ๑   ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ๑   ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๑   ต้องด้วยลืมสติ ๑”

           เห็นพระถูกตัวหญิง  หญิงถูกตัวพระ  แล้วคิดเอาเองว่า  “พระศีลขาด”  หรือต้องอาบัติสังฆาทิเสสเลยไม่ได้  เพราะถ้าพระกับหญิงถูกต้องกายกันแล้วพระศีลขาดหรือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  พระก็จะถูกกลั่นแกล้งด้วยแผน  “นารีพิฆาต”  ให้ศีลขาด (ปาราชิก) หรือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  ต้องอยู่กรรมกันไม่รู้จักจบสิ้น  ใครไม่ชอบพระองค์ใดก็ให้หญิงไปจับเนื้อต้องตัว  พระองค์นั้นก็จบสิ้นกันเท่านั้นเอง  สรุปให้เข้าใจง่ายว่า  อาบัติของพระต้องเกิดจากการกระทำของพระ  มิใช่พระเป็นฝ่ายถูกกระทำ

           สมัยเป็นสามเณรเรียนนักธรรมชั้นตรีที่สำนักเรียนวัดบางซ้ายในนั้น  หลักสูตรในชั้นเรียนนี้กำหนดให้เรียนวิชาวินัยบัญญัติที่มีมาในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท  เริ่มเรียนจากชื่ออาบัติหนักที่สุดเรียกว่า  ปาราชิก ๔ ข้อ  แล้วถึงสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ  ที่เราเรียนกันสนุกในสังฆาทิเสสนี่แหละ ข้อ ๑ ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนต้องสังฆาทิเสส  ข้อนี้มียกเว้นไว้ว่าฝันแล้วเคลื่อนโดยไม่รู้ตัว   พอถึงข้อ ๒ คือ ภิกษุมีความกำหนัดอยู่จับต้องกายหญิงต้องสังฆาทิเสส  ข้อนี้มีนัยะให้วินิจฉัยกันมาก  ข้าพเจ้าให้คำจำกัดความสังฆาทิเสสว่า  สังฆาทิเสสคือเศษของสงฆ์  อาจารย์สมุห์สายบอกว่า  เณรเต็มนี่มันคิดแผลง ๆ

           การจับต้องกายหญิงแล้วเป็นอาบัติสังฆาทิเสสนั้น  จะต้องจับถูกต้องด้วยความกำหนัดปรารถนาเมถุนเท่านั้น  ถ้าไม่กำหนัดก็ไม่เป็นสังฆาทิเสส  อาจารย์ผู้สอนวินัยท่านสอนเน้นอย่างนี้  คำว่ากำหนัดพจนานุกรมไทยท่านเก็บไว้และแปลว่า  ความใคร่ในกามคุณ  ก็ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกว่า  ความใคร่คือความปารารถนาหรือต้องการ  กามคุณ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส  อารมณ์อันเป็นที่น่าปรารถนา  ข้าพเจ้าชอบแปลเอาความง่าย ๆ ว่า  กำหนัดก็คือยินดี  นั่นแหละ

           ท่านสมุห์สายอาจารย์สอนวิชาวินัยบัญญัติ  แยกแยะการจับต้องกายออกไปอีกว่า  จับต้องตรงไหนเป็นกาย  ตรงไหนไม่ใช่กาย  ไม่รู้เหมือนกันว่าท่านเอาเหตุผลอะไรจากไหนมาแบ่งส่วนของกายว่า  เส้นผมไม่ใช่กาย  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกาย  ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องเส้นผมบนศีรษะหญิง  ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส  แต่ต้องเป็นอาบัติถุลลัจจัย (เบากว่าสังฆาทิเสส)  ตั้งแต่ข้อเท้าลงไปถึงปลายเท้า  ตั้งแต่ข้อมือลงถึงปลายนิ้วมือเป็นส่วนของกาย  ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส  แต่เป็นอาบัติถุลลัจจัย

            “ภิกษุมีความกำหนัดอยู่  จูบแก้มหญิงโดยไม่จับต้องกาย  เป็นอาบัติสังฆาทิเสสไหมครับอาจารย์”

           สามเณรวิเชียรถามทะลุกลางปล้องขึ้นมา  อาจารย์ท่านมองค้อนแล้วตอบสั้น ๆ ว่า  “ทะลึ่ง”  แล้วเสียงเฮฮาของนักเรียนในห้องก็ดังกลบเสียงด่าพึมพำของพระอาจารย์ไปเสียสิ้น  เมื่อเสียงหัวเราะฮาสงบเงียบแล้ว  ข้าพเจ้าถามท่านด้วยความสงสัยจริงใจว่า  การที่ผู้หญิงนำของมาถวายพระภิกษุจะด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธา  หรือด้วยใจรักในเชิงชู้สาวก็ตาม  ภิกษุนั้นใช้ผ้าปูบนพื้นรับประเคนของ  ขณะที่หญิงนั้นวางของลงบนผ้า  ภิกษุผู้ถือผ้ารับประเคนของนั้นเกิดความกำหนัดขึ้นในใจอย่างรุนแรง  หญิงนั้นก็เกิดความกำหนัดเช่นกัน  ต่างคนต่างประสานสายตากันแสดงความหมายให้รู้ความกำหนัดในใจนั้น  อย่างนี้จะถือว่าภิกษุมีความกำหนัดถูกต้องกายหญิงและเป็นอาบัติสังฆาทิเสสไหม

           อาจารย์หัวเราะร่วนอย่างอารมณ์ดีแล้วตอบว่า  อย่างนั้นไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส  แต่เป็นถุลลัจจัย  เพราะผ้าที่ปูรับประเคนของนั้นเป็นของเนื่องด้วยกาย  ข้าพเจ้าถามต่อว่า  ถ้าหญิงนำอาหารใส่ถาดมาประเคน  ภิกษุไม่ใช้ผ้าปูรับ  แต่ใช้มือจับถาดที่อยู่ในมือหญิงพร้อมกับเกิดความกำหนัดล่ะ  เป็นสังฆาทิเสสไหม   ท่านตอบกลั้วเสียงหัวเราะว่า  “อย่าว่าแต่จับถาดเลยเณร  จับถูกนิ้วมือฝ่ามือด้วยความกำหนัดก็ไม่เป็นสังฆาทิเสส  เพราะนั่นเป็นของเนื่องด้วยกาย  แต่เป็นภาพไม่ดีไม่งามภิกษุไม่ควรทำ“

           ถ้าอย่างนั้น  ภิกษุมีความกำหนัดอยู่  จับต้องกอดรัดร่างกายหญิงที่สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด  ไม่ถูกเนื้อเลย  ภิกษุนั้นก็ไม่เป็นสังฆาทิเสสใช่ไหม  เพราะจับกอดเสื้อผ้าที่เป็นของเนื่องด้วยกายเท่านั้น  ข้าพเจ้าทิ้งคำถามตูมลงไป  นักเรียนพระเณรทั้งห้องส่งเสียงฮาครืน  พระอาจารย์สมุห์ทุบโต๊ะโครมคว้าขวดและกล้องยานัตถุ์ลุกเดินจากห้องเรียนไปด้วยอาการุปัดตุป่อง  ความสงสัยของข้าพเจ้าก็ยังค้างคาใจมาจนบัดนี้

           สรุปได้ว่า  การจับต้องกายหญิงผิดวินัยเป็นอาบัติสังฆาทิเสสนั้น  มีนัยดังได้กล่าวมาแล้ว  ส่วนการที่ภิกษุ ตบ ชก ต่อย เตะ หญิงด้วยความโกรธ  ท่านว่าไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสสเหมือนกัน  เห็นไหมว่าภิกษุจะต้องอาบัติสังฆาทิเสสเพราะจับต้องกายหญิง  เป็นได้ยากเพียงไร

           การที่ข้าพเจ้าถูกหญิงรุมจับตัวไปสรงน้ำดังกล่าวแล้วนั้น  ไม่ต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  เพราะมิได้มีความกำหนัดจับต้องกายหญิงเหล่านั้น  และหญิงเหล่านั้นก็ไม่มีเจตนาแส่ไปในทางบาปอกุศลเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, ธันวาคม, 2565, 10:40:21 PM
(https://i.ibb.co/gRJLY5q/1391648-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๐ -
           ใกล้เวลาที่จะต้องย้ายสถานที่จากวัดเนินขามแล้ว  ข้าพเจ้าพบปัญหาหัวใจที่ค่อนข้าจะหนักอีก  ก็เรื่องผู้หญิงยิงเรือนั่นแหละครับ  เป็นพระนี่ก็แปลกนะ  เนื้อตัวอะไรก็ไม่ได้แต่ง  หัวก็โล้น  ทำไมจึงมีผู้หญิงชอบนักหนาก็ไม่รู้  นี่ถ้าหากให้พระมีภรรยาได้เหมือนชาวบ้านแล้ว  พระแต่ละองค์คงจะมีภรรยาไม่รู้กี่คนเลยก็แล้วกัน

           บ้านโยมทอง (ขอใช้นามสมมุติ) อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านเนินขาม  มีลูกสาว ๓ คน (เรียกว่าสามใบเถานั่นแหละ) คนโต อายุ ๑๙  คนรองอายุ ๑๗  คนเล็กอายุ ๑๕  อวบอัดทั้งสาม่สาวเลย  ไว้ผมยาวดำสลวยตัดกับผิวขาวเหลือง  คนเล็กถักผมเปียน่ารัก  แต่ละสาวมีลักยิ้มบุ๋มที่แก้มซ้ายทุกคน  ข้าพเจ้ารับคำชวนไปเที่ยวที่บ้านครูทองในเวลาค่ำอาทิตย์ละหลายคืนจนมีความคุ้นเคยกันมาก  เหตุที่ไปเที่ยวบ้านครูทองบ่อย ๆ ก็เพราะคุยกันถูกคอสนุกและได้ความรู้จากครู  ทุกคนในบ้านครูทองก็มีอัธยาศัยไมตรีดียิ่งนัก  ประการสำคัญอีกอย่างคือบ้านครูทองเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านเบื้องตะวันออกของวัด  เป็นบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ติดกันสามหลังมีหอกลางชานเรือนเชื่อมคิดกันหมด  บ้านนี้มีผู้คนไปมาหาสู่กันประจำ  เวลาข้าพเจ้าไปนั่งคุยที่บ้านนี้มักจะมีคนจากบ้านอื่นมานั่งฟังและร่วมวงสนทนาด้วยหลายคน  ไปบ้านครูทองบ้านเดียวก็เหมือนกับไปหลายบ้าน
 
           เพราะไปบ้านครูทองที่อยู่ทางตะวันออกวัดเป็นประจำ  จนโยม ๆ ทางทิศตะวันตกของวัดมาพูดจากระแนะกระแหนว่า

            “สาวตะวันตกหน้าไม่ขาวเหมือนสาวตะวันออก  พระเจ้าจึงไม่ชอบไปเที่ยวบ้านสาวตะวันตก”

           ข้าพเจ้าฟังคำกระแนะกระแหนตัดพ้อแล้วก็ได้แต่หัวเราะแหะ ๆ เท่านั้นเอง

           คืนวันหนึ่ง  ไปเที่ยวบ้านครูทองตามปกติเป็นคืนที่ปลอดแขกเหรื่อ  ไม่มีคนบ้านอื่นมาคุยด้วย  ลูกสามสามคนของครูทองมานั่งร่วมวงสนทนา  คุยกันไปสักครูหนึ่งโยมครูถามตรง ๆ เว้าซื่อ ๆ ตามแบบของคนลาวนั่นแหละครับ

            “ลูกสาว ๓ คนของผม  ระเบียบ  มณฑา  รจนา  ท่านชอบคนไหนเลือกเอาได้เลย  ผมยินดียกให้”

           ข้าพเจ้าถูกถามซื่อ ๆ อย่างนั้นก็อายจนรู้สึกหูร้อนฉ่าหน้าชาดิก  ไม่กล้ามองหน้าสามสาวนั้น  ก็นั่งก้มหน้านิ่งอยู่

            “ว่าไงล่ะ  เลือกเอาไปเลย”

           โยมทองเตือนเมื่อเห็นข้าพเจ้านั่งก้มหน้านิ่ง  จึงพยายามทำใจให้กล้าเงยหน้าขึ้นมองสามสาวช้า ๆ  เห็นแต่ยิ้มน้อย ๆ ของสาวเจ้า  สบสายตากันแล้วเธอยิ้มกันด้วยความขวยเขิน  ข้าพเจ้ารู้สึกสะทกสะท้าน  ใจวาบหวิวหวามไหวในความรู้สึก

            “ลูกสาวของผมมันไม่สวยไม่งามเลยสักคนหรือไง”

           โยมทองพูดทำลายความเงียบขึ้น  ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดใจ  คิดสับสนหาคำตอบที่ดีไม่ได้  หันไปมองดูโยมแช่มภรรยาโยมทองที่นั่งฟังอยู่อีกทางหนึ่ง  ก็เห็นโยมแช่มนั่งมองดูด้วยอาการอยากได้ยินคำตอบ

            “สวยงามทั้งสามคนเลยโยม....”  ข้าพเจ้าตอบด้วยเสียงเบาหวิว

            “สวยสามคน  แต่ท่านมีสิทธิ์เลือกเอาคนเดียวเท่านั้นนะ  คนไหนดี”

            “เลือกไม่ได้หรอกโยม”  ข้าพเจ้าตอบเสียงดังขึ้นเป็นปกติ  เพราะตั้งสติได้แล้ว

            “ทำไมเลือกไม่ได้เล่าท่าน”  โยมแช่มถามแทรกขึ้นมาบ้าง

            “ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกคนไหน”  ข้าพเจ้าตอบด้วยความรู้สึกจริงใจ  เพราะใจจริงแล้รู้สึกชอบเธอทั้งสามคนนั่นแหละ  แต่ละคนสวยงามน่ารักไปคนละแบบ

            “ไม่ได้  ไม่ได้  เอาหมดสามคนไม่ได้”  โยมทองพูดย้ำคำว่า ไม่ได้ ๆ  ด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ  ระเบียบ พี่สาวใหญ่เบือนหน้าเหม่อมองออกไปนอกบ้าน  มณฑา พี่รองนั่งก้มหน้าแกะเล็บมือเล่น  มีแต่รจนาน้องเล็กนั่นแหละ  นั่งมองจ้องหน้าข้าพเจ้าตาแป๋วและยิ้มอย่างไร้เดียงสา  จนข้าพเจ้าเกือบจะพลั้งปากว่า  “เลือกรจนา”  เสียแล้ว

            “ถ้างั้น  ท่านไปนอนคิดตัดสินใจดูก่อนก็แล้วกัน”  โยมทองสรุปเรื่องในคืนนั้น

           ข้าพเจ้าไม่ได้ไปบ้านโยมทอง ๓-๔ วันเพราะอาย  ไม่กล้าเผชิญหน้าสาว  “สามใบเถา”  ด้วยตัดสินใจเลือกคนหนึ่งคนใดไม่ได้  ให้คำตอบโยมทองไม่ได้  กลางคืนนอนไม่หลับ  กลางวันทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม  มีอาการเหม่อลอยแทรกซ้อนเข้ามาในงานที่ทำ  ใบหน้าอ่อนหวานประดับลักยิ้ม  ดวงตาใสซื่อ  แย้มยิ้มอย่างไร้เดียงสาของสาว  “สามใบเถา”  ผุดโพลงอยู่ในสำนึกแทบตลอดเวลา  ท่านพระครูชุณห์กับหลวงพ่อทองสุขดูเหมือนจะรู้เรื่องของข้าพเจ้าดี  พระในคณะเราบอกว่าในเวลากลางคืนท่านพระครูชุณห์ขึ้นไปคุยกับหลวงพ่อทองสุขแทบทุกคืน  นัยว่าไปสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันในเรื่องคาถาอาคม  ในคืนที่ข้าพเจ้าไม่ไปบ้านโยมทองนั้น  พระครูชุณห์พูดหยอกล้อว่า   “พระเต็มเห็นทีจะเอาบาตรมาทิ้งที่เนินขามเสียแน่แล้ว”   ข้าพเจ้าก็ได้แต่ยิ้มแหย ๆ  หลวงพ่อทองสุขกล่าวเสริมว่า ”จะบ้าหรือเปล่าที่รักและจะเอาทีเดียวทั้งสามคนน่ะ”

           หลายวันเข้าโยมทองก็มาหาที่วัดบอกข้าพเจ้าว่า  คนทางหมู่บ้านเขาคิดถึงกันมากนะ  หาเวลาไปเยี่ยมเยือนเขาบ้างซี  ข้าพเจ้าจึงไปบ้านโยมทองคืนนั้นเป็นครั้งสุดท้าย  ไปอย่างไม่มีความสง่าผ่าเผยเหมือนก่อนเลย  เพราะใจมันขลาดหวาดหวั่นอย่างไรไม่รู้ บอกไม่ถูก  ระเบียบกับมณฑา  ก็ไม่ค่อยมองหน้า  ดูเคอะเขินอย่างไรชอบกล  มีแต่รจนาน้องนุชสุด้องนั่นแหละที่กล้าสู้หน้าข้าพเจ้า  การยิ้มแย้มตลอดกิริยาท่าทางอื่น ๆ ของรจนาแสดงออกด้วยซื่อบริสุทธิ์  ไม่มีมารยาสาไถยเจือปนให้เห็น  คิดว่าเธอคงจะยังไม่รู้เรื่องของความรักความใคร่เลยก็ได้

           ข้าพเจ้าบอกทุกคนว่าวันนี้จะมาบอกลาญาติโยมทั้งหลายว่าจะเดินทางไปอยุธยาและกลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อไปแล้ว  กำหนดเดินทางจากเนินขามในเช้าวันมะรืนนี้  พรุ่งนี้ไม่มาบ้านโยมทองนะ  ขอถือโอกาสลาทุกคนเลย  มีเวลาว่างเมื่อไรจะกลับมาอีก  ขอให้ทุกคน  “อยู่ดีมีแรง”  โดยทั่วกันเถิด

           และแล้วคณะหลวงพ่อทองสุขดินทางจากวัดเนินขาม  ไปแวะพักที่วัดมะขามล้ม  อำเภอบางปลาม้าตามคำขอของชาวบ้านที่นั่นก่อนไปวัดรางเนื้อตาย  โดยข้าพเจ้าติดค้างหนี้สินทางใจของโยมทองและสาว  “สามใบเถา”  แห่งเนินขาม  กล่าวคือยังให้คำตอบโยมทองไม่ได้  เพราะตกลงใจไม่ได้จริง ๆ  เวลาผ่านมาจนถึงวันนี้นานนับสิบปีแล้ว  ถ้ามีใครมาคาดคั้นถามข้าพเจ้าว่า  ระหว่าง  ระเบียบ  มณฑา  รจนา  ลูกสาวอดีตครูใหญ่นั้น  จะเลือกคนไหน  ข้าพเจ้าก็ยังตอบไม่ได้  คงจะตอบไม่ได้ไปนานจนตายเลยนั่นแล/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, ธันวาคม, 2565, 10:53:15 PM
(https://i.ibb.co/0hqKpGC/914cd074bff2327961201e91b2c10272-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๑ -
          ดังได้กล่าวแล้วว่า  “ฌานโลกีย์”  เมื่อเกิดขึ้นแก่คนสามัญทั่วไปแล้วย่อมเสื่อมหายไปได้  บรรดาเกจิอาจารย์ที่มีคาถาอาคมขลังมีอิทธิฤทธิ์นานาด้วยอำนาจฌานโลกีย์ที่ได้  หากมิได้บรรลุอริยผลเป็นพระอริยะเจ้าชั้นโสดาบันขึ้นไป  ฌานนั้นมักเสื่อมคลายอิทธิฤทธิ์หมดความขลังไปได้

          ขอแทรกคำอธิบายเรื่องนี้สักหน่อยนะครับ  คำว่าพระอริยะเจ้า  หรืออริยบุคคล  และอริยะสงฆ์นั้น  ปัจจุบันมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาก  จึงปรากฏคำพูดและข้อเขียนยกย่องพระภิกษุในฝ่ายวิปัสสนาธุระหลายรูปว่า  หลวงพ่อองค์นี้  หลวงปู่องค์นั้น เป็นพระอริยะสงฆ์อยู่เสมอ  พระอริยะเจ้าหรืออริยะสงฆ์ในความเป็นจริงคือท่านผู้ละกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (สังโยชน์พัวพัน, ผูกรัด ๑๐) เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เท่านั้น  เมื่อบรรลุเป็นพระอริยะดังกล่าวแล้วท่านไม่บอกใคร  เพราะคุณธรรมขั้นอริยะนี้รู้ได้เฉพาะตน  พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยห้ามมิให้ภิกษุอวดอุตริมนุษย์ธรรมที่มีในตน  ถ้าอวดโดยไม่มีในตนจะต้องเป็นอาบัติปราราชิก  ขาดจากความเป็นภิกษุ  ถ้าบรรลุเป็นพระอริยะแล้วอวดใคร ๆ  เรียกว่า อวดอุตรมนุสสธรรมที่มีในตน  ท่านปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์  ดังนั้นพระอริยะจะไม่พูดบอกใครว่าบรรลุธรรมขั้นอริยะตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  เพราะมีพระวินัยห้ามไว้

          ส่วนหลวงพ่อหลวงปู่ที่คนมักเรียกท่านว่า  พระอริยะสงฆ์นั้น  ท่านจะเป็นพระผู้บรรลุธรรมขั้นพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์หรือไม่  ปุถุชนอย่างเราไม่อาจล่วงรู้ได้  บางองค์ท่านอาจจะบรรลุธรรมขั้นพระอริยะจริง  บางองค์ก็ไม่บรรลุ  เป็นแต่ปุถุชนที่เคารพนับถือท่านกล่าวยกย่องท่านไปเอง

          คำว่า  “พระอริยะเจ้า”  หมายถึง  “ผู้ไปจากกิเลสเพียงดังว่าข้าศึก”  หรือ  “ผู้ประเสริฐบริสุทธิ์”  แบ่งออกเป็นแปดบุคคลคือ  ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค ๑   ผู้บรรลุโสดาปัตติผล ๑   ผู้บรรลุสกทาคามิมรรค ๑   ผู้บรรลุสกทาคามิผล ๑   ผู้บรรลุอนาคามิมรรค ๑   ผู้บรรลุอนาคามิผล ๑   ผู้บรรลุอรหัตมรรค ๑   ผู้บรรลุอรหัตผล ๑   การบรรลุถึงในที่นี้หมายถึงการละกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ ข้อ  ได้เป็นขั้น ๆ ในบุคคล ๘ ที่เป็นพระอริยะเจ้านี้  ย่อลงเป็นพระอริยบุคคล ๔ เรียกว่า  พระโสดาบัน คือผู้ละสังโยชน์กิเลสได้ ๓ ข้อ,   พระสกทาคามีคือผู้ละสังโยชน์กิเลส ๕ ข้อ,   พระอนาคามีคือผู้ละสังโยชน์กิเลสได้ ๗ ข้อ  ทำให้เบาบางลงอีก ๒ ข้อ,   พระอรหันต์คือผู้ละสังโยชน์กิเลสได้สิ้นเชิง  และท่านยังย่อพระอริยบุคคล ๔ ลงเหลือเพียง ๒ คือ  พระเสขบุคคล  พระอเสขบุคคล  พระอริยเสขบุคคล คือพระผู้ยังต้องศึกษาเพื่อละกิเลสต่อไป  มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอริยอเสขบุคคล  คือพระผู้ไม่ต้องศึกษาเพื่อละกิเลสอีกแล้ว  เพราะท่านละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ได้แก่พระอรหันต์

          การบรรลุธรรมวิเศษเริ่มตั้งแต่เป็นพระโสดาบันขึ้นไป  ถือว่าบรรลุอุตริมนุสสธรรม  คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์  พระพุทธเจ้าห้ามมิให้ภิกษุพูดอวดหรือแสดงอวดใคร ๆ  พระอริยะเจ้าทุกองค์จะไม่มีการอวดอุตริฯ ทั้งที่มีจริงและไม่มีจริงในตน  ธรรมนี้เป็นปัจจัตตัง  คือรู้ได้เฉพาะตน  คนอื่นที่เป็นปุถุชนรู้ด้วยไม่ได้  พระอริยะจึงรู้ภาวะของพระอริยะ  ปุถุชนคือคนที่ยังหนาไปด้วยกิเลสอย่างเรา ๆ นี้ไม่อาจล่วงรู้  หรือพยากรณ์ได้ว่าพระองค์ใดเป็นพระอริยะ

          พระอริยะเจ้าผู้อยู่ในขั้นพระโสดาบันเมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดในสวรรค์  และเวียนว่ายกลับสู่มนุษย์ได้อีกไม่เกิน ๗ ชาติก็สำเร็จอรหันต์นิพพานในที่สุด   พระสกทาคามีเมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นรูปพรหมแล้วสำเร็จอรหันต์ นิพพานในที่สุด   พระอนาคามีเมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดในชั้นพรหมสุทธาวาส ๕ แล้วสำเร็จอรหันต์นิพพานในที่สุด   พระอรหันต์เมื่อสิ้นชีพแล้วปรินิพพาน คือดับสนิทไม่มีอะไรเหลือแล้ว

          คำว่านิพพาน  แปลตรง ๆ ว่า  “ความดับ”  มี ๒ อย่าง  คืออุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ (คือมีชีวิตอยู่)   อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ   กล่าวคือการละกิเลสได้หมดสิ้นเป็นความกับกิเลสแล้ว แต่ชีวิตยังไม่ดับ  ชื่อว่าอุปาทิเสสนิพพาน และ ละกิเลสหรือดับกิเลสได้หมดสิ้น และ ดับชีวิตด้วย  ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพาน คือปรินิพพานนั่นเอง

          เห็นพระองค์ใดมีความสำรวมกายวาจาเรียบร้อย  ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  อุดมไปด้วยคุณธรรม  มีอิทธิปาฏิหาริย์  ความขลัง  ความศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่ถูกใจปุถุชน  ก็อย่าด่วนยกย่องเรียกท่านว่าเป็นพระอริยะเจ้า  เป็นการสร้างมลทินมัวหมองแก่ท่าเปล่า ๆ

          หลวงพ่อทองสุขไม่ใช่พระอริยะเจ้า  แม้ท่านจะสามารถนั่งหลับตาเห็นโรคต่าง ๆ ในร่างกายคน  เหมือนมีตาทิพย์  และจ่ายยารักษาโรคได้  เวทย์มนต์คาถาขลังศักดิ์สิทธิ์มากเพียงไร  แต่เพราะท่านไม่สำเร็จธรรม  คือยังไม่ละกิเลสสังโยชน์ได้ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไป  ฌานที่ท่านได้นั้นจึงเป็นฌานโลกีย์ที่เสื่อมสิ้นไปได้

          ด้วยสาเหตุใดข้าพเจ้าไม่ทราบ  ตอนที่มาอยู่วัดมะขามล้ม กลางหมู่บ้านลาวพวน อำเภอบางปลาม้าเมืองสุพรรณนี่  หลวงพ่อทองสุขตรวจรักษาโรคไม่ได้ดีเหมือนก่อน  บางวันดูโรคไม่เห็น  ใจไม่เป็นสมาธิ  คาถาอาคมไม่ขลัง  เพราะฌานของท่านเสื่อมเสียแล้ว  ท่านไม่ยอมบอกว่าท่านเสื่อม  ข้าพเจ้าสังเกตดูรู้เอง  อยู่กับท่านสองต่อสองคืนหนึ่ง  ข้าพเจ้าพูดกับท่านอย่างตรงไปตรงมาว่า  หลวงพ่อฌานเสื่อมเสียแล้วใช่ไหม  ท่านก็ยอมรับว่าจริง  ฌานเสื่อมเสียแล้ว  จึงปรึกษาหารือกันแล้วตกลงว่าควรเลิกตรวจรักษาโรคเสียที  เมื่อสลายกองตรวจรักษาโรค  หลวงทองสุขให้กรรมการวัดรางเนื้อตายที่ไปเป็นผู้จัดการด้านการเงินนั้น  นำเงินที่ได้ทั้งหมดกลับไปมอบหลวงพ่อแปลกเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารอุโบสถตามความประสงค์ต่อไป  ส่วนตัวหลวงพ่อทองสุขนั้นบอกข้าพเจ้าว่า  จะเข้าไปอยู่ในถ้ำตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อบำเพ็ญฌาน เจริญกรรมฐานต่อไป  เราจากกันที่วัดบ้านมะขามล้ม  แล้วข้าพเจ้าไม่ได้พบและไม่ได้ข่าวหลวงพ่อทองสุขอีกเลย  สิ่งที่ได้จากท่านไว้เป็นที่ระลึกคือคาถาปลุกปลัดขิก  “นะหัวโต โมหัวแดง ทิ่ม ๆ แทง ๆ หัวแดงหัวโต”  เท่านี้จริง ๆ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, ธันวาคม, 2565, 10:36:05 PM
(https://i.ibb.co/wN89KfQ/295015731-3489206184636256-8358370201760545291-n-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๒ -
                       “เขาว่าข้าพเจ้าบ้ากลอน”

          สมัยนั้น  สถานีวิยุกระจายเสียงจังหวัดทหารบกลพบุรี (จทล.) เป็นสถานีวิทยุที่ประชาชนคนภูธร (บ้านนอก) นิยมเปิดเครื่องรับฟังกันมาก  แม้ไม่มีรายการละครเหมือนวิทยุในกรุงเทพฯ แต่ก็มีรายการลิเก  เพลงไทยสากลทั้งลูกทุ่งลูกกรุงให้ฟังกันตั้งแต่เช้ามืดยันเที่ยงคืน  มีรายการยอดฮิตคือ  “เพลงตามคำขอ”  ดำเนินรายการโดย  แวน กัจฉปางกูร  มีแฟนรายการเขียนจดหมายขอเพลงให้ตนเองและคนโน้นคนนี้ฟัง  ผู้ดำเนินรายการอ่านชื่อเพลงและชื่อผู้ขอให้คนอื่นฟัง  กว่าได้ฟังเพลงก็ต้องฟังชื่อแฟนรายการยืดยาว จนรายการนี้เป็นเสมือนสื่อรักหนุ่มสาวนักฟังเพลงไปในที่สุด  ข้าพเจ้าไม่ชอบฟังนัก  เพราะเบื่อที่จะรอฟังเพลงเมื่อฟังรายชื่อคนขอเพลงจนจบก่อน

          รายการที่ข้าพเจ้าชอบฟังมากที่สุดคือรายการ  “กวีสวรรค์”  มีทุกคืนเวลา ๓-๔ ทุ่ม  ผู้ริเริ่มจัดและดำเนินรายการนี้ชื่อ  สงั่น พูลเพิ่ม  มี  ประยูร กั้นเขต  เป็นผู้ช่วย  เขานำบทกวีเป็นโคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  ซึ่งมีผู้เขียนส่งให้อ่านออกอากาศ  ผู้อ่านกลอนในรายการนี้เสียงดี  จังหวะลีลาการอ่านน่าฟัง  เพลงนำรายการ (ไตเติล) เป็นปี่พาทย์บรรเลงเพลงชื่อ  “ลาวญวนเคล้า”  ต่อด้วยบทกวีของท่าน น.ม.ส.ว่า

           “สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์
           ผ่องประภัสร์พลอยหาวพราวเวหา
           พริ้งไพเราะเสนาะกรรณวรรณนา
           สมสมญาว่าสวรรค์ชั้นกวี”

          เวลาอ่านบทกวีจะมีเสียงดนตรีไทย  ปี่พาทย์บ้าง  เครื่องสายบ้าง  มโหรีบ้าง  เปิดคลอเสียงเบา ๆ สร้างบรรยากาศให้คนในชนบทเปิดเครื่องวิทยุนอนฟังเพลิน ๆ ก่อนนอน  ข้าพเจ้าอยู่กรุงเทพฯ รับฟังรายการนี้ได้บ้างไม่ได้บ้าง  เพราะคลื่นเสียงวิทยุในกรุงเทพฯ มีมาก  คอยเบียดคลื่นเสียงของ จทล. ให้ขาดหายเป็นช่วง ๆ

          ออกพรรษาและว่างจากการเรียนแล้ว  ข้าพเจ้าจะจากวัดจันทร์นอกไปอยู่วัดหัวเวียง  เพราะที่นั่นได้รับไมตรีอันอบอุ่นจากญาติโยมและเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันมาก  พวกน้องเณรที่เรียนบาลีรุ่นเดียวกันก็ยังคงเรียนอยู่ที่เดิม  จากกรุงเทพฯ  ก็ไปร่วมเล่นร่วมเรียนกับพวกนั้น  ด้วยเหตุนี้แหละทำให้พระเต็ม  “บ้ากลอน”  รักกลอน  เขียนกลอนไม่รู้เลิกรา  โดยปกตินิสัยเป็นคนรักการอ่านและชอบเขียนกลอนอยู่แล้ว  การเขียนหรือแต่งกลอนของข้าพเจ้าไม่มีครูอาจารย์สั่งสอน  หากแต่เขียนตามแบบกลอนที่อ่านจากหนังสือตำราภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และนิราศต่าง ๆ ของสุนทรภู่นั่นแหละ  ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนเหมือนคนอื่นเขา  มีเพียง  “ครูพักลักจำ”  แล้วแต่งให้เพื่อนพระเณรอ่านกันเล่นสนุก ๆ ไปเท่านั้น

          พวกน้องเณรวัดหัวเวียงคะยั้นคะยอให้ข้าพเจ้าส่งบทกลอนไปรายการกวีสวรรค์วิทยุ จทล. บ้าง  บางองค์ลงแรงคัดลอกกลอนที่หลวงพี่เต็มแต่ง  เพื่อให้ส่งไปรายการนี้  ข้าพเจ้าไม่เต็มใจที่จะส่ง  ด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ดำเนินรายการจะอ่านออกอากาศให้หรือไม่  ยามนั้นพี่เพชรา นางผดุงครรภ์สถานีอนามัยตำบลหัวเวียงซึ่งตั้งอยู่ในวัด  ช่วยพวกน้องเณรคะยั้นคะยอให้ส่งอีก  จึงตัดสินใจคัดลอกบทกลอนที่เห็นว่าดีที่สุดในจำนวนหลายสิบสำนวนนั้นส่งไปรายการกวีสวรรค์  โดยใช้นามปากกาที่พี่เพชราตั้งให้ว่า   “เต็มดวง ณ เวียงแก้ว”  แล้วพวกเราก็รอฟังกันด้วยใจจดจ่อ   ๔ วันหลังจากส่งบทกลอนไปทางไปรษณีย์  ข้าพเจ้าและพวกน้องเณรพากันดีใจมาก  เมื่อได้ฟังคุณสงั่น พูลเพิ่ม  อ่านกลอนของ  “เต็มดวง ณ เวียงแก้ว“  ออกอากาศและกล่าวชมว่าเขียนได้ไพเราะเพราะพริ้งดีมากอีกด้วย

          คืนนั้นนอนไม่หลับ  พอฟังรายการกวีสวรรค์จบแล้วรีบเขียนกลอนใหม่ได้อีก ๓ สำนวน  และบรรจงคัดลอกด้วยลายมือที่คิดว่าสวยงามที่สุด  ใส่ซองเตรียมส่งในวันรุ่งขึ้น

          ข้าพเจ้าพบความสุข  ความเอิบอิ่มใจ  เป็นความสุขที่แปลกใหม่  จิตใจเบิกบาน  เป็นความสุขที่ได้จากการแต่งกลอน  และฟังกลอนเราที่เขาอ่านออกอากาศทางวิทยุให้คนนับหมื่นนับแสนได้ยินได้ฟัง  ชื่อที่ลงกำกับท้ายสำนวนกลอนแม้จะเป็นเพียงนามแฝง (นามปากกา)  แต่พวกน้องเณรและเพื่อนฝูงที่วัดหัวเวียงก็รู้กันดีว่าเจ้าของกลอนนั้น ๆ เป็นของหลวงพี่เต็ม

          กลอนของข้าพเจ้าได้รับการอ่านออกอากาศทุกคืน  คืนละหนึ่งสำนวน  บางคืนมีสองสำนวน  โดยใช้นามแฝงคนละนาม  เป็นสำนวนชายบ้างสำนวนหญิงบ้าง  คนอ่านก็ไม่รู้ว่ากลอนที่อ่านนั้นเป็นของของข้าพเจ้าทั้งหมด  เพราะลายมือไม่เหมือนกัน  ทั้งนี้เพราะพี่ผู้หญิงที่มีบ้านอยู่ในวัดชอบอ่าน-ฟังกลอน  เธอช่วยคัดลอกกลอนสำนวนหญิงของข้าพเจ้าส่งไปเอง  ด้วยคัดลอกกลอนมาก ๆ เข้า  พี่สาวคนนั้นก็เริ่มแต่งเองได้  ข้าพเจ้าตั้งนามปากกาให้พี่สาว (นอกไส้) คนนั้นว่า   “สมฤดี ศรีษ์เวียง”  พี่เขาแต่งกลอนได้ช้า กว่าจะเสร็จแต่ละสำนวนก็นานถึง ๓-๔ วันเลยเชียว  ผิดกับพี่สาวที่เป็นนางผดุงครรภ์  พี่เพชรา  แต่งกลอนได้เร็วกว่าพี่สมฤดี  พี่สาวคนนี้ใช้นามว่า  “เพชรา ณ เวียงแก้ว“  เป็นคู่กับกับ  เต็มดวง ณ เวียงแก้ว  เราเริ่มจับกลุ่มแต่งกลอนกันสนุกสนานแล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, ธันวาคม, 2565, 10:31:17 PM
(https://i.ibb.co/YNDWbN6/15181139-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๓ -
          คนเขียนกลอนส่งรายการกวีสวรรค์มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  มีการเขียนกลอนโต้ตอบกันหลากหลายเรื่อง  ส่วนมากเป็นทำนอง  “จีบกัน”  ระหว่างชายหญิงสนุกมาก  ดูเหมือนจะเขียนกลอนกันแบบลูกทุ่ง  และ  “มวยวัด”  คือทั้งคนเขียนคนอ่านเหมือนไม่รู้เรื่องฉันทลักษณ์ของกลอนว่ามีกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง  รู้เพียงเอาถ้อยคำมาเรียงร้อยให้คล้องจองกันเหมือนกลอนลิเก  เพลงพื้นบ้านต่าง ๆ  ก็ใช้ได้แล้ว  กลอนในรายการนี้ส่วนมากจะออกรสในทาง  นารีปราโมทย์ -พิโรธวาทัง -ศัลลาปังคพิสัย  ส่วน เสาวรจนี -หังสนัยวาที  มีบ้างไม่มากนัก

          รสของกวีตามตำราท่านกล่าวไว้ ประกอบด้วย  “เสาวรจนี - นารีปาโมทย์ - พิโรธวาทัง - ศัลลาปังคพิสัย - หังสนัยวาที”

          กวีรสของ  “เสาวรจนี”  คือกลอนที่เขียนพรรณนาชมโฉมชมความงาม ทั้งความงามของบุคคลและบรรยายความงามของธรรมชาติ  ท้องนาป่าเขาลำเนาไพร  สายลมแสงแดด  ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมศาสนาประเพณี  ไม่สอดใส่อารมณ์รักใคร่  โกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังเข้าไปในกลอนกวีนั้น.

          กวีรสของ “นารีปราโมทย์”  คือกลอนที่เขียนสอดใสอารมณ์รักใคร่เพ้อฝัน  กระเง้ากระงอดออดอ้อน  หวานชื่นรื่นรมย์  เป็นรสที่ให้ความกำหนัดยินดี.

          กวีรสของ  “พิโรธวาทัง”  เป็นกลอนที่สอดใส่อารมณ์โกรธ  เคียดแค้น  เสียดสี  สาปแช่ง  ชิงชัง  หยาบกร้าน  ก้าวร้าว  ดุดัน.

          กวีรสของ  “ศัลลาปังคพิสัย”  เป็นกลอนที่สอดใส่อารมณ์เศร้าโศก  คับแค้น  ลำเค็ญ  ผิดหวัง.

          กวีรสของ  “หังสนัยวาที”  เป็นกลอนที่ออกรสในทางสนุกสนาน  ตลกขบขัน  รื่นเริงหรรษาฮาเฮ.

      ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นเสาวรจนี

            “แต่ปางหลังยังมีบุรีรัตน์
           แดนอุดมสมบัติไม่ขัดสน
           น้ำมีปลานามีข้าวทั่วด้าวดล
           ประชาชนแล้วดีมีศีลธรรม”

      ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นนารีปราโมทย์

            “ยลแย้มยิ้มพริ้มเพราะเสาวลักษณ์
           สุดจะหักห้ามใจมิให้หลง
           มนต์รักมอมเมาใจให้งวยงง
           วุ่นพะวงเวียนคะนึงถึงแต่เธอ”

     ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นพิโรธวาทัง

            “เจ้าเลวทรามต่ำช้าไร้ค่ามนุษย์
           ดั่งเจ้าผุดจากนรกขึ้นลอยหน้า
           แสนชิงชังเกินคำจำนรรจา
           ไปเถิดอย่าเห็นหันกันอีกเลย”

      ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นศัลลาปังคพิสัย

            “เปิดหม้อเข้าเศร้าใจไร้เข้าสุก
           เปิดกระปุกเปล่าใจไร้เข้าสาร
           ทนทุกข์ยากกรากกรำทำการงาน
           จนดักดานตาปีไม่มีกิน”

      ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นหังสนัยวาที

            “โอมมหาละลวยคนสวยเอ๋ย
           อย่าเชือนเฉยโปรดจงหลงรักฉัน
           หาไม่แล้วจะเล่นบททศกัณฐ์
           ฉุดไปปั่นปลุกปล้ำให้หนำใจ”

          ในกลอนแต่ละรสนั้น  ให้ความสุขแก่วิญญาณที่ปฏิพัทธ์กวีไม่เหมือนกัน  ส่วนมากจะชอบรสของกลอนรักหวานชื่นรื่นเริง (นารีปราโมทย์)  กับรสผิดหวังคับแค้นเศร้าซึม (ศัลลาปังพิศัย)  และรสเคียดแค้นชิงชัง (พิโรธวาทัง) และดูเหมือนว่าจะแต่งง่ายด้วย

          ข้าพเจ้าเขียนกลอนรักหวานชื่นเพ้อฝันไม่เป็น  จะว่าใจไม่มีความรักหรือไม่รู้จักความรักก็ไม่เชิง  ในกลอนรักของข้าพเจ้ามักจะแทรกความเศร้าผิดหวังลงไปด้วยเสมอ  ที่ชอบเขียนจะเป็นทำนองสั่งสอนแฝงปรัชญาเข้าไปในกลอนรัก  เสมือนตนเองเป็นปรมาจารย์ที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชนในเรื่องของความรักกระนั้นเทียว  แต่ความจริงแล้วไม่ประสีประสากับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ นักหรอก/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, ธันวาคม, 2565, 10:51:59 PM
(https://i.ibb.co/Q6mzKVD/writing-190409-800x450-1200x900-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๔ -
          ความรัก  จะว่าเป็นเรื่องของความเพ้อฝันก็คงไม่ผิดนัก  เพราะจินตภาพเรื่องราวของความรัก  ปฏิกิริยาในเรื่องของความรัก  สวยงามอ่อนหวานนุ่มนวลละมุนละไมเกินที่จะบรรยายให้ถูกต้องหมดสิ้นได้  คนไม่เคยมีความรัก  ไม่มีคนที่รัก  ไม่เคยสัมผัสรสรัก  ไม่เคยถูกคนที่รักหักอกให้ผิดหวั ง ก็สามารถรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนบรรยายออกมาเป็นคำร้อยกรองได้

          ความคิดฝันที่เป็นความสุขสดชื่นสมหวังในความรัก  และความเจ็บปวดรวดร้าวอันเกิดจากผิดหวังในความรัก  เป็นเรื่องที่คนแต่งกลอนสามารถจินตนาการสร้างความรู้สึกออกมา  เขียนให้คนอ่านคนฟังคิดเห็นเป็นเรื่องจริงจังตามไปด้วย  จะว่าคนเขียนกลอนมีจิตใจเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหวรวนเรไม่แน่นอนก็ได้

          คนแต่งกลอนแต่งนวนิยายและนิยายอิงประวัติศาสตร์กับจินตนิยาย  ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน  คือสร้างเรื่องให้คนอ่านคนฟังเห็นเป็นเรื่องจริงตามที่เขียน  และให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่านผู้ฟังนั้น  ถ้างานเขียนชิ้นนั้นดาลใจให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตามไปกับข้อเขียนนั้นได้  ถือว่างานเขียนชิ้นนั้นประสบความสำเร็จ  คนเขียนก็ได้ความภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน  ท่านว่างานเขียนกับงานแสดงมีความเหมือนกันตรงจุดที่ว่า  คนเขียนสมารถเขียนให้คนอ่านคล้อยตามได้ถือว่าประสบความสำเร็จ  คนแสดงสามารถสวมวิญญาณตัวละครแล้วแสดงได้สมบทบาท  ให้คนชมเห็นเป็นจริงได้แล้วถือว่าการแสดงนั้นปะสบความสำเร็จ

          มีหญิงสาวอายุมาก (ก็สาวแก่นั่นแหละ) คนหนึ่ง  เธอเขียนกลอนออกรสเป็นศัลลาปังคพิสัยได้ดีมาก  ข้าพเจ้าและคนอ่านคนฟังส่วนมากอ่านและฟังแล้วเกิดความรู้สึกสงสารจับใจ  กลอนของเธอแต่ละสำนวนมีแต่ความเศร้าโศก  ตัดพ้อต่อว่าด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ  คับแค้นใจ  ผิดหวังร่ำไป  ต่อมาข้าพเจ้าได้รู้จักตัวจริงของเธอภายหลัง  ปรากฏว่าเธอเป็นคนมีฐานะดี  เรียนจบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมต้น  ไม่ได้เรียนต่อเพราะพ่อแม่เห็นว่าเป็นหญิง  ไม่จำเป็นต้องเรียนสูงนัก (ตามคติคนจีนสมัยนั้น) ให้ช่วยพ่อแม่ค้าขาย  หัดทำงานบ้านการเรือนในหน้าที่แม่บ้านมาก ๆ ดีกว่า  อายุ ๓๐ เศษแล้วยังไม่มีชายใดมาสู่ขอเป็นคู่ครอง  ไม่เคยออกงานสังคมกับเพื่อนฝูง (เพราะ เตี่ย ม่า ไม่อนุญาต)  แต่เธอเขียนกลอนแต่งบรรยายเรื่องความผิดหวังในรักได้กินใจเหลือเกิน  กลอนของเธอแต่ละสำนวนจะใช้เวลาคิดแต่งความเขียนคำไม่น้อยกว่า ๕ วัน (ความยาว ๖ บทกลอน)  เธอเปิดเผยว่าที่แต่งกลอนได้ช้า  ก็เพราะเธอต้องปรุงแต่งอารมณ์ใส่เข้าในคำกลอนโดยแต่งไปร้องไห้ไป  อย่างนี้ก็มีจริง ๆ ด้วย

          ข้าพเจ้ามีชื่อเสียงโด่งดังในวงการนักฟังวิทยุภูธร (บ้านนอก)  จึงมีน้องเณรวัดหัวเวียงหลายองค์หัดเขียนกลอนตามอย่างหลวงพี่เต็ม  คนที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่วัดชายหญิงหลายคนก็หัดแต่งกลอนเขียนส่งรายการกวีสวรรค์  บางคืนพวกเราไปรวมกันที่บ้านพี่สมฤดี ศีรษ์เวียง  เพื่อฟังรายการกวีสวรรค์บ้าง  บางคืนไปรวมกันที่สถานีอนามัยหัวเวียงข้างศาลาการเปรียญของวัดบ้าง  ที่สถานีอมัยมีคนเขียนกลอนสองคน  คือพี่หมอศิริ หัวหน้าสถานีอนามัย  กับพี่เพชรา นางผดุงครรภ์  พวกเราจึงสุขสนุกไปตามประสาคนบ้ากลอน  ฟังรายการจบแล้วก็แยกย้ายกลับไปนอนฝันกันย่างมีความสุก  บางคืนฟังรายการกลอนจบแล้วไม่นอน  เรามีสมุดกองกลาง ๑ เล่ม  ดินสอปากกาพร้อมให้คิดเขียนกลอนลงสมุดกลอนต่อสัมผัสกันเพลินไปเลย

          เพชรา ณ เวียงแก้ว  ที่พวกเรา พระเณร เรียกเธอว่า  “พี่หมอ”  มีพี่ชายบวชเป็นพระมหาบาเรียน  จึงมีความคุ้นเคยกับพระเณร  มีอายุแก่กว่าพระเต็ม ๒ ปี  รุ่นเดียวกับพี่สาวของพระเต็ม  ข้าพเจ้ามีความรู้สึกรักและนับถือ  “พี่หมอ”  เป็นพี่สาวแท้ ๆ  กลอนของเพชราเป็นกลอนรักหวานปนเศร้า  นามแฝง  เพชรา ณ เวียงแก้ว  ที่พี่หมอตั้งขึ้นเอง โด่งดังในรายการกวีสวรรค์มากเหมือนกัน

          เมื่อคนในตำบลหัวเวียงเขียนกลอนส่งรายการกวีสวรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ  ชื่อหัวเวียงจึงติดหูคนฟังวิทยุ จทล. ลพบุรี  พวกเราจึงรวมตัวตั้งชมรมกวีขึ้น  ใช้ชื่อว่า  “ชมรมกวีศีรษ์เวียง”  ดูเหมือนจะเป็นชมรมแรกในภูธร  ต่อนั้นไม่นาน   สมจิตร คชฤทธิ์  แห่งพระพุทธบาทสระบุรี   แก้วศิริ พุแค  อุทัย เก่าประเสริฐ  ประยูร กั้นเขต แห่งลพบุรี  ก็รวมตัวกันกับเพื่อน  ซึ่งเป็นแฟนรายการกวีสวรรค์  จัดตั้ง  “ชมรมกวีศรีนารายณ์”   จากนั้นก็มีการจัดตั้งชมรมกวีในภูธรอีกหลายชมรมตามมาเป็นแถวเลย

          กลอนที่เขียนกันสนุกในอารมณ์คนเขียนและสนุกในอารมณ์คนฟังรายการกวีสวรรค์  เห็นจะไม่มีอะไรเกินกว่าการเขียนโต้ตอบกัน  เป็นผลให้คนฟังและคนเขียนติดตามรับฟังรายการนี้ติดพันกัน  คนเขียนคอยฟังว่าเมื่ออบโต้ไปอย่างนั้นแล้ว  ฝ่ายโน้นจะโต้ตอบว่าอย่างไร (คนฟังก็คิดเช่นนั้น)  เมื่อฝ่ายโน้นตอบโต้มาแล้ว  ก็จดจำประเด็นสำคัญในกลอนนั้น  รีบเขียนตอบโต้ไปทันที  กลอนที่เขียนโต้อบกันนั้นเป็นเรื่องความรักบ้าง  ปริศนาธรรมบ้าง  ปรึกษาปัญหาชีวิตบ้าง  ปัญหาหัวใจบ้าง  คำที่โต้ตอบกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนรุนแรงอย่างกลอนลำตัด  เพลงฉ่อย ก็มี  แต่คุณประยูร ผู้ดำเนินรายการจะไม่ยอมอ่านออกอากาศดอกครับ

          ดูเหมือนว่าข้าพเจ้าจะมีคนเขียนโต้ตอบมากกว่าใคร ๆ  คู่โต้ตอบที่สำคัญของข้าพเจ้าเป็นสาวสุพรรณนาม  “ยินดี สุขนคร”  อยู่ตลาดท่าช้าง  อำเภอเดิมบางนางบวช  แดนเสื้อฝ้าย จอมโจรผู้ยิ่งใหญ่และยิ่งยงแห่งเมืองสุพรรณนั่นเอง  สำนวนกลอนของเขา  ส่วนมากออกมาในรสพิโรธวาทัง  แดกดัน  กระแนะกระแหน  ประชดประชัน  กระฟัดกระเฟียด  เจ้าแง่เจ้างอน.  ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ชอบให้ใครเอาอกเอาใจ  ออเซาะ อออดอ้อน อยู่แล้ว  กลอนของเขาตรงกับนิสัยข้าพเจ้าพอดี  ก็เลยเขียนตอบโต้กันสนุกไปเลย

          ด้วยวัยใกล้เบญจเพสของข้าพเจ้า  ไฟอารมณ์ความคิดกระตือรือร้นในเรื่องต่าง ๆ จึงมีมาก  ดังนั้นเมื่อ  “บ้ากลอน”  เสียแล้ว  ในวันหนึ่ง ๆ จึงเขียนกลอนได้ไม่น้อยกว่า ๓ สำนวน  ความยาวของกลอนตั้งแต่ ๘ บทขึ้นไป (เพราะกลอนตอบโต้ต้องใช้ความยาวมาก) จนพี่สมฤดีมักอุทานเสมอว่า

           “อื้อฮื้อ..ไปเอาความคิดที่ไหนมาเขียนได้มากมายอย่างนี้”

          เป็นเพราะเขียนกลอนวันละหลายสำนวนนี่แหละ  จำเป็นต้องตั้งนามปากกา  ใช้นามแฝงเพิ่มขึ้น  ตอนนั้นนาม  “นันท์ นาคเกษม”  ติดหูคนฟังแล้ว  เพิ่มนามใหม่อีกว่า  ”เพลิน พจน์มาลย์”  ใช้กับสำนวนหญิงอีกนามว่า  “จินตนา นาคเกษม”  และอีกหลายนามที่ลืมไปแล้ว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, ธันวาคม, 2565, 10:46:54 PM
(https://i.ibb.co/FY8fTL2/0be6380c6dce-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๕ -
           แดน เวียงเดิม  เป็นนามแฝงของน้องเณรองค์หนึ่ง  นามนี้โด่งดังในรายการกวีสวรรค์พอสมควรเหมือนกัน  คนนี้ชอบแต่งกลอนกลบทที่ชื่อ  "กบเต้นต่อยหอย" คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=1752.msg4971#msg4971)  กลบทนี้ข้าพเจ้าก็ชอบ  แต่แต่งได้ไม่ดีเท่าน้องแดน เวียงเดิม  แบบอย่างกลบทนี้พวกเรายึดถือตามหนังสือศิริวิบูลกิตติ์ ของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง)  ซึ่งรวมแบบกลอนกลบทต่าง ๆ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6688.msg22950#msg22950) มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  และจากจารึกวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เฉพาะกลอนกลบทกบเต้นต่อยหอยนั้นตามแบบมีอยู่ว่า

           “ถ้าพอมีที่ผู้มาว่ากาขาว
           คำที่กล่าวข่าวที่กลั่นนั้นเชื่อได้
           จัดว่าหญิงจริงว่าอย่าได้เชื่อใจ
           แน่จะกลับนับจะไกลจงเกลียดกลัว...”

           นอกจากกลบทกบเต้นต่อยหอยแล้ว  ยังมีกลบทอีกหลายแบบที่พวกเรานำมาแต่งกัน

           กลอนเกี้ยวพาราสีหรือกลอนจีบกันน่ะเหร่อครับ  พระเขียนกลอนประเภทนี้เยอะเลย  ข้าพเจ้าเองก็เขียนไปกะเขาด้วยเหมือนกัน  มีคำถามกันว่า  พระเขียนกลอนรักเกี้ยวหญิงเป็นอาบัติไหม  มีพระพุทธบัญญัติเป็นวินัยของพระภิกษุอยู่ว่า   “ภิกษุมีความมีความกำหนัดอยู่พูดเกี้ยวหญิงต้องสังฆาทิเสส”   พระอาจารย์บางท่านว่า  การเขียนกลอนเกี้ยวหญิงไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส  เพราะเขียนเกี้ยวไม่ได้พูดเกี้ยว  พูดอย่างนี้ก็เหมือน  "เลี่ยงบาลี" คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=1513.msg52428#msg52428)  ประเด็นนี้เห็นจะต้องอภิปรายกันหน่อย  เพื่อกันมิให้ผู้ไม่รู้จริงทั้งหลายผลีผลามพูดปรับอาบัติพระง่าย ๆ  เป็นบาปกรรมไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

           คำว่า เกี้ยว  ท่านให้คำหมายจำกัดความว่า ได้แก่  “การพูดพาดพิงเมถุนธรรม”  คำว่า  “เมถุนธรรม”  ได้แก่การร่วมรัก เสพสังวาส หรือ มีเพสสัมพันธ์ อะไรนั่นแหละ  ภิกษุพูดเกี้ยวหญิงแล้วต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  ถ้าพูดโดยไม่มีความกำหนัด  เช่นพูดว่าเธอสวยมาก  น่ารักมาก  ฉันรักเธอมาก  อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส  ถ้าพูดด้วยความกำหนัดตามรู้สึกว่า  เธอสวยน่าเสพเมถุนมาก  ขอเสพเมถุนเธอได้ไหม  อย่างนี้เป็นต้น  อันนี้ถือว่ามีความกำหนัดอยู่พูดเกี้ยวหญิงด้วยความกำหนัดนั้น ต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสสแน่นอน

           ถ้ามีความกำหนัดอยู่แล้วเขียนกลอนเกี้ยวล่ะ  เป็นสังฆาทิเสสไหม ?   คำถามนี้ต้องวินิจฉัยให้รอบคอบหน่อย  สมมุติเอานะว่า  ขณะที่ภิกษุเขียนกลอนเกี้ยวหญิงด้วยความกำหนัดนั้น  หญิงยังไม่ได้อ่านจึงไม่รู้ว่าพระเขียนกลอนเกี้ยว  อย่างนี้พระนั้นไม่ควรจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  และเมื่อเขียนเกี้ยวด้วยความกำหนัด  แล้วส่งสารนั้นไปให้หญิง  แต่ความกำหนัดของท่านหมดไปก่อนสารนั้นไปถึงหญิง  อย่างนี้ท่านก็ไม่ควรจะเป็นอาบัติ (เพราะความกำหนัดที่เคยมีนั้นไม่อยู่แล้ว) สิกขาบทนี้บัญญัติไว้ว่า   “มีความกำหนัดอยู่พูดเกี้ยวหญิง”  เท่านั้น  พระภิกษุพูดเรื่องรัก  เขียนกลอนรัก  โดยไม่เกี้ยว  ย่อมไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสสด้วยประการฉะนี้

           เท่าที่สังเกตดูกลอนรักที่เขียน ๆ กันนั้น  ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส  ไม่ค่อยมีใครเขียนเกี้ยว (พาดพิงเมถุนธรรม)  แม้จะออดอ้อนวอนขอรักกันบ้างก็ไม่ถึงกับเกี้ยวตามภาษาวินัยนี้  มีแต่พูดแบบเฉี่ยวไปเฉี่ยวมาไม่พูดตรง ๆ  เป็นเพียงให้รู้กันอยู่นัย ๆ เท่านั้น  ข้าพเจ้าไม่ถนัดเขียนกลอนรัก  และก็ไม่กล้าเขียนกลอนรักด้วย  มันกระดากใจจนคิดเขียนไม่ออก  แม้เพียงความคิดก็ยังอายไม่กล้าคิด  ด้วยหิริโอตัปปะมีอิทธิพลอยู่เหนือจิตใจมากทีเดียว

           ข้าพเจ้าเอยู่วัดจันทร์นอกได้สองปี  ก็มีพระภาคกลางเข้าอยู่ด้วยเพิ่มขึ้นองค์หนึ่ง  พระองค์นี้บ้านเดิมอยู่อำเภอพี่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี  บวชเป็นพระแล้วไปอยู่วัดบางจักร อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง  ชื่อว่า  พระสอน (ขอสงวนฉายาและนามสกุล)  พระองค์นี้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระเต็ม  และมีบทบาทสำคัญเกี่ยวพันกับพระเต็มมากทีเดียว  พระสอนมีอะไรขำ ๆ ชอบทำอะไรแผลง ๆ  เพื่อนพระเขาเรียนบาลีเป็นหลัก  เรียนกวดวิชาทางโลกเป็นส่วนประกอบ  แต่พระสอนเรียนกวดวิชา ม.๓ ม.๖ ม.๘ เป็นหลัก  ภาษาอังกฤษเป็นส่วนประกอบ  เขาสอบได้ใบประกาศของกระทรวงศึกษาฯจริง ๆ เพียงแค่ชั้น ม.๓  ส่วน ม.๖ นั้นได้มาจากการซื้อใบสุทธิของโรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่ง  เขาสอบวิชาครู พ.กศ. ได้ ๔ ชุด  นอกนั้นซื้อเอาโดยไม่ต้องสอบ  ภาษาอังกฤษของเขาพูดกับฝรั่งมังค่าได้รู้เรื่องค่อนข้างดี

           สมัยนั้น (ยุคกึ่งพุทธกาล) การประกาศหามิตร (เพื่อน) ทางหน้าหนังสือพิมพ์เป็นที่นิยมกันมาก  พระสอนลงประกาศหามิตรในคอลัมน์หนังสือพิมพ์สกุลไทยรายสัปดาห์  พอหนังสือพิมพ์ฉบับที่มีชื่อเขาประกาศหามิตรนั้นออกวางตลาดได้สัปดาห์เดียว  ปรากฏว่าบุรุษไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งให้เขาวันละไม่ต่ำกว่า ๑๐ ฉบับ  แสตมป์ไปรษณีย์ติดซองจดหมายสมัยนั้นดวงละ ๒๕ สตางค์เท่านั้น  จึงไม่มีใครเสียดายเงินค่าแสตมป์ส่งจดหมาย  พระสอนรับจดหมายไปรษณีย์แล้วเปิดอ่านเพลินไปเลย  บ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้าเข้าไปในห้องพระสอน  เห็นเขานอนเอามือก่ายหน้าผาก  ข้างที่นอนมีซองจดหมายที่เปิดอ่านแล้วบ้าง  ยังไม่ได้เปิดอ่านบ้าง  วางอยู่ก่ายกองไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ฉบับ  พอเห็นข้าพเจ้าเข้าไปหา  เขารีบลุกขึ้นนั่งมองหน้าเพื่อนด้วยดวงตาละห้อย

         “เต็มช่วยแบ่งไปบ้างซีเพื่อน  ผมตอบไม่ไหวแล้ว”  เขากล่าวด้วยอาการท้อแท้

         “จะดีรื้อ...เขาเขียนมาถึงทั่นแล้วผมจะเอาไปตอบได้ยังไงล่ะ”

         “เอาไปเถอะ  จดหมายนี่ส่วนมากเขาจะถามมาว่า  ชื่อนี้เป็นชื่อจริงหรือปลอม  ทั่นก็เอาไปตอบว่าเป็นชื่อปลอม  และบอกชื่อของทั่นว่าเป็นชื่อจริง  ให้เขาจดหมายติดต่อกับทั่นในชื่อจริงก็สิ้นเรื่อง  เอานะช่วยกันหน่อย”

         ถูกคะยั้นคะยอขอร้องอย่างนั้นข้าพเจ้าก็นั่งร่วมวงเลือกจดหมายที่เขียนมาถามว่า  ชื่อนี้เป็นชื่อจริงหรือปลอม  เลือกฉบับที่ลายมือสวยงามอ่านง่ายไว้เป็นเพื่อน ๕ ฉบับ  ทุกฉบับที่เลือกไว้นั้น  เจ้าของเป็นนักเรียนมัธยมปลายบ้าง  นักเรียนอาชีวะบ้าง  จากบุรีรัมย์คนหนึ่ง  นครราชสีมาคนหนึ่ง  ลำปางคนหนึ่ง  พิษณุโลกคนหนึ่ง  สุราษฎร์ธานีคนหนึ่ง  การตอบจดหมายของข้าพเจ้าไม่เหมือนเพื่อน ๆ ที่เขียน  “จีบ”  กัน  ข้าพเจ้าเขียนสนทนากันในเชิงวิทยาสาระ  คือให้และขอความรู้แก่กันและกัน  ในด้านสังคม  ภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  ศาสนา  วัฒนธรรม  ประเพณี  ปรัชญา  บอกเล่าประสบการณ์ของกันและกัน  ข้าพเจ้าชอบที่จะเขียนทางเชิงแนะนำสั่งสอนแบบผู้ใหญ่  ให้คำแนะนำสั่งสอนผู้น้อย  ไม่คิดจะเขียนจดหมายในเชิงหาคู่ชู้สาวตามความนิยมของคนสมัยนั้น

         นักเรียนสาวจำนวน ๕ คนที่เขียนจดหมายติดต่อกับข้าพเจ้านั้น   ๔ คนมีปัญหาในครอบครัว  คนหนึ่งแม่ตายพ่อมีเมียใหม่  คนหนึ่งพ่อกับแม่แยกกันอยู่คนละทางโดยเธออยู่กับแม่  คนหนึ่งพ่อแม่ไม่มี (ตาย) เธออยู่กับป้า-ลุงเชย  คนหนึ่งพ่อขี้เมาไม่ทำการงาน แม่ค้าขายหารายได้เลี้ยงครอบครัว  พวกเธอมีปัญหามากมายให้ข้าพเจ้าต้องตอบแก้  ก็เลยต้องทำหน้าที่ปลอบใจให้คำแนะนำแข่งกับ  “ศิราณี” (ถนอม อัครเศรณี)  ที่เขียนแก้ปัญหาปลอบใจใคร ๆ อยู๋ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  จนมีมีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นนั่นเทียว

         คนเดียวที่ไม่มีปัญหาครอบครัวจะต้องปรึกษาข้าพเจ้า  เธอเป็นนักเรียนอาชีวะบุรีรัมย์  เด็กคนนี้เขียนจดหมายคุยสนุก  สอนให้ข้าพเจ้ารู้ภาษาเขมรหลายคำ  เพราะเธอเป็นคนมีเชื้อสายเขมรสูง  บ้านอยู่อำเภอสะตึก  ส่งภาพในชุดนักเรียนมาให้ ๑ ใบ  เป็นเด็กผมยาวถักเปียสวยงาม  หน้าตาเธอแม้ไม่สวย แต่คมขำน่ารักดี  ปกติแล้วข้าพเจ้าเห็นเด็กหญิงไว้ผมเปีย  เด็กชายไว้เปีย โก๊ะ แกละ แล้วจะชื่นชอบรักและเอ็นดูเสมอมา  ดังนั้น  อารีย์ เด็กสาวผมเปียจากบุรีรัมย์คนนี้จึงเป็นคนที่ข้าพเจ้าชื่นชอบมาก /

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53248#msg53248)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53504#msg53504)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, ธันวาคม, 2565, 10:27:16 PM
(https://i.ibb.co/Vq7Vffj/1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53393#msg53393)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53677#msg53677)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๖ -
         พระสอนมีเพื่อนพระที่เป็นชาวอำเภอวิเศษไชยชาญองค์หนึ่งชื่อพระชา  พระองค์นี้เข้ากรุงเทพฯ ครั้งใดก็มาพักกับพระสอนที่วัดจันทร์นอก  จึงพลอยรู้จักคุ้นเคยกับพระเต็มไปด้วย  ออกพรรษาแล้วทุกปีข้าพเจ้าจะออกจากกรุงเทพฯ ไปพักอยู่ที่วัดหัวเวียงบ้าง  วัดบางจักรอำเภอวิเศษไชยชาญบ้าง  วัดนี้มีหลวงพ่อพระครูหรุ่มเป็นเจ้าอาวาส  และเป็นเจ้าคณะอำเภอวิเศษไชยชาญด้วย  ข้าพเจ้าเป็นพระอาคันตุกะจากกรุงเทพฯ ไปพักที่นี่  ได้รับความสะดวกสบายหลายประการ  เพราะค่านิยมของคนไทยสมัยนั้นจะเชื่อถือยกย่องคนกรุงเทพฯ  พระเณรและญาติโยมที่วัดนี้ให้ความนิยมนับถือยำเกรงพระเต็มผู้ไปจากกรุเทพฯ มากทีเดียว

         วัดบางจักรเป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย  แม่น้ำสายนี้แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดชัยนาทไหลผ่านอำเภอในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอวิเศษไชยชาญ ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง  เข้าเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผ่านพื้นที่ที่อำเภอผักไห่  ผ่านหัวเวียงลงพบกับแม่น้ำน้อยที่แยกจากแม่น้ำท่าจีนจากจังหวัดสุพรรณบุรี  ที่บ้านแพน อำเภอเสนา  เมื่อรวมเป็นแม่น้ำสายเดียวกันแล้วก็ไหลเรื่อยลงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร  ในช่วงตอนอำเภอวิเศษไชยชาญไปถึงอำเภอผักไห่  มีหมู่บ้านใหญ่ ๆ หลายหมู่บ้าน  ปลาชุกชุมมาก  ในพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ดีด้วยข้าวปลาอาหาร  ประชาชนอยู่ดีกินดี  พระเณรในวัดต่าง ๆ ของถิ่นนี้ก็ได้รับอาหารสปาย ะ เสนาสนสปายะ  และอะไร ๆ ก็สปายะหลายประการ  โดยเฉพาะพระเณรวัดบางจักรดูจะมีภาษีกว่าเพื่อน  เพราะเจ้าอาวาสเป็นเจ้าคณะอำเภอ  ลาภสักการะก็มีมากขึ้นตามเกรดยศตำแหน่งของสมภารเจ้าวัด  บ้านสามเรือนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางใต้วัดบางจักร (เป็นเขตติดต่อกับอำเภอผักไห่)  ไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน  ชาวบ้านนี้ทั้งหมดจึงเข้าทำบุญกันในวัดบางจักร  บ้านบางจักรรวมไปถึงตลาดปากคลองขนากซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ก็ทำบุญกันที่วัดนี้  ข้าพเจ้าเป็นพระอาคันตะ (พระจรมา) ของวัดบางจักร  แต่ก็เหมือนเป็นพระประจำของวัดนี้  จึงได้รับสิทธิ์ในกิจนิมนต์และอะไร ๆ อีกหลายประการตามสิทธิของพระวัดนี้ไปด้วย

         พระวัดบางจักรกาลนั้นมีอยู่ประจำทั้งหมด ๑๔ องค์  ในจำนวนนั้นมีพระหนุ่มองค์เดียว คือ พระชา ผู้เป็นเลขาของหลวงพ่อพระครูหรุ่ม  นอกนั้นเป็นพระหลวงน้าหลวงลุงหลวงอาหลวงตาอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป  และพรรษาก็ไม่มาก  เพราะท่านบวชตอนมีอายุมากแล้วทั้งนั้น  มีเณรน้อยอยู่ ๒ องค์  เด็กวัดมี ๑๐ คนเศษ  เด็กเหล่านั้นเป็นนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนราษฎร์ของวัด (ชื่อสัสดีอำนวยวิทย์) ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.๑ - ม.๖  โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นห้องเรียน  ข้าพเจ้าพักอยู่กุฏิหลวงตาเล็ก  ผู้เป็นพระหลวงตาที่มีอัธยาศัยดีงาม อายุ ๖๐ เศษ  เป็นคนสุขภาพแข็งแรงดี  ไม่สูบบุหรี่  ไม่เป่ายานัตถุ์  รักความสะอาด  กิริยามารยาทเรียบร้อยนุ่มนวล  อดีตเคยรับราชการ  มีลูกสาวลูกชายรับราชการทุกคน  และมีครอบครัวไปหมดแล้ว  ไม่มีโยมอุปัฏฐาก( ภรรยา)  เพราะเสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนท่านบวช (เขาว่าท่านบวชอุทิศกุศลให้ภรรยา)

         ความจริงคำว่า  “โยมอุปัฏฐาก”  ไม่น่าจะนำไปใช้กับหญิงที่เป็นภรรยาเก่าของพระภิกษุเลย  เพราคำว่า  “อุปัฏฐาก” ได้แก่ผู้อุปภัมภ์บำรุงดูแลพระภิกษุสามเณร  ถ้าเป็นผู้ชายจะเรียกว่า  “โยมอุปัฏฐาก”  หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า  “โยมอุปัฏฐายิกา”  และมักนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า  “โยม”  ซึ่งหมายถึง พ่อ, แม่  ในทางพุทธศาสนานี้บุรุษที่มีภรรยาอยู่ เมื่อเข้ามาบวชเป็นภิกษุ  ฐานะการเป็นสามีภรรยาจะต้องสิ้นสุดลง (ขาดจากการเป็นเป็นสามีภรรยา) ทันที  หากหญิงนั้นยังมีเยื่อใยในภิกษุอดีตสามีอยู่ก็ให้ปวารณาตัวเข้าอุปภัมภ์บำรุงดูแลพระภิกษุสามีเก่านั้น ในนาม  “โยมอุปัฏฐาก” เท่านั้น  ที่กล่าวมานี่เป็นเรื่องสมัยโบราณ  เดี๋ยวนี้คำเรียกหาเปลี่ยนไปโดยพระมักจะเรียกอดีตภรรยาว่า  โยมภรรยา  หรือ  โยม  สั้น ๆ  มีบ้างที่เรียกว่า  โยมเมีย  ฝ่ายหญิงก็เรียกพระอดีตสามีว่า  หลวงพี่  ยังไม่ได้ยินฝ่ายหญิงเรียกพระอดีตผัวว่า  “พระสามี”  หรือ  “พระผัว”  เลย

         ก็มีบ้างนะครับที่ผัวหนุ่มเมียสาวยังอยู่ในวัยหวาน  ความต้องการในเรื่องเพศสัมพันธ์มีอยู่มากตามธรรมดาของปุถุชน  แต่ต้องพรากจากกันโดยสามีจำใจต้องบวช  หรืออย่างไรก็ตามแต่จะอ้าง  ครั้นบวชไม่นานเท่าไรโยมเมียที่ไม่ค่อยได้อุปัฏฐากพระผัวนัก  ทนความว้าเหว่และแทะโลมของชายไร้ศีลสิ้นคุณธรรมไม่ได้  ก็เลยมีผัวใหม่  พระนั้นรู้ว่าโยมเมียมีผัวใหม่เสียแล้ว  ก็แหกผ้าเหลืองออกมาฆ่าล้างแค้นเสียก็มี  บางองค์ปลงตก  เมื่อเห็นโยมเมียมีผัวใหม่โดยอ้างว่า  “เราขาดจากความเป็นผัวเมียกันตั้งแต่ว่าที่คุณเข้าโบสถ์บวชแล้ว  ฉันจึงมีสิทธิ์มีผัวใหม่”  หักห้ามใจได้แล้วบวชไม่สึกจนตายเลยก็มี  บางคนเบื่อเมียจึงบวชอยู่นานเพื่อให้เมียทนรอไม่ไหวแล้วมีผัวใหม่  ได้โอกาสจึงสึกออกมามีเมียใหม่บ้าง  ถ้าเมียเก่ามาทวงสิทธิ์เขากลับใช้ข้ออ้างว่า  เราขาดจากความเป็นผัวเมียกันแต่วันฉันเข้าโบสถ์บวชแล้ว  อย่างนี้ก็มี  ข้ออ้างดังกล่าวนี้จะฟังขึ้นหรือไม่ก็ตามแต่ตัวใครตัวมันเถิดขอรับ

         อ้าว...ขอโทษที  ออกนอกเรื่องไปแล้ว  พรุ่งนี้ค่อยกลับเข้าเรื่องนะครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, ธันวาคม, 2565, 11:03:03 PM
(https://i.ibb.co/yRDj4QP/04-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๗ -
         ในช่วงกาลที่ไปพักอยู่วัดบางจักรนั่นข้าพเจ้าสนุกมาก  หลังออกพรรษาคือเดือนสิบสองถึงเดือนยี่น้ำที่นองท่วมทุ่งยังไม่แห้ง  ทุ่งอ่างทอง  อยุธยา  ที่ข้าพเจ้าเคยอยู่จะมีน้ำท่วมทุ่งนาแล้วนอนทุ่งอยู่นานวัน  จากเดือนแปดถึงเดือนยี่เลยทีเดียว  ชาวบ้านย่านนั้นจะไปไหนมาไหนต้องใช้เรือพายในชีวิตประจำวัน  ข้าพเจ้าชอบไปพักที่วัดบางจักรหลังสิ้นกาลทอดกฐิน  คือพ้นกลางเดือนสิบสองไปแล้ว  ด้วยไม่ต้องการไปมีส่วนร่วมในอดิเรกลาภของพระเณรที่วัดนี้  เรื่องกิจนิมนต์ไปงานต่าง ๆ ของพระเณรท้องที่  เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าถือสามาก  ถ้าไม่เหลือจากเจ้าถิ่นแล้วข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับ  จึงเป็นความดีงามอย่างหนึ่งที่พระเณรในวัดต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าไปพักพาอาศัย  ต่างนิยมชมชอบพระเต็ม

         การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปบางจักรของข้าพเจ้าสมัยนั้นใช้เรือเป็นพาหนะทั้งหมด  เริ่มด้วยลงเรือเมล์สีแดงเลือดหมูของบริษัทสุพรรณขนส่ง  ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่สองชั้น  ออกจากท่าเตียนผ่านนนทบุรี  ปทุมธานี  ตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านลานเท  ถึงบางไทรแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าลำแม่น้ำน้อ ย ไปถึงบ้านแพน อำเภอเสนา  ขึ้นจากเรือเมล์แล้วลงเรือหางยาวต่อไปหัวเวียง  พักอยู่วัดหัวเวียงนานพอควรแล้วลงเรือหางยาว ผ่านตาลาน ผักไห่ ไปถึงบางจักร  โดยสะดวกสบายและปลอดภัย

         ชาวบางจักร  บ้านดาบ  สามเรือน  เป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีกับพระภิกษุสามเณรดีมาก  ยามค่ำทุกคืนพระชานำพาข้าพเจ้าลงเรือน้อยพายออกจากวัดบางจักรไปเที่ยวแวะคุยกับคนบ้านโน้นบ้านนี้  และที่สำคัญบ้านที่พระชาพาไปนั้นต้องมีลูกสาวหรือหลานสาวด้วย  อย่างนี้จะไม่ให้พระเต็มสนุกอย่างไรได้เล่า

         ที่ไปคุยตามบ้านที่มีลูกสาวหลานสาวนั่นไม่ใช่ข้าพเจ้าอยากไปคุยกับสาว ๆ ดอก  เรื่องการคุยจีบสาวกนะหนุงกระหนิงกระจู๋กระจี๋อะไรนั่นพระชาเขาชอบ  แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบ  คุยกับเขาไม่เป็น  ถ้าคุยแบบโต้เถียง  ถกปัญหา  และอบรมสั่งสอนแล้ว  ข้าพเจ้าชอบและคุยถนัดมาก  ดังนั้นเวลาขึ้นบ้านที่มีลูกสาวหลานสาวแล้ว  ข้าพเจ้าจะคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่  พ่อแม่ปู่ย่าตายายของสาวบ้านนั้น  เป็นเรื่องธรรมะธัมโมบ้าง  ประสบการณ์ที่พบเห็นมาบ้าง  ฟังผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านนั้นคุยเรื่องสังคมชาวบ้านเป็นเรื่องเก่า ๆ บ้าง  ได้ความชำนาญในการพูดคุย  และรู้เรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย  ส่วนพระชานั้นแยกวงไปคุยกับสาว ๆ  เขารักข้าพเจ้ามากก็เพราะไม่ไปแย่งเขาคุยกับสาวนี่แหละ

         หากถามว่าจริง ๆ แล้วชอบไหม  ชอบซีครับ  ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนุ่มที่ใจยังชุ่มด้วยราคะกิเลส  มีหรือจะไม่ชอบหญิงสาว  แต่ข้าพเจ้าเป็นคนที่ไม่ทำอะไรตามใจชอบ  พูดง่าย ๆ ก็คือไม่ตามใจตัวเองนั่นแหละ  และยิ่งในขณะนั้นข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุมีพระวินัยให้รักษาข้อใหญ่ ๆ ถึง ๒๒๗ ข้อ  และยังมีข้อเล็ก ๆ จิปาถะอีกมากมาย  วินัย  วัฒนธรรมประเพณีเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเคารพนับด้วยความจริงใจ  จึงไม่ทำอะไรทวนกระแสพระวินัยและวัฒนธรรมประเพณีนิยม  ความชอบหญิงสาวแม้มีมากแค่ไหนก็ถูกวินัยประเพณีกุมเก็บซ่อนไว้ในใจ  อายบาปกลัวบาปจนไม่กล้าเปิดเผยออกมาให้ใคร ๆ เห็น  จะว่าพระมีแต่รักคุดอย่างนั้นก็ได้

         จุดที่พระชากับพระเต็มต้องไปแวะคุยแทบไม่เว้นแต่ละวันคือบ้าน  “ครูศรี” (นามแฝง) แม่ม่ายลูกติด ๓ คน (แม่ม่ายทรงเครื่องก็ว่า)  น้องสาวหลานสาวสวยงามอีกหลายคน  ครูศรี หรือที่พวกเราเรียกว่า “พี่ศรี” จนชินปาก  เป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีดีมาก  คนในหมู่บ้านย่านนั้นให้ความรักนับถืออย่างล้นเหลือ  ข้าพเจ้าก็รักนับถือพี่ศรีมาก  เปล่านะ ไม่ใช่รักเพราะพี่ศรีเป็นแม่ม่ายสาวสวย  ไม่ได้รักเพราะพี่เขามีน้องสาวหลานสาวสวยงามหลายคน  แต่รักเพราะพี่ศรีเป็นคนดีมีเหตุผล  คนอย่างพี่ศรีมีฐานะดี  รูปร่างสวยงาม  สามีตายในขณะพี่เขามีอายุไม่ถึง ๓๐ ปี  มีชายหนุ่มและไม่หนุ่มมิดต่อเกาะแกะจำนวนมาก  แต่พี่ศรีไม่ยอมทรยศต่อความรักที่มีต่อสามีผู้ล่วงลับ  ครองความเป็นสาวม่ายอยู่กับลูกน้อยสามคน  ผ่านมรสุมการรุมเกี้ยวพาราสีของหลายร้อยชายมาได้อย่างปลอดภัย  ข้าพเจ้าเคยถามพี่ศรีว่า  ไม่มีความคิดเรื่องรักใคร่ตามประสาปุถุชนบ้างเลยหรือ  พี่เขาตอบว่ามีบ้างเหมือนกัน  บางระยะมีมากเสียด้วย  แต่ก็ข่มกลั้นได้  นึกถึงสามีที่ตาย  นึกถึงลูกรักทั้งสามคน  เอาคำว่า  “ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา”  มาเป็นองค์ภาวนากำจัดอารมณ์จร  ดับไฟราคะเสียได้  ความคิดของผู้หญิงอย่างนี้จะไม่ให้ข้าพเจ้ารักนับถือเป็นอย่างยิ่งได้อย่างไร

         คืนวันหนึ่งพระชา  พระสอน (ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ) และข้าพเจ้า  พายเรือออกจากวัดบางจักรเข้าคลองขนากไปบ้านดาบ  แวะบ้านพี่ศรีตามปกติ  คืนนั้นมีชายหนุ่ม ๓-๔ คนนั่งคุยกันอยู่ก่อนแล้ว  พ่อเห็นพระมาก็กุลีกุจอต้อนรับ  ชายหนุ่มนั้นคนหนึ่งเป็นน้องชายพี่ศรี  รับราชการครูอยู่ต่างถิ่น  พาเพื่อน ๆ มาเยี่ยมพี่สาว  พวกเขานั่งดื่มสุรากันอยู่ก่อนที่พวกเราจะไปถึง  เมื่อพระขึ้นเรือนเขาก็เอาขวดสุราซ่อนไม่ให้เห็น  เรานั่งคุยกันไม่นานเขาก็เอาโอเลี้ยงแก้วใหญ่ถวายองค์ละแก้ว  พวกเรารับและดื่มโดยไม่ลังเล  ข้าพเจ้าดื่มแล้วรู้สึกว่ารสมันประหลาดบาดคอไม่เหมือนโอ้ลี้ยงที่เคยดื่ม  จึงถามว่านี่มันเป็นโอเลี้ยงอะไรรสแปลกมาก  เจ้าคนถวายบอกว่าไม่ใช่โอเลี้ยงธรรมดานะครับ  เป็นโอเลี้ยงผสมชาฝรั่งสูตรใหม่น่ะ  พระชากับพระสอนดื่มแล้วก็ร้องอืมม..รสมันชอบกล  แล้วก็ไม่สงสัยซักถามอะไร  คุยไปดื่มโอเลี้ยงผสมชาฝรั่งไปจนรู้สึกมันหัว  ข้าพเจ้ารู้ว่าเสียท่าเจ้าหนุ่มพวกนั้นแล้ว  เชื่อว่าโอเลี้ยงนั้นไม่ได้ผสมชาฝรั่ง  แต่มันเป็นผสมสุรา  ได้ความรู้ใหม่ว่า  กาแฟดำแก่ ๆ ใส่ลงในสุรา  รสสุราไม่เปลี่ยน  แต่กลิ่นสุราจะจางหายไป

         พระสามองค์เมาเหล้าถูกชายหนุ่มเหล่านั้นช่วยกันประคองลงเรือให้พายกลับวัด  โดยพระชาพายท้าย  พระสอนพายหัว  พระเต็มนั่งกลางเรือ  พายเรือแล่นไม่ค่อยจะตรงทางนัก  ดีที่น้ำไม่ไหลเชี่ยว  เพราะเป็นช่วง  “เดือนสิบสองน้ำทรง”  พอถึงวัดเรือเทียบบันไดศาลาท่าน้ำ  ข้าพเจ้าคลานขึ้นจากเรือก่อน  พระสอนลุกขึ้นตรงหัวเรือยืนโยงโย่โยงหยก  ข้าพเจ้าขึ้นบันไดได้ยังไม่สุดตัว  ขาข้างหนึ่งยังอยู่ในเรือ  พระสอนยกขาจะก้าวจากเรือ  เรือเอียงวูบ  พระชาที่นั่งถือพายอยู่ท้ายเรือผวา  ทันใดนั้นเรือก็คว่ำลง  พระสอน พระชาลงไปลอยคออยู่ในน้ำอันหนาวเย็น  ส่วนข้าพเจ้าสองมือเกาะบันไดได้โดยตัวท่อนล่างแช่อยู่ในน้ำ  เรียกว่าตกน้ำป๋อมแป๋มด้วยกันทั้งสามองค์นั่นแหละ  พอตัวถูกแช่น้ำเย็น ๆ ฤทธิ์สุราก็จางหายไปครึ่งค่อน  พวกเราช่วยกันกู้เรือขึ้นแล้วพาร่างอันเปียกปอนกลับขึ้นกุฏิ

         หลวงตาเล็กเห็นสภาพของข้าพเจ้าแล้วรู้ว่าเรือล่มแน่  ถามว่าเรื่อไปล่มที่ไหนล่ะ  ข้าพเจ้าบอกเล่าตามความเป็นจริง  ท่านหัวเราะแล้วเตือนว่า  ต่อไปต้องระวังตัวให้ดี  ใครถวายน้ำดื่มอะไรอย่าผลีผลาม  คืนนั้นเราหลับกันเป็นตายเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, ธันวาคม, 2565, 10:37:20 PM
(https://i.ibb.co/t3D5Z43/Untiffftled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๘ -
         ในกาลที่อยู่พักอยู่บาจักรนั่นแหละ  เป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ามีชื่อเสียงในวงการกลอนภูธรมาก  บางคืนไปนั่งฟังรายการกวีสวรรค์ที่บ้านพี่ศรี  บางคืนนอนฟังที่วัดบางจักร  และบางคืนย้อนกลับไปฟังที่หัวเวียง  บางจักร-หัวเวียงอยู่ในลำน้ำสายเดียวกัน  นั่งเรือหางยาวไปมาหาสู่กันสะดวกสบาย  ใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้นเอง   อ้อ ลืมบอกไปว่าตอนนั้นข้าพเจ้าใช้นาม  “อภินันท์ นาคเกษม”   ตามคำแนะนำของคนที่นับถือกันแล้ว  จึงมีนามกำกับสำนวนกลอนของตัวเองว่า  อภินันท์ นาคเกษม – เพลิน พจน์มาลย์ - เต็มดวง ณ เวียงแก้ว -  จินตนา นาคเกษม  และ  เจน พเนจร   นามหลังนี้เกิดขึ้นเพราะข้าพเจ้ามิได้อยู่ประจำเป็นที่เป็นทาง  จรไปโน่นมานี่ไม่หยุดหย่อนนั่นเอง

         มีวัดสำคัญตั้งอยู่ไม่ไกลบางจักรนักวัดหนึ่งชื่อ  วัดนางชำ  เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน  “บ้านดาบ”  เจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นประทวนชื่อ  พระครูบุญมี  มีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านเป็นพระที่ใจดีและสุภาพอ่อนโยนมาก  พูดจาเรียบร้อยนุ่มนวล  ยกย่องให้เกียรติผู้อื่นเสมอ  มีความรู้พิเศษในทางรักษาโรคนานาตามแผนโบราณ  และทางไสยวิทยาคมด้วย  ท่านบอกว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อปานวัดบางนมโค  โดยมีมีดหมอของหลวงพ่อปานเป็นเครื่องยืนยัน  แต่ท่านไม่ค่อยจะให้การรักษาโรคแก่ใครๆ มากนัก  เพราะออกจะเป็นคนขี้อายอยู่สักหน่อย  พระครูบุญมีนัยว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อพระครูหรุ่มวัดบางจักนั่นแหละ

         ข้าพเจ้าว่างจากถูกเพื่อนพาไปเยี่ยมเยียนบ้านเรือนญาติโยมต่าง ๆ แล้วมักจะไปสนทนากับท่านพระครูบุญมี  เพราะเราถูกอัธยาศัยกันมาก  ท่านมีฝีมือชงโอวัลตินอร่อย  น้ำชาดีมีให้จิบไปคุยไปอย่างเพลิดเพลิน  มีพระรับใช้ใกล้ชิดท่านพระครูองค์หนึ่งชื่อ พระใหญ่ เป็นคนช่างพูด  “เรียกง่ายใช้คล่อง”  ชอบรับใช้ประสานงานทั่วไป  เฉพาะเรื่องเป็น  “พ่อสื่อพ่อชัก”  นี่ท่านถนัดนักเชียว  พระที่วัดนางชำนี้ก็เหมือนที่วัดบางจักร  คือจะมีพระภิกษุหนุ่มอยู่ประจำก็เฉพาะในระยะเดือน ๕-๑๒ เท่านั้น  คนหนุ่มลูกหลานชาวบ้านจะบวชเป็นภิกษุกันตามประเพณี  ประมาณเดือน ๕ แล้วอยู่จำพรรษา  ออกพรรษารับกฐินแล้วก็จะสึกหาลาเพศไปหมด  คงอยู่แต่พระผู้เฒ่าไม่มากนัก  พระครูบุญมีเรียกพระภิกษุลูกวัดของท่านแต่ละองค์โดยใช้คำนำหน้าว่า  “คุณ”  ไม่เรียกคำนำหน้าว่า  “ทั่น”  เหมือนสมภารเจ้าวัดส่วนมาก  ที่พิเศษกว่านั้นคือ  ผู้บวชนั้นมียศตำแหน่งอะไรอยู่ก่อนบวชท่านก็จะเรียกยศตำแหน่งเดิมนั้นมาต่อท้ายคำว่า “ พระ”  ทุกองค์  เช่น  ผู้บวชใหม่นั้นชื่อทวีเคยเป็นครูมาก่อนบวช  จะเรียกเขาว่า  “พระครูททวี”  ตำรวจทหารมียศอะไรมาก่อนบวช ท่านจะเรียกว่า  พระหมู่  พระจ่า  พระผู้หมวด  พระผู้พัน  แล้วต่อด้วยชื่อเดิม  เป็นต้น

         มีพระองค์หนึ่งเป็นพระนวกะวัดนางชำ  ท่านพระครูบุญมีเรียกว่า  “พระพระเอก”  ตอนนั้นท่านใกล้จะลาสิกขาเพราะรับกฐินแล้ว  ข้าพเจ้าคิดว่าท่านชื่อ  “เอก”  มารู้ทีหลังหัวเราะจนน้ำตาเล็ดเลย  เพราะรู้ว่าความจริงพระองค์นั้นชื่อ  บุญเลิศ  พระเอกลิเกคณะหอมหวน  ร้องดี  รำสวย  เป็นชาวบ้านดาบ  พอบวชเป็นพระอยู่วัดนางชำหลวงพ่อพระครูบุญมีเรียกท่านว่าพระพระเอกบุญเลิศ   มีคนพูดล้อเล่นกับครูผู้ชายที่เป็นครูโรงเรียน  ครูลิเก  ครูกลองยาวว่า  อยากเป็นพระครูสมัยนี้ไม่ยากเลย  ครูไปบวชเป็นพระอยู่วัดนางชำซี่  บวชเสร็จออกจากโบสถ์ก็ได้เป็นพระครูเลย

         บ่ายวันหนึ่งมีงานเผาศพที่วัดนางชำ  ข้าพเจ้ารับนิมนต์เป็นพระอันดับสวดแจงในนามพระวัดบางจักรด้วย  ในจำนวนพระอันดับสวดแจง มาติกา ๓๐ องค์วันนั้น  มีพระหนุ่มเพียง ๒ องค์  คือพระชากับพระเต็ม  นอกนั้นเป็นนพระผู้สูงอายุทั้งนั้น  คนมาฟังพระเทศน์และสวดแจงวันนั้นหนาตามาก  เพราะผู้ตายเป็นคนมีญาติพี่น้องมาก  พระสวดกับคนฟังนั่งประจันหน้ากันในศาลาทำศพข้างป่าช้า  ขณะพระเทศน์คนฟังก็นั่งพนมมือบ้างไม่พนมมือบ้างตามอัธยาศัย  พระเทศแจงเดี่ยว (คือธรรมาสน์เดียว)  ท่านอ่านตามคัมภีร์ใบลาน  คนฟังเทศน์ฟังสวดส่วนมากเป็นคนสูงอายุ  มีหนุ่มสาวบ้างในจำนวนน้อย  พระชากับพระเต็มเป็นพระหนุ่มมาจากวัดบางจักรจึงตกเป็นเป่าสายตาของคนนั่งฟังเทศน์  เช่นเดียวกับคนสาวในศาลานั้นก็ตกเป็นเป้าสายตาของพระหนุ่มทั้งสอง  ข้าพเจ้ากวาดสายตายไปทั่วศาลา  แล้วสายตาก็ไปหยุดกึกอยู่ตรงร่างเด็กสาวรายหนึ่งที่นั่งพนมมือแต้อยู่ในหมู่ผู้เฒ่า

         เด็กสาวคนนั้นนุ่งกระโปรงดำ ใส่เสื้อขาว คาดเข็มขัดสีแดง  ผิวกายคล้ำ  ไว้ผมสั้นแบบนักเรียน  นัยน์ตากลมโต  ที่เห็นนัยน์ตาเธอดังนั้นก็เพราะเธอเป็นเด็กที่นัยน์ตาอยู่ไม่สุขเหมือนข้าพเจ้าเลย  สายตาเราประสาน (จ๊ะเอ๋) กันแบบไม่ใช่บังเอิญ  พอสายตาประสานกันเธอก็ยิ้มเหมือนคนคุ้นเคยกัน  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเด็กสาวคนนี้ดูท่าทางทะเล้นอย่างไรชอบกล  เราเล่นหูเล่นตากันจนพระเทศน์จบ  พระอันดับก็สวดแจงรับเทศน์  แม้ในขณะสวดพระเต็มกับเด็กสาวคนนั้นก็ยังไม่วายเล่นสายตากัน  จนพระใหญ่ที่นั่งชิดกันนั้นสังเกตเห็น  กว่าจะเสร็จพิธีกรรม  พระเต็มกับเด็กสาวคนนั้นก็นั่งกินสายตากันจนเต็มอิ่ม  เราละสายตาจากกันเมื่อนำศพจากศาลาไปสู่เชิงตะกอนแล้ว
 
          “เด็กสาวคนเมื่อกลางวันนั้นเป็นไง”  หลวงตาใหญ่ถามข้าพเจ้าตอนค่ำวันนั้น
          “ คนไหนครับ”

          “ก็คนที่เล่นหูเล่นตากันในศาลานั่นไง”
          “อ้อ  ชอบมากครับ  ทำไงจะติดต่อรู้จักกันได้ล่ะ”

          “ไมยากหรอก  เขียนจดหมายซี  ผมจะเอาไปให้เขาเอง  คนนี้ยังเป็นนักเรียนนะ  พ่อเขาเป็นนางเอกลิเกเก่า  แม่เขาดุนะ  ชื่อจริงไม่รู้  รู้แต่ชื่อเล่นว่า  แจ๋ว แจ๋วแว๋ว  น่ะแหละ  ผมรู้จักบ้านและพ่อแม่เขาดี”   หลวงตาใหญ่รับอาสาเป็นสื่อให้โดยข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องท่านเลย

         ยังไม่ดึกนัก  กลับถึงวัดบางจักร  เปิดวิทยุฟังรายการกวีสวรรค์ไป  พร้อมกับเขียนจดหมายถึง  แจ๋ว  เด็กดำตาโตคนนั้น  ใจมันชอบเสียแล้ว  นี่กระมังที่เรียกกันว่า   “รักแรกพบ”   ภาพแจ๋วติดตาแน่น  รอยยิ้มอันร่าเริง  ดวงตากลมโตฉายแววทะเล้นล้อเลียนของเธอปรากฏในห้วงสำนึกชัดแจ๋วเหมือนชื่อเธอ  หลวงตาเล็กรู้เรื่องของข้าพเจ้า  เพราะข้าพเจ้าเปิดเผยให้ท่านทราบเอง   ท่าหัวเราะชอบใจแล้วกล่าวว่า   “เออพบคนถูกใจเสียที   มาอยู่ตั้งนานแล้ว  ไปเที่ยวเกือบทั่วทุกบ้านแล้วไม่เห็บอกว่าชอบใครสักที”  ท่าทางความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับแจ๋วคงจะเป็นไปได้ด้วยดี  เพราะหลวงตาเล็กอาสาจะพาไปเที่ยวบ้านแจ๋ว  ด้วยท่านกับพ่อแม่ของแจ๋วรู้จักชอบพอกันมากพอสมควร  ข้าพเจ้าไม่ผลีผลามให้หลวงตาเล็กพาไปบ้านแจ๋ว  บอกหลวงตาว่าขอโอกาสหน่อย  รอดูว่าแจ๋วจะตอบจดหมายมาว่าอย่างไร  พรุ่งนี้จะเอาจดหมายให้หลวงตาใหญ่ที่อาสาว่าจะถือไปให้เธอ  จดหมายนัดพบกำหนดเวลาไว้ ๒ วัน  ถ้าแจ๋วไปพบตามจดหมายนัด  ค่อยไปเที่ยวบ้านเธอตามคำแนะนำของหลวงตาเล็กต่อไป./

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, ธันวาคม, 2565, 10:17:38 PM
(https://i.ibb.co/v3dWFvm/Untigdtled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๙ -
         ถึงวันนัด  ข้าพเจ้าฉันเพลที่วัดบางจักรแล้วรีบเดินทางไปวัดนางชำ  กาลนั้นเป็นเดือนมีนาคมหน้าแล้ง  น้ำในคลองขนากแห้ง  ใช้เรือพายไปไม่ได้  จึงเดินทางเลาะเลียบหมู่บ้านบางจักรไปบ้านดาบ  ถึงวัดนางชำเข้ากราบท่านพระครูบุญมี  จิบน้ำชาสนนากันพอสมควรแล้ว  นอนพักในกุฏิหลวงตาใหญ่รอเวลาที่นัดพบกับแจ๋วยามเย็น

         วันนั้นข้าพเจ้าได้รู้รสชาติของการรอคอยว่า  มันรู้สึกกระวนกระวายใจ  ร้อนอารมณ์ทุรนทุรายใจ  กังวลวุ่นวายทรมานใจ  ผุดลุกผุดนั่ง  งุ่นง่านใจ  คิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า  เขาจะมาไหม  มาเมื่อไร  ห้ามใจไม่ให้มันคิดมาก  ก็อดคิดไม่ได้  ตั้งบ่ายโมงถึง ๔ โมงเย็นวันนั้น  ความรู้สึกของข้าพเจ้าว่ามันเหมือนนานเป็นปีทีเดียว  คิดเตรียมคำพูดไว้พูดเมื่อพบหน้ากันคำแรกเราจะพูดว่าอย่างไร  พูดว่า “สวัสดี” ก็เห็นว่ามันเชยเกินไป  จะพูดว่า  ยินดีที่ได้พบ  ก็ไม่เข้าท่า  จะพูดว่า  ไปไหนมา  ก็เหมือนบ้าแล้ว  นัดเขามาแท้ ๆ พูดอย่างนั้นได้ไง  พูดว่า  “คิดถึงจังเลย” (เป็นความรู้สึกจริงๆ)  ก็ดูจะโรแมนติดเกินไปกับคนที่เพิ่งพบและรู้จักกัน  จะพูดว่า  ฉันชอบเธอมาก ก็เป็นการพูดแบบคนบ้าแท้ ๆ  ที่สุดก็คิดหาคำพูดดีที่สุดจะพูดกับแจ๋วไม่ได้

         แจ๋วมาตามนัด  แต่เราไม่ได้พูดจากันเลย

         หลวงตาใหญ่  พระชา  พระเต็ม นั่ งรอการมาของแจ๋วที่ศาลาท่าน้ำ (น้ำในคลองแห้งหมดแล้ว) ข้าพเจ้าคอยมองดูทางที่จะมาจากบ้านของแจ๋ว  คิดว่าอย่างไรเธอต้องมาทางนั้น  แต่แล้วก็ผิดคาดเพราะเธอมาอีกทางหนึ่ง

          “ฝากด้วยหลวงน้า”
          “อ้าว...ไม่คุยกันก่อนเหรอ
          “ม่าย ค่ะ”

         ข้าพเจ้าหันมองไปทางเสียงนั้น  เห็นหลวงตาใหญ่ถือซองจดหมายสีฟ้ายืนอยู่  แจ๋วกำลังจะเดินจากไป  เธอมองหน้าข้าพเจ้าแล้วยิ้มก่อนก้มหน้านิ่งอยู่ในอาการลังเลเหมือนรอฟังคำพูดของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าเองก็ยืนเซ่ออ้ำอึ้งอยู่  แจ๋วเงยหน้าเม้มปากแล้วก้มหน้าเดินทางไป  ครั้นเดินข้ามคลองไปฝั่งตรงข้ามแล้วหันหน้ามามองส่งยิ้มให้  ซึ่งเป็นยิ้มที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า  “เป็นยิ้มหวานกว่ายิ้มใด ๆ ของใครทั้งสิ้น”  เธอโบกมือลาด้วยท่าทางที่สวยงามน่ารักมาก  ความรู้สึกของข้าพเจ้ายามนั้นเหมือนเห็นมือที่โบกของเทพธิดาผู้ปรานียื่นมาประคองเอาดวงใจของข้าพเจ้าไปสู่อ้อมกอดของเธอกระนั้นเทียว

         เมื่อยืนมองดูร่างอันอรชรของเธอเดินจากไปจนลับสายตาแล้ว  ข้าพเจ้าขอจดหมายจากหลวงตาใหญ่ที่แจ๋วฝากไว้  รีบเปิดอ่านดูด้วยความกระหายใคร่จะรู้ว่าเป็นเขียนตอบข้าเจ้าอย่างไร

          “ไม่รังเกียจไมตรียินดีรู้จัก
         ยศศักดิ์ใดใดไม่ถือสา
         จะคุยกันวันนี้ไม่มีเวลา
         ทั้งชาวบ้านจะนินทาว่าร้ายเอา

         ถ้าไม่รังเกียจเชิญหลวงพี่ไปที่บ้าน
         หรือเขียนสารจารถ้อยคลายหงอยเหงา
         น้องน้อยจะคอยเป็นเหมือนเช่นเงา
         ติดเต้าตามพี่ทุกที่ไป”

         กลอนข้างบนนี่แหละที่แจ๋วเขียนใส่ซองมาให้ข้าพเจ้า  เพราะจดหมายที่ข้าพเจ้าเขียนไปให้เธอนั้นเป็น  “กลอนลูกทุ่ง”  ตามที่ข้าพเจ้าถนัด  เธอจึงเขียนตอบมาเป็นกลอน  แม้กลอนของเธอไม่เป็นอย่าง  “ฉันทลักษณ์นิยม”  แต่ถ้อยคำสำนวนดีมาก  อ่านของเธอแล้วข้าพเจ้าก็ถือโอกาสอวดรู้แนะนำการเขียนกลอนให้เธอ  และให้เธอเปิดวิทยุฟังรายการกวีสวรรค์ด้วย

          “แจ๋ว” สุนันทา  เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย  ย่อมต้องเรียนรู้เรื่องคำประพันธ์ด้านร้อยกรองคือโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาบ้างพอสมควร  บวกกับที่ลูกสาวลิเกเก่า  ความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนก็ต้องมีอยู่ในสายเลือดบ้างละ  บ้านดาบน่าจะเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านลิเก  เพราะมีตัวแสดงและคณะลิเกดัง ๆ อยู่ในหมู่บ้านนี้มากมาย  รายการกวีสวรรค์ทางวิทยุ “จทล.” จึงอ่านกลอนของแจ๋วออกอากาศบ้างในเวลาต่อมา  และก็กลอนในรายการนี้แหละที่กลายเป็นสื่อนำให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวบ้านแจ๋วได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

          “หลวงพี่นันท์นี่ไง ที่เขียนกลอนให้เราฟังกันทุกกคืนละ”

         แจ๋วแนะนำข้าพเจ้าให้คุณพ่อคุณแม่  และทุกคนในบ้านรู้จักเมื่อคืนแรกที่หลวงตาใหญ่กับพระชาพาพระเต็มไปบ้านเธอ  หลวงตาใหญ่กับพระชาเป็น “กองหนุน” แนะนำความเป็นมาของพระเต็มให้ทุกคนในบ้านรู้ว่า  เป็นใคร  มาจากไหน  ทั้งยกยอปอปั้นถึงความดี  ความสามารถมากมาย  ข้าพเจ้าอายจนแทบจะหนีลงจากบ้านเลยเชียว  การสรรเสริญเยินยอจนเกินความเป็นจริงข้าพเจ้าเห็นว่ามันเป็นโทษอย่างมหันต์  จึงไม่เคยยินดีกับคำเยินยอของใคร ๆ

          “ผมฟังกลอนของท่านในรายการกวีสวรรค์ทุกคืนแหละ  ท่านเขียนดีนะ  ผมชอบแนวทางกลอนของท่านมาก”

         โยมผู้ชายพูดด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง  จากนั้นโยมชายโยมหญิง (พ่อ แม่ แจ๋ว) ก็คุยกับข้าพเจ้าแบบบ้าน ๆ หลายเรื่องราว  และเรื่องที่คุยสนุกคือเรื่องลิเก  โยมผู้ชายบอกว่า สมัยเป็นหนุ่มรุ่นหัดและแสดงลิเก  ไม่ได้พระเอก  แต่เป็นนางเอก  ลิเกสมัยก่อนไม่มีผู้หญิงเล่น  แต่ละคณะมีแต่ผู้ชาย  ดังนั้นผู้ชายจึงต้องแสดงบทหญิงตามท้องเรื่อง  โยมหญิงบอกว่าตอนเป็นสาวดูลิเกคณะที่โยมชายแสดงแล้วชอบ  ตัวนางเอกที่แสดงได้ถึงบทบาทดีมาก  ตามดูทุกครั้งที่เขาแสดง  จนรู้จักแล้วรักและแต่งงานกันในที่สุด  ข้าพเจ้าก็บอกเรื่องหลังบ้างว่า  สมัยเป็นเด็กรุ่นหนุ่มเคยหัดลิเกเหมือนกัน  อยากเป็นตัวพระแต่เขาให้เป็นตัวนางอย่างไม่เต็มใจเลย  หัดอยู่พอร้องรำได้บ้าง  ไม่ทันครอบครูก็เลิก  เพราะเพื่อนชวนบวชเป็นเณรเสียก่อน  รู้อย่างนั้นโยมชายชอบอกชอบใจหัวเราะเอิ้กอ้ากเลย

         ในบ้านหลังใหญ่คืนนั้นมีวงสนทนาสองวง  คือข้าพเจ้ากับโยมชายหญิงวงหนึ่ง  หลวงตาใหญ่ พระชา แจ๋วและญาติพี่น้องอีกวงหนึ่ง  เขาคุยกันเรื่องอะไรข้าพเจ้าไม่รู้  ครั้นถึงเวลารายการกวีสวรรค์ตอน ๔ ทุ่ม  แจ๋วเร่งเสียงวิทยุให้ดังขึ้นทุกคนจึงหันมาฟังกลอนที่  ประยูร กั้นเขต  อ่านให้ฟัง  จบรายการกวีสวรรค์แล้วก็ลากลับวัดอย่างชื่นมื่น

         ความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับแจ๋วราบรื่น  พ่อแม่พี่น้องของแจ๋วทุกคนไม่มีใครรังเกียจ  มีแต่นิยมชมชอบ  เพราะข้าพเจ้าวางตัวเป็นผู้ใหญ่  สุภาพเรียบร้อย  ไม่แสดงกิริยาท่าทางเจ้าชู้กรุ้มกริ่มเหมือนชายหนุ่มทั่วไป  กับแจ๋ว ข้าพเจ้าไม่เคยพูดหรือจดหมายเกี้ยวพาราสี  แสดงความรักความใคร่ตามประสาหนุ่มสาวรักกันเลย  มีแต่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำสั่งสอนเธอเหมือนเพื่อน  เหมือนน้อง  ด้วยความหวังดีและห่วงใยเธอตลอดเวลา  ความรู้สึกจริง ๆ ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนั้น  ความใคร่ปรารถนาด้านกามารมณ์ตามธรรมชาติของเพศคู่  มาสู่ใจข้าพเจ้าก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก

         ใช่ครับ  ข้าพเจ้ารักแจ๋ว  เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์  แม้จะมีความใคร่เจือปนบ้างก็น้อยนิดจนดูเหมือนไม่มี  ข้าพเจ้าคิดว่าแจ๋วเป็นหญิงคนแรกที่ข้าพเจ้ารักอย่างจริงใจและจริงจัง  ความรักที่มีต่อเธอเป็นความรักที่ข้าพเจ้าไม่หวังผลใด ๆ ทั้งสิ้น  ไม่เคยบอกแจ๋วเลยว่าข้าพเจ้ารักเธอ  และเธอก็ไม่เคยบอกว่ารักข้าพเจ้า  แต่เราก็รู้กันอยู่แก่ใจอย่างชัดแจ้งว่ารักกัน  เพราะตามันฟ้อง  เราบอกรักกันด้วยสายตา  ว่างั้นเถิด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, ธันวาคม, 2565, 11:48:51 PM
https://www.youtube.com/watch?v=oN7iOjyqNio

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๐ -
         ข้าพเจ้าแต่งกลอนรักได้หวานขึ้นบ้าง  เพ้อฝันก็มากขึ้นด้วย  ทั้งนี้ก็เพราะใจมันมีคนรักเสียแล้ว  สงสัยว่าดวงความรักของข้าพเจ้าคงจะขึ้นมากในระยะนั้น  ดูเหมือนจะมีหญิงมารุมรักกันมากเหลือเกิน  ส่วนใหญ่ก็คนในวงการกลอนภูธรนั่นแหละครับ  แต่งกลอนโต้ตอบกันไปมาอย่างที่เรียกว่า  “มันส์ในอารมณ์”  เขาบอกว่ารักข้าพเจ้าจริงเสียแล้ว  บางคนที่รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นพระก็ชวนดื้อ ๆ ให้สึกออกไปอยู่กับเธอ  อย่างนี้ก็มี  ข้าพเจ้าจะรักใครอีกได้เล่าเพราะในใจยามนั้นมีแต่รักแจ๋วเต็มไปหมดแล้ว  สมัยนั้นถ้าไม่เป็นพระก็คงจะมากชู้หลายเมียเหมือนเพื่อนบางคนของข้าพเจ้า  ดีไม่ดีอาจจะถูกสามีขี้หึงของนักกลอนหญิงฆ่าข้าพเจ้าทิ้งไปเสียแล้วก็ได้

         วันหนึ่งขณะอยู่วัดบางจักร  พระลิขิตเพื่อนกันที่อยู่วัดจันทร์นอกกรุงเทพฯ ได้ส่งห่อกล่องเป็นพัสดุส่งทางไปรษณีย์ไปให้กล่องหนึ่ง  หะแรกคิดว่าเพื่อนส่งยาสูบเส้นพร้อมใบจากสำหรับมวนยาสูบไปให้  ด้วยสภาพจริงของข้าพเจ้าเป็นคนติดบุหรี่  โดยติดกัญชามาก่อนบวช  เมื่อบวชแล้วเลิกสูบกัญชาหันมาสูบบุหรี่แทนและสูบเรื่อยมา  เวลานั้นสูบยาเส้นเล็กไม่มีกระดูกเรียกกันว่า “ยาใต้” ใช้ใบจากมวน  กับบุหรี่ของโรงงานยาสูบตราเกล็ดทอง  พระลิขิตเพื่อนผู้รู้ใจเห็นข้าพเจ้าไปสนุกอยู่บางจักรนาน  เกรงว่าจะไม่มียาเส้นสูบจึงจัดส่งไปให้บ่อย ๆ  วันนั้นพอรับกล่องพัสดุไปรษณีย์แล้วก็เปิดกล่องนั้นต่อหน้าหลวงตาเล็ก  พอแกะกระดาษออกปรากฏว่ามีกลิ่นหอมระเหยออกมาจากกล่อง  ข้าพเจ้าแปลกใจร้องเอ๊ะ ! ทำไมมันหอมล่ะ  หลวงตาเล็กวางถ้วยน้ำชาที่กำลังยกจิบอยู่  ส่งเสียงว่า  “หือ...”  แล้วจ้องดูกล่องในมือข้าพเจ้า

         ข้าพเจ้าค่อย ๆ แกะกระดาษออก  แล้วเปิดกล่องเห็นของในกล่องนั้นแล้วตกใจจนกล่องหลุดมือ  ของในกล่องกลิ้งออกมา  หลวงตาเล็กอุทานเสียง  “เฮอะ ! ”  แล้วนั่งนิ่งเงียบไป  หลังจากเราหายตกตะลึงแล้ว  เห็นชัดเจนว่าของที่กลิ้งออกมาจากกล่องนั้นเป็นผมเปียข้างหนึ่งผูกโบว์สีชมพู  เห็นในกล่องมีจดหมายอยู่จึงหยิบออกมาอ่าน พอเห็นลายมือก็จำได้ว่าเป็นของน้องเปียสาวเขมรสูงแห่งบุรีรัมย์นั่นอง

         ความกระจ่างขึ้นเมื่ออ่านจดหมายจบ  จึงบอกเล่าให้หลวงตาเล็กฟัง  เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า  น้องเปียนักเรียนอาชีวะฯ บุรีรัมย์จดหมายขอเป็นเพื่อนพระสอนที่ประกาศหามิตรในหนังสิพิมพ์สกุลไทย  แล้วข้าพเจ้าสมอ้างว่าเป็นพระสอนในนามของข้าพเจ้า  เขียนจดหมายติดต่อกันมาเป็นลำดับ  ในระยะหลัง ๆ ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้อยู่ในกรุงเทพฯ จึงตอบจดหมายเธอล่าช้าไปบ้าง  ออกพรรษาปีนั้นเธอจดหมายมาบอกว่า

          “ปีนี้น้องเรียนจบแล้ว  เป็นผู้ใหญ่แล้ว  จะตัดผมเปียทิ้ง  พี่ว่าดีไหม”

         จดหมายของเธอฉบับนั้นนอนรอคำตอบของข้าพเจ้าอยู่นาน  เพราะตอนนั้นเรียนแปลธรรมบทอย่างหนักจนไม่มีเวลาตอบจดหมายใคร ๆ  ก่อนจะเดินทางสู่บางจักรจึงตอบจดหมายเธอไปว่า

          “น้องไม่ควรตัดเปียทิ้ง  เอาเปียไว้เถอะ  ดูเป็นเด็กน่ารักดี  พี่รักละเสียดายผมเปียน้องมากนะ  อย่างเพิ่งตัดทิ้งเลย”

         ตอบจดหมายแล้วก็เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปบางจักร  ในจดหมายน้องเปียที่แนบมากับผมเปียผูกโบว์ชมพูนั้นว่า

          “น้องรอคอยจดหมายตอบพี่ตั้งนานเกือบเดือน  ไม่เห็นตอบสักที  รอไม่ไหวก็เลยตัดผมเปียทิ้ง  พอตัดเปียแล้วจึงได้รับจดหมายตอบจากพี่  คำห้ามของพี่มันสายไปแล้วนะพี่จ๋า  เมื่อพี่รักมัน  น้องก็ขอมอบเปียข้างหนึ่งไว้เป็นสมบัติของพี่  อีกข้างหนึ่งน้องจะเก็บไว้  ขอให้พี่เก็บเปียข้างนี้ของน้องไว้ให้ดี  เดี๋ยวนี้น้องไม่มีเปียยาว ๆ แล้วพี่ก็อย่าเลิกรักน้องนะ  พี่ต้องรักน้องเหมือนตอนที่น้องมีผมเปียนะ  ห้ามรังแกผมเปียของน้องด้วยนะ”

         อ่านจดหมายน้องเปียแล้วอึ้ง  พูดไม่ออกบอกไม่ถูก

         ตอนท้ายจดหมายน้องเปียช่างฉอเลาะออดอ้อนเสียนี่กระไร  ถ้าท่านผู้อ่านได้ประสบการณ์เช่นข้าพเจ้านี้  จะรู้สึกอย่างไรครับ  ข้าพเจ้าเองตอนนั้นมีความรู้สึกสับสนไปหมด  เก็บผมเปียใส่กล่องตามเดิมพร้องส่งจดหมายให้หลวงตาเล็กอ่านบ้าง  หลังจากหลวงตาเล็กอ่านจดหมายจบแล้วท่านถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนพูดว่า

          “เขารักคุณมากนะเนี่ย  ม่ายงั้นคงไม่ส่งผมเปียมาให้หรอก  แล้วคุณจะยังไงล่ะ”

         คำพูดของหลวงตาเล็กตอกย้ำให้ข้าพเจ้าคิดสับสนมากขึ้นอีก  คืนนั้นนอนไม่หลับ  เอากล่องผมน้องปีวางไว้ข้างหมอน  กลิ่นน้ำหอมที่น้องเปียพรมใส่ผมเปียไว้ระเหยออกมาจาง ๆ  เตือนความรู้สึกให้คิดมากจนหลับไม่ลง

         น้องเปียคงจะรักข้าพเจ้าจริง ๆ น่ะแหละ  แต่คงจะไม่รักแบบชู้สาวดอกกระมัง  อาจจะรักอย่างน้องสาวคนหนึ่งรัก-นับถือพี่ชาย  อย่างที่ข้าพเจ้ารักเธอแบบพี่ชายรักน้องสาวเท่านั้น  เป็นความรักอย่างพรหม  คือ  เมตตาปรารถนาจะให้เป็นสุข  เป็นรักที่บริสุทธิ์ปราศจากกามราคะ  ด้วยยังไม่เคยคิดรักน้องเปียในแบบชู้สาวมาก่อน  และเชื่อว่าเธอก็คงไม่คิดรักพี่ชายคนนี้แบบชู้สาวเช่นกัน  แต่พอได้รับผมเปียของเธอ  ประกอบกับคำพูดของหลวงตาเล็กที่ว่าน้องเปียรักข้าพเจ้ามากนะ  ทำให้อดคิดเอียงไปทางชู้สาวไม่ได้  ก็จิตใจของปุถุชนคนหนุ่มนี่ครับ

         ข้าพเจ้าเคยรู้รสสัมผัสทางเพศสัมพันธ์มาก่อนบวชเป็นพระบ้างแล้ว  มันเป็นความสุขเสียวซ่านหวานหวามหวิวไหวในทรวงอย่างประหลาดหลายหลายจาระไนไม่ถูก  ครั้นบวชเป็นพระภิกษุเหินห่างการสัมผัสรสกามคุณมาหลายปี  บางคราวคิดจะหวนหากลับไปลิ้มรสมันอีก  แต่ก็เป็นความคิดที่  “ไม่หมกมุ่น”  จึงดำรงอยู่ในสมณะเพศได้ ๔ พรรษาแล้ว  ถ้าคิดอย่างหมกมุ่นคงเปลื้องผ้าเหลืองทิ้งโผนออกจากดงขมิ้นไปแล้ว

         ก็เพราะรสสัมผัสทางเพศที่เคยพบมาก่อนแล้วนั่นแหละทำให้คืนนั้นนอนไม่หลับ  ปอยผมของน้องเปียใส่กล่องวางไว้ข้างหมอน  กลิ่นน้ำหอมระเหยออกมาโชยเข้าจมูกเป็นเหมือนจุดเพลิงราคะให้โชนขึ้นในใจ  คิดอยากให้น้องเปียมานอนข้างกาย  ถ้าอาบัติทางใจเป็นได้ ละก็  คืนนั้น  พระเต็มเป็นอาบัติปาราชิกแน่นอนเลยละแล้วกัน/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, ธันวาคม, 2565, 11:36:50 PM
(https://i.ibb.co/cNcvdDy/0465-n-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๑ -
         หลังกึ่งพุทธกาล (๒๕ พุทธศตวรรษ) คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา  น่าจะพูดได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของวงการกลอน  สถานีวิทยุต่าง ๆ ให้เวลาจัดรายการกลอนกันหลายคลื่น  ส่วนใหญ่เป็นคลื่นของทหาร  ดูเหมือนคลื่นแรกคือสถานีวิทยุ ๐๑ ดอนเมืองของทหารอากาศ  ชื่อรายการ  “ในโลกฝัน”  ดำเนินรายการโดย นิรินธน์ ศรีรักษา  สถานีวิทยุ ส.ส.ส. (เสียงสามยอด) ของตำรวจ ชื่อรายการ  “เพื่อนนักกลอน”  ดำเนินรายการโดย ส.เชื้อหอม - ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร เป็นต้น  คลื่นเสียงในกรุงเทพฯ ไม่ปลุกเร้าอารมณ์คนภูธรเท่าที่ควร  ครั้นสงั่น พูลเพิ่ม เปิดรายการกวีสวรรค์ออกอากาศทางคลื่นเสียงวิทยุจังหวัดทหารบกลพบุรีขึ้น  เป็นรายการที่ปลุกเร้าอารมณ์คนภูธรนักกลอนลูกทุ่งได้มาก  คนรักกลอนบ้านนอกเขียนกลอนกันอย่างผิดๆถูก ๆ  แต่ก็สนุกทั้งผู้เขียนและผู้ฟังกันมาก  จนมีการตั้งเป็นชมรมขึ้นในหลายแห่ง  เช่นชมรมกวีศรีษ์เวียง วัดหัวเวียง  ชมรมกวีศรีนารายณ์ ลพบุรี-พระพุทธบาท  ชมรมนักกลอนบางบาล เป็นต้น

         ชมรมนักกลอนบางบาลตั้งที่วัดโพธิ์กบเจา อำเภอบางบาล พระนครศรีอยุธยา ประธานที่ปรึกษา (หรือผู้อุปถัมภ์) ชมรมนี้คือ  หลวงพ่อเมี้ยน พุทธสิริ (พระครูพุทธสิริวัฒน์) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ท่านใช้นามปากกา (นามแฝง) ในการเขียนกลอนว่า  “อาจารย์ท้วม”  มีพระศิลปะ พิริยะโพธิ เป็นประธาน  กรรมการและสมาชิกของชมรมนี้เป็นพระภิกษุบ้าง  ครูบ้าง  นักเรียนบ้าง  วัดนี้ได้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้นภายวัด  พระภิกษุเป็นครูสอนร่วมกับฆราวาส  นัยว่าเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.๖ (ม.๖ เดิม)  นักกลอนมีชื่อเสียงดังมากที่สุดของชมรม เป็นนักกลอนสาวสวย ชื่อ  พวงทอง พิริยะโพธิ  เขียนกลอนดีและขยันเขียนมาก

         ชาวกลอนของชมรมบางบาล กับ ศรีษ์เวียง เขียนกลอนโต้ตอบกันสนุก  โดยมีชาวกลอนชมกวีศรีนารายณ์ลพบุรี-พระพุทธบาท  และชาวกลอนโรงงานปูนท่าหลวงเข้าสมทบ  เพิ่มความครึกครื้นขึ้นเป็นอันมาก  

         นักกลอนพระพุทธบาท  ที่ขยันเขียนมากเห็นจะเป็น สมจิต คชฤทธิ์, แก้วศิริ เจ้าของโรงโม่หินพุแค  ทางโรงงานปูนก็มี สง่า พูลพงษ์  อเนก บุญโยทก เป็นต้น  นักกลอนจากเมืองสุพรรณ นอกจาก ยินดี สุขนคร  ก็มีสมปอง อินสุข  และเพื่อนเก่าของข้าพเจ้าที่จากวัดจำปีเข้ามาอยู่วัดท่าโขลงชานเมืองสุพรรณ  เพื่อนคนนี้ชื่อ สำรวย พ่วงรอดพันธุ์  มาเรียนบาลีที่วัดท่าโขลงแล้วสอบได้เป็นพระมหา  เขาใช้นามแฝงว่า  ส.สุพรรณ   แต่งกลอนได้ดีเยี่ยม

         รายการกวีสวรรค์มีบทกลอนที่นักรักกลอนเขียนส่งไปมากจนกองเป็นพะเนิน  คุณประยูรอ่านไม่หวาดไม่ไหว  ยามนั้นทางสถานีวิทยุทหารม้า (สม.) สระบุรี  จึงให้เวลาเป็นสนามกลอนเพิ่มขึ้นในชื่อ  “มรดกกวี”  มี ประสพโชค เย็นแข เป็นผู้ดำเนินรายการ  ใช้นามแฝงว่า  “กวิน อัศดร”  คลื่นสถานีวิทยุนี้ดังกระจายไปไกลมาก  เพราะกำลังส่งแรงมากกว่า จ.ท.ล.  แต่คนก็ยังติดกวีสวรรค์ของ จทล. อย่างเหนียวแน่น  ภายหลังประสพโชค เย็นแข  ย้ายเข้าอยู่กรุงเทพฯ  รายการมรดกกวีที่ สม. สระบุรีก็ยังอยู่  โดยมี ชาญ เย็นแข นักร้องดังจากเพลง  “ค่าน้ำนม”  พี่ชายของประสพโชคมาดำเนินรายการแทนน้อง  แต่ยังใช้นามแฝงเดิมว่า ”กวิน  อัศดร”  อยู่เหมือนเดิม  มีนักกลอนส่งผลงานไปร่วมรายการไม่น้อยเหมือนกัน

         มีการพบปะสังสรรค์ของนักกลอนในยุคนั้นบ้าง  โดย ประยูร กั้นเขต นำนักกลอนของชมรมกวีศรีนารายณ์  ประกอบด้วย อุทัย เก่าประเสริฐ   ลพบุรี แก้วศิริ   พุแค  สมจิต คชฤทธิ์ พระพุทธบาทสระบุรี ไปเยือนชาวกวีศรีษ์เวียง ที่วัดหัวเวียง  เราจึงได้รู้จักหน้าค่าตากันเป็นครั้งแรก  อีกครั้งหนึ่งนัดพบกันที่บ้านพี่เพชรา บ้านแพน   ส.เชื้อหอม   ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร   ชาญ เย็นแข ไปจากกรุงเทพฯ   ส.สุพรรณ มาจากสุพรรณ  พบกันครั้งนั้น  ชาญ เย็นแข มีอายุมากกว่าเพื่อน  ข้าพเจ้าเรียกเขาว่า  “คุณอา”   แต่เขาไม่ยอมให้เรียกอย่างนั้น  บอกว่าเรียกผมแก่เกินไปแล้ว  ขอให้ทุกคนเรียกว่า  พี่ชาญ เถอะ  พี่เขาไม่ยอมแก่เราก็เลยเรียกเขาว่าพี่ตามต้องการ

         วันหนึ่งข้าพเจ้าชวนน้องเณรอุดม พบวารี  น้องนักกลอนแห่งหัวเวียงลงเรือบริษัทสุพรรณขนส่ง  เดินทางไปท่าช้าง  เดิมบางนางบวชตามคำเชิญของพี่ยินดี สุขนคร  นัดพบที่ท่าเรืออย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ  พี่เขาบอกว่าเป็นนายท่าถามใคร ๆ ก็รู้จัก  พอเรือเทียบท่าข้าพเจ้าขึ้นจากเรือเดินผ่านพี่เขาไป  ถามหาคนชื่อยินดี  คนในท่าเรือก็ชี้ให้ดูว่า  ก็ผู้หญิงใส่แว่นยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่บนโป๊ะท่าเรือนั่นไงล่ะ

         เห็นเธอเดินขึ้นจากท่าเรือมาด้วยความผิดหวัง  น้องอุดมก็ร้องทักว่า  สวัสดีพี่ยินดี  เธอยืนงง  ข้าพเจ้าก็บอกว่า  น้องจากหัวเวียงไงล่ะ  เธอยกมือทาบอกร้อง  ต๊ายตาย เป็นพระก็ไม่บอก  หลงไปยืนรอรับคนอยู่นั่น

         พี่ยินดีนิมนต์พวกเราเข้าบ้านซึ่งเป็นอาคารห้องแถวไม้สองขั้นสองคูหา  พี่เขาอยู่สองคนกับแม่  จึงจัดห้องอีกห้องหนึ่งให้เราพัก  เราอยู่คุยกันเรื่องกลอนอย่างสนุกสนิทกันเหมือนพี่น้องแท้ ๆ  พักอยู่ตลาดท่าช้าง ๒ คืน  จึงเดินทางกลับด้วยความชื่นมื่น. /          

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, ธันวาคม, 2565, 10:46:42 PM
(https://i.ibb.co/KXYV9nz/Untifgdfdtled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๒ -
         ข้าพเจ้าชอบเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ  ซึ่งแตกต่างกันบ้าง  เหมือนกันบ้าง  และเหมือนกันโดยรวมแต่มีข้อปลีกย่อยไม่เหมือนกันบ้าง  อย่างเช่น ประเพณีในการจัดงานศพของคนตายในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งได้พบเห็นมาหลายลักษณะ  สมัยเป็นเด็กวัดอยู่ในชนบทกันดารที่บ้านเกิดของข้าพเจ้า  ที่นั่นชาวบ้านส่วนมากยากจน  หลายครั้งที่เห็นการตายเกิดขึ้น  บางศพเขาใช้เสื่อกกที่ปูนอนห่อร่างคนตายเอาปอมัด  บางศพเอาไม้ไผ่มาสับเป็นไม้ฟากป็นเฝือกห่อศพ  ตั้งวางไว้ในบ้าน  นิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมตอนกลางคืน  และถวายอาหารเช้า  วันแรก ๆ ศพยังไม่เน่าเปื่อย  กลิ่นเหม็นมีไม่มาก  แต่วันต่อ ๆ มาศพเน่าเปื่อยมีกลิ่นเหม็นมาก  พระสวดศพกลางคืนและฉันอาหารหน้าศพตอนเช้าต้องใช้ความอดทนอดกลั้นในพิธีกรรมนั้นเป็นอย่างมาก

         ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำ  เป็นเด็กวัดที่หลวงตาสั่งให้ไปเป็นเพื่อนในงานสวดศพบ้านใต้วัด  คืนนั้นเป็นคืนที่ ๓  อันเป็นคืนสุดท้ายที่จะสวดศพ  กลิ่นเหม็นศพรุนแรงมาก  พระสวดศพมีแค่ ๓ องค์  เพราะบ้านนอกกันดารอย่างนั้นหาพระยาก  หลวงตาหัวหน้าสวดท่านเป็นคนเชื้อชาติมอญ  ชื่อหลวงตาหม่อง  คืนนั้นท่านสวดอภิธรรมไม่จบเลยสักบทเดียว  พอสวดบทแรกว่า  กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา....  ท่านหยุดสวดเอามือปัดจมูกพูดมีสำเนีบงมอญว่า  “เฮ่ย โยม..เหมือนชิบผายเลยว่ะ”  แล้วขึ้นบทสวดต่อไป  สวดได้สองสามคำ  ก็หยุดร้องว่าเหม็น..  เรื่อยไปจนถึงบทสุดท้าย  คนฟังก็ได้แต่หัวเราะกันเห็นเป็นเรื่องขำขัน  ไม่ถือสาหาความอะไร   รุ่งเช้าท่านก็ไปฉันเช้า  ฉันไปบ่นเหม็นไป  ข้าพเจ้าเห็นใต้ถุนบ้านตรงที่ตั้งศพนั้นมีน้ำเหลืองไหลหยดติ๋ง ๆ  ลงบนกองขี้เถ้าที่อาไปกองซับน้ำเหลืองน้ำหนอง  มีแมลงวันตอมเป็นฝูง  มันไม่ตอมแต่น้ำเหลืองเท่านั้น  บินขึ้นมาตอมสำรับกับข้าวพระด้วย  พระก็ต้องทนฉันไปจนเสร็จสิ้น  ข้าพเจ้ากับเพื่อนเด็กวัดต้องนั่งเอาก้านใบไม้คอยปัดแมลงวันจนเมื่อยมือ  สภาพการณ์ดังกล่าวข้าพเจ้าเคยพบเห็นหลายครั้งหลายคราจนเรียกได้ว่า  ชินเสียแล้ว

         ถามว่าทำไมไม่เอาศพไปตั้งสวดที่วัด  ก็ตอบได้ว่ามันเป็นวัฒนธรรมประเพณี  ที่ว่าเมื่อคนตายลงแล้ว  ญาติพี่น้องต้องตั้งศพบำเพ็ญบุญที่บ้าน  เพื่อเป็นการแสดงความรักและอาลัยในผู้ตาย  สวดศพที่บ้านตามกำหนดเป็นที่พอใจแล้วจึงเคลื่อนย้ายแห่ศพจากบ้านไปตั้งที่ศาลาป่าช้าวัด  มีเทศน์ ๑ กัณฑ์  จะเป็นเทศน์อานิสงส์หรือเทศน์แจงก็ตามแต่ใจเจ้าภาพ  จบเทศน์แล้วพระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล  เชิญศพขึ้นเชิงตะกอน (เดี๋ยวใช้เมรุ) ประชุมเพลิง  ชาวบ้านจะถือธูปไปเผาศพด้วยตนเอง (ไม่มีดอกไม้จันทน์แจกเหมือนปัจจุบัน)  รุ่งเช้าก็ทำพิธีเก็บกระดูก  เป็นอันเสร็จพิธี

         ประเพณีตั้งศพสวดที่บ้านของชาวชนบทเมืองสุพรรณ อยุธยา อ่างทอง จะคล้ายคลึงกัน  ในแถบบางซ้าย อยุธยา  ที่ข้าพเจ้าเคยอยู่สมัยเป็นสามเณรนั้น  บ้านคนตายที่มีฐานะดีจะตั้งศพสวดหลายคืน  บางบ้านมีสวดพระอภิธรรมแล้วต่อด้วยสวดสังคหะต่อไปจนค่อนแจ้ง  บางบ้านสวดพระอภิธรรมแล้วต่อด้วยสวดพระมาลัยไปจนรุ่งแจ้ง  การสวดพระมาลัยส่วนมากจะใช้ฆราวาสสวด  ตอนค่อนแจ้งเขาสวดบทที่เรียกว่า  “ส่งเปรต”  เสียงวิเวกวังเวงมาก  เสียงร้องโหยหวนเหมือนเสียงเปรตร้อง  จนสุนัขได้ยินแล้วต้องหอนประสานเสียง  คนฟังแล้วขนลุกเลย

         การตั้งศพสวดที่บ้านสมัยที่ข้าพเจ้าโตเป็นหนุ่มแล้วนี่ไม่มีกลิ่นเหมือนอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น  เพราะเขาเอาศพใส่โลง (หีบ) อย่างมิดชิด  โดยใช้ขี้ผึ่งหรือชันยารอยตะเข็บโลงและฝาโลงกันน้ำเหลืองไหลได้เป็นอย่างดี

         แถวสามเรือน บางจักร บ้านดาบ ที่ข้าพเจ้าชอบไปพักผ่อนอยู่นั้น  ก็มีวัฒนธรรมประเพณีจัดงานศพคล้ายกันกับแถบบางซ้าย  ต่างกันในข้อปลีกย่อย  กล่าวคือ ข้าพเจ้าอยู่บางจักรไม่พบเห็นว่ามีการสวดอภิธรรมสังคหะและพระมาลัยเลย  ที่แปลกออกไปจากการสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์คือ  จะใช้พระสูตร ปาฐะ บทใดมาสวดหน้าศพก็ได้  ศพใดที่มีญาติพี่น้องมาก  ฐานะทางบ้านดีมีอันจะกิน  ทุกคนจะมีเจ้าภาพสวดศพมากมาย  และเจ้าภาพจัดจตุปัจจัยไทยทานมาเอง  พระสวดจบก็ถวายจตุปัจจัยไทยานของตนเสร็จแล้วถ้าไม่รีบกลับก็นั่งฟังสวดต่อตามอัธยาศัย  ส่วนพระสวดเป็นสี่องค์ชุดเดิมบ้าง  มีชุดเปลี่ยนสลับกันบ้าง  สรุปแล้วงานสวดศพที่นี้ผู้ได้ดีคือพระสวด  เพราะสวดจบแล้วรับทรัพย์เข้าย่ามลูกเดียว  บางงานพระสวดรับสตางค์กลับวัดองค์ละหลายพันบาท  ข้าพเจ้าเคยได้คืนละเกือบหมื่นบาทเลยเชียว  เพราะข้าพเจ้าจำบทสวดมนต์ในเจ็ดตำนาน  สิบสองตำนานได้มากกว่าเพื่อน  เจ้าภาพชอบที่จำให้สวดไม่ซ้ำบทกัน  ข้าพเจ้าเลือกพระเพื่อนที่จำบทสวดมนต์ได้มากบท  แม้จะจำได้ไม่หมดก็ไม่เป็นไร  ขอเพียงได้บ้างเท่านั้นก็พอแล้ว  ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าสวดเสียงดังอยู่แล้ว  จึงนำสวดจนจบทุกบท  สวดผิดพลาดขาดตกอย่างไรคนฟังก็ไม่รู้

         มีเรื่องเล่ากันว่า  พระหลวงน้าองค์หนึ่งเป็นคนไม่รู้ค่อยหนังสือ  ท่องคำสวดที่จำจากเพื่อนพระพอได้บ้าง  เวลาไปสวดมนต์ไม่ว่างานใด  ท่านก็สามารถไปสวดกับเขาได้ โดยทำปากขมุบขมิบ ๆ ไปจนจบทุกบท  ในการสวดมาติกางานศพท่านมีคำสวดของท่านว่า  “ถั่วงา ถั่วงา..”  เข้าจังหวะว่า   กุสะลาธัมมา (ถั่ว) อะกุสะลาธัมมา (งา)...  วันหนึ่งไปสวดมาติการร่วมคณะที่มีพระเพียง ๕ องค์  ท่านว่า ถั่วงา ถั่วงา เพลินไป  บทสวดหมดจบการสวดแล้ว  ท่านก็ยังว่า ถั่วงา อยู่คนเดียว  ญาติโยมหัวเราะกันครืนเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, ธันวาคม, 2565, 10:26:17 PM
(https://i.ibb.co/gPnKqZ7/20120210162931-Hjs-A-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๓ -        
         ในขณะที่ข้าพเจ้าอยู่วัดบางจักรนั้น  วันหนึ่งพระมหาเฉลิมวัดจันทร์นอก  เป็นพระเพื่อนข้าพเจ้าอีกองค์หนึ่งส่งโทรเลขไปเรียกให้กลับวัดด่วน  มีเรื่องสำคัญให้จัดการ  รับโทรเลขแล้วตกใจมากจึงรีบกลับกรุงเทพฯ โดยไม่บอกใคร  นอกจากพระชากับหลวงตาเล็กเท่านั้น  เมื่อถึงวัดจันทร์นอกไม่พบพระมหาเฉลิม  พบแต่พระมหาบุญหนาเพื่อนอีกองค์หนึ่ง  พระมหาเฉลิมกับบุญหนามาจากขอนแก่นอยู่กุฏิเดียวกัน  เฉลิมเรียนต่อที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  บุญหนาเรียนต่อที่มหามงกุฎราชวิทยาลัย  อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า

          “เหลิมโทรเลขไปเรียกผมกลับมาแล้วตัวเขาหายไปไหน”
          “อยู่โรงพยาบาลปากคลองสาน”
          “เฮ้ย  นั่นมันโรงพยาบาลรักษาคนบ้า  เหลิมเป็นบ้าไปแล้วเหรอ
          “เหลิมไม่บ้าหรอก  โน่น”   บุญหนาชี้มือไปที่กุฏิเจ้าอาวาส
          “อ้าว  ท่านเป็นไรไปล่ะ”

         พระมหาบุญหนาบอกเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า  พระมหาประยูรเจ้าอาวาสวัดจันทร์นอกโรคประสาทกำเริบ  เกิดอาการคลุ้มคลั่ง  พวกพระจึงช่วยกันจับตัวพาไปรักษาที่โรงพยาบาลปากคลองสาน  ตอนนี้อาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย  มหาเหลิมต้องอยู่เฝ้าดูแล  พวกเราเห็นว่าทั่นเต็มองค์เดียวที่จะช่วยได้  จึงโทรเลขเรียกกลับมา  เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็รีบไปโรงพยาบาลปากคลองสารทันที  ก่อนขึ้นรถไปปากคลองสารก็แวะซื้อบุหรี่เกล็ดทอง ๑ กะต้อนไปฝากท่านเจ้าอาวาสด้วย

         ชื่อโรงพยาบาลปากคลองไม่ใช่ชื่อเป็นทางการ  ชื่อเป็นทางการคือ  โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา  มีประวัติความเป็นมาปรากฏอยู่ในเอกสารของโรงพยาบาลดังต่อไปนี้

          “สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในประเทศไทย  ก่อตั้งโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ โดยมีชื่อว่า  “โรงพยาบาลคนเสียจริต”  ตั้งอยู่ที่ปากคลองสาน  โรงพยาบาลคนเสียจริต  ทำการรักษาผู้ป่วยโดยแพทย์ประจำและแพทย์แผนไทย  ต่อมามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น  ประกอบกับสถานที่คับแคบ  นายแพทย์ไฮเอ็ดเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล  ซึ่งถือว่าเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลได้เสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินและบ้านของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร  ที่ดินของนายเปีย ราชานุประพันธ์และที่ดินใกล้เคียงของราษฎรอื่น ๆ รวมเนื้อที่ ๔๔ ไร่ครึ่ง  เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันฯ ในปัจจุบัน  คืออยู่ที่ริมคลองสานด้านตะวันตกตอนใต้ห่างจากสถานที่เดิมประมาณ ๖๐๐ เมตร  การสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริต  อยู่ภายใต้การควบคุมของพระยาอายุรเวชวิจักษ์ (หมอคาธิวส์)  ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล  ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานโรงพยาบาลจิตเวชให้เป็นแบบตะวันตกอย่างแท้จริง  โดยให้การบำบัดรักษาตามหลักวิชาการในสมัยนั้น  พร้อมทั้งให้การดูแลผู้ป่วยด้วยความเมตตา กรุณา และมีมนุษยธรรม  ในด้านสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลมีความร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่  ไม้ดอก  ไม้ใบสีสวย  เรือนผู้ป่วยเป็นห้องมีลูกกรงสายบัว  โปร่ง  ไม่มีหน้าต่าง  หลังคาสังกะสีทาสีแดง

         ภายหลังมีแพทย์แผนปัจจุบันคนไทยจบการศึกษามารับราชการแทนชาวต่างประเทศ  ศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม (นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร)  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกซึ่งเป็นคนไทย  ท่านได้ไปศึกษาวิชาโรคจิตเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๒ ปี  ท่านตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช  จึงได้เผยแพร่ความรู้ทางด้านจิตเวชด้วยการเขียนบทความ  บรรยายปาฐกถาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ  และเลิกหวาดกลัวผู้ป่วยจิตเวช  ท่านได้เปลี่ยนชื่อ  “โรงพยาบาลคนเสียจริต”  มาเป็น  “โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี” ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕  เพื่อให้คนทั่วไปคลายความรังเกียจที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช  ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้อำนวยการในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๒ ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย  ท่านได้พัฒนาโรงพยาบาลโดยรื้อลูกกรงเหล็กแล้วเปลี่ยนเป็นมุ้งลวดแทน  เปลี่ยนชื่อเรือนที่พักของผู้ป่วยเป็นชื่อดอกไม้  เพื่อให้มีความหมายน่าชื่นใจ  ในด้านการดูแลผู้ป่วยใช้หลักของความรัก  ความเอาใจใส่ประดุจพ่อแม่ดูแลลูก  ในด้านวิชาการท่านเป็นผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตในการศึกษาก่อนและหลังปริญญา  ท่านได้เปลี่ยนชื่อ  ”โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี”  มาเป็น  “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา”  ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗  ตามชื่อของถนนสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งผ่านหน้าโรงพยาบาล  เพื่อลดความกระดากใจของผู้มาใช้บริการ

         โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช  ประสาทวิทยา  ประสาทศัลยศาสตร์  ประสาทจิตเวชศาสตร์  เป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต  และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในระดับก่อนและหลังปริญญา  พัฒนางานวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์  สุขภาพจิต  ประสาทวิทยา  ประสาทศัลยศาสตร์  ประสาทจิตเวชศาสตร์  และเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบ  จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น  “สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา”  ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕”

         เพราะใช้สีแดงทาสังกะสีมุงหลังคานี่แหละคือที่มาของคำว่า  “หลังคาแดง”  สมัยก่อนเรียกโรงพยาลนี้ว่า  “อยู่บ้านหลังคาแดง”  เมื่อกล่าวถึงคำนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นคนเสียจริตหรือคนบ้านนั่นเอง

         ข้าพเจ้าไปพบสภาพของพระอาจารย์มหาประยูรอยู่ในเครื่องแต่งกายคนไข้ของโรงพยาบาล  นุ่งกางเกงขาก๊วย  สวมเสื้อคอกลม  พอเห็นหน้าข้าพเจ้าท่านดีใจมากร้องว่า  “ทั่นเต็มมาแล้ว  รีบรับผมกลับวัดเร้ว”   ข้าพเจ้ายื่นกะต้อนบุรี่ให้  ท่านรีบฉีกห่อหยิบบุหรี่ออกมาเปิดซองจุดมวนยาสูบพ่นควันโขมงอย่างมีความสุข  ขณะนั้นมีคนไข้ชายแต่งกายชุดสีเขียวเช่นเดียวกันเข้ามารายล้อม  ท่านแจกบุหรี่ให้คนเหล่านั้นสูบกันโดยทั่วหน้า  แล้วหันมากล่าวว่า

          “เต็ม  เอาผมออกจากโรงพยาบาลบ้านี่ทีเถอะ  ผมไม่ได้บ้านะ  เอาผมมาอยู่กับคนบ้าทำไม  ทั่นดูซี  คนพวกนี้บ้าทั้งนั้นเลย”

         ข้าพเจ้ากล่าวปลอบใจว่า

          “ท่านอาจารย์ไม่ได้บ้า  แต่เป็นโรคปวดศีรษะรุนแรงเท่านั้น  รอให้อาการเบาบางลงอีกหน่อยผมจะไปขออนุญาตหมอใหญ่พาตัวอาจารย์กลับวัดนะครับ”
 
         มีคนไข้รายหนึ่งเข้ามานั่งยอง ๆ พนมมืออยู่ตรงหน้าพระอาจารย์  ท่านกล่าวว่า  “ไหว้พระเถอะโยม” แล้วก็แสดงธรรมกถา  มีคนข้ากรูกันเข้ามานั่งยอง ๆ พนมมือฟังกันไม่น้อยกว่า ๑๐ คน  ปกติอยู่วัดท่านไม่ค่อยเทศน์นัก  วันอุโบสถ์มีคนมารักษาศีลที่วัดท่านจะให้พระมหาเจียรเทศน์บ้าง  พระเต็มบ้าง  เทศน์สลับกัน  แต่มาอยู่กลางคนบ้านี่ท่านเทศน์ดีมากทีเดียว  หลังจากกล่าวธรรมกถาจบแล้ว  ท่านหันมาทางข้าพเจ้าแล้วกล่าวว่า

          “ก็ดีเหมือนกันนะ  มาอยู่ที่นี่เหมือนพระมาลัยมาโปรดสัตว์นรก  แต่อย่าให้อยู่นานนักนะ  ผมคิดถึงวัดมาก”

         ข้าพเจ้ารับปากรับคำแล้วลากกลับ  และไปเยี่ยมท่านทุก ๒ วัน  จากนั้นอีกประมาณ ๑๐ วัน  เห็นว่าอาการท่านดีขึ้นมากแล้ว  จึงขออนุญาตแพทย์ใหญ่นำตัวท่านกลับวัดตามเดิม  มาอยู่วัดคราวนี้ดูท่านเรียบร้อยดี  ไม่มีอาการประสาทกำเริบอีกเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, ธันวาคม, 2565, 11:15:35 PM
(https://i.ibb.co/jb1TGsd/IMG-6216-1-1.png) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๔ -
         เป็นเพราะหลงระเริงอยู่ในวงการกลอนเสียแล้ว  การเรียนบาลีก็ต้องเลิกราไปโดยปริยาย  ปีนั้นข้อสอบบาลีสนามหลวงท่านออกบทประณามคาถาที่พระเต็มแปลทุกวันก่อนเข้าบทเรียนในวันนั้น  อาจารย์ผู้สอนบอกว่า  “บทนี้เป็นบทไหว้ครู”  นักเรียนทุกคนต้องไหว้ครูก่อนจึงค่อยเข้าบทเรียน  ครั้นแม่กองบาลีสนามหลวงเอาบทประณามคาถามาออกเป็นข้อสอบ  นักเรียนส่วนใหญ่เห็นแล้วก็ร้องว่า  “หวานคอแร้ง”  น้องเณรที่วัดหัวเวียงสององค์ (เป็นนักกลอนด้วยกัน  สอบได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค  เป็นมหาไปเรียบร้อยแล้ว  แต่พระเต็มไม่ได้เป็นพระมหา  เพราะไม่ได้เข้าสอบกะเขา  โดยอ้างว่าอาพาธ (ป่วย) ทั้ง ๆ ที่ไม่อาพาธนั่นแหละ

         ทำไมพระเต็มไม่เข้าสอบบาลีสนามหลวง  ทั้ง ๆ ที่สอบสนามวัดนั้นสอบได้ที่ ๑  พระอาจารย์ผู้สอนก็หมายใจว่าพระเต็มจะต้องสอบได้เป็นพระมหา  สร้างชื่อเสียงให้แก่สำนักเรียนวัดมหาพฤฒารามบ้าง  แต่พระเต็มก็ทำให้อาจารย์ผิดหวัง  เมื่อไม่เข้าสอบโดยอ้างว่าป่วย  เบื้องลึกที่พระเต็มไม่เข้าสอบบาลีมีอยู่ว่า  พระเต็มกลัวความเป็น  “มหา”  ทำไมจึงกลัวน่ะหรือ  ด้วยคิดว่าถ้าสอบบาลีสนามหลวงต้องสอบได้เปรียญธรรมรับการแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระมหาแล้ว  จะต้องสึกหาลาเพศออกไปเป็นฆราวาสแน่นอน  เมื่อเป็นพระมหาแล้วลาสึกออกไปจะวางตัวลำบาก  ชาวบ้านจะเรียกยศเดิมว่า  “มหา”  เป็น  พี่มหาบ้าง  น้องมหาบ้าง  คุณมหาบ้าง  ไอ้มหาบ้าง  มหาเฉย ๆ บ้าง  ตามแต่เขาจะเรียก  มหาเป็นชื่อที่ใหญ่โตสัญลักษณ์ของคนดีมีศีลธรรม  ต้องปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรม  ไม่เป็นคนขี้เหล้าขี้ยาและเล่นการพนัน  อะไร ๆ ที่เป็นความไม่ดีงาม (ทำบาป) อย่างที่ชาวบ้านเขาทำกัน  มหาทำบ้างก็จะเสียชื่อมากกว่าชาวบ้านธรรมดา

         คนชาวบ้านธรรมดาทอดแหหาปลาก็ไม่มีใครนินทาว่าอะไร  แต่คนที่เคยบวชเรียนจนได้เป็นพระมหามาก่อนแล้ว  ทอดแหหาปลาบ้างจะถูกค่อนแคะนินทาว่า  “คนอะไรบวชเรียนจนเป็นมหาแล้วยังมาทอดแหหาปลากินอย่างชาวบ้านอีก  อย่างนี้ไม่ใช่มหาหรอก  เป็นมะแหไปแล้ว”  แล้วยังมีอีกหลายคำนินทาที่ข้าพเจ้าพบเห็นคนรุ่นก่อนหน้าที่บวชเรียนเป็นพระมหาแล้วสึกออกไปมีครอบครัว  หลายคนเป็นขี้เหล้าเมาหยำเป  เป็นที่ดูหมิ่นแคลนของชาวบ้าน  แม้ภรรยาของตนก็ด่าหยาบๆคาย ๆ  เป็นเรื่องที่น่าสลดใจมาก  ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเรียนบาลีแบบอยากรู้ภาษาบาลีอย่างเดียว  ไม่ยอมสอบเอายศพระมหาจนกระทั่งลาสิกขาออกมานั่งให้การอยู่นี่แหละ

         เห็นเพราะใช้ชื่อ  อภินันท์ นาคเกษม  แต่งกลอนอย่างแพร่หลายจนเพื่อน ๆ ในวงการกลอนไม่รู้จักชื่อ  “เต็ม”  ที่พ่อตั้งให้มาแต่เกิดเสียแล้ว  เพื่อนผู้ใกล้ชิดล้วนรู้เรื่องดี  จึงเสนอแนะให้ข้าพเจ้าไปขอให้ทางการปกครองเปลี่ยนชื่อในสำมโนครัวจาก  เต็ม  เป็น  อภินันท์  เสียเลย  การเปลี่ยนชื่อนี้ตอนที่ไปขอขึ้นทะเบียนทหารกองเกินที่เมืองสุพรรณ  ท่านสัสดีจังหวัดบอกให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนชื่อทีหนึ่งแล้ว  ท่านว่าชื่อตัวเดียวไม่ทันสมัย  เปลี่ยนเป็น  บุญเต็ม  หรือ  เต็มบุญ  หรือไม่ก็เอาเป็นชื่ออื่นเลย  ดีไหม  ข้าพเจ้าไม่ยอมเปลี่ยน  บอกว่าชื่ออย่างนี้ก็ดีแล้ว  ในใบประกาศนียบัตรนักธรรมก็ใช้ว่าสามเณรเต็มอยู่แล้ว  จึงขอใช้ชื่อเดิมต่อไป  แต่มาคราวนี้เพื่อนมากหน้าหลายตาสนับสนุนให้เปลี่ยนชื่อด้วยอ้างว่า  ชื่อเดิมไม่มีใครรู้จักแล้ว  นอนคิดอยู่นานเป็นเดือนจึงตกลงใจไปที่ว่าการอำเภอยานนาวา  ขอให้นายอำเภอเปลี่ยนชื่อให้  และใช้ในทะเบียนสำมโนครัวเรื่อยมาจนถึงวันนี้  แต่ลึก ๆ แล้วใจยังรักชื่อ  เต็ม  มากกว่าชื่อใหม่  เมื่อได้ยินใครเรียกชื่อข้าพเจ้าว่า  “เต็ม”  แล้วรู้สึกชื่นใจมาก

         ปลายปีนั้น ๒๕๐๕ พระมหาองค์หนึ่งชื่อปาน  มาจากเมืองสงขลา  เคยมาเที่ยวหาวัดอยู่ในกรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว  หลายวัดไม่รับท่าน  อ้างว่าไม่มีกุฏิว่าง  จึงที่มาวัดจันทร์นอกตั้งแต่ออกพรรษาหมาด ๆ ปีนั้น  เมื่อปีที่แล้วท่านก็มาขออยู่อ้างว่าเพื่อศึกษาต่อในมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  วัดมหาธาตุฯ  ท่าพระจันทร์  แต่ไม่มีวัดไหนรับไว้ได้  จึงพยามหาวัดไม่ละเว้น  พระมหาเฉลิมแนะนำให้พูดกับพระเต็มเพื่อช่วยฝากกับเจ้าอาวาส  เพราะเจ้าอาวาสเกรงใจพระเต็ม  มหาปานมาขอร้องข้าพเจ้าแบบวันเว้นวันเลย  ในที่สุดข้าพเจ้าก็ใจอ่อน  ด้วยคิดว่าไหน ๆ ก็ไม่เรียนบาลีเพื่อสอบเอายศพระมหา  และไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรแล้ว  ควรสละกุฏิให้พระมหาปานอยู่อาศัยเพื่อศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ตามความปรารถนาของเขา  มหาปานแนะนำให้ข้าพเจ้าไปอยู่วัดชัยมงคลเมืองสงขลา  เพราะกุฏิของท่านว่างอยู่  ข้าพเจ้าลังเลใจ  ความคิดหนึ่งอยากกลับไปอยู่วัดหัวเวียง  ใจหนึ่งอยากไปอยู่วัดบางจักร  ใจหนึ่งคิดไปยู่สงขลาเพื่อหาประสบการณ์ให้แก่ชีวิตตามประสาคนชอบเที่ยว อยากรู้อยากเห็น

         ใจที่คิดอยากไปอยู่วัดบางจักรนั้นถูกยกเลิก  ด้วยเหตุผลว่า  หากไปอยู่วัดบางจักร  จะใกล้บ้านแจ๋ว  นับเป็นอันตรายต่อบรรพชิตเพศของตัวเอง  ถ้าอดทนต่อความรบเร้าของใจรักไม่ได้จนต้องสึกออกไปใช้ชีวิตคู่กับแจ๋ว  เห็นว่าตนเองไม่มีความพร้อมเลย  ฐานะข้าพเจ้า  และการศึกษาทางโลก  ต่ำต้อยกว่าแจ๋วมาก  แม้แจ๋วและพ่อแม่ญาติพี่น้องเขาไม่รังเกียจ  แต่ข้าพเจ้ารังเกียจตัวเองที่หน้าด้านไปเกาะเขาอยู่ในสภาพของกาฝาก  จึงเลิกคิดไปอยู่วัดบางจักรที่มีสภาพเหมือน  “น้ำตาลใกล้มด”  ที่ยากจะไว้ใจตนเอง  ครั้นจะกลับไปอยู่วัดหัวเวียงเล่าก็อายเขา  เพราะเข้ากรุงเทพฯ แล้วไม่ได้อะไรติดมือกลับไปเลย  น้อง ๆ ที่เรียนด้วยกันในวัดหัวเวียงเขาสอบเป็นมหาเปรียญล้ำหน้าหลวงพี่เต็มไปหมดแล้ว

         จึงตกลงกับพระมหาปานว่า  ให้ท่านอยู่กุฏิของข้าพเจ้าที่วัดจันทร์นอก  ข้าพเจ้าจะไปอยู่กุฏิพระมหาปานที่วัดชัยมงคล  เมืองสงขลา  เราตกลงแลกกุฏิกันอยู่  ว่างั้นเถิด /  

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, ธันวาคม, 2565, 10:26:09 PM
(https://i.ibb.co/WDhwZmb/5400-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๕ -        
         การตัดสินใจไปอยู่สงขลาของข้าพเจ้า  นักกลอนสาวเล็กสาวใหญ่หลายคนทราบแล้วต่างก็คัดค้านไม่ให้ไป  เพราะอยู่ไกลเกินจะเล่นกลอนกันไม่สนุกเหมือนเดิม  คนที่สนิทสนมคุ้นเคยกันหลายคนก็ไม่อยากให้ไป  แต่ไม่มีใครคัดค้านห้ามปรามได้  เพื่อนสนิทต่างก็รู้นิสัยใจคอของพระเต็มดีว่าเมื่อตัดสินใจทำอะไรแล้ว  “เดินหน้าลูกเดียว”  มีความหยิ่งทระนงดื้อรั้นมาก  จนหลวงน้าไหวที่อยู่กุฏิเดียวกันตั้งฉายาพระเต็มว่า  “ไอ้เฒ่าเด็กดื้อ”  ฉายานี้เอามาจากหนังสือนิยายจีนกำลังภายในเรื่องมังกรหยก  หนังสือเรื่องนี้พระเต็มกับพระไสวร่วมกันเช่าจากร้านหนังสือปากตรอกวัดจันทร์ใน  นำมาอ่านกันจนติดอย่างงอมแงมเลย  ตัวละครสำคัญที่เราเอามาล้อเล่นกันคือ

          “เฮ้งเตงเอี้ยง (เทพมัชฌิม  หรือ  กลางอิทธิฤทธิ์) ผู้ก่อตั้งสำนักช้วนจินก่า  ได้รับการยอมรับว่ามีฝีมือสูงที่สุดในห้ายอดฝีมือ  ภายหลังหายสาบสูญ  ผู้ครอบครองคัมภีร์เก้าอิม  วรยุทธ์ที่เด่นชัด  เพลงกระบี่ช้วนจิน

         อึ้งเอี๊ยะซือ (มารบูรพา  หรือ  ตังเซี้ย  บางฉบับใช้  ภูตบูรพา) เป็นประมุขเกาะดอกท้อ  บิดาของอึ้งย้ง (ยงยี้) หรือ พ่อตาของก๊วยเจ๋ง  วรยุทธที่เด่นชัด  ฝ่ามือเทพกระบี่สยบผู้กล้า  เพลงกระบี่ขลุ่ยหยกมังกรทะยาน  ฝ่ามือปัดจุดกล้วยไม้  เพลงเตะพายุรวบใบไม้  และ  ยอดวิชานิ้วดีด

         อั้งชิกกง (ยาจกอุดร  หรือ  ปักข่าย  บางฉบับใช้ ขอทานเหนือ  หรือ  ยาจกเก้านิ้ว) ประมุขพรรคกระยาจก  วรยุทธที่เด่นชัด  เพลงไม้เท้าตีสุนัข (เป็นวรยุทธที่สืบทอดเฉพาะประมุขพรรคกระยาจก) และ ๑๘ ฝ่ามือพิชิตมังกร

         อิดเต็งไต้ซือ (ราชันย์ทักษิณ  หรือ  น่ำเต้  บางฉบับใช้อ๋องแดนใต้, ราชันย์ต้วน) เป็นอดีตจักรพรรดิแซ่ต้วนแห่งไต้ลี้  หรือ  ต้าหลี่  วรยุทธที่เด่นชัด  ดัชนีเอกสุริยันต์

         อาวเอี๊ยงฮง (พิษประจิม  หรือ  ไซตั๊ก) จ้าวแห่งการใช้พิษ ผู้อยู่เหนือพิษทั้งปวง วรยุทธที่เด่นชัด เพลงไม้เท้าอสรพิษ กระบวนท่าลมปราณคางคกพิษ

(https://i.ibb.co/ZWty4Gt/Untitereled-2-1.jpg) (https://imgbb.com/)

         และตัวที่สร้างสีสันได้มากคือ จิวแป๊ะทง หรือเฒ่าทารก เป็นศิษย์น้องของเฮ้งเตงเอี้ยง  มีนิสัยร่าเริง  บ้า ๆ บอ ๆ เหมือนเด็กทารก  ต่อมาได้ไปมีสัมพันธ์กับ  เอ็งโกว  และมีลูกด้วยกัน 1 คน  ตอนที่ต้วนตี่เฮง (อิดเต็งไต้ซือ) ให้ติดตามไปด้วยเพื่อตามหาคัมภีร์เก้าอิมที่เฮ้งเตงเอี้ยงซ่อนไว้  แต่ด้วยนิสัยของเขาจึงไม่รู้ว่าเขามีลูกกับเอ็งโกว”

         ข้าพเจ้าตั้งฉายาให้หลวงน้าไหวว่า  ปักข่าย หรือยาจกอุดร  เพราะท่านมาจากอุตรดิตถ์ซึ่งอยู่ทางเหนือกรุงเทพฯ  ท่านก็ตั้งฉายาข้าพเจ้าว่า  เล่าง่วนท้ง  เฒ่าทารก จิวแป๊ะทง  เด็กดื้อ  ดังนั้นการตัดสินใจล่องใต้ไปอยู่วัดชัยมงคล เมืองสงขลา แทนพระมหาปาน  จึงไม่มีใครห้ามปรามข้าพเจ้าได้

         หลังสงกรานต์ปี ๒๕๐๖ นั้น  ข้าพเจ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ ทางรถไฟโดยขบวนรถด่วน  มีเพื่อนพระ ๓-๔ องค์ไปส่งที่สถานีหัวลำโพง  รถไฟไทย (รฟท.) เคลื่อนออกจากหัวลำโพงผ่านสามเสน  บางซื่อ  ข้ามลำน้ำเจ้าพระยา (สะพานพระราม ๖ ไปโดยลำดับ  ข้าพเจ้านั่งมองดูตึกรามบ้านช่องทิวทัศน์ต่าง ๆ ด้วยความเพลิดเพลิน  ถึงบ้าน   สถานีรถไฟชื่ออะไรก็จดจำไว้ทุกสถานี  จนไปถึงหาดใหญ่ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟอีกแห่งหนึ่ง  เป็นสถานีสุดท้ายปลายทางของของข้าพเจ้า  จึงลงจากรถไฟแล้วขึ้นรถเมล์เหลืองเดินทางต่อจากหาดใหญ่เข้าตัวเมืองสงขลา  ความจริงจะต่อรถไฟขบวนรถธรรมดาจากหาดใหญ่เข้าสงขลาก็ได้  แต่ต้องรอเสียเวลาหน่อย  ข้าพเจ้าเลือกนั่งรถเมล์  สะดวกและรวดเร็วกว่า  ถึงวัดชัยมงคลแล้วเข้าพบเจ้าอาวาสพร้อมหนังสือฝากจากพระมหาปาน  พระมหาเหี้ยงเจ้าอาวาสจึงจัดให้เข้าอยู่ในกุฏิพระมหาปาน  ซึ่งเป็นกุฏิไม้ชั้นเดียว ๒ ห้อง  มีเด็กนักเรียน ๓ คนอยู่ประจำห้องหนึ่ง  เจ้าอาวาสมอบหมายให้ข้าพเจ้าปกครองดูแลเด็กทั้ง ๓ คนนั้น

         ณรงค์  นักเรียนชั้น ม.ศ. ๕ (ม. ๘ เดิม) โรงเรียนวชิราวุธ  เป็นชาวจังหวัดพัทลุง
         ทวน  นักเรียนชั้น ม.ศ ๓ (ม. ๖ เดิม) โรงเรียนวชิราวุธ เป็นชาว อ.หัวไทร  จ.นครศรีธรรมราช
         เชื้อ  เรียนชั้น ป.ว.ส. วิทยาลัยเทคนิคสงขลา เป็นชาว อ.หัวไทร  จ.นครศรีธรรมราช  บ้านเดียวกันกับทวน

         เด็กทั้ง ๓ ดูมีสง่าราศีขึ้นเมื่อได้เป็นเด็กอยู่ในปกครองของพระที่มาจากกรุงเทพฯ  เพราะค่านิยมของคน ตจว. สมัยนั้นนิยม (เห่อ) คนกรุงเทพฯ  เหมือนกันทุกหนทุกแห่ง

         เมื่อถึงจังหวัดสงขลามีที่อยู่แน่นอนแล้ว  ข้าพเจ้ารีบเขียนจดหมายถึงเพื่อน ๆ ที่เคยติดต่อกันทั้งโดยส่วนตัวและโดยทางจดหมาย  พร้อมเขียนกลอนส่งให้กวีสวรรค์ตามปกติ  สำนวนกลอนทั่วไปใช้นามแฝงในที่อยู่เดิม  คือชมรมกวีศรีษ์เวียง อ. เสนา พระนครศรีอยุธยา  สำนวนที่ใช้ชื่อจริง  จะใช้ที่อยู่ว่า  สวนอัมพวัน บ่อยาง เมืองสงขลา  เพราะรอบ ๆ กุฏิข้าพเจ้านั้น  มีต้นมะม่วงรายรอบอยู่หลายต้น  กลอนที่ใช้ชื่อจริงเป็นกลอนยาวชื่อ  นิราศสงขลา  เริ่มต้นว่า   “จะร่ำปางทางไกลไปสงลา  ระยะทางยาวเหลือเบื่อคณนา  ขอยกมาเพียงย่อพอได้ความ   ขึ้นรถไฟหัวลำโพงมุ่งลงใต้......”   แล้วก็เขียนถึงชื่อสถานีรถไฟ  บ้าน  ตำบล  อำเภอ  จังหวัดต่าง ๆ ที่รถไฟพาผ่านไปขนถึงหาดใหญ่  และนั่งรถเมล์ต่อจนถึงวัดชัยมงคลในเมืองสงขลา  ทุกสถานที่ข้าพเจ้าจดชื่อใสกระดาษกันลืมไว้  จึงเขียนได้ไม่ตกหล่น  สำนวนกลอนของข้าพเจ้าไม่ไพเราะเพราะพริ้งอะไรนัก  เป็นสำนวนโวหารทื่อ ๆ แบบเด็กบ้านนอกที่ด้อยการศึกษา  แต่เขียนด้วยความจริงใจ  เขียนแล้วก็ส่งให้คุณประยูร กั้นเขต  อ่านออกอากาศในรายการกวีสวรรค์ทุกคืน  กลอนนิราศสงขลานี้ทำให้คนฟังรายการจำชื่อ อภินันท์ นาคเกษม  จนชินหู  คุณประยูรตัดตอนอ่านออกคืนละ ๑๐ บทกลอน  ทุกคืนทุกคืน/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, ธันวาคม, 2565, 10:39:55 PM
(https://i.ibb.co/RQD5pPp/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๖ -
         วัดชัยมงคลเป็นวัดไม่ใหญ่โตนัก  ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา  มีปูชนียสถานวัตถุสำคัญคือ  พระบรมธาตุเจดีย์  และพระพุทธไสยาสน์  เป็นที่เคารพสักการะของชาวสงขลาและชาวใต้ทั่วไป  บริเวณวัดกว้างขวาง  มีพระเณรอยู่ประจำไม่ถึง ๒๐ องค์  เจ้าอาวาสเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๔ ประโยค  อัธยาศัยดี  สงบเสงี่ยมเรียบร้อย  พูดน้อย  ยิ้มมาก  มาอยู่วัดนี้ใหม่ ๆ รู้สึกอึดอัดใจในเรื่องการใช้ภาษาสื่อสารกัน  เราพูดไปเขาฟังรู้เรื่องดี  แต่เขาพูดมาเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง  คนสงขลาพูดเร็วและเสียงห้วน  ฟังเขาไม่ทัน  พวกเด็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกัน  กลับจากเรียนในตอนเย็น  ข้าพเจ้าพยายามพูดคุยกับพวกเขาด้วยภาษาใต้  เพื่อให้เกิดความชำนาญในการฟังการพูดภาษาใต้  เด็ก ๆ เขาก็ไม่ค่อยพูดด้วย  เพราะเขากระดากอาย  คนสงขลาและจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคใต้  มักไม่ค่อยพูดออกสำเนียงภาษาไทยภาคกลาง  เพราะเขากระดากอาย  ใครพูดสำเนียงภาษาภาคกลางจะถูกกล่าวหาว่า “ดัดจริต” เป็นอย่างนั้นไป

         มีประวัติความเป็นมาของวัดชัยมงคลจากเอกสารพิมพ์ดีดบันทึกไว้ดังต่อไปนี้

          “วัดชัยมงคล  เดิมชื่อวัดโคกเสม็ด  เพราะตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีต้นเสม็ดจำนวนมาก  สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  แต่ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลาเขียนบอกเล่าไว้ว่า  ตามคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อน ๆ  ทราบว่าวัดนี้พระอาจารย์ชัย พระภิกษุชาวกลันตันเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๔  สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดเพชรมงคล  ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดชัยมงคล  โดยพระอาจารย์ชัยเป็นผู้สร้างวัดชัยมงคล   และพระอาจารย์เพชรเป็นผู้สร้างวัดเพชรมงคล  พระภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้  เป็นเพื่อนสนิทกัน  และเป็นชาวกลันตันด้วยกัน (สมัยกลันตันยังเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรไทย)
 
         ในเอกสารประวัติวัดชัยมงคล  ซึ่งเป็นเอกสารพิมพ์ดีดสำเนา  ได้กล่าวถึงประวัติการสร้างพระเจดีย์หรือพระบรมธาตุวัดชัยมงคล  ซึ่งบอกไว้ว่าอ้างมาจาก  “หนังสือประวัติพระบรมธาตุ”  แต่งโดยคุณหมออิ่ม  ศิษย์ของอาจารย์นะ ติสสโร  โดยกล่าวว่า อาจารย์นะ ติสสโร  มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุมาไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองสงขลา  จึงได้เดินทางไปถึงประเทศลังกา  เพื่อแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุ  ได้โดยสารเรือกลไฟไปเป็นเวลา ๑๕ วัน ๑๕ คืน จึงถึงประเทศลังกา  เมื่อไปถึงประเทศลังกาท่านได้ไปพักอาศัยอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามตลอดเวลา ๓ เดือน  ได้ถือโอกาสไปนมัสการปูชนียสถานทั่วประเทศ  และท่านได้ทราบจากสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามว่า  ที่บ้านเศรษฐีท่านหนึ่งมีพระธาตุอยู่หลายผอบ  หากอาจารย์นะไปแจ้งความประสงค์ต่อเศรษฐีผู้นั้นเขาคงให้  เพราะนอกจากเศรษฐีผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาแล้ว  ยังรู้จักและมีความนิยมนับถือท่านอาจารย์นะอยู่แล้วด้วย  อาจารย์นะทราบข่าวก็ดีใจรีบไปหาเศรษฐีผู้นั้น  แจ้งความประสงค์ให้ทราบว่าการมาประเทศลังกาครั้งนี้  นอกจากมานมัสการปูชนียสถานแล้ว  ยังมีความประสงค์ที่สำคัญมาก  คือเพื่อต้องการแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนที่เมืองไทย

         ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้น  ก็บอกว่าพระธาตุของตนมีอยู่ ๔ ผอบ  คือ  พระบรมสารีริกธาตุ ๑ ผอบ  พระธาตุพระโคคลาน ๑ ผอบ  พระธาตุพระสารีบุตร ๑ ผอบ  และพระธาตุพระอานนท์ ๑ ผอบ  จะถวายอาจารย์นะไปสัก ๑ ผอบ  แต่ให้อาจารย์นะได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงบารมีพระพุทธองค์  และในที่สุดก็จับได้ผอบพระบรมสารีริกธาตุสมความปรารถนา  ฝ่ายท่านเศรษฐีเมื่อเห็นว่าท่านอาจารย์นะ  จับถูกผอบพระบรมสารีริกธาตุ  เกิดความเสียดายจนน้ำตาร่วงพรูออกมาอย่างไม่รู้ตัว  เนื่องจากเป็นมรดกประจำสกุลตกทอดมาหลายชั่วอายุคน  ประกอบกับท่านเศรษฐีมีความเคารพหนักแน่นต่อพระบรมสารีริกธาตุมาก  ย่อมมีความอาลัยเสียดายเป็นธรรมดา  เมื่ออาจารย์นะเห็นว่าท่านเศรษฐีร้องไห้จึงบอกว่า  เมื่อโยมยังมีความอาลัยอยู่อาตมาก็จะไม่ขอเอาไป  ขอคืนกลับให้ตามเดิม  ท่านเศรษฐีจึงพูดว่าขอพระคุณเจ้าจงอัญเชิญไปเมืองไทยเถอะ  พระบรมสารีริกธาตุปรารถนาจะเสด็จไปกับท่านแล้ว  พร้อมกับสั่งว่า  เมื่อท่านกลับไปถึงเมืองไทยแล้ว  ขอให้สร้างพรสถูปเจดีย์เป็นแบบถูปารามสำหรับบรรจุ  เพราะพระบรมธาตุนี้ได้มากจากพระเจดีย์ถูปารามเมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ใหม่  พร้อมกับมอบภาพพระเจดีย์ถูปารามให้มาด้วย  และสั่งว่าให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ด้วย
 
         เมื่อท่านอาจารย์นะได้พระบรมสารีริกธาตุสมความตั้งใจแล้ว  ได้กราบลาสมเด็จพระสังฆราชและลาท่านเศรษฐีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อมด้วยต้นโพธิ์ทอง ๓ ต้น เดินทางกลับประเทศไทย  โดยท่านเศรษฐีฝากให้โดยสารมากับเรือสินค้าของชาวฝรั่งเศส  เรือมาแวะขนถ่ายสินค้าที่เมืองท่าสิงคโปร์เป็นเวลาหลายวัน  พอดีอาจารย์นะได้พบกับพ่อค้าคนจีนซึ่งไปติดต่อซื้อสินค้าจากเรือที่ท่านโดยสารมา  สอบถามได้ความว่าชื่อ เส้ง  เป็นจีนฮกเกี้ยน  อยู่ที่อำเภอปากพนัง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  อาจารย์นะจึงได้ขอโดยสารเรือมาขึ้นที่เมืองสงขลา วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๗  ท่านอาจารย์นะถึงเมืองสงขลาและขึ้นจากเรือถึงวัดชัยมงคล  เมื่อตอนบ่ายวันเดียวกัน  ประชาชนชาวเมืองสงขลาเมื่อทราบข่าวการกลับมาของอาจารย์นะ  พร้อมกับนำพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย  ต่างก็พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดชัยมงคลอย่างล้นหลาม  เพื่อบูชานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และได้มีการจัดงามสมโภชขึ้นเป็นเวลา ๗ วัน  เสร็จงานสมโภชแล้ว  อาจารย์นะก็ได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายช่วยกันทำการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงลังกา  แบบถูปารามตามคำท่านเศรษฐีสั่งทุกประการ  และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  เมื่อวันวิสาขบูชา ปีมะเมีย  ตรงกับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๙”

         อ่านประวัติความเป็นมาของวัดนี้แล้วก็เห็นได้ว่าไม่ใช่วัดธรรมดาทีเดียว  สร้างปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ลุมาถึงปี ๒๕๐๖  คือปีที่ข้าพเจ้าเข้าไปอาศัยอยู่นั้นมีอายุได้ ๑๑๒ ปี  ปีนั้นเครื่องอุปโภคยังมีไม่พร้อม  คือมีไฟฟ้าใช้แล้ว  น้ำประปายังไม่มี  ต้องใช้น้ำในบ่อกรุ  เอาเชือกผูกหูถังหย่อนลงในบ่อตักน้ำดึงขึ้นมาอาบกินกัน  แต่น้ำในบ่อสะอาดไม่แพ้น้ำประปา  เพราะดินที่นั่นเป็นดินทรา ย กรองน้ำให้สะอาดได้ดีมาก  เรื่องน้ำดื่ม  อาบ  ใช้สอยนานา  ข้าพเจ้าชินมาตั้งแต่เกิด  ใช้น้ำบ่อน้ำคลอง แม่น้ำ มาตลอด  วัดชัยมงคลดูจะดีกว่าวันจันทร์นอกตรงที่มีกระแสไฟฟ้าใช้นี่แหละ  วัดจันทร์นอกไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้าเลย/  

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, ธันวาคม, 2565, 10:38:11 PM
(https://i.ibb.co/Wth4GS1/IMG-728911-1.png) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๘๗ -              
         กิจวัตรประจำวันของข้าพเจ้าอันดับแรกคือ  ออกเดินหนรับบิณฑบาต (โปรดสัตว์) ที่เมืองสงขลานี้ก็เหมือนพระในกรุงเทพฯ  คือต่างองค์ต่างอุ้มบาตรเดินไปตามที่ตนเห็นควร  ไม่เดินเรียงแถวตามลำดับอาวุโสเหมือนพระในชนบทแถบที่ข้าพเจ้าเคยอยู่  เพราะพระในเมืองมีหลายวัดหลายองค์ไม่รู้ว่าใครมีอาวุโสมากน้อยกว่ากัน  จึงป่วยการที่จะมัวนับเรียงลำดับอาวุโสกัน  คนใส่บาตรก็ใส่กันตามกำลังศรัทธาและฐานะของตน  บางรายมีข้าวสุกใส่บาตรอย่างเดียวโดยไม่มีกับข้าว  บางรายมีข้าวสุก กุ้งต้ม กุ้งเผา ปลาจืดปลาเค็มปิ้ง ทอด ต้ม แกง ขนมหวาน ผลไม้นานา  เมื่อกลับถึงวัดแล้ว  ข้าวปลาอาหารที่ได้จากการรับบิณฑบาต  นำไปรวมในคณะท่านเจ้าอาวาส  ที่คณะมีโรงครัว  แม่ครัวและเด็ก ๆ ช่วยนำอาหารที่พระนำมารวมกันนั้นแยกใส่ภาชนะ  จัดเป็นสำรับเรียบร้อย  และทางโรงครัวยังปรุงอาหาร  คือต้มแกง  เสริมของที่ได้จากการบิณฑบาตอีกด้วย  เรื่องอาหารการขบฉันจึงไร้ปัญหา  เรียกว่า  “อาหารสปายะ”  ไม่เดือดร้อนอะไร

         สงขลามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันมากในสมัยนั้นคือ  ย่านเมืองเก่าสงขลา  เป็นย่านวิถีชีวิตชุมชนไทย-จีนดั้งเดิม  ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา, เขาตังกวน เป็นภูเขาสูงโดดเด่นตั้งอยู่ใกล้ปากทะเลสาบสงขลา  ด้านบนมีองค์เจดีย์พระธาตุเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช,  หาดสมิหลา อยู่ทางเหนือตัวเมืองสงขลาติดทะเลอ่าวไทย  เป็นหาดทรายที่สงบขาวสะอาดสวยงามมาก  ข้าพเจ้าสนใจหาดสมิหลาเป็นพิเศษ  จึงไปเที่ยวชมหาดสมิหลาเป็นอันดับแรกที่ไปอยู่สงขลา  ที่ชายดาดนั้นมีโรงแรมสมิหลาซึ่งเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่  มองออกไปในทะเลแลเห็นเกาะสองเกาะชัดเจน  เกาะนั้นคือ  เกาะหนูเกาะแมวอันมีชื่อเสียงโด่งดัง  เลาะริมหาดทรายชายทะเลไปทางซ้ายมือจนถึงปากทะเลสาบที่เรียกว่า  “แหลมสน”  มีสวนสนอันร่มรื่นสวยงาม  หาดทายขาวสะอาดยาวจากแหลมสนเลื้อยไปทางโรงแรมสมิหลาเรื่อยลงไปเก้าเส้ง  ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหาดทรายชาวสะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้มาก่อนเลย

         ตอนกลางวันหลังจากฉันอาหารเพลแล้วข้าพเจ้าชอบไปเที่ยวแหลมสน  ไปนั่งฟังเสียงคลื่นลมที่ไม่รุนแรง  อากาศสบาย  นั่งดูเกาะหนูเกาะแมวมันวิ่งไล่กันในคลื่นทะเลสีคราม  คิดอะไรเพลิน ๆ จนจมอยู่ในภวังค์แว่วเสียงเพลงสงขลาที่ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง  หลายเพลง  ข้าพเจ้าชอบฟังเพลงลูกกรุงมากกว่าเพลงลูกทุ่ง  นักร้องชายที่ชอบฟังเสียงเขา คือ  ชรินทร์ นันทนาคร   ครูเอื้อ สุนทรสนาน  รายนี้เพิ่งชอบฟังต่อเมื่อน้องเปียส่งผมเปียมาให้  ตอนนั้นเพลง  “หนึ่งน้อยปอยผม”  ของครูเอื้อกำลังดังขึ้นมาพอดี  ส่วนสุเทพ วงศ์คำแหง   ทะนงศักดิ์ ภักดีเทวา  ก็ชอบฟังรอง ๆ ลงไป  นักร้องหญิงที่ชอบฟังมากก็มี  รวงทอง ทองลั่นทม   เพ็ญศรี พุ่มชูศรี   มัณฑนา โมรากุล  และอีกหลายคน  เสียดายสมัยนั้นข้าพเจ้าไม่มีวิทยุทรานซิสเตอร์หิ้วไปเปิดฟังที่สวนสนด้วย  จึงต้อง  “เข้าภวังคจิต”  ฟังในจินตนาการเพลินไป

         ตื่นจากภวังค์ก็จะเดินเลาะริมหาดมาทางเขาตังกวน  นั่งพักชมเกาะหนูเกาะแมวอีกมุมหนึ่ง  เวลาบ่ายมากแล้วก็เดินล่องลงใต้  บางวันถึงบริเวณวิทยาลัยเทคนิคก็ขึ้นจากหาดทรายเดินกลับวัด  บางวันก็ไปถึงหัวนายแรงเก้าเส้ง  นั่งรับลมชมวิว ดูเรือชาวประมงแล่นไปมาอย่างเพลิดเพลิน  จนตะวันย่ำสนธยาจึงเดินกลับวัด  บางวันเมื่อปลอดคนก็จะนอนกลิ้งเกลือกเล่นบนหาดทรายขาวสะอาด  ปล่อยให้ปูลมตัวน้อย ๆ ที่ขาวสะอาดเหมือนเม็ดทรายขึ้นไต่ขาไต่แขน และหน้าตาอย่างมีความสุข  สมัยนั้นที่หาดทรายนี้ไม่มีคนพลุกพล่าน (เดี๋ยวนี้ยังเหมือนก่อนอยู่หรือเปล่าไม่รู้)  พ้นหาดทรายขึ้นมามีพงหญ้า  เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่กันจำนวนมาก  อันเต่านา เต่าป่า เต่าทะเล  จะวางไข่ในสภาพเดียวกัน  กล่าวคือ  ขุดดินเป็นหลุมแล้ววางไข่ในหลุมนั้นหลุมละหลายฟอง (ไม่น้อยกว่า ๑๐ ฟอง)  เสร็จแล้วคุ้ยดินกลบหลุมเกลี่ยเรียบร้อยไม่ให้ใครเห็นร่องรอย  มีบางวันข้าพเจ้าเดินขึ้นจากหาดทรายย่ำพงหญ้ากลับวัด  เหยียบหลุมไข่เต่าทำให้ไข่แตกไปหลายฟอง  ทำอย่างไรได้ล่ะ  เพราะไม่รู้  ไม่มีเจตนา  รู้สึกเสียใจมาก  ยามค่ำก็สวดมนต์เจริญภาวนาแผ่เมตตา  ขออโหสิกรรมจากลูกเต่าเหล่านั้น  คราวต่อไปเวลาเดินย่ำพงหญ้าจะระมัดระวังเป็นอย่างดี

         ขอกล่าวถึงพระหนุ่มองค์หนึ่งชื่อว่า  “เชือน”  เป็นชาวกิ่งอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา  มาอยู่วัดชัยมงคลก่อนข้าพเจ้า ๑ ปี  เขาสอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วจึงเข้ามาเรียนนักธรรมชั้นโทต่อในเมืองสงขลา  ผลการสอบนักธรรมโทของเขายังไม่ผ่าน  ต้องเรียนซ้ำชั้น  กุฏิพระเชือนอยู่ใกล้กับกุฏิของข้าพเจ้า  กุฏิของพระวัดนี้ปลูกเป็นแถว ๒ แถว  คือฟากเหนือกับฟากใต้  ฝากเหนือมีหลายหลัง  ฟากใต้มี ๓ หลัง  หลังแรกเป็นตึกใหญ่ ๒ ชั้นของพระมหาแฉล้ม  ต่อมาคือที่พระเชือนอยู่  ต่อด้วยกุฏิของพระมหาปานที่ข้าพเจ้าไปอยู่แทน  จากกุฏิที่ข้าพเจ้าอยู่ก็เป็นบ่อน้ำที่พวกเราใช้อุปภาคบริโภคกัน  พระเชือนทำความคุ้นเคยกับข้าพเจ้าแล้วขอให้ข้าพเจ้าช่วยสอนนักธรรมชั้นโทให้  พระเต็มจึงต้องกลายเป็นอาจารย์ของพระเชือนไปโดยปริยาย  พระองค์นี้มีผิวดำร่างกายกำยำล่ำสัน  ลักษณะทื่อมะลื่อ  เป็นคนหัวอ่อนว่านอนสอนง่ายก็จริง  แต่ “หัวทึบ” คิดเข้าใจอะไรเชื่องช้า  ความดีมีอยู่อย่างหนึ่งคือจำแม่น  ถ้าจำอะไรได้แล้วจะไม่ลืม  ข้าพเจ้าสอนวิชาธรรมะต้องอธิบายทบทวนซ้ำซากจน “ปากเปียกปากอแฉะ”  เขาจำหัวข้อได้แต่ไม่เข้าใจความหมาย  กว่าจะเข้าใจได้ข้าพเจ้าต้องใช้ความพยายามอธิบายมากทีเดียว  พระเชือนนี่แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าฟังสำเนียงและพูดภาษาปักษ์ใต้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ  และก็เขานี่แหละทำให้ข้าพเจ้าอารมณ์เสียบ่อย ๆ  คือบางวันขณะที่คิดแต่งกลอนเพลิน ๆ  เขาก็มักไปนั่งใกล้ ๆ  ถามโน่นถามนี่เกี่ยวกับวิชาความรู้บ้าง  เรื่องราวในกรุงเทพฯ และเมืองต่าง ๆ ในภาคกลางบ้าง  บางครั้งต้องดุและไล่เขาให้ออกไปห่าง ๆ จนพ้นความรำคาญ

         จังหวัดสงลาและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้  ชาวพุทธ คือ ภิกษุอุบาสกอุบาสิกาจะเคร่งครัดในวินัย  ขนบธรรมเนียมประเพณีมาก  โดยเฉพาะเรื่องการรับจับต้องเงินทองของพระภิกษุเขาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก  พระภิกษุแม้จะใช้เงินทองเหมือนชาวบ้าน  แต่จะไม่จับต้องเงินทองด้วยมือตนเอง  ถ้าพระจับใช้จ่ายด้วยมือตนเองแล้วจะถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรง  ชาวบ้านบางคนบางพวกกล่าวหาว่า  “พระศีลขาด”  ไปเลย  ความเป็นจริงแล้ว  เรื่องนี้มีโทษปรับเป็นเพียงอาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น  โดยมีพุทธบัญญัติเป็นสิกขาบทในนิสสัคคียปาจิตตีย์ว่า

          “ภิกษุรับเองก็ดี  ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี  ซึ่งทองและเงิน  หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน  ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์”

         ความตามพุทธบัญญัติสิกขาบทนี้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความให้มากเรื่อง  หรือจะ  "เลี่ยงบาลี" คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=1513.msg52428#msg52428)  อย่างไรก็ไม่พ้นผิดความในพุทธบัญญัตินี้  อย่างเช่นที่มีการใช้ใบปวารณาแทนเงินทอง  แล้วอ้างว่าใบปวารณาไม่ใช่เงินทอง  แม้ไม่ผิดในประเด็นที่ว่า  “รับเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี”  แต่ก็ต้องผิดในประเด็นที่ว่า  “หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน”  นั่นแล

         เงินทองเป็นนิสสัคคีย์  หรือ  วัตถุอนามาส  คือเป็นของที่ไม่ควรแตะต้อง  ถ้าพระภิกษุจับต้อง  หรือให้คนอื่นจับต้องแทน  และแม้ยินดี  ก็ต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์  จะต้องเสียสละไปเสียก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก

         พระภิกษุปักษ์ใต้  และชาวพุทธปักษ์ใต้  และภิกษุในนิกายธรรมยุติทั่วประเทศ  ท่านจะไม่จับต้องทองและเงิน  แต่ใช้ผู้อื่นรับแทน  และยังยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ท่าน  โดยถือว่าไม่ผิดพระวินัยข้อนี้  ข้าพเจ้าคิดเห็นเป็นเรื่องขันมาก/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, ธันวาคม, 2565, 11:35:22 PM
(https://i.ibb.co/Br9W9Nq/pab509m2g-F0-Z282325-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๘๘ -    
         เรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุจับต้องทองและเงินนี้  สมัยเป็นสามเณรอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า  พระภิกษุบางองค์ไม่หยิบจับเงินทองต่อหน้าคนอื่น  แต่เมื่อลับตาคนอื่นแล้วก็หยิบจับนับเก็บแบบ  “คนหน้าไว้หลังหลอก”  แล้วเล่าเรื่องพระภิกษุสองสหายต่างนิกายว่า  มีภิกษุองค์หนึ่งบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี  เรียนนักธรรมจบชั้น น.ธ.เอก  สอบบาลีได้เปรียญ ๕ ประโยค  อุปสมบทเป็นภิกษุต่อแล้วครองสมณะเพศอยู่ตั้งแต่หนุ่มจนแก่  ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) ชั้นราช  เป็นผู้เคร่งครัดในสิกขาวินัยมาก  ท่านเจ้าคุณรูปนี้ (เป็นพระธรรมยุตินิกาย) ไมยอมจับต้องเงินทองทั้งต่อหน้าและลับหลังคนอื่นเด็ดขาด

         ท่านเจ้าคุณองค์นี้มีคนที่รักใคร่ชอบพอกันมากคนหนึ่ง  เคยบวชอยู่คนละนิกายกัน  แต่สนิทสนมกันเพราะเรียนบาลีในสำนักเดียวกันและอัธยาศัยต้องกัน  ทั้งสองสอบบาลีได้เป็นพระมหาด้วยกัน  ต่อมาพระมหาภิกษุในมหานิกายลาสิกขาออกไปรับราชกรจนได้ความดีความชอบมีบรรดาศักดิ์เป็น  “คุณพระ”  แม้ลาสิกขาออกไปรับราชการแล้วก็ยังไปมาหาสู่กับพระอดีตสหายธรรมนั้นสม่ำเสมอ  โดยทั้งสองมีบรรดาศักดิ์เป็น  “เจ้าคุณ”  ด้วยกัน  คือท่านหนึ่งเป็นเจ้าคุณทางพระ  ท่านหนึ่งเป็นเจ้าคุณทางคฤหัสถ์

         วันหนึ่งเจ้าคุณคฤหัสถ์ไปเยี่ยมเยือนพระเจ้าคุณที่วัดตามปกติ  ไปถึงกุฏิไม่เห็นมีใครอยู่ในบริเวณนั้นเลย  ประตูห้องพักพระเจ้าคุณเปิดแง้มไว้  เจ้าคุณคฤหัสถ์จึงย่องไปดูที่ประตู  เห็นพระเจ้าคุณกำลังเอาก้านธูปเขี่ยเหรียญกษาปน์และธนบัตรชนิดต่าง ๆ นับจำนวนง่วนอยู่องค์เดียว  เห็นชัดว่าท่านเคร่งครัดในพระวินัยมาก  แม้ลับตาคนก็ไม่ยอมใช้มือจับต้องเงินทองเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย  ครั้นเอาก้านธูปเขี่ยนับครบถ้วนแล้วก็เอาก้านธูปกวาดเหรียญลงกระป๋อง  เอาก้านธูปคีบธนบัตรใส่ที่เก็บ  เจ้าคุณคฤหัสถ์มีอารมณ์ขัน  รีบลงจากกุฏิแล้วเดินกลับขึ้นมาใหม่  ทำทีว่าเพิ่งมาถึงเป็นเวลาที่พระเจ้าคุณเปิดกุฏิออกมาพอดี

         เจ้าคุณคฤหัสถ์เข้าไปกราบเมื่อพระเจ้าคุณนั่งเรียบร้อยแล้ว  ทั้งสองทักทายโอภาปราศรัยกันเป็นอันดี  สนทนากันด้วยเรื่องสัพเพเหระได้สักครู่หนึ่ง  เจ้าคุณคฤหัสถ์ก็เลียบเคียงถามปัญหาที่ข้องใจ

          “ท่านเจ้าคุณครับ  กระผมสงสัยว่าเวลาคนตายเขาเอาด้ายตราสังมัดมือมัดเท้าแล้วยกศพใส่โลง  เอาด้ายสายสิญจน์ผูกมือศพโยงออกจากโลง  ให้พระที่สวดบังสกุลจับด้ายสายสิญจน์นั่งอยู่ไกลห่างจากศพอย่างนี้  ถือว่าพระที่ชักบังสกุลนั้นจับต้องถูกศพไหมครับ”  คุณพระคฤหัสถ์ถามแบบนักมวยที่ส่งหมัดแย้ปใส่คู่ต่อสู้

          “ เอ๊ะ !  คุณพระนี่ถามยังไง  ก็ต้องถือว่าพระนั้นถูกต้องร่างซากศพซี  เพราะสายสิญจน์นั้นผูกติดร่างซากศพโยงออกมาจากโลง  พระจับสายสิญจน์ก็เหมือนจับต้องซากศพนั่นแหละ  ของมองเห็น ๆ กันอยู่อย่างนี้  คุณพระก็เคยบวชเรียนจนสอบได้เป็นมหาเปรียญมาแล้ว  ไม่น่าจะสงสัยในปัญหา  “หญ้าปากคอก” อย่างนี้เลยนี่นา”  พระเจ้าคุณตอบด้วยเสียงกลั้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

          “เอ....ท่านเจ้าคุณขอรับ  ถ้างั้น  การที่พระเอาก้านธูปเขี่ยนับ  และคีบจับธนบัตรใส่กล่องเก็บ  ก็น่าจะถือได้ว่าพระจับต้องเงินทองน่ะซีขอรับ  ท่านเจ้าคุณ”  คุณพระคฤหัสถ์ถามด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส

         แต่พระเจ้าคุณไม่ยอมยิ้มรับ  ทำหน้าบึ้งตึงและร้องออกมาคำเดียวว่า  “บ้า”  แล้วลุกพรวดเดินเข้าห้องปิดประตูปัง  คุณพระคฤหัสถ์ส่งเสียงตามหลังไปว่า

          “กระผมขอกราบลาเลยนะขอรับ”  ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระเจ้าคุณกับเจ้าคุณคฤหัสถ์ก็ขาดไมตรีต่อกัน  เพราะเรื่องจับเงินทอง หรือ ปัจจัย กลายเป็นเรื่อง “บาดใจ” ท่านน่ะเอง

         ข้าพเจ้าไปรู้เห็นพระเมืองใต้ไม่จับเงินทอง  แต่ให้คนอื่นจับเก็บแทนต่อหน้าคนอื่น  แล้วไปขอจับเก็บเองในที่ลับหลังคนอื่นแล้ว  คิดถึงคำว่า “ลิงหลอกเจ้า” รู้สึกขำขันมาก  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหลีกเลี่ยงความผิดไม่พ้น  ก็ยังพยายามหลีกเลี่ยงอยู่นั่นแหละ  อย่างเรื่องที่นำมาบอกเล่าข้างบนนี้จะเรียกว่าท่าน “ซื่อบื้อ” หรือฉลาดแกมโกงกันแน่
 
         สำหรับข้าพเจ้าแล้วไม่ยอมเลี่ยงบาลีวินัย  จึงจับจ่ายใช้สอยเงินทองด้วยมือตนเอง  ใครมาชี้หน้าว่าผิดเป็นอาบัติก็ยอมรับผิดอย่างหน้าชื่นตาบาน  ด้วยถือว่าเงินทองเป็นวัตถุอนามาส  คือเป็น  นิสสัคคีย์  จับต้องแล้วเป็นอาบัติปาจิตตีย์  ดังนั้นเมื่อหยิบจับรับมาเท่าไหร่  ก็เสียสละด้วยการใช้จ่ายให้หมดไปเท่านั้น  จะเก็บไว้เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ทำไมให้อาบัติเกาะกินเปล่า ๆ

         เรื่องนี้เห็นทีว่าจะต้องพูดกันอีกยาวครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, ธันวาคม, 2565, 11:46:08 PM
(https://i.ibb.co/ZJwBwBL/286782-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๙ -
         เรื่องการรับจับหยิบเงินทองทำความยุ่งยากหงุดหงิดใจแก่ข้าพเจ้าไม่น้อยเลย  เวลาไปในกิจนิมนต์งานบุญต่าง ๆ เช่น  สวดศพบ้าง  เจริญพระพุทธมนต์ในพิธีมงคลต่าง ๆ บ้าง  เมื่อเสร็จพิธีแล้วหรือตัวแทนเจ้าภาพจะกล่าวคำปวารณาว่า

          “ข้าพเจ้าขอถวายปัจจัยสี่มีมูลค่า (ระบุจำนวนเงิน) ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกรของท่านแล้ว  ถ้าพระคุณเจ้ามีความประสงค์จงเรียกเอาจากไวยาวัจกรเทอญฯ”

         บางรายมีใบปวารณาบัตรเขียนใส่ของถวาย (เครื่องไทยทาน)  ข้าพเจ้าเจอหลายครั้งที่ได้ฟังตาคำปวารณาโดยไม่ได้ปัจจัยตามคำปวารณานั้น เพราะไม่รู้ว่าใครคือไวยาวัจกรผู้ที่รับเงินจากเจ้าภาพแทนข้าพเจ้า  ในหมู่คนก็ย่อมมีคนซื่อไม่ซื่อ  คนกลัวบาปไม่กลัวบาป อยู่รวมปะปนกันเป็นธรรมดา  บางคนรับเงินจากเจ้าภาพแล้วก็นำไปให้พระที่วัด  บางคนรับเงินจากเจ้าภาพแล้วออกไปรอพระอยู่ที่ประตูบ้านเจ้าภาพ  ครั้นพระออกมาจะกลับวัดเขาก็เอาเงินนั้นใสย่ามพระเลย  บางคนรับเงินมาแล้วก็ทำเป็นลืม  พระบางองค์ก็กล้าทวงถาม  บางองค์ไม่กล้าทวงถาม  ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับไวยาวัจกรนั่นเอง

         พฤติกรรมที่ไวยาวัจกรรับเงินจากเจ้าภาพแล้วไม่ยอมถวายพระต่อ  เป็นตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายกมาอธิบายให้เพื่อนพระด้วยกันฟังบ่อย ๆ  ชี้ให้เห็นโทษของการที่พระไม่รับเงินทองด้วยตนเอง  ใช้ให้คนอื่นรับแทน  เอกลาภนั้นก็ไม่ถึงมือตน  ทานของเจ้าภาพนั้นย่อมไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะพระไม่ได้รับทานนั้น  ซ้ำทำให้พระเกิดความวิตกกังวลใจ  ไม่สบายใจ  เกิดบาป (ความเศร้าหมอง) เป็นมลทิน (สนิม) เกาะกินใจ  ถ้ารับด้วยมือตนเองเก็บไว้ใช้จ่ายด้วยมือตนเอง  ความวิตกกังวลใจก็จะไม่มีเหมือนให้ผู้อื่นรับเงินแทนตน

         คำพูดอภิปรายให้เห็นโทษของการให้ผู้อื่นรับเงินทองแทนตน  ไม่มีผลเปลี่ยนปลงพฤติกรรมดังกล่าวได้เลย  เพราะเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ฝังรากลึกอยู่ในความรู้สึกของชาวใต้ไปเสียแล้ว  ลำพังชาวพุทธน่ะไม่เท่าไหร่หรอกครับ  แต่ชาวมุสลิมคือคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นซีเป็นสำคัญที่ทำให้พระภิกษุในภาคใต้ไม่กล้ารับเงินทองด้วยตนเอง  เพราะอิสลามิกชนจะคอยจับผิดพระภิกษุซึ่งเป็นคู่แข่งทางศาสนา  เขาพบเห็นพระภิกษุทำอะไรไม่ดีไม่งามก็จะพากันติเตียนนินทา  เช่น  พระภิกษุหยิบจับรับเงินทอง  เมื่อเห็นแล้วก็จะกล่าวหาว่า  “พระศีลขาดแล้ว  ทำไม่ดีแล้ว  ไม่เป็นพระแล้ว  ไม่ควรเคารพนับถือแล้ว”  อย่างนี้เป็นต้น

         ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธทั้งที่เป็นพระภิกษุและอุบาสกอุบาสิกาจึงคอยระมัดระวัง  ไม่ทำอะไรที่เป็นจุดอ่อนให้  “คู่แข่ง”  ทางศาสนากล่าวโจมตีได้  การกล่าวโจมตี  ติเตียนนินทาจากคนนอกพุทธศาสนาดังกล่าว  เป็นเหตุให้พระภิกษุทางใต้ต้องเคร่งครัดต่อวินัย  ไม่หยิบจับรับเงินทองต่อหน้าผู้คน  ต่อเมื่อเดินทางออกพ้นภาคใต้เข้าสู่ภาคกลางและภาคอื่น ๆ แล้ว  ก็มิได้เคร่งครัดเลย

         ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า  สังคมบีบบังคับให้พระภิกษุภาคใต้เข้าอยู่ในสภาพที่ต้องทำตัวเป็นคน “หน้าไหว้หลังหลอก” อยู่ต่อหน้าคนอื่น (ที่ไม่ใช่พระภิกษุ) จะไม่หยิบจับเงินทอง  เมื่อลับตาคนและอยู่ในหมู่ของพวกตนก็หยิบจับเงินทองอย่างหน้าตาเฉย  พูดได้ว่า “ความนิยมของสังคม” มีอำนาจอิทธิพลมากกว่า “ความถูกต้อง” หรือเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น

         เพราะคนปักษ์ใต้ไม่นิยมให้พระภิกษุจับต้องเงินทอง  ข้าพเจ้าเดินทางขึ้นรถลงเรือก็สะดวกสบาย  ในสัปดาห์หนึ่ง ๆ เดินทางไปเที่ยวหาดใหญ่ไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง นั่ งรถเมล์เหลืองไป-กลับฟรี  เด็กกระเป๋ารถเดินเก็บค่าโดยสารรถมาถึงข้าพเจ้าถามว่า “เด็กอยู่ไหน”  หรือ “มีเด็กไหม”  ข้าพเจ้าสั่นศีรษะปฏิเสธ  เขาก็เดินผ่านเลยไปไม่ยอมเก็บค่าโดยสาร  ด้วยเข้าใจว่าพระไม่จับเงินทองจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าโดยสารเล่า

         ข้าพเจ้าก็เลยนั่งรถฟรี  แต่การซื้อสิ่งของที่ตลาดหาดใหญ่  ข้าพเจ้าหยิบเงินจ่ายค่าสินค้าค่อนข้างเป็นปกติ  เพราะคนในตลาดหาดใหญ่ไม่ค่อยเคร่งครัด  มีบ้างที่เคร่งครัด เพราะเขาเป็นชาวใต้แท้  ไปซื้อของเขาจะถามหาเด็กคือลูกศิษย์ว่าอยู่ไหน  ด้วยคิดว่าเด็กจะต้องเป็นคนจ่ายเงินแทนพระ  เมื่อตอบว่าไม่มีเด็กเขาก็ส่ายหน้าบอกว่าพระซื้อเองไม่ได้  เขาไม่ขาย  แม้จะยื่นย่ามให้เขาควักเอาเงินในย่ามเขาก็ไม่ยอม  ก็ต้องเดินดูของร้านอื่นต่อไป  ที่นี่  หาดใหญ่มีคนจากภาคกลางภาคเหนือ  ตะวันออกเฉียงเหนือ  เข้าไปอยู่ทำมาค้าขายกันมาก ผู้ ที่ไม่ใช่คนใต้แท้ ๆ จะไม่เคร่งครัดในเรื่องห้ามพระหยิบจับเงินทอง  จึงไม่มีปัญหาอะไรกับพระที่ไปซื้อสินค้าพวกเขาด้วยมือพระเอง

         อ้อ  ไม่ได้นั่งรถฟรีทุกเที่ยวหรอก  มีบางเที่ยวนั่งฟรีไม่ได้  เพราะเด็กกระเป๋ารถเดินมาถึงก็แบมือขอเงินเอาดื้อ ๆ เหมือนกัน  ข้าพเจ้าควักกระเป๋าสตางค์ในย่ามยื่นให้เขาเปิดหยิบเงินค่าโดยสารเอาเอง  บางครั้งก็หยิบสตางค์ยื่นให้เขาโดยตรงเลย  การที่ยื่นกระเป๋าสตางค์ให้เขาเปิดหยิบเงินนั้น  มีพระบางองค์เคยถูกเขาหยิบเงินออกจากกระเป๋าเกินราคาค่าโดยสารและสิ่งของบ่อย ๆ  บางองค์ทักท้วงทวงคืน  บางองค์ก็ไม่กล้าทักท้วง  ต้องมองดูเขาโกงไปตาปริบ ๆ  ข้าพเจ้ายังไม่เคยถูกโกง  ถ้าถูกโกงก็คงยอมไม่ได้ดอก

         สรรพนามของพระภิกษุที่คนเมืองใต้เขาใช้เรียกกันส่วนมากคือ  “ใต้เท้า”  และ  “ต้น”  เรียกอย่างคุ้นเคยคือ  “พ่อท่าน  พ่อหลวง  พี่หลวง”  พระที่เคยมีลูกเมียมาก่อนแล้วจะเรียกว่า  “พ่อหลวง” (คือหลวงพ่อ)  ถ้าบวชมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ไม่เคยมีลูกเมียมาก่อนจะเรียกว่า  “พ่อท่าน” (ท่านพ่อ)  หลวงพี่ก็เรียก “พี่หลวง - พี่ท่าน”   ชาวบ้าน เรียกพระทั่วไปว่า  “ตน-ต้น”  คำนี้ได้ยินใหม่ ๆ ก็งง  ตามหาที่มาของสรรพนามนี้อยู่นานจึงรู้ว่า  ตนหรือต้นคำนี้มาจาก  “ต้นพุทธบริษัท”  กล่าวคือสาวกของพระพุทธเจ้าเรียกว่าพุทธบริษัทมี ๔ หมู่  คือ  ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ภิกษุเป็นต้นของพุทธบริษัท  เขาจึงเรียกพระภิกษุว่า  “ตน-ต้น”  ถ้าเรียกด้วยความเคารพยกย่องในขณะสนทนากันจะเรียกสรรพนามว่า  “ใต้เท้า”  ข้าพเจ้าไปอยู่สงขลาถูกเรียกว่า  “ใต้เท้า”  เหมือนกัน  อันที่จริง  “ใต้เท้า”  คำนี้  ทางฝ่ายบ้านเมืองเขาใช้เรียกข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่คุณพระขึ้นไป  การที่คนใต้เรียกพระภิกษุว่า  “ใต้เท้า”  ก็หมายถึงว่าเขายกย่องพระภิกษุสูงเทียบเท่า  คุณพระ  พระยา  อะไรนั่นเทียว /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, ธันวาคม, 2565, 10:47:37 PM
(https://i.ibb.co/vJ38V4H/Udsentitled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๐ -            
         ย้อนกลับไปดูประสบการณ์ตอนเริ่มต้นชีวิตที่เมืองสงขลา  ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดชัยมงคลได้ประมาณ ๑๐ วันก็ถูกนิมนต์ไปสวดอภิธรรมศพบ้านใกล้ ๆ วัด  พระสวดศพ ๔ องค์ตามระเบียบพิธีมาตรฐานทั่วไป  ไม่รู้ว่าใครอาวุโสมากน้อยกว่ากัน  ข้าพเจ้าเป็นพระใหม่จึงขอนั่งสวดเป็นองค์ลำดับที่ ๔ (ท้ายสุด)  การสวดทางภาคกลางเรา พระจะสวดเต็มเสียง  แต่วันนั้นพระ ๓ องค์แรกสวดเหมือนไม่เต็มเสียง  และดูจะสวดไม่คล่อง  ออกเสียงผิด ๆ ถูก ๆ ฟังไม่ค่อยชัด  เหมือนเสียงคนบ่นอะไรอุบ ๆ อิบ ๆ  แต่ข้าพเจ้าซึ่งนั่งท้ายสุดสวดเหมือนพระภาคกลางคือสวดเต็มเสียง  ดังและฟังชัด  จนเสียงกลบเสียง ๓ องค์หน้าจนหมด  คนฟังล้วนชอบอกชอบใจ  และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้ากลายเป็นพระหัวหน้าสวดศพตามบ้านทั้งใกล้และไกลวัดในย่านนั้น

         ในเมืองสงขลาเมื่อมีคนตายลง  เขาเอาศพตั้งไว้ที่บ้านเหมือนภาคกลางที่ข้าพเจ้าเคยอยู่  ในการสวดศพเขานิยมนิมนต์พระหลายวัด  อย่างน้อยก็ ๓ วัดมาสวดเป็นชุด ๆ  พระจะสวดตั้งแต่หัวค่ำไปยันค่อนแจ้ง  บางบ้านก็สวดกันยันแจ้งเลย  บางคืนข้าพเจ้าโมโหมากเมื่อถูกปลุกยามดึกดื่นค่อนคืนให้ไปสวดศพ  ไม่ไปก็ไม่ได้  คนนิมนต์ไม่ยอมกลับไป  จะเฝ้ารอและส่งเสียงเอะอะให้รำคาญไม่เป็นอันนอน  ถูกปลุกไปสวดในขณะง่วงนอนก็ยังไม่ร้ายเท่ากับที่สวดแล้วถูกไวยาวัจกร “เบี้ยว” ค่าสวดนั่นหรอก

         การสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ก็เป็นเรื่องธรรมดา  พระวัดชัยมงคลอยากสวดพระอภิธัมมัตถสังคหะบ้าง  แต่ไม่มีหัวหน้าฝึกหัดให้  พระชวนซึ่งเป็นพระอาวุโสสูงในวัดนี้ปรารภให้ฟังบ่อย ๆ  ข้าพเจ้าก็เลยอาสาช่วยฝึกหัดให้  คัดเลือกพระเสียงดีได้ ๕ องค์ฝึกหัดซักซ้อมกันอย่างจริงจัง  ตามแบบที่ใช้สวดกันในภาคกลาง  ซึ่งข้าพเจ้าสวดดั้งแต่สมัยเป็นสามเณร  ทำนองสวดสังคหะที่สงขลากับทางภาคกลางส่วนใหญ่จะไม่เหมือนกัน

         ข้าพเจ้าฝึกซ้อมศิษย์อยู่เดือนเศษ ๆ ก็รับนิมนต์สวดศพเป็นครั้งแรก  พระศิษย์ยังไม่กล้าไปสวดโดยลำพัง  ข้าพเจ้าจึงเอาไป ๓  รวมกับข้าพเจ้าเป็น ๔ องค์ครบสำรับ  เริ่มแรก ๆ ศิษย์ทั้ง ๓ ประหม่าจนเสียงสั่น  แต่พอขึ้นปริเฉทที่ ๒ ก็หายประหม่า  คนฟังที่ไม่เคยตั้งใจฟัง  ไม่สนใจฟังพระสวดสังคหะมาก่อน  พอได้ยินเสียงสวดที่มีท่วงทำนองแปลก ๆ ไม่เหมือนพระสงขลาสวดกันมาแต่เดิม  พวกเขากันหันกลับมาสนใจฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ  ผลการออกงานสวดครั้งแรก  ได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากชาวบ้านมาก  เรียกว่า  “ดัง”  มากก็แล้วกัน  คืนนั้นสวดจบทายกกล่าวคำถวายจตุปัจจัยแล้ว  ไวยาวัจกรรับเงินจากเจ้าภาพมาใส่ย่ามพระทุกองค์ทันที  ตั้งแต่นั้นมาพระสวดสังคหะชุดของวัดชัยมงคลจะถูกนิมนต์ไปสวดศพมากกว่าชุดของวัดอื่น  แรก ๆ ข้าพเจ้าก็เป็นหัวหน้านำสวด  เมื่อเห็นว่าพระลูกศิษย์มีความชำนาญพอแล้ว  ก็ปล่อยให้พวกเขาไปสวดกันเอง

         ประมาณต้นเดือน ๗ ปีนั้น  พระเชือนชักชวนให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวบ้านเขาที่อำเภอสะบ้าย้อย  ซึ่งเป็นอำเภอสุดเขตสงขลาติดต่ออำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี  เห็นว่ายังมีเวลาก่อนเข้าพรรษาอยู่เดือนเศษ  จึงตกลงใจไปกับเขา  ก่อนเดินทางไปมีเพื่อนพระบอกเตือนว่า  ไปที่นั่นเขาไม่ค่อยพูดภาษาไทยกันนะ  เขาจะพูดภาษายาวีเป็นส่วนใหญ่  พระชวนเอาตำราพูดภาษายาวีที่เป็นอักษรพิมพ์ดีด  พิมพ์ลงกระดาษไขถ่ายโรเนียวมาให้ชุดหนึ่ง  สอนคำพูดที่ใช้พูดกันประจำวัน เช่น  ข้าว น้ำ กิน นอน เป็นต้น  ก็ท่องจำได้หลายคำอยู่เหมือนกัน

         ก่อนเดินทางไปสะบ้าย้อย  พระเชือนบอกว่าอาจารย์ต้องเตรียมตัวให้ดีนะ  ถามว่าต้องเตรียมเอาอะไรไปบ้างล่ะ  เขาบอกกว่าไม่ใช่เตรียมของใช้อะไรหรอก  แต่ต้องเตรียมตัวทำใจเมื่อตอนนั่งรถจากโคกโพธิ์ไปสะบ้าย้อยนั่นแหละ  เขาบอกว่า  ต้องนั่งรถจิ๊บวิลลี่ไปตามถนนคึกฤทธิ์ (ถนนที่สร้างในชนบทตามโครงการของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี)  รถจิ๊บนี้ไม่ใช่รถโดยสาร  แต่เป็นรถที่ชาวสวนยางบรรทุกยางพาราจากสวนไปขายที่โคกโพธิ์  เขาออกจากสะบ้าย้อยแต่เช้า  ขายยางเสร็จก็กลับ  ขากลับนี้เขารับคนโดยสารเอาค่าน้ำมันด้วย  เรานั่งรถเมล์ประจำทางจากสงขลาไปถึงโคกโพธิ์แล้ว  ต้องนั่งรถจิ๊บต่อไปสะบ้าย้อย

          “ตอนนี้แหละท่านเอ๊ย..”  พระชวนกล่าวต่อพร้อมหัวเราะ
          “มันเป็นไรหรือหลวงพี่ “ พระชวนอายุมากกว่าข้าพเจ้าเกือบ ๒๐ ปี  จึงเรียกท่านว่าหลวงพี่

          “ผมไปเจอมากับตัวเองแล้ว.....”
          “เจออะไรเหรอ น่ากลัวมั้ย”

          “เจออีแมะละซี น่ากลัวมาก”
          “อีแมะ คืออะไรครับ “

          “อ้าว...อีแมะก็คือผู้หญิงอิสลามน่ะซี  จะเล่าให้ฟังนะ  คือว่าพวกผู้หญิงอิสลามในแถบ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นั่น  เขานับถือศาสนาอิสลาม  มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งเวลานั่งโดยสารรถยนต์  ถ้ามีคนนั่งเต็มที่นั่งหมดแล้ว  พวกเขาจะให้ผู้หญิงนั่งตักผู้ชาย  ผมไปเจออีแมะนั่งตักมาแล้ว  ฮ่ะ ๆๆๆ”

          “เราเป็นพระเขาจะกล้านั่งตักเหรอ “

          “พระก็เป็นผู้ชาย  เขานั่งตักผู้ชาย  โดยไม่ถือว่าเราเป็นพระหรอก  ที่พระเชือนบอกให้น้องหลวงเตรียมตัวน่ะ  ก็คือเตรียมไปให้อีแมะนั่งตักนั่นเอง  ฮ่ะ ๆๆๆ”

         ฟังหลวงพี่ชวนบอกเล่าแล้วข้าพเจ้าขนลุกเลย /                

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53393#msg53393)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53677#msg53677)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, ธันวาคม, 2565, 10:17:30 PM
(https://i.ibb.co/g6nX6sQ/maxresdefault-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg53504#msg53504)                                                             .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๑ -
         เมื่อตกปากรับคำพระเชือนว่าไปสะบ้าย้อยก็ต้องไป  จะเผชิญเหตุการณ์ร้ายดีอย่างไรก็ช่างเถิด  ถามเพื่อนว่าจะนั่งรถไฟจากสงขลาไปลงโคกโพธิ์ได้ไหม  เขาว่าได้  แต่อย่าเลย  รถไฟมันช้ามากคลานเป็นกิ้งกือ  “ถึงก็ชั่งไม่ถึงก็ชั่ง”  ไปรถเมล์ดีกว่า  ออกเดินทางแต่เช้าถึงโคกโพธิ์ก็ไมเกินเที่ยงวัน  จึงตกลงเดินทางโดยรถเมล์ตามแต่พระเชือนจะพาไป  เราฉันอาหารเช้าแล้วก็นั่งรถเมล์ (บริษัทโพธิ์ทอง) ไปถึงหาดใหญ่  แล้วต่อรถเมล์ประจำทางจากหาดใหญ่ไปโคกโพธิ์  ผ่านบ้านตำบลอะไรบ้างไม่ได้จดจำ  ดูเหมือนว่ารถโดยสารพาเราผ่านเขตพื้นที่อำเภอจะนะ  นาทวี  เทพา  ระหว่างนาทวีกับเทพาอันไหนถึงก่อนจำไม่ได้แล้ว

         ข้าพเจ้าเลือกที่นั่งรถตรงที่ใกล้คนขับ  เพื่อต้องการซักถามภูมิประเทศที่เดินทางผ่านไปตลอดเส้นทาง  พูดคุยกับเขาด้วยสำเนียงใต้ผสมกลาง  ก็พอคุยกันรู้เรื่องบ้างพอสมควร  พอเข้าเขตอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี  คนขับรถไม่ยอมพูดด้วย  ไม่ว่าภาษาใต้หรือกลาง  ถามอะไรเขาก็นิ่งเฉยไปจนถึงจุดหมายปลายทาง  พระเชือนพาลงจากรถเมล์หาอะไรขบฉันกันแล้วก็หารถที่จะไปอำเภอสะบ้าย้อยได้  เป็นรถจิ๊บวิลลี่ค่อนข้างเก่าหน่อย  รถยังว่างอยู่ขึ้นไปนั่งรอเวลาที่รถจะออกเดินทาง  มีคนหญิงชายขึ้นนั่งเต็มคันรถแล้ว  เจ้าของรถก็ออกเดินทาง  ข้าพเจ้าคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว  เพราะไม่มี  “อีแมะ”  มานั่งใกล้ชิดเลย

         รถแล่นโคลงเคลง ๆ ไปตามถนนคึกฤทธิ์ที่แคบและบางตอนเป็นหลุมเป็นบ่อ  มีดินลูกรังบ้างไม่มีบ้าง  บางตอนมีฝุ่นมากบางตอนฝุ่นน้อย  แล่นไปไม่นานก็มีคนโบกมือขอขึ้นไปด้วย ๒ คน  เป็นชายล้วน  ที่นั่งไม่มี  หญิงที่นั่งอยู่ก่อนก็ลุกขึ้นให้ชายนั่ง แล้วเธอก็นั่งตักชาย  ข้าพเจ้าเห็นแล้วก็ได้แต่ภาวนาขออย่าให้มีหญิงขึ้นรถเพิ่มมาเลย  คำภาวนาคงจะไม่ขลัง  ครั้นรถไปถึงหมู่บ้านหนึ่งก็มีหญิงขอขึ้นมาอีก ๓ คน  คราวนี้ถึงเวรกรรมของพระเต็มกับพระเชือนแล้ว  เพราะเหลือผู้ชายอยู่ ๓ พอดี  พวกหล่อนก็นั่งแหมะลงบนตักชายที่เป็นฆราวาส ๑  พระเชือน ๑  พระเต็ม ๑  โดยที่พวกเราปฏิเสธมิได้

          “อีแมะ” คนที่นั่งตักข้าพเจ้านั้น ตัวอ้วน ผิวคล้ำ  โพกศีรษะด้วยผ้าแพรบางสีชมพู  อายุหล่อนคะเนดูแล้วไม่เกิน ๓๐ ปี  น้ำหนักประมาณ ๕๐-๖๐ กก.

         จริง ๆ แล้วคำว่า  แมะ  ภาษามลายู  แปลได้ว่า  “แม่”  หมายถึงผู้หญิง  เขา  เรียก แมะ เฉย ๆ  แต่คนไทยเราเติมคำว่า  “อี” (น้อง) เข้าไปข้างหน้าเป็น  “อีแมะ”  ก็น่าจะแปลเป็นไทยได้อย่างไพเราะว่า  “น้องหญิง”  นั่นแล

         ถูกอีแมะ (น้องหญิง) ตัวโตนั่งเต็มตักแล้วรู้สึกอย่างไร ?  ไม่ตระหนกตกใจหรอก  เพราะได้รับคำบอกเล่าเหมือนคำเตือนไว้แล้ว  ความรู้สึกจริง ๆ ตอนนั้นคือ  อัดอัดมาก  ตัวเธอใหญ่โตกว่าข้าพเจ้า  น้ำหนักก็มากกว่าข้าพเจ้า  ที่ทำให้อึดอัดมากคือกลิ่นตัวเธอ  รู้สึกเป็นกลิ่นประหลาด  กลิ่นตัวก็ยังพอทน  แต่กลิ่นผมในผ้าคลุมของเธอนั่นซี  เหลือทนจริง ๆ  มารู้ทีหลังว่าหญิงอิสลามชาวใต้เธอใช้น้ำมันตานีใส่แต่งผม  น้ำมันตานีนี้ไม่เหมือนเครื่องหอมไทยตามตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  แต่เป็นอีกแบบหนึ่ง  พจนานุกรมไทยเก็บความว่า

         “น้ำมันตานี น. น้ำมันชนิดหนึ่งทำจากนํ้ามันมะพร้าวเคี่ยวกับขี้ผึ้งแท้พอเหลว ใช้แต่งผม.”

         ก็ลองคิดดูเถิดว่าน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวกับขี้ผึ้งแท้  กลิ่นมันจะออกมาประมาณใด  คนใช้เขาก็ว่าหอม  แต่เราไม่คุ้นเคยกับกลิ่นนี้จึงรู้ว่ามันแปร่งนักเชียว
 
         รถวิ่งไปอย่างกระโผลกกระเผลก  ส่ายไปมา  อีแมะก็พิงอกเราเอาหัวที่มีผมกลิ่นหืนเคลียอยู่ใกล้จมูก  ข้าพเจ้าพยายามเบนหน้าหนีมันก็ไม่ค่อยพ้น  พวกอีแมะดูจะสนุกกับการนั่งตักผู้ชาย  คุยกันด้วยภาษายาวีของเธอ  หัวเราะต่อกระซิกกันไปอย่างมีความสุข  ถ้าถามว่า  น้องหญิงนั่งตักอย่างนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศเกิดขึ้นบ้างหรือ  ตอบได้เลยว่า ไม่มีอารมณ์อย่างว่านั่นเกิดเลยแม้แต่น้อยนิด  จริง ๆ ด้วย  สาบานให้ก็ได้เอ้า !

         มีผู้ชายโบกมือข้างทางขอขึ้นรถไปด้วยอีก  แต่ในรถไม่มีที่นั่งที่ยืนแล้ว  เขาขอขึ้นไปนั่งบนหัวกระโปรงรถ  ข้าพเจ้าเห็นอย่างนั้นก็คิดจะเอาอย่างเขาบ้าง  กะว่าพอรถจอดอีกทีจะลงไปขอนั่งบนหัวกระโปรงรถนั่น  เสี่ยงการตกรถตายดีกว่าขาดใจตายเพราะกลิ่นน้ำมันตานีนี่

         พอรถจอดที่หมู่บ้างอีกแห่งหนึ่ง  มีชายวัยกลางคนลงไป ๑  หญิงขึ้นมาอีก ๑  ข้าพเจ้าขออนุญาตลงไปขึ้นนั่งบนกระโปรงหัวรถได้สมใจ  พระเชือนไม่ยอมลง  ทนนั่งให้อีแมะขี่ต่อไป  นั่งบนกระโปรงหัวรถ  หายใจโล่งจมูกโล่งอกมาก  แต่เวลารถเลี้ยวต้องเกร็งตัว  มือเกาะขอบกระโปรงรถแน่น  รถเราผ่านหมู่บ้านไปโดยลำดับจนจะพ้นเขตอำเภอโคกโพธิ์  ต้องไต่ภูเขาเตี้ย ๆ ที่คั่นเขตแดนสะบ้าย้อย

         พอรถแล่นขึ้นเนินเขา  ข้าพเจ้าต้องเอาหลังพิงกรอบกระจกหน้ารถมือเกาะขอบกระโปรงแน่น  พ้นสันเขาก็ต้องงุ้มตัวลงหน้าแนบกระโปรง  มือเกาะขอบกระโปรงแน่นหลับตาปี๋  ภาวนาขอคุณพระคุณเจ้าช่วยคุ้มครองในขณะที่รถพุ่งตัวลงจากสันเขาอย่างน่าหวาดเสียว

         เหมือนคุณพระช่วยให้ข้าพเจ้าเดินทางถึงวัดสะบ้าย้อย  รอดตายได้อย่างที่เรียกว่า “เส้นยาแดงผ่าแปด”  นั่นเทียว /  

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, ธันวาคม, 2565, 10:40:59 PM
(https://i.ibb.co/940tX5B/284421-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๙๒ -
         เจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อยชื่อพระใบฎีกาจ้วน  เป็นพี่ชายของพระเชือน  รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นพระมาจากกรุงเทพฯ ท่านก็ต้อนรับด้วยความยินดี  ท่านบอกว่าเคยไปอยู่กรุงเทพฯ เรียนวิชาแพทย์แผนไทย  ทั้งเภสัชโบราณและโบราณเวชในสำนักวัดพระเขตุพนฯ (วัดโพธิ์)  มีความรู้ด้านยาแพทย์แผนไทยและการรักษาโรคแบบแพทย์แผนไทยพอสมควร  จึงกลับบ้านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย  ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า  หลวงพี่  เพราะท่านอายุมากกว่าเกือบ ๒๐ ปีทีเดียว  ท่านเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนต่อเพื่อนภิกษุทั่วไป  และเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ชาวบ้านทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมไม่เลือกหน้า  จึงมีคนเคารพนับถือยำเกรงไม่น้อย

         วันแรกที่ข้าพเจ้าไปถึงวัดสะบ้าย้อยในเวลาประมาณ ๔ โมงเย็นแล้วนั้น  รู้สึกอ่อนเพลียมาก  เพราะตรากตรำในการนั่งรถเดินทางอย่างวิบากนั่นเอง  หลวงพี่พระใบฎีกาจ้วนเห็นอาการไม่ดีของข้าพเจ้า  จึงจัดยาให้กินชุดหนึ่งแล้วให้นอนพักผ่อนเลย  คืนนั้นข้าพเจ้ามีอาการไข้ขึ้น  ดีที่ยาของหลวงพี่พระใบฎีกาที่จัดให้กินก่อนนอนนั้นช่วยปะทะปะทังไว้ได้  ตื่นเช้าอาการยังไม่ดีขึ้น  หลวงพี่ท่านจึงให้ต้มยาหม้ออันเป็นยาแพทย์แผนไทยให้กินต่อ  โชคดีของข้าพเจ้าที่ไปพักอยู่กับพระหมอแผนไทยโบราณ  อาการป่วยไข้จึงหายไปในเวลา ๓ วันเท่านั้นเอง

         อำเภอสะบ้าย้อยมีความเป็นมาอย่างไร  ข้าพเจ้าได้ข้อมูลมาว่าดังนี้....  “ความเป็นมา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา  ได้ปรากฏหลักฐานเอกสารราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖)  เป็นเขตการปกครองของอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา  ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับการยกฐานเป็นกิ่งอำเภอ  เรียกว่า  "กิ่งอำเภอบาโหย"  ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลบาโหย  โดยมีเขตการปกครอง ๕ ตำบล คือ ตำบลบาโหย ตำบลโมง ตำบลเปียน ตำบลเขาแดง และตำบลจะแหน  ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่ตำบลโมง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลสะบ้าย้อย) และเปลี่ยนชื่อจาก  "กิ่งอำเภอบาโหย"  เป็น  "กิ่งอำเภอสะบ้าย้อย"  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และมีเขตการปกครองจำนวน ๘ ตำบล (โดยเพิ่ม ๓ ตำบล คือ)  ตำบลทุ่งพอ (แยกจากตำบลสะบ้าย้อย)  ตำบลคูหา (แยกจากตำบลเขาแดง)  ตำบลบ้านโหนด (แยกจากตำบลเปียน)

         ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับการยกฐานะเป็น  "อำเภอสะบ้าย้อย"  และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้เพิ่มเขตการปกครองอีก ๑ ตำบลคือ  ตำบลธารคีรี (แยกจากตำบลบ้านโหนด และตำบลจะแหน บางส่วน)

         อาณาเขตติดต่อ ๕ อำเภอ ๒ จังหวัด ๑ ประเทศ
         ทิศเหนือ ติดต่อ อ.เทพา
         ทิศใต้ ติดต่อ อ.กาบัง จ.ยะลา
         ทิศตะวันออก ติดต่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี อ.ยะหา จ.ยะลา
         ทิศตะวันตก ติดต่อ อ.นาทวี จ.สงขลา ประเทศมาเลเซีย

         คำว่า  "สะบ้าย้อย"  เข้าใจว่า  เป็นชื่อเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่มีผลเป็นฝักคล้ายสะตอ  เมื่อผลสุกเมล็ดข้างในที่หุ้มเปลือกหนาจะมีเนื้อแข็งมาก  ชาวบ้านนำมาใช้ในการละเล่นชนิดหนึ่ง  เรียกว่า  "การเล่นสะบ้า"  ซึ่งมีมากในบึงแม่สะบ้าย้อย  จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อตำบลและอำเภอจนถึงทุกวันนี้”

         ส่วนประวัติความเป็นมาของวัดสะบ้าย้อยนั้น  พอได้ความว่า....  “วัดสะบ้าย้อยตั้งอยู่เลขที่ ๑/๑ บ้านสะบ้าย้อย ถนนชาญนุเคราะห์หมู่ที่ ๑ ตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีเนื้อที่วัด ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา  อาณาเขตบริเวณ ด้านหน้ายาว ๑๓๐ เมตร  ด้านหลังยาว ๑๖๐ เมตร  ด้านข้างด้านหนึ่งยาว ๗๐ เมตร  อีกด้านหนึ่ง ยาว ๑๕๘ เมตร  พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถ โครงสร้างไม้ กุฏิสงฆ์จำนวน ๗ หลัง  โครงสร้างเป็นอาคารไม้ ๖ หลัง  และครึ่งตึกครึ่งไม้ ๑ หลัง  หอระฆังกว้าง ๓.๕ เมตร สูง ๔ เมตร  โครงสร้างคอนกรีต  และมีหอฉัน ๑ หลัง  วัดสะบ้าย้อยสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยมี ท่านขุนนิวาสวุฒิกิจ กำนันตำบลสะบ้าย้อย ร่วมกับชาวบ้าน  ดำเนินการสร้างวัดนี้ขึ้น  เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๑  เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร

เจ้าอาวาส มี ๓ รูป คือ

         รูปที่ ๑ พระแดง
         รูปที่ ๒ พระสมุห์พรหมทอง ธมฺมสฺสโร
         รูปที่ ๓ พระสมุห์พรหมทอง
         รูปที่ ๔ พระใบฎีกาจ้วน สุปัญฺโญ”

         ปีที่ข้าพเจ้าไปนั้น (๒๕๐๖)  พระใบฎีกาจ้วนเป็นเจ้าอาวาส  ต่อจากนี้ใครเป็นเจ้าอาวาสบ้างข้าพเจ้าไม่ทราบ  เพราะกลับกรุงเทพฯ แล้วไม่ได้ย้อนคืนสงขลาเลย

         หายป่วยไข้แล้วหลวงพี่ใบฎีกาจ้วนขอให้ข้าพเจ้าอยู่ต่อสักพักหนึ่ง  ระหว่างนั้นข้าพเจ้าออกจากวัดเดินเที่ยวไปตามหมู่บ้านใกล้ ๆ วัดซึ่งมีทั้งหมู่บ้านไทยพุทธ  หมู่บ้านไทยอิสลาม  ที่นี่เขาไม่เคร่งครัดเรื่องภาษาพูดเหมือนท้องที่ปัตตานี  จึงพอพูดคุยกับพวกเขารู้เรื่องพอสมควร  คำภาษายาวีซึ่งท่องจำได้จากกระดาษโรเนียวที่หลวงพี่ชวนวัดชัยมงคลให้มานั้น  ใช้ไม่ได้  เราพูดไปไม่ตรงสำเนียงเขาไม่รู้ฟัง  เขาพูดมาก็ฟังสำเนียงเขาไม่รู้  ที่พูดตรงกัน  คือ  “ซาลามัด”  ที่แปลว่าสวัสดีนั่นแหละ

         คนไทยพุทธเล่าให้ฟังว่า  ผู้หญิงอิสลามที่นี่ไม่ชอบทำการงาน  ชอบแต่งตัวเดินกรุยกรายอวดโฉม  ตอนเย็นสามีเธอกลับจากทำงานจะหุงข้าวต้มแกงไว้กินตอนเช้า  ตอนตีสี่ตีห้าผู้ชายจะเข้าป่ายางทำการกรีดยาง  พวกภรรยาทั้งหลายตื่นขึ้นก็กินข้าวปลาที่สามีทำไว้ให้  กินข้าวปลาอาหารกันแล้วก็แต่งตัวที่ตนเห็นว่าสวยที่สุดแล้วออกไปนั่งจับกลุ่มคุยกัน  คำที่ชอบถามกันมากที่สุดคือ “เมื่อคืนกี่ที” หมายความว่าเมื่อคืนนี้ร่วมรักกับสามีกี่ครั้ง  ส่วนใหญ่พวกเธอจะตอบไม่ตรงความจริง  เช่นตอบว่า ๒ บ้าง ๓ บ้าง บางคนว่า ๕ เลย  พอตอบแล้วก็หัวเราะกันคิกคัก  ฟังเขาว่าแล้วก็ได้แต่ปลงแหละครับ

         ที่นี่ชาวไทยพุทธกับอิสลามอยู่ร่วมสังคมกันได้อย่างกลมเกลียว  ไม่เอาเรื่องเชื้อชาติศาสนามาเป็นเครื่องกีดขวางความเป็นอยู่  ข้าพเจ้าสังเกตดูว่าสาว ๆ อิสลามหน้าตาสะสวยขำคมกว่าสาวไทยพุทธ  เคยพลั้งปากชมว่าเขาสวยน่ารักครั้งเดียว  ตามข้าพเจ้าแจเลย  หลวงพี่ใบฎีกาบอกว่า  เขาจะเอาหลวงน้องเป็นผัวน่ะแหละ  ถ้าหลวงน้องสึกออกไปเป็นผัวเธอ  ก็เท่ากับว่าสึกออกเป็นเป็นขี้ข้าเลยนะ  ต้องตื่นนอนแต่เช้ามืดเข้าสวนยาง  กรีดยาง  เก็บน้ำยาง  สารพัดที่จะต้องทำ  คนอิสลามนี่นี่ถ้าหากเอาพระสึกออกเป็นผัวได้เขาจะเป็นคนที่ได้รับการยกย่องมีหน้ามีตาในสังคมของเขา  เพราะสามารถ “สึกพระ” ได้  และยิ่งเป็นพระมียศตำแหน่งอย่างพี่หลวงนี่เขาก็จะมีหน้ามีตามากเลย  หลวงพี่ใบฎีกาจ้วนพูดจบก็หัวเราะแบบขำขันเสียเต็มประดา/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, ธันวาคม, 2565, 10:29:00 PM
(https://i.ibb.co/BcgR7Rr/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๙๓ -
         เป็นเรื่องเหลือเชื่อและไม่น่าเชื่อว่าจริง  คือชาวบ้านไทยพุทธบอกเล่าให้ฟังความตรงกันหลายปากว่า  คนอิสลามที่นี่เขาไม่ถือสาเรื่องการมีชู้สู่ชายของหญิงที่มีผัวอยู่ด้วยกัน  เมียจะมีชู้ชายอีกสักกี่คนก็ได้  ผัวจะไม่หึงไม่หวง  กลับภูมิใจที่เมียของตนเป็นคนมีค่าความงามเสน่ห์แรงที่พวกผู้ชายมาชมชอบ  กลายเป็นว่าเมียช่วยเพิ่มบารมีให้ผัวด้วยการมีชู้เชยชม  คิด ๆ ดูแล้วก็น่าจะจริงอย่างที่เขาว่า  เพราะเห็นผู้ชายอิสลามมีเมียอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาได้หลายคน  หญิงก็น่าจะมีชายชู้ได้หลายคนเช่นกัน  ข้าพเจ้าไม่กล้าให้ล่ามไทยพุทธพาไปสัมภาษณ์พวกเธอให้ได้ยินจากปาก “อีแมะ” ทั้งหลาย  เพราะกลัวเธอจะตามติดแจเหมือนนางคนที่เคยชมเธอว่าสวยน่ารักนั่นแหละ  การมีชู้ของหญิงไทย  สังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องเสียหายเลวทรามมาก  จนมีการกล่าวประณามว่า เป็นนางกากี นางโมรา นางวันทอง  อีกหลายนางในวรรณคดที่มีชายชู้ชมหลายคน  ผู้ชายมีคู่เชยชมหลายคนกลับไม่กล่าวประณามในทางเสียหายอะไร  อย่างนี้เรียกได้ว่าผู้ชายไทยเห็นแก่ตัวมากไปไหม ?   อิสลามที่นี่กลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม  อันที่จริงถ้าสังคมโลกีย์คิดแบบคนอิสลามดังกล่าวแล้ว  คงไม่มีเรื่องตบตี  ฆ่าแกง  ฟ้องร้องเป็นคดีความ  อันเกิดจากการหึงหวงเป็นแน่  มองมุมนี้แล้ว  ข้าพเจ้ารู้สึกชอบคนอิสลามขึ้นมาเลย

         พักอยู่ที่วัดสะบ้าย้อยข้าพเจ้าได้รับเอกลาภจากกิจนิมนต์งานบุญต่าง ๆ แทบไม่เว้นแต่ละวัน  เพราะที่นี่มีพระน้อย  งานบุญศพ  บุญมงคลต่าง ๆ  หลวงพี่พระใบฎีกาจ้วนให้ข้าพเจ้าไปร่วมพิธีทุกงาน  และที่นี่ไม่มีไวยาวัจกร “ขี้โกง” เหมือนในเมืองสงขลา  ข้าพเจ้าจึงรับจับเก็บเงินใส่ย่ามไว้มาทีเดียว  ใกล้กำหนดเวลาที่จะกลับสงขลาแล้ว  มีงานศพ ๒ รายที่เจ้าภาพมีอันจะกินหน่อย  รายหนึ่งวันเผาศพเขานิมนต์ข้าพเจ้าเทศน์อานิสงส์การทำศพ  ก็เป็นอานิสงส์เผาศพที่ข้าพเจ้าเคยอ่านคัมภีร์เทศน์หลายครั้งจนจำได้นั่นแหละ  วันนั้นข้าพเจ้า  “เทศน์ปากเปล่า”  คือไม่ต้องอ่านคัมภีร์ใบลาน  พอเทศน์จบเจ้าภาพพอใจมาก  นอกจากเงินในขันกัณฑ์มีเงินหลายพันบาทแล้ว  ยังควักกระเป๋าเพิ่มใส่ย่ามให้อีกห้าพันบาท  จากนั้นอีก ๓ วันเป็นงานศพใหญ่  เจ้าภาพให้มีเทศน์แจงสวดแจง  หลวงพี่ใบฎีกาจ้วนให้ข้าพเจ้าเทศน์แจงเดี่ยวโดยอ่านตามคัมภีร์ใบลาน   ท่านบอกเจ้าภาพว่าพระเทศน์องค์นี้มาจากกรุงเทพฯ อยู่ที่เมืองสงขลา  อีกสองวันจะกลับไปจำพรรษาวัดชัยมงคลในเมืองแล้ว  ขอให้ติดกัณฑ์เทศน์มากหน่อย  งานนี้ข้าพเจ้าได้เงินเป็นหมื่นบาทเลยทีเดียว

         อยู่วัดสะบ้าย้อยได้ ๑๔ วันก็กราบลาหลวงพี่พระใบฎีกาจ้วนเดินทางกลับสงขลาด้วยความรักและอาลัย  ขากลับนี่สบายหน่อย  นั่งบนกองยางแผ่นในรถจิ๊บเดินทางถึงโคกโพธิ์อย่างปลอดภัยไร้ “อีแมะ” มาเกี่ยวข้อง  ขึ้นรถเมล์ที่โคกโพธิ์กลับสงขลา  เป็นความบังเอิญหรือไรก็ไม่รู้  รถเมล์คันนั้นเป็นคันเดียวกันกับวันที่นั่งจากหาดใหญ่ไปโคกโพธิ์นั่นเอง  คนขับรถเห็นหน้ากันแล้วก็ยิ้มพยักหน้าชี้มือให้ข้าพเจ้านั่งตรงเก้าอี้ตัวเดิม  พอรถแล่นออกพ้นเขตอำเภอโคกโพธิ์มาได้ไม่นาน  คนขับรถถามข้าพเจ้าด้วยภาษาใต้ว่า   “ตนไปไหนมา”   ก็ตอบให้เขาทราบว่าไปเที่ยวสะบ้าย้อย  จากนั้นก็พูดคุยกันอีกหลายประโยค  ข้าพเจ้าถามเขาว่าเมื่อตอนมานั้น  พอเข้าเขตโคกโพธิ์เขาทำไมไม่พูดด้วย  เขาบอกว่าพูดไม่ได้หรอก  คนในสี่จังหวัดภาคใต้นี่เขามีชาตินิยมรุนแรง  รถโดยสารทุกคันเมื่อเข้าเขตของเขาแล้ว  จะแหลงใต้หรือพูดภาคกลางไม่ได้  เขาจะจำเบอร์รถไปบอกต่อ ๆ กันไปว่า  รถเบอร์นี้ไม่ใช่พวกเขา  ขออย่าขึ้น  พวกเราจึงต้องไม่พูดภาษาไทยให้เขาได้ยินเด็ดขาด  ขืนพูดแล้วจะไม่มีใครขึ้นรถ  ต้องไปเดินรถสายอื่นที่อยู่นอกเขตพวกเขา  พวกเขาฟังและพูดภาษาไทยได้  เวลาเข้าเขตเทพา นาทวี สะบ้าย้อย  เขาจะพูดไทยกับคนไทย  พอกลับเข้าเขตของเขาก็จะพูดภาษายาวีอย่างเดียวเท่านั้น  ข้าพเจ้า “ถึงบางอ้อ”  เมื่อคนขับรถเมล์ร่ายยาวให้ฟัง  ความเป็นคนชาตินิยมเท่าที่รู้เห็นมา  ไม่มีใครเกินคนไทยมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้เลยครับ

         กลับถึงวัดชัยมงคลแล้ว  เข้ากราบรายงานเรื่องราวที่ได้ไปพบเห็นมาให้ท่านเจ้าอาวาสฟัง  ท่านฟังด้วยอาการสงบตามแบบของท่าน  เล่าเรื่องจบแล้วเรียนถามว่า  การที่อีแมะนั่งตักผมนั้นต้องปรับอาบัติสังฆาทิเสสในข้อหาจับต้องกายหญิงไหมครับ  ท่านนั่งคิดนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วถามข้าพเจ้าว่า   “ท่านมีความกำหนัดจับต้องกายเธอไหม”   ตอบท่านว่า ไม่มีความกำหนัดเลยครับ  มีแต่ความรู้สึกอึดอัด  ใครว่าน้ำมันตานีหอม  แต่เพราะผมไม่คุ้นเคยจึงไม่รู้สึกว่าหอมเลย

          “การจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่นั้นมันขึ้นอยู่กับเจตนา  ถ้าท่านมีความกำหนัดอยู่จับต้องกายหญิง  จึงเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  เจตนาหรือไม่ท่านก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเองนะ”

         ท่านเจ้าวาสตอบประโยคยาว  สรุปได้ว่าท่านก็ไม่รู้ว่าข้าพเจ้าถูกอีแมะนั่งตักจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่  ต้องใช้   “เจตนาจับด้วยกำหนัด”  เจตนาหรือไม่คนอื่นรู้ไม่ได้  ตนเองเท่านั้นเป็นผู้รู้ได้เอง  คำตอบนี้เหมือนท่านบอกให้ข้าพเจ้าตัดสินเองว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่

         ข้าพเจ้าจึงตัดสินเองว่า  ไม่เป็นอาบัติ  เพราะไม่มีความกำหนัดจับต้องกายหญิงด้วยเจตนา  ดังพุทธวจนะที่ว่า  “เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ”  นั่นแล /

         # เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” (วงการสงฆ์) ยังมีต่อไปอีกยาว ยังไม่จบง่าย ๆ ดอกครับ  เพราะข้าพเจ้าบรรพชาอุปสมบท คือบวชเป็นสามเณรแล้วต่อด้วยพระภิกษุ  เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใส่ชีวิตนักบวชของข้าพเจ้านานถึง ๒๐ พรรษา  จึงลาสิกาออกมาเผชิญเวรกรรมในฆราวาสวิสัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  คำให้การของนักบวชเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตข้าพเจ้าแลนา.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, ธันวาคม, 2565, 10:36:01 PM
(https://i.ibb.co/pXmLgGW/288661998-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๙๔ -
         ชื่อบ้าน  อำเภอในจังหวัดสงขลามีแปลกหูหลายแห่ง  โดยเฉพาะจะทิ้งหม้อ  จะทิ้งพระ  คือสทิงหม้อ  สทิงพระ  นี่แปลกกว่าเพื่อน  ข้าพเจ้าถามทานเจ้าอาวาสด้วยความสงสัยว่าจะทิ้งหม้อ  จะทิ้งพระ  นี่หมายความว่าอย่างไร   ท่านว่า หมายความถึงแม่น้ำ  ไม่ได้หมายความว่า  จะทิ้งหม้อ  คือ ไม่เอาหม้อแล้ว  จะทิ้งพระ คือไม่เอาพระแล้วอะไรทำนองนั้น  สทิงหม้อเป็นชื่อแม่น้ำ  ลำคลองเชื่อมต่อ  อ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา  เป็นชุมชนเก่าแก่  แหล่งผลิตเครื่องปันดินเผ่าใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของภาคใต้  อยากรู้เห็นของจริงก็ลองไปเที่ยวดูให้รู้เห็นแก่ตาตัวเองเถิด

         ท่านเจ้าอาวาสไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับสทิงหม้อมากนัก  จึงมาค้นหาข้อมูลเอาเอง  ได้ความว่า  สทิง  คือแม่น้ำ  หรือลำคลอง  คำนี้เพี้ยนเป็นจะทิ้ง  และ  จทึง  ฉทึง  ชรทึง  สทึง  ก็มี   คำนี้  เขมรว่า สทิง  หมายถึงแม่น้ำ  ไม่รู้เหมือนกันว่า  ภาษาเขมรเข้ามาเนาอยู่สงขลาได้อย่างไร  เพี้ยนเป็นไทยว่า  จะทิ้งหม้อ  นี่ไกลจากความหมายมากไปหน่อย  นามเดิมว่า  สทิงหม้อ  หมายถึงแม่น้ำที่มีการปั้นหม้อด้วยดิน  ที่นี่เป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาแหล่งใหญ่ของสงขลา  ดังมีเรื่องราวที่พอสรุปได้ว่า

          “คลองสทิงหม้อ  เป็นลำน้ำที่ผ่ากลางตามแนวยาวของคาบสมุทร  ปลายคลองเริ่มจากบ้านป่าขวาง  ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาที่ปากคลองบ้านสทิงหม้อ  ความยาวประมาณ ๑๓ กิโลเมตร  ผ่าน ๕ ตำบล คือ สทิงหม้อ ทำนบ รำแดง ม่วงงาม และวัดขนุน  แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบรรพบุรุษได้ขุดดินขึ้นมาปั้นหม้อ  หรือคลองนี้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ  แต่คลองสทิงหม้อ (จะทิ้งหม้อ) ก็เป็นเส้นทางคมนาคม  ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพื้นที่นี้มาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี  โดยดำรงอยู่ในลักษณะคลองธรรมชาติ  มีพรรณไม้สองฝั่งคลอง  แน่นทึบไปด้วยลำพู โกงกาง คูระ สะแก ตาตุ้ม เม่า โพทะเล ชายโขะ หมัน พลอง เนียน มะสัง แสงขรรค์ (เล็บเหยี่ยว) ปรง และลำเท็ง  ริมตลิ่งมีรากลำพูและโกงกางกั้นเป็นพนัง  ปกคลุมด้วยไม้เลื้อย  โดยเฉพาะหนามหมอ (เหงือกปลาหมอ) เขาคัน ปด ฯลฯ  พืชพรรณเหล่านี้หลายชนิดสามารถปรุงเป็นอาหารและใช้สอยได้นานาประการ

         สมัยก่อน  น้ำในคลองสทิงหม้อ  เป็นน้ำที่ไหลเข้ามาจากทะเลสาบสงขลา  จึงเป็นน้ำเค็มตลอดประมาณ ๑๐ เดือน  ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน  ซึ่งเป็นระยะฝนชุกจะเป็นน้ำจืด  การผสมผสานจานเจือของน้ำเค็ม  น้ำกร่อย  และน้ำจืด  ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ชุกชุม  ริมฝั่งคลองจึงมีซุ้มยกยอตั้งเป็นระยะ ๆ  นอกเหนือไปจากการจมไซ  ลงเบ็ดราว  ทอดแห  และลงล่องช้อน  หรือการจับด้วยมือเปล่า

         คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของพื้นที่นี้  เมื่อ ๔๕ ปีที่แล้วพื้นที่แห่งนี้ไม่มีถนนสักสาย  ประชาชนสัญจรโดยการเดินไปตามคันนา  หรือไปทางเรือ  เริ่มจากเรือพาย  หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๘๘) เริ่มมีเรือใช้เครื่องยนต์เข้ามาวิ่งในคลองสทิงหม้อ  ทำให้ผู้คนในพื้นที่นี้  ตั้งแต่วัดจันทร์ ม่วงงาม บางเขียด ชะแล้ ปากรอ วัดขนุน ชิงโค  ต่างหลั่งไหลมาใช้คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางไปยังเมืองสงขลาหลัง  พ.ศ.๒๕๐๔ ทางราชการเริ่มถมเส้นทางสายโบราณจากหัวเขาแดงขึ้นไปมีจุดหมายแรกที่อำเภอระโนด  การคมนาคมทางน้ำของคลองสทิงหม้อเริ่มมีคู่แข่ง  ทางจังหวัดเริ่มมีโครงการที่ชัดเจนขึ้น  และตัดถนนอย่างจริงจัง  และมีแพขนานยนต์ให้รถข้ามฟากไปยังเมืองสงขลาได้  ทำให้รถยนต์โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ  ผู้คนจึงนิยมใช้บริการรถโดยสาร  แม้จะต้องนั่งคลุกฝุ่นไปก็ตาม  เพราะความสะดวกและรวดเร็วกว่าหลายเท่า  ทำให้เรือยนต์ในคลองสทิงหม้อค่อย ๆ หายไป  คลองสทิงหม้อจึงเงียบสนิท  ถูกทิ้งให้รกร้างอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี.......”  

         แม่น้ำ  ลำคลอง  คือที่มาของคำว่า  สทิง  จทึง  ด้งกล่าวแล้ว  ส่วนคำว่า  หม้อ  มาต่อท้ายคำสทิง  คงจะแปลว่า  “หม้อน้ำ”  ไม่ได้  เพราะหม้อคือภาชนะเครื่องปั้นดินเผามิใช่ปั้นเพื่อใส่น้ำอย่างเดียว  ยังใช้เป็นเครื่องหุงข้าวต้มแกงด้วย  หม้อในที่นี้จึงควรเป็นเครื่องปั้นดินเผาทุกชนิด  ซึ่งพอจะค้นหาความเป็นมาของหม้อจากคลองนี้ได้ว่า

          “สทิงหม้อ  แหล่งปั้นดินเผาสงขลา  เป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  เป็นอัตลักษณ์ของผู้คนที่มีอยู่ในชุมชนมาอย่างช้านาน  เพิ่งจะถูกลบเลือนไปบ้างเมื่อไม่นานมานี้  จนเสมือน  “ทิ้งทำหม้อ”  ให้หายไปจากสทิงหม้อ  อันเคยเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  คงเหลือเพียงร่องรอยของความเป็นเมืองท่า  อีกทั้งยังมีแหล่งเครื่องปั้นดินเผาเครื่องใช้ในครัวเรือน  โดยเฉพาะหม้อข้าวหม้อแกงดินเผา  สวด และหวดนึ่งข้าวเหนียว  ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

         เครื่องปั้นดินเผาในสทิงหม้อที่ไม่เหมือนใคร  กล่าวคือ  เนื้อดินอันเป็นตัวของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีสีและความละเอียดต่างจากเครื่องปั้นแหล่งสำคัญ  เช่น  ปากเกร็ด นนทบุรี   ลักษณะรูปแบบที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่นี่มี ๓ ชนิด  คือ  หม้อหุงต้ม  หม้อสวดหรือสวดและเพล้ง  สีผิวเป็นสีแดงเรื่อคล้ายสีหมากสุก  เข้มกว่าสีของเครื่องปั้น จากซอยโรงอ่าง อำเภอเมืองปัตตานี  ทั้งลายที่นี่เป็นของตนเอง  ที่รับเข้ามาดัดแปลงเลียนแบบลวดลายจนมั่นใจได้ว่าเป็นของตนเอง  ได้แก่  ลายก้านมะพร้าว  ลายดอกจิก  ลายดอกพิกุล  ลายคิ้วนาง  และลายลูกคลื่น  ลายที่รับเข้ามาและดัดแปลงเลียนแบบมีลาย  สิ่งเหล่านี้ยังบ่งบอกถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและตัวกระจายวัฒนธรรม  เครื่องปั้นสทิงหม้อได้กระจายไปตามฝั่งทะเลด้านตะวันออก (อ่าวไทย) และฝั่งทะเลสาบสงขลาเกือบทั่วบริเวณภาคใต้   เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อมีบทบาทเกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนใต้อย่างมาก  คือ  การหุงต้ม  เครื่องใช้ในครัว  เช่น  หม้อ กระทะ เตาหุงข้าว ต้มแกง  เป็นต้น”

         เก็บข้อมูลต่าง ๆ ของสทิงหม้อได้พอสมควรแล้ว  ชักขวนพระที่เป็นชาวสทิงหม้อในวัดชัยมงคลองค์หนึ่งไปเป็นเพื่อนเที่ยวชมสทิงหม้อ  โดยไปทางเรือยนต์  ด้วยอยากชมทะเลสาบสงขลาด้วย  เมื่อไปถึงสทิงหม้อ  เวลานั้นไม่พบเห็นโรงงานปั้นเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ในความคาดคิดไว้  แต่เห็นร่องรอยซากของหม้อไหและภาชนะนานาที่แตกหัก  ทั้งบนดินและจมดินอยู่ไม่น้อย  โรงปั้นยังมียู่บ้างก็เป็นแบบครัวเรือน  ได้พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นผู้รู้หลายท่าน  รวมทั้งสมภารบ่อปาบซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ประจำตำบลสทิงหม้อ  นัยว่าสร้างมาแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา  ประมาณปี พ.ศ.๒๒๖๙ (๒๙๒ ปีมาแล้ว)  เดิมที่นี่คือเมืองสิงหนคร  อันเป็นที่ตั้งเมืองสงขลา  มีความตามประวัติเมืองสงขลาว่า

         "เมืองสิงหนคร"  เมืองโบราณอันเก่าแก่ของสงขลา  เล่ากันว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองสร้างเมืองสทิงพระ  ได้มีเมืองสิงหนครเป็นเมืองจัตวา  มีนามว่า  "เมืองคชราชา”  ตำนานที่มาของชื่อเมืองก็มีเรื่องเล่าอยู่ว่า  เมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองได้เดินล่องป่าไปยังทิศใต้  ได้พบกับช้างลักษณะดี  ตรงตามลักษณะพราหมณ์  จึงนำช้างเชือกนั้นมาผูกเป็นช้างประจำเมือง  ต่อมามีการตั้งชื่อเมืองตามช้างเชือกนั้นว่า  "คชราชา"  ซึ่งแปลว่า  "ช้างของพระราชา"  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๙  ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑  ไม่ปรากฏชื่อของเจ้าเมืองในยุคแรกเริ่ม  แต่ปรากฏครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๔๖  นั่นคือ  ต่วนกูดะโต๊ะ โมกอลล์ (ดาโต๊ะ โมกอล) ที่ปกครองเมืองสิงขระนครในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๑๔๖ – ๒๑๖๓ ตามที่ได้มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามและชาวต่างชาติ  โดยมีการพูดถึงเจ้าเมืองสงขลาหัวเขาแดงว่าเป็นชาวมุสลิมจากดินแดนชวา

         ในระยะแรกเจ้าเมืองสิงขระนครยอมเป็นเมืองขึ้นกับอยุธยา  โดยทำกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าระดับนานาชาติทำการค้าขายกับประเทศมหาอำนาจอย่าง อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และฮอลันดา  บันทึกประวัติศาสตร์ของหลาย ๆ ประเทศ  ได้มีการกล่าวถึงเมืองสิงขระนครเอาไว้  เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ดินแดนแห่งนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุด  นานาประเทศหวังที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าแบบผูกขาดกับเมืองสิงขระนคร  เมืองสิงขระนครได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเดินหน้าอย่างรวดเร็ว  และเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจต่อผู้ค้านานาประเทศ  เมืองสิงขระนครได้สร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดขึ้น  มีการสร้างกำแพงเมือง  ป้อมปืนใหญ่  และประตูเมือง  จนทำให้สิงขระนครได้ชื่อว่า  เมืองท่าที่มีป้อมปราการแข็งแรงที่สุดในภาคใต้

         ภายหลังกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแผ่นดิน  สุลต่านสุไลมานจึงประกาศอิสรภาพจากกรุงศรีอยุธยาและสถาปนาตนเองเป็น  "สุลต่าน"  เป็นรามาธิบดีแห่งสิงขระนคร  ในช่วงสมัยของพระเจ้าปราสาททอง  โดยพระองค์ได้ส่งทัพมาตีเมืองสิงขระนครหลายครั้งหลายครา  แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ  เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีป้อมปราการที่แข็งแรง  และตั้งอยู่ชัยภูมิที่เหนือกว่า  แต่ในที่สุดเมืองแห่งนี้ก็ถูกตีแตกโดยกองทัพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  โดยมีพระบรมราชโองการยุบเมืองสุลต่าน ณ หัวเขาแดง  กวาดต้อนกองกำลังและชาวบ้านลงเรืออพยพไป  สิ้นความรุ่งเรืองเมืองสิงขระนครในที่สุด  ก่อนที่จะย้ายตัวเมืองสงขลามาอยู่ด้านตะวันออกของปากอ่าวทะเสสาบสงขลา  ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทศบาลนครสงขลาในปัจจุบัน”

         ความเจริญรุ่งเรืองของสทิงหม้อในนามสิงขระนครเสื่อมลงเมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา  เหลือเพียงซากความเจริญทิ้งไว้ที่สทิงหม้อนี่เอง/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, ธันวาคม, 2565, 10:31:39 PM
(https://i.ibb.co/ByKRPzS/28863807-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๕ -
         อยู่สทิงหม้อหนึ่งวันได้รู้เห็นความเป็นอยู่ของชาวสทิงหม้อพอสมควร  ที่นี่มีต้นทับทิมปลูกไว้มากมาย  ผลโต  รสชาติดี  คืนนั้นสมภารวัดบ่อปาบกล่าวว่า  เมืองสิงหขระนครเป็นเมืองตรีของเมืองสทิงพระ  เมื่อมาถึงเมืงสทิงหม้อแล้วควรไปให้ถึงสทิงพระซึ่งเป็นเมืองใหญ่งกว่าสทิงหม้อ  ว่าแล้วท่านก็บอกเล่าประวัติย่อ ๆ ของเมืองสทิงพระให้ฟังดังต่อไปนี้

          “ เมืองสทิงพระ  เป็นบ้านเมืองเก่าแก่มีมาแต่ครั้งโบราณ  มีวัดวาอารามโบราณมากมาย  เป็นดั่งศูนย์กลางของพุทธศาสนาอีกเมืองหนึ่ง  มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งในรูปแบบโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย  ตามนิทาน  ตำนาน  เรื่องบอกเล่า  เล่าเป็นมุขปาฐะสืบทอดมานั้น  มักจะพูดถึงเรื่องการนำพระธาตุและพระพุทธรูปมาทิ้งไว้ในแม่น้ำ  จึงเรียกว่า  "จะทิ้งพระ"  และเพี้ยนมาเป็น  "สทิงพระ"  แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า  ยังมีอีกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารและคำสันนิษฐานทางโบราณวัตถุ  เช่น  ซากกำแพงเมือง  ระบุว่าเมืองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทลุงเก่า  ส่วนคำว่า  "จะทิ้งพระ"  นั้น  ได้จากหลักฐานและเอกสารเก่าแก่  ท่านเขียนไว้ว่า  ชื่อ  "จะทิ้งพระ"  มาจากภาษาเขมรโบราณ  เรียกว่าเมืองแห่งนี้ว่า  “ฉทิงพระ”  หรือ  “จทิงพระ”  ที่แปลว่า  "แม่น้ำพระ"  หรือ  "คลองพระ"  นั่นเอง   ทุกวันนี้ คนจะทิ้งพระก็พูดแทนตัวเองว่าเป็นคน "สทิงพระ" ไปแล้ว

         ที่มาของคำว่า  “จะทิ้งพระ”  มีตำนานกล่าวไว้ว่า   “เมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา  และ  เจ้าฟ้าชายทันทกุมาร  เป็นพระธิดาและพระโอรสของพระเจ้าโกสีหราชกับพระนางมหาเทวี  ครองเมืองนครทันตะปุระ (ในประเทศอินเดีย)  กาลนั้นเมืองทันตะปุระเกิดศึกสงคราม  พระเจ้าโกสีหราชพ่ายแพ้จนถึงกับสิ้นพระชนม์ในสนามรบ  เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าฟ้าชายทันทกุมาร  จึงได้นำพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  หลบหนีออกจากเมืองทันตะปุระตามคำสั่งของพระชนก  ลงเรือสำเภามุ่งสู่เกาะลังกา (ประเทศศรีลังกา) แล้วเดินทางผ่านหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย  เข้าสู่ช่องแคบมะละกา  มาออกอ่าวไทย  จุดมุ่งหมายเพื่อนำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุในพระเจดีย์ที่เมืองนครศรีธรรมราช...  เมื่อล่องเรือสำเภามาถึงท่า เมืองพาราณศรี (เมืองสทิงปุระ ซึ่งเป็นเมืองพัทลุงเก่า)  ตรงหาดมหาราชในปัจจุบัน  เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าฟ้าชายทันทกุมาร ได้แวะจอดเรือเพื่อหาน้ำจืดดื่ม  และสรงน้ำ  ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จขึ้นมาพักผ่อน ณ วัดแห่งนี้  และวางพระธาตุไว้ที่ฐานเจดีย์  เมื่อพักผ่อนหายจากเหน็ดเหนื่อย ทรงเดินทางกลับขึ้นเรือสำเภา  ต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช  ทั้งสองพระองค์ก็ลืมพระธาตุไว้...  เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลานึกได้ก็ตกพระทัย  จึงถามเจ้าฟ้าชายทันทกุมาร น้องชายว่า...   "น้องจะทิ้งพระธาตุเสียแล้วหรือ"  คำ ๆ นี้เลยกลายเป็นชื่อเรียกสถานที่  วัด  บ้าน  ชุมชน  สืบต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันว่า... จะทิ้งพระ  คำนี้นานมาก็กร่อนเป็น  “สทิงพระ  สทิงปุระ”

         ทางสันนิษฐานทางโบราณคดีว่า  สทิงพาราณศรี  เป็นชื่อเมืองโบราณสองฝั่งทะเลที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน  เป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงในอดีต  ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๑๕ บันทึกไว้ว่า...  ”เมืองพัทลุงได้ตั้งมาก่อนสุโขทัย  ตัวเมืองตั้งอยู่ที่สทิงพารณสี  เจ้าเมืองชื่อพระยากรุงทอง  ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์  และก่อพระเชตุพนวิหารขึ้น  พร้อมกับวัดเขียนบางแก้วและวัดสทิงปุระ”

         ฟังนิทานหรือตำนานเมืองสทิงพระสทิงหม้อแล้ว  พอจะสรุปได้ว่า  ผู้ที่มีบทบาทสำคัญของเมืองคือพระเจ้ากรุงทองแห่งเมืองสทิงพระ  ทรงสร้างพระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เข้าหญิงเจ้าชายสองพี่น้องนำหนีภัยสงครามมา ทิ้ง (ลืม) ไว้ ณ วัดนี้  และยังนำช้างลักษณะดี (ช้างเผือก ?) ผูกประจำเมืองให้นามว่า  “คชราชา”  ที่ตรงนั้นต่อมาเป็นเมืองสิงหขระ (สทิงหม้อ )   ทั้งสทิงพระ  สทิงหม้อ  คือเมืองพัทลุงเก่าแก่มีมาแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย  โดยพระยาธรรมรังคัลร่วมกับพระครูอโนมทัสสี เมื่อจุลศักราช ๗๙๙  หรือปี พ.ศ. ๑๕๔๒  ต่อมาได้รับการบูรณะขี้นมาใหม่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรสแห่งกรุงศรีอยุธยา  ตามตำนานพระนางเลือดขาวกล่าวว่า  เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสีเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น  หากจะพูดว่า  สทิงพระ ให้กำเนิดเมืองพัทลุง   สทิงหม้อ ให้กำเนิดเมืองสงขลา  ก็คงไม่ผิดนักดอกนะครับ

         ปัจจุบัน (วันที่ข้าพเจ้าไปเยือน) สทิงพระยังมีวัตถุพยานคือ  ศาสนวัตถุสถาน  ได้แก่วัดจะทิ้งพระที่ประกอบด้วย  เจดีย์พระมหาธาตุ  หรือเจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ  เป็นเจดีย์รูประฆังคว่ำ  หรือรูปโอ่งคว่ำแบบลังกา  มีปลียอดแหลมอย่างเช่นพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช  แต่ต่างกันที่ไม่มีรัตนบัลลังก์  เจดีย์มหาธาตุมีความสูงจากฐานถึงยอด ๒๐ เมตร  ฐานกว้างด้านละ ๑๗ เมตร  ฐานเดิมของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ต่อมาในสมัยอยุธยา  ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมฐานเป็นแบบย่อมุมไม้ยี่สิบ  ทั้ง ๔ ทิิศจะมีซุ้มพระ ประดับทิศละ ๑ ซุ้ม  โดยประสมประสานสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยเข้ามา  เช่น  ทำเป็นมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป  ส่วนยอดทำเป็นสถูปมีเจดีย์บริวาร  ๔  มุม  ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างเจดีย์คือพระเจ้ากรุงทองแห่งเมืองสทิงพระ  สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๕๔๒   ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๔๗๗  เจดีย์พระมหาธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก  ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่แต่ก็ยังคงลักษณะเดิมไว้

         วิหารพระพุทธไสยาสน์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวิหารพ่อเฒ่านอน  เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์  สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน  สันนิฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา  และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๕)  หน้าบันวิหารบริเวณด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  ตอนล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไทย  ส่วนด้านล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไทย  นอกนี้ก็มีอุโบสถ  หอระฆัง  เป็นต้น

         ข้าพเจ้าได้ชมวัดจะทิ้งพระ  กราบพระบรมสารีริกธาตุ  พระพุทธไสยาสน์ (พ่อเฒ่านอน) แล้วเดินทางกลับวัดชัยมงคลเมืองสงขลาโดยเรือยนต์ตามเส้นทางเดิมด้วยความประทับใจ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, ธันวาคม, 2565, 11:14:33 PM
(https://i.ibb.co/NxMv5Dd/1503916679-67469-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๖ -
         ได้เล่าให้ฟังแล้วว่า  ข้าพเจ้าเดินทางไปเที่ยวชมเมืองเก่าสงขลา คือสทิงหม้อ   เมืองเก่าพัทลุง คือสทิงพระ  ทั้งสองเมืองนี้เดิมเป็นเมืองพี่เมืองน้องเหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน  นักโบราณคดีลงความเห็นว่าที่นี่คือเมืองพัทลุงเก่า  ต่อมาเนืองสทิงพระย้ายไปทางตะวันตกองทะเลสาบ  ตั้งเป็นเมืองพัทลุงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน  ส่วนสิงหม้อมีชื่อเดิมว่าสิงหขระปุระ-สิงหนคร  ต่อมาย้ายข้ามเขาหัวแดงไปฝั่งอ่าวไทย  เป็นเมืองสงขลาแหลมสน  นักประวัติศาสตร์ปัจจุปันแยกนามเมืองนี้ออกตามยุคว่า  “เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง (ก่อนพุทธศตวรรษ ที่ ๒๒ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ,เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน, เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง”   กล่าวคือเมืองสงขลา ที่ตั้งอยู่สทิงหม้อ สทิงพระนั้น เรียกว่าเมืองสงขลาฝั่งเขาหัวแดง    เมืองสงขลาที่ย้ายข้ามจากเขาหัวแดงมาตั้งอยู่ริมอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เรียกว่าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน  เพราะตั้งอยู่ ณ บริเวณแหลมสน สมิหลา  วัดชัยมงคลที่ข้าพเจ้าไปพนักอยู่นั้นคือ  เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง  ซึ่งเป็นตัวเมืองปัจจุบัน

         บ่อยางแยกออกเป็นสองเขต  คือบ่อยางเขต ๑ กับเขต ๒   วัดชัยมงคลอยู่บ่อยางเขต ๒  ส่วนเขต ๑ นั้นเป็นย่านการค้าชุมชนใหญ่ที่เคลื่อนย้ายมาจากสงขลาฝั่งแหลมสน สมิหลา มีประวัติยาวนานตามความเรียงของสงขลาดังต่อไปนี้

          “ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา  มีประวัติความเป็นมาและมีอายุยืนยาวกว่า ๒๐๐ ปี  โดยดูได้จากความเก่าแก่ของตึก  อาคาร  และบ้านเรือน  ย่านเมืองเก่าแห่งนี้มีถนนที่สำคัญด้วยกัน ๓ สาย คือ  ถนนนครนอก  ถนนนครใน  และถนนนางงาม

          ถนนนครนอก  จะเป็นถนนที่ติดกับฝั่งทะเลสาบ  ว่ากันว่าในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือเพื่อการค้าขายและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ  ดูได้จากการมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่  ซึ่งปัจจุบันที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า หับ โห้ หิ้น  หรือที่ชาวสงขลาเรียกกันว่า  โรงสีแดง  โรงสีข้าวแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาบสงขลา  มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกข้าว  แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกกิจการไปเนิ่นนานแล้ว  สถานที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่  เพื่อจะได้รู้ถึงประวัติ  ความเป็นมา  และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จนถึงปัจจุบัน

          ถนนนครใน  เป็นถนนที่อยู่ตรงกลางระหว่างถนนนครนอกและถนนนางงาม ถนนนี้มีสถานที่สำคัญ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการอนุรักษ์ เสริมสร้างคุณค่า บ้านนครในเป็นบ้านไม้จีนแบบโบราณ  และบ้านตึกสีขาว  ภายในจะเป็นการจัดแสดงของเก่า  การอนุรักษ์ของเก่าให้ได้ชมกัน

          ถนนนางงาม  เดิมชื่อ  ถนนเก้าห้อง  หรือเรียกว่า  ย่านเก้าห้อง  ถนนเส้นนี้เกิดจากการตัดถนน  เพื่อเป็นเส้นทางในการประกอบพิธีสมโภชเสาหลักเมือง  ถนนนางงามนี้มีสถานที่สำคัญ คือ  ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา  ศาลเจ้าพ่อกวนอู  ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสงขลาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยสายเชื้อจีน

         ถนนทั้งสามสายนี้มีเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย  ซึ่งก็ได้เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ  ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีน  สถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปียน   สถาปัตยกรรมผสม  และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย  สถาปัตยกรรมเหล่านี้ต่างก็มีความงดงามที่แตกต่างกันออกไป  ทำให้ย่านเมืองเก่าสงขลาแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้  สถาปัตยกรรม วั ฒนธรรม  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี  โดยมีการเล่าเรื่องราวจิตรกรรมผ่านฝาผนังของอาคารและบ้านเรือน  เพื่อสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่น  และเพื่อเป็นสถานที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมจังหวัดสงขลาอีกด้วย

         นอกจากเราจะได้ชมสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแล้ว  ย่านเมืองเก่าสงขลายังมีอาหารการกินที่หลากหลาย  ทั้งอาหารคาวหวาน  อาหารไทย  อาหารจีน ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย  ไม่ว่าจะเป็นร้าน  สุกี้ยากี้นครใน  ข้าวสตูเกียดฟั่ง  ก๋วยเตี๋ยวหางหมู  ก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้ว  โรตีนางงาม  ไอติมโอ่ง  ขนมไข่เตาถ่าน  คือมีหลากหลายร้านให้เลือกซื้อเลือกชิมอย่างมากจริง ๆ  รวมไปทั้งการขายของฝากพื้นเมืองที่หารับประทานได้ยากมีให้เลือกซื้ออีกด้วย  มาเที่ยวที่นี่ที่เดียวได้ครบเลย  ทั้งอิ่มอก  อิ่มใจ  อิ่มท้อง  และสถานที่แห่งนี้ยังสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวได้มากมายทีเดียว”

         ถนนสามสาย  คือนครนอก  นครใน  นางงาม  ถือได้ว่าเป็นหัวใจของเมืองสงขลา  ด้วยเป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองนี้  ข้าพเจ้าชอบไปเดินดูโน่นดูนี่อย่างเพลิดเพลินเจริญใจ  อาคารบ้านเรือนร้านค้าเก่า ๆ น่าดูน่าชม  ดูไม่รู้เบื่อ  เขาว่าถนนนครในเป็นถนนที่มีคนผู้ดีมีเงินอาศัยอยู่มาก  นายทุนเงินกู้ทั้งหลายก็อยู่ในถนนสายนี้มากกว่าถนนสายอื่น  เห็นจะจริงอย่างเขาว่า  เพราะมีพระนวกะ (บวชใหม่) องค์หนึ่งของวัดชัยมงคล  กล่าวยืนยันว่าจริงแท้แน่นนอน

         พระประเสริฐ (รท.ประเสริฐ ศิริครินทร์) ก่อนบวชท่านเป็นข้าราชการกระทรวงมหาไทย  มีตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอ  ท่านเล่าว่าเกิดและโตในตระกูลผู้ดีเก่าย่านถนนนครใน  เรียนจบชั้นมัธยมจาก รร. วชิราวุธสงขลา  แล้วไปเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬาฯ  จบปริญญาตรีแล้วสมัครเข้ารับรับราชการทหารเหล่าม้าที่จังหวัดอุตรดิตถ์  ได้ยศ รท. แล้วเห็นว่าอนาคตคงไม่ได้เป็นนายพล  จึงโอนไปเป็นปลัดอำเภอ  ปีนั้น (คือปีที่ข้าพเจ้าไปอยู่สงขลา) เขาลาบวชเอาพรรษา  จึงได้รู้จักชอบพอกัน  เขาพาข้าพเจ้าไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องในย่านถนนนครนอก  นครใน  และนางงาม  หลายบ้านหลายคนจึงรู้แจ้งว่าพี่น้องในตระกูล ศิริครินทร์ ของพระประเสริฐ เป็นนายทุนเงินกู้  มีฐานอยู่ในขั้นเศรษฐีทีเดียว

         พระประเสริฐบอกว่า  คนสงขลาไม่ชอบใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย  อยู่อาคารร้านค้าเป็นตึกรามเก่า ๆ ดูซอมซ่อ  ไม่ตกแต่งให้หรูหราเหมือนชาวหาดใหญ่ ที่เขาสร้างและตกแต่งอาคารร้านค้าหรูหราสวยงามให้คนเห็นแล้วตื่นตาตื่นใจ  แต่ว่าเงินที่เขาสร้างความสวยงามให้แก่ตลาดหาดใหญ่นั้น  เป็นเงินกู้จากสงขลาทั้งนั้น  นักธุรกิจการค้าชาวหาดใหญ่นั่งรถเก๋งมาขอกู้เงินจากชาวสงขลา  แต่ชาวสงขลานั่งรถเมล์โดยสารไปเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ชาวหาดใหญ่  เรื่องนี้เป็นความจริง  พระประเสริฐยืนยัน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, ธันวาคม, 2565, 10:32:14 PM
(https://i.ibb.co/hW72Fp7/TAR1-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ตนกู อับดุล ราห์มาน

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๗ -
          อยู่วัดชัยมงคลได้ประมาณ ๒ เดือนเศษ  ข้าพเจ้าเริ่มคุ้นกับสถานที่และบุคคลมากขึ้น  โดยเฉพาะกับพระประเสริฐ  ปลัดอำเภอลาบวช  ท่านอยู่กุฏิเดียวกับพ่อหลวงเซ่ง  โดยพ่อหลวงเซ่งองค์นี้เป็นพระบวชเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว  ท่านเป็นคนในตระกูลผู้ดีสงขลา  และเข้าไปเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ  เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับท่านคนหนึ่งต่อมาเป็นบุคคลสำคัญของพระเทศมาเลเซีย  คือท่าน  ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน (ตนกู อับดุล ราห์มาน) นายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งมาเลเซีย  ท่านเล่าว่าเป็นเพื่อนรักกันมากจึงไปมาหาสู่กับตนกู อับดุล ราห์มาน เป็นประจำตั้งแต่หนุ่มจนแก่  ข้าพเจ้ากับพ่อหลวงเซ่งคุยกันถูกคอ  เพราะอัธยาศัยต้องการ  วันหนึ่งพระประเสริฐกล่าวชักชวนว่า  ก่อนเข้าพรรษาเราไปเยี่ยมเยือนท่านตนกู อับดุล ราห์มัน กันดีไหม  พ่อหลวงเซ่งตกปากรับคำว่าก็ดีเหมือนกัน  จึงนัดวันเดินทางไปด้วยกัน ๓ องค์

          พ่อหลวงเซ่งจัดการเรื่องวิธีการเดินทางไป อิโปห์ เมืองหลวงของรัฐเปรัก  นั่งรถยนต์ไปผ่านด่านไทยมาเลเซียที่สะเดาอย่างสะดวกสบาย  ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร  ตอนนั้นท่านนายกรัฐมนตรีตนกู อับดุล ราห์มานพำนักอยู่ที่เมืองอิโปห์  พ่อหลวงเซ่งพาเราเข้าพบอย่างสะดวกสบายมาก  ท่านต้อนรับเราเป็นอย่างดี  พ่อหลวงเซ่งแนะนำว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทยภาคกลาง  จากกรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดชัยมงคลสงขลา  ท่านนายกตนกูสนทนากับข้าพเจ้าด้วยภาษาไทยชัดเจน  ท่านบอกว่าเข้าไปเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ตั้งแต่เป็นเด็ก  จึงรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดีพอสมควร  ท่านว่ากำลังสร้างวัดพุทธขึ้นบนเนินเขาเตี้ย ๆ ในเมืองอิโปห์วัดหนึ่ง  อยากได้พระภิกษุไทยมาอยู่ประจำเป็นหลักสักองค์  “ใต้เท้า (เรียกสรรพนามข้าพเจ้าว่าใต้เท้า) ถ้าไม่ติดภารกิจใดในเมืองไทย  กระผมขอนิมนต์มาอยู่วัดที่สร้างใหม่นี้ได้ไหม”   พ่อหลวงเซ่งรีบสนับสนุนให้ข้าพเจ้ารับปากท่านนายกฯ ทันที

          พระประเสริฐถามแทรกขึ้นว่า  “จะไม่มีปัญหาเรื่องศาสนาอิสลามกับพุทธหรือ  เพราะชาวมาเลส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอยู่แล้ว”

          ท่านนายกฯ ตอบว่า  “ไม่เป็นปัญหา  เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่นับถือศาสนาพุทธและถือเจ้ามากกว่าอิสลาม  ชาวมาเลที่ถือศาสนาอิสลามก็ไม่เคร่งครัดนัก  ถ้าใต้เท้ายินดีมาอยู่ที่นี่  ก็จะให้เป็นเจ้าอาวาสและทำเรื่องให้ใต้เป็นคนสองสัญญาชาติคือไทย มาเลเซีย  เข้าออกไทยมาเลเซียได้อย่างสะดวกสบายเลย”

          ได้คำตอบอย่างนั้น  พระประเสริฐก็เห็นดีด้วย  ท่านเป็นปลัดอำเภอ  เรียนจบปริญญาทางรัฐศาสตร์  จึงรู้เรื่องการโอนสัญชาติดี  จึงสนับสนุนให้ข้าพเจ้ารับปากเป็นสมภารวัดใหม่ของท่านนายกตนกู  แต่ข้าพเจ้ายังไม่กล้าตัดสินใจ  ท่านนายกตนกูบอกว่า   “ไม่เป็นไรครับใต้เท้า  ยังไม่ต้องรีบรับปากวันนี้หรอก  กลับไปจำพรรษาที่สงขลาแล้วคิดใคร่ครวญให้ดี  ออกพรรษาแล้วะถ้าตกลงปลงใจก็ให้หลวงเซ่งพามาหาโยมได้เลย”

          พ่อหลวงเซ่งก็รับว่าถ้าข้าพเจ้าตกลงใจมาอยู่อิโปห์ก็จะพามา  ถ้าไม่ตกลงก็จะหาพระองค์อื่นมาแทน  ท่านนายกตนกูบอกว่าดีแล้ว  ถ้าหาพระมาอยู่ไม่ได้หลวงเซ่งก็มาอยู่ด้วยกันนะ   หลวงพ่อเซ่งตอบรับด้วยเสียงหัวเราะ ฮ่าๆ   ครั้นพักอยู่อิโปห์ได้ ๓ คืน  พ่อหลวงเซ่งก็พากลับวัดชัยมงคลโดยข้าพเจ้าพกพาปัญหาหนักใจกลับมาด้วย

          จริง ๆ แล้วใจอยากจะไปอยู่อิโปห์  แต่ไม่อยากเป็นสมภารวัด  เพราะการเป็นสมภารเจ้าวัดนั้นต้องแบกรับภาระมากเกินไป  ไหนจะปกครองดูแลและอบรมสั่งสอนพระเณรเด็กวัดและทายกทายิกา  ไหนจะต้องบูรณะซ่อมแซมก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์  ไหนจะต้องสอนพระปริยัติธรรมให้ความรู้ด้านปริยัติศาสนาแก่พระภิกษุสามเณร  อะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะ  ภาระดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่าตนเองคงจะรับไม่ไหวแน่  และที่สำคัญสุดก็คือ  ข้าพเจ้าไม่คิดจะอยู่ในผ้าเหลืองจนตาย

          ในเรื่องการเขียนกลอนข้าพเจ้าเพลาลง  เพราะใช้เวลาหมดไปกับการท่องเที่ยวมากกว่าจะคิดเขียนกลอน  สิ่งสำคัญคือแรงจูงใจในการเขียนกลอนอ่อนกำลังลง  อยู่วัดชัยมงคลไม่มีวิทยุฟังรายการกลอนเหมือนอยู่ภาคกลาง  หลังกลับจากอิโปห์  ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า  ถ้าเหงาก็น่าจะเอาวิทยุของมหาปานที่ฝากไว้ไปฟังแก้เหงาได้นะ  สบโอกาสดังนั้นจึงเอาเครื่องรับวิทยุของมหาป่านไปเปิดฟังทั้งวันทั้งคืน  แต่คลื่นเสียงวิทยุที่สงขลารับฟังได้ไม่มากนัก  ส่วนใหญ่คนสงขลาจะฟังวิทยุสถานี ว.ป.ถ.หาดใหญ่ของทหารสื่อสาร  คลื่นส่งแรงมาก  สถานีวิทยุ จ.ท.ล. ของทหารลพบุรี  รับฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง  เพราะระยะทางไกลเกินไป  ข้าพเจ้าพยายามให้เด็กที่เรียนวิทยาลัยเทคนิคช่วยจูนเสียงให้  ดีที่เวลากลางคืนอากาศอำนวยให้พอรับฟังรายการกวีสวรรค์ได้  จึงได้แรงจูงใจในการเขียนกลอนเพิ่มขึ้น  พระประเสริฐเคยแต่งกลอนสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ จึงร่วมฟังรายการและเขียนกลอนส่งบ้าง  แม้ไม่มากนัก  ก็พอคลายเหงาได้บ้าง/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, ธันวาคม, 2565, 10:37:40 PM
(https://i.ibb.co/ygvhY3v/2d98-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๘ -
          กลอนและเพื่อนนักกลอนนี่แหละเป็นตัวการที่ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจไปอยู่อิโปห์  พระประเสริฐกลายเป็นเพื่อนคู่หูของข้าพเจ้า  ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ  เขาให้ความรู้ทางสังคม  ภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  โบราณคดี  และอื่น ๆ  มากกมายที่ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย  ส่วนข้าพเจ้าก็ให้ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา  พระธรรมวินัยแก่เขา  เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียนั้นพระประเสริฐได้รวบรวมข้อมูลมาให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อย่างย่อดังต่อไปนี้

           “ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ : ประเทศมาเลยเซีย (Malaysia)  ได้รับเอกราชจากอังกฤษ  หลังจากที่ถูกยึดเป็นอาณานิคมมาตั้งแต่ปี ๒๓๒๙  มีเมืองหรือรัฐในปกครองทั้งสิ้น ประกอบด้วย ๑๓ รัฐ  แบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ส่วน  คือมาเลเซียตะวันตก บริเวณคาบสมุทรมาเลย์ ประกอบด้วย ๑๑ รัฐ  และส่วนของมาเลเซียตะวันออกมี ๒ รัฐ  อยู่ติดกับประเทศบรูไนและอินโดนีเซีย  เมืองหลวงคือกัวลาลัมเปอร์  มีประชากรหลากหลายทางเชื้อชาติ  โดยประกอบด้วยชาติพันธุ์มาเลย์ จีน อินเดีย ชนพื้นเมือง ไทยและอื่น ๆ   ประชากร ๕๕% นับถือศาสนาอิสลาม  ศาสนาพุทธ ๒๕%  ศาสนาคริสต์ ๑๓%  และฮินดูอีก ๗%  ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ  ใช้เงินสกุลริงกิต  รัฐธรรมนูญของมาเลเซียได้บัญญัติให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ  พร้อมให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม  อาทิ  ได้รับเงินอุดหนุนทางด้านการศึกษา  สาธารณะสุข  การคลอดบุตร  งานแต่งงานและงานศพ  มาเลเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา  โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang-diPertuan Agong) เป็นประมุข  ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ ๙ แห่ง  และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ  สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่  แร่ดีบุก (อันดับหนึ่งของโลก)  สินค้าการเกษตรโดยเฉพาะยางพารา  และข้าวเจ้า”

          ดินแดนนี้ในตำนานไทยเรียกว่าแหลมมลายู  สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีไทย  มีข้อความจารึกไว้ในแท่งศิลาว่าอาณาเขตของสุโขทัยจากศรีธรรมราชมีทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว  หมายถึงแหลมมลายูทั้งหมดนี้อยู่ในเขตปกครองของสุโขทัยด้วย  ต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา  ดินแดนแถบนี้ก็อยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยาเป็นบางครั้งบางคราว  ตกมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  อังกฤษได้เข้ามาครอบครองดินแดนนี้ไว้ทั้งหมด  หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวมลายูรวมตัวกันเรียกร้องความเป็นเอกราชให้แก่พวกตน  โดยมี  ตนกู อับดุล ราห์มาน เป็นหนึ่งในผู้นำการเรียกร้องเอกราช  จนที่สุดอังกฤษก็ยอมให้เอกราชแก่พวกเขาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐  ครั้นมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ  ตนกู อับดุล ราห์มาน จึงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก  อยู่ในตำแหน่งมาถึงปีนี้ (๒๕๐๖) นานได้ ๖ ปีแล้ว

          ดูปูมหลังของมาเลเซียแล้วก็ไม่น่าแปลกใจหรอกที่ ตนกู อับดุล ราห์มาน จะมาเป็นเด็กนักเรียน รร.เทพศิรินทร์ ที่กรุงเทพฯ  เพราะสมัยนั้นหลายเมืองของมาเลย์ขึ้นอยู่ในปกครองของสยามประเทศ  เด็ก ๆ ที่หวังความก้าวหน้าจึงพากันเข้ามาเรียนกันในกรุงเทพฯ  เหมือนกับเขาเป็นคนของสยามประเทศนั่นเอง

          คนเมืองสงขลาเมื่อปี ๒๕๐๖ นั้น  ที่เป็นชาวพุทธล้วนใจบุญสุนทรทาน  เข้าวัดทำบุญกันทุกวันพระ  เฉพาะที่วัดชัยมงคลนั้นใช้ศาลารายรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์เป็นที่ให้ทานรักษาศีลฟังธรรมกัน  ด้วยที่วัดนี้ไม่มีศาลาการเปรียญเหมือนวัดในภาคกลาง  แต่ศาลารายรอบพระมหาธาตุเจดีย์ก็กว้างขวางพอที่จะใช้แทนศาลาการเปรียญหลังขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

        ทุกวันพระแปดค่ำสิบห้าค่ำ  จะมีทายกทายิกาทุกเพศทุกวัย  นำอาหารหวานคาวมาทำบุญกันมากบ้างน้อยบ้างตามแต่โอกาสอำนวย  ถวายอาหารพระรับพรตามประเพณีแล้ว  ใครมีเวลาว่างจะอยู่รักษาอุโบสถฟังธรรมก็อยู่วัดต่อ  ใครไม่ว่างมีการงานอะไรก็กลับไปทำธุรการงานของตนต่อไป

          คนที่อยู่รักษาอุโบสถฟังธรรมเจริญภาวนาแต่ละวันพระมีไม่มากนัก  ทางวัดจัดให้มีการแสดงธรรมวันละ ๓ เวลา  คือเช้า บ่าย ค่ำ  ภาคเช้าจะเริ่มการแสดงธรรมเวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น.เป็นต้นไป   ภาคบ่ายจะเริ่มเวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป  ภาคค่ำจะเริ่มเวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไ ป พระที่แสดงธรรมก็เลือกเอาพระในวัดนั่นเอง  โดยให้พระที่จะแสดงธรรมนั้นเลือกเรื่องในคัมภีร์เทศน์ (ใบลาน) ที่ทางวัดมีอยู่มากมายนั้น  เอามาอ่านให้ทายกทายิกาฟัง  บางองค์มีการเตรียมตัวดี  เลือกคัมภีร์เทศน์ไปอ่านทบทวนดูก่อนนำขึ้นสู่ธรรมาสน์เทศน์  บางองค์ไม่ได้เตรียมตัวเลย  พระประเสริฐบอกว่าพระเทศน์แต่ละองค์อ่านหนังสือให้ฟังตะกุกตะกักน่าเบื่อหน่ายรำคาญมาก  ดูเหมือนพระจะไม่เต็มใจเทศน์  เพราะเห็นมีคนฟังน้อย  บางวันก็มีคนฟังเยง ๕ คน เท่านั้นเอง

          วันพระหนึ่งใกล้จะถึงวันพระใหญ่เข้าพรรษาแล้ว  ข้าพเจ้ารับเวรเทศน์ตอนเช้า  เลือกคัมภีร์เทศน์เป็นแบบนิทานธรรมคือ  “วิมานวัตถุ”  เล่าเรื่องคนทำคุณงานความดีอะไรตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นไหน  คัมภีร์เทศน์นี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่ามีมากกึงร้อยเล่มหรือไม่  แต่เห็นมีอยู่ในตู้พระธรรมของวัดเต็มเลย  วันนั้นข้าพเจ้าอ่านคัมภีร์เทศน์อย่างเต็มเสียง  ชัดถ้อยชัดคำ  วางจังหวะทำนองอย่างภาคกลาง  สังเกตดูกิริยาคนฟังเห็นเขาตื่นตัวตั้งอกตั้งใจฟังกันมาก  ท่านเจ้าอาวาสนั่งฟังเป็นประธานสงฆ์อยู่ก็ฟังด้วยความตั้งใจ  พอเทศน์จบลงจากธรรมาสน์  พระประเสริฐเข้ามายกมือไหว้กล่าวชมว่า   “ต้นเทศน์ดีมาก  อยากฟังอย่างนี้ต่ออีกครับ”   หัวหน้าทายกก็คลานเข้ามายกมือไหว้กล่าวว่า  ตอนบ่ายขอให้เทศน์เรื่องอย่างนี้ต่อได้ไหมครับ  ท่านเจ้าอาวาสเห็นดีด้วยจึง  ขอให้ข้าพเจ้าเทศน์ทั้งภาคบ่ายและภาคค่ำเลย  ข้าพเจ้าจึงต้องไปเลือกคัมภีร์ใบลานเรื่องวิมานวัตถุหลายเล่มมาเตรียมไว้เทศน์ต่อ  ข่าวการอ่านคัมภีร์เทศน์ด้วยลีลาพระภาคกลางของข้าพเจ้าแพร่ไปในหมู่คนใจบุญทั่วไป  ทำให้เขาอยากฟังกันอีก

          วันพระต่อมาเป็นวันพระใหญ่คือวันอาสาฬหบูชา  ภาคเช้าท่านเจ้าอาวาสขอให้ข้าพเจ้างดเทศน์เรื่องวิมานวัตถุไว้ก่อน  จะขอให้หลวงพี่พระมหาแฉล้มเทศน์เรื่องอาสาฬหบูชา  หลวงพี่มหาแฉล้มขอตัวอ้างว่าท่านเป็นหวัดอยู่ไม่อาจแสดงธรรมได้  ท่านเจ้าอาวาสถามพระอาวุโสองค์อื่น ๆ ว่าใครจะแสดงธรรมเรื่องอาสาฬหบูชาได้บ้างไหม   ปรากฏว่าทุกองค์เงียบงันอยู่  ที่สุดท่านก็หันมาทางข้าพเจ้า

           “คุณอภินันท์เทศน์ได้ไหม”

          ข้าพเจ้าตอบว่า  “ยังไม่เห็นคัมภีร์เทศน์เรื่องนี้เลย  ถ้าจะต้องเทศน์ก็ขอใช้ความจำจากพระพุทธประวัตินำมาเล่าให้ฟังในแบบเทศน์พอจะได้ครับ”

          พระเชือน กับพระประเสริฐ ก็กล่าวสนับสนุนว่า  “เทศน์ปากเปล่าได้ก็ดีซีครับ”

          ท่านเจ้าอาวาสเห็นด้วยจึงตกลงให้ข้าพเจ้าเทศน์ปากเปล่าเรื่องอาสาฬบูชา  แต่ข้าพเจ้าขอเปลี่ยนเวลาเทศน์  คือภาคเช้าขอเทศน์ตามคัมภีร์เรื่องวิมานวัตถุว่าด้วยรักษาศีลแล้วตายไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์  ส่วนภาคบ่ายต้องลงอุโบสถฟังสวดพระปาฏิโมกข์กันตามธรรมเนียม  การเทศน์ปากเปล่าเรื่องอาสาฬหบูชาขอยกไปแสดงภาคค่ำ  ก่อนการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ  จะแสดงเรื่องราวความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชาต่อไป  ก็เป็นอันตกลงกันตามนี้/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, ธันวาคม, 2565, 10:18:42 PM
(https://i.ibb.co/ZBC9mzZ/Untirestled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๙ -
          อันที่จริงการเทศน์ปากเปล่าโดยไม่อ่านคัมภีร์ใบลานนั้น  ข้าพเจ้าเคยเทศน์มาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณรอยู่วัดบางซ้ายใน  ดังที่เคยให้การไว้แล้ว  จึงไม่เป็นการยากที่จะมาเทศน์ปากเปล่าเรื่องวันอาสาฬหบูชาที่วัดชัยมงคลนี้  การเรียนนักธรรมชั้นตรี โท เอก  วิชาที่ข้าพเจ้าชอบและได้ผลการเรียนยิ่งคือ  วิชาพุทธประวัติ อนุพุทธประวัติ  และพุทธานุพุทธประวัติ เรื่องวันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา  เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าจำได้ดีจนสามารถนำไปพูดให้คนฟังเข้าใจเรื่องได้ไม่ยากเลย

          บ่ายโมงวันนั้นพระภิกษุวัดชัยมงคลทุกองค์ลงอุโบสถ  คือเข้าประชุมพร้อมกันในอุโบสถเพื่อประกอบสังฆกรรมสวด  ฟังพระปาฏิโมกข์  อุโบสถวัดชัยมงคลกาลนั้นโรงอุโบสถเก่ามาก  หลังไม่มีเพดาน  พระสวดปาฏิโมกข์ได้ในวัดนี้มีองค์เดียว  พิธีการสวดและฟังพระปาฏิโมกข์จะเหมือนกันทุกวัด  คือมีธรรมาสน์เล็กตั้งตรงหน้าพระประธาน  พระภิกษุจะนั่งล้อมวงในรูปเกือกม้า  ข้างธรรมาสน์สวดพระปาฏิโมกข์จะมีโต๊ะเล็กวางหนังสือพระปาฏิโมกช์สำหรับตรวจทาน  มีภิกษุหูไวตาไวนั่งอ่านคำสวดตามเสียงที่พระสวดนั้นทุกคำมิให้คลาดเคลื่อนขาดตกแม้แต่น้อย  ถ้าสวดผิด  หรือตกคำ  ก็จะทักให้หยุดแล้วสวดตรงนั้นใหม่  ขณะทำสังฆกรรมนี้ห้ามอนุปสัมบันคือฆราวาสเข้าไปในเขตอย่างเด็ดขาด  แม้ภิกษุที่มิได้เข้าร่วมแต่ต้นก็ห้ามเข้าหลังจากเริ่มทำสังฆกรรมนั้น  ถ้าขณะสวดมีคนนอกเข้าไปถือว่าสังฆกรรมนั้นเสีย  ต้องเริ่มต้นทำกันใหม่

          วันนั้นพระสวดท่านสวดไปแหงนมองหลังคาโบสถ์สอดส่าสายตามองไป  เห็นตะกวดตัวหนึ่งนอนอยู่บนขื่อ  ปากที่สวดคำบาลีของท่านก็พลั้งคำออกไปว่า  “แลน”  พระที่ตรวจทานยกมือขึ้นร้องว่า  “หยุด  ไหนแลนไหน  หามีไม่”  ผู้สวดก็ยกมือชี้ไปบนหลังคาว่า  “โน่น แลนโน้น”  ทุกองค์มองตามมือชี้เห็นแลน (ตะกวด–เหี้ย) นอนแลบลิ้นอยู่ก็พากันหัวเราะ  การสวดพระปาฏิโมกข์วันนั้นต้องยุติลงเพียงแค่นั้น  เจ้าอาวาสท่านว่า  “สังฆกรรมเสียไปแล้ว”  นี่ก็เป็นประสบการณ์แปลกสำหรับข้าพเจ้า

          ใกล้ค่ำวันนี้อากาศโปร่งเย็นสบาย  มีผู้คนพากันทยอยเข้าวัดชัยมงคลเพื่อร่วมบุญพิธีอาสาฬหบูชากันเป็นร้อยคนทีเดียว  ข้าพเจ้าเตรียมตัวเรียบร้อยพร้อมอยู่ที่กุฏิจนได้เวลาประมาณ ๑๘.๔๐ น.  จึงเดินทางกุฏิไปที่ประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ณ ศาลารายรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์  ทางวัดจัดตั้งเครื่องกระจายเสียงรอบพระมหาธาตุเจดีย์ทั้งสี่ทิศ  ก่อนพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นทายกได้ประกาศให้ประชาชนทราบกำหนดการว่า  กำหนดการเดินเวียนเทียนรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ประมาณ ๒๐.๓๐ น.  ก่อนการเวียนเทียนจะมีพระธรรมเทศนาเรื่องวันอาสาฬหบูชา  แสดงโดยพระอภินันทภิกขุ จากกรุงเทพฯ ที่มาจำพรรษา ณ วัดชัยมงคลนี้  ขอเชิญทุกท่านร่วมฟังพระธรรมเทศนาโดยพร้อมเพรียงกัน  สถานที่ภายในธรรมสภาศาลานี้หากไม่พอเพียง  ก็ขอให้ทุกท่านหาที่นั่งที่ยืนภายนอกฟังจากเครื่องกระจ่ายเสียงได้ตามสบาย

          ข้าพเจ้าเริ่มเทศนาเวลาประมาณ ๑๙.๒๐ น.  ทายกนำไหว้พระสมานทานศีลแล้วอาราธนาธรรม  ข้าพเจ้าเริ่มเทศน์ตามแบบของตนเอง  ว่านะโมสามจบแล้วต่อด้วย พุทธังสะระณัง คัจฉามิ ธัมมังสะระณัง คัจฉามิ สังฆังระณัง คัจฉามีติ.  ณ บัดนี้อาตมภาพจักแสดงเทศนาเรื่องวันอาสาฬหบูชา  เพื่อเป็นเครื่องเจริญศรัทธาท่านสาธุชนทั้งหลาย  ที่พากันมาน้อมรำลึกถึงคุณพระรตนตรัยในวันอาสาฬบูชา  อันเป็นวันคล้ายวันที่สมเด็จเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ยังพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรให้เป็นไป  จนเกิดพระสังฆรตนะขึ้นในวันนี้เป็นครั้งแรก  เรื่องราวโดยพิสดารเป็นอย่างไรอาตมะจะขอพักไว้  ในวันนี้จักขอนำมาแสดงโดยย่นย่อพอได้ใจความดังต่อไปนี้

          ครั้นกล่าวอารัมภบทจบแล้วก็เริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่สิทธัตถะมหาบุรุษออกผนวชได้ ๖ ปี  จนเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา  ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชร า ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  แล้วเสวยวิมุติสุขอยู่รอบบริเวณนั้น ๖ สัปดาห์  ทรงรำพึงถึงถึงผู้ที่จะรับสดับพระธรรมเทศนาของพระองค์  แล้วตกลงพระทัยจะเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ฤๅษีทั้งห้าคือ  โกณฑัญญะ  วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และอัสสชิ  ที่เคยอยู่ปฏิติดูแลพระองค์ขณะบำเพ็ญเพียรทางกาย  แล้วหมดหวังจึงพากันหลีกไปสร้างอาศรมอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ (ป่าเป็นที่ตกไปแห่งฤๅษี) มฤคทายวัน (ป่าสงวนไว้เลี้ยงเนื้อ)  จึงเสด็จพุทธเนินไปโดยลำดับ  จนถึงอาศรมปัญญจวัคคีย์ในเพลาเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘  เมื่อเหล่าปัญจวัคคีย์มองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล  ก็นัดหมายกันว่าจะไม่ทำการลุกต้อนรับ  ไม่ให้ทำการอภิวาทและไม่รับบาตรจีวร  แต่ให้ปูอาสนะไว้  ถ้าทรงประสงค์จะนั่งก็นั่ง  แต่ถ้าไม่ประสงค์ก็แล้วไป

          แต่ครั้นพระองค์เสด็จถึงต่างก็ลืมกติกาที่ตั้งกันไว้  พากันลุกขึ้นและอภิวาทกราบไหว้  และนำน้ำล้างพระบาท  ตั่งรองพระบาท  ผ้าเช็ดพระบาทมาคอยปฏิบัติ  พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับบนอาสนะ  ทรงล้างพระบาทแล้ว  เหล่าปัญจวัคคีย์ก็เรียกพระองค์ด้วยถ้อยคำตีเสมอ  คือเรียกพระองค์ว่า  อาวุโส  ที่แปลว่า  ผู้มีอายุ  โดยไม่มีความเคารพ  พระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่าพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว  จะแสดงอมตธรรมให้ท่านทั้งหลายฟัง  เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจฟังและปฏิบัติโดยชอบก็จะเกิดความรู้จนถึงที่สุดทุกข์ได้  เหล่าปัญจวัคคีย์ก็กราบทูลคัดค้านว่า  เมื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยายังไม่ได้ตรัสรู้  เมื่อทรงเลิกเสียจะตรัสรู้ได้อย่างไร  พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสยืนยันเช่นนั้น  และเหล่าปัญจวัคคีย์ก็คงคัดค้านเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง  พระพุทธองค์จึงตรัสให้ระลึกว่า  แต่ก่อนนี้พระองค์ได้เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้หรือไม่  เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ระลึกได้ว่า  พระองค์ไม่เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ยินยอมเพื่อจะฟังพระธรรม  พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่า เหล่าปัญจวัคคีย์พากันตั้งใจเพื่อจะฟังพระธรรมของพระองค์แล้ว  จึงได้ทรงแสดงปฐมเทศนา  คือ  เทศนาครั้งแรก  โปรดเหล่าปัญจวัคคีย์  พระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนานี้ในวันรุ่งขึ้นจากที่เสด็จไปถึง  คือ  ได้ทรงแสดงในวันเพ็ญของเดือน อาสาฬหะ หรือ เดือน ๘

          ทรงยกอริยสัจจ์สี่ คือ  ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการที่พระองค์ค้นพบ  ได้แก่  “ทุกข์  คือ  ความไม่สบายกายไม่สบายใจ  เป็นสภาพสภาพที่ทนได้ยาก  ซึ่งมีทั้งทุกข์ประจำและทุหข์จรมาสู่ตน ๑,   ทรงค้นพบสิ่งที่ทำให้ทุกข์เกิดเรียกว่าสมุทัย  อันได้แก่  ตัณหา ๓  คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม  ความอยากได้ทางกามารมณ์,   ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ  คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่  และ  วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ  คือความอยากไม่เป็นโน่นไม่เป็นนี่ ๑,   ทรงค้นพบ ความดับทุกข์  เรียกว่านิโรธ  ได้แก่  ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์  กล่าวคือ  ดับตัณหาทั้ง ๓ ได้อย่างสิ้นเชิง ๑,  ทรงค้นพบวิธีปฏิบัติที่ไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์  เรียกว่ามรรค  ประกอบด้วยแปดประการ  คือ ๑ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ  ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ  ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ  ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ  ๕. สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ  ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ  ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ  ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ข้อปฏิบัตินี้เรียกว่าทางสายกลาง

          ข้าพเจ้าได้อธิบายความย่อแห่งธรรมจักรด้วยภาษาชาวบ้าน  ตัดคำบาลีออกไปเพื่อไม่ให้คนฟังรำคาญ แล้วสรุปว่าเมื่อจบพระธรรมเทศนา  โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระอริยะเจ้าขั้นพระโสดาบันแล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ  ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้สำเร็จเป็นภิกษุองค์แรกในโลก   ดังนั้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ (เดือนอาสาฬหะ) จึงเป็นวันที่พระรตนะเกิดขึ้นครบ ๓ ดวง  คือพระพุทธรตนะ  พระธรรมรตนะ  พระสังฆรตนะ  จึงถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธควรน้อมใจแสดงความเคารพสักกาบูชาคุณพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  พร้อมเพรียงกัน/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, มกราคม, 2566, 10:53:24 PM
(https://i.ibb.co/tHZS4ny/287991833-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๑๐๐ -
          จบการแสดงธรรมเทศนาในเวลาประมาณ ๒๐.๒๐ น.  ใช้เวลาไม่มากเกินไปนัก  เทศน์จบแล้วข้าพเจ้าขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสใช้เครื่องกระจายเสียพูดประชาสัมพันธ์เรื่องพิธีเวียนเทียนให้ประชาชนทราบต่อไป  ขณะนั้นเห็นว่ามีประชาชนในศาลารายรอบพระมหาธาตุเจดีย์เต็มไปหมด  มองออกไปภายนอกก็มีผู้คนหนาตามาก  จึงกล่าวถึงเหตุผลในการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชาเพิ่มเติมจากที่เทศน์ไปแล้วอีกหลายประการ  เช่นว่า  การเดินเวียนเทียนรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ให้เวียนเป็นประทักษิณสามมรอบ  คำว่าประทักษิณคือเวียนขวา  โดยให้สิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระเจดีย์ ต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น  อยู่ทางขวามือของตน

          ขณะเดินเวียนรอบนั้นในมือควรถือเครื่องสักการะ  มีดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้น  หรือไม่มีเครื่องสักการะก็ได้  เดินเวียนรอบแรกให้กล่าววาจาสรรเสริญพระพุทธคุณว่า  อิติปิ โส ภะคะวา... ไปจนจบบทแล้วขึ้นต้นสวดใหม่ซ้ำ ๆ ไปจนจบรอบ  ขึ้นรอบสองให้กล่าวสรรเสริญพระธรรมคุณว่า สวากขาโต.... จบบทแล้วขึ้นต้นใหม่ว่าซ้ำ ๆ ไปจนจบรอบ  ขึ้นรอบสามให้กล่าวสรรเสริญพระสังฆคุณว่า สุปะฏิปันโน... ซ้ำ ๆ ไปจนจบรอบ  ถ้าว่าออกเสียงไม่ได้ก็ให้ว่าในใจ  หรือไม่ก็ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธในรอบที่ ๑  ระลึกถึงคุณพระธรรมในรอบที่ ๒  ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ในรอบที่ ๓  เดินด้วยอาการสำรวมไม่พูดคุยกัน  และให้ระวังมือที่ถือธูปจะไปจี้ถูกคนอื่นหรือเทียนหยดใส่คนอื่น  จนบุญกลายเป็นบาปไป

          มรรคนายกมากระซิบบอกข้างหลังว่า  ทางวัดจัดดอกไม้ธูปเทียนไว้จำหน่ายด้านหน้าองค์พระ  จึงประกาศออกไปว่าใครไม่มีดอกไม้ธูปเทียน  หรือมีแล้วต้องการเพิ่มเติมก็ขอเชิญด้านหน้าองค์พระ  ทางวัดจัดมาเป็นชุดวางจำหน่ายแล้ว  การซื้อดอกไม้ธูปเทียนของวัดเป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญของตน  และนำดอกไม้ธูปเทียนนั้นไปเวียนเทียนบูชาก็เป็นการเพิ่มบุญอีกส่วนหนึ่งให้แก่ตน  ครั้นประกาศออกไปอย่างนี้ปรากฏว่าดอกไม้ธูปเทียนที่ทางวัดจัดไว้จำหน่ายหมดสิ้นไปในเวลาอันรวดเร็ว

          ได้เวลาเวียนเทียนตามกำหนดแล้ว  ท่านเจ้าอาวาสกล่าวนำถวายสักการะอาสาฬบูชา  แล้วเดินนำพระภิกษุสามเณรตามด้วยอุบาสกอุบาสิกาและประชาชนที่มาร่วมพิธี  การเดินเวียนเทียนเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยจนครบสามรอบ  คะเนดูว่าคนที่มาร่วมเดินเวียนเทียนคืนนั้นน่าจะมากถึงห้าร้อยคนทีเดียว  เงินรายได้จากการจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน  หัวหน้าทายกแจ้งคราว ๆ ว่าประมาณห้าพันบาท  ส่วนเงินที่ติดกัณฑ์เทศน์ประมาณหมื่นหกพันบาทเศษ  เขาเอาผ้าห่อนำมาถวายข้าพเจ้า  แต่ข้าพเจ้าไม่รับ  บอกให้นำเข้าเป็นเงินกองกลางของวัดไปทั้งหมดเลย  เจ้าอาวาสค้านว่าทำอย่างนั้นไม่ได้  เพราะเป็นเงินติดกัณฑ์เทศน์ที่ท่านเทศน์  จึงควรเป็นของท่านเก็บไว้ใช้จ่ายเอง  ข้าพเจ้ายืนกรานไม่ยอมรับ  ทั้งพระและทายกก็ช่วยกันพูดขอให้รับ  ผลที่สุดข้าพเจ้าหาทางออกด้วยการรับไว้  แล้วมอบคืนไปโดยอ้างว่าเป็นเงินของข้าพเจ้าขอถวายวัดด้วยศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงใจ  เรื่องจึงจบลงด้วยดี

          การเทศน์ปากเปล่า (หรือเทศน์โดยปฏิภาณ) ของข้าพเจ้าประสบความสำเร็จด้วยด้วยดี  และถือว่าข้าพเจ้าเริ่มเป็นนักเทศน์อย่างจริงจังตั้งแต่วันนั้น  วันต่อ ๆ มาข้าพเจ้าถูกทางวัดผูกขาดให้เทศน์ในวัดเป็นประจำทุกวันพระทั้ง ๓ เวลา  ข้าพเจ้าก็นำคัมภีร์ใบลานที่เป็นเรื่องชาดกต่าง ๆ มาอ่านทำความเข้าใจ  ถึงเวลาเทศน์ก็นำคัมภีร์นั้นไปอ่านเริ่มต้นเพื่อให้เห็นว่าเรื่องที่เทศน์นั้นมิใช่ข้าพเจ้าคิดเอาเอง  พออ่านเข้าเรื่องแล้วก็เล่าความไปตามคัมภีร์นั้น  และอธิบายความที่ยากแก่การเข้าใจให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้น ด้ วยเหตุนี้จึงมีคนเข้ารักษาศีลฟังธรรมในวัดชัยมงคลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นที่พอใจของท่านเจ้าอาวาสมาก

          คนในเมืองสงขลาที่เป็นศรัทธาของวัดชัยมงคลเริ่มรู้จักข้าพเจ้ามากขึ้น  ชักจะวางตัวลำบากมากขึ้นด้วยหละ  ข้าพเจ้าชอบเดินหาซื้อของใช้ด้วยตนเอง  สิ่งของที่ใช้มากหน่อยคือ  กระดาษ ปากกา  ก็ซื้อมาเขียนกลอนนั่นแหละครับ  มีร้านขายเครื่องเขียนร้านหนึ่ง  คนขายของที่เข้าใจเป็นลูกสาวเจ้าของร้าน  เห็นข้าพเจ้าไปซื้อของทีไร  เธอไม่ยอมรับเงิน  จัดของให้ตามต้องการแล้วบอกว่า  “ถวายค่ะ”  ทำให้ข้าพเจ้าเจิ่นไป  ไม่กล้าเข้าไปซื้ออีก

          ร้านกาแฟปากทางเข้าวัดชัยมงคล  ร้านนี้ทำให้ข้าพเจ้าติดค้างน้ำใจอยู่มาก  ทางหรือถนนเข้าวัดชัยมงคล ถนนเพชรมงคล  มีร้านกาแฟค่อนข้างโอ่โถง ลู กค้าหนาทุกวัน  บางวันข้าพเจ้าเดินบิณบาตรทางทิศตะวันตกวัดผ่านร้านนี้  ข้ามทางรถไฟ  ผ่านวัดโรงวาสเข้าไปในเมือง  แล้วเดินกลับทางเดิม  จะพบเด็กสาวยืนรอใส่บาตรอยู่เสมอ บางวันข้าพเจ้าเปลี่ยนเส้นทางเดินออกไปในหมู่บ้านทางเหนือวัดบ้าง  ใต้วัดบ้าง  ตอนเย็นเด็กสาวคนนี้จะนำกาแฟบ้าง  โอวัลตินบ้าง  มาถวายที่กุฏิ  บอกว่า  “แม่ให้นำมาถวายค่ะ”  แล้วเธอก็ไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่านั้น  มารู้ภายหลังว่า คุณแม่เธอที่มักเข้าวัดฟังเทศน์ยามค่ำบ่อย ๆ แล้วเลื่อมใสศรัทธาข้าพเจ้า  วันไหนข้าพเจ้าเดินผ่านร้านไปรับบิณฑบาตก็จะเตรียมอาหารให้ลูกสาวรอใส่บาตรก่อนไปโรงเรียน  และตอนเย็นกลับจากโรงเรียนก็ให้นำเครื่องดื่มไปถวายที่กุฏิ  เป็นอย่างนี้นี่เอง

          เรื่องนี้พระประเสริฐ  พ่อหลวงเซ่ง  รู้เห็นก็ตั้งข้อสังเกตว่า  เจ้าของร้านกาแฟนี้จองตัวพระอภินันท์ไว้เป็นลูกเชยแน่เลย

          ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตอบว่า   “เหลวไหลน่า...” /

  - อ่านต่อ ตอนที่ ๑๐๑ -   คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)


          สำหรับเรื่องราวแวดวงในดงขมิ้น  “คำให้การของนักบวช”  ได้ดำเนินมาถึง ๑๐๐ ตอนแล้ว  ในตอนต่อไปที่ ๑๐๑ ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง  โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ   คลิก >> ที่นี่ << (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)    เข้าอ่านต่อได้ครับ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต

• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๒๐๑ - ตอนสุดท้าย คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)