บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 08, มกราคม, 2559, 03:47:21 AM



หัวข้อ: ชีวิตครบเทอม โดย วินทร์ เลียววาริณ
เริ่มหัวข้อโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 08, มกราคม, 2559, 03:47:21 AM

(https://i.ibb.co/MhpDTmF/vaa3q.gif) (https://imgbb.com/)


                            ชีวิตครบเทอม

กล้องถ่ายรูปดิจิตัลในปัจจุบัน เดินทางมาไกลหลายปีแสงจากสิ่งประดิษฐ์ในศตวรรษที่ 19
กล้องถ่ายรูปโบราณยุคนั้นใช้งานยากและมีราคาแพง
จนกระทั่งชาวอเมริกันคนหนึ่ง จอร์จ อีสท์แมน ประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปที่ใช้งานง่ายในปี 1888
มันปฏิวัติวงการถ่ายรูป สร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้เขา แต่อีสท์แมนต่างจากเจ้าของธุรกิจอื่นๆ
เขาแบ่งส่วนแบ่งให้ลูกจ้างมากกว่าองค์กรใดๆ เขายังคืนกำไรให้สังคมอย่างต่อเนื่อง
สร้างโรงพยาบาล สถานทำฟัน โรงเรียนสอนดนตรี โรงละคร วงออเคสตรา ฯลฯ

ในวัยเจ็ดสิบกว่า เขาป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ เมื่อเห็นว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรให้โลกได้อีกแล้ว
เขาก็เลือกจากโลกไป โดยยิงตัวตาย

การฆ่าตัวตายในมุมมองของคนทั่วไปเป็นความขลาด ไม่สู้ชีวิต แต่อีสท์แมนมองต่างมุม
จดหมายลาตายของเขาเขียนว่า “งานของฉันเสร็จแล้ว ทำไมต้องรอ?”

เขาไปถึงจุดที่เขาไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว เพราะชีวิตเขา ‘ครบเทอม’ แล้ว
เมื่อเต็มแล้ว ก็ถึงเวลาไปได้

มันเป็นเหตุผลการฆ่าตัวตายของคนไม่น้อย พวกเขาเห็นว่าอยู่พอแล้ว อยู่ต่อไปก็เปลืองข้าวสุกเปล่าๆ

ความคิดนี้ออกจะสุดโต่งสำหรับเราๆ แต่ลองมองให้พ้นจากความเคยชินและค่านิยม
คนเป็นล้านๆ คนก็อยู่แบบเปลืองข้าวสุกจริงๆ ตามสำนวนว่า ‘แก่เพราะกินข้าว’

จึงไม่แปลกหากจะมีคนสักหลายคนซึ่งอยู่ครบเทอมแล้วคิดประหยัดข้าวให้โลก!

มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่มีกำหนดเวลาทำงานเป็นชั่วโมง นาที เป็นจำนวนปี
และระบบเกษียณ เวลาทำงานครบเทอมของมนุษย์ปัจจุบันกำหนดที่ประมาณ 60 ปี

ตัวเลขเกษียณของคนไทย จีน อินเดีย ขีดเส้นที่ตัวเลข 60  
ชาวอังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก คือ 65 ชาวอเมริกันคือ 66
ตัวเลขเกษียณสูงสุดน่าจะเป็นของชาวสิงคโปร์ กรีซ ไอซ์แลนด์ คือ 67
โดยเฉลี่ยก็ประมาณ 60-65 หลักหมุดแห่งชีวิตทำงานถึงจุดยุติ

เมื่อกติกาโลกบอกว่าถึงเวลาหยุด คนส่วนใหญ่ก็หยุด ทั้งที่หลายคนยังแข็งแรงและเปี่ยมไฟสร้างสรรค์
อายุถึงกำหนด แต่ยังไม่ครบเทอมพลังแห่งชีวิต

บางทีผู้กำหนดกติกานี้อาจเห็นว่าสมองคนอายุเกินหกสิบไม่น่าจะสร้างสรรค์อะไรพิสดารได้อีก
ก็มิใช่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เพราะการคิดค้นใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์โลกส่วนใหญ่
ใช้เวลาไม่เกินครึ่งแรกของชีวิต เช่น
-ไอน์สไตน์พบทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษเมื่ออายุ 26 ปี
-ธอมัส เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟสำเร็จเมื่ออายุ 31 ปี
-อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ประดิษฐ์โทรศัพท์สำเร็จเมื่ออายุ 29 ปี
-พี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบินสำเร็จเมื่ออายุ 29 และ 33 ปี ฯลฯ

หากเราใช้จุด ‘พีค’ ของการงานเป็นจุดครบเทอม
ก็เท่ากับว่าชีวิตนักคิดนักประดิษฐ์เหล่านี้ครบเทอมเมื่ออายุราวสามสิบเท่านั้น

มีคนเคยถามผมว่า “ถึงจุดสูงสุดในชีวิตแล้วยัง?” หรือ “หนังสือเล่มนั้นคือจุดพีค?”
ผมตอบว่ายังและไม่มี ชีวิตมีขึ้นมีลง ผลงานมีขึ้นมีลง ผมไม่คิดว่าจุดใดคือจุดสูงสุดซึ่งเมื่อไปถึงแล้ว
โลกก็อนุญาตให้ตายได้

หากสังขารอนุญาต ผมก็อยากเกษียณในวันตาย

และที่สำคัญ หากชีวิตมีจุดพีคหรือจุดครบเทอมจริง
บางทีมันอาจมิได้วัดด้วยผลงาน และจุดจบของชีวิตก็อาจมิได้วัดที่ความตาย
เพราะบุคคลจำนวนไม่น้อยซึ่งเสียชีวิตไปนานหลายร้อยหลายพันปี ก็ยังมี ‘ชีวิต’ อยู่ในตอนนี้

ครบเทอมในความหมายหนึ่งคือ เรียนหนังสือ หางานทำ แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา มีลูก
ทดแทนคุณพ่อแม่ เกิดมากินแล้วนอนแล้วสืบพันธุ์แล้วตาย ก็เรียกว่าครบเทอม
แต่อาจยังไม่ ‘ครบเทอม’ ของการใช้ชีวิต

ในอีกความหมายหนึ่งคือ การใช้เวลาทุกนาทีบนโลกเต็มๆ ครบครัน ไม่ทำลายเวลาทิ้งไปเปล่าๆ

หนึ่งวันของทุกคนคือยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่เคยถามตัวเองไหมว่าในยี่สิบสี่ชั่วโมงนี้
เราใช้เวลาเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ กี่ชั่วโมง กี่นาที

วลี ‘เป็นเรื่องเป็นราว’ หมายถึงการใช้เวลานั้นแล้วรู้สึกว่าคุ้มค่า
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การนอนงีบสำหรับบางคนถือว่าไม่คุ้มค่า
แต่สำหรับอีกบางคนคุ้มค่า เพราะพวกเขาจำเป็นต้องงีบ

คนไม่น้อยทำงานหกสิบปีเท่ากับคนอื่นทำงานเพียงยี่สิบปี
เพราะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม บ้างก็เช้าครึ่งชามเย็นครึ่งชาม

มีเวลาเจ็ดสิบปีบางคนใช้แค่ยี่สิบปี ที่เหลือละลายไปกับอบายมุข
สิ่งเสพติด ความเกียจคร้าน

ครบเทอมแต่ไม่ครบถ้วน

ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนมักให้ชายหนุ่มทุกคนบวชเพราะทำให้ ‘เต็มคน’

ในโลกตะวันตกมักจ้างคนที่แต่งงานแล้ว ด้วยเหตุผลว่าน่าจะมีความรับผิดชอบ
หรือเป็นผู้ใหญ่กว่า หรือ ‘เต็มคน’

การอยู่ ‘ครบเทอม’ ยังหมายถึงการใช้ชีวิตครบถ้วน เข้าใจชีวิต การทำประโยชน์ให้โลก

มันไม่มีสูตรสำเร็จ เราทุกคนมีเสรีภาพกำหนดมาตร ‘ครบเทอม’ ของเราเอง

ตอบแทนคุณพ่อแม่ครูอาจารย์ คืนสิ่งดีๆ แก่โลกบ้าง มีส่วนช่วยสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้น
สำหรับทุกชีวิต ไม่เฉพาะแค่คน แต่ต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอื่นๆ

พูดง่ายๆ คือ หากจะอยู่ต่อ ก็ทำตัวให้คุ้มค่าข้าวที่กิน

เราอาจจากโลกไปก่อนเวลาเกษียณหรือไม่ได้ทำการใหญ่
แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยที่สุดก็ควรเกิดมากับความไม่รู้ และตายไปด้วยความเข้าใจ

ขอบคุณบทความจาก

คุณวินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

12 ธันวาคม 2558