บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => ห้องนั่งเล่นพักผ่อน => ข้อความที่เริ่มโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 04, มีนาคม, 2557, 08:06:08 PM



หัวข้อ: กลอยมิใช่แรมจันทร์
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 04, มีนาคม, 2557, 08:06:08 PM

กลอยมิใช่แรมจันทร์


          ก่อนอื่นขอพูดถึงที่มาที่ไปที่กลับของกลอยมิใช่แรมจันทร์  เรื่องนี้มาจากบทเพลง "คุณนายโรงแรม" ของคุณ ระพิน ภูไท เนื้อร้องตอนหนึ่ง "ก่อนอยู่บ้านนาเขาเรียกกันว่า ..อีกลอยมาอยู่กรุงเทพ ฯ ได้ผัวนายร้อยจึงเปลี่ยนจากกลอยมาเป็น..แรมจันทร์ " อิทธิพลของเพลงทำให้มีคนสัปดนอย่างผมเรียกกลอยว่า "แรมจันทร์" ไปสั่งแม่ค้าสนุก ๆ ทำเอาแม่ค้าได้หัวเราะและส่งยิ้มหวานให้เรา  ยิ้มหวานชนิดหวานกว่ากลอยของแม้ค้าเสียอีก

         เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องหยิบ "สมหวัง" มาเล่ากันฟัง แม้จะมีข้อมูลไม่อ่อนไปบ้าง ใครรู้กว่านี้ค่อยกระซิบผ่านเว็บไซต์ผมด้วย ถือเป็นวิทยาทานอย่างสูง เรื่องสมหวังเข้าทำนองเดียวกับเรื่อง "แรมจันทร์" ทุกคนคงรู้จักแห้วกันดี แห้วเป็นพืชล้มลุก ไม่ต้องเติมคลุกคลานนะครับ แห้วมีหัว หัวกินอร่อยอีกแบบ ไม่หวานไม่มันมากนัก บางทีเราเรียกว่า "หัวแห้ว" จากที่ไม่ค่อยเข้มข้นในรสชาติคำว่า "แห้ว" จึงใช้พูดกันในความหมายว่าผิดหวัง ไม่สมหวัง มักใช้คำนี้กับตำแหน่งการเมือง หรือไม่ก็ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่หลุดโผ อกหักในตำแหน่งอะไรทำนองนั้น ชื่อของแห้วถูกทำให้เกิดความไม่เป็นมงคลขึ้น คนคิดสงสาร "หัวแห้ว" ไม่รู้ว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดใดแน่  ต้องขออภัยโทษ  เฮ้ยประทานโทษด้วยครับ  คงเป็นจังหวัดที่แห้วมาก  น่าจะไปพูดติดตลกอะไรขึ้นสักครั้ง ว่า  "หัวแห้ว" มีความหมายไปในทางลบ คือผิดหวัง  ไม่ดี  ไม่ได้ความไม่ได้เรื่อง  อย่างนี้เราคิดสงสารแห้วมันหน่อย  ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สมหวัง" เรียกลูกค้าได้มาอีก

          วกเข้าเรื่องเสียที กลอยเป็นพืชมีลำต้นเป็นเถาวัลย์ ภาษาใต้เรียกลักษณะเถาวัลย์ว่า "ย่าน" กลอยเก็บสะสมอาหารที่รากอย่างเผือก มัน  มันเพิ่มหัวของมันทุกปี  หัวที่ออกมาก่อนไม่ได้เน่า  ไม่เสียหานอย่างใด  เถาที่มีอายุ 4-5 ปี จะมีไฟใหญ่มาก   หากขุดขึ้นมาจะได้น้ำหนักหัวกลอยถึงประมาณ 30-40 กิโลกรัม  หากเอาหัวกลอยมาต่อเรียงกันคงได้หลายหัวหลายเม็ด   มิใช่เมตรนะ   ฮะฮา
 
           หัวกลอยสด ๆ มีน้ำพิษเมา  พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า  ถึงฤดูที่มีโรดระบาดของควาย ประมาณเดีอนสามถึงเดือนหก ถึงช่วงเกิดโรคระบาดควายจะตายเกือบหมดฝูง ตัวดวงดีมีไม่กี่ตัว   ที่ว่าดวงดีเพราะตอนนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน  มันตายถึงเต็มทุ่งนา เจ้าแร้งที่อาศัยอยู่บนเขาไกลแสนไกลซึ่งมีตาพิเศษเหมือนกล้องส่องทางไกล  คือสามารถปรับเลนส์ตาได้   ต่างก็มาเยี่ยมเยียนซากเน่าของควาย  กลิ่นเน่าอย่างนี้แร้งกระซิบที่หูซ้ายผมว่า "แซบ" นัก

          คนไม่นิยมกินแร้งเพราะเห็นว่ารูปร่างก็น่าเกลียดน่ากลัว แถมกินของเน่า เมื่อไม่กินก็ลองเล่นสนุกกับมันบ้าง วิธีหนึ่งที่ทำกันคือเอาหัวกลอยมาตำจนละเอียด บีบคั้นเอาน้ำไปราดที่ซากเจ้าทุยผู้ซึ่งหมดลมหายใจ เจ้าแร้งได้กินเนื้อราดแยมกลอย  มันกระซิบที่หูขวากระผมว่า "อร่อยเหาะ" มันเหาะจริง ๆ ด้วย  เหาะอย่างไรโปรดติดตาม คือมันเมาแล้วก็บินวนเวียนจนวุ่นวาย ไม่ถึงกับตาย จึงทำให้เกิดระบำแร้งเหาะ เพลิดเพลินดีน่าชมไม่น้อย ผับแผ่

          ท่านลองนึกภาพดูหากว่าวงระบำวงนี้มีดาวฟ้อน ดาวเต้นเป็นร้อย ๆ มันสนุกแค่ไหน ดาวเต้นทั้งหลายมันอัดไปด้วยดีกรีอันแน่น นักบินประจำเครื่องแต่ละเครื่องตอนฟ้อนระบำเหาะกลายเป็นนักบินชั้นเลวที่ส่งผลจากฤทธิืดีกรีสูง  พิษดีกรีจากเจ้าแรมจันทร์ ไอพ่น เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินโดยสาร เครื่องบินเล็กเหล่านั้นมันชนกันระเนระนาด ลำไหนที่บินลืม  คือบินนานน้ำมันก็หมด หรือเกือบจะหมด เลยต้องร่อนลงจอดที่สนามยอดไม้  แปลกที่แต่ละลำส่วนหัวของเครื่องโงนเงนไปมา มิช้ามินานก็ร่วงลงจากลานจอด คนสัปดนที่ไปเป็นกลุ่มก็ได้เสียงเฮบนความมึนงงของกลุ่มเริงระบำ ผับเผื่อย

          ยังมีข้อปลีกย่อยอีกนิด นี่เป็นการสัปดนสองเด้ง เด้งแรกผ่านไปคือดูระบำฟ้อน เด้งที่สองคือนำนางรำไปกกไว้ที่บ้านประมาณ 1 คืน รุ่งเช้าประมาณห้าโมงเช้าเอานางรำใส่ตะกร้าหาบไปหนักแอ่น  มืด ๆ ยังไม่สว่างเท่าไร  หาบไปกราบเท้าพ่อค้าคนจีนที่รับซือไก่ ขายมันถูก ๆ หน่อย เอ็นดูมันมากแล้ว มันรำมาเมื่อยล้าแล้ว ไปอยู่กับเจ้าสัวดีกว่า  เจ้าสัวคิดในในไม่กล้าบอกผู้ขาย "อั๊วถูกหลอกเตอลีแล้ง" คว้าไปทั้งหาบทั้งนางรำโดยมิต่อรอง กาลเวลาผ่านไปเหมือนโกหก รู่งอรุณเข้าสู่สมัย แสงทองผ่องอำไพ ฉายไปที่นางรำผู้เลอโฉม สีชาดที่แต่งแต้มบนใบหน้า  หัวไหล่ และส่วนอกที่ตึงตันมันบาดใจเจ้าสัวไม่น้อยถึงกับอุทานว่า "ก่ายอ๋ายไหร้" คนที่อยู่ใกล้ ๆ ยังได้ฮากันอีกครั้ง ผับผ่า

          ขอเข้าเรื่องจริง ๆ ก็กลอยมันเมาอย่างที่ว่าแต่คนก็หาวิธีกินจนได้ ร้ายนักมนุษย์นี้ ผมขอเพ้อตามแนวคิดของผมบ้าง เพ้อเรื่องการกำจัดความเมาของเจ้าแรมจันทร์ คุณจะคิดอย่างไรผมไม่ข้องผมไม่เกี่ยว ผมคิดอย่างนี้ ตอนแรกกลอยคงถูกกระแสน้ำพัดพาตอนฤดูน้ำหลาก กลอยที่ขึ้นอยู่ริมห้วยหนองคลองบึง ถูกน้ำเซาะจนไฟกลอยพังพินาศ ต่างร่ำลาจากกันคนละทิศคนละทาง แม้รักกันปานบันได.เฮอะปานใด แต่ถึงบทถึงฉากทุกข์เข็ญก็ต้องปล่อยไปตามธรรมดา ธรรมชาติ ด้วยความอาลัยแม้จะอยู่ร่วมกันหลายปีแต่ตอนนี้ "หัวใครหัวมัน"

          เมื่อมนุษย์แรกไปพบเจ้าแรมจันทร์ที่ถูกน้ำปอกเปลือกให้จนเห็นเยื่อในเป็นสีขาวบ้าง สีเหลืองบ้างตามชาติพันธุ์ของมัน กลอยทางใต้มีอยู่สองชนิดคือกลอยจ้าวซึงมีสีเหลืองและกลอยเหนียวมีสีเหลือง ความเอร็ดอร่อย กลอยเหนียวเกรดเอ  กลอยจ้าวเกรดบี มนุษย์มันซุกซนนะ พอพบกลอยลอยน้ำก็หยิบมาชิมทันที่ นี่มันอร่อย หากนำมาปรุงใส่รสชาติ เพิ่มรสอะไรเข้าไปมันต้องอร่อยกว่านี้ เมื่อถึงหน้าน้ำนองครั้งใดเลยไปเก็บมาเป็นอาหาร ความอร่อยนี้เองที่ต้องสืบค้นว่าเจ้าตัวนี้อยู่ที่ไหน  หาเจอเลยดีใจ ขุดมาต้มกันใหญ่ เมื่อกินเข้าไปเลยกลายเป็นอ้ายแร้ง จอดบนลานเดินในบ้านอย่างไร้ระเบียบกฎจราจร

          ผิดแล้วต้องแกไข เอที่เรากินแล้วไม่เมาก็ตอนที่เก็บมาจากคลองตอนน้ำนอง คิดอย่างนี้จึงขุด กระชากลากดึงเจ้าแรมจันทร์มาหั่นเสียป่นปี้ แล้วไปลอยน้ำนอง ไชโนโห่ร้อง แช่น้ำนองมันไม่เมา การกินกลอยเลยถ่ายทอดมาเรื่อย ๆ สมัยที่ผมยังเด็กเล็กนักพอถึงเดือนสิบสองคุณพ่อจะไปหากลอยเหนียว ทางบ้านเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องการไว้พร้อม เมื่อเจ้าแรมจันทร์เดินทางถึงบ้านรีบบอกเปลือก ลิดเปลือกออก หลังจากนั้นนำกบไสไม้มาหงายท้อง แทนที่จะเอากลไสก็เอาเจ้ากลอยไสกบเสียเอง มันออกมาเป็นชิ้นบาง ๆ ชั้นเยี่ยมเลย นี่ภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้

          เมื่อได้เนื้อกลอยชิ้นบาง ๆ ก็จะนำไปแช่น้ำ ไปหมักว่างั้นเถอะ ใช้ไห หรือโองใส่กลอยหมัก หมักไว้ประมาณ 1-2 คืน การหมักต้องใส่เกลือลงนิดหน่อย น่าจะป้องกันปูดเน่า น้ำไม่ต้องใส่น้ำแรมจันทร์มีมากพอ ตอนที่ไสกลอยน้ำของมันจะออกมาพอสมควร น้ำกลอยนี้ไม่ทิ้งจะเก็บไว้เพื่อหมักมันต่อไป กลอยที่มักจะหอมเปรียว และเนื้อนุ่มขึ้น ลองดมดูช่างหอมชวนชิมนี่กระไร  เมื่อครบกำหนดดองก็จัดการจับใส่ตะกร้า เข่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ขอให้ภาชนะหรือสิ่งที่ใส่กลอยตอนลอยน้ำให้มีรูระบายก็แล้วกัน ทั้งนี้เพื่อชะล้างยางเมาที่เนื้อกลอยให้หายไปประมาณ 30 นาทีต้องไปคนกลอยด้วยมือ 1 ครั้ง ตอนคนจะเห็นว่ามีน้ำแป้งออกจากกลอยสีขาวข้นลอยเป็นทางยาวไปตามสายน้ำ น้ำแป้งขาวที่ออกจากกลอยหมด หรือมีบ้างนิด ๆ เมื่อไรเป็นว่าใช้ได้ ฉะนั้นหากขยันคนไม่ต้องรอให้ถึง 30 นาทีน้ำขาวที่ว่าจะหมดไปเร็ว

          เนื้อกลอยที่สำเสร็จกรรมวิธีแล้วนำมาปรุงแบบสด ๆ ก็ได้ หรือนำไปตากแห้งเป็นวิธีถนอมอาหาร  กลอยแห้งสามารถเก็บได้เป็นปีสองปี กลอยปรุงได้หลายแบบ โม้แบบของคนใต้ที่เรียกว่า "คนเงาะ" แบบนี้ให้นำกลอยมานึ่ง ส่วนมากมักจะเอาข้าวเหนียวปนลงไปด้วยในอัตรา หนึ่งต่อสาม คือ ข้าวเหนียวหนึ่งเจ้าแรมจันทร์สาม นึ่งสุกแล้วนำมาคนให้เข้ากับมะพร้าวขูดควรเป็นมะพร้าวแก่ที่ลูกยังเขียว มะพร้าวห้าวห้ามเด็ดขาด ก็มันไม่อร่อยนี่ คนกับมะพร้าวจนทั่ว ใส่น้ำตาลทายพอประมาณ เติมเกลือเข้าไปพอเหมาะ อร่อยเหาะคุณเอ่ย โม้ว่าแบบใต้ไม่รู้ว่า "คนเงาะ" มันไปตรงกับ "คนกะเหรี่ยง" บ้างไม่  กลอยแกงบวดมักจะเห็นกันทั่วไปก็อร่อยดี ทางใต้อีกแบบที่เห็นกันคือนำเจ้ากลอยห่อไปตองแล้วไปย่างไฟ หรือห่อไปต้องเสร็จก็นำมาใส่กะทะเพื่่อย่างอีกที่หนึ่ง กลอยที่ย่างไฟรสหอมผิดกับนึ่ง ได้กลอยย่างไฟแล้วก็ไม่วายใช้วิธี "คนเงาะ" อีก ก็คนใต้มันอยู่กับ "เงาะ" กับ "ซาไก" นี่

          ปรุงเสร็จแล้วไม่ใช่กินทันที  ต้องให้เจ้าแมวที่นิยมเลี้ยงไว้จับหนูที่บ้านกินก่อน  อิจฉาแมวมาก ๆ เลย  ประเพณีอะไร แฮะอย่าอิจฉาเลยก็เขาเอาแมวเป็นหนูตะเภา กำลังทดสอบว่าเจ้ากลอยมันเมาหรือเปล่า ถ้ามันออกมาเต้นแบบอีแร้งเมื่อไรคนก็อด อย่านะอย่านะมึงอย่าเต้นแร้งเต้นกา จริง ๆ มันก็ไม่เคยมีข่าวปรากฏว่าแมวเมาสักที แต่พับแผ่มนุษย์เราเอาเปรียบแนวตาดำ ๆ ที่เป็นเพื่อร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา

          ทิ้งท้ายหน่อยจ้า อย่างไรก็ดีคิดว่า "กลอย" น่าจะบริสุทธิ์กว่า "แรมจันทร์"  เรื่องเพลงด้วย เรื่องของผมด้วย กลอยน่าจะยกให้เป็นตัวแทนของชาวชนบทที่ยังอยู่แบบเก่า "พอเพียงนิยม"กรรมวิธีทำกลอยแบบชาวบ้านบริสุทธิ์จากสารเคมี หากกลอยตกไปอยู่สังสมัยใหม่ "วัตถุนิยม" การต้องซื้อขายแลกเปลี่ยน ต้องแข่งขันกันทั้งเวลา และเงินทอง กรรมวิธีการทำแรมจันทร์น่าจะเปื้อนด้วยสารเคมมี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าขบคิด ถ้าจะให้กลอยยังเป็นกลอย ก็ควรยึดการอยู่แบบเก่าตามแนวของ "ธรรมชาติธรรม" ท่านลองเปิดเว็บไซต์ของกระผมดูบ้างครับ ผมกำลังนำเสนอแนวคิดเรื่องอยู่แบบเก่าครับ
 
  http://www.naturedharma.com