บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => ห้องนั่งเล่นพักผ่อน => ข้อความที่เริ่มโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 28, กันยายน, 2556, 03:29:36 PM



หัวข้อ: ข้อคิดเพื่อสังคม1
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 28, กันยายน, 2556, 03:29:36 PM
 
    ผมขอนำ "ข้อคิดเพื่อสังคม" จาก www.naturedharma.com  ข้อคิดข้อเขียนเหล่านี้ผมได้เก็บตกจากสภาพสังคมที่พบเห็นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผมมอง  ทุกคนอาจจะมองเหมือนกัน หรือไม่เหมือนกัน นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่างไรก็ดีคิดว่าข้อเขียนเหล่kนี้เก็บคุณค่าได้บ้าง  จึงขอนำมาให้ท่านได้สัมผัส  ในหลายแง่หลายมุม จะทยอยลงกันต่อไปเรื่อย ๆ ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ติดตาม มีข้อคิดเห็นใดท่านแสดงความคิดเห็นไว้ด้วย ถือเป็นพระคุณยิ่ง
      
     ประทีป  วัฒนสิทธิ์
     ธรรมชาติธรรม
     29 กันยายน 2556



(http://upic.me/i/tw/pratat1.jpg) (http://upic.me/show/34425007)

http://www.naturedharma.com/data-1445.html


หัวข้อ: Re: ข้อคิดเพื่อสังคม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 28, กันยายน, 2556, 03:30:02 PM


 ผมสอนลูกผิด http://www.naturedharma.com/data-1445.html

     จะดีหรือไม่ถ้าผมบอกชาวบ้านให้รู้ว่า "ผมสอนลูกผิด" เกิดจากความผิดประการใดก็แล้วแต่ ผิดเพราะสภาพแวดล้อม ผิดเพราะไม่กระหนักในสิ่งสำคัญที่จะปลูกฝังลูก หรือผิดเพราะคิดไม่ถึง ผมเองคิดว่าเป็นเรื่องดีที่สุดที่ได้มาบอกกล่าวเรื่องนี้ อย่างน้อยพอเป็นแนวคิดก็ยังดี
     ที่บอกว่าผิดเพราะสภาพแวดล้อมขออธิบายขยายความดังนี้ สมัยเมื่อ 40 ปีก่อน สมัยนั้นผมยังเป็นเด็ก สภาพแวดล้อมที่ผมได้สัมผัสคือความลำบาก ทุรกันดาร จะไปไหนมาไหนต้องเดินลุยโคลนตม สภาพเช่นนี้สอนเราให้เป็นคนแข็งแกร่ง หรือไม่ก็สถานการณ์บีบบังคับให้เราต้องทำ เช่น หุงข้าวด้วยไม้ฟืน ด้วยถ่าน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม เหล่านี้ก็ฝึกให้เรามีจิตใจแข็งแกร่ง เช่นกัน ส่งผลให้มีอดทน มีความพยาม รู้จักรับผิดชอบ

     ขอเล่าชีวิตของเด็กเมื่อ 40 ปีก่อน ขอเล่าสัก 4 เรื่อง เรื่องรับผิดชอบหุงหาอาหาร การไปโรงเรียน เรื่องซักผ้า หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

     ประการแรกคือเรื่องหุงหาอาหาร ทีกล่าวว่าหุงหาอาหาร เพราะมีทั้งการปรุง และการหาอาหารมาปรุง (ในบางครั้ง)

     ผมหุงข้าวเป็นเมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ ก่อนนั้นส่วนใหญ่พี่ ๆ จะเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อพี่เห็นว่าพอจะฝึกน้องได้ก็จะสอนน้องให้รับผิดชอบบ้าง การหุงข้าวสมัยนั้นใช้ถ่านหรือไม้ฟืน ขอยกกลอนสอนศิษย์ประกอบความเข้าใจ

     ปรุงอาหารสมัยนั้นขั้นตอนยาก
ความลำบากสอนสิ่งดีมากมีถม
ยามก่อไฟกับฟืนฝืนอารมณ์
รบกับลมดับไฟไม่ได้ความ

     ต้องอดกลั้นอดทนจนไฟติด
รวมพลังจิตเพียรทำซ้ำสองสาม
คอยสุมไฟพัดเป่าเข้าชั่วยาม
ข้าวเม็ดงามใกล้สุกรุกไฟฟืน

      คอยเช็ดน้ำดงหม้อรอข้าวสุก
โยงข้าวรุกหอมหวนน่าชวนชื่น
สิ่งเรียนรู้แสนดีที่ยั่งยืน
ทุกวันคืนบ่มนิสัยให้สันดาน

      บางครั้งไม่มีกับข้าวจำเป็นต้องจัดหา หากไม่มีอาหารทีเก็บถนอมไว้ในรูป แห้ง ย่าง รมควัน ฯลฯ ก็จำเป็นต้องจัดหาจากแหล่งต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายถึงซื้อ ขอยกกลอนสอนศิษย์ อธิบายความ

     หากับข้าวปูปลาเวลาว่าง
รู้แนวทางเสาะแสวงแห่งวิถี
ภูมิปัญญาหลายหลากล้วนมากมี
หลายวิธีรับรู้จากปู่ตา


      เสาะพืชพันธุ์ผลไม้สารพัด
อีกทั้งสัตว์บกน้ำตามเสาะหา
เพียงเพื่อท้องเพื่อปากฝากชีวา
เก็บเกี่ยวมาแต่พอเพียงเลี้ยงครอบครัว

      จะเห็นว่าการหุงหาอาหารสมัยก่อนนั้นไม่เรื่องที่ง่ายนัก ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน บางครั้งก็ต้องแก้ปัญหา ประสบการณ์เหล่านี้ล้วนแต่สร้างความแข็งแกร่ง ในเรื่องความอดทนพยายามได้เป็นเยี่ยม

     ประการที่สองคือเรื่องไปโรงเรียน ข้อนี้จะชี้ให้เห็นว่าคนสมัยก่อนต้องเดินไปโรงเรียน อันที่จริงเรื่องนี้อาจจะรวมไปถึงการเดินทางไปที่อื่น ๆ ก็ได้ ขอยกคำกลอนสอนศิษย์ประกอบ

     ฝึกความแกร่งเช้าเย็นเป็นนิสัย
จะไปไหนบุกป่าช่างน่าหลง
ทางลดเลี้ยวเคี้ยวคดในไพรพง
ไม่พะวงบากบั่นแม้กันดาร

     ถึงจุดหมายปลายทางอย่างถูกต้อง
จะฟ้าร้องฝนพรำจำอาจหาญ
พิษภัยพืชภัยสัตว์อาจรอนราญ
มิสะท้านสะทกหวั่นตกใจ

     ความแข็งแกร่งสอนเราเอาเสร็จสิ้น
ช่างชาชินมิอาทรมิอ่อนไหว
จะบุกป่าขึ้นเขาลำเนาไพร
ถึงแม้ไกลเหมือนใกล้คล้ายที่เดิม

     เกิดจากความแข็งแกร่งแห่งลำบาก
ประหนึ่งภาคปฏิบัติจัดส่งเสริม
สร้างเสริมจิตเสริมกายได้เต็มเติม
ยามแรกเริ่มวัยเยาว์อยู่เนานาน

     จึงรู้ผิดรู้ถูกปลูกนิสัย
มีจิตใจมั่นคงตรงมาตรฐาน
ทำอะไรถูกต้องสอดคล้องการ
เสริมสันดานสิ่งดีมีคู่กาย

     มีความคิดตริตรองต้องเหตุผล
รู้จักตนพาพึ่งซึ่งจุดหมาย
เป็นคนไข้ข้ามพ้นขีดอันตราย
อยู่สบายในสังคมสมดังปอง

    ด้วยสภาพพื้นที่ในการเดินทางมักจะกันดาร เช่น ต้องบุกน้ำ ลุยโคลน บุกป่า ลงห้วย ขึ้นเขา จึงต้องมีใจเด็ดเดี่ยว อดทน พยายาม ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค์ต่าง ๆ นานา ให้ได้ สมัยนั้นร้องเท้าก็หาซื้อยาก ชาวชนบทนิยมเดินเท้าเปล่า แต่ถ้ามีก็คงใช้เดินบุกป่า ขึ้นเขาเท่านั้น คงใช้ไม่ได้กับที่เป็นน้ำ และโคลนแน่นอน มักจะใช้ร้องเท้าเพื่อเดินบุกป่า หรือตอนถางป่าเท่านั้น เป็นรองเท้าที่ทำใช้เอง โดยทำกับหนังวัว หนังควาย

     เรื่องที่สามคือเรื่องซักผ้า เด็กสมัยนั้นพ่อแม่มอบหมายให้ซักเอง การทำอยู่ประจำ เป็นเคยชิน ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าไม่หนักหนาอะไร รู้สึกสนุกด้วยซ้ำ เท่ากับสร้างความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ยกกลอนสอนศิษย์สะกิดใจ

    เสื่อที่นอนหมอนมุ้งรุ่งเก็บจัด
ทำถนัดไม่เหนื่อยหนักแม้ซักผ้า
พ่อแม่ใช่คาดคั้นคอยบัญชา
ฤๅระอาเบื่อหน่ายทำได้ดี

     ประการสุดท้ายคืองานที่ได้รับมอบหมาย พ่อแม่ฝึกให้ลูกรู้จักรับผิดชอบงาน ในแต่ละวันพ่อแม่จะมอบหมายหน้าที่ให้ลูกคนนั้นคนนี้ตามความเหมาะสม โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป งานเหล่านี้เช่น ตักน้ำใส่โอ่ง หาไม้ฟืน เผาถ่าน เก็บผัก ทำสวนครัว เอาอาหารให้ไก่ ฯลฯ ลูกทุกคนได้รับมอบหมายจากพ่อแม่หมุนเวียนกันไปตามความเหมาะสม


     ประสบการณ์ด้านอื่นหยิบยื่นให้
สร้างกายใจมีพลังดังขุนเขา
เด็กเจ็ดปีทำงานการหนักเบา
ตื่นแต่เช้าหุงหาข้าวปลาแกง

    เปิดเล้าเป็ดเล้าไก่เตรียมไล่ทุ่ง
พอใกล้รุ่งจูงควายไม่หน่ายแหนง
ทั้งกายใจหมั่นเพียรไม่เปลี่ยนแปลง
ดังหนึ่งแกล้งออกฤทธิ์ผิดธรรมดา

    ในความเป็นจริงเด็กยุคนั้นบางคนต้องรับผิดชอบงานมากกว่าที่กล่าวมา แม้จะงานที่ไม่จัดในประเภทงานหนักก็จริง แต่งานประเภทนี้ล้วนสร้าง ล้วนฝึกนิสัยด้านดีอย่างมาก ที่กล่าวมาคือเรื่องสภาพแวดล้อมในสมัยเมื่อ 40 ก่อน เป็นตัวช่วยฝึกฝนคนให้เป็นคนมีความแข็งแกร่ง อดทน พยามยาม รู้จักรับผิดชอบงาน รู้จักช่วยเหลือ ฯลฯ คุณธรรมเหล่านี้ล้วนสร้างคนให้เป็นคนดี มีคุณภาพ

     ถึงยุคของลูกผม สภาพเช่นนั้นมันหมดไป เด็กสมัยใหม่จึงไม่พบกับปัญหาอุปสรรค์ดังกล่าว เมื่อสังเกตพบว่าว่าพฤติกรรมของลูกในด้านต่าง ๆ ผิดกับตัวเอง ก็คิดทบทวนหาคำตอบ ตั้งสมมุติฐาน และคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคม ถ้าเราเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาก่อนก็คงหาแนวทางแก้ปัญหาโดยหาสิ่งทดแทน หรือวางแผนสร้างงานให้ลูกได้รับผิดชอบที่พอจะใกล้เคียงกัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสิ่งที่ควรจะให้ลูกทำเรากลับไม่ให้ทำ เช่นซักผ้าของตนเอง ล้างจาน เป็นต้น ผิดเพราะไม่กระหนักที่จะปลูกฝังลูกให้รู้จักรับผิดชอบให้รู้จักอดทน รู้จักความพยายาม รู้จักแก้ปัญหา

      ขอยกตัวอย่างสนับสนุนเรื่องนี้อีกประเด็น ลูกของคนใกล้บ้านคนหนึ่ง พ่อต้องตื่นเช้าขับรถรับส่งเด็กนักเรียน แม่ต้องไปกรีดยางพารา ลูกวัยเจ็ดขวบต้องรับผิดชอบตัวเอง ในเรื่องอาหาร อาบน้ำ แต่งตัว ถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์ ช่วยแม่เก็บน้ำยาง ปฏิบัติเช่นนี้อยู่ตลอดจนถึงมัธยมศึกษาปีที่หก เด็กคนนี้มีพฤติกรรมคล้ายกับผมเมื่อตอนเป็นเด็กคือ มีความอดทน ขยัน รู้จักรับผิดชอบ จึงมีความเห็นว่า แม้ว่าปัจจุบันสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไป คลายปัญหา คลายอุปสรรค์จากสมัยก่อนไปมาก ซึ่งเด็กสมัยใหม่ไม่ได้ประสบ แต่หากเด็กได้ถูกฝึกให้รับผิดชอบงาน หรือเขาต้องทำด้วยสภาพที่จำยอมก็ตาม ย่อมส่งผลต่อการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็กได้เช่นกัน

     การนำเรื่อง "สอนลูกผิด" น่าจะมีประโยชน์ต่อท่านที่หลงผิด หรือนึกไม่ถึงอย่างผม จะได้วางแผนให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

http://www.naturedharma.com/data-1445.html




 


หัวข้อ: Re: ข้อคิดเพื่อสังคม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 29, กันยายน, 2556, 06:10:02 PM


 
สื่อไม่เป็นธรรมนำชาติล่มจม
 

ขอเกริ่นนำด้วย บทกลอนสอนศิษย์ (กลอนเพื่อสังคม)


สื่อข้อมูลไม่โปรงใสให้กรองยาก
กรองลำบากซ้อนเร้นเป็นปัญหา
ความเที่ยงตรงฤๅคงเส้นฤๅคงวา
สิ่งควรค่าเห็นผิดคิดเอนเอียง

 

ยิ่งใจเราฝักใฝ่ใครอีกข้าง
จิตจะวางทางธรรมไม่ตรงเที่ยง
ใส่เสริมความเบนถ้อยที่ร้อยเรียง
ควรจะเลี่ยงการวิจารณ์พานผิดไป

 

ยิ่งฝ่ายเหล่าผู้เฒ่าเหล่าเมธา
ถ้อยวาจาคิดเขียนคนเลื่อมใส
ความคิดเห็นต้องเที่ยงธรรมประจำใจ
บ้านเมืองไทยไปรอดมิวอดวาย

 

หากเสแสร้งแต่งเติมเพิ่มสิ่งผิด
เป็นภัยพิษต่อชาติสุดคาดหมาย
ดิ่งนรกตกสวรรค์เร่งวันตาย
ชาติมลายสูญสิ้นแผ่นดินทอง

 

ข่าวสารสื่อถือสัจจะไร้อสัตย์
เป็นบรรทัดคุณธรรมไม่ดำหมอง
เสริมสิ่งดีสร้างสรรค์เป็นครรลอง
ช่วยประคองคุณธรรมหลักค้ำจุน

 

ผลประโยชน์บังตาพาวายวอด
ชาติไม่รอดชาติตายไม่วายวุ่น
ข้อคิดเขียนไร้ราคีมีค่าคุณ
เพิ่มพูนทุนหนุนค้ำนำชาติพัฒน์

 

ทำสิ่งใดไม่แยกข้างบ่างช่างยุ
มุ่งบรรลุจุดหมายที่ไร้สัตย์
ไม่คำนึงถึงชาติเพื่อราษฎร์รัฐ
ภัยพิบัติใหญ่หลวงต่อปวงชน

 

จงร่วมใจไทยทั้งผองเป็นน้องพี่
สามัคคีกันเถิดประเสริฐล้น
นึกถึงเพื่อนเผ่าพันธุ์สำคัญตน
ค่าของคนเทียบเท่าจงเข้าใจ

 

          "ธรรม" ทุกอย่าง ทุกเรื่องต้องยึด "ธรรม" เมื่อไม่ยึด ธรรม ก็มีแต่ความวุ่นวาย
เดี๋ยวนี้ธรรมะหนีห่างจากจิตใจคนไปทุกวัน คนที่เคยมีธรรมะ กลับไม่มีธรรมะ ฉะนั้นคนที่จะเสริมธรรมะ เดินเข้าหาธรรมะจึงมีน้อยลงทุกที ยิ่งสภาพแวดล้อมรอบตัวเราหาความเป็นธรรมยากเท่าไร ก็ย่อมจะทำให้เด็กทุกคน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งต่างวิ่งห่างไกลธรรมไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันได้รับรสธรรมะ และนั้นไม่มีวันที่จะมีความสันติสุขในสังคมมนุษย์

           สื่อสารมวลชนปัจจุบันกำลังขาดธรรม และยิ่งนับวันจะทวีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสังคมนิยมวัตถุมันแก่ตัว สังคมแบบนี้ สังคมตามแนวนี้เป็นสังคมที่เห็นแก่ผลประโยชน์ฝ่ายตน เห็นแก่ประโยชน์พวกตน เมื่อมีผลประโยชน์ตัวธรรมย่อมเสื่อมลงเป็นธรรมดา จึงมีการแย่งชิงกันอย่างไม่อายต่อบาป เพราะพวกขาดธรรม จะไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ หรือรู้แต่ไม่นำมาปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะกลัวผลประโยชน์จะไม่ได้กับตัวนั่นเอง แน่นอนเมื่อแย่งชิงกันก็ต้องมีฝ่ายมีพวก สื่อซึ่งเป็นฝีมือของมนุษย์ สื่อเป็นการปฏิบัติการของมนุษย์ คนที่ทำสื่ออยู่กับฝ่ายผลประโยชน์ด้วยเมื่อใด แน่นอนที่สุดความเอนเอียงย่อมมีแน่นอน หากคนที่ทำสื่อไม่อยู่กับผลประโยชน์ฝ่ายใด แน่นอนที่สุดย่อมเป็นสื่อที่มีธรรม ผู้ทำสื่ออย่างหลังนี้ที่สังคมต้องการ

          สื่อที่เป็นธรรมจะช่วยนำชาติบ้านเมืองสงบสุข สื่อที่ไม่เป็นธรรมจะนำชาติบ้านเมืองยิ่งไร้ซึ่งสันติสุข สังคมนิยมวัตถุเป็นสังคมที่วุ่นวายหาความสงบสุข หาความสันติสุขอย่างแท้จริงไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งสื่อไม่เป็นกลาง ไร้ธรรม ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กันมากขึ้นเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยิ่งไร้สันติสุขเป็นทวีคูณ อย่างที่เห็นชัดเจนอยู่ในสังคมปัจจุบัน (ปี 2549 เมืองไทยเกิดรัฐประหาร)

         ปัจจุบันสื่อนั้นมีมากมาย หนังสื่อพิมพ์ หนังสือทั่ว ๆ ไป โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เนต หากผู้มีโอกาส มีอำนาจที่จะใช้สื่อเหล่านี้โดยการให้ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่โปร่งใสเสียแล้ว ผู้บริโภคที่ไม่ได้กลั่นกรอง ได้คิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นย่อมมีอันตรายในการตัดสินใจ เพราะตัดสินใจไปผิด ๆ ตามที่ได้รับข้อมูลจากสื่อนั้น ๆ ด้วย ยิ่งผู้ให้ข้อมูลทางสื่อเหล่านี้ เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือในสังคมด้วยแล้ว ผู้บริโภคข้อมูลทั้งหลายคงไม่เคลือบแคลงใด ๆ ทั้งสิ้น นี่แหละที่ว่า "สื่อไม่เป็นธรรมนำชาติล่มจม"

         คงจะแสดงความคิดไว้สั้น ๆ แค่นี้ เพราะเห็นว่าบทกลอนที่นำเกริ่นเรื่องมาก่อนหน้านี้ มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวพอสมควร

         นี่มาชี้นำให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสังคมนิยมวัตถุ และจากที่ได้แสดงข้อคิดข้อเขียนจากหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ บทที่นำเสนอไว้ หลายคนอาจจะเริ่มนึกถึง "ธัมมิกสังคมนิยม" เริ่มนึกถึง "พระศรีอาริย์" และนึกถึง "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" ขอได้เป็นอย่างที่ผู้เขียนได้คิดไว้เถิด "สาธุ"

http://www.naturedharma.com/data-1622.html

 


หัวข้อ: Re: ข้อคิดเพื่อสังคม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 26, ตุลาคม, 2556, 08:16:17 AM


ปริญเอ๋ย ปริญญา
                 ถ้าผมพูดว่าจบปริญญาไม่ดีเลย หลายคนคงด่าผมทันที แต่ถ้ามาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล  คงไม่ด่าผม แต่กลับมองผมในอีกแง่มุมหนึ่ง

                 ขอทำความเข้าใจเรื่องการศึกษา ทุกประเทศทั่วโลกต่างสรุปผลว่า  กาศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคม หากประชากรในประเทศมีความรู้ดี ในหลายระดับ หลายสาขาวิชา   ก็จะนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนางานที่รับผิดชอบให้ก้าวหน้า ให้มีประสิทธิภาพขึ้น   นี่คือมุมมองเพื่อมุ่งการแข่งขันด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

                 การที่มีความเชื่อจนฝังหัวว่าปริญญามีค่า มีคุณอย่างนี้ อย่างนั้น ทำให้สังคมเกิดค่านิยมว่า    "คนเราต้องมีปริญญา" ถึงกับพูดว่าเรียนจบไปแล้วได้ทำงาน หรือไม่ได้ทำ ก็ยังดี ให้มีปริญญาเอาไว้ก่อน

                 ตอนนี้คำพูดที่ว่า "เรียนจบไปแล้วได้ทำงาน หรือไม่ได้ทำ ก็ยังดี ให้มีปริญญาเอาไว้ก่อน"   ชักจะเกิดความลังเลขึ้นมาบ้างเนื่องจากปริญญาตกงานเพิ่มมากขึ้น  พ่อแม่ที่ส่งให้ลูกเรียนถึงขั้นปริญญาในปัจจุบันต้องใช้เงินจำนวนเป็นหลักล้าน ซึ่งถือว่าไม่ใช่น้อย    เมื่อมานั่งคิดทบทวน เกิดมีคำถามในใจขึ้นบ้างว่า "ถ้าเป็นการลงทุน ขาดทุนหรือไม่ หากนำเงินที่ลงทุนก้อนนี้    มาลงทุนด้านอื่น ให้ลูกดีหรือไม่"     ความคิดทำนองนี้ได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมหนาหูขึ้น

                ตามความเป็นจริงตอนนี้ผู้ที่จบการศึกษาสายอาชีพ ระดับ ปวช. และ ปวส. มีงานรองรับมากที่สุด  บางครั้งปริญญาจึงไม่มีความจำเป็นมากนัก

               เมื่อมีการแข่งขันด้านธุรกิจทำให้หน่วยงานเพิ่มขึ้น ไม่ว่า ของรัฐ หรือเอกชน        ความต้องการผู้มีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น จะเห็นว่าสถานศึกษาต่าง ๆ เปิดสาขาวิชาใหม่ ๆ เพิ่มมากมาย  ต่างก็โฆษณาหาผู้เรียน ทั้งของรัฐ และเอกชน จึงเกิดการแข่งขันทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย

               ผลการแข่งขันทางการศึกษาในยุคการแข่งขันทางเศรษฐกิจ มีผลในกากำหนดกฎเกณฑ์ ระดับวุฒิการศึกษาในตำแหน่งต่าง ๆ ของหน่วยงานเพื่มขึ้น ตอนนี้บางตำแหน่งงานกำหนดระดับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทเพิ่มขึ้น   และในไม่ช้าก็คงกำหนดขั้ปริญญาเอกตามมา เมื่อก่อนหลักสูตรปริญญาโทต้องเรียนจำนวน2 ปัจจุบันหลักสูตร 1 ปีก็มี   ไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้ ขอให้ท่านได้คิดดูเอาเอง

               เมื่อการแข่งขันทางการศึกษา การรับนักศึกษาเข้าเรียนก็มีการแข่งขันกันโฆษณาคุณภาพของสถานศึกษา    ของผู้สอน ซึ่งถ้ามองให้ดีจะเกิดมุมมองที่น่าคิดในหลาย ๆ เรื่อง และที่น่าคิดที่สุดคือ  จบมาแล้วว่างงาน  และเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับทุกปีถามว่าในจุดนี้รัฐบาลได้ควบคุม ได้กำกับดูแลมากน้อยเพียงใดในเรื่องผลิตนักศึกษาตามสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาด  และสมดุลกับจำนวนที่ต้องการหรือไม่    น่าจะตอบว่าไม่   หรือหากมีก็ยังทำกันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

               เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก หากศึกษาข้อมูลกันอย่างจริงจัง ทั้งของรัฐและเอกชน รู้ข้อมูลสถานศึกษาที่ผลิต    รู้ข้อมูลการความต้องการเพิ่มของบุคลากรในแต่สาขาในแต่ละปี รู้ข้อมูลบุคลากรที่ต้องเลิกจ้างในแต่ละปี  สามประเด็นนี้ก็เพียงพอ แต่ต้องละเอียด   และรอบคอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากซับซ้อนดังที่กล่าวไว้ตอนต้น  การผลิตบุคลากรก็จะได้ตรงตามความต้องการในสาขาวิชา และวุฒิการศึกษา  เป็นการแก้ปัญหาการว่างงานได้แน่นอน

               ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการจัดหางานซึ่งปัจจุบันก็มีหน่วยงานกำกับดูแล  เรื่องนี้หากเพียงแต่คอยกำกับดูแล  ในการหางานเพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาผู้จบปริญญาว่างงานได้  การทำงานที่สัมพันธ์กันระหว่างหน่วยงานจัดหางาน กัสถาบันการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง   ต้องมีการวางแผนร่วมกัน

               เรื่องการจัดการศึกษา และการจัดหางานเป็นเรื่องใหญ่มาก ยิ่งประชากรเพิ่มขึ้น  ยิ่งมีการแข่งขันด้านธุรกิจเพิ่มขึ้นยิ่งการสะสมการกักตุนในรูปแบบต่างซ่อนเร้นแอบแฝงทวีความรุนแรงขึ้น  และรวมถึงเรื่องฟุ่มเฟือยตามค่านิยมของสังคมที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ   สาเหตุดังกล่าว หากไม่มีการวางแผนที่ดี   คนจะว่างงานเพิ่มขึ้น การศึกษาสูญเสียเปล่าเพิ่มขึ้น ที่ว่าการศึกษาสูญเสียเปล่าก็คือ การศึกษาต้องลงทุน  ต้องเสียเวลาที่ใช้ไปในเวลาเรียนอันยาวนาน   สิ่งที่เรียนมาไม่ได้นำมาใช้ หรือหันไปทำงานอื่นที่ไม่ถนัด  ทำอย่างไม่มีคุณภาพ   เป็นการสร้างปัญหา เพิ่มภาระให้ตนเอง และหน่วยงานอีกด้วย

                แนวทางหนึ่งถ้าเป็นไปได้ และทำอย่างจริงจัง น่าจะแก้ปัญหาเรื่องการสูญเปล่าทางการศึกษาได้บ้าง  คือการติดตามผู้เรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ทำแฟ้มประวัติอย่างละเอียด รู้ข้อมูลทุกด้าน   และที่สำคัญรู้ว่าเด็กคนนี้น่าจะส่งเสริมด้านใด จากนั้นก็ปูพื้นฐานให้เขา เขาก็ชอบ เขาก็รัก   ส่วนนี้ผู้ปกครองต้องรับรู้ และพร้อมที่จะส่งเสริมตามคำแนะนำ หรือตามการแนะแนวของโรงเรียน   จากประถมศึกษาส่งไปถึงชั้นมัธยมศึกษา   เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่สามจะส่งเสริมให้เรียนสายอาชีพ  หรือเรียนต่อมัธยมศึกษาปีที่หก   ให้โรงเรียนเป็นผู้กำหนดเป็นผู้ควบคุมดูแล

               เพื่อให้สอดคล้องกับงานที่รองรับ การผลิตนักเรียน นักศึกษาต้องมีความสมดุลระหว่างกัน   เรื่องของคุณภาพคงไม่ต้องห่วงเพราะนักเรียน นักศึกษาเหล่านี้ เรียนด้วยใจรัก   เนื่องจากศึกษาเล่าเรียนในวิชาที่ตนชอบ และที่สำคัญได้วางพื้นฐานมาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา  ประเด็นที่เกี่ยวข้องสำคัญอย่างมากเรื่องนี้ คือต้องโยงไปถึงการจัดทำหลักสูตรให้ผู้เรียนเป็นสำคัญด้วย

              เมื่อจัดระบบได้อย่างนี้ และได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนก็ไม่ว่างงา   การปฏิบัติงานของบุคลากรที่ผลิตมาก็ย่อมมีคุณภาพ ขอสรุปย้ำอีกครั้งว่าไม่มีการสูญเปล่าทางการศึกษา   ช่วยขจัดคนว่างงาน และที่สำคัญคือได้บุคลากรที่มีคุณภาพ   ที่กล่าวมาน่าจะสอดคล้องกับเรื่องที่ว่า "ปริญญาเอ๋ยปริญญา"     และจากที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า "ถ้าผมพูดว่าจบปริญญาไม่ดีเลย หลายคนคงด่าผมทันทีแต่ถ้ามาพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล คงไม่ด่าผมกลับมองผมในอีกแง่มุมหนึ่ง"

               นี่เป็นแนวคิดให้แก่สังคมที่มีการแข่งขันจนไม่ลืมหู ลืมตา จนทุกคนในสังคม  ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการทั้งหลายชาวบ้านร้านตลาดทุกมุมเมืองฝังหัวในเรื่องการหาเงินหาทองอย่างเดียว   ไม่หันมามองทบทวนการดำเนินชีวิตที่ดีกว่า  หรือหาแนวคิดอื่นที่น่าจะดีกว่านี้ถ้ายังเวียนวนอยู่ในสังคมระบอบนี    ก็อาจใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างที่เสนอไว้

               แต่หากอยู่แบบสังคมระบบ "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" ที่ผมกำลังนำเสนอผ่านเว็บไซต์   http://www.naturedharma.com     ถอยหลังมาอยู่แบบเก่า   เปลี่ยนแปลงสังคมใหม่  จากสังคมปัจจุบัน คือสังคม "ระบบวัตถุนิยม"   มาเป็นสังคมแบบเดิม ๆ คือสังคม "ระบบพอเพียงนิยม"    ซึ่งต่างกันคนละรูปแบบ เรียกว่าหน้า มือเป็นหลังมือ   ปัญหาที่หยิบยกมากล่าวตั้งแต่ต้นก็คงไม่มี    ปัญหาไม่มีความวุ่นวายก็ไม่มี  ท่านลองเข้าอ่านแนวคิดได้   ขอกราบขอบพระคุณยิ่ง
 


หัวข้อ: Re: ข้อคิดเพื่อสังคม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 29, ธันวาคม, 2556, 08:08:13 AM

 
                                                            สุขภาพมาก่อน

        ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก ประกาศเป็นจุดยืนว่า "เรื่องสุขภาพของประชาชนต้องมาก่อน" จากจุดยืนตรงนี้จึงใคร่นำเสนอแนวคิดเรื่องปัญหาสุขภาพของประชาชนต่อผู้บริการในรัฐบาล หรือผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีความรู้ความสามารถทุกระดับในเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นความสำคัญและช่วยกันหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาต่อไป

       ความเป็นจริงที่ประจักษ์ขณะนี้คือ โรงพยาบาลของรัฐขาดบุคลากร ขาดเครื่องมีออุปกรณ์ด้านการแพทย์ ทำให้การบริการล่าช้าไม่ทั่วถึง ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สรุปว่าการดูแลสุขภาพของประชาชนยังด้อยคุณภาพ รัฐบาลต้องรับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ให้มากขึ้น

        เหตุที่รัฐบาลแต่ละสมัยยังแก้ไข ปรับปรุง หรือถึงขั้นพัฒนาในเรื่องนี้ไม่ได้ตามที่น่าควรจะเป็น นั้นน่าจะสืบเนื่องจากสาเหตุใหญ่คือเรื่องการจัดงบประมาณด้านนี้ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุงบประมาณถูกผลักดันไปเรื่องอื่น ๆ จะสาเหตุใดไม่ขอกล่าวถึง แต่ขอทวงติงว่า บรรดาผู้แทนของประชาชนควรมีวิสัยทัศน์ ประกอบกับความความสุจริตใจ แล้วจะมองภาพรวมออกว่า งบประมาณเรื่องใดควรตัด ควรเพิ่ม ควรให้ความสำคัญมากน้อย อะไรต้องทำก่อนหลัง ทั้งนี้ต้องมีจิตวิญญาณที่จะตัดสินใจอย่างถูกต้องโปร่งใส นี่คือผู้แทนของประชนที่แท้จริงและหากพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบด้วยเหตุผลอื่น ๆ ประกอบคิดว่าความจำเป็นเรื่องสุขภาพของประชาชนควรมาก่อน

          โรงพยาบาลขาดบุคลากร ขาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เป็นเรื่องสร้างความเสียหายอย่างมาก ปัญหาที่เกิดคือการรักษา หรือการวินิจฉัยโรคของแพทย์เป็นไปอย่างฉาบฉวย ขาดอุปกรณ์การดูแลรักษาก็ขาดประสิทธิภาพ ขาดแพทย์เฉพาะทางทำใหผู้ป่วยเสียโอกาสซึ่งถือว่าผิดพลาดอย่างยิ่ง คล้ายเป็นการปล่อยปละละเลย ไร้ซึ่งคุณธรรมด้วยซ้ำ

         หากจำนวนผู้ป่วยมาก แต่มีแพทย์น้อยการวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วยก็จะเป็นไปอย่างฉาบฉวยเนื่องจากรีบร้อนเพื่อตรวจให้หมด ให้ทันเวลา ดังนั้นผลที่ออกมาอาจมีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้มาก เมื่อจ่ายยาไม่ตรงกับโรค ผู้ป่วยก็ไม่หาย เปลืองเปล่าทั้งการใช้ยา และเปลืองเปล่าต่อสุขภาพของประชาชน

        หันมาเรื่องการขาดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก โรงพยาบาลประจำอำเภอมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางน้อยมาก การรักษาเฉพาะทางถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลจังหวัด อันที่จริงโรงพยาบาลประจำอำเภอควรมีศักยภาพการบริการที่เท่าเทียมกับโรงพยาบาลจังหวัด

         บุคลากรที่ควรกล่าวถึงเช่นกันคือ พยาบาล บุคลากรด้านนี้ยังไม่เพียงพอเช่นกัน มีประเด็นหนึ่งที่น่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับขวัญ และกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานคือเรื่องลูกจ้างเดี๋ยวนี้พยาบาลที่เป็นลูกจ้างมีจำนวนมาก หากค่าตอบแทน สวัสดิการไม่เท่าเทียมกับข้าราชการประจำ ทำให้ขวัญ และกำลังใจในการทำงานขาดหายไป ปัญหาคือคุณภาพของงานตามมาอย่างแน่นอน รัฐจึงจึงต้องเห็นความสำคัญเรื่องนี้ให้มากเช่นกัน ไม่ใช่คิดแต่เพียงลดรายจ่าย ต้องคำนึงถึงคุณภาพงานเป็นสำคัญด้วย

        เรื่องใหญ่อีกเรื่องคือเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์บางอย่างมีราคาแพงเนื่องจากต้องสั่งซื้อต่างประเทศ แม้จะแพงเท่าไรหากผันงบประมาณได้ก็สามารถที่จะจัดการให้เสร็จสมบูรณ์ได้ตามต้องการ ทั้งนี้ต้องฝากไว้กับผู้แทนของปวงชน และนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ

        เรื่องราว และปัญหาสาเหตุต่าง ๆที่กล่าวมา พอจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องนำมาวิเคราะห์เจาะลึก เพื่อหาข้อแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาให้ถูกจุดต่อไป อย่างไรก็ดีใคร่ขอเสนอความคิดไว้บ้างตามสมควร

         ประเด็นแรกคือการบริหารจัดการอย่างไร ต่อสถานีอนามัย ซึ่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็น "โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ.... "   โรงพยาบาลอำเภอ และรวมทั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัด ถึงให้เกิดศักยภาพในการให้บริการดี และระบบงานที่ประสานเกี่ยวข้องครบวงจร เพื่อการขับเคลื่อนงานให้เกิดคุณภาพ และประหยัด ด้านความพร้อมของอาคารสถานที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จะเห็นว่ามีสถานีอนามัยทุกตำบล มีโรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง โรงพยาบาลประจำจังหวัดก็มีครบถ้วน เพียงแต่ให้มีการบริหารจัดการที่ดีที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น  

         ขอนำเสนอให้โรงพยาบาลจังหวัดเป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลศูนย์เป็สถานผลิตแพทย์ใหม่ ส่งเสริมสนับสนุนแพทย์ หรือผลิตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ศุนย์ข้อมูลด้านสาธารณสุข ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับยาและการรักษา เกี่ยวกับโรคภัย เครื่องมือแพทย์หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และประการสุดท้ายคือให้ เป็น้ศุูนย์รักษาผู้ป่วยเฉพาะทาง ที่ต้องรักษาบำบัดเป็นพิเศษกว่าโรงพยาบาลอำเภอ

         การผลิตนักศึกษาแพทย์ใหม่ที่โรงพยาบาลศุนย์เป็นเรื่องง่าย และทำสะดวก เพราะส่วนสำคัญที่ส่งเสริมสนับสนุนมีพร้อม การสอนนักศึกษาแพทย์ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดในระบบมหาวิทยาลัยตามที่ทำกันก็ได้ หากคิดให้ดีให้รอบคอบการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นเรื่องเหมะสมที่สุด สามารถเรียนทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติปฏิบัติ เคสคนไข้เฉพาะทางก็มีให้ศึกษา ศูุนย์การวิจัยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็อยู่ที่นี่ อาจารย์ที่สอนก็เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่อยู่ใกล้ชิด ห้องเรียนคือโรงพยาบาลเหมาะที่สุดสำหรับนักศึกษาแพทย์ การได้รับสัมผัสประสบการณ์ตรง มีผู้ให้คำแนะนำใกล้ชิดตลอดเวลา เมื่อเรียนจบหลักสูตรน่าจะมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพมากกว่าเรียนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเวลาฝึกงานในโรงพยาบาลเพียงจำกัด

           ที่กล่าวมาเป็นข้อดี ข้อได้เปรียบ และด้านความพร้อม ความคล่องตัวในการที่อำนวยความสะะดวกผลิตนักศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ การใช้วิทยากรภายนอก หรืออาจารย์พิเศษนั่นขึ้นอยู่กับความต้องการ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ฝ่ายบริหารการจัดการ

          ด้วยโรงพยาบาลศุนย์มีทั่วทุกจังหวัด ฉะนั้นการผลิตนักศึกษาแพทย์ใหม่ จึงเป็นเรื่องง่าย สะดวก สามารถผลิตแพทย์ได้รวดเร็วต่อเนื่องและตรงตามความต้องการ สามารถผลิตแพทยป้อนให้โรพยาบาลอำเภอได้ และหากเป็นไปได้โรงพยาบาลอำเภอก็อาจเป็นเครื่อข่ายการผลิตแพทย์อีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาล

          การผลิตนักศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์เป็นการลดค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล งบประมาณที่ไปทุ่มเทให้กับการขยายการผลิตนักศึกษาแพทย์ตามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องใช้งบประมาณมาก เป็นงบสถานที่ งบเครื่องมือเครื่องใช้ งบค่าตอบแทนผู้สอน หรือด้านอื่น  ๆที่เกี่ยวข้อง การสอนนักศึกษาแพทย์ทีมหาวิทยาลัย ดูแล้วเป็นเรื่องที่ไกลตัว เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่นอาจารย์ที่สอนนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่ก็ดึงมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามความต้องการ ยกตัวอย่างให้เห็นเรื่องนี้เรื่องเดียวก็คงเห็นชัดเจน ว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องขาดสัมพันธภาพ ขาดความสะดวกคล่องตัว  ดังนั้นประสิทธิภาพในการจัดการย่อมส่งผลสืบเนื่องตามมา ฉะนั้นหากงบประมาณทุ่มเทมาที่โรงพยาบาลศูนย์ และยึดเป็นสถานผลิตนักศึกษาแพทย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นเรื่องดียิ่ง และที่สำคัญรัฐบาลลดการใช้จ่ายได้อย่างมหาศาล

          โครงการส่งเสริมสนับสนุนความรู้ให้แพทย์เฉพาะทางสามารถทำได้ง่ายที่โรงพยาบาศูนย์  ก็เช่นเดียว และแนวเดียวกับ การผลิตนักศึกษาแพทย์ ด้วยศักยภาพด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาลศูนย์มีความพร้อมที่สุด ดังนั้นการสนับสนุน การเสริมศักยภาพด้านวิชาการ ด้านทักษะเฉพาะทางจึงเป็นเรื่องที่ง่าย และสะดวกเช่นกัน เพียงแต่ใช้หลักการบริหารการจัดการที่ดีเท่านั้นเอง

           ส่วนเรื่องการจัดตั้งศูนย์วิจัยในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขก็ทำได้ง่าย และสะดวกเช่นกัน เมื่อความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ ความพร้อมของบุคลากรมีครบควบคู่กันไป จึงขึ้นอยู่กับงบประมาณ และการบริการจัดการเป็นสำคัญ

          สำหรับการจัดเป็นศูนย์รับผู้ป่วยเฉพาะทาง รวมทั้งเน้นคนไข้ในรายที่มีปัญหามาก ๆ เพื่อแบ่งเบาโรงพยาบาลประจำอำเภอและที่สำคัญจะได้ผู้ป่วยที่ต้องการศึกษา และวิจัย การจัดเป็นศุนย์รักษาโรคเฉพาะทางยังมีประโยชน์ครอบคลุมไปทุกด้านที่จัดให้มีในโรงพยาบาลศูนย์ เช่น นักศึกษาแพทย์ การฝึกแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข เป็นต้น

          โรงพยาบาลประจำอำเภอยังขาดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และสิ่งที่ตามมาคือเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ รัฐบาลต้องรีบยกฐานะโรงพยาบาลอำเภอให้มีศักยภาพทัดเทียมกับโรงพยาบาลศูนย์ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านแพย์ ด้านพยาบาลน่าจะไม่เป็นปัญหา หากทุกจังหวัดยกฐานะโรงพยาบาลจังหวัดเป็นโรงพยาบาลศูนย์ คงมีศักยภาพพอที่จะผลิตบุคลากรอย่างมีคุณภาพ และพอเพียง โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศควรตั้งเครื่อข่ายเพื่อสะดวกในการติดต่อ แลกเปลี่ยน รู้ความเคลื่อนไหวต่าง ๆเป็นการเสริมศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  สำหรับเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือรวมทั้งอาคารสถานที่เหล่านี้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องเห็นความสำคัญดั่งที่ว่า "สุขภาพมาก่อน"

          สถานีอนามัยน่าจะคงไว้ในรูปแบบเดิม คือเก็บข้อมูลขั้นพื้นฐาน การดูแลเฝ้าระวังป้องกันด้านสาธารณสุขในเชิงรุก การส่งเสริมด้านสุขภาพ การติดตามดูแลผู้ป่วย หรือ อื่น ๆ ที่จำเป็นเกี่ยวข้อง ซึ่งในรูปกรอบตามแผนที่ปฏิบัติเดิมมีความพร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว  การมาเปลี่ยนชื่อเป็น " โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ..."  เหมือนกับย้ำเน้นว่าให้การรักษาด้วยเป็นสำคัญ การขยายงานในลักษณะอย่างนี้เป็นเรื่องที่ผิดพลาดพอสมควร ผิดพลาดอย่างไร ? ในเมื่อโรงพยาบาลอำเภอยังไม่พร้อมด้านบุคลากร ด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำไมถึงขยายงานให้กว้างออกไป ยากแก่การควบคุมบริหาร และไร้ซึ่งคุณภาพ

          ที่พูดได้เต็มปากเช่นนี้เพราะข้อมูลที่เชิงประจักษ์ทุกคนเห็นกันชัดเจน และหากเจาะลงไปลึก ๆ ก็จะพบรายละเอียดลงไปอีก เช่นตอนนี้มีมโยบายให้แพทย์โรงพยาบาลประจำอำเภอไปปฏิบัติหน้าที่ ที่ " โรงพยบาลส่งเสริมสุขภาพ...." อาทิตย์ละครั้ง หรือ2 ครั้ง ตามแผน แผนวางไว้ มีไว้ แต่พอปฏิบัติจริงทำไม่ได้เต็มที่เพราะโรงพยาบาลขาดบุคลากร ฉะนั้นแผนงานตรงนี้ควรจะให้โรงพยาบาลอำเภอมีความพร้อม มีศักยภาพก็สามารถที่จะบริหารจัดการได้ ฉะนั้นสถานีอนามัยน่าจะคงชื่อเดิม หรือ ชื่อใหม่ที่พอ
จะเป็นชื่อที่สอดคล้องกับงานว่า "ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ"

         สิ่งที่สมควรจะปรับปรุงส่งเสริมในสถานีอนามัยคือ เรื่องของการบริหารจัดการเกี่ยวกับอุบัติเหตุ สถานีอนามัยควรมีรถพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ การอำนวยความสะดวก และดูแลในเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะโดยเฉพาะปัจจุบันอุบัติเหตุบนท้องถนนมีจำนวนมาก

          เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดเพี่ยงข้อเสนอในประเด็นแรก สำหรับประเด็นที่สองคือเรื่องงบประมาณ ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่า "สุขภาพมาก่อน" ฉะนัันงบประมาณต้องติดตามมาด้วย เรื่องนี้ผู้แทนของเราเป็นผู้ดูแล หากผู้แทนของเราไม่ทำหน้าที่ที่เหมาะสมหรือประชาชนนำเสนอผ่านผู้แทนแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ประชาชนอาจใช้สิทธิ์ลงชื่อเรียกร้องได้ตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ดีหากท่านที่เกี่ยวข้องได้อ่านบทความนี้ หากมีข้อคิดในส่วนที่เห็นว่าน่าจะนำปฏิบัติได้ ก็ควรให้การสนับสนุน และขับเคลื่อนไปตามกระบวนการ “ เพื่อได้พัฒนาเรื่องนี้ต่อไป

          อย่างไรก็ดีหากดำเนินชิวิตตามแนว ตามหลักการของ "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจัดทำ จัดดำเนินการอย่างที่ว่า "มาก่อน"  การระดมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่อย่างมีสุข ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย คงทำกันอย่างเชิงรุก และต่อเนื่อง ส่วนการบริหารจัดการน่าคงอยู่ในรูปแบบนี้ เพียงแต่สังคมแบบ "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" ช่วยเหลือกันเกื้อกูลกัน  คงไม่เกี่ยวข้องเรื่องงบประมาณซึ่งรูปแบบแนวคิดนี้น่าศึกษาติดตาม

http://www.naturedharma.com/data-1620.html

          

ประทีป  วัฒนสิทธฺิ์
29 ธันวาคม 2556