บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา => ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มีนาคม, 2563, 10:30:06 PM



หัวข้อ: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มีนาคม, 2563, 10:30:06 PM
(https://i.ibb.co/VHRP9pt/hqdefault-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑ -

จะกล่าวเรื่องสงครามสยามสมัย
เฉพาะใน “รัชกาลที่สาม”
“เจ้าอนุ”เวียงจันทน์นั้นลามปาม
ยกทัพรุกคุกคามสยามไทย.......


          อภิปราย ขยายความ.................

         สืบต่อเนื่องมาจากกระทู้      - ประวัติศาสตร์ชาติไทย -   คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg45753#msg45753)     ที่ดำเนินมาถึงเรื่องราวตอนสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒) เข้าสู่ประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  มีสงครามระหว่างประเทศเกิดขึ้นกับชนชาติเบื้องบูรพาทิศ  เป็นศึกสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานควรแก่การศึกษาหาข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่น้อยเลย

          จากวันนี้เป็นต้นไป  หน้าเพจนี้จะนำเสนอเรื่องราวของสงครามระหว่างไทย  ลาว  เขมร  ญวน  โดยยกความในหนังสือชื่อ  “อานามสยามยุทธ”  ที่สำนักพิมพ์โฆษิต จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐  มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  ซึ่งสำนักพิมพ์โฆษิต  ได้ชี้แจงในการจัดพิมพ์ว่า

           “ อานามสยามยุทธเป็นหนังสือว่าด้วยการศึกสงครามระหว่างไทย  กับลาว  เขมร  และญวน  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ่อยู่หัว รัชกาลที่ ๓  เรียบเรียงจากบันทึกรายงานราชการกองทัพในระหว่างศึกสงครามนั้น  ตั้งแต่มูลเหตุของการศึกสงครามจนกระทั่งสงครามยุติ  รวมเวลา ๒๑ ปี

          ก.ศ.ร. กุหลาบ ผู้จัดพิมพ์หนังสือนี้เป็นครั้งแรกแจ้งว่า  ได้คัดลอกมาจากบันทึกรายงานของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)  แม่ทัพใหญ่ในการทำศึกสงครามครั้งนั้นเรียบเรียงไว้แต่เดิม  ในตอนต้นของหนังสือ ก.ศ.ร. กุหลาบ  ได้เรียบเรียงประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)  แลสายสกุลสิงหเสนี ไว้ด้วย (ไม่ได้นำมาจัดพิมพ์ครั้งนี้)

          อานามสยามยุทธ  จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๖๔)  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ฯลฯ”

(https://i.ibb.co/HVc19pQ/10635925-1566259100269069-7994438675293224751-n-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้รวบรวมมาเรียบเรียงไว้นั้น มีสองตำแหน่งความดังต่อไปนี้

           “ (๑)   ผู้เรียบเรียงเรื่องประวัติท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  ฉบับนี้มีความอุตสาหะพยายามพากเพียร เขียนคิดค้นหาข้อย่อความตามตำราต่าง ๆ อย่างพิสดารวิตถารโดยละเอียด  ในตำรับฉบับเกร็ด ๆ  ที่มีสืบมาแต่โบราณหลายฉบับเป็นตำรับสำคัญ ๆ  ค้นพบในตำรับฉบับหนึ่งมีข้อความว่าดังนี้ “

          ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) อัครมหาเสนาบดี  ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  ท่านผู้นี้สมัยกาลอุบัติสมภพบังเกิด เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๙ ปีระกา นพศก เป็นปีที่ ๑๐  ในปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก (สิน) พระเจ้าแผ่นดินกรุงธนบุรี  ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่ ๔ ในท่านเจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น)  บิดาและท่านผู้หญิงฟักเป็นมารดา (เกิดที่บ้านริมชิงสะพานช้างโรงสี กรุงเทพฯ  คือที่ตรงห้างแบดแมนแอนด์กำปะนี  แต่ก่อนเรียกว่า  ตำบลฝั่งคลองหลอดในเมืองธนบุรีฝั่งตะวันออก)

          ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ  ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  ได้ถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กพิเศษในพระบรมมหาราชวัง
     ภายหลังเป็นมหาดเล็กรายงานตรวจราชการต่อสำเภาหลวง
     แล้วได้เป็นที่นายเสน่หามหาดเล็กหุ้มแพรในพระบรมมหาราชวัง  ได้โดยเสด็จในงานพระราชสงครามทัพพม่าข้าศึกหลายครั้ง

          ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ   นายเสน่ห์ได้เป็นที่นายจ่ารงในกรมมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง
     ภายหลังนายจ่ารงได้เลื่อนเป็นที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช  หัวหมื่นมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง
     แล้วได้ว่าที่พระยาเสน่หาภูธร  จางวางมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ
     ภายหลังเจ้าหมื่นเสมอใจราชได้ย้ายไปเป็นที่พระยาจำนงภักดี  จาววางกรมมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ
     แล้วเลื่อนเป็นพระยาเกษตรรักษา อธิบดีกรมนา  ฝ่ายในพระราชวังบวรสถานมงคล

          ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  พระยาเกษตรรักษา(สิง)  ย้ายมาเป็นพระยาราชสุภาวดี จางวางกรมพระสุรัสวดีในพระบรมมหาราชวัง
     ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี  ว่าที่สมุหนายก
     แล้วได้เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา  อัครมหาเสนาบดี ที่สมุหนายกอธิบดีในกรมหาดไทย  ในพระบรมมหาราชวัง

          ท่านผู้นี้ป่วยเป็นโรคป่วงใหญ่ ได้ถึงอสัญกรรมเมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ ปี เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  สิริชนมายุได้ ๗๓ ปี  ท่านมีบุตรชายหญิงที่มีชื่อเสียงปรากฏ ๒๖ คน


           (๒)   ได้ค้นในตำรับอีกฉบับหนึ่งพบมีข้อความพิสดารว่าดังนี้  “ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  อัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ    ท่านผู้นี้มีสมัยกาลอุบัติสมภพบังเกิด เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๙ ปีระกานพศก เป็นปีที่ ๑๐ ในปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก (สิน) กรุงธนบุรี  ท่านผู้นี้เป็นบุตรคนที่ ๔ ในท่านเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) บิดา  และท่านผู้หญิงฟักมารดา (บังเกิดที่บ้านริมเชิงสะพานช้างโรงสี  ริมฝั่งคลองหลอดหลังค่ายเมืองธนบุรีฟากตะวันออก  คือที่ห้างแบดแมนแอนด์กำปะนี)

          ครั้นในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ  ท่านเจ้าพระยาบดินทร เดชา (สิง)  ได้ถวายตัวทำราชการเป็นมหาดเล็กพิเศษในพระราชวังบวรฯ
     ภายหลังเป็นมหาดเล็ก รายงานตรวจราชการต่อสำเภาหลวง
     แล้วได้เป็นที่นายนรินทร์ธิเบศร์  มหาดเล็กหุ้มแพร ฝ่ายพระราชวังบวรฯ  ได้โดยเสด็จในงานพระราชการสงครามพม่าและลาวด้วย

          ครั้นในรัชกาลที่ ๒ กรุงเทพฯ  นายนรินทรธิเบศร์ได้เป็นที่จมื่นศรีบริรักษ์  ปลัดกรมพระตำรวจนอกขวาฝ่ายพระราชวังบวรฯ
     ภายหลังได้เป็นที่พระพรหมสุรินทร์  เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวาฝ่ายพระราชวังบวรฯ
     แล้วพระพรหมสุรินทร์ได้เป็นพระยาราชโยธา ในกรมมหาดไทยฝ่ายพระราวังบวรฯ
     ภายหลังได้เป็นพระยาเกษตรรักษา อธิบดีกรมนาฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล

          ครั้นในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ   พระยาเกษตรรักษาย้ายมาเป็นพระยาราชสุภาวดี  จางวางกรมพระสุรัสวดีในพระบรมมหาราชวัง
     ภายหลังเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก
     แล้วเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายกในกรมมหาดไทย ในพระบรมมหาราชวัง

          ท่านผู้นี้ป่วยเป็นโรคป่วงใหญ่ถึงอสัญกรรม เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ  ปีระกาเอกศกจุลศักราช ๑๒๑๑ ปี   เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ   สิริชนมายุ ๗๓ ปี  ท่านผู้นี้มีบุตรชายหญิงที่มีชื่อเสียงปรากฏ  ๒๖ คน”

          * ความทั้งหมดข้างบนนี้เป็นคำชี้แจงในการพิมพ์ของสำนักพิมพ์โฆษิตส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเป็นคำชี้แจงประวัติย่อ ๆ พอสังเขปของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิง)  ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ ชี้แจงไว้ในการจัดพิมพ์เรื่อง  “อานามสยามยุทธ”  เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ (ผมยังไม่เกิดเลย)

(https://i.ibb.co/grBnWX8/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ
ในละคร "ข้าบดินทร์"

          ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ผู้นี้  ถือได้ว่าเป็น   “พระเอก”  ของเรื่องอานามสยามยุทธ  ท่านรบเก่งจนข้าศึกศัตรูระย่อในการต่อกร  ซ้ำยังบันทึกเหตุการณ์สงครามไว้ให้อนุชนไทยได้อ่านกันอย่างละเอียดพิสดาร

           “อานามสยามยุทธ”  สงครามตามบันทึกของขุนศึกคู่บัลลังก์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)  ผมจะนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกันที่ท่าน ก.ศ.ร. กุหลาบ นำมาเรียบเรียงไว้    วันพรุ่งนี้มาเริ่มอ่านเนื้อความตอนแรกกันได้เลยนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, มีนาคม, 2563, 11:08:30 PM
(https://i.ibb.co/ZTwzBtV/Vientiane-Chao-Anouvong-Park-6031888461.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

- อานามสยามยุทธ ๒ -

“เจ้าอนุ”เวียงจันทน์นั้นต้นเหตุ
หวังประเทศลาวนั้นพลันเป็นใหญ่
ขอมีสิทธิอิสระอธิปไตย
เลิกอาศัยร่มโพธิสมภาร


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำคำชี้แจง (หรือคำนำ) ของสำนักพิมพ์โฆษิต และ ก.ศ.ร.กุหลาบ  ในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง  “อานามสยามยุทธ”  ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทย  ลาว  เขมร  และญวน  พร้อมทั้งประวัติย่อของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  ผู้จดบันทึกเหตุการณ์รบในสมรภูมิไทย  ลาว  เขมร  ญวน  ไว้อย่างละเอียด  ให้ได้ทราบที่มาของเรื่องกันไปแล้ว  วันนี้มาอ่านเรื่องที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ  ได้เรียบเรียงคำบันทึกของท่านเจ้าพระยาบดินเดชา (สิง) ตั้งแต่ต้นกันต่อไปครับ

           “อานามสยามยุทธ  (ว่าด้วยกองทัพสยามกรุงเทพฯ ได้ยกพลนิกายไปกระทำการศึกสงครามกันกับลาวพุงขาวชาวเมืองเวียงจันทน์  เป็นต้นเหตุเดิมเริ่มแรก  ที่จะได้ก่อการศึกสงครามกันกับลาว, เขมร, ญวน  ต่อไป  เป็นศึกใหญ่  ได้กระทำมหายุทธนาการในรัชกาลที่ ๓  กรุงเทพฯ เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฐศก)

(https://i.ibb.co/SynkBhW/20100811113228.jpg) (https://imgbb.com/)

          ดำเนินความตามเหตุที่เบื้องต้นจะก่อการศึกสงครามกันนั้น  เดิมเจ้าอนุเวียงจันทน์ลงมาช่วยในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ กรุงเทพฯ   ครั้นเจ้าอนุจะกลับขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์  จึงได้เข้าไปกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว  แล้วเจ้าอนุกราบบังคมทูลพระกรุณา  ขอพระราชทานพวกหม่อมละครเล็ก ๆ ผู้หญิงข้างใน  ซึ่งเป็นละครชั้นเล็กในรัชกาลที่สองนั้น  กับขอพระราชทานเจ้าดวงคำลาวชาวเวียงจันทน์  ซึ่งตกมาแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าตากกรุงธนบุรีนั้นด้วย

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานให้ตามเจ้าอนุทูลขอสักอย่างเดียว  ฝ่ายเจ้าอนุไม่ได้ตามความปรารถนา  จึงมีความอัปยศแก่ข้าราชการและนานาประเทศเป็นอันมาก  จึงบังเกิดความโทมนัสขัดเคืองเป็นกำลัง  ด้วยไม่สมประสงค์ที่ตนปรารถนาแต่สักอย่างหนึ่ง  จึงได้คิดอาฆาตต่อกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนั้นไป  แต่เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ไม่รู้ที่จะทำประการใดได้  ก็ต้องนิ่งทนไปจนจะได้โอกาส  จะได้ทำร้ายแก่กรุงเทพฯสักคราวหนึ่ง

          ในปีระกาสัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ เดือนสี่ปีนั้น  เจ้าอนุกราบถวายบังคมลา  ยกรี้พลกลับขึ้นไปบ้านเมืองเวียงจันทน์  ครั้งนั้นเจ้าอนุไม่ได้ลาเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่  แลท่านเสนาบดีเลยสักแห่งเดียว  เพราะมีความขุ่นเคืองกับกรุงเทพฯ   เหตุดังนี้  ก็เป็นที่สำแดงแห่งกิริยาของเจ้าอนุว่า  โกรธแก่ไทยได้แน่แล้ว

          ฝ่ายเจ้าอนุตั้งแต่กลับจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์แล้ว  ก็คิดตรึกตรองที่จะประทุษร้ายตีกรุงเทพมหานครเสมอมิได้เว้นเลย

(https://i.ibb.co/0s1Cb0P/suranaree18.jpg) (https://imgbb.com/)

          อยู่มาวันหนึ่ง  เจ้าอนุสั่งแสนท้าวพระยาลาวที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่  ให้มาประชุมพร้อมกันในท้องพระโรงเป็นหลายนาย  แล้วจึงให้เชิญเจ้าอุปราช ๑   เจ้าราชวงศ์ ๑   เจ้าสุทธิสาร ๑   กับเจ้าบุตรหลานผู้ใหญ่ที่ชำนาญในการศึกสงครามมาพร้อมกันที่ประชุม  พร้อมด้วยเพี้ยกวานแม่ทัพใหญ่ด้วย  เจ้าอนุจึงปรึกษาว่าดังนี้

           “ทุกวันนี้ที่กรุงเทพมหานครมีแต่เจ้านายเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ ที่ไม่ชำนาญในการทัพศึกเลย  แต่ขุนนางผู้ใหญ่ก็มีน้อยตัวแล้ว  ฝีมือทัพศึกก็อ่อนแอ  เพราะเว้นว่างการศึกมาช้านาน  เจ้านายขุนนางที่ชำนิชำนาญในการทัพศึก  เคยทำกับพม่ามีชัยมานั้น  ก็ล้มตายหายจากกันไปหมดไม่มีตัวแล้ว  กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ก็หย่อนกำลังลงกว่าแต่ก่อนมาก  อนึ่งเดี๋ยวนี้  เจ้าพระยานครราชสีมาก็ไม่อยู่ที่บ้านเมืองนครราชสีมา  เพราะไปขัดตาทัพอยู่ไกลบ้านเมืองเขา  ตามหัวเมืองรายทางก็ไม่มีที่กีดขวางเลย  การเป็นทีเราหนักหนาแล้ว  ไม่ควรเราจะเป็นเมืองขึ้นกับกรุงเทพมหานครต่อไป  อนึ่งเราได้ยินข่าวทัพเรือพวกอังกฤษก็มารบกวนปากน้ำกรุงเทพฯ ทุกวันนี้  เห็นเป็นทีเราหนักหนา  น่าที่เราจะยกทัพใหญ่ลงไปตีกรุงเทพฯ ก็เห็นจะได้โดยง่าย  เพราะเราจะเป็นทัพกระหนาบทัพอังกฤษ  ทัพอังกฤษเป็นทัพหน้าอยู่ปากน้ำ  ไทยก็จะพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าข้างหลัง   คงจะเสียท่วงทีแก่เราเป็นมั่นคงไม่สงสัย  เจ้านายขุนนางเพี้ยท้าวผู้ใหญ่จะเห็นเป็นอย่างไรบ้างให้ว่ามา ?”

           ขณะนั้น  เจ้าอุปราชผู้ประกอบไปด้วยปัญญาอันสุขุม  จึงว่าขึ้นที่ประชุมว่า  ดังนี้

            “กรุงเทพมหานครเป็นบ้านเมืองใหญ่โตนัก  มีพลเมืองก็มากมาย  มาทแม้นเราตีได้แล้วเราจะไปตั้งปกครองบ้านเมืองอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้นจะได้แล้วหรือ  เกรงว่าไพร่พลเมืองจะคุมกันลุกขึ้นเป็นขบถต่อเรา  เราก็จะระงับเมื่อภายหลังยาก  เพราะพลเมืองราษฎรไม่เต็มใจรักใคร่นับถือด้วยต่างชาติกัน  ไทยก็จะเป็นเสี้ยนหนามศัตรูเราเสมอไม่หยุด  เหมือนเรานอนอยู่บนขวากหนามทุกวัน”

           ฝ่ายเจ้าอนุได้ฟังดังนั้นแล้ว  ก็โกรธจึงตอบไปว่า ดังนี้

            “ถ้าเราตีกรุงเทพฯ ได้แล้ว  เห็นจะตั้งรักษาบ้านเมืองไม่ได้จะมีภัยแล้ว  เราก็จะกวาดต้อนพาครอบครัวพลเมืองที่ฉกรรจ์ดีดีอพยพขึ้นมาไว้ในบ้านเมืองเรา  แล้วเราก็จะเก็บสรรพพัสดุเงินทองสิ่งของในท้องพระคลัง  และทรัพย์เศรษฐีคหบดีขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยและราษฎร  บรรทุกโคต่างช้างม้าขึ้นมาไว้ในบ้านเมืองเรา  บ้านเมืองเราก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าหลายพันเท่า  แล้วเราก็จะแต่งกองทัพรักษาด่านทางช่องแคบ  ที่เป็นท่าทางไทยจะขึ้นมารบกวนบ้านเมืองเรา  เราก็จะรักษาให้แข็งแรงทุกช่องทุกทาง  พวกไทยที่จะคิดติดตามขึ้นมาทำศึกกับเราก็ยากนัก  เพราะทางที่จะส่งเสบียงอาหารกันนั้นเป็นทางไกลกันดาร  ถึงมาทว่าไทยจะคิดขึ้นมาทำศึกแรมปีกับเรา  เราก็ไม่กลัว  เพราะทางไปมายากแสนลำบากนัก  ไม่เหมือนเราลงไป  เพราะเราเป็นชาวป่าไม่กลัวการลำบากเดินป่า  พวกไทยจะขึ้นมาทำอะไรกับเราได้  เราคิดเป็นศึกรีบเร่งลงไปตีก็จะได้โดยง่าย  ซึ่งอุปราชคิดกลัวไปต่าง ๆ นานานั้น  ก็เพราะความขลาดกลัวไทยฝ่ายเดียว  แต่เราหากลัวไม่  ให้เร่งจัดกองทัพเถิด  เราจะลงไปเอง”

            ฝ่ายอุปราชเห็นกิริยาวาจาเจ้าอนุองอาจ  ดื้อดึงบึงบันไปฝ่ายเดียวดังนั้นแล้ว  ครั้นจะขัดขืนห้ามปรามตามความดีนั้นเล่า  ก็เกรงเจ้าอนุจะฆ่าเสียว่าขัดเจ้าบ้านเจ้าเมือง  เจ้าอุปราชก็ต้องจำใจพูดว่าเห็นด้วยความคิดท่านทุกประการแล้ว (เจ้าอุปราชคนนี้ชื่อเจ้าติสะ  เป็นน้องเจ้าอนุต่างมารดากัน)  (เจ้าสุทธิสารเดิมชื่อเจ้าโป้ เป็นราชบุตรผู้ใหญ่ของเจ้าอนุเวียงจันทน์    เจ้าราชวงศ์ชื่อเจ้าเง่า เป็นราชบุตรที่สองของเจ้าอนุ   เจ้าราชบุตรชื่อเจ้าโย เป็นราชบุตรของเจ้าอนุแต่ไปผ่านเมืองนครจำปาศักดิ์

            ยังมีราชบุตราบุตรีอีกมาก  แต่ขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็นเสนาบดีมีอยู่ ๖ ตำแหน่ง
 
     เพี้ยเมืองจันทน์  ว่าราชการฝ่ายเหนือ
     เพี้ยเมืองแสน  ว่าราชการฝ่ายใต้
     กวานเวียง  ว่าราชการฝ่ายกรมเมือง
     กวานเซ้า  ว่าราชการในวังฝ่ายกรมวัง
     กวานโภชนา  ว่าราชการกรมนา
     กวานคลัง  ว่าราชการท้องพระคลังทุกสิ่ง

          รวมเป็นเสนาบดี ๖ คน     ยังมีอีกคนหนึ่งชื่อชานนท์ ว่าราชการกรมพระสัสดีเป็นบัญชีเมือง  แต่เป็นเชื้อพระวงศ์เจ้าอนุ  เจ้าอนุให้มียศใหญ่เหมือนเสนาบดีด้วย  มีหัวเมืองลาวใหญ่และน้อยต่อกับเขมรแดนญวน ๗๙ หัวเมือง   มาขึ้นมาออกแก่เวียงจันทน์ทั้ง ๗๙ เมืองทั้งสิ้น  กับหัวเมืองลาวที่อยู่ตามลำแม่น้ำโขงและตามป่าดงฝ่ายใต้ฝ่ายเหนือนั้น  รวมกันทั้งสิ้นมีอีก ๘๖ หัวเมือง  ขึ้นกับเวียงจันทน์ด้วยทุกหัวเมือง)”

          * อ่านความคิดของเจ้าอนุเวียงจันทน์ที่จะยกทัพใหญ่มาตีกรุงเทพฯแล้วก็น่ากลัวนะครับ

(https://i.ibb.co/30dh146/chao-anouvong-park.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ : สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

           “เจ้าอนุเวียงจันทน์”  ปัจจุบันเรารู้จักและเรียกกันว่า  “เจ้าอนุวงศ์”  สมัยรัชกาลที่ ๓ ของเราเห็นทีจะเรียกกันว่า  “เจ้าอนุ”  หรือ  “เจ้าอนุเวียงจันทน์” ตามบันทึกของท่านเจ้าพระยาบดินเดชา (สิง) นะครับ  วันนี้ยกมาให้อ่านเพียงแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน  พรุ่งนี้มาอ่านกระบวนทัพของเจ้าอนุเวียงจันทน์ที่ยกมารุกรานไทยครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, มีนาคม, 2563, 11:09:47 PM
(https://i.ibb.co/m5n88bX/Untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๓ -

สยามผลัดแผ่นดินใหม่ได้หมาดหมาด
ฉวยโอกาสจัดทัพบุกอีสาน
ไม่ฟังเสียงอุปราชที่ทัดทาน
เสียงคัดค้านใครใครอื่นไม่ฟัง....


           อภิปราย ขยายความ........................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความเริ่มต้นเรื่องอานามสยามยุทธ ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงจากบันทึกของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน  เริ่มต้นที่เจ้าอนุเวียงจันทน์ประชุมเสนาบดี ขุนทหาร และราชวงศ์เพื่อยกทัพลงมาตีกรุงเทพฯ  พระอุปราชทรงคัดค้านเสียงเดียว  ไม่สำเร็จ  เจ้าอนุจึงสั่งจัดทัพโดยตนจะนำทัพเอง  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/TvhYpWj/Untitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

            “อนึ่ง  เจ้าอนุผู้เป็นมหาประธานาธิบดีเวียงจันทน์นั้น  ปรึกษาหารือกันตกลงกับเจ้านายขุนนางแล้ว  เจ้าอนุจึงมีรับสั่งใช้ให้เจ้าอุปราชคุมกองทัพใหญ่ยกไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาว  ซึ่งขึ้นอยู่กับกรงเทพฯ  ตามฝั่งแม่น้ำโขงนั้น ๑๐ เมือง  คือเมืองกาฬสินธุ์ ๑   เมืองร้อยเอ็ด ๑   เมืองสุวรรณภูมิ ๑   เมืองชนบท ๑   เมืองขอนแก่น ๑   เมืองสุรินทร์ ๑   เมืองสังขะ ๑   เมืองขุขันธ์ ๑   เมืองอัตตะปือ ๑   เมืองชุมพร ๑   เจ้าอุปราชก็ยกทัพใหญ่ไปตามสั่ง  ยกไปถึงเมืองกาฬสินธุ์ก่อน  ได้พูดจาเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองกาฬสินธุ์   เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ไม่ยอมเข้าด้วย  อุปราชก็สั่งให้ทหารจับตัวเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ฆ่าเสีย  นำศพไปเสียบประจานไว้หน้าเมืองให้ราษฎร์ดู  ฝ่ายเจ้าเมืองทั้งไพร่พลเมืองที่อยู่ใกล้เคียงรู้ความดังนั้นก็กลัวอำนาจเจ้าอุปราช  จึงได้ยอมเข้าด้วยเจ้าอุปราชหลายเมือง  แต่เมืองสุวรรณภูมินั้น เจ้าศรีวอฝีมือทัพศึกแข็งแรง  ตั้งการรักษาบ้านเมืองไว้ไม่ยอมเข้าด้วยเจ้าอุปราชแต่เมืองเดียว  ฝ่ายเจ้าอุปราชก็ให้ทหารกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองที่ยอมเข้าด้วยนั้น  พาขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์บ้าง  คงไว้รักษาเมืองบ้างเล็กน้อย  เจ้าอุปราชเก็บสิ่งของทรัพย์สมบัติตามหัวเมืองทั้งหลายที่ตีได้นั้น  มารวมไว้ในกองทัพของตนแล้ว  ก็ตั้งทัพรั้งรออยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง

(https://i.ibb.co/BcS2tvT/Untitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

            อนึ่งเจ้าอนุมีหนังสือรับสั่งถึงเจ้าราชบุตร  เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ผู้บุตร  ให้ไล่ต้อนครอบครัวพลเมืองเขมราช  เมืองอุบลราชธานี  เมืองศรีษะเกษ  เมืองเดชอุดม  เมืองยโสธร  ขึ้นไปไว้ในเมืองเวียงจันทน์  แล้วให้เจ้าราชบุตรรีบยกกองทัพใหญ่ลงไปพร้อมกันกับทัพเจ้าอนุ  ช่วยตีเมืองนครราชสีมาให้ถึงพร้อมกันตามกำหนดนัดนั้น  เจ้าราชบุตรเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้แจ้งหนังสือรับสั่งของบิดามาดังนั้นแล้ว  จึงยกกองทัพไปไล่ต้อนครอบครัวพลเมืองทั้งหกนั้นได้มาก  ก็ให้แม่ทัพคุมไล่ต้อนครอบครัวขึ้นไปไว้เมืองเวียงจันทน์  แล้วจึงเตรียมกองทัพไว้จะยกไปพร้อมกับบิดา

(https://i.ibb.co/XDGV7Qs/dfdsfs.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายที่ในเมืองเวียงจันทน์นั้น  เมื่อจะมีลางใหญ่เกิดขึ้น เมื่อ ณ วันเดือนหกปีจออัฐศกเวลากลางวัน  เกิดลมพายุใหญ่พัดช่อฟ้าใบระกาหางหงส์  เครื่องหลังคาหอพระแก้วมรกตหอพระบาง  หักพังทำลายไปมาก  ทั้งตำหนักเจ้าอนุก็หักพัง ๕ หลั ง ในวันเกิดพายุใหญ่นั้น  เรือนราษฎรในเมืองนอกเมืองหักพังทำลายลงประมาณ ๕๐ หลัง ๖๐ หลังเรือนเศษ

            ครั้นถึง ณ วันศุกร์เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีจอ อัฐศก  กำลังเจ้าอนุเกณฑ์กองทัพมาประชุมพลอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์  บังเกิดดาวพฤหัสบดีขึ้นข้างทิศทักษิณ  กับเมื่อเวลาดึกประมาณสองยามเศษเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองเวียงจันทน์  ถ้วยชามสิ่งของรูปพรรณกระทบกันแตกมาก  

          ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบค่ำ  เวลาเช้า  เห็นแผ่นดินแยกออกไปในกำแพงท้ายเมืองเวียงจันทน์  ที่แผ่นดินแยกนั้นยาวสองศอก  กว้างศอกเศษ  ลึกเส้นเศษ  ขุนนางเห็นดังนั้นจึงมาทูลเจ้าอนุ  เจ้าอนุให้โหรมาทำนายว่าจะดีหรือร้ายประการใด  ยกทัพไปตีกรุงเทพฯ จะอัปราชัยหรือมีชัย  ให้โหรทายทักมาแต่ที่จริง  โหรคำณวนตามตำหรับแล้วทายว่า  “เหตุนี้ร้ายแรงนัก  ถ้าจะยกกองทัพไปทำสงครามที่ใดใด  จะแพ้ปราชัยตามกำลังวันที่เหตุบังเกิดขึ้นนี้”

            เจ้าอนุได้ฟังคำโหรทำนายว่าร้ายนัก  ก็โกรธขัดเคืองโหรว่าแกล้งทำนายให้ร้ายจะได้ไม่ยกไป  พวกบุตรหลานโหรจะไม่ได้ไปทัพ  ตรัสเท่านั้นแล้วจึงสั่งให้ทหารจับตัวโหรไปฆ่าเสีย  เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ทูลทัดทานห้ามปรามเป็นหลายครั้ง  แล้วทูลขอโทษโหรไว้ไม่ให้ฆ่า  โหรจึงรอดตาย

            ในวันเสาร์เดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบห้าค่ำนั้น  เจ้าอนุจัดกองทัพพร้อมแล้ว  พอเกิดเหตุลางต่าง ๆ จึงได้ย้ายรี้พล  ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งประชุมพลทัพอยู่ที่ตำบลบ้านพันพร้าว  ตำบลบ้านพันพร้าวอยู่ตรงหน้าเมืองเวียงจันทน์  ข้ามตั้งทัพชัยอยู่ที่พันพร้าวหน้าวังเจ้าอุปราช  เจ้าอนุให้แม่ทัพนายกองฝึกหัดซ้อมทหารด้วยเพลงอาวุธต่าง ๆ  ทั้งทหารช้างทหารม้า  และทหารเดินเท้าหลายหมื่น  ฝึกหัดอยู่ที่นั้นสามเดือนครึ่ง  จนชำนิชำนาญ

(https://i.ibb.co/MVks8NH/Untitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

            พอถึงเดือนยี่แรมสิบสามค่ำปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘  ได้มหาอุดมฤกษ์ดีศรีไชยมงคล  เจ้าอนุให้เจ้าราชวงศ์เป็นแม่ทัพหน้าถืออาญาสิทธิ์คุมพลทหาร ๕,๐๐๐  ยกล่วงหน้าลงมาก่อนแต่ ณ เดือนยี่  เจ้าราชวงศ์ยกลงมาถึงเมืองนครราชสีมา ณ เดือนสามแรมสามค่ำ  ตั้งทัพประชุมพลอยู่นอกเมือง  ด้านเหนือที่ศาลาเกวียน  เป็นทางแยกสามทาง  เพราะจะได้ระวังรักษาเหตุการณ์ง่าย  เจ้าราชวงศ์ได้ให้แสนสุริยพหล  คุมทัพ ๑,๐๐๐ ไปทำทางที่ในดงพระยาไฟให้ดี  ทัพหลวงบิดาจะได้มาได้โดยง่าย  

(https://i.ibb.co/XsKLjGH/Untitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

            เจ้าราชวงศ์ใช้ให้เพี้ยเมืองซ้ายไปในเมืองนครราชสีมา  ขอเบิกข้าวในเมืองนครราชสีมา  มาเลี้ยงไพร่พลจะลงไปกรุงเทพฯ  ขณะนี้เจ้าพระยานครราชสีมาไม่อยู่  ไปราชการเมืองขุขันธ์บุรีนานแล้ว  พระยาพรหมยกกระบัตรกรรมการผู้ใหญ่ออกมาถามเจ้าราชวงศ์ว่า

          “ท่านยกช้างม้ารี้พลมามากดังนี้  จะลงไปกรุงเทพฯ ด้วยเหตุอะไร?”

     ฝ่ายเจ้าราชวงศ์แกล้งกล่าวกลอุบายตอบว่า

          “ข้าหลวงที่กรุงเทพฯ เชิญศุภอักษรขึ้นไปทางดงพระยากลาง  เดินขึ้นไปเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบางและเมืองน่าน  เกณฑ์กองทัพเมืองลาวให้ยกลงไปรักษากรุงเทพฯ  เพราะได้มีข่าวทัพเรืออังกฤษจะมาตีกรุงเทพฯ  เจ้าย่ำกระหม่อมก็เสด็จลงมาถึงเมืองนครราชสีมา" (เจ้าย่ำกระหม่อมคือเจ้าอนุ)

            ฝ่ายพระยาพรหมยกกระบัตรและกรมการ  ได้ฟังเจ้าราชวงศ์ว่าดังนั้นก็ต้องจ่ายข้าวให้เพราะว่าเขาพูดเป็นทางราชการอยู่  จึงจ่ายข้าวให้ลาวไปจับจ่ายแจกกัน

(https://i.ibb.co/WGp7Jvj/Untitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าราชวงศ์เบิกข้าวได้พอเลี้ยงรี้พลในกำองทัพแล้ว  จึงสั่งให้เพี้ยเมืองขวากับเชียงใต้  คุมพลทหาร ๒,๐๐๐ ยกกองทัพล่วงหน้าลงมายังเมืองสระบุรีก่อน  และสั่งให้ท้าวมณี  ท้าวพรหม ๒ คน  คุมกองทัพ ๒,๐๐๐ อยู่รักษาที่ทำเนียบนอกเมืองนครราชสีมา  เพราะที่ทำเนียบนั้นตั้งใหญ่โตไว้เพื่อจะสำหรับรับเจ้าย่ำกระหม่อมเสด็จมาประทับที่นั้น (เจ้าย่ำกระหม่อมคือเจ้าอนุ  เป็นถ้อยคำสำนวนลาวเรียกเหมือนว่าพระเจ้าอยู่หัว)  แล้วเจ้าราชวงศ์คุมพลทหาร ๓,๖๐๐ เดินทัพตามลงมาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลขอนขวางแต่ ณ วันเดือนสามแรมเก้าค่ำปีจออัฐศก  เพี้ยเมืองขวากับเชียงใต้กับนายทัพนายกองที่ยกล่วงมาก่อนนั้น  จึงพาพระยาสุราราชวงศ์เจ้าเมืองสระบุรี  ซึ่งเป็นลาวพุงดำ ๑   กับหลวงปลัด ๑   กองคำ ๑   กองสิง ๑   กองเชียง ๑   สี่นายนี้เป็นลาวเวียงจันทน์เก่าตกมาช้านาน  นายทัพนายกองพาพวกลาวเมืองสระบุรีห้าคนมาหาเจ้าราชวงศ์ที่ตั้งทัพอยู่ที่ขอนขวาง  เจ้าราชวงศ์ว่ากับลาวสระบุรีทั้งห้านายว่า  “บัดนี้ได้ข่าวว่าทัพญวนและทัพเรือฝรั่งอังกฤษจะยกทัพมาตีกรุงเทพฯ  พวกเจ้าอย่าอยู่เลย  จะได้รับความลำบากจงขึ้นไปอยู่เสียที่เมืองเวียงจันทน์  จะมีความสุขด้วยกัน”   ฝ่ายพวกลาวสระบุรีทั้งห้านายได้ฟังดังนั้น  ก็มีความยินดี  ยกมือขึ้นไหว้กราบ  ยอมสมัครจะขึ้นไปด้วยเจ้าราชวงศ์  เจ้าราชวงศ์จึงสั่งว่า  “ครอบครัวของใครใครก็คุมขึ้นมาเถิด”

            ฝ่ายเจ้าอนุกับเจ้าสุทธิสารผู้บุตรใหญ่  ได้ฤกษ์ดีแล้วก็ยกกองทัพออกจากตำบลที่น้ำเขิน  ดำเนินกองทัพมาตามทางที่เจ้าราชวงศ์ทำไว้นั้น  จนถึงชานเมืองนครราชสีมา ณ วันเดือนสาม  แรมหกค่ำ  เวลาบ่ายสามโมง  เจ้าอนุพักแรมอยู่ในทำเนียบที่เจ้าราชวงศ์ทำไว้แต่ก่อนนั้น

(https://i.ibb.co/qkBSw2N/suranaree27.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าอนุมีรับสั่งให้แสนท้าวพระยาลาว  นายทัพนายกองทั้งหลาย  เร่งรี้พลไปตัดไม้ตั้งค่ายใหญ่  อยู่ที่ตำบลทะเลหญ้าฝ่ายทิศตะวันออกนอกเมืองนครราชสีมา  ตั้งค่ายเป็นเจ็ดค่าย  ชักปีกกาขุดสนามเพลาะตามตำราพิชัยสงครามโดยนาคนาม  เจ้าอนุใช้ให้คนเที่ยวพูดให้เกิดกิตติศัพท์แซ่ไปว่า  รี้พลเวียงจันทน์ยกมาครั้งนี้ถึง ๘๐,๐๐๐ บ้าง  ๙๐,๐๐๐ บ้าง   ๑๐๐,๐๐๐ บ้าง ต่าง ๆ กัน  (แต่อันที่จริงนั้นคนมีมาแต่ ๒ หมื่น)”

(https://i.ibb.co/PW6PSpx/Untitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

            * ท่านผู้อ่านครับ  เมืองในอีสานใต้ ๑๐ เมือง  ถูกพระอุปราชยึดไปได้ ๙ เมือง  มีเพียงสุรรณภูมิ (ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองเดียวที่ไม่ยอมไปขึ้นลาว  เมืองต่าง ๆ ในอีสานเหนือใต้ที่ขึ้นกับอาณาจักรล้านช้าง (ศรีสัตนาคนหุต)  ถูกสยามยึดครองมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี  โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)  กรีธาทัพปราบราบเรียบแล้วปกครองตลอดมา  เจ้าอนุใช้ข้ออ้างว่าจะปลดแอกสยาม  ทวงดินแดนลาวกลับคืน  จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวลาว “ชาตินิยม” เป็นอย่างยิ่ง   พันพร้าว ตำบลที่ตั้งอยู่ริมโขงฝั่งตะวันตกตรงข้ามกับวังเจ้าอุปราชนั้นคือเมืองพรานพร้าว  ซึ่งชาวล้านนาถูกกวาดต้อนมาตั้งชุมนุมที่นี่ในอดีตอันยาวนานแล้ว  เป็นเมืองท่าสำคัญที่จะข้ามไปเมืองเวียงจันทน์  ปัจจุบันคือ อำเภอศรีเชียงใหม่  เจ้าอนุวีรบุรุษลาวท่านนี้ยกทัพจากพันพร้าวมาถึงนครราชสีมาแล้ว  ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มีนาคม, 2563, 11:04:55 PM
(https://i.ibb.co/TYd3khx/asfe.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๔ -

เกิดลางร้ายลั่นเตือนก่อนเคลื่อนทัพ
ก็ขืนขับเคลื่อนพลเหมือนคนคลั่ง
จากพันพร้าวห้าวใจไม่ระวัง
ยกมายั้งอยู่ที่ “ราชสีมา”.....


            อภิปราย ขยายความ........................

            เมื่อวันวานนี้  ได้นำความในอานามสยามยุทธมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่เจ้าอนุเวียงจันทน์ไม่ฟังคำทัดทานอุปราช  แม้เกิดแผ่นดินไหวเป็นลางร้าย  โหรทำนายว่าจะปราชัยในการสงครามก็ไม่ทรงเชื่อ  สั่งยกกองทัพข้ามโขงมาตั้งฝึกทหารอยู่ที่พันพร้าว (อ.ศรีเชียงใหม่)  แล้วเคลื่อนกำลังตามแนวทางที่เจ้าราชวงศ์ได้ทำไว้  เดินทัพมาจนถึงเมืองนครราชสีมา  แล้วตั้งค่าย ณ ที่ที่เจ้าราชวงศ์ตั้งไว้รอท่า  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/pQ3hKVY/suranaree29.jpg) (https://imgbb.com/)

             “ครั้งนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาไม่ได้อยู่ที่บ้านเมือง  ด้วยมีท้องตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมายกกองทัพขึ้นไประงับการที่พระยาไกรสรสงคราม  เจ้าเมืองขุขันธ์บุรี  วิวาทกันกับหลวงยกกระบัตรผู้น้อง  เกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น  เพราะเหตุนั้นคนจึงมีรักษาเมืองแต่น้อย  เพราะไปกับเจ้าพระยานครราชสีมาแต่ก่อนนั้นมากแล้ว  อนึ่ง  พระยาปลัดและกรมการผู้คนไปกับเจ้าพระยานครราชสีมาเป็นอันมาก  ที่เมืองนั้นมีแต่กรมการผู้น้อยกับผู้คนก็มีน้อยนัก

            ฝ่ายเจ้าอนุสั่งให้คนไปหาตัวพระยาพรหมยกกระบัตร   พระยาพรหมยกกระบัตรก็กลัว  ต้องออกมาหาเจ้าอนุที่ค่ายใหญ่  เจ้าอนุว่ากับพระยาพรหมยกกระบัตรและกรมการว่าดังนี้

             “เจ้าพระยานครราชสีมาประพฤติเป็นพาลทุจริตติดสันดานหยาบ  ตั้งแต่เบียดเบียนไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อนมาช้านาน  เมื่อเจ้าอนุไปมาทางนี้มีผู้มาร้องทุกข์มิได้ขาด  บัดนี้ให้พระยาพรหมยกกระบัตรและกรมการทั้งหลาย  ตระเตรียมครอบครัวของตนให้เสร็จแต่ในสี่วัน  จะได้ยกขึ้นไปอยู่ด้วยกันที่เมืองเวียงจันทน์  แล้วเราก็จะลงไปตีกรุงเทพฯ ให้ได้ในคราวนี้  ท่านทั้งหลายอย่าอยู่ที่นี่เลย  รีบเร่งไปด้วยกันเถิด”

            เมื่อเจ้าอนุพูดดังนั้น  พระยาพรหมยกกระบัตรกลัวอำนาจเจ้าอนุ  ไม่รู้ที่จะคิดแก้ไขเป็นประการใด  ก็ต้องทำกิริยาเป็นที่ยินดีพูดว่า    “อยากจะได้ตามเสด็จเหมือนที่รับสั่งนั้นแล้ว”    แล้วพระยาพรหมยกกระบัตรจึงทูลลาเจ้าอนุว่า    “จะไปต้อนครอบครัวในเมือง  แล้วจึงจัดหาหญิงที่มีรูปงามได้หกคน  คือบุตรหลวงนา ๑    และบุตรจีนบ้าง  มาให้เจ้าอนุในค่ายในค่ำวันนั้น”    เจ้าอนุก็มีใจยินดีด้วยผู้หญิงมาก  เพราะเป็นคนแก่ชรามากอยู่แล้ว  แล้วเชื่อในพระยาพรหมยกกระบัตรว่าเต็มใจไปกับตนจริง ๆ

(https://i.ibb.co/bRzDLFH/suranaree40.jpg) (https://imgbb.com/)

            เจ้าอนุจึงสั่งนายทัพนายกองลาวให้เข้าไปในเมืองนครราชสีมา  เก็บได้เครื่องศาสตราวุธของพลเมืองทั้งสิ้น  แต่ชั้นพร้าและเสียมหรือมีดใหญ่ก็ไม่ให้มีติดตนเลย  แต่ทรัพย์สินของพลเมืองนั้นไม่ได้เก็บนำไป  เพราะจะล่อใจชาวเมืองให้รักใคร่ติดตามไปโดยดี

(https://i.ibb.co/bdgW57S/Untitl-ed-2d.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายพระสุริยะภักดีเจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อป้อม) กับข้าหลวงมีชื่อหลายนายไปราชการสักเลขหัวเมือง  ตั้งอยู่ที่เมืองยโสธร  แต่ก่อนเจ้าอนุยังไม่ยกลงมานั้น  ครั้นพระสุริยะภักดีทราบการว่า  เจ้าอนุเป็นกบฏยกกองทัพลงไปตีกรุงเทพฯ  และเห็นเจ้าอุปราชเวียงจันทน์ยกกองทัพมาตั้งทัพอยู่ที่ใกล้เมืองยโสธรที่พวกข้าหลวงไปตั้งสักเลขอยู่นั้น  พระสุริยะภักดีจึงไปหาเจ้าอุปราชที่ค่ายใหญ่  พูดจากันด้วยอุบายต่าง ๆ เป็นความลับ  จนเจ้าอุปราชรักใคร่นับถือไม่อาฆาตแก่กัน

          แล้วเจ้าอุปราชเวียงจันทน์ว่ากับพระสุริยะภักดี  ว่า   “ท่านจะลงไปกรุงเทพฯ ก็ไปเถิด  เราให้ไปแล้ว  แต่เราขอพระสุริยะภักดีช่วยกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า  ตัวเราเจ้าอุปราชหาได้เป็นกบฏไม่  แต่ขัดอาญาเจ้าอนุไม่ได้  ก็ต้องมาตามสั่ง  เพราะรักษาชีวิตของเราดอก"   แล้วเจ้าอุปราชจึงทำหนังสือฉบับหนึ่ง  ฝากพระสุริยะภักดีให้นำมาให้เจ้าอนุ  ถ้าพบที่ไหนก็ให้ที่นั่นเถิด”

            พระสุริยะภักดีก็รีบยกลงมาถึงกลางทางได้ข่าวว่า  เจ้าอนุยกกองทัพไปตั้งค่ายใหญ่อยู่เมืองนครราชสีมาแล้ว  เป็นต้นทางที่จะลงไปกรุงเทพฯ  ถ้าไม่แวะหาเจ้าอนุ  เจ้าอนุคงจะให้ลาวจับเราฆ่าเสียเป็นแน่  จำเป็นจำต้องเข้าหาพูดจาประเล้าประโลมล่อลวงหลอกหลอนด้วยอุบายต่าง ๆ  พอจะพาตัวรอดมาสักคราวหนึ่งบ้าง

            คิดแล้วดังนั้นก็รีบเร่งพวกข้าหลวงไทยที่มาด้วยกันหลายสิบคน  เดินตัดทางมาเข้าเขตแดนเมืองนครราชสีมา  บอกกับลาวผู้รักษาด่านทางว่า   “จะขอเข้าไปเฝ้าพระเจ้าย่ำกระหม่อม” (คือเจ้าอนุ)  พวกลาวชาวด่านก็พากันคุมตัวพวกไทยไว้ทั้งหมด  พาแต่พระสุริยะภักดีเข้าไปหาเจ้าย่ำกระหม่อมในค่ายใหญ่

            พระสุริยะภักดีเข้าไปถึงประตูค่ายใหญ่ก็นั่งลงกราบถวายบังคมครั้งหนึ่งก่อน  แล้วจึงคลานเข้าไปเฝ้าที่หน้าพลับพลา  หมอบกราบถวายบังคมอย่างชอบธรรมเนียมไทยกรุงเทพฯ  แล้วทำกิริยาสุภาพอ่อนน้อมยอมกลัวเกรงเจ้าอนุที่สุด  จนเจ้าอนุชอบใจรักใคร่ถามว่า

             “พระสุริยะภักดีไปไหนมา?”

            พระสุริยะภักดีตอบว่า   “มาราชการสักเลขอยู่ที่เมืองยโสธร  ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าย่ำกระหม่อมเสด็จมาประทับที่เมืองนครราชสีมาแล้ว  ข้าพระพุทธจึงได้มาเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาท  และเจ้าอุปราชก็ได้ใช้ให้ถือหนังสือมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วย”

            พระสุริยะภักดีได้นำหนังสือเจ้าอุปราชออกส่งให้เจ้าอนุต่อมือเจ้าอนุเอง  เจ้าอนุดูหนังสือแล้วจึงว่า    “พระสุริยะภักดีจะลงไปหาครอบครัวที่กรุงเทพฯ ก็ไปเถิด”    แล้วให้หนังสือสำคัญสำหรับตัวเดินทางไปในระหว่างกองทัพลาวนั้นฉบับหนึ่ง  แล้วเจ้าอนุจึงรับสั่งความกับพระสุริยะภักดีว่า

          “ถ้าลงไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว  ให้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ด้วย  ว่าข้าไม่ได้เป็นกบฏดอก  เพราะครัวเมืองนครราชสีมาและเมืองสระบุรีเขาร้องทุกข์ว่า  เจ้าเมืองกรมการข่มขี่ข่มเหงเบียดเบียนเขานักหนา  เขาจะสมัครขึ้นไปอยู่เมืองวียงจันทน์ด้วยข้า  ข้าจึงได้ยกกองทัพลงมารับพวกครัวขึ้นไป”

          พระสุริยะภักดีรับว่า   “จะทูลพระเจ้าอยู่หัวตามรับสั่งนั้นทุกประการ”    พระสุริยะภักดีก็ทำกิริยาอ่อนน้อมเกรงกลัวมากก็ลามา

          ครั้นพระสุริยะภักดีลามานอกค่ายใหญ่จึงรีบจะขึ้นช้างไป  ขณะนั้นเจ้าอนุคิดขึ้นได้  ก็ให้เจ้าโถงตามออกมาบอกพระสุริยะภักดีว่า   “มีรับสั่งเจ้าย่ำกระหม่อมมาว่า  ให้ขอตัวพระอนุชิตพิทักษ์ (ชื่อบัว) ซึ่งเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่สมุหนายกนั้นไว้คนหนึ่งเถิด  เพราะเป็นผู้ชอบพอคุ้นเคยกันกับเจ้าย่ำกระหม่อม  เจ้าย่ำกระหม่อมจะขอไว้คนหนึ่งก่อน”

          พระสุริยะภักดีก็ไม่อาจจะขัดคำสั่งเจ้าอนุได้  เพราะกลัวอำนาจข้าศึก  จึงได้ส่งตัวพระอนุชิตพิทักษ์ (บัว) ให้แก่เจ้าอนุ  (พระอนุชิตพิทักษ์ก็ติดอยู่ในค่ายเจ้าอนุ  จนเมื่อเจ้าอนุหนีไทยไปอยู่ญวน  เจ้าอนุจึงฆ่าพระอนุชิตพิทักษ์เสียที่ท่าหน้าเมืองเวียงจันทน์)”

          * อ่านมาถึงตรงนี้ท่านคงเห็นกันแล้วนะว่า   “ความรู้รักษาตัวรอด”  ของคนไทยไม่แพ้ชนชาติใดในโลก  พระยาพรหมยกกระบัตร  กับพระสุริยะภักดี  ในเรื่องตอนนี้เอาตัวรอดจากอำนาจเจ้าย่ำกระหม่อมอนุเวียงจันทน์ได้อย่างไม่ยากนัก   เฉพาะพระยาพรหมยกกระบัตรนั้นคิดใช้แผน   “นารีพิฆาต”  ได้เองหรือใครเป็นคนคิดให้  อ่านต่อไปเดี๋ยวก็รู้กันละ

(https://i.ibb.co/MhwHg5G/000003-Ya-Mo.png) (https://imgbb.com/)

          เจ้าอนุคิดรอบคอบพอสมควร  ที่สั่งให้คนของตนเข้าไปเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ในเมืองนครราชสีมา  มีดพร้าทุกชนิดถูกยึดเก็บมาหมด  ไม่เว้นแม้แต่เสียมเหล็กที่ใช้ขุดดิน (ถือว่าเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง)  แต่เจ้าย่ำกระหม่อมก็พลาดเพราะความเห่อยศบ้ายอ  และที่สุดคือหมกมุ่นในกามคุณ  พระยาพรหมยกกระบัตรเดานิสัยใจคอยถูก  ที่นำเอาหญิงสาวรูปงามมีจริตจะก้านดี  ซึ่งเป็นลูกชาวโคราช  และอาหมวยลูกสาวชาวจีนในโคราช  เป็นเสมือน “หญ้าอ่อนปรนเปรอโคแก่”  เรื่องนี้จะเป็นตำนาน   “ย่าโมโคราช”   ซึ่งเป็น  เรื่องจริงอิงนิทานให้อ่านต่อไป

          พระสุริยะภักดีจะเอาตัวรอดจากด่านทหารลาว  โดยเฉพาะด่านทัพของเจ้าราชวงศ์ได้อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มีนาคม, 2563, 10:39:51 PM
(https://i.ibb.co/94T2XHV/shutterstock-385148470-768x577.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕ -

พระยาพรหมยกกระบัตรขัดมิได้
แสร้งตามใจเจ้าอนุด้วยมุสา
แต่งนารีหกนางสร้างมารยา
“เฒ่าตัณหา”หลงมนต์ติดกลลวง..


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความในอานามสยามยุทธที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง)  มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่เจ้าอนุเวียงจันทน์ยกทัพใหญ่มายึดนครราชสีมาไว้ได้โดยละม่อม  พระสุริยะภักดีหัวหน้ากองสักเลข ซึ่งขึ้นมาสักเลขอยู่ที่เมืองยโสธร ใช้อุบายเอาตัวรอดเพื่อกลับเข้ากรุงเทพฯ  ได้หนังสือผ่านด่านจากเจ้าอนุแล้วรีบกลับเข้ากรุงเทพฯ ทันที  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/JndrvxQ/Untitlesd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “แต่พระสุริยะภักดีกับข้าหลวงพร้อมกันรีบเร่งเดินมาถึงตำบลคั่นยาวในกลางดงพระยาไฟ  พบกองทัพเจ้าราชวงศ์เดินทัพใหญ่ต้อนครอบครัวเมืองสระบุรีเดินสวนทางขึ้นมาพบกันที่คั่นยาว  เป็นทางแคบจะหนีไปทางไหนก็ไม่พ้น  พระสุริยะภักดีจึงเข้าไปหาเจ้าราชวงศ์  แล้วทำคำนับเป็นที่เกรงกลัว  แล้วแจ้งความตามรับสั่งเจ้าอนุให้เจ้าราชวงศ์ฟังทุกประการ  เจ้าราชวงศ์ได้เห็นหนังสือสำหรับตัวมีมาดังนั้นแล้ว  ก็ปล่อยให้พระสุริยะภักดีกับพวกข้าหลวงไทยทั้งปวงลงมา  แล้วเจ้าราชวงศ์คิดว่า   “จะจับพระสุริยะภักดีฆ่าเสียดีกว่า  ปล่อยให้ไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

          ขณะนั้นเชียงใต้และท้าวเพี้ยขุนนางผู้ใหญ่ในกองทัพจึงทูลทัดทานว่า   “ท่านเจ้าย่ำกระหม่อมท่านปล่อยให้เขาไปแล้ว  เราจะจับกุมเขาไว้ทำให้เหลือเกินรับสั่งหาบังควรไม่  ความคิดของเจ้าย่ำกระหม่อมท่านจะคิดเป็นกลอุบายอย่างไรก็ไม่รู้  เราจะทำล่วงเกินพระราชอำนาจท่านนั้นหาควรไม่”   เจ้าราชวงศ์จึงมิได้คิดที่จะติดตามจับพระสุริยะภักดี   พระสุริยะภักดีก้รีบเร่งเดินลงมากรุงเทพมหานครโดยสะดวก

          ฝ่ายพระยาปลัดไปด้วยเจ้าพระยานครราชสีมานั้น  แจ้งความว่าเจ้าอนุยกกองทัพลงมากวาดต้อนครอบครัวพลเมืองนครราชสีมาไปมากดังนั้นแล้ว  จึงปรึกษากับเจ้าพระยานครราชสีมาว่า

           “จะทิ้งครอบครัวเสียหมด  ไม่ไประวังรักษาครัวเห็นจะไม่ได้การ  อ้ายลาวจะทำยับเยินป่นปี้เสียหมด  จำต้องเพทุบายไปเข้าด้วยเจ้าอนุ  เพราะหวังจะได้ระวังครัวกว่าจะได้โอกาส”

          ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาก็เห็นชอบด้วยความคิดพระยาปลัด  จึงได้ให้พระยาปลัดรีบยกมาบ้านเมือง  ฝ่ายพระยาปลัดก็ก็เร่งรีบมาทั้งกลางคืนและวันกลางวัน  จนถึงเมืองนครราชสีมา  จึงเข้าหาเจ้าอนุโดยดี  แล้วแจ้งความกับเจ้าอนุว่า

           “ เจ้าพระยานครราชสีมาหนีไปอยู่เมืองเขมรเสียแล้ว  เพราะกลัว  แต่ข้าพเจ้าพระยาปลัดทิ้งครอบครัวไม่ได้จึงกลับมาบ้านเมือง  เพื่อจะขอตามเสด็จเจ้าย่ำกระหม่อมไปอยู่เมืองเวียงจันทน์ด้วย ”

(https://i.ibb.co/vky9ycS/suranaree34.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าอนุก็เชื่อถือถ้อยคำพระยาปลัด  แล้วเจ้าอนุจึงให้พระยาปลัดและพระยายกกระบัตรทั้งสอง  เป็นนายกองควบคุมครอบครัวเมืองนครราชสีมาขึ้นไปเวียงจันทน์  พวกครอบครัวเมืองนครราชสีมาออกเดินทางไปได้วันละเล็กวันละน้อย  ทางวันหนึ่งก็แกล้งเดินไปถึงสามสี่วัน  ค่อยเดินไปช้า ๆ

(https://i.ibb.co/31cmtvk/1529289679-02-01.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนี่ง  เจ้าอนุคิดว่า  ครัวเมืองนครราชสีมาประชุมกันเป็นหมู่มากนั้นไม่ชอบกล  จึงรับสั่งให้นายทัพนายกองไปจัดแยกออกเป็นหลายกอง  เพราะจะตัดกำลังไทยให้น้อยลงจะได้ไม่คิดสู้ลาวได้  ฝ่ายพระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  และพระยาณรงค์สงครามกรมการ  จึงคิดอ่านเป็นกลอุบาย  แล้วจึงจัดหาหญิงรูปงามสาว ๆ ส่งให้นายทัพนายกองลาวที่ควบคุมนั้นทุกคน  จนชั้นแต่ไพร่พลลาวจะชอบใจผู้หญิงคนใดก็ไม่ว่า  ปล่อยให้พวกลาวทำเล่นตามใจลาว  ไม่ได้ว่ากล่าวห้ามหวงเลย

          ครั้นเห็นพวกลาวหลงผู้หญิงมากนัก  และลาวกับพวกครัวไทยรักใคร่สนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เป็นที่ไว้ใจกันไม่มีความรังเกียจกันแล้ว  พอจะทำการใหญ่จลาจลกับลาวได้แน่แล้ว  พระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระยาณรงค์สงคราม จึงขึ้นม้ามาหาเจ้าอนุที่ค่ายใหญ่  แจ้งความกับเจ้าอนุว่า

           “อพยพครอบครัวพลเมืองไปได้ความอดอยากนัก  จะขอมีดขวานสักยี่สิบสามสิบเล่ม  พอจะได้หน่อไม้ในป่ากินบ้าง  และขอปืนสักเก้าบอกสิบบอก พอจะได้ยิงเนื้อในป่ามากินบ้าง  แต่พอเป็นเสบียงเลี้ยงครอบครัวไปตามทาง”

(https://i.ibb.co/r32dTLP/Untitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าอนุไม่ทันจะรู้ในอุบายไทย  จึงเห็นจริงตามความที่ปรับทุกข์ข้อนั้นทุกประการ  ก็ยอมอนุญาตให้ตามที่ขอ  ครั้นไทยได้มีดขวานปืนไปแล้ว  จึงกลับไปหาครอบครัวที่ชุมนุม  เมื่อหยุดพักครอบครัวที่ใด  พระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  พระณรงค์สงคราม  และกรมการพร้อมกันคิดปรึกษาว่า

           “บัดนี้คิดอุบายไปขออาวุธที่ลาว  ลาวให้มาสมความคิดแล้ว  บัดนี้เราคิดการใหญ่จะฆ่าอ้ายลาวที่คุมพวกเราไปนั้น  ฆ่าให้ตายลงเสียบ้างแล้วพวกเราจะได้เก็บเอาอาวุธที่อ้ายลาวตายนั้น  ฆ่าฟันอ้ายลาวต่อไป  เราจะได้ทำการจลาจลได้ดังนั้นแล้วจะได้กลับไปบ้านเมืองเรา”

          กรมการพร้อมใจกันเห็นชอบด้วยความคิดท่านผู้ใหญ่  แต่พระณรงค์สงครามต้นคิด จึงสั่งกรมการผู้น้อยให้ไปเที่ยวกระซิบสั่งพวกครอบครัวเราว่า

           “ถ้าเวลาเย็นวันนี้ครัวเราเดินไปคงจะถึงท้องทุ่งสัมฤทธิ์  จำเป็นจะต้องพักครอบครัวอยู่ที่กลางท้องทุ่งสัมฤทธิ์เป็นแน่แล้ว  เราจึงนำเกวียนวงไว้ให้รอบครัวเรา  เว้นไว้เป็นช่องประตูสามด้าน  ต้อนครัวเราเข้าอยู่ในวงเกวียน  กันให้อ้ายลาวที่คุมเรานั้นอยู่นอกวงเกวียน  สั่งพวกผู้หญิงไทยให้ไปล่อพวกอ้ายลาวให้ออกนอกวงเกวียนให้หมด  พวกผู้ชายฝ่ายเราจะได้ทำการถนัดไม่กีดขวาง  เพราะเดี๋ยวนี้อ้ายลาวก็หลงผู้หญิงในครัวเรามากอยู่  อ้ายลาวสาละวนไปด้วยผู้หญิงยิ่งนัก  ไม่เป็นการจะระวังครัวเราโดยกวดขัน  เราได้โอกาสช่องดีเป็นที่อยู่แล้วให้ขอแรงพร้อมใจกันเถิด”

(https://i.ibb.co/YkgH9JS/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สมรภูมิทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ. นครราชสีมา

          ครั้นเดินครัวถึงทุ่งสัมฤทธิ์แล้ว  พระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  พระณรงค์สงคราม  จึงพูดเป็นกลอุบายกับอ้ายลาวนายกองนายหมวดนายหมู่ว่า

           “บัดนี้เดินครัวมาถึงท้องทุ่งสัมฤทธิ์เป็นเวลาเย็นจวนพลบค่ำอยู่แล้ว  ขอหยุดพักครัวที่นี่ก่อนเถิด  เพราะพวกผู้หญิงในครอบครัวเมื่อยล้าหย่อนกำลังลง เดินไม่ไหวจะตายเสียหมดสิ้น  บ้างก็เจ็บไข้ลงบ้างแล้ว  เป็นความลำบากแก่ครัวหนักหนา”

(https://i.ibb.co/z7k7H4y/Untitlewd-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพวกผู้หญิงในครอบครัวโคราชทำอาการกิริยาแกล้งทำเป็นเจ็บไข้เมื่อยล้าลงมากพร้อมกัน  ฝ่ายพวกลาวนายหมวดนายหมู่ก็เห็นว่า  ถ้าจะเร่งให้เดินต่อไปไม่ให้หยุดพักที่นี้  เดินไปกว่าจะถึงเวียงจันทน์  พวกผู้หญิงไทยก็จะตายมาก  พวกลาวมีความอาลัยในพวกผู้หญิงไทยยิ่งนัก  จึงยอมให้ไทยพักครอบครัวในที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์

          ครั้นครอบครัวได้พักผ่อนครัวพร้อมกันแล้ว  ก็ทำตามความคิดพระณรงค์สงครามสั่งนั้นทุกประการ  จัดเกวียนเวียนวงไว้เป็นขอบคันล้อมพวกครัว  มีประตูสามด้านดังนั้นแล้ว  ครั้นเวลาสองทุ่มหรือยามหนึ่ง  พวกนายทัพนายกองลาวสาละวนแต่จะหาผู้หญิง  ไม่สู้จะระวังครอบครัวนัก

          ฝ่ายพระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  พระณรงค์สงคราม  จึงคิดความลับแก่กัน  แล้วใช้ให้พวกกรมการและพวกครัวผู้ชายไปจัดการตามความคิดพระณรงค์สงครามสั่งไว้นั้นทุกประการ

(https://i.ibb.co/71DSsS2/1529289819-02-04.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเวลาสี่ทุ่มวันนั้น  พระณรงค์สงครามจัดให้ท่านผู้หญิงโม  อายุ ๔๐ ปีเศษ  ซึ่งเป็นภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา  แต่ชำนิชำนาญในการขี่ม้าขี่ช้างกล้าหาญ  ให้เป็นแม่ทัพแม่กองคุมพวกผู้หญิง  แต่งกายแต่ล้วนห่มผ้าตะแบงมาน  ผ้าโพกศีรษะมือถือไม้หลาว  และไม้กระบองเป็นอาวุธ  ทุกคนเป็นกองหนุน

          ฝ่ายพระณรงค์สงครามเป็นนายทัพคุมพลผู้ชายแต่งกายห่มผ้าตะแบงมาน  ผ้าโพกศีรษะ  มือถือไม้หลาวไม้กระบองเป็นกองหน้า
          กรมการผู้น้อยทั้งหลายเป็นปีกซ้ายปีกขวา
          พระยาปลัดเป็นแม่กองคุมกองเกวียนครอบครัว  ซึ่งมีเด็กและคนชรากับสิ่งของเครื่องใช้สอย
          พระยาพรหมยกกระบัตรเป็นแม่กองคุมพลผู้ชายซึ่งฉกรรจ์ เป็นกองกลางเหมือนทัพหลวง”

(https://i.ibb.co/hgzL7Pd/maxresdefault-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** อ่านมาถึงตรงนี้เราก็รู้กันแล้วว่า  ผู้ที่คบคิดปลดเมืองนครราชสีมาออกจากแอกเจ้าอนุเวียงจันทน์  มี ๓ หัวคิด  คือ  พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา  พระยาพรหมยกกระบัตร  และ  พระณรงค์สงคราม  ดูเหมือนว่า  คุณพระณรงค์สงครามผู้นี้คือ  เสนาธิการกองทัพเมืองนครราชสีมา  เป็นผู้วางแผนและสั่งการให้ชาวเมืองนครราชสีมาลุกขึ้นก่อการที่ทุ่งสัมฤทธิ์  โดยคุณพระณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า  มอบหมายให้ท่านผู้หญิงโม  ภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาเป็นแม่ทัพหลัง  ผลการรบที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์จะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มีนาคม, 2563, 11:44:03 PM
(https://i.ibb.co/NTfBmfv/Untitleds-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖ -

พระยาปลัดฯ รวมมิตรคิดวางแผน
ทำหลาวแหลนเป็นอาวุธถือสุดหวง
เตรียมฆ่าลาวด่าวดิ้นสิ้นทั้งปวง
จะจ้ำจ้วงแทงถนัดอย่างรัดกุม


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระยาปลัดเมืองกลับจากราชการที่ขุขันธ์บุรี  ทำอุบายให้เจ้าอนุตายใจ  แล้วจึงคบคิดกันกับพระยายกกระบัตรและพระณรงค์สงคราม  ที่จะฆ่านายทัพนายกองลาวที่ควบคุมครัวชาวเมืองนครราชสีมา  แล้วยึดอาวุธยุโปกรณ์ของลาวนั้นมาใช้รบกับกองทัพเจ้าอนุต่อไป  โดยพระณรงค์สงครามเป็นคนคิดวางแผน  จัดกองกำลังกำจัดลาวที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์  จะสำเร็จเสร็จสมตามแผนการของพระณรงค์สงครามหรือไม่  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

           “(ซึ่งพลผู้ชายแต่งกายตะแบงมาน  ผ้าโพกศีรษะให้เหมือนกับผู้หญิงนั้น  ก็เพราะความคิดพระณรงค์สงครามจะไม่ให้พวกลาวรู้ว่า ผู้หญิงปนกับผู้ชาย  จะให้สำคัญเข้าใจว่าผู้ชายแต่งกายตามเพศอย่างนั้น  ทั้งกองหน้าและกองหนุนทั้งสิ้นด้วยกัน  จะได้เป็นคนผู้ชายมีมากขึ้นด้วย)

          ครั้นพระณรงค์สงครามแม่ทัพจัดพวกพลรบพร้อมกันเสร็จแล้ว  พอถึงเวลา ๑๐ ทุ่ม เป็นยามเสาร์  เข้าห่วงปลอดได้เพชรฤกษ์ดี  ตามดิถีกำลังยามราหูเข้าจับจันทร์  พระณรงค์สงครามขึ้นขี่ม้าขาวแซม  มือถือหอกและปืน  คุมพลชายเป็นกองทัพหน้า

          ฝ่ายท่านผู้หญิงโมขึ้นขี่ม้าดำ  มือถือหอกคุมพลหญิงที่ฉกรรจ์ ๓๐๐ คน  เป็นกองหนุน
          พระยาปลัดขี่กระบือ  ถือปืนและหลาว คุมพลและครอบครัวชายหญิงเป็นแม่กองรักษาเกวียน
          พระยาพรหมยกกระบัตรขี่กระบือ  มือถือปืนและหลาว  เป็นแม่กองคุมพลกองกลาง  มีแต่ผู้ชายมาก

(https://i.ibb.co/rfpLHqY/Untitledd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นจัดคนพร้อมทุกทัพทุกกองเสร็จแล้ว  จึงต้อนพลให้โห่ร้องเกรียวกราวขึ้นพร้อมกันเสียงเอิกเกริกเป็นอำนาจทัพแล้ว  ก็วิ่งออกนอกวงเกวียนแล่นไล่ทะลวงฟันแทงแย่งยุดอุตลุด  เข้าบุกบั่นฟันแทงอ้ายลาวเป็นอลหม่าน  พวกลาวไม่ทันรู้ตัวก็ตายเกลื่อนกลาดกลางท้องทุ่งสัมฤทธิ์จะคณานับมิได้  โลหิตไหลแดงไปในท้องทุ่ง  และศพตายซ้อนซับทับกันก้าวก่ายไปทั้งทุ่งสัมฤทธิ์  ควรที่จะสังเวชเป็นปฏิกูลด้วยมรณภัย

(https://i.ibb.co/0yqSctx/Untitled-18.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายลาวนายทัพนายกองที่คุมไทยอยู่ห่างไกลเห็นดังนั้น  ก็แตกฉานเล็ดลอดหนีไปรอดได้บ้าง  พวกครอบครัวนครราชสีมาฆ่าพวกลาวตายคราวนั้น  ซากศพลาวซ้อนทับกันเกลื่อนกลาดไปหมดทั้งทุ่งสัมฤทธิ์ครั้งนั้นประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ  พวกครัวเก็บได้เครื่องสรรพาวุธ  และช้าง  ม้า  โค  กระบือ  เสบียงอาหารของลาวไว้ได้มาก  ครั้นสว่างรุ่งขึ้นเวลาเช้า  พระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  พระณรงค์สงคราม  สั่งให้กรมการเกณฑ์ไพร่ไปตัดไม้ไผ่มาตั้งค่ายขึ้นที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์ค่ายหนึ่ง  พอจะได้ตั้งรับต่อสู้กับพวกลาวที่จะยกออกมาติดตามตีครัวเราอีกนั้น  ตั้งค่ายไว้กันภัยภายหลัง

(https://i.ibb.co/qd9GLkV/Untitled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นตั้งค่ายไม้ไผ่ลงได้แล้วค่าย ๑   และยังกำลังทำค่ายอยู่อีกสองค่าย   แต่ยังไม่ทันจะตั้งขึ้นก็พอทราบข่าวว่า  พวกลาวยกมาติดตามตีเราอีก  แม่ทัพนายกองสั่งให้เตรียมตัวสู้กับลาวอีกครั้งหนึ่ง  แต่ครั้งนี้ได้อาศัยค่ายไม้ไผ่ที่ทำไว้แล้วค่ายหนึ่ง  พอเป็นกำบังกระสุนปืนลาวได้บ้าง  แต่พระณรงค์สงครามพูดว่า

           “จะรอให้ลาวมาถึงค่ายจึงจะสู้กับลาวนั้นเห็นไม่ได้การ  ให้สู้ด้วยอาวุธปืนเถิด  ไล่คนเข้าฟันแทงให้ใกล้ทีเดียวจึงจะสู้มันได้”

(https://i.ibb.co/d0NgKL2/Untitled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพวกลาวที่เหลือตายหนีไปได้  ก็ไปแจ้งความตามเหตุที่เสียท่วงทีแก่ไทยให้เจ้าอนุฟังทุกประการ  เจ้าอนุก็ตกใจจึงสั่งให้ตำรวจหน้า ๕๐ คนขึ้นมาสืบราชการดูพวกครัวจะกำเริบขึ้นเป็นประการใดบ้าง  ฝ่ายพวกครัวที่กำลังตั้งค่ายอยู่นั้น  เห็นลาวตำรวจขี่ม้ามามาก  พวกครัวก็นำปืนไปลอบแอบยิงลาวตกม้าตายบ้าง  พวกตำรวจลาวเห็นพวกไทยไล่ยิ่งดังนั้นก็ตกใจหนีไปทั้งสิ้นด้วยกัน

          ฝ่ายหลวงพิทักษ์โยธา  นายกองด่านเมืองนครราชสีมา  คุมพล ๖๐ คนขึ้นม้า  ถือปืนบ้างถือหลาวบ้าง  ไล่ติดตามฆ่าฟันลาวตำรวจไปจนถึงในป่าใกล้เมืองนครราชสีมา  ลาวตำรวจตายมากเหลือน้อย  ที่เหลือตายก็หนีไปแจ้งความกับเจ้าอนุ  เจ้าอนุจึงให้เจ้าสุทธิสาร ๑   เจ้ากำพร้า ๑   เจ้าปาน ๑   เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร  ๓,๖๐๐  คน  ยกไปตีครัวเมืองนครราชสีมาให้ได้

(https://i.ibb.co/hfQFYVR/Untitled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าปานคุมทหารม้า ๔๐๐ ม้า  ยกล่วงหน้าไปก่อน  แล้วเจ้าสุทธิสาร  เจ้ากำพร้า  คุมทหารเดินเท้า ๓,๒๐๐  ยกรีบมาตามตีครัวเมืองนครราชสีมา

          ฝ่ายพระยาปลัด, พระยายกกระบัตร, พระณรงค์สงคราม  เห็นเจ้าสุทธิสารกับรี้พลไพร่ลาวยกมามากดังนั้น  จึงคุมพลพวกของตนออกสู้รบกับลาวนอกค่าย  จัดให้พวกผู้ชายเป็นปีกซ้ายปีกขวา  พวกผู้หญิงเป็นกองหนุน

          พระณรงค์สงคราม  คุมพลผู้ชายเป็นกองหน้า
          พระยาปลัด  คุมพลผู้ชายเป็นกองกลาง
          หลวงจ่าเมือง  คุมพลผู้ชายเป็นกองปีกซ้าย
          พระมหาดไทย  คุมพลผู้ชายเป็นกองปีกขวา
          ท่านผู้หญิงโม  คุมพลผู้หญิง ๓๐๐ ที่ฉกรรจ์  ไม่สู้ฉกรรจ์ ๑๖๐ คน   รวม ๔๖๐ คน  เป็นกองหนุนหลัง
          ให้พระยายกกระบัตร  คุมพลชายหญิงครอบครัวอยู่รักษาค่าย

(https://i.ibb.co/3RXfVy6/Untitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่พลที่จะออกรบต่อสู้กับลาวนั้น  ถืออาวุธปืนดาบหอกที่แย่งชิงจากลาวได้บ้าง  ถือพร้าถือหลาวและไม้กระบองบ้าง  ที่ไม่มีอาวุธก็ตัดไม้ยาวสองศอก เป็นไม้ขว้างกา  ถือไปสำหรับจะได้ขว้างปาพวกลาวบ้าง  ความสามัคคีพร้อมใจกันจึงอาจหาญต่อสู้ข้าศึกได้  ยกออกนอกค่ายรบกับลาวที่กลางแปลง  ได้รบกันเป็นสามารถ  ตะลุมบอนยิงฟันแทงกันเป็นอลหม่าน  ตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่พวกลาวตายมากประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน

          ขณะรบกันอยู่นั้น  พระสุภมาตรขี่ม้าเข้าไปตัดศีรษะลาวผู้ดีนายม้ามาได้คนหนึ่ง  นำศีรษะนายม้ามาเสียบไว้หน้าค่ายไทย

          ฝ่ายลาวนายทัพนายกองเห็นดังนั้น  ก็ย่อหย่อนกำลังลงมาก  ไม่ค่อยจะกล้าหาญเข้าต่อสู้กับไทยต่อไป  (เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ พระมหานคร  จะมีชัยชนะแก่ข้าศึกลาว  จึงเผอิญให้เจ้าสุทธิสารเห็นไปว่า  ผู้คนในกองทัพเมืองนครราชสีมามีมากมาย  แต่ล้วนผู้ชายทั้งสิ้นด้วยกัน  ถือเครื่องศาสตราวุธครบมือกัน)

(https://i.ibb.co/DGqcb20/Untit6led-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านผู้อ่านครับ  วีรกรรมของชาวโคราชที่ท้องทุ่งสัมฤทธิ์  ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกย่อ ๆ ไว้  แต่อ่านแล้วก็เห็นภาพการรบที่โหดเหี้ยมมาก  ท่านว่า   “พวกลาวไม่ทันรู้ตัวก็ตายเกลื่อนกลาดตามท้องทุ่งสัมฤทธิ์จะคณานับมิได้  โลหิตไหลแดงไปในท้องทุ่ง  และศพตายซ้อนซับทับกันก้าวก่ายเต็มไปทั้งท้องทุ่ง......... พวกครอบครัวนครราชสีมาฆ่าพวกลาวตายคราวนั้น  ซากศพลาวซ้อนซับทับกันเกลื่อนกลาดไปในท้องทุ่งสัมฤทธิ์ครั้งนั้น  ประมาณพันเศษ”   มีหนีรอดไปได้ไม่กี่คน  เพราะในยามนั้นพวกลาวกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการดื่มเหล้าเคล้านารี  จึงถูกเข่นฆ่าตายเป็นเบือ  มือฆ่าที่โหดเหี้ยมคือ  มือของผู้หญิงในการนำของท่านผู้หญิงโม  พวกนางมีความเคียดแค้นชิงชังอาฆาตทหารลาวที่ถือพวกนางเป็นนางบำเรอกาม  จึงลงมือเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมให้สาแก่ใจ

          วีรบุรุษ วีรสตรีชาวโคราชยังไม่ทันตั้งหลักให้มั่นได้  เจ้าอนุก็สั่งให้บรรดาบุตรของท่านยกกำลังเข้าบดขยี้  ชาวเมืองโคราชก็ตั้งหลักสู้อย่างยิบตา  พระยาปลัดและพวกจะรอดพ้นเงื้อมมือเจ้าอนุหรือไม่อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมือสุโขทัย
๒๑ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มีนาคม, 2563, 10:21:28 PM
(https://i.ibb.co/fvy7SWx/20171207d3d9446802a44259755d38e6d163e820105032.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗ -

รวมครอบครัวคนไทยในวงล้อม
เมื่อเตรียมพร้อมกันดีตอนสี่ทุ่ม
ขณะลาวเมาภายนอกชุมนุม
ไทยก็รุมตีลาวกันกราวเกรียว

พระณรงค์สงครามเป็นกองหน้า
ขึ้นขี่ม้าขาวแซมน่าหวาดเสียว
มีปืนคาบสิลากระบอกเดียว
ม้าก็เปรียววิ่งปร๋อไม่รอรี

ท่านหญิงโมขี่ม้าดำนำกองหนุน
“แม่เนื้ออุ่น”กุมแน่นแค้นเต็มที่
ถือไม้แหลมแหลนหลาวเข้าทิ่มตี
กู้ศักดิ์ศรีสตรีไทยให้คืนมา

พระยาพรหมขี่กระบือถือปืน,หลาว
เป็นกองกลางย่างก้าวอย่างแกร่งกล้า
พลฉกรรจ์ขันแข็งแกร่งโกรธา
เข้าเข่นฆ่าลาวเข้มเต็มกำลัง

พระยาปลัดฯขี่กระบือถือปืน,หลาว
ไม่ย่างยาวยืนจ้องเป็นกองหลัง
รักษาค่ายกองเกวียนเวียนระวัง
โห่ร้องดังหนุนช่วยอำนวยชัย

ทหารลาวเมามัวรู้ตัวช้า
ถูกเข่นฆ่ามิมีปรานีปราศรัย
อาวุธนานาชายหญิงไทยชิงไป
แล้วกลับใช้เข่นฆ่าทหารลาว

ประดาหญิงชิงชังคั่งแค้นจิต
ทุ่มชีวิตล้างแค้นด้วยแหลนหลาว
ทิ่มแทงซ้ำยำร่างที่นอนทาว
ใช้มีดยาวฟันซ้ำย้ำให้ตาย

ศพทหารลาวกองเกลื่อนท้องทุ่ง
กลิ่นคาวคลุ้งเลือดแดงไม่แห้งหาย
“ตายเป็นเบือ”เหลือดรอดตะเกียกตะกาย
หลบเร้นหายไปมีไม่กี่คน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ  เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง)  มาให้อ่านกันถึงตอนที่พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา  พระยาพรหมยกกระบัตร  พระณรงค์สงคราม  ท่านผู้หญิงโม  นำครัวชาวโคราชลุกฮือขึ้นเข่นฆ่านายทัพนายกอง และไพร่พลชาวลาวที่ควบคุมครัวชาวโคราช  ล้มตายศพกองก่ายทับถมกันเกลื่อนท้องทุ่งสัมฤทธิ์ประมาณพันคนเศษ  แล้วเก็บสรรพาวุธทหารลาวไว้ได้ทั้งหมด  เจ้าอนุทราบเรื่องก็ตกใจมาก  สั่งให้บุตรทั้ง ๓ นำกำลังยกมาปราบปราม  ครัวชาวโคราชต่อสู้อย่างห้าวหาญ  พระสุภมาตราขี่ม้าบุกเข้าไปตักหัวนายทหารม้าของเจ้าสุทธิสารได้คนหนึ่ง  แล้วนำมาเสียบประจานไว้หน้าค่าย  ทำให้ทหารลาวพากันย่อหย่อนกำลังลง  ไม่กล้าเข้าต่อสู้ครัวชาวโคราช  วันนี้มาอ่านเรื่องกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/dfBGcwn/Untitsled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อเจ้าสุทธิสารเห็นดังนั้นแล้ว  จึงมีความครั่นคร้ามเป็นกำลัง  แล้วสั่งให้แม่ทัพนายกองลาวล่าถอยทัพกลับไปแจ้งความกับเจ้าอนุบิดาว่า  ครัวต่อสู้รบเข้มแข็งแรงหนักหนา  เห็นมีรี้พลมากเหลือเกินกว่าเมื่อเรากวาดต้อนขึ้นไปนั้น  เห็นทีจะเป็นกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกเพิ่มเติมมาช่วยกันเป็นมั่นคง  ผู้คนจึงมีมากนัก

          ฝ่ายเจ้าอนุได้แจ้งดังนั้น  ก็เผอิญให้คิดหวาดหวั่นพรั่นใจ  เกรงกลัวข้าศึกไทย  ไม่อาจสามารถที่จะกล้าหาญยกกองทัพใหญ่ลงมาตีกรุงเทพฯ  ด้วยเดชะพระบารมีเป็นมหามหัศจรรย์ประจักษ์

(https://i.ibb.co/JCF8DB9/Untisfwtled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์กวาดต้อนครอบครัวเมืองสระบุรี  คุมขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมาแล้ว  จึงแจ้งความแก่เจ้าอนุบิดาว่า  กวาดต้อนได้ครัวไทย ๑๑๐   ครัวจีน ๒๒๐   ครัวลาวหมื่นเศษ

          เจ้าราชวงศ์บอกว่าได้ต้อนครัวเดินออกจากเมืองสระบุรีแต่ ณ วันอังคารเดือนสามแรมเก้าค่ำ  และได้ทราบข่าวลือว่า  กองทัพกรุงเทพฯ จะยกขึ้นมาทุกทาง  และได้ใช้ให้คนขึ้นม้า ลงไปจับลูกค้าชาวเรือถึงบ้านอรัญญิกได้ ๔ ลำ  ไต่ถามได้ความว่า  เจ้านายขุนนางเป็นแม่ทัพยกขึ้นมาตั้งอยู่กรุงเก่าบ้าง  ยกไปทางบ้านนา นครนายกบ้าง  ทางปราจีนบุรีและกบินทร์บ้าง

          ได้ความดังนี้ว่ามีทัพกรุงยกขึ้นมาหลายทัพหลายทางดังนั้น  เจ้าอนุจึงปรึกษากับเจ้าราชวงศ์และแสนท้าวเพี้ยกวานนายทัพนายกองว่า

           “เราจะตั้งทัพรับรองทัพกรุงเทพฯ อยู่ที่เมืองนครราชสีมานั้นเห็นจะไม่ได้  เพราะเป็นทางรวมมาก  ทัพกรุงจะยกมาทางสระบุรีบ้าง  ทางนครนายกบ้าง  และทางอื่นอีกหลายทาง  เราจะอยู่ที่โคราชนี้กลัวจะเป็นศึกกระหนาบ  จำเป็นต้องแยกย้ายไพร่พลไปต่อสู้ให้หลายทาง  ไทยจึงจะได้พะว้าพะวังทั้งหน้าแลหลัง  จะไม่ประชุมทัพเป็นทัพใหญ่ได้  ฝ่ายเราก็จะตีแตกโดยง่าย  แต่ทัพหลวงเจ้าอนุนั้นได้ปรึกษาพร้อมกันว่า  ให้ถอยไปตั้งรับทัพไทยอยู่ที่หนองบัวลำภู  เห็นจะดีกว่าที่เมืองนครราชสีมานี้”

(https://i.ibb.co/7NkPPQ9/Untit5alewd-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าอนุจึงสั่งให้นายทัพนายกอง  ให้เผายุ้งฉางและบ้านเรือนในเมืองนครราชสีมาเสียสิ้น  และเผาค่ายของพวกลาวที่ตั้งอยู่นอกเมืองนั้นด้วยทุกค่าย  แล้วฟันต้นไม้ใหญ่ในเมืองเสียมาก  และทำลายรื้อกำแพงเมืองนครราชสีมาเสียสองด้าน  ไม่ให้ไว้เป็นกำลังแก่ข้าศึกไทยต่อไปได้  ทำลายล้างเมืองนครราชสีมาแล้ว  จึงยกพลกองทัพกลับไปเมื่อ ณ เดือนสี่แรมสิบเอ็ดค่ำ  แต่เจ้าราชวงศ์นั้นยกทัพใหญ่ขึ้นไปทางเมืองหล่ม  กวาดต้อนครัวตามรายทางเมืองบัวชุม, ไชยบาดาล,  เพชรบูรณ์ไปด้วย

(https://i.ibb.co/2KCmYpR/image.jpg) (https://imgbb.com/)

           (มีคำกลางขวางถามเข้ามาว่า  เจ้าอนุยกทัพใหญ่ลงมาหมายจะตีกรุงเทพฯ  แล้วเหตุใดทำไมเล่าจึงไม่ยกเลยลงมาตีกรุงเทพฯ ทีเดียว  ด้วยมีช่องดีที่กรุงเทพฯก็ยังไม่ทันจะรู้ตัวที่จะจัดการทัพรับลาวก็จะไม่สู้พรักพร้อมดี  ควรที่เจ้าอนุจะรีบลงมาตีเสียโดยเร็ว  จะได้กรุงโดยง่ายนี้  เป็นเพราะเหตุอันใดจึงไม่รีบลงไป  กลับไปทำการกวาดต้อนครอบครัวอยู่ที่หัวเมืองต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ให้เสียเวลาช้าการไปเล่า  จนที่กรุงเทพฯ ทราบข่าวศึกลาวจึงได้จัดกองทัพขึ้นไปสู้รบทันท่วงทีกับลาวเป็นสามารถยิ่งนัก  เจ้าอนุทำการศึกสงครามและจัดทัพตั้งค่ายเป็นแยบคายถูกต้องแบบแผนพิชัยสงครามดีอยู่มาก  จะหาผู้เสมอยากนัก  เหตุไรจึงได้ละทิ้งให้เสียการไปดังนั้นเล่า ?    ขอแก้ว่า  ตามเหตุสามประการ
           (ที่ ๑)  คือกรุงเทพฯ ชะตายังไม่ถึงคราวจะเสียพระนคร  เทพยดายังรักษาอยู่  กับพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีมาก  อำนาจพระบารมีและอำนาจเทพยดาจึงบันดาลให้เจ้าอนุคิดผิดไปต่าง ๆ

           (ที่ ๒)  คือถ้าจะคิดตามขนบธรรมเนียมทำนองศึกแล้ว  เจ้าอนุเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ชรา  ทำการศึกสงครามเย็น ๆ ช้า ๆ  โดยรอบคอบ  คิดหน้าแลคิดหลังที่จะมิให้เสียเปรียบแก่ข้าศึก  เจ้าอนุเห็นทีจะยกทัพรีบรุดลงไปตีกรุงโดยเร็วตามความคิดเจ้าราชวงศ์ผู้บุตรที่เป็นคนหนุ่ม ๆ นั้นเห็นไม่ชอบ  เพราะจะต้องเป็นห่วงระวังหัวเมืองนครราชสีมา  แลหัวเมืองขึ้นกับกรุงที่อยู่ข้างหลังซึ่งเป็นกำลังอุดหนุนแก่กรุงนั้นไม่ควร  จึงได้จัดแจงไปกวาดต้อนครอบครัวตามหัวเมืองรายทาง  ที่จะไปทำแก่กรุงเทพฯ  เป็นที่กีดขวางนั้นเสียก่อนจะได้สิ้นการกังวลห่วงหลัง  จะได้ตั้งหน้ายกลงไปตีกรุงโดยสะดวก  ถึงมาตีเมืองนครราชสีมาได้แล้ว  เจ้าอนุก็จัดการเตรียมการตั้งขึ้นที่เมืองนครราชสีมานั้น  เป็นการศึกแรมปีมิใช่การเร็ว  ทำการท่วงทีดีถูกต้องตามพิชัยสงคราม  แยบคายกว่าศึกพม่าเสียอีก  รื้อขนอิฐวัดวาอารามเก่ามาสะสมไว้  ดูเหมือนจะทำค่ายและป้อมให้มั่นคงแข็งแรง  เป็นทางรักษาตัวที่จะสู้และจะหนีดีชอบกล  และทำยุ้งฉางโตใหญ่ถ่ายเสบียงอาหารมาไว้ในเมืองและนอกเมืองมาก  และลงใจโอบอ้อมอารีแก่ชาวเมืองให้รัก  เพราะจำทำการปี  เจ้าอนุจัดแจงการแรมปีและการจะต่อสู้กับกรุงเทพฯ นั้น  เพราะสู้พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ไม่ได้

           (๓) เจ้าอนุเป็นคนใจโลเล  เมื่อแก่ชรานั้นมักเป็นใจขลาด  คิดการสิ่งไรก็มักถอยหน้าถอยหลัง  วนเวียนอยู่ไม่สู้ตลอดไป  เหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าหลวงนั้น  เจ้าอนุตามเสด็จพระราชดำเนินในขบวนงานพระราชสงครามด้วย  ประเดี๋ยวก็กราบทูลขออาสาเข้าปล้นค่ายพม่า  ประเดี๋ยวทูลว่าป่วยทำการไม่ถนัด  เป็นคนใจกลับกลอกอยู่ดังนี้  แต่เดิมมาจึงทำการใหญ่ไม่สำเร็จได้โดยเร็ว  ชี้แจงตามความเคยเห็นมาในกิริยาเจ้าอนุ  และทำนองศึกใหญ่และพระบารมีด้วย  เป็นสามประการดังนั้น)”

(https://i.ibb.co/cY36ymd/Unsfwtitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เป็นเพราะความโลเลและขลาดของเจ้าอนุ  และพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเทพยดาผู้รักษากรุงเทพฯ  ทำให้เจ้าอนุไม่กล้ายกกองทัพลงมาตีกรุงเทพฯ  ดั่งเผาบ้านเรือน  วัดวาอาราม  ยุ้งฉางในเมือง  และรื้อกำแพงเมืองนครราชสีมาเสียสองด้าน  แล้วสั่งถอยทัพ  จะไปตั้งหลักที่เมืองหนองบัวลำภู  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พักไว้ก่อน  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มีนาคม, 2563, 10:50:41 PM
(https://i.ibb.co/N3yGvdC/Unti5tled-14.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘ -

เจ้าราชวงศ์ยกทัพกลับตั้งหลัก
ตียึดเมืองหล่มสักเป็นมรรคผล
เจ้าสุทธิสารยึดภูเขียวเป็นของตน
อนุพ้นโคราชรอนแรมไป

ถึงหนองบัวลำภูรู้เส้นสาย
สั่งตั้งค่ายดักขวางทางน้อยใหญ่
รอสยบรบรับกองทัพไทย
ด้วยมันใจว่าชนะทุกประตู


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าอนุทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯ จัดทัพมารบหลายทาง  ก็ไม่คิดจะปักหลักสู้อยู่นครราชสีมา  จึงสั่งรื้อทำลายเมืองนครราชสมาแล้วถอยทัพจะไปตั้งหลักสู้อยู่ ณ เมืองหนองบัวลำภู  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/HhZ46TH/Unti5tled-15.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ยกกองทัพขึ้นไปตีกวาดต้อนครอบครัวตามหัวเมืองรายทางได้หลายเมือง  แล้วยกขึ้นไปถึงเมืองหล่มสัก  ตั้งค่ายใหญ่ใกล้เมืองหล่มสัก  เรียกพระสุริยวงศาเจ้าเมืองหล่มสักออกมา  เกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นขบถด้วย  ถ้าไม่ยอมจะฆ่าเสีย  พระสุริยวงศากลัวอำนาจเจ้าราชวงศ์ก็ต้องยอมเข้าด้วย  เจ้าราชวงศ์ให้พระสุริยวงศาและแสนท้าวพระยาลาว  ทำสัตยานุสัตย์ให้แล้ว  เจ้าราชวงศ์ให้นายทัพนายกองไปเก็บเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์ในเมืองหล่มสัก  จัดการถ่ายเสบียงอาหารสะสมไว้เพื่อจะไปส่งยังกองทัพบิดา  และตระเตรียมผู้คนไว้พร้อม

           ฝ่ายเจ้าสุทธิสาร  ยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปถึงเมืองภูเขียว  ตั้งทัพใหญ่ใกล้เมือง  แล้วใช้ให้นายทัพนายกองไปหาตัวเจ้าเมืองให้ออกมาหา  เจ้าเมืองภูเขียวไม่ยอมออกมาหาเจ้าสุทธิสาร  เจ้าสุทธิสารจึงสั่งให้นายทัพนายกองคุมทหารพันเศษยกเข้าปล้นเมืองภูเขียวในวันนั้นได้  จับท้าวนาคเจ้าเมืองออกมาให้

           เจ้าสุทธิสารสั่งให้ทหารพาท้าวนาคไปฆ่าเสียพร้อมทั้งบุตรหลานและญาติที่เป็นชายนั้นฆ่าเสียสิ้น  แล้วเก็บทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ  และกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองภูเขียวส่งขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์สัก ๓ ส่วน  ที่หนีเข้าป่าไปได้บ้างสัก ๒ ส่วน

           ฝ่ายเจ้าอนุคิดจัดการจะตั้งค่ายรับสู้รบกับไทยหลายตำบล  จะตั้งค่ายใหญ่ที่หนองบัวลำภูแห่งหนึ่ง  จะให้พระยานรินทรคุม ๓,๐๐๐ อยู่เป็นนายค่ายที่นั่น

           แล้วเจ้าอนุก็จะยกขึ้นไปตั้งค่ายที่ช่องเขาสารแห่งหนึ่งเป็นที่สำคัญ  เพราะเป็นทางสองแยกรวมจะไปเมืองเวียงจันทน์  ให้พระยาศุโภกับชานนท์เป็นนายทัพคุมพล ๒๐,๐๐๐  ตั้งรักษาค่ายที่ตำบลนั้นให้มั่นคง   แต่เจ้าอนุจะตั้งค่ายใหญ่อยู่บนเขาสาร
           แล้วเจ้าอนุให้พระยาเชียงสาเป็นแม่ทัพคุมพล ๕,๐๐๐ ตั้งตั้งรักษาค่ายที่ตำบลสนมแห่งหนึ่ง
           แล้วเจ้าอนุให้กองคำคุมคน ๔,๐๐๐ ไปตั้งค่ายอยู่ช่องวัวแตกแห่ง ๑  แต่เจ้าอุปราชนั้นยกไปอยู่เมืองยโสธร
           แล้วเจ้าอนุมีหนังสือสั่งให้เจ้าอุปราชยกกองทัพไปตั้งรักษาอยู่ต้นทางสุวรรณภูมิ  เป็นทางที่ข้าศึกไทยจะมาทางกบินทร์ได้ทางหนึ่ง
           เจ้าอนุให้เพี้ยกวานใจหาญคุมทัพม้าไปตรวจทุกทัพทุกกอง
           ให้ท้าวศุขะคุมทัพช้างและโค  ส่งเสบียงอาหารและกระสุนดินดำทุกทัพทุกกอง  แต่แยกย้ายกันเป็นหลายสาย

           เจ้าอนุจัดแจงการตั้งค่ายและแม่ทัพนายกอง  รักษาด่านทางเป็นที่มั่นคงแล้ว  ก็ยกจากเมืองนครราชสีมา  ขึ้นไปตามความคิดทุกประการ

(https://i.ibb.co/86L9vHh/Un658titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระณรงค์สงครามทราบข่าวว่าเจ้าอนุยกกองทัพกลับไปจากเมืองนครราชสีมาแล้ว  และเผาบ้านเมืองเสียหมด  พระณรงค์สงครามก็รีบพาครอบครัวกลับคืนเข้าเมืองนครราชสีมา  ครั้งนั้นบรรดากรมการและไพร่บ้านพลเมืองที่หลบลี้หนีลาวเข้าป่าดงไปแต่ก่อนนั้น  ครั้นได้ทราบข่าวว่ากองทัพลาวเลิกยกไปหมดแล้ว  กรมการผู้ใหญ่ก็มารักษาเมืองอยู่บ้างแล้ว  ราษฎรพลเมืองจึงพาครอบครัวมาอยู่ในบ้านเมืองตามภูมิลำเนาเดิม  แต่ยังไม่บริบูรณ์  เพราะล้มตายหายจากกันไปมากนัก

(https://i.ibb.co/s6yXdhB/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระยาปลัด  พระยาพรหมยกกระบัตร  และพระณรงค์สงครามจางวางส่วยทองคำ  พร้อมกันสามนาย  และกรมการผู้น้อยด้วยอีกหลายนายเข้าชื่อกัน แต่งหนังสือข้อราชการศึกลาวตามที่มีเหตุใหญ่น้อย  แต่ต้นจนแก้กู้เมืองคืนได้  เป็นใบบอกมอบให้หลวงบุรินทรกับขุนชนะไพรี  เป็นนายกองม้าคุมทหารม้า ๓๐ ม้า  ถือใบบอกรีบลงมายังกรุงเทพฯ  วางบอกยังศาลาเวรมหาดไทยให้กราบทูลพระกรุณา

(https://i.ibb.co/sgF5YVk/Unt5itled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายที่เมืองนครราชสีมานั้น  พระยาปลัดพร้อมด้วยกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย  จัดกองทัพสรรพด้วยสรรพาวุธ  พร้อมให้กรมการเป็นแม่ทัพยกออกจากเมืองไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลล้ำพี้  ใกล้หนองบัวลำภู  เพื่อจะตั้งรับกองทัพลาวเวียงจันทน์  เผื่อว่าเจ้าอนุจะเป็นบ้าสงคราม  ยกกองทัพติดตามมาตีค่ายเราอีก

           ฝ่ายเจ้าอนุทราบเหตุว่าครัวเมืองนครราชสีมาคุมกันเข้าลุกเป็นไส้ศึก  ไล่ฆ่าฟันพวกลาวในกองทัพที่ควบคุมครัวไปนั้นตายพันเศษ  ที่เหลือตายแตกหนีมาได้ ๒๗๒ คน  มาแจ้งความให้เจ้าอนุทราบ  เหตุดังนี้แล้ว  จึงโกรธนายทัพนายกองที่คุมครัวไปนั้น  กระทำการประมาทให้เสียท่วงทีแก่ข้าศึกไทย  เจ้าอนุสั่งทหารให้พาพวกลาวนายไพร่ที่แตกหนีมานั้น ๒๗๒ คนไปฆ่าเสียให้หมดตามบทอัยการศึก จึงจะกล้าหาญขึ้น

(https://i.ibb.co/k1ZFFgd/Untitlesfded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นเจ้าสุทธิสารทูลขอชีวิตนายไพร่ ๒๗๒ คนไว้ให้ทำการแก้ตัวใหม่  เจ้าอนุยอมให้ชีวิตแต่พวกไพร่ที่แตกมา  แต่ตัวนายทัพนายกอง ๒๗ คนไม่ยอมให้  จึงสั่งให้ทหารนำนายทัพ ๒๗ คนนั้นไปฆ่าเสียสิ้นในวันเมื่อเดินทัพให้เป็นฤกษ์ด้วย  แล้วเจ้าอนุสั่งให้จัดทัพเพิ่มเติมไปอีกมากถึงสี่พัน

           ให้พระยาสิทธิเดโชเป็นแม่ทัพหน้า
           ให้เจ้าโอเป็นแม่ทัพหลวง
           ให้พระยาสงครามไชยเป็นแม่ทัพหนุน

           รวม ๓ ทัพมีรี้พลเกือบหมื่นเศษ  แต่ทัพกองเจ้าอนุนั้น  เดินทัพไปทางดอนมดแดงเป็นทางอ้อมไปใกล้ทางป่าแขวงเพชรบูรณ์

(https://i.ibb.co/s9KJvqd/Untitledse-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายทัพพระยาสิทธิเดโช  และเจ้าโอ  พระยาสงครามเวียงไชย  ทั้ง ๓ ทัพพร้อมกันแล้วก็รีบยกไปถึงตำบลทุ่งล้ำพี้ใกล้หนองบัวลำภู  ตัดไม้ตั้งค่ายลงที่นั้นยังไม่ทันแล้ว  พอกองทัพพระณรงค์สงครามซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งล้ำพี้ก่อน  เห็นลาวยกมาตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว  พระณรงค์สงครามก็ขับทหารเร่งรีบยกออกจากค่าย  ไล่โจมตีตัดกำลังศึกลาว  ลาวยังไม่ทันจะตั้งตัวมั่น  ไทยกับลาวรบกันถึงอาวุธสั้นตะลุมบอน  ตั้งแต่สามโมงเช้าจนเที่ยง  พลทหารลาวอิดโรยหย่อนกำลังก็ล้มตายเป็นอันมาก  เจ้าโอแม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาวเห็นดังนั้น  จึงสั่งให้ล่าทัพถอยหนีขึ้นไปตั้งค่ายมั่นรับอยู่ที่ตำบลเชิงเขาน้ำพุ  ไกลจากที่ทุ่งล้ำพี้ ทาง ๒ คืน ๒ วัน”...ฯลฯ


           ** อ่านอานามสยามยุทธมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกเหนื่อยแทนบรรพชนไทย ลาว  บ้างไหมครับ  เพียงแค่การเดินทัพไปยังที่ต่าง ๆ บุกป่าฝ่าดง  ก็เหนื่อยแรงพออยู่แล้ว  ยังจะต้องรบพุ่งกันอีกเล่า

           ตอนนี้  กองทัพเจ้าอนุล่าถอยไปแล้ว  โดยเจ้าราชวงศ์แทนที่จะยกย้อนกลับไปทางเดิม  แต่กลับยกเลยขึ้นไปทางเหนือ  ปล้นทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนรายทางจากบัวชุม  ไชยบาดาล  ขึ้นไปยึดเมืองหล่มสัก  รวบรวมคนและอาวุธเสบียงอาหารไว้เลี้ยงกองทัพลาว

           ฝ่ายเจ้าสุทธิสารก็ยกทัพขึ้นทางเหนือเช่นกัน  เข้ายึดเมืองภูเขียว (ชัยภูมิ)  จับเจ้าเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมพร้อมภรรยาบุตรและญาติที่เป็นชายฆ่าเสียสิ้น

          เจ้าอนุสั่งฆ่านายทัพยายกองที่เสียทีแก่ครัวชาวโคราชเสียทั้งหมด  เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยวันเดินทัพถอยไปเมืองหนองบัวลำภู

(https://i.ibb.co/FqkcnpG/Untitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครัวชาวเมืองโคราชก็พากันกลับเข้าเมืองที่ถูกเจ้าอนุเผา รื้อเสียแทบหมดสิ้น  ต้องเข้าไปซ่อมแซมพออยู่อาศัยไปพลางก่อน

           พระยาปลัดพร้อมคณะได้ร่างหนังสือข้อราชการทัพตามที่เกิดขึ้นแก่เมืองนครราชสีมานั้นทุกประการ  แล้วให้  “ม้าเร็ว”  นำใบบอกนั้นเข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ  พร้อมกับจัดกองทัพโดยการนำของพระณรงค์สงคราม จางวางส่วยทองคำ  นำไพร่พลไปตั้งค่ายที่ตำบลล้ำพี้  ใกล้เมืองหนองบัวลำภู  เพื่อคอยสกัดกั้นกองทัพลาวที่จะยกคืนมาอีก  และเจ้าอนุก็สั่งให้เจ้าโอนำกำลังไปตั้งค่ายที่ตำบลล้ำพี้เช่นกัน     แต่ไปหลังจากพระณรงค์สงครามที่ไปตั้งมั่นก่อนแล้ว  ดังนั้นเมื่อทัพเจ้าโอไปถึงยังไม่ทันจะตั้งค่ายมั่น  ก็ถูกกองทัพของพระณรงค์สงครามบุกโจมตี  รบกันตั้งแต่สามโมงเช้าจนเที่ยง  ฝ่ายลาวอ่อนกำลังอิดโรยล้มตายลงมาก  เจ้าโอเห็นทีว่าจะสู้ไม่ได้  จึงสั่งล่าถอยไปตั้งมั่นในที่เชิงเขาน้ำพุ  ห่างจากทุ่งล้ำพี้ระยะทางเดิน ๒ วัน ๒ คืน

           เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มีนาคม, 2563, 09:18:31 AM
(https://i.ibb.co/0ryyDSs/20914192-1452248204843940-3278269169390294604-n.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ โคราชในอดีต คลิก (https://web.facebook.com/korat.in.the.past/?_rdc=1&_rdr)

- อานามสยามยุทธ ๙ -

ทัพเจ้าโอแตกพ่ายทิ้งค่ายหนี
ไปถึงที่เชิงเขาจึงเซาอยู่
ค่ายน้ำพุเร่งตั้งรั้งรอดู
ว่าจะสู้ไทยได้อย่างไรกัน

พระณรงค์สงครามคิดความศึก
หลังจากปรึกษาผู้ใหญ่ไปตามขั้น
จึงจัดแบ่งหน้าที่ที่สำคัญ
แล้วมุ่งมั่นยกโยธีเข้าตีลาว


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าอนุสั่งให้เจ้าโอเป็นแม่ทัพใหญ่  นำกำลังสามกองพลไปตั้งค่ายที่ตำบลทุ่งล้ำพี้  ทัพเจ้าโอไปถึงที่ยังไม่ทันตั้งค่ายได้เรียบร้อย  ก็ถูกกองกำลังของพระณรงค์สงครามที่ไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลล้ำพี้ก่อนแล้วนั้นยกเข้าโจมตี  ยังไม่ทันที่กองทัพเจ้าโอจะตั้งค่ายเสร็จ  ไทยลาวสู้รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงขั้นตะลุมบอน  ฝ่ายลาวล้มตายลงเป็นอันมาก  เจ้าโอเห็นท่าไม่ดีจึงสั่งถอยทัพล่าหนีไปตั้งที่เชิงเขาน้ำพุ  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/Ln5qxV6/U258ntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายพระณรงค์สงครามแม่ทัพฝ่ายไทย  เห็นลาวเลิกล่าถอยไปดังนั้นแล้ว  ก็ไม่ได้ติดตามตีทัพลาว  เพราะทัพลาวล่าไปโดยไม่สู้บอบช้ำจึงไม่ตาม  ขี่ม้าพาพลทหารกลับเข้าค่าย  แล้วสั่งให้หลวงพลอาษานายด่านจันทึก  ขี่ม้าคุมทหารม้า ๕๐ ม้า  เร่งรีบไปสืบข่าวทัพลาวว่า  จะตั้งพักพลรับอยู่ที่ใด  ให้ทราบการโดยละเอียดมา

          หลวงพลอาษาขึ้นม้านำพลทหารไปสืบข่าวทัพลาวได้ความแล้ว  กลับมาแจ้งข้อราชการกับพระณรงค์สงครามว่า  ได้เห็นลาวล่าไปหยุดพักพลตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ตำบลเชิงเขาน้ำพุ ๓ ค่าย  ค่ายตั้งห่างกันประมาณ ๒๐ เส้น  ไม่เห็นชักปีกกาถึงกันทั้ง ๓ ค่าย    ค่ายใหญ่ตั้งห่างไกลลำธารน้ำประมาณ ๑๐ เส้น  แต่ยังไม่ได้ขุดสนามเพลาะทุกค่าย  และลาวยังกำลังปักกรุยลงมาตามชายป่าเชิงเขาเป็นวงพาด  พิจารณาดูถ้าทางลาวจะตั้งเป็นค่ายปีกกาลงมาตามเชิงเขาอีกหลายค่าย  เมื่อดูนั้นได้ขึ้นต้นไม้สูงดูทั่วทุกกองทัพลาว  และกำลังตัดไม้ปิดหนองน้ำลำธารที่ทางเราจะไปนั้นหลายแห่ง

(https://i.ibb.co/dGb7Pj8/Untitlerwed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระณรงค์สงครามได้ฟังดังนั้นแล้วจึงว่า  “พวกเราอย่ากลัวมัน  อ้ายลาวมันปักกรุยหลอกลวงขู่เราเท่านั้น  มันไม่อาจจะตั้งค่ายตามที่มันปักกรุยไว้ดอก  มันตั้งสามค่ายเท่านั้นเอง  พอเป็นที่พักพลของมัน  เพราะมันรักษาพวกมันเท่านั้น  ถ้าและว่ามันจะตั้งมาตามกรุยที่มันปักไว้นั้น  ก็ยิ่งดีทีเดียว  เราจะตีเอาค่ายเป็นของเรา  เราจะไม่ต้องตั้งค่ายพักพลเรา  เกิดมาเป็นชายชาติทหารอย่าย่อท้อต่อข้าศึก  ให้ตั้งใจให้ดีจะได้มีชื่อเสียงอยู่สิ้นกาลนาน”

          พระณรงค์สงครามพูดเท่านั้นแล้ว  จึงปรึกษาราชการทัพศึกกับพระยาปลัด, พระยายกกระบัตร ต่อว่า

           “เมื่อเวลาวานซืนนั้น  พวกเรายกทัพเข้าปล้นเอาค่ายเจ้าโอและพระยาสิทธิเดโชและพระยาสงครามเวียงไชย  ทั้งสามกองล่าถอยหนีเราไปครั้งหนึ่ง  ผู้คนทหารลาวบอบช้ำระส่ำระสายล้มตายมาก  จึงได้ล่าหนีไป  พวกลาวคงจะเข็ดขยาดฝีมือไทยบ้างเป็นแน่    บัดนี้เราตระเตรียมจัดการให้เป็นภูมิฐาน  ตามตำรับกระบวนพิชัยสงคราม  ตามไปตีลาวอีกสักคราวหนึ่ง  เห็นจะได้ชัยชนะ  ถ้าและว่าจะได้ชัยชนะ  ก็คงจะได้รู้กำลังข้าศึกว่าจะหนักเบาประการใด  และจะได้เป็นเกียรติยศที่พวกเราเป็นทหารอยู่เมืองหน้าศึก  ควรที่จะยกไปป้องกันรักษาเขตแดนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ก่อน  กว่าจะมีกองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นมาเมื่อใด  ก็จะได้มีโอกาสใหญ่ได้ต่อสู้กับลาว  ครั้งนี้เราจะยกไป  ถ้าเป็นท่วงทีก็จะได้ชัยชนะ  ถ้าไม่สมหมายก็เหมือนยกทัพไปขัดตาทัพ  ปะทะปะทังกันข้าศึกไว้  ไม่หมิ่นประมาทฝีมือไทยได้  ท่านจะเห็นเป็นประการใด?”

          พระยา, พระ,หลวง, นายทัพนายกอง  ก็เห็นชอบด้วยความคิดพระณรงค์สงครามพร้อมกัน

(https://i.ibb.co/Mny1Js9/Untitledds-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระณรงค์สงครามจัดกองทัพให้พระพลสงครามกับหลวงกำแพงสงคราม เป็นนายทัพคุมทหารยกเดินอ้อมไปในป่าระนาม  เดินวกออกหลังค่ายลาว  แล้วให้ยกเข้าตีค่ายเจ้าโอทีเดียว
          จัดให้หลวงพิพิธภักดีกับขุนศรีรณรงค์  คุมพลทหารไปตั้งสกัดทางห้วยกรด  เพื่อจะรักษาต้นทางที่ลาวจะยกมาช่วยทางเมืองหนองคาย
          จัดให้พระมหาดไทยกับหลวงจ่าเมือง  คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปตีค่ายพระยาสิทธิเดโชลาว
          จัดให้พระสัสดีกับหลวงเสนีพิทักษ์ทวยหาญ  คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปตีค่ายพระยาสงครามเวียงไชยลาว
          จัดให้หลวงวังกับหลวงนา  คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปตีค่ายลาวที่ลำธาร  แล้วจะได้ตั้งรักษาลำธารน้ำที่อยู่ใกล้ห้วยกรดไว้  อย่าให้อ้ายลาวมาอาศัยน้ำที่ลำธารนั้นได้
          จัดให้พระนางรองกับหลวงปลัดเมืองพิมาย  คุมพลทหารเป็นนายทัพยกไปก้าวสกัดคอยตีต้นทาง  อย่าให้ลาวในค่ายหนีออกมาชวยค่ายโน้นได้เป็นอันขาดทีเดียว
          จัดให้พระยาทุกขราษฎร์กับหลวงสุระเดชา  พระศุภมาตรา  คุมพลทหารเป็นนายทัพกองเสือป่าแมวเซา
          จัดให้หลวงคลังกับขุนเทพโยธา  คุมพลทหารม้าเป็นกองร้อยคอยเหตุ  สืบราชการศึก  กับท่านผู้ใหญ่ฝ่ายแม่ทัพที่บังคับการนั้น ๆ
          แต่พระยาพรหมยกกระบัตร กับพระณรงค์สงครามเป็นทัพใหญ่  คุมพลทหารยกไปเป็นทัพกำกับและทัพหนุนทัพทั้งปวง  เพื่อว่ากองไหนล่าหลอนออกมาจากข้าศึก  จะได้จัดพลยกเข้าไปเพิ่มเติมช่วยอุดหนุนด้วย
          แต่พระยาปลัดนั้น  จัดให้คุมพลทหารอยู่รักษาบ้านเมืองกับพระยาภักดีผู้ช่วย
          จัดให้ท่านผู้หญิงโมกับพระภักดีนุชิต  คุมพลทหารหัวหมื่นขึ้นแก่เมืองนครราชสีมา  เป็นกองลำเลียงส่งเสบียงอาหารแลกระสุนดินดำ  สำหรับเพิ่มเติมทุกกองทัพ

          ได้นัดหมายเวลาและความสัญญาสังเกตฤกษ์  ให้นายทัพนายกองทั้งหลายคอยดูดวงพลุ  เป็นสัญญายกเข้าตีค่ายลาวพร้อมกันทุกทัพทุกกอง  ครั้นจัดทัพเสร็จแล้ว  ต่างทัพต่างก็แยกย้ายกันไปซุ่มทัพอยู่ไกลห่างจากค่ายลาวประมาณ ๕๐ เส้นบ้าง  ๖๐ เส้น ๗๐ เส้นบ้าง  ที่ใกล้ก็มี  ที่ไกลก็มีต่าง ๆ กันตามที่จะซุ่มทัพได้

(https://i.ibb.co/ydBWqtf/Untitsdaled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเวลาตีสิบเอ็ดทุ่ม  พระยาพรหมยกกระบัตร  พระณรงค์สงคราม  สั่งให้จุดพลุขึ้นตับหนึ่งเป็นสัญญา  ฝ่ายนายทัพนายกองครั้นได้เห็นดวงพลุแล้ว  ก็พร้อมกันต้อนพลทหารโห่ร้องทะลวงฟัน  บ้างวิ่งกรูกันนำแตะทาบทับขวากหนามบ้าง  บ้างก็ถอนขวากกระจับ  ขนแตะทาบเข้าไป  บ้างตั้งค่ายทุบทูนำแผงแตะบังตัวบังปืนเข้าไปใกล้ค่ายลาวได้  บ้างก็ฟันค่าย เย่อค่าย ปีนค่าย เข้าไปในค่ายลาวได้บ้าง  พลทหารไทยไล่ฆ่าฟัน แทง ยิงปืน แย่งระดมเป็นโกลาหล  พลทหารลาวล้มตายลงเป็นอันมาก  บ้างแหกค่ายหนีไปได้บ้าง

          ฝ่ายเจ้าโอ และพระยาสิทธิเดโช และพระยาสงครามเวียงไชย  แม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาวทั้งสามนาย  ไม่ทันรู้ตัวจะแต่งพลทหารออกต้านทานสู้รบไม่ทันท่วงที  ก็ทิ้งค่ายทั้งสามตำบลแตกหนีไป  ครั้งนั้นทัพไทยตีลาวได้สามค่าย  ได้ช้าง ม้า  ธัญญาหาร  เครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่น้อยไว้มาก

(https://i.ibb.co/nQJyMZT/Untitleeed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระณรงค์สงครามสั่งให้ทหารนำช้างไปบรรทุกข้าวในค่ายหลวงส่งไปไว้ในเมืองนครราชสีมาทั้งสิ้น  แต่ค่ายลาวทั้งสามตำบลนั้นให้เผาเสีย  ไม่ให้เอาไว้เป็นกำลังศึกต่อไป  จับได้ลาวที่ป่วยไข้แลล่าหลอนหนีไปไม่ทันนั้น  จับได้ ๒๖๐ คน  พาลาวเชลยขังไว้ใช้การในเมือง  พระยายกกระบัตรสั่งให้กรมการ นายทัพนายกอง  ตั้งระวังรักษาด่านทางทุกช่องโดยกวดขัน..”

(https://i.ibb.co/qLHgXx2/Untitgfled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ให้อ่านยาวมาถึงตรงนี้  เราได้เห็นแล้วว่า  ในครัวชาวโคราชที่ลาวกวาดต้อนไปเวียงจันทน์นั้น  มิใช่เป็นชาวบ้านสามัญชนที่อ่อนด้อยความรู้ความสามารถทั้งหมด  หากแต่มีชนชั้นขุนนางข้าราชการระดับ พระยา คุณพระ คุณหลวง ขุน หมื่น  รวมอยู่จำนวนไม่น้อย  ท่านเหล่านั้นเพิ่งจะมาปรากฏนามตอนที่คุณพระณรงค์สงครามมอบหมายหน้าที่ให้ยกกำลังเข้าตีทัพเจ้าโอนี่เอง  ตอนนี้เป็นทีของชาวโคราชบ้างแล้ว

          กองทัพชาวโคราชรบลาวด้วยต้นทุนความโกรธแค้น (โดยเฉพาะกองทัพของท่านผู้หญิงโม) เพราะทหารลาวได้กระทำย่ำยีสตรีและและศักดิ์ศรีชาวโคราชไปมากเหลือเกิน

          กองทัพเจ้าโอถูกพระณรงค์สงคราม เสนาธิการใหญ่ฝ่ายไทยวางแผนโจมตีแตกกระเจิดกระเจิงไปจากเชิงเขาน้ำพุแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  เมื่อไรกองทัพใหญ่จากกรุงเทพฯ จะปรากฏโฉม  อดใจรอไว้อ่านในวันพรุ่งนี้  และวันต่อ ๆ ไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มีนาคม, 2563, 12:10:21 AM
(https://i.ibb.co/x5WPTvv/unnameed-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบขอบคุณเจ้าของภาพนี้จาก Internet

- อานามสยามยุทธ ๑๐ -

ค่ายเจ้าโอแตกยับเป็นซ้ำสอง
ไทยครอบครองอาวุธช้างม้าข้าว
เผาค่ายทิ้งมิไว้ให้อยู่ยาว
อนุรับทราบข่าวแล้วหนาวใจ

สั่งตั้งค่ายรายรับทัพสยาม
เพิ่มจากสามเป็นห้าค่ายทัพใหญ่
ทุ่งส้มป่อยคอยรับรบทัพไทย
แล้วตั้งในช่องทางหลายตำบล


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน  “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กองทัพเมืองนครราชสีมายกเข้าโจมตีกองทัพเจ้าโอที่เชิงเขาน้ำพุตามแผนของพระณรงค์สงครามแตกกระจัดกระจายไปในคืนเดียว  ฝ่ายไทยยึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์เสบียงอาหารเป็นอันมาก วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/Rzk6M6D/Untitlr5ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายเจ้าอนุทราบว่ากองทัพทั้งสามค่ายนั้นแตกเสียแก่ไทยแล้ว  จึงสั่งให้พระยานรินทรคุมพลทหาร ๓,๐๐๐ ยกมาตั้งค่ายใหญ่  อยู่ที่ตำบลหนองบัวลำภู  แล้วให้ท้าวอินทร ท้าวสุนทร คุมพลทหาร ๒,๐๐๐ มาช่วยเพิ่มเติมรักษาค่ายที่หนองบัวลำภู  สมทบกับพระยานรินทรด้วยเป็นพล ๕,๐๐๐

           แต่เจ้าอนุนั้นยกรี้พล ๑๐,๐๐๐ เศษขึ้นไปตั้งพักพลอยู่ที่ตำบลทุ่งส้มป่อย  พักพลพอปรกติแล้วสั่งให้ตั้งค่ายมั่นลงที่ทุ่งส้มป่อย ๕ ค่าย  ชักปีกกาถึงกันทุกค่าย  ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามพิชัยสงครามมั่นคงแข็งแรงแล้ว  จึงสั่งให้พระยาเชียงขวาเป็นนายทัพมีพลทหารรักษาค่ายอยู่ ๕,๐๐๐

           แล้วเจ้าอนุก็ยกพลทหารขึ้นไปถึงที่ตำบลเขาสารเป็นทางช่องแคบ  และเป็นทางสองแยก  เจ้าอนุสั่งให้หยุดทัพพักพลแล้วจึงสั่งให้ตั้งค่าย ๗ ค่าย  ชักปีกกาถึงกัน  ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามทำการมั่นคง  และตั้งค่ายละเมาะปีกกาเป็นวงพาด  โอบเขาลงไปถึงเชิงเขาสองด้านเป็นที่รับข้าศึก (ด้วยทางที่เขาสารช่องแคบนี้เป็นที่สำคัญกว่าทุกแห่ง  เปรียบเหมือนประตูเวียงจันทน์ก็ว่าได้  ถ้าเสียค่ายที่ตำบลเขาสารช่องแคบแก่ไทยแล้ว  ก็เหมือนเสียเวียงจันทน์เหมือนกัน)

(https://i.ibb.co/0Kwsjq9/Untitledsd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นเจ้าอนุจัดตั้งค่ายประตูหอรบที่เขาสารเสร็จแล้ว  จึงสั่งให้เจ้าสุทธิสารบุตรผู้ใหญ่ถืออาญาสิทธิ์  เป็นแม่ทัพใหญ่ได้บังคับบัญชาทุกทัพทุกกอง  คุมพลทหาร ๒๐,๐๐๐ อยู่รักษาค่ายเขาสารทั้ง ๗ ค่าย

           ให้พระสุโภกับชานนท์ขุนนางผู้ใหญ่  อยู่ช่วยเจ้าสุทธิสารเป็นปีกขวาและปีกซ้าย
           ให้พระสินธพคุมทหารม้า ๕๐๐ เป็นกองคอยเหตุ
           ให้พระยาประสิทธิ์คชเดช  เป็นแม่กองทัพช้าง ๔๐๐ อยู่ช่วยเจ้าสุทธิสารสู้รบกับไทย

           แล้วเจ้าอนุสั่งให้เจ้าโอเป็นแม่ทัพคุมทหาร ๕,๐๐๐ ยกรุดเร่งรีบไปตั้งค่ายปิดทางทุ่งบกหวาน  ริมฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้ามจะขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ก็ได้  ทางนี้เป็นทางฝ่ายตะวันออกแห่งเมืองกบินทร์แลปราจีนที่ไทยจะขึ้นมาโดยง่ายให้ปิดไว้ให้มั่นคง  (เจ้าโอยกกองทัพไปคราวนี้รี้พลช้างม้ามากมาย  แต่หาปรากฏในจดหมายเหตุว่าเท่าใดไม่  จึงไม่ทราบจำนวนคนตลอดว่าช้างม้าเท่าใด  ดั่งเช่นที่มีมาทึกทัพทุกกอง)

(https://i.ibb.co/8XWDCt9/Untit22led-12.jpg) (https://imgbb.com/)

           เจ้าอนุสั่งให้เจ้าพิมพิสารคุมคน ๖๐ คน  ขึ้นม้าถือหนังสือไปให้เจ้าหน่อคำผู้หลาน  ซึ่งยกกองทัพไปตีบ้านเล็กเมืองน้อยข้างฝ่ายเหนือนั้น  ให้เจ้าหน่อคำรีบยกกลับมารักษาค่ายทุ่งส้มป่อย  ช่วยกับพระเชียงขวา  เจ้าหน่อคำก็รีบมารักษาค่ายทุ่งส้มป่อยตามในหนังสือบังคับ      แต่ครัวที่เจ้าหน่อคำตีกวาดต้อนมาได้แต่เมืองเหนือนั้น  เจ้าหน่อคำใช้ให้เชียงผากับคำเกิดคุมครอบครัวไปส่งยังเมืองเวียงจันทน์  แต่ยังหาทันถึงเมืองเวียงจันทน์ไม่  พวกครอบครัวมีความเดือดร้อนเพราะถูกข่มขี่จึงลุกขึ้นพร้อมกัน  เกิดรบราฆ่าฟันกันกลางทาง  พวกครัวหนีไปเมืองหลวงพระบางได้บ้าง  ไปเมืองเชียงแสนบ้าง  ไปเมืองเชียงรุ้งบ้าง  ไปเมืองหล่มสักบ้าง  ไปเมืองพวนบ้าง    เชียงผา,คำเกิด นายทัพกวาดต้อนครอบครัวไปเมืองเวียงจันทน์ได้บ้าง ๒ ส่วน  ที่หนีไปเมืองต่าง ๆ นั้นสัก ๖ ส่วน

            (เจ้าอนุจัดแจงการป้องกันรักษาด่านทางเขตแดนเมืองเวียงจันทน์นั้น  ทั้งชั้นนอกแลชั้นในเป็นการกวดขันมั่นคงโดยสามารถแข็งแรงยิ่งนัก  ถ้าจะว่าตามธรรมเนียมศึกสงคราม  ถึงอาชญาสิทธิ์พม่าก็สู้อาชญาสิทธิ์ลาวไม่ได้  เพราะลาวนับถือกันตามเพศเจ้านายเชื้อวงศ์ยิ่งกว่าพม่า  ลาวจัดการผู้คนสิทธิ์ขาดกว่าพม่า  และลาวครั้งนี้จัดการแข็งแรงเป็นอย่างเอก  จะหาศึกอื่นในพงศาวดารหรือจดหมายตุเก่าแก่มาเปรียบ  สู้ศึกนี้ยากนัก  ทแกล้วทหารรี้พลช้างม้าก็มีบริบูรณ์  เพราะเมืองเวียงจันทน์มีเมืองขึ้นมาก  ช้างม้าก็หาสะสมช้านาน  ผู้คนก็มีมาก  เพราะบ้านเมืองไม่ได้เสียแก่ใครเลย  เสบียงอาหารมาส่งกันโดยง่าย  เพราะเป็นทางใกล้กันหามาส่งกันได้เร็ว  เพราะฉะนั้นจึงว่าเจ้าอนุมีพร้อมด้วยพิริยะโยธากล้าหาญบริบูรณ์  หน้าที่จะทำศึกกับเมืองใดเมืองนั้นก็จะปราชัย  เพราะบริบูรณ์ด้วยกำลังทั้ง ๔ คือ   ผู้คน ๑   เสบียงอาหาร ๑   พาหนะช้างม้าโคกระบือ ๑   ทรัพย์สมบัติ ๑   บริบูรณ์พร้อมกันทั้งสี่  แต่ปัญหาลาวไม่สามารถจะต่อสู้กับไทยได้  กับบารมีไม่คู่ควรใกล้เคียงจะต่อสู้กับกรุงเทพฯ ได้  จึงแพ้สิ้นทุกที  เพราะสู้พระบรมกฤษฎาเดชาภินิหารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ไม่ได้)

(https://i.ibb.co/zP82ZxM/Untitlesdd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายที่กรุงเทพมหานคร  เมื่อเดือนสามปีจออัฐศกนั้น  พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า  มีหนังสือบอกลงมากรุงเทพฯ ฉบับ ๑   วางยังศาลาเวรมหาดไทย  เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่สมุหนายก  นำหนังสือบอกกรุงเก่าขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  มีใจความว่า  ราษฎรทั้งหลายเห็นพวกลาวเมืองเวียงจันทน์ลงมากวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองสระบุรีพาขึ้นไปเป็นอันมาก  เหตุผลต้นปลายประการใด  ยังสืบไม่ทราบเกล้าทราบกระหม่อม  แต่ได้ใช้ให้กรมการขึ้นม้าเร็วไปสืบแล้วยังไม่กลับลงมา  ถ้าได้ความประการใด  จึงจะบอกลงมากราบบังคมทูลพระกรุณาต่อครั้งหลัง

(https://i.ibb.co/JtnvJX3/l16-10.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงทรงพระราชดำริโดยพระราชวิจารณ์ด้วยพระปรีชาไวในทันใดนั้น  ทรงทราบว่าเจ้าอนุเป็นขบถแน่  มีพระบรมราชโองการมานบัณฑูรสุรพสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม  สั่งแก่พระอินทรเทพเจ้ากรมพระตำรวจ  ให้หาเรือเร็วรีบเร่งขึ้นไปสืบราชการศึกลาวที่เมืองสระบุรีให้ได้ความมาโดยเร็ว  ให้หลวงศุภมาตราผู้ถือหนังสือบอกกรุงเก่ามานั้น  เป็นผู้นำพระอินทรเทพขึ้นไปเมืองสระบุรี  จะได้ชี้ตำแหน่งตำบลที่ลาวสระบุรีหนีไปกับลาวเวียงจันทน์นั้นทุกแห่ง

           แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ) เจ้ากรมพระตำรวจบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)  กับพระราชเสนาปลัดบัญชีกรมมหาดไทย  คุมคน ๖๐ รีบเร่งขึ้นไปสืบราชการศึกลาวที่เมืองสระบุรี  แล้วให้เดินบกขึ้นไปจากเมืองสระบุรี  ตลอดถึงเมืองนครราชสีมา

           แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระหฤทัยเจ้ากรมพระตำรวจหลัง  กับหลวงเสนีพิทักษ์ในกรมมหาดไทย  คุมคน ๕๐ เดินบกขึ้นไปสืบราชการศึกลาว  โดยทางเมืองปราจีนบุรีแลเมืองกบินทร์บุรีให้ได้ความมาชัดเจน

           แล้วโปรดให้พระยาราชวังสันคุมแขกอาสาจาม ๔๐๐   ไปจัดแจงซ่อมแซมเรือรบเรือไล่ไว้ให้พร้อม  เพื่อจะได้ป้องกันรักษาพระมหานคร......”

(https://i.ibb.co/JFL19zt/Untitlesed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           * ท่านผู้อ่านครับ  เขาสารช่องแคบที่หนองบัวลำภูจะกลายเป็นสรภูมิรบที่ดุเดือดระหว่างทหารไทย-ลาว  เพราะเจ้าอนุตั้งค่ายมั่นรอรับทัพไทยอยู่ที่นั่น  ดูการจัดกระบวนทัพของเจ้าอนุแล้วก็เห็นว่าน่าจะต้านทานทัพไทยได้แน่  แต่เมื่อถึงเวลารบกันจริงก็ต้องดูว่าฝ่ายไทยจะมีฝีมือถล่มทลายค่ายลาวได้หรือไม่เพียงใด

           พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมิได้รับหนังสือบอกจากเมืองนครราชสีมา  เพียงทรงทราบข่าวว่ามีลาวเวียงจันทน์มากวาดต้อนลาวสระบุรีไป  ก็ทรงทราบโดยพระปรีชาว่า  เจ้าอนุเป็นกบฏแล้ว  จึงโปรดให้ทหารเร่งสืบข่าวศึกลาวทันที  และเตรียมเรือไว้ป้องกันพระมหานครด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้เข้ามาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มีนาคม, 2563, 10:18:40 PM
(https://i.ibb.co/DYshLNV/Untit25led-1010.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑ -

พระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบข่าวศึก
เรื่องตื้นลึกโคราชไม่ขาดหล่น
กับเรื่องเจ้าอุปราชกวาดต้อนคน
ทั้งเบื้องต้นเบื้องปลายจากรายงาน

จึงโปรดเกล้าฯจัดทัพขึ้นขับไล่
รุกลาวจนพ้นไทยในทุกด้าน
จับอนุเวียงจันทน์อันธพาล
อย่าปล่อยพล่านลอยนวลรบกวนไทย


           อภิปราย ขยายความ........................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง)  มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบข่าวการกวาดต้อนผู้คนทางเมืองสระบุรี  จึงตรัสสั่งให้ข้าหลวงออกสืบข่าวศึกทุกทิศทาง  วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/NVbHMty/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ครั้งรุ่งขึ้นอีกสองวัน  มีหนังสือบอกเมืองกบินทร์บุรี  ให้หลวงแพ่งกรมการถือเข้ามาโดยทางบกด้วยม้าเร็วฉบับหนึ่ง  วางยังศาลาเวรมหาดไทย  เจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาใจความว่า

(https://i.ibb.co/fxXJfR2/Untedfitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          “พลเมืองลาวสุวรรณภูมิและเมืองสุรินทร์,  เมืองสังขะ,  เมืองเขมา,  แตกตื่นพาครอบครัวอพยพเดินทางมาอาศัยยังเมืองกบินทร์บุรี  กรมการเมืองกบินทร์บุรีไต่ถามก็ได้ความว่า  เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถ  คิดประทุษร้ายต่อกรุงเทพมหานครฯ  เจ้าอนุยกกองทัพใหญ่ลงมาตีเมืองนครราชสีมาแตกแล้ว  เจ้าอนุจึงให้เจ้าราชบุตรผู้เป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์  ยกกองทัพมาตีเมืองชัยบุรี ๑   เมืองนครพนม ๑   เมืองมุกดาหาร ๑   เมืองอุบลราชธานี ๑   เมืองยโสธร ๑   เมืองศรีษะเกษ ๑   เมืองเดชอุดม ๑   รวม ๗ เมือง  เจ็ดเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่  และเมืองเล็กเมืองน้อยตามลำแม่น้ำโขงนั้นหลายเมือง  กองทัพเวียงจันทน์กวาดต้อนพาครอบครัวพลเมืองที่ว่ามานี้  ขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์เป็นอันมาก  แต่เมืองสุวรรณภูมินั้นยังไม่เสียแก่ทัพเวียงจันทน์  เพราะว่าเจ้าศรีวอเจ้าเมืองสุวรรณภูมิกับหัวเมืองขึ้นใกล้เคียงช่วยกันรักษาเมืองไว้ได้”

           ฝ่ายพระยากบินทร์ได้แต่งให้ท้าวสุริยะเทพ กับท้าวเทพวงศ์ และหลวงพลสงครามกับขุนชำนาญสิงขรเขตนายด่าน  พร้อมกันคุมไพร่ไทยลาว ๕๐ คน ไปสืบราชการศึกลาว  ไปกลับมาได้ความว่า

            “ซึ่งได้ทรงพะมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมาขึ้นไปห้ามปรามเจ้าเมืองขุขันธ์บุรีวิวาทรบกันกับพระปลัดเมืองขุขันธ์  บัดนี้พระยาขุขันธ์กลับใจไปเข้าด้วยเจ้าอนุแล้ว

          พระยาขุขันธ์เกณฑ์ผู้คนไว้ได้มาก  จะยกเข้าล้อมจับเจ้าพระยานครราชสีมาส่งไปให้เจ้าอนุเวียงจันทน์  แต่พระปลัดขุขันธ์เป็นคนอริกันกับพระยาขุขันธ์  พระปลัดจึงได้เก็บข้อความที่ลับของพระยาขุขันธ์จะทำร้ายแก่เจ้าพระยานครราชสีมานั้น  มาบอกแก่พระเทพภักดีผู้บุตรเจ้าพระยานครราชสีมา  เจ้าพระยานครราชสีมารู้ตัวก่อน  จึงพาพระปลัดเมืองขุขันธ์บุรีกวาดต้อนครอบครัวเมืองขุขันธ์ที่ควรจะพาไปได้ก็พาไปมาก

(https://i.ibb.co/k8Km9Gy/Untit3uled-13-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเวลาสามยามดึกสงัด  เจ้าพระยานครราชสีมากับพระปลัดได้นำไฟจุดเผาบ้านเรือนนอกเมืองขุขันธ์  แล้วก็ยกกองทัพรีบหนีออกจากเมืองขุขันธ์บุรีหนีไปทางใต้  จะไปเมืองเขมรหรือจะมาทางช่องเสม็ด  ลงมาทางเมืองกบินทร์บุรีก็ยังไม่แจ้ง  แต่พระยากบินทร์ได้สั่งให้กรมการจัดคน ๒๕๐ คน  เกวียน ๖๐ เล่ม โคต่างร้อยหนึ่ง  บรรทุกเสบียงอาหารพร้อม  ให้พระพรหมภักดีจางวางกองนอก  กับหลวงวิชัยสงครามเป็นนายกอง  คุมไพร่แลเกวียนโคต่างออกไปตั้งอยู่ที่ช่องเสม็ดและทางเชิงผาภูมิ  เป็นทางแยกมาแต่ช่องเรือแตก  ให้คอยจ่ายเสบียงอาหารให้เจ้าพระยานครราชสีมา  เผื่อจะเข้ามาทางนั้นยังเมืองกบินทร์  แล้วแต่งให้หลวงยกกระบัตรกับขุนโจมจัตุรงค์นายด่าน  คุมช้าง ๒๐ เชือกกับไพร่ ๕๐ คน  ไปต้อนรับเจ้าพระยานครราชสีมา จนถึงเขตแดนเขาลีผีฝ่ายเขมรด้วยแล้ว”

           พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความตามหนังสือบอกของพระยากบินทร์ดังนั้นแล้ว  ก็ทรงพระราชดำริว่า     “พระยากบินทร์ลงใจแก่ราชการโดยละเอียดอย่างยิ่ง  จะหาขุนนางหัวเมืองสู้ยาก”     จึงพระราชทานเงินออกไปให้ใช้ในการจัดการรับส่งเจ้าพระนครราชสีมานั้น ๕๐ ชั่ง  เสื้อผ้า ๒๐๐ สำรับ

(https://i.ibb.co/mJbCwzj/Untitldsfed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ในวันนั้นพอหนังสือบอกเมืองนครราชสีมา  ซึ่งหลวงบุรินทร์ถือมาทางบก  ก็ถึงกรุงเทพฯทีหลังเมืองกบินทร์บุรีแปดชั่วโมง  วางยังศาลาเวรมหาดไทย  เจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกนำพาหลวงบุรินทรและนำหนังสือบอกฉบับนี้ที่สำคัญขึ้นทูลเกล้าทูลกะหม่อมถวาย  ได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วใจความว่า

            “เจ้าอนุเวียงจันทน์ยกกองทัพใหญ่ลงมาล้อมตีเมืองนครราชสีมา  กวาดต้อนครอบรัวพลเมืองทั้งสิ้น  แล้วเจ้าอนุตั้งอยู่นอกเมืองทำค่ายใหญ่โต  คิดจะทำป้อมพูนดินทำสะพานข้ามคลองและลำธาร  ทำทางบกทางป่าเป็นที่มั่นแรมปี  และปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงอาหารสะสมไว้มากมาย  ทำการกวดขันแข็งแรงมาหลายวัน  ครั้นภายหลังเจ้าอนุเผาบ้านเรือนยุ้งฉาง  ทำลายล้างกำแพงป้อมหอรบเสียสิ้นทั้งหมด  ชั้นแต่ห้วยคลองที่เจ้าอนุคิดจะทำสะพานข้ามนั้น  ก็ทำลายเผาหมด  เจ้าอนุก็เผาค่ายที่อยู่เสียแล้วก็ยกล่าเลิกไปตั้งมั่นที่ตำบลอื่น

(https://i.ibb.co/kKfLzdD/Untitl1ed-11.jpg) (https://imgbb.com/)

           ข้าพระพุทธเจ้าพระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  พระณรงค์สงคราม  พร้อมด้วยท่านผู้หญิงโม  คิดร่วมใจกันเป็นกลอุบายหลอกล่อลาวให้หลงกลอุบาย  แล้วจึงได้คิดเป็นการจลาจล  ลุกขึ้นรบฆ่าลาวที่คุมครัวไปนั้นตายมาก  แล้วก็คิดแก้ไขกลับตีพาครอบครัวคืนมาบ้านเมืองได้  แล้วได้แต่งกองทัพไทยไปติดตามตีทัพลาวที่ล่าไปนั้น  ได้สู้รบกันเป็นสามารถ  ลาวแตกหนีไปถึงสองตำบล  ไพร่พลลาวตายมาก  ไทยเก็บได้เครื่องศาสตราวุธช้างม้าโคต่างเกวียนกระบือ  และจับได้ลาวเชลยนั้นมาก  ลาวข้าศึกเสียค่ายแก่กองทัพเมืองนครราชสีมาถึงสองตำบล  รี้พลตายมากก็แตกหนีเข้าป่าไปไกล  แล้วลาวได้ตั้งค่ายใหญ่อีกหลายตำบลในป่า  กองทัพเมืองนครราชสีมาเห็นเหลือกำลังจะตามตีต่อไปอีกไม่ได้  จึงกลับมารักษาบ้านเมืองไว้นี้  เตรียมการที่จะป้องกันบ้านเมืองต่อไป  กับได้แต่งให้พระพลสงครามไปสืบดูลาวจะทำประการใด  เห็นลาวตั้งค่ายใหญ่มั่นอยู่  จะลงมาตีเมืองนครราชสีมาอีก  หรือจะยกลงไปตีกรุงเทพฯ ทางเมืองนครนายก เมืองกบินทร์บุรี เมืองปราจีนบุรี  หาทราบเกล้าทราบกระหม่อมไม่  ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”

(https://i.ibb.co/zn9CLvC/Untitleadd-10-20.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทราบข่าวศึกตามหนังสือบอกทั้งสามฉบับนั้นแล้ว  จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยายมราชให้ถอดนักโทษพม่าและทวายที่ฉกรรจ์ออกจากคุก  จะโปรดเกล้าฯ ให้ไปทัพต่อสู้กับลาว  แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราเป็นรางวัลแก่พม่าและทวาย

(https://i.ibb.co/Js6G676/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

           โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิชัยบุรินทรา กับพระยาเพชรปราณี  เป็นแม่ทัพคุมพม่าและทวายรวม ๕๐๐ คน  รีบเร่งยกขึ้นไปช่วยรักษาเมืองนครราชสีมาโดยเร็ว
           แล้วมีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก  ให้เกณฑ์กองทัพพลฉกรรจ์ลำเครื่อง ๕๖,๐๐๐
           แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรเสนา กับพระยาอภัยโนริด  เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลบ่อโพงแขวงกรุงเก่า
           โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (ชื่อน้อย) ที่สมุหกลาโหม  เป็นแม่ทัพบกคุมทหาร ๑,๐๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลเพนียดจับช้างกรุงเก่า
           โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเดชอดิศร  เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลนอกเมืองปราจีนบุรี
           โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสีหราชเดโช  เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกขึ้นไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรี
           โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิชัยวารี (ชื่อโต)  เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ตำบลท้องทุ่งสามแสนริมวัดสะพานสูง
           โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเดโชท้ายน้ำ  เป็นแม่ทัพคุมทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งค่ายรับลาวอยู่ที่ริมทุ่งวัวลำพอง (คือทุ่งหัวลำโพง) ชักปีกกาโอบไปจนถึงทุ่งบางกะปิ......”

           * จากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ตั้งแม่ทัพนายกองให้ปฏิบัติหน้าที่อีกเป็นอันมาก  แต่วันนี้เห็นควรยุติความไว้เพียงนี้ก่อน  พักสายตาสายใจไว้แค่นี้  เพื่อไว้อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, มีนาคม, 2563, 10:21:44 PM
(https://i.ibb.co/f4kgKsG/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒ -

ตรัสสั่งเจ้าพระยายมราช
อย่าประมาทศัตรูผู้น้อยใหญ่
จัดป้องกันบำรุงแต่งกรุงไกร
เตรียมพร้อมไว้ทุกประตูสู้ศึกลาว

ตรัสให้กรมพระราชวังฯจัดตั้งทัพ
ครั้นพร้อมสรรพยกไปให้อื้อฉาว
ตีเวียงจันทน์ยึดให้สิ้นถิ่นลาวกาว
อย่าซ้ำคราวก่อนที่ปรานีมัน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับทราบจากหนังสือรายงานราชการจากเจ้าเมืองกบินทร์บุรี  และจากเมืองนครราชสีมาแล้ว  ทรงตรัสสั่งให้นายทัพนายกองยกกำลังไปตั้งสกัดลาวตามลู่ทางต่าง ๆ ที่เห็นว่าจะเป็นทางเดินทัพของข้าศึก  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/sRmgD0w/Untitls-ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริ  เป็นแม่ทัพคุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งค่ายรับลาวอยูที่ท้องทุ่งสนามกระบือวัดพรหมสุรินทร์  ตั้งค่ายปีกกาโอบหัวสวนขึ้นไปจนถึงวัดช่องลม และวัดดุสิต  ริมคลองส้มป่อยสามเสน
          โปรดเกล้าฯ ให้พระยานครอินทร์รามัญกับพระยาเกียรติ์รามัญ  คุมพลทหารรามัญ ๓๐๐  ยกไปตั้งค่ายระวังต้นทางด้านตะวันออกอยู่ที่ท้องทุ่งพระโขนง  ชักปีกกาโอบลงไปถึงบางพลี  บางโฉลง  บางวัว

(https://i.ibb.co/tc09KD1/Untitldfdred-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอัครนิกร  แม่กองทหารปืนใหญ่  คุมพลทหารปืนใหญ่ ๕๐๐ ไปทอดทุ่นขึงโซ่ปิดที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ  ที่บนป้อมปีกกาตามฝั่งน้ำหน้าเมืองสมุทรปราการนั้น  ก็ให้มีทหารปืนใหญ่ขึ้นประจำรักษาครบหน้าที่ทุกป้อม  พร้อมด้วยกระสุนดินดำ

          แล้วโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งเจ้าพระยายมราช  จัดแจงตกแต่งการป้องกันรักษาพระนครทั้งปวงเป็นสามารถแข็งแรงยิ่งนัก  เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่ขึ้นประจำบนป้อมทุกป้อมรอบพระนคร  และประตูช่องกุฏรอบกำแพงพระนครนั้น  มีไม้ซุงปักขัดขวางปิดบานประตูไว้ทุกประตูรอบพระนคร  แต่ประตูใหญ่ตามกำแพงพระนครนั้น  มีไม้ซุงขันช่อกว้านขึ้นแขวนไว้บนซุ้มประตู  ประตูละสามต้นสี่ต้น  สำหรับจะได้ตัดให้พลัดตกลงมาถูกข้าศึก  เมื่อเข้ามาล้อมใกล้ทำลายประตูนั้น  และประตูคลองน้ำที่ใต้สะพานข้างริมกำแพงพระนคร  ก็มีไม้ซุงปักเป็นเขื่อนปิดไว้ทุก ๆ ปากคลอง  ที่กลางเขื่อนนั้นเปิดเป็นช่องเล็ก ๆ ไว้แต่พอให้เรือเล็กน้อยแจวพายเข้าออกได้บ้างเมื่อข้าศึกยังไม่มาติดล้อมถึงพระนคร

(https://i.ibb.co/6Ffvh2S/Untitleewd-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          โปรดเกล้าฯ เจ้าพระยาพลเทพจัดแจงตระเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางหลวง  จ่ายให้กองทัพให้พอราชการ  และให้เจ้าพนักงานกรมนา ขนข้าวเปลือกในฉางหลวง  หน้าวัดมหาธาตุนอกกำแพงพระนคร  เข้าไปไว้ที่ฉางหลวงเชิงสะพานช้างโรงสีให้สิ้นทุกฉาง  จะได้จับจ่ายใช้ราชการเมื่อศึกมาประชิดติดชานกำแพงพระนคร

          แล้วโปรดเกล้าให้กรมพระสุรัสวดี  เกณฑ์เลขสมกำลังในพระราชวงศานุวงศ์  และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย  มารวบรวมให้เป็นหมวดเป็นกอง ให้มีนายกองนายหมวดควบคุม  ขึ้นประจำซองรักษาหน้าที่เชิงเทินบนกำแพงพระนครทุกด้านรอบพระนคร  มีเครื่องสรรพาวุธประจำครบมือทุกคน  เวลากลางคืนมีกองตรวจตราตระเวนตลอดรุ่งรอบพระนคร  จัดแจงการป้องกันรักษาพระนครโดยาสมารถ  เพราะข่าวศึกรีบรัดมาเร็ว

(https://i.ibb.co/my0qGqW/Untitlsded-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอัครมหาเสนาที่สมุหกลาโหม  มีท้องตราพระคชสีห์ให้พระยาศรีสรราช กับพระยาสุรินทรามาตย์  ออกไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ให้ได้คน ๑๐,๐๐๐   ในท้องตรานั้นโปรดให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์  คุมทัพเรือเข้ามาช่วยราชการสงครามป้องกันรักษาพระนครโดยเร็ว  แล้วมีตราพระคชสีห์อีกสามฉบับถึงพระยาราชบุรี  พระยาเพชรบุรี  พระยาสมุทรสงคราม  ให้ขนข้าวเปลือกเข้ามาเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ  จะได้จับจ่ายให้เป็นกำลังแก่กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้  และกองทัพในกรุงที่รักษาพระนครด้วย

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราพระราชสีห์ถึงพระยาสุพรรณ และพระยาอุทัยธานี  ให้เกณฑ์กองทัพออกไปรักษาด่านทางข้างแดนพม่า  อย่าให้มีเหตุร้ายแรงขึ้นได้

(https://i.ibb.co/zPTWTkJ/Untit98led-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ  ดำรัสสั่งให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพหลวงถืออาญาสิทธิ์  คุมพลทหารฉกรรจ์ลำเครื่องในกรุงและหัวเมือง ๑๐,๐๐๐ เศษ  โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จขึ้นไปพักที่เมืองสระบุรีก่อน  เพื่อจะได้รวบรวมรี้พลหัวเมืองฝ่ายเหนือจะมาพร้อมกันที่นั้น

          ครั้น ณ วันเสาร์เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำปีจออัฐศก  ได้มหาพิชัยฤกษ์อันอุดม  ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ทรงเครื่องศิริราชอลังการสรรพาภรณ์บวรวิภูษา  ทรงพระมหามาลาสำหรับขัติยะราชรณยุทธทรงราชาวุธสรรพเสร็จเสด็จลงสู่เรือพระที่นั่ง  วิจิตรพิมานกาญจบัลลังก์  พร้อมด้วยเสนานิกร  นายทัพนายกองทั้งหลายฝ่ายทหารพลเรือน  ตามขบวนนาวาหน้าหลัง  สะพรั่งพร้อมล้อมตามเสด็จโดยขบวนชลมารคทั้งแห่นำ  ตามด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ทรงพระพุทธไชย  พอได้พระฤกษ์พฤฒามาตยาจาริย์  ตัดไม้ข่มนามตามไสยเวทพิไชยสงคราม  เจ้าพนักงานจึงประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ยิงปืนใหญ่ถวายพระฤกษ์สามลา  จึงเคลื่อนพลนาวาไปตามลำดับชลมารควิถี  ประทับรอนแรมไปสามเวนก็ถึงที่ประทับพลับพลา  ซึ่งกองหน้าตั้งไว้รับเสด็จที่ท่าเรือพระพุทธบาทแขวงเมืองสระบุรี  จึงเสด็จขึ้นประทับแรมพลับพลาราชอาสน์คอยกองทัพหัวเมืองที่ยังมาไม่พร้อมกันตามเกณฑ์

(https://i.ibb.co/NYKM1kK/Untitlesawd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพระสุริยะภักดี (ป้อม)  ซึ่งไปราชการสักเลขเมืองลาว  กลับมาพบเจ้าอนุ  เจ้าอนุยอมให้ลงมานั้น  พระสุริยะภักดีลงมาถึงกรุงเก่า  ก็พบเรือพระที่นั่งกรมพระราชวังบวรฯ ประทับร้อนอยู่ ณ ที่กรุงเก่า  จึงได้แวะเข้าเฝ้ากราบทูลชี้แจงการที่ตนได้ไปมาตลอดทุกประการ  แล้วก็รีบลงเรือล่องลงมากรุงเทพฯ  เข้าเฝ้าพระกรุณาในท้องพระโรง  กราบบังคมทูลมูลเหตุและประพฤติเหตุที่ตนได้ไปมานั้นทุกประการ  แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

(https://i.ibb.co/WBpsJzT/Untitle85ed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อลงมากรุงเก่าพบกรมพระราชวังบวรฯ ที่นั่น  ได้กราบทูลพฤติเหตุทุกประการแล้ว  กรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบการที่เจ้าอนุตั้งค่ายทางไปมาทุกอย่างทุกประการตามที่ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นมาแล้ว”

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า    “พระสุริยะภักดีไปอยู่เมืองลาวช้านาน  เป็นคนรู้จักการงาน  ชำนิชำนาญข้างเมืองลาวมาก  และรู้จักหนทางเมืองลาวด้วย  ควรจะเป็นแม่ทัพนายกองไปกับกรมพระราชวัง  จึงจะชอบด้วยราชการ  แต่ว่าพึ่งมาถึงใหม่ ๆ ยังกำลังเหนื่อยอยู่  ให้พักหาบ่าวไพร่ผลัดเปลี่ยนผู้คนเสียใหม่  แล้วจะให้เป็นแม่ทัพนายกองยกไปเข้าในกองทัพกรมพระราชวังบวรฯ”

          อยู่มาสองสามวัน  จัดผู้คนผลัดเปลี่ยนแล้วก็กราบถวายบังคมลาขึ้นไปสมทบเข้าในกองทัพกรมพระราชวังบวรฯ ทันทีที่ท่าเรือพระพุทธบาท  เมื่อพระสุริยะภักดีเข้าไปกราบถวายบังคมเวลานั้น  ได้รับพระราชทานประคำทองคำสายหนึ่ง  หมวกทรงประพาส ๑   เสื้อเข้มขาบ ๑   รัดประคตหนามขนุนสีแดงสายหนึ่ง   กระบี่ญี่ปุ่นฝักดำด้ามคาดลวดทองเล่ม ๑   และเงินตราสามชั่งด้วย”

          * อ่านมาถึงตรงนี้  ก็ได้เห็นความรอบคอบรัดกุมในการสงครามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วนะครับ  ทรงเริ่มจัดแจงป้องกันพระนครทั้งรอบในรอบนอกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  แล้วมีพระราชโองการดำรัสให้สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพใหญ่  ยกทัพไปรบเจ้าอนุเวียงจันทน์และยึดครองลาวให้จงได้

(https://i.ibb.co/6ZyhN7K/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุเสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จ.สมุทรปราการ

          กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์นี้  เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๗  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  พระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าอรุโณทัย  ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรม  ที่กรมหมื่นศักดิพลเสพ  เคยออกศึกสงครามร่วมกันกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ในการรบกับพม่าทางด้านกาญจนบุรี   ครั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว  จึงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นสมเด็จพระบวรเจ้ามหาศักดิพลเสพ  เสวยราชสมบัติ ณ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

          นอกจากมีพระราชโองการตรัสให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบเจ้าอนุแล้ว  ยังโปรดเกล้าฯ ตั้งแม่ทัพที่สำคัญอีกหลายท่านด้วยกัน เป็นใครบ้าง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มีนาคม, 2563, 10:55:36 PM
(https://i.ibb.co/6ZyhN7K/image.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุเสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จ.สมุทรปราการ

- อานามสยามยุทธ ๑๓ -

กรมพระราชวังบวรเจ้า
ทรงนำเหล่าพลไกรฝ่าไพรสัณฑ์
สู่นครราชสีมาไม่ช้าวัน
แล้วจัดสรรหน้าที่ตีริปู

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่งตั้งตัวแม่ทัพช่วยขับสู้
สี่ทัพหนุนขุนพลทุกคนรู้
ว่าเป็นผู้สามารถอย่างชัดเจน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ (กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ยกทัพหลวงออกจากกรุงเทพฯ ไปพักรอพลให้พร้อมอยู่ที่เมืองสระบุรี  พระสุริยะภักดีเข้าเฝ้าที่กรุงเก่า  และถวายรายงานเรื่องเจ้าอนุให้ทรงทราบ  แล้วรีบลงกรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของพระสุริยะภักดี  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทัพนายกองเข้าช่วยในกองทัพหลวง.........  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

           “ครั้นกองทัพหัวเมืองมาพร้อมกันแล้วที่ท่าเรือพระพุทธบาท  กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งขุนนางผู้ใหญ่จัดกองทัพซึ่งจะยกไปทางสถลมารคนั้น  ตามที่ทรงพระราชดำริไว้

(https://i.ibb.co/QHNwzPp/Untitlef5d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ให้พระยาจ่าแสนยากร ๑   พระยากลาโหมราชเสนา ๑   พระยานรานุกิจมนตรี ๑   พระยาณรงควิไชย ๑   สี่นายนี้เป็นนายทัพหน้าที่หนึ่ง
          กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑   กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ๑   สองพระองค์เป็นแม่ทัพหน้าที่สอง
          กรมหมื่นเสนีเทพ ๑   เป็นยกกระบัตรทัพสำหรับอยู่ในทัพหลวง
          พระองค์เจ้าสังข์ถัด  เป็นนายกองทัพปีกซ้าย
          พระองค์เจ้าสุริยะวงศ์  เป็นนายกองทัพปีกขวา
          กรมหมื่นรามอิศเรศร์  เป็นยกกระบัตรทัพ  ให้ตรวจทัพทุกกองสืบราชการมาเสนอแม่ทัพหลวง
          กรมหมื่นธิเบศร์บวร  เป็นจเรทัพ
          กรมหมื่นเทพพลภักดี  เป็นกองเกียกกาย
          พระนเรนทรราชา  บุตรเจ้าตาก (สิน)  เป็นนายกองทัพหลัง
          พระองค์เจ้าสว่าง พระราชบุตรกรมพระราชวังบวรฯ  กับพระยาเกษตรรักษา  พระยาศาตราฤทธิรงค์  เป็นนายทัพกองหนุน  คุมกระสุนดินดำด้วย

(https://i.ibb.co/DVq7s7G/Untitledrd-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          กรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดกองทัพพร้อมเสร็จแล้ว  จึงกำหนดจะเสด็จพระราชดำเนินยกพายุหะยาตราทัพหลวง และทัพทั้งปวงขึ้นไปทางดงพระยาไฟ  ก็มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่ง  ให้เจ้าพระยามหาโยธารามัญคุมกองทัพรามัญ ๑,๕๐๐ คน ขึ้นไปทางดงพระยากลาง  ให้ไปบรรจบกับทัพหลวงที่เมืองนครราชสีมา  และเป็นแม่ทัพกระหนาบด้วย
          โปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูธร (ชื่อน้อย) ที่สมุหนายก  เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ  คุมพลทหารหัวเมืองและกรุงเทพฯ รวม ๕,๐๐๐ ยกขึ้นไปทางเมืองเพชรบูรณ์
          โปรดให้พระยาเพชรพิไชย และพระยาไกรโกษา  คุมพลทหารหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๕,๐๐๐ เป็นทัพกระหนาบ  ขึ้นทางเมืองพระพิษณุโลกและทางเมืองนครไทย  ได้เดินทัพมาตีเจ้าราชวงศ์ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหล่มสัก  แล้วให้ขึ้นไปเป็นทัพกระหนาบช่วยเจ้าพระยาอภัยภูธรตีกองทัพเจ้าราชวงศ์ให้แตก

(https://i.ibb.co/X8WB5LY/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล ๑   พระยารามคำแหง ๑   พระยาราชวังเมือง ๑   พระยาจันทบุรี ๑   คุมกองทัพเมืองจันทบุรี  เมืองระยอง  เมืองตราด  พลหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันออก ๕,๐๐๐   ขึ้นไปทางเมืองพระตะบองบ้าง  ทางเมืองสุรินทร์เมืองสังขะบ้าง  เกณฑ์เขมรป่าดงไปด้วย ๕,๐๐๐   ให้ยกไปตีทัพเจ้าราชบุตร ณ เมืองจำปาศักดิ์  แล้วให้เป็นทัพกระหนาบของทัพฝ่ายตะวันออก คือทัพพระราชราชสุภาวดี (สิง) ด้วย

          แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพยกไปทางตะวันออกอีกทางหนึ่ง  ให้ไปทางเมืองปราจีนบุรี  ให้เดินทัพทางช่องเรือแตกอีก ๔ ทัพ

          โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นนายทัพที่ ๑
          โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นนายทัพที่ ๒
          ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์  กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากุญชร  สองพระองค์นี้เป็นนายทัพที่ ๓
          โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์  เป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ได้บังคับกองทัพทั้ง ๔ กอง  จะได้เป็นทัพฝ่ายทางตะวันออกกองหนึ่งด้วย

(https://i.ibb.co/KLLfJDg/Untitdwled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่พระยาราชสุภาวดีได้ยกล่วงหน้าขึ้นไปทางบ่อโพง  จะยกไปทางเมืองปราจีน  จะไปพร้อมกับทัพใหญ่ที่เมืองประจันตคาม  จะได้จัดกองทัพไปทางบกยกไปตามพระราชดำรัส

(https://i.ibb.co/yFgc1XL/Untitledd-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลัง   และทัพกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์  ทัพพระองค์เจ้ากุญชร  ทัพกรมหมื่นสุรินทรักษ์ทั้ง ๓ ทัพ  ยกทัพเรือไปทางคลองสำโรง  ออกปากตะคองแม่น้ำแปดริ้ว  จะขึ้นที่ท่าเมืองปราจีนบุรี  แล้วจะได้ยกไปตั้งยั้งทัพพร้อมกันที่เมืองประจันตคาม  จักได้จัดกองทัพไปทางบกยกไปตามพระราชดำรัส

(https://i.ibb.co/YLX3hrw/Untitlsded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีใบบอกเข้ามาว่า    “ได้เกณฑ์กองทัพไว้พร้อมแล้ว  กำหนดจะยกทัพเรือเข้ามากรุงเทพฯ ตามท้องตราที่เกณฑ์ออกไปนั้น  และได้ทราบข่าวอังกฤษเตรียมทัพเรือไว้มากที่เมืองเกาะหมาก  จึงได้ใช้กรมการไปสืบข่าวทัพอังกฤษที่เกาะหมากได้ความว่า  พวกอังกฤษยกทัพเรือกำปั่นรบ ๕ ลำ  มาพักอยู่ที่เกาะหมาก  แต่จะไปทำศึกกับประเทศใดหาแจ้งไม่  ครั้นสืบถามแขกที่เมืองไทรบุรีก็ไม่ได้ความชัดว่าอังกฤษจะไปไหน  เจ้าพระยานครศรีธรรมราชไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงจัดคนที่เป็นล่ามอังกฤษให้ไปสืบข่าวทัพเรืออังกฤษที่เมืองสิงคโปร์

(https://i.ibb.co/2ynfGRz/Untitle65d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  กะปิตันหันตรีบาระนี  มีหนังสือมาถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นการนัดว่า  จะมาเปลี่ยนหนังสือสัญญากับไทยที่เมืองตรังในคราวนี้ด้วย  เพราะฉะนั้น  เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงมิได้เป็นแม่ทัพคุมกองทัพเข้ามาตามท้องตราที่โปรดเกล้าฯ ออกไปนั้น  พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม  แต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชให้พระยาพัทลุงผู้บุตรใหญ่  กับพระเสน่หามนตรีบุตรรอง  เป็นแม่ทัพคุมทหาร ๕,๐๐๐ พร้อมด้วยเรือรบเรือไล่เข้ามาก่อนทัพหนึ่ง  ให้พระสุรินทรามาตย์ ข้าหลวงที่เชิญท้องตราออกไปนั้นกำกับทัพมา  ถ้าราชการข้างเมืองตรังและเกาะหมากเบาบางลงบ้าง  เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจะยกเข้ามาต่อภายหลัง”

(https://i.ibb.co/NVbHMty/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราให้หาเจ้าพระยาพระคลัง ๑   ทัพกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ๑   ทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑   ทั้งสามทัพให้กลับลงมารักษาปากน้ำเจ้าพระยาเมืองสมุทรปราการ
          แต่ทัพพระยาราชสุภาวดีนั้น   โปรดเกล้าฯ ให้ไปสมทบทัพหลวงกรมพระราชวังบวรฯ

(https://i.ibb.co/chknxJk/Untitl65ed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายนายไชยภักดีกับนายแก้วภักดี  นายเวรพระตำรวจหน้าทั้งสองนาย  ซึ่งเชิญท้องตราที่โปรดให้ไปเรียกทัพกลับมานั้น  ได้ไปทันกองทัพพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ๑   กับกองทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑   ทั้งสองทัพที่ทุ่งโพธิ์   จึงได้กลับลงมาตามรับสั่งนั้นแล้ว       แต่กองทัพเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นั้น  ได้ยกเลยขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมาเสียก่อนหน้าตำรวจที่ขึ้นไปตามนั้นแล้ว  แต่นายไชยภักดีกับนายแก้วภักดีนายเวรตำรวจนั้น  ได้เชิญท้องตราขึ้นไปสกัดทางดงพระยาไฟ  ก็หาทันทัพเจ้าพระยาพระคลังไม่

          ฝ่ายนายฤทธิ์ นายรงค์ นายเวรกรมพระตำรวจหน้า  ที่เชิญท้องตราขึ้นไปอีกพวกหนึ่งได้ไปทางห้วยตะคอง ถึงเมืองจันทึก ใกล้เมืองนครราชสีมาก่อนพวกนายไชยภักดี   นายฤทธิ์นายรงค์ได้เชิญท้องตราที่ให้หากองทัพกลับนั้น  ให้แก่เจ้าพระยาพระคลัง  และพระยาราชสุภาวดี (สิง)

          ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้รับทราบท้องตราดังนั้นแล้ว  จึงมอบเสบียงอาหารให้พระยาราชสุภาวดี  ตามสมควรที่รักใคร่ชอบพอกันนั้นแล้ว ก็ตระเตรียมการที่จะยกลงมากรุงเทพฯ  ตามรับสั่งให้หา........”

          * อ่านมาถึงตรงนี้ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า  วิธีการจัดกระบวนทัพของไทย  เป็นระเบียบรัดกุมกว่าของลาวมากทีเดียว  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดกระบวนทัพเสร็จแล้ว  ก็เสด็จดำเนินทัพไปเมืองนครราชสีมา  เป็นแสนยานุภาพที่น่าเกรงขามยิ่งนัก

(https://i.ibb.co/KLLfJDg/Untitdwled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตอนนี้พระยาราชสุภาวดี (สิง)   “พระเอกของเรา”   ปรากฏขึ้นมาในกองทัพไทยแล้ว  โปรดติดตามอ่านเรื่องของท่านต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มีนาคม, 2563, 10:04:11 PM
(https://i.ibb.co/BfyM2yK/gratisod.jpg) (https://imgbb.com/)
อนุเสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จ.สมุทรปราการ
Cr. Photo By gratisod

- อานามสยามยุทธ ๑๔ -

แม่ทัพใหญ่ดำรัสจัดทัพปลีก
ซอยเป็นซีกก่อนมัดรวมฟ่อนเด่น
ทุ่มตีลาวโดยไม่ให้เหลือเดน
ตามหลักเกณฑ์ณรงค์การสงคราม

“เจ้าพระยานครราชสีมา”
หวนคืนมาอยู่กับทัพสยาม
แม่ทัพใหญ่รับเข้าไม่เอาความ
ให้อยู่ตามตำแหน่งเดิมเสริมกำลัง


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า  อังกฤษมาตั้งอยู่ที่เกาะหมากโดยไม่ทราบว่าจะยกทัพไปตีเมืองใด  จึงเตรียมการป้องกันพระนคร  ตรัสให้เรียกสามทัพกลับมาตั้งที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ

(https://i.ibb.co/WFfdz8x/Untitlesdwd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ลุจุลศักราช ๑๑๘๙ ปีกุนนพศก  เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลแผ่นดินที่สาม  เมื่อเดือนห้าข้างแรมนั้น  กรมพระราชวังบวรฯ ยังประทับอยู่ที่พลับพลาท่าเรือพระพุทธบาท  จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานจัดกระบวนพยุหยาตราโยธาทัพ  โดยสถลมารคพร้อมด้วยพลช้างพลม้าพลเดินเท้า  ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงขึ้นไปเมืองนครราชสีมาโดยทางดงพระยาไฟ

          ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุเรนทรราชเสนา  เป็นนายทัพคุมพลทหาร ๒๐๐   ให้ยกล่วงหน้าขึ้นไปก่อน  เพื่อจะได้ตรวจหนทางในกลางดงพระยาไฟ  ที่ลุ่มดอนให้ทำให้ดี ที่ทัพหลวงจะเสด็จขึ้นไปทางนั้น

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเสนาภูเบศร์ ๑   พระบริรักษ์ราชา ๑   พระยาพระราม ๑   พระยาเกียรติ์ ๑   สี่นายนี้คุมพลทหารไทย ๓๐๐ คน  พลรามัญ ๕๐๐ คน   รวมเป็น ๘๐๐ คน   ยกไปเป็นกองเสือป่าแมวเซาและเป็นทัพแซงด้วย  ให้ยกเดินไปทางเมืองเพชรบูรณ์  โดยรีบเร่งเดินไปให้ถึงเมืองนครราชสีมาก่อนทัพหลวง
          ถ้าเห็นในเมืองนครราชสีมาเรียบร้อยปกติแล้วจึงให้พระยาราม พระยาเกียรติ์  คุมกองมอญ ๕๐๐ ไปตั้งค่ายขัดด่านทางข้างเมืองพิมาย  นางรอง  จะได้ระวังรักษาต้นทางที่ลาวจะมาทางเมืองหนองคาย

          ให้พระยาเสนาภูเบศร์เป็นผู้กำกับทัพรามัญ  แต่พระยาบริรักษ์ราชาให้คุมพลทหารไทย ๓๐๐ ยกไปเป็นกองลาดตระเวนในป่าดง  อย่าให้ลาวมาสืบทัพไทยได้   ให้พระชาติสุเรนทรเป็นกองม้าอยู่ในกองพระยาบริรักษ์ราชา

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หลวงวิเศษศักดาวุธกับหลวงยอดอาวุธเจ้ากรมกองแก้วจินดา  คุมพลทหารกองแก้วจินดา ๕๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน  ไปตั้งรับเสด็จอยู่ที่เขื่อนลั่นคันนายาวในกลางดงพระยาไฟ  เพราะที่นั้นเป็นช่องแคบ  และทางเดินบนเนินภูเขาสูงนัก

(https://i.ibb.co/XJbWp1Y/Untit254led-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนห้าแรมสิบค่ำ  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงเครื่องศิริราชปิลันธนาลังการาภรณ์บวรวิภูษา  ทรงพระมหามาลาสีแดงยอดปริกทองคำประดับเพชรและปักเศวตโลมาสกุณปักษาชาติอันประเสริฐ  สำหรับขัติยะรณยุทธทรงราชาวุธเสร็จ  เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับอยู่บนเกยคอยพระฤกษ์  ครั้นเวลาย่ำรุ่งแล้วกับแปดบาท  ทรงทอดพระเนตรเห็นมหาเมฆตั้งขึ้นมาแต่ทิศบูรพา  แล้วกลับเกลื่อนเลื่อนลอยกระจัดกระจายหายสูญไปในทิศอุดร  พระสุริยะจรัสแจ่มโอภาสขึ้นมาจากขอบฟ้าเป็นไร ๆ  เห็นดวงพระอาทิตย์ขึ้นผ่องใสในนภากาศเป็นศุภนิมิตมหามงคลพิไชยฤกษ์  จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้ลั่นฆ้องไชยถวายพระฤกษ์ตามศุภนิมิตพิไชยสงคราม  เจ้าพนักงานจึงประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ขึ้นพร้อมกัน  กองแก้วจินดาได้ยิงปืนจ่ารงค์คร่ำทองชื่อว่า  ”ปราบเวียงจันทน์”  บอกหนึ่งสามนัดเป็นสัญญา

(https://i.ibb.co/NtH3K4j/Untitle287d-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกระบวนกองหน้าพลม้าทวนธนูก็เดินเป็นลำดับไปก่อนตามสถลมารค  แล้วก็ถึงกระบวนอัฐเสนางคพิริยะพาหะแสนยากรบวรจัตุรงคทวยหาร  แห่นำตามเสด็จในงานพระราชสงคราม

          ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงช้างพระที่นั่งพังโกสุม  สูงหกศอกคืบสี่นิ้ว  ผูกเครื่องมั่นกระโจมทองสี่หน้า  หลังคาสีหักทองขวาง  แต่งเป็นพระคชาธาร   พระศรีภะวังเป็นหมอ  หลวงคชลักษณ์เป็นควาญ  พร้อมด้วยเสนางคจัตุรงคบาท  ทั้งเสนีสี่เท้าช้าง  และช้างพระที่นั่งรองนั้นชื่อพังเทพกิริณี  ผูกเครื่องมั่นตั้งวอช่อฟ้าหลังคาทอง  มีเครื่องสูงราโชปะโภคพร้อมไพโรจน์  อุโฆษด้วยสรรพดนตรีปี่กองชนะกึกก้อง  ทั้งฆ้องชัยฆ้องแสแซ่เสียงสนั่นนฤนาทบันลือลั่น ด้วยสรรพแตรงอนแตรฝรั่ง  เสียงเท้าพลช้างพลม้าพลเดินเท้าคราวนั้น  ประดุจดังสายพระพิรุณวลาหกตกในวัสสันตฤดู  ดำเนินกองทัพพลช้างดั้งกันแทรก  แซงค้ำค่ายวังพังคามหาพยุหะยาตราคชสงครามพร้อมเสร็จ  เสด็จพระราชดำเนินยกพยุหะแสนยากรประทับรอนแรมตามทางสถลมารคดงพระยาไฟ  แปดวันก็บรรลุถึงเมืองนครราชสีมา  จึงเสด็จขึ้นประทับแรมบนพลับพลาไชยในค่ายหลวง  ซึ่งกองหน้าแต่งไว้รับเสด็จนอกกำแพงเมืองนครราชสีมาพร้อมเสร็จแล้ว

          ครั้งนั้นพระยาเกียรติ์ พระยาราม ลงมาเฝ้าถวายบังคมทูลว่า  ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งค่ายรักษาด่านทางอยู่ทางเมืองพิมายนั้น  ขัดสนด้วยน้ำที่กองทัพจะได้อาศัยรับพระราชทานไม่พอกับไพร่พล  จะขอพระราชทานแบ่งกองทัพไปตั้งอยู่ที่ลำห้วยน้ำเชี่ยว  เพื่อจะได้อาศัยใกล้น้ำ  และจะได้รักษาลำธารที่ตำบลนั้นด้วย

          กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรโปรดอนุญาตให้พระยาเกียรติ์ พระยาราม แบ่งกองทัพรามัญ ๓๐๐   ยกไปตั้งชุมนุมอยู่ที่ค่ายลำห้วยน้ำเชี่ยวตามที่กราบทูลขอ  แต่พระยาเสนาภูเบศร์นั้น  โปรดให้คุมกองรามัญ ๒๐๐   อยู่รักษาทางเมืองพิมายอย่างเดิม

          แล้วโปรดให้หลวงภักดีโยธา นายกองส่วยรง  คุมพลลาวเมืองนางรอง ๒๐๐ คน  เป็นกองลำเลียงน้ำมาส่งให้กองพระยาภูเบศร์  และจะได้ระวังทางเมืองนางรองอีกชั้นหนึ่งด้วยที่ข้าศึกจะมา

(https://i.ibb.co/NVbHMty/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ประทับอยู่ที่ค่ายเมืองนครราชสีมานั้น  เจ้าพระยาพระคลังก็เดินทัพขึ้นไปภายหลังกองทัพหลวง  เจ้าพระยาพระคลังเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลข้อราชการเสร็จสิ้นทุกประการแล้ว  แต่ยังเฝ้าอยู่ในค่าย  ก็พอจมื่นสมุหพิมานเชิญท้องตราพระราชสีห์อีกฉบับหนึ่งขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมา  ส่งให้เจ้าพระยาพระคลังในค่าย
          เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบในท้องตราทั้งสองฉบับ  ที่โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเจ้าพระยาพระคลังกลับลงไปกรุงเทพฯ  จะได้คิดราชการป้องกันรักษาป้อมค่ายเมืองสมุทรปราการ  เพราะได้ทราบข่าวมาแต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่า  เรือกำปั่นรบอังกฤษจะเข้ามาในกรุงเทพฯ เหตุใดยังไม่ทราบเป็นแน่
          และข่าวลือกันว่า  ทัพเรือเมืองญวนก็จะเข้ามาด้วย  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวไม่ไว้พระราชหฤทัยแก่ราชการที่เมืองสมุทรปราการแก่ผู้ใด  จึงโปรดฯ ให้หาเจ้าพระยาพระคลังกลับลงไปจัดการรักษาปากน้ำเจ้าพระยาตามหน้าที่กรมท่าให้เรียบร้อย
          ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังทราบท้องตราดังนั้นแล้ว  จึงกราบถวายบังคมลากรมพระราชวังบวรฯ กลับลงมาทางดงพระยาไฟ  ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนหก ขึ้น ๑๒ ค่ำ

(https://i.ibb.co/GtsZYRW/Untitle895d-6dss.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา  เมื่อหนีออกจากเมืองขุขันธ์นั้น  ไปตั้งอยู่ในกลางป่า  ครั้นรู้ว่าบ้านเมืองของตนเสียแก่เจ้าอนุแล้ว  คิดจะยกทัพมาสู้รบกับลาวบ้างก็ไม่ได้  เพราะคนในกองทัพของตนรู้ว่าบ้านเมืองแตกเสียแก่ลาวแล้ว  ไพร่พลในกองหนีมาตามหาครอบครัวมากนัก  เหลืออยู่แต่คนที่สนิทติดตามตนอยู่ประมาณ ๒๐๐ เศษ   น้อยตัวนักจะคิดมาต่อสู้ลาวก็ไม่ได้  จึงคิดหนีเลยต่อไปถึงแดนเขมร  พักพลอยู่ที่ตำบลสวายจีบ  พอได้อาศัยเสบียงอาหารตามพวกเขมรป่าดงบ้าง  
          ครั้นเจ้าพระยานครราชสีมาพักอยู่ที่สวายจีบนั้น  ได้ทราบข่าวว่าเจ้าอนุยกทัพไปจากเมืองนครราชสีมาแล้ว  บัดนี้กองทัพกรุงเทพฯ ยกมามากมายเข้าตั้งอยู่ที่เมืองนครราชสีมา  ครั้นจะนิ่งอยู่ที่นี้เห็นไม่พ้นความผิด  จำจะต้องไปหากองทัพกรุงเทพฯ ที่บ้านเมืองเราจึงจะชอบด้วยราชการ  เจ้าพระยานครราชสีมาจึงยกพลทหาร ๒๐๐ เศษ  รีบเร่งเดินบกมาทั้งกลางวันกลางคืนถึงเมืองนครราชสีมา  เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ   กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสว่า

(https://i.ibb.co/7GzcfP1/Untitlecvd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ลาวมาตีเมืองโคราชกวาดต้อนพาครอบครัวไปมาก  มันเผาบ้านเมืองโคราชเสียยับเยินป่นปี้  ผู้คนเหลือก็หนีเข้าป่าดงไปมากมาย  บ้านเมืองระส่ำระสายดังนี้  ให้เจ้าพระยานครราชสีมาอยู่รักษาบ้านเมือง  เกลี้ยกล่อมราษฎรพลเมืองที่แตกฉานซ่านเซนไปอยู่ในป่าดงนั้น  ให้มาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม และจะได้จัดการตกแต่งบ้านเมืองให้บริบูรณ์ขึ้นดังเก่าเถิด  อย่าตามไปในกองทัพเราเลย”

          เจ้าพระยานครราชสีมาได้ทราบพระราชกระแสกรมพระราชวังบวรฯ ไม่กริ้วกราดหามีโทษไม่แล้ว  ก็ไปจัดการตามพระราชกระแสรับสั่งดังนั้น......”

          * อ่านมาถึงตรงนี้  เห็นว่าควรพักไว้ก่อนนะ  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต
Cr. Picture By E.Q.Plus Official Channel


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, มีนาคม, 2563, 09:04:53 AM
(https://i.ibb.co/V2DD150/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) (ต่อมาเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา)
รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ   ในละคร "ข้าบดินทร์"

- อานามสยามยุทธ ๑๕ -

มีพระราชบัณฑูรดำรัสให้
“พระยาสิงห์”จงไปตามรับสั่ง
ตีทัพลาวอีศานสิ้นสูญภินท์พัง
อย่าให้ตั้งมั่นถิ่นแผ่นดินไทย

“พระยาราชสุภาวดี”น้อมรับ
พากองทัพเดินตรงลงทางใต้
บุกทำลายค่ายลาวเสียหายไป
จากนั้นใช้กลศึกที่ลึกซึ้ง


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยานครราชสีมากลับเมืองโคราช ขอเข้าร่วมในกองทัพหลวงไปรบลาวเวียงจันทน์  สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ ดำรัสสั่งให้อยู่รักษาทะนุบำรุงเมืองนครราชสีมาให้กลับคืนดีเหมือนเดิม  วันนี้มาอ่านความต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/YhFBTMk/Unti56tled-2-300.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้งนั้น  กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นแม่ทัพทางฝ่ายตะวันออก  คุมพลทหาร ๘,๐๐๐  ทหารแปดพันนี้เกณฑ์ที่เมืองลาวด้วย  ให้ยกไปตีเจ้าราชบุตรเมืองจำปาศักดิ์  ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีกราบถวายบังคมลายกกองทัพจะเดินไปทางเมืองสุวรรณภูมิ  ด้วยเมืองนั้นบริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารพอจะพักกองทัพใหญ่ได้

(https://i.ibb.co/Dpq8GBX/Untitlesead-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นเดินทัพออกจากเมืองนครราชสีมาตัดทางไปทางเมืองพิมาย  พบกองทัพเจ้าโถงหลานเจ้าอนุ  ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลสระแก้ว  ไกลห่างจากเมืองพิมายทางสองวัน  กองม้าขุนแผลงสท้านควบกลับมาแจ้งความว่า  ได้เห็นค่ายลาวตั้งในป่าริมชายทุ่งสองค่าย  พระยาราชสุภาวดี (สิง) ได้ทราบข่าวศึกดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้นายทัพนายกองตระเตรียมการ  ยกเข้าระดมตีค่ายเจ้าโถงสามชั่วโมงก็แตก  ลาวตายบ้าง  หนีไปได้บ้าง  ไทยจับได้บ้าง  พระยาราชสุภาวดีจึงได้ยกกองทัพจากเขตแดนเมืองพิมายต่อไป  ก็หยุดพักพลตั้งค่ายที่เมืองขอนแก่นสองวัน  จึงมีหนังสือฉบับหนึ่ง  ใช้ให้ลาวที่เมืองขอนแก่นขึ้นม้าเร็วรีบไปให้เจ้าอุปราชเวียงจันทน์ที่พักพลอยู่เมืองยโสธร  ในหนังสือนั้นมีใจความว่า

(https://i.ibb.co/3rzync3/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เมื่อเจ้าอุปราชลงไปกรุงเทพฯ นั้น  เจ้าอุปราชได้พูดไว้แต่ก่อนว่า  เจ้าอนุจะเป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ สักคราวหนึ่ง  การนั้นสมจริงดุจดังถ้อยคำเจ้าอุปราชแล้ว  ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็รับสั่งให้เรายกทัพมาปราบเจ้าอนุ  ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินดุจดังเจ้าอุปราชว่า  ครั้งนี้สมคะเนแล้ว  ให้เจ้าอุปราชกลับไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้ได้  เราจะยกทัพหนุนเจ้าอุปราชไปด้วย  จะได้ช่วยกันตีเวียงจันทน์ให้แตกโดยเร็ว  ทัพหลวงจะได้เสด็จพระราชดำเนินโดยสะดวก  ความดีความชอบก็จะตกอยู่แก่เจ้าอุปราชมากมายฝ่ายเดียว  จะได้เป็นบำเหน็จมีชื่อเสียงไว้ชั่วฟ้าดิน  เจ้าอุปราชจะว่าประการใด  ขอให้มีหนังสือตอบมาให้เราทราบราชการโดยเร็วเถิด”

           ครั้นเจ้าอุปราชได้รับหนังสือแล้วฉีกผนึกออกอ่านดูแจ้งความทุกประการแล้ว  จึงหัวเราะกลับพับหนังสือเข้าผนึกใหม่  สั่งให้ม้าเร็วในกองทัพนั้นรีบไปส่งให้เจ้าอนุที่ค่ายตำบลเขาสาร  เจ้าอุปราชไม่ได้มีหนังสือตอบมา  เป็นแต่ว่ามากับผู้ถือหนังสือนั้นว่า   “กลับไปเถิดเรารู้แล้ว”  เท่านั้น

(https://i.ibb.co/yF3cfLr/Untitle152d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าอนุแจ้งความในหนังสือพระยาราชสุภาวดี  ที่เจ้าอุปราชส่งขึ้นไปนั้นก็มีความหวาดหวั่น  สงสัยนายทัพนายกองของตัวเองว่า  “ชะรอยจะมีไส้ศึกอยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่แจ้ง”

            (มีคำกลางขวางถามเข้ามาว่า  ซึ่งพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพฝ่ายทางตะวันออกนี้  มีหนังสือไปถึงเจ้าอุปราชเช่นนั้น  จะเป็นกลอุบายให้เจ้าอนุสงสัยเจ้าอุปราชหรือ?  หรือปรารถนาจะให้เจ้าอุปราชกับเจ้าอนุแตกความสามัคคีกัน  หรือว่าจะได้พูดจากันไว้เป็นความลับจริง  ถ้าได้พูดกันจริงดังนั้นแล้ว  เหตุไรเจ้าอุปราชจึงได้ส่งหนังสือไปให้เจ้าอนุดูให้รู้เรื่องความลับๆเล่า?

           แก้ความว่า  เจ้าอุปราชนั้นอันที่จริงก็ได้พูดจริงที่กรุงเทพฯ ครั้นได้หนังสือเป็นความลับของตนมาฉีกผนึกอ่านต่อหน้าบุตรเขยอยู่ที่นั่นด้วย  เพราะบุตรเขยเป็นบุตรเจ้าอนุ  เจ้าอุปราชเห็นว่าจะปิดความลับของตนไว้ก็ไม่มิดได้  จึงแกล้งทำเป็นว่าไทยนำชื่อเสียงของตนมาพูดเปล่า ๆ  ตนไม่ได้พูดเลย  จึงนำหนังสือฉบับนี้ออกตีแผ่ให้เห็นทั่ว ๆ กันว่า  ถ้าเป็นความลับของตนพูดจะมิปกปิดหนังสือนี้หรือ  หนังสือนี้เป็นความคิดแม่ทัพไทยใช้อุบายแกล้งว่าชื่อเรา  จะให้เราแตกร้าวกับเจ้าอนุ  เจ้าอุปราชแกล้งพูดกลับความเสียหมด  เพราะปรารถนาจะไม่ให้ลาวสงสัยว่า  ตนเป็นใจเข้ากับไทยจริง ๆ  กับทั้งจะรักษาตนอยู่ด้วย  เพราะกำลังนี้เจ้าอุปราชยังอยู่ในระหว่างกลางศึกทั้งสองฝ่าย)

           ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีต้องคอยรับหนังสือตอบของเจ้าอุปราชอยู่ช้านานไม่เห็นตอบมา  จึงได้ใช้ให้คนไปสืบดูอีก  ได้ข่าวว่า  เจ้าอุปราชยกเลิกไปจากเมืองยโสธรแล้ว  ไปตั้งอยู่ที่เมืองหนองหาร  ไม่ทราบว่าจะไปข้างไหน

(https://i.ibb.co/Qbz6kMs/Untitledsd-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระยาราชสุภาวดียกทัพไปตีค่ายเมืองเวียงคุกเวลาเดียวก็แตกหมด  แล้วยกไปตีค่ายเมืองยโสธร  อุปฮาดราชวงศ์เมืองยโสธรต่อสู้แข็งแรง  แต่สู้รบกันอยู่สองวัน  ค่ายที่ยโสธรก็แตกสิ้น  ทหารไทยจับได้ครอบครัวอุปฮาดราชวงศ์ซึ่งลงใจเข้าด้วยเจ้าอนุนั้น  จับครอบครัวมาได้ ๑๖๐ คน  พระยาราชสุภาวดีสั่งให้นำครัวลาวเชลยขบถนั้น  ไปคลอกไฟตายสิ้นทั้งหมด ๑๖๐ คน

(https://i.ibb.co/BP7VfJs/Untitlwred-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งพระยาจ่าแสนยากร ๑   พระยากลาโหม ๑   พระยานรานุกิจมนตรี ๑   พระยาณรงควิไชย ๑   เจ้าพระยามหาโยธา ๑    ทั้งห้าทัพรวมรี้พล  ๘,๔๐๐ คน  พร้อมด้วยช้างม้าเป็นพาหนะและกระสุนดินดำเสร็จ  ให้ยกล่วงหน้าขึ้นไปทางตำบลบ้านสามหมอ  ให้ช่วยกันระดมเข้าตีค่ายลาว  ซึ่งตั้งอยู่ตำบลหนองบัวลำภูนั้นก่อน

           แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าขุนเณรคุมกองทัพพม่าทวายนักโทษที่โปรดให้ไปจากคุกนั้น   ๔๖๐ คน   เป็นกองโจรยกขึ้นไปช่วยทัพเหล่านั้นเข้าตีค่ายที่หนองบัวลำภูด้วย

           ครั้น ณ วันเสาร์เดือนหกขึ้นสิบค่ำ  กรมพระราชวังบวรฯ แม่ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินยกจากเมืองนครราชสีมา  ขึ้นไปตั้งค่ายหลวงพักพลอยู่ที่ตำบลน้ำเขิน  ที่ค่ายเก่าเจ้าอนุมาตั้งแต่ก่อนนั้น  แต่แม่ทัพหน้าทั้งห้าซึ่งยกล่วงหน้าขึ้นไปก่อน  ได้ยกเข้าตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภู แต่ ณ วันอังคารเดือนหกขึ้นหกค่ำ

(https://i.ibb.co/vcHT5RY/Untitvfled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระยานรินทร์แม่ทัพลาวที่หนองบัวลำภูนั้น  ได้ต่อรบกับทัพไทยเป็นสามารถ  ลาวไทยได้สู้รบกันสามวันสามคืน  แม่ทัพไทยทั้ง ๕ กองก็ระดมกันยกเข้าตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภูแตกทั้งสิ้น

           แต่ ณ วันจันทร์เดือนหกขึ้นสิบสองค่ำ  แม่ทัพไทยก็จับพระยานรินทร์แม่ทัพลาวได้  จำตะโหงกส่งลงมาทูลเกล้าฯ ถวายยังทัพหลวง  รับสั่งให้หลวงโยธาบริรักษ์คุมตัวพระยานรินทร์เข้าไปขังในค่ายหลวง  ขณะนั้นกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระยานคราถามพระยานรินทร์ว่า

            “ตัวเป็นแม่ทัพลาวฝีมือกล้าหาญ  น้ำใจองอาจสมควรเป็นแม่ทัพเอกได้  แต่ว่าเสียทัพแก่ไทยครั้งนี้  เป็นเพราะทแกล้วทหารไม่ตั้งอยู่ในความสามัคคีรสพร้อมเพรียงกัน  จึงรักษาค่ายของตัวเองไว้ไม่ได้  บัดนี้ท่านก็ปราชัยแล้ว  ถ้าจะมาสวามิภักดิ์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปอีก  ก็จะทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อม ปลูกเลี้ยงพระยานรินทร์ต่อไป”

           พระยานรินทร์ตอบว่า    “ไม่ยอมอยู่เป็นมนุษย์  ขอให้ฆ่าเป็นผีเสียดีกว่าอยู่เป็นคน”

           พระยานคราก็นำคำพระยานรินทร์ขึ้นกราบบังคมทูลกรมพระราชวังบวรฯ  กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสว่า

            “มันไม่ยอมอยู่  ก็ให้พระคชภักดีนำช้างพลายแทงมันเสียให้ตายในวันนี้เถิด”

(https://i.ibb.co/PwRjCbc/Untidstled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

           ทัพหน้าเข้าตีค่ายลาวครั้งนั้น  เสียพระยาเกียรติ์นายทัพรามัญตายคนหนึ่ง  หลวงภักดีนุรักษ์ ๑   หลวงพิพิธสมบัติ ๑   หลวงรามัญพิทักษ์ ๑   สมิงปราบอังวะ ๑   สมิงราชเทวะ ๑   สมิงนราจรสุระ ๑   แต่ขุนหมื่นพันทนายไพร่สมกำลังจะตายเท่าไรหาแจ้งไม่  เพราะไม่ได้รายงานเมื่อเวลารบกันนั้น  มาตรวจทานดูจึงไม่รู้แน่นอนได้.......”

           * อ่านมาถึงตรงนี้ก็เห็นได้ว่า  การศึกสงครามเริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว  พระยาราชสุภาวดี(สิง)  ยกเข้าตีเมืองยโสธรได้เชลยลาว ๑๖๐ คน  ท่านก็แสดงความเหี้ยมโหดให้ปรากฏ  ด้วยหวังให้ข้าศึกเกรงกลัวด้วยการใช้ไฟคลอก (เผา) เชลยเสียสิ้น   คอยดูบทบาทของท่านพระยาแม่ทัพตะวันออกผู้นี้ต่อไป  เพราะท่านจะอยู่ในสงคราม  ”อานามสยามยุทธ”  นี้อีกยาวไกล

           กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพหลวงจากโคราชเข้าตีค่ายเจ้าอนุที่หนองบัวลำภูแล้ว  พระยานรินทร์แม่ทัพผู้รักษาค่ายนี้ถูกจับได้  องค์แม่ทัพใหญ่หมายพระทัยจะชุบเลี้ยง  เพราะชมชอบในฝีมือ  แต่ชายชาติทหารอย่างพระยานรินทร์ขอยอมตาย  พระองค์จำจำต้องประหารด้วยความเสียดาย

           เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อเถิดครับ.

                                   ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg45923#msg45923)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลาบสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, มีนาคม, 2563, 10:43:10 PM
(https://i.ibb.co/jTrt2tH/1434782588-o.jpg) (https://imgbb.com/)
พระยาราชสุภาวดี (สิงห์)
(ต่อมาเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา)
รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ   ในละคร "ข้าบดินทร์"


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg45766#msg45766)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46138#msg46138)                   .

- อานามสยามยุทธ ๑๖ -

ห้าทัพไทยรุมตีลาวที่อยู่
ค่ายหนองบัวลำภูสู้ขังขึง
แล้วแตกดับยับเยินเกินปักตรึง
นับเป็นหนึ่งค่ายลาวถูกทำลาย

ให้ “นเรศร์โยธี,เสนีบริรักษ์”
ยกทัพพรักพร้อมเข้าตีเป้าหมาย
“ทุ่งส้มป่อย”ขุมเคียงตั้งเรียงราย
ทั้งไพร่นายลาวแกร่งแรงพลัง


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เ รียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  ห้ากองทัพน้อยของไทยเข้ารุมตีค่ายหนองบัวลำภูแตก  จับตัวแม่ทัพลาวคนเก่งที่ชื่อพระยานรินทร์ได้  กรมพระราชวังบวรฯ ชื่นชอบฝีมือใคร่จะชุบเลี้ยง  แต่เขาไม่ยอมสวามิภักดิ์สมัครใจที่จะตาย  กรมพระราชวังบวรฯจึงตรัสให้ประหารเสีย  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

           “ครั้นแม่ทัพนายกองฝ่ายไทยตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภูแตกหมดแล้ว  จึ่งเดินทัพขึ้นไปหมายจะยกเข้าตีค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย  ห่างกับค่ายเขาสารประมาณ ๑๕๐ เส้นเศษ

(https://i.ibb.co/9rVqNMp/Undstitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)


          ขณะนั้นกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑   กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ ๑   สองพระองค์นี้เป็นแม่ทัพหลวงกองหน้า  คุมพลทหาร ๓,๐๐๐ คน

          โปรดให้พระยาเสน่หาภูธร  กับ  พระยาวิสูตรโกษา  คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ เป็นแม่ทัพหน้าของกรมหมื่นทั้งสอง  ยกขึ้นไปตีค่ายลาวที่ค่ายส้มป่อย

          แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าขุนเณร  คงคุมพลพม่าทวายเป็นแม่ทัพนายกองโจรอย่างเดิม

          แต่โปรดให้พระณรงค์สงครามจางวางส่วยทองเมืองนครราชสีมา  คุมกรมการและพลทหารเมืองนครราชสีมา ๕๐๐ เข้าสมทบกับทัพพม่าทวายด้วย  รวมเป็นคน ๑,๐๐๐ เศษ  เป็นกองโจรเดินก้าวสกัดเล็ดลอดไปตามชายป่า  คอยตีกองลำเลียงลาวเวียงจันทน์ซึ่งจะยกมาส่งเสบียงอาหารกันที่ค่ายส้มป่อย  อย่าให้ส่งถึงกันได้เลยเป็นอันขาด

(https://i.ibb.co/N74BKhH/Untitsled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นได้พระฤกษ์แล้ว  ฝ่ายกรมหมื่นแม่ทัพหน้าทั้งสองพระองค์  และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลายพร้อมกัน  กราบถวายบังคมลายกกองทัพรอนแรมไปใกล้ค่ายลาวซึ่งตั้งอยู่ ณ ทุ่งส้มป่อย  ครั้นกองทัพทั้งหลายถึงค่ายลาวพร้อมกันแล้ว  กรมหมื่นแม่ทัพทั้งสองพระองค์จึงมีรับสั่งให้กองทัพหน้า ๕ กอง  ซึ่งยกล่วงหน้าขึ้นมาก่อน  ให้ยกเข้าตั้งค่ายประชิดไว้หลายด้าน  และให้มีค่ายสีขุกรุกเผือก  ค่ายทุบทู  ค่ายปิหลั่น  และทำบันไดหกพาดดอกไม้เพลิง ไฟพะเนียงดวงพลุ  ไว้จะได้ปล้นค่ายพร้อมเสร็จ

(https://i.ibb.co/1n2YhPz/Untidswtled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเชียงขวากับเจ้าหน่อคำ  ซึ่งเป็นแม่ทัพรักษาค่ายทุ่งส้มป่อยนั้น  ได้ทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นมามาก  จึงให้พลทหารลาวยกออกจากค่ายเป็นกระบวนใหญ่ไปตีค่ายที่ประชิด  ไทยกับลาวได้สู้รบกันเป็นสามารถ  พลลาวจะตีค่ายไทยก็ไม่ได้  จึงล่าถอยทัพกลับเข้าค่าย  แต่ไทยกับลาวรบกันอยู่หลายเวลาก็ไม่แพ้ชนะแก่กัน

          ฝ่ายเจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่ที่ค่ายทุ่งส้มป่อย  จึงคิดกับเชียงขวาว่า จะต้องจัดทัพใหญ่ไปตีค่ายประชิดไทยให้แตกเสียโดยเร็ว  กำลังศึกไทยจึงจะหย่อนลง  แต่จะต้องจัดทัพลาวแยกออกเป็น ๕ กอง  จึงจะได้ชัยชนะแก่ไทย

          คิดแล้วดังนั้น  ก็จัดให้กองแก้วเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๔,๐๐๐  ให้กองคำเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๔,๐๐๐  รวมสองกองเป็น ๘,๐๐๐  ให้ยกออกไปตีค่ายประชิดไทยให้แตกแต่ในสามเวลา
          ให้พระยาแสนหาญเป็นแม่กองคุมพลทหารฉกรรจ์ ๔,๐๐๐ คน  ให้พระยาน่านมือเหล็กเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๔,๐๐๐  รวมสองกองนี้เป็นพล ๘,๐๐๐  ให้ยกไปเป็นกองอาทมาต  ซุ่มทัพอยู่ในป่าสองฟากทาง  ให้คอยสกัดตีกองทัพไทยที่จะยกมาช่วยกันอย่าให้มาถึงกันได้
          แล้วให้พระยาเสือหาญเป็นแม่กองคุมพลทหาร ๒,๐๐๐ ยกไปรักษาหนองน้ำตามทางไว้  อย่าให้กองทัพไทยยกมาอาศัยน้ำที่ในหนองและในบึง  สระลำธารที่ใดได้เป็นอันขาด
          ให้ท้าวมหาวงศ์กับท้าวพรหมพักตร์  เป็นแม่กองคุมทหาร ๑,๐๐๐  ให้ยกไปตัดต้นไม้สะทางที่ไทยจะมาให้ช้าลง  ตัดเถาไม้เบื่อเมาไปไว้ในบึงบ่อห้วยหนองคลองบาง ตามทางกองทัพใหญ่ของไทยจะยกขึ้นมาคราวหลัง  อย่าให้อาศัยน้ำตามทางได้เลย  กับให้เก็บเอาศพโคกระบือแลคนที่ตาย  บรรทุกเกวียนบรรทุกต่างไปไว้ในบึงบ่อหนองห้วยคลองทุกตำบล  ตลอดทางที่ไทยจะขึ้นมาทางทุ่งส้มป่อยนั้นจงทุกทาง  เป็นท่าทางกีดกั้นนั้นไว้ด้วย
          อนึ่ง ใช้ให้พระยาไชยสงครามกับเพี้ยสุวรรณและท้าวหมี  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่คุมพลทหาร ๒,๐๐๐ รักษาค่ายทุ่งส้มป่อย  แต่เจ้าหน่อคำกับเชียงขวาจะยกกองทัพใหญ่ออกไปตีค่ายประชิดไทยให้แตกเสียให้จงได้  จะได้ตัดกำลังข้าศึกไทยให้เบาบางหย่อนลงมากหากสู้ไม่ได้

          ครั้นได้ฤกษ์แล้วเจ้าหน่อคำขึ้นม้าสีจันทน์ผูกเบาะอานเครื่องทองคำพร้อม  มือถือหอกเบาบางใหญ่  ยกออกจกค่ายใหญ่นำหน้าทหารตรงไปตีค่ายประชิดไทย

(https://i.ibb.co/JcDJwXJ/Untidgrtled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพไทยนั้น  พระยาเสน่หาภูธรและพระยาวิสูตรโกษา  แม่ทัพหน้าทั้งสองจึงยกพลทหารออกต้านทาน  ต่อรบสัปะยุทธยิงแทงฟันกันเป็นสามารถ  ยังไม่แพ้ชนะแก่กันทั้งสองฝ่าย  ฝ่ายไทยมีไพร่พลน้อยกว่าลาวมาก  แต่อุตส่าห์รับรองป้องกันค่ายประชิดไว้ได้  แต่เหลือกำลังที่จะต่อสู้กลางแปลง เพราะรี้พลน้อยกลัวจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึก  จึงล่าทัพถอยเข้าค่ายปีกกาปิดประตูค่ายรักษามั่นไว้  แต่ได้ยิงปืนใหญ่โต้ตอบกับลาวอยู่ในค่ายไม่หยุดหย่อน

          ฝ่ายลาวเห็นได้ทีที่ไทยหนีเข้าค่าย  ลาวจึงยกกองทัพไล่ติดตามเข้าไปใกล้ค่ายไทย  ลาวไล่พลทหารตั้งเป็นปีกกาล้อมค่ายไทยไว้ทั้งสี่ด้าน  แต่พอพ้นทางปืนใหญ่ยิงไม่ถึง  ฝ่ายไทยยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่ายไม่ถึงข้าศึกลาว  ลาวเร่งจัดการขุดอุโมงค์ดินบังปืนใหญ่  จะเข้าตีค่ายไทยที่ล้อมไว้ให้แตกจงได้  ฝ่ายไทยในค่ายก็รักษาค่ายมั่นอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน  เพราะเป็นการจวนตัวไม่รู้ที่จะทำประการใดได้

          ครั้งนั้น  ค่ายพระยาเสน่หาภูธร พระยาวิสูตรโกษาเกือบจะแตกเสียแก่ข้าศึกลาวอยู่แล้ว  พอกรมหมื่นนเรศร์โยธี  กรมหมื่นเสนีบริรักษ์  แม่ทัพใหญ่ได้ทราบข่าวที่กองม้าเร็วคอยเหตุมากราบทูลนั้นแล้วก็ทรงพระวิตก  เกรงเกลือกว่าไทยจะทำการรักษาค่ายไว้ไม่ได้  ก็จะเสียค่ายหน้าแก่ข้าศึกลาวครั้งนี้ เหมือนเสียค่ายหลวงด้วย  เพราะค่ายหลวงนั้นอยู่ใกล้ชิดค่ายหน้า

(https://i.ibb.co/r6ZB45t/Untitledfwd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เพราะฉะนั้นกรมหมื่นทั้งสองพระองค์จึงรีบเร่งยกกองทัพขึ้นไปโดยเร็ว  ปรารถนาจะช่วยทัพหน้าให้ทันท่วงทีที่ข้าศึกมาล้อมนั้น  จึงไม่ทันได้ทรงระวังข้างทางที่เสด็จขึ้นไป  แต่พอทัพกรมหมื่นทั้งสองพระองค์เสด็จถึงกลางทางในป่าดงตะเคียน  ฝ่ายกองทัพพระยาแสนหาญกับพระยาน่านมือเหล็ก  แม่ทัพนายกองซุ่มของลาว  ซึ่งคุมพลทหาร ๘,๐๐๐ มาตั้งซุ่มอยู่ในทางดงตะเคียนนั้น  ครั้นเห็นได้ทีก็ยกพลเข้าโจมตีกองทัพกรมหมื่นทั้งสองพระองค์   ทั้งสองพระองค์ได้ต่อสู้รบกับลาวที่กลางทางป่าเป็นสามารถ  ถึงตลุมบอนฟันแทงกันด้วยอาวุธสั้น  ทั้งสองฝ่ายจะยิงปืนใหญ่น้อยก็หาทันไม่  เพราะเป็นเวลาจวนตัว  แต่พลทหารไทยน้อยกว่าพลทหารลาว  พลทหารลาวจึงได้ไสทัพช้างพรายยกเข้าล้อมกองทัพไทยไว้ได้โดยรอบ  พลทหารลาวไสช้างงาเข้าบุกบั่นฟันแทงพลทหารไทยล้มตายมาก  ขณะนั้นลาวจะทำอันตรายแก่กรมหมื่นทั้งสองพระองค์ไม่ได้  เป็นแต่ล้อมไว้ที่กลางแปลง........”

          * อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกหวาดเสียวมากนะครับ  ฝ่ายไทยทำลังเสียเปรียบ  เพราะมีกำลังรบน้อยกว่าลาว  ค่ายประชิดถูกล้อมโจมตีใกล้จะแตกแล้ว  กรมหมื่นสองพี่น้องผู้เป็นแม่ทัพรีบเร่งยกไปช่วย  ก็ถูกกองทัพซุ่มของพระยาแสนหาญกับพระยาน่านมือเหล็ก  ที่มีกำลังมากกว่าล้อมรุมโจมตีพลทหารล้มตายลงมาก  แม่ทัพถูกช้างล้อมอยู่กลางแปลง  เห็นทีว่าจะไม่รอด  จะมีปาฏิหาริย์อันใดมาช่วยหรือไม่  พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ มกราคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, มีนาคม, 2563, 10:51:32 PM
(https://i.ibb.co/w08fvGj/19494442195-e11d0718f5-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๗ -

กำลังพลลาวมากกว่าไทยพร้อม
ยกเข้าล้อมค่ายไทยถอยหงายหลัง
รุมแม่ทัพหน้าไทยที่ไม่ระวัง
จึงเหมือนถูกกักขังอยู่กลางทัพ

“กรมหมื่นนเรศร์โยธี”นิ่ง
ไม่เกรงกริ่งไพรีที่พร้อมสรรพ
ทรงขี่ช้างนั่งภาวนานับ
“คาบ”สำหรับคาถาอาคมดี

“ตวาดป่าหิมพานต์”สามคาบครบ
ทรงสยบการบุกทุกหน้าที่
ปืนธนูยิงมาเหมือนวารี
ไหลหลีกหนีห่างหายไกลพระองค์

ช้างพัง,พลายไสชนก็ย่นย่อ
หอกดาบขออึ้งคิดพิศวง
ไม่ตีรันฟันแทงแรงลดลง
กลางป่าดงเงียบซบสงบงัน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมหมื่นนเรศร์โยธี  กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์  แม่ทัพหน้าสองพี่น้องทราบว่าค่ายประชิดของพระองค์ถูกกองทัพลาวโจมตีจนถอยร่นเข้าตั้งรับอยู่ในค่าย  กำลังจะถูกเจ้าหน่อคำตีแตกอยู่รอมล่อแล้ว  ก็ร้อนพระทัยรีบยกพลจากกองทัพหลวงไปหมายช่วย  ไม่ทันระวังสองข้างทาง  จึงถูกทัพซุ่มของลาวที่มีกำลังพลมากกว่ายกเข้าโจมตี  พลไทยถูกทัพช้างของลาวบุกบั่นฆ่าฟันล้มตายลงเป็นอันมาก  แล้วทัพช้างของลาวก็เข้ารุมล้อมแม่ทัพสองพี่น้องอยู่กลางป่า วันนี้อ่านต่อครับ

           “กรมหมื่นทั้งสองนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นลาวไสช้างเข้ามาล้อมรอบพระองค์  พระองค์ท่านจะได้ครั่นคร้ามขามกลัวข้าศึกลาวนั้นหามิได้เลย  ทรงนั่งอยู่บนเก้าอี้หนังพับในที่ล้อมกลางแปลงข้าศึก  ตรัสว่าเกลียดแต่น้ำลายที่ปลายงวงช้างเท่านั้น  ขณะนั้นลาวได้ไสช้างงาเข้ามาล้อมจนใกล้  จึงตรัสตวาดให้ช้างถอยหลังออกไปห่างพระองค์  ช้างข้าศึกเหล่านั้นก็ถอยหลังออกไปห่างพระองค์ท่านตามรับสั่ง

           (แต่ลาวหาได้ยิงปืนไฟหน้าไม้มาไม่เลย  จะเป็นด้วยเหตุอะไรหาทราบไม่  เห็นจะเป็นด้วยพระองค์ท่านมีศิลปาคมอุดมพระเวท  เห็นเป็นที่ประจักษ์มหัศจรรย์แก่ตามหาชนในกองทัพไทยลาวครั้งนั้นเป็นอันมากยิ่งนัก)

(https://i.ibb.co/sWBsTpV/14.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองโจร  ยกกองทัพพม่าทวายไปซุ่มคอยตีกองลำเลียงลาวอยู่ในป่าหลังค่ายทุ่งส้มป่อย  ขณะนั้นพลลาวในค่ายทุ่งส้มป่อยออกเที่ยวหาเผือกมันกิน ๗ คน  กองทัพไทยม้าเร็วเข้าล้อมจับได้ทั้ง ๗ คนมาถามได้ความว่า

           “เจ้าหน่อคำเป็นแม่ทัพใหญ่คุมพลทหาร ๑,๘๐๐ ยกไปตีกองทัพไทย  และให้ท้าวเพี้ยคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ อยู่รักษาค่าย  แล้วเจ้าหน่อคำจัดการระวังรักษาทางป่าและหนองน้ำลำธารเป็นสามารถ”

          ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรได้ทราบดังนั้นก็ตกพระทัย  เกรงว่าพลลาวมากมายนักจะยกไปตีไทย  ไทยมีพลน้อยจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกลาว  พระองค์เจ้าขุนเณรมีความวิตกนัก  จึงดำริหาอุบายที่จะไปช่วยแก้กองทัพไทย  ฝ่ายกองหน้าที่ถูกล้อมนั้นจะทำเป็นประการใดดี  แต่ทรงพระดำริอยู่ช้านานจึงคิดขึ้นได้เป็นกลอุบายอย่างหนึ่ง  จึงเรียกลาว ๗ คนที่จับมาได้นั้นมาตรัสว่า

(https://i.ibb.co/64MmbTt/04.jpg) (https://imgbb.com/)

           “กูจับมึงทั้ง ๗ คนนี้ได้  โทษมึงถึงตายทั้งสิ้น  แต่กูจะไม่ฆ่า  จะยกโทษให้พ้นความตายทั้ง ๗ คน  แต่จะยึดพวกมึงไว้ ๖ คนก่อน  แล้วจะให้พวกไทยแต่งตัวเหมือนลาวปลอมหาบคอนแทนพวกมึงทั้ง ๖ คน   รวมเป็น ๗ คนทั้งพวกมึงคนหนึ่ง   จะให้พวกมึงพาพวกคนไทย ๖ คนเข้าไปในค่ายลาวในเวลาวันนี้  อย่าให้ลาวในค่ายรู้เหตุการณ์ได้  ถ้าสำเร็จการประสงค์ของกูแล้ว  กูจะปูนบำเหน็จให้มึงถึงขนาดกับความชอบของมึง  มึงจะรับอาสาทำการตามกูสั่งนี้ได้หรือไม่ได้ให้ว่ามา”

          ฝ่ายลาว ๗ คนต่างคนก็กราบลงแล้วทูลว่า    “ซึ่งท่านให้ชีวิตพวกข้าพเจ้า ๗ คนไว้ครั้งนี้นั้น  พระเดชพระคุณหาที่สุดที่แล้วมิได้  พวกข้าพเจ้าทั้ง ๗ คนพร้อมใจกัน  จะขอรับอาสาปฏิบัติทำตามถ้อยคำท่านนั้นทุกประการ”

(https://i.ibb.co/LZVM76J/Untitfeled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระองค์เจ้าขุนเณรจึงตรัสกับพระณรงค์สงคราม  ให้เป็นแม่กองอาทมาตทะลวงฟันคุมพลทหาร ๕๐๐  ถืออาวุธสั้นและมีคบเพลิงสำหรับตัวทุกคนจะได้เผาค่ายลาว  ให้ยกไปซุ่มอยู่ตามชายป่า  ห่างค่ายลาวประมาณ ๔๐ เส้น หรือ ๕๐ เส้นพอควรแก่การให้ทันท่วงที   ถ้าเห็นลาวพาไทย ๖ คนเข้าไปในค่าย  เผาค่ายเจ้าหน่อคำได้แล้ว  ให้พระณรงค์สงครามยกกองทัพอาทมาตรีบเร่งต้อนพลโห่ร้องกระหน่ำสำทับหนุนเนื่องเข้าไปหักค่ายให้พังลง  แล้วไฟเผาค่ายลาวให้ไหม้สว่างขึ้น  พลทหารลาวเจ้าหน่อคำก็จะตกใจพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าข้างหลัง  ก็จะถอยทัพล่าไปเอง  ไทยที่อยู่ในที่ล้อมก็จะออกได้แล้วจะได้เป็นทัพกระหนาบด้วย  พระองค์เจ้าขุนเณรจึงตรัสสั่งไทย ๖ คนที่แต่งตัวเป็นลาวนั้นว่า     “ถ้าเข้าในค่ายลาวได้  ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่ายคลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัว  หาอาวุธไว้ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”

          ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรคุมพลทหารอาทมาต ๕๐๐ คนถืออาวุธสั้นยาวครบทุกคน  ยกไปซุ่มแอบอยู่ตามชายป่าข้างทิศใต้  ห่างค่ายลาวข้าศึกทุ่งส้มป่อยประมาณ ๕๐ เส้น

(https://i.ibb.co/GCWtsXK/Untitldfwed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายไทย ๖ คนกับลาว ๑ คน เป็น ๗ คน  แต่งเป็นลาวหาบคอนพากันเดินไปถึงประตูค่ายเจ้าหน่อคำ  เป็นเวลาเย็นจวนจะค่ำเห็นนายประตูค่ายกำลังรับประทานอาหารอยู่  จึงชักดาบออกฟันนายประตูตายพร้อมกัน ๔ คน  แล้วจึงวิ่งเข้าค่ายได้ก็ไล่ฟันลาวไปจนถึงกลางค่าย  บ้างก็นำคบเพลิงเผาค่ายขึ้นเป็นหลายแห่ง  พลทหารลาวในค่ายจะจับไม่ถนัดเพราะแต่งกายเป็นลาวเหมือนกัน  ต่างคนต่างตกใจหารู้ว่าเหตุมาแต่ทางไหนไม่  บ้างเข้าดับไฟ  บ้างไล่ติดตามค้นหาผู้ร้ายภายในค่ายเป็นอลหม่าน

(https://i.ibb.co/mCjXC05/Untitaaled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรและพระณรงค์สงครามทั้งสองกองที่ซุ่มอยู่นั้น  ครั้นเห็นแสงเพลิงสว่างขึ้นที่ค่ายลาว  จึงยกพลทหารโห่ร้องเดินตามกันหนุนเนื่องเข้าไปตีค่ายลาวพร้อมกัน  พลทหารไทยพังค่ายเข้าไปในค่ายได้ไล่ฆ่าฟันลาวตายเป็นกอง ๆ  ช้างงาในค่ายลาวซึ่งตกมันอยู่นั้น  ครั้นเห็นแสงไฟสว่างก็ตกใจแตกปลอกออกไล่แทงผู้คนล้มตาย  แล้วแล่นเข้าป่าไปในค่ำวันนั้น

          พระยาไชยสงคราม, ท้าวสุวรรณ, ท้าวหมี, สามนายคุมพลทหาร ๑,๐๐๐ อยู่รักษาค่ายที่ทุ่งส้มป่อย  เห็นเชิงศึกไทยกระชั้นตีเข้ามาในค่ายได้โดยเร็วดังนั้นก็ตกใจ  จะรวบรวมทหารให้เป็นหมวดเป็นกองออกต่อสู้ก็ไม่ได้  ด้วยรี้พลแตกตื่นตกใจมากจะกดไว้ไม่อยู่  จึงปล่อยให้แตกแหกค่ายหนีไปซ่อนกายในป่าทั้งนายไพร่ได้บ้าง  ที่ตายก็มาก  ที่เหลือตายก็มี

(https://i.ibb.co/NTn08Bq/Untitlfeed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรตีค่ายทุ่งส้มป่อยแตกแล้ว  ได้ช้างพลายพังระวางเพรียว ๒๐ ช้าง   ม้า ๑๐๐ ม้า   โคต่างเกวียนกระบือเป็นอันมาก  กับเครื่องสรรพาวุธใหญ่น้อยกระสุนดินดำพร้อมด้วย  ได้ลาวเชลยฉกรรจ์ ๒๐๐ ทั้งที่ทุพลภาพป่วยไข้ด้วย ๑๐๐ เศษ   พระองค์เจ้าขุนเณรมีรับสั่งให้พระณรงค์สงครามคุมพลไทย ๘๐๐ อยู่รักษาค่ายเดิม ให้รักษาลาวเชลยไว้ด้วย  แล้วพระองค์เจ้าขุนเณรคุมพลทหารอาทมาต ๕๐๐  รีบรุดเร่งยกลงมาช่วยทัพไทยกองหน้าซึ่งถูกลาวล้อมไว้

          ฝ่ายเจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาว  เห็นแสงไฟไหม้ค่ายของตนขึ้นข้างหลังก็ตกใจ  รู้ว่าค่ายของตนเป็นอันตรายเสียแก่ข้าศึกไทยแล้ว  ด้วยว่ามาหลงล้อมไทยอยู่ทางนี้  จึงเสียค่ายข้างโน้น  เจ้าหน่อคำก็เลิกการล้อมไทย  ถอยหนีล่าทัพกลับมาตั้งรั้งทัพอยู่”.........

          * ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วนะครับท่านานผู้อ่าน  เสด็จในกรม กรมหมื่นนเรศร์โยธี  ประทับนั่งนิ่งกลางวงล้อมของข้าศึก  เหมือนบริกรรมภาวนาคาถาอาคม  นัยว่าภาวนาคาถาชื่อ  “ตวาดป่าหิมพานต์”  สะกดทัพช้างและพลปืนธนูให้นิ่งงันอยู่  ไม่เข้าทำอันตรายพระองค์  จนกระทั้งเกิด  “ปาฏิหาริย์”  ขึ้นในที่สุด

(https://i.ibb.co/5kv0ns2/Untitldfed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ปาฏิหาริย์เกิดจาก พระองค์เจ้าขุนเณร  แม่ทัพกองโจรนี้เอง
          ท่านผู้นี้เคยมีผลงานยอดเยี่ยมในสงคราม ๙ ทัพ  คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=10761.msg43224#msg43224)     ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพกองโจร  ปล้นพม่า  ทำให้พม่าพ่ายแพ้มาแล้ว  ครั้งนี้พระองค์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นแม่ทัพกองโจรอีกครั้ง  ประวัติของพระองค์ไม่ค่อยชัดแจ้งนัก  นัยว่าทรงเป็นโอรสของพระอินทรรักษา(เสม) ภัสดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระยาเทพสุดาวดี  ประสูติแต่มารดาสามัญชนที่เป็นอนุภรรยาของพระอินทรรักษา (เสม)  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีที่  “พระองค์เจ้า”  ศึกเจ้าอนุเวียงจันทน์ครั้งนี้  พระองค์เจ้าขุนเณรแสดงความสามารถในการเป็นกองโจรได้ยอดเยี่ยมยิ่ง

          พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มีนาคม, 2563, 10:49:27 PM
(https://i.ibb.co/6mmJ9GF/1441196246-Screen-Shot-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๘ -

เจ้าหน่อคำรู้แน่ว่าแพ้แล้ว
จึงเลือกแนวหนีตายไปผลุนผลัน
ไทยไล่ตามต้อนตรลบรบติดพัน
กลางอารัญลาวตายศพก่ายกอง

เจ้าอนุรู้แน่แพ้ทุกค่าย
รีบหนีตายทิ้งลาวไม่ปกป้อง
ปล่อยเวียงจันทน์ว่างผู้อยู่ปกครอง
พาครัวล่องลงใต้ไปพึ่งญวน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระองค์เจ้าขุนเณรนายทัพกองโจรคิดอุบายลอบโจมตี แล้วเผาค่ายลาวทุ่งส้มป่อยพินาศไปในพริบตา  เจ้าหน่อคำรู้ว่าค่ายใหญ่ลาวเสียแก่ข้าศึกแล้วก็เลิกล้อมค่ายไทยล่าถอยไป  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/0fpqj0B/Untitlesfded-2-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ขณะนั้นกรมหมื่นนเรศร์โยธี  กรมหมื่นเสนีบริรักษ์  ทั้งสองพระองค์ที่อยู่ในที่ล้อมลาว  ทอดพระเนตรเห็นกองทัพลาวที่ล้อมนั้นล่าถอยไป  จึงเข้าพระทัยชัดว่า  ชะรอยจะมีกองทัพไทยผู้ใดไปจุดไฟเผาค่ายลาว  ลาวจึงได้ล่าถอยไป  จึงตรัสสั่งให้นายทัพนายกองไทย  เร่งรีบยกติดตามตีทัพลาวเจ้าหน่อคำที่ล่าถอยหนีไปนั้นให้เต็มมือ

(https://i.ibb.co/2WWsyqv/Untitldfeed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าหน่อคำล่าถอยหนีมาพลาง  เดินทัพรุดหนีมาทางในป่า  ก็พอมาปะทะกองทัพพระองค์เจาขุนเณรยกมาเป็นทัพกระหนาบหลังเจ้าหน่อคำ  เจ้าหน่อคำกระทำศึกดุจดังฟองสกุณปักษาชาติอันถูกพายุพัด  มาประดิษฐานตั้งกลิ้งกลอกอยู่ริมก้อนศิลาที่เป็นแง่อันแหลม

(https://i.ibb.co/fqt7hry/Untitle47d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรต้อนพลทหาร  ให้โห่ร้องทะลวงฟันยิงแย่งแทงด้วยหอกและหลาว  พลหนุนเนื่องกันเข้าโจมตีเป็นทัพกระหนาบ  สะกัดหลังทัพลาวไว้  และฆ่าฟันลาวตายเป็นอันมาก  ฝ่ายเจ้าหน่อคำเห็นเชิงศึกไทยหลักแหลมนักเหลือกำลัง  จะตั้งสู้ต่อหาได้ไม่  จึงพาทหารที่ร่วมใจ ๒๐๐ คนเศษฝ่าออกจากที่ล้อมได้  หนีไปในป่าดงหลายวัน  ถึงค่ายช่องเขาสาร  แต่ว่าต้องถูกอาวุธมีบาดแผลเจ็บป่วยไปด้วยหาตายไม่  ขณะนั้นไพร่พลลาวแตกฉานซ่านเซ็นหนีเร้นไปทั่วป่า  จะควบคุมกันเข้าก็ไม่ได้  ด้วยนายทัพนายกองจะบังคับปกครองมิได้แล้ว

          ฝ่ายกองทัพไทยทั้งหลายไล่พิฆาตฆ่าฟันแทงลาวล้มตายเป็นอันมาก  ศพลาวตายซ้อนซับกันเต็มทั้งป่า  (ดุจดังป่าช้าในคราวอหิวาตกโรค  ชวนที่จะสังเวชยิ่งหนัก  ที่จับลาวเป็น ๆ มาได้ก็มาก  แต่หาปรากฏว่าเท่าไรไม่  เพราะไม่ได้รับรายงานรบกันในเวลานั้น)

          นายทัพนายกองไทยเก็บได้เครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ ไว้ได้ทุกอย่าง  จับได้ช้างใหญ่ได้ขนาดพลาย ๔๙ เชือก  ช้างพัง ๔๑ เชือก  ช้างเล็กไม่ถึงขนาดรวมทั้งพลายพังด้วยเป็น ๑๗๔ เชือก  ม้า ๓๔๖ ม้า  โคกระบือ ๖๐๐  เสบียงอาหารพร้อมบริบูรณ์  เจ้าหน่อคำแม่ทัพใหญ่หนีไปกับทหารร่วมใจ ๒๐๐ เศษ  ไปถึงค่ายเขาสาร  ทหารไทยหาจับได้ไม่

(https://i.ibb.co/qmPz4mb/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกรมหมื่นแม่ทัพทั้งสองพระองค์  จึงตรัสสั่งนายทัพนายกองให้เก็บรวบรวมเครื่องสรรพาวุธ  เสบียงอาหารบำรุงช้างม้าไพร่พลทั้งปวงไว้ให้บริบูรณ์เป็นปรกติที่ค่ายทุ่งส้มป่อยเสร็จแล้ว  จึงมีรับสั่งให้นายทัพนายกองจัดแจงตั้งค่ายใหญ่  ไว้รับเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงแต่งหนังสือบอกข้อราชการศึก ซึ่งมีชัยชนะแก่ลาวฉบับหนึ่ง  โปรดให้หลวงเดชอัศดรกับหลวงไกรสินธพ สองนายคุมทหารม้า ๔๐ ม้า  ถือหนังสือบอกลงมาทูลเกล้าฯ ถวายกรมพระราชวังบวรฯ ที่ค่ายหลวงตำบลที่น้ำเขิน

(https://i.ibb.co/3FkCZVN/Untitlsfded-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขุนนางผู้ใหญ่นำหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลกรมพระราชวังบวร  กรมพระราชวังบวรได้ทรงทราบสิ้นข้อความแล้ว  จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสรรเสริญสติปัญญา  และความคิดกล้าหาญของพระองค์เจ้าขุนเณรว่า

           “เขาได้เคยกระทำการศึกสงครามชำนิชำนาญมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  แต่ครั้งท่านเสด็จไปตีพม่าที่เขาชะงุ้มราชบุรี  ครั้งนั้นเจ้าขุนเณรเขาได้เป็นนายทัพกองโจรไปตีกองลำเลียงพม่า  เขาเคยมีชัยชนะมาแล้ว”

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรานุกิจมนตรี  จัดแจงตระเตรียมกองทัพให้พร้อมเวลาสิบเอ็ดนาฬิกา  จะยกทัพหลวงขึ้นไปยังค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย

          ครั้นได้พระฤกษ์ดีแล้ว  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระคชาธารพังโกสุม  ผูกเครื่องมั่นกระโจมทองสี่หน้า  พร้อมด้วยราชบริวารแห่นำตามเสด็จโดยสถลมารค  เสด็จพระราชดำเนินประทับรอนแรมขึ้นไปถึงค่ายทุ่งส้มป่อย  ประทับที่พลับพลาชัยในค่ายหลวงซึ่งกองหน้าแต่งไว้รับเสด็จ

(https://i.ibb.co/747KH0F/Untitlesawd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้น  กรมหมื่นนเรศร์โยธี  กรมหมื่นเสนีบริรักษ์  พระองค์เจ้าขุนเณร  และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลายพร้อมกัน  ไปเฝ้ากราบบังคมทูลข้อราชการศึกเสร็จสิ้นทุกประการ  และทูลถวายศาสตราวุธช้างม้า  กับลาวเชลยที่เหลือตายจับเป็นมาได้นั้น

          ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสเรียกพระองค์ขุนเณรให้เข้ามาเฝ้าในที่ใกล้  จึงพระราชทานพระแสงดาบฝักทองคำองค์หนึ่ง  แก่พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นรางวัล

(https://i.ibb.co/bdkfYzc/Untit785led-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกแม่ทัพฝ่ายเหนือยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองหล่มสัก  พอกองทัพพระยาเพชรพิชัย  พระยาไกรโกษา  ก็มาถึงเมืองหล่มสักพร้อมกัน  จึงช่วยกันระดมตีทัพเจ้าราชวงศ์แตกหนีไป  เจ้าราชวงศ์พาพระสุริยวงศาธิบดีเมืองหล่มสักหนีไปด้วย  เดินไปหาเจ้าอนุผู้เป็นประธานาธิบดีที่ค่ายเขาสาร

(https://i.ibb.co/hRfpkr4/Untitle152d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าอนุตั้งอยู่ที่ช่องเขาสารทราบการว่า  ค่ายหนองบัวลำภู และค่ายทุ่งส้มป่อย และค่ายทุ่งล้ำพี้ แตกเสียแก่ทัพไทยทัพไทยแล้วทั้งสามตำบล  จึงคิดว่า

           “เห็นจะสู้รบแก่กองทัพไทยไม่ได้  จะต้องทิ้งค่ายที่ช่องเขาสารที่สำคัญนี้เสียจึงจะได้  จำเป็นต้องคิดพาชีวิตรอดดีกว่าอยู่สู้รบกับไทย”

          คิดดังนั้นแล้วจึงทำเป็นกลอุบายว่า  เราจะไปจัดการบ้านเมืองต่อไป  จึงให้พระยาสุโภกับชานนท์ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่รักษาค่ายที่ช่องเขาสาร

(https://i.ibb.co/KxSWyxK/Unsfwtitled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าอนุแกล้งพูดปดกับนายทัพนายกองว่า  จะขึ้นไปจัดการที่เมืองเวียงจันทน์รับทัพไทย  เจ้าอนุก็รีบขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์  แล้วเก็บทรัพย์สิ่งของที่สำคัญควรจะเก็บไปได้  กับพาบุตรภรรยาญาติวงศ์ลงบรรทุกเรือใหญ่  จะหนีไปเขตแดนเมืองญวนให้พ้นภัย  บุตรที่ไปด้วยนั้นคือ  เจ้าราชวงศ์ ๑   เจ้าสุทธิสาร ๑   เจ้าไชยสาร ๑   เจ้าเสือ ๑   เจ้าเถื่อน ๑   เจ้าเหม็น ๑   เจ้าช้าง ๑   เจ้าอึ่งคำ ๑   เจ้าขัติยะ ๑   เจ้าพุทธชาด ๑  เจ้าอิศรพงศ์ ๑   เจ้าเต้ ๑   เจ้าหนูจีน ๑   เจ้าสุวรรณ ๑   รวมบุตรใหญ่ ๑๔ คน    และบุตรหญิงอีกมากไม่ปรากฏชื่อ   กับบุตรน้อย ๆ อีกหลายคน   กับหม่อมห้ามแหนแสนกำนัลที่สำคัญก็พาไปมาก  กับบุตรเจ้าอุปราชอีก ๕ คน  ชื่อเจ้าเอย ๑   เจ้าอาย ๑   เจ้าอัง ๑   เจ้าปาน ๑   เจ้าพรหม ๑   กับมารดาเจ้าอุปราชด้วยคน ๑   และญาติที่ชิดสนิทพาไปบ้าง  กับขุนนางที่ไว้ใจพาไปบ้าง

(https://i.ibb.co/Dtrt40s/Untitled-2-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          และเจ้าอนุสั่งให้จับทหารและขุนนางไทยชื่อ  พระอนุชิตพิทักษ์ (บัว)   ซึ่งเป็นน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑   กับพวกไทยที่เป็นมหาดเล็กและนายงานนายช่างหลายคน  กับพระสงฆ์ไทยหลายรูป  ให้พาไปฆ่าเสียสิ้นทั้งนั้นบรรดาไทย

(https://i.ibb.co/DLtCRYG/Untitleserd-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเดือนหก  แรมหกค่ำ  เจ้าอนุลงเรือล่องตามลำน้ำไปขึ้นที่ท่าเมืองมหาไชยกองแก้ว  แล้วเดินบกขึ้นช้างบ้าง  ม้าบ้าง  เดินเท้าบ้าง  ไปอาศัยอยู่ที่เมืองล่าน้ำ  ญวนเรียกว่าเมืองแง่อาน  ซึ่งเป็นเขตแดนหัวเมืองขึ้นของญวน.....”

(https://i.ibb.co/HKkf2Nq/Untitle54d-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เป็นอันว่ากองทัพไทยตีค่ายลาวที่หนองบัวลำภูแตกยับไป ๓ ค่ายแล้ว  ยังเหลือค่ายใหญ่ที่ช่องเขาสาร  อันเป็นเสมือนประตูสู่เมืองเวียงจันทน์อีกค่ายเดียว     แต่เจ้าอนุเจ้าของค่ายหลวงช่องเขาสารออกอุบายหนี  โดยตั้งให้พระยาสุโภกับชานนท์อยู่รักษาค่าย  ตนเองกลับไปเวียงจันทน์แล้วขนทรัพย์สมบัติ เมีย ลูก และญาติสนิทหนีไปอยู่เมืองแง่อานของญวน

(https://i.ibb.co/JQYbwg3/3.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/99PSdcc/Vientiane-Chao-Anouvong-Park-6031888461.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/RB8bjH7/230px-Emperor-Minh-Mang.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว / เจ้าอนุเวียงจันทน์ / จักรพรรดิมินห์ มาง       

          นี่เป็นการหนีไปพึ่งญวนครั้งที่ ๑ ของเจ้าอนุ   และก็เป็นชนวนเหตุให้ไทยรบลาวติดพันไปถึงรบกับญวนต่อไป...

          พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, มีนาคม, 2563, 10:26:10 PM
(https://i.ibb.co/VqFdvFT/Untitl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๙ -

พระยาสุโภแม่ทัพลาวช่องเขาสาร
สมัครมานทัพใหญ่ได้ครบถ้วน
ยกจากเขาสารเฮไม่เรรวน
สั่งทุกส่วนทัพลาวเข้าตีไทย

ค่ายส้มป่อยใกล้แตกตายน้ำตื้น
กรมหมื่นสองพี่น้องช่วยแก้ได้
กรมพระราชวังบวรฯไว
สั่งยกไปช่องเขาสารในทันที


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่   เจ้าอนุแอบพาครัวหนีกองทัพลาว  ทิ้งเวียงจันทน์ไปอาศัยอยู่เมืองล่าน้ำ หรือ แง่อาน  หมายพึ่งบารมีญวน  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

           “ฝ่ายพระยาสุโภกับชานนท์หาทราบว่าเจ้านายของตนหนีไปแล้วไม่  ได้ทราบแต่ว่ากองทัพไทยยกมาตีค่ายหนองบัวลำภู  และทุ่งล้ำพี้  และทุ่งส้มป่อย  แตกทั้งสามตำบลแล้ว  บัดนี้ไทยมาตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งส้มป่อย  จึงมีหนังสือไปถึงพระยาเชียงสาและกองคำ  และเพี้ยสุรินทร์  ให้ยกทัพใหญ่มาสมทบกันช่วยตีค่ายไทยที่ทุ่งส้มป่อยให้แตกให้จงได้

          ฝ่ายพระยาเชียงสาได้ทราบหนังสือดังนั้นแล้ว  ก็นัดหมายกองทัพทั้งสามทัพพร้อมกันแล้ว  จึงยกทัพใหญ่มาล้อมค่ายไทยที่ทุ่งส้มป่อยทั้งสามทัพ  ตามสัญญาพระยาสุโภ  พระยาสุโภก็ยกกองทัพใหญ่ไปช่วยระดมตีกองทัพไทยด้วย

(https://i.ibb.co/ysQxnGb/Undfwtitled-3-02.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพไทยซึ่งตั้งอยู่ที่นั้น  เห็นทัพลาวยกมามากก็ไม่อาจจะออกรบกลางแปลง  รักษาค่ายมั่นไว้  ทัพลาวจะเข้าตีหักค่ายไทยก็ไม่ได้  ลาวจึงตั้งล้อมไทยไว้ถึง ๗ วันจนเสบียงอาหารหมด  กองทัพไทยอยู่ในที่ล้อมครั้งนี้ ๗ วันเกือบจะเสียทีแก่ลาวอยู่แล้ว  พอกองทัพกรมหมื่นนเรศร์โยธีขึ้นไปทันท่วงที  เมื่อวันศุกร์ เดือนหก แรมค่ำหนึ่ง  มีพลทหารติดตามท่านไปแต่ ๑๐๐ คนเศษเท่านั้น  เพราะรีบเร่งด่วนขึ้นไปโดยเร็ว  เมื่อได้ทรงทราบว่าทัพลาวยกมาล้อมพระยาจ่าแสนยากร  พระยากลาโหมราชเสนา  เจ้าพระยามหาโยธารามัญ  ล้อมไว้โดยแน่นหนา  ท่านมิได้รอท่าคอยกองทัพหนุน  รับสั่งให้ยกเข้าโจมตีแต่ลำพังคนร้อยหนึ่งเท่านั้นก็จะได้

          ลาวเห็นว่าไทยมีพลทหารน้อยนัก  ลาวก็หันหน้าเข้าล้อมไว้ทั้งสี่ด้าน  ลาวกับไทยได้รบกันถึงอาวุธสั้นเป็นตะลุมบอน  แต่กรมหมื่นนเรศร์โยธีมีอาจารย์ไปด้วยสี่คน  อาจารย์ทั้งสี่กระทำวิชาให้พวกลาวข้าศึกเห็นว่าเป็นคนอยู่บนต้นไม้มากนักทุกต้น  ต้นไม้ก็เห็นเป็นหอรบไปหมด  มีคนอยู่บนหอรบหลายหมื่นหลายพัน  พวกลาวตั้งใจยิงปืนขึ้นไปบนต้นไม้ดั่งห่าฝนอย่างเดียว  ไม่ได้ยิงปืนไฟต่ำลงมาข้างล่างเลย  แล้วอาจารย์ทั้งสี่นำใบมะขามมาเสก  แล้วโปรยไปเป็นตัวต่อแตนต่อยพวกลาวเจ็บปวดสาหัสยิ่งนักหนา

           (เพราะฉะนั้น  หม่อมเจ้าบุตรหลาน  และพวกข้าไทในกรมของท่านที่ได้ตามเสด็จไปอยู่ในที่ล้อมนั้น  ไม่ได้เป็นอันตรายเลยแต่สักคนหนึ่ง  ความข้อนี้ผู้ที่ได้ไปทัพครั้งนั้น  ได้รู้เห็นเป็นพยานด้วยมากมาย  แต่บัดนี้คนเหล่านั้นล้มตายหายจากไปมากเกือบหมดแล้ว  หาพยานยาก  แต่ว่ายังมีบุตรหลานของพวกกองทัพคราวนั้น  ได้รับความเล่าต่อ ๆ มาก็มีบ้าง  ท่านผู้ได้อ่านได้ฟังต่อภายหลังจะเชื่อก็ตาม  จะไม่เชื่อก็ตามเถิด  เหมือนพงศาวดารครั้งกรุงเก่าแผ่นดินพระนารายณ์  มีพระยารามเดโชหายตัวได้  พม่าจับตัวได้แล้วแก้ตัวออกมาได้  เพราะมีวิชาทางยกเมฆกระฉายหรืออื่น ๆ ด้วย  การนี้เมื่อไม่เชื่อครั้งนี้ การครั้งโน้นก็ไม่เชื่อเหมือนกัน  เพราะการมหัศจรรย์มีน้อยนัก  จึงไม่ใคร่มีผู้เชื่อลงเนื้อเห็นด้วย)

(https://i.ibb.co/3RmbSP7/13.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะลาวล้อมกรมหมื่นนเรศร์โยธีอยู่นั้น  พอกองทัพกรมหมื่นเสนีบริรักษ์พระอนุชาคุมกองทัพใหญ่ขึ้นไปทัน  จึงได้ขับพลทหารให้เข้าช่วยกันรบตีลาวแตกเป็นช่องออกไปได้  แต่พอให้กรมหมื่นนเรศร์โยธีออกจากที่ล้อมได้

          ฝ่ายกองทัพพระยาจ่าแสนยากร  พระยากลาโหมราชเสนา  เจ้าพระยามหาโยธา  ซึ่งอยู่ในค่ายที่ทุ่งส้มป่อย  ได้ยินสียงปืนยิงรบกันแน่นหนาอื้ออึงดังนั้น  แลเห็นลาวซึ่งล้อมอยู่ทำกิริยาป่วนปั่นระส่ำระสาย  ก็เข้าใจว่ามีกองทัพไทยยกมาช่วยเป็นมั่นคง  พวกทหารเหล่านั้นก็มีน้ำใจกล้าหาญองอาจ  พร้อมใจกันช่วยตีลาวหักออกมาจากที่ล้อมได้  แล้วก็เข้าบรรจบกันกับกองทัพข้างนอกได้  เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือนหกแรมสามค่ำ  ขณะนั้นกองทัพลาวจะต้านทานมิได้  แตกกระจัดกระจายจะคุมกันเข้าไม่ได้  ก็แพ้พ่ายเปิดช่องให้ทัพไทยที่ล้อมไว้นั้นออกได้สิ้น  ฝ่ายกองทัพกรมหมื่นนเรศร์โยธี  กรมหมื่นเสนีบริรักษ์  และทัพพระย่าแสนยากร  พระยากลาโหมราชเสนา  พระณรงค์วิชัย  เจ้าพระยามหาโยธา  พร้อมกันทุกทัพทุกกองยกเข้าช่วยระดมตี  ไล่ฆ่าฟันกองทัพลาวล้มตายลงเป็นอันมาก  พวกลาวเห็นเหลือกำลังที่จะตั้งต่อสู้กับไทยไม่ได้  ลาวทั้งนายไพร่ก็ล่าทัพทิ้งค่ายที่ทุ่งส้มป่อยเสียทั้งสิ้น  ถอยทัพล่าหนีไปเข้าค่ายเขาสารได้บ้าง  ที่ตายก็มาก  ที่ไทยจับได้เป็นไปก็มาก

(https://i.ibb.co/BGdMyS4/Untitle54d-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายแม่ทัพนายกองไทย  ได้มีชัยชนะแก่ข้าศึกลาวที่ตำบลทุ่งส้มป่อยอีกครั้งหนึ่ง  เป็นสองครั้งทั้งครั้งก่อนนั้น

          ครั้งนี้  กรมหมื่นทั้งสองกรมรับสั่งให้เจ้าพระยามหาโยธาคุมกองรามัญอยู่รักษาค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อยไว้ให้ดี
          แล้วโปรดให้พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา  คุมพลทหาร ๔๐๐ เป็นนายทัพนายกองลาดตระเวนที่หนึ่ง
          ให้พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกรมช้าง  กองนอกเมืองนครราชสีมา  คุมพลทหาร ๕๐๐  มีช้างสำหรับในกอง ๒๐๐ ช้าง เป็นแม่กองตระเวนที่สอง   รวมพลทหารทั้งสองกองพลพันหนึ่ง  จึงโปรดให้ลาดตระเวนรักษาด่านทางข้างทุ่งนาคราช  ป้องกันรักษาทางไม่ให้ลาวเวียงจันทน์และทางอื่นยกมาบรรจบกับค่ายที่เขาสารได้เลยเป็นอันขาด

(https://i.ibb.co/q5X61vs/09.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระองค์เจ้าขุนเณรคงเป็นกองโจร  รีบยกไปซุ่มพลอยู่ต้นทางเวียงจันทน์ที่จะเข้ามาเขาสาร  ให้คอยสกัดตีกองลำเลียงลาวเวียงจันทน์อย่าให้มาส่งถึงกันได้

          แล้วโปรดให้ทัพพระยาเสนาภูเบศร์กองหนึ่ง   โปรดให้ทัพพระยาพิชัยบุรินทรากองหนึ่ง    โปรดให้ทัพพระยาณรงค์วิชัยกองหนึ่ง    โปรดให้ทัพพระยาวิสูตรโกษากองหนึ่ง     ทั้ง ๔ กองนี้คุมพลทหารกองละ ๑,๐๐๐    เป็นทัพหน้าที่หนึ่งยกไปตีค่ายเขาสารช่องแคบด้านตะวันตก
          โปรดให้ทัพพระยากลาโหมราชเสนากองหนึ่ง    โปรดให้ทัพพระยาจ่าแสนยากรกองหนึ่ง    โปรดให้ทัพพระวิเศษสงครามฝรั่งแม่นปืนใหญ่กองหนึ่ง   คุมทหาปืนใหญ่    ยกไปเข้ากองทัพพระยาจ่าแสนยากร  เป็นทัพทำลายค่าย  รวม ๓ ทัพพลทหาร ๓,๐๐๐    ยกเข้าตีค่ายเขาสารด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
          โปรดให้กองทัพพระยาศาสตราฤทธิรงค์กองหนึ่ง    ให้ทัพหลวงดำเกิงรณภพกองหนึ่ง    หลวงวุธทธสาระชาญกองหนึ่ง    โปรดให้พระยาอภัยศรเพลิงกองหนึ่ง    พระจินดาจักรรัตน์กองหนึ่ง       ทั้ง ๔ กองนี้คุมพลกองละ ๕๐๐   ยกเข้าตีค่ายลาวที่เขาสารทางด้านใต้
          โปรดให้พระยาสุริรทราชเสนี  กับพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา  ทั้งสองกองนี้คุมพลทหารกองละ ๓๐๐    ยกไปคอยตีกองทัพลาวซึ่งจะมาอาศัยตักน้ำกินในลำธารป่าดงทึบ  ให้รักษาลำธารทั้งปวงไว้ให้มั่นคง  อย่าให้เสียลำธารน้ำแก่ลาวได้เลยสักแห่งหนึ่ง

(https://i.ibb.co/17jyy9J/14.jpg) (https://imgbb.com/)


          ฝ่ายแม่ทัพนายกองทั้งหลายพร้อมกันกราบถวายบังคมลายกกองทัพไปตามรับสั่งในวันนั้น  ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันที่สอง  กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้กรมหมื่นทั้งสองพระองค์  คุมพลทหาร ๓,๐๐๐ เป็นแม่ทัพใหญ่ถืออาญาสิทธิ์แทนพระองค์    โปรดให้บังคับบัญชากองทัพทั้งสิ้น  ให้ยกหนุนกองทัพทั้งหลายขึ้นไปตีค่ายเขาสารตามราชการ

          แล้วโปรดให้พระยาราชโยธา  กับพระยามหาอำมาตย์  คุมพลทหารกองละ ๑,๕๐๐ เป็นกองผู้ช่วยทัพทั้งหลาย  ถ้าเห็นทัพผู้ใดหย่อนกำลังรี้พลลงเมื่อใด  ให้ช่วยอุดหนุนกองนั้นให้ทันท่วงทีแก่ราชการ.......”

          * เสด็จในกรม  กรมหมื่นนเรศร์โยธีพระองค์นี้ทรง  “เล่นของขึ้น”   ครั้งก่อนเห็นท่านใช้วิชาอาคมตวาดฝูงช้างในกองทัพลาวถอยไป  พลทหารปืนธนูยืนจังงังไปครั้งหนึ่งแล้ว  มาครั้งนี้ทรงนำทหาร ๑๐๐   สู้กับทหารลาวเป็นหมื่นคน    ตรัสให้อาจารย์ทั้ง ๔ ใช้วิชาอาคมลวงตาทหารลาวให้ใช้ปืนยิงต้นไม้ แทนที่ตจะยิงพระองค์ท่านกับพลทหาร  มิหนำยังเสกใบมะขามเป็นตัวต่อแตน  บินไล่ต่อยทหารลาวในกองทัพเจ็บป่วยไปตาม ๆ กันอีก  ไม่เชื่อได้หรือครับ

          แม้เจ้าอนุจะทิ้งกองทัพหนีจากเวียงจันทน์ไปแล้ว  แต่กองทัพลาวยังไม่รู้เรื่องเลย  จึงยกเข้ารบกับไทยจนแพ้พ่ายล้มตายเป็นอันมาก  ตอนนี้เหลือค่ายหลวงที่ถูกเจ้าอนุทิ้งไว้ตรงช่องแคบเขาสารเพียงค่ายเดียว  กรมพระราชวังบวรฯ แม่ทัพใหญ่ของไทยทรงดำริเผด็จศึกให้เสร็จสิ้นไป  จึงโปรดให้นายทัพนายกองยกกำลังเข้าตีค่ายเขาสารทุกทิศทุกทาง  ค่ายใหญ่ของลาวจะรอดเงื้อมมือกองทัพไทยหรือไม่  พรุ่งนี้ตื่นมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, มีนาคม, 2563, 10:10:06 PM
(https://i.ibb.co/0t3mQ28/1434728052-1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๐ -

กองทัพใหญ่ไทยเคลื่อนสะเทือนป่า
ทั้งทัพหน้าทัพหลวงล่วงวิถี
ถึงค่ายลาวเขาสารไร้ต้านตี
ด้วยลาวมีกังวลกลอุบาย

ไทยตั้งทัพมั่นลงแล้วสงสัย
ลาวทำไมนิ่งงันไม่สั่นส่าย
จึงปรึกษาหาทางทั้งไพร่นาย
แล้วกระจายกำลังรบสยบลาว


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ  เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง)  มาให้อ่านกันถึงตอนที่ กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งกองทัพต่าง ๆ ยกเข้าล้อมตีค่ายลาวที่ช่องเขาสาร  โดยทรงวางกำลังเข้าตีและกำลังสกัดทางเดินทัพลาวทุกทางอย่างรัดกุม  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/dMRmv1F/10.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้นรุ่งขึ้นวันที่สาม  กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชดำรัสสั่งพระยาเสน่หาภูธร  ให้คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ รักษาค่ายหลวงที่ทุ่งส้มป่อย  ถ้ามีราชการแปลกประหลาดจรมาประการใด  ให้คิดราชการกับเจ้าพระยามหาโยธา
          แล้วโปรดให้พระยาประสิทธิศาสตรา กับหลวงฤทธิรงค์  หลวงทรงศักดาวุธ  สามนาย  คุมพลทหารเกณฑ์หัดอย่างใหม่ ๘๐๐ เป็นกองเสือป่าแมวเซายกไปช่วยทัพหน้า
          แล้วโปรดให้หลวงฤทธิ์สำแดง  คุมพลทหารฝรั่งปืนใหญ่ ๓๐๐ เป็นกองอาทมาตไปกับทัพหลวง
          แล้วโปรดให้หลวงผ่านพิภพกับหลวงจักรวาลเป็นทัพม้า  คุมทหารม้ากองละ ๑๐๐   มีพลม้าประจำหลังม้าทั้งสองกองร้อย  เป็นกองคอยเหตุ  และจะได้เดินหนังสือบอกข้อราชการศึกหนักเบาให้ทราบทั่วทุกทัพทุกกอง
          โปรดให้พระยาประกฤษณุรักษ์คุมพลทหารช้าง ๑๕๐    กับพระยาเพธราชาคุมพลทหารช้าง ๑๕๐    รวมช้างสองกอง ๓๐๐   ยกไปตีค่ายเขาสาร  พร้อมด้วยทัพกรมหมื่นทั้งสองพระองค์

(https://i.ibb.co/kGfZqZm/13.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นได้มหาพิชัยฤกษ์  กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จทรงพระคชาธารพลายปราบไตรจักร  เสด็จพระราชดำเนินยกพยุหแสนยากรทัพหลวง  พร้อมพลช้างม้าพลเดินเท้าเป็นกระบวนพยุหยาตราตามรัฐยาสถลมารค  ประทับร้อนแล้วยกหนุนทัพหน้าทั้งปวงขึ้นไป  ตั้งค่ายหลวงใกล้ค่ายลาวเขาสาร  ห่างประมาณ ๒๕๐ เส้น   บรรดานายทัพนายกองหน้าทั้งหลายตั้งค่ายประชิดห่างค่ายลาวที่เขาสารประมาณ ๕๐ เส้นบ้าง   ๗๐ เส้นบ้าง    ๑๐๐ เส้นบ้าง   อย่างที่ใกล้ ๓๐ เส้น  

(https://i.ibb.co/tCXbDs1/11.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่ค่ายกรมหมื่นทั้งสองพระองค์นั้น  ทรงตั้งค่ายอย่างกวางเหลียวหลัง  ตั้งหนุนค่ายกองหน้าห่างประมาณ ๓๐ เส้น  แล้วโปรดให้ตั้งค่ายหลวงลงใหม่ ห่างค่ายกรมหมื่นทั้งสอง  ออกมา ๗๐ เส้น เป็นค่ายชัย   แต่ทัพหลวงค่ายเดิมที่ตั้งแต่ก่อนห่างมากประมาณ ๒๕๐ เส้นนั้น   โปรดให้เจ้าพระยาพระพิษณุโลกซึ่งมาล่าช้า  พอมาถึงจึงโปรดให้คุมพลทหารเมืองพระพิษณุโลกอยู่รักษาค่ายหลวงเดิม  เพราะค่ายหลวงที่ตั้งที่ตั้งแต่เดิมนั้น  มีหนองน้ำอยู่ในค่าย  จึงต้องรักษาไว้ให้มั่นคง  เป็นที่พักพลทหารเจ็บป่วย (โรงพยาบาลทหาร)

(https://i.ibb.co/cLsg7gM/Unti259tled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายแม่ทัพนายกองลาวที่ค่ายเขาสารนั้น  จัดการตกแต่งหอรบค่ายคูขวากหนาม  ป้องกันรักษาค่ายให้มั่นคง  แล้วเกณฑ์กองทัพลาวหัวเมืองขึ้นมาสมทบมากมายหลายพัน  ให้พลทหารลาวเหล่านั้น  ขึ้นประจำรักษาหน้าทุกค่ายใหญ่น้อยโดยสามารถแข็งแรงนัก  ฝ่ายพระยาสุโภและชานนท์แม่ทัพใหญ่ได้ปรึกษาขุนนางลาวท้าวเพี้ย  นายทัพนายกองทั้งหลายว่า

           “บัดนี้กองทัพฝ่ายไทยยกมาตั้งค่ายประชิดคราวนี้  เห็นเชิงศึกเข้มแข็งกล้าหาญนัก  ตั้งค่ายเป็นวงพาดีถึงสามชั้น  ทั้งทัพหลวงก็ยกมาตั้งค่ายหนุนทัพหน้าทั้งปวงอยู่ด้วย  อาการเชิงศึกไทยครั้งนี้ดูท่วงทีชอบกล  เราจะคิดเป็นประการใด?  จึงจะได้ชัยชนะแก่ไทยได้”

          แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยจึงพูดตอบว่า  “การทั้งนี้ก็สุดแท้ความคิดท่านผู้เป็นแม่ทัพใหญ่  จะบัญชามาประการใดพวกนายทัพนายกองทั้งหลายนี้  ก็จะปฏิบัติตามสั่งโดยสมควรแก่การศึก”

          ฝ่ายพระยาสุโภและชานนท์  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บัญชาการทัพนั้นจึงพูดขึ้นในท่ามกลางประชุมว่า

           “เราคิดว่าไทยยกทัพมาคราวนี้  เป็นการเร่งรุดรีบด่วนมาโดยเร็ว  อีกประการหนึ่งเล่า  ไทยยกขึ้นมาทางนี้ก็เป็นทางลำบากแก่ไพร่พลมาก  เพราะเป็นทางข้ามเขาและทางป่าไกลนัก  จะได้เสบียงอาหารบรรทุกโคต่างและช้างม้าขึ้นมามากน้อยสักเท่าใด  ก็พอจะคิดได้ไม่ผิดมากนัก  เราประมาณดูรี้พลในกองทัพไทย  กับเสบียงอาหารที่บรรทุกช้างและโคต่างมานั้น  จะทำการสักสามเดือนก็ไม่พอเลี้ยงกันเต็ม  ว่าช้าเดือนเศษจะหมดสิ้นเสบียงอาหารลง  กำลังกองทัพไทยก็จะหย่อนลงมาก  จะทำอะไรแก่เราได้เล่า  เพราะหมดเสบียงแล้ว  กับที่ไทยจะขึ้นมาส่งเสบียงอีกนั้นก็ไม่ได้  ด้วยเราแต่งกองทัพอันสำคัญไปตั้งจุกช่องกักด่าน  คอยตีกองลำเลียงไทยที่จะมาเพิ่มเติมกันนั้นก็ไม่ได้  อีกประการหนึ่งเวลานี้เล่า  กำลังไทยรื่นเริงหน้าทัพเพราะมีชัยชนะแก่ลาวมาหลายครั้ง  กำลังศึกยังกล้าหาญอยู่นักหนา  เราจะเข้าต่อสู้เวลานี้ยังไม่ได้  เราคิดว่าช่วยกันให้แข็งแรง  รักษาค่ายตั้งมั่นไว้สักเดือนเศษหรือครึ่งเดือน  แต่พอให้กองทัพไทยขาดเสบียงอาหารลงเมื่อใด  เราจึงจะได้ยกกองทัพออกโจมตี  จะมีชัยชนะแก่ไทยโดยง่าย”

          ฝ่ายแสนท้าวพระยาลาวก็เห็นชอบพร้อมกัน  ตามถ้อยคำและความคิดพระยาสุโภและชานนท์ทุกประการ  จึงได้ช่วยกันรักษาค่ายโดยมั่นคง

(https://i.ibb.co/NVt2s3K/10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีรับสั่งให้มหาดเล็กขึ้นไปเชิญกรมหมื่นทั้งสองพระองค์ลงมาเฝ้าที่พลับพลาชัยในค่ายหลวง  แล้วทรงตรัสปรึกษาว่า

           “แต่กองทัพไทยยกขึ้นมาตั้งค่ายประชิดที่เขาสารช่องแคบช้านานถึงหกเจ็ดวันแล้ว  ไม่เห็นลาวจัดกองทัพออกมาตีเรา  ตามธรรมเนียมศึกใหญ่  ลาวนิ่งอยู่แต่ในค่ายหลายวันแล้ว  ดีร้ายลาวจะคิดกลอุบายสักอย่างหนึ่งเป็นแม่นมั่น”

          กรมหมื่นทั้งสองพระองค์จึงกราบทูลว่า     “ถ้าจะนิ่งช้าอยู่  เห็นจะต้องด้วยอุบายลาวตามพระราชกระแสรับสั่ง  ขอพระราชทานพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม  มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งหลาย   ให้ตระเตรียมการเข้าปล้นค่ายลาวให้แตกในสามวัน  ถ้าเนิ่นช้าพ้นไปสามวันก็เห็นว่าจะต้องถูกกลอุบายลาวเป็นแน่แท้  ไม่ควรจะนิ่งไว้ให้ช้าจนลาวคิดกลอุบายได้สำเร็จ”

          ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเห็นชอบด้วยความคิดกรมหมื่นทั้งสองพระองค์แล้ว  จึงมีพระราชดำรัสให้หาเจ้าพระยา และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งปวง  ให้มาเฝ้าพร้อมกันในค่ายหลวง   จึงทรงจัดการทัพซึ่งจะยกเข้าปล้นค่ายลาวเจ้าอนุที่เขาสารนั้น

(https://i.ibb.co/RcftX6W/16.jpg) (https://imgbb.com/)

          - พร้อมโปรดให้กองทัพพระยาจ่าแสนยากร กับพระยามหาอำมาตย์  คุมพลทหาร ๑๕,๐๐ กองหนึ่ง
            ให้พระยากลาโหมราชเสนา กับพระยาศรีสรราช คุมทหาร ๑,๕๐๐ กองหนึ่ง    ทั้งสองกองนี้  เป็นทัพเอกยกเข้าปล้นค่ายพระยาสุโภ
          - โปรดให้พระยาราชโยธา กับพระยาเสนาภูเบศร์   คุมพลทหาร ๑,๕๐๐ กองหนึ่ง
            ให้พระยาบริรักษ์ราชา กับพระยาอัษฎาเรืองเดช  คุมพลทหาร ๑,๕๐๐ กองหนึ่ง    ทัพสองกองนี้เป็นทัพโทเข้าปล้นค่ายชานนท์
          - โปรดให้กองพระยาณรงค์วิชัย กับพระยาสุนทรสงครามสุพรรณบุรี  คุมพลทหาร ๑,๐๐๐  เป็นกองหนุนทัพเอก
          - โปรดให้พระยาอภัยสงครามกับพระยาพิชิตสงคราม  คุมพลทหาร ๑,๐๐๐  เป็นกองหนุนทัพโท
          - โปรดให้พระพิชัยสุรินทรา กับพระยานครา  พระยาพิพิธภักดี  คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ เป็นกองเสริม   ถ้าเห็นว่าทัพใดล่าหย่อน  ก็จะได้ช่วยหนุนทัพนั้นบ้าง
          - โปรดให้พระยาสุรินทรราชเสนีคุมพลทหาร ๑,๐๐๐   โปรดให้พระยาสุเรนทรราชเสนาคุมพลทหาร ๑,๐๐๐    โปรดให้พระยาพิบูลย์สมบัติคุมพลทหาร ๑,๐๐๐    โปรดให้พระยาอร่ามมณเฑียรคุมพลทหาร ๑,๐๐๐    โปรดให้พระยาพิจิตรคุมพลทหาร ๑,๐๐๐    โปรดให้พระยานครสวรรค์คุมพลทหาร ๑,๐๐๐    ทั้ง ๖ กองนี้  โปรดให้ยกเข้าปล้นค่ายพระยามือไฟและพระยามือเหล็กและค่ายเชียงใต้และค่ายเชียงเหนือ  หรือค่ายเพี้ยท้าวพระยาลาว  ซึ่งได้ตั้งเป็นค่ายละเมาะติด ๆ ต่อ ๆ กันตามชายป่าเชิงเขาสารทุก ๆ ค่ายให้แตกพร้อมกัน

(https://i.ibb.co/2Zn1dnw/110.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพอีก ๘ กองคือ  กรมอาสาญี่ปุ่น  และกรมอาสาวิเศษ กรมอาสาใหม่  กรมอาสาหกเหล่า  และกรมกองแก้วจินดา  กรมพันทนายเลือก  รวม ๘ กอง   มีพระยา, พระ, หลวง  เป็นนายทัพนายกอง   คุมพลทหารกองละ ๓๐๐ บ้าง  ๔๐๐ บ้าง   ยกระดมเข้าตีค่ายปีกกาลาวทุก ๆ ค่าย
          โปรดให้พระยาประกฤษณุรักษ์  กับพระยาพุทธราชาแม่กองข้างในกรุง  พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์แม่กองข้างกองนอกเมืองนครราชสีมา  รวม ๓ นายคุมพลช้าง ๒๐๐ ยกไปทลายค่ายลาวที่เขาสาร  แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาพระยาจ่าแสนยากรและพระยากลาโหมราชเสนา
          แล้วโปรดให้หม่อมเจ้ากำภูฉัตรในเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  เป็นแม่ทัพม้าคุมพลทหารม้า ๕๐๐   เป็นจเรทัพกองตราตราทัพทั้งหลาย
          แล้วโปรดให้พระวิชิตรณรงค์ข้าหลวงเดิมคุมพลทหาร ๕๐๐   ยกไปตั้งค่ายสกัดปิดต้นทางข้างเมืองเวียงจันทน์ไว้  อย่าให้ลาวไปมาหากันได้  ให้ตั้งค่ายปิดทางที่ตำบลทุ่งแค  ลาวชาวเวียงจันทน์เรียกว่า   ทุ่งคับแค......”

          * เฮ้อ....อ่านการจัดกองทัพกว่าจะเสร็จก็เหนื่อยเลย  ยกไปอ่านต่อกันวันพรุ่งนี้เถิดครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, มีนาคม, 2563, 10:21:01 PM
(https://i.ibb.co/qD7xxrP/Untdditled-2-350.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๑ -

ดำรัสสั่งวางแผนรบแน่นหนา
ได้เวลายกฮือโห่อื้อฉาว
เข้าตีค่ายเขาสารกันเกรียวกราว
พลไทยห้าวหาญฮึกข้าศึกกระเจิง

ค่ายเขาสารแตกยับแม่ทัพหนี
ไทยตามตีถึงเวียงจันทน์ถลันเหลิง
ยึดเมืองหลวงลาวไว้ได้สิ้นเชิง
อนุเริดเปิดเปิงไปก่อนแล้ว


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ  เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงตรัสปรึกษากรมหมื่นสองพี่น้อง  เมื่อเห็นลาวไม่ยกออกรบ  ทุกพระองค์ทรงเห็นพ้องกันว่าลาวคงกำลังคิดวางกลอุบายอะไรอยู่  ควรเร่งยกเข้าตีค่ายเขาสารทันทีอย่าให้ลาวตั้งตัวได้  กรมพระราชวังบวรฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพนายกองยกพลเข้าตีค่ายลาวทุกทิศทุกทางโดยพร้อมเพรียงกัน......   วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

           “ครั้นทรงจัดแจงแบ่งกองทัพปันหน้าที่ให้นายทัพนายกองทั้งหลายพร้อมเสร็จแล้ว  จึงมีพระราชกำหนดว่า

(https://i.ibb.co/zFPV5xH/Untidfdled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “วันพรุ่งนี้เป็นวันอาทิตย์  ฤกษ์ดีในเวลาสิบนาฬิกา  ให้พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งปวง  พร้อมใจกันยกทัพจู่โจมโถมเข้าหักค่ายปล้นค่ายลาว  ซึ่งตั้งอยู่ตามเขาสารช่องแคบให้แตกจงได้แต่ในวันเดียว  ผู้ใดล่าทัพถอยออกมา จะลงพระราชอาชญานายทัพนายกองที่ล่าออกมานั้น  โดยอย่างฉกรรจ์ตามบทกฎหมายพระอัยการศึก”

(https://i.ibb.co/r0Z4qm0/Undfwtitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งหลาย  กราบถวายบังคมลาออกมาจากค่ายหลวง  และตระเตรียมการยุทธนาไว้พร้อมเสร็จตามตำราพิชัยสงคราม  ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์  ได้ฤกษ์ดีตีฆ้องยามสิบนาฬิกา  ฝ่ายนายทัพทั้งปวงยกพลทหารโห่ร้องยกกองทัพเข้าปล้นค่ายลาวที่เขาสารทุก ๆ ค่าย

          ฝ่ายพระยาสุโภแลชานนท์แม่ทัพใหญ่เร่งให้พลทหารรับรองป้องกันเป็นสามารถ  ยิงปืนไฟ ปืนยา หน้าไม้ ออกมาดังห่าฝน  ไพร่พลกองทัพไทยตายลงมาก  ขณะนั้นทัพช้างฝ่ายลาวยกมาช่วยป้องกันค่ายหาทันท่วงทีไม่

(https://i.ibb.co/0Kyvmxw/Untdditled-2-300.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายทัพช้างยกเข้าทลายค่าย  พลทหารไทยมิได้ย่อท้อถอย  ยกหนุนเนื่องกันเข้าไป  ได้ทำลายล้างค่ายฟันค่ายปีนค่ายเย่อค่าย  บ้างก็ถอนขวากหนามทิ้ง  วิ่งเข้าค่ายได้ไล่แทงฟันลาวล้มตายเป็นอันมาก

          ฝ่ายพลลาวตกใจวิ่งแตกตื่นปะทะกันเป็นอลหม่าน  บ้างเหยียบกันตายก็มีที่ไม่ตายก็มาก  ที่แหกค่ายหนีไปได้บ้าง  แต่พระยาสุโภ แลชานนท์ เชียงใต้ นายทัพทั้งสามนั้น  พาพลทหารที่ร่วมใจกัน ๒๐๐ เศษ  ถืออาวุธสั้นสองมือฟันฝ่ากองทัพไทยแหกค่ายหนีไปได้ทั้งสามคน

(https://i.ibb.co/ydHBjHL/5-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพไทยตีปล้นค่ายเขาสารได้ครั้งนั้น  พลลาวตายประมาณสองส่วน  ที่หนีเล็ดลอดไปได้ประมาณส่วนหนึ่ง  ที่กองทัพไทยจับเป็นได้ประมาณส่วนหนึ่ง   จับได้ช้างพลายพังระวางเพรียว ๒๖๗ ช้าง    ม้า ๕๔๘ ม้า    โคต่าง ๑,๔๐๐    เก็บได้เครื่องสรรพาวุธยุทธภัณฑ์  กระสุนดินดำ  และเสบียงอาหารพร้อมบริบูรณ์  ได้พระพุทธรูปทองคำในค่ายองค์หนึ่ง  ทองหนักเจ็ดตำลึงสองบาท  เป็นทองคำเนื้อเจ็ด สองขาพระเนตรฝังพลอยนิลทั้งสองข้าง ระหว่างพระอุณาโลมฝังพลอยทับทิมหลังเบี้ย  เท่าเมล็ดข้าวโพด  นั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักสามนิ้วสามกระเบียด (เห็นจะเป็นพระชัยวัฒนะพระชนมพรรษาของเจ้าอนุ)

(https://i.ibb.co/qmPz4mb/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงกรำศึกกับลาวมีชัยชนะแก่ข้าศึกลาว  ตีได้ค่ายเขาสารแล้ว  จึงทรงแต่งหนังสือบอกข้อราชการซึ่งมีชัยชนะแก่ข้าศึกลาวและกิจราชการทั้งปวงในความที่ทรงดำรินั้นด้วยรวมลงในฉบับหนึ่ง  โปรดให้หลวงนายมหาใจภักดิ์ถือพลม้า ๑๕๐ ม้า  เชิญพระอักษรและหนังสือบอกลงมากราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพฯ

          ครั้นรุ่งขึ้นอีกแปดวัน  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานคราคุมพลทหารไทยห้าร้อย  ไล่ต้อนคุมครัวลาวเชลยที่ฉกรรจ์กับช้างดีม้าดีด้วย  ลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นพระราชบรรณาการล่วงหน้ามาพลางก่อน

(https://i.ibb.co/JchYyvF/Untitlffded-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นทรงจัดการที่ค่ายเขาสารเรียบร้อยเป็นปรกติแล้ว  โปรดให้เจ้าพระยาพระพิษณุโลกเป็นผู้คุมกองทัพหลังอยู่รักษาค่ายที่เขาสาร  ด้วยจะเสด็จพระราชดำเนินข้ามเขาสารต่อไปให้ถึงเมืองเวียงจันทน์  ฝ่ายนายทัพนายกองจึงจัดกระบวนทัพเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค  เหมือนอย่างที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาจากค่ายทุ่งส้มป่อยนั้นทุกประการ  ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเครื่องสำหรับขัตติยราชรณยุทธเสร็จ  เสด็จขึ้นประทับอยู่บนเกยชัยคอยพระฤกษ์

          ฝ่ายกองทัพไทยซึ่งยกไปเป็นทัพหน้า ตีค่ายเขาสารแตกแล้วทุกตำบล  ทัพหน้ายกไปตามตีลาวที่แตกหนีไปบนเขาสารนั้น  กวาดต้อนจับได้ลาวมาเป็นอันมาก  บ้างก็ข้ามเขาสารลงไปตามที่เชิงเขาด้านตะวันออก  ถึงพื้นดินราบที่ตำบลนั้นชื่อพรานพร้าว  อยู่ริมฝั่งโขงตรงหน้าเมืองเวียงจันทน์ตรงข้ามกองทัพหน้า  ฝ่ายไทยไม่เห็นลาวตั้งค่ายรับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโขง  จึงได้มากราบทูลกรมหมื่นทั้งสองพระองค์  

(https://i.ibb.co/9rpDtbC/1396921120-vientianep-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          กรมหมื่นทั้งสองพระองค์รับสั่งให้นายทัพนายกองไปเที่ยวเก็บเรือใหญ่น้อยของลาวที่ทิ้งไว้ตามฝั่งและบ้านร้างได้มาหลายสิบลำ  จึงให้พลทหารไทยลงเรือ แล้วเสด็จลงเรือข้ามไปยังเมืองเวียงจันทน์  เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ก่อนทัพทั้งปวง  จึงทรงเก็บได้สรรพสิ่งของทองเงินเพชรพลอย  และเครื่องอัญมณีต่าง ๆ เป็นอันมาก  ซึ่งเป็นวัตถุของเจ้าอนุและญาติวงศานุวงศ์และแสนท้าว, พระยาลาว, ท้าวเพี้ย  ที่หนีไป  เก็บไม่ทันเหลืออยู่นั้นเป็นอันมาก  แล้วรับสั่งให้พลทหารไปตามจับช้างดีม้าดี ๆ ที่แตกฉานซ่านเซ็นอยู่ในเมืองแลนอกเมืองเวียงจันทน์  จับได้ช้างพลายพังระวางเพรียว ๑๔๖ ช้าง   ม้า ๔๔๐ ม้า   และโคกระบือพันเศษ   เครื่องสรรพาวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมาก พร้อมทั้งกระสุนดินดำด้วย  แล้วมีรับสั่งพระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี  ให้คุมไพร่พล ๑,๐๐๐ เศษ  ยกไปตั้งค่ายหลวงรับเสด็จพระพระราชวังบวรฯ ที่ตำบลพรานพร้าว  ริมฝั่งแม่น้ำโขง แปดค่าย  เพราะรี้พลที่ตามเสด็จพระราชดำเนินมานั้น  มากมายหลายพันคน

          ครั้งนั้น  พระณรงค์สงครามขึ้นม้าข้ามเขาสารกลับมายังค่ายหลวง  จึงเข้าเฝ้าหน้าเกยชัยเมื่อกำลังเสด็จประทับอยู่ที่นั้น  พระณรงค์สงครามกราบทูลว่า

(https://i.ibb.co/6WjnyBG/image1-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “กองทัพกรมหมื่นทั้งสองยกข้ามเขาสารลงไปถึงฝั่งพรานพร้าว  ไม่เห็นมีทัพลาวตั้งรับที่นั้น  จึงเสด็จลงเรือข้ามแม่น้ำโขงเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้โดยสะดวก  ในเมืองก็ไม่มีทัพลาวตั้งรับรบสู้รักษาเมืองเลย  พบแต่ครอบครัวลาวที่ชราแก่เฒ่าและป่วยไข้  กับที่ไม่สมัครใจไปด้วยเจ้าอนุก็มี  ได้ไต่ถามได้ความว่า  เจ้าอนุพาครอบครัวบุตรภรรยาญาติอพยพหนีไปอยู่เมืองญวนสองวันแล้ว  ไทยกองหน้าจึงเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้”

(https://i.ibb.co/rtJ7b8M/Untitldfsed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ก็เป็นอันว่าสงครามไทย-ลาว ยกแรกนี้  ทัพไทยสยบทัพลาวได้อย่างง่ายดาย  เพราะแม่ทัพใหญ่ฝ่ายลาว (เจ้าอนุ) ไม่คิดสู้  ตอนนี้ยึดกรุงเวียงจันทน์ได้โดยละม่อมแล้ว  ต่อไปจะจัดการกับลาวอย่างไร  อ่านต่อวันพรุ่งนี้เถิดครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, เมษายน, 2563, 10:33:43 PM
(https://i.ibb.co/ftWbRx1/04.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๒ -

กรมพะราชวังบวรเจ้า
ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว
ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว
ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู

ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่
มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่
ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู
ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมหมื่นสองพี่น้องแม่ทัพหน้าไล่ตามตีทัพลาวข้ามเขาสารไปถึงพรานพร้าว  แล้วข้ามโขงไปในเมืองเวียงจันทน์ที่ว่างกองทัพลาว  เพราะเจ้าอนุพาครัวหนีไปแล้ว  จึงเก็บสรรพสิ่งของมีค่านานาที่พวกเจ้าอนุนำไปไม่หมด  เหลืออยู่จำนวนไม่น้อย  ให้พลเที่ยวตามจับช้างม้าวัวควาย  และอาวุธยุทธภัณฑ์ได้เป็นอันมาก  พระณรงค์สงครามขึ้นขี่ม้าจากพรานพร้าว  ข้ามเขาสารกลับเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ  ทูลความทุกสิ่งทุกประการให้ทรงทราบ..... วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/xq01c6w/130.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบข้อความตามพระณรงค์สงครามกราบทูลดังนั้นแล้ว  จึงตรัสว่า     “ได้ข่าวศึกดังนี้ก็เป็นฤกษ์ดีอยู่แล้ว  ให้ลั่นฆ้องชัยดำเนินพลทหารยกข้ามเขาสารไปยังฝั่งแม่น้ำโขงเถิด”      โหรลั่นฆ้องชัยถวายพระฤกษ์เจ้าพนักงายิงปืนจ่ารงค์ขึ้นสามนัดเป็นสัญญา  พลทหาม้ากองหน้าดำเนินธงตรีธุชนำหน้ากระบวนไปก่อน  พลแสนเสนางคนิกรเดินทัพเป็นลำดับกันไปตามสถลมารค  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงช้างพระที่นั่งพังโกสุมเป็นพระคชาธาร  ผูกเครื่องมั่นกระโจมทองสี่หน้าหลังคาสี  พร้อมด้วยเสนีสี่ท้าวช้างจัตุรงคบาท  ยกพยุหะยาตราไปครั้งนั้น  มีช้างดั้งกันค้ำค่ายวงพังคาแซกแซง  ตามมหาคชพยุหะสงครามพร้อมเสร็จ  เสด็จพระราชดำเนินเป็นทัพหลวงจากค่ายเขาสารครั้งนั้น  สนั่นนฤนาทบันลือลั่นด้วยสรรพสำเนียงเสียงพลช้างพลม้าพลเดินเท้า  สะท้านสะเทือนท้องปัตพี  เสด็จประทับร้อนที่สิงขรเชิงผา  พักพลพอเข้าที่เสวยในที่นั้นเสร็จ  ก็เสด็จพระราชดำเนินต่อไปเป็นลำดับ  แล้วประทับที่พลับพลาชัยในค่ายใหญ่  ซึ่งกองหน้าแต่งตั้งไว้รับเสด็จที่ตำบลพรานพร้าวริมฝั่งแม่น้ำโขง

(https://i.ibb.co/ZJzKYYQ/that1-700x400.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นมิได้เสด็จไปทอดพระเนตรในเมืองเวียงจันทน์ด้วยกริ้วกราดเจ้าอนุมากนัก  แล้วมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พลทหารลงเรือข้ามฟากไปในเมืองเวียงจันทน์  ให้ตัดต้นไม้ที่มีผลสำหรับรับประทานได้นั้น  ตัดโค่นเสียสิ้น  แล้วให้ถ่ายเสบียงอาหารออกจากเมืองเวียงจันทน์  ขนมาไว้ในค่ายพรานพร้าวจนสิ้นเชิง  แล้วโปรดให้นำไฟเผาเมืองเวียงจันทน์เสียด้วย  แล้วโปรดให้พลทหารไปรื้ออิฐกำแพงเมืองเวียงจันทน์เสียรอบเมือง  เว้นไว้แต่วัดเท่านั้น

          ฝ่ายกองทัพเมืองเชียงใหม่  เมืองแพร่  เมืองน่าน  เมืองหลวงพระบาง  รวมรี้พล ๔ เมืองเป็นพลทหารถึง ๓๐,๐๐๐  ยกมาตามท้องตราที่เกณฑ์ขึ้นไปแต่ก่อน  มาถึงเมืองเวียงจันทน์พร้อมกันทั้ง ๔ เมือง  นายทัพนายกองทั้ง ๔ เมืองนั้นก็เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่ค่ายพรานพร้าว

(https://i.ibb.co/51B9nBF/Untitle654d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์นั้น  เมื่อตั้งอยู่ ณ เมืองยโสธร  กลัวพระยาราชสุภาวดีจะยกมาตีครอบครัวของเจ้าอุปราช  เจ้าอุปราชก็ยกหนีมาตั้งอยู่ที่เมืองหนองหาร  เพื่อจะระวังรักษาครอบครัว  ครั้นได้ทราบว่าเจ้าอนุหนีไปเมืองญวนแล้ว  บัดนี้ทัพหลวงก็มาตั้งอยู่ที่ตำบลพรานพร้าวแล้ว  เจ้าอุปราชจึงได้ยกมาที่พรานพร้าว  ขอต่อแม่ทัพไทยว่าจะมาสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว

          นายทัพไทยนำความขึ้นกราบบังคมทูลได้ทรงทราบแล้ว  โปรดให้เจ้าอุปราชเข้าเฝ้าที่หน้าพลับพลาชัยในค่ายหลวง  เจ้าอุปราชกราบบังคมทูลว่า   “เดิมเจ้าอนุจะเป็นขบถนั้น  ข้าพระพุทธเจ้าได้พูดจาโต้ตอบทัดทานห้ามปรามหลายครั้ง  เจ้าอนุก็ไม่เชื่อฟัง  กลับโกรธพาลคิดจะฆ่าข้าพระพุทธเจ้าเสียอีก  ข้าพระพุทธเจ้ากลัวความตายก็ต้องยอมเข้าเป็นพวกขบถด้วย  พอให้พ้นภัยไปคราวหนึ่ง  เนื้อความข้อนี้ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้พูดกับพระสุริยะภักดี (ป้อม)  พระสุริยะภักดีได้แจ้งอยู่ในใจทุกประการแล้ว

          ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงเห็นความจริงของเจ้าอุปราชด้วย  จึงโปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่นำเจ้าอุปราชไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเสร็จแล้ว  ไม่ให้มีโทษ  โปรดให้ไปเกลี้ยกล่อมพวกลาวที่หนีไปอยู่ในป่าดงนั้นมารวบรวมไว้ในค่ายไทยโดยมาก

(https://i.ibb.co/cyg5H92/Untitl58ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยภูธร  พระยาเพชรพิชัย  พระยาไกรโกษา  ตีค่ายเจ้าราชวงศ์ที่เมืองหล่มสักแตกได้แล้ว  จึงได้ทราบข่าวว่าทัพหลวงก็ตีค่ายแตกทุก ๆ ตำบล  แล้วก็เสด็จไปประทับอยู่ที่ค่ายพรานพร้าว  จึงได้พร้อมใจกันทั้งสามพระยา  ยกตามเสด็จขึ้นไปตั้งค่ายอยู่ใกล้พรานพร้าวรักษาค่ายหลวงด้วย  แล้วก็เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลข้อราชการที่ตีเจ้าราชวงศ์ในเมืองหล่มสักแตกหนีไปแล้วทุกประการ

(https://i.ibb.co/cYVH6db/Untitldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีจดหมายรับสั่งมาถึงกรมหมื่นสุรินทรรักษ์และกรมหมื่นรักษ์รณเรศร์ฉบับหนึ่ง  ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  ใจความว่าดังนี้

           “ราชการซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มาตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งนี้นั้น  ครั้นมาถึงตีได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว  พิเคราะห์ดูการงานค่ายคูประตูหอรบที่พวกลาวตั้งรับรองตามทางตลอดมานั้น  เป็นท่าทางมั่นคงแข็งแรง  ทั้งลาวจัดแจงบ้านเมืองไว้รับรองสู้รบก็ดูเข้มแข็งเต็มทีที่จะเสียเปรียบมันมากนัก  และกำลังไพร่พลทแกล้วทหารของลาวก็เต็มใจสู้รบแทบจะทุกคน  เพราะลาวรักครอบครัวบ้านเมืองของลาว  และช้าง  ม้า  โค  กระบือ  ซึ่งเป็นพาหนะก็บริบูรณ์มาก  กับเสบียงอาหารหรือก็มีพร้อมเพรียง  ทางใกล้ไม่ต้องบรรทุกโคต่างช้างม้าส่งกันเช่นเราก็หาไม่  เป็นการได้เปรียบเราทุกประตู  เราได้เปรียบลาวอยู่สองอย่าง  คือลาวรีบด่วนหนีเสียเมื่อกำลังรี้พลยังไม่บริบูรณ์อย่างหนึ่ง  กับลาวหนีหรือลาวแตกที่ใด  ลาวไม่เผาเสบียงอาหารตามรายทางเสียเลยอย่างหนึ่ง  เหตุสองประการนี้จึงว่าไทยได้เปรียบลาวอยู่สองอย่างเท่านั้น  เมื่อนายทัพนายกองทแกล้วทหารไพร่พลฝ่ายไทยได้ทำการศึกสงครามฉลองพระเดชพระคุณครั้งนี้โดยเต็มกำลังและความคิดและฝีมือทุกคนอยู่แล้ว  แต่ว่าหาได้ด้วยความคิดและฝีมือแม่ทัพนายกองทแกล้วทหารไม่  ได้ด้วยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวฝ่ายเดียว  ถ้าหากว่าจะละราชการคราวนี้ทำต่อปีหน้าแล้ว  คงจะได้ความลำบากยากแค้นแก่ไพร่พลยิ่งนัก  นี่เดชะพระบารมีเป็นมหามหัศจรรย์จึงได้ตีเวียงจันทน์ได้โดยง่ายโดยเร็ว  เพราะบุญบารมีเป็นที่ยิ่ง

(https://i.ibb.co/5jGKTnF/The-royal-procession-sompaseuth-chounlamany.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง กองทัพลาวพุงดำ ๕ หัวเมือง  ที่มีท้องตราไปเกณฑ์ให้ยกมาช่วยตีเมืองเวียงจันทน์นั้น  และทัพเมืองหลวงพระบางอีกเมืองหนึ่ง  เป็น ๖ เมืองด้วยกัน  ถ้าทัพไทยไม่ได้เมืองเวียงจันทน์  ก็หามีทัพเมืองใดมาถึงเมืองเวียงจันทน์ไม่  มีแต่จะคอยเก็บครอบครัว  ช้าง  ม้า  โค  กระบือ  อยู่ริมเขตแดนคอยท่วงทีไหวพริบ  ทำเป็นสองเงื่อนอยู่ทุกเมือง  แต่บัดนี้กองทัพลาวพุงดำและหลวงพระบางมาถึงเมืองเวียงจันทน์พร้อมกันหมดแล้ว  ได้ใช้สอยเป็นปกติบ้าง  แต่ว่าต้องขู่ต้องปลอบบ้าง  แต่พอเป็นกำลังได้  กับพิเคราะห์ดูน้ำใจแม่ทัพนายกองลาวทั้ง ๗ หัวเมืองอยู่  ยังไม่รู้ว่าจะปรวนแปรไปอย่างไรบ้าง
          แต่เมืองหลวงพระบางนั้นอ่อนน้อมเรียบร้อยราบคาบ
          แต่เมืองน่านนั้นเดิมมาถึงก็มีกิริยาไหวอยู่กว่าทุกเมือง  ตั้งทัพอยู่ห่างไกลเป็นที่ไม่ไว้ใจแก่ไทย  แต่เดี๋ยวนี้ค่อยเรียบร้อยลงบ้าง  ได้ไปมาหาสู่อยู่เสมอพูดจาค่อยฟังได้
          แต่เมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูนสองเมืองนี้   มีความกระด้างกระเดื่องในที  เมื่อเรียกตัวมาถามก็พูดว่า  สุดแล้วแต่เมืองนครลำปางจะทำอย่างไร ก็จะทำตามอย่างทั้งสองเมือง
          แต่เมืองแพร่นั้นก็เรียบร้อยแต่เดิมมาแล้ว  เดี๋ยวนี้พระยานครลำปางได้พูดจาชักโยงให้เมืองลาวพุงดำเหล่านั้นเป็นปรกติดีเรียบร้อยแล้วทุกทัพทุกกอง  แต่บรรดาแม่ทัพนายกองลาวพุงดำทุกเมือง  ได้มาสมัครสมานปรองดองคิดราชการต่อไป  การที่จะส่งครอบครัวเมืองเวียงจันทน์และจะรับตามเจ้าอนุให้ได้.......”

          * ข้อความในหนังสือกราบบังคมทูลฯ ฉบับนี้ยังยาวมาก  นำมาให้อ่านกันแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน  ข้อความที่กราบบังคมทูลเป็นเรื่องน่าเรียนรู้ไม่น้อยเลย  อย่างเช่นเรื่องกองทัพที่เกณฑ์จากหัวเมืองฝ่ายเหนือ (ลาวพุงดำ)  โดยเมืองน่าน  ลำพูน  เชียงใหม่ นั้น  กระด้างกระเดื่องต่อแม่ทัพใหญ่ไทย (กรมพระราชวังบวรฯ) ในแต่แรกที่ยกมาถึง  จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปกครองบังบัญชา

          เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  พรุ่งนี้มาอ่านข้อความที่กรมพระราชวังบวรฯ กราบบังคมทูลข้อราชการศึกสงครามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต

- หมายเหตุ (โดยผู้โพสต์) -

          “ลาวพุงดำ”  คือคำเรียกกลุ่มคนที่ผู้ชายนิยมสักลายจากขาเลยขึ้นไปถึงพุง ทำให้มองเห็นส่วนพุงเป็นสีดำเพราะลายสัก  เช่น ล้านนา เชียงใหม่ ลำพูน
          “ลาวพุงขาว”  เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่ผู้ชายทำการสักขาตั้งแต่ใต้เข่าหรือเหนือเข่าขึ้นไปถึงต้นขาหรือขาส่วนบน แต่ไม่สักเลยขึ้นมาถึงพุงหรือเอว จึงยังคงมองเห็นผิวส่วนพุงเป็นเนื้อขาวอยู่เพราะไม่มีรอยสัก เช่น ล้านช้าง หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์




หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, เมษายน, 2563, 10:19:29 PM
(https://i.ibb.co/XXDzfxm/1-49.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๓ -

กรมพะราชวังบวรเจ้า
ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว
ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว
ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู

ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่
มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่
ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู
ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกสงครามกับลาว  มีรายละเอียดดังที่ได้อ่านกันไปตอนหนึ่งแล้ว  ความยังไม่จบ  วันนี้มาอ่านความในใบบอก  หรือหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนั้นกันต่ออีกตอนหนึ่งครับ

           “อนึ่ง  พระยานครลำปางคนนี้มีอัธยาศัยซื่อสัตย์สุจริตดีมาก  สมควรที่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมชุบเลี้ยงให้ใหญ่โตได้  ด้วยเห็นจะเป็นราชการยืดยาวต่อไปในพระราชอาณาเขมร

(https://i.ibb.co/djhc0Ws/86197777.png) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  จดหมายข้อราชการที่ทรงพระราชดำริ  ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้พระยาพิไชยวารี (โต) เชิญขึ้นมาส่งให้ที่ค่ายตำบลมองสองแต่ครั้งก่อนนั้น  ก็ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมทุกประการแล้ว  แต่จะตั้งใจอุตส่าห์ทำให้ได้อย่างพระราชดำริบ้าง  คงจะไม่ได้เต็มดังพระราชดำริบ้าง  พระราชอาชญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม  การซึ่งจะจัดการบ้านเมืองลาวหัวเมืองประเทศราชฝ่ายทางตะวันออกในครั้งนี้ให้เต็มดังพระราชดำรินั้น  เป็นการเปี่ยมสติปัญญาเต็มที  เป็นที่ยากเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่แล้ว  ถ้าจะคิดรบคิดตีบ้านเมืองอื่น ๆ อย่างเช่นเมืองเวียงจันทน์นี้  มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสักสองเมืองสามเมือง  เห็นจะง่ายกว่าที่จะจัดการบ้านเมืองเวียงจันทน์ครั้งนี้  ไม่ให้เป็นที่ขาดทุนรอนพระราชทรัพย์ของหลวงนั้นเป็นการยากสุดสติปัญญาแล้ว  ทำได้แต่จะต้องผ่อนปรนไปตามกาลตามสมัย  ถึงจะตีบ้านเมืองเปล่านี้ได้  จะได้ครอบครัวมากสักเท่าใด ๆ ก็คงไม่มีกำไรหรือเสมอตัวก็ไม่ได้  เพราะมารบมาตีแก่บ้านเมืองไพร่พลในอาณาเขตของเราเองทั้งสิ้น  หัวเมืองเหล่านี้ก็เป็นที่กันดารขัดสนยากจนทั้งนั้น  ตีได้ก็ไม่พอกับโสหุ้ยทัพ  ทำได้แค่เพียงรักษาเกียรติยศเขตแดนไว้  ไม่ให้นานาประเทศล่วงมาหมิ่นประมาทดูถูกดูแคลนได้ก็พอดีอยู่แล้ ว กับจะคิดได้อีกอย่างหนึ่ง  ถ่ายครอบเทครัวพาคนลงไปไว้ตามหัวเมืองที่ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ให้มากพอเป็นกำลังแก่พระนคร  จะได้ให้รับใช้รับเกณฑ์ราชการกรุงบ้าง  คิดได้แต่เพียงเท่านี้เป็นอย่างเอกอยู่แล้ว  พ้นกว่านี้จะคิดไม่ได้คิดไปไม่ถึง  พระราชอาชญาเป็นล้นกล้าล้นกระหม่อม

          อนึ่ง  หัวเมืองลาวฝ่ายริมหัวเมืองเขมรป่าดงนั้น ๆ เล่า  เจ้าเมืองและบุตรหลานญาติเชื้อสายเจ้านาย  ก็ล้มตายขาดสูญเชื้อสายไปมาก  ท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ผู้น้อยก็หนีหายล้มตายเป็นอันมากเหมือนกัน  แต่ไพร่พลเมืองตามหัวเมืองเหล่านั้นเล่า  ถ้าจะคิดศิริดูเมืองหนึ่งก็จะได้ไพร่พลกึ่งหนึ่งบ้าง  ไม่ถึงกึ่งบ้าง  เพราะถูกรบล้มตายหนีหายไปในทิศต่าง ๆ บ้าง  ถ้ามีราชการเกี่ยวข้องในหัวเมืองเหล่านั้นแล้ว  จะใช้คนไปมาถึงกันและกัน  ระยะทางก็ห่างไกล  กว่าจะได้รู้ราชการก็ช้านานนัก  เกือบจะเสียการ  บางทีเสียการไปแล้วจึงรู้การเมื่อกาลล่วงไปแล้ว  ถ้าเป็นฤดูฝนจะใช้คนเดินไปมาหากันก็ไม่ใคร่จะได้  ขัดด้วยการหลายอย่าง  เป็นการที่มีความขัดข้องดังนี้  ซึ่งจะทำให้ราชการเร็วตามความประสงค์ไม่ใคร่จะได้

(https://i.ibb.co/KX9kRTV/143472800552-1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ได้มีท้องตราพระราชสีห์วังหน้าบังคับบัญชาทอดธุระมอบราชการไปให้พระยาราชสุภาวดีประจำอยู่แรมปี  ให้จัดการบ้านเมืองให้ได้ราชการบ้าง  ให้จัดแจงบ้านเมืองจำปาศักดิ์และเมืองลาวต่าง ๆ เมืองเขมรป่าดงให้ราบคาบเรียบร้อย  ตามท้องตราพระราชสีห์วังหลวงที่โปรดเกล้าฯ มานั้นบ้าง

          อนึ่ง  ทางเมืองหล่มสัก  ทางเมืองหล่มเลยเหล่านั้นเล่า  จะให้พระยาเพชรพิชัยและพระยาสมบัติธิบาลสองนายเป็นผู้ไปจัดการบ้านเมืองลาวแถวเหล่านั้นให้เรียบร้อยดี  แต่จะให้กลับไปเมืองหล่มเลยในฤดูฝนนี้  ก็เห็นว่าทางกลางป่ามีความเจ็บไข้ร้ายแรงนัก  จึงให้รอไว้ต่อตกแล้งสักหน่อยจึงจะให้ไปจัดการบ้านเมืองหล่มเลย  ก็พอจะทันการได้  เห็นจะหาเป็นไรไม่

(https://i.ibb.co/RQ0kLSt/12f.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่ราชการข้างเมืองเวียงจันทน์นั้นเล่า  เมื่อเจ้าอนุหนีออกไปจากเมืองเวียงจันทน์นั้น  วันเดียวกันกับกองทัพไทยฝ่ายหน้าตีค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อยแตก  กว่ากองทัพไทยจะยกขึ้นไปถึงค่ายลาวเขาสาร  ยกเข้าปล้นตีลาวแตกก็หลายวัน  จึงได้ยกข้ามเขาสารต่อไปถึงเมืองเวียงจันทน์  เมืองเวียงจันทน์กับเขาสารระยะทางห่างกันห้าวัน  ถ้าคิดแต่วันที่เจ้าอนุหนีไปจากเมืองเวียงจันทน์ในวันพร้อมกับกองทัพไทยตีค่ายทุ่งส้มป่อยได้  เป็นหลายวันสักเจ็ดวันแปดวัน  เจ้าอนุจึงหนีห่างไกลไปจากเมืองเวียงจันทน์ได้ถนัด  เหตุนี้นายทัพนายกองไทยจึงตามจับเจ้าอนุไม่ทันท่วงที  ซึ่งเจ้าอนุข้าศึกตัวสำคัญหนีไปได้  พระราชอาชญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมตกอยู่กับแม่ทัพหลวงและนายทัพนายกองทั้งสิ้น  แล้วแต่จะทรงกระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  ถึงได้เมืองเวียงจันทน์ครั้งนี้นับว่าได้แต่เปลือกเมืองเปล่า  สิ่งของครอบครัวไปเมืองเวียงจันทน์เจ้าอนุเก็บไปทั้งสิ้น  เพราะไปเรือ  จึงบรรทุกของดีไปได้มาก  เครื่องศาสตราวุธที่ในเมืองนั้น  สืบทราบว่าเจ้าอนุทิ้งน้ำเสียหมด  ทั้งพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ ก็ทิ้งน้ำเสียบ้าง  แต่กำลังสืบเสาะตามค้นหาอยู่ทุกแห่งทั้งในน้ำและบนบกด้วย  ยังหาอยู่  ถ้าได้เมื่อใดจึงจะมีใบบอกมาครั้งหลัง

(https://i.ibb.co/9nFK4Jn/6-10-696x442.jpg) (https://imgbb.com/)

          บัดนี้ครอบครัวลาวก็ยังกำลังปะปนกันอยู่กับครอบครัวเมืองนครราชสีมา  เมืองสระบุรี  เมืองหล่มสัก  และหัวเมืองลาวตามลำแม่น้ำโขง  และเมืองเขมรป่าดงตะวันออกด้วย  ซึ่งจะเลือกคัดแต่ครัวเวียงจันทน์โดยเร็วนั้นหาได้ไม่  เพราะปะปนอยู่กับเมืองเหล่านั้นหาความผิดมิได้  จะต้องเลือกแต่ครัวเวียงจันทน์แท้ ๆ  

          อีกประการหนึ่งครัวเวียงจันทน์ที่หนีไปอยู่ในป่า  ถ้ากองทัพกรุงยกไปติดตามน้อยตัว  ครัวมากกว่าก็จะต่อสู้แข็งแรง  ถ้าทัพกรุงยกไปติดตามโดยมาก  พวกครัวน้อยก็จะหนีเข้าป่าไปเสีย  บางทีได้มาบ้างแต่คนแก่ชราหนีไปไม่พ้น  บางทีนายทัพนายกองไทยที่เข้มแข็ง  ไปกวาดต้อนครัวลาวมาได้ ๓๐๐ คนบ้าง ๒๐๐ คนบ้าง  จะเลือกคนที่ฉกรรจ์แต่สักเก้าคนสิบคนก็ไม่ใคร่จะได้  ถ้าพวกกองทัพลาวพุงดำยกไปเกลี้ยกล่อมในป่า  ถึงไปน้อยก็ได้ครอบครัวเวียงจันทน์มามาก  ด้วยเป็นลาวเหมือนกันครัวหาต่อสู้รบไม่  มาเลือกคนฉกรรจ์ก็ได้มาก

          ครั้นจะคิดให้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ไว้ให้เป็นที่เกลี้ยกล่อมครอบครัวก่อน  ก็หาผู้ใดที่จะอยู่ดูแลรักษาบ้านเมืองเป็นที่ไว้ใจได้ก็ไม่มีเลย  ครั้นจะให้พวกเมืองหลวงพระบางอยู่รักษา  แต่กำลังหลวงพระบางเมืองเดียวก็ไม่ได้  เพราะยังไม่ได้ตัวเจ้าอนุ  เจ้าปาสัก  เจ้าราชวงศ์  เจ้าสุทธิสาร  เจ้าโถง  ซึ่งเป็นคนแข็งแรงในการศึกมาก  เห็นว่าแต่กำลังหลวงพระบางเมืองเดียวจะรับพวกอ้ายเหล่าร้ายไม่ได้
 
(https://i.ibb.co/JCgLLWW/9-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นจะให้กองทัพไทยอยู่ช่วยเกลี้ยกล่อมครัวลาว  ครัวลาวก็ไม่ไว้ใจแก่ไทยเลย  เพราะเหตุนี้จึงมีคำสั่งให้ทำลายล้างเมืองเวียงจันทน์ให้สิ้นเชิง  จะได้เป็นการสิ้นอาลัยของอ้ายพวกเหล่าร้าย  ที่จะหมายมาตั้งบ้านเมืองนครลำปางบ้าง  เมืองนครเชียงใหม่บ้าง  เมืองนครลำพูนบ้าง  เมืองแพร่บ้าง  แต่ไปทางเมืองหลวงพระบางนั้นเป็นอันมาก  ไปถึงบ้านเมืองเหล่านั้นแล้ว  ก็มีบ้างที่ตกเรี่ยเสียหายอยู่ตามทางเมืองนั้น ๆ ก็มีบ้าง  ที่ไปไกลถึงเขตแดนเมืองญวนนั้นก็มีเห็นจะสูญ  แต่ที่ตกไปถึงลาวพุงดำที่ว่ามาข้างบนนั้น  ครั้นจะชำระเรียกครอบครัวเวียงจันทน์คืนกลับมา  ก็เห็นจะต้องกดขี่หัวเมืองลาวพุงดำเหล่านั้นให้ถึงขนาดจงหนัก  จึงจะได้ครัวคืนมา  ถ้าทำดังนั้นหัวเมืองลาวพุงดำซึ่งเป็นเขตแดนพระราชอาณาจักรกรุงเทพฯ ก็จะช้ำชอก  ได้รับความเดือดร้อนเสียใจมากนัก  แต่จะต้องคิดผันผ่อนปลอบโยนโดยดี  ควรได้คืนมาบ้างก็จะได้  ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป  นึกว่าฝากไว้บ้านเมืองของเราเอง  ดีกว่าจะไปทางเมืองญวนและทางเมืองจีนฮ่อนั้นจะสูญเสียเปล่า ๆ  ไม่มีประโยชน์อันใด....”

          * ให้อ่านใบบอกหนังสือกราบบังคมทูลข้อราชการศึกสงครามเวียงจันทน์จบไปอีกตอนหนึ่ง  พรุ่งนี้อ่านตอนที่ยังเหลืออยู่ต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, เมษายน, 2563, 10:28:28 PM
(https://i.ibb.co/FgykKJC/o7zhnhrdg-Foair-EYm8-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๔ -

กรมพะราชวังบวรเจ้า
ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว
ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว
ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู

ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่
มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่
ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู
ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกสงครามกับลาว  มีรายละเอียดดังที่ได้อ่านกันไปสองตอนแล้ว  แต่ความยังไม่จบ  วันนี้มาอ่านความในใบบอก  หรือหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนั้นกันต่ออีกตอนหนึ่งดังต่อไปนี้ครับ

(https://i.ibb.co/ZXMgN1g/esw-08.jpg) (https://imgbb.com/)

           “อนึ่ง  คิดประมาณพลเมืองเวียงจันทน์  และหัวเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์  คิดแต่ที่ฉกรรจ์สักแปดหมื่นเศษหรือแสนเศษเหล่านั้น  ถ้าบ้านเมืองเวียงจันทน์เป็นปรกติดีอยู่  ถ้าจะกะเกณฑ์รี้พลลาวเป็นกองทัพใหญ่ให้ลงไปกรุงเทพฯ  หรือจะเกณฑ์ไปที่ไหน ๆ  คงจะได้รี้พลแต่เพียงแปดพันเก้าพัน  หรือหมื่นหนึ่ง  ถ้าจะกดขี่ให้ได้มากก็เพียงสองสามสี่หมื่นเท่านั้นเป็นเต็มว่าได้มากเต็มที่  เพราะคนจากบ้านจากเมืองไปไกล  เจ้าอุปราชเป็นคนเกียดกันหวงแหนไพร่พลอยู่ด้วย  แต่กำลังกองทัพไทยจะเร่งรัดกวาดต้อนครอบครัวเวียงจันทน์  คนลาวที่ฉกรรจ์ให้ได้หมื่นหนึ่ง  จนถึงเดือนห้าปีหน้าก็ไม่สำเร็จ  ถึงมาทว่าจะได้ครัวเวียงจันทน์ในระหว่างปีนี้  จะต้อนครัวลงไปกรุงเทพฯ ก็ยังไม่สะดวก  เพราะด้วยจะไปทางเมืองนครราชสีมา  เมืองนครราชสีมายังยับเยินป่นปี้มาก  ขัดเสบียงอาหารมาแต่ปีกลายแล้ว  ปีนี้ก็ไม่ได้ทำไร่ทำนา  จะหาอะไรมาเลี้ยงครัวเล่า  จะรีบเดินครัวเวียงจันทน์ลงไปให้สิ้นเชิงในฤดูนี้ไม่ได้  ขัดสนด้วยเสบียงอาหารจะไม่พอเลี้ยงครัวลาว  ครั้นจะรออยู่แรมปีจนฤดูแล้งหน้า  จึงจะต้อนครัวลาวลงไป  ก็เห็นว่าข้าวเปลือกตามหัวเมืองรายทางก็จวนจะหมดอยู๋แล้ว  จะไม่พอเลี้ยงครัวลาว  แต่กองทัพไทยที่จะยกลงไปกรุงเทพฯ จะรับพระราชทานก็จะไม่พอจ่ายทั่วทุกทัพทุกกอง  กำลังราชการก็จะหย่อนลงมาก  เพราะเกียติยศแผนดินก็จะเสียไป  หัวเมืองประเทศราชก็จะเห็นกำลังกรุงเทพฯ เสียด้วย  ก็จะหมิ่นประมาทพระราชอำนาจแผ่นดินไทยได้ต่าง ๆ นานา  เพราะข้าวปลาอาหารไม่พอเพียงเลี้ยงผู้คนในกองทัพไทย

(https://i.ibb.co/PxFSsxQ/7-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ทุกวันนี้ที่กองทัพกรุงและหัวเมืองซึ่งมารับราชการอยู่พร้อมกันนั้น  อดอยากเจ็บไข้ล้มตายก็มาก  ถึงเช่นนั้นกองทัพไทยเราเห็นใจกันครั้งนี้  ว่ารักใคร่กันมากตามความอดอยาก  ก็มานะสะทะ  คิดการที่จะให้เป็นพระเกียรติยศแก่บ้านเมืองไทย  และคิดที่จะฉลองพระเดชพระคุณกวาดต้อนคนฉกรรจ์เวียงจันทน์ลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อม  ถวายให้ได้สักหมื่นเศษก่อนในต้นฤดูฝนนี้ให้จงได้  แต่ครัวที่ตกอยู่ตามหัวเมืองเขมรป่าดงนั้น  เสมือนหนึ่งฝากไว้ให้เลี้ยงไปก่อน  ต่อฤดูแล้งหน้าจึงจะคิดคืนมาให้ได้บ้าง  นอกจากจำนวนหมื่นที่ส่งลงไปครั้งนี้  เหตุทั้งนี้จึงได้พูดกับหัวเมืองลาวพุงดำและพระบางที่ยกทัพมาล่าไม่ทันราชการทั้ง ๖ เมืองนั้น  ปรับโทษหัวเมืองทั้งหกว่า  มาตีเวียงจันทน์ไม่ทันทัพหลวง  มีความผิดมาก  ตกอยู่ในระหว่างเป็นกองทัพ  มีโทษตามบทกฎหมายพระอัยการศึก

(https://i.ibb.co/mqhj3Vv/asd-06.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยานครลำปาง,  พระยาน่าน,  พระยาแพร่,  พระยาอุปราชเชียงใหม่,  พระยาอุปราชลำพูน,  เจ้าอุปราชหลวงพระบาง  และแสนท้าวพระยาลาวนายทัพนายกองทั้ง ๖ เมือง  เข้าชื่อกันทำเรื่องราวสารภาพรับผิดถวายแม่ทัพหลวง  ขอพระราชทานทำการฉลองพระเดชพระคุณแก้ตัวต่อไป  รับอาสาจะติดตามจับตัวเจ้าอนุ  และเจ้าปาศักดิ์  เจ้าราชวงศ์  เจ้าสุทธิสาร  เจ้าโถง  เจ้าหน่อคำ  และบุตรภรรยาญาติเจ้าอนุ  มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ได้  ถึงมาทว่าจะมิได้ตัวกบฏเหล่าร้ายเหล่านี้กลับมาตั้งที่บ้านเมืองให้เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินต่อไปได้  หัวเมืองทั้งหกจะคิดกวาดต้อนครอบครัวลาวเวียงจันทน์ส่งลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  จะให้ได้สักสองสามหมื่นแต่พื้นที่เป็นคนฉกรรจ์  รวมทั้งครอบครัวเข้าด้วย  คงให้สักเจ็ดหมื่นแปดหมื่นเหล่านั้น  จะทูลขอแต่กองทัพไทยและและข้าราชการผู้ใหญ่ไว้สัก ๒ คน  พลทหารสักพันหนึ่งหรือห้าร้อยคน  พอจะได้ตัดสินว่ากล่าวหัวเมืองอย่าให้วิวาทกันได้
          แต่กองทัพพระยานครลำปาง  พระยาน่าน  พระยาแพร่  พระยาอุปราชลำพูน  พระยาอุปราชเชียงใหม่  เจ้าอุปราชหลวงพระบาง  รวมไพร่พลทั้ง ๖ หัวเมือง  เป็นคน ๑๔,๐๑๑  คน  ที่จะอยู่แรมปีจัดครัวเวียงจันทน์ส่งไปกรุงเทพฯ กว่าจะสำเร็จราชการ  ขอเชิญเสด็จทัพหลวงกลับกรุงเทพฯ แต่จะขอส่งครัวเวียงจันทน์ให้ทันทัพหลวงกลับนี้สักสวนหนึ่ง  จะขอค้างไว้ส่งต่อฤดูแล้งหน้าสองส่วน (หมดข้อความสารภาพหัวเมืองลาวพุงดำ ๕ เมือง  ลาวพุงขาว ๑ เมือง  รวมเป็น ๖ หัวเมืองด้วยกันเท่านี้)

          อนึ่ง  ทัพหลวงขึ้นมาพร้อมด้วยญาติวงศานุวงศ์พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทั้งปวงนั้น  พร้อมกันตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณครั้งนี้มิได้คิดแก่เหนื่อยยากลำบากเลย  คิดจะอยู่ค้างปีต่อไปอีกให้สำเร็จการงานที่เมืองลาวนี้ให้สิ้นเชิง  แต่ว่าหัวเมืองลาวทั้งหกเขาขอให้กลับ  จึงได้บอกลงมายังกรุงเทพฯ

          อนึ่ง  ครัวและฉกรรจ์ที่นายทัพนายกองจับได้บ้าง  และครัวฉกรรจ์ที่หัวเมืองทั้งหกจะส่งลงไปบ้าง  รวมกันเป็นครัวมากอยู่เกือบหมื่นคน  แต่เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า  เสบียงอาหารตามหัวเมืองไทยรายทางที่จะเดินครัวลาวลงไปนั้น  พาลอยู่ข้างจะหวุดหวิดไม่พอเลี้ยงครัว  กองทัพกรุงที่จะลงไปครั้งนี้ก็จะไม่ได้รับพระราชทานเป็นกำลังราชการลงไป

(https://i.ibb.co/xMbFy1C/weea-03.jpg) (https://imgbb.com/)

          บัดนี้ขอพระราชทานได้ทรงมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  ให้มีข้าหลวงผู้ใหญ่อีกสักสี่ห้านาย  มาถ่ายเสบียงอาหารที่กรุงเทพฯ จ่ายเสบียงเลี้ยงครัวตามรายทาง  ตั้งแต่เมืองสระบุรี  ตลอดขึ้นไปถึงเมืองชัยบาดาล  เมืองเพชรบูรณ์และเมืองนครราชสีมาด้วย  แต่ทางเหนือนั้นได้มีตราสั่งไปถึงเมืองพิชัย  เมืองพิจิตร  เมืองสวรรคโลก  และเมืองเหนือนั้น  ให้ส่งเสบียงมาเลี้ยงหัวเมืองทั้งหกที่อยู่รับราชการที่เมืองเวียงจันทน์ด้วย  แต่ทางเมืองเหนือนั้นเห็นทีจะส่งขึ้นไปยาก  เพราะทางไกล  ที่ทางใกล้ก็ข้าวปลาอาหารหมดสิ้น  เพราะรับราชการมาช้านานแล้ว  และไม่ได้ทำไร่นา  จึงขัดสนข้าวปลาอาหาร

          อนึ่ง  ถ้าราชการตีอ้ายพระยาเชียงสา  และเมืองสกลนครเป็นประการใด  เป็นที่ไว้วางใจแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ได้แล้ว  เห็นว่าข้าศึกเบาบางลงบ้าง  ควรทัพหลวงจะกลับได้ก็จะกลับลงมาจากเมืองเวียงจันทน์  จะได้ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ แต่ ณ เดือนแปดกลางเดือน  อยู่ที่เมืองเวียงจันทน์เป็นการห่างไกลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  จึงมิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาชี้แจงให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  กรมหมื่นสุรินทรรักษ์  กรมหมื่นรักษ์รณเรศร์  อยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นการใกล้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  ขอให้ท่านทั้งสองกราบบังคมทูลพระกรุณา  ให้ทรงทราบการที่ห่างไกลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้โดยอย่างที่ชี้แจงมานี้

          อนึ่ง  ได้ทำราชการครั้งนี้คงคิดไม่ให้เสียราชการ  เมื่อไรได้ลงไปเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาท  จึงจะกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระโอษฐ์ด้วยข้อราชการที่สำคัญให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ

          อนึ่ง  บาญชีรายครอบครัวกับสิ่งของซึ่งได้ไว้ในคราวศึกเวียงจันทน์  ในใบบอกและหางว่าวที่ลงมาในท้ายใบบอกครั้งนี้  จะถือเป็นแน่ยังไม่ได้  ด้วยเป็นการประมาณ  ยังไม่ได้ตรวจตราสอบสวนลงเป็นแน่ได้  เพราะยังกำลังให้ชำระสืบสวนเก็บรวบรวมต่อไปยังมีมาก  ถ้าได้ครอบครัวและคนฉกรรจ์  หรือสิ่งของอีกภายหลังมากน้อยเท่าใด  จึงจะทำบาญชีเป็นแน่ทั้งเก่าใหม่  ส่งลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้สิ้นเชิง  จะไม่ปิดบังแบ่งไว้เป็นของในพระราชวังบวรฯ เลย  ถ้าลงมาถึงกรุงเทพฯ จึงจะกราบบังคมทูลพระกรุณา  ขอรับพระราชทานเป็นส่วนแบ่งปันบ้าง  แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  พระราชทานให้ได้เท่าใดก็จะได้แต่เท่านั้น......”

          * อ่านความในใบบอกตอนนี้แล้วรู้สึกอย่างไรครับ  ดูเหมือนจะได้ความรู้เพิ่มเติมเข้ามาอีกว่า  เมืองเลยหรือจังหวัดเลยในปัจจุบันนี้  สมัยก่อนมาถึงรัชกาลที่ ๓  มีนามว่า  “หล่มเลย”  เป็นคู่กับเมือง  หล่มสัก  เรียกกันสั้น ๆ ว่า  “เมืองหล่มเมืองเลย”

          การกวาดต้อนครัวเชลยก็นับว่ายากแล้ว  แต่การนำครัวเชลยเดินทางเข้ากรุงนี้ยุ่งยากมากกว่านักเชียว ที่ สำคัญคือเสบียงอาหารที่จะเลี้ยงดูเชลยเหล่านั้น  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงคิดได้รอบคอบมาก

          ความในใบบอก  ยังไม่จบ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่ออีกตอนหนึ่งนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, เมษายน, 2563, 11:15:18 PM
(https://i.ibb.co/sKXPjQY/0300.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๕ -

กรมพะราชวังบวรเจ้า
ทรงข้ามเขาสารพลันผ่านเถื่อนแถว
ถึงพรานพร้าวริมโขงโล่งเนินแนว
ไร้วี่แววอริราชชาติศัตรู

ประทับนิ่งทอดพระเนตรนครใหญ่
มิข้ามไปเที่ยวเห็นความเป็นอยู่
ด้วยเคืองแค้นแน่นพระทัยไม่อยากดู
ตรัสสั่งหมู่พลเผดียงเผาเวียงจันทน์


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกสงครามกับลาว  มีรายละเอียดดังที่ได้อ่านกันไปสองตอนแล้ว  แต่ความยังไม่จบ  วันนี้มาอ่านความในใบบอก  หรือหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนั้นกันต่อจนจบ  แล้วอ่านเรื่องราวต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/xSsT4Kc/13606685-1832159670340924-6777427217235744416-n.jpg) (https://imgbb.com/)

           “อนึ่ง  ช้างพลายพังที่ตีได้ตามค่ายรายทางของลาวนั้น  เลือกแบ่งแต่ที่รูปร่างงามดี ๑๑๐ ช้าง  บรรทุกดินดำ  ให้หลวงนายศักดิ์ นายเวรมหาดเล็ก กับจมื่นทิพเสนา  คุมลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทั้งคนทั้งช้างก่อน  ให้กรมหมื่นรักษ์รณเรศร์รับช้างและคนปรนปรือไว้ใช้ราชการไปพลางก่อน  ถ้าได้ลงไปครั้งนี้จะหาช้างพลายพัง  ลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีก  จะได้ไว้ใช้ราชการสำหรับแผ่นดินด้วย  คงจะให้ได้ลงไปครั้งนี้อีก ๑,๒๐๐ ช้าง  หรือ ๑,๓๐๐ ช้างเป็นแน่  แต่ม้านั้นยังเที่ยวเก็บหาได้น้อยนัก  เพราะจะหาม้าที่ดีที่งามให้ได้มากด้วย  หายังไม่ได้มาก  แต่คงจะหาม้าลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไว้ใช้ราชการสำหรับแผ่นดินให้ได้สัก ๕,๐๐๐ ม้า  คงจะหาทั้งช้างทั้งม้าให้ได้สิ่งละหลายร้อยหลายพัน  แต่เดี๋ยวนี้จะกำหนดว่ามากแลน้อยยังไม่ได้  เพราะกำลังตามหาอยู่  เพราะไพร่พลเมืองลาวพาช้างและม้าที่ดี ๆ ไปซ่อนเสียที่ในบ้านป่า  ที่ไกลตามหายาก

          อนึ่ง  ปืนใหญ่ที่ได้มาตามค่ายลาวที่ในเวียงจันทน์นั้น  ครั้นจะบรรทุกลงมากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้  เพราะช้างทนไม่ไหวด้วยทางไกล  ครั้นคิดจะทำตะเข้ไม้ชักลากลงมา  ก็เป็นฤดูฝนตก  ทางลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นโคลนลากมาไม่ได้  ครั้นจะค้างไว้ตามหัวเมืองลาวก็ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  เพราะเป็นเครื่องอาวุธใหญ่อยู่ด้วย  ปืนใหญ่เหล่านั้นรูปร่างจะหางามสักกระบอกเดียวก็ไม่มี  รูปร่างคล้ายกับเทียนเข้าพรรษา  เป็นปืนหลักทุกบอกไม่มีล้อที่จะลากได้  ดูเร่อร่าน่าเกลียดนัก  พระราชทานพระบรมราชานุญาต  ให้ย่อยเนื้อทองสัมฤทธิ์บ้าง  ทองเหลืองบ้าง  บรรทุกช้างลงไปกรุงเทพฯ  แล้วจึงจะคิดหล่อปืนใหญ่ใช้เป็นรูปงาม ๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใช้แทนที่ทำลายเสียนั้น  กำหนดจะได้เดินครอบครัวลงมาอีกตามหลังหลวงนายศักดิ์ลงมา  จะจัดให้เดินเนื่อง ๆ กันจนสิ้นฤดูฝนนี้

(https://i.ibb.co/WFGwfzy/Undstitled-2-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  นายทัพนายกองไทยที่ทำราชการศึกครั้งนี้  ที่ดีก็มีบ้างแต่น้อยตัว  ที่ชั่วก็มีบ้าง  ถ้าแม้นจะลงโทษนายทัพนายกองของเรามีตามอาชญาศึกแล้ว  ก็เห็นว่าจะเปลืองคนนัก  จะไม่มีคนใช้สอยพอกับราชการทางไกล  ต้องอดเอาเบาสู้ไปตามทางกันดาร  การนั้นก็หากสำเร็จไปได้คราวหนึ่ง  ไม่เสื่อมเสียพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวของเรา  ก็เพราะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมนายทัพนายกองอยู่ทุกคน  จึงทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ได้ชัยชนะแก่ข้าศึกลาว มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายได้

          จดหมายข้อราชการฉบับนี้  ขอให้ท่านกรมหมื่นสุรินทรรักษ์และกรมหมื่นรักษ์รณเรศร์  ทั้งสองพระองค์นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายที่ลับ ๆ  ให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  ควรมิควร  พระราชอาชญาเป็นล้นกระหม่อม  สุดแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  ขอเดชะ”

           (จดหมายใบบอกกรมพระราชวังบวรฯ ฉบับนี้ไม่ได้ตัดรอน  กล่าวไว้เต็มตามต้นฉบับเดิม  เพราะจะให้ท่านทั้งหลายฟังสำนวนท่านโบราณ  เป็นขนบธรรมเนียมราชการต่อไปภายหน้า)

(https://i.ibb.co/H285jYq/320159-5a6efcd825557.jpg) (https://imgbb.com/)
พระแทรกคำ (พระแซ่คำ) : วัดคฤหบดี

          * บัญชีหางว่าว ในหางว่าวท้ายรับสั่งมีความว่าดังนี้

          “พระพุทธรูปสำหรับบ้านเมืองเวียงจันทน์นั้นคือพระบาง  หายไป  สืบได้ข่าวแต่เพียงว่า  พวกข้าพระโยมสงฆ์หามพาไปจากวัด  จะพาไปทิ้งน้ำหรือฝังดินก็สืบถามยังหาได้ความแน่นอนลงไป  ถ้าจะว่าเจ้าอนุพาไป  ก็เห็นจะพาไปไม่ได้แน่  แต่จะอยู่ไหนยังสืบไม่ได้ความเลย  ได้แต่พระเสิม ๑   พระใส ๑   พระสุก ๑   พระแซ่คำ ๑   พระแก่นจันทน์ ๑   กับได้พระเงินหล่อบ้าง  พระเงินบุบ้าง ๔ องค์  แต่เป็นองค์ใหญ่ ๆ รวมกันเป็น ๙ องค์  พระใน ๙ องค์นี้จะนำลงไปกรุงเทพฯ ได้แต่พระแซ่คำพระองค์เดียว  เพราะย่อมพอแก่จะบรรทุกช้างไปได้  แต่พระอีกแปดองค์นั้นใหญ่นักหนารับไปไม่ได้  จะต้องบรรจุพระเจดีย์เสียดีกว่าไว้ให้เป็นเหยื่อแก่พวกอันธพาล

(https://i.ibb.co/5vkNKNR/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระพุทธรูปปางฉันสมอ : วัดอัปสรสวรรค์

           ได้พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระแซ่คำร้อยพระองค์  กับได้พระพุทธรูปทองคำ เป็นพระพุทธเจ้าฉันผลสมอ  หน้าตักยี่สิบนิ้วพระองค์หนึ่ง  เป็นพระบุทองคำหาใช้พระหล่อไม่
           ได้พระนากสวาดิ์หน้าตักสิบนิ้วพระองค์ ๑  เนื้อนากหนักสิบเจ็ดชั่ง
           ได้พระนากสวาดิ์หน้าตักแปดนิ้วพระองค์หนึ่ง  เนื้อนากหนักสิบสามชั่งสิบตำลึง  แต่พระพุทธรูปนากสวาดิ์ทั้งสองพระองค์นั้น  เห็นจะแก้ไขพระรูปพระพักตร์ให้ดีได้  จึงจะส่งลงไปกรุงเทพฯ
           กับได้พระพุทธรูปนาคปรกทำด้วยศิลาดีกระบือ  หน้าตักห้านิ้วพระองค์หนึ่ง  ก็จะส่งลงไปกรุงเทพฯ ด้วย

(https://i.ibb.co/Lrxrytf/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระเจดีย์ธาตุดำ (พระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์)
ต. พานพร้าว อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย

           แต่พระพุทธรูปที่ใหญ่โตและชำรุดหนัก  จะส่งลงไปกรุงเทพฯ มิได้นั้น  จะให้บรรจุไว้ในพระเจดีย์  ซึ่งจะก่อใหม่ที่ค่ายหลวงพรานพร้าว  ที่เหนือวัดซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างไว้เมื่อเสด็จขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้น  ครั้งนี้ได้ก่อพระเจดีย์ฐานไว้ให้ต่อเนื่องพระเกียรติยศสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงต่อไป (คือ  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)
           พระเจดีย์ครั้งนี้ฐานกว้างห้าวา  พระองค์พระเจดีย์สูงตลอดยอดแปดวาสองศอก  ที่ได้ทรงบรรจุพระพุทธรูปไว้ให้เป็นที่สักการบูชาแก่เทพามนุษย์  อิฐซึ่งจะได้ก่อพระเจดีย์นั้น  ให้เกณฑ์ไพร่พลในกองทัพไทย  ทำอิฐเสมอคนละสองแผ่น  ก่อแล้วโปรดให้นำแผ่นศิลามาจารึกพระนามพระเจดีย์ว่า  “พระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์”  และจดหมายเรื่องราวที่เจ้าอนุกระทำความชั่วต่อแผ่นดินนั้น  จารึกไว้ในแผ่นศิลาให้ปรากฏแก่ประเทศราชลาวอยู่ชั่วฟ้าดิน  อย่าให้หัวเมืองประเทศราชทั้งปวงดูเยี่ยงอย่างเจ้าอนุผู้เป็นต้นคิดประทุษร้ายเป็นขบถต่อไป”

(https://i.ibb.co/9gHVzKt/Untaditled-1.png) (https://imgbb.com/)

          ครั้นทรงจดหมายใบบอกนี้แล้ว  จึงโปรดให้จมื่นมหาสนิทหัวหมื่นมหาดเล็ก  กับพระอินทราธิบาลที่เจ้ากรมพระตำรวจวังหน้า  ทั้งสองนายนี้เชิญจดหมายใบบอกลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ

          ครั้งนั้นโปรดให้พระราชวรินทร์  เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง  ซึ่งเชิญสิ่งของเครื่องเสวยมาแต่เมืองจีนขึ้นไปพระราชทานนั้น  โปรดให้กลับลงมากับตำรวจในวังหน้าที่เชิญใบบอกมานั้นพร้อมกัน”

          * ความในจดหมายใบบอก  ทำให้เราได้รู้เบื้องหลัง  รายละเอียดในการศึกสงครามระหว่างไทยกับลาวเวียงจันทน์ได้มากขึ้นทุกแง่ทุกมุมเลยนะครับ  ทั้งหมดนี้เป็นเพียงยกแรกของการรบ  ฝ่ายเจ้าอนุถูกตีทัพแตกกระจาย  แต่ยังไม่พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง  ถ้าเป็นนักมวย  ยกนี้เจ้าอนุถูกเตะถูกต่อยล้มลงไปให้กรรมการนับ  แต่นับยังไม่ถึง ๑๐  เขาลุกขึ้นพร้อมที่จะสู้ต่อไปอีก  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อให้รู้ว่าเจ้าอนุจะกลับมาสู้รบกับไทยอย่างไรต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, เมษายน, 2563, 10:58:48 PM
(https://i.ibb.co/V2DD150/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) (ก่อนเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา)
รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ   ในละคร "ข้าบดินทร์"

- อานามสยามยุทธ ๒๖ -

ตรัสกำชับทัพไทยเที่ยวไล่ล่า
“อ้ายเชียงสา”หนีตายไปคับขัน
สวามิภักดิ์“พระยาสิงห์”เมื่อทางตัน
ในยามนั้นแผ่นดินสิ้นค่ายลาว

เหลือเจ้าราชบุตรจำปาศักดิ์
ไม่นานนักพลเมืองแค้นเคืองฉาว
ก่อกบฏลดเลี้ยวไล่เกรียวกราว
จึงเป็นคราว“พระยาสิงห์”ชิงความดี


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ มีหนังสือเป็นใบบอกกราบบังคมทูลฯ ข้อราชการทัพตั้งแต่ต้นจนจบ  ที่ยึดได้เวียงจันทน์  และแสดงบัญชีหางว่าวเป็นทรัพย์สินสิ่งของที่ยึดได้  ส่งลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  วันนี้มาอ่านบันทึกของท่านพระยาบดินทรเดชา (สิง) กันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/pxLv7p0/Un45titled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้งหนึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบว่า  อ้ายพระยาเชียงสาแม่ทัพลาวนั้น  ยังตั้งค่ายแข็งแรงอยู่ที่ตำบลบ้านโพ้นเชียงทอง  ยังหามาสวามิภักดิ์ไม่  จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระยาไกรโกษาเป็นแม่ทัพคุมพลทหารสำหรับทัพที่ยกมาแต่เมืองหล่มสักนั้น  ให้ยกไปตีอ้ายพระยาเชียงสา  พระยาเชียงสาสู้รบกันกับพระยาไกรโกษา  พระยาไกรโกษาแตกหนีมา  เสียรี้พลมาก  เสียนายทัพนายกองไทยก็มาก

          กรมพระราชวังบวรฯ ทรงขัดเคืองพระยาไกรโกษา  จึงโปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่นายทัพนายกองปรึกษาโทษพระยาไกรโกษา  พระยา, พระ, หลวง  ที่นายทัพนายกองพร้อมกันปรึกษาด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม  ตามพระราชกฤษฎีกาอัยการศึก  เห็นว่าพระยาไกรโกษามีความผิดมาก  ขอพระราชทานให้ประหารชีวิตเสีย  อย่าให้นายทัพนายกองดูเยี่ยงอย่างต่อไป

          ครั้นทรงทราบคำปรึกษาดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า    “พระยาไกรโกษานี้เป็นคนเก่า  มีความชอบมาแต่ครั้งไปตีเจ้าราชวงศ์ที่เมืองหล่มสักครั้งหนึ่ง  ขอให้ยกโทษประหารชีวิตเสียเถิด  ให้แต่จำตรวนถอดออกจากที่พระยาไกรโกษา  ไม่ให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่แม่ทัพ  ให้จำตรวนไว้ในทัพหลวง”  (พระยาไกรโกษาต้องรับพระราชอาชญาจำตรวนแล้วถอดออกจากที่ฐานานุศักดิ์แล้ว  จะได้เป็นอีกหรือไม่ได้เป็นฉันใด  หาปรากฏในจดหมายเหตุไม่)

(https://i.ibb.co/7QqKqr2/Untitdsdfled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วโปรดให้พระยาเพชรพิไชย  กับพระยาเกษตรรักษา  พระยาบริรักษ์ราชา  พระยาอัษฎาเรืองเดช  เป็นแม่ทัพนายกองคุมพลทหารพันหนึ่งยกไปตีอ้ายพระยาเชียงสาให้แตกให้จงได้  พระยาทั้ง ๔ ยกทัพไปพบค่ายอ้ายพระยาเชียงสาตั้งอยู่ที่บ้านโพ้นเชียงทอง

(https://i.ibb.co/hD8hn9V/Untitleeded-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพพระยาเกษตรรักษาเป็นกองหน้า  ตีกองทัพหน้าของอ้ายพระยาเชียงสาแตกกระจัดกระจายไป  นายแผลงไพรินทร์นายเวรตำรวจวังหน้าเป็นนายม้า  ถือปืนสั้นหลังม้ายิงไปถูกอ้ายท้าวโสมนายทัพหน้าของอ้ายพระยาเชียงสานั้นถูกปืนตายในที่รบ  แม่ทัพไทยให้ตัดศีรษะอ้ายท้าวโสมมาเสียบหอก  ออกเดินนำหน้าทัพตีเข้าไปอีก  อ้ายลาวนายทัพและไพร่พลเห็นศีรษะท้าวโสมดังนั้นก็ตกใจกลัว  พากันแตกตื่นย่นถอยหลังไปหมด  พระยาเกษตรก็ขับพลทหารไล่ตีพักเดียว  ทัพอ้ายพระยาเชียงสาก็แตกถอยไปทางเมืองพงข้างเหนือ

(https://i.ibb.co/cyWSC8d/Untitledfdfwd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพไทยพระยาเพชรพิไชย  และพระยาอัษฎาเรืองเดช  พระยาบริรักษ์ราชา  ก็ตามตีอ้ายพระยาเชียงสาเข้าไปถึงชายป่าเมืองพง  ครั้งนั้นอ้ายพระยากองคำคุมทหารมาตั้งอยู่ที่เมืองพง  จึงยกทัพมาช่วยแก้อ้ายพระยาเชียงสา  อ้ายกองคำยกพลทหารมาสกัดหลังทัพพระยาเพชรพิไชยเข้าไปตามชายป่า  พวกไทยไม่ทันรู้ตัวว่าลาวยกมาข้างหลัง  ครั้นเห็นเข้ามาใกล้ก็ระส่ำระสายหันหน้าจะหนี  จวนจะเสียทีเกือบจะแตกอยู่แล้ว

          ฝ่ายพระยาเพชรพิไชยเห็นดังนั้น  จึงสั่งให้บุตรหลานญาติช่วยกันต้อนคนให้กลับหน้ามารบกับลาวจนถึงอาวุธสั้นเป็นการตะลุมบอน  พออ้ายกองคำแม่ทัพลาวตายในที่รบศพก็ได้มาด้วย  ทัพอ้ายลาวทั้งสิ้นก็แตกเข้าป่าไปหมดทุกทัพทุกกอง  พอเป็นเวลาจวนค่ำ  ทัพไทยจึงมิได้ไล่ติดตามไป  กลัวจะเสียทีอ้ายลาว  สงสัยว่าอ้ายลาวทำกลอุบายแตกหนีล่อใจไทยให้ตามตีไปในเวลาค่ำ  เพราะฉะนั้นทัพไทยจึงมิได้ตามตีไปในป่าเมื่อเวลาค่ำ

(https://i.ibb.co/604tdq4/Untit895led-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทัพไทยตั้งมั่นอยู่ที่นั้นคืนหนึ่ง  พอรุ่งเช้าขึ้น  ทัพไทยได้ยกติดตามอ้ายพระยาเชียงสาไป  แต่พอเวลาสองโมงทันอ้ายพระยาเชียงสาที่ห้วยหลวงในป่า  กองทัพไทยได้รบกันกับพวกลาวอีกครั้งหนึ่งถึงตะลุมบอน  ก็เสียพระอินทรเดช น้องพระยาเพชรพิไชย  ถูกปืนลาวตายในที่รบ  กับพระยากำแพงเพชร และพระหฤทัย  ถูกปืนในที่รบแต่หาตายไม่  ทัพไทยตีทัพอ้ายพระยาเชียงสาแตกกระจัดกระจายหนีไปในป่าอีกครั้งหนึ่ง  แต่ทัพลาวรีบหนีไปโดยเร็ว  ทัพไทยตามไปไม่ทันก็ตั้งทัพอยู่ที่ริมห้วยหนองหลวง  เพื่อจะรวบรวมรี้พลที่ระส่ำระสาย

(https://i.ibb.co/d2X27ph/frw.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นอ้ายพระยาเชียงสาแตกหนีกองทัพไทยไปในป่า  พระยาเชียงสาพาทหารที่ติดตามไปด้วยนั้นเดินเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง  ลงไปถึงเมืองยโสธร  พอพบกองทัพใหญ่พระยาราชสุภาวดี (สิง) ที่ตั้งสังกัดขวางทางอยู่  อ้ายพระยาเชียงสาไม่รู้ที่จะหนีไปข้างไหนได้  ครั้นจะต่อสู้รบก็มีทหารน้อยตัวนักสู้ไม่ได้  อ้ายพระยาเชียงสาก็ทิ้งเครื่องศาสตราวุธ  ยอมยกให้ทหารพระยาราชสุภาวดีเสียหมด  แล้วก็เข้าหาพระยาราชสุภาวดีโดยดี ขอสวามิภักดิ์พอให้รอดชีวิต

          ฝ่ายพระยาเพชรพิไชยรวบรวมไพร่พลได้หมดแล้ว  ก็ให้พระยาเกษตรรักษายกเป็นทัพหน้า  ติดตามพระยาเชียงสาต่อไป  พระยาเกษตรรักษานายทัพหน้ายกไปถึงฝั่งแม่น้ำโขงใกล้เมืองยโสธร  จึงได้ทราบข่าวมาจากกองตระเวนด่านพระยาราชสุภาวดีว่า  พระยาเชียงสาเข้าหาพระยาราชสุภาวดีโดยดีแล้ว  พระยาเกษตรรักษา  และพระยาเพชรพิไชย  และพระยานายทัพนายกองทั้งหลายยกทัพกลับมายังค่ายหลวงที่พรานพร้าว  กราบทูลข้อราชการที่ได้ไปตีอ้ายพระยาเสียงสานั้นทุกประการแล้ว

(https://i.ibb.co/2vdXT9m/Untitsled-99.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี (สิง) ตั้งทัพอยู่ที่เมืองยโสธร  คิดจะยกทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์  แต่พอเดินทัพมากลางทางได้ข่าวตามชาวป่าว่า  เจ้าราชบุตรเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น  ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองศรีษะเกษ  ครั้นพระยาราชสุภาวดีแจ้งเหตุการณ์ดังนั้นแล้ว  จึงยกทัพมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ใกล้เมืองอุบลราชธานี

          ฝ่ายเจ้าราชบุตรได้ทราบข่าวได้ศึก พระยาราชสุภาวดียกทัพใหญ่มาตั้งอยู่ที่ใกล้เมืองอุบล  เจ้าราชบุตรจึงยกทัพมาตั้งค่ายรับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี  จึงให้เจ้าปาน  เจ้าสุวรรณ ผู้น้อง  คุมกองทัพตั้งค่ายสังกัดหลังอยู่ที่เมืองยโสธร  พระยาราชสุภาวดียกทัพกลับไปตีค่ายเจ้าปาน เจ้าสุวรรณ ที่เมืองยโสธรเวลาเดียว  ทัพเจ้าปานเจ้าสุวรรณก็แตกกระจัดกระจาย หนีไปได้บ้างนายทัพนายกองไทยจับเป็นนายทัพนายกองลาวหลายสิบคนไพร่พลได้มาก ที่ต่อสู้ตายเสียก็มาก  แล้วพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพขึ้นไปตีเมืองอุบลราชธานี  ฝ่ายลาวในเมืองอุบลรราชธานีพร้อมใจกันเป็นขบถคุมกันหลายพวก  ได้ไล่ฆ่าฟันกองทัพเจ้าราชบุตรเป็นอลหม่านขึ้นในเมืองอุบลราชธานี

(https://i.ibb.co/ctcRtFt/Untit3uled-13-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าราชบุตรเห็นชาวเมืองอุบลราชธานีกลับเป็นขบถขึ้นพร้อมกันทั้งเมืองดังนั้น  จึงพากองทัพของตนหนีออกจากเมืองอุบลราชธานี  ตรงไปเมืองนครจำปาศักดิ์  ซึ่งเป็นบ้านเมืองเดิมของตนเคยอยู่  ฝ่ายครอบครัวเมืองต่าง ๆ ที่เจ้าราชบุตรกวาดต้อนพาไปไว้ในเมืองจำปาศักดิ์นั้น  ก็กำเริบเป็นศัตรูขึ้นด้วย  ชวนกันนำไฟจุดเผาบ้านเรือนราษฎรในเมือง  ไฟไหม้ขึ้นเป็นหลายสิบหลัง  และไหม้ต่อ ๆ ไปเป็นอันมาก  แล้วพวกครัวต่าง ๆ ก็พากันออกนอกเมืองจำปาศักดิ์ หมายจะต่อสู้กับเจ้าราชบุตรก็มีบ้าง  ที่หนีไปก็มีบ้าง

(https://i.ibb.co/GFrxqDv/daa-07.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าราชบุตรเห็นชาวเมืองคุมกันเป็นขบถเกิดจลาจลขึ้นดังนั้น  จะเข้าเมืองก็ไม่ได้  จึงรวบรวมบ่าวไพร่คนใช้ที่สนิทได้ประมาณสามสิบสี่สิบคน  แล้วพากันลงเรือข้ามฟากแม่น้ำโขง  หมายใจว่าจะเดินบกหนีไปแดนเมืองญวนให้รอดชีวิต

(https://i.ibb.co/R41XScN/Unti26tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายทัพพระยาราชสุภาวดี (สิง) เข้าตั้งอยู่ในเมืองนครจำปาศักดิ์ได้แล้ว  จึงมีคำประกาศแก่ไพร่พลเมืองลาวว่า      “ถ้าใครตามจับตัวเจ้าราชบุตรได้  จะให้รางวัลคนละห้าชั่ง”      พวกลาวที่ถูกความเดือดร้อนข่มขี่ของเจ้าราชบุตรนั้น  ก็พากันข้ามฟากไปตามจับตัวเจ้าราชบุตร, เจ้าปาน, เจ้าสุวรรณ  และพรรคพวกมาส่งให้พระยาราชสุภาวดี  พระยาราชสุภาวดีให้เงินเป็นรางวัลคนละห้าชั่ง  เป็นเงินยี่สิบห้าชั่ง  แล้วจำเจ้าราชบุตร ๑   เจ้าปาน ๑   เจ้าสุวรรณ ๑   ไว้ทั้งสามคน  แล้วพระยาราชสุภาวดีได้ทราบว่า  ทัพหลวงเสด็จมาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลพรานพร้าว  จวนจะเสด็จกลับลงไปกรุงเทพฯ ในเร็ว ๆ นี้

(https://i.ibb.co/mG9PZww/Untitls-ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาราชสุภาวดีให้พระจักราคุมกองทัพ ๑,๕๐๐ อยู่รักษาค่ายที่เมืองจำปาศักดิ์  จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อย  ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม  เพื่อจะจัดการบ้านเมืองบำรุงไพร่พลเมืองให้สมบูรณ์  จะได้เป็นกำลังแก่ราชการศึกต่อไป.....”

          * วันนี้ปล่อยให้อ่านเรื่องราวยาวสะใจ  เพราะกำลังสนุกเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว  พระยาสิงห์ ราชสุภาวดี  เริ่มแสดงศักยภาพของตนเองให้ปรากฏแล้ว  เรื่องราวของท่านจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, เมษายน, 2563, 09:01:14 AM
(https://i.ibb.co/0QhKv7g/Untitldfsed-1.jpg) (https://imgbb.com/)
พระยาราชสุภาวดี (สิงห์)
รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ   ในละคร "ข้าบดินทร์"

- อานามสยามยุทธ ๒๗ -

แม่ทัพญวนโอหังทั้งสามหาว
อ้างว่าลาวเป็นของญวนล้วนบัดสี
สั่งไทยถอยทัพไปในทันที
เลิกไล่ตีลาวผองคนของญวน

“พระยาราชสุภาวดี”นิ่ง
อ่านแล้วทิ้งจดหมายไม่ไต่สวน
สั่งคนเฝ้านครพนมตามสมควร
ตนเองด่วนเดินไกลไปพรานพร้าว


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระยาราชสุภาวดียกกำลังเข้ายึดเมืองยโสธร  อุบลราชธานี  และนครจำปาศักดิ์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว  เพราะชาวบ้านชาวเมืองก่อการขบถต่อเจ้าราชบุตรผู้ปกครองนครจำปาศักดิ์  แล้วประกาศให้ประชาชนตามจับเจ้าราชบุตรและพวก  หากใครจับได้จะให้รางวัลคนละห้าชั่ง

          ชาวลาวพากันออกเที่ยวค้นหาและจับตัวเจ้าราชบุตร  เจ้าปาน  เจ้าสุวรรณ  และพวกมาได้ทั้งหมด  พระยาราชสุภาวดีตั้งผู้รักษานครจำปาศักดิ์แล้วยกไปตั้งทัพที่เมืองนครพนม  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/F732bsF/Unsddtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ขณะนั้นแม่ทัพญวนชื่อ  องสัดตะคุมเตียนยิม  ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าขององกีนเลือก  แม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนทางบกนั้น  องสัดตะคุมเตียนยิมถือหนังสือของแม่ทัพญวนมาฉบับหนึ่ง  บอกแก่ขุนประสิทธิ์นายด่านทางบกฝ่ายไทยว่า     “เราถือหนังสือนี้จะไปให้พระยาราชสุภาวดีแม่ทัพไทย”     ขุนประสิทธิ์นายด่านกับลาวชาวด่านจึงพาองสัดตะคุมเตียนยิมถือหนังสือมาให้พระยาราชสุภาวดีที่ค่ายเมืองนครพนม  ได้สั่งให้ล่ามแปลหนังสือญวนออกใจความว่า

(https://i.ibb.co/47V81YJ/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมืองเวียงจันทน์กับกรุงศรีอยุธยาไทย  ก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันสนิทสนมมาช้านาน  เปรียบเหมือนริมฝีปากกับฟัน  ไม่มีเหตุอันใดที่ได้มัวหมองกันเลย  เหตุไฉนไทยจึงยกกองทัพขึ้นมาทำลายรื้อบ้านเมืองเวียงจันทน์เสีย  ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความเดือดร้อนแตกหนีไป  จากบ้านเมืองที่เคยอยู่อาศัยเป็นสุขมาช้านาน

          อนึ่ง  เมืองเวียงจันทน์ก็เป็นเขตแดนของกรุงเวียดนามด้วย  บัดนี้แม่ทัพไทยได้เข้ามาในเขตแดนญวนแล้ว  หาควรกับเมืองไมตรีกันไม่  บัดนี้องกีนเลือกแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน  ให้ข้าพเจ้าชื่อ องสัดตะคุมเตียนยิม แม่ทัพหน้าคุมกองทัพบกมา ๒๐,๐๐๐ เศษ  มาตั้งอยู่ที่เมืองตำกอง  ใช้ให้ข้าพเจ้าถือหนังสือมาให้ท่านแจ้งความว่า  ให้ท่านยกกองทัพไทยกลับไปอยู่ในเขตแดนของไทย  ไทยกวาดต้อนพาครอบครัวพลเมืองในเขตแดนญวนไปไว้มากน้อยเท่าใด  ขอให้ท่านส่งกลับคืนมายังเขตแดนญวนให้สิ้นเชิง  ทางไมตรีไทยกับญวนจะรอบคอบยืนยาวเสมอต้นเสมอปลายต่อไป  ถ้าท่านไม่ฟังคำของข้าพเจ้าแล้ว  ฝ่ายข้าพเจ้าก็ไม่ละกันคงได้เห็นฝีมือกันเป็นแน่  ถ้าองกีนเลือกแม่ทัพใหญ่ยกลงมาถึงเมื่อใดแล้ว  ก็จะไม่ฟังกันเป็นแน่  แต่หญ้าต้นหนึ่งก็จะไม่ให้เหลือไว้ในแผ่นดิน  บอกมาทั้งนี้เป็นความเมตตาแก่แม่ทัพด้วยกัน  ให้ทำตามที่บอกมานี้จึงจะชอบด้วยราชการ”   (หนังสือญวนฉบับนี้กล่าวไว้หมดจด  ไม่ได้ตัดรอน  เพราะจะให้ท่านผู้อ่านฟังสำนวนญวน)

(https://i.ibb.co/d5tdy8Y/Untitlerged-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาราชสุภาวดีได้ทราบความตามในหนังสือญวนดังนั้นแล้ว  หาได้มีหนังสือโต้ประการใดไม่  เพราะจะรีบเดินทางไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่ค่ายหลวงพรานพร้าว  ด้วยจวนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ อยู่แล้ว  เป็นแต่สั่งให้ขุนประสิทธิ์นายด่านพาตัวญวนที่ถือหนังสือมานั้น  กลับไปส่งให้พ้นเขตแดนของไทย  บอกญวนให้รีบไปในเขตแดนของญวน  ไทยไม่รับรอง  และไม่ให้ญวนอยู่ด้วย

(https://i.ibb.co/bmgg5RC/14347280s52-1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาราชรองเมืองคุมพลทหาร ๕๐๐ อยู่รักษาค่ายที่เมืองนครพนมและค่ายเมืองยโสธรด้วย
           ให้พระยาอินทรสงครามรามัญจางวางกองนอก  คุมพลทหารรามัญ ๓๐๐ เป็นกองลาดตระเวนบก  รักษาด่านทางเมืองยโสธรและเมืองนครพนม
           ให้พระยาวิเศษสงครามภักดี จางวางทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่คุมพลทหาร ๒๐๐ ยกล่วงหน้าไปทำทางตั้งทำเนียบรับที่พรานพร้าว
           แล้วสั่งพระยา,  พระ,  หลวง,  นายทัพนายกองให้ตระเตรียมจัดพลทหารไว้ให้พร้อม  รุ่งขึ้นจะยกไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่พรานพร้าว

(https://i.ibb.co/fkNb9jN/Untitldwe287d-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าสามโมง  พระยาราชสุภาวดีขึ้นช้างพังเกษรผูกกูบกระโจมสองหน้าหลังคาคาดผ้าดาวกระจาย  มีทหารสี่เท้าช้างอย่างแม่ทัพใหญ่  พร้อมด้วยช้างนำตามเป็นอันมาก  ดำเนินทัพโดยทางสถลมารค  หยุดร้อนแรมไปหลายวัน  ก็บรรลุถึงท่าซ่มริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้บ้านพรานพร้าว  พระยาราชสุภาวดีหยุดพักในค่ายรั้วทึบที่ท่าซ่ม  ซี่งพระยาวิเศษสงครามทำไว้รับนั้น  แล้วพระยาวิเศษสงครามมาแจ้งความแก่พระยาราชสุภาวดีว่า      “ได้สร้างทำเนียบ ๙ หลังตีรั้วทึบท่าซ่มห่างค่ายหลวง ๖๐ เส้น  ครั้นจะตั้งใกล้ก็กลัวว่ารี้พลที่มากจะไปละเล้าละลุมในค่ายหลวงหาบังควรไม่”

           พระยาราชสุภาวดีพักอยู่ที่ทำเนียบคืน ๑    ครั้งรุ่งเช้าจึงขึ้นแคร่คานหามมีทหารสะพายดาบเดินนำหน้า ๒๐๐  ทหารถือปืนเดินตามทางป่าไปทาง ๖๐ เส้นเศษถึงค่ายหลวง  สั่งให้ทหารหน้าหลังหยุดพักห่างค่ายหลวงทั้งสิ้น  พระยาราชสุภาวดีลงจากแคร่เดินเข้าไปเฝ้าหน้าพลับพลาชัยในค่ายหลวง  กราบทูลข้อราชการศึกเสร็จสิ้นทุกประการ  แล้วก็นำต้นหนังสือของญวนและคำแปลจากหนังสือญวนที่มาให้ในระหว่างศึกนั้น  ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  แล้วพาพระยาเชียงสาลาวซึ่งแตกหนีทัพพระยาเพชรพิไชยเข้ามาสวามิภักดิ์นั้น  เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่หน้าพลับพลาชัยในค่ายหลวง

(https://i.ibb.co/y4NkQqN/Untitlegrd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาราชสุภาวดีกราบบังคมทูลว่า        “เจ้าราชบุตรสู้รบกับกองทัพข้าพระพุทธเจ้า  ข้าพระพุทธเจ้าจับเจ้าราชบุตรขังกรงลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วย”        กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระพรหมสุรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจ กับหลวงนายเสน่ห์รักษานายเวรมหาดเล็ก  ได้ให้คุมพลทหารกรุงเทพฯ ๑๖๐ คน  คุมตัวเจ้าราชบุตร ๑   เจ้าปาน ๑   เจ้าสุวรรณ ๑   กับเจ้าหญิงซึ่งเป็นภรรยาเจ้าราชบุตร ๑ คน  ชื่อเจ้าบัณฐร  และครอบครัวเจ้าราชบุตรที่จับได้นี้ ๔๖ คนนั้น  ให้คุมลงไปส่งยังกรุงเทพฯ  แต่พระยาเชียงสานั้นโปรดให้อยู่รับราชการในกองทัพพระยาราชสุภาวดี  ช่วยคิดราชการทางหัวเมืองลาว  ถ้าเสร็จราชการจะชุบเลี้ยงให้ถึงขนาดแก่ความชอบ  แล้วมีรับสั่งให้พระยาราชสุภาวดีอยู่จัดการบ้านเมืองลาว  และเมืองเขมรป่าดงให้เรียบร้อย   และกวาดต้อนครอบครัวส่งลงไปกรุงเทพฯ    สิ้นราชการแล้วเมื่อใดก็ให้กลับลงไป  แจ้งข้อราชการศึกสงครามยังกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/yh7yK8P/Ufgntitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้นมีพระราชดำรัสตรัสสรรเสริญสติปัญญาความคิดและฝีมือพระยาราชสุภาวดีว่า        “มิเสียทีที่เกิดมาในวงศ์ตระกูลเสนาบดี  เป็นชายนายทหาร  ทำราชการการสงครามครั้งนี้มีชื่อเสียงดีโด่งดังปรากฏไปในนานาประเทศทั่วทิศานุทิศ  ความดีความเจริญของท่านจะปรากฏในจดหมายเหตุของพวกนักปราชญ์ราชบัณฑิต  อยู่ชั่วกัลปาวสานไม่เสื่อมทราม”        แล้วตรัสเล่าการศึกสงครามให้พระยาราชสุภาวดีฟัง  ตั้งแต่ตีค่ายทุ่งล้ำพี้  และทุ่งหนองบัวลำภู  ทุ่งส้มป่อย  และที่เขาสารช่องแคบทั้งสี่ตำบล  ทรงเล่าจนเจ้าอุปราชเวียงจันทน์เข้ามาสวามิภักดิ์เสร็จสิ้นทุกประการ.....”

           * คิดว่าทุกท่านที่อ่านจดหมายข้อความยะโสโอหังข่มขู่คุกคาม  จากแม่ทัพญวนมาถึงแม่ทัพไทยแล้ว  คงเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกันกับผมแหละนะครับ  เก็บความรู้สึกอันไม่ดีไม่งามนั้นไว้ในใจก็แล้วกัน  วันนี้ให้อ่านแค่นี้ก่อน  พรุ่งนี้ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, เมษายน, 2563, 11:22:37 PM
(https://i.ibb.co/M22hLGb/14386324dsfs-G-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๘ -

กรมพระราชวังบวรฯ ประทับ
ปรึกษากับบรรดาทหารห้าว
ปรารภเรื่องเวียงจันทน์นั้นยืดยาว
หลายเจ้าลาวแปรพักตร์สิ้นภักดี

เจ้าอนุจิ้มก้องญวนร้องสิทธิ์
สำแดงฤทธิ์ข่มขู่หลู่ศักดิ์ศรี
สยามต้องตรึกตราหาวิธี
ศึกจะมียืดยาวทั้งลาวญวน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พระยาราชสุภาวดี (สิง) แม่ทัพไทยฝ่ายตะวันออกเข้าเฝ้ากรมกระราชวังบวรฯ ณ ค่ายหลวงพรานพร้าว  กราบบังคมทูลถวายรายงานราชการศึกแล้ว  เบิกตัวพระเชียงสาเข้าเฝ้าถวายบังคม  และนำตัวเจ้าราชบุตรแห่งนครจำปาศักดิ์ พร้อมพวกที่พ่ายสงครามถูกจับตัวมาได้นั้นน้อมเกล้าฯ ถวาย  กรมพระราชวังบวรฯ ตรัสให้พระพรหมสุรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจและคณะคุมตัวเจ้าราชบุตรและพวกลงกรุงเทพฯ  ส่วนพระยาเชียงสานั้นโปรดให้อยู่กับพระยาราชสุภาวดี  ช่วยคิดราชการทางหัวเมืองลาวต่อไป  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ

           “ขณะนั้นมีพระราชดำรัสปรึกษาราชการเมืองเวียงจันทน์แก่พระยาราชสุภาวดี  ว่า

(https://i.ibb.co/tCzV9hv/unnamed-7.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/XZKdRjn/Rama1.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/P40Ww89/nn02-01.jpg) (https://imgbb.com/)

           “อันแผ่นดินมาลาว์ประเทศขอบเขตลาวเวียงจันทน์นั้น  ถ้าผู้ใดได้เป็นอธิบดีใหญ่ในเมืองเวียงจันทน์แล้ว  จิตก็มักจะเป็นพาลสันดานทุจริตคิดประทุษ ร้ายเป็นขบถต่อกรุงเทพฯ มาหลายครั้งแล้ว  ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าตากกรุงธนบุรีครั้งหนึ่ง  และในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงสองครั้ง (พระพุทธเจ้าหลวงนั้นคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า)  และในแผ่นดินพระบรมโกศนั้น  เว้นว่างการศึกกับเวียงจันทน์  เพราะเหตุว่าเมืองหลวงพระบางมีอริร้าวฉานกับเวียงจันทน์  เวียงจันทน์ไม่อาจทำการกำเริบเป็นขบถได้  เพราะเวลานั้น  เจ้าเวียงจันทน์ยังไม่มีอำนาจใหญ่โตเหมือนอนุเดี๋ยวนี้ (แผ่นดินในพระบรมโกศนั้น  คือแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า)

(https://i.ibb.co/yYWkfmM/ct-20180731060934357.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/MV131ZX/image1-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นกาลเป็นลำดับมาถึงแผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมในปัจจุบันนี้ (คือแผ่นดินพระนั่งเกล้า) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าอนุเป็นอธิบดีครอบบ้านครองเมืองเวียงจันทน์  ทรงมอบพระราชดำริพระราชประสงค์ให้เจ้าอนุบังคับบัญชาว่ากล่าวหัวเมืองลาวฝ่ายทางตะวันออกทั้งสิ้นตลอดถึงเขตแดนญวน  เจ้าอนุได้เป็นผู้ต่างพระเนตรพระกรรณสิทธิ์ขาดในราชการเมืองลาวทางตะวันออก  เจ้าอนุจึงมีศักดาอานุภาพอำนาจเฟื่องฟุ้ง  เป็นที่ยำเยงเกรงกลัวของหัวเมืองลาวต่าง ๆ ที่ใกล้และไกลในทิศตะวันออก  เพราะพระบารมีล้นเกล้าล้นกระหม่อม ปกเกล้าปกกระหม่อมเจ้าอนุ  เจ้าอนุจึงมีศุภอักษรลงมากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  เมืองเวียงจันทน์กับหัวเมืองขึ้น ราษฎรพลเมืองต้องอาศัยไปมาค้าขายที่เมืองญวน  จึงได้เกลือและของใช้ของรับประทานมาเป็นกำลังแก่พลเมืองลาว  เพราะว่าญวนอยู่ใกล้กับลาว  จะไปมาค้าขายง่ายกว่าทางกรุงเทพฯ  เพราะฉะนั้นเจ้าอนุจะขอรับพระราชทานแต่งขุนนางลาว  ให้เป็นทูตขึ้นไปจิ้มก้องส่งเครื่องบรรณาการที่เมืองเว้ (คือเมืองหลวงของญวน)  สามปีครั้งหนึ่ง  เพื่อจะให้พลเมืองลาวไปมาค้าขายกับญวนได้สะดวก

(https://i.ibb.co/XCJRJ6c/Vientiane-Chao-Anouvong-Park-6031888461-1.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/jwZm5gh/emperor-minh-mang.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยเสนาบดี  เห็นว่าเป็นการค้าขายเจริญแก่ราษฎรพลเมืองลาวนั้นจริงอยู่  จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต  ยอมให้เจ้าอนุแต่งทูตลาวไปจิ้มก้องญวนสามปีครั้งหนึ่งตามความคิดเจ้าอนุเถิด  เหตุดังนี้ญวนจึงถือว่าเวียงจันทน์เป็นเขตแดนของญวนด้วย  ญวนจึงได้มีหนังสือพูดจาหมิ่นประมาทไทย  เพราะเจ้าอนุก่อเหตุทำให้เกียรติยศไทยเสียไป  ภายหลังเจ้าอนุมีจิตคิดกำเริบเติบใหญ่  ตั้งใจเป็นขบถต่อกรุงเทพฯโดยความทรยศของมันดังนี้  พวกเราทั้งหลายจึงต้องมาทำศึกสงครามเคี่ยวเข็ญแรมเดือนแรมปีกับลาวนี้  จนอ้ายลาวพ่ายแพ้ราบคาบไปสิ้น  ฝ่ายไทยก็มีชัยชนะครั้งนี้  ควรที่นายทัพนายกองจะต้องช่วยกันคิดอ่านการงานให้รอบคอบ  ที่จะรักษาขอบขัณฑเสมาอาณาจักรสยามให้มั่นคงถาวรชั่วบุตรหลาน

(https://i.ibb.co/wrfc4Br/6-10-696x442.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่การข้างหน้าต่อไปนั้น เราก็คิดไม่ให้มีผู้ครอบครองบ้านเมืองเวียงจันทน์อีกต่อไป  คิดจะทำลายล้างบ้านเมืองเสียให้หมด  ให้เป็นดังป่า  ไม่ให้กลับเป็นราชธานีใหญ่สืบไปได้  แต่จะต้องนำความเห็นที่เราคิดดังนี้ลงไป  มีชี้แจงกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้ทรงทราบได้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสียก่อน  เราจึงจะทำการนี้ได้โดยถนัดดี  ด้วยแผ่นดินเป็นที่ของท่าน  ท่านเป็นพระมหากษัตริย์  เราเป็นแต่ผู้ช่วยราชการ  ไม่อาจหาญจะทำการใหญ่โตให้เกินแก่อำนาจผู้ใหญ่ได้”

          ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาอภัยภูธร  เจ้าพระยาพระพิษณุโลก  และเจ้าพระยานครราชสีมา  และเจ้าพระยามหาโยธา  และพระยาเพชรบูรณ์  ขุนนางผู้ใหญ่เฝ้าอยู่ที่นั้น  พร้อมอยู่ด้วยกัน พระยา, พระ, หลวง, นายทัพ, นายกอง, ทั้งหลายกราบบังทูลว่า    “ข้าพระพุทธเจ้าเห็นชอบด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมพร้อมกัน  ตามพระราชกระแสรับสั่งนั้นทุกอย่างทุกประการแล้ว”

(https://i.ibb.co/z7LsJ7z/Untfditled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชดำรัสสั่งให้พระยาเพชรบูรณ์เข้ากองทัพพระยาราชสุภาวดี  ให้อยู่จัดการบ้านเมืองลาวส่งเสบียงอาหารให้พระยาราชสุภาวดี  เพราะเมืองเพชรบูรณ์บริบูรณ์ด้วยอาหาร
          โปรดให้พระยาเพชรพิไชยกับพระยาสมบัติธิบาล  ยกไปจัดการบ้านเมืองหล่มเลย  ให้กลับไปเมืองหล่มเลยในฤดูฝนนี้  พระยาเพชรพิไชยกราบถวายบังคมลายกไปเมืองหล่มสัก  พระยาสมบัติธิบาลยกไปเมืองเลย
          โปรดให้พระยาเกษตรรักษายกพลทหารไปถ่ายเสบียงอาหาร  ไปส่งพระยาราชสุภาวดีให้ใช้ราชการตลอดปี  พระยาเกษตรรักษาได้ถ่ายเสบียงอาหารที่ค่ายหลวงลำเลียงลงเรือรบลาวเก่า ๆ บรรทุกไปส่งที่ค่ายพระยาราชสุภาวดี

(https://i.ibb.co/5k3zcjT/Untdwwitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพระธัญญาภิบาล หลวงโภชนารักษ์คุมเรือข้าวเปลือกนำไปส่งที่เมืองนครพนม เรือกระทบตอไม้ใหญ่ล่มแตกเสียสี่ลำเป็นข้าวหลายร้อยเกวียน  ทรงทราบแล้วจึงโปรดให้จมื่นอินทรเสนาปลัดกรมพระตำรวจ  นำเรือเร็วลงไปลงพระราชอาชญาเฆี่ยนหลังพระธัญญาภิบาลกับหลวงโภชนารักษ์  คนละห้าสิบที  ให้คงราชการถ่ายลำเลียงต่อไป

          โปรดให้พระยาเพชรบูรณ์ขนปืนนกสับคาบศิลา ๑,๕๐๐ กระบอกกับกระสุนดินดำ  ส่งไปพระราชทานเพิ่มเติมให้อีกในกองทัพพระยาราชสุภาวดี  พระยาเพชรบูรณ์กราบทูลว่า    “ช้างที่จะบรรทุกปืนไปส่งนั้นยังไม่มาถึงพรานพร้าว”    รับสั่งว่า    “บรรทุกเรือก็ได้”    พระยาเพชรบูรณ์กราบทูลว่า    “ทางเรือหลักตอมากในแม่น้ำโขง  เกรงเรือจะล่มลงจะเสียของหลวง  ด้วยเป็นเครื่องอาวุธหาใช้ยาก  ไม่เหมือนข้าวเปลือกพอหาเพิ่มเติมในราชการได้”    รับสั่งว่า    “พระยาเพชรบูรณ์ขัดคำสั่งจะให้ลงพระราชอาชญาก็ได้   แต่เห็นว่าเป็นคนเก่าผู้เฒ่าจึงให้ภาคทัณฑ์ไว้ครั้ง ๑”

          แล้วโปรดให้หลวงชาติเสนีคุมปืนคาบศิลาบรรทุกลงเรือไปส่งให้พระยาราชสุภาวดี  ครั้งนั้นเรือใหญ่พระธัญญาภิบาลนำไปบรรทุกข้าวเปลือกเสียหมด  มีแต่เรือเล็กอยู่หลายลำ  แต่รั่วมาก  เลือกได้เรือเล็กสองลำบรรทุกปืนไปลำละ ๑๐๐ กระบอก  ลงไปตามลำแม่น้ำโขง  ก็ถูกตอล่มลงลำหนึ่ง  ลำหนึ่งลงไปถึงเมืองนครพนม  คราวนี้ทรงทราบว่าเรือล่มสมกับคำพระยาเพชรบูรณ์กราบทูลทุกประการ  จึงหายกริ้วพระยาเพชรบูรณ์และพลอยไม่โกรธหลวงชาติเสนีที่นำเรือบรรทุกปืนไปล่มเสียลำหนึ่ง  เสียปืน ๑๐๐ กระบอกและดินดำด้วยหลายสิบถังจมน้ำเสีย  ดำได้แต่ปืน

(https://i.ibb.co/fHqhnNZ/Untitldfefed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนี้โปรดเกล้าให้พระยาประกฤษณุรักษ์ไปตามช้างที่ค่ายเขาสารมายังพรานพร้าว  ให้พระยาเพชรบูรณ์บรรทุกปืน ๑,๓๐๐ กระบอก  กับดินดำและกระสุนปืนไปสั่งที่ค่ายพระยาราชสุภาวดี  ปืนและกระสุนดินดำก็ถึงค่ายพระยาราชสุภาวดีโดยสะดวกไม่เสียหาย  (เพราะพระยาเพชรบูรณ์ที่ชำนิชำนาญทางแม่น้ำโขงและทางป่าด้วย)

          ครั้งนั้น  เจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกแม่ทัพไปตีหล่มสักได้แล้วยกมาตั้งค่ายอยู่ที่พรานพร้าว  ป่วยหลายวันก็ถึงอสัญกรรม  กรมพระราชวังบวรฯ จึงมีรับสั่งให้บุตรหลานญาติที่ตามขึ้นไป  ให้นำศพลงมากรุงเทพฯ  พระราชทานช้างและโคต่างให้เป็นพาหนะพอสมควรกับพวกพ้องบ่าวข้าที่จะนำศพกลับลงไปกรุงเทพฯ

          กองทัพไทยที่ขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้น  ไพร่พลตายด้วยศาสตราวุธข้าศึกนั้นน้อย  ตายด้วยไข้โรคป่วง  และตายด้วยไข้ป่าไข้พิษ  ไทยตายด้วยอดอยาก  สามอย่างนั้นมากกว่ารบกันตายด้วยเครื่องศาสตราวุธ...”

          พักไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกันนะ  วันพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, เมษายน, 2563, 10:37:19 PM
(https://i.ibb.co/VS3KBX0/143dfs8627751-IMG6916-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๒๙ -

กรมพระราชวังบวรฯกลับ
ทรงพักทัพโคราชไม่รีบด่วน
สั่งซ่อมแซมคูกำแพงแต่งที่ควร
ให้ทุกส่วนที่ถูกเผาเข้ารูปรอย

แล้วกลับกรุงเข้าเฝ้าเจ้าอยู่หัว
กราบทูลทั่วที่ทรงทำไม่ท้อถอย
จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนยศทั้งใหญ่น้อย
“พระยาสิงห์”สวมสร้อย “เจ้าพระยา”


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน“อานามสยามยุทธ”ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ  เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง)  มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดการบ้านเมืองเวียงจันทน์และเมืองบริวาร  มอบหน้าที่พระยาราชสุภาวดี (สิง) อยู่จัดการบ้านเมืองแทนพระองค์  ให้กองทัพพระยาเพชรบูรณ์เข้ารวมกับพระยาราชสุภาวดี  และให้ขนเสบียงอาหาร  อาวุธยุทโธปกรณ์จากทัพหลวงไปใส่ไว้ในกองทัพพระยาราชสุภาวดี  วันนี้มาดูความต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/JQ4qy58/Untitsaled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

           “อนึ่ง  ทัพพระยาราชนิกูลและพระยารามคำแหง  พระยาราชวังเมือง  พระยาจันทบุรี  ซึ่งยกขึ้นไปทางเมืองเขมรป่าดงละทางตะวันออกนั้น  ไม่ได้ต่อสู้รบด้วยข้าศึกลาวเลย  เพราะไม่ได้มีใบบอกข่าวราชการมายังแม่ทัพหลวงให้ทราบบ้าง (กับไม่ได้ยินข่าวลือว่าแม่ทัพทั้ง ๔ คนนั้น  จะได้ราชการสิ่งใดในการศึกสงครามนั้นก็ไม่มี  มีแต่ไปตั้งทัพยับยั้งอยู่ที่ปลายเขตแดน เขมร, ญวน กับลาวต่อกันทางเขาหลวงลีผีเป็นที่พรมแดนญวน, เขมร  กับไทยต่อกันเท่านั้น  ตั้งอยู่ตำบลนี้เป็นที่ห่างเหินเกินกับที่จะต่อรบกับข้าศึกลาว  ต้องกับคำโบราณว่า  “อยู่สุดเสียงปืนอายุยืนกว่าพัน”  เป็นจะเป็นเช่นนั้นบ้างดอกกระมัง)

           ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรดำรัสสั่งพระยาเสน่หาภูธรให้มีบัตรหมายบอก พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองทัพทั้งหลาย  ให้ตระเตรียมพลทหารไว้ให้สรรพ  อีกแปดวันจะเสด็จพระราชดำเนินยกกองทัพหลวงกลับลงไปยังกรุงเทพฯ  ตามท้องตราซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรีเชิญขึ้นมาหากองทัพกลับนั้น

(https://i.ibb.co/xq01c6w/130.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือนแปดขึ้นเก้าค่ำ  เวลาประจุสมัยจวนจะใกล้ ๆ อรุณรุ่งสว่าง  ได้มหาศุภมงคลนักขัตฤกษ์แล้ว  ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเครื่องศิริราชปิลันทนาอะลังการสรรพาภรณ์บวรวิภูษิต  วิจิตรด้วยเครื่องอนันตะราโชปโภคสำหรับพระขัติยะราชรณยุทธพร้อมเสร็จ  เสด็จขึ้นช้างพระที่นั่งพังเทพยลิลา  สูงห้าศอกคืบหกนิ้ว  ผูกเครื่องมั่นมีพระที่นั่งกระโจมทองสี่หน้าหลังคาหักทองขวางยอดเกี้ยว เป็นพระคชาธาร  และพังมณีนพรัตน์สูงห้าศอกคืบสี่นิ้ว เป็นพระคชาธารพระที่นั่งรอง  ผูกเครื่องมั่นมีพระที่นั่งวอช่อฟ้าหลังคาสี  พระที่นั่งทรงนั้นหลวงอินทรคชลักษณ์เป็นหมอ  ขุนคชศักดิ์บริบาลเป็นควาญ  เป็นข้าหลวงเดิมทั้งสองนาย  พร้อมด้วยจัตุรงค์คชบาท  ราชบริพารทวยหาญแห่นำตามเสด็จพร้อมพรั่ง  ทั้งช้างดั้งช้างกันอนันตะคชพยุหยาตรา  สรรพด้วยพหลพลพยุหโยธาหาญ  ราชบริพารตามกระบวนบวรมหาพิชัยสงครามพร้อมเสร็จ  เสด็จพระราชดำเนินเป็นทัพหลวง  ล่วงมัคทุเรศนิคมเขตมาลาว์มหาสถลมารค  ประทับร้อนแรมมาจากค่ายพรานพร้าวยี่สิบสองเวน  บรรลุถึงเมืองนครราชสีมาในเวลาบ่ายสองโมง ณ วันพุธเดือนแปดแรมสิบสี่ค่ำ  จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับแรม  อยู่บนพลับพลาไชยในค่ายเก่าคืนหนึ่ง

(https://i.ibb.co/gjNJ18B/Untitleddw-9-350.jpg) (https://imgbb.com/)

           รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดีเดือนแปดแรมสิบห้าค่ำ  โปรดเกล้าฯ พระราชทานอาหาร  สิ่งของเงินตรา  เสื้อผ้าแก่ไพร่บ้านพลเมืองนครราชสีมาที่อดอยากเป็นอันมาก  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นายทัพนายกองทั้งหลายคุมพลทหาร  แบ่งหน้าที่กันไปซ่อมแซม  ก่อกำแพงเมืองนครราชสีมาที่ปรักหักพัง  ที่เจ้าอนุสั่งให้ทำลายรื้อเสียด้านหนึ่งนั้น  โปรดให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้เหมือนดังเก่า  แต่คูเก่ารอบนอกกำแพงเมืองนครราชสีมานั้นตื้นดอนมากแล้ว  จึงโปรดให้กองทัพแบ่งหน้าที่กันขุดมูลดินเก่าขึ้น  ให้ลึกกว้างกว่าเก่ารอบกำแพงแล้ว  จึงดำรัสสั่งพระยาอร่ามมณเฑียรให้อยู่ที่เมืองนครราชสีมา  เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอารามพระอุโบสถวิหารการบุญเปรียญเสนาสนะ  ที่ปรักหักพังทั้งสองพระอารามในกำแพงเมืองนครราชสีมา  ที่ชำรุดมาช้านานให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้งดงามบริบูรณ์ไว้ในพระศาสนา  จะได้เป็นพระเกียรติยศแผ่นดินสยามต่อไปภายหน้าด้วย

           พระยาอร่ามมณเฑียรเลือกนายช่างไว้ ๓๐ คน   กับไพร่พลในกองทัพกรุงขอไว้ ๕๐ คน  รวมเป็น ๘๐ คน  แล้วเกณฑ์คนที่เมืองนครราชสีมาอีก ๒๐๐ คน  ให้ทำอิฐเผาปูนและตัดไม้ทำการงานในพระอารามทั้งสองตามรับสั่งนั้น

(https://i.ibb.co/NSSP2tD/freed2.jpg) (https://imgbb.com/)

           กรมพระราชวังบวรฯ ประทับอยู่ในค่ายนอกเมืองนครราชสีมานั้นหกวัน  จึงเจ้าพระยานครราชสีมามากราบบังคมทูลเชิญเสด็จ  ให้เข้าไปทอดพระเนตรในเมืองนครราชสีมา  จึงเสด็จพระราชดำเนินทรงพระราชยานผูกแปด  มีกระบวนแห่นำตามเสด็จไปเป็นอันมาก  เสด็จไปทอดพระเนตรในเมืองนครราชสีมาหลายแห่ง  ทอดพระเนตรพระอารามทั้งสองที่ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย  ทอดพระเนตรทั่วแล้ววันหนึ่ง  จึงเสด็จกลับออกมาประทับอยู่ในค่ายอีกวันหนึ่ง  จึงเสด็จกรีธาทัพหลวงจากเมืองนครราชสีมา  ลงมาทางดงพระยาไฟ  ตัดทางมาลงยังท่าราบแขวงเมืองสระบุรี  ประทับที่พลับพลาท่าราบสี่วัน  แต่พอนายทัพนายกองที่ตามเสด็จพระราชดำเนินมาพร้อมกันแล้ว  จึงเสด็จประทับในเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีชื่อกาพย์สุวรรณมาลา  พร้อมด้วยเรือขบวนดั้งกันแห่นำตามเสด็จมาถึงกรุงเทพฯ ณ วันจันทร์เดือนเก้า  แรมสามค่ำ  เวลาบ่ายสามโมง   ในเวลาวันนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินลงไปเฝ้าในพระราชวังหลวง  กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยข้อราชการศึกเสร็จทุกประการ  แล้วกราบทูลสรรเสริญยกย่องความชอบพระยาราชสุภาวดี (สิง)ว่า     “ใจกล้าหาญในการศึกสงครามและฝีมือก็เข้มแข็งองอาจสามารถ  ทั้งสติปัญญาก็หลักแหลมพร้อมด้วย  จะหาผู้ใดเสมอมิได้ในทุกวันนี้”

(https://i.ibb.co/w03rM2Z/Untitsddfled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนี้  จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระศรีสหเทพ  ให้มีท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปยังกองทัพเมืองเวียงจันทน์  ให้ประกาศความชอบในพระยาราชสุภาวดี  ให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่  พระราชทานพานหมากทองคำ  คนโทน้ำทองคำ  และเครื่องยศอย่างเสนาบดีผู้ใหญ่ส่งขึ้นไปพระราชทาน
           โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระสุริยะภักดี (ป้อม) เป็น พระราชวรินทร์  แล้วพระราชทานสิ่งของดี ๆ หลายอย่างขึ้นไปให้พระราชวรินทร์ (ป้อม) สำหรับให้เจ้าอุปราชเวียงจันทน์  เป็นการแทนคุณเจ้าอุปราช  ที่เขาช่วยแก้ไขมีหนังสือมาถึงเจ้าอนุให้ลงไปกรุงเทพฯ ได้
           แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระณรงค์สงครามจางวางส่วยทองเมืองนครราชสีมา  เป็นพระยาณรงค์สงคราม  พระราชทานถาดหมากทองคำ  คนโทน้ำทองคำ เป็นเครื่องยศ

(https://i.ibb.co/Wk4HL3p/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจ ๑    หลวงศรีเสนากรมมหาดไทย ๑    ขุนมหาสิทธิโวหารกรมพระอาลักษณ์ ๑    เชิญท้องตราตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง)   และพระราชวรินทร์ (ป้อม)   พระยาณรงค์สงคราม (มี)  กับเครื่องยศขึ้นไปพระราชทานที่ค่ายเมืองเวียงจันทน์  ที่ตำบลพรานพร้าวนั้นพร้อมกันทั้ง ๓ คนตามบรรดาศักดิ์...”

           * อย่างนี้คำสมัยใหม่เรียกว่า  “กรรมติดจรวด”  นะครับ  พระยาราชสุภาวดี (สิง)   พระสุริยะภักดี (ป้อม)   พระณรงค์สงคราม (มี)   ใช้ความรู้ความสามารถทำกรรมดี  เป็นความดีความชอบแก่ราชการศึกสงคราม  กรรมดีที่ทำได้ผลทันที  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศตำแหน่งให้  พระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี    พระสุริยะภักดี (ป้อม) เลื่อนขึ้นเป็นพระราชวรินทร์   และ   พระณรงค์สงคราม เสนาธิการกองทัพเมืองนครราชสีมา (ตำแหน่งที่ผมคิดตั้งเอง)  เลื่อนขึ้นเป็นพระยาที่ พระยาณรงค์สงคราม  เป็นการแต่งตั้งยศศักดิ์กันในกลางสนามรบเลยทีเดียว

           เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, เมษายน, 2563, 11:10:38 PM
(https://i.ibb.co/0rtwjDL/11406109-1604736613076680-4122007692232267455-o-1435032176.jpg) (https://imgbb.com/) (https://i.ibb.co/qFLv5gY/Wat-03.jpg) (https://imgbb.com/)
(ซ้าย) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ภายหลังคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
รับบทโดย วิวัฒน์ ผสมทรัพย์ ในละคร “ข้าบดินทร์”
(ขวา) ภาพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)

- อานามสยามยุทธ ๓๐ -

สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าสยาม
ตอบเวียดนามรวบรัดตัดปัญหา
เจ้าอนุเป็นขบถหมดเมตตา
จึงไล่ล่าทั่วลาวหนีเข้าญวน

“เจ้าพระยาราชสุภาวดี”
ไม่รอรีอยู่ลาวเร่งกลับด่วน
นำพระบาง,อุปราชร่วมขบวน
ทุกสิ่งล้วนทูนเกล้าฯ เจ้าแผ่นดิน


           อภิปราย ขยายความ........................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน“ อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพกลับคืนพระนคร  เข้าเฝ้าถวายบังคมกราบทูลข้อราชการศึกสงครามกับลาวจนได้ชัยชนะทุกประการ  แล้วตรัสสรรเสริญพระยาราชสุภาวดีว่าเป็นคนดีมีฝีมือและสติปัญญา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบทุกประการแล้ว  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนให้พระยาราชสุภาวดี (สิง)  เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี   ให้พระสุริยะภักดี (ป้อม) ขึ้นเป็นพระราชวรินทร  และ  ให้พระณรงค์สงคราม (มี) จางวางส่วยทองเมืองนครราชสีมา  เป็นพระยาณรงค์สงคราม  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/Dfvkhnc/Untitl25258ed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

            “พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือบอกเรื่องเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ    บอกไปถึงองเล่โปเสนาบดีที่กรุงเว้ฝ่ายญวนฉบับหนึ่ง  ให้ส่งทางเมืองเขมร  เขมรส่งต่อ ๆ ไปจนถึงเมืองไซ่ง่อน  ซึ่งเป็นหัวเมืองเอกของญวน

           ใจความในหนังสือนั้นตัดเนื้อความแต่สั้น ๆ  พอรู้การว่า  เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ  กรุงเทพฯต้องยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปปราบปราม  การจลาจลสงบราบคาบไปสิ้นแล้ว  แต่บัดนี้เจ้าอนุผู้ทำความผิดคิดมิชอบ  สู้กองทัพไทยไม่ได้  ก็หนีไปอาศัยอยู่ในหัวเมืองซึ่งเป็นเขตแดนของญวน  ผู้ครองฝ่ายไทยจะให้กองทัพยกเข้าไปติดตามจับเจ้าอนุในเขตแดนญวนนั้น  ก็เกรงว่าจะเสียทางพระราชไมตรี  จึงได้สั่งให้กองทัพไทยรั้งรอไว้แต่ที่เขตแดนของไทยซึ่งติดต่อที่พรมแดนกับญวนก่อน  จึงได้บอกให้องเล่โปเสนาบดีฝ่ายญวนทราบ  เสนาบดีฝ่ายญวนทราบแล้ว  ขอให้นำข้อความในหนังสือฉบับนี้ขึ้นกราบทูลเจ้าเวียดนามให้ทรงทราบด้วยเทอญ (ตัดเนื้อความยาวว่าแต่สั้น ๆ เป็นแต่ใจความ)

(https://i.ibb.co/zfThrZ2/rs-15.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ว่าที่สมุหนายกนั้น  ได้ตั้งพักพลทหารอยู่ที่ค่ายท่าซ่ม  ใกล้พรานพร้าว   ก็จัดการบ้านเมืองลาวเรียบร้อยปกติ  จึงสั่งให้พระราชวรินทร (ป้อม) ไปกวาดต้อนครอบครัวมาไว้ที่บ้านพรานพร้าวได้มากแล้ว  จึงได้แบ่งลาวไว้ให้อยู่เป็นพลเมืองเวียงจันทน์บ้างพอสมควร  ให้เพี้ยเมืองเวียงจันทน์อยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์ต่อไป  ครอบครัวที่เหลือนั้นเป็นอันมาก  จึงให้นายทัพนายกองกวาดต้อนลงมากรุงเทพฯ  ให้เดินครัวเป็นลำดับเนื่อง ๆ ลงมาหลายทางหลายสาย

(https://i.ibb.co/p0BQFRq/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาง

           เจ้าพระยาราชสุภาวดีสืบติดตามหาพระบางได้ที่ในถ้ำเขาแก้ว  ซึ่งข้าพระพาไปซ่อนไว้นั้น  ตามมาได้แล้ว  จึงเชิญพระบางขึ้นช้าง  พาเจ้าอุปราชเวียงจันทน์กับพระยาเชียงสาลงมากรุงเทพฯ  ให้พระราชวรินทร (ป้อม) เป็นแม่ทัพหน้ายกลงมาทางดงพระยาไฟ     ให้พระยาเพชรบูรณ์ต้อนครัวลงไปทางเมืองเพชรบูรณ์ส่งยังกรุงเทพฯ     ให้พระยาณรงค์สงครามเป็นนายทัพหลวง  ต้อนครัวมาพร้อมกัน

           ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสามปีกุน นพศกจุลศักราช ๑๑๘๙ ปี  เข้าเฝ้าพระกรุณาในท้องพระโรง  จึงมีพระบรมราชโองการตรัสว่า

(https://i.ibb.co/gJz5Kfq/090.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เจ้าอนุก็ยังจับตัวหาได้ไม่  มันจะกลับมาตั้งบ้านเมืองอีกต่อไปประการใดก็ไม่แจ้ง  เมืองเวียงจันทน์นี้เคยเป็นขบถมาสองครั้งแล้ว  ครั้งนี้ไม่ควรที่จะเอาไว้ให้เป็นบ้านเมืองอยู่สืบต่อพืชพันธุ์ขบถเลย  ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดนั้น  หาถูกกับความดำริเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไม่  ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดจัดแจงแต่งบ้านเมืองเวียงจันทน์เสียให้สิ้นเชิง  และกวาดต้อนครอบครัวลงมาในบ้านเมืองเราให้หมด  จงทำเมืองเวียงจันทน์เป็นป่าไป  ไม่ให้เป็นบ้านเมือง”

(https://i.ibb.co/28r04wC/image.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดจักรวรรดิราชาวาส

           แต่พระบางนั้นให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) นำไปทำพระวิหารไว้ที่ในวัดจักรวรรดิ (คือวัดสามปลื้ม)  เป็นวัดของพระยาอภัยราชา (ปิ่น)  ซึ่งเป็นบิดาเจ้าพระยาราชสุภาวดี

           แต่เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์นั้น  โปรดเกล้าฯ ให้ยกครอบครัวไปอยู่ที่บ้านเจ้าอนุที่บางยี่ขัน กรุงเทพฯ

           ทรงขัดเคืองเจ้าพระยาราชสุภาวดีมากนัก  ที่ไม่ทำลายล้างเมืองเวียงจันทน์ให้สาบสูญเสียสิ้น  กลับมาคิดตั้งแต่งขึ้นให้เป็นบ้านเมืองต่อไป  ไม่โปรดเพราะเหตุฉะนั้น   จึงไม่โปรดตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรี  ให้เป็นแต่เจ้าพระยาราชสุภาวดี  ว่าที่สมุหนายกอยู่ก่อน

(https://i.ibb.co/wJg6vZV/Untitlsesd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ เดือนเจ็ดปีชวด สัมฤทธิศกนั้น  เจ้าพระยาราชสุภาวดีกราบถวายบังคมลายกทัพไปเมืองเวียงจันทน์อีก  ตามพระราชดำริให้ทำลายล้างเมืองเวียงจันทน์เป็นป่า  ได้เดินกองทัพขึ้นทางดงพระยาไฟ  พักพลที่เมืองนครราชสีมา  ขอช้างม้าไปเป็นพาหนะ  และนำท้องตราให้เจ้าพระยานครราชสีมาดู  จะได้รู้ว่าเกณฑ์ผู้คนช้างม้าโคต่างเท่าใดตามหัวเมืองรายทางด้วย  ให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นผู้ช่วยในข้อราชการที่จะต้องการต่อไปภายหน้า  

           ครั้งนั้น  เจ้าพระยานครราชสีมาป่วย  จึงให้พระยาทุกขราษฎร์ ๑    พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกรมช้างกองนอก ๑    พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ๑    พระณรงค์สงครามจางวางส่วยทอง ๑    พระมหาดไทย ๑    พระศุภมาตรา ๑    กับพระนรินทรารักษ์ ๑    กับพระ,หลวง, ขุน, หมื่น  กรมการเมืองนครราชสีมา  คุมพลทหารเดินเท้าและช้างม้าตามท้องตราที่เกณฑ์ขึ้นมานั้น  ให้ยกไปในกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีครั้งนี้ด้วย  แต่เจ้าพระยานครราชสีมานั้นก็พูดว่า    “ถ้าหายป่วยจึงจะยกตามขึ้นไปต่อภายหลัง  จึงให้พระยาพรหมยกกระบัตรคุมพลถ่ายเสบียงอาหารไปส่งนั้นด้วย”

(https://i.ibb.co/JQXHf5c/Untitle53d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี  และทัพพระยานายทัพนายกองทั้งหลาย  พร้อมกันยกออกจากเมืองนครราชสีมา  ขึ้นไปถึงภูเขียวเมื่อเดือนแปดบูรพาสาธ  พักทัพที่นั้น  เกณฑ์พลทหารทั้งเสบียงอาหารได้พร้อมแล้ว  จึงยกขึ้นไปถึงหนองบัวลำภู  ตั้งค่ายพักพลอยู่ที่นั้นพอสมควร     เจ้าพระยาราชสุภาวดี แต่งให้พระยาราชรองเมือง ๑   พระยาพิชัยสงคราม ๑   พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา ๑   หลวงสุเรนทรวิชิต ๑   สี่นายนี้เป็นแม่ทัพนายกองคุมไพร่พล ๑,๐๐๐  เป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตั้งค่ายอยู่ที่พรานพร้าวที่ค่ายหลวงเก่า  เพื่อจะได้ตรวจตราราชการเมืองเวียงจันทน์

           ฝ่ายพระยาราชรองเมือง  พระยาพิชัยสงคราม  สั่งให้หมื่นเทพภักดีคุมไพร่ ๑๐ คนลงเรือเล็กข้ามฟากไปในเมืองเวียงจันทน์  ให้ไปหาตัวเพี้ยเมืองจันทน์กับท้าวเพี้ยน่า  มาปรึกษาราชการที่ ณ ค่ายพรานพร้าว

          สักครู่หนึ่งไพร่ที่ไปด้วยกับหมื่นเทพภักดีกลับมาสามคนแจ้งความว่า    “ลาวในเมืองเวียงจันทน์จับหมื่นเทพภักดีกับไพร่ไว้ ๗ คน   อีก ๓ คนนี้ยังมีอยู่ที่ในเรือ  เห็นพวกลาวในเมืองเวียงจันทน์เป็นอันมากถือเครื่องศาสตราวุธครบมือกัน  บ้างเดินบ้างวิ่งสับสนวุนวายป่วนปั่นกันอยู่มาก  เมื่ออาการประหลาดดังนั้นแล้ว  จึงถอยเรือข้ามฟากกลับมาทั้งสามคน”

(https://i.ibb.co/NKZJ1fW/Untitledd-10.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายท่านพระยาราชรองเมืองแม่ทัพได้ทราบเหตุการณ์ดังนั้นแล้ว  จึงแบ่งไพร่พลทหารในกองทัพ ๕๐๐ คน  ให้พระยาพิชัยสงครามกับพระยาทุกขราษฎร์  และหลวงสุเรนทรวิชิต  เป็นนายทัพนายกองคุมไพร่ลงเรือเก่าที่หน้าค่ายหลวง ข้ามฟากไปสืบข่าวราชการในเมืองเวียงจันทน์
          ครั้นพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนทรวิชิต  ข้ามฟากถึงฝั่ง  ยกเข้าไปตั้งอยู่ที่วัดกลางในเมืองเวียงจันทน์  ฝ่ายเพี้ยเมืองจันทน์ผู้รักษาเมืองเวียงจันทน์นั้น  จึงนำข้าวปลาอาหารมาต้อนรับคำนับพระยาพิชัยสงคราม  แล้วแจ้งความว่า หมื่นเทพภักดีกับไพร่ไทย ๗ คนมาถึงในบ้านเมือง  เป็นความยินดีต้อนรับจับมือถือแขนพาไปเลี้ยงดูตามธรรมเนียม  ข้าหลวงมาถึงบ้านเมือง  หาได้จับกุมทำอะไรไม่  แต่คนที่อยู่ในเรือหาขึ้นไม่  กลับไปเสียโดยเร็ว  แล้วจึงพาหมื่นเทพภักดีกับไพร่ไทย ๗ คนมาหาพระยาพิชัยสงคราม
          พระยาพิชัยสงครามถามหมื่นเทพภักดี  หมื่นเทพภักดีก็รับว่า    “จริงดุจคำเพี้ยเมืองจันทน์ว่านั้นทุกประการ  แต่ข้อที่พวกลาวในเมืองเวียงจันทน์ถือเครื่องศาสตาวุธมากวิ่งวุ่นวายนั้น  หมื่นเทพภักดีรับว่ามีจริง”   ถามลาว ลาวแก้ว่า   “เมื่อเห็นคนมากับเรือแต่ไกล  ไม่รู้ว่าไทยหรือพวกใด  จึงได้ตระเตรียมอาวุธไว้เพื่อเป็นการรักษาบ้านเมือง  ตามคำสั่งเจ้าพระยาราชสุภาวดี”

            (เมื่อพิเคราะห์การนี้ดูก็เห็นว่า  แต่เดิมนั้นลาวเห็นไทยมาน้อย  ก็จะคิดทำร้ายจริง  ครั้นเห็นกองทัพไทยที่อยู่ฝั่งพรานพร้าวมา  จึงไม่ทำร้ายแก่ไทยเจ็ดคน  แปดทั้งนายนั้น  ลาวกลับประจบประแจงนำความดีมากลบความร้ายเสีย)

           * ศึกไทย-ลาวยกสองเริ่มขึ้นแล้ว  เรื่องราวจะทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น  เพราะมีญวนเข้ามาร่วมวงยุทธนาการด้วย  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg45766#msg45766)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46138#msg46138)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, เมษายน, 2563, 11:59:54 PM
(https://i.ibb.co/yhykxMM/Unti96tled-10.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์)
(ต่อมาเลื่อนเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา)
รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ   ในละคร "ข้าบดินทร์"


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg45923#msg45923)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46297#msg46297)                   .

- อานามสยามยุทธ ๓๑ -

เจ้าอนุกลับมาญวนพากลับ
ขอคำนับขมาไทยเคยได้หมิ่น
“พระยาพิชัยสงคราม”เชื้อตามลิ้น
คำปล้อนปลิ้นอนุอ้างจนวางใจ

ปล่อยทหารจากค่ายไปเที่ยวเล่น
ผิดหลักเกณฑ์ข้อห้ามสงครามใหญ่
จึงถูกเจ้าอนุกลับปล้นฉับไว
ฆ่าฟันไทยคาค่ายตายเป็นเบือ


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยาราชสภาวดีกราบถวายบังคมทูลลายกทัพกลับไปเวียงจันทน์  เพื่อทำลายล้างเมืองให้เป็นป่าตามพระราชดำรัส  พักทัพเกณฑ์ไพร่พลที่เมืองนครราชสีมา  แล้วยกขึ้นไปภูเขียว  หนองบัวลำภู  พักทัพ แล้วสั่งให้พระยาราชรองเมืองเป็นแม่ทัพหน้า  ยกไปตั้งที่ค่ายพรานพร้าว  พระยาราชรองเมืองให้ทหารข้ามฟากไปสืบข่าวราชการ  ถูกเพี้ยเมืองจันทน์จับตัวไปแปดคน  พระยาราชรองเมืองจึงสั่งให้พระยาพิชัยสงครามเป็นแม่ทัพ  นำกำลังพล ๕๐๐ ข้ามไปตั้งค่ายในวัดกลางเมืองเวียงจันทน์  เพี้ยเมืองจันทน์ให้การต้อนรับเป็นอันดี  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/fCdYrhy/Untitl968ed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้น ณ เดือนแปดทุติยาสาธแรมค่ำหนึ่ง  ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ บุตรเจ้าอนุ ซึ่งหนีไปอยู่เขตแดนญวนนั้น  ก็ใช้ให้ลาวถือหนังสือมาส่งให้เพี้ยเมืองจันทน์ เพี้ยเมืองซ้ายฉบับหนึ่ง  เป็นอักษรลาวใจความว่า    “บัดนี้  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งใช้ให้ขุนนางญวนคุมพลทหารเป็นกองทัพ  พาเจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์และครอบครัว บุตรหลานเจ้าอนุ มาส่ง ณ เมืองเวียงจันทน์  เดี๋ยวนี้มาถึงที่ท่าข้ามข้างยังหนทางอีกสี่คืนก็จะมาถึงเมืองเวียงจันทน์  ขอให้เพี้ยเมืองจันทน์  เพี้ยเมืองซ้าย  ท้าวเพี้ยน่า  ผู้อยู่รักษาบ้านเมืองเวียงจันทน์นั้น  จัดที่ทางเรือนเหย้าร่มเงาให้สมควรเป็นที่พักอาศัยของเจ้านาย  ที่จะมาอยู่บ้านเมืองเดิม”

(https://i.ibb.co/BTNZVDN/Untit987led-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเพี้ยเมืองจันทน์  เพี้ยเมืองซ้าย  ท้าวเพี้ยน่า  ได้นำต้นหนังสือของเจ้าราชวงศ์มาส่งให้พระยาพิชัยสงคราม  พระยาพิชัยสงครามจึงส่งต้นหนังสือเจ้าราชวงศ์ให้หมื่นเทพภักดีกับไพร่ ๗ คนลงเรือข้ามฟากไปค่ายพรานพร้าว  ให้แก่พระยาราชรองเมือง  พระยาราชรองเมืองมอบส่งต้นฉบับหนังสือนั้นให้หมื่นเทพภักดีกับไพร่ ๒๕ คน  ขึ้นม้าเร็วข้ามเขาสารไปยังทำเนียบในป่าชมภู  ส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้แจ้งความตามในหนังสือบอกพระยาราชรองเมือง  และต้นหนังสือเจ้าราชวงศ์ส่งมานั้นแล้ว  เข้าใจที่จะไปไม่ทันท่วงทีลาว  จึงสั่งให้เดินทัพรีบไปทั้งกลางวันและกลางคืนแต่ ณ เดือนแปดทุติยาสาธแรมห้าค่ำ

(https://i.ibb.co/44nT55z/Untitle6654d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเดือนแปดทุติยาสาธแรมหกค่ำ  เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ยกมาถึงเมืองเวียงจันทน์   ไพร่พลลาวมากับเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ครั้งนั้น ๒,๖๐๐ คน  แต่ไพร่ญวนมาด้วย ๘๒ คน  นายทัพญวน ๒ คน   เจ้าลาวหัวเมืองขึ้นแก่ญวนมาด้วยญวน ๔ คน   คือเจ้าเมืองปง ๑   อุปราช ๑   ราชวงศ์ ๑   มหาวงศ์ ๑   มีไพร่พลลาวชาวเมืองปงมาด้วย ๒๐๐ สำหรับรักษาญวนมาตามทาง   ลาวเมืองเวียงจันทน์และพวกญวนมาตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์บ้าง  นอกเมืองเวียงจันทน์บ้าง  แยกย้ายที่กันอยู่  ในวันมาถึงเมืองเวียงจันทน์นั้น  ญวนล่าม ๒ คนมาหาพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนทรวิชิต ทั้งสาม  ญวนล่าม ๒ คนแจ้งความว่า

           “เวลาพรุ่งนี้เช้าขุนนางแม่ทัพญวนจะพาเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์และเจ้าบุตรหลานญาติมาหาคำนับท่านแม่ทัพไทย  จะขอพูดจาโดยดีประนีประนอม  ตามรับสั่งพระเจ้าเวียดนาม  ให้ขอโทษลาวต่อไทย  แต่ในวันนี้เป็นเวลาเย็นจวนค่ำอยู่แล้ว  จะพูดจาข้อราชการก็หาหมดจดไม่  ต่อพรุ่งนี้ข้าจึงจะพาเจ้าลาวมาหาคำนับท่านแม่ทัพไทย”     ญวนล่ามพูดเท่านั้นก็ลากลับไปที่ชุมนุม

          ฝ่ายพระยาพิชัยสงครามไม่ไว้ใจแก่ลาว ญวน    จึงให้ทหารไทยตั้งการรักษาแข็งแรงมั่นคงในเวลากลางคืนวันนั้น  ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนแปดทุติยาสาธแรมเจ็ดค่ำเวลาเช้า  ขุนนางญวน ๒ คน  ล่ามญวน ๒ คน   เจ้าลาวที่ขึ้นแก่ญวนมาด้วย ๓ คน   พร้อมกับพาเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์  มาหาพระยาพิชัยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต ณ ที่ศาลาลูกขุนเก่าของเจ้าอนุ    ขณะนั้นญวนพูดว่า

(https://i.ibb.co/sPGGyyw/Untidwwtled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เจ้าอนุมีความผิดต่อไทยแล้วหนีไปหาญวน  ฝ่ายญวนเหมือนมารดาเจ้าอนุ  ฝ่ายไทยเหมือนบิดาเจ้าอนุ  เจ้าอนุเหมือนบุตร  ครั้นบิดามีความโกรธแก่บุตรแล้ว  ฝ่ายมารดาก็ต้องพาบุตรมาขอโทษต่อบิดา  ด้วยความเมตตากรุณาแก่เจ้าอนุ  ดุจดังบุตรโง่เขลาเบาความคิด  เพราะหลงเชื่อขุนนางหัวเมืองยุยง  จึงได้ทำการศึกซึ่งเป็นความผิดล่วงเกินไปมากแล้วเท่าใด  เจ้าอนุรับสารภาพผิดทั้งสิ้น  ตามแต่ไทยจะลงโทษให้เข็ดหลาบ  ถ้าท่านแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยมาถึงเมืองเวียงจันทน์เมื่อใดแล้ว  แม่ทัพญวนจะพาเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์มาหาท่านแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย  จะอ้อนวอนขอให้พาเจ้าอนุลงไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ  เพื่อจะให้ขอโทษตนที่มีความผิดสักครั้งหนึ่ง

          แล้วญวนล่ามแจ้งความอีกว่า  พระเจ้ากรุงเวียดนามโปรดแต่งราชทูตานุทูตญวน  ให้เชิญพระราชสาส์นลงเรือทะเลเข้าไปกรุงเทพฯ  เพื่อจะขอรับพระราชทานโทษเจ้าอนุผู้ผิดสักครั้งหนึ่ง  ซึ่งเจ้าอนุเคยขึ้นแก่กรุงเทพฯ มาแต่ก่อนอย่างไร  พระเจ้าเวียดนามก็ไม่ห้ามปรามขัดขวางอย่างธรรมเนียม  ซึ่งญวนต้องเป็นธุระพาลาวมาขอโทษแก่ไทย  เพราะด้วยเมืองเวียงจันทน์เคยแต่งขุนนางลาวเป็นทูตนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปจิ้มก้องถึงกรุงเว้  ถวายแก่พระเจ้าเวียดนามสามปีครั้งหนึ่ง  ด้วยเจ้าอนุเคยพึ่งพระบารมีพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามจึงได้ทรงพระเมตตากรุณาแก่เจ้าอนุและลาว  ซึ่งเคยไปมาค้าขาย  จะเสื่อมเสียประโยชน์ในการพาณิชยกรรมค้าขายของพลเมืองทั้งสองฝ่าย”

          ญวนล่ามพูดชี้แจงข้อความตามถ้อยคำแม่ทัพญวนสิ้นลงแล้ว  ฝ่ายเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ พูดจากันกับพระยาพิชัยสงคราม และพระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต เป็นปรกติเรียบร้อย  โดยสุภาพรับผิดทุกสิ่งทุกอย่าง  แล้วโอภาปราศรัยไต่ถามถึงการขัดเสบียงอาหารที่มาค้างอยู่กลางป่า  เป็นการอารีอารอบเหมือนดังคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน  แล้วเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์สั่งให้พวกลาวน้ำข้าวสาร  เกลือ  เนื้อเค็ม  ปลาแห้ง  หมากแห้ง  พลูแห้ง  ยา  บุหรี่  กับหม้อทองแดงสำหรับหุงข้าว  จัดมาส่งให้แม่ทัพไทยทุกกองที่มาค้างอยู่ในทางกันดาร

(https://i.ibb.co/sJw8NLD/Untsaitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ก็พอเวลาบ่ายโมงเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ลาแม่ทัพไทยกลับไปตั้งชุมนุมพักที่วัดพระแก้วมรกต  ญวนลาไปพักอยู่ที่วัดจันทน์  ฝ่ายพระยาพิชัยสงครามพระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต  ทั้งสามนายนั้นก็เชื่อถือถ้อยคำเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์และญวนทุกประการ  จึงมีความประมาท  ไม่สงสัยว่าเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์จะกลับเป็นศัตรูอีก  จึงไม่ได้ตั้งการรักษาตน  ปล่อยให้ไพร่พลในกองทัพไทยไปเที่ยวหาอาหารกินในที่ต่าง ๆ ห่างไกลจากที่ชุมนุมแม่ทัพอยู่  ด้วยเวลานั้นก็กันดารอาหารอยู่มาก  ไพร่พลจึงหาอยู่พรักพร้อมกันกับแม่ทัพไทยไม่

(https://i.ibb.co/0DXLfyg/Unfg58titled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในวันเดือนแปดทุติยาสาธ  แรมเจ็ดค่ำ  เวลาบ่ายสามโมง  เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ยกกองทัพขึ้นมาถึงค่ายพรานพร้าวที่พระยาราชรองเมืองพักอยู่นั้น  ถึงทีหลังเจ้าอนุกลับไปแล้วสองชั่วโมง  ครั้นต่อเวลาเจ้าพระยาราชสุภาวดีมาถึงนั้นอีกชั่วโมงหนึ่ง  จึงพอถึงเวลาบ่ายสี่โมงในวันแรมเจ็ดค่ำนั้น  เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์คุมไพร่พลทหารประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ  ก็ยกจู่โจมโถมเข้าล้อมรอบวัดกลาง  ซึ่งเป็นที่ชุมนุมอยู่ของพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนทรวิชิต  ทั้งสามคนนั้นไม่ทันรู้ตัว  จะตระเตรียมการต่อสู้ก็ไม่ทันท่วงที  ฝ่ายพวกทหารลาวยกเข้าล้อมไว้รอบแล้ว  ลาวจึงยกปืนยิงระดมไปดังห่าฝน  กระสุนปืนลาวถูกไพร่พลไทยอยู่ในที่ล้อมล้มตายทั้งสิ้น  พระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนทรวิชิต  ถูกปืนตายทั้งสามคน  ฝ่ายขุนหมื่นนายกองทัพไทยและไพร่พลที่ไปหากินอยู่นอกที่ล้อม  เห็นลาวกระทำการจลาจลขึ้นดังนั้นก็ตกใจกลัว  จะมาช่วยนายไม่ทัน จึงพากันวิ่งหนีออกจากเมืองหมายใจจะลงเรือข้ามฟากหนีไปยังพรานพร้าว  ครั้นมาถึงตีนท่าจะหาเรือของตนสักลำหนึ่งหามีไม่  เพราะพวกลาวมาลักเก็บพาเรือไปเสียหมด  พวกไทยเสียทีไม่มีเรือแล้ว  จึงพากันโดดลงในแม่น้ำโขง  ว่ายน้ำข้ามมากลางแม่น้ำได้  พวกลาวพากันลงเรือของไทยถ่อพายมาไล่ยิง  แทง  ฟันไทยที่ว่ายน้ำอยู่นั้นตายมากกว่า ๔๐๐ คน  ที่เหลือตายว่ายน้ำเกาะขอนไม้ข้ามแม่น้ำโขงมาถึงฝั่งพรานพร้าวได้นั้นคือ  หมื่นรักษนาเวศ ๑   กับไพร่ ๔๕ คน  ที่รอดตายมาแจ้งความกับแม่ทัพไทย

(https://i.ibb.co/6Npf56d/Unti658tled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้น  เจ้าพระยาราชสุภาวดีพอมาถึงค่ายพรานพร้าวสัก ๒ ชั่วโมง  แลเห็นลาวไล่ฆ่าฟันไทยในแม่น้ำโขงและที่หาดหน้าเมืองเวียงจันทน์เป็นอลหม่าน  ก็แจ้งว่าทัพไทยเป็นอันตรายแน่แล้ว  ครั้นจะคิดยกพลทหารข้ามแม่น้ำโขงไปช่วย  เรือก็ไม่มีจะข้ามไปช่วยได้  กับไพร่พลก็ยังมีน้อย  ไม่พอจะต่อสู้รบกับข้าศึกลาว  เพราะไพร่พลกองหลังยังมาไม่ถึงพรานพร้าว  แต่พอเวลาพลบค่ำหมื่นรักษนาเวศกับไพร่ที่หนีมาได้ถึง ณ ฝั่งแล้ว  จึงได้ไปแจ้งความให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีฟังทุกประการ  ขณะนั้นพลลาวชาวเมืองนครราชสีมาซึ่งต้องเกณฑ์มาสมทบกับไทยนั้น  ได้ทราบเหตุดังนั้นก็พากันหลบหลีกหนีกลับไปเมืองนครราชสีมาเสียมากนัก....”

          * อ่านความมาถึงตรงนี้แล้วเห็นว่าลาวฆ่าทหารไทยตายยกค่าย  เรียกได้ว่า  “ตายเป็นเบือ”  ตั้งแต่พระยาแม่ทัพลงมาถึงพลทหารเกณฑ์  ประมาณ ๕๐๐ คน  เจ้าพระยาราชสุภาวดียืนมองดูภาพเหตุการณ์อยู่ริมฝั่งโขงที่ค่ายพรานพร้าว  โดยที่ช่วยอะไรไม่ได้เลย

          เครียดไหม ?  งั้นพักอารมณ์ไว้อ่านกันต่อวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, เมษายน, 2563, 11:51:44 PM
(https://i.ibb.co/98KPYh3/600x436.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๓๒ -

แม่ทัพใหญ่ไทยช้ำจำหนีก่อน
ยโสธรเป็นหลักให้ “ถือไพ่เหนือ”
มีอาหารสมบูรณ์พอจุนเจือ
คนช่วยเหลือรบก็ยังพอมี

ญวนรายงานข่าวลาวกล่าวตรงข้าม
ว่าเป็นความผิดไทยได้กดขี่
ลาวจึงสู้ห้ำหั่นผลาญชีวี
เรื่องต่างที่ไทยประสบพบเห็นมา


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้รับต้นฉบับหนังสือเจ้าราชวงศ์ที่มีไปถึงเพี้ยเมืองจันทน์แล้ว  คาดเดาเรื่องได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่กองทัพไทยในเวียงจันทน์  จึงรีบเดินทางข้ามเขาสารรีบดินด่วนสู่ค่ายพรานพร้าว  แต่ก็ช้าไป ๒ ชั่วโมง  ไม่ทันการปฏิบัติการสายฟ้าแลบของเจ้าอนุ  ที่ยกกำลังทั้งหมดเข้าล้อมถล่มค่ายไทยในวัดกลางเมืองเวียงจันทน์ตายหมดทั้งค่าย  ที่หนีโดดลงน้ำโขงว่ายกลับค่ายพรานพร้าวก็ถูกลาวเอาเรือไล่ยิงบ้าง  แทงบ้าง  ฟันบ้าง  ตายกลางลำน้ำโขงเป็นอันมาก  เจ้าพระยาราชสุภาวดียืนดูลาวฆ่าไทยอยู่หน้าค่ายริมแม่น้ำโขงด้วยความเคียดแค้น  โดยไม่อาจช่วยอะไรลูกน้องของท่านได้เลย  คราวนั้นลาวฆ่าไทยตายเกลี้ยงค่ายประมาณ ๕๐๐ คน  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/NLYM4zS/Untitlesead-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) จึงปรึกษาด้วยพระยา, พระ, หลวง, นายทัพ, นายกองทั้งหลายว่า

           “เราจะคิดอ่านยกกองทัพลงไปตั้งรับรบสู้กับกับเจ้าอนุที่เมืองนครราชสีมาจะดี  เพราะเป็นที่มั่นคงแข็งแรงมาก  แต่เป็นทางจะลงไปไกลมากนัก  ครั้นจะตั้งอยู่สู้รบกับเจ้าอนุที่ค่ายพรานพร้าวนี้ไม่ได้  เพราะคนเรามีน้อยนัก  จะต้านทานกองทัพลาวไม่ไหว  เราจะคิดอ่านทำฉันใดดี?”

          ฝ่ายพระยาเชียงสาลาวชาวเวียงจันทน์ซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์แต่ก่อนนั้น  จึงพูดขึ้นว่า    “เห็นที่ดีมีอยู่พอจะตั้งมั่นต่อสู้รบรับกับทัพลาวเจ้าอนุได้  คือที่เมืองยโสธรนั้นมีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์  ทั้งมีผู้คนพลเมืองก็มั่งคั่งพรั่งพร้อม  พอจะเป็นกำลังของกองทัพไทยได้  ขอให้ใต้เท้าพระกรุณาเจ้ายกทัพไทยไปตั้งมั่นที่นั้น  เห็นจะพอสู้รบกับเจ้าอนุได้”

          พระยาเชียงสากราบเรียนขอรับอาสาว่า    “ข้าเจ้าจะนำทางพาลัดป่าไปเมืองยโสธรในเวลากลางคืนวันนี้  ให้ถึงเมืองยโสธรในเวลาพรุ่งนี้เช้าให้ได้”

(https://i.ibb.co/6b5zzdn/Untitldged-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี  จึงได้มีบัญชาสั่งให้นายทัพนายกองไทย  จัดแจงตระเตรียมการที่จะล่าทัพกลับไปเมืองยโสธร  แล้วสั่งขุนรองจ่าเมืองนครราชสีมาขึ้นม้าเร็วรีบไปเร่งกองทัพพระยาณรงค์สงคราม  ให้รีบยกตัดทางลัดป่าไปยังเมืองยโสธรโดยเร็ว  อย่าให้เดินทัพมาทางพรานพร้าวเลย  เพราะที่นี้เกิดจลาจลวุ่นวายขึ้นแล้ว  กับให้ขุนรองจ่าเมืองกลับลงไปเมืองนครราชสีมา  ติดตามจับตัวพวกไพร่ที่หนีตาทัพกลับไปนั้น  ให้จับจำตรวนไว้ที่เมืองนครราชสีมาทั้งสิ้น
          แล้วให้หลวงพิชัยเสนากับขุนวิสุทธิเสนี  เป็นข้าหลวงกำกับขุนรองจ่าเมืองลงไปตามจับชำระเลขไพร่หลวงที่หนีทัพให้ได้ตามท้องตราที่เกณฑ์ขึ้นมาให้ครบคน  ให้เร่งตามบัญชีตารางเกณฑ์นั้น  เพื่อจะมิให้ไพร่หมิ่นประมาทต่อราชการทัพศึกต่อไปภายหน้า

(https://i.ibb.co/wdYvn95/Untitl968ed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายขุนนางญวนที่พาเจ้าอนุมาส่งนั้น  ครั้นได้ทราบเหตุว่า  เจ้าอนุ  เจ้าราชวงศ์ ทำการวุ่นวายฆ่าผู้ฟันคนไทยทั้งนายและไพร่ตายหมดดังนั้นแล้ว  ญวนเห็นว่าเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ กระทำการละเมิดผิดกระแสรับสั่งพระเจ้าเวียดนามไปดังนั้น  ขุนนางญวนก็ใช้ให้เจ้าลาวที่ขึ้นแก่ญวนมาหาเจ้าอนุให้ไปหา  เพื่อจะได้ว่ากล่าวห้ามปรามตามการที่เป็นผู้พามานั้น  เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ก็ไม่ไปหาญวน  กลับจะฆ่าฟันเจ้าลาวทีมาตามนั้นเสียด้วย  เจ้าลาวกลัวก็ต้องหนีไปแจ้งความแก่ญวน  ญวนเห็นว่าเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ดื้อดึงบึงบันไปฝ่ายเดียว  จะหาตัวมาว่ากล่าวโดยดีก็ไม่มา  ครั้นญวนจะติดตามไปว่ากล่าวก็กลัวเจ้าอนุจะสู้รบ  เพราะญวนมีไพร่พลมาน้อยนัก  ญวนจึงได้ทิ้งเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ไว้ที่เมืองเวียงจันทน์  พาไพร่พลญวน ๘๐ คน กับลาวเมืองขึ้นนั้น  กลับขึ้นไปเมืองล่าน้ำ (ญวนเรียกเมืองแง่อาน) ดังเก่า  แล้วชักชวนให้เจ้าลาวหัวเมืองขึ้นเข้าชื่อพร้อมกันลงในใบบอก  บอกขึ้นไปยังกรุงเว้ (เมืองหลวงญวน) ตามความที่เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ ทำผิดต่อรับสั่งพระเจ้าเวียดนามกรุงเว้

(https://i.ibb.co/x3StmxG/minh-mang-emperor.jpg) (https://imgbb.com/)
จักรพรรดิเวียดนาม พระเจ้ามินหม่าง

          ฝ่ายที่กรุงเทพมหานครนั้น  มีเรือรบทะเลญวนมาถึงกรุงเทพฯ ลำหนึ่ง ณ วัน อาทิตย์เดือนสิบขึ้นสิบสามค่ำ  มีทูตญวนเข้ามาแจ้งความต่อเจ้าพระยาพระคลัง  เสนาบดีฝ่ายราชการต่างประเทศว่า  ราชทูตญวนชื่อองเลวันฮือ  อุปทูตชื่อองโดยลำเยียง  กับขุนนางนายทหาร ๔ คน  ไพร่ญวน ๖๐ คน  คุมเรือรบทะเลมาแต่เมืองไซ่ง่อน  โดยคำสั่งองเลโป เสนาบดีฝ่ายราชการต่างประเทศที่กรุงเว้  ให้องเลวันฮือราชทูต,  องโดยลำเยียงอุปทูต  เชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินเวียดนามฉบับหนึ่ง  เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ  เจ้าพระยาพระคลังให้ล่ามพนักงานแปลสำเนาพระราชสาส์นญวนออกเป็นภาษาไทยใจความว่า

           “พระราชสาส์นในสำนักพระเจ้าเวียดนาม  ทรงคำนับมาถึงพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้ทรงทราบว่า  เมื่อปีกลายนั้น  เจ้าเมืองแง่อานมีใบบอกขึ้นไปถึงกรุงเว้ฉบับ ๑    องทงเจอัครมหาเสนาบดี นำใบบอกเมืองแง่อานขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามว่า  เจ้าอนุอพยพครอบครัวเล็กน้อยหนีกองทัพไทยเข้าไปพักอาศัยอยู่ในเขตแดนหัวเมืองลาวที่ขึ้นกับญวน  แล้วเจ้าอนุ  เจ้าบุตรหลาน  แจ้งความทุกข์ร้อนให้เจ้าเมืองแง่อานฟังว่า  เดิมเจ้าอนุลงไปเฝ้าเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เจ้าอนุก็ได้ถูกขุนนางไทยดูถูกดูหมิ่นมากมาย  เจ้าอนุก็สู้อดกลั้นเสียเพราะเป็นเมืองขึ้นแก่ไทย  ไทยจึงดูถูกด้วยกิริยาวาจาต่าง ๆ  แล้วเจ้าอนุก็ทูลลากลับขึ้นมาบ้านเมือง

          ไม่ทันล่วงปีก็มีกองทัพไทยยกไปขับไล่ครอบครัวเจ้าอนุเสียจากเมืองเวียงจันทน์  เจ้าอนุไม่ทราบว่าลาวทำความผิดสิ่งไรกับไทย  เห็นจะเป็นเพราะขุนนางไทยยุยงพระเจ้าแผ่นดินไทยให้กริ้วกราดเจ้าอนุ  ว่าเจ้าอนุไม่ดี  ให้ไล่เสียจากเมืองเวียงจันทน์  ด้วยขุนนางไทยจะรับสินบนเจ้าเมืองหลวงพระบางให้ไล่เจ้าอนุเสีย  จะได้ยกเมืองเวียงจันทน์ให้แก่ลูกเจ้าเมืองหลวงพระบางนั้น  เหตุเป็นดั่งนั้นมา  พระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุธยาไม่ทรงทราบความจริงก็ต้องเชื่อถ้อยคำขุนนางที่เก็บความเท็จกราบทูลนั้น  จึงได้มีรับสั่งให้กองทัพไทยขึ้นไปไล่เจ้าอนุเสีย  ตามคำขุนนางไทยกราบทูลเป็นความเท็จริษยาเจ้าอนุ  ถ้าการเป็นดังเจ้าอนุพูดจริงแล้ว  ขอให้พระเจ้ากรุงมหานครศรีอยุธยาทรงพระราชดำริให้รอบคอบ  โดยทางที่ยุติธรรมราชประเพณีพระมหากษัตริย์ทรงธรรมอันประเสริฐยิ่งใหญ่  ซึ่งเป็นที่พึ่งของเมืองประเทศราชเล็กน้อยด้วยเทอญ

          การที่ว่ามานี้ตามคำที่เจ้าอนุพูด  พระเจ้าเวียดนามยังมิทรงเชื่อทั้งหมดแน่ลงได้  จึงมีพระราชสาส์นเข้ามาแจ้งและถามอาการดูก่อน  แต่การทั้งนั้นจะจริงเท็จประการใดก็ทำเนาเถิด  แต่พระเจ้าเวียดนามทรงพระราชดำริเห็นว่า  เจ้าอนุก็เป็นเชื้อสายเจ้านายวงศ์กษัตริย์ลาวสืบมาแต่โบราณช้านานหนักหนา  แล้วก็ครั้งนี้เจ้าอนุมีความทุกข์ร้อนพลัดบ้านเมืองมาหาที่พึ่งมิได้  เหมือนพระยาหงส์ปีกหัก  พระเจ้ากรุงเวียดนามมีความเมตตากรุณาแก่เจ้าอนุ  จึงได้โปรดเกล้าให้องทงเจ อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ  มีท้องตราบังคับสั่งเจ้าเมืองแง่อาน  ให้รับครอบครัวเจ้าอนุไว้ให้อาศัยอยู่ในเมืองแง่อานได้ปีหนึ่ง  แล้วเจ้าเมืองแง่อานส่งใบบอกขึ้นไปถึงกรุงเว้ฉบับหนึ่ง  จึงองทงเจอัครมหาเสนาบดีนำขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามมีใจความว่า

(https://i.ibb.co/dp5jy8t/Untitl96ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ที่เมืองเวียงจันทน์นั้นยังไม่มีเจ้าบ้านผ่านเมืองครอบบ้านครองเมืองเป็นป่าอยู่  มีแต่พลไพร่ได้รับความเดือดร้อนยิ่งนัก  เพราะไม่มีอธิบดีเมืองจะตัดสินถ้อยความ  เจ้าอนุขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาจะกลับไปบ้านเมืองเวียงจันทน์  เพราะบ้านเมืองยังรกร้างว่างเปล่าอยู่เป็นป่า  จะกลับลงไปขอพระราชทานโทษแก่กรุงไทยด้วย  เมื่อพระเจ้าเวียดนามได้ทรงทราบในใบบอกครั้งหลังนี้แล้ว  จึงโปรดให้องทงเจอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่  มีท้องตราบังคับสั่งให้ขุนนางญวน ๒ นาย  กับเจ้าลาวหัวเมืองขึ้นกับญวน ๓ นาย  ให้คุมไพร่ญวนลาวพอสมควร  มาส่งเจ้าอนุให้พ้นเขตแดนญวน  หรือว่าถ้าเจ้าอนุจะไม่กล้าหาญลงไปถึงเวียงจันทน์ได้แต่พวกลาว  ก็ให้ขุนนางญวนขอต่อนายด่านไทยว่า  จะพาเจ้าอนุไปส่งถึงเมืองเวียงจันทน์โดยดี  ถ้านายด่านไทยยอมให้ญวนเข้าไปในเขตแดนไทยได้จึงให้ญวนเข้าไป  ถ้านายด่านไทยไม่ยอมให้ญวนเข้าไป  ก็อย่าให้ญวนดื้อดึงเข้าไปเป็นอันขาด

          ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไรเล่า  ได้มีหนังสือเตือนสติสั่งกำชับเจ้าอนุอีกฉบับหนึ่งว่า  ถ้าเจ้าอนุมาถึงบ้านเมืองเวียงจันทน์เมื่อใด  ให้เร่งคิดถึงตนให้มาก  อย่าคิดว่าตนไม่ผิด  ให้เกรงกลัวพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาให้มาก  เพราะตนเป็นผู้น้อย  ให้แต่งเจ้านายบุตรหลานญาติผู้ใหญ่ คุมเครื่องราชบรรณาการลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ตามธรรมเนียมเมืองประเทศราชที่พึ่งพระบารมี  แล้วให้จัดธูปเทียนดอกไม้ทองเงินอีกสำรับ ๑   ลงไปทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานขมาโทษตน  ตนจะได้พ้นผิด  ได้สั่งสอนดังนี้แล้วจึงได้พระราชทานข้าวสารเกลือปลาอาหารให้พร้อมทั้งเจ้านายขุนนางไพร่พลลาวด้วย  เพราะทรงเห็นว่าเป็นเวลาคราวกันดารอยู่มาก  ได้โปรดให้ขุนนางญวนคุมเจ้าอนุไปส่งทางบกแล้ว

          ใช่แต่เท่านั้น  ยังไม่ไว้พระทัย  จึงได้มีพระราชสาส์นมาทางเรือเพื่อจะขอให้พระเจ้ากรุงมพระหานครศรีอยุธยา  ทรงพระเมตตาแก่เจ้าอนุผู้เป็นเชื้อสายสืบกษัตริย์ลาวมา  ให้ได้คงคืนอยู่บ้านเมืองของเขาอย่างเดิม  เมืองเวียงจันทน์จะได้ไม่เป็นป่าดงพงไพร  ได้เป็นเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑเสมามณฑลทั้งสองพระนคร  คือกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  และกรุงเว้  อานาม  ตามพระราชประเพณีโบราณเหมือนแต่กาลก่อนมา”

          (สิ้นข้อความในพระราชสาส์นแต่เท่านี้)

          * อ่านพระราชสาส์นจากพระเจ้าเวียดนามแล้ว  เห็นนิสัยใจคอของเจ้าอนุอีกมุมหนึ่งชัดเจน  พระเจ้าเวียดนามทรงฉลาดในการเขียนพระราชสาส์นมากทีเดียว  ราชสาส์นจากญวนยังมีอีกฉบับหนึ่ง  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, เมษายน, 2563, 10:21:17 PM
(https://i.ibb.co/hWH3s2Z/unnamed-2.jpg) (https://imgbb.com/)
จักรพรรดิเวียดนาม พระเจ้ามินมาง

- อานามสยามยุทธ ๓๓ -

เจ้าญวนนั้นฟั่นเฝือเชื่อลาวหลอก
อนุบอกลาวอดอยากจึงบากหน้า
เข้าค่ายไทยหมายกล่าวขอข้าวปลา
ไทยกลับฆ่าลาวตายไร้ปรานี

ลาวฮึดสู้ด้วยโซโมโหหิว
ไทยวิ่งฉิวแหกค่ายแตกพ่ายหนี
โดดแม่โขงว่ายตายในวารี
ลาวไม่มีความผิดแม้นิดเดียว


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ความในหนังสือนั้นเป็นคำให้การเท็จของเจ้าอนุ  ทำให้พระเจ้าเวียดนามหลงเชื่อว่าเขาถูกไทยรังแกกดขี่  พระเจ้าเวียดนามจึงทูลขอความเมตตาจากไทยให้แก่เจ้าอนุ  ยังมีหนังสือจากเวียดนามอีกฉบับหนึ่งที่เจ้าอนุหลอกให้ญวนเชื่อ  วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันนะครับ

(https://i.ibb.co/4dkgHjw/Untitlfded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เจ้าพระยาพระคลังได้นำราชทูตญวนเข้าเฝ้า  แล้วทูตต้องรอฟังราชการอยู่ที่กรุงเทพฯได้ ๘ วัน  พอมีพระราชสาส์นญวนส่งมาทางเขมรอีกฉบับหนึ่ง  ซ้ำเข้ามาเป็นสองฉบับ

          ฝ่ายพระยารามณรงค์ข้าหลวงกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระยา,  พระ  เขมรเมืองพระตะบองบอกส่งญวนนายไพร่ ๑๘ คน  ซึ่งถือหนังสือองเลโปเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศที่กรุงเว้  เดินมาทางเมืองเขมร  สักหลังผนึกว่า  “ถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศ  กรุงพระมหานครศรีอยุธยา”

          ล่ามพนักงานแปลหนังสือญวนออกมาเป็นภาษาไทย  ใจความว่า

           “หนังสือองเลโปเสนาบดีผู้สำเร็จราชการฝ่ายนานาประเทศกรุงเว้อานาม  ได้รับรับสั่งพระเจ้าเวียดนามให้แจ้งความตามทางราชการมาถึงเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีฝ่ายนานาประเทศกรุงพระมหานครศรีอยุธยาสยาม  ได้ทราบด้วยพระเจ้าเวียดนามทรงพระเมตตาให้ขุนนางพาเจ้าอนุไปส่งแล้วนั้น  กับได้แต่ทูตญวนเชิญพระราชสาส์นเข้ามากรุงพระมหานครศรีอยุธยาด้วยแล้ว  เนื้อความสองข้อนี้มีแจ้งอยู่ในพระราชสาส์นที่ส่งมากับราชทูตทางเรือนั้นแล้ว

           บัดนี้กีนเลียกเบียนบู๊ขุนนางหัวเมืองแง่อาน  มีหนังสือบอกขึ้นมาถึงองทงเจอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือฉบับหนึ่งใจความว่า

          “ขุนนางญวนพาเจ้าอนุไปส่งถึงเมืองเวียงจันทน์แล้ว  ได้พูดจาหารือกับแม่ทัพไทยที่รักษาเมืองเวียงจันทน์เป็นปรกติ  ตกลงจะแต่งบุตรหลาน  ให้ลงไปหาเสนาบดีฝ่ายไทย  เพื่อจะได้ขอโทษตนที่ผิดนั้น เจ้าอนุได้พักอยู่ในเมืองเวียงจันทน์คืนกับวันหนึ่ง  เสบียงอาหารหมดลง  เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ก็ใช้ให้พวกลาวไปขอข้าวเปลือกในยุ้งฉางที่ไทยรักษาอยู่  แม่ทัพนายกองไทยที่รักษาฉางข้าวนั้น  ไม่จ่ายข้าวให้ไพร่พลลาวของเจ้าอนุกินพอเป็นกำลังราชการต่อไป

(https://i.ibb.co/k39DJS5/20708484.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ได้ไปหาแม่ทัพไทย  ได้อ้อนวอนขอข้าวให้ไพร่พลลาวกินบ้าง  เพราะคราวกันดารอดอยาก  ไทยก็ไม่ให้ข้าวกลับนำปืนยิงพวกลาวที่ไปขอข้าวกินนั้นล้มตายหลายคน  ไทยก่อเหตุก่อน  ลาวก็กำเริบขึ้นบ้าง  เกิดรบราฆ่าฟันกับกองทัพไทย  กองทัพไทยสู้ไม่ได้  ทิ้งเครื่องศาสตราวุธเสียหมดหนีไปสิ้น  ฝ่ายเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ก็ไม่ได้ยกกองทัพไล่ติดตามไทยไป  ไทยก็หนีลงน้ำว่ายข้ามฟาก  จมน้ำตายมากกว่ามากเอง  ดังนั้น”

          เมื่อองทงเจอัครมหาเสนาบดี นำข้อความตามหนังสือบอกของกินเลียกเบียนบู๊ขุนนางหัวเมือง  ขึ้นทูลพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้เสนาบดีจัดขุนนางญวนขึ้นม้าเร็วรีบขึ้นไป  ได้ว่ากล่าวกำชับเจ้าอนุว่า   “ให้เจ้าอนุเก็บเครื่องศาสตาวุธยุทธภัณฑ์ที่กองทัพไทยทิ้งไว้แล้วหนีไป  รวบรวมไว้แล้วแต่งขุนนางลาวเจ้านายบุตรหลาน  มีเครื่องราชบรรณาการและเครื่องศาสตราวุธของไทยลงมาส่งให้เสนาบดีไทยฝ่ายเหนือ  จะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา

          แล้วให้มีศุภอักษรลงไปกราบบังคมทูลชี้แจง  การที่ไทยไม่จ่ายข้าวให้แล้วกลับนำปืนยิงลาวก่อน  แล้วไทยหนีไป  ลาวไม่ได้ทำก่อนเลย  ถ้าเจ้าอนุทำได้ดังนี้แล้วเห็นพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะทรงพระมหากรุณาโปรดยกโทษให้เจ้าอนุตามงอนง้อขอโทษรับผิด  และชี้แจงความสัตย์สุจริตที่ไม่ได้เป็นขบถทำแก่ไทยก่อน  ไทยทำแก่ลาวก่อน”

           “พระเจ้าเวียดนามมีความหวังพระราชหฤทัยว่า  พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาคงจะทรงพระมหากรุณายกโทษเจ้าอนุ  ให้คงคืนบ้านเมืองสักครั้งหนึ่งเป็นแน่  ถ้าเป็นดังนั้นแล้ว  พระเกียรติยศกรุงพระมหานครศรีอยุธยาก็จะปรากฏเจริญยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าร้อยเท่าพันทวี  จะเป็นที่สรรเสริญแก่นานาประเทศใหญ่น้อยทุกทิศานุทิศ”

(https://i.ibb.co/XVkB8s1/Untitldsfed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความตามหนังสือองเลโปขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท  ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม  โปรดให้เจ้าพระพระคลังกับพระศรีภูริปรีชาอาลักษณ์  แต่งพระราชสาส์นตอบฉบับหนึ่ง  กับของทรงยินดีตอบแทนออกไปถวายพระเจ้าเวียดนามด้วย  จะฝากราชทูตญวนอกไป

          ครั้น ณ วันพุธเดือนสิบแรมห้าค่ำ  ทูตานุทูตญวนได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา  ก็ได้พระราชทานรางวัลแก่ทูตานุทูตพอสมควรตามพระราชประเพณี  ครั้งนั้นเจ้าพระยาพระคลังจะขอฝากพระราชสาส์นไทยออกไปกรุงเว้ด้วย  ราชทูตญวนไม่ยอมรับนำไป  ราชทูตพูดตอบโต้ว่า     “ทูตมาถวายพระราชสาส์นไปไม่ได้  ผิดด้วยขนบธรรมเนียมกรุงเว้ฝ่ายญวน  ควรที่จะแต่งทูตกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา  ออกไปตอบแทนกรุงเว้บ้างจึงจะชอบด้วยราชการ”

          ครั้งนั้นราชทูตญวนไม่รับพระราชสาส์นตอบของไทยไป  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือประทับตราบัวแก้ว  ตอบออกไปถึงองเลโปฉบับหนึ่งใจความว่า     “ด้วยเรื่องเจ้าอนุเป็นขบถจนมาฆ่าพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  กับหลวงสุเรนทรวิชิต  นายทัพนายกองแลไพร่พลไทยตายมาก  การงานที่เจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์คิด  ประทุษร้ายต่อกรุงเทพฯ ทุกอย่าง”

          ฝ่ายราชทูตญวนจึงรับหนังสือตอบของเจ้าพระยาพระคลังไป  แล้วก็ลงเรือทะเลออกจากกรุงเทพฯ ไปเมื่อ ณ วันศุกร์เดือนสิบสองขึ้นสองค่ำ

          อนึ่งพระยาเชียงสาลาว  กราบเรียนเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า   “จะรับอาสานำทางลัดป่าไปให้ถึงเมืองยโสธรโดยเร็ว”
 
(https://i.ibb.co/DVzb6NW/1438012324-image-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีความยินดีเห็นขอบด้วยแล้ว  จึงมีบัญชาสั่งให้พระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกอง  จัดการตรวจตรารี้พลช้างม้าไว้ให้พร้อม  เวลาค่ำวันนี้เราช่วยกันรื้อค่ายที่พรานพร้าวทิ้งน้ำเสีย  จึงจะล่าทัพถอยลงไปยับยั้งตั้งค่ายมั่นรับข้าศึกลาวอยู่ที่เมืองยโสธร  แต่พอจะได้พักผ่อนรี้พลเพิ่มขึ้นให้มาก  จะได้มาจับเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ที่เมืองเวียงจันทน์ให้จงได้  ในวันนี้มีบัญชาสั่งให้เสมียนตราแต่งหนังสือฉบับหนึ่ง  ถึงพระวิชิตสงครามแม่กองทัพเรือซึ่งรักษาทางเข้าเมืองนครพนมใจความว่าดังนี้คือ

(https://i.ibb.co/cCZZRKR/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           “หนังสือจอมจตุรงค์มหาปรินายกดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์  อัครมหาเสนาบดีแม่ทัพใหญ่  มาถึงพระวิชิตสงครามขุนนางในพระราชวังบวรฯ ด้วยเป็นแม่ทัพฝ่ายหนึ่งซึ่งคุมพลทหารเรือรบและทหารบก  รักษาด่านทางข้างเมืองนครพนมได้ทราบ

           ด้วยบัดนี้เจ้าอนุ  เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพกลับมาแต่เมืองญวนแล้ว  มาแต่งกองทัพลาวเข้าล้อมกองทัพไทยที่ตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์นั้น  พลทหารลาวมีปืนยิงทหารพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนทรวิชิต  นายทัพรักษาเมืองเวียงจันทน์นั้นตายสิ้นทั้งสามคน  กับไพร่พลไทยตายเกือบ ๖๐๐ คน  ที่หนีรอดมาได้แต่หมื่นรักษนาเวศ ไพร่ ๔๕ คนเท่านั้น  เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ตีเมืองเวียงจันทน์คืนได้  ลาวจัดการบ้านเมืองแข็งแรงนัก  จะมาตีกองทัพไทยพรานพร้าวด้วย

(https://i.ibb.co/CHMGDQ6/Untit258ledfd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           บัดนี้เจ้าคุณแม่ทัพก็จะล่าทัพถอยลงไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองยโสธรในเวลาค่ำวันนี้  จึงมีบัญชาสั่งให้พระวิชิตสงครามตรึกตรองดูราชการดังนี้  ถ้าเห็นว่าพอที่จะตั้งรับต้านทานข้าศึกลาวอยู่ที่เมืองนครพนมได้  กว่าเจ้าคุณแม่ทัพจะยกกลับคืนขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์นั้นเมื่อใดแล้ว  เจ้าคุณแม่ทัพจะให้พระวิชิตสงครามเป็นแม่ทัพหน้า  ยกเข้าจับเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ต่อไป  ถ้าพระวิชิตสงครามเห็นว่าผู้คนในกองด่านมีน้อย  จะตั้งรับทัพลาวเหลือกำลัง  ให้พระวิชิตสงครามเผาค่ายที่ด่านเสียให้หมด  แล้วให้ถ่ายเสบียงอาหารบรรทุกโคต่าง  ช้าง  ม้า  และเกวียนเรือ  กวาดต้อนครอบครัวพลเมืองนครพนม  ถอยทัพตามเจ้าคุณแม่ทัพลงไป ณ เมืองยโสธร  ก็ตามใจพระวิชิตสงครามจะคิดเถิด”

          * อ่านความแล้วคิดจินตนากันเอาเองนะครับ  วันนี้เป็นเรื่องการเมืองฝ่ายบุ๋น  ยังไม่มีฉากรบของฝ่ายบู๊มาให้อ่านกันอย่างตื่นเต้น  ฝ่ายบุ๋นกำลังวางแผนเตรียมการที่จะให้ฝ่ายบู๊ใช้กำลังห้ำหั่นกันต่อไป  จนกว่าจะรู้ดำรู้แดงในการศึกสงคราม

          พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, เมษายน, 2563, 11:33:56 PM
(https://i.ibb.co/PjwZPhX/Untitlfgded-21.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๓๔ -

ไทยถอยทัพเงียบงันจากพรานพร้าว
เดินผ่านราวป่าใหญ่แมกไม้เขียว
พลไม่ต้องร้องฉาวโห่กราวเกรียว
พ้นป่าเปลี่ยวถึงบุรียโสธร

เห็นเมืองโทรมเกินซ่อมไว้พร้อมสู้
จึงพาหมู่พลไกรไปพักผ่อน
สุวรรณภูมิเมืองที่มีลุ่มดอน
เป็นนครอุดมสมบูรณ์ดี


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระราชสาส์นจากญวนฉบับที่ ๒ กล่าวถึงเรื่องที่เจ้าอนุฆ่าทหารไทยในค่ายวัดกลางเมืองเวียงจันทน์ตายไปเกือบหมดนั้นว่า  เรื่องนี้เจ้าอนุ เจ้าราชราชวงศ์ ไปขอแบ่งข้าวเปลือกในยุ้งฉางไทย  แทนที่ไทยจะแบ่งข้าวให้กลับใช้ปืนยิงพลลาวตาย  ลาวจึงลุกฮือขึ้นสู้รบ  ไทยสู้ลาวไม่ได้ก็พากันทิ้งอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้ในค่าย  แล้วพากันวิ่งหนีลงแม่น้ำโขงว่ายน้ำกลับไปค่ายพรานพร้าว  และจมน้ำตายเป็นอันมาก  ญวนเชื่อลาวในเรื่องดังกล่าวนี้  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ตอบพระราชสาส์นชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง  จะฝากพระราชสาส์นราชทูตญวนไป  ราชทูตญวนไม่ยอมรับฝาก  อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ตามธรรมเนียมราชทูต  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือประทับตราบัวแก้วถึงเสนาบดีนานาประเทศญวน  ฝากราชทูตไป  ทางฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีเตรียมการยกทัพจากค่ายพรานพร้าวไปยโสธร  จึงมีหนังสือแจ้งให้แม่ทัพเรือที่นครพนมทราบ  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

           “ครั้นเสมียนตราแต่งหนังสือนี้เสร็จแล้ว  จึงนำอ่านเสนอประทับตราพระราชสีห์น้อยมอบให้หลวงชาติสุรินทรขึ้นม้าเร็วคุมพลทหาร ๒๐ ม้า  เดินล่วงหน้าลัดทางป่าไปส่งให้พระวิชิตสงครามนายด่านที่เมืองนครพนม

          พระวิชิตสงครามได้ทราบความตามหนังสือนั้นแล้ว  จึงมีหนังสือตอบมอบให้หลวงชาติสุรินทร  หลวงชาติสุรินทรก็รับหนังสือมาส่งให้เจ้าคุณแม่ทัพที่กลางทางในเวลาค่ำวันนั้น  ในหนังสือนั้นมีใจความว่า

(https://i.ibb.co/XS8NQs2/Untitlefdd-6.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระวิชิตสงครามจะขอตั้งรับข้าศึกลาวอยู่ที่เมืองนครพนมก่อน  ด้วยได้เกลี้ยกล่อมครัวลาวและเขมรป่าดงมาไว้ในค่ายไทยเป็นอันมาก  ได้ฉกรรจ์เป็นกำลังเกือบพันเศษ  กับคนเก่าที่เมืองนครพนมมีอยู่ ๕๐๐ แล้ว  เห็นพอจะต้านทานกองทัพลาวได้  เพราะปืนใหญ่ของเรามีมากพอยิงตอบโต้สู้ลาวได้  ด้วยลาวมาคราวนี้ไม่มีปืนใหญ่มาเลย  จะมาสู้กับเรามีอาวุธทางยาวก็ยากอยู่  แต่จะระวังตัวให้มาก  ไม่มีความประมาทเหมือนพระยาพิไชยสงคราม   อนึ่ง  ถ้าลาวยกใหญ่มามากเห็นเหลือกำลังรี้พล  จะต้านทานสู้รบไม่ได้แล้ว  จึงจะล่าทัพถอยหลังไปเมืองยโสธร  ตามบัญชาสั่งเจ้าคุณแม่ทัพทุกประการ”

          เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีจะล่าทัพทิ้งค่ายที่พรานพร้าวนั้น  จึงมีบัญชาสั่งนายทัพนายกองว่า  เวลาค่ำวันนี้ให้คุมพลทหารรื้อค่ายที่ตำบลพรานพร้าวทิ้งลงในลำแม่น้ำโขงเสียทุกค่ายทั้งสิ้น  อย่าให้เหลือไว้เป็นกำลังแก่ลาวข้าศึกได้เป็นอันขาด  แล้วสั่งหลวงเทพเสนีให้หามปืนใหญ่ขึ้นบรรทุกหลังช้างขนไป  ถ้าปืนใหญ่เหลือจากหลังช้าง  ช้างไม่พอกับปืนใหญ่  ปืนใหญ่ที่เหลือนั้น  ให้หาเหล็กตะปูมาอุดชนวนปืนใหญ่เสียทุกกระบอก  แล้วจึงให้คัดปืนใหญ่กลิ้งลงไปในแม่น้ำโขงทั้งสิ้น  กับเสบียงอาหารที่บรรทุกโคต่างไปไม่หมด  เหลืออยู่มากน้อยเท่าใด  ให้พระมหาดไทย  หลวงนา  จัดแจงขนลงทิ้งน้ำเสียทั้งสิ้น  อย่าให้เหลือเป็นกำลังแก่ข้าศึกลาวได้  ค่ายและเสบียงอาหารครั้นจะเผาเสียตามธรรมเนียมทัพศึกที่ล่าก็ไม่ได้  เพราะกลัวว่าข้าศึกลาวที่อยู่ใกล้จะรู้ว่าไทยล่าทัพหนีไป  ลาวจะยกทัพออกก้าวสกัดตามตีท้ายพลเรา  เราจะได้ความลำบาก  เราจะล่าทัพเดินกองทัพไปไม่สะดวก

(https://i.ibb.co/zxf7XFK/011.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วสั่งให้พระยาราชรองเมืองคุมทหารเป็นทัพหน้า  เดินทัพล่วงหน้าไปก่อน  ในเวลาพลบค่ำ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสิบเอ็ดขึ้นสองค่ำ
          แล้วสั่งให้พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา  คุมทหารหัวเมืองเป็นกองหลัง
          ให้พระศุภมาตรากับพระนรินทรารักษ์กรมการ  คุมคนที่ป่วยไข้เดินทัพตามทัพหน้าไปเป็นลำดับ
          แต่กองช้างพระยาประสิทธิ์คชลักษณ์เมืองนครราชสีมา  กับกองพระยาณรงค์สงคราม  ยังมาไม่ถึงพรานพร้าว

(https://i.ibb.co/68kzRMc/df-14.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเวลาสองทุ่มเศษในวันขึ้นสองค่ำนั้น  เจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นคอช้างพลายคิรีบัญชรสูงหกศอกคืบสองนิ้ว  พระคชสิทธิ์เป็นควาญท้ายช้าง  หลวงภูวนารถภักดีถือปืนกลางช้าง  มีทหารถือปืนเดินเป็นคู่เคียงสี่เท้าช้างตามอย่างประเพณีทัพใหญ่  และตำรวจภูธรเดินแซงหน้าช้างริ้วใน  มีทหารถือปืนคาบศิลาเดินหน้าหลังพร้อมทั้งพลทหารกองนอกถือศาตราวุธครบมือ  เดินเป็นกระบวนทัพสรรพเสร็จแล้ว  ขณะนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้อุปฮาดเมืองอุบลราชธานีผู้สวามิภักดิ์มาแต่เดิม  ให้เป็นผู้กำกับช้างพระยาเชียงสาซึ่งเป็นผู้นำทาง

(https://i.ibb.co/9psZY1d/digital-006rename.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นจัดพลทหารพร้อมแล้ว  จึงเร่งรีบเดินกองทัพออกจากค่ายพรานพร้าว  ล่าถอยทัพเดินลัดทางป่าไปไม่ได้  ต้องหยุดหย่อนจนสว่างรุ่งเช้าขึ้นเดินต่อไป  จนเวลาสี่โมงเช้าเข้าถึงเมืองยโสธร  ได้พักพลทหารที่นั่น  หุงอาหารรับประทานกันเสร็จแล้ว  เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้หลวงเทเพนทร์กับอุปฮาดเมืองอุบลราชธานี ไปตรวจเสบียงอาหารในเมืองยโสธร ก็ขัดสนไม่พอจะจับจ่ายใช้เลี้ยงกองทัพไทย หาสมกับความคิดไว้ไม่ จึงได้เกณฑ์ไพร่พลที่ฉกรรจ์ในเมืองยโสธร ๖๐๐ คน  แล้วให้อุปฮาดเมืองอุบลราชธานีเป็นแม่กองคุมไพร่พล ๖๐๐ คนขนเสบียงอาหารถ่ายลงไปไว้ในเมืองสุวรรณภูมิ

          แล้วให้พระอินทรอาสา  ลาวเก่าเมืองพนัสนิคม  กับพระพลสงครามเมืองนครราชสีมา  รวม ๓ นายเป็นนายทัพนายกองคุมพลทหารไทยไปกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองยโสธรอพยพลงไปไว้เมืองสุวรรณภูมิ

(https://i.ibb.co/XDMvkXV/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาราชสุภาวดีหยุดทัพพักพลอยู่ที่เมืองยโสธรสองวัน  พอถ่ายเสบียงลำเลียงลงไปหมดแล้วจึงต้อนครัวพลเมืองไปสิ้นด้วย  จึงสั่งให้พระยาพรหมยกกระบัตรกองหลัง  นำไฟเผาเรือนในเมืองยโสธรเสียสิ้น  ทั้งหวังจะมิให้เป็นที่พักอาศัยของลาวข้าศึกจะตามมาภายหลังได้  แล้วสั่งพระคเชนทรานุรักษ์นายกองช้างกองนอก  ให้นำช้างพลายใหญ่ ๕๐ เชือก  ไปแทงทลายป้อมเก่าและโบสถ์ที่เป็นวัดใหญ่ ๆ ในเมืองเสียสิ้น  ไม่ให้เป็นที่ข้าศึกมาพักอาศัยทำป้อมค่ายได้

(https://i.ibb.co/N9zyrxZ/Untitls7ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าจึงยกกองทัพเดินเป็นลำดับไป  ถึงเมืองสุวรรณภูมริมฝั่งแม่น้ำโขง  ด้วยเมืองสุวรรณภูมินี้เป็นชัยภูมิดีควรที่จะตั้งค่ายรับกับลาว  เพราะบริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารไพร่พลเมืองมากไม่บอบช้ำ  ด้วยเจ้าศรีวอผู้ครองเมืองเป็นคนแข็งแรงในการศึกสงคราม  จึงรักษาเมืองสุวรรณภูมิไว้ได้  ไม่เสียเมืองแก่เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ข้าศึกลาว

          ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี ยกทัพมาใกล้เมืองสุวรรณภูมิแล้ว  จึงใช้ให้หลวงสวัสดิ์นัคเรศร์คุมทหารม้า ๕ ม้า  เข้าไปแจ้งข้อความล่วงหน้าให้เจ้าศรีวอทราบว่า  กองทัพไทยยกมาจะพักพลเพื่อจะอยู่ต่อสู้กับเจ้าอนุอีก

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เดินทัพมาใกล้เมืองสุวรรณภูมิ  ห่างเมืองสามสิบเส้น  จึงใช้ให้หลวงวาสุเทพไปสั่งพระยาราชรองเมืองแม่ทัพหน้า  ให้หยุดทัพตั้งค่ายเป็นวงพาดตามลำแม่น้ำโขงโดยนาคนามตามตำราพิชัยสงคราม  แต่พอพักพลตั้งมั่นที่นี้เห็นเป็นที่ชัยภูมิดีแล้ว”

(https://i.ibb.co/0mr3H6d/Untitlsaed-19.jpg) (https://imgbb.com/)

          * อ่านยุทธวิธีการล่าถอยทัพของท่านเจ้าพระยาบดินเดชา (สิง) แล้ว  เห็นได้ว่าท่านเป็นคนละเอียดรอบคอบ  มีเชิงศึกสูงมาก  การทำลายค่ายแล้วหนีข้าศึกนั้น  ท่านเป็นว่าใช้กับที่พรานพร้าวไม่ได้  เพราะลาวข้าศึกจะรู้ว่าท่านหนี  ลาวจะตามไล่ตีให้เดือดร้อน  จึงใช้วิธีทำลายสิ่งของสำคัญในค่ายที่ขนไปด้วยไม่ได้  แล้วล่าหนีไปเงียบ ๆ  เหลือแต่ค่ายเปล่าทิ้งไว้ให้เจ้าอนุดูต่างหน้า  และในที่สุดกองทัพไทยก็หนีไปปักหลักที่เมืองสุวรรณภูมิแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้เช้ามาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, เมษายน, 2563, 10:36:34 PM
(https://i.ibb.co/sqND9Z7/bsf.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๓๕ -

เจ้าอนุ,ราชวงศ์สององค์คิด
เที่ยวตามติดตีไทยหลายวิถี
ทางโคราชมุ่งไปหมายย่ำยี
เพราะเคยตีแตกง่ายจึงได้ใจ

ทางหล่มเลยเพชรบูรณ์ศูนย์ทางเหนือ
ได้แล้วเงื้อง่าตรงลงทางใต้
เจ้าราชวงศ์ลงตามจับแม่ทัพไทย
เป็นทัพใหญ่สองทัพขับเคี่ยวกัน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพล่าถอยจากค่ายพรานพร้าวในเวลากลางคืน  ถึงเมืองยโสธรตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  ให้สำรวจเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงกองทัพแล้วเห็นว่าขาดแคลน  จึงเก็บรวบรวมเสบียงอาหารและกวาดต้อนครัวในเมืองยโสธรไปยั้งทัพตั้งค่ายอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/6YcC7c9/Untitlesead-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายพระราชรองเมืองแม่ทัพหน้า  กับทั้งพระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมาแม่ทัพหลัง  พระยาราชสงครามปีกซ้าย  พระยานครสวรรค์ปีกขวา  และพระยา, พระ, หลวง, นายทัพ,  นายกอง  พร้อมกันเข้าชื่อขออาสาคุมทหารไทยและลาวเมืองสุวรรณภูมิ  ยกขึ้นไปตามตีเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ที่เมืองเวียงจันทน์ให้ได้ชัยชนะและได้ตัวด้วย  ถ้าไม่สมดังนี้ขอรับพระราชทานลงโทษตามอัยการศึก  ขณะนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาว่า

(https://i.ibb.co/44gR4zb/Untidfdftled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ซึ่งท่านทั้งหลายมีใจร้อนรนด้วยราชการดังนี้  เราก็มีความขอบใจยิ่งนัก  แต่เราเห็นว่าพวกท่านไม่ต้องจะยกขึ้นไปตามตีเจ้าอนุเจ้าราชวงศ์     เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์คงจะรีบยกลงมาตามตีพวกท่าน  พวกท่านคอยรับที่นี่จะดีกว่า  จะได้สู้ให้เต็มกำลังความคิดและฝีมือก็พอเป็นราชการแข็งแรงอยู่แล้ว  ไม่พักจะต้องคิดออกไปตีลาว  ลาวคงลงมาตีไทยอยู่เอง  ให้ช่วยกันคิดตั้งค่ายคูประตูหอรบไว้รับลาวให้แข็งแรงเถิด  ดีกว่าจะขึ้นไปต่อสู้รบกับลาว”

          ครั้งนั้น  เจ้าศรีวอจัดเสบียงอาหารให้กรมการลาวนำออกมาจ่ายให้ไพร่พลในกองทัพไทยโดยบริบูรณ์ทุกทัพทุกกอง  ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าศรีวอขี่ม้าออกมาคำนับเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายนอกเมือง

(https://i.ibb.co/9ZwP3zK/Untifhtdfled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายที่เมืองเวียงจันทน์นั้น  เจ้าราชวงศ์ยิงพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนทรวิชิตตายทั้งสามคนแล้ว  เจ้าราชวงศ์ว่าฤกษ์ดีมีชัยชนะแก่ไทยในวันนี้  ให้ตัดศีรษะพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนวิชิต  ทั้งสามศีรษะนำไปเสียบไว้ที่หาดทรายหน้าเมืองเวียงจันทน์  นำลูกประคำทองเครื่องยศของไทยไปแขวนคอทั้งสามศีรษะ  ให้ลาวเห็นเป็นอำนาจ  แต่พลทหารไทยที่หนีอยู่ในที่กำบังตามวัดและบ้านต่าง ๆ นั้น  ลาวจับได้ทั้งสิ้น  เจ้าราชวงศ์ว่าจะเอาไทยไว้หาประโยชน์มิได้  จึงสั่งให้ทหารลาวพาไทยที่จับเป็นมาได้นั้นไปฆ่าเสียให้สิ้น  ไทยตายครั้งนั้น ๖๐๐ คนเศษ  เจ้าราชวงศ์สั่งให้พระยาสุโภ  พระยาเชียงขวา  ให้ไปต้อนพลลาวที่หลบลี้หนีอยู่ตามในป่าดง  รวบรวมมาได้ ๑๐,๐๐๐ เศษ  คัดเลือกแต่คนผู้ชายที่ฉกรรจ์ได้สี่ห้าพันคนให้เข้าในกองทัพลาว  แต่ครัวที่ชรา เด็ก หรือหญิงนั้น  ให้อยู่ในเมืองเวียงจันทน์  ให้เพี้ยกว้านขุนนางผู้ใหญ่คุมครัวอยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์

          เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ แลเห็นขุนนางญวนที่มาส่งนั้นกลับไปหมดแล้ว  ไม่มีที่กีดขวางราชการ  จึงสั่งให้เพี้ยมณี ท้าวมหาไชย คุมพลทหาร ๓๐๐ ข้ามฟากไปที่พรานพร้าว  ให้รื้อพระเจดีย์ปราบเวียงจันทน์  ที่กรมพระราชวังบวรฯ สร้างขึ้นไว้นั้น  พวกลาวก็รื้อลงเสียสิ้นตั้งแต่ยอดตรีจนถึงฐานชั้นสิงห์  เชิญพระพุทธรูปที่กรมพระราชวังบวรฯ นำมาแต่เมืองเวียงจันทน์ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ๔ องค์  คือ  ทรงพระนามว่า  พระเสิม  พระแสง  พระศุข  พระไสย์  ทั้ง ๔ องค์นี้รับเชิญกลับไปไว้ในเมืองเวียงจันทน์ดังเก่า  แล้วเจ้าราชวงศ์ให้พลทหารไปขุดที่ค่ายพรานพร้าว  สงสัยว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีจะนำปืนใหญ่ฝังไว้เมื่อล่าทัพไป  ก็หาได้ปืนดังที่ลาวคิดไม่  เพราะลาวไม่รู้ว่าไทยนำปืนใหญ่กลิ้งทิ้งลงแม่น้ำโขงเสียแล้ว  จึงมิได้ดำน้ำหาปืนขึ้นมาต่อสู่กับไทยได้

(https://i.ibb.co/NmBcBWt/dropped-Image-5.jpg) (https://imgbb.com/)
ปืนหามแล่นขานกยาง

          ครั้งนั้น  เจ้าราชวงศ์เก็บได้ปืนเล็กนกสับคาบศิลาในกองทัพพระยาพิชัยสงคราม  มี ๕๐๐ กระบอก  ปืนหามแล่นขานกยาง มี ๒๐ กระบอก  ทั้งกระสุนดินดำ  เสื้อกางเกงหมวกเสนากุฎ ๔๐๐ สำรับ  ธงตะขาบ ๔๐ คัน  กับธงมังกร ๓๐ คัน  เสบียงอาหารพร้อมด้วย
          เจ้าอนุสั่งให้เจ้าสุทธิสารคุมพลหารลาวเก่า ๒,๐๐๐ ลาว และใหม่ ๒,๐๐๐  ยกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมหัวเมืองตามลำแม่น้ำโขง  ได้มากน้อยเท่าใดเห็นพอจะทำการใหญ่ได้  ก็ให้เลยลงไปโจมตีเมืองนครราชสีมาทีเดียว  ถ้าได้ทีก็ให้นัดหมายเจ้าราชวงศ์รีบเร่งรุดเลยลงไปตีกรุงเทพฯ ทางสระบุรีหรือนครนายก
          เจ้าอนุจึงจัดให้เจ้าราชวงศ์เป็นแม่ทัพใหญ่  มีแสนท้าวพระยาลาว  นายทัพนายกองเป็นปีกขวาและปีกซ้าย  มีไพร่พล ๖,๐๐๐  ให้ยกข้ามฟากแม่น้ำโขงไปฝั่งตะวันตกที่พรานพร้าว  เพื่อจะไปติดตามจับเจ้าพระยาราชสุภาวดี  ถ้าตีทัพไทยกองเจ้าพระยาราชสุภาวดีแตกหมดแล้ว  ถ้าได้ช่องดีมีท่าทางอันสมควร  ให้เลยยกลงไปทางเมืองกบินทรบุรี  ตีตลอดลงไปจนกรุงเทพฯ  บรรจบกับทัพเจ้าสุทธิสารพร้อมกันทีเดียว
          แล้วเจ้าอนุให้เจ้าหน่อคำกับแสนท้าวพระยาลาว  คุมทัพหัวเมืองซึ่งเกลี้ยกล่อมมาได้ ๓,๐๐๐ เศษนี้  ให้เจ้าหน่อคำยกไปตีเมืองหล่มเมืองเลย  เมืองเพชรบูรณ์  เมืองบัวชุมชัยบาดาล  ถ้าแตกหมดแล้ว  ได้ท่วงทีก็ให้เลยรีบรุดไปตีเมืองรายทางลงไปทางเมืองลพบุรี  ตีเมืองอ่างทอง  กรุงเก่า  ลงไปจนถึงกรุงเทพฯ  เป็นทัพกระหนาบด้วยอีกทัพหนึ่ง

(https://i.ibb.co/KKBRcMX/Screenshot-2018-01-10-20-22-39-1.png) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าอนุจัดกองทัพยกไปเป็นหลายทางหลายสายดังนั้นแล้ว  เจ้าอนุจึงเป็นผู้อยู่จัดพลทหารแต่งการรักษาเมืองเวียงจันทน์โดยแข็งแรง  แล้วจึงตั้งค่ายนอกเมืองสี่มุมเมือง  ชักปีกกาถึงกันมีประตูหอรบรอบเมือง  ตามกำแพงเมืองที่ไทยรื้อเสียนั้น  ลาวนำไม้ไผ่มากปักเป็นเสาระเนียดรอบเมือง  พูนดินที่กลางเมืองให้สูงขึ้นเป็นป้อม  ทำการรักษาบ้านเมืองให้มั่นคง
          แล้วแต่งให้พระยาลือกับเพี้ยมหาไชย ไปขอกองทัพเมืองลื้อเมืองขอน  ซึ่งเป็นลาวสิบสองปันนาขึ้นกับจีนฮกโหล  ให้ยกมาช่วยด้วย  (ก็ไม่สมดังที่ลาวขอจีน  จีนก็ไม่ให้กองทัพมา)   ฝ่ายเจ้าอนุคิดจะแต่งทูตลาวพาเจ้าหญิงหลาน  ไปถวายพระเจ้าอังวะ  เพื่อขอกองทัพพม่ามาช่วยก็ไม่สมที่คิด  เพราะไปไม่ถึงพม่า  ด้วยทางนั้นเชียงใหม่ลาดตระเวนรักษาด่านทางอยู่ทุกทิศ  ลาวเวียงจันทน์จึงไปไม่ถึงเมืองพม่าหรือหัวเมืองขึ้นของพม่าก็ไม่ถึง

(https://i.ibb.co/Qc7m6VY/Untitl96ed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ก็ยกทัพใหญ่ลงไปตามฝั่งแม่น้ำโขงถึงเมืองยโสธร  เห็นเมืองร้างเปล่าอยู่ไม่มีผู้คน  จึงเข้าใจว่าทัพไทยกวาดต้อนพลเมืองเสบียงอาหารไปหมดแล้ว  จึงเหลืออยู่แต่เปลือกเมืองเปล่า  นำไฟจุดเผาเหย้าเรือนไหม้หมด  เจ้าราชวงศ์ใช้ให้ทหารเที่ยวติดตามพลเมืองยโสธรในป่าได้มาบ้าง ๒-๓ คน  จึงไต่ถามได้ความว่า  เจ้าพระยาราชสุภาวดียกมากวาดต้อนครัวไปหมด  แล้วถ่ายเสบียงลำเลียงอาหารลงไปไว้ที่เมืองสุวรรณภูมิ  เจ้าราชวงศ์ได้ฟังข่าวศึกดังนั้นจึงว่า

           “เราจะรอช้าอยู่ที่นี่ไม่ได้  ฝ่ายทัพไทยจะตั้งค่ายมั่นเราจะตีแตกโดยยาก  จำเป็นจะต้องรีบยกลงไปตีเสียทีเดียวเมื่อกำลังยังอ่อนอยู่  จึงจะได้ชัยชนะง่ายเบามือทหารเรา”

          คิดแล้วดังนั้นจึงได้ยกพลทหารรีบรุดลงไปถึงบ้านตะกุดใกล้เขตแดนเมืองสุวรรณภูมิ  จึงใช้ให้พลทหารเที่ยวซุ่มซ่อนคอยจับไทยและพลเมืองสุวรรณภูมิมาได้ ๔ คน  ถามได้ความว่า     “กองทัพไทยยกมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิแล้ว”     เจ้าราชวงศ์ได้ความดังนั้นจึงให้ขังลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิ ๔ คนไว้ จะได้ถามความให้กองทัพไทยต่อไป  อย่าได้ฆ่าฟันมันเสียเลย

(https://i.ibb.co/WkKFMjX/Untitledd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วสั่งให้แสนท้าวพระยาลาวนายทัพนายกองตั้งค่ายใหญ่ ๓ ค่าย  ที่ตำบลทุ่งบกหวาน  เพื่อจะได้รับกองทัพไทย
          แล้วสั่งให้พระยาคำเกิดกับกองแก้วและกองทองสามนาย  คุมพลทหารไปกวาดต้อนครอบครัวและเสบียงอาหารตามบ้านบ้านเล็กเมืองน้อย  บรรทุกโคต่าง, ช้าง, ม้า, เกวียน  ถ่ายลำเลียงมาสะสมไว้ในค่ายทุ่งบกหวาน  หมายใจจะทำศึกแรมปี
          แล้วแต่งทัพไปให้ลาดตระเวนทุกด่านทุกทางในกลางป่าไม่ให้มีข้าศึกไทยหลังค่ายได้  เจ้าราชวงศ์คิดกลัวกองทัพเขมรจะยกมาช่วยไทย  จึงให้เพี้ยสาครกับท้าวแสนใจหาญ  คุมทหารไปสะทางที่เขาลีผี  อย่าให้เขมรมาได้โดยสะดวก  ให้มีกองซุ่มซ่อนคอยตีเขมรและไทยจะยกมาช่วยทางใดบ้าง
          แล้วเจ้าราชวงศ์แต่งให้ท้าวเพชรเดชะถือหนังสือไปกับทองคำและพลอยทับทิม ไปถวายกับนักพระองค์จันทร์เจ้ากรุงกัมพูชา  ขอกองทัพเขมรมาช่วยตีไทย  ได้แล้วจะแบ่งแผ่นดินให้กึ่งหนึ่ง  เพราะเวลานั้นเขมรโกรธกับไทย....”

(https://i.ibb.co/SwwW8wD/asd-09.jpg) (https://imgbb.com/)

          * คราวนี้เจ้าอนุจัดทัพได้รัดกุมมาก  กระจายกองทัพออกไปตีไทย ๓ ทาง  ปลายทางมุ่งลงกรุงเทพฯ  โดยพระองค์เองไม่ไปในกองทัพ  หากแต่อยู่ตกแต่งเมืองเวียงจันทน์ไว้รอรับศึก  กองทัพใหญ่โดยการนำของเจ้าราชวงศ์ยกติดตามไล่ล่าเจ้าพระยาราชสุภาวดี  จนถึงเขตแดนเมืองสุวรรณภูมิ  แล้วตั้งค่ายมั่นคงเตรียมการจะรบแรมปี   ยุทธการที่ทุ่งบกหวาน  ค่ายใหญ่ลาวเจ้าราชวงศ์  เป็นการรบที่ดุเดือดมาก  ติดตามอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, เมษายน, 2563, 10:37:26 PM
(https://i.ibb.co/5cVGVfy/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)


- อานามสยามยุทธ ๓๖ -

เจ้าราชวงศ์ตั้งก๊กทุ่งบกหวาน
ไทยรู้การเคลื่อนไหวจึงไม่หวั่น
เคลื่อนพลเข้าไปใกล้หมายประจัน
ตั้งค่ายมั่นรอโถมเข้าโจมตี

รู้จุดอ่อนลาวหยามความยิ่งใหญ่
พระยาสงครามเวียงไชยไร้ศักดิ์ศรี
ลาวพุงดำอาสานำมาดี
เพื่อไทยมีคนเพิ่มเติมพลัง


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพติดตามตีทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดียกจากยโสธรไปตั้งค่ายมั่นรอรับทัพลาวอยู่ที่นอกเมืองสุวรรณภูมิ  เจ้าราชวงศ์ก็ยกทัพไปถึงเมืองยโสธร  พบแต่  “เปลือกเมือง”  เพราะเจ้าพระยาราชสุภาวดีกวาดต้อนครัวและเสบียงลำเลียงไปไว้ที่เมืองสุวรรณภูมิหมดแล้ว  เจ้าราชวงศ์จึงรีบยกทัพตามไปถึงทุ่งบกหวาน  แล้วตั้งค่ายมั่น  มีหนังสือให้คนของตนถือไปชักชวนนักพระองค์จันทร์เจ้าแผ่นดินเขมร  ให้ยกทัพมาช่วยตีไทย  ถ้าการสำเร็จจะแบ่งแผ่นดินที่ตีได้ให้เขมรครึ่งหนึ่ง  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/6Y5HQ4r/Untitleerred-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีอยู่ในค่ายเมืองสุวรรณภูมินั้น  จึงได้ปรึกษาราชการศึกกับเจ้าศรีวอเสมอมิได้ขาด  อยู่มาวันหนึ่ง  เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งเจ้าศรีวอให้จัดหาคนลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิที่มีสติปัญญาคมสันสัก ๓ คน  จะให้ไปสืบราชการที่เมืองเวียงจันทน์  ว่าจะกำเริบขึ้นหรือสงบลงประการใด  ด้วยไทยอยู่ไกลไม่สามารถจะรู้ข่าวราชการหนักเบาในเมืองเวียงจันทน์ได้

          ครั้งนั้น เจ้าศรีวอพาลาว ๓ คนมามอบให้แม่ทัพไทยแล้วแจ้งความว่า      “คนหนึ่งชื่อหมอโพนไพร  คนหนึ่งชื่อน้อยป่านฟ้า  คนหนึ่งชื่อหนานเมืองมา  ลาวทั้งสามคนนี้มีสติปัญญาพอที่จะได้ราชการบ้าง  แต่หนานเมืองมาคนนั้นเป็นบุตรท้าวสุริยมหาวงศ์เมืองเชียงราย เป็นลาวพุงดำ  แต่มาอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิช้านานหลายปีแล้ว  เพราะเหตุด้วยอริวิวาทกับอุปฮาดเมืองเขียงราย”

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็มีความยินดีนัก  จึงมีบัญชาสั่งลาวทั้งสามคนให้ไปสืบราชการศึกตามทางป่าว่า      “ทัพเวียงจันทน์จะยกมาตั้งรับอยู่ที่ตำบลใดบ้าง  ถ้าไม่พบก็ให้ไปสืบถึงเมืองเวียงจันทน์ทีเดียว”

          ลาวทั้ง ๓ คนรับคำบัญชาแล้วต่างคนต่างไป  คุมไพร่กองละ ๑๕๐ คน  แยกย้ายกันไปทั้ง ๓ กอง

(https://i.ibb.co/LrJzvrb/641.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่นั้นมาหลายวัน  หมอโพนไพรกลับมาแจ้งความว่า      “ได้เห็นกองทัพลาวยกมาเผาบ้านเล็กเมืองน้อยตามลำแม่น้ำโขงหลายตำบล  แล้วลาวกำลังเดินทัพบกมาบ้าง  และถึงเมืองนครพนมในเวลาเช้าวันนั้น  ได้ยินเสียงปืนยิงโต้ตอบกันหลายสิบนัด  คะเนเห็นทีลาวกับไทยในกองทัพพระวิชิตสงครามเมืองนครพนมจะได้รบกันเป็นแน่  ได้ฟังอยู่จนบ่ายก็เงียบเสียงปืนลง  ครั้นจะเข้าไปใกล้เมืองนครพนมไม่ได้  ด้วยลาวตั้งทัพอยู่มาก”

(https://i.ibb.co/XZRQJRF/zsdf-08.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายน้อยป่านฟ้ากลับมาแจ้งความว่า      “ได้เห็นค่ายลาวเวียงจันทน์ตั้งอยู่ที่ทุ่งบกหวานหลายค่าย  ค่ายกลางเล็ก  แต่ค่ายริมสองข้างนั้นโต  กว้างใหญ่กว่าค่ายกลาง  ผิดประหลาดกับธรรมเนียมพิชัยสงคราม  ไม่มีค่ายปีกกาตามตำราทัพ  ถ้าจะแลดูทางหน้าค่ายนั้นเห็นเป็น ๓ ค่าย  ถ้าจะแลดูทางข้างค่ายนั้นเห็นเป็นค่ายเดียว  เพราะตั้งค่ายริมสูงใหญ่โตกว้างขวางกว่าค่ายกลาง  ตั้งชิดติดเนื่องกันทั้ง ๓ ค่าย  ลาวเวียงจันทน์ตั้งค่ายอย่างนี้ดูท่วงทีเป็นรูปพรรณแม่ไก่กกลูก  ถ้าใต้เท้ากรุณาเจ้ายกกองทัพไทยไปตั้งเป็นกระบวนกากางปีกให้เป็นนามกรอริกันกับรูปค่าย  ยกออกไปสู้รบกับข้าศึกก็จะได้ชัยชนะแก่ลาวเป็นมั่นคง  กับได้พิเคราะห์ดูรี้พลลาวในค่ายและนอกค่ายนั้น  ประมาณดูราวสัก ๗,๐๐๐ เศษ  แต่แม่ทัพลาวนั้นเป็นเจ้าอนุหรือเจ้าราชวงศ์ยังสงสัยอยู่  หารู้แน่ไม่”

(https://i.ibb.co/820W8Sp/Unti-tle-d-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายหนานเมืองมาลาวพุงดำกลับมาแจ้งความว่า      “ได้ไปสืบข่าวราชการศึกได้ใจความมาแต่เขมรป่าดงว่า  เจ้าสุทธิสาร กับเจ้าราชวงศ์ เจ้าโอ ทั้งสามนี้  ไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมครอบครัวลาวที่ซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง  ได้มาเข้าเป็นกำลังหลายพันเกือบหมื่น  กำลังจัดกองทัพมาตีเมืองตามลำแม่น้ำโขง  เดี๋ยวนี้เจ้าราชวงศ์ยกลงมาตั้งอยู่ที่เมืองศรีษะเกศ  เจ้าสุทธิสารมาตั้งอยู่เมืองเดชอุดม  เป็นสองทัพใหญ่ ๆ  กำลังจัดแจงช้างม้าโคต่างกระบือเกวียน  จะถ่ายลำเลียงขนเสบียงอาหารไปไว้ที่เมืองภูเขียว  แล้วจะยกไปตีเมืองนครราชสีมาอีก  คราวนี้ราษฎรพลเมืองลาวมีความนิยมนับถือเข้าเป็นกำลังเจ้าราชวงศ์มาก  เพราะสงสารเจ้านายเก่าแก่ของตน  ได้ความตกยากลำบากนัก  จึงเข้าช่วยกู้บ้านกู้เมืองให้เจ้านายของตนเป็นใหญ่  เจ้าเมืองกรมการเพี้ยท้าวพระยาลูกลาวผู้ใหญ่ไม่สู้จะเข้าด้วย  หลีกเลี่ยงเข้าป่าเข้าดงไปเสียมากหลายบ้านหลายเมือง  เพราะเห็นว่าเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์เป็นคนพาลคนโกง  ก่อการให้บ้านเมืองได้ความเดือดร้อนเปล่า ๆ  หาประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียว  ผลประโยชน์ของพลเมืองราษฎรจะเสียไม่ว่า  หาแต่การงานของตนตามใจพาล  เพราะฉะนั้นเจ้าบ้านผ่านเมืองขุนนางลาวท้าวผู้ใหญ่ไม่เข้าด้วย  หนีไปอยู่ป่าดงเสียมาก  ได้ยินข่าวเล่าลือกันที่ในป่าดงว่า  เจ้าราชวงศ์จับเจ้าเมืองเขมราชเขมร  และกรมการเมืองเขมร  เมืองเขมราชเขมรฆ่าตายหมด   และครอบครัวเขมรชาวเมืองเขมราช  ทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์รวม ๒๕๐ คนนั้น  ลาวนำไฟคลอกตายหมดทั้ง ๒๕๐ คน  ที่หนีไปได้บ้างก็มีมาก
          ที่เจ้าราชวงศ์ฆ่าเจ้าเมือง กรมการ และราษฎรเมืองเขมรราชเขมรนั้น  เห็นจะเป็นเพราะไม่ยอมเข้าด้วยจึงฆ่าเสีย  กับทราบว่าพระยาสงครามเวียงไชย  ขุนนางผู้ใหญ่ในค่ายเจ้าอนุนั้น  หนีมาอยู่กับเจ้าราชวงศ์  เพราะเหตุเดิมนั้นเจ้าอนุใช้ให้พระยาสงครามเวียงไชยเป็นแม่ทัพรักษาค่ายทุ่งส้มป่อยและค่ายเขาสาร  ก็แตกแก่ไทยทั้งสองตำบล  เจ้าอนุสงสัยว่า  พระยาสงครามเวียงไชยเป็นไส้ศึกแก่ไทย  จึงปล่อยให้ค่ายทั้งสองตำบลนั้นแตกโดยง่าย  เจ้าอนุโกรธพิฆาตโทษพระยาสงครามเวียงไชยไว้ว่า  ถ้าพบจะนำดาบสับให้ละเอียดมิให้กากลืนแค้นคอ  พระยาสงครามเวียงไชยรู้ตัวกลัวเจ้าอนุยิ่งนัก  จะหนีไปทางไหนก็ไม่ได้  เมื่อมาพบเจ้าราชวงศ์ตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งบกหวาน  พระยาสงครามเวียงไชยจึงเข้ามาหาขอช่วยราชการต่อไปโดยการจวนตัว  แต่ไม่สู้จะได้ไว้วางใจทีเดียว  กลัวเจ้าราชวงศ์จะจับตัวส่งไปให้แก่เจ้าอนุบิดาฆ่าเสีย”

(https://i.ibb.co/VCD5b5W/Unt-itle475d-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          เหตุการณ์ทั้งนี้  หนานเมืองมาได้ทราบมาแต่ปากลาวชาวเวียงจันทน์ในค่ายเจ้าราชวงศ์ที่ทุ่งบกหวาน  ออกจากค่ายมาหาเผือกมันในป่ากิน  หนานเมืองมาเห็นดังนั้นจึงชักม้าไล่โอบหลังจับได้ ๑๕ คน  ส่งมายังค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี  แต่นำปืนยิงตายเสีย ๓ คน  เพราะมันต่อสู้จึงฆ่าตาย

(https://i.ibb.co/44gR4zb/Untidfdftled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบความตามลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิทั้ง ๓ คนมาชี้แจงข่าวศึกดังนั้นแล้ว  ก็มีความยินดีเป็นอันมาก  จึงได้พูดกับนายทัพนายกองว่า

           “อันพระยาสงครามเวียงไชยอยู่ในค่ายเจ้าราชวงศ์ครั้งนี้  เหมือนหนีเสือมาปะจระเข้  เปรียบอีกอย่างหนึ่งเหมือนปลาขังอยู่ในข้อง  นับวันแต่จะตาย  อนึ่งพระยาสงครามเวียงไชยผู้นี้ก็เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในเมืองเวียงจันทน์  ไม่ใช่คนโง่เง่า  ดีร้ายคงจะหาโอกาสช่องหนีลาวมาหาที่พึ่งให้พ้นภัย  ถ้าเราหาช่องบอกเข้าไปว่าจะรับธุระอุปถัมภ์ดังนั้นแล้ว  คงจะหนีออกมาหาเราเป็นมั่นคง  ถ้าเราได้ตัวพระยาสงครามเวียงไชยมาไว้ในค่ายเราแล้ว  การที่จะทำศึกสงครามกับลาวเมืองเวียงจันทน์นั้น  เปรียบเหมือนลูกไก่อยู่ในเงื้อมมือของเรา”

          เจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดดังนั้นแล้ว  จึงมีบัญชาสั่งนายทัพนายกองทั้งหลาย  ให้ตระเตรียมช้างม้าโยธาหาญไว้ให้พร้อม  รุ่งขึ้นจะยกกองทัพไปตั้งค่ายใหญ่ที่ทุ่งบกหวาน  จะได้ดูท่วงทีข้าศึกลาวจะหนักเบาประการใด

(https://i.ibb.co/5LGxh5v/dff-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นวันเสาร์ เดือนสิบ ขึ้นสองค่ำ ได้มหาพิชัยฤกษ์  เจ้าพระยาราชสุภาวดีกรีธาทัพขึ้นไปตั้งค่ายที่ตำบลทุ่งบกหวาน  ห่างค่ายเจ้าราชวงศ์ประมาณ ๖๐ เส้นเศษ  ครั้งนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้นายทัพนายกองตั้งค่ายใหญ่เป็นรูปกากางปีกตามความคิดของลาวชาวสุวรรณภูมิ  ซึ่งจะได้เป็นนามค่ายอริกันกับค่ายศัตรู  แล้วขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามตำราพิชัยสงคราม  และตั้งค่ายชักปีกกาถึงกันทั้ง ๗ ค่าย  เป็นค่ายมั่นคงแข็งแรงด้วย

(https://i.ibb.co/jMCf6p2/AK111589.png) (https://imgbb.com/)

          ตั้งค่ายเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้รบกัน  ขณะนั้นหนานเมืองมาลาวพุงดำต้องเกณฑ์เข้ากระบวนทัพด้วย  จึงกราบเรียนเจ้าพระยาราชสุภาวดีขออาสาจะไปเจรจาแทะโลมพระยาสงครามเวียงไชยในค่ายข้าศึกมาให้จงได้  จะขอไปพูดด้วยอุบายซึ่งได้เรียนไว้แล้วนั้น  เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้ประคำทองคำสายหนึ่งเป็นรางวัล  แล้วเขียนหนังสือประทับตราให้ฉบับหนึ่งความว่า      “แม่ทัพไทยได้ตั้งให้หนานเมืองมาเป็นนายทัพนายกองปีกหนึ่ง  เพื่อจะได้นำหนังสือสำคัญนั้นไปสำแดงให้พระยาสงครามเวียงไชยเห็น  แล้วจะได้ไว้ใจว่า  หนานเมืองมาเป็นนายทัพมียศบรรดาศักดิ์จริง”....

(https://i.ibb.co/brZqYd8/fsf-07.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีเคลื่อนเข้าไปตั้งค่ายใกล้ค่ายทัพเจ้าราชวงศ์แล้ว  นับเป็นความโชคดีของเจ้าพระยาราชสุภาวดี  ที่ได้ลาวชาวสุวรรณภูมิมาช่วยงานถึง ๓ นาย
          ลาวน้อยป่านฟ้าอ่านลักษณะค่ายของเจ้าราชวงศ์ได้ชัดเจนว่าเหมือนแม่ไก่กกลูก  จึงเสนอแนะให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกเข้าไปตั้งค่ายเป็นรูปนกใหญ่กางปีกข่มแม่ไก่
          ฝ่ายหนานเมืองมา ลาวพุงดำบุตรข้าราชการผู้ใหญ่เมืองเชียงรายมารับใช้ในกองทัพ  คนผู้นี้เป็นคนรอบคอบ  ไปสืบราชการข่าวลาวมาได้อย่างละเอียด  และยังอาสาจะ  “เข้าถ้ำเสือไปเอาลูกเสือ”  อีกด้วย  หนานเมืองมาจะเข้าไปเกลี้ยกล่อมเอาตัวพระยาสงครามเวียงไชยออกมาอยู่กับทัพไทยได้หรือไม่  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, เมษายน, 2563, 10:25:40 PM
(https://i.ibb.co/JcFjD25/sdfs1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๓๗ -

พระยาสงครามเวียงไชยได้เพื่อนรัก
พากันหักค่ายหนีสมที่หวัง
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพรับประทัง
แล้วแต่งตั้งหนานเมืองมาเป็นทางการ

ให้เป็นแสนท้าวโยนะกะราช
มีอำนาจควบคุมขุมทหาร
ให้ตั้งค่ายหน้าทัพน้อมรับงาน
ประจัญบานทัพลาวเจ้าราชวงศ์


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้คนของเมืองสุวรรณภูมิที่เจ้าศรีวอคัดเลือกมาให้ ๓ นาย  จึงส่งออกไปสืบข่าวราชการศึกได้ความมาชัดเจนแล้ว  จึงสั่งให้กำลังพลเคลื่อนทัพจากที่เดิมเข้าไปทุ่งบกหวาน  แล้วตั้งค่ายเป็นรูปนกกางปีก  ข่มค่ายเจ้าราชวงศ์ที่ตั้งแบบแม่ไก่กกลูก  รอเวลาได้ฤกษ์ที่จะเข้าโจมตี  หนานเมืองมาชาวสุวรรณภูมิที่ได้รับคำสั่งให้ไปสืบข่าวราชการศึกนั้น  ขอรับอาสาเข้าไปในค่ายเจ้าราชวงศ์  เพื่อเกลี้ยกล่อมพระยาสงครามเวียงไชยให้ออกมาสวามิภักดิ์ทัพไทยให้จงได้  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

           “ฝ่ายหนานเมืองมาแต่งตัวปลอมเป็นชาวป่า  หาบผักหักฟืนเดินหลงทางไปใกล้ค่ายเจ้าราชวงศ์  ขณะนั้นกองตระเวนข้างลาวเวียงจันทน์เห็นดังนั้นก็จับหนานเมืองมาได้  แล้วเลิกผ้าที่นุ่งออกดูก็รู้ว่าเป็นลาวพุงดำ  เพราะมีรอยสักน้ำหมึกที่ท้องและขาเป็นสำคัญสังเกตได้  กองลาดตระเวนด่านจับหนานเมืองมาส่งเจ้าราชวงศ์  หนานเมืองมาให้การว่า  เป็นชาวป่ามาหาผักหักฟืน  เดิมบิดาเป็นข้าส่วยขึ้นแก่พระยาสงครามเวียงไชย  บิดาตายเสียหลายปีแล้ว”

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์จึงมีกระทู้ถามว่า      “กองทัพใหญ่ของเจ้านายยกมาตั้งอยู่ดังนี้  ควรหรือเอ็งเป็นแต่ชาวชนบทบ้านป่า  บังอาจมาสอดแนมด้อมมองกองทัพกูผู้เป็นเจ้านาย  โทษมึงถึงตาย  มึงจะว่าอะไรให้ว่าไป”

          ฝ่ายหนานเมืองมามิได้พรั่นพรึงกลัวเลย  จึงตอบว่า      “ตัวข้านี้เป็นชาวป่าเปรียบเหมือนหญ้าแพรก  ซึ่งช้างสารจะชนกันนั้น  หาใช่การงานของข้าพเจ้าไม่  การของข้าพเจ้ามีแต่จะเก็บผักหักฟืนไปเลี้ยงบุตรภรรยาเท่านั้น  หยุดไม่ได้  ต้องจำไปในระหว่างศึกสงคราม  ตามเพศข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนยากจนเข็ญใจ  จะหยุดรอกองทัพท่านไปแล้วจึงจะมาหากินนั้น  กลัวจะอดตาย  จึงได้กล้าหาญมาดังนี้”

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็มีความสงสารจึงมิได้ฆ่า  สั่งให้ส่งตัวอ้ายลาวพุงดำไปให้พระยาสงครามเวียงไชยนายมัน  แต่ว่าอย่าปล่อยให้กลับออกไปจากค่าย  จะเป็นกลอุบายอย่างใดก็ไม่แจ้ง  ครั้นหนานเมืองมาได้พบกับพระยาสงครามเวียงไชย  พระยาเวียงไชยไม่อาจที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้  ด้วยเป็นมิตรสหายที่รักร่วมใจกันมาช้านานแล้ว

          ฝ่ายหนานเมืองมาจึงได้แจ้งความลับให้พระยาสงครามเวียงไชยได้ฟังว่า      “บัดนี้เราได้เป็นนายทัพนายกองของไทย  เรามียศใหญ่ได้พระราชทานประคำทองสายหนึ่ง  และมีหนังสือคู่มือสำหรับตัวเราด้วยว่าเราเป็นนายทัพแล้ว  ครั้นเราได้รู้ว่าสหายมาตกอยู่ในค่ายเจ้าราชวงศ์  เปรียบเหมือนปลาอยู่ในข้อง  คงจะตายไม่ช้าก็เร็ว  เพราะฉะนั้นเราจึงอุตส่าห์แปลงกายปลอมเข้ามาในค่าย  ด้วยหวังใจมารับสหายไปให้พ้นข้าศึกศัตรูดังนี้  เราเข้ามาทั้งนี้เหมือนหนึ่งนำชีวิตมารอกับคมดาบ  อย่าชักช้าเลยจงรีบไปกับเราเถิด  เราจะพาสหายไปถวายตัวกับแม่ทัพไทย  ท่านแม่ทัพคงจะชุบเลี้ยงให้ท่านคงยศบรรดาศักดิ์  และมีความสุขดุจดังเก่า”

          ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชย  ครั้นได้ฟังคำสหายที่เชื่อถือกันมาแต่ก่อนมาชี้แจงให้ฟังดังนั้นแล้ว  ก็มีความยินดีที่จะตามหนานเมืองมาไปหาแม่ทัพไทย  จะได้พ้นจากศัตรูที่ใกล้  ถึงมาทแม้นจะตายก็ยอมตายที่ไกล  ห่างจากชาติเดียวกัน  จึงจะไม่อัปยศ  แล้วพระยาสงครามเวียงไชยจึงประกาศแก่เทพยดาว่า

           “ตัวเราหาความผิดมิได้  เหตุใดเจ้าอนุจึงได้อาฆาตพยาบาท  มุ่งหมายจะทำลายล้างชีวิตเราผู้ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต  สู้อุตสาหะรับอาสาทำการศึกสงคราม  โดยกตัญญูหาผู้เสมอเรามิได้  ตั้งแต่วันนี้สืบไปวันหน้า  ข้าพเจ้ากับเจ้าอนุเป็นขาดข้าขาดเจ้าขาดเหล่าขาดตระกูลกันแต่วันนี้เถิด”

          ครั้นประกาศเทพยดาอารักษ์ดังนี้แล้ว  จึงว่า      “ถ้าเราขืนอยู่ในค่ายเจ้าราชวงศ์ดังนี้  เห็นทีจะไม่พ้นอันตรายแก่ตัวเรา  จำเป็นจำจะต้องไปตามสหาย  ถึงว่าจะตายก็จะสู้ตายด้วยดาบหน้า”      พระยาสงครามเวียงไชยพูดจาดังนั้นแล้ว  ครั้นเวลาค่ำจึงผูกม้าที่มีฝีเท้าอันรวดเร็วสองม้า  ครั้นเวลาสามยามสงัดคน  พระยาสงครามเวียงไชยจึงขึ้นม้าดำถือดาบสองมือสะพายปืนกระบอกหนึ่ง     หนานเมืองมาขึ้นม้าแดงถือดาบสองมือสะพายปืนกระบอกหนึ่ง  พร้อมกันทั้งสองคนจึงชักม้าเป็นสะบัดย่างสะเทิ้นทั้งสองม้า  ตรงเข้าไปที่ประตูค่ายเจ้าราชวงศ์

          ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชยชักดาบฟันลาวที่รักษาประตูค่ายข้างซ้าย  ตายพร้อมกันทีเดียว ๖ คน  ฝ่ายหนานเมืองมาชักดาบฟันทหารลาวที่รักษาประตูค่ายข้างขวา  ตายทีเดียวพร้อมกัน ๖ คนเหมือนกัน  ในค่ายลาวเอิกเกริกอื้ออึงเป็นโกลาหล  ผู้คนแตกตื่นกันเป็นอลหม่าน  ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชยกับหนานเมืองมาทั้งสองคนนั้น  ชักม้าเป็นบาทย่องผยองใหญ่ควบไปหากองทัพไทย  ขณะควบม้าไปนั้นพบกองตระเวนลาว ๘ คน  นั่งเป็นกองอยู่  ลาวเวียงจันทน์กองตระเวนเห็นดังนั้น  ลุกขึ้นสกัดม้าพระยาสงครามเวียงไชยกับหนานเมืองมา  หนานเมืองมานำปืนยิงออกไปสองนัด  ถูกลาวกองตระเวนตายบ้างเจ็บบ้างลำบากบ้าง  จึงได้ควบม้าเลยไปถึงที่หน้าค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี

          ฝ่ายหนานเมืองมาพาพระยาสงครามเวียงไชยเข้าไปหาท่านแม่ทัพใหญ่ในค่าย  แล้วกราบเรียนกิจการที่ได้ไปพูดจาแทะโลมพระยาสงครามเวียงไชยได้มานั้น  แต่ต้นจนปลายให้ทราบเสร็จสิ้นทุกประการ

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงปราศรัยกับพระยาสงครามเวียงไชยว่า      “ท่านจงอุตส่าห์อาสาราชการจนเสร็จศึกแล้ว  เราจะกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ท่านมีความชอบถึงขนาด”      แล้วได้ไต่ถามการบ้านเมืองเวียงจันทน์  และข่าวศึก ณ ค่ายเจ้าราชวงศ์ต่อไป  ได้ข้อความสิ้นเสร็จแล้ว  จึงให้พระยาสงครามเวียงไชยถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อหน้านายทัพนายกอง  เสร็จแล้วเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้ตั้งหนานเมืองมาเป็น  "แสนท้าวโยนะกะราช"  ให้มีเครื่องยศเจียดหมากเต้าน้ำเงินกะไหล่ทอง  ประคำกะไหล่ทองสาย ๑   สับปะทนแดงคัน ๑   ตามที่พระราชทานขึ้นมาสำหรับเครื่องยศนายทัพนายกองที่มีความชอบต่อกิจราชการทัพศึก

          ให้แสนท้าวโยนะกะราช เป็นแม่กองคุมพลทหารลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิ ๑,๐๐๐ คน
          ให้หมอโพนไพรกับน้อยป่านฟ้า  ทั้งสองนั้นเป็นปลัดซ้ายขวา  ชื่อท้าวอินทร ๑   ท้าวพรหม ๑   คุมทหารกองละ ๕๐๐   รวมเป็น ๒,๐๐๐ คน  ยกไปตั้งค่ายอยู่หน้าค่ายพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้าทุ่งบกหวาน

          ครั้นวันศุกร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบค่ำ  เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาสงครามเวียงไชยแต่งกายนุ่งผ้าเกี้ยวสอดสนับเพลาคาดเจียระบาด  สวมเสื้อสนอบอัตลัดดอกใหญ่พื้นชมพู  โพกศีรษะแพรสีทับทิมขลิบทองเป็นหูกระต่าย  สะพายดาบฝักแดงบั้งทองมือถือทวนพู่จามรี  ขึ้นขี่ม้านำหน้าทหารม้า ๓๐ ม้า  ควบม้าไปรำล่ออยู่หน้าค่ายเจ้าราชวงศ์  ร้องเพลงเย้ยเป็นสามารถ  เพื่อจะเย้ายั่วโทโสเจ้าราชวงศ์ให้ไล่ติดตามมาถึงหน้าค่ายกองทัพไทย...........”

          * หนานเมืองมา ลาวพุงดำเชื้อสายขุนนางเมืองเชียงรายคนนี้  มีทั้งใจและฝีมือกล้าแข็งมากทีเดียว  สามารถบุกเข้าไปในถ้ำเสือเอาลูกเสือออกมาได้  ก็สมแล้วที่ได้รับการแต่งตั้งกลางทัพให้เป็นแสนท้าวโยนะกะราช      “แสนท้าว”   เป็นยศของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของลาวล้านนาล้านช้าง  น่าจะเทียบได้กับ  พระ  หรือ  พระยา  ทีเดียว   “โยนะกะราช”   จะแปลว่า   “เจ้าแคว้นเหนือ”  ก็ได้  หรือ   “ผู้เป็นใหญ่แคว้นเหนือ”  ก็ได้   โยนะกะ  คือ  “โยนก”   หมายถึง  เชียงแสน

          ตอนนี้เข้มข้นแล้ว  เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาสงครามเวียงไชยแต่งกายในตำแหน่งแม่ทัพนายกองไทย  พาทหารม้าไปรำ ร้องเพลง หน้าค่ายลาว  จะล่อให้เจ้าราชวงศ์โมโหแล้วไล่ตามมา  จะสำเร็จหรือไม่  พรุ่งนี้ก็มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, เมษายน, 2563, 11:24:45 PM
(https://i.ibb.co/6XC9jvX/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๓๘ -

เจ้าราชวงศ์ไล่ล่าพระยาเก่า
จนเลยเข้าปีกกาล่าจนหลง
ถูกไทยล้อมรุกรบฝุ่นกลบดง
ลมสงบซบผง เห็นองค์กัน

เจ้าราชวงศ์ทะยานม้าหาแม่ทัพ
ได้รบรับกลางวงบ่ทรงยั่น
แม่ทัพไทยเสียท่าเพราะม้านั้น
ล้มคับขันจวนสิ้นแรงถูกแทงตาย


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  หนานเมืองมาปลอมตัวเข้าไปในค่ายเจ้าราชวงศ์  แล้วพาพระยาสงครามเวียงไชยหนีออกจากค่าย  มาหาเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้โดยสวัสดิภาพ

          เจ้าคุณแม่ทัพแต่งตั้งให้หนานเมืองมาเป็น  แสนท้าวโยนะกะราช
          ให้หมอโพนไพร เป็น  ท้าวอินทร
          ให้น้อยป่านฟ้า เป็นท้าวพรหม

(https://i.ibb.co/p107z4G/Untitle-d-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          แสนท้าวโยนะกะราช คุมทหาร ๑,๐๐๐    ท้าวอินทร  ท้าวพรหม คุมทหารคนละ ๕๐๐   รวมกันเป็นทหาร ๒,๐๐๐   ยกไปตั้งค่ายอยู่หน้าค่ายพระยานครสวรรค์  วันรุ่งขึ้นสั่งให้พระยาสงครามเวียงไชยแต่งตัวแบบนายทัพนายกองทหารไทย  ขี่ม้านำหน้าทหารม้า ๓๐ ม้า  ไปรำดาบร้องเพลงยั่วเย้าเจ้าราชวงศ์อยู่หน้าค่ายลาว  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/HT0kNsV/2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งพระยาพิชัยรณฤทธิ์  พระยาวิชิตณรงค์  ให้คุมพลทหารกองละ ๕๐๐   ยกไปซุ่มซ่อนพลเรี่ยรายอยู่ตามป่าสองข้างทางสนามรบ
          สั่งให้ จ้าวอ้น, จ้าวปาน  บุตรเจ้าศรีวอเมืองสุวรรณภูมิ  เป็นนายทัพม้าเร็ว ๑๐๐ ม้า  เป็นกองหนุนทัพซุ่มซ่อน
          สั่งให้พระยามหาสงครามกับพระพิชัย  คุมไพร่พลกองละ ๓๐๐   เป็นปีกซ้ายปีกขวาของทัพหนุน
          สั่งให้หลวงวิสูตรโยธามาตย์, หลวงราชโยธาเทพ  คุมพลกองละ ๓๐๐   เป็นทัพกระหนาบ
          สั่งให้พระยารามกำแหง  คุมพลทหาร ๕๐๐ เป็นกองโจรก้าวสกัดตัดกำลังศึก
          แล้วแต่งกองซุ่มซ่อนเสือป่าแมวเซาไว้สรรพ  ตามตำราพิชัยสงครามรวมเสร็จ  เผื่อเจ้าราชวงศ์จะเป็นบ้าสงครามยกกองทัพไล่ติดตามพระยาสงครามเวียงไชยมาในครั้งนี้  ก็เป็นที่สมความคิดเราแล้ว  ถ้ามิสมดั่งคิดไว้ก็จะได้รู้กำลังศึกด้วย

(https://i.ibb.co/NWKbQ89/13.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพหลวง  มีบัญชาสั่งให้พระยาราชสงคราม  คุมทหาร ๕๐๐ ยกไปตั้งซุ่มพลอยู่ในที่ป่าละเมาะข้างตะวันออก  ถ้าเห็นม้าใช้ในกองทัพไทยไปบอกว่า  เจ้าราชวงศ์ไล่พระยาสงครามเวียงไชยเข้ามาในวงพาดที่ล้อมปีกกาไทยแล้วเมื่อใด  ให้พระยาราชสงครามต้อนพลทหารโห่ร้องทะลวงยกเข้าตีค่าย  และปล้นค่ายเจ้าราชวงศ์ข้างหลัง  อย่าให้ลาวทันตั้งตัวได้  จงเร่งตีให้แตกแต่ในเวลาเดียวให้จงได้  แล้วให้นำไฟจุดคบเผาค่ายลาวเสียให้สิ้น  ลาวจะได้หย่อนกำลังลง  ถ้าพระยาราชสงครามมิทำได้ดังสั่งนั้น  ก็อย่าให้พระยาราชสงครามกลับมาหาทัพหลวงเลย  ให้คิดพาตนรอดไปหาที่พึ่งให้พ้นภัยเถิด  ฝ่ายพระยาราชสงครามยกพลทหารไปซุ่มอยู่  ห่างค่ายเจ้าราชวงศ์ประมาณ ๖๐ เส้น

(https://i.ibb.co/j4KVHKg/101.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาราชสุภาวดี  สั่งให้พระยาราชรองเมืองแม่ทัพหน้าให้อยู่รักษาค่ายหน้าให้มั่นคง
          ให้พระยาวิเศษสงครามคุมพลทหาร ๕๐๐ เป็นทัพแซงตามชายป่า
          ให้พระสินธพคุมพลทหารม้ากองนอก ๑๐๐ ม้า  เป็นกองร้อยคอยเหตุ  สำหรับแจ้งข้อราชการศึกหนักเบาทุกทัพทุกกอง
          สั่งให้เจ้าอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ กับพระเทพภักดี  ผู้ช่วยราชการเมืองนครราชสีมาเป็นบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา  คุมทหารลาวเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐  ยกไปตั้งเป็นปีกกาโอบทางข้าศึกจะมานั้น

(https://i.ibb.co/9rhy3p2/Untit-led-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพอพระยาณรงค์สงครามจางวางส่วยทอง  กับพระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกรมช้างกองนอกเมืองนครราชสีมา  ยกพลช้างม้ามาถึง  จึงให้เข้าในกระบวนทัพใหญ่  ยกไปตั้งรักษาทางฝั่งแม่น้ำโขงด้านหน้าค่ายพระยาราชรองเมือง  เพราะช้างม้าจะได้อาศัยน้ำท่าด้วย  แต่ให้แบ่งทหารกองพระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา  กับทหารกองพระพลสงครามเมืองนครราชสีมา  ออกมาเป็นสองกอง  กองละ ๒๐๐ คน  ให้ไปรักษาด่านทางข้างเขมรไว้ด้วย

          ครั้นจัดทัพพร้อมเสร็จแล้ว  พระยาสงครามเวียงไชยขึ้นม้าพร้อมด้วยทหารม้า ๓๐ ม้า  ไปรำทวนเยาะเย้ยอยู่หน้าค่ายเจ้าราชวงศ์  เพื่อจะล่อให้โกรธ  

(https://i.ibb.co/Wtm2sZK/Untdfitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งเจ้าพนักงานให้ผูกม้าสีจันทน์เป็นม้าสำคัญชื่อว่า  "เหลืองป่อง"  ที่กีบเท้าทั้งสี่มีสีเหมือนทอง สูงศอกคืบ ๑๑ นิ้ว  กำลังกลางตัวม้านั้น ๑๔ กำ  ม้าเหลืองป่องม้านี้มีฝีเท้าม้าว่องไว  ทั้งย่างน้อยย่างใหญ่ได้คล่องแคล่ว  และเคยศึกสงครามมามาก  ไม่ย่อท้อต่อเสียงปืน  เจ้าพนักงานผูกเบาะอานเครื่องมั่นพร้อมแล้วจูงมาเทียบเกยหน้าค่าย  ฝ่ายเจ้าพระยาราชสภาวดีแต่งกายพร้อมด้วยเครื่องสรรพยุทธพร้อมเสร็จ  จึงสวมเสื้อหมวกทรงประพาส  คาดรัดประคตหนามขนุน  สวมแหวนนพเก้าแล้วขึ้นม้าเหลืองป่อง  ดำเนินทัพออกจากค่าย  ครั้งนั้นประดุงดังจอมพยุหโยธาของบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า  เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีขี่ม้ามาถึงท้องสนามรบหน้าค่ายพระยาราชรองเมือง  จึงตรวจพลทหารทุกทัพทุกกอง  เห็นพอจะทำการยุทธสงครามใหญ่ได้

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์อยู่ในค่ายใหญ่  ได้เห็นพระยาสงครามเวียงไชยขี่ม้ารำล่อยู่หน้าค่ายดังนั้นก็โกรธ  จึงร้องไปด้วยสุรเสียงอันดังว่า

           “อ้ายพระยาสงครามเวียงไชย  อ้ายทรยศต่อเจ้านายแล้วหนีไปหาไทย  ได้กลับมาพูดจาหยาบหยามเยาะเย้ยอยู่หน้าค่าย  ให้กูได้ความอัปยศอดสูแก่ไพร่พล  ถ้ากูจับมึงได้เมื่อใดกูจะแล่เนื้อเอาเกลือทา  จะสับมิให้กากลืนแค้นคอเลย”

(https://i.ibb.co/Dbt7SfX/Untifgtled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าราชวงศ์พูดดังนี้แล้วจึงจัดพลทหารเป็นหมวดเป็นกอง  เพื่อจะยกเป็นกระบวนทัพใหญ่ออกไปจับพระยาสงครามเวียงไชยให้ได้ในวันนี้  ถ้าเป็นท่วงทีจะยกเลยลงไปตีค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีให้แตกเสียด้วยในคราวนี้ทีเดียว  ครั้นจัดกองทัพพร้อมแล้ว  จึงเจ้าราชวงศ์แต่งกายนุ่งผ้าแดง  สวมเสื้อแพรสีแดงปักทอง  โพกศีรษะแพรสีแดงมีครุย  ขี่ม้าแดงเป็นสง่า  ดำเนินทัพออกจากค่าย ไล่พระยาสงครามเวียงไชยไปเป็นอลหม่าน  ไม่เป็นกระบวนศึกสงครามได้  ครั้งนั้นผงคลีเป็นละอองฟุ้งตลบไปทั่วทั้งท้องทุ่งเป็นควันมัวมืดไปหมด

          ฝ่ายพระยาสงครามเวียงไชยควบม้าวางใหญ่  ล่อให้เจ้าราชวงศ์ไล่ติดตามตามไปโดยคำสั่งท่านแม่ทัพไทย

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์กับทหารสนิทที่ติดตามไปทัน  ก็ไล่เลยหลงเข้าไปในปีกกากองทัพไทย  ซึ่งตั้งซุ่มไว้ตามชายป่าหาเห็นไม่  เพราะด้วยผงคลีฟุ้งตลบกลุ้มไปทั้งป่าและท้องทุ่ง

(https://i.ibb.co/vvNhYmy/Untidftled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยืนม้าอยู่กลางทุ่งบกหวาน  ได้เห็นเจ้าราชวงศ์ขี่ม้าไล่พระยาสงครามเวียงไชยเข้ามาในที่ล้อมปีกกาไทยดังนั้นแล้ว  จึงสั่งทหารม้าใช้ให้ไปบอกนายทัพนายกองปีกกา  ให้โอบหลังล้อมพลลาวไว้  อย่าให้ลาวฟันฝ่าปีกกาออกไปได้  นายทัพนายกองปีกกาได้ทราบดังนั้นก็ทำตามคำสั่งของท่านแม่ทัพทุกประการ

(https://i.ibb.co/m0XF1nY/Untitl-ed-41.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นลมสงบละอองผงคลีสว่างแล้ว  ลาวกับไทยได้เห็นกายกันถนัดชัดเจน  เจ้าราชวงศ์รู้ว่าไล่เลยเข้ามาในปีกกาที่ล้อม  เป็นการเสียท่วงทีจะถอยหนีก็ไม่ทัน  จำเป็นจำใจสู้รบด้วยจวนตัว  จึงต้อนพลทหารเข้ายิงแย่งแท่งฟันประจัญบานด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอน  พลลาวไทยตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่พลลาวอยู่ในที่ล้อมตายมาก  พลทหารไทยทุกทัพทุกกองก็หนุนเนื่องกันเข้าล้อมลาวและต่อรบด้วยลาว  ดุงดั่งคลื่นในมหาสมุทร

          ขณะนั้นฝ่ายเจ้าราชวงศ์อยู่ในที่ล้อม  จึงหาช่องทางที่จะฟันฝ่าแหวกกองทัพไทยออกไปฝ่ายเดียว  จึงแลไปข้างประจิมทิศ  ก็เห็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีสวมมาลาขี่ม้ายืนอยู่ท่ามกลางพลทหารทั้งหลาย  เจ้าราชวงศ์จึงเข้าใจว่าแม่ทัพใหญ่เข้าใกล้กันวันนี้  คงจะได้กระทำยุทธหัตถ์กันเป็นมั่นคง  

(https://i.ibb.co/4sHhyLK/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าราชวงศ์จึงชักม้าตรงเข้าไปที่หน้าม้าเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นดังนั้น  จึงกระทืบโกลนแผงข้างม้า  ม้าก็วิ่งโผนทะยานเข้าไปใกล้เจ้าราชวงศ์  เจ้าพระยาราชสุภาวดีจะชักม้าไว้เท่าใดม้าก็ไม่หยุด  จึงเสียท่วงทีแก่เจ้าราชวงศ์  เจ้าราชวงศ์ชักม้าหยุดยืนตั้งกายเป็นหลักมั่นคงแล้ว  จึงถือหอกแทงถูกที่ข้างคอไหล่ขวาม้าเหลืองป่อง  ม้าเหลืองป่องล้มทับขาซ้ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีล้มนอนอยู่กับดินดิ้นไม่ไหว  ขณะนั้นเห็นเจ้าราชวงศ์มือถือหอกยกขึ้นจะแทงที่ท้อง  เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงกระเบ่งท้องให้พองออกรับหอกลาว  แต่ตาเขม้นจับอยู่ที่ตรงข้อมือเจ้าราชวงศ์ซึ่งกุมหอกเงื้ออยู่นั้น  ฝ่ายเจ้าราชวงศ์กุมด้ามหอกแทงลงไปที่ท้องเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงแขม่วท้องที่พองอยู่นั้นให้เหี่ยวแห้งเล็กลงไปในทันใดนั้นได้  หอกก็ปักดินลงไปแต่เฉียดท้อง  ท้องเจ้าพระยาราชสุภาวดีหาได้ทะลุไม่  เสื้อขาดสองชั้น  เนื้อเป็นริ้ว  ลึกกึ่งกระเบียด  โลหิตไหลซับ  ขณะนั้นมือซ้ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีกุมด้ามหอกเจ้าราชวงศ์กดลงกับดินไม่ให้ถอนขึ้นได้.....”

(https://i.ibb.co/WxcpFnK/e0b982e0b882e0b887-9-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * อ่านบันทึกตอนนี้แล้วตื่นเต้นมาก  เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง)คาดการณ์วางแผนการรบรัดกุมมาก  ท่านคาดการณ์ว่าเจ้าราชวงศ์จะต้องโกรธพระยาสงครามเวียงไชยจนคลั่งคุมสติไม่อยู่  ไล่ตามมาจนติดกับกองทัพไทยเป็นแน่  แล้วก็จริงดังที่ท่านคาดการณ์ไว้  เจ้าราชวงศ์โกรธพระยาสงครามเวียงไชยสุดขีด  พาพลทหารไล่ล่าไปแบบไม่เป็นกระบวน  ม้าวิ่งเป็นฝูงสับสนจนฝุ่นฟุ้งเป็นตะวันมืดมัวไปทั้งป่า  พระยาสงครามเวียงไชยล่อให้ไล่ตามเข้าไปในค่ายปีกกาไทยได้สำเร็จ  เจ้าราชวงศ์โผนม้าเข้าหาแม่ทัพไทยแล้วตั้งหลักได้  ในขณะที่เจ้าเหลืองป่องของท่านเจ้าคุณแม่ทัพไทยเกิดพยศอะไรก็ไม่รู้  วิ่งทะยานเข้าหาข้าศึกแบบรั้งไม่อยู่  จนถูกเจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทงใส่เข้าที่ซอกคอจนล้มลง  และไม่ล้มเปล่า  ล้มทับขาข้างซ้ายเจ้าคุณแม่ทัพจนลุกขึ้นไม่ได้  เป็นเหตุให้เจ้าราชวงศ์ได้ท่วงทีใช้หอกพุ่งแทง  กะว่าจะแทงท้องแม่ทัพไทยให้ทะลุทีเดียว  แต่เจ้าคุณแม่ทัพมีไหวพริบแก้ไข้เอาตัวรอดได้ในวินาทีสุดท้ายที่ปลายหอกปักลง  ตอนนี้ท่านจับหอกช่วงปลายของเจ้าราชวงศ์ปักพื้นไว้แน่น  เจ้าราชวงศ์ดึงหอกกลับไม่ได้  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร  หยุดพักความตื่นเต้นหวาดเสียวไว้ก่อนนะ  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, เมษายน, 2563, 11:33:15 PM
(https://i.ibb.co/7YbVKRS/Untddgitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๓๙ -

เจ้าราชวงศ์ชักดาบอย่างเร่งด่วน
“น้องม่วง”จวนตัวพลันรีบผันผาย
โผเข้าช่วยทันทีป้องพี่ชาย
ถูกดาบป่ายฟันปาดคอขาดกระเด็น

พระยาสิงห์ได้คิดชักมีดหมอ
แทงมิรอท่าไปทั้งไม่เห็น
ถูกโคนขาเจ้าลาวพลาดเส้นเอ็น
ล้มลงเป็นเป้าจนพลปืนยิง


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยาราชสุภาวดีเผชิญหน้ากันกลางแปลง  เจ้าราชวงศ์ชักม้าเข้าหาแม่ทัพไทย  ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็กระตุ้นม้าเข้าหา  เจ้าเหลืองป่องวิ่งถลันเข้าไป  เจ้าราชวงศ์ใช้หอกแทงสวนถูกซอกคอ  ม้าแม้ทัพไทยล้มลงนอนนิ่ง  ร่างทับขาซ้ายเจ้าคุณแม่ทัพจนดิ้นไม่หลุด  เจ้าราชวงศ์จ้วงแทงด้วยหอกหมายถูกตรงท้องให้ทะลุ  เจ้าพระยาสิงห์แขม่วท้องหลบคมหอกได้  แล้วจับปลายหอกปักพื้นดินไว้แน่นจนเจ้าราชวงศ์ดึงหอกกลับไม่ได้  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/sJdkJLb/Untifdtled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายเจ้าราชวงศ์เห็นว่าแทงด้วยหอกก็หาถูกไม่  จึงโดดลงจากหลังม้า  มือซ้ายกุมด้ามหอกไว้  มือขวาเอื้อมไปชักดาบสะพายแล่งข้างหลังออกมา  เงื้อจะตัดศีรษะเจ้าพระยาราชสุภาวดี  ขณะนั้นหลวงพิพิธ (ม่วง) น้องต่างมารดากันกับเจ้าพระยาราชสุภาวดีนั้น  ถือดาบสองมือวิ่งเข้าไปหมายจะช่วยแก้ไขพี่ชาย  พอเจ้าราชวงศ์ชักดาบสะพายแล่งข้างหลังออกมา  ฟันถูกคอหลวงพิพิธขาดกระเด็นไป

(https://i.ibb.co/MppLFQr/Untfgditled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีนึกขึ้นได้ว่า  มีดหมอมีอยู่ในสนับเพลาเล่มหนี่งพอจะสู้ตามบุญตามกรรมลองดูที  แต่มือซ้ายกุมด้ามหอกลาวกดไว้  มือขวาชักมีดหมอออกจากสนับเพลา  แล้วเอื้อมแทงชุ่ยส่งขึ้นไปถูกโคนขาอ่อนเจ้าราชวงศ์  เจ้าราชวงศ์จึงล้มลง  ดาบหลุดจากมือ  ขณะนั้นนายเทิดกับนายทิมสองคนพี่น้อง  ถือปืนอยู่คนละกระบอกจึงยิงออกไป  กระสุนปืนถูกเจ้าราชวงศ์ที่ริมกระดูกสันหลังแห่งหนึ่ง  ถูกที่ตะโพกแห่งหนึ่ง  หาเข้าทั้งสองแห่งไม่  เป็นแต่หนังเกรียม ๆ

          ขณะนั้นทหารลาวที่ติดตามเจ้าราชวงศ์มานั้น  มันสำคัญเข้าใจว่าเจ้าราชวงศ์นายมันตาย  มันจึงได้ช่วยกันยกหามนายมันขึ้นวางบนแคร่  แล้วหามพาหนีออกไปทางด้านพระรามพินาศ  พระพิเดชสงคราม  นายกองทั้งสองนั้นมีความประมาท  หาสู้ตั้งกองล้อมโดยแข็งแรงไม่  เข้าใจเสียว่าเจ้าราชวงศ์ตายแล้ว  ที่ไหนจะหนีไปได้  เพราะฉะนั้น  จึงมีความเลินเล่อไม่ล้อมเป็นวงพาด

(https://i.ibb.co/RbqyWFP/Untitledgd-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นลาวหามแคร่เจ้าราชวงศ์ไปสักครู่หนึ่ง  พอเจ้าราชวงศ์ได้สติจึงลุกขึ้นจากแคร่  มือคว้าดาบได้เล่มหนึ่งที่บ่าวถือนั้น  โดดขึ้นหลังม้าฟันฝ่ากองทัพไทย  หนีแหกออกไปได้ทางด้านพระรามพิชัยและพระเขื่อนเพชรซึ่งเป็นกองวงสายนอก  หาทันระวังรักษาด้านทางไป  ด้วยตกตะลึงไปขณะที่รบกัน

(https://i.ibb.co/Q6CsP16/Untidftled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะเจ้าราชวงศ์ฟันฝ่าหนีออกไปนั้น  เสียนายทัพนายกองและไพร่พลไทยในที่รบคือหลวงจัตุรงค์โยธี  ถูกหอกซัดลาวตายในที่รบ ๑   หลวงพินิจโยธา ถูกปืนลาวตายในที่รบ ๑   พระพรหมบุรี  ผู้รักษาเมืองพรหมบุรี  ถูกลูกปืนหลังม้าลาวยิงตาย ๑   แต่เสียขุนหมื่นพันทนายไพร่พลตายในที่รบ ๒๙ คน  ที่เจ็บป่วยลำบาก ๓๔ คน  ไพร่ลาวชาวเมืองสุวรรณภูมิถูกอาวุธลาวเวียงจันทน์ตาย ๖๘ คน   แต่ลาวเวียงจันทน์ตายในที่รบเก็บศพได้นายม้าผู้ดี ๘ คน  ไพร่ ๑๘๗ คน  ไพร่พลเวียงจันทน์ที่ตายตามทางประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน

          ครั้งนั้นพลทหารไทยมีความประมาทว่าล้อมลาวไว้แล้วจึงพากันยืนดูเล่นเช่นดูตีกระบี่กระบอง  ไม่ใคร่ระวังรักษาหน้าที่ด้านทางโดยกวดขัน  เพราะสำคัญเข้าใจว่าลาวน้อยตัวแล้ว  ทั้งอยู่ในที่ล้อมจะหนีไปข้างไหนให้พ้นฝีมือไทยได้

(https://i.ibb.co/xJLmJKB/Untitleds-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ขึ้นม้าฟันฝ่ากองทัพไทย  ตีแหกเป็นช่องหนีออกจากที่ล้อมได้  ตรงไปจะเข้าค่ายใหญ่ของตนก็มิได้  ด้วยค่ายของตนเสียแก่พระยาราชสงครามนายทัพไทย  ไทยได้รักษาไว้ทั้งสามค่ายแล้ว   พลทหารลาวในค่ายทั้งสามนั้น  ไทยฆ่าตายมากแล้วจับเป็นได้มาก  ที่เหลือตายก็แตกระส่ำระสายหนีเข้าป่าเข้าดงไปได้บ้างแต่น้อย  ครั้งนั้นพระยาราชสงครามมีชัยชนะได้ค่ายเจ้าราชวงศ์แล้ว  ได้เครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ และกระสุนดินดำ  เสบียงอาหารบริบูรณ์ทุกสิ่ง
          ฝ่ายเจ้าราชวงศ์เห็นค่ายของตนเสียแก่ไทยแล้ว  จึงชักม้ากลับลัดเข้าป่าหนีรุดไปกับทหารที่ร่วมใจ ๔๐ คน  หนีไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง  พอพบเรือพวกลาวชาวบ้านป่าไปเที่ยวหาปลา  เจ้าราชวงศ์ก็ทิ้งม้าเสียที่ฝั่งแม่น้ำโขง  พาทหารร่วมใจลงเรือ ๓ ลำ  รีบเร่งช่วยกันถ่อพายขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง  หมายจะไปถึงเวียงจันทน์โดยเร็ว

(https://i.ibb.co/LCq7dTc/Ugfdntitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าราชวงศ์ฟันฝ่ากองทัพหนีไปแล้วนั้น  ทหารไทยก็กรูกันเข้าไปยกหามม้าที่ตายทับขาเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีลุกขึ้นได้แล้วยกมือแยงเข้าไปในแผล  จึงรู้ว่าแผลตื้น  หนังฉีกเป็นรอยยาวโอบท้อง  ไม่ทะลุเข้าไปข้างใน  จึงเรียกน้ำมันว่านมาหยอดแผล  แล้วแก้รัดประคตหนามขนุนที่เอวออกมา  พันแผลที่ท้องไว้ให้มั่นคงดี  จึงเรียกเสื้อที่ทนายมาเปลี่ยนใหม่  เสร็จแล้วโดดขึ้นแคร่  เร่งคนหามแคร่ไปติดตามเจ้าราชวงศ์ในเวลาวันที่หนีไปนั้น  พร้อมด้วยทหารนำตาม ๓๐๐ เศษ  รีบเร่งติดตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง  แลเห็นเจ้าราชวงศ์กับบ่าวไพร่ลงเรือ ๓ ลำข้ามแม่น้ำโขงไปไกลลิบ ๆ เกือบจะถึงฝั่งฟากข้างโน้นอยู่แล้ว

(https://i.ibb.co/6WjnyBG/image1-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าราชวงศ์กับบ่าวไพร่ช่วยกันถ่อพายเร่งรีบจะขึ้นไป  ถึงเมืองเวียงจันทน์แล้วจึงแจ้งความตามที่ยุทธหัตถ์กับเจ้าพระยาราชสุภาวดีแต่ต้นจนปลายให้เจ้าอนุบิดาฟังสิ้นทุกประการ  แล้วจึงบอกว่า

           “กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีฝีมือเข้มแข็งนัก  ไม่ย่อท้อถอยสักคนหนึ่ง  และไทยได้เมืองยโสธรและเสบียงอาหารกวาดต้อนไปเป็นกำลังมาก  แล้วไปตั้งค่ายใหญ่อยู่เมืองสุวรรณภูมิ  ก็ได้พลเมืองเป็นกำลังเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก  แล้วก็ได้อ้ายพระยาเชียงสากับอ้ายพระยาสงครามเวียงไชยทั้งสองคนไปไว้เป็นกำลังไทย  ไทยจึงได้รู้การตื้นลึกหนักเบาของเราทั้งสิ้น  ข้าพเจ้าก็ได้รบกับเจ้าพระยาราชสุภาวดีตัวต่อตัว  จนถึงตะลุมบอน และถูกแทง  ถูกปืนสองนัดหาเข้าไม่  เป็นแต่เจ็บช้ำ  เห็นเหลือกำลังจะตั้งต่อสู้ไม่ได้  ต้องล่าหนีมา  อีกประการหนึ่งพลทหารในกองทัพเราก็ล้มตายลงมาก  บ้างก็หนีเข้าป่าดงไปมาก  เพราะฉะนั้นจึงเสียค่ายทั้งสามที่ตำบลทุ่งบกหวานแก่ไทย  ไทยได้พลลาวจับเป็นได้มาก”

            (เจ้าราชวงศ์บอกกับเจ้าอนุว่า)  “ครั้งนี้เราเหมือนนกปีกหัก  ถึงมาทว่าเราจะเกณฑ์ผู้คนไปรบอีกเล่า  เห็นจะไม่มีใครเต็มใจไปสู้รบ  เพราะว่าไพร่พลขยาดฝีมือไทยมาหลายครั้งหลายหนแล้ว  และอำนาจเราน้อยถอยลงมากด้วย  ทั้งเสบียงอาหารตามหัวเมืองรายทางแม่น้ำโขงนั้นขัดสน  มันเข้าตาจนไปทุกอย่าง  คิดอย่างหนึ่งแต่จะอพยพหนีไปพึ่งญวนอย่างเดียว  จึงจะพ้นความตาย  ไทยไม่ทำอันตรายแก่เราได้”

           เจ้าอนุ  เจ้าราชวงศ์  เจ้าสุทธิสาร  เจ้าบุตรหลาน  ปรึกษาเห็นพร้อมกันแต่ทางที่จะหนีไปพึ่งญวนฝ่ายเดียว  ดังนั้นแล้ว  เจ้าอนุสั่งท้าวโสให้จัดการบ้านเมืองที่จะล่าหนีไปนั้นให้เป็นแม่กองใหญ่

(https://i.ibb.co/F5BKjQm/asd-06.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นวันอาทิตย์  เดือนสิบเอ็ด  ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  เวลาตีสิบเอ็ดทุ่มเศษ  เจ้าอนุพาครัวอพยพหนีออกจากเมืองเวียงจันทน์  ขึ้นช้างพร้อมทั้งราชบุตรราชธิดาวงศานุวงศ์และสนมกำนัล  ชาวแม่พนักงานทั้งราชเทพีพาหนีขึ้นไปด้วย  แต่สิ่งของทองเงินเครื่องอุปโภคบริโภค  ทั้งเสบียงอาหารนั้น  บรรทุกโคต่างและช้างบ้าง  เดินครัวไปทางข้างทิศตะวันออก  ตรงไปเมืองพวน  ซึ่งเป็นหัวเมืองลาวขึ้นแก่ญวน

(https://i.ibb.co/bmgg5RC/14347280s52-1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี  ขึ้นแคร่ติดตามเจ้าราชวงศ์ไปถึงฝั่งแม่น้ำโขง  ไม่ทันเจ้าราชวงศ์  เจ้าราชวงศ์หนีไปใกล้ฝั่งแล้ว  จึงสั่งให้ทหารไปเที่ยวหาเรือจะคิดติดตามไป  เรือก็ไม่มี  จึงกลับมายังค่ายทุ่งบกหวาน
           สั่งให้พระยาเชียงสา  พระยาสงครามเวียงไชย  คุมไพร่พลเมืองสุวรรณภูมิ ๑,๐๐๐ เศษเข้าสมทบทัพพระยานครสวรรค์
           พระยานครสวรรค์คุมพลไทย ๑,๐๐๐ รวมทั้งลาวเป็น ๒,๐๐๐  เป็นทัพหน้า
           ให้พระยาราชรองเมืองเป็นทัพหลังคุมพล ๑,๐๐๐
           ให้พระยาราชสงครามเป็นเกียกกาย  คุมพล ๕๐๐ คน  ยกไปรักษาค่ายเก่าที่ทุ่งบกหวาน เพื่อจะรักษาต้นทางไว้
           ให้พระยา,  พระ,หลวง,  นายทัพนายกองทั้งหลายเป็นปีกซ้ายขวา  กองหน้ากองหนุนพร้อมเสร็จ

           เจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพหลวง  ก็ยกกองทัพใหญ่เร่งรีบมาตั้งค่ายอยู่ที่ค่ายเก่าพรานพร้าว ๔ ค่าย

(https://i.ibb.co/7C6sZth/Untitldfed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ในที่สุดเจ้าพระยาสิงห์ก็รอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์  เจ้าราชวงศ์หนังเหนียวด้วยเครื่องรางของขลัง  หรือเพราะว่าลูกปืนทหารไทยไม่คมพอที่จะชำแรกเนื้อหนังเข้าไปในองค์ท่านได้ก็ไม่รู้นะ  ถูกยิงสองนัดไม่เข้าสักนัดเดียว  เพียงเป็นรอยไหม้เกรียมตรงถูกลูกปืนเท่านั้น  แล้วท่านก็แหวกวงล้อมหนีไปได้ในที่สุด

          และแล้วเจ้าอนุก็ทิ้งลาว  ทิ้งเวียงจันทน์  หนีไปพึ่งญวนอีกครั้งหนึ่ง  เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพหลวงกลับไปตั้งค่ายที่บ้านพรานพร้าวอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, เมษายน, 2563, 10:50:11 PM
(https://i.ibb.co/Vj6pwdR/419654-322637747784447-1518120708-n-01.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๔๐ -

เวียงจันทน์ร้างว่างเจ้าไร้เหล่าทัพ
อนุกับราชวงศ์ไม่คงนิ่ง
กลัวทัพไทยยกล่วงมาช่วงชิง
จึงทอดทิ้งเมืองไปก่อนไทยมา

พระยานครสวรรค์นั้นตามติด
จับคนชิดเจ้าอนุได้มากหน้า
เจ้าสุทธิสาร,เต้,ปาน,ปั้น,พันธนา
เจ้าพระยาแม่ทัพรับสอบความ


          อภิปราย ขยายความ.....

          เมื่อวันวานนี้ผมได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าพระยาสิงห์รอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์  ขณะที่เจ้าราชวงศ์ชักดาบเงื้อขึ้นจะตัดคอท่านเจ้าคุณแม่ทัพนั้น  น้องชายต่างมารดาท่านก็โผเข้าไปช่วยแก้ไข  จนถูกดาบของเจ้าลาวฟันคอขาดกระเด็น  เจ้าคุณแม่ทัพนึกถึงมีดหมอที่ซ่อนไว้ในสนับเพลาได้  จึงชักออกมาแทงไปถูกโคนขาอ่อนเจ้าลาวล้มลง  พลทหารไทยใช้ปืนยิงใส่ร่างเจ้าลาวสองนัด  เจ้าราชวงศ์หนังเหนียว  ถูกยิงสองนัดไม่เข้าเนื้อสักนัดเดียว  เพียงเป็นรอยไหม้เกรียมที่ผิวหนังตรงถูกลูกปืนเท่านั้น  แล้วท่านก็แหวกวงล้อมหนีไปได้ในที่สุด  และแล้วเจ้าอนุก็ทิ้งลาว  ทิ้งเวียงจันทน์หนีไปหมายพึ่งญวนอีกครั้งหนึ่ง  เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพหลวงจากเมืองสุวรรณภูมิ  กลับไปตั้งค่ายที่บ้านพรานพร้าวอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  อ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/tq4mLWz/Untitlhjfed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ในวันที่มาถึงพรานพร้าวนั้น  แต่ยังตั้งค่ายไม่แล้ว  เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้าให้คุมพล ๑,๕๐๐  ยกข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าซ่ม  หาดทรายตื้น ๆ ข้ามพลไปในเมืองเวียงจันทน์ให้ทันท่วงทีลาวให้จงได้
          สั่งพระยาราชสงคราม  พระยาพิชัยรณฤทธิ์  พระยาพิชิตณรงค์  คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ ยกไปเป็นกองหนุน  แต่ให้ยกไปข้ามที่ท่าช้างข้ามท้ายเมืองเวียงจันทน์  ให้ยกเข้าพร้อมกันทุกทัพทุกกอง
          สั่งให้พระยาราชรองเมืองอยู่รักษาค่ายที่พรานพร้าว  และให้เร่งคนทำค่ายให้แล้วโดยเร็ว
          สั่งให้กองพระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา  ยกพลทหาร ๕๐๐ ไปรักษาด่านทางข้างตะวันตก
          ให้พระยาเชียงสา  พระยาสงครามเวียงไชย  คุมคน ๑๐๐ ไปเที่ยวหาเรือใหญ่น้อยตามชาวบ้านเก่า ๆ  เก็บมาไว้เพื่อจะได้ข้ามผู้คนไปในเมืองเวียงจันทน์
          ให้พระพลสงครามกับหลวงบุรินทร  นายด่านเมืองนครราชสีมา  คุมพลทหาร ๕๐๐  ยกไปรักษาทางข้างเมืองหนองคายท่าข้าม

          ครั้งนั้น  พระยานครสวรรค์ก็ยกพลข้ามเข้าไปในเมืองเวียงจันทน์  ได้เห็นแต่เมืองเปล่า  หาได้พบกองทัพลาวตั้งต่อรบไม่  มีแต่ผู้คนที่ป่วยไข้แก่ชราทุพลภาพอยู่ประมาณ ๓๐๐ เศษ  กับครอบครัวฉกรรจ์ที่ไม่ยอมไปกับเจ้าอนุและไม่หนีด้วย  คงอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ประมาณ ๔๐๐ คนเศษ มีนายหมวดนายกองควบคุมอยู่เป็นหมู่ ๆ

          ฝ่ายพระยานครสวรรค์สั่งให้พานายหมวดนายกองครัวมาไต่ถามได้ความว่า

(https://i.ibb.co/XYkSS11/ff10.png) (https://imgbb.com/)

           “เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ พาครัวหนีไปจากเมืองเวียงจันทน์ได้สี่วันแล้ว  เจ้าอนุอพยพครอบครัวขึ้นช้าง  โคต่าง ไปทางทิศตะวันออก  พาครอบครัวไปมาก แต่พวกครอบครัวข้าพเจ้า ๔๐๐ คนเศษนี้  ไม่ยอมไปด้วยเจ้าอนุ  เพราะเห็นว่าเป็นการลำบากพลัดพรากครอบครัว  แล้วก็จะไปไม่ตลอดได้
          และเมื่อเจ้าอนุจะหนีไปนั้น  เจ้าอนุก็สั่งให้ทหารเก็บปืนใหญ่น้อยที่เหลือจากบรรทุกช้างและโคต่างไปไม่หมด  ให้ขนลงทิ้งในแม่น้ำโขงเสียสิ้น  ชั้นแต่พระพุทธรูปงาม ๆ ดี ๆ ก็หาบหามมาทิ้งแม่น้ำโขงเสียด้วย  ทั้งทรัพย์สินเงินทองของใช้สอยของครอบครัวพลเมืองลาวที่เหลือพาไปไม่ได้  เจ้าอนุสั่งให้ทหารขนทิ้งน้ำเสียหมด  แต่เสบียงอาหารในยุ้งฉางนั้น  เจ้าอนุสั่งให้ทหารนำไฟจุดเผาให้สิ้นเชิง  ไม่ให้ไว้เป็นกำลังแก่ไทยต่อไป  แต่พวกครอบครัวที่ไม่ยอมไปด้วยเจ้าอนุนั้น  พากันร่วมใจคิดเกียดกันไว้ไม่ยอมให้เผายุ้งฉาง  จวนจะเกิดเป็นกบฏขึ้นอยู่แล้ว  เจ้าอนุเห็นพวกครัวพร้อมใจกันจะเป็นกบฏ  ไม่ยอมให้เผายุ้งฉางดังนั้น  เจ้าอนุก็พาครอบครัวอพยพหนีไปในเวลาเช้าตรู่”

(https://i.ibb.co/7kDzR23/Untixcdstl0ed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นพระยานครสวรรค์แม่ทัพหน้า  ได้ทราบข้อความตามพวกครัวบอกดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้หลวงยกกระบัตรเมืองนครสวรรค์กับหลวงสุระเสนี  คุมพลทหารที่แบ่งให้ไว้ ๕๐๐ ให้อยู่รักษาครัวลาวในเมืองเวียงจันทน์ไว้  แล้วพระยานครสวรรค์ก็รีบยกกองทัพออกจากเมืองเวียงจันทน์ในวันนั้น  รีบไปติดตามเจ้าอนุไปได้ ๕ วัน  ถึงบ้านไผ่ใกล้เมืองเพ็ญก็ไม่ได้พบเจ้าอนุ  พบแต่ครอบครัวลาวเจ้านายชายหญิงต่าง ๆ ตั้งชุมนุมอยู่ที่ป่าห้วยบ้านไผ่  กำลังกินเข้าเช้าอยู่พร้อมกัน

(https://i.ibb.co/3fx0BNq/Un0titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          หลวงนราธิราชเห็นก่อนดังนั้นจึงใช้ให้ม้าเร็วมาบอกแก่พระยานครสวรรค์  พระยานครสวรรค์ต้อนพลช้างเข้าล้อมไว้โดยรอบ  หมื่นสิทธิกรรม์กรมช้างยกปืนหามแล่นหลังช้างยิง ๒ นัด  กระสุนปืนไปตกใกล้ชุมชนเจ้าหญิง  ถูกเด็กอายุ ๑๑ ปี ตายคนหนึ่ง  ถูกช้างที่บรรทุกของเตรียมจะไปล้มลงตายเชือกหนึ่ง  พวกลาวลุกขึ้นหันหน้ามายกปืนจะยิงต่อสู้บ้าง  เจ้าสุทธิสารเห็นช้างรบไทยมากยกมาล้อมรอบแล้ว  ถ้าจะขืนต่อสู้ก็เห็นจะพากันตายเสียสิ้นเป็นแน่  จึงวิ่งไปห้ามปรามทหารไว้ไม่ให้ยกปืนยิงโต้ตอบไป  ให้เก็บเครื่องศาสตราวุธมาให้หลวงนราธิราช นายทหารไทยกองหน้า  ทหารไทยกองหน้าจึงจับได้เจ้านายชายหญิงลาวทั้งไพร่ได้ทั้งสิ้น  ที่ปากห้วยบ้านไผ่ใกล้เมืองเพ็ญ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสิบเอ็ด  ขึ้นสิบห้าค่ำ  เวลาเช้าประมาณสามโมงเศษ

          จับได้เจ้าชาย ๕ หญิง ๑   คือชาย เจ้าสุทธิสาร ๑   เจ้าเต้ ๑   เจ้าปาน ๑   เจ้าปั้น ๑   เจ้าดวงจันทร์ ๑   เจ้าหญิงคำวรรณ ๑   เป็น ๖ คนนี้
          บุตรเจ้าอนุกับเจ้ารอดหลานเจ้าอนุคนหนึ่ง  เจ้ารูปงามบุตรเจ้าสุทธิสารหนึ่ง  กับนางสนมเจ้าอนุอีก ๓ คนชื่อ  มาลัยหนึ่ง  ชื่อวอนหนึ่ง  ชื่อวันดีหนึ่ง
          จับได้ญาติวงศานุวงศ์เจ้าอนุอีก ๓ คน  ชื่อ  พรหมา ๑   เปรมปรีดา ๑   พระยาเกรียงดี ๑
          กับจับได้หญิงสาวใช้อีก ๑๖ คนแต่ล้วนรูปร่างงาม ๆ ดี ๆ  กับไพร่พลได้ ๔๓ คน

          พระยานครสวรรค์สั่งให้ทหารทำตะโหงกจำพวกลาวเหล่านี้ไว้ทั้งสิ้น  แล้วจึงสั่งให้หลวงทรงวิไชยกับหลวงไกรสงครามคุมไพร่ ๑๕๐ คน  คุมเจ้านายชายหญิงลาวมาส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายพรานพร้าว  แต่พระยานครสวรรค์จึงยกพลทหารติดตามเจ้าอนุต่อไป  สั่งให้พระยาเชียงสากับพระยาสงครามเวียงไชยนำทางตามไปในป่า  ให้หลวงนราธิราชกำกับไปด้วย

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระภักดีนุชิต  กับหลวงโยธาบริบาล  ขุนวิสุทธิเสนี  เป็นตุลาการถามปากคำเจ้าสุทธิสาร  เจ้าสุทธิสารให้การว่า

(https://i.ibb.co/TT7y01D/Untitlseed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อเจ้าอนุหนีไปนั้น  เจ้าสุทธิสาร  เจ้าปาน  เจ้าปั้น  เจ้าเต้  เจ้าดวงจันทร์  หารู้ไม่  ครั้นรุ่งขึ้นจึงรู้  ก็ได้ตามเจ้าอนุไปไม่พบ  ครั้นถึงบ้านดอน  ขอช้างที่นั้นจะได้ขี่ไปตามเจ้าอนุ  ก็ไม่ได้ช้างสักเชือกหนึ่ง  ผู้เลี้ยงช้างบอกว่าเจ้าอนุพาช้างไปเสียหมดแต่เวลาเช้านี้แล้ว  เจ้าสุทธิสารกับญาติพวกพ้องบ่าวไพร่ก็ต้องเดินไปกลางป่า  พอเวลาบ่ายก็ได้พบอ้ายฉิมบ่าวเก่าขี่ช้างนำมา ๔ เชือก  
          อ้ายฉิมแจ้งความว่า  เจ้าอนุใช้ให้นำช้างมารับพวกเจ้านายบุตรหลานตามไป  เมื่อเจ้าสุทธิสารพบอ้ายฉิมนั้น ณ วันเดือนสิบเอ็ด  ขึ้นสิบสี่ค่ำ  อ้ายฉิมบอกว่าเจ้าอนุเดินครัวรอคอยท่าเจ้าสุทธิสารอยู่  แต่ไพร่พลในกองเจ้าอนุนั้นหลบลี้หนีเข้าป่าดงเสียเป็นอันมาก  เหลืออยู่แต่บ่าวไพร่ที่สนิทติดตามไปบ้างเล็กน้อย  หาพอใช้สอยไม่
          บุตรหลานญาติที่ตามไปนั้น  คือ  เจ้าราชวงศ์หนึ่ง  เจ้าเหมนหนึ่ง  เจ้าขัตติยะหนึ่ง  เจ้าหญิงเชียงคำหนึ่ง  ทั้ง ๔ เป็นบุตรเจ้าอนุ  กับเจ้าคำปล้องอัครราชเทพีเจ้าอนุหนึ่ง  กับสนมกำนัลนาง ๖ คน  และไพร่พลที่สนิทตามไป ๓๐ คน  ช้าง ๕ เชือก กับม้า ๕ ตัว  แต่ไพร่พลช้างม้าในกองราชวงศ์นั้น  จะมีไปมากน้อยสักเท่าใด  อ้ายฉิมหาทันสังเกตไม่  เจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์จะแยกย้ายทางกันไป  เพราะเจ้าราชวงศ์ป่วยจะไปทางเรือ  แต่เรือยังหาไม่ได้  เจ้าอนุนั้นไปทางบก  จะไปทางท่าข้ามช้างแล้วจะไปอาศัยอยู่ที่เมืองพวนเขตแดนญวนก่อน”

(สิ้นคำให้การเจ้าสุทธิสารเท่านี้)

(https://i.ibb.co/rxQgCqQ/that1-540x300.jpg) (https://imgbb.com/)

           * เมืองเวียงจันทน์กลายเป็นเมืองร้างอีกครา  เมื่อเจ้าอนุพาครัวหนีกองทัพไทยไปญวน  หนีไปคราวนี้เริ่มต้นไปทางบก  มุ่งสู่เมืองพวน  ซึ่งเป็นลาวเมืองขึ้นแก่ญวน  คราวนี้มีสภาพ  “บ้านแตกสาแหรกขาด”  รีบไปอย่าง “ตาลีตาลาน” เพราะกลัวจะถูกครัวลาวชาวเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ  ไม่ทันได้ชักชวนบอกเล่าเจ้าสุทธิสาร โอรสระดับแม่ทัพคนสำคัญ  และโอรสอีกหลายองค์  ไปจนไกลแล้วจึงนึกได้  ส่งคนนำช้างมารับ  แต่ก็สายไปแล้ว  เจ้าสุทธิสารและคณะถูกกองทัพพระยานครสวรรค์ตามจับมาได้  ส่วนตัวเจ้าอนุนั้น ไพร่พลก็หลบลี้เข้าป่าดงไปเกือบหมด  มุ่งเดินบกไปเมืองพวน  ส่วนเจ้าราชวงศ์ที่ยังอยู่ในอาการบาดเจ็บจากการรบตะลุมบอนกับเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) ที่ทุ่งบกหวาน  อาการยังไม่ดีขึ้น  จึงขอแยกทางเดินคนละทางกับบิดา  โดยขอไปทางเรือ  ขณะที่เจ้าสุทธิสารให้การอยู่นั้น  เจ้าอนุยังไปไม่ถึงเมืองพวน  เจ้าราชวงศ์ยังหาเรือโดยสารไปเมืองพวนยังไม่ได้  กองทัพพระยานครสวรรค์จะติดตามจับตัวเจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์ได้หรือไม่  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, เมษายน, 2563, 11:06:41 PM
(https://i.ibb.co/MBsHxmQ/Untitdfrled-3.jpg) (https://imgbb.com/)


- อานามสยามยุทธ ๔๑ -

ครั้นญวนรู้เรื่องราว “ถูกลาวหลอก”
หนังสือบอกหนึ่งฉบับแม่ทัพสยาม
เจ้าอนุฉบับหนึ่งซึ่งหมายปราม
ส่งในนามเจ้าแผ่นดินธานินทร์ญวน

เสียดายว่าฝ่ายไทยเข้าใจผิด
ผลาญชีวิตขุนนางเวียดนามห้วน
เหตุเกิดนครพนมไม่สมควร
เป็นชนวนสงครามใหญ่รบหลายปี

           อภิปราย ขยายความ........................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เมืองเวียงจันทน์กลับกลายเป็นเมืองร้างอีกครา  เมื่อเจ้าอนุพาครัวหนีกองทัพไทยไปญวน  ไปคราวนี้เดินทางบก  มุ่งสู่เมืองลาวพวนซึ่งเป็นเมืองขึ้นแก่ญวน  ไปแบบมีสภาพ “บ้านแตกสาแหรกขาด”  รีบร้อน ไม่ทันได้ชักชวนบอกเล่าเจ้าสุทธิสาร  โอรสระดับแม่ทัพคนสำคัญ  และโอรสอีกหลายองค์  เดินทางไปจนไกลแล้วจึงนึกได้  ส่งคนนำช้างมารับ  แต่ก็สายไปแล้ว  เจ้าสุทธิสารและคณะถูกกองทัพพระยานครสวรรค์ตามจับมาได้  ส่วนตัวเจ้าอนุนั้นไพร่พลก็หลบลี้เข้าป่าดงไปเกือบหมด  มุ่งเดินบกไปเมืองพวน  ส่วนเจ้าราชวงศ์ที่ยังอยู่ในอาการบาดเจ็บจากการรบขั้นตะลุมบอนกับเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ทุ่งบกหวาน  อาการยังไม่ดีขึ้น  จึงขอแยกทางเดินคนละทางกับบิดา  โดยขอไปทางเรือ  ขณะที่เจ้าสุทธิสารให้การแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดียู่นั้น  เจ้าอนุยังไปไม่ถึงเมืองพวน  เจ้าราชวงศ์ก็ยังหาเรือโดยสารไปเมืองพวนยังไม่ได้  กองทัพพระยานครสวรรค์จะติดตามจับตัวเจ้าอนุกับเจ้าราชวงศ์ได้หรือไม่  มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/K9ZCWcr/U789ntitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ฟังคำให้การเจ้าสุทธิสารดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้เกณฑ์คนเพิ่มเติมอีก ๕๐๐ คน  ให้พระยารามกำแหงคุมพลทหารไปสมทบเข้าในกองพระยานครสวรรค์  ให้ชวยกันติดตามเจ้าอนุให้ได้
           แล้วให้พระยาอภัยสงครามคุมพลไพร่ในพระราชวังบวรฯ ๕๐๐ คน  ยกไปตามเจ้าราชวงศ์ทางเมืองมหาชัยกองแก้ว  ให้ยกเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปจึงจะทัน
           ให้หลวงภักดีสงครามเมืองนครราชสีมา  นำทัพพระยาอภัยสงครามตามเจ้าราชวงศ์
           แล้วสั่งให้พระยาประกฤษณุรักษ์กับพระศุภมาตราเมืองนครราชสีมา  กับพระพิพิธเดชะ  หลวงวิเศษธานี  หลวงงำเมือง  หลวงไกรนารายณ์  คุมไพร่พล ๑๕๐ คน  คุมตัวเจ้าสุทธิสารและเจ้าชายหญิงบุตรหลานญาติเจ้าอนุ  ลงมาส่ง ณ กรุงเทพฯ  ให้ลงไปทางเมืองนครราชสีมา

(https://i.ibb.co/VgLVJSn/Untitle88d-6.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ยกกองทัพไปตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ที่วัดจันทน์  ให้ตั้งค่ายใหญ่  แล้วแบ่งคนให้พระยาราชรองเมืองไปตั้งรักษาอยู่ที่นอกเมืองตามชายหาด  ให้พระยาราชสงครามแบ่งคน ๕๐๐ อยู่รักษาค่ายที่พรานพร้าว
          ครั้งนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พลทหารไปรื้อทำลายบ้านเมืองเวียงจันทน์เสียสิ้น  เว้นไว้แต่ศาลเจ้าและวัดเท่านั้น  ฝ่ายเพี้ยเมืองจันทน์และเพี้ยเมืองซ้ายก็พากันเข้ามาหาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีมิได้ถือโทษ  โปรดให้เพี้ยทั้งสองคนไปติดตามเกลี้ยกล่อมต้อนครอบครัวเมืองเวียงจันทน์ที่หนีไปป่าดง  ได้มามากน้อยเท่าใดจึงให้ส่งข้ามฟากไปให้พระยาราชสงครามและพระยาราชรองเมืองรวบรวมไว้ที่ค่ายพรานพร้าว  กำหนดจะได้กวาดต้อนครอบครัวลาวส่งไปกรุงเทพฯ ณ เดือนสิบสอง

           เจ้าพระยาราชสุภาวดีคิดอ่านตัดรอนผ่อนกำลังรี้พลลาวให้น้อยลงสิ้นหวงใย  เจ้าอนุจะได้ไม่มาคิดตั้งบ้านเมืองต่อไป  จะให้เมืองเวียงจันทน์ยังอยู่แต่แผ่นดินเปล่า  เป็นป่าดงไปตามพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัว

(https://i.ibb.co/K2XrwRk/Untitlfded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระยาราชสุภาวดีสั่งให้คนลงดำน้ำหาปืนใหญ่น้อย  ที่เจ้าอนุเก็บของพระยาพิชัยสงครามไว้ได้ ๕๐๐ กระบอก  แล้วเจ้าอนุทิ้งน้ำเสียสิ้นเมื่อจะหนีไปนั้น  ฝ่ายกองทัพไทยดำปืนใหญ่น้อยได้สิ้นทุกกระบอก  และได้เงินทองของต่าง ๆ เป็นอันมาก  เงินทองที่ดำได้ในแม่น้ำโขงนั้น  ให้แบ่งเป็นสิบส่วน  ยกให้ผู้ดำได้ ๒ ส่วน  เป็นหลวง ๘ ส่วน  เว้นปืนและอาวุธหรือพระพุทธรูปไม่มีสิบลดสอง  ครั้งนั้นได้พระพุทธรูปนาคปรกทองคำองค์หนึ่ง  ทองคำหนักห้าชั่งเจ็ดตำลึงสองบาท  พระเนตรฝังพลอยนิลข้างหนึ่ง  แต่ข้างหนึ่งหลุดหายหาไม่ได้  ได้ปืนปากแตรรูปคล้ายดอกลำโพงยาวสิบเอ็ดคืบ  มีรูชนวนเต้าดินคร่ำทองคำ เป็นลายลดน้ำทั้งกระบอก (เห็นจะเป็นปืนหลังช้างของลาว)

(https://i.ibb.co/WsnZgw9/emperor-minh-mang.jpg) (https://imgbb.com/)

           * ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามทรงทราบว่า  เจ้าอนุทำการวุ่นวาย  ฆ่าฟันผู้คนในกองทัพไทยตายมาก  หาเหตุที่ไทยไม่ได้ข่มเหงลาวเลย  เจ้าอนุไม่ตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริต  ดังที่เจ้าอนุกราบทูลพระเจ้าเวียดนามนั้นไม่  พระเจ้าเวียดนามจึงรับสั่งให้องทงเจอัครมหาเสนาบดี  มีหนังสือมาถึงแม่ทัพไทยฉบับหนึ่ง  ถึงเจ้าอนุฉบับหนึ่ง  มีท้องตราบังคับสั่งให้เจ้าเมืองล่าน้ำ (แง่อาน)  จัดขุนนางกรมการญวนกับไพร่ญวนลาว  ถือหนังสือมาถึงเจ้าอนุและแม่ทัพไทยให้ได้ตามรับสั่งพระเจ้าเวียดนาม

(https://i.ibb.co/ckrGsCp/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นเจ้าเมืองแง่อานทราบท้องตราบังคับสั่งมาเสนาบดีดังนั้นแล้ว  จึงจัดให้กายโดยทุงเป็นหัวหน้า  ให้ดินยุดเวียหูคน ๑   เป็นล่ามพูดภาษาลาวได้  กับไพร่ญวนลาวหัวเมืองขึ้นรวม ๕๐ คน  ขึ้นช้างดินบกมาลงเรือที่ท่าหน้าเมืองมหาชัยกองแก้ว  ครั้นล่องเรือมาถึงเมืองนครพนม  ญวนทราบว่าเจ้าอนุหนีไปอยู่ในเมืองพวนเขตแดนญวนแล้ว  ขุนนางญวนจึงได้ใช้ให้ล่ามไปหาแม่ทัพไทยที่เมืองนครพนม  ล่ามก็แจ้งความว่าญวนนำหนังสือมาให้แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย  แล้วจะขอพบพูดจากับท่านแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยด้วย  ฝ่ายพระวิชิตสงครามวังหน้า ๑   หลวงนรารณรงค์ ๑   หลวงจงใจยุทธ ๑   ซึ่งตั้งทัพเป็นด่านอยู่ที่เมืองนครพนม  ทราบความตามที่ญวนล่ามมาบอกดังนั้นแล้ว  จึงบอกกับญวนว่า

            “แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยอยู่ไกลถึงค่ายพรานพร้าว  จะมีหนังสือขึ้นแจ้งข้อราชการก่อน  เมื่อมีบัญชาโปรดมาประการใดจึงจะให้ญวนรู้ต่อภายหลัง  บัดนี้ให้ญวนพักอยู่ที่นี่ก่อน  จะจ่ายเสบียงอาหารให้กินทั่วทุกคนที่มา  มิให้อดอยาก  ขุนนางญวนได้ทราบดังนั้นก็ต้องคอยอยู่ที่เมืองนครพนม

(https://i.ibb.co/YRPg8cz/Untitl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระวิชิตสงครามมีหนังสือบอกข้อราชการญวนใช้ให้ขุนหาญฤทธิ์รณรงค์ถือหนังสือขึ้นไปให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาให้มีหนังสือตอบว่า

            “ครั้งก่อนนั้นพระยาพิชัยสงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  หลวงสุเรนทรวิชิต  กับไพร่ไทยห้าร้อยหกร้อยมีความประมาท  เพราะหลงเชื่อถือถ้อยคำญวนที่มาส่งเจ้าอนุลาว  ไทยจึงได้ตายเกือบ ๗๐๐ คนครั้งหนึ่งแล้ว  ครั้งนี้อ้ายญวนมันจะมาล่อหลอกไทยให้ตายอย่างครั้งก่อนอีก  จะคบหามันไม่ได้  ให้กำจัดญวนเหล่านั้นเสียจากเขตแดนไทยให้สิ้นเชิง”

           ฝ่ายพระวิชิตสงคราม  หลวงนรารณรงค์  หลวงจงใจยุทธ  ได้แจ้งหนังสือท่านแม่ทัพใหญ่พูดมาเป็นนัยในสองทางดังนี้นั้น  จึงสำคัญผิดคิดไปว่าจะให้ฆ่าญวนเสียให้สิ้น  จึงสั่งคนใช้ให้ไปล่อลวงขุนนางญวนและไพร่ให้ขึ้นมาพูดว่า   “จะเลี้ยงโต๊ะเป็นการรับรองทางไมตรี”

           ขุนนางญวนไม่รู้กลอุบายไทย  สำคัญใจว่าไทยเชิญให้ไปนั่งโต๊ะจริง ๆ  จึงให้ไพร่อยู่เฝ้าเรือแต่ ๒ คนเท่านั้น  นอกนั้นพากันเข้ามาในค่ายไทยทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/BG63cX8/1438627663-IMG6911-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นขุนนางญวนและไพร่ญวน ลาว ไปนั่งลงในที่ค่ายไทยพร้อมกันแล้ว  นายทัพใหญ่ทั้งสองจึงร้องขึ้นว่า   “พวกเราเร่งลงมือเถิด”   พวกพลทหารไทยที่นัดหมายกันแล้ว  จึงกรูกันเข้าฆ่าญวนตายทั้งนายและไพร่ ๔๘ คน  เหลืออยู่ญวนหนึ่งชื่อเลดินยุดกับไพร่ลาว ๒ คนถูกอาวุธป่วยลำบากอยู่มาก  ยังไม่ตาย  ส่งขึ้นไปให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นแล้วว่า    “นายทหารไทยทำการผิดกับคำสั่งแล้ว  ภายหน้าคงจะเกิดเหตุใหญ่โตกับญวนเป็นแม่นมั่น  ถึงเช่นนั้นไม่เป็นอะไร  เพราะว่าได้ทำการล่วงเกินไปแล้ว  จะทำอย่างไรแก้ไขไม่ได้ในครั้งนี้  จำต้องแก้ฝีมือเมื่อปลายมือ  ตามบุญตามกรรม”

(https://i.ibb.co/hW94rX7/Unfdtitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           * เป็นอันว่า  พระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้วว่า  เจ้าอนุหลอกลวงญวนเพียงเพื่อเอาตัวรอด ใส่ร้ายไทยด้วย  “ขอไปที”  คิดว่าญวนคงจับโกหกตนไม่ได้  แต่ญวนก็เป็นญวนซึ่งเป็นคนฉลาดเฉลียวมากกว่า  เมื่อพระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้ว  จึงมีพระราชประสงค์จะช่วยแก้ปัญหาความชัดแย้งระหว่างไทยลาว  จึงมีหนังสือถึงเจ้าอนุและแม่ทัพใหญ่ของไทย
           เสียดายว่าแม่ทัพใหญ่ไทยยังมิได้อ่านหนังสือของพระเจ้าเวียดนาม  ก็เกิดปัญหาเข้าใจผิดในคำสั่งขึ้นมา  นายทัพไทยที่นครพนมอ่านคำสั่งแม่ทัพใหญ่ผิด  จึงฆ่าขุนนางญวนและไพร่ที่ถือหนังสือมานั้นตายเกือบไม่เหลือ  เจ้าคุณแม่ทัพทราบทันทีว่าจะต้องเกิดเรื่องใหญ่โตระหว่างญวนกับไทยขึ้นอย่างแน่นอน  และเหตุการณ์ฆ่าขุนนางญวนที่ค่ายนครพนมนี่เองคือสาเหตุแห่ง    “อานามสยามยุทธ”    ที่ไทยกับญวนทำสงครามกันยืดเยื่อ  โปรดติดตามอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, เมษายน, 2563, 10:53:37 PM
(https://i.ibb.co/MSPXbgn/6331522024717313755-n.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพวาด เจ้าอนุวงศ์ขณะถูกควบคุมตัวกลับไปที่กรุงเทพมหานคร

- อานามสยามยุทธ ๔๒ -

เจ้าอนุเมียลูกถูกจับได้
ณ เขาไก่ด่านพวนสุดด่วนหนี
เจ้าพระยาราชสุภาวดี
ส่งลงที่กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตรัสเอาตัวใส่กรงเหล็กขังไว้ก่อน
ทำประจานขายหน้าประชากร
ให้สังหรณ์เครื่องสังหารวางลานตา


           อภิปราย ขยายความ........................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้วว่า  เจ้าอนุหลอกลวงญวน  ใส่ร้ายไทยด้วย  “ขอไปที”  คิดว่าญวนคงจับโกหกตนไม่ได้  แต่ญวนก็เป็นญวนซึ่งเป็นคนฉลาดเฉลียวมากกว่า  เมื่อพระเจ้าเวียดนามทรงทราบความจริงแล้ว  จึงมีพระราชประสงค์จะช่วยแก้ปัญหาความชัดแย้งระหว่างไทยลาว  จึงมีหนังสือถึงเจ้าอนุและแม่ทัพใหญ่ของไทย  เสียดายว่าแม่ทัพใหญ่ไทยยังมิได้อ่านหนังสือของพระเจ้าเวียดนาม  ก็เกิดปัญหาเข้าใจผิดในคำสั่งขึ้นมา  นายทัพไทยที่นครพนมอ่านคำสั่งแม่ทัพใหญ่ผิด  จึงฆ่าขุนนางญวนและไพร่ที่ถือหนังสือมานั้นตายเกือบไม่เหลือ  และเหตุการณ์ฆ่าขุนนางญวนที่ค่ายนครพนมนี่เองคือสาเหตุแห่ง   “อานามสยามยุทธ”   ที่ไทยกับญวนทำสงครามกันยืดเยื้อ  โปรดติดตามอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/3MKgmM4/Untitlsdfed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ครั้นเดือนสิบสองขึ้นสิบสองค่ำ  เจ้าน้อยเมืองพวนใช้ให้เพี้ยเมืองกลางกับเพี้ยหัวไชยถือหนังสือมาแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดี  ที่ในค่ายเมืองเวียงจันทน์ว่า

            “เจ้าน้อยเมืองพวนซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นกับญวน  แต่ว่าเขตแดนเมืองพวนติดต่อกับเมืองเวียงจันทน์  เมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพขึ้นมาใกล้เขตแดนเมืองพวน  เมืองพวนจะได้ความเดือดร้อนเพราะเจ้าอนุนั้น  เจ้าน้อยเมืองพวนได้ห้ามปรามเจ้าอนุ  เจ้าอนุไม่เชื่อ  กลับทำการก่อเหตุร้ายต่าง ๆ ให้มาใกล้บ้านเมืองพวน
           บัดนี้  เจ้าน้อยเมืองพวนก็ได้แต่งให้แสนท้าวคุมกองทัพออกลาดตระเวนที่ด่านทางถึงกันทุกตำบล  เพื่อรักษาเขตแดนเมืองพวนด้วย  บัดนี้เจ้าอนุหนีขึ้นไปอาศัยอยู่ใกล้เมืองพวน  เมืองพวนจะจับเจ้าอนุและครอบครัวเจ้าอนุส่งให้กองทัพไทย  มิให้เจ้าอนุหนีไปได้เป็นอันขาด  แต่ขออย่าให้กองทัพไทยยกติดตามเจ้าอนุเข้าไปในเขตแดนเมืองพวนเลย  กลัวว่าไพร่พลเมืองจะสะดุ้งตกใจไปทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง”

           เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้มีหนังสือตอบขอบใจเจ้าน้อยเมืองพวนและสัญญาว่า     “จะไม่ให้กองทัพไทยล่วงเข้าไปในเขตแดนเมืองพวนเลยเป็นอันขาด  เว้นเสียแต่เจ้าน้อยเมืองพวนจะมีอุบายให้เจ้าอนุรอดพ้นไปจากเมืองพวนนั้น  กองทัพไทยจำเป็นจะต้องยกติดตามเข้าไป  จนกว่าจะได้ตัวเจ้าอนุได้เมื่อใดจึงจะกลับเมื่อนั้น”     ครั้นแต่งหนังสือแล้วส่งให้เพี้ยเมืองกลางกับเพี้ยหัวไชย  ถือกลับไปให้เจ้าน้อยเมืองพวน

           ครั้น ณ เดือนสิบสอง  แรมสิบค่ำ  เพี้ยนามโกฏกับเพี้ยอุดมศักดิ์  ก็มาหาเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายเมืองเวียงจันทน์  แจ้งความจริงว่า

            “เจ้าน้อยเมืองพวนใช้ให้ออกเที่ยวลาดตระเวนด่านทาง  บัดนี้พบเจ้าอนุและครอบครัว  เจ้าอนุตั้งพักอยู่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่  ได้ให้กองทัพเมืองพวนพิทักษ์รักษาอยู่ ๑๕๐ คน  ล้อมไว้รอบหนีไปไม่ได้  ครั้นจะจับส่งให้ไทย  ดูไม่ดีไม่งามใจ  ขอให้ไทยแต่งกองทัพขึ้นไปจับตัวเจ้าอนุโดยเร็วเทอญ”

(https://i.ibb.co/940QNMS/Untitdwsled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงสั่งให้  พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ๑   พระอินทรเดชใหม่ ๑   พระหฤทัย ๑   หลวงชาติสุเรนทร ๑   คุมไพร่พล ๕๐๐ ไปตามจับเจ้าอนุ  ให้พระยาเชียงสาเป็นผู้นำทัพไป  ครั้นถึงตำบลหาดเดือย  พบพระลับแลกับนายหนานขัตติยะเมืองน่าน  กับท้าวมหาพรหมเมืองหลวงพระบาง   สามนายคุมพลเมืองของตนกองละ ๓๐๐ บ้าง  ๔๐๐ บ้าง   ทั้งสามกองช่วยกันจับเจ้าอนุและครอบครัวมาได้สิ้น  จำตะโหงกเดินมาทางนั้น  ได้พบกันกับพระยาสุพรรณเวลาจวนค่ำ  พระยาสุพรรณสำคัญว่าเจ้าอนุยกมาจะต่อสู้  จึงสั่งทหารแยกออกเป็นปีกการับทัพลาว  พระหฤทัยกับหลวงชาติสุเรนทรไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงขึ้นม้าสวนทางไปดูข้าศึกว่าจะยกมามากน้อย  จึงเห็นกองทัพแต่งกายสวมเสื้อหมวกกางเกงเป็นเครื่องไทย  พระหฤทัยจำหน้าพระลับแลขี่ม้านำหน้าทหารนั้นได้ถนัด  จึงทราบว่าหาใช่ข้าศึกลาวไม่  เป็นทัพพระลับแลเมืองเหนือกับทัพลาวเมืองน่านเมืองหลวงพระบาง  นายทัพทั้งสามกองมาแจ้งความให้พระยาสุพรรณบุรีฟังว่า

(https://i.ibb.co/7VywwgQ/Untitlrt5ed-01.jpg) (https://imgbb.com/)

            “พระยาพิชัยใช้ให้พระลับแล   เมืองหลวงพระบางใช้ให้พระมหาสงครามและท้าวมหาพรหม   เมืองน่านใช้ให้นายหนานขัตติยะ  ทั้งสามทัพมาพร้อมกันเข้าตามจับเจ้าอนุและครัวได้สิ้น  ที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่โป่ง  หน้าด่านเมืองพวน  ขุนด่านนายด่านเมืองพวนมานำทัพไปตามจับเจ้าอนุ ๑   กับเจ้าบุตรเจ้าอนุ ๓ คน  เจ้าหญิงชื่อคำแพง ๑   เจ้าหญิงชื่อหนู ๑   เจ้าชายชื่อหนูแดง ๑   กับหลานเจ้าอนุคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อเจ้าคำผา   กับภรรยาเจ้าอนุอีก ๖ คน  ชื่อคำปล้องซึ่งเป็นอัครราชเทพี ๑ (ภรรยาหลวง)  และนางสนมอีก ๕ คนชื่อทองดี ๑   คำไส้ ๑   บุษบา ๑   คำเกิด ๑   บุปผา ๑    รวม ๑๑ คน  แต่ตัวนายสาวใช้และไพร่ชายได้ ๔๐ เศษ

           พระยาสุพรรณ  พระอินทรเดช  พระหฤทัย  หลวงชาติสุเรนทร  พระยาเชียงสา  พร้อมกันคุมเจ้าอนุและบุตรภรรยาและญาติครอบครัว  นำมาส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่ค่ายเมืองเวียงจันทน์  เมื่อเดือนอ้ายขึ้นสิบห้าค่ำ  แต่เจ้าราชวงศ์นั้นหาได้ตัวมาไม่  และจะหนีไปแห่งได้ยังไม่ได้ความ

           เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้พระยาสุนทรสงครามซักถามเจ้าอนุ  เจ้าคำแพงบิดาและพี่สาวเจ้าราชวงศ์  เจ้าคำแพงให้การต้องคำเจ้าอนุว่า

           “เจ้าราชวงศ์ถูกแทงและถูกปืนป่วยมา  จะขึ้นช้างเดินบกไปกับเจ้าอนุบิดาไม่ได้  ครั้นถึงท่าช้างข้าม  เจ้าราชวงศ์ใช้บ่าวไปเที่ยวหาเรือเล็กได้สองสามลำ  จึงลงเรือพร้อมด้วยบุตรภรรยาบ่าวไพร่ชายหญิงช่วยกันพายถ่อไป  กว่าจะขึ้นไปถึงบกที่ท่าเมืองมหาชัยกองแก้ว  แล้วจะเดินไปเมืองญวนพร้อมด้วยเจ้าอนุ  เจ้าอนุก็ไม่พบปะกัน  คอยท่าเจ้าราชวงศ์อยู่หลายวันก็ไม่พบปะกัน  คอยเจ้าสุทธิสารก็ไม่พบ  จึงได้พักคอยบุตรหลานอยู่ที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่หน้าด่านเมืองพวน  พวกกองทัพไทยก็ไปจับมาได้ดังนี้”

(สิ้นคำให้การเจ้าอนุ  เจ้าคำแพง  เท่านี้)

           เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบความตามคำให้การเจ้าอนุดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้พระยาณรงค์สงครามคุมพลเมืองนครราชสีมา  กับพระยาพิชัยรณฤทธิ์คุมทัพกรุง  ยกไปติดตามเจ้าราชวงศ์ทางบก  ให้พระยาสงครามเวียงไชยนำทางไป
           สั่งให้พระยาวิชิตณรงค์กับพระยาสุพรรณ  คุมพลทหารยกทัพเรือไปตามเจ้าราชวงศ์  ให้พระยาเชียงสาเป็นทัพนำทางไป  
           ให้พระมหาสงคราม  กับพระอินทรเดช  ยกไปดักทางเมืองเขมร  เผื่อเจ้าราชวงศ์จะไปทางนั้นบ้าง
           ให้พระหฤทัยกับพระรามพิไชย  คุมกองทัพเรือยกไปทางเมืองพง

           ทัพลาวทัพไทยได้แยกย้ายกันไปตามจับเจ้าราชวงศ์หาได้ไม่  สืบถามตามชาวป่าก็ไม่ได้ความว่าไปทางใดทิศใด

           ครั้น ณ วันเดือนอ้ายแรมสิบสามค่ำ  เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้พระอนุรักษ์โยธา ๑   พระโยธาสงคราม ๑   หลวงเทเพนทร ๑   หลวงพิไชยเสนา ๑   พระนครเจ้าเมืองขอนแก่น ๑   ราชวงศ์เมืองชนบท ๑   พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา ๑   รวมเป็นนายทัพนายกอง ๘ นาย  คุมไพร่พล ๘๐๐  คุมตัวเจ้าอนุและครอบครัวลงมาส่งให้ถึงที่เมืองสระบุรี  ซึ่งพระยาพิไชยวารี (โต) ขึ้นไปตั้งรับครอบครัวส่งเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองสระบุรีนั้นแล้ว  พระยาพิไชยวารีจึงสั่งให้ทำกรงขังเจ้าอนุตั้งประจานไปกลางเรือ  จึงพระอนุรักษ์โยธา  พระโยธาสงคราม  คุมเรือเจ้าอนุตีฆ้องตระเวนลงมาตามลำน้ำเมืองสระบุรีถึงกรุงเก่า  

(https://i.ibb.co/CJ6HvrZ/6331522024717313755-n-350.jpg) (https://imgbb.com/)

           จนถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเดือนยี่ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  เจ้าพนักงานนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  โปรดเกล้าฯ ให้จำตรวนเจ้าอนุไว้ที่ทิมแปดตำรวจ  แต่บุตรหลานผู้หญิงกับภรรยาน้อย ๆ ให้ส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/RSh1vBk/116289548.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วมีพระราชโองการ  ดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานทำที่ประจานเจ้าอนุ  ลงที่ตรงหน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท  ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับไว้เจ้าอนุ  แล้วมีรั้วตาตารางล้อมรอบทั้งสี่ด้าน  และทำกรงเหล็กน้อยสำหรับไว้เจ้าบุตรหลานภรรยาญาติเจ้าอนุอีก ๑๓ กรง  ตั้งเรียงต่อ ๆ กันไปเป็นแถว  มีเครื่องกรรมกรณ์สำหรับลงทัณฑ์พวกนักโทษนั้นพร้อม   คือครกสากสำหรับโขลกตาย  เบ็ดสำหรับเกี่ยวปากแขวนให้ตาย  มีกระทะสำหรับทอดต้มให้ตาย  มีขวานสำหรับผ่าอกให้ตาย  มีเลื่อยสำหรับเลื่อยคนนักโทษให้ตาย  มีเชื้อน้ำมันชุบน้ำมันยางคลุมตัวนักโทษ  และจะได้นำไฟจุดไฟให้ไหม้ลุกลามตาย   มีเครื่องทำโทษไว้ครบทุกสิ่งทุกอย่าง   แล้วตั้งไม้ขาอย่าง  มีไม้รวกแหลมเป็นหลาวสำหรับเสียบนักโทษทั้งเป็นครบทุกคน  ตั้งเรียงเป็นแถวกันไปตามท้องสนามหน้าจักรพรรดิคือท้องสนามชัย.......”

           * ในที่สุดเจ้าอนุก็หนีไปไม่รอดเงื้อมมือเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง)  ที่สั่งการให้แม่ทัพนายกองออกติดตามจับทุกทิศทุกทาง  กองของพระลับแล  หนานขัตติยะเมืองน่าน  และหลวงพระบาง  ตามจับได้ก่อนทัพพระยานครสวรรค์ที่ไปถึงในเวลาไล่เลี่ยกัน  จับได้ในเขตเมืองพวน  โดยเจ้าน้อยเมืองพวนให้คนมาแจ้งข่าวว่าพบคณะของเจ้าอนุที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่โป่ง

           เจ้าอนุถูกใส่กรงนั่งกลางเรือแห่ประจาน  ตั้งแต่เมืองสระบุรีจนถึงกรุงเทพมหานคร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โปรดให้ทำกรงเหล็กขังประจานไว้  นำเครื่องประหารนักโทษนานาชนิดมาเป็นเครื่องประดับกรงเหล็ก  ทำนองว่าเจ้าอนุควรจะถูกเครื่องประหารชนิดใดประหารชีวิต  จึงจะสาสมกับโทษที่เขาทำลงไป  พรุ่งนี้มาอ่านดูความกันต่อดีกว่าครับ

เต็ม อภินันท์
วันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ / ๐๕.๓๐ น.
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, เมษายน, 2563, 11:21:35 PM
(https://i.ibb.co/VNwnk31/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๔๓ -

เจ้าอนุถูกประจานไม่นานนัก
เกิดกระอักเลือดตายไปต่อหน้า
ลูกหลานตนพ้นราชอาชญา
หมดปัญหาลาวเนื่องต่อเรื่องญวน

เจ้าเวียดนามสั่งให้จับนายทัพส่ง
โดยเจาะจงตัวมาจะสอบสวน
ค้านว่าไทยล้างเวียงจันทน์นั้นไม่ควร
ก่อชนวนสงครามลามยาวไกล


           อภิปราย ขยายความ........................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ”ที่  ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าอนุหนีไปไม่รอดเงื้อมมือเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง)  ที่สั่งการให้แม่ทัพนายกองออกติดตามจับทุกทิศทุกทาง  กองของพระลับแล  หนานขัตติยะเมืองน่าน  และหลวงพระบาง  ตามจับได้ก่อนทัพพระยานครสวรรค์ที่ไปถึงในเวลาไล่เลี่ยกัน  จับได้ในเขตเมืองพวน  โดยเจ้าน้อยเมืองพวนให้คนมาแจ้งข่าว  ว่าพบคณะของเจ้าอนุที่ตำบลน้ำโฮเชิงเขาไก่โป่ง  แล้วถูกใส่กรงนั่งกลางเรือแห่ประจานตั้งแต่เมืองสระบุรีจนถึงกรุงเทพมหานคร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โปรดให้ทำกรงเหล็กขังประจานไว้  นำเครื่องประหารนักโทษนานาชนิดมาเป็นเครื่องประดับกรงเหล็ก  ทำนองว่าเจ้าอนุควรจะถูกเครื่องประหารชนิดใดประหารชีวิต  จึงจะสาสมกับโทษที่เขาทำลงไป  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/CvFjZkB/116289548.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ครั้นเวลาเช้า ๆ โปรดเกล้าฯ ให้นำนักโทษออกประจานที่กลางสนามหน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท  คืออ้ายอนุ ๑   อ้ายโป่สุทธิสาร ๑   อ้ายเต้ ๑   อ้ายปั้น ๑   อ้ายดวงจันทน์ ๑   อ้ายสุวรรณจักร ๑   รวมบุตรอ้ายอนุ ๗ คน  กับหลานอ้ายอนุอีก ๕ คนคือ  อ้ายสุริยะ ๑   อ้ายง่อนคำใหญ่ ๑   อ้ายคำบุ ๑   อ้ายทองดี ๑   อีคำปล้องอัครราชเทพีมเหสี ๑   รวม ๑๔ คน  ออกมาขังไว้ในกรงเหล็ก  จำครบทุกคน  คนละกรงเรียงกันไป  อีคำปล้องอัครราชเทพีอ้ายอนุนั้น  ให้ถือพัดกาบหมากเข้าไปนั่งพัดอ้ายอนุสามีอยู่ในกรงเหล็ก  ให้ปฏิบัติสามีด้วย  แล้วให้อีเมียน้อย ๆ สาว ๆ แต่งกายนุ่งผ้าซิ่นห่มสีแดง  ถือกะบายมีข้าวปลาอาหาร  ออกไปเลี้ยงผัวที่ในกรงทุกกรง  ทำประจานให้ราษฎรชายหญิงพลเมืองดู  ทั้งในกรุงและนอกกรุงพากันตื่นแตกมาดูแน่นอัดไปทุกเวลาเช้าเย็นมิได้ขาด  ที่ลูกผัวญาติพี่น้องต้องเกณฑ์ไปทัพตายเสียครั้งนั้น  ชวนกันมานั่งบ่นรำพันต่าง ๆ นานา  ทุกเวลาทุกวัน  เพราะโกรธว่าพวกอ้ายลาวนี้ก่อเหตุให้พ่อลูกพี่น้องไปทัพตาย  ครั้นเวลาบ่ายแดดร่มท้องสนาม  พาบุตรหลานอ้ายอนุที่จับมาได้นั้น  ขึ้นขาอย่างเป็นแถวกันไปให้ร้องประจานโทษตนต่าง ๆ  ครั้นเพลาพลบค่ำก็พาลงจากขาอย่างเข้ามาจำตรวนดังเก่า  กระทำดังนี้ประจานอยู่ประมาณ ๗ วัน ๘ วัน  ก็พอเจ้าอนุป่วยลงเป็นโรคลงโลหิตไหลได้ ๓ วันก็ตาย  โปรดเกล้าฯ ให้นำศพอ้ายอนุไปเสียบประจานไว้ ณ ที่สำเหร่  อย่าให้ข้าราชการดูเยี่ยงอย่างอ้ายอนุต่อไป  อ้ายอนุเกิดเมื่อปีกุนนพศก  เมื่อกรุงเก่าแตกเสียแก่พม่า  เมื่ออ้ายอนุตายอายุได้ ๖๐ ปี  การที่ทรงพระราชดำริจะประหารชีวิตบุตรหลานของอ้ายอนุที่ร่วมคิดเป็นขบถนั้น  ก็สงบเงียบไป  ไม่ได้ฆ่าเลย

(https://i.ibb.co/hsNsNvX/minh-mang-emperor.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามได้ทรงทราบว่า  ที่เจ้าน้อยเมืองพวนคิดอ่านเป็นใจ  ใช้คนไปบอกทัพไทยให้ยกกองทัพมาจับเจ้าอนุในเขตเมืองพวน  ซึ่งเป็นราชอาณาจักรของกรุงเวียดนามนั้น  ก็ทรงขัดเคืองพระราชหฤทัยแก่เจ้าน้อยเมืองพวน  ซึ่งเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงเวียดนาม  กรุงเวียดนามจึงโปรดให้องทงเจอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ  มีท้องตราบังคับหาเจ้าน้อยเมืองพวนขึ้นเฝ้า  แล้วดำรัสสั่งให้เสนาบดีกรุงเวียดนามปรึกษาโทษเจ้าน้อยเมืองพวนจะผิดประการใด  ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยปรึกษาพร้อมกันลงเนื้อเห็นว่า

            “เจ้าน้อยเมืองพวนเป็นเจ้าประเทศราช  ข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเวียดนามแล้ว  และไม่ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตภักดีแต่พระเจ้ากรุงเวียดนามตามที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงมานั้น  กลับใจไปนัดหมายให้ไทย  ซึ่งเป็นเมืองนอกพระราชอาณาจักร  ให้ยกทัพเข้ามาจับเจ้าอนุในเขตแดนเมืองพวน  ซึ่งเป็นอาณาจักรกรุงเวียดนาม  ก่อการให้นานาประเทศล่วงมาดูหมิ่นดูถูกพระเกียรติยศกรุงเวียดนาม  ให้เสื่อมเสียอำนาจพระบารมีกรุงเวียดนามไปชั่วฟ้าและดิน  กับเจ้าน้อยเมืองพวนก็ขาดความเมตตาจิต  คิดจับเจ้าอนุลาวชาติเดียวกัน  ส่งให้แก่ไทยชาติ  อันผิดด้วยการล่วงพระราชอาชญากรุงเวียดนามอย่าง ๑   ผิดด้วยขาดเมตตาจิตแก่เจ้าบ้านผ่านเมืองประเทศลาวชาติเดียวกันอย่าง ๑   หาควรที่จะทรงชุบเลี้ยงไว้ไม่  ขอให้ประหารชีวิตเจ้าน้อยเมืองพวนเสียตามกฎหมายในแผ่นดินกรุงเวียดนาม  ให้เป็นตัวอย่างแก่เจ้าประเทศราชลาวและญวนในพระราชอาจักรกรุงเวียดนามต่อไป  อย่าให้ใครทำตามเยี่ยงนี้”

           ฝ่ายพระเจ้ากรุงเวียดนามได้ทราบคำปรึกษาเสนาบดีผู้ใหญ่ดังนั้น  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พนักงานนำเจ้าน้อยเมืองพวนไปฆ่าเสียที่กรุงเว้ (เมืองหลวงญวน)

           พระเจ้าเวียดนามทรงแต่งให้บันชุนเวียนขุนนางฝ่ายทหารรักษาพระองค์  เป็นราชทูต ๑     มาลาถูดิน เป็นอุปทูต ๑     กับขุนนางล่ามพนักงาน ๔ นาย  และไพร่ญวน ๘๐ คน  ลงเรือรบทะเลเชิญพระราชสาส์นกรุงเวียดนามเข้ามากรุงเทพฯ  ราชทูตานุทูตญวนเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ วันเดือนสี่ขึ้นสิบค่ำ

(https://i.ibb.co/YtzVcKh/Untitlefdd-4.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)
รับบทโดย วิวัฒน์ ผสมทรัพย์ ในละคร “ข้าบดินทร์”

           เจ้าพระยาพระคลังจัดการรับรองราชทูตญวนตามธรรมเนียมฝ่ายสยามแต่ก่อนมา  ได้ให้ขุนทรงพานิชกับหมื่นพาทีไพเราะล่ามญวน  แปลพระราชสาส์นญวนเป็นภาษาไทยมีใจความว่า

            “พระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ทรงพระปรารภถึงการสงครามครั้งเวียงจันทน์นั้น  ขุนนางนายทัพไทยชื่อทุงวิไชยฆ่าญวนตายเสีย ๔๘ คนที่เมืองนครพนมฝ่ายลาว  กับขุนนางไทยนายทัพอีกพวกหนึ่ง  ชื่อชิดชุมซุงกิมดอง ๑   ชื่อลงนะรา ๑   พวกนี้ยกทัพล่วงเข้าไปเก็บส่วยในเมืองถู  ตือเขตแดนญวน  ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมเมืองเป็นไมตรีกัน  กรุงเวียดนามเห็นว่าขุนนางไทยซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองซึ่งชื่อว่า  “ทุงวิไชย ๑”   ชื่อ “ชิดชุม ๑”   ชื่อ “ซุงกิมดอง ๑”   ชื่อ “ลงนะรา ๑”   สี่คนนี้มีความผิดมาก  ทำการล่วงเกินอำนาจตนและดูถูกดูหมิ่นอำนาจกรุงเวียดนามด้วย  ข้อที่ดำเนินกองทัพไทยเข้าไปในเขตญวน  เก็บส่วยสาอากรที่เมืองขึ้นแก่ญวน  แล้วก็ฆ่าญวนตาย ๔๘ คนในระหว่างทางราชการต่อกันนั้น  หาชอบด้วยทางยุติธรรมไมตรีกันดีไม่   บัดนี้ ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาส่งตัว   “ทุงวิไชย ๑   ชิดชุม ๑   ซุงกิมดอง ๑   ลงนะรา ๑”   สี่คนผู้มีความผิดนี้ออกไปกรุงเวียดนาม  จะได้ให้ขุนนางผู้ใหญ่ไล่เลียงไต่ถามชำระดูว่า  จะผิดชอบประการใด  จะได้บอกเข้ามาให้ไทยทราบ

           อนึ่ง  เมืองเวียงจันทน์นั้นเล่าก็เป็นเมืองประเทศราช  ถวายดอกไม้เงินทองสิ่งของบรรณาการอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย  คือญวนและไทย  ไม่ควรที่จะให้เมืองเวียงจันทน์สาบสูญเสียเลย  พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงเสียดายเมืองเวียงจันทน์ยิ่งนัก  ด้วยเป็นเมืองสืบเชื้อสายกษัตริย์ลาวมากว่า ๒,๐๐๐ ปี  ก่อนกรุงไทยและญวน  บัดนี้ก็ขอให้กรุงศรีอยุธยาทรงตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ขึ้นดังเก่า  จะได้มีเกียรติยศด้วยกันทั้งไทยและญวน  ซึ่งเป็นพระมหานครใหญ่อุปถัมภ์เมืองน้อยไว้  ให้สืบราชประเพณีโบราณ  นานาประเทศน้อยใหญ่จะได้พูดสรรเสริญกรุงพระมหานครศรีอยุธยาและกรุงเวียดนาม  ซึ่งไทยจะไม่ตั้งเมืองเวียงจันทน์ให้กลับคืนขึ้นเป็นเมืองประเทศราชดังเก่า  จะให้ทิ้งเสียเป็นป่าดงดังนั้นหาประโยชน์ไม่เลย  ประดุจทารกที่ไม่รู้จักเดียงสาหยิบก้อนดินและศิลาโยนขึ้นไปบนกลางอากาศ  แล้วตั้งตาแลดูอยู่ที่ตรงก้อนศิลานั้นก็จะพลัดตกลงมาถูกหน้าเด็กคนนั้นเองฉันใด   ก็ได้แก่ไทยทำกับเวียงจันทน์ฉันนั้น  หาบังควรไม่”

            (มีข้อความญวนพูดบริภาษตัดพ้อต่าง ๆ นานามากมายหลายประการ  แจ้งอยู่ในพระราชสาส์นต้นฉบับเดิมนั้นแล้ว  ไม่ได้นำมาไว้ในฉบับนี้  เพราะเห็นว่าเป็นความซ้ำซาก  ยืดยาว  ป่วยการกล่าวรกโสตผู้ฟัง).........”

           * เจ้าอนุวีรบุรุษลาวสิ้นพระชนม์โดยที่ยังมิได้ถูกประหาร  เพียงแต่ใส่กรงเหล็กประจานให้ประชาชนด่าทอสาปแช่งให้สาใจ  ในฐานะที่เป็นต้นเหตุให้สามีลูกหลาน  ญาติพี่น้องเขา  ถูกเกณฑ์ไปรบลาวแล้วล้มตายไป  เห็นทีว่าเจ้าอนุจะทนถูกประชาชนแช่งด่าไม่ไหวจึงกระอักเลือดตายไปเอง  ส่วนบุตรหลานที่พระเจ้าอยู่หัวตั้งพระทัยจะสั่งประหารชีวิตนั้น  ก็ไม่ปรากฏว่าทรงตรัสสั่งให้ประหารเลยแม้แต่คนเดียว

(https://i.ibb.co/VNBXXX9/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           หมดเรื่องเจ้าอนุไปแล้ว  ญวนก็เริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์  มีพระราชสาส์นมาเชิงบีบบังคับให้ส่งนายทัพนายกองไทย  ที่ฆ่าญวนและยกกองกำลังเข้าไปในเขตญวน  เจาะจงชื่อมา ๔ คน  ชื่อที่ระบุมาให้ส่งไปชำระคดีที่ญวนนั้น  ออกสำเนียงญวนปนไทยว่า  ทุงวิไชย  น่าจะเป็นพระวิชิตสงคราม  นายทัพค่ายนครพนม   ส่วนลงนะรานั้น  แน่นอนว่าคือหลวงนรารณรงค์   และญวนยังได้คัดค้านมิให้ไทยทำเมืองเวียงจันทน์ให้เป็นเมืองร้าง  พระราชสาส์นญวนฉบับนี้ใช้ถ้อยคำหยาบคาย  จนผู้จัดพิมพ์หนังสือนี้ไม่ยอมนำมาลงพิมพ์ให้อ่านกัน  ในเมื่อญวนมีหนังสือมาดังกล่าวแล้ว  ฝ่ายไทยเราจะดำเนินการเรื่องไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, พฤษภาคม, 2563, 10:52:21 PM
(https://i.ibb.co/bHhN6dm/vu-chua-phuc-dung-2.jpg) (https://imgbb.com/)
พระเจ้าเวียดนาม จักรพรรดิ์มิญมาง (1791-1841)

- อานามสยามยุทธ ๔๔ -

หนังสือญวนลามปามคุกคามอีก
ไทยรู้หลีกหลบเมินเผชิญหน้า
พระนั่งเกล้าประจัญด้วยปัญญา
แก้ปัญหาเขาเคืองเรื่องฆ่าญวน

เจ้าเวียดนามสั่งให้จับนายทัพส่ง
โดยเจาะจงตัวมาจะสอบสวน
ทรงแยกแยะเห็นจริงสิ่งที่ควร
ผิดทั้งมวลญวนอนุในเวียงจันทน์


           อภิปราย ขยายความ........................

           เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  เจ้าอนุสิ้นพระชนม์โดยที่ยังมิได้ถูกประหาร  เพียงแต่ใส่กรงเหล็กประจานให้ประชาชนด่าทอสาปแช่งให้สาใจ  ในฐานะที่เป็นต้นเหตุให้สามี  ลูกหลาน  ญาติพี่น้องเขาถูกเกณฑ์ไปรบลาวแล้วล้มตายไป  เจ้าอนุอาจจะทนถูกประชาชนแช่งด่าไม่ไหว  จึงแค้นและเครียดหนักจนกระอักเลือดตายไปเอง  ส่วนบุตรหลานที่พระเจ้าอยู่หัวตั้งพระทัยจะสั่งประหารชีวิตนั้น  ก็ไม่ปรากฏว่าทรงตรัสสั่งให้ประหารเลยแม้แต่คนเดียว  หมดเรื่องเจ้าอนุไปแล้ว  ญวนก็เริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์  มีพระราชสาส์นมาเชิงบีบบังคับให้ส่งนายทัพนายกองไทยที่ฆ่าญวนและยกกองกำลังเข้าไปในเขตญวน  เจาะจงชื่อมา ๔ คน  และญวนยังได้คัดค้านมิให้ไทยทำเมืองเวียงจันทน์ให้เป็นเมืองร้าง   ฝ่ายไทยเราจะดำเนินการเรื่องไปอย่างไร มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/C7WKVN1/Untditlfded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เจ้าพระยาพระคลังนำความตามพระราชสาส์นญวนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งพระราชสาส์นตอบญวน  แต่ราชทูตญวนไม่รับพระราชสาส์นไทยไป  ราชทูตญวนอ้างว่า  “ให้แต่งราชทูตไทยเชิญพระราชสาส์นออกไปตอบแทนเอง  จึงจะชอบด้วยราชการ”

           ครั้งนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังมีท้องตราไปถึงองเลโป  เสนาบดีว่าราชการต่างประเทศฝ่ายญวนฉบับ ๑   ใจความว่า

            “สาส์นตราเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการนานาประเทศกรุงพระนครศรีอยุธยา  ปฏิบัติมายังองเลโป เสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศฝ่ายญวนได้ทราบว่า  ซึ่งจะให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยา  จัดการแต่งตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ขึ้นใหม่นั้น  เห็นว่าจะยังช้าอยู่  เพราะบ้านเมืองกำลังระส่ำระสายอยู่  ผู้คนเสบียงอาหารยังไม่บริบูรณ์  จึงยังตั้งไม่ได้  ข้อที่ว่านายทัพนายกองฝ่ายไทยทำผิดต่อญวนนั้น  ไทยก็จะชำระให้เห็นผิดและชอบตามทางยุติธรรมและทางพระราชไมตรีกันกับญวน  แต่ว่าบัดนี้กองทัพไทยยังไม่กลับลงมาหมด  ผู้ใดจะทำผิดอย่างไรยังไม่รู้แน่  เป็นแต่ได้ทราบในพระราชสาส์นญวนก่อนเท่านั้น  และชื่อเสียงคนที่มีความดังกล่าวมาในพระราชสาส์นนั้น  คือ  ทุงวิไชย  ชิดชุม  ซุงกิมดอง  ลงนะรา  ทั้งสี่คนนี้ฟังดูก็ผิดเพี้ยนชื่อไทยอยู่  ไม่รู้ว่าผู้ใดจะกระทำผิดแน่ลงได้  ถ้ากองทัพไทยกลับมาพร้อมเพรียงกันเมื่อใดแล้ว  จึงจะชำระไล่เลียงดูให้ได้ความตามที่ผู้ใดกระทำผิด  แล้วก็จะทำโทษตามกฎหมายสยามให้  แล้วจึงจะบอกออกไปให้องเลโปเสนาบดีญวนทราบ”

           หนังสือเจ้าพระยาพระคลังประทับตราบัวแก้วแล้วเข้าผนึก  ส่งให้ราชทูตญวน  ราชทูตญวนรับหนังสือแล้วก็ลงเรือรบทะเลของญวน  ใช้ใบออกจากกรุงเทพฯ   ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้กองอาสาจามนำเรือรบไทยทางทะเล  ออกไปส่งราชทูตญวนจนถึงเมืองสมุทรปราการ  เพื่อเป็นการระวังพระนครด้วย

(https://i.ibb.co/zR907WK/DSC2527.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นราชทูตญวนออกไปแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ  พร้อมด้วยความคิดเห็นท่านเสนาบดีว่า

            “เราได้ทราบข้อความในพระราชสาส์นญวนดังนี้  ฝ่ายเราจะไม่แต่งราชทูตไทยออกไปแจ้งข้อราชการให้เจ้าเวียดนามทราบความตามที่มีเหตุใหญ่น้อย  ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างศึกสงครามนั้น  หาสมควรกับเมืองเป็นทางไมตรีกันไม่”

           โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุรักษ์ภูธรเป็นราชทูต ๑   ให้หลวงพิทักษ์นทีเป็นอุปทูต ๑   ให้ขุนพินิจโภคาเป็นตรีทูต ๑   หมื่นเทพจนานามล่ามญวน ๑   ขุนทิพย์วาจาท่องสื่อใหญ่ล่ามจีนญวน ๑    เป็นผู้รู้อักษรจีนญวนด้วย   ราชทูตานุทูตพร้อมกันจัดดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายบังคมลา  แล้วเชิญพระราชสาส์น  คุมเครื่องราชบรรณาการออกไป  โดยทรงยินดีตอบแทนพระเจ้าเวียดนามตามทางพระราชไมตรี  ราชทูตานุทูตลงเรือใบออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนสี่ปีชวดนั้น  ข้อความในพระราชสาส์นครั้งนี้ก็คล้ายกับหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง  ที่ส่งให้ราชทูตญวนออกไปในเดือนอ้ายปีชวดนี้เอง

(https://i.ibb.co/nmN93w6/cite.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายราชทูตานุทูตไทยได้ไปถึงกรุงเว้  ญวนจัดการรับรองตามธรรมเนียมแล้ว  ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นตอบมาฉบับหนึ่ง  พระอนุรักษ์ภูธรราชทูตไทยได้เชิญพระราชสาส์นญวนส่งให้ขุนวิเศษวาทีล่ามจีน  ส่งมาเมืองจันทบุรี  แล้วกรมการส่งเข้ามากรุงเทพฯ  ในความในพระราชสาส์นญวนนั้น  ว่าโดยสังเขป  คือญวนซ้ำกล่าวโทษชิดชุม  ซึ่งฆ่าญวนตายในระหว่างศึกเวียงจันทน์นั้น  ขอให้ผู้ครองฝ่ายไทยส่งตัวชิดชุมออกไปกรุงเว้  ทางพระราชไมตรีญวนกับไทยจึงจะถาวร  อย่าให้ผู้ครองฝ่ายไทยเห็นแก่หน้าตาชิดชุม  ขุนนางผู้ทำผิดคิดมิชอบ  ให้เห็นแก่ทางไมตรีญวนเทอญ

(https://i.ibb.co/dgqgzWL/Untitldsfed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังให้ล่ามแปลพระราชสาส์นญวน  แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงพระราชดำริตามทางพระราชไมตรีโดยสุริตทรงเห็นว่า

            “โทษเจ้าอนุที่คิดขบถต่อกรุงเทพฯ แล้วหนีไปพึ่งญวน  ญวนกลับเห็นแก่เจ้าอนุผู้ขบถ  ให้ขุนนางญวนพาเจ้าอนุมาส่งยังบ้านเมือง  ญวนเป็นสื่อลาวกับไทยจะให้ดีกัน  เพราะฉะนั้น  ไทยจึงหลงเชื่อญวนที่พาลาวมาเวียงจันทน์  เจ้าอนุลาวกลับใจเป็นขบถขึ้นอีก  ยกกองทัพเข้าล้อมฆ่าแม่ทัพไทย  ไพร่พลที่รักษาเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้น  ตายทั้งนายและไพร่ถึง ๗๐๐ คนเศษ  เพราะเหตุที่ไทยหลงเชื่อถ้อยคำญวนไม่ใช่หรือ?

           อนึ่งซึ่ง (ชิดชุม) คือพระวิชิตสงคราม  ขุนนางวังหน้า  เป็นแม่ทัพกองด่านเมืองนครพนม  ฆ่าญวนตาย ๔๘ คน  ซึ่งมาในระหว่างศึกสงคราม  ไทยกับลาวกำลังรบกันอยู่นั้น  พระวิชิตสงครามมีความสงสัยเคลือบแคลงไม่ไว้ใจญวน ๔๘ คนที่มานั้น  เกลือกว่าจะเป็นเช่นคราวญวนมาส่งเจ้าอนุ  เจ้าอนุคิดกันกับญวน  ลอบฆ่าไทยที่รักษาเมืองเวียงจันทน์ตาย ๗๐๐ คนเศษครั้งก่อนนั้นแล้ว  ครั้งนี้พระวิชิตสงครามคิดดังนั้นเหมือนครั้งก่อน  จึงได้ฆ่าญวน ๔๘ คนเสีย  เพราะความเข้าใจต่างกัน  ซึ่ง (ชิดชุม) พระวิชิตสงครามทำการฆ่าญวนตายดังนั้น  ก็เป็นธรรมเนียมของแม่ทัพนายกองด่าน  รักษาราชการศึกสงครามตามกฎหมายฝ่ายสยาม  พระวิชิตสงครามมีความชอบต่อราชการแผ่นดินฝ่ายสยามมาก  จึงไม่เสียราชการแก่ข้าศึกเหมือนเช่นพระยาพิไชยสงครามนั้น  ซึ่งว่า (ชิดชุม) พระวิชิตสงครามมีความผิดต่อกรุงเวียดนามนั้น  เห็นว่าพระวิชิตสงครามมีความผิดน้อยกว่าเจ้าอนุ  เจ้าอนุมีความผิดต่อกรุงเทพฯ มากกว่าพระวิชิตสงครามเสียอีก  เห็นว่าโทษญวนที่มาลวงให้ไทยตายครั้งก่อน  มากกว่าโทษของพระวิชิตสงครามฆ่าญวนครั้งนี้  เพราะฉะนั้นจึงได้ชี้แจงความผิดลาวและญวนหรือไทยมาให้ทรงทราบด้วย  ขอให้ทรงเห็นตามทางยุติธรรม  ขอยกโทษพระวิชิตสงครามเสียครั้งหนึ่ง  เพราะโทษน้อยนัก”

(https://i.ibb.co/JkD326x/26907275-1021507584239044.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลัง  ให้แต่งพระราชสาส์นตอบญวนเป็นข้อความตามที่ทรงพระราชดำริดังที่กล่าวมาแล้วข้างบนนั้น  แต่งพระราชสาส์นเสร็จแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนด่านเมืองเขมร  ส่งต่อไปถึงองเป็นใหญ่ที่เมืองไซ่ง่อน  จะได้ส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนาม ณ กรุงเว้ (ญวน)....”

           * ตอนนี้ควรจะถือได้ว่า  ญวนกับไทยกำลังทำ   “สงครามน้ำหมึก”   กันอยู่  พระราชสาส์นจากพระเจ้าเวียดนาม  ดุเดือดเผ็ดร้อน  มิได้มีความเคารพยำเกรงไทยผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อญวนเลย

(https://i.ibb.co/VCqgMdX/Untitl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           พระราชสาส์นจากไทยสุภาพ  หนักแน่นในเหตุผล  โดยเฉพาะฉบับล่าสุดนี้  พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชวินิจฉัยคดีของชิดชุม  หรือ  พระวิชิตสงคราม  ที่ฆ่าญวนตายนั้น  เปี่ยมด้วยเหตุผลหนักแน่น  แม้พระวิชิตสงครามจะผิด  ก็ยังมีความผิดน้อยกว่าที่ญวนเข้าข้างเจ้าอนุ  พาเจ้าอนุมาส่งที่เมืองเวียงจันทน์  พูดจาให้ไทยเชื่อถือญวนและลาว  จนไทยถูกลาวฆ่าตายไป ๗๐๐ คนเศษ  ความผิดของเจ้าอนุและญวนเป็นโทษมหันต์นัก  ดังนั้นจึงทรงเห็นควรอภัยโทษพระวิชิตสงครามที่ฆ่าญวนตามกฎของสงคราม

           พระราชสาส์นจากไทยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินญวนแล้ว  พระเจ้าเวียดนามจะโต้ตอบประการใด  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, พฤษภาคม, 2563, 10:52:28 PM
(https://i.ibb.co/cYLWfLk/king2.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)

- อานามสยามยุทธ ๔๕ -

แล้วญวนก็บ้าเบ่งมาเร่งเร้า
ให้ตั้งเจ้าลาวใหม่ด้วยหมายมั่น
จะเข้าร่วมตั้งแต่งตำแหน่งกัน
เฝ้าคาดคั้นราวกับบังคับไทย

ถูกโต้กลับหน้าหงายญวนคลายเขื่อง
ว่าเป็นเรื่องของสยามความน้อยใหญ่
ลาวเป็นของเราแท้มาแต่ไร
แล้วญวนไยเสือกมาหาเรื่องเรา


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  มาให้อ่านกันถึงตอนที่  ญวนกับไทยกำลังทำ  “สงครามน้ำหมึก”  กันอยู่  พระราชสาส์นจากพระเจ้าเวียดนามดุเดือดเผ็ดร้อน  มิได้มีความเคารพยำเกรงไทยผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อญวนเลย  พระราชสาส์นจากไทยสุภาพ  หนักแน่นในเหตุผล  โดยเฉพาะฉบับล่าสุดนี้  พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยคดีของชิดชุม  หรือ  พระวิชิตสงคราม  ที่ฆ่าญวนตายนั้น  เปี่ยมด้วยเหตุผลหนักแน่น  แม้พระวิชิตสงครามจะผิด  ก็ยังมีความผิดน้อยกว่าที่ญวนเข้าข้างเจ้าอนุ  พาเจ้าอนุมาส่งที่เมืองเวียงจันทน์  พูดจาให้ไทยเชื่อถือญวนและลาว  จนไทยถูกลาวฆ่าตายไป ๗๐๐ คนเศษ   ความผิดของเจ้าอนุและญวนเป็นโทษมหันต์นัก  ดังนั้นจึงทรงเห็นควรอภัยโทษพระวิชิตสงครามที่ฆ่าญวนตามกฎของสงคราม  พระราชสาส์นจากไทยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินญวนแล้ว  พระเจ้าเวียดนามจะโต้ตอบประการใด  อ่านกันต่อไปครับ.................

(https://i.ibb.co/989sbbs/nguyen-thanh-to-350.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายพระเจ้าเวียดนาม  ได้ทราบความในลักษณพระราชสาส์นกรุงเทพฯดังนั้นแล้ว  ก็ยิ่งทรงขัดเคืองทวีขึ้นเป็นอันมาก  จึงมีพระราชสาส์นเข้ากรุงเทพฯ อีกฉบับหนึ่ง  จึงโปรดให้องเป็นใหญ่ชื่อ  จ๋งเต๊ก (เจ้าพระยา) เมืองไซ่ง่อน  แต่งขุนนางญวนฝ่ายทหาร  ให้เชิญพระราชสาส์นมาส่งที่เมืองจันทบุรี  ทูตญวนไซ่ง่อนถึงเมืองจันทบุรี ณ เดือนหกปีฉลู  พระยาจันทบุรีให้หลวงมหาดไทยถือราชสาส์นญวนเข้ามาส่งกรุงเทพฯ

          เจ้าพระยาพระคลังให้หมื่นทิพย์พจนาล่ามญวน  กับขุนท่องสื่อวังหน้าล่ามจีนและญวน  แปลพระราชสาส์นออกมาเป็นภาษาไทยได้ใจความว่า

           “พระเจ้าเวียดนามขอให้พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เห็นแก่ทางพระราชไมตรีด้วย  ให้ช่วยลงโทษ (ชิดชุม) พระวิชิตสงคราม  ที่ทำผิดต่อกรุงเวียดนาม

          เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสว่า

           “ครั้นจะทำโทษพระวิชิตสงครามนี้  ตามมีพระประสงค์ของพระเจ้าเวียดนาม  ให้หายคลายที่คับแค้นนั้นก็ได้  แต่ว่าทรงคิดละอายพระราชหฤทัยแก่เสวกามาตย์ราชบริพาร  ด้วยพระวิชิตสงครามหาความผิดมิได้  ครั้นจะไม่ทำโทษพระวิชิตสงครามเสียบ้าง  ทางพระราชไมตรีญวนกับไทยคงจะมัวหมองไปภายหน้า”

           (แล้วทรงพระราชดำริว่า)     “พระวิชิตสงครามนั้นเป็นคนเบาความ  ไม่พิจารณาญวน ๔๘ คนนั้นมาดีหรือมาร้าย  หาไต่สวนสืบถามความจริงให้แน่นอนเสียก่อนไม่  นำญวน ๔๘ คนไปฆ่าเสียก่อน  เป็นการละเมิดต่อคำสั่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่”

           (จึงโปรดให้ประชุมเสนาบดีว่า)     “ถ้าทำโทษพระวิชิตสงครามเสียบ้างเล็กน้อยโดยสังเขปคือ  จะลดฐานานุศักดิ์ลงจากพระ  ให้เป็นหลวงเป็นขุนต่อ  พอมีเหตุที่จะได้มีพระราชสาส์นตอบออกไปกรุงเว้  ตามความที่จะต้องพระราชประสงค์ของพระเจ้าเวียดนามนั้น  เห็นจะพอแล้วเลิกกันไปได้”

(https://i.ibb.co/r4pybtc/1e6e77a2f.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นทรงพระราชดำริดังนั้นแล้ว  จึงโปรดให้เสนาบดีแต่งท้องตราตอบออกไปฉบับ ๑  ใจความว่า

           “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา  ทรงเห็นแก่ทางพระราชไมตรีกรุงเวียดนาม  จึงได้ให้ทำโทษพระวิชิตสงคราม  ถอดออกจากที่ขุนนางผู้ใหญ่ไม่ให้เป็นแม่ทัพนายกองแล้ว”    ราชทูตญวนได้รับหนังสือเจ้าพระยาพระคลังแล้วก็ลากลับไป

          ไม่ช้า  ในปีนั้นองเลโปเสนาบดีมีหนังสือส่งให้ขุนนางญวนที่เมืองไซ่ง่อนถือเข้ามากรุงเทพฯ  ให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า

           “เมืองเวียงจันทน์นั้น  ผู้ครองฝ่ายไทยจะจัดแจงแต่งตั้งเจ้าเมืองเมื่อใดเล่า ?  ขอให้มีหนังสือกำหนดออกไป  พระเจ้าเวียดนามจะได้แต่งขุนนางญวนเข้ามาตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์พร้อมด้วยขุนนางไทย”

          แล้วเจ้าพระยาพระคลังนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราตอบญวนฉบับหนึ่ง  ใจความว่า

           “บัดนี้ที่เมืองเวียงจันทน์นั้น  ยังหามีเสบียงอาหารไม่  อีกประการหนึ่งไพร่พลยังระส่ำระสาย  จะควบคุมกันเข้านั้นยาก  การที่จะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์นั้นยังตั้งไม่ได้    (ข้อความนี้เจ้าพระยาพระคลังตอบให้ขุนนางญวนรับไป)

          ไม่ช้าองญวนเมืองไซ่ง่อน  ถือหนังสือองเลโปเสนาบดีกรุงเว้เข้ามากรุงเทพฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับ ๑  ใจความว่า

           “เมืองเวียงจันทน์นั้นผู้ครองฝ่ายไทยได้ตั้งแต่งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ถึงสามเจ้าเมืองมาแล้ว  ก็มิได้บอกไปให้ผู้ครองฝ่ายญวนแต่งขุนนางมาตั้งเจ้าเมืองด้วยสักครั้งหนึ่ง  ครั้งนี้จะตั้งเมื่อใดให้บอกไปยังกรุงเว้โดยเร็ว  จะได้ใช้ให้ขุนนางญวนมาตั้งด้วยพร้อมกับขุนนางไทย”

          เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลทราบแล้ว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสพระราชดำริ  ให้มีท้องตราตอบญวนว่าดังนี้
 
(https://i.ibb.co/DwrGHh8/image1-5-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองประเทศราช  ขึ้นเป็นสิทธิ์ขาดของผู้ครองฝ่ายไทย  โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอนุมีอำนาจมากใหญ่โต  เพราะจะระงับปราบปรามบ้านเมืองลาวปลายแดนไทยกับญวนที่ใกล้เคียงติดต่อกัน  ไม่ให้ล้ำเหลือกัน  เพราะฉะนั้น  เมืองเวียงจันทน์จึงได้เป็นธุระของผู้ครองฝ่ายไทย  ไทยได้บำรุงมาแต่เดิม ๆ หลายชั่วอายุคนมาช้านานแล้ว  เมืองเวียงจันทน์ตกอยู่ในใต้อำนาจไทยแท้ ๆ  เมืองเวียงจันทน์ไม่เคยมีการอันใดเกี่ยวข้องกับญวน  ญวนจะมาถือเป็นธุระตั้งแต่งเจ้าบ้านผ่านเมืองด้วยดังนั้น  ผิดอย่างธรรมเนียมไป

          การเดิมก็ดี  หรือการครั้งเจ้าอนุนี้ก็ดี  มีอยู่ดังนี้  คือเดิมนั้น  ความคิดเจ้าอนุเห็นว่า  บ้านเมืองเวียงจันทน์นั้นติดต่อกันกับเขตแดนญวน  ญวนกับลาวไปมาค้าขายกันอยู่เนือง ๆ  เจ้าอนุจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

(https://i.ibb.co/qpZqYyT/dfsa.jpg) (https://imgbb.com/)

           “จะขอให้ไทยได้อนุญาตให้เจ้าอนุแต่งทูตลาว  ให้ทูตลาวคุมสิ่งของคล้ายบรรณาการไปคำนับพระเจ้าเวียดนามสามปีครั้งหนึ่ง  แต่พอจะได้เป็นท่าทางของลาวไปมาค้าขายกับไพร่บ้านพลเมืองญวน  ผู้ครองฝ่ายไทยทรงพระราชดำริเห็นว่าความคิดเจ้าอนุนั้น  เป็นการทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎรลาว  ซึ่งเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่ในปลายพระราชอาณาเขต  จึงทรงเห็นด้วยความคิดเจ้าอนุนั้น  จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามใจเจ้าอนุเถิด  จะแต่งขุนนางลาวคุมเครื่องบรรณาการไปจิ้มก้องกรุงเว้เวียดนามนั้น  ไม่ทรงรังเกียจว่ากรุงเวียดนามจะเกียจกันเอาปลายเขตแดนลาวเสียบ้าง  เพราะด้วยทางพระราชไมตรีกรุงเทพฯ กับกรุงเวียดนามมีมาช้านานแล้ว  เป็นที่ไว้พระราชหฤทัยดุจดังพระญาติพระวงศ์อันสนิท  เพราะญวนกับไทยคุ้นเคยกันมาช้านานแล้ว  เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงอนุญาตให้เจ้าอนุแต่งขุนนางลาวขึ้นไปจิ้มก้องกับญวน  ญวนจะมาพาโลทึกเอาเมืองเวียงจันทน์ว่า  เป็นเมืองขึ้นของญวน  หรือเมืองส่วยของญวนนั้นไม่ได้เลยเป็นอันขาด

          ถึงแต่ก่อนญวนก็ไม่เคยช่วยจัดแจงแต่งตั้งเจ้าบ้านผ่านเมืองเวียงจันทน์สักครั้งหนึ่งก็ไม่มีเลย  แต่ครั้งนี้ผู้ครองฝ่ายญวนมีหนังสือมาบังคับบัญชาเข้ามาถึงผู้ครองฝ่ายไทยว่า  ให้เร่งบอกกำหนดการซึ่งจะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่ออกไปโดยเร็วนั้น  เนื้อความข้อนี้ผู้ครองฝ่ายไทยเห็นว่า  ญวนประพฤติผิดทางพระราชไมตรีกัน

          อนึ่ง  หัวเมืองลาวที่เป็นเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์  แต่ว่าอยู่ในอาณาจักรสยามนั้น  บัดนี้ผู้ครองฝ่ายญวนก็เกียดกันปกครองไว้ในอำนาจญวน  ญวนก็ถือว่าเป็นเขตแดนของญวนหลายบ้านหลายเมืองแล้ว  ผู้ครองฝ่ายไทยมีความอาลัยระลึกถึงทางพระราชไมตรีซึ่งมีมาแต่กาลก่อน ๆ  จึงสู้อดออมถนอมทางพระราชไมตรีอันสนิทกันมาช้านาน  มิให้เสื่อมเสียมัวหมองไป  ปรารถนาจะให้มีไมตรีอยู่ถาวรวัฒนาไปชั่วกัลปาวสาน  แต่ผู้ครองฝ่ายญวนก่อเหตุกับไทยก่อน  ให้ญวนคิดดูเถิดในการหลัง ๆ มานั้น  ให้ตรองให้ดี ๆ ก็จะเห็นคุณและโทษบ้าง”

(ข้อความตามท้องตรานี้ได้มอบให้ขุนนางญวน  ขุนนางญวนรับไปแล้ว)

(https://i.ibb.co/nPnDKRz/Untitledfs-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ความในราชสาส์น  ญวนเป็นฝ่ายบุกไทยหนักมามากแล้ว  ฝ่ายไทยเราเพิ่งโต้กลับรุกไปแรง ๆ ในฉบับนี้เอง  ความจริงแล้ว  เจ้าอนุเพิ่งไปจิ้มก้องญวนแค่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว  ญวนกลับมาทึกทักเอาว่าลาวเป็นประเทศราชของญวนไปเสียนี่  ก่อนหน้านั้น  ญวนก็แอบมาฮุบเอาหัวเมืองลาวของไทยที่อยู่ตามชายแดนญวนไปเป็นของญวนเสียหลายเมือง  เช่น  เมืองพวน (ลาวพวน)   เมืองล่าน้ำ (แง่อาน)  เป็นต้น  เมื่อถูกไทยโต้กลับไปแรง ๆ อย่างนี้ญวนจะว่าอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg45923#msg45923)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46297#msg46297)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, พฤษภาคม, 2563, 10:12:01 PM
(https://i.ibb.co/SNCqMhn/Unti562tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)
รับบทโดย วัชรชัย สุนทรศิริ   ในละคร "ข้าบดินทร์"


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46138#msg46138)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46443#msg46443)                   .

- อานามสยามยุทธ ๔๖ -

ญวนบ้ายศบ้าศักดิ์อยากยิ่งใหญ่
ขอให้ไทยใช้คำนำหน้าเจ้า
“ดึกว่องเด้”เวียดนามเลี่ยมลำเพา
“พระนั่งเกล้า”ขันขำแสร้งทำตาม

แล้วโปรดเกล้าฯ เลื่อนล้ำยศตำแหน่ง
ขุนศึกแห่งสงครามลาวชาวสยาม
“เจ้าพระยาราชสุภาวดี”งาม
ให้มีนามเป็น “บดินทรเดชา”


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  หลังจากปล่อยให้ฝ่ายญวนเป็นฝ่ายบุกไทยหนักใน  “สงครามน้ำหมึก”  มามากแล้ว  ฝ่ายไทยเราจึงได้โต้กลับรุกไปแรง ๆ บ้าง  ความจริงแล้ว  เจ้าอนุเพิ่งไปจิ้มก้องญวนแค่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว  ญวนกลับมาทึกทักเอาว่าลาวเป็นประเทศราชของญวนไป  ก่อนหน้านั้น  ญวนก็แอบมาฮุบเอาหัวเมืองลาวของไทยที่อยู่ตามชายแดนญวนไปเป็นของญวนเสียหลายเมือง  เช่น  เมืองพวน(ลาวพวน)  เมืองล่าน้ำ (แง่อาน)  เป็นต้น  เมื่อถูกไทยโต้กลับไปแรง ๆ อย่างนี้ญวนจะว่าอย่างไร  วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ

(https://i.ibb.co/nn2gst9/Untidsetled-2.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)
รับบทโดย วิวัฒน์ ผสมทรัพย์ ในละคร “ข้าบดินทร์”

           “ครั้นอยู่มาไม่ช้า  ขุนนางญวนเมืองไซ่ง่อนถือหนังสือองเลโปเสนาบดีกรุงเว้  มาถึงเมืองจันทบุรี  ส่งให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่ง  หมื่นเทพย์วาจาแปลออกได้ความว่า

           “ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า  ถ้าพระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นเข้ามากรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยาเมื่อใด  จะใช้อักษรออกพระนามพระเจ้าเวียดนามว่าดังนี้   “สมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้”   เป็นต้นพระนาม   แล้วจึงจะมีข้อความตามทางราชการต่อไป  ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา  จะใช้ทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปกรุงเว้  ขอให้มีลักษณะพระราชสาส์นดังนี้      “พระราชสาส์นเสียมหล้าดึกพัตธะเวียง  ถวายคำนับมายังสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้”  เป็นต้นพระราชสาส์นไทยดังนี้”

          เมื่อได้ทราบไต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสว่า

           “องเลโปเสนาบดีญวนมีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาพระคลังนั้น  เป็นการยกย่องพระเกียรติยศพระนามเป็นภาษาญวนลงในพระราชสาส์น  ตามที่หนังสือองเลโปเสนาบดีส่งเข้ามา  เพราะความประสงค์ของญวนจะให้เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดินญวนฝ่ายเดียว  อีกประการหนึ่ง  เมืองญวนก็เป็นเมืองน้อยกว่าเมืองจีน  เมืองจีนเป็นเมืองใหญ่โต  ยังไม่ได้บังคับไทยให้ใช้พระราชสาส์นเป็นภาษาจีน  โดยข้อความตามประสงค์ของผู้ปกครองฝ่ายจีนเลยสักครั้งเดียว  นี่ญวนถือตัวโตกว่าจีนนัก  คิดดูก็เหมือนญวนเป็นบ้ายศบ้าศักดิ์อัครฐาน”

          จึงโปรดเกล้าฯ ให้ล่ามเขียนสำเนาพระราชสาส์นเป็นอักษรจีนว่าดังนี้     “เสียมหล้าดึกพัตธะเวียง”  คำนับมายังสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ ตามที่เป็นการชอบพระทัยในพระเจ้าเวียดนามเถิด

          แต่พระราชสาส์นที่เป็นอักษรไทยคู่พระราชลัญจกรนั้น  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระอาลักษณ์เขียนเป็นอักษรสยาม  มีเนื้อความเป็นสำนวนไทยตามเดิมที่เคยใช้ไปมาแต่ก่อน ๆ นั้น  นำลงในกล่องงาช้าง  แล้วนำลงในถุงหักทองขวางมีพู่ไหมทองผูกรัดปากถุง  แต่สำนวนพระราชสาส์นนั้น  เขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวนให้เป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าเวียดนามด้วย  บรรจุลงในกล่องไม้จันทน์มีถุงกำมะหยี่แดง  มีพู่ไหมแดงผูกรัดปากถุง  รวมเป็นสองฉบับด้วยกัน  เชิญขึ้นตั้งบนพานทองคำสองชั้น  แล้วตั้งบนบุษบกน้อยมีเครื่องสูงพร้อมสำรับหนึ่ง  มีแห่ลงเรือใบไปถวายพระเจ้าเวียดนามตามประเพณี  ราชทูตานุทูตไทยแต่งกายนุ่งผ้ายกทอง  ห้อยผ้าเจียระบาดสอดสนับเพลา  สวมเสื้อเข้มขาบสวมหมวกทรงประพาส  สวมเสื้อครุยชั้นนอก  แล้วสวมสายสร้อยทองคำ  มีสร้อยอ่อน  สร้อยมะยม  สร้อยดอกหมาก  และลูกประคำทองคำ  ศีรษะสวมเชิดคือชฎาทองคำท้ายเชิด  สวมแหวนครบทั้งสิบนิ้วมือ  และคาดรัดประคตหนามขนุน  คล้องแหวนนพเก้าเป็นเครื่องยศ  แต่งกายดังนี้ทุกคนทั้งราชทูต  อุปทูต  ตรีทูต ที่ไปเมืองญวนนั้น  ว่าไว้ให้ทราบการแต่งกาย

(https://i.ibb.co/CKMHkdn/Unfdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่  กับพระยา,  พระ,  หลวง,  นายทัพนายกองทั้งหลาย  ที่ไปตั้งทัพกวาดต้อนครอบครัวลาวเวียงจันทน์  และปราบปรามข้าศึกราบคาบเสร็จราชการแล้ว  จึงเข้าชื่อกันทำใบบอกให้หลวงอำนาจสุระเสนี  ถือลงมายังกรุงเทพฯ

          เจ้าพนักงานจึงนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชเสนา มีท้องตราหากองทัพกลับมายังกรุงเทพฯ  ให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ปลัดกรมตำรวจในพระราชวังบวรฯ  ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน)  ถือท้องตราขึ้นไปให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับ  และเกณฑ์กองทัพเมืองนครราชสีมาไปขัดตาทัพรักษาด่านทางไว้ก่อน  เพราะบ้านเมืองลาวยังไม่ราบคาบ

(https://i.ibb.co/sQQqdHJ/1441196246-Screen-Shot-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบท้องตราให้หาทัพกลับดังนั้นแล้ว  จึงยกกองทัพกลับลงมาถึงเมืองนครราชสีมา  พร้อมด้วยจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ข้าหลวง  วางตราให้เจ้าพระยานครราชสีมาทราบราชการ  แล้วก็พากันยกลงมาทางดงพระยาไฟ

(https://i.ibb.co/5hJmKD9/Untitldxed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ถึงเมืองสระบุรี  สั่งให้จับหลวงมหาพิไชยซึ่งเป็นกองหน้าลงมาก่อนแล้ว  เดินทัพลงมาตามบ้านป่าดง  เก็บโคต่างช้างม้ากระบือตามชาวบ้านป่ามาเป็นกำลังราชการ  และให้บรรทุกของของกองทัพส่งมายังท่าราบปากเพรียว  แล้วนำโคต่างช้างม้ากระบือของราษฎรที่เกณฑ์ขอแรงมานั้น  ไปจำหน่ายขายเสียมาก  เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องต่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี  เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้ขุนไชยเสนีเป็นตุลาการชำระหลวงมหาพิไชย  หลวงมหาพิชัยซัดทอดถึงพระรัตนากาศ  พระพิมลสงคราม  ว่า  เป็นผู้ร่วมคิดกันฉ้อราษฎร
          ได้ความเป็นสัตย์ดังนั้นแล้ว  สั่งให้พระยาสระบุรีกับขุนไชยเสนีข้าหลวง  อยู่ช่วยชำระให้ได้โคต่างช้างม้ากระบือคืนให้ราษฎรจนครบทุกรายอย่าให้ขาดได้  ถ้าสืบไม่ได้ตัวของกลางช้างม้าโคกระบือแล้ว  ก็ให้นำช้างม้าโคต่างกระบือในกองทัพหลวงออกใช้ให้ราษฎรจงครบ

(https://i.ibb.co/hKnf8Vn/423041612-m.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นชำระเป็นสัตย์แล้ว  สั่งให้หลวงรองจ่าเมืองเมืองนครราชสีมา  นำพระรัตนากาศ ๑   พระพิมลสงคราม ๑   หลวงมหาพิไชย ๑   รวมสามคนนี้ขึ้นไปให้เจ้าพระยานครราชสีมาประหารชีวิต  ตัดศีรษะเสียบไว้หน้าเมือง  อย่าให้แม่ทัพนายกองที่ยกตามลงมาครั้งนี้ทำตามเยี่ยงอย่างสืบไป   เจ้าพระยาราชสุภาวดีสั่งให้ประหารชีวิตอ้ายเหล่าร้าย ๓ คนแล้ว  ก็ลงเรือล่องลงมากรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์

          พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลนำเจ้าพระยาราชสุภาวดีเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพระกรุณา ณ วันเดือนสิบขึ้นสามค่ำปีฉลู  เอกศกจุลศักราช ๑๑๙๑ ปี  

(https://i.ibb.co/bH1gLpW/Untsditled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง)  เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีถือศักดินาหมื่นหนึ่ง  เอกอุพระราชสีห์  พระราชทานเครื่องยศอย่างอัครมหาเสนาบดีพร้อมมีพานหมาก ๑   น้ำเต้า ๑   กระบี่ ๑   กระโถน ๑  เป็นต้น  แต่ล้วนเป็นทองคำทั้งสิ้น

          โปรดตั้งพระราชชวรินทร์ (ป้อม) เป็นพระมหาเทพเจ้ากรมพระตำรวจในซ้ายต้นเชือก  พระราชทานคนโทบังกะหรี่  โต๊ะหมากทองคำ  กับเปลญวนไหมสีเขียวสำหรับนั่งเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททุกวันตลอดไป
          โปรดเกล้าฯ ตั้งพระวิชิตสงครามในพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นนายทัพนายกองด่านเมืองนครพนมฆ่าญวนตายนั้น  ให้เป็นพระยาณรงค์วิชัยในพระราชวังบวรฯ
          แล้วพระราชทานพานหมากทองคำ  เต้าน้ำทองคำ  และแคร่คานหามแก่พระยาราชรองเมือง  เพิ่มยศขึ้นอย่างเจ้าพระยา

(https://i.ibb.co/zZMs1G9/Untitl25258ed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นฝ่ายในกรมพระราชวังบวรฯ โปรดตั้งจมื่นมณเฑียรพิทักษ์  ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานครราชสีมา  ให้เป็นพระยาบริรักษ์ราชา
          แต่พระณรงค์วิชิตข้าหลวงเดิมในกรมพระราชวังบวรฯ นั้น  ได้เป็นนายทัพด่านกองด่านเมืองนครพนม  มีไหวพริบชั้นเชิงดี  รู้ท่วงทีกลศึกกลอุบายญวนและลาวที่มาในระหว่างการทัพศึกนั้น  ได้ราชการดีมาก  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาไกรโกษาธิบดีกรมท่าฝ่ายในพระราชวังบวรฯ  ได้รับพระราชทานพานหมากทองน้ำเต้าทองเป็นเครื่องยศ  แทนที่พระยาไกรโกษาที่ลงพระราชอาชญา  จำตรวนถอดออกจากฐานานุศักดิ์เมื่อแตกทัพลาวเวียงจันทน์มานั้น

          ฝ่ายในพระราชวังหลวงนั้น  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งเลื่อนยศพระยา,  พระ,  หลวง,  ขุน,  หมื่น,  นายทัพนายกองที่มีความชอบในราชการทัพศึกลาวครั้งนี้ถ้วนทุกคน  แล้วพระราชทานปูนบำเหน็จเงินตรา  เสื้อผ้า  เพิ่มเติมเบี้ยหวัดผ้าปีให้แก่นายทัพนายกอง  ตามคุณานุคุณที่มีความดีความชอบทุกคน

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิไชยวารี (โต) เป็นข้าหลวงเดิม  ให้เป็นพระยาราชสุภาวดีจางวางกรมพระสุรัสวดี  พระราชทานเครื่องยศมีพานหมาก, เต้าน้ำ, กระบี่  ทองคำทั้งสิ้น  เหมือนอย่างเสนาบดี  และมีแคร่คานหามด้วย  แต่ครอบครัวลาวชาวเมืองเวียงจันทน์นั้น  โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ที่เมืองสระบุรีบ้าง  เมืองลพบุรีบ้าง  เมืองสุพรรณบุรีบ้าง  เมืองนครไชยศรีบ้าง  ให้แยกย้ายกันอยู่ในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ บ้าง   พระอินทรอาสาลาวเก่าที่เมืองพนัสนิคม  ได้เป็นลูกกองขึ้นไปกวาดต้อนครอบครัวลาวเมืองนครพนม  มาไว้ที่เมืองพนัสนิคม  ที่เมืองพนมสารคาม  พร้อมกับลาวอาสาปากน้ำซึ่งตั้งอยู่แต่ก่อนนั้นแล้ว  แต่เจ้าอุปราชเมืองเวียงจันทน์นั้น  ไม่ได้เป็นพวกขบถด้วยเจ้าอนุ  จึงโปรดให้อยู่ที่บางยี่ขันบ้านเจ้าอนุเก่า  ให้ทำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ  ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปีตามสมควร........”

(https://i.ibb.co/SBgFYtM/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

          * น่าจะถือได้ว่า  เป็น  “พระอารมณ์ขัน”  ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อทรงรับหนังสือจากเสนาบดีญวนส่งมาให้ทางไทยใช้ถ้อยคำในพระราชสาส์นถึงพระเจ้าเวียดนาม   ทรงพระราชดำริว่า  เจ้าเวียดนามกลายเป็นคนบ้ายศบ้าศักดิ์ไปแล้ว  จึงสนองตัณหาความบ้ายศแบบประชดประชัน  แต่งพระราชสาส์นตามที่ญวนต้องการ   เท่านั้นยังไม่พอ  ซ้ำให้แต่งเครื่องเชิญพระราชสาส์นอย่างสวยงาม  แถมด้วยให้ราชทูตานุทูตแต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนลิเกละคร

          เสร็จศึกสงครามลาวแล้วมีการปูนบำเหน็จรางวัล  โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศตำแหน่งตามโบราณราชประเพณี  เช่น  เจ้าพระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เป็นต้น  ส่วนครอบครัวลาวที่กวาดต้นมานั้น  โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สระบุรี  ลพบุรี  สุพรรณบุรี  และกรุงเทพฯ  ความใน   “อานามสยามยุทธ”   ยังมีต่ออย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, พฤษภาคม, 2563, 10:26:22 PM
(https://i.ibb.co/cTjnwVB/2-64213.jpg) (https://imgbb.com/)
พระเจ้าเวียดนาม จักรพรรดิ์มิญมาง (1791-1841)

- อานามสยามยุทธ ๔๗ -

ญวนตัดพ้อต่อว่ามาเยิ่นเย้อ
เหมือนเพ้อเจ้อพูดซ้ำบ่นเช่นคนบ้า
อวดความดีเวียดนามงามเมตตา
เป็นมหาจักรพรรดิที่อาจอง

กล่าวโทษไทยไม่มีไมตรีแท้
ย้ำรอยแผลนครพนมไม่ลืมหลง
ไทยฆ่าญวนอย่างเลือดเย็นเว้นซื่อตรง
แล้วยังคงไมตรีได้อย่างไรกัน ?


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  มาให้อ่านกันถึงตอนที่  น่าจะถือได้ว่า  เป็น  “พระอารมณ์ขัน”  ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อทรงรับหนังสือจากเสนาบดีญวนส่งมาให้ทางไทยใช้ถ้อยคำในพระราชสาส์นถึงพระเจ้าเวียดนาม   ทรงพระราชดำริว่า  เจ้าเวียดนามกลายเป็นคนบ้ายศบ้าศักดิ์ไปแล้ว  จึงสนองตัณหาความบ้ายศแบบประชดประชัน  แต่งพระราชสาส์นตามที่ญวนต้องการ   เท่านั้นยังไม่พอ  ซ้ำให้แต่งเครื่องเชิญพระราชสาส์นอย่างสวยงาม  แถมด้วยให้ราชทูตานุทูตแต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนลิเกละคร
          เสร็จศึกสงครามลาวแล้วมีการปูนบำเหน็จรางวัล  โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศตำแหน่งตามโบราณราชประเพณี  เช่น  เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง) เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เป็นต้น  ส่วนครอบครัวลาวที่กวาดต้นมานั้น  โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สระบุรี  ลพบุรี  สุพรรณบุรี  และกรุงเทพฯ  ความใน   “อานามสยามยุทธ”  ยังมีต่ออย่างไร วันนี้มาอ่านกันครับ

(https://i.ibb.co/tCTNzFv/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือนสิบสองขึ้นหกค่ำ  พระอนุรักษ์ภูธร ราชทูต ๑   หลวงพิทักษ์นที อุปทูต ๑   ขุนพิพิธโภคา ตรีทูต ๑   ราชทูตานุทูตมีชื่อ กลับมาจากกรุงเว้ถึงกรุงเทพฯ แล้ว  นำพระราชสาส์นของพระเจ้าเวียดนามซึ่งตอบเข้ามานั้น  ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ข้อคามในพระราชสาส์นญวนมีว่าดังนี้

           “พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้ฯ  ทรงบำรุงพระพุทธศาสนา  อาณาประชาราษฎร  โดยทางธรรมิกมหาราชาธิราชสุจริตเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้ากรุงเว้  อานัมชาติราชตระกูลอิสริยยศปรากฏพระนามตามยี่ห้อว่า   “มินมาง”   ขอเจริญทางพระราชไมตรีคำนับมาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมราชาธิราช  เสียมหล้าดึกพัตธะเวียง  พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา (บางกอก) ได้ทรงทราบ  ด้วยผู้ครองฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยาแต่งให้พระอนุรักษ์ภูธรราชทูต ๑   หลวงพิทักษ์นทีอุปทูต ๑   ขุนพิพิธโภคาตรีทูต ๑   ราชทูตานุทูตมีชื่อจำทูลพระราชสาส์น  คุมเครื่องราชบรรณาการออกมา  ทรงยินดีตามทางพระราชไมตรีนั้นเป็นข้อต้น

          กับว่าด้วยข้อความเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์เป็นขบถมีโทษมากนัก  ได้แจ้งความในพระราชสาส์นดังนี้แล้ว  ด้วยคิดจะให้กรุงเวียดนามกับกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาเป็นทางพระราชไมตรีกัน  สนิทติดต่อไปชั่วชั้นอายุยิ่งนานยิ่งให้สนิทเนื่องสืบสัมพันธมิตรแก่กันนั้น  จำเป็นทั้งสองพระมหานครจะให้โอกาสอำนาจแต่บรรดาหัวเมืองขึ้นทั้งสองฝ่าย  จัดการระวังรักษาเขตแดนให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดเขตแดน  อย่าให้มีเหตุการณ์ร้าวฉานขึ้นได้แต่สักสิ่งหนึ่ง  หัวเมืองออกเมืองขึ้นขอบขัณฑเสมาอาณาจักรทั้งสองฝ่าย  จะได้พึ่งบุญพระบารมีอำนาจพระมหานครทั้งสองปกครอง  ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินไปมาค้าขายบริบูรณ์ทั่วกัน  ถ้าเป็นไปได้ดังนั้นทางพระราชไมตรีจึงจะดีไม่สิ้นสุด

(https://i.ibb.co/884ShzJ/Untidsatled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่ก่อนเมืองเขมรและเมืองลาวเวียงจันทน์เป็นหัวเมืองประเทศราชใหญ่  ได้แต่งขุนนางคุมเครื่องบรรณาการไปจิ้มก้องถวายทั้งสองพระมหานครทุกคราว  ตามอานุภาพหามีความผิดสิ่งใดไม่  เพราะเมืองเขมรและเมืองลาวเวียงจันทน์  ได้พึ่งพระบารมีอำนาจของกรุงเวียดนาม และกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ทั้งสองพระมหานครทรงพระมหากรุณาเมตตา โอบอ้อมทำนุบำรุงแก่หัวเมืองเขมรและลาว  ที่เป็นเมืองสืบกษัตริย์มาช้านาน  แต่ว่ามีอำนาจน้อย  นานาประเทศทั้งปวงก็ย่อมรู้อยู่สิ้นด้วยกัน  เป็นพยานว่าเขมรและลาวขึ้นกับทั้งสองพระมหานคร  กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะว่าเมืองเขมรและลาวไม่ได้ขึ้นแก่กรุงเวียดนาม  กรุงเวียดนามจะมาเป็นธุระด้วยเมืองเขมรและลาวนั้นไม่ได้  พูดอย่างนี้จะถูกต้องตามประเพณีธรรมแล้วหรือ ?

(https://i.ibb.co/N3wkzJj/12f.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อปีก่อนนั้น  เจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์มีทุกข์หนีร้อนมาพึ่งเย็นในเขตแดนญวน  ญวนจะนิ่งดูก็ไม่ควรแก่ทางยุติธรรมราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้า  กอปรไปด้วยพระมหากรุณาดุจดังป่าและทะเล  เป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์บกและสัตว์น้ำ  เพราะฉะนั้น  พระเจ้ากรุงเวียดนามจึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองแง่อานรับเจ้าอนุและครอบครัวลาวเข้าไว้ในเขตแดนญวน  เพื่อจะได้อาศัยหยุดพักกว่าจะทรงจัดการระงับเหตุให้เป็นปรกติ  ครั้นภายหลังมาเจ้าอนุมีคำให้การปรับทุกข์อ้อนวอนอ่อนน้อมขอกลับขึ้นไปอยู่บ้านเมืองดังเก่า  เพราะว่าไทยไม่รักษาเมือง  ละทิ้งเมืองเวียงจันทน์เสียดังป่าดง  พระเจ้ากรุงเวียดนามจึงมีรับสั่งกับองทงเจอัครมหาเสนาบดี  ให้มีท้องตราบังคับสั่งเจ้าเมืองแง่อาน  ให้เกณฑ์ไพร่ญวนลาวในเมืองแง่อาน ๒๐๐ เศษ  มีขุนนางญวน  กรมการเมืองแง่อาน  คุมไพร่ไปส่งเจ้าอนุให้พ้นเขตแดนญวน  แล้วได้สั่งกำชับขุนนางญวนเมืองแง่อานว่า  ไปถึงด่านที่ไทยตั้งอยู่นั้น  ให้บอกกล่าวคำนับเสียก่อน  จึงเข้าไปในเขตแดนไทย  ถ้าไทยไม่ให้เข้าไป  ก็ให้กลับมาแต่เพียงเขตแดนญวนเท่านั้น

          กับได้มีหนังสือถึงเจ้าอนุ  เป็นการตักเตือนกำชับสั่งไปว่า  ถ้าถึงบ้านเมืองเวียงจันทน์แล้วให้คิดถึงตัวมาก ๆ ว่าตัวได้กระทำความผิดต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ล่วงเกินมาดังนี้มีความผิดมาก  ให้รีบแต่งเจ้าบุตรหลานญาติคุมเครื่องบรรณาการ  ดอกไม้ทองเงินลงไปให้ท่านเสนาบดีไทยนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เพื่อเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษรับผิด  จะได้เป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรของไทยต่อไป  ได้สั่งกำชับเจ้าอนุให้ทำดังนี้

          ฝ่ายกรุงเวียดนามก็ได้ให้ขุนนางญวนชื่อ  “เลงอันฮือ”  เป็นราชทูตกับขุนนางญวนมีชื่ออีกหลายนาย  เป็นทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นมาด้วยเรือรบที่เมืองไซ่ง่อน  เข้ามาแจ้งข้อราชการในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ในความพระราชประสงค์ในพระเจ้าเวียดนามนั้น  จะทรงจัดการบ้านเมืองเวียงจันทน์ให้เป็นปกติดังกล่าว  ทรงเห็นสมควรที่จะทำคุณเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินลาว  ชาวเมืองเวียงจันทน์ซึ่งเป็นบ้านเมืองเล็กน้อย  ควรเมืองใหญ่ควรจะมีเมตตากรุณาแก่เมืองมีอำนาจน้อยเช่นนั้นด้วย  จึงจะชอบด้วยทางพระราชไมตรี  ซึ่งจัดการทั้งนี้  เห็นว่าเป็นทางธรรมราชประเพณีดีแล้ว  ถ้าผู้ครองฝ่ายไทยมีพระราชหฤทัยคิดถึงทางพระราชไมตรีแล้ว  ให้ลงพระราชหฤทัยกับผู้ครองฝ่ายญวน  เป็นพระราชหฤทัยผู้ครองฝ่ายไทยเถิด

(https://i.ibb.co/Xzgd2pD/6331522024717313755-n-350.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าอนุมีความผิด  โทษจะมีประการใด  ควรจะรบตีบ้านเมืองเวียงจันทน์ให้แตกทำลาย  หรือว่าควรจะริบทรัพย์สมบัติในเมืองลาว  ถ่ายครอบครัวผู้คนไปไว้ในบ้านเมืองไทยประการใดตามโทษผิดของเจ้าอนุนั้นไซร้  ไทยก็ไม่บอกให้ญวนทราบเหตุการณ์ก่อน  อย่างนี้จะว่ารักษาพระราชไมตรีอันสนิทอย่างไรเล่า  ต่อเมื่อกรุงเวียดนามทราบก่อนแล้ว  จึงให้ขุนนางญวนชื่อเลงอันฮือเป็นราชทูตเข้ามาต่อว่าที่ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  จนราชทูตญวนกลับมาช้านานก็ยังเงียบ  ไม่เห็นมีราชทูตานุทูตกรุงพระมหานครศรีอยุธยาออกมาแจ้งข้อราชการเมืองเวียงจันทน์ตามทางพระราชไมตรีเหมือนแต่ก่อน  จะว่าตั้งในพระราชไมตรีที่ไหนได้เล่า

          มิใช่แต่เท่านี้  เมื่อฤดูร้อนปีกลาย  ได้สั่งเจ้าเมืองแง่อานให้จัดขุนนางญวนผู้น้อย  ถือหนังสือรับสั่งและคุมไพร่ ๕๐ คน  เดินบกขึ้นไปลงเรือที่ท่าเมืองมหาชัยกองแก้ว  แล้วก็ให้ไปส่งหนังสือให้แม่ทัพไทยฉบับหนึ่ง  ให้เจ้าอนุฉบับหนึ่ง  เป็นการสั่งกำชับให้เจ้าอนุรีบลงไปขอโทษตัวต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ครั้งนั้นขุนนางญวนถือหนังสือไปถึงเมืองนครพนมลาวนั้น  ญวนไปหานายด่านไทยโดยความสุภาพสุจริต  ไม่มีเหตุการณ์สิ่งใดเลยแต่สักนิดหนึ่ง  นายทัพไทยชื่อทุงวิไชย  ชิดชุม  จับขุนนางญวน ๒ คน  ไพร่ญวน ๔๘ คนฆ่าเสีย  โดยหาเหตุผิดร้ายมิได้เลย

(https://i.ibb.co/5RfSkrz/Untdsitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทุงวิไชย  ชิดชุม  ข่มเหงฆ่าญวนทั้งนี้  ถ้าผู้ครองฝ่ายไทยเห็นดีแล้วหรือ?  หรือจะว่าประการใดต่อไปอีกเล่า  ผู้ครองฝ่ายญวนไม่อยากจะฟังเสียงไทยอีกแล้ว  เมื่อญวนนายไพร่ตาย ๕๐ คนนั้น  ยังเหลืออยู่แต่ญวนที่ชื่อเลดินคนหนึ่ง  กับลาวที่ไปด้วยสองคน  เป็นสามคนด้วยกันที่เฝ้าเรือ  ทุงวิไชย, ชิดชุม  ฆ่าญวนตายแล้วเก็บหนังสือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามอยู่ในกล่องนั้น  ไปส่งให้ขุนนางผู้ใหญ่แม่ทัพไทยชื่อราชสุภาวดี  ราชสุภาวดีก็ฉีกหนังสือเสียด้วย  กระทำการบังอาจดูหมิ่นดูถูกพระเจ้าเวียดนามดังนี้  สมควรเป็นเมืองไมตรีกันแล้วหรือ?.....”

          * พระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนามต่อว่าต่อขานไทยว่ามาเป็นฉาก ๆ ยืดยาว  อ่านจนเหนื่อยแล้วยังไม่จบ  ขอพักไว้ก่อน  ยกไปลงให้อ่านกันต่อในวันพรุงนี้ก็แล้วกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤษภาคม, 2563, 12:25:11 AM
(https://i.ibb.co/WcZ9t0g/the-emperor-minh-mangs-tomb.jpg) (https://imgbb.com/)
เมืองเว้ (Hue) อดีตเมืองหลวงเวียดนาม

- อานามสยามยุทธ ๔๘ -

น้ำลายญวนฟูมฟายร้ายไหลถ่ม
ถุยถ่อยถมทับไทยร้ายมหันต์
“สุนัขขี้ยกหาง”ญวนอย่างนั้น
ด้วยสำคัญตัวมีดีเลิศเลอ

พูดแย่งยื้อเวียงจันทน์ปันประโยชน์
จะเอาโทษขุนนางไทยให้ได้เสมอ
อ้างญวนถูกทุกอย่างไปผิดไม่เจอ
วนพูดเพ้อพล่อยพร่ำบ้านน้ำลาย


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้  ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระเจ้ามินมางแห่งเวียดนามมีพระราชสาส์จากแผ่นดินญวนต่อว่าต่อขานไทย  ว่ามาเป็นฉาก ๆ ยืดยาวยังไม่จบ  วันนี้เอามาลงให้อ่านกันต่อดังนี้ครับ

(https://i.ibb.co/DkBByHj/Unticxtled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “อนึ่ง  ทุงวิไชย,  ชิดชุม,  ลงนะรา  ขุนนางนายทัพนายกองฝ่ายไทยที่ออกชื่อมาทั้งนี้  ยกกองทัพเดินล่วงเกินเข้าไปในเมืองกำโล, และเมืองถูตือ, เมืองบ่อลา,  ซึ่งเป็นหัวเมืองในเขตแดนญวนทั้งสิ้น  แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยที่ชื่อราชสุภาวดีนั้น  ยุยงเป็นใจให้ท้าย  ปล่อยให้ขุนนางนายทัพนายกองไทยชื่อทุงวิไชย, ชิดชม, ลงนะรา  ยกกองทัพเดินเข้าไปเก็บส่วยสาอากรในเขตแดนเมืองญวน  เป็นการซ้ำเติมให้ไพร่บ้านพลเมืองญวนได้รับความเดือดร้อนดังนี้  เห็นผิดด้วยอย่างธรรมเนียมเมืองเป็นทางไมตรีกัน  การเป็นทั้งนี้ยังจะเป็นไมตรีกันอย่างไรได้  เห็นว่ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาไม่รักษาทางพระราชไมตรี  แต่เจ้าอนุนั้นเป็นผู้มีความผิด  มีโทษ  ก็ได้จับเจ้าอนุไปฆ่าแล้ว  แต่เมืองเวียงจันทน์นั้นทิ้งให้ว่างเปล่าเป็นป่าช้ามานานจนทุกวันนี้  กรุงพระมหานครศรีอยุธยาก็ยังหาได้บอกไปถึงกรุงเวียดนามว่า  จะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่เมื่อใดไม่  กรุงเวียดนามจะได้ให้ขุนนางญวนผู้ใหญ่มาพร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์เมื่อนั้นด้วย  ซึ่งเจ้าอนุทำผิดทำความผิดต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  กรุงพระนครศรีอยุธยาทำโทษฆ่าเสียนั้นก็ควรอยู่แล้ว  แต่เมืองเวียงจันทน์หาควรจะให้เป็นแผ่นดินว่างเปล่าอยู่ไม่  เพราะหาประโยชน์มิได้เลย

          ความต้นสามข้อยังหาดูดีไม่  ฝ่ายกรุงเวียดนามยังคิดถึงความดีของกรุงพระมหานครศรีอยุธยามีแก่กรุงเวียดนามมาแต่ก่อนกว่าสี่สิบปีห้าสิบปีแล้ว  เพราะฉะนั้น  ไทยทำกับญวนหนักเบาประการใด ๆ  ญวนก็หาได้ขัดเคืองแก่ไทยไม่  เมื่อต้นปีนี้  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งโปรดให้ขุนนางฝ่ายทหารชื่อบันชุนเวียนเป็นทูต  กับขุนนางญวนมีชื่ออีกหลายนายเป็นราชทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์นเข้าไปกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  แจ้งราชการโดยสัตย์  เพื่อจะให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาคิดอ่านทำนุบำรุงทางพระราชไมตรีให้รอบคอบโดยสุจริต

          ครั้นอยู่มาเมื่อปลายปีนี้  จ๋งต๊ก (เจ้าพระยา) เจ้าเมืองไซ่ง่อน  มีใบบอกส่งสำเนาพระราชสาส์นกรุงพระมหานครศรีอยุธยาขึ้นฉบับหนึ่ง  เสนาบดีกรุงเว้ได้ประชุมตรวจพิเคราะห์ดูในสำเนาพระราชส์นนั้น  เห็นข้อความเลื่อนลอยอยู่มาก  แต่ข้อที่สำคัญนั้นหามีมาไม่  จึงได้แคลงอยู่  คิดว่ากรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น  เห็นทีผ่อนผันทางพระราชไมตรีไม่ให้เหมือนแต่ก่อน  จึงพูดจาแต่สั้น ๆ ไม่เป็นหลักฐานทางราชการ

          ครั้นอยู่มาไม่ช้า  มีราชทูตานุทูตไทยออกมาครั้งนี้ชื่อ  พระอนุรักษ์ภูธร  ราชทูตานุทูตหลายนายมาถึงกรุงเว้แล้ว  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้องเลโปเสนาบดีต่างประเทศ  ถามราชทูตไทยด้วยมีข้อราชการถึงทุงวิไชย,  ชิดชุม,  ซุงกิมดอง,  ลงนะรา   ราชทูตไทยชื่อพระอนุรักษ์ภูธรแจ้งว่า  ความสองเรื่องนี้เมื่อพระอนุรักษ์ภูธรราชทูตไทยยังอยู่ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  หาได้ยินข่าวประการใดไม่  เพราะกองทัพใหญ่ยังไม่กลับจากเมืองลาว  เนื้อความข้อนี้ถ้าจริงเหมือนคำพูดพระอนุรักษ์ภูธรราชทูตว่านั้นจริงแล้ว  เห็นว่าขุนนางนายทัพนายกองไทยไม่พ้นความผิด  ถ้ากฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุงพระมหานครศรีอยุธยาตั้งอยู่ในทางยุติธรรมตรง ๆ อยู่แล้ว  ก็จะไม่ละโทษทุงวิไชย,  ชิดชุม, ซุงกิมดอง,  ลงนะรา  ผู้มีความผิด

          อีกข้อหนึ่ง  ซึ่งจะตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่นั้น  ชอบแต่กรุงพระมหานครศรีอยุธยาพร้อมด้วยกรุงเวียดนาม  คิดอ่านตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ใหม่ขึ้น  จึงจะถูกด้วยอย่างธรรมเนียมแต่โบราณมา

          อนึ่ง  พระอนุรักษ์ภูธรราชทูตไทยได้แจ้งความอีกว่า  เมื่อทูตไทยจะออกจากกรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น  เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่ยังไม่กลับลงมาถึงกรุงไทย  ข้อความทั้งปวงนั้น  สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะทรงคิดอ่านจัดการเป็นประการใดนั้น  พระอนุรักษ์ราชทูตไทยหาแจ้งในพระทัยไม่

(สิ้นคำให้การพระอนุรักภูธรราชทูตไทยแต่เท่านี้)

(https://i.ibb.co/ctV7yjb/10g-Khoansucdan-490x315.jpg) (https://imgbb.com/)

          องเลโปเสนาบดีให้ล่ามพนักงาน  จดหมายถ้อยคำราชทูตไทยลงในกระดาษแผ่นหนึ่ง  นำขึ้นถวายพระเจ้าเวียดนามแต่ก่อนเมื่อราชทูตยังไม่ได้เข้าเฝ้านั้น  ครั้นราชทูตไทยได้เข้าเฝ้า  กราบถวายบังคมทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชสาส์นในท้องพระโรงที่ชุมนุมขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย  พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระราชปฏิสันถารปราศรัยแก่ราชทูตานุทูตไทยตามธรรมเนียมราชทูตต่างประเทศเสร็จแล้ว  จึงได้ตรัสถามราชทูตไทยต่อไปในที่เฝ้า  ด้วยเรื่องทุงวิไชย  ชิดชุม  ซุงกิมดอง  ลงนะรา  เมืองเวียงจันทน์   ราชทูตไทยกราบทูลเฉพาะหน้าพระที่นั่งเนื้อความต้องกัน  กับที่ให้การซึ่งองเลโปจดหมายไปกราบทูลแต่ก่อนแล้ว  พระเจ้าเวียดนามทรงคาดคะเนเห็นความในพระทัยพระเจ้ากรุงพระมหานครศรอยุธยานั้น  เห็นจะเหมือนกับคำราชทูตกราบทูล  ถ้าเป็นจริงดังนั้นแล้ว  ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระมหานครคงจะวัฒนาถาวรเจริญยิ่งขึ้นไป  จะไม่ร้าวฉานสามัคคี

          ครั้นโปรดให้องเลโปเสนาบดีตกแต่งเลี้ยงดูทูตานุทูตไทย  แล้วโปรดให้องเลโปเสนาบดีแต่งพระราชสาส์นตอบไทย  และจัดเครื่องราชบรรณาการทรงยินดีมอบให้ราชทูตานุทูตไทยคุมเข้าไปเจริญทางพระราชไมตรีกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ขอให้ผู้ครองฝ่ายพระมหานครศรีอยุธยาทั้งสองฝ่ายรักษาทางพระราชไมตรีให้ยืดยาว  อย่าให้เสื่อมทรามลงได้  ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า  เมืองประเทศราชและหัวเมืองขึ้นเมืองออกและนานาประเทศทั้งปวง  จะได้สรรเสริญว่า สองพระมหานครมีทางพระราชไมตรีเสมอตันเสมอปลาย

          อนึ่ง  ครั้งนี้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจัดสิ่งของราชบรรณาการเกินมากออกมากกว่าอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน  กรุงเวียดนามเห็นว่าทางพระราชไมตรีตั้งอยู่ให้เสมอต้นเสมอปลายเป็นการเจริญนั้น  อาศัยด้วยอย่างธรรมเนียมความยุติธรรมไมตรี  ไม่ได้อาศัยสิ่งของราชบรรณาการมากเกินขนาดกว่าอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา ๗ สิ่งเท่านั้น  สิ่งของเหลือจากอย่างธรรมเนียมนั้น  ขอมอบให้ทูตานุทูตไทยคุมคืนกลับเข้ามายังกรุงพระมหานครศรีอยุธยา

          อนึ่ง  กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เป็นทางพระราชไมตรีรักใคร่สนิทกันมาแต่ก่อนฉันใด  ขอให้ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระนครนี้  จงเสมอต้นเสมอปลายเหมือนแต่ก่อน  กรุงเวียดนามจัดการทางพระราชไมตรีมาทั้งนี้  ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาคิดดูให้รอบคอบ  จะชอบมิชอบ  และสิ่งของเครื่องราชบรรณาการที่ตอบแทนไปมาถึงกันและกันนั้น  เป็นการแลกเปลี่ยนหรือการสำแดงความยินดีต่อกัน  ถึงจะน้อยและมากไม่เป็นการประมาณหมาย  เหตุให้ดีและเสียไปด้วยสิ่งของนั้นได้  ถึงของน้อยแต่ต้องทำความดียุติธรรมถูกต้องด้วยอย่างธรรมเนียมแล้ว  ทางไมตรีก็จะยืดยาวสืบไปชั่วฟ้าและดิน  ถ้าไม่ประพฤติการดีทางยุติธรรมต้องด้วยแบบอย่างธรรมเนียมดีแล้ว  ก็เหมือนทิ้งที่ดีหาที่ร้าย  ที่กรุงเวียดนามกล่าวมาทั้งนี้  เห็นเป็นการดีถูกต้องเป็นแบบอย่างประเพณี  ซึ่งอยู่ในทางยุติธรรมทุกประการแล้ว  แต่แบบอย่างธรรมเนียมกรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น  จะประพฤติเหมือนอย่างกรุงเวียดนามหรือไม่เหมือนก็ยังหาทราบไม่  ถ้าพระนครใดไม่ตั้งอยู่ในทางยุติธรรมแล้ว  เบื้องบนมีเทวดา  เบื้องล่างมีนานาประเทศ  คงจะเห็นความคดและความตรงเป็นแน่  ตามกระแสกรุงเวียดนาม  กรุงเวียดนามไม่ต้องว่ามากไปอีกแล้ว  พระราชสาส์นกรุงเวียดนามมา ณ วันเดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ปี ศักราชมินมางปีที่สิบ  ประทับตราแผ่นดินหลายดวงและตราเสนาบดีด้วย

           (เนื้อความในพระราชสาส์นกรุงเวียดนามที่กล่าวมานี้  คัดข้อความมาแต่ต้นฉบับสำเนาพระราชสาส์นญวน  ที่ส่งมาแต่เดิมตกอยู่ที่เวรกรมท่ากลาง  คัดลงจนสิ้นเนื้อความเดิมหมดฉบับไม่มีตัดเลย  เพราะจะให้ท่านผู้ได้อ่านได้ฟังข้างหน้าต่อไป  จะได้ฟังดูรู้จักสำนวนญวนพูดจายกตนข่มท่านและพูดจาเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านบ้าน้ำลายมากมายนัก)........”

(https://i.ibb.co/CMvDB3H/Hue-Vietnam-Centre-Hue-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          * จบพระราชสาส์นเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านบ้าน้ำลายของญวนไปอีกตอนหนึ่ง  จบฉบับนี้แล้วยังมีส่งมาอีก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงประชุมเสนาบดีโต้ตอบพระราชสาส์น  ไทยจะโต้ตอบอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤษภาคม, 2563, 10:22:16 PM
(https://i.ibb.co/0XN5Q6c/03-7.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๔๙ -

ญวนรบเร้าซ้ำซากอยากให้ตอบ
ไทยจึงมอบคำแถลงแจงเสียหาย
ญวนกับลาวร่วมกันสรรค์อุบาย
ฆ่าไทยตายกลางเวียงจันทน์เกือบพันคน

“ทุงวิไชยชิดชุม”ผู้คุมด่าน
เกรงญวนพาลพาลาวลวงอีกหน
จึงฆ่าญวนลาวนั้นป้องกันตน
เป็นเหตุผลราชการงานสงคราม


          อภิปราย ขยายความ....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  จบพระราชสาส์นเพ้อเจ้อฟุ้งซ่านบ้าน้ำลายของญวนไปอีกตอนหนึ่ง  จบฉบับนี้แล้วไทยยังไม่ตอบ  จึงมีส่งมาอีกเป็นข้อความเซ้าซี้ซ้ำซากเหมือนเดิม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงประชุมเสนาบดีโต้ตอบพระราชสาส์น  ไทยจะโต้ตอบอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

           “ครั้นอยู่มาญวนส่งพระราชสาส์นเข้ามาอีกฉบับหนึ่ง  ได้แปลออกแล้ว  ตัดแต่ใจความบ้างเล็กน้อยพอสังเขป  ใจความที่ญวนวิงวอนต่อไทยว่า  ญวนขอตัว (ทุงวิไชยชิดชุม)  คือพระวิชิตสงครามที่เลื่อนขึ้นเป็นพระยาณรงค์วิไชยออกไปเมืองญวนอย่างเดียว  ไทยก็ไม่ให้ตามที่ญวนขอ  ญวนโกรธจึงได้ลำเลิกเบิกเผยประจานเข้ามาว่าฝ่ายญวนได้ซื่อตรงต่อไทยมาก

(https://i.ibb.co/F5Md3Cs/Untisdftled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้งหนึ่ง  พม่ามีพระราชสาส์นไปชักชวนญวน  ให้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงไทยเป็นศึกกระหนาบ  ถ้าได้เมืองไทยแล้วพม่าจะแบ่งเขตแดนไทยทางตะวันออกให้แก่ญวนกึ่งหนึ่ง  พระเจ้าเวียดนามไม่รับตามพม่าขอ  เพราะทรงตั้งอยู่ในทางทศพิธราชธรรมยุติธรรม

          อีกประการหนึ่ง  สำเภาหลวงของไทยที่ออกไปจิ้มก้องแลค้าขายที่เมืองจีนกวางตุ้งนั้น  สำเภาไทยถูกพายุซัดเข้ามาในอ่าวเมืองญวน  พระเจ้ากรุงเวียดนามเป็นพระธุระเหมือนกับของพระเจ้ากรุงเวียดนามเอง

(https://i.ibb.co/4PrnW32/Untitl52ed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          อีกประการหนึ่ง  พวกไพร่พลเขมรป่าดงพลเมืองเมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองขุขันธ์บุรี  เมืองลาว  เมืองเขมรริมลำแม่น้ำโขง  บ้านป่าบ้านดอนนั้นหลายบ้านหลายเมือง  แตกตื่นพวกเจ้าอนุกบฏ  พวกเขมรและลาวเหล่านี้หนีเข้ามาในเขตแดนกรุงเวียดนาม  กรุงเวียดนามได้ทราบแล้ว  จึงสั่งให้เจ้าเมืองกรมการญวนจ่ายเสบียงอาหารเลี้ยงพวกนั้น  เมื่อสงครามสงบกบฏเจ้าอนุแล้ว  ญวนได้สั่งพวกขุนนางญวนให้ไล่พวกเขมรและลาวของไทยที่มาอาศัยอยู่นั้น  ให้กลับคืนไปอยู่บ้านเมืองเดิมตามที่เป็นหัวเมืองขึ้นแก่ไทย  ญวนไม่ได้เกียดกันครอบครัวตามหัวเมืองขึ้นของไทยไว้ในเขตแดนญวนเลย  เพราะญวนรักษาทางพระราชไมตรีโดยแบบอย่างธรรมเนียมยุติธรรม  ไม่ให้เสียคลองเจริญไมตรีเลย  แต่ไทยหาเห็นว่าญวนรักใคร่ไทยไม่”

          ครั้งนี้มีหนังสือองเลโปเสนาบดีมาถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่ง  ตัดแต่ใจความว่า

           “หนังสือองเลโปเสนาบดี  ผู้สำเร็จราชการนานาประเทศ  และเป็นแม่ทัพใหญ่สำหรับรักษากรุงเว้  แจ้งความมาถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีว่าราชการต่างประเทศกรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้ทราบ  ด้วยเมื่อครั้งต้นฤดูหนาวปีกลายนั้น  ขุนนางไทย  แม่ทัพนายกองฝ่ายเมืองลาวชื่อซุงกิมดอง  คุมกองทัพไทยล่วงเกินเดินกองทัพเข้าไปในเมืองกำโล  เมืองถูตือ  เมืองคำบ่อ  กองทัพไทยซุงกิมดองยกเข้าไปเก็บเอาสิ่งของของพลเมืองทั้งสามตำบลที่ออกชื่อมาแล้วนั้น  เมืองทั้งสามนี้เป็นพระราชอาณาเขตของกรุงเวียดนาม  กรุงเวียดนามก็ไม่ได้ให้ออกมาตามจับหามิได้  ซึ่งซุงกิมดองแม่ทัพไทยทำดังนี้เห็นผิดเหลือเกินหนัก  ทำดังโจรป่าหาควรไม่  การเป็นดังนี้หาชอบที่ผู้สัจธรรมจะฟังไม่

          อนึ่ง  เจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์แต่ก่อนเป็นข้าทั้งสองพระนคร  แล้วเจ้าอนุทำผิด  ไทยจับไปฆ่าเสียแล้ว  แต่เมืองเวียงจันทน์จะทิ้งไว้ให้เป็นป่าว่างเปล่าอยู่นั้นเห็นชอบแล้วหรือ?  ไทยจะคิดตั้งเจ้าเมืองเวียงจันทน์หรือไม่ตั้ง?  ไม่เห็นบอกออกไปให้ญวนรู้บ้าง  แต่คอย ๆ อยู่ช้านานแล้ว  หรือไทยจะใคร่ได้แผ่นดินไพร่บ้านพลเมืองเวียงจันทน์แต่ฝ่ายเดียว  จึงมิได้บอกออกไปให้ญวนรู้กำหนดบ้าง  ข้อความทั้งนี้ฝ่ายญวนก็ยังมีความสงสัยคลางแคลงอยู่มากนัก  ขอให้เสนาบดีฝ่ายไทยแจ้งไปให้เสนาบดีฝ่ายญวนทราบโดยจะแจ้ง

          แจ้งความมา ณ วันเดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ปีศักราชพระเจ้ามินมาง ปีที่ ๑๐”

(https://i.ibb.co/0QrhLgT/26907275-1021507584239044.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความตามในพระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนาม  และหนังสือองเลโปเสนาบดีฝ่ายญวนทั้งสองฉบับแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสว่า

           “เจ้าเวียดนามขัดเคืองพระทัยนัก  จนถึงลำเลิกเบิกเผยเข้ามามากมาย  แล้วญวนจะคิดใช้สติปัญญาบ้าบ้าขึ้นมายังไรก็ไม่รู้  จำเป็นที่กรุงเทพฯ จะต้องแต่งขุนนางเป็นทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นไปเกลี้ยกล่อมประเล้าประโลมน้ำใจญวนให้อ่อนโยนลงเสียบ้าง  หาไม่ทางพระราชไมตรีจะมัวหมองไป  นานาประเทศจะติฉินนินทาไทยได้ต่าง ๆ”

(https://i.ibb.co/H78pT4K/freed2.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมเสนาบดี  แต่งพระราชสาส์นไปถึงญวนในครั้งนี้ให้เข้าท่วงเข้าทีชอบด้วยราชการ  แต่งถวายด้วยกันหลายฉบับหาโปรดไม่  โปรดฉบับพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด)  แต่ให้พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) แก้ไขหลายบท  แล้วโปรดให้เขียนเป็นพระราชสาส์นและสำเนาเสร็จแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระจักราเป็นราชทูต  และขุนนางมีชื่อราชทูตานุทูต  พร้อมกันเชิญพระราชสาส์นไปเจริญทางพระราชไมตรีแก่กรุงเวียดนาม  พระราชสาส์นนั้นตัดแต่ใจความมาว่าไว้พอเป็นสังเขปว่า

           “พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เสียมหล้าเดืองพัตธะเวียง  ขอเจริญทางพระราชไมตรีมาถึงสำนักสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้  ได้ทรงทราบ ฯลฯ   ใจความว่า   ซึ่งองเลโปเสนาบดีกรุงเว้  มีหนังสือกล่าวโทษขุนนางนายทัพนายกองฝ่ายไทยเข้ามาว่า  ซึ่งทุงวิไชย  และชิดชุม  ซุงกิมดอง  ลงนะรา  ขุนนางนายทัพนายกองฝ่ายไทยได้ยกทัพล่วงเข้าไปในเขตแดนหัวเมืองขึ้นฝ่ายญวนนั้น  ข้อความสองข้อนี้ได้ทรงไต่ถามขุนนางผู้ใหญ่  แม่ทัพ  และนายทัพนายกองไทยที่ขึ้นไปเมืองลาวกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ กันแล้ว  จึงโปรดให้เสนาบดีไล่เลียงชำระ (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงคราม  ซึ่งคุมกองทัพเรือรักษาด่านทางอยู่ที่เมืองนครพนมฝั่งแม่น้ำโขงนั้น  แล้วได้ไล่เลียงชำระ (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ   (ลงนะรา) คือหลวงนรารณรงค์  ทั้งสามคนที่มีชื่อฟ้องมาในหนังสือกรุงเวียดนาม  ตามที่เรียกชื่อผิดเพี้ยนนั้น  ได้ไล่เลียงถูกชื่อดังนี้แล้วทั้งสามคน  แล้วให้ชำระไต่ถามตามเรื่องความที่ฟ้องกล่าวโทษมาแต่ต้นแล้วนั้น”

(https://i.ibb.co/nsJdWmN/1438624866-S10018819.jpg) (https://imgbb.com/)

           (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงครามให้การว่า  ซึ่งได้ฆ่าญวนลาว ๔๘ คนที่ถือหนังสือมาถึงเมืองนครพนม  ในระหว่างศึกสงครามกับลาวนั้น  เพราะเดิมมีเหตุเกิดขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ก่อน  ด้วยญวนพาเจ้าอนุ  เจ้าราชวงศ์  มาส่งที่เวียงจันทน์  แล้วญวนพูดล่อลวงไทยว่าเจ้าอนุมาโดยดี  ไทยก็หลงเชื่อถ้อยคำญวนที่พามาส่งนั้นว่า  จะไม่เป็นศัตรูแก่ไทย  ไทยจึงไม่ได้ระวังตัว  เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ จึงยกพลเข้ามาล้อมฆ่าแม่ทัพนายกองตาย ๓ คน  ไพร่ตาย ๗๐๐ คน  

          เจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ชิงเมืองเวียงจันทน์ได้  ได้ก่อการศึกมาช้านาน  พวกไทยเสียทีเสียรู้แก่เจ้าอนุเจ้าราชวงศ์ครั้งนั้น  ก็เพราะไว้ใจเชื่อถือญวน  จึงพากันตายมากเกือบหมดทั้งกองทัพ  แม่ทัพนายกองไทยที่เหลือตายอยู่บ้างที่ฝั่งพรานพร้าวนั้น  มีความน้อยใจแก่ญวนว่า  ญวนเข้าข้างคนผิด  หาคิดถึงทางพระราชไมตรีกับไทยไม่  แม่ทัพนายกองไทยได้ปรึกษากันลงเนื้อเห็นว่า  ญวนรู้เห็นเป็นใจกับเจ้าอนุคิดพร้อมใจกันแล้ว  จึงพาลาวมาล่อหลอกไทยให้หลงเชื่อ  แล้วจึงฆ่าไทยตายครั้งก่อนนั้น  ไพร่ ๗๐๐  นายทัพ ๓ คน  จะออกชื่อไว้ให้ญวนรู้ไว้ด้วย   คือพระยาพิไชยสงคราม ๑   พระยาทุกขราษฎร์ ๑   หลวงสุเรนทรวิชิต ๑

          การเป็นดังนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว  นายทัพนายกองไทยที่เหลือตายอยู่  เคยเข็ดขยาดกลอุบายญวนที่เมืองเวียงจันทน์มาแล้ว  ครั้งนี้จึงไม่มีความไว้ใจญวน ๕๐ เหมือนครั้งก่อน  เมื่อแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยได้ยกทัพขึ้นไป  รบกับเจ้าราชวงศ์  เจ้าราชวงศ์แตกหนีไปนั้น  ก็ให้ (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงครามเป็นแม่ทัพ  แม่ทัพเรือคอยรักษาด่านทางข้างแม่น้ำโขงเมืองนครพนม  เป็นหน้าที่สิทธิ์ขาดของ (ทุงวิไชยชิดชุม)  พระวิชิตสงคราม  พระวิชิตสงครามต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียว  เพราะฉะนั้น  พระวิชิตสงครามจึงมีอำนาจฆ่าผู้ฟันคนทั้งในกองทัพหรือข้าศึกก็ได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้  ถ้าพระวิชิตสงครามรักษาทางด่านไม่ดีให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น  พระวิชิตสงครามหรือตระกูลวงศ์พระวิชิตสงคราม  ก็ต้องตายด้วยพระราชอาญาศึก  ตามกฎหมายบ้านเมืองกรุงพระมหานครศรีอยุธยา

(https://i.ibb.co/0MnBzQr/Untitlesdd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นญวนและลาวได้ถือหนังสือมาในระหว่างศึกไทยกับเจ้าราชวงศ์  เจ้าอนุ  กำลังติดพันกันอยู่  พระวิชิตสงครามเห็นผิดประหลาดคิดว่าญวนกับลาวที่มาคราวหลังนี้  จะมาร้ายหรือดีไม่แจ้ง  จึงสำคัญคิดเข้าใจว่าญวนพวกนี้เป็นญวนมากับลาว  คงจะเป็นพวกเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์ ใช้ให้มาเป็นไส้ศึกอีกแล้ว  เพราะพวกญวนลาวเคยมาฆ่าคนไทยครั้งก่อนครั้งหนึ่งแล้ว  เพราะเหตุทั้งนี้พระวิชิตสงครามไม่ไว้ใจแก่ญวน ๕๐ คน  ที่เหลือตายญวน ๑  ลาว ๒ คน  ต้องอาวุธป่วยลำบาก  พระวิชิตสงครามส่งตัวญวน ๑ คน  ลาว ๒ คน  มาให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยได้ ๔-๕ วันก็ป่วยหนักลง  จึงตายที่ในกองทัพทั้ง ๓ คนแล้ว  แต่หนังสือญวนนั้น (ทุงวิไชยชิดชุม) คือพระวิชิตสงครามให้การว่า  ได้ใช้คนลงไปค้นหาที่ในเรือญวนนั้นก็ไม่พบ  พบแต่เครื่องอาวุธและเสื้อผ้าเล็กน้อย  ซึ่งเป็นสิ่งของไม่มีราคาก็ทิ้งเสียแล้ว.....”

          * ปล่อยให้ญวนกล่าวหาขุนนางแม่ทัพนายกองไทยซ้ำ ๆ ซาก ๆ มานาน  ไทยเพิ่งจะตอบแก้ข้อกล่าวหาในพระราชสาส์นฉบับนี้เอง  วันนี้ให้อ่านแต่คำแก้ข้อกล่าวหาที่ทุงวิไชยชิดชุม  หรือ  พระวิชิตสงครามฆ่าญวนเพียงข้อหาเดียวก่อน  อ่านคำแก้ข้อกล่าวหาข้อแรกนี้ก็เห็นว่าฝ่ายไทยเราแก้ได้อย่างสมเหตุสมผล  เป็นยุติธรรมยิ่งแล้ว  พรุ่งมาอ่านการแก้ข้อกล่าวหาอื่น ๆ ต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, พฤษภาคม, 2563, 10:24:14 PM
(https://i.ibb.co/1LZ9QC9/IMG-6659.jpg) (https://imgbb.com/)
เมืองเว้ (Hue) อดีตเมืองหลวงเวียดนาม

- อานามสยามยุทธ ๕๐ -

ญวนรบเร้าร่ำไรขอให้ตอบ
ไทยจึงมอบคำแถลงแจงเสียหาย
ญวนกับลาวร่วมกันสรรค์อุบาย
ฆ่าไทยตายกลางเวียงจันทน์เกือบพันคน

“ทุงวิไชยชิดชุม”ผู้คุมด่าน
เกรงญวนพาลพาลาวลวงอีกหน
จึงฆ่าญวนลาวนั้นป้องกันตน
เป็นเหตุผลราชการงานสงคราม


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  ฝ่ายไทยปล่อยให้ญวนกล่าวหาขุนนางแม่ทัพนายกองไทยซ้ำ ๆซาก ๆ มานาน  ไทยเพิ่งจะตอบแก้ข้อกล่าวหาในพระราชสาส์นล่าสุด  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประชุมขุนนางเสนาบดีให้แต่ละคนแต่งพระราชสาส์นตอบญวน  แล้วเลือกฉบับที่มีสำนวนดีที่สุดเป็นพระราชสาส์นสำเนาส่งให้เวียดนาม  ในตอนแรกให้อ่านแต่คำแก้ข้อกล่าวหาที่ทุงวิไชยชิดชุม  หรือ  พระวิชิตสงคราม ฆ่าญวนเพียงข้อหาเดียวก่อน  วันนี้มาอ่านความต่อจากเมื่อวันวานครับ

(https://i.ibb.co/MM0qdsJ/Un56titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “การซึ่งเกิดเหตุฆ่าฟันกันล้มตายทั้งไทยและญวนนั้น  เป็นท่าทางในระหว่างทางพะราชไมตรีมัวหมองไปดังนี้  เพราะเหตุด้วยเจ้าอนุผู้ผิดคิดกบฏก่อการลุกลามไปต่าง ๆ  เจ้าอนุผู้เดียวพาให้สองพระนครเดือดร้อนร้าวฉานกัน  เสียไพร่พลตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่กรุงพระมหานครศรียุธยานี้มีความวิตกถึงพระราชไมตรียิ่งนัก  แต่ทรงคาดคะเนว่า  น้ำพระทัยพระเจ้ากรุงเวียดนามคงจะทรงระลึกเห็นได้  ว่าไทยตายที่เมืองเวียงจันทน์ ๗๐๐ คนเศษ  เพราะเหตุญวนพาเจ้าอนุมาฆ่าไทย  และไทยฆ่าญวนตายที่เมืองนครพนม ๔๘ คนนั้น  ยังน้อยกว่าไทยตายที่เมืองเวียงจันทน์  ซึ่งพระเจ้าเวียดนามจะทรงถือความผิดแก่ไทยฝ่ายเดียวนั้น  ทรงเห็นว่าจะยังเป็นยุติธรรมเที่ยงตรงได้  ด้วยญวนมาก่อเหตุให้เกิดอันตรายที่เมืองเวียงจันทน์ก่อนเป็นความสัตย์จริง  ไทยจึงก่อเหตุฆ่าญวนตอบแทนบ้าง  เนื้อความเป็นดังนี้  แล้วแต่พระเจ้ากรุงเวียดนามจะทรงพระวินิจฉัยให้ถ่องแท้โดยทางยุติธรรมพระราชประเพณีทศพิธราชธรรมิกะวโรดมบรมกษัตริย์

(https://i.ibb.co/6sMYTsx/Untitlsdfed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ข้อที่ว่า (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ   และ (ลงนะรา) คือหลวงนรารณรงค์  นายกองทัพทั้งสองนั้น  ยกกองทัพล่วงเข้าไปในเขตแดนเมืองถูตือ  เมืองกำโล  เมืองคำบ่อ  ทั้งสามหัวเมืองซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงเวียดนามนั้น  ซึ่งกองทัพไทยได้เดินกองทัพล่วงเกินเข้าไปในเขตแดนญวนทั้งสามหัวเมืองแต่เพียงเท่านี้  ก็หาพอที่ญวนจะถือว่าไทยเป็นผิดได้ไม่  เพราะไทยคิดเห็นว่าเมือง (กำโล)  ซึ่งภาษาไทยเรียกว่าเมืองพวง    (เมืองถูตือ) ไทยเรียกว่าเมืองพลาน    (เมืองคำบ่อ) ไทยเรียกว่าเมืองชุมพร   เมืองทั้งสามนี้เป็นหัวเมืองปลายแดนในป่าดง  พรมแดนต่อกันกับปลายแดนเมืองลาวที่ขึ้นแก่ไทย  กับอีกข้อหนึ่งไทยเห็นว่าเมืองพวง  เมืองพลาน  เมืองชุมพร  ทั้งสามเมืองแต่ก่อนมาสองปีสามปีก็เคยเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองนครจำปาศักดิ์  ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ภายหลังมาเจ้าอนุทูลขอเมืองทั้งสามนี้ไปขึ้นแก่เมืองเวียงจันทน์  แล้วเจ้าอนุนำเมืองพวง  เมืองพลาน  เมืองชุมพร  ทั้งสามเมืองนี้ไปยกให้ขึ้นแก่ญวนด้วยเหตุใดหาทราบไม่  แม่ทัพนายกองเข้าใจว่าเมืองทั้งนี้เคยเป็นหัวเมืองขึ้นอยู่ในเขตแดนไทยแต่ก่อนมา  แต่เจ้าอนุนำเมืองทั้งสามนี้ให้แก่ญวนนั้น  ไทยเข้าใจว่าเมืองทั้งสามนี้ไม่เป็นสิทธิ์แก่ญวน  ญวนไม่ควรถือเป็นอาณาเขตของญวนได้  เพราะเจ้าอนุไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินปกครองตลอดอาณาจักรเหนือใต้ฝ่ายไทย  เมืองทั้งสามนั้นเป็นอาณาจักรของไทย  เจ้าอนุจะนำเมืองในอาณาจักรไทยไปยกให้แก่ญวนไม่ได้  แม่ทัพนายกองไทยคิดเห็นดังนี้  จึงยกกองทัพเข้าไปในเขตแดนเมืองทั้งสาม  ตามที่ภาษาญวนเรียกว่า  เมืองกำโล ๑   เมืองถูตือ ๑   เมืองคำบ่อ ๑   และภาษาไทยเรียกว่า เมืองพวง ๑   เมืองพลาน ๑   เมืองชุมพร ๑   บางทีแม่ทัพนายกองไทยหนุ่ม ๆ ใหม่ ๆ  ยังไม่รู้การโบราณ ๆ  ก็พากันเข้าใจว่า  เมืองทั้งสามนี้เป็นหัวเมืองขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย  คือญวนและไทย  ดังเมืองลาวที่เคยมีแต่ก่อนก็มาก  เมื่อนายทัพนายกองคิดอย่างนี้  ก็ถูกบ้าง  แต่หาสู้ตรงไม่

          ซึ่ง (ทุงวิไชย) คือพระวิชิตสงครามคิดเห็นแลเข้าใจว่า  เมืองทั้งสามนั้นคงเป็นหัวเมืองขึ้นอยู่ในอาณาจักรฝ่ายไทยแน่แล้ว  เพราะฉะนั้นพระวิชิตสงครามแม่ทัพจึงใช้ให้ขุนนางนายทัพนายกองไทยสองคน  ที่ชื่อโดยภาษาไทยว่า  หลวงนรารณรงค์ ๑   หลวงจงใจยุทธ ๑  ซึ่งภาษาญวนเรียกว่า  ซุงกิมดอง ๑   ลงนะรา ๑   ทั้งสองคนนี้เป็นนายกองคุมไพร่พลยกกองทัพเข้าไปในเมืองทั้งสาม  เพราะเข้าใจและความมุ่งหมายจะติดตามพวกเจ้าอนุ  ผู้เป็นกบฏต่อแผ่นดินไทยให้ได้ตัวหมด  หลวงนรารณรงค์กับหลวงจงใจยุทธทั้งสอง  ได้ยกกองทัพเลยไปในเขตแดนเมืองทั้งสามโดยทั่วนั้น  เพราะความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง  เพื่อจะเที่ยวค้นหาครอบครัวหัวเมืองที่ขึ้นแก่ไทย  ตกใจเจ้าอนุเป็นกบฏ  แล้วก็ระส่ำระสายแตกหนีไปอาศัยอยู่ในเมืองพวง  เมืองพลาน  เมืองชุมพร  ถ้าพบคนครอบครัวก็จะได้ต้อนรับให้กลับคืนมา  ให้ตั้งทำมาหากิน อยู่ตามภูมิลำเนาเดิมทุกบ้านทุกเมืองในเขตแดนฝ่ายไทย  ไม่ให้เสียทางเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

(https://i.ibb.co/zRJ0Mvy/Untitl568ed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  หลวงนรารณรงค์  หลวงจงใจยุทธ  ได้พบครัวลาวได้หนีเจ้าอนุไปอยู่ในเมืองทั้งสามนั้นมากกว่ามาก  ก็ได้เลือกต้อนพามาแต่ครัวที่เป็นลาวในบังคับไทยแท้ ๆ  แต่คนลาวอยู่ในบังคับญวนที่ในเมืองทั้งสาม  นายทัพไทยหาได้ไล่ต้อนพามาไม่  ถึงหากว่าไทยจะเป็นคนใจพาลสันดานโลภอยากได้ครัวลาวชาวเมืองทั้งสามที่อยู่ในอำนาจบังบัญชาของญวนมาบ้าง  พวกเมืองทั้งสามนั้นคงไม่มา  หรือมากลางทางก็คงจะหนีกลับไป  เพราะไม่อยากจะมาอยู่ในบ้านเมืองข้างฝ่ายไทย  เพราะผิดพื้นที่ทำเลทำมาหากินต่างกัน  ข้อความที่ชี้แจงมาทั้งนี้  ก็พอเป็นพยานได้บ้างว่า  ไทยไม่ได้เบียดเบียนพาครับครัวเมืองทั้งสามมาไว้ในบ้านเมืองฝ่ายไทยเลย

          กับข้อที่ญวนว่า (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ ๑   (ลงนะรา) คือหลวงนรารณรงค์ ๑   ยกกองทัพเข้าไปเก็บเงินส่วยสาอากรแก่พลเมืองทั้งสามเมืองนั้น  ความข้อนี้ได้ไล่เลียงสอบสวนชำระถามตั้งแต่แม่ทัพผู้ใหญ่และผู้น้อยตลอดลงไป  จนไพร่พลก็หาได้ความจริงดังญวนฟ้องมานั้นไม่  และได้สืบถามตามพวกลาวเชลยที่กวาดต้อนครัวมา  ไม่ได้ความจริงเลย  เนื้อความข้อนี้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาเข้าใจว่า  กรุงเวียดนามเข้าพระทัยผิดไป  ตามที่พวกหัวเมืองขึ้นนำความเท็จมากราบทูล  จึงทรงขัดเคืองไปตามเหตุการณ์ที่ได้ทรงทราบความนั้น

(https://i.ibb.co/G7knvNt/Untidfgtled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ถึงว่าเมืองทั้งสามนั้น  ไทยถือว่าเป็นหัวเมืองขึ้นของไทย  ไทยยังมีความเมตตาปรานีแก่หัวเมืองเล็กน้อยเช่นนี้  ไม่เคยเรียกส่วยสาอากรเลย  อย่าว่าแต่เล็กน้อยทั้งสามนี้เลย  ถึงเมืองใหญ่ดังเมืองเวียงจันทน์  เมืองหลวงพระบาง  หรือเมืองตามลำแม่น้ำโขง  ซึ่งขึ้นอยู่ในอำนาจกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  ก็ไม่ได้เคยเรียกส่วยสาอากร  หรือกะเกณฑ์สิ่งของทองเงินแก่เจ้าบ้านผ่านเมืองให้ได้ความเดือดร้อนแก่ไพร่บ้านพลเมือง  ซึ่งเป็นเมืองพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นไม่มีเลย  กรุงพระมหานครศรีอยุธยาทรงรักษาเมืองประเทศราชต่าง ๆ ห่างและชิดชั้นในชั้นนอกทั้งปวงไว้  เพื่อทรงพระมหากรุณาภาพทำนุบำรุงแก่สมณะพราหมณาจารย์  ไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักร  ให้อยู่เย็นเป็นสุขพร้อมมูลทั่วหน้ากัน  โดยทางทศพิธราชธรรมอันมหาประเสริฐ    ซึ่ง (ทุงวิไชยชิดชุม) คือพระวิชิตสงคราม  แม่ทัพไทยจับญวนฆ่าเสียนั้น  ก็เพราะเหตุที่ญวนพาเจ้าอนุฆ่าไทยก่อนแล้ว     (ซุงกิมดอง) คือหลวงจงใจยุทธ   กับ(ลงนะรา)คือหลวงนรารณรงค์  ทั้งสองนี้เป็นนายทัพนายกองฝ่ายไทย  คุมพลทหารเข้าไปตามพวกกบฏในเมืองทั้งสามนั้น  ก็เพราะเข้าใจว่าเมืองทั้งสามเป็นเมืองขึ้นแก่ไทยก่อน  ญวนมาตัดตอนไปจากเจ้าอนุ หาถูกต้องตามอย่างยุติธรรมไม่

          เหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวมานี้มีข้อความสำคัญอยู่ ๒ ข้อเท่านั้น  ขอให้พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระราชวินิจฉัยให้ถ่องแท้ตามทางธรรมสุจริต  ด้วยพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระสติและปัญญาสามารถ  เป็นสุขุมคัมภีรภาพลึกซึ้งดุจดังพระมหาสมุทร  ขอให้ทรงตรึกตรองโดยทางทศพิธราชธรรมอันอุดมพระบรมราชปรีชาอันมหาประเสริฐ  องอาจสามารถที่จะทรงทราบเหตุการณ์ที่เป็นไป  โดยทางเท็จและจริงย่อมจะทรงทราบการตลอดได้สิ้น  ด้วยพระปัญญาดังพระขรรค์แก้ว      (แล้วมีข้อความอื่นอีกหลายประการแจ้งอยู่ในต้นฉบับเดิม)

          ครั้นแต่งพระราชสาส์นเสร็จแล้ว  พร้อมด้วยสิ่งของบรรณาการทรงยินดีตอบแทน  ส่งออกไปให้พระเจ้าเวียดนามตามธรรมเนียม  พระจักราราชทูตและทูตานุทูตมีชื่อพร้อมกันจัดดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย  และกราบถวายบังคมลาเชิญพระราชสาส์นออกไปจำทูลถวายพระเจ้าเวียดนาม  ราชทูตานุทูตพร้อมกันลงเรือทะเลใช้ใบออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ในปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ ปี เป็นปีที่ ๖  ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ”

          * พระราชสาส์น  ความแก้ข้อกล่าวหาของญวน  ชี้แจงได้อย่างละเอียดรอบคอบ  สมเหตุสมผล  และยังให้เราได้รู้ว่าญวนแอบมาเบียดบังเอาหัวเมืองของไทยตามชายแดนลาว-ญวน ไปเสียหลายเมือง  ตัวการสำคัญที่ไทยเสียแผ่นดินให้ญวนไปหลายหัวเมือง  ทั้งยัง   “ชักศึกเข้าบ้าน”   ด้วยการออกไปจิ้มก้อง  ให้ญวนทึกทักทั้งเอาว่าลาวเป็นประเทศราชของตน  จนรบเร้าขอมีส่วนได้ในแผ่นดินเวียงจันทน์นั้น  ล้วนเกิดจากเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์นั่นเอง  พระราชสาส์นไทยตอบญวนไปแล้ว  ญวนจะว่าประการใด  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, พฤษภาคม, 2563, 10:43:46 PM
(https://i.ibb.co/DKwhHxW/x9hue.jpg) (https://imgbb.com/)
พระราชวังเมืองเว้ (Hue) อดีตเมืองหลวงเวียดนาม

- อานามสยามยุทธ ๕๑ -

ญวนโมโหไทยมากสำรากนิสัย
ด่าทูตไทยเสียงดังอย่างเหยียดหยาม
ไม่รับเครื่องบรรณาการอันดีงาม
แสดงความกักขฬะอันธพาล

ไล่ทูตไทยกลับสยามอย่างลำบาก
พร้อมกับฝากผรุสวาทราชสาส์น
ให้ลงโทษขุนนางอย่างประจาน
ไทยยืนกรานมิบุ่มบ่ามบ้าตามญวน


          อภิปราย ขยายความ......................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามมีพระราชสาส์นตอบแก้ข้อกล่าวหาของญวน  ซึ่งก็ได้ชี้แจงอย่างละเอียดรอบคอบ  สมเหตุสมผล  และยังให้เราได้รู้ว่า  ญวนแอบมาเบียดบังเอาหัวเมืองของไทยตามชายแดนลาว-ญวนไปเสียหลายเมือง  ตัวการสำคัญที่ไทยเสียแผ่นดินให้ญวนไปหลายหัวเมือง  ทั้งยัง  “ชักศึกเข้าบ้าน”  ด้วยการออกไปจิ้มก้อง ให้ญวนทึกทักเอาว่า  ลาวเป็นประเทศราชของตน  จนมารบเร้าขอมีส่วนได้ในแผ่นดินเวียงจันทน์นั้น  ล้วนเกิดจากเจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์นั่นเอง  พระราชสาส์นไทยตอบญวนไปแล้ว  ญวนจะว่าประการใด  วันนี้มาอ่านต่อครับ

(https://i.ibb.co/YLc2H7t/Untitldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระจักราราชทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปกรุงเว้ได้เจ็ดเดือนสี่วัน  ได้กลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๙๒ ปี  เจ้าพระยาพระคลังนำพระจักราราชทูตเข้าเฝ้าพระกรุณา  พระจักรากราบบังคมทูลว่า  เมื่อไปถึงเมืองตามรายทางของญวน  ญวนรับรองเรียบร้อยตามอย่างธรรมเนียมที่ราชทูตไทยเคยไปมาแต่ก่อนทุกอย่าง

(https://i.ibb.co/GW1k372/Cau-4-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นถึงกรุงเว้เมืองหลวงของญวนแล้ว  ได้นำสำเนาพระราชสาส์นที่เป็นอักษรจีนภาษาญวนนั้น  ไปมอบให้แก่องเลโปเสนาบดี  เสนบดีนัดวันให้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นพระเจ้าเวียดนามในที่ประชุมใหญ่ในพระราชวัง  พระเจ้าเวียดนามหาได้ทรงตรัสพระราชทานพระราชปฏิสันถารปราศรัยกับราชทูตไทยตามอย่างธรรมเนียมทูตเข้าเฝ้าเหมือนทุกครั้งไม่  ตรัสเป็นการบริภาษตัดพ้อต่าง ๆ นานา  ด้วยเรื่องเมืองเวียงจันทน์และไทยฆ่าญวนนั้นสิ่งเดียว  ตรัสพระสุระเสียงดังทีกริ้วมากนัก  เสด็จออกรับราชทูตไทยอยู่ประเดี๋ยวเสด็จขึ้น  ราชทูตไทยก็ออกจากที่เฝ้า  กลับมาที่กงก๊วนที่พักของราชทูตไทยไปทุกครั้งอย่างอย่างธรรมเนียมญวน  เมื่อราชทูตไทยไปเฝ้าแต่ก่อนนั้น  เคยมีการเลี้ยงโต๊ะใหญ่พร้อมเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่กับราชทูตไทยด้วยกัน  เป็นการแสดงความต้อนรับนับถือ  แต่ครั้งนี้ไม่มีการเลี้ยงโต๊ะใหญ่กับราชทูตไทย  ราชทูตไทยไม่ได้รับพระราชทานสิ่งของรางวัลเลย

(https://i.ibb.co/KD97898/Tranh.jpg) (https://imgbb.com/)

          อยู่มาสองสามวัน  องเลโปเสนาบดีว่าการต่างประเทศใช้ให้ขุนนางมาเรียกราชทูตไทยไปหาที่ตึกองเลโป  องเลโปพูดว่า  มีรับสั่งพระเจ้าเวียดนามไม่ให้เจ้าพนักงานรับเครื่องราชบรรณาการสิ่งของที่ไทยจัดมาถวายนั้นแต่สักสิ่งหนึ่งเลย  ให้ราชทูตไทยนำราชบรรณาการกลับคืนไปเมืองไทยให้หมดเถิด  แล้วองเลโปนำกล่องพระราชสาส์นญวนตอบไทยมาส่งให้ในมือราชทูตไทย  ราชทูตไทยก็ลากลับมาที่พัก

          รุ่งขึ้นเวลาเช้า  มีขุนนางญวนผู้รับใช้องเลโปมาแจ้งความว่า     “ราชทูตไทยจะกลับไปเมืองไทยก็ให้รีบไปเถิด  อย่าอยู่ที่นี่เลย  ญวนจะไม่รับรองเลี้ยงดูแล้ว”     ราชทูตไทยพากันไปหาองเลโปเมื่อจะลา  ก็ไม่พบ  คอยอยู่ครู่หนึ่งมีเด็กคนใช้ออกมาบอกว่า

           “องเลโปว่าราชทูตไทยจะกลับไปเมืองไทยก็ไปเถิด  ไม่ต้องกราบถวายบังคมลาพระเจ้าเวียดนาม  แล้วไม่ต้องลาองเลโปเสนาบดี  ไม่ต้องไปหาไปลาขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย  เขาไม่รับรองราชทูตไทยครั้งนี้เหมือนครั้งก่อนแล้ว  ให้ราชทูตรีบตรงไปบ้านเมืองของตนเถิด”

          เมื่อราชทูตไทยได้ถูกความดูหมิ่นดูถูกของญวน  ญวนขับไล่ไทยดังนั้นแล้ว  ไทยก็พากันออกจากรุงเว้ (เมืองหลวงของญวน)  เจ้าพนักงานญวนที่เคยรับส่งต่อ ๆ มาตามรายทางบกนั้น  ก็ไม่มีผู้ใดมารับมาส่งราชทูตไทย  ราชทูตไทยก็ต้องจ้างเกวียนจ้างโคต่างราษฎรญวน  บรรทุกสิ่งของใช้สอยมาตามทางบกจนถึงท่าเรือ  ราชทูตลงเรือทะเลของไทยใช้ใบแล่นมากรุงเทพฯ  ครั้งนั้นราชทูตไทยได้ความลำบากและความอัปยศอดสูแก่หมู่นานาประเทศทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินญวนเป็นอันมากกว่ามากนัก

(https://i.ibb.co/BfGVQ8s/rfgfd.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระราชสาส์นที่ญวนตอบมานั้น  ขอตัดแต่ใจความว่าดังนี้

           “ถ้าพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยายังรักทางพระราชไมตรีอยู่บ้างแล้ว  ขอให้นำคนผู้ผิดทั้งสามคนคือ  ทุงวิไชยชิดชุม  ซุงกิมดอง  ลงนะรา  มาลงพระราชอาชญา  เฆี่ยนหลังประจานที่กลางตลาดในพระนคร  ให้นานาประเทศเห็นพร้อมกัน  อย่างนี้ทางพระราชไมตรีจึงจะไม่มัวหมอง  และจะได้ยืดยาวเสมอต้นเสมอปลายต่อไปภายหน้า”    (มีข้อความอื่นอีกมากมาย  ครั้นจะนำมาบรรยายกล่าวไว้ในที่นี้  ก็จะเป็นที่ซ้ำซากยืดยาวเหลิงเจิ้งไป  ป่วยการฟังสำนวนญวนพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ หาประโยชน์ไม่     (ทุงวิไชชิดชุม) นั้นคือพระวิชิตสงคราม  ที่ได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระยาณรงค์วิไชยในกรมพระราชวังบวรฯ     (ซุงกิมดอง) นั้นคือหลวงจงใจยุทธ     (ลงนะรา) นั้นคือ หลวงนรารณรงค์  แต่ญวนไม่รู้จักชื่อเสียงขุนนางไทยก็เรียกผิดเพี้ยนไป)

(https://i.ibb.co/x1xznWN/spd-20171021153609-b-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความในพระราชสาส์นญวน  และถ้อยคำพระจักราราชทูตกราบบังคมทูลพรรณนาความที่ญวนดูหมิ่นดูถูกนั้น  และคืนสิ่งของที่ทรงยินดีกลับคืนมาทั้งหมดด้วย  เมื่อได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทฉะนี้แล้ว  จึงมีพระราชดำรัสว่า

           “ทางไมตรีไทยกับญวนจะขาดกันก็ได้เป็นไรมี  ไทยก็ไม่ได้พึ่งบุญพึ่งพาสนาญวน  ญวนจะทำอะไรแก่ไทยก็ไม่ได้  ไทยก็ไม่กลัวญวน  เพราะรี้พลหรือเสบียงอาหารบ้านเมืองเขตแดนก็พอเสมอ ๆ กัน  ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน  เมื่อญวนก่อเหตุก่อนแล้ว  ไทยก็จะต้องสานตามญวนไปก่อเหตุการณ์ให้ทางไมตรีมัวหมองไปเช่นนี้”

(https://i.ibb.co/cYJJMC1/Untitlfded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ตั้งแต่พระจักราไปเป็นราชทูตกลับมาได้ ๓ ปี  ถึง ณ เดือนแปด  ปีมะโรงจัตวาศก  จุลศักราช ๑๑๙๔ ปี  เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ   ครั้งนั้นองเลโปเสนาบดีกรุงเวียดนาม  มีหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่ง  ใจความว่า

           “ตั้งแต่นี้สืบไปภายหน้า  ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะมีพระราชสาส์นออกไปยังกรุงเวียดนามแล้ว  แต่สำเนาพระราชสาส์นที่เคยเขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวนนั้น  ขอให้ประทับตราประจำแผ่นดินไทย  แล้วขอให้บรรจุลงในกล่องงาช้าง  ประทับตรามังกรห้าเล็บรวมกันกับพระราชสาส์นคู่พระราชลัญจกรที่เป็นอักษรไทยภาษาไทย  ให้ลงในกล่องงาช้างกล่องเดียวกันเถิด  อย่าให้แยกย้ายเป็นสองฉบับสองกล่องเลย”

          ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงนำข้อความตามหนังสือองเลโปขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสว่า

           “ผู้ครองฝ่ายญวนเห็นว่า  สำเนาพระราชสาส์นที่เขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวน  มีปรากฏว่าเสียมหล้าเดืองพัตธะเวียงคำนับมาถึงสมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้  ดังนี้แล้วยังไม่พอกับความที่ต้องการยกยศศักดิ์ให้สูงเกินประมาณ  บัดนี้ยังมีหนังสือเสนาบดีบังคับสั่งซ้ำเข้ามาอีกเล่า  จะให้ไทยสำเนาพะราชสาส์นรวมกับพระราชสาส์นนี้ด้วยในกล่องเดียวกันนั้น  ญวนมีความประสงค์จะให้เป็นพระราชสาส์นด้วยกันทั้งสองฉบับ  จะได้เป็นเกียรติยศแก่ญวนฝ่ายเดียว

(https://i.ibb.co/7yhCFsz/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ความคิดของฝ่ายปกครองญวนนั้น  เห็นจะคิดเข้าใจว่าเมืองญวนเป็นบ้านใหญ่เมืองโตกว่าเมืองไทย  จึงได้สั่งเข้ามาให้ไทยประทับตราประจำแผ่นดินไทยลงในสำเนาพระราชสาส์นที่เป็นอักษรจีนภาษาญวน  ญวนจะได้นำสำเนาที่ออกพระนามยศเจ้าแผ่นดินญวน  ญวนจะได้นำออกตีแผ่ให้นานาประเทศที่รู้จักอ่านหนังสือจีนได้  จะได้เข้าใจว่าไทยยำเยงเกรงกลัวอำนาจญวน  ญวนจะได้เป็นที่แสดงเกียรติยศของญวนฝ่ายเดียว  ญวนคิดจะกดขี่ไทยให้เป็นดังเมืองตังเกี๋ย  ที่เป็นเมืองขึ้นอยู่ในใต้บังคับบัญชาญวน  ญวนทำได้ก็แต่เมืองตังเกี๋ยเถิด  จะมาล่วงหลู่ไทยให้กลัวดังตังเกี๋ยและเมืองลาวสิบสองปันนานั้นไม่ได้  ไทยไม่ยอมตามใจญวนแล้ว........”

          * เป็นอันว่า  ญวนได้รับพระราชสาส์นตอบโต้กลับไปแรง ๆ บ้างดังนั้นก็โกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง  ไม่ยอมรับเครื่องบรรณาการจากไทย  ไล่ส่งราชทูตไทยเดินทางกลับอย่างทุลักทุเล  พร้อมกันนั้นก็มีหนังสือฝากราชทูตไทยมากล่าวความซ้ำซากเหมือนเดิม  และยังได้ยื่นเงื่อนไขให้ไทยลงโทษทุงวิไชยชิดชุม  ซุงกิมดอง  ลงนะรา  ด้วยการเฆี่ยนหลังประจานกลางตลาดชุมชน  ให้นานาประเทศรับรู้และเพื่อรักษาพระราชไมตรีให้ยืนยาวต่อไป  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในสาส์นญวนและคำกราบบังคมทูลของพระจักราราชทูตแล้ว  มีพระราชดำรัสว่า  เมื่อญวนจะขาดไมตรีกับไทยก็ได้  จะเป็นไรไป  ไทยไม่ง้อ  เพราะไม่เคยพึ่งพาญวน  ตรัสดังนั้นแล้วไทยก็นิ่งอยู่  ไม่ตอบโต้และดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับญวนเลย  จากนั้นมาอีก ๓ ปี  ญวนก็มีหนังสือมาถึงไทยอีก  ความในหนังสือก็เป็นเชิงบังคับบัญชาไทยให้ทำตามที่ญวนต้องการ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้ทันญวน  จึงมีพระราชดำริและดำรัสในเบื้องต้น  ดังข้อความข้างบนนี้  และยังมีพระราชดำรัสต่อหนังสือญวนอีกมาก  วันพรุ่งนี้ค่อยอ่านต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤษภาคม, 2563, 01:37:35 AM
(https://i.ibb.co/nBGYw1R/Untitl-6ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕๒ -

ทรงติเตียนเจ้าญวนป่วนจารีต
ทิ้งอดีต“ญาลอง”หมดทุกส่วน
บ้าอำนาจขาดสติควรมิควร
มิทบทวนตนเองเอาแต่ใจ

จึ่งเตรียมการรบญวนไว้ถ้วนทั่ว
ระวังตัวมิอาจประมาทได้
สั่งพระเจ้าหลวงพระบางระวังไว้
ญวนคือภัยอักษะอันธพาล


          อภิปราย ขยายความ.....................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  ญวนได้รับพระราชสาส์นตอบโต้กลับไปแรง ๆ บ้างดังนั้นก็โกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง  ไม่ยอมรับเครื่องบรรณาการจากไทย  ไล่ส่งราชทูตไทยเดินทางกลับอย่างทุลักทุเล  พร้อมกันนั้นก็มีหนังสือฝากราชทูตไทยมากล่าวความซ้ำซากเหมือนเดิม  และยังได้ยื่นเงื่อนไขให้ไทยลงโทษทุงวิไชยชิดชุม  ซุงกิมดอง  ลงนะรา  ด้วยการเฆี่ยนหลังประจานกลางตลาดชุมชน  ให้นานาประเทศรับรู้และเพื่อรักษาพระราชไมตรีให้ยืนยาวต่อไป  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในสาส์นญวนและคำกราบบังคมทูลของพระจักราราชทูตแล้ว  มีพระราชดำรัสว่า  เมื่อญวนจะขาดไมตรีกับไทยก็ได้  จะเป็นไรไป  ไทยไม่ง้อ  เพราะไม่เคยพึ่งพาญวน  ตรัสดังนั้นแล้ว  ไทยก็นิ่งอยู่ไม่ตอบโต้และดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับญวนเลย  จากนั้นมาอีก ๓ ปี  ญวนก็มีหนังสือมาถึงไทยอีก  ความในหนังสือก็เป็นเชิงบังคับบัญชาไทยให้ทำตามที่ญวนต้องการ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้ทันญวน  จึงมีพระราชดำริและดำรัสในเบื้องต้น  ดังข้อความที่อ่านกันไปแล้วนั้น  วันนี้มาอ่านต่อกันอีกนะครับ

(https://i.ibb.co/WgmB0MH/nguyen-thanh-to-350.jpg) (https://imgbb.com/)

           “อนึ่ง  เมื่อราชทูตไทยไปถวายพระราชสาส์นที่ญวน  ญวนพอใจฝากราชสาส์นตอบมาเสมอทุกครั้งทุกคราว  ไทยก็ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์  รับพระราชสาส์นญวนมาทุกที  ครั้นราชทูตญวนเชิญพระราชสาส์นญวนเข้ามากรุงเทพฯ  ไทยจะฝากพระราชสาส์นตอบออกไปบ้าง  บางทีชอบใจก็รับไป  บางทีไม่ชอบใจก็ไม่รับไป  อย่าว่าถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินญวน  แต่ชั้นราชทูตญวนที่เข้ามานี้  ก็เป็นแต่ขุนนางเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น  ก็ยังทำอำนาจโตใหญ่ตามชอบใจญวนอย่างเดียว

(https://i.ibb.co/0r51gHt/minh-mang.jpg) (https://imgbb.com/)

          บัดนี้เจ้าเวียดนามมินมางองค์นี้  ทำฝ่ายสูงเกินศักดิ์นักหนา  บังคับบัญชาเข้ามาตามความชอบใจ  ถ้าญวนชอบใจอย่างธรรมเนียมแบบแผนต่าง ๆ นานา  จัดแจงแต่งตั้งเองตามความชอบใจญวน  ญวนไม่ถูกอย่างแบบแผนนานาประเทศที่เป็นกษัตริย์บ้าง  ไม่เคยพบไม่เคยเห็นอย่างกษัตริย์เช่นเจ้ามินมางองค์นี้  เจ้ามินมางองค์นี้ก่อเหตุขึ้นก่อนให้เสื่อมเสียทางพระราชไมตรีกันและกัน  ถึงว่าผู้ปกครองฝ่ายญวนจะติเตียนผู้ปกครองฝ่ายไทยว่า  ไม่รักใคร่อาลัยในทางไมตรีต่อกันฉันใดก็ดี  ข้อความเหล่านี้ว่ากล่าวตามเหตุการณ์ซึ่งเป็นมาแต่ต้นจนปลาย  ความก็แจ้งอยู่ในพระราชสาส์นที่ราชทูตญวนถือเข้ามากรุงเทพฯ   

(https://i.ibb.co/sjdK68w/11-cb13d.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ไทยกับญวนก็ได้เป็นทางไมตรีกันมาช้านานหนักหนาแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าญาลอง (คือ  องเชียงสือ)  ซึ่งเป็นต้นวงศ์ในกรุงเว้แผ่นดินญวนปัจจุบันนี้  แต่ก่อนนั้นพระเจ้าญาลองผู้ครองแผ่นดินญวนจะธุระอะไรก็ได้มีพระราชสาส์นบ้าง  หรือมีหนังสือเสนาบดีเข้ามาบ้างในกรุงไทย  พูดจาด้วยข้อความประการใด ๆ ได้ว่ากล่าวเข้ามาโดยดี  ตามฉันเมืองกษัตราธิราชด้วยกัน  โดยทางพระราชไมตรีซึ่งกันและกันโดยฉันเรียบร้อย  ไม่ได้หมิ่นประมาทองอาจบังคับบัญชาเหลือเกินเข้ามาในกรุงไทย  ถึงว่าราชทูตไทยหรือราชทูตญวนแต่ครั้งก่อนจะไปมาหากันด้วยธุระราชการใด ๆ  ราชทูตต้องรับพระราชส์นหรือหนังสือเสนาที่ตอบกันและกันทั้งสองฝ่าย  ไม่เหมือนผู้ครองฝ่ายญวนแผ่นดินใหม่นี้เลย  มีแต่ความหมิ่นประมาทดูถูกต่อกรุงเทพฯ จนเหลือที่จะพรรณนา

(https://i.ibb.co/ynvPzYk/Untwitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          อย่าว่าแต่เมืองไทยกับเมืองญวนเป็นทางไมตรีกันเลย  ถึงเมืองแขกเมืองฝรั่งก็ได้เคยเป็นทางพระราชไมตรีกันกับไทยมาแต่ครั้งกรุงเก่าได้มีบ้าง  เมืองในยุโรปเหล่านี้  เมื่อถึงเวลาเป็นไมตรีกันกับไทย  เขาได้ใช้ราชทูตถือพระราชสาส์นเข้ามากรุงเก่าเนือง ๆ  ราชทูตต่างประเทศในยุโรปเขาได้รับพระราชสาส์นตอบกลับ  ไปแจ้งข้อราชการแก่กันทั้งสองฝ่าย  เขาไม่มีความรังเกียจอะไรในการที่รับหนังสือตอบต่อกัน

(https://i.ibb.co/V22JqJX/26196367-1640124152717715-6436208986632414209-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          อย่าว่าถึงเมืองอื่นเลย  คือเมืองแขก,  ฝรั่ง,  เขมร,  ลาว,  เมื่อเวลาเป็นใหญ่เป็นเอกราช  ได้เป็นทางพระราชไมตรีกันกับไทยมีบ้าง  แต่ทางเมืองพม่าที่เป็นข้าศึกแก่กันกับไทยนั้น  ถ้าพม่ามีธุระอะไร  เขาก็ได้ใช้ให้คนพม่าถือหนังสือมาเจรจาการบ้านเมืองหรือราชการแผ่นดินอะไร ๆ  มีหลายครั้ง  ฝ่ายไทยก็ได้มีหนังสือตอบฝากพม่าที่เข้ามานั้น ๆ  เขาก็รับหนังสือตอบของไทยเนือง ๆ  พม่าและไทยจึงได้รู้ความกันทั้งสองฝ่าย  ไม่เหมือนผู้ครองแผ่นดินญวนใหม่นี้  คิดดัดแปลงเปลี่ยนอย่างธรรมเนียมกฎหมายสำหรับเมืองต่อเมือง  ซึ่งเป็นทางพระราชไมตรีกัน  ญวนทำให้ผิดแบบแผนกว่าทุกประเทศ  ได้ตรวจตราถ้อยคำญวนทุกครั้งแล้วเห็นว่า  ประพฤติเกินธรรมสุจริตราชประเพณีบรมธรรมิกราชของพระมหากษัตราธิราชทุกประเทศทั้งปวง  ไทยไม่ควรจะเป็นไมตรีกับญวนได้ต่อไป”

(สิ้นข้อความตามกระแสพระราชดำรัสเท่านี้)

(https://i.ibb.co/V2BfHJ0/Untitlsdsded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยทรงขัดเคืองญวนยิ่งนัก  จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลังให้มีหนังสือตอบญวนไปในครั้งนี้  ให้เก็บเนื้อความตามพระราชกระแสที่ตรัสข้างต้นนี้ตอบญวน  ญวนไม่รับหนังสือตอบเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ที่สมุหนายก  ให้รับหนังสือตอบของเจ้าพระยาพระคลังนั้น  มอบให้กรมการเมืองเขมรพระตะบอง ถือท้องตรานั้นเดินบกไปทางตะวันออก  ไปส่งให้ถึงเขตญวนให้จงได้  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชามอบท้องตราบัวแก้วให้นักสุรายเขมรเมืองพระตะบองเดินบกไป  ส่งให้ญวนนายด่านที่เมืองไทยเขมรเขตแดนญวน  ติดต่อกันกับเขตเขมรแดนฝ่ายไทย  เมื่อเดือนห้าปีมะเส็งเบญจศก  จุลศักราช ๑๑๙๕ ปี  เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/TgfHqMc/chounlamany.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเมื่อการพระเมรุพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ ที่ท้องสนามหลวงนั้น  พระเจ้านครหลวงพระบาง  และพระเจ้าเชียงใหม่  ลงมาช่วยในการพระบรมศพ  ครั้นเมื่อการพระบรมศพเสร็จแล้ว  พระบาทสมเจพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับพระเจ้านครหลวงพระบางว่า 

           “ไทยได้ทำศึกกับเจ้าอนุเวียงจันทน์ครั้งก่อนแล้ว  ครั้งนี้เห็นทีจะได้ทำศึกกับญวนอีกต่อเนื่องศึกเวียงจันทน์ไป  เพราะญวนดูถูกดูหมิ่นต่อกรุงเทพฯ มากนัก  บัดนี้ญวนเบียดเบียนปลายเขตแดนไทย  ตามบ้านเล็กเมืองน้อยทางตะวันออกอยู่เนือง ๆ บ้าง  เป็นเหตุที่ญวนก่อศึกกับไทยก่อน  ให้เจ้านครหลวงพระบางรีบกลับไปรักษาเขตแดนบ้านเมืองโดยเร็วเถิด”

          เมื่อพระเจ้านครหลวงพระบางกราบถวายบังคมลา  จึงพระราชทานเครื่องมโหรีสำรับใหญ่ของกรมพระราชวังบวรฯ ให้ไปทั้งพวกมโหรีผู้หญิงด้วยวงหนึ่ง  แล้วพระราชทานเสลี่ยงปิดทองพนักงา  พระกลดหักทองขวางด้ามหุ้มทองคำ  ให้เป็นเกียรติยศแก่พระเจ้านครหลวงพระบาง  ที่สวามิภักดิ์สุจริตมิได้คิดไปเข้าด้วยเจ้าอนุเวียงจันทน์  และลงใจด้วยราชการศึกแต่งทัพตามจับเจ้าอนุได้  จึงมีความชอบ

          แต่พระเจ้าเชียงใหม่นั้น  ไม่ได้พระราชทานสิ่งใด  เพราะทรงขัดเคืองที่กองทัพมาไม่ทันช่วยรบตีเมืองเวียงจันทน์  ทรงแคลงใจว่าเป็นใน ๆ กับเจ้าอนุอยู่บ้าง........”

(https://i.ibb.co/R68qdrV/Unsdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เป็นอันว่าฝ่ายไทยไม่ยอมให้ญวนดูถูกดูหมิ่นอีกต่อไปแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสตำหนิพระเจ้ามินมาง  กษัตริย์ญวนที่เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเอาตามใจชอบของตน  โดยไม่ดูแบบอย่างนานาประเทศ  ตรัสให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงฝ่ายญวนตามกระแสพระราชดำรัส  แต่ญวนไม่ยอมรับ  จึงตรัสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) นำหนังสือของเจ้าพระยาพระคลังส่งไปให้ญวนทางเมืองเขมรต่อไป

          หลังการพระราชทานเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ (ซึ่งทรงพระประชวรด้วยพระโรคท้องมาน)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่พระเจ้าเมืองหลวงพระบางว่า  เสร็จศึกเวียงจันทน์แล้วเห็นทีว่าจะต้องทำศึกกับญวนต่อ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, พฤษภาคม, 2563, 11:39:34 PM
(https://i.ibb.co/rwXLfzH/image.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕๓ -

ในการพระบรมศพวังหน้า
ญวนส่งราชทูตมาอย่างหน้าด้าน
พระเจ้าอยู่หัวทรงโกรธมิโปรดปราน
ตรัสประจานเจ้าแผ่นดินนาม“มินมาง”

ส่งเครื่องราชบรรณาการนั้นคืนกลับ
มิทรงรับไมตรีที่ญวนอ้าง
ตัดสัมพันธไมตรีทุกที่ทาง
เตรียมทัพย่างเหยียบเขมรกากเดนญวน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  ฝ่ายไทยไม่ยอมให้ญวนดูถูกดูหมิ่นต่อไปอีกแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสตำหนิพระเจ้ามินมาง  กษัตริย์ญวนที่เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเอาตามใจชอบของตน  โดยไม่ดูแบบอย่างนานาประเทศ  ตรัสให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือไปถึงฝ่ายญวนตามกระแสพระราชดำรัส  แต่ญวนไม่ยอมรับหนังสือ  จึงตรัสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานำหนังสือของเจ้าพระยาพระคลังส่งไปให้ญวนทางเมืองเขมรต่อไป  หลังการพระราชทานเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯมหาศักดิพลเสพ (ซึ่งทรงพระประชวรด้วยพระโรคท้องมาน)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่พระเจ้าเมืองหลวงพระบางว่า  เสร็จศึกเวียงจันทน์แล้วเห็นทีว่าจะต้องทำศึกกับญวนต่อ  ขอให้รีบกลับไปดูแลรักษาบ้านเมืองและเขตแดนไว้จงดี  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ

           “ในเดือนห้าปีมะเส็งเบญจศก  ราชทูตญวนคุมเรือทะเลมาถึงกรุงเทพฯ ก่อนวันชักพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ ๘ วัน  ราชทูตญวนใช้ให้ล่ามไปแจ้งความต่อเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีว่า

(https://i.ibb.co/Fh5sQYv/image.jpg) (https://imgbb.com/)

           “บัดนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงเวียดนามทรงทราบข่าวคราวมาแต่จีนเขมรบอกว่า  ที่กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะทำการพระศพกรมพระราชวังบวรฯ  พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงระลึกถึงพระราชไมตรีซึ่งเคยมีมาแต่โบราณ  จึงโปรดให้ขุนนางญวนเป็นทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องบรรณาการเข้ามาช่วยในการพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ  องเตียงเจอเป็นราชทูต    องลำเภ้ยโดยลำเป็นอุปทูต    และองญวนมีชื่ออีก ๔ นายเป็นพนักงานคุมเครื่องราชบรรณาการมาครั้งนั้น ๘๐ คน  เป็นเรือใบทะเลใหญ่คล้ายกำปั่นปากปลา  แล่นเข้ามาทอดสมออยู่ที่ท่าหน้าวัดคอกกระบือ (คือวัดยานนาวา)

          แล้วเจ้าพนักงานไทยได้ปลูกเรือนรับราชทูตญวนให้อาศัยอยู่เย็นเป็นสุขสบาย  เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้ล่ามไปแจ้งความกับราชทูตญวนว่า

           “ราชทูตมาจวนงานพระเมรุพระบรมศพ  จึงไม่ได้เฝ้าในท้องพระโรงเหมือนอย่างราชทูตเคยมาแต่ก่อน  ครั้งนี้โปรดให้เฝ้าที่พระเมรุตามธรรมเนียมที่ราชทูตนานาประเทศมาในคราวพระเมรุก็ได้เฝ้าที่พระเมรุทุกทุกราชทูต”

          องเตียงเจอราชทูตญวนจึงตอบว่า     “ตามแต่อย่างธรรมเนียมไทย ซึ่งจะให้เฝ้าที่ไหน ราชทูตก็จะเฝ้าที่นั้น สุดแล้วแต่ท่านเสนาบดีไทยเถิด”

(https://i.ibb.co/nQTx9db/Tann.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อการพระเมรุนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์แอสแมนโรเบิต  ราชทูตอเมริกันเข้าเฝ้าหน้าพลับพลามวย  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนพลับพลาทอดพระเนตรการมโหรสพ  แล้วได้พระราชทานผลกัลปพฤกษ์และฉลากแหวนทองนากและสิ่งของต่าง ๆ ในผลฉลากนั้นทุกวัน  วันหนึ่งราชทูตานุทูตได้คนละหกสิบผลบ้าง  ห้าสิบผลบ้าง  สามสิบผลบ้างตามบรรดาศักดิ์  เป็นอย่างธรรมเนียมมีมาดังนี้ที่ราชทูตเฝ้าหน้าพลับพลา  ได้ทรงตรัสพระราชทานปฏิสันถารปราศรัยด้วยทุกคนไปกว่าจะเสร็จการพระเมรุ

          ครั้งนี้ไม่โปรดให้ราชทูตานุทูตญวนเข้าเฝ้าหน้าพลับพลาตามแบบอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา  เพราะทรงขัดเคืองเจ้าเวียดนามและองเลโปเสนาบดี  ที่มีหนังสือเข้ามาบังคับบัญชาและดูหมิ่นดูถูกกรุงเทพฯ  เป็นเนื้อความหลายข้อแจ้งอยู่ในหนังสือองเลโปนั้นแล้ว  เป็นแต่เจ้าพนักงานกรมท่าจัดการรับราชทูตานุทูต  ดูการแห่พระบรมศพดูการมโหรสพที่ศาลาคู่  เมื่อราชทูตญวนไม่ได้เฝ้าในท้องพระโรงและหน้าพลับพลาที่พระเมรุนั้น  ราชทูตจึงได้ไปลาเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังจึงตอบราชทูตญวนว่า     “ให้ราชทูตคอยรอฟังพระราชกระแสรับสั่งก่อนจึงจะไปได้”

          ครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำรัสว่า

(https://i.ibb.co/3TbRgD9/eo-350.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ที่ไม่ให้ราชทูตญวนเข้าเฝ้านั้น  เพราะว่าถ้าขืนคบค้าสมาคมกับญวนแล้ว  ก็จะได้ความอัปยศแก่นานาประเทศซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ตั้งการค้าขายสรรพสินค้าอยู่ในกรุงเทพมหานคร  ด้วยผู้ครองฝ่ายญวนก็ยังเบียดเบียนบ้านเมืองปลายเขตแดนไปหลายตำบลแล้ว  ไทยก็ไม่ได้ต่อว่าขอคืนให้เป็นที่ขุ่นเคืองน้ำใจญวน  เพราะไทยเห็นว่าบ้านเล็กเมืองน้อยตามปลายแดนเช่นนั้น  เมื่อเขาสมัครไปพึ่งพาอาศัยขึ้นอยู่กับญวน  ญวนจะชอบใจรับเมืองเหล่านั้นไปในใต้อำนาจญวน  ก็ตามใจญวนและตามใจหัวเมืองเหล่านั้นเถิด  ไทยมิได้มีความรังเกียจอะไรเลย  เพราะว่าไทยยังมีความอาลัยระลึกถึงทางไมตรี  ซึ่งมีมาแก่ญวนแต่ก่อน ๆ

          เพราะฉะนั้นไทยจึงได้สู้อดออมถนอมน้ำใจญวน  ญวนก็หาเห็นว่าไทยรักญวนไม่  ญวนเข้าใจว่าไทยกลัวอำนาจราชศักดิ์ญวน  ญวนจึงยกย่องเจ้านายของญวนให้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งปวง  เพื่อจะได้กล่าวถ้อยคำข่มขี่ไทยให้ต่ำเตี้ยกว่าญวนฝ่ายเดียว

(https://i.ibb.co/4SBys5n/Untiwerqtled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  อำนาจไทยและอำนาจญวนก็เสมอกัน  บ้านเมืองเขตแดน  สติปัญญาความคิด  และเสบียงอาหารหรือทแกล้วทหารก็มีฝีมือเสมอกัน  ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน  ถึงมาทว่าจะเป็นศึกสงครามกันฉันใด  ญวนก็ไม่ได้เหาะเหินเดินมาบนอากาศและดำดินได้  ย่อมจะต้องหาบขนเสบียงอาหารและเครื่องสรรพาวุธมาเป็นกำลังแก่การศึกสงครามด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แม้ว่าได้รบราฆ่าฟันกันในที่สัประยุทธ์ใด ๆ เล่าไซร้  ก็จะได้ความเจ็บปวดล้มตายด้วยกันทั้งสอง  ฝ่ายไหนได้ทีก็จะมีชัยชนะเป็นประเพณี  การศึกสงครามเช่นนี้มีมาแต่โบราณแล้ว  ใช่ว่าถ้าเกิดการยุทธนาฆ่าฟันกันกับญวน  ญวนจะอยู่คงกระพันชาตรีหรือมีวิชาทรหดอดทนล่องหนหายตัวได้เมื่อไรเล่า  เนื้อหนังถูกอาวุธเข้าก็จะเป็นบาดแผลและตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่อาศัยความเพียรและความคิดเป็นประมาณ  จึงจะได้ชัยชนะแก่กันตามการหนักเบา  การที่ว่ามาทั้งนี้ฝ่ายญวนและฝ่ายไทยมีเสมอกัน  ไม่ควรที่ญวนจะมาล่วงเกินหมิ่นประมาทดูถูกดูแคลนต่อกรุงเทพฯ ให้เสื่อมเสียทางพระราชไมตรีไทยกับญวนที่รักใคร่กันมาช้านานหาควรไม่  ฝ่ายญวนไม่คิดถึงบุญคุณของไทย  ที่ไทยได้ปกครองอุปถัมภ์บำรุงช่วยอุดหนุนพระราชบิดาของญวนให้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินญวน  สืบเชื้อพระวงศ์ศานุวงศ์กษัตริย์ญวนตลอดมาจนถึงคุมเท่าบัดนี้  ก็เพราะอำนาจไทยในต้นวงศ์กรุงเทพฯ ทรงทำนุบำรุงญวนให้ได้เป็นใหญ่มิใช่หรือ?  ญวนไม่คิดถึงการอย่างที่ว่ามานี้บ้างเลย

(https://i.ibb.co/xCwxkVM/rfgfd.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนี้ญวนพระเจ้าแผ่นดินใหม่อยากจะได้อะไร  และจะปรารถนาอย่างใดให้เป็นเกียรติยศกับญวน  ญวนก็มีคำสั่งบังคับบัญชาเข้ามา  ให้ไทยทำตามใจญวนปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่าง  นอกจากเยี่ยงอย่างแบบแผนประเพณี  เมืองที่เป็นทางพระราชไมตรีกันในนานาประเทศ  เจ้าเวียดนามมินมางพระเจ้าแผ่นดินญวนใหม่นี้  ทำท่วงทีตีเสมอเป็นเจ้าเป็นนายเมืองไทย  พูดจาข่มขี่เมืองไทยเหมือนเมืองออกเมืองขึ้นอยู่ใต้บังคับบัญชาญวน  ผู้ครองญวนทำเช่นนี้นั้น  ผู้ครองฝ่ายไทยเหลือที่จะอดออมถนอมน้ำใจญวน  และบำรุงทางพระราชไมตรีกับญวนไว้ได้  จำเป็นจำต้องตัดขาดทางพระราชไมตรีกันกับญวนในครั้งนี้แน่แล้ว  ถ้าเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ แล้วเมื่อใด  จึงจะให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่  ถืออาญาสิทธิเป็นแม่ทัพหลวงคุมกองทัพรี้พลช้างม้าโยธาหาญยกไปตีเมืองเขมร  ซึ่งเจ้านักพระองค์จันทร์ไปขึ้นแก่ญวน  และจะได้เลยยกไปตีเมืองญวนด้วยเป็นการตอบแทนแก้แค้นญวนให้จงได้”

(สิ้นพระราชกระแสรับสั่งบริภาษตอบญวนเท่านี้)

(https://i.ibb.co/fQX24vr/k7z1-4-w550.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีมีท้องตราตอบญวนตามพระราชกระแสรับสั่งนั้นทุกประการ  ครั้งนั้นเจ้าพระยาพระคลังได้มอบท้องตราให้ราชทูตญวน  ญวนไม่รับไป  ราชทูตญวนพูดว่าให้ไทยแต่งราชทูตออกไปเมืองญวนจึงจะควร  เมื่อราชทูตานุทูตญวนไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้วนั้น  ราชทูตญวนก็โกรธ  จึงไปลาเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังไม่ออกมารับการลาราชทูตญวน  ญวนไปลาพระยาโชฎึกเศรษฐี ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังสั่งเจ้าพนักงานไทย  ให้จัดเครื่องราชบรรณาการของญวนที่ราชทูตญวนนำเข้ามาครั้งนี้นั้น  ส่งคืนให้ราชทูตญวนรับไปเมืองญวนเสียเถิด  ไม่โปรดให้เจ้าพนักงานไทยรับราชบรรณาการญวนไว้แต่สักสิ่งหนึ่ง  เพื่อจะมิให้เป็นเยื่อใยไมตรีต่อกัน  โปรดเกล้าฯ ให้คืนราชบรรณาการญวนกลับไปครั้งนี้  เป็นการตอบแทนแก่ญวน  เมื่อญวนไม่รับราชบรรณาการไทยไว้  คืนให้พระจักราราชทูตไทยเข้ามาครั้งก่อน  เป็นเหตุที่ญวนทำแก่ไทยก่อน ไทยต้องทำตอบแทนญวนบ้าง........”

(https://i.ibb.co/BVqyp98/2x-C8gn-N63a.jpg) (https://imgbb.com/)

          * งานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ นั้น  ฝ่ายไทยได้เชิญทูตานุทูต  ผู้แทนนานาประเทศที่เป็นพระราชไมตรีกับไทยมาร่วมงานจำนวนมาก  ยกเว้นญวนที่ไทยไม่เชิญมา  แต่ญวนทราบข่าวจากจีนและเขมรจึงส่งราชทูตพร้อมเรื่องบรรณาการเข้ามา  เป็น  “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ”  ในงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวงนั้น  บรรดาทูตานุทูตนานาประเทศได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พลับพลาชมการแสดงและรับพระราทานกัลปพฤกษ์  แต่ทูตญวนมิได้เข้าเฝ้า  ด้วยพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด  ซ้ำยังตรัสบริภาษญวนต่าง ๆ นานา  แล้วให้เจ้าพระยาพระคลังมีท้องตราพระราชดำรัสนั้นส่งไปให้เจ้าแผ่นดินญวน  แต่ทูตญวนไม่ยอมรับ  เกี่ยงให้แต่งราชทูตออกไป  จึงตรัสสั่งให้คืนเครื่องราชบรรณาการญวนให้ทูตรับกลับไปทั้งหมดด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, พฤษภาคม, 2563, 12:00:05 AM
(https://i.ibb.co/SBDCtd7/spd-20171021153609-b.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๓)

- อานามสยามยุทธ ๕๔ -

ทูตญวนหยิ่งจองหองทำพองขน
เหมือนนายตนคุยโตโม้ทุกส่วน
ทิ้งเครื่องบรรณาการทุกจำนวน
แล้วรีบด่วนหนีไปในทะเล

พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเตรียมตัวรบ
ตรัสเลิกคบค้าเหล่าญวนเจ้าเล่ห์
เตรียมโยธีตีญวนให้ซวนเซ
แล้วทุ่มเทเข้าถิ่นยึดดินแดน


          อภิปราย ขยายความ........................

          เมื่อวันวานนี้ได้นำความใน “อานามสยามยุทธ” ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียบเรียงตามบันทึกในราชการสงครามของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) มาให้อ่านกันถึงตอนที่  ในการจัดงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ นั้น  ฝ่ายไทยได้เชิญทูตานุทูต  ผู้แทนนานาประเทศที่เป็นพระราชไมตรีกับไทยมาร่วมงานจำนวนมาก  ยกเว้นญวนที่ไทยไม่ได้เชิญมา  แต่ญวนทราบข่าวจากจีนและเขมร  จึงส่งราชทูตพร้อมเครื่องบรรณาการเข้ามา เป็น “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ”  บรรดาทูตานุทูตนานาประเทศได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พลับพลาชมการแสดงและรับพระราทานกัลปพฤกษ์  แต่ทูตญวนมิได้เข้าเฝ้า  ด้วยพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด  ซ้ำยังตรัสบริภาษญวนต่าง ๆ นานา  แล้วให้เจ้าพระยาพระคลังมีท้องตราตามความในพระราชดำรัสนั้นส่งไปให้เจ้าแผ่นดินญวน  แต่ทูตญวนไม่ยอมรับ  เกี่ยงให้แต่งราชทูตออกไป  จึงตรัสสั่งให้คืนเครื่องราชบรรณาการญวนให้ทูตรับกลับไปทั้งหมดด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

           “ครั้งนั้น  เจ้าพนักงานกรมท่าซ้ายได้นำสิ่งของราชบรรณาการของญวนไปส่งคืนให้แก่ราชทูตญวน  ราชทูตญวนรับไว้ทุกสิ่ง  เว้นแต่น้ำตาลกรวดน้ำตาลทรายเท่านั้น  ยังไม่ได้ส่งคืน  เพราะว่าเจ้าพนักงานไทยรับมารักษาไว้ไม่ดี  ฝนตกถูกเปียกชื้นเสียหมดแล้ว  เป็นน้ำตาลกรวด ๓๐ หาบ  น้ำตาลทราย ๓๐ หาบ  ซึ่งเป็นของญวนมาช่วยสดับปกรณ์พระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ  ครั้นทรงทราบความดังนั้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังจัดซื้อน้ำตาลกรวดน้ำตาลทรายอย่างละ ๓๐ หาบไปใช้ให้ญวน  ครั้งนั้นราชทูตญวนไม่รับน้ำตาบกรวดน้ำตาลทรายที่ไทยใช้ให้  ราชทูตญวนว่า  น้ำตาลที่ไทยใช้ให้นั้นดำ  ไม่เหมือนน้ำตาลญวน  ญวนจึงไม่รับไป

          ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงได้คิดเงินเป็นราคาค่าน้ำตาลใช้ให้ญวน  ญวนก็ไม่รับเงินไป  ฝ่ายเจ้าพนักงานไทยก็ไม่รับขนน้ำตาลของไทยที่ใช้ให้นั้นขึ้นจากเรือญวน  ราชทูตญวนสั่งให้ไพร่ญวนขนน้ำตาลของไทยทิ้งน้ำเสียหมด  ที่กลางแม่น้ำหน้าวัดคอกกระบือ (วัดยานนาวา)  แล้วพวกญวนก็ช่วยกันโล้เรือใหญ่ลงไปถึงคุ้งบางกะบัว  หน้าเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเวลาบ่ายน้ำลงเชี่ยว  ราชทูตญวนขนราชบรรณาการของญวนทิ้งน้ำอย่างละเล็กละน้อย  ที่จมน้ำเสียก็มีมาก  ที่ลอยนั้นคือ  กระลำพัก,  เนื้อไม้จันทนา,  และแพรญวน,  ผ้าขาวตังเกี๋ยหลายม้วนหลายพับ  พวกมอญชาวเมืองนครเขื่อนขันธ์หารู้อะไรไม่  พายเรือออกเก็บสิ่งของที่ญวนทิ้งน้ำลอยอยู่นั้น  พวกราชทูตญวนเห็นก็พากันหัวเราะ  แล้วจึงโล้เรือเร่งรีบออกไปนอกสันดอนหลังเต่าปากอ่าวเมืองสมุทรปราการได้ในเวลาเย็น

(https://i.ibb.co/6s8SXmf/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ค่ำวันนั้น  เมื่อทรงทราบใต้ผ่าละอองธุลีพระบาทว่า  ราชทูตญวนทิ้งน้ำตาลของไทยที่ใช้ให้นั้นหมด  จึงตรัสว่า  อ้ายญวนขี้ข้าที่เข้ามาในครั้งนี้ก็จองหองเหมือนเจ้านายมัน  ทำองอาจทิ้งน้ำตาลประชดไทยให้ได้ความอัปยศอดสูแก่ไพร่บ้านพลเมืองและชาวต่างประเทศที่อยู่ในกรุง  จะว่าไทยกลัวอำนาจอ้ายญวน  ญวนชวนวิวาทก่อเหตุแล้ว  จำเราจะทำตามที่มันก่อเหตุก่อนจึงจะชอบด้วยการวิวาทนั้น  จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังจัดเรือรบปากปลาท้ายกำปั่นแปลงที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชต่อไว้สำหรับรักษาบ้านเมือง  เข็นออกจากโรงตรงหน้าวัดสังขจาย ๑๐ ลำ  พลทหารแจวครบทุกลำสวมเสื้อแดงกางเกงแดงมีอาวุธครบมือทุกคน  ลากปืนใหญ่ลงหน้าเรือศีรษะละ ๖ บอกทุกลำ  ให้ทหารฝรั่งแม่นปืน  พวกบ้านกระดีจีนลงประจำปืนใหญ่ทุกกระบอก  พร้อมแล้วโปรดให้พระยาราชวังสันเป็นแม่กองคุมเรือรบ ๑๐ ลำ  พลแจวพลทหารในเรือรบ ๑๐ ลำ  รวมเป็น ๑๐๐ คน  ให้รีบลงไปติดตามเรือราชทูตญวน  ถ้าพบที่ไหนให้จับตัวนายมาที่นั่น  ถ้าต่อสู้ให้ฆ่าเสียให้หมดอย่าไว้ชีวิตมัน

(https://i.ibb.co/d6ZhY2p/Untdsitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ให้หลวงสุระเสนีคุมเรือรบกองหน้า ๕ ลำ  ให้พระยาราชวังสันคุมเรือรบกองหลัง ๕ ลำ  ให้ยกลงไปตามญวนจนถึงริมสันดอนปากอ่าวเมืองสมุทรปราการ  ก็หาทันเรือราชทูตญวนไม่  เรือราชทูตญวนได้ลมดี  ใช้ใบแล่นหนีออกไปตกลึกก่อนหน้าเรือพระยาราชวังสัน  พระยาราชวังสันตามไปไม่ทันแล้วก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ

          ครั้งนั้น  ทรงจะให้จัดเรือกำปั่นใบไล่จับสลัดออก ไปตามเรือราชทูตญวนจนสิ้นเขตแดนเมืองกำปอด  ประสงค์จะจับเรือราชทูตญวนให้ได้มาลงโทษ

          ครั้งนั้น  ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  กราบบังคมทูลพระกรุณาขัดขวางเสียว่า      “เห็นจะไม่ทันเรือราชทูตญวน  เรืองราชทูตญวนเป็นเรือเล็กจะแล่นหนีลัดไปในซอกเกาะได้  คงจะหนีไปถึงบ้านเมืองของญวนก่อนเรือกำปั่นจะตามไปไม่ทัน”

          เพราะฉะนั้นการที่จะจัดเรือกำปั่นใบไปติดตามญวนนั้นก็สงบเลิกหมด

(https://i.ibb.co/CQHn60s/Untditled-35.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่หนังสือเจ้าพระยาพระคลัง  ซึ่งเรียบเรียงเป็นเนื้อความตามพระบรมราชกระแสรับสั่งแต่ข้างต้นนี้นั้นแล้วจะตอบญวน  ญวนไม่รับไป  จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก  มีท้องตราบังคับสั่งให้พระยาอนุภาพไตรภพ  เจ้าเมืองนครเสียมราฐ  แต่งกรมการเขมรผู้ฉลาดถือท้องตราบัวแก้วหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง  ไปสั่งให้เจ้าเมืองกรมการฝ่ายญวนที่พรมแดนต่อกันกับเขมรฝ่ายไทย  ครั้งนั้นทรงพระราชดำริที่จะไปทำศึกสงครามแก่ญวน  ให้เป็นพระเกียรติยศไว้ในแผ่นดินสยามตามขัติยราชประเพณี..

           (จบอานามสยามยุทธเล่ม ๑ เรื่องศึกสงครามลาวกับไทยเท่านี้  ต่อนี้ไปเป็นศึกสงครามกับญวน  มีแจ้งในอานามสยามยุทธเล่ม ๒ เล่ม ๓ นั้นแล้ว โดยพิสดารวิตถาร)

          * เห็นจริงดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า  “จองหองเหมือนเจ้านายมัน”  พฤติกรรมของราชทูตญวนตามท้องเรื่องนี้เหลือที่จะรับได้จริง ๆ  หนังสือเจ้าพระยาพระคลังตามกระแสพระราชดำรัสข้างต้น  คือการประกาศสงครามกับญวนโดยปริยาย

          จบความในอานามสยามยุทธ เล่มที่ ๑  ว่าด้วยการรบกับลาวเวียงจันทน์  ที่ได้ซอยออกเป็นตอน ๆ ได้ ๕๔ ตอนนี้  ให้สาระความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทย-ลาวในแง่มุมหนึ่ง  จากการจดบันทึกของขุนพลฝ่ายไทยที่ประสบมาด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ  ส่วนในมุมมองของลาวที่เห็นว่าเจ้าอนุเป็นวีรบุรุษผู้กู้เอกราชชาติลาว  หรือปลดแอกไทยออกจากลาวก็ตามทีเถิด  คนลาวมีสิทธิ์ที่จะมีมุมมองของตนเองได้  ผิดถูกอย่างไรก็แล้วแต่เหตุผลของแต่ละคน  ส่วนที่ว่าประวัติศาสตร์ที่นำเสนอนี้นั้นจะเป็นสิ่งสร้างความบาดหมางของชนในแต่ละชาติยุคปัจจุบัน  นี่ก็เป็นมุมมองของคนที่มีโลกสวยในสำนึก  เหมือนนักเพ้อฝันที่ลืมความจริง

           “อานามสยามยุทธ เล่มที่ ๒ จะว่าด้วยมหายุทธนาการศึกใหญ่  ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  ไทยรบกับญวน  (เรื่องนี้คัดออกมาจากรายงานการทัพญวน ๕๕ เล่มสมุดไทย ของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) เรียบเรียงไว้แต่เดิม)”

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, พฤษภาคม, 2563, 01:07:22 AM
(https://i.ibb.co/hdnzL1v/nyvgl363m-C7-K9-Fao9cu-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕๕ -

จะกล่าวถึงเวียดนาม “อันนัมก๊ก”
“ญาลอง”ยก“สากุน”ไว้สูงแสน
เป็น “จ๋งต๊ก”เจ้าพระยาทำการแทน
ครองแว่นแคว้นไซ่ง่อนมิคลอนคลาย

“เจ้ามินมาง”เคืองใจไม่ชื่นชอบ
เคยคิดลอบฆ่ายังไม่ดังหมาย
ครั้น“สากุน”มีอันป่วยพลันตาย
ความวุ่นวายเวียดนามเกิดตามมา...


          อภิปราย ขยายความ ............

          อานามสยามยุทธตอนที่แล้ว  ( ๕๔ ) ได้จบความในเล่มที่ ๑  ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาวไปพร้อมกับไทย-ญวน  เริ่มมีเรื่องระหองระแหงกัน  จนถึงวาระสุดท้ายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ประกาศตัดสัมพันธไมตรี  และเตรียมทำศึกสงครามกับเวียดนามต่อไป  วันนี้มาเริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒  ว่าด้วยไทยรบกับญวน  ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น  โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน  ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  มาให้อ่านกันเป็นลำดับไปดังนี้

           “ดำเนินความตามเหตุที่ไทยจะได้ก่อการศึกกับญวนนั้น  ในปีมะเส็งเบญจศกจุลศักราช ๑๑๙๕

          ครั้งนั้น  กรมการเมืองพระตะบอง  เมืองนครเสียมราฐ  เมืองจันทบุรี  เมืองตราด  ต่างกันแต่งขุนหมื่นกับไพร่ไปสืบราชการที่เมืองเขมรและเมืองญวนต่าง ๆ นั้น  สืบได้ข้อราชการบ้านเมืองญวนมาทั้งสี่เมือง  ทั้งสี่เมืองจึงมีใบบอกกิจการบ้านเมืองญวนเข้ามายังกรุงเทพฯ  ข้อความในใบบอกทั้งสี่หัวเมืองนั้นต้องกัน

          ครั้งนั้น  มีพวกจีนลูกค้าที่อยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน และเมืองล่องโห้  ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายญวน  พวกจีนในเมืองทั้งสองตำบลหนีข้าศึกที่เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองไซ่ง่อนนั้น  หนีเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองตราดบ้าง  เมืองจันทบุรีบ้าง  กรมการทั้งสองเมืองบอกส่งพวกจีนที่หนีมาแต่เมืองญวนนั้นเข้ามาในกรุงเทพฯ  เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีให้ล่ามพนักงานไต่ถามพวกจีนเหล่านั้น  พวกจีนเหล่านั้นให้การต้องคำกันทุกคน  และคำให้การพวกจีนและหนังสือบอกเมืองเสียมราฐ  เมืองพระตะบอง  เมืองตราด  เมืองจันทบุรี ทั้งสี่เมืองต้องกันกับคำให้การ มีเนื้อความว่าดังนี้

(https://i.ibb.co/LZcLRMb/Slide1.jpg) (https://imgbb.com/)

          บัดนี้ที่เมืองไซ่ง่อนนั้น  เกิดการจลาจลรบพุ่งฆ่าฟันกันขึ้นทั้งในเมืองและนอกเมือง  และตามแขวงจังหวัดหัวเมืองเล็กน้อย  ฝ่ายญวนนั้นก็กำเริบเกิดขบถรบกันเองบ้าง  ยกไปรบเมืองต่าง ๆ บ้าง  บ้านเมืองปราศจากความสุขหาที่พึ่งมิได้  จึงได้หนีความเดือดร้อนมาพึ่งบ้านเมืองที่มีความร่มเย็น  เดิมทีจะเกิดการรบพุ่งกันนั้นด้วยเหตุเดิมดังนี้

(https://i.ibb.co/vPWvvL6/Uvs150111-003.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระเจ้าญาลองเจ้าแผ่นดินญวนองค์ต้นวงศ์  โปรดให้สากุนขุนนางฝ่ายทหาร  ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมนั้น  มาเป็นจ๋งต๊ก (คือเจ้าพระยา)  ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองไซ่ง่อน  ครั้นเมื่อพระเจ้าญาลองเจ้าแผ่นดินกรุงเว้ (คือ  องเชียงสือ) สวรรคตแล้ว  เสนาบดีเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้ามินมางพระบรมราชโอรสขึ้นครองราชย์สมบัติสืบวงศ์กษัตริย์ในกรุงเว้ต่อไป

(https://i.ibb.co/KK1qY32/Unt125itled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายหัวเมือง  จัดดอกไม้ทองและธูปเทียนเข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคม  กระทำการเคารพคำนับต่อพระเจ้าเวียดนามมินมางพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่  แต่องสากุนจ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนนั้น  ถือตัวว่าเป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์และเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ด้วย  จึงมีกิริยากระด้างกระเดื่องไม่สู่ราบคาบ  เมื่อกลับไปอยู่บ้านเมืองไซ่ง่อนนั้น  ถ้ามีราชการอันใดที่มีข้าหลวงเชิญท้องตราลงไปบังคับบัญชาสั่งราชการอันใดแก่องสากุน  องสากุนก็พอใจพูดกับพวกข้าหลวงว่า     “เจ้าแผ่นดินใหม่นี้ขี้เมา  มาสั่งการเลอะเทอะนัก”

(https://i.ibb.co/YZRgLsp/rfgfd.jpg) (https://imgbb.com/)

          เพราะเหตุฉะนี้พระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่  จึงได้ขัดเคืองสากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนมาช้านานแล้ว  ไม่รู้ที่จะทำประการใดได้  ด้วยเป็นขุนนางผู้ใหญ่เชื้อพระวงศ์  และเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระราชบิดาด้วย  และสากุนผู้นี้มีฝีมือทัพศึกกล้าหาญแข็งแรง  ทั้งสติปัญญาคิดอ่านในการศึกก็ว่องไวหาผู้ในจะเสมอมิได้  และเป็นผู้มีความชอบต่อแผ่นดินมากที่สุดในการกู้บ้านเมืองตั้งวงศ์ตระกูลของพระเจ้าแผ่นดินญวนใหม่นี้ด้วย  เพราะฉะนั้นพระเจ้าเวียดนามมินมางองค์ใหม่นี้  คิดจะจับสากุนฆ่าเสียหลายครั้งแล้ว  แต่เกรงว่าจะเกิดขบถขึ้น  เพราะสากุนนี้มีผู้คนพลเมืองนับถือรักใคร่มาก  จึงมีกำลังกล้าสามารถนัก  เหตุดังนี้พระเจ้ามินมางจึงได้อดทนมาจนองสากุนป่วยหนักตายลงในเมืองไซ่ง่อน  อายุองสากุนได้ ๖๗ ปี  บุตรทั้งหลายทำการฝังศพสากุนแล้วจึงมีใบบอกข่าวตายไปยังกรุงเว้

          พระเจ้าเวียดนามมินมางรู้ว่าองสากุนตายแล้วก็ดีพระทัยนัก  จึงโปรดให้องเผอลันกุน  ขุนนางนายทหารรักษาพระองค์  ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมในพระเจ้าแผ่นดินใหม่  เป็นข้าหลวงถือรับสั่งลงมาเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อนใหม่  และมีรับสั่งให้เจ้าเมืองใหม่ขุดศพสากุนเจ้าเมืองเก่าขึ้นมาทำโทษประจานต่าง ๆ  เหมือนกับทำโทษคนเป็น ๆ  ฝ่ายขุนนางเก่าขององสากุนที่เป็นคนสนิทคุ้นเคยรักใคร่ในสากุน  และมีกตัญญูรู้จักบุญคุณองสากุนนั้น  มีหัวหน้าสามคน  ซึ่งองภอเบโคยลันเบีย ๑   องกองาย ๑   องบงบาง ๑   รวมสามคนเป็นขุนนางผู้ใหญ่อยู่ในเมืองไซ่ง่อน  เห็นข้าหลวงที่มาเป็นเจ้าเมืองใหม่ทำแก่ศพสากุนดังคนโทษเป็น ๆ ดังนั้นแล้ว  ก็มีความสังเวชและบังเกิดความกตัญญูต่อองสากุนโดยมาก

(https://i.ibb.co/418fvmK/son.jpg) (https://imgbb.com/)

          จึงองทั้งสามได้ชักชวนพลเมืองและสมัครพรรคพวกร่วมคิดกันได้คนหลายพัน  แล้วจึงจับองเผอลันกุนเจ้าเมืองใหม่   และองเภอโดยปลัดเมืองเก่า  กับพวกข้าหลวงที่มาใหม่นั้น  ฆ่าเสียสิ้นรวมเป็นคนร้อยเศษ  ตัดเอาศีรษะคนร้อยเศษเสียบตามถนน  แล้วจึงนำศพของสากุนเจ้าเมืองเก่าไปฝังเสียตามที่เดิมดังเก่า  จึงทำการเซ่นศพตามธรรมเนียมศพเจ้าเมืองผู้ใหญ่  เสร็จแล้วองทั้งสามเข้านั่งเมืองไซ่ง่อน  จัดการป้องกันรักษาบ้านเมืองโดยแข็งแรง  และตระเตรียมกองทัพเป็นขบถต่อแผ่นดินญวนพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง

          เมื่อ ณ เดือนแปดแรมสามค่ำปีมะเส็งเบญจศกนั้น  องภอเบโคยหัวหน้าที่หนึ่งเข้านั่งเมืองไซ่ง่อน  จึงตั้งตัวขึ้นเป็นงุยโซย (คล้ายเจ้าแผ่นดิน)
          ครั้งนั้นองภอเบโคยจึงตั้งองบงบางให้เป็นที่เซียนฮอง (ที่สองรักษาแผ่นดิน)
          ตั้งองโกบาให้เป็นที่ลันบิล (ที่สามรักษาแผ่นดิน)
          ตั้งองภองายให้เป็นที่องทงเจอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่
          แล้วตั้งขุนนางเก่าเมืองไซ่ง่อนที่เข้าร่วมคิดด้วยกันอีก ๖ คนให้เป็น องตงกุน ๑   เป็นองเตียนกุน ๑   เป็นองโฮกุน ๑   เป็นองเฮากุน ๑   เป็นองสากุน ๑   เป็นเสนาบดีทั้ง ๖ คน   เหมือนอย่างธรรมเนียมกรุงเว้ที่เมืองหลวงของญวนดังนี้
          แล้วตั้งบุตรชายผู้ใหญ่ให้เป็นองจันเบียที่แม่ทัพเรือ
          และตั้งขุนนางผู้น้อยเต็มตามตำแหน่งในกรุงเว้แล้ว

(https://i.ibb.co/NpRQKLd/nguyen-mong-thoathoan-500.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายองภอเบโคยลันเบียซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินญวนนั้น  มีคำบังคับใช้ให้องบงบางที่ตั้งเป็นที่สอง ๑   องโกบาที่ตั้งเป็นที่สาม ๑   องภองายที่ตั้งเป็นองทงเจ ๑
          องตงกุน ๑   องต๋ากุน ๑   องเตียนกุน ๑   องโฮกุน ๑   องเฮากุน ๑   องสากุน ๑   ซึ่งตั้งแต่งกันเป็นเสนาบดีทั้ง ๖ คนนั้น  ให้เป็นแม่ทัพคุมกองทัพแยกย้ายกันไปตีบ้านเมืองญวนที่เป็นเมืองขึ้นแก่กรุงเว้  แต่องภอเบโคยลันเบียซึ่งยกตัวขึ้นเป็นงุยโซยเจ้าแผ่นดินนั้นอยู่รักษาเมืองไซง่อน  จัดการบ้านเมืองไว้ให้มั่นคง  แต่แม่ทัพนายกองทั้งหลายเหล่านั้นก็ยกกองทัพไปตีเมืองสะมิถ่อ ๑   เมืองล่องโห้ ๑   เมืองสะแดก ๑   เมืองโจดก ๑   เมืองบันทายมาศ

          แม่ทัพตีเมืองทั้ง ๕ ได้แล้ว  จึงจับเจ้าเมืองบันทายมาศ  กับเจ้าเมืองล่องโห้  และเจ้าเมืองสะมิถ่อทั้งสามคนนั้น  ส่งขึ้นไปเมืองไซ่ง่อน  องภอเบโคยลันเบียสั่งให้ฆ่าเจ้าเมืองทั้งสามนั้นเสียสิ้น  แต่เจ้าเมืองสะแดกนั้นหนีไปได้   และเจ้าเมืองโจดกนั้นหนีไปอยู่แดนเมืองเขมร   รอดชีวิตได้

(https://i.ibb.co/q7GcYDg/unnamed-17.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่เมืองบันทายมาศนั้น  มีพวกจีนอยู่มาก  พวกจีนเห็นว่าบ้านเมืองเกิดการจลาจลวุ่นวาย  รบราฆ่าฟันกันขึ้นดังนั้นแล้ว  พวกจีนก็คุมกันเป็นตั้วเฮียขึ้นมาก  แล้วจึงเข้าซ้ำเติมเอาทรัพย์พวกราษฎรญวนในเมืองบันทายมาศ  ขณะนั้นกองทัพองตงกุน  องต๋ากุน  องเตียนกุน  ต่อรบจีนตั้วเฮียไม่ไหว  ก็ล่าทัพกลับขึ้นไปพักอยู่ ณ เมืองโจดก.........”

(https://i.ibb.co/wY0ZCDY/unnamed-16.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ก่อนที่ไทยจะยกกองทัพเข้าถล่มญวนในปีจุลซักราช ๑๑๙๕ (พ.ศ. ๒๓๗๖) นั้น  ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในญวน  ด้วยพระเจ้ามินมางดำเนินนโยบายผิดพลาด  เมื่อสากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนที่พระองค์ไม่ชอบหน้านั้นถึงแก่กรรมลง  ทรงตั้งทหารราชองครักษ์ไปเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน  พร้อมกับให้ขุดศพสากุนเจ้าเมืองคนเก่าขึ้นมาประจานลงโทษเหมือนคนเป็น ๆ  ทำให้ขุนนางเก่าของสากุนทนไม่ไหว  จึงรวมกำลังก่อการขบถ  จับเจ้าเมืองคนใหม่และพรรคพวกฆ่าหมด ๑๐๐ คนเศษ  และตัดหัวเสียบประจานเสียสิ้น  แล้วคณะก่อการก็ตั้งตัวเป็นใหญ่  ส่งแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองขึ้นต่าง ๆ ของกรุงเว้  จนผู้คนหนีการจลาจลเข้ามาพึ่งไทย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, พฤษภาคม, 2563, 10:12:07 PM
(https://i.ibb.co/pjVHZkj/rertw.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕๖ -

ญวนไซ่ง่อนง่อนแง่นไม่แน่นหนัก
แตกความรักสามัคคีหมายมีหน้า
เปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูคู่ปัจจา
ริษยาอาฆาตเข้าฟาดฟัน

กรุงเว้ยกทัพใหญ่หมายมาปราบ
ให้สงบราบคาบสิ้นคับขัน
ทั้งสองฝ่ายแรงฤทธิ์รบติดพัน
มิรู้วันแพ้ชนะประการใด


          อภิปราย ขยายความ .......................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่พระเจ้ามินมางดำเนินนโยบายผิดพลาด  เมื่อสากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนที่พระองค์ไม่ชอบหน้านั้นถึงแก่กรรมลง  ทรงตั้งทหารราชองครักษ์ไปเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน  พร้อมกับให้ขุดศพสากุนเจ้าเมืองคนเก่าขึ้นมาประจานลงโทษเหมือนคนเป็น ๆ  ทำให้ขุนนางเก่าของสากุนทนไม่ไหว  จึงรวมกำลังก่อการขบถ  จับเจ้าเมืองคนใหม่และพรรคพวกฆ่าหมด ๑๐๐ คนเศษ  และตัดหัวเสียบประจานเสียสิ้น  แล้วคณะก่อการก็ตั้งตัวเป็นใหญ่  ส่งแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองขึ้นต่าง ๆ ของกรุงเว้  จนผู้คนหนีการจลาจลเข้ามาพึ่งไทย  แล้วบอกเล่าเรื่องการรบราฆ่าฟันกันในญวนให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อไปพร้อม ๆ กันครับ

(https://i.ibb.co/w7kJB88/152225556789974-thumbnail.jpg) (https://imgbb.com/)

           “....ขณะนั้นองโกบา  องโฮกุน  และองเฮากุน  ที่ยกไปตีเมืองเหล่านั้นได้แล้ว  ก็ยกมาพร้อมกันอยู่ที่เมืองโจดก  องโกบาเป็นต้นคิดกลับใจปรึกษากันกับแม่ทัพผู้ใหญ่ทั้งหลายว่า  องภอเบโคยลันเบียซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินญวนนั้น  เป็นชาติต่ำตระกูลต่ำ  หาควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินญวนใหม่ไม่  ซึ่งพวกเราพากันเป็นขบถด้วยองภอเบโดยลันเบียนั้น  หาชอบด้วยความยุติธรรมไม่  ควรเราทั้งหลายจะกลับใจช่วยกันคิดเอาเมืองไซ่ง่อนคืนได้แล้ว  จับองภอเบโคยลันเบียและองบงบางที่อยู่รักษาเมืองนั้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามใหม่นี้  จึงจะได้เป็นความชอบและความดีของพวกเราอยู่ชั่วฟ้าและดิน  จึงจะสมควรที่พวกเราเป็นตระกูลขุนนางตงฉิน  สัตย์ซื่อต่อราชการแผ่นดินญวนตามความกตัญญูกตเวทีของเรา  เราจะได้มีชื่อเสียงและยี่ห้อปรากฏไปในตระกูลบุตรหลานพวกเรา ๆ  คิดดังนี้แล้ว  ท่านทั้งหลายจะเห็นเป็นประการใดบ้าง

          เมื่อองโกบา  และองตงกุน  องต๋ากุน  องเตียนกุน  องโฮกุน  ปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว  จึงสั่งให้องเทียนบิน หลานเจ้าเมืองโจดกยกพลไปติดตามเจ้าเมืองโจดกเก่าที่หนีไปนั้น  ให้กลับมาคิดราชการกลับใจใหม่ด้วยกัน

(https://i.ibb.co/DfTFXMf/lam-son-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าเมืองโจดกเก่ากลับมาถึงในเมืองโจดกแล้ว  เจ้าเมืองโจดกกับองโกบา  และองตงกุน  องต๋ากุน  องเตียนกุน  องโฮกุน  พร้อมกันเที่ยวเกลี้ยกล่อมพลเมืองญวนตามเมืองบันทายมาศและเมืองโจดก  ได้คนฉกรรจ์ ๗,๐๐๐ เศษ  เตรียมการจัดเป็นกองทัพจะยกไปตีเมืองไซ่ง่อนจับองภอเบโคยลันเบีย

(https://i.ibb.co/5M9MpgF/hinh-2-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายองภอเบโคยลันเบียได้ทราบความว่าขุนนางของตนที่ใช้ไปตีเมืองนั้น  กลับเป็นข้าศึกจะยกเข้ามาตีเมืองไซ่ง่อน  เพราะฉะนั้นองภอเบโคยลันเบียและองบงบางที่ร่วมใจกันรักษาเมืองนั้น  สั่งให้ทหารกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเข้ามาไว้ในเมืองไซ่ง่อนทั้งสิ้น  และกวาดเสบียงอาหารและเครื่องสรรพาวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำเข้าไว้ในเมืองสิ้น  แล้วสั่งให้ชำระพวกญาติองโกบา  องตงกุน  องต๋ากุน  องเตียนกุน  องโฮกุน  ซึ่งยังตกค้างอยู่ในเมืองไซ่ง่อนนั้น  ได้มาทั้งหมดเป็น ๖๗๖ คน  ให้ฆ่าเสียทั้งสิ้น  แล้วให้ฆ่ามารดาองตงกุน  ผ่าศีรษะศพนั้นออกเป็น ๔ ซีก  แล้วอาขี้ผึ้งมาปั้นหุ้มห่อศีรษะศพมารดาองตงกุนเข้าไว้ให้ดี  แล้วจึงเขียนหนังสือเป็นฉลากปิดไว้ที่ศีรษะศพนั้นเป็นใจความว่า

           “เมื่อองตงกุนยังเป็นทารกเล็ก ๆ อยู่นั้น  องตงกุนต้องกินน้ำนมแม่จนโตมีอายุถึงบัดนี้  บัดนี้องตงกุนใหญ่ขึ้นแล้วจะต้องกินเนื้อแม่  เพราะฉะนั้นจึงได้ให้คนนำเอาศีรษะแม่มาส่งให้กิน”

          ครั้นเขียนสลากปิดแล้ว  ให้เชลยนำศีรษะศพนั้นไปให้องตงกุน  องตงกุนเปิดห่อขี้ผึ้งออกดูเห็นมารดาก็จำได้  จึงมีความอาลัยเศร้าโศกถึงมารดา  แล้วมีความขัดเคืององภอเบโคยลันเบียเป็นอันมาก  จึงสั่งให้ทหารพาญวนที่ถือเอาศีรษะมารดามาส่งไปฆ่าเสียในวันนั้น  แล้วตงกุนยิ่งทวีความโกรธอาฆาตองภอเบโคยลันเบียยิ่งขึ้นไป

(https://i.ibb.co/qJXtYZj/mai-hac-de-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้น  องตงกุนคิดพร้อมใจกับเจ้าเมืองโจดก ๑   องโกบา ๑   องต๋ากุน ๑   องโฮกุน ๑   องสากุน ๑   จึงได้เกลี้ยกล่อมพวกญวนที่เมืองโจดกและเมืองบันทายมาศได้พลถึง ๗,๐๐๐ คนแต่ล้วนฉกรรจ์ทั้งสิ้น  จัดเป็นกระบวนทัพใหญ่จะยกไปตีเมืองไซ่ง่อนจับองภอเบโคยลันเบียไปถวายพระเจ้าเวียดนามให้จงได้

(https://i.ibb.co/4fZmdWc/con-cat-bien-nguyen-huu-chinh.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  องภอเบโคยลันเบียกับองบงบาซึ่งอยู่ในเมืองไซ่ง่อนนั้น  ทราบความว่าจะมีข้าศึกมาตีบ้านเมือง  จึงจัดการป้องกันรักษาเมืองโดยสามารถ  ครั้น ณ วันเดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  องตงกุนพร้อมกับเจ้าเมืองโจดกคุมทหาร ๗,๐๐๐   ยกขึ้นไปใกล้เมืองไซ่ง่อนหมายจะยกเข้าโจมตีปล้นทีเดียว  ครั้งนั้นองภอเบโคยลันเบียรู้กิตติศัพท์ว่ามีทัพยกมาตีเมืองไซ่ง่อน  จึงสั่งให้องบงบางผู้เป็นที่สองรองเจ้าเมืองนั้น  คุมพลทหารประมาณ ๑๐,๐๐๐ เศษ  ยกออกไปตั้งค่ายใหญ่นอกเมืองไซ่ง่อนเพื่อจะได้รับกองทัพข้าศึก  แล้วองภอเบโคยลันเบียจัดพลทหารรักษาเมืองไซ่ง่อน  และส่งกระสุนดินดำเสบียงอาหารออกไปให้องบงบางเสมอ

(https://i.ibb.co/WvQz8m0/Untit5ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  กองทัพองบงบางกับกองทัพองตงกุนได้ต่อรบกันเป็นสามารถ ณ ที่กลางแปลงนอกเมืองไซ่ง่อน  ผู้คนตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย  และกองทัพเมืองโจดกยกไปตั้งค่ายใหญ่ที่ริมน้ำ  หมายจะได้เอาทัพเรือมาช่วยตัดกำลังที่เมืองไซ่ง่อน  กองทัพเมืองไซ่ง่อนก็ยกตามไปต่อรบกัน  เว้นวันหนึ่งหรือสองวันรบกันครั้งหนึ่งเสมอทุกคราวไปมิได้หยุดจนถึงห้าวัน  ตั้งกองรบกันดังนี้แต่ ณ เดือนแปดแรมสามค่ำ  มาจนถึงเดือนสิบเอ็ดข้างแรม  แต่รบกันอยู่ถึงสี่เดือนก็ยังไม่แพ้ชนะซึ่งกันและกัน  ในระหว่างรบกันสี่เดือนนั้น  พวกจีนและญวนที่เป็นพลรบทั้งสองฝ่ายตายลงด้วยกันประมาณ ๑๐,๐๐๐ เศษ  แต่พวกข้างเมืองโจดกตายมาก  เพราะอดอาหารไม่สู้บริบูรณ์ด้วยมาทางไกล  จะไปมาส่งลำเลียงกันก็ลำบาก  แต่ที่ไซ่ง่อนนั้นบริบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารจึงตายน้อย

(https://i.ibb.co/zFYhX78/44-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะองบงบางกับองตงกุนรบกันนั้น  ความทราบถึงพระเจ้าเวียดนามตามหนังสือบอกของเมืองโจดกแลเมืองต่าง ๆ ที่ถูกตีถูกรบนั้นแล้ว  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งใช้ให้องเตียนกุนเสนาบดีที่กรุงเว้เป็นแม่ทัพใหญ่  ให้องทำตานดายดานเป็นปลัดทัพคุมพลทหาร ๑๕,๐๐๐ ยกลงมาปราบปรามพวกขบถที่เมืองไซ่ง่อน

(https://i.ibb.co/Sd54mqw/unnamed-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นกองทัพเสนาบดีกรุงเว้ยกลงมาใกล้จะถึงเมืองไซ่ง่อนนั้น  แม่ทัพนายกองทั้ง ๖ คน  ที่เดิมเป็นพรรคพวกองภอเบโคยลันเบียเมืองไซ่ง่อนนั้น  ก็กลับใจเข้ากับกรุงเว้  มารบกับเมืองไซ่ง่อนอยู่ถึงสี่เดือนนั้น  ครั้นทราบว่ากองทัพเสนาบดีกรุงเว้ยกลงมาถึงแล้ว  พวกแม่ทัพทั้ง ๖ จึงได้เข้าหาองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้  เสนาบดีกรุงเว้พร้อมกันกับกองทัพพวกทั้ง ๖  ช่วยระดมกันยกทัพเข้าตีค่ายองบงบาง  องบงบางต้านทานมิได้ก็แตกหนีทิ้งค่ายเสีย  ยกล่าเข้าเมืองไซ่ง่อนช่วยกันตั้งการรักษาป้องกันเมืองไว้ได้  เพราะที่เมืองไซ่ง่อนมีปืนใหญ่มากและกระสุนดินดำมีบริบูรณ์  และองภอเบโคยลันเบียและองบงบางทั้งสองนั้นมีฝีมือทัพศึกเข้มแข็งนัก  จึงรักษาเมืองไซ่ง่อนไว้ได้  ไม่เสียแก่ทัพกรุงเว้  บางทีกองทัพเมืองไซ่ง่อนยกออกตีกองทัพเมืองเว้แตกหนีไปก็มีบ้าง  แล้วกองทัพกรุงเว้ก็คุมกันเข้ามารบกันกับเมืองไซ่ง่อนต่อไปอีก  แลกเปลี่ยนกันหนีทีไล่กันอยู่ดังนี้เนือง ๆ  แต่ทัพกรุงเว้จะตีหักปล้นเอาเมืองไซ่ง่อนมิได้  เพราะเมืองไซ่ง่อนมีรี้พลเต็มใจที่จะสู้รบ  แต่เห็นจะสู้รบไปไม่นาน  เพราะเสบียงอาหารหมดลงก็จะแพ้แก่ทัพกรุงเว้โดยความอดตาย  แต่เดี๋ยวนี้กำลังติดพันรบสู้กันอยู่ทุกวัน  เมืองไซ่ง่อนยังมีเสบียงอาหารบริบูรณ์อยู่มาก  เห็นจะสู้อยู่ได้นานประมาณ ๓ เดือนเศษ  พอสู้อยู่ได้ไม่แพ้  แต่พ้น ๓ เดือนไปแล้ว  เห็นว่าเมืองไซ่ง่อนจะหมดเสบียงอาหารเป็นแน่  เพราะเมืองไซ่ง่อนอยู่ในที่ล้อมรอบออกหาอาหารกินและเพิ่มเติมมิได้  อาหารหมดลงเมื่อใดเมืองไซ่ง่อนก็จะแตกเมื่อนั้น”

(https://i.ibb.co/rZfCGVn/Untitldsfed-7-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          สิ้นคำให้การพวกจีนที่เมืองญวนหนีเข้ามาในกรุงเทพฯ เท่านี้  และคำให้การพวกจีนนั้นก็ถูกต้องกันกับข่าวหนังสือบอกเมืองพระตะบอง  เมืองเสียมราฐ  เมืองจันทบุรี  เมืองตราด นั้นทุกเมืองถูกต้องกันแล้ว  เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีนำคำให้การจีนและข้อความตามหนังสือบอกทั้ง ๔ เมืองนั้น  ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว...”

          * เรื่องราวของญวนรบกันเองอ่านจากคำบอกเล่าของชาวจีนชาวญวนที่หนีมาเมืองไทยแล้วก็สนุกตื่นเต้นไปด้วย  ขณะที่พระเจ้ามิงมางสั่งให้กองทัพกรุงเว้ ยกลงมาตีเมืองไซ่ง่อนที่ฝ่ายขบถครอบครองอยู่นั้น  ยังไม่มีใครแพ้ชนะ  แต่ฝ่ายไซ่ง่อนกำลังเสียเปรียบเพราะเสบียงอาหารเหลือน้อยลงแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามทรงทราบความโดยตลอดแล้ว  จะทรงมีพระราชดำริ  พระราชดำรัสประการใด  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, พฤษภาคม, 2563, 10:30:24 PM
(https://i.ibb.co/QX8vDwf/U78ntitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕๗ -

สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงทราบทั่วเหตุการณ์ประมาณได้
จึงจัดทัพเป็นมหาโยธาไทย
สั่งยกไปตีเขมรเป็นทางเดิน

“เจ้าพระยาบดินทรเดชา”รับ
เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไม่งกเงิ่น
กำลังรบแสนสองหมื่นมีเศษเกิน
พร้อมเผชิญหน้าญวนป่วนเวียดนาม


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันวานนี้ให้อ่านถึงตอนที่  ญวนผู้ร่วมเป็นขบถที่เมืองไซ่ง่อน  หลังจากยกไปตีเมืองต่าง ๆ แล้ว  เกิดคิดกลับใจจะยกพลเข้ายึดเมืองไซ่ง่อน  จับตัวหัวหน้าขบถส่งให้พระเจ้าแผ่นดินญวน  จึงยกพลจากเมืองโจดกเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อน  องภอเบโคยลันเบียหัวหน้าขบถก็ตั้งสู้รบอย่างมั่นคง  ทั้งสองฝ่ายรบกันนานกว่าสี่เดือน  ไพร่พลล้มตายลง ๑๐,๐๐๐ คนเศษ  พระเจ้ามินมางทราบเรื่องก็สั่งให้กองทัพกรุงเว้  ยกลงมาตีเมืองไซ่ง่อนที่ฝ่ายขบถครอบครองอยู่นั้น  ยังไม่มีใครแพ้ชนะ  แต่ฝ่ายไซ่ง่อนกำลังเสียเปรียบเพราะเสบียงอาหารเหลือน้อยลงแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามทรงทราบความโดยตลอดแล้ว  จะทรงมีพระราชดำริ  พระราชดำรัสสั่งประการใด  วันนี้มาอ่านกันต่อไปดังนี้ครับ

(https://i.ibb.co/JF35cfk/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

           “จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า  ได้รู้เหตุการณ์บ้านเมืองญวนคราวนี้ดีแล้ว  เห็นว่าเป็นท่วงทีนักหนา  ควรจะยกกองทัพกรุงเทพฯ เป็นทัพใหญ่ออกไปตีเมืองเขมรเสียทีเดียวในคราวนี้  ถ้าเป็นทีตีเมืองเขมรได้แล้ว  ควรจะยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมออกไปอีกให้มากมาย  หมายจะเลยไปช่วยเมืองไซ่ง่อนตีกองทัพเมืองเว้ด้วย  แต่จะต้องมีหนังสือแต่งพวกจีนที่หนีเข้ามานี้ให้ไปบอกองภอเบโคยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อนให้รู้ตัวก่อน  ว่ากองทัพกรุงเทพพระมหานครจะยกมาช่วยเป็นศึกขนาบตีกองทัพพวกเมืองเว้ให้แตกไป  แล้วจะได้ให้แม่ทัพไทยไปคิดราชการกับองภอเบโคยลันเบีย  พร้อมกันยกทัพใหญ่ไปตีเมืองญวนด้วย  แล้วมีพระราชดำรัสว่า  ด้วยอ้ายญวนจองหองนักหนา  คราวนี้เป็นทีแล้วจะต้องตีเสียให้เข็ดฝีมือไทยบ้าง  อ้ายญวนจะไม่ได้หมิ่นอำนาจไทยต่อไปอีก  จำเป็นจะต้องยกทัพไปทำศึกสงครามกับญวน  เป็นการตอบแทนแก้แค้นกับอ้ายญวนบ้าง  จึงจะชอบด้วยธรรมเนียมพระมหากษัตราธิราชเจ้าเหมือนกัน  ถ้าไม่ทำดังนั้นนานาประเทศก็จะดูหมิ่นว่าไทยกลัวญวน

(https://i.ibb.co/jrthMwn/562000006842401.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วมีพระราชบริหารต่อไปว่า  ครั้งนั้นนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาเขมร  ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราชขึ้นอยู่ในอำนาจไทย  นักองจันทร์คิดกลับใจเป็นกบฏทรยศต่อกรุงเทพฯ แล้วหนีไปหาญวน  ฝ่ายญวนก็รับเอาเจ้าเขมรไว้ใช้ธุระของญวน  ญวนก็รับนักองจันทร์ไว้หาควรไม่  แล้วกลับจัดแจงให้นักองจันทร์มาอยู่บ้านเมืองเขมรครั้งหนึ่ง

(https://i.ibb.co/kcLmgpq/that1.jpg) (https://imgbb.com/)

          อีกครั้งหนึ่งเจ้าอนุลาวเวียงจันทน์เป็นกบฏ  แล้วยกกองทัพมาตีเขตแดนไทย  ไทยยกขึ้นไปปราบปรามเจ้าอนุ  เจ้าอนุก็หนีไปหาญวน  ญวนก็รับเจ้าลาวไว้ดังเช่นเจ้าเขมรนั้นเล่า  ไม่ใช่ธุระปะติของญวน  ญวนก็เอาเป็นธุระรับรองป้องกันเจ้าอนุไว้  แล้วยังมิหนำซ้ำ  แต่งให้ขุนนางญวนพาเจ้าอนุมาตั้งบ้านสร้างเมืองดังเก่า  ญวนทำให้เจ้าอนุได้ดีมีที่อยู่คล้าย ๆ เหมือนที่ญวนทำให้เจ้านักองจันทร์เขมรกลับมาเมืองเขมรอย่างเดียวกัน  

(https://i.ibb.co/fF945kR/minh-mang.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าเวียดนามมินมางเจ้าแผ่นดินใหม่ฝ่ายญวนองค์นี้  ทำท่วงทีตีเสมอเหมือนเป็นนายไทย  แล้วคิดอะไรก็มีแต่คิดเอารัดเอาเปรียบไทย  และเกียดกันเอาเขตแดนบ้านเล็กเมืองน้อยของไทยไปหลายบ้านหลายเมืองแล้ว  ฝ่ายญวนจะพูดจาอะไรมาในหนังสือเสนาบดีหรือพระราชสาส์นนั้นเล่า  ก็มีแต่ญวนยกศักดิ์ฝ่ายญวนให้เป็นใหญ่เป็นโตกว่าไทยทุกครั้งทุกที  พูดจากดขี่เหมือนไทยเป็นเมืองขึ้นเมืองออกของญวน  ญวนยกตัวขึ้นเป็นดึกว่องเด้ แลองเลโปเสนาบดีญวนนั้นเล่าจะพูดจามาในหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังครั้งใด  ก็พูดจาข่มขี่ไทยหลายอย่างหลายประการ  และซ้ำมีคำสั่งบังคับบัญชาเข้ามาในกรุงเทพฯ  ลงชื่อเจ้าแผ่นดินญวนในราชสาส์นไทยนั้นว่า  สมเด็จพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้  ฝ่ายไทยก็เห็นแก่ทางไมตรีญวนที่มีมาช้านานแล้ว  จึงได้ให้เขียนราชสาส์นไทยลงชื่อเจ้าแผ่นดินญวนตามชอบใจของญวนที่เมายศ  แต่ไทยตามใจญวนดังนั้นแล้ว  ยังไม่สาแก่ใจญวน  ญวนเสนาบดีมีคำสั่งเข้ามาอีกว่า  ให้ไทยเอาตราหลวงสำหรับราชการแผ่นดินไทยประทับสำเนาพระราชสาส์นที่เป็นอักษรจีนออกไปด้วย  ดังนี้ไม่เคยมีธรรมเนียมมาทุกบ้านทุกเมือง  เพราะฉะนี้ไทยจึงได้เห็นใจญวนว่ายกตัวขึ้นเป็นใหญ่กว่าไทย  หมายจะข่มขี่อำนาจไทยให้ต่ำเตี้ยตกไปทุกที  การที่ญวนเสนาบดีและเจ้าแผ่นดินดูหมิ่นดูถูกแก่พระเจ้าแผ่นดินไทยมากนักหนา  ไทยจะเป็นทางไมตรีกันกับญวนไปอย่างไรได้เล่า  จำเป็นจะต้องขาดทางไมตรีกันแต่ครั้งนี้เป็นแน่แล้ว

(https://i.ibb.co/7yz8zth/U78ntitled-2-350.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเป็นฉินทพากย์ดังนี้แล้ว  จึงมีพระราชโองการมานบัณฑูรสุระสิงหนาท  ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพบก  โปรดให้เป็นผู้บัญชาการทัพ  เจ้าพระยา  และพระยา  พระ  หลวง  ขุน  หมื่น  นายทัพนายกองบกทั้งสิ้น  คุมพลทหารบกทั้งในกรุงและหัวเมืองรวมทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐
          และให้เป็นเกณฑ์เลขเขมรป่าดงเติมอีก ๑๐,๐๐๐  เลขหัวเมืองลาวเพิ่มเติมอีก ๑๐,๐๐๐  รวมไพร่พลไทยลาวเขมรเป็น ๗๐,๐๐๐  เป็นทัพบกยกไปตีเมืองเขมร  ถ้าจับนักองจันทร์ได้แล้ว  ให้ตั้งนักองอิ่ม  นักองด้วง  อนุชาเป็นเจ้ากรุงกัมพูชาสืบราชสุริยวงศ์กษัตริย์กัมพูชาต่อไป

          ครั้งนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้นักองอิ่ม นักองด้วงเขมรไปด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา  จะได้เป็นที่ปรึกษาราชการทัพศึกในเมืองเขมรด้วย  ถ้าตีเมืองเขมรได้แล้ว  ให้ทัพบกทัพเรือไปช่วยองภอเบโคยลันเบียที่เมืองไซ่ง่อนด้วย  ช่วยกำจัดทัพกรุงเว้

(https://i.ibb.co/7j7c41v/11406109-1604736613076680.jpg) (http://[url=https://imgbb.com/)

          โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ)  ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้น  ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพเรือคุมไพร่พล ๑๕,๐๐๐ บรรทุกเรือรบมีชื่อในกรุงออกไปเกณฑ์เลขไทยเมืองตราด  เมืองจันทบุรี  และเลขเมืองเขมรที่เมืองกำปอดและเมืองเขมรป่ายางรวมอีก ๕,๐๐๐  รวมเป็น ๒๐,๐๐๐ ในทัพเรือนั้น  ให้ยกไปตีเมืองบันทายมาศฝ่ายญวนให้แตกให้จงได้  แล้วให้กองทัพเรือยกเข้าไปทางคลองขุดใหม่ของญวน  จะได้เดินทัพเรือเข้าไปตีหัวเมืองญวนตามลำน้ำให้ได้ตลอดไปจนถึงเมืองไซ่ง่อน  จะได้บรรจบกันกับทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ใกล้เมืองไซ่ง่อน  แล้วทัพเรือและทัพบกจะได้ช่วยระดมตีกองทัพญวนกรุงเว้  ที่มาตั้งล้อมเมืองไซ่ง่อนนั้น  ให้แตกไปให้สิ้นเชิงตามทางบกเรือ  แต่ให้เจ้าพระยาพระคลังแต่งจีนที่ฉลาดลงไปแจ้งข้อราชการแก่องภอเบโคยลันเบียที่เมืองไซ่ง่อนให้รู้ตัวก่อนให้จงได้  ไทยจะได้ทำการถนัด  เมื่อทัพเรือถึงพร้อมกับทัพบกแล้ว  ให้ทัพเรือปรึกษาหารือกันกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ให้เจ้าพระยาพระคลังฟังบังคับบัญชาเจ้าพระยาบดินเดชาแม่ทัพบกด้วย  ในข้อราชการศึกที่จะยกเข้าตีญวนนั้น

(https://i.ibb.co/vqs8LLK/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาเทพเจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อป้อม) ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพบกฝ่ายตะวันออก
                    ให้พระราชวรินทรเจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อขำ) เป็นปลัดทัพ
                    ให้พระมหาเทพและพระราชวรินทรไปเกณฑ์เลขหัวเมืองลาวฝ่ายทางตะวันออกไปด้วยกันเป็นไพร่พลหมื่นหนึ่ง ให้เกณฑ์เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางไปเป็นผู้นำทัพบก  ยกเข้าตีเมืองล่าน้ำหัวเมืองขึ้นแก่ญวน  ญวนเรียกว่า(เมืองแง่อาน)

(https://i.ibb.co/CsC7Nbc/Untieetled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชามีไพร่พล ๗๐,๐๐๐ กองหนึ่ง  กองทัพเจ้าพระยาพระคลังมีไพร่พล ๒๐,๐๐๐ กองหนึ่ง  กองทัพพระมหาเทพมีไพร่พล ๑๔,๐๐๐ กองหนึ่ง    สามกองมีไพร่พลถึง  ๑๐๔,๐๐๐
          แล้วภายหลังเมื่อตีเมืองเขมรได้แล้ว  เกณฑ์เขมรกรุงกัมพูชาอีก ๒๐,๐๐๐ เข้าช่วยในกองทัพไทยตามลำดับเวลานั้น ๆ  รวมรี้พลในกองทัพไทยคราวนั้นถึง  ๑๒๔,๐๐๐ คนแต่ที่ฉกรรจ์  (บอกกำหนดรี้พลไว้นี้  เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายทราบว่า  บ้านเมืองไทยก็มีอำนาจเรียกทหารแต่ล้วนฉกรรจ์ได้ถึงแสนสองหมื่นสี่พัน  แต่ในครั้งหนึ่งคราวหนึ่งเท่านั้น  รี้พลยังมิได้เต็มตามเกณฑ์  ยังเหลือมีคนสำหรับจ่ายใช้ราชการประจำเดือนเสมอทุกเดือนไม่น้อยเลย)......”

(https://i.ibb.co/xFqkQsP/Untitsddfled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ดูการจัดกำลังและดำเนินทัพตามพระราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว  เห็นว่าทรงรอบคอบรัดกุมมาก  อำนาจบังคับบัญชาการรบครั้งนี้ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบก  ทรงให้เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพเรือเชื่อฟังการบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย  ทรงจัดกำลังทัพไทยเป็นแสนยานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว  ผลการรบจะเป็นเช่นไร  วันพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย
๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, พฤษภาคม, 2563, 11:14:29 PM
(https://i.ibb.co/3fkg8sg/11406109-1604736613076680.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕๘ -

กองทัพเรือตีได้บันทายมาศ
ญวนไม่อาจต่อสู้ริปูสยาม
หนีไปเมืองโจดกไทยยกตาม
พยายามต่อสู้อยู่เหมือนกัน

ทหารไทยใจกล้าเดินหน้าบุก
ถนัดรุกรบไปไม่ย่อยั่น
เมืองโจดกถูกตีไม่กี่วัน
ก็มีอันพ่ายยับแก่ทัพไทย


          อภิปราย ขยายความ .......................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด  เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบเรื่องราวที่เกิดสงครามกลางเมืองญวนแล้ว  ทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไทยควรยกกองทัพไปแก้แค้นญวน  โดยเริ่มตีกรุงกัมพูชาก่อน  เมื่อได้กัมพูชาแล้วก็ยกเลยไปช่วยองภอเบโคยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อน  ตีกองทัพกรุงเว้ให้แตกไป  จึงทรงจัดกระบวนทัพบกทัพเรือ  โดยตั้งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคุมกองทัพบก  และเป็นแม่ทัพใหญ่  ให้เจ้าพระยาพระคลังคุมกองทัพเรือ  ยกไปตีเมืองบันทายมาศและหัวเมืองทางทะเลไปบรรจบกับกองทัพบก  ให้เชื่อฟังการบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบดินเดชาด้วย  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/BP9wZfk/Untieetled-11.jpg) (https://imgbb.com/)

           “กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  และกองทัพเจ้าพระยาพระคลัง  และกองทัพพระยามหาเทพ  ทั้งสามกองนั้นได้กราบถวายบังคมลา  ยกออกจากกรุงเทพพระมหานครพร้อมกันทั้งสามทัพในวันเดียวกันนั้นแต่ ณ วันเสาร์  เดือนอ้าย  ขึ้นสิบสองค่ำ  เวลาเช้าสามโมงเก้าบาท  จุลศักราช ๑๑๙๕  ปีมะเส็ง เบญศก  เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ  ก็ขาดทางพระราชไมตรีกันกับญวนแต่ครั้งนั้นมา

          เมื่อกองทัพไทยทั้งสามยกออกจากกรุงเทพฯ แล้วได้วันหนึ่ง  รุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์เดือนอ้ายขึ้นสิบสามค่ำ  บังเกิดแผ่นดินไหวสะเทือนมากอยู่สองชั่วโมง  จึงเป็นปรกติดังเก่า  ครั้งนั้นกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาพอเข้าคลองสำโรง  ออกแม่น้ำฉะเชิงเทรา  ก็พอแผ่นดินไหวกองทัพทราบทั่วกัน

(https://i.ibb.co/XpCP4xT/Untitledrd-7-27.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อกองทัพทั้งสามยกไปแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  เมืองหัวพันทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเมืองลาวขึ้นแก่ญวนนั้นมี  ผู้คนมากมายอยู่  แต่หัวเมืองทั้ง ๕ นั้นอยู่ใกล้กันกับเมืองหลวงพระบาง  ยังไม่มีกองทัพไทยขึ้นไปตีให้มาขึ้นอยู่ในอำนาจไทย  หรือไทยจะรักษายาก  จะได้กวาดต้อนเอาครอบครัวเข้าเมืองมาไว้ในบ้านเมืองเราเสียดีกว่า  จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งพระยาสีหเทพ (ชื่อทองเพ็ง) กรมมหาดไทย  ให้มีท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปบังคับเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ  คือ  เมืองน่าน  เมืองแพร่  เมืองหล่มสัก  ให้ได้ไพร่พล ๔,๐๐๐ คน  แล้วให้เกณฑ์หัวเมืองไทยฝ่ายเหนือด้วย  จะได้เป็นนายทัพกำกับกองทัพลาวไปด้วยอีกให้ได้คนพันหนึ่ง  โปรดให้เจ้าพระยาธรรมา (ชื่อสมบุญ)  ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพคุมรี้พลลาวและไทยหัวเมืองรวม  ๕,๐๐๐  คน  ให้ยกขึ้นไปพร้อมกับเจ้านครหลวงพระบาง  จะได้ยกไปตีเมืองหัวพันทั้งห้าให้แตก  กวาดต้อนครอบครัวมา  หรือจะยอมขึ้นก็ตามใจเจ้าบ้านผ่านเมืองเหล่านั้น  

          เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เสนาบดีกรมวังกราบถวายบังคมลายกออกจากกรุงเทพฯ ณ วันศุกร์  เดือนอ้าย  แรมสามค่ำ  ปีมะเส็ง  ถึงเมืองหลวงพระบาง ณ วันเดือนสาม  แรมเก้าค่ำ  ปีมะเส็ง เบญจศก จุลซักราช ๑๑๙๕  พักรอคอยกองทัพหัวเมืองที่เกณฑ์นั้นยังมาไม่ถึงพร้อมกัน

(https://i.ibb.co/dLSC1sL/81-Phap.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลัง  ยกไปตีเมืองบันทายมาศได้สู้รบกับญวนวันหนึ่ง  พวกญวนพลเมืองบันทายมาศทิ้งเมืองเสีย  ลงเรือหนีไปเมืองโจดก  กองทัพเรือไทยบ้างเข้าไปรักษาเมืองบันทายมาศ  บ้างก็ยกติดตามญวนลงไปทางคลองขุดใหม่  ถึงเมืองโจดก  ยกเข้าตีเมืองโจดก  ทัพเรือไทยนำเรือใหญ่ขนาบเข้าไปเป็นตับ  นำปืนใหญ่ตั้งหน้าเรือเป็นตับ ๔ แถว  แล้วยิงไปบนเมือง  บนเมืองก็ยิงปืนใหญ่ออกมา  แต่ยิงโต้ตอบกันอยู่ทั้งสองฝ่ายได้สองวันกับคืนหนึ่ง

          ขณะนั้นกองพระสุรินทรามาตย์กับหลวงชาติสุรินทร์และพระยาสุนทรารักษ์สามกอง  ยกพลทหารทะลวงฟันอาทมาตพล ๘๐๐ ยกขึ้นจากเรือ  โดยห้ามปากเสียง  เดินบกยกอ้อมไปทางหลังเมืองโจดก  ซึ่งมีบึงใหญ่กั้นเป็นคูหลังเมืองอยู่  พลไทยลงบึงบ้าง  ว่ายน้ำบ้าง  ด้ำในบึงบ้าง  จนถึงเชิงกำแพงเมืองโจดก  บ้างก็ลงลุยเลนในบึงที่ตื้น  บุกรุกเข้าไปยังกำแพงหลังเมืองพร้อมกัน  พอถึงกำแพงเมืองก็โห่ร้องนำบันไดขอเกี่ยวพาดกำแพงเมือง  ปีนขึ้นไปได้ไล่ฆ่าฟันพลญวนที่รักษาหน้าที่กำแพงเชิงเทินนั้นล้มตายลงเป็นอันมาก  ขณะนั้นกองทัพพระยาสุรเสนายกไปทีหลัง  ได้ยกเข้าช่วยระดมเจ้าหน้าที่เชิงเทินแตกหนีถอยลงหมด

          พระยาสุรเสนาต้อนพลทหารให้ยกบันไดพาดกำแพงเมือง  และถือขวานฟันบานประตูเมืองบ้าง  บ้างถือไม้ค้อนกระทุ้งบานประตูเมืองแตกหักทลาย  เปิดประตูเข้าเมืองได้พร้อมกันกับกองหลังเมืองในเวลาสองโมงเช้า

(https://i.ibb.co/RygsbN9/anaam3cover.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นพวกพลเมืองโจดกเป็นญวนมาก  เป็นจีนน้อย  ที่เป็นจีนก็วางเครื่องสรรพาวุธเสียหมด  เข้าหาอ่อนน้อมยอมแพ้แก่ไทยทั้งสิ้น  ฝ่ายพวกญวนเห็นดังนั้นก็พากันอพยพครอบครัวลงเรือแจวหนีไปในทิศต่าง ๆ  กองทัพเรือตามไปยิงแทงฟันตายเสียหลายร้อยคน  ที่จับเป็นได้ก็มีบ้างหลายสิบคน  กองทัพไทยเข้าเมืองโจดกได้ไล่พิฆาตฆ่าพวกพลเมืองญวน  เก็บพัสดุเงินทองเครื่องอัญมณีได้มาก  และแม่ทัพหน้านั้นคือพระยาราชวังสัน  ยกเข้าเมืองโจดกรักษาเครื่องศาสตราและกระสุนดินดำไว้ได้ทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/nDyKt5W/Untitledd-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้พระยาราชวังสัน  กับพระยาสุรเสนา  พระยาสุนทรารักษ์  ทั้งสามอยู่รักษาเมือง  จัดถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารนอกเมืองมาไว้ในเมืองเต็มทุกยุ้งฉาง  และจัดทหารรักษากำแพงเมืองช่องเชิงเทินทุกหน้าที่มิได้ประมาท  กองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังก็พักอยู่ที่ค่ายใหญ่ของญวนหน้าเมืองโจดก  แล้วแต่งให้หลวงสรรพาวุธกับหลวงวุทธอัคคีสองนาย  คุมเรือรบอย่างเล็กมีพลทหารแจว ๖๐ คน  ให้ไปสืบราชการศึกญวนว่า  ญวนล่าหนีไปตั้งทัพตั้งค่ายรับอยู่ที่ใดบ้าง  ถ้าไม่เห็นญวนตั้งค่ายรับอยู่ที่ใด  ก็ให้ไปสืบทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าจะยกมาถึงที่ใดแล้ว

          แล้วให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญผู้ว่าราชการเมืองปทุมธานี  คุมกองรามัญ ๓๐๐ ยกขึ้นบก  ไปลาดตระเวนรักษาทางด้านเหนือที่ญวนจะยกมาตีเมืองโจดกคืนนั้นให้มั่นคง
          ให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์  คุมกองรามัญ ๓๐๐ ยกไปรักษาทางคลองขุดใหม่ที่จะแยกมาจากเมืองด่านญวน  ให้นำเรือป้อมใหญ่ลงไปด้วย  ครั้งนั้นกองรามัญร้องว่ายิงปืนใหญ่ไม่เป็น  เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้แบ่งทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศสในกองหลวงศักดาวุธ ๑๕ คน  ลงเรือป้อมกองรามัญไปจุกช่องรักษาทางน้ำลำคลอง
          ให้ขุนสท้านธรณีปลัดกรมทหารฝรั่งเศส  คุมเรือป้อมไปในกองรามัญด้วย  รวมขุนหมื่นทหารแม่นปืนใหญ่ฝรั่งเศสไปด้วย ๓๐ คน.......”

(https://i.ibb.co/c3fhgt9/Unatitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * เป็นอันว่า อานามสยามยุทธ  คือการรบระหว่างไทย-ญวน  ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ นั้น  หัวเมืองญวนทางเขตแดนไทย  เขมร  หัวเมืองแรกที่กองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ)  ยกเข้าตีและยึดได้คือ  เมืองบันทายมาศ  หรือ  พุทไธมาศ  เขมรเรียกเมืองนี้ว่า  เมืองเปี่ยม  ญวนเรียกว่า  ฮาเตียน  ไทยเคยปกครองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง  แล้วถูกญวนยึดไป  เจ้าพระยาพระคลังตีเมืองบันทายมาศได้โดยง่ายดาย  แล้วยกเข้าตีเมืองโจดกซึ่งเป็นเมืองค่อนข้างอุดมสมบูรณ์  เมื่อยึดเมืองโจดกได้แล้วก็ปักหลักรอทีว่าจะรุกคืบต่อไป  โดยคอยฟังข่าวว่ากองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  แม่ทัพใหญ่ที่ยกเข้าตีเขมรในทางบกนั้น  ได้มาถึงไหนแล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านกันดูต่อไปว่า  ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชายกเข้าตีเขมรได้กี่เมืองแล้ว.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย
๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, พฤษภาคม, 2563, 12:00:09 AM
(https://i.ibb.co/HVqHXWc/Untiteled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๕๙ -

กองทัพบกยกเพียบเหยียบดินเขมร
องจันทร์เผ่นหาอยู่สู้รบไม่
พนมเปญว่างเปล่าเจ้าหนีไป
จึงตั้งให้ “องอิ่ม,ด้วง”ควงคู่ครอง

“เจ้าคุณสิงห์”เร่งรัดจัดทัพใหญ่
เพื่อยกไปเหยียบดินญวนจองหอง
จะเหยียบขยี้ตีย้ำลบลำพอง
ปราบผยองให้สงบสยบยอม


          อภิปราย ขยายความ .......................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่  หัวเมืองญวนทางเขตแดนไทย  เขมร  หัวเมืองแรกที่กองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ)  ยกเข้าตีและยึดได้คือ  เมืองบันทายมาศ  หรือ  พุทไธมาศ  เขมรเรียกเมืองนี้ว่า  เมืองเปี่ยม  ญวนเรียกว่า  ฮาเตียน  ไทยเคยปกครองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง  แล้วถูกญวนยึดไป  เจ้าพระยาพระคลังตีเมืองบันทายมาศได้โดยง่ายดาย  แล้วยกเข้าตีเมืองโจดกซึ่งเป็นเมืองค่อนข้างอุดมสมบูรณ์  เมื่อยึดเมืองโจดกได้แล้วก็ปักหลักรอทีว่าจะรุกคืบต่อไป  โดยคอยฟังข่าวว่ากองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  แม่ทัพใหญ่ที่ยกเข้าตีเขมรในทางบกนั้น  ได้มาถึงไหนแล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/BCqFddd/Untitledd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบกจึงยกไปถึงเมืองพระตะบอง  พระยาอนุภาพไตรภพเจ้าเมืองนครเสียมราฐมาคอยกองทัพไทยอยู่ที่เมืองพระตะบอง  จึงกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า  นักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาทราบว่ากองทัพไทยจะยกมาตีบ้านเมืองเขมร  จึงให้สมเด็จเจ้าพระยา  และเจ้าพระยาราชไมตรีคุมกองทัพเขมรกองละ ๓,๐๐๐ คน  ยกมาตั้งฟังข่าวราชการอยู่ที่ตำบลบ่อกะเนียงทัพหนึ่ง  ตั้งอยู่ที่ตำบลดำไรพะเนียงทัพหนึ่ง  ครั้นกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกมาถึงทะเลสาบ  มีกำลังช้างม้ารี้พลมากกว่า  ๑๐,๐๐๐ เศษ  ฝ่ายกองทัพสมเด็จเจ้าพระยา  และเจ้าพระยาราชไมตรีเขมรทั้งสองทัพนั้น  มีพลแต่เพียง ๖,๐๐๐ คน  จึงเห็นว่าทัพโคราชมามาก  เขมรจะตั้งรับมิหยุด  เขมรทั้งสองทัพก็ล่าเลิกหนีไปได้แปดวัน  ก็พอทัพใหญ่กรุงเทพฯ ยกมาถึงเมืองพระตะบองในวันนี้

          เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวดังนั้นแล้ว  ก็มีความเสียใจพูดว่า

           “เจ้านักองจันทร์เห็นจะไม่สู้รบตบมือแก่เราเป็นแน่  จึงเรียกทัพใหญ่ฝ่ายเขมรกลับเสียทั้งสองทัพ  ชะรอยนักองจันทร์จะคิดหนีเราไปหาญวนเป็นมั่นคง  ถ้าเป็นดังที่เราคิดเราทายแล้ว  ก็เสียทีที่ไม่ได้รบกับเจ้านักองจันทร์เลย  ถึงมาทว่าได้เมืองเขมร  ก็คงจะได้แต่เปลือกเมืองเปล่าเหมือนเมื่อตีเมืองเวียงจันทน์ได้เหมือนกัน  หามีประโยชน์และเกียรติยศไม่”

(https://i.ibb.co/zVrXTzR/Untitlsfed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ว่าแล้วจึงสั่งให้พระยาเกียรติ์  พระยาราม  คุมกองรามัญ ๑,๐๐๐   ให้พระยาอนุภาพไตรภพเขมรเจ้าเมืองนครเสียมราฐคุมพลเขมร ๑,๐๐๐   สั่งกองทัพทั้งสองกองมีพลทหารรวม ๒,๐๐๐ เป็นกองหน้า

          ให้พระพรหมบริรักษ์เจ้ากรมพระตำรวจ (ชื่อแก้ว) ซึ่งเป็นบุตรใหญ่ในเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น  เป็นข้าหลวงกำกับทัพรามัญและทัพเขมร  มีพลทหารไทยทั้งขุนหมื่นนายไพร่ ๑๐๐ คน

          สำหรับตัวพระพรหมบริรักษ์  คุมพลทหารรวม ๒,๑๐๐ รีบเร่งยกลงไปหมายจะได้ต่อรบกับนักองจันทร์  นักองจันทร์ก็หนีไปเมืองญวนเสียก่อนสิบเอ็ดสิบสองวันแล้ว  พระพรหมบริรักษ์จึงใช้ให้สมิงรามเดชะขึ้นม้าเร็ว ๓๐ ม้า  ถือหนังสือมาแจ้งข้อราชการกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า  นักองจันทร์เขมรหนีเสียแล้วได้ ๑๒ วัน

(https://i.ibb.co/1v6f6Hc/Udntitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาพักจัดรี้พลอยู่ที่เมืองพระตะบอง  คอยกองทัพหัวเมืองมาพร้อมกันแล้ว  จึงได้ทราบหนังสือบอกพระพรหมบริรักษ์ว่า  นักองจันทร์เขมรไม่ตั้งอยู่สู้รบ  และอพยพครอบครัวลงเรือใหญ่ได้แล้วจึงหนีลงไปอาศัยอยู่ในเขตแดนเมืองญวน  พระพรหมบริรักษ์ได้แต่เมืองเปล่า

          เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว  จึงได้ยกกองทัพไปถึงเมืองพนมเปญ  พักทัพอยู่ที่นั้นสองวัน  แบ่งพลทหารไทยให้อยู่เป็นเพื่อนนักองอิ่มและนักองด้วงที่เมืองพนมเปญ  จะได้ตั้งเกลี้ยกล่อมพระยา  พระ  เขมรที่เหลือยู่ตามหัวเมืองเขมรและป่าดง  ให้เข้ามาอาสาจะได้เป็นกำลังต่อไปภายหน้า

          ครั้งนั้นให้พระยาสุระโยธา  พระยามหาอำมาตย์  หลวงราชเสนา  เป็นข้าหลวงคุมพลทหารไทยลาวอยู่รักษาเมืองพนมเปญ  ด้วยจะได้เป็นผู้ช่วยทำนุบำรุงชี้แจงราชการให้นักองอิ่มและนักองด้วงจัดการบ้านเมือง  ให้เป็นที่พักเสบียงอาหารและเป็นที่ตั้งมั่นของทัพไทยด้วย

(https://i.ibb.co/K6DjM30/Untitdfsled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกองทัพที่จะยกไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  เป็นหลายทัพหลายกอง

          ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพใหญ่
          พระยาราชนิกูล (เสือ) เป็นข้าหลวงกำกับทัพ
          ให้พระยาสีหราชเดโช (แย้ม) เป็นปีกขวา
          ให้พระยามณเฑียรบาลเป็นปีกซ้าย
          ให้พระยานครสวรรค์เป็นทัพหน้า
          และพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองทั้งนี้  ไปกับเจ้าพระยานครราชสีมา  ยกไปทางบก  ข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมืองไซ่ง่อน  แล้วแต่งกองทัพหัวเมือง  ทัพกรุงสยามยกไปเป็นกองต่าง ๆ  ตามเจ้าพระยานครราชสีมาไปตีกองทัพญวนนั้นเป็นอันมาก........”

(https://i.ibb.co/dkPccCn/Untitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          * กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) เข้ายึดครองกัมพูชาของเขมรได้โดยละม่อม  ไม่ต้องเสียกำลังและเลือดเนื้อเลยแม้แต่น้อย  เพราะนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมร  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินเขมร  ภายหลังกลับแปรภักดิ์ไปนิยมชมชอบญวน  เป็นขบถต่อกรุงสยามในที่สุด  ครั้นกองทัพไทยยกเข้าเหยียบแผ่นดินเขมร  นักองจันทร์กลับไม่ยอมตั้งอยู่ต่อสู้  พาครอบครัวลงเรือใหญ่อพยพไปอาศัยแผ่นดินญวน  เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งแม่ทัพนายกองไทยอยู่รักษากรุงพนมเปญ  ช่วยจัดการบ้านเมืองอุปถัมภ์บำรุงเจ้าเขมร  คือนักองอิ่มและนักองด้วง  แล้วจัดกองทัพใหญ่  ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพ  ยกทัพบกมุ่งสู่เมืองไซ่ง่อนของญวนทันที  คราวนี้คงได้รบญวนสมใจเป็นแน่  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, พฤษภาคม, 2563, 11:52:21 PM
(https://i.ibb.co/XzcXQMx/Un56titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๐ -

ครั้นทราบว่าทัพเรือนั้นยั้งอยู่
เพื่อรอดูทัพบกยกแห่ห้อม
เจ้าคุณสิงห์กริ่งเกรงความไม่พร้อม
จึงตะล่อมมรรคาเจ้าคุณพระคลัง

ให้เรียนรู้ทางน้ำนำเรือรบ
เข้าสยบญวนให้ได้ดังหวัง
บอกแม่น้ำลำคลองต้องระวัง
บ้านเรือนทั้งสองฟากมากอันตราย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่  กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง)  เข้ายึดครองกัมพูชาของเขมรได้โดยละม่อม  ไม่ต้องเสียกำลังและเลือดเนื้อเลยแม้แต่น้อย  เพราะนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมรไม่ยอมตั้งอยู่ต่อสู้  แต่ได้พาครอบครัวลงเรือใหญ่อพยพไปอาศัยแผ่นดินญวน  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งแม่ทัพนายกองไทยอยู่รักษากรุงพนมเปญ  ช่วยจัดการบ้านเมืองอุปถัมภ์บำรุงเจ้าเขมร  คือนักองอิ่มและนักองด้วง  แล้วจัดกองทัพใหญ่  ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เป็นแม่ทัพ  ยกทัพบกข้ามแม่น้ำโขงมุ่งสู่เมืองไซ่ง่อนเหยียบแผ่นดินญวนทันที  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ........

           “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น  เดินกองทัพเป็นลำดับลงไปต่อภายหลังถึงเมืองบาพะนมริมฝั่งแม่น้ำโขง  เป็นท่าข้ามฟากจะไปเมืองไซ่ง่อน  สั่งให้กองทัพหน้าหาเรือเก่าของเขมรมาได้หลายสิบลำ  สำหรับจะได้ข้ามฟากฝั่งแม่น้ำโขงไป

(https://i.ibb.co/4YDV4k1/dsds.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นกองพระยาพิทักษ์ภูบาลซึ่งเป็นกองลาดตระเวนตรวจทางไปถึงท่าข้ามแก่งหลวง  ก็พบเรือลาดตระเวนกองทัพเจ้าพระยาพระคลังสองพวก  หลวงสรรพาวุธกับหลวงวุทธอัคคีเป็นนายเรือตระเวน  แจ้งความว่าเจ้าพระยาพระคลังตีเมืองบันทายมาศแตกได้เมืองแล้ว  บัดนี้ยกมาตีรบเมืองโจดก  ก็ได้เมืองด้วย  ยกเข้าตั้งอยู่ในเมืองโจดกแล้ว  จึงให้มาสืบทัพว่าจะยกข้ามแม่น้ำโขงเมื่อใด  กองทัพเรือก็จะยกขึ้นไปพร้อมกันเมื่อนั้น

          แล้วหลวงวุทธอัคคีจึงแจ้งความว่ากองทัพญวนยกมาทั้งทางบกและทางเรือเป็นอันมาก  แต่ยังตั้งเรี่ยรายอยู่ตามทางไกล  ยังไม่มาถึงกองทัพไทยเลย  กับได้บอกข่าวว่าญวนค่ายเจียนชายจับได้พระรามพินาศ,  กับหลวงชาติฤทธิรอนราญ  แม่กองเรือตระเวนของทัพเรือไปได้ทั้ง ๒ คนหลายวันแล้ว  แต่หลวงชาติฤทธิรอนราญหนีกลับมาได้  เล่าความว่าอ้ายญวนเอาเรือเล็กสิบหกแจว  แจวมาไล่ล้อมจับพวกเรือตระเวนไทยไปได้สองลำ  แล้วญวนเห็นว่าหลวงชาติฤทธิรอนราญเป็นแขกจามไม่ใช่ไทย  ญวนไม่ยึดไว้  สั่งให้ปล่อยเสียแต่แขก ๖ คนกลับมาได้  แต่พระรามพินาศกับไพร่ไทยอ้ายญวนคุมตัวไว้สิ้น  เพราะเหตุทั้งนี้หลวงชาติฤทธิรอนราญกลับมาจึงได้เห็นว่าญวนยกมาตั้งค่ายรับอยู่ตามรายทางบกและทางเรือเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/B2K6pb1/1441196246-Screen-Shot-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวญวน  และข่าวเจ้าพระยาพระคลังอยู่เมืองโจดกดังพระยาพิทักษ์ภูบาลนายกองตระเวนบอกดังนั้นแล้ว  จึงมีความวิตกถึงทัพเรือว่า  ยังไม่เคยการรณรงค์สงครามใหญ่โตเลย  จะเสียท่วงทีแก่อ้ายญวน  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงรีบยกพลทหารลงไปเมืองโจดก  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงปรึกษาราชการศึกกันกับเจ้าพระยาพระคลังว่าดังนี้.......

(https://i.ibb.co/SsmBLfX/Untisdtled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ผมได้สืบถามเขมรถึงหนทางบกและทางเรือที่จะไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  พระยาเขมรผู้ใหญ่ได้ทำแผนที่ชี้แจง  ทางลำน้ำและทางป่าดงห้วยเขาได้ทราบสิ้นแล้ว  ทางลำแม่น้ำใหญ่จะลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  มีแม่น้ำแยกเป็นสองแควอยู่  เจ้าคุณพระคลังยังไม่รู้จักหนทางนี้  จึงจะได้เล่าชี้แจงให้เจ้าคุณฟัง  ว่าลำแม่น้ำโขงที่ไหลมาแต่เมืองลาวสิบสองปันนานั้น  ไหลลงมาถึงทะเลสาบเมืองเขมร  แล้วไหลผ่านเมืองเขมรมาแยกออกเป็นสองแควที่เมืองบาพะนมเป็นสองแยก  เรียกว่าปากน้ำบาพะนม  แควข้างซ้ายมือลงไปเมืองสะแดกก่อน  แล้วจึงถึงเมืองล่องโห้  ต่อนั้นลงไปอีกถึงตำบลท่าสะตือ  เป็นที่ชัยภูมิดีมีตลิ่งเสมอราบคาบ  และที่ดินดอนน้ำไม่ท่วมที่นั้นด้วย  ญวนจึงตั้งค่ายใหญ่ไม้แก่นเป็นที่มั่นคงไว้เหมือนด่านบก  มีทหารอยู่พิทักษ์รักษาเสมอ ๆ  และที่ค่ายใหญ่ตำบลท่าสะตือนั้น  เป็นทางบกมาได้หลายทิศหลายทาง  เป็นทางร่วมกันที่นั้นเป็นท่าเรือ,  ท่าเกวียน,  ท่าช้าง,  โคต่าง  มาแต่เมืองต่าง ๆ ที่นั้นมาก  ทีนั้นเป็นสำคัญหนักหนา  ถ้าเราลงไปถึงท่าสะตือแล้ว  จะต้องแต่งกองทัพบกให้ยกขึ้นไปรักษาด่านทางช่องท่าสะตือด้วย  ทัพเรือจึงจะเดินลงไปสะดวกได้  หรือบางทีจะได้รบกับอ้ายญวนที่ค่ายไม้แก่นท่าสะตือเป็นสามารถอย่างหนึ่งอย่างไรก็ยังไม่รู้แน่  แต่ลำน้ำทางท่าสะตือต่อไปนั้น  เป็นลำแม่น้ำใหญ่กว้างขวาง  แต่ฤดูแล้งนี้เรือใหญ่เดินลงไปทางนั้นไม่สู้จะสะดวก  เป็นการฝืดเคืองเพราะน้ำตื้น  และกระแสน้ำก็เชี่ยว  ไหลแรงลงไปออกบรรจบปากน้ำเมืองไซ่ง่อน

(https://i.ibb.co/dkk4jc5/Undstitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  แม่น้ำที่แยกมาจากปากน้ำเมืองบาพะนมนั้นเป็นสองแคว  แควข้างซ้ายเมืองลงไปเมืองสะแดกและเมืองล่องโห้ดังว่ามาแล้ว  แต่แควข้างขวามือลงไปนั้น  ก็เป็นลำแม่น้ำใหญ่  ไหลมาแต่ทางเหนือแยกที่เมืองบาพะนมลงไปข้างขวามือถึงเมืองโจดกก่อน  แล้วไหลเลยลงไปถึงบ้านเล็กเมืองน้อยหลายตำบล  แล้วไปแยกออกเป็นสองแคว  แยกกันที่ตำบลปากง่าม ชื่องิ้วราย  แยกขวามือลงไปออกที่ปากน้ำเมืองป่าสัก  เป็นทางลำแม่น้ำใหญ่ไปออกอ่าวทะเลได้  เรียกว่าปากอ่าวป่าสักทางหนึ่ง  แต่ทางที่แยกตั้งแต่งิ้วรายต่อลงไปข้างซ้ายมือนั้น  ลงไปออกที่ปากน้ำท่าตอในแขวงเมืองสมิถ่อเลยออกทะเลได้  ที่ท่าตอทางนี้เป็นที่ลำแม่น้ำเล็กน้อย  ก็ในลำแม่น้ำทางที่ว่ามาทั้งสองแควตอนต้น  และสองแควตอนปลายรวมทุกแควนั้น  เรือนราษฎรญวนและไพร่พลอยู่ตามฝั่งแม่น้ำนั้นทุกแคว  แต่ล้วนจะตั้งต่อสู้รบกับไทยทั้งสิ้น

          อนึ่ง  แผ่นดินญวนมีแม่น้ำแยกย้ายเป็นหลายแคว  กึ่งในระหว่างทางแม่น้ำทุกแควที่แยกย้ายกระหนาบแผ่นดินญวนอยู่นั้น  ก็มีลำคลองเล็กน้อยและใหญ่ลัดไปได้  ถึงแม่น้ำที่ย้ายแยกกันนั้นได้ทุก ๆ แคว  มีคลองเป็นหลายสิบตำบล  จนไม่รู้จักชื่อตำบลคลองทั้งหลายเหล่านั้น  แต่คลองทั้งหลายเหล่านั้นเป็นคลองตื้น ๆ ทุกคลอง  เรือใหญ่ดังเรือรบของไทยนี้เดินไม่ได้  แต่เรือรบของพวกญวนชอบใช้หลายชนิด  เป็นเรือเล็ก ๆ ท้องตื้น  แจวมาได้ตามคลองที่ตื้น ๆ ก็ได้  เจ้าคุณอย่าไว้ใจว่าคลองตื้นญวนจะมาไม่ได้  ถ้าคิดอย่างนั้นก็จะเสียราชการ  ญวนมีเรือเล็กเรือใหญ่หลายชนิดมากนัก  เพราะว่าบ้านเมืองเขาเอง  ไม่เหมือนเรามาทางไกล  มีเรือเล็กเอามาไม่ได้  ด้วยเป็นทางทะเลมายาก  เพราะฉะนั้นจึงว่าทางเรือเสียเปรียบญวนอยู่หน่อยหนึ่ง  ขอให้เจ้าคุณพระคลังต้องระวังทางคลองลัดต่าง ๆ ให้มาก

(https://i.ibb.co/0GvSpH9/Unti0tled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  ในระหว่างแม่น้ำทั้งสองแควนั้น  มีคลองใหญ่คลองหนึ่งเป็นคลองสำคัญหนักหนา  ชื่อว่าคลองวามะนาว  โตกว้างเท่าลำแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ  คลองวามะนาวนั้นทั้งกว้างทั้งลึกด้วย  เรือใหญ่โตดังเรือรบเราหรือกำปั่นสำเภาก็เดินได้ทั้งฤดูแล้งและฤดูน้ำ  ในระหว่างคลองวามะนาวนั้น  มีเกาะขึ้นเองในกลางคลองเป็นเกาะใหญ่โตกว่าเกาะใหญ่ราชครามที่ท้ายลานเทกรุงเก่า  เป็นเกาะดินสูงเสมอและมีภูเขาอยู่บนเกาะนั้นด้วย  ญวนอาศัยภูเขาในเกาะนั้นเป็นป้อม  เกาะนั้นญวนเรียกชื่อว่า  ”เกาะเจียนซ่าย”  (ไทยเรียกชื่อว่าเกาะแตง)  แต่ที่เกาะแตงนี้เป็นที่มั่นสำคัญมากของญวน  เพราะมีคลองเล็ก ๆ หลายคลองลัดมาแต่แม่น้ำอื่นอีกหลายทาง  มารวมกันที่เกาะแตงนี้  เป็นทางร่วมเป็นที่ชัยภูมิดีของญวน  และมีทางจะหนีทีจะไล่  เป็นที่แอบซ่อนล่อลวงหลอกหลอนแก่ข้าศึกมากหลายอย่างต่าง ๆ  เพราะท่าทางที่เกาะแตงนั้นเป็นที่ดีเอง  มีทางซุ่มซ่อนมาก  ขอให้เจ้าคุณพระคลังระวังที่เกาะแตงนี้ให้มากอย่าประมาทเลย.........”

(https://i.ibb.co/CnqwJfz/Untitsaled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          * “ท่านเจ้าคุณสิงห์”  เจ้าพระยาบดินเดชา  สมกับที่ได้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ในการทำสงครามกับลาว  เขมร  ญวน  เพราะท่านรอบรู้ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์  ลาว  เขมร  ญวนเป็นอย่างดี  แผ่นดิน  ภูเขา  แม่น้ำลำคลองในภูมิภาคที่จะเดินทัพไปทำศึกสงครามนั้น ๆ มีอย่างไรบ้าง  ท่านได้เรียนรู้อย่างถ่องแท้  ด้วยความเป็นห่วงเจ้าพระยาพระคลังที่จะยกทัพเรือเข้าโจมตีไซ่ง่อน  เกรงว่าจะไปอย่างเดาสุ่มจนเสียทีแก่ข้าศึก  จึงมารีบเดินทางมาให้คำปรึกษา เพื่อให้   “รู้เรารู้เขาแล้วรบชนะทุกครั้ง”   จากการชี้แนะเส้นทางแม่น้ำลำคลองใหญ่น้อยในเขมรญวนแล้วเห็นว่าท่านรู้จริง  โดยคลองวามะนาวซึ่งเป็นหัวใจในการเดินทัพเรือไปรบญวน  เป็นเส้นทางที่ญวนได้เปรียบ  เฉพาะเกาะเจียนซ่าย  หรือ  เกาะแตงนั้น  เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง  ท่านเจ้าคุณสิงห์จึงย้ำนักหนาให้เจ้าคุณพระคลังระวัง  ท่านยังมีคำแนะนำอีกมาก  วันนี้ไม่นำมาลงให้หมด  เพราะเห็นว่าความยังยืดยาว  ควรพักไว้ให้อ่านต่อกันในวันพรุ่งนี้ครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46138#msg46138)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46443#msg46443)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, พฤษภาคม, 2563, 10:38:32 PM
(https://i.ibb.co/hmHMQVb/Anh-Hung-Dan-Toc-01.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46297#msg46297)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46588#msg46588)                   .

- อานามสยามยุทธ ๖๑ -

เชลยญวนวัยฉกรรจ์นั้นปัญหา
เจ้าพระยาพระคลังสั่งมิง่าย
จึง “เจ้าคุณสิงห์” ไม่นิ่งดาย
สั่งให้ตายโดยฆ่าร้อยกว่าคน

ทหารบกลงเรือเพื่อเสริมทัพ
เดินทางกับกองเรือไม่ตกหล่น
ถึงคลองวามะนาวทางกว้างสายชล
เห็นญวนบนฝั่งคลองสองค่ายมี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่  เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับรายงานว่า  เจ้าพระยาพระคลังนำทัพเรือเข้าตีเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกได้แล้ว  ตั้งมั่นรอที่จะยกไปตีไซ่ง่อนพร้อมกันกับกองทัพบก  และขณะนี้มีญวนยกมาตั้งค่ายเรี่ยรายอยู่ตามลำน้ำในแดนญวนหลายแห่ง  เกิดวิตกว่าทัพเรือที่ยังไม่เคยทำศึกใหญ่จะเสียท่วงทีญวน  จึงรีบยกจากเมืองพนมเปญรีบลงไปเมืองโจดก  เพื่อปรึกษาวางแผนการศึกกับเจ้าพระยาพระคลัง  โดยนำเส้นทางน้ำต่าง ๆ ที่จะเดินทัพซึ่งได้มาจากพระยาเขมรผู้ใหญ่ที่ชำนาญเส้นทางน้ำในญวน  มาอธิบายให้เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบ ตั้งแต่ลำน้ำแม่โขงที่ซึ่งแยกเป็นสองแควจากเมืองบาพนมในเขมรลงไป  แล้วมีคลองเล็กคลองใหญ่เชื่อมโยงเป็นไยแมงมุม  คลองสำคัญที่เป็นเส้นทางสำคัญคือ  คลองวามะนาว  มีเกาะใหญ่ตั้งอยู่ในคลองนี้  ไทยเรียกว่า  “เกาะแตง”  เป็นศูนย์รวมยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด  ขอให้แม่ทัพเรือระมัดระวังให้มาก  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/FqwBBzX/photo1520762046520-15207620465211527154717-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ด้วยที่เกาะแตงนี้  เคยมีเหตุร้ายแต่ก่อนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)  ครั้งโน้นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยหริรักษ์  เป็นแม่ทัพมารบกับญวนที่เกาะแตงนี้ก็แตกทัพหนีญวน  เสียทีแก่ญวนที่เกาะแตงนี้ไปครั้งหนึ่งแล้ว  จนต้องรับพระราชอาชญาจำอยู่ในระหว่างโทษช้านานครั้งโน้นนั้น  ที่เกาะแตงนี้เป็นที่ชัยภูมิดีของอ้ายญวน  อ้ายญวนเคยได้ชัยชนะที่นี้มาแล้ว  ญวนมันจะแต่งกลล่อลวงพวกไทยที่นี่อีก  เจ้าคุณต้องระมัดระวังรักษาตัวและรักษาเกียรติยศที่เกาะแตงนี้ไว้ให้ดี  จะได้มีชื่อเสียงปรากฏไปช้านาน  กับกระผมได้ใช้เขมรไปสืบได้ความมา  ต้องกับคำให้การของหลวงชาติฤทธิรอนราญ  แขกจามกองตระเวนเรือของเจ้าคุณพระคลัง  ที่อ้ายญวนจับไปได้ปล่อยให้กลับมานั้น  เขมรแจ้งความว่าที่เกาะแตงนั้น  ยังมีค่ายเก่าไม้จริงแต่ครั้งตั้งรับเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยหริรักษ์นั้นอยู่อย่างดีปรกติ  อ้ายญวนซ่อมแซมเสมอไว้เป็นค่ายหน้าด่านรักษาทางน้ำลำคลองของอ้ายญวน  จึงว่าที่เกาะแตงนี้เป็นที่สำคัญมาก  มีค่ายคูพร้อมมูลอยู่แล้ว  เจ้าคุณจะยกไปทำกับมันที่นี่นั้น  ให้ตรึกตรองให้มากให้ลึกซึ้ง  ถึงที่เกาะแตงนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าคุณพระคลังแม่ทัพเรือจำจะต้องไปทางนั้นเป็นแน่  แต่หน้าที่ของผมแม่ทัพบกนั้นจะต้องไปทางบก  ยกทัพเดินลัดตัดทางป่าไปข้ามที่ท่าข้ามเมืองบาพะนม  แล้วจะได้เดินทางบกไปบรรจบกับทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและกองทัพพวกวังหน้าที่ยกล่วงหน้าไปก่อน  พร้อมกันที่ไหนผมก็จะได้ยกเข้าตีทัพญวนกรุงเว้ที่ยกมาล้อมเมืองไซ่ง่อนทีเดียว  ที่เกาะแตงนั้นไม่ใช่หน้าที่ของแม่ทัพบกจะได้ไปทางนั้นเลย  บัดนี้มาพบเจ้าคุณพระคลังเข้าแล้ว  ครั้นผมจะละทิ้งให้เจ้าคุณไปแต่ผู้เดียวก็ไม่ได้  ดูเหมือนไม่รักใคร่ในเจ้าคุณ  ด้วยเจ้าคุณพระคลังยังไม่เคยทัพศึกใหญ่โตเหมือนครั้งนี้  ครั้งนี้ผมจำเป็นจะต้องไปทางเรือด้วย  จะได้ช่วยเจ้าคุณพระคลังคิดอ่านแก้ไขในทางทัพเรือ  แต่ทางทัพบกนั้น  ผมจะมีตราบังคับสั่งให้แม่ทัพนายกองทัพบกหลายนายรีบยกไปก่อนก็ได้  เพราะกองทัพบกมีผู้คนมากมายอยู่แล้ว  และนายทัพนายกองก็ล้วนแต่แข็งแรงแทบทุกกองก็ว่าได้  คือเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ๑   พระยาราชนิกูล (เสือ) ๑   พระยาสีหราชเดโช (แย้ม) ๑   พระยาพิชัยสงคราม (เพชร) ๑   พระยาวิชิตณรงค์ ๑   พระยาจ่าแสนยากรวังหน้า ๑   พระยานครสวรรค์ ๑   พระยาพิชัย ๑   พระยาพิจิตร ๑   พระยารามกำแหง ๑   พระยาราชสงครามเป็นผู้กำกับทัพฝ่ายเหนือด้วย  ทั้งทัพวังหน้าก็มีมาก  พระยามณเฑียรบาล ๑   พระยาราชโยธา ๑   พระยาเสนาภูเบศร์ ๑   พระยาสุรินทร์ราชเสนี ๑   พระยาสุเรนทร์ราชเสนา ๑   ที่ออกชื่อมานี้แต่ล้วนเป็นพนักงานมีหน้าที่จำเพาะตำแหน่งทัพทั้งสิ้น  ยังพระยา  พระ  หลวง  และพระราชวังบวรฯ ที่เป็นนายทัพนายกองด้านนั้นยังมีอีกมากด้วยกัน  กับพระยา  พระ  หลวง  หัวเมืองฝ่ายไทยและเมืองลาวเขมร  ที่เกณฑ์มาสมทบเข้าเป็นลูกกองของทัพทั้งปวงนั้นก็มากมายอยู่แล้ว  ทัพบกนั้นพอจะไปก่อนได้  เห็นจะไม่เสียราชการได้เป็นแน่”

(https://i.ibb.co/WVMf0kM/Untitlsdred-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี  จึงเรียนตอบเจ้าพระยาบดินเดชาว่า

           “ถ้าใต้เท้าโปรดได้ดังนั้นแล้ว  กระผมก็เย็นใจหนักหนา  แต่ว่าใต้เท้ากับกระผมจะยกทัพเรือไปด้วยกันจากเมืองโจดกนี้  ที่เมืองโจดกนั้นจะให้แต่พระยาภักดีนุชิตกับผู้ช่วยเมืองจันทบุรี  คุมพลทหารพอสมควรอยู่รักษาเมืองโจดกนั้น  กระผมมีความวิตกที่ครัวญวนเมืองโจดกจับไว้ได้มาก  แต่ชายฉกรรจ์ ๑๘๔ คน  ยังครอบครัวชายหญิงลูกวิ่งลูกจูงก็มากกว่า ๓๐๐ เศษ  ด้วยจะต้องไปข้างหน้ายังช้านานอย่างไรก็ยังไม่รู้แน่  อ้ายพวกญวนเหล่านี้ก็ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร  จะจำตรวนไว้ที่เมืองโจดกนี้ก็ไม่ไว้ใจ  เพราะพวกไทยมีน้อยตัว  กลัวมันจะทำการกำเริบเป็นจลาจลขึ้นข้างหลังเรา  แล้วพวกที่อยู่รักษาเมืองจะระงับก็ยาก  ครั้นจะคิดส่งเข้าไปในกรุงเทพฯ  เรือใหญ่ที่บรรทุกครอบครัวอ้ายญวนส่งเข้าไปในกรุงเทพฯ นั้นก็ไม่มี  มีแต่เรือใหญ่ที่เป็นเรือรบสำหรับจะไปเท่านั้น  การที่กระผมเรียนใต้เท้ามาทั้งนี้  จะทำฉันใดดี  ขอบารมีใต้เท้าเป็นที่พึ่งด้วยในครั้งนี้”

(https://i.ibb.co/KhXD2vQ/Untditled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เมื่อได้ฟังถ้อยคำเจ้าพระยาพระคลังพูดดังนั้นแล้วก็หัวเราะ  จึงตอบว่า

           “เมื่อเจ้าคุณมีความวิตกวิจารณ์การเล็กน้อยเท่านี้เป็นไรมี  ผมจะรับธุระช่วยเจ้าคุณให้สำเร็จได้  เมื่อเจ้าคุณพระคลังกลัวบาปเกรงกรรมอยู่ก็แล้วไปเถิด  ตกพนักงานไว้ธุระผมเอง”

          เจ้าพระยาบดินเดชาพูดเท่านั้นแล้ว  จึงมีบัญชาสั่งให้คนไปเรียกตัวพระสุรินทรามาตย์มาแล้ว  จึงมีบัญชาสั่งว่า  อ้ายญวนเชลยที่เป็นผู้ชายฉกรรจ์มีอยู่มากน้อยเท่าไร  ให้แจกพวกลาวคุมไปคนต่อคน  ให้เอาไปฆ่าเสียให้หมดในวันนี้  แล้วมีบัญชาสั่งพระภักดีนุชิตให้กวาดต้อนครอบครัวญวนที่เป็นผู้หญิง และชายแก่ชรา หรือเด็กทั้งนั้น  ให้บรรทุกเรือเล็กใหญ่สำหรับเมือง  ให้มีคนไทยคุมไปส่งให้ถึงเมืองบันทายมาศให้สิ้นเชิงแต่ในวันนี้

          แต่พระยาสุรินทรามาตย์สั่งลาวให้ฆ่าญวนชายฉกรรจ์ ๑๘๔ คนแล้ว  พระภักดีนุชิตก็ส่งครัวญวนเสร็จไปในวันนั้นด้วย  เจ้าพระยาบดินเดชาจึงให้พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี  ถือหนังสือตราบังคับสั่งแม่ทัพบกไปให้พระยานครราชสีมา (ทองอิน) แม่ทัพใหญ่  และพระยาราชนิกูล (เสือ) ข้าหลวงกำกับทัพ  ให้คุมทัพในกรุงและหัวเมืองฝ่ายเหนือ  และหัวเมืองลาวเขมร  และเมือนครราชสีมาด้วยรวมเข้ากันเป็นพล ๒,๗๐๐๐  ให้เดินทัพบกไปทางบกไปข้ามแม่น้ำน้อย  ตรงไปช่วยเมืองไซ่ง่อน  เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมาได้ทราบหนังสือบังคับสั่งดังนั้นแล้ว  จึงให้ยกกองทัพข้ามที่ท่าข้ามเมืองบาพะนม เดินตรงไปหมายจะข้ามแม่น้ำน้อยใกล้เขตแดนเมืองไซ่ง่อน

(https://i.ibb.co/C2G5yw7/Untitsled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเก็บได้เรือเชลยเมืองเขมรมามาก  จึงบรรทุกกองทัพยกลงเรือ  เดินทัพเรือไปด้วยกันกับเจ้าพระยาพระคลัง  รวมเป็นทัพเรือไปทางเดียวกัน  สั่งให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิมโจโฉ) เสนาบดีกรมเกษตรา  เป็นแม่ทัพหน้า  คุมทัพเรือกองหน้าล่องลงไปก่อน  ทัพเรือกองหน้าไปตามลำแม่น้ำเมืองโจดก  แล้วเลี้ยวล่องลงทางคลองวามะนาว  กองทัพเรือไทยยกลงไปถึงที่ปากคลองวามะนาว  พบกองทัพญวนมาตั้งค่ายรับอยู่ที่ปากคลองวามะนาว  ข้างใต้ค่ายหนึ่ง  องทำตานเป็นแม่ทัพใหญ่ในที่นั้น  และข้างปากคลองด้านเหนือมีค่ายลูกหนึ่ง  องจันเปียเป็นแม่ทัพในที่นั้น....”

(https://i.ibb.co/m4M2Xmw/1432657767-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ)  เหมาะที่จะเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋นมากกว่าฝ่ายบู๊  เพราะใจท่านไม่เหี้ยมโหดพอที่จะฆ่าฟันข้าศึกศัตรู  ครั้นเจอปัญหาการควบคุมเชลยก็ไม่กล้าฆ่าตี  ละล้าละลังอยู่  จนเจ้าพระยาบดินทรเดชาขุนนางฝ่ายบู๊ต้องจัดการให้เรียบร้อยโดยพลัน  กองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยานครราชสีมา  ยกเข้าใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว  ส่วนหนึ่งของกองทัพบกโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ก็แปลงเป็นกองทัพเรือเข้าร่วมกองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง  ยกเข้าไปถึงจุดยุทธศาสตร์คือคลองวามะนาว  พบค่ายญวนตั้งรอรับอยู่แล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อว่าไทยกับญวนจะรบกันอย่างไรนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย
๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, พฤษภาคม, 2563, 11:11:34 PM
(https://i.ibb.co/Rz1nL6m/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๒ -

แม่ทัพใหญ่สั่งขนพลขึ้นบก
เป็นการยกกำลังอย่างเร็วรี่
ญวนไม่อาจทนทานต้านต่อตี
จึงแตกหนีถูกฆ่าตายเป็นก่ายกอง

แม่ทัพหนีซ่อนกายค่ายสะแดก
จะตีแตกยากเย็นไม่เป็นสอง
เจ้าคุณแม่ทัพไทยร่วมไตร่ตรอง
คิดหาช่องทางตีที่ดีงาม


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้ฆ่าเชลยญวนชาวเมืองโจดกที่เป็นชายฉกรรจ์เสียร้อยคนเศษ  ที่เหลือเป็นชายชราและผู้หญิงกับเด็ก ๆ นั้น  ให้ต้อนลงเรืออพยพไปไว้เมืองบันทายมาศ  แล้วมอบหมายให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพบกยกไปตีญวนชาวเว้ที่มาล้อมเมืองไซ่ง่อน  ส่วนตัวท่านคุมพลทัพบกอีกส่วนหนึ่งลงเรือ  ยกร่วมทางไปกับกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังถึงปากคลองวามะนาว  เห็นค่ายญวนตั้งอยู่สองค่าย  วันนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ

(https://i.ibb.co/rdsr4d4/unnamed-21.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อ ณ วันเดือนสามขึ้นสิบสองค่ำ  เจ้าพระยาพลเทพแม่ทัพกองหน้าสั่งให้พระยาพิพิธโกษาคุมเรือป้อมกองหน้า  แจวไปพลางยิงไปพลาง  จนถึงหน้าค่ายญวน  ญวนก็ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกับเรือป้อมเป็นสามารถ  เจ้าพระยาพลเทพจึงต้อนไล่เรือรบมีชื่อลงไปช่วยระดมตีค่ายญวน  ญวนกับไทยได้สูรบกันอยู่เต็มทั้งวันยังค่ำคืนยังรุ่ง  ยังไม่แพ้ชนะแก่กัน  พอกองทัพไทยเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังยกลงไปทันท่วงทีในขณะนั้น  ก็ได้ช่วยกันระดมยิงค่ายญวน  ญวนก็ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบออกมาจากค่ายเป็นสามารถ

(https://i.ibb.co/RBVtVhH/unnamed-20.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าญวนมัวยิงโต้ตอบอยู่หน้าค่ายกับทัพเรือไทยไม่หยุดหย่อน  จึงสั่งพระยาภักดีภูบาลให้คุมกองทัพบก  ซึ่งมาเรือเล็กมาแต่เมืองเขมรนั้น  ให้ยกพลทหาร ๑,๐๐๐ เศษขึ้นบนฝั่งตลิ่ง  ตัดไม้ไผ่ตั้งค่ายบนบกและมีค่ายแตะตั้งประชิดติดเนื่องกันเป็นวงพาดทั้งสองฟากคลองวามะนาว  ให้พระยาภักดีภูบาลเป็นนายกองค่ายฝั่งใต้  ให้พระยาสุนทรสงครามเป็นนายค่ายฝ่ายเหนือ  มีพลทหารกองละ ๕๐๐ คน  ตั้งค่ายประชิดรุกเข้าไปใกล้ทัพญวนทุกที  รบกันแล้วให้กองพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลนำเรือเล็ก ๆ ลากขึ้นบนบก  หามไปข้างหน้าเป็นที่บังลูกปืนญวนได้บ้างเหมือนค่ายสีชุก  กองหลังก็ตั้งค่ายประชิดใกล้ค่ายญวนได้ถนัด  นำปืนหามแล่นและขานกยางยิงไปดังห่าฝน  ญวนทนไม่ได้ก็ทิ้งค่ายแตกถอยหนีไปทางบกบ้าง  ไทยไล่ตามฆ่าฟันตายเป็นกอง ๆ เกลื่อนตามทางทุ่งนั้นเต็มไปด้วยศพญวน  บางพวกก็หนีลงเรือหน้าค่ายแจวหนีไป  ฝ่ายทัพเรือไทยได้ทีพาเรือแจวเข้าไป  ติดตามรุกไล่  ยิงแทงฟันญวน  ล้มตายในน้ำและบนเรือเป็นอันมาก  ที่จับเรือได้มาทั้งคนญวนเป็น ๆ ก็มาก  กองหลวงชาติฤทธิรอนราญแขกจามจับได้เรือญวนสองลำ  ลำหนึ่งมีดินดำบรรทุกมาไว้สำหรับใช้สอย ๑๖ ถัง  ลำหนึ่งบรรทุกกระสุนปืนเล็กใหญ่หลายพันกระสุน  เก็บได้มาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้รางวัลเป็นเงินตรา ๕ ชั่ง  แล้วตั้งให้เป็นพระพหลหาญศึก  แล้วให้คุมเรือรบยกลงไปรักษาค่ายญวนที่ไทยตีได้ไว้  อย่าให้รื้อ

(https://i.ibb.co/Wcq2XDB/Untitlsqed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเวลาบ่ายสี่โมง  หลวงสุริยามาตย์ไปลาดตระเวนกลับมาแจ้งความว่า  ได้เห็นญวนยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมมาอีกหลายทัพ  แจวมาตามลำคลองวามะนาว  เห็นธงสีต่าง ๆ ยกมาทางท่าข้ามต้นไทร  ได้ยินเสียงกลองทัพตีเร่งรัวอยู่เสมอมิได้หยุดเลย  คะเนคาดการดูเห็นว่า  ญวนจะรีบเร่งเดินกองทัพมาโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/Ws3DkRt/79880958.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าพระยาบดินเดชาได้ทราบกิจการข่าวศึกยกมาเพิ่มเติมดังนั้นแล้ว  จึงปรึกษาด้วยเจ้าพระยาพระคลังว่า  ญวนยกมาอีกดังนี้  เห็นเราจะรักษาค่ายของญวนไว้ไม่ได้  ควรจะเผาเสียดีกว่ารักษาไว้  เจ้าพระยาพระคลังก็เห็นชอบด้วยแล้ว  จึงให้หลวงธรเนนทร์ลงเรือเล็กข้ามฟากไปบอกแก่พระพลหาญศึกผู้อยู่รักษาค่ายญวนนั้น  ให้ขุดดินในค่ายและนอกค่าย  ตรวจดูว่าญวนจะฝังดินปืนและเครื่องศาสตราวุธไว้บ้างหรือไม่  ถ้าไม่ได้ฝังแล้วก็ให้เผาค่ายเสียทุกค่าย  ยกพลลงเรือรบรักษาอยู่ที่ท่าค่ายนั้นก่อน  ครั้งนั้นพระพลหาญศึกกับหลวงธรเนนทร์สั่งให้ไพร่พลขุดมูลดินในพื้นค่ายและนอกค่าย  ได้ปืนใหญ่รวม ๒๖ กระบอก  กระสุนดินดำไม่ได้  ขนปืนใหญ่ลงเรือแล้วก็เผาค่ายอ้ายญวนเสียสิ้นทุกค่าย

(https://i.ibb.co/x8VHhHS/vs20-23.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายแม่ทัพญวนชื่อองทำตานและองจันเบีย  เสียค่ายแก่ไทยทั้งสองค่ายแล้ว  ก็พารี้พลยกล่าถอยหนีไปตั้งค่ายรับกองทัพไทยอยู่ที่ปากคลองวามะนาวข้างเหนือ  ซึ่งเป็นคลองเล็กแยกจะลงไปทางเมืองสะแดก  ที่ตรงนี้มีค่ายไม้จริง  เป็นค่ายเก่าของญวน  ตั้งมาช้านานกว่า ๒๘ ปีแล้ว  เดิมญวนตั้งไว้รับกองทัพสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ครั้งแผ่นดินต้นแต่ก่อนนั้นแล้ว  และญวนซ่อมแซมอยู่เสมอไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม  เพื่อจะตั้งไว้เป็นค่ายด่านทางรักษาเขตแดนนี้ของญวนต่อ ๆ มาถึงทุกวันนี้  การครั้งนี้ที่องทำตานและองจันเบียแม่ทัพญวนแตกล่าถอยหนีไปเข้าค่ายเก่าที่ตำบลสามแยกคลองวามะนาวสะแดก  ญวนจึงได้อาศัยค่ายเก่านั้นตั้งมั่นสู้รบเต็มกำลังทันท่วงทีที่หนีไป  ได้ที่มั่นสำคัญดังนี้  แล้วญวนจึงมีกำลังกล้าขึ้น

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ปรึกษาเจ้าพระยาพระคลังว่า

           “อ้ายญวนค่ายปากคลองวามะนาวก็แตกหนีล่าถอยไปหมดแล้ว  บัดนี้เจ้าคุณพระคลังเป็นแม่ทัพเรือ  เป็นหน้าที่ของเจ้าคุณ  เจ้าคุณจะคิดเป็นประการใด?”

          เจ้าพระยาพระคลังตอบว่า    “ควรจะยกทัพเรือลงไปตามตีค่ายญวนที่ปากคลองสะแดกให้แตกเสียโดยเร็ว  จะได้ยกไปเมืองไซ่ง่อนโดยง่าย”

(https://i.ibb.co/VDPM4Mz/vs20-08.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่า

           “ซึ่งเจ้าคุณพระคลังคิดดังนั้นก็ถูกต้องตามทำนองศึกสงครามอยู่แล้ว  เพราะญวนหนีไป  ฝ่ายไทยก็จะไล่รบต่อไป นั้นถูกต้องตามพิชัยสงครามแล้ว  แต่ความคิดของผมนั้นเห็นว่า  ถ้ารีบยกทัพเรือลงไปตามตีญวน  ญวนก็คงจะต่อสู้แข็งแรง  เพราะที่นั้นเป็นค่ายเก่าทำด้วยไม้จริงเสาโต ๆ  ถึงมาทว่าญวนจะแพ้จริง ๆ ก็คงจะช้าหลายวันอยู่  ญวนเห็นว่าทัพเรือไทยยกลงไประดมตีค่ายญวนที่ปากคลองสะแดกนั้นพร้อมกันแล้ว  ญวนก็จะยกทัพเรืออ้อมมาทางคลององเจืองได้  แล้วญวนก็จะนำทัพเรือตีโอบหลังตัดท้ายพลกองทัพเรือเรา  กองทัพเรือเราก็จะถูกเป็นศึกขนาบอยู่ท่ามกลางระหว่างสงคราม  เหมือนหมากรุกต้องรุกฆาด  เสียเม็ด ม้า เรือ โคน แลเบี้ยด้วย  และขุนจะต้องถูกรุกจนมุมกระดาน  ถ้าเป็นอย่างนี้จะว่ากระไร?  จะมิมีภัยมาถึงเราทั้งหมดดอกกระมัง

          อีกประการหนึ่งเล่า  ทางที่เราจะยกลงไปตีค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดกนั้น  ในกึ่งทางมีเกาะใหญ่ ๆ อยู่หลายเกาะ  ดังเช่นเกาะเกิด,  เกาะพระ,  เกาะบางอออิน,  เกาะเรียน  ซึ่งทางจะไปกรุงเก่านั้นคล้าย ๆ กันกับทางจะไปทางปากคลองสะแดกเหมือนกันก็ตาม  เกาะทั้งหลายในแม่น้ำลำคลองที่เราจะไปนั้น  มีที่สำคัญของญวนจะตั้งตีสกัดหน้าก็มาก  หรือมันจะตั้งตีตัดท้ายพลเราก็มากมายหลายตำบล  ขอให้เจ้าคุณคิดตรึกตรองให้ละเอียด  จงระวังทั้งข้างหน้าและข้างหลัง  และตามทางที่จะไปให้รอบคอบทุกทิศทุกทาง  ถ้าเห็นรู้ว่าที่ใดมีช่องเป็นทางจะเป็นภัยแก่เราแล้วนั้น  ก็ควรจะคิดปิดทางนั้นหรือจะป้องกันทางนั้นเสียก่อน  จึงจะไปรบกับพวกญวนได้”

(https://i.ibb.co/r729JjR/Un45titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบเห็นควรตามความคิดท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาทุกประการ  จึงได้เขียนหนังสือเป็นข้อความปฏิญาณตนว่า

           “กระผมยอมนับถือเจ้าคุณแม่ทัพสามประการ  คือนับถือเป็นผู้มีอายุมาก ๑   นับถือเป็นผู้มีชาติตระกูลสูงศักดิ์ ๑   นับถือเป็นผู้มีสติปัญญากล้าหาญรอบรู้ในการศึกสงคราม  หาผู้ใดจะเสมอเหมือนไม่ได้ ๑    สาเหตุสามประการนี้จึงยอมฝากตนและฝากอำนาจในราชการศึกแก่เจ้าคุณแม่ทัพบกครั้งนี้  ให้เจ้าคุณแม่ทัพบกช่วยคิดอ่าน  และจัดการให้เป็นเกียรติยศภายหน้าด้วย  แล้วมอบอาญาสิทธิ์ให้ช่วยจัดการทัพเรือ  โดยหาความรังเกียจมิได้”   ประทับตราในหนังสือปฏิญาณแล้ว  นำมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็มีความรักนับถือเจ้าพระยาพระคลังตั้งแต่นั้นต่อมา.........”

(https://i.ibb.co/8D6TdbP/Untfditled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ศึกยกแรก  ญวนแพ้ยับเยินด้วยฝีมือทัพบกที่ไปในกองทัพเรือ  แม่ทัพญวนหนีไปตั้งหลักอยู่ในค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดก  ความเห็นของเจ้าคุณพระคลังแม่ทัพเรือว่า  ควรจะยกทัพเรือตามไปตีค่ายนี้ให้แตกโดยเร็ว   แต่เจ้าคุณแม่ทัพบกติงว่า  หากผลีผลามตามไปก็อาจจะถูกญวนยกทัพที่ซ่อนไว้มาอ้อมตีตลบหลังเป็นศึกขนาบได้  ทางที่จะไปตีค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดกนั้น  มีเกาะน้อยใหญ่อยู่ในคลองวามะนาวหลายเกาะ  ล้วนแต่เป็นที่ซุ่มซ่อนกองกำลังโจมตีเราได้ทั้งนั้น  ต้องวางแผนให้รอบคอบรัดกุมในการเดินทัพไป  เจ้าคุณพระคลังได้ฟังคำท้วงติง  อธิบายดังกล่าวแล้วเห็นด้วยทุกประการ  จึงได้ทำหนังสือปฏิญาณตน  แสดงความนับถือและมอบอำนาจให้บังคับบัญชากองทัพเรือด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันพรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤษภาคม, 2563, 10:35:06 PM
(https://i.ibb.co/JzhXd3c/Untxitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๓ -

กองโจรญวนซุ่มกายตีท้ายทัพ
ไทยโต้กลับถูกฆ่าสมซุ่มซ่าม
เป็นบทเรียนให้รู้การวู่วาม
เป็นไปตามท่านแม่ทัพกำชับมา

นายกองไทยใจขลาดหวั่นหวาดไหว
ทอดทิ้งไพร่พลอยู่รบสู้หน้า
ซึ่งเจ้าคุณแม่ทัพเห็นกับตา
สอบแล้วฆ่าทันใดไม่ปรานี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่ เจ้าพระยาบดินเดชาสั่งให้ทหารบกที่ยกร่วมไปในกองทัพเรือ ยกพลขึ้นบกบุกเข้าโจมตีค่ายญวนจนแตกสิ้น  แม่ทัพญวนหนีไปตั้งหลักอยู่ในค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดก  เจ้าคุณพระคลังแม่ทัพเรือเห็นว่าควรจะยกทัพเรือตามไปตีค่ายนี้ให้แตกโดยเร็ว  แต่เจ้าคุณแม่ทัพบกติงว่า  หากผลีผลามตามไป  ก็อาจจะถูกญวนยกทัพที่ซ่อนไว้มาอ้อมตีตลบหลังเป็นศึกขนาบได้  ทางที่จะไปตีค่ายเก่าที่ปากคลองสะแดกนั้น  มีเกาะน้อยใหญ่อยู่ในคลองวามะนาวหลายเกาะ  ล้วนแต่เป็นที่ซุ่มซ่อนกองกำลังโจมตีเราได้ทั้งนั้น  ต้องวางแผนให้รอบคอบรัดกุมในการเดินทัพไป  เจ้าคุณพระคลังได้ฟังคำท้วงติง  อธิบายดังกล่าวแล้วเห็นด้วยทุกประการ  จึงได้ทำหนังสือปฏิญาณตน  แสดงความนับถือและมอบอำนาจให้บังคับบัญชากองทัพเรือด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ

(https://i.ibb.co/hML1WJ3/Unti562tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้งนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดให้พระยาณรงค์ฤทธิ์โกษา ปลัดจางวางแขกจามวังหน้า  คุมพลแขกจาม ๓๐๐ ลงเรือรบมีชื่อ  แล้วจัดให้พระยาวิเศษสงครามรามภักดีฝรั่งเศส  คุมพลทหารฝรั่งเข้ารีต ๕๐๐ ลงเรือรบมีชื่อ  ทั้งสองกองเป็นคน ๘๐๐ ยกไปตัดไม้ทำเขื่อนทำนบปิดปากคลององเจืองไว้  มิให้ญวนนำเรือรบเล็ก ๆ ลัดตัดมาในคลององเจืองออกแม่น้ำใหญ่มาตีตัดหลังท้ายพลกองทัพเรือไทยไม่ได้  แล้วพระยาวิเศษสงครามนำเรือรบไทยตั้งรักษาปากคลององเจืองไว้ให้มั่นคง  อย่าให้ญวนรื้อถอนทำนบที่ปิดไว้นั้นได้เลยเป็นอันขาด

           ครั้งนั้น  ให้บาทหลวงฝรั่งเศสขื่อเปโรที่ไปในกองทัพพระยาวิเศษสงครามนั้น  ให้บาทหลวงเปโรไปเกลี้ยกล่อมพวกญวนเข้ารีดฝรั่งเศส  ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในแนวคลององเจืองนั้น  พวกญวนเข้ารีดยอมสมัครเข้าในการเกลี้ยกล่อมมากับบาทหลวงเปโรด้วยประมาณ ๓๐๐ เศษ  แต่ที่ชายฉกรรจ์และครอบครัวต่างหากมากประมาณ ๔๐๐ เศษ  บาทหลวงเปโรและพระยาวิเศษสงครามตั้งการเกลี้ยกล่อม  และรักษาปากคลองอยู่ที่นั้นช้านาน

           แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญผู้ว่าราชการเมืองปทุมธานี  คุมกองทัพรามัญ ๔๐๐ ลงเรือรบมีชื่อยกล่วงหน้าไปก่อน  ถ้าเห็นอ้ายญวนตั้งรับอยู่ที่ตามเกาะกลางน้ำเหล่านั้น  ควรจะตีให้แตกได้ก็ให้ตีเสียโดยเร็ว  ถ้าเห็นอ้ายญวนมีกำลังมากแล้ว  ควรจะต่อสู่อยู่กว่ากองทัพเรือฝ่ายหน้าเจ้าพระยาพลเทพจะลงไปถึง  ก็จะได้ช่วยกันระดมตีต่อไป  ถ้าเห็นว่าอ้ายญวนไม่ได้มาตั้งตามเกาะเหล่านั้น  ก็ให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญนำเรือรามัญยกเข้าไป  นำไฟจุดเผาบ้านเรือนเล็กน้อยตามเกาะเสียให้หมด  อย่าให้เป็นที่กำบังซุ่มซ่อนของกองทัพญวนได้  แล้วให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญยกทัพเรือเข้าไปปิดทางคลองลัดตรงเกาะใหญ่ไว้  อย่าให้ญวนยกลัดมาออกแม่น้ำใหญ่ได้

           สั่งให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์  คุมเรือกองรามัญ ๓๐๐ ยกไปเข้าสมทบในกองพระยาพิทักษ์ทวยหาญด้วย  จะได้ช่วยกันทำการแบ่งหน้าที่ตัดต้นไม้บ้าง  ปิดคลองเล็กน้อยบ้าง

(https://i.ibb.co/R3knnKL/03-12.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้นพระยาพิทักษ์ทวยหาญและพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์  สองกองคุมพลรามัญ ๗๐๐ ยกลงไปตามลำน้ำใหญ่  ถึงเกาะไหนได้ทำตามคำสั่งทุกเกาะ ๆ  มิได้เห็นญวนมาตั้งค่ายรับอยู่ตามเกาะต่าง ๆ  พอถึงเกาะใหญ่มีคลองเล็ก ๆ ผ่านมากลางเกาะ ๆ นั้นเนื่องอยู่ใกล้ฝั่งตะวันตก  คลองนั้นคดโค้งไปมา  วกเวียนหลายเลี้ยวจึงจะออกแม่น้ำใหญ่  ทัพเรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญตัดต้นไม้บนเกาะแล้วก็ยกเลยไป  ขณะนั้นญวนนำเรือเล็ก ๆ ต่างเรือชะล่าหลายสิบลำ  เป็นเรือมาดยาวมาก  จุคนได้ ๕๐ บ้าง ๗๐ บ้าง  มีเครื่องศาสตราวุธพร้อมมาซุ่มอยู่ในคลองเล็กที่ฝั่งเกาะนาก  แต่พอทัพเรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญเดินไปพ้นเกาะนั้นแล้ว  พวกญวนเรือเล็กก็ออกมายิงบ้าง  ไล่พุ่งหลาวแหลนบ้าง  ตามตีท้ายพลกองทัพเรือที่ประมาทไม่ได้บรรจุปืนไว้พร้อม  จึงถูกกระสุนปืนญวนตกลงน้ำตายบ้าง  ตายอยู่บนเรือบ้างมากกว่า ๓๐ คน  พระยาพิทัพทวยหาญตกใจ  สำคัญว่าทัพเรือญวนยกมาด้วยเรือใหญ่  สั่งให้สมิงพิทักษ์โยธาลงเรือเล็กไปบอกกองสมิงปราบอังวะ  พระชนะพุกามกองรามัญฝ่ายพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นกองหน้า  ให้หยุดเรือเข้าจอดที่ฝั่งตั้งต่อสู้กับญวน  เพราะขณะนั้นเป็นเวลาจวนจะพลบค่ำ  เห็นเรือญวนไม่ถนัดว่าเรือใหญ่หรือเล็ก  ญวนเห็นเรือพวกกองรามัญแจวรีบเข้าฝั่งทุกลำ  ญวนสำคัญว่าพวกรามัญหนี  ญวนได้ทีก็แจวพายไล่ติดตามเข้าไปใกล้ฝั่งด้วย

(https://i.ibb.co/Hn68sTK/Cau-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นกองรามัญเห็นเรือญวนถนัดว่าเป็นเรืองเล็กดังเรือชะล่าดังนั้นแล้ว  รามัญก็กลับหน้าเรือรบใหญ่มาต่อสู้โดยเต็มกำลัง  บ้างนำปืนหน้าเรือยิงออกไป  กระสุนไปถูกญวนล้มตายมาก  เรือญวนก็หนีเข้าในคลองเล็กในเกาะเสียสิ้น  ขณะนั้นพอกองทัพเรือพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์  ยกสวนขึ้นมาทันที่เกาะนาก  ก็ช่วยกันปิดปากคลองเสียทั้งสองด้าน  เรือญวนเล็ก ๆ นั้นติดอยู่ในลำคลองในเกาะนากทั้งสิ้น  จะออกไปมิได้ทั้งสองทาง  พวกรามัญยกขึ้นบนเกาะเป็นที่แจ้งเตียนแล้ว  เพราะได้ตัดต้นไม้เสียหมด  เห็นตัวอ้ายญวนซุ่มแอบอยู่ที่ใดเห็นถนัดทุกแห่งทุกหน  กองรามัญก็ไล่ยิงแทงฟันพวกญวนตายครั้งนั้น ๑๐๐ เศษ  ที่จับเป็นได้ก็มากส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  ทั้งเรือเล็ก ๆ  ๔๖ ลำ  คนด้วย ๑๕๖ คน  เพราะฉะนั้นจึงได้เรือเพิ่มเติมใช้สอยราชการทางน้ำคล่องแคล่วมาก

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามญวนได้เนื้อความแล้ว  สั่งให้หลวงคะเชนทรามาตย์นำญวน ๕๖ คนที่กองรามัญจับส่งมานั้นไปฆ่า ๕๖ คน  เหลือไว้ ๑๐๐ คน  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั้งให้นำตัวพระปลัด  กับหลวงยกกระบัตรเมืองสระบุรี สองนาย  กับหัวหมื่นในกรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑ นาย  ซึ่งเป็นเชื้อสายญาติของเจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วยคนหนึ่ง  รวมเป็น ๓ คน  แล้วถามว่า

(https://i.ibb.co/20Jd04x/Untitlcfed-10.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เมื่อกำลังรบกับญวนที่ค่ายปากคลองวามะนาวนั้น  หัวหมื่นตำรวจนั้นลงเรือช่วงไปแอบเอาหางเสืออยู่ท้ายเรือรบใหญ่  เจ้าพระยาบดินทรเดชาท่านเห็นดังนั้นแล้วจริงหรือไม่จริง?”  หัวหมื่นตำรวจผู้นั้นรับว่า  “จริง”  จึงมีบัญชาสั่งให้พาตัวไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้

           แล้วถามว่า  “พระปลัดหลวงยกกบัตรเมืองสระบุรีนั้น ให้เป็นนายทัพนายกองขึ้นไปตั้งค่ายประชิดล้อมญวน  ญวนยิงปืนออกมามากก็ทิ้งค่ายให้แต่บ่าวไพร่อยู่รักษาค่าย  ตัวนายทั้งสองนั้นหนีออกนอกค่ายไปแอบเสาหลังค่ายทำไม?  ไม่ใช่การของนายทัพจะออกจากค่ายได้เลย  จริงหรือไม่จริง?  ให้ว่ามา”

           พระปลัดยกกบัตรรับสารภาพว่า  “ผิดจริง  เพราะไปแอบบังกระสุนปืนญวน  แต่ขอรับพระราชทานโทษเสียสักครั้งหนึ่ง  จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณแก้ตัวต่อไปภายหน้า”

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตอบว่า   “เจ้าทั้งสองจะอยู่ทำราชการแก้ตัว  หรือจะอยู่ทำราชการให้เป็นตัวอย่างความขลาดต่อไปกับนายทัพนายกองหาควรไม่  อย่าอยู่เลย  หนักแผ่นดิน”

(https://i.ibb.co/qjkKkj6/Untiftled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           พูดเท่านั้นแล้วก็สั่งให้พระรามพิไชยพาตัวพระปลัดกับหลวงยกกบัตรไปฆ่าเสียเดี๋ยวนั้น  แล้วเรียกรัดปะคตหนามขนุนอย่างดีสองสาย  มีแหวนนพเก้าวงใหญ่สวมสอดรัดประคตสายละวง  มอบส่งให้สมิงพิทักษ์ราชา  กับ  หลวงนราฤทธิวารี  ซึ่งคุมพวกญวนกับเรือเล็กของญวนมาส่งนั้น  ให้กลับนำรัดประคตนี้ไปให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญ ๑ สาย  ให้พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ ๑ สาย  แล้วสั่งให้พระยารามัญทั้งสองยกไปตั้งปิดช่องทางที่ญวนจะลัดมาได้  ให้ปิดให้หยุด  ถ้าไม่หยุดให้รีบบอกมาจะได้จัดให้กองอาสาจามวังหน้ายกไปช่วยอีก

           ครั้งนั้นกรมแขกอาสาจามในพระราชวังบวรฯ สมทบมาเข้าในกองทัพเจ้าพระยาพระคลังทั้งสิ้น  เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้หลวงฤทธิรณแรง  หลวงกำแหงรณยุทธ  ในกรมอาสาจามที่ทรงตั้งขึ้นใหม่ในแผ่นดินนั้น  ให้เป็นแม่ทัพเรือคุมพลอาสาจามกองละ ๑๕๐ คน  ยกไปปิดคลองจอแค  ที่ปลายคลองจอแค  มาออกใต้ปากคลองสะแดก  เป็นทางลัดอีกแห่งหนึ่ง  แต่ที่นั้นเป็นคลองเล็กที่สุด.......”

(https://i.ibb.co/1nphc3w/Untitdfsdled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           * ฉายา  “เจ้าคุณเสือ”  ของท่านเจ้าพระยาบดินเดชาได้มาอย่างนี้เอง  ในการรบลาวเวียงจันทน์ท่านยังฆ่าคนไม่มากจนน่ากลัวนัก  ครั้นมารบญวนนี่  ท่านเริ่มสั่งฆ่าเชลยญวนเมืองโจดกเป็นประเดิมไปร้อยกว่าคน  เมื่อเดินทัพมาถึงคลองวามะนาวก็สั่งฆ่าญวนแล้วยังไม่พอ  ท่านสั่งฆ่าทหารไทยที่ทำผิดวินัยทัพระดับนายกองไปสองคน  และที่สำคัญคือ  สั่งฆ่าหัวหมื่นที่เป็นญาติของท่านเองไปอีก ๑ คน  แสดงความเด็ดขาดเข้มแข็งให้ปรากฏเป็นที่คร้ามเกรงไปทั่ว  ตอนนี้กองทัพเรือไทยในการบังคับบัญชาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา  กำลังดำเนินการปิด  อุด  เส้นทางเดินเรือรบของญวนในคลองวามะนาว  ทหารเรือไทยได้บทเรียนจากการถูกเรือเล็กญวนตีท้ายขบวนที่เกาะนาก  จึงเดินทางด้วยความระมัดระวังรัดกุมมากยิ่งขึ้น  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, พฤษภาคม, 2563, 10:09:12 PM
(https://i.ibb.co/DMBsDGZ/Untitsddfled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๔ -

จับเชลยญวนได้ไต่สวนสิ้น
จึงได้ยินข่าวญวนอย่างถ้วนถี่
ยกทัพใหญ่เพิ่มมาเข้าราวี
คิดวิธีรับรุกทุกกระบวน

ฝ่ายญวนปล่อยแพไฟหมายเผาทัพ
ผิดตำรับการรบไม่ครบถ้วน
ไทยแคล้วคลาดโปร่งปลอดรอดมือญวน
วางแผนสวนเผด็จศึกไว้ลึกซึ้ง


           อภิปราย ขยายความ .......................

           ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด  เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่  ญวนจัดกองกำลังเป็นเรือเล็กซุ่มซ่อนคอยโจมตีกองทัพเรือไทยไว้ในคลองเล็กบริเวณเกาะนาก  แล้วโจมตีท้ายกระบวนทัพไทยตายไป ๓๐ กว่าคน  เมื่อไทยตั้งหลักได้ก็ปิดล้อมคลองเข่นฆ่าและจับเป็นญวนได้ทั้งหมด  นำเรือเล็กและเชลยมอบให้แม่ทัพใหญ่  ท่านแม่ทัพสั่งฆ่าญวนเลยเสียส่วนหนึ่งแล้ว  สั่งให้ปิด  อุด  เส้นทางเดินเรือรบของญวนในคลองวามะนาว  ทหารเรือไทยได้บทเรียนจากการถูกเรือเล็กญวนตีท้ายขบวนที่เกาะนาก  จึงเดินทางด้วยความระมัดระวังรัดกุมมากยิ่งขึ้น  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/kcjZGpb/Untitle6d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา  จัดกองทัพเรือให้ไปจุกช่องปิดทางแล้ว  ก็จัดกองทัพที่จะลงไปตีค่ายญวนที่ตั้งปากคลองวามะนาวที่แยกไปเมืองสะแดกนั้น  ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นแม่ทัพหน้ายกลงไปก่อน  แล้วให้พระยาเดโชท้ายน้ำยกลงไปเป็นลำดับ  และพระยานายทัพนายกองทั้งหลายแต่ล้วนทัพเรือทั้งสิ้น  ก็ยกลงไปเป็นพวก ๆ  เป็นกอง ๆ  พระยาเดโชท้ายน้ำยกลงไปถึงที่ตำบลวัวท่าข้าม  ใกล้กันกับค่ายญวนที่ปากคลองวามะนาวและสะแดก  พบเรือญวนเล็กแจว ๘ คน  มีนายนั่งมา ๒ คน  พบกันที่หัวแหลม  แต่พอเรือรบไทยเลี้ยวแหลมก็พอถึงเรือแปดแจวญวน  ญวนจะหนีก็ไม่ทัน  จะสู้ก็ไม่ได้  ด้วยเป็นเรือเล็ก  คนก็น้อย  ญวนจึงแวะเข้าตลิ่งจะทิ้งเรือเสียจะหนีขึ้นบก  แต่เมื่อจะแวะเข้าตลิ่งนั้น  อ้ายพวกข้างศีรษะเรือ ๔ คนโดดขึ้นไปก่อนเต็มแรงก็ถีบเรือออกมาถึงสายน้ำ  สายน้ำก็ไหลพัดพาเรือและคนในเรือบ่าวสี่นายสองมาด้วย   อ้ายญวน ๖ คนก็ช่วยกันแจวจะเข้าฝั่งอีก  พอเรือพระยาเดโชท้ายน้ำมาทัน  ก็แจวเข้าจับอ้ายญวนไพร่สี่นายสองคน  จำตรวนส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาให้ล่ามพนักงานไต่ถามและตัดไม้เฆี่ยน  ถามได้ความว่า

(https://i.ibb.co/ZBGKVRY/Uswdntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เจ้าเวียดนามใช้ให้องเตียนกุนขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงเว้เป็นแม่ทัพใหญ่  คุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐  ยกมาตีเมืองไซ่ง่อนเป็นกบฏนั้น  ยังกำลังล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่  ครั้นรู้ว่ากองทัพไทยยกมาแล้ว  องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่จึงให้องทำตาน ๑   องจันเบีย ๑   เป็นแม่ทัพ  แบ่งไพร่พลในกองทัพใหญ่ออกมา ๓,๐๐๐ คน ให้ยกมาปะทะทัพไทยไว้ก่อน  แล้วองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่มีหนังสือไปเกณฑ์ไพร่พลตามหัวเมืองใหญ่น้อยอีก  จะเกณฑ์ไพร่พลให้ได้ถึง ๑๐,๐๐๐ เศษแล้วเมื่อใด  จึงจะให้องกวางดกกับองพอโดยเป็นแม่ทัพใหญ่  ยกลงมาเพิ่มเติมรับกองทัพไทยอีก  เดี๋ยวนี้กองทัพใหญ่ ๑๐,๐๐๐ เศษได้ยกมาแล้วตามทาง  ยังเดินทัพมาไม่ถึง  และบัดนี้  องเตียนกุนแบ่งกองทัพเรือ ๔๐๐ ลำ  ให้องลำบินเป็นแม่ทัพเรือยกมาตั้งอยู่ช้านานแล้ว  แต่จะมีไพร่พลมากน้อยเท่าไรหาทราบไม่  แล้วญวนบอกว่าทัพช้างกรุงเว้ก็จะยกเพิ่มเติมมาอีก  มีผู้คนราว ๔๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐  ม้าสัก ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐  จะมาในเดือนสี่หรือเตือนห้าเต็ม  ช้าก็เดือนห้า ข้างแรมคงถึงเป็นแน่  แต่ทัพเหล่านั้นจะมาตีทัพไทยหรือจะไปตีญวนกบฏไซ่ง่อนก็ยังไม่ทราบแน่ได้”

           เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบกิจการข่าวศึกดังนั้น  จึงปรึกษาเจ้าพระยาพระคลังว่า

            “อ้ายญวนให้การนี้จริงบ้างเท็จบ้างระคนปนกัน  เพราะมันยกพวกมันขู่พวกเราบ้าง  ถึงเช่นนั้นก็ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จะมีมากน้อยหนักและเบาอย่างไร ข้างหน้าก็ยังไม่รู้แน่ลงได้  จำจะต้องตระเตรียมการไว้ให้พร้อมทั้งทางบกและทางเรือ  จึงจะชอบด้วยราชการ”

(https://i.ibb.co/VLXFGj7/Untaditled-1.png) (https://imgbb.com/)

           คิดแล้วสั่งให้หลวงเทเพนทรขึ้นจากเรือที่ปากคลองวามะนาวนอก  แล้วให้ขึ้นม้ารีบไปเร่งกองช้างพระยากำแพงและพระยาเพทราชาที่คุมกองช้างมานั้น  ให้รีบเร่งยกมาให้ทันราชการช่วยทัพเรือด้วย
           แล้วสั่งให้หลวงจินดารักษ์กับหลวงพลกรมการเมืองสระบุรีลงเรือไปกับหลวงเทเพนทร์  แล้วให้ขึ้นจากเรือไปด้วยม้า  ให้แยกย้ายกันไปตามกองช้างพระยาประสิทธิ์คชกรรม์ จางวางกรมช้างเมืองนครราชสีมา  ให้เร่งไปตามเจ้าพระยานครราชสีมาโดยเร็ว  ด้วยช้างเป็นกำลังแก่ทัพบกมาก
           แล้วส่งให้หลวงศรีเสนาลงเรือเร็วไปเมืองพนมเปญ  ขอกองทัพช้างที่นักองอิ่ม นักองด้วง อยู่นั้น  ให้เขมรคุมช้างมาตามจะได้มากน้อยเท่าใดไม่กำหนด  ให้หลวงศรีเสนาคุมกองช้างเขมรมาด้วยพร้อมกัน  ให้ถึงเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกในเดือนสามข้างแรมนี้ให้จงได้   แต่ให้พระยาเพชรปาณีไปด้วย  จะได้ช่วยกองช้างเขมรมาพร้อมกัน  ด้วยไม่ไว้ใจแก่เขมรกลัวจะแปรไปปรวนมา

           แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังก็ไล่ทัพเรือใหญ่น้อยให้ยกลงไปตั้งใกล้ประชิดค่ายญวนที่ปากคลองสะแดก  ตั้งลอยอู่ดูกำลังข้าศึกยังไม่ได้รบกัน

(https://i.ibb.co/S3ZGsvY/Untistled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันเดือนสามขึ้นสิบห้าค่ำ  กลางเดือน  เวลากลางคืนเดือนหงายสว่างดึกประมาณแปดทุ่มเศษ  ญวนก็ปล่อยแพไม้ไผ่มีเชื้อไฟติดอยู่บนหลังแพ  ไฟไหม้แพไม้ไผ่  ปล่อยแพไฟลอยลงมาเป็นอันมากจะนับประมาณมิได้  ญวนปล่อยแพไฟให้ลอยลงมา  ปรารถนาจะให้แพไฟมาติดเรือรบไทย  ไฟก็จะได้ไหม้เรือรบไทยที่ทอดสมออยู่นั้น  ถึงจะถอนสมอก็คงไม่ทัน  แต่ว่าแพไฟที่ญวนปล่อยลงมาไม่ได้ถูกเรือรบไทย  เรือรบไทยไม่ได้ไหม้เป็นอันตรายเลยแต่สักลำหนึ่ง  แสงไฟแดงสว่างไปทั้งแม่น้ำจนรุ่งเช้า  อ้ายญวนปล่อยแพไฟมาไม่ไหม้เรือรบไทยเลยนั้น  เพราะว่าอ้ายญวนทำการแพไฟไม่ถูกต้องธรรมเนียมศึก  จะไหม้ที่ไหนได้เล่า  ญวนผูกแพไฟให้ติดกันทุกแพ  แล้วปล่อยให้ลอยลงเหมือนอย่างเช่นลอยกระทงเล่น  แพไฟก็ลอยลงมาเป็นทิวไปตามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวไปตามเกลียวสายน้ำ  ไม่ได้ถูกเรือรบไทยเลยสักลำเดียว  เพราะเรือรบไทยรู้จักการพิชัยสงครามว่า    “ถ้าจอดเรือรบหรือทอดสมอเรือรบนั้น  ห้ามไม่ให้จอดและทอดสมอที่กระแสน้ำเชี่ยวเลยเป็นอันขาด  เพราะกลัวจะถูกแพไฟของข้าศึกที่จะปล่อยตามน้ำมาไหม้เสีย”

           ฝ่ายญวนปล่อยแพไฟมาครั้งนี้  ไม่เหมือนครั้งกองทัพพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า  ยกทัพขึ้นไปจอดทัพเรืออยู่แม่น้ำใหญ่คุ้งวัดจุฬามณีเหนือปากน้ำพิง  ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาพระมหาอุปราชอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก  ปล่อยแพไปลงมาเป็นตอน ๆ เป็นแพระยะกันตามน้ำไหลบ้าง  ตามริมตลิ่งบ้าง  เต็มทั้งแม่น้ำ  แพไฟครั้งนั้นไหม้เรือรบสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า  เสียหายยับเยินแทบจะทั้งหมด  อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าทำถูก  อย่างญวนนี้ เรียกว่าทำไม่ถูก  จึงไม่ได้ไหม้เรือรบไทยเลย

(https://i.ibb.co/7VQZNmk/Untitsled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันเดือนสาม แรมสี่ค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาปรึกษากับเจ้าพระยาพระคลังว่า

            “เดี๋ยวนี้ญวนยกทัพใหญ่มาตั้งค่ายบกอยู่ที่ค่ายเก่า ณ สามแยกปากคลองสะแดกเป็นค่ายมั่นแห่งหนึ่ง  แล้วญวนนำทัพเรือรบใหญ่ ๆ มาทอดทุ่นขวางแม่น้ำวามะนาวไว้เต็มทั้งสองฟากแม่น้ำ  เนื้อความข้อนี้เจ้าพระยาพลเทพแม่ทัพหน้ามีใบบอกข่าวศึกมาว่า  ได้ใช้ให้พระพิพิธสาลีกับหลวงโภชนารักษ์ลงเรือเล็กไปสืบราชการศึกญวน  ได้ข้อความมาว่าดังนั้น  เจ้าคุณพระคลังจะว่าประการใด”

           เจ้าพระยาพระคลังตอบว่า     “ซึ่งเจ้าพระยาพลเทพบอกมาก็เป็นแต่ใจความตามที่ผู้ไปสืบมานั้น  หาเป็นการละเอียดถ้วนถี่ไม่  ควรจะให้หาพระพิพิธสาลี  หรือหลวงโภชนารักษ์  มาไต่ถามกิจการที่ญวนมาตั้งค่ายบกและค่ายเรือ  เป็นอุบายแยบคายอย่างไรบ้าง  เราจะได้จัดการลงไปตีให้ถูกต้องกับที่ญวนตั้งค่ายรับเรานั้น  ให้ทันท่วงทีที่จะได้ชัยชนะโดยง่าย”

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้ขุนท่องนทีวังหน้า  นำเรือเร็วรีบลงไปรับพระพิพิธสาลีกับหลวงโภชนารักษ์มาโดยเร็ว  ครั้งนั้นพระพิพิธสาลีป่วยเป็นไข้พิษมาไม่ได้  ได้แต่หลวงโภชนารักษ์มาให้การว่า

(https://i.ibb.co/PNnV2sp/Untitlsded-9.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ได้ลงไปตรวจดูค่ายญวนบนบกเห็นเป็นค่ายเก่าไม้จริง  ทำมั่นคงแข็งแรง  มีทั้งป้อมหอรบครบบริบูรณ์  แต่ว่าแลดูแต่ไกล  ไม่ได้เข้าใกล้  จึงไม่ได้เห็นอาการค่ายถ้วนถี่หมดจด  แต่เรือค่ายที่ทอดสมอขวางอยู่กลางแม่น้ำได้เห็นถนัด  ญวนนำเรือป้อมใหญ่มาทอดสมอห่างกันประมาณ ๔๕ วา  เต็มทั้งลำแม่น้ำ  ในระหว่างเรือป้อมมีเรือรบเล็กประมาณ ๒๐ ลำ  แจวมาทอดสมออยู่ระหว่างกลางเรือเป็นระยะกันไป  เรือป้อมและเรือรบทั้งสิ้นนั้น  เห็นปืนใหญ่และทหารประจำอยู่มาก ๆ ทุกลำ  ฝ่ายในชั้นหลังเรือป้อมนั้นมีเรือรบต่าง ๆ ทอดสมอเป็นฟันปลาอยู่แถวอีก ๔ แถว  ประมาณเรือรบญวนทั้งใหญ่ทั้งเล็กราวสัก ๒๐๐ลำเศษที่ทอดสมออยู่นั้น  และเรือรบที่จอดอยู่ตามฝั่งหน้าค่ายและจอดเรียงรายนั้นประมาณสัก ๑๐๐ ลำเศษ”

(https://i.ibb.co/s5r21rF/giai-bai.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วหลวงโภชนารักษ์แจ้งความต่อไปอีกว่า     “ในวันที่ไปสืบราชการทัพญวนนั้น  ได้ใช้ให้หมื่นศรีสมบัติกับหมื่นอินทรานุรักษ์  และนายช่วง  นายทัด  นายมา  นายขุนเณร  รวม ๖ คนนั้น  นำกล้องแก้วอย่างใหญ่ชักได้สามชั้น  ที่เจ้าพระยาพลเทพให้ไปนั้น  คนทั้งหกได้เดินบกขึ้นที่ป่าระนามใกล้ค่ายญวนแล้ว  จึงได้ขึ้นต้นไม้ใหญ่สูง  นำกล้องแก้วใหญ่ส่องไปดูเห็นว่า  ญวนกำลังปักเสาตั้งค่ายปีกกาต่อเนื่องค่ายเก่าออกมาข้างหน้าค่ายหลายค่าย  ที่หลังค่ายใหญ่นั้นมีคลองเล็กมาแต่แผ่นดินฝั่งข้างเหนือ  เห็นญวนทำสะพานเรือกข้ามคลองเล็กนั้นด้วย  และเห็นญวนกำลังขุดมูลดินอยู่  และถมขึ้นเป็นกองสูงจะพูนขึ้น  เป็นป้อม หรือเชิงเทินอย่างไรหาทราบไม่  ดูพอเวลาเย็นก็กลับลงมาเรือ  ได้ความดังนี้แล้ว  บัดนี้ก็พาตัวคนทั้งหกมาด้วย.....”

(https://i.ibb.co/9hHm3XY/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           * ข่าวญวนยกทัพใหญ่มา  ทำให้เจ้าพระยาทั้งสองแม่ทัพบกเรือต้องปรึกษาวางแผนกันอย่างหนัก  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเปลี่ยนแผนการยกทัพบกบุกไซ่ง่อน  หันมาระดมสรรพกำลังช่วยทัพเรือตีญวนที่ค่ายใหญ่ปากทางไปไซ่ง่อน  คือคลองวามะนาว  กำลังวางแผนหาทางเผด็จศึกอยู่  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, พฤษภาคม, 2563, 10:17:32 PM
(https://i.ibb.co/yPLHHjp/Untitlesed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๕ -

แม่ทัพให้ทหารบกยกขึ้นฝั่ง
เร่งเข้าพังค่ายญวนอย่าอ้ำอึ้ง
แต่ถูกญวนสวนใส่ล้มหงายตึง
เข้าไม่ถึงสั่งทัพถอยกลับมา

ฝ่ายทัพเรือถูกล้อมในอ้อมน้ำ
ใกล้เพลี่ยงพล้ำญวนขยี้ตีกองหน้า
เสาเรือหักพลไทยวายชีวา
แต่ยังกล้าสู้ตายกลางสายชล.....


           อภิปราย ขยายความ ..........................

           เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงตอนที่  ญวนใช้เรือรบเล็กมาซุ่มอยู่ในคลองเล็ก  แล้วโจมตีท้ายกระบวนกองทัพหน้าไทย  จึงถูกไทยปิดล้อมฆ่าตาย  และที่รอดตายก็จับตัวได้ทั้งหมด  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้สอบสวนแล้วได้ความว่า  ญวนยกทัพใหญ่มา  ทำให้เจ้าพระยาทั้งสองต้องปรึกษาวางแผนกันอย่างหนัก  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเปลี่ยนแผนการยกทัพบกบุกไซ่ง่อน  หันมาระดมสรรพกำลังช่วยทัพเรือตีญวนที่ค่ายใหญ่ปากทางไปไซ่ง่อน  คือคลองวามะนาว  กำลังวางแผนหาทางเผด็จศึกอยู่  วันนี้มาอ่านกันต่อรับ......

(https://i.ibb.co/R049f5t/Unticxtled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ฝายเจ้าพระยาทั้งสองถามปากคำคนทั้งหกให้การต้องกับหลวงโภชนารักษ์ทุกประการ  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงมีบัญชาว่า

            “ญวนเข้าอาศัยค่ายเก่าแล้วยังไม่ไว้ใจแก่ไทย  จึงได้ทำค่ายปีกกาเพิ่มเติมขึ้นหน้าค่ายเก่าอีกนั้น  ก็เพราะค่ายเก่าไม่แน่นหนาแข็งแรง  เราเห็นว่าควรเราจะยกทัพใหญ่เป็นทัพบกบ้าง  เร่งไปตีค่ายบกเก่าใหม่ของญวนเสียโดยเร็ว  อย่าให้ญวนทันตั้งมั่นรับเราถนัดได้  และจะต้องแต่งทัพเรือลงไปตีค่ายเรือป้อมญวนเสียด้วย  ยกไปทั้งทัพบกและทัพเรือให้พร้อมกันทีเดียว  ญวนจะได้พะว้าพะวังทั้งบกและเรือ  ญวนจึงจะไม่มาช่วยกันได้  กำลังญวนก็จะอ่อนลงมาก  เราคิดตีญวนให้พร้อมกันทั้งบกทัพเรือนั้น  ก็เพื่อจะย้ายกำลังญวนไม่ให้ประชุมพร้อมกันได้”   แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดว่า  “คราวนี้ทัพเรือเป็นหน้าที่ของเจ้าคุณพระคลังแน่แล้ว  ทัพบกเป็นหน้าที่ของผมเองเป็นแน่  ต่างคนต่างมีหน้าที่เต็มการจะช่วยกันไม่ได้แล้ว  ให้เจ้าคุณเร่งถกขะเหมนโจงกระเบนให้แข็งแรงเถิด”

(https://i.ibb.co/NKpxDWd/Unfdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นปรึกษากันแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้นายทัพบกที่มากับเรือเล็ก  ให้ขึ้นบกจัดการตระเตรียมเป็นทัพบกพร้อมเสร็จ  ขณะนั้นพอกองทัพช้างเขมรที่พระยาเพชรปาณีคุมมาถึง  จึงให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลคุมทัพช้างยกไปช่วยด้วยกอง ๑
           แล้วให้พระยาเกียรติ พระยาราม คุมกองทัพรามัญ ๑,๖๐๐ คนเป็นกองหน้า
           ให้พระยาสุนทรสงครามผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีกำกับทัพรามัญ
           ให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองบกทั้งหลายเตรียมการไว้พร้อมเสร็จแล้ว

(https://i.ibb.co/rQ61LK3/Untitlecsd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายทัพเรือนั้น  เจ้าพระยาพระคลังจัดให้พระยาพลเทพเป็นแม่ทัพหน้า
           ให้พระยาราชวังสันเป็นทัพนำหน้าพระยาพลเทพ
           ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์  พระยาเพชรบุรี  พระยาราชบุรี  พระยาระยอง  พระยาตราด  พระยานครไชยศรี  พระยาสมุทรสงคราม  ทั้งนี้เป็นปีกซ้ายปีกขวาของทัพหน้า
           ให้พระยาเดโชท้ายน้ำเป็นนายกองหนุนทัพหน้า  มีลูกกองอีก  คือ  พระยาเทพวรชุน  พระยาพิพิธโกษา  พระยานเรนทร์ฤทธิ์โกษาแขกจามฝ่ายพราชวังบวรฯ  พระอนุรักษ์โยธา  พระโยธาสงคราม  พระวิสูตรวารี  พระภิรมย์ภักดี  พระกัลยาภักดี  หลวงท่องสาคร  หลวงสุนทรวารี  หลวงทิพยธารา  พระสุนทรพิทักษ์  พระสุนทรภักดี  หลวงลักษมานา  หลวงมหาพิชัย  หลวงรุทฤทธิรงค์  ขุนท่องสื่อญวน

            (ที่บอกชื่อมานี้แต่ล้วนมีหน้าที่ประจำการในเรือรบทุกคน  ยังพระยา  พระ  หลวง  ขุน  หมื่น  นายทัพนายกองผู้ช่วยและสมทบในกองทัพเรือและทัพบก  ยังมีอีกมากกว่าที่ออกชื่อมานี้  เหลือที่จะออกชื่อให้ทั่วได้  จะเป็นการยืดยาวไป  เพราะยังไม่ต้องการ  ชื่อท่านแหล่านั้น ๆ มีแจ้งอยู่ในตารางเกณฑ์แล้ว)

           ครั้นเกณฑ์ทัพบกทัพเรือจัดการไว้พร้อมแล้วทั้งสองทัพ  ถึง ณ วันเดือนสาม  แรมห้าค่ำ  เวลาสามยาม  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็คุมกองทัพบกยกโจมตีเข้าปล้นค่ายญวนทางบกเป็นอลหม่าน  ขณะนั้นกองทัพบกแบกแตะไม้ไผ่ไปเป็นผืน ๆ  พอถึงชานค่ายญวน  กองทัพไทยวางแตะทับทาบขวากหนามที่แผ่นดินเป็นช่องทางเดินเข้าไปจนถึงเชิงค่ายญวนทั้งสี่ด้าน  บ้างก็ยิงปืนโต้ตอบกับญวนบ้าง  บ้างก็ถอนขวากฟันเสาค่ายญวน  บางก็นำบันไดหกไปพาดค่ายญวน

(https://i.ibb.co/wJT6Gym/fd4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นเป็นเวลาขมุกขมัวมืดหมอกลงเต็มทั้งอากาศ  ญวนไม่เห็นกองทัพไทยถนัด  ญวนจึงจุดพลุตับขึ้นรอบค่ายญวน  แสงพลุสว่างดังกลางวัน  ญวนเห็นตัวพลทหารไทยถนัด  ญวนก็วางปืนใหญ่แล้ววางปืนคาบศิลาตับระดมออกมาจากค่ายดังห่าฝน  กระสุนปืนต้องรี้พลทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก  ที่เหลือตายทนกระสุนไม่ได้ต้องล่าถอยออกมาจากที่ล้อมค่ายญวน  นายทัพนายกองจะกดไว้ให้เข้าปล้นค่ายในขณะนั้น  มีแต่แตกออกมาสิ้น  ที่พวกรามัญและแขกจามถึงค่ายก่อน  ฟันค่ายบ้าง  ปีนค่ายบ้าง  ญวนก็นำไฟพะเนียงจุดสาดพวกกองรามัญแขกจาม  แขกจามทนไม่ได้  ไฟไหม้เสื้อหนังลงไปถึงเนื้อ  ก็ต้องล่าถอยลงจากค่ายญวน  ญวนก็นำปืนยิงตายมาก  กลับมาน้อยตัว  ครั้งนั้นไทยจะหักปล้นค่ายญวนมิได้ด้วยรี้พลล้มตายลงมากมายนัก

(https://i.ibb.co/K6kwp4j/Untitfdled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยาจ่าแสนบดีนายกองทัพช้าง  คุมทหารช้างยกเข้าปล้นลองดูอีกสักครั้งหนึ่ง  พระยาจ่าแสนบดีต้อนพลเขมรขับช้างเข้าไปทลายค่ายญวน  ญวนก็ยิงปืนใหญ่จากค่าย  ถูกช้างล้มตายลง ๑๓ เชือก  เพราะสว่างแล้วเป็นเวลาย่ำรุ่ง  ญวนเห็นตัวช้างวางปืนใหญ่มาได้ถนัดแม่นยำ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นดังนั้นแล้วจึงสั่งให้พระยาราชเสนาขึ้นม้าไปสั่งให้ทัพหน้าล่าถอยเลิกมา  ทัพหน้าทั้งปวงก็ล่าทัพถอยมาสิ้น  ครั้งนั้นให้ทัพช้างเป็นทัพหลังระวังไพร่พลที่ล่าถอยมา  หาเป็นอันตรายไม่  ญวนก็ไม่ออกตามตีท้ายพลไทย

           ครั้งนั้น  เสียนายทัพนายกองหน้าตายในที่รบ ๑๐ คน  คือ  พระยานครอินทรรามัญ ๑   พระชนะภุกามรามัญ ๑   พระชนะไพรินทร ๑   หลวงสุระเสนี ๑   หลวงชนะสงคราม ๑   หลวงเดชาธิกรณ์ ๑   พระยาเดชาสงครามเขมร ๑   พระนรินทรคชลักษณ์เขมร ๑   หลวงพิทักษ์คชกรรม์เขมร ๑   หลวงอนันต์คชไกรเขมร ๑    รวมนายทัพที่ตายนั้นไทย ๔  รามัญ ๒  เขมร ๔  รวม ๑๐ คน  แต่ขุนหมื่นพันทนายเลขไพร่หลวงนั้นตายเท่าใด  แจ้งอยู่ในรายงานการรบนั้นแล้ว  ครั้นจะประมาณไปว่าเท่านั้นเท่านี้  ก็กลัวจะผิด ๆ ถูก ๆ  หาควรไม่

(https://i.ibb.co/CBjv9HG/Untitldged-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายทัพเรือนั้น  เจ้าพระยาพระคลังก็ต้อนให้ทัพเรือทั้งปวงยกเข้าตีทัพเรือญวนที่ตั้งขวางแม่น้ำนั้นพร้อมกับทัพบกวันเดียวกัน  แต่ครั้งนั้นญวนเห็นว่าไทยยกลงมามาก  ญวนก็แยกทัพเรือออก  แล้วแจวเลียบฝั่งแม่น้ำขึ้นมาเป็นทำนองดังปีกกา  เมื่อทัพเรือไทยยกลงไปใกล้ทัพเรือญวน  ญวนก็ยิงปืนไฟใหญ่น้อยมาจากเรือรบญวน  ญวนตั้งสู้รบเป็นสามารถเต็มทั้งแม่น้ำ  ตั้งทัพเรือเป็นหน้ากระดาน  แล้วตั้งโอบขึ้นมาตามฝั่งน้ำทั้งสองฟาก  ไม่มีช่องทางน้ำที่เรือรบไทยจะลงไป ยิงปืนโต้ตอบได้บ้าง  ครั้งนั้นเรือรบไทยกองหน้าก็รออยู่กลางน้ำ  เห็นเรือญวนขวางหน้าเต็มแม้น้ำไม่มีช่องเลย  จึงได้ทอดสมอรออยู่กลางน้ำ

           ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำแม่กองหนุนแจวลงไปเห็นเรือพระยาอภัยโนฤทธิ์ ๑   พระยาวิสูตรโกษา ๑   พระยาทิพยโกษา ๑   พระยาเพชรบุรี ๑   พระอนุรักษ์โยธา ๑   พระโยธาสงคราม ๑   หลวงลักษมานา ๑   หลวงมหาพิไชย ๑   แปดลำเหล่านี้แต่ล้วนเป็นนายทัพกำกับเรือรบมีชื่อ  ที่พระยา  พระ  หลวง อื่นอีกที่ไม่ได้ออกชื่อมานั้นเป็นอันมาก  ท่านทั้ง ๘ ลำนี้ทอดสมอเสียทั้งหมด  ไม่ยกลงไป  

(https://i.ibb.co/dj1zggR/tran-nhat-duat.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาเดโชทายน้ำจึงบังคับสั่งให้เร่งถอนสมอขึ้น  รีบยกลงไปในเดี๋ยวนี้  ขณะนั้นเรือรบแต่ที่เป็นนายกองหน้าที่ใหญ่ ๘ ลำ  และเรือลูกกองอีกมากก็ถอนสมอเรือรบเร่งยกลงไปใกล้เรือค่ายญวน  ญวนก็ยิงปืนโต้ตอบมา  แต่กระสุนปืนยังไม่ถึงเรือรบไทยเหล่านั้น   เรือรบไทยเหล่านั้นแจวลงไปเสมอไม่หยุด  แต่พอใกล้กระสุนปืนญวนตกมาถึงถูกเสาหักบ้าง  ถูกกราบเรือแตกบ้าง  ถูกคนตกลงน้ำตาย ๔ คน  ถึงเช่นนั้นพระยาอภัยโนฤทธิ์ก็ให้รีบแจวลงไปเสมอไม่ให้หยุด........”

(https://i.ibb.co/3Wp85Wp/Untitlsd6ed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           * กองทัพบกยกเข้าปล้นค่ายญวนไม่สำเร็จ  ฝ่ายไทยสูญเสียนายทัพนายกองไป ๑๐ คน  ไพร่พลอีกเป็นอันมาก  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งถอยมาตั้งหลักใหม่  ส่วนกองทัพเรือก็ยกลงไปเผชิญหน้ากับทัพญวน  กองหน้ากำลังอยู่ในอ้อมปีกกาของกองเรือญวน  พระยาเดโชท้ายน้ำเร่งให้กองหน้ายกบุกลงไป  พระยาอภัยโนฤทธิ์กำลังนำเรือรบฝ่าดงกระสุนปืนญวน  ที่ระดมยิงมาถูกเสาเรือหัก  กราบเรือแตก  ถูกไพร่พลตกน้ำตายไป ๔ คนแล้ว  ผลการรบของทัพเรือจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, พฤษภาคม, 2563, 10:16:51 PM
(https://i.ibb.co/x8q3zm1/1438627633-IMG6908-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๖ -

เจ้าพระยาพระคลังสั่งทหาร
ล้วนดื้อด้านเคี่ยวเข็ญไม่เป็นผล
ทอดสมอลอยลำเหมือนจำนน
แม่ทัพจนปัญญาบัญชาการ

ทหารเรือญวนยกขึ้นบกด้วย
แล้วเข้าช่วยตีไทยให้แตกฉาน
ทัพบกไทยถอยลู่มิอยู่ทาน
เลี้ยงทหารคอยรอรุกต่อไป


           อภิปราย ขยายความ ..........................

            เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงตอนที่...  เจ้าพระยาบดินทรเดชายกพลขึ้นบกเข้าปล้นค่ายญวนไม่สำเร็จ  ต้องสูญเสียนายทัพนายกองไป ๑๐  คนไพร่พลอีกเป็นอันมาก  จึงสั่งถอยทัพมาตั้งหลักใหม่  ส่วนกองทัพเรือก็ยกลงไปตีค่ายเรือญวน  กองหน้ากำลังอยู่ในอ้อมปีกกาของกองเรือญวน  พระยาเดโชท้ายน้ำเร่งให้ยกบุกลงไป  พระยาอภัยโนฤทธิ์นำเรือรบฝ่าดงกระสุนปืนญวน  ที่ระดมยิงมาถูกเสาเรือหัก  กราบเรือแตก  ถูกไพร่พลตกน้ำตายไปสี่คนแล้ว  ผลการรบของทัพเรือจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ........

(https://i.ibb.co/Zcv3PHB/Untitlesdd-8.jpg) (https://imgbb.com/)

            “.......ครั้นใกล้เรือรบญวนและเห็นกันถนัด  ญวนก็นำเรือรบเล็ก ๆ แจวขึ้นมาสัก ๒๐๐ ลำเศษ  ยิงปืนขึ้นมาด้วยดังห่าฝน  พระยา  พระ  หลวง  นายทัพเรือกองหน้านั้น  ครั้นเห็นเรือเล็ก ๆ ของญวนแจวขึ้นมามาก  แล้วเหลียวหลังดูเรือรบไทย  กองหนุนนั้นก็ไม่เห็นตามมาช่วยบ้าง  จึงสั่งให้หลวงมหาพิไชยนำเรือช่วงกลับคืนไปตามเร่งกองทัพเรือหนุนนั้น  ให้ยกลงมาช่วยกันโดยเร็ว  หลวงมหาพิไชยกลับมาแจ้งความว่า

            “เห็นกองทัพเรือรบพระยาเดโชท้ายน้ำนั้น  ถอนสมอขึ้นแล้วแจวเข้าไปแอบตลิ่งอยู่ทั้งกอง  ได้บอกว่าให้รีบยกลงมาช่วยกันก็ไม่มา  จอดนิ่งเสีย”

           ฝ่ายพระยาอภัยโนฤทธิ์ (บุญนาก)  ได้ทราบข่าวว่าทัพหนุนไม่ลงมาช่วยนั้น  แต่ทัพพวกเรานี้เห็นจะรับทัพเรือญวนไม่หยุดเป็นแน่แล้ว  พูดกันยังไม่ทันจะขาดคำลง  ญวนยกมาทางเรือแล้วแบ่งคนขึ้นบนบก  นำปืนหามแล่นขึ้นบกยิงมาตกลงในกลางเรือไทยหลายนัด  แล้วทัพเรือญวนก็โห่ร้องตีฆ้องกลอง  เร่งรีบแจวขึ้นมามากพร้อมกันกว่า ๑๐๐ ลำเศษ  พระยาอภัยโนฤทธิ์เห็นด้งนั้นแล้วจึงสั่งให้พระอนุรักษ์โยธาตีฆ้องสัญญาณล่าทัพเรือทั้งปวงถอยหลังกลับมาเสียทั้งสิ้น

           พระยาเดโชท้ายน้ำและพระยาจันทบุรีก็ถอยทัพเรือมาเสียบ้าง  ถอยขึ้นมาทอดสมอเสียที่แหลม  ปรารถนาจะให้แหลมใหญ่บังกระสุนปืนญวน  ญวนก็รีบเร่งแจวขึ้นมาเสมอ  แต่ยังอยู่ห่างไกลกันมาก  เพราะเรือญวนทวนน้ำ จึงช้า   เรือไทยตามน้ำมาโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/4skftTx/unnamedd.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นพระศิริสมบัติเป็นผู้ตรวจการรายงานทัพเรือ  เห็นทัพเรือถอยกลับมา  หาทราบเหตุการณ์ประการใดไม่  จึงรีบไปเรียนเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังจึงลงเรือแง่ทรายพลแจว ๒๐ คน  นั่งกลางเรือมือถือดาบถอดฝักพาดตักอยู่  สั่งให้พลแจวแจวเรือเที่ยวไล่เรือรบทั้งหลายให้เร่งถอนสมอยกลงไปต่อสู้กับญวนโดยเร็ว  ให้ทันท่วงทีแก่ข้าศึก  เมื่อเห็นคนในเรือนี้ถอนสมอขึ้นแล้ว  ก็สั่งให้ออกเรือแจวไปไล่เรือลำอื่นต่อไปอีก  ให้ถอนสมอรีบเร่งไปโดยเร็ว  ครั้นเจ้าพระยาพระคลังถอยเรือออกห่างจากเรือรบลำนี้แล้วก็ไปไล่ลำโน้นนั้น  ที่ลำนี้ก็ปล่อยสมอลงน้ำเสียดังเก่า  เรือรบทุกลำทำตามกันดังนั้นต่อ ๆ ไป  แต่เจ้าพระยาพระคลังเที่ยวไล่เรือลำนี้ลำโน้นหลายหนหลายเที่ยวกลับไปกลับมา  ก็ไม่เห็นเรือลำใดถอนสมอขึ้นได้สักลำหนึ่ง

           * (เดชะบุญ  เผอิญเรือรบญวนจอดรออยู่ที่ท้ายแหลมใต้  ไม่ได้ยกขึ้นมาใกล้ทัพเรือไทย  ครั้งนั้นนายทัพนายกองเรือรบไทยดื้อดึงนัก  เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นบกไป  ไม่ได้อยู่บังคับการเรือรบด้วย  ถ้าท่านอยู่  ที่ไหนคงจะตายลงบ้างไม่มากก็น้อย  พระยาพานทองหรือพระยาอะไรก็คงจะตายบ้าง  คงจะฟันเสียบ้างพอเป็นตัวอย่างให้กลัวอำนาจ  ราชการทัพศึกจึงจะไม่ท้อถอย  แต่เจ้าพระยาพระคลังท่านไม่ใช่คนดุร้าย  เป็นคนใจดีโอบอ้อมอารีมีเมตตาแก่เพื่อนราชการด้วยกันมา  แต่เพื่อนราชการหาได้มีใจรักท่านไม่  เพราะเช่นนั้นภัยเกือบจะมาถึงท่าน

          การที่เรือรบไทยถอนสมอไม่ขึ้นนั้น  เป็นเพราะขุนนางผู้ใหญ่ก่อการก่อน  จะขอออกชื่อไว้ให้ปรากฏ  ที่เป็นคนมียศใหญ่หัวหน้าก่อการขลาดนั้น  คือ  เจ้าพระยาพลเทพชื่อฉิมโจโฉ ๑   พระยาเดโชท้ายน้ำ ๑   พระยาราชวังสัน ๑   พระยาเพชรบุรี ๑   พระยาราชบุรี ๑   พระยาเทพวรชุน ๑   พระยาอภัยโนฤทธิ์ ชื่อบุญนาก ๑   พระยาจันทบุรี ๑   พระยาตราด ๑   พระยาระยอง ๑   พระยานครไชยศรี ๑   พระยาสมุทรสงคราม ๑   พระยาทิพโกษา ๑   พระยาวิสูตรโกษา ๑   พระยานเรนทรฤทธิ์โกษาแขกจาม ๑   พระยาไตรโกษา ๑    ออกชื่อแต่ ๑๖ คนนี้ที่  เป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งนั้น  ยังพระยา  พระ  หลวงหัวเมืองและในกรุงทั้งพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรฯ  ที่เป็นนายเรือรบ  ลูกกองยังมีอีกหลายลำหลายชื่อ  แต่ไม่เป็นใหญ่สำคัญ  จึงไม่ได้ออกชื่อไว้ในนี้   เมื่อเรือรบลูกกองเห็นท่านผู้ใหญ่ทุกคนถอนสมอไม่ขึ้นทั้ง ๑๖ ลำ  เรือรบลูกกองทั้งปวงนั้นก็ถอนสมอไม่ขึ้นบ้างเหมือนกัน  ก็ปล่อยหย่อนลงไปเสียทีหนึ่งทำดังนั้นเสมอทุกลำ  ถ้าลำใดเห็นเจ้าพระยาพระคลังหรือพระศิริสมบัติเรือตรวจแจวมาใกล้  มาเร่งรัดให้ถอนสมอก็รีบยกลงไปเร็ว ๆ  เรือรบเหล่านั้นก็ทำเป็นถอนสมอไม่ขึ้นบ้าง  บางลำทำเป็นถอนจวนจะขึ้นพ้นน้ำแล้ว  ถ้าเรือตรวจถอยไปเร่งรัดลำอื่นต่อไปอีก  เรือที่ถอนสมอพ้นน้ำนั้นก็ปล่อยสมอลงน้ำเสียอีกเล่า  ทำดังนี้เหมือนกันทุก ๆ ลำ  จึงมิได้มีเรือรบไทยลงไปต่อรบกับญวนสักลำเดียว  เพราะนายทัพนายกองเรือเห็นใจว่าเจ้าพระยาพระคลังไม่ดุร้าย  จึงกล้าสามารถทำดังนั้นได้  แต่คราวนั้นก็เป็นเคราะห์ดีไม่มีเหตุร้าย)

(https://i.ibb.co/JqZvvFQ/1438627751-IMG6916-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายกองทัพเรือญวนแจวขึ้นมาถึงท้ายแหลมวามะนาว  ไม่เห็นเรือรบไทยยกลงไปต่อสู้  ก็รู้ว่าเรือไทยถอยหนีไปแล้ว  ทัพเรือญวนก็แบ่งกันอยู่รักษาทางน้ำที่แหลมวามะนาวบ้าง  ยกขึ้นบกบ้าง  พวกที่ขึ้นบกนั้นก็ช่วยกันระดมตีทัพพระยาเกียรติ์พระยารามกองหน้าทัพบก  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นญวนทัพเรือยกขึ้นมาช่วยทัพบกดังนั้น  ก็เข้าใจว่าทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังเสียแก่ญวนแล้วเป็นมั่นคง  ญวนจึงได้เลิกทัพเรือยกขึ้นบกมาช่วยตีทัพไทยเป็นหลายกอง  ผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก  ทั้งนายทัพผู้ดีและไพร่พลตายมากนัก   เจ้าพระยาบดินทรเดชาพูดว่า

(https://i.ibb.co/KKbWBv1/Untitlsdfed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เชิงศึกญวนแหลมกล้าหาญนัก  ทั้งทัพบกทัพเรือ  ญวนองอาจสามารถทิ้งเรือเสีย  ขึ้นมาช่วยทัพบกตีไทยแตกไปหลายกองแล้ว  เห็นเหลือกำลัง  จะต่อสู้ญวนไม่ได้  ทัพเรือไทยไม่มีจะหนุนทัพบก  ทัพบกทัพเดียวเสียเปรียบญวนมาก  ถ้าหากว่าญวนจะให้ทัพเรือเข้าโอบอ้อมขึ้นมาทางเหนือปากคลองวามะนาว  แล้วยกวกหลังตลบมาตีทัพบกเราที่ปากคลองสะแดกนี้  เราก็จะเป็นที่ขัดสนจนปัญญา  จะหนีก็ไม่มีทางจะไปพ้นได้  จะอยู่สู้ก็สู้ไม่ไหว  เพราะผู้คนก็น้อย  ไม่มีทัพหนุนอีก  ถ้าขืนจะอยู่สู้กับญวนที่นี้เห็นทีจะต้องเป็นศึกขนาบ  ถ้าชนะก็ไม่ได้อะไร  ญวนก็จะหนีไปเท่านั้น  ถ้าแพ้ก็จะแพ้ราบคาบ  จนจะพาชีวิตกลับบ้านแต่สักคนก็เห็นจะไม่ได้  เพราะทัพเรือไม่ยกหนุนมาทันท่วงทีศึก  คิดดังนี้แล้วจึงสั่งให้ถอยทัพ  ล่าลงไปฟังข่าวราชการทัพเรือดูก่อน”

(https://i.ibb.co/v1J43j6/ds3.jpg) (https://imgbb.com/)

           *** ผลการรบยกนี้  กองทัพไทยพ่ายญวนหมดทั้งสองทัพ  ค่ายไม้ของญวนที่ปากคลองสะแดกแห่งนี้เหมือนมีอาถรรพณ์  ญวนตั้งขึ้นรับศึกทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ที่ยกมาตีญวน  แล้วทัพไทยโดยการนำของกรมหลวงเทพหริรักษ์ก็พ่ายแพ้อย่างยับเยิน  ตัวแม่ทัพต้องจับควายเป็นพาหนะขี่ลุยน้ำหนีกลับไปอย่างสะบักสะบอม   มาคราวนี้  เจ้าพระยาบดินทรเดชาคุมกองทัพบกเข้าปล้น  ก็ถูกญวนใช้ยุทธวิธีจุดพลุเพลิงส่องสว่างจนมองเห็นตัวฝ่ายไทย  แล้วยิงปืนใส่อย่างแม่นยำ  ไพร่พลที่ปีนค่ายก็ถูกไฟพะเนียงสาดใส่ไหม้เนื้อตัวจนต้องล่าหนี  ขณะตั้งหลักรอทัพเรือหนุนอยู่นั้น  พลเรือญวนก็ยกขึ้นบกมาช่วยทัพบกในค่ายไล่ตีทัพไทยจนต้องถอยร่นกลับมา  ฝ่ายทัพเรือไทยนั้น  แม่ทัพเรือหมดสภาพ  เพราะนายทัพนายกองไม่เชื่อฟังยำเกรง  สั่งให้ถอนสมอเรือยกลงไปรบก็ไม่ยอมรบ  จนแผนการของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่จะได้กำลังหนุนจากทัพเรือก็หมดไป  เป็นดังนี้  กองทัพไทยจะทำประการใดต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤษภาคม, 2563, 11:16:08 PM
(https://i.ibb.co/pRDV1SM/1438627581-IMG6904-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๗ -

ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา
จะสั่งฆ่าคนขลาดตั้งนายใหม่
เจ้าพระยาพระคลังเหนี่ยวรั้งไว้
เกรงโพยภัยหมู่ญาติอาฆาตแค้น

ไทยจึงต้องถอยทัพกลับโจดก
ทั้งพลบกนาวายังหนาแน่น
โดยคนขลาดยังอยู่ให้ดูแคลน
ด้านกลับแดนดินไทยไม่อายคน


            อภิปราย ขยายความ ..........................

            ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน  ถึงตอนที่...  ผลการรบยกนี้  กองทัพไทยพ่ายญวนหมดทั้งสองทัพ  ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งหลักรอทัพเรือหนุนอยู่นั้น  พลเรือญวนก็ยกขึ้นบกมาช่วยทัพบกในค่าย  ไล่ตีทัพไทยจนต้องถอยร่นกลับมา  ฝ่ายทัพเรือไทยนั้น  แม่ทัพเรือหมดสภาพ  เพราะนายทัพนายกองไม่เชื่อฟังยำเกรง  สั่งให้ถอนสมอเรือยกลงไปรบก็ไม่ยอมรบ  จนแผนการของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่จะได้กำลังหนุนจากทัพเรือก็หมดไป เป็นดังนี้  กองทัพไทยจะทำประการใดต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ....

(https://i.ibb.co/X3G65yQ/Untitlegd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             “เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาล่าทัพบกถอยมาถึงฝั่งน้ำคลองวามะนาวนั้นแล้ว  ได้พบกับเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังเล่าความให้ฟังทุกประการแต่ต้นจนที่สุด  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตอบว่า

             “นายทัพนายกองทัพเรือไม่ยำเยงเกรงกลัวแม่ทัพใหญ่นายเรือดังนี้  จะทำราชการศึกสงครามต่อไปที่ไหนได้เล่า  ให้หาตัวผู้ที่เป็นนายทัพนายกองเรือผู้ขลาดเขลามาฆ่าเสียให้สิ้น  อย่าเลือกหน้าว่าผู้ใหญ่และผู้น้อย  ฆ่าเสียแล้วให้ตั้งผู้น้อยที่กล้าหาญแข็งแรงแทนที่ผู้ใหญ่ที่ฆ่าเสีย  คืนเครื่องยศเจียดกระบี่คนทีน้ำพานหมากทองคำผู้ขลาด  มาให้แก่ผู้กล้าต่อไปเห็นจะดี  แล้วจะได้ยกเข้าตีญวนอีกครั้งหนึ่ง  ลองดูเห็นว่าจะได้ชัยชนะเป็นมั่นคง  เพราะพวกที่ขี้ขลาดเราก็ฆ่ามันเสียแล้ว  เหลือแต่ผู้ที่กล้าแข็ง  ก็ตั้งแต่งให้เป็นเจ้าพระยาและพระยา  พระ  หลวง  คุมทัพเรือต่อไป  พวกใหม่มันคงจะมีใจแข็งแรงต่อราชการจริง ๆ ดอกกระมัง”

            ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงตอบว่า

             “ซึ่งใต้เท้ากรุณามีบัญชาโปรดมาดังนี้  ก็เป็นทางยุติธรรม  ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว  แต่ท่านนายทัพเรือเหล่านี้แต่ล้วนมีชาติตระกูลเป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งนั้น  ที่กินพานทองขี่แคร่ก็หลายคน  ไม่ได้มีผู้น้อยเลย  มีแต่ศักดินาหมื่นหรือห้าพันเป็นพื้นทุกคน  จะฆ่าเสียอย่างไรได้  เห็นว่ากีดนี่กีดนั่นกีดโน่นต่าง ๆ นานา  ถ้าฆ่าฟันเสียก็คงจะมีผู้อาฆาตต่อไปภายหน้าเป็นมั่นคง”

            เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ฟังคำเจ้าพระยาพระคลังห้ามปรามทัดทานดังนั้นแล้ว  ท่านจึงตอบว่า

             “ธรรมดาแม่ทัพอาสาศึกพระเจ้าแผ่นดินมาทำสงคราม  ก็หมายใจจะหาความชอบให้มีชื่อเสียงไว้ในแผ่นดินชั่วฟ้าและดินไม่สิ้นสูญ  การฆ่าผู้ฟันคนเป็นธรรมเนียมของแม่ทัพอยู่เอง  ใครดีก็แต่งตั้งให้ปันรางวัลยศศักดิ์แก่มัน  ใครชั่วก็ต้องฆ่าฟันเฆี่ยนตีตามโทษหนักและเบาตามการ  ก็เมื่อเราฆ่าเจ้าพระยาและพระยา  พระ  หลวง  คราวนี้  นานไปข้างหน้าใครจะผูกไพรีอำนาจแก่เราก็ตามอัธยาศัย  แล้วแต่การจะเป็นไปเถิด  ไม่ฆ่า  ทำการศึกต่อไปไม่ได้แน่  เว้นแต่จะไม่รบกับญวน  จะกลับหรือจะชวนดีกันนั้น  และจะพาตัวรอดได้”

            ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังจึงตอบว่า

             “เดียวนี้เสบียงอาหารกระสุนดินดำก็มีน้อยอยู่แล้ว  กับเดือนสามข้างแรมและเดือนสี่ข้างขึ้นในระหว่างฤดูนี้  ก็เป็นเทศกาลน้ำน้อย  เรือรบไทยก็เป็นเรือใหญ่ ๆ มาก  จะเดินไปในคลองเหล่านั้นก็ไม่สะดวก  เกรงว่าแม่ทัพเรือจะทำการไปไม่ตลอดสำเร็จได้  แล้วโทษก็จะมีแก่แม่ทัพเรือ  ถ้าจะขืนไปก็จะเสียทัพ  เพราะน้ำน้อย  ครั้นจะกลับเสียกลางทางก็ไม่ได้  ภัยก็จะมีแก่แม่ทัพ  เพราะไม่มีตราให้หากลับ  กลับมาทำไมเล่า  ครั้นจะข่มขืนใจไปก็จะเสียรี้พลและเรือด้วย  ถ้าเป็นดังนี้จะมีรับสั่งลงโทษเราแม่ทัพตามบทอัยการศึก  อย่างเช่นเราทำแก่ลูกกองเหล่านั้น  จนถึงต้องฆ่าฟันกันตายหมด  ท่านจะทำแก่เราดังนั้นบ้างตามกฎหมายเรามิตายเปล่าหรือ?  ถ้าเราตายต้องฆ่านั้น  วงศ์ตระกูลของเราจะได้รับความอัปยศยิ่งกว่าตระกูลที่พวกเราฆ่าเขาเหล่านั้นอีก  เพราะวงศ์ตระกูลเราเป็นวงศ์แม่ทัพ  ต้องอับอายมาก  กระผมกราบเรียนใต้เท้ามาทั้งนี้โดยความภักดีสุจริต  รักใต้เท้าเหมือนพี่น้องร่วมอุทร  ขอให้ใต้เท้าดำริให้รอบคอบเทอญ”

            เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ฟังคำเจ้าพระยาพระคลังบรรยายชี้แจงแสดงเหตุผลต้นปลายที่จะเกิดภัยอันตรายดังนั้นแล้วจึงตอบว่า

             “ถ้าเจ้าคุณพระคลังคิดดังนั้นแล้ว  ฝ่ายผมก็ได้ช่วยคิดที่จะล่าถอยหนีญวนอย่างเดียวเท่านั้น  ไม่มีประตูอื่นที่จะพูดต่อไปอีกได้  แต่ว่าเมื่อจะล่าถอยนั้น  ขอให้เจ้าคุณทำหนังสือประกาศพิฆาตโทษภาคทัณฑ์เจ้าพระยา  และพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองที่มีความผิดเหล่านั้น  ให้รู้คุณและโทษตัวเสียก่อนจึงจะล่าไป  พวกนั้นจะได้ไม่ดูหมิ่นประมาทอำนาจแม่ทัพได้”

(https://i.ibb.co/P6sGS2p/Untitle52d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

            เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย  จึงสั่งให้พระศิริสมบัติเขียนหนังสือประกาศพิฆาตโทษภาคทัณฑ์นายทัพนายกอง  นำไปอ่านประกาศทุกทัพทุกกอง  แล้วสั่งให้ตระเตรียมไว้ให้พร้อมจะล่าถอยไปในในวันเดือนสามแรมเจ็ดค่ำนั้น  ให้พระยาพระรามพระยาเกียรติรื้อค่ายบกเสียสิ้น  ถอนคนทัพบกยกลงเรือเชลยเขมรและเรือแง่ทรายที่เก็บของญวนมาได้มากน้อยเท่าใด  ก็บรรทุกพลรบยกล่วงหน้าไปยังเมืองโจดกก่อนทัพเรือ  แล้วเจ้าพระยาพระคลังสั่งให้เจ้าพระยาและพระยา  พระ  หลวง  นายทัพเรือรบมีชื่อ  ล่าถอยตามออกมาภายหลัง  ครั้นเมื่อเรือรบมีชื่อทั้งหลายล่าทัพนั้น  ก็ช่วยกันถอนสมอขึ้นโดยเร็วทุกลำ ๆ ไม่มีใครทำดังแต่ก่อนนั้นเลย  กองทัพเรือก็รีบเร่งแข่งกันล่าถอยออก  ชิงกันแย่งกันมาก่อนมาหน้า  หาเป็นกระบวนไม่

            ฝ่ายพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษาแขกจามและพระยาวิเศษสงครามรามภักดีฝรั่งเข้ารีตทั้งสองกอง  ไปตั้งปิดช่องปากคลององเจืองไว้  ครั้นทราบคำสั่งให้ถอยทัพ  จึงให้บาทหลวงฝรั่งเศสชื่อเปโร  ไปเกลี้ยกล่อมพวกญวนที่เข้ารีตที่อยู่ในคลององเจือง  ซึ่งสมัครมากับไทยนั้นทั้งครอบครัวประมาณ ๕๐๐ เศษ  บาทหลวงเปโรพาญวนลงเรือแง่บันแง่เลย  อพยพครอบครัวลงเรือใหญ่น้อยล่องตามกองทัพไทยมาทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/1rvNG4Z/Untitdled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกขึ้นพักอยู่ที่เมืองโจดก  รักษาเมืองไว้โดยกวดขั้น  แต่ทัพเรือทั้งสิ้นก็ผ่อนกันเข้ามาในคลองขุดใหม่ต่อท้ายเมืองโจดก  มาพักอยู่ที่เมืองบันทายมาศ  ซึ่งไทยตีได้แต่ก่อนนั้น  แต่เรือเจ้าพระยาพระคลังแวะเข้าจอดพักอยู่ที่ในเมืองโจดก  เพื่อจะได้ปรึกษาราชการศึกกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ช่วยกันจัดการรักษาป้องกันเมืองโจดก  เพราะเข้าใจว่าญวนคงจะยกทัพเรือมาตีเมืองโจดกคืนเป็นแน่

(https://i.ibb.co/tqFv9WT/Untsitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา  สั่งให้พระยาสุนทรารักษ์พาไพร่พลเขมรและลาวไปขุดมูลดินพูนโคก  ทำป้อมที่หน้าเมืองป้อมหนึ่ง  แล้วให้จัดการรักษาหน้าที่เชิงเทิน  รักษาเมืองโดยสามารถ  แต่เรือใช้สอยเล็กน้อยให้มีไว้พร้อม  แล้วแต่งกองลาดตะเวนทั้งทางบกและทางเรือ  สำหรับสืบข่าวญวนเป็นหลายพวก.........”

(https://i.ibb.co/6yT2N4w/Untdseitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

            * อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว  หลายท่านคงรู้แล้วนะว่า  กองทัพไทยทำไมจึงพ่ายแพ้แก่ญวน  จุดอ่อนของทัพไทย  ก็เห็นจะเป็นไปตามคำอภิปรายขยายความของเจ้าพระยาพระคลัง  ที่ไม่ฆ่านายทัพนายกองผู้ทำผิดบทอัยการศึก  ก็สมเหตุสมผลในด้านคุณธรรม  แม้จะไม่สมเหตุสมผลด้านการศึกสงคราม  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็จำยอม  ต้องล่าถอยทัพไทยทั้งหมดกลับมาตั้งหลักใหม่อยู่ที่เมืองโจดก  ญวนได้ทีแล้วจะยกมาบดขยี้ไทยอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทเมืองสุโขทัย
๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤษภาคม, 2563, 12:32:25 AM
(https://i.ibb.co/bbkbdXz/9.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๘ -

ญวนยกตามตีไทยไม่ลดละ
มุมานะเร่งทัพไม่สับสน
รุกราวีตีทางกลางสายชล
ฝ่าห่าฝนทนหนุนกระสุนปืน

ไทยยิงตายเป็นเบือเมื่อดื้อบุก
ครั้นยิ่งรุกยิ่งตายไม่อาจฝืน
คราวนี้ญวนพ่ายยับไร้ที่ยืน
ถอยทัพคืนไปยังกลางเกาะแตง


            อภิปราย ขยายความ ..........................

            ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน  เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่... เจ้าพระยาบดินทรเดชาถอยทัพบกมายังฐานทัพเรือ  ทราบจากเจ้าพระยาพระคลังว่า  นายทัพนายกองเรือขัดคำสั่ง  ไม่ยอมถอนสมอเรือยกลงไปรบญวน  จึงกล่าวว่าควรจะต้องฆ่านายทัพนายกองเรือขี้ขลาดขัดคำสั่งแม่ทัพนั้นเสียตามบทอัยการศึก  แล้วตั้งคนที่มีความกล้าหาญชาญชัยขึ้นดำรงตำแหน่งแทน  แต่เจ้าพระยาพระคลังท้วงติง  พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบจนเจ้าคุณแม่ทัพบกยอมตามความคิดของเจ้าคุณแม่ทัพเรือ  แล้วตกลงถอนทัพกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองโจดกในที่สุด  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/5hS02Cj/s-Untitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

             “ครั้น ณ เดือนสามแรมเก้าค่ำ  หลวงฤทธิ์ณรงค์กองตระเวนเรือฝ่ายเหนือมาแจ้งความว่า  ได้ไปลาดตระเวนถึงคุ้งไผ่เหลืองในคลองวามะนาว  เห็นเรือรบญวนยกมามาก  เป็นเรือป้อม ๓๐ ลำ  เรือค่ายใหญ่ ๑๕ ลำ  แต่ล้วนมีทหารมามากสำหรับเพิ่มเติม  เรือรบเล็ก ๆ และเรือแง่โอ ๓๐ ลำ  ยกมาถึงแหลมวามะนาวแล้ว  เจ้าพระยาบดินเดชาจึงว่ากับเจ้าพระยาพระคลังว่า

(https://i.ibb.co/phH6YZs/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

             “เราล่าทัพเรือมาถึงเมืองโจดกได้สองวัน  อ้ายญวนก็ยกทัพเรือตามเรามา  หมายจะตีเราที่ปากคลองขุดใหม่  เมื่อเรือรบใหญ่ของเราเข้าคลองแน่นอัดกันนั้น  แต่อ้ายญวนมาไม่ทันท่วงทีเรา  เรือเราเข้าในคลองขุดใหม่ได้เสียก่อนเป็นการดี  ตัวเราอยู่ที่นี่มีกำแพงป้อมพอต่อสู้กับมันได้ช้านาน  แต่วิตกอยู่ที่ทัพเรือที่เข้าไปในคลอง  กลัวว่าถ้าน้ำจะน้อยแล้วด้วยเป็นเรือรบใหญ่โตอยู่มาก  เกลือกว่าถ้าอ้ายญวนยกทัพเรือมาทำกับเราที่โจดกนี้  ได้รบกันศึกยังติดพันกันไปช้านานอย่างไรก็ยังไม่รู้เลย  แล้วญวนจะใช้ให้ทัพเรือเล็ก ๆ เข้ามาในคลองขุดใหม่  ไล่รบยิงเรือรบของเราที่ใหญ่ยังไปไม่ถึงเมืองบันทายมาศ  หรืออยู่กลางทางจะมิเสียราชการและเสียเรือเสียคนแก่ญวนหรือ?  อย่าช้าเลยไม่ได้  ให้เจ้าคุณพระคลังรีบเข้าไปเร่งเรือรบให้ไปโดยเร็ว  หรือจะจัดการป้องกันอย่างไรได้ไม่ให้เป็นอันตรายแก่คนแลเรือรบนั้นก็สุดแล้วแต่ท่านเถิด”

            เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบดังนั้นแล้วก็เห็นด้วย  จึงลงเรือแง่ทราย ๒๐ แจว  และมีเรือแง่ทรายลำละ ๒๐ แจวอีก ๔ ลำ  นำตามท่านเข้าไปในคลองขุดใหม่  เพื่อจะได้เป็นเรือป้องกันท่านแม่ทัพไปในคลองขุดใหม่ด้วย

(https://i.ibb.co/gRVCBW5/Untsditled-1-350.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนสามแรมสิบค่ำ  ทหารไทยที่รักษาอยู่บนหอรบหน้าเมืองโจดกนั้น  เห็นทัพเรือรบญวนยกตามมาทอดอยู่ใต้เมืองโจดก  เรือศีรษะป้อม ๓๐ ลำ  ทอดสมอเรียงตามน้ำ  ต่อนั้นไปก็เป็นเรือค่ายใหญ่ ๑๕ ลำ  ทอดอยู่หลังเรือป้อมเป็นแถวหลัง  แล้วมีเรือแง่โอแง่ทราย ๕๐ ลำ  มาทอดสมอสลับฟันปลากันกับเรือป้อม  และมีเรือช่วงเล็ก ๆ อีก ๒๐ ลำ  สำหรับใช้สอยไปมาถึงกันตามเรือรบทั้งปวง  เรือรบญวนทั้งสิ้นนั้น  มาทอดสมออยู่ห่างจากเมืองโจดกนั้นประมาณ ๒๘ เส้น  ครั้นเวลาค่ำ  ญวนตีกลองฝึกหัดทหารจนเวลาดึกสามยามเศษจึงเลิก  (ญวนทำดังนั้นเพื่อจะไว้เป็นอำนาจให้ไทยกลัว  อีกอย่างจะได้ไม่ให้ทหารนอนหลับ  เผลอหลับมากมีเหตุการณ์มาจะปลุกยาก)

(https://i.ibb.co/mNYGTNv/Untistled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้นรุ่งขึ้นเดือนสามแรมสิบเอ็ดค่ำ  เวลาเช้าโมงหนึ่งเศษ  ญวนก็ขับทัพเรือแจวติดเนื่อง ๆ กันมาเป็นทิว  ยกเข้าตีเมืองโจดก  ญวนเอาเรือศีรษะป้อมแจวเรียงขนานหน้าเป็นตับต่อ ๆ มาที่หน้าเมืองโจดก  แล้วยิงปืนใหญ่หน้าเรือ  มีลูกปืนมาตกถึงชานเมืองบ้างหลายลูก  ขณะนั้นทหารไทยที่รักษาหน้าที่บนเชิงเทินเมือง  ก็วางปืนใหญ่บนป้อมลงไปถูกเรือรบญวนที่เข้ามาใกล้ชานเมืองนั้นล่มลง ๒ ลำ  พลทหารญวนว่ายน้ำขึ้นบนตลิ่ง  ขณะนั้นพลทหารไทยที่รักษาประตูเมืองนอกกำแพง  กรูกันลงไปฟันแทงญวนที่ตลิ่งล้มตายมาก  เรือรบญวนลำอื่นก็หนุนเนื่องกันเข้ามายิงปืนใหญ่โต้ตอบกับไทยอยู่เสมอ  มิได้หยุดหย่อน  ฝ่ายไทยซึ่งประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินบนกำแพงนั้น  จึงวางปืนใหญ่จ่ารงค์มณฑกนกสับคาบศิลายิงระดมลงไปเป็นห่าฝน  เรือรบญวนก็มิได้ท้อถอยหลัง  แม่ทัพนายกองฝ่ายญวนก็เร่งตีกลองศึก  เร่งให้เรือรบแจวผ่านหน้าเมืองขึ้นมาเสมอทุกลำติดเนื่องกันมิได้หยุดยั้ง  บ้างตกน้ำตาย  บ้างตายอยู่ในเรือทุกลำ  ถึงอย่างนั้นแม่ทัพญวนก็ยิ่งตีกลองเร่งเรือรบให้รีบแจวเข้าไปต่อรบยิงปืนโต้ตอบกับไทยอยู่เสมอ  เพราะด้วยกลองศึกยังตีเร่งอยู่เสมอ  ทัพเรือจะถอยก็ไม่ได้  ต้องทนแจวดื้อเข้าไปตามเสียงกลองอาญาสิทธิ์แม่ทัพญวน  ขณะนั้นพลทหารในเรือรบญวนถูกปืนตายมากนัก  ที่ตายก็ตายไป  ที่เป็นอยู่ก็ต้องเร่งแจวเรือรบเข้าไปเสมอ  ถอยไม่ได้  หยุดไม่ได้  ด้วยเกรงอำนาจแม่ทัพญวนยิ่งนัก  เรือรบอุตสาหะแจวฝ่ากระสุนปืนไทยขึ้นมาถึงตลิ่งข้างเหนือเมืองโจดก  แม่ทัพเรือญวนจึงสั่งให้นำเรือรบทุกลำจอดเข้าที่ตลิ่ง  หมายใจว่าจะขับพลทหารเรือให้ขึ้นบก  ยกเข้าตีหักปล้นเมืองโจดกในเวลากลางวัน โดยความกล้าสามารถของญวนเป็นกำลังยิ่งนัก

(https://i.ibb.co/WF6WhfT/Untit125led-4.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล  นายทัพรักษากำแพงด้านเหนือ  เห็นญวนกล้าฝ่ากระสุนปืน  ดื้อให้เรือรบแจวเข้ามาจอดถึงตลิ่งแล้ว  เตรียมทหารจะยกขึ้นบกมาตีเมืองโจดกดังนั้น  จึงสั่งให้พลทหารไทยยกออกนอกเมือง ๖๐๐ คน  ถือสีชุกแตะบังกระสุนปืน  แล้ววิ่งกรูกันลงไปที่ตลิ่ง  นั่งแอบกองมูลดินที่พูนยกไว้ดังคันนาที่ตลิ่งหน้าเมืองโจดกนั้น  ทหารทั้ง ๖๐๐ คนนำปืนคาบศิลานั่งยิงที่คันดินริมตลิ่ง  ถูกญวนในเรือรบโดยใกล้ ๆ จึงตายมาก  ญวนยังไม่ทันจะขึ้นบกได้เลยแต่สักคนหนึ่ง  ขณะนั้นแม่ทัพญวนเห็นดังนั้นจึงตีกลองสัญญาให้ล่าทัพ  ถอยเรือรบออกจากตลิ่ง  แล้วพวกทหารญวนจึงได้นำไม้ขอนลูกกลิ้งใหญ่กลิ้งไปที่แคมเรือข้างนอก  ให้เรือเอียงตะแคงไปข้างนอก  ให้กราบเรือข้างในขึ้นรับกระสุนปืนไทย  ทำดังนั้นทุกลำ  ปรารถนาจะให้กราบเรือข้างในบังกระสุนปืนกันภัยพลทหาร  แต่พอล่าถอยเรือออกไปจากตลิ่งได้ห่างทางปืนไทยแล้ว  ก็ลอยลงไปบ้างนั่งแจวตามกราบเรือข้างนอกที่เอียงนั้นบ้าง  พอเรือรบญวนถอยออกห่างจากตลิ่งหน้าเมืองโจดกได้แล้ว  ญวนก็เห็นว่าพ้นทางปืนแล้ว  จึงลุกขึ้นยืนแจวพร้อมกัน  ล่าถอยเรือรบลงไป  ไม่ได้อยู่สู้รบกับไทย  ครั้งนั้นที่เมืองโจดกมีปืนใหญ่มากอยู่ก็จริง  แต่ว่ากระสุนปืนที่ใหญ่แท้นั้นหามีไม่  จึงมิได้ยิงเรือรบญวนที่ล่าถอยไปให้เสียโดยมาก  ฝ่ายญวนตีเมืองโจดกไม่ได้แล้วก็ล่าถอยเลิกทัพกลับไปยังค่ายเก่าที่เกาะแตง  (ญวนเรียกว่าเกาะเจียนซาย)

(https://i.ibb.co/mczKZbH/Screenshot-6-9.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังที่ยกเข้าคลองขุดใหม่ไปนั้น  ครั้นไปถึงกลางย่าน  ได้ยินเสียงปืนที่เมืองโจดกยิงโต้ตอบกันกับญวนนั้น  พวกทัพเรือก็สำคัญคิดเข้าใจว่าญวนยกทัพบกทัพเรือมาตีเมืองโจดกแล้ว  คงจะยกเลยมาตามตีพวกทัพเรือเราด้วยเป็นแน่  เมื่อพลทัพเรือไทยคิดดังนั้นแล้ว  ก็รีบเร่งรีบแจวมาถึงกลางย่านบ้าง  ถึงต้นคลองบ้าง  ที่นั้นเป็นที่ตื้นดอน  น้ำก็น้อย  ครืดท้องเรือรบใหญ่ ๆ ไปทุกลำ  พวกเรือรบไทยทั้งหลายเหล่านั้น  บ้างแย่งชิงกันจะไปก่อน  บางพวกก็แจวถ่อค้ำแข่งแย่งชิงกันขึ้นหน้า  ปรารถนาจะไปให้พ้นภัยญวนที่จะตามมา  ครั้งนั้นเรือรบรีบเร่งแข่งแย่งกันขึ้นหน้าไปก่อน  จนโดนกระทบกระทั่งศีรษะแตก  กราบพัง  หางเสือหัก  เป็นอันตรายหลายลำเพราะชิงแย่งกันไป  จนเรือทั้งปวงนั้นมาถึงย่านกลางพร้อมกัน  ก็อัดแอกันเข้าเต็มคลอง ไปไม่ได้  ติดตื้นอยู่พร้อมกันทุกลำ  จนได้เกิดทะเลาะวิวาทบาดหมางกันขึ้นหลายพวก  เกือบจะฆ่าฟันกันขึ้นเอ ง ด้วยต่างคนต่างมีอำนาจใหญ่โตด้วยกันทุกพวก  เพราะแตกร้าวความสามัคคีซึ่งกันและกันมาแต่ก่อน..........”

(https://i.ibb.co/pnd1ybV/thuy-binh-nha-tran-1-e1508996549221.jpg) (https://imgbb.com/)

            * * น่าชื่นชมกองทัพเรือญวนที่ยกติดตามตีไทยมาอย่างมีระเบียบวินัย  ขบวนเรือจัดได้สวยงามรัดกุมมาก  ในการยกเข้าโจมตีหมายหักเอาเมืองโจดกนั้น  เขาโถมกำลังเข้าโจมตีอย่างไม่กลัวตาย  เพราะเขากลัวแม่ทัพมากกว่ากลัวความตายจากลูกปืนทหารไทย  จิตใจทหารญวนเด็ดเดี่ยวมาก  ที่ตายก็ตายไป  ที่อยู่ก็แจวจ้ำเรือบุกเข้าไป  จนสามารถฝ่ากระสุนปืนเข้าถึงตลิ่งจะยกขึ้นบกปีนกำแพงเมืองแล้ว  ดีที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดคาดการณ์ได้ถูกต้อง  จึงให้ทหารทำคันดินไว้ป้องกันศัตรูจะจู่โจม  ญวนถูกทหารไทยใช้คันดินเป็นที่กำบังแอบยิงญวนตายเป็นเบือ  ขึ้นจากเรือไม่ได้เลยสักคนเดียว  จึงล่าทัพถอยไปตั้งอยู่ในค่ายเก่าที่เกาะแตง  กลางคลองวามะนาว  ฝ่ายทัพเรือไทยที่ถอยหนีญวนอย่างไร้ระเบียบวินัย  ทหารระดับนายทัพนายกองส่วนมากขี้ขลาดตาขาว  เร่งหนีเอาตัวรอด  จนเรือชนกันเองพังเสียหายไปหลายลำ  อย่างนี้เรียกกันว่าหนีอย่าง  “หางจุกตูด”  กำลังทะเลาะวิวาทกันเองอยู่กลางน้ำแล้ว  ผลจะลงเอยกันอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤษภาคม, 2563, 10:04:50 PM
(https://i.ibb.co/YThssBs/1431526946-image-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๖๙ -

เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ยังไม่ท้อ
จะรบต่อตีศึกฮึกกำแหง
สั่งทัพเรือเร่งรัดรีบจัดแจง
ซ่อมแซมแต่งเรือรบให้ครบครัน

จะตีค่ายรายทางเช่นครั้งก่อน
มีไซ่ง่อนเป็นเป้าเข้าตั้งมั่น
แม่ทัพเรือรับทำตามสั่งนั้น
เตรียมให้ทันตามนัดอย่างรัดกุม


            อภิปราย ขยายความ ..........................

            ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน  เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่...  กองทัพเรือญวนยกตามมาหมายปล้นชิงเมืองโจดกคืน  แม่ทัพญวนตีกลองศึกเร่งให้ญวนแจวเรือฝ่ากระสุนปืนไทย  พร้อมยิงปืนโต้ตอบ  ทหารไทยบนเชิงเทินป้อมกำแพงเมืองโจดกระดมยิงปืนลงมาถูกพลทหารเรือญวนตายเป็นอันมาก  แต่ญวนไม่ย่อท้อ  ที่ตายก็ตายไป  ที่อยู่ก็แจวเรือฝ่ากระสุนปืนที่ระดมยิงลงมาเป็นห่าฝน  จนเรือเข้าถึงตลิ่งเตรียมจะขึ้นบก  แต่ถูกทหารไทยที่แอบซ่อนอยู่หลังคันดินริมตลิ่งระดมยิงล้มตายเป็นเบือ  ไม่สามารถจะขึ้นจากเรือได้เลยสักคนเดียว  แม่ทัพเรือญวนเห็นเช่นนั้น  จึงตีกลองสัญญาล่าทัพกลับไปเกาะแตง  ฝ่ายทัพเรือไทยที่ล่าถอยเข้าคลองขุดใหม่หมายไปเมืองบันทายมาศ  เมื่อได้ยินเสียงปืนยิงโต้ตอบกันดังมาจากเมืองโจดก  ก็รู้ว่าญวนตามมาแล้ว  จึงเร่งแจวหนีญวนอย่างไร้ระเบียบ  แย่งชิงกันขึ้นหน้า  จนเรือเกิดการกระทบกระทั่งชนกันเสียหายไปหลายลำ  และเกิดการทะเลาะวิวาทถึงกับจะฆ่าฟันกันเองแล้ว  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ........

(https://i.ibb.co/gvnwkFN/Untitlxced-8.jpg) (https://imgbb.com/)

             “ ....ครั้นเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเรือตามเข้าไปทันในคลอง  ได้ทราบการดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้กองช้างเขมรเมืองนครพนมเปญที่มาช่วยทัพบกคราวตีค่ายปากคลองวามะนาวสะแดกนั้น  ให้แบ่งคนและช้างมาช่วยชักรากเรือมีชื่อทั้งหลายที่ติดตื้นนั้น  ให้ตกลึกไปเมืองบันทายมาศโดยเร็ว  แล้วกองช้างนั้นให้เดินบกไปทางเมืองกำปอด  ฝ่ายพระคชินทรานุรักษ์เขมรแม่กองช้างเมืองพนมเปญ  ได้ทราบคำสั่งเจ้าพระยาพระคลังแล้ว  จึงแบ่งช้าง ๒๐ เชือก  ให้หลวงพิทักษ์คชินทร์เขมรปลัดกองช้าง  คุมช้าง ๒๐ เชือกแยกลงไปช่วยชักรากเรือรบทั้งปวงให้ตกน้ำลึกแล้วทุกลำ  หลวงพิทักษ์คชินทร์ก็คุมกองช้าง ๒๐ เชือกเดินทางบกมาทางป่าแขวงเมืองกำปอด

(https://i.ibb.co/qj4567n/13606685-1832159670340924-6777427217235744416-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นฝ่ายเขมรป่าดงที่แขวงเมืองกำปอดคิดการกำเริบเป็นกบฏขึ้น  จึงพาพรรคพวกที่ร่วมคิดเป็นโจรกรรมได้มากแล้ว  ยกมาพาปืนลอบยิงถูกหลวงพิทักษ์คชินทร์เขมรปลัดกองตายอยู่บนหลังช้าง  แล้วยิงพวกเขมรไพร่ในกรมช้างนั้นตายมาก  จึงยกเข้าตีชิงปล้นช้างไปได้สิ้น  จับพวกเขมรเมืองพนมเปญที่คุมช้างมานั้น  ฆ่าตายเสียทั้งหมด ๕๐ คน  ฝ่ายเขมรป่าดงที่กำปอดกวาดต้อนพาช้างไปสิ้นทั้ง ๒๐ เชือก

             ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลัง และพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองเรือ  ได้พักอยู่ที่เมืองบันทายมาศแล้ว  เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้ขุนอุดมภักดีกับหมื่นพิทักษ์นที  คุมเรือแหวดสิบแจวเป็นเรือเร็วมีปืนขานกยางหน้าเรือลำละกระบอก  มีพลทหารแจวครบทั้งสิบแจว  ให้คุมไปคนละลำ  ให้รีบไปคอยสืบราชการอยู่ที่บ้านตลิ่งชันใกล้เมืองโจดก  คอยฟังเหตุการณ์ทัพญวนจะยกมาอีกหรือจะแปรเป็นประการใด  ให้ผลัดเปลี่ยนกันทั้ง ๓ ลำมาแจ้งข้อราชการข่าวทัพญวนให้แม่ทัพที่เมืองบันทายมาศทราบเหตุการณ์อยู่เนือง ๆ

             ภายหลังเจ้าพระยาบดินเดชาอยู่ที่เมืองโจดก  จึงแต่งหนังสือฉบับหนึ่ง  มอบให้หมื่นพิทักษ์นทีลงเรือเร็วมาส่งให้เจ้าพระยาพระคลังที่เมืองบันทายมาศ  ในหนังสือนั้นมีใจความว่า

(https://i.ibb.co/9mD4GpV/Untictled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

              “หนังสือแม่ทัพบกแจ้งข้อราชการมายังท่านแม่ทัพเรือได้ทราบ  ด้วยเมื่อ ณ วันศุกร์เดือนสามแรมสิบสามค่ำนั้น  อ้ายญวนยกทัพเรือมาตีเมืองโจดกอีกครั้งหนึ่ง  แม่ทัพบกได้แต่งการรักษาป้องกันบ้านเมืองไว้ได้โดยมั่นคงแล้ว  ได้แต่งนายทัพนายกองออกสู้รบกับญวนเป็นสามารถ  พลทหารไทยได้ยิงปืนโต้ตอบกับญวนตั้งแต่เช้าจนเที่ยง  เรือรบญวนถูกกระสุนปืนยับเยินแตกหักเสียหายหลายลำ  เวลาบ่ายอ้ายญวนก็ล่าทัพถอยกลับไปหมดแล้ว  แต่การต่อไปข้างหน้านั้น  ท่านแม่ทัพบกคาดคะเนเห็นว่า  อ้ายญวนคงจะยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมมาตีเมืองโจดกอีกเป็นมั่นคง  ถ้าอ้ายญวนยกมาอีก  คราวนี้คงจะเป็นศึกใหญ่  เห็นว่าจะได้ทำยุทธนาการกับญวนเป็นสามารถ  เพราะว่าเดือนสี่ข้างแรมต่อกับเดือนห้าข้างขึ้นนั้น  มีน้ำหลากมาแต่แม่น้ำโขงและทะเลสาบมากหลายแควอยู่  เพราะเดือนสี่เดือนห้าต่อกันนี้มีฝนตกมากชุกชุมอยู่แล้ว  คงจะมีน้ำเหนือหลากมาทุกแคว  เพราะฉะนั้นจึงคิดเห็นว่า  ถ้ามีน้ำเหนือหลากมาเมื่อใด  เรือใหญ่จะเดินในคลองได้ทั่วทุกคลอง
 อ้ายญวนคงจะยกทัพเรือใหญ่มาได้ตามคลองทุกทิศทุกทาง  คงจะได้ทำมหายุทธนาการศึกใหญ่กับอ้ายญวนในคราวฤดูน้ำนี้เป็นแน่  ขอให้ท่านแม่ทัพเรือบำรุงทแกล้วทหารไว้ให้รื่นเริง  กับให้นายทัพนายกองไปจัดแจงตั้งสิ่งซ่อมแซมเรือรบใหญ่น้อยที่ชำรุดทรุดโทรมให้แล้วเสร็จแต่ในเดือนสี่ข้างขึ้นนี้ให้ได้  กับขอให้ท่านแม่ทัพเรือใช้ให้พระยาตราดคุมพลเมืองตราดทั้งสิ้น  ไปตั้วสิวซ่อมแซมเรือรบเก่าของเขมรที่นักองจันทร์สร้างขึ้นไว้  ตกค้างอยู่ที่เมืองกำปอด และเมืองกะพงโสมนั้นมีอยู่หลายสิบลำ  ถ้าจะเลือกแต่พอใช้ได้คงจะได้เรือเกือบร้อยลำ  ถ้าพระยาตราดทำการซ่อมแซมเรือรบลำเก่าเขมรเสร็จแล้ว  ได้มากน้อยเท่าใดให้คุมมาส่งไว้ที่เมืองบันทายมาศ  แล้วให้เจ้าคุณจัดกระสุนดินดำ  เครื่องศาสตราวุธและเชือกเสาเพลาใบ  เสบียงอาหาร  ไพร่พล  ลงบรรทุกเรือรบเก่าใหม่ให้พร้อมกันเสร็จ  ให้รีบยกทัพเรือมาทางคลองขุดใหม่โดยน้ำมีมากแล้ว  ให้รีบยกมาให้ถึงเมืองโจดกในเดือนสี่ข้างแรม  หรือเดือนห้าข้างขึ้นอ่อน ๆ ให้จงได้  ถ้าทัพเรือยกมาพร้อมกันเมื่อใด  ทัพบกก็จะได้ยกไปพร้อมกันเมื่อนั้น  จะได้ช่วยกันยกลงไปตีค่ายตามหัวเมืองรายทาง  ตลอดไปถึงเมืองไซ่ง่อนอีกสักครั้งหนึ่ง

             ครั้นทัพบกทัพเรือจะไม่ยกขึ้นไปตีญวนให้ถึงเมืองไซ่ง่อนอีกก็ไม่ได้  เพราะกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมากอง ๑   ทัพพระยามณเฑียรบาลกอง ๑   ทัพพระยาราชโยธากอง ๑   ทัพพระยานครสวรรค์กอง ๑   ทัพเหล่านี้มีรี้พลถึงสองหมื่นสามหมื่น  เป็นทัพบกได้ยกขึ้นไปช่วยเมืองไซ่ง่อน  แต่จะถึงหรือยังก็ไม่รู้  หรือจะมีเหตุการณ์กลางทางประการใดก็ยังไม่ทราบข่าวคราวเลย  ไม่เห็นใช้ใครมาแจ้งข้อราชการให้ทราบบ้าง  เป็นการยกทัพขึ้นไปแล้วก็เงียบ ๆ ไปทุกทัพทุกกอง  เพราะฉะนั้น  จึงจำเป็นทัพผมและทัพเจ้าคุณ  จะต้องยกขึ้นไปตีค่ายตามรายทางให้ตลอดถึงเมืองไซ่ง่อนให้จงได้  จะได้ฟังกิตติศัพท์กองทัพพวกที่ยกล่วงหน้าไปก่อนนั้น  จะเป็นประการใดบ้าง  เมื่อเจ้าคุณพระคลังได้ทราบหนังสือผมดังนี้แล้ว  จะประพฤติตามหรือจะคิดยักย้ายอย่างใด  ขอให้ตอบมาให้แจ้งโดยเร็วเทอญ”
 
(https://i.ibb.co/J540PJ4/Untitldged-12.jpg) (https://imgbb.com/)

             เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบหนังสือบังคับสั่งราชการทัพของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาดังนั้นแล้ว  จึงเขียนหนังสือตอบเป็นใจความว่า

              “กระผมจะกระทำตามหนังสือบังคับสั่งของใต้เท้ามีบัญชามานั้นทุกประการ”

             ได้มอบหนังสือให้หมื่นพิทักษ์นทีนำไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  ที่เมืองโจดกในคราวนั้นแล้ว

(https://i.ibb.co/SyD44zL/Untiftled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งนั้น  พระยาจันทรบุรีอยู่ในกองทัพเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองบันทายมาศ  จึงมีหนังสือให้หลวงนราภักดีไปสั่งให้หลวงยกกระบัตรที่รักษาเมืองจันทบุรีนั้น  ให้ถ่ายเสบียงอาหารบรรทุกเรือแง่ซาย ๒๓ ลำ  มาส่งยังกองทัพใหญ่ที่เมืองบันทายมาศ
          ครั้งนั้น  หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีเป็นแม่กองคุมเรือลำเลียงข้าวสาร ๒๓ ลำมาถึงเมืองกำปอด  อ้ายเขมรที่เมืองกำปอดคบคิดกันเป็นศัตรูขึ้นมาก  จึงพาสมัครพรรคพวกโจรมาแอบลอบเอาปืนยิงถูกไพร่พลที่คุมเรือลำเลียงข้าวสารมานั้น  เจ็บลำบากมาก  และตายก็มาก  ไพร่พลในกองเรือลำเลียงที่เหลือจากเจ็บตาย  เห็นอ้ายเขมรทำการเป็นจลาจลที่กลางทางดังนั้นแล้ว   ก็พากันตกใจกลัวอ้ายเขมรเหล่าร้ายเป็นกำลังยิ่งนัก   ชวนกันทิ้งเรือขึ้นบกหนีไปเอาชีวิตรอดได้บ้าง ๒๒ คน  บางคนที่ขึ้นบกไม่ทันเพราะเป็นการจวนตัว  ก็พากันโดดลงน้ำในคลองว่ายหนีไปโดยทิศทางต่าง ๆ บ้าง  ไพร่พลในกองทัพลำเลียงแตกกระจัดกระจายระส่ำระสาย  ไม่เป็นอันจะต่อสู้กับพวกเขมร ......”

(https://i.ibb.co/qm9p75B/Untitleddd-3.jpg) (https://imgbb.com/)

             *** เป็นอันว่า  ญวนยกทัพเรือมาโจมตีเมืองโจดกอีกเป็นครั้งที่สอง  แล้วก็พ่ายกลับไปอีกครา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเตรียมการวางแผนยกทัพบกทัพเรือตีค่ายญวนตามรายทางดะไปจนถึงเมืองไซ่ง่อนอีกครั้ง  จึงมีหนังสือนัดหมายกับเจ้าพระยาพระคลัง  ให้จัดแต่งกองทัพเรือให้พร้อมเพื่อจะยกขึ้นไปพร้อมกันในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงข้างหน้า  เจ้าพระยาพระคลังรับดำเนินการตามคำสั่งแม่ทัพบกทันที  พระยาจันทบุรีสั่งให้หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีจัดลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพใหญ่ที่เมืองบันทายมาศ  เมื่อกองลำเลียงเสบียงอาหารมาถึงเมืองกำปอด  ก็ถูกโจรเขมรดักปล้น  ไพร่พลที่คุมเสบียงอาหารมานั้นพากันตกใจกลัวโจรเขมร  ขึ้นบกหนีไปบ้าง  โดดลงน้ำหนีบ้าง  ไม่มีใครคิดจะต่อสู้ป้องกันเสบียงอาหารเลย  เรื่องจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ..

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, พฤษภาคม, 2563, 10:12:23 PM
(https://i.ibb.co/q199q4y/unnamed.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๐ -

โจรเขมรขี่ควายลุยไม่เลี้ยง
ปล้นเสบียงเรือไทยในที่ลุ่ม
เรือลำเลียงเสียหายไร้คนคุม
ทหารหนุ่มไทยต่างยังอ่อนแอ

จัดทัพตามเสบียงคืนไม่ชื่นชอบ
เขมรลอบยิงให้ไทยร่อแร่
ทหารมากโจรน้อยยังซุ่มรังแก
เพราะไทยแพ้ชั้นเชิงความเชี่ยวชาญ


             อภิปราย ขยายความ ..........................

             ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่..  หลังจากที่ญวนยกทัพเรือมาโจมตีเมืองโจดกอีกเป็นครั้งที่สอง  แล้วก็พ่ายกลับไปอีกครา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเตรียมการวางแผนยกทัพบกทัพเรือตีค่ายญวนตามรายทางดะไปจนถึงเมืองไซ่ง่อนอีกครั้ง  จึงมีหนังสือนัดหมายกับเจ้าพระยาพระคลัง  ให้จัดแต่งกองทัพเรือให้พร้อมเพื่อจะยกขึ้นไปพร้อมกันในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงข้างหน้า  เจ้าพระยาพระคลังรับดำเนินการตามคำสั่งแม่ทัพบกทันที  พระยาจันทบุรีสั่งให้หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีจัดลำเลียงเสบียงอาหารส่งกองทัพใหญ่ที่เมืองบันทายมาศ  เมื่อกองลำเลียงเสบียงอาหารมาถึงเมืองกำปอด  ก็ถูกโจรเขมรดักปล้น  ไพร่พลที่คุมเสบียงอาหารมานั้นพากันตกใจกลัวโจรเขมร  ขึ้นบกหนีไปบ้าง  โดดลงน้ำหนีบ้าง  ไม่มีใครคิดจะต่อสู้ป้องกันเสบียงอาหารเลย  เรื่องจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/xsF2tKX/Unxtitlded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

              “ ......เขมรเห็นได้ทีมีช่องโอกาสดังนั้นแล้ว  จึงขี่กระบือ ๓๘ กระบือ ลงลุยในลำคลอง  ไล่ยิง แทง ฟัน พวกกองลำเลียงเรือข้าวสารแตกกระจัดกระจายไปต่าง ๆ  หนีลงน้ำและแอบแฝงอยู่ในเรือบ้าง  ฝ่ายเขมรอีกพวกหนึ่งนำช้างพลายพัง ๑๖ เชือกลงลุยในคลอง  ไล่ยิง แทง ฟัน พวกไทยกองลำเลียงตายในน้ำ ๕๖ คน  เขมรที่ขี่กระบือนั้นก็นำกระบือลุยไล่ตามจับเรือลำเลียงได้ทั้งสิ้น  พบคนที่แอบอยู่ในเรือนั้นเจ็บลำบากมีบาดแผล ๓๐ คน  ก็ไม่ฆ่า  พาพวกป่วยไข้ ๓๐ คนมารวบรวมไว้ในเรือลำหนึ่งสองลำ  แต่คนไทยที่ไม่มีบาดแผลเจ็บป่วยแอบอยู่ในเรือต่าง ๆ นั้น ๒๔ คน  แต่ล้วนถืออาวุธครบมือทุกคน  พวกเขมรเห็นดังนั้นก็จับคนไทย ๒๔ คนมาฟันแทงฆ่าตายเสียหมด  ฝ่ายพวกเขมรเก็บริบข้าวปลาอาหารในเรือลำเลียงไปทั้งสิ้น  แต่เรือลำเลียง ๒๓ ลำนั้น  เขมรบรรทุกข้าวไปบ้าง  กระทุ้งท้องเรือทะลุให้จมเสียบ้าง  พวกในไทยเรือลำเลียงนั้นหนีขึ้นบกไป  จึงได้รอดชีวิตกลับมาเมืองบันทายมาศบ้าง  กลับมาเมืองจันทบุรีบ้าง

(https://i.ibb.co/DMmbXB0/Unctitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

              ขณะเมื่อเขมรมาทำการจลาจลยิงแทงฟันพวกกองลำเลียงนั้น  หลวงยกกระบัตรบุตรพระยาจันทบุรีเป็นนายกองคุมเรือลำเลียงมา  เห็นว่าพวกเขมรทำแก่ไทย  ไทยตายมากดังนั้นแล้ว  ก็ตกใจกลัวรีบลงเรือเล็กแปดแจวหนีมาก่อนแต่แรกรบกัน  ทิ้งให้แต่ไพร่พลอยู่ต่อสู้กับพวกศัตรูเขมร  เขมรก็ฆ่าไพร่ไทยพาเรือลำเลียงไปได้สิ้น  หลวงยกกระบัตรหนีมาถึงเมืองบันทายมาศได้แล้ว  ไปแจ้งข้อราชการแก่เจ้าพระยาพระคลัง

(https://i.ibb.co/jH9CVLW/Untixxtled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

              เจ้าพระยาพระคลังมีบัญชาสั่งให้พระปลัดเมืองตราด  บุตรผู้ใหญ่พระยาจันทบุรีและเป็นพี่ชายต่างมารดากับหลวงยกกระบัตร  ให้พระปลัดเมืองตราดคุมไพร่พล ๓๐๐ กองหนึ่ง  แล้วให้เป็นนายทัพบกไปติดตามตีเรือลำเลียงอาหารที่เขมรตีไว้นั้นคืนมาให้จงได้  ถ้าไม่ได้เสบียงคืนมาก็ให้ตามไปจับพวกเขมรเหล่าร้ายที่เมืองกำปอดให้ได้มาบ้าง   ให้พระปลัดรีบยกไปทางบกก่อนโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/k6dZ30v/Uncctitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

              แล้วสั่งให้หมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราดคุมไพ่พล ๒๐๐ คน  เป็นนายทัพบกยกเพิ่มเติมไปติดตามเรือลำเลียงอีกกองหนึ่ง  แต่ให้ไปทางด้านตะวันตก  ให้ยกไปร่วมกันกับพระปลัดที่เมืองกำปอดด้านเหนือ  จะได้ช่วยกันค้นหาพวกเขมรผู้ร้ายให้ได้มาให้จงได้

(https://i.ibb.co/WtXQZry/Unctitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

              ฝ่ายพระปลัดเมืองตราดชำนิชำนาญทางเดินป่าเขมร  จึงเดินไปถึงเมืองเขมรเมืองกำปอดก่อนกองหลัง  กองพระปลัดยกเดินไปถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง เป็นแม่น้ำเก่าตื้นมาก  อยู่ในป่าแขวงเมืองกำปอด  และพระปลัดถึงฝั่งแม่น้ำเก่าเขมรเรียกชื่อว่า  “กำแพงดำริฉลอง”  แปลเป็นภาษาไทยว่า  “ท่าช้างข้าม”  เป็นเวลาพลบค่ำ  พระปลัดสั่งให้ไพร่พลหยุดกองทัพพักอยู่ที่หาดทรายคืนหนึ่ง  ในคืนวันนั้น  เขมรป่าดงในแขวงเมืองกำปอด  ลอบนำปืนคาบศิลามาแอบต้นไม้ใหญ่ที่บนตลิ่ง  ยิงลงมาถูกผู้คนในกองทัพพระปลัดตาย ๓ คน  ขณะนั้นไพร่พลในกองทัพตกใจระส่ำระสายเรไปรวนมาอยู่ตามหาดทราย  ในเวลากลางคืนวันนั้น  เขมรนำปืนยิงสาดลงมายังรุ่ง  พระปลัดเห็นดังนั้นแล้ว  จึงแต่งให้หลวงอภัยภักดีกับหลวงศรีสงคราม  คุมไพร่พลถือปืนนกสับคาบศิลาครบมือกัน  ยกขึ้นไปบนตลิ่งเวลาสองยาม  เพื่อจะได้ต่อสู้กับศัตรูเขมรในที่นั้น  แต่หลวงอภัยภักดีกับหลวงศรีสงครามคุมกองทหารยกขึ้นไปถึงกึ่งตลิ่ง  เขมรนำปืนยิงสาดลงมามาก  กองทัพไทยทั้งสองกลัวปืนเขมร  ก็ยกขึ้นไปแอบซุ่มอยู่ที่ใต้กอตะไคร่น้ำ  ไม่อาจสามารถจะยกขึ้นไปต่อสู่กับเขมรบนตลิ่งได้  เพราะความขลาดกลัวพวกเขมร  เขมรก็ยิ่งมีน้ำใจกำเริบ  นำปืนยิงปรักปรำสาดลงมาจากบนตลิ่งยังรุ่งจนสว่าง  ครั้งนี้รี้พลในกองทัพพระปลัดตายมาก

               (คำกลางขวางถามเข้ามาว่า  ครั้งนั้นกองทัพไทยพระปลัดเข้าที่อับจนแล้ว  และไม่ต่อสู้ด้วย  ก็เหตุใดเล่าพวกเขมรจึงนำปืนยิงอยู่บนตลิ่งยังรุ่งจนสว่างแล้วก็หนีไปหมดนั้นเพราะเหตุใดฤๅ?    ขอถามอีกว่า  ทำไมพวกเขมรจึงไม่ยกลงไปยิงแทงฟันฆ่ากองทัพไทยที่ไม่ต่อสู้  ตั้งอยู่ที่หาดทรายในลำแม่น้ำเก่านั้นให้ตายเสียหมดจะมิดีหรือ ?   เขมรตั้งยิงอยู่บนตลิ่งยังรุ่งให้เปลืองลูกดินและอดนอนด้วยเหล่านั้นเหตุใด?
               มีคำแก้ตอบว่า  เห็นทีพวกเขมรที่มาแอบลอบยิงไทยนั้นจะมีพวกเขมรมาน้อยกว่าไทยมากนัก  เพราะฉะนั้นพวกเขมรจึงไม่กล้าสามารถลงไปต่อรบสู้หน้าสู้ตากับไทย  เป็นแต่ลอบยิงอยู่บนตลิ่งไกล ๆ ทำอำนาจขู่ให้ไทยกลัว  จะได้กลับทัพไปเสียหมด  เขมรคิดจะไม่ให้ไทยตามไปพาเรือลำเลียงของไทยกลับคืนมาได้  จึงทำอำนาจต่าง ๆ นานา)

              ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า  เขมรที่ลอบยิงก็หายไปหมดทุกทิศทุกทาง  ฝ่ายพระปลัดเมืองตราดก็คุมไพร่พลยกข้ามแม่น้ำเก่าท่าช้างข้าม  เดินทัพไปตามทางป่าระนาม  ปรารถนาจะไปตามเรือเสบียงอาหารที่เขมรตีไปนั้น  ครั้นเดินกองทัพไปถึงห้วยลำละหานแห่งหนึ่ง  ที่นั้นเป็นลำห้วยลำธารที่น้ำไหลมาแต่ภูเขาทิศตะวันออก  ที่ลำธารนั้นกว้างประมาณ ๑๗ วาเศษ  ฝั่งลำธารนั้นสูงประมาณ ๑๐ วาบ้าง ๕ วาบ้าง  เป็นศิลากองตามฝั่งบ้าง  เป็นดินปนกรวดบ้าง  ตามฝั่งนั้นตลอดไปในลำธาร  ในลำธารนั้นมีน้ำเป็นลำห้วยเป็นห้วง ๆ  ลึก ๑ ศอกบ้าง  ลึก ๒ ศอกบ้าง  เป็นอย่างตื้นเป็นแห่ง ๆ เป็นตอน ๆ ไปในลำธารนั้น ๆ  ที่อย่างลึก ๘ ศอก ๑๐ ศอกมีตลอดเป็นพืดเนื่องกันมากกว่าที่ตื้น ๆ  มีน้อยแห่งที่  แต่ที่ข้ามครั้งนั้นพระปลัดต้อนไพร่พล ๓๐๐ คนลงในลำธาร  เพื่อจะข้ามลำห้วยไปขึ้นที่ฟากข้ามเหนือป่ากำปอดในดงตะเคียน  ขณะข้ามลำห้วยนั้น  ไม่ได้พิจารณาทางที่ข้ามตามฝั่งนั้น  ว่าจะมีทางหนีทีไล่ที่ไหนบ้าง  มีความเคลิ้มเขลาไปมาก  จึงได้ต้อนไล่ไพร่พลลงในลำธาร  ให้เดินเลียบไปในลำห้วย  หมายใจว่าจะหาที่ตื้น  จะได้ข้ามลำห้วยลัดขึ้นบนตลิ่งเดินไปตามฝั่งลำธารนั้นต่อไป

(https://i.ibb.co/6HrfPdC/Uncvitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

              ขณะเมื่อไพร่พลทหารไทยกำลังเดินเลียบอยูริมห้วยนั้น  ฝ่ายเขมรเหล่าร้ายพวกที่ยิงไทยเมื่อวันก่อนนั้น  เขมรพวกนั้นพากันมาแอบซุ่มอยู่ในป่า  เห็นไทยลงมาในลำห้วยหมดทั้ง ๓๐๐ คนแล้ว  เขมรก็กรูกันออกมาจากวอกเขาในป่า  วิ่งมาตัดต้นไม้ใหญ่และต้นยาง  โค่นล้มลงให้ปิดซอกทางที่บนริมฝั่งลำห้วยเสียหลายแห่งตามที่ทางท่าไทยลงไปนั้นทุกช่องทุกท่า  และพวกเขมรอีกพวกหนึ่งก็ไปตัดต้นไม้ใหญ่  ปิดช่องทางตามฝั่งลำห้วยข้างเหนือเสียหลายท่าหลายทางทุกช่อง  เขมรทำการตัดต้นไม้ปิดช่องปิดท่าตามฝั่งเหนือและฝั่งใต้  ไม่ให้ไทยขึ้นจากลำห้วยลำธารได้นั้น  ก็เพราะจะคิดทำร้ายแก่ไทยให้ตาย  ขณะกองทัพไทย ๓๐๐ คนเดินอยู่ในลำห้วยนั้น  เขมรเห็นได้ทีก็พากันมาประมาณ ๗๐ คนเศษ  ช่วยกันกลิ้งก้อนศิลาบนฝั่งลำห้วยให้ตกลงมาทับไพร่พลไทย  ซึ่งเดินอยู่ในพื้นลำห้วยนั้นเจ็บป่วยตายก็มีเป็นอันมาก  เขมรบางพวกประมาณ ๓๐-๔๐ คน  นำปืนคาบศิลาและหน้าไม้มายิงระดมลงมาแต่บนฝั่งลำห้วยเป็นอันมาก  กระสุนปืนและลูกหน้าไม้ถูกพวกไทยที่กำลังเดินอยู่ในลำห้วยไม่รู้ตัวนั้น  ตายมากกว่า ๕๐ คนเศษ  พวกกองทัพไทยที่เหลือตายเดินอยู่ในลำห้วยนั้น  ก็นำปืนคาบศิลายิงขึ้นไปบ้าง  แต่หาถูกพวกเขมรไม่  เพราะมีต้นไม้และก้อนศิลาบนฝั่งบังกระสุนปืนไทยไม่ถูกเขมรเลย.........”

(https://i.ibb.co/R9RhCDK/oncotritan.jpg) (https://imgbb.com/)

              *** เห็นสถานภาพทหารไทยในกองทัพเรือแล้ว  ไม่น่าจะไปรบญวนได้  เพียงกองโจรเขมรขี่ควายลุยโคลนลงมาปล้นเรือลำเลียงเสบียงอาหารไทย  ก็ยังสู้ไม่ได้  ถูกโจรเขมรขี่ควายปล้นเรือลำเลียงเสบียงอาหารไปหมด  มาถึงกองทัพไทยเดินบกไปติดตามเอาเรือเสบียงคืนนั่นเล่า  นายกองทัพไทยก็มีความฉลาดน้อยกว่าเขมรป่าดง  ถูกลอบยิงตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า  นายทัพนำไพร่พลเข้าสู่จุดอับตั้งแต่ลงไปนอนพักแรมในหาดทรายโล่งแจ้ง  ให้โจรเขมรแอบซุ่มยิงเล่นทั้งคืน  กลางวันก็พาไพร่พลเดินเลียบตามลำธาร  เป็นเป้าให้เขมรแอบซุ่มยิงได้อีก  ยังไม่รู้ว่ากองทัพของพระปลัดเมืองตราดรอดพ้นมือโจรเขมรไปได้อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ......

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ มีนาคม ๒๕๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มิถุนายน, 2563, 08:38:07 AM
(https://i.ibb.co/K2NK1K3/1438627645-IMG6909-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๑ -

ทหารไทยอ่อนแอแพ้โจรเขมร
จึงถูกเข่นถูกฆ่าน่าสงสาร
ตายเกือบครบสามร้อยย่อยแหลกลาญ
นายทัพซานซมตนซ่อนพ้นตาย

ทัพที่สองนายเด่นยศเป็น “หมื่น”
สามารถคืนแค้นเขมรประเคนถวาย
เฉลียวฉลาดคาดการณ์บั้นต้นปลาย
กำลังคลายปมของกลุ่มกองโจร


          อภิปราย ขยายความ .....................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน  ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ  ได้เรียบเรียงขึ้น เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่..  หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี  คุมกองเรือลำเลียงเสบียงไปส่งเข้ากองทัพเรือที่เมืองบันทายมาศ  ถูกกองโจรเขมรป่าดงเมืองกำปอดดักปล้นชิงไปได้ทั้งหมด  เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้พระปลัดเมืองตราดยกกองกำลัง ๓๐๐ คนไปติดตามเอาเรือลำเลียงเสบียงอาหารคืน  พระปลัดพากองทัพไปถึงเมืองกำปอด  พักแรมคืนกลางหาดทรายริมแม่น้ำเก่า  ถูกเขมรแอบซุ่มยิงตลอดคืน  พลล้มตายไปหลายคน  รุ่งขึ้นก็พากองกำลังเดินเลียบริมลำธารไปหาแหล่งที่เดินข้ามลำธาร  ก็ถูกเขมรตามซุ่มยิงอีก  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/CW9tqHb/Untitl0ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “........ครั้งนั้น  เขมรบางพวกตัดไม้รวกเสี้ยมเป็นหลาวพุ่งลงมาแต่บนฝั่งลำห้วย  ตกถูกกองทัพไทยล้มตายลำบากมากนัก  ที่เหลือตายนั้นน้อย  ก็คุมกันยิงโต้ตอบขึ้นไปพลาง  เพื่อจะหาทางหนี  ขึ้นจากลำห้วยมิได้แล้วรีบเดินหนีรุดวนเวียนอยู่ในลำห้วยต่อไป  ถึงที่น้ำลึก ๑๐ ศอก ๓ วาในลำห้วยแห่งหนึ่ง  จะเดินข้ามที่น้ำลึกก็ไม่ได้  ต้องกลับมาทางเก่า  พวกเขมรเห็นดังนั้นได้ทีมีโอกาสดังนั้นแล้ว  จึงนำปืนไฟและหน้าไม้ยิงระดมสาดลงไปสกัดหลังไว้  ไม่ให้พวกไทยกลับมาทางเก่าที่ตื้น  ขณะนั้นพวกไทยถูกกระสุนปืนและลูกหน้าไม้เจ็บลำบากมากด้วยกัน  ก็พากันตกใจกลัวสิ้นสติไม่รู้ที่จะหนีไปทางใดได้  เป็นการจวนตัวเต็มที  จึงพากันหนีโดดลงที่น้ำลึกในห้วยทุกคน  บ้างว่ายน้ำวนเวียนไปมาอยู่ในน้ำที่ลึกด้วยกันทั้งสิ้น  เขมรเห็นไทยเข้าที่จนดังนั้นแล้ว  จึงนำปืนและหน้าไม้ยิงลงไป  ถูกไทยที่ว่ายน้ำอยู่ในน้ำนั้นตายมาก  บางพวกก็นำหลาวไม้รวกพุ่งลงไปถูกไทยตายบ้าง  เขมรบางพวกก็นำก้อนศิลาทิ้งขว้างลงไปถูกไทยที่ว่ายน้ำอยู่นั้นจมตายบ้าง  ไพร่พลกองทัพไทยตายในห้วยครั้งนั้น ๒๖๖ คน  ที่เหลือรอดตายอยู่นั้น ๓๔ คนทั้งพระปลัดเมืองตราดคนหนึ่งเป็น ๓๕ คน  ทั้ง ๓๕ คนนั้นเที่ยวแอบแฝงซุ่มซ่อนอยู่ตามห้วยกลีบเขา  ที่ไหนมีภูเขาเป็นที่กำบังก็เข้าซ่อนตัวอยู่ต่าง ๆ กันหลายแห่งในลำห้วย  ฝ่ายเขมรเห็นศพไทยตายกลาดเกลื่อนไปในลำห้วยลำธารดังนั้นแล้ว  เขมรก็สำคัญเข้าใจว่าไทยตายหมดไม่เหลือเลย  เพราะพวกไทยที่เหลือตาย ๓๕ คนแอบซุ่มซ่อนอยู่ตามซอกห้วยเหลืบเขานั้น เขมรหาเห็นไม่  พวกเขมรเหล่าร้ายนั้นประมาณ ๗๐ คนเศษหรือ ๘๐ ราวนั้น  ก็พากันลงไปในลำห้วย  ช่วยกันเก็บปืนคาบศิลาและดาบที่กองทัพไทยตาย  ทิ้งเรี่ยรายอยู่ในลำห้วยเก็บนำมาทั้งสิ้น  บางพวกก็เก็บเสื้อกางเกงเครื่องแต่งในกองทัพไทยมาด้วยก็มาก  บางพวกก็ดำลงน้ำหาปืนและดาบที่ไทยทำตกน้ำจมเสียเมื่อวิ่งหนีบ้างเมื่อว่ายน้ำหนีบ้าง

(https://i.ibb.co/pyZXQGp/Untitldded-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในวันนั้นเวลาบ่ายประมาณสามโมงเศษ  พอกองทัพไทยอีกกองหนึ่ง  ซึ่งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราดคุมพลทหาร ๒๐๐ คน  เดินทัพยกตามมาภายหลัง  ก็พอถึงฝั่งลำธารชื่อว่าลำห้วยละหานซึ่งเขมรเรียกว่า  “จันเลาะ” (แปลเป็นภาษาไทยว่าลำห้วย) เป็นเวลาบ่ายแล้ว  หมื่นสิทธิสงครามไล่ต้อนพลขึ้นบนลำฝั่งห้วย  จะข้ามลำธารน้ำไปขึ้นฟากข้างเหนือตามทางตรงไปในป่าดงตะเคียน  ขณะจะข้ามนั้นแลเห็นพวกเขมรเหล่าร้ายประมาณ ๗๐-๘๐ คนลงเก็บเครื่องอาวุธอยู่ในลำห้วย  แล้วเห็นศพพวกคนไทยตายเกลื่อนอยู่ตามลำห้วยเป็นอันมาก  ก็เข้าใจว่าทัพพระปลัดเมืองตราดเสียรี้พลกับเขมรหมดแล้ว  หมื่นสิทธิสงครามนายทัพก็สั่งให้พลทหาร ๒๐๐ คนแยกออกเป็นปีกกา  แล้วให้โห่ร้องกระหน่ำสำทับเป็นเสียงไทยพวกหนึ่ง  ให้โห่ร้องเป็นเสียงญวนพวกหนึ่ง  เพื่อจะให้เขมรตกใจกลัวว่าทั้งไทยทั้งญวนมาพร้อมกัน  จะให้เขมรสิ้นความอาลัยห่วงใยที่จะไปพึ่งญวนนั้น  จะได้สิ้นความหวังใจของเขมร  เขมรจะได้อ่อนน้อมยอมแพ้แก่ไทยโดยง่าย  แล้วสั่งให้พลทหารยิงปืนคาบศิลายิงระดมลงไปแต่บนตลิ่งลำห้วย  กระสุนปืนไทยตกลงไปถูกเขมรล้มตายเป็นอันมาก  ฝ่ายเขมรไม่ทันจะรู้ตัวจึงมิได้ยิงปืนโต้ตอบขึ้นมาบ้าง  เป็นแต่วิ่งหนีไปในลำห้วย

          ขณะนั้นพวกคนไทย ๓๔ คนเป็น ๓๕ ทั้งพระปลัดด้วยที่เหลือตายแอบซุ่มซ่อนอยู่ตามซอกห้วยหลืบเขา  ได้ยินเสียงโห่ร้องเป็นเสียงไทยบ้าง  เสียงญวนบ้าง  แล้วก็ออกมาดู  เห็นเป็นพวกเดียวกัน  แลเห็นพวกเขมรศัตรูเท่านั้นถูกกระสุนปืนไทยล้มลงตายลงเป็นอันมาก  เขมรที่เหลือตายก็วิ่งหนีไปแอบซ่อนซุ่มอยู่ในลำห้วย  พวกไทย ๓๕ คนเห็นการเป็นดังนั้นแล้ว  และมีอาวุธพร้อมมือกันทั้ง ๓๕ คน  ก็ออกจากที่ซุ่มซ่อน  ช่วยกันไล่ฆ่า ฟัน ยิง แทง พวกเขมรเหล่าร้ายนั้นตายสิ้น  ไม่เหลือเลยแต่สักคนหนึ่ง  เขมรตายในลำห้วยครั้งนั้นนับศพได้ ๗๗ คน

           (เขมรตายครั้งนี้เหมือนคำสุภาษิตว่าไว้บทหนึ่งว่า  ทุกขะโต ทุกขะถานัง  ผู้ใดให้ทุกข์แก่ท่านฉันใดทุกข์นั้นก็จะมาถึงตัวเหมือนกัน  ความข้อนี้ได้แก่เขมร  เขมรให้ทุกข์แก่ไทยแล้วไม่ช้าล่วงเวลาเลย  ก็เห็นในทิฏฐะเวทะนียะกรรมให้ผลมาตามทัน  ไทยก็มาล้างผลาญสังหารชีวิตตอบแทนแก้แค้นบ้าง)

(https://i.ibb.co/H7w5w8c/Untxxitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          หมื่นสิทธิสงครามปราบปรามพวกเขมรเหล่าร้ายตายหมดแล้ว  จึงรับพระปลัดเมืองตราดและไทยที่เหลือตาย ๓๕ คนนั้นเข้าไว้ในกองทัพแล้ว  ก็ยกพลทหารข้ามลำห้วยเดินทัพไปข้างเหนือ  รุ่งขึ้นถึงป่าตำบลหนึ่ง  เขมรเรียกชื่อว่า  “ไพรพุกฉมา”  (แปลเป็นภาษาไทยว่าป่าพุงดอ)  หมื่นสิทธิสงครามพิจารณาดูตามภูมิลำเนาป่านั้น  เห็นหญ้าตามพื้นแผ่นดินเป็นรอยทางคนเดิน  หญ้าราบซ้ำเป็นแถวไป  หมื่นสิทธิสงครามเป็นผู้มีวิริยะปัญญาฉลาดในการพิชัยสงคราม  เมื่อเห็นหญ้าราบเป็นรอยเท้าคนเดินไปในป่าดังนั้นแล้ว  ก็อาจสามารถเข้าใจว่าพวกเขมรเหล่าร้ายแอบซุ่มซ่อนด้อมมองคอยทำร้ายกองทัพไทยอยู่ที่นี้อีกเป็นมั่นคง  ชะรอยพวกเขมรเหล่าร้ายเห็นกองทัพไทยเดินมาทางนี้โดยมาก  มันจึงพากันหนีไปซ่อนตนอยู่ในป่าละเมาะดงพุงดอ  เพื่อมันจะคอยลอบนำปืนยิงตัดท้ายพลกองทัพเรา  ฝ่ายเราก็จะคิดกลอุบายซ้อนกลพวกเขมรบ้าง  จึงจะจับเป็นเขมรได้บ้างแล้ว  จะได้พาจำคาติดไม้  เฆี่ยนถามให้ได้ข้อความ  ที่พวกมันตีปล้นพาเรือลำเลียงเสบียงอาหารของไทยไปไว้ที่ใดบ้าง  แล้วจะได้ให้มันนำกองทัพไทยไปจับพวกมัน

(https://i.ibb.co/23gjRPF/Ucntitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          คิดดังนี้แล้ว  จึงสั่งหมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา  คุมไพร่พล ๖๐ คนไปซุ่มอยู่ในป่าระนามท้ายทางที่กองทัพใหญ่เดินไปนั้น  แล้วหมื่นสิทธิสงครามนายด่านแม่กองใหญ่สั่งให้เดินกองทัพเป็นลำดับไปตามทางป่าพุงดอ  ฝ่ายพวกเขมรเหล่าร้ายที่แอบซุ่มอยู่ในป่าพุงดอนั้น  ครั้นเห็นกองทัพใหญ่ของไทยเดินไปเป็นลำดับ  พวกเขมรเหล่าร้าย ๔๐ คนที่ซุ่มอยู่ในป่ารกก็ออกมาสกัดทาง  นำปืนยิงตัดท้ายพลกองทัพไทยตายลง ๒ คน  เพราะพวกนั้นเดินล่าช้าอยู่สุดท้ายจึงตาย  หมื่นสิทธิสงครามทราบดังนั้นแล้ว  จึงสั่งขุนศรีสังหารขึ้นม้าไปสั่งพลทหารกองหลังให้กลับหน้าลงไปทางข้างใต้  แล้วให้แยกทัพออกเป็นปีกกา  ตีระดมลงไปไม่รอรั้ง  ฝ่ายหมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา  ที่คุมพลทหาร ๖๐ คนไปซุ่มอยู่ในป่านั้น  ครั้นได้ยินเสียงกองทัพไทยโห่ร้องยิงปืนต่อรบกับข้าศึกเขมรดังนั้น  ก็ยกพล ๖๐ คนออกจากป่า  โห่ร้องยิงปืนกระหน่ำสำทับตีหนุนหลังเป็นทัพขนาบสกัดทางไว้  แล้วตีรุกขึ้นมาทุกทีจนใกล้ทัพใหญ่  พวกเขมรเหล่าร้าย ๔๔ คนอยู่ในระหว่างกลางศึกขนาบ  ต้องต่อสู้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง  เขมรพวกนั้นต่อสู้จนตายในกลางที่รบบ้าง ๒๐ คน  เขมรเหลือตาย ๑๔ คนหนีไปไม่พ้น  ก็วางอาวุธลงกราบไหว้ไม่ต่อสู้  กองทัพไทยก็จับเป็นมาได้ ๑๔ คน  หมื่นสิทธิสงครามนายทัพใหญ่  สั่งให้ทหารตัดไม้ทำเป็นคาจำคอพวกเขมร ๑๔ คน  แล้วปักหลักผูกเท้า  ผูกเอวติดไม้ขมับเฆี่ยนหลัง ๑๕ ที  ถามทั้ง ๑๔ คน  ทั้ง ๑๔ คนทนเจ็บไม่ได้  ต้องให้การบ้างเล็กน้อย  แต่หากระจ่างแจ่มแจ้งไม่  จึงสั่งให้เฆี่ยนอีกคนละสองยกเป็น ๖๐  ก็ยังไม่ได้ความจริงก็มี .....”

(https://i.ibb.co/JBYtn7Z/Untiftled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          *** ความเก่ง ความกล้า ความฉลาดรอบรู้ของคนไทย  มิใช่ว่าคนเป็นคุณพระ  คุณหลวง  จะมีมากว่าพวก  ขุน  หมื่น  พันทนายไพร่พล  ดังในเรื่องจริงที่เรากำลังอ่านอยู่นี้  คุณหลวงพาคนไปตายและของหลวงเสียหาย  คุณพระก็พาคนไปตายหมดเกือบทั้งกองทัพ  ครั้งหลังสุดนี้คุณพระมีไพร่พลมากถึง ๓๐๐ คน  ปืนดาบมีครบมือ  กลับพ่ายแพ้เขมรที่มีเพียง ๗๐ คนเศษ  มีปืนบ้างหน้าไม้บ้าง  หลาวไม้ไผ่บ้าง  ยังสามารถฆ่าไทยตายเกือบ ๔๐๐ คน  เป็นเพราะอะไรหรือ?  ขออนุญาตไม่อภิปรายในที่นี้ก็แล้วกัน  ส่วนหมื่นสิทธิสงครามมีพลเพียง ๒๐๐   เดินทัพด้วยความรอบคอบรัดกุมจนสามารถฆ่าโจรเขมร ๗๐ คนเศษนั้นตายเรียบ  และยังใช้อุบายหลอกฆ่าและจับโจรอีกกลุ่มหนึ่งได้แล้วกำลังสอบปากคำ  เพื่อนำไปสู่การตามจับกองโจรที่ขี่ควายมาปล้นเรือลำเลียงเสบียงอาหารนั้น  ผลการสอบปากคำจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ...

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, มิถุนายน, 2563, 10:11:46 PM
(https://i.ibb.co/Q8vNrCT/1432659106-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๒ -

หมื่นสิทธิสงครามใช้ความโหด
สั่งลงโทษเค้นขู่ดูโลดโผน
เอาเพลิงรุมเผาลนขนผมโล้น
จึ่งยอมโยนดื้อแพ้แก่ทัณฑกรรม

บอกหัวหน้าชุมชนโจรเขมร
“พระคะเชนทรพิทักษ์”ไซร้มิใช่ต่ำ
นายกองช้างนักองจันทร์ชั้นผู้นำ
ไทยจึงทำการล้างทั้งบางเลย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่..  พระปลัดเมืองตราดพาไพร่พล ๓๐๐ คนลงไปติดกับโจรเขมรในลำธาร  ถูกเขมรฆ่าตายเกือบหมดสิ้นทั้งกอง  พระปลัดและไพร่อีก ๑๔ คนหนีไปแอบซุ่มอยู่  เขมรคิดว่าไทยตายหมดแล้วจึงลงไปเก็บปืน  มีด  และเสื้อผ้าทหารไทย  ขณะเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ไทยเพลินอยู่นั้น  กองกำลังของหมื่นสิทธิสงครามก็เดินทางไปถึง  พบเห็นเช่นนั้นจึงสั่งกองกำลังขยายปีกการะดมยิงลงไป  เขมรไม่ทันรู้ตัวก็ถูกปืนตายเกลื่อน  ที่วิ่งหนีไปได้ก็ไม่รอด  เพราะพระปลัดกับไพร่ที่หลบซ่อนอยู่เห็นเช่นนั้นก็กรูกันออกมาเข่นฆ่าเสียจนสิ้นทุกคน  หมื่นศรีสงครามรับพระปลัดและพวกเข้าในกองของตนแล้วยกข้ามลำธารไปถึงป่าดงพุงดอ  ทำอุบายเข่นฆ่าเขมรที่ซุ่มอยู่คอยโจมตีไทยนั้นตายเกือบหมด  จับเป็นได้ ๑๔ คน  นำมาเฆี่ยนตีเค้นถามความจริงว่าโจรเขมรปล้นเรือลำเลียงไปไว้ที่ใด  แต่ยังไม่ได้ความจริง  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/vZfnCGR/DEy-Yq-Us-UAAAj-ZRR.jpg) (https://imgbb.com/)

           “หมื่นสิทธิสงครามมีความโกรธหนัก  จึงสั่งพันจงใจหาญลาวเก่า  ให้มัดมือพวกเขมร ๑๔ คนโยงไว้บนราวไม้ไผ่เป็นแถวห่าง ๆ กัน  แล้วให้ทำคบจุดเพลิงเข้าลนตามตัวพวกเขมรทุกคน  จนผมและขนไหม้  หนังเกรียมเป็นแผลพอง ๆ ขึ้นทุกคน  เขมรทนร้อนไฟไม่ได้จึงต้องให้การต้องคำกันว่า

           “พระคะเชนทรพิทักษ์เขมรนายกองช้างนักองจันทร์  ตั้งให้คุมคนเลี้ยงช้างอยู่ที่เมืองกำปอดนั้น  พระคะเชนทรพิทักษ์ทราบว่ากองทัพไทยแตกพ่ายญวนมาแล้ว  และกองลำเลียงไทยบรรทุกข้าวปลาอาหารมาถึงเมืองกำปอด  ติดน้ำยังกำลังเข็นเรืออยู่ที่ในคลอง  พระคะเชนทรพิทักษ์เห็นว่าได้ทีมีช่อง  จึงได้ชักชวนไพร่พลชาวบ้านป่าที่อดอยากขัดสนเสบียงนั้นได้ ๗๐-๘๐ คนแล้ว  ก็พากันมาตีปล้นเรือเสบียงไทยไปได้เรือ ๒๓ ลำ  แบ่งปันเสบียงอาหารให้ชาวบ้านป่าดงที่ป่าวร้องมาช่วยกันตีปล้นนั้นไปเป็นส่วน ๆ  แต่เรือ ๒๓ ลำนั้น กระทุ้งท้องเรือให้จมเสียบ้าง  ยังอยู่ที่บ้านพระคะเชทรพิทักษ์ที่ริมหนองบัวบ้าง  แล้วพระคะเชนทรพิทักษ์คิดกลัวกองทัพไทยจะยกมาติดตามเรือเสบียงที่ตีมาไว้นั้น  จึงแต่งให้ขุนกำแหงเดชไกรผู้บุตร คุมคนชาวบ้านป่า ๑๐๐ เศษ  มาสังกัดคอยตีกองทัพไทยให้แตก  จะได้ไม่ไปตามถึงบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์  พระคะเชนทรพิทักษ์ปล้นได้ช้างพลายพังของไทยเมื่อกำลังชักลากเรือเดินมาในป่านั้น  ฆ่าไทยตายหมดแล้วจึงจับช้างไปได้ ๒๐ เชือกเศษ  คิดว่าจะนำไปขายให้ญวน  แต่เดี๋ยวนี้ช้างที่ตีปล้นของไทยไปได้  ยังอยู่ที่บ้านพระคะเชนทรพิทักษ์บ้าง  แจกจ่ายให้ไปตามชาวบ้านป่าดงบ้าง  และช้างเก่าของนักองจันทร์ก้ยังมีอยู่มากหลายเชือก  แต่อยู่ที่บ้านพระคะเชนทรพิทักษ์บ้าง  อยู่ที่ในป่าดงพระเพลิงบ้าง ให้พวกเขมรกองช้างเลี้ยงไว้บ้าง”

          สิ้นคำให้การพวกเขมร ๑๔ คนเท่านี้แล้ว

(https://i.ibb.co/cX7yGjR/Untitleed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          หมื่นสิทธิสงครามได้ทราบคำให้การเขมรดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้พันจงใจหาญลาวเก่าตัดไม้ทำตะโหงกจำคอพวกเขมร ๑๔ คน  พาไปในกองทัพด้วย  เพื่อจะให้มันนำกองทัพไทยไปยังบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ ณ หนองบัวในป่าแขวงเมืองกำปอด  เมื่อกองทัพไทยไปถึงบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์นั้น  เป็นเวลาสามยาม  หมื่นสิทธิสงครามสั่งให้หมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา  คุมไพร่พล ๑๐๐ ยกเข้าล้อมบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ด้านเหนือ  ให้พันจงใจหาญคุมนักโทษเขมร ๑๔ คนอยู่รักษาที่ชุมนุม  มีคนอยู่ด้วย ๑๖ คน  หมื่นสิทธิสงครามคุมไพร่พล ๑๐๐ ยกเข้าล้อมบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ด้านใต้  พอได้เวลาสัญญาแก่กันแล้ว  จึงให้โห่ร้องเป็นเสียงไทยกองหนึ่ง  โห่ร้องเป็นเสียงเขมรกองหนึ่ง  ต้อนไพร่พลเข้าล้อมบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์  แล้วนำปืนคาบศิลายิงระดมกระหน่ำสำทับเข้าไปทั้งสองด้าน  ด้านเหนือต้องลุยเลนในหนองบัวเข้าไปจนถึงหมู่บ้านเขมรพวกพระคะเชนทรพิทักษ์  ไทยจึงได้ยกเข้าปล้นบ้านเขมรด้านใต้เข้าทางถนนท้ายหนองบัว  ตรงเข้าไปถึงเรือนพระคะเชนทรพิทักษ์ก่อนทุกกอง

(https://i.ibb.co/WgZNdsK/unnamed-24.jpg) (https://imgbb.com/)

          หมื่นสิทธิสงครามจับได้ตัวพระคะเชนทรพิทักษ์ทั้งบุตรชายหญิงและภรรยาครอบครัวเขมรจับเป็นมาได้ ๔๖ คน   กองหมื่นอินทราวุธ หมื่นนรินทรโยธาจับเขมรเป็นมาได้ ๒๐ คน  รวมได้เขมรเชลยมา ๖๐ คนทั้งชายทั้งหญิง  แต่เขมรที่สู้รบต้องปืนตาย ๕๔ คน  ที่แตกหนีเข้าป่าดงไปก็มาก  เขมรที่จับเป็นมาได้นั้นจำตะโหงกคอไว้ทั้ง ๖๖ คน  ใช้ให้หาบคอนและเลี้ยงม้า  แล้วหมื่นสิทธิสงครามแต่งให้พันจงใจหาญคุมไพร่ไทย ๑๐๐ คน  กับให้เขมร ๑๔ คนเป็นผู้นำทางไปในป่า  ให้เที่ยวค้นหาจับช้างของพระคะเชนทรพิทักษ์  ซึ่งไปเลี้ยงไว้ในป่าให้ไล่ต้อนมาให้สิ้นเชิง   ครั้งนั้นพันจงใจหาญได้ช้างพลายพังในป่ามาได้  พลาย ๑๒ เชือก  พัง ๘ เชือก  รวมเป็น ๒๐ เชือก  ที่พวกเขมรขี่พาหนีสูญไปในป่าก็มีมากกว่า ๒๐ เชือก  แต่หมื่นสิทธิสงครามจับช้างได้ในบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์ พลาย ๖ เชือก  พัง ๑๒ เชือก  รวมเป็น ๑๘ เชือก  รวมช้างทั้งสองราย ๓๘ เชือก  รวบรวมช้างมาไว้ในกองทัพไทยทั้งสิ้น  แล้วเก็บได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินต่าง ๆ ของพระคะเชนทรพิทักษ์  และของพวกครอบครัวเขมรที่บ้านหนองบัวนั้นเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/XWmDFsP/Unfdfdtitled-17.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วให้พวกเชลยเขมรขนข้าวปลาอาหารที่เขมรตีพาของไทยไปไว้นั้น  ขนลงบรรทุกเรือของไทย ๑๘ ลำ  เรือสูญเสีย ๕ ลำ  เพราะเขมรกระทุ้งท้องเรือจมเสีย ๕ ลำแล้ว  ขณะนั้นให้เผาบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์และหมู่บ้านเขมรที่หมู่นั้นเสียสิ้น  บ้านหมู่นั้นเขมรเรียกชื่อว่า  “สะรกตระพังซุก”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  บ้านหนองบัว)  เมื่อนำไฟไปเผาเหย้าเรือนพวกเขมรหมู่บ้านนั้นไหม้หมดแล้ว  หมื่นสิทธิสงครามจึงสั่งให้หมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธาคุมไพร่พลไทย ๖๐ คน  นำเรือลำเลียงบรรทุกเสบียงอาหาร ๑๘ ลำ  มาส่งยังเมืองบันทายมาศ  แล้วหมื่นสิทธิสงครามคุมพลทหารไทย ๑๒๐ คนกับครอบครัวเขมรพระคะเชนทรพิทักษ์จำตะโหงกคอมาในกองทัพ  แล้วให้พันจงใจหาญคุมช้างที่ตีปล้นได้มา ๓๘ เชือกนั้นด้วย  ไทยเดินกองทัพมาในครั้งนั้นถึงเมืองบันทายมาศก่อนกองเรือลำเลียง ๖ วัน  จึงเรือลำเลียงก็มาถึงเมืองขนเสบียงขึ้นไว้ในเมืองแล้ว

          ครั้งนั้น  เจ้าพระยาพระคลังตั้งอยู่ที่เมืองบันทายมาศ  จึงแต่งหนังสือบอกฉบับหนึ่งให้ขุนทรงพานิชจีนที่เมืองบันทายมาศ  ถือลงเรือเร็วรีบไปแจ้งราชการต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา อยู่ ณ เมืองโจดกทราบโดยเร็ว  ในหนังสือบอกข้อราชการนั้นว่า

(https://i.ibb.co/twRdkZC/Untitlddded-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีคุมเรือลำเลียงมาถึงกลางทางลำน้ำนั้น  เขมรเหล่าร้ายยกมาตีเรือเสบียงอาหารไปได้  หลวงยกกระบัตรกลัว ไม่สู้รบเขมรแล้วลงเรือเล็กหนีมาเสียก่อน  ปล่อยให้แต่พลอยู่สู้รบกับเขมร  เขมรก็ตีปล้นพาเรือลำเลียงเสบียงอาหารไปได้หมดทั้ง ๒๓ ลำ  และคนที่คุมเรือนั้นก็ตายเกือบหมด  แล้วให้พระปลัดเมืองตราดพี่ชายหลวงยกกระบัตร  คุมคน ๓๐๐ ยกไปติดตามเรือเสบียงอาหาร ๒๓ ลำ  ยังหาทันจะถึงเรือเสบียงไม่  ไปเสียทีเขมรในลำธารซึ่งพวกเขมรเรียกชื่อว่า “จันเลาะ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ลำห้วยละหาน) ในป่าแขวงเมืองกำปอด  เขมรฆ่าไพร่พลไทยในกองพระปลัดตายครั้งนั้นถึง ๒๖๖ คน  ที่เหลือตายกลับมาได้ ๓๔ คน  แล้วจึงได้แต่ให้หมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด  คุมไพร่พลเมืองตราด ๒๐๐ คน  ยกไปติดตามตีคืนเรือลำเลียงเสบียงอาหารกลับคืนมาได้หมดแล้ว  กลับได้ช้างที่เขมรตีปล้นพาไปเมื่อชักลากเรือรบในคลองขุดใหม่กลับคืนมาได้ทั้งหมด ๒๐ เชือก  และได้ช้างเชลยเขมรมาอีก ๑๘ เชือก  เป็นช้างใหญ่ได้ขนาดดีทุกช้าง  พอใช้ราชการศึกได้  ด้วยเป็นช้างอ้วนพีล่ำสันโตน่าใช้สอย  แล้วได้ครอบครัวพระคะเชนทรพิทักษ์นายกองช้างที่เป็นต้นคิดนายโจรมาตีปล้นช้างไทยไปครั้ง ๑   และได้จับเขมรครอบครัวมามาก  ได้จำไว้ในเมืองบันทายมาศทุกคนแล้ว  ใต้เท้าพระกรุณาเจ้าจะโปรดประการใดจะได้ปฏิบัติตามบัญชา”.......

(https://i.ibb.co/rc2XjnF/Untitldedd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           *** ที่แท้หัวหน้ากองโจรเขมรก็เป็นอดีตนายกองช้างของนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมร  มียศเป็นถึงคุณพระที่ พระคะเชนทรพิทักษ์  มิน่าเล่าโจรเขมรจึงมีฝีมือเก่งกล้าสามารถมาก  มีเพียงแค่ ๗๘ คนก็ฆ่าทหารไทย ๓๐๐ คนตายเกือบหมดทั้งกองทัพเลย  กองทัพไทยยังโชคดีที่มีนายทหารเก่งอย่างหมื่นสิทธิสงคราม  จึงสามารถตามกวาดล้างโจรเขมรได้หมดสิ้น  และได้เรือลำเลียงเสบียงอาหารคืนพร้อมทั้งของไทยและของเชลยอีกด้วย  ท่านเจ้าพระยาพระคลังได้มีหนังสือด่วนบอกไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่  เพื่อฟังคำบัญชาว่าจะให้ทำประการใดต่อไป  เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ทราบความแล้วจะว่าประการใด  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ....

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มิถุนายน, 2563, 11:30:04 PM
(https://i.ibb.co/gz9d5dr/Untitlded-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๓ -

บทอัยการศึกประกาศิต
ผลาญชีวิตคนขลาดทิ้งไพร่เฉย
นายทัพโง่ถอดยศออกไม่งอกเงย
กลับลงเอยรับกรรมโดดน้ำตาย

ทัพบกมีปัญหาขาดอาหาร
ออกทำการปล้นเสบียงมาเลี้ยงค่าย
ทัพเรือช่วยส่งเสบียงพอเลี้ยงกาย
เพียงคลี่คลายปัญหาไม่ถาวร


          อภิปราย ขยายความ ......................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่..  โจรเขมรที่ถูกจับตัวเป็น ๆ ได้  ถูกหมื่นสิทธิสงครามลงทัณฑ์ทรมานอย่างเหี้ยมโหดทนไม่ได้ยอมรับสารภาพสิ้น  กองทัพไทยจึงให้พาไปบ้านพระคะเชนทรพิทักษ์หัวหน้ากองโจร ณ บ้านหนองบัว  หมื่นสิทธิสงครามยกกองกำลังเข้าล้อมบ้าน  จับตัวพระคะเชนทรพิทักษ์และครอบครัวพร้อมโจรเขมรได้  และได้เรือลำเลียงเสบียงอาหารคืนพร้อมทั้งช้างของไทยและของเชลยอีกด้วย  ท่านเจ้าพระยาพระคลังได้มีหนังสือด่วนบอกไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่  เพื่อฟังคำบัญชาว่าจะให้ทำประการใดต่อไป  เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ทราบความแล้วจะว่าประการใด  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ....

           “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบหนังสือบอกข่าวราชการดังนี้แล้ว  จึงมีบัญชาสั่งให้หลวงอักษรสุนทรเสมียนตรามีหนังสือตอบเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งเป็นใจความว่า

(https://i.ibb.co/q5sftgs/Untitffled-40.jpg) (https://imgbb.com/)

           “หนังสือแม่ทัพบกตั้งพักอยู่ที่เมืองโจดกมาถึงแม่ทัพเรือได้ทราบ  ด้วยได้รับหนังสือของท่านแม่ทัพเรือซึ่งตั้งพักอยู่ที่เมืองบันทายมาศมีมาว่า  ด้วยเรื่องนายกองทัพไทยคุมเรือลำเลียงไปทำการไม่ดีให้เรือเสียแก่เขมร  แล้วนายทัพเรือได้ไปตีกลับคืนมา  ได้ทั้งเสบียงอาหารและช้างครอบครัวเขมรนั้นด้วย  ได้ทราบตลอดทุกประการแล้ว  การทั้งนี้ใครผิดใครชอบต่อราชการครั้งนี้  เจ้าคุณพระคลังก็ย่อมทราบสิ้นทุกประการแล้ว  ขอให้เจ้าคุณตัดสินตามบทพระอัยการศึก  แต่หลวงยกกระบัตรผู้มีความผิดต่อราชการทัพศึกมาก  ถ้าเจ้าคุณเห็นว่าผิดต่อข้ออัยการศึกจริงแล้ว  ให้ประหารชีวิตหลวงยกกระบัตรแก้วเสียที่เมืองบันทายมาศ  ให้เป็นตัวอย่างแก่นายทัพนายกองที่จะทำราชการต่อไปภายหน้า  แต่พระปลัดนั้นมีความผิดน้อย  ควรที่เจ้าคุณพระคลังจะเฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีหรือ ๓๐ ทีแล้วตระเวนรอบค่ายสามวัน  แต่จะถอดเสียจากฐานาศักดิ์หรือจะให้คงตำแหน่งยศเดิม  หรือจะลดลงเสียบ้างก็ตามแต่เจ้าคุณพระคลังจะเห็นดีเห็นชอบโดยราชการศึกสงครามเถิด  แต่ขอเสียอย่าให้เจ้าคุณพระคลังเห็นว่าเป็นญาติเป็นพวกพ้อง ๆ  ในแม่ทัพระหว่างการศึกสงครามเช่นนี้ไม่มีเลย  มีแต่แต่ตัวแม่ทัพผู้เดียว  หามีญาติไม่

          อนึ่งที่เมืองโจดกนี้เล่า  ก็ขัดสนเสบียงอาหารลงบ้างแล้ว  ขอให้เจ้าคุณพระคลังสั่งให้นายทัพนายกองคุมเสบียงอาหารมาส่งให้ถึงเมืองโจดกในกลางเดือนสี่ให้จงได้  ถ้าข้างแรมเดือนสี่แล้วเสบียงที่เมืองโจดกเป็นอันขาดมือไม่มีจะรับประทานเลย

          อนึ่งเมื่อเดือนสี่ข้างขึ้นสามค่ำสี่ค่ำนั้น  ผมได้แต่งให้พระพิไชยกับพระอภัยพลรบ  คุมไพร่พล ๓๐๐ ยกไปลาดตระเวนหาเสบียงถึงเกาะตำบลแห่งหนึ่ง  เขมรเรียกชื่อว่าเกาะ  “ตึกโคลกแพรกบีแบก”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  เกาะน้ำเต้า)  อยู่ตรงปากคลองสามแยกทางจะลงไปเมืองล่องโห้และเมืองสมิถ่อ  แม่ทัพไทยทั้งสองนายตีปล้นได้เสบียงอาหารตามชาวบ้านเหล่าเกาะน้ำเต้านั้นแห่งละเล็กละน้อย  เพราะไม่ได้พบยุ้งฉางใหญ่ ๆ จึงไม่ได้ข้าวมามาก  เพราะฉะนั้น เสบียงอาหารจึงไม่พอจับจ่ายเลี้ยงผู้คนในกองทัพบก  กับได้ให้หลวงไตรนารายณ์กับหลวงโจมจัตุรงค์  คุมเรือเล็ก ๆ ที่ได้เชลยมาแต่ญวนเขมร  ไปกับไพร่พลไทยไปตีปล้นเสบียงอาหารในลำคลองแห่งหนึ่ง  เขมรเรียกชื่อว่า  “แพรกสะแก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  คลองลูกสุนัข)  ตีได้ข้าวปลาที่ในคลองลูกสุนัขนั้น  ได้มาน้อยหาพอใช้สอยจับจ่ายเลี้ยงกองทัพไทยไม่  ขัดเสบียงมากอยู่แล้ว  ขอให้เจ้าคุณมีความกรุณาแก่ไพร่พลไทยให้มาก  ถ้าไม่ส่งมาในข้างขึ้นหรือกลางเดือนสี่นี้  เห็นจะต้องทิ้งเมืองโจดก  ล่าถอยไปตามป่าหาหัวกลอย  เผือก  มัน  กินพอกันตาย  หนังสือมา ณ วันจันทร์เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำ”

(https://i.ibb.co/wRSDdVb/Unti85tled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบหนังสือเจ้าพระยาบดินเดชาดังนั้นแล้ว  จึงรีบร้อนไม่นอนใจ  สั่งให้พระพิพิธภักดีจางวางส่วยพริกไทยเมืองจันทบุรี  กับหลวงมหาดไทยเมืองตราด  คุมเรือลำเลียงเสบียงอาหาร ๓๐ ลำ  รีบมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองโจดกแต่ ณ วันเดือนสี่ขึ้นสิบสองค่ำ  ถึงเดือนสี่ขึ้นสิบสี่ค่ำ  พวกหนึ่งเป็นเรือ ๓๐ ลำ  ได้ข้าวปลาอาหารพอจับจ่ายใช้ในกองทัพบกบ้างเมื่อคราวขัด

          ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้ทราบหนังสือเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ว่าด้วยเรื่องให้ฆ่าหลวงยกกระบัตรนั้น  ท่านจึงพูดว่า  ครั้นจะฆ่าก็กลัวบาปเกรงกรรมจะตามไปชาติหน้า  ครั้นจะไม่ฆ่าก็กลัวเขาจะว่ารักญาติพวกพ้อง  กับจะเสียขนบธรรมเนียมเป็นเยี่ยงอย่างในทางราชการทัพศึกต่อไป  ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้  คิดแล้วจึงสั่งหลวงชาติสุริยงกับหลวงสุนทรโกษา  ให้คุมตัวพระปลัดเมืองตราดกับหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีจำตรวนลงเรือเร็ว  ไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองโจดก  แล้วมีหนังสือไปด้วยฉบับหนึ่งใจความว่า

           “กระผมได้จำตรวนพระปลัด  หลวงยกกระบัตร  ส่งมาให้เจ้าคุณผู้ใหญ่  ตามแต่เจ้าคุณผู้ใหญ่จำทำโทษตามบทกฎหมายเถิด”

(https://i.ibb.co/ZV7DFCc/2.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบความตามหนังสือเจ้าพระยาพระคลังดังนั้นแล้ว  จึงว่าเมื่อท่านเจ้าพระยาพระคลังกลัวบาปเกรงกรรมไม่ฆ่าฟันผู้คน  ส่งคนผิดมาให้เราฆ่าที่เมืองโจดกนี้  เราก็จะต้องฆ่าตามอาญาศึกทั้งสิ้น  ไม่เว้นไว้หน้าว่าผู้ใดเลย  ผิดตามผิด  ชอบตามชอบ  พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งหลวงอนุชิตพิทักษ์ให้นำตัวหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีผู้มีความผิดต่อราชการไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้  ตัดศีรษะเสียบไว้หน้าเมืองโจดก  อย่าให้ขุนนางนายทัพนายกองจำเยี่ยงอย่างนี้ต่อไป  แล้วสั่งให้หลวงจำนงอักษรพาตัวพระปลัดเมืองตราดไปเฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีที่หน้าค่ายในเมืองโจดก  แล้วให้ลดฐานาศักดิ์ลงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี ให้ไปอยู่กับพระยาจันทบุรีผู้บิดา จะได้ทำราชการแก้ตัว ต่อไปจะได้เลื่อนที่ตามความชอบเมื่อภายหลัง แล้วส่งตัวพระปลัดเมืองตราดที่ลดลงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีนั้น  ให้หลวงชาติสุริยงและหลวงสุนทรโกษาคุมตัวไปให้เจ้าพระยาพระคลังใช้ในราชการทัพเรืออย่างเดิม  และมีหนังสือตอบไปถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า

(https://i.ibb.co/Qjnq0Lb/Untitldfexd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ให้เจ้าคุณพระคลังตั้งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด  ให้มอบถาดหมากโคนโทน้ำทองให้แก่เขาเป็นเครื่องยศ  แล้วให้มีใบบอกไปในกรุงเทพฯด้วย  แต่พระปลัดเมืองตราดคนเก่าที่มีความผิดเฆี่ยนหลัง ๖๐ ทีนั้น  ให้ลดฐานานุศักดิ์ลงคงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี  แทนที่หลวงยกกระบัตรชื่อแก้วที่มีความผิดฆ่าเสียนั้นแล้ว  กับให้เจ้าคุณพระคลังสั่งกรมช้าง  ให้นำช้างพลายแทงพระคะเชนทรพิทักษ์เขมร กับพรรคพวกเขมรชายฉกรรจ์ที่เป็นโจรยกมาตีพาช้างและเรือเสบียง  ไปให้นำช้างแทงเสียให้ตายทั้งสิ้นอย่าให้เหลือไว้  ไม่เป็นประโยชน์  ให้เหลือพวกเขมรไว้แต่ผู้หญิงและเด็กหรือชายแก่ชราไม่ได้ลงมือฆ่าไทยเท่านั้น  นอกนั้นฆ่าเสียให้หมด”

          หลวงชาติสุริยงกับหลวงสุนทรโกษา  คุมตัวพระปลัดคนเก่าลงเรือกลับไปเมืองบันทายมาศทั้งเครื่องจำ  พอเรือถึงกลางทางในลำคลองใหญ่  พระปลัดคนเก่าบอกผู้คุมว่าจะขอส่งทุกข์ที่กราบเรือ  ผู้คุมก็ยอมให้พระปลัดคนเก่าออกจากประทุนเรือ  ไปข้างท้ายเรือที่นั่งถ่ายทุกข์อยู่ครู่หนึ่ง  พระปลัดก็โดดลงไปในน้ำทั้งเครื่องจองจำ  ก็จมน้ำตายในที่นั้น  หลวงสุนทรโกษาให้คนลงดำได้ศพขึ้นมาแล้ว  จึงปรึกษากับหลวงชาติสุริยงว่า

           “จะพาศพไปให้ท่านผู้ใหญ่ดู  ก็เห็นว่าเมืองบันทายมาศทางยังอีกหลายคืน  ศพจะเน่าเปื่อยเสียหมดจะไม่ให้เห็นหน้าตาจำไม่ได้  จะทำฉันใดดี”

           หลวงชาติสุริยงตอบว่า   “ถ้าเช่นนั้นเราตัดศีรษะแช่น้ำเกลือไปให้เจ้าคุณทราบเป็นพยานว่าไม่ได้หนีไปไหนเป็นการตายจริง ๆ”

           หลวงสุนทรโกษาว่าอย่างนั้นไม่ได้  เพราะพระปลัดเก่าคนนี้เป็นบุตรพระยาจันทบุรี  และเป็นเชื้อสายญาติของเจ้าพระยาพระคลังด้วย  ท่านจะว่าเราทำประจานพวกพ้องของท่าน  โทษอะไรมาตัวหัวตัดหูกัน  ถึงตายแล้วก็จริง  ดูเหมือนทำโทษแก่ศพพวกของท่านหาควรไม่  เราจะได้ผิดมากไป”

           หลวงชาติสุริยงตอบว่า  ถ้าเช่นนั้นก็นำศพไปฝังเสียที่บนตลิ่งเถิด  เมื่อท่านว่าเราปล่อยคนโทษให้หนีไปก็ให้ท่านใช้คนมาขุดดูศพเถิด  เรานำเครื่องแต่งกายของพระปลัดคนเก่าฝังลงไปไว้ด้วย  เผื่อว่าจะมาขุดศพจะได้เห็นเป็นพยาน  คิดแล้วก็ทำตามที่คิดนั้นทุกประการ......”

(https://i.ibb.co/SrvSGz8/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** คำว่า  “กองทัพเดินด้วยท้อง”  เป็นความจริงที่สุดในโลก  กองทัพบกอันเกรียงไกรของเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ยังไม่พ่ายแพ้แก่ญวน  แต่กำลังจะพ่ายแพ้แก่ท้องที่ขาดอาหารให้ร่างกายโหยหิวอ่อนแรง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแต่งทหารเป็นกองโจร  ออกปล้นเสบียงอาหารจากชาวบ้าน  ท่านบอกว่าถ้าไม่ได้เสบียงอาหารจากเมืองบันทายมาศในเร็ววันนี้  เห็นทีจะต้องทิ้งเมืองโจดก  พาทหารล่าทัพเข้าป่าขุดหาหัวกลอย  หัวเผือกหัวมันกินพอประทังชีวิตเป็นแน่  เจ้าพระยาพระคลังรีบจัดส่งเสบียงอาหารไปให้แล้ว  ก็เป็นคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น  ส่วนปัญหาด้วยบริหารจัดการกำลังพลนั้น  เจ้าคุณแม่ทัพบกเสนอแนะให้เจ้าคุณแม่ทัพเรือลงโทษพระปลัดเมืองตราดด้วยการเฆี่ยนและลดฐานะ  และฆ่าหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีเสีย  เจ้าคุณแม่ทัพเรือไม่กล้าลงโทษลูกน้องจึงส่งตัวไปให้เจ้าคุณแม่ทัพบก  เจ้าพระบดินทรเดชาสั่งประหารหลวงยกกระบัตร  แล้วเฆี่ยนพระปลัดและถอดยศคุณพระออกเสีย  ให้ลงมาเป็นคุณหลวงที่หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีแทนน้องชายที่ถูกประหาร  ขณะที่หลวงชาติสุริยง  หลวงสุนทรโกษา  คุมตัวกลับลงมาเมืองบันทายมาศนั้น  พระปลัดออกอุบายถ่ายทุกข์ท้ายเรือแล้วโดดน้ำตาย  แล้วเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย
๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, มิถุนายน, 2563, 10:31:55 PM
(https://i.ibb.co/crdDYL8/Untitlded-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๔ -

เจ้าพระยาพระคลังสั่งจัดทัพ
เรือพร้อมสรรพแล้วพายถ่อสมอถอน
รบญวนใหม่ไม่แพ้หวังแน่นอน
เมื่อครั้งก่อนนั้นจดจำบทเรียน

แม่ทัพบกเตือนว่าอย่าประมาท
ใจอย่าขลาดต้องกล้าเข่นฆ่าเฆี่ยน
อริรุกทุกทางถางให้เตียน
ควรพากเพียรเอาชนะเหล่าศัตรู


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน เมื่อวันวานนี้ถึงตอนที่..  กองทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังขัดเสบียงอาหาร  เจ้าคุณแม่ทัพแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแต่งทหารเป็นกองโจร  ออกปล้นเสบียงอาหารจากชาวบ้าน  ท่านบอกว่าถ้าไม่ได้เสบียงอาหารจากเมืองบันทายมาศในเร็ววันนี้  เห็นทีจะต้องทิ้งเมืองโจดก  พาทหารล่าทัพเข้าป่าขุดหาหัวกลอย หัวเผือก หัวมัน กินพอประทังชีวิตเป็นแน่  เจ้าพระยาพระคลังรีบจัดส่งเสบียงอาหารไปให้แล้ว  เป็นคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น  ส่วนปัญหาด้วยบริหารจัดการกำลังพลนั้น  เจ้าคุณแม่ทัพบกเสนอแนะให้เจ้าคุณแม่ทัพเรือลงโทษพระปลัดเมืองตราดด้วยการเฆี่ยนและลดฐานะ  และฆ่าหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีเสีย  เจ้าคุณแม่ทัพเรือไม่กล้าลงโทษลูกน้องจึงส่งตัวไปให้เจ้าคุณแม่ทัพบก  เจ้าพระบดินทรเดชาสั่งประหารหลวงยกกระบัตร  แล้วเฆี่ยนพระปลัดและถอดยศคุณพระออกเสียให้ลงมาเป็นคุณหลวง  ที่หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีแทนน้องชายที่ถูกประหาร  ขณะที่หลวงชาติสุริยง  หลวงสุนทรโกษา  คุมตัวกลับลงมาเมืองบันทายมาศนั้น  พระปลัดออกอุบายถ่ายทุกข์ท้ายเรือแล้วโดดน้ำตาย  เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/vJSgzjY/Untitl458ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “..... จึงออกเรือไปแจ้งข้อราชการแก่เจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งราชมัลให้พาตัวพระคะเชนทรพิทักษ์เขมรกับพวกชายฉกรรจ์ ๓๖ คน  นำช้างพลายแทงตายทั้งสิ้นที่นอกเมืองบันทายมาศ ณ วันเดือนสี่แรมค่ำหนึ่ง

(https://i.ibb.co/vhXtnqq/Untitdeled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วเจ้าพระยาพระคลังตั้งหมื่นสิทธิสงครามเป็นพระปลัดเมืองตราด
           ตั้งพันจงใจหาญลาวเก่ามีความชอบในการศึก  เป็นหลวงปราบไพรินทร์
           ตั้งหมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา  เลื่อนขึ้นเป็นหลวงทั้งสองคน

           แล้วเจ้าพระยาพระคลังสั่งให้พระปลัดเมืองตราดคนใหม่  ให้คุมไพร่พลไปรับเรือรบที่พระยาตราดไปตั้งซ่อมแซมอยู่ ณ เมืองกำปอดและเมืองกะพงโสม ๗๐ ลำ  พร้อมด้วยเชือกเสาเพลาใบจังกูดแจว  ให้คุมเรือรบมาส่งเมืองบันทายมาศ

           เจ้าพระยาพระคลังสั่งพระศิริสมบัติให้จัดเสบียงอาหาร  กระสุนดินดำ  ศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยลงบรรทุกเรือรบเก่าที่นำมาแต่เมืองจันทบุรีและกรุงเทพฯ นั้น ๑๐๒ ลำ  เรือรบเก่าใหม่ ๑๗๒ ลำ
           ให้พระยาพิพัฒน์โกษากับพระยาสุนทรานุรักษ์เขต  พระยาราชวังสัน  สามคน  เป็นผู้แต่งเรือรบเก่าใหม่ทั้ง ๑๗๒ ลำ  บรรทุกพลทหารแจวและทหารปืนพร้อมแล้ว
           ให้พระยาเดโชท้ายน้ำเป็นนายทัพหน้าที่หนึ่ง
           ให้พระยาราชวังสันเป็นนายทัพหน้าที่สองกองซ้าย
           ให้พระยาณรงค์ฤทธิ์โกษาแขกจามเป็นนายทัพหน้าที่สองกองขวา
           ให้พระยาวิเศษสงครามภักดีฝรั่งเศสเข้ารีตเป็นแม่ทัพกองหนุนทัพหน้าทั้งสาม
           ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์เป็นนายทัพกองเกียกกายซ้าย
           ให้พระยานุชิตราชาเป็นกองเกียกกายขวา
           ให้พระยาสุรเสนาเป็นนายทัพกองจเรทัพ
           ให้พระยาพิทักษ์ทวยหาญคุมกองรามัญเป็นทัพแซงขวา
           ให้พระยานครเขื่อนขันธ์คุมกองรามัญเป็นทัพแซงซ้าย
           ให้พระยาทิพโกษาเป็นทัพหนุน
           ให้พระยาจันทบุรีเป็นแม่ทัพหลัง
           ให้เจ้าพระยาพลเทพถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่กองหน้า  ได้บังคับบัญชาทุกทั
พทุกกองทั้งฝ่ายหน้านั้นสิ้น

           แล้วให้พระยาวิสูตรโกษาเป็นทัพแซงซ้ายของกองทัพเจ้าพระยาพระคลัง
           ให้พระยาตราดเป็นเป็นทัพแซงขวาของเจ้าพระยาพระคลัง
           ให้พระยาพิบูลย์สมบัติเป็นปีกซ้ายทัพใหญ่
           ให้พระยาเพชรบุรีเป็นปีกขวาทัพใหญ่
           ให้พระยาราชบุรีเป็นนายทัพปีกกาขวา
           ให้พระยาสมุทรสงครามเป็นนายทัพปีกกาซ้าย
           ให้พระศิริสมบัติเป็นนายตรวจทัพฝ่ายซ้าย
           ให้พระราชธนพิทักษ์เป็นนายตรวจทัพฝ่ายขวา
           ให้พระยาศาสตราฤทธิรงค์เป็นกองป้องปีกขวา
           ให้พระยาอร่ามมณเฑียรเป็นกองป้องปีกซ้าย
           ให้พระยาไกรโกษาเป็นทัพหลังของเจ้าพระยาพระคลัง

           ที่ออกชื่อมานี้แต่ล้วนมีหน้าที่โดยตำแหน่งคุมเรือรบมีชื่อทุกลำทุกคน  ยังพระยา  พระ  หลวง  ในกรุงและหัวเมืองที่เป็นลูกกองคุมเรือรบมีชื่อต่าง ๆ ไปในกองทัพหน้าและกองทัพหลังและกองทัพใหญ่เจ้าพระพระคลังก็มีมาก

(https://i.ibb.co/DCHPvhP/Usdentitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้น  กองทัพเรือพระปราบอังวะ  สมิงรามัญนายทัพฝ่ายในพระราชวังบวรฯ ยกทัพเรือมาแต่เมืองจันทบุรีเพิ่มเติมมาอีกถึงเมื่อวันจะยกทัพไปนั้น  จึงสั่งให้เป็นทัพหน้าของทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลัง  ทัพเรือพร้อมกันแล้วก็ยกทัพเรือออกจากเมืองบันทายมาศ  มาตามแม่น้ำใหญ่ถึงที่ตำบลแห่งหนึ่งเขมรเรียกว่า  “กำพงคะคี” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ท่าตะเคียน)  เมื่อเรือเจ้าพระยาพระคลังถึงท่าตะเคียนนั้น  เกิดลมพายุใหญ่มาแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  ลมพัดมาถูกผ้าม่านบังแดดในเก๋งท้ายเรือรบลำที่เจ้าพระยาพระคลังนั่งมานั้น  ผ้าม่านปลิวสะบัดไปคล้องถูกดาบอาญาสิทธิ์ฝักนากด้ามหุ้มทองคำ  พลัดตกลงจากบันไดแก้ว  แล้วกระเด็นลงน้ำจมหายสูญ  ที่หน้าท่าตะเคียนนั้นน้ำลึก ๓ วาบ้าง ๔ วาบ้าง  ให้ประดาน้ำลงดำเป็นหลายพวกก็หาได้ไม่  จึงสั่งให้หยุดทัพเรือที่ตรงท่าตะเคียนครู่หนึ่ง  ให้รี้พลในกองทัพเรือลงดำน้ำหาดาบอาญาสิทธิ์  ถ้าใครดำได้จะให้รางวัลถึง ๑๐ ชั่ง  ก็ไม่มีผู้ใดดำได้  ดำลงไปหลายสิบหลายร้อยคนก็ไม่ได้  จึงสั่งให้หลวงสุนทรโกษาอยู่ดูพวกประดาน้ำดำดาบต่อไป

(https://i.ibb.co/tZ8XzWW/Untitledsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นพายุซาแล้วจึงสั่งให้เดินทัพเรือต่อไปเป็นลำดับ  ลัดเข้าคลองขุดใหม่ไปถึงเมืองโจดกเมื่อ ณ วันเดือนห้าขึ้นสิบสองค่ำ  ขณะนั้นมีน้ำเหนือไหลหลากมาท่วมหาดทรายแล้ว  เจ้าพระยาพระคลังขึ้นไปบนเมืองโจดก  คำนับเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดว่า

            “เจ้าคุณพระคลังยกทัพมาล่าช้าไปสักหน่อย  ถ้ามาถึงข้างขึ้นอ่อน ๆ สามค่ำสองก็จะดี  จะได้ไปโดยสะดวก  แต่เดี๋ยวนี้น้ำเหนือหลากมามาก  แล้วไหลเชี่ยวหนัก  แจวไปจะช้าอยู่  แต่ว่าไม่เป็นไร  เรือใหญ่ไปได้สบายเพราะน้ำลึกมากแล้ว”

           เจ้าพระยาพระคลังก็ตอบว่า        “อยากจะรีบมาแต่ข้างแรมเดือนสี่หรือข้างขึ้นอ่อน ๆ เดือนห้านั้นตามคำสั่งบัญชาใต้เท้ากรุณา  แต่ว่ามาไม่ทันตามบัญชานั้น  เพราะเรือรบที่ชำรุดและเรือเก่าที่เมืองกำปอดนั้น  ซ่อมแซมไม่ใคร่จะเสร็จได้  จึงช้าไป  พอเรือแล้วก็รีบมา  ไม่ได้ช้าเลย  น้ำมันที่ทาเรือยังเปียก ๆ อยู่ทุกลำ  ใต้เท้าจงดูเถิด”

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่ากับเจ้าพระยาพระคลังว่า

            “เจ้าคุณรีบยกทัพเรือไปก่อนเถิด  ผมจะยกทัพบกตามไปต่อภายหลัง  คงทันเจ้าคุณที่เกาะแตง  เพื่อจะได้รบญวนที่นั่น  ครั้งนี้น้ำมากเรือรบใหญ่ไปได้สะดวกแล้ว  แต่เจ้าคุณอย่าไว้ใจแก่ราชการ  เกลือกว่าญวนจะนำเรือเล็ก ๆ แจวมาซุ่มซ่อนไล่เรือรบไทยที่ใหญ่ ๆ เหมือนครั้งก่อนอีกเล่า  เจ้าคุณต้องระวังให้มาก ๆ  และผมขอให้เจ้าคุณต้องทำอำนาจฆ่าผู้ฟันคนที่แตกล่าถอยออกมา  หรือที่ย่นย่อท้อถอยกลัวกระสุนปืนญวน  และเกรงข้าศึกญวนมากกว่าแม่ทัพไทย  ดังนั้นเจ้าคุณต้องก็ต้องฆ่าเสียบ้างให้เป็นตัวอย่าง  นายทัพนายกองเห็นอำนาจเจ้าคุณทำดังนั้นจะได้กลัวเกรง  แล้วจะได้เร่งไล่ต้อนรี้พลทำการพร้อมกันให้เต็มมือสักพักสองพัก  พวกญวนจะทนได้หรือก็จะแตกไปสิ้นทุกทัพทุกกอง  เมื่อเจ้าคุณพระคลังจะลงไปครั้งนี้  ผมจะให้พระภักดีโยธากับหลวงนรานุรักษ์เขตทั้งสองคนนี้ลงไปเป็นคู่คิดกับเจ้าคุณด้วย  เพราะคนทั้งสองนี้ชำนิชำนาญด่านทางเมืองญวนมาก  รู้จักทำนิทำนองกองทัพญวนจะยกมาหนักเบาประการใด  เขารู้อยู่มาก  เพราะเขาได้เคยเป็นนายทัพนายกองเรือมารบกับญวนที่เกาะแตง  ซึ่งที่เกาะนั้นญวนเรียกว่า  “เจียนซาย”  เขาได้เคยมารบกับญวนที่นั้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ในแผ่นดินต้นพระพุทธเจ้าหลวงครั้งก่อนนั้นครั้งหนึ่งแล้ว  (แผ่นดินต้นนั้นคือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า)  ถ้าเจ้าคุณพระคลังสงสัยในข้อราชการอะไรที่จะไปรบญวนครั้งนี้  ขอให้เจ้าคุณไต่ถามปรึกษาหารือกับพระภักดีโยธา  หลวงนรานุรักษ์เขต เถิด  อาจเป็นคนแก่ชรางุ่มง่ามไม่ประเปรียวว่องไว  ถ้าจะใช้เข้ารบพุ่งนั้นไม่ได้  ได้ให้อยู่ในเรือรบกองเจ้าคุณ  เจ้าคุณจะได้ถามการงานต่าง ๆ ตามทางเมืองญวนได้เท่านั้น......”

(https://i.ibb.co/0Kvh1cj/Unstitlded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** เป็นอันว่าคนเก่งคนกล้าได้เลื่อนยศตำแหน่งเป็นรางวัล  คือ  หมื่นสิทธิสงครามเป็นพระปลัดเมืองตราด  หมื่นอินทราวุธเป็นหลวงอินทราวุธ  หมื่นนรินทรโยธาเป็นหลวงนรินทรโยธา  พันจงใจหาญเป็นหลวงปราบไพรินทร์    รับราชการในกองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลังต่อไป  การซ่อมแซมเรือรบเสร็จเรียบร้อยแล้วเจ้าพระยาพระคลังก็รีบเร่งจัดกองทัพเรือเดินทางไปเมืองโจดก  เพื่อสมทบกับกองทัพบกยกไปตีญวนพร้อมกัน  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้คำแนะนำเจ้าพระยาพระคลังในการยกไปรบญวนคราวนี้  อย่าให้ซ้ำรอยเดิม  ต้องไม่ประมาทและมีใจเหี้ยมหาญ  กล้ารบกล้าฆ่าฟันผู้คน  และด้วยความห่วงใยในแม่ทัพเรือ  จึงได้มอบทหารเก่าสองนายผู้เคยรบญวนที่เกาะแตงมาแล้ว  มีความรู้เรื่องญวนดีพอสมควร  ให้ไปเป็นที่ปรึกษาแม่ทัพเรือด้วย  การยกไปตีญวนคราวนี้ผลจะเป็นอย่างไร  อ่านกันต่อไปนะครับ.....

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, มิถุนายน, 2563, 10:23:38 PM
(https://i.ibb.co/6D9tDxW/Untitlegd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๕ -

กองลาดตระเวนไทยแต่งกายล้วน
เหมือนคนญวนเหลือเกินเดินเป็นหมู่
กองเขมรไทยคุมกลับมิรับรู้
จึงทั้งคู่เมื่อพบแล้วรบกัน

กว่าจะรู้จะเห็นว่าเป็นพวก
มองลวกลวกลางลางอย่างหุนหัน
ต่างยิงโต้ตอบตีวายชีวัน
เสมือนพลันโง่เขลาเบาปัญญา


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยาพระคลังจัดกองทัพเรือเสร็จแล้วก็รีบยกไปเมืองโจดก  เพื่อสมทบกับกองทัพบกยกไปตีญวนอีกครั้งหนึ่ง  กองเรือยังไม่ทันเข้าคลองขุดใหม่  ก็เกิดลมพายุพัดแรง  ม่านบังแดดเรือเจ้าพระพระคลังปลิวสะพัดตามแรงลม  ฟาดพันเอาดาบอาญาสิทธิ์เจ้าพระยาพระคลังตกลงทะเล  ยังงมหาไม่พบ  เจ้าคุณพระคลังก็รีบยกไปถึงเมืองโจดก  ทั้งสองแม่ทัพได้ปรึกษาหารือกันในการยกทัพไปตีญวน  เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวเตือนเจ้าพระยาพระคลังให้ระวังเรือเล็กญวนที่จะคอยซุ่มโจมตี  และขอให้เจ้าคุณพระคลังทำใจให้เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวในการควบคุมบังคับบัญชา  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านกันครับ

          .... “อนึ่งผมขอแบ่งเรือรบที่เก่า ๆ ไม่สู้แน่นหนาแข็งแรงนั้นไว้สัก ๓๐-๔๐ ลำ  แต่พอจะได้บรรทุกปืนใหญ่กระสุนดินดำกับคนลงไปตามเจ้าคุณข้างหน้าข้างหลังบ้าง

(https://i.ibb.co/Sw6zd63/fsf-07.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วผมจะให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลกำกับทัพช้างพระยาเพธราชา  และ  ทัพช้างพระยาประกฤษณุรักษ์  ทั้งกองช้างวังหลวงและวังหน้า  ให้ยกเดินบกลงไปช่วยราชการทัพบกและป้องกันทัพเรือด้วย
          แล้วผมได้สั่งให้พระยาเกียรติพระยารามคุมพลทหารกองรามัญ ๒,๐๐๐  เดินทัพบกยกลงไปเป็นทัพขนาบด้วย  กับได้ใช้ให้พระยาไชยสงครามแขกจามเขมรที่เมืองพนมเปญเกณฑ์มาเข้ากองทัพบกนั้น  ให้ยกทัพเขมร ๕๐๐ คนเดินไปในป่า  ให้คอยตีตัดกำลังกองสอดแนมญวนให้แตกไป  อย่าให้มาดูทัพไทยได้เลยเป็นอันขาด  ได้ให้พระยาเพชรรัตน์กับพระวิชิตสงคราม  ข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นผู้กำกับทัพเขมรไปด้วย  ได้สั่งว่า  ถ้าไม่พบกองสอดแนมญวนก็ให้เลยไปช่วยในกองรามัญเป็นทัพหน้าของทัพบก  ยกเข้าตีค่ายญวน ณ ที่ตำบลสามแยกปากคลองสะแดกให้แตกไปเสียให้ได้  ทัพเรือจะได้เดินลงไปสะดวก  ผมได้จัดการทัพบกไว้หลายย่างหลายประการแล้ว  ที่บอกชี้จงให้ท่าเจ้าคุณทราบเดี๋ยวนี้นั้น  เป็นแต่ออกชื่อพระยานายทัพนายกองบางพวกที่สำคัญ ๆ  พวกที่ยังไม่ได้บอกชื่อมานี้ยังมีอีกมากหลายร้อยกอง  ขอเจ้าคุณอย่าวิตกฝ่ายทัพบกเลย  เจ้าคุณจงเร่งรีบยกทัพเรือลงไปในค่ำวันนี้เถิด  เป็นวันดีฤกษ์ดีแล้ว  เดือนก็หงายสว่างเห็นทางไปได้ง่าย”

          เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังพูดสนทนากันกับเจ้าพระยาพระคลังนั้น  จนเวลาบ่ายสองโมงเศษ  ขณะนั้นพอหลวงโยธาสงครามกับหลวงยุทธกำแหงสงคราม  นายกองอาทมาตวังหน้าไปลาดตระเวนสืบทัพญวนกลับมาแจ้งข้อราชการว่า

(https://i.ibb.co/S388tgM/Untitlexcd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้ลงไปลาดตระเวนถึงที่ตำบลหนึ่ง  เขมรนำทางไปนั้นเรียกชื่อว่า  “เกาะโคลกแพรกบีแบก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  เกาะน้ำเต้า)  ใกล้คลองสามแยกในคลองวามะนาว  กองลาดตระเวนไปที่ตำบลนั้น  ได้เห็นญวนมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ริมฝั่งคลองวามะนาวตรงปากคลองสามแยก  ที่จะลงไปทางเมืองสะแดก  ค่ายญวนตั้งครั้งนี้ที่ริมฝั่งคลองวามะนาวฟากตะวันออกค่ายหนึ่ง  ฟากตะวันตกค่ายหนึ่ง  มีค่ายปีกกาโอบมาตามลำคลองทั้งสองฝั่ง  ญวนตั้งค่ายเยื้องกันเป็นฟันปลา  มีหอรบป้อมสูงค่ายละ ๔ ป้อม  แล้วได้เห็นกองทัพบกญวน  หนุนหลังเดินมาหลังค่าย  ยังไม่ถึงที่ตั้งค่ายนั้นเป็นอันมาก  เมื่อเห็นกองทัพญวนยกเพิ่มเติมมามากดังนั้น  ครั้นจะอยู่คอยดูตรวจรี้พลกำหนดว่ามากน้อยเท่าใดก็อยู่ไม่ได้  ด้วยเกรงว่าญวนจะยกมาใกล้  จะจับไปไต่ถามข้อราชการ  ก็จะเสียทีแก่ญวน  จึงล่าถอยยกกลับมาตามทางบก  พวกเขมรผู้นำทางนั้นพาเดินลัดป่าตัดทางมาถึงตำบลกลางป่า  เขมรเรียกชื่อที่ป่านั้นว่า  “ไพรซองคะคี”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ป่าดงไม้ตะเคียน)   เป็นทางเปลี่ยว  กองลาดตระเวนได้พบกองทัพรามัญที่พระยาเกียรติพระยารามคุมไปถึงที่กลางดงตะเคียนนั้น  ได้ชี้แจงการงานที่เห็นมานั้นให้กองรามัญทราบทุกประการแล้ว  ก็กลับมาถึงปลายดงตะเคียน  จะออกป่าและทุ่งใหญ่  ได้เห็นเขมรยกทัพมามาก  เสียงลูกพรวนที่ผูกคอม้าดังสนั่นก้องไปทั้งทุ่ง  พวกเขมรที่นำทางในกองตระเวนนั้นตกใจกลัว  สำคัญว่าเป็นกองทัพเขมรพวกญวนจะยกมาสังกัดหลังตีกองตระเวนจะจับไปไต่ถามกิจการ  พวกเขมรที่นำทางนั้นก็พากับหลบลี้หนีไปซ่อนตัวเสียในป่าหมด“

          หลวงโยธาสงคราม  หลวงยุทธกำแหงสงคราม  เห็นดังนั้นครั้นจะตั้งต่อสู้ก็ไม่ได้เพราะมีคนน้อย  ครั้นจะหนีก็ไม่รู้จักทาง  เพราะผู้นำทางก็หนีเสียหมด  เป็นการจวนตัวจึงสั่งให้ทหารบรรจุปืนคาบศิลาครบมือกันแล้ว  จึงเข้าไปแอบซุ่มในป่ารกพอกำบังกายได้หมด  ครั้นกองทัพเขมรนั้นมาถึง  จึงได้เห็นตัวพระยาเพชรรัตน์วังหน้าที่ขี้ม้าคุมทัพเขมรมา  ก็เข้าใจว่าเป็นเขมรในกองทัพไทย  จึงได้ออกมาจากที่ซุ่ม  เข้าไปหาพระยาเพชรรัตน์

(https://i.ibb.co/wMmRrMs/Untitlfed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่ครั้งนั้นกองลาดตระเวนไทย ๖๐ คนแต่งกายเป็นอย่างญวน  เพื่อจะให้มีอำนาจที่ไปในเขตแดนญวนนั้น  ครั้นกองทัพเขมรที่พระยาเพชรรัตน์คุมไปได้เห็นดังนั้นแล้ว  ทหารเขมรกองหน้ามิได้รอฟังคำสั่งพระยาเพชรรัตน์นายทัพใหญ่ไม่  เขมรเห็นกองตระเวนไทยสำคัญว่าญวนมาสอดแนมในป่า  จึงนำปืนยิงไปตับหนึ่งถูกไทย  กองตระเวนก็สำคัญว่าเขมรพวกญวนมายิงไทย  ไทยก็นำปืนยิงไปบ้างถูกเขมรตายลง ๒๐ คน  นายทัพไทยทั้งสองฝ่ายจะห้ามปรามเท่าไรก็ไม่หยุด  เพราะกำลังตกใจทั้งสองฝ่ายด้วยกันดังนั้น  จึงเกิดฆ่าฟันขึ้นมากมายไป  พวกไทยน้อยตัวก็จริง  แต่ได้กอไผ่และต้นไม่ใหญ่ในดงริมดงบังกระสุนปืนและเป็นที่มั่นต่อสู้ได้แข็งแรงยิ่งนัก  พวกเขมรอยู่ที่แจ้งนอกป่าขอบทุ่งกลางนาจึงถูกกระสุนปืนไทยตายมาก  นายทัพไทยจะออกไปบอกกันให้รู้เหตุว่าเป็นพวกเดียวกันก็ไม่ได้  เพราะทหารไทยกับทหารเขมรกำลังรบกันอยู่  เพราะฉะนั้นหลวงโยธาสงคราม  กับหลวงยุทธกำแหงสงครามจึงคิดว่า  ถ้าขืนสู้กันอยู่ดังนี้เห็นพวกเราจะตายหมดเพราะน้อยตัว  อีกประเดี๋ยวเขมรก็จะนำทัพม้ามาไล่ล้อมฆ่าพวกเราตายหมด  ราชการของนายก็จะเสียลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย  คิดดังนั้นแล้วจึงสั่งให้ไพร่พลถอดเสื้อกางเกงเครื่องแต่งกายอย่างญวนออกเสียหมดแล้ว  จึงคุมไพรพลให้ออกไปที่กลางทุ่ง  เพื่อจะสำแดงการแต่งกายว่าเป็นไทยพวกเดียวกันมิใช่ญวน  เพราะฉะนั้นเขมรเห็นว่าเป็นไทยมิใช่ญวนแล้ว  จึงได้หยุดการรบกัน  แต่เช่นนั้นก็ตายกันทั้งสองข้าง  เขมรมีไพร่พล ๕๐๐ คน  ตาย ๒๘ คน  ไทยกองตระเวนมีไพร่พล ๖๐ คน  ตาย ๘ คน  เมื่อพระยาเพชรรัตน์พบกับหลวงโยธาสงครามแล้ว  จึงเล่าความให้กันฟังตั้งแต่ต้นจนปลายสิ้น  แล้วต่างคนก็ต่างไปราชการแห่งตน  มิได้โกรธอาฆาตกัน  เพราะไม่ได้แกล้งรบกัน  แล้วพระยาเพชรรัตน์  พระยาวิชิตสงคราม  ข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ  กำกับทัพเขมร ๕๐๐  และพระไชยสงครามเขมรเมืองพนมเปญ  ที่เป็นนายทัพเขมรมาด้วยพร้อมกันทั้ง ๓ คน  เข้าชื่อกันทำหนังสือบอกสารภาพรับผิดฝากให้หลวงโยธาสงครามมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฉบับ ๑

           (นี่และถูกกับคำโบราณที่ว่าไว้สองข้อคือ  ตื่นช้างตื่นม้าปราบปรามไว้หยุด  ตื่นผู้คนห้ามไว้ไม่หยุด  กับอีกข้อหนึ่งว่า  กล้าอะไรจะกล้าเท่าที่ไม่รู้ไม่มีแล้ว  กลัวอะไรจะกลัวเท่าที่รู้แล้วไม่มีเลย  เหมือนไทยกองตระเวนกับเขมรพวกไทยที่ให้ไปปราบพวกข้าศึกญวนนั้นรบกันครั้งนี้เหมือนกัน)”

(https://i.ibb.co/rMBWmRp/Untitfdlexd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ไทยยังไม่ทันได้รบกับญวนเลย  เกิดความเข้าใจผิดเพราะความกลัว  จนถึงกับรบกันเองเสียแล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับว่าเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบเรื่องนี้แล้ว  ท่านจะว่าและทำประการใดต่อไป.....


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46297#msg46297)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46588#msg46588)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มิถุนายน, 2563, 10:01:02 PM
(https://i.ibb.co/qxLDGmy/Untitlsded-4.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46443#msg46443)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46746#msg46746)                   .

- อานามสยามยุทธ ๗๖ -

แม่ทัพใหญ่กำชับยกทัพด่วน
ไปตีญวนโดยหมาย “ตายดาบหน้า”
แม่ทัพเรือรีบทำตามบัญชา
กองทัพหน้าตีทะลวงทัพเรือญวน

ระดมยิงปืนใหญ่ใส่ไม่ยั้ง
ญวนถอยหลังหนีซุกหมดทุกส่วน
ทิ้งค่ายบกยกเผ่นเป็นกระบวน
ไทยกลับรวนลังเลไม่รีบตี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังปรึกษาราชการทัพกับเจ้าพระยาพระคลังอยู่นั้น  เป็นเวลาบ่ายประมาณสองโมงเศษ  หลวงโยธาสงครามกับหลวงยุทธกำแหงสงคราม  นายกองอาทมาตวังหน้าไปลาดตระเวนสืบทัพญวนกลับมาแจ้งข้อราชการว่า  ได้ไปลาดตระเวนถึงเกาะน้ำเต้าใกล้สามแยกคลองวามะนาว  เห็นญวนตั้งค่ายใหญ่อยู่ ๒ ค่าย  มีทหารบกยกมาหนุนเสริมยู่หลังค่ายเป็นจำนวนมาก  กองลาดตระเวนถอยกลับมาพบกองทัพพระยาเกียรติพระยารามในป่าดงตะเคียน  ได้แจ้งเรื่องให้นายทัพทั้งสองทราบเรื่องแล้วจากมา  ถึงชายป่าพบกองทัพเขมรที่พระยาเพชรรัตน์คุมไป  เกิดความเข้าใจผิดจนถึงขั้นยิงกันเองบาดเจ็บล้มตาย  รายงานนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบแล้วจะทำประการใด  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

           “เมื่อกำลังเจ้าพระยาบดินทรเดชาพูดอยู่กับเจ้าพระยาพระคลัง  ในขณะนั้นพอหลวงนรารณรงค์กับหลวงอนุชิตพิทักษ์  คุมเรือรบอย่างเล็ก ๖ ลำ  พลทหาร ๖๐ คน  ไปลาดตระเวนสืบราชการศึกญวนทางน้ำ  กลับมาถึงทีหลังกองตระเวนฝ่ายบกหน่อยหนึ่งจึงกราบเรียนว่า

(https://i.ibb.co/Kx9rZF2/37.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้ลงไปลาดตระเวนถึงคลองตำบลหนึ่ง  เขมรนำทางเรียกชื่อคลองนั้นว่า  “แพรกกระพอ”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  คลองจระเข้)  ถึงที่นั้นได้เห็นทัพเรือญวนมาทอดทุ่นอยู่ตามฝั่งน้ำในลำคลองวามะนาวทั้งสองฟากคลอง  แล้วเห็นเรือรบของญวนเป็นเรือศีรษะป้อมและเรือค่ายทอดสมอขวางลำคลองเป็น ๔ ชั้น  ชั้นในเห็นเป็นเรือเล็กมากนัก  ตรวจดูครู่หนึ่งแล้วจะแจวลงไปดูให้ใกล้ก็ไม่ได้  เพราะเห็นเรือป้อมทอดสมออยู่กลางคลองนั้นมีปืนใหญ่ทุกลำ  เกรงว่าจะยิงมาถูกเรือตระเวนที่เป็นเรือเล็กล่มลง  ก็จะเสียปืนหลักหักไฟของหลวง  จึงมิได้ลงไปให้ใกล้เรือรบญวน  แล้วเขมรผู้นำทางบอกว่าที่ปากคลอง  “แพรกกระพอ”  คือคลองจระเข้นี้  มีทางมาแต่เมืองล่องโห้สมิถ่อได้  เกรงว่าญวนจะนำเรือเล็กแจวมาจับเรือลาดตระเวนไทยไป  ก็จะเสียราชการ  จึงไม่กล้าอยู่ช้าได้  ก็รีบกลับมาโดยเร็ว”

           ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวศึกญวนทั้งทางบกและทางน้ำดังนั้นแล้ว  จึงพูดกับพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองฝ่ายบกว่า  ครั้งก่อนก็ไม่สมคิด  ครั้งนี้ก็จะไม่สมคิดอีกเล่า  เพราะครั้งก่อนนั้น  ทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังไม่ยกหนุนทัพบกลงไปให้ทันท่วงที  จึงเสียรี้พลทัพบกและทัพเรือกองหน้า  พากันล้มตายเสียครั้งก่อนนั้นก็มาก  และครั้งนี้ก็น่าที่กลัวจะเป็นเช่นครั้งก่อนอีกเล่า  เพราะว่าทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังยกมาช้าไป ๑๑ วัน ๑๒ วัน  ไม่ทันท่วงทีแก่ญวน  ญวนรีบยกทัพบกทัพเรือมาตั้งค่ายสังกัดหน้าอยู่ตามรายทางที่เราจะลงไปไซ่ง่อนนั้นก่อนได้  ก็เพราะมีน้ำหลากมามาก  เรือใหญ่ของญวนมาสบาย  เราจะทำศึกกับญวนอย่างนี้เป็นที่หนักใจหนักแรงแก่ไพร่พลทหารของเรานัก  เพราะเจ้าพระยาพระคลังมาช้าไปไม่ทันญวน  ญวนมาตั้งรับเสียก่อน  ถ้าและว่าทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังจะยกมาถึงในเดือนสี่ข้างแรมแก่ ๆ หรือเดือนห้าข้างขึ้น  อ่อนเพียงขึ้นสามค่ำสี่ค่ำตามที่เรากำหนดสั่งไปนั้น  ก็จะได้ยกลงไปทันท่วงทีโดยสะดวก  และทัพเรือจะไม่พบค่ายบกและทัพเรือของญวนตามรายทางที่จะลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  ถึงมาทว่าจะพบค่ายบกและทัพเรือของญวนตามรายทางบ้าง  ก็จะได้พบกองทัพญวนในที่ใกล้เมืองไซ่ง่อน  กองทัพไทยทั้งทางบกและทางเรือก็จะได้รบกับญวนบ้าง  แต่จะเบาแรงทหารลงมาก  ถ้าว่าทัพไทยไปใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว  ก็จะได้เห็นกองทัพองภอเบโดยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อนนั้น  คงจะยกออกมาตีทัพญวนเมืองเว้เป็นทัพขนาบกับทัพไทยด้วย  ไทยจะได้ช่วยกันกับทัพองภอโดยลันเบียเป็นสองแรงขึ้น  ก็จะได้ตีทัพญวนเมืองเว้ให้แตกไป  คงจะทนอยู่สู้ไม่ได้เป็นแน่  แต่เห็นว่าครั้งนี้คงจะไม่สมดังคิดแล้ว  เพราะทัพเรือยกมาช้าไปสิบสองสิบสามวัน  ญวนจึงยกทัพเรือทัพบกมาตั้งสังกัดรับทัพไทยอยู่ที่ต้นทางเป็นหลายแห่ง  ฝ่ายเราทำการศึกกับญวนครั้งนี้เหมือนถางทางรกและป่าดงลงลงไปเมืองไซ่ง่อน  หรือจะว่าอย่างคำโบราณก็ว่า  ดั่งกลิ้งครกขึ้นภุเขา  เหมือนกับทัพเราจะไปไซ่ง่อนครั้งนี้  กว่าจะถึงเมืองไซ่ง่อนก็คงจะต้องลำบากยากแก่ไพร่พล  และหนักใจนายทัพนายกอง  หรือเปลืองสติปัญญาแม่ทัพด้วย  เจ้าพระยาบดินเดชาพูดดังนี้ต่อหน้าเจ้าพระยาพระคลังดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้เจ้าพระยาพระคลังยกทัพเรือไปในค่ำวันนั้น

(https://i.ibb.co/ydV6WRm/Undtidftled-5-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้นทัพเรือกองหน้ายกไปถึงที่ปากคลองสามแยกในคลองวามะนาวใกล้ค่ายญวน  ญวนทัพเรือที่จอดสมอขวางอยู่กลางน้ำนั้น  ก็ยิงปืนใหญ่หน้าเรือป้อมมาเป็นสามารถ  ทัพเรือไทยตั้งเป็นหน้ากระดาน  แจวลงไปใกล้ค่ายญวน  ญวนก็ยิงปืนใหญ่หน้าเรือโต้ตอบกันไปมา  ครั้งนั้นเรือรบพระยาระยองและพระยาชลบุรีเป็นเรือเร็วและเป็นผู้กล้าหาญ  จึงไล่ให้คนแจวรีบไปถึงหน้าค่ายญวน  พระยาระยองสั่งให้ทหารนำปืนรายแคมมาประดาที่หน้าเรือ  แล้วยิงวางปืนใหญ่ไปถูกเรือรบญวนและค่ายบกญวนแตกหักเสียหายเป็นอันมาก   พระยาชลบุรีก็แจวเรือรบขวางลำเป็นแถว ๆ ๔ ลำ  จุดปืนรายแคมขึ้นพร้อมกันเป็นปืนตับ  ตับละ ๔๐ นัด ยิงติด ๆ กันไปเสมอสักครู่หนึ่ง  เรือรบญวนก็ถอยหลังลงไป  กระสุนปืนใหญ่ไปตกถูกเรือบ้าง  ถูกคนญวนล้มตายในเรือและบนบกก็มาก

(https://i.ibb.co/DWtnBtd/Untitl25ed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้นญวนต่อรบรักษาเรือจนผู้คนล้มตายมากหนัก  ด้วยที่ค่ายบกและเรือป้อมญวนนั้น  ยังไม่มีปืนใหญ่ทางไกลมากเหมือนอย่างทัพไทย  ไทยก็วางปืนใหญ่ไปเสมอไม่หยุด  ฝ่ายญวนในเรือค่ายและเรือป้อมก็ถอยล่าไปบังศีรษะแหลมเสียหลายสิบลำ  แต่ญวนในค่ายบกฝั่งตะวันตกนั้น  เห็นว่าทัพไทยมีปืนใหญ่ยิงมาได้โดยทางไกล  กระสุนปืนมาตกถึงค่ายญวน  ญวนเห็นจะตั้งอยู่ในค่ายสู้ไม่ได้  ญวนจึงเก็บเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหาร  แล้วต้อนในค่ายบกยกลงเรือรบที่หลังค่ายคอแหลมนั้น  พร้อมกันแล้วก็ถอยทัพเรือหนีไป  ทิ้งค่ายบกปากคลองสามแยกในคลองวามะนาวเสียทั้ง ๒ ค่าย  ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก  แต่ญวนไม่ทันจะเผาค่ายทั้งสองนั้นเสีย  เพราะเป็นการจวนตัวรีบจะล่าถอยหนีไปโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/XCBGtXq/Untitsdfled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายทัพเรือไทยกองหน้าที่กล้าหาญยกล่วงลงไปก่อน ๒ กองนั้น  คือ  พระยาระยอง ๑   พระยาชลบุรี ๑   เป็นสองกอง  เรือรบถึง ๖ ลำยกลงไปถึงหน้าค่ายญวนที่หนีนั้นก่อนกองอื่น  แต่ว่าไม่ยกขึ้นบกเข้าในค่าย  เดิมเป็นคนกล้า  ครั้นมาถึงหน้าค่ายญวนกลับใจเป็นคนขลาดไปเสีย  เพราะพระยาทั้งสองคิดเห็นไปว่า  ญวนแกล้งทำอุบายทิ้งค่ายเสีย  แล้วก็จะแอบซุ่มอยู่ในค่าย  แต่พอไทยขึ้นบกเข้าค่าย  ญวนก็จะไล่ฆ่าฟันแทงไทยตาย  เหมือนเมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาเหล็ก  ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์กรุงเก่า  ยกไปทำศึกกับพม่า  แกล้งทำมารยาทิ้งค่ายหนีเช่นญวนนี้  แล้วพม่าออกมาเข้าค่ายไทย  ไทยฆ่าพม่าตายจะนับประมาณไม่ได้  เป็นเยี่ยงอย่างมาแต่โบราณแล้ว  ครั้งนี้เห็นญวนจะทำกลอุบายอย่างเช่นเจ้าพระยาโกษาเหล็กบ้างเป็นแน่  เพราะฉะนั้น  พระยาระยองและพระยาชลบุรีคิดดังนั้นแล้ว  จึงมิได้ขึ้นบกยกเข้าค่ายญวน  พากันจอดแอบที่ฝั่งท้ายหน้าหน้าค่ายญวน  รอดูชั้นเชิงศึกญวนก่อน  แล้วก็จะรอคอยเรือรบกองพระยาเดโชท้ายน้ำมาถึงเมื่อใด  จะได้ขึ้นพร้อมกันเป็นคนมากจะได้ขึ้นด้วยกันเมื่อนั้น  จึงจอดนิ่งเฉยเสีย.........”

(https://i.ibb.co/6nMHK20/Untitled-s16.jpg) (https://imgbb.com/)

           * อ่านเรื่องมาถึงตรงนี้แล้ว  ก็รู้สึกเหนื่อยแทนแม่ทัพใหญ่และแม่ทัพนายกองที่จะต้องรบกับญวน  แม้จะเห็นว่าเสียเปรียบญวนอย่างไรก็ต้องรบ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้แม่ทัพเรือยกทัพเรือลงไปตีค่ายบกทัพเรือญวนทันที  ศึกไทย-ญวนครั้งที่ ๒  ยกแรก  ทหารเรือไทยโดยการนำของพระยาระยองกับพระยาชลบุรีบุกเข้าโจมตีจนทัพเรือญวนถอยร่นไป  ทหารในค่ายบนบกก็ทิ้งค่ายหนีไป  แต่ทหารกล้าทั้งสองของไทยไม่กล้าขึ้นบกเข้ายึดค่าย  ด้วยเกรงกลอุบายญวน  จึงจอดเรือรอคอยให้เพื่อนมา ๆ มาถึง  แล้วจึงค่อยยกขึ้นบกเข้ายึดค่ายญวน  เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มิถุนายน, 2563, 10:19:11 PM
(https://i.ibb.co/kqbY8TY/Untitledsd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๗ -

สองพระยากล้าเก่งไม่เร่งรบ
ถึงจุดจบตัวกลายตายเป็นผี
ถูกตัวบทอัยการผลาญชีวี
ฆ่าคนดีไปบ้างทั้งเสียดาย

แล้วทัพเรือเดินหน้าอย่างกล้าแกร่ง
ถึงเกาะแตงค่ายเก่าญวนเป้าหมาย
ญวนตั้งทัพรับสู้อยู่มากมาย
บกมีค่ายน้ำมีเรือเหลือคณนา

           อภิปราย ขยายความ ..........................

           ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้แม่ทัพเรือยกทัพเรือลงไปตีค่ายบกทัพเรือญวนทันที  ทหารเรือไทยกองหน้าโดยการนำของพระยาระยองกับพระยาชลบุรี  บุกเข้าโจมตีด้วยปืนใหญ่ทัพเรือญวนจนถอยร่นไป  เรือรบญวนล่มเสียหายหลายลำ  กระสุนปืนใหญ่นอกจากทำลายเรือรบได้แล้ว  ยังทำลายค่ายบนบกอีกด้วย  ทหารญวนทั้งในเรือและในค่ายบนบกล้มตายบาดเจ็บ  จึงถอยทัพเรือหนีไป  และทหารในค่ายบนบกก็ทิ้งค่ายหนีไปด้วย  ทหารกล้าทั้งสองของไทยไม่กล้าขึ้นบกเข้ายึดค่าย  ด้วยเกรงกลอุบายญวน  จึงจอดเรือรอคอยให้เพื่อนมาถึง  แล้วจึงค่อยยกขึ้นบกเข้ายึดค่ายญวน  เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......

(https://i.ibb.co/5kn3jhY/Untitledrd-17.jpg) (https://imgbb.com/)

            “.....ฝ่ายญวนในค่ายทิ้งค่ายหนีออกทางหลังค่าย  ไปแอบอยู่ที่ริมฝั่งน้ำจะลงเรือรบหนีไป  ครั้นเห็นว่าทัพเรือไทยยกมาถึงหน้าค่าย  ยิงปืนมาในค่ายจนต้องหนี  แล้วไทยในเรือรบก็ไม่ขึ้นบนบกมาในค่ายนั้น  เห็นทีกระสุนปืนจะหมดจึงจอดแอบตลิ่งนิ่งอยู่ไม่ขึ้นมา  พวกญวนที่แตกหนีไปหลังค่ายเห็นไทยไม่ขึ้นบกแล้ว  ญวนก็ยกพากันกลับมาเข้าหลังค่ายอย่างเดิม  เก็บเครื่องศาสตราวุธกระสุนดินดำที่เหลืออยู่ในค่ายนั้น  พากันแบกหามนำไปลงเรือรบจนหมดค่าย  ทำดังนั้นทั้งค่ายฝั่งตะวันออกและค่ายฝั่งตะวันตก  แล้วญวนก็เผาค่ายที่อยู่ฝั่งตะวันตกเสียทุกค่าย  เพราะล่าถอยหนีไปไม่ให้ไทยเข้าอาศัยในค่ายเป็นกำลังได้   แต่ค่ายฝั่งตะวันออกนั้นญวนเผาไม่ทัน  เพราะเรือพระยาระยอง  พระยาชลบุรี  อยู่ที่นั่น  เมื่อขณะไฟไหม้ค่ายญวนฝั่งตะวันตกนั้น  แสงไฟสว่างมาถึงท้องทุ่งฟากฝั่งตะวันออกคลองวามะนาว ขณะนั้นพอกองทัพบกฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายกมาถึงท้องทุ่งวามะนาวแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ยินเสียงปืนใหญ่ไทยกับญวนยิงโต้ตอบกันอยู่ช้านาน  ประมาณสามสี่ชั่วโมงแล้วก็เงียบเสียงปืนสงบลงครู่หนึ่ง  แล้วได้เห็นแสงไฟสว่างขึ้นที่ข้างทิศตะวันตก  เป็นควันพลุ่ง ๆ ขึ้นไปจับท้องฟ้า  อากาศเป็นขอบควันมืดไป  ก็เข้าใจว่าญวนเผาค่ายของมันเป็นแน่  ธรรมดาว่าทำศึกกันแล้วถ้าข้างไหนเผาค่ายของตัวแล้ว  ก็ย่อมจะเสียทีล่าหนีไปเป็นมั่นคง

            ครั้งนี้ญวนเผาค่ายเสียแล้วเห็นทีจะหนีไปเป็นแน่  จึงมีบัญชาสั่งให้หลวงเสนีพิทักษ์ขึ้นม้าเร็วสวนทางลงไปสั่งทัพหน้ากองพระยาราชสงคราม  ให้เร่งต้อนพลทหารเข้าโจมตีค่ายญวนให้แตกโดยเร็วในประเดี๋ยวนี้ให้ได้  ฝ่ายพระยาราชสงครามแม่ทัพหน้ากองบก  ยกลงไปยังไกลกับค่ายญวน  จึงสั่งให้หลวงภูเบศร์ขึ้นม้าเร็ว  นำม้าหลวงเสนีพิทักษ์ไปสั่งกองทัพช้างพระยาเพธราชา  คุมทัพช้างเข้าล้อมค่ายญวนไว้ก่อน  กว่าทัพพระยาราชสงครามจะยกลงไปถึง  จะได้ช่วยกันตีค่ายญวนให้แตกไปทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/SB1ZxWG/Unsdtitled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

            ขณะนั้นกองทัพช้างพระยาเพธราชาก็ยกเข้าล้อมค่ายญวนไว้รอบทุกค่ายตามฝั่งตะวันออก  แต่พระยาเพชรรัตน์กับพระวิชิตสงคราม  ข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ กำกับทัพพระไชยสงครามคุมพลเขมร ๕๐๐ นั้น  ไปถึงก่อนทัพช้างพระยาเพธราชา  ทัพเขมรเห็นว่าทัพช้างยกเข้าล้อมอยู่แต่ห่างไกลนัก  แลไม่เห็นญวนออกต่อสู้นอกค่าย  พระไชยสงครามเขมรก็เข้าใจว่าญวนทิ้งค่ายหนีเสียแล้ว  พระไชยสงครามเขมรพร้อมด้วยพระยาเพชรรัตน์  พระวิชิตสงครามข้าหลวงไล่ต้อนไพร่พลเขมร ๕๐๐ ยกเข้าไปในค่ายญวน  ก็ไม่เห็นผู้คนญวนมีรักษาค่ายอยู่ทุกค่าย ณ ที่ค่ายตะวันออก  เพราะฉะนั้น  กองทัพจึงเก็บได้เครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารของญวนในค่ายทั้งสิ้นก่อนทัพช้างและทัพไทยทุกกอง

(https://i.ibb.co/LhZ2LCw/Undtidftled-5-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายกองทัพพระยาเกียรติพระยาราม  คุมทัพรามัญ ๒,๐๐๐ คนยกลงไปก่อนทัพเขมร  ได้ยกแยกลงไปทางศีรษะแหลมใต้ค่ายญวน  ก็พอเรือรบญวนกำลังมาเทียบท่าหลังค่ายญวน  ญวนขนสรรพาวุธลงเรือรบนั้น  ทัพรามัญก็ยกจู่โจมโถมเข้าตีทัพเรือญวน  ญวนก็หนีไปได้มาก  ที่หนีไม่ทันพวกรามัญยิงแทงฟันฆ่าญวนตายเป็นกอง ๆ ตามตลิ่ง  แล้วเก็บได้เครื่องศาสตราวุธที่ขนลงเรือไปไม่ทันนั้นได้มาก  และจับเรือรบญวนได้ ๘ ลำ  จับได้ญวนเชลยเป็นมา ๒๕ คน  จึงพระยาเกียรติ  พระยาราม  ก็ให้สมิงรามัญคุมไพร่พลไปส่งญวนเชลยมายังกองทัพใหญ่เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หลวงสุริยามาตย์นำญวน ๒๕ คนไปติดไม้เฆี่ยนถามให้ได้ข้อความศึกญวน  ญวนให้การว่า  เมื่อทัพเรือไทยยกลงมาก่อน ๖ ลำนั้น  นำปืนใหญ่ยิงลงไปในค่ายญวน  ญวนไม่มีปืนใหญ่ทางไกลจะยิงโต้ตอบบ้าง  จึงได้ล่าถอยออกจากค่ายหนีไปหลังค่าย  หมายจะลงเรือรบหนีไปแต่ตัวรอด  ขณะนั้นญวนเห็นว่าทัพเรือรบไทย ๖ ลำจอดเสียที่ท้ายค่าย  ไม่ขึ้นมาบนบกเข้าในค่ายญวน  ญวนก็พากันเก็บเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารในค่ายขนลงเรือรบหนีไปได้บ้างหลายสิบลำ  ยังแต่พวกข้าพเจ้านี้ยังหนีไม่ทัน  กองทัพรามัญจึงจับมาได้ ๒๕ คน  สิ้นคำให้การญวนแต่เท่านี้  ครั้งนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้พระมหาสงครามขึ้นม้าเร็วไปสั่งให้กองทัพรามัญยกเข้ารักษาค่ายญวนไว้ทุกตำบลตามฝั่งตะวันออก

(https://i.ibb.co/wBKvwP0/Untitledfd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

            ขณะนั้นกองทัพเรือพระยาเดโชท้ายน้ำยกลงมาถึงค่ายญวนวามะนาว  เห็นเรือพระยาระยองกับเรือพระยาชลบุรี  กองหน้าที่ยกล่วงหน้าลงมาก่อนนั้นจอดเรือนิ่งอยู่กับฝั่ง  ไม่ขึ้นบกยกเข้าค่ายญวน  จนญวนกลับมาขนของในค่ายไปหมด  แล้วก็เผาค่ายที่ฝั่งตะวันตกเสียสิ้น  พระยาเดโชท้ายน้ำเห็นดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้หลวงโจมจัตุรงค์ลงเรือเล็กแปดแจวไปหาตัวพระยาระยองกับพระยาชลบุรี  มาถามได้ความตามคำให้การสารภาพผิดว่า  กลัวญวนจะแต่งกลอุบายแอบอยู่ในค่าย  ให้ไทยขึ้นบก  แล้วญวนก็จะยกออกมาฆ่าไทยเสียดังเช่นทัพเจ้าพระยาโกษาเหล็กครั้งกรุงเก่าทำแก่พม่านั้น  พระยาเดโชท้ายน้ำนายกองทัพหน้าได้แจ้งความตามคำให้การดังนั้นแล้วจึงว่า  พระยาทั้งสองนี้เจ้าความคิดต่าง ๆ รู้มากยากนาน  จะเลี้ยงไว้เป็นลูกกองไม่ได้  จะพาให้เสียราชการ  พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งขุนศรีรณรงค์ให้พาตัวพระยาทั้งสองคน  มัดใส่กระสอบถ่วงน้ำเสียที่ในลำคลองวามะนาว  ก็ถึงแก่ความตายทั้งสองคน  แล้วพระยาเดโชท้ายน้ำมีหนังสือบอกข้อราชการที่ฆ่าพระยาทั้งสองนั้น  ให้ขุนอินทรสังหารคุมเรือเล็กถือหนังสือบอก  มาส่งให้เจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพใหญ่ฝ่ายทัพเรือ

(https://i.ibb.co/9TZymbL/Udntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำเห็นค่ายญวนที่ฝั่งตะวันตกไฟไหม้หมดแล้ว  และค่ายญวนที่ฝั่งตะวันออกปากคลองสามแยกในคลองใหญ่วามะนาวนั้น  มีทัพบกรามัญ  เขมร  และทัพช้างในกองเจ้าพระยาบดินทรเดชายกมารักษาอยู่แล้ว  จึงมิได้แต่งกองทัพเรือขึ้นรักษาค่ายบกนั้น  พระยาเดโชท้ายน้ำรีบจะยกไปติดตามตีทัพเรือญวน  พระยาเดโชท้ายน้ำพร้อมด้วยกองพระยาราชวังสันแขกและกองพระยาวิเศษสงครามฝรั่งเศส  และพระยานายทัพนายกองอื่นอีกมาก  ก็รีบยกทัพเรือลงไปไล่ติดตามญวนโดยเร็ว  จนถึงเกาะแตงญวนเรียกว่า  “เกาะเจียนซาย” นั้น  กองทัพเรือไทยเห็นค่ายญวนตั้งรายริมฝังน้ำทั้งสองฟากทาง  แลเห็นเรือรบญวนทอดสมอขวางลำน้ำอยู่เต็มทาง  ไม่มีช่องจะลงไปได้  เห็นญวนจัดการรับรองทัพไทยที่เกาะแตงนี้ทั้งค่ายบกและเรือค่ายเป็นศึกใหญ่เข้มแข็งยิ่ง หนักกว่าทุกครั้ง  เพราะฉะนั้น  ทัพเรือไทยกองหน้าจึงไม่แจวไล่เลยลงไป  รอทัพแซงและทัพปีกซ้ายปีกขวาทัพหนุนทั้งหลายอยู่ดูกำลังเชิงศึกก่อน.........”

            ** น่าเสียดายพระยาระยองกับพระยาชลบุรี  เป็นคนกล้าที่สามารถรุกไล่กองทัพเรือญวนให้ถอยร่นไปได้พร้อมทั้งทหารญวนในค่ายก็ทิ้งค่ายหนีไป  แต่เพราะพระยาทั้งสอง  “รู้มากยากนาน” อย่างที่พระยาเดโชท้ายน้ำท่านว่า  รุกไล่จนข้าศึกหนีไปแล้ว  แทนที่จะเข้ายึดพื้นที่กลับรี ๆ รอ ๆ อยู่จนเสียราชการ  จึงต้องถูกถ่วงน้ำฆ่าเสียในที่สุด  ตอนนี้กองหน้าของทัพเรือไทยเดินทางถึงเกาะแตง  ปราการสำคัญที่สุดของญวนแล้ว  ไทย-ญวนจะรบกันอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, มิถุนายน, 2563, 10:25:20 PM
(https://i.ibb.co/jLTrDdp/Unt26itled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๘ -

ยุทธนาวีเกาะแตงร้อนแรงนัก
ไทยโหมหักบุกทางอย่างผู้กล้า
ญวนวางหมากหลายชั้นด้วยปัญญา
แล้วเข่นฆ่าทหารไทยสบายมือ

เรือกองหน้าทัพไทยไม่ฉลาด
ถูกญวนกราดปืนใส่ในความดื้อ
ปืนยิงไกลไทยมีที่ญวนลือ
ยังไม่ถือนำหน้าออกมายิง


            อภิปราย ขยายความ ..........................

            ได้นำเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยาเกียรติพระยารามนายกองหน้าพากำลังพล ๒,๐๐๐ คนไปถึงค่ายญวน  เห็นญวนกำลังขนสรรพาวุธและเสบียงอาหารลงเรือหนี  จึงโจมตี  ยิงแทงฟันญวนตายที่ริมตลิ่งมาก  จับเป็นได้ ๒๕ คน  เรือรบ ๘ ลำ  นำส่งเจ้าคุณแม่ทัพบก  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสอบถามเชลยญวนทราบความแล้ว  สั่งให้กองหน้าเข้ารักษาค่ายญวนไว้  ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำนายกองหน้าทัพเรือยกลงไปถึงค่ายญวน  พบเรือพระยาระยองกับพระยาชลบุรีจอดนิ่งอยู่  สอบถามได้ความแล้ว  จึงสั่งให้นำพระยาทั้งสองใส่ถุงแล้วมัดปากถุงถ่วงน้ำให้ตายเสียในคลองวามะนาว  แล้วเร่งยกทัพเรือกองหน้าลงไปถึงเกาะแตงปราการสำคัญที่สุดของญวน  แล้วยั้งรอให้ทัพหนุนและปีกขวา-ซ้ายมาถึงพร้อมกัน  ทั้งยังเป็นการรอดูเชิงศึกญวนก่อน  ไทย-ญวนจะรบกันอย่างไร  วันนี้มาอ่านความต่อครับ..“

(https://i.ibb.co/ZH9Hc8s/Untitldfeed-14.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ครั้นพอเวลาเพล  ทัพกองหนุนและทัพเรือแซง  ทัพเรือปีกซ้ายปีกขวายกลงมาถึงพร้อมกัน  รวมเรือรบไทยครั้งนั้นถึงร้อยกับแปดลำ  แต่กองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังยังมาไม่ถึง  แต่กำลังรีบแจวลงมาข้างหลังจวนจะถึงอยู่แล้ว  พระยาเดโชท้ายน้ำเป็นคนใจรีบร้อนต่อราชการศึกโดยมาก  จึงไม่ได้รอเรือทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังให้มาถึงพร้อมกัน  เห็นว่าแต่ทัพหน้า ทัพหนุน ทัพแซง ปีกขวาปีกซ้ายร้อยกับแปดลำเท่านี้  ก็พอจะยกลงไปตีทัพเรือญวนให้แตกไปได้แน่  จึงสั่งให้หลวงรักษาจตุรงค์วังหน้าลงเรือเล็กไปบอกนายทัพนายกองเรือทุกกอง  ให้ยกลงไปตีเรือรบญวนเดี๋ยวนี้  กองทัพเรือไทยก็ยกลงไปถึงท้ายเกาะแตง  ยิงปืนหน้าเรือรบลงไปถูกเรือรบญวน  ญวนมิได้ยิงปืนโต้ตอบมา  ญวนพากันถอนสมอเรือรบทำทีจะล่าถอยหนี  แต่เรือรบไทยกองหน้าเห็นว่าญวนถอนสมอจะล่าหนีอยู่แล้ว  เห็นว่าได้ที  จึงรีบแจวเรือรบ ๑๘ ลำลงไปก่อน  จุดปืนหน้าเรือระดมยิงเรือญวน  ญวนก็วางปืนใหญ่กระสุนแตกขึ้นมาถูกเรือรบข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ  ๒ ลำ  คนในเรือรบทั้งสองลำคือ  หลวงรามรณรงค์  กับเรือพระวิสูตรวารี  แตกจมลงในลำน้ำทั้งสองลำ  คนในเรือรบทั้งสองลำนั้นถูกกระสุนปืนเป็นกระสุนแตกตายบ้าง  บ้างว่ายน้ำหนีมาขึ้นเรือรบลำอื่นได้บ้าง

(https://i.ibb.co/T12jz20/Untitledfsd-12.jpg) (https://imgbb.com/)

            แล้วญวนนำเรือรบเล็ก ๆ ๒๕ ลำ  แจวขึ้นมาหน้าเรือป้อมของญวน  ญวนรับปืนใหญ่ในเรือป้อมที่ถอนสมอยังไม่ขึ้นนั้น  รับแต่ปืนใหญ่ลงเรือเล็ก ๒๐ แจว ๒๕ ลำ  แจวขึ้นมาใกล้เรือรบไทย  ญวนก็วางปืนใหญ่มาพร้อมกันเป็นตับ  ยิงมาคราวละ ๒๕ นัดพร้อม ๆ กัน  กระสุนปืนตับญวนปลิวมาตกถูกเรือรบไทยอีกครั้งนี้  คือเรือหลวงศรีเยาวภาษกับเรือพระนรินทร์  เรือพระวิชิตมนตรี  เรือหลวงนิกรโยธา  รวม ๔ ลำแตกจมน้ำข้างตลิ่ง  ผู้คนในเรือรบทั้ง ๔ ลำนั้นล้มตายหายจากกันเป็นอันมาก  บ้างก็ว่ายน้ำขึ้นบกไปได้บ้าง  ญวนค่ายบกก็ยิงปืนใหญ่น้อยในค่ายบกมาถูกคนไทยที่ขึ้นบกนั้นล้มตายลงมาก  กลับหน้าวิ่งหนีลงน้ำว่ายขึ้นเกาะเรือรบไทยลำอื่นที่ไม่ล่มบ้าง  ญวนค่ายบกเห็นดังนั้นแล้ว  ก็นำม้า ๕๐ ม้าออกจากค่ายบก  ยกมาไล่ล้อมจับไทยไปได้บ้าง  ที่เรือรบพระศิริสมบัติกับเรือรบหลวงสุนทรวารีแขก  ก็ยิงปืนรายราบเรือขึ้นไปบนบก  ถูกทหารม้าญวนตายลง ๖ คน  ญวนก็ถอยม้าเข้าค่ายไปสิ้น  ไทยก็หนีมาลงน้ำว่ายขึ้นเรือพระศิริสมบัติและเรือหลวงสุนทรวารีแขกที่แจวอยู่ริมฝั่งนั้นได้บ้าง  ที่ตายมากกว่าที่รอดหนีมาได้     ขณะนั้นญวนค่ายบกที่บนฝั่งข้างตะวันตกตรงเกาะแตงก็ยิงปืนใหญ่มาตกถูกผู้คนในเรือรบไทยตายมาก  เรือรบไทยจะถอยล่าออกมาก็ไม่ได้  ด้วยพระยาเดโชท้ายน้ำไล่ต้อนเรือรบให้แจวลงไปต่อรบกับญวนอยู่เสมอไม่ให้รอไม่ให้หยุด  แต่งให้พระวิชิตโกษาลงเรือรบเล็กลงไปเร่งเรือรบใหญ่ให้แจวลงไปเสมออยู่ไม่ให้ถอยเลย

(https://i.ibb.co/12nJ1x1/photo1520762046520-15207620465211527154717-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้นนั้นญวนเห็นว่าทัพไทยยกทัพเรือหนุนเนื่องกันมาเสมอไม่หยุดหย่อน  ญวนก็ถอนสมอนำเรือป้อมใหญ่ที่มีปืนทางไกล  แจวขึ้นมาประดาหน้ากระดานเต็มทั้งลำน้ำถึงสี่แถวห้าแถว  แถวหน้าเป็นเรือป้อมใหญ่  แถวหลังเป็นเรือรบเล็ก  แถวในเป็นเรือค่ายใหญ่  แล้วมีเรือรบต่าง ๆ ตั้งเป็นแถวสับกันเป็นฟันปลาเต็มทั้งลำน้ำใหญ่  ขณะนั้นญวนก็ยิงปืนที่ศีรษะเรือป้อมมาได้โดยทางไกล  กระสุนปืนญวนตกมาถูกเรือรบพระศิริสมบัติลำ ๑  ถูกเรือรบพระยาสุนทรานุรักษ์เขตลำ ๑   ลำหนึ่งกราบแตกแยกออกไปจนน้ำเข้าได้ครึ่งระวางเรือ  ลำหนึ่งหางเสือจังกูดหักท้ายเรือแตกน้ำไหลเข้าได้ครึ่งลำ  เรือรบที่ถูกกระสุนปืนชำรุดทั้งสองลำนั้น  ก็เร่งพลทหารให้รีบแจวกลับมาจะเข้าฝังฟากข้างตะวันออกก็ยังไม่ทันจะถึงฝั่ง  พอญวนนำเรือรบเล็ก  คือ  เรือแหวว  มีพลแจวลำละ ๒๐ แจวพร้อมกัน ๑๕ ลำแจวไล่ตามมาทัน  เรือพระศิริสมบัติแจวอยู่ในลำน้ำเกือบจะจมอยู่แล้ว  ญวนนำปืนขานกยางบนเรือแหววยิงไปถูกศีรษะเรือรบพระศิริสมบัติทะลุที่ข้างเรือ  ศีรษะเรือก็จมน้ำลงไปก่อน  แต่ท้ายบาหลีเรือรบนั้นยังพ้นน้ำอยู่  หลวงสุนทรโกษานายทัพรองพระศิริสมบัตินั้น  ก็ปีนขึ้นไปบนท้ายบาหลีเรือเพื่อจะหนีไม่ให้เปียกน้ำเพราะความตกใจตกตะลึงกลัวภัย  ญวนเห็นได้ทีก็นำปืนคาบศิลายิงไปถูกหลวงสุนทรโกษาตายอยู่บนท้ายบาหลีเรือนั้น

            ครั้นเรือจมลงไปทั้งลำหมดแล้ว  ผู้คนในเรือก็ว่ายน้ำระส่ำระสายไปมาอยู่ในลำน้ำวามะนาวนั้น  ว่ายวนเวียนไปมาอยู่ไม่รู้ที่จะหนีไปทางใดได้  เพราะเรือรบญวนมาล้อมรอบแล้ว  แต่เป็นความรักษาชีวิตอยู่  ก็สู้ว่ายไปเวียนมาอยู่ในที่ล้อม  ญวนเห็นดังนั้นแล้วก็นำเรือแหววแจวไปไล่ตามยิงแทงฟันพวกไทยที่ว่ายน้ำอยู่นั้นตายมาก  แต่พระศิริสมบัติกับขุนหมื่น ๒ คนว่ายน้ำไปเกาะกระดานเรือได้แผ่นหนึ่ง  ก็ช่วยกันว่ายเสือกสนจะเข้าตลิ่ง  พอญวนเห็นเข้าว่าคนที่ว่ายน้ำเกาะกระดานนั้นสวมเสื้อเข้มขาบริ้ว  ญวนก็เข้าใจแน่ว่าเป็นนายเรือรบไทย  ญวนจึงไม่ฆ่า  สั่งให้จับเป็นไปทั้ง ๓ คนบ่าวนาย  แต่ไพร่พลในเรือรบลำพระศิริสมบัตินั้น  ที่เหลือตายก็ว่ายน้ำหนีมาขึ้นฝั่งตะวันตก  แล้วเดินมาลงเรือรบไทยลำอื่นได้บ้าง  จึงได้มาแจ้งความตามเหตุที่เป็นมานั้นให้แม่ทัพนายกองทราบ

(https://i.ibb.co/C60kXf6/Untitlsed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้งนั้น  เรือรบพระยาสุนทรานุรักษ์หางเสือจังกูดหัก  เรือก็รั่วน้ำเข้าได้บ้างแล้ว  แจวตุหรัดตุเหร่หมุนไปหมุนมาอยู่กลางน้ำ  ญวนเห็นแล้วก็นำเรือแหวว ๑๐ ลำแจวเข้าล้อม  แล้วนำปืนคาบศิลายิงระดมไปถูกคนในเรือรบไทยตายมาก  พลแจวในเรือรบไทยเห็นดังนั้นก็วางแจวเสียหมด  หนีลงไปซ่อนตัวอยู่ใต้ดาดฟ้า  เรือก็ลอยอยู่กลางน้ำเข้าฝั่งไม่ได้  ญวนที่ล้อมเห็นดังนั้นแล้วก็พากันปีนขึ้นบนเรือรบไทย  ญวนไล่ฆ่าไทยในเรือใต้ดาดฟ้าบนดาดฟ้าตายทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/h24xqwg/Untitldsed-15.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้งนั้น  ญวนเห็นพระยาสุนทรานุรักษ์ ๑   หลวงมหาศักดิราช ๑   หลวงวิเศษโยธา ๑  วังหน้าทั้ง ๓ คนสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัด  ก็เข้าใจว่าเป็นนายทัพเรือ  จึงไม่ฆ่า  จับเป็นไปทั้ง ๓ คน  จำขื่อมือแล้วพาลงเรือส่งไปให้แม่ทัพใหญ่ของญวน  แล้วญวนกระทุ้งท้องเรือใหญ่ให้จมลงน้ำเสียหมด.......”

(https://i.ibb.co/4pVLHfj/Untitldwed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

            * อ่านมาถึง  “ยุทธนาวีที่เกาะแตง”  แล้วก็เหนื่อยใจจังเลย  แต่อดนึกชื่นชมญวนไม่ได้  ว่าเขาช่างมีระเบียบวินัยและสามัคคีกันดีเหลือเกิน  แล้วก็แปลกใจว่า  เมื่อเรือรบไทยถูกกระสุนปืนเสียหาย  เรือรบลำอื่นหรือแม้เรือเล็กทำไมไม่เข้าช่วยประคับประคอง  ปล่อยให้เรือแหววซึ่งเป็นเรือเล็กของญวนแจวเข้าล้อมยิงอย่างสบายมือได้อย่างไร  และปืนเล็กปืนใหญ่ในเรือรบไทยที่ถูกยิงนั้นก็มีอยู่  ทำไมทหารเรือไทยไม่ยิงใส่ญวนบ้าง  ปล่อยให้ญวนยิงอยู่ฝ่ายเดียวได้ไง  แล้วก็เรือลำล่าสุดที่หางเสือหักนั้นน่ะ  เมื่อทหารญวนพากันปีนขึ้นมาบนเรือ  ทหารไทยทำไมจึงงอมืองอเท้าให้ญวนไล่ฆ่าฟันตายหมดทั้งลำเรือได้  เสียศักดิ์ศรีชายชาติทหารหมดเลย  ก็แล้วกันไปเถิด !  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป  พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, มิถุนายน, 2563, 10:48:23 PM
(https://i.ibb.co/k27dCT0/1785.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๗๙ -

ทัพเรือไทยไร้ระเบียบเสียเปรียบมาก
เรือญวนกรากเข้าหาพากันวิ่ง
“พระยาเดโชท้ายน้ำ”ไม่แน่จริง
พาพลทิ้งเรือยกขึ้นบกไป

ญวนยึดเรือพร้อมปืนเสบียงด้วย
ทัพช้างช่วยแก้จนพ้นตายได้
แม่ทัพเรือนำทัพมิฉับไว
ทั้งมีใจอ่อนแอจึงแพ้ริปู


            อภิปราย ขยายความ ..........................

            ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันวานนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  พระยาเดโชท้ายน้ำแม่ทัพเรือกองหน้าไล่ต้อนพลเรือแจวลงไป  หมายโจมตีกองทัพเรือญวนที่ตั้งรับอยู่ ณ เกาะแตง  หลังจากจอดรอเรือหนุนเรือแซงเรือปีกซ้ายปีกขวาจนมาถึงพร้อมกันแล้ว  เห็นว่ามีเรือรวมกันถึง ๑๐๘ ลำ  มากพอที่จะยกลงไปโจมตีกองเรือญวนให้แตกพ่ายไปได้  โดยไม่ต้องรอให้กองทัพใหญ่ของเจ้าพระยาพระคลังยกมาถึง  จึงเร่งไล่ต้อนพลแจวเรือยิงปืนใส่กองเรือญวน  เรือรบญวนถอนสมอทำทีว่าจะล่าถอยหนีไป  แล้วก็จัดรูปแปรกระบวนยกกลับมายิงปืนใหญ่ระยะไกลถูกเรือรบไทยเสียหายล่มจม   ไพร่พลล้มตายลงเป็นอันมาก  เรือรบใหญ่ไทย ๒ ลำถูกยิงแตกจมน้ำ  นายเรือถูกจับเป็นไปหลายนาย  สถานการณ์กองเรือไทยอยู่ในภาวะย่ำแย่แล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.

(https://i.ibb.co/tqQjnnk/Unti659tled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             “...ครั้งนั้น  หมื่นทิพยสมบัติกับไพร่ ๒ คนหนีลงในถังน้ำก่อน  ญวนยังไม่ได้ขึ้นเรือพระยาสุนทรานุรักษ์  เมื่อญวนกระทุ้งเรือจมแล้วถังก็ลอยไป  ญวนไม่ได้สังเกตจึงไม่ได้ดูในถังน้ำ  ถังน้ำก็ลอยมาปะทะเรือรบพระอนุรักษ์โยธา   พระอนุรักษ์โยธาจึงพาคนในถังน้ำส่งขึ้นไปให้เจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ทราบความตามที่บรรยายมานั้นแล้ว  เมื่อขณะญวนมาไล่จับพระศิริสมบัติและพระยาสุนทรานุรักษ์นั้น  กองเรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญและกองพระยานครเขื่อนขันธ์ทั้ง ๒ กองแจวลงไปถึง  จึงเห็นทัพเรือเสียแก่ญวน  ญวนมาล้อมจับอยู่ดังนั้นแล้ว  ทัพเรือทั้งสองก็วางปืนใหญ่หน้าเรือรบลงไป  ฝ่ายญวนเรือป้อมก็แทรกขึ้นมากั้นเรือแหววที่ญวนล้อมจับแม่ทัพไทยอยู่นั้น  เรือป้อมนำปืนใหญ่ยิงโต้ตอบขึ้นมาบ้าง  ทางปืนใหญ่ญวนในเรือป้อมเป็นปืนทางไกลมาก  กระสุนปืนมาตกใกล้เรือกองพระยาพิทักษ์ทวยหาญแตกชำรุดบ้าง  แต่ไม่ล่มจม  พระยาพิทักษ์ทวยหาญ  พระยานครเขื่อนขันธ์  สั่งให้กองรามัญล่าถอยกลับขึ้นไปให้พ้นทางปืนใหญ่ญวน

(https://i.ibb.co/cyBKH64/Untitleed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

             ขณะนั้น  พอทัพเรือกองแซงและกองหนุนปีกซ้ายขวายกลงไปทันเรือกองหน้าเมื่อเสียแก่ญวนแล้วนั้น  พอกองทัพเรือรามัญยกกลับมาก็เข้าใจว่าทัพเรือกองหน้าเสียหมด  ญวนคงจะยกทัพขึ้นมาไล่ทัพหนุนต่อขึ้นมา  เพราะดังนั้น  ทัพแซงและทัพหนุนจึงได้แจวล่าถอยกลับขึ้นมาหมด  ฝ่ายญวนเห็นดังนั้นก็ยกทัพเรือรบเล็กใหญ่ไล่ขึ้นมายิงปืนใหญ่หน้าเรือรุกไล่ตามมามาก  ฝ่ายทัพเรือไทยกองแซงและกองหนุนกองปีกซ้ายขวาก็พากันตื่นตกใจกลัวญวน  พากันล่าถอยกลับมาเป็นอลหม่านไม่เป็นกระบวน  จนเรือรบทุกกองมาปะทะเรือรบกองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังจะห้ามปรามเท่าไรก็ไม่ฟัง  เรือรบทุกทัพทุกกองแจวถอยหนีมาบ้าง  แล่นใบมาบ้าง  ตีกระเชียงมาบ้าง  แจวมาบ้าง  ล่าถอยหนีญวนมาเป็นอลหม่าน  บ้างแข่งบ้างแย่งมาก่อน  จนโดนกันเองแตกหักเสียหายหลายลำบ้าง  หางเสือจังกูดหักบ้าง  ศีรษะเรือไปโดนกราบเรือกันเองแตกไปกราบหนึ่งบ้าง  บางลำศีรษะเรือชักบ้าง  สับสนกันหนัก   ครั้งนั้นเรือรบไทยหลายสิบลำล่าถอยหนีญวนมาปะทะอัดแอกันอยู่ในคลองวามะนาวใหญ่  ใกล้จะถึงปากคลองสามแยก  พวกเรือรบไทยครั้งนั้นมาปะทะพร้อมกันอยู่  ไม่รู้ที่จะหลีกกันไปทางไหนได้  เพราะเรือรบมามากพร้อมคั่งกันอยู่ปากคลองสามแยก

(https://i.ibb.co/jVrPY83/Untidtled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งนั้น  ญวนเห็นเป็นที  จึงนำเรือรบใหญ่ ๑๕๐ ลำ  แล่นใบบ้าง  แจวบ้าง  ไล่ติดตามตีกองทัพเรือไทยมาข้างหลังบ้าง  แล้วนำปืนที่ศีรษะเรือป้อมยิงขึ้นมาไล่เรือรบไทย  เรือรบไทยก็ถอยหนีรุดมาพร้อมกัน  ปะทะกันอัดแออยู่ที่ปากคลองสามแยก  ยังไม่ทันจะหลีกกันไปข้างไหนได้  ขณะนั้นญวนแต่งกองทัพเรือรบเล็ก ๆ ไว้ถึง ๑๐๐ ลำเศษ  ญวนยกทัพเรือรบเล็กวกอ้อมมาในคลองลัดต่าง ๆ  แจวก้าวสกัดมาออกลำน้ำใหญ่ได้หลายทาง  ญวนจึงนำเรือรบเล็กๆ เป็นทัพขนาบตีตัดหลังกองทัพเรือไทยลงไป เรือรบใหญ่ของญวนก็ยิงปืนระดมมาพร้อม ๆ กัน เรือรบเล็ก ๆ ของญวนก็ยิงปืนระดมลงไปพร้อม ๆ กัน  ทั้งสองทัพหน้าหลังของญวนตีรุกเข้ามาทุกที  ฝ่ายทัพเรือไทยทั้งหลายอยู่ที่กลาง  ต้องเข้าช่องแคบสู้ทั้งข้างหน้าข้างหลังระวังยาก  ญวนยกทัพเรือใหญ่มาข้างหลัง  ยกเรือรบเล็กมาข้างหน้าเป็นศึกขนาบไทย  ไทยเกือบจะเสียทัพเรือแก่ญวนอยู่แล้ว

(https://i.ibb.co/gRCXYpH/Undstitlsed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

             ขณะนั้นพระยาเดโชท้ายน้ำแม่ทัพเรือรบกองหน้าฝ่ายไทยทิ้งเรือเสียหมด  พาพลทหารยกขึ้นจากเรือมาขึ้นบกที่ริมฝั่งตะวันออก  คิดจะฝ่าเรือรบออกเป็นซีก ๆ ขึ้นตั้งเป็นค่ายมั่นบนบก  พอจะได้บังกระสุนปืนรับทัพญวน  ยังหาทันจะทำการสำเร็จดังที่คิดไม่   ในทันใดนั้น  ญวนยกทัพเรือรบเล็กมาถึงเร็วหนัก  ญวนนำปืนใหญ่น้อยยิงระดมขึ้นไปบนตลิ่ง  กระสุนปืนญวนยิงถึงกองทัพพระยาเดโชท้ายน้ำ  พระยาเดโชท้ายน้ำต้องขุดคูพากันลงแอบบังกระสุนปืนแทบทุกคน  ฝ่ายญวนเห็นว่าไทยกองทัพเรือพระยาเดโชท้ายน้ำทิ้งเรือรบ ๑๐๒ ลำเสียแล้วหนีขึ้นบกดังนั้น  ญวนก็จัดการจะนำเชือกมาจูงเรือรบใหญ่ ๆ ของไทยไปให้หมดทั้ง ๑๐๒ ลำ

(https://i.ibb.co/mRMvkhj/Untitdfgdled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

             ขณะนั้น  พอกองทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชารีบยกมาถึงท้องทุ่งใกล้ปากคลองสามแยกแล้ว  จึงได้ยินเสียงปืนทางน้ำยิงโต้ตอบกันหนาหูทุกที  ก็รู้ว่าทัพเรือไทยได้รบกับทัพเรือญวนเป็นสามารถแน่แล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล  ให้เป็นแม่ทัพคุมกองช้างพระยาเพชราชาในพระราชวังหลวง ๑๐๐ ช้าง  ให้รีบเร่งยกลงไปช่วยแก้ทัพเรือที่ริมฝั่งน้ำวามะนาวข้างตะวันออกทางหนึ่ง  แล้วสั่งให้พระยาพิไชยชาญฤทธิ์  เป็นแม่กองทัพช้างคุมกองช้างพระยาประกฤษณุรักษ์ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๗๐ ช้าง  ให้รีบยกลงไปทัพเรือที่ริมฝั่งตะวันออกอีกทัพหนึ่ง   แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็รีบดำเนินกองทัพบกยกเป็นลำดับมาถึงเชิงตลิ่งใกล้ปากคลองสามแยก  เห็นญวนนำเรือรบเล็ก ๆ แจวไล่ยิงเรือรบไทย  ไทยทิ้งเรือรบหนีขึ้นบกดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้หลวงเสนาภักดีขึ้นม้าเร็ว  รีบสวนทางลงไปบอกแก่พระยาจ่าแสนบดีนายกองช้าง  ให้นำปืนบาเหรี่ยมขานกยางจังก้าบนหลังช้างยิงระดมลงไปให้พร้อม ๆ กัน  คราวละ ๒๐ ช้าง  ให้ติด ๆ กันสักพักสองพัก  ทัพเรือญวนก็จะถอยไป  อย่ากลัวมันเลย

(https://i.ibb.co/Rvhm57F/Untitlesd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

             พระยาจ่าแสนบดีทำได้ตามบัญชา  สั่งตั้งปืนจังก้าบนหลังช้างเป็นแถว  แถวละ ๒๐ ช้าง  วางปืนตับบนหลังช้างลงไปถูกเรือรบญวนที่เข้ามาใกล้ตลิ่งแตกบ้าง  ล่มจมบ้าง ๔๓ ลำ  ญวนตายในน้ำครั้งนั้นประมาณ ๕๐๐ เศษ  ที่เหลือตายก็ว่ายน้ำไปขึ้นเรือรบที่ไม่จมนั้นได้บ้าง  รอดตายไปได้ประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ  เรือรบที่ถูกกระสุนปืนหลังช้างชำรุดศีรษะหักกราบแตกไม่จมนั้น  ก็หนีออกไปให้ห่างตลิ่งพอพ้นปืนไทย  แต่เรือรบญวนที่มาประดาแจวอยู่หน้าตลิ่งและอยู่ห่างไกลทางกระสุนปืน  ประมาณเรือรบทั้งใหญ่และเล็ก ๒๗๐ ลำ  ก็หนุนเนื่องกันแจวเข้ามามาก  แต่ล้วนเรือค่ายเรือป้อมใหญ่ ๆ พอรับกระสุนปืนไทยไม่แตกจมลงได้  แจวหนุนเนื่องกันเข้ามา  ช่วยกันเก็บจูงเรือรบของไทยที่พระยาเดโชท้ายน้ำทิ้งไว้ในลำน้ำนั้น ๖๔ ลำ  เก็บได้พร้อมทั้งปืนใหญ่และกระสุนดินดำเสบียงอาหารสำหรับเรือญวนนั้นได้ไปพร้อมกับเรือสิ้นทุกลำ   ญวนได้เรือรบใหญ่ ๆ ของไทยไป ๖๔ ลำครั้งนั้น  เพราะว่ากองทัพใหญ่เจ้าพระยาพระคลังไม่ยกหนุนไปช่วยแก้ไข  กลับถอยทัพหนีไปไกล  ละทิ้งให้แต่พระยาเดโชท้ายน้ำอยู่กองเดียว  จึงเสียเรือรบของหลวงไปแก่ญวนมาก  แต่กองทัพข้างฝ่ายพระราชวังบวรฯ นั้น  ยกลงไปถึงช้าอยู่หน่อย  ไม่ทันรบกับญวน  ญวนก็พากันเก็บเรือรบไทยไปได้  แล้วญวนก็ล่าทัพถอยหนีกลับไปค่ายเกาะแตงหมด  เพราะทัพช้างมาต้านทานปะทะญวนไว้ได้  ญวนจึงไม่ได้ไล่ทัพเรือกองเจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังก็ถอยหนีไปได้สะดวก  ไปพักอยู่ในคลองวามะนาวใกล้เมืองโจดก.......”

(https://i.ibb.co/kSk1ygD/Untitlccfed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

             *** เป็นอันว่า  “เรียบร้อยโรงเรียนญวน”  ไปแล้ว  สำหรับกองทัพเรือไทยของเจ้าพระยาพระคลัง  ถ้ากองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปช้ากว่าอีกสักหน่อย  กองทัพใหญ่เรือไทยเห็นทีจะไม่พ้นมือญวน  เพราะนายทัพนายกองและไพร่พลพากันกลัวญวนจน   “อุจจาระขึ้นสมอง”   มีปืนก็ไม่ยิงโต้ตอบญวน  กลับทิ้งปืนไว้ในเรือ  โดดน้ำว่ายหนีขึ้นบกแต่ตัว  กองเรือหนีอย่างไร้ระเบียบวินัย  ชนกันเองจนเสียหาย  ผิดกับญวนที่เวลาล่าถอยก็ไปเป็นระเบียบ  เวลายกรุกก็มาเป็นระเบียบ  อย่างนี้รบกับญวนอีกกี่ครั้งก็แพ้ญวนอย่างไม่มีลุ้นกันเลยทีเดียว  เจ้าพระยาพระคลังถอยกลับไปเมืองโจดกแล้ว  ญวนจะตามตีอีกหรือไม่อย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทย
๑๒ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มิถุนายน, 2563, 10:21:49 PM
(https://i.ibb.co/gb8bXJd/1436261434-image-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๐ -

แม่ทัพบกยกรบไม่ครบถ้วน
ตีค่ายญวนเกาะแตงทุ่มแรงสู้
แต่พ่ายญวนเลิกรุกทุกประตู
จึงไม่อยู่รอท่าญวนฆ่าตาย

จะถอยกลับเนาเขตประเทศเขมร
พักทัพเค้นคิดทางวางเป้าหมาย
รบตีญวนอีกครั้งเพื่อล้างอาย
เอาไว้ลายเสือสยามญวนยำเกรง


             อภิปราย ขยายความ ..........................

             ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนนี้ได้เล่าถึงตอนเรือรบทัพหน้าสองลำ  คือเรือพระศิริสมบัติและพระยาสุนทรานุรักษ์ถูกญวนยิงล่มลง  แล้วเรือรบเล็กญวนเข้าล้อมจับ  เรือพระยาพิทักษ์ทวยหาญและพระยานครเขื่อนขันธ์เห็นเช่นนั้นก็เข้าไปช่วย  แต่ถูกเรือป้อมปืนใหญ่ญวนยิงปืนระยะไกลตกใส่ใกล้  เรือรบพระยาทั้งสองเสียหายเล็กน้อย  ล่าถอยให้พ้นทางกระสุนปืน
          กองหนุนและเรือแซง เรือปีกซ้ายขวา  เห็นเรือพระยาทั้งสองล่าถอยมา  ก็เข้าใจว่าเรือกองหน้าเสียแก่ญวนสิ้นแล้ว  และญวนกำลังไล่ตามมา  เกิดความกลัวญวน  จึงพากันถอยหนีกลับอย่างชุลมุนวุ่นวายมาปะทะชนกันเองเป็นอลหม่านจนเรือเสียหาย  แออัดยัดเยียดกันอยู่ที่สามแยก  เจ้าพระยาพระคลังจะห้ามปรามสั่งการอย่างไรก็ไม่ฟัง  พระยาเดโชท้ายน้ำนั้นทิ้งเรือในกองของตนเสียสิ้น  พาไพร่พลขึ้นบกเตรียมจะผ่าเรือเป็นซีก  ตั้งเป็นค่ายกำบังลูกปืนญวน  ญวนได้ทีก็พาเรือน้อยใหญ่รุกไล่ยิงฆ่าฟันพลไทยล้มตาย  และกำลังจะลากจูงเรือรบไทยร้อยกว่าลำที่พระยาเดโชทิ้งเสียนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกทัพบกมาถึงขณะที่ญวนกำลังจะลากจูงเรือรบไทย  จึงสั่งให้เอาปืนหลังช้างระดมยิงไล่ญวน  กระสุนปืนหลังช้างถูกเรือรบญวนแตกล่มหลายลำ  พลญวนตายประมาณ ๕๐๐ คนเศษ  หนีไปได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ  แต่ญวนก็ดื้อรั้นฟันฝ่าห่ากระสุนปืน  ลากจูงเรือรบไทยพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์เสบียงอาหารประจำเรือไปได้เกือบทั้งสิ้น  แล้วถอยทัพกลับไปตั้งรับอยู่เกาะแตงตามเดิม  เจ้าพระยาพระคลังก็ยกกองทัพเรือกลับเมืองโจดก  การรบยกสองนี้  ไทยพ่ายแพ้ อย่างสิ้นเชิง  ผลจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/wR9jf9D/1436261525-image-o.jpg) (https://imgbb.com/)

              “ครั้งนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชายกไปถึงที่ปากคลองสามแยก  พอทัพเรือญวนยกเลิกกลับไปหมด  จึงให้พระยาราชสงครามแม่ทัพกองหน้าเร่งยกไปตีค่ายญวนที่เกาะแตงลองดูตามบุญตามกรรม  ทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ล่าถอยไปเสียแล้ว  จึงสั่งให้พระยาเดโชท้ายน้ำกลับลงเรือที่เหลือจากพวกญวนพาไปไม่หมด ๓๘ ลำ  ให้ยกลงไปช่วยหนุนทัพบกด้วย  แต่ไพร่พลทัพเรือที่เหลือตายและเหลือจากเรือรบ ๓๘ ลำนั้น  ก็ให้เดินไปในทัพบกบ้าง  แล้วให้หลวงสุรณรงค์วังหน้า  คุมเรือเร็วรีบไปเร่งทัพเรือเจ้าพระยาพระคลัง  ให้กลับลงมาช่วยทัพบกยกเข้าตีค่ายญวนที่เกาะแตงอีกสักครั้งหนึ่ง

(https://i.ibb.co/wBJ3xBS/Untsditled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

             ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรดชายกทัพบกลงไปใกล้เกาะแตง  รอเดินทัพคอยทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็หายกลงมาไม่  ครั้นจะรอคอยทัพเรืออยู่ช้าก็ไม่ได้  ญวนจะยกทัพบกทัพเรือมาตีทัพบกแตกเสียเหมือนทัพเรืออีกเล่า  จำเป็นจะรอคอยไม่ได้  จึงสั่งพระยาจ่าแสนบดีและพระยาพิไชยชาญฤทธิ์นายทัพช้าง ๒ กอง  ให้นำปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนที่บรรทุกหลังช้างมานั้น  ยกลงตั้งกับตลิ่ง  ยิงไปต้องค่ายญวนกองหน้าของทัพเกาะแตง  ค่ายญวนที่นั้นตั้งใกล้เกาะแตง ถูกกระสุนปืนใหญ่ไทยค่ายญวนพังทลายลง  ไฟก็ไหม้หอรบหน้าค่ายญวน  ญวนต้อนพลทหารขึ้นดับไฟบนหอรบ  ฝ่ายทัพไทยก็ยิงปืนใหญ่ออกไปอีกคราวหนึ่ง  จึงกระสุนปืนถูกพลทหารที่ขึ้นดับไฟนั้นตกหอรบลงมาตายบ้าง  ถูกกระสุนปืนตายบ้าง  รวมญวนตายครั้งนั้นประมาณ ๕๐ คน

(https://i.ibb.co/Ht63NVf/Untisetled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             ฝ่ายญวนซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ฟากฝั่งตะวันออกเยื้องเกาะแตงนั้น  ก็ยิงปืนใหญ่ออกมาจากค่ายตะวันออกนั้นเป็นสามารถ  กองทัพบกฝ่ายไทยจะยกไปตีปล้นค่ายฝั่งตะวันตกก็ไม่ได้  ต้องถอยทัพกลับออกมา  แต่เมื่อทัพบกยกเข้าตีปล้นค่ายญวนฝั่งตะวันตกนั้น  ค่ายญวนฝั่งตะวันตกเป็นที่ท้องคุ้ง  ค่ายญวนฝั่งตะวันออกเป็นที่ศีรษะแหลมยื่นออกมามาก  เพราะฉะนั้นค่ายญวนฝั่งตะวันออกจึงนำปืนใหญ่น้อยยิงระดมมาแต่ศีรษะแหลมฝั่งตะวันออก  กระสุนปืนมาตกที่คุ้งฝั่งตะวันตกได้ถนัด  ถูกผู้คนนายทัพนายกองและไพร่พลไทยล้มตายลงมากเมื่อยกเข้าปล้นนั้น

(https://i.ibb.co/XZZqS5q/Untsitlesdd-8.jpg) (https://imgbb.com/)

             เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้ทัพหน้าและทัพของท่านถอยออกมาเลิกการปล้นเสีย  ให้ตั้งมั่นกันแต่ไกล ๆ ดูเชิงศึกก่อน  ขณะยกเข้าปล้นค่ายใต้เกาะแตงฝั่งตะวันตกนั้น  เสียนายทัพนายกอง ๔ คนคือ  พระยาวิเศษไชยชาญผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง  ถูกปืนญวนกระสุนเท่าผลมะกรูดที่หลังตายในที่รบ  พระราชเสนาถูกปืนหามแล่นญวนกระสุนเท่าผลหมากสงข้างในมาถูกศีรษะแตกตายในที่รบ  พระเขื่อนเพชรเสนากับหลวงยุทธกำแหงสงครามข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ  ทั้งสองนี้ถูกกระสุนแตกของญวนยิงมาต้องที่กายก็ตกลงน้ำตายในที่รบ  ศพก็ไม่ได้เห็นทั้งสองคน  แต่ขุนหมื่นไพร่พลไทยรามัญเขมรตายประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เศษ

(https://i.ibb.co/d4mBp5G/Untiasatled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่กองช้างนั้น  ช้างถูกกระสุนปืนใหญ่ของญวนตาย ๔๖ เชือกทั้งสองกอง  หลวงวิเศษคชลักษณ์กรมช้างในพระราชวังหลวงถูกกระสุนปืนตาย ๑  หลวงอินทรคชลักษณ์กรมช้างในพระราชวังบวร ฯ ตายบนหลังช้าง ๑  หลวงภักดีพลแสนกรมช้างนอกในพระราชวังบวรฯ  ถูกกระสุนปืนตายพร้อมกับช้างที่ล้มตายด้วย ๑  ไพร่พลในกรมช้างสองกองตายประมาณ ๑๐๐ เศษ  การประมาณไพร่พลตายในการรบมาเรียบเรียง  เป็นแต่การประมาณมาแต่ในใบบอกในคราวล่าทัพนั้น  ก็เก็บมาเรียงไว้ในนี้ตามใบบอกของกองทัพบกและเรือ

             ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบก  ล่าทัพจากที่ปล้นดังนั้นแล้ว  รอคอยทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ไม่ยกมาช่วย  มีแต่ทัพเรือพระยาเดโชท้ายน้ำ  ก็มีเรือรบแต่ ๓๘ ลำเท่านี้จะสู้อะไรกับญวนได้เล่า  จึงปรึกษากับพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองว่า

(https://i.ibb.co/X7jHqqS/Untitlfded-10.jpg) (https://imgbb.com/)

              “แต่เรายกกองทัพมาตีปล้นค่ายญวนที่เกาะแตงนี้ก็หลายเวลาแล้ว  ไม่ได้ท่วงทีมีชัยชนะแก่ญวนเลย  เพราะว่าทัพเรือมาไม่ทัน  ถ้าทัพเรือมาทันทีก็จะยิงระดมกับค่ายฝั่งตะวันออกได้  ฝ่ายเราก็จะเข้าปล้นค่ายฝั่งตะวันตก  คงจะได้ชัยชนะแก่ญวนสักทางหนึ่งไม่ทัพบกก็ทัพเรือ  คงจะได้ค่ายญวนสักค่ายหนึ่งเป็นแน่  นี่ทัพเรือไม่ยกมาเราจึงต้องล่า  เพราะด้วยทัพเรือมาไม่พร้อมกับทัพบกสองครั้งแล้ว  จึงเสียไพร่พลและช้างม้าเรือรบกับพวกญวนมาก  ครั้งก่อนคนน้อยก็ว่าคนน้อย  ครั้งนี้คนมาก  ก็ต้องล่าทั้งมาก ๆ  เราจะตั้งรบรับกับญวนอยู่ที่นี่ไม่ได้  ถ้าพวกญวนยกทัพบกทัพเรือเพิ่มเติมมาอีก  ฝ่ายเราก็จะอยู่สู้มันไม่ได้  เพราะว่าเรือรบของเรามีน้อยนัก  เห็นอยู่แต่ทางที่จะล่าถอยกองทัพกลับฝ่ายเดียวเท่านั้น  ทำศึกกับพวกญวนเช่นนี้จะได้เมืองญวนที่ไหนเล่า  ครั้นจะบอกกล่าวโทษทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังเข้าไปยังกรุงเทพฯ บ้าง  ดูเหมือนเราจะก่อการให้ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเป็นหลายอย่างหลายประการ  ทั้งเสียรี้พลทวยหาญ  ช้างม้า  ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็พากันมาล้มตาย  พลัดพรายหายจากไปก็มีบ้างต่าง ๆ นานา  ทั้งเสียพระราชทรัพย์ที่ทรงทำนุบำรุงในการศึกสงครามนี้ก็มากมายหลายพันชั่ง  ก็ยังหาได้เมืองญวนสมดังพระราชประสงค์ไม่

             ครั้นจะคิดยักย้ายถ่ายเทศึกสงครามต่อไป  คิดแก้ไขตีเมืองญวนมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ได้ตามพระราชประสงค์นั้นเล่า  จะต้องให้เจ้าพระยาพระคลังกลับก่อน  ให้สิ้นคนขลาดและคนที่ไม่ประพฤติตามคำสั่งของผู้ถืออาชญาสิทธิ์ในการทัพศึก  โดยที่เจ้าพระยาพระคลังทำความผิดต่อกฎหมายพระอัยการศึกหลายครั้งแล้ว  ฝ่ายเราก็จะตั้งแต่งให้พระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองที่กล้าหาญ  เป็นแม่ทัพฝ่ายเรือแทนเจ้าพระยาพระคลังต่อไปตามในบทพระอัยการศึก  แล้วจะได้นัดหมายนายทัพบกทัพเรือให้ยกพร้อมกัน  ระดมเข้าตีค่ายญวนที่เกาะแตงอีกสักครั้งหนึ่ง  ก็คงจะได้ชัยชนะแก่ญวนที่เกาะแตงเป็นอันแน่

             แต่มาทว่าจะชนะญวนได้ค่ายที่เกาะแตงแล้ว  เราจะลงไปทำศึกสงครามตีทัพญวนที่มาล้อมเมืองไซ่ง่อนให้แตกไปในครั้งนี้ไม่ได้  เพราะเรือรบของเรามีน้อย  ไม่พอกับจะเป็นทัพหนุนที่จะยกไปช่วยทัพบกทำการข้างหน้าเห็นจะตลอดไปไม่ได้  อีกประการหนึ่งเล่า  ระยะนี้ก็เป็นเดือนห้าต่อเดือนหก  เข้าในฤดูฝนบ้างแล้ว  จะยกทัพบกไปในป่าดง  กว่าจะถึงเมืองไซ่ง่อนนั้น  ไพร่พลก็จะได้ความลำบากมาก  เจ็บไข้ล้มตายด้วยไข้ป่าในฤดูฝนนี้มากนัก  เห็นการที่คิดใหม่นี้ก็ไม่เป็นที่มั่นคงแก่ราชการศึกต่อไปได้เลย  คิดไปคิดมาก็ไม่ได้  แต่จะต้องล่าทัพไปพักพลอยู่ที่เมืองเขมรก่อน  จะได้บำรุงพลทหารและหาเสบียงอาหารสะสมไว้ทำการปีกับญวนต่อไปอีกใหม่ในฤดูแล้งหน้า  จึงจะได้คิดราชกาต่อไปอีก  ครั้งนี้ก็ได้แต่ล่าถอยไปทั้งทัพบกทัพเรือถ่ายเดียวเท่านั้น”

(https://i.ibb.co/mBZ4MPt/Untitldsed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

             ฝ่ายเจ้าพระยาและพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองทั้งหลาย  ก็เห็นชอบพร้อมกันตามความคิดเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาเดโชท้ายน้ำ  ให้คุมเรือรบ ๓๘ ลำที่เหลืออยู่นั้น  ให้ยกกลับไปหาเจ้าพระยาพระคลังที่ปากคลองวามะนาวเถิด  จะได้ล่าทัพเรือไปอยู่เมืองบันทายมาศทีเดียว.......”

(https://i.ibb.co/N7fsLkM/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

             * เรียกได้ว่า  “แพ้ญวนทุกประตู”  แม่ทัพเรือยามนั้นหากมิใช่เจ้าพระยาพระคลัง  ซึ่งเป็นราชนิกูล  เห็นทีว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชาคงจะดำเนินการตามกฎหมายพระอัยการศึกเป็นแน่  ความคิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่จะตีเอาเมืองญวนให้ได้ยังติดค้างอยู่ในใจ  จึงมีแผนที่จะเปลี่ยนแม่ทัพเรือคนใหม่  หลังจากล่าถอยไปพักพลที่เมืองเขมรแล้ว  จะต้องยกไปตีเอาเมืองญวนมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้จงได้  คิดดังนั้นแล้วก็จึงสั่งล่าถอยทัพทั้งหมด  เรื่องจะเป็นอย่างที่เจ้าคุณแม่ทัพบกคิดไว้หรือไม่  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, มิถุนายน, 2563, 10:21:14 PM
(https://i.ibb.co/940dt6s/Untitlefd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๑ -

จะถอยกลับเนาเขตประเทศเขมร
พักทัพเค้นคิดทางวางเป้าหมาย
รบตีญวนอีกครั้งเพื่อล้างอาย
เอาไว้ลายเสือสยามญวนยำเกรง


             อภิปราย ขยายความ ..........................

             ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพบกมาถึงสามแยก  พบว่ากองเรือญวนยกกลับไปเกาะแตงแล้ว  และกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ล่าถอยกลับไปหมดแล้วเช่นกัน  จึงสั่งพระยาราชสงครามกองหน้าทัพบกเดินหน้าต่อไปตีค่ายญวนที่เกาะแตง  และให้พระยาเดโชท้ายน้ำยกพลลงเรือรบที่เหลืออยู่ ๓๘ ลำ  ยกลงไปเกาะแตงช่วยทัพบกตีญวน  พร้อมกับให้หลวงสุรณรงค์วังหน้า  คุมเรือเร็วลงไปเร่งทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังให้ยกกลับลงไปช่วยทัพบกตีค่ายญวนที่เกาะแตงอีกครา  เจ้าพระยาบดินทรเดชายกเข้าปล้นค่ายญวนฟากฝั่งตะวันตกจนใกล้จะแตกแล้ว  ปรากฏว่าญวนในค่ายฟากฝั่งตะวันอกยิงปืนใหญ่น้อยช่วยค่ายตะวันตก  กองทัพไทยอยู่ในชัยภูมิที่เสียเปรียบ  ถูกญวนค่ายตะวันออกยิงปืนมาถูกไพร่พลช้างม้าล้มตายมากจนต้องถอยออกมา  ครั้นรอคอยทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังอยู่นาน  จนรู้แน่ว่าทัพเรือไม่ยอมยกลงไปช่วยแน่แล้ว  จึงปรึกษานายทัพนายกอง  เห็นพ้องกันว่าควรล่าถอยทัพกลับไปตั้งหลักบำรุงกองทัพที่เขมร  แล้วค่อยยกมาตีญวนภายหลัง  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

             ขณะนั้นจึงแต่งหนังสือคำสั่งถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า

              “ทัพบกจะยกเลิกล่าไปในครั้งนี้แล้ว  ให้ทัพเรือยกล่าถอยไปพักพลอยู่ที่เมืองบันทายมาศทีเดียวเถิด  อย่าให้ทัพเรือพักที่เมืองโจดกเลย”

(https://i.ibb.co/Y2LJkNk/Untitlewd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

             ฝ่ายพระยาเดโชท้ายน้ำได้รับหนังสือคำสั่งแล้ว  จึงเลิกทัพเรือล่าถอยไปในวันนั้น  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบก  จึงสั่งพระยา  พระ  หลวง  นายทัพทั้งปวงให้ยกเลิก  ล่าถอยทัพไปเมืองโจดกทุกทัพทุกกอง  ฝ่ายทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังและทัพเรือทั้งหลายก็ยกเลิกมาอยู่ที่เมืองบันทายมาศทั้งสิ้น  แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชามาถึงเมืองโจดกแล้ว  จึงมีหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่งใจความว่า

              “ทัพบกได้มาพักอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว  ขัดสนด้วยเสบียงอาหารและกระสุนดินดำด้วย  ครั้นจะอยู่ที่นี้เห็นทีญวนจะยกทัพบกทัพเรือมาตีเมืองโจดกคืนครั้งนี้โดยสามารถ  เพราะญวนได้เรือรบไทยไปไว้มากแล้ว  กับประการหนึ่งเล่า  ญวนกำลังเป็นบ้าสงคราม  คงจะยกทัพใหญ่มาตีไทยอีกเป็นแน่  ครั้นทัพบกจะตั้งรับทัพญวนอยู่ที่เมืองโจดกนี้  เห็นว่าป่วยการแรงทหารไพร่พลหนัก  เพราะรี้พลก็บอบช้ำอิดโรยลงมาก  จำเป็นจะต้องชิงทิ้งเมืองโจดกเสียในครั้งนี้เป็นแน่  แต่ว่าจะต้องรื้อกำแพงเมืองทลายลงน้ำเสียให้สิ้น  กับจะนำปืนใหญ่สำหรับเมืองโจดกนั้นหาตะปูอุดชนวนเสียทุกกระบอก  แล้วกลิ้งลงทิ้งน้ำเสียให้หมด  อย่าเหลือไว้ให้เป็นกำลังแก่ญวนต่อไป  ปืนใหญ่นั้นครั้นจะพาไปด้วยก็ไม่ได้  เพราะเป็นปืนใหญ่เหลือกำลังช้างจะบรรทุกไปได้  แต่กระสุนดินดำของญวนนั้นจะบรรทุกช้างไปให้หมด  กับข้าวเปลือกที่มีอยู่ในเมืองโจดกมากน้อยเท่าใด  ครั้นจะบรรทุกช้างไปเมืองเขมรก็เห็นจะเป็นทางไกลหนัก  จึงจำเป็นต้องเผายุ้งฉางเสียหมดทั้งเมือง  และจะทำลายล้างบ้านเมืองโจดกเสียให้สิ้นเชิงจนชั้นแต่ต้นไม้มีผลก็จะฟันเสียให้หมด  แล้วจะนำไฟจุดเผาเหย้าเรือนในเมืองโจดกเสียให้สิ้น  แล้วก็จะล่าทัพถอยไปพักอยู่ที่เมืองเขมรในวันสองวันนี้

             อนึ่งให้เจ้าพระยาพระคลังทำลายล้างเมืองบันทายมาศเสียให้สิ้นเชิงดังที่เมืองโจดกนี้เหมือนกัน  ให้นายทัพนายกองเรือขนเครื่องศาตราวุธเสบียงอาหารในเมืองบันทายมาศและเมืองกำปอด  เมืองกะพงโสม  ลงบรรทุกเรือรบใหญ่ผ่อนไปไว้เมืองจันทบุรีให้สิ้นเชิง  ที่ไหนเป็นปืนใหญ่โตเหลือกำลัง  พาไปไม่ได้  ก็ให้หาตะปูอุดชนวน  กลิ้งลงทิ้งน้ำเสียให้หมด  อย่าเหลือไว้ให้เป็นกำลังแก่ข้าศึกญวนต่อไป  แล้วให้กวาดต้อนครอบครัวญวนพลเมืองบันทายมาศและเมืองกำปอด  เมืองกะพงโสม  และบ้านเล็กเมืองน้อยตามรายทางทั้งญวนทั้งเขมร  ให้กวาดต้อนพาไปไว้เมืองจันทบุรีให้สิ้นเชิง  อย่าให้ผู้คนพลเมืองเหล่านั้นเหลืออยู่แจ้งความของไทยให้พวกญวนเหตุการณ์หนักเบาได้  ชั้นแต่พระสงฆ์เขมรและหลวงญวนก็ให้พาไปเสียด้วยเถิด  กับให้ทำลายล้างพังกำแพงและป้อมหอรบหรือวัดวาอารามที่เป็นตึกใหญ่ ๆ  ซึ่งพวกญวนจะอาศัยเป็นที่พักที่มั่นของมันได้แล้ว  ก็ให้ทลายเสียให้หมด  ทุกบ้านทุกเมืองตลอดตามรายทางที่จะไปเมืองจันทบุรีอย่าให้เหลือไว้  แล้วให้นำไฟจุดเผาเหย้าเรือนในบ้านเมืองเหล่านั้นทุก ๆ เมืองให้สิ้นเชิงด้วย  ให้ทำลายล้างเมืองต่าง ๆ นั้นให้เหลือแต่แผ่นดินดังป่าและแม่น้ำเท่านั้น”

(https://i.ibb.co/G5cF9gC/easter-fire.jpg) (https://imgbb.com/)

             เจ้าพระยาพระคลังได้รับทราบความตามหนังสือคำสั่งบังคับราชการมาดังนั้นแล้ว  ก็สั่งให้พระยาพลเทพและพระยาจันทบุรี  เป็นแม่กองกวาดต้อนครอบครัวญวนและเขมรทุกเมืองลงเรือรบไปสิ้น  แล้วสั่งให้พระยาราชวังสันแขกจามและพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษาแขกจาม  คุมพวกแขกไปทำลายล้างบ้านเมืองเสียทุกเมือง  พวกแขกทำลายจนชั้นพระพุทธรูปและวัดใหญ่ ๆ  นำไปเผาเสียทุกบ้านทุกวัดไม่ให้เหลือเป็นกำลังแก่ญวนต่อไป

             ครั้งนั้นเมืองบันทายมาศและเมืองโจดก  เมืองกำปอด  เมืองกะพงโสม  เป็นดังป่าหาบ้านเรียนและวัดไม่มีเลย  เจ้าพระยาพระคลังและพระยา  พระ  หลวง  นายทัพเรือก็มาพักอยู่ที่เมืองจันทบุรี  แต่ทัพเรือกองพระยาพิทักษ์ทวยหาญคุมครอบครัวญวนเมืองบันทายมาศเข้ามาถึงเมืองจันทบุรีก่อนทัพเจ้าพระยาพระคลัง  แล้วกองทัพเรือพระยานครเขื่อนขันธ์  ผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์คุมครอบครัวญวนและเขมรพลเมืองกำปอดตามเข้ามาเมืองจันทบุรีภายหลัง  แล้วทัพเรือพระยาไกรโกษา  หลวงสวัสดิโกษากำกับมาด้วย  คุมครอบครัวพลเมืองกะพงโสมตามเข้ามาเป็นลำดับกัน  ฝ่ายญวนเข้ารีตฝรั่งเศสที่มีอยู่ตามบ้านเล็กเมืองน้อยในแขวงจังหวัดเมืองโจดกและเมืองตึกเขมา  เมืองบันทายมาศ  เมืองกำปอด  เมืองกะพงโสม  ทุกแห่งทุกตำบลนั้น  ครั้นรู้ว่าพวกญวนที่เข้ารีตฝรั่งเศสที่อยู่ในคลองโองเจียงแขวงเมืองโจดกนั้น  ยอมสมัครเข้าในการเกลี้ยกล่อมของบาทหลวงเปโรชวนเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นแล้ว  พวกญวนเข้ารีตฝรั่งเศสในที่ต่าง ๆ นั้นก็ชวนกันมาสมัครเข้าไปกรุงเทพฯ ด้วย  รวมญวนเข้ารีตที่สมัครมาครั้งนั้นสองพันเศษทั้งครอบครัว

             พระวิเศษสงครามฝรั่งเศสกับบาทหลวงเปโรก็รับพาพวกญวนเข้ารีตต่าง ๆ ลงบรรทุกเรือแง่โอแง่ทรายที่เก็บได้เป็นเรือเชลยเขมรบ้าง  เรือเชลยญวนบ้าง  ส่งญวนพวกเข้ารีตเข้ามายังเมืองจันทบุรี  เจ้าพระยาพระคลังสั่งพระยานครเขื่อนขันธ์ ๑  พระยาไกรโกษา ๑  พระพิพิธภักดีจางวางส่วยพริกไทยเมืองจันทบุรี ๑  หลวงนทีสิงขรนายด่านเมืองจันทบุรี ๑   รวม ๔ คน  ให้คุมเรือบรรทุกครอบครัวญวนเข้ารีตฝรั่งเข้าไปส่งยังกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/mHdVnsF/Uantistled-1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดส้มเกลี้ยง(วัดราชผาติการามฯ)

          ครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกครัวญวนเข้ารีตฝรั่ง  ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดส้มเกลี้ยง  เหนือบ้านเขมรเข้ารีตฝรั่งเศสที่เหนือวัดสมอราย  โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเศษสงครามฝรั่งเศสนำพวกญวนเข้ารีตชายฉกรรจ์ไปสักท้องมือว่า  ญวนสวามิภักดิ์  ให้มีนายกองปลัดนายหมวดนายหมู่กำกับดูแล  ให้ตั้งทำมาหากินตามภูมิลำเนา  แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาของพระวิเศษสงคราม  เพราะเป็นคนเข้ารีตด้วยกัน.....”

             ** การยกทัพไปตีญวนคราวนี้  จะเรียกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงก็ไม่ได้  เพราะแม้ไม่ได้เมืองญวน  แต่ก็ได้เมืองบริวารของญวนหลายเมือง  ก่อนล่าทัพถอยกลับมาก็ได้ทำลายล้างเมืองเหล่านั้นให้กลายเป็นแผ่นดินว่างเปล่า  กวาดต้อนครอบครัวพลเมืองมาเป็นไพร่พลเมืองไทยได้มิใช่น้อย  เฉพาะญวนเขมรที่เข้ารีตฝรั่งเศสนั้น  ต่อมากลายเป็นคนไทยมีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองไม่น้อย  ในย่านวัดส้มเกลี้ยง (ราชผาติการาม) ใต้วังสุโขทัย  ย่านโรงพยาบาลวชิรพยาบาลนั้นคือญวนเข้ารีตฝรั่งเศส   ย่านวัดสมอราย (ราชาธิวาส) คือเขมรเข้ารีตฝรั่งเศส  อันเป็นผลของสงครามอานามสยามยุทธ  เจ้าพระยาพระคลังล่าถอยทัพเรือจากเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) มาตั้งที่เมืองจันทบุรี  คงไม่มีปัญหาอะไร   ส่วนเจ้าพระยาบดินเดชา  ล่าทัพถอยจากเมืองโจดกกลับเข้าเมืองเขมร  น่าจะเกิดปัญหาเดินทางไม่ราบรื่นแน่  เพราะต้องเดินบกบุกป่าฝ่าดง  การเดินทัพเข้าเขมรจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาดูกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มิถุนายน, 2563, 10:17:42 PM
(https://i.ibb.co/Gpsgxgk/Untitlegd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๒ -

จัดทัพบกยกเนืองเข้าเมืองเขมร
วางหลักเกณฑ์การเดินไม่รีบเร่ง
มีลำดับหน้าหลังไม่วังเวง
ทุกกองเคร่งครัดเฉียบระเบียบวินัย

คิดแบบกลปนอุบายรายทางล้วน
กับดักญวนที่เห็นว่าเป็นได้
เพื่อพวกญวนรู้ฤทธิ์พิษสงไทย
สั่งสอนให้ยำเกรงไม่เร่งตาม


             อภิปราย ขยายความ ..........................

             ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. เจ้าพระยาบดินทรเดชาเลิกปล้นค่ายญวนที่เกาะแตง  เพราะแม่ทัพเรือไม่ยกลงมาช่วย  จึงปรึกษานายทัพนายกองว่าควรจะยกทัพกลับไปตั้งหลักพักฟื้นกำลังพลที่เขมร  และสะสมเสบียงอาหารเตรียมไว้  ถึงยามแล้งปีหน้าจะยกกลับมาตีญวนใหม่ร่วมกับแม่ทัพเรือคนใหม่  เมื่อนายทัพนายกองทั้งปวงเห็นชอบด้วย  จึงสั่งทำลายล้างเมืองโจดกให้เหลือแต่แผ่นดินว่างเปล่า  พร้อมกันนั้นก็มีหนังสือสั่งการให้เจ้าพระยาพระคลังสั่งกำลังพลทำลายล้างเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)  เมืองกำปอด  เมืองกะพงโสม  และบ้านเล็กเมืองน้อยในภูมิภาคนั้นเสียให้สิ้น  จนเหลือเพียงแผ่นดินว่างเปล่าเช่นเดียวกันกับเมืองโจดก  แล้วกวาดต้อนครอบครัวญวนเขมรไปไว้ที่เมืองจันทบุรีและกรุงเทพฯ  ให้กองทัพเรือเลิกทัพกลับไปก่อน  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/sQ3NLQx/Untitlfeed-3-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายังตั้งอยู่ที่เมืองโจดกนั้น  ผู้คนในกองทัพไทยป่วยไข้ล้มตายด้วยอดอยากอาหารบ้าง  และตายด้วยไข้ป่วงบ้าง  ครั้งนั้นหลวงจินดารักษ์ไปลาดตระเวนถึงตำบลในคลองวามะนาวที่คุ้งไผ่เหลือง  จับพวกญวนชาวป่ามาได้สองคน  นำมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามให้การว่า “ได้ยินข่าวเขาเล่ากันต่อมาว่า  ญวนที่ค่ายเกาะแตงจะยกทัพบกทัพเรือมาตีไทยที่เมืองโจดกอีก  การนี้จะเท็จจริงฉันใดหาแจ้งไม่  เพราะได้ยินต่อมาจากปากพวกญวนชาวป่าหาปลาด้วยกัน”   เจ้าพระยาบดินทรเดชว่า  คิดไปน่าสงสารอ้ายญวนชาวป่าสองคนนี้  ครั้นจะปล่อยให้ไปบ้านมัน  ก็กลัวว่ามันจะเก็บเอาความของเราที่มันได้มาเห็นว่าพวกเราป่วยไข้ล้มตายมากดังนี้  ก็จะเป็นทีให้มันไปบอกแก่พวกมันมาทำแก่เรา  หาควรปล่อยไปไม่  ครั้นจะฆ่าเสียก็สงสารสังเวชหนัก  เพราะไม่มีความผิด  และหาใช่ข้าศึกไม่  เป็นคนยากจนชาวป่าจริง ๆ  ไม่ควรจะฆ่าเลย  แต่จำเป็นต้องเอามันไปด้วย

(https://i.ibb.co/cbQrBxk/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้นได้ข่าวศึกญวนว่าจะยกมาตีเราอีกดังนั้นแล้ว  ซึ่งเราจะอยู่ที่เมืองโจดกนี้  เห็นจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกญวนเป็นแน่  จึงได้มีบัญชาแก่พระยา  พระ  หลวง  นายทัพ นายกองว่า  พวกเราจะตั้งรับทัพญวนอยู่ที่เมืองโจดกนี้ไม่ได้  จำเป็นจะต้องล่าทัพถอยไปพักอยู่ที่เมืองเขมรก่อน  จะได้บำรุงรี้พลช้างม้าโยธาหาญให้บริบูรณ์แล้ว  จะได้กำลังพวกเขมรนักองอิ่ม  นักองด้วง  ให้เกณฑ์เขมรหัวเมืองมาสมทบทัพไทยอีก  ได้พลมากแล้วเมื่อใด  จะได้นัดหมายทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองจันทบุรี  ให้ต่อเรือรบขึ้นสักร้อยลำเศษ  จะได้ยกมาพร้อมกันทำศึกกับญวนอีก  แก้มือกับญวนลองดูอีกคราวหนึ่ง  จะคิดตีเมืองไซ่ง่อนกรุงเว้ญวน  ทูลเกล้าฯ ถวายให้ได้ตามพระราชประสงค์  จึงจะชอบด้วยราชการที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเราให้เป็นแม่ทัพใหญ่  หาควรจะคิดท้อถอยไม่  แต่ครั้งนี้ต้องจำเป็นจะทิ้งเมืองโจดกเสียก่อน  คิดผ่อนล่าทัพไปเมืองเขมรก่อน  แต่ว่าถ้าเราล่าทัพถอยไปจากเมืองโจดกนี้  ญวนคงจะยกทัพบกออกก้าวสกัดตามตีกองทัพเราที่ล่าไปนั้นเป็นมั่นคง  แต่เราจะล่าไปตรง ๆ ไม่ได้  จำต้องคิดอุบายไว้ข้างหลัง  เป็นการระวังรักษาตัวเรา  เมื่อว่าถ้าญวนตามมาข้างหลังคงจะต้องถูกกลอุบายเราทุกแห่ง  ถ้าญวนตามมาถูกอุบายเราแล้ว  พวกญวนคงจะตายไปเองไม่พักต้องฆ่ามัน  ทัพญวนพวกหลังจะตามมาอีกจะได้เข็ดขยาดความคิดกลอุบายไทยบ้าง  ญวนจะไม่อาจสามารถยกมาตามตีกองทัพไทย  ไทยจะได้เดินทัพล่าถอยไปได้สะดวก  ฝ่ายพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยความคิด  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงได้มีบัญชาสั่งพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรใหญ่  ให้คุมไพร่พล ๑,๐๐๐  ยกไปทำอุบายไว้ตามทางซึ่งจะเดินกองทัพล่าถอยไปยังเมืองเขมรนั้น  เป็นกลอุบายไว้สี่ตำบล  และกลอุบายนั้นก็ต่าง ๆ กันทั้งสี่ตำบล

(https://i.ibb.co/r7sdkZJ/7-13.jpg) (https://imgbb.com/)

             แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งพระยาวิชิตณรงค์กับพระพลสงครามเมืองกำแพงเพชร  ให้คุมกองทัพที่คนทุพพลภาพป่วยไข้นั้น  บรรทุกช้างเกวียนกับโคต่าง  ยกจากเมืองโจดกเดินล่วงหน้าไปก่อนแปดวัน

             แล้วให้พระปลัดเมืองนครนายกกับพระพิเดชข้าหลวงในกรุง ๑   หลวงพิพิธภักดี ๑   หลวงศรีณรงค์ ๑  คุมกองทัพเมืองนครนายก ๔๐๐ คน  เดินแซงป้องกันรักษาคนที่ทุพพลภาพป่วยไข้ไปให้ถึงเมืองเชิงกระชุมเขมร  อย่าให้เป็นอันตรายกลางทางได้  ในวันนั้นสั่งพระมหาสงครามกับหลวงวิสุทธิ์โยธามาตย์คุมพลทหาร ๓๐๐ คน  ให้ขนข้าวเปลือกและข้าวสารในเมืองโจดก   บรรทุกโคต่างสี่พัน  ให้ไล่ต้อนเดินไปก่อนให้ถึงเมืองเขมรที่ชื่อเมืองเชิงกระชุม  ให้ตั้งพักอยู่ที่นั้น  จะได้ใช้ราชการต่อไป

             ให้พระยาเพชรรัตน์กับพระพิชิตสงครามข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ  คุมทัพเขมรเมืองพนมเปญ ๕๐๐ คน  หาบคอนเสบียงอาหารไปจากเมืองโจดก  ให้ยกไปยังเมืองเชิงกระชุม  กองทัพที่ว่ามานี้  ทุกกองให้ออกเดินทัพไปเป็นลำดับกันไปก่อนแปดวันแล้ว  

(https://i.ibb.co/gRtYsM9/In-The-Barn.jpg) (https://imgbb.com/)

          พอกองทัพญวนยกเรือรบมาทอดอยู่ห่างเมืองโจดกทางประมาณห้าหกสิบเส้น  แต่เป็นทัพเรือเล็ก  มีมาน้อยลำ  จึงไม่กล้ายกเข้ามาตั้งใกล้เมืองโจดก  เห็นทีจะคอยทัพเรือใหญ่เป็นมั่นคง  ครั้งนั้นที่เมืองโจดกได้ทำลายล้างกำแพงและป้อมหอรบเสียก่อนเมื่อทัพเรือญวนมาถึงนั้นหลายวันแล้ว  ครั้นกองทัพเรือญวนมาแต่ห่างไกล  ก็ให้นำไฟจุดเผาเหย้าเรือนยุ้งฉางที่ขนข้าวปลาอาหารไปหมดนั้นเผาเสียสิ้น  คัดลากกลิ้งปืนใหญ่ทิ้งลงน้ำเสียหมดแล้ว

(https://i.ibb.co/RTJ4ns0/df-14.jpg) (https://imgbb.com/)

             ในวันนั้น ๑๑ ทุ่ม  ดาวกัลปพฤกษ์ขึ้นสว่างเห็นหนทางป่าบ้างแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งพระยาราชสงครามนำพลทหารกองหน้าออกจากเมืองโจดกก่อนทุกทัพ
             แล้วสั่งพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลให้คุมทัพช้างกองพระยาเพธราชาช้าง ๑๐๐ เศษ  มีไพร่พลเดินเท้า ๕๐๐ คนอยู่รั้งหลัง
             สั่งให้พระยาเกียรติพระยาพระรามคุมกองรามัญ ๒,๐๐๐ ยกไปทางฝั่งตะวันออก  ให้ไปรักษาต้นทางที่ญวนจะยกทัพบกมาก้าวสกัดตามตีทัพใหญ่เมื่อยกล่าถอยไปนั้น
             ให้กองช้างวังหน้าพระยาประกฤษณุรักษ์บรรทุกปืนบ้าเหรี่ยม  ปืนหามแล่นขานกยางของญวนในเมืองโจดก  ขนบรรทุกหลังช้างยกเดินไปก่อนทัพใหญ่

(https://i.ibb.co/3YsNSmw/09.jpg) (https://imgbb.com/)

             ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทำลายล้างเมืองโจดกยกออกไปตามทางป่า  ถึงที่ริมหนองน้ำตำบลหนึ่งเขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “ตระพังสระกวย”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  หนองปรือ)  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หยุดกองทัพที่ริมหนองปรือครู่หนึ่ง  เพื่อจะตรวจดูกลอุบายซึ่งพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรทำไว้ที่กลางทางริมหนองปรือนั้นตำบล ๑   คือทำเป็นกลอุบายขุดหลุมตามทางใหญ่หลายสิบหลุม  หลุมหนึ่งลึกสามศอกสี่ศอก  นำแหลนหลาวหอกปักไว้ในหลุมเต็มทุกหลุม  แล้วนำใบไผ่ขัดแตะปิดปากหลุม  เสร็จแล้วจึงให้คนไปแซะดินที่มีหญ้าติดอยู่นั้นมาปิดปากหลุม  ทำการให้เรียบร้อยสนิทสนมเป็นพื้นแผ่นดินดีอย่างเดิมโดยปรกติ
 
(https://i.ibb.co/H4ZGqkK/digital-006rename.jpg) (https://imgbb.com/)

             เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นกลอุบายที่บุตรกระทำถูกต้องตามคำสั่งไปทุกประการแล้ว  ก็มีความยินดียิ่งนัก  จึงสั่งให้พักทหารที่นั้น  ให้รี้พลหุงอาหารรับประทาน  เสร็จแล้วก็พอเวลาบ่าย  ให้กองหน้าเดินทัพยกยกเป็นลำดับต่อไป  ยกจากหนองปรือเดินทัพไปในเวลากลางคืนจนเวลาสามยามเศษ  ถึงที่ป่าเตียนแห่งหนึ่ง  เขมรนำทางเรียกชื่อตำบลนั้นว่า  “ตำนาบไพรดะกู”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ลำลาดป่าตะโก)  เป็นคลองเก่าโบราณกว้างขวาง  แต่เดี๋ยวนี้ตื้นดอนแห้งไม่มีน้ำเลย  เป็นลำลาบกว้างมีต้นตะโกขึ้นมาก  จึงเรียกชื่อว่าลำลาดป่าตะโก  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้กองทัพที่ตำบลลำลาดป่าตะโกเพื่อจะพักผ่อนให้พลทหารนอน  แล้วจะได้ตรวจดูกลอุบายซึ่งบุตรชายมาทำไว้ในตำบลที่สองนี้เป็นอย่างไรบ้าง  จะถูกตามคำสั่งหรือไม่ถูก.......”

             ** ทัพไทยแม้จะพ่ายญวนก็แพ้แบบไม่หมดรูป  เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ยังมีพิษสงอยู่เต็มตัว  พร้อมที่จะพ่นพิษใส่ญวนได้เสมอ  การล่าถอยทัพบกกลับเข้าเขมรก็ถอยอย่างมีชั้นเชิง  ให้นำทหารที่ทุพพลภาพเจ็บป่วยเดินทางล่วงหน้าไปก่อน  แล้วให้ขนลำเลียงเสบียงอาหารตามไป  จากนั้นก็ให้ขนปืนใหญ่ญวน และกระสุนดินดำไปด้วย  บอกอุบายให้พระพรหมบริรักษ์บุตรคนโตของท่านยกพลล่วงหน้าไปทำกลอุบายรายทางไว้สี่ตำบล  เพื่อทำลายทัพบกญวนที่จะยกตามตีทัพบกไทย  กลอุบายสี่ตำบลที่ทำเป็นกับดักญวนไว้นั้นจะประสบผลสมปรารถนาหรือ  พรุ่งนี้มาตามดูกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, มิถุนายน, 2563, 10:07:58 PM
(https://i.ibb.co/P5kMzVR/Unti562tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๓ -

กับดักแรกญวนตายไปร้อยเศษ
ด้วยสังเกตไม่ดีจึงผลีผลาม
แต่อุบายตื้นอยู่จนรู้ความ
จะซุ่มซ่ามต่อไปอย่างไรกัน

ใช้ไม้ค้ำนำหน้าไม่ประมาท
อวดฉลาดเกินไปหรือไม่นั่น
ยังมิถึงด่านอำที่สำคัญ
เกิดห้ำหั่นล้มตายไปหลายคน


             อภิปราย ขยายความ ..........................

             ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งรื้อเผาทำลายล้างเมืองโจดก เมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)  เมืองกำปอด  เมืองกะพงโสม  และบ้านเล็กเมืองน้อยในภูมิภาคนั้น  กวาดต้อนครอบครัวญวน  เขมร  ไปไว้เมืองจันทบุรีและกรุงเทพฯ  ให้ทัพเรือล่าถอยไปตั้งพักฟื้นกำลังพลอยู่ที่เมืองจันทบุรี  ส่วนกองทัพบกของตนจะล่าถอยกลับไปตั้งพักฟื้นสั่งสมกำลังพลอยู่ที่เขมร  เมื่อจัดระเบียบวางกำลังล่าถอยทัพและรื้อล้างเมืองโจดกเสร็จแล้ว  กองทัพเรือญวนก็ยกไปเมืองโจดก  เป็นเรือเล็กจอดอยู่ห่าง ๆ  ดูจะรอคอยทัพเรือใหญ่ที่กำลังยกมา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็สั่งเผาเหย้าเรือนยุ้งฉางในเมืองโจดกทั้งหมด  แล้วเดินทัพล่าถอยเข้าป่าในเวลากลางคืน  แวะตรวจตรากลอุบายตามรายทางที่สั่งให้พระพรหมบริรักษ์ล่วงหน้ามาจัดทำตามแผนนั้นด้วยความพอใจ  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ......

(https://i.ibb.co/b7VWWHN/Unt45itled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

              “ในเมื่อกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ยกทัพออกมาจากเมืองโจดกไปได้สิบสองวันแล้ว  องผอแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนยกทัพมาถึงเมืองโจดก  เห็นไฟไหม้บ้านยับเยินหมดแล้วก็เข้าใจว่าทัพไทยเผาเสียแล้วหนีไป  จึงสั่งให้องทุลำแม่ทัพเรืออยู่รักษาเมืองโจดก  แล้วองผอแม่ทัพใหญ่ให้องกวงโดย ๑   องลำโดย ๑   เป็นแม่ทัพทั้งสองคน  จะได้ช่วยกันคิดราชการ ให้คุมพลทหารญวนกองละ ๘๐๐ ทั้งสองทัพ  ให้รีบไปติดตามตีกองทัพไทยที่ล่าหนีจากเมืองโจดกนั้น  ให้ตามไปจนถึงเมืองเขมรทีเดียว  แต่องผอนั้นหยุดอยู่จัดการแบ่งกองทัพจะยกไปตีเมืองบันทายมาศด้วย  และคอยกองทัพทางบกจะยกมาเพิ่มเติมอีก  จะได้ให้ไปตามตีทัพไทยต่าง ๆ ที่ยังเดินทัพอยู่กลางป่าจะไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  จะตามตีให้แตกเสียหมดทุกกอง  กำลังไทยจะได้น้อยลง  แล้วจะได้ยกทัพใหญ่ไปตีเมืองเขมรคืนให้นักองจันทร์ นักองด้วง  ตามท้องตราซึ่งพระเจ้าเวียดนามโปรดมาอย่างนั้น

(https://i.ibb.co/RhYgf9v/Untitffgled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งองผอตั้งทัพใหญ่อยู่ที่เมืองโจดกดังนั้นแล้ว  ฝ่ายองกวางโดยและองลำโดยแม่ทัพทั้งสองนั้น  คุมพลหาร ๑,๖๐๐ คน  เดินทัพมาถึงหนองปรือ  กองทัพหน้านั้นก็ตกลงในหลุมทุก ๆ หลุม  พลญวนถูกหลาวแหลนหอกเสียบตายและลำบากเป็นอันมาก  ญวนตายครั้งนั้น ๑๐๐ เศษ  นายทัพนายกองนำความนั้นไปแจ้งแต่องลำโดยแลองกวางโดยแม่ทัพ  แม่ทัพได้ทราบดังนั้นแล้วก็ไม่โกรธเลย  กลับหัวเราะเยาะกลอุบายไทยที่ทำไว้นั้นแล้วพูดจาว่า

(https://i.ibb.co/ZYwJN67/06.jpg) (https://imgbb.com/)

              “ไทยทำกลอุบายดังนี้  เหมือนความคิดเด็กทารกที่ไม่รู้จักเดียงสา  มีแต่จะกินนมมารดาอิ่มแล้วก็จะวิ่งเล่นเท่านั้น  หารู้จักการประมาณได้เสียแพ้ชนะไม่  เหมือนเช่นไทยทำกลอุบายดังนี้  ถึงตายร้อยคน  ญวนก็ไม่เสียใจเลย  เหมือนธรรมดาตกเบ็ดเสียสัตว์ที่เกี่ยวเบ็ดไปเป็นเหยื่อหนึ่ง  แล้วได้ปลาถึงร้อยพันฉันใด  ญวนตาย ๑๐๐ คนจะได้คนไทยใช้ ๑,๐๐๐   และเรารู้จักน้ำใจแม่ทัพไทยแล้วในครั้งนี้  ต่อไปข้างหน้าญวนจะไม่ตายด้วยกลอุบายไทยอย่างนี้เลย”

             องกวางโดย  องลำโดย  พูดเท่านั้นแล้ว  จึงสั่งนายทหารกองหน้าให้ตัดไม้ในป่าที่มีง่ามให้ค้ำ  ยาว ๑๐ ศอกสัก ๑๐๐-๒๐๐ อัน  ให้ทหารกองหน้าถือไม้สักค้ำไปตามทางข้างหน้า  เพื่อว่ามีหลุมอีกจะได้รู้โดยง่าย  เราทำดังนี้แล้วอุบายไทยที่ทำไว้นั้นจะทำอะไรแก่เราได้อีกเล่า  ให้เดินกองทัพต่อไปเถิด  ญวนก็เดินทัพต่อไป

(https://i.ibb.co/4dv8rf3/Untfditled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

             ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาหยุดพักพลอยู่ที่ตำบลลาดป่าตะโกนั้น  ครั้นรุ่งเช้าขึ้นจึงตรวจดูกลกลอุบายซึ่งบุตรชายทำไว้ในตำบลที่สอง ณ ลำลาดป่าตะโกนี้  คือขุดหลุมตามทางซึ่งญวนจะเดินมาดังเช่นทำแล้วแต่หนองปรือนั้น  แต่ที่ลำลาดป่าตะโกนี้  ในหลุมไม่มีหลาวแลหอกปักไว้ดังแต่ก่อนนั้นเลย  มีแต่รังแตนรังผึ้งเต็มไปทุกหลุม  ที่นี้ก็ปิดดังเช่นทำมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกัน  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นกลอุบายซึ่งบุตรชายทำไว้ในที่คำรบสองนี้  ถูกต้องตามคำสั่งไปนั้นทุกประการแล้ว  จึงสั่งพลทหารกองหน้าเดินทัพออกจากตำบลลำลาดป่าตะโกในเวลาเช้า  เมื่อรี้พลหุงอาหารรับประทานเสร็จแล้วก็เดินทัพเป็นลำดับต่อไป  แต่ระยะทางนี้กว่าจะถึงที่พักซึ่งทำกลอุบายไว้ในที่คำรบสามนั้น ทางไกลหลายคืน  จึงสั่งพระอัษฎาเรืองเดชจางวางกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ  คุมพลทหารม้าอยู่ข้างหลัง  ให้คอยฟังข่าวทัพญวนจะยกมามากน้อยใกล้ไกลประการใด  ก็ให้แต่งม้าเร็วรีบเร่งสวนทางขึ้นมาบอกให้แจ้งด้วย

(https://i.ibb.co/pX5FZMk/07.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งนั้นเป็นการล่าทัพหนีญวนโดยเร็ว  จึงสั่งให้ทัพช้างกองพระยาเพธราชาซึ่งพระยาจ่าเสนาบดีคุมกำกับมานั้น  ให้รีบเร่งเดินช้างบรรทุกปืนใหญ่ไปเมืองเขมรเสียก่อนทัพใหญ่  ทัพใหญ่จะต้องเดินรอ ๆ ไป  เพราะเป็นทัพลำลองเดินเท้ามาก  ถึงช้างก็มีแต่ช้างใช้สอย  หาใช่ช้างบรรทุกปืนไม่

          ครั้งนั้นพระยาจ่าแสนบดีกับพระยาเพธราชาคุมทัพช้างมีปืนใหญ่เดินไปทางดง  ตัดตรงไปเมืองพนมเปญทีเดียว  แบ่งช้าง ๓๐ เชือกให้หลวงนรินทรคชกรรม์วังหน้าคุมมาพร้อมกับช้าง ๕๐ เชือก  ให้หลวงคชศักดิ์คุมมาในกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  รวมทั้งวังหลวงวังหน้า ๘๐ เชือก  พอเป็นกำลังพาหนะดินทัพล่าหนีมา

(https://i.ibb.co/0Mbh9qn/04-9.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้นกองทัพญวนองลำโดย  องกวางโดย  เดินทัพรุกมาใกล้ที่ตำบลลำลาดป่าตะโก  พอทันกองทัพพระยาอัษฎาเรืองเดชเดินทัพล้าหลังอยู่นั้น  พระยาอัษฎาเรืองเดชไล่ต้อนพลทหารให้กลับหน้าไปต่อสู้กับญวน  ญวนก็ยิงปืนระดมขึ้นไป  ไทยกับญวนได้สู้รบกันที่นั้นตั้งแต่เช้าจนเที่ยง  ฝ่ายไทยก็เป็นทัพม้าทั้งสิ้น  ฝ่ายญวนก็เป็นทัพม้าด้วย  ต่อสู่กันอยู่ช้านาน  ญวนนำปืนหลังม้ากระสุนหนักห้าสลึงยิงไปถูกพระยาอัษฎาตกม้าตายในที่รบ

(https://i.ibb.co/LdykvLd/Unfftitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นหมื่นหาญหัวหมื่นพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ  ฉวยปืนและดาบที่มือพระยาอัษฎาเรืองเดชซึ่งตายอยู่นั้น  โดดขึ้นหลังม้าแทนพระยาอัษฎาเรืองเดช  ชักม้าเป็นบาทย่างสะเทินเข้าต่อสู้กับนายทัพญวนจนถึงขั้นตะลุมบอนด้วยอาวุธสั้น  ฝ่ายนายทหารม้าญวนขึ้นม้าถอดดาบออกจากฝักแล้วชักม้าตรงเข้ามาใกล้ไล่ฟันพลทหารม้าไทยล้มตายลงเป็นอันมาก  ที่ชักมาหนีเข้าป่าไปเสียก็มีบ้าง  หมื่นหาญเห็นดังนั้นแล้วจึงควบม้าไล่ต้อนพลทหารที่หนีนั้นฟันตายเสีย ๔ คน  พลทหารม้าไทยเห็นหมื่นหาญทำอำนาจดังนั้นแล้วก็กลัว  จึงชักม้ากลับมาต่อกับทหารม้าญวน  ญวนกับทหารม้าไทยรบกันที่นั้นจนถึงอาวุธสั้น  จะยิงปืนหลังม้าไม่ทันจึงชักดาบเข้าฟันกันเป็นสามารถ  แต่ทหารม้าญวนครั้งนั้นใช้กั้นหยั่นสั้น ๆ  ทหารม้าไทยใช้ดาบยาว  ดาบยาวจึงฟันถูกญวนก่อน  ญวนตายมากประมาณ ๖๐ คนเศษ  ขณะนั้นหมื่นหาญชักม้ามาแอบต้นไม้ใหญ่ริมทางที่รบนั้น  เพื่อจะคอยป้องกันไล่ต้อนทหารฝ่ายไทยให้เข้าต่อสู้ฆ่าญวนให้แพ้แตกหนีให้ได้

(https://i.ibb.co/rvz7hm6/Untitcled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งนั้นนายทัพญวนขึ้นม้า  ชักม้าตรงเข้ามาที่ต้นไม้ใหญ่  ญวนไล่ฟันหมื่นหาญ  หมื่นหาญชักม้าหนีหลบหลีกญวนอยู่ตามต้นไม้ใหญ่  ฝ่ายญวนชักม้าไล่ไทยวนอยู่ที่ต้นไม้สามสี่รอบ  ฝ่ายหมื่นหาญชักม้าทำท่าจะหนี  ญวนเห็นดังนั้นชักม้าโจมไล่ฟันหมื่นหาญ  หมื่นหาญทำเป็นทีไม่สู้  แล้วก็ชักม้าควบหนีญวน  ญวนชักม้าไล่ตามไปในป่า  หามีทหารเลวตามไปไม่  หมื่นหาญจึงชักม้าหยุดหันหน้ามารับญวน  ญวนจะชักม้าให้หยุดก็ไม่ทัน  ม้าญวนเลยไปถึงหน้าหมื่นหาญ  หมื่นหาญชักดาบฟันฟาดนายทัพม้าญวนลงไปเต็มแรง  ถูกบ่าซ้ายขาดตลอดลงไปถึงราวนมก็ตายอยู่บนหลังม้า  แล้วศพญวนก็ตกลงมาถึงดิน  หมื่นหาญโดดลงจากหลังม้าตัดศีรษะนายทหารม้าญวนได้แล้ว  แก้ผ้าแพรสีน้ำเงินที่โพกศีรษะนายทหารม้านั้นห่อศีรษะศพผูกอานม้า  ควบกลับมาหาพวกทหารม้าไทย  แล้วสั่งให้พลทหารไปไล่ตามจับม้าของนายทหารญวนมาได้  เป็นม้าเทศสูงใหญ่สีขาวสะอาดงามนัก  ขณะนั้นพวกทหารม้าญวนเห็นนายทัพเสียทีตายแล้ว  ที่หนีก็มีบ้างที่ยิงปืนไล่ฟันไทยก็มีบ้าง  หมื่นหาญเห็นพวกญวนยกเพิ่มเติมมาอีกทั้งทหารเดินเท้าก็มาก  จึงได้รวบรวมทหารม้าไทยในกองพระยาอัษฎาเรืองเดชนั้นได้บ้าง  ก็รีบยกล่าหนีมาสู้พลางหนีถอยมาพลาง  จนพ้นที่รบกันนั้นแล้ว  ก็เร่งรีบไปทั้งกลางวันกลางคืนจนถึงกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เข้าไปแจ้งข้อราชการกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งหมื่นหาญให้เป็นที่พระกำจรใจราช เจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ  แล้วมีบอกความชอบหมื่นหาญที่ได้ราชการ  แล้วตั้งให้เป็นพระกำจรใจราชนั้น  เข้ามากราบทูลยังกรุงเทพฯ.......”

(https://i.ibb.co/GnrbyrR/Untiffftled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             ** ญวนยกตามมาถึงกลอุบายแรก  ตกหลุมขวากตายไปร้อยเศษ  แม่ทัพหัวเราะเยาะว่าแม่ทัพไทยมีความคิดแค่เด็กยังไม่หย่านมแม่  เขาไม่เสียใจที่เสียทหารไปร้อยเศษ  คิดเสียว่าเป็นเพียงเหยื่อเล็กน้อยเกี่ยวเบ็ดล่อปลาใหญ่มากินเบ็ดอีกมากมาย  ต่อไปนี้เขาจะได้ตัวปลาใหญ่ ๆ แล้ว  สั่งทหารตัดไม้เป็นง่ามสำหรับทิ่มแทงสำรวจพื้นดินยามเดินทัพจะได้ไม่ตกหลุมพรางอีก  แต่กองทัพเขายังไม่ถึงที่วางกลอุบายที่ ๒ ก็ พบกับกองทัพม้าไทยเสียก่อน  แล้วทหารม้าไทยญวนก็รบกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน  แม่ทัพไทยถูกกระสุนปืนฝ่ายญวนตายก่อน  แต่หมื่นหาญนายกองไทยไหวพริบดี  คว้าปืนและดาบแม่ทัพที่ตายได้แล้วโดดขึ้นม้าทำหน้าที่แทนแม่ทัพ  ในที่สุดก็ใช้ไหวพริบเล่ห์เหลี่ยมล่อนายทัพม้าญวนออกไปฆ่าในป่า  แล้วตัดหัวมาข่มขวัญทหารญวน  เป็นการแก้แค้นให้แก่แม่ทัพไทยได้  เมื่อเห็นญวนยกหนุนมามากเกินกำลัง  หมื่นหาญก็พาพลทหารไทยล่าถอยหนีกลับมาถึงค่ายใหญ่ไทย  หลังจากรายงานข้อราชการแก่แม่ทัพใหญ่แล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งให้หมื่นหาญเป็นที่พระกำจรใจราช  เจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ  เป็นความชอบของทหารกล้าอีกคนหนึ่ง  ญวนจะติดกับกลอุบายที่ ๒ อย่างไรหรือไม่  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, มิถุนายน, 2563, 10:17:39 PM
(https://i.ibb.co/SfTwQK6/Uncxtitled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๔ -

กลหลุมบ่อต่อแตนผึ้งแสนป่วน
ทำพวกญวนเจ็บป่วยแทบปี้ป่น
แม่ทัพญวนกลับหาว่าอ่อนกล
อันเป็นผลให้ประมาทขาดระวัง

ถูกไทยล่อตามเต้าเข้าค่ายนรก
ญวนก็ยกตามมาอย่าบ้าคลั่ง
พบไทยป่วยญวนฆ่าอย่างน่าชัง
กรรมจะสั่งสอนพลันผลทันตา


             อภิปราย ขยายความ ..........................

             ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด   เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยาบดินทรเดชาพักทัพที่ตำบลลำลาดป่าตะโกคืนหนึ่ง  ตรวจดูกลอุบายที่ให้ลูกชายทำตามคำสั่งถูกต้องแล้วเดินทัพต่อไป  โดยสั่งให้กองทัพม้าของพระยาอัษฎาเรืองเดชเดินระวังหลัง  วันนั้นกองทัพญวนยกตามมาทันกองทัพม้าไทย  จึงเกิดการสู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน  ญวนยิงปืนมาถูกพระยาอัษฎาเรืองเดชตายกลางสนามรบ  หมื่นหาญเห็นเช่นนั้นจึงรีบคว้าปืนและดาบในมือแม่ทัพ  แล้วโดดขึ้นหลังม้าไล่ต้อนพลทหารสู้รบกับทหารม้าญวนต่อไป  เมื่อได้โอกาสจึงทำทีหลอกล่อให้นายทัพม้าญวนละทิ้งพลทหารไล่เพียงลำพังติดตามไปในป่า  แล้วใช้ดาบฟันนายทัพม้าญวนขาดสะพายแล่งตาย  ตัดหัวนายทัพญวนผูกหลังม้ากลับเข้าสนามรบ  ให้ไพร่พลได้เห็นว่านายทัพม้าญวนถูกฆ่าตายแล้ว  ครั้นเห็นทหารญวนยกเพิ่มเติมมามาก  จึงพาไพร่พลทหารม้าเท่าที่เหลืออยู่ล่าถอยหนีกลับมาแจ้งข้อราชการแก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงตั้งให้หมื่นหาญเป็นพระกำจรใจราช เจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.......

(https://i.ibb.co/xG4r7jz/Untidstled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

             “ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาถอยทัพมาจากตำบลลำลาดป่าตะโก  เดินทัพมาทั้งกลางวันกลางคืนไม่หยุดหย่อน  สามคืนสี่วันก็บรรลุถึงที่ตำบลหนึ่งซึ่งเขมรเรียกชื่อว่า ”ทูนเดิมสะแก”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  โคกต้นสะแก)  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หยุดทัพพักพลที่ตำบลโคกต้นสะแกเพื่อจะตรวจค่ายไม้ไผ่ที่สั่งให้พระยาราชสงครามกองหน้าทำไว้ที่นี่  แล้วจะตรวจดูกลอุบายซึ่งบุตรชายทำไว้ที่ตำบลนี้เป็นคำรบสาม  คือขุดใต้ค่ายไม้ไผ่เป็นรางรอบค่าย  แล้วนำถังดินปืนลงฝังรอบค่าย  และนำปืนใหญ่ที่บรรทุกหลังช้างมานั้น  ลงฝังไว้ใต้แผ่นดินรอบค่าย  แต่บรรจุลูกดินเกินกับสัดส่วนจนเหลือกำลังปืนจะทนไม่ได้  ถ้าถูกไฟเมื่อใด  ปืนใหญ่นั้นจะแตกทำลายออกเป็นภาคน้อยภาคใหญ่  จะกระเด็นออกไปโดยไกลทำลายล้างของใหญ่ให้หักพังได้มาก  แล้วล่ามชนวนตามถังดินปืนและปืนใหญ่ที่ฝังไว้ใต้ค่ายนั้น  ให้ชนวนขึ้นมาบนพื้นค่าย  ขึ้นตามเตาไฟหุงข้าวเก่า ๆ ในค่ายนั้นทุกแห่ง  และขึ้นตามหลุมที่นำรังแตนรังต่อซุ่มซ่อนไว้ในหลุมนั้นทุกหลุม  ถ้าญวนเข้าไปในค่ายคงจะหุงข้าวกินที่เตาเก่าทุกเตา  เพราะมีชนวนอยู่ใต้เตาไฟ  เตาไฟก็จะติดดินปืนขึ้น  เพื่อจะให้ญวนนำไฟเผารังต่อรังแตน  ไฟจะได้ติดขนวนในหลุมนั้น  ไฟชนวนจะแล่นไปติดตามปืนใหญ่และถังดินปืนด้วย  จะได้เกิดการกัมปนาทแตกระเบิดขึ้นมา  ทำลายล้างผลาญสังหารชีวิตญวนให้ตายสิ้นทั้งในค่ายและนอกค่ายต้องตายทั้งหมด  และจัดการทำกลอุบายอย่างอื่นอีกมากมายหลายอย่าง  ที่ตรงนี้เป็นที่สำคัญที่จะเอาชัยชนะแก่ข้าศึกญวนทีนี้โดยความคิดนั้น  ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นบุตรชายทำกลอุบายไว้สมดังที่สั่งนั้นทุกประการแล้ว  ก็เป็นที่ยินดีเป็นที่สุดตามประสงค์  เจ้าพระยาบดินทรเดชาหยุดพักอยู่ในค่ายไม้ไผ่นั้นถึงสามวัน  แล้วจัดการเพิ่มเติมลงอีกใหม่คือ  ทำจังหันเกราะและประตูค่ายนั้นผูกหุ่นเป็นทหารรักษาประตูรอบค่าย  แล้วเสร็จก็เดินทัพออกจากค่ายนั้นต่อไป  ให้พระยารามกำแหงอยู่รักษาค่าย

(https://i.ibb.co/s2WYJ8c/Untiddtled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

             ฝ่ายญวนเห็นหมื่นหาญทัพม้าไทยหนีไปแล้ว  พวกญวนกองหน้านั้นก็เดินทัพต่อไป  เอาไม้ง่ามสักแผ่นดินเป็นแถว ๆ ไปข้างหน้าเสมอไม่หยุดหย่อน  จนถึงตำบลลำลาดป่าตะโกที่ไทยทำอุบายไว้นั้น  ญวนกองหน้านำไม้ง่ามสักแทงไปพบหลุมที่ไทยทำอุบายไว้นั้นแล้ว  จึงมาแจ้งความแก่แม่ทัพญวนทั้งสอง  แม่ทัพญวนทั้งสองจึงพูดว่า  สติปัญญาแม่ทัพไทยทำกลอุบาย ๒ ครั้งแล้ว  เหมือนปัญญาเด็กอมมือ  แต่อุบายเช่นนี้ญวนไม่ต้องที่จะตายเลย  จะตายก็แต่ญวนที่หูหนวกตาบอด  พูดเท่านั้นแล้วสั่งให้พลทหารไปตรวจดูให้ทั่วว่าจะมีสักกี่หลุม  ถ้าพบแล้วให้เปิดขึ้นเก็บเอาหอกและหลาวในหลุมขึ้นให้หมด  จะได้นำไปตามฆ่าฟันแทงพวกมันที่ทำอุบายนั้นเอง

          ครั้งนั้นทหารญวนพบหลุมแล้วก็เปิดขึ้นดูทุกหลุม  ก็ไม่พบเห็นหลาวและหอกแต่สักอันหนึ่ง  พบแต่รังต่อรังแตนรังผึ้งอยู่ในหลุม  ซึ่งไทยหักรังต่อรังแตนมาทิ้งสะสมไว้ในหลุมเป็นอันมาก  เมื่อเปิดหลุมขึ้นดูนั้นก็เห็นแต่ตัวต่อแตนผึ้ง  ก็บินออกจากหลุมไปต่อยกัดพลกองทัพญวนเจ็บป่วยกว่า ๑๐๐ คน  เพราะฉะนั้นกองทัพญวนจึงช้าไปนาน  ไม่ได้ยกติดตามกองทัพไทยไปให้ทันท่วงทีโดยเร็ว  ทหารนำข้อความที่ในหลุมไม่มีหอกหลาวแหลน  มีแต่ตัวต่อแตนไปแจ้งแก่องกวางโดย  องลำโดย   แม่ทัพญวนได้ทราบดังนั้นแล้วจึงพูดว่า

(https://i.ibb.co/prNdwpm/06.jpg) (https://imgbb.com/)

              “ความคิดกลอุบายแม่ทัพไทยที่ทำไว้ ณ ตำบลหนองปรือครั้งแรกนั้นเราเห็นว่ามีหอกหลาวอยู่ในหลุม  ทำให้คนตายได้บ้าง  จึงว่าความคิดแม่ทัพไทยครั้งนั้นเหมือนอย่างเด็กอมมือนั้น  เราว่าสูงไปสักหน่อย  แต่ความคิดแม่ทัพทำกลอุบายไว้ ณ ตำบลลำลาดป่าตะโกนี้  เราเห็นว่าเหมือนความคิดเด็กในครรภ์ดูดสายรกดุจกันฉะนั้น  ไทยไม่มีที่จะกะเกณฑ์ขอแรงมนุษย์มาช่วยรบได้  จึงไปขอแรงพวกแตนต่อผึ้งมาช่วยรบกับญวน”

             พูดดังนั้นแล้วก็สั่งให้เดินทัพเป็นลำดับต่อไปตามไทยให้ได้

(https://i.ibb.co/zZY42NN/Untitlcsed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งนั้นกองทัพหน้าฝ่ายญวนพบพวกไทยกองพระยาอัษฎาเรืองเดชป่วยไข้เดินเรื่อยล่าช้าอยู่ตามชายป่านั้น  พวกญวนเอาดาบฟันไทยตายตามทางเป็นกอง ๆ  บ้างก็ผ่าอกและตัดแขนตัดขาทำสาหัสด้วยความแค้นเคืองแก่ไทยยิ่งนัก  บางทีญวนพบศพไทยตายด้วยป่วยไข้อยู่ตามทางป่านั้น  ญวนก็นำหอกดาบแทงฟันทุกศพ  ญวนทำดังนั้นเป็นสองนัย  นัยหนึ่งเป็นความโกรธแค้นเคืองไทย  นัยหนึ่งอย่างธรรมเนียมญวน  ถ้ายกทัพไปพบศพข้าศึกที่ตายอยู่ด้วยไม่มีบาดแผลคมอาวุธแล้ว  จำเป็นที่ทหารต้องนำอาวุธแทงฟันศพให้มีรอยบาดแผล  เพื่อจะแสดงอำนาจของกองทัพว่าได้ฆ่าข้าศึกตายมาก  เป็นแบบอย่างของกองทัพญวนแต่โบราณมา  ครั้งนั้นญวนฝ่ายหน้าเดินกองทัพมาถึงกลางท้องทุ่งเป็นที่เตียนโล่งแห่งหนึ่ง  ที่ทุ่งนั้นเขมรเรียกชื่อว่า  “วาลธมแวงฉงาย” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ทุ่งใหญ่กว้างขวางไกลสุดตาคน  เป็นทุ่งเตียน)

(https://i.ibb.co/3hRB5mp/430278-361543627203672-2094636240-n.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งนั้นกองทัพญวนเดินทัพมาพบทันกองทัพพระยารามกำแหง  ซึ่งเจ้าพระยาบดินเดชาแต่งไว้ให้เป็นกองทัพรั้งหลัง ๆ  ได้กลับหน้ามาสู้รบกับญวนที่กลางท้องทุ่งใหญ่ในเวลาเช้าจนเที่ยง  พลทหารไทยน้อยกว่าญวน  ญวนก็ยิงแทงฟันฆ่าทหารไทยตายเป็นอันมาก  ฝ่ายพระยารามกำแหงนายทัพหลังเห็นว่าพลไทยน้อย  จะต่อสู้รับรองกับญวนไม่ได้แล้ว  จึงสั่งพลไทยถอยทัพมาเข้าค่ายไม้ไผ่ที่ตำบลโคกสะแก  ซึ่งพระยาราชสงครามกองทัพหน้าทำขึ้นไว้นั้น  แล้วพระพรหมบริรักษ์บุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทำอุบายไว้ที่ใต้ค่ายนั้นด้วย   ครั้งนั้นแม่ทัพญวนกองหน้าก็ขับพลทหารให้ยกไล่ตามกองทัพพระยารามกำแหงติดหลังท้ายพลไทยไปทีเดียว  พระยารามกำแหงพาไพร่พลเข้าในค่ายได้แล้ว  ก็ปิดค่ายรักษามั่นยิงปืนโต้ตอบกับญวนอยู่ตามธรรมเนียมศึกสู้รบกัน  ทำให้ญวนเห็นจริงว่าเป็นค่ายมั่นจริง ๆ มิใช่ค่ายกลอุบายล่อลวงหลอกหลอนฆ่าญวน  ทำการรักษาค่ายประหนึ่งว่าจะตั้งอยู่สู้รบกับญวนช้านาน  เพื่อจะมิให้ญวนมีความสงสัย  จะได้เข้าในค่ายให้หมดทุกทัพทุกกอง

(https://i.ibb.co/VJD9LxL/Untitxled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพออกจากค่ายไม้ไผ่ที่ตำบลโคกสะแกมาไกลแล้ว  จึงสั่งให้หลวงคะเชนทรามาตย์กับหลวงเทเพนทรขึ้นม้าเร็ว คุมพลทหารม้า ๖๐ ม้าไปสืบราชการทัพญวนที่ใกล้ค่ายโคกสะแกกลับมาแจ้งความว่า  ได้เห็นญวนกองทัพหน้ายกมาเต็มท้องทุ่งใหญ่โคกสะแก  แต่ตัวนายทหารม้าญวนขี่ม้ากั้นร่มระย้าแดงเดินกำกับทหารเลวมานั้น  แลดูร่มญวนแดงไปทั้งท้องทุ่ง  แล้วขับพลไพร่ไล่กองทัพพระยารามกำแหงจนถึงหน้าค่ายโคกสะแก  แต่พระยารามกำแหงล่าถอยมาเข้าค่ายได้  เมื่อเห็นการดังนี้แล้วจึงกลับมากราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบความว่าญวนยกทัพใหญ่เพิ่มเติมอุดหนุนมาไล่ตีทัพไทยนั้น  ญวนจวนจะเข้าค่ายไทยดังนั้นแล้ว  ก็มีความยินดีที่สุด  เพราะว่าจะสมความคิดซึ่งจะฆ่าญวนที่ตามมาให้ตายทั้งสิ้น  แล้วญวนพวกหลังจะได้เข็ดขยาดยำเกรงความคิดไทยบ้าง  ถึงมาทว่าญวนจะยกเพิ่มเติมมาติดตามตีกองทัพไทยที่ล่ามายังเมืองเขมรนั้น  เห็นว่าญวนจะไม่กล้าสามารถตามมาอีกเป็นแน่แล้ว.........”

(https://i.ibb.co/nfkhHNb/Untifdtled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

             ** กลอุบายตื่น ๆ ของเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ญวนเห็นว่าเป็นความคิดของเด็กอมมือและเด็กในครรภ์นั้น  เป็นการหลอกล่อให้ญวนประมาทจนเดินเข้าสู้ความตายอันโหดร้ายที่เจ้าคุณแม่ทัพไทยวางเป็นกับดักไว้เพื่อเผด็จศึก  ตอนนี้ทัพญวนยกตามพระยารามกำแหงมาถึงหน้าค่ายไม้ไผ่อันเป็นขุมนรกสำหรับญวนแล้ว  ผลจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้เช้ามาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มิถุนายน, 2563, 10:40:47 PM
(https://i.ibb.co/Jjjb5qW/Untitsddfled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๕ -

ทำทำนบข้ามน้ำลำคลองใหญ่
ขุดกอไผ่ถมทับกันแน่นหนา
ยกทัพข้ามหมดพลันทันเวลา
ภูมิปัญญาเลิศแท้แม่ทัพไทย

พระยารามกำแหงแสร้งพ่ายแพ้
ทอดทิ้งแต่ค่ายกลหาคนไม่
องตุนแล้พาพลญวนเข้าไป
แม่ทัพใหญ่ยกทัพขยับตาม.....


             อภิปราย ขยายความ ..........................

             ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยาบดินทรเดชาตรวจตราความเรียบร้อยของกลอุบายที่ค่ายไม้ไผ่  แล้วสั่งให้พระยารามกำแหงเป็นกองหลังอยู่รักษาค่าย  ทำตามกลอุบายที่วางไว้  เมื่อทัพไทยเดินทางจากไปแล้วกองหน้าทัพญวนก็ยกมาถึง  พระยารามกำแหงที่ทำทีว่าเป็นทัพหลังยกตามทัพใหญ่ไปนั้น  ก็หันมาสู้รบกับทัพหน้าญวน  แล้วแกล้งพ่ายล่าถอยกลับเข้าไปในค่ายกล  ปิดประตูค่ายยิงปืนใส่ญวน  ให้ญวนเห็นว่าค่ายไม้ไผ่นั้นเป็นค่ายจริง ๆ ที่ไทยตั้งมั่นสู้รบญวน  ทัพหน้าของญวนจึงยกเข้าประชิดถึงหน้าค่ายแล้ว  วันนี้มาอ่านความต่อครับ...

(https://i.ibb.co/3W76t0B/Untitldeeed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

              “ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พลทหารช้างม้าพลนิกายทวยหาญเดินทัพเป็นลำดับไปหลายวัน  ถึงคลองเก่าแห่งหนึ่งเป็นลำคลองกว้างใหญ่ ลึก คดเคี้ยว ขวางทางที่จะเดินทัพไปนั้นด้วย  เขมรนำทางแจ้งความว่าคลองนี้ชื่อว่า  “แพรกอังคะดีกระหอม”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  คลองแคแดง)  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระพิทักษ์บดินทรเขมรเมืองพระตะบองไปตรวจคลองนั้นว่า  จะมีที่ข้ามที่ใดบ้าง  พระพิทักษ์บดินทรกราบเรียนว่า  มีที่ตื้นเป็นท่าข้ามอยู่แห่งหนึ่ง  เขมรเรียกชื่อว่า “ตระพังโพน”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ท่าหน้าวัดมะกอก)  ท่าหน้าวัดมะกอกนั้นอยู่ห่างไกล  ทางจะไปเป็นทางอ้อมเลียบตามลำคลองโค้งคดวงไปเวียนมา  ช้านานนักจึงจะถึงท่าหน้าวัดมะกอกที่ตื้นจึงจะข้ามได้  เห็นว่าจะหนีญวนไม่ทันเป็นแน่  เพราะที่ท่าวัดมะกอกจะข้ามนั้น  โค้งลงไปหาทางที่ญวนจะตามมาด้วย  ขอพระราชทานให้ทำสะพานเรือกข้ามคลองที่ตรงนี้จึงจะดี  จะได้ให้ช้างม้าและพลเดินเท้าข้ามสะพานไปยังฝั่งใต้

              ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่เห็นด้วยจึงว่า

               “ถ้าจะทำสะพานเรือกข้ามคลองนั้นก็จะช้าป่วยการเวลาอยู่สักสองสามวัน  ครั้นจะเดินไปข้ามที่ท่าวัดมะกอกก็จะเดินไปไกลสักห้าวันหกวัน  เห็นว่าจะหนีญวนไม่ทันทั้งสองทาง  เราเห็นอยู่แต่จะพาช้างไปงัดคัดกอไผ่ที่ริมคลอง  ลากมาสะสมเป็นดังทำนบขวางคลองแต่พอคนเดิน  ถึงจะลุยน้ำบนทำนบบ้างก็ไม่เป็นไร  เพราะน้ำตื้น ๆ ไม่เปียกผ้าแลเปียกเสบียงอาหารแล้วเป็นการดี  ถ้าทำได้ดังนี้เราเห็นจะเร็วกว่าอย่างอื่น  ใครจะเห็นอย่างไรบ้างให้ว่าไป  จะช้าอยู่ไม่ได้  ภัยจะมาถึงตัวอยู่แล้ว”

(https://i.ibb.co/nBxV80N/Untitledsed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

               นายทัพนายกองก็เห็นชอบตามความคิดเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา  ให้คุมกองช้างในพระราชวังบวรฯ ไปโค่นงัดคัดพากอไผ่ตามริมคลองมาทำเป็นทำนบ
               แล้วสั่งพระยาสุนทรสงครามเมืองสุพรรณบุรี  ให้คุมช้างกองนอกในพระราชวังหลวงไปโค่นงัดตัดกอไผ่มาทำเป็นทำนบ
               แล้วสั่งหลวงคชสิทธิ์ให้คุมกองช้างในกรุง  ให้ไปงัดคัดกอไผ่ลากมาผูกสะสมต่อติดกันทุกกอง  ทำเป็นเช่นทำนบคลองแคแดงได้แล้ว  ตัดต้นไม้มาปักกันกอไผ่ในคลองไม่ให้น้ำพัดพานำกอไผ่กระจัดกระจายไปได้  พอเป็นทำนองทางคนเดินแล้วเสร็จในครึ่งวันไม่ทันบ่ายเย็น  จึงไล่ต้อนพลช้างม้าแลพลเดินเท้าให้เดินมาตามทำนบกอไผ่ที่ขวางคลองนั้น  ข้ามรี้พลนิกายมาได้สิ้น

(https://i.ibb.co/PzqNG0x/Undrtitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

               ครั้งนั้น  โคต่างมิได้ผูกลูกกระดึงเพราะกลัวจะดังไปถึงญวน  ญวนจะรู้ว่ากองทัพไทยเดินถึงนั่นแล้ว  แต่โคต่างตีได้มาจากเมืองโจดกและแขวงจังหวัดญวนนั้น  ไล่ต้อนมาถึง ๔,๖๐๐  แต่แบ่งให้พระยากระบินทร์บุรีและพระยาสมบัติติบาลคุมโค ๔,๐๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน  พร้อมกับกองป่วยไข้ซึ่งพระยาวิชิตณรงค์คุมไปก่อนแล้ว  ครั้งนี้มีแต่โคต่างมาด้วยทัพใหญ่แต่ ๖๐๐ โคเท่านั้น  พอบรรทุกเสบียงอาหารมาบ้าง  โคต่าง ๖๐๐ นี้ให้พระยาอุทัยธานีคุมเดินไปยังเมืองเชิงกระชุม  ครั้นกองทัพข้ามคลองแคแดงมาได้สิ้นแล้ว  จึงสั่งให้พระยา  พระ  หลวง  นายกองคุมช้าง  ทำลายทำนบนั้น  ให้นำช้างงัดคัดกอไผ่ทำนบให้แตกออกไปเป็นส่วน ๆ  น้ำจะได้ไล่พัดพาไปในที่ต่าง ๆ ไม่ให้ประชุมอยู่เป็นทำนบดังเก่า  เกรงว่าญวนจะข้ามที่ทำนบนั้นมาโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/smGPrxC/Untitfdled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

               แล้วสั่งพระยากำแพงเพชร  ให้คุมพลทหารหัวเมือง ๕๐๐ คนอยู่รั้งหลังคอยระวังญวนจะไล่พระยารามกำแหงมา  จะได้ออกปะทะช่วยป้องกันบ้าง  ถ้าพระยากำแพงเพชรพบกับพระยารามกำแหงแล้ว  จะรับพระยารามกำแหงไว้ในกองทัพเป็นข้าหลวงกำกับทัพ  พอเป็นพยานทางราชการทัพศึกก็ตามใจ  หรือจะให้พระยารามกำแหงยกมาตามกองทัพใหญ่ก็ตามใจ  แล้วแต่พระยากำแพงเพชรเถิด  แต่ให้พระยากำแพงเพชรรั้งทัพอยู่ที่คลองแคแดงนี้  เดินทัพมาช้า ๆ  ให้คอยฟังเสียงดินปืนที่ฝังไว้ในใต้ค่ายไม้ไผ่ที่ตำบลโคกสะแกนั้นด้วย  ถ้าเสียงดินปืนดังขึ้นสมดังที่เราคิดทำกลอุบายไว้เมื่อใด  ก็ให้พระยากำแพงเพชรยกทัพกลับไปตรวจดูว่า  ญวนจะตายหมดหรือหรือจะเหลืออยู่บ้าง  ที่เหลือตายนั้นพอจะจับเป็นมาได้ก็ให้จับมา  จะได้ไต่ถามเอาข้อราชการบ้านเมืองญวนบ้าง  ถ้าและว่าญวนไม่ตายมาก  ยังเหลืออยู่จะแต่งการสู้รบต่อไป  ให้พระยากำแพงเพชรคิดดู  เห็นว่าญวนมากกว่าไทย  ถ้าเห็นพอจะสู้ได้ก็ให้ฆ่าให้สิ้น  ถ้าสมดังที่คิดไว้นั้นแล้ว  ก็ให้ใช้ขุนนางกรมการขึ้นม้าเร็วมาบอกให้เรารู้ความบ้าง  เราจะเดินทัพรอ ๆ ฟังข่าวด้วย  ถ้าสมดังคิดแล้ว  เราจะได้มีหนังสือโต้ตอบสั่งไปให้พระยากำแพงเพชรจัดการต่อไปให้เป็นเกียรติยศมีชื่อเสียงแก่พระยากำแพงเพชรบ้างตามสมควร  ที่มาเหนื่อยมาเหน็ดด้วยกันคราวนี้  จะได้มีชื่อไปภายหน้าด้วยกัน

               อนึ่ง  เมื่อพระยารามคำแหงแกล้งทำอาการประหนึ่งขลาด  แล้วก็ล่าถอยหลังหนีญวนมาเข้าค่ายไม้ไผ่ที่ทำกลอุบายไว้ที่โคกสะแกได้แล้วปิดประตูหน้าค่ายเสียสิ้น  ในค่ายนั้นมีจังหันเกราะปักอยู่แปดมุมค่าย  (กังหันหมุนไปเคาะไม้)  เมื่อลมพัดมากระทบจังหัน  จังหันก็ดังเหมือนคนตีเกราะนั่งยาม  แล้วนำฟืนสุมไฟไว้ในค่ายสี่ห้าหกกอง  ให้มีควันไฟขึ้นพลุ่งไปบนอากาศ  ปรารถนาจะให้ญวนเห็นว่ามีควันไฟอยู่นั้น  แล้วก็คงจะมีคนไทยรักษาค่ายอยู่แน่  พระยารามกำแหงจัดการตามบัญชาสั่งเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นทุกประการแล้ว  ก็ปิดประตูหน้าค่ายหลังค่ายเสร็จ  จึงพากองทัพออกหลังค่าย  เดินล่าถอยหนีรีบรุดมาพบกองทัพพระยากำแพงเพชรตั้งอยู่ที่ริมฝั่งคลองแคแดง  ก็ไปแจ้งความที่ทำไว้ในค่าย  และญวนยกไล่มา  ทำทีเป็นหนีออกมาดังนี้ให้พระยากำแพงเพชรฟังทุกประการ  พระยากำแพงเพชรเห็นว่าพระยารามกำแหงเป็นขุนนางในกรุง  ควรจะรับเข้าไว้ในกองทัพด้วย  จะได้ช่วยกันคิดราชการและเป็นพยานด้วยกัน  แล้วนำหนังสือเจ้าคุณแม่ทัพใหญ่  ใบอนุญาตให้ดูอยู่ช่วยกำกับทัพหัวเมือง  พระยารามกำแหงก็ต้องอยู่เป็นผู้ช่วยกำกับทัพพระยากำแพงเพชรต่อไปตามทางราชการ

(https://i.ibb.co/dMm7TD0/tnr-13-den-tho-ly-nam-de.jpg) (https://imgbb.com/)

               ครั้นญวนกองหน้ายกทัพไล่ติดตามทัพพระยารามกำแหงมาถึงหน้าค่ายไม้ไผ่ที่โคกสะแกนั้น  ญวนไม่เห็นทหารไทยรักษาค่ายตามหอรบ  ได้ยินแต่เสียงเกราะตีอยู่ในค่าย  ก็สำคัญว่าไทยแกล้งปิดประตูค่ายทำอุบายไว้  จะให้ญวนกรูกันเข้าไปในค่ายไทย  ไทยที่แอบอยู่ในสนามเพลาะในค่ายนอกค่ายจะได้กรูกันขึ้นมาไล่ยิงแทงฆ่าญวน  ญวนคิดดังนี้จึงมิได้เข้าไปในค่ายไทย  ญวนตั้งรั้งรอกองทัพอยู่ห่างค่ายไทย ณ ที่ป่ารกแห่งหนึ่ง  เพื่อจะคอยดูเชิงศึกไทยก่อน

               ขณะนั้น  พอกองทัพองกวางโดย องลำโดย แม่ทัพใหญ่ยกมาทันกองหน้า  องกวางโดยแม่ทัพใหญ่จึงถามองตุนแล้แม่ทัพหน้าว่า  เหตุใดจึงมาตั้งรอรั้งอยู่ที่นี่  มิได้ยกเข้าไปในค่ายไทย  องตุนแล้ตอบว่าเห็นประตูค่ายปิดอยู่  ไม่มีผู้คนรักษานอกค่ายแลหอรบ  แต่ในค่ายนั้นมีควันไฟปลิวขึ้นมาบนอากาศเสมอ  และมีเสียงเกราะเคาะตีตรวจตรากันอยู่  ดูจะมีคนแอบกองบซุ่มอยู่ในค่าย  ล่อให้พวกญวนเข้าไป  จะได้ระดมกันฆ่าญวน

(https://i.ibb.co/SKBbS6d/7a.jpg) (https://imgbb.com/)

               องกวางโดย  องลำโดย จึงตอบว่า  อ้ายขี้ขลาดตาขาว  มึงเป็นแม่ทัพหน้าเสียเปล่า ๆ  ไม่มีพิจารณาด้วยปัญญาอันละเอียด  ควรจะพิเคราะห์ดูว่าไทยจะทิ้งค่ายจริง ๆ หรือทำเป็นทิ้งหลอกแอบซุ่มอยู่ในค่าย  มึงจงแลดูบนค่ายไทยก่อนเป็นไร  อีกาและนกบินขึ้นลงในค่าย  กินอาหารเสบียงที่ไทยทิ้งไว้เอาไปไม่หมดนั้น  เสียงอีการ้องอยู่ในค่ายออกแซ่เซ็ง  มึงไม่ได้ยินหรือ  ถ้ามีคนอยู่ในค่ายเหมือนอย่างเอ็งพูดนั้น  อีกาก็จะไม่บินขึ้นลงในค่ายได้   แม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนพูดเท่านั้นแล้ว  จึงสั่งให้องตุนแล้ยกกองทัพหน้าเข้าไปในค่ายไทยก่อนในเวลาบ่าย  กองทัพหน้าเข้าค่ายได้แล้วก็หาเห็นมีคนไทยไม่  สมดังแม่ทัพใหญ่ว่า

(https://i.ibb.co/7V4jPYh/Unticxtled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

                “ซึ่งความคิดเจ้าพระยาบดินทรเดชาทำอุบายด้วยจังหันเกราะและสุมไฟไว้ในค่ายนั้น  เพราะจะให้กองทัพหน้าของญวนสงสัยว่ามีคนอยู่  จะได้ไม่เข้าค่ายก่อนกองทัพใหญ่  ปรารถนาจะให้ทัพหน้าญวนอยู่รอกองทัพใหญ่ฝ่ายญวนเข้าไปพร้อมกันทีเดียว  จะได้ถูกกลอุบายที่ท่านทำไว้นั้น  ญวนจะได้ตายพร้อมกันมาก ๆ  ไม่ให้เสียทีที่คิดทำการใหญ่ไว้  จะให้ตายแต่กองหน้าก่อนโดยคนน้อย ๆ หาควรไม่  กองหลังคนมามากก็จะไม่ตายพร้อมกัน  ความปรารถนาของท่านทำกลอุบายคิดจะให้ญวนตายเสียทีเดียวทั้ง ๒ กองคนกว่า ๒,๐๐๐ คน  ฝ่ายญวนกองหน้าก็ทำกิริยาสมกับความคิดของท่านทุกประการ  ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไรเล่า  ญวนกองใหญ่ก็ยกมาทันเข้าไปพร้อมกัน  ตายด้วยกันหมดตามที่ท่านคิดไว้ทุกอย่าง  ซึ่งแม่ทัพญวนพูดจาดูถูกดูหมิ่นท่านต่าง ๆ แต่ก่อนนั้นก็ตายด้วย”

               ** อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหวาดเสียวมาก  กองทัพญวนเข้าค่ายกลซึ่งเป็นเหมือนค่ายนรกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว  ค่ายไม้ไผ่จะเป็น  “ค่ายนรกแตก”  หรือไม่  พรุ่งนี้มาอ่านต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, มิถุนายน, 2563, 11:26:44 PM
(https://i.ibb.co/89MPPZZ/Untitl98ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๖ -

ญวนทุกทัพเข้าค่ายไทยทั้งสิ้น
หุงข้าวกินลืมกลจนมองข้าม
ประมาทแม่ทัพไทยอุบายทราม
พูดหยันหยามค่ายกลก่อนตนตาย

ชนวนระเบิดทำงานไม่ด้านดื้อ
เพลิงลุกฮือใต้ดินดิ้นตามสาย
ถังดินดำปืนใหญ่มีที่เรียงราย
ระเบิดค่ายแหลกลงเป็นผงคลี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่.. กองทัพไทยเดินทางล่าหนีทัพญวนไปถึงคลองแคแดง  เป็นคลองกว้างและลึก  พระยาเขมรเสนอให้ทำสะพานเรือกพากองทัพข้ามไป  เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่เห็นด้วย  เพราะเป็นการล่าช้าให้ญวนตามมาทัน  ท่านเห็นว่าควรทำทำนบไม้ไผ่กั้นลำคลองจะเร็วว่า  เมื่อทุกคนเห็นพ้องแล้ว  จึงสั่งให้กองช้างพาช้างไปงัดกอไผ่ริมคลองที่มีอยู่มากมายนั้น  ลากมาผูกมัดทำเป็นทำนบเสร็จภายในเวลาครึ่งวัน  แล้วพาช้างม้าโคต่างไพร่พลข้ามน้ำไปได้สิ้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้กองทัพพระยากำแพงเพชรเป็นทัพรั้งหลัง  คอยฟังผลการทำค่ายกลที่โคกสะแก  และคอยช่วยพระยารามกำแหงด้วย  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......

(https://i.ibb.co/MMqmjw5/unnamed-14.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ฝ่ายองกวางโดยและองลำโดยแม่ทัพใหญ่  เห็นองตุนแล้ทัพหน้าเข้าค่ายไทยได้แล้ว  จึงไล่ต้อนไพร่พลญวนเกือบ ๒,๐๐๐ คนเข้าไปในค่ายบ้าง  ตั้งล้อมอยู่ริมค่ายข้างนอกบ้าง  องแม่ทัพใหญ่ทั้งสองก็เข้าไปพักอยู่ในศาลาใหญ่กลางค่ายไทย  แล้วจึงสั่งให้นายทัพนายกองให้จับตัวองตุนแล้แม่ทัพหน้าผู้ขลาดไปฆ่าเสียในวันนั้น  แล้วสั่งนายทัพนายกองไปเที่ยวหาเก็บเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารตามในค่ายและนอกค่าย  ได้มาหลายอย่างต่าง ๆ คือ  ปืนขานกยางบ้าง  ปืนคาบศิลาบ้าง  ดาบ มีด พร้า เสียมบ้าง  (ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาแกล้งทิ้งไวในค่าย  ทำทีเป็นหลงลืมเก็บไปไม่หมด  ดูเหมือนไทยตะลีตะลานรีบหนีไป  เพราะจะให้ญวนเชื่อว่าไทยทิ้งค่ายหนีจริง ๆ  จึงมีของหลงลืมทิ้งไว้ทั้งเสบียงอาหารศาสตราวุธอย่างละเล็กละน้อย  ทำไว้ให้สนิทไม่ให้ญวนคิดว่าไทยแกล้งล่าไปเป็นกลอุบาย  แล้วทำลืมไว้จนชั้นแต่หม้อข้าวหม้อแกง  ข้าวสารข้าวสุกบ้างเล็กน้อย  และเครื่องเสื้อผ้าซึ่งเป็นที่หายากในกลางป่าก็ทำลืมทิ้งไว้ด้วย  ปรารถนาจะให้ญวนสิ้นความสงสัยและไม่ให้มีความรังเกียจในค่ายเลย  ญวนจะได้เข้ามาพักรี้พลในค่ายให้มาก  จะได้ตายให้มากพร้อมกัน  อย่างเช่นที่คิดทำอุบายไว้ในที่นี้สำคัญยิ่งนัก)

          ครั้งนั้น  ญวนเข้าในค่ายได้เป็นเวลาบ่ายสี่โมง  พลญวนจึงนำหม้อข้าวดินของไทยบ้าง  และหม้อข้าวทองแดงของญวนบ้าง  นำข้าวสารมาตั้งบนเตาไฟเก่าในค่ายไทยเพื่อจะหุงอาหารกิน  หลายสิบหลายร้อยเตา  บางพวกได้ยินเสียงแตนเสียงต่อร้องกระหึ่มครึมไปในใต้แผ่นดินที่ค่ายนั้น  จึงนำไม้และเหล็กสักแทงลงไปตามพื้นค่ายก็พบหลุม  จึงเปิดหลุมนั้นขึ้นดู  พบตัวต่อแตนบินขึ้นกัดต่อยรี้พลญวนเหมือนเช่นไทยทำไว้ที่ตำบลลำลาดป่าตะโกนั้น  ญวนนายทัพนายกองจึงนำข้อความนี้มาแจ้งแก่องกวางโดย  องกวางโดยหัวเราะจนกล้องหลุดจากปากแล้วพูดว่า

           “มาพบอุบายไทยทำไว้อีกเช่นนี้แล้ว  เห็นว่าแม่ทัพไทยเป็นบ้า  เอาตัวต่อแตนผึ้งมาไว้ในค่ายเพื่อจะแทนเสียงรี้พล  และทำจังหันสุมควันไฟไว้ต่าง ๆ นานา  ไม่เห็นเข้าท่าเข้าทางถูกแบบถูกอย่างพิไชยสงครามเลย  เห็นแต่จะเป็นความคิดของจำพวกคนเสียจริตอย่างเดียวเท่านั้นเป็นแน่”

          แม่ทัพญวนพูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งนายทัพนายกองให้นำเหล็กไปเที่ยวสักหาดู  ถ้าพบหลุมที่ไหนมีตัวต่อแตนผึ้งซึ่งจะร้องหนวกหูนั้น  ก็ให้นำไฟทิ้งลงไปในหลุมเผาต่อแตนให้ตายเสีย  อย่าให้ร้องหนวกหูและบินขึ้นมากัดต่อยทำร้ายแก่ไพร่ญวนได้เลยเป็นอันขาด

(https://i.ibb.co/cQhdksJ/Untitle953d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นนายทัพนายกองฝ่ายญวนจึงไปทำตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่ทุกประการ  พบหลุมไหนมีต่อแตนแล้วก็นำไฟทิ้งลงไปเผาเสียบ้าง  เชื้อไฟนั้นก็คุลงไปถึงก้นหลุม  ติดชนวนดินปืนใต้หลุมบ้าง  กับพวกไพร่พลญวนหุงข้าวกินที่เตาไฟเก่านั้นหลายร้อยเตา  ไฟที่เตาร้อนลงไปติดชนวนดินปืนใต้เตาบ้าง  ไฟจึงไหม้ชนวนนั้น ติดเนื่องแล่นเร็วรอบค่ายใต้พื้นดิน  ไปถูกถังดินปืนหลายร้อยถัง  แล้วไปติดชนวนปืนใหญ่ที่บรรจุกระสุนดินเกินส่วน  ซึ่งฝังไว้ใต้แผ่นดินหลายสิบกระบอก  ชนวนไปติดดินปืนที่เรี่ยรายฝังไว้ใต้แผ่นดินล้อมรอบค่าย  และตามถนนหน้าค่ายหลังค่ายตลอดไปตามทางที่ญวนยกมานั้นด้วย  เกิดเป็นไฟติดดินปืนลุกขึ้นพร้อมกัน  เสียงดังประหนึ่งเสียงฟ้าผ่าเป็นเสียงมหาโกลาหล  กึกก้องกัมปนาทหวาดหวั่นไหวสะท้านสะเทือนไปหลายร้อยเส้น  ครั้งนั้นเป็นมหามหัศจรรย์ประจักษ์พระบรมราชกฤษฎาเดชานุภาพพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ  จะมีชัยชนะแก่ญวนอานามปัจจามิตร  เผอิญให้ญวนคิดเข้ามาในใต้อุบายแม่ทัพไทยทุกอย่างทุกประการ  อำนาจกลอุบายไทยจึงได้สังหารผลาญล้างชีวิตญวน  ซึ่งเป็นข้าศึกต่อกรุงเทพฯ ให้พินาศฉิบหายตายเกือบ ๒,๐๐๐ คนเห็นประจักษ์พระบารมี  ดังนี้

          ครั้งนั้น  ดินปืนระเบิดขึ้นรอบค่ายในเวลาย่ำค่ำ ณ วันพุธ  เดือนหก  แรมสองค่ำ  ดินระเบิดถูกเสาค่ายและเครื่องค่ายหักพังกระเด็นไปตกทั่วทิศานุทิศ  ไฟลวกถูกไพร่พลญวนล้มตายประมาณ ๑,๖๐๐ คน  ที่เจ็บป่วยลำบากประมาณ ๔๐๐ คน  แต่พวกญวนตระเวนด่านทางอยู่ห่างค่าย  ไม่ถูกดินปืนระเบิดนั้นประมาณ ๒๐๐ คน  ทั้งสองร้อยคนตกใจกลัวแตกหนีกระจัดกระจายไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดงบ้างต่าง ๆ กัน   ครั้งนั้นม้าช้างโคต่างของญวนถูกดินปืนระเบิดตายมากเหลือน้อย

(https://i.ibb.co/Tr41KJ6/Unt85itled-20.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะเมื่อดินปืนระเบิดลุกขึ้นที่ค่ายโคกสะแกเป็นเวลาย่ำค่ำ  พระยากำแพงเพชรชื่อทองพูนผู้นี้  เขาลือกันว่าดำน้ำวันหนึ่งไม่ผุดก็ได้  เป็นนายทัพรั้งหลังตั้งอยู่ริมฝั่งคลองแคแดง  กำลังเดินทัพรั้งรอมาช้า ๆ  ได้ยินเสียงดังข้างทิศตะวันออก  ดังเหมือนเสียงฟ้าร้องและเสียงพลุดังติด ๆ กันเป็นหลายสิบที  ก็เข้าใจว่าญวนเข้าค่ายไทย  และญวนต้องกลอุบายไทยเป็นแน่แล้ว  จึงสั่งหลวงนาให้ขึ้นม้าควบสวนทางขึ้นไปสั่งพระยกกระบัตรนายทัพหน้าให้กลับกระบวนทัพลงมา   แล้วให้เดินตรงไปถึงคลองแคแดงฝั่งใต้แล้ว  ให้หลวงสิทธิเดชกับหลวงแพ่งสองนายขึ้นม้าคุมทหารม้า ๕๐ ม้า  ข้ามคลองแคแดงไปสืบราชการที่ค่ายโคกสะแก

(https://i.ibb.co/n1CJxkz/Usntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองม้ากลับมาแจ้งความว่า  ได้ลงไปในเวลานั้นเป็นเวลากลางคืนเดือนหงาย  สว่างเห็นหนทางดี  ยกไปถึงตำบลโคกสะแกใกล้ค่ายไม้ไผ่  แต่ไม่เห็นค่ายเลย  ได้เห็นแต่แผ่นดินว่างเปล่า  และได้ยินเสียงญวนร้องไห้และร้องครางเป็นเสียงเซ็งแซ่ไปหลายร้อยคน  กับได้พบศพแขนขาดขาขาดตัวขาดครึ่งซีกครึ่งท่อน  กระเด็นมาตกตามทางหลายร้อยชิ้นหลายร้อยท่อนตามทางที่ลงไป  ที่ได้พบศพนั้นทางไกลค่ายประมาณ ๑๕-๑๖ เส้น  บางชิ้นก็กระเด็นมาตกไกลถึง ๒๐ เส้นก็มีบ้าง  เครื่องค่ายไทยนั้นกระเด็นมาตกเรี่ยรายไปตามทาง  ห่างและชิดต่าง ๆ หลายแห่ง  ขุนรามภักดีนายม้ากองหน้าของหลวงแพ่งนั้น  พบญวนป่วยเจ็บเล็กน้อยก็รับขึ้นหลังม้ามาคนหนึ่ง  ให้ทหารม้าเลวรับญวนที่ป่วยบ้างเล็กน้อยขึ้นหลังม้ามาอีก ๔ คน  พากันกลับมายังกองทัพพระยากำแพงเพชร  พระยากำแพงเพชรให้ล่ามถามญวน ๕ คนนั้น  ได้เนื้อความตั้งแต่ต้นจนปลายดังบรรยายแสดงมาแต่ก่อนนั้นแล้ว......

           (อนึ่ง  ถ้าจะมีคำกลางขวางถามเข้ามาว่า   ญวนพูดจาดูหมิ่นดูถูกไทยว่าทำกลอุบายดังเด็กทารกต่าง ๆ ดังที่ว่ามาแต่ข้างบนนั้น  และกิจการอันใดที่ญวนทำในกองทัพญวนนั้น  ทำไมไทยจึงได้ล่วงรู้ล่วงเห็นได้เล่า  เขาทำเขาพูดแต่พวกเขาต่างหาก  พวกเราไม่ได้ยินไม่ได้เห็นญวนพูดญวนทำการงานเลย  เหตุใดจึงรู้การต่าง ๆ เก็บนำที่ไหนมาจดมาจำเรียบเรียงเป็นเรื่องเป็นราวโดยละเอียด

          คำแก้ตอบว่า   ได้ทราบความตามที่จับญวนมาได้เมื่อภายหลังทั้งไพร่พลและนายทัพญวน  และแม่ทัพญวนก็จับมาได้  จึงรู้ความตามเหตุน้อยใหญ่  จึงได้เรียบเรียงเป็นลำดับมาตามการ).....”

(https://i.ibb.co/XbPHj9T/Untitledsed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ค่ายนรกแตกแล้ว !  เป็นอันสมปรารถนาของท่านแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาบดินทรเดชา  สะใจนายทัพนายกองไพร่พลไทย  เมื่อแม่ทัพญวนพาไพร่พลเข้าค่ายนรก  อันเป็นอุบายอันแยบยลของแม่ทัพใหญ่ไทย  แล้วทำตามที่เจ้าคุณแม่ทัพวางแนวทางไว้จนถึงจุดสุดท้าย  ดินปืนระเบิดค่ายแตกถล่มทลาย  แม่ทัพ นายทัพ นายกอง ไพร่พลญวนตายเกือบสิ้นทั้งกองทัพ  ผลความเสียหายจากค่ายนรกแตกครั้งนี้  จะมีเป็นเช่นไรบ้าง  วันพรุ่งนี้มาอ่านรายงานการสำรวจของพระยากำแพงเพชรกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, มิถุนายน, 2563, 10:09:23 PM
(https://i.ibb.co/VBTDWJm/Unfdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๗ -

ญวนสี่ทัพรวมพลสองพันสอง
ตายสยองรวมกันกว่าพันสี่
“องกวางโดย”เจ็บใกล้วายชีวี
คนเป็นผีศพช้ำ “องลำโดย”

ที่เจ็บป่วยลำบากยากรักษา
แม่ทัพใหญ่ให้ฆ่าอย่าหวนโหย
สี่ร้อยสิบหกคนก่นโอดโอย
เมื่อเพลิงโปรยเปลวเผาเป็นเถ้าไป


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนนี้ให้อ่านถึงตอนที่..  พระยารามกำแหงหลอกล่อให้กองทัพญวนติดตามถึงหน้าค่ายไม้ไผ่  ปิดค่ายแล้วทำตามบัญชาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา  พาไพร่พลออกทางหลังค่าย  เดินทางไปพบกับกองทัพพระยากำแพงเพชร  ที่แม่ทัพใหญ่สั่งให้รั้งหลังคอยฟังเสียงดินปืนระเบิด  ถ้าสมดังคิดแล้ว  ให้ยกกองหลังกลับไปสำรวจตรวจตราผลของกลอุบายที่วางไว้  ฝ่ายแม่ทัพญวนยกมาถึงค่ายกลแล้ว  สั่งให้ทัพหน้ายกเข้าไปในค่าย  จากนั้นจึงยกทัพใหญ่เข้าไปในค่าย  สั่งให้จับตัวแม่ทัพหน้าที่เห็นว่าขี้ขลาดนั้นฆ่าเสีย  แล้วให้ไพร่พลหุงข้าวกินยามเย็น และให้เอาไฟใส่ลงไปในหลุมต่อแตน  ไม่นานไฟในหลุมต่อแตนก็คุติดสายชนวนในหลุมนั้นพร้อม ๆ กับไฟที่เตาไฟก็คุติดสายชนวน  แล่นไปรอบค่ายติดถังดินปืนและปืนใหญ่ที่ฝั่งไว้รอบค่ายนั้นเกิดการระเบิดขึ้น  สมดังกลอุบายของแม่ทัพใหญ่ไทยทุกประการ  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/JrjGHfg/Untitle88d-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          * ฝ่ายพระยากำแพงเพชร ได้ทราบความตามญวนข้าศึก ๕ คนให้การแจ้งดังนั้นแล้ว  ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงสั่งให้พระรามพิไชยกับพระมหาดไทย  ให้คุมทหาร ๑๐๐  ยกไปปิดต้นทางหว่างค่ายโคกสะแกไว้  อย่าให้ญวนหนีไปได้  สั่งให้พระเทพโยธากับหลวงศุภมาตราคุมทหาร ๑๐๐  ถือคบเพลิงมีเครื่องศาสตราวุธครบมือทุกคน  ให้ยกไปตามญวนที่เหลือตายแตกหนีกระจัดกระ จายไปในป่า  ให้จับมารวบรวมไว้  ถ้าสู้ให้ยิงให้ตายเสียให้หมด  ถ้าไม่สู้ให้จับเป็นมาให้มาก  จะได้ใช้ราชการเป็นคนเชลยเลี้ยงช้างม้า

          ครั้นรุ่ง ณ วันพฤหัสบดี เดือนหกแรมสามค่ำ  พระยากำแพงเพชรก็เดินกองทัพกลับมาข้ามที่ท่าหน้าวัดมะกอก  ริมฝั่งคลองแคแดง  เดินทัพรุดเร่งไปทั้งกลางวันและกลางคืน  สองวันก็ถึงค่ายโคกสะแก  เห็นศพญวนตายด้วยถูกดินปืนระเบิดนั้นประมาณศพ ๑,๔๐๐   ที่ป่วยเจ็บมีบาดแผลยังไม่ตายนั้น  ประมาณ ๔๐๐ คน  จึงสั่งให้ขุนรองจ่าเมืองคุมไพร่พลไปจับคนญวนที่ป่วยเจ็บทุพพลภาพลำบาก  ต้องหามและจูง  พยุงรวบรวมมาไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นหลายกอง  ให้ขุนรองจ่าเมืองคุมพลทหารรักษาญวนป่วยเจ็บ ๔๐๐ คน  อย่าให้หนีไปได้

          ครั้งนั้น  พระรามพิไชยกับพระมหาดไทยไปตั้งกองสกัดจุกช่องปิดทางไว้  จับได้ญวนที่หนีไป  ส่งให้พระยากำแพงเพชร  พระยากำแพงเพชรให้หลวงเมืองทำตะโหงกสวมคอญวนทุกคน   พอรุ่งขึ้น  พระเทพโยธา  หลวงศุภมาตรา  ไปตามจับญวนที่เหลือตายหนีไปในป่า  จับมาได้เวลากลางคืนวันนั้นบ้าง  ตามไปจับในป่าเมื่อเวลารุ่งเช้าได้บ้าง  รวบรวมได้ ๑๐๔ คน  พามาส่งให้พระยากำแพงเพชร  พระยากำแพงเพชรสั่งให้จำตะโหงกไว้ทั้งสิ้น  รวมกับญวนที่พระมหาดไทยจับมาส่งแต่ก่อน ๖๐ คน   เป็นญวนเชลย ๑๖๔ คน  ถามญวน ๑๖๔ คนให้การว่า  ที่หนีไปรอดได้บ้างคือที่มีม้าขี่  จึงหนีไปพ้นได้ประมาณ ๓๐ เศษ

          ครั้งนั้น  พระยากำแพงเพชรจับญวนนายทหารรอง เป็นเสมียนของแม่ทัพใหญ่ได้สองคน  ชื่อหลับ ๑   ชื่อเย้อ ๑   ถามข้อราชการในกองทัพตั้งแต่ยกมา  จนเมื่อถูกดินปืนระเบิดนั้นได้ความมาก  แล้วได้บัญชีรี้พลที่ยกมาครั้งนี้โดยชัดเจน  ให้ล่ามแปลบัญชีออกได้ความว่า

(https://i.ibb.co/6DQtvt6/Untitlexdd-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          องกวางโดยยกมามีไพร่พล ๘๐๐
          องลำโดยยกมามีไพร่พล ๘๐๐
          แล้วองตุนแล้ยกมาอีกมีไพร่พล ๔๐๐
          แล้วองเผอแม่ทัพใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโจดกนั้น  ให้องดีเลือกคุมคนหัวเมืองตึกเขมายกเพิ่มมาอีก ๑ ทัพ  มีไพร่พล ๒๐๐

          รวมไพร่พลทั้ง ๔ ทัพ  ๒,๒๐๐ เป็นแน่  พระยากำแพงเพชรได้ทราบดังนั้นแล้ว  สั่งให้พระมหาดไทยตรวจศพญวน  และตรวจญวนเป็นและญวนป่วย  ดูจะมีมากน้อยเท่าใด  จะได้รู้ว่าญวนหนีไปเท่าใดแน่  จะถูกต้องในบัญชีญวนหรือไม่  พระมหาดไทยตรวจศพญวนมี ๑,๔๑๔  ญวนป่วยมี ๔๑๖ คน  ญวนเป็นมี ๑๖๔ คน  รวมญวนตาย ๑,๔๑๔   ป่วย ๔๑๖   เป็น ๑๖๔   รวม ๑,๙๙๔  นายทัพญวนให้การต่อไปว่า  ตกหลุมถูกหลาวของไทยทำไว้กลางทางนั้น  ญวนตายไปเสียครั้งนั้น ๑๐๔  และรบกับทัพม้าพระยาอัษฎาเรืองเดชนั้นญวนตาย ๓๖ คน  ป่วยไข้ตายตามทาง ๓๐ คน  คงหนีกลับไปรอดได้ ๓๖ คน  

          พระมหาดไทย  หลวงศุภมาตรา  ทำบัญชีญวนตาย  หนี  ป่วย  จับเป็นมาได้  ขึ้นยื่นแก่พระยากำแพงเพชรต่อไปตามขุนนางญวนให้การดังนี้

(https://i.ibb.co/5468vrg/419962-371477949543573-110450553-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          เดิมไพร่พลญวน ๒,๒๐๐   ตั้งจำหน่ายป่วยไข้ตาย ๓๐   ถูกหลาวตาย ๑๐๔   ทัพม้าไทยฆ่าตาย ๓๖   ถูกดินปืนระเบิดตาย ๑,๔๑๕   จับเป็นมาได้ ๑๖๔   หนีไปได้ ๓๖   ถูกดินปืนระเบิดป่วยอยู่ ๔๑๖   รวม ๒,๒๐๐ คน    ครั้งนี้ทัพไทยจับช้าง ม้า โคต่าง ที่เหลือตายในกองทัพญวนนั้นได้บ้าง  ช้าง ๕๖  ม้า ๑๐๔  โคต่าง ๒๔๖  ที่ถูกดินปืนระเบิดตายก็มาก  ที่แตกตื่นเข้าป่าไปตามจับไม่ได้ก็มีบ้าง  แต่ช้างม้าโคต่างตายอยู่ที่ค่ายโคกสะแกคราวนี้  มากกว่าที่จับมาได้หลายส่วน  แต่เครื่องสรรพาวุธของญวนได้ไว้สิ้นทุกอย่างต่าง ๆ  แต่ดินปืนของญวนหาได้ไม่  ด้วยพลอยติดไฟลุกขึ้นซ้ำเติมฆ่าพวกญวนนั้นเอง  พระยากำแพงเพชรแต่งหนังสือบอกฉบับ ๑  ให้พระยารามกำแหงข้าหลวงกำกับทัพเข้าชื่อในใบบอกด้วย  แล้วมอบให้หลวงนาขึ้นม้าเร็วคุมทหารม้า ๒๖  ม้ารีบไปแจ้งความเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ซึ่งกำลังเดินทัพไปเมืองเขมร

(https://i.ibb.co/9pwqF9y/Untitle5d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพเกือบจะถึงเมืองเชิงกระชุมอยู่แล้ว  เมื่อได้รับหนังสือบอกนั้นที่กลางทาง  จึงมีหนังสือตอบมายังพระยากำแพงเพชรใจความว่า  ญวนที่ถูกดินปืนระเบิดป่วยเจ็บมีอยู่ ๔๑๖  คนก็เป็นคนลำบากอยู่แล้ว  ครั้นจะพารักษาพยาบาลไว้ใช้ในราชการต่อไป  ก็เห็นว่าญวน ๔๑๖ นั้นจะเดินมายังเมืองเขมรก็ไม่ได้  ครั้นจะให้ช้าง โคต่าง บรรทุกมารักษาก็หามีช้างพอไม่  กับจะพามาตามทางก็ไม่มียาจะรักษา  เห็นว่าเป็นการรุงรังห่วงแก่เรานัก  หาประโยชน์ไม่ได้เลย  ให้พระยากำแพงเพชรนำดินปืนคลอกญวนที่เจ็บป่วยลำบาก ๔๑๖ คนนั้นให้ตายเสียหมดเถิด  แต่นายทัพนายกองญวนที่ป่วยอยู่หรือลำบากอย่างใดก็อย่าให้ฆ่าเลย  ให้นำบรรทุกโคต่างมาส่งยังเมืองเชิงกระชุม  จะได้ไต่ถามข้อราชการบ้านเมืองญวนต่อไป  อนึ่งเครื่องศาสตราวุธและช้างม้าโคต่างนั้น  ก็ให้พระยารามกำแหงคุมส่งยังเมืองเชิงกระชุมก่อน   แต่พระยากำแพงเพชรนั้น  ให้เดินทัพมาข้างหลังพระยารามกำแหง  เพื่อจะได้ระวังรักษาเชลยญวนที่พระยารามกำแหงไล่ต้อนมานั้นอย่าให้หนีไปได้

(https://i.ibb.co/K7Jvnwy/Untitldesed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  พบศพองลำโดยแม่ทัพญวน  ถูกดินปืนตายเสียแต่ในการเกิดการโกลาหลนั้นแล้ว  พระยากำแพงเพชรสั่งให้ทหารตัดศีรษะองลำโดยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน  ใส่ชะลอมมอบให้หลวงนาขึ้นม้าเร็วนำไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่ในวันก่อนนั้นแล้ว  และเก็บได้เข็มขัดขององลำโดยสายหนึ่ง  ทอด้วยไหม  ศีรษะเป็นพลอยทับทิมหลังเบี้ย  ยาวห้ากระเบียด  กว้างสามกระเบียด  หนาสองกระเบียดกึ่ง  สัณฐานรูปเหมือนเมล็ดมะขาม   กับได้กำไลหยกสวมอยู่ในข้อมือองลำโดยขอนหนึ่ง  กับได้กั้นหยั่นที่องลำโดยตะพายติดอยู่บั้นเอวเล่มหนึ่ง  ด้ามเป็นเขี้ยวปลาพะยูน  เนื้อเหล็กสีเขียวดังปีกแมลงทับ  หาสนิมมิได้เลย  ฝักนั้นทำด้วยเงินก้าไหล่ทอง  ญวนเสมียนสองคนที่จับมาได้แจ้งความว่า  พลอยทับทิมศีรษะเข็มขัดนั้น  องลำโดยซื้อมาแต่กรุงจีนราคา ๕,๐๐๐ ตำลึงจีน  กั้นหยั่นเป็นของพระเจ้าเวียดนาม  พระราชทานให้ถือเป็นสง่าขององลำโดย  ทั้งสามสิ่งนี้ได้มอบให้พระยารามกำแหงนำไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย

          ครั้งนั้น  ไทยได้พบองกวางโดยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนป่วยลำบากเดินไม่ได้อยู่ในค่ายโคกสะแกนั้น  เพราะดินปืนลวกถูกที่หลังพังพองไปหลายแห่ง  กับไม้เสาค่ายกระเด็นมาถูกที่น่องหักเดินไม่ได้  แต่ยังหาตายไม่  ทหารไทยหามมาขึ้นช้างแล้วตรวจดูมีของ ๔ อย่าง   คือแหวนเพชรวงหนึ่งราคา ๔๐๐ ตำลึงจีน  เข็มขัดไหมสายหนึ่งศีรษะ  เป็นนากสวาดิ์ราคา ๓๐ ตำลึงจีน  กั้นหยั่นเล่มหนึ่งฝักเงินก้าไหล่ทองคำด้ามงาช้าง  ปืนหลังม้าบอกหนึ่งคร่ำทอง  ของ ๔ อย่างขององกวางโดยนี้  ก็ส่งไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย

(https://i.ibb.co/BLbZg3D/5-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยากำแพงเพชรจัดการที่โคกสะแกเสร็จแล้ว  จึงสั่งให้ทหารไทยหามองกวางโดยขึ้นช้างเดินมาในกองทัพพระยากำแพงเพชร  พระยากำแพงเพชรก็ยกทัพกลับมายังเมืองเชิงกระชุม  ตามท้ายทัพพระยารามกำแหง  ซึ่งคุมญวนเชลย ๑๖๔ คน  กับช้าง ม้า โคต่าง เดินมาเป็นลำดับกัน  หาพบเจ้าพระยาบดินทรเดชากลางทางไม่  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพไปถึงเมืองเชิงกระชุมก่อนแล้ว.........”

          * “เรียบร้อยโรงเรียนบดินทร์เดชา”  ไปแล้ว !  แม่ทัพญวนที่อวดฉลาด  ประมาทความคิดแม่ทัพใหญ่ไทย  แล้วฆ่าแม่ทัพหน้าของตนคนที่มีความเฉลียวเสียก่อนที่ค่ายนรกจะแตก  ผลก็คือ  ญวนที่ยกทัพตามตีกองทัพไทยครั้งนี้ ๔ ทัพ  รวมไพร่พล ๒,๒๐๐ คน  เหลือหนีรอดกลับญวนไปได้ ๓๖ คน  ถูกจับเป็นเชลย ๑๖๔ คน  นอกนั้นตายเรียบ!  แม่ทัพที่คุมทัพมาตาย ๑   ป่วยลำบากทุพพลภาพ ๑   องกวางโดยแม่ทัพที่ ๑ ดวงยังไม่ถึงฆาต  ยังไม่ตายแต่  “คางเหลือง”  ถูกหามขึ้นหลังช้างไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ไม่รู้ว่าแม่ทัพเดนตายคนนี้ไปพบหน้าเจ้าพระยาบดินทรเดชา  คนที่เขาหมิ่นประมาทว่ามีความคิดแค่เด็กอมมือแล้ว  เขาจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากัน  จะทันได้พบกันหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ  พรุ่งนี้เช้ามาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มิถุนายน, 2563, 10:10:55 PM
(https://i.ibb.co/fnh6WxM/Untitsdled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๘ -

องกวางโดย“เดนตาย”ไม่มอดม้วย
หายเจ็บป่วยแล้วยัง“วางก้ามใหญ่”
มิเคารพนบกราบแม่ทัพไทย
บอกอยู่ในตำแหน่งเท่าเทียมกัน

เรียกร้องให้รีบฆ่าอย่าเลี้ยงไว้
อยากกลับไปบ้านเก่าของเรานั่น
ผู้คุมใช้ทำกิจคิดดื้อรั้น
บอก “ฆ่าฟันดีกว่าอย่าใช้เลย”


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  พระยากำแพงเพชรยกทัพกลับไปโคกสะแก  ติดตามสำรวจผลกลอุบายของเจ้าพระยาบดินทรเดชา  พบว่าค่ายไม้ไผ่ถูกดินปืนระเบิดพังพินาศมิมีชิ้นดี  พวกญวนตายอย่างอเนจอนาถกลาดเกลื่อน  ที่รอดตายเจ็บป่วยลำบากร้องครวญครางอยู่มีจำนวนน้อย  จับได้ญวนที่เป็นระดับรองนายทัพสองคน  เป็นเสมียนแม่ทัพ  ได้บัญชีจำนวนกำลังพลชัดเจนว่า  ญวนยกมาครั้งนี้ ๔ ทัพรวมไพร่พลทั้งหมด ๒,๒๐๐ คน  ตกหลุมขวากหลาวตาย ๑๐๔ คน  รบกับทหารม้าไทยตาย ๓๖ คน  ป่วยไข้ตายตามทาง ๓๐ คน  ถูกดินปืนในค่ายระเบิดตาย ๑,๔๑๕ คน  เจ็บป่วยลำบากจากดินปืนระเบิด ๔๑๖ คน  หนีรอดไปได้ ๓๖ คน  พบศพองลำโดยตายอยู่ในค่าย  และพบร่าง องกวางโดย  แม่ทัพใหญ่ถูกไฟลวกร่างกายพอง  เสาค่ายหักฟาดขาทั้งสองข้างหักเดินไม่ได้  จึงนำร่างอันทุพพลภาพขึ้นหลังช้างไปเมืองเขมร  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยากำแพงเพชรเอาดินปืนคลอกญวนเจ็บป่วยลำบากทั้งหมด ๔๑๖ ให้ตายเสียสิ้น  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/zNpYGp0/Untitledf-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “....ขณะเมื่อกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินบกมากลางป่านั้น  พวกเขมรป่าดงคุมกันเป็นพวกผู้ร้ายลอบมาแอบยิงกองทัพไทยที่ดินเลื่อยล้าป่วยไข้อยู่ข้างหลังในกลางป่านั้น  ตายมากประมาณ๒๐-๓๐ เศษ  นายทัพนายกองไทยนำความกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบเหตุการณ์นั้นแล้วโกรธนัก  จึงพูดว่า

          “ญวนมาเบียดเบียนบ้านเมืองเขมร  เขมรจึงขอกองทัพไทยมาปราบปรามญวน  ญวนก็พ่ายแพ้ไปบ้างแล้ว  บัดนี้เขมรกลับใจมาเป็นขบถทรยศทำร้ายฆ่าไทยอีกเล่าดังนี้  จะละไว้ให้เนิ่นช้ากว่าการศึกญวนจะสำเร็จนั้นไม่ได้  เขมรจะกำเริบมากขึ้นทุกวัน  จำจะต้องปราบปรามเขมรเหล่าร้ายให้เข็ดหลาบเสียก่อน  จึงจะเดินทัพต่อไปได้”

          พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งหลวงคลังกรมการเมืองปราจีนบุรี  ให้ขึ้นม้าเร็วไปสั่งทัพหน้ากองพระยาราชสงครามให้หยุดทัพแรมที่นี่ก่อน  กว่าจะจับเขมรเหล่าร้ายได้บ้างจึงจะไปได้  แล้วสั่งหลวงไกรนารายณ์ ๑   หลวงโจมจัตุรงค์ ๑   หลวงนรารณรงค์ ๑   หลวงจงใจยุทธ ๑   พระโยธาธิราช ๑   พระกำจรใจราช ๑   พระชาติสุเรนทร์ ๑   พระโยธาสงคราม ๑   ให้เป็นนายกองคุมไพร่พลแบ่งอกไปจากกองทัพใหญ่ให้ได้กองละ ๕๐ คน  ทั้ง ๘ กองให้แยกย้ายกันไปเที่ยวค้นตามเขมรเหล่าร้ายในป่าให้ได้มาบ้าง

          ครั้งนั้น  กองทัพทั้งแปดไปพบเขมรในป่าดง  ได้ตัวมาถามได้ความว่าพวกเหล่าร้ายที่ฆ่าไทยนั้น ตั้งบ้านอยู่ในดงใหญ่  กองทัพไทยให้เขมรที่ให้การนั้นนำทางไป  จับได้ทั้งครอบครัวเขมรเหล่าร้ายชายหญิงลูกวิ่งลูกจูงกวาดต้อนมาสิ้น  จนชั้นแต่หญิงมีครรภ์และคนแก่ชราก็ไล่มาด้วย  รวม ๑๒๖ คนทั้งแปดกอง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้พระพิทักษ์บดินทรเขมรเมืองพระตะบองถาม  ได้ความรับเป็นสัตย์ว่า

           “เดิมเห็นไทยมาตีญวนก็ยินดี  บัดนี้ไทยถอยทัพหนีญวนมา  กลัวญวนจะยกทัพใหญ่มาตามไทย  แล้วญวนก็จะว่าเขมรเข้ากับคนไทย  แล้วจะฆ่าพวกเขมรเสีย  เพราะฉะนั้นพวกเขมรจึงร่วมคิดกันจะจับไทยไว้ให้แก่ญวนสักเก้าคนสิบคน  พอเป็นทางที่จะแก้ตัวให้ญวนเห็นว่า  เขมรยังรักนับถือญวนอยู่  จึงได้จับคนไทยมาให้ญวน  แต่จะจับไทยไทยก็ต้องสู้แข็งแรงจึงได้ฆ่าเสียบ้าง  จับไทยไปได้แต่ ๘ คน  ป่วยตายเสีย ๔ คน  ยังเหลืออยู่ที่บ้านบึงอีก ๔ คน  ก็ส่งมาให้แก่นายทัพไทยทั้งแปดกองแล้ว”

(https://i.ibb.co/c37LtH6/Untitl85ed-14.jpg) (https://imgbb.com/)

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว  จึงให้พระยาอินทราธิราชเขมรเก่า  นำทัพไทยทั้งแปดกองไปตีปล้นบ้านบึงในดง  ซึ่งเขมรเรียกชื่อว่า  “ตระพังธมไพรสรอง”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  บ้านบึงหนองใหญ่ในป่าดง)  ทัพไทยทั้งแปดกอง  ระดมตีล้อมบ้านหมู่นั้น  ได้พวกครอบครัวเขมรเหล่าร้ายมาอีก ๖๔ คน  รวมเข้ากันเป็น ๑๙๐ คน  เจ้าพระยาบดิทรเดชาสั่งให้เลือกแต่เขมรชายฉกรรจ์ ๑๐๔ คน  แล้วปลูกร้านสูงสองศอกคืบ พาพวกเขมรชายฉกรรจ์ ๑๐๔ คนขึ้นบนร้านแล้ว  จึงจุดดินปืนใต้ร้านคลอกตายสิ้นทั้ง ๑๐๔ คน  แต่ชายแก่ชรากับหญิงและเด็กนั้นรวม ๘๖ คน  ให้ปล่อยไปสิ้น  หยุดตามจับเขมรอยู่สองวัน  ปราบปรามเสร็จแล้วก็เดินทัพต่อไป  หามีเหตุร้ายดังเช่นแต่ก่อนไม่  จนถึงเมืองเชิงกระชุม  พักพลอยู่ที่นั่นเป็นการแรมให้รี้พลรื่นเริงมีกำลัง  หาอาหารการกินตามสบายบ้าง

(https://i.ibb.co/CzqFC3n/431215-361543570537011-1689332006-n.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นพระยากำแพงเพชรพาตัวองกวางโดยเดินทัพมาถึงเมืองเชิงกระชุมแล้ว  จึงทราบว่าองกวางโดยทัพญวนนั้นหายป่วยแล้ว  ได้พาไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามว่า   “อายุเท่าไร?”   องกวางโดยบอกว่า   “อายุ ๖๘ ปี”    แล้วให้ล่ามถามต่อไปเป็นคำให้การ  องกวางโดยให้การว่า    “อายุ ๖๘ ปี  เป็นขุนนางฝ่ายบู๊  มีตำแหน่งยศเป็นนายทหารรักษาป้อมใหญ่หน้าศึก ได้เข้าเรียนหนังสือ เป็นขุนนางแต่อายุ ๑๘  อยู่ในเมืองหลวงมาช้านาน  ครั้งหนึ่งได้เป็นทูตที่สองไปจิ้มก้องกรุงปักกิ่ง  เว้นมาแปดปี  ได้เป็นราชทูตใหญ่ไปจิ้มก้องกรุงปักกิ่งอีก  แล้วนั้นมาก็ได้เคยไปจิ้มก้องกรุงปักกิ่งอีก ๔ ครั้ง  เป็นหกครั้ง  ครั้งที่หกได้ไปถวายบรรณาการพระทันตะธาตุพระเขี้ยวแก้วที่เมืองลังกาครั้งหนึ่ง  แล้วเมื่อฝรั่งเศสยกทัพเรือกำปั่นใหญ่มาขอพวกบาดหลวงต่อพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามหาให้ไม่  กองทัพเรือฝรั่งเศสยิงปืนถูกเรือรบและป้อมของญวนแตกเสียหายเป็นอันมาก  ครั้นภายหลังฝรั่งเศสยกมาอีก  พระเจ้าเวียดนามใช้ให้ไปรบกับฝรั่งเศส  จึงได้นำปืนขึ้นภูเขายิงไปถูกเรือรบกำปั่นฝรั่งเศส  จะเสียหรือไม่เสียก็ไม่ทราบ  แต่ทัพเรือฝรั่งเศสกลับไปหมด  เพราะฉะนั้นพระเจ้าเวียดนามจึงได้เลือนยศตำแหน่งขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่ชั้นที่สี่  ให้เป็นแม่ทัพไปรบเมืองต่าง ๆ  ถ้ามีการศึกสงครามที่กรุงเว้ครั้งใด  ก็เป็นหน้าที่พนักงานขององกวางโดยทุกครั้ง  ครั้งนี้จึงได้มาพร้อมกับองลำโดย  องลำโดยเป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์ของพระเจ้าเวียดนาม  ให้มาเป็นคู่คิดกับองกวางโดยด้วย”

           สิ้นคำให้การแต่เท่านี้  รูปพรรณขององกวางโดยนั้น  ขาวสะอาดอ้วนล่ำ  ต่ำเตี้ย  พุงพลุ้ย  สะดือจุ่น  ผมขาวทั่วทั้งศีรษะ  ไม่มีดำแซมเลยสักเส้นเดียว  หนวดหงอกขาวยาวประลงมาถึงสะดือ  ตาพอง ๆ คล้ายตาแขก  รูปพรรณล่ำสันสมเป็นขุนนางแม่ทัพใหญ่ฝ่ายบู๊  กิริยาแสดงว่าน้ำใจเป็นคนองอาจดังตงฉิน  
           เมื่อองกวางโดยแม่ทัพญวนเดินเข้าไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น  จะได้มีกิริยาสะทกสะท้านเกรงกลัวความตายก็หาไม่  เดินไปถึงที่หน้าทำเนียบนั้น  ล่ามบอกให้นั่งลง  ก็นั่งขัดสมาธิสองชั้นกระดิกเท้าอยู่เสมอ  ล่ามบอกว่าให้กราบไหว้เจ้าคุณแม่ทัพเสียก่อนจึงนั่งให้สบาย  องกวางโดยตอบว่า

            “เราก็เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน  เขาก็เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย  ตำแหน่งวาสนาเสมอกัน  จะกราบไหว้กันอย่างไรได้  พาเราไปฆ่าเสียก็ไม่ไหว้แล้ว”

           พูดเท่านั้นก็กระดิกเท้าอยู่เสมอ  ดูเหมือนน้ำใจไม่ไม่ย่อท้อกลัวเกรงเลย  แต่หน้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ไม่แลดู  จะเป็นเพราะความอายหรือความมานะถือตัวอย่างไรก็ไม่แจ้งในใจเขา  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบถ้อยคำองกวางโดยพูดดังนั้นแล้ว  จึงว่า

            “แม่ทัพญวนคนนี้กิริยาองอาจ  น้ำใจก็กล้าหาญ  สมควรจะเป็นชายนายทหารไว้ชื่อรักษาเกียรติยิ่งกว่ารักชีวิต  ไม่คิดกลัวตาย  ชายอย่างนี้หายาก”

           พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งให้ล่ามบอกองกวางโดยว่า  เราไม่ฆ่า  จะเลี้ยงให้เป็นขุนนางนายทหารต่อไป  องกวางโดยตอบว่า

            “ไม่สมัครอยู่เป็นข้าไทย  อยากแต่จะกลับไปบ้านเมืองซึ่งเป็นชาติภูมิเดิมอย่างเดียว  ถ้าไม่ให้กลับไปแล้วก็ให้ฆ่าเสียเถิด”

(https://i.ibb.co/B21JyNX/Untitled6-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้วก็หัวเราะชอบใจ  แล้วพูดสรรเสริญต่าง ๆ ต่อไป  จึงสั่งให้พระยารามกำแหงนำสิ่งขององกวางโดยมาคืนให้สิ้นทุกสิ่ง  แล้วสั่งให้พระยากำแพงเพชรพาตัวองกวางโดยไปจำตรวนไว้ก่อนจะส่งไปยังกรุงเทพฯ  ให้ทำนุบำรุงไว้ให้ดีอย่าให้ตาย  ด้วยเป็นคนสำคัญอยู่  เรายังจะทำศึกสงครามกับญวนต่อไปข้างหน้าอีกมาก

           เมื่อองกวางโดยจำตรวนอยู่ในค่ายนั้น  ผู้คุมจะจับจ่ายใช้การงานก็ไม่ทำเลย  ครั้นผู้คุมเร่งรัดตักเตือนให้ช่วยทำการงานบ้าง  กลับเอาไม้ตีศีรษะผู้คุมแตก  แล้วเอามือชี้ไปที่ดาบให้มาฟันคอฆ่าตัวเสีย  โดยน้ำใจกล้าสามารถไม่กลัวตาย  ผู้คุมก็ไม่อาจเฆี่ยนตีได้  เพราะเป็นสำคัญจะส่งไปยังกรุงเทพฯ  เมื่อเดินทัพมาจากโคกสะแกนั้น  หยุดช้างที่ไหน  ผู้คุมจะต้องให้องกวางโดยเดินขึ้นลงหลังช้าง  องกวางโดยก็ไม่เดินทุก ๆ คราว  ผู้คุมต้องหามขึ้นส่งลงทุกครั้ง  ชั้นแต่จะหยุดช้างพักนอน  จะให้เดินไปถึงที่ชุมนุมก็ไม่เดิน  ต้องอุ้มต้องหามทุกครั้ง ๆ ไป  ครั้นนายทัพนายกองไทยให้ล่ามมาว่ากล่าวบอกให้เดินขึ้นลงจากหลังช้างบ้าง  กลับตอบกับล่ามว่าให้เอาดาบมาฆ่าเสียก็ไม่เดิน  ไทยอยากพาเราไปก็ให้อุ้มหามเราไปเถิด  เมื่อไทยไม่อยากอุ้มหามเราแล้ว  ก็ให้ฆ่าเสียเถิด  ดีกว่าอุ้มหามไปอีกเล่า  องกวางโดยพูดดังนี้เสมอทุกคราวปลงช้าง  เป็นคนใจอย่างยอดทหารหาผู้เสมอมิได้  ผู้คุมไทยกลัวอำนาจใหญ่ก็ต้องอุ้มหามไปจนถึงเมืองเชิงกระชุม จนจำตรวนเสียเมื่อไรจึงไม่ให้อุ้มหามมัน  เมื่อจำตรวนอยู่ในค่ายนั้นก็เหมือนอย่างเจ้านาย  เพราะจะใช้อะไรก็ไม่ได้ทุกอย่าง........”

           * องกวางโดย “แม่ทัพเดนตาย” คนนี้นอกจากกระดูกเหล็กแล้วยังใจเพชรอีกด้วย  ทระนงองอาจ  กล้าหาญ  ไม่กลัวตายเลยแม้แต่น้อย  ลักษณะนิสัยอย่างนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชานิยมชมชอบมาก  ยังไม่รู้ว่าผู้คุมจะทนทานนิสัยกระด้างดื้อของเขาไปนานแค่ไหน  ตอนนี้กองทัพไทยไม่มีทัพญวนตามตีติด ๆ มาเหมือนก่อนแล้ว  เขมรเหล่าร้ายที่ถูกเจ้าพระยาสิงห์เผาทั้งเป็นเสียร้อยกว่าศพ  ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีก๊กอื่นก่อการอีก  ทัพไทยจึงเดินทางในดินแดนเขมรอย่างสะดวกสบาย  จากเมืองเชิงกระชุมแล้ว  ทัพไทยจะไปไหน  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มิถุนายน, 2563, 10:19:13 PM
(https://i.ibb.co/Ld0S9qq/Untitdfrled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๘๙ -

พวกเขมรก่อกบฏกันยกใหญ่
เมื่อเห็นไทยหนีเตลิดญวนเปิดเผย
ไม่ยอมอยู่ร่วมทางอย่างคุ้นเคย
แถมยังเย้ยไทยแย่พ่ายแพ้ญวน

แม่ทัพไทยวางหมากถลักเขมร
พนมเปญรื้อร้างถางทุกส่วน
กวาดต้อนครัวไพร่เจ้าเข้าขบวน
มาเป็นพรวนมุ่งสู่พระตะบอง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย    เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  ขณะที่ทัพไทยเดินทางไปเมืองเชิงกระชุมนั้น  มีเขมรเหล่าร้ายแอบยิงและจับพลไทยที่ป่วยเดินล้าหลัง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งหยุดทัพ  ตั้งกองปราบปรามเขมรเหล่าร้าย  จับมาได้แล้วสั่งลงโทษเฉพาะที่เป็นชายฉกรรจ์ร้อยคนเศษ  โดยการปลูกร้านสูงแล้วเอานักโทษขึ้นไว้บนร้าน  เอาดินปืนกองไว้ใต้ร้านแล้วจุดไฟครอกเหล่าร้ายเสียสิ้น  แล้วเดินทัพถึงเมืองเชิงกระชุมอย่างสะดวกสบาย  พระยากำแพงเพชรนำตัวองกวางโดยแม่ทัพญวน  ซึ่งหายจากการเจ็บป่วยแล้วเข้ามอบให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสอบสวนได้ความเป็นที่พอใจแล้วส่งให้จำตรวนไว้ในค่าย  และให้ดูแลจงดี  อย่าให้ตายเสียก่อนนำเข้าถึงกรุงเทพฯ  วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ......

(https://i.ibb.co/8mk4JKh/Untitlertd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาหยุดพักบำรุงรี้พลช้างม้าอยู่ที่เมืองเชิงกระชุมนั้น  ได้ทราบข่าวว่าเขมรคุมกันเป็นกบฏขึ้นทุกบ้านทุกเมือง  เพราะเดิมเขมรเอาใจออกจากญวนมาพึ่งไทย  เขมรหมายใจว่าไทยจะช่วยปราบปรามญวนให้สิ้นการเบียดเบียนข่มขี่เขมร  เพราะฉะนั้นเขมรจึงได้เข้าในกองทัพไทยไปช่วยรบญวนโดยสามารถ  บัดนี้ไทยก็ล่าทัพถอยหนีญวนมายังเมืองเขมร  พวกเขมรเห็นพร้อมกันว่า  ไทยสู้ญวนไม่ได้เป็นแน่  เขมรจึงกลัวญวนจะยกกองทัพมาตีทัพไทยให้แตกไปจากเมืองเขมรแล้ว  ญวนก็จะได้มาครอบงำทำอำนาจให้เมืองเขมรอยู่ในใต้บังคับญวนอีก  พวกเขมรก็จะต้องเป็นข้าญวน  ญวนก็ตั้งข่มขี่เขมรยิ่งกว่าก่อน  เหตุดังนี้เขมรจึงได้คิดการเป็นกบฏขึ้นพร้อมกัน  เข้าล้อมจับนายทัพนายกองไทยที่ตั้งรักษาเมืองต่าง ๆ หลายเมืองนั้น  ฆ่าทั้งนายและไพร่ตายมาก

(https://i.ibb.co/rxPzJrH/U258ntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายนายทัพนายกองไทยที่อยู่ตามหัวเมืองเขมรต่าง ๆ นั้น  ที่รู้ตัวก็จัดการต่อสู้กับเขมรเป็นสามารถ  จึงเกิดการฆ่าฟันกันขึ้น  หลายเมืองเหล่านั้นก็แต่งหนังสือบอกมาแจ้งข้อราชการต่าง ๆ ตามที่เขมรกลับใจทำแก่ไทยดังที่กล่าวมานั้นให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบ   เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบแล้ว จึงแต่งหนังสือฉบับหนึ่งให้พระพิทักษ์พลขันธ์  ผู้ช่วยราชการเมืองตากกับหลวงเสนีพิทักษ์ข้าหลวง  ถือหนังสือบอกและคุมไพร่พล ๕๐ คนไปถึงเมืองพนมเปญ  แจ้งราชการแก่นักองอิ่ม  นักองด้วงเขมร  และพระยามหาอำมาตย์  พระยาราชสุระโยธา  พระพรหมบริรักษ์  หลวงราชเสนาข้าหลวงทั้งสี่นาย  กับพระยาอภัยภูเบศร์เขมรข้าหลวงดัวยนายหนึ่ง  เป็นข้าหลวง ๕ นายอยู่กำกับนักองด้วง  นักองอิ่ม  ที่เมืองพนมเปญนั้นใจความว่า

           “บัดนี้หัวเมืองเขมรเกิดการจลาจลเป็นกบฏขึ้นหลายบ้านหลายเมืองดังนั้น  เห็นว่าไทยจะรักษาเมืองเขมรในคราวนี้ยากนัก  จำจะต้องคิดการปีต่อภายหน้าไปจึงจะรักษาเมืองเขมรได้  บัดนี้ให้พระยา  พระ  หลวง  นายทัพ  นายกอง  ข้าหลวงที่เมืองพนมเปญนั้น  จัดไพร่พลรื้อกำแพงเมืองพนมเปญลงน้ำเสียให้สิ้นเชิง  แล้วให้ทำลายล้างเมืองพนมเปญให้เป็นดังป่าช้า  อย่าให้พวกเขมรกบฏอาศัยเป็นกำลังต่อไปได้  กับให้กวาดต้อนครอบครัวเขมรและแขกจีนและคนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในเมืองพนมเปญนั้น  ให้อพยพครอบครัวเมืองพนมเปญมาไว้ยังเมืองพระตะบองเถิด”

(https://i.ibb.co/5vtC4Z7/Unt89itled-90.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นข้าหลวงแจ้งหนังสือคำสั่งดังนั้นแล้ว  จึงเกณฑ์คนให้รื้อกำแพงเมืองพนมเปญทลายลงน้ำเสียสิ้น  ป้อมค่ายหอรบก็ทำลายล้างเสียหมด  ปืนใหญ่ที่พาไปไม่ได้นั้น  ก็นำตาปูอุดชนวนกลิ้งทิ้งลงน้ำเสียทั้งสิ้น  แต่ข้าวปลาอาหารในเมืองนอกเมืองก็นำโคต่างช้างบรรทุกไปมาก  เป็นโคต่างที่ได้มาแต่ญวนนั้น  ๒,๐๐๐ โค  แต่อย่างนั้นข้าวในยุ้งฉางราษฎรยังหาหมดไม่  จึงได้นำไฟเผายุ้งฉางข้าวราษฎรเสียทั้งสิ้น  แล้วกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเขมรและแขกจามกับจีนชาติต่าง ๆ  จนชั้นแต่พระสงฆ์สามเณรก็กวาดต้อนเทเมืองมาถึงค่ายกะพงหลวง  พักอยู่ที่ค่ายกะพงหลวง ๖ คืน   เพราะครัวป่วยไข้เมื่อยล้า

(https://i.ibb.co/ysQFxmb/Unetitledd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งเมื่ออพยพครัวเมืองพนมเปญมานั้น  พระยาอภัยภูเบศร์เขมรข้าหลวงได้เห็นช้างพลายสีประหลาดเชือกหนึ่งอยู่ในเมืองพนมเปญ  ซึ่งราษฎรเขมรไปคล้องมาได้แต่ป่านำมาไว้ในเมืองห้าเดือนแล้ว  ได้ฝึกเชื่องราบใช้การงานได้บ้าง  ช้างนั้นสีตัวแลขนหางขนทั่วสรรพางค์เหมือนสีหม้อทองแดง  จักษุขาวเจือเหลืองอ่อน  เป็นช้างตระกูลสีประหลาด  พระยาอภัยภูเบศร์เขมรจึงให้พระสุริยโยธาเขมรกับหลวงฤทธามาตย์  ข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ  คุมไพร่พลไทย ๓๐ คน  นำช้างสีประหลาดมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาดูที่เมืองเชิงกระชุม

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา เห็นว่าเป็นช้างสีประหลาดต้องอย่างงามดีนัก  จะพักไว้ที่เมืองเขมรไม่ได้  กลัวเขมรจะลักพาไปให้ญวนเสีย  จึงแต่งหนังสือบอกฉบับหนึ่ง  แล้วสั่งหลวงจัตุรงค์โยธีข้าหลวงในพระราชวังหลวงกับหลวงฤทธามาตย์  หลวงรักษาเสนา ๒ นาย  เป็นข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ ๒  หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์เมืองสระบุรี ๑   หลวงนาเมืองนครนายก ๑   พระสุริโยธาเขมร ๑   พระพิทักษ์บดินทรเขมร ๑   เป็นนายทัพคุมไพร่พลไทย ๑๐๐ คน  นำช้างสีประหลาดเดินบกลงไปทางเมืองนครนายก  แล้วให้ตัดทางไปลงเมืองสระบุรี  ให้พักช้างนี้ที่ตำบลบ่อโพงแขวงกรุงเก่า   ครั้งนั้นไม่ไว้ใจแก่ราชการกลัวจะเป็นเหตุกลางทาง  เพราะเขมรกำลังกำเริบจะกลับใจไปพึ่งญวน  กลัวเขมรจะแต่งกองทัพมาแย่งชิงพาช้างไปให้ญวน  จึงสั่งให้พระยาไชวิชิตสิทธิศาสตราผู้รักษากรุงเก่า  คุมไพร่พล ๑๕๐ ลงไปตามช่วยรักษาช้างสำคัญไปให้ถึงกรุงเทพฯ อีกกองหนึ่ง   ข้าหลวงนำช้างมาถึงบ่อโพงแล้ว พระศรีสหเทพนำหนังสือบอกเรื่องช้างสีประหลาดขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  จึงโปรดเกล้าฯ ให้รับช้างสีประหลาดลงมากรุงเทพฯ  แล้วโปรดให้ตั้งพระราชพิธีพราหมณ์  มีมหรสพสมโภชสามวันแล้วขึ้นระวางพระราชทานนามกรว่า   “พระยาทองแดงพนมเปญ”   แล้วพระราชทานพานหมากทองคำคนโททองคำ  ออกไปให้พระยาอภัยภูเบศร์เขมรด้วย

(https://i.ibb.co/LY5NQJj/Untisdtled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายนายทัพนายกองไทยกวาดต้อนพาเขมรเมืองพนมเปญมาพักอยู่ที่ค่ายกะพงหลวงแล้ว ๖ วัน  ครั้งนั้นครัวเขมร  แขกจาม  และจีนร่วมคิดกันเป็นการกบฏกำเริบขึ้นทำจลาจล  ยกพวกเข้าต่อสู้กบกองทัพไทย  พวกครัวพร้อมใจกันแข็งแรง  จึงต่อสู้รบพาครอบครัวพวกพ้องของตนหนีกลับไปเมืองเขมรได้บ้าง  เพราะพวกครัวเขมรและแขกจามกับพวกจีนมีเครื่องอาวุธ  ทุกคนจึงต่อสู้แข็งแรงพาครัวหนีไปได้บ้าง

          ครั้งนั้นพระยามหาอำมาตย์ทัพป่วยมากจัดการไม่ได้  จึงให้พระยาราชสุริโยข้าหลวงในกองทัพนั้น  เป็นแม่ทัพใหญ่ได้บังคับการสิทธิ์ขาด  พระยาราชสุริโยไม่สู้ฉลาดรอบคอบในการศึกสงคราม  จึงมิได้ใช้นายทัพนายกองไปเก็บรวมอาวุธของสำหรับครอบครัวมาไว้  ปล่อยให้พวกครัวมีอาวุธติดตัวอยู่ครบมือทุกคน  พวกครัวจึงได้ต่อสู้โดยแข็งแรงหนีไปได้บ้าง  ขณะนั้นพระพรหมบริรักษ์จัดกองทัพไทยไปต่อสู้  ตีพาครัวเขมรและแขกจามกับจีนคืนมา ได้ ๑,๒๔๒ คน  แต่ครัวที่หนีไปได้นั้น ๒,๐๐๐ เศษ........”

          ** คนไทยมักกล่าวประณามคนเขมรว่า  “พวกลิ้นสองแฉก”  พูดจาอะไรเชื่อถือไม่ได้  หรือ  เป็นคนเชื่อถือไว้วางใจไม่ได้อะไรทำนองนั้น  ซึ่งความจริงก็หาได้เป็นจริงตามคำกล่าวประณามนั้นไม่  แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์  เขมรกับไทยเป็นเหมือน  “ขมิ้นกับปูน”  เสมอมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงเทพมหานคร  ไทยได้ช่วยเหลือเจอจุนพระราชวงศ์เขมรมาตลอด  แล้วเขมรก็แปรภักดิ์(หรือแปรพักตร์) มาตลอด  มิใช่ชนชั้นราชวงศ์เท่านั้น  แม้ชนชั้นราษฎรก็เป็นเช่นกัน  ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์บำรุงพระราชวงศ์เขมร  สถาปนานักองจันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา  แต่แล้วพระองค์กลับแปรไปอยู่กับญวน  เมื่อญวนเข้ามามีบทบาทปกรองกดขี่ข่มเหงชาวเขมร  พวกเขมรก็ขอให้ไทยช่วยปราบปรามญวน  และเข้าอยู่กับฝ่ายไทย  ครั้นเห็นทัพไทยถอยหนีญวนมา  พวกเขมรกลับตีจากไทยจะไปอยู่กับญวนอีก  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะจัดการกับเขมรอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสิอไท เมืองสุโขทัย
๒๒ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, มิถุนายน, 2563, 10:06:57 PM
(https://i.ibb.co/ZVLfWT4/Untifeetled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๐ -

ครัวเขมรจามจีนลุกดิ้นหนี
ทุกคนมีมีดพร้ามาปกป้อง
จึ่งพาตนพ้นค่ายไปเป็นกอง
เคราะห์ซ้ำสองโจรเขมรเข่นฆ่าไทย

ตั้งกองซุ่มจับได้ใช้ความโหด
บทลงโทษป่าเถื่อนเชือดเฉือนใหญ่
ตัดมือแขนจมูกปากหูถากไป
แล้วปล่อยให้ทรมานประจานตน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาพักทัพอยู่ที่เมืองเชิงกระชุมนั้นทราบว่า  พวกเขมรเกิดกบฏก่อการจลาจลขึ้นเป็นหลายเมือง  จึงมีหนังสือสั่งการให้รื้อกำแพงเมืองแล้วเผาล้างเมืองพนมเปญ  กวาดต้อนครอบครัวเขมร  แขกจาม  จีน  และชาวต่างชาติทั้งหมดจากพนมเปญ ไปไว้เมืองพระตะบองเสียให้สิ้น  พระยาอภัยบูเบศร์ไปกวาดต้อนครัวเขมรเมืองพนมเปญ  พบเห็นช้างพลายสีประหลาดที่ราษฎรจับมาจากป่า  จึงนำส่งให้เจ้าพระยาบดิทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชารีบให้นำส่งลงกรุงเทพฯ ทันที  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า  “พระยาทองแดงพนมเปญ”  แล้วพระราชทานพานหมากทองคำ  คนโททองคำ  ออกไปให้พระยาอภัยภูเบศร์เขมรด้วย  และขณะที่ครัวเขมร  แขกจาม  และจีนที่ถูกกวาดต้อนมาพักอยู่ค่ายกะพงหลวงได้หกวันนั้น  เกิดกบฏก่อการจลาจลขึ้นพากันหนีไป  พระพรหมบริรักษ์ยกกองตามกวาดต้นกลับมาได้ส่วนน้อย  หนีไปได้เป็นส่วนมาก  เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะทำฉันใด  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ........

          ** “(เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีมากอยู่  จึงคุ้มชีวิตพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกอง  ที่คุมครัวเขมรมานั้นหาตายไม่  ถ้าหากว่าพวกครัวเขมร  แขกจาม  และจีนเมืองพนมเปญที่ไทยกวาดต้อนมาคราวนั้นเกือบ ๔,๐๐๐ คน  ถ้าคิดจะฆ่าพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองไทยที่คุมมานั้นเสียก่อนจึงหนีไป  เหมือนเช่นครัวเมืองนครราชสีมาที่เจ้าอนุเวียงจันทน์กวาดต้อนไปถึงท้องทุ่งสัมฤทธิ์นั้น  พวกครัวเมืองนครราชสีมาก็เกิดการลุกขึ้นฆ่านายทัพนายกองลาวที่คุมไปนั้นตายมาก  จึงหนีกลับมาเมืองนครราชสีมานั้นแล้ว  พระยามหาอำมาตย์  พระยาสุรโยธา  พระพรหมบริรักษ์  หลวงราชเสนา  นักองอิ่ม  นักองด้วง  พระยาอภัยภูเบศร์เขมร  และพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองไทยเหล่านั้นก็คงจะตายหมด  แต่หาตายไม่นั้นเพราะบารมีเผอิญดลใจให้พวกครัวเมืองพนมเปญคิดแต่จะหนีอย่างเดียวเท่านั้น  จึงได้เห็นความอัศจรรย์ประจักษ์พระบารมีอภินิหารเป็นการพิสดารโดยเที่ยงแล้ว)

(https://i.ibb.co/41m1jvD/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นนายทัพนายกองไทยที่ตามครัวกลับคืนมาได้  ให้เดินครัวมาถึงเมืองโปริสาดแล้ว  จึงแต่งหนังสือบอกที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นกลางทางให้หลวงภักดีชุมพลถือไปกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือตอบมาว่า

           “ได้ให้พระอรรคเนศร ๑   พระสุนทรภักดี ๑   หลวงนรารณรงค์ ๑   หลวงไกรนารายณ์ ๑   พระยกกระบัตรเมืองกำแพงเพชร ๑   พระมหาดไทยเมืองตาก ๑   เป็นข้าหลวงหกนาย  คุมไพร่พลไทยมีเครื่องศาสตราวุธครบมือกัน ๕๐๐ คน  คุมครัวเขมรและแขกจามกับจีนเขมร ๑,๒๔๒ เดินไปส่งยังกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/YPCds2r/Dtbezn3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นครัวถึงกรุงเทพฯ แล้วแต่ ณ เดือนเจ็ด  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครัวเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่บางกุ้ง  แขวงเมืองราชบุรี  โปรดให้ครัวจีนเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ แขวงเมืองนครไชยศรี  โปรดให้ครัวแขกจามเขมรไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่ในคลองบางกะปิ  แขวงกรุงเทพฯ (คือที่บ้านแขกครัวริมสระปทุมวันทุกวันนี้)  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระสุรัสวดีสักท้องมือชายฉกรรจ์พวกครัวเขมรและแขกจามและจีนเขมรทั้งหมดพวกนั้นว่า  “ไพร่หลวงรักษาเรือรบ”  (ครั้นนานมาภายหลังพวกบุตรหลานครัวทั้งสามพวกนั้น  ก็กลายเป็นไพร่หลวงกรมต่าง ๆ ไป  ที่ทำราชการก็ดีมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางก็มีบ้าง  แต่พวกจีนเขมรเมืองนครไชยศรีนั้น  บุตรหลานก็กลายเป็นจีนผูกปี้ไปหมด  แต่ยังพูดภาษาเขมรได้ต่อมา)

(https://i.ibb.co/yNKxMDy/Upload-The-Doctors-Su.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาราชสุรโยธา  พระพรหมบริรักษ์  พระยาอภัยภูเบศร์เขมร  หลวงราชเสนา  นายทัพนายกองซึ่งถอยทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาดครั้งนั้น  พวกเขมรบ้านเล็กบ้านน้อยคบคิดกันเป็นผู้ร้าย  ตั้งกองซ่องสุมพวกเป็นโจรกรรม  คอยด้อมมองแอบลอบฆ่ากองทัพไทยที่ไปเที่ยวหาอาหารกินตามป่าและทุ่งนาที่ใด ๆ  พวกเขมรเหล่าร้ายฆ่าไทยตายเนือง ๆ  พระยาราชสุรโยธาทราบการดังนั้นแล้ว  จึงแต่งกองทัพไทยไปซุ่มซ่อนคอยจับพวกเขมรซึ่งเคยมาทำร้ายฆ่าไทยนั้น  จับมาได้หลายตำบล  เป็นเขมร ๗๔ คน  สั่งให้ทหารตัดมือบ้าง  ตัดแขนบ้าง  ตัดหูทั้งสองข้างและเจาะนัยน์ตาเสียข้าง ๑ บ้าง  และตัดจมูก  ตัดปาก  เจาะแก้มบ้าง  ตัดลิ้นบ้าง  ผ่าปากบ้าง  เชือดเนื้อตามแขนขาแบ่งออกบ้าง  ปล่อยให้กลับไปบ้าน  แต่ทำดังนี้ครั้งหนึ่ง ๓๖ คน  ครั้งหนึ่ง ๖๒ คน  อีกครั้งหนึ่งจับได้มาร้อยเศษ  ให้ตัดแขนเสียข้างหนึ่งบ้าง  ตัดมือทั้งสองข้างบ้าง  ปล่อยไปบ้าน ๔๒ คน  เหลือนั้นเป็นคนลงมือฆ่าไทย  ให้ไสช้างแทงตายบ้าง  มัดมือถ่วงน้ำตายบ้าง  จับเขมรมาทำโทษดังนี้อยู่เดือนหนึ่ง  จนพวกเขมรเหล่าร้ายเข็ดหลาบ  ไม่อาจสามารถมาทำร้ายแก่ไทยในกองทัพ  ก็พากันไปขุดกลอยเผือกมันหากินในป่าได้ไกล ๆ  ไม่มีอันตราย  กองทัพไทยค่อยมีความสบายมาก

(https://i.ibb.co/8BgJD0R/Untitffled-40.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าที่เมืองโปริสาดเกิดการจลาจลขึ้น  คือพวกเขมรในแขวงจังหวัดเมืองโปริสาดตั้งสุมเป็นผู้ร้ายลอบมาฆ่ากองทัพไทยตายเนือง ๆ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งพระยาพิษณุโลกและพระยามหาธิราชเขมรเจ้าเมืองเชิงกระชุม  ให้กวาดต้อนครอบครัวตามไปเมืองโปริสาดให้สิ้นเชิง  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงถอยทัพกลับมาจากเมืองเชิงกระชุม  เดินทัพมาพักอยู่ที่เมืองโปริสาด

          ขณะนั้น  ฝ่ายพระยาราชสุรโยธา  พระพรหมบริรักษ์  หลวงราชเสนา  พระยาอภัยภูเบศร์  พร้อมด้วยกันมาแจ้งข้อราชการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฟังทุกประการ  พอรุ่งขึ้นอีกสี่วัน  พระยาพิษณุโลกแลพระยามหาธิราชเขมรเจ้าเมืองเชิงกระชุม  กวาดต้อนครอบครัวเขมรเมืองเชิงกระชุม ๒,๖๖๙ คนตามมาส่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว  พระยาเขมรทั้งสองกราบเรียนว่า

(https://i.ibb.co/mRgYRwL/Untitlesddd-6.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ช้างพลายสีประหลาดอันประเสริฐดุจดังช้างเผือก  เป็นช้างของนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชา  เลี้ยงไว้เป็นศรีบ้านศรีเมืองม้าช้านานแล้ว  แต่ก่อนนั้นเจ้านายขุนนางฝ่ายเขมรทูลเตือนนักองจันทร์ว่า  ให้นำช้างตัวประเสริฐนั้นให้ไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ  นักองจันทร์ก็ไม่ถวาย  เลี้ยงไว้ในเมืองพนมเปญ  ครั้นเมื่อนักองจันทร์จะหนีไทยไปเมืองญวนนั้น  เดิมนักองจันทร์คิดปรึกษาขุนนางว่า  จะนำช้างตัวประเสริฐนี้ไปด้วย  จะได้พาไปถวายพระเจ้าเวียดนาม  ทำเป็นของกำนัลแก่ญวน  ญวนคงจะชอบ  แล้วนักองจันทร์กลับใจคิดว่า  จะเป็นห่วงรุงรังนักลำบาก  กลัวจะหนีไทยไปไม่พ้น  เพราะฉะนั้นนักองจันทร์จึงสั่งให้หมอควาญนำช้างตัวประเสริฐนั้น  ไปปล่อยเสียในป่าหลังเมืองพนมเปญ  แล้วก็ยกหนีไปเมืองญวน

(https://i.ibb.co/VCZfwGg/Untitldssed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว  จึงเขียนหนังสือประกาศบนพวกเขมรให้ไปตามจบช้างนั้นมาให้ได้  แล้วจะให้เงินรางวัล ๕๐๐ แถบ  และเสื้อผ้าสิ่งของอีกมาก  ราคาสักสามชั่งเศษ  แล้วให้ตราภูมิคุ้มห้ามไม่ต้องถูกกะเกณฑ์ส่วยสาอากร  และไม่ต้องเกณฑ์เข้ากองทัพไปจนตาย  ปล่อยให้ไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม.......”

           ** บทลงโทษของแม่ทัพนายกองไทยนี่โหดร้ายทารุณมากเหลือเกินนะ  แต่ก็น่าเห็นใจทหารไทย  หากไม่ลงโทษเหล่าเขมรร้ายอย่างเหี้ยมโหดทารุณแล้ว  พวกเขาคงไม่กลัวเกรง  (เมืองโปริสาดที่กองทัพไทยพาครัวเขมรไปพักอยู่นั้น  คือ  เมืองโปริสาท  หรือ  เมืองโพธิสัตว์  เป็นหนึ่งในเมืองเขมรส่วนในซึ่งประกอบด้วย  พระตะบอง  เสียมราฐ (เสียมเรียบ)  ศรีโสภณ (บันเตียเมียนเจย)  โปริสาด  และ  อุดงมีไชย  อยู่ในปกครองของสยามมาจนถูกฝรั่งเศสเข้ามาถือครอง)  เมื่อเกิดการจลาจลขึ้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้กวาดครัวเขมรต้อนมาไว้เมืองโปริสาด  โดยท่านจะเป็นผู้ควบคุมดูแลเอง  เมื่อทราบว่ามีช้างเผือกนักองจันทร์สั่งให้ควาญช้างนำไปปล่อยไว้ในป่าท้ายเมืองพนมเปญ  ก่อนหนีไปเมืองญวน  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงประกาศให้สินบนตามจับช้างเผือกเชือกนี้  เรื่องราวกองทัพไทยในเขมรจะเป็นไปอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46443#msg46443)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46746#msg46746)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, มิถุนายน, 2563, 10:13:08 PM
(https://i.ibb.co/PDDH6Vt/Untitlsesd-1.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46588#msg46588)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg47656#msg47656)                   .

- อานามสยามยุทธ ๙๑ -

กองทัพบกยกไปเมืองไซ่ง่อน
ถูกญวนซ่อนซุ่มยิงอยู่หลายหน
กองเขมรในทัพนั้นหนึ่งพันคน
จลาจลจากไปได้เป็นร้อย

รู้แน่ชัดทัพใหญ่ไทยล่าหนี
ทัพบกมีเสี้ยนหนามยามล่าถอย
ที่ท่าข้ามโขงไม่เหลือคนเรือคอย
กองทัพน้อยใหญ่ไทยไร้เรือแพ


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  เกิดการกบฏก่อจลาจลในเขมรหลายหัวเมือง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ไทยจึงยกจากเมืองเชิงกระชุม  พร้อมกวาดต้อนครัวเขมรเมืองเชิงกระชุมมาตั้งชุมนุมอยู่ที่เมืองโปริสาด  เพื่อสะดวกในการปราบปรามและปกครองเขมรต่อไป  พระยาเขมรแจ้งให้แม่ทัพใหญ่ไทยทราบว่า  นักองค์จันทร์มีช้างเผือกตัวประเสริฐอยู่เชือกหนึ่ง  พวกขุนนางเขมรเคยทูลให้นำช้างเชือกนี้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ  แต่นักองจันทร์ไม่ยอมทำตามคำกราบทูลนั้น  ตอนที่หนีไทยไปญวนนั้น  ได้ให้หมอควาญช้างนำช้างดังกล่าวเข้าไปปล่อยในป่าท้ายเมืองพนมเปญ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงประกาศให้สินบนเขมรเที่ยวติดตามนำช้างเชือกนี้มาให้  เรื่องจะเป็นไปอย่างไร  วันนี้มาอ่านต่อครับ......

(https://i.ibb.co/D4Cbbm7/Untitl56ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          “ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพบก  พระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพกับพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองทั้งหลาย  ซึ่งยกทัพใหญ่ไปทางบก  เกือบจะถึงไซ่ง่อนอยู่แล้ว  เมื่อกองทัพใหญ่เดินไปกลางทางนั้น  เห็นกิริยาอาการพวกไพร่พลเขมรผิดประหลาดกว่าแต่ก่อนเมื่อแรกเดินทัพขึ้นมานั้น  บัดนี้นายทัพนายกองไทยจะบังคับบัญชาใช้สอยก็กระด้างกระเดื่องไม่เรียบร้อยราบคาบ  เขมรมันแกล้งเดินเลื่อยล้าช้า ๆ  ตามพวกมันทั้งพันคน  เจ้าพระยานครราชสีมาได้ทราบการดังนั้นแล้ว  จึงสั่งหลวงบุรินทรานุรักษ์ขึ้นม้ากลับสวนทางไปเร่งกองทัพพวกเขมรพันคน  ให้รีบเดินตามทัพใหญ่มาโดยเร็ว

          ครั้งนั้น  นายกองนายทัพใหญ่ฝ่ายเขมรแจ้งความว่า  พวกไพร่พลป่วยไข้ลำบากมาก  จึงได้เดินเลื่อยนล้าช้านัก  ครั้นจะเร่งรัดให้เดินเร็วก็กลัวไพร่พลจะล้มตายมาก  แต่จะเร่งให้เดินตามทัพใหญ่ให้ทัน

(https://i.ibb.co/zPLnkxy/Untitlced-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          คราวนั้น  พวกญวนชาวป่าดงก็ลอบแอบเข้ามานำปืนยิงกองทัพไทยที่เดินเลื่อยล้าช้าอยู่ข้างหลังตายเนือง ๆ  ครั้งนั้นพวกเขมรพันคนมีเครื่องศาสตราวุธ  ปืน  ดาบ  หอกประกั๊กกะแหววครบมือกันทุกคน  เพราะเป็นไพร่พลลูกกองทัพไทย  พวกเขมรกลับออกห่างจากไทย  คุมกันเป็นกบฏขึ้นพลอยซ้ำเติมฆ่าพวกกองทัพไทยตาย  ๗๔ คน  แล้วพวกเขมรเหล่าร้ายก็คุมกันยกหนีเข้าป่า ๒๘๔ คน  ไทยฆ่าตายเสียเมื่อเกิดรบกันหนีไปนั้นเขมรตาย ๑๒๖ คน  ที่เหลืออยู่ไม่สู้รบนั้น ๖๐๐ คนเศษ  เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้หลวงรองจ่าเมืองกับหลวงบุรินทรานุรักษ์  จับนายทัพนายกองเขมรที่เหลืออยู่มาชำระไล่เรียงก็ไม่บอกความจริงให้หลวงบุรินทรานุรักษ์  หลวงบุรินทรานุรักษ์สั่งให้นำคาสวมคอนายทัพนายกองเขมรแล้วเฆี่ยนสิบทีถาม  ถึงสองยกหกสิบที  ก็ยังไม่ได้ความจริงกระจ่างแจ่มแจ้งเป็นคำเดียวกัน  เห็นว่าพวกเขมรมันยังให้การแตกต่างคำกันอยู่  หาสมควรกับเหตุการณ์ไม่  จึงนำความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยานครราชสีมา  เจ้าพระยานครราชสีมามีบัญชาสั่งหลวงบุรินทรานุรักษ์ว่า     “ให้หาเหล็กแดงเผาไฟนาบเท้านาบมือนาบกาย  ถ้าไม่ให้การตามความจริงแล้วก็ให้นาบกระหม่อมให้ได้ความจริงจงได้”

(https://i.ibb.co/qBZgfM0/photo-1430155486637-809457a6db4a.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  หยุดทัพชำระเขมรอยู่วันหนึ่ง  ตระลาการนำเหล็กแดงนาบพวกเขมรที่ไม่บอกความจริงทนตายหลายคนก็มีบ้าง  ที่ทนไม่ได้ก็ให้การบอกความจริงต้องคำเดียวกันก็มาก  ได้ความว่า

           “พวกญวนในป่าดงที่พูดภาษาเขมรได้บอกความจริงว่ากองทัพบกทัพเรือฝ่ายไทย  ซึ่งยกมาข้างหลังนั้นแตกหนีล่าถอยไปหมดแล้ว  และมีทัพเรือใหญ่ฝ่ายไทยมาตีได้เมืองโจดก  แล้วญวนก็ตีเมืองโจดกคืนได้  ฝ่ายญวนยกทัพบกทัพเรือเป็นกองทัพใหญ่ไปตามตีทัพไทยแตกไปทั้งทัพบกทัพเรือ  แล้วบัดนี้ญวนแต่งหารกองทัพใหญ่  ยกโอบขึ้นมาตั้งสกัดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางท่าข้ามเมืองบาพนม  ญวนคอยจะตีกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาฆ่าเสียให้สิ้น  กับญวนแต่ทัพใหญ่ไปตามตีทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาจนถึงเมืองเขมรกอง ๑   ยังทัพญวนจะเพิ่มเติมมาข้างหลัง  ตีทัพพระยามณเฑียรบาลอีกทางหนึ่งข้างฝ่ายเหนือ  พวกเขมร ๑,๐๐๐ คนในกองทัพไทยได้รู้ความดังนี้มาจากญวนชาวป่าดงแล้ว  พวกเขมรจึงได้คิดกลัวอำนาจกองทัพญวนจะมาตีไทยแล้วก็จะฆ่าเขมรเสียด้วย  เพราะฉะนั้นเขมรจึงคิดกลับใจออกห่างจากไทย  จะหนีไปหาญวนเพื่อได้พ้นภัย  แต่เขมรผู้ต้นคิดหัวหน้านั้นชื่อพระนรินทรสุรสงคราม  พระนรินทรสุรสงครามก็หนีไปกับเขมร ๒๘๔ คนแล้ว”

          สิ้นคำให้การเขมรเท่านี้  หลวงบุรินทรานุรักษ์  หลวงรองจ่าเมืองตุลาการ  นำคำให้การเขมร ขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพ  แม่ทัพจึงปรึกษาพระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพ  และพระยา  พระ  หลวง  ทัพนายกองทั้งหลายว่า

(https://i.ibb.co/BNMNVsH/Untitlsesd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อเราได้ทราบข่าวราชการทัพศึกญวนกับไทย  ตามคำให้การพวกเขมรดังนี้แล้ว  ก็เห็นจะจริงสมกับคำให้การพวกเขมรนั้นทุกประการ  เพราะด้วยเราได้ยกทัพมาก็ช้านานแล้ว  ไม่ได้ข่าวคราวทัพเรือทัพบกข้างหลังบ้างเลย  อีกประการหนึ่ง  เห็นกิริยาพวกเขมรลูกกองนายกอง  ผิดแปลกประหลาดตาขึ้นกว่าแต่ก่อนเมื่อแรกมานั้น  ก็พึงรู้เข้าใจได้เถิดว่า  เขมรคงจะรู้เหตุก่อนเรา  มันจึงคิดหนีเราไปหาที่พึ่งของมันบ้าง  เราจะขืนยกทัพไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  ถ้าสมจริงดังพวกเขมรว่าแล้ว  พวกเราจะมิเสียราชการหรือ?  คิดเห็นอยู่อย่างหนึ่ง  ควรจะต้องล่าถอยกลับไปฟังราชการที่แม่ทัพใหญ่ ณ ฝั่งแม่น้ำโขง  ก็พอจะรู้แยบคายได้  ซึ่งเราจะล่าทัพกลับไปครั้งนี้  พวกเขมรอยู่ในกองทัพเราก็มากถึง ๖๐๐ คนเศษ  เรายกกลับไปครั้งนี้  ถ้าพบทัพญวนมาตั้งสกัดหน้าอยู่ที่ใด ๆ  เราคงจะต้องต่อรบสู้กับญวนเป็นสามารถ  จึงจะพากองทัพไทยกลับไปบ้านเมืองเราได้  ถ้าเมื่อเรากำลังรบกับญวนอยู่นั้น  เขมรที่อยู่ในกองทัพเราจะกำเริบลุกขึ้นเป็นกบฏทำร้ายเราด้วยพร้อมกับญวน  พวกเราจะมิต้องเป็นทัพอยู่ระหว่างกลางทัพขนาบหรือ?  เราจะพาเขมรหกร้อยคนเศษนี้ไปในกองทัพเราด้วยครั้งนี้  จะเป็นที่ห่วงหน้าห่วงหลังเป็นกังวลนัก  ไหนเราจะต่อสู้กับญวนข้างหน้า  ไหนจะระวังเขมรข้างหลัง  อย่างนี้หาควรไม่  ข้าพเจ้าคิดว่าฆ่าพวกเขมรหกร้อยคนเศษนี้เสียให้หมดแล้วเราจะได้สิ้นห่วงใย  จะได้ตั้งหน้าสู้กับญวนฝ่ายเดียว  ทำดังนี้จะมิดีหรือ?”

          ขณะนั้นพระยาราชนิกูลข้าหลวงตอบว่า     “ซึ่งเจ้าคุณคิดนั้นก็ชอบด้วยทำนองศึกสงครามแล้ว  แต่กระผมเห็นว่าจะฆ่าพวกเขมรถึงหกร้อยเศษเกือบเจ็ดร้อยคน  กลัวมันจะไม่ยอมให้ไทยฆ่าพวกมันง่าย ๆ เหมือนเช่นฆ่านักโทษเก้าคนสิบคนนั้น  เพราะคนน้อยฆ่าง่าย  นี่พวกเขมรมากถึงหกร้อยเศษ  จะลงมือฆ่าคนนี้  คนโน้นก็จะต่อสู้กันต่อ ๆ ไป  กลัวจะเกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้นที่นี้บ้าง”

          เจ้าพระยานครราชสีมาตอบว่า     “ท่านคิดนั้นก็ชอบแล้ว  แต่ผมคิดจะนำดินปืนคลอกพวกเขมรหกร้อยเศษเสียครู่หนึ่งก็จะตายหมด  แต่ว่าเมื่อจะคลอกมัน  อย่าให้มันรู้ตัวก่อนเลย  เป็นต้องตายทั้งสิ้น  เมื่อท่านกลัวบาปเกรงกรรมไม่อยากจะฆ่าพวกเขมรนั้นก็แล้วไป  ตามใจท่านเถิด  ตกเป็นพนักงานผมจะฆ่ามันเอง  ให้ตายหมดไม่ต้องให้วุ่นวายรบกวนท่านผู้ใด  จะให้หลวงรองจ่าเมืองให้ขุดดินเป็นรางวงใหญ่  แล้วน้ำดินดำไว้ในนั้น  พอเวลาค่ำให้ไล่ต้อนพวกเขมรหกร้อยเศษพาไปพักนอนในที่นั้น  แล้วก็นำไฟจุดชนวนดินดำให้ลุกขึ้นคลอกพวกเขมรเสียให้ตายหมด  แต่เมื่อทำนั้นอย่าให้ใครรู้เห็นเลย  จะแพร่งพรายต่อไปถึงพวกเขมร  เขมรรู้จะเสียการ”

          ในทันใดนั้นพระยาราชนิกูลได้ฟังคำสั่งเจ้าพระยานครราชสีมาให้ฆ่าพวกเขมรเสียทั้งหมดดังนั้น  จึงคิดว่า

           “พวกเขมรหกร้อยคนเศษนี้  ไม่ใช่พวกข้าศึกเลย  เป็นข้าแผ่นดินไทยแท้ ๆ  จะฆ่าเสียนั้นหาควรไม่  จะคิดอุบายพามันไปส่งไว้บ้านเมืองไทยให้ทำนาก็จะได้ขาวปีหนึ่งคนละเกวียน  ก็จะได้ข้าวถึง ๖๐๐ เกวียนเศษ  เพราะเขมรพวกนี้แต่ล้วนเป็นคนฉกรรจ์ทั้งสิ้น  จะฆ่าเสียทั้งนั้นหาความผิดมิได้  ก็น่าสังเวชสงสารชีวิตมนุษย์เหมือนกัน”

          เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงพูดโต้ตอบเจ้าพระยานครราชสีมาต่อไปอีกว่า

           “กระผมคิดว่าเขมรพวกที่มันฆ่าไทยแล้วหนีไป ๒๐๐ เศษนั้น  เป็นศัตรูแก่ไทยแน่  ถ้าตามจับมาได้ควรฆ่าเสียให้หมด  แต่เขมร ๖๐๐ เศษพวกนี้ถึงเป็นพวกเดียวกันกับเขมรพวกที่หนีไปนั้นก็จริงอยู่  แต่ว่าเขมร ๖๐๐ เศษนี้ไม่ได้ประทุษร้ายฆ่าไทยเลย  หาควรฆ่ามันไม่  มันไม่ใช่ศัตรูข้าศึกอะไรแก่ไทย  มันเป็นข้าแผ่นดินไทยแท้ ๆ  ขอรับประทานชีวิตเขมรพวก ๖๐๐ เศษไว้ใช้ราชการบ้านเมืองของไทยต่อไปเถิด  แต่ข้อที่พวกเขมร ๖๐๐ เศษจะกลับมาเป็นศัตรูแก่ไทยนั้น  กระผมจะขอรับประกันได้เป็นแน่  แต่จะขอให้เก็บเครื่องศาสตราวุธสำหรับมือเขมรพวกนี้เสียให้หมด  คงเหลือไว้แต่มือเปล่า  แล้วก็จะแยกออกเป็นกองละ ๕๐ คน  แยกย้ายให้ไปเลี้ยงช้างม้าโคต่าง  หรือหาบคอนขนเสบียงอาหารในกองทัพไทย  แต่ให้ไทยเป็นนายหมวดนายหมู่  คุมเขมรทุกกอง  กองละ ๑๐ คนทุกกองไป  กว่าถึงทางเรือจะได้ลงบรรทุกเรือส่งไปกรุงเทพฯ  ใช้ราชการบำรุงพระนครเห็นจะดีกว่าฆ่ามันเสีย  การที่ผมคิดทั้งนี้  เป็นการคิดเรียนหารือท่านเจ้าคุณก่อน  เพราะเจ้าคุณเป็นแม่ทัพใหญ่  ตามแต่เจ้าคุณจะเห็นชอบทางไหน  ก็แล้วแต่เจ้าคุณเถิด”

          เจ้าพระยานครราชสีมาฟังคำพระยาราชนิกูลพูดโต้ตอบมาดังนั้นแล้ว  จึงขัดเคือง  แต่ไม่รู้ที่จะว่าประการใด  เพราะพระยาราชนิกูลเป็นข้าหลวงกำกับทัพ  พูดจาโต้ทานก็ถูกต้องตามทางราชการอยู่ด้วย  แต่ขัดเคืองที่ข้อจะฆ่าเขมรไม่ให้ฆ่านี้เป็นเหตุใหญ่นัก  จึงพูดตอบไปว่า

           “ท่านไม่อยากจะให้ฆ่าเขมรแล้ว  ท่านจะรับประกันเขมรไม่ให้เป็นศัตรูต่อไปนั้นเป็นการดีแล้ว  แต่ขอหนังสือประทับตรามาว่า  ได้รับประกันเขมรไว้ไม่ให้เป็นศัตรูต่อไปจนถึงเมืองพระตะบองด้วย  จึงจะยอมตามที่ขอ”

(https://i.ibb.co/z6m1HWc/Unretitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาราชนิกูลก็ทำหนังสือประทับตราส่งไปให้ฉบับหนึ่ง  เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูล  ทั้งสองคุมทัพไทยและเขมรเดินทัพกลับมาถึงฝั่งแม่น้ำโขง  ที่ท่าขึ้นไปนั้นไม่เห็นเรือ ๕๐ ลำและคนเฝ้าเรือ ๑๒๐ คนที่จอดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำโขง  ท่าขึ้นเมื่อแรกมานั้นได้บรรทุกช้างม้าโคต่างและไพร่พลข้ามแม่น้ำโขงมาจอดอยู่ที่นั้น  หายไปทั้งเรือทั้งคนหมดสิ้น  ก็เข้าใจรู้เป็นแน่ว่า  ญวนมาเก็บเรือและคนไปทั้งสิ้น  แล้วพักคอยกองทัพหลังอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้ามนั้นครู่หนึ่ง..........”

          ** มิใช่แต่แม่ทัพใหญ่กับแม่ทัพเรือจะขัดแย้งกันเท่านั้น  ในกองทัพบกฝ่ายเหนือเองก็เกิดความขัดแย้งระหว่างแม่ทัพกับข้าหลวงผู้กำกับทัพ  ตอนนี้ล่าถอยมาถึงแม่น้ำโขงแล้ว  เรือข้ามฝากที่จัดรอไว้หายไปหมด  แล้วอะไรจะเกิดขึ้น  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มิถุนายน, 2563, 10:12:16 PM
(https://i.ibb.co/BB4JmGp/Unti96tled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๒ -

“พระยาพิไชยสงคราม”มากความรู้
เมื่อมองดูแม่น้ำกว้างเห็นทางแก้
ใช้ไม้ไผ่ผูกโยงมั่นไม่ผันแปร
ดีไม่แพ้แพเรือกเทือกสะพาน

กองทัพข้ามคนสัตว์สวัสดิภาพ
กองหนึ่งบาปกรรมพาน่าสงสาร
“พระยานครสวรรค์”นั้นลนลาน
พาทหารแดดิ้นสิ้นทั้งกอง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพบกยกไปจนใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว  กองทัพเขมรหนึ่งพันคนในกองทัพบกไทยเกิดกบฏก่อการจลาจลหนีไปได้สองร้อยคนเศษ  สอบสวนนายทัพนายกองได้ความว่า  เขมรทราบจากญวนป่าดงว่ากองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาล่าถอยหนีญวนไปเขมร  กำลังถูกญวนยกทัพตามตี  กองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังก็ล่าถอยหนีญวนกลับไปอยู่เมืองจันทบุรีแล้ว  ญวนกำลังยกมาตีทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและทัพพระยามณเฑียรบาล  เขมรกลัวญวนตีทัพไทยแตกแล้วจะฆ่าเขมรเสียด้วย  จึงคิดออกหากจากไทยไปอยู่กับญวน  เมื่อทราบความดังนั้น  เจ้าพระนครราชสีมาจึงตกลงใจล่าทัพถอยไปตั้งอยู่แถบริมฝั่งแม่น้ำโขง  รอฟังคำสั่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ต่อไป  แต่เป็นกังวลพวกเขมรในกองทัพที่ยังเหลืออยู่ ๖๐๐ คนเศษ  จึงคิดจะฆ่าทิ้งด้วยการใช้ดินดำคลอกเสียให้ตายสิ้น  แต่พระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพคัดค้านและออกใบค้ำประกันให้ไว้  แล้วพากันยกทัพถอยล่ามาจนถึงริมแม่น้ำโขงที่ท่าข้ามเมืองบาพนม  พบว่าเรือและคนสำหรับขนกองทัพข้ามฟากที่จัดให้รออยู่นั้น  หายไปสิ้นแล้ว  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.......

           “ .....จึงมาถึงพร้อมกัน ณ เวลาเช้าโมงหนึ่ง  เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูล  จึงพูดกับพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองทั้งหลายว่า

           “เราจะทำอย่างไร  จึงจะพารี้พลช้างม้าโคต่างข้ามแม่น้ำโขงได้เล่า  ครั้นจะลุยไปก็ไม่ได้ด้วยตรงนี้น้ำลึกมาก”

          ขณะนั้นพระยาพิไชยสงคราม (ชื่อเพชร)  เป็นผู้ฉลาดในการช่างต่าง ๆ และเป็นนายทัพปีกหนึ่ง  มาในกองทัพใหญ่นั้นด้วย  จึงพูดตอบว่า

           “เรือก็หายหมดจะลุยน้ำข้าม น้ำก็ลึกนัก  ควรจะช่วยกันตัดไม่ไผ่ป่ามาทำแพเรือกข้ามแม่น้ำโขงก็จะได้เป็นแน่”

(https://i.ibb.co/7tKhtbH/26239862-1568755889881775-751026141249110946-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          นายทัพนายกองทั้งหลายก็เห็นชอบพร้อมกัน  เจ้าพระยานครราชสีมาจึงมีบัญชาสั่งพระยาพิไชยสงครามให้คุมไพร่เขมร ๖๐๐ คนเศษ  มีไทยเป็นนายคุมไปตัดไม้ไผ่  ให้ช่วยกันลากขนมาทำเป็นแพผูกติด ๆ ดังแพลูกบวบเป็นพืดยาวพอจะขวางเต็มลำแม่น้ำโขง  ลำแม่น้ำโขงกว้างกว่าลำแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ หลายเท่า  แล้วตีแตะไม้ไผ่เป็นเรือกดาดหลังแพลูกบวบทุก ๆ แพ  แล้วตัดหวายและไม่ไผ่สดอ่อน ๆ มาตีเป็นเกลียวเหมือนเชือก  ทำเป็นสายสมอผูกขอนไม้แก่สด ๆ ที่หนัก  ทำเป็นดังโยทะกาติดกับสายสมอ  แล้วก็ทอดลงไปในแม่น้ำโขง  แล้วนำแพลูกบวบที่มีเรือกอยู่บนหลังแพนั้นมาผูกเป็นทุ่นติดต่อกันเป็นระยะยาวเรียงเนื่องกันขวางแม่น้ำโขง  จนถึงฝั่งท่าเมืองบาพนมข้างโน้น (เหมือนตะพานเรือกที่พม่าทำข้ามข้ามแม่น้ำปากแพรก)  พระยาพิไชยสงครามทำแพตะพานเรือกข้ามแม่น้ำโขงเสร็จแล้วในสองวันสองคืน  เจ้าพระยานครราชสีมามีความยินดีนัก  ถอดสายสร้อยทองคำในบั้นเอวหนักสี่ตำลึงสองสลึงเฟื้อง  มีกะตุดสามดอก  ให้แก่พระยาพิไชยสงครามผู้ต้นคิดทำแพ  และเป็นแม่งานทำแพแล้วเสร็จด้วย  แล้วสั่งให้นายทัพนายกองยกรี้พลช้างม้าโคต่างดำเนินทัพ  เดินตามแพตะพานเรือกข้ามแม่น้ำโขงมาได้สิ้นทุกทัพทุกกอง  ถึงฝั่งฟากเมืองบาพนมพร้อมกันแล้ว  สั่งให้พลทหารช่วยกันระดมรื้อแพเรือก ทำลายรื้อแย่งให้แตกกระจายเสียสิ้น  หวังไม่ให้เป็นทางญวนข้ามน้ำมาตามได้

(https://i.ibb.co/djQcDNV/Untit98led-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะเมื่อพระยาพิไชยสงครามคุมพวกเขมร ๖๐๐ เศษไปตัดไม้ไผ่ทำแพข้าแม่น้ำโขงนั้น  ไทยนายได้จ่ายขวานและพร้ามีดให้พวกเขมร  พวกเขมรจึงมีกิริยาหลอกแหลกทำท่วงทีเหมือนจะเป็นกบฏขึ้น  พระยาพิไชยสงครามเห็นดังนั้น  จึงแต่งให้ไทยถือปืนไปกำกับให้เขมรตัดไม้ไผ่จนเสร็จการ  เมื่อข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วนั้น  พระยาพิไชยสงครามนำความขึ้นเรียนเจ้าพระยานครราชสีมา  เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้พระยาราชนิกูลจับเขมรตัวนายทัพนายกองทั้งสิ้นมาชำระได้ความว่า

           “เมื่อมีเครื่องมือขวานมีดพร้าไปตัดไม้ไผ่นั้น  หมายใจว่ามีช่องจะทำร้ายแก่ไทย  แล้วก็จะพากันหนีไปสิ้นทั้งหกร้อยคนเศษ”

(https://i.ibb.co/zmB4vwG/Untifhtled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยานครราชสีมาจึงสั่งหลวงรองจ่าเมืองให้พาเขมรนายทัพนายกอง ๓๖ คน  ไปตัดศีรษะเสียบไว้ที่ท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขงในวันที่ข้ามทัพไปนั้น  แต่ไพร่พลเขมร ๖๐๐ เศษมอบให้พระยาราชนิกูลผู้ประกันคุมต่อไป  พระยาราชนิกูลแบ่งเขมรให้เป็นหมู่เป็นกอง  กองละ ๕๐ คน  มีไทยเป็นนายคุมกองละ ๒๐-๓๐ ถือปืนและดาบคุมเขมร  ให้เขมรหาบคอนเป็นของเสบียงอาหารบ้าง  ให้เลี้ยงช้างเลี้ยงม้าโคต่างบ้าง  ให้ขับกระบือเกวียนบ้าง  แต่ศาสตราวุธไม่ให้ถือเลยทุกคน ๆ

          ฝ่ายพระยานครสวรรค์แม่ทัพปีกหนึ่ง  คุมไพร่พลทหาร ๑,๐๐๐ เข้าในกองทัพไปกับเจ้าพระยานครราชสีมาด้วย  แต่พระยานครสวรรค์ไม่สามัคคีรสธรรมกับเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่  ขณะปรึกษาว่าจะทำแพข้ามแม่น้ำโขงนั้น  พระยานครสวรรค์ไม่เห็นด้วยจึงพูดว่า

           “ถ้าจะทำแพกว่าจะเสร็จแล้วหลายวัน  กลัวญวนจะตามมาทันเข้า  จึงไม่ยอมช่วยทำแพข้ามน้ำ  แต่ขอจะเดินไปข้ามที่ท่าข้ามหน้าเมืองลาว  เห็นจะเร็วกว่าทำแพคอยข้ามที่นี่”

(https://i.ibb.co/897djFL/Untitle96d-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองช่วยกันพูดจาว่ากล่าวน้าวโน้ม  ให้พระยานครสวรรค์ช่วยกันทำแพข้ามที่นี่เป็นหลายครั้งหลายหน  พระยานครสวรรค์ก็ไม่ยอมอยู่ช่วยทำแพ  พูดแต่ว่า      “จะไปข้ามที่ท่าหน้าเมืองลาวฝ่ายเดียว”      เจ้าพระยานครราชสีมาเห็นพระยานครสวรรค์แตกสามัคคี ไม่สมัครใจเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันแล้ว  จึงได้อนุญาตเป็นคำกลางว่า   “ท่านเห็นว่าทางไหนจะเร็วก็ตามแต่ใจท่านจะข้ามที่นั้นเถิด”

(https://i.ibb.co/rwsjpk7/Untcxitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           เมื่อพระยานครสวรรค์ได้โอกาสอนุญาตแม่ทัพใหญ่ดังนั้นแล้ว  จึงพาไพร่พล ๑,๐๐๐ ซึ่งเป็นกองทัพของตน  รีบเดินทัพไปแต่ทัพเดียว  เดินเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไป  หมายใจว่าไปข้ามที่ท่าหน้าเมืองลาว  แต่ยังหาทันจะถึงท่าข้ามไม่  พอกองทัพญวนข้างตะวันออกยกตามมาทันทัพพระยานครสวรรค์  ทัพพระยานครสวรรค์ได้สู้รบกับญวนที่หาดทรายในฝั่งแม่น้ำโขง  แต่กองทัพญวนตั้งอยู่บนตลิ่งสูง  ญวนนำปืนใหญ่น้อยยิงระดมลงไปถูกไพร่พลทหารไทยตายมาก  เพราะหาดทรายไม่มีที่จะหลบหลีกบังกระสุนปืนญวนได้  ฝ่ายไทยก็ยิงปืนขึ้นไปบ้าง  หาถูกไพร่พลญวนไม่  เพราะบนตลิ่งมีต้นไม้บังได้มาก  ญวนจึงแบ่งกองทัพเป็นสองพวก  พวกหนึ่งตั้งอยู่บนตลิ่งแอบต้นไม้ใหญ่  ยิงปรำพวกไทยสองพักสามพัก  กองทัพไทยจะตั้งรับอยู่ริมตลิ่งไม่ได้  ก็วิ่งล่าถอยลงมาชายหาดทรายทั้งสิ้น  ญวนอีกพวกหนึ่งก็ยกลงไปตั้งที่หลังหาดทราย  จัดปืนคาบศิลายิงระดมลงไปดังห่าฝน  กองทัพไทยทนไม่ได้ก็แตกหนีลงในลำแม่น้ำโขงทั้งสิ้น  ที่นั้นน้ำไม่สู้จะลึกนัก  พอช้างเดินข้ามได้  น้ำท่วมหลังปริ่ม ๆ

(https://i.ibb.co/LYFyfpK/Untfitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นญวนนำทัพช้างลงที่หาดทราย  ไสช้างให้ลงลุยไล่ไทยในน้ำเป็นอลหม่าน  ญวนจุดปืนหลังช้างยิงไปถูกไทยตายมากกว่ามาก  และญวนถือหอกดาบไล่แทงฟันไทยตายก็มาก  ญวนบางพวกพาช้างไล่เหยียบย่ำด้วยเท้าช้าง  ช้างบางเชือกยกงวงฟาดงาแทงไทยเป็นอลหม่าน  ทหารญวนฆ่ากองทัพไทยไพร่พลตาย ๑,๐๐๐ คน  ไม่เหลือกลับมาเลยแต่สักคนเดียว  กับพระยา พระ หลวง ขุน หมื่นมีชื่อตายหมดครั้งนั้น ๖๐ คน

          ฝ่ายญวนเก็บเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อย  สรรพาวุธสั้นต่าง ๆ ของไทยไปได้สิ้น  ช้างม้าโคต่างกระบือเกวียนของไทยนั้นญวนเก็บไปได้ทั้งหมด  ทั้งเสื้อกางเกงไพร่พลที่เป็นเครื่องแต่งกายกองทัพซึ่งเป็นของหลวง  ญวนก็แก้ออกจากศพไทยไปหมด  ธงตะขาบ  ธงมังกร  ธงเลขยันต์สำหรับทัพนั้น  ญวนก็เก็บรวบรวมไปได้สิ้น..........”

(https://i.ibb.co/mzkP4xy/Untitlred-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ในหมู่คนไทยมีคนเก่งคนดีอยู่มาก  อย่างเช่นพระยาพิไชยสงคราม  มีความคิดฉลาดเฉลียวไม่น้อย  สามารถคิดทำแพสะพานเรือกให้กองทัพข้ามแม่น้ำโขงได้อย่างสะดวกสบาย  เสียดายก็แต่พระยานครสวรรค์ซึ่งมีดีไม่พอแต่กล้าเอาดีมาอวด  พากองทัพของตนไพร่พล ๑,๐๐๐ คนไปให้ญวนฆ่าตายไม่เหลือแม้แต่ชีวิตเดียว  ถ้าท่านไม่ดื้อรั้นอวดดี  ถือสามัคคีธรรม  ช่วยพระยาพิไชยสงครามเร่งทำสะพานเรือกแล้ว  สะพานจะแล้วเสร็จเร็วกว่าสองวันเป็นแน่  กองทัพท่านก็จะข้ามน้ำโขงไปได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกันกับกองทัพใหญ่ของเจ้าพระยานครราชสีมา  อ่านเรื่องมาถึงตรงนี้แล้วก็ได้แต่เสียดายไพร่พลทหารกล้า ๑,๐๐๐ คน  ที่จำต้องตายเพราะพระยานครสวรรค์ดื้อรั้นอวดดีแท้ ๆ  กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาข้ามแม่น้ำโขงได้แล้วจะไปไหนต่อ  พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายวือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, มิถุนายน, 2563, 10:07:17 PM
(https://i.ibb.co/ThLSwk5/Untitsddfled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๓ -

“เจ้าพระยานครราชสีมา”
รู้“พระยานครสวรรค์”สิ้นผยอง
ถูกญวนฆ่าย่อยยับกับลูกน้อง
ได้แต่มองศพสมเพชเวทนา

ตั้งค่ายมั่นบาพนมปักหลักสู้
โดยไม่รู้ทิศทางทัพหลังหน้า
ฝ่ายพระยามณเฑียรบาลนั้นนำพา
ทหารกล้าเข้าไปใกล้เมืองญวน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  ขณะที่พระยาพิไชยสงครามแม่ทัพปีกหนึ่งคุมพลทำแพเรือกข้ามแม่น้ำโขงนั้น  พระยานครสวรรค์แม่ทัพอีกปีกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแพสะพานเรือก  เมื่อได้คำอนุญาตจากแม่ทัพใหญ่แล้ว  ก็ยกพลของตนหนึ่งพันคนเดินเลียบลำน้ำโขงขึ้นไปจะข้ามน้ำตรงท่าหน้าเมืองลาว  พระยาพิไชยสงครามทำสะพานเรือกแล้ว  แม่ทัพใหญ่ก็ยกกองทัพไพร่พลช้างม้าโคต่างข้ามแม่น้ำโขงไปได้โดยสวัสดิภาพ  ฝ่ายพระยานครสวรรค์ยกพลเดินไปยังไม่ทันถึงท่าเมืองลาว  ทัพญวนตะวันออกก็ยกมาทัน  ยิงปืนใหญ่น้อยระดมลงใส่กองพลทัพไทยในหาดทรายตายลงเป็นอันมาก  หนีลงน้ำก็ถูกญวนยกกองช้างลงบดขยี้จนนายและไพร่พล ๑,๐๐๐ คนตายสิ้น  วันนี้มาอ่านความต่อไปครับ.....

(https://i.ibb.co/DCg6brh/Screenshot-4-011.jpg) (https://imgbb.com/)

           “.......ครั้งนั้น  ศพไทยไพร่พลและนายทัพนายกองลอยเต็มแม่น้ำโขง  กระแสน้ำไหลพัดพาศพไทยมาถึงที่ท่าข้ามแม่น้ำโขงเมืองบาพนม  ซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาข้ามฟากมาพักอยู่นั้น  ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่เห็นศพไทยนายไพร่ก็จำได้  แล้วเข้าใจว่ากองทัพพระยานครสวรรค์เสียแก่ข้าศึกญวนแล้วเป็นแน่  จึงสั่งหลวงพิทักษ์โยธากับหลวงแพ่งให้รีบขึ้นมาเร็วคุมทหารม้า ๕๐ ม้า  เดินเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปสืบราชการทัพพระยานครสวรรค์ดูให้รู้เหตุการณ์  สั่งหลวงรามรณรงค์ กับ หลวงพิทักษ์คามะเขตนายด่านเมืองจันทึก  ให้เร่งขึ้นมาคุมไพร่พล ๒๐๐ คน  ม้า ๕๐  ให้ยกไปสืบราชการทัพพระยานครสวรรค์  แต่ให้เดินทัพลัดป่าไปยังฝั่งแม่น้ำโขงท่าดินแดง  ฟังกิตติศัพท์ทัพญวนดูก่อน  ถ้าเห็นหนักเบาประการใดให้ใช้ม้าเร็วมาบอก  จะได้แต่งทัพเพิ่มเติมไปช่วยอีกทัพหนึ่ง

(https://i.ibb.co/J3rVPM0/Unt86itled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  ทัพทั้งสองไป  หาพบทัพญวนไม่  ด้วยญวนฆ่ากองทัพพระยานครสวรรค์แล้วก็ยกขึ้นไปทางเหนือ  เพื่อจะตามตีทัพพระยามณเฑียรบาลทัพวังหน้าอีกต่อไป  กองสืบทั้งสองพบศพลอยน้ำอยู่ ๑๙ ศพ  คือ  พระยานครสวรรค์ ๑   พระยาพิจิตร ๑   พระปลัดเมืองอุทัยธานี ๑   พระปลัดเมืองตาก ๑   พระสิงคบุรี ๑   พระสรรคบุรี ๑   พระบัวชุมไชยบาดาล ๑   พระปลัด  พระยกกระบัตรเมืองนครสวรรค์ ๒   หลวงผู้ช่วยเมืองนครสวรรค์ ๑   หลวงมหาดไทยเมืองนครสวรรค์ ๑   หลวงศุภมาตราเมืองนครสวรรค์ ๑   พระพิมาย ๑   พระนางรอง ๑   พระเพชรปราณี ๑   พระเทพผลู ๑   หลวงวิเศษธานี ๑   หลวงงำเมือง ๑   หลวงพัศดีกลาง ๑   รวม ๑๙ ศพ  แต่ผู้ใหญ่ที่รู้จักจำหน้าได้ ๑๙ คน  แต่ศพไทยไพร่นายครั้งนั้นลอยน้ำอยู่แต่กายเปล่า  หาเสื้อผ้ามิได้  เพราะพวกญวนแก้ผ้าถอดเสือไปเสียหมดทั้งอาวุธด้วย

(https://i.ibb.co/XLV2Q4y/Untitle47d-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  กองสืบจึงตัดศีรษะนำศพนายทัพทั้ง ๑๙ ศพ  พามาให้เจ้าพระยานครราชสีมาดู  ดูแล้วจึงรู้แน่ว่าแม่ทัพนายกองตายหมดแล้ว  กับไพร่พล ๑,๐๐๐ ก็ตายสิ้นเพราะญวนฆ่าเสีย  เห็นญวนจะยกทัพใหญ่ตามมาเป็นสองทางสามทางเป็นแน่  เจ้าพระยานครราชสีมาจึงสั่งนายทัพนายกองให้คุมไพร่ไปตัดไม้มาตั้งค่ายรับญวน  ได้ตั้งค่ายใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำโขง  แต่ตั้งพ้นตลิ่งเข้าไปห่างท่าน้ำไกลขึ้นไปบนดอน  พอพ้นกำลังทางปืนทัพเรือญวน  ตั้งค่ายครั้งนี้ด้วยไม้ไผ่กับไม้แก่นปนกันด้านยาว ๑๕ เส้น  ด้านกว้าง ๘ เส้น  มีป้อม ๘ ป้อม  หอรบ ๔ หอ  แล้วปลูกโรงศาลาใหญ่ในค่ายเป็นที่พักสองหลังแฝด  และตั้งค่ายปีกกาอีก ๒ ค่าย  แล้วค่ายละเมาะริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ท่าข้ามอีกค่ายหนึ่ง  เป็นค่ายเล็ก ๆ เพื่อจะรักษาต้นทางน้ำที่ทัพเรือญวนจะมาที่ท่าข้ามนั้นด้วย

(https://i.ibb.co/d2WLGFr/Unsdtitlded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพวังหน้าซึ่งเป็นแม่ทัพปีกหนึ่งของทัพเจ้าพระยานครราชสีมา  พระยามณเฑียรบาลเป็นแม่ทัพใหญ่  ได้บังคับบัญชาพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองฝ่ายพระราชวังบวรฯ ทั้งสิ้น  ครั้งนั้นพระยาราชโยธาเป็นแม่ทัพหน้าของพระยามณเฑียรบาล  ฝ่ายกองทัพวังหน้าเดินทัพข้ามแม่น้ำโขงไปก่อนทัพเจ้าพระยานครราชสีมา  จึงเดินทัพเร็วขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่งในกลางทางป่า  พวกเขมรนำทางเรียกชื่อที่ตำบลนี้ว่า  “จันเลาะขะจองจันลองตึกใหม่กะแดพนมเขียว”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ห้วยหอยโข่ง)  เป็นลำธารน้ำไหลมาแต่เชิงเขาเขียว  เป็นทางใกล้จะถึงเมืองไซ่ง่อนอยู่แล้ว

          ครั้งนั้น  ทัพวังหน้ายกขึ้นไปก็ไม่ได้พบกองทัพญวนมาตั้งค่ายรับตามทางที่ไทยไปนั้นไม่มีเลยสักแห่งหนึ่ง  จึงเดินทัพเร็วไปได้โดยสะดวก  ฝ่ายพระยาราชโยธาแม่ทัพกองหน้าแปลกประหลาดใจ  ไม่เห็นญวนมาตั้งค่ายรับตามธรรมเนียมศึก  จึงสั่งพระอินทรารักษ์ ๑  กับหลวงพิทักษ์สุเทพ  คุมไพร่พล ๓๐๐ ให้เป็นกองเสือป่าแมวเซายกไปสืบราชการในแขวงจังหวัดบ้านเมืองญวน  ให้พระชำนาญคชไกรเขมรเมืองพนมเปญเป็นผู้คุมไพร่พลเขมร ๑๐๐ คนนำทางไปในแขวงญวน  ถ้าพบปะครัวญวนในบ้านในป่าหรือคนเดินไปมาค้าขายก็ให้จับมา  จะได้ไต่ถามเนื้อความเมืองญวน  ถ้าพบญวนตั้งรบที่ใดเป็นค่ายใหญ่ก็ให้รีบกลับมาแจ้งราชการโดยเร็ว  ถ้าพบกองทัพไทยกองหนึ่งกองใด  ก็ให้แจ้งความแล้วถามความมาให้รู้โดยละเอียด  ฝ่ายพระอินทรารักษ์  หลวงพิทักษ์สุเทพ  ก็ไปสืบราชการ  แล้วกลับมาแจ้งความว่า

(https://i.ibb.co/cLL7BtL/Untitl9ed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้ยกขึ้นไปตรวจตามบ้านเล็กเมืองน้อยทางในป่าดงถึงสี่คืน  จนถึงตำบลหนึ่ง  เขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “กำพงกะบือมัดจะรังทะเลตวจ”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  บ้านท่าควายริมฝั่งแม่น้ำน้อย) ทางจะไปเมืองไซ่ง่อน  ตั้งแต่ยกไปถึงสี่คืน  ไม่ได้พบปะผู้คนเลยแต่สักคนหนึ่ง  เห็นแต่เรือนร้างเปล่าอยู่ทุกบ้าน  ชั้นแต่ยุ้งฉางข้าวก็เปล่า  ไม่มีข้าวทุกยุ้ง  พวกญวนขนนำไปหมดทุกยุ้ง  ตลอดทุกบ้านตามทางขึ้นนั้นทั้งสี่คืน  ชั้นแต่ต้นพริกต้นมะเขือต้นกล้วยต้นอ้อย  ญวนก็ตัดผลไปด้วยทุกต้น  เห็นดอกกล้วยอ้อยพริกมะเขือเหี่ยวแห้ง  บ้างผุเน่าก็มี”

(https://i.ibb.co/W2V6XBM/Untit55led-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาราชโยธาได้ทราบดังนั้นแล้วจึงว่า       “ชะรอยพวกญวนจะรู้เหตุก่อนว่ากองทัพไทยจะยกมาทางนี้  มันจึงอพยพเทครัวหลบหนีไปทุกบ้านทุกตำบลก่อนกองทัพไทยยกมาช้านานแล้ว  จนตอต้นกล้วยอ้อยพริกมะเขือเหี่ยวแห้งดังนั้น  เห็นทีญวนจะไปตั้งรับไทยอยู่ที่เมืองหนึ่งในกลางทางใกล้เมืองไซ่ง่อน  ญวนเรียกว่า  “เมืองว่องโป๋ว”  เป็นเมืองหน้าด้านในระยะทางบก  พระยาราชโยธาจึงสั่งพระยาณรงค์วิไชย ๑  พระยาอภัยสงคราม ๑  ให้เป็นนายทัพคุมพลทหาร ๕๐๐  ยกล่วงหน้าไปก่อน  ให้ไปสืบทัพญวนว่าจะตั้งอยู่ที่ใดบ้าง  ถ้าพบกองทัพญวนตามทางพอจะตีได้ก็ให้ตีให้แตกเสียทีเดียวเถิด  ถ้าเห็นว่ากำลังญวนมากแข็งแรง  ไทยจะตีมันไม่แตกแล้ว  ก็ให้ตั้งมั่นรับรองไว้ก่อน  แล้วให้คนเร็วม้าใช้รีบมาแจ้งข้อราชการหนักเบาโดยเร็ว  จะได้ยกทัพให้รีบไปช่วยให้ทันท่วงที

(https://i.ibb.co/K2FqJHz/Untitlexcd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายกองทัพพระยาณรงค์วิไชยและพระยาอภัยสงครามยกไปถึงตำบลหนึ่ง  เขมรนำทางเรียกชื่อตำบลนั้นว่า  “ผะทะค่อยมัดจะรังทะเลตวจชิดสรกค่อยมุขศึกเฉมาะว่องโป๋ว”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  บ้านด่านใกล้เมืองว่องโป๋ว  คือเมืองด่านหน้าศึก)  กองทัพไทยถึงที่นั้น  เห็นญวนมาตั้งค่ายรายตามฝั่งแม่น้ำน้อยถึง ๑๔ ค่าย  แต่เป็นค่ายเล็ก ๆ  กับเห็นญวนผูกแพไม้ไผ่เทียบอยู่หน้าค่ายหลายสิบแพ  แพนั้นญวนทำเป็นเรือก  สำหรับจะเป็นแพสะพานให้รี้พลช้างม้าเดินข้ามแม่น้ำน้อยมาตามตีกองทัพไทยฝ่ายเรา  เห็นญวนตั้งค่ายและจัดการเป็นศึกใหญ่  ซึ่งกองทัพไทยแต่ ๕๐๐ คนจะยกเข้าตีค่ายญวน  หรือญวนจะยกมา  ก็จะรับทัพญวนไม่ได้.......”

          ** อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเห็นได้ชัดว่า  การสื่อสารเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้กองทัพไทยไร้เอกภาพขาดประสิทธิภาพ  กองทัพที่ยกไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  ให้เจ้าพระยานครราชสีมายกไปทางบก  เดินทางไปก่อน  ส่วนแม่ทัพใหญ่คือเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น  เป็นห่วงกองทัพเรือที่เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพยกไปทางคลองวามะนาว  จึงยกทัพบกส่วนหนึ่งไปกับกองทัพเรือ  และเจ้าพระยาแม่ทัพทั้งสองนั้นพ่ายญวนล่าทัพถอยกลับไปแล้ว  แต่ไม่สามารถจะส่งข่าวให้แม่ทัพบกของเจ้าพระยานครราชสีมาทราบความเคลื่อนไหวได้  เจ้าพระยานครราชสีมาทราบข่าวจากญวนชาวป่าดง  จึงล่าถอยทัพกลับ  แต่ก็ไม่สามารถส่งข่าวให้กองทัพพระยามณเฑียรบาลวังหน้าที่ยกล่วงหน้าไปก่อนได้  ขณะนี้กองทัพพระยามณเฑียรบาลยกไปเป็นทัพเดี่ยวใกล้เมืองไซ่ง่อนแล้ว  โดยไม่ทราบว่าทัพไทยกองอื่น ๆ ล่าถอยกลับไปแล้ว  และญวนกำลังยกตามตีทัพไทยกองนี้อยู่  เรื่องจะเป็นอย่างไร  เอาใจช่วยกองทัพวังหน้านำโดยพระยามณเฑียรบาล  รออ่านต่อตอนต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโทัย
๒๖ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มิถุนายน, 2563, 11:01:16 PM
(https://i.ibb.co/LYfYJpn/Untitlded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๔ -

“พระยาราชโยธา”ประจักษ์ข่าว
จากเรื่องราวพวกเชลยเอ่ยครบถ้วน
ทัพอันนัมกำลังตั้งกระบวน
เห็นไทยควรล่าทัพถอยกลับพลัน

“พระยามณเฑียรบาล”จัดการทัพ
ให้ถอยกลับอย่าวุ่นหวาดหุนหัน
เสียเปรียบญวนทุกประตูเมื่อสู้กัน
แต่สำคัญที่ใจไทยทุกคน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย    เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพบกยกข้ามแม่น้ำโขงไปตั้งค่ายมั่นรับญวนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงเมืองบาพนม  กล่าวฝ่ายพระยามณเฑียรบาล  คุมทัพวังหน้าเป็นทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมา  เดินทัพไปจนใกล้ถึงเมืองไซ่ง่อน  โดยไม่รู้ว่าทัพไทยทุกกองยกล่าถอยกลับหมดแล้ว  วันนี้มาอ่านต่อครับ....

(https://i.ibb.co/sbBSXcN/Untitl8ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          “พระยาณรงค์วิไชย และพระยาอภัยสงคราม  ก็ล่าทัพถอยมาตั้งรอดูเชิงศึกที่กลางทางนั้น  แล้วจึงสั่งให้หลวงโยธีบริรักษ์วังหน้า  ถือหนังสือขึ้นม้าเร็วคุมทหารม้า ๓๐ ม้า  รีบเร่งไปแจ้งข้อราชการทัพศึกต่อพระยาราชโยธา  พระยาราชโยธาได้ทราบดังนั้นแล้ว  จึงมีหนังสือตอบไปบังคับให้พระยาณรงค์วิไชยและพระยาอภัยสงครามเลิกทัพถอยกลับมาโดยเร็ว  เมื่อเดินทัพถอยกลับมานั้น  ให้ตีบ้านเล็กบ้านใหญ่ตามรายทาง  กวาดต้อนพาครอบครัวญวนตามบ้านป่าดงมาด้วย  จะได้ไต่ถามข้อความเมืองและข้อราชการทัพศึกฝ่ายญวนบ้าง  มอบหนังสือตอบให้หลวงโยธีบริรักษ์วังหน้า กับหลวงประจัญปัจจามิตรกรมการเขมรรีบไปให้พระยาณรงค์วิไชย  พระยาณรงค์วิไชยจึงยกพลทหารเดินกองทัพกลับมาทางตะวันออก   พระยาอภัยสงครามยกพลทหารเดินทัพกลับมาทางตะวันตก   พระยาอภัยสงครามเดินอ้อมมาข้ามแม่น้ำที่ปลายน้ำน้อย  เป็นที่ตื้นข้ามพลได้สบาย  เขมรนำทางเรียกท่าข้ามตำบลนั้นว่า  “อันลุงถะมอสะพานจุงทะเลตวจ”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  แก่งสะพานปลายแม่น้ำน้อย)  เดินทัพมาบรรจบกันกับทัพพระยาณรงค์วิไชย  ทั้งสองกองนั้นจับได้ครอบครัวญวนตามบ้านป่ากวาดต้อนพามาทั้งสิ้นทุกตำบล  รวมเป็นคน ๖๖ คน  นำมาส่งยังทัพพระยาราชโยธา  พระยาราชโยธาสั่งให้ล่ามถามญวนเชลย  ญวนเชลยให้การหาต้องคำกันไม่  พระยาราชโยธาจึงสั่งให้ทหารพาญวนที่ฉกรรจ์จำคาเฆี่ยน ๕ ทีถาม  ได้เนื้อความเป็นสัตย์คำต้องกันว่า

(https://i.ibb.co/72xMPQV/Untitl65ed-17.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้ทราบข่าวมาแต่พวกพ้องที่ถูกไปทัพกลับมาบอกว่า  แม่ทัพญวนที่มา  ตั้งค่าย ๑๔ ค่ายอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำน้อยนั้น  แม่ทัพใหญ่ชื่อองเต่อ  แม่ทัพรองคือปลัดทัพชื่อองเดียโดย  เป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์พระเจ้าเวียดนาม  แม่ทัพทั้งสองคุมไพร่พล ๘,๐๐๐ คน  มาตั้งทัพใหญ่อยู่ที่ค่ายฝั่งแม่น้ำน้อย  กำลังจัดกองทัพจะให้องญวนเป็นแม่ทัพนายกอง  คุมพลทหารยกข้ามแม่น้ำน้อยมาทางแพที่ผูกไว้นั้น  จะให้ยกมาตามตีกองทัพไทยที่ยกมาแต่ฝั่งแม่น้ำโขง  แล้วองเต่อแม่ทัพให้องเดโดยเป็นแม่ทัพ  ให้องกายโดยเป็นปลัดทัพ  คุมไพร่พล ๔,๐๐๐  ยกทัพอ้อมป่าไปคอยสกัดทัพไทยอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำโขง  ต้นทางที่กองทัพไทยขึ้นมานั้น  แล้วทราบว่ากองทัพญวนยกไปตีกองทัพไทยแตกหมดทั้งทางบกและทางเรือ  แล้วทราบว่ากองทัพไทยซึ่งเป็นกองทัพใหญ่ยกมาทางบกด้านตะวันออก  แต่ก่อนเมื่อต้นเดือนห้าต่อกับเดือนสี่นั้น  ก็เลิกล่าถอยกลับไปเมืองเขมรหมดแล้ว”

          ครั้นพระยาราชโยธาได้ทราบคำให้การญวนเชลยดังนั้นแล้วก็เข้าใจว่า      “ทัพเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเป็นทัพเรือนั้น  เห็นทีจะเสียแก่ญวนแล้ว  กับทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและทัพพระยาราชนิกูล  ทัพพระยานครสวรรค์  ทัพพระสีหราชเดโช  ทัพเหล่านั้นก็เห็นจะล่าไปหมด  ยังอยู่แต่ทัพวังหน้ากองเดียวเท่านี้  ไม่มีทัพหนุนทัพช่วยป้องกันบ้าง  แต่ลำพังทัพวังหน้ากองเดียวจะต้านทานสู้ญวนได้ที่ไหนเล่า”

           คิดดังนี้แล้วจึงนำความทั้งสิ้นที่ทราบมาแต่ญวนเชลยนั้น  เขียนเป็นหนังสือไปเรียนแก่พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่  แม่ทัพใหญ่ตกใจ  จึงมีหนังสือสั่งกองทัพพระยาราชโยธากองหน้าให้ล่าถอยกลับมาโดยเร็วเถิด  พระยาราชโยธาและพระยาณรงค์วิไชย  พระยาอภัยสงคราม  ก็เลิกทัพถอยกลับมาในค่ำวันนั้น  รีบเร่งเดินทัพมาในเวลากลางคืนเพราะเดือนหงายสว่างดี  เดินทัพมายังรุ่งจึงถึงที่ชุมนุมทัพพระยามณเฑียรบาล  พระยามณเฑียรบาลจึงพูดกับพระยาราชโยธาว่า

            “อ้ายญวนเชลยที่พระยาณรงค์วิไชยจับมาได้ ๖๖ คนนั้น  จะพามันไปในกองทัพเราด้วยก็เป็นห่วงหนัก  ต้องระวังเป็นกังวลเปล่า ๆ  หาประโยชน์ไม่เลย  ให้เลือกแต่ผู้ชายที่ฉกรรจ์ไว้สำหรับนำทัพเราไปโดยทางเร็ว ๆ สัก ๙ คน ๑๐ คนเท่านั้น  ก็พอใช้อยู่แล้ว  นอกนั้นเป็นชายหญิงแก่ชราหรือเด็ก  ให้ฆ่าเสียเถิด  นายทัพนายกองก็เห็นชอบด้วย  พระยาราชโยธาจึงสั่งขุนชนะไพรีเขมร กับหมื่นแกล้วใจหาญทะลวงฟันวังหน้า  ให้เลือกแต่ญวนเชลยชายฉกรรจ์ไว้ ๑๐ คน  นอกนั้น ๕๖ คน  จงนำไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้  แล้วตัดศีรษะญวน ๕๖ คน  เสียบไว้ตามรายทางที่กองทัพไทยจะเดินล่าลงไปนั้น  ให้เสียบศีรษะญวนห่าง ๆ  กันตามทางทุกตำบลตลอดลงไป  เพื่อจะให้พวกญวนที่ตามมาข้างหลังเห็นแล้วจะได้กลัวอำนาจไทย”

            แล้วพระยามณเฑียรบาลจึงพูดกับพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกอง  ว่า..

(https://i.ibb.co/NTkNkcX/Unti89tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

             “เรายกกองทัพกลับลงไปครั้งนี้  คงจะได้ยุทธนาการสู้รบกับญวนเป็นสามารถมั่นคงแน่แล้ว  เหมือนเราทำศึกกับญวนเป็นสองทาง  ต้องรบทั้งข้างหน้าข้างหลัง  โดยกำลังรี้พลและอำนาจศาสตราวุธของเราเห็นจะสู้ญวนไม่ได้  เพราะว่าเรายกทัพเลยถลำมาในแว่นแคว้นแดนญวนมากแล้ว  จึงรู้ตัวว่าถลำเลยมาทัพเดียว  จะกลับไปยังเมืองเขมรเขตแดนไทย  เมื่อเรากลับไปครั้งนี้  ญวนคงจะยกทัพใหญ่มาตั้งค่ายสกัดหน้าเราบ้าง  ยกมาตามตีเราข้างหลังบ้าง  เราจะต้องเป็นศึกขนาบอยู่ระหว่างกลางทัพญวนเป็นแน่แล้ว  ครั้งนี้พวกเรานายไพร่จะพาชีวิตกลับไปกรุงเทพฯ ได้ก็เพราะอำนาจบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวประการหนึ่ง  และความสามัคคีอุตสาหะมานะของนายทัพนายกองไพร่พลประการหนึ่ง  จึงจะพากองทัพกลับไปหาครอบครัวยังกรุงเทพฯ ได้"

          ฝ่ายพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองได้ทราบข้อความตามพระยามณเฑียรบาลบรรยายมาดังนั้นแล้ว  ก็ตกใจกลัวข้าศึกญวนเป็นอันยิ่งนัก  แต่จำเป็นจำใจจะต้องสู้รบฝ่าฟันตีกองทัพญวนให้แตกเป็นช่องไปพอจะได้กลับไปหาครอบครัวบ้าง

(https://i.ibb.co/jT3TKmy/Untitl96ed-7.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้นเวลาเช้ารับประทานอาหารเสร็จแล้ว  ก็ยกพลนิกายเดินทัพกลับมาตามทางเดิมเมื่อขึ้นไปนั้น  ครั้นถึงทางสามแยกแล้ว  พระยามณเฑียรบาลสั่งให้พระยาราชโยธาคุมไพร่พลทหาร ๒,๐๐๐ คน  ยกไปเป็นกองหน้าให้เดินทัพไปทางเก่าที่ขึ้นมา
            สั่งพระยาศาสตราฤทธิรงค์คุมทัพลาวหัวเมืองกับไพร่พลไทย ๖๐๐ คน  ให้ยกแยกทางไปข้างทิศตะวันตก  เดินวกอ้อมไปบรรจบที่ท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามาในกองทัพหน้าพระยาราชโยธา
            สั่งให้พระยาสุรินทร์ราชเสนาคุมไพร่พล ๕๐๐ เป็นปีกขวา
            สั่งให้พระยานรานุกิจมนตรีคุมไพร่พล ๓๐๐ เป็นกองเกียกกาย
            สั่งให้พระยาบริรักษ์ราชาคุมพล ๒๐๐ เป็นจเรทัพ
            สั่งให้พระยาอินทรววงศ์รามัญคุมไพร่พลรามัญ ๕๐๐ เป็นกองหนุนและกองคอยเหตุสืบราชการข่าวทัพข้าศึก
            สั่งให้พระยาณรงค์วิไชยกับพระยาอภัยสงครามคุมไพร่พล ๑๐,๐๐๐ เป็นกองรั้งหลัง........”

            ** พระยาราชโยธาแม่ทัพหน้าของกองทัพวังหน้าโชคดีที่ได้เชลยญวนมาเค้นจนได้ข่าวกองทัพญวนและไทยอย่างละเอียด  รีบกราบเรียนให้พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ของตนได้ทราบโดยด่วน  พระยามณเฑียรบาลก็สั่งถอยทัพทันที  และท่านเป็นคนรอบคอบ  จึงสั่งถอยทัพกลับอย่างรัดกุม  ผลการเดินทัพกลับเข้าเมืองเขมรเขตแดนไทยของพระยามณเฑียรบาลจะเป็นอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, กรกฎาคม, 2563, 10:35:24 PM
(https://i.ibb.co/6vp2xBw/1236-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๕ -

ทัพไทยพบค่ายญวนริมคลองเก่า
จึงตัดเอาไม้ไผ่ที่เกลื่อนกล่น
เป็นสะพานเรือกทำข้ามสายชล
ยกรี้พลข้ามไปได้ง่ายดาย

ปล้นค่ายญวนป่วนไปในยามค่ำ
ญวนเพลี่ยงพล้ำเสียทีทั้งสี่ค่าย
แตกย่อยยับจับเป็นไว้ได้มากมาย
ที่ล้มตายหายจากก็มากมี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่... ทัพวังหน้าซึ่งเป็นทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมา  มีพระยามณเฑียรบาลเป็นแม่ทัพนั้น  ทราบข่าวจากญวนเชลยว่า  ทัพไทยทุกกองล่าถอยกลับไปหมดแล้ว  จึงสั่งล่าทัพถอยกลับมุ่งเข้าเมืองเขมรเขตแดนไทย  จัดขบวนทัพถอยอย่างเป็นระเบียบ  พร้อมที่จะต่อสู้ญวนทุกขณะสถานการณ์  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/wzBMGWj/Untdssitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้นพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่จัดทัพแบ่งปันหน้าที่ใหม่เสร็จแล้ว  ก็เดินทัพมาเป็นลำดับกันทุกทัพทุกกอง  มาใกล้คลองแห่ง ๑  เป็นลำแม่น้ำเก่า  แต่เดียวนี้ตื้นดอนกลายเป็นคลอง  แต่กว้างประมาณ ๑๔ วา  เขมรนำทางเรียกชื่อแม่น้ำนั้นว่า  “ดอกทะเลจัศรักแปรเกิดแพรกรัง” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  แม่น้ำเก่ากลายเป็นคลองตื้น ๆ  ชื่อคลองจิก)  ครั้งนั้นกองทัพพระยาราชโยธาเป็นกองหน้า  ถึงใกล้ริมฝั่งคลองจิกก่อน  เห็นทัพญวนมาตั้งค่ายใกล้ฝั่งคลองจิกฟากข้างโน้นสี่ค่าย  ญวนคอยสกัดตีกองทัพไทยเมื่อจะข้ามคลองจิกนั้น     ครั้งนั้นพระยาราชโยธาได้ตั้งค่ายสีชุกลงที่ริมฝั่งคลองจิก  แต่ห่างจากค่ายญวนประมาณ ๖๐ เส้นหรือ ๗๐ เส้นเศษ  พระราชโยธามีหนังสือบอกข้อราชการที่เห็นค่ายญวน  แต่ยังไม่ได้รบกัน  บอกมายังพระยามณเฑียรบาล  พระยามณเฑียรบาลจึงพูดกับนายทัพนายกองว่า

            “ญวนยกทัพมาตั้งค่ายสกัดอยู่หน้าทางเราดังนั้น  ครั้นเราจะนิ่งช้าไว้ไม่ได้  เกรงว่าทัพญวนจะยกเพิ่มเติมมาข้างหลังเราอีก  ถ้าญวนยกมาเป็นทัพขนาบตีท้ายพลเรา  เราก็จะได้ความลำบากเป็นอันมากที่สุด  จำจะต้องช่วยกันตีค่ายญวนให้แตกไปในสามวันให้จงได้  ถ้าพวกเราตีค่ายหน้าญวนไม่แตกในสามวันแล้ว  พวกเราทั้งปวงต้องช่วยกันนำดินปืนคลอกพวกเราให้ตายเสียทุกทัพทุกกองเถิด  อย่าให้ญวนกองหลังมาจับเป็นพวกเราไปเป็นเชลยได้เลย  เราไม่ขอเป็นข้าญวนแล้ว  ตายเสียดีกว่า”

           พระยามณเฑียรบาลพูดดังนั้นแล้ว  จึงมีหนังสือบังคับสั่งไปถึงพระยาราชโยธากองหน้าใจความว่าดังที่พูดมาแต่ต้นนั้นแล้ว  และสั่งให้พระยาราชโยธาเร่งกระทำการปล้นค่ายญวนให้แตกแต่ในสามวันให้ได้  แล้วให้จมื่นเดไชยหัวหมื่นมหาดเล็กเป็นผู้กำกับทัพตำรวจทั้งแปดกอง  ซึ่งจะไปช่วยพระยาราชโยธายกเข้าปล้นค่ายทั้งสี่ค่ายที่ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งคลองจิกนั้น  สั่งสมิงจัตุรงค์ในกองพระอินทรวงศ์ให้แบ่งไพร่พลรามัญ ๔๐๐ คน  ไปตัดไม้ไผ่มาทำสะพานเรือกเตรียมไว้ให้พร้อมแต่ในเวลากลางวันวันนี้   ครั้นเวลาตี ๑๑ ทุ่มค่ำวันนี้  จะยกพลทหารเข้าปล้นค่ายให้แตกสี่ค่ายจงได้

(https://i.ibb.co/b7WLQ0W/Undwwtitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          สมิงจัตุรงค์ทำการสะพานเรือกเสร็จตามสั่งแล้ว  ครั้นเวลา ๑๐ ทุ่ม  กองรามัญลงไปยืนในลำคลองจิก  พวกรามัญยืนสี่แถว  แถวละ ๑๐๐ คน  ห่างกันคืบหนึ่ง  บ่าแบกเสาเป็นไม้คานสี่แถว  แล้วนำไม้ตงพาดบนหลังไม้คานเป็นตอน ๆ  ห่าง ๒ ศอกเศษ  แล้วนำเรือกไม้ไผ่ที่สานม้วนไว้เป็นผืน ๆ  ขนมาปูบนหลังตงเต็มไปด้วยเรือกตลอดฝั่งคลองข้างนี้จนกระทั่งคลองข้างโน้น  เป็นสะพานเรือกข้ามคลองได้ในชั่วโมงเดียวเสร็จ  เพราะคนมากถึง ๔๐๐ คนช่วยกันทำโดยเร็ว  แต่ห้ามปากเสียงไม่ให้อึง  เพราะกลัวญวนจะยิงปืนมา  คนทำการนั้นตายลง  การสะพานนั้นก็จะไม่สำเสร็จได้  แต่ลำคลองนั้นตื้นดอนมาก  คนลงยืนแช่น้ำเสมอเพียงเอวบ้าง  ที่กลางคลองเป็นที่ลึกก็เพียงคอบ้าง  แต่ไม่ท่วมปากจมูกก็เป็นใช้ได้

(https://i.ibb.co/tpfyCyp/Unctitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นทำสะพานเรือกให้คนทำแทนเป็นเสาตอหม้อเสร็จแล้วแต่ในชั่วโมงเดียว  แต่พอถึงเวลา ๑๑ ทุ่ม  พระยาราชโยธาสั่งให้กองทัพตำรวจทั้งแปดกอง แบกแตะคนละผืน  เดินข้ามตะพานเรือกไปปูทับขวากกระจับรอบค่ายญวน  เดินไปปูแถวหน้าพวกหนึ่ง  แล้วแถวหลังก็เดินบนแตะไปปูต่อ ๆ  เข้าไปทุกทีจนใกล้ค่ายญวน  แต่กองอาทมาตและกองรามัญและแขกจามและกองทหารหกเหล่าแปดเหล่า  ก็เดินเดินตามหลังกองตำรวจที่แบกนำแตะเข้าไปปูทับขวากนั้น เป็นลำดับเข้าไป  หนุนเนื่องกันตามเข้าไปทุกชั้นทุกพวกไม่หยุดย่อท้อเลย  พอใกล้ค่ายญวนแล้ว  พวกทหารทุก ๆ กองถืออาวุธครบมือกันทุกคน  แล้วโห่ร้องขึ้นพร้อมกัน  วิ่งกรูกันเข้าไปใกล้ค่ายญวน  บ้างนำปืนหามแล่นกับคาบศิลายิงระดมค่ายญวนทั้งสามด้าน  กองหลังและกองหนุนก็วิ่งกรูตามข้ามสะพานเรือกไปถึงตลิ่งพร้อมกันหมดทุกกองแล้ว  บ้างยิงปืน  บ้างปีนค่ายเย่อค่ายฟันค่ายต่าง ๆ กันทุกด้าน  นายทัพไทยขึ้นม้าไล่ต้อนไพร่พลเข้าปล้นทุกทัพทุกกองเป็นอลหม่าน  หนุนเนื่องกันเข้าไปเป็นชั้น ๆ ไม่หยุดหย่อน  ทั้งสี่ค่ายก็หักพังลงบ้าง

(https://i.ibb.co/DVv8Mnj/Untictled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายญวนในค่ายทั้งสี่นั้น  ครั้นได้ยินเสียงไทยโห่ร้องยกเข้าปล้นค่ายดังนั้นแล้ว  ญวนจึงจุดพลุขึ้นเป็นตับ ๆ รอบค่ายญวน  เห็นพลทหารไทยวิ่งกรูกันมาจากฟากข้างโน้น  แล้วเดินข้ามคลองมาได้โดยสะดวก  ไม่เห็นรี้พลไทยเปียกน้ำและโคลนเลย  แล้วญวนไม่เห็นสะพานเรือกของไทยด้วย  เพราะตะพานนั้นต่ำอยู่ในลำคลอง  ญวนคิดว่าเหตุใดไทยจึงวิ่งข้ามคลองน้ำมาได้ไม่เปียกเปื้อน  หรือไทยจะมีวิชาเดินมาบนน้ำได้กระมัง  ญวนคิดดังนี้แล้วก็สะดุ้งตกใจกลัว  ไม่อาจสามารถเต็มใจจะตั้งต่อสู้กับกองทัพไทยได้  บ้างก็ทิ้งหน้าที่หนีเสียบ้าง

(https://i.ibb.co/crBtCcJ/Untitlsezd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพอกองทัพไทยปีนค่ายเข้าไปได้ทุกด้านพร้อมกันทั้งสี่ค่าย  ไล่ฆ่าฟันแทงยิงญวนล้มตายในค่ายนอกค่ายทั้งสี่ค่ายเป็นอันมาก  เหลือที่จะนับประมาณ  ที่เหลือตายก็แตกแหกค่ายหนีไปในปาดงได้บ้าง  กองทัพไทยจับญวนเป็นมาได้ ๔๐๐ คนเศษ  ได้เครื่องสรรพาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นอันมากทั้งสี่ค่าย  จับได้ช้างม้าโคกระบือด้วย  ในวันนั้นเวลาเช้า ๓ โมงเศษ  ญวนแตกหนีไปได้บ้าง  ไทยมีชัยชนะแก่ญวนแล้วจึงได้เผาค่ายญวนเสียทั้งสี่ค่าย  การที่ตามปราบปรามพวกญวนนั้นยังไม่เรียบร้อยเป็นปรกติดี

          ในเวลาเย็นวันที่ตีค่ายญวนได้แล้ว  พอหมื่นรุทถือหนังสือพระยาณรงค์วิไชยนายกองทัพหลังมาเรียนพระยามณเฑียรบาลใจความว่า  
 
(https://i.ibb.co/QNXdRf7/Untitled-6002-1.gif) (https://imgbb.com/)

           “ญวนทัพใหญ่ตั้งค่าย ๑๔ ค่ายอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำน้อยนั้น  บัดนี้ญวนยกรี้พลช้างม้าลงแพไม้ไผ่ข้ามแม่น้ำน้อยจะเดินทัพมาตามตีไทยเป็นแน่  เมื่อขุนพิบูลย์ภักดีไปสืบทัพญวนกลับมาแต่แม่น้ำน้อย  เห็นญวนกำลังข้ามแม่น้ำอยู่  ได้ส่งตัวขุนพิบูลย์ภักดีผู้ไปเห็นทัพญวนนั้นมาให้พระยามณเฑียรบาล”

(https://i.ibb.co/94N4N9d/002333.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยามณเฑียรบาลได้ทราบข่าวศึกญวนยกมาเป็นทัพขนาบข้างหลังดังนั้นแล้ว  คิดดูเป็นศึกใหญ่  จะไว้ใจแก่ราชการไม่ได้  จึงสั่งพระยาราชโยธาให้พาญวนเชลย ๔๒๖ คนที่จับได้แต่ค่ายริมคลองจิกนั้น  จงพาเดินล่วงหน้าไปก่อน  แต่ให้แต่งไทยเป็นนายคุมไปให้แข็งแรง  อย่าให้ญวน ๔๒๖ คนมีเครื่องศาสตราวุธถือได้  แล้วพระยาพระหลวงนายทัพนายกองทั้งหลาย  ก็คลี่คลายขยายขบวนทัพเดินเป็นลำดับกันล่าถอยไปโดยเร็ว........”

          กองทัพวังหน้าของพระยามณเฑียรบาลกล้าแกร่งมากทีเดียว  เผชิญหน้าข้าศึกครั้งแรกก็สามารถเอาชนะได้ไม่ยาก  เพราะญวนก็  “ขวัญอ่อน”  พอ ๆ กันกับไทย  เห็นทหารไทยเดินบนสะพานเรือกข้ามน้ำไปโดยตัวไม่เปียกน้ำ  ก็คิดว่าทหารไทยมีวิชาดีเดินเหินบนน้ำได้  จึงเกิดความกลัวจน  “ดีฝ่อ”  ไม่กล้าสู้รบ  พระยามณเฑียรบาลตีค่ายญวนข้างหน้าแตกยับเยินไปแล้ว  แต่ทัพหลังที่กำลังยกมานั้นเป็นทัพใหญ่มาก  ทัพวังหน้าจึงต้องรีบเดินหนีไปให้เร็วที่สุด  จะหนีพ้นหรือไม่  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, กรกฎาคม, 2563, 10:04:14 PM
(https://i.ibb.co/3y8q1LB/Unstisetled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๖ -

พาไพร่พลเป็นหมื่นขึ้นภูเขา
จะข้ามเข้าเมืองเขมรรีบเผ่นหนี
ญวนยกพลล้นหลามไล่ตามตี
มาถึงที่ “เขาม้าเผ่น”เป็นสำคัญ

เชลยญวนนำมาปัญหายิ่ง
ต้องฆ่าทิ้งยอมรับบาปมหันต์
ไพร่พลป่วยครวญครางกลางอารัญ
คืนกับวันอดน้ำระกำกาย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  มีญวนมาตั้งค่ายสกัดรอตีกองทัพไทยอยู่ใกล้แม่น้ำเก่าชื่อคลองจิก สี่ค่าย  พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพวังหน้าพูดกับไพร่พลของตนว่าต้องรีบเร่งตีค่ายญวนให้แตกภายในสามวัน  ไม่อย่างนั้นจะถูกทัพใหญ่ญวนที่ไล่ตามมาข้างหลังเป็นทัพขนาบ  ไทยจะพายแพ้ญวนแน่นอน  ดังนั้นจึงต้องรีบเร่งตีค่ายญวนข้างหน้าให้แตกไปแล้วรีบเดินทัพให้พ้นทัพใหญ่ญวน  ถ้าตีค่ายญวนไม่แตกทุกคนก็ช่วยกันเอาดินปืนคลอกตัวเองให้ตายหมดทั้งกองทัพเถิด  ดีกว่าจะถูกญวนจับไปเป็นข้า  จากนั้นก็สั่งให้ตัดไม้ไผ่มาทำสะพานเรือกเตรียกยกพลข้ามคลองเข้าปล้นค่ายญวนให้ได้ในคืนนี้  แล้วกองทัพวังหน้าก็ปล้นค่ายญวนสำเร็จในคืนนั้น  และในวันรุ่งขึ้นก็ได้ข่าวญวนยกทัพใหญ่มุ่งมาตามตีทัพไทย  พระยามณเฑียรบาลจึงสั่งดำเนินทัพจากคลองจิกไปโดยเร็ว  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ...

(https://i.ibb.co/KDYTpMY/Untitle54d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้งนั้น  กองทัพไทยเดินพลนิกายทั้งกลางวันและกลางคืน  เมื่อถึงท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขง  ซึ่งเป็นท่าเดินตรงไปทางเมืองเขมรโดยเร็วนั้นก็จริง  แต่ว่าถ้าจะข้ามที่นี้  จะต้องตัดไม้ไผ่ทำแพให้รี้พล ช้าง ม้า โคต่าง เดินข้ามแม่น้ำโขงไปจึงจะได้  การตัดไม้ไผ่ทำแพนั้นก็จะช้าหลายเวลาอยู่  กลัวญวนทัพใหญ่กองหลังจะตามมาทันทัพเรา  เราก็จะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกเป็นแน่  จำเป็นจะต้องเดินทัพไปทางอ้อม  ไปข้ามที่ท่าข้ามริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้เขตแดนเมืองลาวเห็นจะดี  เพราะที่ท่านั้นตื้น  ข้ามรี้พลช้างม้าเดินไปในลำแม่น้ำได้สบาย  ไม่ต้องทำแพข้ามแม่น้ำเหมือนที่ท่านี้  นายทัพนายกองทั้งหลายก็เห็นชอบด้วย  จึงเดินทัพไปทางอ้อมด้านตะวันออกสองวันสองคืน  จึงถึงเชิงเขาแห่งหนึ่งเป็นภูเขาใหญ่โตยืดยาว  เนื่องมาแต่เมืองลาวจรดถึงแดนเขมร แล้วเลยไปที่แผ่นดินญวน  เป็นภูเขาสูงใหญ่ดังกำแพงกั้นขวางป่าอยู่  เขาใหญ่นั้นเขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “พนมแสะโลด”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  เขาม้าเผ่น)  เขานั้นยืดยาวไกลนัก  จะเดินอ้อมเชิงเขาก็จะช้าหลายวัน  กลัวญวนจะตามมาทัน  นายทัพนายกองจึงพร้อมใจกันจะเดินกองทัพเป็นทางตรง ๆ ข้ามเขาม้าเผ่นไป  จะได้ถึงที่ท่าข้ามฝังแม่น้ำโขงแดนลาวโดยเร็ว

          จึงกองทัพทั้งปวงพักพลหยุดอยู่ที่เชิงเขาม้าเผ่นคืนหนึ่ง  ก็พอเวลาย่ำรุ่ง กองทัพหน้า ทัพใหญ่ ทัพหลังและทัพทั้งปวงก็เดินพลทหารขึ้นเขาม้าเผ่นไปตั้งแต่เช้าจนย่ำค่ำ  ถึงไหล่เขาม้าเผ่น  เห็นไพร่พลเดินขึ้นเขามาเมื่อยล้าเหนื่อยอ่อนป่วยไข้ต่าง ๆ โดยมาก  จึงสั่งให้พักไพร่พลหยุดกองทัพที่บนไหล่เขาม้าเผ่นนั้น  เป็นที่เตียนราบก้างขวางดีนัก  เมื่อพักพลอยู่บนไหล่เขานั้นเป็นเวลาสองทุ่มเศษ  จึงพระยาราชโยธานายทัพหน้ามีหนังสือบอกข้อราชการมายังพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ฉบับหนึ่งใจความว่า

(https://i.ibb.co/HFvZPpS/Song-of.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ญวนเชลย ๔๒๖ คนที่ตีได้มาแต่ค่ายคลองจิก  แล้วพาเดินมาในกองทัพเราด้วยนั้น  แต่ก่อนเมื่อไทยเดินทัพอยู่ข้างล่างไม่ได้ขึ้นมาบนภูเขานี้  ไทยจะใช้สอยให้ญวนหาบหามปืนหลักหักไฟ  ทั้งเสบียงอาหารหรือใช้ให้เลี้ยงช้างเลี้ยงม้าโคกระบือ  ญวนก็ก้มหน้าก้มตาทำโดยเรียบร้อยฐานเข้ากับเจ้าบ่าวกับนาย  มันมีความเกรงกลัวไทยมาก  ครั้นเมื่อไทยไล่ต้อนพวกญวนมันเดินขึ้นมาพักหยุดอยู่บนยอดเขาแล้วเวลาค่ำ  เมื่อพวกญวนมันอยู่ที่ไหล่เขาเป็นที่สูง  มันเห็นแสงไฟในกองทัพญวนพวกของมันที่ยกตามมาข้างหลังไทยนั้น  แต่กองทัพญวนที่ตามมานั้นยังอยู่ที่พื้นแผ่นดินราบ  ไกลจากเชิงเขาม้าเผ่นนี้มากนัก  แต่ญวนเชลยที่อยู่บนไหล่เขานั้น  มันไม่เป็นอันหลับอันนอนเลยจนดึกดื่น  มันพูดจากันไม่หยุดหย่อน  ครั้นนายทัพนายกองใช้มันให้ขนหาบของต่าง ๆ  มันก็ทำกิริยากระด้างกระเดื่องไปต่าง ๆ นานาไม่เรียบร้อย  ใช้ให้ขนก็สักแต่ว่าขน  ให้ให้แบกก็สักแต่ว่าแบก  กิริยารับใช้หาเหมือนแต่ก่อนไม่  ครั้นใช้ให้ล่ามแอบคอยฟังพวกญวนมันพูดกันในที่ประชุมมันนั้น  ก็ได้ความว่า  พวกญวนเชลยมันพูดกันว่า  ไฟแดง ๆ หลายสิบดวงที่พื้นแผ่นดินในป่านั้น  ไม่ใช่ไฟอื่นเลย  เป็นไฟสุมในกองทัพญวนพวกเราตามมาตีไทยเป็นแน่  ถ้าแสงไฟแดง ๆ ใกล้ชิดเข้ามายังเชิงเขาม้าเผ่นในเวลาค่ำหรือดึกวันนี้แล้ว  พวกเราก็จะได้ช่วยกันแย่งชิงอาวุธที่มือไทยฆ่าพวกไทยเสียบ้าง  พวกเราก็จะหนีลงจากภูเขาไปหาพวกญวนเราที่ตามมา  ก็จะได้ช่วยกันทำการจลาจลรบสู้กับไทย  ไทยก็จะแพ้แก่ญวน  พวกเราก็จะจับพวกไทยเป็นเชลยแก้แค้นได้บ้าง  การที่ญวนเชลยมันพูดกันดังนี้แล้ว  ซึ่งไทยจะคุมญวน ๔๒๖ คนไว้บนภูเขานี้เป็นที่กันดารนัก  เห็นจะเสียท่วงทีแก่ญวนเป็นแน่  กับพวกไทยก็แลเห็นไฟที่ตามพื้นดินนั้นก็เดินใกล้เข้ามาเสมอทุกที  เห็นสมกับคำที่ญวนเชลยมันพูดกันนั้น  จะขอรับประทานฆ่าพวกญวนเชลย ๔๒๖ คนนี้ให้หมด  จะได้สิ้นความที่ห่วงใย  ไม่เป็นกังวลไปต่าง ๆ ที่กลางทัพไทย  จะได้ตั้งหน้าระวังแต่ข้างหน้าและข้างหลังสองฝ่ายเท่านั้น  ซึ่งจะคุมญวนเชลยข้าศึกไว้ในกลางกองทัพไทยนี้  เปรียบเหมือนนำเชื้อไฟไว้ใกล้ดินดำ  มีแต่จะเกิดอันตรายฝ่ายเดียว  ขอเจ้าคุณจงอนุญาตฆ่าพวกญวนเชลยเสียเถิด”

           พระยามณเฑียรบาลทราบความตามหนังสือของพระยาราชโยธาดังนั้นแล้ว  จึงมีหนังสือตอบไปใจความว่า     “ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยความคิดท่านทุกประการแล้ว  แต่จะฆ่าญวนนั้น  เห็นว่าญวนถึง ๔๒๖ คน  ถ้าจะลงมือฆ่าคนนี้ก่อน  คนนั้นเห็นก็คิดต่อสู้บ้าง  คนโน้นเห็นก็จะเป็นขบถลุกลามเกิดการจลาจล วุ่นวายฆ่าฟันกันขึ้นมากมายดอกกระมัง  เห็นว่าจะเป็นการฆ่ามันลำบากแก่เรานัก  ให้นำดินดำคลอกมันเสียให้ตายทั้ง ๔๒๖ คน  จะมิดีกว่าฆ่าด้วยหอกดาบหรือ”

           พระยาราชโยธาได้ทราบหนังสือพระยามณเฑียรบาลดังนั้นแล้วจึงพูดว่า     “เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่นั้นท่านคิดอะไรก็เป็นการยืดยาวไปต่าง ๆ นานาหาควรไม่  จะนำดินดำคลอกฆ่าญวนให้ดินดำของหลวงเสียเปล่า ๆ  การที่จะจัดแจงฆ่าญวน ๔๒๖ คนนี้  เป็นภารธุระพนักงานของเราเอง”

           พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งหลวงบำรุงภูเบศร์ให้พาล่ามบอกแก่พวกญวนเชลยว่า     “อย่างธรรมเนียมไทยถ้าจับเชลยได้แล้ว  ต้องหาเชือกมัดมือทุกคนเพื่อจะไม่ให้หนี”     บอกแก่ญวนเท่านี้แล้ว  ก็หาเชือกมัดผูกข้อมือญวนทั้ง ๔๒๖ คน  แล้วก็จูงพาเดินไปที่ท้ายเขาม้าเผ่น  ถึงปากเหวใหญ่จึงจูงเดินเลียบไปตามปากเหวไป  พอได้ทีก็ผลักญวนต้นเชือกลงไปในเหวแล้วญวนต้นเชือกเป็นของหนัก  จึงชักดึงญวนกลางเชือกปลาย ๔๒๖ เชือกผูกร้อยเป็นพวกแถวเดียวกันตกลงไปในเหวหมดทั้ง ๔๒๖ คน  ตายสิ้นตามคำสั่งพระยาราชโยธา  ครั้นรุ่งเช้าขึ้นเวลาย่ำรุ่ง  กองทัพไทยทั้งปวงที่พักอยู่บนไหล่เขาม้าเผ่นนั้น  ก็ยกทัพเดินพลนิกายข้ามเขาม้าเผ่นจะลงไปทางตะวันออก  พอเดินทัพถึงครึ่งเขาก็พอเวลาเที่ยง  แดดร้อนเป็นสามารถ  เหลือกำลังไพร่พล  เพราะไพร่พลไม่ได้รับประทานน้ำคืนหนึ่งกับวันหนึ่งแล้ว  จึงละเหี่ยแดดร้อน  เดินไม่ไหวสิ้นกำลังก็ล้มนอนอ่อนระทวยไปหลายพันคน......”

           ** กองทัพวังหน้ายกหนีทัพใหญ่ญวนข้ามน้ำคลองจิกได้แล้ว  ตีปล้นค่ายญวนทั้งสีค่าย  ก็ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับข้ามเขาม้าเผ่น  พระยาราชโยธาแม่ทัพหน้าของทัพนี้  เป็นคนมีไหวพริบปฏิภาณดี  จึงรอดจากการประทุษร้ายของเชลยญวนได้  วิธีฆ่าญวนถึงสี่ร้อยคนเศษของท่านก็พิสดารนักเชียว  ตอนนี้กองทัพวังหน้าอยู่ในภาวะคับขับมากแล้ว  ทัพใหญ่ญวนยกตามมาติด ๆ  ไพร่พลยังข้ามเขาม้าเผ่นไม่พ้น  ก็เกิดเจ็บป่วยเพราะขาดน้ำจนหมดแรงนอนระเนนเป็นพัน ๆ คน  พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่จะพารี้พลผ่านอุปสรรคด่านสำคัญนี้ไปได้ออย่างไร หรือไม่   ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสทอไท เมืองสุโขทัย
๒๙ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กรกฎาคม, 2563, 10:40:40 PM
(https://i.ibb.co/n3vHLCh/Untdscitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๗ -

ข้ามเขาม้าเผ่นไปได้อย่างยาก
แล้วพบซากทัพไทยได้ช้างหลาย
ญวนบอกเล่าทัพก่อนนั้นพากันตาย
เพราะมุ่งหมายข้ามโขงตรงนี้เอง

ทัพไทยพบญวนต่างเตรียมตั้งสู้
“ทุ่งชมพู”ราบโล่งไม่โหวงเหวง
มากรี้พลม้าช้างไม่วังเวง
ต่างลั่นเพลงรบกันสนั่นไป


           อภิปราย ขยายความ ..........................

           ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่กองทัพวังหน้านำพารี้พลขึ้นเขาม้าเผ่นเพื่อจะยกข้ามไปข้ามแม่น้ำโขงตรงท่าเมืองลาว  เดินขึ้นถึงลานกว้างกลางเทือกเขาจึงหยุดพักทัพ  พระยาราชโยธารายงานว่าเชลยญวน ๔๒๖ คนที่จับได้และพามาด้วยนั้น  เห็นแสงไฟจากกองทัพใหญ่ญวนตามมาไกล ๆ  จึงมีปฏิกิริยาจะก่อการจลาจลหนีลงเขาไปหาทัพใหญ่ญวน  จึงขออนุญาตแม่ทัพใหญ่ฆ่าญวนทิ้งไปเสียทั้งหมด  พระยามณเฑียรบาลให้ใช้ดินดำคลอกญวนเสียทั้งหมด  แต่พระยาราชโยธาว่าไม่ต้องคลอกให้ตาย  เสียดายดินดำของหลวง  จึงขอใช้วิธีการของท่านเอง  คือใช้เชือกผูกมือล่ามติดกัน  แล้วจูงเดินตามกันเป็นแถวเป็นพรวนเลียบเลาะไปตามปากเหว  เมื่อถึงที่ทำเลเหมาะแล้ว  จึงผลักคนต้นเชือกให้ตกลงเหว  ดึงคนกลางเชือกปลายเชือกตกลงไปตายทั้งหมด  เมื่อยกพลเดินทางลงไม่ทันถึงตีนเขา  ไพร่พลที่ไม่ได้ดื่มน้ำมานานถึงหนึ่งคืนหนึ่งวันจึงหิวกระหายโหยละเหี่ยอ่อนเพลีย  พากันล้มลงนอนหมดแรงนับพันคน  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

            “ฝายพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ได้ทราบว่า  ไพร่พลอดน้ำอ่อนเปลี้ยละเหี่ยเดินไม่ไหวดังนั้นแล้ว  จึงให้นายทัพนายกองไปประกาศแก่ไพร่พลทั้งหลายที่กระหายน้ำนั้นว่า

(https://i.ibb.co/pPxxDLc/143041.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เดิมบิดาของเราเล่าให้ฟังว่า  เมื่อครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง (คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)  นั้น  บิดาเราเป็นนายทัพโดยเสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชสงคราม  ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทัพหลวงมาทำศึกกับญวนแต่ก่อนนั้น  ได้เดินกองทัพมาทางนี้  ถึงที่เขาม้าเผ่นตำบลนี้  ก็ได้ข้ามเขานี้ไปลงยังเชิงเขาด้านตะวันออก  เชิงเขาด้านตะวันออกนั้นมีป่าต้นมะเฟืองเต็มไปทั้งเชิงเขา  ในฤดูเดือนนี้กำลังมะเฟืองกำลังมีผลแก่ห่ามและอ่อนดกระย้าห้อยเป็นพวง  ผลสุกห่ามงามดีพ้นที่จะรำพัน  ถ้าท่านทั้งหลายมีความอุตสาหะแข็งใจดำรงกายเดินลงไปถึงเชิงเขาข้างนี้ที่เรามาหยุดพักเสียกลางทางนั้น  ถึงเชิงเขาแล้วก็จะได้ประสบพบเห็นป่ามะเฟืองที่มีผลต่าง ๆ อย่างเราพรรณนาว่ามาแล้วนั้น  เราท่านทั้งหลายก็จะได้บริโภคผลมะเฟืองที่สุกห่ามตามปรารถนา  จะได้ขบเคี้ยวเล่นเป็นการสำราญบันเทิงเริงรื่นยิงนัก”

            เมื่อรี้พลกองทัพที่นั่งนอนอ่อนละเหี่ยแดดกระหายน้ำนั้น  ครั้นได้ยินเสียงนายทัพมาร้องประกาศอวดอ้างถึงชื่อผลมะเฟือง  ซึ่งเป็นของเปรี้ยวดังนั้นแล้ว  ก็มิอาจกลั้นน้ำลายไว้ได้  มีเขฬะไหลหลั่งอกมาจากชิวหาประสาท  โดยอำนาจที่ออกชื่อส้มมะเฟืองแล้ว  ก็มีน้ำลายไหลออกมากลั้วคอพอชุ่มชื่นมีแรงเป็นกำลัง  ปะทะปะทังกายเดินลงจากไหลเขามาได้โดยปกติ  จนตลอดถึงเชิงเขาข้างล่างด้านตะวันออกได้ในเวลาบ่าย ๕ โมง  ก็หาเห็นป่ามะเฟืองไม่  ได้พบแต่น้ำพุและน้ำในลำธารเป็นที่อาศัยแก่ไพร่พลได้รับประทานเป็นสุข  รอดจากความตายได้ทั้งสิ้นด้วยกัน

(https://i.ibb.co/0h7v2Y3/002-2-700x467.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้งนั้นมิได้หยุดพักพลให้นอนที่เชิงเขาไม่  เดินทัพเป็นลำดับต่อมาในเวลากลางคืน  พอสว่างถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง  เขมรนำทางเรียกว่า ”ไพรธม”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ป่าใหญ่)  กำลังผลไม้ในป่าใหญ่นั้นมีผลออกดกอุดมไปต่าง ๆ หลายอย่าง  จึงพักพลหยุดกองทัพที่ป่าใหญ่  ให้ไพร่พลเก็บผลไม้รับประทานพักนอนครู่หนึ่ง  พอเวลาบ่ายลมตกก็ให้เดินกองทัพต่อไป  ออกจากป่าใหญ่เดินมาตามป่าละเมาะต่อมาถึงริมขอบทุ่งชายป่า  เป็นทางใกล้จะถึงท่าข้ามฝั่งแม่น้ำโขง  ที่นั้นเขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “ไพรกำพงฉลอง”  (แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า  ทุ่งชายป่าท่าข้าม)  กองทหารพระยาราชโยธาเป็นทัพหน้าเห็นช้างพลายพังติดปลอกบ้างไม่ได้ติดปลอกบ้าง  ปล่อยเที่ยวเดินกินหญ้าอยู่ในป่าบ้างตามท้องทุ่งบ้าง  ประมาณช้างห้าสิบเศษ  ไม่เห็นมีผู้คนพิทักษ์รักษาก็เข้าใจว่า   “คงจะเป็นช้างของเขมรหรือญวนข้าศึกเป็นแน่  แต่เจ้าของมันจะแอบซุ่มเสียที่ใดเป็นมั่นคง  หรือมันจะทำเป็นกลอุบายดังเช่นปล่อยม้าอุปการ  ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น  ก็สู้กันเป็นไรมีกลัวอะไรแก่มัน”

(https://i.ibb.co/bLLS1Wb/view-resizing-images.jpg) (https://imgbb.com/)

            พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งพระยาศาสตราฤทธิรงค์ให้คุมไพร่พล ๕๐๐  ยกไปตามจับช้างพลายพังมาให้ได้  แต่ให้แต่งกองร้อยคอยเหตุข้าศึกจะตามมาตีเรา  และให้ซุ่มซ่อนอยู่ในทิศานุทิศ  สุดแท้แต่อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึกได้แล้วเป็นการดี  ฝ่ายพระยาศาสตราฤทธิรงค์คุมไพร่พลออกล้อมจับช้างที่ปล่อยอยู่ตามชายป่าและท้องทุ่งนั้นได้ ๔๖ ช้าง  ที่เป็นช้างไม่ติดปลอกและเป็นช้างเปลี่ยวก็หนีเข้าไปในป่าสูญเสียบ้างสัก ๘ ช้าง ๙ ช้าง  หาได้ไม่  เมื่อจับช้าง ๔๖ เชือกมาได้แล้ว  ไพร่พลในกองทัพไทยบางคนก็จำช้างเหล่านั้นได้บ้างว่า  พลายนั้นพังนี้เป็นช้างในกองทัพพระยานครสวรรค์  เมื่อยกมาจากเมืองเขมรเดินมาจะข้ามแม่น้ำโขงนั้น  พร้อมกันทั้งทัพวังหน้าและทัพพระยานครสวรรค์  เหตุนั้นพวกไพร่พลในกองทัพวังหน้าจึงจำช้างในกองพระยานครสวรรค์ได้  พระยาราชโยธาจึงว่า   “ถ้าเช่นนั้น  เห็นทัพพระยานครสวรรค์จะเสียแก่ญวนเสียแล้วแน่”

(https://i.ibb.co/c8RTStw/Unti52tled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้งนั้นพอเวลาสายประมาณ ๓ โมงเศษ  ญวนผู้เลี้ยงช้างมันก็ถือขอช้างเดินตามกันมาเป็นแถวจากป่าออกมาที่ทุ่ง  เพื่อมันจะมาตามช้างของมัน ฝ่ายไทยเห็นดังนั้นจึงยกทัพม้า ๖๐ ม้าออกอ้อมไล่ญวน  แล้วไสช้างเข้าโอบหลังไว้  ทั้งม้าช้างเข้าล้อมไล่จับได้ญวนควาญช้าง ๒๖ คน  ที่หนีสูญไปได้ประมาณ ๓๐ คนเศษ  เพราะมันเห็นแต่ไกลมันก็หนีไปตามซอกห้วยหลืบเขาตามตัวหาได้ไม่  พระยาราชโยธาสั่งให้หลวงประจญปัจจามิตรพาพวกญวน ๒๖ คน  ไปมัดมือมัดเท้าโยงกับหลักแยกห่าง ๆ กัน  เฆี่ยนถามได้ความว่า

(https://i.ibb.co/WfcHGbH/Untitlddded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

             “กองทัพพระยานครสวรรค์แม่ทัพไทยล่าถอยมาจากเมืองไซ่ง่อน  เดินทัพมาจะข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าข้ามตรงนี้  ได้รบกับญวน  ญวนฆ่าไทยตายประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ  แต่ไพร่พลนายทัพนายกองไทยก็ตายหมดประมาณ ๕๐ คน  ญวนฆ่าไทยทั้งนายและไพร่ไม่เหลือเลย  แล้วบอกไปยังแม่ทัพใหญ่ที่ตั้งอยู่แม่น้ำน้อย  แม่ทัพใหญ่ที่แม่น้ำน้อยโกรธองตานแม่ทัพแม่น้ำโขงว่า  ฆ่ากองทัพพระยานครสวรรค์เสียหมดทั้งนายและไพร่ ๑,๐๐๐ เศษ  ไม่จับเป็นส่งไป  จะได้ไต่ถามข้อราชการบ้าง  จึงใช้ให้องเกี้ยวดายขุนนางกรุงเว้มาเป็นแม่ทัพที่แม่น้ำโขงแทนองตาน   ส่วนแม่ทัพเก่า ๆ นั้นเรียกให้กลับขึ้นไปเสียยังแม่น้ำน้อยก็ได้ทำโทษเสียแล้ว  จะฆ่าเสียหรือส่งไปไว้ในคุกยังเมืองเว้หาทราบไม่  บัดนี้องเกี้ยวดายแม่ทัพใหม่คุมไพร่พลญวน ๘,๐๐๐  ยกไปตั้งรออยู่ที่ฟากฝั่งแม่น้ำโขงข้างเหนือ  คอยสกัดกองทัพไทยที่จะล่าทัพเดินมาข้ามตรงนี้  ญวนจะได้ตีให้เหมือนกับทัพพระยานครสวรรค์นั้นอีก  แต่ว่าช้างนี้เป็นช้างของไทยที่ตายหมด  ญวนตีได้ ๘๔ ช้าง  แบ่งไปเลี้ยงฝั่งแม่น้ำโขงฟากตะวันออกโน้นบ้าง  แบ่งให้พวกข้าพเจ้ามาเลี้ยงที่นี่บ้าง ๕๔ ช้าง  ไทยจับมาได้ ๔๖ ช้าง  ที่หนีเข้าป่าไปเสีย ๘ ช้าง  พวกที่เลี้ยงช้างหนีไปได้นั้น ๓๘ คน  ทั้งนายกองช้าง ๒ คนก็หนีไปได้  แต่พวก ๓๘ คนที่หนีไปได้นั้นเห็นจะไม่กลับบ้านเมือง  เพราะอาชญาญวนดุร้ายยิ่งหนัก  ตายเสียดีกว่าจะให้นายทำโทษ  ทำโทษแล้วลำบากทรมานต่าง ๆ กว่าจะตายแสนเวทนายิ่งนัก  ถึงพวกที่เลี้ยงช้างอย่างข้าพเจ้านี้  หรือพวกที่หนีไปได้ ๓๘ คนนั้น  บุตรภรรยาบิดามารดาพวกข้าพเจ้าเหล่านี้  ต้องที่ตายหมดไม่เหลือ  ขอท่านจงเมตตาอย่าฆ่าพวกข้าเจ้านี้เลย  ข้าพเจ้าจะได้นำท่านไปจับช้างอีก ๘ ช้างที่หนีเข้าป่าให้ได้ทั้งหมด”

            สิ้นคำให้การญวน ๒๖ คนเท่านี้  พระยาราชโยธาได้ทราบคำให้การญวนดังนั้นแล้วจึงว่า   “เราจะไปตามจับช้าง ๘ ช้างนั้น  เหมือนจะให้ญวนมาฆ่าพวกเราเสียหมดทั้งกองทัพ  เล่ห์กลญวนมากนัก  ชั้นแต่คนไพร่เลี้ยงช้างก็ยังมีกลอุบายล่อลวงให้เราไปตามช้างในป่า  มันจะให้เราอยู่ที่นี้ช้า ๆ  ให้พวกมันมาฆ่าพวกเราเป็นแน่”

(https://i.ibb.co/ZxKrCVx/Untitddrled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

            พูดเท่านั้นแล้วสั่งให้ขุนปราบไพรีพาพวกญวน ๒๖ คนไปฆ่าเสียเดี๋ยวนี้  แล้วให้ตัดศีรษะเสียบไว้ตามชายป่านี้  ให้เป็นอำนาจแก่แม่ทัพไทยที่ยกไปจากที่นี่  ฆ่าญวน ๒๖ คนแล้ว  จึงสั่งให้เตรียมทัพให้พร้อมทุกกอง  จะยกลงไปรบกับญวน  แล้วจึงยกทัพออกจากชายป่า  ยกลงไปยังท้องทุ่งนี้  สั่งให้ตั้งค่ายไม้ไผ่พอจะได้รับทัพญวนบ้าง  ได้ตั้งค่ายไม่ไผ่ที่ท้องทุ่งนั้นเขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “วาละแสด”  (แปลเป็นภาษาไทย  ทุ่งชมพู)  เพราะดินที่ที่ท้องทุ่งนั้นแดงทั้งสิ้น  ถึงท้องทุ่งชมพูแล้วกองทัพไทยกำลังไปตัดไม้ไผ่จะมาทำค่ายบ้าง  กำลังทำงานกะที่ทางจะตั้งค่ายบ้าง

(https://i.ibb.co/Sn5YWfQ/Untirstled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            พอหลวงเดชอัศดรนายทัพม้าคุมทหารม้า ๕๐ ม้าไปสืบทัพญวนกลับมาแจ้งความว่า      “ได้เห็นญวนตั้งชุมนุมใหญ่อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้าม  มีรี้พลช้างม้ามาก”    เมื่อหลวงเดชอัศดรกำลังพูดอยู่นั้น  ยังไม่ทันจะสิ้นข้อความลง   พอหลวงไชยเสนีกับหลวงภักดีโยธาไปลาดตระเวนถึงชายป่ากลับมาแจ้งความว่า

             “เห็นญวนยกทัพใหญ่มาเต็มทั้งท้องทุ่งแล้ว  รี้พลช้างม้าและพลเดินเท้ามากมายนัก  เราจะรับมันที่นี่เห็นจะไม่ได้”

(https://i.ibb.co/sKWY16V/Untieertled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            พระยาราชโยธาว่า    “ทำไมจะไม่ได้  เราพบมันที่ไหนก็จะรบมันที่นั่น  พวกไทยเราเว้ยอย่ากลัวญวนหนักเลย  เลือดเนื้อญวนไม่ใช่เหล็ก  มันกับเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน  พอสู้กับมันได้ดอกอย่ากลัวมันเลย  ให้ตั้งใจคิดถึงคุณพระรัตนตรัยและคุณพระมหากษัตริย์  คุณบิดามารดาครูบาอาจารย์  แล้วจงตั้งหน้าสู้ให้เต็มฝีมือสักพักหนึ่งหรือสองพัก  ญวนก็จะแตกหนีไปหมด  จะสู้พวกไทยที่ไหนได้เล่า  แต่ฝีมือพม่ากล้าหาญแข็งแรงกว่าญวน  พม่ายังสู้พวกไทยไม่ได้  ครั้งทัพปากแพรกและลาดหญ้าพม่ายังแตกไปหมดไม่ใช่ฝีมือพวกเราหรือ?  ทำไมกับฝีมือญวนอ่อน ๆ เราตีเสียพักเดียวก็จะแตกไปสิ้น”......

(https://i.ibb.co/1rJqmFg/Untxditled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

            ** พระยามณเฑียรบาลท่านมีวิธีการชาญฉลาด  สามารถนำป่ามะเฟืองมาทำให้ไพร่พลกลืนกินน้ำลายจนมีกำลังวังชาเดินลงจากเขาม้าเผ่นได้  นับเป็นกุศโลบายที่ดีมาก  ข้ามพ้นเทือกเขาม้าเผ่นมาได้ด้วยความลำบาก  แทนที่จะข้ามแม่น้ำโขงได้อย่างสะดวกสบาย  กลับมาพบอุปสรรคสำคัญกีดวางอยู่  คือกองทัพอันมหึมาของญวนที่องเกี้ยวดายเป็นแม่ทัพ  คุมไพร่พล ๘,๐๐๐ คน  มาตั้งดักรออยู่  ตอนนี้ทัพระยาราชโยธากองหน้า  พบกองทัพญวนในกลางทุ่งชมพูแล้ว  จะรบกันจนเลือดแดงฉานท่วมท้องทุ่งหรือไม่   รออ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ เมษายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กรกฎาคม, 2563, 10:29:48 PM
(https://i.ibb.co/Bfr0JMz/r-8b-VEd-DV8.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๙๘ -

กองหน้าไทยไสช้างเข้ากลางทุ่ง
แล้วรบพุ่งญวนผยองมากองใหญ่
ถูกกองซุ่มแปดร้อยตำรวจไทย
ยิงปืนไล่ตายเกลื่อนทุ่งชมพู

กองช้างไทยไล่แทงอย่างแข็งขัน
ทัพญวนนั้นยับย่อยถอยไม่สู้
ไทยกำลังไล่ฟันแทงพันตู
หยุดเมื่อรู้ญวนใหญ่ยกตามมา


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่.. พระยามณเฑียรบาลใช้กุศโลบายนำพาไพร่พลยกลงจากภูเขาม้าเผ่นได้โดยสวัสดิภาพ  เดินทางมาใกล้จะถึงท่าข้ามแม่น้ำโขงเมืองลาว  พบฝูงช้างในกองทัพพระยานครสวรรค์ที่ญวนจับได้เลี้ยงไว้จำนวนหนึ่ง  ทราบจากญวนเลี้ยงช้างที่จับได้ว่า  กองทัพพระยานครสวรรค์ยกมาจะข้ามแม่น้ำโขงตรงท่าข้ามนี้  แล้วได้รบกับกองทัพญวน  ถูกญวนฆ่าตายสิ้นทั้งกองทัพแล้ว  พระยาราชโยธาแม่ทัพกองหน้ายกเดินออกจากชายป่าถึงทุ่งชมพู  พบทัพใหญ่ญวนยกมา  จึงเตรียมตั้งหลักสู้รบญวนที่กลางทุ่งชมพูนั้น  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ......

(https://i.ibb.co/HK99vr3/Zama-350.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระยาราชโยธาพูดกับนายทัพนายกองเท่านั้นแล้ว  จึงสั่งพระคชภักดีให้เป็นแม่ทัพช้าง  ให้คุมไพร่พล ๕๐๐  ยกกองช้างออกจากป่าไปรับกับญวนที่ท้องทุ่งก่อน  แล้วสั่งกองทัพตำรวจสี่กรมเป็นไพร่พลถึง ๘๐๐  ให้กองตำรวจถือปืนคาบศิลายกไปนอนแอบอยู่ตามคันนา  คอยยิงกองทัพญวนให้แตกไปให้ได้  แล้วพระยาราชโยธาก็ขึ้นม้านำทหารม้า ๑๐๐ ม้าเศษ  ไปยืนม้าไล่ต้อนทัพตำรวจให้เข้ารบกับญวน  ญวนก็ยกทัพใหญ่มาถึงท้องทุ่ง  ได้ปะทะกันกับกองช้างพระยาวิชิตภักดี  พระยาวิชิตภักดีให้พระคชภักดีขี่ช้างไล่ต้อนพลทหารช้างเข้าสู้กับญวนครึ่งวัน  ฝายญวนแบ่งกองทัพวกอ้อมเดินมาตามชายทุ่ง  จะเข้าตีทัพช้างข้างหลัง  กองทัพตำรวจแอบคันนาเห็นทัพญวนกองเดินเท้ายกมาใกล้คันนา  กองตำรวจก็ลุกขึ้นยิงปืนระดมไปดังห่าฝน  ถูกไพร่พลญวนตายมากที่เหลือตายทนกระสุนไม่ได้ก็แตกถอยล่ากลับไป  ญวนและไทยตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ฝ่ายญวนตายมาก  พอเวลาเย็น  ทัพช้างฝ่ายไทยก็ยกไล่ทัพช้างฝ่ายญวน  ญวนจึงเสียที  ก็ล่าหนีถอยทัพข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งฟากตะวันตกได้มาก

(https://i.ibb.co/r2nwnhN/Untaditled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายกองทัพพระยาวิชิตภักดีจึงไล่ต้อนพลทหารช้างให้แทงกองทัพญวนล้มตายตามทางท้องทุ่งตลอดไปถึงฝั่งแม่น้ำโขงท่าข้าม  ญวนก็ยกทัพข้ามแม่น้ำโขงไปหมด  ทัพช้างกองพระยาวิชิตภักดี  ก็แบ่งให้พระวิชิตภักดีข้ามแม่น้ำโขง  ไล่ติดตามญวนไปจนฝั่งฟากข้างโน้น  ขณะนั้นพอม้าเร็วนำหนังสือบอกของพระยาณรงค์วิไชยนายทัพหลังส่งมาแจ้งความว่า      “ญวนที่ค่ายแม่น้ำน้อยยกกองทัพใหญ่ติดตามมาข้างหลังกองทัพไทย”      พระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ได้ทราบความตามหนังสือบอกดังนั้นแล้ว  จึงสั่งขุนเจนใจหาญให้ขึ้นม้าเร็วถือต้นหนังสือบอกข่าวทัพญวนมาข้างหลังนั้นไปให้พระยาราชโยธา  พระยาราชโยธาทราบแล้ว  จึงให้ขุนเจนใจหาญกับหลวงปราบไพรินทร์ขึ้นม้ารีบไปบอกพระยาวิชิตภักดีกองช้างที่ตามญวนไปนั้น  ให้ถอยทัพกลับมาโดยเร็ว  เพราะญวนทัพใหญ่มาข้างหลังเรามาก  พระยาวิชิตภักดีก็กลับมาที่ประชุมทัพพร้อมกันที่ทุ่งชมพูแล้ว

(https://i.ibb.co/TkN7f2x/1431526946-image-o350.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่  จึงมีคำสั่งพระยาราชโยธานายทัพกองหน้า  และพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองทั้งปวง  ให้เดินกองทัพเลียบริมฝั่งลำแม่น้ำโขงไปข้ามที่ท่าข้ามใกล้เขตแดนเมืองนครจำปาศักดิ์ลาว  เห็นจะดีกว่าที่จะข้ามทางเมืองเขมร  เมืองเขมรนั้นเป็นทางใกล้ ตรง ก็จริง  แต่กองทัพเราจะต้องเป็นศึกกระหนาบ  อีกประการหนึ่งเล่าฝ่ายกองเราก็ไม่ทราบว่ากองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาจะแตกเสียแก่ญวนแล้ว  หรือว่าถอยทัพกลับไปได้ประการใดก็ยังไม่ทราบการตลอดแน่ได้  กลัวทัพเจ้าพระยานครราชสีมาจะเป็นเหตุร้ายเช่นทัพพระยานครสวรรค์  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้วไซร้  ทัพเราไปทางเมืองเขมรก็เห็นจะพลอยเสียลงด้วยกันเป็นสามทัพ

(https://i.ibb.co/5WP7HCj/Untidfdled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วพระยามณเฑียรบาลสั่งให้กองทัพตำรวจทั้งแปดกองเป็นทัพแซง
           ให้กองพระพรหมธิบาลเป็นทัพแซงขวา
           ให้กองพระอินทร์ธิบาลเป็นทัพแซงซ้าย
           แล้วสั่งกองทัพตำรวจทุกกองนั้น  ให้อยู่ในกองพระพรหมธิบาลและพระอินทร์ธิบาลทั้งสิ้น
           แล้วสั่งให้พระยาสุรินทร์ราชเสนี  กับพระยาสุเรนทร์ราชเสนา  คุมพลทหาร ๕๐๐ ยกไปทางเมืองลาว ให้รีบเดินทัพไปสืบข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพหลวงนั้นจะไปตั้งอยู่ที่ใดแน่  จะเสียทัพแก่ญวนหรือจะกลับกรุงเทพฯ แล้ว  ถ้าสืบไม่ได้ความให้เดินทัพไปจนถึงเมืองสุรินทร์เมืองสังขะ  แล้วจะได้ถ่ายเสบียงบรรทุกโคต่างลำเลียงส่งมาให้กองทัพพระยาราชโยธาให้ได้ในเดือนนี้

           ฝ่ายพระยาสุรินทร์ราชเสนี  พระยาสุเรนทร์ราชเสนา  ทั้งสองทัพไปด้วยกันสักหน่อยก็แตกความสามัคคีร้าวฉาน  เกิดการทะเลาวิวาทถกเถียงกันขึ้นในกลางทาง  จึงโกรธกันขึ้นแล้วต่างคนต่างแยกย้ายทางไป  ไม่ได้เดินทัพไปทางเดียวกัน  แบ่งคนไปกองละ ๒๕๐ คน
           ฝ่ายกองทัพพระยาสุเรนทร์ราชเสนารีบเดินไปจนถึงเมืองอัตปือ  สืบถามลาวเขมรชาวเมืองนั้นได้ความว่า  เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาดฝ่ายเขมรแล้ว  และบัดนี้เกือบจะกลับทัพไปกรุงเทพฯ อยู่แล้ว  จึงให้ขุนเพชรพลไชยขึ้นม้าคุมไพร่พล ๕๐ มาแจ้งความยังทัพพระยามณเฑียรบาล

(https://i.ibb.co/h9xwqmV/Untitle-d-6.jpg) (https://imgbb.com/)

           แต่กองทัพพระยาสุรินทร์ราชเสนีนั้นเดินทัพไปช้า ๆ  ถ้าถึงบ้านใดเมืองใดก็ให้พักพลหยุดพัก  แล้วเที่ยวหาบุตรหญิงลาวและเขมรตามทางไปทุกเมือง ได้มาเป็นภรรยาพักไปตามทาง  พวกเขมรป่าดงขัดใจยิ่งนัก  ลอบมานำหน้าไม้ยิงถูกที่อกพระยาสุรินทร์ราชเสนีตกช้างลงมาตาย  ที่ตำบลนั้นเขมรเรียกชื่อว่า “สรกกูบดำรีเนากะนงไพรซอง” (แปลเป็นภาษาไทยได้ความว่า  ชื่อบ้านกูบช้างอยู่ในป่าดง)  เกือบจะถึงเมืองธานีฝ่ายลาวเขมรป่าดงอยู่แล้ว

           ครั้งนั้นหลวงราชเดชาลูกกองจึงปรึกษากับพระยาโยธาสงครามเขมรเก่าอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นลูกกองไปด้วยกันนั้นว่า      “พระยาสุรินทร์ราชเสนีแม่กองมาตายเสียตามทางอย่างนี้แล้ว  เราจะคุมไพร่พลกลับไปหาพระยามณเฑียรบาลแม่ทัพใหญ่ดี  หรือว่าจะไปสืบราชการให้ถึงเมืองสุรินทร์จึงจะดี”

           ฝ่ายพระยาโยธาสงครามตอบว่า      “แม่ทัพนายกองมาตายเสียกลางทางดังนี้  ชอบที่เราจะคุมไพร่พลไปสืบราชการให้ถึงเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่จึงจะชอบด้วยราชการ”

           หลวงราชเดชาตอบว่า      “ซึ่งเราจะไปเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะนั้นหาควรไม่  ควรแต่จะต้องกลับไปแจ้งข้อราชการให้แม่ทัพใหญ่ทราบความเสียก่อนจึงจะชอบด้วยราชการ”

(https://i.ibb.co/c6V4dqg/Untitl89ed-25-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ซึ่งปรึกษาราชการนั้นไม่ตกลงแก่งแย่งกันดังนี้แล้ว  ก็เกิดวิวาทแตกร้าวสามัคคีกันอีกชั้นหนึ่ง  จึงต้องแบ่งไพร่พลออกเป็นสองกอง  กองละ ๑๒๕ คน  พระยาโยธาสงครามก็คุม ๑๒๕ คนเดินไปสืบราชการยังเมืองลาวเขมรป่าดงตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่  ฝายหลวงราชเดชาก็คุมไพร่พล ๑๒๕ คนเดินกลับย้อนทางมาหาท่านแม่ทัพใหญ่  แต่ยังไม่ถึงแม่ทัพใหญ่ยังกำลังเดินอยู่กลางป่า  ฝ่ายไพร่พล ๑๒๕ คนนั้นกลัวว่าเดินกลับไปจะพบทัพญวน  ทัพญวนจะฆ่าตายเปล่า ๆ เพราะคนน้อยนัก  ไพร่พลในกองไม่เต็มใจไปด้วยหลวงราชเดชา  ไพร่จึงพากันหนีกลับมาตามกองทัพพระยาโยธาสงคราม  พระยาราฃสงครามได้พลไพร่มากแล้วก็เดินไปถึงเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะ

(https://i.ibb.co/D9RKz2M/Untit98led-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายหลวงราชเดชามีคนที่สนิทติดตามไปด้วยนั้น ๔๖ คน  ก็อุตสาหะเดินมาตามทางป่า  แต่ยังไม่ทันจะข้ามแม่น้ำโขง  ขณะนั้นพบเขมรป่าดง  เขมรป่าดงพูดว่า      “อ้ายไทยพวกนี้แหละมันฉุดบุตรภรรยาของพวกเราไปทำชำเราเนือง ๆ  เราอย่าไว้ชีวิตพวกไทยเลย”     พวกเขมรป่าดงพูดเท่านั้นแล้ว  ก็ขี่กระบือและช้างบ้างยกเข้าล้อมไทย  เขมรนำปืนยิงถูกพวกหลวงราชเดชาตาย ๔๐ คน  แต่หลวงราชเดชานั้นเขมรจับไปได้ทั้งเป็น  นำขวานผ่าอกตายในที่นั้น  ไพร่พลในกองหลวงราชเดชาเหลือตายหกคน  หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่า  แต่พอพวกเขมรเหล่าร้ายไปหมดแล้ว  พวกไทยหกคนพากันเดินมาหาพระยาราชโยธาได้  จึงได้แจ้งความตามเหตุที่เกิดขึ้นแต่ต้นจนปลายนั้นแล้ว  (หลวงราชเดชาและพวกไพร่ไทย ๔๐ คนที่ตายนั้น  ต้องกับคำไทยโบราณว่า      “คบคนดีเป็นศรีกับตัว  คบคนชั่วอัปราชัย”      ความข้อนี้ได้แก่หลวงราชเดชาคนดีไปคบกับพระยาสุรินทร์ราชเสนีคนชั่วเช่นนั้น  หลวงราชเดชาจึงพลอยตายไปด้วย)........”

(https://i.ibb.co/pLCZFTv/Untit125led-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** กลยุทธพระยาราชโยธาแม่ทัพหน้าของกองทัพวังหน้าใช้ได้ผลดียิ่ง  กองทัพญวนที่ยกมาเต็มท้องทุ่งชมพู  ครั้นปะทะกับกองทัพของพระยาราชโยธา  ช้างต่อช้างสัประยุทธ์กันในทุ่งกว้างนานเป็นครึ่งวัน  พอพลญวนดินเท้ายกอ้อมหมายตีตรลบหลังกองช้างไทย  กองกำลังตำรวจแปดร้อยนายที่แอบซุ่มอยู่ตามคันนา  ก็ลุกขึ้นยิงปืนระดมใส่ญวนตายเป็นใบไม้ร่วง  ต้องรีบถอยหนีกลับไปสิ้น  กองช้างไทยเห็นได้ทีก็ไล่แทงทั้งช้างทั้งคนแตกกระเจิงหนีลงน้ำข้ามโขงไป  กองช้างก็ข้ามน้ำตามไล่แทงไม่ลดละ  พอดีพระยามณเฑียรบาลได้รับหนังสือด่วนบอกมาจากกองระวังหลังว่า  ทัพใหญ่ญวนจากแม่น้ำน้อยกำลังยกตามมาแล้ว  จึงสั่งให้ทัพไทยกองหน้าถอยกลับมาก่อน  แล้วตกลงเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพไปข้ามที่นครจำปาศักดิ์  ให้พระยาสุรินทร์ราชเสนี  พระยาสุเรนทร์ราชเสนา  ยกข้ามไปก่อน  แล้วสืบข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ทั้งให้ขนถ่ายเสบียงอาหารจากเมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  มาใส่ทัพพระยาราชโยธาด้วย  แต่พระยาทั้งสองเกิดแตกคอกันกลางทางจนต้องแยกทางกัน  พระยาสุเรนทร์ราชเสนาไปถึงเมืองอัตปือ  ได้ข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้วส่งรายงานแม่ทัพวังหน้า  ส่วนพระยาสุรินทร์ราชเสนี เดินทางไปสุรินทร์ทำตัวไม่ดี  ถูกเขมรป่าดงใช้หน้าไม้ยิงตกหลังช้างตายกลางทาง  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ไว้มาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, สิงหาคม, 2563, 10:19:26 PM
(https://i.ibb.co/zs4z7kG/quan-36-mongco.jpg) (https://imgbb.com/)


- อานามสยามยุทธ ๙๙ -

เดินทัพมุ่งจำปาศักดิ์ไม่พักท้อ
พบโจรฮ่อนับร้อยเหมือนคอยท่า
รอถลักดักปล้นทั้งคนม้า
เคยปล้นฆ่ามามากจากเมืองพวน

กองทัพหน้าจับไว้ได้ทั้งสิ้น
โจรพลัดถิ่นถูกตัดมือตีนด้วน
ปล่อยตามทางกลางไพรไว้ขู่ญวน
แล้วขบวนทัพไทยพ้นภัยพาล

          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒  ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น  โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน  ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  กองทัพญวนยกมาเต็มท้องทุ่งชมพู  ปะทะกับกองทัพของพระยาราชโยธา  ช้างต่อช้างสัประยุทธ์กันในทุ่งกว้างนานเป็นครึ่งวัน  พอพลญวนดินเท้าวกอ้อมหมายตีตรลบหลังกองช้างไทย  กองกำลังตำรวจแปดร้อยนายที่แอบซุ่มอยู่ตามคันนา  ก็ลุกขึ้นยิงปืนระดมใส่ญวนตายเป็นใบไม้ร่วง  ต้องรีบถอยหนีกลับไปสิ้น  กองช้างไทยเห็นได้ทีก็ไล่แทงทั้งช้างทั้งคนแตกกระเจิงหนีลงน้ำข้ามโขงไป  กองช้างก็ข้ามน้ำตามไล่แทงไม่ลดละ  พอดีพระยามณเฑียรบาลได้รับหนังสือด่วนบอกมาจากกองระวังหลังว่า  ทัพใหญ่ญวนจากแม่น้ำน้อยกำลังยกตามมาแล้ว  จึงสั่งให้ทัพไทยกองหน้าถอยกลับมาก่อน  แล้วตกลงเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพไปข้ามที่นครจำปาศักดิ์  ให้พระยาสุรินทร์ราชเสนี  พระยาสุเรนทร์ราชเสนา  ยกข้ามไปก่อนแล้วสืบข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ทั้งให้ขนถ่ายเสบียงอาหารจากเมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  มาใส่ทัพพระยาราชโยธาด้วย  แต่พระยาทั้งสองเกิดแตกคอกันกลางทางจนต้องแยกทางกัน  พระยาสุเรนทร์ราชเสนาไปถึงเมืองอัตปือ  ได้ข่าวทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้วส่งรายงานแม่ทัพวังหน้า  ส่วนพระยาสุรินทร์ราชเสนีเดินทางไปสุรินทร์ทำตัวไม่ดี  ถูกเขมรป่าดงใช้หน้าไม้ยิงตกหลังช้างตายกลางทาง  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......

           ฝ่ายพระยาราชโยธาทัพกองหน้าเดินทัพถอยไปทางป่าตะวันออก  แต่กองทัพใหญ่และทัพหนุนทั้งปวงจึงเดินตามทัพหน้าเป็นลำดับไป  ครั้งนั้นทัพพระยาราชโยธาเดินรีบรุดไปก่อน  จึงพบพวกจีนฮ่อกองโจรป่าตั้งอยู่กลางดงไม้หอม  พวกจีนฮ่อเห็นทัพม้ากองหน้าของพระยาราชโยธาเดินมาก่อน ๖๐ ม้า  น้อยกว่าพวกจีนฮ่อ  พวกจีนฮ่อก็ยกเข้าต่อสู้  ไทยกับจีนฮ่อได้ต่อสู้รบกันตั้งแต่เวลาย่ำรุ่งจนถึงสามโมงเช้ายังไม่แพ้ชนะกัน  

          ขณะนั้นพอกองหลวงอภัยภักดีคุมไพร่พลกองแก้วจินดาถือปืนหามแล่นร้อยเศษยกลงไปถึง  จึงเห็นกองม้าเข้าต่อสู่อยู่กับพวกจีนฮ่อเป็นสามารถ  หลวงอภัยภักดีเห็นทหารม้าไทยตายบ้าง  จึงไล่ต้อนไพร่พลร้อยเศษ  ให้นำปืนหามแล่นวิ่งเข้าไปตั้งเป็นตับยิงพวกจีนฮ่อพักเดียว  พวกจีนฮ่อล้มตายลงมาก  ที่เหลือก็แตกหนีไป  ทหารก็ไล่ล้อมตามจับได้มาก  พวกจีนฮ่อหนีไปไม่รอดสักคนเดียว  กองทัพม้าและพลเดินเท้าตามจับพวกจีนฮ่อมาได้ ๒๑๒ คน  ส่งมาให้พระยาราชโยธา  พระยาราชโยธาให้ล่ามถามได้ความว่า

           “เป็นพวกจีนฮ่อกองโจรป่ามาแต่เมืองกวางหนำ  มาตีบ้านลาวเมืองลาวในแขวงเมืองพวน  ได้เงินทองสิ่งของมากแล้วก็ยกมาทางนี้  หมายจะไปปล้นเมืองตังเกี๋ย  ก็หาสมความคิดไม่  เพราะที่เมืองตังเกียนั้นมีกองทัพญวนยกไปตั้งอยู่มาก  เพื่อจะไปรบไทยที่ยกขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบาง  เมื่อกองญวนที่เมืองตังเกี๋ยไล่ตีพวกจีนฮ่อ  พวกจีนฮ่อจึงหนีข้ามเข้าลัดป่ามาทางนี้  หมายใจจะได้ไปทางเมืองกำปอดเขมร  ก็พอมาพบกองทัพไทยเข้าที่นี่  จึงได้รบกันดังนี้เป็นสามารถ”

          เมื่อพระยาราชโยธาได้ฟังคำให้การพวกจีนฮ่อดังนั้นแล้วก็เข้าใจว่า      “เจ้าพระยาธรรมา  และพระมหาเทพ  พระราชวรินทร์  แม่ทัพทั้งสามกองนั้นยกไปทางเมืองลาวหลวงพระบาง  จะไปตีเมืองพวนและเมืองหัวพันสิบสองปันนาลาวที่ขึ้นแก่ญวน  ญวนจึงได้ยกทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองตังเกี๋ย  เพื่อจะได้ไปต่อรบกับไทยที่เมืองพวนนั้นด้วย  ครั้งนี้ไทยกับญวนเป็นศึกกันใหญ่โตแน่”

          ครั้งนั้นพระยาราชโยธาได้สิ่งของในกองทัพจีนฮ่อนั้น  คือทองคำทรายและทองคำรูปพรรณต่าง ๆ  รวมทองคำหนักสิบชั่ง  เพชรพลอยต่าง ๆ ถุงหนึ่ง กับเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์  พร้อมแล้วตรวจศพจีนฮ่อที่ถูกอาวุธไทยตายเมื่อรบกันนั้น  จีนฮ่อตายในที่รบ ๖๔ คน  ที่ไทยล้อมจับได้ ๒๑๒ คน  จึงทราบว่าพวกจีนฮ่อมีไพร่พล ๒๗๘ คนเท่านี้  ยังกล้าสามารถเป็นโจรกรรมไปตีบ้านเมืองใหญ่ ๆ ที่ไพร่พลตั้งพันตั้งหมื่นให้แตกไป  เก็บได้เงินทองมามากนัก  เพราะความกล้าหาญของพวกจีนฮ่อที่ขัดสนจนยากไม่มีจะกินและสูบฝิ่นด้วย  จึงได้กล้าเป็นโจรผู้ร้ายเที่ยวปล้นสะดม  พระยาราชโยธาสั่งให้หลวงอภัยภักดีพาพวกจีนฮ่อ ๒๑๒ ไปตัดเท้าตัดมือทั้งสองข้าง  ปล่อยไว้ตามทางในป่าให้เป็นแถวรายห่าง ๆ ไปตามทางเดินตลอดทางในดงไม้หอมนั้น  เพื่อจะให้กองทัพญวนที่ตามมาข้างหลังจะได้เห็นเป็นอำนาจของกองทัพไทย

          ครั้นตัดเท้าตัดมือพวกจีนฮ่อโจร ๒๑๒ คนนั้นแล้วก็เดินทัพต่อมาถึงตำบลหนึ่ง  เขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “อันลุงถมอส่อ”  (แปลเป็นภาษาไทยว่าแก่งหินขาว)  สั่งให้หยุดพักพลที่นั้นเป็นเวลาค่ำมืดจะเดินต่อไปเป็นการลำบากนัก  จึงให้ไพร่พลหยุดนอนที่นั้นคืนหนึ่ง  ในค่ำวันนั้นมีพวกเขมรเหล่าร้ายลอบแอบนำปืนมายิงถูกคนไทยในกองทัพไทยตาย ๔ คน  แล้วพวกเขมรเหล่าร้ายก็วิ่งหนีเข้าหุบห้วยเชิงเขาไปเสียสิ้น  แต่พวกเขมรลอบยิงแล้วหนีไปเสียเช่นนี้คืนเดียวหกครั้งคอยจับก็ไม่ได้

          รุ่งขึ้นพระยาราชโยธาก็ยกทัพเดินต่อไป  พอเวลายามเศษถึงที่ตำบลหนึ่ง  เขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “อันลุงถมอตึกโหตึกถลัก”  (แปลเป็นภาษาไทยว่าแก่งหินน้ำโจนน้ำตก)  สั่งให้พักไพร่พลหยุดนอนที่แก่งน้ำโจนน้ำตกคืนหนึ่ง  ได้แต่งให้กองคอยจับพวกเขมรเหล่าร้ายให้ได้  ในคืนวันนั้น  พวกเขมรเหล่าร้ายแอบลอบเข้ามาอีก  นำปืนยิงถูกองซุ่มคนไทยในกองนั่งยามตาย ๒ คน  กองซุ่มก็ตามไล่จับพวกเขมรที่ลงมือยิงปืนนั้นได้ ๔ คน  พามาส่งพระยาราชโยธา  พระยาราชโยธาให้ล่ามถามพวกเขมร  พวกเขมรให้การว่า

           “ซึ่งลอบยิงคนไทยตายนั้น  เพราะเจ็บอกช้ำใจที่กองทัพไทยยกมาทางตะวันตกแต่ก่อน  พากันจับบุตรภรรยาของเขมรป่าดงไปทำชำเราเนือง ๆ  ครั้งนั้นพวกเขมรชาวบ้านปาดงช่วยกันล้อมจับนายทัพไทยชื่อพระยาสุรินทร์ราชเสนีฆ่าเสียแล้ว  แล้วครั้งหลังพวกเขมรบ้านแม่น้ำโขงตามจับนายทัพไทยอีกคนหนึ่งชื่อหลวงราชเดชา  นำขวานผ่าอกตายแล้วฆ่าไพร่ตาย ๔๐ คน  แต่พวกข้าพเจ้านี้ยังไม่ได้แก้แค้นแก่ไทยเลย  จึงได้ตามมาลอบยิงฆ่าพวกไทยนี้อีกด้วย  เพราะเข้าใจว่าไทยพวกเดียวกัน”

          พระยาราชโยธาได้ฟังคำให้การพวกเขมรดังนั้นแล้วก็หายโกรธพวกเขมร  กลับโกรธพวกไทยมากนักว่า

           “พวกไทยเรานี้ข่มเหงทำเขมรก่อน  เขมรมันก็ต้องทำตอบแทนแก้แค้นบ้าง”

          พูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งขุนชำนาญเขมรล่ามให้สักหน้าพวกเขมรเหล่าร้าย ๔ คนนั้นเป็นหนังสือเขมรมีความว่า   “โทษฆ่าคนตาย”   สักหน้าแล้วปล่อยไปไม่ฆ่าทั้ง ๔ คน  ตั้งแต่นั้นต่อมาไทยจะเดินกองทัพเมื่อยล้าหรือจะพักหยุดที่ใดก็มีความสุขสบาย  หาอันตรายมิได้  พวกเขมรเหล่าร้ายมิได้ลอบมายิงไทยอีกเลย  กองทัพไทยก็เดินทัพกลับมาโดยสวัสดิภาพสะดวกสบาย  หาอันตรายมิได้ตลอดทาง  มาจนเข้าเขตแดนเมืองนครจำปาศักดิ์พร้อมกันทุกทัพทุกกอง  (สมคำโบราณวาไว้บทหนึ่งว่า  เรามิตรจิตเขาก็มิตรใจบ้าง)....

          จีนฮ่อชาวเมืองกวางหนำจิตใจและร่างกายเข้มแข็งมาก  สามารถยกมาตีปล้นเมืองพวนและตังเกี๋ย  แล้วล่าหนีญวนเข้ามาตั้งเป็นกองโจรอยู่ทางตอนใต้ของลาวอีกได้ด้วย  ถ้าไม่บังอาจโจมตีกองม้าทัพหน้าไทยแล้ว  พวกเขาคงจะได้ไปปล้นในเมืองกำปอดสมความคิดเป็นแน่  เคราะห์ร้ายที่พบกองทัพหน้าของไทยเสียก่อน  จึงถูกแม่ทัพหน้าไทยสั่งตัดมือตัดเท้าทั้งสองปล่อยไว้ในป่าเพื่อข่มขวัญญวนที่จะยกตามมา.....   แล้วผลความชั่วของพระยาสุรินทร์ราชเสนีก็ทำให้เขมรป่าดงที่แค้นเคืองไม่หาย  แอบมาใช้ปืนลอบยิงทหารไทยในกองหน้า  พระยาราชโยธาสอบถามพวกเขมรเหล่าร้ายแล้วจึงเห็นใจ  ไม่ลงโทษให้ถึงชีวิต  เพียงแต่สักหน้าประจานเท่านั้น  ซึ่งก็เป็นดีที่ทำให้พวกเขมรมีแก่ใจไม่ลอบทำร้ายกองทัพไทยอีก  พระยามณเฑียรบาลนำกองทัพวังหน้ารอดพ้นมือข้าศึกญวนมาจนถึงนครจำปาศักดิ์ประเทศราชของสยามได้แล้ว  จะดำเนินการอย่างไรต่อไป  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, สิงหาคม, 2563, 10:11:52 PM
(https://i.ibb.co/NVyhKDd/Untitdgfled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๐ -

แม่ทัพนครราชสีมายังล้าหลัง
พักทัพตั้งมั่นแม้ว่าขัดอาหาร
ความลังเลเวลา “ช้าเป็นการ”
หวังให้“นานเป็นคุณ”กลับวุ่นวาย

ญวนตามมาฆ่าไทย “ตายจนหนาว”
มัวสืบข่าวไม่เห็นทางเส้นสาย
ความเชื่องช้าล้าละลังอย่างงมงาย
เดินเซซังทางตายไม่รู้ตัว


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  กองทัพพระยาราชโยธายกนำหน้าทัพวังหน้าทุกทัพจากสมรภูมิเลือดทุ่งชมพู  บุกป่าฝ่าดงมาจนกองทัพม้าปะทะกองโจรจีนฮ่อชาวเมืองกวางหนำในป่าไม้หอม  บังอาจโจมตีกองม้าทัพหน้าไทยแล้วถูกฆ่าตายและจับได้ทั้งสิ้น  แม่ทัพหน้าไทยสั่งตัดมือตัดเท้าทั้งสองข้างปล่อยไว้ในป่าเพื่อข่มขวัญญวนที่จะยกตามมา.....  แล้วผลความชั่วของพระยาสุรินทร์ราชเสนีก็ทำให้เขมรป่าดงที่แค้นเคืองไม่หาย  แอบมาใช้ปืนลอบยิงทหารไทยในกองหน้า  พระยาราชโยธาสอบถามพวกเขมรเหล่าร้ายที่จับได้แล้วจึงเห็นใจไม่ลงโทษให้ถึงชีวิต  เพียงแต่สักหน้าประจานเท่านั้น  ซึ่งก็เป็นความดีที่ทำให้พวกเขมรมีแก่ใจไม่ลอบทำร้ายกองทัพไทยอีก  พระยามณเฑียรบาลนำกองทัพวังหน้ารอดพ้นมือข้าศึกญวนมาจนถึงนครจำปาศักดิ์ประเทศราชของสยามได้  แล้วทัพไทยอื่น ๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

          ฝ่ายกองทัพญวนยกติดตามกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมามานั้น  ญวนเดินทัพมาช้าด้วยเหตุอันใดหาทราบไม่  จนกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกล่าถอยมาตั้งค่ายตั้งป้อมพร้อมเสร็จเป็นที่มั่นคงแข็งแรง  แต่ขณะนั้นขัดด้วยเสบียงอาหารยิ่งนัก  จะตั้งพักอยู่ช้าไม่ได้  กลัวไพร่พลจะอดตาย  ถ้าญวนไม่ยกมาตามแน่  ไทยจะต้องล่าถอยไปพักไพร่พลอยู่เมืองเขมรก่อน  จะได้อาศัยเสบียงอาหารที่นั้น

          ครั้นคิดดังนั้นแล้วจึงสั่งให้หลวงนรินทรานุรักษ์กับหลวงรองสัสดีขึ้นม้าคุมทหารม้า ๕๐  ยกไปสืบราชการทัพญวนว่าจะยกมาตั้งอยู่ทีใดบ้าง

          แล้วพระยาราชนิกูลมีคำสั่งขุนพลภักดีคุมเขมรไปตัดไม้งิ้วไม้ยางขุดทำเป็นเรือโกลนดังเช่นเรือชะล่า ๓๐ ลำ  มีกรรเชียงและจังกูดพร้อมทุกลำเสร็จแล้ว  เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งพระพิพิธภักดีจางวางกองโคเมืองนครราชสีมา  คุมไพร่พลลาวโคราชเป็นกองอาทมาต ๑๐๐ คน  พระยานครอินทรรามัญกับสมิงปราบอังวะ ๑  สมิงรัตนารักษ์ ๑  เป็นนายกองคุมไพ่พลรามัญร้อยหนึ่ง

          ทั้งลาวและรามัญเป็นสองกอง  ลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งฟากข้างโน้น  ให้ไปสืบราชการทัพญวนว่ามาตั้งอยู่ที่ใดบ้าง

          ครั้งนั้นกองรามัญสมิงปราบอังวะไปสืบกลับมาได้ความว่า   “ญวนยกทัพใหญ่มาหลายทิศทาง  กองรามัญก็ลงเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงกลับมา”    เมื่อกองรามัญเดินทัพกลับมานั้น  จับได้เขมรและญวนซึ่งไปเที่ยวหาของกินในป่าแล้วป่วยไข้เดินเมื่อยล้าไปไม่ทันเพื่อนนั้น  กองรามัญจึงจับมาได้ญวน ๔ คน  เขมร ๒ คน  รวม ๖ คนในป่า  จึงพาเชลยข้าศึก ๖ คนมาส่งให้ท่านเจ้าพระยานครราชสีมา  เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้ล่ามพนักงานถามญวนทั้ง ๔ คน ญวนทั้ง ๔ คนให้การต่าง ๆ กัน  ไม่ต้องคำกัน  คนหนึ่งให้การว่า  

           “องกูเลยขุนนางฝ่ายบู๊เป็นข้าหลวงเดิมของพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่  พระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่ใช้ให้องกูเลยเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือคุมพลทหาร ๑๐,๐๐๐   มีช้างม้าโคต่างมาในกองทัพเป็นอันมาก  เพื่อจะมาเพิ่มเติมกองทัพองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้  ที่ยกมาเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์สำเร็จราชการทัพทั้งสิ้น  ซึ่งยกมาตีไทยนั้น  องกูเลยแม่ทัพทางเหนือยกมาตามตีกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมา”

           ญวนอีกคนหนึ่งเป็นที่สองให้การว่า

            “องกูเลยแม่ทัพฝ่ายเหนือมีไพร่พลแต่ ๒,๐๐๐ เท่านั้น  ยกมาเป็นทัพหนุนองเตียนกุนเสนาบดีถืออาญาสิทธิ์  จะไปตีเมืองไซ่ง่อนซึ่งเป็นเป็นขบถต่อกรุงเว้

           ญวนอีกคนหนึ่งเป็นที่สามให้การว่า

            “องทู้หับถือพลทหาร ๕,๐๐๐ เป็นแม่ทัพบกยกมาตามตีทัพไทยที่ฝั่งน้ำโขง  และมีทัพเรือยกมาด้วยกองหนึ่งเป็นสองทัพไพร่พล ๒,๐๐๐  เรือรบแง่โอแง่ทราย ๑๕๐ ลำ  แต่แม่ทัพเรือจะชื่อใดหาทราบไม่  ทั้งทัพบกทัพเรือรวมมาทางเดียวกัน  จะมาตามตีไทย”

           ญวนอีกคนหนึ่งเป็นที่สี่ให้การว่า

            “องกูเลยยกมาแต่ทัพเดียวเท่านั้น  จะมีไพร่พลมากน้อยเท่าใดและจะไปตีไซ่ง่อนหรือจะตีไทยหาทราบไม่”

           เขมรที่จับมาพ้อมกับญวนนั้นให้การว่า

            “ทัพเรือทัพบกที่ยกมานั้นเป็นทัพนิดหน่อย  ยกมาเกือบจะถึง  แต่ไพร่พลจะมีมากน้อยเท่าใดไม่ทราบ  จะมาตีไทยหรือจะไปตีไซ่ง่อนหาแจ้งไม่”

           เขมรอีกคนหนึ่งให้การว่า

            “เป็นบุตรเขยญวน  พ่อตาถูกเกณฑ์ไปทัพ  หนีกลับมาเล่าว่า  ญวนจะยกทัพใหญ่ไพร่พลมากเกือบ ๒๐,๐๐๐ แยกเป็นกองทัพ ๔ กอง  ให้ยกมาตามตีไทย ๓ กอง  กองหนึ่งให้ยกไปหนุนทัพองเตียนกุนเสนบดีกรุงเว้  ให้ไปช่วยตีเมืองไซ่ง่อน  ซึ่งตั้งแข็งเมืองเป็นขบถนั้น”

           เจ้าพระยานครราชสีมาได้ฟังคำให้การญวนสี่คนเขมรสองคน  เนื้อความหาถูกต้องกันไม่  จึงไม่เชื่อถ้อยคำญวนและคำเขมร  เห็นว่าญวนและเขมรเชลยพูดจาอวดอ้างไพร่พลและทัพบกทัพเรือมากมายไม่ถูกต้องเป็นคำเดียวกัน  เป็นความคิดพวกญวนเชลยพูดหลอกขู่ไทยให้กลัวพวกมัน  จึงสั่งนายทัพนายกองให้พาญวนสี่เขมรสองไปแยกย้ายกันไต่ถาม  ก็ยังเป็นอย่างคำเดิมอยู่  จึงให้ปักหลักจำคาติดไม้  เฆี่ยนถามก็ยังได้เนื้อความแตกต่างกันอย่างเดิม  เฆี่ยนคนละสองยก ๖๐ ทีบ้าง  คนละ ๘๐ ทีบ้าง  ก็ไม่ได้ความต้องกัน  ญวนคนหนึ่งพูดโลเลยักย้ายมากมายกลับกลอกไปมา  จึงสั่งให้ชำระดูที่อ้ายคนนั้น  เพราะมันพูดภาษาไทยได้บ้าง  ด้วยมันเคยมาค้าขายทางทะเล  ได้มาที่เมืองจันทบุรีเนือง ๆ จึงรู้จักภาษาไทย  ให้เฆี่ยนถามก็ไม่ออกความกระจ่างเลย  เฆี่ยนถึง ๑๘๐ ที  ตายอยู่ในคา  เจ้าพระยานครราชสีมาไมไว้ใจแก่ราชการ  กลัวว่าญวนจะยกทัพใหญ่มาทั้งทางบกและทางเรือ  สมจริงดังสี่ญวนพูดนั้นแล้วก็จะเสียท่วงทีแก่ราชการ  จึงสั่งให้พระยาพรหมยกกระบัตรและนายทัพนายกองคุมไพร่พลที่ทุพพลภาพป่วยไข้  กับปืนใหญ่ เสบียงอาหาร บรรทุกโคต่างช้างเกวียน  ยกล่วงหน้าล่าถอยไปก่อน  ให้พระเทพสงครามเขมร ๖๐๐ เศษยกตามไปในกองพระยาพรหมยกกระบัตร  จะได้ให้เขมรเป็นผู้หาบหามเสบียงอาหาร  และเลี้ยงช้าง ม้า โค กระบือด้วย  แล้วให้หลวงสิทธิไชยคุมไพร่พลลาวโคราช ถือปืนคาบศิลา ๒๐๐ คนเดินแซงกำกับเขมรไป

           ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา จัดแจงแต่งค่ายคูประตูหอรบไว้รับญวนเสร็จแล้ว  รุ่งขึ้น ขุนไชยศักดานายกองด่านคุมพลทหารม้าไปลาดตระเวนตามฝั่งแม่น้ำโขงกลับมาแจ้งความว่า

            “ไปสืบถามตามลาวชาวป่าได้ความว่า  กองทัพญวนที่ยกมาตีกองทัพพระยานครสวรรค์นั้น  บัดนี้ยกทัพเลยเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปทางเมืองลาว  ได้ยินข่าวว่าจะยกไปตามตีทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่พักอยู่เมืองเขมร

           ในวันนี้เวลาเที่ยง  พระมหาดไทยกับหลวงอภัยบดินทร  หลวงนรินทร์ธิเบศร์  คุมไพร่พลลาดตระเวนข้ามแม่น้ำโขงไปถึงฝั่งฟากตะวันออก  พบกองทัพญวนนำทัพช้างไล่กองตระเวนไทย  กองตระเวนไทยวิ่งหนีลงเรือชะล่าเรือมาดมาได้ ๓๕ คน  ช่วยกันตีกรรเชียงจะข้ามลำแม่น้ำโขงมา  แต่พวกไทยกองตระเวนที่วิ่งมาลงเรือไม่ทัน  ยังเหลืออยู่บนตลิ่งหาดทราย ๓๖ คนญวนฆ่าตายหมด  แล้วญวนนำช้างไล่เรือชะล่าที่ไทยหนีมานั้นจนถึงสายน้ำลึก  หาทันเรือไทยไม่  ญวนนำปืนหามแล่นปืนหลักบนหลังช้าง  ยิงระดมมาถูกเรือชะล่าไทยล่มลงทุกลำ  คนในเรือชะล่าถูกปืนตาย ๑๕ คน  เหลือตาย ๒๐ คน  ก็อุตสาหะว่ายน้ำข้ามฟากแม่น้ำมาถึงฝั่งตะวันตก  ขึ้นไปเข้าค่ายได้  ฝ่ายญวนเห็นเรือชะล่าเรือโกลนของไทยยังเหลืออยู่ที่ตลิ่งอีกหลายลำ  ญวนก็เก็บนำไปรักษาไว้สิ้น  

           สักครู่หนึ่งพลกองรามัญสมิงปราบไพรี  คุมไพร่ไปสืบราชการทัพกลับมาจะลงเรือชะล่า  หาเห็นเรือไม่  จึงตัดไม้ที่แห้ง ๆ เป็นขอน  จะได้เกาะว่ายข้ามแม่น้ำโขงมายังค่ายไทย  ขณะนั้นพอกองทัพญวนนำช้างไล่แทงฟันยิงพวกรามัญกองตระเวนไทยที่จัดการจะข้ามน้ำนั้นตาย ๖๘ คน  จับเป็นไปได้ ๖๐ คน  เกาะขอนไม้ว่ายน้ำข้ามฟากแม่น้ำโขง  หนีกลับมาได้ ๖๐ คนแต่ไพร่ทั้งนั้น  นายใหญ่และนายรองตายหมดไม่เหลือเลย......”

           ** ญวนมาเก่งกว่าไทยอีกแล้ว  กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมามัวโอ้เอ้อยู่  ให้ญวนยกตามมาฆ่ากองตระเวนอย่างสนุกมือเลย  ถ้าท่านไม่ตั้งค่ายมั่นรอทัพญวน  เมื่อข้ามแม่น้ำโขงได้แล้วรีบเดินทัพเข้าเมืองเขมร  ไหนเลยญวนจะยกตามมาทันได้  เมื่อกองทัพใหญ่ญวนยกตามมาทันแล้ว  กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาที่กำลังขัดเสบียงอาหาร  จะต้านทานทัพใหญ่ญวนได้ไหม   ไว้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, สิงหาคม, 2563, 10:04:13 PM
(https://i.ibb.co/9TQWvQk/Untitle953d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๑ -

การฝังดินดำค่ายฆ่าได้ผล
ถือเป็นกลอุบายไทยมิใช่ชั่ว
ทัพหน้าญวนแปดร้อยไม่รู้กลัว
ติดกับทั่วทุกคนหลงกลไทย

“เจ้าพระยานครราชสีมา”
สั่งเข่นฆ่าห้ำหั่นขนานใหญ่
แก้แค้นญวนให้รู้อยู่ทั่วไป
ตัดหัวใส่เรือลอยปล่อยประจาน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด  เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยานครราชสีมาข้ามแม่น้ำโขงตรงเมืองบาพนมได้แล้วตั้งค่ายมั่น  ส่งกองตระเวนข้ามฝั่งกลับไปเที่ยวสืบข่าวทัพญวน  แทนที่จะรีบยกทัพเดินหน้าเข้าเขมรต่อไป  ครั้นกองตระเวนจับได้คนญวนและเขมรมาได้บ้างแล้วสอบสวนได้ความไม่ตรงกัน  ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงให้ส่งไพร่พลทีเจ็บป่วยล่วงหน้าไปเขมรก่อน  แล้วส่งพลตระเวนออกสืบข่าวทัพญวนต่อไป  พอทัพญวนยกตามมาทัน  จึงใช้กองช้างไล่ฆ่าไพร่พลตระเวนไทยล้มตายลงเกือบหมดสิ้น  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

(https://i.ibb.co/bszsDmz/df-14.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา  เห็นญวนยกทัพใหญ่มาไล่ฆ่าไทยกองตระเวนบนตลิ่งและตามหาดทรายในลำแม่น้ำโขงดังนั้น  ก็เข้าใจว่าทัพญวนยกมาถึงท่าข้ามแล้ว  แต่ญวนตั้งทัพนิ่ง ๆ อยู่บนฝั่งลำแม่น้ำโขง  ญวนไม่ได้ตัดไม้ไผ่ทำแพข้ามลำแม่น้ำโขงให้ผู้คนช้างม้ามาตามตีไทยตามทำนองศึกใหญ่ดังนั้น  เห็นญวนตั้งทัพอยู่ถึงสามวันแล้วไม่ข้ามทัพมา  เจ้าพระยานครราชสีมาจึงคาดคะเนว่า  ซึ่งญวนไม่ทำแพข้ามลำน้ำแม่โขงนั้น  ชะรอยญวนจะคอยทัพเรือมาเมื่อใด  จึงจะลงเรือข้ามมาเมื่อนั้น  แต่เห็นทีทัพเรือของญวนจะมาล่าช้าไป  ไม่ทันท่วงทีทัพบก  ทัพบกจึงตั้งรั้งรอที่ฝั่งท่าข้ามดังนี้  ซึ่งเราจะรับทัพญวนอยู่ที่ในค่ายนี้เห็นจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกญวน  เพราะญวนมีทัพมาทั้งบกและทัพเรือมาก  เป็นศึกใหญ่เหลือกำลังเรา  เราจะต้องทิ้งค่ายที่ริมฝั่งลำน้ำโขงนี้เสียในวันสองวันนี้  แล้วก็จะได้ล่าทัพถอยหนีข้าศึกใหญ่ไปอาศัยเมืองเขมร  พอจะได้เสบียงเลี้ยงไพร่พลคราวขัดสนนี้ต่อไป  ซึ่งเราจะล่าทัพถอยไปครั้งนี้  ก็จะหนีไปตามบุญตามกรรม  เมื่อญวนยกทัพใหญ่ไล่ตามมาทันก็สู้กัน  แต่จะหนีไปตรง ๆ ไม่ได้  กลัวจะเดินไปไม่ถึงเมืองเขมร  จะต้องทำกลอุบายไว้ในค่ายไม่ให้ญวนตามไปได้โดยเร็ว  คิดอุบายนำดินดำลงฝังไว้ใต้แผ่นดินในค่ายและรอบค่ายข้างนอกด้วย  แล้วนำปืนใหญ่ที่เหลือกำลังจะขนพาหนีไปได้นั้น  บรรจุกระสุนและดินดำให้เกินส่วนสัดหลายเท่า  ลงฝังในค่ายหลายสิบกระบอก  ล่ามชนวนเชื่อมถึงกันโดยรอบ  แล้วล่ามชนวนขึ้นมาถึงใต้เตาไฟเก่าในค่ายทุกเตาไฟ  และทิ้งเสบียงอาหารดิบสุกไว้ตามสมควร  แล้วก็ล่าทัพถอยไปในค่ำวันนั้น

          ขณะนั้นสั่งให้พระยาพิไชยสงครามและพระยาชนะพลแสน  ให้คุมไพร่พล ๕๐๐ อยู่รั้งหลัง  ถ้าเห็นญวนยกข้ามลำแม่น้ำโขงมาแล้ว  ให้ทัพรั้งหลังยกล่าถอยตามไป  แต่เจ้าพระยานครราชสีมาเดินกองทัพรีบเร่งมาสองวันสองคืน  ถึงลำแม่น้ำเก่าแควหนึ่ง  เป็นปลายน้ำแยกมาลำแม่น้ำโขงใหญ่  ที่แม่น้ำเก่านั้นเขมรผู้นำทางเรียกเรียกชื่อว่า  “แพรกกำบต”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  แม่น้ำด้วนหรือคลองตัน)  แม่น้ำนั้นเป็นลำน้ำเล็ก ๆ เหมือนคลองใหญ่ ๆ แต่น้ำลึกมาก  จะให้ไพร่พลลุยน้ำข้ามคลองไปไม่ได้  จึงเกณฑ์ไพร่พลไปตัดไม้มาปักเสาทำสะพานเรือกข้ามคลองเสร็จในวันเดียว  จึงพลช้างม้าโคต่างข้ามสะพานไปแล้ว  จึงสั่งทหารเสี้ยมไม้รวกเป็นหลาว  ปักจมน้ำไว้ใต้สะพานเรือก  เป็นหลาวหลายหมื่นทั้งริมสะพานด้วย  แล้วนำเลื่อยชักเสาสะพานให้คอดเกือบจะขาดทุกเสา  แล้วก็เดินทัพเป็นลำดับต่อมาถึงวัดร้างวัดหนึ่งเขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “วัดทูลเดิมมะลิ” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ชื่อวัดโคกมะลิ)  เป็นวัดใหญ่โต  แต่เป็นวัดร้างตั้งอยู่กลางป่าเป็นที่ชัยภูมิดี  จึงสั่งให้พักพลหยุดอยู่ที่โคกวัดร้างนั้นคืนหนึ่ง  ถึงมาทว่าญวนจะยกตามมา  ก็จะอาศัยโบสถ์เก่าทำเป็นป้อมค่ายต่อรบสู้กับญวนลองดูสักพักหนึ่ง

(https://i.ibb.co/TLn3KvL/U89ntitl2ed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายทัพเรือญวนยกมาถึงท่าข้ามฝั่งลำแม่น้ำโขงพร้อมกันแล้ว  องกูเลยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายบก  สั่งให้องถูเลือกแม่ทัพหน้าฝ่ายบกยกลงเรือคุมไพร่พลแปดร้อยเศษ  ข้ามลำแม่น้ำโขงมาถึงฝั่งตะวันตกที่ค่ายไทยตั้งอยู่นั้น  ทัพญวนกองหน้าไม่เห็นไทยตั้งต่อสู้อยู่ในค่ายและนอกค่าย  มีแต่ค่ายเปล่า  ญวนก็เข้าใจแน่ว่าทัพไทยล่าหนีไปสิ้นแล้ว  จึงกรูกันยกเข้าค่ายในเวลาบ่ายสองโมงพร้อมกันทุกทัพทุกกอง  ในค่ายไทยนั้นไม่มีเครื่องศาสตราวุธเลย  มีแต่เครื่องเสบียงอาหารดิบสุกอยู่ในค่ายบ้างเล็กน้อย  ญวนก็เข้าใจว่าไทยรู้ตัวก่อนว่ากองทัพญวนยกใหญ่มา  ไทยจะตั้งสู้อยู่ไม่ได้  จึงทิ้งค่ายหนีไปเสียก่อนแล้ว

          ครั้งนั้นญวนไม่มีความสังเกตสงสัยในค่ายไทยว่าจะมีอุบาย  ญวนจึงยกไพร่พลทหารกองหน้า ๘๐๐ คนเข้าไปตั้งพักอยู่ในค่ายไทย  ทั้งองถูเลือกแม่ทัพหน้าก็เข้าไปอยู่ด้วย  แล้วองถูเลือกแม่ทัพหน้าแต่งหนังสือเป็นข้อความว่า     “ไทยทิ้งค่ายหนีไปเสียก่อน”     ส่งไปให้องกูเลยแม่ทัพใหญ่  ซึ่งตั้งทัพบกอยู่ ณ ฝังลำแม่น้ำโขงฟากตะวันออกให้ทราบความแล้ว  จึงตั้งฟังราชการอยู่ ณ ฝั่งลำน้ำโขงฟากตะวันออก  หาข้ามฟากมาไม่  เพราะไม่มีการรบกับไทย

(https://i.ibb.co/Tt1nhw5/Untitledsed-4-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเวลาบ่ายเย็นแล้ว  ไพร่พลญวนซึ่งตั้งอยู่ในค่ายนั้นจึงนำอาหารดิบของไทยในหม้อขึ้นหุงต้มบนเตาไฟเก่าในค่ายเป็นหลายสิบเตา  ครั้นไฟในเตาติดคุร้อนไหม้ลงไปถึงชนวนดินดำที่ฝังล่ามขึ้นมานั้น  ไฟไหม้ชนวนแล่นรอบไปติดดินดำขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เสียงดังกัมปนาทหวาดหวั่นไหวสะเทือนสะท้านแผ่นดินดังพสุธาจะถล่ม  เสียงดังดุจเสียงอสนีบาต  ครั้งนั้นถังดินดำและปืนใหญ่ที่บรรจุกระสุนและก้อนศิลาไว้นั้น  ก็ระเบิดแตกเป็นภาคน้อยภาคใหญ่  กระเด็นไปถูกต้องไพร่พลญวนตายมาก  ที่ป่วยลำบากมีบาดแผลอยู่นั้นก็มาก  ที่เหลือตายหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าได้บ้าง  ม้าและโคต่างที่ไม่ตายก็หนีเข้าป่าไป

(https://i.ibb.co/3d03dG2/Usntitled-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนยกล่าถอยทัพไปภายหลัง  เดินทัพรอฟังเหตุการณ์  ก็ได้ยินเสียงดังขึ้นข้างหลังเหมือนฟ้าร้อง  จึงเข้าใจแน่ว่ากองทัพญวนเสียทีต้องด้วยกลอุบายเจ้าพระยานครราชสีมาแล้ว  ขณะนั้นพระยาพิไชยสงครามสั่งหลวงวิสุทธาวุทธ์กับพระพรหมาธิบดีนายกองลาวเมืองนครราชสีมา  คุมทหารม้าห้าสิบ  รีบไปสืบราชการที่ค่ายกลอุบายดูญวนจะเป็นประการใด  แล้วพระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนก็ยกพลทหาร ๕๐๐ ตามลงไปด้วย  ถึงค่ายกลอุบายเห็นญวนตายประมาณ ๕๐๐ เศษ  ที่เหลือตายมีบาดแผลเจ็บลำบากประมาณร้อยเศษ  ถามญวนที่ป่วยลำบากนั้น  แจ้งความว่า     “ที่มีบาดแผลเล็กน้อยพอเดินได้ก็วิ่งหนีเข้าป่าไปได้บ้างประมาณหกสิบเศษ”

          พระยาพิไชยสงครามสั่งให้พระพรหมาธิบดีกับหลวงวิสุทธาวุทธ์  คุมไพร่พลไปตามจับญวนที่หนีไปในป่าใกล้ ๆ  จับมาได้ ๖๔คน  ครั้งนั้นพระยาพิไชชยสงครามเห็นเป็นที  มีเรือรบของญวนจอดอยู่หน้าค่ายไทย  มีปืนใหญ่น้อยพร้อมแล้ว  พระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนไล่ต้อนทหารไทยลงเรือรบญวนที่ทิ้งไว้หน้าท่า  ไม่มีผู้พิทักษ์รักษาทั้ง ๔๐ ลำ  ไทยยกทัพเรือข้ามลำแม่น้ำโขงได้  ไปตามตีกองทัพใหญ่ฝ่ายญวนที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก  องกูเลยแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนตั้งทัพอยู่ที่ฝังลำแม่น้ำโขง  เห็นทัพหน้าญวนเสียทีตายด้วยกลอุบายไทยดังนั้นแล้ว  และไทยยกทัพเรือของญวนข้ามมาตามตีกองทัพองกูเลย  องกูเลยก็ยกทัพใหญ่ล่าถอยหนีไปแต่ก่อนเมื่อไทยกำลังข้ามฟากมานั้น

          ครั้นพระยาพิไชยสงครามถึงฝั่งตะวันออก  ไม่เห็นทัพใหญ่ฝ่ายญวน  ญวนหนีหมดแล้ว  จึงปรึกษากันกับพระยาชนะพลแสนว่า

           “ทัพญวนองกูเลยเป็นทัพใหญ่  ล่าถอยไปครั้งนี้มิได้แตกพ่ายแพ้แก่เรา  จะยกไปตามตีต่อไปอีกหาควรไม่  ควรแต่จะกลับไปฟังราชการรอรั้งอยู่ ณ ฝั่งลำแม่น้ำโขงฟากตะวันตก  จึงจะชอบด้วยราชการ”

(https://i.ibb.co/Tr41KJ6/Unt85itled-20.jpg) (https://imgbb.com/)

          คิดดังนั้นแล้ว  จึงกลับทัพเรือมายังที่ค่ายเดิม  แล้วพระยาพิไชยสงครามสั่งหลวงประสิทธิ์ศาสตราให้ขึ้นม้าเร็ว  คุมทหารม้า ๓๐ ม้า  ถือหนังสือบอกข่าวราชการที่มีชัยชนะแก่ญวน  ญวนตายตามอุบายนั้น  ไปส่งให้เจ้าพระยานครราชสีมาตามทางป่า  ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาจึงมีหนังสือตอบมอบให้หลวงประสิทธิ์ศาตรานำกลับไปให้พระยาพิไชยสงครามใจความว่า

(https://i.ibb.co/LZwLLbg/Untitledrd-17.jpg) (https://imgbb.com/)

          ให้พระยาพิไชยสงครามคิดกับพระยาชนะพลแสน  เก็บเรือรบญวนสี่สิบลำเผาไฟเสียให้หมด  เก็บไว้แต่เรือเล็กน้อยสักสี่ลำ  แล้วให้ตัดศีรษะญวนที่ถูกดินดำระเบิดตาย  กับญวนที่ป่วยลำบากมีบาดแผลมาก  ก็ให้ตัดศีรษะเสียด้วยแล้ว  รวมศีรษะญวนทั้งสิ้นลงเรือบรรทุกในเรือญวนสี่ลำ  ให้ผูกเรือติดเป็นพวกเดียวกัน  แล้วจึงนำญวนที่มีบาดแผลเจ็บป่วยเล็กน้อย  ตัดมือตัดเท้าเสียทั้งสองข้าง  ให้เป็นนายเรือคุมศีรษะพวกมันไปลำละ ๑๕ คน  แล้วให้เขียนหนังสือผูกคอญวนที่ตัดมือตัดเท้านั้นทุกคน  เป็นหนังสือจีนภาษาญวนบ้าง  เป็นหนังสือขอมภาษาเขมรบ้าง  เนื้อความถูกต้องกันว่า

           “หนังสือนายทัพนายกองฝ่ายไทย  ซึ่งเป็นกองทัพปีกหนึ่งของท่านแม่ทัพใหญ่  แจ้งความมาถึงแม่ทัพบกฝ่ายญวน  หรือพลเมืองชาวบ้านและลูกค้าพานิชฝ่ายญวนได้แจ้งว่า  เราได้ให้ไพร่พลในกองทัพไทยไปเที่ยวเก็บศีรษะญวน ๕๖๒ ศีรษะบรรทุกเรือ ๔ ลำ  ส่งมาเป็นบรรณาการถวายพระเจ้ากรุงเวียดนาม  ซึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกว่องเด้  พระเจ้าแผ่นดินกรุงเว้  ขอจงได้ทรงทราบว่า  ซึ่งนายทัพไทยได้ส่งศีรษะญวนเข้ามาถวายทั้งนี้  เพื่อจะขอพระราชทานแลกเปลี่ยนศีรษะไพร่พลในกองทัพพระยานครสวรรค์  ซึ่งแม่ทัพญวนฆ่าเสียที่ริมฝั่งลำน้ำแม่โขงท่าข้ามใกล้เมืองลาว ๑,๐๐๐ คนนั้น  ขอท่านนายทัพนายกองฝ่ายญวน  และเจ้าบ้านผ่านเมือง  หรือด่านขนอนของญวนทุกตำบล  ผู้ใดได้พบปะเรือบรรทุกศีรษะญวน ๕๖๒ ศีรษะนี้  ซึ่งส่งมาแลกเปลี่ยนศพไทยพันหนึ่งนั้น  แต่บรรดาท่านที่ได้พบเรือ ๔ ลำนี้  ขอจงเห็นแก่ทางไมตรีเพื่อนสนุกในการศึกสงครามมาด้วยกัน  ช่วยสงเคราะห์ส่งเรือ ๔ ลำนี้  ไปให้ท่านเสนาบดีกรุงเว้  ท่านเสนาบดีกรุงเว้จะได้นำศีรษะญวนนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าเวียดนามตามความประสงค์ของนายทัพไทยด้วยเถิด”......

          ให้อ่านความยาว ๆ เพื่อความสะใจกันนะครับ  ไม่มีอะไรจะอภิปรายเพิ่มเติม  ยกเรื่องไปให้อ่านต่อกันในครั้งหน้าครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, สิงหาคม, 2563, 10:08:10 PM
(https://i.ibb.co/VLXLXtz/2-1-JNRL.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๒ -

พระยาพิไชยสงครามทำตามสั่ง
เผาค่ายทั้งเรือทิ้งสิ้นหลักฐาน
ยกกลับตามทัพใหญ่เดินไปนาน
พบตัวการฆ่าไทยในกลางทาง

ทัพญวนแต่งเป็นไทยไม่สนิท
กระชั้นชิดเมื่อได้พบไม่ห่าง
ญวนตะลึงไทยตะลานผ่านท่ามกลาง
รบกันอย่างอลวนเมื่อฝนพรำ


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย    เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  เจ้าพระยานครราชสีมาคิดเห็นว่าญวนยกมาทั้งทัพบกทัพเรือ  เหลือกำลังที่ทัพไทยจะต้านทานไหว  จึงตกลงใจล่าถอยทัพไปเมืองเขมร  แต่ก่อนจากไปก็คิดทำกลอุบายในค่ายไทย  เช่นเดียวกันกับที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาเคยทำได้ผลมาแล้ว  สั่งให้พระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสนคุมพล ๕๐๐ เป็นทัพรั้งหลังคอยฟังผลกลอุบาย  ขณะเจ้าพระยานครราชสีมาเดินทัพไปพักอยู่ในวัดร้างกลางป่านั้น  ฝ่ายทัพเรือญวนยกมาสมทบทัพบกที่ท่าข้ามบาพนมแล้ว  องกูเลยแม่ทัพใหญ่สั่งองถูเลือกแม่ทัพหน้ายกพล ๘๐๐ คน  ลงเรือรบข้ามฟากฝั่งขึ้นตีทัพไทย  พบว่าไทยยกล่าถอยหนีไปหมดเหลืออยู่แต่ค่ายเปล่า  จึงเข้ายึดครองค่ายไทยหุงหาอาหารกินกัน  ไฟจากเตาหุงอาหารก็เผาไหม้สายดินชนวน  ทำให้ดินดำในถังและปืนใหญ่ที่ฝังไว้ในค่ายระเบิดขึ้น  ไพร่พลญวนตาย ๕๐๐ คนเศษ  นอกนั้นเจ็บป่วยลำบากบ้างเล็กน้อยบ้าง  พระยาพิไชยสงครามได้ยินเสียดินระเบิด  จึงยกกลับมาสำรวจความเสียหาย  แล้วต้อนพลลงเรือรบญวนที่จอดทิ้งอยู่หน้าค่าย  หมายใจจะยกเข้าตีทัพใหญ่ญวน  แต่องกูเลยแม่ทัพใหญ่ยกทัพล่าถอยหนีไปหมดแล้ว  เมื่อรายงานให้แม่ทัพใหญ่ทราบข้อราชการแล้ว  เจ้าพระยานครราชสีมามีหนังสือสั่งให้พระยาพิไชยสงครามกับพระยาชนะพลแสน  ดำเนินการประจานญวน  เพื่อล้างแค้นที่ญวนทำกับทัพไทยไว้  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

(https://i.ibb.co/BwR5jVG/Untistled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อพระยาพิไชยสงครามและพระยาชนะพลแสนได้ทราบหนังสือบังคับสั่งมาแต่เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่ดังนั้น  จึงกระทำตามคำสั่งทุกประการ  แล้วจึงเผาค่ายทำลายเรือรบเก่าใหม่เสียสิ้น  เก็บแต่ดินดำและเครื่องศาสตราวุธของญวนที่ตายบนค่ายและในเรือรบได้สิ้น  แต่ปืนใหญ่ในเรือรบญวนนั้น  ครั้นจะบรรทุกช้างมาก็เหลือกำลังช้าง  จึงนำตะปูอุดชนวนทิ้งลงในลำแม่น้ำโขงเสียหมด  และจับม้าที่เหลือตายได้ร้อยเศษ  พระยาพิไชยสงครามสั่งให้พระยาชนะพลแสนคุมทัพหน้าเดินล่วงหน้าไปก่อน  แล้วให้พระพรหมาธิบดีลาวคุมกองม้าเชลยร้อยเศษเดินทัพเป็นลำดับต่อไป  แล้วพระยาพิไชยสงครามก็เลิกทัพพลนิกายกลับมา  แต่เดินทัพมาทางป่าดงห้าวันห้าคืน  ถึงหนทางสามแยก  เขมรนำทางเรียกชื่อที่ตำบลนั้นว่า  “ผลูบิแบ๊ก” (แปลเป็นภาษาไทยว่า หนทางสามแพรก)  ทัพพระยาชนะพลแสนเป็นกองหน้าพบกองญวนตั้งสกัดอยู่ที่หนทางสามแยก  จึงมีหนังสือให้ขุนอุดมสมบัติขึ้นม้าเร็วสวนทางลงไปแจ้งแก่พระยาพิไชยสงครามว่า

(https://i.ibb.co/ccN0wwc/Untitdeled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้พบกองทัพญวนตั้งอยู่ค่ายหนึ่งที่ตรงทางสามแยก  ประมาณไพร่พลญวนพันเศษ  ได้เห็นธงของไทยตั้งปักอยู่ตามค่ายญวนเป็นอันมาก  คือธงหนุมานและธงสุครีพ  และธงต่าง ๆ อย่างไทยที่มีเลขยันต์ด้วย  แล้วเห็นไพร่ญวนแต่งกายด้วยเครื่องเสื้อกางเกงหมวกเสนากุฏ  เป็นเครื่องอย่างไทยประหลาดนัก”

          พระยาพิไชยสงครามได้ทราบแล้วก็เข้าใจว่า  กองทัพญวนพวกนี้ที่ทำร้ายพระยานครสวรรค์มาเสร็จแล้ ว จึงมีเครื่องแต่งกายอย่างไทยมาใช้สอยเป็นแน่  คาดคะเนดูน้ำใจญวนที่นำเครื่องไทยมาแต่งกายพวกมัน  เพื่อจะคิดให้เป็นเกียรติแก่พวกมัน  มันจะให้ไทยเห็นแล้วจะได้กลัวอำนาจญวน  พระยาพิไชยสงครามคิดว่าไพร่พลไทยมีมาถึงห้าร้อยเศษ  พอจะต่อสู้ญวนพันคนได้  แต่ว่ามีที่ขัดขวางอยู่อย่างหนึ่ง  คือมาเจอมันเมื่อจวนตัวเข้าที่ใกล้มัน  ฝ่ายมันมีค่ายรับไทยค่ายหนึ่ง  ฝ่ายไทยจะตั้งค่ายบ้างก็ไม่ทันท่วงที  ครั้นจะยกเข้าโจมตีค่ายญวนลองดูกำลังศึกสักหน่อยก็ได้  แต่เห็นว่าจะเสียเปรียบญวนมาก  ด้วยไพร่พลไทยเดินทัพรีบเร่งมากำลังเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า  จะไล่ให้เข้าสู้ญวน  ญวนกำลังรื่นเริงมีกำลังกล้าหาญมาก  เพราะญวนตั้งพักอยู่หลายวันแล้ว

(https://i.ibb.co/qFnB0pq/Untitdsled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นทัพไทยยกมาใกล้ทัพญวน  ญวนไม่ยกออกมาต่อรบตามธรรมเนียมข้าศึกมาพบกันในที่ใกล้  เห็นแต่ญวนตั้งค่ายมั่นอยู่เป็นปรกติ  จะเป็นเพราะเหตุอะไรหาทราบไม่  ฝ่ายพระยาพิไชยสงครามไม่เห็นญวนยกออกจากค่ายมาตีไทยดังนั้นแล้ว  จึงสั่งให้พระยาชนะพลแสนคุมทัพกองหน้าข้ามน้ำไป  ที่นั้นเป็นแม่น้ำตื้นด้วยเป็นปลายน้ำ  ไหลมาแต่ลำธารห้วยกรด  เขมรนำทางเรียกชื่อว่า  “แพรกสะไร” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  คลองสาหร่าย)  แล้วพระยาพิไชยสงครามก็ยกข้ามคลองสาหร่ายไป  ญวนเห็นกองทัพไทยข้ามคลองไป  ไม่อยู่ต่อสู้กับญวน  ญวนจึงยกกองทัพออกจากค่ายโดยเร็ว  มาตีไทยเมื่อกำลังข้ามคลองนั้น  ฝ่ายพระยาพิไชยสงครามไล่ต้อนไพร่พลให้กลับหน้าไปต่อสู้กับญวน  สู้พลางหนีข้ามคลองมาพลาง  ขณะนั้นไทยไม่ตายเลยสักคนเดียว  เมื่อข้ามคลองสาหร่ายมาได้หมดแล้ว  ก็ตั้งรับญวนอยู่ที่ฝั่งคลองนั้น  ฝ่ายญวนก็ยกเพิ่มเติมมามาก  ตั้งอยู่คนละฟากคลอง   คลองนั้นเป็นคูเขตได้ยิงปืนคาบศิลาโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย  เป็นศึกรบกันกลางแปลงจนเวลาบ่าย  พอเกิดลมพายุใหญ่และฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมามาก  จนดินหูหน้าเพลิงปืนเปียก  จะสับนกเท่าไรก็ไม่มีไฟติดดินดำในลำกล้อง  เสื้อกางเกงพลทหารก็เปียก  หนาวสั่นไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ฝ่ายญวนและไทยเห็นว่ายิงปืนไม่อกแล้ว  ฝ่ายญวนก็ล่าทัพเข้าค่าย ฝ่ายไทยก็ล่าทัพถอยกลับหนีมาทั้งกลางวันกลางคืน  ลัดตัดทางมากลางป่า  ญวนก็หาตามมาไม่

(https://i.ibb.co/bgcGb5h/Untdsditled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นฝนหายแล้ว  ญวนยกกองทัพออกจากค่ายหนทางสามแพรกตามตีไทยต่อไป  กองทัพญวนถึงฝั่งแม่น้ำน้อยคล้าย ๆ กับคลอง  ชื่อลำน้ำด้วนคลองตัน  ซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาทำสะพานเรือกข้ามคลอง  แล้วทำกลอุบายไว้ที่สะพานนั้นด้วย  ญวนหารู้เหตุการณ์ไม่  แม่ทัพญวนจึงไล่ต้อนไพร่พลและช้างม้าเดินข้ามสะพานเรือกมาเป็นอันมาก  สะพานเรือกก็หักโค่นลงในน้ำ  ผู้คนช้างม้าตกลงในคลอง  ถูกหลาวที่ไทยปักไว้ใต้สะพานตายทั้งคนช้างม้ามากนัก  แม่ทัพญวนเห็นดังนั้นแล้ว  จึงไล่ให้ไพร่พลช้างม้าลงที่ริมฝั่งคลองข้างแม่น้ำ  ไปข้างใต้สะพานแลเหนือสะพาน

          ครั้งนั้นคนและช้างม้าก็ถูกหลาวและขวากกระจับในน้ำลำคลอง  เจ็บป่วยลำบากล้มตายมาก  การที่ญวนรีบเร่งติดตามกองทัพไทยไปก็ช้าลง  แต่ไพร่พลญวนตายด้วยอุบายนั้นแล้ว  แม่ทัพญวนก็ยังไม่ท้อถอย  คงตีกลองศึกสัญญาณเร่งกองทัพให้ยกลงในลำคลอง  ข้ามน้ำไปเนือง ๆ  ที่ถูกหลาวและขวากกระจับตายก็ตายไป  ที่เหลือตายบ้างก็ข้ามน้ำขึ้นบนตลิ่งได้บ้าง  เพราะอาญาสิทธิ์แม่ทัพญวนแข็งแรงยิ่งนัก  ปราศจากเมตตากรุณาเพื่อนมนุษย์  ถ้าเข้าศึกสงครามแล้ว  กลองสัญญาณแม่ทัพยังตีเร่งไพร่พลอยู่แล้วจะถอยไม่ได้  ต้องตายเจ็ดชั่วโคตร  เพราะฉะนั้นไพร่พลได้ยินเสียงกลองตีเร่งอยู่เมื่อใด  ถึงวิ่งเข้าไปหาความตายก็ต้องเข้าไปตามบุญตามกรรม  เมื่อญวนขึ้นตลิ่งได้บ้างแล้ว  ก็ประชุมพลได้มาก  จึงรีบยกไปติดตามกองทัพไทย  ญวนรีบเดินทัพไปจนถึงทางใหญ่  กองทัพญวนถูกฝนห่าใหญ่ตกลงมาอีก  จนน้ำนองท่วมป่าและทางเดิน  เมื่อแม่ทัพและนายกองญวนเห็นว่าน้ำท่วมทางป่า  ไพร่พลเดินลุยน้ำไปไม่ไหวแล้ว  ก็กลับทัพมายังค่ายที่ตำบลหนทางสามแยกดังเก่า

(https://i.ibb.co/Y85sq3N/h1-ndft.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพวกไพร่พลญวนที่เดินเมื่อยล้าป่วยไข้ลำบาก  ด้วยเจ็บบาดแผลถูกหลาวถูกขวากกระจับ  เดินช้าอยู่ตามทางป่านั้น  พวกเขมรจับญวนแปดคนกองหนึ่ง   กองหนึ่งจับได้สิบคน  รวมสิบแปดคน  ส่งไปให้เจ้าพระยานครราชสีมา  พระยานครราชสีมาให้ล่ามไต่ถาม  จึงได้ทราบกิจการในกองทัพญวนแต่ต้นจนที่สุด  เมื่อญวนถูกฝนกลับไปนั้นทุกประการดังที่กล่าวมาแต่ข้างบนนั้นแล้ว.......”

          กลอุบายระเบิดค่ายเผาญวน  หรือค่ายนรกที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาใช้ทำลายทัพญวนได้ผลมาแล้ว  เจ้าพระยานครราชสีมาก็ใช้กลอุบายอย่างเดียวกัน ทำลายกองทัพหน้าญวนได้เช่นกัน  ทัพรั้งหลังของเจ้าพระยานครราชสีมาคือพระยาพิไชยสงคราม  จัดการตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่  แล้วยกกลับตามทัพใหญ่  พบกองทัพญวนที่ทำลายกองทัพพระยานครสวรรค์สิ้นนั้น  ได้รบกันเป็นสามารถ  แล้วทัพญวนที่ไล่ตามทัพพระยาพิไชยสงครามไป จนต้องกลอุบายเจ้าพระยานครราชสีมาตรงสะพานเรือกข้ามคลองน้ำด้วน  ล้มตายและเจ็บลำบากไม่น้อย  แม้ทัพญวนจะฝ่าขวากหลาวข้ามคลองน้ำด้วนไปได้  แต่ก็ติดตามทัพพระยาพิไชยสงครามไม่ทัน  เพราะฝนห่าใหญ่ถล่มลงมา  น้ำท่วมใหญ่จนญวนต้องล่าทัพกลับคืน   ค่อยมาอ่านกันตอนต่อไปดีกว่านะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, สิงหาคม, 2563, 10:07:20 PM
(https://i.ibb.co/gd4mtrr/Untitwrled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๓ -

ไทยทุกทัพกลับไทยดังใจหมาย
ทัพหนึ่งหายสูญไปไถลถลำ
“สีหราชเดโช”ข่าวโม่ห์ดำ
เกิดเคราะห์กรรมอย่างไรไร้วี่แวว

ญวนพา“นักองจันทร์”ผกผันเข้า
กลับเป็นเจ้ากัมพูชานั่งตาแป๋ว
ดูญวนจัดการให้ตามใจ “แกว”
ทุกอย่างแล้วแต่ญวนจะชวนไป

          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  พระยาพิไชยสงครามจัดการตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่แล้วยกกลับตามทัพใหญ่  พบกองทัพญวนตะวันออก  กองที่ทำลายทัพพระยานครสวรรค์เสียสิ้นนั้น  ได้รบกันเป็นสามารถ  แล้วทัพญวนที่ไล่ตามทัพพระยาพิไชยสงครามไป  จนต้องกลอุบายเจ้าพระยานครราชสีมาตรงสะพานเรือกข้ามคลองน้ำด้วน  ล้มตายและเจ็บลำบากไม่น้อย  แม้ทัพญวนจะฝ่าขวากหลาวข้ามคลองน้ำด้วนไปได้  แต่ก็ติดตามทัพพระยาพิไชยสงครามไม่ทัน  เพราะฝนห่าใหญ่ถล่มลงมาน้ำท่วมใหญ่จนญวนต้องล่าทัพกลับคืน  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ........

(https://i.ibb.co/Mp90bRz/Untitl-ed-42.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ครั้งนั้น  กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาและกองทัพพระยา พระ หลวง ทั้งปวงก็เดินทัพถอยกลับมาถึงพร้อมกัน  ได้พักพลอยู่ที่ตำบลหนึ่ง  เขมรเรียกชื่อว่า  “ทูลกระบือ”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  โคกควาย)  เมื่อฝนตกห่าใหญ่ครั้งหลังนั้น  กองทัพไทยหาถูกไม่  เพราะล่าถอยทัพมาก่อนฝนตก   ฝนตกถูกแต่กองทัพฝ่ายญวน  ญวนจึงล่าถอยกลับไป  ครั้นทัพไทยมาพักอยู่ที่บ้านโคกควายนั้น  พวกเขมรที่ตำบลแขวงบ้านโคกควายจึงพากันคุมเป็นกบฏต่อไทย  พวกเขมรประมาณสองร้อยเศษ  ยกออกตีกองทัพพระยาราชนิกูลกองหน้า  กองหน้าไม่ทันรู้ตัว  เกือบจะแตกแก่เขมร  เขมรฆ่าไทยเสียครั้งนั้นมาก  ขณะนั้นพอกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาเดินทัพขึ้นมาทัน  ได้ยินเสียปืนยิงหนาหู  ก็รู้ว่ากองทัพพระยาราชนิกูลทัพหน้าคงจะได้สู้รบกับเขมรหรือญวนเป็นแน่แล้ว  เจ้าพระยานครราชสีมาจึงรีบเร่งเดินทัพมาทัน  จึงได้ไล่ต้อนพลหารเข้าช่วยระดมตีเขมรเหล่าร้าย  พักเดียวก็แตกไปสิ้น  แต่ตายในที่รบศพออกกลาดเกลื่อนมากนัก  ที่ไทยจับเป็นได้นั้น ๔๖ คน  จึงให้ล่ามไต่ถามได้ความว่า      “ชาวบ้านและชาวเมืองเล็กน้อยคุมกันเป็นกองทัพขึ้นเอง  ไม่มีเจ้านายขุนนางผู้ใดใช้มารบ”      เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งหลวงบุรินทรานุรักษ์  ให้พาเขมรขบถ ๔๖ คนไปตัดใบหูทั้งสองข้าง  แล้วสักหน้าผากเป็นอักษรขอมภาษาเขมรว่า   “เขมรระบาทว์ไม่มีเจ้านาย”  ให้ปล่อยไปทั้งสิ้นหาฆ่าไม่  เพราะจะไว้เกียรติยศแก่บ้านเมืองเขมรบ้าง”

(https://i.ibb.co/7zdhRR6/Unxftitled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้น  เจ้าพระยานครราชสีมาจึงได้ยกทัพมาตั้งพักพลอยู่ที่ตำบลหนึ่ง  เขมรเรียกชื่อว่า “กำพงวัดพนมมาศ”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  ท่าวัดท่าภูเขาทอง  ใกล้บ้านอินทรกุมารแขวงเมืองกะพงสวาย)  แต่ทัพพระยามณเฑียรบาลและพระยาราชโยธากองทัพวังหน้าเป็นกองใหญ่ได้ยกล่าถอยกลับมา  แล้วเดินทัพไปข้างเมืองลาว  จึงใช้ให้คนถือหนังสือมาแจ้งความกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองโปริสาด  (แต่ทัพพระยาสีหราชเดโชนั้นไม่ได้ยินข่าวว่าข้ามแม่น้ำโขงมาเลย  เพราะเดินทัพล้าหลังหนัก  เห็นทีญวนจะจับเป็นไปได้ทั้งกองทัพดอกกระมัง  ด้วยกองทัพนั้นมีไพร่พลไทย ๕๐๐ คน  รามัญ ๓๐๐ คน  รวมเป็นไพร่พลถึง ๘๐๐ คน  ครั้นสืบถามญวนเขมรที่จับมาได้เนือง ๆ นั้น  ก็หาได้ความไม่  หายสูญไปทั้งกองทัพทีเดียวเป็นการอัศจรรย์นัก  ครั้นภายหลังเมื่อหยุดทัพศึกแก่กันแล้ว  ได้สืบถามตามจีนและแขก  ซึ่งเป็นพวกพานิชที่ไปค้าขายทางเรือทะเลจนถึงเมืองญวน  ก็ไม่ได้ความว่าญวนตีทัพพระยาสีหราชเดโชได้แล้วฆ่าตายเสียหมด  หรือจับเป็นไปไว้เป็นเชลยประการใดหาได้ทราบไม่  สงบเงียบสูญหายไปทั้งสิ้นจนทุกวันนี้)

(https://i.ibb.co/jZhHHW7/U258ntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งพักพลอยู่ที่เมืองโปริสาด  คอยกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาก็หายไปช้านาน  จึงแต่งกองทัพไพร่พลไทยร้อยหนึ่ง  เขมรสามร้อย  รวมสี่ร้อย   ให้พระยาณรงค์ฤทธิเดชเขมรเป็นนายทัพ  ให้พระยาอร่ามมณเฑียรข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ เป็นผู้กำกับทัพ  ยกไปสืบทัพเจ้าพระยานครราชสีมาว่า     “จะยกมาพักอยู่ที่ใด  ถ้าไม่พบก็ให้พระยาณรงค์ฤทธิเดชเกณฑ์ไพร่พลเขมรตามหัวเมืองรายทางเพิ่มเติมอีกสามร้อยคนหรือห้าร้อยคน  ให้เกณฑ์พระยาเขมรหัวเมืองเป็นนายทัพนายกอง  คุมไพร่พลยกไปสืบข่าวทัพเจ้าพระยานครราชสีมาจนถึงฝั่งลำน้ำโขงให้ได้ความ”

          พระยาอร่ามมณเฑียรกับพระยาณรงค์ฤทธิเดชเดินทัพมาห้าวันเศษ  จึงพบกองทัพหน้าซึ่งพระยาราชนิกูลตั้งอยู่ที่ตำบลท่าทราย  แขวงเมืองกะพงสวาย  ซึ่งเข้าไปหาพระยาราชนิกูล  พระยาราชนิกูลแจ้งความว่า     “ได้ข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วได้สู้รบกับญวน  ญวนถูกกลอุบายไทยในค่ายตายมาก  แล้วได้ตัดศีรษะญวนส่งไปถวายพระเจ้าเวียดนามตามการที่เป็นมาแล้วนั้นเล่าให้ฟังทุกประการ”     พระยาอร่ามมณเฑียรกลับมาแจ้งความให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบจึงว่ากองทัพเราจะตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาดนี้ช้านานไม่ได้  เพราะขัดสนด้วยเสบียงอาหารไม่พอจะเลี้ยงไพร่พล  แล้วสั่งให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองกวาดต้อนครอบครัวเมืองโปริสาดอพยพมาตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง

(https://i.ibb.co/prwZ4Hh/Untisqvtled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อเดินครัวเมืองโปริสาดมาตามทางป่านั้น  ครัวหนีเข้าป่าระนามไปมากสักสามส่วน  ที่ไทยติดตามครัวเขมรกลับคืนมาได้สักสองส่วน  จึงพักครัวและกองทัพไทยอยู่ที่เมืองพระตะบองแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีหนังสือมอบให้หลวงสุริยามาตย์ ข้าหลวงกรุงกับพระนเรนทรารักษ์เขมร  ถือไปให้เจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพและพระยาราชนิกูลข้าหลวงกำกับทัพให้ทราบใจความว่า

           “ให้เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูลเร่งคิดอ่านกวาดต้อนครอบครัวเขมรและลาวข่าแขวงเมืองสะโทง  และเมืองกะพงสวาย  กับเมืองพนมมาศให้สิ้นเชิง  แล้วให้แต่งพระยา พระ หลวง หัวเมืองเป็นนายทัพนายกอง  ไปกวาดต้อนครอบครัวเขมรและลาวข่าตามหัวเมืองรายทาง  ขึ้นไปไว้ที่เมืองนครราชสีมาให้ได้ครัวโดยมาก  จะได้เป็นการใช้ทุนหนุนทุนที่เราพาพวกเรามาตายเสียนั้นก็มากนัก  ให้ท่านพระยาทั้งสองคิดอ่านหากำไร  ให้ได้ครอบครัวเชลยขึ้นไปไว้บ้านเมืองฝ่ายไทย  ตั้งแต่เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองขุขันธ์บุรี  เมืองอัตปือ  และเมืองอื่น ๆ ซึ่งขึ้นกับเมืองนครราชสีมานั้น  ให้ได้ครัวมาก ๆ ทุกเมือง  ให้รีบเร่งกวาดต้อนครอบครัวขึ้นไปให้ในฤดูฝนนี้ให้ได้  ถ้ากวาดต้อนครัวได้มากน้อยเท่าใด  ให้ท่านพระยาทั้งสองแต่งกรมการผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้คุมครัวขึ้นไปก่อน  ให้ผ่อนครัวขึ้นไปไว้ในบ้านเมืองฝ่ายไทยเนือง ๆ”

(https://i.ibb.co/M6JnXz6/Unt-itled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

           จุลศักราช ๑๑๙๖ ปีมะเมียศก  เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  ครั้งนั้นองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้  ซึ่งถืออาญาสิทธิ์มาเป็นแม่ทัพหลวง  ได้สำเร็จราชการบังคับบัญชาแม่ทัพทุกกองอยู่ ณ เมืองล่องโห้นั้น  ครั้นองเตียนกุนได้ทราบข่าวว่า  กองทัพไทยบกเรือล่าถอยทัพกลับไปยังเมืองพระตะบองหมดแล้ว  จึงสั่งองจันเบียขุนนางผู้ใหญ่ในกองทัพ  ให้คุมไพร่พล ๑,๕๐๐ เป็นแม่ทัพใหญ่พานักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชา และครอบครัวพระยาพระเขมรที่หนีไทยไปพึ่งญวน  ญวนก็พาเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพนมเปญ  เมืองพนมเปญนั้นไทยรื้อทำลายบ้านเมืองเสียสิ้นแล้ว  ญวนว่าให้เขมรตั้งพักอยู่ที่นี่ก่อนเถิด  แล้วญวนจึงจะช่วยจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยปรกติดังเก่า  แต่องจันเบียแม่ทัพญวนนั้นก็ตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญด้วย  เพื่อจะได้อยู่เป็นเพื่อนป้องกันนักองจันทร์เขมร

           แต่องเตียนกุนแม่ทัพหลวงนั้นก็ยกทัพใหญ่ขึ้นไปตั้งล้อมเมืองไซ่ง่อน  ซึ่งองภอเบโคยลันเบียเป็นขบถ  แต่องเตียนกุนแม่ทัพหลวงตั้งล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่หลายเดือนก็ยังไม่ได้เมืองไซ่ง่อนอยู่ในอำนาจกรุงเว้.....”

          ** สงครามไทย-ญวน  แม้ยังไม่จบสิ้น  แต่ผลก็ปรากฏว่าไทยเสียกองทัพพระยานครสวรรค์ไปหนึ่งทัพ  ไพร่พลหนึ่งพันคน  กองทัพพระยาสีหราชเดโชไพร่พลแปดร้อยสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย  ญวนเสียกองทัพหน้าสังเวยค่ายกลนรกที่โคกสะแกให้แก่เจ้าพระยาบดิทรเดชาหนึ่งทัพ  ไพร่พล ๒,๒๐๐ คน  ตายคาค่ายนรก ๑,๔๑๕ คน  จับเป็นได้ ๑๖๔  ป่วยทุพพลภาพ ๔๑๖  หนีไปได้ ๓๖ คน  กองทัพหน้าญวนหลงเข้าค่ายกลเจ้าพระยานครราชสีมาที่บาพนม  ไพร่พล ๘๐๐ คนตายคาค่าย ๕๐๐ คนเศษ  เจ็บป่วยลำบากอีกมาก  ถูกจับได้ทั้งหมดแล้วถูกตัดศีรษะใส่เรือส่งไปถวายพระเจ้าเวียดนาม  และยังมีสูญเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งสองฝ่ายอีกมาก  ตอนนี้ไทยล่าถอยทัพมาปักหลักอยู่ ณ เมืองพระตะบอง  ทัพองเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน  สั่งให้องจันเบียพานักองจันทร์พระเจ้ากรุงกัมพูชากลับมาประทับที่พนมเปญแล้ว  เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร   ค่อยมาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, กันยายน, 2563, 09:51:25 PM
(https://i.ibb.co/BgGmxyy/Untitledf-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๔ -

องเตียนกุนส่งสารมาสอบถาม
ว่าสยามที่ทำสงครามใหญ่
ย่ำยีญวนป่วนเขตเพราะเหตุใด
ญวนมิได้คุกคามสยามเลย

ไทยชี้แจงว่าญวนควรรู้ชัด
วาอาสัตย์ขาดศีลหมิ่นคำเอ่ย
ไร้สำนึกบุญคุณที่คุ้นเคย
ทั้งเชือนเฉยเมินหมางทางไมตรี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่..  กองทัพไทยเลิกทัพล่าถอยจากญวนทุกกอง  โดยกองทัพวังหน้าของพระยามณเฑียรบาลเดินกลับไปทางลาว  กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมากลับมาพักทัพอยู่แขวงเมืองกะพงสวาย  ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชายกย้ายจากเมืองโปริสาดไปพักอยู่เมืองพระตะบอง  ส่วนทัพของพระยาสีหราชเดโชนั้นหายไปอย่างไร้ร่องรอย  ฝ่ายญวนนั้น องเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้แม่ทัพใหญ่เห็นว่าไทยล่าถอยทัพไปดังกล่าวแล้วนั้น  จึงสั่งให้องจันเบียขุนนางผู้ใหญ่ญวน  จัดกองทัพมีกำลังพล ๑,๕๐๐ นาย  นำพานักองจันทร์พระเจ้ากรุงกัมพูชาที่หนีไทยไปพึ่งญวนนั้น  กลับมาประทับที่พนมเปญที่มีสภาพเป็นเมืองร้างแล้ว  เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......

(https://i.ibb.co/QDKHb5R/Unsddtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เดือนห้าปีมะเมียศกนั้น  ฝ่ายองเย้อโดยดาวคุมไพร่ญวน ๔๒ คน  ถือหนังสือองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่เข้ามาทางเขมร  แจ้งความกับขุนรักษานิคมเขตนายด่านเมืองพระตะบองว่า     “จะมาหาท่านแม่ทัพไทยผู้เป็นใหญ่”     นายด่านเขมรก็ส่งองเย้อโดยดาวผู้ถือนั้นเข้ามายังเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพระตะบอง  ให้ล่ามแปลหนังสือญวนออกเป็นภาษาไทยใจความว่า

           “หนังสือของท่านองเป็นใหญ่ฝ่ายทหารแม่ทัพบกทั้งสิ้นในกรุงเว้  แจ้งความมาถึงท่านองเป็นใหญ่ฝ่ายแม่ทัพไทยได้ทราบว่า  เดิมเมืองญวนกับเมืองไทยเป็นทางไมตรีกันมาช้านาน  บัดนี้ไม่มีเหตุไม่มีวิวาทะอะไรกัน  เหตุผลประการใดไทยจึงยกกองทัพมากระทำย่ำยีกับญวนก่อน  และไทยก่อการศึกสงครามกับญวน  ญวนก็ต้องยกทัพมาป้องกันเขตแดนและไพร่บ้านพลเมืองญวนบ้าง”

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้จัดสิ่งของมาเลี้ยงพวกญวน  แล้วจึงให้ญวนคอยอยู่ก่อน   แล้วจึงจะตอบหนังสือไปให้ถึงแม่ทัพญวนต่อภายหลัง  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้หลวงจินดารักษ์นำต้นหนังสือญวนและสำเนาแปลนั้นส่งไปยังกรุงเทพฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาโปรดให้มีท้องตราตอบออกไป  ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบญวนตามกระแสพระราชดำริที่ทรงร่างส่งออกไปดังนี้

           “สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก  ดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์อัครมหาเสนาบดีจอมพิริยพาหล  พยุหพลพิไชยสงคราม  ซึ่งเป็นรัตนทวยหาญ ดุจจักรแก้วประดิษฐานอยู่ใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทบงกชเรณูมาศ  ยุคลพระบาสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราช  บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา  มาถึงท่านองเป็นใหญ่ฝ่ายแม่ทัพญวนได้ทราบ  ซึ่งญวนมีหนังสือมานั้นได้แจ้งแล้วทุกประการ  ฝ่ายเราได้พิเคราะห์ดูเห็นว่า   “ญวนหยิบยกแต่ความดีเล็กน้อยของญวนขึ้นมาว่ากล่าวฝ่ายเดียว  แต่ความดีของไทยที่อดออมถนอมรักษาทางไมตรีกับญวนไม่ให้มัวหมองนั้น  ญวนไม่เห็นบ้างว่าความดีของไทยมีอยู่กับญวนโดยมากญวนก็ลืมเสียหมด  ถ้าญวนจะรักษาทางไมตรีให้เหมือนไทยรักษาไมตรีกับญวนนั้น  ก็จะไม่เกิดวิวาทเป็นที่ร้าวฉานซึ่งกันแลกัน  ถ้าญวนไม่ล่วงเกินพูดจาหมิ่นประมาทต่อกรุงเทพฯ แล้ว  ท่านผู้ครองแผ่นดินไทยก็จะรักษาทางไมตรีซึ่งกันและกันไว้โดยสุจริต  ไทยก็จะไม่คิดก่อการศึกสงครามย่ำยีเขตแดนญวน  ถ้าญวนทำได้ดังนั้นแล้วทางไมตรีทั้งสองพระนครก็คงจะถาวรวัฒนาการไปชั่วกัลปาวสาน  เกียรติยศทั้งสองพระนครจะเป็นที่สรรเสริญแก่นานาประเทศทั้งปวง  ไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมาในแผ่นดินไทยญวนก็จะอยู่เย็นเป็นสุข  ปราศจากความทุกข์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย  บัดนี้ทางไมตรีไทยกับญวนเสื่อมเสียไปครั้งนี้ด้วยเหตุผลประการใดนั้น  ก็รู้อยู่กับใจญวนสิ้นทุกประการ  และนานาประเทศที่อาศัยอยู่ในเขตแดนไทยและญวนนั้น  เขาก็จะย่อมรู้เป็นพยานอยู่ด้วยมาก  หรือญวนจะเห็นว่าไทยทำให้เสียทางไมตรีไปก่อนเล่า  ซึ่งญวนทำลายล้างทางไมตรีให้เสียไปก่อนนั้นไม่คิดดูบ้างเลย  เนื้อความสองข้อนี้ให้ญวนคิดดูเถิด”"

(https://i.ibb.co/CQhYd7c/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วส่งหนังสือให้องเย้อโดยดาวผู้ถือหนังสือญวนมานั้นรับไปให้แม่ทัพญวน  

          อนึ่ง  แต่ก่อนเสนาบดีญวนมีหนังสือเตือนสติไทยเข้ามาฉบับหนึ่งใจความว่า  พม่ากรุงอังวะกับไทยเป็นข้าศึกแก่กันมาช้านาน  จนถึงคราวนี้การศึกสงครามพม่ากับไทยก็ยังไม่เว้นวายเลิกกัน  ถ้ามีช่องมีเวลาเมื่อใด  พม่าก็ยกกองทัพทำแก่ไทยไม่ใคร่จะเว้นว่าง  บัดนี้พม่าเห็นว่าไทยญวนทำศึกสงครามติดพันกันอยู่  ฝ่ายพม่าได้ช่องโอกาสอย่างดี  จะยกทัพใหญ่มาตีไทย  ไทยก็จะได้ความลำบากยากแค้นแสนสาหัส  เพราะพม่าจะยกทัพใหญ่มาพลอยซ้ำเติมกับญวน  เหมือนหนึ่งเป็นทัพบกทัพเรือเข้ามาตีเมืองไทยพร้อมกับทัพพม่า  ทัพพม่าก็จะได้เมืองไทยไปแบ่งปันกับญวน  แต่ญวนยังมีเมตตาแก่ไทยอยู่จึงไม่ยกทัพมาพร้อมกับพม่า  พม่าก็เป็นแต่เตรียมการไว้  จะยกเข้ามาเมื่อใดก็ยังไม่  เนื้อความดังนี้มีแจ้งอยู่หนังสือของญวนฉบับก่อนนั้นแล้ว  ท่านเสนาบดีไทยได้แปลหนังสือญวนฉบับก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา  ได้ทรงทราบใต้ฝาละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำรัสแก่ท่านเสนาบดี  ให้มีท้องตราตอบออกมายังเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพที่เมืองพระตะบองว่า  ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเขียนหนังสืออีกฉบับหนึ่ง  ให้ตอบญวนตามพระกระแสพระราชดำริที่โปรดเกล้าฯ  ให้พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ที่ทรงร่างพระราชทานออกไป  แต่ให้เขียนดำเนินเนื้อความเป็นหนังสือเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพไทย  ประทับตราพระราชสีห์น้อยแม่ทัพตอบญวนไปอีกฉบับหนึ่ง ใจความว่า

           “สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก  ดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์อัครมหาเสนาบดีจอมพิริยพาหล  พยุหพลพิไชยสงคราม  ซึ่งเป็นรัตนทวยหาญดุจจักรแก้วประดิษฐานอยู่ใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทบงกชเรณูมาศ  ยุคลพระบาสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราช  บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา  อันทรงพระมหาอนันตานุภาพ  โปรดให้เรามาปราบปรามอินทรราชดัสกรนครกัมพุชประเทศและมาลาวประเทศ  ได้ขอบเขตขัณฑเสมา  อาณาจักรโดยกว้างขวางในบุรพทิศ  มาถึงองเลโปเสนาบดีผู้สำเร็จราชการฝ่ายนานาประเทศในกรุงเว้  และองทงเจอัครมหาเสนาบดีผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือของอาณาจักรญวนทั้งสิ้น  และเป็นผู้สำเร็จราชการในกรุงเว้ด้วยจงทราบ  ซึ่งแต่ก่อนท่านเสนาบดีและแม่ทัพฝ่ายญวนมีหนังสือเข้ามายังกรุงพระมหานคร  เป็นเนื้อความตักเตือนสติไทยนั้น  ด้วยเรื่องเมืองพม่ากับไทย  ไทยได้แจ้งแล้ว  แต่ท่านเสนาบดีไทยหลายท่านคิดเห็นว่า  ครั้นจะนำหนังสือญวนที่เตือนสติผู้ครองฝ่ายไทยนั้น  ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงพระมหานครศรีอยุธยาไม่ได้  เพราะเกรงพระราชอาญา  จะปรับไหมให้นายทัพนายกองและเสนาบดีถึงที่ตาย  เพราะกฎหมายเมืองไทยมีว่า  เขาด่าเจ้านายห้ามไม่ให้บ่าวไพร่นำความด่าบอกแก่เจ้านาย  ถ้าผู้ใดบอกโทษถึงตาย  เพราะฉะนั้นซึ่งญวนมีหนังสือเข้ามาบริภาษตัดพ้อถึงพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นหลายปะการ  ฝ่ายท่านเสนาบดีไทยจะนำหนังสือของญวนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้เลยเป็นอันขาด  เพราะกฎหมายห้ามตามธรรมเนียมไทย  แต่ท่านเสนาบดีไทยได้พิเคราะห์ตรวจดูหนังสือของญวนแล้ว  และเราก็ได้ตรวจด้วย  เห็นข้อความสำคัญในหนังสือของญวนนั้นมีอยู่หนึ่ง  ซึ่งญวนออกชื่อพม่าข้าศึกมาข่มขู่ไทยนั้น  เหมือนเขียนรูปเสือหลอกให้วัวกลัว  ฝ่ายนายทัพนายกองของไทยได้ประชุมปรึกษาพร้อมกันจึงลงเนื้อเห็นว่า  ข้อความในหนังสือของเสนาบดีญวนกล่าวถ้อยคำเหมือนปัญญาเด็กเลี้ยงโค  เพราะฉะนั้น  จึงไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดินไทยให้ขุ่นเคืองใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาท  กับข้อความซึ่งญวนเตือนสติให้ระวังระไวพม่าเมืองอังวะ  จะยกกองทัพมาซ้ำเติมตีไทยนั้น  ฝ่ายเราและท่านเสนาบดีไทยมีความขอบใจแก่เสนาบดีญวนที่เตือนสติมานั้นเป็นอันมากแล้ว......”

          ** ท่านผู้อ่านครับ  ตอนนี้พักการรบกันด้วยปืนผาหน้าไม้และสรรพาวุธนานาชนิดไว้ก่อน  มาทำสงครามน้ำหมึกกันอีกครา  หนังสือตอบจากแม่ทัพใหญ่ไทยฉบับที่สอง  ความยังไม่จบ  มีประเด็นที่ตอบโต้ญวนที่ว่า  พม่าจะฉวยโอกาสยกทัพใหญ่มาโจมตีไทย  แล้วไทยจะถูกญวนกับพม่าระดมตีทั้งสองทางจนต้องเสียประเทศให้ญวนกับพม่าแบ่งกันครอบครอง  เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ไทยจะตอบประเด็นนี้ว่าอย่างไร  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไ เมืองสุโขทัย
๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, กันยายน, 2563, 10:05:00 PM
(https://i.ibb.co/55YQ8XD/Unfdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๕ -

หนังสือไทยตอบญวนสำนวนกร้าว
กำแหงห้าวคารมสมศักดิ์ศรี
ขุนทหารองครักษ์จอมจักรี
ล้วนพร้อมพลีชีวาตม์เพื่อชาติไทย

ไม่เกรงกลัวพม่าญวนชวนร่วมรบ
จะสยบย่อท้อก็หาไม่
ขอท้าญวนชวนพม่ามาเร็วไว
สยามไม่หวาดหวั่นอันตราย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย  เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ ...  เจ้าพระยาบดินทรเดชาพักไพร่พลกองทัพใหญ่อยู่ ณ เมืองพระตะบองนั้น  องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนให้องเย้อโดยดาวถือหนังสือมาให้เจ้าพระยาแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทย  ถามเหตุผลที่ไทยยกทัพใหญ่มาตีญวน  เจ้าพระยาบดินทรเดชานำหนังสือญวนขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีพระราชดำริเป็นแนวทางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบญวนไป  และยังมีกระแสพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบสารญวนอีกฉบับหนึ่ง  ที่ญวนเตือนสติไทยเรื่องพม่าจะฉวยโอกาสที่ไทยกำลังรบกับญวน  ยกมาตีไทยเป็นทัพกระหนาบ  ความที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบญวนตามพระกระแสพระราชดำรินั้นยังไม่จบ  วันนี้มาอ่านต่อครับ....

           “........แต่ความคิดแม่ทัพนายกองฝ่ายไทยทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย  พร้อมใจกันเห็นว่าเมืองไทยกับเมืองพม่า  ได้เคยทำศึกสงครามเคี่ยวเข็ญแรมปีแรมเดือนกันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว  จนแม่ทัพพม่าออกระอาฝีมือไทย  พม่าได้แต่งทูตมาชวนแม่ทัพไทยให้งดการศึกสงครามกันเสีย  แล้วผันผ่อนตัดรอนเขตแดนแบ่งปันบ้านเมืองที่พรมแดนซึ่งกันและกันเด็ดขาดโดยมั่นคงลงเป็นการเสร็จแล้ว  ข้างฝ่ายเหนือลำแม่น้ำโขงเป็นของไทยตลอดถึงเมืองลาวพุงดำ  ไปจดถึงเมืองเชียงแสนตลอดขึ้นไปจนถึงเขาคั่นเขาเย้าแม่น้ำงึม  และแม่น้ำเถินและแม่น้ำภาน แม่น้ำตะพังหรือแก่งสะพานหินขาว  ต่อติดกับเขตแดนพม่าเชียงตุงเชียงรุ้งด้วย  แม่ทัพไทยกับแม่ทัพพม่าได้ตกลงแบ่งปันเขตแดนกันเด็ดขาดออกไปแล้ว  ดังที่ชี้แจงตำบลตำบลเหล่านี้มาให้ญวนรู้ด้วย  เขตแดนฝ่ายใต้นั้นเล่า  กองทัพอังกฤษก็ตีได้มาก  ฝ่ายอังกฤษได้เป็นสัมพันธมิตรไมตรีกับไทยแล้ว  และอังกฤษยกบ้านเมืองฝ่ายพม่าที่อังกฤษตีไว้ได้นั้น  มายกให้แก่ไทยหลายเมือง  ฝ่ายไทยไม่รับส่วนแบ่งปันเมืองพม่าที่อังกฤษให้ไว้นั้น  เพราะไทยเห็นว่าเขาหลวงคั่นอยู่รักษาเมืองเหล่านั้นยาก  จึงไม่รับไว้สักเมืองหนึ่ง  ไทยกับอังกฤษได้เป็นมหามิตรไมตรีกัน  เนื้อความข้อนี้ใช่ไทยจะอวดอ้างก็หาไม่  แจ้งอยู่แก่ใจญวนและพม่านั้นแล้ว

          อนึ่ง  รี้พลทแกล้วทหารแม่ทัพนายกองไทย  ก็ได้รู้จักชั้นเชิงศึกสงครามกับพม่ามาช้านานแล้ว  ได้เคยทำศึกกันมาจนพม่าระอาเลิกไปเอง  บัดนี้แม่ทัพนายกองฝ่ายไทยทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย  ก็ได้ตรึกตรองจัดการบ้านเมืองอาณาเขตของไทยฝ่ายเหนือ  ที่พรมแดนกับพม่าโดยมั่นคงแข็งแรงทุกทิศทุกทาง  หรือที่ใดเป็นช่องเป็นทางที่พม่าจะมาได้โดยง่ายนั้น  ก็ได้จัดสรรเจ้าเมืองกรมการที่มีสติปัญญากล้าหาญและฝีมือทัพศึกเข้มแข็ง  ให้ไปพิทักษ์รักษาบ้านเมืองด่านทางที่พม่าจะเข้ามานั้นโดยรอบคอบตลอดขอบขัณฑเสมาอาณาจักรแล้ว

          อนึ่ง  แม่ทัพนายกองฝ่ายไทยมิได้กริ่งเกรงฝีมือพม่าข้าศึกเลย  อนึ่งเมืองไทยมิได้ไม่มีความสะดุ้งตกใจกลัวว่าพม่าจะยกกองทัพมาเป็นศึกขนาบกับญวน  ถึงมาทว่าญวนจะไปบอกพม่าให้ยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทยอีก  ไทยก็ไม่หวาดหวั่นตกใจกลัวพม่า  ขอให้ญวนเร่งรีบโดยเร็วไปบอกแก่พม่าให้ยกทัพมาเถิด  ไทยจะได้สู้รบทำศึกกับพม่าต่อไปอีก  เพราะว่าแม่ทัพไทยไม่ได้เล่นสนุกกับพม่ามานานแล้ว

          อนึ่ง  แม่ทัพนายกองไทยก็ได้เคยเห็นฝีมือทหารพม่าและทหารญวนมามากพอจะสู้รบกันได้ไม่เป็นไรนัก  พม่าและญวนก็ไม่ได้เหาะเหินเดินบนน้ำดำดินมาทำศึกกันเมื่อไรเล่า  ญวนและพม่าก็ย่อมมีช้าง ม้า โค กระบือ และเรือเป็นพาหนะด้วยกันเหมือนกับไทย  ถึงเมื่อรบกันนั้นก็ย่อมตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ใช่จะตายแต่ไทยเมื่อไรเล่า  พม่าและญวนก็ไม่ได้กินเหล็ก  ย่อมจะมีเลือดเนื้อ  ถูกคมอาวุธก็บาดเจ็บตายอย่างไทย  หาควรจะดูถูกไทยไม่  ถ้าท่านเสนาบดีญวนได้รับหนังสือฉบับนี้แล้ว  ขอให้นำข้อความขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามให้ทรงทราบด้วยเถิด  หนังสือฉบับนี้ส่งมาแต่ท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่แม่ทัพที่เมืองพระตะบอง แต่ ณ วันเดือนหกแรมสิบสองค่ำ  ปีมะเมียฉศกจุลศักราช ๑๑๙๖  ผ่านพิภพได้ ๑๑ ปี  เขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวนฉบับ ๑  เป็นอักษรขอมภาษาเขมรฉบับ ๑  แล้วประทับตราพระราชสีห์น้อย  ม้วนไว้ในกลักแดงมีถุงกำมะหยี่สีม่วงหุ้มนอกกลัก  ตราจักรประจำครั่งที่ปากถุง  มอบให้ญวนที่ยังอยู่คอยรับหนังสือตอบนั้น  ให้ถือหนังสือฉบับนี้ไปส่งให้องเตียนกุนที่เมืองไซ่ง่อน  แต่หนังสือข้างนอกถุงนั้นมีความว่า   “ถึงองทงเจอัครมหาเสนาบดีและองเลโปเสนาบดีกรุงเว้”

          ในปีมะเมียศกนั้น  ครั้นถึง ณ เดือนแปดขึ้นสี่ค่ำ  นายทัพญวนชื่อองโดยดายคุมญวน ๒๘ คน  ถือหนังสือเดินมาทางเมืองเขมร  องโดยดายแจ้งความกับขุนพิทักษ์ปัตถะพีเขมรนายด่านเมืองพระตะบองว่า

          “แม่ทัพญวนฝ่ายเรือชื่อองต๋าเตืองเซิง  ใช้ให้ถือหนังสือมาให้ท่านองเป็นใหญ่บดินทร์แม่ทัพไทยที่เมืองพระตะบอง

          เขมรนายด่านนำองโดยดายผู้ถือหนังสือญวนไปส่งเมืองพระตะบอง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งล่ามให้ถามองโดยดายว่า

           “หนังสือฉบับนี้ส่งมาแต่เมืองหลวงกรุงเว้หรือมาแต่เมืองไซ่ง่อน?”

          องโดยดายแจ้งความว่า   “เป็นหนังสือขององต๋าเตืองเซิงแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเรือ  ซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ ที่ปากคลองสี่แยกโดยภาษาญวนเรียกว่า  “เจียนทราย” (แปลเป็นภาษาไทยว่า  เกาะแตง)  แม่ทัพเรือมีหนังสือใช้ให้ถือมาส่งองเป็นใหญ่บดินทร์แม่ทัพไทยที่เมืองพระตะบอง  แล้วองต๋าเตืองเซิงมีหนังสือใช้ให้จีนพ่อค้ารังนกชื่อจีนไลหู  ลงเรือปากปลาใหญ่ใช้ใบแล่นไปส่งหนังสือที่กองด่านทะเลไทย  ซึ่งตั้งอยู่ ณ เกาะกงกลางทะเล  ให้ส่งหนังสือนั้นไปยังเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพเรือที่เมืองจันทบุรี

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้ว  จึงให้ล่ามแปลหนังสือออกได้ความเสร็จสิ้น  จึงสั่งพระยากำจรใจราชกับขุนศรีสังหารคุมไพร่พล ๓๐ คน  ถือต้นหนังสือญวนกับสำเนาแปลส่งเข้าไปยังกรุงเทพฯ  แล้วจัดการเลี้ยงดูญวนพอสมควร....”

          ** ใจความในหนังสือญวนที่ส่งมาคราวนี้ยาวเยิ่นเย้อพอสมควร  ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาแปลทราบความแล้วสั่งให้พระยากำจรใจราชนำเข้ากรุงเทพฯ  เพื่อทูลเกล้าฯต่อไป  ใจความว่าอย่างไร ยกไปให้อ่านกันในคราวหน้านะครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46588#msg46588)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg47656#msg47656)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กันยายน, 2563, 10:52:04 PM
(https://i.ibb.co/FxMw1hh/Untitlded-4.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46746#msg46746)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg48585#msg48585)                   .

- อานามสยามยุทธ ๑๐๖ -

ญวนยกเรื่องหลังเก่ามาเล่าอีก
จริงเพียงซีกญวนนำย้ำขยาย
ยกความดีไม่กระดากญวนมากมาย
กล่าวโกหกหน้าตายอายไม่เป็น

ท้ายหนังสือว่าสงบไม่รบต่อ
ผ่านมาพอแล้วกรรมรบทำเข็ญ
เหมือนนักบุญดับร้อนให้ผ่อนเย็น
จับประเด็นญวนได้ตรงไหนกัน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่  เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือตอบสารญวนตามกระแสพระราชดำริ  ใจความในหนังสือตอบนี้แข็งกร้าว  ท้าทายให้ญวนชักชวนพม่ามาร่วมญวนรบไทย  หลังจากส่งหนังสือตอบดังกล่าวส่งญวนไปแล้ว  ในปีเดียวกันนั้น  แม่ทัพเรือญวนให้คนถือหนังสือเข้ามามอบแก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา  พร้อมกับให้ส่งไปมอบเจ้าพระยาพระคลังอีกฉบับหนึ่ง  ความในหนังสือนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้แปลเป็นภาษาไทยทราบความแล้ว  ให้พระยากำจรใจราชนำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป  ใจความในหนังสือนั้นว่าอย่างไร วันนี้มาอ่านกันนะครับ.....

           “ใน ณ เดือนแปดปีมะเมียศกนั้น  ที่กรุงเทพฯ ได้รับหนังสือญวนที่กองตระเวนเมืองตราดได้ส่งมาแล้วแจ้งความว่า  ญวนเรือตระเวนถือมาส่งยังเกาะหน้าเมืองตราด  ญวนแจ้งความว่า

           “เป็นหนังสือขององตุ่นเฝื่อเจ้าเมืองบันทายมาศ  ส่งมาให้กองตระเวนไทย  ส่งต่อไปยังกรุงเทพฯฉบับ ๑”

          แล้วใน ณ เดือนแปดนั้น  ได้รับหนังสือญวนมาแต่เมืองจันทบุรี  ที่เจ้าพระยาพระคลังได้รับมาจากขุนอุดมศักดากองตระเวนที่เกาะกงส่งมาว่า  เป็นหนังสือขององต๋าเตืองเซิงแม่ทัพเรือฝ่ายญวนฉบับ ๑  และได้รับหนังสือญวนมาแต่เมืองพระตะบองที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาส่งมาว่า  เป็นหนังสือขององต๋าเตืองเซิงแม่ทัพเรือฉบับ ๑  รวมหนังสือญวนส่งเข้ามากรุงเทพฯ สามฉบับ  มีเนื้อความต้องกันว่า

           “หนังสือของแม่ทัพญวนฝ่ายเรือทะเล  ชื่อองต๋าเตืองเซิง  ผู้ถืออาญาสิทธิ์บังคับแม่ทัพเรือแต่ล้วนเป็นใหญ่ใน ๑๖ กอง  ทั้งเรือรบน้ำจืดและน้ำเค็ม  เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแม่ทัพเรือทั้งสิ้น  ขอแจ้งความมายังแม่ทัพบกและแม่ทัพเรือไทยได้ทราบ  แล้วให้ส่งเข้าไปยังท่านเสนาบดีกรุงพระมหานครศรีอยุธยาบางกอกได้ทราบด้วย”  จะได้นำขึ้นถวายพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้ทรงทราบอัธยาศัยน้ำใจแม่ทัพญวน  ญวนคิดว่า  “แต่เดิมกรุงศรีอยุธยากับกรุงเวียดนามได้เป็นทางพระราชไมตรีกันอันสนิทมาช้านานถึงสองแผ่นดินแล้ว  ในแผ่นดินที่ ๓ นี้เล่า  พระเจ้าเวียดนามก็ยังทรงรักใคร่นับถือเสมอต้นเสมอปลายอยู่  จึงได้แต่งทูตญวนให้ไปเยี่ยมเยือนพระศพและถวายเครื่องบรรณาการคำนับกับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ฝ่ายไทยพระองค์นี้ด้วย  ถ้อยทีก็มีพระราชสาส์นไปมาถึงกันและกันมาช้านาน

          เมื่อครั้งเจ้าอนุลาวเวียงจันทน์เป็นผู้ก่อเหตุขุ่นเคืองขึ้นกับไทย  เพราะเจ้าอนุลงมาเฝ้าที่กรุงเทพฯ ครั้งนั้น  ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาทำกิริยาดูหมิ่นดูถูกเจ้าอนุมาก ๆ  และเจ้าผู้ชายซึ่งเป็นเจ้าน้องเล็ก ๆ ต่างมารดากับพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นเป็นหลายองค์  ชวนกันข่มเหงข่มขี่เจ้าอนุต่าง ๆ เพราะเห็นว่าเป็นลาว  ฝ่ายเจ้าอนุก็ถือตัวว่าเป็นเชื้อสายสืบกษัตริย์มาหลายชั่ววงศ์แล้ว  มาถูกเจ้าเล็ก ๆ เด็ก ๆ ข่มเหง  และถูกขุนนางไทยดูหมิ่นจึงเสียใจ  กลับขึ้นไปเวียงจันทน์จึงจัดการกองทัพยกลงมาทำศึกแก้แค้นตอบแทนไทยบ้าง  แต่เจ้าอนุเสียทีแก่ไทย  เพราะถูกหลอกถูกลวงขุนนางลาวของตนเองเป็นไส้ศึก  จึงได้หนีไปอาศัยพึ่งญวน

          ครั้งนั้นผู้ครองฝ่ายญวนใช้ให้ขุนนางญวนถือหนังสือไปว่ากล่าวโดยดี  เพื่อจะประนีประนอมขอต่อทัพไทย  ให้เจ้าอนุคงคืนเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์อย่างเดิม  กับได้มีพระราชสาส์นให้ทูตญวนไปทางทะเลจนถึงเมืองไทย  เพื่อจะได้ขอโทษเจ้าอนุเวียงจันทน์ต่อไป  แต่ขุนนางญวนผู้ถือหนังสือไปทางบกนั้น ครั้นถึงกองด่านไทย  ไทยก็เก็บหนังสือญวนไว้  แล้วจับญวนฆ่าเสีย ๔๘ คน  ขุนนางนายด่านไทยฆ่าญวนผู้ถือหนังสือดังนี้  ผิดด้วยเยี่ยงอย่างประเพณีขนบธรรมเนียมเมืองเป็นไมตรีกัน  ถึงเช่นนั้นผู้ครองฝายญวนยังอดกลั้นความโกรธไว้ได้  เพราะคิดถึงบุญคุณเก่า ๆ ของไทยมาก  ที่ไทยได้ทำนุบำรุงพระเจ้ายาลวงบรมกษัตริย์ (คือ องเชียงสือ)  ต้นราชวงศ์ในแผ่นดินญวนนี้

          เพราะฉะนั้นเมื่อราชทูตไทยมาถึงกรุงเว้  ผู้ครองฝ่ายญวนมิได้ซักไซ้ไต่ถาม  เพราะเกรงว่าทางไมตรีจะมัวหมองไป  และเมื่อทำการพระบรมศพพระมหาอุปราชนั้น (คือพระเมรุกรมพระราชวังที่ ๓)  ผู้ครองฝ่ายญวนได้แต่งทูตานุทูตให้นำบรรณาการเข้าไปช่วยในการพระศพพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วย  แต่ครั้งนั้นผู้ครองฝ่ายไทยได้แสดงเหตุกิริยาอาการทำลายล้างทางไมตรีแก่ญวนก่อน  คือขุนนางไทยขับไล่ทูตญวนเสียจากเมืองบางกอก  แล้วคืนเครื่องราชบรรณาการของญวนมาเสียสิ้น  ไทยทำอย่างนี้ก็เห็นได้ว่าขาดจากทางพระราชไมตรีกันแล้ว  และเหตุที่จะก่อการศึกสงครามกันต่อไป  ฝ่ายญวนรู้เข้าใจดังนั้นแล้ว  แต่ไม่ได้คิดจัดการตระเตรียมกองทัพไว้รบสู้กับไทย  เพราะเข้าใจว่าไม่อยากจะฆ่าฟันผู้มีบุญคุณเลย  ถ้าญวนไม่คิดดังนี้แล้วที่ไหนเล่าญวนคงจะคิดต่อสู้กับไทยให้แข็งแรงตามทำนองศึก  ที่ไหนไทยจะอาจล่วงมาเหยียบในเขตแดนญวนได้

          อนึ่งเมื่อครั้งปีมะเส็งเบญจศกที่ล่วงมาแล้วปีหนึ่งนั้น  ผู้ครองฝ่ายไทยเชื่อถ้อยฟังคำพวกลาวขบถ  ยุยงให้ไทยทิ้งความดีมาหาความร้าย  หาเหตุผลมิได้เลย  และหามีความวิวาทบาดหมางสิ่งหนึ่งสิ่งใดกับญวนไม่  ไทยยกมาทั้งทางบกและทางเรือ  มาทำศึกกับญวนก่อน  ฝ่ายญวนก็ยังคิดถึงบุญคุณของพระอัยกาธิราชแห่งไทย  ซึ่งมีแก่ญวนโดยมาก  เพราะฉะนั้น  ญวนจึงไม่คิดต่อต้านล้างผลาญกองทัพไทยให้เสียยับเยินมาก  ญวนจึงทิ้งเมืองบันทายมาศ, เมืองโจดก, เมืองใหม่ที่อำนาวเสียทั้งสามเมือง  ญวนล่าทัพหนีไปเป็นการคำนับทัพไทยสามครั้ง  ต่อครั้งหลังญวนจึงยกกองทัพออกสู้รบกับไทยตามกฎหมายอัยการศึก  แต่ญวนกับไทยได้รบกันที่ตำบลเจียนทราย (เกาะแตง) นั้น  ยังไม่แพ้ชนะแก่กันทั้งสองฝ่าย  แต่แม่ทัพไทยผู้ขลาดก็ด่วนชิงล่าทัพถอยหนีเสียก่อน  ฝ่ายญวนถ้ายังมีอาฆาตพยาบาทแก่ไทยอยู่แล้ว  ขณะนั้นกองทัพญวนมีไพร่พลทหารอยู่ถึงแสนหนึ่ง  มีเรือรบใหญ่น้อยอยู่ถึงพันลำ  ฝ่ายญวนก็เป็นที่มีช่องจะได้ชัยชนะแก่ไทยเป็นแน่  ถ้าญวนจะไล่ต้อนกองทัพบกเรือให้ตีกระหนาบกระหน่ำทั้งทางเหนือและทางใต้  ฝ่ายน้ำและบนบกนั้นก็จะมีชัยชนะแก่ไทย  ได้คนและเรือช้างม้าโคกระบือและสรรพาวุธมาเป็นเชลยโดยมาก  การเป็นทวงทีอยู่อย่างนี้แล้ว  ญวนยังไม่ได้ตามตีไทย  เพราะว่าแม่ทัพญวนถือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามสั่งว่า  ไม่ให้กองทัพญวนไล่ติดตามตีกองทัพไทยเมื่อล่าหนีไปนั้นเป็นอันขาด  ให้เป็นแต่ตั้งรับทัพไทยไว้  อย่าให้ไทยไล่รุกมาตีบ้านเมืองได้  เมื่อไทยไม่สู้หนีไปก็อย่าให้ญวนไล่ตามฆ่าเลย  มีรับสั่งดังนี้เพราะญวนเสียดายทางไมตรีแก่ไทย  ญวนจึงไม่โกรธถือโทษไทย  ถึงมาทว่าไทยจะไม่รู้จักบุญคุณญวนที่ไม่ตามตีไทยในครั้งเกาะแตงนั้น  ไทยจะไม่แต่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นออกมาถวายพระเจ้าเวียดนามเหมือนแต่ก่อน  ผู้ครองฝ่ายญวนก็จะไม่ว่ากล่าวถือโทษแก่ไทย  และผู้ครองฝ่ายญวนจะไม่ยกกองทัพบกและทัพเรือเข้าไปตีกรุงพระมหานครศรีอยุธยาเป็นการตอบแทนแก้แค้นอีกเลย  ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้าขออย่าให้ไทยก่อการวิวาทมีเหตุทำศึกสงครามแก่ญวนต่อไปเลย  นานาประเทศซึ่งเป็นเมืองข้าศึกจะดูถูกดูหมิ่นต่าง ๆ ได้  การที่ไทยทำผิดเยี่ยงอย่างทางพระราชไมตรีมาแต่กาลก่อน ๆ  ญวนไม่ถือโทษ  จะยกโทษให้แก่ไทย  ซึ่งเขตแดนของใคร ๆ ก็รักษาให้เรียบร้อยราบคาบเป็นปรกติไว้เถิด  ไพร่บ้านพลเมืองอาณาประชาราษฎรจะอยู่เย็นเป็นสุข  ทำมาหากินไปมาค้าขายได้สบายด้วยกันทั้งสองฝ่าย  หนังสือฉบับนี้ส่งมาแต่ค่ายเจียนทราย  ศักราชมินมางปีที่ ๑๑ ในรัชกาลกรุงเว้”

          เจ้าพนักงานแปลหนังสือญวนตรวจตราดูเนื้อความถูกต้องกันทั้งสามฉบับแล้ว  จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย......”

          ความในหนังสือญวนทั้งสามฉบับ  แปลแล้วได้ความตรงกัน  นำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่  อวดอ้างความดีของญวน  กล่าวตำหนิติเตียนไทยเช่นเคย  เกี่ยวกับเรื่องเจ้าอนุเวียงจันทน์เขาพูดอย่างกะตาเห็นทีเดียว  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, กันยายน, 2563, 10:03:32 PM
(https://i.ibb.co/Zzhd6Pm/Untitwrled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๗ -

หนังสือญวนป่วนไทยหลายฉบับ
ไทยตั้งรับต่อไปอย่างไรนั่น
จึงตอบโต้ว่าเรารู้เท่าทัน
ญวนปลุกปั่นสงครามจิตวิทยา

สั่งให้เลิกส่งสารรังควานซะ
ไม่เชื่อจะประจานไปให้ขายหน้า
แจ้งทั่วถิ่นจีนแขกชาตินานา
ได้รู้ว่าญวนชั่วตัวกวนเมือง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่  ความในหนังสือญวนทั้งสามฉบับแปลแล้วได้ความตรงกัน  ญวนนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่  อวดอ้างความดีของญวน  กล่าวตำหนิติเตียนไทยเช่นเคย  เริ่มตั้งแต่เรื่องเจ้าอนุเวียงจันทน์ที่หนีไปพึ่งญวน  แล้วญวนมีหนังสือมาขอโทษไทยแทนเจ้าอนุเวียงจันทน์  ไทยฆ่าญวนผู้ถือเสียสิ้น  คำกล่าวให้ร้ายไทยและยกย่องความดีญวน  เป็นดังที่นำมาเผยแผ่เมื่อวันวานนี้แล้ว  วันนี้มาอ่านเรื่องต่อครับ

           “ครั้งนั้น ฝ่ายเมืองลาวทางตะวันออก  ซึ่งเป็นปลายเขตแดนของกรุงเทพฯ นั้น  มีหนังสือบอกลงมายังกรุงเทพมหานคร  เจ้าพนักงานได้นำหนังสือญวนที่หัวเมืองลาวส่งลงมากับต้นหนังสือญวนและใบบอกเมืองลาวด้วย  ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย  ใจความในหนังสือใบบอกนั้นว่า  

          หนังสือองทงเจอัครมหาเสนาบดีญวนกรุงเว้  ส่งมาถึงเมืองหลวงพระบางฉบับหนึ่ง  หนังสือตุ่นภู่เลยเจ้าเมืองหันตะวาส่งมาถึงเมืองมหาชัยกองแก้วฉบับหนึ่ง  หนังสือจงต๊กเจ้าเมืองแง่อานส่งมาถึงเมืองยโสธรฉบับหนึ่ง  หนังสือโงฮุยเจ้าเมืองมหาตีส่งมาถึงเมืองอุบลราชธานีฉบับหนึ่ง  หนังสือองเล่หับนายด่านทางบกฝ่ายเหนือองญวนส่งมาถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับหนึ่ง  รวมหนังสือญวนที่ส่งมาทางเมืองลาวนั้นเป็นห้าฉบับด้วยกัน  เป็นอักษรญวนบ้าง  อักษรลาวบ้าง  ระคนปนกันทั้งห้าฉบับ  กับหนังสือของญวนนายด่านต่าง ๆ ทางบก  นำมาแขวนไว้ที่ปลายเขตแดนเมืองนครนมฉบับหนึ่ง  เมืองเขมราฐฉบับหนึ่ง  เมืองมุกดาหารฉบับหนึ่ง  เมืองหนองละหารฉบับหนึ่ง  รวมหนังสือญวนที่นำมาแขวนไว้ตามหัวเมืองลาวนั้นสี่ฉบับ  เป็นอักษรลาว  เจ้าเมืองลาวทั้งสี่หัวเมืองเก็บหนังสือญวนทั้งสี่ฉบับมาส่งให้พระเจ้านครหลวงพระบาง  พระเจ้านะครหลวงพระบางจึงส่งต้นหนังสือญวนที่ใช้ให้คนนำมาถึงเมืองลาวห้าฉบับ  กับหนังสือญวนนำมาแขวนทิ้งไว้ตามหัวเมืองลาวอีกสี่ฉบับ  รวมหนังสือญวนเก้าฉบับด้วยกัน  มอบให้ท้าวพรหมมนตรีถือลงมายังกรุงเทพฯ  เจ้าพนักงานนำหนังสือบอกเจ้านครหลวงพระบาง  ทั้งต้นหนังสือญวนเก้าฉบับ  ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ล่ามญวนและล่ามลาวแปลหนังสือญวนเก้าฉบับนั้นออกเป็นภาษาไทย  ใจความคล้ายกันทั้งเก้าฉบับ  คือ  

          ญวนเจ้าบ้านผ่านเมืองและนายด่านหรือขุนนางนายทัพนายกองก็ยกย่องสรรเสริญเกียรติยศเจ้านายฝ่ายญวนต่าง ๆ เหลือที่จะพรรณนา  แล้วญวนกล่าวความติเตียนเจ้านายฝ่ายไทยเป็นอันมากเหลือที่จะพรรณนาให้ละเอียด  แต่จะกล่าวไว้บ้างเล็กน้อยคือญวนว่า  ไทยไม่ตั้งอยู่ในทางยุติธรรม  ไม่มีเหตุสิ่งไรในข้อวิวาทเลย  ไทยก่อเหตุยกกองทัพไปทำศึกกับญวนก่อน  แล้วไทยยกกองทัพไปตีต้อนพาครัวพลเมืองญวนมาก็มาก  และไทยไปเบียดเบียนยึดหัวเมืองปลายเขตแดนของญวนไปหลายตำบลหลายบ้านหลายเมือง  ญวนก็ไม่ว่า  เพราะเห็นแก่บุญคุณไทยอยู่แล้ว  ในหนังสือญวนกล่าวความยุยงลาวว่า  พวกลาวหัวเมืองเหล่านี้โง่งมซมเซอะ  ยอมตัวให้ไทยใช้สอยเหมือนกับวัวควาย  พวกลาวหลงเชื่อลิ้นลมไทย  ยอมให้ไทยมาเก็บส่วยสาอากรในบ้านเมืองลาว  ลาวหาควรให้เก็บส่วยไม่  เพราะเมืองลาวเป็นแต่เมืองพึ่งบุญ  ไม่ใช่เมืองเชลยของไทย  พวกลาวโง่ยอมเสียส่วยให้แก่ไทยทำไม  หาควรไม่  ถ้าเมืองลาวทั้งปวงเหลานี้มีใจยินดีชักชวนให้พร้อมใจกันทุกเมือง  แล้วกลับใจมาขึ้นกับญวน  ญวนก็จะไม่เก็บส่วยแก่ลาวเลย  แล้วญวนก็จะไม่กะเกณฑ์ผู้คนลาวไปใช้สอยที่เมืองญวน  ญวนจะขอให้ลาวจัดดอกไม้ธูปเทียนกับของป่าเล็กน้อยเป็นบรรณาการ  ไปถวายพระเจ้าเวียดนามสามปีครั้งหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งลาวจะมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเวียดนาม  กรุงเวียดนามจะไม่เบียดเบียนพวกลาวเหมือนพระเจ้าแผ่นดินไทย  ขออย่าให้พวกลาวมีความสงสัยอย่างอื่น ๆ เลย  ให้ลาวพวกนี้เที่ยวสืบถามตามหัวเมืองลาวสิบสองปันนาที่ขึ้นแก่ญวนดูเถิด

          เจ้าพนักงานนำข้อความตามหนังสือของญวนเก้าฉบับที่ส่งมาและแขวนไว้นั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวาย  ได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเสนาบดี และขุนนางผู้ใหญ่ประชุมพร้อมกัน  คิดหนังสือตอบญวนบ้าง  ทั้งทางบกและทางเรือเหนือใต้ทุกทาง  เป็นใจความว่า

           “หนังสือท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่  ซึ่งรักษาพระนครกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  แจ้งความมาถึงขุนนางญวนทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่ให้ทราบ  ด้วยเราได้รับหนังสือของญวนแม่ทัพและเจ้าเมืองหรือนายด่าน  ที่ส่งมาแต่ทางเมืองเขมรและทางทะเลหรือทางเหนือกับทั้งฝ่ายเมืองลาวก็หลายฉบับ  ได้พิเคราะห์ตรวจดูข้อความตามหนังสือทุกฉบับแล้ว  ครั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ไม่ได้  เพราะเนื้อความในหนังสือของญวนทุกฉบับนั้น  เหลวไหลไม่มีประมาณถ้อยคำเป็นหลักฐานทางราชการบ้านเมืองเลย  เห็นว่าไม่ควรจะนำขึ้นถวายให้ขุ่นเคืองใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทพระเจ้าแผ่นดินไทย  ครั้นอ่านหนังสือของญวนแล้ว  ไทยจะไม่ตอบให้ญวนรู้บ้าง  ญวนก็จะเข้าใจว่าไทยกลัวอำนาจญวนที่พูดจาหลอกลวงมานั้น  หรือบางทีญวนจะคิดสงสัยว่าหนังสือของญวนทุกฉบับหาถึงไทยไม่  ญวนก็จะเขียนหนังสือส่งมาอีกหรือนำมาแขวนทิ้งอีก  ไทยขี้เกียจอ่านหนังสือของญวนรำคาญหูนัก  เพราะฉะนั้นไทยจึงได้มีหนังสือตอบชี้แจงมาให้ญวนรู้ว่า  ซึ่งญวนมีหนังสือมาติเตียนไทยว่า  ไทยทิ้งความดีหาที่ร้าย  และไม่มีเหตุผลทางวิวาทซึ่งจะโกรธกัน  ญวนว่าไม่ได้คิดทำลายล้างทางไมตรีแก่ไทย  ไทยก่อการวิวาทกับญวนก่อน  แล้วไทยยกกองทัพบกและเรือไปทำศึกกับญวนให้เสื่อมเสียทางไมตรีกัน  ซึ่งญวนว่ามานั้นไทยก็ไม่เห็นจริงด้วย  ถึงแม้ว่านานาประเทศที่เข้าไปค้าขายอยู่ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยาก็มีมากต่าง ๆ ชาติกัน  พวกเหล่านั้นเขาก็ยอมรู้และเห็นว่า  ญวนยกตัวสูงเกินกับอำนาจบ้านเมืองของญวนไป  แล้วญวนก็เก็บรวมแต่ความดีของญวนมาพูดว่าเล่นตามชอบใจญวนฝ่ายเดียว  ญวนจงคิดดูบ้างเป็นไร  ข้อที่ญวนก่อเหตุร้าวฉานให้เสื่อมเสียทางไมตรีกับไทยก่อนนั้น  ญวนก็นิ่งเสียไม่พูดบ้าง  ถึงญวนไม่พูดนั้น  นานาประเทศเขาก็ย่อมรู้อยู่ว่า  ญวนมีหนังสือเข้ามาหมิ่นประมาทล่วงเกินบังคับบัญชาต่อไทย  ด้วยการพูดจาต่าง ๆ  ญวนทำท่วงทีเหมือนกรุงพระมหานครศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นเมืองอกกับญวน  เนื้อความข้อนี้ญวนไม่รู้สึกนึกคิดได้บ้างหรือ  จึงไม่หยิบยกขึ้นมาพูดบ้าง  ถ้าไม่มีเหตุผลแต่หลังดังนั้นแล้ว  ไทยหรือจะคิดทำลายล้างทางไมตรีกับญวนก่อน  ไม่มีเลย  กรุงพระมหานครศรีอยุธยากับกรุงเว้เวียดนามถ้อยทีถ้อยรักษาทางพระราชไมตรีกันและกันมาช้านาน  แต่ครั้งนี้ไทยทำให้ทางพระราชไมตรีร้าวฉานไปดังนั้น  ก็เพราะ ญวนก่อเหตุการณ์ก่อน  ไทยจึงต้องเดินตามเหตุที่ญวนก่อนั้นเอง  หาใช่อื่นไม่  เหตุที่ทางพระราชไมตรีเสียไปด้วยเหตุอะไรนั้น  เนื้อความก็ย่อมรู้อยู่กับใจญวนสิ้นทุกประการแล้ว  ให้เสนาบดีญวนตรึกตรองดูเถิด  ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าให้ญวนมีหนังสือมาพูดจาว่ากับไทยดังเช่นนี้ต่อไป  ถ้าญวนขืนมีหนังสือส่งทิ้งแขวนมาตามหัวเมืองลาว  หรือเมืองฝ่ายเหนือใต้ในเขตแดนไทยเช่นนี้ต่อไปอีก  แล้วไทยเก็บหนังสือของญวนได้  จะไม่อ่านไม่ดู  แล้วจะเผาไฟเสียทุกฉบับ  หรือบางทีไม่เผาไฟบ้าง  แต่จะเก็บต้นหนังสือของญวนส่งไปประกาศความชั่วของญวนให้ปรากฏขึ้นในกรุงปักกิ่งแผนดินจีนให้เห็นเป็นพยานด้วย”

          ครั้นแต่งหนังสือนี้เสร็จแล้ว  จึงเขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวน  เนื้อความถูกต้องกันทั้งเก้าฉบับ  ประทับตราเสนาบดีแล้วส่งขึ้นไปให้หัวเมืองลาวทั้งเก้าเมือง  ให้นำหนังสือนี้ไปส่งให้แก่ญวนและลาวที่เป็นหัวเมืองขึ้นแก่ญวนทั้งเก้าเมือง  แล้วเขียนอีกสามฉบับแต่เนื้อความต้องกันกับหนังสือเก้าฉบับนั้น  แล้ว ส่งออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบองฉบับหนึ่ง  ให้แต่งเขมรไปส่งให้กับญวนที่เมืองพนมเปญ  อีกฉบับหนึ่งส่งไปให้เจ้าพระยาพระคลังที่เมืองจันทบุรี  ให้แต่งกรมการเมืองตราดนำหนังสือนั้นไปให้ญวนที่เมืองบันทายมาศฉบับหนึ่ง  อีกฉบับหนึ่งส่งไปให้จมื่นมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นนายกองเรือตระเวนทะเลตั้งอยู่ที่เกาะกงแขวงเมืองตราด  ให้แต่งเรือใบนำหนังสือนี้ไปแขวนไว้ที่เกาะคูหลุนหน้าเมืองกำปอด  ซึ่งเป็นถิ่นที่เจ้าภาษีรังนกของญวนมาตั้งทำอยู่ที่เกาะนั้น......”

          ** เจ้าเล่ห์เจ้ากลแล้วเห็นจะไม่มีใครเกินญวนกระมัง  แม่ทัพเรือมีหนังสือมาทำนองว่าขอสงบศึก  แต่กลับไปเขียนหนังสือติดประกาศชักชวน เกลี้ยกล่อมลาวให้ตีจากไทยไปอยู่ในปกครองญวน  ช่างร้ายกาจจริง ๆ  เสนาบดีไทยเพิ่งจะมีหนังสือตอบโต้แรง ๆ คราวนี้เอง  หลังจากส่งหนังสือฉบับนี้ไปให้ญวนแล้ว  ญวนจะสงบเสงี่ยมหรือไม่อย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต



หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, ตุลาคม, 2563, 11:03:03 PM
(https://i.ibb.co/9TwKRDx/Uncxtitled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๘ -

ทัพสุดท้ายไทยยกไม่เร่งด่วน
รบไล่ญวนทั้งหมดหมายปลดเปลื้อง
ลาวที่ญวนยึดไปไทยแค้นเคือง
ถือเป็นเรื่องญวนทอดแหรังแกไทย

เจ้าเมืองพวนหวนมาสวามิภักดิ์
ด้วยญวนหักหลังช้ำจดจำได้
ที่เจ้าเมืองพวนเก่าจับเอาไป
ฆ่าโดยไม่ทวนถามหาความจริง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด  เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่  เสนาบดีฝ่ายไทยประชุมโต้ตอบหนังสือญวนทั้งเก้าฉบับ  แล้วสรุปว่าขออย่าให้ญวนเขียนหนังใส่ร้ายไทย  โกหกลวงโลกกระทำการดังเช่นที่แล้วมาอีก  ไทยจะไม่สนใจอ่านหนังสืออันไร้สาระของญวนอีกแล้ว  ขืนเขียนมาอีกก็จะเผาไฟทิ้งเสียบ้าง  หรือส่งต้นฉบับญวนไปประจานไว้ที่กลางกรุงปักกิ่ง  ให้ชนชาวจีนและนานาประเทศได้รู้เห็นความเจ้าเล่ห์ชั่วร้ายของญวนบ้าง  เมื่อเขียนเสร็จแล้วจึงคัดลอกข้อความตรงกันทั้งเก้าฉบับส่งไปตามหัวเมืองลาวที่ญวนนำหนังสือใส่ร้ายไทยมาส่งนั้น  พร้อมกับอีกสามฉบับ ให้เจ้าพระบดินทรเดชา  เจ้าพระยาพระคลัง  และจมื่นมหาดเล็กนายกองเรือตระเวนที่เกาะกง  ส่งต่อไปให้ญวนด้วย  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

           “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งตั้งพักพลอยู่ที่เมืองพระตะบองนั้น  สั่งให้พระยาวิเศษเจ้าเมืองฉะเชิงเทราคุมไพร่พลร้อยหนึ่ง  พาช้างพลายสีประหลาดซึ่งเป็นช้างของนักองจันทร์เขมรนั้นนำมาส่งยังกรุงเทพฯ  ช้างถึงกรุง ณ วันศุกร์เดือนห้าแรมสิบเอ็ดค่ำ ปีมะเมียฉศก  เจ้าพนักงานนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปลูกโรงรับช้างมาสมโภชที่ท้องสนามไชย  หน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท  ตั้งพระราชพิธีสงฆ์และพราหมณ์สามวัน  แล้วโปรดให้มีการมรหสพสมโภชอีกสามวัน  ครั้งนั้นมีละครอิเหนาโรงใหญ่ผู้ชายของพระน้องยาเธอกรมขุนพิพิธภูเบศร์  เล่นประชันกันกับงิ้วโรงใหญ่เจ๊สัวหงหน้าพลับพลาสูง  สนุกเหลือที่จะพรรณนา  โปรดเกล้าให้ช้างพลายสีประหลาดขึ้นระวาง  พระราชทานนามกรว่า  “พระยามงคลหัศดินทร์  คชินทรศรีก้านสัตบุศย์  กำพุชพ่ายแพ้อภินิหาร  สู่สมภารสมโพธิอะโยทธิยา  พาหนะนาถ ถาวรวิลาศเลิศฟ้า”  เสร็จการสมโภชแล้วโปรดเกล้าให้ไปยืนในโรงพระบรมมหาราชวัง

          ฝ่ายพระมหาเทพ (ป้อม) กับพระราชวรินทร์ (ขำ)  ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพฝ่ายทางเมืองลาวตะวันออก  ยกขึ้นไปพร้อมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่ก่อนนั้น  พระมหาเทพยกทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม  พระราชวรินทร์ยกทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองหนองคาย  พระมหาเทพมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯว่า

           “จะยกไปตีเมืองล่าน้ำ  ซึ่งญวนเรียกว่าแง่อาน  ได้ยกกองทัพใหญ่ไปถึงด่านกีเหิบ  เป็นทางช่องแคบ  แล้วมีน้ำเหนือหลากมาเดินทางช่องแคบลำบากมาก  จึงเดินกองทัพลงไปตีเมืองล่าน้ำไม่ได้  แล้วก็ยกทัพไปตีได้สี่เมือง  คือเมืองมหาไชยกองแก้ว ๑   เมืองพวง ๑   เมืองพลาน ๑   เมืองชุมพร ๑   สี่เมืองนี้ตีได้แต่ ณ เดือนสามข้างขึ้น  ในปีมะเส็งเบญจศกนั้นแล้ว  ได้กวาดต้อนครอบครัวลาว ๖,๐๐๐ คนซึ่งเป็นคนอยู่เขตแดนญวนนั้นข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมา  แล้วตีกวาดพาคนตามเมืองเล็กน้อย  ในแดนลาวขึ้นแก่ญวนมาได้อีก ๒,๐๐๐   รวม ๘,๐๐๐ คน  ส่งไปไว้เมืองนครราชสีมาแต่เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำในปีมะเส็งเบญจศก  แล้วจะตีเขตแดนญวนต่อไปอีก”

          ฝ่ายพระราชวรินทร์มีใบบอกลงมาว่า   “พระราชวรินทร์กับพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคาย  และพระพิทักษ์เขตขันธ์  คุมไพร่พลยกขึ้นไปบ้านโพธิงาม  ได้แต่งให้ลาวท้าวเพี้ยไปสืบราชการที่เมืองพวนได้ความว่า  แม่ทัพญวนคุมไพร่พลญวน ๕๐๐ คนเศษ  มาตั้งพิทักษ์รักษาเมืองพวนอยู่แล้ว  แม่ทัพญวนกับลาวชื่อเพี้ยเมืองแสนเป็นลาวขึ้นกับญวน  คุมไพร่พลญวน ๒๐๐ เศษ  ลาว ๓๐๐ คน  เป็น ๕๐๐ คน  มารักษาเมืองเชียงคา  ญวนตั้งค่ายด้วยหลายค่าย  ฝ่ายพระราชวรินทร์ได้มีหนังสือใช้ให้เพี้ยมณีไชยถือไปเกลี้ยกล่อมท้าวเพี้ยเมืองเชียงขวาง  ท้าวเพี้ยเมืองเชียงขวางใช้ให้พันศิริไชยบุตรท้าวเมืองเชียงขวางมาบอกว่า  นายทัพญวนคุมไพร่พลมารักษาเมืองเชียงขวางอยู่ ๕๐๐ คน  ญวน ๑๐๐ คนคุมอุปฮาดเมืองเชียงขวาง ย้ายไปอยู่เมืองซุ้ยแล้วแต่เดือนยี่แรมสิบห้าค่ำ  และเจ้าเมืองเชียงขวางลอบบอกมาอ่อนน้อมกับพระราชวรินทร์  ขอยอมเข้าสวามิภักดิ์ต่อกองทัพไทย  แล้วจัดกองทัพลาวไว้พร้อม ๑,๐๐๐ คน  เข้าสมทบกับทัพพระราชวรินทร์  ยกมาช่วยกับไทยระดมตีทัพญวน  ฆ่าญวนเสียครั้งนั้นตาย ๓๐๐ เศษ  ที่จับเป็นมาได้ ๔๑ คน  ที่แตกหนีไปได้บ้างเล็กน้อย  แล้วพระราช
วรินทร์จัดกองทัพใหญ่จะยกไปตีเมืองลาวที่ขึ้นกับญวนต่อไป  ได้ยกมาจากเชียงขวางแล้วหลายวัน

          ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาธิบดี (สมบุญ) เสนาบดีกรมวัง  ซึ่งเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบาง  ภายหลังกองทัพพระมหาเทพ  เจ้าพระยาธรรมาธิบดีมีใบบอกลงมากรุงทพฯ ฉบับ ๑  ใจความว่า  ได้ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง  พักคอยกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ช้านาน  แต่เดือนสามข้างแรมเดือนสี่ข้างขึ้น  กองทัพไทยเมืองพิไชย  เมืองสวรรคโลก  เมืองพิจิตร  เมืองพิษณุโลก  เมืองสุโขทัย  เมืองแพร่  เมืองน่าน  ยกขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง  เจ้านครหลวงพระบางจัดให้เจ้าอุปราช  เจ้าราชบุตร  แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ย  นายทัพนายกองลาวมีชื่อ  คุมกองทัพลาวเมืองหลวงพระบาง ๓,๐๐๐ เข้ามาบรรจบสมทบกองทัพไทย  รวมไพร่พลครั้งนั้น ๑๒,๔๕๐ คน  แต่ไพร่ ขุน หมื่น พัน ทนายต่างหาก

          ครั้ง ณ เดือนสี่แรมแปดค่ำปีมะเส็งเบญจศก  เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่  ได้ยกกองทัพไทยลาวเดินทัพออกจากเมืองนครหลวงพระบาง  ขึ้นไปหลายคืนถึงเมืองแถง  

          ครั้น ณ เดือนห้าขึ้นค่ำปีมะเมียฉศก  พระยาสวรรคโลก แม่ทัพกองหนึ่ง  จมื่นมหาสนิทหัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงนายใจภักดิ์นายเวรมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ๑  สองคนนี้เป็นข้าหลวงกำกับทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ  พร้อมด้วยทัพพระยาพิไชย ๑  พระปลัดเมืองพิจิตร ๑  หลวงมหาดไทยเมืองพระพิษณุโลก ๑  หลวงสุภาวดีเมืองพระพิษณุโลก ๑  หลวงพรหมสภาเมืองพิไชย ๑  หลวงมหาพิไชยเมืองสวรรคโลก ๑  หลวงแพ่งเมืองสวรรคโลก ๑  พระแก้วเมืองแพร่ ๑  พระวังขวาเมืองแพร่ ๑  พระวังซ้ายเมืองแพร่ ๑  เจ้าอุปราชเมืองนครหลวงพระบาง ๑  พระยาเชียงเหนือเมืองนครหลวงพระบาง ๑  พระยาเมืองแผนเมืองนครหลวงพระบาง ๑  ท้าวมหาไชยเมืองนครหลวงพระบาง ๑  รวมพระยา พระ หลวง ท้าวพระยา นายทัพนายกอง ๑๘ คน  เข้าชื่อในใบบอกส่งมายังเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ว่า

           “ได้ส่งเจ้าอุปราช ๑  เจ้าเงิน ๑  เจ้าด้วง ๑  เป็นเจ้าลาวเมืองพวนสามคนลงมาถึงเมืองนครหลวงพระบาง”   ในใบบอกนั้นมีความว่า   “พระยาสวรรคโลกแม่ทัพพร้อมด้วยพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองไทยและลาว  ยกขึ้นไปถึงด่านหลวงไกลจากเมืองนครหลวงพระบางทาง ๑๕ วัน  จึงพักพลอยู่ที่ด่านหลวง ณ เดือนสี่แรมสามค่ำปีมะเส็งเบญจศก  ยังทางอีกวันกับคืนหนึ่งจะถึงด่านท่าตือแขวงญวน  พระยาสวรรคโลกแม่ทัพได้ปรึกษากับเจ้าราชบุตรเมืองหลวงพระบางเห็นพร้อมกัน  ใช้พระยาสิงห์คุดเจ้าเมืองแผนซึ่งขึ้นกับเมืองหลวงพระบาง  มีหนังสือไปถึงเจ้าสมุทเขต  เจ้าลาวผู้เป็นเจ้าเมืองพวน  ใจความในหนังสือพระยาเมืองแผนว่า

           “อัครมหาเสนาบดีกรุงเทพมหานคร  เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพไทยยกขึ้นมาเป็นอันมาก  จะไปตีหัวเมืองลาวซึ่งขึ้นแก่ญวนให้แตกตลอดถึงแม่น้ำสาละวินจนถึงเมืองฮานอย  ที่ญวนมาตั้งป้อมหินรักษาเขตแดนญวนให้ได้จนหมด  พระยาเมืองแผนก็เป็นลาว  จึงได้คิดรักใคร่เมืองพวนซึ่งเป็นลาวชาติเดียวกัน กลัวว่าเมืองพวนจะเสียบ้านเมืองครอบครัว  ไพร่พลเมืองจะระส่ำระสายไปด้วยกองทัพไทย  อย่าให้เจ้าเมืองพวนคิดสู้รบกับกองทัพไทยซึ่งเป็นกองทัพใหญ่เลย  ให้เจ้าเมืองพวนออกมาอ่อนน้อมแม่ทัพไทย  ขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯโดยดีเถิด  เป็นข้าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองดีกว่าเป็นข้าญวน  แล้วเมืองพวนกับเมืองนครหลวงพระบางจะได้เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันสืบไป”

          ฝ่ายเจ้าเมืองพวนก็มีหนังสือตอบพระยาเมืองแผนมาว่า

           “ซึ่งพระยาเมืองแผนมีหนังสือส่งมาชักชวนให้เมืองพวนไปเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง  และเป็นทางเมตตาปรานีไพร่พลเมืองพวนซึ่งเป็นลาวด้วยกันนั้น  ข้าน้อยได้ทราบแล้ว  มีความยินหลากขากดีหาสิ่งใดจะเปรียบอุปมาได้  ข้าน้อยจะใคร่ปรนเปรอตามแต่ก่อนหนังสือพระยาเมืองแผนยังไม่มาถึงนั้น  ข้าน้อยก็ได้รับหนังสือพระราชวรินทร์แม่ทัพไทย  กับหนังสือพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายรวมสองมาด้วยกัน  เป็นใจความเกลี้ยกล่อมเมืองพวนเช่นนี้  ข้าน้อยเจ้าเมืองพวนได้ทราบแล้วข้อความคล้ายกัน  ข้าน้อยได้ใช้ให้พันแสนใจหาญ  พันสะท้านธรณีบุตรพระยาเชียงดี  คุมไพรพลร้อยเศษนำเสบียงอาหารไปส่งให้พระราชวรินทร์  แล้วให้ต้อนรับ  นำกองทัพพระราชวรินทร์มาทางท่าข้ามช้างท่าดินดาน  เพื่อจะให้กองทัพพระราชวรินทร์มาช่วยป้องกันกันเมืองพวนให้พ้นเงื้อมมือญวน  บัดนี้ข้าน้อยเจ้าเมืองพวนได้แต่งให้เจ้าอุปราชเมืองพวน ๑  เจ้าราชบุตร ๑  เจ้าโงน ๑  เจ้าด้วง ๑  เจ้าหน่อคำ ๑  เจ้าทิพไพศาล ๑  เจ้านายหกคน  คุมไพร่พล ๒๐๐ ถือธูปเทียนดกไม้  เสบียงอาหารมาคอยต้อนรับกองทัพพระยาสวรรคโลกและเจ้าอุปราชเมืองนครหลวงพระบาง  ได้กำหนดนัดกองทัพเมืองพวนจะมาคอยรับทัพไทยอยูที่ตำบลบ้านซวด  เป็นที่มีน้ำใช้สบาย  แล้วจะเดินทัพเข้าเมืองพวน  หนังสือสุภาพข้าน้อยเจ้าสมุทเขตเจ้าเมืองพวนไหว้กราบศิโรราบมาแทบเท้าเจ้านายฝ่ายไทย  และเจ้าฟ้าพระมหานครศรีสัตตนาคะนะหุตร่มขาวหลวงพระบางด้วย”.......

          ** กองทัพไทยฝ่ายตะวันออก  นครพนม  หนองคาย  หลวงพระบาง  ดำเนินไปอย่างราบรื่น  เพราะในภูมิภาคนี้เป็นคนลาวซึ่งถือได้ว่ามีสายเลือดเดียวกันกับไทย  กองทัพเจ้าพระยาธรรมธิบดีร่วมกับพระเจ้าหลวงพระบางร่มขาวยกไปถึงเมืองพวน  และเจ้าเมืองพวนยอมสวามิภักดิ์แล้ว เ รื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  ค่อยมาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, ตุลาคม, 2563, 09:58:44 PM
(https://i.ibb.co/rZttd2C/Untitleswd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๐๙ -

ญวนตั้งค่ายคุมชาวลาวเมืองซุ้ย
กลายเป็นปุ๋ยเมื่อไทยใจโหดยิ่ง
สองร้อยคนรนหนีหาที่อิง
ถูกฆ่าทิ้งไม่เหลือเป็นเชื้อพาล

ค่ายเมืองพวนห้าร้อยก็พลอยสิ้น
ไทยลาวไล่ทุบดิ้นสิ้นสงสาร
ญวนเจ็ดร้อยย่อยยับอัประมาณ
ถูกสังหารวอดวายตายทุกคน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่  กองทัพพระยาสวรรคโลกซึ่งเป็นกองหน้าของกองทัพเจ้าพระยาธรรมาธิบดีมีกองทัพเมืองหลวงพระบางสมทบยกไปเมืองพวน  พระยาสวรรคโลก  พระยา  พระ  หลวง  ในกองทัพหน้า มอบหน้าที่ให้พระยาเมืองแผนมีหนังสือไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองพวนให้สวามิภักดิ์ไทย  เจ้าเมืองพวนมีหนังสือตอบว่า  ก่อนหน้านี้ได้รับหนังสือพระราชวรินทร์และพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายส่งมาเกลี้ยกล่อมเช่นเดียวกัน  และตนได้ตกลงใจสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑเสมาไทยแล้ว  จากนั้นเจ้าเมืองพวนได้จัดการต้อนรับกองทัพพระยาสวรรคโลกเข้าเมืองพวน  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....

           “..........เมื่อพระยาสวรรคโลกและเจ้าอุปราชหลวงพระบางได้ทราบหนังสือเจ้าเมืองพวนดังนั้น  จึงให้หลวงศุภมาตราเมืองสวรรคโลกกับหลวงพรหมเสนาข้าหลวงในกรุง  คุมไพร่พล ๕๐๐ ยกไปดูพวกเมืองพวนจะมาเป็นกลอุบายหรือจะมาโดยสุจริต

          ครั้งนั้นได้ให้พระยาปลัดเป็นแม่ทัพกำกับไปด้วย  ทัพพระยาปลัดยกไปถึงด่านท่าตือเดือนสี่แรมหกค่ำ  ได้พบกับเจ้าเมืองซุ้ยคุมไพร่พลลาว ๒๓ คน  มีเครื่องศาสตราวุธ ปืน ดาบพร้อม เดินมาถึงท่าตือ  เห็นไทยมาก็วางอาวุธทุกคน  แล้วเข้ามาหากองหน้าหลวงพรหมเสนา  หลวงพรหมเสนาให้ล่ามไปถามว่ายกมาแต่ไหน?  จะไปไหน?  เจ้าเมืองซุ้ยตอบว่า  เจ้าเมืองพวนใช้ให้นำดอกไม้ธูปเทียนมาคอยทำคำนับรับกองทัพไทย  พาเข้าไปในเมืองพวน  เจ้าเมืองซุ้ยก็ส่งเครื่องศาสตราวุธมาให้ไทยทั้งสิ้น  แล้วนำกองทัพไทยเดินไปถึงบ้านซวด

           ขณะนั้นพบท้าวเพี้ยจันทร์คุมไพร่พลมาร้อยเศษ  แบกเครื่องศาสตราวุธเดินตามกันมาเป็นแถว  หลวงศุภมาตรากับหลวงพรหมเสนาคิดว่าเป็นข้าศึก  กลอุบายอย่างใดจึงมีลาวถืออาวุธมามาก  ก็สั่งให้ทหารไทยแยกออกเป็นปีกกาแล้วร้องว่า  รีบซีพ่อให้ยกปีกกาออกนำปืนคาบศิลายิงระดมไปพักเดียวก็จะแตกดอกพ่อ  ขณะนั้นเจ้าเมืองซุ้ยเห็นว่าไทยไม่ไว้ใจ  สำคัญว่าข้าศึก  จึงเข้าไปหาหลวงพรหมเสนา  หลวงพรหมเสนาก็ไม่หยุด  ยังร้องสั่งทหารให้ตระเตรียมการรบ  เจ้าเมืองซุ้ยเห็นการจะเกิดวุ่นวายขึ้นทั้งสองฝ่าย  จึงร้องบอกพวกเพี้ยจันทร์ให้วางอาวุธเสียก่อน  ให้เข้ามาแต่นายเท่านั้น  เมื่อเพี้ยจันทร์เข้ามาหาพระยาสวรรคโลกแม่ทัพแล้ว  จึงแจ้งความว่า  

          เจ้าเมืองพวนคิดกลัวแม่ทัพไทยจะไม่ไว้วางใจเจ้าเมืองพวน  เจ้าเมืองพวนจึงเก็บเครื่องสรรพาวุธหมดทั้งเมือง  ให้เพี้ยจันทร์คุมมาส่งให้แม่ทัพไทย  เพี้ยจันทร์ได้มอบเครื่องอาวุธให้แก่แม่ทัพไทยที่ตำบลบ้านซวดแล้ว  จึงแจ้งความแก่พระยาสวรรคโลกต่อไปว่า  เจ้าเมืองพวนใช้ให้ข้าพเจ้านำเครื่องอาวุธมาส่งให้แก่ท่าน  แล้วก็ให้รับท่านไปในเมืองพวน  แล้วบอกว่า  บัดนี้ญวนคุมไพร่พลญวนมาตั้งค่ายรักษาเมืองซุ้ยอยู่ ๒๐๐ คนเศษ  ขอให้แม่ทัพไทยรีบยกไปตีญวนสองร้อยที่เมืองซุ้ยให้แตกเสียโดยเร็วเถิด  จะได้ไปเมืองพวนสบาย

           ครั้งนั้น  พระยาสวรรคโลกสั่งพระยาพิไชยให้แบ่งกองทัพไทยลาว ๕๐๐ ยกไปตีค่ายญวนที่เมืองซุ้ย  พระยาพิไชยคุมกองทัพยกเข้าตีค่ายญวนในเมืองซุ้ย  ตั้งแต่เช้าถึงน้องเพลได้ค่ายญวน  ญวนตายประมาณ ๘๐ เศษ  ที่หนีไปได้ก็มาก  แต่กองทัพพระยาสวรรคโลกนั้นจะยกเข้าไปตีค่ายที่ตั้งรักษาเมืองพวน  แต่พระยาพิไชยตีค่ายญวนเมืองซุ้ยแตกแล้ว  ญวนที่เหลือตายก็แตกหนีต่อไปตั้งรับอยู่ที่ปลายแม่น้ำงึม  ที่นั้นเป็นที่ป่ามีโรคไข้พิษมาก

           ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า  พระยาพิไชยยกทัพติดตามญวนที่แตกหนีไป  ทัพญวนที่ตั้งรับอยู่ในดงป่าแม่น้ำงึม  ญวนต่อสู้แข็งแรง  ไทยยกไล่ไปจนถึงที่ชุมนุมญวน  ญวนตั้งอยู่ในซุ้มไม้  ยิงปืนคาบศิลาออกมาจากซุ้มไม้ป่ารกถูกไทยล้มตายลงมาก  ฝ่ายไทยยิงปืนเข้าไปบ้างหาถูกญวนไม่  เพราะซุ้มไม้ป่ารกบังอยู่มาก  ขณะนั้นพระยาพิไชยว่า

            “จะยิงปืนโต้ตอบกับญวนอยู่เช่นนี้เห็นจะเสียท่วงทีแก่ญวนเป็นแน่  ไทยจะตายเปลืองลงทุกที  ญวนจะออกมาจากซุ้มไม้ไล่ฆ่าไทยตายหมด  อย่านำปืนยิงกับมันเลย  ให้ถือหอกดาบวิ่งกรูเข้าไปฟันแทงเดี๋ยวนี้จะดีกว่าใช้ปืน”

           พูดเท่านั้นแล้ว  ก็ไล่ต้อนพลทหารถือหอกดาบวิ่งกรูกันเข้าไปฟันแทงฆ่าญวนตาย ๔๐-๗๐ พักหนึ่ง  แล้วไล่ต้อนลาวให้หนุนไทยเข้าไปอีกพวกหนึ่ง  ลาวถือง้าวและหอกดาบฟันแทงญวนล้มตายลงอีกพักหนึ่ง ๒๐ คน  ยังญวนที่เหลือตายมีอยู่ในซุ้มไม้อีก ๕๓ คน  ก็แตกหนีออกจากซุ้มไม้วิ่งหนีไปในป่า  พบทัพลาวเมืองซ่างเมืองซุ้ยยกสวนทางมาเจอะเข้าในป่าน้ำงึม  พวกลาวไล่ฆ่าญวน ๕๓ คนตายหมด  ญวน ๒๐๐ ที่เมืองซุ้ยตายทั้งสิ้นไม่เหลือเลย

           ครั้นเวลาเย็น  พลกองทัพพระยาสุโขทัยยกขึ้นไปถึงเมืองซุ้ย  พร้อมด้วยพระยาพิไชยและทัพกองใหญ่ของไทยด้วย  ในเวลาค่ำวันนั้น  เจ้าเมืองพวนมีหนังสือใช้ให้ท้าวเพี้ยแสนสุริยามาตย์ ถือมาให้เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตรหลวงพระบาง  ถึงเจ้าเมืองซุ้ย เจ้าเมืองซ่าง ด้วยรวมสี่ฉบับ  เนื้อความต้องกันว่า

           เจ้าเมืองพวนได้ใช้ให้ท้าวเพี้ยพลไชยไปรับกองทัพพระราชวรินทร์แม่ทัพไทยเข้ามาถึงเมืองพวนแล้วแต่เดือนสี่แรมสิบสามค่ำ  ปีมะเส็งเบญจศก  วันนั้นเวลาสามยามเศษ  กองทัพพระราชวรินทร์พร้อมกับกองทัพเมืองพวนช่วยกันเข้าล้อมจับองตุ่นผ่องแม่ทัพญวนคุมไพร่พลทหารญวน ๕๐๐ คน  ตั้งพิทักษ์รักษาอยู่ในเมืองพวนที่ด้านใต้  พระราชวรินทร์กับเจ้าเมืองจับญวนได้เท่าไรก็ฆ่าเสียสิ้น  และฆ่าเมื่อมันต่อสู้บ้าง  ได้ฆ่าญวนที่เมืองพวนตายหมดทั้ง ๔๐๐  แต่ญวนอีก ๑๐๐ ตั้งรักษาอยู่นอกเมืองพวนนั้นรู้ก็แตกหนีไป  พระราชวรินทร์สั่งทหารไทยตามไปจับมาได้ทั้ง ๑๐๐ คน  ให้ฆ่าเสียที่นอกเมืองพวนแล้ว  ญวนตายครั้งนี้ที่เมืองพวน ๕๐๐ คน  แต่ญวน ๒๐๐ คนที่รักษาเมืองซุ้ยนั้น  เจ้าเมืองพวนมีหนังสือสั่งกำชับให้เจ้าเมืองซ่าง เจ้าเมืองซุ้ยคิดกับเจ้านายเมืองหลวงพระบางฆ่า ๒๐๐ คนเสียให้สิ้น  อย่าให้เหลืออยู่เป็นเชื้อสายสืบต่อไปได้

           พระยาสวรรคโลกให้เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตรหลวงพระบางเขียนหนังสือตอบเจ้าเมืองพวนไปเป็นใจความว่า

            “ได้แต่งกองทัพไทยลาวไปฆ่าญวน ๒๐๐ ที่เมืองซุ้ยตายหมดแล้ว  บัดนี้แม่ทัพไทยได้ยกมาพักอยู่ในเมืองซุ้ย  รอฟังราชการอยู่ก่อน  ให้เจ้าเมืองพวนและพระราชวรินทร์ข้าหลวงมีหนังสือมาแจ้งข้อราชการที่เมืองซุ้ยบ้าง”

           เขียนแล้วมอบให้ท้าวแสนสุริยาตย์กลับไปให้เจ้าเมืองพวน

           ฝ่ายพระยาสวรรคโลกแต่งหลวงนาเมืองสวรรคโลก ๑  พระยาเมืองแผนหลวงพระบาง ๑  พระยาเมืองแก้วหลวงพระบาง ๑  พระเมืองแก้วเมืองแพร่ ๑  พระวังขวาเมืองแพร่ ๑  หลวงนรินทร์ข้าหลวงกรุงเทพฯ  เป็นผู้กำกับ  นายทัพนายกองห้าคน  เป็นหกทั้งข้าหลวงในกรุง  คุมไพร่พลลาวหลวงพระบาง ๒๐๐ คนไทย๑๐๐  พาตัวเจ้าอุปราชเมืองพวน ๑  และ เจ้าเงิน ๑  เจ้าด้วง ๑  ท้าวพิมพิสาร ๑  เพี้ยกว้าน ๑  พระยาแสนโยธา ๑  รวมเจ้าสามขุนนางสาม  รวม ๖ คน นำส่งเจ้าเมืองหลวงพระบาง  แล้วแจ้งข้อราชการต่อเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ให้ทราบทุกประการ  แต่ตัวเจ้าราชบุตรเมืองพวนนั้น  พระยาสวรรคโลกพาตัวนำกองทัพขึ้นไปเมืองพวนแต่ในเดือนห้าปีมะเมียฉศก

           ฝายพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ได้ทราบการดังนั้นแล้ว  จึงให้พระยาปลัดเมืองพระพิษณุโลก  กับพระยายกกระบัตรเมืองสุโขทัย  คุมไพร่พล ๕๐๐ ให้จ่านิตมหาดเล็กกับนายฉลองในนารถมหาดเล็กหุ้มแพรในพระราชวังบวรฯ  เป็นข้าหลวงกำกับทัพพระยาปลัดเมืองพระพิษณุโลก  มีไพร่พลส่วนในวังหน้าอีก ๕๐๐ รวมไพรพล ๑,๕๐๐ คน  เร่งรีบยกขึ้นไปตีเมืองลาวสิบสองปันนา  และลาวหัวพันทั้งหก  บรรดาเป็นหัวเมืองขึ้นแก่ญวน  ให้ตีกวาดต้อนพาครัวมาให้สิ้นเชิง  แล้วเจ้าพระยาธรรมาสั่งให้เจ้าอุปราชเมืองพวนคุมไพร่พลลาวพวนกลับขึ้นไปรวบรวมครอบครัวลาวที่แตกระส่ำระสายเข้าป่าดง  ให้คงบ้านเมืองยังเดิม  ให้เจ้าธรรมาราชเมืองหลวงพระบางกำกับเจ้าอุปราชเมืองพวนไปด้วย  จะได้ช่วยคิดราชการพรักพร้อมด้วยพระราชวรินทร์แม่ทัพไทย........”

           **  เป็นอันว่ากองทัพสุดท้ายของไทยที่ยกไปไล่ล่าญวนที่เขามายึดครองหัวเมืองลาวนั้น  ประสบความสำเร็จด้วยดี  ไทยฆ่าญวนตายเรียบไปอีก ๗๐๐ คน  คือที่ค่ายเมืองซุ้ย ๒๐๐  ค่ายใหญ่เมืองพวน ๕๐๐  ที่ต่อสู้ก็ฆ่า  ที่จับเป็นได้ก็ฆ่า  ไม่ให้เหลือเป็นเชื้ออย่างที่เจ้าเมืองพวนว่านั่นแหละ  เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่สั่งให้ไปยึดคืนเมืองสิบสองปันนาและหัวพันทั้งหก  จะสำเร็จหรือไม่  ตอนหน้ามาอ่านความกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, ตุลาคม, 2563, 10:35:20 PM
(https://i.ibb.co/484Zckz/13146157431314615797l-3-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๐ -

ทุกทัพกลับกรุงดูอย่างผู้กล้า
“พระยาธรรมา”กลับค่อนหย่อนเหตุผล
โปรดให้ยกกลับไปพร้อมไพร่พล
อย่าหลงกลลาวทั่วเมืองหัวพัน

ทรงเตรียมรับทัพญวนทุกทางน้ำ
โดยจัดทำป้อมกำแพงให้แข็งขัน
“เจ้าพระยาพระคลัง”สร้างเมืองจันท์
ปราการกั้นกำแพงใหม่ให้มั่นคง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย   เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ .. พระยาสวรรคโลกกองหน้าทัพเจ้าพระยาธรรมายกไปเมืองพวน  เจ้าเมืองพวนให้ขุนนางออกมาต้อนรับ  เจ้าเมืองซุ้ยแจ้งให้ทราบว่ามีญวนจำนวน ๒๐๐ คนมาตั้งค่ายรักษาเมืองซุ้ย  ขอให้พระยาสวรรคโลกตีค่ายญวนให้แตกเสียก่อนเดินทางเข้าเมือง  พระยาสวรรคโลกสั่งให้พระยาพิไชยนำกำลัง ๕๐๐ เข้าตีค่ายญวนแตกไปอย่างรวดเร็ว  ญวนถูกฆ่าตายสิ้นทั้ง ๒๐๐ คน  ฝายเจ้าเมืองพวนก็ให้ขุนนางไปรับกองทัพพระราชวรินทร์เข้าเมืองพวน  แล้วสมคบกันจับตัวแม่ทัพญวนที่มาตั้งค่ายรักษาเมืองพวนนั้นได้  แล้วฆ่าไพร่พลญวนตายสิ้นทั้ง ๕๐๐ คน  เมื่อเจ้าพระยาธรรมาได้รับทราบข้อราชการสิ้นแล้ว  จึงสั่งให้พระยาปลัดเมืองพระพิษณุโลกกับพระยกกระบัตรเมืองสุโขทัยคุมไพร่พลไทยลาว ๑,๕๐๐ คนให้ยกไปตีเมืองลาวสิบสองปันนาและหัวพันทั้งหกที่ญวนเข้ามายึดครองไว้นั้น  ให้กวาดต้อนพาครัวมาให้สิ้นเชิง  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/X2xnkV0/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วเจ้าพระยาธรรมากับเจ้านครหลวงพระบาง แต่งให้ท้าวคำสุกกับท้าวมงคลเมืองหลวงพระบาง  และนายประพาสมณเฑียรปลัดวังขวา เป็นข้าหลวงคุมไพร่พลลาวไทย ๕๐ คน  พาตัวเจ้าเงินเจ้าด้วงเมืองพวน  กับคำให้การเจ้าอุปราชเมืองพวน  กับทองคำก้อนหนึ่ง  ทองหนักสิบสามตำลึงสามบาทสองสลึงเฟื้อง  เป็นของเจ้าอุปราชเมืองพวนฝากลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  ปลัดวังขวาได้ลงมาถึงกรุงแต่ ณ เดือนหก  แรมสิบสองค่ำ  ปีมะเมียฉศก  น้ำขึ้นทูลเกล้าถวาย

          ฝ่ายราชการข้างเมืองเขมรนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการดำรัสสั่งพระยาศรีสหเทพมีท้องตราไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาใจความว่า

(https://i.ibb.co/qnT5Zjy/Untitdfrled-3.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาบดินทรเดชา : ละคร ข้าบดินทร์

          พระยาอภัยภูเบศร์เขมรเจ้าเมืองพระตะบองนั้น  ก็ถึงแก่อสัญกรรม  จะตั้งพระพิทักษ์บดินทรและพระนรินทร์โยธาผู้บุตรพระยาอภัยภูเบศร์เป็นเจ้าเมืองพระตะบองก็ได้  หรือจะแต่งพระยาเขมรกรมการผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญา  ยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมืองพระตะบองก็ได้เหมือนกัน  แต่ทรงเห็นว่านักองอิ่มและนักองด้วงทั้งสองนี้  เป็นเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเขมรสืบมาแต่โบราณ  ควรจะยกย่องขึ้นเป็นผู้ว่าราชการบ้านเมืองเขมร  จะได้เป็นที่นับถือยำเกรงของพวกไพร่บ้านพลเมืองเขมรต่อไป  จะได้เป็นกำลังศึกสงครามแก่กองทัพไทยที่จะทำแก่ญวนในภายหน้าด้วย

(https://i.ibb.co/sCHhvmF/Un56titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)
นักองค์ด้วง : ละคร ข้าบดินทร์

          เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองอิ่มผู้พี่ว่าราชการเมืองพระตะบอง  ให้นักองด้วงผู้น้องว่าราชการเมืองมงคลบุรี  แล้วให้เจ้าพระยานครราชสีมาคิดกับพระยาราชนิกูลข้าหลวงช่วยกันกวาดต้อนครอบครัวเขมรและข่าป่าดงไปไว้ตามบ้านเมืองที่ขึ้นแก่เมืองนครราชสีมา  ให้เต็มทุกบ้านทุกเมือง  เป็นการให้ทุนหนุนทุนที่พวกเมืองขึ้นไทยตายเสียในการทัพศึกนั้นก็มาก  แล้วให้เจ้าพระยานครราชสีมากลับไปรักษาบ้านเมืองตนเถิด  แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชากับพระยาราชนิกูล ขอให้เข้ามาแจ้งข้อราชการ ณ กรุงเทพมหานคร

(https://i.ibb.co/1M73cVg/Unatitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าพระยาพระคลัง : ละคร ข้าบดินทร์

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษามีท้องตราให้หาเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพเรือ  ซึ่งตั้งรั้งทัพอยู่ ณ เมืองจันทบุรี  เข้ามาปรึกษาราชการ ณ กรุงเทพมหานคร  ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้เข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ณ เดือนหกข้างแรมในปีมะเมีย ฉศก

          ฝ่ายราชการเมืองลาวตะวันออกนั้น  เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ได้แต่งขุนนางไทยสามคน  คือ  พระยกกระบัตรเมืองสุโขทัย ๑  หลวงพิไชยเสนา ๑  จมิ่นจงรักษาองค์ ๑  กับพระยาเมืองซ้ายหลวงพระบาง ๑  ท้าวกุมารหลวงพะบาง ๑  ท้าวเพี้ยแสนพิงไชยเมืองแพร่ ๑  รวมเป็นข้าหลวง ๖ นายที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมพวกลาวเมืองหัวพันทั้งหก  พวกลาวเมืองหัวพันทั้งหกก็รับว่าจะแต่งแสนท้าวพระยาลาวมาแจ้งข้อความว่าจะยอมสวามิภักดิ์ขึ้นต่อกรุงเทพฯ  แล้วเจ้าพระยาธรรมาตั้งคอยลาวเมืองหัวพันทั้งหกอยู่ที่เมืองนครหลวงพระบาง  จนเข้าฤดูฝนจึงป่วยเป็นไข้พิษ  กลายเป็นไข้รากสาดไป  จึงเลิกทัพกลับลงมากรุงเทพฯ

          ครั้นพระยาธรรมาหายป่วยแล้ว  จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

           “กองทัพไทยได้ยกขึ้นไปตีเมืองซุ้ย, เมืองกอง, เมืองก่าง, เมืองย่างเงิน  ได้เมืองลาวในเขตแดนญวนหลายเมืองแล้ว  และทัพพระราชวรินทร์ก็ได้เมืองพวนด้วย”

          และนายทัพนายกองไทย กับกองทัพเมืองนครหลวงพระบาง  ได้ยกขึ้นไปจะตีเมืองหัวพันทั้ง ๖  และสืบได้ความว่า     “เจ้าบ้านผ่านเมืองและท้าวเพี้ยไพร่พลเมืองหัวพันทั้ง ๖ อพยพครอบครัวหนีไปจากบ้านเมืองหมด”     เจ้าราชบุตรหลวงพระบางจึงแต่งให้เพี้ยศรีอรรคหาตเมืองปากเหือง ๑  ท้าวมงคลหลวงพระบาง ๑  ทั้งสองคนนี้เคยเป็นล่ามลาวชาวเมืองหัวพันทั้ง ๖ มาแต่ก่อน  ให้คนทั้งสองขึ้นไปสืบราชการพวกลาวหัวพันทั้ง ๖  ว่าจะหนีไปถึงไหนบ้าง  เพี้ยศรีอรรคหาตกับท้าวมงคลมีหนังสือแจ้งข้อราชการมาถึงพระยาพิไชย  พระยาสุโขทัย  กับเจ้าหลวงนครหลวงพระบางใจความว่า

           “เพี้ยศรีอรรคหาตกับท้าวมงคลได้ขึ้นไปถึงเมืองเหียม  ได้พักไพร่พลลาวหลวงพระบาง ๒๕๐ คนอยู่ที่ด่านเมืองเหียม  และลาวเจ้าเมืองหัวเมืองชำเหนือ  เมืองชำใต้  เมืองซวน  เมืองโชย  เมืองเชียงตลุง  เมืองเชียงค้อ  เจ้าเมืองลาวทั้ง ๘ หัวเมืองนั้น  ได้แต่งเพี้ยพระยาลาวทุกเมืองทั้ง ๘ หัวเมือง  ให้มาหาเจรจากับเพี้ยศรีอรรคหาตและท้าวมงคล  เป็นใจความว่า   เจ้าบ้านผ่านเมืองและแสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยในเมืองหัวพันทั้ง ๖  คิดพร้อมใจกันกลับใจคืนมาสวามิภักดิ์  เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพมหานครต่อไปอย่างครั้งเจ้าอนุเวียงจันทน์เหมือนแต่ก่อน”     เจ้าเมืองหัวพันทั้ง ๖ จะแต่งให้แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยลงมาเจรจาความเมือง  เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงสั่งพระยาพระหลวงนายทัพนายกองให้งดกองทัพไว้  หาได้ยกขึ้นไปตีเมืองหัวพันทั้ง ๖ ไม่  แล้วข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งขุนนางไทยลาวที่มีสติปัญญาได้ราชการ  ให้ขึ้นไปเจรจาเกลี้ยกล่อมเมืองหัวพันทั้ง ๖  ก็รับว่าจะว่าสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ  การยังไม่ตกลงเป็นแน่  พอเข้าฤดูฝนข้าพระพุทธเจ้าก็ป่วยหนัก  จึงได้เลิกกองทัพกลับลงมากรุงเทพฯ พร้อมกันทุกทัพทุกกอง  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความตามเจ้าพระยาธรรมากราบบังคมทูลดังนั้นแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสว่า

           “เจ้าพระยาธรรมาจะถูกหลอกถูกลวงพวกเมืองหัวพันทั้ง ๖ เสียดอกกระมัง  ถ้าเป็นจริงดังนั้นแล้ว  ก็จะเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพฯ ไปเป็นอันมาก”  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาเป็นแม่ทัพกลับขึ้นไปใหม่   ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาได้กราบถวายบังคมลายกทัพออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ เดือนอ้ายปีมะเมีย  ฉศก  ถือท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ซึ่งเคยไปทำราชการด้วยกัน  แต่ครั้งนี้กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ประชุมไพร่พลรอราชการอยู่ที่เมืองพิไชยบ้าง  อยู่ที่บ้านปากลายบ้าง  อยู่เมืองหลวงพระบางบ้าง

           ฝ่ายกรุงเทพฯ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระมหาเทพชื่อป้อม  เป็นพระยามหาอำมาตย์  โปรดเกล้าฯให้พระราชวรินทร์ชื่อขำเป็นพระพิเรนทรเทพ  โปรดเกล้าฯ ให้พระกำจรใจราชแต่เดิมที่เป็นหมื่นหาญลูกกองพระยาอัษฎาเรืองเดช  มีความชอบที่ต่อสู้กับข้าศึกญวนมีชัยชนะ  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณา  ขอตั้งให้เป็นพระกำจรใจราชในระหว่างศึกนั้นแล้ว  บัดนี้โปรดเกล้าฯ ให้พระกำจรใจราชเลื่อนที่ขึ้นเป็นพระยามหานุภาพ  จางวางกรมพระตำรวจหลังในพระราชวังหลวง
 
(https://i.ibb.co/YXNzcq2/13146157431314615797l-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ราชการที่กรุงเทพฯ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริการรักษาพระนคร  ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเลย  ทรงพระวิตกว่าญวนจะยกกองทัพเรือเข้ามาตีหัวเมืองชายทะเลพระราชอาณาเขต  เป็นการที่ญวนจะยกเข้ามาทำศึกตอบแทนบ้าง  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองต่อเรือรบไว้สำหรับรักษาพระนคร  แล้วให้ขอแรงพวกข้าราชการไม่ได้ไปทัพ  กับพวกเจ้าสัวเจ้าภาษีนายอากรให้ช่วยต่อเรือรบ  เป็นรูปเรือศีรษะป้อมอย่างญวนขึ้น ๘๐ ลำ   พระราชทานเงินหลวงช่วยในการต่อเรือรบลำละ ๒๐ ชั่ง  เรือ ๘๐ ลำเป็นเงินหลวง ๑,๖๐๐ ชั่ง  ผู้ที่ถูกทำเรือรบนั้นก็ออกเงินของตนช่วยเพิ่มเติมบ้างทุก ๆ ลำ  ลำละสิบชั่งลงมาเสมอห้าชังขึ้นไป  ตามแต่จะฉลองพระเดชพระคุณ  ครั้นเรือรบศีรษะป้อม ๘๐ ลำแล้วเสร็จ  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดอู่ทำโรงที่คลองสาระหงส์บางกะปิไว้เรือรบ ๔๐ ลำสำหรับรักษาพระนคร  จ่ายไปรักษาหัวเมืองชายทะเล ๔๐ ลำ  เป็นเรือลาดตระเวนท้องทะเล

(https://i.ibb.co/W6bqsCV/1270.jpg) (https://imgbb.com/)
ป้อมไพรีพินาศ

           ครั้นการเรือรบแล้วเสร็จ  ถึง ณ เดือนอ้ายปีมะเมียฉศก  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองไปสร้างเมืองจันทบุรีให้มั่นคงไว้รับญวน  เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้รื้อกำแพงเมืองเก่าเสียสิ้น  เพราะด้วยเมืองเก่าตั้งอยู่ลึกเข้าไปในลำแม่น้ำ  ไม่เป็นที่รองรับข้าศึกได้มั่นคง  จึงให้สร้างเมืองใหม่เลื่อนออกไปใกล้ปากอ่าว  ก่อกำแพงใหม่ลงที่เนินวง  ให้ราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเก่าบ้าง  ที่หลังเมืองใหม่บ้าง  ทำเมืองใหม่ในที่นี้เป็นที่ป้องกันครอบครัวพลเมืองได้มาก  แล้วเจ้าพระยาพระคลังสร้างวัดขึ้นสำหรับเมืองใหม่วัดหนึ่ง  ตั้งนามชื่อ  “วัดโยธานิมิต”  แล้วสั่งให้จมื่นราชมาตชื่อขำ  ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาพระคลังนั้น  เป็นแม่กองทำป้อมใหญ่  ก่อด้วยศิลาเป็นป้อมปีกกา  รูปป้อมอย่างยุโรป  ทำลงที่หัวแหลมด่านปากน้ำเมืองจันทบุรีป้อมหนึ่ง  พระราชทานชื่อ  “ป้อมไพรีพินาศ”  แล้วลงมือก่อป้อมใหญ่ด้วยศิลาที่ไหล่เขาแหลมสิงห์อีกป้อมหนึ่ง  เป็นการเพิ่มเติมป้อมเก่าโบราณที่แหลมสิงห์  ให้เป็นของใหม่ให้มั่นคงแข็งแรง  แล้วพระราชทานชื่อ  “ป้อมพิฆาตปัจจามิตร”  รวมเป็นสองป้อมไว้สำหรับรักษาเขตแดนกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/b6gfhdm/1435380561-217685-o.jpg) (https://imgbb.com/)
คุณชายช่วง (ช่วง บุนนาค)
รับบทโดย การิน ศตายุ   ในละคร "ข้าบดินทร์"

           ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถหัวหมื่นมหาดเล็กชื่อช่วง  ซึ่งเป็นบุตรผู้ใหญ่ของเจ้าพระยาพระคลังนั้น  ให้เป็นแม่กองไปต่อกำปั่นใบลำหนึ่งปากกว้างสิบศอกที่จันทบุรี  ลองทำเป็นตัวอย่างลำหนึ่งแล้วเสร็จ  เจ้าหมื่นไวยวรนาถนำเรือกำปั่นเข้ามาถวายตัว  จึงพระราชทานชื่อกำปั่นนั้นว่า  “แกล้วกลางสมุทร”  ทรงพระกรุณาว่าถ้าต่อขึ้นหลายลำบรรทุกทหารไปรบกับญวนเห็นจะดี  จึงโปรดเกล้าฯ เจ้าหมื่นไวยวรนาถกลับไปเมืองจันทบุรี  ให้ต่อเรือกำปั่นอีกลำหนึ่งปากกว้างสี่วา  เมื่อแล้วมีใบบอกเข้ากราบบังคมทูลพระกรุณาจึงพระราชทานนามกำปั่นว่า  “ชื่อกระบิลบัวแก้ว”  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ต่อกำปั่นใบใช้ในราชการอีกลำหนึ่ง

           ครั้งนั้นทรงพระราชดำริว่า เมืองฉะเชิงเทรานั้นเป็นปากน้ำทางลำแม่น้ำฝ่ายข้างตะวันออก  เป็นช่องทางที่ข้าศึกญวนจะนำเรือรบเข้ามาทางปากน้ำบางปะกงได้แห่งหนึ่ง  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงรักษ์รณเรศร์ เป็นแม่กองไปสร้างป้อมปีกกาใหญ่และมีกำแพงด้วย  ทำลงที่เมืองฉะเชิงเทราตำบลหนึ่งกะไว้จะให้ชื่อว่า  “ป้อมพิฆาตไพรี”

           ครั้งนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร ๑  พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเสพย์สุนทร ๑  กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ๑  ทั้งสามพระองค์เป็นแม่กองไปทำการซ่อมแซมป้อมกำแพงที่เมืองสมุทรปราการ  ซึ่งทำยังค้างครั้งศึกเวียงจันทน์นั้น  ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้ทำกำแพงเชิงเทินขึ้นโอบหลังมาปลายป้อมปีกกาเก่า  ให้ขุดคูล้อมกำแพงเมืองสมุทรปราการด้านหลังเป็นคูล้อมรอบเมืองกันข้าศึก  ให้สร้างป้อมขึ้นที่ปากคลองบางปลากดอีกป้อมหนึ่ง พระราชทานชื่อว่า  “ป้อมคงกระพัน”  เป็นป้อมรับรองข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากน้ำสงขลาชายทะเล  ทำการที่เมืองสมุทรปราการเสร็จ

อานามสยามยุทธจบเล่ม ๒ แต่เท่านี้”
------------------------------------------------

           ** เรื่องราวในราชการศึกสงครามระหว่างไทยกับญวนที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกไว้ เป็นเล่มที่ ๒ นำมาให้อ่านจนจบวันนี้ยาวไปหน่อย คงทนอ่านกันจนจบได้  ไม่ว่ากันนะครับ  ตอนต่อไปจะนำความในเล่มที่ ๓ มาให้อ่านกันต่อ  จะเป็นการรบกับเขมรและญวน  ซึ่งตอนนี้ญวนเข้ามาครอบงำเขมร  โดยใช้นักองจันทร์เป็นข้ออ้าง  ฝ่ายไทยมีนักองอิ่ม นักองด้วง เป็นหลัก  เรื่องราวน่ารู้มากครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, ตุลาคม, 2563, 09:59:22 PM
(https://i.ibb.co/6YYqtKc/U78ntitled-2-350.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๑ -

นักองจันทร์พิราลัยไร้โอรส
ญวนคิดคดหมายครองเขมรสิ้น
ตั้งราชธิดาสามพี่น้องครองแผ่นดิน
หวานถวิลรวมชาติราชวงศ์

เดชะบุญขุนเขมรมิเห็นด้วย
ขอไทยช่วยเขมรที่มีประสงค์
กำจัดญวนให้สิ้นทั่วดินดง
ขอพึ่งองค์เอกกษัตริย์ฉัตรชาติไทย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ แล้ว ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้นำมาเรียบเรียงและพิมพ์เผยแผ่ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้นต่อมาสำนักพิมพ์โฆษิต ได้นำมาพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งในที่นี้จบความในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ไปแล้ว จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเป็นการรบกับญวนในเขมรมาให้อ่านกันเป็นลำดับไป ดังนี้......
(https://i.ibb.co/wRSzR4Q/unnamed-15.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้  ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการบังคับบัญชาแม่ทัพญวนทุกกอง  ซึ่งมาตั้งทัพล้อมองภอเบโคยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อน  ซึ่งเป็นขบถต่อกรุงเว้นั้น  ทัพกรุงเว้มาตั้งล้อมรบล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่ถึงเก้าเดือนเศษ  พวกเมืองไซ่ง่อนขัดสนเสบียงอาหารตายลงเสมอทุกวัน  จะรักษาเมืองไว้มิได้  ก็แตกออกจากเมืองมาหากองทัพกรุงเว้ขออาหารกินบ้าง  ที่แตกหนีเข้าป่าไปบ้าง  เพราะฉะนั้นกองทัพกรุงเว้จึงเข้าเมืองไซ่ง่อนได้  ก็จับองภอเบโคยลันเบียหัวหน้าขบถกับพรรคพวกรวมคิดเป็นขบถด้วยกันนั้น  จึงได้จับส่งไปกรุงเว้สิ้น  ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งว่า  องภอเบโคยลันเบียคนนี้ก่อเหตุเป็นขบถแต่ตัวยังหาพอไม่  กลับนัดหมายให้กองทัพไทยมาช่วยตีเมืองญวนอีกเล่า  โทษองภอเบโคยลันเบียนี้มีมากนัก  จึงตรัสสั่งให้พาบุตรภรรยาญาติพวกพ้ององภอเบโคยลันเบียไปฆ่าเสียสิ้นกว่าร้อยคน  แต่องภอเบโคยลันเบียนั้นสั่งให้เชือดเนื้อวันละก้อนกว่าจะตาย  ทำทรมานอยู่สี่ห้าวัน  องภอเบโคยลันเบียก็ถึงแก่ความตาย

(https://i.ibb.co/1rk4kSC/bmhh-X3-Ry-YW4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่จึงยกกลับมาจากเมืองไซ่ง่อนมาตั้งอยู่เมืองพนมเปญ  แล้วบังคับสั่งให้พระยาพระเขมรนุ่งกางเกงห่มเสื้อโพกศีรษะแต่งตัวอย่างเพศญวน  สมทบกับนายทัพนายกองไปรักษาหัวเมืองใหญ่น้อยที่เป็นทางกองทัพไทยจะลงไปเมืองพนมเปญนั้น  กองทัพญวนตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาด ๑  เมืองสะโทง ๑  เมืองกำพงสวาย ๑  สามเมืองนี้เป็นทัพใหญ่  มีค่ายญวนทุกเมือง  และเมืองอื่นทั้งหลายนั้น  ญวนก็ไปตั้งรักษาพร้อมด้วยพระยาพระเขมรทุกเมือง  ด้วยองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่คิดกับนักพระองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาว่า    “ไทยคงจะยกทัพมาตีเมืองเขมรอีกเป็นแน่”

          ครั้น ณ เดือนยี่ขึ้นสิบเอ็ดค่ำปีมะเมียฉศกจุลศักราช ๑๑๙๖  นักพระองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาป่วยเป็นไข้พิษถึงแก่พิราลัยที่เมืองพนมเปญ  พระชนมายุได้ ๔๔ ปี  เมื่อได้อภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาแล้วนั้นชนมายุได้ ๑๖ ปี  อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๘ ปี  นักพระองจันทร์มีราชบุตรี ๔ องค์  เป็นหญิงทั้งสิ้น  หามีราชกุมารไม่  ราชบุตรี ๔ องค์นั้น  ที่ ๑ ชื่อนักนางแป้น  ที่ ๒ ชื่อนักนางมี  ที่ ๓ ชื่อนักนางเภา  ที่ ๔ ชื่อนักนางสงวน  นักนางสงวนนี้ยังเยาว์นัก  ไม่ได้โสกันต์  นักองแป้นนั้นมารดาชื่อนักองเทพเทพี  นักองเทพเทพีเป็นน้องสาวนักองแก้ว  นักองแก้วกับนักองเทพเทพีตกเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อนักองจันทร์พระเจ้ากรุงกัมพูชาหนีไปเมืองญวน

(https://i.ibb.co/bzwVDWq/o.jpg) (https://imgbb.com/)
นักองมี
รับบทโดย สโรชา วาทิตตพันธ์   ในละคร "ข้าบดินทร์"

          ครั้งนั้น  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งมาให้องเตียนกุนตั้งเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามองค์ยกขึ้นเป็นผู้ปกครองแผ่นดินเขมร  ตั้งนักองแป้นเจ้าผู้ใหญ่ให้เป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา  แล้วให้นักองมีเป็นที่มหาอุปราชฝ่ายหน้า  ให้นักองเภาเป็นที่พระมหาอุปราชฝ่ายหลัง

          ครั้นญวนยกย่องตั้งแต่งเจ้าเขมรผู้หญิงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรแล้ว  แต่งขุนนางญวนอยู่กำกับราชการบ้านเมืองด้วย  ชั้นแต่ขุนนางในตำแหน่งนอกตำแหน่งหัวเมืองทั้งปวงนั้น  ญวนก็ตั้งแต่งเขมรขึ้นเต็มหน้าที่ทุกตำแหน่งไว้สำหรับรับกองทัพไทย

(https://i.ibb.co/P9gJ3qr/Untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพระเจ้าเวียดนามคิดอยากได้แผ่นดินเขมรให้ขึ้นเป็นสิทธิ์ขาดอยู่ในใต้อำนาจญวนทีเดียว  พระเจ้าเวียดนามจึงมีหนังสือรับสั่งเป็นการลับ ๆ มาถึงองเตียนกุนแม่ทัพให้ว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ว่า

           “เมืองเขมรมีแต่เจ้าผู้หญิงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  จะว่าราชการเมืองให้ยืดยาวไปไม่ได้”  ถ้ามีราชการทัพศึกสำคัญมาก็จะเป็นการเดือดร้อนแก่สมณพราหมณาจารย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินยิ่งนัก  พระเจ้าเวียดนามมีพระราชประสงค์จะให้พระราชบุตรชายมาอภิเษกด้วยนักองแป้นเจ้าหญิงเขมร  จะได้ช่วยว่าราชการปกครองแผ่นดินเขมรต่อไปให้เป็นการวัฒนาถาวรสืบกษัตริย์สัมพันธมิตรไมตรีกันไปชั่วฟ้าและดิน  เมื่อพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยได้แจ้งถ้อยคำองเตียนกุนแม่ทัพญวนพูดดังนั้นแล้ว  จึงพร้อมกับบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายเขมรพูดอ้อนวอนองเตียนกุนว่า

          “เขมรกับญวนผิดชาติต่างภาษากัน  แล้วเจ้าหญิงฝ่ายเขมรก็เป็นเมืองน้อย  ไม่คู่ควรจะอภิเษกด้วยพระราชบุตร  ฝ่ายญวนเป็นเมืองใหญ่ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศกรุงเวียดนามไป  พระยาเขมรทั้งปวงไม่ยอมให้เจ้าหญิงเขมรเป็นภรรยาเจ้าชายฝ่ายญวน”  เมื่อองเตียนกุนเห็นว่า  “พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยพูดจาโต้ตอบขัดขืนแข็งแรงดังนั้นแล้ว  องเตียนกุนจึงตรึกตรองว่า  ถ้าหักหาญข่มขืนให้เจ้าหญิงเขมรอภิเษกกับเจ้าชายฝ่ายญวนให้ได้  กลัวพวกเขมรจะขัดใจก็จะเป็นกบฏขึ้นทุกบ้านทุกเมือง”  ฝ่ายญวนจะระงับลงก็จะยากหนัก  จึงได้นิ่งความสงบไว้  ไม่พูดจาตักเตือนประการใดต่อไป

(https://i.ibb.co/2cr0yjG/Untidfdftled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง  จึงแต่งให้เขมรไปสืบราชการที่เมืองโปริสาดนั้น  หลวงสมบัติบริบูรณ์เขมรไปสืบได้ความกลับมาแจ้งว่า

           “นักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาป่วยเป็นไข้พิษ  ถึงแก่พิราลัย ณ เมืองพนมเปญแล้ว”

           บัดนี้ญวนคิดการใหญ่  จะให้เจ้าชายราชบุตรพระเจ้าเวียดนามมาอุปภิเษกด้วยนักองแป้นเจ้าหญิงฝ่ายเขมร  พระยาพระเขมรไม่ยอมตามญวน  ญวนก็ตั้งรักษาบ้านเมืองเขมรทุกทิศทุกทาง  พวกเขมรได้ความเดือดร้อนมากอยู่แล้ว  ตั้งแต่นักองจันทร์ถึงพิราลัยแล้วพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยก็สอดหนังสือลับมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นใจความว่า

(https://i.ibb.co/7W0TYFL/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พวกพระยาพระเขมรทั้งปวงไม่มีที่พึ่ง  เพราะนักองจันทร์ถึงแก่พิราลัยแล้ว  และไม่สมัครเป็นข้าญวน  จะขอเป็นข้าพึ่งพระบารมีพระบรมโพธิสมภารพระเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพพระมหานครไปอย่างเดิม  ขอให้กองทัพไทยยกลงไปตีญวน  พวกเขมรจะช่วยเป็นไส้ศึกจับญวนฆ่าเสียให้สิ้นเชิง”

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงส่งต้นหนังสือของพระยาพระเขมรเข้ามายังกรุงเทพฯ  แล้วมีใบบอกขอท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ออกไปช่วยคิดราชการที่เมืองพระตะบองสักคนหนึ่ง  ใช้ให้หลวงอภัยเสนาถือเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย  ได้ทรงทราบแล้วมีพระราชดำรัสว่า

           “เมืองเขมรคราวนี้เป็นหายนะเสื่อมอำนาจลง  เพราะนักองจันทร์ก็มาตายเสียกำลังระหว่างทัพศึกดังนี้  เป็นท่วงทีเราหนักหนา  ควรจะคิดปราบปรามกัมพุชประเทศต่อไป”

(https://i.ibb.co/7j528dQ/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

          จึงโปรดให้มีตราตอบออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดอ่านจัดการตีเมืองเขมรมาขึ้นกรุงเทพฯ ให้ได้เหมือนอย่างแต่ก่อน  ถ้าไม่ได้มาขึ้นก็ให้ทำลายล้างเมืองเขมรให้เป็นป่า  ให้เหลือแต่แผ่นดินกับภูเขาแม่น้ำลำคลองเท่านั้น  กวาดต้อนครอบครัวมาใส่บ้านเมืองไทยเสียให้หมดอย่าให้เหลือเลย  ให้ทำเมืองเขมรให้เหมือนกับเมืองเวียงจันทน์ครั้งเจ้าอนุนั้นก็เป็นการดีเหมือนกัน  ซึ่งจะให้เสนาบดีผู้ใดอออกไปช่วยคิดราชการนั้น  ไม่ทรงเห็นว่าผู้ใดจะดีกว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นก็ไม่มีตัวแล้ว  การงานบ้านเมืองเขมรทั้งนี้สุดแล้วแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะคิดราชการให้เป็นเกียรติยศแก่ไทยฝ่ายเดียวเถิด  ทรงมอบพระราชดำริและพระราชประสงค์ไว้ในเจ้าพระยาบดินทรเดชาทั้งสิ้น  ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (ชื่อโต) ออกไปเป็นแม่กองจัดคนลำเลียงเสบียงอาหารกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ไม่ให้ขัดสนทุกทัพทุกกอง  ครั้งนั้นพระยาราชสุภาวดีไปตั้งกองส่งเสบียงอยู่ที่เมืองปราจีนบุรีและเมืองกบินทรบุรี  ได้ส่งข้าวเกลือออกไปยังเมืองพระตะบองเนือง ๆ...”

(https://i.ibb.co/H22dQzs/Untitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เขมรกลายเป็นเหมือน “กบเลือกนาย”   นักองจันทร์ไม่พอใจไทยก็หนีไปพึ่งญวน  เป็นการ “ชักศึกเข้าบ้าน” โดยแท้  พอกองทัพไทยล่าถอยกลับมาจากเขมร  ญวนก็พานักองจันทร์กลับมาครองกรุงกัมพูชา  แล้วญวนก็ปกครองเขมร  ตั้งแต่งขุนนางญวนกำกับเขมรทุกบ้านทุกเมือง  บังคับให้ขุนนางเขมรแต่งกายแบบขุนนางญวน  ครั้นนักองจันทร์ถึงแก่พิราลัย  ญวนก็ตั้งราชธิดานักองจันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  แล้ววางแผนฮุบเขมรทั้งชาติเป็นของญวน  ด้วยการจะให้ราชบุตรญวนอภิเษกกับเจ้าหญิงเขมรที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร  ดีที่พวกขุนนางเขมรไม่ยินยอม  และเริ่มตีตัวออกหากจากญวน  จึงมีหนังสือไปขอให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาช่วยปลดแอกญวนให้เขมรด้วย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายหน้าที่จัดการบ้านเมืองเขมรให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดอ่านจัดการตามที่เห็นสมควร  และอานามสยามยุทธยกที่ ๓ จึงได้เริ่มขึ้นแล้ว  พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, พฤศจิกายน, 2563, 10:19:58 PM
(https://i.ibb.co/wNg27S9/Un56titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๒ -

ญวนจับพลตระเวนไทยเอาไปขัง
“มินมาง”สั่งปล่อยปลอดรอดตัวได้
ฝากหนังสืออวดตัวดีทั่วไป
ทั้งมีใจยึดมั่นกตัญญู

ชวนเขมรเตรียมย่ำจำปาศักดิ์
ไทยตั้งหลักยืนรอพร้อมต่อสู้
จัดกำลังนับพันเตรียมพันตู
ให้ญวนรู้ฝีมือไทยฦๅชา


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน  ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้  จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓  ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่.. ญวนยึดเมืองไซ่ง่อนได้  แล้วพระเจ้ามินมางประหารชีวิตพวกกบฏเสียสิ้น  องเตียนกุนเสนาบดีใหญ่ยกมาตั้งอยู่ในเขมร  บังคับให้ขุนนางเขมรแต่งกายแบบญวน  ตั้งแต่งขุนนางญวนเข้าคุมขุนนางเขมรหมดทุกบ้านทุกเมือง  ครั้นนักองจันทร์ถึงแก่พิราลัย  พระเจ้ามินมางสั่งให้องเตียนกุนตั้งราชธิดานักองค์จันทร์ปกครองกัมพูชา  แล้วมีแผนยึดครองเขมรทั้งหมด  โดยให้ราชบุตรของตนอภิเษกกับราชธิดานักองจันทร์  แต่ขุนนางเขมรไม่ยอมรับ  จึงมีหนังสือลับถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาขอให้ช่วยขับไล่ญวน  เขมรขอเป็นข้าขอบขัณฑเสมาไทยอย่างเดิม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายหน้าที่ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการบ้านเมืองเขมรให้เป็นประโยชน์แก่ไทยต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......

(https://i.ibb.co/JKRKhC7/nguyet.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ฝ่ายจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ปลัดกรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ  กับจมื่นมหาดเล็กหัวหมื่นมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ  สองนายนี้เป็นแม่กองนายเรือตระเวนรักษาด่านทางข้างทะเล  ตั้งที่ชุมนุมอยู่ที่เกาะกงหน้าเมืองตราดนั้น  จึงแต่งให้ขุนตระเวนนาเวศร์กับนายเพ็งคุมไพร่ไทย ๒๐  จีน ๑๓  รวม ๓๓ คน  ลงเรือรบเล็กไปสืบราชการที่เมืองบันทายมาศ  แต่ยังไม่ถึงเมืองบันทายมาศ  แล่นใบไปถึงเขาช่องลม  พอพบเรือกองตระเวนญวน  ญวนจึงนำเรือรบใหญ่หลายลำเข้าไล่ล้อมจับเรือตระเวนไทยไปได้  พาไปส่งแม่ทัพญวนที่เมืองบันทายมาศ  องตุ้มภู่แม่ทัพเรือฝ่ายญวนให้จีนล่ามถามขุนตระเวนนาเวศร์  ขุนตระเวนนาเวศร์ให้การรับสารภาพว่า

“จมื่นมหาดเล็กนายกองเรือตระเวนไทย  ตั้งอยู่ที่เกาะกง  ใช้ให้ข้าพเจ้ามมาสืบราชการทัพญวน”

          องตุ้มภู่ให้ล่ามถามว่า     “เมื่อญวนเข้าล้อมจับไทย  ไทยได้ต่อสู้หรือเปล่า”

          ขุนตระเวนนาเวศร์ให้การว่า   “ไม่ได้สู้เลย  ลดใบยอมให้จับโดยดี”

          องตุ้มภู่ให้จีนล่ามถามอีกว่า     “เมื่อลดใบลงแล้ว  พวกญวนขึ้นบนเรือไปจับมัดมานั้น  ไทยได้ตระเตรียมจับอาวุธสอดเครื่องรบหรือไม่?”

          ขุนตระเวนนาเวศร์ให้การว่า     “ไม่ได้จับต้องอาวุธเลย  ญวนเรียกให้ขึ้นมาจากเรือไทย  ให้ลงในเรือญวน  พวกไทยก็เดินมาลงโดยดี”

          องตุ้มภู่ให้เสมียนจดหมายถ้อยคำให้การไว้ทั้งสามครั้ง  แล้วจึงถามพวกญวนเรือตระเวน  สอบกับคำให้การไทย  ญวนก็แจ้งความถูกต้องกันแล้ว  องตุ้มภู่จึงสั่งญวนรับใช้พาไทยทั้งนายไพร่ไปจำตรวนขังตะรางไว้สองเดือนเศษ  แล้วมีใบบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้เสนาบดีมีท้องตราตอบมายังองตุ้มภู่ใจความว่า

           “พวกไทยตระเวนเรือมันไม่สู้รบ  ให้ถอดจำ  ปล่อยไปทั้งนายไพร่  เรือและสิ่งของในเรือก็ให้คืนให้ไปจนสิ้นให้ครบ”

(https://i.ibb.co/F4271mT/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

          องตุ้มภู่ได้รับท้องตราบังคับมาจากกรุงเว้ดังนั้นแล้ว  จึงให้ชำระพาสิ่งของในเรือไทยคืนมาให้หมด  มอบให้ขุนตระเวนนาเวศร์คุมเรือกลับมา  ครั้งนั้นองตุ้มภู่จ่ายเสบียงอาหารให้ขุนตระเวนนาเวศร์พอกินกลับมายังเกาะกง  องตุ้มภู่ฝากหนังสือฉบับหนึ่งมาถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีไทย  ขุนตระเวนนาเวศร์ก็กลับมายังจมื่นมหาดเล็ก  จมื่นมหาดเล็กส่งต้นหนังสือญวนกับตัวขุนตระเวนนาเวศร์เข้ามาให้เจ้าพระยาพระคลัง  เจ้าพระยาพระคลังให้ล่ามแปลหนังสือญวนออกเป็นภาษาไทยใจความว่า

           “ฝ่ายญวนตั้งอยู่ในความกตัญญูไทยมาก  ญวนคิดถึงพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระโกศที่เสด็จสวรรคตแล้วนั้น (คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ท่านได้ทรงช่วยทำนุบำรุงพระเจ้าเวียดนามยาลวง (คือองเชียงสือ) ต้นวงศ์ญวนนี้มาจนได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินญวนกรุงเว้  เพราะฉะนั้นญวนจึงไม่อยากจะคิดฆ่าฟันไทยให้ถึงแก่ความตาย  กลัวจะเสียทางกตัญญูเดิมไป  เมื่อกองทัพไทยยกไปตีเมืองบันทายมาศ  ฝ่ายญวนกลัวจะต้องฆ่าไทย  จึงได้ทิ้งเมืองบันทายมาศเสีย  ล่าถอยไปตั้งพักพลอยู่ที่เมืองโจดก  กองทัพไทยก็กำเริบยกไล่เข้าไปถึงเมืองโจดก  ญวนก็ทิ้งเมืองโจดก  ล่าถอยไปตั้งอยู่ที่ปากคลองวามะนาว  กองทัพไทยก็รุกไล่ต่อไปอีกถึงปากคลองวามะนาว  ฝ่ายญวนไม่อยากจะรบราฆ่าฟันไทย  จึงได้ทิ้งค่ายปากคลองวามะนาวเสีย  ล่าถอยเป็นคำนับไทยถึงสามครั้ง  จึงถอยไปตั้งอยู่ที่ค่ายเก่า  “เจียนทราย” คือเกาะแตง  ฝ่ายกองทัพไทยก็ยิ่งรุกไล่ตีต่อไปไม่หยุด  ฝ่ายญวนเห็นว่าถอยทัพเป็นการคำนับถึงสามครั้งแล้ว  ไทยก็ไม่ฟัง  ยังไล่ติดตามตีอยู่เสมอ  ฝ่ายญวนเหลือที่จะรักษาชีวิตไว้ต่อสู้ความกตัญญูได้  จึงได้สู้รบบ้างพอเป็นการป้องกันรักษาชีวิตเท่านั้น  ไม่ได้คิดจะต่อสู้ให้ไทยแตกตายก็หาไม่  กองทัพไทยก็ตกใจกลัวรีบถอยหนีแตกไปเอง  ถึงเช่นนั้นนายทัพนายกองญวนก็ไม่ได้ซ้ำเติมตามตีไทยเลย  ถ้าญวนจะนำทัพบกทัพเรือออกก้าวสกัดตามตีไทย  ที่ไหนไทยจะหนีรอดไปได้  เพราะเรือรบไทยไทยก็ทิ้งเสียหมดไม่พาไปเอง  ใช่ญวนแย่งชิงเรือรบของไทยไว้เมื่อไรเล่า  ขณะไทยทิ้งเรือรบและทิ้งค่ายบกช้างม้าเสียมากตกใจตื่นแตกหนีไปนั้น  ฝ่ายญวนมีไพร่พลพร้อมอยู่ทั้งทัพบกและทัพเรือถึงสิบหมื่น (คือแสนหนึ่ง)  มีเรือรบใหญ่น้อยอยู่ถึงพันลำเศษ  มีช้างถึงแปดร้อย  มีม้าถึงสี่พัน  ถ้าญวนจะติดตามตีขนาบไปทั้งทางบกและทางเรือพร้อมกัน  ก็จะไม่ได้ชัยชนะแก่ไทยบ้างหรือ  การที่แม่ทัพญวนไม่ได้ยกใหญ่ไล่ติดตามจับไทยมาเป็นเชลยนั้น  เพราะแม่ทัพญวนถือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่นี้ว่า  พระเจ้าเวียดนามยาลวงพระองค์ก่อนสั่งไว้  ไม่ให้ญวนทำอันตรายแก่ไทยตามหมายประกาศพระเจ้าเวียดนามยาลวง  มีรับสั่งไว้ให้แม่ทัพญวนทั้งบกและเรือให้รู้ทั่วกันว่า   “ไทยมีพระคุณกับพระองค์ท่านมาก  ถ้าไทยมาก่อการศึกก่อน  ให้ญวนรักษาแต่เขตแดนไว้ให้มั่นคง  อย่าให้ญวนก่อเหตุนอกรับสั่งไป  ไม่ให้ทำอันตรายแก่ไทยผู้มีพระคุณ  ให้ญวนรักษาหมายประกาศประพฤติตามรับสั่งพระเจ้ายาลวงดังนี้ชั่วฟ้าและดิน  บนฟ้ามีเทพยดา  ที่ดินมีมนุษย์เห็นความดีและชั่ว”

(https://i.ibb.co/M6ztstN/Untiwerqtled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          (สิ้นความในหนังสือญวนเท่านี้  ครั้นพิเคราะห์ดูข้อความตามที่ญวนยกตัวว่า  เป็นผู้ตั้งอยู่ในความกตัญญู  คิดถึงบุญคุณไทย  ไม่ทำอันตรายแก่ไทยนั้น  เนื้อความข้อที่ญวนพูดมานี้  ก็ไม่สมกับเมื่อญวนรบกับไทย  ไทยฆ่าญวน  ญวนก็ฆ่าไทยเหมือนกัน  กิริยาญวนเมื่อล่าถอยหนีไทย  และเมื่อรบกับไทยนั้น  ไม่สมกับถ้อยคำญวนพูดมานี้เลย  จึงเห็นว่าญวนกล่าวเท็จไม่จริงทั้งสิ้น  อนึ่งเมื่อรบกันที่เมืองโจดก,  เมืองบันทายมาศ,  ปากคลองวามะนาว,  ปากคลองสี่แยกสะแดก,  ทุกแห่งนั้น  ญวนก็สู้รบเป็นสามารถทุกแห่ง  ถึงการที่ญวนทิ้งเมืองทั้งสองและทิ้งค่ายทั้งสองแห่งเสีย  แล้วญวนล่าทัพถอยหนีนั้น  สืบถามญวนเชลยที่จับเป็นมาได้  ก็บอกว่าทิ้งเมืองทิ้งค่ายหนีไปเพราะไพร่พลมีน้อย  ไม่พอจะรับรองไทย  ด้วยไพร่ญวนเกณฑ์ไปล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่มาก  ญวนสู้ไทยไม่ได้จึงทิ้งเมืองและค่ายหนีไป  เมื่อไทยเสียทีแก่ญวนที่เกาะแตงนั้น  ไทยล่าถอยหนีมา  ฝ่ายญวนก็ตามตีตามตีถึงสองครั้งสามครั้งโดยสามารถทุกที  ญวนทำการไม่สมกับที่พูดว่าไม่ได้ตามตีไทยนั้น  ญวนพูดไม่จริงเลย)

(https://i.ibb.co/WHTv69b/Unti-tledc-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ลุจุลศักราช ๑๑๙๗ ปีมะแม สัปตศก เป็นปีที่ ๑๒  ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ  ครั้งนั้นพระยาบำเรอภักดิ์กับหลวงราชมานู  ข้าหลวงอยู่ช่วยราชการรักษาเมืองจำปาศักดิ์  ครั้งนี้เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์  คิดราชการกับพระยาบำเรอภักดิ์  เกณฑ์ลาวหัวเมืองขึ้น ๑,๐๐๐ คน มารักษาบ้านเมือง  เพราะได้ข่าวว่าเขมรจะยกมาตีเมืองลาว

(https://i.ibb.co/vBfG1q2/Untitl96ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นองเตียนกุนแม่ทัพญวนใช้ให้องเยื่อนเป็นแม่ทัพ  ให้สมเด็จเจ้าพระยาเขมรกับพระยาสุภาธิราชผู้ช่วยราชการเป็นสามนายด้วยกัน  คุมไพร่เขมรพันหนึ่ง  ญวนสามร้อยคน  ยกมาตั้งรักษาด่านทางอยู่ที่เมืองกำพงสวาย  และบ้านท่ามะนาว  พระยาบำเรอภักดิ์กับหลวงราชมานูข้าหลวงบอกลงมากรุงเทพฯว่า  “ทัพญวนเขมรยกมาใกล้เมืองนครจำปาศักดิ์  เมืองนครจำปาศักดิ์ได้เกณฑ์ไพร่ลาวไปตั้งรักษาด่านทางอยู่บ้าง”

(https://i.ibb.co/0JBZcLg/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อได้ทรงทราบดังนั้นแล้ว  ทรงพระดำริว่า   “พระยาบำเรอภักดิ์มีไพร่พลแต่ลาวหาแข็งแรงไม่  จึงโปรดให้มีตราเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเหนือชั้นในเป็นคนพันเศษ  ให้ยกขึ้นไปเข้าในกองทัพพระยาราชนิกูล  พระยาราชนิกูลเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองอุบลราชธานี”.........

(https://i.ibb.co/xs0Tv0j/03-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** หนังสือ (จดหมาย) ญวนก็เป็น  “แผ่นเสียงตกร่อง”  อยู่นั่นแหละ  ไม่มีความอะไรใหม่เลย  กล่าวโกหกมดเท็จอย่างหน้าตาเฉย  เฉพาะในข้อที่ว่าไม่ได้ยกตามตีไทย  แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ชัดเจนว่า  ญวนยกทัพบกตามตีกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  แล้วถูกเจ้าพระยาบดินทรเดชาวางกลอุบาย  “ค่ายนรกแตก”  ที่โคกสะแก  ฆ่าญวนตายเกือบหมดสิ้นทั้งกองทัพ  ตายคาค่าย ๑,๔๑๕  เจ็บป่วยลำบาก ๔๑๖  จับเป็นได้ ๑๖๔   ญวนสี่ทัพ ๒,๒๐๐ คน  หนีรอดไปได้เพียง ๓๖ คนเท่านั้น  อีกทัพหนึ่งของญวนยกตามไปฆ่าไทยกองทัพพระยานครสวรรค์เสียสิ้นทั้ง ๑,๐๐๐ คน   อีกทัพหนึ่งของญวนยกตามตีทัพเจ้าพระนครราชสีมาไปถึงเมืองบาพนม  ถูกเจ้าพระยานครราชสีมาวางกลอุบายเช่นเดียวกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ฆ่าทัพหน้าญวนเสียสิ้นไป ๘๐๐ คน  แล้วยังมีทัพใหญ่ญวนที่ไล่ตามตีทัพพระยามณเฑียรบาลวังหน้าอีกเล่า  เรื่องเหล่านี้ญวนมิได้นำมากล่าวในหนังสือจดหมายของเขาเลย  และตอนนี้ญวนเชิดหุ่นเขมรเตรียมตีนครจำปาศักดิ์ของไทยแล้ว  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, พฤศจิกายน, 2563, 10:45:38 PM
(https://i.ibb.co/3p9tBqC/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๓ -

เขมรไม่ล่วงล้ำจำปาศักดิ์
ถอยตั้งหลักพนมเปญงดเข่นฆ่า
แม่ทัพไทยจัดการงานนานา
ไร้ปัญหาพระตะบองสนองงาน

มีท้องตราเรียกกลับกรุงเข้าเฝ้า
“พระนั่งเกล้า”ทรงปฏิสัณฐาร
ทูลขอตั้ง“นักสุราย”หนึ่งชายชาญ
ทรงประทานยศพระยาด้วยป


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...  กองลาดตระเวนจากเกาะกงนำเรือเล็กออกลาดตระเวนไปสืบราชการเมืองบันทายมาศถูกญวนจับได้  นำไปขังตะรางไว้สองเดือน  พระเจ้ามินมางได้รับทราบรายงานแล้วทรงสั่งให้ปล่อยตัว  องตุ้มภู่แม่ทัพญวนเมืองบันทายมาศจึงปล่อยตัวพร้อมฝากหนังสือญวนให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่ง  ความในหนังสือไม่มีอะไรใหม่  มีแต่ยกย่องตนเองว่าเป็นคนเก่งคนดีมีความกตัญญูรู้บุญคุณไทย  เจ้าพระยาพระคลังอ่านแล้วก็เพิกเฉยเสีย  ต่อมาพระยาบำเรอภักดิ์ข้าหลวงอยู่ช่วยราชการนครจำปาศักดิ์มีรายงานเข้ากรุงเทพฯว่า  ญวนร่วมกับเขมรยกมาตั้งกองกำลังอยู่ใกล้นครจำปาศักดิ์  เจ้าเมืองไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงเกณฑ์ไพร่พลลาวได้ ๑,๐๐๐ คนตั้งรักษาเมืองอยู่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  ไพร่พลลาวที่เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์เกณฑ์มานั้นไม่แข็งแรงพอ  จึงโปรดให้เกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเหนือชั้นในได้คนพันเศษ  ให้เข้าในกองทัพพระยาราชนิกูล  พระยาราชนิกูลเป็นแม่ทัพยกไปรักษาเมืองนครจำปาศักดิ์  วันนี้มาอ่านความต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/hXzcQ7C/Untitle47d-8.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายพระยาราชนิกูล (เสือ) ยกขึ้นไปถึงเมืองลาวแล้ว  จึงมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯว่า    “ได้แต่งให้พระจันทราทิตย์กับหลวงเพชรไพโรจน์ข้าหลวงในพระราชวังหลวง  และจมื่นศักดิ์บริบาลปลัดกรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ”  เป็นข้าหลวงสามนาย  กำกับทัพเมืองพิจิตรยกขึ้นไปถึงเมืองอุบลราชธานีแล้ว  ได้เร่งรัดให้พระพรหมราชวงศ์อุปฮาด ท้าวเพี้ยเมืองอุบลราชธานี  ทำค่ายเสาไม้แก่นยาวสามสิบเจ็ดเส้น  กว้างสิบสี่เส้น  สูงเจ็ดศอก  มีป้อมเจ็ดป้อม,  มีหอรบประจำทุกประตู  และขุดสนามเพลาะรอบค่าย  ได้ปลูกยุ้งฉางข้าวหลังหนึ่ง  จุข้าวประมาณพันเกวียน  และได้ปลูกโรงปืนศาลาพักทหารสี่หลัง  แล้วก่อตึกดินดำหลังหนึ่ง  ทำการค่ายไว้สำหรับรักษาเมืองพร้อมทุกสิ่งแล้ว  จึงให้ข้าหลวงสามนายคุมทัพเมืองพิจิตร  พร้อมด้วยพระปลัดเมืองพิจิตรอยู่รักษาเมืองอุบลราชธานี  พระพรหมราชวงศาเจ้าเมืองอุบลราชธานีเกณฑ์ไพร่พลลาวมาเข้าสมทบกับกองทัพไทยด้วย  

          พระยาราชนิกูลก็ยกขึ้นไปถึงเมืองอุบลราชธานี  ได้ตรวจตราค่ายคูประตูหอรบ  แล้วสั่งกำชับเจ้าเมืองและข้าหลวงสามนายให้อยู่ป้องกันรักษาบ้านเมืองให้มั่นคง  ถ้ามีข้าศึกมาหนักเบาให้บอกขึ้นไปจะได้จัดให้กองทัพเพิ่มเติมมาช่วยราชการอีก แล้วพระยาราชนิกูล พระ หลวง หัวเมืองเหนือก็ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองจำปาศักดิ์  ฝ่ายพระยาบำเรอภักดิ์กับหลวงราชมานูอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ก่อนนั้น  จึงมาแจ้งข้อราชการแก่พระยาราชนิกูลว่า  

(https://i.ibb.co/n68VKXx/Untitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชายังไม่ถึงแก่พิราลัยนั้น  พระยาเดโชรามเขมรมีหนังสือบอกลงไปถึงนักองจันทร์ที่เมืองพนมเปญว่า  ครอบครัวเขมรอพยพหนีไปอยู่ในเขตแดนเมืองลาวที่ขึ้นแก่กรุงเทพฯนั้นเป็นอันมาก”     ฝ่ายนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาจึงใช้ให้สมเด็จเจ้าพระยา กับเจ้าพระยาราชไมตรี และพระยาสุภาธิราช  สามคนเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลเขมร ๓,๕๐๐ คน ยกมาตั้งรักษาด่านทางเมืองกำแพงสวาย  แล้วสมเด็จเจ้าพระยาเขมรแบ่งไพร่พลในกองออก ๕๐๐  แล้วให้สนองน้อยคนหนึ่ง  กับไกรแบนคนหนึ่ง  เป็นแม่กองคุมไพร่ ๕๐๐  ยกมาตั้งรักษาเมืองสะโทงใกล้บ้านไตรปิง  เมื่อก่อนหน้ากองทัพกรุงเทพฯจะยกขึ้นถึงเมืองจำปาศักดิ์นั้น  สมเด็จเจ้าพระยาเกณฑ์ไพร่เขมรป่าดง ๕๐๐  ให้พระอนุชิตสงครามเขมรคุมไพร่เขมร ๕๐๐ กับช้าง ๓๐  เดินมาลาดตระเวนถึงบ้านขันแตกพรมแดนเมืองลาวขึ้นแก่กรุงเทพฯ นั้น  เกือบจะได้รบกับพวกลาวชาวด่านบ้านขันแตก  ทัพช้างเขมรยกมาวันหนึ่งก็ถอยทัพกลับไป  ตั้งรออยู่ที่บ้านปากทางในเขตแขวงเขมร

(https://i.ibb.co/t80qpcY/Untitsled-99.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาราชนิกูลได้ทราบดังนั้นแล้วจึงพูดว่า   “สมเด็จเจ้าพระยาเขมรมีไพร่พลเขมรมามาก  รวมสามทัพถึง ๔,๐๐๐ คนนั้น  ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  เห็นว่าเมืองจำปาศักดิ์ชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว  ไม่เป็นที่รับทัพข้าศึกได้มั่นคง  ถ้าเกลือกว่ามีทัพเขมรหรือญวนมาย่ำยีเมืองจำปาศักดิ์  แล้วก็จะเสียท่วงทีแก่ข้าศึก  พระยาราชนิกูลจึงเกณฑ์ลาวทำค่ายเสาไม้แก่นขึ้นค่ายหนึ่งยาวสามสิบเจ็ดเส้น  กว้างเก้าเส้นสิบวา  สูงเจ็ดศอก  มีป้อมหกป้อม  มีหอรบทุกประตู  ขุดสนามเพลาะคูรอบค่าย  ให้ปลูกฉางข้าวเจ็ดหลัง  ปลูกโรงปืนและศาลาพักไพร่พลสี่หลัง  ก่อตึกไว้ดินดำพร้อม  สำหรับรักษาบ้านเมืองจำปาศักดิ์ให้มั่นคงแข็งแรง  จึงมอบให้เจ้าเมืองจำปาศักดิ์กับพระยาบำเรอภักดิ์ หลวงราชมานู อยู่รักษาค่ายและบ้านเมือง

          พระยาราชนิกูลก็เดินทัพต่อไปใกล้บ้านขันแตก  ตั้งพักทัพอยู่ที่ด่านนอกบ้านโพนเสม็ดเขตแดนลาว  ครั้งนั้นใช้ให้ท้าวเกิดกับหลวงชัยสงครามเขมรเมืองอัตปือลอบลงไปสืบทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมร  กลับมาแจ้งความว่า

           “สืบได้ข่าวว่า  กองทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมรยกเลิกกลับไปเมืองพนมเปญหมดแล้ว”

(https://i.ibb.co/W2wDvpw/Untifdtled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาราชนิกูลก็เดินทัพไปถึงเมืองพระตะบอง  แล้วแจ้งราชการต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดราชการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยเป็นปรกติ  จึงมอบบ้านเมืองเขมรให้นักองอิ่มและนักองด้วงเสร็จแล้ว  จึงมีใบบอกให้หลวงเสนาภักดีถือเข้ามายังกรุงเทพฯ  โปรดเกล้าฯให้มีตราหาตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาแจ้งราชการบ้านเมืองเขมรยังกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/myX5jcc/Untitlesdd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาและพระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง พร้อมกันยกทัพกลับเข้ามายังกรุงเทพฯ  พระยาศรีสหเทพนำเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพเข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาท  ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปฏิสัณฐารปราศรัยว่า

           “ฉันเห็นหน้าพี่บดินทรแล้วก็กินข้าวได้”

          แล้วทรงจับพระเขนยอิงซึ่งทรงพิงพระขนองอยู่นั้นโยนไปพระราชทานให้เจ้าพระยาบดินทรเดชารองศอก  หมอบเฝ้าหน้าแท่นในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็มิได้หมอบบนพระเขนยอิงร่วมพระราชูปโภค  กราบถวายบังคมแล้วรับพระเขนยอิงมาวางไว้ตรงหน้าที่เฝ้านั้น  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชากราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยข้อราชการบ้านเมืองเขมรเสร็จสิ้นทุกประการแล้ว  จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้นักสุรายเขมร  ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้านายเขมรมาแต่ก่อน  และเป็นผู้สวามิภักดิ์ได้ราชการทัพศึกมากด้วย  ขอพระราชทานให้นักสุรายเป็นพระยาสวรรคโลก ตำแหน่งขุนนางใหญ่ฝ่ายเขมร  จะได้อยู่ดูแลช่วยราชการบ้านเมืองกับนักองอิ่มและนักองด้วง  เป็นกำลังราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราตั้งนักสุรายให้เป็นพระยาจำนงภักดีศรีสวรรคโลกาธิบดีอภัยพิริยะพาหะ  ถือศักดินา ๕,๐๐๐ ไร่  ตำแหน่งข้าหลวงกรุงเทพฯ  กำกับช่วยราชการเจ้าเขมรต่อไปในเมืองเขมร  พระราชทานเครื่องยศพระยาอภัยภูเบศร์เขมรที่ถึงแก่กรรมนั้น  ให้แก่พระยาจำนงภักดีฯ  คือคนโททอง ๑  แต่พานทองนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เอาถาดหมากทองเปลี่ยนออกไปแทน  คงเครื่องยศถาดหมากคนโททอง..”

(https://i.ibb.co/QPc8fGN/Untithfled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** จะว่าพระยาบำเรอภักดิ์เป็น  “กระต่ายตื่นตูม”  หรือเป็นเพราะเขมร  “ท่าดีทีเหลว”  ก็มิรู้ได้  กองทัพพระยาราชนิกูลยกไปนครจำศักดิ์แล้วพบว่า  กองทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมรที่ยกไปตั้งท่าจะตีเมืองจำปาศักดิ์นั้น  ยกกลับพนมเปญเสียสิ้นแล้ว  พระยาราชนิกูลจึงเดินทัพเลยไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบอง  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้นจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว  จึงมอบเมืองให้นักองอิ่ม นักองด้วงปกครอง  แล้วมีในบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีตราหาตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้าเฝ้าถวายรายงานข้อราชการเมืองเขมร  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนักสุรายเชื้อสายเจ้าเขมรให้เป็นพระยาสวรรคโลกเขมรตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบทูลขอพระราชทาน  ให้ช่วยราชการในนักองอิ่มนักองด้วงต่อไป  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, พฤศจิกายน, 2563, 10:05:04 PM
(https://i.ibb.co/gtcWvn0/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๔ -

เมืองหัวพันทั้งหกหวนคืนกลับ
มายอมรับไทยปกครองอย่างน้องพี่
ข้าขอบขัณฑเสมาใต้บารมี
ขอภักดีถือพิพัฒน์สัตยา


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...  กองทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมรที่ยกไปตั้งท่าจะตีเมืองจำปาศักดิ์นั้น  ยกกลับพนมเปญเสียสิ้นแล้ว  พระยาราชนิกูลจึงเดินทัพเลยไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบอง  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้นจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว  จึงมอบเมืองให้นักองอิ่มนักองด้วงปกครอง  และมีในบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีตราหาตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้าเฝ้าถวายรายงานข้อราชการเมืองเขมร  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนักสุรายเชื้อสายเจ้าเขมรให้เป็นพระยาสวรรคโลกเขมรตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบทูลขอพระราชทาน  ให้ช่วยราชการในนักองอิ่มนักองด้วงต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ...

           “ ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมายกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิไชย  พบท้าวอ่อนเมืองหลวงพระบางพาพวกลาวเมืองหัวพันทั้งหกซึ่งจะสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ  ลงมาถึงเมืองพิไชย  ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาเห็นว่า

(https://i.ibb.co/rpWfSfb/Untitle54d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พวกเมืองหัวพันทั้งหกที่มาเป็นแต่ท้าวเพี้ยเล็กน้อย  หาสมควรจะมาเจรจาการบ้านเมืองไม่  จึงได้พาตัวพวกนั้นกลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง  ครั้นถึงที่ ณ เมืองหลวงพระบางแล้ว  เจ้าพระยาธรรมาและเจ้านครหลวงพระบาง  เจ้าอุปราช  เจ้าราชบุตร  จึงปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า  เมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้แต่ก่อนเป็นหัวเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์  และเป็นหัวเมืองปลายเขตแดนข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯมาแต่เดิม  หาได้เป็นหัวเมืองขึ้นหัวเมืองออกแก่ญวนไม่  เมื่อครั้งเจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ  เจ้าอนุหนีไปพึ่งญวน  เจ้าอนุจึงนำเมืองหัวพันทั้งหกไปยกให้ขึ้นกับญวนเหมือนเมืองพวน  ฝ่ายญวนก็ถือว่าเจ้าอนุยกให้ญวน  ญวนจึงได้มาปกครองครอบงำเมืองพวนและเมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้ไว้ในอำนาจญวนทั้งสิ้น  ครั้นกองทัพไทยยกขึ้นไปปราบปรามเมืองพวนอยู่ในอำนาจ  พระมหาเทพ (ชื่อป้อม) แม่ทัพใหญ่  และพระราชวรินทร(ชื่อขำ) แม่ทัพรองดังนั้นแล้ว  ครั้งนั้นพวกเมืองหัวพันทั้งหกกลัวกองทัพไทยจะยกขึ้นไปตีบ้านเมืองหัวพันทั้งหก  เมืองหัวพันทั้งหกจึงคิดอ่านกลับใจออกห่างจากญวน  มาขึ้นกับเมืองหลวงพระบางขอเป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ ตามเดิม  ครั้นจะแต่งกองทัพไทยยกขึ้นไปตีบ้านเมืองหัวพันทั้งหกนั้นเล่า  ก็เห็นว่าเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย  จะพลอยยับเยินไปเสียเปล่า ๆ  จึงให้เพี้ยศรีอรรคฮาชกับท้าวมงคลพาพวกเพี้ยท้าวเมืองหัวพันทั้งหกที่ลงมานั้น  ให้กลับคืนขึ้นไปบ้านเมืองหัวพันทั้งหกแล้ว  จะได้บอกเจ้าเมืองกรมการผู้ใหญ่ให้ลงมาหาแม่ทัพที่เมืองหลวงพระบาง  จึงจะรับเป็นไมตรีบ้านพี่เมืองน้องกัน”

          ฝ่ายเพี้ยศรีอรรคฮาชกับท้าวมงคล  ซึ่งเป็นข้าหลวงขึ้นไปถึงเมืองหัวพันทั้งหกอีกในครั้งที่สามนี้แล้ว  จึงได้พาเจ้าเมืองเหียม ๑  ปลัดเมืองหัว ๑  ปลัดเมืองซอน ๑  ท้าวพลไชยเมืองซำเหนือ ๑  ท้าวเพี้ยศิริจันทรเมืองซำใต้ ๑  และท้าวพระยาลาว ท้าวเพี้ยมีชื่อทั้งปวง  ก็พากันมาหาเจ้าพระยาธรรมาที่เมืองหลวงพระบาง  แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยจึงแจ้งความต่อเจ้าพระยาธรรมาและเจ้านครหลวงพระบางว่า

           “เจ้าเมืองกรมการแสนท้าวพระยาลาวเมืองหัวพันทั้งหก  ปรึกษาพร้อมกันทุกเมืองตกลงจะยอมสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณเสมากรุงเทพฯ  จะขอทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ  ขึ้นกับเมืองนครหลวงพระบางต่อไปให้เหมือนกับเมื่อครั้งเคยขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์มาแต่ก่อน”

          เจ้าเมืองเหียมแจ้งต่อไปว่า     “เจ้าเมืองกรมการเมืองซำใต้  เมืองไชย  เมืองเชียงค้อ  เมืองเชียงคาน  เมืองซวย  และเมืองทั้งหลายหัวพันทั้งหก  จะจัดกันตามมาภายหลัง  คงจะถึงเมืองหลวงพระบางในเดือนหน้า”

(https://i.ibb.co/KFNxxwh/Untsdfitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพสั่งให้พระหฤทัยกับหลวงราชเสวก นายจ่าเนตรมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ สามนายเป็นข้าหลวงกำกับท้าวมหาไชยพระยาเมืองแผน  ท้าวคำอ่อน  ท้าวพันธุแสน  ท้าวเมืองหลวงพระบาง คุมทัพพาตัวเจ้าเมืองเหียม ๑  ปลัดเมืองหัว ๑  ปลัดเมืองซอน ๑  ท้าวพลไชยเมืองซำเหนือ ๑  ท้าวเพี้ยมีชื่อเมืองหัวพันทั้งหก  ยกลงมาแจ้งข้อราชการกรุงเทพฯ  ทรงพระกรุณาให้ถามเจ้าเมืองเหียมปลัดเมืองหัวปลัดเมืองซอน  ท้าวพลไชยเมืองซำเหนือ  ให้การต้องคำกันว่า

           “แต่ก่อนเมืองหัวพันทั้งหกคือ  เมืองเหียม ๑  เมืองหัว ๑  เมืองซำเหนือ ๑  เมืองซำใต้ ๑  เมืองเชียงค้อ ๑  เมืองเชียงคาน ๑  เมืองซอน ๑ เ มืองโซย ๑  เมืองซัน ๑  กับหัวเมืองขึ้นอีก ๔๑ เมือง  เมืองเหล่านี้เป็นหัวเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์มาแต่เดิมแล้ว  หาได้เคยเป็นเมืองขึ้นเมืองออกแก่ญวนไม่  ครั้นเมื่อเจ้าอนุเวียงจันทน์คิดขบถต่อกรุงเทพฯ  เจ้าอนุสู้รบกองทัพไทยไม่ได้  จึงแตกหนีไปพึ่งญวน  เจ้าอนุจึงนำเมืองหัวพันทั้งหกนี้ไปยกให้ขึ้นกับเมืองญวน  พระเจ้าเวียดนามจึงแต่งขุนนางญวนมาจัดการบ้านเมืองลาวเหล่านี้  ให้เจ้าเมืองหัวพันทั้งหกมาขึ้นกับเมืองญวน  ชื่อเมืองซือเง้  ชื่อเมืองซือเท่ง  เจ้าเมืองซือเง้ และเจ้าเมืองซือเท่ง  ก็พาตัวเจ้านายลาวหัวพันแต่ผู้ใหญ่แปดนายลงไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามที่กรุงเว้  แล้วก็กลับมารักษาบ้านเมืองอย่างเดิม  ครั้งนั้นเจ้าเมืองท้าวเพี้ยพวกหัวพันทั้งหกหามีที่พึ่งไม่  กลัวอำนาจญวน  จึงต้องเสียส่วยให้แก่ญวนต่อมา  จึงได้เป็นเมืองขึ้นกับญวน

          อนึ่งเมื่อปีมะเส็งเบญจศกจุลศักราช ๑๑๙๕ ปีนั้น  กองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองพวนซึ่งขึ้นกับญวนนั้นได้แล้ว  ฝ่ายพวกเมืองหัวพันทั้งหกกลัวกองทัพพระมหาเทพและพระราชวรินทรจะยกกองทัพไทยเลยขึ้นไปตีบ้านเมืองหัวพันทั้งหก  เมืองหัวพันทั้งหกจึงคิดพร้อมใจกันกลับใจออกห่างจากญวน  มาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ ต่อไปอย่างเดิม  ไม่สมัครขึ้นกับญวน  จะขอทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ  ขึ้นกับเมืองหลวงพระบางต่อไปอย่างเดิม  จะได้พึ่งพระบารมีพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ  บ้านเมืองหัวพันทั้งหกจะได้ตั้งอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป เหมือนแต่กาลก่อน”

          ฝ่ายเจ้าพนักงานจึงนำคำให้การท้าวพระยาลาวเมืองหัวพันทั้งหกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ  ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า

(https://i.ibb.co/HG1CNDj/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้  เป็นแต่ช่วงเมืองกิ่งเมืองอยู่ปลายเขตแดนลาว  พวกเหล่านี้หาได้ร่วมคิดเป็นขบถด้วยเจ้าอนุไม่  พวกเหล่านี้ไปขึ้นกับญวนก็เพราะเจ้าอนุชักนำพาเขาไป  บัดนี้พวกเมืองหัวพันทั้งหกเขาไม่คิดขัดขืนแข็งแรงต่อสู้กับทัพไทย  เพราะเขากลัวกองทัพไทยจะเข้าไปย่ำยีบ้านเมืองของเขาให้ยับเยิน  เขาจึงได้ปรึกษาหารือกันกลับใจมาสวามิภักดิ์  เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ เหมือนแต่ก่อน  พวกเหล่านี้เขาก็อ่อนน้อมยอมมากับกองทัพไทยโดยดี  ไม่ต้องถูกตีถูกรบลำบากแก่ไพร่พลทั้งสองฝ่าย  แล้วเจ้าเมืองเหียมปลัดเมืองหัวปลัดเมืองซอน และท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ก็ได้ลงมาจนถึงกรุงเทพฯ แล้ว  ให้พวกเหล่านี้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานุสัตย์เสียทุกคน  ก็ต้องงดกองทัพซึ่งจะยกไปตีเมืองหัวพันทั้งหกไว้ก่อน  ลองดูใจพวกเมืองหัวพันทั้งหกไปว่า  จะสวามิภักดิ์โดยสุจริตจริงหรือไม่  เมื่อพวกเมืองหัวพันทั้งหกสวามิภักดิ์โดยสุจริตจงรักภักดีแท้แน่นอนแล้ว  บ้านเมืองของเขาก็จะอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป  ไม่ประพฤติตามอย่างธรรมเนียมที่ให้ความสัตย์สัญญาไว้นั้นไซร้  ก็เห็นว่าเมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้  มันก็หาพ้นเงื้อมมือทแกล้วทหารไทยไม่  ซึ่งเมืองหัวพันทั้งหกจะสมัครขึ้นกับเมืองหลวงพระบางนั้น  ก็ให้ตามใจสมัครเถิด”

          จึงโปรดเกล้าฯให้ท้าวคำอ่อน, ท้าวเล็ก, ท้าวพันธุแสน, ท้าวมหาไชย, พระยาเมืองแผน  ชาวเมืองหลวงพระบาง  พาพวกเมืองหัวพันทั้งหกกลับขึ้นเมืองหลวงพระบาง

          ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ กรมมหาดไทยมีท้องตราพระราชสีห์บังคับขึ้นไปถึงเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพและเจ้านครหลวงพระบางว่า  

(https://i.ibb.co/zJmVmc4/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ให้แต่งขุนนางลาวที่มีสติปัญญาขึ้นไปสืบสวนดูกิจการในเมืองหัวพันทั้งหกให้รู้หนักเบา  เพราะว่าพวกนี้มันแตกร้าวจากเราพึ่งญวนอยู่หลายปีแล้ว  มันพึ่งจะกลับใจมาสวามิภักดิ์ต่อไทยในเร็ว ๆ นี้  เพราะมันกลัวกองทัพไทยจะไปทำย่ำยีบ้านเมืองมัน  มันจึงหันมาหาเรา  จะเป็นการภักดีโดยสุจริตจริง  หรือมันจะคิดเป็นใจหนึ่งสองใจประการใดก็ให้สืบมาให้รู้ด้วย  ถึงมาทว่ามันจะสวามิภักดิ์จริงไซร้  ก็ให้ทดลองมันดูก่อน  ให้เกณฑ์กองทัพเมืองหัวพันทั้งหกให้ยกมาสมทบกับทัพเมืองหลวงพระบาง ให้เจ้าอุปราชเป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองพวนที่ยังกระด้างกระเดื่องไม่ราบคาบต่อไปอีก  ถ้าพวกเมืองหัวพันทั้งหกสวามิภักดิ์โดยจริงแล้ว  มันก็คงจะยกกองทัพมาตามเกณฑ์  ถ้ามันไม่ไว้ใจแก่เรา  หรือมันกลัวว่าเราจะแกล้งเกณฑ์พวกมันมาแล้ว  ก็จะจับตัวเจ้าเมืองนายทัพกับไพร่พลที่ฉกรรจ์นั้นไว้เสียสิ้น  มันจะคิดไปต่าง ๆ นานา โดยความไม่ไว้ใจ  กลัวพวกเราจะหลอกลวงแก่มัน  ถ้ามันคิดดังที่ว่ามานี้มันก็จะไม่ยกกองทัพมาช่วยเราคราวนี้เป็นแน่  เราก็จะเห็นใจมันว่ามันไม่สมัครสวามิภักดิ์แก่เราโดยแท้  ถ้าเป็นดังที่ว่าไปนี้แล้ว  ก็ให้เจ้าพระยาธรรมากับเจ้านครหลวงพระบางคิดอ่านยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปตีกวาดต้อนพาครอบครัวเมืองหัวพันทั้งหกลงมาให้ได้  กับให้เกลี้ยกล่อมเมืองลาวนอกจากเมืองหัวพันทั้งหกนั้น  เมืองไหนที่ยังไม่อ่อนน้อมก็ให้คิดใช้คนไปพาลงมาเฝ้าให้สิ้นเชิง  ถ้าราชการข้างเมืองเขมรจะผันแปรไปประการใด  จึงจะมีท้องตราขึ้นไปแจ้งราชการ ณ กรุงเทพฯต่อภายหลัง”......

          ** ปล่อยข้อความเรื่องให้อ่านยาว ๆ เพื่อให้เห็นพระราชดำริอันเฉลียวฉลาดการศึกสงครามในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, ธันวาคม, 2563, 10:31:20 PM
(https://i.ibb.co/p1QBvj2/Untit-led-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๕ -

เจ้ามินมางสั่งเตียนกุนกุมเขมร
วางกำหนดกฎเกณฑ์การเข่นฆ่า
ทัพเหี้ยมโหดโทษตายหลายอัตรา
เหมือนสัตว์ป่ากระหายตายไม่กลัว


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...  เจ้าพระยาธรรมา(สมบุญ) ยกทัพกลับไปตีเมืองหัวพันทั้งหกตามรับสั่งอีกครั้ง  เดินทัพไปถึงเมืองพิชัย (อุตรดิตถ์)  พบว่าท้าวเพี้ยเมืองหลวงพระบางพาเจ้าเมือง  ปลัดเมืองหัวพันทั้งหกส่วนหนึ่งเดินทางลงมา  แต่เจ้าพระยาแม่ทัพยังไม่ไว้ใจในราชการจึงพากลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง  แล้วให้เพี้ยศรีอรรคฮาชขึ้นไปเมืองหัวพันทั้งหกอีกครั้ง  แล้วพาเจ้าเมืองเหียมและปลัดเมืองต่าง ๆ ลงมาเมืองหลวงพระบาง  เจ้าพระยาธรรมาให้ข้าหลวงกำกับขุนนางเมืองหลวงพระบางพาเจ้าเมืองเหียมและพวกลงมายังกรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอบถามได้ความเป็นที่พอพระทัยแล้วให้พากลับไปปกครองบ้านเมืองตามเดิม  พร้อมกับมีท้องตราบังคับขึ้นไปให้เจ้าพระยาธรรมาและเจ้านครหลวงพระบางทำตามพระราชดำริ “ลองใจ” ชาวเมืองหัวพันทั้งหกด้วย  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....

          “ ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๙๗ ปี  พระยาจำนงภักดีศรีสวรรคโลกาธิบดี (ชื่อสุรายเขมร)  ซึ่งเป็นข้าหลวงกำกับช่วยราชการอยู่ ณ เมืองพระตะบองนั้น  มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/YQDskSS/Untseitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้ใช้ให้คนสนิทที่เป็นเขมรพ่อค้าพูดภาษาญวนได้มาก  ปลอมเป็นพวกพ่อค้า  มีสินค้าลงไปตั้งการค้าขายอยู่ตามหัวเมืองเขมรตลอดถึงเมืองพนมเปญที่แม่ทัพญวนตั้งอยู่นั้น  สืบได้ความว่า  พระเจ้าเวียดนามมินมาง มีหนังสือรับสั่งมาถึงองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ที่อยู่เมืองพนมเปญนั้น  ใจความว่า  ทุกวันนี้บ้านเมืองเขมรทั้งปวงก็ได้เป็นเขตแดนแผ่นดินญวนเสร็จแล้ว  กองทัพไทยก็เลิกถอนไปหมดสิ้น  ไม่มีที่กีดขวางเลย  ให้องเตียนกุนเกณฑ์ไพร่พลเขมรสี่ส่วน ญวนส่วนหนึ่ง  ให้ขุนนางญวนเป็นนายทัพใหญ่  ให้ขุนนางเขมรเป็นนายรอง  คุมกองทัพไปรักษาเขตแดนบ้านเมืองเขมรไว้ให้มั่นคง  อย่าให้เขมรคุมกันเป็นขบถขึ้นได้  ถ้าองเตียนกุนรักษาบ้านเมืองเขตแดนเขมรไว้ได้  ไม่เป็นอันตรายแล้ว  จะให้องเตียนกุนเป็นผู้สำเร็จราชการสิทธิขาดครอบครองแผ่นดินเขมรสืบต่อไป  เหมือนเมืองลงฝ่ายลาวก็ได้ให้ขุนนางญวนไปเป็นใหญ่ในเขตแดนฝ่ายเหนือลาวนั้นเป็นตัวอย่างมีมาแล้ว  ให้องเตียนกุนคิดจัดการบ้านเมืองเขมรให้เป็นเกียรติยศแก่ญวน”

(https://i.ibb.co/X4Ldv1K/Unxxtitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นองเตียนกุนจึงมีหนังสือบังคับไปถึงองอานภู่แม่ทัพญวนซึ่งเป็นที่สอง  และเจ้าเมืองกรมการญวนและเขมรทุกหัวเมือง  ให้รักษาบ้านเมืองเขตแดนไว้ให้มั่นคง  อย่ามีเหตุเภทภัยอันตรายเกิดขึ้นได้  ถ้าบ้านใดเมืองใดเกิดขบถขึ้นหรือรักษาเมืองไม่ดี  ทำให้บ้านเมืองเสียแก่ข้าศึกศัตรู  จะลงโทษเจ้าเมืองกรมการเขมรและญวนข้าหลวงนั้น ๆ ถึงตาย  ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพก็อุตสาหะตั้งกองฝึกหัด  ซ้อมทหารญวนและเขมรให้ทำเพลงอาวุธชำนิชำนาญอยู่ที่เมืองพนมเปญ  แล้วองเตียนกุนทำกฎหมายข้อบังคับสำหรับกองทัพ  แจกไปทั่วทุกหัวเมืองใหญ่น้อยทุกทัพทุกกองใจความว่า

           “กองทัพกองหนึ่งให้มีไพร่ห้าร้อยคน  แล้วให้มีจันเกอติดเบียนคนหนึ่ง  ภอเกอคนหนึ่ง  ถ้ามีการศึกสงครามมา ให้ไพร่ถือปืนใหญ่น้อยสองร้อยคน  ให้ถือทวนง้าวดาบสองมือสองร้อยคน  ให้มีนายหมวดสิบหกคนคุมไพร่ที่ถือปืนและทวนง้าวดาบออกรบข้าศึก  ให้มีคนถือธงสำหรับทัพกองหนึ่ง  ธงใหญ่สามต้น  ธงเล็กสิบหกต้น  ให้ใช้คนหามกลองศึกใบละสองคน  ถือม้าล่อสองคน  คนกั้นร่มจันเกอคนหนึ่ง  ถือกันฉิ่งไปหน้าจันเกอสองคัน คันละคน  กั้นร่มภอเกอคนหนึ่ง  ให้มีคนสำหรับรับใช้ภอเกอและจันเกอข้างละสิบคน  เป็นยี่สิบคน  ไพร่จ่ายใช้สอยในกำลังกองทัพยี่สิบคน  ไพร่ที่ยังเหลืออยู่อีกเจ็ดคนให้เลี้ยงม้าจันเกอ ภอเกอ  และถือเครื่องกินเครื่องยศภอเกอ จันเกอเป็นคนห้าร้อย  ไพร่พลทหารให้ฟังเสียงกลองศึกและเสียงม้าล่อ  ให้สังเกตดูธงใหญ่จะโบกใช้ทำอุบายสัญญาอย่างไร  ก็ให้ทหารประพฤติตามความสัญญาธงทุกประการ  ถ้าไพร่พลญวนเขมรขลาดกลัวข้าศึก  ย่อท้อถอยหลัง  หรือแอบแฝงบังกระสุนปืนข้าศึก  ให้นายหมวดสืบจับตัวไพร่ที่ขลาดมาให้จันเกอฆ่าเสียเดี๋ยวนั้น  อย่าให้ทันล่วงเวลาได้เลย  ถ้านายหมวดนายกองนายร้อยกลัวข้าศึก  ก็ให้จันเกอ ภอเกอจับตัวมาชำระไต่ถาม  ได้ความเป็นสัจแล้วก็ให้ฆ่าเสียเดี๋ยวนั้น  ถ้าเมื่อกำลังรบกับข้าศึกนั้น นายหมวดถูกอาวุธข้าศึกตายหรือเจ็บป่วยจะทำการรบต่อไปในทันใดไม่ได้  ก็ให้บ่าวไพร่ที่แข็งแรงเข้ารับการแทนหน้าที่นายหมวดที่ป่วยตายต่อไป  ถ้าจันเกอหรือภอเกอป่วยเจ็บไข้  ถูกอาวุธข้าศึกในระหว่างรบกันนั้น  ให้องโดยหรือองดายผู้หนึ่งผู้ใดที่มีสติปัญญา  ก็ให้ขึ้นแทนที่จันเกอ ภอเกอต่อไป  ถ้านายไพร่ไม่ประพฤติตามกฎหมายข้อบังคับนี้  มีโทษถึงตาย  เมื่อสู้รบกับข้าศึกนั้นถ้าไพร่ตายมากน้อยเท่าใดก็ดี  เสียงกลองศึกสัญญายังไม่ตีเพลงให้ถอยทัพ  ไพร่จะถอยออกมาเสียก่อนเสียงกลองไม่ได้  โทษถึงตาย  จันเกอก็ดี  ภอเกอก็ดี  นายหมวดนายร้อยก็ดี  ถ้ารู้เห็นว่าไพร่หนีกองทัพ  นิ่งความไว้ไม่บอกแม่กองใหญ่  โทษถึงตายทั้งนายและไพร่  ถ้ารู้เห็นว่าไทยยังตกค้างอยู่บ้านใดเมืองใดก็ให้เขมรสืบจับไทยมาส่งให้แม่ทัพใหญ่จนสิ้นเชิง  อย่าให้ไทยเหลืออยู่แต่สักคนหนึ่งได้เลยเป็นอันขาด”

(https://i.ibb.co/4txBkMJ/image.jpg) (https://imgbb.com/)
นักองราชาวดี (พระบาทสมเด็จพระนโรดม)

          ครั้น ณ วันศุกร์เดือนสามแรมค่ำปีมะแมสัปตศก  นักองด้วงมีแม่นางบาทบริจาริกาคนหนึ่ง  ชื่อนักนางแป้น  เป็นบุตรีพระยาศุภาธิบดีเขมร  นักนางแป้นมีครรภ์สมภพบุตรชายองค์หนึ่ง  นักองด้วงบิดาตั้งชื่อกุมารที่คลอดนั้น  ชื่อว่านักองราชาวดี (คือสมเด็จพระนโรดมพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี ที่อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส)

(https://i.ibb.co/kxXKncX/Unetitledd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา (ชื่อทองอิน)  ซึ่งเป็นแม่ทัพไปปราบปรามเขมรและญวนเสร็จราชการแล้ว  กลับมายังเมืองนครราชสีมาแล้วได้ข่าวว่า  ที่หัวเมืองขึ้นมีช้างพลายเชือกหนึ่ง  สีขาวเหมือนช้างเผือก  จึงใช้กรมการไปนำมาดู  เห็นว่าเป็นช้างพลายรูปงาม  สีหนังช้างนั้นขาวบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาวเทศอย่างดี  จึงมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งใจความว่า

           “ช้างพลายสูงสามศอกคืบกับนิ้วหนึ่ง  เดิมเป็นช้างดำตามธรรมเนียมปรกติ  ครั้นใช้สอยบรรทุกเกลือและปลาร้าไปค้าขายเมืองลาวหลายปี  หนังกลับลอกออกเป็นสีขาวบริสุทธิ์ทั่วทั้งกาย  ขนตามหนังก็ขาวบริสุทธิ์เหมือนสีเนื้อ  แต่ขนหางและจักษุกับเล็บดำเหมือนช้างดำตามธรรมเนียม”

          จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมา  ให้นำช้างพลายประเสริฐเดินมาลงแพที่บ่อโพงกรุงเก่า  แล้วให้กรมการทำแพนำพระยาช้างพลายประเสริฐลงมายังกรุงเทพฯ  แล้วมีตราหาตัวเจ้าพระยานครราชสีมาลงมาเฝ้าด้วย  จะพระราชทานเสลี่ยงพนักงาน พานทองกลมรองล่วมหมากเพิ่มเกียรติยศความชอบในราชการทัพศึก  เจ้าพระยานครราชสีมานำช้างพลายประเสริฐลงมาถึงกรุงเทพฯ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสามแรมเก้าค่ำ  ปีมะเมียฉศก  จุลศักราช ๑๑๙๖ ปี  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทอดพระเนตรแล้ว  มีพระราชโองการดำรัสว่า

           “สีหนังขาวบริสุทธิ์เหมือนสีสังข์ขาวทั่วทั้งตัวเหมือนผ้าขาว  ขัดอยู่แต่ที่จักษุกับขนหางดำไป  ไม่ขาวเหมือนสีที่หนังตัว  ถ้าจะว่าตามในพระราชพงศาวดารสยามฝ่ายเหนือก็มีช้างเผือกงาดำ  ครั้งนี้จะเป็นช้างเผือกหางดำไม่ได้หรือ”

(https://i.ibb.co/hCxHDpF/Untitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปลูกโรงสมโภชที่ท้องสนามหน้าจักรวรรดิหน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท  แล้วตั้งพระราชพิธีพราหมณ์สามวัน  แล้วมีการมหรสพสมโภชสามวันสามคืน  ครั้งนั้นมีละครอิเหนาโรงใหญ่กรมหลวงรักษ์รณเรศร์  แล้วมีโขนอุโมงค์โรงใหญ่กรมขุนพิพิธภูเบนทร์  แล้วขึ้นระวางพระราชทานนามกรว่า  “พระยามงคลนาคินทร์ ไอยราวรรณ  พรรณสีสังข์ประเสริฐเศวตกัมเลศรังสฤษฏ์  อิศรรังรักษ์  จักรกฤษณราชรังสรรค์  มหันตะมหาวัฒนานุคุณ  วิบุลยลักษณ์เลิศฟ้า”   แล้วพระราชทานเสลี่ยงพนักงาสัปทนคันยาว  กับพานทองคำกลมรองล่วมหมากหักทองขวาง แก่เจ้าพระยานครราชสีมา........”

          ** ญวนแสดงตนชัดเจนแล้วว่าเป็นผู้ครอบครองเขมร  และเป็นอริราชศัตรูไทย  หลังจากที่องเตียนกุนออกกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว  เรื่องราวระหว่างญวนกับไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร  ติดตามอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, ธันวาคม, 2563, 09:58:28 PM
(https://i.ibb.co/5LXNYbp/Un56titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)
นักองค์ด้วง : ละคร "ข้าบดินทร์"

- อานามสยามยุทธ ๑๑๖ -

ได้ช้างพลายปรากฏเป็นคชกระ
แปลกเกินจะอธิบายให้ถ้วนทั่ว
“พระบรมไกรสร”ยืนซ่อนตัว
อยู่ในรั้วในวังยั่งยืนชนม์

สร้างเมืองพระตะบองใหม่ได้ลุล่วง
“นักองด้วง”ก่อหวอดวุ่นสับสน
เป็นผู้นำกัมพูชาจลาจล
ประพฤติตนเบือนบิดผิดร่องรอย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระเจ้ามินมางสั่งองเตียนกุนดำเนินการครอบงำเขมรทั้งหมด  ถ้าจัดการเขมรให้สงบเรียบร้อยแล้ว  จะตั้งให้เป็นใหญ่ในเขมรต่อไป  องเตียนกุนจึงออกกฎหมายจัดระเบียบกองทัพอย่างเข้มงวด  แล้วสั่งเขมรสืบเสาะดูทุกบ้านเรือนทุกซอกทุกมุม  หากพบคนไทยให้จับกุมส่งแม่ทัพใหญ่ญวน  อย่าให้มีหลงเหลืออยู่ในเขมรได้เป็นอันขาด  ส่วนทางเมืองไทยนั้น  เจ้าพระยานครราชสีมาพบช้างพลายมีสีตัวขาวผ่องบริสุทธิ์  จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้นำช้างนั้นเข้ากรุงเทพฯ  แล้วทำพิธีสมโภชขึ้นระวางตามพระราชประเพณี วันนี้มาอ่านต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/1TDVk75/Untitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ลุจุลศักราช ๑๑๙๘ ปีวอก อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๗๙) เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ  พระยาราชนิกูล (เสือ)  ได้ช้างพลายช้างหนึ่งที่แขวงเมืองจำปาศักดิ์  สีหนังช้างนั้นดำตามธรรมเนียม  แต่มีจุดขาวเต็มพืดไปทั่วทั้งกาย  เป็นช้างกระ  สูงสี่ศอกสิบนิ้ว  เมื่อจะกลับลงมากรุงเทพฯ ด้วยสิ้นราชการแล้ว  จึงนำช้างกระนั้นลงมาด้วย  ได้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อขึ้นระวางชื่อ   “พระบรมไกรสร  กุญชรชาติอำนวยพงศ์  มงคลคชยศอนันต์  มหันตะคุณ  วิบุลย์ลักษณเลิศฟ้า”  (ช้างกระที่ชื่อพระบรมไกรสรนั้น  มีอายุยืนยาวอยู่มาจนปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อพระบรมไกรสรแก่ชราลงแล้วจะเดินลงอาบน้ำ  หรือเดินขบวนแห่คเชนทรสนาน  คนแลดูห่าง ๆ สีหนังผ่องขาวเหมือนช้างเผือกอย่างเอก  เว้นเสียแต่จักษุและขนดำทั้งสิ้น  ครั้นเมื่อพระยาราชนิกูล (เสือ)  ได้เป็นเจ้าพระยาในรัชกาลที่ ๔  ก็ยังได้เห็นพระบรมไกรสรอยู่เป็นคู่ยศด้วยกันกับท่านสืบมา)

(https://i.ibb.co/DGV0fxn/3125582-Cup-o.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังไปทำเมืองจันทบุรีใหม่เสร็จแล้ว  กลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนหก ขึ้นสี่ค่ำ ปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ ปี  ครั้งนั้นเจ้าหมื่นไวยวรนารถหัวหมื่นมหาดเล็ก (ชื่อช่วง)  เป็นบุตรผู้ใหญ่ในเจ้าพระยาพระคลัง  ได้รับพระราชโองการเป็นนายช่าง  ไปต่อกำปั่นใบที่เมืองจันทบุรีอีกลำหนึ่ง  ปากกว้างสี่วาสองศอก  เป็นกำปั่นขนาดใหญ่ในครั้งนั้น  ครั้นทำเสร็จแล้วในปีวอกอัฐศก  จึงได้นำกำปั่นลำนั้นมาถวาย  พระราชทานชื่อกำปั่นว่า  “วิทยาคม”  ให้เตรียมการไว้ใช้เป็นเรือรบทะเลไปทำศึกกับญวนอีกสักคราวหนึ่งให้ได้เมืองญวน

(https://i.ibb.co/3RsCLLD/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

           ในปลายปีวอกอัฐศกศักราช ๑๑๙๘ ปีนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริถึงหัวเมืองลาวและเขมรป่าดง  ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตกรุงสยามตามหัวเมืองลาวเขมรฝายตะวันออกหลายเมือง ยังไม่ได้ทำบัญชีจำนวนชายฉกรรจ์ให้รู้เป็นแน่  เมืองหนึ่งมีไพร่พลชายฉกรรจ์เท่าใดแน่  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปทำบัญชีลาวและเขมรเมืองตะวันออกคือ  เมืองขุขันบุรี  เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองศีรษะเกษ  เมืองเดชอุดม  เมืองนครจำปาศักดิ์  เมืองอุบลราชธานี  เมืองสุวรรณภูมิ  เมืองยโสธร  เมืองศรีทันดร  เมืองเชียงแตง  เมืองแสนปาง  เมืองอัตปือ  รวม ๑๓ หัวเมือง

           แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่อป้อม)  กับพระพิเรนทร์เทพ (ชื่อขำ)  ขึ้นไปทำบัญชีชำระเลกหัวเมืองที่เป็นลาวเก่าหรือลาวที่กวาดต้อนมาใหม่  ให้พระยามหาอำมาตย์ไปชำระตัวเลขเมืองนครพนม  เมืองท่าอุเทน  เมืองสกลนคร  เมืองไชยบุรี  เมืองกาฬสินธุ์  เมืองร้อยเอ็ด  เมืองมุกดาหาร  เมืองเขมราฐ  เมืองขงเจีย ม เมืองสะเมีย  เมืองสาละวัน  เมืองทองคำใหญ่  รวม ๑๒ เมือง

           ให้พระพิเรนทร์เทพชำระตัวเลขเมืองหนองคาย  เมืองหนองละหาน  เมืองขอนแก่น  เมืองชนบท  เมืองภูเวียง  เมืองปากเหือง  รวม ๖ เมือง

           เจ้าพระยาบดินทรเดชากับพระยามหาอำมาตย์  และพระพิเรนทร์เทพ  ทั้งสามกราบถวายบังคมลายกขึ้นไปเมืองลาวและเมืองเขมรป่าดงพร้อมกันทั้งสามกอง แต่ ณ เดือนยี่ ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๙๘ ปี

(https://i.ibb.co/nRM0x1N/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายกออกไปถึงเมืองพระตะบอง ณ เดือนสาม ขึ้นห้าค่ำ  ในปีวอกอัฐศกนั้น  มีใบบอกเข้ามาว่า

            “ค่ายเก่าที่เมืองพระตะบองได้ทำไว้แต่ก่อนนั้น  โดยยาวยี่สิบสามเส้นกับสิบว่า  กว้างสิบเส้น  บัดนี้ค่ายเก่านั้นชำรุดหักพังเสียยับเยินไปเป็นอันมาก  ที่หน้าเมืองพระตะบองเก่านั้น  ถ้าถึงฤดูฝนตกแล้ว  ดินหน้าตลิ่งพังเสมอทุกปี  จะทำบ้านเมืองตั้งค่ายที่ฝั่งตลิ่งพังไม่ถาวรมั่นคง  จะขอพระราชทานทำอิฐเผาปูนก่อป้อมกำแพงสร้างเมืองขึ้นใหม่  แต่จะเลื่อนขึ้นไปสร้างข้างเหนือน้ำ  พ้นเมืองเก่าไปมาก  ควรจะทำเมืองที่นักองอิ่มตั้งอยู่นั้น เป็นที่ดอนดี  น้ำไม่ท่วมตลิ่ง  ตลิ่งไม่พัง  ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมืองก่อด้วยอิฐแล้ว  ขอพระราชทานแบบอย่างป้อมกำแพงประตูหอรบ  ออกไปให้ช่างดูจะได้ทำขึ้น”

           ครั้นทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราอนุญาตพระราชทานแบบตัวอย่างป้อมค่ายหอรบกำแพงใบสีมาออกไป  ยอมให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างเมืองพระตะบองขึ้นใหม่  จะได้เป็นที่ป้องกันพระราชอาณาเขตฝ่ายหัวเมืองเขมรด้วย  แล้วจะได้เป็นพระเกียรติยศแผ่นดินสืบไปชั่วฟ้าและดิน  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราอนุญาตออกไปแล้ว  จึงกะที่ทางจะสร้างเมืองพระตะบองใหม่  แล้วเกณฑ์เลขเขมรหัวเมืองขึ้นให้ทำอิฐเผาปูนตระเตรียมไว้

(https://i.ibb.co/brrh8VB/Untitl-ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ลุจุลศักราช ๑๑๙๙ ปีระกานพศก (พ.ศ.๒๓๘๐)  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงยกกองทัพออกจากเมืองพระตะบอง  เดินทัพขึ้นไปเมืองขุขันบุรี  ตั้งพักกองทัพอยู่ที่นั้นแล้ว  จึงแต่งให้ข้าหลวงหลายนายแยกย้ายกันไป  ทำบัญชีไพร่พลเมืองที่ฉกรรจ์ตามหัวเมืองที่โปรดให้ชำระนั้น  ให้ได้จำนวนชายฉกรรจ์ไว้ให้แน่นอน  ฝ่ายพระยามหาอำมาตย์และพระพิเรนทรเทพก็ได้แต่งให้ข้าหลวงไปทำบัญชีพลเมืองในหน้าที่ของพระยามหาอำมาตย์และพระพิเรนทรเทพทุกแห่ง

           ครั้งนั้นทั้งสามกองได้ทำบัญชีไพร่พลเมืองได้คนฉกรรจ์ถึงสิบหมื่น (คือแสนคน) แล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็กลับมาเมืองพระตะบอง  ทำการป้อมกำแพงสร้างเมืองใหม่  โดยยาวตามลำแม่น้ำใหญ่นั้น  ยาวสิบสามเส้น  ด้านสกัดขึ้นไปบนบกกว้างสิบหกเส้น  ก่อป้อมตามกำแพงเมืองหกป้อม  มีประตูหอรบรอบกำแพง  ขุดคูเป็นคลองใหญ่ด้านสกัดทั้งสอง  และด้านหลังเมืองเป็นเขตขัณฑ์  มีโรงปืนและฉางข้าว  สระน้ำ  ศาลาเสร็จ

(https://i.ibb.co/Z6wf0s6/Untaditled-1.png) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันศุกร์เดือนสิบสองแรมห้าค่ำปีระกานพศก  พระยาณรงค์วิชัย ๑  พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑  พระยาศาสตราฤทธิรงค์ ๑  พระศรีภวังค์ ๑  พระภักดีบริรักษ์ ๑  หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ๑  หลวงศรีเสนา ๑  หลวงพิชัยเสนา ๑  รวมข้าหลวงในกรุงแปดนาย  กับนักองอิ่ม ๑  พระยาจำนงค์ภักดีศรีสวรรคโลกาธิบดีเขมร  ผู้ช่วยเมืองพระตะบอง ๑  พระยาปลัดเมืองพระตะบอง ๑  พระยายกกระบัตรเมืองพระตะบอง ๑  พระสุรเดชาแม่กองช้างเมืองพระตะบอง ๑  พระเทพาวุธแม่กองทหารรักษาเมืองพระตะบอง ๑  รวมนายทัพเมืองพระตะบองหกนายเป็น ๑๒ นาย  ทั้งข้าหลวงเข้าชื่อกันมีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯว่า

            “นักองด้วง ๑  พระพิทักษ์บดินทร์ ๑  พระนรินทร์โยธา ๑  พระมหาดไทย ๑  พระพล ๑  ร่วมคิดกันจะประทุษร้ายแก่เมืองพระตะบอง  นักองด้วงใช้ให้อ้ายโพกเขมรคนสนิทไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมชาวบ้านชาวเมืองพระตะบองให้มาเข้าด้วยนักองด้วง  นักองด้วงจะกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเขมรหนีไปเมืองพนมเปญ  ข้าหลวงจะคิดจับอ้ายโพกมาชำระไต่ถามให้ได้ความจริง  อ้ายโพกก็ไม่อยู่ที่เมืองพระตะบอง  เพราะนักองด้วงใช้ให้อ้ายโพกไปเมืองระสือ

            แล้วพระยาปลัดเมืองพระตะบองแจ้งความว่า    “ได้สืบรู้ว่านักองด้วงตระเตรียมได้ไพร่พลพร้อมแล้วจึงจะลงมือทำการจลาจลแก่บ้านเมือง ณ วันพฤหัสบดีเดือนสิบสองแรมสี่ค่ำ”.........

(https://i.ibb.co/6HG0wXg/9786162571855l.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แผ่นดินที่ ๓  กรุงเทพฯ ยังมิเลิกละพระทัยที่จะยกทัพไปตีเมืองญวนให้จงได้  มีพระราชดำรัสให้เตรียมเรือ  “วิทยาคม”  ที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาค) ต่อใหม่ ไว้ยกไปรบญวน  จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้สำรวจชายฉกรรจ์ในหัวเมืองลาวเขมรป่าดงขึ้นบัญชีไว้ถึงหนึ่งแสนคน  และโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างเมืองพระตะบองใหม่  สร้างเมืองแล้วเสร็จมิทันไร  ก็มีใบบอกร้องเรียนว่า  นักองด้วงเตรียมการเป็นขบถ  จะกวาดต้อนครัวเขมรไปพนมเปญ  เรื่องยุ่งในเขมรเริ่มมีเค้าขึ้นแล้ว  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, ธันวาคม, 2563, 10:36:44 PM
(https://i.ibb.co/mcNCrt1/King-Ang-Doung.jpg) (https://imgbb.com/)
รูปหล่อของนักองค์ด้วง

- อานามสยามยุทธ ๑๑๗ -

นักองด้วงสารภาพรับเรื่องถ้วน
ว่าถูกชวนเป็นเจ้าคราวญวนถอย
ฟ้าทละหะปวงพระยาตั้งตาคอย
วันปลดปล่อยอำนาจพ้นทาสญวน

เชื่อคำชวนญวนบอกหลอกเขมร
จึงคิดเข่นฆ่าพี่มิสอบสวน
ครั้นถูกจับรับผิดจำติดตรวน
ดีไม่ด่วนถูกฆ่าชีวาวาย

          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  พระยามหาอำมาตย์  พระพิเรนทร์เทพ  ออกไปทำบัญชีชายฉกรรจ์ในหัวเมืองลาวและเขมรป่าดง  ได้ตัวเลขชายฉกรรจ์ทั้งหมดหนึ่งแสน  เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกเข้ามาจากเมืองพระตะบอง  ทูลขอพระราชานุญาตสร้างเมืองพระตะบองใหม่  เพราะค่ายเก่าชำรุดทรุดโทรมผุพัง  จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราอนุญาตให้สร้างเมืองใหม่ได้  ในปีนี้มีใบบอกเข้ามาว่านักองด้วงกำลังเกลี้ยกล่อมชาวเมืองพระตะบอง  จะพาไปอยู่เมืองพนมเปญ  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาอ่านต่อครับ

           ฝ่ายพวกข้าหลวงในกรุงหกนาย  กับพระยาเขมรเมืองพระตะบองหกคน  พร้อมกันใช้หลวงมหิศรแผลงเขมรให้ไปเชิญนักองด้วง กับพระพิทักษ์นรินทร์เขมร ๑  พระนรินทร์โยธาเขมร ๑  พระมหาดไทยเขมร ๑  พระพลเขมร ๑  ทั้งห้าคนมาไต่ถาม  คนทั้งห้าให้การต้องกันว่า

           “นักองด้วงได้เป็นต้นคิดร่วมใจกันกับพระพิทักษ์บดินทร์  พระนรินทร์โยธา  พระมหาดไทย  พระพล  และพระยาพระเขมรกรมการอื่นอีกหลายนายที่ในเมืองพระตะบองแทบจะทั้งเมือง  เว้นเสียแต่พวกพระยาพระเขมรของนักองอิ่มเท่านั้น  ไม่ได้ชักชวนเข้าร่วมคิด  ด้วยกลัวเนื้อความจะแพร่หลายไป  เมื่อนักองด้วงคิดจะลงมือทำร้ายฆ่านักองอิ่มพี่ชายก่อน  แล้วจึงจะจับพระยาพระเขมรพวกพ้องนักองอิ่มฆ่าเสียด้วย  แล้วนักองด้วงจะกวาดต้อนไพร่พลเขมรไปเมืองพนมเปญ  ซึ่งคิดจะฆ่านักองอิ่มพี่ชายนั้น  เพราะนักองด้วงโกรธนักองอิ่มพี่ชายว่า  นักองอิ่มไปนับถือเชื่อถ้อยฟังคำพระยาปลัดแก้ว  ซึ่งเป็นผู้อื่นหาใช่ญาติไม่  ส่วนนักองด้วงผู้น้องนั้นหาเชื่อถ้อยฟังคำไม่  เมื่อจะยกไปทำร้ายแก่นักองอิ่มนั้น  ถ้าพวกข้าหลวงไทยไปช่วยแก้ไขนักองอิ่มแล้ว  นักองด้วงจึงจะคิดต่อสู้พวกข้าหลวงบ้าง  พอเป็นการกันตัวรอดจะได้หนีไปได้  ถ้าหลวงไทยไม่ช่วยนักองอิ่มแล้ว  นักองด้วงก็ไม่คิดจะทำร้ายพวกไทย”

          นักองอิ่มกับพวกข้าหลวงไทยจึงสั่งให้ผู้คุมคุมตัวนักองด้วง  พระพิทักษ์บดินทร์  พระนรินทร์โยธา  พระมหาดไทย  พระพล  ห้าคนนี้ไปจำตรวนขังไว้ก่อน

          ครั้น ณ วันพุธ เดือนสิบสอง แรมสามค่ำ  พระยามโนไมตรีเจ้าเมืองระสือยกกองทัพเขมรเข้ามาใกล้เมืองพระตะบอง  ข้าหลวงไทยได้ทราบว่าพระยามโนไมตรียกเข้ามา  หาได้มีหนังสือบอกล่วงหน้าเข้ามาก่อนไม่  ผิดด้วยอัยการศึก  จึงใช้ให้หลวงวาสุเทพกับสนองโสคุมเขมรและไทย ๒๐๐ คน  ไปหาตัวพระยามโนไมตรีเข้ามาในเมืองพระตะบอง  พระยาณรงค์วิชัยมีกระทู้ถามพระยามโนไมตรีว่า

           “ได้มีตราบังคับสั่งไปให้พระยามโนไมตรีคุมกองทัพอยู่รักษาด่านทางที่เมืองระสือ  แล้วทิ้งหน้าที่เข้ามาด้วยเหตุใด?  เมื่อเข้ามาหาได้บอกล่วงหน้าเข้ามาให้รู้ก่อนไม่  ผิดด้วยอัยการศึกดังนี้จะว่ากระไร?”

          พระยามโนไตรีให้การสารภาพรับว่า     “นักองด้วงใช้ให้อ้ายโพกถือหนังสือไปว่า  ให้ยกเข้ามาเมืองพระตะบองโดยเร็ว  นักองด้วงจะคิดหนีไปเมืองพนมเปญ  เพราะฉะนั้นจึงได้ยกเข้ามาตามคำนักองด้วงสั่ง”

           พระยาณรงค์วิชัยถามนักองด้วง  สอบกับคำให้การพระยามโนไมตรี  นักองด้วงรับสารภาพว่า     “ได้มีหนังสือนัดให้พระยามโนไมตรีเข้ามาจริง  แต่ที่จะได้คิดประทุษร้ายฆ่าฟันกองทัพไทยนั้นหามิได้  เป็นความสัตย์จริง”

          พระยาณรงค์วิชัย  พระยาบำเรอบริรักษ์ พ ระยาสาสตราฤทธิรงค์  นักองอิ่ม  สั่งให้ผู้คุมนำตัวพระยามโนไมตรีเขมรไปจำตรวนขังไว้  แล้วสั่งพระสุนทรานุรักษ์ราษฎร์บำรุงปลัดเมืองระสือให้คุมกองทัพเขมรกลับไปรักษาด่านทางอย่างเดิม (เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ปกเกล้าปกกระหม่อมนายทัพนายกองอยู่มาก  จึงเผอิญให้พวกไทยรู้ความลับของเขมรเสียก่อน  แล้วจึงได้คิดการระงับลงได้ง่าย  ถ้าไม่รู้ความความก่อนแล้วที่ไหนคงจะเกิดการรบพุ่งฆ่าฟันกันใหญ่โตยืดยาวไปอย่างไรก็ไม่รู้แน่ได้)

          นักองอิ่มคิดด้วยข้าหลวงว่า     “ครั้นจะชำระที่เมืองพระตะบอง  ก็เกรงเนื้อความจะเอิกเกริกฟุ้งเฟื่องไปถึงญวนข้าศึก  หาสู้ดีไม่”    จึงได้ให้พระวิชิตภักดี  หลวงวิชิตราชา  หลวงวาสุเทพ  ข้าหลวงกับพระยามหาธิราช  พระเมือง  หลวงอินทรเสนา  เขมร ๓ นาย  รวม๖ คน คุมไพร่เขมรร้อยหนึ่ง ไทยห้าสิบ  คุมตัวนักองด้วง ๑  พระพิทักษ์บดินทร์ ๑  พระนรินทร์โยธา ๑  พระมหาดไทย ๑  พระพล ๑  หลวงพลหลานพระพิทักษ์บดินทร์ ๑  หลวงอนุรักษ์มนตรีบุตรพระบดินทร์ ๑  หลวงราชเสน่หาบุตรพระพิทักษ์ ๑  หลวงปราบพลพ่ายบุตรพระมหาดไทย ๑  รวมเก้าคน  ส่งเข้ามา ณ กรุงเทพฯ

          เจ้าพนักงานนำใบบอกข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ ณ เมืองพระตะบอง ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาเทพ (ชื่อปาน)  เป็นตุลาการถามนักองด้วง  นักองด้วงให้การว่า

           “เมื่อญวนกวาดต้อนพาครอบครัวเขมรกับเจ้าผู้หญิงเขมรลงไปไว้ ณ เมืองไซ่ง่อนนั้น  พวกพระยาเขมรไม่มีเจ้านายเป็นที่เคารพ  จึงได้ระส่ำระสายแตกตื่นไปต่าง ๆ  เขมรไม่สมัครเป็นข้าญวน  ฝ่ายฟ้าทละหะเสนาบดีใหญ่ฝ่ายเขมรจึงได้ใช้ให้คนสนิท (ชื่อตั้งคาสุก) คนหนึ่ง  กับไพร่สองคน  หนีญวนเล็ดลอดมาถึงเมืองพระตะบอง  แจ้งความกับนักองด้วงว่า  ฟ้าทละหะได้ข่าวว่าองเตียนกุนแม่ทัพญวน ซึ่งมาสำเร็จราชการอยู่ที่เมืองพนมเปญนั้น  มีหนังสือมาถึงนักองอิ่มให้หนีไทยลงไปหาญวนที่เมืองพนมเปญโดยเร็วเถิด  องเตียนกุนจะจัดแจงแต่งตั้งนักองอิ่มเป็นเจ้าแผนดินเขมร  จะยกแผ่นดินเขมรให้  แล้วองเตียนกุนก็จะกลับไปกรุงเว้  แต่ฟ้าทละหะไม่เต็มใจให้นักองอิ่มเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา  ถ้านักองด้วงจะรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรแน่แล้ว  ฟ้าทละหะจะเป็นผู้ช่วยคิดราชการให้นักองด้วงได้แผ่นดินในคราวนี้

(https://i.ibb.co/sV5pd03/15458092295291.jpg) (https://imgbb.com/)

          นักองด้วงจึงตอบไปว่า  บ้านเมืองเป็นของปู่และบิดารักษาสร้างสมต่อ ๆ มา  ก็อยากจะได้สืบเชื้อสายวงศ์ต่อไป  แต่กลัวญวนจะไม่ยอมให้จริง ๆ ดอกกระมัง  ภายหลังฟ้าทละหะให้เขมรคนใช้อันสนิท (ชื่อตั้งคาสุก) กลับมาแจ้งความแก่นักองด้วงว่า   พระยาพระเขมรทั้งปวงมีความยินดีพร้อมใจกันเป็นอันมากแล้ว  ที่จะให้นักองด้วงเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร  ถ้าว่านักองด้วงคิดการหนีไทยลงไปถึงเมืองงพนมเปญเมื่อใดแล้ว  พระยาพระเขมรจะกลับใจออกห่างจากญวน  จะจัดกองทัพใหญ่มาช่วยป้องกันรักษาครอบครัวนักองด้วงและจัดการสู้รบต่อญวน  ให้ญวนพ่ายแพ้ไปจนสิ้นทุกตำบลให้จงได้  เมื่อจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยราบคาบสมดังที่คิดนั้นแล้ว  จะให้นักองด้วงเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา  แล้วก็จะแต่งขุนนางเขมรผู้ใหญ่ให้คุมสิ่งของบรรณาการเข้าไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ตามเคยมาแต่ก่อน  เพราะเหตุการณ์เป็นดังนี้  ข้าพระพุทธเจ้านักองด้วงจึงได้คิดการที่จะหนีไปนั้น  พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ”

          พระยามหาเทพนำคำให้การนักองด้วงขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสสั่งพระยามหาเทพให้พาตัวนักองด้วงกับพรรคพวกที่ร่วมคิดด้วยนักองด้วงนั้น  ไปจำตรวนไว้ที่ทิมตำรวจ  ครั้นภายหลังครั้งเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปราชการ ณ เมืองพระตะบองนั้น  ฝ่ายพระยาศรีสหเทพ (ชื่อเพ็ง) จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

           “นักองด้วงผู้มีความผิดต้องรับพระราชอาชญาจำอยู่ในทิมตะรางอย่างไพร่ ๆ  ได้ความลำบากมากนัก  คิดด้วยเกล้าฯ ว่านักองด้วงจะมีความโทมนัสตรอมใจตาย  ราชการทัพศึกที่เมืองเขมรและญวนก็ยังมีเกี่ยวข้องกันอยู่มาก  หากว่านักองด้วงตายเสียในกรุงนี้  ก็จะสิ้นเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเขมรเสียหมด  พระยาพระเขมรที่มาสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ก็จะพากันไปเข้าด้วยญวนเสียสิ้น  กำลังทัพญวนก็จะมากขึ้น  จะขอรับพระราชทานให้นักองด้วงพ้นจากเวนจำแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับตัวนักองด้วงไปคุมไว้ที่บ้านข้าพระพุทธเจ้า”

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนักองด้วงให้แก่พระยาศรีสหเทพไปคุมไว้ที่บ้านพระยาศรีสหเทพ  พระยาศรีสหเทพให้นักองด้วงอยู่ที่เรือนขุนจำนงค์อักษร (กลิ่น)   ขุนจำนงอักษรเป็นผู้คุมนักองด้วง  จึงส่งกับข้าวของกินเลี้ยงนักองด้วงเป็นอนาทร.....”

          ** ข้อความจากคำรับสารภาพให้การจากนักองด้วง  ดูรูปการแล้วน่าเป็นอุบายขององเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนที่ปกครองเขมรอยู่นั้น  วางแผนให้เจ้าเขมรพี่น้องแตกแยกกัน  นักองด้วงเชื่อฟ้าทละหะที่ถูกญวนปั่นหัวใช้เป็นเครื่องมือเป็นแน่  นักองด้วงเจ้าเขมรองนี้ยังมีความสำคัญต่อไทย-เขมรอยู่มาก  ติดตามอ่านเรื่องราวของท่านต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, ธันวาคม, 2563, 10:03:21 PM
(https://i.ibb.co/VY9MZwb/1899.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๘ -

ให้ขุดคลองยาวกว้างทางไม่แคบ
เรียก“แสนแสบ”เชื่อมโยงจำนงหมาย
กรุงเทพฯฉะเชิงเทรายาวต้นปลาย
มีนิยายหลากเรื่องเล่าสู่กัน

ศึกสงครามยามนี้ไม่มีรบ
แม้สงบแต่ว่าน่าหวาดหวั่น
ญวนยุแย่ยั่วเขมรไม่เว้นวัน
จะโรมรันเมื่อไรยังไม่รู้

          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   นักองด้วงรับสารภาพว่าคิดจะฆ่านักองอิ่มแล้วกวาดต้อนครัวไปพนมเปญจริง  จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งนำตัวไปจำตรวนไว้ที่ทิมตำรวจ  ต่อมาพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานให้นักองด้วงพ้นจากเวนจำ  แล้วขอนำไปควบคุมตัวไว้ที่บ้านตนเอง  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตามที่ขอ  วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.....

(https://i.ibb.co/zGznGBx/63df0e1a4860e25ff47a834e95d7d65d.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นถึง ณ เดือนยี่ขึ้นสี่คำ ในปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๑๙๙ ปี เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ชื่อทัด) เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง  ตั้งแต่ตำบลหัวหมาก ต่อคลองบางกะปิไปทางตะวันออก  ทะลุที่บางกะหนากฝั่งแม่น้ำเมืองฉะเชิงเทรา  รางวัดทางยาว ๑,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก  กว้าง ๖ วา  ราคาค่าจ้างขุดเส้นละเจ็ดสิบบาท  รวมเงินทั้งค่าฟันตอไม้  ค่าแก้คลองพระโขนงข้างปลาย  รวมเป็นเงินพันสองร้อยหกชั่งสิบสามตำลึงสองบาทสลึงเฟื้อง  ขุดอยู่ถึง ๔ ปีเศษจึงสำเร็จแล้วตลอด  เป็นลำคลองเรือเดินได้เมื่อปลายปีชวดโทศกจุลศักราช ๑๒๐๒ ปี  เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  ชนสามัญเรียกว่า  “คลองแสนแสบ”

          ครั้น ณ เดือนสี่ปลายปีระกานพศกศักราช ๑๑๙๔ ปีนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งทำการเมืองพระตะบองอยู่  จึงมีใบบอกให้ขุนอุดมสมบัติถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/KGZ0V5w/sdfs1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้ทำการสร้างเมืองพระตะบองนั้น  ได้ขุดคูรอบเมือง  ถมดินเป็นเชิงเทิน  ก่อกำแพงตั้งป้อม  มีประตูหอรบครบตามแบบอย่างนั้นแล้ว  กับได้ทำทุ่นต้นโกลนแล่นสายโซ่สำหรับขึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไว้ที่หน้าป้อมหน้าเมืองแห่งหนึ่ง  และทำศาลเจ้าหลักเมืองปลูกไว้ที่ตรงหลักโกลน  ปลูกฉางข้าวใหญ่และก่อตึกดินดำหลังหนึ่ง  แล้วทำวังให้นักองอิ่มอยู่  ก่อกำแพงรอบตำหนักและทำที่พักของข้าหลวงว่าราชการในเมือง  เป็นศาลาดินใหญ่หลังหนึ่ง  ครั้น ณ เดือนสี่ขึ้นเก้าค่ำ ได้ตั้งพระราชพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ตามไสยสาสตราคมทุกประการ  แล้วจึงฝังอาถรรพณ์หลักเมืองเชิญบัตรแผ่นทองคำและศิลาลงสู่ภูมิภาค  อัญเชิญเทพยดามาสถิตหลักเมือง  แล้วมีการสมโภชเวียนเทียนตามตำราจดหมายท้องตราซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานอกไปนั้นทุกประการแล้ว

          อนึ่งซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระความเรื่องนักองด้วงและพระยาพระเขมรผู้ร่วมคิดที่ส่งออกมาสี่นายนั้น  คือ  พระพิทักษ์บดินทร์ ๑  พระนรินทร์โยธา ๑  พระมหาดไทย ๑  พระพล ๑  ทั้งสี่นายนี้คบคิดกันกับนักองด้วงจะหนีไปนั้น  ได้นำตัวพระยาพระเขมรนายทัพนายกองมาสืบถามได้ความว่า  นักองด้วงเป็นต้นคิดใช้ให้อ้ายโพกไปเที่ยวชักชวนพระยาพระเขมรและพระยามโนไมตรีเจ้าเมืองระสือ  ชำระได้ความจริงว่า  อ้ายโพกเป็นผู้ก่อความก่อเหตุให้เอิกเกริกขึ้น  ควรจะทำโทษอ้ายโพกตามกฎหมายให้จงหนัก  เพราะอ้ายโพกเป็นกรณีเหตุ  กับได้ชำระพระพิทักษ์บดินทร์  พระนรินทร์โยธา  พระมหาดไทย  พระพล  ได้ความชัดว่า  คนทั้งสี่นี้เป็นผู้ประจบประแจงพลอยตื่นเข้าฝากตัวกับนักองด้วงนั้น  คนทั้งสี่นี้ก็ตกอยู่ในระหว่างผู้ผิดคิดมิชอบ  มีโทษตามปลายเหตุ  โทษคนทั้งสี่นั้นจะควรประการใด  ก็แล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”

(https://i.ibb.co/LPywsc7/Untditled-35.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนห้าขึ้นห้าค่ำ  ปีจอสัมฤทธิศก  จุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ  เจ้าพนักงานนำใบบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีสหเทพมีท้องตราตอบออกไปใจความว่า

           “ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้มีความอุตสาหะ  สร้างเมืองพระตะบองพร้อมด้วยค่ายคูประตูหอรบป้อมกำแพง  การเมืองพระตะบองทั้งสิ้นแล้วเสร็จในปีเดียวนั้น  ก็เป็นพระเกียรติยศแก่แผ่นดิน  และเกียรติยศแก่เจ้าพระยาบดิทรเดชาด้วย  สืบไปภายหน้าจนสิ้นกาลนานชั่วฟ้าและดิน  และทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ชำระความพระพิทักษ์บดินทร์  พระนรินทร์โยธา  พระมหาดไทย  พระพล  ได้ความว่าพระยาพระเขมรทั้งสี่คนนี้เป็นแต่ประจบประแจงฝากตัวนักองด้วงนั้น  คนทั้งสี่นี้ก็มีความผิดอยู่บ้าง  ควรจะลงโทษตามควรแต่พอให้เข็ดหลาบตามกฎหมาย  ครั้นจะลงโทษคนทั้งสี่เหล่านั้นเล่า  ก็เห็นว่าเป็นบุตรหลานของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมร  ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมแผ่นดินต้นพระพุทธเจ้าหลวง (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)  ด้วยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมรมีความชอบต่อราชการแผ่นดินมามาก  เพราะฉะนั้นจึงให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาภาคทัณฑ์คาดโทษคนทั้งสี่ไว้ครั้งหนึ่งก่อน  แล้วให้ถอดจำออกให้รับราชการแก้ตัวต่อไป  แต่นักองด้วงต้นเหตุนั้น  ยังปล่อยออกไปไม่ได้  ต้องคุมตัวไว้ในกรุงเทพฯ ก่อน  ให้นักองอิ่มว่าราชการบ้านเมืองเขมรไปพลาง กว่าจะจัดราชการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว  จึงจะได้อภิเษกนักองอิ่มให้เป็นเจ้ากรุงกัมพูชา  สืบราชประเพณีต่อไปตามโบราณ

          อนึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว  ถ้าทัพศึกญวนไม่มี  เห็นว่าเขมรสงบอยู่แล้ว  ก็ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งพระยา พระ หลวงฝ่ายไทยอยูกำกับพระยาพระเขมรทุกบ้านทุกเมืองเรียบร้อยแล้ว  ก็ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ามาเฝ้าพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครสักครั้งหนึ่งก่อน  จะได้กราบบังคมทูลชี้แจงข้อราชการบ้านเมืองเขมรต่อไป”

          โปรดเกล้าฯ ให้หลวงศรีพิทักษ์เจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข้อราชการตามท้องตราแล้ว  ก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ ในเดือนหก ขึ้นหนึ่งค่ำ  ทันช่วยในการพระเมรุท้องสนามหลวง  พระบรมศพกรมสมเด็จระศรีสุลาลัยพระราชชนนีพระเจ้าอยู่หัว........”

(https://i.ibb.co/r54TckR/1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** เป็นความรู้มาย้ำให้จำกันว่า  “คลองแสนแสบ”  นั้น  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลในแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา (ทัด)  เป็นแม่กองทำการขุดขึ้นเมื่อปีจุลศักราช ๑๑๙๙  ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๘๐  โดยจ้างคนชาวจีนทำการขุด  เริ่มต้นตั้งแต่ หัวหมาก ต่อคลองบางกะปิออกไปทางทิศตะวันออก  ทะลุไปถึงบางกะหนาก (ขนาก) แม่น้ำเมืองฉะเชิงเทรา  ระยะทางยาว ๑,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก  ใช้เวลาขุดอยู่นานถึง ๔ ปีเศษ  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา เมื่อสร้างเมืองพระตะบองเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราหาตัวกลับเข้ากรุงเทพฯก่อน  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, มกราคม, 2564, 10:16:42 PM
(https://i.ibb.co/4VWbGQq/W12959384-10.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๑๙ -

ทรงดำริเสริมสร้างสิ่งยังขาด
เมืองเสียมราฐไร้กำแพงโล่งแจ้งอยู่
โปรดให้สร้างกำแพงป้อมพร้อมคลองคู
กันศัตรูจู่โถมเข้าโจมตี

นักองอิ่มน้อยใจไทยไม่ตั้ง
เป็นเจ้าดังฝันหวานทุกวันวี่
จึงแปรภักดิ์จากไทยไปทันที
ยอมเป็น“ขี้ข้าญวน”อย่างส่วนเกิน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทำการขุดคลองซึ่งชาวบ้านชาวเมืองเรียกกันว่า  “คลองแสนแสบ”  เริ่มจากหัวหมากทะลุถึงบางขนากเมืองฉะเชิงเทรา  เจ้าพระยาบดินเดชาก็สร้างเมืองพระตะบองเสร็จเรียบร้อยแล้ว  มีท้องตราหาตัวให้กลับเข้ากรุงเทพฯ  เพื่อกราบบังคมทูลข้อราชการเมืองเขมรต่อ  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/pQj46yt/img-6382.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ เดือนเก้าในปีจอสัมฤทธิศกนั้น ทรงพระราชดำริว่า   “เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ามากรุงเทพฯ แล้ว  ราชการข้างเมืองเขมรก็มีแต่นายทัพนายกองผู้น้อย  หามีผู้ใหญ่อยู่รักษาราชการบ้านเมืองไม่  จะไว้ใจแก่ราชการมิได้”   จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (ชื่อโต) ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมนั้น  เป็นแม่ทัพออกไปฟังราชการ ขัดตาทัพอยู่ ณ เมืองเขมรไปพลางก่อน  แต่เมืองนครเสียมราฐนั้นยังมิได้มีป้อมกำแพงเป็นที่ป้องกันข้าศึกเหมือนเมืองพระตะบองไม่  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่กองทำเมืองนครเสียมราฐด้วย  โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พลไทยในกรุง ๑,๘๐๐ คน  ให้เกณฑ์ไพร่พลรามัญเมืองปทุมธานี  เมืองนนทบุรี  เมืองนครเขื่อนขันธ์  เมืองสาครบุรี  รวมรามัญ ๑,๐๘๓ คน  รวมไทยมอญ ๒,๘๘๓ คน  และให้เกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองฝ่ายทางตะวันออกอีก ๗,๑๑๗ คน  รวมไพร่พลทั้งไทย มอญ ลาวในกรุง และหัวเมืองเป็นคน ๑๐,๐๐๐  ให้พระยาราชสุภาวดีกราบถวายบังคมลา  ยกออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ในปีจอสัมฤทธิศก  ยกไปถึงเมืองนครเสียมราฐแล้ว  ให้จับการทำอิฐเผาปูนแล้วลงมือทำป้อมก่อกำแพงเมืองนครเสียมราฐ  ยาวตามลำแม่น้ำ ๑๒ เส้น  ด้านสกัดขึ้นไปบนบกกว้าง ๑๐ เส้น  ทำทุ่นโกลนขึงสายโซ่ข้ามลำแม่น้ำไว้ที่หน้าป้อมหน้าเมืองแห่งหนึ่ง  ได้ลงมือก่อป้อมกำแพงแต่ ณ เดือนสี่ขึ้นเก้าค่ำปลายปีจอสัมฤทธิสกนั้นแล้ว

           ครั้น ณ เดือนห้าขึ้นเก้าค่ำปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ นั้น  พระยาราชสุภาวดีมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/W22bDnz/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

            “การที่ทำป้อมกำแพงเมืองนครเสียมราฐแล้วไปสามส่วน  ยังไม่แล้วอีกส่วนหนึ่ง  ต่อเดือนห้าข้างแรมหรือเดือนหกข้างขึ้นป้อมกำแพงเมืองนครเสียมราฐก็จะแล้วเสร็จ  บัดนี้กำลังให้ขุดคูรอบกำแพงเมือง  ขนมูลดินขึ้นถมเชิงเทินทั้งสี่ด้าน  กับได้แต่งให้พระยาสีหราชเดโชเป็นแม่ทัพ  คุมพลทหารอยู่รักษาเมืองนครเสียมราฐ  ให้พระพรหมบริรักษ์กับพระอรรคเนศร และหลวงราชโยธาเทพ ข้าหลวงฝ่ายพระราชวังหลวง ๓ นาย  กับพระอร่ามมณเฑียร ๑  พระกำจรใจราช ๑  หลวงเทพเสนี ๑  ข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๓ นาย  รวมเป็นข้าหลวง ๖ นาย  อยู่จัดการดูแลนายด่านนายงาน  กำกับหัวเมืองทำการก่อป้อมกำแพงขุดคูต่อไป  ให้สำเร็จแล้วในเดือนหกให้จงได้  แล้วพระยาราชสุภาวดีแต่งให้พระยารามกำแหง ๑  พระชาติสุเรนทร์ ๑  จมื่นอินทรเสนา ๑  หลวงศรีสิงหนาท ๑  หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ๑  หลวงวิเศษธานี ๑  เป็นข้าหลวง ๖ นาย  คุมไพร่พล ๕๐๐ ยกลงไปสืบราชการทัพญวน  ได้ข่าวว่าทัพญวนก็สงบอยู่  จึงมีตราบังคับสั่งให้ข้าหลวงทั้ง ๖ นายตั้งขัดตาทัพรักษาด่านทางอยู่แล้ว  พระยาราชสุภาวดีเห็นราชการทัพศึกญวนเขมรก็สงบเงียบอยู่แล้ว  จะขอกลับเข้ามาเฝ้ากราบบังคมทูลข้อราชการ ณ กรุงเทพฯ”

           หลวงพิไชยเสนากับขุนวิสุทธิเสนี  เชิญใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ  ครั้นการเมืองนครเสียมราฐร่วมมากแล้ว  พระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพกลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนหกแรมสิบสี่ค่ำ ในปีจอสัมฤทธิศก

           ฝ่ายข้างเมืองเขมรนั้น  นักองอิ่มอยู่ที่เมืองพระตะบอง  ได้ข่าวว่าญวนยกนักองแป้นเจ้าหญิงบุตรนักองจันทร์  ให้เป็นใหญ่ในเมืองพนมเปญ  ให้ว่าราชการบ้านเมืองเขมรอยู่  แต่ขุนนางญวนกำกับช่วยว่าราชการ  เพราะเป็นเจ้าผู้หญิง  พระเจ้าเวียดนามมินมางมีรับสั่งมาให้พระยาเขมรที่เมืองพนมเปญแต่งตัวอย่างญวนเรียกว่า  “ญวนใหม่”  แล้วบังคับให้เขมรใช้กฎหมายฝ่ายญวน  ฝ่ายพระยาพระเขมรและราษฎรเขมรไม่เต็มใจเป็นข้าญวน  เพราะได้ความเดือดร้อนยิ่งหนัก  พวกเขมรก็พากันระส่ำระสาย  เกือบจะเป็นขบถขึ้นทุกบ้านทุกเมือง  ฝ่ายแม่ทัพญวนก็รู้ระแคะระคายเข้าบ้างแล้ว  ครั้นจะจัดการระงับก็ยังไม่มีเหตุขึ้น  กลัวจะเกิดการจลาจลใหญ่โตไปก็จะระงับยาก  เพราะฉะนั้นญวนจึงนิ่งคุมเชิงเขมรอยู่

(https://i.ibb.co/DQQLSqN/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นนักองอิ่มทราบข่าวดังนั้นแล้วจึงคิดว่า  ถ้านักองอิ่มได้หนีไทยลงไปหาญวน  ญวนก็คงจะยกย่องตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรให้ปราบปรามพวกพระยาพระเขมรที่จะคิดการจลาจลแก่ญวน  นักองอิ่มคิดดังนั้นแล้ว  จึงมีหนังสือลับใช้ให้อ้ายถึกถือไปให้พระวิบุลราชเขมร  นำลงไปให้องญวนแม่ทัพใหญ่ที่เมืองพนมเปญใจความว่า

           “นักองอิ่มอยู่กับไทย  ไทยก็ไม่ยกขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรตามวงศ์ตระกูลเดิม  บัดนี้นักองอิ่มสมัครลงไปทำราชการด้วยองญวนผู้ใหญ่แม่ทัพที่เมืองพนมเปญ  ถ้าว่าองญวนผู้ใหญ่ยังเคลือบแคลงสงสัยไม่ไว้ใจแก่นักองอิ่ม  นักองอิ่มจะจับพระยาปลัด พระยายกกระบัตรกรมการผู้ใหญ่เมืองพระตะบอง และครอบครัวเมืองพระตะบองลงไปให้องญวนเห็นความจริงที่สวามิภักดิ์ต่อองญวนโดยสัจธรรม”

          ฝ่ายองญวนแม่ทัพจึงมีหนังสือตอบขึ้นมาถึงนักองอิ่มใจความว่า      “ถ้านักองอิ่มจะหนีไทยลงไปหาญวน  ญวนจะยกแผ่นดินเขมรให้นักองอิ่ม  เป็นเจ้ากรุงกัมพูชาตามประเพณีโบราณ  เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีเจ้าชายฝ่ายเขมรจะปกครองแผ่นดินเขมร  ญวนจึงได้ยกเจ้าหญิงให้ว่าราชการไปพลางก่อน”

(https://i.ibb.co/hRX3Vdc/Undsstitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนอ้ายแรมสามค่ำในปีกุน  เอกศกเวลาย่ำรุ่งนั้น  นักองอิ่มคุมไพร่พลเป็นอันมากถืออาวุธครบมือกัน  แล้วก็พากันไปถึงบ้านพระยาปลัด  แต่บานประตูยังปิดแน่นหนาอยู่  นักองอิ่มขึ้นม้าถือดาบสองมือ  ยืนม้าอยู่ตรงประตูบ้านพระยาปลัด  นักองอิ่มร้องเรียกคนเฝ้าประตูให้เปิดประตูรับ  คนซึ่งเฝ้าประตูพระยาปลัดมองดูเห็นนักองอิ่มและพวกนักองอิ่มถือเครื่องศาสตราวุธมามากผิดปรกติ  จึงไม่เปิดประตูรับ  พวกนักองอิ่มจึงพาดพะองไม้ไผ่แล้วปีนรั้วขึ้นไปยิงด้วยปืน  ถูกคนเฝ้าประตูตายคนหนึ่ง  วิ่งหนีไปได้สองคน  แล้วนักองอิ่มร้องสั่งว่าให้ยิงขึ้นไปบนเรือนพระยาปลัดสักสองสามนัด  กระสุนปืนก็ไปถูกหญิงลูกอ่อนบนเรือนพระยาปลัดตายคนหนึ่ง  ขณะนั้นทหารนักองอิ่มฟันบานประตูด้วยขวานทำลายลง  แล้วพวกทหารก็กรูกันเข้าไปเต็มลานบ้านพระยาปลัด  บ้างก็พากันล้อมเรือนพระยาปลัดอยู่โดยรอบ  นักองอิ่มยิงปืนขานกยางขึ้นไปบนเรือน  กระสุนปืนถูกฝากระดานเรือนทะลุเข้าไปถูกภรรยาน้อยพระยาปลัดตายสามคน ลำบากสองคน  ฝ่ายพระยาปลัดจับดาบได้  วิ่งออกมาจะต่อสู้กับนักองอิ่ม  ขณะนั้นภรรยาหลวงของพระยาปลัดวิ่งสวนออกมาห้ามสามีไว้ว่า   “อย่าสู้เขาเลย  พวกพ้องข้างเขามากนัก  ถ้าขืนสู้รบเขาแล้วลูกเมียจะตายหมดทั้งเรือนเป็นแน่”.....

(https://i.ibb.co/NKmL939/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          ไทยคนใดไปเมืองพระตะบอง  เมืองเสียมราฐ  เห็นเมือง  กำแพงเมือง  ทั้งคู  ประตูหอรบที่ยังหลงเหลืออยู่  ขอได้รู้เถิดว่า  นั่นเป็นฝีมือการก่อสร้างของไทยเมื่อสมัยรัชการแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ  เมืองพระตะบองอำนวยการสร้างโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เสียมราฐ (เสียมเรียบ) อำนวยการสร้างโดยพระยาราชสุภาวดี (โต)  และแล้วบรรยากาศอันสงบเงียบก็ถูกทำลายเสียโดยนักองอิ่มคิดอยากเป็นเจ้าแผ่นกัมพูชาโดยเร็ว  จึงขอสวามิภักดิ์องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรขอพักไว้ก่อน  ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, มกราคม, 2564, 10:34:07 PM
(https://i.ibb.co/Zd9x1nC/U78ntitled-2-350.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๐ -

นักองอิ่มปล้นพระยาและพระหลวง
ผูกเป็นพวงต้อนพาระหกระเหิน
แลกตำแหน่งเจ้าแผ่นดินถิ่นจำเริญ
เป็นการเดินทางเถื่อนเหมือนคนพาล

แม่ทัพใหญ่ไทยประจักษ์มิชักช้า
ยกโยธาไปป้องคุ้มครองบ้าน
แต่งกำลังตั้งสู้ผู้รุกราน
ขุนทหารพร้อมเพรียงอยู่เรียงราย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   มีพระราชดำริว่าเมืองเสียมราฐไม่มีกำแพงป้องกันข้าศึกศัตรู  จึงรับสั่งให้พระยาราชสุภาวดี (โต) ยกกองกำลังไทยมอญลาวเขมรไปสร้างกำแพงป้อมคูประตูหอรบเมืองนครเสียมราฐ  พระยาราชสุภาวดีอำนวยการสร้างกำแพงตามพระราชดำริเสร็จเรียบร้อยในปีเดียว  แล้วยกทัพกลับเข้ากรุงเทพฯ  ฝ่ายทางเมืองพระตะบองนั้นนักองอิ่มคิดอยากเป็นเจ้าแผ่นกัมพูชาโดยเร็ว  จึงขอสวามิภักดิ์องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน  จะยืนยันความภักดีต่อญวนด้วยการจับตัวพระยาปลัดพระยายกกระบัตรเมืองพระตะบอง  กวาดต้อนครัวลงไปเมืองพนมเปญ  วันนี้มาอ่านเรื่องราวต่อครับ....

(https://i.ibb.co/M5PK8Wv/Uhntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายนักองอิ่มจึงให้นายแก้วพี่ภรรยานักองอิ่ม ๑  กับอ้ายรามโยฝรั่งเข้ารีต ๑  ถือดาบสองมือนำหน้าทหารกรูกันขึ้นไปบนเรือนจับตัวพระยาปลัด ๑  กับภรรยาหลวง ๑  ภรรยาน้อย ๆ เจ็ดคนมัดมือมาคุมตัวไว้  แล้วเก็บทรัพย์สมบัติพระยาปลัดมาหมดเรือน  และกวาดต้อนผู้คนบ่าวไพร่ชายหญิงมาคุมไว้ทั้งบ้าน  แล้วก็แบ่งเป็นกอง ๆ แยกย้ายกันไปตีปล้นจับตัวพระยายกกระบัตร ๑  พระยานราธิวาส ๑  พระยาโกษา ๑  พระภักดีบริรักษ์ ๑  พระศาสตราธิบดี ๑  พระมหาพิมณฑ์สมบัติบดีพระคลัง ๑  พระบวรนายก ๑  หลวงอภัยภักดีบุตรพระยาปลัด ๑  หลวงภักดีชุมพล ๑  หลวงเพชรสงคราม ๑  หลวงเสน่หานายก ๑  หมื่นภักดีสมบัติ พระคลังปลัดฝรั่งเข้ารีต ๑  รวมพระยาพระเขมร ๑๓ คน  นำตัวมาจำตรวนไว้ที่วังนักองอิ่ม  นักองอิ่มสั่งให้ทหารเก็บริบพาสิ่งของทรัพย์สมบัติของพระยาพระเขมรทั้ง ๑๓ คนไปจนสิ้น  แต่ทรัพย์สมบัติพระมหาพิมณฑ์ สมบัติพระคลังนั้น  มีมากกว่าขุนนางเขมรทั้งปวงเพราะเป็นพ่อค้า  แล้วนักองอิ่มแต่งให้พระยาพระเขมรนายทัพนายกองคุมไพร่พลแยกย้ายกันไปกวาดต้อนครอบครัวเขมรเมืองพระตะบองและเมืองระสือ  ได้ครอบครัวทั้งสองเมืองประมาณหกพันเศษ  ให้ต้อนครอบครัวไปทั้งทางบกและทางเรือ  แล้วแต่งกองทัพพันหนึ่งให้อยู่รั้งหลังระวังกองทัพไทยพวกข้าหลวงเมืองพระตะบองจะตามมาข้างหลัง  ให้ต่อสู้ให้เต็มมือ  นักองอิ่มอพยพเทครัวออกจากเมืองพระตะบองในวันนั้นเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ

(https://i.ibb.co/ZxrtWqW/ff10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นนักองอิ่มต้อนครัวเดินไปถึงเมืองโปริสาด  ขณะนั้นองอันภู่แม่ทัพญวนซึ่งตั้งทัพรักษาด่านอยู่ ณ เมืองโปริสาดนั้น  องอันภู่จึงแต่งขุนนางญวนให้คุมครัวนักองอิ่มแยกย้ายครัวเขมรที่นักองอิ่มกวาดต้อนมานั้น  แบ่งให้ไปอยู่เมืองขลุงบ้าง  เมืองครองบ้าง  เมืองตะครัวบ้าง  เมืองลากบเอียบ้าง  แต่ครอบครัวนักองอิ่ม และพระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  พระยานราธิวาสพระยาโกษาธิบดี  หลวงเสน่หานายกกับครอบครัวนักองอิ่มสามร้อยคนเศษด้วย  องอันภู่สั่งให้องเดกโปคุมตัวนักองอิ่มและครัวนักองอิ่ม  กับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ห้านายนี้  พาลงไปส่งให้องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ที่เมืองพนมเปญแต่ในคราวนั้น

(https://i.ibb.co/qk5K6ff/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนอ้ายแรมสิบสองค่ำ  พวกข้าหลวงไทยกับกรมการเมืองพระตะบองที่หนีเข้าป่าหายไปครั้งนักองอิ่มนั้น  จึงเหลืออยู่บ้าง  ครั้นนักองอิ่มกวาดต้อนครัวไปแล้วก็กลับมาบ้านเมือง  จึงมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

           “นักองอิ่มคิดประทุษร้ายเป็นขบถยกทัพเข้าตีปล้นบ้านพระยาพระเขมร  กวาดต้อนพาครอบครัวเมืองพระตะบองและเมืองระสือประมาณหกพันเศษ  อพยพหนีไปหาญวนที่เมืองพนมเปญ

(https://i.ibb.co/QQQDpxR/1441196246-Screen-Shot-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพนักงานนำหนังสือบอกเมืองพระตะบองขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเร่งรีบยกกองทัพออกไปฟังราชการทางเมืองเขมรโดยเร็ว  แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ทัพเพิ่มเติมออกไปอีกต่อภายหลัง  ทั้งพระยา พระ หลวง  ฝ่ายพระราชวังบวรฯ และหัวเมืองฝ่ายเหนือด้วย  จะให้รีบยกตามออกไปเนือง ๆ กันให้ทันในเดือนสามให้เสร็จ  เจ้าพระยาบดินทรเดชายกออกจากกรุงเทพฯ  เร่งรีบเดินทัพไปถึงเมืองพระตะบองแล้ว  ได้ตรวจดูผู้คนทั้งนายและไพร่ที่นักองอิ่มกวาดไปนั้น  ประมาณดูมากน้อยเท่าใดแล้ว  จึงมีใบบอกให้พระยาราชภักดีเขมร ๑  พระศรีบุรินทรานุรักษ์เขมร ๑  ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

          “ได้ตรวจดูไพร่พลแล้วทำบัญชีครอบครัวพลเมืองที่นักองอิ่มกวาดต้อนพาหนีไปนั้น  พระยา ๔ คน พระ ๑๓ คน หลวง ๒๐ คน ขุนหมื่น ๑๓๑ คน กำนัล ๑๔ คน รวมแต่ตัวนายเขมร ๑๘๒ คน  นับหลังคาเรือนพลเมืองพระตะบองได้เรือน ๕๑๓ หลัง  เมืองระสือ ๓๑๖ หลัง  รวมเรือนที่ครอบครัวไปกับนักองอิ่มทั้งสองเมืองเป็น ๘๒๙ เรือน  จะเป็นสำมะโนครัวเขมรมากน้อยเท่าใดหาทราบไม่  เพราะบัญชีสำมะโนครัวสำหรับเมืองไม่มี  เป็นแต่คาดคะเนดูไพร่พลที่ยังเหลือทั้งสองเมืองนั้นประมาณสามหมื่นเศษ  ที่นักองอิ่มกวาดต้อนไปนั้นประมาณหมื่นเศษ  แต่ตัวนายเขมรที่ยังเหลืออยู่นั้น  พระยา ๑ คน  พระ ๙ คน  หลวง ๑๑ คน  ขุนหมื่น ๙๘ คน  รวมเข้ากัน ๑๑๙ คน  อนึ่งเสบียงอาหารที่เมืองเขมรขัดสนหนัก  ครั้นจะเกณฑ์กองทัพหัวเมืองมามากก็ไม่ได้  ด้วยไม่มีข้าวจะจับจ่ายให้ไพร่พลรับพระราชทานหาพอไม่  ขอพระราชทานโปรดให้มีข้าหลวงใหญ่จัดกองลำเลียงขึ้นมาส่งจึงจะทำการได้ตลอด”

(https://i.ibb.co/GV5VdDN/Untitdwled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่งเมื่อ ณ เดือนยี่ขึ้นสิบห้าค่ำในปีกุนนี้  หลวงรักษาเทพเจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ  กับหลวงหัสนัยณรงค์  และนายฉลองนัยนาถมหาดเล็กหุ้มแพรฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นข้าหลวงสามนายคุมกองทัพเมืองขุขันบุรี ๑,๕๐๐ คน  เมืองสุรินทร์ ๑,๐๐๐ คน  เมืองสังขะ ๗๐๐ คน  เมืองศรีษะเกศ ๑,๐๐๐ คน  เมืองเดชอุดม ๘๐๐ คน  รวมไพร่พลห้าเมืองเป็นคน ๕,๐๐๐ คน  มาถึงเมืองพระตะบองแล้ว  ได้แต่งให้พระพรหมบริรักษ์เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑  พระรามณรงค์ ๑  หลวงไกรนารายณ์ ๑  กับพระยาปราจีนบุรี ๑  หลวงศุภมาตราเมืองกบินทร์บุรี ๑  ห้านายคุมทัพไปรักษาเมืองระสือ

          ได้แต่งให้พระพิเรนทรเทพเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑  พระพรหมสุรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๑  จมื่นสิทธิแสนยารักษ์ปลัดกรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ หลวงราชเสวก ๑  หลวงสิทธิสงคราม ๑  เป็นห้านาย  ให้คุมกองทัพไปรักษาค่ายกำพงปรัก
          ได้แต่งให้พระยาราชนิกูล ๑  พระยาอภัยสงครามเจ้ากรมเขนทองในพระราชวังบวรฯ ๑  จมื่นไชยภูษาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑  จมื่นศักดิบริบาลปลัดกรมพระตำรวจในฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงมหิมาโยธีในพระราชวังบวรฯ ๑  เป็นห้านายให้คุมกองทัพไปรักษาเมืองนครเสียมราฐ

          ได้แต่งให้หลวงคชลักษณ์ ๑  หลวงชาติเสนี ๑  หลวงพิฦกโยธา ๑  สามนายเป็นข้าหลวงกำกับพระยาราชวรนายกเขมร ๑  พระพลภักดีเขมร ๑  หลวงสุรเสนาเขมร ๑  เป็นนายทัพหกคน  คุมไพร่พลไทยเขมรรวมกันลงเรือรบที่ต่อขึ้นใหม่ห้าลำ  เรือรบเก่าสาม  รวมแปดลำ  ออกทะเลสาบใช้ใบและแจวไปลาดตระเวนตั้งแต่เมืองพัชโลงแขวงเมืองโปริสาด  ห่างจากปากน้ำเมืองโปริสาดทางครึ่งวัน  เจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง  จัดการบ้านเมืองถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารข้าวปลาเกลือเข้าไว้ในยุ้งฉางเมืองพระตะบอง  แล้วตระเตรียมการยุทธนาพร้อมสรรพ.......”

(https://i.ibb.co/Xj35q1z/Uswdntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          นักองอิ่มทำการสำเร็จตามเจตนา  พาครอบครัวไปสวามิภักดิ์องเตียนกุน ณ เมืองพนมเปญแล้ว  ทางเมืองพระตะบองที่ยังมีผู้คนหลงเหลือจากการกวาดต้อนอยู่ไม่น้อย  จึงมีใบบอกเข้าไปกรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเร่งรีบยกทัพไปเมืองพระตะบองโดยด่วน  พร้อมกับทรงจัดทัพส่งตามไปอีกเนือง ๆ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งตั้งนายทัพนายกองเข้าคุมสถานการณ์ตามหัวเมืองช่องทางต่าง ๆ  และเตรียมการทำศึกอย่างพร้อมสรรพ  สงครามไทย-เขมรจึงเริ่มต้นขึ้นแล้ว  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg46746#msg46746)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg48585#msg48585)


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, มกราคม, 2564, 10:12:16 PM
(https://i.ibb.co/NskB27X/Unfdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg47656#msg47656)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg49403#msg49403)                   .

- อานามสยามยุทธ ๑๒๑ -

นักองอิ่มถึงคราชะตาอับ
ถูกญวนจับขังคุกผิดคาดหมาย
“นกสองหัว,ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย”
รอวันตายตามญาติ “กษัตรี”

เกิดขบถต่อเนื่องเมืองเขมร
เพราะญวนเล่นไม่ซื่อย่ำศักดิ์ศรี
“พระยาสังขโลก”ไวไม่รอรี
พาครัวหนีพึ่งไทยพระตะบอง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   นักองอิ่มจับตัวพระยาปลัด  พระยายกกระบัตร  และพระหลวงขุนนางเขมร  กวาดต้อนครัวเขมรเมืองพระตะบองลงไปพนมเปญ  ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากใบบอกเมืองพระตะบองแล้ว  ตรัสให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเร่งรีบยกทัพไปเมืองพระตะบองทันที  เรื่องราวจะเป็นจะเป้นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านพร้อม ๆ กันครับ....

           “ลุจุลศักราช ๑๒๐๒ ปีชวด โทศก (พ.ศ. ๒๓๘๓) เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ ครั้งนั้นพระยา, พระ เขมรที่ตกอยู่ในค่ายญวน ณ เมืองพนมเปญนั้น  หนีญวนกลับมายังเมืองพระตะบอง  แจ้งความต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า

(https://i.ibb.co/g6QGrgh/minh-mang-emperor.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ณ เดือนแปดขึ้นหกค่ำ  พระเจ้าเวียดนามมินมางมีหนังสือรับสั่งมาถึงองเตียนกุนขุนนางผู้ใหญ่  ซึ่งเป็นแม่ทัพสิทธิขาดอยู่ ณ เมืองพนมเปญใจความว่า  นักองแก้วปิตุจฉาองแป้นนั้นเป็นคนไม่ดี  จะเลี้ยงไว้ไม่ได้  เพราะนักองแก้วใช้ให้หลวงเมืองใจไปหานักองแป้นเจ้าหญิง  จะพาพวกเจ้านายฝ่ายเขมรหนีไปยังเมืองไทย  นักองแป้นก็จัดการตระเตรียมการจะหนีญวนตามหลวงเมืองใจไปกับนักองแก้ว  ญวนใช้คนสืบรู้ความลับของเขมรแล้ว  จึงมาแจ้งแก่องเตียนกุน  องเตียนกุนได้มีใบบอกขึ้นไปยังกรุงเว้กราบทูลพระเจ้าเวียดนาม  โปรดให้องเตียนกุนจับนักองแป้นเจ้าหญิงกับนักองแก้วเจ้าขายปิตุจฉา  และหลวงเมืองใจทั้งสามคนนั้นจำตรวนไว้ที่ค่ายเมืองพนมเปญก่อน  แต่เจ้าหญิงน้องอีกสามองค์นั้นคือนักองมี  นักองเภา  นักองสงวน  ให้ส่งไปไว้ในเมืองไซ่ง่อน  กับนักเทศมารดานักองจันทร์ ๑  นักรดมารดานักองอิ่ม ๑  กับครอบครัวนักองอิ่มด้วย  ก็ให้ส่งลงไปไว้เมืองไซ่ง่อนเหมือนกัน”

          ครั้น ณ เดือนแปดขึ้นเก้าค่ำ  องเตียนกุนให้องโหดึกคุมเจ้าชายเจ้าหญิงเขมรและครัวเจ้านายฝ่ายเขมรลงไปส่งยังองภูเทยที่เมืองไซ่ง่อนทั้งสิ้น  ครั้งนั้นนักนางรศมารดานักองด้วงและหม่อมกลีบภรรยานักองด้วงก็ติดลงไปเมืองไซ่ง่อนด้วย  แต่นักองแป้นนั้นจำตรวนไว้ในค่ายเมืองพนมเปญช้านาน  ก็หายสูญเงียบไปไม่รู้ว่าไปข้างไหน  ครั้นภายหลังสืบได้ความว่าองเตียนกุนใช้ให้พวกพาตัวนักองแป้นเจ้าหญิงลงเรือไปในเวลากลางคืน  ล่องเรือไปถึงเมืองล่องโห้  ก็จับนักองแป้นลงกระสอบถ่วงน้ำเสียที่กลางแม่น้ำใหญ่  ความที่ญวนฆ่านักองแป้นนั้นเป็นการฆ่าลับ ๆ พวกเขมรจึงไม่รู้ (ได้รู้ความนี้ต่อภายหลัง)

(https://i.ibb.co/vHPqdrM/lam-son-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนเก้าขึ้นค่ำ  องเตียนกุนแจ้งความกับพระยาพระเขมรว่า    “พระเจ้าเวียดนามมีหนังสือรับสั่งมาว่าจะทรงจัดการบ้านเมืองเขมรให้เป็นปรกติเรียบร้อยเสียให้สิ้นพระธุระ  เพราะฉะนั้นจึงมีรับสั่งให้หาพระยา,พระเขมรผู้ใหญ่น้อยขึ้นไปเฝ้า ณ กรุงเว้ให้หมด  จะทรงปรึกษาราชการและจะให้ขุนนางทำบัญชีเมืองถวายด้วย”

          ครั้งนั้นองเตียนกุนได้เรียกพระยาพระเขมรมาพร้อมกันฟังหนังสือรับสั่งพระเจ้าเวียดนาม  ที่รับสั่งให้หาพระยา,พระเขมรที่ยอมไปเฝ้าหกนายคือ  ฟ้าทละหะ ๑  สมเด็จเจ้าพระยา ๑  พระยาจักรี ๑  พระยากลาโหม ๑  พระยาสุภาธิราช ๑  เจ้าพระยาราชไมตรี ๑  องเตียนกุนก็ส่งพระยา,พระเขมรผู้ใหญ่หกคนไปเฝ้าพระเจ้ากรุงเว้  แต่พระยาพระเขมรทั้งหลายนอกจากหกคนนั้น  มีความสงสัยไม่ไว้ใจแก่ญวน  กลัวญวนจะพูดล่อลวงให้ลงไปถึงกรุงเว้แล้วก็จะทำอันตรายต่าง ๆ จะสู้ก็ไม่ได้  จะหนีก็ไม่พ้นเป็นแน่  ขุนนางเขมรคงตายหมดในคราวนี้  แผ่นดินเขมรก็คงจะเป็นสิทธิ์แก่ญวน  เพราะฉะนั้นพระยา,พระเขมรทั้งหลายจึงไม่ยอมลงไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนาม ณ กรุงเว้  แกล้งพูดจาบิดพลิ้วต่าง ๆ ที่จะไม่ลงไปกรุงเว้อย่างเดียว

          ครั้นองเตียนกุนได้ฟังเสียงพระยา,พระเขมรทั้งหลายพูดขัดขืนแข็งแรงไม่เฝ้าเป็นแน่แล้ว  ครั้นจะข่มขืนจับกุมส่งไปก็กลัวจะเกิดการจลาจลรบพุ่งฆ่าฟันกันขึ้น  เป็นศึกกลางเมืองจะระงับก็ยาก  องเตียนกุนก็นิ่งไว้  ฝ่ายพระยา,พระเขมรทั้งหลายต่างคนต่างก็ลาองเตียนกุนออกจากที่ประชุมใหญ่  องเตียนกุนว่า

           “ขอให้พระยา,พระเขมรรออยู่อีกสักหกชั่วโมง  จะทำโต๊ะเลี้ยงให้เป็นการรื่นเริงชื่นบาน  เพราะนาน ๆ มาพบกันครั้งหนึ่ง”

          ฝ่ายพระยา,พระเขมรยิ่งตกใจกลัวมากไป  เพราะรู้แน่เข้าใจว่า  “ถ้าจะอยู่กินโต๊ะเมื่อใดก็เหมือนจะอยู่รอหาความตาย  พาชีวิตมาแลกกับของกินของญวนเป็นแน่  พระยา,พระเขมรทั้งหลายมิได้ตอบองเตียนกุนประการใด  รีบเดินกลับไปบ้านเมืองแห่งตนทุกคน”   ฝ่ายองเตียนกุนก็รู้อัชฌาสัยเขมรว่า  เขารู้ตัวแล้วคงจะคิดต่อสู้เป็นแน่  แต่ยังไม่มีเหตุก่อนจะลงมือทำการยังไม่ได้  เพราะฉะนั้นองเตียนกุนจึงได้นิ่งสงบรอไว้ก่อน  แต่พอรุ่งขึ้นอีกสองวันถึง ณ เดือนเก้าแรมสามค่ำ  พระยา,พระเขมรทั้งหลายคิดพร้อมใจกันทำการกำเริบเป็นขบถต่อญวนขึ้นพร้อมกันทุกบ้านทุกเมือง  เขมรจับญวนเป็นที่กองทัพรักษาบ้านเมืองฆ่าเสียบ้าง  และจับญวนลูกค้าพานิชฆ่าเสียบ้าง  และจับญวนเป็นจำตะโหงกและจำขื่อจำตรวน  ส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบองบ้าง  จับส่งไปให้พระยาราชนิกูลที่เมืองระสือบ้าง  ครั้งนั้นเขมรกำเริบลุกขึ้นทุกบ้านทุกเมืองฆ่าญวนตายเสียมากนัก  ญวนแม่ทัพจะปราบปรามก็ไม่หยุด  เพราะเป็นการไม่รู้ตัว

(https://i.ibb.co/Yj4KrVW/Untitledf-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนสิบขึ้นห้าค่ำ  พระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดพาครอบครัวอพยพเดินบกเข้ามาหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาให้ล่ามถามพระยาสังขโลกว่า

           “ได้รับความเดือดร้อนประการใด  จึงพาครอบครัวอพยพทิ้งเมืองเสียเข้ามายังเมืองพระตะบอง

(https://i.ibb.co/SNT96T4/unnamed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาสังขโลกกราบเรียนว่า  “นักองอิ่มพาครอบครัวหนีออกจากเมืองพระตะบองไปถึงเมืองโปริสาด  องอันภู่เป็นแม่ทัพอยู่ที่เมืองโปริสาดนั้น  จัดให้องญวนนายทัพคุมไพร่ญวนห้าร้อยคน  คุมครอบครัวนักองอิ่มลงไปส่งยังเมืองพนมเปญ  แล้วองอันภู่แม่ทัพเมืองโปริสาดนั้นไม่ไว้ใจพระยาสังขโลกและพระยา,พระเขมรในเมืองโปริสาดเลย  แต่งให้นายทัพนายกองญวนคุมไพร่ญวนเที่ยวจุกช่องล้อมวงทุกด้านทุกทาง  คุมเชิงพวกเขมรอยู่เสมอ  แล้วองอันภู่กะเกณฑ์เขมรนายไพร่ใช้ราชการทั้งกลางวันกลางคืน  และกดขี่ข่มเหงเฆี่ยนตีไพร่ได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก  ชั้นแต่เกลือก็ชั่งขายให้กินเสมอ  ไพร่พลได้ความอดอยากซูบผอมลงมาก  จึงได้หนีมาหาความร่มเย็นเป็นที่พึ่งพอพ้นภัย

(https://i.ibb.co/fGYqpTt/419242-359340714090630-944770311-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วพระยาสังขโลกให้การต่อไปว่า    “นักองอิ่มลงไปเมืองพนมเปญนั้น  องเตียนกุนก็หาได้ยกยองนักองอิ่มขึ้นเป็นเจ้านายไม่  ญวนเรียกนักองอิ่มว่าอ้ายอิ่มและอ้ายนกสองหัวบ้าง  แล้วองเตียนกุนส่งนักองอิ่มและครัวนักองอิ่มไปไว้เมืองไซ่ง่อนพร้อมกับกรมการผู้ใหญ่เมืองพระตะบองแล้ว  องเตียนกุนก็ฆ่าขุนนางกรมการผู้น้อยเมืองพระตะบองเสียที่เมืองพนมเปญถึงสิบคน  เพราะเหตุที่ดึงดื้อขัดขืนไม่ตามใจองญวน  ก็ฆ่าเสียสิบคนพร้อมกับนักองแป้นเจ้าผู้หญิงด้วยแล้ว       เขมรคนใช้ของนักองอิ่มหนีมาจากเมืองไซ่ง่อนมาหาพระยาสังขโลก  แจ้งความว่า  พระเจ้าเวียดนามมีหนังสือรับสั่งมาถึงแม่ทัพใหญ่ที่เมืองไซ่ง่อนให้ส่งนักองอิ่ม ๑  พระยาปลัด ๑  พระยายกกระบัตร ๑  ฟ้าทลหะ ๑  สมเด็จเจ้าพระยา ๑  พระยาจักรี ๑  พระยากลาโหม ๑  พระยาสุภาธิราช ๑  เจ้าพระยาราชไมตรี ๑  พระยาราชเดชะ ๑  พระยามหามนตรี ๑  พระศาสตราฤทธิรงค์ ๑  พระมนตรีเสน่หา ๑  พระมหาเดชา ๑  พระนราธิราชเรืองฤทธิ ๑    รวม ๑๕ คนนี้ให้ส่งขึ้นไปจำคุกไว้ ณ กรุงเว้  ฝ่ายพระยาสังขโลกเห็นว่าไม่มีเจ้านายฝ่ายเขมรแล้วหาที่พึ่งมิได้  จึงอพยพครัวเข้ามาขอพระบารมีเป็นที่พึ่งต่อไป  เมื่อพระยาสังขโลกจะมานั้นได้พูดจาชักชวนพระยา,พระเขมร และราษฎรพร้อมใจกันคิดอ่านจะอพยพเข้ามาเป็นอันมาก  แต่จะมาพร้อมกับพระยาสังขโลกก็หาทันไม่  จะตามเข้ามาภายหลังเนือง ๆ กัน”....

          การแปรภักดิ์ของนักองอิ่มให้ผลเป็นลบ  แทนที่ญวนจะยกย่องกลับถูกประณามหยามหมิ่นเป็น  “อ้ายนกสองหัว”  สุดท้ายถูกส่งไปขังคุกไว้ที่กรุงเว้  ญวนฆ่านักองแป้นเจ้าแผ่นดินหญิงที่ตนเชิดเป็นหุ่นนั้น  นัยว่าพระนางไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดของญวน  พระยาสังขโลกเป็นหัวหอกในการอพยพชาวเขมรเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม  การจลาจลเกิดขึ้นทุกบ้านทุกเมืองในเขมรแล้ว  เรื่องจะเป็นไปอย่างไร   ไว้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, มกราคม, 2564, 10:05:39 PM
(https://i.ibb.co/R0KW4DH/1236-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๒ -

พระยาเขมรชักชวนฆ่าญวนบ้าง
เป็นการล้างแค้นญวนผู้ผยอง
ยกเข้าตีโปริสาดคาดคืนครอง
ญวนกลับป้องกันได้ไม่เสียเมือง

เขมรขอไทยส่งนักองด้วง
จากเมืองหลวงเป็นเจ้าไม่เอาเรื่อง
ให้เขมรมีหลักยึดไม่ฝืดเคือง
เพื่อปลดเปลื้องอำนาจอุบาทว์ญวน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดพาครัวหนีเข้าเมืองพระตะบอง  ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยาม  บอกเล่าเรื่องราวในกัมพูชาที่ญวนกดขี่ข่มเหงรังแกเขมร  ฆ่านักองแป้นกษัตรีกัมพูชาและขุนนางเขมรจำนวนมาก  สำหรับนักองอิ่มนั้นญวนมิได้ยกย่องให้เป็นเจ้าเขมรตามความใฝ่ฝันของนักองอิ่ม  องเตียนกุนเรียกอ้ายอิ่มนกสองหัว  และล่าสุดพระเจ้าเวียดนามมินมางสั่งให้องเตียนกุนส่งตัวนักองอิ่มพร้อมพวกไปขังไว้ในคุกที่กรุงเว้  ขุนนางเขมรตามหัวเมืองต่าง ๆ พากันเป็นขบถก่อการจลาจลขึ้นทุกบ้านทุกเมืองแล้ว  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  มาอ่านต่อไปพร้อม ๆ กันครับ

(https://i.ibb.co/J33mfdB/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ถามพระยาสังขโลกต่อไปว่า    “หัวเมืองขึ้นกับเมืองเขมรมีกี่เมือง  เจ้าเมืองชื่อใดบ้าง อยากรู้”

          พระยาสังขโลกราบเรียนว่า  “ข้างตะวันออก ๑๔ เมือง  เมืองนครวัดพระยานครราชาเป็นเจ้าเมือง  เมืองกำพงสวายเจ้าเมืองชื่อพระยาเดโช  เมืองไพรกระดีเจ้าเมืองชื่อพระยามนตรีเสน่หา  พระยาแสนทองฟ้าเจ้าเมืองโคกแสะ  พระยาเพชรเดโชเป็นเจ้าเมืองเชิงไพร  พระยาราชาธิราชเป็นเจ้าเมืองสะตึงตรอง  พระยาราชเสน่หาเป็นเจ้าเมืองสมบุก  พระยาเทพวรชุนเป็นเจ้าเมืองขาโขงขมุม  พระยามนตรีสงครามเป็นเจ้าเมืองไพรระแวง  พระยาธรรมาเดโชเป็นเจ้าเมืองบาพนม  พระยาสงครามธิบดีเป็นเจ้าเมืองสวายทราบ  พระยาจักราธิราชเป็นเจ้าเมืองลำดวน  รวมหัวเมืองข้างตะวันออก ๑๔ หัวเมืองเท่านี้  แต่เมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นกับเมืองทั้ง ๑๔ นี้มีอีกมากมายหลายสิบเมือง     หัวเมืองใหญ่ฝ่ายตะวันตกนั้นมี ๑๖ เมืองคือ  พระยามโนไมตรีเป็นเจ้าเมืองอุดงคฤๅไชย  พระยาสังขโลกเป็นเจ้าเมืองโปริสาด  พระยาชำนิสงครามเป็นเจ้าเมืองตะครัว  พระยาเสนาสงครามเป็นเจ้าเมืองตรอง  พระยายศเดชาเป็นเจ้าเมืองขลุง  พระยาเสนาธิบดีเป็นเจ้าเมืองบริบูรณ์  พระยาเสน่หาเสนาเป็นเจ้าเมืองละแวก  พระยาอุทัยธิราชเป็นเจ้าเมืองสำโรงทอง  พระยาราชาไมตรีเป็นเจ้าเมืองพนมเปญ  พระยาวงศานุชิตเป็นเจ้าเมืองบาที  พระยาไชยโยคเป็นเจ้าเมืองไพรกระบาท  พระยาราชเสน่หาเป็นเจ้าเมืองกำพงโสม  พระยาเสนานุชิตเป็นเจ้าเมืองกำปอด  พระยาโยธาธิบดีเป็นเจ้าเมืองบันทยามาศ  พระยาพิษณุโลกเป็นเจ้าเมืองเชิงกระชุม  พระยาวดีวงศาเป็นเจ้าเมืองปาศักดิ์  รวมหัวเมืองใหญ่ฝ่ายตะวันตก ๑๖ เมืองเท่านี้  แล้วมีเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นแก่เมืองทั้ง ๑๖ หัวเมืองนี้มีอีกหลายสิบเมือง  รวมทั้งข้างตะวันตกและข้างตะวันออกเป็นหัวเมืองใหญ่สามสิบเมือง  เจ้าเมืองเขมรทั้งสามสิบเมืองนี้มีส่วยสาอากรขึ้นเป็นกำลังราชการแผ่นดินทุกเมืองด้วยกัน”

(https://i.ibb.co/ZhH2cDZ/Untitdeled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้พระยาสังขโลก  กับพระมหาดไทย  หลวงราชมานู  สามนายออกไปเมืองระสือ  ช่วยคิดราชการกับพระยาณรงค์วิไชย  พระอัครเนศร  พระนเรนทรโยธาข้าหลวงซึ่งตั้งรักษาเมืองระสืออยู่นั้น  ให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมพวกครอบครัวเขมรที่จะสวามิภักดิ์เข้ามาให้รับไว้ทำนุบำรุงเป็นกำลังต่อไป

(https://i.ibb.co/QCFr4rY/Untit1254led-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายองอันภู่แม่ทัพญวน  ซึ่งรักษาเมืองโปริสาดนั้น  เห็นว่าพระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดอพยพครอบครัวหนีไปแล้ว  จึงตั้งพระยาพิบูลยราชมาเป็นเจ้าเมืองโปริสาดตอไป  พระยาวิบูลยราชไม่สมัครอยู่กับญวน  จึงพาครอบครัวเขมรหนีออกจากเมืองโปริสาดไปอยู่ในป่า  ครั้งนั้นองอันภู่จึงบอกข่าวไปยังเมืองพนมเปญ  ให้องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ทราบ  องเตียนกุนทราบแล้วจึงตั้งพระยาสุริยวงศาธิราชเขมรเก่ามาแต่เมืองพนมเปญให้มาเป็นเจ้าเมืองโปริสาดอีก  พระยาสุริยวงศาธิราชเจ้าเมืองโปริสาดใหม่ไม่เต็มใจอยู่กับญวนอีก  จึงพาครอบครัวหนีออกจากเมืองโปริสาดเข้าป่าไปอยู่กับพระยาวิบูลยราชเจ้าเมืองโปริสาดคนก่อน  พระยาสุริยวงศาธิราชกับพระยาวิบูลยราชคิดกันไปชักชวนพระยากุเชนทรานายกเขมร  ซึ่งมีไพร่พลพาหนะมาตั้งอยู่ในป่าช้านาน  จะยกกองทัพใหญ่มาจับญวนที่ในเมืองโปริสาดฆ่าเสียให้หมด  เป็นการตอบแทนแก้แค้นญวนบ้าง  ที่ญวนทำแก่เขมรให้ได้ความเดือดร้อน  เมื่อพระยากุเชนทรานายก  พระยาสุริยวงศาธิราช  พระยาวิบูลยราช ยกทัพใหญ่มาตีเมืองโปริสาดนั้น  เขมรชาวเมืองหนีออกหากองทัพเสมอเนือง ๆ  ญวนก็จัดให้ขุนนางญวนคุมกำกับทัพเขมรออกต่อสู้กับทัพพระยากุเชนทรราชนายก  ยังรบกันอยู่ทุกวัน  เพราะญวนมีกระสุนดินดำบริบูรณ์  ฝ่ายเขมรขัดลูกกระสุนดินดำ  จึงตีเมืองโปริสาดหาได้ไม่  องอันภู่ก็แต่งหนังสือไปแจ้งความให้องเตียนกุนแม่ทัพญวนทราบว่า     “เมืองโปริสาดนั้นเขมรกลับใจเป็นขบถลุกลามรบกัน”     องเตียนกุนจึงแต่งให้องเดดกเป็นแม่ทัพคุมไพร่ญวน ๕,๐๐๐  ยกมาช่วยป้องกันเมืองโปริสาดไว้ได้  หาแตกแก่เขมรไม่

          ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกให้หลวงเทเพนทร์ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/qk5K6ff/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           “บัดนี้บ้านเมืองเขมรเกิดการจลาจลขึ้นทุกแห่งทุกตำบล  ไพร่พลเมืองเขมรฆ่าญวนตายเนือง ๆ  และพระยาพระเขมรก็ยกทัพมาสู้รบกับญวนเนือง ๆ  ฝ่ายญวนมีใจโกรธเขมรยิ่งนัก  จะยกทัพใหญ่มาล้างผลาญเขมรอีกต่อไป  กับสืบข่าวราชการฝ่ายญวนได้ความว่า  ญวนตระเตรียมการรบโดยเป็นปี  ตั้งต่อเรือรบใหญ่น้อยไว้มากหลายร้อยลำ  แล้วถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารมาไว้ตามหัวเมืองรายทางมากแล้ว  และสะสมได้ข้าวเกลือมาไว้ในยุ้งฉางทุกเมือง  องเตียนกุนแจ้งความต่อพระยาพระเขมรว่าจะยกกอทัพใหญ่มาตีเมืองระสือ  เมืองนครเสียมราฐ  เมืองพระตะบอง ในต้นฤดูน้ำมากเดือน ๑๑ หรือเดือน ๑๒  พระพระยาเขมรเก่าที่ตกไปอยู่กับญวนก็กลับมาหาไทยมากหลายนานแล้ว  บัดนี้พระยาพระเขมรเก่าใหม่พร้อมใจกันทำเรื่องราวมายื่นขอให้กราบบังคมทูลพระกรุณา  ขอนักพระองด้วงออกไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร  ที่เมืองเขมรไม่มีเจ้านายแล้ว  นักพระองอิ่มต้องถูกจำตรวนอยู่ที่เมืองเว้  จะตายเป็นฉันใดก็ไม่แจ้ง  จึงได้ขอนักพระองด้วงออกไปปกครองบ้านเมืองเป็นที่นับถือของพวกเขมรต่อไป  แล้วพระยาพระเขมรที่ตั้งซุ่มซ่อนอยู่ในป่ามีกำลังวังชามากบ้างน้อยบ้าง  ก็แต่งคนมาแจ้งความว่า   ถ้านักพระองค์ด้วงมาเป็นเจ้านายฝ่ายเขมรเมื่อใดแล้ว  พระยาพระเขมรที่หนีญวนมาซุ่มอยู่ในป่าดงมีไพร่พลมากทุก ๆ กอง  กองละหลายพันรวมทั้งสิ้นสักสี่หมื่น  ก็จะเข้ามาขออาสาทำราชการกับนักพระองด้วงตอไป  แล้วจะขออาสาไปรบญวนแก้ฝีมือญวนด้วย........”

(https://i.ibb.co/rdmxk16/Unt-itled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          เป็นอันรู้ได้ว่า  ยามนั้นหัวเมืองเขมรฝ่ายนอกที่เป็นเมืองใหญ่ๆทั้งหมดมี ๓๐ หัวเมือง  และยังมีเมืองเล็กเมืองน้อยซึ่งเป็นกิ่งก้านของเมืองใหญ่อีกหลายสิบเมือง  ล้วนอยู่ในความครอบงำของญวนทั้งสิ้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสืบข่าวจนได้ราชการแน่ชัดแล้วว่า  ญวนกำลังเตรียมทำศึกใหญ่เป็นแรมปีในเขมร  แยกเข้าตีเมืองระสือ  นครเสียมราฐ  และพระตะบองในราวเดือน ๑๑-๑๒  ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก  จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ  เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร   ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กุมภาพันธ์, 2564, 10:55:08 PM
(https://i.ibb.co/98C84X7/Untfditled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๓ -

เขมรลุกฮือแพร่แผ่ขยาย
ตีเผาค่ายเวียดนามลามหลายส่วน
ฆ่าผ่าอกตกตายมิให้กวน
ตั้งกระบวนการขับฆ่าจับตาย

แม่ทัพญวนบุ่มบ่ามยกสามทัพ
ถูกตียับเยินแย่ยันแพ้พ่าย
โกรธเขมรเกินเก็บความเจ็บอาย
สั่งทำลายทัพหลักพรรคพวกตน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระยาสังขโลกกราบเรียนให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่า  ยามนั้นหัวเมืองเขมรฝ่ายนอกที่เป็นเมืองใหญ่ ๆ ทั้งหมดมี ๓๐ หัวเมือง  และยังมีเมืองเล็กเมืองน้อยซึ่งเป็นกิ่งก้านของเมืองใหญ่อีกหลายสิบเมือง  ล้วนอยู่ในความครอบงำของญวนทั้งสิ้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสืบข่าวจนได้ราชการแน่ชัดแล้วว่า  ญวนกำลังเตรียมทำศึกใหญ่เป็นแรมปีในเขมร  แยกเข้าตีเมืองระสือ  นครเสียมราฐ  และพระตะบอง ในราวเดือน ๑๑-๑๒ ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก  จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ  ความในใบบอกนั้นยังให้อ่านไม่จบ  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/Pm1NDsR/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เพราะเขมรโกรธญวนที่ฆ่าเจ้าหญิงและเจ้าชายที่หาความผิดมิได้นั้น  จึงจะแก้แค้นญวนให้ได้  เพราะฉะนั้นเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า  ราชการทัพศึกซึ่งจะทำแก่ญวนครั้งนี้เห็นมีโอกาสเป็นท่วงทีอยู่มาก  ควรจะรีบร้อนทำการตีบ้านเมืองญวนมาทูลเกล้าฯถวาย  ถึงมาทว่าไม่ได้เมืองญวน  ก็คงจะได้เมืองเขมรคืนมาขึ้นไทยทั้งสิ้น  คงจะไม่ให้ญวนทำอำนาจครอบงำเมืองเขมรต่อไปได้อีกเป็นแน่  แต่ยังไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงได้มีตราเกณฑ์กองทัพหัวเมืองลาวทางตะวันออกเพิ่มเติมมาอีก  จะได้เป็นกำลังแก่ราชการครั้งนี้ด้วย

(https://i.ibb.co/16wfxD4/Untitledrd-7-27.jpg) (https://imgbb.com/)

          เกณฑ์เมืองสุรินทร์นายไพร่ ๒,๙๐๐ คน  เมืองสังขบุรีนายไพร่ ๑,๕๐๐ คน  ทั้งสองเมืองนั้นให้ยกมาช่วยพระยาราชนิกูลรักษาเมืองนครเสียมราฐ  

          เกณฑ์ไพร่พลเมืองสุวรรณภูมินายไพร่ ๒,๖๐๐ คน  เมืองยโสธรนายไพร่ ๑,๕๐๐ คน  เมืองร้อยเอ็ดนายไพร่ ๒,๐๐๐ คน  เมืองขอนแก่นนายไพร่ ๔๕๐ คน  ทั้งสี่เมืองนี้ให้ยกไปช่วยพระยาราชฤทธิรณรงค์แขกจามปาเมืองปักยองปากน้ำตึกโชเมืองมงคลบุรี

          เกณฑ์ไพร่พลเมืองภูเขียว ๑,๐๐๐ คน  เมืองพิมายนางรอง ๑,๐๐๐ คน  ทั้งสามเมืองนี้ให้ยกไปช่วยหลวงคชลักษณ์รักษาเมืองพัชโลงแขวงเมืองโปริสาด

          เกณฑ์ไพร่พลเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นเมืองนครราชสีมาเป็นคน ๕,๐๐๐ ให้ยกไปช่วยพระพรหมบริรักษ์รักษาเมืองระสือบ้าง  ให้แบ่งคนในกองทัพเมืองนครราชสีมาออกครึ่งหนึ่งไปช่วยพระพิเรนทรเทพรักษาค่ายกะพงปรักบ้าง

          แล้วได้เกณฑ์เขมรป่าดงเมืองขุขันบุรี ๔,๐๐๐ คน  เมืองศีรษะเกษ ๓,๓๐๐ คน  เมืองนครจำปาศักดิ์ ๕,๐๐๐ คนเมืองศรีทันดร ๑,๕๐๐ คน  เมืองแสนปาง ๘๐๐ คน  เมืองเชียงแตง ๖๐๐ คน  เมืองเดชอุดม ๑,๕๐๐ คน  เมืองไชยบุรี ๑,๓๐๐ คน  เมืองเขมาท่าตอ ๑,๔๐๐ คน  เมืองอัตปือ ๓๐๐ คน  เมืองลาวด้วย คือ เมืองอุบลราชธานี ๔,๓๐๐ คน  เมืองเขมราฐ ๑,๗๐๐ คน  เมืองมุกดาหาร ๑,๓๐๐ คน  เมืองนครพนม ๑,๐๐๐ คน  เมืองขึ้นเมืองนครพนม ๑,๕๐๐ คน  เมืองสกลนคร ๑,๓๐๐ คน  เมืองกาฬสินธุ์ ๙๐๐ คน  เมืองหนองละหาร ๑,๖๐๐ คน  เมืองหนองคาย ๒,๐๐๐ คน  เมืองปากเหียง ๕๐๐ คน  รวมเมืองเขมรป่าดงและลาวตะวันออกเข้ากันเป็น ๒๐ เมือง  เกณฑ์ตระเตรียมไว้อีกพวกหนึ่ง  ถ้ามีราชการศึกกับญวนหนักแน่นประการใดจะได้เรียกไพร่พลมาเข้ากองทัพเพิ่มเติมเป็นกำลังราชการสงครามต่อไป  รวมไพร่พลหัวเมืองทางตะวันออก ๓๐ เมืองเป็นคน ๕๓,๗๕๐ คน”

           (ซึ่งกล่าวจำนวนผู้คนไว้ถ้วนถี่ตามบัญชีตารางเกณฑ์นั้นด้วยเหตุใด?  ขอตอบว่ากล่าวให้แน่นอนทั้งนี้  เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านผู้ฟังทราบกำหนดไพร่บ้านพลเมือง  ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงสยาม  แต่ทางตะวันออกทางเดียวยังมีผู้คนถึงเพียงนี้  จะได้เห็นพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ปรากฏเป็นมหัศจรรย์ประจักษ์พระเดชานุภาพด้วย  กับจะได้รู้กำลังเมืองไทยมีผู้คนเท่าไร  พอเป็นทางราชการแด่ท่านผู้จะทำราชการภายหน้าต่อไปได้)

(https://i.ibb.co/H44cwTr/Untitled-2-350.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่กองทัพหัวเมืองไทยฝ่ายเมืองที่โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ครั้งนี้นั้น  รามัญ ๕,๐๐๐  ไทยในกรุง ๕,๐๐๐  ไทยหัวเมืองหมื่นเศษ รวม ๒๑,๖๐๐ คน  คือเมืองกรุงเก่า  เมืองอ่างทอง  เมืองพรหม  เมืองอินทร  เมืองชัยนาท  เมืองนครสวรรค์  เมืองสิงหบุรี  เมืองสรรคบุรี  เมืองอุทัยธานี  เมืองสุพรรณบุรี  เมืองนครไชยศรี  เมืองสระบุรี  เมืองลพบุรี  เมืองเพชรบูรณ์  เมืองวิเชียร  เมืองฉะเชิงเทรา  เมืองกบินทร์บุรี  เมืองปราจีนบุรี  เมืองนครนายก  เมืองพนัสนิคม รวม ๒๐ เมือง  กับขอพระราชทานเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (ปาน) บุตรเขยข้าพระพุทธเจ้า ออกมาช่วยคิดราชการทำศึกกับญวน  กับขอพระยา,พระ,หลวง ในกรุงและหัวเมืองที่ได้เคยเป็นนายทัพนายกองมาด้วยกันแต่ชั้นก่อน ๆ  ออกมาใช้สอยจึงจะได้ราชการคล่องแคล่ว  กับข้าราชการในพระราชวังบวรฯ นั้นมาใช้สอยกล้าหาญยิ่งนัก  เพราะเคยทัพเคยศึกมามากแล้ว  ตลอดจนมหาดเล็กหุ้มแพรก็เข้าใจเคยการทัพศึกมาก  ขอพระราชทานให้ออกมาถึงเมืองพระตะบองในข้างขึ้นเดือนสิบเอ็ดอ่อน ๆ  ถ้ามาถึงในข้างแรมเดือนสิบยิ่งดีนัก  จะได้ตระเตรียมการแต่เนิ่น ๆ  และขอรับพระราชทานปืนจ่ารงค์ ๒๐๐ บอก  ปืนหามแล่น ๒,๐๐๐ บอก  ปืนเล็กคาบศิลา ๒๐,๐๐๐ บอก  ปืนเล็กอย่างใหม่หมื่นบอก  ปืนหลักหลังช้างทำลายค่าย ๒,๐๐๐ บอก  ปืนสันหลังม้า ๕,๐๐๐ บอก  กับกระสุนดินดำศิลาปากนกสำหรับหน้าเพลิงปืนด้วย  แต่หอกดาบง้าวนั้นได้สร้างขึ้นที่เมืองเขมรมีพอใช้ราชการแล้ว ๖๐,๐๐๐ เล่ม  ราชการครั้งนี้เป็นท่วงทีหนักหนา  เป็นช่องทางที่จะทำแก่ญวนได้ถนัด  ขอพระราชทานเครื่องเสื้อผ้าพลรบออกมาด้วย  เพราะไพร่พลหัวเมืองมีเครื่องใช้แต่งกายเร่อ ๆ ร่า ๆ น่าเกลียด เ ป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพฯ  และพวกญวนจะหมิ่นประมาทว่าไทยไม่มีเครื่องแต่งกายทหาร  ขอพระราชทานเครื่องเสื้อผ้าแต่งกายทหารนั้นให้สีต่าง ๆ กันเป็นพวก ๆ  จะได้เป็นที่หมายสังเกตไพร่พลได้ง่ายเป็นกอง ๆ

          อนึ่งพระยาเดโชเขมรก็ได้นำเรือรบมาให้มากพอราชการแล้ว  ราชการจะทำแก่ญวนคราวนี้เห็นมีช่องทางเมืองโปริสาด ๑  เมืองสะโตง ๑  ทางเมืองกำพงสวาย ๑  เป็นทางที่ญวนมาตั้งอยู่ก่อน

(https://i.ibb.co/xJSZXc3/Untitlzadfded-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นเมื่อเดือนเก้าเดือนสิบนั้น  พวกเขมรคิดการพร้อมกันเป็นจลาจลกำเริบขึ้นทุกบ้านทุกเมือง  เขมรยกเข้าจับญวนฆ่าตายและแตกหนีไปหลายบ้านหลายเมือง  อนึ่ง เขมรเจ้าเมืองกำแพงขมุม ๑  เมืองไพรระแวง ๑  เมืองลำดวน ๑  เมืองสวายพาบ ๑  กับพวกแขกเขมรบ้านดงดำรีพร้อมกันกับเมืองทั้งสี่นั้น ยกกองทัพจู่โจมเข้าตีค่ายญวนที่ดงดำรีแตกหมด  เขมรฆ่าญวนตายในค่ายและนอกค่ายดงดำรีครั้งนั้นประมาณห้าร้อยเศษ  เขมรยกเลยไปรบญวนที่ตั้งอยู่ ณ เกาะใหญ่  นำไฟเผาที่อยู่อาศัยของญวนไหม้ขึ้นหมด  ญวนตกใจไฟหนีออกจากที่โรงอาศัย  เขมรก็พาช้างและกระบือไล่ญวน  ญวนก็ลงน้ำว่ายวนเวียนอยู่มาก  เขมรจึงไล่ยิงฟันแทงญวนตายในน้ำและบนบกที่เกาะนั้น  ญวนตายสิ้นไม่เหลือเลยถึง ๓๖๐ คน  แล้วเขมรก็ตีต่อไปตลอดถึงบ้านเปียมจอ  แต่ที่บ้านเปียมจอนี้ญวนรู้ตัวก่อน  จึงแตกหนีรอดไปได้มาก  ที่หนีไมทันนั้นเขมรก็ฆ่าตาย ๔๖ คน  แล้วเผายุ้งข้าวเกลือเสีย  เก็บเครื่องอาวุธมาได้มาก  จับได้ผู้หญิงญวนมากก็พามาใช้สอยที่บ้านเขมร  แต่ชายที่จับเป็นได้ถ้าเป็นญวนแก่ชรา เขมรก็ฆ่าเสียหมด  รับแต่ญวนชายฉกรรจ์ไว้ ๑๖๔ คน  ส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาบ้าง  เขมรคุมไว้ใช้ให้เลี้ยงช้างม้าโคกระบือบ้าง  แต่ตัดหูเสียทั้งสองข้างทุกคน  เป็นการสัญญาว่า  เชลยจับมาได้ใช้การงานหนักที่สุด  แต่พวกแขกเขมรนั้นจับญวนเป็นได้พามาไว้แต่ผู้หญิงนั้น  ถ้าเป็นชายฆ่าเสียหมด

(https://i.ibb.co/nrdD3Jv/Unticxtled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นองอันภู่แม่ทัพญวนใช้ให้พระยา,พระเขมรสามนายเป็นแม่ทัพ  คือ  พระยาวังภูมิ ๑  พระยาราชาเดชะ ๑  พระยาราชาไมตรี ๑  คุมไพร่พลเขมรที่อยู่ในอำนาจญวน  ญวนกำกับมาด้วย  แล้วญวนให้แขกจามชื่อแขกนอก ๑  แขกอินทรวิชัย ๑  คุมแขกจาม ๕๐๐ พระยา,พระเขมรคุมเขมร ๕๐๐  องหับเป็นผู้บังคับทั้งเขมรและแขกจามมีไพร่พลญวนมาด้วย ๕๐๐  รวมญวน ๕๐๐  เขมร ๕๐๐  แขกจาม ๕๐๐  รวมทั้งสิ้น ๑,๕๐๐ คน  ยกมารบเมืองสำโรงทอง

(https://i.ibb.co/Dk5Y3r9/Unti89tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาอุไทยธิราชเจ้าเมืองสำโรงทองฝีมือทัพศึกแกล้วกล้าสามารถหนัก  จึงยกไพร่พลออกต่อสู้ญวนตั้งแต่เช้าจนเพลาเพล  ตีญวนแตกหนีไปหมด  ฆ่าญวนตาย ๑๑๐ คน  ฆ่าเขมรแขกจามที่มาด้วยญวนนั้นตาย ๒๖๐ คน  จับเป็นได้แต่แขกจามและเขมรในกองญวน ๑๔๐ คน  ผ่าอกตายทั้งสิ้น  จับตัวพระยาวังภูมิไว้  แต่พระยาราชาเดชะถูกปืนตายในที่รบ  แต่พระยาราชาไมตรีหนีกลับไปหาญวน  ญวนโกรธว่านำทัพไปแตกมา  ให้ฆ่าพระยาราชาไมตรีเสียทั้งไพร่พลที่แตกทัพมาเท่าใด  ญวนสั่งให้ฆ่าเสียสิ้น  พระยาราชาไมตรีพร้อมกับไพร่พลเขมรเห็นว่า  ญวนไม่เลี้ยงแล้วจะฆ่าเสียดังนั้น  จึงพากันกำเริบลุกลามยกเข้าฆ่าญวนเสียบ้าง  แล้วก็หนีมาหาพระยาอุไทยธิราช  พระยาอุไทยธิราชสำคัญว่าพระยาราชาไมตรียกมาตีเมืองสำโรงทองอีก  เพราะมีเครื่องอาวุธมาครบมือกัน  ไม่ทันรู้เหตุการณ์นัก  เมื่อพระยาราชาไมตรีมาใกล้เมืองสำโรงทองนั้น  พระยาอุไทยธิราชก็สั่งให้นำปืนตับยิงไปถูกพระยาราชาไมตรีตาย  ไพร่พลก็วางอาวุธเข้าหาโดยดี  จึงรู้เหตุการณ์ว่าหนีญวนมา........

(https://i.ibb.co/MPQ9CcP/641.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบบังคมทูลถึงการเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อจะทำศึกใหญ่กับญวนอีกครั้งหนึ่ง  ยังไม่ทันจะยกทัพใหญ่เข้าเขมร  ภายในเมืองเขมรก็เกิดการจลาจล  เขมรกำเริบรวมตัวกันยกเข้าโจมตีค่ายญวนและเข่นฆ่าญวนตายเป็นเบือ  แม่ทัพญวนเมืองโปริสาดจัดทัพยกไปตีเมืองสำโรงทองก็พ่ายแพ้ยับเยิน  แม่ทัพญวนสั่งฆ่าแม่ทัพและไพร่พลเขมรที่รบแพ้มา  เป็นเหตุให้เขมรกำเริบลุกลามใหญ่  สงครามในเขมรเริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว  ติดตามอ่านต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, กุมภาพันธ์, 2564, 09:55:16 PM
(https://i.ibb.co/747vqDN/Untitl96ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๔ -

องเตียนกุนจัดทัพแบบสมทบ
ยกเข้ารบเขมรบ้างอย่างไร้ผล
ถูกเขมรตีตายเสียไพร่พล
ทัพปี้ป่นถูกหมิ่นญวนสิ้นเชิง

พระยาเขมรหลายเมืองแค้นเคืองหนัก
ญวนมาพักพลมุ่งทำยุ่งเหยิง
จึงตีญวนให้เตลิดไล่เปิดเปิง
ไม่ปล่อยเหลิงลอยนวลกวนขะแมร์


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...  เจ้าเมืองเขมรสี่เมืองประกอบด้วยเมืองกำแพงขมุม  เมืองไพรระแวง  เมืองลำดวน  เมืองสวายพาบ  นำชาวเขมรยกเป็นกองทัพเข้าตีค่ายญวนที่ดงดำรี  เข่นฆ่าเขมรตายไป ๕๐๐ คน  แล้วยกเลยเข้าตี เผาค่ายญวนที่เกาะใหญ่  ฆ่าญวนตายเป็นอันมาก  ที่จับเป็นได้ก็เลือกชายฉกรรจ์ไว้ใช้บ้าง  ส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาบ้าง  ที่เป็นชายชราก็ฆ่าเสียสิ้น  ส่วนพวกแขกเขมรที่จับญวนผู้ชายได้นั้น  ไม่เก็บไว้ใช้  แต่ฆ่าผ่าอกทิ้งเสียสิ้น  ฝ่ายองอันภู่แม่ทัพญวนที่รักษาเมืองโปริสาดจัดทัพมีไพร่พล ๑,๕๐๐  เป็นญวน ๕๐๐  เขมร ๕๐๐  แขกจาม ๕๐๐  ญวนเป็นนายทัพใหญ่ยกไปตีเมืองสำโรงทอง  พระยาอุไทยธิราชเจ้าเมืองนี้มีฝีมือเข้มแข็ง  ยกทัพออกต่อสู้  ทัพญวนพ่ายแพ้ยับเยินแตกหนีไป  แม่ทัพญวนเมืองโปริสาดโกรธแม่ทัพเขมรที่พ่ายแพ้กลับมา  จึงสั่งฆ่าแม่ทัพและไพร่พลเสีย  แต่พระยาราชาไมตรีและไพร่พลไม่ยอมให้ฆ่า  จึงต่อสู้เข่นฆ่าญวนแล้วยกกลับไปหาพะยาอุไทยธิราช  พะยาอุไทยธิราชเข้าใจผิดคิดว่า  พระยาราชาไมตรียกมาตีเมืองสำโรงทองอีก  จึงสั่งให้ทหารใช้ปืนยิงใส่ทัพพระยาราชาไมตรี  พระยาราชาไมตรีถูกกระสุนปืนตาย.....  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ

(https://i.ibb.co/VDWwyZB/Untistled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           “..........แล้วองเตียนกุนใช้ให้นายทัพญวนชื่อองเดโดยกวางคุมทัพญวนแขกจาม  นายทัพญวนแขกจามชื่อว้ายเทียบดเป็นน้ององญวนชื่อเวียนไว้  คุมไพร่แขก ๘๐๐ ญวน ๕๐๐  รวม ๑,๓๐๐ คน  ลงเรือรบแง่โอแง่ทราย ๒๐ ลำ  เรือรบอย่างเล็ก ๓๐ ลำ  รวม ๕๐ ลำ  ยกมารบกับพระยาทิพยสงครามเขมร ณ บ้านฉนวน  บ้านฉนวนได้แต่งกองทัพเขมรออกต่อสู้กับญวน  ญวนแตกหนีบ้างตายในที่รบประมาณ ๘๐ เศษ  จับเป็นได้ทั้งแขกจามและญวน ๔๖ คน  ฆ่าเสียบ้าง  พามาไว้บ้าง  แล้วพระยาทิพยสงครามกับพระภักดีสงครามผู้บุตรชายใหญ่ ยกทัพเรือที่เก็บของญวนไว้ได้ ๒๖ ลำนั้น  ไล่ติดตามทัพแขกและญวนไปจนถึงบ้านแขกชวาคลองหลวง  พระยาทิพยสงครามสั่งให้พระภักดีสงครามผู้บุตรยกขึ้นบก  นำไฟเผาบ้านเรือนพวกแขกชวาตามริมคลองทั้งสองฟากไหม้สิ้นไม่เหลือเลย  แล้วตามไปตีแขกจามยวน  แขกจามญวนกลัวกระโดดจากเรือหนีขึ้นบกบุกป่าไปทิ้งเรือเสียหมด  พระยาทิพยสงรามก็เก็บเรือรบญวนเรือไล่ของญวนได้ทั้ง ๕๐ ลำ  กลับมาจัดการรักษาบ้านฉนวนไว้รับญวนอีก  ครั้งนั้นพระยาทิพยสงครามจับญวนแขกเชลยเป็นได้รวม ญวน ๑๖๘ คน  แขกจาม ๓๘๖ คน  รวม ๕๕๔ คน  คุมไว้ในค่ายแล้วจะส่งไปให้แม่ทัพไทยทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/jGG93WV/titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาราชเดชะเขมรกับพระอนุรักษ์เสนีผู้น้องภรรยา  คุมกองทัพใหญ่ยกไปตีค่ายพนมเปญแตก  ได้กวาดต้อนครอบครัวเมืองพนมเปญที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก  เลือกคัดแต่เขมรที่เป็นชายฉกรรจ์ได้ ๓,๓๒๖ คน  แขกเขมรชายฉกรรจ์ ๑,๑๔๔ คน  รวมเขมรและแขก ๔,๔๗๐ คน แต่ชายฉกรรจ์ ยังหญิงและลูกวิ่งลูกจูงและชายหญิงแก่ชรา รวม ๑๐๐,๐๐๐ คนเศษ  ให้พระอุทัยวงศาธิราชคุมครอบครัวอยู่ก่อน  แล้วให้ผ่อนเดินครัวมาตอภายหลัง  แต่พระยาราชเดชะนั้นกวาดต้อนได้ไพร่พลเขมรแขกฉกรรจ์ ๔,๔๗๐ คน  แล้วยกไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ ริมฝั่งตำบลเจียนสวายเป็นที่มั่น  แล้วยกทัพใหญ่ไปตีค่ายญวนที่ตำบลดำรี (คือที่โรงช้างแถว)  ญวนต่อสู้อยู่ครู่หนึ่งก็แตกทุกค่าย  เขมรฆ่าญวนประมาณ ๔๐๐ คน  แล้วเก็บได้เรือรบญวนอย่างเรือแง่โอ ๗๐ ลำ  ปืนใหญ่ ๕๐ บอก  ปืนคาบศิลา ๑,๓๗๐ บอก  ได้ดาบง้าวแป๊ะกั๊ก ๔,๒๖๐ เล่ม  กระสุนดินดำพร้อมทั้งเสบียงอาหารด้วย  จับญวนเชลยได้ ๑๘๙ คน  แต่ญวนแม่ทัพชื่อองตือถูกปืนที่ท้องตลอดไปข้างหลังตายอยู่ในที่รบ  ได้ศพมาผ่าอกเสียบไว้หน้าค่าย  ญวนนอกนั้นก็แตกหนีไปสิ้น ๒,๐๐๐ เศษ  ฝ่ายพระยาทิพยสงครามเขมรได้เรือรบของญวน ๕๐ ลำ  แล้วให้พระภักดีสงครามผู้บุตรใหญ่  พระหฤทัยธิราชผู้บุตรรองทั้งสองคนคุมทัพเรือยกเป็นกองหน้า  พระยาทิพยสงครามเป็นกองหนุน  ยกลงไปตีค่ายญวนที่เมืองปาศักดิ์แตก  ญวนตายประมาณ ๘๐ เศษ  ที่เหลือก็ทิ้งค่ายหนีไปหมด  พระยาทิพยสงครามได้เรือรบแง่โอของญวนจอดไว้หน้าค่าย ๗๐ ลำ  มีปืนใหญ่ ๒๐๐ บอก  ปืนเล็กคาบศิลา ๑,๔๐๐ บอ ก เก็บมาไว้ที่ค่ายบ้านฉนวน  แล้วเผาเมืองปาศักดิ์เสียหมด

(https://i.ibb.co/RbZZdzt/Unt-itled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาโยธาเสนาเขมรแม่กองอยู่ที่เมืองกำปอด  คิดพร้อมใจด้วยพระยาภิมุขวงศา  และ พระยาวิเศษโยธาธิราช  และพระยาพระเขมรทั้งหลาย  คุมไพร่พลเขมร ๒,๐๐๐ คน  ยกกองทัพไปตีค่ายญวนที่ตำบลตำหนักจังเจอ  ฆ่าญวนตายในที่รบ ๑๘๖ คน  ญวนที่เหลือตายสู้รบอยู่วันกับคืนหนึ่งก็ทิ้งค่ายแตกหนีไปสิ้น  พระยาโยธาเสนาเก็บได้เครื่องศาสตราวุธของญวนเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/nCfz0JW/Un-titled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วพระยาโยธาเสนาแบ่งไพร่พล ๕๐๐  ให้พระยาภิมุขวงศาคุมเชลยญวนที่จับเป็นได้และเครื่องอาวุธไว้ให้ดี  ส่วนพระยาโยธาเสนาแบ่งไพร่พล ๑,๕๐๐ คน  ให้พระเมืองซ้ายเป็นนายทัพหน้า  พระยาโยธาเสนาเป็นทัพหนุน  ยกมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลริมฝั่งคลองลำภูราย  หมายจะรบญวนอีก  ไม่เห็นญวนยกมา  พระยาโยธาว่ากับพระเมืองซ้ายว่า     “อ้ายญวนมันไม่มารบเรา  เราก็ต้องยกไปรบมันให้แตกไปให้หมดจงได้”    พอพูดไม่ทันขาดคำลงได้ยินเสียงกลองศึกญวนตีเดินทัพมาข้างหลังค่าย  พระยาโยธาเสนาก็ยกพลทหารแยกออกเป็นปีกกาโอบตีทัพญวนไปตั้งแต่เที่ยงจนพลบค่ำ  ทัพญวนก็แตกถอยหนีไปหมด  ญวนตายในขณะรบประมาณแต่ที่ได้เห็นศพ ๑๕๐ คน  จับได้ช้าง ๑๘ ช้าง  ม้า ๓๖ ม้า  ปืนใหญ่หลังช้าง ๑๓ บอก  ปืนเล็กคาบศิลา ๑๖๗ บอก  ดาบง้าวสามร้อยแปดสิบหกเล่ม กลองศึก ๒ ใบ  ม้าล่อ ๕ ใบ  ธงรูปเสือและมังกร ๑๖ คัน  ส่งมาให้แม่ทัพไทยเป็นของสำแดงฝีมือว่า  เขมรกลับใจมาเข้ากับไทย  ไม่ยอมเป็นข้าญวน  จึงได้รบญวนแข็งแรงได้สิ่งของสำคัญมาเป็นกำนัลก็มาก

(https://i.ibb.co/rHKB3Fp/Untit-led-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนสิบ แรมสิบค่ำ ปีชวด โทศก พระยามโนสงคราม (ชื่อสุก)  กับพระยามนตรีเสน่หา (ชื่อหนู)  พระยามโนราชา (ชื่อสา)  พร้อมกันกับกะลาภา ๑   คุมไพร่พลเขมรแขกจาม ๓,๐๐๐ คนเศษ  ยกไปตีค่ายพระยาสุริยวงศ์เขมร (ชื่อเมียด)  และพระยาพิษณุโลก (ชื่อเนือก)  พระยาเขมรทั้งสองนี้อาสาญวน  ญวนใช้ให้มาเป็นแม่ทัพตั้งรับค่ายพวกเขมรฝ่ายใต้และค่ายญวนอีกสามค่าย  กองทัพพระยามโนสงคราม, พระยามโนราชา, พระยามนตรีเสน่หา  เขมรสามพระยายกเข้าตีค่ายญวนและค่ายเขมรที่เมืองครั้งนั้นแตกทุกค่ายหนีไปหมด  แล้วพระยาทั้งสามก็ตามลงไปตีญวนไล่ติดตามไปถึงค่ายกะพงปรักใหญ่จับได้ตัวพระพิษณุโลกเขมร (ชื่อเนือก) นายทัพของญวนมาได้  แล้วสั่งให้ตัดหูทั้งสองข้างส่งตัวไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาถามการ  แต่พระยาสุริยวงศ์ (ชื่อเมียด) นั้นถูกปืนตายอยู่กับหลังช้าง  องฮือแม่ทัพญวน ณ ค่ายเมืองครั้งนั้นก็ถูกกระสุนปืนลำบากหนีไปไม่ได้  เขมรจับตัวมาได้แต่ถูกเข่าถูกศอกมาตามทางยอก ๆ  ถึงที่พักได้สองวันก็อาเจียนเป็นโลหิตออกมาสามครั้งก็ตาย  จึงนำศพไปผ่าอกเสียบไว้หน้าค่าย

          ครั้งรบค่ายที่เมืองครั้งนั้นญวนตายประมาณ ๕๐๐ คน  ที่หนีไปได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ  บางคนว่าตายกับหนีไปคนละครึ่ง  แล้วพระยาเขมรทั้งสามคน  ก็ยกทัพตามญวนลงไปตีค่ายกะพงเกษแตกอีก  ฆ่าญวนตายประมาณ ๒๐๐ คนเศษ  จับเป็นมาได้ ๑๒๐ คน  แล้วยกเลยไปตีค่ายญวนที่กะพงบายอีกตำบลหนึ่ง  ฆ่าญวนตาย ๑๕ คน  ที่หนีไปได้มากเพราะรู้ตัว.......”

(https://i.ibb.co/W3VD0Qt/Unti-tled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** อ่านเรื่องมาถึงตอนนี้หลายท่านคงจะคิดสงสัยนะว่า  ไพร่พลกองทัพญวนในเขมรทำไมอ่อนแอนัก  รบกับเขมรทีไร  ตรงไหน  ก็แพ้ทีนั้น  ตรงนั้น  ถูกเขมรฆ่าตายจนเบื่อจะนับศพแล้ว  ฝ่ายเขมรนั้นเข้มแข็งจนผิดหูผิดตา  ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะเขมรรบญวนด้วยแรงแค้นอาฆาตที่ญวนกดขี่ข่มเหงรังแกเขมรมากเกินไป  จนถึงกับจับนักองแป้น กษัตรีกัมพูชา  เอาแอบไปฆ่าถ่วงน้ำเสีย  ทั้งยังพานักองทั้งหลายของเขมรไปกักขังไว้ที่เว้และไซ่ง่อนอีกด้วย  ญวนพยายามทำลายล้างชาติเขมรอย่างเลือดเย็น  เป็นเหตุให้เขมรเคียดแค้นชิงชังญวนเป็นที่สุด  ยามรบญวนจึงรบด้วยแรงอาฆาตแค้น  ญวนถูกเข่นฆ่าอย่างไร้ความปรานี  ไทยยังไม่ทันได้กรีธาทัพเข้าเขมรเพื่อรบญวน  แต่เขมรก็ลุกขึ้นไล่ตีญวนไปทุกบ้านทุกเมืองแล้ว  ตอนต่อไปมาอ่านต่อว่า  เขมรยกไปฆ่าญวนที่ใดอีกบ้างครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กุมภาพันธ์, 2564, 10:17:07 PM
(https://i.ibb.co/p3s3vp8/Untdfitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)


- อานามสยามยุทธ ๑๒๔ -

เขมรเดือดเชือดญวนอยู่ป่วนปั่น
จ้องฆ่าฟันกลุ้มรุมทั้งหนุ่มแก่
เพราะศรัทธาในญวนนั้นปรวนแปร
ลางพ่ายแพ้ญวนเห็นเป็นแน่นอน

กองทัพไทยกรีธาเข้าเขมร
ด้วยกรรมเวรแต่หลังสืบปางก่อน
ให้เกิดมารบกันไม่หวั่นมรณ์
มิยอมอ่อนข้อข้นรณรงค์


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...  ..พระยาเจ้าเมืองเขมรทุกเมืองลุกฮือขึ้น  พาไพร่พลเข้าตีค่ายญวนหลายค่ายหลายเมืองแตกยับเยิน  ฆ่าญวนล้มตายเป็นอันมาก  พระยาเจ้าเมืองคนสำคัญ ๆ เช่น  พระยาทิพยสงครามและบุตร  สามารถทำลายกองทัพขององเตียนกุนพ่ายแพ้ยับเยิน  แล้วตามตีญวนแตกทำลายไปหลายค่าย  พระยาโยธาเสนา พระยาภิมุขวงศา พระยาวิเศษโยธาธิราช แห่งเมืองกำปอด  คบคิดกันตีค่ายญวนแตกทลาย  ตามไล่ฆ่าญวนตายเป็นว่าเล่น  พระยามโนสงคราม (สุก) พระยามนตรีเสน่หา (หนู) พระยามโนราชา(สา) ยกเข้าตีค่ายเขมรอาสาญวนสามค่ายแตก  ทำลายฆ่าญวนและเขมรอาสาญวนเสียมาก  ยังมีพระยาเจ้าเมืองเขมรคนสำคัญที่พาไพร่พลขับไล่เข่นฆ่าญวนอีกหลายท่าน  เป็นใครบ้างมาอ่านกันต่อครับ...

(https://i.ibb.co/KWpcY39/79880958.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ฝ่ายพระยาโยธาเกรียงไกร  ยกไพร่พล ๑,๒๐๐ คนไปรบญวนที่ตำหนักจังเจอ  ฆ่าญวนตาย ๔๐ คน  ที่เหลือนั้นแตกหนีไปหม ด จับได้ช้าง ๑๖ ช้าง  ม้า ๓๖ ม้า  และเครื่องศาสตราวุธมากทุกสิ่ง

          ฝ่ายพระยาเชษฐาธิราชคุมไพร่พลเขมร ๖๐๐ คน  ยกมาล้อมจับเจ้าเมืองกะพงเสียมที่ญวนให้มาตั้งอยู่นั้น  ได้ตัวพระยานราธิบดีศรีสุริยวงศ์เจ้าเมืองกะพงเสียมไป  แล้วก็ฆ่าเสียไม่เลี้ยงไว้  เพราะเป็นเขมรไปเข้ากับญวน  แล้วล้อมจับญวนรักษาเมืองกะพงเสียมได้ ๑๓๐ คน  ญวนไม่ทันรู้ตัว  ไม่มีอาวุธ  จึงไม่สู้รบ  ยอมให้เขมรจับโดยดีทั้งร้อยสามสิบ  พระยาเชษฐาธิราชสั่งให้พระนรินทราธิราช เลือกดูญวนที่แก่ชรา ๓๐ คน  ตัดลิ้น  ตัดหู  ตัดมือ  แล้วปล่อยให้ไปหาเจ้านายที่เมืองญวน  ยังเหลืออยู่อีก ๑๐๐ คน  ให้จำตรวนส่งไปยังค่ายใหญ่ใช้งานหนักที่สุด

          ฝ่ายพระยาบรรพสรรพเจ้าเมืองเชิงป่า  ยกเข้าล้อมญวนที่รักษาเมืองเชิงป่าในเวลากลางคืน  จับญวนได้ ๓๐ คน  ที่รู้ตัวก็ต่อสู้ตายในที่รบ  นับศพญวนได้ ๕๐ ศพ  ที่เหลือตาย ๒๖ คนก็หนีไป  เขมรก็ตามจับได้ในเวลาเช้าทั้ง ๒๖ คน  รวมญวน ๕๐ คน  เลือกไว้ใช้ ๑๖ คน  อีก ๓๔ คนตัดมือทั้งสองข้างและตัดหูตัดปากปล่อยไปหาเจ้านายมัน

(https://i.ibb.co/Z2WnxkB/images105834-Chienthang.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพวกเขมรพร้อมใจกันรบกับญวนและจับญวนฆ่าเสียทุกบ้านทุกเมืองที่มีญวนอยู่ก็ฆ่าเสียสิ้น  ชั้นแต่ไพร่บ้านพลเมืองราษฎรเขมรก็โกรธญวน  จึงคุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นกอง  กองละ ๓๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง  พากันเที่ยวไล่ฆ่าญวน  ถ้าเห็นพวกญวนเดินมามาก เขมรชาวบ้านราษฎรน้อย ก็หลบหนีเสียหมด  ครั้นเห็นพวกญวนเดินมาน้อยตัวกว่าเขมร  เขมรก็พากันช่วยกลุ้มรุมฆ่าญวนตายเนือง ๆ ดังนี้เสมอมิได้ขาดสักวันหนึ่ง  จนญวนหมดความคิดที่จะต่อสู้เขมร  ญวนก็คับแค้นเข้าทุกที  ต้องรักษาตัวอยู่แต่ในค่ายจนจะอดอาหารตายก็มีบ้าง   ฝ่ายองอันภู่แลองเดดก แม่ทัพนายกองรักษาเมืองโปริสาดนั้น  ก็สั่งให้นายทัพนายกองไปถอนไพร่พลญวนที่รักษาอยู่ตามค่ายด่านทางนั้น  ให้เลิกกลับมาเข้ารวมอยู่ในเมืองโปริสาดให้หมด  และองชุดดายยกทานแม่ทัพค่ายตะโลก็เลิกทัพกลับมาอยู่เมืองโปริสาดด้วย  ญวนค่ายตะโลถึง ๑,๑๗๐ คน ก็มารวมอยู่กับญวนในเมืองโปริสาดด้วย  รวมทั้งสิ้น ๒๓,๖๐๐ คนอยู่ในเมืองโปริสาด  และครัวเขมรที่นักองอิ่มกวาดต้อนพาไปไว้เมืองพนมเปญและเมืองตะครองหรือเมืองต่าง ๆ นั้น  ก็หนีญวนกลับมาเมืองพระตะบองเนือง ๆ  ครั้งนั้นญวนรักษาตัวยากเต็มที

           (เนื้อความเขมรทำแก่ญวนดังนี้กล่าวไว้โดยพิสดารนั้น  เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายผู้อ่านผู้ฟังเห็นและทราบว่าเขมรเป็นพื้นบ้านพื้นเมืองกำเริบขึ้นเมื่อใด การเป็นเช่นนี้ก็เหลือสติปัญญาและอำนาจนายทัพนายกองญวนจะปราบปรามให้สงบลงได้โดยเร็วยากเป็นอย่างยิ่งแล้ว  อย่าว่าแต่คราวนี้ญวนปราบปรามเขมรกบฏกำเริบไม่หยุดนั้น  ถึงกองทัพไทยยกไปรบกับญวน  เมื่อปีมะเส็งเบญจศกคราวก่อนนั้น  ก็ถูกพวกเขมรกลับใจไปเข้ากับญวน  เขมรก็กำเริบขึ้นยกมาซ้ำเติมฆ่าฟันกองทัพไทยตายคราวก่อนนั้น  ก็เหมือนเขมรทำแก่ญวนคราวนี้  เป็นการเช่นนี้ขึ้นครั้งใดคราวใด  แม่ทัพไทยและแม่ทัพญวนจะรักษาตัวและรักษาอำนาจก็ยากนัก  ได้แต่ล่าหนีอย่างเดียว  เพราะเขมรเป็นพื้นเมือง)

          ครั้น ณ เดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ ปีชวด นพศกนั้น  นายทัพนายกองไทยก็ยกมาถึงเมืองพระตะบองพร้อมกันแล้ว

(https://i.ibb.co/ZScYbfW/U78ntitled-2-350.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนสิบสอง ขึ้นสิบสามค่ำ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกระบวนทัพที่จะไปรบญวนนั้น  ให้พระยาราชนิกูล (ชื่อเสือ) ๑  พระยาอภัยสงครามเจ้ากรมอาสาหกเหล่าในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงรักษาเทพเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑  จมื่นชัยภูษาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑  จมื่นศักดิ์บริบาลปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ  หลวงนเรนทร์โยธีในพระราชวังหลวง ๑   เป็นข้าหลวง ๖ นาย  กำกับทัพหัวเมืองคุมไพร่พลไทยลาว ๒,๐๐๐ คน  ไพร่เขมรป่าดง ๑๑,๐๐๐ คน รวมไพร่ ๑๓,๐๐๐ คน

(https://i.ibb.co/swvSKP5/Untitl65ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาราชนิกูลเป็นแม่ทัพยกไปพระยาเดโชเขมรเจ้าเมืองกำพงสวาย  ตีค่ายญวนที่ตั้งอยู่ ณ กำปงธม  แต่ให้แยกทัพไทยลาวไปตีค่ายญวน ณ เมืองชิแครงด้วย  แล้วให้แต่งเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจพระราชวังบวรฯ  คุมไพร่พลไปตีค่ายญวน ณ เมืองสะโทงอีกแห่งหนึ่ง  พระยาเดโชเขมรมีไพร่พล ๒,๐๐๙ คน  เข้าสมทบกับพระยาราชนิกูลเป็นพล ๑๕,๐๐๙ คน  ยกไปตีทัพญวนเข้าล้อมค่ายญวนที่เมืองชิแครงสี่วัน  ค่ายญวนก็แตกหนีไปได้มาก  ฆ่าตายเสียประมาณ ๔๐๐ คน  ได้ค่ายและเครื่องศาสตราวุธมาก  พระยาราชนิกูลและนายทัพนายกองไทย ก็ยกเข้าตั้งอยู่ในค่ายชิแครง  ได้อาศัยเสบียงอาหารพร้อม

(https://i.ibb.co/f1J0Tzc/Untitleswd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้จัดทัพอีกกองหนึ่ง  ไพร่พลไทยกรุงเทพฯ ๑,๗๐๐ คน  เขมรป่าดงลาวหัวเมือง ๒,๖๑๒ คน รวม ๔,๓๑๒ คน  ให้พระพิเรนทรเทพเจ้ากรมพระตำในพระราชวังหลวงเป็นแม่ทัพ ๑  พระฤทธิเดชะเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑  พระอภัยบริบาลเจ้ากรมพระคลังในขวาในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงรักษาจัตุรงค์ ๑  หลวงภักดีโยธา ๑  หลวงอภัยเสนา ๑  รวมหกคนคุมไพร่พล ๔,๓๑๒ คน  ยกไปตีค่ายญวน ณ เมืองโปริสาด  ยกไปแต่ ณ เดือนสิบสอง แรมเจ็ดค่ำ

(https://i.ibb.co/DM6jR9f/Untdasitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วจัดทัพอีกกองหนึ่งไพร่พลกรุงเทพฯ ๑,๒๐๕ คน  ลาวหัวเมืองและไทยโคราช ๑,๔๔๕ คน  ให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพ ๑  พระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา ๑  พระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ๑  พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา ๑  พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา ๑  เป็นนายทัพหัวเมืองห้าคน  ให้พระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวร ๑  จมื่นศักดิ์เสนารักษ์  ปลัดกรมพระตำรวจพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงราชเสวกเจ้ากรมรักษาพระองค์ในพระราชวังหลวง ๑  หลวงศรีสงครามเจ้ากรมอาสาใหม่ในพระราชวังหลวง ๑  รวมสี่คนเป็นข้าหลวงกำกับทัพหัวเมือง  เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาพรหมสุรินทร์ยกทัพไปตีค่ายญวนที่กำพงปรัก แต่ ณ เดือนสิบสอง แรมสิบเอ็ดค่ำ

(https://i.ibb.co/s5Z77pC/Unxztitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วจัดทัพอีกกองหนึ่ง  ไพร่ไทยในกรุงและหัวเมือง ๑,๕๒๐ คน  ให้พระยาเพชรบูรณ์เป็นแม่ทัพหน้าคุมไพร่พลลาวหัวเมือง  ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่ทัพหน้าคุมไพร่ไทยหัวเมือง  เจ้าพระยาบดินเดชาคุมไพร่พลไทยในกรุงเป็นแม่ทัพหลวง  ให้พระยาเพธราชากับพระยาประกฤศณุรักษ์เป็นแม่กองช้าง  ให้พระสินธพอมเรศร์คุมทหารม้าในพระราชวังบวรฯ ๘๐๐  เป็นทัพม้าใช้ราชการ  ให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลคุมไทยลาวเป็นทัพหลัง  ทัพเจ้าพระยานครราชสีมายกไปวันแรมสิบเอ็ดค่ำ

          รุ่งขึ้น ณ เดือนสิบสองแรมสิบสองค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกทัพใหญ่ตามลงไป  ให้สนองจอกเขมรเป็นผู้นำทัพ

        (ยกทัพครั้งนี้ ๔ ทัพ  รวมไพร่พลไทยในกรุงและหัวเมือง ๖,๔๒๕ รวมไพร่พลเขมรป่าดงหัวเมืองตะวันออกและไพร่ลาวหัวเมืองตะวันออกด้วย  เป็นเขมรลาว ๒๘,๐๖๖ คน  สิริรวมทั้งไทยลาวเขมรป่าดงทั้งสิ้นด้วยกัน ๔ ทัพเป็นคน ๓๔,๔๙๑ คน  ว่ามานี้แต่ไพร่ทั้งสิ้น  ยังขุนหมื่นพันทนายกำนันเสมียนคนใช้การผู้ดีมีอีกต่างหาก)......”

(https://i.ibb.co/tL1jN8G/Untitledw-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** สถานการณ์ญวนในเขมรตอนนี้อยู่ในภาวะคับขันมาก  เขมรลุกฮือขึ้น  ไม่ใช่ขับไล่ญวน  หากแต่จ้องจะเข่นฆ่าให้ตายถ่ายเดียว  แม่ทัพญวนต้องสั่งถอนกำลังจากด่านทางต่างเข้าอยู่รวมในเมืองใหญ่  เพราะถูกเขมรฆ่าตายไม่เว้นแต่ละวัน  และไม่ทันที่จะหาวิธีรับมือเขมรให้ได้นั้น  กองทัพไทยโดยการนำของเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกจากเมืองพระตะบองเข้าช่วยเขมรโจมตี  เข่นฆ่าญวนแล้ว  ผลการรบในเขมรจะเป็นเช่นไร  ตามอ่านกันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, กุมภาพันธ์, 2564, 10:15:49 PM
(https://i.ibb.co/ygV4Bvb/Unti562tled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๕ -

ไทยยกทัพล้อมญวน “โปริสาด”
หมายพิฆาตญวนยุ่ยเป็นผุยผง
ทั้งสองฝ่ายไม่ย่อทระนง
ต่างตายลงกลางสนามรบตามกัน

ผู้ตายมากกว่าไทยเป็นหลายส่วน
คือฝ่ายญวนที่สู้อยู่คับขัน
ไทยเขมรพรั่งพร้อมล้อมฆ่าฟัน
ใกล้ถึงวันแตกดับพ่ายยับเยิน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   ขณะที่เขมรทุกบ้านทุกเมืองลุกขึ้นขับไล่ข้าฟันญวนทั่วประเทศนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งรอทัพหัวเมืองต่าง ๆ ของไทยยกไปสมทบที่เมืองพระตะบอง  กองกำลังเขมรที่ตีค่ายญวนแตกจับญวนเป็นเชลยได้บ้าง  ก็ส่งชายฉกรรจ์เชลยพร้อมสรรพาวุธไปให้เสมอ ๆ  ครั้นกองทัพไทยเดินทางไปถึงเมืองพระตะบองพร้อมกันแล้ว  เจ้าพระยาบดินเดชาจึงจัดทัพยกไปตีค่ายญวนตามเมืองต่าง ๆ ทันที  โดยจัดทัพเป็นสี่ทัพ  จัดให้พระยาราชนิกูล (เสือ) เป็นแม่ทัพ ทัพหนึ่ง  จัดให้พระพิเรนทรเทพเป็นแม่ทัพ ทัพหนึ่ง  จัดให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพ ทัพหนึ่ง  และเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพหลวงอีกทัพหนึ่ง  ยกเข้าร่วมกับกองกำลังเขมรเข้าตีค่ายญวนทุกหนทุกแห่ง  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/pjqYMNG/Untitledsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายกไปถึงเมืองโปริสาด ณ เดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง  ตั้งค่ายพักอยู่ตำบลบ้าน (ตึกโขลก) เป็นภาษาเขมรเรียกกันแปลเป็นภาษาไทยว่าบ้าน  “น้ำเต้า”  ครั้งนั้น พระยา,พระ เขมรหัวเมืองที่ต่อสู้กับญวนนั้น  มีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา ๑๘ ฉบับ  เป็นใจความคล้าย ๆ กัน  บอกแจ้งความว่า  “ที่ได้รบกับญวนมีชัยชนะบ้าง  ได้ญวนเชลยและช้างม้าเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ  ก็ส่งมาให้บ้างไว้ใช้บ้าง  แล้วบอกข้อราชการทัพศึกต่าง ๆ และจะขอเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกองทัพไทยบ้างต่าง ๆ  แต่ในหนังสือทุกฉบับมีความต้องกันนั้นคือ  อ้อนวอนขอนักพระองด้วงออกไปเป็นเจ้านายปกครองบ้านเมืองเขมรต่อไป  และมีข้อความอื่นเป็นอันมาก  พรรณนาด้วยความแค้นเคืองญวน  ที่ข่มเหงจองจำทำโทษเจ้านายฝ่ายเขมร  แล้วกล่าวการขันแข่งรับอาสาจะตีญวนกู้แผ่นดินเขมรคืนมาให้นักพระองด้วงให้ได้  และพระยา พระ เขมรทั้งปวงวิงวอนงอนง้อขอนักพระองด้วงเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรนั้นมากกว่า  ความเรื่องอื่น ๆ มีบ้างประปรายแจ้งอยู่ในต้นฉบับทั้ง ๑๘ ฉบับนั้นแล้ว”

(https://i.ibb.co/34T7k1q/Unt85itled-20.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบความตามเหตุนั้นแล้ว  จึงมีหนังสือบอกฉบับหนึ่ง  กับส่งต้นหนังสือของพระยา พระ เขมร ๑๘ ฉบับ  มอบให้จมื่นอินทรเสนาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑  กับนายนรินทรธิเบศร์มหาดเล็กหุ้มแพรในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงอนุชิตพิทักษ์กรมมหาดไทยในพระราชวังหลวง ๑  หลวงสวัสดิ์นคเรศร์กรมพระนครบาลในพระราชวังหลวง ๑  ขุนสวัสดิ์นครินทร ๑  ขุนบดินทร์ธานี ๑  กรมพระนครบาลในพระราชวังบวรฯ ขุนนราเรืองเดช ๑  ขุนวิเศษจัตุรงค์ ๑  ปลัดกรมทนายเลือกในพระราชวังบวรฯ   รวมแปดคน  ถือหนังสือบอกและคุมญวนเชลยที่พระยา พระ เขมรจับส่งมาทุกเมืองนั้นเป็นญวนเชลย ๔๖๔ คน  และไพร่ไทย ๒๐๐ คน  คุมญวนเข้าไปส่งกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/ZfJpDbs/Untsditled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งนายทัพนายกองให้เร่งรีบตั้งค่ายประชิดล้อมค่ายญวนเข้าไปทั้งสี่ด้าน  เป็นการกวดขันมั่นคงโดยสามารถ  ค่ายประชิดไทยตั้งล้อมค่ายญวนห่างประมาณ ๓๐ เส้นบ้าง  ๒๐ เส้นเศษบ้าง  ด้วยแผ่นดินยังเปียกแฉะเป็นน้ำเป็นโคลนอยู่  จะรุกเข้าไปใกล้ไม่ถนัด  จึงตั้งอยู่ห่างทางปืนใหญ่ญวน  เมื่อกำลังไทยยกเข้าตั้งค่ายประชิดนั้น  ญวนก็ยิงปืนออกมาจากค่ายเสมอทุกชั่วโมง  แต่หลวงยอดอาวุธเจ้ากรมกองแก้วจินดาในพระราชวังบวรฯ คุมทหารปืนใหญ่ล้อรางเกวียนอย่างใหม่  ลากไปตั้งหน้าค่ายประชิด  ไทยจึงยิงปืนใหญ่ตอบญวนไปเสมอเหมือนกัน  แต่ปืนใหญ่ฝ่ายไทยทางยาวถึงค่ายญวนทุกที  ปืนใหญ่ฝ่ายญวนทางสั้นถึงหน้าค่ายไทยน้อยนัดนัก  ตกเสียกลางทางมากกว่ามาก  เพราะฉะนั้นไทยจึงตั้งค่ายประชิดได้ถนัดทั้งสี่ด้านโดยเร็ว

(https://i.ibb.co/6b3NVKN/1438632777-IMG6891-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นญวนเห็นไทยตั้งค่ายประชิดล้อมเข้ามาได้ทั้งสี่ด้านดังนั้นแล้ว  ญวนจึงตั้งกองอาสาขี่ม้า ๑๕๐ ม้าออกมานอกค่าย  ไล่ต้อนม้าเข้ายิงไทยที่ทำการอยู่หน้าค่าย  ไทยเห็นญวนขี่ม้ามาเร็วใกล้จะถึงอยู่แล้ว  พวกไทยที่ทำการขุดสนามเพลาะไม่มีอาวุธ  มีแต่พลั่วขุดดิน  จึงกลัวญวน  ก็ขึ้นจากหลุมวิ่งหนีจะเข้าค่าย  ฝ่ายญวนเห็นดังนั้นก็กำเริบยิ่งควบม้าวิ่งเข้ามาใกล้  ก็ยิงปืนหลังม้ามาถูกคนไทยที่ทำการเจ็บป่วยหลายคน  แต่ไม่เป็นอันตราย  ขณะนั้นไทยก็หนีเข้าค่ายได้บ้าง  ที่หนีไม่ทันก็ลงอยู่ในคูสนามเพลาะแอบบังกระสุนปืนญวน  ญวนก็ไล่เข้ามาใกล้มากเกือบจะถึงสนามเพลาะอยู่แล้ว  ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาร้องสั่งไทยที่อยู่ในคูสนามเพลาะให้ขึ้นจากคู  วิ่งหนีมาเข้าค่ายเสียโดยเร็ว  แต่พอไทย ๒๘ คน ขึ้นจากคูสนามเพลาะแล้ว  ญวนก็ไล่ติดหลังมาทีเดียว  ในทันใดนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้ทหารในค่ายวางปืนหามแล่นที่ตั้งไว้เป็นตับยิงออกไปตับแรก  ถูกทหารม้าญวนตายทั้งคนและม้า ๔๖  ถูกไทย ๒๘ คนที่วิ่งหนีนำหน้าญวนมานั้นตายหมด  แล้วยิงปืนตับออกไปอีกคราวหนึ่ง  ถูกทหารม้าญวนตายอีก ๒๑ คนทั้งม้าด้วย  ที่ถูกกระสุนปืนป่วยลำบากล้มนอนอยู ๒๐ คน  แต่ม้าไม่ตายก็มีบ้าง  ที่อยู่ห่างค่ายไทยไม่ถูกกระสุนปืนนั้นก็หนีกลับไปได้ประมาณ ๔๐ ม้า  แล้วหลวงยอดอาวุธวางปืนใหญ่ล้อออกไปอีกตับหนึ่ง  ก็ถูกทหารม้าญวนตกม้าตายไปตามทางบ้างหลายคน  ที่หนีรอดไปเข้าค่ายได้ประมาณ ๒๗ ม้า หรือ ๒๘ ม้าได้  จนญวนเข็ดขยาดไม่อาจสามารถเข้ามาใกล้ค่ายไทยเลย

          ครั้นรุ่งขึ้น ณ เดือนอ้าย ขึ้นห้าค่ำ  ญวนทำท่วงทีจะออกมารบกับไทยก็ไม่ออก  เป็นแต่เลาะอยู่ในค่ายวันยังค่ำ  ต่อรุ่งขึ้นแปดค่ำเป็นวันอัฐมี  เจ้าพระยานครราชสีมาสั่งให้จัดการรบไว้ให้พร้อม  และแต่งกองทัพอาทมาตไว้พร้อมสรรพ  แล้วแกล้งแต่งหนังสือฉบับหนึ่งเป็นใจความว่า

           “วันนี้เป็นวันพระแปดค่ำไทยถือไม่ฆ่าชีวิตสัตว์และมนุษย์  เพราะฉะนั้นจึงขอหยุดการรบในวันนี้ไว้ก่อน  เพื่อจะปล่อยทหารให้นอนพักผ่อนกำลังและรักษาศีลภาวนาบ้าง”

(https://i.ibb.co/jwd2zRf/1438632117-IMG6869-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วนำหนังสือผูกคอญวนเชลยแล้วมัดมือไพล่หลังปล่อยให้ไปในค่ายญวน  ญวนก็สำคัญว่าไทยจะหยุดการรบและจะปล่อยทหารจริง ๆ  ญวนเห็นว่าถ้าเช่นนั้นก็เป็นท่วงทีมีช่องดีหนักหนาที่จะทำร้ายแก่ไทยได้ถนัด  ญวนจึงแต่กองทัพเป็นกองอาสา  ถือปืนคาบศิลาอยู่แถวหน้า ๕๐๐  ถือง้าวอยู่แถวหลัง ๓๐๐ คน  ถือดาบสองมืออยู่แถวหลัง ๒๐๐ คน  รวมทหารพันหนึ่งพร้อมแล้ว  ญวนก็ตีกลองและม้าล่อเป็นสัญญายกพลโห่ร้องวิ่งกรูออกมาจากค่าย  ตรงมายังค่ายไทยหมายจะปล้นค่ายหน้าที่พระยาณรงค์สงครามอยู่นั้น  แต่พอญวนเข้ามาใกล้หน้าค่าย  เจ้าพระยานครราชสีมาก็ขับต้อนพลทหารออกนอกค่ายให้วิ่งอ้อมโอบไปไล่ฆ่าฟันยิงญวนเป็นสามารถ  ฝ่ายที่หน้าค่ายนั้น  พระยาณรงค์สงครามก็วางปืนใหญ่ที่ตั้งไว้เป็นตับออกไปสองสามตับ  ถูกไพร่พลญวนล้มตายลงมาก  แล้วก็แต่งกองอาสาออกทะลวงไล่ยิงแทงฟันญวน  ญวนก็สู้รบยิงฟันแทงไทยตายบ้าง  แต่ไทยตายน้อย  เพราะรู้ตัวได้ที่ทำแก่ญวนก่อนถนัด  ญวนจึงตายมากครั้งนั้นสัก ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ คน  ที่เหลือตายก็หนีกลับเข้าค่ายตั้งมั่นอยู่ในค่ายได้สองสามวัน  ญวนก็แต่งกองทัพใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน  ออกตั้งกระบวนรบนอกค่ายตามธรรมเนียมศึกใหญ่  ฝ่ายพระพิเรนทรเทพแม่ทัพหน้าออกต่อสู้กับญวนตามที่ญวนออกรบด้านพระพิเรนทรเทพ  พระพิเรนทรเทพก็สู้รบโดยสามารถวันยังค่ำ  ไม่แพ้และชนะแก่กันและกัน

(https://i.ibb.co/vddG6rT/Untitlfed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          รุ่งขึ้นวันเดือนอ้ายขึ้นสิบห้าค่ำ  ญวนออกรบอีกเป็นทัพใหญ่ถึงสี่ด้านสี่ทัพพร้อมกัน  ไพร่พลญวนประมาณหมื่นเศษ  มีทหารม้ามาก  ช้างหามีไม่  เจ้าพระยานครราชสีมาออกรบด้านหนึ่ง  พระยาณรงค์สงครามออกรบด้านหนึ่ง  พระพิเรนทรเทพออกรบด้านหนึ่ง  พระฤทธิเดชะออกรบด้านหนึ่ง  พระพรหมสุรินทร์ออกรบด้านหนึ่ง  แต่เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นกองหนุนทั้งสี่ทัพๆนั้น  ได้สู้รบกับญวนเป็นสามารถ

          เจ้าพระยาบดินทรเดชามีบัญชาให้พระพรหมบริรักษ์ (ชื่อแก้ว) ผู้บุตรเป็นนายทัพปีกหนึ่ง  มีผู้ช่วยสองคนคือพระยาปราจีนบุรี ๑  พระยาณรงค์วิชิตเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑  คุมไพร่พล ๑,๕๐๐ คน  ยกไประดมตีทัพญวนด้วย

          ให้หลวงนายสิทธิ์ผู้หลานเป็นนายทัพปีกหนึ่ง  มีผู้ช่วยสามคนคือ  พระอินทราธิบาลเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑  พระอินทรรักษาเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงศรีภะวังในพระราชวังบวรฯ ๑  คุมไพร่พล ๑,๕๐๐ คน  ยกไปช่วยระดมตีทัพญวน

(https://i.ibb.co/5GXsScH/Untitl-ed-42.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนี้ไทยกับญวนได้สู้รบกันเต็มมือ  ตั้งแต่เวลาเพลจนเวลาบ่ายห้าโมงเศษใกล้ค่ำ  ไทยตายในที่รบ นาย ๖  ไพร่ ๖๐ คน  นายนั้นคือ หลวงภักดีชุมพล ๑  หลวงวิเศษโยธา ๑  ขุนนรินทรรักษา ๑  ขุนนราภักดี ๑  นายเวรตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๒ คน  คือ  นายแผลงไพรินทรกับนายยงภักดี  รวม ๖ คนแต่ในวังหน้า ฝ่ายญวนนายทัพศีรษะโพกผ้าสีน้ำเงินสะพายกั้นหยั่นตาย ๑๑ คน  ไพร่ตาย ๑๖๐ คน  ป่วยเจ็บลำบากหามเข้าไปในค่ายประมาณร้อยเศษ  เวลาค่ำญวนตีกลองเรียกทหารกลับเข้าค่าย  ฝ่ายไทยก็ไล่ตดตามไปใกล้ค่ายญวน  ญวนก็ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบออกจากค่ายจนเวลาสี่ทุ่มเศษ  ไทยจะหักพังค่ายญวนมิได้  จึงกลับเข้าค่ายตั้งมั่นรักษาค่ายอยู่จนสว่าง ........”

          ** การรบระหว่างไทยญวนที่เมืองโปริสาดเริ่มดุเดือดเลือดพล่านแล้ว  ค่อยนี้มาอ่านต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กุมภาพันธ์, 2564, 09:44:43 PM
(https://i.ibb.co/4tKb34D/Untitlecsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๖ -

ไทยตีญวนจวนจะชนะแล้ว
ฝ่ายญวนแผ่วทนสู้อยู่งกเงิ่น
ค่ายประชิดตั้งใกล้มิไกลเกิน
ไทยจะเดินเข้าปล้นมิพ้นมือ

พลันข่าวร้ายไทยแพ้แก่ญวนแจ้ง
เมืองชิแครงแตกไปไพร่ซื่อบื้อ
เขมรป่าดงขลาดหวาดเสียงฮือ
จึงแหกรื้อค่ายประตูกรูเข้าดง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกองทัพสี่กองยกไปตีค่ายญวน  เข้าล้อมญวนที่เมืองโปริสาดทั้งสี่ทิศ  ญวนไม่ยกออกรบ  เจ้าพระยานครราชสีมาก็ทำอุบายล่อให้ญวนออกรบ  แล้วยิงญวนตายเป็นจำนวนมาก  ล่าสุดญวนยกทัพใหญ่ออกโจมตีค่ายไทย  ทั้งสองฝ่ายรบกันอย่างดุเดือดตั้งแต่เช้าจนใกล้ค่ำ  ไพร่พลล้มตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย  แต่ญวนตายมากกว่าไทย  เมื่อญวนถอยกลับเข้าค่าย  ไทยก็ตามตีหมายปล้นค่ายให้ได้  แต่ญวนก็ต่อต้านอย่างแข็งแรง  ไทยจึงถอยกลับเข้าตั้งมั่นในค่าย  เฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่จนรุ่งแจ้งของวันใหม่  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ

           “............รุ่งขึ้นไม่ได้รบกัน  เพราะญวนมีหนังสือมาขอหยุดการรบ  ฝ่ายไทยเห็นว่าญวนมานัดหมายหยุดการรบเช่นนี้  เห็นทีญวนจะคิดกลอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่  ไทยจึงได้ตระเตรียมการป้องกันรักษาค่ายโดยมั่นคงหลายวัน  ไม่มีการสู้รบกัน

(https://i.ibb.co/syTzFvm/Untitsled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นแผ่นดินแห้งน้ำแห้งโคลนแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่กองบังคับบัญชานายด้านตั้งค่ายประชิดล้อมค่ายญวน  ให้พระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรเป็นผู้ตรวจการตั้งค่ายประชิดทุกด้าน  จึงสั่งพระพิเรนทรเทพ ๑  พระพรหมสุรินทร์ ๑  พระอินทร์รักษา ๑  พระยาพรหมยกกระบัตร ๑  พระยาณรงค์สงคราม ๑  พระยาปราจีนบุรี ๑  พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า ๑   รวมแปดนายด้านนายงาน แม่กองคุมพระยา, พระ, หลวง ในกรุงและหัวเมือง ให้ไพร่ทำค่ายไม้ไผ่  เสาไม้แก่นพร้อมกันทั้งแปดกอง  จึงยกเข้าไปตั้งค่ายประชิดล้อมค่ายญวนไว้ทั้งแปดด้าน  ค่ายประชิดไทยตั้งใกล้ค่ายญวน ๑๒ เส้น  ให้พูลดินเป็นป้อมสูงห้าศอกขึ้นพ้นเสาค่ายทั้งแปดป้อมแปดมุมค่ายญวน  แล้วตั้งค่ายปิหลั่นปีกกา  โอบมาถึงกันทั้งแปดค่าย  แล้วทำหอคอยกลางค่ายหอหนึ่งสูงสามวา  ไว้เพื่อจะได้ขึ้นดูการในค่ายญวน  เมื่อไทยยกกองทัพเข้าไปตั้งค่ายประชิดดังนั้น  ได้แต่งกองอาทมาตและกองอาสาแปดเหล่า  ออกด้านหน้ารักษาคนทำการค่ายทั้งแปดด้านนั้นโดยกวดขันกันข้าศึก

(https://i.ibb.co/6wksmd8/Untitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายญวนก็แต่งกองอาสาออกมาฝ่าฟันรบกันเสมอทุกวัน  พระพรหมบริรักษ์ให้หลวงดำเกิงรณภพเจ้ากรม  ขุนรุทอัคนี  คุมทหารกองแก้วจินดาในพระราชวังหลวง ๒๐๐ คน  นำปืนจ่ารงค์และปืนหามแล่น  ปืนใหญ่รางแท่นใหม่ออกไปตั้งหน้าค่ายล้อมคนทำการงานรอบ ณ สี่ด้าน  ยิงปืนใหญ่ไปยังค่ายญวนเสมอทั้งกลางวันและกลางคืนจนทำค่ายเสร็จ

          ฝ่ายพระพรหมสุรินทร์สั่งให้หลวงยอดอาวุธเจ้ากรม  ขุนศึกพินาศปลัดกรม  คุมทหารกองแก้วจินดาในพระราชวังบวรฯ ๒๐๐ คน  นำปืนจ่ารงค์ท้ายสังข์คร่ำเงิน  และปืนใหญ่รางแดงหัวทั้งแท่ง  และปืนขานกยางหามแล่น  ออกไปตั้งหน้าค่ายล้อมไพร่พลคนที่ทำงานการปลูกค่ายนั้นทั้งสี่ด้าน  ได้ยิงปืนใหญ่ออกไปยังค่ายญวนเสมอจนทำการเสร็จ

          ครั้งนั้นญวนก็แต่งกองเกียกกายออกมาจะทำลายค่ายไทย  แต่ทำลายไม่ได้  เพราะปืนใหญ่ไทยมีแรงทางยาวกว่าปืนใหญ่ของญวน  เพราะฉะนั้นไทยจึงทำการได้โดยถนัดแล้วเร็วด้วย

(https://i.ibb.co/CVvMgG9/Untitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หลวงฤทธิ์สำแดงคุมทหารฝรั่งเศสเข้ารีตนำปืนใหญ่รางแท่นอย่างใหม่  กระสุนสามนิ้วบ้าง  กระสุนห้านิ้วบ้าง  ขันฉ้อกว้านขึ้นไปบนป้อมดิน  ป้อมละสามกระบอก  แปดป้อม  เป็นปืนสิบสี่กระบอก  มีทหารปืนใหญ่เป็นคนบุตรหลานฝรั่งเก่าเข้ารีตฝรั่งเศสนั้น  อยู่ประจำทั้งแปดป้อม  ป้อมละ ๑๒ คน  ให้หลวงฤทธิ์สำแดงเจ้ากรมทหารฝรั่งเป็นผู้บังคับการทั้งแปดป้อม  ทั้งแปดป้อมได้ยิงปืนใหญ่ปรำลงไปในค่ายญวนเสมอทั้งกลางวันกลางคืนสามวัน  กระสุนปืนใหญ่ไปตกถูกค่ายญวนพังทลายบ้าง  ถูกไพร่พลญวนในค่ายและค่ายปีกกา  ญวนตายประมาณ ๒๕๐ คนเศษ  ที่เจ็บป่วยลำบากประมาณ ๓๐๐ เศษ  ฝ่ายแม่ทัพญวนก็นำปืนใหญ่หามแล่นและปืนใหญ่ปากลำโพงยิงโต้ตอบมาบ้าง  กระสุนปืนถึงค่ายไทยนั้นน้อยนัก  ตกเสียกลางทางมาก เพราะทางปืนสั้น  เพราะฉะนั้นญวนเห็นเสียเปรียบ  จึงได้ขุดหลุมเป็นอุโมงค์ในค่าย  แล้วลงอาศัยอยู่ในหลุมบังกระสุนปืนใหญ่ไทยได้  พระพรหมบริรักษ์เห็นว่าญวนยิงปืนโต้น้อยลง  จึงสั่งทหารขึ้นบนหอคอยสูงสามวาเศษ  แลดูไปในค่ายญวน  เห็นญวนขุดหลุมอยู่เป็นอันมาก  จึงสั่งให้กองแก้วจินดานำปืนกระสุนแตกกระสุนหกนิ้วบ้าง  กระสุนสี่นิ้วบ้าง  ยิงไปให้โด่งแล้วให้ตกลงในค่ายญวน  ญวนเกือบจะแตกอยู่แล้ว  แต่ว่ายังไม่แตกง่ายนั้น  เพราะทหารญวนได้อาศัยเชิงเทินดินบังกระสุนปืนได้บ้าง  จึงยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบสู้รบอยู่ได้เสมอหลายวัน

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้เจ้าพระยานครราชสีมาและพระพรหมบริรักษ์  ให้ต้อนไพร่พลแบกหามนำค่ายตับและค่ายรุกเผือกเข้าไปตั้งเป็นปิหลั่น  ล้อมค่ายญวนเข้าไปอีกชั้นหนึ่งทั้งสี่ด้าน  ห่างค่ายญวนสามเส้นบ้าง  สองเส้นบ้าง  เส้นเศษบ้าง  แล้วให้ชักปีกกาโอบอ้อมมาถึงค่ายตับปิหลั่นทุกค่าย เป็นวงพาดอีกชั้นหนึ่ง  ล้อมรอบค่ายญวนเข้าไว้  ฝ่ายญวนก็ยิงปืนตับใหญ่น้อยออกมาเสมอ  แต่สู้รบกันอยู่ดังนี้ถึงห้าวันหกวัน  ญวนก็แต่งการป้องกันรักษาตัวรักษาค่ายโดยแข็งแรงเป็นสามารถ

          ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาจึงเข้าชื่อกันกับขุนนางวังหน้าหลายคน  คิดการจะเข้าปล้นค่ายญวนในวันสองวันนี้ให้ได้เป็นแน่  แต่พระพรหมบริรักษ์ไม่เห็นด้วย  เห็นว่ายังไม่ควรจะปล้นได้  เพราะญวนยังไม่ถอยกำลังเลย  เปรียบเหมือนผลไม้ยังไม่สุกจะกินได้หรือ  คงจะไม่หวานเป็นแน่  ถ้าและว่าชิงสุกก่อนห่ามก็คงจะเสียที  การแก่งแย่งไม่ตกลงกันดังนี้  จึงมิได้ยกเข้าปล้นค่ายญวน  เป็นแต่รอไว้ตั้งการล้อมยิงปืนสู้รบกันเสมอทุกวัน

(https://i.ibb.co/QXWwv21/sf3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นพอพระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดเก่า และพระยาอุทัยธิราชเจ้าเมืองสำโรงทอง  พระยา, พระ เขมรทั้งสองมีหนังสือบอกมาว่า  ได้ใช้ให้พระมงคลสุนทรกับหลวงบวรพจนาเขมร  คุมไพร่เขมร ๒๐๐ ไปลาดตระเวนถึงปากง่ามทางแยกลงไปเมืองพนมเปญ  พบญวนในกองทัพเมืองพนมเปญอกมาเที่ยวลาดตระเวนเหมือนกัน  แต่ญวนร้อยเศษน้อยตัวกว่าเขมร  เขมรมากถึงสองร้อยเศษ  พระมงคลสุนทรเขมร และหลวงบวรพจนาจีนบุตรเขยเขมรเป็นนายกอง  จึงสั่งให้ไพร่เขมรไล่โอบล้อมจับได้ญวนเป็นมา ๓๔ คน  ที่สู้รบกับเขมร  เขมรฆ่าญวนตาย ๒๖ คน  เหลือนั้นก็แตกหนีไปหมด  ให้ขุนนรารักษ์เขมรคุมญวน ๓๔ คน มาส่งยังค่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามถามญวน ๓๔ คน  ญวน ๓๔ คนให้การว่า

           “องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพไปรบไทยซึ่งรักษาเมืองชิแครง  วันเดียวเมืองชิแครงก็แตกทั้งสิ้นหมดเมือง  พระยาราชนิกูลแม่ทัพไทยซึ่งรักษาเมืองชิแครงอยู่นั้น  ก็แตกหนีเข้าป่าดงไปบ้างแล้ว  ที่ญวนจับไทยมาเป็นเชลยก็ได้บ้าง  ที่ฆ่าเสียก็มาก  จนญวนขี้เกียจฆ่าไทยในเมืองชิแครงนั้น”

(https://i.ibb.co/0jJ6vzW/Untitlegd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า    “สำนวนถ้อยคำอ้ายญวนว่าตีทัพพระยาราชกูลที่เมืองชิแครงแตกไปหมดจนขี้เกียจฆ่าไทยนั้น  เห็นว่าเป็นถ้อยคำพูดจาอวดอ้างเกินตัวไปมากนัก  เป็นการมันพูดยกย่องอำนาจเจ้านายของมัน  มาข่มขู่เราให้กลัวมัน  เพราะฉะนั้นจะไว้ใจเชื่อถ้อยคำมันไม่ได้  ด้วยมันให้การเป็นสำนวนหน้าชื่น ๆ จะฟังคำมันมิได้”

          จึงสั่งให้หลวงวิเศษธานี  และหลวงสวัสดิ์นคเรศร์  กรมพระนครบาลในพระราชวังหลวงสองคน  กับหลวงรองจ่าเมือง ณ เมืองนครราชสีมาและพระบุรินทรานุรักษ์เมืองนครราชสีมา  รวมหกคน  เป็นแกองชำระให้ได้ความจริง  แต่ให้แยกย้ายกันถามปากคำ  และต้องติดไม้จำคาเฆี่ยนถามจึงจะได้ความจริง  ครั้งนั้นตุลาการทั้งหกนายได้เฆี่ยนถามญวน  ญวนให้การต่อไปว่า

           “เมื่อกองทัพองเตียนกุนยกไปถึงเมืองชิแครงนั้น  กองทัพพระยาราชนิกูลเป็นลาวและเขมรป่าดงมาก  เห็นญวนยกทัพมาเป็นการใหญ่  พวกเขมรป่าดงและลาวไม่เคยได้ยินเสียงฆ้องกลองม้าล่อและปืนใหญ่  และเสียงรี้พลโห่ร้องผิดภาษากันเป็นอำนาจน่ากลัวยิ่งนัก  พวกเขมรป่าดงและลาวก็ตกใจแตกตื่นแหกค่ายทลายประตูหนีเข้าป่าไปสิ้น  เหลือแต่คนไทยก็น้อยตัว  ก็ต้องแตกหนีเข้าป่าไปบ้าง  หาทันได้สู้รบกับญวนไม่  ที่เหลืออยู่ในเมืองหนีไม่ทันนั้นเป็นคนไทยบ้างเป็นลาวบ้าง  ญวนก็เข้าไปไล่จับนำมาเป็นเชลยเป็นอันมาก  ที่ต่อสู้กับญวน  ญวนก็ฆ่าเสียบ้าง......”

(https://i.ibb.co/JHQv8PL/Untisdtled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** คำให้การของเชลยญวนยังไม่จบ  แต่ได้ความว่าขณะที่ไทยกำลังล้อมตีญวนเมืองโปริสาดใกล้จะได้ชัยชนะอยู่แล้วนั้น  ก็ได้ข่าวจากเชลยญวนที่พระยาเขมรจับได้ให้การว่า  องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน  ยกทัพใหญ่ไปตีเมืองชิแครงที่พระยาราชนิกูลไปตั้งรักษาเมืองอยู่  เขมรป่าดงในกองทัพไทยเห็นกองทัพญวนยกไปอย่างอึกทึกคึกโครมก็ตกใจกลัว  พากันแหกค่ายหนีเข้าป่าดงไปสิ้น  กองทัพไทยหมดกำลังจะสู้รบญวน  จึงพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย  ค่อยมาอ่านเร่องราวกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, มีนาคม, 2564, 10:01:23 PM
(https://i.ibb.co/16hWqPY/Untitdfgled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๗ -

ข่าวเสียเมืองชิแครงแสลงจิต
ไทยเร่งคิดแก้ด่วนหลอกญวนหลง
ผ่อนการรบรุกเร้าให้เบาลง
เหมือนเปิดกรงขังบอกญวนออกไป

เพราะฝ่ายไทยขาดน้ำเลี้ยงเสบียงทัพ
จำถอยกลับแนวหลังตั้งหลักใหม่
“ตุน”เสบียงอาหารเหลือมากเมื่อไร
ก็จะไม่รอช้าท้ารบพลัน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระยาสังขโลกอดีตเจ้าเมืองโปริสาด กับ พระยาอุทัยธิราชเจ้าเมืองสำโรงทองง  ส่งตัวญวนเชลยที่กองลาดตระเวนจับได้มาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้สอบปากคำได้ความว่า  องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนยกทัพใหญ่ไปตีเมืองชิแครงที่พระยาราชนิกูลรักษาอยู่  ไพร่พลกองทัพพระยาราชนิกูลส่วนใหญ่เป็นเขมรป่าดง  เมื่อเห็นกองทัพญวนยกมามากมายอึกทึกคึกโครมก็ตกใจกลัว  พากันแหกค่ายเปิดประตูเมืองวิ่งหนีเข้าป่าไปสิ้น  พระยาราชนิกูลจึงเหลือไพร่พลที่เป็นไทยลาว มีกำลังไม่พอจะต่อสู้ญวนได้  จึงเสียเมืองแก่องเตียนกุลอย่างง่ายดาย  คำให้การเชลยญวนยังไม่หมดสิ้น  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/BPMQppc/Unxxtitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “.......... เมื่อองเตียนกุนมีชัยชนะแก่ไทยได้เมืองชิแครงแล้วนั้น  ได้รับหนังสือใบบอกของญวนกองลาดตระเวนฉบับหนึ่งใจความว่า  ไทยยกทัพใหญ่มาล้อมค่ายญวนที่เมืองโปริสาดเกือบจะเสียอยู่แล้ว  องเตียนกุนจึงให้องไล่ฮื่อคุมไพร่พลอยู่  กวาดต้อนครอบครัวเมืองชิแครง  แต่องเตียนกุนนั้นตระเตรียมการจะรีบเร่งยกทัพกลับมาช่วยแก้องเดดกออกจากที่ล้อมในค่ายที่เมืองโปริสาด  ซึ่งกองทัพไทยล้อมไว้นั้น    แล้วองเตียนกุนว่ากับนายทัพนายกองว่า  การนิดเท่านี้ไม่เป็นไรดอก  เราจะยกไปเป็นทัพขนาบตีวกหลังลงไป  ประเดี๋ยวไทยก็จะแตกไปหมด  จะตั้งล้อมอยู่ได้เท่าใดเล่า  เราจะยกทัพแยกออกเป็นสามสาย  จะให้องลันฮูยกไปตีฟากตะวันตก  จะให้องเปียวลันบิลยกไปตีค่ายไทยที่ตั้งหนุนค่ายล้อมอยู่นั้นให้แตกก่อน  แล้วจะยกไปปิดต้นทางเมืองเขมรไว้  ไม่ให้ไทยค่ายล้อมแตกล่าถอยไปได้  แต่องเตียนกุนจะยกลงไปตีทางหลังเมืองโปริสาดทีเดียว  จะได้แก้ไขให้ไพร่พลในค่ายองเดดก  องอันภู่ออกสู้รบเต็มมือพร้อมกันดังนี้สักคราวเดียว  ไทยจะทนได้หรือ  คงจะแตกพินาศฉิบหายล้มตายแตกหนีไปสิ้น  จะตั้งล้อมตั้งรบอยู่ไดที่ไหนเล่า  แล้วองเตียนกุนมีหนังสือแจ้งความดังให้การนี้มายังองยุงยางผู้รักษาค่ายเมืองพนมเปญ  เพราะดังนั้นพวกข้าพเจ้าทั้งปวงจึงรู้การ"  สิ้นคำให้การญวน ๓๔ คนเท่านี้

(https://i.ibb.co/rGJnywr/Untitlded-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          หลวงวิเศษธานี  พระนรินทรานุรักษ์  ตุลาการคัดคำให้การญวน ๓๔ คน  ที่พูดจาถูกต้องรวมคำกันนั้นขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงปรึกษาราชการศึกด้วยเจ้าพระยานครราชสีมาและพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตร  กับจมิ่นสรรพเพธภักดีผู้บุตร  เคยช่วยราชการทัพกับพระยาราชสงครามนายทัพหน้า  และพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลนายทัพหลัง  พระยาราชโยธา  พระยาบำเรอบริรักษ์  พระยาวิสูตรโกษา  พระยานรานุกิจมนตรี  พระยาบริรักษ์ราชา  พระยาอัษฎาเรืองเดช  พระยาณรงค์วิไชย  พระยาทิพยสงครามแขกจาม  นายทัพผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯ แปดคน  และ พระยาปราจีนบุรี  พระยาสุพรรณบุรี  พระยาเพชรบูรณ์  พระยาไชยวิชิตกรุงเก่า  พระยานครนายก  พระยานครสวรรค์  พระยาอ่างทอง  รวมนายทัพนายกองผู้ใหญ่ฝ่ายหัวเมืองแปดคน  เจ้าพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองพร้อมกันอยู่ ณ ที่ประชุมปรึกษาราชการศึกในค่ายเมืองเขมรนั้น

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรดชาจึงมีบัญชาขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมว่า  การซึ่งเมื่อพวกเราทั้งหลายได้มีความอุตสาหะตั้งใจมาทำศึกสงครามครั้งนี้  ก็หมายจะตีบ้านเมืองฝ่ายญวนมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  ให้เป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเทพฯ  เพื่อจะให้แผ่พระราชอำนาจปกครองตลอดมาถึงบุรพทิศ  จะปราบปรามญวนให้อยู่ในใต้อำนาจเห็นจะไม่สมความคิดที่หมาย  เป็นอันจะไม่สำเร็จตามความประสงค์เป็นแน่  ขัดข้องอยู่ ๕ ประการดังจะชี้ต่อไปคือ:-

(https://i.ibb.co/SRCzwVD/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ข้อ ๑  เสบียงอาหารกระสุนดินดำรี้พลในค่ายญวนก็ยังบริบูรณ์อยู่มาก  จึงได้สู้รบกับเราได้แข็งแรงช้าวันไปยืดยาว  กว่ากองทัพพวกมันจะมาช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที

          ข้อ ๒  เสบียงอาหารฝ่ายไทยก็ขัดสนลง  ด้วยในคราวนี้แต่จะแบ่งเฉลี่ยเลี้ยงไพร่พลไปได้สักเก้าวันสิบวันเป็นอย่างช้าเต็มที  ถ้าข้าศึกยังติดพันกันต่อไปอักสักเจ็ดวันแปดวัน  ก็เป็นอันไม่มีเรี่ยวแรงจะสู้รบกับข้าศึก  เพราะไม่มีข้าวกิน  คงตายด้วยอดอาหาร  และตายด้วยข้าศึกทำอันตรายบ้าง

          ข้อ ๓  ได้ข่าวว่าองเตียนกุนก็ยกไปตีกองทัพพระยาราชนิกูลที่เมืองชิแครงแตกไปหมดแล้ว  กับได้ทราบว่าองเตียนกุนมีกองทัพมาถึงสามกอง  ให้แยกย้ายกันมาสกัดตีหน้าหลังพวกเรา  ให้พะว้าพะวังไปห่วงรบหน้าและหลัง  เป็นกังวลไปหลายทางนั้น  เพื่อจะมาแก้ให้องเดดก องลันเบีย ซึ่งตั้งอยู่ในที่ล้อมนี้  ให้มีน้ำใจกล้าหาญสู้รบออกจากที่ล้อมด้วยฝ่ายเรา  ตรึกตรองไปดูตามทำนองศึกสงคราม  ก็เห็นทัพข้างญวนจะยกมาจริง  เพราะควรที่องเตียนกุนจะยกทัพแยกย้ายมาช่วยแก้ไขญวนที่เมืองโปริสาดนี้  ให้พ้นอำนาจซึ่งเกือบอยู่ในเงื้อมมือไทย  ถ้าและว่าองเตียนกุนยกทัพใหญ่มาจริงดังคำให้การพวกญวนเชลยไพร่พูดนั้น  ฝายเราก็จะต้องเป็นศึกขนาบ  จะต่อสู้ก็ไม่ได้  จะหนีก็ไม่พ้น  เห็นจะเข้าที่จนดุจดังหมากรุกถูกรุกฆาต  เสียทั้งเบี้ยเม็ดม้าเรือ  แล้วมิหนำซ้ำเสียโคนคู่คิดไปแล้ว  ขุนก็จะต้องจนอยู่มุมกระดาน  ถ้าเป็นการดังนั้น  ชื่อเสียงพวกเราก็จะเสียอยู่ในแผ่นดินชั่วฟ้าและดิน  ไม่สิ้นสูญความโง่เขลาเลย

          ข้อ ๔  ถึงมาทว่าเรารู้เหตุการณ์ก่อนแล้วว่า  องเตียนกุนจะยกมาตีเราและจะมาช่วยแก้ไขค่ายญวนที่เราล้อมไว้นี้นั้น  ก็ให้พวกเราช่วยตีปล้นค่ายญวนให้แตกเสียก่อนทัพองเตียนกุนจะยกมานั้นจะมิดีหรือ?  ขอตอบคำนี้ว่า  การรบทัพจับศึกเป็นการยากอันสุขุมยิ่งนัก  จะทำให้แพ้และชนะได้ให้ทันใจคนที่ไม่สู้ชำนาญการพิไชยสงครามนั้นไม่ได้เป็นแน่แล้ว  ด้วยการงานศึกเสือเหนือใต้ไม่เหมือนการงานในบ้านในเรือน  จะได้ช่วยกันแบกหามคนละไม้คนละมือก็จะแล้วสำเร็จได้  โดยอำนาจที่ช่วยกันทำการช้า ๆ ค่อย ๆ ทำไปขนไปหมดเมื่อไรก็แล้วเมื่อนั้น  การศึกสงครามไม่อย่างนั้นเลย  ผิดกันมากทีเดียว  ต้องจำเป็นทำให้เสร็จแล้วได้นั้น  โดยการตรึกตรองช่องโอกาสเป็นต้นจึงจะชนะศึก  ซึ่งบัดนี้  เราจะเข้าปล้นค่ายญวนหักโหมโดยอำนาจทหารเห็นจะตายเปล่า  ไม่ได้ค่ายญวนเป็นแน่  ถ้าลงมือทำการลงไปดังนั้นบ้างแล้ว  ก็จะติดพันกันไปช้านานอย่างไรก็ยังไม่รู้ได้แน่  ถ้าเป็นดังนั้นแล้ว  ฝ่ายเราจะได้ข้าวเกลือที่ไหนมากินเล่า  ครั้นจะล่าทัพเมื่อขณะกำลังรบติดพันกันนั้น  ก็จะพลอยแตกยับเยินป่นปี้ทีเดียว

          ข้อ ๕  เห็นช่องอย่างเดียวที่จะพาตัวรอด  และไม่ให้เสียชื่อเสียงได้  คือจำเป็นจะต้องผ่อนปรนทำไมตรีกับญวนไว้สักครั้งหนึ่ง  เหมือนรดน้ำเย็นญวนตายใจ  แต่พอเป็นทางที่เราจะแก้ไขพาตัวรอดให้ได้ราชการคราวหนึ่งก่อน  ต้องผ่อนปรนตามการหนักและเบา  เห็นจะไม่เสียราชการ  คือจะให้ญวนเลิกทัพกลับไปหาเจ้านายเขาโดยปรกติดี ๆ  ไม่ให้มีการรบกัน  ฝ่ายเราก็จะต้องล่าทัพกลับไปหาเสบียงอาหารเลี้ยงไพร่พลเรา  ให้มีกำลังวังชาแล้วเมื่อใด  จึงค่อยคิดเริ่มรบกับญวนต่อไปอีกก็ได้เป็นไรเล่า  ก็ท่านทั้งหลายจะเห็นเป็นประการใดบ้าง  ให้พูดจาโต้ตอบคัดค้านมา  จะได้ปรึกษาหารือกันต่อไป  ถ้าใครเห็นอย่างไรดีก็ให้พูดมาโดยเร็ว  การศึกสงครามจะรอช้าไม่ได้  ข้าศึกไม่รอการรบ  ให้คิดอ่านการเลย”...........

(https://i.ibb.co/Qnt2gjQ/Untitlerged-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา  น่าจะเป็นนักเล่นหมากรุกมือฉกาจมากคนหนึ่งทีเดียว  ฟังท่านเปรียบเทียบการรบกับการเดินหมากรุกแล้ว  เห็นภาพชัดเจนเลย  คนเล่นหมากรุกเก่งระดับ  “เซียนหมากรุก”  ท่านคิดหมากหลายชั้น  มีลูกล่อลูกชน  วางกลให้คูแข่งหลงจนพ่ายแพ้  การรบศึกสงครามก็เช่นกัน  แม่ทัพที่เก่งการศึกย่อมคิดการศึกหลายชั้น  มีลูกล่อลูกชนเพื่อเอาชัยชนะ  ตอนนี้ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชากำลังใช้ลูกล่อลูกชนรบกับญวน  ผลจะเป็นอย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อไปนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, มีนาคม, 2564, 10:32:36 PM
(https://i.ibb.co/xM6ShjS/sdfs1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๘ -

ทั้งแม่ทัพนายกองผองขุนศึก
เห็นตามตรึกตรองสรรพแม่ทัพนั่น
เป็นวิธีดีนักพักรบกัน
ผ่าทางตันเพื่อชนะอริชน

จึงจดหมายเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้
เสแสร้งแผ่เมตตามหากุศล
ขู่ให้กลัวยั่วให้ยอมออมไพร่พล
เป็น“หมากกล”ที่วางกลางกระดาน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบจากคำให้การญวนเชลยว่า  พระยาราชนิกูลเสียทัพเสียเมืองชิแครงให้แก่องเตียนกุนแล้ว  แม่ทัพใหญ่ญวนกำลังยกมาช่วยแก้ไขค่ายญวนเมืองโปริสาด  เห็นว่าทัพไทยเสียเปรียบ  ที่สำคัญคือการขัดเสบียงอาหาร  จึงประชุมปรึกษานายทัพนายกองพร้อมกับเสนอว่า  เห็นว่าควรผ่อนให้ญวนยกออกจากค่ายถอยไป  พร้อมกับไทยล่าถอยกลับไปตั้งหลักสะสมเสบียงอาหารให้พร้อมสรรพ  แล้วจึงยกกลับมารบญวนใหม่  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  วันนี้มาอ่านกันครับ......

(https://i.ibb.co/WysfXh7/Unfdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา และ พระยาเพชรบูรณ์  เป็นผู้ใหญ่กับพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตร  และพระยา  พระ  หลวง  พร้อมใจกันเห็นชอบด้วยความคิดใต้เท้า  พระกรุณาเจ้าทุกประการแล้ว  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีบัญชาสั่งพระพิทักษ์บดินทรเขมรกับพระนริทร์โยธาเขมรสองนาย  ให้ทำหนังสือไปเกลี้ยกล่อมญวนในค่าย  ชักชวนเป็นทางไมตรีโดยทางใน ๆ ไม่ออกหน้า  ใจความว่า

(https://i.ibb.co/JFqQjzF/Untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “หนังสือเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่  และพระพรหมบริรักษ์ปลัดทัพ  แจ้งความมาถึงองเดดกและองอันภู่ องญวนผู้ใหญ่แม่ทัพ ณ ค่ายเมืองโปริสาด  ได้ทราบว่าฝ่ายท่านก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยารับอำนาจมาแต่ท่านองเตียนกุนแม่ทัพหลวง  ให้ท่านมาเป็นแม่ทัพ ณ ค่ายเมืองโปริสาดนี้  ก็หมายใจจะทำสงครามแก่เราให้เราแพ้พ่ายพินาศฉิบหายล้มตาย  ฝ่ายท่านก็จะได้มีชื่อเสียง  และเกียรติยศสืบตระกูลต่อไปในกรุงเว้     ฝ่ายเราก็เหมือนกัน  เราก็ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยารับอำนาจมาแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่  แม่ทัพหลวงอำนวยให้เราถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ  มาตั้งการล้อมค่ายท่านครั้งนี้  เราก็ตั้งใจจะตีค่ายญวนให้ได้เป็นการสามารถยิ่งนัก  ญวนและไทยก็ได้รบกันมาหลายเวลาแล้ว  จนญวนล้มตายมากน้อยเท่าใดก็ย่อมแจ้งอยู่กับใจแม่ทัพญวนนั้นแล้ว  และสู้รบกันมาถึงแปดวัน  ข้างไหนจะเสียเปรียบ  ข้างไหนจะได้เปรียบ  ฝ่ายญวนก็ย่อมรู้อยู่สิ้นแล้ว  เมื่อวานซืนนี้ฝายไทยได้ยิงปืนใหญ่กระสุนแตกไปตกในค่ายญวน  ญวนก็คงรู้อยู่ว่าฤทธิ์ปืนกระสุนแตกได้เป็นอย่างไร  ทำร้ายแก่ค่ายและคนเป็นหนักเบาอย่างไรก็คงทราบสิ้น  ฝ่ายไทยรู้ชัดว่าญวนไม่มีอาวุธวิเศษดังปืนกระสุนแตกนั้นใช้เลย  ถ้ามีในค่ายก็คงจะยิงโต้ตอบออกมาบ้าง  หรือจะอ้างว่ามีอยู่ที่บ้านเมือง  ถ้ามีจริงก็ทำไมไม่นำมาใช้สอยเล่า  หรือจะไปนำมาใช้บ้างก็คงจะไม่ทันท่วงที  เพราะเมืองเว้เป็นทางไกล  ไปมายาก  ไม่เหมือนกรุงเทพฯ  มีทางน้ำใหญ่ที่จะนำเรือบรรทุกปืนใหญ่และเสบียงอาหารมาส่งกองทัพได้โดยง่าย  ซึ่งกล่าวเรื่องปืนกระสุนแตกมาให้ญวนรู้ทั้งนี้  ก็เพราะจะให้ญวนรู้สึกตัวว่า  ธรรมดาการศึกสงครามข้างไหนมีอาวุธวิเศษแล้วก็ย่อมจะได้เปรียบแก่ข้าศึกเป็นแน่  แต่ว่ากระสุนปืนแตกที่ยิงเข้าไปในค่ายญวนนั้น  เป็นกระสุนโตแต่เพียงห้านิ้วหกนิ้วยิงลองดูก่อน  ถ้าทีหลังจะยิงเข้าไปอีกถึงกระสุนโตเท่าผลมะพร้าวทั้งเปลือก  หรือเท่าบาตรพระสงฆ์ก็มี  และครั้งนี้ก็ได้ส่งตัวอย่างกระสุนปืนแตกโตเท่าผลมะพร้าวทั้งเปลือกมาให้ญวนดูด้วย  จะได้เห็นว่าไทยไม่พูดหลอกลวงข่มขู่  

(https://i.ibb.co/d7qvPvD/Untitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          แต่ว่านายทัพนายกองไทยลงเนื้อเห็นแยกแตกกันออกเป็นสองพวก  พวกหนึ่งเห็นว่าควรจะนำปืนกระสุนแตกใหญ่เท่าผลมะพร้าวหรือเท่าบาตรพระยิงเข้าไปทำลายล้างให้ญวนตายหมดทั้งค่ายได้ในชั่วโมงเดียวเป็นอย่างช้า  พวกหนึ่งเห็นว่าถ้าทำดังนั้นพวกญวนในค่ายเมืองโปริสาดนี้  ก็จะตายหมดสิ้นไม่เหลือเลยนั้นจริงอยู่  แต่การสงครามญวนกับไทยจะเป็นอันสุดสิ้นสุดแต่ครั้งนี้หรือก็หามิได้  เพราะพระเจ้าเวียดนามคงจะแต่งองญวนอื่นคุมไพร่พลมาทำศึกกับไทยอีกต่อไป  เพราะฉะนั้น พวกไทยที่เห็นดังนี้  จึงร้องขอต่อท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพหลวงว่า  ซึ่งจะนำกระสุนแตกยิงไปล้างผลาญญวนให้ตายหมดค่ายก็เป็นบาปเป็นกรรมอย่างหนึ่ง  กับนานาประเทศจะติเตียนได้ว่า  มีอาวุธวิเศษแล้วก็ไปทำศึกแก่ญวนโดยขมขี่  หาเป็นธรรมยุทธไม่  ถึงจะฆ่าญวนคราวนี้ตายหมดก็ยังไม่สิ้นราชการทัพศึกแก่ญวน  เห็นว่าหาควรล้างผลาญญวนครั้งนี้ไม่  ควรจะชี้แจ้งให้ญวนรู้สึกตัวก่อนว่า  ไทยก็ยังมีเมตตาจิตแก่ข้าศึกโดยธรรมยุทธบ้าง  เมื่อญวนไม่ออกมาสู้รบนอกค่าย หรือไม่มีอาวุธวิเศษจะต่อรบกับไทยแล้ว  ก็อย่าให้ญวนนิ่งตายอยูในค่ายทั้งหมด  หาต้องตามครองประเพณีธรรมไม่  ด้วยชีวิตมนุษย์ก็เป็นสิ่งของอันประเสริฐ  หายากที่สุดไม่มีที่จะหาได้อีก  ตั้งแต่เกิดมากว่าจะโตมารบกันได้นี้  ก็แสนยากแสนลำบากแก่บิดามารดาที่เลี้ยงมนุษย์มานั้น  ไม่ควรญวนจะถือทิฐิมานะเลย  เมื่อญวนเห็นว่าจะสู้ไทยไม่ได้  หรือจะสู้ก็ได้แต่จะไม่ได้ชัยชนะแก่ไทยเป็นแน่แล้ว  คงตายพร้อมกันครั้งเดียวดังล้างน้ำ โดยอำนาจอาวุธวิเศษหรืออำนาจสติปัญญาแม่ทัพไทย  และฝีมือทแกล้วทหารไทย  เหมือนฟ้าผ่าลงมาถูกฝูงสัตว์ฉันใดก็เหมือนกัน  ถ้าญวนคิดเห็นดังนี้แล้วจะไม่ต่อสู้  ก็ให้องญวนผู้ใหญ่แม่ทัพออกมาทำคำนับอ่อนน้อมยอมสารภาพรับผิดรับชอบโดยดี  ขอแต่ชีวิตไว้กลับไปบ้านเมืองหาบุตรภรรยาญาติ และบิดามารดาจึงจะควร  ถ้าองญวนผู้ใหญ่ออกมาทำดังนี้แล้ว  ก็ควรที่จะปล่อยให้ไปบ้านเมืองสักครั้งหนึ่ง  ญวนก็คงจะมีทางเสียอยู่ทางหนึ่งว่า  ยอมแพ้แต่ชื่อ  แต่ร่างกายกับชีวิตไม่แพ้  พากลับไปฝากบ้านเมืองของตัวได้  ถ้าญวนไม่ทำดังที่ชี้แจงกล่าวมานี้  โดยทางเมตตากรุณาแก่ชีวิตมนุษย์ด้วยกันแล้ว  ก็จึงให้นำปืนกระสุนแตกยิงเข้าไปทำลายล้างผลาญสังหารชีวิตญวนให้ตายทั้งสิ้น  เพราะเป็นเวรานุเวรถือทิฐิมานะดื้อดึง  ก็ควรตายตามกรรมนิยมของญวน  ฝ่ายท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ฟังความคิดเห็นของพวกแม่ทัพนายกองไทยพวกที่ไม่อยากล้างผลาญฆ่าญวนตายทั้งหมดนั้น  ท่านก็เห็นชอบด้วยเพราะมีจิตคิดสังเวชแกชีวิตมนุษย์ที่หาควรจะตายไม่  ท่านจึงมีบัญชาว่า  ให้รอการรบไว้  ผ่อนให้นายทัพนายกองมีหนังสือมาชี้แจงความดีและร้ายให้ญวนทราบก่อน  ฝ่ายเราได้มีโอกาสดังนี้แล้ว  จึงได้กราบเรียนขอรับอาสามีหนังสือมาชี้แจงให้องเดดกและองญวนผู้ใหญ่ทราบ  องญวนผู้ใหญ่ทราบแล้วก็ให้รีบเร่งออกมาโดยเร็ว  ถ้าช้าไปพวกนายทัพนายกองที่ใจบาปหยาบช้าแค้นเคืองญวนอยู่นั้น  จะวิงวอนกราบเรียนขอยิงปืนกระสุนแตกอย่างใหญ่ไปล้างผลาญญวน  หรือจะจัดการปล้นค่ายจับญวนไปฝากบุตรภรรยาใช้สอยเป็นทาสเชลย  ถ้าช้าไปจะเป็นดังนี้  เราก็จะคัดค้านคำสั่งท่านอธิบดีใหญ่ไม่ได้  ก็จะจำใจทำตามราชการทัพศึก  ความที่พวกเราคิดจะให้เป็นบุญก็จะไม่ได้  จะต้องไปทำบาปล้างผลาญข้าศึกด้วยพวกใจบาปเพราะอาชญาทัพศึกไม่ได้  ซึ่งเราพูดมาทั้งนี้โดยความกรุณาทุกอย่าง  ให้องอันภู่ องเดดก แม่ทัพคิดตรึกตรองให้มาก  แต่อย่าช้าให้เสียการทั้งสองฝ่าย  หนังสือมา ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมสิบค่ำ ปีชวด โทศกจุลศักราช ๑๒๐๒ ผ่านพิภพได้ ๑๗ ปี”

          เขียนเป็นอักษรเขมรฉบับ ๑  อักษรจีนภาษาญวนฉบับ ๑  ประทับตรารูปเทวดานั่งบนสัปคับหลังช้างพลายทรงเครื่องยืนแท่น  เป็นตราของเจ้าพระยานครราชสีมาทั้งสองฉบับ  บรรจุกลักหุ้มแพรต่วนแดงมีถุงแพรปังสีหุ้มอีกชั้นหนึ่ง  ประทับตราครั่งปากถุงรูปขอช้าง  มอบให้ญวนเชลยถือไปแปดคน  แต่ให้เขมรที่รู้จักภาษาญวนไปด้วยสี่นาย  แต่งตัวตามธรรมเนียมพลเรือนโดยสุภาพเพราะว่าไม่ใช่ราชทูต  (หนังสือฉบับนี้กล่าวไว้หมดจดตามต้นร่างเดิม  ไม่ได้ตัดรอนทอนให้สั้นและไม่ได้แต้มต่อเติม  ว่าไปตามเนื้อความเก่านั้น  เพราะจะให้ท่านทั้งหลายฟังสำนวนเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และเจ้าคุณแม่ทัพแต่งร่างเดิมด้วย)

(https://i.ibb.co/gJ8x9Xj/U-ntitled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** แล้วแม่ทัพไทยก็วางกลอุบายกลางศึก  ให้มีจดหมายไปถึงแม่ทัพญวน  เกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้  สำนวนลีลาการเขียนหนังสือถึงแม่ทัพญวนของท่านเจ้าพระยานครราชสีมาและท่านเจ้าคุณแม่ทัพใหญ่  มีทั้งข่มขู่  มีทั้งปลอบประโลมโน้มน้าวให้เห็นคล้อยตาม  อย่างนี้แม่ทัพญวนอ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไร  ค่อยตามไปอ่านความกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, มีนาคม, 2564, 10:12:30 PM
(https://i.ibb.co/X5xWN8q/Un56titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๒๙ -

หนังสือไทยให้ญวนใคร่ครวญศึก
ความตื้นลึกต่างรู้ดูหลักฐาน
ญวนเสียเปรียบเรื่องอาวุธยุทธการ
ไทยพร้อมผลาญญวนป่นด้วยลูกปืน

ญวนอ่านแล้วปลงตกยกธงขาว
เห็นถึงคราวแพ้ไทยไม่อาจฝืน
ขอชีวิตไพร่พลทุกคนคืน
กลับไปยืนบ้านญวนที่ควรเป็น


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าเมืองชิแครงและทัพพระยาราชนิกูลเสียแก่ญวน  และองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนกำลังจะยกมาแก้ไขช่วยทัพญวนในค่ายเมืองโปริสาด  ได้ปรึกษานายทัพนายกองแล้วตกลงว่า  จะถอยทัพกลับไปพักฟื้นกำลังและสะสมเสบียงอาหารแล้วยกกลับมารบญวนใหม่  พร้อมกันนั้น  ก็จะให้ญวนเลิกทัพกลับไปด้วยเช่นกัน  จึงให้มีหนังสือในนามเจ้าพระยานครราชสีมาไปเกลี้ยกล่อมแม่ทัพญวน  ฝ่ายญวนได้รับหนังสือจากแม่ทัพไทยแล้ว  จะดำเนินการต่อไปอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

           “ครั้นเขมรญวนถือหนังสือเข้าไปในค่ายญวน  ญวนก็ต้อนรับโดยดี  คลี่ออกอ่านได้ความแล้วจึงปรึกษากันตามผู้ใหญ่ผู้น้อยสักครู่หนึ่ง  องอันภู่  องเดดก แม่ทัพลงเนื้อเห็นชอบด้วยตามหนังสือนั้นแล้วจึงว่า

(https://i.ibb.co/vmkR9nV/Un5titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ถ้าเราขืนสู้กับไทย  ไทยก็คงจะล้างผลาญฆ่าญวนตายหมดทุกค่ายเป็นคนถึงสองหมื่นเศษใกล้สามหมื่น  เราก็เห็นดีที่จะยอมแพ้แก่ไทยในครั้งนี้แล้ว  ขอแต่ชีวิตไพร่พลไว้ไม่ให้ตายทั้ง ๒๐,๐๐๐  ถึงตัวเราจะตายก็ตายเถิด  นึกว่าเราชีวิตเดียวแลกเปลี่ยนชีวิต ๒๐,๐๐๐ เศษไว้ให้สืบต่อไปภายหน้าเถิด”

          องอันภู่แม่ทัพพูดเท่านั้นแล้ว  จึงสั่งให้ทหารนำธงผ้าขาวมีอักษรจีนว่า    “ยอมแพ้ไม่สู้แล้ว”    นำธงผ้าขาวนั้นไปปักไว้บนหอรบหน้าค่ายสี่ธง  แล้วสั่งให้ทหารตีกลองและม้าล่อขึ้นสามลา  ตีกลองเป็นเพลงยอมแพ้แก่ข้าศึก  เป็นธรรมเนียมของญวนดังนี้  ในทันใดนั้นองอันภู่แลองเดดกใช้ให้ญวนคนใช้ไปแบกเข่งส้มจีน และพลับแห้งมาอย่างละสามเข่ง  มอบให้ญวนเชลยแปดคนแบกไปให้เจ้าพระยานครราชสีมาก่อน  อีกสักครู่องอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่จะจะใช้ให้องฮูย่านายทหารเอกนำธงคันใหญ่  ทำด้วยแพรสีแดงริมรอบเป็นลายมังกรปักทอง  กลางมีอักษรจีนเป็นภาษาญวนว่า    “อาญาสิทธิ์การศึก”    ให้องฮูย่านายทหารเอกถือธงอาญาสิทธิ์นั้นมากับเขมรสี่คนที่ถือหนังสือไปนั้น  ให้กลับมาหาแม่ทัพไทย

          ครั้งนั้นองฮูย่าได้นำธงอาญาสิทธิ์ทัพมามอบให้เจ้าพระยานครราชสีมาแล้วแจ้งความว่า

           “องอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่ทั้งสองคนนั้น  มีความยินดียิ่งหนัก  ที่ท่านช่วยชี้แจงไปในหนังสือนั้น  จะปฏิบัติตามทุกอย่างไม่ขัดขวางเลย  อีกประการหนึ่ง  จะใช้ให้ขุนนางนายทหารที่มียศออกมาเจรจาการทัพศึกกับท่านแม่ทัพไทย  แต่ตัวข้าเจ้านี้จะขอลาท่านกลับเข้าไปในค่าย  แจ้งข้อราชการกับองเดดกและองอันภู่ให้รู้ก่อน”  พูดเท่านั้นแล้วก็ทำคำนับลากลับไปยังค่ายญวน

(https://i.ibb.co/ckqHK0G/Untitle6654d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พอสัครู่นานๆ องเดดกและองอันภู่ใช้ให้ขุนนางนายทัพสองนายชื่อองถอไลบีน ๑  องกวานยาเรอ ๑  ขี่ม้าเทศใหญ่ทั้งสองม้า  มีคนถือร่มแพรระย้ากั้นให้คนละอัน  มีบ่าวไพร่ตามหลังมาด้วย ๑๒ คน  ถือเครื่องยศและอาวุธตามออกมา  ครั้นเดินม้ามาถึงประตูค่ายไทยแล้ว  ขุนนางญวนทั้งสองก็ลงจากหลังม้าเดินเข้ามาในค่ายไทย  แต่บ่าวไพร่ญวนนั้นให้หยุดอยู่นอกค่าย  ฝ่ายพระนรินทรโยธาเขมรพูดภาษาญวนได้  จึงได้ต้อนรับเชื้อเชิญให้ขุนนางญวนทั้งสองคนมานั่งที่หน้าทำเนียบคอยอยู่สักครู่หนึ่ง  เจ้าพระยานครราชสีมาก็ออกรับขุนนางญวนสองนาย  แล้วปราศรัยไต่ถามเป็นความไมตรีในที่ประชุมใหญ่  พร้อมไปด้วยพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองในกรุงและหัวเมือง  แต่ล้วนสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัดและแพรดวงต่าง ๆ ทั้งสิ้น  ศีรษะโพกผ้าแพรสีทับทิมติดขลิบทอง  ทุกคนนั่งเป็นลำดับตามบรรดาศักดิ์  องถอไลบีนและองกวานยาเรอแจ้งความว่า

           “เดิมแม่ทัพญวนหาทราบว่าองบดินทรเดชาแม่ทัพหลวงยกทัพใหญ่ออกมาไม่  ญวนสำคัญว่าเป็นทัพหัวเมืองเขมรและลาวยกมารบกับญวน  ญวนจึงได้ต่อสู้โดยสามารถ  ครั้งนี้ญวนอยู่ในที่ล้อม  จึงรู้ว่ากองทัพองบดินทรเดชายกมาเป็นทัพหลวงบังคับบัญชาการศึกทัพ  ฝ่ายญวนก็เกรงกลัวสติปัญญาและฝีมือองบดินทร์  จึงไม่ได้สู้รบ  และได้ชักธงขาวยอมแพ้แล้วมอบธงอาญาสิทธิ์ทัพศึกให้หมด  ขอแต่ชีวิตไพร่พลไว้ไม่ให้ตายเท่านั้น  ก็เป็นพระเดชพระคุณยิ่งหนัก”

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแอบฟังอยู่ในม่านข้างหลังเจ้าพระยานครราชสีมา  จึงกระซิบสั่งเจ้าพระยานครราชสีมาให้ตอบกับขุนนางญวนไปว่า

           “ซึ่งท่านทั้งสองนี้มาพูดก็เหมือนพูดเล่นเสียเวลาเปล่า ๆ  เพราะตัวท่านเป็นแต่ขุนนางนายทัพ  หาใช่แม่ทัพไม่  จะมาเจรจาการทัพศึกแทนแม่ทัพไม่ได้  ให้กลับเข้าค่ายไปบอกองอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่ให้ออกมาเจรจาการศึกสงครามกัน  ให้ตกลงกันเป็นการรับผิดเสียก่อน  จึงจะยอมให้กลับไปหาครอบครัวบ้านเมืองของญวนได้”

          องถอไลบีนและองกวานยาเรอทั้งสองคนก็กระทำคำนับลาเจ้าพระยานครราชสีมา  กลับไปแจ้งความให้องอันภู่และองเดดกทัพใหญ่ทราบ

(https://i.ibb.co/HtfgVZ2/Unsddtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งรุ่งขึ้นเวลาเช้า  องอันภูแม่ทัพที่ ๑  องเดดกแม่ทัพที่ ๒  องลับบินแยแม่ทัพที่ ๓  ขี่ม้าเทศมีคนถือร่มแพรระย้าคันยาวกางกั้นให้ทั้งสามคน  ทั้งสามคนแต่งกายเต็มยศอย่างขุนนางนายทหารแม่ทัพญวน (คล้ายทหารงิ้วจีน)  มีทหารญวนถืออาวุธสั้น  มีง้าวและมีดพร้าด้ามยาวชื่อแป๊ะกั๊ก  ตะพายและถือเดินแห่หน้ามาสองแถว  แถวละ ๒๕ คน  รวมทหารม้า ๕๐ คน  มีบ่าวไพร่ถือม้าล่อตีมาหน้าทหารหน้าม้าล่อ ๑  และมีบ่าวไพร่ถือเครื่องยศแม่ทัพตามมาข้างหลังนั้น ๓๐ คน  แต่ล้วนแต่งกายงาม ๆ อย่างทหารญวนทุกคน  แห่มาแต่พอเป็นเกียรติยศแม่ทัพญวน  แม่ทัพมาถึงหน้าค่ายไทย  ก็ให้ทหารญวนเก็บอาวุธรวบรวมส่งให้แก่ทหารไทยที่ตั้งกองออยู่หน้าค่ายทั้งสิ้น  ขณะนั้นพระพรหมบริรักษ์กับพระยาพรหมยกกระบัตรขึ้นม้าแต่งกายสวมเสื้อเข้มขาบ  คาดรัดประคดหนามขนุน ยืนม้านำหน้าทหารไทย ๑๖๐ คน  อยู่หน้าค่ายคอยรับแม่ทัพญวน  แม่ทัพญวนคำนับพระพรหมบริรักษ์เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวงและพระยาพรหมยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา  ท่านทั้งสองจึงร้องห้ามไม่ให้รับอาวุธของญวนไว้  แล้วบอกให้ล่ามแจ้งความแก่แม่ทัพญวนว่า

          “เรื่องศาสตราวุธเป็นของเครื่องประดับสำหรับเกียรติยศแม่ทัพ  ซึ่งญวนจะมอบอาวุธที่แห่มานั้นให้แก่ไทย  โดยความที่แม่ทัพญวนแสดงความบริสุทธิ์ภายในใจให้แก่ไทยเห็นว่า  ยอมแพ้โยราบคาบก็จริงอยู่  แต่ไทยไม่มีความรังเกียจอะไรในอาวุธสั้นร้อยเล่มเท่านี้เลย  ขอให้ญวนถือและตะพายไว้สำหรับตัวให้เป็นเกียรติยศสง่างามแก่แม่ทัพเถิด”.......

(https://i.ibb.co/Vjc61rs/Untitl-ed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** หนังสือแม่ทัพไทยมีไปถึงแม่ทัพญวนได้ผลดียิ่ง  แม่ทัพญวนอ่านแล้วเห็นด้วยจึงยอม  “ยกธงขาว”  แพ้โดยไม่มีเงื่อนไข  ส่งนายกองออกมาเจรจาความศึกสงครามในค่ายไทย  แม่ทัพไทยเห็นว่าหมากมีแต้มเหนือกว่าแล้ว  จึงสำทับให้นายกองญวนกลับไปบอกให้แม่ทัพญวนออกมาเจรจาความเอง  แม่ทัพญวน ๓ ทัพ ๓ นายก็ออกมาเจรจาแล้ว  เรื่องราวจะตกลงในรายละเอียดอย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, มีนาคม, 2564, 10:16:53 PM
(https://i.ibb.co/ckqK16p/Untifdtled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๐ -

ญวนสามค่ายสามแม่ทัพยอมรับผิด
ต่างเลิกคิดรบไทยให้ขุกเข็ญ
ทำสัญญายอมละทุกประเด็น
ขออยู่เย็นร่มเงาไทยอุ่นไมตรี

“องบดินทร์”ไม่หยามย่ำข่มเหง
ญวนยำเกรงยอบตัวกลัวศักดิ์ศรี
ทำตามสั่งตั้งแง่แต่โดยดี
โดยมิมีเงื่อนไขให้รำคาญ


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   แม่ทัพญวนส่งนายทหารเข้าพบแม่ทัพไทยในค่ายเพื่อเจรจา  ฝ่ายไทยให้การต้อนรับเป็นอย่างดี  นายทหารญวนกล่าวว่าไม่ทราบว่า “องบดินทร์” คุมทัพมารบด้วยตนเอง  คิดว่าเป็นเพียงทัพลาวเขมรเท่านั้น  ญวนจึงทำการรบเป็นสามารถ  ครั้นทราบว่า “องบดินทร์” มาบัญชาการรบด้วยตนเอง  ก็เกิดความกลัวจึงยอมยกธงขาวยอมแพ้แล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแอบม่านฟังอยู่ข้างหลังเจ้าพระยานครราชสีมา  จึงกระซิบสั่งให้แม่ทัพไทยบอกทหารญวนให้กลับไปบอกให้แม่ทัพญวนมาเจรจาเอง  รุ่งขึ้นแม่ทัพญวน ๓ ค่าย ๓ นายก็พากันออกมาเข้าพบแม่ทัพไทยในค่าย  เมื่อขบวนเกียรติยศแม่ทัพญวนเดินทางถึงหน้าค่าย  ทหารญวนเก็บอาวุธทั้งหมดมอบให้ทหารไทย  พระพรหมบริรักษ์ปลัดทัพไทยซึ่งยืนม้าต้อนรับอยู่ร้องห้ามไม่ให้ทหารไทยรับอาวุธญวน  แล้วให้ล่ามบอกแม่ทัพญวนว่า  ศาสตราวุธเป็นเครื่องประดับเกียรติยศแม่ทัพ  ขอให้ทหารถือไว้ตามเดิม  อย่าได้ถอดออกให้เสียเกียรติยศเลย  ตรงนี้ไทยได้ใจแม่ทัพญวนมาก  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....

          ฝ่ายแม่ทัพญวนทั้งสามบอกแก่ล่ามว่า      “เรามีความชื่นชมยินดีในถ้อยคำพระพรหมบริรักษ์และพระยาพรหมยกกระบัตรยิ่งนัก”      พูดกันเท่านั้นแล้วแม่ทัพญวนทั้งสามก็ลงจากหลังม้าเดินไปหาพระพรหมบริรักษ์และพระยาพรหมยกกระบัตร  พระยาพรหมยกกระบัตรก็ลงจากหลังม้าพาแม่ทัพทั้งสามเดินตามเข้าไปในค่าย  ได้พาไปกระทำคำนับเจ้าพระยานครราชสีมา  พระยานครราชสีมาได้ปราศรัยไต่ถามกันตามทางไมตรีเล็กน้อยตามสมควรแก่เวลาเป็นทัพใหญ่ด้วยกัน  เจ้าพระยานครราชสีมาให้ล่ามบอกแก่แม่ทัพญวนทั้งสามคนว่า

           “ท่านทั้งสามนี้ก็เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวน  จะมาพูดราชการทัพศึกให้ตกลงสิทธิ์ขาดกับเราไม่ได้  ด้วยเป็นแต่แม่ทัพใหญ่ฝ่ายหน้า  หามีอาญาสิทธิ์ที่จะชี้ขาดในราชการสงครามนี้ไม่  แต่เราจะพาท่านทั้งสามไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ซึ่งเป็นแม่ทัพหลวงผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการสงครามนี้”

          แม่ทัพญวนทั้งสามจึงตอบว่า

           “แต่แม่ทัพฝ่ายหน้านี้ก็มีสติปัญญาพูดจาเฉลียวฉลาดองอาจมากอยูแล้ว  ถ้าไปถึงองบดินทร์แม่ทัพหลวงจะมิดียิ่งขึ้นกว่านี้อีกหรือ?”

          ล่ามตอบว่า     “แม่ทัพหลวงนี้พูดจาฉลาดกว่าแม่ทัพหน้านี้มากหลายเท่า”

          แม่ทัพญวนได้ฟังล่ามบอกดังนั้นแล้ว  ก็มีสีหน้าเผือดผิดปรกติเดิม  มีเหงื่อไหลย้อยออกมาจากหน้า  เป็นการสำแดงอาการกิริยาว่าตกใจเกรงกลัวอำนาจเจ้าพระยาบดินทรเดชายิ่งนัก  แล้วแม่ทัพทั้งสามบอกว่า

           “อยากจะใคร่ไปพบเห็นหน้าตารูปพรรณองบดินทร์แม่ทัพไทยยิ่งนัก  เพราะได้ทราบแต่ข่าวเล่าลือมาช้านานแล้วว่ารูปก็งามนามก็เพราะ  ทั้งสติปัญญาวาจาก็หลักแหลม  ฝีมือทัพศึกก็เข้มแข็งกล้าหาญยิ่งนัก  ได้ยินแต่กิตติศัพท์ดังนี้มานานสิบห้าปี  แต่ครั้งไปทัพเวียงจันทน์ตีเจ้าลาว  ลูกเจ้าเวียงจันทน์  และแตกหนีไปได้ โดยฝีมือท่านองนี้มิใช่หรือ?”

          ล่ามรับว่า  “จริงดังนั้น”  แล้วเจ้าพระยานครราชสีมา  ใช้ให้พระยาพระยาณรงค์สงครามนำความไปกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา

(https://i.ibb.co/Hpd0q2k/Untitdfrled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาบดินทร์เดชามีบัญชาสั่งให้พาแม่ทัพญวนมาหา  จะออกรับรองพูดจาด้วย  แล้วสั่งให้พระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรและหลวงนายสิทธิ์ผู้หลานแต่งการรับรองญวน  ประชุมท้าว พระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง  แต่งกายนุ่งผ้าลายมีเกี้ยวกรวยเชิง  สวมเสื้อเยียรบับเข้มขาบอัตลัดและแพรจีนเจาแพรลายกระบวนจีนสีต่าง ๆ  โพกแพรสีทับทิมติดขลิบทองเป็นหูกระต่ายบ้าง  สวมมาลาเลื้อยบ้าง  ทรงประพาสบ้าง  ตามบรรดาศักดิ์ใหญ่และน้อย  มานั่งหน้าทำเนียบในค่ายเป็นหลักอันดับกันตามฐานานุศักดิ์  ให้แต่งช้างเขนมายืนหน้าทำเนียบ  พลาย ๒๕  พัง ๒๕  ม้าร้อยหนึ่ง  แต่งทหารถืออาวุธต่าง ๆ มานั่งกาลาบาทนอกทำเนียบค่ายเป็นกอง ๆ  แล้วขนมูลดินมากองไว้ในค่ายหลายสิบกอง  แต่ละกองสูงสี่ศอกบ้าง  สูงหกศอกบ้าง  แล้วนำกระสุนปืนมาประดับบนกองดิน  ตั้งแต่ฐานถึงยอดกองดินทุกกอง  เพื่อจะสำแดงให้ญวนเห็นว่ามีกระสุนปืนมากดังนั้นแล้ว  ก็ย่อมจะมีตัวปืนใหญ่มากเหมือนกระสุนปืนด้วย  กับหาดินมาปั้นเป็นกระสุนปืนกระสุนแตกโตเท่าผลมะพร้าวบ้าง  เท่าบาตรพระสงฆ์บ้าง  หลายร้อยกระสุนทาน้ำมันดำ ๆ วางทิ้งกลิ้งไว้ในค่าย  ให้ญวนเห็นว่ามีกระสุนปืนใหญ่เหลือดังนี้แล้ว  ก็คงจะมีตัวปืนกระสุนแตกใหญ่ ๆ เป็นแน่  ทำเป็นอำนาจให้ญวนกลัว  (เพราะเวลานั้นปืนกระสุนแตกมีแต่ในประเทศฝรั่งเท่านั้น  ยังไม่ได้มีแพร่หลายไปในประเทศอินเดีย  คือมอญ พม่า จีน ญวน เขมร ลาว ยังไม่มีใครเคยใช้  ที่ไทยนี้ได้เป็นไมตรีกันกับอังกฤษ  อังกฤษเมืองบั้งกะหล่าได้ถวายแก่กรุงเทพฯ บ้าง และกรุงเทพฯ ได้ซื้อมาแต่เจ้าเมืองบั้งกะหล่าบ้างเล็กน้อย  เพราะฉะนั้นอำนาจปืนกระสุนแตกจึงเป็นที่ยำเยงเกรงกลัวในประเทศญวนโดยมาก  อันที่จริงไทยก็มีใช้แต่เล็กน้อย)

          ในวันนั้นเวลาบ่ายโมงเศษ  เจ้าพระยานครราชสีมาพาแม่ทัพญวนทั้งสามคนเข้าไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาก็แต่งกายเต็มยศแม่ทัพหลวง  คือนุ่งผ้ายกทองคาดเข็มขัดสายทองประจำยาม  และคาดรัดประคดหนามขนุน  สวมสอดแหวนนพเก้าวงใหญ่  และสวมเสื้อเยียรบับชั้นใน  สวมเสื้อครุยสำรดทองชั้นนอก  สวมมาลาเซ่าสะเทิน  สวมแหวนเพชรและพลอยต่างสีอันมีค่าทั้งสิบนิ้ว  มือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ฝักทองคำด้ามทองคำศีรษะนาคราช  ออกมานั่งอยู่บนเตียงจมูกสิงห์  พิงพนักอยู่บนทำเนียบในค่าย  หน้าทำเนียบดาดปะรำให้ ท้าว พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น นายทัพนายกองนั่ง  เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมานำแม่ทัพญวนทั้งสามคนเข้าไปนั่งในปะรำกลางหมูนายทัพนายกองฝ่ายไทยแล้ว  องอันภู่ ๑  องเดดก ๑  องลันบิน ๑  ทั้งสามคนก็กระทำคำนับเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงพูดกับเจ้าพระยานครราชสีมาว่า

           “ท่านจงบอกแก่ล่ามให้บอกแก่แม่ทัพญวนว่า  ซึ่งแม่ทัพญวนคุมกองทัพมาทำศึกสงครามแก่ไทย  ได้รบกันก็หลายเวลาแล้ว  ย่อมจะรู้เห็นฝีมือและอาวุธกันทั้งสามฝ่าย  ฝ่ายไหนจะได้เปรียบและเสียเปรียบก็ย่อมแจ้งอยู่แก่ใจด้วยกันทั้งไทยและญวนจริงหรือไม่จริง?”

          ล่ามบอกแก่แม่ทัพญวน  แม่ทัพญวนตอบว่า

           “รู้เห็นแล้วว่าฝีมือไทยและอาวุธเข้มแข็งดีกว่าญวน  ญวนคงจะสู้ไทยไม่ได้เป็นแน่”

          ล่ามแจ้งความตามคำแม่ทัพญวนให้เจ้าพระยานครราชสีมา  เจ้าพระยานครราชสีมานำข้อความที่ล่ามบอกนั้นขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงพูดกับเจ้าพระยานครราชสีมาว่า

           “ท่านจงบอกแก่ล่ามให้ล่ามบอกแก่แม่ทัพญวนว่า  ซึ่งแม่ทัพญวนมาทำศึกแก่ไทย  แล้วญวนปราชัยพ่ายแพ้แก่ไทยในครั้งนี้  ก็อย่าเสียใจ  เป็นวิสัยประเพณีการรณรงค์สงคราม  มีเวลาแพ้แล้วก็จะมีเวลาชนะบ้าง  เว้นแต่ตายเสียเมื่อใดก็เป็นหมดเวลาแพ้และชนะเมื่อนั้น”

          ล่ามก็ชี้แจงให้แม่ทัพญวนฟัง  แม่ทัพญวนฟังแล้วจึงว่า

           “ซึ่งแม่ทัพญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยได้มาสู้รบกับกองทัพไทยจนไทยล้มตายไปบ้างนั้น  เพราะไม่รู้ว่าท่านองบดินทร์ออกมา  ด้วยสำคัญว่าเป็นแต่แม่ทัพหัวเมืองลาวเขมรเท่านั้น  ถ้ารู้เสียแต่แรกแล้วว่าทัพองบดินทร์ออกมาเอง  ญวนก็จะไม่สู้รบเลย  ที่ได้สู้รบเกินเลยไปแต่ก่อนนั้น  องญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพมีความผิดหนักหนาแล้ว  ขอรับปรานีโทษเสียสักครั้งหนึ่งเถิด  ขอรับประทานชีวิตไพร่พลญวนไว้ให้รอดตาย  อย่าฆ่าฟันญวนเลย  ถึงมาทว่าท่านจะฆ่าก็ฆ่าแต่ข้าพเจ้าแม่ทัพใหญ่ทั้งสามคนนี้เถิด  อย่าฆ่าไพร่พลเลย  ขอให้รอดชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น”

          ล่ามก็แจ้งความตามคำญวนนั้นให้เจ้าพระยานครราชสีมาฟัง  เจ้าพระยานครราชสีมาฟังแล้ว  จึงนำข้อความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงว่ากับเจ้าพระยานครราชสีมาให้บอกล่ามว่า

(https://i.ibb.co/7S7vF9H/Untitlded-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ซึ่งองญวนแม่ทัพรับผิดขอชีวิตรอดตายด้วยกันทั้งนายและไพร่ไม่ฆ่าทั้งสิ้น  แต่ว่าที่องญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพและนายทัพนายกอง  เข้าชื่อกันทำหนังสือสัญญาประทับตรามาให้แก่ไทย  เป็นใจความว่าองญวนแม่ทัพรู้สึกตัวกลัวกองทัพไทย  ขอสารภาพยอมแพ้แก่แม่ทัพไทย  จะไม่สู้รบกับไทยต่อไปแล้ว  จะห้ามปรามพวกญวนไม่ให้มายำยีเบียดเบียนบ้านเมืองเขมรต่อไป  หรือองญวนจะว่าอะไร  พูดอะไรมาในหนังสือสัญญาให้เป็นที่เชื่อถือได้มั่นคงเป็นหลักฐานทางราชการได้  ก็ให้ว่ามาในนั้นเถิด  ถ้าทำหนังสือสัญญาตามตกลงกันเสียก่อนแล้ว  จึงจะปล่อยให้ไปบ้านเมืองทั้งไพร่นายไม่ฆ่าฟันเลยแต่สักคนเดียว”

          ล่ามก็บอกแก่แม่ทัพญวน  แม่ทัพญวนจึงว่า

           “ซึ่งท่านองบดินทร์โปรดให้ทานชีวิตไว้ทั้งไพร่นาย  ไม่ฆ่าฟันให้ตายในครั้งนี้  แล้วปล่อยให้กลับไปบ้านเมืองนั้น  พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้แล้ว”

          ล่ามก็กราบเรียนตามคำแม่ทัพญวนว่านั้นให้เจ้าพระยานครราชสีมาฟัง  เจ้าพระยานครราชสีมาฟังแล้วนำความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาบดินทร์เดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงว่ากับเจ้าพระยานครราชสีมาบอกล่ามว่า

           “ถ้าองญวนแม่ทัพคิดดังนั้นแล้ว  ก็เป็นตกลงจะไม่ฆ่าเป็นแน่  และคงจะปล่อยด้วยกันทั้งหมด  ให้องญวนแม่ทัพกลับเข้าไปในค่ายทำหนังสือสัญญาประทับตราออกมาให้ก่อน  จึงจะสั่งเจ้าพระยานครราชสีมาแม่ทัพใหญ่แต่งนายทัพนายกองพาญวนไปปล่อยให้พ้นเขตแดนเขมร”

(https://i.ibb.co/5hS5K68/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ล่ามก็ชี้แจงแจ้งความให้ญวนฟัง  แม่ทัพญวนฟังแล้วก็กระทำคำนับเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยานครราชสีมา  แล้วก็ลาออกจากที่ประชุม  แล้วพระยา พระ เขมรก็พาแม่ทัพญวนทั้งสามออกมาเลี้ยงอาหารและน้ำชาที่ศาลาในค่ายเจ้าพระยานครราชสีมา  แม่ทัพญวนก็ลาขึ้นม้ากลับไปในค่าย  รีบทำหนังสือสัญญาเป็นอักษรจีนภาษาญวน  แล้วประทับตรายี่ห้อแม่ทัพและนายกอง ๑๒ ดวง  เสร็จแล้วจึงใช้ให้องลันบินแม่ทัพที่สามนำออกมาส่งให้เจ้าพระยานครราชสีมา  เจ้าพระยานครราชสีมารับไว้แล้วนำขึ้นเสนอเจ้าพระยาบดินทรเดชา..........”

          ** หนังสือสัญญาขอยอมแพ้ของแม่ทัพญวน  เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับแล้ว  กำลังให้ล่ามแปลว่าแม่ทัพญวนเขียนว่าอย่างไร  ค่อยมาอ่านกันนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, เมษายน, 2564, 10:03:40 PM
(https://i.ibb.co/54LKgwZ/Untitledsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๑ -

อ่านสัญญาญวนจบพบพิรุธ
มีหลายจุดเหลวไหลไร้แก่นสาร
ประจบเอาตัวรอดไม่วอดปราณ
ไม่ประจานจับผิดแสร้งปิดบัง

สั่งเสมียนตราแต่งหนังสือด่วน
ส่งกรุงญวนเล่าเรื่องเนื่องหน้าหลัง
มหาเสนาญวนสมควรฟัง
เรื่องจริงทั้งหมดมีตามชี้แจง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   องอันภู่  องเดดก  องลันบิน  ๓ แม่ทัพญวนออกจากค่ายเข้าเจรจาราชการสงครามกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาในค่ายไทย  สารภาพผิดที่ได้รบกับไทยจนทำให้ไพร่พลไทยล้มตายลงไปบ้าง  ยอมรับความพ่ายแพ้  ขอให้แม่ทัพไทยไว้ชีวิตไพร่พลญวน  หากจะฆ่าก็ขอให้ฆ่าแม่ทัพญวนทั้ง ๓ เสียเถิด  เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวว่า  เมื่อแม่ทัพญวนมายอมรับผิดและขอยอมแพ้อย่างนี้จะไม่ฆ่าญวนเลยสักคนเดียว  จะปล่อยให้กลับไปบ้านเมืองญวนทั้งหมด  เมื่อทัพญวนทำหนังสือสัญญาจะไม่มากดขี่ข่มเหงรังแก่ชาวเขมรอีก  ทัพญวนทั้ง ๓ ดีใจที่แม่ทัพไทยปล่อยให้กลับบ้านเมืองตนได้ทั้งหมด  จึงกระทำคำนับแล้วรีบกลับเข้าค่ายญวน  ทำหนังสือสัญญายินยอมพ่ายแพ้  ประทับตราแม่ทัพนายกอง ๑๒ ดวง  แล้วให้องลันบินแม่ทัพที่ ๓ รีบนำมามอบให้เจ้าพระยานครราชสีมา  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับหนังสือนั้นแล้ว  จึงให้ล่ามแปลเป็นภาษาไทยได้ความดังต่อไปนี้......

(https://i.ibb.co/2hZnTX1/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           “.....หนังสือสัญญาพวกองญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพนายกองที่มีชื่อ  และมียี่ห้อในดวงตราทั้ง ๑๒ ดวงนี้  พร้อมใจกันขอทำข้อสัญญาให้ไว้แก่องเป็นใหญ่แม่ทัพไทยว่า  พวกข้าพเจ้ารู้สึกตัวกลัวตายขอสารภาพยอมแพ้  ยกมอบธงอาญาสิทธิ์ให้แก่แม่ทัพไทยแล้ว  เป็นการที่ญวนจะไม่สู้รบกับไทยต่อไปจนตราบเท่าสิ้นชีวิต  ไม่คิดที่จะมาทำย่ำยีเบียดเบียนบ้านเมืองเขมรให้ได้ความเดือดร้อนอีกต่อไปในภายหน้า  และบัดนี้พวกข้าพเจ้าที่ค่ายเมืองโปริสาดจะขอเลิกทัพกลับไปรวบรวมไพร่พลอยู่ ณ เมืองใจดกซึ่งเป็นเขตแดนญวน  แล้วจึงจะมีหนังสือไปถึงองญวนนายทัพนายกองทั้งปวงที่ตั้งทัพอยู่ ณ เมืองเขมรต่าง ๆ กำลังรบพุ่งอยู่กับ พระยา พระ เขมรตามหัวเมืองทั้งปวงนั้น  จะให้แม่ทัพญวนทั้งหลายเลิกทัพกลับคืนไปเมืองญวนให้สิ้นเชิง  แล้วจะทำหนังสือไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนามดึกว่องเด้มินมาง  ขอให้พระองค์ท่านมีพระราชสาส์นแต่งทูตานุทูตเข้าไปจำทูลถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการแก่พระเจ้าอยู่หัวกรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เพื่อจะได้เจริญทางพระราชไมตรีสืบติดต่อไปอีกเหมือนแต่ก่อน  เพราะว่าแม่ทัพทำไมตรีให้ทานชีวิตแม่ทัพนายกองและไพร่พลญวนสองหมื่นเศษ  เหตุนี้พระเจ้าเวียดนามและท่านเสนาบดีกรุงเว้ก็คงจะเห็นความดีของไทยมาก  คงจะแต่งทูตเข้าไปแสดงขอบพระเดชพระคุณกรุงไทยเป็นแน่”

(https://i.ibb.co/qNxYdNR/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ตรวจดูข้อความและถ้อยคำแม่ทัพญวนในหนังสือสัญญานั้นตลอดแล้ว  ก็ลงเนื้อเห็นว่าเป็นวาจาแม่ทัพญวนกล่าวเท็จไม่จริงทั้งสิ้น  ด้วยองเดดกและองอันภู่เป็นแต่ขุนนางผู้น้อย  หาใช่เสนาบดีไม่  พูดจาอวดอ้างเกินอำนาจตัวหนัก  ที่ไหนเสนาบดีญวนและพระเจ้าแผ่นดินญวนจะประพฤติตามถ้อยคำในหนังสือนี้เล่า  ซึ่งแม่ทัพนายกองญวนยอมทำหนังสือสัญญาอ่อนน้อมให้เราคราวนี้  ก็เป็นการจวนตัวจะตาย  ต้องพูดจาตะเกียกตะกายไปต่าง ๆ นานา  เป็นการประจบประแจงไทย  แต่พอให้รอดตายภายเดียวเท่านั้นเอง  ไม่ใช่อย่างอื่นเลย  ถึงมาทว่าเรารู้เท่ารู้ทันในชั้นเชิงถ้อยคำญวนครั้งนี้แล้วก็ทำเนาเถิด  ต้องนิ่ง ๆ ไว้ในใจ  เพราะเราคิดจะปล่อยมันไปครั้งนี้  ก็เพราะจะทำไมตรีตลอดไปถึงองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่  ไม่ให้มันมาตามตีทัพเรา  ทัพเราจะได้ล่าถอยไปหาเสบียงอาหารได้โดยสะดวก   อีกประการหนึ่ง  ได้ออกปากว่าจะปล่อยให้ไป  ก็ต้องปล่อยไปตามที่พูดไว้ในที่ประชุมใหญ่  เพื่อจะให้เป็นเกียรติยศไว้สักครั้งหนึ่ง  เพราะจำทำราชการต่อไปกับญวนอีกมากอยู่  ญวนจะหมิ่นประมาทได้ว่าแม่ทัพไทยพูดจาไม่อยู่ในทางยุติธรรม  ว่าจะปล่อยแล้วก็ไม่ปล่อยเล่า  ดูเหมือนเด็กพูดเล่น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาพูดเท่านั้นแล้วจึงสั่งเสมียนตราให้ทำหนังสือแจ้งข้อราชการไปถึงเสนาบดีญวนกรุงเว้ฉบับหนึ่ง  ใจความว่า

(https://i.ibb.co/5cBy3nN/Untsditled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “สารตราเจ้าพระยาจักรีศรีองรักษ์สมุหนายก  ดิลกเลิศประเสริฐศักดิ์เอกอัครมหาเสนาบดี  จอมพิริยพาหลพลพยุหจตุรงค์รัตนามาตย์  ราชปรินายกดุจจักรแก้วอันประดิษฐานอยู่ใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทบงกชเรณุมาศยุคล  พระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราช  บรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงพระอนันตคุณธรรมมหาประเสริฐ ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เราขอแจ้งข้อราชการมาถึงท่านมหาเสนาบดีกรุงเว้ได้ทราบ  ด้วยกรุงกัมพูชาและแว่นแคว้นแผ่นดินเขมรเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงพระมหานครศรีอยุธยามาช้านาน  ครั้งหนึ่งเจ้านายฝ่ายเขมรวิวาทกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เราออกมาปราบปรามพวกเขมรที่ยุยงเจ้านายเขมรให้ก่อเกิดการวิวาทนั้นก็สงบเรียบร้อยไปแล้ว  เราก็กลับเข้าไปในกรุงเทพฯ  ภายหลังแม่ทัพญวนมีหนังสือหลอกล่อให้เจ้านายฝ่ายเขมรหนีไทยไปหาญวน  ญวนก็หาเลี้ยงดูตามสมัครไม่  ญวนกลับจับเจ้านายฝ่ายเขมรทั้งหญิงทั้งชายไปฆ่าเสียบ้าง  ไปจองจำทำโทษโดยหาความผิดมิได้บ้าง  และจับพวกขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายเขมรไปจองจำโดยใช่เหตุหาความผิดไม่ก็มากกว่ามาก  แล้วนายทัพนายกองฝ่ายญวนยกมาครอบบ้านครองเมืองฝ่ายเขมรเสียทั้งสิ้น  และญวนรอบงำทำอำนาจข่มขี่ข่มเหงพวกราษฎร์เขมรได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก  ฝ่ายพระยา  พระ  เขมรที่เหลืออยู่บ้าง  จึงได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณา  เป็นการร้องทุกข์ขอให้มีกองทัพกรุงเทพฯ ออกมาช่วยระงับดับความเดือดร้อนของพวกเขมรในคราวเกิดการจลาจลขึ้นทุกบ้านทุกเมือง  เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวของเรา  จึงทรงพระราชดำริโดยทางยุติธรรมว่า  เมืองเขมรก็เป็นเมืองข้าขอบขัณฑเสมามาแต่โบราณ  เมื่อเกิดการยุคเข็ญแก่ราษฎรเขมรเช่นนี้แล้ว  ก็ควรจะต้องช่วยดับร้อน  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาญาสิทธิ์ให้เราเป็นผู้บังคับบัญชาการศึกสิทธิ์ขาดทุกทัพทุกกอง  เราจึงได้คุมไพร่พลเป็นกองทัพออกมาช่วยระงับดับร้อนของพวกราษฎรเขมร  ราษฎรเขมรก็ได้มีความร่มเย็นเป็นสุขไปหลายบ้านหลายเมืองแล้ว  แต่เขมรบางพวกมาร้องแก่เราว่า  พวกญวนที่เมืองโปริสาดยังตั้งทำการข่มเหงเขมรอยู่มาก  เขมรขอให้ยกทัพไประงับที่เมืองโปริสาดด้วย  เราก็ยกกองทัพลงไปถึงเมืองโปริสาด  แต่ว่ายังห่างไกลกับค่ายญวนมากนัก  เราจึงได้ใช้ให้เจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งเป็นกองทัพหน้าของเรานั้น  ยกไปทำศึกกับญวนที่เมืองโปริสาด  แต่รบกันอยู่ได้ ๔ ถึง ๕ วัน  กองทัพเจ้าพระยานครราชสีมากล้าหาญนัก  ยกเข้าล้อมค่ายญวนไว้ได้รอบทั้งแปดทิศ  ได้นำปืนใหญ่กระสุนแตกกระสุนเท่าผลส้มเกลี้ยงบ้าง  เท่าผลมะพร้าวห้าวบ้าง  ยิงเข้าไปในค่ายญวน  ญวนเกือบจะตายอยู่แล้ว  ขณะนั้นองอันภู่และองเดดกแม่ทัพใหญ่ในค่ายโปริสาดกลัวฝีมือและอาวุธไทยยิ่งนัก  ไม่อาจจะสู้รบกับกองทัพไทย  เพราะฉะนั้น  องอันภู่และองเดดกแม่ทัพจึงแต่งให้ญวนนายทัพนายกองถือธงใหญ่  ซึ่งเป็นธงอาญาสิทธิ์แม่ทัพญวนมามอบให้แก่แม่ทัพไทย  แล้วญวนผู้นั้นแจ้งความว่า  แม่ทัพญวนไม่ต่อสู้รบกับไทยแล้ว  และขอยอมแพ้โดยดี  จะขอแต่ชีวิตไพร่พลไว้ไม่ให้ไทยฆ่าฟันเลย  และจะขอกลับไปเยี่ยมเยือนบ้านเมืองซึ่งเป็นชาติภูมิเดิมของญวน  แล้วองเดดกและองอันภู่แม่ทัพทำหนังสือสัญญาสัญญาไว้ให้เราแจ้งอยู่คู่ร่างสำเนา  หนังสือสัญญาของญวนที่เราได้ส่งมาบัดนี้ด้วยแล้ว  แล้วองญวนทั้งสองได้ออกมาหาเราที่ค่ายเรา  แล้วแจ้งความกับเราว่าไม่อยากจะสู้รบ  เพราะเกรงอาวุธและฝีมือไทย  จึงได้ยอมแพ้เสียโดยดี  แล้วว่าจะขอแต่งไพร่พลกลับไปอยู่เมืองโจดก  แล้วจะมีหนังสือไปถึงองญวนผู้ใหญ่แม่ทัพที่รักษาเมืองพนมเปญ  ให้เลิกทัพกลับไปให้หมด  แล้วว่าจะมีหนังสือบอกขึ้นไปกรุงเว้  แจ้งความแก่ท่านเสนาบดีให้กราบทูลพระเจ้าเวียดนามให้ทรงทราบประพฤติเหตุว่าไทยมีเมตตาจิตไม่ฆ่าญวน  ญวนจะขอให้พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นแต่งเครื่องมงคลราชบรรณาการให้ทูตานุทูตคุมเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา  เพื่อจะให้เป็นทางพระราชไมตรีเหมือนแต่กาลก่อนนั้น  ฝ่ายเราผู้เป็นแม่ทัพคิดเห็นว่า  แต่ก่อนนั้นญวนกับไทยเคยเป็นทางพระราชไมตรีกันมานาน  เพิ่งมาเสื่อมเสียเศร้าหมองไปได้หลายปีแล้ว  เพราะเขมรและลาวก่อการให้เสียทางพระราชไมตรีกันครั้งหนึ่ง  และบัดนี้เราเห็นว่า  ทางพระราชไมตรีจะติดต่อกันกับไทยอีกแล้ว  ก็ควรจะเป็นการมงคลแก่สองพระนคร  ราษฎรจะได้ไปมาค้าขายและทำมาหากินให้เป็นสุข  ปราศจากการรบพุ่งฆ่าฟันกัน  ซึ่งเป็นที่ลำบากยากแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยกันทั้งสองฝ่าย  เพราะฉะนั้นเราจึงได้ปล่อยพวกญวนที่เมืองโปริสาดเป็นจำนวนญวนทั้งชายและหญิงสองหมื่นสามพันหกร้อยเศษ  ให้กลับไปบ้านเมืองตามความในหนังสือสัญญากัน  และความเห็นของเราที่ทางพระราชไมตรีจะสนิทกันเข้าอีกแล้ว  จึงยอมให้ญวนที่แพ้กลับไป” .........

(https://i.ibb.co/XydvbHT/Unti96tled-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** อ่านมาถึงตรงนี้ก็ได้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดหลักแหลมของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา  รู้ทันแม่ทัพญวนแต่แสร้งทำเป็นไม่รู้  กลับมีหนังสือถึงมหาเสนาบดีญวนที่กรุงเว้ด้วยสำนวนลีลาอันงดงามยิ่ง  หนังสือฉบับนี้เขียนเสร็จแล้วท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป  ค่อยมาอ่านกันครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, เมษายน, 2564, 10:23:34 PM
(https://i.ibb.co/xqKVPrg/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๒ -

“องอันภู่,เดดก,ลันบิน”สาม
กลับไปตามสัญญาไม่เสแสร้ง
ยอมรับโทษองเตียนกุนที่รุนแรง
ไม่แสดงรักตัวหวาดกลัวตาย

เจ้าเวียดนามโกรธจัดสั่งคาดโทษ
ใช้ความโหดเข่นฆ่าดับกระหาย
องเตียนกุนแม่ทัพเก่าเอาไว้ลาย
กบดานค่ายมั่งคง “กำปงธม”


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้เสมียนตราแต่งหนังสือไปถึงมหาเสนาบดีญวนกรุงเว้  บอกเล่าท้าวความไปตั้งแต่เจ้าเขมรวิวาทกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกกองทัพมาปราบปรามจนสงบแล้วกลับกรุงเทพฯ  ต่อมาเจ้าเขมรถูกญวนหลอกให้หนีไทยไปเข้ากับญวน  แต่ญวนกลับไม่ยกย่องเชิดชู  มิหนำซ้ำยังฆ่าเจ้าเขมรหญิงชายเสียบ้าง  พาตัวไปขังคุกเสียบ้าง  ญวนขมเหงรังแกเขมรมากจนเขมรส่วนหนึ่งมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ ให้ช่วยปราบปรามญวน  จึงทำสงครามกันดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/gt3Ky5K/h1-ndft.jpg) (https://imgbb.com/)

           เนื้อความในหนังสือนี้เขียนเป็นอักษรไทยฉบับ ๑  อักษรเขมรภาษาเขมรฉบับ ๑  อักษรจีนภาษาญวนฉบับ ๑  ประทับตราพระราชสีห์น้อยทั้งสามฉบับ  แล้วบรรจุในกลักไม้จันทน์  มีถุงกำมะหยี่แดงหุ้มที่ปากถุงประทับตราจักรประจำครั่ง  มีฉลากนอกถุงว่าถึงเสนาบดีกรุงเว้  แต่สำเนาหนังสือที่ในห่อผนึกไปถึงแม่ทัพญวนผู้ใหญ่คือองเตียนกุนที่เมืองพนมเปญด้วย  แล้วนำหนังสือนั้นมอบให้องอันภู่และองเดดก   องอันภู่และองเดดกก็รับไป  ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชามีบัญชาสั่งให้พระนรินทร์โยธาเขมรกับพระยาราชนายกเขมรเป็นแม่กองคุมไพร่พลเขมร ๑,๕๐๐ คน  กับช้างพลายช้างพัง ๕๐ ช้าง  บรรทุกของไปส่งองเดดกและองลันบินกับญวนนายไพร่ ๕,๐๐๐ คนให้ไปทางบก  แล้วสั่งให้พระยากุเชนทรสนองโส ๑  กับหลวงวงศากุเชนทรเขมร ๑  เป็นแม่กองคุมไพร่พลเขมร ๑,๕๐๐ พาองอันภู่กับญวนไพร่นาย ๕,๐๐๐ เศษ  ให้ไปทางเรือบ้างทางบกบ้าง  ไปบรรจบกันที่ท่ากำพงฉนัง  ญวนนอกนั้นก็ให้เดินไปตามใจ  เมื่อครอบครัวญวน ๒๓,๖๐๐ ไปจากเมืองโปริสาดหมดแล้ว  พวกเขมรที่คุมเชิงไปส่งนั้นก็กลับมายังเมืองโปริสาด  พวกญวนออกจากเมืองโปริสาดนั้นแต่ ณ เดือนยี่ ขึ้นแปดค่ำ ปีชวด โทศก

(https://i.ibb.co/rc8dXwp/Untitffled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝายเจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ที่เมืองโปริสาดนั้น  ก็ขัดสนด้วยเสบียงอาหารกันดารที่สุด  จึงสั่งให้พระยาสังขโลกเขมรคนเก่า  คุมไพร่พลเขมรห้าพันอยู่รักษาเมืองโปริสาด  แต่เจ้าพระยานครราชสีมานั้นเลิกทัพกลับมายังเมืองพระตะบองก่อน  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชา  และพระยา  พระ  หลวง  นายทัพนายกองทั้งปวง  ก็ถอยทัพเข้ามาตั้งพักไพร่พลรอฟังราชการอยู่ที่เมืองพระตะบอง

(https://i.ibb.co/3kWTnWv/unnamed-23.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายองอันภู่แลองเดดกและองลันบิน แม่ทัพกลับไปถึงเมืองพนมเปญแล้ว  จึงเข้าหาองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่  แล้วเล่าความให้องเตียนกุนฟังตั้งแต่ต้นจนที่สุดว่า

            “ไทยปล่อยให้มาเพราะทำหนังสือสัญญาให้ไว้แก่ไทยฉบับหนึ่ง”

           ฝ่ายองเตียนกุนก็โกรธยิ่งนักตวาดด้วยเสียงอันดังว่า

            “มึงนี้น้ำใจองอาจสามารถไปทำหนังสือสัญญายอมแพ้แก่ไทย  เหมือนมึงเอาแผ่นดินของพระเจ้าเวียดนามไปยกให้แก่ไทย  ตัวมึงทำเกินอำนาจของมึงนัก  คงไม่พ้นความผิดเป็นแน่”

           แล้วองเดดกและองอันภู่จึงว่า

            “การทั้งนี้ก็แจ้งอยู่แล้ว  แต่ได้ปรึกษาหารือนายทัพนายกองทุกคนก็เห็นพร้อมกันว่า  ถ้าขืนต่อสู้ไปไพร่พลก็ตายหมด  เพราะไทยมีอาวุธวิเศษคือปืนกระสุนแตก  ยิงมาคราวใดก็อาจจะทำลายค่ายและชีวิตคนได้มากเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก  เพราะฉะนั้นจึงได้ยอมแพ้แก่ไทย  หมายว่าถ้าจะมีความผิดมาถึงตนก็คงจะต้องตายแต่ตัวนายทัพผู้ใหญ่สองคนเท่านั้น  คิดว่าจะยอมตายสองคนนี้เพราะว่าจะแลกชีวิตไพร่พลญวนของเจ้านายไว้สักครั้งหนึ่ง  แต่ข้าพเจ้านั้นมีความผิดเป็นโทษใหญ่โตรู้แล้ว  แล้วแต่จะโปรดเทอญ”

(https://i.ibb.co/dQ06W2v/002333.jpg) (https://imgbb.com/)

            องเตียนกุนได้ฟังดังนั้นแล้วจึงสั่งให้คนใช้คุมองอันภู่และองเดดกและองลันบินทั้งสามคนไปจำตรวนไว้ก่อน  แล้วจึงทำหนังสือบอกข้อราชการ  และส่งต้นหนังสือของเจ้าพระยาบดินทรเดชา และคู่ร่างหนังสือสัญญาขององอันภู่และองเดดกขึ้นไปยังเสนาบดีกรุงเว้  เสนาบดีกรุงเว้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามทราบความว่าเขมรกำเริบขึ้นทุกเมือง  จับญวนฆ่าเสียโดยมาก  และองอันภู่องเดดกก็ไปยอมแพ้ไทยเสียง่าย ๆ แล้วกลับไปทำสัญญาให้ไทย  หาถูกต้องตามทางราชการไม่  จึงโปรดให้องต๋าเตียนกุนเสนบดีเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลญวน ๕,๕๐๐ คน  ยกกองทัพลงมายังเมืองพนมเปญ  แล้วองต๋าเตียนกุนเกณฑ์ญวนไพร่พลตามหัวเมืองเพิ่มเติมอีก ๕,๐๐๐ คน  รวมไพร่พล ๑๐,๕๐๐  และองต๋าเตียนกุนให้พระสงฆ์เขมรถือหนังสือไปให้พระยา  พระ เขมรทุกบ้านทุกเมืองใจความว่า  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้เรามาถามพระยา พระ เขมรว่า     “โกรธแค้นญวนอย่างไรจึงพวกเขมรพากันเป็นขบถขึ้นทุกบ้านทุกเมือง  หรือว่านายทัพนายกองของญวนทำการข่มขี่ข่มเหงเบียดเบียนให้เขมรได้ความเดือดร้อนยากแค้นอย่างไรหรือ?  ขอให้พระยา พระเขมรมาหาองต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ  จะได้เล่าความทุกข์และสุขให้เราฟัง  เราฟังได้ความก็จะได้ทรงทำนุบำรุงต่อไปให้เขมรอยู่เย็นเป็นสุข”
 
(https://i.ibb.co/dLWBnNs/5-1469521891856.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายพระยา พระเขมรทั้งปวงก็ไม่มีผู้ใดไปหาองต๋าเตียนกุนแต่สักคนหนึ่ง  องต๋าเตียนกุนมาถึงเมืองพนมเปญเมื่อ ณ เดือนเก้าขึ้นค่ำหนึ่ง  ก็เข้าพักในเมืองพนมเปญแล้ว  จึงนำองอันภู่  องเดดก  องลันบิน  ทั้งสามคนไปฆ่าเสียตามรับสั่ง  ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพเก่ารู้ว่าองต๋าเตียนกุนขุนนางผู้ใหญ่ยกลงมาแต่กรุงเว้  มาตั้งอยู่ในเมืองพนมเปญ  องเตียนกุนก็ยกไปตั้งค่ายพักอยู่ที่เมืองกำปงธม  ฝ่ายองต๋าเตียนกุนอยู่ ณ เมืองพนมเปญ  จึงมีหนังสือบังคับถึงองเตียนกุนให้มาหาที่เมืองพนมเปญ  ด้วยว่าพระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้มาคาดโทษองเตียนกุนที่มีผิด  ด้วยรักษาเมืองเขมรไม่เรียบร้อยนั้น  ฝ่ายองเตียนกุนตอบองต๋าเตียนกุนว่า

             “ไม่มีหนังสือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามมาถึงองเตียนกุน  องเตียนกุนไม่ไปเมืองพนมเปญ

(https://i.ibb.co/SVhFsb1/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งหนังสือบอกข้อราชการเมืองโปริสาดให้นายจำเนตรมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ามากรุงเทพฯ ใจความว่า

             “องอันภู่และองเดดกแม่ทัพที่ค่ายโปริสาด  ขอทำหนังสือสัญญายอมแพ้ไม่สู้รบ  แต่จะขอไพร่พลญวนกลับไปบ้านเมือง  ได้ปรึกษาหารือเจ้าพระยา พระยา และพระ หลวง ทัพนายกองเห็นพร้อมกันว่า  ควรจะปล่อยให้ญวนไป  เพราะฝ่ายไทยก็มีการขัดข้องด้วยเสบียงอาหาร  และได้ข่าวว่าทัพใหญ่ฝ่ายญวนก็จะยกมาเป็นศึกขนาบจึงจำเป็นต้องปล่อยญวนไป  เพราะจะทำไมตรีไว้สักครั้งหนึ่งก่อน  แต่พอจะผ่อนปรนล่าทัพมาโดยสะดวก  ซึ่งปล่อยญวนข้าศึกไปถึง ๒๓,๖๐๐ ก่อนใบบอกนี้  หาได้มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนไม่  พระราชอาญาไม้พ้นเกล้าฯ แล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”

             และมีข้อความตามเหตุผลที่มีที่เกิดขึ้นในเมืองโปริสาดและเมืองเขมรอย่างไรก็เก็บลงไปในใบบอกมาทุกประการ  และส่งต้นหนังสือสัญญาของญวน และธงอาญาสิทธิ์ที่ญวนมามอบให้เข้ามาถวายทุกอย่าง......”

(https://i.ibb.co/7Sj8WMS/Chuy.jpg) (https://imgbb.com/)

             ** เป็นจริงด้งที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวว่า  ความในหนังสือสัญญาของแม่ทัพญวนค่ายเมืองโปริสาดนั้นเป็นความเท็จ  เพราะแม่ทัพนายกองญวนไม่มีสิทธิอำนาจทำหนังสือสัญญานั้น  ด้วยแม่ทัพใหญ่   และพระเจ้าเวียดนามจะไม่ยอมรับ  ผลก็เป็นตามที่ท่านเจ้าคุณแม่ทัพใหญ่กล่าวนั้น  องต๋าเตียนกุนซึ่งเป็นใหญ่กว่าองเตียนกุนยกทัพลงมาพนมเปญ  และให้ประหารแม่ทัพเมืองโปริสาดทั้ง ๓ นายเสีย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ค่อยนี้มาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, เมษายน, 2564, 10:21:07 PM
(https://i.ibb.co/VV5gtPK/Untitfdlexd-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๓ -

ทรงพระราชดำริก่อนดำรัส
เรื่องราวชัดแจ้งเห็นเขมรล่ม
ขาดเจ้านายยึดเหนี่ยวหลักเกลียวกลม
ญวนจึงข่มเหงได้ไม่เว้นวาร

จึ่งดำรัสจัดส่ง “นักองด้วง”
กลับไปช่วงชิงอำนาจอย่างอาจหาญ
ขับไล่ญวนพ้นเขมรเลิกเป็นพาล
ฟื้นตำนานชาติชูกัมพูชา


อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   องอันภู่  องเดดก  องลันบิน  สามแม่ทัพญวนถูกส่งตัวจากเมืองโปริสาดไปพนมเปญ  เข้าหาองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน  เล่าความที่ยอมแพ้แก่ไทยทุกประการ  องเตียนกุนโกรธมากแล้วสั่งจำตรวนไว้  พร้อมกับมีหนังสือขึ้นไปบอกเล่าเรื่องแก่มหาเสนาบดีญวน  มหาเสนาบดีนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางให้ทรงทราบ  พระเจ้าเวียดนามทรงพิโรธยิ่งนัก  สั่งให้องต๋าเตียนกุนมหาเสนายกทัพลงมาพนมเปญเพื่อชำระความ  องต๋าเตียนกุนมาถึงพนมเปญแล้วมีหนังสือให้พระสงฆ์ไปยื่นแก่พระยา พระ ทุกเมือง  ถามว่าโกรธเคืองญวนเรื่องอะไรให้มาบอกเล่าให้รู้กันบ้าง  จะได้แก้ปัญหา  แต่ไม่มีใครเข้าหาเลยสักคนเดียว  องต๋าเตียนกุนมีหนังสือสั่งบังคับให้องเตียนกุนที่ไปตั้งค่ายมั่นอยู่เมืองกำปงธม  ให้เข้ามาพบที่พนมเปญ  แต่องเตียนกุนไม่ยอมลงมาพบ  อ้างว่าไม่ใช่หนังสือสั่งของพระเจ้าเวียดนาม  องต๋าเตียนกุนสั่งให้นำตัวแม่ทัพทั้งสามที่ยอมแพ้ไทยนั้นไปฆ่าเสียทั้งสิ้น  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเมื่อถอยทัพกลับไปตั้งมั่นที่เมืองพระตะบองแล้ว  จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบเรื่องราชการสงครามในเขมรทุกประการ  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....

(https://i.ibb.co/P5j3nZM/Untxditled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาราชนิกูลตั้งค่ายรับญวนอยู่ที่เมืองชิแครง  กับจะได้ป้องกันรักษาราษฎรในเมืองและนอกเมืองด้วย  แต่ไพร่พลในกองทัพพระยาราชนิกูลนั้นเป็นแต่ลาวหัวเมืองและเขมรป่าดงข้างตะวันออกเป็นอันมากแทบจะทั้งหมด  มีไพร่พลไทยน้อยคนนัก  พอได้ยินเสียงกลองศึกญวนนั้นกระชั้นใกล้ค่ายเข้ามา พวกไพร่พลลาวเขมรมันก็ทิ้งค่ายเสียพากันหนีเข้าป่าไปหมด  มันตื่นกลัวญวนเหมือนไก่เถื่อนได้ยินเสียงเสือก็ตื่นบินเข้าป่าไปฉันนั้น  นายทัพนายกองไทยจะห้ามปรามกดขี่ไว้มันก็ไม่อยู่ด้วย  ฉวยอาวุธปืนดาบวิ่งเข้าป่าไป  จนถึงหลวงรักษาเทพฟันด้วยดาบตายเสียสองคน  พอให้พวกมันเห็นเป็นตัวอย่าง  จะได้กลัวไม่หนีเข้าป่าไป  มันก็ไม่ฟังวิ่งหนีไปจนหมด  ฝ่ายพระยาราชนิกูล  พระยาอภัยสงคราม  หลวงเทพรักษานั้น  น้อยตัวนักจะอยู่ต่อสู้รบกับญวนไม่ได้  ก็จะเสียท่วงทีแก่ราชการ  และชีวิตก็จะเป็นอันตรายด้วย  นายทัพไทยก็พาไพร่พลไทยออกจากเมืองชิแครงทิ้งค่ายเสีย  แล้าหนีเข้าป่าไปบ้างอย่างพวกลาวนั้น  ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพญวนยกมาถึงค่ายไทยก็แตกแหกค่ายหนีเข้าป่าไปสิ้น  ญวนก็เข้าค่ายเก็บอาวุธและเสบียงอาหารเป็นอันมาก  แล้วก็กวาดต้อนครอบครัวเขมรเมืองชิแครงอพยพไปไว้เมืองพนมเปญ  แล้วแต่งให้องญวนนายทัพคุมไพร่ญวนอยู่รักษาเมืองชิแครง  และจัดการบ้านเมืองชิแครงให้เรียบร้อยเป็นปกติ  เมื่อองเตียนกุนมีชัยชนะแก่ไทยตีได้เมืองชิแครงแล้ว  องเตียนกุนก็ยกมาช่วยองเดดกและองอันภู่  ซึ่งอยู่ในที่ล้อม ณ เมืองโปริสาด  องเตียนกุนยกทัพมากลางทางได้ข่าวว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชาปล่อยองเดดกและองอันภู่แม่ทัพและไพร่พลครอบครัวญวนในเมืองโปริสาด ๒๓.๖๐๐ คน  ได้เดินทางจากเมืองโปริสาดไปยังเมืองพนมเปญแล้ว  เพราะฉะนั้นองเตียนกุนจึงมิได้ยกขึ้นมาตีค่ายไทยที่เมืองโปริสาดไม่  เลยยกกองทัพไปเมืองพนมเปญทีเดียว  เพื่ออยากจะรู้เหตุผลต้นปลายประการใดไทยจึงได้ปล่อยให้ญวนมาง่าย ๆ

(https://i.ibb.co/6w7QFxJ/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายที่กรุงเทพฯ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทราบใบบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชา  และต้นหนังสือของพระยาพระเขมรมีมาอ้อนวอนงอนง้อขอนักองด้วงเจ้าเขมรออกไปเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรนั้น  จึงทรงพระราชดำริโดยทางยุติธรรมราชประเพณี  ทรงเห็นว่าธรรมดาบ้านเมืองใหญ่โตเช่นนั้น  ถ้าไม่มีเจ้านายผู้หลักผู้ใหญ่จะครอบครองบ้านเมืองแล้ว  ราษฎรพลเมืองที่ไหนจะมีความสุขสบายได้เล่า  ควรจะยอมตามความคิดที่พระยาพระเขมรขอนั้นจึงจะชอบด้วยทางทศพิธราชธรรม  อนึ่ง บัดนี้เล่าพระยาพระเขมรหัวเมืองผู้ใหญ่ก็ได้แต่งให้พระยาพระเขมรหลายนาย  เข้ามาพูดจาชี้แจงข้อราชการที่เมืองเขมรต่อท่านเสนาบดีฝ่ายไทย  ว่าราษฎรได้ความเดือดร้อนเพราะไม่มีเจ้านายเป็นใหญ่เป็นประธานแก่บ้านเมือง  อยากจะขอนักพระองค์ด้วงออกไป  เนื้อความข้อนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพ (ทองเพ็ง) เชิญพระกระแสพระราชดำริออกไปปรึกษาท่านเสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่  เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมพร้อมกันตามพระกระแสพระราชดำรินั้นทุกประการ  จึงมีพระราชดำรัสให้พระยาสีหราชเดโช ๑  พระยาประสิทธิสงคราม ๑  พระยาราชรองเมือง ๑  หลวงเทเพนทร์ ๑  เป็นข้าหลวงในพระราชวังหลวง ๔ นาย  พระยาสุเรนทรราชเสนา ๑  พระยาเพชรรัตน์ ๑  พระเขื่อนเพชรเสนา ๑  หลวงชาญภูเบศ ๑  เป็นข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ ๔ นาย  รวมข้าหลวง ๘ นาย  คุมไพร่พลในกรุงสองร้อย  พานักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพระตะบอง

(https://i.ibb.co/g6S2s2N/26907275-1021507584239044.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นทรงพระกรุณาให้ใช้ใบบอกและบัตรหมายว่า  “นักพระองค์ด้วง”  แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคและบริโภคแก่นักพระองค์ด้วงตามเกียรติยศเจ้านายประเทศราชเขมรผู้ใหญ่  คือ  มาลาเซ่าสะเทิน ๑  เสื้อทรงประพาส ๑  เสื้อจีบเอง ๑  เสื้ออย่างน้อย ๑  แต่ล้วนเข้มขาบทั้งสามเสื้อ  แล้วเสื้อญี่ปุ่น ๒ เสื้ออย่างน้อย ๓  รวม ๕ เสื้อ  เสื้อทำด้วยแพรกระบวนจีนดวงต่าง ๆ สีต่าง ๆ กับพานทองคำกลมรองล่วมหมาก ๑  เต้าน้ำมีพานรองทำด้วยทองคำสำรับ ๑  กระโถนทองคำบ้วนน้ำหมาก ๑  พานทองคำรองขันทองคำเล็กสำรับ ๑  โต๊ะเงินคาวหวานคู่หนึ่ง  พระกลดคันยาวมีระบายสองชั้นยอดปิดทองคำเปลว  ทำด้วยแพรหักทองขวางคัน ๑  โหมดเทศคัน ๑  แพรจีนคัน ๑  พระกลดคันสั้นทำด้วยแพรคัน ๑  ผ้าชุบขี้ผึ้งคัน ๑  เป็นเครื่องสำหรับเกียรติยศและเครื่องอัญมณี เครื่องนุ่งห่ม  กับพระพุทธรูปแก้วผลึกหน้าตักห้านิ้วทรงเครื่องทองคำองค์หนึ่ง  กับผ้าไตรบริขารพร้อมสำหรับไปทำบุญสิบสำรับ  กับผ้าลายกุศราดและย่ำมะหวาดอย่างละสิบกุลี  รวมยี่สิบกุลีเป็นของนักพระองค์ด้วง  แล้วพระราชทานสิ่งของออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  สำหรับที่จะแจกจ่ายให้รางวัลแก่พระยาพระเขมรที่เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อนักพระองค์ด้วง  และพระยาพระเขมรเก่าที่ได้รับราชการมีความชอบแก่ทัพศึกนั้นด้วย  คือ  คนโทบั้งกะหรี่สิบคนโท  ถาดหมากเงินกาไหล่ทองสิบถาด  โต๊ะหมากถมตะทองยี่สิบโต๊ะ  เสื้อเข้มขาบอัตลัดเป็นเสื้ออย่างน้อยสามสิบเสื้อ  เสื้ออย่างน้อยแพรกระบวนจีนดวงและสีต่าง ๆ ร้อยเสื้อ  ผ้าลายกุศราดและย่ำมะหวาดและลายอย่างรวมร้อยกุลี  กับเงินตราร้อยชั่ง  สิ่งของและเงินทั้งนี้ตามแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะเห็นว่าใครได้ราชการก็ให้ไปเถิด

(https://i.ibb.co/YXtNWk4/Untitlseed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระยาศรีสิงหเทพ ได้พานักพระองค์ด้วงและพระยาพระหลวงข้าหลวงแปดนาย  กับพระยาพระเขมรที่เข้ามารับนักพระองค์ด้วงอีกแปดนายพร้อมกันเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา  จึงทรงพระกรุณาพระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่พระยาพระเขมรทั้งแปดคนด้วย  แล้วข้าหลวงแปดนายพานักพระองค์ด้วงออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ เดือนยี่ แรมเจ็ดค่ำ ปีชวด โทศก  ไปถึงเมืองพระตะบอง ณ เดือนสาม ขึ้นสิบสามค่ำ.........

(https://i.ibb.co/SrJ2NpG/unnamed-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** การเกณฑ์ไพร่พลเข้าเป็นกองทัพยกไปรบกับข้าศึกสมัยโบราณไม่ใช่เรื่องง่าย  ได้เห็นตัวอย่างกองทัพพระยาราชนิกูลนี้ชัดเจนแล้ว  ลาวและเขมรป่าดงเป็นชาวบ้านธรรมดา  เมื่อถูกเกณฑ์เข้ากองทัพก็จำต้องไปโดยไม่รู้เรื่องยุทธวิธีเลย  ครั้นเห็นข้าศึกยกมา  ตีฆ้องกลองม้าล่อโห่ร้องกึกก้องก็เกิดความกลัวจนวิ่งเตลิดเปิดเปิงหนีเข้าป่าเข้าดงไป  นายทัพนายกองข่มไม่อยู่  กองทัพก็ต้องแตกพ่ายในที่สุด  เขมรถึงจุดหักเหเปลี่ยนแปลงอีกที  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระราชทานคืนนักองด้วงเจ้าชายเขมรให้กลับไปเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรตามความต้องการของพระยา พระเขมร  เดินทางถึงเมืองพระตะบองแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป  ค่อยมาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, เมษายน, 2564, 01:33:52 AM
(https://i.ibb.co/hYYM7j6/Untidfdftled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๔ -

“เจ้าพระยาบดินทรเดชา”ชื่น
ได้รับคืน“นักองด้วง”ล่วงปัญหา
ส่งใบบอกข่าวเขมรหมู่พระยา
ให้เข้ามาบังคมชมบารมี

ปวงพระยาพระเขมรตื่นเต้นแสน
ต่างโลดแล่นเฝ้ากันขมันขมี
ถือพิพัฒน์สัตยาสามัคคี
ด้วยภักดีแนบแน่นเจ้าแผ่นดิน


อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   มีข่าวเรื่องพระยาราชนิกูลที่ยกไปป้องกันรักษาเมืองชิแครงนั้น  เมื่อองเตียนกุนยกทัพใหญ่ไปตีเป็นเรื่องดังที่เชลยศึกญวนให้การนั้น  ต่างกันที่รายละเอียดว่าองเตียนกุนมิได้ฆ่าฟันไพร่พลไทยล้มตายมากมายดังที่เชลยญวนบอกเล่า  เพราะเมื่อองเตียนกุนยกไปถึงค่ายไทยที่เมืองชิแครงนั้น  ไม่มีไพร่พลเหลืออยู่ในค่ายแล้ว  โดยเมื่อลาวและเขมรป่าดงพากันกลัวทัพญวนจนหนีเข้าป่าดงนั้น  นายทัพนายกองสะกดไม่อยู่  ครั้นไพร่พลส่วนใหญ่พากันหนีเข้าป่าดงหมดแล้ว  พระยาราชนิกูลก็จำต้องพาไพร่พลไทยที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นหนีเข้าป่าดงตามพวกลาวเขมรป่าดงไปด้วย  องเตียนกุนจึงเก็บอาวุธและเสบียงอาหารพร้อมกวาดต้อนครัวชาวเมืองชิแครงไปพนมเปญ  ทางฝ่ายกรุงเทพฯ นั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริหลังจากได้รับใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาและต้นหนังสืออ้อนวอนของพระยา พระเขมรที่ขอนักองด้วงออกไปเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร  ทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศกัมพูชาจะต้องมีพระเจ้าแผ่นปกครองไพร่ฟ้าประชาชน  จึงดำรัสสั่งให้พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) ดำเนินการพานักองด้วงออกไปเมืองพระตะบอง  ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ดำเนินการให้นักพระองค์ด้วงปกครองกัมพูชาต่อไป  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/rvqKMyn/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบในท้องตราว่า  โปรดพระราชทานเงินตราเสื้อผ้าและสิ่งของออกมามาก  และพระยา พระ หลวง แปดนายที่ออกมาส่งนักพระองค์ด้วงนั้น  ก็โปรดให้เข้าสมทบเป็นนายทัพนายกองช่วยราชการศึกต่อไป  จึงให้นักพระองด้วงพักอยู่ที่เมืองพระตะบองก่อน  ให้พระยาสีหราชเดโชอยู่กับนักพระองค์ด้วงทั้งข้าหลวงแปดนายด้วย  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งหนังสือประกาศหลายฉบับไปแจกให้พระยาพระเขมรทั้งปวงรู้ทั่วกันว่า

(https://i.ibb.co/SQcjmL5/Un56titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ซึ่งพระยาพระเขมรมาวิงวอนขอนักพระองค์ด้วง  จะให้ออกมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรนั้นก็สมความคิดแล้ว  บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งนักพระองค์ด้วงออกมาเป็นนายปกครองบ้านเมืองเขมร  และพระราชทานยศสมยศสมศักดิ์ที่จะเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร  นักพระองค์ด้วงได้ออกมาพักอยู่ที่เมืองพระตะบองแต่ ณ เดือนสามขึ้นสิบสามค่ำนั้นแล้ว  ให้พระยาพระเขมรทั้งปวงมาชมเชยบารมียศศักดิ์  และพระรูปพระโฉมนักพระองค์ด้วง  แล้วจะได้มารับพระพิพัฒน์สัตยาต่อพระพักตร์นักพระองค์ด้วงเสียก่อน  จึงจะควรไปทำราชการสู้รบกับญวน  จะได้เป็นมงคลแก่พระยาพระเขมรทุกคน  และจะได้ถูกต้องตามราชประเพณีโบราณ  ข้าต้องรู้จักเจ้า บ่าวต้องรู้จักนาย  จึงจะสมควร  ถ้าผู้ใดติดการรบพุ่งกับญวนอยู่จะมาไม่ได้  ก็ให้แต่งขุนนางรองหรือบุตรหลานญาติ  นำดอกไม้ธูปเทียนเข้ามาถวายนักพระองค์ด้วงเป็นการแทนผู้ที่เข้ามาไม่ได้”

(https://i.ibb.co/W5ChKSM/Un56titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อพระยาพระเขมรทั้งปวงได้หนังสือประกาศดังนั้นก็ดีใจ  ต่างทราบตื่นแตกกันมาเฝ้านักพระองค์ด้วงเป็นอันมาก  ที่มาไม่ได้ก็แต่งให้ผู้มาแทน  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าพระยาพระเขมรผู้ได้ราชการ  ก็นำสิ่งของเงินตราแจกให้ทั่วกัน

          ฝ่ายพระยาราชนิกูลซึ่งแตกทัพหนีญวนไปตั้งอยู่ ณ เมืองกะพงสวาย  รวมไพร่พลไทยได้พร้อมแล้ว  จึงให้พระยาโยธาเขื่อนขันธ์ ๑  พระชนะรณชิต ๑  เป็นข้าหลวงกับพระยาอ่างทอง ๑  หลวงศุภมาตราเมืองนครสวรรค์ ๑   รวมสี่คน  คุมไพร่ไทยยกไปติดตามมาได้หมด  หาได้ลงโทษไม่  เพราะเป็นการจวนตัว เป็นแต่ภาคทัณฑ์ไว้ครั้งหนึ่งก่อน
 
          แล้วพระยาราชนิกูลสั่งให้พระยาเสนาราชกุเชนทรเขมรคุมไพร่พลเขมรอยู่รักษาเมืองสะโทง  
          สั่งให้พระยาวงศาปาเทศเขมรคุมไพร่พลเขมรอยู่รักษาเมืองกะพงสวาย
          ให้พระพิพิธสงครามเขมรเก่าอยู่ช่วยพระยาวงศาปาเทศจัดการบ้านเมืองกะพงสวาย
  
          แล้วพระยาราชนิกูล ๑ พระยาอภัยสงคราม ๑  หลวงรักษาเทพ ๑  จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ๑  หลวงชาติเสนี ๑  หลวงศรีภิรมย์ ๑  พระยาอุทัยธานี ๑  พระปลัดเมืองนครสวรรค์ ๑  รวมแปดคนคุมไพร่พลไทยลาวเขมรล่าถอยลงมาตั้งอยู่ ณ ด่านพรหมศก แขวงเมืองนครเสียมราฐ
 
(https://i.ibb.co/GcJ2Gpy/1434f728052-1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วใช้ให้ขุนวิสุทธิภักดีถือใบบอกมาแจ้งข้อราชการต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงให้พระพรหมบริรักษ์  พระยาณรงค์วิไชย  พระยารัษฎาเรืองเดช  พระอินทรธิบาล หลวงศรีพิทักษ์  จมื่นรักษ์พิมาน  หลวงวิเศษธานี  รวมแปดคน  ไปเปลี่ยนพระยาราชนิกูล  แล้วให้จัดกองทัพใหม่  ให้แบ่งไพร่พลในกองทัพพระยาราชนิกูลสามพัน  ให้พระยาอานุภาพไตรภพเจ้าเมืองนครเสียมราฐคุมไปรักษาเมืองสะโทงอีกด้วย  แต่พระยาราชนิกูล  พระยาอภัยสงคราม  หลวงรักษาเทพ  จมื่นมณเฑียรพิทักษ์  พระยาอุทัยธานี  พระปลัดเมืองนครสวรรค์ รวมแปดคนให้หากลับมาเมืองพระตะบอง  จะได้ไต่ถามข้อราชการ

          ครั้งนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ป่วยเป็นไข้พิษแล้วกลายเป็นไข้สันนิบาตลูกนก  มีอาการให้กายสั่นสะท้านงกเงิ่นไป  จึงให้พระสุนทรภักดีผู้บุตรมาขอลาต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าจะไปรักษาตัวยังบ้านเมือง  ถ้าหายแล้วเมื่อใดจะมารับราชการอย่างเดิม  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าป่วยมาก  ถ้าจะข่มขืนให้อยู่รักษาที่เมืองเขมรนี้แล้วเห็นว่าจะตาย  เสียดายนายทัพหารเอกอย่างนี้ สุดที่จะหาไม่มีผู้ใดเสมอแล้ว  จึงได้อนุญาตยอมให้เจ้าพระยานครราชสีมากลับไปรักษายังบ้านเมือง  ให้พานายทัพนายกองซึ่งเป็นบุตรหลานและญาติไปด้วย  จะได้ช่วยรักษาพยาบาลให้หาย  ให้ไพร่พลไปส่งสองร้อยคน  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้นายนเรศสุทธิรักษ์มหาดเล็กหุ้มแพรในพระราชวังบวรฯถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/rv1HH6P/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เจ้าพระยานครราชสีมาป่วยอาการเป็นไข้พิษแล้วกลายเป็นไข้สันนิบาต  ขอลาไปรักษาตัวที่เมืองนครราชสีมาแล้ว  บัดนี้ไม่มีขุนนางผู้ใหญ่อยู่ช่วยคิดราชการ  ขอรับพระราชทานเจ้าพระยายมราช (ชื่อบุนนาก) ออกมาช่วยคิดราชการ  อนึ่งซึ่งแต่ก่อนนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นประธานมณเฑียรเชิญท้องตราออกมาว่า  จะโปรดให้ตั้งเมืองโปริสาดเป็นเมืองใหญ่  ให้ทำวังให้นักพระองค์ด้วงอยู่นั้น  เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่าเมืองโปริสาดนั้นเป็นที่ชัยภูมิไม่สู้ดี  ฤดูหน้าน้ำแล้วน้ำก็ท่วม  หาสมควรเป็นเมืองใหญ่ให้เจ้านายอยู่ไม่  อีกประการหนึ่งเล่า  ค่ายคูประตูหอรบก็ชำรุดทรุดโรมมากหนัก  ถ้าจะโปรดให้ทำที่นั้นให้ได้  ก็จะต้องทำการซ่อมแซมเหมือนทำเมืองใหม่ใหญ่ ๆ อีกเมืองหนึ่ง  สองสามปีก็ไม่แล้ว  ขอพระราชทานให้งดรอไว้ก่อน  ถ้ามีช่องโอกาสได้เมืองพนมเปญเมื่อใด  จึงจะทำให้เป็นเมืองใหญ่ให้นักพระองค์ด้วงอยู่ต่อไป  กับในเดือนยี่เดือนสามนั้น  เสบียงอาหารขัดสนนัก  ไม่มีที่จะซื้อหารับพระราชทานเลย  ได้แต่งนายทัพนายกองไทยไปกับนายทัพนายกองเขมร  เที่ยวสืบเสาะหาข้าวที่ไหนจะมียุ้งฉางใด ๆ บ้าง  ก็จะให้ซื้อข้าวขนมาจับจ่ายในกองทัพ  ก็หาพบยุ้งฉางไม่  มีแต่ยุ้งข้าวของราษฎรบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ  จะข่มขืนซื้อมาก็เหมือนจะทำให้เขมรเจ็บใจกำเริบขึ้นเหมือนเมื่อปีมะเส็งเบญจศก

          ขอพระราชทานให้ส่งเสบียงอาหารมาด้วย  อนึ่งทางเมืองลาวข้าวปลาก็พอมีชุกชุมอยู่บ้าง  แต่ว่าหนทางจะไปมาขนคว้าไกลเป็นทางกันดาร  ได้ครึ่งเสียครึ่ง  ไม่ทันใช้ในราชการด้วย”

(https://i.ibb.co/mX9d2R9/Un56titled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** นักพระองค์ด้วงเจ้าแผ่นดินเขมรพระองค์ใหม่เสด็จถึงเมืองพระตะบองแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดวังชั่วคราวให้ประทับ  มีใบบอกส่งไปยังเจ้าพระยา  พระยา  พระเขมรให้ทราบว่า  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ  โปรดเกล้าฯ ให้นักพระองค์ด้วงออกมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรตามที่ทูลขอแล้ว  บัดนี้ประทับอยู่ ณ เมืองพระตะบอง  ขอให้เจ้าพระยา พระยา พระเขมรมาถวายบังคมและถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามพระราชประเพณีโบราณ  แล้วจะได้รบไล่ญวนกอบกู้เอกราชชาติเขมรต่อไป  ตอนหน้าค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg47656#msg47656)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg49403#msg49403)



เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, พฤษภาคม, 2564, 10:52:40 PM
(https://i.ibb.co/Yd9nZrQ/rfgfd.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg48585#msg48585)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg50321#msg50321)                   .

- อานามสยามยุทธ ๑๓๕ -

เจ้ามินมางเมาสุราน่าเป็นห่วง
จนบาทหลวงสังฆราชประมาทหมิ่น
ทรงโกรธคำกล่าวร้ายที่ได้ยิน
จึงตัดสินโทษฝรั่งอย่างรุนแรง

ไม่ทันรบฝรั่งเศสเหตุปรากฏ
สวรรคตไปตามกรรมปรุงแต่ง
อันนัมก๊กวกเวียนหมุนเปลี่ยนแปลง
ยังไม่รู้ดำแดงแห่งสงคราม


อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ส่งนักพระองค์ด้วงไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร  โดยให้พระยาข้าหลวงพาไปเมืองพระตะบอง  ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาดำเนินการให้เป็นไปโดยเรียบร้อยถูกต้องด้วยธรรมเนียมประเพณี  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดวังให้ประทับชั่วคราวในเมืองพระตะบอง  แล้วมีหนังสือประกาศให้พระยา พระเขมรทั้งหลายทราบและเข้าเฝ้าถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  พระยาพระเขมรทั้งหลายตื่นเต้นดีใจพากันเข้าเฝ้าถวายบังคมโดยพร้อมเพรียงกัน  จากนั้นพระยาราชนิกูลได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองทัพดังเดิม  แล้วยกลงมาตั้งอยู่ที่แขวงนครเสียมราฐ  มีหนังสือขี้แจงข้อราชการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้จัดทัพใหม่  ให้พระพรหมบริรักษ์ยกขึ้นไปเปลี่ยนพระยาราชกูล  โดยให้พระยาราชนิกูลและพวกลงมาเมืองตะบอง  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ....

          ฝ่ายนายเสา เขมรคนรับใช้ของนักองอิ่มนั้น  นายเสาได้ติดตามนักพระองค์อิ่มไปจนถึงกรุงเว้  ได้เห็นพระยาพระเขมรผู้ใหญ่หลายคนกับนักพระองค์อิ่มด้วย  ต้องถูกจำตรวนอยู่ในคุกญวนที่กรุงเว้  นายเสาเห็นดังนั้นก็ตกใจจึงรีบหนีมาจากกรุงเว้  ลัดป่ามาหานักพระองค์ด้วงที่เมืองพระตะบอง  นายเสาแจ้งความว่า

(https://i.ibb.co/DKmCtvh/Untistledy-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อนายเสายังอยู่ในกรุงเว้นั้น  ได้สืบทราบว่าเมื่อ ณ เดือนห้าขึ้นปีใหม่ในปีชวดโทศก  มีกำปั่นรบฝรั่งเศสสามลำ  ตัวนายแม่ทัพเรือชื่อ (กำมะโดละเบีย)  คุมเรือกำปั่นรบสามลำมีทหารพันเศษ  เข้ามาที่เมืองตูรนปากน้ำญวน  ญวนไม่ให้เข้ามา  ฝรั่งเศสว่าจะเข้ามาพูดจาราชการบ้านเมือง  ญวนเจ้าเมืองตูรนปากน้ำไล่ขับฝรั่งเศส  ฝรั่งเศสก็ถอยเรือกำปั่นออกไปห่างอ่าวทะเล  แล้วก็ยิงปืนใหญ่ถูกป้อมปากน้ำและเรือรบทะเลของญวนแตกหักเสียหายเป็นหลายลำหลายป้อม  แล้วฝรั่งเศสก็กลับไป

(https://i.ibb.co/6tCQQyW/unnamed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          นายเสาได้สืบถามพวกญวนที่รู้จักชอบพอกันว่า  เหตุผลอย่างไรฝรั่งเศสจึงได้นำกำปั่นเรือรบมายิงป้อมปากน้ำและเรือรบญวน  ญวนที่พูดภาษาเขมรได้เล่าความเดิมให้นายเสาฟังว่า  แต่ก่อนพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์นี้ทรงขัดเคืองพวกบาทหลวงฝรั่งเศสว่ามาตั้งสั่งสอนศาสนา  แล้วกล่าวถ้อยคำติเตียนธรรมเนียมบ้านเมืองญวน  ญวนก็จับพวกบาทหลวงไปขังคุกเสียบ้าง  พวกสังฆราชบาทหลวงฝรั่งเศสมาต่อว่าท้าทายกับเสนาบดีญวนว่า  ถ้าไม่ถอดบาทหลวงออกให้แล้ว  จะเรียกเรือมาต่อว่าให้ได้  พระเจ้าเวียดนามทรงขัดเคืองสังฆราชบาทหลวงฝรั่งเศสว่าพูดจาจองหอง  ดูหมิ่นดูถูกอำนาจพระเจ้าแผ่นดินญวน  จึงรับสั่งให้เสนาบดีญวนจับพระสังฆราช ๑  พระบาทหลวงหก  รวม ๗ คน  ไปฆ่าเสียนอกเมือง  พวกพระบาทหลวงอีกห้าคนที่ต้องจำคุกนั้นก็ให้จำโซ่คอเข้าให้มั่นคง  พวกฝรั่งเศสเมืองนอกรู้ก็เข้ามาต่อว่าขอโทษพวกบาทหลวงออกจากคุกแล้ว  จะขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีต่อกรุงเว้สืบไป  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งว่า  แต่ก่อนก็เป็นทางไมตรีกันมาช้านาน  ก็ไมเคยทำหนังสือสัญยิงสัญญาอะไรต่อกัน  และพวกบาทหลวงที่อยู่ในแผ่นดินญวนแต่ก่อนก็ไม่ได้พูดจาดูถูกดูหมิ่นประมาทอะไรแก่ญวนเหมือนบาทหลวงพวกนี้  บาทหลวงพวกนี้มีความผิดโทษหนัก  ก็ฆ่าเสียบ้าง  ที่โทษเบาก็จำคุกไว้บ้างตามความผิด  ซึ่งบัดนี้ฝรั่งเศสจะมาขอพวกบาทหลวงผู้ผิดออกจากโทษจากคุก  ยังไม่พ้นกำหนดเวลาพ้นโทษนั้นจะให้ไม่ได้  จะเป็นเยี่ยงอย่างเสียทางราชการไป  กับจะทำหนังสือสัญญากันนั้น  ญวนไม่เคยทำกับประเทศใดเลย  จะทำแก่ฝรั่งเศสนี้ไม่ได้  ถ้าฝรั่งเศสจะไปมาค้าขายที่แผ่นดินญวนต่ออีกก็ได้  ไม่ห้ามปรามฝรั่งเศส  พวกเรือรบมาต่อว่าญวน  ญวนไม่ยอมให้พวกบาทหลวงและไม่ยอมทำสัญญาต่อฝรั่งเศส  ฝรั่งเศสก็ขัดใจ  ลากลับออกจากบ้านเมือง  แล้วก็ยิงเรือรบญวนและป้อมปากน้ำเสียไปมาก”

(https://i.ibb.co/DYB9n1Q/Prince-Sisawat.jpg) (https://imgbb.com/)
"สมเด็จพระศรีสวัสดิ์" พระบรมฉายาลักษณ์ในปี 2465

          ในปีชวดโทศกนั้น  นักพระองค์ด้วงเกิดบุตรด้วยแม่นางหนึ่งชื่อนักนางเภาเป็นบุตรีพระยามนตรีธิราช  สมภพเป็นกุมาร  นักพระองค์ด้วงให้ชื่อว่า  นักองศรีสวัสดิ์  เป็นบุตรคนที่สองรองนักองราชาวดี (คือวังหน้ากรุงกัมพูชาเดี๋ยวนี้)

(https://i.ibb.co/PzXzgWm/minh-mang.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่ง  พระเจ้าแผนดินญวนทรงพระนามว่าพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกว่างเด้นั้น  เสวยน้ำจัณฑ์ (สุรา) มากเกินปรกติก็ทิวงคตเมื่อ ณ เดือนสาม  แรมค่ำหนึ่ง  ปีชวด  โทศก  จุลศักกราช ๑๒๐๒ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๓)  พระเจ้ามินมางดึกว่างเด้ประสูติ ณ ปีกุน ตรีศก  ได้เสวยราชสมบัติในกรุงเว้ในปีมะโรงโทศก  มีพระชนมายุได้ ๓๐ ปี  อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี  ขณะเมื่อทิวงคตนั้นพระชนมายุได้ ๕๘ ปี  มีพระราชบุตรพระราชธิดารวมทั้งมีพระชนม์และสิ้นพระชนม์ ๒๖ องค์  พระสันดานเป็นพาลทุจริต  มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมตามโบราณราชประเพณีเหมือนพระเจ้าเวียดนามยาลวง (องเชียงสือ) พระราชบิดานั้นหามิได้  พระเจ้าเวียดนามมินมางนั้นพระองค์กอปรไปด้วยโมหะจริต  คิดราชการผันแปรไปต่าง ๆ  เพราะพระองค์เสวยน้ำจัณฑ์เป็นนิจกาล  มิได้เว้นทุกทุกเวลาเช้าเย็น  เสนาบดีจัดการพระศพแห่ไปฝังตามเยี่ยงอย่างพระมหากษัตริย์แผ่นดินญวนแต่ก่อนมา

(https://i.ibb.co/rQzPSpQ/Un5titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนสามแรมห้าค่ำเป็นฤกษ์ดี  พระราชวงศานุวงศ์เสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่  พร้อมกันประชุมยกย่องพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าเวียดนามมินมางที่ทรงพระนามว่า  “เจ้าเตืองคันลือมินคง”  พระชนมายุ ๑๖ ปี  ขึ้นผ่านพิภพเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินญวน  เสนาบดีตั้งยี่ห้อว่า  “พระเจ้าเวียดนามเทียวตรี”  แต่เจ้าเกียนอานพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกันกับพระเจ้าเวียดนามมินมาง  และเป็นพระเจ้าอาว์ของพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี  เจ้าเกียนอานพระเจ้าอาว์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินช่วยประคับประคองว่าราชการดูแลผิดและชอบแทนพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรียังทรงพระเยาว์นัก

          ในเดือนสามนั้น  ที่ค่ายองเตียนกุน ณ เมืองกะพงธมเกิดไข้ป่วงอหิวาตกโรค  พวกไพร่พลญวนในเมืองกะพงธมตายลงเป็นอันมากทุกวัน  และพวกญวนในค่ายเมืองกะพงธมก็พากันหนีออกมาจากเมืองกะพงธม ๑๓๔ คน  ญวน ๑๓๔ คนหนีมาหาพวกเขมร  นักองแก้วเจ้าเขมรให้พระพิทักษ์บัญชาเขมรคุมญวน ๑๓๔ คนส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบอง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้หลวงนายมหาใจภักดิ์กับหลวงสุเทพ คุมญวน ๑๓๔ คนส่งเข้ามากรุงเทพฯ  จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระสุรัสวดีสักขอมือญวน ๑๓๔ คนว่า  “กองสาอาญวน”  แล้วพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ไปควบคุมไว้ใช้สอยเป็นกำลังราชการ (คือญวนวัดโสมนัส)”

(https://i.ibb.co/bJ93fjF/Untitle5dz-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีบทบาทคุกคามญวนแล้ว  เหตุเกิดเพราะพวกบาทหลวง “ปากมาก”  ตำนิติเตียนธรรมเนียมบ้านเมืองญวน  และคงจะพาดพิงไปถึงพระเจ้ามินมางที่ดื่มน้ำจัณฑ์เมาเช้าเมาเย็น  พระเจ้าเวียดนามจึงโกรธมาก  สั่งจับสังฆราชบาทหลวงไปฆ่าเสียบ้าง  จับขังคุกเสียบ้าง  จนฝรั่งเศสโกรธเคือง  มาเจรจากันแล้วไม่ได้ผลดี  ฝรั่งจึงใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเรือรบและป้อมปากน้ำญวนก่อนแล่นกำปั่นรบจากไปด้วยความโกรธ  ฝ่ายนักพระองค์ด้วงนั้น  ได้ราชบุตรที่เมืองพระตะบองพระองค์หนึ่งให้ชื่อว่า  นักองศรีสวัสดิ์  แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในญวน  เมื่อพระเจ้าเวียดนามมินมางสวรรคตลง  พระราชโอรสองค์ใหญ่พระชนมายุ ๑๖ พรรษาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทน  โดยมีพระเจ้าอาว์เป็นผู้สำเร็จราชการแทน  สงครามไทยญวนในเขมรยังไม่สิ้น  เกิดอหิวาตกโรคที่เมืองกะพงธม  ไพร่พลญวนในค่ายขององเตียนกุนเป็นโรคอหิวาตกโรคตายมาก  ทหารญวนหนีออกจากค่ายมาพึ่งเขมรและไทยจำนวนมาก  เรื่องจะเป็นอย่างไร   ค่อยมาอ่านต่อครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, พฤษภาคม, 2564, 10:01:16 PM
(https://i.ibb.co/QYs0yFq/Untitledsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๖ -

“ต๋าเตียนกุน”ญวนใหญ่ในเขมร
จดหมายเน้นความเก่าไม่ก้าวข้าม
ก่อนญวนไทยไมตรีเคยดีงาม
เกิดเสื่อมทรามเรื้อรังครั้งเวียงจันทน์

ลามมาถึงศึกใหญ่เมืองไซ่ง่อน
จนตัดรอนไมตรีมิสร้างสรรค์
เจ้าเขมรน้องพี่ที่เกี่ยวพัน
เบื้องหลังอันยืดยาวสาวให้ฟัง


อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   นายเสาคนรับใช้ใกล้ชิดนักองอิ่มที่ถูกญวนนำตัวไปกรุงเว้พร้อมคณะนักองอิ่ม  ได้หลบหนีมาหานักพระองค์ด้วงที่เมืองพระตะบอง  บอกเล่าว่าเห็นนักองอิ่มและขุนนางเขมรถูกใส่ตรวนจองจำไว้ในคุกญวนกรุงเว้  เมื่อตนหลบหนีออกมาเห็นเรือกำปั่นรบฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเรือรบญวนและป้อมที่ปากน้ำพังพินาศแล้วจากไป  สอบถามญวนได้ความว่า  ฝรั่งเศสโกรธที่พระเจ้าเวียดนามลงโทษพระสังฆราชและบาทหลวงฝรั่งเศส  โดยฆ่าเสียบ้าง  จำตรวนขังคุกไว้บ้าง  ฝรั่งเศสมาเจรจาขอ  ญวนไม่ยอม  จึงยิงเรือรบและป้อมญวนพินาศก่อนจากไป  ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๑๒๐๒  พระเจ้าเวียดนามมินมางสวรรคตลงด้วยพระชนม์ ๕๘ พรรษา  ขุนนางญวนยกให้พระราชบุตรองค์ใหญ่พระชนมายุ ๑๖ พรรษา  นามเจ้าเตืองคันลือมินดง ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเวียดสาม  ตั้งยี่ห้อถวายว่า  “พระเจ้าเวียดนามเทียวตรี”  ตั้งให้เจ้าเกียนอาน พระอนุชาพระเจ้ามินมาง  เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ทางฝ่ายกองทัพญวนในเขมรนั้น  ปรากฏว่าเกิดอหิวาตกโรคที่เมืองกะพงธม  ไพร่พลในกองทัพองเตียนกุนล้มตายลงมาก  มีส่วนหนึ่งหนีออกจากค่ายมาพึ่งเขมร  และเขมรส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงส่งต่อมายังกรุงเทพฯ  วันนี้มาอ่านเรื่องกันต่อไปครับ.......

(https://i.ibb.co/nLfZhYC/Unti-tled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ในเดือนสามข้างแรม  ญวน ณ ค่ายองต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญหนีออกมาหาเขมร ๒๒๒ คน  พระรัตนะมนตรีเขมรก็ส่งญวน ๒๒๒ คนมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพระตะบอง  ครั้งนั้นพระสุเรนทราธิบดีเขมรมีในบอกมาว่า

           “ขุนแกล้วคชสารเขมรไปแทรกโพนช้าง ณ ป่าดงพงไพรแขวงเมืองสำโรงทอง  คล้องได้ช้างพังสีประหลาดสูงสี่ศอก  เล็บเป็นเสี้ยนตะโหนด  สีตัวเหมือนเปลือกปะโลงและสีน้ำลูกพลับ  ตามัว ๆ”   ฝึกเชื่องราบแล้วส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ ๑  จ่านิจมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงคชสิทธิ์ ๑  สามคนคุมช้างสีประหลาดกับญวนพนมเปญ ๒๒๒ คน  เข้ามาส่ง ณ กรุงเทพฯ  ช้างถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนสี่แรมแปดค่ำ  โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นระวางแล้วพระราชทานชื่อว่า  “พังหงษาสวรรค์อนันตะคุณวิบุลยลักษณเลิศฟ้า”  แต่ญวน ๒๒๒ คนนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สักข้อมือว่า  “กองอาสาญวน”  ให้ไปอยู่กับพวกก่อน  มอบพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (คือญวนปากแพรก)

(https://i.ibb.co/TTcZRjw/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายองต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงฝ่ายญวน  ตั้งทัพอยู่ที่เมืองพนมเปญนั้น  มีหนังสือตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชามาฉบับหนึ่ง  มอบให้องอันย่าง ๑  องอันเบียน ๑  คุมไพร่ญวน ๑๒๐ ถือหนังสือมาถึงเมืองพระตะบองเมื่อ ณ เดือนสี่ขึ้นหกค่ำ  แจ้งความกับขุนบดีไพรวันนายด่านพระตะบองว่า     “จะนำหนังสือแม่ทัพญวนมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ ค่าย”     ขุนบดีไพรวันเขมรนายด่านนำญวนผู้ถือหนังสือมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามแปลหนังสือออกเป็นภาษาไทยใจความว่า

(https://i.ibb.co/JtY2JMc/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “หนังสือเกริ่นองต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้  ซึ่งพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกว่างเด้ โปรดให้ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพใหญ่มาสำเร็จราชการสิทธิ์ขาด  ได้บังคับบัญชาญวนผู้ใหญ่ผู้น้อยแม่ทัพทุกทัพทุกกองในแว่นแคว้นแผ่นดินเขมร  และมาตั้งเป็นจอมพลอยู่ ณ เมืองพนมเปญ  และมือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์  และมือขวาถือธงอาญาสิทธิ์  และมีฤทธิ์เดชสืบวงศ์ตระกูลขุนนางผู้ใหญ่มาหลายชั่วแล้ว  ก็เป็นผู้เจรจาไม่มีคำสองเลย  ขอแจ้งความมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ  ขุนนางผู้ใหญ่แม่ทัพฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้แจ้ง  เดิมกรุงเว้กับกรุงเทพฯ แต่ก่อนนั้น  ก็ได้เป็นทางพระราชไมตรีสัมพันธมิตรสนิทเสน่หากันมาช้านาน  ได้ใช้ราชทูตจำทูลพระราชสาส์นซึ่งกันและกันเนือง ๆ  หามีเหตุที่จะร้าวฉานกันด้วยสิ่งใดไม่  เหตุผลประการใดจึงได้แตกร้าวการสามัคคี  ทิ้งความดีไปหาความร้าย  เหตุผลที่จะก่อการให้เสื่อมเสียทางพระราชไมตรีนั้น  เพราะแต่ก่อนหลายปีมาแล้ว  เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ  ก็ใช้ให้แม่ทัพไทยชื่อราชสุภาวดียกทัพใหญ่ขึ้นไปปราบปรามพวกลาวขบถเวียงจันทน์  ฝ่ายพระเจ้ากรุงเวียดนามใช้ให้ขุนนางญวนองเลวันฮือถือหนังสือไปจะขอพูดจาเป็นท่ามกลางโดยดี  โดยสงเคราะห์แก่ลาวเมืองน้อย  และจะเกลี่ยไกล่ให้ไทยดีกับลาวเท่านั้นไม่ใช่อื่นเลย  ขุนนางไทยนายด่านชื่อทุงวิไชย  ชิดชุม  ก็จับขุนนางญวนที่ถือหนังสือมานั้นฆ่าเสีย  กรุงเวียดนามก็มีพระราชสาส์นมาต่อว่ากรุงเทพฯ  กรุงเทพฯ ก็มีพระราสาส์นใช้ราชทูตไทยชื่ออนุรักษ์โยธาไปถวายพระเจ้าเวียดนามถึงกรุงเว้  เพื่อจะขอโทษขุนนางนายด่านที่ฆ่าญวนในเมืองเวียงจันทน์ ๔๘ คน  ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามทรงระลึกถึงบุญคุณพระเจ้าหลวงกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นพระอัยกาธิราชของพระเจ้ากรุงเทพฯ ทุกวันนี้ว่า  มีพระเดชพระคุณแก่พระเจ้ายาลวงกรุงเว้  ซึ่งเป็นพระราชบิดาพระเจ้ามินมางนั้นยิ่งนัก  จึงได้ยกโทษโปรดประทานให้แก่พระเจ้ากรุงเทพฯ  มิให้ฆ่าฟันเฆี่ยนตีขุนนางไทยนายด่านผู้ฆ่าญวนนั้น  ทรงงดไว้ก็เพราะจะให้ทางพระราชไมตรีสืบติดต่อเสมอต้นเสมอปลาย  

(https://i.ibb.co/yf7pZpX/03-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งหนึ่งเมื่ออ้ายภอเบโคยลันเบียในเมืองไซ่ง่อนเป็นขบถต่อกรุงเว้  ได้ใช้ให้แม่ทัพญวนยกมาล้อมเมืองไซ่ง่อนเพื่อจะจับอ้ายภอเบโคยลันเบียผู้ร้าย  ผู้ร้ายก็ได้ขอกองทัพไทยให้ออกมาช่วยป้องกันเมืองไซ่ง่อนให้เป็นศึกกระหนาบญวนกรุงเว้  ฝ่ายขุนนางไทยหูเบาก็นำถ้อยคำอ้ายภอเบโคยลันเบียขึ้นกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินไทย  พระเจ้าแผ่นดินไทยจึงได้ให้แม่ทัพไทยยกกองทัพใหญ่ออกมาตีเมืองพนมเปญ  จนเจ้าเขมรนักองจันทร์อยู่ไม่ได้  เพราะถูกกองทัพไทยข่มเหง  ต้องหนีไปพึ่งญวน  ญวนก็ต้องเลี้ยงไว้เพราะด้วยความกรุณาแก่เจ้าเขมรที่ถูกข่มขี่ของกองทัพไทย  กองทัพไทยได้ที่มีช่องโอกาสแล้วก็ยกทัพเรือล่วงเข้าไปในเขตแดนญวน คือเมืองโจดก  เมืองบันทายมาศ  เมืองย่างพาน  และคลองน้ำวามะนาว  จนถึงเกาะแตง  พระเจ้าเวียดนามทรงทราบว่ากองทัพไทยล่วงเขตแดนญวนเข้ามาแล้ว  จึงโปรดให้ขุนนางญวนเป็นแม่ทัพคุมกองทัพออกมาป้องกันรักษาเขตแดนของญวนไว้  ได้รบกันเป็นสามารถ  กองทัพไทยก็มีไพร่พลช้างม้าเรือรบอยู่มากพอจะสู้ญวนได้  แต่ไม่อยากอยู่สู้รบ  รีบด่วนถอยล่ากองทัพกลับไปเสียทั้งทัพบกและเรือ  ฝ่ายทัพญวนเวลานั้นก็มีไพร่พลอยู่มากเกือบแสนคน  ก็หาได้ไล่ติดามตีกองทัพไทยไปไม่  เป็นแต่ตั้งรักษาเขตแดนไว้  หาได้ยกกองทัพลวงเกินเข้าไปในเขตแดนไทยไม่  เกรงจะเสียความสัตย์ที่ปฏิญาณไว้  ว่าจะไม่เป็นคนเนรคุณไทยเลย  แต่ไทยทำแก่ญวนบ่อย ๆ

(https://i.ibb.co/x5jyHvw/ff10.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่งเมื่อปีวอกอัฐศกนั้น  อ้ายด้วงเขมรมันมีหนังสือลับออกมาถึงแม่ทัพญวนใจความว่า     “อ้ายด้วงมันจะกลับใจคิดออกห่างจากไทยแล้วมันจะเป็นขบถต่อไทย  จะจับไทยแม่ทัพฆ่าเสีย  แล้วมันก็จะหนีมาหาญวน  ญวนก็ไม่ได้แต่งกองทัพเข้าไปรับอ้ายด้วงเขมร  อ้ายด้วงเขมรจึงไม่ได้หนีมาได้  กับเมื่อปีกุนเอกศกนั้น  อ้ายอิ่มเขมรพี่ชายอ้ายด้วงนั้นมันก็คิดเหมือนอ้ายด้วงน้องชายมัน  ญวนก็ไม่ได้ไปรับอ้ายอิ่ม  อ้ายอิ่มมันก็กวาดต้อนครอบครัวเขมรในเขตแดนของกรุงเทพฯ พาหนีมาหาแม่ทัพญวนที่ในเขตญวน  ญวนก็ต้องสงเคราะห์เลี้ยงดูมัน  เพราะเห็นว่ามันหนีร้อนมาพึ่งเย็น  ก็จำเป็นเมตตากรุณาให้ทานข้าวปลาเกลือและกะแปะแก่มันมากมาย  เพราะเห็นว่าเป็นคนพลัดบ้านเมืองมา  หาที่พึ่งมิได้  ก็ต้องอนุเคราะห์แก่มันด้วย  แล้วอ้ายอิ่มมันยุยงแม่ทัพญวนว่าบัดนี้ที่เมืองพระตะบองและเมืองนครเสียมราฐในเขตแดนไทยนั้น  ทุกวันนี้ไม่มีแม่ทัพใหญ่  มีไพร่พลไทยเล็กน้อยเบาบาง  ถ้าแม่ทัพญวนมีความปรารถนาจะยกไปตีเมืองพระตะบอง  อ้ายอิ่มมันจะนำทัพไปตีเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ ให้ได้โดยง่าย  อ้ายอิ่มเขมรพูดอย่างนี้เป็นความสัตย์จริง.........”

(https://i.ibb.co/2j36s9P/Untit5le54d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ความในหนังสือองต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ญวนที่มีถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เป็นความยืดยาวยังไม่จบ  ตอนนี้กำลังบอกถึงเรื่องราวของนักองอิ่มที่ไทยยังไม่รู้ให้ได้รู้ไว้บ้าง  ตอนหน้ามาอ่านหนังสือเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ของญวนกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, พฤษภาคม, 2564, 10:09:11 PM
(https://i.ibb.co/2SNyWVQ/Untitl-ed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๗ -

ญวนประณามหยามเขมรเป็นพาลไพร่
ล้วนสิ้นไร้กตัญญูผู้หนุนหลัง
ญวนชุบเลี้ยงกลับทิ้งคุณชิงชัง
รวมหัวตั้งกลุ่มกบฏคนคดงอ

ยุญวนชิงแดนดินถิ่นสยาม
ญวนไม่ตามคำร้ายอ้ายอิ่มล่อ
จึงจับไปใส่คุกตรวนผูกคอ
เป็นเหตุก่อเกลียดชังญวนทั้งปวง


อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   องต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้แม่ทัพใหญ่ญวนเมืองพนมเปญ  มีหนังสือตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพใหญ่ไทย ณ เมืองพระตะบอง  ใจความตอนต้นก็กล่าวฟื้นความหลังเหมือนพระราชสาส์นและหนังสือแม่ทัพญวนฉบับก่อน ๆ  แต่กล่าวมาถึงตอนหลัง  องต๋าเตียนกุนได้แฉเรื่องที่นักองด้วง  นักองอิ่ม  มีหนังสือไปถึงญวน  เป็นความที่ไทยไม่ทราบมาก่อน  วันนี้มาอ่านหนังสือตอบของเสนาบดีญวนกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/djRWkKF/dfsa.jpg) (https://imgbb.com/)

           “......ฝ่ายแม่ทัพญวนก็พาอ้ายพระยา,พระ เขมรหลายคนกับคำให้การอ้ายอิ่มส่งขึ้นไปกรุงเว้  พระเจ้าเวียดนามมินมางได้ทรงทราบความตามคำให้การอ้ายอิ่ม  และถ้อยคำพระยา, พระ เขมรผู้ใหญ่แล้วก็ไม่โปรดเลย  ทรงพระราชดำริเห็นว่า  ถ้าจะเชื่อถ้อยฟังคำอ้ายอิ่มแล้วก็จะเป็นการขุนเคืองข้อบาดหมางกันกับไทยต่อไปอีก  หาต้องการไม่  เพราะพระเจ้าเวียดนามทรงระลึกถึงทางพระราชไมตรีที่สนิทกันมากับไทยแต่ก่อนก็มาก  จึงหาเชื่อคำอ้ายอิ่มยุยงไม่  เพราะฉะนั้นทรงพระราชดำริเห็นว่า  ถ้าไม่ทำตามคำอ้ายอิ่มยุยงแล้ว  อ้ายอิ่มก็จะกลับหนีไปหาไทย  ก่อเหตุการณ์วิวาทร้าวฉานกันขึ้นเป็นแน่  เพราะฉะนั้นจึงมีรับสั่งให้องเตียนกุนแม่ทัพ  ส่งอ้ายอิ่มไปไว้เสียที่เมืองไซ่ง่อน  ให้ห่างไกลเขตแดนไทย  แล้วอ้ายอิ่มก็คิดจะหนีลงสำเภาไปอีก  จึงได้ให้ส่งอ้ายอิ่มไปจำคุกไว้ในกรุงเว้ตามความผิดของมัน  แต่พวกพระยา,พระเขมรและครอบครัวเขมรที่ไม่ใช่พวกพ้องอ้ายอิ่มนั้น  มันก็ได้พึ่งพระบารมีอาศัยทำมาหากินอยู่ในแว่นแคว้นแผ่นดินของญวนมาช้านาน  พระเจ้าเวียดนามทรงพระมหากรุณาเมตตาปรานีแก่เขมรให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบมา  และมีน้ำพระทัยใสบริสุทธิ์โอบอ้อมแก่ท้าวพระยาพระเขมร  ได้พระราชทานเสื้อผ้าและกะแปะยศศักดิ์  

(https://i.ibb.co/0XZPj6s/image.jpg) (https://imgbb.com/)

           อนึ่งเมื่อนักพระองค์จันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาถึงแก่พิราลัยนั้น  นักพระองค์จันทร์ไม่มีราชบุตรชาย  มีแต่พระบุตรีสี่องค์  พระเจ้ากรุงเวียดนามทรงพระราชดำริเห็นว่า  ราชบุตรชายนักพระองค์จันทร์ไม่มีจะสืบเชื้อวงศ์เจ้าแผ่นดินเขมรต่อไป  จึงทรงตั้งงอกแป้นบุตรีใหญ่ของนักพระองค์จันทร์ให้เป็นเจ้าเมืองเขมรแทนบิดา  แล้วให้งอกมี, งอกเภา, งอกสงวน  บุตรีนักพระองค์จันทร์ผู้น้อย ๆ นั้นเป็นเจ้าเวียนกุน  คือเจ้ารองกันลงมาเป็นลำดับยศต่อจากงอกแป้นเจ้าแผ่นดินใหญ่  กับได้ชุบเลี้ยงขุนนางเขมรให้มีเต็มตามที่ตำแหน่งเดิมของเขมร  ได้จ่ายเงินกะแปะเบี้ยเลี้ยงให้เจ้านายฝ่ายเขมรและขุนนางเขมรกินเสมอทุกคน  อยู่มาครั้งหนึ่งงอกแป้นเจ้าแผ่นดินเขมรมีหนังสือลักลอบใช้ให้คนไปให้อ้ายหมาแก้วผู้น้า  นัดหมายให้อ้ายหมาแก้วเป็นผู้ร้ายคุมไพร่พลเขมรคิดกบฏต่อญวน  ให้ยกมารบญวนที่เมืองพนมเปญ  แล้วจะให้อ้ายหมาแก้วน้าชายพางอกแป้นหนีญวนไปเมืองไทย  เพื่อจะไปหาแม่งอกแป้นที่อยู่เมืองไทยแต่ก่อนแล้ว  ขุนนางญวนจับหนังสือลับงอกแป้นได้  จึงรู้ว่างอกแป้นเป็นคนใจร้าย  แล้วได้คุมเชิงงอกแป้นไว้โดยมั่นคงยิ่งนัก  จึงได้มีใบบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามทรงตอบท้องตรามาถึงองเตียนกุนแม่ทัพที่เมืองพนมเปญใจความว่า  งอกแป้นคิดการดังนั้น  ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมที่ทรงชุบเลี้ยงให้ใหญ่โต  หาควรจะเป็นดังนั้นไม่  จึงให้องเตียนกุนจัดจำทำโทษแต่งอกแป้นส่งไปกรุงเว้  แต่ไม่ถึงกรุงเว้  พอเรือที่พางอกแป้นไปถึงเมืองล่องโห้สมิถ่อ  งอกแป้นก็ป่วยลงแดงตายในเรือ  จึงได้นำศพงอกแป้นคนโทษทิ้งน้ำเสีย  หาได้ฆ่างอกแป้นเหมือนคำไทยว่าไม่   แต่งอกมี  งอกเภา  งอกสงวน  น้องสาวงอกแป้นทั้งสามคนนั้นไม่มีความผิดสิ่งไร  ก็หาได้ทำโทษไม่  แต่ว่าถ้าจะให้เจ้าหญิงทั้งสามคนนี้อยู่ที่เมืองพนมเปญเขมรต่อไป  ก็จะมีพวกพ้องเขมรมายุยงให้เป็นเสี้ยนแผ่นดินเหมือนงอกแป้นพี่สาวอีก  จึงโปรดให้องเตียนกุนส่งเจ้าผู้หญิงทั้งสามย้ายไปอยู่เสียที่เมืองไซ่ง่อน  เพราะจะให้ไกลกับพวกเขมรที่จะมาก่อการยุยงอีก  การที่ยักย้ายเจ้านายผู้หญิงเขมรไปให้พ้นจากเมืองเขมรนั้น  ก็เพื่อจะให้เจ้าหญิงทั้งสามมีความสุข  บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยเมืองเขมรนั้น  พระเจ้าเวียดนามก็ทรงพระเมตตาตั้งแต่งให้มียศตามความชอบมากและน้อยเหมือนขุนนางญวนเหมือนกัน  มิได้ลำเอียงว่าญวนและเขมร  สุดแล้วแต่ผู้ใดได้ราชการบ้านเมืองก็จะพระราชทานบำเหน็จรางวัลเนือง ๆ  ทั้งไพร่พลเขมรก็ทรงพระเมตตา  ปกครองโอบอ้อมอารีให้มีความสุขสำราญ  พระเจ้าเวียดนามทรงพระมหากรุณาแก่เจ้านายขุนนางและราษฎรเขมรเสมอทั่วหน้า  หาได้ทรงคิดว่าเขมรจะเป็นผู้คิดคดทรยศต่อญวนไม่

(https://i.ibb.co/3sTsTj6/Untiwerqtled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           บัดนี้พวกพระยา,พระเขมรพากันเที่ยวเกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองเขมรให้เข้าร่วมคิดเป็นกบฏต่อญวน  พวกเขมรที่เป็นพวกอกตัญญูก็ยอมเข้าเป็นพวกกบฏก็มีบ้าง  พวกเขมรที่มีความกตัญญูรู้จักบุญคุณญวนก็ไม่ยอมเข้าเป็นพวกกบฏด้วยก็มีบ้าง  พวกที่ไม่ยอมเข้าด้วยก็ต้องถูกกดขี่ข่มเหง  ให้ไปเข้าด้วยพวกเหล่าร้าย  การเป็นดังนี้หาถูกที่ทางยุติธรรมไม่  พระเจ้าเวียดนามจะทรงนิ่งเฉยเสียก็มิบังควร  จึงมีรับสั่งแก่ท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ให้เกณฑ์กองทัพไพร่พลสี่หมื่นเศษ  โปรดให้เราชื่อ องต๋าเตียนกุนเสนาบดี  มีตำแหน่งรักษาทหารในกรุงเว้  เป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์มาเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเพิ่มเติมอีกตามชอบใจเรา  จะใช้ราชการศึกสงครามจนพอการที่ควร  โปรดให้เรายกมาปราบปรามพวกเขมรเหล่าร้ายที่เป็นกบฏต่อแผนดินญวน  ให้ราบคาบเรียบร้อยลงด้วยอำนาจเราให้จงได้  ถ้าพวกเขมรรู้สึกตัวกลัวความผิดจะกลับใจมาสวามิภักดิ์ลุแก่โทษรับผิดเสียโดยดีแล้ว  เราก็จะยกโทษให้  ไม่ยกไปลงโทษ  ทำให้บ้านเมืองได้ความพินาศฉิบหายเดือดร้อนแก่ไพร่ฟ้าข้อขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเว้หาควรไม่  ถ้าไพร่บ้านพลเมืองเขมรเรียบร้อยเป็นปรกติดีอยู่แล้ว  ไม่เป็นกบฏ  เราก็จะให้ราษฎรอยู่ทำมาหากินตามภูมิลำเนาเดิมสืบต่อไป  เราหาใช่ใจยักษ์อยากจะฆ่าฟันกินเลือดเนื้อพวกเขมรไม่  ยกมาทั้งนี้ก็เพราะเป็นประเพณีราชการแผ่นดินจึงต้องมา  การงานทั้งนี้โดยจึกก็ย่อมรู้อยู่สิ้นแล้ว  เมื่อโดยจึกยกกองทัพไทยไปตีค่ายอ้ายอันภู่และอ้ายเดดกที่เมืองโปริสาดนั้น  โดยจึกก็ได้มีหนังสือมาว่ากล่าวจะใคร่เป็นทางไมตรีกันนั้น  ฝ่ายโปนจึกก็ได้รับหนังสือบอกขององเตียนกุน  บอกข้อราชการขึ้นไป ณ กรุงเว้  โปนจึกได้นำขึ้นทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางได้ทราบ  ทราบแล้วมีรับสั่งว่า  ทั้งสองพระนครจะเป็นทางพระราชไมตรีกันนั้นก็เป็นประโยชน์นานาประเทศซึ่งจะได้ไปมาค้าขาย  และเป็นคุณประโยชน์แก่ราษฎรทั้งสองพระนครด้วยกันทั้งสิ้น ......”

          ** ความในหนังสือตอบจากองต๋าเตียนกุนยังไม่จบ  ขอยกไปให้อ่านกันต่อในตอนต่อไปนะครับ.

           (ขออธิบายข้อความในหนังสือญวนบ้าง  คำที่ว่างอกแป้น  งอกมี  งอกเภา  งอกสงวน  คือเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่องค์   คำที่ว่าโดยจึกคือเจ้าพระยาบดินทรเดชาอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพไทย   คำที่ว่าโปนจึกคือองต๋าเตียนกุนอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพญวน  คำที่ว่าอ้ายหมาแก้วคือนักองแก้วน้านักพระองค์แป้น  คำที่ว่าอ้ายอิ่มนั้นคือนักพระองค์อิ่ม  คำที่ว่าอ้ายด้วงนั้นคือนักพระองค์ด้วง  )

¤ เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, พฤษภาคม, 2564, 10:21:25 PM
(https://i.ibb.co/XjFFPtp/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๘ -

แผ่นดินญวนเปลี่ยนเจ้ามีเค้าวุ่น
สั่งเตียนกุนคุมเขมรไม่เป็นห่วง
ต๋าเตียนกุนกลับเว้ไว้ทั้งปวง
ศึกบาทหลวงจากฝรั่งกำลังมา

ไทยรบญวนในเขมรที่เว้นว่าง
ยังไม่ร้างเลิกผ่านการเข่นฆ่า
กองทัพย่อยน้อยกำลังที่ค้างคา
คอยตั้งท่ารบกันทั้งวันคืน


อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   ความในหนังสือตอบขององต๋าเตียนกุนพูดถึงนักองอิ่มยุยงให้ญวนตีเอาเมืองพระตะบอง  นครเสียมราฐ  เพราะไม่มีแม่ทัพใหญ่อยู่รักษาเมืองแล้ว  แต่ญวนไม่ทำตามยุยง  เพราะมีความกตัญญูต่อกระเจ้ากรุงสยาม  แล้วแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าญวนฆ่าเจ้าหญิงเจ้าชายเขมร  โดยว่านักนางแป้นคบคิดกับชายแก้วผู้เป็นน้าทำร้ายญวน  พระเจ้าเวียดนามให้องเตียนกุนส่งตัวไปกรุงเว้  แต่ไปถึงเมืองล่องโห้สมิถ่อเกิดลงแดงตาย  จึงทิ้งศพลงน้ำไป  ญวนหาได้ฆ่านักนางแป้นตามคำกล่าวของไทยไม่  ความในหนังสือญวนยังนำลงในที่นี้ไม่จบ  วันนี้นำมาลงให้อ่านกันต่อครับ......

(https://i.ibb.co/MgGFbKy/Unt457itled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           (พระเจ้าเวียดนาม)“.......ทรงพระราชดำริเห็นว่า  เป็นการมงคลใหญ่แก่พระนครทั้งสองโดยมาก  บัดนี้ท่านอัครมหาเสนาบดีกรุงเว้เห็นพร้อมใจกันว่าฝ่ายไทยคิดจะใคร่เป็นไมตรีกับญวนก่อน  ก็ให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยามีพระราชสาส์นแต่งราชทูตไทยมาเจริญทางพระราชไมตรีกับญวนก่อน  หรือไม่ฉะนั้นเป็นแต่ไม่รบราฆ่าฟันกัน  เขตแดนของผู้ใดต่างคนต่างก็รักษาในเขตแดนนั้นไว้  อย่าล่วงเกินเข้ามาย่ำยีปลายเขตแดนซึ่งกันและกันให้เกิดความวิวาทบาดหมางต่อไป  ก็เป็นการเรียบร้อยปรกติดีอยู่ด้วยกันทั้งสองพระนครก็ได้  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งดังนี้ว่า  พระราชหฤทัยของพระเจ้าเวียดนามก็จะคิดเป็นทางพระราชไมตรีกับไทยอยู่บ้าง  โปนจึกจึงได้มีหนังสือมาแจ้งความให้โดยจึกทราบ  เห็นว่าโดยจึกจะได้กราบทูลเสียมลาดึกพัทเวียงแล้ว  เสียมลาดึกพัทเวียงคงจะมีพระราชสาส์นแต่งราชทูตมากทูลพระราชสาส์น ณ กรุงเว้ก่อน  โปนจึกจะได้กราบทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางดึกวองเด้  ให้มีพระราชสาส์นแต่งราชทูตญวนมาตอบแทนทางพระราชไมตรีกรุงพระมหานครศรีอยุธยาบ้าง  ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งสองพระนครจะได้อยู่เย็นเป็นสุขยืดยาวทั่วหน้ากัน  ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะมีพระราชสาส์นให้ทูตานุทูตไทยมาเจริญทางพระราชไมตรีต่อกรุงเว้เมื่อใด  ราชทูตไทยจะไปทางบกทางเรือประการใด  ก็ขอให้โดยจึกมีหนังสือบอกมาให้โปนจึกทราบก่อน  โปนจึกจะได้จัดการรับรองทูตานุทูตไทยให้สมควรแก่เกียรติยศ  บ้านเมืองเป็นทางพระราชไมตรีกันโดยอย่างธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

(https://i.ibb.co/txKPmR9/Untitlddded-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          อนึ่งเมื่อก่อนนั้นองโดยจึกมีหนังสือมาถึงเสนาบดีญวนกรุงเว้ว่าด้วย  อ้ายองอันภู่  อ้ายองเดดก  อ้ายองลันบิน  อ้ายองเกวียนยา  อ้ายองเตียงเบียน  อ้ายองทุงยุงย่าง  หกคนกับนายทัพนายกองญวนอีกสี่คน  เข้าชื่อกันทำหนังสือสัญญายอมแพ้แก่โดยจึกนั้น  แล้วสัญญาว่าจะให้นายทัพนายกองญวนบรรดาที่ตั้งค่ายอยูที่เมืองเขมรทุกทัพทุกกองนั้น  จะให้ยกทัพกลับไปรวบรวมอยู่ ณ เมืองโจดกเขตแดนญวนนั้น  เนื้อความข้อนี้อ้ายพวกนายทัพนายกองที่มันทำหนังสือสัญญาให้ไว้เป็นการมันหลอกลวงแม่ทัพไทยเล่นเท่านั้น  เพราะว่าอ้ายพวกนายทัพนายกองที่มันทำสัญญานั้น  มันเป็นแต่ขุนนางผู้น้อย  มันไม่มีอาญาสิทธิ์ทำสัญญาการทัพศึกได้ไม่  ราชการทัพศึกเมืองเขมรนี้เป็นหน้าที่ราชการสิทธิ์ขาดของโปนจึกได้ว่ากล่าวสิทธิ์ขาดสำเร็จราชการแต่ผู้เดียวเท่านั้น  หามีผู้อื่นมาแทรกแซงเป็นคู่เคียงเสมอโปนจึกไม่ได้  ซึ่งข้อความในหนังสือสัญญาอ้ายพวกนายทัพนายกองที่ทำให้ไว้แก่โดยจึก  โดยจึกจะฟังถ้อยคำอ้ายพวกเหล่านั้นเป็นสิทธิ์ขาดไม่ได้  ด้วยอ้ายพวกนายทัพเหล่านั้นทำการองอาจเกินอำนาจวาสนาตัวมันมาก  จึงว่าอ้ายพวกนั้นมีความผิดต่อราชการและกฎหมายกรุงเว้ประเทศญวน  บัดนี้พระเจ้าเวียดนามมินมางก็ได้โปรดให้โปนจึกจับอ้ายองอันภู่  อ้ายองเดดก  อ้ายองลันบิน  สามคนฆ่าเสียแล้ว  แต่อ้ายองเทียงเบียน  อ้ายองเกวียนเบียว  อ้ายองเกวียนยา  อ้ายองเตียงเบียน  อ้ายองทุงยุงย่าง  อ้ายองอูยาบิน  อ้ายองฮือถ่อย่า  อ้ายองถ่อยาบิน  อ้ายองมินโดย  รวมเก้าคนที่มันเข้าชื่อทำสัญญานั้น  ก็ได้ส่งอ้ายองทั้งเก้าคนนี้ไปจำคุกไว้ ณ กรุงเว้แล้ว  ข้อความในหนังสือสัญญาของอ้ายองญวนทั้ง ๑๒ คนนั้น  อย่าให้โดยจึกเชื่อถือ  ถ้อยคำนั้นไม่เป็นแก่นสารหาชอบด้วยราชการทางยุติธรรมไม่  โปนจึกขอให้โดยจึกตรึกตรองดูตามทางตรง ๆ โดยยุติธรรมเที่ยงแท้  ก็คงจะเห็นจริงด้วย  หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสาม แรมห้าค่ำ ปีชวด โทศก ศักราชมินมางปีที่ ๒๘ ในรัชกาลแผ่นดินกรุงเว้ที่สอง”

           (หนังสือญวนฉบับนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดรอน  กล่าวข้อความเต็มตามฉบับเดิมในต้นหนังสือของญวนนั้นไว้  เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านผู้ฟังทราบสำนวนองต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพญวนพูดจากับแม่ทัพไทยตามโวหารของญวนในเวลาโน้น  ขออธิบายข้อความในหนังสือญวนบ้าง  คำที่ว่าเสียมลาดึกพัทเวียงนั้นคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรงเทพฯ  คำที่ว่าเวียดนามดึกว่างเด้นั้นคือพระเจ้าเวียดนามมินมาง  คำที่ว่าโปนจึกคือองต๋าเตียนกุนอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพญวน  คำที่ว่าโดยจึกคือเจ้าพระยาบดินทรเดชาอัครมหาเสนาบดีแม่ทัพไทย  คำที่ว่าอ้ายหมาแก้วคือนักองแก้วน้านักพระองค์แป้น  คำที่ว่าอ้ายอิ่มนั้นคือนักพระองค์อิ่ม  คำที่ว่าอ้ายด้วงนั้นคือนักพระองค์ด้วง  คำที่ว่างอกแป้น  งอกมี  งอกเภา  งอกสงวน  แต่ล้วนเป็นเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่องค์ = ก.ศ.ร. กุหลาบ)

(https://i.ibb.co/3pkY09Y/Unt85itled-20.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข้อความตามหนังสือองต๋าเตียนกุนด้งนั้นแล้ว  ก็มิได้มีหนังสือตอบไป  สั่งให้องอันย่างญวนผู้ถือหนังสือกลับไปเสียก่อนเถิด  แล้วจึงจะตอบ  ญวนก็กลับไปเมืองพนมเปญ  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้หลวงชาติสรสิทธิ์กับหลวงอภัยคงคา  คุมไพร่ไทย ๓๔ คนถือใบบอกและต้นหนังสือขององต๋าเตียนกุนเข้ามา ณ กรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/Z8Szfzj/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายที่กรุงเว้นั้น  เมื่อพระเจ้าเวียดนามมินมางทิวงคตแล้ว  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีได้ขึ้นผ่านพิภพเสวยราชสมบัติ  แล้วมีรับสั่งให้เสนาบดีมีท้องตราบังคับลงมา ณ เมืองพนมเปญ  ให้องเตียนกุนอยู่ราชการสิทธิ์ขาดในการทัพศึกที่เมืองเขมรตามเดิม  แล้วรับสั่งให้หาองต๋าเตียนกุนเสนาบดีกลับขึ้นไปรับราชการ ณ กรุงเว้  เพราะทราบข่าวว่าจะมีทัพเรือกำปั่นฝรั่งเศสมารบกรุงเว้  ให้มอบไพร่พลไว้ให้องเตียนกุนต่อไป

(https://i.ibb.co/Fgb3t1N/Untitl85ed-18.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาเสนาภูเบศร์  พระยามหานุภาพ  จมื่นเทพศิรินทร  จมื่นอินทรประภาษ  หลวงเสนาพิทักษ์  หลวงกำจัดศักดา  หลวงยุทธศักดิ์  หลวงนา  หลวงพล เมืองนครสวรรค์  รวมเป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พลไปตั้งค่ายรักษาอยู่ ณ เมืองบาลิ เมื่อ ณ เดือนสี่ ขึ้นสามค่ำ ในปีชวด โทศก นั้น  ญวนยกทัพมาประมาณ ๓,๐๐๐ คนกองหนึ่ง  แล้วญวนยกมาอีก ๒,๐๐๐ กองหนึ่ง  พร้อมกัน ๕,๐๐๐ คน  ญวนก็ยกเข้าระดมตีค่ายพระยานรินทราธิบดีเขมร  แม่ทัพและพระยา,พระเขมรนายทัพนายกองทั้งหลาย  นายทัพนายกองทั้งหลายเห็นทัพญวนมีไพร่พลมากกว่าเขมร  เขมรก็ยกกันหนีเข้าป่าไปหมด  พระยาเสนาภูเบศร์แม่ทัพไทยให้พระยามหานุภาพ  จมื่นอินทรประภาษ  คุมไพร่พลไทยลาวยกออกต่อสู้กับญวนพักหนึ่ง  ญวนมากกว่าไทย ไทยก็ถอยทัพล่ามาเข้าค่ายพระยาเสนาภูเบศร์  พระยาเสนาภูเบศร์เห็นว่าจะรับญวนไม่หยุด  จึงได้เผาค่ายเสียแล้วก็ถอยทัพเข้ามาตั้งรับอยู่ในเมืองโปริสาด  ญวนก็ยกทัพติดตามเข้ามาตีค่ายปีกกาพระอนุรักษ์พลขันธ์เขมรริมเมืองโปริสาด  พวกเขมรได้สู้รบกับญวนอยู่เป็นสามารถ

(https://i.ibb.co/Qnv3VVn/Untitle-d-8.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะนั้นพระยาเสนาภูเบศร์ให้หลวงเสนาพิทักษ์  หลวงยุทธศักดิ์  หลวงกำจัดศักดา  หลวงนา  หลวงพล  ห้านายคุมไพร่ลาวหัวเมืองออกไปช่วยป้องกันค่ายปีกกาพระอนุรักษ์พลขันธ์เขมร  รับรองกองทัพญวนไว้ได้  หาเสียค่ายปีกกาไม่  แล้วพระยาเสนาภูเบศร์  พระยามหานุภาพคุมไพร่พลไทยอยูรักษาค่ายในเมืองโปริสาด  แต่พระยาเสนาภูเบศร์กับจมื่นอินทรประภาษ  จมื่นเทพศิรินทร  และพระหลวงหัวเมืองคุมไพร่พลไทยลาวออกไปตั้งค่ายรับญวนหลังเมืองโปริสาด  ได้รบกันกับญวนที่ยกมาข้างหลังเมืองเป็นสามารถ  ญวนก็ล่าเลิกถอยไปทั้งหน้าเมืองและหลังเมือง  แล้วพระยาเสนาภูเบศร์สืบได้ข่าวว่ากองทัพองเตียนกุนจะยกกองทัพใหญ่ลงมาจากค่ายเมืองกะพงธม  จะมาตีทัพไทยหรือจะไปข้างไหนยังไม่รู้แน่  พระยาเสนาภูเบศร์จึงให้จมื่นอินทรประภาษกับหลวงนา  พลวงพล  คุมไพร่ลาวไทย ๓๖๐ คน ไปสืบข่าวองเตียนกุนได้ข่าวว่า  องเตียนกุนมาจากค่ายกะพงธม  แล้วยกไปอยู่ ณ เมืองพนมเปญแล้วแต่ ณ เดือนสาม ขึ้นสิบสี่ค่ำ.........”

(https://i.ibb.co/Qb3r8wt/Untitledw-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** เจ้าพระยาบดินทรเดชากล่าวไม่ผิดว่า  หนังสือสัญญาของแม่ทัพญวนค่ายเมืองโปริสาดนั้นเป็นเท็จ  องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพใหญ่ญวนก็มากล่าวยืนยันแล้วว่าสัญญานั้นเป็นเท็จ  เพราะพวกองญวนเหล่านั้นไม่มีอำนาจทำสัญญาใด ๆ ได้เลย  เจ้าพระยาบดินทรเดชาอ่านหนังสือตอบจากองต๋าเตียนกุนจบแล้วก็นิ่งเสียไม่ตอบ  และพอดีกับที่กรุงเว้เปลี่ยนแผ่นดินใหม่  พระเจ้าเทียวตรีมีท้องตราให้องเตียนกุนเป็นแม่ทัพใหญ่อยู่ในเขมรต่อไป  ให้หาองต๋าเตียนกุนกลับกรุงเว้  เพราะได้ข่าวว่าเรือกำปั่นรบฝรั่งเศสจะยกมารบกรุงเว้  กองทัพไทย  ญวน  ในเขมรเริ่มเคลื่อนไหว  องเตียนกุนยกทัพจากกะพงธมไปตั้งอยู่พนมเปญ  ทัพไทยถูกญวนรุกไล่จนถอยร่นมาอยู่เมืองโปริสาดทัพหนึ่ง  สงครามไทย-ญวน  กำลังจะดำเนินต่อไป ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, พฤษภาคม, 2564, 10:11:37 PM
(https://i.ibb.co/L0nZNGY/Untitffled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๓๙ -

ไทยเคลื่อนทัพเข้าเขมรเป็นหนสาม
การสงครามเริ่มใหม่ไม่อาจขืน
โปริสาดค่ายเก่าเข้าหยุดยืน
เพื่อหยั่งตื้นลึกญวนก่อนชวนตี

สร้างเมืองใหม่ให้องค์ด้วงสำแดงเดช
“บันทายเพชร”เป็นหลักสมศักดิ์ศรี
ให้เขมรเห็นมาสามัคคี
แล้วยินดีกู้ชาติปราศเวียดนาม


อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เวียดนามผลัดแผ่นดิน  สิ้นพระเจ้ามินมาง  เทียวตรีราชโอรสขึ้นครองแผ่นดินแทน  มีหนังสือสั่งให้องเตียนกุนอยู่คุมกองทัพญวนในเขมรต่อไป  ให้องต๋าเตียนกุนกลับกรุงเว้เพื่อเตรียมรับมือฝรั่งเศสที่ทราบว่าจะยกกองทัพเรือกำปั่นมารบกรุงเว้  ส่วนในเขมรนั้น  พระยาเสนาภูเบศร์ที่ยกไปตั้งค่ายรักษาเมืองบาลิอยู่  ถูกกองทัพญวนสองกอง ๕,๐๐๐ คนยกเข้าโจมตี  เพราะมีกำลังพลน้อยกว่าญวน  จึงเผาค่ายทิ้งแล้วล่าถอยมาตั้งอยู่เมืองโปริสาด  ญวนยกตามมาตีแต่ก็ไม่สามารถตีค่ายไทยที่เมืองโปริสาดแตกได้  จึงล่าถอยกลับไปสิ้น  ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนนั้นได้ยกทัพจากเมืองกะพงธมลงมาอยู่เมืองพนมเปญ  เมื่อเดือนสามขึ้นสิบสี่ค่ำแล้ว  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

          องเตียนกุนตระเตรียมทัพใหญ่ไพร่พลถึงสามหมื่น  เป็นสามทัพ  จะยกมาตีทัพไทย  จึงมีใบบอกข้อราชการดังนี้  ให้พันทิพภักดีกับนายพิศาลสรพลนายเวรถือไปยังเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวทัพใหญ่ดังนั้นแล้ว  จึงปรึกษาหารือด้วยพระยาราชสงคราม และพระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาล และนักพระองค์ด้วงว่า

(https://i.ibb.co/181TYKM/Untitlsfed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ซึ่งเราได้ข่าวว่าองเตียนกุนจะยกทัพใหญ่มาอีก  และบัดนี้จัดทัพอยู่ ณ เมืองพนมเปญแล้ว  เห็นจะคิดการใหญ่อย่างไรก็ยังไม่แจ้ง  จะไว้ใจแก่ราชการไม่ได้  จะให้พระยาจ่าแสนบดีศรีบริบาลกับพระยาอร่ามอยู่รักษาเมืองพระตะบอง  
          จะให้พระยาเพชรบูรณ์เป็นแม่ทัพใหญ่ผู้บัญชาการแทนเจ้าพระยานครราชสีมา  
          จะให้จมื่นสรรพเพธภักดี (บุตรเขย) เป็นผู้ช่วยกองทัพพระยาเพชรบูรณ์ด้วย  
          จะให้หลวงนายสิทธิ์ (หลาน) เป็นยกกระบัตรทัพ  
          จะให้พระยาราชสงครามเป็นแม่ทัพหน้า  
          ให้พระราชรองเมืองเป็นผู้ช่วยทัพหน้าคุมกองรามัญพระยาเกียรติด้วย  
          จะให้พระพิเรนทร์เทพเป็นเกียกกาย  
          จะให้พระพรหมบริรักษ์(บุตร) กับพระยาสีหราชเดโชและพระยาบำเรอบริรักษ์  เป็นทัพข้าหลวงกำกับทัพหัวเมืองไทยช่วยหนุนทุกทัพทุกกอง  และถือคำสั่งแทนแม่ทัพหลวงด้วย  
          จะให้เจ้ากรมพระตำรวจและปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ  เป็นนายทัพปีกซ้ายปีกขวา
          จะให้พระยาเพทราชากับพระยาประกฤษณุรักษ์ เ ป็นนายทัพช้างกองใหญ่  แต่ให้แยกออกเป็นสี่กอง
          จะให้พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์แม่กองช้างเมืองนครราชสีมา  คุมกองช้างเป็นทัพช้างกองหน้า
          จะให้พระยาพิบูลย์สมบัติเป็นผู้ตรวจทัพทุกกอง  ให้ถือพลเป็นกองหนุนด้วย  จะได้ช่วยทุกทัพทุกกองเป็นทัพแซง
          จะให้พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่าเป็นจเรทัพ”

(https://i.ibb.co/C1nT39t/Untitl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นจัดการทัพพร้อมแล้ว ณ เดือนสี่ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ในปีชวดโทศกนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็พานักพระองค์ด้วงยกลงไปตั้งค่ายที่ตำบลบ้านตึกโขลกที่เคยตั้งค่ายเดิมแต่ก่อนใกล้เมืองโปริสาด  ให้พระบุรินทรานุรักษ์กับพระมหาดไทย  พระโยธาธิราช กรมการเมืองนครราชสีมา  ยกไพร่พลไปลาดตระเวนใกล้เมืองพนมเปญทางเหนือ  ให้พระยาปลัดกับพระยายกกระบัตรเมืองเพชรบูรณ์ คุมไพร่พลยกลงไปลาดตระเวนใกล้เมืองพนมเปญข้างใต้  แล้วให้พระยา,พระเขมรคุมไพร่พลเขมรเป็นแปดกอง  กองละสองร้อย  ให้แยกย้ายกันไปคอยตีกองตระเวนญวน  แล้วคอยจับญวนมาสืบถามราชการให้ได้บ้างตามสมควร  กิตติศัพท์นั้นก็จะแพร่หลายไปถึงญวน  ญวนก็ไม่ก็ไม่อาจยกทัพใหญ่เข้ามาตีอีกเหมือนครั้งก่อน ๆ

          ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเกณฑ์ไพร่พลให้ตัดไม้แก่นมาทำเสาค่ายเป็นเมืองใหม่  ให้นักพระองค์ด้วงพักอาศัยอยู่ก่อน  ตั้งเมืองใหม่ที่ปะทัยเลือกเหนือเมืองโปริสาดขึ้นไปหน่อยเป็นที่ดอนดี  ได้ลงมือปักเสาค่าย ณ เดือนสี่ แรมสิบสามค่ำ ในปีชวดโทศก ยาวไปตามน้ำ ๑๒ เส้น กว้าง ๑๐ เส้น สูง ๕ ศอกคืบ

(https://i.ibb.co/WscYLDS/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          ที่กรุงเทพฯ  เมื่อเดือนสี่ในปลายปีชวดโทศกนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  เมืองลาวทางตะวันออกฟากแม่น้ำโขงนั้น  พระมหาเทพ (ชื่อป้อม)  พระราชวรินทร์ (ชื่อขำ)  เป็นแม่ทัพไปกวาดต้อนครอบครัวหัวเมืองลาว  ซึ่งเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองเวียงจันทน์นั้น  ก็ยังค้างอยู่  หาสิ้นเชิงไม่  บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งพระยาศรีสหเทพ  ให้มีท้องตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าอุปราชและเจ้าราชบุตรเมืองนครหลวงพระบางเป็นแม่ทัพ  คุมเจ้าบุตรหลานและไพร่พล  ขึ้นไปตีหรือเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวฟากแม่น้ำโขงตะวันออกให้สิ้นเชิง

          โปรดเกล้าฯให้พระมหาสงคราม  พระหฤทัย  พระอภัยสุรินทร์  หลวงนางเสน่ห์รักษา  นายฉลองนัยนารถ  นายราชาภักดิ์ รวมหกคนเป็นข้าหลวงกำกับทัพเมืองหลวงพระบาง  แล้วมีท้องตราให้ข้าหลวงหกนายขึ้นไปถึงพระสุนทรวงศาเจ้าเมืองยโสธรและท้าวพระยาลาว  และเกณฑ์ไพร่พลลาวตามหัวเมืองฝ่ายตะวันออก  ให้พระสุนทรวงศาเป็นแม่ทัพ  ให้หลวงสง่ากับหลวงราชเสนาและนายสุริยาวุธหุ้มแพรวังหน้ารวมสามนายเป็นข้าหลวงกำกับทัพพระสุนทรวงศาลาว  ยกขึ้นไปเกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนลาวตามหัวเมืองฝ่ายฟากฝั่งแม่น้ำโขงทางตะวันออกมาให้สิ้นเชิง  ข้าหลวงแปดนายได้กราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพฯ แล้ว แต่ ณ เดือนห้าขึ้นเก้าค่ำ ปีฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๖๐๓ ปี เป็นปีที่ ๑๘ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/VLwZ2c9/Untitdssled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งทำเมืองโปริสาดใหม่อยู่นั้น  จึงแต่งให้หลวงสุนทรภักดีเขมรลงไปสืบข้อราชการที่ค่ายญวนเมืองพนมเปญ  ได้ความว่า  องเตียนกุนคิดกับองญวนผู้ใหญ่นายทัพเข้าชื่อกันทำใบบอกไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่  ขอเจ้าหญิงเขมรสามองค์กับนักเทศมารดานักองค์จันทร์ซึ่งอยู่เมืองไซ่ง่อน  ขอให้มาอยู่เมืองพนมเปญ  เพื่อจะขอเจ้านายฝ่ายเขมรมาล่อพวกเขมรให้เข้าด้วย  แล้วขอนักองค์อิ่มและฟ้าทลหะสมเด็จเจ้าพระยาและพระยาสุภาธิราช  กับพระยา, พระเขมรผู้ใหญ่ซึ่งต้องจำคุกอยู่ในกรุงเว้นั้น  ขอให้ส่งมายังเมืองพนมเปญ  จะได้เป็นเชื้อสายล่อน้ำใจพระยา.พระเขมรให้มาเข้าด้วยจะได้คิดการใหญ่ต่อไป

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้แจ้งดังนั้นแล้วจึงคิดว่า

(https://i.ibb.co/hDdDxtk/Untitlded-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ถ้าญวนขอเจ้าหญิงเขมรกับนักพระองค์อิ่มมาได้แล้ว  องเตียนกุนก็คงจะนำเจ้านายชายหญิงฝ่ายเขมรมาเชิดชู  ตั้งแต่งให้เป็นเจ้าแผ่นดินเขมร  แข่งแย่งกันกับนักพระองค์ด้วงขึ้นดั่งนี้แล้ว  พระยา,พระเขมรที่ยังรักใคร่นับถือนักพระองค์อิ่มและเจ้าหญิงก็มีบ้าง  คงจะไปเข้าข้างฝ่ายญวนบ้าง  เหมือนญวนมาแบ่งพระยา,พระเขมรและไพร่พลเขมรไปได้บ้างไม่มากก็น้อย  การงานทีเราคิดไว้ก็จะไม่สำเร็จ  แต่นักพระองค์ด้วงนี้จะให้อยู่ที่เมืองโปริสาดนี้ไม่ได้  เพราะเป็นเมืองลึกเข้ามานัก  ที่ไหนราษฎรเขมรจะเห็นนักพระองค์ด้วงถนัด  จะพากันไปเข้านับถือนักพระองค์อิ่มเสียหมด  ฝ่ายไทยก็จะเสียเปรียบญวน”

          คิดดังนี้แล้วจึงได้ปรึกษากับนักพระองค์ด้วงว่า

           “จะให้นักพระองค์ด้วงไปตั้งวังอยู่ที่เมืองบันทายเพชร  พระยา,พระเขมรจะได้เห็นนักพระองค์ด้วงถนัด  พวกเขมรจะได้เชื่อว่าเป็นนักพระองค์ด้วงแน่ ๆ  มิใช่ผู้อื่นปลอมออกมา  ก็จะได้มีความยินดีนิยมนับถือ  แล้วก็จะพากันเข้ามาเป็นพาหนะรับอาสาทำราชการกับนักพระองค์ด้วงต่อไป”

(https://i.ibb.co/HrBZwrN/Untitle53d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          นักพระองค์ด้วงก็เห็นชอบด้วยความคิดท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้พระพรหมบริรักษ์แม่กอง ๑  พระยาสีหราชเดโช ๑  พระยาราชโยธา ๑  พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑  พระรักษ์เสนา ๑  พระโยธาธิราช ๑  พระชนะรณชิต ๑  พระนเรนทรราชา ๑  หลวงวิสุทธิโยธามาตย์ ๑  หลวงราชโยธาเทพ ๑  พระพิทักษ์เทพธานีปลัดกรุงเก่า ๑  พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา ๑  หลวงศรีรณรงค์เมืองนครราชสีมา ๑  รวมนายทัพนายกอง ๑๓ นาย  คุมพระยา พระ หลวง หัวเมืองไทยลาวและไพร่พลลาวเขมรป่าดง ๕,๐๐๐ คน  กับให้พระยา, พระเขมรที่รักษานักพระองค์ด้วง ๑๘ คน  ไพร่พลเขมรที่รับอาสาในนักพระองค์ด้วงมี ๕,๐๐๐ คน  รวมไพร่พล ๑๐,๐๐๐     ให้พระพรหมบริรักษ์เป็นแม่ทัพใหญ่      ให้พระยาสีหราชเดโชเป็นแม่ทัพหน้า      ให้พระยาราชโยธาเป็นผู้ช่วยทัพหน้า      ให้พระยาบำเรอบริรักษ์เป็นนายทัพหลัง    คุมไพร่พลรวมหมื่นหนึ่ง ยกจากเมืองโปริสาด แต่ ณ เดือนหกขึ้นเก้าค่ำ ปีฉลู ตรีศก  เดินกองทัพใหญ่ไปแปดวันก็ถึงเมืองบันทายเพชร ณ เดือนหก แรมค่ำหนึ่ง  พระพรหมบริรักษ์สั่งให้พระยาสีหราชเดโชเป็นแม่กอง  คุมนายทัพนายกองและไพร่เขมรตัดไม้ถางที่  ทำการตั้งเมืองให้นักพระองค์ด้วงพักอยู่  แต่ให้ทำเป็นทำเนียบอยู่ก่อน  ได้ตั้งทำเนียบและค่ายที่เมืองอุดงคฦๅไชย  ซึ่งเป็นที่อยู่เก่าของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมรแต่ครั้งก่อน  ครั้งนี้ได้ตั้งทำเนียบกระดานจะทำบ้านเมืองใหม่  ห่างกับเมืองบันทายเพชรห้าสิบเส้น......”

(https://i.ibb.co/Jk7V1XM/Untitdled-13.jpg) (https://imgbb.com/)

          จะว่า  “เป็นสงครามจิตวิทยาชิงประชาชน”  ก็ดูเหมือนจะว่าได้นะ  องเตียนกุนจะขอเจ้าเขมรจากเว้  ไซ่ง่อน  มาอยู่พนมเปญ  เพื่อให้ชาวเขมรไปเข้ากับฝ่ายญวน  เจ้าพระบดินทรเดชาก็รีบชิงความได้เปรียบไปสร้างเมืองให้นักพระองค์ด้วงประทับ ณ เมืองบันทายเพชร  เพื่อให้ชาวเขมรรู้เห็นกันมาก ๆ จะได้พากันเขามาเป็นพวก  จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, มิถุนายน, 2564, 10:55:06 PM
(https://i.ibb.co/XpFMmp7/Untitdfrled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๐ -

ญวนตั้ง“นักองมี”สตรีเขมร
เพื่อโดดเด่นกัมพุชนุชสยาม
เจ้าแผ่นดินหญิงเขมรให้เห็นงาม
เรียกร้องความศรัทธาประชาชน

แต่เขมรมากหน้าพากันเฉย
เพราะญวนเคยคิดระยำทำปี้ป่น
ฆ่าองแป้นเจ้าหญิงทิ้งหนึ่งคน
ยังคิดปล้นชาติเขมรไว้เว้นวาย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้จัดกองทัพไทยพร้อมแล้ว  จึงนำพานักพระองค์ด้วงยกจากเมืองพระตะบอง  เดินทัพมาตั้งที่ค่ายเดิมเมืองโปริสาด  ดำเนินการสร้างวังที่ประทับให้นักพระองค์ด้วงพร้อมกับให้ขุนนางเขมรไปสืบข่าวองเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ  ได้ข่าวมาว่าแม่ทัพใหญ่ญวนทำหนังสือขอตัวเจ้าหญิงเขมรจากไซ่ง่อนและนักพระองค์อิ่มพร้อมขุนนางเก่าเขมรจากกรุงเว้มาอยู่เมืองพนมเปญ  เพื่อเป็นการ “โฆษณาชวนเชื่อ”  ให้ชาวเขมรเข้าร่วมกับฝ่ายญวนมากขึ้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงปรึกษากับนักพระองค์ด้วงว่าควรให้พระองค์ไปประทับ ณ เมืองบันทายเพชร  อันเป็นจุดเด่นให้ชาวเขมรเห็นพระองค์เป็นเจ้าแผ่นดินเขมรตัวจริงที่พระเจ้ากรุงสยามทรงแต่งตั้งมาปกครองประเทศกัมพูชา  เมื่อนักพระองค์ด้วงเห็นชอบด้วย  จึงจัดกองทัพยกไปพร้อมกับนักพระองค์ด้วง  ถึงบันทายเพชรแล้วเร่งจัดสร้างพระราชวังที่ประทับนักพระองค์ด้วงทันที  พร้อมกับกระจายข่าวให้แพร่ไปในสังคมชาวเขมรได้ทราบโดยทั่วกัน  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......

(https://i.ibb.co/KFKYnP2/o.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าเมืองไซ่ง่อนได้รับท้องตราบังคับมาแต่กรุงเว้ว่าให้ส่งเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์  กับนักมารดาพระองค์ด้วง  มายังเมืองพนมเปญ  เมื่อเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์มาถึงเมืองพนมเปญแล้ว  องเตียนกุนก็สั่งให้ญวนและเขมรปลูกตำหนักให้เจ้าหญิงอยู่หมู่หนึ่งหลายหลัง  แล้วองเตียนกุนจึงตั้งนักองมีเจ้าผู้หญิงเขมรเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร  แล้วนำดวงตราของนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชามามอบให้นักองมี  ทั้งพระขรรค์ไชยศรีสำหรับกรุงกัมพูชามาให้นักพระองค์มีเจ้าแผนดิน  นักพระองค์มีเจ้าแผ่นดินจึงตั้งขุนนางผู้ใหญ่ที่อัครมหาเสนาบดีครบที่  คือ  ตั้งเจ้าฟ้าทลหะ ๑  สมเด็จเจ้าพระยา ๑  เจ้าพระยาราชไมตรี ๑  พระยาจักรี ๑  พระยากลาโหม ๑  แล้วตั้งพระยา,พระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยขึ้นครบตามตำแหน่ง  แล้วองเตียนกุนแต่งหนังสือเขมร  ทำเป็นหนังสือประกาศของเจ้าแผนดินเขมรผู้หญิงหลายฉบับ  ให้ขุนนางเขมรใหม่ ๆ ไปเที่ยวแจกจ่ายให้พระยา,พระเขมรเก่า ๆ ทุกบ้านทุกเมือง  เป็นการเกลี้ยกล่อมให้เข้ามาอาสาเจ้าแผ่นดินผู้หญิง  ช่วยรบกับไทย  ให้ได้บ้านเมืองเป็นสิทธิ์แก่เจ้าหญิง  เพื่อจะแย่งชิงแผ่นดินเขมรกับนักพระองค์ด้วงผู้เป็นอา  ฝายพระยา, พระเขมรเก่า ๆ ก็ไม่มีผู้ใดเข้ามาสวามิภักดิ์กับเจ้าหญิงสักคนเดียว  เพราะรู้เท่ารู้ทันว่าญวนล่อลวง

(https://i.ibb.co/mqrMW2c/Un56titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่า  องเตียนกุนแม่ทัพญวนตั้งเจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิง  เจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิงก็ตั้งแต่งเสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยขึ้นเต็มตามตำแหน่งแล้ว  จึงสั่งให้นักพระองค์ด้วงตั้งแต่งขุนนางผู้น้อยผู้ใหญ่ที่สมัครมาเข้าด้วยเท่าใดก็ตั้งให้เต็มตามตำแหน่งบ้าง  เป็นการแข่งแย่งแผ่นดินเขมรกันขึ้นทั้งอาและหลาน  ครั้งนั้นแผ่นดินเขมรแยกออกเป็นสองแห่ง  มีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์  มีข้าราชการเต็มตามตำแหน่งทั้งสองฝ่าย  เรียกว่าแผ่นดินเขมรฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้  พวกนักพระองค์มีเจ้าหญิงเป็นฝ่ายใต้  พวกนักพระองค์ด้วงเป็นฝ่ายเหนือ

(https://i.ibb.co/7RvZtx6/Untitledrd-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระพรหมบริรักษ์จึงปรึกษากับนักพระองค์ด้วงว่า     “คราวนี้ญวนจัดการล่อลวง  เกลี้ยกล่อมเขมรหัวเมืองทุกเมืองนั้น  เราจะไว้ใจแก่ข้าศึกไม่ได้  ควรจะต้องจัดทัพให้พระยา,พระ,หลวง ฝ่ายไทย กับพระยา,พระเขมร เป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พลไปป้องกันรักษาเขตแดนด่านทางไว้ให้มั่นคงก่อน  กว่าเราจะคิดการใหญ่ได้”      นักพระองค์ด้วงก็เห็นชอบด้วย  แล้วรับสั่งให้พระยา, พระเขมรตระเตรียมการให้เสร็จโดยเร็ว  จึงให้พระยามโนราชาสุนทรคุมไพร่เขมรไปรักษาด่านปากทางประตูป่า  
      ให้พระยาเสน่หาไมตรีคุมไพร่เขมรไปรักษาทางดงโสน  
      ให้พระสุนทราธิราชวงศา หลวงพิพิธเสนา คุมไพร่พลไปรักษาทางด่านปราจีนไพรแวง
      ให้พระนรินทรานุรักษ์กับหลวงพิทักษ์ภูธร คุมไพร่เขมรไปรักษาด่านจีนทางพนมศก  
      ให้พระศรีเสนาราชมนตรีกับหลวงภักดีสุนทร คุมไพร่เขมรอยู่รักษาปากคลองสะโดงสามแยก  ให้ตั้งค่ายมั่นเป็นสามารถรับญวน

(https://i.ibb.co/FKMXPhK/Untitl458ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระพรหมบริรักษ์จัดพระยา,พระ,หลวงฝ่ายไทยไปกำกับพระยา,พระเขมรคุมไพร่พลเขมรไปรักษาด่านทางและหัวเมืองเขมรทุกแห่งแต่ที่เป็นช่องของเขมรฝ่ายใต้จะเข้ามาได้นั้นหลายแห่ง  
      ให้หลวงนราโยธีกำกับพระยาเสนานุชิตเขมร  ไปรักษาทางด่านพระกำแพง
      ให้หลวงอนุรักษ์ภักดีกำกับพระยาเสน่หาสุนทรเขมร  ไปรักษาด่านจะเรามุกพระกำแพง
      ให้หลวงพินิจโยธากำกับพระยานราธิราชวงศาเขมร  ไปรักษาด่านดงโสฬศ
      ให้พระเสนาภิมุขกำกับพระยาราชสุนทราธิบดีเขมร  ไปรักษาทางจิกวงด่านใหญ่
      ให้พระยามหาบุรีรมย์กำกับพระยามโนสุนทรเขมร  ไปรักษาทางไพรพนม
      ให้หลวงราชเสวกกำกับพระยาเสนาราชกุเชนทร์เขมรกับพระภักดีสุนทรเขมร  ไปรักษาเมืองกำพงเสียม
      ให้หลวงฤทธานนท์กำกับพระยาประสิทธิ์สงครามเขมร ไปรักษาเมืองเชิงไพร
      ให้พระยาอร่ามกำกับพระเยาเดโชภักดีเขมรกับพระยามนตรีเสน่หาเขมร  ไปรักษาเมืองบาราย
      ให้พระยาอภัยสงครามกำกับพระยาเดโชชัยสุนทรเขมร  ไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บ้านอินทรกุมาร
      ให้พระยาเพชรปาณีกับพระอินทรรักษาตำรวจวังหน้า  กำกับพระยาราชมานุเทพเขมร  ไปรักษาเมืองสะโทง
      ให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีกับพระพรหมธิบาล  กำกับพระยาอนุภาพไตรภพเขมรและพระสงครามฤทธิรงค์เขมร ไปรักษาเมืองชิแครง
      ให้พระยาณรงค์ฤทธิโกษาแขกจามกับหลวงทวยหาญ  กำกับพระยาพิมุขวงศาเขมรและพระนเรนทรโยธาเขมร  หลวงราชนรินทรเขมร  ไปช่วยป้องกันรักษาเมืองกำปอด
      ให้พระภิรมย์ราชากับหลวงสุนทรวังหน้า  กำกับพระยาฤทธิสำแดงเขมรไปรักษาเมืองกำพงโสม
      ให้พระยาทิพมณเฑียรวังหน้ากับพระยาพระรามรามัญและหลวงอินทรสมบัติวังหน้า  หลวงพิพิธสมบัติวังหน้า  หลวงยกกระบัตรเมืองฉะเชิงเทรา หลวงมหาดไทยเมืองนครนายก รวมข้าหลวงหกนายกำกับพระยาวิบูลยราชเขมร และพระอนุรักษ์วงศาธิราชเขมร หลวงสุนทรนุกิจเขมร  หลวงราชพิทักษ์เขมร  หลวงมหาสงครามเขมร  ขุนสุนทรสงครามแขกจามเขมร  รวมขุนนางเขมรหกนาย  รวมนายทัพไทยและเขมร ๑๒ นาย  คุมไพร่พลเขมรและลาว ๕,๐๐๐ ยกไปปักทำนบปิดคลองขุดใหม่ของญวน  ปรารถนาจะไม่ให้ทัพญวนนำเรือรบบรรทุกเสบียงอาหารและกระสุนดินดำมาส่งยังเมืองพนมเปญได้  เพื่อจะได้ตัดกำลังการศึกของญวน

(https://i.ibb.co/qjbNbrm/1401683519-wj1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายองโปโหแม่ทัพญวนที่เมืองโจดก  ก็ยกกองทัพญวนห้าพันกับเขมรด้วยสามพัน  รวมเป็นไพร่พล ๘,๐๐๐ คน  ก็ยกมาตีกองทัพไทยและเขมรฝ่ายเหนือซึ่งปิดทำนบคลองขุดใหม่อยู่นั้น  ได้รบกันเป็นสามารถสี่วัน  กองทัพไทยและเขมรที่ตั้งปิดทำนบนั้นก็แตกไปสิ้น  เพราะญวนมีเรือรบเรือป้อมมาก  ก็นำปืนใหญ่มายิงไทย  ไทยก็แตกหนีไปหมด  ญวนก็ทำลายล้างรื้อทำนบเสียทั้งสี่แห่ง  ไม่ให้เป็นที่กีดขวางหนทางเรือรบญวน  ญวนก็ตั้งค่ายใหญ่ที่ปากคลองขุดใหม่ถึงแปดค่าย  เพื่อจะรักษาทางน้ำไว้ไม่ให้ไทยยกมาปิดคลองต่อไปได้  และองโปโหก็ให้องตือคุมไพร่พลมาลาดตระเวนจับเขมรฝ่ายเหนือไปได้ ๓๖ คน  และจับได้หลวงภักดีสงครามเขมรกับขุนหมื่นไทยสี่คนไปด้วย  เพราะญวนนำทัพมาเข้าไล่จับ  จึงได้จับไปได้ทั้งนายเวรกรมตำรวจวังหน้า ๒ นาย........

(https://i.ibb.co/C1sG1jr/430278-361543627203672-2094636240-n.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** ถึงตอนนี้เขมรมีพระเจ้าแผ่นดินสององค์  แยกแผ่นดินเป็นเขมรฝ่ายเหนือมีนักพระองค์ด้วงเป็นเจ้าแผ่นดิน  เขมรฝ่ายใต้มีนักพระองค์มีเป็นเจ้าแผ่นดินหญิง  แผ่นดินเขมรดังกล่าวนี้ไม่เกี่ยวกันกับเขมรฝ่ายในคือเมืองพระตะบอง  เมืองนครเสียมราฐ  เมืองศรีโสภณ  และพิหาร  ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของสยาม  การรบยกแรกเริ่มขึ้นที่คลองขุดใหม่  ไทยคุมเขมรไปทำการปิดคลองไม่ให้เรือรบญวนบรรทุกเสบียงอาหารและยุทโธปกรณ์มาส่งเมืองพนมเปญ  องญวนแม่ทัพที่เมืองโจดกยกทัพมารบไล่ไทยเขมรแตกหนีกระเจิง  เพราะมีพลมากว่า  มีอาวุธดีกว่า  คือปืนใหญ่จากเรือรบขนาดใหญ่  แม่ทัพญวนคนนี้ชื่อน่ากลัวว่า  “องโปโห” ยกแรกไทย-เขมรพ่าย  ญวน-เขมรเป็นฝ่ายชนะ  ยกต่อไปรออ่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, มิถุนายน, 2564, 10:36:08 PM
(https://i.ibb.co/GcYR75r/Untitlefd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๑ -

องค์อิ่มมาพนมเปญเชิดเป็นเจ้า
หวังคนเข้ารองบาทไม่ขาดสาย
แต่เขมรขุนนางทั้งไพร่นาย
พากันบ่ายหน้าหนีไม่มีมอง

พนมเปญเกิดโรคไข้โขกช้ำ
ของกินเล่าข้าวน้ำขาดซ้ำสอง
เขมรญวนป่วนปั่นพากันร้อง
ด้วยปากท้องอดยากมากเหลือทน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   องเตียนกุนตั้งแต่งนักองค์มีเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรผู้หญิงครองพนมเปญ  เจ้าระยาบดินเดชาตั้งแต่งให้นักพระองค์ด้วงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรผู้ชายครองเมืองบันทายเพชร  พระพรหมบริรักษ์ปรึกษากับนักพระองค์ด้วงตั้งแต่งนายทัพนายกองรักษาด่านทางและหัวเมืองเขมรฝ่ายเหนือรับมือเขมรฝ่ายใต้ที่จะยกมาตีแย่งแผ่นดิน  สั่งให้ไทยร่วมกับเขมรไปทำการลงเขื่อนปิดคลองที่ญวนขุดใหม่  ป้องกันไม่ให้ญวนใช้เรือรบบรรทุกเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งยังเมืองพนมเปญได้  องโปโหแม่ทัพญวนเมืองโจดกยกทัพเรือมาไล่ตีกองกำลังไทย-เขมรที่ปิดกั้นคลองนั้นแตกพ่ายไปสิ้น  แล้วตั้งค่ายมั่นรักษาลำคลองไว้  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ....

           ครั้งนั้นเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์กับนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงและนักพระองค์จันทร์ด้วย  ก็มีหนังสือใช้ให้อ้ายมีกับอ้ายสาเขมรบ่าวคนสนิท  ถือเล็ดลอดมาให้นักพระองค์ด้วงใจความว่า

(https://i.ibb.co/GW35q4q/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เจ้าหญิงทั้งสามกับนักมารดาอยู่ในบังคับญวนหามีความสุขไม่  อยากจะใคร่หนีญวนมาอยู่กับนักพระองค์ด้วงผู้เป็นบุตรและอาว์  ขอให้นักพระองค์ด้วงแต่งขุนนางพระยา,พระเขมรไปรับเจ้าหญิง  เจ้าหญิงจะหนีมาอยู่ด้วยในเมืองบันทายเพชร

          นักพระองค์ด้วงจึงได้ปรึกษากับพระพรหมบริรักษ์ และพระยา,พระเขมรเห็นว่า  ไม่ใช่กลอุบายญวนใช้ให้เจ้าหญิงมีหนังสือมา  เห็นว่าเจ้าหญิงเขมรจะอยากหนีมาจริง  เพราะอยู่กับญวนญวนก็บังคับกดขี่ทุกอย่าง  ครั้งนั้นพระยา,พระเขมรฝ่ายเหนือก็ขันแข่งเข้ารับอาสาจะไปพาเจ้าหญิงมาให้ได้

          ครั้งนั้นพอพระยาวังภูมิเขมรกับพระศรีสุนทรเขมรซึ่งเข้าประจบประแจงญวนอยู่นั้น  ได้รู้ความว่าเจ้าหญิงทั้งสามองค์จะหนีไปหาไทย  พระยาวังภูมิกับพระศรีสุนทรก็เข้าไปกระซิบบอกกับองเตียนกุนแม่ทัพญวน  แม่ทัพญวนรู้แล้วก็ให้ขุนนางญวนระวังพิทักษ์รักษาเจ้าหญิงไว้โดยสามารถแข็งแรงยิ่งกว่าเก่า  แล้วองเตียนกุนว่ากับเจ้าหญิงทั้งสามองค์ว่า

           “ถ้าครั้งนี้มีเหตุขึ้นว่าจะหนีไปหาไทยหรือใช้หนังสือไปหาไทย  ญวนจับได้ชำระเป็นสัจแล้วจะไม่พูดจาอะไรต่อไปเลย  เป็นอันจะต้องฆ่ากันเท่านั้นเอง  ไม่มีการปรานีแล้ว  เพราะชุบเลี้ยงตั้งแต่ใหญ่โตถึงขาดนี้แล้ว”

(https://i.ibb.co/dLVFbQk/1436245547-17-ox.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพวกพระยา,พระเขมรข้างฝ่ายนักพระองค์ด้วงนั้นก็ตั้งกองทัพอยู่ในที่ต่าง ๆ ๑๑ กอง  กองละ ๑,๐๐๐ บ้าง  กองละ ๘๐๐ บ้าง  กองละ ๖๐๐ บ้าง  กองละ ๕๐๐ บ้าง  กองละ ๓๐๐ บ้าง  ตั้งทัพเหมือนกองโจรเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง  และทางด่านทางทุ่งป่าทุกช่องทุกทางคอยตีทัพญวน  และคอยจับญวนกองตระเวนและเขมรฝ่ายใต้พวกญวนด้วย  ถ้าเขมรเห็นญวนยกมาน้อยคนแล้ว  เขมรก็ยกเข้าสู้รบกับญวน  ฆ่าญวนเสียบ้าง  จับญวนมาเป็นเชลยบ้าง  ถ้าญวนยกมามากกว่าเขมร  เขมรก็หลบหลีกหนีเข้าป่าไป  ถ้าญวนยกมาติดตามเขมร  เขมรก็ยิงด้วยหน้าไม้และปืนไฟ  ยิงไปถูกญวนล้มตายดังนี้เนือง ๆ เสมอไป  แล้วเขมรก็จับญวนเป็นเชลยมาส่งกับนักพระองค์ด้วง  นักพระองค์ด้วงก็ให้รางวัลแก่พระยา,พระเขมรและไพร่เขมรที่จับญวนส่งมานั้น  ถ้าเขมรจับญวนมาได้มากก็ให้รางวัลผู้จับญวนมานั้นถึงคนละตำลึง  ถ้าจับญวนมาได้น้อยก็ให้รางวัลผู้จับมานั้นคนละบาท  พวกเขมรจับญวนชายหญิงมาส่งให้นักพระองค์ด้วงได้ญวนชายหญิงถึง ๓,๐๐๐ เศษ  นักพระองค์ด้วงก็แต่งขุนนางไทยและขุนนางเขมรคุมญวนเชลยเข้ามาส่งกรุงเทพมหานครเนือง ๆ  เป็นจำนวนญวนเชลย ๓,๐๐๐ เศษ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีจัดญวนเชลยส่งไปไว้ที่เมืองกาญจนบุรีบ้าง  เมืองพระพิษณุโลกบ้าง  เมืองนครสวรรค์บ้าง  และหัวเมืองฝ่ายเหนือต่าง ๆ บ้าง  ถ้าเป็นญวนเข้ารีตฝรั่งเศสก็ให้ไปอยู่กับญวนเข้ารีตฝรั่งเศสที่เข้ามาครั้งปีมะเส็งนั้น  ให้รวมกันอยู่ที่บ้านญวนเข้ารีต ณ ริมวัดส้มเกลี้ยงเหนือวัดสมอราย  ให้อยู่ในกรมพระวิเศษสงครามฝรั่งเข้ารีตได้ว่ากล่าวใช้งาน

          ฝ่ายพระยา,พระเขมรหัวเมืองที่มีไพร่พลมากเป็นกองทัพใหญ่  ก็ยกไปเที่ยวตีหัวเมืองใหญ่น้อยซึ่งญวนตั้งรักษาอยู่นั้น  เขมรกับญวนได้สู้รบกันเนือง ๆ จนญวนหย่อนกำลังลงทุกที  จะต่อสู้เขมรไม่ได้  ญวนก็ต้องรวบรวมไพร่พลอยู่เป็นหมู่เป็นกองพวกมาก ๆ

          ครั้น ณ เดือนสิบสองขึ้นหกค่ำในปีฉลูตรีศกนั้น  จ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนมีหนังสือมาถึงองเตียนกุนแม่ทัพเมืองพนมเปญใจความว่า

(https://i.ibb.co/b14PWGk/Untit5le54d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เสนาบดีกรุงเว้มีตราบังคับส่งนักองอิ่มเขมรกับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่หลายคนให้ส่งไปให้องเตียนกุน  องเตียนกุนก็ให้พระยาพระเขมรปลูกเรือนหลังหนึ่งให้นักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรผู้ชายอยู่  ให้อยู่หมู่เดียวกันกับเจ้าหญิงเขมรผู้หลาน  ที่หมู่เรือนเจ้าเขมรชายหญิงอยู่นั้นเรียกชื่อว่า “สามตำแก้ว”  แล้วองเตียนกุนจึงให้นักพระองค์อิ่มทำหนังสือเขมรเป็นการบอกว่านักพระองค์อิ่มกลับมาเป็นเจ้านายอยู่ ณ เมืองพนมเปญแล้ว  ใช้ให้พระ,หลวง,ขุนหมื่น คุมไพร่พลเขมรแยกย้ายกันไปหลายกอง  ให้ไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมพระยา,พระเขมรหัวเมืองทุกแห่งทุกตำบล  พระหลวงขุนหมื่นเขมรผู้ถือหนังสือไปนั้น  ครั้นไปแล้วก็ไม่มีผู้ใดกลับมาหานักพระองค์อิ่มเลยแต่สักคนหนึ่ง  กลับไปเข้ากับนักพระองค์ด้วงเสียทั้งสิ้น  พระพรหมบริรักษ์และนักพระองค์ด้วงจึงได้ทราบกิจการบ้านเมืองพนมเปญฝ่ายญวนได้ทั้งสิ้นโดยละเอียด”

(https://i.ibb.co/vvYLgxq/Unt-itle475d-7.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อ ณ เดือนสิบเอ็ดปีฉลูตรีศกนั้น  เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองเขมรครั้งหนึ่ง  แต่ไหวนิดหน่อยหาสู้จะรู้สึกทั่วกันไม่  ในเดือนสิบเอ็ดนั้นเกิดความไข้ต่าง ๆ ขึ้นที่เมืองพนมเปญ  ไพร่พลญวนและเขมรในเมืองพนมเปญเป็นโรคบิดบ้าง  โรคไข้จับสั่นบ้าง  โรคลมพิษให้ฟกบวมแล้วเปื่อยพังทั่วทั้งกายกลายเป็นพิษ  รวมเป็นโรคภัยไข้เจ็บสี่อย่างนั้นชุกชุมมาก  เบียดเบียนไพร่พลญวนตายมากหลายร้อยคน  ในเมืองพนมเปญครั้งนั้นขัดสนเสบียงอาหารข้าว,ปลา,เกลือ ยิ่งนัก  ราคาข้าวสารถังหนึ่งคิดเป็นเงินไทยถังละห้าบาท  เกลือถังละสองบาท  ปลาสวายตัวละบาท  ปลาใบไม้ตัวละสลึง  กล้วย,ส้ม ผลละเฟื้อง อดอยากทั้งญวนทั้งเขมรฝ่ายใต้  ญวนจะออกจากเมืองพนมเปญไปเที่ยวหาหน่อไม้ไผ่ป่าและหัวกลอย เผือก มัน ในป่ากินแทนข้าวบ้าง  เขมรฝ่ายเหนือก็คอยจับเป็นบ้างฆ่าตายเสียบ้างเนือง ๆ จนญวนเข็ดขยาด  ไม่อาจจะออกนอกเมืองได้  พวกเขมรในเมืองพนมเปญที่เป็นพวกเข้ากับญวนนั้นก็อดอาหารอยู่ไม่ได้  ต้องหนีญวนออกมาหาพวกเขมรฝ่ายเหนือพวกนักพระองค์ด้วงเนือง ๆ ทุกวัน  ฝ่ายญวนก็ตั้งกองจับ  ถ้าจับได้ก็ฆ่าเสียบ้าง  เฆี่ยนเสียบ้าง  เขมรก็ไม่เข็ดหลาบ  หนีออกมาเสมอ  เพราะความอดอยากอาหารจะอยู่ในเมืองไม่ได้  ครั้งนั้นเขมรพวกนักพระองค์ด้วงก็ขัดสนเสบียงอาหารเหมือนกัน  เพราะไม่ได้ทำนามาหลายปี  ด้วยบ้านเมืองมีแต่การทัพศึกกันเสมอ  ราษฎรทำนาปรังบ้างก็ไม่พอกิน  แต่ว่าพวกนักพระองค์ด้วงอยู่ที่กว้าง  เป็นทำเลป่าดงมีมาก  ก็เที่ยวหาหน่อไม้และหัวกลอย เผือก มัน รากไม้กินได้เสมอ  พอมีกำลังเป็นยาวะชีวังกันตายไปได้ทั้งไทยและเขมรคราวนั้น.......”

(https://i.ibb.co/t3YCNYR/Untitlfweed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ญวนส่งนักองค์อิ่มจากกรุงเว้กลับมาให้องเตียนกุนตั้งเป็นเจ้าเขมรช้าไปหรืออย่างไร  จึงปรากฏว่า พระ,หลวง,ขุนหมื่นเขมรที่องเตียนกุนให้ถือหนังสือที่ให้นักองค์อิ่มเขียนชักชวนพระยา พระเขมรหัวเมืองต่าง ๆ มาเข้ากับตนนั้น  พระหลวงขุนหมื่นเหล่านั้นถือหนังสือออกจากเมืองพนมเปญไปแล้วหาย(เข้ากลีบเมฆฟ้าองค์ด้วง) ไปหมดสิ้น  ไม่มีใครกลับมาหานักองค์อิ่มเลยสักคนเดียว  แสดงว่าเขมรฝ่ายใต้นั้นส่วนใหญ่ไม่ชอบญวน  ไม่สมัครใจจะอยู่กับญวนแล้ว  พวกเขาเชื่อถือไว้วางใจไทยมากกว่าญวน  ยามนี้ญวนพนมเปญกำลังเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บและขาดเสบียงอาหาร  ที่สำคัญคือขาดศรัทธาเชื่อถือจากชาวเขมร  ค่อยมาอ่านเรื่องนี้กันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, มิถุนายน, 2564, 10:21:55 PM
(https://i.ibb.co/1mjTh0f/3.jpg) (https://imgbb.com/)
องเตียนกุนดื่มยาฆ่าตัวตาย : ละคร "ข้าบดินทร์"

- อานามสยามยุทธ ๑๔๒ -

ญวนยอมถอยปล่อยละแดนเขมร
พนมเปญดินว่างร้างอีกหน
องเตียนกุนแม่ทัพอายอับจน
จึงกินยาฆ่าตนพ้นเวรกรรม

แม่ทัพไทยได้ท่าพาองค์ด้วง
เดินเลยล่วงแดนดินถิ่นสูงต่ำ
พนมเปญเป็นอู่อยู่ประจำ
ตั้งหลักทำศึกญวนไม่รวนเร


          อภิปราย ขยายความ ................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   กองทัพขนาดย่อม ๆ ของเขมรฝ่ายเหนือจับญวนเป็นเชลยส่งให้นักพระองค์ด้วงได้ไม่เว้นแต่ละวัน  พระองค์ด้วงก็ให้คนนำส่งกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปไว้ที่เมืองกาญจนบุรีบ้าง  เมืองพิษณุโลกบ้าง  เมืองนครสวรรค์บ้าง  หัวเมืองต่าง ๆ ในฝ่ายเหนือบ้าง  ส่วนญวนที่เข้ารีตฝรั่งเศสก็ให้อยู่รวมกันที่ญวนเก่าวัดส้มเกลี้ยง (ราชผาติการาม)  ต่อมาญวนได้ส่งนักองค์อิ่มมาให้องเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ  องเตียนกุนให้ปลูกตำหนักอยู่รวมกันกับองค์มี  องค์เภา  องค์สงวน  เรียกหมู่เรือนนี้ว่า  “สามตำแก้ว”  แล้วให้นักองค์อิ่มเขียนหนังสือประกาศให้พระยาพระเขมรทุกบ้านทุกเมืองรู้ว่า  ตนได้กลับมาเป็นเจ้านายเขมรอยู่ที่พนมเปญแล้ว  และมอบหนังสือประกาศนั้นให้พระ หลวง ขุนหมื่นเขมรถือไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมรหัวเมือง  ปรากฏว่าไม่มีพระยาพระเขมรคนใดสนใจมาเข้าด้วยนักองค์อิ่ม  ซ้ำพวกพระ หลวง ขุนหมื่นที่ถือหนังสือประกาศไปนั้น  ก็ไม่มีใครกลับมาหานักองค์อิ่มเลยสักคนเดียว  เพราะพวกเขาไปเข้ากับนักพระองค์ด้วงหมดทั้งสิ้น  ได้เกิดแผ่นดินไหวในเมืองพนมเปญเล็กน้อยแล้วเกิดความไข้ต่าง ๆ ขึ้นในเมือง  ไพร่พลญวนป่วยตายหลายร้อยคน  แล้วตามด้วยเกิดข้าวยากหมากแพง  ชาวเมืองอดอยากพากันหนีออกจากเมืองพนมเปญมาก  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

(https://i.ibb.co/72DWvP3/Untitled-6002.gif) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายองเตียนกุนจึงมีใบบอกข้อราชการที่อดอยาก  และรี้พลเป็นไข้ล้มตายมากเนือง ๆ ขึ้นไปยังกรุงเว้  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีองค์ใหม่จึงมีรับสั่งให้เสนาบดีมีท้องตราบังคับสั่งองเตียนกุนให้ทิ้งเมืองเขมรเสีย  แล้วให้กวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเขมร  และให้พาพระองค์อิ่มและเจ้าผู้หญิงเขมรอพยพไปตั้งอยู่เมืองโจดก  ครั้นองเตียนกุนได้รับท้องตรามาถึง ณ เดือนสิบสองแรมค่ำหนึ่ง  องเตียนกุนจึงสั่งให้นายทัพนายกองญวนรื้อค่ายที่จะโรยจังวา คือแหลมปลาสร้อย และรื้อค่ายที่กะพงธม คือค่ายท่าน้ำอันใหญ่  และรื้อค่ายเมืองพนมเปญด้วยทุกค่าย  ให้กวาดต้อนครอบครัวแขกจามพันสี่ร้อย  แขกชวาสี่ร้อย  เขมรเข้ารีตฝรั่งเศสหกร้อย  เขมรพื้นบ้านพื้นเมืองสี่พันเศษ  แล้วให้ทำแพบรรทุกช้างไปแพละสี่เชือกบ้าง  หกเชือกบ้าง  รวมเป็นช้าง ๖๘ เชือก  ม้า ๒๐๐ เศษ  โคกระบือพันเศษ  ก็บรรทุกแพไป  กับปืนใหญ่สำหรับเมืองก็บรรทุกแพไปเหมือนกัน  แล้วให้องลำบิน  และองทำตานเป็นแม่ทัพเรือทั้งสองกอง  ให้เรือรบทั้งสองกองป้องกันครอบครัวและแพช้างม้าโคกระบือลงไปส่งจนถึงเมืองโจดกแต่ ณ เดือนสิบสองแรมเก้าค่ำ

(https://i.ibb.co/SBXQSNG/1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนสิบสองแรมสิบเอ็ดค่ำ  องเตียนกุนก็พานักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรผู้ชายกับเจ้าหญิงสามองลงไปยังเมืองโจดก  ครั้นองเตียนกุนถึงเมืองโจดกแล้วก็มีความเสียใจยิ่งนัก  ด้วยว่าได้รับอาสาต่อพระเจ้าเวียดนามมินมางองค์ก่อนว่า  จะคิดรบตีเมืองเขมรให้เป็นสิทธิ์แก่ญวน ให้ได้ตลอดทั้งแผ่นดินเขมรมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกรุงเว้  ครั้นการไม่สมคิดสมหมายดังที่กราบทูลพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ก่อนไว้นั้น  ครั้นพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่ก็ทรงติเตียนองเตียนกุน  องเตียนกุนต้องตำหนิ และต้องถูกคาดโทษภาคทัณฑ์  องเตียนกุนเป็นขุนนางผู้ใหญ่แล้วก็มีอายุมากถึงห้าสิบแปดปี  เมื่อถูกตำหนิติเตียนดังนั้นแล้ว  ก็ได้ความอายแก่เพื่อนข้าราชการขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยด้วยกันมาก  เมื่อองเตียนกุนถึงเมืองโจดกได้สองวันก็กินยาตายเสียในเมืองโจดก  องย่าลันบินผู้บุตรได้จัดการฝังศพบิดาที่เมืองเว้  ตามธรรมเนียมขุนนางผู้ใหญ่ที่เมืองหลวง

(https://i.ibb.co/tbjCSzK/002333.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นมีท้องตรามาแต่กรุงเว้  ให้องทำตานที่สององเตียนกุน  เป็นแม่ทัพใหญ่แทนองเตียนกุน  ให้องตาโดเป็นที่สององทำตาน  องทำตานจึงให้องเดดกโปกับนักพระองค์อิ่มเขมรเป็นนายทัพคุมไพร่ญวนห้าพัน  ไพร่เขมรห้าพัน  รวมคนหมื่นหนึ่ง  ยกลงไปตีเมืองป่าสักปากน้ำพระตะพัง  ฝ่ายพระยาพระตะพังกับพระยาทิศวงศาธิราชเจ้าเมืองป่าสักเห็นญวนมาล้อมเมืองมาก  คิดจะต่อสู้ญวนก็ไม่ได้  เพราะไพร่พลน้อยและปืนใหญ่ก็ไม่มีด้วย  จึงเห็นว่าจะสู้รบญวนไม่ได้แล้ว  จึงให้พระสุนทรวิบูลย์ไปบอกกับนักพระองค์อิ่มว่า

           “พระยาเขมรเจ้าเมืองป่าสักไม่สู้รบ  จะขอเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้านักพระองค์อิ่มสืบต่อไป”

          นักพระองค์อิ่มกับองเดดกโปก็จัดให้องหาตีนายทัพญวนคุมไพร่พลญวนพันหนึ่งเข้ารักษาเมืองป่าสัก  แล้วนักพระองค์อิ่มและองเดดกโปก็คุมไพร่พลญวนและเขมรกลับมาอยู่ ณ เมืองโจดกพร้อมด้วยเจ้าหญิงหลานทั้งสามองค์  อยู่วังเดียวกันในเมืองโจดก  ครั้งนั้นแผ่นดินเขมรฝ่ายใต้เป็นของนักพระองค์อิ่มสิบเมืองคือ  เมืองกรังเกรียกกราด ๑  เมืองตึกเขมา ๑  เมืองมวนสอ ๑  เมืองอุบล ๑  เมืองมัดจะรุก ๑  เมืองป่าสัก ๑  เมือพระตะพัง ๑  เมืองอุทัย ๑  เมืองไพรธม ๑  เมืองกำพงตึก ๑   เป็นเมืองเขมรทั้ง ๑๐ หัวเมือง  ทั้ง ๑๐ หัวเมืองมีพระยา พระเขมรและไพร่พลเมืองเขมรมากทุกเมือง  แต่เมืองเขมรฝ่ายเหนือของนักพระองค์ด้วงมากกว่า ๕๕ เมืองใหญ่ ๆ มีไพร่พลก็มาก

(https://i.ibb.co/N7kzk8N/1409984453-18-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพระเจ้าเวียดนามองค์ใหม่  มีรับสั่งโปรดให้ถอดฟ้าทลหะเขมร ๑  สมเด็จเจ้าพระยา ๑  เจ้าพระยาราชไมตรี ๑  พระยาจักรี ๑  พระยากลาโหม ๑  พระยาสุภาธิราช ๑  พระยามหาธิราช ๑  พระยามหาเทพ ๑   รวมแปดคน  ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่เก่าที่พระเจ้าเวียดนามมินมางพระราชบิดาให้จำคุกไว้ในกรุงเว้แต่ก่อนนั้น  โปรดให้พ้นโทษ  แล้วพระราชทานเครื่องราโชปโภคสำหรับยศพระยาเขมรผู้ใหญ่ทั้งแปดคนเป็นอันมาก  แล้วให้ลงมาอยู่ ณ เมืองโจดกช่วยราชการนักพระองค์อิ่ม  คิดจัดการบ้านเมืองเขมรให้นักพระองค์อิ่มได้เป็นเจ้าแผนดินเขมรให้ได้  ฝ่ายพระยาพระเขมรคนเก่าที่ออกจากเวรจำแล้วทั้งแปดคนนั้น  ก็กราบทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีองค์ใหม่ว่า

           “จะคิดอ่านคืนแผ่นดินเขมรทูลเกล้าทูลกระหม่อม  ถวายพระเจ้าเวียดนามให้ได้โดยอุบายสติปัญญาทั้งแปดคน”

(https://i.ibb.co/Jkq38Df/1441196246-Screen-Shot-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบว่า  องเตียนกุนแม่ทัพญวนพานักพระองค์อิ่มและครอบครัวเขมรกับพวกญวนยกเลิกไปจากเมืองพนมเปญหมดแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงยกทัพใหญ่พร้อมด้วยพระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองเดินทัพลงไปถึงเมืองอุดงคฦๅไชย ณ เดือนอ้ายแรมสี่ค่ำ  เจ้าพระยาบดินเดชาเห็นว่า  ที่ทำเนียบนักพระองค์ด้วงตั้งอยู่ที่เมืองอุดงคฦๅไชยจะตั้งเป็นบ้านเมืองไม่ชอบกล  เพราะเป็นที่ดอนนัก  จึงมีบัญชาสั่งให้พระยาณรงคเสนีเขมรคุมไพร่เขมรพันคนไปถางที่ตำบลพระยาฦๅ ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ข้างตะวันออก  ทางจะไปเมืองบันทายเพชรห้าสิบเส้น  ห่างจากเมืองพนมเปญประมาณห้าร้อยเส้น  ที่ตำบลพระยาฦๅไชยเป็นที่ชัยภูมิดี  ควรจะเป็นเมืองใหม่ได้  ครั้นภายหลังเจ้าพระยาบดินทรเดชาลงเรือรบไปตรวจตามลำน้ำพนมเปญตลอดแล้ว  จึงเห็นว่าที่ตำบลฦๅไชยจะสู้ที่เมืองพนมเปญไม่ได้  ที่เมืองพนมเปญเป็นแผ่นดินอุดมด้วยต้นไม้ผลไม้ดังสวน  แล้วก็เป็นชัยภูมิดียิ่งนัก  เพราะทางรวมมีทางน้ำใหญ่เป็นแม่น้ำหลายแควมาบรรจบที่เมืองพนมเปญ  ถ้าตั้งเมืองให้นักพระองค์ด้วงที่นั้น  เห็นว่าพอจะฟังราชการทัพศึกได้รอบตัวทั้งข้างตะวันออกตะวันตกและข้างเหนือข้างใต้ได้โดยเร็ว  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดดังนั้นแล้ว  จึงพานักพระองค์ด้วงยกลงไปเมืองพนมเปญ  ตั้งอยู่ในเมืองพนมเปญโดยผาสุกสวัสดิภาพ  เพราะว่าญวนทิ้งเมืองพนมเปญไปนั้น  ญวนไม่ได้รื้อบ้านเผาเมือง  เมืองจึงยังปรกติดีอยู่........”

(https://i.ibb.co/DMM4Lj6/2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ไม่น่าเชื่อว่าขุนศึกผู้ฮึกหาญอย่างองเตียนกุนจะใจน้อย  ถูกตำหนิติเตียนจากเบื้องบนแล้วน้อยใจจนถึงกับกินยาฆ่าตัวตาย  ตอนนี้ญวนปลดปล่อยนักองค์อิ่มจากเครื่องจองจำทีกรุงเว้ให้กลับมาเป็นเจ้านายเขมรฝ่ายใต้แล้วยังไม่พอ  ได้ถอดเครื่องจองจำพระยาเขมรผู้ใหญ่ที่พระเจ้ามินมางจำไว้ในคุกกรุงเว้นั้น  ให้ออกมาช่วยนักพระองค์อิ่มอีกด้วย  ญวนใช้เมืองโจดกเป็นที่พักพิงของนักองค์อิ่ม  เป็นเขมรพลัดถิ่นกอบกู้แผ่นดินญวน  เจ้าพระยาบดินเดชาจึงนำพานักพระองค์ด้วงยกลงมายึดเมืองพนมเปญเป็นหลักกอบกู้แผ่นดินเขมร  ฝ่ายนักพระองค์ด้วงจึงได้เปรียบนักองค์อิ่มทุกประตู  ไว้ค่อยมาอ่านเรื่องกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, มิถุนายน, 2564, 10:29:45 PM
(https://i.ibb.co/cThDzrr/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๓ -

พระราชดำริดำรัสจัดการทัพ
ทรงกำชับเจ้าพระยาฯอย่าหันเห
เห็นแล้วฝ่ายญวนเริ่มซวนเซ
จงทุ่มเทแรงคิดพิชิตพลัน

จะเกณฑ์พลคนใต้ก็ได้นะ
ทุกทัพกะเกณฑ์แต่งอย่างแข็งขัน
พนมเปญเป็นศูนย์กลางทางสำคัญ
ไปตั้งมั่นรบญวนจนมีชัย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีได้รับใบบอกที่องเตียนกุนกราบทูลเรื่องราวในเมืองเขมร  เฉพาะที่พนมเปญว่าเกิดโรคภัยร้ายแรง  ขัดเสบียงอาหาร  ไพร่พลอดอยากล้มตาย  ดังนั้น จึงมีท้องตราบังคับให้องเตียนกุนทิ้งเมืองเขมรเสีย  ให้พานักองค์อิ่มกับเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์  และกวาดต้อนครอบครัวเขมรไปไว้ ณ เมืองโจดก  องเตียนกุนดำเนินการตามท้องตราบังคับนั้น  ครั้นไปถึงเมืองโจดกได้สองวันก็ตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย  เพราะน้อยใจ  อับอายขุนนางใหญ่น้อย  หลังจากถูกพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีตำหนิติเตียน  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นเมื่อทราบว่าองเตียนกุนยกออกจากพนมเปญไปพ้นเขตแดนเขมรแล้ว  จึงยกจากค่ายเมืองโปริสาดไปบันทายเพชร  เห็นว่าอุดงคฦๅไชยไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองใหม่ของนักพระองค์ด้วง  จึงให้ไพร่พลช่วยกันถางที่บริเวณบ้านฦๅไชยเพื่อสร้างเมืองใหม่  ครั้นได้ลงเรือสำรวจไปทั่วบริเวณแล้ว  เห็นว่าเมืองพนมเปญมีชัยภูมิดีที่สุด  จึงตกลงใจให้นักพระองค์ด้วงไปประทับ ณ เมืองพนมเปญ  วันนี้มาอ่านเรื่องราวต่อไปครับ....

           “ครั้นยกไปอยู่เมืองพนมเปญแต่ ณ เดือนยี่ขึ้นหกค่ำแล้ว  ก็มีใบบอกข้อราชการที่เมืองเขมรว่า

            “ญวนทิ้งเมืองพนมเปญไปแล้ว  และได้ให้นักพระองค์ด้วงลงไปตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ  กับให้พระยาราชสงครามและพระยาเสนาภูเบศพระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา  ลงไปช่วยจัดการบ้านเมืองพนมเปญให้นักพระองค์ด้วงรักษาบ้านเมืองด้วย”

           ใบบอกนี้ให้หลวงเสนาภักดีกับหลวงนาเมืองปราจีนบุรีถือเข้ามายังกรุงเทพฯ  เจ้าพนักงานนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบออกไปว่า

(https://i.ibb.co/ftfZ4C6/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            “บัดนี้องเตียนกุนแม่ทัพก็เลิกทัพไปจากเมืองพนมเปญหมดแล้ว  เมืองพนมเปญนั้นก็เป็นสิทธิ์อยู่กับนักพระองค์ด้วงแล้ว  ถ้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะคิดอ่านกับนักพระองค์ด้วงใช้ให้นายทัพนายกองไปปักทำนบปิดคลองขุดใหม่ของญวนเสียให้เป็นตอน ๆ  แล้วคิดถมคลองขุดใหม่เสียก่อนให้ตื้น  อย่าให้เรือรบญวนไปมาทางในคลองได้  กับเมื่อทำการถมคลองขุดใหม่นั้นคิดจัดการป้องกันให้ดี  อย่าให้ญวนกลับมารื้อทำนบเลิกถอนขุดขนมูลดินให้เป็นคลองต่อไปได้  ญวนก็จะสิ้นกำลังไปมาทางเรือไม่ได้  กับพวกญวนซึ่งตั้งรักษาเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกเมืองใหม่ทาเสา  ก็จะขาดกระเด็นอกเป็นสองท่อน  หาต่อติดกับเมืองล่องโห้และเมืองสะมิถ่อและเนื่องมาแต่เมืองไซ่ง่อนได้ไม่  ฝ่ายเราก็จะได้ให้กองทัพเขมรไปทำการก่อการบกับญวนที่เมืองโจดกได้ถนัด  ถ้าทัพเรือไทยตีเมืองบันทายมาศคราวนี้  เห็นว่าเมืองบันทายมาศจะตั้งอยู่สู้รบมิได้  ถ้าและว่าทัพเรือไทยทำแก่เมืองบันทายมาศยับเยินอีกครั้งนี้  ญวนที่ในเมืองโจดกก็จะหวั่นหวาดนัก  ทัพบกทัพเรือไทยจะได้ระดมกันตีเมืองโจดกอีกครั้งหนึ่งลองดู  เห็นว่าถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว  พวกเขมรเห็นเป็นที่ได้เปรียบก็จะมีน้ำใจกล้าหาญแข็งแรงขึ้นพร้อมกัน  ก็จะมาช่วยไทยรบตีญวนคืนบ้านเมืองให้เจ้านายมัน  หรือไม่เช่นนั้น  เขมรก็จะคิดทำศึกกับญวนโดยการแก้แค้นทดแทนเจ้านายมันด้วย  ถ้าการรวมพร้อมกันดังนี้แล้ว  ที่ไหนญวนจะตั้งอยู่สู้ไทยได้เล่า  ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตรึกตรองคิดทำศึกให้ได้ตามที่ทรงพระราชดำริมานี้

           อนึ่งซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาขอให้ทรงพระกรุณาแต่เรือรบเรือรบเรือกำปั่น ออกไปลาดตระเวนทางทะเลให้ถึงที่เกาะด่านใกล้เมืองบันทายมาศและเมืองปากน้ำญวน  เพื่อจะให้เป็นการถ่วงหลังทัพญวน  ให้ญวนพะว้าพะวังเป็นห่วงหน้าหลังกังวลหลายทาง  ไทยจะได้ทำแก่ญวนถนัดนั้น  ข้อนี้ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุรักษ์โยธาเจ้ากรมหกเหล่าเป็นแม่กองคุมเรือกำปั่นแกล้วกลางสมุทรลำหนึ่ง  บรรทุกข้าวสารกล้องห้าสิบเอ็ดเกวียน  เกลือแปดเกวียนกับหกสิบถัง  แลละกับข้าวปลาเค็มของดองของแห้งมีมาพร้อมให้มาส่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา  จะให้พระอนุรักษ์โยธาส่งที่เมืองไหน ที่ตำบลใด  เท่าใด  ก็ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือไปนัดหมายพระอนุรักษ์โยธาเถิด  กับได้เกณฑ์เจ้ากรมปลัดกรมอาสาจาม  ให้คุมไพร่พลแขกจาม  ลงเรือรบศีรษะป้อมหกลำ  เรือกำปั่นไล่สลัดสี่ลำรวมสิบลำ  รวมนายไพร่แขกจามห้าร้อยห้าสิบสองคน  มีสรรพเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินดำพร้อม  ให้พระอนุรักษ์โยธาแม่กองคุมออกมาบรรจบกับเรือรบ  กองลาดตระเวนเก่าที่เมืองจันทบุรีและเมืองตราดซึงหลวงเดชะกองอาสาจามในพระราชวังบวรฯ  ออกมาลาดตระเวนอยู่ ๗ ลำแล้ว  รวมเป็นเรือรบเล็กลาดตระเวนอยู่ที่เกาะกงหน้าเมืองตราด ๑๗ ลำด้วย  แล้วได้มีตราบัวแก้วบังคับกรมการเมืองจันทบุรีและเมืองตราดให้จัดเรือรบอย่างญวนที่มีอยู่ ณ เมืองจันทบุรีและเมืองตราด ๑๒ ลำนั้น  ให้ออกมาสมทบกับเรือลาดตระเวนใหญ่ ๑๗ ลำ  รวมเป็น ๒๙ ลำ  แต่ขอให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาส่งพระยาณรงค์ฤทธิโกษาแขกจามในพระราชวังบวรฯ ๑  กับพระนเรนทร์ฤทธิสำแดงแขกจามในพระราชวังบวรฯ ๑  คนทั้งสองนี้อยู่ในกองทัพเมืองเขมรแล้ว  ให้ส่งออกมาเป็นแม่กองเรือรบเล็ก ๆ ลาดตระเวนให้ถึงเมืองญวนตามชายทะเล  ด้วยพระยาราชวังสันแม่กองอาสาจามนั้นจะให้ออกใปลาดตระเวนไม่ได้  เพราะจะให้จัดเรือรบเป็นทัพเรือออกไปครั้งหลัง  ได้ให้พระอนุรักษ์โยธายกออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ เดือนสิบเอ็ดแรมสิบเอ็ดค่ำ  ในปีฉลูตรีศกนั้นแล้ว  แต่พระอนุรักษ์โยธาได้ออกไปก่อนหนังสือบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามานี้แล้วหลายวัน

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นวาควรจะจัดทัพเรือออกไปอีกทัพหนึ่งก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพรพลหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ยังไม่ได้รับราชการศึกญวนนั้น  ให้เป็นทัพหญ่ออกช่วยกันระดมตีญวนให้สำเร็จเสียสักคราวหนึ่ง  ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งใจพากเพียรตีญวนให้สำเร็จเสร็จเสียในปีนี้เถิด  บัดนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยูหัวทรงระมหากรุณาพระราชทายพระบรมราชวโรกาส  พระบรมราชานุญาตให้เจ้าพระยาบดินทรเดชามีช่องโอกาสใหญ่หาที่สุดมิได้ว่า  ถ้าท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะเกิดความคิดใหม่  หรือจะเห็นการทัพศึกที่จะมีชัยชนะแก่ญวนอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว  ก็อย่าให้ระแวงระวังกลัวจะมีความผิดเหลือเกินเลย  หรือจะเป็นที่พระราชตำหนิและเป็นการติเตียนของข้าราชการบางจำพวกนั้น  ขออย่าให้คิดอย่างนี้เลย  เพราะการบำรุงบ้านเมืองและข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักรแผ่นดินสยามนี้  เป็นพระราชธุระของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยูหัว  จึงทรงมอบพระราชประสงค์ให้สิทธิ์ขาดแต่ในเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดเห็นการงานอย่างไรดีแล้วก็ให้รีบมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาโดยเร็ว  จะไม่ทรงรังเกียจเลย  แล้วพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการทุกพนักงานจัดการให้ถูกต้องตามใจเจ้าพระยาบดินทรเดชาทุกประการ”

(https://i.ibb.co/LPCwpsk/Untditled-35.jpg) (https://imgbb.com/)

           จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่อเกษ) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้น  ถือท้องตราออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา แล้วพระราชทานผ้าแพรจีนสีต่าง ๆ สามสิบม้วน  ผ้าสักหลาดสีต่าง ๆ ๒๐ พับ  กับผลไม้แห้งมาแต่เมืองจีน  และขนมแห้งต่าง ๆ ออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย......”

(https://i.ibb.co/SdP3Md9/Untitlefd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** สงคราม  “อานามสยามยุทธ”  ยกสุดท้ายกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว  คราวนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ทรงมีพระราชดำริและดำรัสแผนการรบ  เสมือนทรงออกสู่สนามรบด้วยพระองค์เอง  ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ทำการรบแทนพระองค์  และทรงพระราชดำรัสให้เผด็จศึกญวนให้เสร็จสิ้นเสียโดยเร็ว  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับท้องตราพระราชโองการมีความดังแสดงข้างต้นแล้ว  ท่านแม่ทัพใหญ่จะทำประการใดต่อไป   ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, กรกฎาคม, 2564, 10:37:02 PM
(https://i.ibb.co/qkmXgfk/Untitlhjfed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๔ -

ทรงขัดเคืองทัพลาวตะวันออก
อาสาบอกจะตีลาวเอามาให้
ทุกบ้านเมืองลาวต้องเป็นของไทย
แต่แล้วได้ลาวมาพันกว่าคน

จึ่งภาคทัณฑ์ทำโทษให้งดกลับ
อยู่โยงจับลาวให้ได้หลายหน
ป้องกันญวนรุกล้ำทุกตำบล
ให้อยู่จนประจวบครบขวบปี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดการทัพเพื่อรบญวนอีกครั้งตามความในพระราชดำริที่มีท้องตรามานั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับทราบท้องตราแล้วจะดำเนินการอย่างไร  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......

           เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราดังนี้แล้ว  จึงมีใบบอกตอบมอบให้จมื่นประธานมณเฑียร ที่ไปกับเจ้าหมื่นเสมอใจราชนั้นถือกลับเข้ามากรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/v11kKnR/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ซึ่งโปรดเกล้าฯพระราชทานบรมราชานุญาตออกไปนั้น  เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้  ซึ่งโปรดเกล้าฯ จะให้ถมคลองขุดใหม่ของญวนนั้น  คงจะต้องทำตามพระราชกระแสรับสั่งทุกประการ  แต่บัดนี้ญวนยังตั้งค่ายรายอยู่ตามริมฝั่งคลองขุดถึง ๑๙ ค่าย  มีไพร่พลญวนรักษาค่ายอยู่ถึงค่ายละสองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง  สี่ร้อยบ้าง  ห้าร้อยบ้าง  รวมไพร่พลญวนประมาณสองสามหมื่นเศษ  แต่กองลาดตระเวนญวนมาเที่ยวลาดตระเวนระวังด่านทางกองหนึ่งถึงร้อยคนบ้าง  หกสิบคนบ้าง  อนึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาก็ป่วย  กลับไปรักษาตัวยังบ้านเมืองยังไม่หาย  จึงได้แต่งให้พระยาเพชรบูรณ์นาหมื่นเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการต่อไป  สติปัญญาฝีมือพระยาเพชรบูรณ์ก็มีบ้าง  พอจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณไปได้  แต่เป็นคนแก่ชรา  หาสู้จะมีอำนาจข่มขี่นายทัพนายกองไม่  กับวาสนาก็เป็นแค่พระยานาหมื่นหัวเมือง  จึงต้องเจียมตัวว่าไม่ใช่เสนาบดี  กับมีชนมายุศม์มากอย่างหนึ่ง  เพราะฉะนั้นพระยา,พระ,หลวง,นายทัพนายกองกรุงเทพฯ จึงไม่สู้จะยำเยงเกรงกลัวเหมือนเจ้าพระยานครราชสีมา  เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นคนไม่รู้จักเกรงกลัวผู้ใดเลย  ที่สุดจนชั้นเจ้านายเสนาบดีในกรุงเทพฯ ก็ไม่เกรงใจ  ไม่อ่อนน้อมยอมฝากตัวกลัวใครเลย  ถือแต่ว่าทำราชการโดยตรง ๆ และแกล้วกล้าฝ่าข้าศึกป้องกันพระราชอาณาเขตให้เรียบร้อยดีอยู่  แล้วก็กินอิ่มนอนหลับหาความวิตกแก่พระราชอาชญาไม่  คนชนิดนี้หายากที่สุด  เสียดายนักที่ป่วยอยู่  มารับราชการฉลองพระเดชพระคุณไม่ได้  ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า  เจ้าพระยานครราชสีมาป่วยนั้น  เหมือนจักษุขวาและแขนขวาของข้าพระพุทธเจ้าพิการไปฉันนั้น  บัดนี้ไม่มีแม่ทัพผู้ใหญ่เต็มอำนาจที่จะคุมทัพลงไปทำราชการทัพศึกแก่ญวน  จึงได้ขอพระราชทานท่านเสนาบดีผู้หนึ่งผู้ใดออกมาเป็นแม่ทัพบกคุมทัพยกลงไป  แต่พอเป็นคนมีวาสนามากสักคนหนึ่ง

          อนึ่งซึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้มีทัพเรือเป็นเป็นกองทัพใหญ่ลงไปตีทางทะเล  เข้าทางเมืองบันทายมาศนั้น  ถ้าตีเมืองบันทายมาศได้แล้ว  ทัพเรือจะได้ยกเข้าบรรจบกับทัพบก  ช่วยกันตีค่ายญวน ๑๙ ค่ายตามริมคลองขุดใหม่ให้แตกไปโดยเร็ว  แล้วจะได้ช่วยกันระวังป้องกันทัพญวนไม่ให้ยกมาอีก  กองทัพไทยจะได้ถมคลองขุดได้โดยสะดวก  แต่เจ้าหมื่นเสมอใจราชบุตรข้าพระพุทธเจ้า  ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานไว้ใช้สอยเป็นนายทัพนายกองช่วยพระพรหมบริรักษ์ด้วย  ถ้าการศึกสงครามเบาบางลงเมื่อใด  จึงจะให้พระพรหมบริรักษ์หารือเจ้าหมื่นเสมอใจราชกลับเข้าไปรับราชการ ณ กรุงเทพฯ สักคนหนึ่ง  จะขอไว้เป็นเพื่อนบิดาคนหนึ่ง

          อนึ่งที่เมืองเขมรเดี๋ยวนี้ข้าวเกลือเสบียงอาหารกันดารขัดสนยิ่งนัก  ถ้ากองทัพเรือกองใหญ่จะออกไปอีกนั้น  ขอพระราชทานให้บรรทุกข้าวเกลือเสบียงอาหารออกไปส่งที่เมืองกำปอดด้วย  จะได้ให้พระยา,พระเขมรรับเสบียงอาหารขึ้นไปจำหน่ายจ่ายแจกให้ไพร่พลไทย,ลาว,เขมรที่อดอยาก  จะได้รับพระราชทานเป็นกำลังราชการทำศึกแก่ญวนต่อไป  จะให้พระยา,พระเขมรตั้งรับอยู่ที่ท่าตะเคียนแขวงเมืองกำปอด  ขอให้ทัพเรือนำเรือเล็ก ๆ ลำเลียงเสบียงอาหารไปส่งให้พระยาอุทัยธิราชเขมร แม่กองโคต่างมาคอยรับอยู่นั้นแล้ว”

          พระบาทสมเด็จพรพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ให้จมื่นสมุหพิมานถือออกไปใจความว่า

(https://i.ibb.co/XDqTTgY/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ซึ่งจะให้ทรงจัดท่านเสนาบดีผู้ใดออกไปเป็นแม่ทัพบกนั้น  ทรงพระราชดำริเห็นไม่มีตัวที่จะเป็นแม่ทัพไปต่อรบกับญวนได้  นอกจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยานครราชสีมาแล้ว  ก็ไม่มีใครจะเป็นแม่ทัพบกได้  ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฝึกหัดพระพรหมบริรักษ์  และเจ้าหมื่นเสมอใจราช  ผู้บุตรทั้งสองให้เป็นแม่ทัพไปรบกับญวนให้ได้แล้ว  ก็จะได้เป็นวิชาชำนิชำนาญการทัพศึกติดตัวต่อไปภายหน้า  เมื่อจะถึงที่มียศศักดิ์ใหญ่จะได้รอบรู้วิชาแทนบิดาต่อไป  กับให้ว่ากล่าวพระยาเพชรบูรณ์ว่าอย่าท้อแท้เป็นใจหญิงหาควรไม่  ให้ตั้งใจทำราชการทัพศึกให้องอาจแข็งแรงขึ้นกว่าเก่า  จึงจะสมควรที่เป็นเชื้อสายสืบตระกูลมาจากเจ้าพระยาพระคลังประตูจีนกรุงเก่า  จะได้มีชื่อเสียงปรากฏในจดหมายเหตุตามวงศ์ตระกูลของพระยาเพชรบูรณ์  ซึ่งเป็นวงศ์สืบมาแต่เสนาบดีกรุงเก่าโน้น  ข้อที่ว่าแก่ชรานั้นก็ได้ประมาณอายุดูเห็นว่าไม่สู้แก่กว่าเจ้าพระยานครราชสีมาสักกี่ปีนัก  เต็มมากก็เพียงหกปีเจ็ดปี  หรืออย่างเอกก็ราวสักสิบปีเป็นที่สุด  พอจะทำการแทนเจ้าพระยานครราชสีมาได้  ให้ตั้งใจทำการให้ดีจะพระราชทานยศให้เป็นเจ้าพระยาเพชรบูรณ์คู่กันกับเมืองโคราชเพราะเป็นพระยานาหมื่นอยู่แล้ว  จึงพระราชทานพานทองคำกลมอย่างเจ้ารองล่วมหมวกออกไปให้พระยาเพชรบูรณ์ ๑ พาน  เพื่อเป็นการกะหมายหรือปักกรุยไว้ให้รู้ตัวว่าแล้วจะพระราชทานเลื่อนยศให้เป็นเจ้าพระยาเหมือนกัน”

(https://i.ibb.co/F3rkf8b/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายที่กรุงเทพฯนั้น เมื่อ ณ เดือนอ้าย ปีฉลู ตรีศกนั้น ได้รับหนังสือบอกของเจ้าอุปราชราชบุตรเมืองนครหลวงพระบาง  และข้าหลวง ๘ นายกรุงเทพฯ คือ  พระมหาสงคราม ๑  พระหฤทัย ๑  พระอภัยสุรินทร์ ๑  หลวงนายเสน่ห์รักษา ๑  นายฉลองนัยนารถ ๑  นายราชาภักดิ์ ๑  หลวงงำเมือง ๑  หลวงราชเสนา ๑  บอกลงมาว่า

           “ได้เกณฑ์กองทัพไพร่พลเมืองนครพนม  เมืองกาฬสินธุ์  เมืองสกลนคร  เมืองหนองหาน  เมืองชัยภูมิ  รวมห้าเมือง  ได้ไพร่พล ๓,๓๐๐ คน  ให้พระหฤทัยกับนายฉลองนัยนารถเป็นข้าหลวงกำกับทัพเจ้าอุปราชหลวงพระบาง  และเจ้านายบุตรหลานหกคน แสนท้าวพระยาลาว ท้ายเพี้ยเป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พล ๓,๓๐๐ คน  ยกไปทางเมือเสงกะทางหนึ่ง

แล้วเกณฑ์กองทัพเมืองท่าอุเทน ๑  เมืองไชยบุรี ๑  เมืองสกลนคร ๑  เมืองแสนปาง ๑  รวม ๔ เมืองเป็นไพร่พลลาว ๓,๓๐๐ คน ให้พระอภัยสุรินทร์กับนายราชาภักดิ์เป็นข้าหลวงกำกับท้าวเถื่อนบุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์  กับท้าวไข่หลานเจ้าอุปราชหลวงพระบาง  และท้ายเพี้ยแปดนายคุมไพร่พลลาว ๓,๓๐๐ คน  ยกไปทางกระปองทางหนึ่ง

แล้วเกณฑ์กองทัพเมืองหนองคาย  เมืองภูเวียง  เมืองมุกดาหาร  เมืองบุรินทร์  รวมสี่เมืองเป็นไพร่พล ๓,๓๐๐ คน  ให้หลวงแพ่งเมืองพิชัยกับขุนทิพยสมบัติในกรุงเทพฯ เป็นข้าหลวงกำกับพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายและท้าวเพี้ยหกนาย  คุมไพร่พลลาว ๓,๓๐๐ คน  ยกไปทางเมืองชีรายทางหนึ่ง

(https://i.ibb.co/sW5LfSs/Untitledd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

แล้วเกณฑ์กองทัพเมืองเขมราฐ เมืองอุบลราชธานี  เมืองขึ้นกับเมืองนครพนม  รวมไพร่พลลาว ๓,๕๐๐ คน  ให้พระยายกกระบัตรเมืองพิชัยกับขุนอักษรในกรุงเทพฯ เป็นข้าหลวงกำกับท้ายเขม  ท้าวแรดบุตรอุปราชหลวงพระบางและท้ายเพี้ยแปดนาย  คุมไพร่พล ๓,๕๐๐ คน  ไปทางเมืองสาดด้านตะวันออกทางหนึ่ง   ศิริรวมไพร่พลลาวทั้งสี่ทัพเป็นคน ๑๐๐ คน  มีไพร่พลไทยกับข้าหลวงกองละร้อยบ้าง  สองร้อยบ้าง  สามร้อยบ้าง  รวมไพร่พลไทยทั้งสี่กองแปดร้อยคน รวมทั้งลาวและไทย ๑๔,๓๐๐ คน  แต่พระมหาสงครามกับหลวงนายเสน่ห์รักษาข้าหลวงผู้ใหญ่ทั้งสองคน  คุมไพร่ไทยเมืองพิชัยและในกรุงเทพฯ สี่ร้อยคนตั้งค่ายอยู่ที่เมืองนครพนมเพื่อจะคอยรับครอบครัวลาว  และจะได้ป้องกันรักษาเมืองด้วย  แม่ทัพนายกองทั้งสี่ทัพได้ยกข้ามแม่น้ำโขงไปฟากตะวันออก แต่ ณ เดือนห้า ปีฉลู ตรีศกนั้นแล้ว  กองทัพทั้งสี่ได้ยกเข้าตีเมืองวัง  เมืองตะโปน  เมืองพืน  เมืองระนอง  เมืองเชียงร่ม  เมืองเชียงปราน  เมืองบุง  เมืองพระบาง  เมืองเหล่านี้ไม่ต่อสู้อยู่รบเลย  พาครอบครัวอพยพหนีเข้าป่าไปสิ้นทุกเมือง  แม่ทัพนายกองได้แต่งให้นายทัพนายกองลาวไปเที่ยวกวาดต้อนครอบครัว  ครัวก็นำปืนยาหน้าไม้และปืนไฟยิงพวกที่ไปติดตามล้มตายเนือง ๆ  ถ้าผู้ที่ไปติดตามพากันไปมาก  พวกครัวก็หลบหนีเข้าซอกห้วยหุบเขาเสียหมด  ครั้นไปน้อยคน  ครัวก็ออกมาต่อสู้โดยเข้มแข็ง  ครั้นแต่งลาวท้าวเพี้ยที่รู้จักภาษาพวกลาวตะวันออกนั้นให้ไปเกลี้ยกล่อมก็ได้ครอบครัวมาบ้าง  ที่นายทัพนายกองตามไปจับมาได้บ้าง  รวมครัว ๑,๑๗๗ คน  ได้ช้างพลาย ๒๖ เชือก  ช้างพัง ๔๖ เชือก  รวมช้าง ๗๒ เชือก  ได้ม้า ๓๖๗ ม้า  ได้โคกระบือ ๑,๖๕๐ แต่ตายเสียบ้าง  แต่เงินทองของใช้สอยและเครื่องศาสตราวุธหาได้ไม่  เพราะเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยยากจน  ตั้งอยู่ในป่าดงเหมือนบ้านชาวไร่  ครั้นจะแต่งให้นายทัพนายกองยกไปตีต้อนกวาดครัวลาวต่อไปอีก  ก็เห็นพร้อมกันว่าครอบครัวลาวพวกนี้ก็จะพากันหนีไปอยู่ในเขตแดนหัวเมืองญวนที่ญวนเป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองเสียทั้งสิ้น  ได้ครัวแต่ ๑,๑๗๗ คน เท่านี้นั้น  พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ นายทัพนายกองไทยลาว  แต่บ้านเล็กเมืองน้อยที่ตีได้นั้น  ก็ได้นำไฟจุดเผาบ้านเรือนเสียหมดทุกตำบล เพื่อจะมิให้ญวนมาอาศัยต่อไปได้”

(https://i.ibb.co/nrgkcgr/l16-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข้อความตามหนังสือบอกเจ้าอุปราชราชบุตรและข้าหลวงดังนั้นแล้วก็ทรงขัดเคืองยิ่งนัก  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราราชสีห์ตอบขึ้นไปใจความว่า

           “เจ้าอุปราชราชบุตรรับอาสาว่าจะไปตีบ้านเมืองลาวฟากแม่น้ำโขงข้างตะวันออก  และว่าจะตั้งเกลี้ยกล่อมพวกลาวพวน ลาวลื้อ ลาวตะวันออกแม่น้ำโขงแม่น้ำงึมต่อแดนญวนมาให้สิ้นเชิงนั้น  จึงได้มีท้องตราขึ้นไปกะเกณฑ์ผู้คน ๑๓,๕๐๐ คนให้ไปตีกวาดต้อนครอบครัวลาว  ก็ได้มาแต่ ๑,๑๗๗ คนเท่านี้  ไม่สมแก่เป็นทัพใหญ่มีไพร่พลมากถึงหมื่นเศษ  เจ้าอุปราชราชบุตรต้องพิพาทอยู่ในโทษศึก  แต่จะภาคทัณฑ์ไว้ไว้ครั้งหนึ่งก่อน  ทั้งแม่ทัพนายกองหลวงพระบางและกรุงเทพฯ แปดนายที่ขึ้นไปด้วยนั้น  ยกโทษให้คราวหนึ่งก่อนด้วยกันทั้งไทยและลาว  ให้ทำราชการแก้ตัวต่อไปให้ได้ลาวฟากแม่น้ำโขงมาให้ได้อีกมาก ๆ จึงจะพ้นโทษ  ให้เจ้านายหลวงพระบางและข้าหลวงแปดนายไทย  ตั้งรั้งรออยู่ฟากแม่น้ำโขง  ทำเป็นการปี  ให้แต่งนายทัพนายกองเที่ยวลอบจับครัวให้เสมออย่าหยุดได้  ถ้าเห็นว่าครัวลาวออกจากป่ามาทำไร่นาที่ทุ่งที่ป่า  ก็ให้กองทัพหลวงพระบางคอยจับครัวส่งมาให้สิ้นเชิง  อย่าให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายญวนได้เลย  และอย่าให้เป็นทางท่าส่งเสบียงอาหารแก่พวกญวนต่อไปได้  ให้คิดตัดกำลังญวนให้หยุดเพราะจับพวกลาวนี้”

          โปรดให้พระยานรานุกิจมนตรีจางวางกรมพระสุรัสวดีในพะราชวังบวรฯ ขึ้นไปกำกับข้าหลวงแปดนายจัดการเก็บครัวลาวฝั่งแม่น้ำโขง......

          วันนี้ปล่อยเรื่องยาวให้อ่านกันจนเบื่อเลยนะครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, กรกฎาคม, 2564, 10:46:24 PM
(https://i.ibb.co/9cv0LKN/560000004806801.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๕ -

แม่ทัพใหญ่ไทยป่วยด้วย “ไข้จับ”
ขอแม่ทัพช่วยด่วนคิดถ้วนถี่
“เจ้าพระยายมราช”เสนาบดี
เป็นคนที่ควรแทนพระยาบดินทร์

จึงโปรดเกล้าฯสนองคำร้องขอ
จัดทัพต่อเรือควรปราบญวนสิ้น
“เจ้าฟ้าน้อย”นำพาทัพนาวิน
เข้าเหยียบดินแดนญวนที่ควรทำ


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   กองทัพเจ้าอุปาชราชบุตรนครหลวงพระบางมีใบบอกรายงานข้อราชการทัพศึกที่ได้ยกทัพไปเที่ยวตีกวาดต้อนลาวตามหัวเมืองตะวันออก  พบว่ามีแต่บ้านเล็กเมืองน้อยเป็นลาวยากจน  กวาดค้นผู้คนมาได้เพียงพันเศษ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคือง  เพราะมีท้องตราไปให้เกณฑ์กองทัพเป็นไพร่พลถึงหมื่นเศษ  แต่ได้เชลยลาวมาพันเศษ ไม่คุ้มค่าการลงทุน  จึงสั่งภาคทัณฑ์ลงโทษให้ตั้งกองทัพทำการเป็นแรมปี  คอยจับลาวที่ออกจากป่ามาทำไร่ทำนา  ป้องกันมิให้เป็นกำลังแก่ญวนต่อไปได้  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

           “ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ ณ เมืองเขมร  จึงมีหนังสือบอกให้หลวงฤทธานนท์ถือเข้ามากรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/wW3vr55/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ซึ่งจะโปรดส่งเสบียงอาหารที่เมืองกำปอดนั้น  ก็ได้แต่งให้พระยา,พระเขมรคุมโคต่างและช้างมาคอยรับอยู่แล้ว  กับที่ทรงพระกรุณาโปรดฯจะให้ถมคลองขุดใหม่ของญวนนั้น  ได้ตระเตรียมการไว้พร้อมแล้ว  แต่ยังไม่มีแม่ทัพใหญ่ที่จะบัญชาการทัพศึก  เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ป่วยเป็นไข้จับสั่น  ให้คลื่นเหียนอาเจียนแน่นหน้าอกเป็นกำลัง  รับพระราชทานอาหารได้มื้อละช้อนหนึ่งบ้างสองช้อนบ้าง  พระยาเพชรบูรณ์ก็ป่วยตา  พระพรหมบริรักษ์ก็เป็นเด็กจะไว้ใจแก่ราชการทัพศึกก็ไม่ได้  ขอพระราชทานเจ้าพระยายมราช (ชื่อบุญนาก) ออกมา  จะได้ช่วยกันคุมพระยา,พระ,หลวง เป็นแม่ทัพใหญ่ไปทำการถมคลองขุดใหม่  ถ้าโปรดเกล้าฯ พระราชทานเจ้าพระยายมราชเสนาบดีออกมาแล้ว  จะได้ให้เป็นผู้บัญชาการแล้วจะให้นักพระองค์ด้วง ๑  พระพรหมบริรักษ์ ๑  เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี ๑  พระยาราชโยธา ๑  พระพรหมธิบาล ๑  พระอินทราธิบาล ๑  เป็นหกคนด้วยกัน  ยกลงไปเป็นทัพหนุนเจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพใหญ่  แล้วจะให้พระยาราชสงคราม ๑  พระยาเพชรปราณี ๑  พระราชรองเมือง ๑  พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑  พระยาอัษฎาเรืองเดช ๑  พระยาบริรักษ์ราชา ๑  รวมหกคน  เป็นทัพหน้าของเจ้าพระยายมราช  กับได้ข่าวว่าเจ้าพระยานครราชสีมาเป็นโรคกำเริบมากขึ้น  เห็นว่าในปีนี้จะมารับราชการฉลองพระเดชพระคุณไม่ได้  ได้ไพร่พลเมืองโคราชไว้ใช้สอยกล้าหาญดีนักทั้งกรมการก็กล้าหาญแข็งแรงด้วย”

(https://i.ibb.co/wCrWJwP/SMP-4-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นได้ทรงทราบว่าเจ้าพระยาบดินทร์เดชาป่วยหนักก็ทรงพระปริวิตกมาก  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชออกไปเมืองพนมเปญ  เจ้าพระยายมราชกราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ เดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  ถึงเมืองพนมเปญ ณ เดือนสาม ขึ้นเก้าค่ำ  เจ้าพระยายมราชจึงไปเยี่ยมเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้วก็นำท้องตราออกให้  และสิ่งของซึ่งพระราชทานออกมาเยี่ยมไข้หลายอย่างเป็นต้นว่า  พิมเสนและเครื่องยาเครื่องเทศ  แล้วพระราชทานพระโอสถซึ่งเป็นพระโอสถข้างที่เคยเสวย เคยทรงนับถือ  ชื่อว่าทิพยโอสถขนาน ๑  อะมะฤตธาราขนาน ๑  กับพระราชทานหลวงศรีศักดิ์หมอยา ๑  หลวงชำนาญวาโยหมอนวด ๑  ให้เพิ่มเติมออกมารักษาพยาบาลอีกพวก ๑  และมีหนังสือประกาศปฏิญญาออกมาด้วยฉบับหนึ่งว่า

           “ถ้าใครรักษาโรคเจ้าพระยาบดินทรเดชาหายใน ๑๐ วัน  จะพระราชทานเงิน ๓๐ ชั่ง  ถ้าหายภายใน ๒๐ วัน  พระราชทานเงินรางวัล ๒๐ ชั่ง  ถ้าหายภายใน ๓๐ วัน  จะพระราชทานเงินรางวัล ๑๐ ชั่ง  ถ้าหมอเชลยศักดิ์จะให้เป็นขุนนาง  ถ้าหมอเป็นขุนนางแล้วจะให้เลื่อนยศด้วย”

(https://i.ibb.co/3FyG8Zy/image.jpg) (https://imgbb.com/)
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์

          ในท้องตราใบใหญ่ว่า  กองทัพเรือนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพหลวง  จะให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ชื่อช่วง) บุตรเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นั้นเป็นแม่ทัพหน้า  คุมเรือกำปั่นรบออกไปตีเมืองบันทายมาศ  ญวนจะได้พะว้าพะวังทั้งหน้าทั้งหลัง  ทัพเรือทัพบกจะได้ถมคลองขุดใหม่ถนัด  แม่ทัพนายกองจะได้ทำการถมคลองโดยสะดวก  กำหนดทัพเรือจะออกจากกรุงเทพฯ ณ วันจันทร์ เดือนสาม ขึ้นสิบสามคำ ปีฉลู

(https://i.ibb.co/y8Y3CLh/Undstitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงจัดให้เจ้าพระยายมราชคุมพระยา,พระ,หลวงในกรุงและหัวเมือง  กับไพร่พลไทยลาวหมื่นเศษเป็นแม่ทัพใหญ่

          ให้พระยาราชสงคราม ๑  พระยาเพชรปราณี ๑  พระราชรองเมือง ๑  พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑  พระยาบริรักษ์ราชา ๑  พระยาอัษฎาเรืองเดช ๑  รวมหกคน  เป็นนายทัพหน้า

          ให้นักพระองค์ด้วง ๑  พระพรหมบริรักษ์ ๑  เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี ๑  พระยาราชโยธา ๑  พระพรหมธิบาล ๑  พระอินทราธิบาล ๑  รวมหกคน  เป็นนายทัพนายกองคุมไพร่พลเป็นทัพหนุนกองหนึ่ง

          ทั้งสามทัพเป็นไพร่พลไทยลาว ๒๑,๙๐๐ คน  ให้ยกลงไปที่คลองขุดใหม่  ให้ตั้งค่ายที่เขาเชือกซุ้มเรียงต่อ ๆ ไปสิบค่าย  ห่างค่ายญวนประมาณ ๒๑ เส้น ๒๒ เส้น

          แล้วเจ้าพระยายมราชสั่งให้ทำค่ายตับตั้งประชิดเข้าไปเป็นค่ายปิหลั่นอีกชั้นหนึ่ง  ชักปีกกามาถึงค่ายพระยาอภัยสงคราม ๑  พระยาพิไชยสงคราม ๑ ระยาอร่ามมณเฑียร ๑  พระยาพิบูลย์สมบัติ ๑  พระยาเสนาภูเบศร์ ๑  พระยาทิพยมณเฑียร ๑  พระพรหมสุรินทร์ ๑  พระอินทรรักษา ๑  พระณรงค์วิชิต ๑  พระฤทธิเดชะ ๑  หลวงศรีพิทักษ์ ๑  หลวงรักษาเทพ ๑  จมื่นอินทรเสนา ๑  จมิ่นศักดิ์แสนยารักษ์ ๑  จมื่นศักดิ์บริบาล ๑  จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ๑  จมื่นรักษ์พิมาน ๑  จมื่นอินทามาตย์ ๑  จมื่นศรีบริรักษ์ ๑  จมื่นศักดิ์แสนยากร ๑  หลวงอนุรักษ์ภักดี ๑  หลวงภักดีอนุรักษ์ ๑  หลวงพิไชยชำนาญ ๑  หลวงเพชราลัย ๑  หลวงอภัยคงคา ๑  หลวงเทพาวุธ ๑  หลวงรุทรักษา ๑   รวม ๒๗ กอง  แต่นายทัพฝ่ายกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ก่อนแล้วมีไพร่พลมากทุกกอง ทั้ง ๒๗ กองนี้พระยาพิไชยบุรินทราได้ว่ากล่าวบังบัญชาทั้งสิ้น

          ยังทัพเขมรอีก ๒๕ กอง  คือ  พระยาราชเสนานุชิต ๑  พระยาเสนาอันชิต ๑  พระยาสงครามสุนทราธิบดี ๑  พระยาอุทัยธิราช ๑  พระยาพิไชยสุนทร ๑  พระยาอนุภาพไตรภพเจ้าเมืองนครเสียมราฐ ๑  พระยาสังขโลกเจ้าเมืองโปริสาดเก่า ๑  พระยาเสนากุเชนทร ๑  พระยานราธิราช ๑  พระยามโนราชา ๑  พระพิทักษ์บดินทร ๑  พระนรินทรโยธา  พระเสนาราชภักดี ๑  พระมหาเสนา ๑  พระสุนทรานุรักษ์ ๑  พระกำแหงสงคราม ๑  พระกำจัดไพรี ๑  พระศรีภวังค์ราชนายก ๑  หลวงสุรเสนี ๑  หลวงมณีพิทักษ์ ๑  หลวงดำรงศักดิเดช ๑  หลวงกำจัดไพรี ๑  หลวงทิพาวุธ ๑  รวมพระยา,พระ, หลวงเขมร นายทัพนายกอง ๒๕ ทัพ  ตั้งล้อมค่ายญวนอีกชั้นหนึ่ง  นักพระองค์แก้วเขมรเป็นผู้บัญชาการทัพเขมรทั้ง ๒๕ กอง

          พระพรหมบริรักษ์สั่งให้พระยายกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ๑  กับพระยากำแหงมหิมาเมืองกบินทร์บุรี ๑  กับหลวงมหาพิไชย ๑  หลวงไกรกรีธา ๑  สี่นายนี้เป็นข้าหลวงกำกับกองทัพเขมรและตรวจตราทัพเขมรทุกทัพทุกกองด้วย   พระพรหมบริรักษ์สั่งให้พระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองไทยและเขมรตั้งค่ายขุดคูทำประตูหอรบ  แล้วให้ขุดสนามเพลาะขนมูลดินขึ้นถมเป็นป้อมขึ้นทุกค่าย  ป้อมหนึ่งสูงห้าศอกบ้างหกศอกบ้างทุกค่ายน้อยใหญ่

(https://i.ibb.co/HC7Sx6h/Untitl65ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          เมื่อกองทัพไทยเขมรกำลังตั้งค่ายขุดสนามเพลาะพูนมูลดินทำป้อมนั้น  ฝ่ายญวนก็แต่งกองทัพเป็นกองอาทมาตย์ออกทะลวงฟันรบกับไทย  ไทยได้ต่อรบสู้กับญวนเป็นสามารถ  ญวนก็ยิงปืนใหญ่กราดออกไปจากค่ายเสมอทุกวัน  ไทยก็ต้องระวังตัวด้วยยากเป็นที่สุด  เจ้าพระยายมราชปรึกษาด้วยพระพรหมบริรักษ์ว่า

           “เราจะตั้งค่ายเข้าใกล้ค่ายญวนไม่ได้  เพราะทางปืนใหญ่ของญวนยิงมาเสมอทุกวันมิได้หยุด”

          พระพรหมบริรักษ์ตอบว่า   “กลัวอะไรกับปืนญวน  ผมจะแก้เองให้ญวนหยุดยิงปืนใหญ่”

(https://i.ibb.co/jV1Rp2c/Untitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          พูดเท่านั้นแล้วก็สั่งให้กรมกองแก้วจินดา  ให้พระราชวังหลวงพระราชวังบวรฯ ๔๐๐ คน ให้ตัดสายโซ่ออกเป็นท่อน ๆ ยาวสิบศอกสามวา  บรรจุแทนกระสุนปืนใหญ่  แล้วยิงออกไปปะทะหน้าค่ายไทยทุกทัพทุกกองเสมอทุกวัน  กับตัดไม้แก่นยาวสองศอกคืบบรรจุแทนกระสุนปืนยิงออกไป  ถูกค่ายญวนบ้าง  ถูกกองอาสาหน้าค่ายญวนบ้าง  ญวนก็สงบยิงปืนใหญ่ออกมา  ไทยจึงตั้งค่ายได้สะดวก  ถึงเช่นนั้นญวนก็ยังยิงปืนโต้ตอบออกมาบ้าง  แต่ซาลงไปมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่า

          นายทัพนายกองของไทยและเขมร  ได้ทำการตั้งค่ายแต่ ณ เดือนห้า  ขึ้นหกค่ำจนถึง ณ เดือนห้า  ขึ้นสิบห้าค่ำจึงแล้วเสร็จ เมื่อ ณ เดือนห้า แรมค่ำหนึ่งนั้น  เจ้าพระยายมราชสั่งให้ทหารปืนใหญ่นำกระสุนปืนสามนิ้วขึ้นไปตั้งบนป้อมดินทุกป้อม  ป้อมละสามบอก  ยิงปรำลงไปในค่ายญวน  ญวนก็ปลูกหอคอยทำบันไดเวียนวงรอบหอคอย  แล้วลากปืนใหญ่กระสุนสามนิ้วสี่นิ้วขึ้นไปตั้งไว้บนหอคอย  ยิงโต้ตอบไทยมาเสมอทุกวัน  ต่างคนต่างรักษาค่ายกันอยู่ทั้งสองฝ่าย  ญวนก็ตั้งค่ายประชิดออกมาบ้าง  ใกล้ค่ายไทยสิบห้าเส้น  ต่างกันก็แต่งกองอาทมาตย์และกองอาสาหาญออกรบทะลวงฟันกันทั้งสองฝ่ายเสมอยู่.......”

(https://i.ibb.co/6ZWkpFX/image.jpg) (https://imgbb.com/)
เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

          ** แม่ทัพคนสำคัญคือเจ้าพระยานครราชสีมาเจ็บป่วยไปหนึ่งท่านแล้วยังไม่พอ  พระยาเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นแม่ทัพแทนก็ป่วยด้วยโรคตาอีกคน  ร้ายที่สุดคือ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ก็ป่วยหนักขึ้นมาอีก  จึงได้กราบทูลขอเจ้าพระยายมราช (บุญนาก) มาเป็นไม่ทัพช่วยเจ้าพระบดินทรเดชารบญวนต่อไป  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบทูลขอไป  พร้อมกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) เป็นแม่ทัพเรือยกไปตีญวนทางชายทะเลอีกด้วย  ตอนนี้กองทัพไทยโดยการนำของเจ้าพระยายมราชเริ่มรบกับญวนที่คลองขุดใหม่  ความหวังของกองทัพบกไทยอยู่ที่กองทัพเรือ  ซึ่งจะยกไปตีเมืองบันทายมาศแล้วยกเลยไปเป็นทัพกระหนาบตีค่ายญวนที่คลองขุดใหม่

          ต่อไปนี้เราจะได้เห็นบทบาทการรบของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในตำแหน่งแม่ทัพเรือ  ว่าจะทรงแสดงความสามารถในการรบให้ปรากฏอย่างไรบ้าง

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสอไท เมืองสุโขัย
๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, กรกฎาคม, 2564, 10:26:24 PM
(https://i.ibb.co/pr3dTjp/image.jpg) (https://imgbb.com/)
คุณชายช่วง บุนนาค
ขณะบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

- อานามสยามยุทธ ๑๔๖ -

กองทัพเรือบุกทลาย “บันทายมาศ”
“เจ้าหมื่นไวยวรนารถ”กราดขย้ำ
บุกโจมตีไม่ยั้งทั้งบกน้ำ
ญวนเพลี่ยงพล้ำแข็งใจไม่ยอมแพ้

จับเชลยญวนถามได้ความลับ
ญวนจัดทัพใหญ่กล้ามาช่วยแก้
ถ้าเชลยเอ่ยเขื่องเป็นเรื่องแท้
สนุกแน่สนามรบยากจบลง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชาป่วยเป็นไข้จับสั่น  ไม่สะดวกในการบัญชาการศึกได้  ทั้งพระยาเพชรบูรณ์แม่ทัพหน้าก็ป่วยด้วยโรคตา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้จัดส่งเจ้าพระยายมราช (บุญนาก) เสนาบดีออกไปช่วยบัญชาการทัพรบญวนต่อไป  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่ทูลขอ  ทรงพระปริวิตกถึงอาการป่วยของเจ้าพระยาบดินทรเดชา  จึงจัดยาและหมอยาหมอนวดฝากให้เจ้าพระยายมราชนำไปมอบแก่เจ้าพระยาบดินเดชา  พร้อมกับมีท้องตราแจ้งให้ทราบว่า  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าน้อย) ทรงเป็นแม่ทัพเรือ  ให้ยกกองทัพเรือไปตีเมืองบันทายมาศและหัวเมืองญวนชายทะเลไปบรรจบกับกองทัพบกด้วย  เจ้าพระยาบดินทรเดชามอบอำนาจการบัญชาทัพในตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ให้เจ้าพระยายมราช ดำเนินการยกไปตีค่ายญวนที่คลองขุดใหม่ตามพระกระแสพระราชดำริ  เจ้าพระยายมราช  พระพรหมบริรักษ์  นักพระองค์ด้วง จัดแต่งทัพร่วมกันเสร็จแล้วยกไปตีค่ายญวนที่คลองขุดใหม่ตามแผนการทันที  กองทัพไทยญวนกำลังรบกันเป็นสามารถยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ  แล้วมีเหตุให้ต้องเว้นวรรคไว้  วันนี้กลับมาอ่านกันต่อไปนะครับ....

(https://i.ibb.co/Jp1FJMP/902316-oh.jpg) (https://imgbb.com/)
คุณชายช่วง บุนนาค ในละคร “ข้าบดินทร์”
(รับบทโดย การิน ศตายุ)

           “ฝ่ายที่กรุงเทพฯ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพใหญ่  ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่ทัพหน้า  แม่ทัพหน้าไปด้วยกำปั่นใบชื่อเทพโกสินทร  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงกำปั่นใบชื่อพุทธอำนาจ  พระยาราชวังสันคุมกำปั่นใบชื่อราชฤทธิ์  พระยาสุรเสนาคุมกำปันใบชื่อวิทยาคม  พระยาเทพวรชุนคุมกำปันใบชื่ออุดมเดช  พระยาสุนทรคุมกำปั่นใบชื่อประเวศจังหวัด  พระยาไกรโกษากับพระยาพิพัฒน์โกษาคุมกำปั่นใบชื่อจรจัดโจมจับโจร  พระยา,พระ,หลวง นายทัพนายกองคุมเรือรบป้อมปักหลังมัจฉาณุและเรือป้อมศีรษะญวน  และเรือปากปลาต่าง ๆ หลายสิบลำ  พร้อมด้วยไพร่พลไทยและแขกจามเป็นพล ๑๕,๐๐๐ คน  แล้วให้ไปเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเลอีก  เรือกำปั่นใบที่นายทัพนายกองคุมไปนั้นได้บรรทุกข้าวสาร ๘๘๓ เกวียน ๕๕ ถัง  กับข้าวสุกตากแห้ง ๑๖๗ เกวียน  กับเกลือ ๑๖๐ เกวียน ๕๐ ถัง  และยาสูบเพชรบูรณ์และเกาะกร่าง ๕๐๐ ลัง  และปลาทูปลาเค็มน้ำจืดน้ำเค็มรวมสองร้อยกระสอบ  กับผ้าเขียวครามผ้าตาเมล็ดงา ๕,๓๘๐ ผืน  เสื้อผ้าแดงเหนือ ๕,๐๐๐ เสื้อ  กางเกงผ้าริ้ว ๕,๐๐๐  หมวกตุ้มปี่ผ้าแดงเทศ ๕,๐๐๐ หมวก  หวายถักเป็นตะขาบคาดเอว ๕,๐๐๐ สาย  ให้ไปส่งให้พระยา,พระเขมรที่มาตั้งกองรับอยู่ ณ เมืองกำปอดนั้น  จะให้ขนขึ้นไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาแจกจ่ายให้พวกไพร่พลในกองทัพบก  แล้วโปรดให้พระยาอภัยพิพิธเป็นแม่กองคุมทัพหัวเมืองชายทะเลข้างทางตะวันออกห้าหัวเมืองเป็นไพร่พล ๕,๐๐๐ เศษ  ให้เข้าไปในกระบวนทัพหลวงสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ยกออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือนสามขึ้นสิบสามค่ำ ในปีฉลูตรีศก

(https://i.ibb.co/0DY1Qxn/Untitldfeed-14.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายทัพเรือเสด็จออกไปถึงเมืองจันทบุรีแล้ว  จึงโปรดจัดให้พระยาพิพิธโกษา  พระยาราชวังสัน  พระยาพิไชยรณฤทธิ์  พระอนุรักษ์โยธา  พระนรินทรราชเสนี  หลวงศรีราชาแขกจาม  หลวงรักษมะนาแขกจาม  พระพาหลแขกจาม  หลวงเดชแขกจาม  คุมเรือรบกองละลำบ้างกองละสองลำบ้าง  ยกล่วงหน้าลงไปก่อน  เรือรบทั้งหกลำถึงช่องเกาะกระ ณ เดือนสี่ แรมสี่ค่ำ  ได้พบเรือลาดตระเวนญวนเจ็ดลำ  ไทยกับญวนได้สู้รบกันต่างก็ยิงปืนหน้าเรือโต้ตอบกันเป็นสามารถ  เรือลาดตระเวนญวนแตกชำรุดไปสองลำ  ญวนก็แล่นใบถอยหนีเข้าไปในเมืองบันทายมาศทั้งเจ็ดลำ  ฝ่ายพระยาพิไชยรณฤทธิ์กับพระยาราชวังสัน  พระอนุรักษ์โยธา  หลวงศรีราชา  เห็นญวนตั้งค่ายอยู่ที่เกาะโดด  จึงยกทัพเรือลงไปใกล้ยิงปืนใหญ่หน้าเรือ  ช่วยกันระดมยิงค่ายญวนที่เกาะโดดพักหนึ่งก็ไม่เห็นญวนยิงปืนโต้ตอบมาบ้าง  แลดูอยู่แต่ไกลเห็นแต่คนยืนนิ่งอยู่กับหน้าค่ายและบนหอรบไม่กระดุกกระดิก  พระยาราชวังสันสงสัยว่าจะไม่ใช่คนเป็นแน่  จึงไม่หนีกระสุนปืน  พระยาราชวังสันจึงแจวเรือเข้าไปใกล้  ไม่เห็นผู้คนแต่สักคนเดียว  มีแต่รูปหุ่นยืนอยู่ตามหน้าค่ายและบนหอรบ ๓๓๓ หุ่น  พระยาราชวังสันก็เก็บขนรูปหุ่นลงบรรทุกเรือหลวงศรีราชา  ให้ส่งมาถวายแม่ทัพหลวงทอดพระเนตร  แล้วพระยาพิไชยรณฤทธิ์ก็ลงไปถึง  จึงให้พระยาราชวังสันจุดไฟเผาค่ายญวนเสีย  แล้วมีรับสั่งให้พระยาอภัยพิพิธ  พระราชวรินทร หลวงนาวาพิทักษ์  คุมเรือปักหลังมัจฉาณุบรรทุกข้าวสาร,ข้าวตาก,เกลือ,ปลาเค็ม, ไปส่งพระยา พระเขมรและไทย ที่มาคอยรับอยู่ ณ เมืองกำปอดท่าตะเคียน  ทัพหลวงก็เสด็จตามลงไปทอดกำปั่นอยู่ที่เกาะกระทะคว่ำ  กำปันรบทั้งหลายก็ตามเสด็จลงไปทอดเป็นลำดับกัน

(https://i.ibb.co/vQM6BSP/Untitlewd-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเรือกองลาดตระเวนญวนเจ็ดลำที่ถอยไปจากเกาะโดดหนีไปยังเมืองบันทายมาศ  จึงแจ้งความกับองตุนภู่แม่ทัพที่เมืองบันทายมาศ  แม่ทัพเมืองบันทายมาศมีใบบอกไปถึงองตาโดแม่ทัพที่เมืองโจดก  แม่ทัพเมืองโจดกก็แต่งให้องกายโดยคุมทัพมารักษาปากน้ำเมืองบันทายมาศ  ให้องดาวกือคุมไพร่พลมารักษาเมืองบันทายมาศ  แล้วองทำตาลแม่ทัพใหญ่ญวนก็แต่งองญวนนายทัพนายกองคุมไพร่พลหกกอง  ไพร่พลถึง ๖,๐๐๐ ยกมารักษาค่ายตามริมฝั่งคลองขุดใหม่  ญวนรู้ว่าทัพเรือไทยยกมาคราวนี้ด้วยกำปั่นใหญ่ ๆ มาก  เป็นศึกใหญ่  จึงได้เกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเพิ่มเติมมาอีก  แล้วบอกไปถึงจ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนขอแม่ทัพเพิ่มเติมมาอีกหลายทัพด้วย

            (เนื้อความทั้งนี้ไทยรู้เพราะเมื่อกองทัพจับญวนกองตระเวนบกได้  จึงถามความได้ทราบการดังกล่าวมานั้นทุกประการ)

(https://i.ibb.co/g4vfDH6/Tr.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายทัพหลวงจึงมีรับสั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพหน้า  กับพระยาเทพวรชุน  พระยาสุรเสนา  พระยาวิชิตณรงค์  พระยาไกรโกษา  พระสุรินทรามาตย์  หลวงชาติสุรินทร์  นายจ่าเรศมหาดเล็ก  กับพระยา,พระ,หลวงหัวเมืองนายทัพนายกอง  ยกเข้าตีเมืองบันทายมาศ  รับสั่งให้พระยาอภัยพิพิธ  พระยาสุรินทร์ราชเสนี  พระราชวรินทร  พระศิริสมบัติ  พระเทพสงครามปลัดเมืองจันทบุรี  หลวงกระบัตรเมืองตราด  พระปลัดเมืองระยอง  คุมกองทัพเมืองจันทบุรี เมืองตราด เมืองระยอง เมืองชลบุรี รวม ๖๐๐ คน  กับให้พระยาโสรัชเขมร และออกญาเสนาอันชิตเขมรเมืองกำปอด คุมไพร่พลเขมร ๒,๔๐๐ คน เข้าสมทบทัพพระยาอภัยพิพิธ  ยกเข้าตีค่ายญวนที่ตั้งอยู่ ณ เขาโกนถม  ได้รบกันสองวัน  ค่ายญวนก็แตกเมื่อ ณ เดือนสี่แรมสิบสี่ค่ำ  ไทยได้เผาค่ายญวนเสียสิ้น  ญวนตายบ้าง  หนีไปได้บ้าง  แล้วพระยาอภัยพิพิธสั่งให้นำปืนใหญ่หามขึ้นบนยอดเขา  แล้วก็ยิงปรำลงไปในเมืองบันทายมาศ  

           ฝ่ายทัพเรือกองหน้าเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพหน้า จัดให้พระยาราชวังสัน ๑  พระยาสุรเสนา ๑  พระนรินทรราชเสนีหลวงศรีราชาแขก ๑  หลวงภักดีอาษา ๑  หลวงศุภมาตราเมืองจันทบุรีเป็นแขกจาม ๑  คุมทัพเรือเข้าประชิดยิงป้อมปากน้ำเมืองบันทายมาศ  ได้นำปืนใหญ่รายแคมกำปั่นยิงป้อมบันทายมาศทลายลงด้านหนึ่ง  ญวนก็ยิงปืนใหญ่โต้ตอบบ้างพักหนึ่ง  แล้วก็หนีทิ้งป้อมเสียลงไปตั้งค่ายรับที่แผ่นดินราบไกลทางปืนกำปั่นยิงไปไม่ถึง  แล้วเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพจัดให้พระยาพิไชยรณฤทธิ์  พระยาเทพวรชุน  พระอนุรักษ์โยธา  หลวงวุธอัคนี  หลวงศรีสงคราม  คุมทัพเรือยกขึ้นไปตั้งประชิดค่ายค่ายปีกกาญวนที่ตำบลห่างหอลำผีแต่ ณ เดือนสี่แรมสิบห้าค่ำ  ไทยกับญวนได้ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันอยู่ถึงหกวัน  ไทยก็ยกเข้าประชิดทั้งทัพบกและทัพเรือ  ได้รบกับญวนเป็นสามารถ

(https://i.ibb.co/t47b9dD/Untitled-19.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าหมื่นไวยวรนารถเห็นว่ากองทัพบกทัพเรือไทยได้เข้ารบประจัญบานกับญวนถึงหกวันแล้ว  ญวนก็ยังไม่หย่อนกำลังเลย  มีแต่ยิงปืนโต้ตอบกันเสมออยู่  จะไว้ใจแก่ราชการทัพศึกไม่ได้  จึงให้พระยานราธิราชเขมรเจ้าเมืองเขียมคุมไพร่พลเขมร ๒,๐๐๐ คน  ให้พระยาไกรโกษา  พระยาวิชิตณรงค์  พระสุนทรพิมล  พระกัลยาสุนทร หลวงสวัสดิโกษา  หลวงพิบูลย์สมบัติ  ข้าหลวงไทย ๖ นาย  กำกับทัพเขมรยกข้ามแม่น้ำไปขึ้นบก  แล้วให้ยกไปปิดทางเขากรายโดงอีกทางหนึ่ง  ครั้งนั้นเรือรบญวนจอดเรียงรายอยู่ในลำคลองประมาณ ๔๐๐ ลำเศษทั้งใหญ่และเล็ก  เมื่อทัพเรือไทยยกแยกย้ายขึ้นบกบ้าง  ตั้งรบอยู่ในเรือบ้าง  เรือรบญวน ๔๐๐ ลำนั้นก็ถอยหายไปมาก  ยังจอดอยู่ประมาณ ๕๐ ลำแต่เรือเล็กทั้งสิ้น  เป็นเรือเร็วเรื่อไล่ใช้การงานฟังข่าวทัพ

(https://i.ibb.co/StTHnB4/Untitle96d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ขณะนั้นกองทัพพระยาอุไทยธรรมราชชาติเสนานราบดีเขมรเก่าจับได้ญวนเชลย ๑๐ คน  ได้ไต่ถามญวน  ญวนให้การต้องคำเดียวกันว่า

            “บัดนี้แม่ทัพเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกมีหนังสือถึงจ๋งต๊กเมืองไซ่ง่อน  ขอกองทัพบกให้ยกมาช่วยป้องกันรักษาเมืองบันทายมาศและเมืองโจดกให้ทันท่วงทีแก่ข้าศึกไทย  ได้ยินเป็นแน่ว่าเร็ว ๆ นี้เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดทัพใหญ่ให้องโปโฮอึงเป็นแม่ทัพ  รีบเร่งยกมาทั้งกลางวันและกลางคืน  เกือบจะถึงเมืองบันทายมาศอยู่แล้ว  และกองทัพเรือสำเภาใหญ่ที่เมืองตูรนปากน้ำฝ่ายเหนือก็จะยกมาช่วยอีกกองหนึ่ง  ไพร่พลทั้งทัพบกและทัพเรือที่จะมาคราวนี้ได้ยินว่าประมาณสัก ๕๐,๐๐๐ คน”

           พระยาอุไทยธรรมราชเขมรจึงนำคำให้การญวนทั้ง ๑๐ คนไปกราบเรียนเจ้าหมื่นไวยวรนารถ  เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ทราบแล้วจึงนำคำให้การข่าวทัพญวน แล้วพาตัวพระยาอุไทยธรรมราชเขมรกับญวนเชลย ๑๐ คนลงเรือกำปั่นรบไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  กราบทูลประพฤติเหตุให้ทรงทราบ.....”

(https://i.ibb.co/Nry36L1/Untitled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพเรือไทยนำโดย  “เจ้าฟ้าน้อย”  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ยกเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) ของญวนแล้ว  แม่ทัพหน้าคนสำคัญของทัพเรือคือ  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาค)  บุตรคนโตของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) แม่ทัพเรือคนก่อน  เจ้าหมื่นไวยวรนารถผู้นี้มีความรู้ความสามารถมาก  รับราชการเจริญรุ่งเรืองมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงสมเด็จเจ้าพระยาเช่นเดียวกันกับบิดาของท่าน  ในช่วงตอนนี้ท่านกำลังบัญชาการรบกับญวนเป็นสามารถ  ญวนกำลังจะพ่ายแพ้แล้ว  แต่ได้ข่าวว่า  จ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนกำลังส่งทัพใหญ่ทั้งบกทั้งเรือมาช่วยเมืองบันทายมาศและเมืองโจดก  การรบกันระหว่างไทยญวนจะดุเดือดและจบลงอย่างไร  ติดตามอ่านตอนต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, สิงหาคม, 2564, 10:25:49 PM
(https://i.ibb.co/BK97PN3/Untitled-8.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๗ -

ทัพเรือล่าถอยหลังกระทันหัน
สลาตันลมแรงฤทธิ์มากพิษสง
พัดมาแต่ตะวันตกไม่วกวง
เดินทางตรงแถวถ่องกองทัพเรือ

จำต้องถอยหนีลมก่อนจมคลื่น
ทะเลตื่นด้วยลมพัดแรงเหลือ
กองทัพญวนเกือบพ่ายตายเป็นเบือ
ไม่น่าเชื่อรอดตายเพราะสายลม


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ยกทัพเรือไปถึงเมืองจันทบุรีแล้วทรงจัดกองเรือลาดตระเวนล่วงหน้าลงไปเมืองบันทายมาศ  พร้อมกับมีรับสั่งให้พระยาอภัยพิพิธเป็นหัวหน้านำเสบียงอาหารพระราชทานกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปส่งที่เมืองกำปอด  แล้วยกกองทัพเรือตามลงไปจอดทอดที่เกาะกะทะคว่ำ  กองเรือลาดตระเวนไทยไปปะทะกับกองลาดตระเวนญวนที่เกาะโดด  เรือรบลาดตระเวนญวนเจ็ดลำยิงปืนต่อสู้เรือรบลาดตระเวนไทย  ถูกไทยยิงเสียหายสองลำ  จึงพากันล่าถอยเข้าเมืองบันทายมาศ  ไปแจ้งความให้แม่ทัพญวนทราบ  องตุนภู่แม่ทัพญวนผู้รักษาเมืองบันทายมาศจัดการเตรียมสู้รบไว้เต็มที่  พร้อมกับมีหนังสือบอกไปยังเมืองโจดก  ทางเมืองโจดกก็รีบมีใบบอกไปยังจ๋งต๊กเมืองไซ่ง่อนให้ส่งกำลังมาช่วยด่วน   “เจ้าฟ้าน้อย” แม่ทัพเรือไทยสั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาก)แม่ทัพหน้ายกพลเข้าตีเมืองบันทายมาศทันที  ค่ายญวนนอกเมืองบันทายมาศถูกทหารเรือไทยตีแตกในเวลาไม่นานนัก  แล้วกองเรือรบทัพหน้าไทยก็เข้าโจมตีเมืองบันทายมาศอย่างไม่ยั้งมือ  เรือรบไทยยิงถล่มป้อมญวนที่ปากน้ำพังทลายลง  พลญวนยกหนีลงไปตั้งค่ายในที่ราบ  ไทยก็ยกกำลังเข้าตั้งค่ายประชิด  รบกันอยู่หกวันหกคืนยังไม่รู้แพ้ชนะ  วันนี้มาอ่านกันต่อไป  ความยาวหน่อยนะครับ....

           “ในปีฉลูตรีศกนั้น  นักนางขำบุตรีพระยาธรรมาเดโชไชยเขมร  ซึ่งเป็นหม่อมห้ามนักพระองค์ด้วงนั้น  นักนางขำสมภพบุตรชายคนหนึ่งที่เมืองพนมเปญ  นักพระองค์ด้วงบิดาประทานชื่อว่า  นักองวัตถา

(https://i.ibb.co/5BrQkd6/Untitled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ลุจุลศักราช ๑๒๐๔ ปีขาลจัตวาศก เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลแผ่นดินที่สามกรุงเทพฯ ณ เดือนห้า  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาก) แม่ทัพหน้ากลับเข้ามาที่เกาะกะทะคว่ำ  กราบทูลข้อราชการต่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์มีรับสั่งว่า  ให้มีใบบอกเข้าไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชารู้ความเสียก่อนว่า  “ทัพเรือจะต้องล่าถอยไปจากเมืองบันทายมาศแต่ ณ วันจันทร์เดือนห้าแรมสองค่ำในปีขาลจัตวาศก  เพราะด้วยลมที่จะใช้ใบเรือรบไม่ถนัด”  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้รับรับสั่งแม่ทัพหลวงแล้ว  ก็มาแต่งหนังสือฉบับหนึ่งถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาใจความว่า

(https://i.ibb.co/k6vcRNg/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ข้าพเจ้าเจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นเวรมหาดเล็กเวรขวาแม่ทัพหน้าฝ่ายเรือ  ขอรับประทานทำหนังสือบอกส่งเข้ามายังนายทัพนายกองทัพบกฉบับหนึ่ง  ขอท่านได้ช่วยนำหนังสือบอกของข้าพเจ้าขึ้นกราบเรียน ฯพณฯ หัวเจ้าท่านสมุหนายกแม่ทัพหลวงฝ่ายทัพบกได้ทราบ  เดิมข้าพเจ้าได้มีใบบอกเข้ามากราบเรียนแต่ก่อนครั้งหนึ่งว่า  ได้ให้กองทัพเรือพระยาพิไชยรณฤทธิ์  พระยาวิชิตณรงค์  พระยาเทพวรชุน  พระยาไกรโกษา  พระอนุรักษ์โยธา  พระนเรนทรโยธา  พระสุนทรพิมล  พระกัลยาสุนทร  หลวงวุทธอัคนี  หลวงศรีสงคราม  หลวงอัคนีวุทธ์  หลวงพิบูลสมบัติ  หลวงสวัสดิโกษา  หลวงนราภักดี  รวม ๑๔ คน  ขึ้นบกไปตีค่ายญวนทางหอประจำและทางทางหอหลำภีนั้น  ตีค่ายญวนแตกหนีไปตั้งอยู่ที่แผ่นดินราบหลังศีรษะแหลมประจำหลังหลำภี  แล้วกองทัพ ๑๔ กองนั้นก็ได้ตั้งค่ายอยู่ที่เชิงเขา  อาศัยเขาเป็นป้อมสูงได้ถนัด  ได้สั่งให้ตั้งมั่นรักษาค่ายเชิงเขาอยู่แต่แปดกอง  ให้แบ่งถอนคนและปืนใหญ่น้อยลงมาประจำเรือรบอย่างเดิมแต่หกกอง  แล้วให้นำเรือรบหกกองไปหนุนทัพพระยาราชวังสันช่วยกันปิดปากน้ำเมืองบันทายมาศให้แน่นหนาขึ้น  เมื่อทัพญวนจะไปมาทางทะเลและจะออกมาทางแม่น้ำใหญ่ที่ปากน้ำนั้น  ทัพเรือจะได้ช่วยกันระดมตีให้เต็มมือ  แจ้งอยู่ในหนังสือบอกฉบับก่อนนั้นแล้ว  บัดนี้พระยาราชวังสันแขก ๑  พระยาณรงค์ฤทธิโกษาแขก ๑  พระนเรนทรฤทธิเดชะแขกในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงศรีราชาแขก ๑  พระยาพิไชยรณฤทธิ์ ๑  พระยาไกรโกษา ๑  พระอนุรักษ์โยธา ๑  พระนเรนทรโยธา ๑  พระพรหมานุรักษ์ ๑  พระอินทรโกษา ๑  พระอินทรอาสาลาวปลัดเมืองสมุทรปราการ ๑  พระศรีสมบัติ ๑  รวม ๑๒ กอง  คุมเรือรบทอดอยู่ที่แหลมหอหลำภี  ก็มีใบบอกมาว่า  คลื่นลมพัดจัดหนักเรือรบจะเข้าทอดใกล้ปากน้ำไม่ได้  ด้วยลมพัดกระแทกเรือเข้าฝั่งเสมอ  กลัวเรือจะกระทบหินแตกเสียหมด  เพราะฉะนั้นจึงได้ถอยเรือรบออกไปจากปากน้ำบันทายมาศ  เข้าทอดสมออยู่ที่หน้าแหลมหลำภีพอบังลมตะวันตกได้บ้าง

(https://i.ibb.co/3v001XW/Untsditled-1-350.jpg) (https://imgbb.com/)

           ข้าพเจ้าก็กลับเข้ามาถึงเกาะกะทะคว่ำที่กำปั่นพระที่นั่งประทับอยู่นั้นแต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้า ขึ้นสิบสามค่ำ เวลาสองยาม  ได้เข้าเฝ้ากราบทูลปรึกษาราชการทัพต่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  มีรับสั่งว่า  การงานที่กองทัพเรือจะรบตีเมืองบันทายมาศคราวนี้เห็นจะไม่เป็นท่วงทีดี  มีช่องที่จะขัดขวางอยู่สองประการคือ  ยกมาจะทำแก่เมืองบันทายมาศ เมืองบันทายมาศก็แน่  เวลาน้ำน้อยเรือรบไทยใหญ่จะเข้าไปใกล้ฝั่งไม่ถนัด  ด้วยเป็นกำปั่นโต ๆ  แล้วพวกญวนก็จัดกองทัพบกเรือเพิ่มเติมมารักษาบ้านเมืองมั่นคงโดยสามารถ  อีกอย่างหนึ่งก็เป็นปลายมรสุมฤดูลมสลาตันอยู่ด้วย  เดี๋ยวนี้ลมสลาตันตะวันตกก็พัดกล้าแรงขึ้นทุกวัน  ครั้นจะให้เรือรบตั้งรั้งรอคอยลมสลาตันสงบเมื่อใดจะได้ยกเข้าตีเมืองบันทายมาศเมื่อนั้น  ถ้าลมยังไม่สงบและยังพัดกล้าเสมออยู่ช้านานสักเท่าใดก็ยังไม่รู้แน่ได้  กลัวว่าในระหว่างนั้นเรือรบเรือไล่ของหลวงที่ออกมามากหลายสิบลำเกือบร้อยลำ  จะพลอยแตกหักเสียหายยับเยินป่นปี้ไปด้วยคลื่นลมแต่ยังไม่ได้ถูกรบถูกตีของข้าศึกญวนเลยแต่สักนิด  จะให้เรือหลวงมาเป็นอันตรายเสียดังนั้น  ก็เกรงพระราชอาชญาจะมีแก่แม่ทัพเรือเป็นแน่  เพราะฉะนั้นจึงจะได้ล่าถอยทัพเรือเข้าไปเมืองกะพงโสมคอยบังคลื่นลม  แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ จะเสด็จถอยกำปั่นพระที่นั่งกลับเข้าประทับทอดกำปั่นอยู่หน้าเมืองกะพงโสม  คอยเรือรบนายทัพนายกองอยู่ที่หน้าเมืองกว่าจะพร้อม  รับสั่งให้ข้าพเจ้าแต่งนายทัพนายกองจัดส่งเสบียงอาหารข้าวเกลือเสื้อผ้าที่เมืองกำปอด  ตามที่ได้นัดหมายให้นายทัพนายกองบกมาคอยรับอยู่ที่ท่าตะเคียนนั้นแล้ว  เรือรบเรือไล่เรือใช้สอยจะทอดอยู่ที่แหลมหลำภีช้าไม่ได้  รับสั่งให้เรือรบทั้งปวงเลิกถอนถอยตามเสด็จเข้าไปทอดอยู่หน้าเมืองกะพงโสมด้วยกันทั้งสิ้น

           อนึ่งเมื่อวันก่อนที่ยังไม่ได้มาเฝ้าแม่ทัพหลวงนั้นแต่ ณ วันพุธ เดือนห้าขึ้นสิบสองค่ำ  ข้าพเจ้าได้ใช้ให้ขุนอักษรสมบัติ เสมียนตรากรมท่าในพระราชวังบวรฯ  กับขุนรัตนสมบัติกรมท่าในพระราชวังหลวง  คุมเรือรบเข้าไปในลำแม่น้ำเมืองกำปอด  ให้ไปสืบทัพพระยาอภัยพิพิธแม่กองทัพหัวเมืองทะเลทั้งหกเมืองว่า  จะได้ทำแก่ญวนไปถึงไหนบ้าง  ขุนอักษรสมบัติกับขุนรัตนสมบัติเข้าไปได้สี่ห้าวัน  ก็ใช้หมื่นเทพนิพนธ์ออกมาแจ้งความว่า  ได้ยกเข้าไปพบกองทัพพระยาอภัยพิพิธตั้งค่ายอยู่ตำบลลำพูน  แล้วพระยาอภัยพิพิธบอกว่า

           ได้ให้พระเทพสงครามปลัดเมืองจันทบุรี  พระทุกขราษฎร์เมืองจันทบุรี  คุมไพร่พล ๕๐๐ ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลทะเลกะสอ
           ให้พระปลัดเมืองตราดกับหลวงพลเมืองตราด  คุมไพร่พล ๕๐๐ คนตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลที่บ้านฉะนัง
           ให้พระปลัดกับหลวงยกกระบัตรเมืองชลบุรี  คุมไพร่พล ๕๐๐ คน  ตั้งค่ายอยู่ตำบลทะมอสอเชิงเขาโดด  ได้เขาเป็นป้อมไว้ในค่าย
           ให้พระยาโสรัช ออกญาเสนานุชิตเขมรเจ้าเมืองกำปอด  กับพระยาราชเสนาอันชิตปลัดเมืองกำปอด  คุมไพร่พลเขมร ๑,๒๐๐ คน  ตั้งค่ายอยู่ริมเขาเมรี เป็นค่ายใหญ่ถึงสามค่าย  ชักปีกกาเป็นวงพาดอ้อมเขาเมรี
           แล้วพระยาโสรัขคุมไพร่พลเขมร ๑,๒๐๐ คน  ยกเข้าต่อรบกับญวนที่ค่ายโกนขาน  เขมรฆ่าญวนตายมากแล้วญวนก็แตกหนีไปหมด  พระยาโสรัชก็เผาค่ายญวนที่ตำบลโกนขานเสียแล้ว

(https://i.ibb.co/ftZ8P2H/sea-storm.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้าขึ้นสิบสามค่ำ  ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าที่เกาะกระทะคว่ำ  กลับออกมาที่กองเรือพระยาราชวังสัน  พระยาสุรเสน า พระยาเทพวรชุน  พระยาไกรโกษาขุนนางผู้ใหญ่ทัพเรือปิดปากน้ำเมืองบันทายมาศ  แต่ทอดอยู่ห่างปากน้ำใกล้ศีรษะแหลมหลำภีนั้น  เห็นว่าลมสลาตันตะวันตกยังพัดกล้าขึ้นทุกที  คลื่นใหญ่สูงเสมอราโทจนสายสมอขาดบ้าง  เรือรบใหญ่น้อยจะทอดสู้คลื่นลมอยู่ไม่ได้  จะเป็นอันตรายสิ้น  จึงได้สั่งให้พระสุรินทรามาตย์ลงเรือช่วงใช้ใบไปบอกให้เรือรบข้างใต้แหลมหลำภี  ใช้ใบแล่นก้าวอกมาบังลมอยู่ตามเกาะ  แล้วใช้ให้หลวงชาติสุรินทร์ลงเรือช่วงใช้ใบไปบอกเรือรบข้างตะวันออกที่ปากน้ำบันทายมาศ  ให้ใช้ใบแล่นก้าวออกมาบังลมตามเกาะเหมือนกัน  เรือรบทั้งนั้นได้ออกมาแล่นก้าวอยู่ในทะเลสี่วัน  ลมสลาตันก็ยิ่งพัดกล้าเป็นพายุบ้าง พายุแกมบ้าง เสมอทุกวัน  จนมาถึง ณ วันเสาร์ เดือนขึ้นสิบห้าค่ำ  ที่เกาะเล็กน้อยใกล้ศีรษะแหลมหลำภีเหล่านั้นก็ไม่มีบ่อน้ำจืดและลำธารน้ำพุ  ไม่มีที่จะอาศัยตักมารับประทาน  รี้พลกองทัพเรือจะอดน้ำตายเสียหมด  จึงได้ถอยเรือรบมาทอดสมออยู่ที่เกาะโดดตรงหน้าเมืองบันทายมาศ  เพื่อจะได้บังลมบ้าง และที่เกาะโดดนั้นมีบอน้ำจืดและน้ำพุจืดสนิทได้อาศัยรับประทานทั่วกองทัพ

(https://i.ibb.co/zVQgLnp/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           อนึ่งการซึ่งถอยกองทัพเรือออกมาจากปากน้ำเมืองบันทามาศ  และให้เรือรบถอยออกห่างเมืองบันทายมาศนั้น  เพราะเหตุด้วยหนีคลื่นลมมาบังลมที่เกาะโดด  ทั้งนี้มิได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อนนั้น  พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ แต่เดี๋ยวนี้ยังเป็นฤดูต้นมรสุมลมสลาตันตะวันตกพัดอยู่  ถ้าลมสลาตันพัดผันแปรเยื้องไปไม่พัดยืนประตูอยู่  เมื่อแปรเป็นลมสำเภาเมื่อใด  ก็คงจะยกทัพเรือรบใหญ่น้อยเข้าไปรบญวนเมืองบันทายมาศต่อไปอีกตามพระราชกระแสที่โปรดมานั้น  นายทัพนายกองฝ่ายเรือก็อยากจะทำการฉลองพระเดชพระคุณให้เต็มฝีมือ  และตั้งใจคอยท่าลมสำเภามาเมื่อใดก็จะรีบยกเข้าไปตีเมืองบันทายมาศเมื่อนั้น  จะทำให้ญวนพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าและข้างหลัง  กองทัพเรือจะได้เข้าไปช่วยรักษาทัพบกให้ถมคลองขุดใหม่ได้โดยสะดวก  แล้วทัพเรือคงจะแบ่งกองทัพให้ขึ้นบกยกเข้าตีค่ายญวนตามริมฝั่งคลองขุดใหม่ให้แตกไปโดยเร็ว  คงจะจัดทัพบกยกไปให้ถึงเจ้าพระยายมราชและพระพรหมบริรักษ์แม่ทัพบกให้ได้  จะได้ช่วยกันระดมตีต่อสู้ญวนให้พ่ายแพ้ถอยไปจากฝั่งคลองขุดใหม่  ฝ่ายพวกทัพไทยทั้งบกและเรือจะได้ทำการถมคลองขุดได้ถนัด  ไม่มีที่กีดขวางขัดข้อง  เมื่อลมสลาตันยังพัดยืนประตูอยู่ที่ตะวันตกเสมอดังนี้แล้ว  เรือรบทนคลื่นลมมิได้  ครั้นจะถอยเข้ามาพักอยู่ในลำคลองใหญ่เมืองกำปอด  ที่ปากคลองนั้นน้ำก็ตื้นเรือรบจะเข้าไปอาศัยจอดบังลมก็ไม่ได้  เพราะฉะนั้น  เรือรบทั้งปวงจึงต้องทอดสมอแอบบังลมอยู่ที่เกาะโดด  ครั้นจะทอดสมอรอช้าอยู่ที่เกาะโดดก็ไม่ได้  กลัวเรือรบจะชำรุดลงมาก  ก็จะเสียท่วงทีแก่ราชการ  ที่ทางจะอาศัยซ่อมแซมตั้วสิ่วเรือก็ไม่มี  ข้าพเจ้าได้ปรึกษาหารือพระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า  กองทัพเรือยกออกมาครั้งนี้  ไม่เข้าไปให้ทันเจ้าพระยายมราช และพระพรหมบริรักษ์แม่ทัพบก  แม่ทัพบกจึงจะทำการถมคลองไม่ถนัดอย่างหนึ่ง  กับพวกกองทัพเรือทำการที่เมืองบันทายมาศไม่สำเร็จอีกอย่างหนึ่ง  แล้วกลับเลิกถอนกองทัพเรือเข้ามาด้วยอีกอย่างหนึ่ง  รวมเป็นอาการสามอย่างดังนี้  แม่ทัพนายกองเรือมีความผิดพระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ ถ้าทำการไม่สำเร็จในคราวแรกนี้เพราะลมสลาตันตะวันตกยังกำลังพัดกล้าอยู่เสมอ  ในเวลาลมสำเภายังไม่พัดแปรแปลกมาแล้วก็เป็นอันจะทำการต่อไปในฤดูสลาตันไม่ได้  จึงได้ขอรับประทานกราบเรียนใต้เท้าพระกรุณาเจ้าไว้เป็นพยาน  และจะขอประทานถอยกองทัพเรือมาพักอยู่ที่เมืองจันทบุรีก่อน  เพื่อจะได้ซ่อมแซมเรือรบเรือไล่ที่ชำรุดนั้นให้เป็นปรกติ  เมื่อสิ้นเทศกาลลมสลาตันตะวันตกแล้ว  จะนัดหมายนายทัพนายกองทัพบกให้รู้ก่อน  แล้วทัพเรือจะได้ออกไปตีญวนพร้อมกับทัพบกอีกครั้งหนึ่ง  แม่ทัพนายกองเรือคิดจะกลับออกมาทำการฉลองพระเดชพระคุณให้สำเร็จให้จงได้”

          ** ต้องขออภัยทุกท่านที่ทนอ่านจนจบตอน  วันนี้ปล่อยเรื่องยาวเพราะจดหมายยาวมาก  ยากที่จะตัดทอนจริง ๆ ครับ  อย่าเพิ่งท้อและเบื่อนะ  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไทย
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, สิงหาคม, 2564, 10:10:27 PM
(https://i.ibb.co/sv9jsQQ/U-ntitled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๘ -

ค่ายไทยแตกย่อยยับรับไม่อยู่
ญวนโจมจู่ใกล้รุ่งมุ่งขย่ม
ไทยประมาทถูกขยี้ตีระบม
นายกองล้มลงตายเป็นหลายคน

เจ้าพระยายมราชเกือบพลาดท่า
บุญรักษารอดตายไม่ปี้ป่น
ดีที่ญวนมิไล่ยามไทยจน
จึงรอดพ้นวายป่วงเหมือนดวงดี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   กองทัพเรือไทยที่ยกเข้าปิดปากน้ำแล้วโจมตีเมืองบันทายมาศจนญวนเพลี่ยงพล้ำ  ไทยไม่สามารถรุกล้ำซ้ำเติมได้  เพราะยามนั้นได้เกิดลมสลาตันตะวันตกพัดกระพือฮือโหมมาอย่างแรง  จนเรือรบใหญ่น้อยของไทยไม่สามารถจะทนสู้คลื่นลมแรงได้  จึงต้องถอยกลับ  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์แม่ทัพหลวงทรงถอยเรือกำปั่นที่ประทับไปจอดทอดที่หน้าเมืองกะพงโสม  รับสั่งให้เรือทั้งหมดล่าถอยตามพระองค์ไปจอดทอด ณ เมืองกะพงโสม  เจ้าหมื่นไวยวรนาถมีใบบอกรายงานให้เจ้าพระยาบดินทรเดชารับทราบถึงความจำเป็นที่ต้องถอยทัพออกจากเมืองบันทายมาศ  แล้วสุดท้ายในใบบอก  ได้ขออนุญาตนำทัพเรือกลับไปทอดซ่อมแซมลำที่ชำรุด ณ เมืองจันทบุรี  ต่อเมื่อลมสลาตันตะวันตกสงบลงและซ่อมแซมเรือเสร็จแล้วจะรีบยกกลับลงไปตีญวนที่เมืองบันทายมาศทันที  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ....

          ”ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือนห้าแรมค่ำหนึ่ง  จึงให้เรือที่ชำรุดล่วงหน้าเข้ามาก่อน  ให้พระยาราชวังสัน  พระยาเทพวรชุน  คุมเรือเล็กใหญ่ตามเข้ามาด้วยแบ่งไว้รักษาเรือกำปั่นหลายลำ  ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือนห้าแรมสิบสองค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงกำปั่นวิทยาคมเสด็จกลับเข้าไปทอดอยู่หน้าเมืองจันทบุรี  เรือรบเรือไล่ในกรมและนายทัพนายกองก็ตามเสด็จเข้าไปสิ้นรอฟังราชการอยู่  กราบเรียนมา ณ วันพฤหัสบดีเดือนห้าแรมสิบสองค่ำปีขาลจัตวาศก”

          ครั้นแต่งหนังสือบอกเสร็จแล้ว  ให้พระสุรินทรามาตย์กับหลวงศรีราชาคุมเรือรบเล็กไปส่งให้พระยาโสรัชเจ้าเมืองกำปอด  เจ้าเมืองกำปอดก็ส่งให้พระยา,พระเขมรต่อไปจนถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองพนมเปญโดยทางบก  (หนังสือบอกฉบับนี้ไม่ได้ตัดรอน  กล่าวไว้เต็มตามต้นฉบับเดิม  เพื่อให้ท่านทั้งหลายผู้อ่านผู้ฟังทราบสำนวนเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ชื่อช่วง)

(https://i.ibb.co/19bt9js/Un56titled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายที่เมืองบันทายมาศนั้น  องตุนภู่แม่ทัพญวนเห็นว่ากองทัพเรือไทยถอยเลิกไปหมดแล้ว  จึงแบ่งกองทัพญวนไปรักษาเมืองบันทายมาศส่วนหนึ่ง  แบ่งไปสมทบช่วยเมืองโจดกสามส่วน  กองทัพญวนเมืองโจดกและเมืองบันทายมาศก็สมทบกันช่วยระดมตีกองทัพเจ้าพระยายมราช  พระพรหมบริรักษ์  นักพระองค์ด้วง  ทั้งสามเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการให้นายทัพนายกองไทยทั้งหลายตั้งค่ายประชิดค่ายญวน  กองทัพญวนก็ยกเข้าตีไทย เมื่อ ณ วันศุกร์เดือนห้าแรมสิบสามค่ำเวลาย่ำรุ่ง  ญวนกับไทยได้ต่อสู้กันอยู่พักหนึ่ง  พอสว่างเห็นกันถนัด  กองทัพไทยก็แตกกระจัดกระจายทุกทัพทุกกองป่นปี้

(https://i.ibb.co/XYMZ3V8/Untidftled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพไทยแตกครั้งนั้นเสียนายทัพไทยผู้ใหญ่ ๑๗ คน  เสียนายทัพเขมรผู้ใหญ่ ๘ คน  ไพร่ไทยตาย ๑,๒๐๐ คน  ไพร่เขมรตาย ๒,๐๐๐ คน  รวมไพร่พลไทยและไพร่เขมร ๓,๒๐๐ คน  แต่ที่หายไปเห็นจะตายบ้าง  ญวนจะจับเป็นไปบ้าง  หาทราบแน่ไม่  จำหน่ายชื่อนายทัพตาย ๑๗ คนนั้น  ขุนนางในพระราชวังหลวงนั้นคือ พระตะบะรามัญ ๑ พระชนะสงครามรามัญ ๑ สมิงนรเทวะรามัญ ๑ หลวงพัศดีกลาง ๑ ขุนนครเขตเกษมศรี ๑ ขุนวิถีธรรมสัญจร ๑ ยังขุนนางในพระราชวังบวรฯอีกคือ  พระยาอภัยสงคราม ๑ พระยานครานุรักษ์ ๑ พระมหาบุรีรมย์ ๑ หลวงเทพพนาไลย ๑ หลวงพิทักษ์โยธา ๑   ยังขุนนางหัวเมืองอีกคือ พระปลัดเมืองนครนายก ๑ หลวงศุภมาตราเมืองปราจีนบุรี ๑ หลวงมหาดไทยเมืองนครสวรรค์ ๑ หลวงนาเมืองอ่างทอง ๑ หลวงแพ่งกรุงเก่า ๑ แต่นายทัพเขมรนั้นตาย ๘ คือ พระยานราธิราช ๑ พระยาสุนทรสงคราม ๑ พระยาวิสุทธิสงคราม ๑ พระยาพิทักษ์โยธา ๑ พระนรินทรพิทักษ์ ๑ พระเสนาราช ๑ พระอาจารย์สนองจิก ๑ พระภักดีสงคราม ๑  กับนักพระองค์แก้วเจ้าเขมรแม่ทัพนั้นถูกปืนญวนตายในที่รบ  ศพเจ้าเขมรญวนก็นำไปให้นักพระองค์อิ่มดูเล่น

(https://i.ibb.co/0G4PpF2/Untitlsaed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ขณะเมื่อรบกันนั้น  ญวนยิงปืนมาตรงที่เจ้าพระยายมราชยืนอยู่นั้นหลายนัด  กระสุนปืนถูกนายแสงมหาดเล็กบุตรเจ้าพระยายมราชล้มลงตายอยู่ข้างเจ้าพระยายมราช  เจ้าพระยายมราชก็ถูกปืนที่หน้าอกนัดหนึ่ง  แต่หารู้สึกกายไม่  ด้วยกระสุนปืนเป็นตะกั่วยิงมาถูกดุมเสื้อ  กระสุนปืนนั้นหุ้มดุมเสื้อไว้  ห้อยติดอยู่กับหน้าอกเสื้อ  ต่อเลิกการรบแล้วจึงรู้ว่าถูกปืน
          แต่หลวงศรีพิทักษ์เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารขวาในพระราชวังบวรฯ  ถูกกระสุนปืนญวนนัดหนึ่งที่แขนซ้าย  แขนหัก  ขาตายไม่กลับมาได้
          แต่หลวงคชศักดิ์กรมช้างถูกกระสุนปืนหามแล่นเฉียดศีรษะไปจนผมไหม้เกรียม  หาเข้าไม่
          แล้วญวนก็ยิงอีกนัดหนึ่งถูกช้างล้มลงตาย  หลวงคชศักดิ์โดดลงจากหลังช้างหนีมาได้
          แต่พระอินทราธิบาลเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯนั้น  ยืนเร่งให้ไพร่เข้าต่อสู้ญวนก็ยิงปืนใหญ่มากระสุนปืนลอดหว่างขาไปจนขนหน้าแข้งเกรียม  จึงขึ้นม้าไล่ต้อนไพร่ให้ต่อสู้  ต่อสู้พักหนึ่งก็แตกหนีมา
          แต่หลวงรักษาเทพเจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารซ้ายในพระราชวังบวรฯ  เป็นแม่กองด้านหนึ่งเข้าต่อสู้ญวนก็แตกมาแต่ไพร่    แต่หลวงรักษาเทพตัวนายหายไปตั้งแต่เช้าจนเที่ยงจึงกลับมาได้  แต่หูขาดทั้งสองข้างเลือดไหลโซมหน้ามา  ลูกประคำทองของเครื่องยศที่คล้องคอก็หายสูญไปเสียด้วย  นายทัพนายกองหลวงรักษาเทพนั้นพูดแก้ตัวว่า

           “เมื่อทัพแตกจะสู้ก็ไม่ได้  จะหนีก็ไม่พ้น  จึงแกล้งทำเป็นตายลงนอนปนอยู่กับหมู่ศพ  นอนคว่ำหน้าอั้นหายใจเสียเป็นพัก ๆ  เมื่อญวนมาดู ๆ ก็คิดว่าตายเป็นศพเหมือนกัน  ญวนก็ถอดแต่ประคำที่คล้องคอไป  แล้วก็ตัดแต่ใบหูทั้งสองข้างไปให้เจ้านายมัน  พอญวนไปแล้วก็หนีมาได้”

           (คำที่หลวงรักษาเทพพูดแก้ตัวนั้น  มีผู้ถามเข้ามาว่า  ทำไมญวนจึงไม่ตัดศีรษะหลวงรักษาเทพนายทัพไทยไปให้แก่แม่ทัพญวน  จะได้รับบำเหน็จรางวัลและความชอบด้วยเล่า  มีผู้ตอบแก้แทนว่า  เห็นทีญวนเห็นศีรษะหลวงรักษาเทพล้านเกลี้ยงไม่มีผม  จะถือหิ้วศีรษะไปไม่ได้  มันจึงตัดแต่ใบหูสองข้างกับประคำทองที่คล้องคอไปให้ให้แม่ทัพญวนดูพอรู้ว่าฆ่านายทัพไทยตายคนหนึ่ง      / มีผู้ถามเข้ามาอีกว่า  ถ้าญวนมันเห็นศีรษะเกลี้ยงเกลาไม่มีผมจะถือหิ้วไปดังคำแก้นั้นก็จริงอยู่  แต่ทว่าญวนมันไม่โง่หนักหนาหูตามันไม่บอด  ถ้ามันจะแก้รัดประคดหนามขนุนที่เอวและผ้าที่นุ่งหรือเสื้อเข้มขาบที่สวมอยู่กับกายหลวงรักษาเทพออกสักอย่างหนึ่ง  แล้วหอศีรษะหลวงรักษาเทพไปไม่ได้หรือ    / มีผู้หนึ่งตอบแก้ว่า  ดวงชะตากุศลของหลวงรักษาเทพยังไม่ถึงที่ตาย  ญวนจึงไม่ฆ่า     แล้วมีผู้หนึ่งตอบแก้อีกว่า  หรือญวนจะจับหลวงรักษาเทพไปได้ทั้งเป็น  แต่มันเห็นว่าศีรษะล้านเกลี้ยงเลี่ยนโล่งไม่มีผมผิดกว่าคนปรกติ  ญวนมันก็นึกปรานีที่ศีรษะมันจึงไม่ฆ่า  ตัดแต่ใบหูทั้งสองข้างไว้ทำพันธุ์  แล้วมันก็ปล่อยมากระมัง   ความที่พูดว่าแกล้งทำตายนอนปนอยู่กับศพนั้นเห็นจะไม่จริง  เป็นการเท็จพูดแก้ตัวกลัวอายเท่านั้น  หลวงเทพรักษาก็โกรธจึงตอบว่า  คนที่พูดเช่นนี้ทำไมญวนไม่ฆ่าเสียให้หมดเล่า  ปล่อยให้มันมาพูดถากถางเพื่อนกันเล่นเปล่า ๆ  หาประโยชน์ไม่  เมื่อทัพแตกก็วิ่งมุดหัวหนีญวนมาเหมือนกัน)

           อนึ่งเมื่อกองทัพไทยแตกครั้งนั้น  ญวนก็ไม่ติดตามเหมือนทัพอื่น ๆ  ถ้าญวนติดตามซ้ำเติมแล้ว  เห็นทีว่าจะล้มตายหายจากมากกว่าหมื่นเศษเป็นแน่  ฝ่ายองเกียนเลือกแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองโจดก  มีชัยชนะตีกองทัพไทยเขมรแตกไปสิ้นแล้ว  จับไทยและเขมรไปเป็นเชลยมากกว่า ๓๐๐ คน  จับช้างได้ ๓๐  ม้า ๘๐  และเครื่องสรรพศาสตราวุธเป็นอันมาก  ตรวจดูได้ปืนใหญ่กระสุน ๔ นิ้ว ๕ นิ้ว ๑๘ บอก  ได้ปืนหามแล่นขานกยาง ๓๐ บอก  ได้ปืนเล็กคาบศิลา ๑๕๐ บอก  ดาบสั้น ๔๐๐ เล่ม  ได้ดาบยาว ๑๐๐ เล่ม  ได้พร้าปะกักด้ามยาว ๑๐๐ เล่ม  กับได้ธง,ฆ้อง,กลอง,เครื่องช้าง,เครื่องม้า ก็มาก  ขนของเครื่องทัพไทยทั้งปวงไปอวดกับนักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรที่เมืองโจดก  แล้วองเกียนเลือกแม่ทัพญวนพูดอวดกับนักพระองค์อิ่มว่า

(https://i.ibb.co/mHdjh1P/nxjZLL-0.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ญวนฆ่าขุนนางไทยตาย ๑๗ คน  ขุนนางเขมรตาย ๘ คน  เก็บได้เสื้อเข้มขาบและผ้าสีทับทิมโพกศีรษะของนายทัพนายกองไทยและเขมรมาได้ ๒๕ สำรับ  แล้วองเกียนเลือกนำศีรษะนักพระองค์แก้วเจ้าเขมร  ญาตินักพระองค์อิ่มมาให้นักพระองค์อิ่มดู  แล้วบอกว่าไพร่ไทยตายสองพัน  ไพร่เขมรตายสองพัน  เห็นไทยจะเข็ดหลาบบ้างอยู่แล้ว  แล้วบอกว่าเมื่อสู้รบกันนั้น  นายทัพญวนตายสองคน เป็นขุนนางผู้น้อย ไพร่ญวนตาย ๑๗๐ คน  ช้างถูกปืนตายเชือกหนึ่ง  ม้าตาย ๒๐  แล้วบอกกับนักพระองค์อิ่มว่า  เมื่อเวลาหัวค่ำให้ตีกลองเรียกไพร่พลเข้าค่าย  ทำอาการประหนึ่งจะทิ้งค่ายหนี  ไทยก็มีความประมาทว่าญวนไม่สู้จะหนีไป  ไทยหาสู้จะระวังรักษาค่ายไม่  ครั้นเวลาดึกใกล้รุ่ง  เสียงเกราะและเสียงฆ้องกระแตที่ค่ายไทยเงียบซาลงบ้าง  พอจวนสว่างญวนก็ยกเข้าปล้นตีค่ายไทยทุกค่าย  ที่อยู่สู้รบนั้นน้อยตัว  ที่ตื่นตกใจแตกหนีไปนั้นมากนัก  ญวนฆ่าไทยเขมรครั้งนี้จนขี้เกียจฆ่า  นึกสมเพชเวทนาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  จึงไม่ได้ไล่ติดตามฆ่าฟันต่อไปอีก  ไทยแตกไปแล้วก็แล้วกันไปเท่านั้น”

           (องเกียนเลือกพูดจาอวดอ้างกับนักพระองค์อิ่มเช่นนี้  นายมานายแสงเขมรคนรับใช้ของนักพระองค์อิ่มนั่งอยู่ที่นั้น  จึงได้ยินองเกียนเลือกพูดกับนักพระองค์อิ่มเป็นภาษาเขมร  เมื่อนักพระองค์อิ่มตายแล้ว  นายมานายแสงหนีญวนมาหานักพระองค์ด้วง  เพราะฉะนั้นไทยจึงรู้เนื้อความที่องเกียนเลือกแม่ทัพญวนพูด)”

          ค่ายไทยถูกญวนตีแตกเพราะความประมาทเลินเล่อของนายทัพนายกองไทยจริง ๆ อย่างที่แม่ทัพญวนพูดจริงหรือไม่  คิดกันเอาเองก็แล้วกัน  ค่อยมาอ่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, สิงหาคม, 2564, 09:53:31 PM
(https://i.ibb.co/vXjM6Rv/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๔๙ -

เกิดทุพภิกขภัยในเขมร
ทหารเกณฑ์อดตายไร้ศักดิ์ศรี
ราษฎรทิ้งเหย้าเข้าพงพี
ประชาชีเข้าป่าหาเผือกมัน

ถึงยามขาดเครื่องเสบียงเลี้ยงกองทัพ
ก็เท่ากับขาดแรงรบแข็งขัน
เดินมิได้รอตายไปวันวัน
ทั้งขาดขวัญสิ้นหวังกำลังใจ


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   ญวนในค่ายริมคลองขุดใหม่ทำอุบายหลอกไทย  โดยตอนหัวค่ำตีกลองเรียกไพร่พลเข้าค่ายแสดงอาการว่าจะไม่สู้รบไทย  เตรียมละทิ้งค่ายแล้วเพื่อให้ไทยตายใจไม่ระวังรักษาค่าย  ครั้นเวลาค่อนรุ่งเสียงฆ้องสัญญาณในค่ายไทยเงียบเสียงลง  ญวนจึงพาไพร่พลบุกจู่โจมเข้าปล้นค่าย  ไพร่พลไทยไม่ระวังตัวจึงพากันตื่นตกใจทำอะไรไม่ถูก  แตกหนีญวนโดยไม่เป็นอันสู้รบ  ครั้นรุ่งแจ้งแลเห็นตัวกันถนัดตา  ค่ายไทยก็แตกยับเยิน  นายทัพนายกองไทยตายไป ๑๗ คน  นายทัพนายกองเขมรตาย ๘ คน  ไพร่พลไทยเขมรตายรวมแล้วเกือบ ๔,๐๐๐ คน  เจ้าพระยายมราชถูกกระสุนปีนที่หน้าอก ๑ นัด  เดชะบุญลูกกระสุนปืนนั้นเป็นลูกตะกั่วถูกตรงดุมเสื้อแล้วหุ้มดุมเสื้อห้อยอยู่  รู้ตัวว่าถูกกระสุนปืนเมื่อเลิกรบกันแล้ว  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.....

          ฝ่ายเจ้าพระยายมราช  พระพรหมบริรักษ์  นักพระองค์ด้วง  แม่ทัพและ พระยา,พระ,หลวงไทย เขมร นายทัพนายกองทั้งปวงที่แตกหนีกลับมาถึงเมืองพนมเปญ เมื่อ ณ เดือนหกแรมหกค่ำปีขาลจัตวาศก  รวบรวมไพร่พลพักอยู่ที่นั้น  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกข้อราชการทัพศึกเมืองเขมร  ให้พระพินิจโยธาในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ  ใจความว่า

(https://i.ibb.co/1d860vm/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เจ้าหมื่นไวยวรนาถแม่ทัพหน้าฝ่ายเรืออยู่กำกับให้พระยาอภัยพิพิธ  พระราชวรินทร  พระสุรินทรามาตย์  หลวงชาติสุรินทร์  หลวงสุนทรพิมล  หลวงภักดีโยธา  หกคนเป็นแม่กองลำเลียงข้าวสาร  ข้าวตาก  เกลือ  เสบียงอาหาร  ขนลงเรือเล็กลำเลียงเข้าไปในลำคลองเมืองกำปอด  ส่งที่ท่าตอตะเคียน  ให้นายทัพนายกองบก นายทัพนายกองบกได้นำโคต่างช้างบรรทุกขึ้นไปส่งที่พนมเปญ  ตามมีในบัญชีหางว่าวนี้  ได้รับพระราชทานข้าวสาร ๒๘๘ เกวียน ๒๗ ถัง  ข้าวตาก ๑๖๗ เกวียน  เกลือ ๓๗ เกวียนกับ ๒ ถัง  ปลาทูเค็มและปลาเค็มน้ำจืด ๑๐๐ กระสอบ  ยาสูบ ๒๐๐ ลัง  ผ้าครามเมล็ดงา  ผ้าเขียวคราม ๕,๗๘๐ ผืน  เสื้อและกางเกง, หมวก, หวายคาดเอวด้วย ๕,๐๐๐ สำรับ  ได้รับแต่เท่านี้  หาครบตามท้องตราไม่  จึงมีหนังสือไปต่อว่าเจ้าหมื่นไวยวรนาถ  เจ้าหมื่นไวยวรนาถตอบว่า  ครั้นจะส่งข้าว ,เกลือ ,ปลาเค็ม, ยาสูบ ต่อไปอีกให้สิ้นเชิงครบตามจำนวนบัญชีท้องตรานั้นไม่ได้  เห็นว่าจะหนักหลายสิบเที่ยว  เพราะเรือเล็กที่ลำเลียงมาส่งนั้น  มีน้อยลำ  กลัวจะช้าเวลาไป  น้ำก็จะแห้งคลองลงทุกวัน  เรือก็จะติดอยู่ในคลองออกไม่ได้  ถ้าญวนรู้ว่าเรือลำเลียงเล็ก ๆ น้อยลำไปติดตื้นอยู่กลางทางดังนั้นแล้ว  ญวนก็จะแต่งกองทัพโจรมาตีเรือลำเลียง  เรือลำเลียงก็จะเสียแก่ญวน  พระราชอาชญาก็จะตกอยู่กับแม่ทัพเรือ  เพราะฉะนั้นจึงได้เลิกการส่งเสบียงแต่เท่านั้น  เพราะจะรีบหนีน้ำแห้งแล้วก็จะได้ไปซ่อมแซมเรือรบในเมืองจันทบุรีด้วย  กับข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ใช้ให้พระยาสุรเสนีเขมรไปสืบได้ข่าวว่า  กองทัพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  และเจ้าหมื่นไวยวรนาถก็กลับไปกรุงเทพฯ หมดแล้ว  ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า  การที่จะถมคลองขุดใหม่ญวนนั้น  เห็นจะไม่สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นแน่  พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อมข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพบกด้วย”

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ  ขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก  คิดจะกลับเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองอุดงคฦๅไชย  แต่เห็นว่าที่เมืองพนมเปญจะทิ้งเสียมิได้  กลัวญวนจะยกกองทัพเรือขึ้นมาตั้งรักษาเมืองพนมเปญอยู่อีก  จึงให้พระยา,พระเขมรคุมไพร่พลไปรื้อตึกเก๋งของญวนเสีย  และรื้อโรงปืนโรงเรือของญวนเสียด้วย

(https://i.ibb.co/LpPdjFx/101.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วสั่งให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองคุมพระยา,พระเขมรและไพร่พลเขมรไปทำการตั้งค่ายใหม่สี่ค่าย  หันหน้าค่ายทั้งสี่ลงไปข้างแม่น้ำใหญ่ที่ตำบลโพธิ์พระบาทบ้านนักพระองจันทร์เก่านั้นเป็นศีรษะแหลมชัยภูมิดีอยู่  จึงให้พระยาเสนาภูเบศร์วังหน้าเป็นแม่กองคุมไพร่เขมรไปทำการตั้งค่ายมั่นที่วังเก่านักพระองค์จันทร์สองค่าย  ทำเป็นค่ายไม้แก่น

          แล้วให้พระยายกกระบัตร  พระยาณรงค์สงคราม  พระยาทุกขราษฎร์  พระยาทั้งสามคน ณ เมืองนครราชสีมา  คุมไพร่พลคนลาวโคราชห้าพัน  ให้พระยานเรนทราธิราชเขมร  พระยามโนราชาเขมร  พระยาราชเดชเขมร  พระยาเขมรสามคนคุมพลเขมรห้าพัน รวมลาวโคราชเขมรหนึ่งหมื่นให้อยู่รักษาค่ายพนมเปญ

          ครั้นถึง ณ เดือนเจ็ด  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้เจ้าพระยายมราชเป็นแม่กองคุมพระยา, พระ, หลวง, นายทัพนายกองที่แตกทัพหนีญวนมานั้น  ให้คุมไพร่พลที่แตกทัพมาห้าพัน  ไปทำเมืองใหม่ที่ตำบลคลองพระยาลือในแขวงเมืองอุดงคฦๅไชยให้นักพระองค์ด้วงอยู่  ให้ตั้งเสาระเนียดไม้แก่นเป็นค่ายยาว ๑๕ เส้น  มีประตูหอรบรอบค่าย  ให้พูนมูลดินขึ้นเป็นป้อมหกป้อม  สูงแปดศอกสี่ป้อมตามมุมค่าย  สูงสามวาสองป้อมอยู่หน้าค่ายและหลังค่าย  แล้วให้ขุดสนามเพลาะเป็นคูรอบค่ายทั้งสี่ด้านเป็นชานเมือง

          ครั้น ณ เดือนแปด  เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้หลวงนรารณรงค์ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่ง ใจความว่า

(https://i.ibb.co/QddQ7PD/29-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ที่เมืองเขมรไม่ได้ทำไร่ทำนามาถึงสามปีเศษแล้ว  ด้วยบ้านเมืองเป็นทัพศึก  เพราะฉะนั้นที่เมืองเขมรจึงขัดสนเสบียงอย่างยิ่งที่สุด  ไม่มีที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน  ราษฎรและภิกษุสามเณรพากันอดอยากล้มตายมาก  ไพร่บ้านพลเมืองเขมรพากันไปตั้งอยู่ในป่าหาหน่อไม้ เผือก มัน กลอย และรากไม้รับประทานต่างข้าว  ไพร่พลไทยลาวที่เกณฑ์มาเข้ากองทัพนั้นก็อดอยากซูบผอมซวดโซล้มตายถึงพันเศษ  ข้าวในกองทัพจ่ายให้ไพร่พลรับพระราชทานมื้อละถ้วยตะไล  ให้ปนใบไม้รากไม้รับพระราชทานก็หาทนกำลังอยู่ได้ไม่  บ้างล้มตายบ้าง  หนีหายเข้าป่าไปหากินก็มีบ้าง  แต่ก่อนเมื่อจวนข้าวจะหมดนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าเสบียงอาหารน้อยลง  คงจะไม่พอตลอดสามเดือนหรือเดือนหนึ่ง  จึงให้พระยาธัญญาธิบาลวังหน้าเป็นเชื้อลาวเก่า  กับหลวงวิจารณ์สาลีหลวงศรีโภคา  หลวงเมืองนครราชสีมา  คุมไพร่พลลาวหัวเมืองห้าร้อยกับโคต่างพันเศษ  และคุมเงินขึ้นไปจัดการซื้อข้าวแขวงเมืองลาวทางตะวันออกก็ยังไม่กลับมา  กับได้ให้จมื่นศักดิ์แสนยารักษ์ปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ กับนายนรินทรคชกรรม์ กรมช้างในพระราชวังหลวง  และนายอินทรคชลักษณ์ กรมช้างในพระราชวังบวรฯ  เป็นข้าหลวงสามนายคุมช้างขึ้นไปซื้อข้าวที่บ้านทุ่งพระพุทธในป่าดง  เขมรบ้านป่าดงทุ่งพระพุทธก็ขายข้าวให้บ้าง  นำเกลือแลกข้าวได้บ้าง  ก็หาพอจับจ่ายใช้ราชการไม่”

(https://i.ibb.co/9yQ5Xrr/34.jpg) (https://imgbb.com/)

          คำกล่าวที่ว่า  “กองทัพเดินด้วยท้อง”  ไม่ผิดไปได้เลยจริง ๆ  อ่านใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาเรื่องเมืองเขมรขาดเสบียงอาหารแล้ว  แสนสงสารประชาชีชาวเขมรเป็นยิ่งนัก  เพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวการณ์ศึกสงคราม  ชาวนาชาวไร่ไม่มีโอกาสทำนาทำไร่เป็นเวลานานถึงสามปี  ข้าวปลาอาหารจึงขาดแคลน  คิดถึงชาวนาชาวไร่ไทยในช่วงปี ๒๔๘๕  ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่  นาไร่ล่มจมน้ำเสียหาย  ครั้นน้ำลดก็เกิดสงครามใหญ่  และฉาตภัย (ความแห้งแล้ง)  ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง) ก็ตามมา  ชาวชนบทต้องเข้าป่าหากลอย เผือก มัน ขุยไผ่ มากินแทนข้าว  อย่างดีก็นำมาผสมข้าวสารหุงกินกัน  สภาพของคนเขมรตามใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา  ดูจะเลวร้ายกว่าคนไทยดังกล่าวมากนัก  ที่น่าเห็นใจและซาบซึ้งคุณงามความดีที่สุดคือเหล่าทหารหาญในกองทัพไทยและเขมรที่ยกไปรบกับญวน  ทุกท่านต้องต่อสู้กับลูกปืน  คมหอก  คมดาบของศัตรู  เสี่ยงตายในสนามรบยังไม่พอ  ต้องมาต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยจนถึงกับล้มตายไปบ้างก็มี  เมื่อขัดเสบียงอาหารแล้วกองทัพก็เดินไปไม่ได้  กองทัพไทยจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg48585#msg48585)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg50321#msg50321)



เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, สิงหาคม, 2564, 10:40:19 PM
(https://i.ibb.co/h247YJN/1e6e77a2f.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg49403#msg49403)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg51022#msg51022)                   .

- อานามสยามยุทธ ๑๕๐ -

ตอบท้องตรามาเหน็บอย่างเจ็บแสบ
ติเตียนแบบผู้ดีมิใช่ไพร่
ขุนทหารผ่านศึกพม่าไทย
มาเป็นใหญ่นายทัพกลับหย่อนยาน

ล้วนประมาทขาดระวังนั่งนอนเล่น
ปล่อยญวนเข่นฆ่าได้ไม่ต่อต้าน
จึง“ฉิบหายตายโหง”ลงซมซาน
เสียราชการเสียศรีวีรชน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้คนถือเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลถึงเรื่องเสบียงอาหารที่ไม่ได้รับครบจำนวนตามท้องตรา  ในยามนี้เมืองพนมเปญขัดเสบียงอาหารอย่างหนัก  จนเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดจะยกจากพนมเปญไปตั้งอยู่ที่เมืองอุดงฦๅไชย  แต่เกรงญวนจะยกมายึดเมืองพนมเปญอยู่อีก  จึงให้แม่ทัพนายกองตั้งค่ายใหญ่ไม้แก่นในที่วังเก่าของนักพระองค์จันทร์  จัดให้แม่ทัพนายกองเมืองนครราชสีมาร่วมกับเขมรคุมไพร่พลหมื่นหนึ่งอยู่รักษาค่าย  แล้วสั่งให้เจ้าพระยายมราชนำไพร่พลที่แตกหนีญวนมานั้น  ไปสร้างเมืองใหม่ ณ ตำบลคลองพระยาลือ  แขวงอุดงคฦๅไชย  ให้เป็นที่ประทับนักพระองค์ด้วง  แล้วมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลเรื่องขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก  จนถึงขนาดไพร่เกณฑ์จากหัวเมืองอดอยากผอมโซล้มตายล ง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  เชิญอ่านข้อความดังต่อไปนี้ครับ......

          พนักงานนำหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบออกไปว่า

(https://i.ibb.co/k5996Zk/Untditled-35.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ราชการที่เมืองเขมรนั้น  ได้ทรงพระราชดำริคาดคะเนการงานในกองทัพนั้น  ก็ทรงคะเนทราบอยู่บ้างแล้วว่า  ไพร่พลไทย,ลาว,เขมร  คงจะอดอยากด้วยมากรากกรำทำศึกกับญวนอยู่หลายปี  เห็นจะขัดสนเสบียงอาหารข้าว,ปลา,เกลือ,เสื้อผ้าเป็นแน่  เพราะฉะนั้นเมื่อกองทัพเรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จออกไปตีเมืองบันทายมาศนั้น  ก็ได้พระราชทาน้าวสาร ๘๘๓ เกวียน ๕๕ ถัง ข้าวตาก ๑๖๗ เกวียน เกลือ ๑๖๐ เกวียน ๕๐ ถัง ยาสูบเพชรบูรณ์เกาะกร่าง ๕๐๐ ลัง ปลาเค็มน้ำจืดน้ำเค็ม ๒๐๐ กระสอบ ผ้าตาเมล็ดงาผ้าเขียวคราม ๕,๗๘๐ ผืน เสื้อ, กางเกง, หมวก, หวายคาดเอว ๕,๐๐๐ สำรับ  สิ่งของทั้งนี้ให้ออกไปส่งที่เมืองกำปอด  กองทัพเรือก็ได้นำสิ่งของข้าวปลาเกลือเหล่านี้ส่งส่งที่เมืองกำปอดแต่อย่างละเล็กละน้อย  หาได้ครึ่งไม่  เป็นแต่ส่งเสื้อกางเกงหมวกนั้นและหมดจำนวน  แล้วก็พาข้าวปลา เกลือ ยาสูบ กลับเข้ามาในกรุงเทพฯอย่างละมาก ๆ  เมื่อขนขึ้นขนลงถ่ายไปเทมาหลายเที่ยวดังนั้นแล้ว  จนของเหล่านั้นป่นปี้เสียหายไปมาก  หาประโยชน์ไม่  เสียเงินเปล่า ๆ แล้ว  กลับมาพูดจายักเยื้องเป็นการแก้ตัวว่า  มีเรือเล็กลำเลียงน้อยลำนัก  ครั้นจะลำเลียงหลายสิบเที่ยวก็กลัวน้ำในคลองเมืองกำปอดจะแห้งหมด  เรือลำเลียงและไพร่พลที่ขนข้าวเกลือจะออกก็ไม่ได้  เพราะที่ปากน้ำเมืองกำปอดตื้นหนัก  พูดยักเยื้องไปต่าง ๆ อย่างนี้  เห็นว่าไม่เป็นใจแก่ราชการบ้านเมือง  ดูเหมือนทำโดยเสียไม่ได้  ทำการงานอย่างมักง่ายใจด่วน  รีบจะกลับมาบ้านหาความสุขสบายเท่านั้นเอง  ครั้นรู้เท่ารู้ทันบ้างจะให้ชำระสะสางให้ได้ความจริงลงเป็นตัวอย่างบ้าง  ก็จะเป็นความความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้ราชการไปด้วยก็มีมาก  เพราะฉะนั้นจึงได้อดกลั้นข่มขืนกลืนความที่เสียหายเหล่านี้เสียหมด  ไม่อยากจะออกปากพูดต่อไป

          อนึ่ง  กองทัพเรือเมื่อยกลงไปรบไปตีญวน  ไม่ได้นัดหมายให้ทัพบกมาพรักพร้อมกันระดมตีญวน  ไปทำตามกำลังทัพเรือพวกเดียว  ทำก็ไม่สำเร็จโดยอำนาจทัพเรือ  จึงต้องกลับมาไม่เป็นราชการสักอย่างเดียว  แต่คราวนั้นได้ยินว่ากองทัพเรือรีบกลับมาเสียโดยเร็ว  เพราะตื่นข่าวคราวว่าทัพญวนเมืองไซ่ง่อนจะยกเพิ่มเติมมาทั้งทัพเรือและบก  จึงตกใจกลัวญวน  รีบเลิกถอนกลับมาเสียก่อนเมื่อยังไม่ได้เห็นว่าทัพญวนจะมาจริงหรือไม่จริง  สุดแต่อ้ายญวนเชลยมันพูดจาหลอกลวงอย่างไรก็เชื่อถ้อยคำมัน  มันจะขู่หรืออย่างไรก็ไม่รู้  กองทัพฝ่ายหนึ่งยังกำลังยกเข้าประชิดติดพันสู้รบกับญวนอยู่โดยสามารถ  ฝ่ายหนึ่งก็ทิ้งพวกกันเสีย  ถอยกลับมาไม่ได้บอกกล่าวให้รู้ตัวก่อน  เดชะบุญเผอิญญวนก็ล่าทัพไป  พวกที่ติดพันกันนั้นจึงได้ถอยหลังตามกันออกมาบ้าง  ถ้าญวนยังไม่หนีแล้วที่ไหนเล่าคงตายกันเกือบหมด  เพราะทัพหนุนล่ามาก่อนไม่บอกทัพหน้าให้รู้ตัวบ้าง

          ฝ่ายทัพบกเล่าไพร่พลก็มีมากทั้งไทย, ลาว, เขมร  หลายหมื่นคน  นายทัพนายกองข้างวังหน้าก็มีมาก  แต่ล้วนเคยทัพเคยศึกลาวเวียงจันทน์และพม่าทวายมาแทบจะทุกคน  ก็ไปตั้งล้อมญวนคราวนี้ก็พากันนิ่งดูใจญวนเสียหมด  ไม่คิดอ่านหาชัยชำนะแก่ญวนบ้าง  ไปตั้งอยู่สู้รบกับลมเฉย ๆ ก็แต่พวกวังหน้านั้นเขาเป็นแต่ลูกกองเหมือนช้างตีนหลัง  ผู้ใหญ่ไม่ใช่สอยคิดอ่านก่อน  เขาจะทำก่อนก็จะพาลหาผิดแก่เขา  ฝ่ายท่านแม่ทัพนายกองพวกวังหลวงเก่าถึงน้อยตัวก็จริง  แต่ว่าเป็นผู้ใหญ่มีบรรดาศักดิ์มาก  กินถึงพานทองก็หลายคน  แต่ไม่คิดอ่านรีบรัดรบตีญวนประการหนึ่งประการใดก็ไม่ทำ  ไปตั้งค่ายล้อมญวนอยู่เก้อ ๆ ไม่เป็นราชการ  ดูเหมือนจะคอยแตกคอยวิ่งหนีญวนเล่นอย่างเช่นเด็ก ๆ มันเล่นรบกัน  ท่านเจ้าคุณ พระยา,พระ,หลวง,ขุน,หมื่น,นายเวร ทั้งวังหลวงวังหน้าและหัวเมืองด้วย  ไม่ช่วยกันคิดอ่านระวังตัวรักษาชีวิตพวกไทย,ลาว,เขมร พวกเดียวกัน  พากันเลินเล่อหมิ่นประมาทต่อการศึกสงคราม  ถือว่ามีพวกมาก ๆ ไม่เป็นไร  และล้อมญวนไว้รอบแล้วมันจะหนีแหกออกไปไหนได้  เพราะคิดเช่นนี้  ญวนข้าศึกจึงได้ไล่แตกมาทั้งสิ้น  เกือบจะไม่รอดตัวได้ทั้งหมด  นี่หากว่าญวนไม่ไล่ติดตามซ้ำเติมอีกจึงได้รอดมาได้มาก  ถ้าเป็นเช่นทัพศึกพม่าและทวายหรือลาวดังนี้  มันก็จะไล่ไม่ให้หนีรอดมาได้เลยแต่สักคน

          ฝ่ายท่านเจ้าคุณเจ้าพระยายมราช  เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งอายุก็มากและยศอำนาจวาสนาก็มากกว่านายทัพทุกคน  ใคร ๆ เขาก็รู้อยู่ว่าเป็นตระกูลสุริยวงศ์ข้าหลวงเดิมทั้งฝีมือก็เคยเข้มแข็ง  แต่ว่าคราวนี้ไม่รู้เท่ารู้ทันกลอุบายญวน  มันคิดหลอกลวงให้ตายใจจนจะไม่ถืออาวุธ  เพราะความที่เลินเล่อหมิ่นประมาทจนกองทัพญวนยกมาก็ไม่รู้ตัว  ต่อมันมาใกล้ถึงตัวเสียแล้วจึงได้คิดจะต่อสู้ก็สู้ไม่ทัน  เพราะมันเผาค่ายได้ก่อน  ไทยก็เสียทีเสียรู้ญวน  ญวนไล่ฆ่าฟันยิงแทงเล่นดังเขาว่าลูกไก่อยู่ในมือ  ครั้งนั้นทัพไทยก็แตกยับเยินป่นปี้มาเหมือนเขาว่าฉิบหายตายโหง  เพราะฝ่ายไทยตายด้วยถูกอาวุธจึงว่าตายโหง  ที่ไม่ตายวิ่งตะเกียกตะกายหนีรอดมาได้  ก็เสียประคำทองที่คล้องคอและเครื่องอาวุธและของใช้สอยมาก  จึงว่าฉิบหาย  ถ้าไม่มีความหมิ่นประมาทแก่ข้าศึกแล้ว  และตั้งใจอุตสาหะระวังให้รู้เท่ารู้ทันชั้นเชิงศึกสงครามกลอุบายญวนก่อน ถึงมาทว่าญวนจะยกรี้พลมามากสักเท่าใดก็ดี มันก็คงเดินดินมาก่อนกว่าจะถึงค่ายไทย  ไทยก็จะได้ยิงโต้ตอบไปบ้าง  ญวนคงจะตายลงไม่มากก็น้อย  เพราะกองทัพอยู่ในค่ายได้เปรียบญวนมาก  ปืนใหญ่น้อยในค่ายก็มีพร้อม  ช่างทิ้งเสียได้  ไม่ยิงมันไปบ้าง  ปล่อยให้ญวนมาทำเล่นถึงค่ายได้ง่าย ๆ ไม่รู้สึกบ้างหรือ  ถึงว่าญวนจะมีฤทธิ์รี้พลเหมือนขุนแผนก็ดี  ถ้าไทยไม่ประมาทรู้ตัวก่อนญวนยกมาได้เต็มใจสู้รบจริง ๆ แต่เมื่อแรกญวนมานั้น  ญวนก็จะล้มตายลงด้วยเครื่องศาสตราวุธของไทยพอ ๆ ดูอยู่หนา  นี่พากันนิ่งเฉยเสียหมด  จนญวนมาถึงค่ายไทย  ไทยก็แตกหนีเท่านั้นเอง  ช่างกลัวญวนราวกับมันเหาะได้  เมื่อแตกหนีไปก็เสียเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารมากมายอยู่  จนต้องถึงกับอดอยากต้องกินข้าวปนผัก  ครั้งนี้จะให้ทัพเรือบรรทุกข้าวเกลือที่เหลือกลับมา  และจะจัดเสบียงอาหารเพิ่มเติมให้ไปส่งที่เมืองกำปอดอีกก็เห็นจะไปมายาก  เกลือกจะไม่เป็นการงาน  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ  เข็ดสติปัญญาเจ้าประคุณพระยา,พระ,หลวงนายทัพนายกองทั้งบกและเรือเสียแล้ว  ถ้าจะบังคับให้ไปส่งเสบียงแต่เพียงที่เมืองกะพงโสมเห็นจะส่งได้ง่าย  เพราะว่าไกลกลิ่นอุจจาระปัสสาวะญวนข้าศึกสักหน่อย  เพราะใกล้ทางเมืองจันทบุรีเข้ามา  พอจะหลบหลีกหนีกลิ่นมูตรคูถญวนเข้ามาเมืองจันทบุรีได้โดยเร็ว  ถ้าจะให้ไปส่งดังที่ว่านี้  เห็นทีพอจะกดขี่ข่มขืนให้นำข้าว,เกลือ,ปลา,ยาสูบ ออกไปส่งกองทัพบก  ลองดูตามบุญตามกรรมอีกสักครั้งหนึ่ง  เห็นหน้าอยู่ก็แต่พวกแขกอาสาจาม ทั้งวังหลวงและวังหน้าพอจะใช้ให้ไปส่งเสบียงอาหารครั้งนี้ได้บ้าง  พวกไหนเขาไม่สู้จะเต็มใจก็ไม่อยากจะใช้สอยเขา  เพราะเข็ดความคิดเขาแล้ว  บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสำเนาหนังสือบอกพระยาพิพิธวิจิตรพันธุวงศาปัญญาโกงโหงพรายกระทายพรูด  แม่กองทัพเรือหัวเมืองออกมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาสอบตรวจดูสติปัญญาในใบบอกหลอกลวง  แก้ตัวกลโกงของพวกนายทัพนายกองเรือครั้งนั้นดูเล่นด้วย”

(https://i.ibb.co/9vMZWHm/Untithfled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** อ่านเนื้อความในท้องตราที่มีไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาจนจบแล้ว  ทุกท่านรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงสิ้นหวังในการจะพึ่งพาอาศัยใช้สอยข้าราชการแม่ทัพนายกองของพระองค์เสียแล้ว  สงครามไทยญวนในเขมรพระองค์ไม่เห็นชัยชนะตามพระราชประสงค์  พระราชดำรัสเหน็บแนมทัพนายกองเจ็บแสบมาก  ไม่รู้ว่าแม่ทัพนายกองไทยได้ยินแล้วจะรู้สึกกันอย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, สิงหาคม, 2564, 10:58:38 PM
(https://i.ibb.co/2yDwqJ9/Unfdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๑ -

นักองค์อิ่มพิราลัยด้วยไข้บิด
ญวนหมดสิทธิ์เชิดหุ่นหายเหตุผล
ส่วนหนึ่งถอยกลับเว้ด้วยกังวล
ขบถปล้นตังเกี๋ยสูญเสียเมือง

ทัพญวนอ่อนผ่อนคลายไทยควรรุก
แค่เตรียมบุกก็ต้อง “ท้องเป็นเรื่อง”
ขาดเสบียงเลี้ยงทหารพาลฝืดเคือง
รอการเปลื้องปัญหาจากนาวี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าให้มีท้องตราถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา มีพระราชดำรัสถึงเรื่องการส่งเสบียงอาหาร  และการรบญวนที่คลองขุดใหม่  ความในท้องตรายาวมากตามที่ทุกท่านได้อ่านกันไปแล้ว  วันนี้มาอ่านเรื่องต่อครับ......

(https://i.ibb.co/6XKWSXV/Untitl96ed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายฟ้าทลหะ  สมเด็จเจ้าพระยา  พระยาราชไมตรี  พระยาจักรี  พระยากลาโหม  พระยาสุภาธิราช  พระยา พระเขมรผู้ใหญ่ทั้งหกนี้ออกจากเวรจำแล้ว  จึงกราบทูลอาสาพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีว่า  จะคิดอ่านคืนเมืองเขมรถวายขึ้นแก่แผ่นดินญวนให้ได้  พระยา พระเขมรผู้ใหญ่ที่รับอาสามานั้นจึงพานักพระองค์อิ่มลงมาตั้งที่พักอยู่ ณ ค่ายกะพงกะสัง  แล้วพระยา พระเขมรผู้ใหญ่ก็ทำหนังสือมาเกลี้ยกล่อมพระยา พระเขมรเก่า ๆ ที่เป็นพวกพ้องนั้นถึง ๑๒ ฉบับ  พระยา พระเขมรเหล่านั้นก็เก็บหนังสือเกลี้ยกล่อม ๑๒ ฉบับนั้นมาให้นักพระองค์ด้วงทั้งสิ้น  หามีผู้ใดไปเข้าด้วยนักพระองค์อิ่มไม่  พระยา พระเขมรฝ่ายใต้เมื่อมาตั้งเกลี้ยกล่อมพระยา พระเขมรฝ่ายเหนือไม่สมคิดแล้ว  จึงพานักพระองค์อิ่มกลับลงไปอยู่เมืองโจดกดังเก่า  แม่ทัพญวนก็ตั้งทัพใหญ่คุมเชิงอยู่ ณ เมืองโจดก

(https://i.ibb.co/BLW4VQD/15276936.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือนสิบเอ็ดแรมสี่ค่ำ ในปีขาลจัตวาศกนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกให้จ่าจิตรนุกูลมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ  ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งใจความว่า  ได้แต่งพระอนุรักษ์ภูธรกับหลวงเสน่หาภักดีเขมรสองนาย  คุมไพร่เขมรลงไปลาดตระเวนสืบข้อราชการทัพญวน  กองตระเวนไปถึงเมืองไพรกะบากเป็นแดนเขมรต่อแดนญวนเมืองโจดก  กองตระเวนพบนายโสม  นายมา  นายหง  เขมรเก่าเมืองพนมเปญลูกค้าไปเมืองโจดกกลับมา  กองตระเวนก็พาเขมรลูกค้าทั้งสามคนมาถึงเมืองอุดงคฦๅไชย  นักพระองค์ด้วงถามนายโสม นายมา นายหง  ให้การว่า  ได้ไปค้าขายในเมืองเขมรฝ่ายญวน  ญวนก็ไม่ว่า  เป็นแต่ว่าเขมรพวกฝ่ายเหนือมาค้าขายก็อย่าให้จับกุมห้ามปราม  ปล่อยให้ไปมาค้าขายตามสบายใจ  ไม่ให้ตั้งด่านจับเหมือนเมื่อครั้งองเตียนกุนแม่ทัพคนเก่าที่ถึงแก่กรรม  เพราะฉะนั้นลูกค้าฝ่ายเขมรเหนือพวกนักพระองค์ด้วงซึ่งอดอยากจึงต้องไปค้าขายแลกเปลี่ยนเสมอ  องเกียนเลือกแม่ทัพญวนคนใหม่นี้จัดการให้เย็น  เพื่อจะเกลี้ยกล่อมเขมรฝ่ายเหนือที่อดอยาก  เมื่อนายโสม นายมา นายหง ลงไปค้าขายนั้น  ไปถึงคลองปากบึงแล้ว  ไปถึงค่ายกะพงกะสังฝั่งตะวันออกใกล้เมืองโจดก  เห็นญวนสองคนพายเรือเล็กออกมาจากตลาดหน้าเมืองโจดก  พอจะเลี้ยวเข้าในคลองปากบึงก็พอนายโสม นายมา นายหง พายเรือลงไปถึงแม่น้ำใหญ่ใกล้ปากคลองปากบึง  จึงรู้จักหน้ารู้จักชื่อญวนทั้งสอง  ญวนทั้งสองชื่อนายหุ่งคนหนึ่ง  ชื่อนายเก่อคนหนึ่ง  นายโสม นายมา นายหง เคยไปมาค้าขาย  จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับนายหุ่งนายเก่อ  นายเก่อก็ทักนายโสม นายมา นายหง  นายหงจึงเรียกญวนทั้งสองให้แวะเข้ามาพูดจากันตามภาษาญวน  แล้วนายโสมเขมรถามญวนสองคนว่า  ได้ยินข่าวเขาพูดกันว่านักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรป่วยหนักจริงหรือ?

          นายหุ่งนายเก่อตอบว่า  ป่วยหนักเกือบจะตายจริง  แต่เดี๋ยวนี้หายเป็นปกติแล้ว

          นายโสมเขมรถามนายหุ่งนายเก่อว่า  เดี๋ยวนี้นักพระองค์อิ่มเจ้าเขมรอยู่ที่ไหน?

          ญวนชี้มือว่า  อยู่ที่ในค่ายกะพงกะสังตรงหน้าเรือเราจอดนี้

          นายโสมถามต่อไปว่า นักพระองค์อิ่มนั้นมาอยู่ในค่ายนี้ทำไม?

          ญวนตอบว่า  องทำตานแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนให้พระยา พระเขมรผู้ใหญ่คือ  ฟ้าทลหะ  สมเด็จเจ้าพระยา  เจ้าพระยาราชไมตรี  พระยาจักรี  พระยากลาโหม  พระยาสุภาธิราช  ขุนนางเก่าที่ถอดตรวนมาแต่กรุงเว้นั้น  พานักพระองค์อิ่มมาตั้งเกลี้ยกล่อมพวกเขมรอยู่ที่นี้

          นายโสมเขมรถามว่า  เราทั้งสามคนนี้เป็นเขมรข้าแผ่นดินนักพระองค์อิ่ม  นักพระองค์อิ่มก็เป็นเจ้านายฝ่ายเรา  เราจะไปเยี่ยมเยือนบ้างจะได้หรือไม่ ?

          ญวนตอบว่า ถ้าเองไป  เองก็กลับมาค้าขายไม่ได้  เพราะทหารญวนเห็นแปลกใจก็จะจับเองไปฆ่าเสีย  หรือจะส่งไปจำตรวนขังคุกก็ไม่รู้  จะไปหาเขาทำไม  ไปค้าขายหากินของเราตามภาษาราษฎรดีกว่า ไปเกี่ยวข้องกับราชการทัพศึกไม่ดีเลย

          แล้วนายโสมถามต่อไปว่า  ถ้าเช่นนั้นเราก็ไม่ไป  แต่ว่าเราอยากรู้ว่า  เดี๋ยวนี้ญวนกับเขมรคิดอย่างไรบ้างในการบ้านเมืองเขมรนี้

          นายหุ่งนายเก่อตอบว่า  เดี๋ยวนี้พระยา  พระเขมรผู้ใหญ่เก่า ๆ ที่ออกจากคุกนั้น  ได้จัดกองทัพใหญ่ฝ่ายเขมรหลายพัน  แขกจามด้วย  ไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ค่ายจะโรยจังวา  นักพระองค์อิ่มก็ไปดูแลอยู่ด้วย  เห็นจะคิดอ่านคืนแผ่นดินเขมรให้ได้เป็นแน่  กับนักพระองค์อิ่มพูดอยู่เสมอว่า  จะแย่งชิงแผ่นดินพระองค์ด้วงน้องชายให้ได้

          นายโสม  นายมา  นายหง เขมรถามญวนต่อไปอีกว่า  ถ้าเช่นนั้นใครจะแพ้ใครจะชนะเล่า

          นายหุ่งนายเก่อตอบว่า  ที่ไหนไทยจะสู้ญวนได้เล่า  เดี๋ยวนี้จ๋งต๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนเกณฑ์ไพร่พลญวนห้าพัน  ให้องจันลันบินเป็นแม่ทัพคุมทหารญวนห้าพัน  แต่ล้วนเป็นทหารได้ฝึกหัดซักซ้อมทั้งสิ้น  ยกมาเกณฑ์ทหารเมืองเตราอีกสามพัน  แล้วมาบรรจบกับไพร่พลเมืองมะซางอีกสองพัน  รวมเป็นหมื่นหนึ่ง  ยกมาถึงเมืองโจดกแล้วแต่ ณ เดือนสาม  จะยกลงมาตีกองทัพไทยให้แตกกลับไปให้สิ้น  จะตีเมืองเขมรคืนให้นักพระองค์อิ่มให้ได้  แต่ว่าองจันลันบินแม่ทัพเมืองไซ่ง่อนนั้น  คอยกองทัพเจ้าเมืองแถบ  ชื่อองกวานฮือ  เป็นแม่ทัพคุมไพร่พลญวนเมืองแถบเจ็ดพันมาสมทบอีกกองหนึ่ง  ได้ยินว่าเจ้าเมืองแถบยกมาถึงเมืองล่องโห้สะมิถ่อแล้ว  เต็มช้าอีกสักสิบวันก็จะถึงเมืองโจดก

          แล้วนายหุ่งนายเก่อเล่าต่อไปอีกว่า  เราได้ยินญวนพี่เขยเรามาแต่กรุงเว้เมืองหลวงบอกแก่เราว่า  พระเจ้าเวียดนามองค์ใหม่นี้มีรับสั่งให้องเฮากุนเสนาบดีกรุงเว้ คุมทหารญวนในกรุงเว้หกพันคนยก ลงมาเกณฑ์ทหารตามหัวเมืองอีกสี่พันเป็นหมื่นหนึ่ง  ยกมาเพิ่มเติมตีเมืองเขมรให้พระองค์อิ่มให้ได้  แต่เดี๋ยวนี้กองทัพองเฮากุนยกลงมาถึงเมืองไซ่ง่อนแล้ว  จะยกมาเมืองเขมรก็พอเกิดความไข้ป่วงใหญ่ขึ้นที่เมืองไซ่ง่อนก่อน  แต่เดี๋ยวนี้ความไข้ป่วงใหญ่ก็เดินมาถึงเมืองบันทามาศเมืองโจดกแล้ว  นายทัพนายกองญวนและไพร่พลญวนในเมืองไซ่ง่อนและเมืองโจดกก็ล้มตายมาก  เพราะฉะนั้นแม่ทัพญวนจึงได้ตั้งรั้งรออยู่ยังไม่ยกมาเมืองเขมร  คอยให้ความไข้ซาลงเมื่อไรเห็นจะยกมาทั้งสามทัพไพ่พลสักสามหมื่นเศษ    กับนายหุ่งนายเก่อเล่าต่อไปว่า  พี่เขยเราที่มาแต่กรุงเว้บอกแก่เราว่า  เดี๋ยวนี้ที่เมืองตังเกี๋ยหัวเมืองใหญ่ขึ้นแก่กรุงงเว้นั้น  เป็นขบถขึ้นแล้ว  พระเจ้าเวียดนามมีท้องตาลงมาว่า  ให้ถอนทัพองเฮากุนหมื่นหนึ่งกลับขึ้นไปรักษากรุงเว้  แล้วให้เกณฑ์กองทัพเมืองใหญ่น้อยไปรบตีเมืองตังเกี๋ยในเร็ว ๆ นี้ด้วย  เพราะฉะนั้นการศึกญวนที่จะมาตีเมืองเขมรให้นักพระองค์อิ่มนั้น  จึงเงียบสงบไปก่อน  ผ่อนกองทัพไปรักษากรุงเว้บ้าง  ไปตีเมืองตังเกี๋ยบ้าง  อยู่รักษาเมืองเขมรบ้าง

(https://i.ibb.co/LthSzNQ/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนเจ็ดในปีเถาะเบญจศกจุลศักราช ๑๒๐๕ ปี เป็นปีที่ ๒๐ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ นั้น  เจ้าพระยาบดินเดชามีหนังสือบอกให้หลวงพินิจโยธาในพระราชวังบวรฯ ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ มีใจความว่า

           “นักเทศมารดานักพระองค์ด้วงมีหนังสือลับมาถึงนักพระองค์ด้วงฉบับหนึ่งใจความว่า  ณ เดือนสี่แรมสิบค่ำปีขาลจัตวาศก  นักพระองค์อิ่มป่วยเป็นโรคบิดแล้วกลายเป็นลงแดงถึงแก่พิราลัย วันศุกร์ เดือนสี่ แรมสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ มีชนมายุได้ ๔๘ ปี  องทำตานแม่ทัพญวนให้พระยา พระเขมรจัดการศพโกศ  แล้วแต่งการฌาปนกิจเผาศพนักพระองค์อิ่มที่วัดใหญ่เมืองกะพงกะสัง  แต่นักเทศมารดาหามีที่พึ่งไม่  ทำฉันใดมารดากับบุตรและญาติพี่น้องจะได้พบปะเห็นหน้ากัน  บัดนี้นักเทศมารดากับเจ้าหญิงผู้หลานทั้งสามก็มีความเศร้าโศกถึงบ้านเมือง  อยากจะใคร่พบปะกับนักพระองค์ด้วงผู้อาว์ด้วย  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งให้เจ้ากรมพระตำรวจและปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ  เป็นนายทัพนายกองถึง ๑๖ กอง  ให้คุมไพร่พลไทยลาวเขมรไปลาดตระเวนตามแดนต่อแดนเขมรกับญวน  ให้คอยจับญวน,เขมร,จีน ในเขตแดนญวนมาได้ถึง ๔๕ คน  ได้ไต่ถามข้อราชการบ้านเมืองญวน  ก็ได้ความว่า  ทัพญวนก็สงบอยู่  ยังไม่ยกมาตีเมืองเขมร  เพราะบ้านเมืองฝ่ายญวนเกิดไข้เจ็บมาก  กับได้ข่าวว่า  ฟ้าทลหะ  สมเด็จเจ้าพระยา  เจ้าพระยาราชไมตรี  พระยาจักรี  พระยากลาโหม  พระยาสุภาธิราช  พระยา พระเขมรผู้ใหญ่ทั้งหกนี้รับอาสาพระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่มาเที่ยวเกลี้ยกล่อมพระยา พระเขมรพวกพ้องเก่า ๆ ให้เข้าด้วย  จะได้ยกมาตีนักพระองค์ด้วง  ตีเมืองเขมรถวายแก่พระเจ้าเวียดนาม  เดี๋ยวนี้พระยา พระเขมรทั้งหกนั้นยังกำลังตั้งอยู่ที่เมืองบาพะนมแต่ล้วนเขมรทั้งนั้นน้อยตัวประมาณสักสามสี่ร้อยคน  ข้าพระพุทธเจ้ากับนักพระองค์ด้วงได้ปรึกษาหารือกับเจ้าพระยายมราช  พระยาเพชรบูรณ์  พระยาพิไชยบุรินทรา  พระยาราชสงคราม  พระพรหมบริรักษ์  พระพิเรนทรเทพ  พระพรหมาภิบาล  พระอินทราธิบาล  เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี  เจ้าหมื่นเสมอใจราช  หลวงนายสิทธิ์  หลวงนายชิตภูบาล  หลวงนายชาญภูเบศร์  และพระยา พระ หลวงนายทัพนายกองผู้น้อยลูกกองอีกมาก  เห็นด้วยเกล้ากระหม่อมพร้อมกันว่า  บัดนี้กองทัพญวนก็มีไพร่พลรักษาค่ายอยู่นั้นเบาบางน้อยตัวนัก  เห็นว่าเป็นท่วงทีมีช่องควรจะตีค่ายญวนได้ถนัด  ครั้นจะยกกองทัพไทย,ลาว,เขมร เข้าจู่โจมตีทัพญวนในคราวนี้น่าที่จะมีชัยชนะ  แต่ว่าในเดือนเจ็ดข้างแรมต่อกับเดือนแปดข้างขึ้นนั้น  ในกองทัพไทยขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก  ไม่มีกำลังจะต่อสู้กับญวนได้  เพราะไพร่พลบอบช้ำมานาน  ไม่มีอาหารจะปรนปรือให้มีกำลัง”

(https://i.ibb.co/dtxWbpg/Untiftled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นทรงทราบว่ากองทัพไทยที่เมืองเขมรอดอยากอาหารหนัก  จึงโปรดเกล้าให้กองเรือพระยาราชวังสันบรรทุกนำเสบียงอาหารเก่าใหม่  รีบไปส่งที่เมืองกำปอดหรือเมืองกะพงโสมก็ตามใจ...

          ขณะที่ญวนเกิดขบถในเมืองตังเกี๋ยพร้อม ๆ กับไข้ป่วงใหญ่ระบาดในกองทัพญวน  ทำให้ญวนอ่อนกำลังลง  ทัพไทยมีช่องทางดีที่จะบุกตีญวนที่อ่อนกำลังลงแล้ว  ก็ยังทำไม่ได้  เหตุเพราะทัพไทยเกิดขัดเสบียงอาหาร  กองทัพจึงไม่มีท้องจะเดิน  พระยาราชวังสันจะส่งเสบียงอาหารบำรุงกำลังไพร่พลในกองทัพไทยให้ตีญวนได้ทันการณ์ไหม  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, กันยายน, 2564, 10:16:34 PM
(https://i.ibb.co/C82963n/Untitledsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๒ -

เมืองญวนเกิดแร้นแค้นขาดแคลนมาก
ความอดอยากเข็ญขุกเกิดทุกที่
ทั้งไข้ป่วงเกิดซ้ำเข้าย่ำยี่
อีกทั้งมีขบถด้วยเหมือนช่วยไทย

ญวนสงบเงียบไปไม่เอะอะ
ดูเหมือนจะเลิกรบจบศึกใหญ่
ทัพสยามยังตั้งระวังระไว
มิวางใจราชการอ่านบทเรียน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   ญวนประสบปัญหาไข้ป่วงใหญ่ระบาดในกองทัพที่เมืองไซ่ง่อนและเมืองโจดก  และเกิดขบถที่เมืองตังเกี๋ย  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีสั่งให้ถอนทัพกลับไปรักษากรุงเว้ส่วนหนึ่ง  ยกไปปราบขบถตังเกี๋ยส่วนหนึ่ง  อยู่รักษาเมืองเขมรส่วนหนึ่ง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นท่วงทีมีช่องที่จะเอาชนะญวนแล้ว  แต่ยังยกเข้าโจมตีญวนไม่ได้  เพราะไพร่พลอดอยาก  ไม่มีกำลังพอที่จะรบข้าศึก  จึงมีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา  ทรงทราบฯ แล้วจึงโปรดให้พระยาราชวังสันขนเสบียงอาหารส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......

(https://i.ibb.co/WFkDfmn/Untitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ครั้น ณ วันเสาร์เดือนสิบสองแรมสองค่ำในปีเถาะเบญจศกนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจับช้างเล็บครบได้ที่ป่าพระพุทธแขวงเมืองอุดงคฦๅไชย  ให้หลวงคชศักดิ์กับหลวงศรีคชรินทรวังหน้า  นายจ่าสรวิชิตมหาเล็กในพระราชวังบวรฯ คุมช้างพลายเล็บครบสูงสามศอกสิบเอ็ดนิ้วเข้ามาถวาย  โปรดให้ขึ้นระวางแล้วพระราชทานชื่อว่า  “พระบรมนัขนาเคนทรนเรนทรดุรงคสวรรค์ อนันตคุณ พระรุณสาครลักษณวิลาศเลิศฟ้า”

          ครั้น ณ เดือนสามปีเถาะเบญจศกนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกให้หลวงศรีโภคาถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า

(https://i.ibb.co/LxwTDWT/Untitl9ed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ได้แต่งให้จมื่นเทพสุรินทร์  จมื่นอินทรประภาษ เจ้ากรมพระตำรวจวังหน้า  ไปสืบราชการทัพญวนได้ความว่า  ที่เมืองญวนเกิดความไข้ป่วงใหญ่ตั้งแต่ปีขาลจัตวาศก  มาจนถึงปีเถาะเบญจศกผู้คนตายมาก  เดี๋ยวนี้ไข้ยังไม่สงบเรียบร้อยดี  ที่เมืองญวนนั้นราษฎรก็ไม่ได้ทำไร่ทำนา  ข้าวปลาอาหารก็แพง  คิดเป็นถังไทยถังหนึ่งราคาถึงถังละสองสลึงเฟื้อง  ถ้าข้าวงามเหมือนข้าวนาสวนในกรุงเทพฯ แล้วก็ถึงถังละบาทบ้าง  ราษฎรญวนอดอยากมาก  เพราะฉะนั้นราชการบ้านเมืองญวนจึงได้สงบเงียบ  มิได้ยกกองทัพมารบกวนเขมร  ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ให้พระยา พระเขมรคุมไพร่เขมรไปตั้งค่ายที่เมืองกะพงขมุมสามค่าย  

(https://i.ibb.co/yS9mz9w/Untitlfded-10.jpg) (https://imgbb.com/)

     ให้จมื่นศักดิแสนยารักษ์ปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ  กับพระวิชิตสงคราม  พระรามณรงค์ ในพระราชวังบวรฯ  กับหลวงกันธ์พยุหบาท  หลวงราชเสวก  หลวงอภัยเสนา ในพระราชวังหลวง  และพระยาณรงค์สงครามเขมร  พระณรงค์วิไชยเขมร  รวมแปดคน  คุมไพร่พลลาวเขมร ๖,๔๐๐ ไปรักษาค่ายเมืองกะพงขมุมสามค่าย  

          แล้วให้พระยา พระเขมร คุมไพร่พลเขมรไปตั้งค่ายที่ตำบลบ้านโรงดำรีสองค่าย  
     ให้จมื่นอินทรเสนาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวรฯ  หลวงภักดีชุมพลในพระราชวังบวรฯ  กับหลวงจงใจยุทธในพระราชวังหลวง  กับพระยานราธิบดีเขมร พระพิทักษ์เสนาเขมร  รวม ๕ คน คุมไพร่พลลาวเขมร ๕,๐๐๐ ไปรักษาค่ายโรงดำรีทั้งสองค่าย  

          แล้วให้พระยา พระเขมรคุมไพร่พลเขมรไปตั้งค่ายที่ตำบลโพธิ์พระอินทรศีรษะแหลมค่ายหนึ่ง  
     ให้หลวงสวัสดิ์นัคเรศ  หลวงพิพิธเสนา สองนายในพระราชวังหลวง  กับขุนสวัสดิ์นัครินทร์ในพระราชวังบวรฯ รวมสามนาย  คุมไพร่พลลาวเขมรไปรักษาค่ายโพธิ์พระอินทรค่ายหนึ่ง  

          ได้แต่งขุนนางในพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรฯ  กับพระยา พระเขมรให้ไปรักษาค่ายทั้งหกตำบล  เพื่อจะป้องกันพิทักษ์รักษาเขตแดนบ้านเมืองเขมรให้เป็นไปโดยปรกติ  ก็เรียบร้อยอยู่แล้ว  

(https://i.ibb.co/QJBxPj4/Untitldsfed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          บัดนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะขอรับพระราชทานโอกาสเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลข้อราชการบ้านเมืองเขมรสักครั้งหนึ่ง  แล้วจะให้พระพรหมบริรักษ์  พระยาพิไชยบุรินทรา  เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี  และพระยา พระ หลวง นายทัพ นายกองในพระราชวังบวรฯ ก็มีมาก  จะให้อยู่เป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วงที่เมืองอุดงคฦๅไชย  แต่เจ้าพระยายมราชก็ป่วยจะขอกลับมารักษาตัวในกรุงเทพฯ ด้วย  ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”

          ในเดือนสี่ปีเถาะเบญจศกนั้น  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพมีท้องตราตอบออกไปเมืองเขมรใจความว่า

           “ซึ่งราชการข้างฝ่ายญวนสงบอยู่นั้น  แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ไว้แก่ราชการทัพศึก  จึงได้แต่งให้ขุนนางวังหลวงและวังหน้าไปพิทักษ์รักษาค่ายตามด่านทางนั้นก็ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว  อนึ่งซึ่งเจ้าพระยาบดินเดชาเห็นว่าการทัพศึกว่างเปล่าอยู่  จึงอยากจะเข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงระลึกถึงจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่เสมอ  แต่ว่าให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาตรึกตรองดูให้ให้มาก ๆ  ถ้าเห็นเป็นแน่ว่าญวนจะไม่ยกทัพมาตีบ้านเมืองเขมรแน่แล้ว  ก็ให้เข้ามาเฝ้าเถิด  ถ้ายังมีความสงสัยว่าญวนจะมารบมาตีบ้านเมืองอีกบ้างอย่างไร  ก็ให้รั้งรอฟังราชการอยู่ที่เมืองเขมรก่อน  แต่เจ้าพระยายมราชนั้นว่าป่วย  จะอยากเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ ให้ใกล้มดใกล้หมอที่ดีดี  หรือให้ใกล้คนพยาบาลที่ชอบใจ  ไข้จะได้หายเร็วนั้น  ก็ตามใจเจ้าพระยายมราช  จะเข้ามาก็มาเถิด  ไม่มีใครเขาขัดขวาง”

           เมื่อท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราดังนั้นแล้ว  ก็ไม่ได้เข้ามาเฝ้า  ตั้งรักษาราชการอยู่ ณ เมืองเขมร  แต่เจ้าพระยายมราชนั้นยังคิดสองจิตสองใจ  หาแน่ลงข้างไหนไม่  พอใกล้ตรุษแล้วเจ้าพระยายมราชก็ลาเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/sWJC8j3/Un56titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้นกองตระเวนไทย  หลวงชาติเสนี  หลวงศรีภิรมย์  นายกองในพระราชวังบวรฯ สองนาย  ไปลาดตระเวนถึงเกาะยาว  ได้เห็นญวนมาเที่ยวหาผลไม้กินหกคน  จึงยกเข้าไล่ล้อมจับได้  ส่งมาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามไต่ถามได้ความว่า

            “เป็นญวนมาแต่กรุงเว้กองทัพก่อนเมื่อองเฮากุนมานั้นแล้ว  แจ้งความว่า เมื่อ ณ เดือนสี่ปลายปีเถาะเบญจศกนั้น  แม่ทัพเรือฝรั่งเศสชื่อกำมะโดเลเวก  คุมเรือกำปั่นรบชื่อเฮอวะอิน  มาทอดสมออยู่ที่ปากอ่าวเมืองตูรน  ปากน้ำกรุเว้  แล้วแม่ทัพเรือฝรั่งเศสชื่อกำมะโดเลเวกไปหาท่านเสนาบดีกรุงเว้  พวกบาทหลวงฝรั่งเศสห้าคนที่พระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ก่อนรับสั่งให้จำคุกไว้สองปีเศษ  เสนาบดีฝ่ายต่างประเทศชื่อองเลโปนั้น  นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่   พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่โปรดให้พวกบาทหลวงฝรั่งเศสพ้นจากเวรจำ  แล้วพระราชทานให้กำมะโดเลเวก  กำมะโดเลเวกก็พาบาทหลวงฝรั่งเศสห้าคนลงเรือกลับไปเมืองฝรั่งเศส”

            ครั้น ณ เดือนอ้ายขึ้นเจ็ดค่ำในปีมะโรงฉศกจุลศักราช ๑๒๐๖ เป็นปีที่ ๒๑ ในแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ นั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกให้พระรามณรงค์ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งใจความว่า

(https://i.ibb.co/Y0L5W7p/s-Untitled-7.jpg) (https://imgbb.com/)

             “พระชนะรณชิต  พระฤทธิ์รณไชย  หลวงยุทธกำแหง  หลวงแผลงไพรินทร  ข้าหลวงสี่นายในวังหน้า  กำกับพระยาทุกขราษฎรเมืองนครราชสีมา ๑  พระยาพลสงครามเมืองพระตะบอง ๑  พระยาวิบูลยราชเขมร ๑  พระสิงหไตรภพเขมร ๑  แปดนายนี้เป็นผู้รักษาด่านทาง ณ ตำบลมะโรม  นายทัพทั้งแปดคนนี้ได้แต่งให้หลวงเสนีพิทักษ์เขมรคุมไพร่ไปลาดตระเวน  จับญวนมาถามได้ความว่าที่เมืองโจดกนั้นตระเตรียมกองทัพพร้อม  ครั้น ณ เดือนสิบเอ็ดขึ้นสิบห้าค่ำในปีมะโรงศกนั้น  องทำตานแม่ทัพใหญ่ให้องโป๋จั่นแม่ทัพคนใหม่  คุมไพร่ญวนพันห้าร้อยคน  เรือแง่โอแปดสิบลำออกจากเมืองโจดก  เพิ่มเติมมายังค่ายเมืองเปียม คือเมืองปากอ่าวนั้น  องฮือยกแม่ทัพที่ค่ายเมืองเปียมเกณฑ์ไพร่พลญวนพันหนึ่ง ไพร่เขมรสองพันห้าร้อย  กับปืนใหญ่กระสุนสามนิ้วสี่นิ้วห้านิ้ว ๓๑ บอก  ปืนเล็กคาบศิลาพันสามร้อยบอก  บรรทุกเรือรบ ๘๐ ลำไว้พร้อม  รวมไพร่พลญวนกับเขมรเป็นห้าพันคน  จะยกมาตีเมืองกำปอด  เป็นแต่ตระเตรียมไว้ยังหาได้ยกไปตีเมืองกำปอดไม่”

(https://i.ibb.co/WHJYXkn/Untitle52d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้น ณ เดือนสามขึ้นสิบสองค่ำในปีมะโรงฉศกนั้น  จมื่นอินทรเสนาในพระราชวังบวรฯ ให้นายเร็วภักดีและนายรวดภักดี  นายเวรทั้งสองคน  กับขุนวิเศษไปลาดตระเวนทางด่านกะพงตรา  นายเวรทั้งสองกับขุนวิเศษจับนายพรม  นายทัน  เขมรสองคนได้  ซึ่งถือหนังสือญวนคือองตงภู  องโก้จัน  องอันสาด แม่ทัพญวนทั้งสาม ณ เมืองโจดกมาถึงพระยา พระเขมร จีน แขกจาม แขกชวา ทั้งปวงในเมืองเขมรให้รู้ทั่วกันว่า

             “องญวนทั้งสามได้รับรับสั่งพระเจ้าเวียดนามองค์ใหม่  ให้เราพาเจ้าหญิงเขมรทั้งสามขึ้นมาตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเปญต่อไปอีก  ถ้าครั้งนี้พระยา พระเขมรและราษฎรเขมร แขกจาม แขกชวา จีน ทั้งปวงไม่มานับถือเจ้าหญิงเขมร  หรือไม่เข้าช่วยรบพุ่งไทย  ฝ่ายญวนจะยกกองทัพมาจับพวกพระยา พระเขมรและราษฎรในเมืองเขมรฆ่าเสียให้สิ้นทุกบ้านทุกเมือง  จะให้เหลืออยู่แต่น้ำกับฟ้าป่ากับดินเท่านั้น  และกองทัพเรือองโก้จันก็มาตั้งอยู่ที่หัวแหลมโคมแขวงเมืองเปียม  เป็นเรือแง่โอแง่ทราย ๑๓๙ ลำ  ไพร่พลประมาณแปดพัน  ยังทัพบกก็จะยกมาอีกภายหลัง”

(https://i.ibb.co/x8LfNL9/Untitdfsled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข่าวศึกดังนั้นแล้ว  ก็ไม่ไว้ใจแก่ราชการ  จึงแต่งให้พระยาบำเรอบริรักษ์จางวางมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯแม่กองใหญ่  กับพระวิชิตสงคราม ๑  พระรามณรงค์ ๑  ในพระราชวังบวรฯ  และ หลวงโจมจัตุรงค์  หลวงเสนาภักดี  หลวงจงพยุห  หลวงเพชรฉลู ในพระราชวังหลวง  รวม ๗ คน  เป็นข้าหลวงกำกับพระยาเสนาสงครามเขมร  พระเมืองเขมร  พระวันสาเขมร  พระพิมลอาญาสุริยวงศ์เขมร  คุมไพร่ลาวและเขมร ๑,๕๐๐ คน  ไปช่วยพระยาโสรัช ออกญาเสนานุชิตรักษาเมืองกำปอด  พระยาโสรัชออกญาเสนานุชิตเจ้าเมืองบอกมาว่า  

           “ได้แต่งป้อมค่ายเก่าไว้รับญวน  และได้ลงทำนบปิดปากคลองน้ำกำปอดไว้  ไม่ให้เรือญวนเข้าทางทะเลได้  และลากปืนใหญ่ขึ้นบนเขาด้วย”

          ** ให้อ่านกันยาว ๆ อีกวันหนึ่ง  เพราะเรื่องราวกำลังข้นและใกล้จะจบแล้วด้วย  ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองมุโขทัย
๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, กันยายน, 2564, 10:10:37 PM
(https://i.ibb.co/LpLLXgb/Untitwrled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๓ -

พระยาจักรีเขมรเป็นขบถ
ทรยศนักองค์ด้วงด้วยแอบเขียน
หนังสือลับตีไทยล้างให้เตียน
จะช่วยเปลี่ยนแผ่นดินอย่างยินดี

นักองค์ด้วงรู้ลับจับได้หมด
ขังขบถจำไว้มิให้หนี
รอคำสั่งให้ประหารในทันที
ญวนรอรีตั้งค่ายเรียงรายกัน


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   กองลาดตระเวนไทยจับญวนมาสอบถามได้ความว่า  ญวนกำลังเตรียมจัดทัพใหญ่ที่เมืองโจดกจะยกเข้าตีเมืองกำปอด  แม่ทัพญวนสามนายให้คนเขมรถือหนังสือเข้ามาแจกจ่ายพระยา พระเขมรและราษฎรว่า  พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้พาเจ้าหญิงเขมรทั้งสามมาตั้งที่พนมเปญ  ขอให้พระยา พระเขมรและราษฎรยอมรับเคารพนับถือ  หาไม่แล้วจะยกทัพเข้ามาไล่จับพระยา พระเขมรและราษฎรฆ่าเสียให้สิ้น  จะล้างชาติเขมรให้เหลือแต่แผ่นดินว่างเปล่า  เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ไว้วางใจแก่ราชการ  จึงจัดกองทัพเพิ่มเติมเข้าสมทบกองทัพพระยาโสรัชออกญาเสนานุชิตเจ้าเมืองกำปอดไว้รอรับศึกญวน  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......

(https://i.ibb.co/tmzsy83/Untitledrd-7-27.jpg) (https://imgbb.com/)

           แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดให้พระยาอร่ามมณเฑียรจางวางกรมทหารในในพระราชวังบวรฯ ๑  พระกำจรใจราชเจ้ากรมพระตำรวจหลังในพระราชวังบวรฯ ๑  หลวงเสนีพิทักษ์ ๑  หลวงคะเชนทรามาตย์ ๑ ในพระราชวังหลวง  หลวงกบินทร์บุรี ๑  หลวงแพ่งกรุงเก่า ๑   รวมหกนายเป็นข้าหลวงกำกับพระยานฤเบศเขมร ๑  พระชนะสงครามเขมร ๑  หลวงศรีรณรงค์เขมร ๑  ออกญาเสนาบดีเขมร ๑  ขุนกำแหงสงครามเขมร ๑  หมื่นนำนิวัทธกีเขมร ๑   คุมไพร่พลลาวเขมร ๑,๕๐๐ คน  ไปรักษาเมืองเปียมช่วยพระยาเสนานนท์คนเก่ารักษาอยู่ก่อนด้วย  ที่ปากอ่าวเมืองเปียม

(https://i.ibb.co/VgpVZbW/Unt85itled-20.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้มีหนังสือไปถึงพระยาพระยาราชโยธาวังหน้าให้เร่งจัดทัพที่กลับมาแต่เมืองปราจีนบุรี  เมืองกบินทร์บุรี  เมืองประจันตคาม  เมืองวัฒนานคร  กับไพร่พลลาวไทยที่มีอยู่เก่าให้รวมกันเข้าให้ได้สี่พัน  ถ้าไม่พอให้ขอคนกรุงเก่าที่เตรียมไว้แล้วเพิ่มเติมให้ครบสี่พัน  แล้วให้พระชาติสุเรนทรเป็นแม่กองพระยาสิทธาวุทธ์ ๑  หลวงพิฦกโยธา ๑  หลวงมหิมาโยธี ๑  ขุนนราเรืองเดช ๑  ขุนวิเศษจัตุรงค์ ๑  รวมข้าหลวงในพระราชวังบวรฯ ๖ นาย   ให้คุมคนสี่พันนี้  ยกล่วงหน้าไปช่วยข้าหลวงวังหลวงที่รักษาเมืองพนมเปญอยู่แต่ก่อนนั้น  รักษาเมืองอย่าให้เสียท่วงทีได้  แล้วสั่งให้พระยาเสนาภูเบศรวังหน้าตั้งรักษาค่ายถนนหลวงไว้ให้ดี  ที่นั้นเป็นทางบกแยกย้ายมาหลายสายหลายทางต้องระวังแข็งแรง  แล้วให้พระยาราชโยธาวังหน้า  เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี  หัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชวังหลวง  กับพระอัคฆเนศรวังหลวง  สามนายกลับออกไปบังคับบัญชารักษาเมืองพนมเปญด้วย  กับยังเกณฑ์พระยา พระ หลวง ในพระราชวังบวรฯ อีกหลายนาย  ให้ยกเพิ่มเติมไปรักษาด่านทางทุกทิศทุกทาง

          เจ้าพนักงานได้นำหนังสือฉบับนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาราชเสนามีท้องตราตอบออกไปใจความว่า

           “ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกเข้ามาว่า  ญวนจะส่งเจ้าเขมรผู้หญิงมาไว้ที่เมืองพนมเปญนั้น  ได้ตรึกตรองคาดคะเนน้ำใจญวนดู  เห็นว่าญวนจะไม่ส่งเจ้าเขมรผู้หญิงมาเป็นแน่  เว้นเสียแต่ญวนจะเบื่อหน่ายชิงชังเมืองเขมรเมื่อใดแล้ว  ญวนก็จะส่งเจ้าหญิงเขมรมาเมื่อนั้น  แต่เดี๋ยวนี้เห็นว่ากำลังรักใคร่บ้านเมืองเขมรอยู่มาก  ญวนจะยึดเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามไว้ในเมืองญวน  ญวนจะได้เอาไว้เชิดชูเป็นหุ่น  แล้วจะได้เกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมรถนัด  ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชารู้ข่าวทัพศึกจะมาทำย่ำยีแก่บ้านเมืองเขมรดังนั้นแล้ว  ก็ได้รีบร้อนไม่นอนใจ  แต่งให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง คุมไพร่พลรีบเร่งไปรักษาเมีองเปียม  เมืองกำปอด  เมืองบาราย  เมืองพนมเปญ  และรักษาด่านทางทุกตำบลทันท่วงทีแก่ข้าศึกญวนนั้น  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะเห็นอย่างไรจะทำอย่างไรที่จะได้ปราบปรามญวนให้ราบคาบก็ให้บอกเข้ามาเถิด  จะได้ปฏิบัติตามความคิดทุกประการ”

          ในปีมะโรงฉศกจุลศักราช ๑๒๐๖ ปี  นักพระองค์ด้วงเกิดบุตรชายด้วยแม่นางหนึ่งชื่อนักนางเขียวบุตรีพระยาจักรีใหม่  นักพระองค์ด้วงให้ชื่อว่า  นักองสุริยวงศ์ เป็นที่สี่

(https://i.ibb.co/7vkbS9G/Untitldxed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว  ใช้คนไปสืบก็ไม่ได้ข่าวว่าญวนจะยกมาตีบ้านเมืองเขมรต่อไปอีก  เห็นทัพญวนกลับไปเมืองโจดกหมดด้วยเหตุใดหาทราบไม่  เห็นราชการทัพศึกเป็นไปโดยปรกติแล้วก็คิดว่า  แต่ออกไปทำศึกสงครามค้างแรมอยู่ ณ เมืองเขมรถึง ๗ ปี ๘ ปีแล้ว  แต่ประจำกรำกรากอยู่เป็นนิจถึง ๖ ปีเศษ  ไม่ได้เฝ้าเลย  ครั้งนี้มีโอกาสที่จะเข้ามาเฝ้าได้  เพราะการศึกสงบเงียบลงบ้างแล้ว  จึงให้พระยาเพชรบูรณ์กับพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตร  และพระยาพระหลวงนายทัพนายกอง  คุมไพร่พลอยู่เป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วง  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็กลับเข้ามาเฝ้าพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานคร  เจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนหกขึ้นห้าค่ำปีมะเส็งสัปตศกจุลศักราช ๑๒๐๗ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓

(https://i.ibb.co/V9VfrCD/Un56titled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในเดือนหกปีมะเส็งนั้น  ข้างฝ่ายที่เมืองเขมรเกิดเหตุขึ้น  คือพระยาจักรีเขมรเป็นต้นคิดประทุษร้ายต่อนักพระองค์ด้วงเป็นขบถขึ้น  พระยาจักรีเขมรชื่อมี คบคิดกับพระยา พระเขมร ๑๗ คน  รวม ๑๘ คน  เข้าชื่อกันมีหนังสือลับใช้ให้นายเภา  นายจอก  เขมรถือไปให้แม่ทัพญวนเป็นหลายฉบับหลายครั้ง  พระราไชยเขมรรู้ความแล้ว  จึงได้มากระซิบบอกนักพระองค์ด้วง  นักพระองค์ด้วงสั่งให้คนคอยจับนายเภาผู้ถือหนังสือ  จนจับได้ทั้งหนังสือลับของพระยาพระเขมร และหนังสือญวนตอบมาด้วย  นำมาให้พระพรหมบริรักษ์  พระยาเพชรบูรณ์  พระยาเสนาภูเบศ  พระยาณรงค์วิไชย  พระยาวิชิตสงคราม  พระนรินทรโยธา  ข้าหลวงหกคนซึ่งอยู่รักษาเมืองเขมรเป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วง  ข้าหลวงหกคนได้ตรวจหนังสือของพระยาพระเขมรที่คิดขบถมีใจความว่า

           “พระยาพระเขมรทั้ง ๑๘ คนเห็นว่าไทยหย่อนกำลังลงแล้ว  ขอให้องญวนผู้ใหญ่ทัพนายกอง พาเจ้าหญิงขึ้นมาเมืองเขมรเถิด  พระยาพระเขมร ๑๘ คนจะพากันกำเริบขึ้น  จับนักพระองค์ด้วงและพระยาพระหลวงนายทัพนายกองไทยส่งไปให้องญวนผู้ใหญ่  แล้วจะได้ช่วยกันกำจัดกองทัพไทยเสียให้สิ้น  แล้วจะได้ยกแผ่นดินให้แก่เจ้าผู้หญิงทั้งสามองค์  ในหนังสือลับนั้นมีรายชื่อพระยาพระเขมรทั้ง ๑๘ คน”

          พระพรหมบริรักษ์จึงให้นักพระองค์ด้วงจับพระยาพระเขมร ๑๘ คนมาชำระคือ  พระยาจักรีชื่อมี ๑  พระยาเสนากุเชนทรชื่อนบ ๑  พระยาโกษาสงครามชื่อมุน ๑  พระยาเสนาพิทักษ์ชื่อโสม ๑  พระยาโสรอุไทยชื่อโสม ๑  พระยานครธรรมราชชื่อนก ๑  พระยาวงศาธิบดีชื่อศิริ ๑  พระยากุเชนทรเสนาชื่อโบก ๑  พระยามนตรีนุชิตโตดมชื่อโนสุก ๑  พระยามะโนเสน่หาชื่อเมือง ๑  พระนฤบดีชื่อโสชะ ๑  พระนเรนทรพิทักษ์ชื่อหมัง ๑  พระพิพิธชื่อนุ ๑  พระพฤฒาธิบดีชื่ออาจารย์คง ๑  พระเสนาพลไชยชื่อบุญเมือง ๑  หลวงมหาสวรรค์ชื่อทองสุก ๑  หลวงพิทักษ์อาภรณ์ชื่อปอวัง ๑  หลวงพิไชยอาสาชื่อนกแก้ว ๑   รวม ๑๘ คน  กับกาลาภาษเสา ๑๑ คน  คือเจ้าพนักงานกรมการผู้น้อย ๑๑ คน  รวม ๒๙ คน  มาชำระไต่ถามให้การสารภาพรับเป็นความสัตย์เสร็จสิ้นทุกประการ

          นักพระองค์ด้วงสั่งให้สนองกำบอคุมตัวพระยาพระหลวงเขมรทั้ง ๑๘ คนกับกาลาภาษเจ้าพนักงานเขมรอีก ๑๑ คน  ไปจำตรวนขังตะรางไว้ก่อน  แต่นายศรีสุคนธ์เตียง ๑  นอกศรีทัพวัง ๑  นายกลาภาศรีมงคล ๑  สามคนนี้เป็นขุนนางเล็กน้อย  รู้ตัวก่อนก็หนีไปอยู่ป่าดง  แต่นายยอรารศ ๑  นายหนองพิงไชย ๑  นายแสนไชยมัน ๑  นายพระคลังสุก ๑  รวมขุนนางกรมการเขมรเล็กน้อยสี่คนรู้ตัวก่อน  ก็รีบหนีไปหาญวน  ญวนรับไว้ในค่ายเมืองกะพงกะสัง

(https://i.ibb.co/dpbMqgX/Uswdntitled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          รุ่งขึ้นแปดวันกองทัพญวนก็ยกขึ้นมาตั้งทัพอยู่ ณ เปียมปะเตียงที่หัวแหลมปากง่ามสามแยกแม่น้ำใหญ่  มีไพร่พลถึง ๒,๐๐๐ คน นายทัพชื่อองดายุง  
          แล้วญวนก็ยกกองทัพมาตั้งที่ค่ายยายไทยท้องคุ้งอีกตำบลหนึ่ง  ไพร่พลพัน ๕๐๐   นายทัพชื่อองฮูกายโดย
          แล้วองเฮากุนแม่ทัพใหญ่ยกไพร่พลญวน ๓,๐๐๐  เขมร ๒,๐๐๐  รวม  ๕,๐๐๐  ขึ้นมาตั้งทัพพักอยู่ค่ายเก่าท่ากะพงกะสังใต้ปากคลองบึง

          แล้วองเฮากุนแต่งให้องญวนนายทัพนายกองลาดตระเวนจับเขมรฝ่ายเหนือพวกนักพระองค์ด้วงไปได้ ๑๖ คน  ไต่ถามได้ความว่า  แม่ทัพไทยรู้ตัวแล้วว่าเขมรจะเป็นไส้ศึกคิดประทุษร้ายต่อไทย  ไทยก็จับพระยาพระเขมร ๑๘ คนไปจำไว้สิ้น  แล้วกองทัพไทยได้ตระเตรียมการที่จะต่อสู้รบกับญวนพรักพร้อมแข็งแรงโดยสามารถ  แล้วพวกขุนนางเขมรเล็กน้อยก็ร่วมคิดขบถนั้นก็หนีรอดไปได้หกคน  ไปหาญวนแล้วแจ้งความแก่ญวนว่า  ไทยรู้ความลับของเขมรและญวนแล้ว  ฝ่ายญวนก็สงบทัพอยู่ตามที่ตั้งค่ายทุกตำบล  มิได้ยกขึ้นมาถึงเมืองพนมเปญไม่

(https://i.ibb.co/yQfqgw9/6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายนักพระองค์ด้วง  พระพรหมบริรักษ์  พระยาเพชรบูรณ์  พระยาเสนาภูเบศ  พระยาณรงค์วิไชย  พระวิชิตสงคราม  พระนรินทรโยธ า พระคชรัตน์ภักดี  ข้าหลวงหกนายซึ่งรู้เหตุการณ์ดังนั้นแล้ว  จึงเข้าชื่อกันลงหนังสือบอกข้อราชการทัพศึกญวนและเขมรเป็นขบถ  ให้หลวงพินิจอักษรเสมียนตรากรมมหาดไทยในพระราชวังบวรฯ ถือมายังกรุงเทพฯ  แล้วมีหนังสือลับมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาฉบับหนึ่งใจความว่า

           “ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตฆ่าพระยา พระ เขมรที่เป็นขบถเสียทั้งหมด”

          ** คนใช้บรรดาศักดิ์ว่า พระยาจักรี  ส่วนมากเป็นคนเก่งคนดี  และคนขบถก็มักจะใช้ชื่อนี้ทั้งไทยทั้งเขมรเลยนะครับ   เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าศึกสงครามญวนสงบจึงกลับเข้ากรุงเทพฯ  ทางเขมรก็เกิดขบถพระยาจักรี  “ชักญวนเข้าเขมร”  ดีที่ฝ่ายนักพระองค์ด้วงรู้เสียก่อน  แม้จะจับพวกขบถตัวการได้ทั้งหมดแล้ว  ญวนก็ยกทัพมาตามคำชักชวนของพระยาจักรี  มาตั้งค่ายรอจะบุกเข้าพนมเปญแล้ว  ค่อยมาอ่านความกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กันยายน, 2564, 10:22:46 PM
(https://i.ibb.co/X2zmbYK/e1508996549221.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๔ -

ญวนหลอกล่อไทยเขมรออกเข่นฆ่า
ทำเหมือนว่าปืนไร้ลูกเหล็กห้ำหั่น
มีแต่ดินท่าน้ำไม่สำคัญ
จึงไม่หวั่นปืนญวนชวนกันเฮ

ออกจากค่ายหมายฆ่าญวนอาสัญ
ญวนก็พลันฆ่าไทยได้ด้วยเล่ห์
กระสุนจริงยิงเป็นตับยับทั้งเพ
สมคะเนญวนฉลาดที่คาดการณ์


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เมื่อศึกสงครามสงบเงียบอยู่ เจ้าพระยาบดินทรเห็นเป็นโอกาสที่จะได้กลับเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ  จึงให้พระพรหมบริรักษ์  พระยาเพชรบูรณ์  และพรรคพวกอยู่เป็นเพื่อนนักพระองค์ด้วง  ครั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ากรุงเทพฯ แล้ว  นักพระองค์ด้วงทราบว่า  พระยาจักรีเขมรและพรรคพวกร่วมคิดทำการเป็นขบถ  ลอบมีหนังสือลับส่งไปให้องญวน  ให้พาเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์มาตั้งเป็นเจ้าที่พนมเปญ  พวกตนจะกำเริบจับนักพระองค์ด้วงและนายทัพไทยส่งให้องญวน  พระพรหมบริรักษ์และพวกได้ทราบแล้วจึงให้นักพระองค์ด้วงจับพระยาจักรีและพวกที่มีรายชื่อในหนังสือลับนั้น ๑๘ คน  เมื่อจับได้แล้วจึงจำตรวนขังไว้รอพระบรมราชานุญาตให้ประหารเสียทั้งสิ้น  ขณะนั้นญวนได้ยกกองทัพมาสามกองใหญ่  ได้ทราบว่าไส้ศึกเขมรถูกจับตัวได้สิ้น  และไทยรู้ตัวแล้ว  จึงตั้งค่ายรอโอกาสอยู่  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

          ครั้งนั้น  นักพระองค์ด้วง  พระพรหมบริรักษ์  พระยาเพชรบูรณ์  พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า  พระยาเสนาภูเบศ  พระยาณรงค์วิไชย  พระยาอภัยสงครามใหม่  พระยาวิชิตสงคราม  พระอินทรโยธา  ข้าหลวงแปดนายเข้าชื่อพร้อมด้วยกันพระองค์ด้วงมีหนังสือบอก  ให้หลวงทิพอักษรเสมียนตรากรมพระกลาโหมในพระราชวังบวรฯ  ถือเข้ากรุงเทพมหานครใจความว่า

(https://i.ibb.co/zfGFhj0/1401683519-wj1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เมื่อ ณ เดือนเจ็ดขึ้นค่ำหนึ่ง  ได้มีหนังสือบอกข้อราชการเรื่องเขมรเป็นขบถให้เสมียนตรากรมมหาดไทยในพระราชวังบวรฯ  ถือเข้าไปแต่ครั้งก่อนนั้นฉบับหนึ่งแล้ว  บัดนี้เสมียนตรากรมพระกลาโหมกับหลวงพล  ขุนวิสุทธิรัฐยารักษ์มรคา  กรมการเมืองกบินทร์  ถือใบบอกฉบับนี้ขึ้นม้าเร็วรีบเร่งเข้ามาอีกฉบับหนึ่งโดยราชการร้อนเป็นใจความว่า  เมื่อ ณ เดือนแปดขึ้นค่ำหนึ่ง  เวลาเช้าสองโมงเศษ  กองทัพเรือญวนใหญ่น้อยแปดสิบลำแจวมาถึงปากคลองลัด  ญวนแจวเรือตรงหน้าค่ายเขมร  แล้วญวนยิงปืนหน้าเรือออกไปสักยี่สิบนัด  ถูกค่ายปีกกาเขมรหักพังลงด้านหนึ่ง  ไทยและเขมรในค่ายก็ยิงปืนโต้ตอบออกมาบ้าง  ญวนก็แจวเรือเข้าล้อมหน้าค่ายและข้างค่าย  ญวนกับเขมรได้สู้รบกันเป็นสามารถ  แล้วญวนก็ให้เรือรบเพิ่มเติมมาสู้กับกองเขมร  ที่ค่ายแพรกสบนใจปากคลองลัดบ้าง  ญวนนำเรือรบเล็ก ๆ เข้าในคลองสบนใจบ้าง  ในคลองโพลัดบ้าง  เป็นลำคลองติดต่อกัน  เขมรได้สู้รบกับญวนทั้งสองตำบลนั้นแต่เช้าจนเที่ยง  กองทัพเขมรก็แตกไปทั้งสองตำบล  ไพร่พลไทยเขมรมากตายลงด้วยกันบ้าง  หนีไปรอดได้บ้างทั้งเขมรและไทย”

(https://i.ibb.co/V9Xqbmm/Untcxitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ เดือนแปดขึ้นแปดค่ำ  ญวนยกกองทัพเรือใหญ่น้อยเพิ่มเติมมาอีก ๑๒๐ ลำ  มีไพร่พล ๕,๐๐๐ คน  ยกขึ้นไปตีค่ายเขมรที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลท่ากะพงตะแบก  เขมรได้สู้รบกับญวนอยู่ได้วันกับคืนหนึ่ง  ญวนแกล้งนำดินท่ามาปั้นเป็นกระสุนปืนใหญ่  ยิงไปก็ไม่ได้ทำลายค่ายเขมรได้  และถูกคนก็ไม่สู้เป็นอันตรายมาก  ฝ่ายเขมรก็กำเริบ  เข้าใจว่าญวนไม่มีกระสุนเหล็กหล่อ  จึงนำดินท่ามาปั้นเป็นกระสุนปืน  เขมรก็พากันออกมานอกค่ายหมายจะนำปืนขานกยางมาตั้งหน้าค่ายยิงให้ญวนแตกหนีไป  ฝ่ายญวนก็นำเรือรบแจวรีบเข้าไปจอดหน้าค่ายเขมรแล้วยกขึ้นบก  นำกรวดและดินท่าบรรจุแทนกระสุนปืนเล็กคาบศิลายิงไปแถวหน้าร้อยเศษ  เขมรเห็นดังนั้นก็ยิ่งกำเริบขึ้นมาก  พากันถือหอกดาบและปืนคาบศิลาออกนอกค่ายเป็นอันมาก  หมายใจว่าญวนไม่มีกระสุนปืนเหล็กอันคมกล้า  ก็จะพากันกรูเกรียวออกมาไล่ฟันแทงยิงญวนให้ตายด้วยอาวุธยาวสั้นของตน  ขณะนั้นญวนเห็นพวกกองทัพพากันเทค่ายออกมากแล้ว  ญวนจึงนำกระสุนปืนซึ่งเป็นเหล็กและตะกั่วบรรจุยิงไปเป็นตับ ๆ  ตับหนึ่งถึงสี่ร้อยบ้าง  สามร้อยบ้าง  พร้อม ๆ กันสองสามพัก  กระสุนปืนเหล็กและตะกั่วของญวนก็ถูกพวกเขมรที่ใกล้ ๆ ล้มตายโดยมากเกือบพันคน  พอเวลาเพล เขมรที่เหลือตายอยู่ในค่ายที่ท่าน้ำกะพงตะแบกนั้นก็แตกหนีไปสิ้น  เสียนายทัพ ขุน หมื่น ไพร่ไทยก็มาก  เขมรตายเหลือน้อยก็แตกหนีมาหมดทั้งค่ายเสีย  เมื่อญวนมีชัยชนะแก่ไทยและเขมรครั้งนี้แล้ว  ก็เข้ารักษาค่ายกะพงตะแบกไว้  ได้เสบียงอาหารสรรพศาสตราวุธพร้อม

(https://i.ibb.co/Yf0JFjh/Untitdled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          องต๋าเตียนกุนเสนาบดีผู้ใหญ่ลงมาแต่กรุงเว้อีก  เป็นแม่ทัพหลวงถืออาญาสิทธิ์คุมทัพเรือเป็นทัพหลวง  ให้องต๋าโคเป็นแม่ทัพหน้า  ให้องทำตานแม่ทัพเก่าเป็นทัพหลัง  ทั้งสามทัพมีเรือรบใหญ่ ๑๗๐ ลำ  เรือรบเล็ก ๒๐๐ ลำ  มีไพร่พลหมื่นหกพันคน  ยกกองทัพเรือมาครั้งนั้นเต็มลำน้ำ  ตีบ้านเล็กเมืองน้อยตามรายทางตลอดมา  จนใกล้เมืองพนมเปญแล้ว  ให้ตั้งค่ายใหญ่น้อยเรียงรายไปหลายสิบค่ายตลอดลำแม่น้ำ  แต่กองทัพใหญ่องต๋าเตียนกุนนั้นตั้งค่ายที่ตำบลโพธิพระบาท  เป็นวังเก่านักพระองค์จันทร์ เจ้ากรุงกัมพูชาที่ถึงพิราลัยแล้ว  

(https://i.ibb.co/PrHFRrX/Untitlsed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          องต๋าเตียนกุนมีหนังสือบังคับให้องเกียนเลือกแม่ทัพเก่าที่เมืองโจดก  ให้ยกทัพมาตั้งที่ปากคลองวามะนาวแห่ง ๑
          ให้องเฮากุนขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็นแม่ทัพอยู่ ณ เมืองมะซางนั้น  ให้ยกทัพบกไปตั้งค่ายที่ท่าตือ  ท่าจะเรียกให้มาตีกองทัพไทย,เขมร เมื่อใดให้ยกกองช้างมาทางป่าบาพนม  ให้อ้อมมาช่วยระดมตีพร้อมกัน
          แล้วองต๋าเตียนกุนแต่งให้องหุ่งยาโปบุตรจีนเป็นนายทัพม้า  คุมทหารม้าสามร้อยลงไปลาดตระเวนสืบราชการทัพเขมรและไทย
          ให้กาซาแขกจามอาสานำเรือรบลงไปลาดตระเวนถึงแดนเขมรที่ไทยตั้งอยู่นั้น  ให้จับไทย,ลาว,เขมร มาสืบไปราชการด้วย
          ให้สนองมโนราชาเขมรคุมไพร่เขมรขี่ม้าสามร้อย  ไปคอยจับไทย,เขมรข้าศึกมาถามกิจการให้ได้สักคนสองคน

          แล้วองต๋าเตียนกุนทำล้อสาลี่สำหรับจากลากปืนใหญ่กว่าพัน.......”

(https://i.ibb.co/whLKbBs/Untitlsdded-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ฝ่ายไทยเขมรโง่กว่าฝ่ายญวนอึกแล้ว  ถูกญวนหลอกตีค่ายแตกยับเยินจนได้  ถึงตอนนี้องต๋าเตียนกุนเสนาบดีใหญ่ญวนออกศึกด้วยตนเอง  ยกทัพเรือใหญ่มาจากกรุงเว้  กองเรือมาเต็มลำแม่น้ำ  มุ่งมั่นว่าจะยึดกัมพูชาเป็นกรรมสิทธิ์ญวนให้จงได้  แล้วในที่สุดญวนจะยึดแผ่นดินกัมพูชาเป็นของญวนได้หมดหรือไม่  ติดตามอ่านกันต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กันยายน, 2564, 10:29:38 PM
(https://i.ibb.co/zQWdLBZ/Untitfdled-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๕ -

“เจ้าพระยาบดินทรเดชา”ไม่อยู่
ญวนมิจู่ตีค่ายไทยแตกฉาน
รอแม่ทัพใหญ่มามิช้านาน
จะทำการรบใหญ่ไม่รอรี

แม่ทัพใหญ่ไทยญวนที่ควรรบ
โคจรพบกันในเขมรนี่
“ต๋าเตียนกุน”ในส่วนญวนผู้ดี
ยกเข้าตีพนมเปญเป็นประเดิม


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   ญวนหลอกล่อให้ไทยเขมรออกจากค่ายไล่ฆ่าญวนด้วยการใช้ดินเหนียวปั้นเป็นกระสุนปืนยิงใส่ค่ายไทยเขมร  ฝ่ายไทยเขมรคิดว่าญวนไม่มีลูกปืนจริงแล้ว  จึงพากันกรูออกจากค่าย  ญวนจึงใช้กระสุนจริงยิงไทยเขมรตายเป็นอันมาก  ที่เหลือส่วนน้อยก็พากันทิ้งค่ายหนี  ญวนยึดค่ายได้โดยละม่อม  องต๋าเตียนกุนเสนาบดีใหญ่ญวนยกไพร่พลจากกรุงเว้มาบัญชาการรบด้วยตนเอง  หมายจะยึดดินแดนเขมรเป็นของญวนให้จงได้  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......

(https://i.ibb.co/LRK8Lx0/hqdefault-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “องต๋าเตียนกุนใช้ให้องเดกชากำกับพระยา พระเขมรให้มาทำแผนที่เมืองเขมรแต่ส่วนแม่น้ำใหญ่น้อยทุกแคว  และทำแผนที่ลำคลองเก่าใหม่ใหญ่น้อยทุกตำบลตลอดมาจนถึงเมืองอุดงคฦๅไชย  กองหนึ่งเป็นส่วนแผนที่แม่น้ำลำคลอง  แล้วให้องตันเบียวกำกับพระยา พระเขมรให้ทำแผนที่บกในเขตแดนเมืองเขมรแต่ส่วนทางป่าดงภูเขาห้วยหนองคลองลำธารบึงบางทางบก  ในป่าดงพงไพรไร่นาทุ่งใหญ่น้อย  ให้ตรวจต้นไม้ที่จะเป็นยาพิษ  และต้นผลไม้ที่จะเป็นกำลังแก่รี้พล  และบึงหนองคลองเขินที่จะอาศัยน้ำได้มีอยู่ตามทางหรือพ้นทาง  และทางป่าทุ่งที่จะเป็นที่แอบแฝงแก่ข้าศึกได้มีกี่แห่ง  จะได้แต่งกองเสือป่าแมวเซาไปพิทักษ์รักษา  ให้ดูทางจะหนีทีจะไล่ให้ตลอดไปมาด้วย

          ครั้นองญวนและพระยา พระเขมรไปตรวจทางน้ำและทางบกเสร็จแล้ว  ได้ทำแผนที่น้ำและบกมาทั้งสองกองเสร็จแล้ว  จึงนำมาให้แก่องต๋าเตียนกุน  องต๋าเตียนกุนตรวจดูใจตลอดแล้วจึงว่า

           “เราจะยกทัพบกทัพเรือระดมไปตีค่ายไทย,เขมรเดี๋ยวนี้ก็จะแตกหมด  แต่ว่ายังจะตีไม่ได้  เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ไม่อยู่  กลับไปเมืองไทยเสียแล้ว  มีแต่พระพรหมบริรักษ์บุตรขององบดินทร์อยู่กับพระองค์ด้วงเท่านั้น  เราจะยกไปตีค่ายไทยก็ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่ข่มเหงเด็ก  เด็กจะสู้รบผู้ใหญ่ได้หรือ”

          องญวนและพระยา พระเขมร นายทัพ นายกองจึงตอบว่า

           “เจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่อยู่อย่างนี้  ที่ค่ายไทยก็มีไพร่พลน้อยเห็นเป็นท่วงทีดีแล้ว  ขอให้ยกไปตีจะได้เมืองเขมรโดยง่าย”

          องต๋าเตียนกุนหัวเราะแล้วจึงพูดว่า

(https://i.ibb.co/QJ7mnMY/bmhh-X3-Ry-YW4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “เราทำการศึกอย่างท่านคิดนั้นไม่ได้  เพราะผิดด้วยธรรมเนียม  แม่ทัพเสนาบดีจะมารบดีทัพเล็ก ๆ น้อย ๆ  อย่างโจรปล้นของกินนั้น  หาชอบด้วยยุติธรรมไม่  ถึงมาทว่าเราจะตีกองทัพเมืองพนมเปญที่พระพรหมบริรักษ์ บุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชารักษาอยู่ให้แตกพ่ายแพ้ไปแต่ในพริบตาเดียวก็ได้  แต่ไม่เป็นเกียรติยศอะไรแก่ตัวเราเลยสักอย่างหนึ่ง  กลับจะเสียเกียรติยศเราไปเสียอีก  เพราะว่าเรามีอำนาจวาสนาเป็นเสนาบดีกรุงเว้อย่าง ๑  และมีอายุมากอย่าง ๑  กับมีเรือรบไพร่พลมากอย่าง ๑  ทั้งสามประการนี้มีมากกว่าพระพรหมบริรักษ์  พระพรหมบริรักษ์มีอายุน้อยอย่าง ๑  มีอำนาจวาสนาน้อยอย่าง ๑  มีไพร่พลน้อยอย่าง ๑  ทั้งสามประการนี้มีน้อยกว่าเราจึงได้พ่ายแพ้เรา  เรามีชัยก็เหมือนข่มเหงลูกเล็กเด็กน้อยซึ่งพ่อเชื้อเขาไม่อยู่  ควรเราจะรออยู่จนเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับออกมาเมื่อไร  จึงจะได้ยกเข้าต่อสู้กันพอเป็นคู่รบกันได้ตามอายุและบรรดาศักดิ์ไพร่พลคล้าย ๆ กัน  ถึงว่าข้างไหนจะแพ้และชนะ  ก็จะมีเกียรติยศแก่ผู้ชนะให้มีชื่อเสียงปรากฏไว้ในแผ่นดินบ้างจึงจะสมควร”

           องต๋าเตียนกุนพูดเท่านี้แล้ว  จึงให้เสมียนเขียนถ้อยคำที่พูดนี้ส่งให้เขมรเชลยนำไปให้พระพรหมบริรักษ์  พระพรหมบริรักษ์จึงได้ทราบความตามหนังสือองต๋าเตียนกุนบ้าง  แล้วได้แต่งกองทัพเขมรไปเที่ยวจับญวนได้มา  ถามทราบข้อความดังที่กล่าวมานี้บ้าง  จึงเขียนลงในใบบอกและส่งต้นหนังสือขององต๋าเตียนกุนมาด้วย  เจ้าพนักงานได้นำใบบอกและหนังสือองต๋าเตียนกุนขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  ทรงพระราชดำริแล้วทรงมีพระราชดำรัสว่า

(https://i.ibb.co/jzRCzbv/king-unnamed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

            “เขมรเป็นขบถครั้งนี้หากว่าจับไส้ศึกได้เสียก่อนเป็นบุญหนักหนา  ถ้าจับเขมรไส้ศึกไม่ได้  ไทยก็จะรักษาตัวยากเต็มที  พอดีพอร้ายแทบจะไม่เป็นการงาน  ที่เมืองเขมรนั้นถ้าเกิดการจลาจลขึ้นครั้งใด  ก็ได้ให้พี่บดินทร์ออกไประงับดับยุคเข็ญลงได้ทุกครั้ง  ถ้าพี่บดินทร์กลับเข้ามาเยี่ยมเยือนบ้างเมืองไทยครั้งใด  ที่เมืองเขมรก็กลับลุกลามเป็นขบถขึ้นทุกครั้ง  แต่ว่าเดชะบุญเผอิญจับได้ก่อน รู้ตัวก่อนทุกที จึงไม่เสียเกียรติยศไทย  เห็นว่าการบ้านเมืองเขมรแล้วปราบปรามยากมาแต่โบราณครั้งกรุงเก่าแล้ว  ถึงคราวนี้ก็เหมือนกัน  นอกจากพี่บดินทร์แล้ว  ก็เต็มกินเต็มฟัดเขมรทีเดียว  คราวนี้ญวนคิดการใหญ่โต  มาตั้งท่าตั้งทางดูถูกไทยในระหว่างกลางทัพศึก  แล้วมีหนังสือมาพูดจาท้าทายหมิ่นประมาทฝีมือไทย  เพราะว่าชะรอยมันจะเห็นช่องที่เขมรจะรับเป็นไส้ศึกของไทยจะล้มไทยให้ญวนขึ้นข่มขี่  เพราะฉะนั้นมันจึงรอจะคอยรบกับพี่บดินทร์เอง  จะได้มีเกียรติยศแก่มัน  หรือว่ามันจะคิดเห็นทางอย่างไรอีกก็ไม่รู้  จะไว้ใจแก่ราชการทัพศึกและกลอุบายข้าศึกไม่ได้  แต่กำลังสติปัญญาฝีมือพระพรหมบริรักษ์และพระยาเพชรบูรณ์หรือนักพระองค์ด้วงที่อยู่นั้น  จะสู้รบองต๋าเตียนกุนเสนาบดีผู้ใหญ่ญวนนั้น  เห็นจะต้านทานญวนไม่ได้  ฉันขอให้พี่บดินทร์รีบออกไปเองเห็นจะดี”

(https://i.ibb.co/XpFnyTC/1441196246-Screen-Shot-o.jpg) (https://imgbb.com/)

            เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับพระราชโองการดำรัสดังนั้นแล้ว  จึงกราบถวายบังคมลา  ยกออกจากกรุงเทพฯ ณ เดือนแปด แรมเจ็ดค่ำ ในปีมะเส็งสัปตศก

(https://i.ibb.co/mHHjBV2/Untitldfed-9.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ในพระราชวังบวรสถานมงคล  ที่เคยทัพเคยศึกและคุ้นเคยกันกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่ก่อนนั้น  ให้คุมไพร่พลเลขไพร่หลวงสมกำลังในพระราชวังบวรฯ ตามออกไปโดยเร็ว  แต่เจ้ากรมปลัดกรมตำรวจ และมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯนั้นให้ไปทั้งนายใหญ่และน้อยให้สิ้นเชิง ด้วยเป็นคนมีฝีมืออยู่แล้ว  แล้วโปรดเกล้าฯให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือชั้นในและทางตะวันออกด้วย ทั้งเจ้าเมืองกรมการที่คุ้นเคยรับใช้ชอบใจเจ้าพระยาบดินทรเดชาเท่าใด  ก็ให้คุมไพร่พลสำหรับเมืองของตนให้เร่งรีบตามออกไปเมืองเขมรโดยเร็ว
            ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสุภาวดี (ชื่อโต) เป็นแม่กองใหญ่คุมไพร่พลในกรุงเทพฯ ออกไปตั้งส่งเสบียงอาหารและกระสุนดินดำศาสตราวุธอยู่ที่ท่าเก่าเมืองกบินทร์
            โปรดให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี  เป็นแม่กองคุมไพร่พลในกรุงเทพฯและหัวเมืองตะวันอก  ขึ้นไปตั้งอยู่ที่ท่าสวาย  ให้คอยรับเสบียงอาหารกระสุนดินดำที่พระยาราชสุภาวดีส่งขึ้นไป  ก็ให้รับต่อ ๆ ส่งขึ้นไปให้พระยาจ่าเสนบดีศรีบริบาล และพระอัคเนศรที่ตั้งรับอยู่ ณ เมืองพระตะบอง  จะได้ส่งขึ้นไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองอุดงคฦๅไชย
            โปรดเกล้าฯให้จมื่นมหาสนิทหัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ เชิญท้องตราบัวแก้วออกไปจัดกองทัพเรือเมืองจันทบุรี  เมืองตราด  ออกไปลาดตระเวนตามเกาะชายทะเลตะวันออก  เพื่อจะระวังทัพเรือญวน
            โปรดให้เจ้ากรมปลัดกรมแขกอาสาจามในพระราชวังบวรฯ  จัดเรือทะเลไปลาดตระเวนด้วย

(https://i.ibb.co/WVT9LqC/Untitldfefed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นช้างไปถึงอรัญ  แต่ดินดำอาหรอบบรรจุไว้ในแอบสานด้วยไม้ไผ่  แล้วหุ้มถุงกำหยี่แดงวางไว้บนสัปคับช้างข้างกายท่าน  ท่านก็สูบกล้องราชวังสั้น ๆ  แล้วก็เคาะมูลกล้องที่ยาแดงกำลังติดไฟอยู่นั้นตกลงที่หลังแอบ  แอบไหม้ทะลุลงไปติดดินดำในแอบลุกขึ้น  ลวกแขนเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งแต่ไหล่ตลอดลงไปถึงข้อศอก  หนังปอกถลอกออกไปเป็นแผลปวดแสบปวดร้อนเป็นกำลังจนนั่งไม่ได้  ได้แต่นอนอยู่ในสัปคับช้าง  แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาท่านเป็นผู้อดทนกลั้นความเจ็บปวดไว้ได้  ท่านก็แข็งใจให้ช้างไปส่งท่านจนถึงเมืองอุดงคฦๅไชย  จึงได้ให้หมอรักษาพยาบาลอยู่ช้านาน.......”

(https://i.ibb.co/wY3PhYc/lynamde1.jpg) (https://imgbb.com/)

            ** องต๋าเตียนกุนเสนาบดีญวนเป็นคนรอบคอบละเอียดลออมาก  ก่อนที่จะยกกำลังเข้า โจมตีไทยเขมร  ก็ให้สำรวจเส้นทางทั้งบกและน้ำจนรู้ตื่นลึกหนาบาง  ทางหนีทีไล่  ไม่บุ่มบ่ามเอาแต่กำลังเข้าสู้  ทำการรบมิใช่เพื่อเอาแต่ชนะอย่างเดียว  หากแต่หวังเอาเกียรติยศชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลและฝากไว้แก่แผ่นดินด้วย  ตอนนี้เตรียมการรบไว้พร้อมสรรพ  รอแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจากกรุงเทพฯ คืนสู่สนามรบในกัมพูชาเมื่อไรแล้ว  จึงจะยกเข้าโจมตีไทยเขมรทุกค่ายทุกเมืองต่อไป  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่ไม่ทรงเห็นว่าใครจะมีความสามารถพอที่จะต่อกรกับเสนาบดีญวนได้  จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพกลับเขมรรับมือองต๋าเตียนกุนต่อไป  การรบระหว่างไทย ,เขมร กับญวนครั้งใหญ่  กำลังจะเริ่มขึ้น  ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลสยสือไท เมืองสุโขทัย
๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, ตุลาคม, 2564, 10:20:13 PM
(https://i.ibb.co/vdNWV2G/photo1520762046520-15207620465211527154717-1.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๖ -

“ต๋าเตียนกุน”เห็นช่องน้ำนองทุ่ง
ควรรบพุ่งข้าศึกอย่างฮึกเหิม
สั่งบังคับทัพญวนด่วนยกเติม
กองเรือเพิ่มล้อมรายตีค่ายไทย

น้ำท่วมค่ายไทยแย่จึงแพ้สิ้น
มิมีดินแห้งยืนยิงปืนใหญ่
ถูกพลญวนยกขย้ำจนหนำใจ
กลับ“อุดงคฦๅไชย”ได้ยากเย็น


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   องต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้ยกกองทัพเรือเป็นทัพหลวง  เมื่อมาถึงเมืองโจดกแล้วจึงสั่งจัดกองทัพใหม่เป็นสามทัพ  และสั่งให้สำรวจเส้นทางน้ำและทางบก  เขียนเป็นแผนที่ไว้อย่างละเอียด  เมื่อดูแผนที่แล้วพูดว่าจะยกเข้าตีค่ายไทยเดี๋ยวนี้ก็ต้องแตกหมดทุกค่าย  แต่ทำอย่างนั้นไม่ได้  เพราะองบดินทร์แม่ทัพใหญ่ไม่อยู่  เราเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ไม่ควรรังแกเด็ก  รอให้แม่ทัพใหญ่เขามาจากกรุงเทพฯก่อนจึงค่อยยกเข้าตีพนมเปญและทุกค่ายทุกเมืองของไทยและเขมร  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเกณฑ์กองทัพรีบยกกลับเขมร  เพื่อช่วยป้องกันรักษาแผ่นดินเขมรไว้ต่อไป  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/PQbvng2/sdguyet.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ครั้น ณ เดือนสิบ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ในปีมะเส็งสัปตศกนั้น  องต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่รู้ข่าวว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกมาแล้ว  เห็นว่าน้ำก็ท่วมเมืองพนมเปญ  แล้วผู้คนที่กองทัพเขมรและไทยในเมืองไม่มีที่แผ่นดินแห้งจะอาศัยดินต่อสู้กับข้าศึกได้  เป็นช่องอันดีพอที่จะตีทัพไทยให้แตกได้ในครั้งนี้  องต๋าเตียนกุนจึงบังคับสั่งให้เรียกกองทัพองเฮากุนและองโปโฮมาทั้งสองทัพ  เป็นไพร่พลหมื่นหนึ่ง  เรือรบใหญ่น้อยร้อยหกสิบลำ  ให้ยกไปตีค่ายไทยที่เมืองพนมเปญให้แตกไปแต่ในกำหนดสามวัน  ถ้าพ้นจากกำหนดนี้  โทษของแม่ทัพทั้งสองถึงที่ตายทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/7Jw29Ch/Undstitlsed-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          องโปโฮยกทัพเรือแง่โอแง่ทรายแยกทางมาถึงหัวแหลมจะโรยจังธมใต้เมืองพนมเปญ  พอกองทัพเรือญวนเลี้ยวแหลมจะโรยจังธมพร้อมกัน  ก็แจวเรือเรียงเข้าใกล้ตลิ่งเป็นสี่แถว  แถวละสามสิบลำ  ผลัดกันยิงปืนใหญ่ไปได้สองครั้ง  ถูกค่ายพระยาอภัยสงครามใหม่หักพังลงสองด้าน  พระยาอภัยสงครามให้นำปืนหามแล่นยิงโต้ตอบญวนไปบ้าง  แต่ช้า  เพราะทหารปืนใหญ่ทำการไม่ถนัด  ด้วยน้ำท่วมแผ่นดินพื้นค่าย  ญวนก็นำเรือรบเล็กแจวอ้อมไปจอดที่คอแหลมบังตาไทยไม่เห็นได้  ญวนไล่ไพร่พลขึ้นบกยกไปแอบป่าระกำป่าพงแล้วนำปืนคาบศิลายิงไปได้โดยใกล้  ถูกไพร่พลไทยเขมรล้มตายลงมาก  ที่เรือรบใหญ่ศีรษะป้อมก็ยิงปืนใหญ่โต้อยู่เสมอ  แล้วญวนเห็นว่าไทยไม่ยิงปืนตอบมา  จะหนีเป็นแน่  ญวนก็แต่งกองอาสานำเรือรบเล็ก ๆ เข้าไปปล้นค่ายพระยาอภัยสงคราม ๑  พระรามณรงค์ ๑  พระวิชิตสงคราม ๑  หลวงนรินทรโยธา ๑  หลวงแผลงไพรินทร์ ๑  นายกองทั้งสี่ก็พาทหารลงเรือเล็กหนีมาได้  ที่ตายก็มากทั้งไพร่นาย  องโปโฮแม่ทัพญวนก็รักษาค่ายแหลมจะโรยจังธมไว้ทั้งสิ้น

(https://i.ibb.co/8zn1qhT/5-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายองเฮากุนก็ยกทัพเรือขึ้นมาแยกไปตีทัพไทยที่ค่ายหน้าเมืองพนมเปญ  แต่องเฮากุนฉลาดนัก  แบ่งทัพเป็นแปดกอง  กองใหญ่ก็แจวแยกออกเป็นปีกกา  ไม่โห่ร้อง  และไม่กระทืบเท้าให้ดังกึกก้อง  แจวเงียบ ๆ เข้ามาแต่พอสว่างก็ถึงหน้าเมืองพนมเปญพร้อมกันทุกทัพทุกกอง  องเฮากุนเห็นค่ายไทยตั้งชิดกันอยู่หมู่เดียวหลายค่าย  จึงสั่งทัพเรือเล็กให้เข้าล้อมชั้นใน  เรือใหญ่เข้าล้อมชั้นนอก  แล้วก็ยิงปืนใหญ่ที่บนป้อมศีรษะเรือออกไปทำลายค่ายไทยหักพังลงทุกด้าน  เรือเล็กก็แจวเข้าไปจนถึงค่าย  ก็ปีนเข้าค่ายไล่ยิงแทงฟันไพร่พลไทยเป็นอลหม่าน  ฝ่ายพระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่ากับพระยาเสนาภูเบศร์  พระชาติสุนทร  สามคนเป็นนายทัพรักษาค่ายปีกกาพนมเปญอยู่นั้น  เห็นญวนยกเข้ามาใกล้ค่าย  ได้จัดปืนคาบศิลาออกยิงโต้ตอบอยู่ครู่หนึ่ง  ก็หนีร่นเข้ามาในค่ายกลาง  เพราะทนกระสุนปืนใหญ่ญวนไม่ได้  ครั้นจะนำปืนใหญ่ยิงไปโต้ตอบกับญวนบ้าง  ก็จะวางตั้งปืนใหญ่ก็ไม่มีที่แห้ง  เพราะน้ำท่วมหมด  พระยาเสนาภูเบศร์ให้นำปืนขานกยางขึ้นขันชะเนาะกับเสาค่ายสักสิบบอก  ยิงปืนนั้นไปบ้างก็ไม่ทันท่วงที  เพราะช้าการนัก  ญวนยิงปืนในเรือมาได้มากกว่าปืนไทยที่ยิงไป  ต่อสู้กันอยู่พักหนึ่ง  ค่ายไทยก็แตก  พระยาชัยวิชิต  พระยาเสนาภูเบศร์  พระชาติสุเรนทร์  กับไพร่พลก็ทิ้งค่ายปีกกาหนีไปเข้าค่ายใหญ่  พระยาเพชรบูรณ์  พระพรหมบริรักษ์ๆ ก็จัดการต่อสู้ปลูกร้านสูงพ้นน้ำ ๒๕ ร้าน  นำปืนหามแล่นขึ้นบนร้านจะยิงโต้ตอบกับญวน  เพื่อจะป้องกันรักษาตัวบ้าง  แต่ไม่ทันการ  ร้านก็ยังไม่แล้ว  ญวนก็แจวเรือเข้ามาล้อมรอบยิงด้วยปืนใหญ่บ้าง  ปืนคาบศิลาบ้าง  ที่เป็นเรือเล็กก็แจวไปใกล้ค่ายไทย  ถึงว่าไทยในค่ายยิงปืนคาบศิลาออกมามากน้อยสักเท่าใด  ถูกญวนล้มตายลงบ้าง  ญวนก็ไม่ย่อท้อถอยหลัง  เพราะเสียงกลองศึกเป็นสำคัญยังตีเร่งอยู่เสมอ  ถอยหลังไม่ได้  ญวนต้องเร่งรุกเข้ารบอยู่เสมอทุกด้านทุกทาง  พบทหารญวนหนุนเนื่องกันเข้าไปทั้งเรือใหญ่เรือเล็กเป็นตับ ๆ  แต่ใกล้ค่ายไทยสัก ๙ วา ๑๐ วา  ก็โดดลงน้ำบุกรุกเข้าไปฟันค่าย  ปีนค่ายเข้าไปไล่ฆ่าฟันยิงแทงไทยล้มตายเป็นอันมากทุกค่าย  ญวนรบตีค่ายพระยาเพชรบูรณ์อยู่ครู่หนึ่งก็แตกทุกค่าย  พระพรหมบริรักษ์  พระยาเพชรบูรณ์  พระยาอร่ามมณเฑียร เห็นว่าเชิงศึกญวนแหลมเข้ามาใกล้จนเข้าค่ายได้บ้างแล้ว  กระบวนทัพศึกเสียทีแก่ญวนมาก  เห็นจะสู้ไม่ได้เป็นแน่  ถ้าขืนอยู่สู้ก็คงตายด้วยกันหมด  พระพรหมบริรักษ์พูดกับพระยาเพชรบูรณ์ยังไม่ทันจะขาดคำ  หลวงสนิทสุนทรรักษาประตูค่ายหน้าร้องบอกเข้ามาว่า

           “ญวนลุยน้ำเข้ามาเต็มค่ายปีกกาและค่ายหน้าหมดแล้ว  เห็นจะอยู่ในค่ายหลังไม่ได้แน่”

(https://i.ibb.co/wCfYQ29/Untitldgfed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          ในทันใดนั้นญวนก็โห่ร้องรุกไล่เข้ามาฆ่าฟันเขมร,ไทยติด ๆ มาถึงค่ายกลาง  พระพรหมบริรักษ์ พระยาเพชรบูรณ์ พระยาอร่ามมณเฑียร ก็คุมนายทัพนายกองกับไพร่ห้าร้อยคน  ถอยออกนอกค่ายหลัง  ล่าหนีไปด้วยเรือเล็กใหญ่มีอยู่บ้าง  บ้างก็ขี่กระบือและโคท่องน้ำหนีไปเป็นพวก ๆ  ญวนเห็นค่ายด้านหลังไทยแตกไปดังนั้นแล้ว  ก็ยกพลญวนลุยน้ำไล่ติดตามยิงแทงฟันล้มตายตลอดไปตามทาง  บ้างก็ตกกระบือจมน้ำตายโดยมาก

(https://i.ibb.co/yF4yW4f/U89ntitl2ed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นกองทัพไทยและเขมรรวมห้าร้อยคน  แตกหนีมายับเยินป่นปี้  ที่ตายตามทางก็มาก  ที่หนีรอดมาได้ก็มีบ้าง  นายทัพนายกองไทยที่ลงเรือทันก็หนีมาเมืองอุดงคฦๅไชยได้  ที่ไม่มีเรือก็ต้องขี่โคกระบือและม้าหนีมาได้บ้าง  ไพร่พลนั้นหนีมากับเรือบ้าง  มากับโคกระบือบ้าง  แต่ที่เดินท่องน้ำลุยน้ำมานั้นมาก  ฝ่ายญวนได้ทีมีเรือเล็กมากลำ  ก็แจวไล่ติดตามยิงแทงฟันฆ่ากองทัพไทยที่เดินท่องน้ำลุยน้ำเลื่อยล้านั้นล้มตายตามทางเป็นอันมาก

(https://i.ibb.co/syBL3Wx/Unt86itled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นกองทัพไทยแตกเสียค่ายเมืองพนมเปญนั้น เสียไพร่พลไทย,ลาว,เขมร พันเศษ  และเสียเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่  กระสุนดินดำ  เสบียงอาหารแก่ญวนทั้งหมด  เมื่อแตกหนีมาก็ได้ปืนคาบศิลาและหอกดาบมาบ้าง  ครั้งนั้นเสียนายทัพแต่ ๕ คน  เขมร ๘ คน  ไทยนั้นคือ  พระชนะสงครามรามัญวังหน้า ๑  หลงอนุรักษ์ภูเบศร์วังหน้า ๑  หลวงวิเศษสงครามวังหน้า ๑  ขุนอุดมภักดีกรมการเมืองเพชรบูรณ์ ๑  ขุนรองจ่าเมืองเมืองเพชรบูรณ์ ๑  เขมรนั้นคือ พระยาอินทราวุธ ๑  พระยาณรงค์บริรักษ์ ๑  พระพิทักษ์พลขันธ์ ๑  กับกาลาภาษ กรรมการเขมร ๕ คน  รวม ๘ คน  รวมทั้งไทยเป็น ๑๓ คน  ไพร่พลเขมรตาย ๑,๔๐๐ คน  ไพร่ไทยตาย ๖๐๐ คน  ที่ว่ามานี้ทั้งนายไพร่ในทัพพระพรหมบริรักษ์  และทัพพระยาเสนาภูเบศร์ด้วยเป็นสองแห่ง  ตายทั้งนายไพร่ดังกล่าวไว้นั้น  แต่กองทัพพระสุนทรพิมลกับหลวงชาติสรสิทธิ์  หลวงพินิจโยธา  ข้าหลวงวังหน้าคุมพระยา พระเขมรและไพร่เขมรอยู่รักษาค่ายที่ตำบลจะโรยจังวานั้น  เห็นทัพเรือญวนยกมามากเหลือที่จะต่อสู้  จึงได้ขนเครื่องศาสตราวุธ กระสุนดินดำ และเสบียงอาหารลงเรือรบได้ทั้งสิ้นก็ทิ้งค่ายเสีย  รีบเร่งยกทัพหนีมาเมืองอุดงฦๅไชยได้ก่อน  เพราะฉะนั้นกองทัพพระสุนทรพิมลจึงไม่เสียไพร่พลและศาสตราวุธแก่ข้าศึกญวนเลย

(https://i.ibb.co/ZG3MRfT/6502-6235-1495644055.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายกองทัพเรือองโปโฮก็ตั้งอยู่ในค่ายพระยาเสนาภูเบศร์ที่ตำบลจะโรยจังธม  และกองทัพองเฮากุนนั้นก็เข้าตั้งอยู่ในค่ายพระยาเพชรบูรณ์ที่เมืองพนมเปญบ้าง  แยกย้ายกันไปตั้งอยู่ที่ตำบลกะพงหลวงบ้าง  แล้วองเฮากุนก็ให้องเบโคยแบ่งกองทัพปีกหนึ่ง  แยกยกไปตั้งรักษาค่ายพระสุนทรพิมลที่ตำบลจะโรยจังวาบ้าง  ให้รักษาค่ายหลวงอภัยเสนา  หลวงราชเสวกวังหลวง  หลวงภักดีโยธา  หลวงรักษาจตุรงค์วังหน้า  แม่กองสี่นายนี้ทิ้งค่ายที่เกาะจีนหนีไป  ญวนก็รักษาไว้ได้  แล้วแม่ทัพญวนทั้งสองแต่งหนังสือบอกข่าวที่มีชัยชนะแก่ไทย  ไทยหนีแตกไปหมดและได้ค่ายไทยไว้ทั้งสี่ตำบล  ได้เสบียงอาหารศาสตราวุธพร้อมด้วย  บอกไปให้องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงทราบทุกประการ...”

(https://i.ibb.co/GCqbwtZ/03-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** กองทัพไทยเสียค่ายให้แก่กองทัพญวนหมดสี่ค่ายสี่ตำบล  เป็นเพราะความฉลาดในเชิงรบของแม่ทัพญวนประการหนึ่ง  และเพราะค่ายไทยตั้งอยู่บนบกที่ถูกน้ำท่วมพื้นดินในค่ายจนตั้งปืนใหญ่ยิงสู้ญวนไม่ได้อีกประการหนึ่ง  กับความฮึกหาญโหดเหี้ยมของทหารญวนอีกประการหนึ่ง  ไทยเสียเปรียบญวนที่เขามีความชำนาญในทางน้ำมากกว่าไทยหลายเท่าตัวเลยทีเดียว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกจากกรุงเทพฯ ไปถึงอุดงคฦๅไชยไม่ทันหายเหนื่อย  องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงญวนก็สั่งทัพญวนลุยทัพไทยเสียแล้ว  ไทยจะตั้งหลักสู้ญวนอย่างไร  ค่อยนี้มาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, ตุลาคม, 2564, 11:03:38 PM
(https://i.ibb.co/sQC9Mgk/r-8b-VEd-DV8.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๗ -

“ต๋าเตียนกุน”กำกับกองทัพใหญ่
แล้วยกไปหมายชนะจะจะเห็น
ถึงกลางทางป่วยพลันฝันกระเด็น
ต้องกลายเป็นจอมพลคนพิการ

แม่ทัพไทยวางแผนแก้แค้นบ้าง
ใช้ทัพช้างรุกไล่ไร้สงสาร
ทัพญวนแตกปี้ป่นหนีลนลาน
ตายประมาณพันเศษทั้งไพร่นาย


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   องต๋าเตียนกุนเสนาบดีแม่ทัพหลวงญวนฉวยโอกาสยามที่น้ำท่วมเมืองพนมเปญและเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกจากกรุงเทพฯ เดินทางถึงเมืองอุดงคฦๅไชยยังไม่ทันหายเหนื่อย  ก็สั่งบังคับให้องโปโฮทัพหนึ่ง  องเฮากุนทัพหนึ่ง  ยกเข้าโจมตีค่ายไทยสี่แห่งสี่ตำบลให้แตกภายในสามวัน  ถ้าตีค่ายไทยไม่แตก  แม่ทัพทั้งสองต้องรับผิดชอบด้วยความตาย  ทัพญวนทั้งสองปฏิบัติตามคำสั่งเสนาบดีแม่ทัพหลวงญวน  ตีค่ายไทยแตกได้ในเวลาอันรวดเร็ว  เพราะญวนใช้เรือใหญ่น้อยเข้ารุมล้อมระดมตี  กองทัพไทยไม่อาจตั้งปืนใหญ่ยิงตอบโต้ญวนได้  ด้วยน้ำท่วมพื้นที่ในค่ายจนไม่มีดินแห้งให้ตั้งปืนใหญ่ได้  สี่ค่ายสี่ตำบลของไทยแตกยับเยินไพร่พลพากันหนีตายกลับเมืองอุดงคฦๅไชยได้ส่วนหนึ่ง  ล้มตายไปจำนวนมาก  แม่ทัพญวนก็ยึดค่ายเป็นที่ตั้งของกองทัพญวนทั้งหมด  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ.......

(https://i.ibb.co/SmrZtWR/Untitleed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ฝ่ายองต๋าเตียนกุนรู้ว่ากองทัพเรือญวนยกไปตีทัพไทยแตก ณ วันอาทิตย์เดือนสิบขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  กองทัพไทยแตกไปหมดทั้งสี่ตำบล เมื่อ ณ พฤหัสบดีเดือนสิบขึ้นสิบห้าค่ำ  จนถึงวันอาทิตย์เดือนสิบแรมสิบค่ำนี้ได้สิบวันแล้ว  เห็นทีว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะจัดการศึก  แต่งกองทัพใหญ่ไว้ต่อสู้กับญวนเป็นสามารถมั่นคงแน่แล้ว  แต่กองทัพองเฮากุนและองโปโฮสองกองนั้น  เห็นจะต้านทานกำลังทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาไม่ได้  องต๋าเตียนกุนจึงให้กองทัพองต๋าโคกอง ๑  ให้จ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกกอง ๑  ให้องยาลือกอง ๑  ทั้งสามกองคุมไพร่พลกองละ ๖,๐๐๐ คน  ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองอุคงคฦๅไชยให้แตกแต่ในกำหนด ๗ วัน  ให้เรียกกองทัพองเฮากุนและองโฮโปไปช่วยระดมตีเมืองอุดงคฦๅไชยด้วย  ให้จ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเป็นผู้บังคับการศึกทุกทัพทุกกอง  แต่องต๋าเตียนกุนก็ยกทัพใหญ่ขึ้นไปพักตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเปญ  เพื่อจะได้หนุนทัพทั้งปวง

(https://i.ibb.co/Sx23C26/Untitlsded-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          กองทัพญวนทั้งหลายได้ยกขึ้นไป ณ วันอาทิตย์เดือนสิบแรมสิบค่ำ  ครั้นถึงที่ใกล้เมืองอุดงคฦๅไชยแล้ว  จ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกจึงบังคับให้องลันบินคุมกองทัพ ๑,๖๐๐ คน  ยกไปตั้งเป็นกองด่านอยู่ ณ ท่ากะพงหลวง
          แล้วบังคับให้องเฮากุนคุมเรือรบอ้อมไปทางท่าพระยาลือ  แล้วจะได้ยกทัพขึ้นบกไปตีเมืองอุดงคฦๅไชยให้พร้อมกันทุกกอง
          แล้วบังคับให้องโฮโปคุมกองทัพเรือแยกไปทางตะวันออกให้ขึ้นบกที่คอแหลมอุดงค์ แล้วจะได้เดินตรงไปตีค่ายไทยที่เมืองอุดงคฦๅไชย ให้พร้อมกันทุกทัพทุกกอง  ระดมตีให้แตกแต่ในสามวันอย่าให้พ้นกำหนดได้
          แล้วจ๋งต๊กสั่งให้องตันภู  องเดกลันบิน  เป็นแม่ทัพเรือกองหน้าคุมไพร่พล  ๓,๐๐๐ ลงเรือแง่ทรายเรือแง่โอเรือเล็กรวม ๑๗๐ ลำ ยกขึ้นไปตามคลองอุดงคฦๅไชย ในเวลากลางคืนสองยามเศษ  พอรุ่งเช้าตรู่ ๆ ก็ถึงวัดโบสถ์พิหารราย  แล้วจึงพาทหารขึ้นบกเดินไปตามชายป่าดงกองหนึ่ง  แต่จ๋งต๊กนั้นเดินบกไปแต่ต้นทางตั้งแต่เวลาพลบค่ำ  มีไพร่พลมากถึง ๕,๐๐๐ คน  เป็นทัพใหญ่เดินไปหมายจะยกเข้าตีค่ายไทยที่เมืองอุดงคฦๅไชยให้พร้อมกันทั้งแปดกอง  แล้วที่ไหนไทยจะต้านทานสู้ได้เล่า

(https://i.ibb.co/KLnsG4Q/Untitsled-12.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นองต๋าเตียนกุนแม่ทัพหลวงยกทัพเรือตามขึ้นมาถึงท่ากะพงหลวง  มีเรือรบใหญ่น้อยถึง ๑,๐๐๐ ลำเศษ  ไพร่พลมีถึง ๑๐,๐๐๐ คน  จึงสั่งให้รีบแจวเรือรบเข้าเข้าไปในคลองอุดงคฦๅไชย  หมายจะขึ้นบกไปบังคับการให้องญวนแม่ทัพทั้งปวงทำการจัดกระบวนทัพ  ยกเข้าตีเมืองอุดงค์ให้แตกแต่ในวันเดียวโดยอำนาจและฝีมือความคิดขององต๋าเตียนกุน  องต๋าเตียนกุนก็ป่วยหนักลงที่กลางทางในเรือรบนั้น  เพราะเป็นโรคปัจจุบัน  เป็นลมจับแน่นิ่งไปวันยังค่ำ  เมื่อหมอแก้ฟื้นแล้วก็มีสติวิปลาสคลุ้มคลั่งเพ้อพึมไป  เพราะฉะนั้นนายทัพนายกองผู้น้อยที่รองลงมา  จึงได้สั่งให้ถอยทัพเรือ ๑,๐๐๐ ลำ  พาองต๋าเตียนกุนกับไพร่พล ๑๐,๐๐๐ คนกลับมาตั้งรักษาพยาบาลอยู่ที่เมืองพนมเปญ

(https://i.ibb.co/M1YTPFy/371477919543576-161831013-n.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายนายทัพนายกองญวนทั้งหลายที่ยกขึ้นบกไปบ้าง  ยกทัพเรือไปบ้างเหล่านั้น  แต่ล้วนเป็นขุนนางมีอำนาจเสมอคล้าย ๆ กัน  ก็หาเกรงกลัวกันและกันไม่  ต่างคนก็ต่างเห็นและคิดแปลกกันไปต่าง ๆ หาถูกต้องปรองดองเป็นสามัคคีกันไม่  เพราะองต๋าเตียนกุนป่วยมีสัญญาวิปลาสไป  ไม่มีผู้ใหญ่จะบังคับการศึก  ศึกหย่อนอำนาจเสียกระบวนลงทุกที  ชั้นแต่เดินไปในป่าก็หยุดไปช้า ๆ นาน ๆ ตามสบาย  จึงไม่ถึงเมืองอุดงคฦๅไชยพร้อมกันทันท่วงทีกระบวนทัพศึก  ซึ่งจะตีไทยเอาชัยชนะแก่ไทยได้ยาก  ฝ่ายจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเห็นว่าองต๋าเตียนกุนไม่ยกหนุนมา  ก็ย่อท้อเดินทัพรอ ๆ เสียในป่า  การจึงช้าไม่พร้อมกัน

(https://i.ibb.co/0hKcB6X/Untitle96d-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบว่ากองทัพพระพรหมบริรักษ์ผู้บุตรและพระยาเพชรบูรณ์  พระยาเสนาภูเบศร์  ก็แตกทัพหนีญวนมาสิ้นทุกทัพทุกกองแล้ว  เห็นญวนจะยกทัพใหญ่ติดตามมาเป็นแน่  จึงแต่งแม่ทัพนายกองเขมรไปให้ลาดตระเวนคอยจับญวนมาถามให้ได้ข้อความบ้าง  ครั้งนั้นกองอาจารย์พฤฒิบาศเขมรจับญวนได้ ๖ คน  และกองหลวงแสนพลพ่ายเขมรจับญวนได้ ๑๔ คน  กองขุนชาติพาชีไทยจับญวนได้ ๘ คน  รวม ๓ กองเป็นญวนเชลย ๒๘ คนนี้เที่ยวมาหาปลาหาเนื้อหาผลไม้ในป่าและหนอง  จึงจับมาส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้ล่ามไต่ถามญวนเชลย  ญวนเชลยให้การว่า

           “แม่ทัพญวนทั้งเรือและบกชื่อนั้น ๆ  มีเรือรบเท่านั้น ๆ  มีไพร่พลกองละเท่านั้น ๆ  ยกมาเมื่อ ณ วันนั้น ๆ มาทางนั้น ๆ  และพูดจาปรึกษากันอย่างนั้น ๆ”

           (ดังที่กล่าวพรรณนามาแล้วนั้นทุกประการ  ไม่ต้องกล่าวคำให้การญวนซ้ำอีก)

(https://i.ibb.co/fGpPp5d/14386324dsfs-G-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ฝ่ายจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าญวนยกทัพใหญ่มาทางและบกเป็นอันมาก  เห็นว่าทางเรือจะมาช้า  เพราะทางอ้อม  ทัพบกญวนที่ขึ้นจากเรือเดินบกลัดป่ามานั้นเห็นว่าจะมาถึงเมืองอุดงคฦๅไชยก่อนเป็นแน่  จึงสั่งให้พระยาประสิทธิ์คชลักษณ์จางวางกองช้างเมืองนครราชสีมา  จัดทัพช้างและไพร่พลเมืองนครราชสีมาไว้ให้พร้อม  ช้างพลายทลายค่าย ๑๐๐ เชือก  ช้างพังเขน ๕๐ เชือก  ให้พระยาประกฤษณุรักษ์  พระคชภักดี  พระศรีภะวัง กรมช้างในพระราชวังบวรฯ คุมไพร่พลและทัพช้างในพระราชวังบวรฯ ๑๐๐ เชือก  ทั้งพังพลาย  แต่งเป็นช้างชนช้างแพนช้างแล่นช้างโจมช้างปืนใหญ่ด้วย
          ให้พระกำแพง หลวงคชศักดิ์  หลวงคชสิทธิ์  คุมไพร่พลและทัพช้างในพระราชวังหลวง ๑๐๐ เชือก  ทั้งพังพลาย  แต่งเป็นช้างค่ายค้ำและช้างเขน  มีปืนหลักตั้งบนสัปคับหลังช้างทุกเชือก  รวมทัพช้างสามกอง ๓๕๐ เชือก
          ให้พระยาเพทราชาจางวางกรมพระคชบาลในพระราชวังหลวงเป็นแม่ทัพช้างทั้งสามกอง
          ให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเป็นผู้บัญชาการทัพช้างทั้งสิ้น  เป็นใหญ่กว่าพระยาเพทราชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งว่า

(https://i.ibb.co/nkvYhVf/image.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ถ้ากองทัพญวนยกมาถึงเมืองอุดงคฦๅไชยเมื่อใด  ก็ให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีนำทัพช้าง ๓๕๐ นี้  ยกเข้าลุยไล่ทัพญวนเถิด  ญวนคงไม่มีช้างมา   เพราะว่าญวนมากับเรือ  แล้วก็ขึ้นบกยกมาเท่านั้นเอง  จะสู้ช้างได้สักกี่ครู่ก็ให้ญวนต่อสู้กับช้างไป  แต่ให้ตระเตรียมช้างยกไปซ่อนอยู่ในป่าพระยาลือให้พร้อมไว้จะได้ทันท่วงทีกับญวน”

(https://i.ibb.co/NnLnp4m/Untitdeled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          พอรุ่งขึ้นได้สองวัน  ขุนภักดีณรงค์รอน  ขุนสวัสดิ์อาชา  ปลัดกรมม้าในพระราชวังบวรฯ  เป็นแม่กองตระเวนด่านทางข้างใต้  ใช้คนขึ้นม้าเร็วมาบอกว่า

           “ทัพบกญวนยกมาเป็นหลายสายหลายทางเต็มทั้งป่า  ตรงเข้ามาทางเมืองอุดงคฦๅไชย  กองตระเวนได้ขึ้นต้นไม้สูงดูเห็นแต่ไกล  ก็กลับลงมาขึ้นม้ารีบมาบอกเดี๋ยวนี้”

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้นแล้วจึงว่า     “ที่เราคิดตระเตรียมช้างไว้พร้อมแล้วนั้นก็สมคิดแล้วเป็นไรเล่า”

          จึงสั่งให้หลวงเดชอัศดรเจ้ากรมม้าแซงในพระราชวังบวรฯ ขึ้นม้าเร็วให้รีบไปบอกเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี  ให้ไล่ต้อนกองทัพช้างมาต่อรบกับญวนเถิด

(https://i.ibb.co/C6fzRZJ/Untitfdled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          พอกองทัพญวนยกมาถึงชานเมืองอุดงคฦๅไชย  กองทัพช้างไทยก็ยกมาทันเข้าที่นั้น  ทัพช้างพลายเมืองนครราชสีมาเป็นช้างตกน้ำมันมาก  เป็นกองหน้าก็บุกบั่นตะลุยไล่แทงถีบฟาด  ไพร่พลญวนกองหน้าล้มตายลงเป็นอันมาก  ทัพญวนกำลังเดินมาไม่ทันจะตั้งตัวได้ถนัด  และกองแบกค่ายตับของญวนก็ยังยกมาไม่ถึง  จึงไม่ทันจะตั้งค่ายขุดสนามเพลาะรับรองไทย  แม่ทัพญวนเห็นทัพช้างไทยมากดังนั้นแล้ว  จึงสั่งไพร่พลแยกออกเป็นปีกกา  หมายจะล้อมยิงช้าง  แต่ยังไม่ทันจะแยกทัพออกได้  ก็พอทัพช้างทุกกองยกมาถึงใกล้พวกญวน  พวกญวนก็กลัวช้าง  แตกหนีไปบ้าง  

(https://i.ibb.co/PNh2531/Untitdled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

          ทัพช้างเห็นได้ทีก็ขับช้างไสช้างให้เข้าไล่แทงญวนเป็นอลหม่าน  เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเห็นดังนั้นจึงสั่งทหารเดินเท้าให้หนุนเนื่องกันเข้าไป  ไล่ยิงแทงฟันข้าศึกญวนเป็นอุตลุดตะลุมบอน  ทั้งช้างทั้งคนเดินเท้าก็เข้าต่อรบกับญวน  ญวนตายเป็นอันมาก  ที่เหลือตายนั้นค้านทานไม่ไหวก็แตกหนีกลับไปลงเรือได้บ้าง  ก็แจวเรือไปเมืองพนมเปญ  ที่ลงเรือไม่ทันนั้นก็หนีลงในน้ำ  ว่ายน้ำวนเวียนอยู่ในคลอง  ไทยก็ไสช้างลงไล่ยิงแทงตายในน้ำกว่า ๒๐๐ คน  เก็บได้สรรพศาสตราวุธของญวนไว้มาก  ครั้งนั้นองญวนแม่ทัพนายกองโพกผ้าสีน้ำเงินนั้นตาย ๑๖ คน  ไพร่ตายประมาณพันเศษ  เรือรบไม่เสีย”

          ** ให้อ่านเรื่องตื่นเต้นเร้าใจมายาวไกลแล้วนะครับ  พักเหนื่อยไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน   แล้วค่อยมาอ่านต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, ตุลาคม, 2564, 10:07:28 PM
(https://i.ibb.co/dr7fVjP/143dfs8627751-IMG6916-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๘ -

ญวนพ่ายยับทัพช้างไทยสร้างชื่อ
ช้างไทยคือนักสู้ศัตรูพ่าย
ครั้นขับญวนพ้นวันอันตราย
ไทยตั้งค่ายป้องกันทุกด่านทาง

ทางเดินทัพญวนเด่นเป็นทางน้ำ
เรือแจวจ้ำชำนาญไม่เก้งก้าง
จึงคอยดักกักตีมิเว้นวาง
ทุกค่ายกางปีกกาท่าจีกตี


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   แม่ทัพหลวงญวนยกกองเรือจากพนมเปญด้วยเรือรบใหญ่น้อย ๑,๐๐๐ เศษ  มีไพร่พล ๑๐,๐๐๐ คน  กองทัพเรือมหึมาแจวพายเข้าไปในคลองสู่เมืองอุดงคฦๅไชย  หมายจะถล่มเมืองอุดงคฦๅไชยให้ยับลงในพริบตา  แต่ไปไม่ทันถึงที่หมาย  องญวนแม่ทัพหลวงก็เกิดเป็นโรคปัจจุบันสลบไปในเรือ  เมื่อหมอแก้ไขฟื้นขึ้นแล้วก็กลายเป็นคนสติป้ำ ๆ เป๋อ ๆ สัญญาวิปลาสไป  นายทัพรองก็พากลับไปพักรักษาตัวที่เมืองพนมเปญ  กองทัพญวนขาดผู้บัญชาการใหญ่ก็เรรวน  เดินทัพเข้าโจมตีไทยไม่พรักพร้อมกัน  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นเมื่อจับเชลยญวนมาได้บ้างแล้วสอบสวนได้ข่าวการยกทัพมาของญวน  เชื่อว่าทัพบกญวนจะมาถึงอุดงคฦๅไชยก่อนทัพเรือ  จึงจัดกองทัพช้าง ๓ กองซุ่มซ่อนคอยโจมตีทัพบกญวนอยู่ในป่าพระยาลือ  โดยให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีเป็นผู้บัญชาการทัพ  ครั้นญวนยกทัพบกเข้าถึงชานเมืองอุดงคฦๅไชย  กองทัพช้างของไทยก็ยกออกจากป่าเข้าโจมตีพลเดินเท้าของญวนทันที  ทัพช้างไล่แทงถีบฟาดและเหยียบไพร่พลญวนล้มตายลงมาก  ผู้บัญชาการทัพไทยสั่งพลเดินเท่าเข้าร่วมกองช้างเข้าไล่ฟันแทงยิงญวนล้มตายและแตกหนีกระเจิดกระเจิง  โดดลงเรือรีบแจวหนีไปได้บ้าง  โดดลงคลองว่ายน้ำวนเวียนไปมาถูกไทยไล่แทงไล่ยิงตายกลางน้ำในคลองอีก ๒๐๐ กว่าคน  กองทัพญวนแตกพ่ายไปอย่างสิ้นเชิง  วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ......

(https://i.ibb.co/QHcLnhG/14386-27633-IMG6908-JPG-o.jpg) (https://imgbb.com/)

           (คำอธิบายว่าญวนแตกครั้งนี้  ก็เพราะองต๋าเตียนกุนแม่ทัพหลวงผู้จัดการทัพนั้นป่วยหนัก  ไม่มีใครบังคับการสิทธิ์ขาดอย่าง ๑  และแม่ทัพนายกองทั้งปวงก็แตกร้าวสามัคคีแก่กัน  ไม่รวมคิดเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน  ถือทิฐิแก่งแย่งกัน  แล้วมาไม่พร้อมกันด้วย  ความสองข้อนี้ญวนจึงแตกเสียทัพแก่ไทย  ถ้าว่าองต๋าเตียนกุนไม่ป่วย  เห็นว่าค่ายเมืองอุดงคฦๅไชยคงจะไม่พ้นเงื้อมมือองต๋าเตียนกุนเป็นแน่  เพราะคราวนี้รี้พลไทยก็น้อย  ไพร่พลญวนมากถึงแสน  ทั้งสติปัญญาความคิดฝีมือองต๋าเตียนกุนก็ยอดยิ่ง  ทำศึกกล้าหาญแยบคายดีกว่าองเตียนกุนที่กินยาตายนั้นมาก  เหตุที่ญวนจะต่อสู้ไทยไม่ได้  ต้องพ่ายแพ้ทั้งสองคราวนั้น  ก็เพราะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯเป็นอัศจรรย์  เผอิญให้องเตียนกุนแม่ทัพเก่าที่มีความอุตสาหะพากเพียรจะตีเมืองเขมรให้ได้นั้น  ก็กินยาตายเสียคน ๑  จึงองต๋าเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้มาเป็นแม่ทัพแทนต่อไป  เมื่อองต๋าเตียนกุนยกทัพใหญ่มานั้น  ก็เป็นช่องโอกาสอันดียิ่งนัก  เพราะเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ไม่อยู่ที่เมืองเขมร  เขมรมีแต่นายทัพนายกองเล็กน้อยและไพร่พลนิดหน่อย  ควรที่องต๋าเตียนกุนจะตีเมืองเขมรได้โดยง่ายเหมือนเขาว่า  “ลอยชายเข้าเมืองชุบมือเปิบ”  แต่เผอิญให้องต๋าเตียนกุนถือทิฐิมานะว่า  เมืองเขมรมีแต่ขุนนางผู้น้อยเป็นแม่ทัพอยู่  จึงไม่อยากจะสู้รบกับผู้น้อย  จะคอยสู้กับเจ้าพระยาบดินทรเดชาเสนาผู้ใหญ่  ซึ่งมีวาสนาเสมอกัน  เมื่อญวนคิดดังนั้นก็เห็นได้ว่าพระบารมีกรุงเทพฯ ไปดลใจญวนเป็นแน่  กับเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปถึงเมืองเขมรแล้ว  แต่ไพร่พลมีน้อย  เพราะยังมาจากหัวเมืองไทยยังไม่ถึงเมืองเขมร  องต๋าเตียนกุนรู้ดังนี้ก็รีบยกทัพใหญ่มามีไพร่พลเกือบแสน  เรือรบเกือบพันลำ  เป็นศึกใหญ่กว่าทุกครั้งแต่ก่อนมา  น่าที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะสู้ไม่ได้เป็นแน่  เพราะพึ่งมาถึงใหม่ ๆ  ไพร่พลยังไม่พร้อมเพรียงกัน  ถ้าจะว่าตามทำนองศึกแล้ว  ใคร ๆ ที่ได้ไปทัพญวนครั้งนั้น  ก็คงจะเข้าใจร่วมกันหมดว่า  กองทัพไทยในเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้งนั้นเป็นอันจะต้องอยู่ในเงื้อมมืออำนาจองต๋าเตียนกุนเป็นแน่ไม่สงสัยเลย  แต่การที่สู้รบกับญวนนั้นก็เพราะความจำเป็นอยู่ในบังคับอาชญาศึก  แม้ว่าเหาะได้หรือดำดินได้ก็จะไม่สู้รบกับญวน  คงจะเหาะและดำดินหนีไป  เพราะเห็นและรู้ว่าในครั้งนี้  ไทยมีอำนาจน้อยกว่าญวน  ญวนมีอำนาจใหญ่ไพร่พลเหลือล้นยิ่งหนัก  การก็ไม่เป็นเช่นคิดเช่นหมายดังว่านั้น  ด้วยพระบารมีแก่กล้าสามารถ  เผอิญให้องต๋าเตียนกุนป่วยเป็นโรคปัจจุบัน  แล้วยังมิหนำซ้ำกลายเป็นลมบาทจิตเสียจริตไป  เมื่อองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ผู้มีใจฉลาดกล้าหาญในการศึกป่วยเสียจริตแล้ว  ก็ไม่มีใครบังคับการทัพศึก  ศึกญวนก็หย่อนกำลังอำนาจเสื่อมไป  ญวนจึงได้พ่ายแพ้แก่ไทยเพราะพระบารมีพระบรมโพธิสมภารพระกฤษฎาเดชานุภาพอภินิหาร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานคร  เห็นประจักษ์เป็นมหามหัศจรรย์อันพระบารมียิ่งหนัก)

(https://i.ibb.co/N6RXzTf/1434f728052-1-o.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้นญวนแตกหนีไปแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้พระยา พระ หลวง นายทัพนายกองคุมไพร่พลไทย,ลาว,เขมร ไปตั้งค่ายรักษาด่านทางทุกตำบลที่ญวนจะขึ้นมาอีกนั้น  หลายค่ายหลายทาง

          ให้พระยาอร่าม  พระยาศาสตรา ในพระราชวังบวรฯ  กำกับพระยารัตนวิเศษเขมรเจ้าเมืองสวายจิตร  ไปตั้งค่ายด่านรักษาปากคลองเมืองอุดงคฦๅไชย
          ให้พระจันทรรักษากับพระมนตรีบวร ในพระราชวังบวรฯ กำกับหลวงสัปบาลเขมรไปตั้งค่ายรักษาที่ปากคลองกะพงหลวง
          ให้พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ พระยาพินาศอัคนี ๑ พระยาสิทธิราวุทธ์ ๑ พระวิชิตมนตรี ๑ วังหน้าสี่คน หลวงกันธ์พยุงหะบาท ๑ หลวงราชเสวก ๑ วังหลวงสองรวมหกคน เป็นข้าหลวงกำกับทัพหัวเมือง
          แล้วให้พระยาณรงค์สงครามเมืองนครราชสีมา ๑  พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา ๑  พระพิมาย ๑  คุมไพร่พลลาวโคราช ๑,๐๐๐ คน  ให้หลวงอินทรคชลักษณ์เขมร ๑  หลวงณรงค์สุนทรเขมร ๑  คุมไพร่เขมรเมืองเสียมราฐ ๒,๐๐๐  รวมไพร่ ๓,๐๐๐ คน  กับไทยอีก ๖๐๐ คน  รวมทั้งสิ้น ๓,๖๐๐ คน  นายทัพไทย,ลาว,เขมร ยกไปตั้งค่ายใหญ่ที่ปากคลองพระยาลือ  ทำป้อมพูนดินสามป้อมชักปีกกาถึงกัน  ขุดสนามเพลาะมีหอรบด้วย
          ให้หลวงแพ่งกรมการเมืองนครนายก  กำกับพระยาพลเขมรเมืองพระตะบอง  คุมไพร่พลเขมรเมืองพระตะบองไปตั้งรักษาเมืองบาทิ ริมฝั่งน้ำทางจะลงไปเมืองโจดกญวนตำบล ๑
          ให้หลวงบุรินทรานุรักษ์เมืองนครราชสีมา  กำกับพระยาดุรงคฦๅไชย  คุมกองทัพเมืองขุขันธ์บุรี  เมืองสาด  เมืองปะเวีย  ไปตั้งรักษาเมืองไพรกระบากริมฝั่งแม่น้ำทางจะลงไปเมืองโจดก ๑
          แล้วสั่งให้พระยาเดโชเจ้าเมืองกะพงสวายกับไพร่พลเมืองที่มารับราชการช่วยรักษาเมืองอุดงคฦๅไชยนั้น  ให้กลับไปตั้งค่ายสะโทงแขวงเมืองกะพงสวาย  ให้รักษาบ้านเมืองให้มั่นคง  แต่ให้พระยาศาสตราฤทธิรงค์วังหน้าไปกำกับเมืองกะพงสวายที่ค่ายสะโทงด้วย  แล้วจัดกองทัพลาวหัวเมืองฝ่ายข้างตะวันอกหลายเมือง  คือเมืองหนองหาร  เมืองนครพนม  เมืองสุนทร  เมืองสังขะ  ให้เจ้าเมืองกรมการใครก็ให้คุมไพร่พลเมืองของตนไปเข้าสมทบกับทัพเขมร
          ให้พระยากลาโหมเขมร ๑  พระยาธรรมาเดโชเขมร ๑  พระยามโนเสน่หาเขมร ๑  คุมพระยา พระเขมรเป็นนายทัพนายกองและไพร่เขมร ๔,๐๐๐  เข้ากับไพร่พลลาว ๒,๖๐๐   รวมได้ไพร่พลเขมร,ลาว ๔,๖๐๐ คน ให้พระยาพิไชยบุรินทราวังหน้าเป็นแม่กองใหญ่  แต่ให้แยกย้ายออกเป็นแปดกองใหญ่บ้างเล็กบ้าง  ให้ยกลงไปตั้งตามลำน้ำวามะนาวจนถึงลำน้ำเกาะน้ำเต้าและปากน้ำเกาะแตง  และคลองสามแยกสะมิถ่อ  ให้คอยรบคอยตีเรือรบญวนซึ่งจะไปมาทางนั้น  อย่าให้ญวนนำเรือรบไปมาได้เป็นอันขาด  แล้วให้ตีตัดตอบเรือลำเลียงญวน  ซึ่งจะส่งเสบียงกันนั้นอย่าให้ถึงเมืองโจดกได้  ให้เป็นทัพบกบ้างทัพเรือบ้าง

(https://i.ibb.co/xSschsT/Untitlcfed-10.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้งนั้นพอขุนนางวังหลวงวังหน้าในกรุงเทพฯ ออกไปถึงเมืองเขมรอีกพวกหนึ่ง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า

           “มาถึงช้าล่านัก  ไม่ทันต่อรบกับญวน  มีโทษอยู่บ้างตามอัยการศึก”

          ขุนนางพวกนั้นกราบเรียนว่า

           “ออกมานานแล้ว  ต้องคอยช้างคอยกระบือเกวียนอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี  และเมืองกบินทร์บุรี  เพราะกรมการบอกว่าช้างโคต่างกระบือเกวียนไม่มี  เกณฑ์ไปส่งเสบียงอาหารกระสุนดินดำยังเมืองพระตะบองเสียหมด  ยังไม่กลับมา  พวกข้าพเจ้าก็ได้เข้าไปร้องทุกข์ต่อพระยาราชสุภาวดี  พระยาราชสุภาวดีใช้ให้หลวงพิไชยเสนาขี่ม้าไปเกณฑ์ช้าง โคต่าง ที่เมืองจันทึกด่านเมืองนครราชสีมา  หลวงพิไชยเสนากลับมาบอกว่ากรมการเมืองจันทึกว่า  ช้างและโคต่างที่แขวงเมืองโคราชจะหาจ้างหรือเกณฑ์สักสองสามช้างก็ไม่มีเลย  เพราะเจ้าพระยานครราชสีมาเกณฑ์ช้างกองหลวงและจ้างช้างราษฎรไปทัพเขมรหมดทุกบ้านทุกเมือง  พระยาราชสุภาวดีจึงใบบอกเข้าไปในกรุงเทพฯ  ขอให้พระราชเสนามีตราขึ้นไปเกณฑ์ช้างกรุงเก่  เมืองสุพรรณบุรี  มาบรรทุกเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหารของพวกนี้ด้วย  แต่พวกข้าพเจ้าเห็นว่าจะอยู่คอยข้างกรุงเก่าและสุพรรณ  หรือช้างที่กบินทร์และปราจีนจะกลับมาจากเมืองเขมร  ก็จะช้าไม่ทันราชการ  เพราะฉะนั้นพวกข้าพเจ้าแบ่งออกเป็นสองพวก  พวกหนี่งจะอยู่ที่ปราจีนและกบินทร์  คอยช้างมาเมื่อใดก็จะได้บรรทุกของมา  แต่พวกวังหน้าทั้งสิ้นไม่ยอมอยู่คอยช้าง  จะช่วยกันขนแบกปืนคาบศิลาและดาบกับเสบียงบ้างเล็กน้อยเดินมา  แต่ปืนใหญ่และกระสุนดินดำนั้นได้ฝากมอบไว้กับพระยาราชสุภาวดีข้าหลวงสิ้นแล้ว  ก็เดินมาด้วยกันทั้งสิ้นแต่พวกนายไพร่ฝ่ายวังหน้า  พวกขุนนางวังหลวงก็ได้พลอยตามมาบ้างเล็กน้อย  ที่คอยช้างอยู่ก็มาก  เพราะฉะนั้นจึงช้า”

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่า

(https://i.ibb.co/8PfjTYT/Untitsdled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ถ้าเช่นนั้นก็มีโทษน้อยลงบ้าง  แต่ยังไม่พ้นโทษหมดความผิด  แต่ให้เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจหน้าและหลัง ฝ่ายพระราชวังบวรฯทั้งสิ้นด้วยกัน  ทั้งนายและไพร่  ยกไปช่วยพระยาพิไชยบุรินทรารักษาลำน้ำวามะนาวเกาะแตง  อย่าให้ญวนนำเรือรบไปมาได้ในทางนั้น  หรือญวนมาทางนั้นก็ให้คอยตีให้แตกกลับไป  หรือจับญวนมาให้บ้าง  อย่างนี้แล้ว  จึงจะพ้นความผิดหมดโทษ”

            แล้วสั่งให้เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจหน้าและหลังในวังหน้ายกไปในวันนั้น  มีไพร่พลกองทัพวังหน้ารวมทุกกอง ๒,๐๐๐ คน

           ** ปล่อยเรื่องยาวให้อ่านกันอีกวัน  วันนี้ยังไม่มีการรบ  มีแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพใหญ่ไทยจัดวางกำลังป้องกันกองทัพญวนที่จะยกมาอีก  ซึ่งยังไม่รู้ว่าญวนจะยกมาทางไหนอย่างไรบ้าง   ค่อยมาอ่านกันต่อก็แล้วกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, ตุลาคม, 2564, 10:29:01 PM
(https://i.ibb.co/mCQv6Qy/dwsw.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๕๙ -

ญวนเปลี่ยนแผนใช้กำลังอย่างดุเดือด
เลิกบ้าเลือดรบพร้อมยอมเป็นผี
ส่งองญวนเข้าหาชวนพาที
เป็นไมตรีต่อกันต่างวันทา

แม่ทัพไทยนิ่งฟังยังไม่เชื่อ
คิดกลัวเหลือญวนหลอกเล่นหลายหน้า
ญวนไม่ละพยายามจำนรรจา
อ่อนเข้าหาหวังให้ไทยยอมตาม

          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   หลังจากกองทัพช้างไทยทำลายกองทัพญวนแตกกระจายไปแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงจัดการป้องกันรักษาบ้านเมืองเขมร  โดยสั่งให้แม่ทัพนายกองไทยเขมรยกไปตั้งค่ายรักษาด่านเมืองต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นทางที่เขมรจะยกทัพมาอีก  เมื่อจัดวางกำลังเป็นด่านกันและกับดักญวนเสร็จแล้ว  ขุนนางวังหน้าวังหลวงก็ยกมาถึงอีกพวกหนึ่ง  เจ้าพระยาแม่ทัพใหญ่กล่าวตำหนิว่ามาล่าช้า  มีความผิดตามอัยการศึก  ขุนนางวังหน้ากราบเรียนว่ามาตกค้างอยู่เมืองปราจีนเป็นเวลานาน เพราะคอยช้างโคต่างที่จะบรรทุกเครื่องศาสตราวุธและเสบียงอาหาร  จึงได้ทราบว่ายามนั้นช้างโคกระบือถูกกวาดมาใช้งานในกองทัพมาก  แม้กระนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ทำโทษขุนนางวังหน้าโดยให้ยกไปเข้าร่วมกองทัพพระยาพิไชยบุรินทรารักษาทางน้ำวามะนาว  วันนี้มาอ่านความต่อไปครับ......

(https://i.ibb.co/tsBN1Sr/Untitl25258ed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายพระยานรานุกิจมนตรีข้าหลวงใหญ่ ๑  พระมหาสงคราม ๑  พระหฤทัย ๑  พระอภัยสุรินทร์ ๑  หลวงนายเสน่หา ๑  นายฉลองนัยนารถหุ้มแพร ๑  นายราชภักดีหุ้มแพร ๑  หลวงงำเมือง ๑  หลงราชเสนา ๑  ข้าหลวงแปดนาย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปกำกับทัพหัวเมืองลาวหลวงพระบาง ยกขึ้นไปกวาดต้อนครอบครัวลาวฟากแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออกแต่ ณ เดือนอ้ายปีฉลูตรีศกจุลศักราช ๑๒๐๓ ปีนั้น  จนถึงปีมะเส็งสัปตศกนี้  คิดได้สี่ปีเศษจึงเสร็จราชการทัพ  จึงพาเจ้าอุปราชหลวงพระบางแม่ทัพลงมาเฝ้าพระกรุณาแล้วกราบบังคมทูลว่า

           “ได้ไปกวาดต้อนครอบครัวลาวเก่าใหม่รวมเป็นจำนวนครัวเมืองวัง ๘๕๒ คน  เมืองตะโปน ๕๗๕ คน  เมืองระนอง ๑๐๓ คน  เมืองทิน ๑๒๒ คน  เมืองคำม่วน ๘๐๖ คน  รวมครัว ๕ เมืองเป็นคน ๒,๔๕๘ คน  อนึ่งพระยาสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร กับพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายได้บอกส่งท้าวสิงหะนามเจ้าเมืองคำวอ  กับท้าวเพี้ยมหาไชยเจ้าเมืองวัง  พระคำก้อนเจ้าเมืองคำเกิด  ท้าวเพี้ยสุรินทร์เจ้าเมืองพระบางอุปฮาดเมืองคำน้อย  และท้าวเพี้ยนายครัวฟากฝั่งแม่น้ำโขงลงมากรุงเทพฯ”

          โปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานกรมมหาดไทยพาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยในพระราชวังหลวง  มีพระราชดำรัสให้ล่ามพนักงานถามแสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยว่า

(https://i.ibb.co/2nnSpZQ/1e6e77a2f.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ให้ปรึกษาหารือตามท้าวเพี้ยและนายครัวให้พร้อมมูลกัน  จะชอบตั้งบ้านเมืองอยู่ที่บ้านใดตำบลใด  จะสมัครใจทำราชการขึ้นกับเมืองใด  จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อยู่ให้ขึ้นตามใจสมัคร”

          ฝ่ายนายครัวให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

           “ราชวงศ์เมืองคำเกิดวังปอกับพวกพ้องท้าวเพี้ยครอบครัวสมัครอยู่บ้านกุดขินราย  จะขอขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์
          ท้าวโรงกลางเมืองวังกับพวกพ้องท้าวเพี้ยครอบครัว ขอสมัครตั้งอยู่ ณ บ้านปะขาวพะงา ขอขึ้นกับเมืองสกลนคร
          ท้าวลำดวนเจ้าเมืองคำเกิดกับท้าวเพี้ยครอบครัวจะสมัครตั้งอยู่บ้านญวนยางขอขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์
          อุปฮาดราชวงศ์เมืองคำม่วนกับท้าวเพี้ยครอบครัวจะสมัครตั้งอยู่บ้านแซงบาดาลขอขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์
          ท้าวเพี้ยเมืองสูงกับพวกพ้องครอบครัวจะสมัครตั้งอยู่ ณ บ้านบางหวายพระธาตุพนม  ขอขึ้นเมืองพนม
          เจ้าเมืองเชียงร่มกับอุปฮาดราชวงศ์และท้าวเพี้ยครอบครัว ขอสมัครตั้งอยู่บ้านศีรษะบัว ขอขึ้นกับเมืองนครพนม
          พระไชยเชษฐาเมืองตะโปน กับขุนป้องพลขันธ์และท้าวเพี้ยครอบครัว ขอสมัครตั้งอยู่ ณ บ้านเขมรเก่า ขอขึ้นกับเมืองเขมราฐ”

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านที่ครัวตั้งอยู่นั้นยกขึ้นเป็นเมือง  แล้วโปรดให้ตั้งหัวหน้านายครัวเป็นเจ้าเมืองใหม่นั้นทุกเมือง  จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ตามผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกเมือง

(https://i.ibb.co/qnpBMhf/Untidstled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

          แล้วโปรดเกล้าฯ ให้กรมมหาดไทยมีตราขึ้นไปให้เจ้าเมืองกรมการเก่า  ตั้งด่านไว้ฟากแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออกหลายด่านทุกช่องทุกทาง  ให้คอยลาดตระเวนระวังรักษาครอบครัวลาวที่กวาดต้อนมาแต่ปลายแดนนั้น  ให้แต่งคนไปสืบสวนดูว่า  ญวนจะยกทัพข้ามฟากแม่น้ำแม่น้ำโขงมากวาดต้อนครอบครัวลาวของไทยนั้นกลับคืนไปหรือไม่  ถ้ารู้ข่าวดังนี้แล้วก็ให้กรมการจัดกองทัพตระเตรียมไว้ให้พร้อม  ถ้าญวนยกมาติดตามครัวลาว  จะได้ให้กองทัพออกสู้รบป้องกันให้ทันท่วงทีแก่ข้าศึกญวน
          แล้วให้เจ้าเมืองนครพนมจัดคนข้ามฟากแม่น้ำโขงไปตั้งค่ายที่บ้านบึงแขวงเมืองนครพนมต่อเขตแดนเมืองมหาไชยตำบลหนึ่ง  
          ให้ท้าวสายมาตั้งด่านที่บ้านโพธิ์เขตแดนเมืองวังตำบลหนึ่ง
          ให้เจ้าเมืองเชียงร่มตั้งด่านใหญ่อยู่บ้านศรีธาตุเขตแดนเมืองเชียงร่มตำบลหนึ่ง
          ให้พระสุวรรณภักดีเจ้าเมืองท่าขอนยางแต่งคนไปตั้งด่านที่บ้านหน้าหินแขวงเมืองคำเกิดตำบลหนึ่ง
          ให้พระศรีสุวรรณเจ้าเมืองแซงบาดาลจัดคนไปตั้งด่านที่บ้านหน้าตอแขวงเมืองคำป้อมตำบลหนึ่ง
          ให้พระธิเบศร์ราชวงศาเจ้าเมืองกุฉินารายแต่งคนข้ามฟากแม่น้ำโขงไปตั้งด่านที่บ้านนาใต้เมืองวังตาตำบลหนึ่ง
          ให้พระยาประเทศธานีเจ้าเมืองสกลนคร  จัดคนข้ามฟากแม่น้ำโขงไปตั้งด่านที่บ้านหน้าผาแขวงเมืองมหาไชยกองแก้วตำบลหนึ่ง
          ให้พระสุรินทร์สงคราม เจ้าเมืองคำป้อมแต่งคนไปตั้งด่านที่ช่องทางนาบ่อต่อแดนเมืองกวางตำบลหนึ่ง
          ให้พระไชยเชษฐาแต่งคนไปตั้งด่านที่บ้านโขมด  แขวงเมืองตะโปตำบลหนึ่ง

          ให้พวกด่านมาลาดตระเวนบรรจบกันทุกด่านทุกทาง คอยระวังรักษาญวนอย่าให้เข้ามาในแดนด่านไทยได้ ให้แต่งกองม้าไว้ใช้ให้ครบทุกกองทุกด่าน”

          ฝ่ายราชการข้างเมืองเขมรนั้นการทัพศึกก็สงบอยู่  ญวนก็มิได้กำเริบยกกองทัพมาย่ำยีแก่บ้านเมืองเขมร  เขมรก็เป็นสุขสบาย  ฝ่ายองต๋าเตียนกุนก็ยังป่วยคลุ้มดีคลุ้มร้ายอยู่ไม่หายเป็นปรกติ  แต่ยังรักษาตัวอยู่ที่เมืองพนมเปญ  แต่องเฮากุนขุนนางผู้ใหญ่รององต๋าเตียนกุนนั้น  ได้บังคับบัญชาการทัพศึกแทนองต๋าเตียนกุน  องเฮากุนก็ตั้งทัพอยู่ ณ ค่ายฟากตะวันตกเฉียงใต้ที่ท่ากะพงหลวง  องเฮากุนใช้ให้องเกียวดายนายทัพคุมไพร่ญวน ๓๖ คน  เดินม้ามาหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองเขมร องเกียวดายพูดว่า

(https://i.ibb.co/LvrZvZk/image.jpg) (https://imgbb.com/)

          “องเฮากุนใช้ให้มาพูดจาเป็นทางไมตรีแก่ไทยว่า  ให้นักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรมีหนังสือแต่งทูตเขมรไปขอนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงและเจ้าหญิงเขมรผู้หลานนักพระองค์ด้วง  กับญาติพวกพ้องเขมรต่อองต๋าเตียนกุน  องต๋าเตียนกุนก็จะส่งมารดาและญาติพี่น้องมาให้อยู่พร้อมมูลกัน  การทัพศึกญวนกับไทยก็จะได้เลิกการศึกสงครามสงบเป็นทางไมตรีไปมาค้าขายกัน”

          ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดเห็นว่า  ญวนแกล้งแต่งกลอุบายมาพูดล่อลวงไทยให้ตายใจ  มีความประมาท  แล้วญวนก็จะได้ช่องโอกาสยกทัพใหญ่มาตีไทยอีกเป็นแน่  เพราะคิดฉะนั้นจึงมิได้พูดจาโต้ตอบกับองเกียวดายญวน  ญวนก็ลากลับไป  

          แล้วภายหลังองเฮากุนก็แต่งนายทัพนายกองมาหาไทย  พูดรบกวนไทยว่า  ให้บังคับนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมร ให้มีพระราชสาสน์แต่งราชทูตเขมรไปหาท่านเสนาบดีกรุงเว้  ขอให้กราบทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีว่า  นักพระองค์ด้วงจะขอยอมเป็นเมืองขึ้นตามเดิม  ดังนักพระองค์เองบิดาและนักพระองค์จันทร์เชษฐานั้น  ถ้านักพระองค์ด้วงจัดราชทูตไปดังนี้แล้ว  พระเจ้าเวียดนามก็จะมีรับสั่งให้แม่ทัพญวนส่งนักมารดานักพระองค์ด้วงกับเจ้าหญิงหลานทั้งสามองค์และญาติพี่น้องให้มาอยู่พร้อมมูลกันเป็นปรกติตามภูมิลำเนาเมืองเขมร  องญวนพูดเท่านั้นแล้วก็ลากลับไปค่ายกะพงหลวง

          อยู่มาไม่ช้าองเฮากุนแม่ทัพซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายกะพงหลวงนั้น  ก็ใช้องญวนนายทัพนายกองมาหานักพระองค์ด้วงอีกหลายครั้ง  ญวนวิงวอนเตือนให้นักพระองค์ด้วงมีพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามก็จะทรงกระกรุณาเมตตาแก่บ้านเมืองเขมรเป็นแน่

          อีกครั้งหนึ่งองเฮากุนใช้ให้องยุงยานญวนนายทัพนายกองมาบอกกับนักพระองค์ด้วงว่า

           “บัดนี้พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีมีรับสั่งให้องเลโปเสนาบดีผู้ใหญ่มีท้องตรามาถึงองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่และองเฮากุนแม่ทัพรองใจความว่า  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่นี้  มีพระราชหฤทัยกว้างขวาง  ทรงพระกรุณาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินญวน  และมีพระราชหฤทัยโอบอ้อมอารีแก่พระยา,พระเขมรหาที่สุดมิได้  ซึ่งพระยา,พระเขมรทำการจลาจลแก่กองทัพญวนมาแต่ก่อนนั้น  จะยกโทษโปรดพระราชทานให้นักพระองค์ด้วงทั้งสิ้น  แล้วจะพระราชทานเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามองค์กับนักเทศ มารดานักพระองค์ด้วงให้มาอยู่พร้อมมูลกันกับนักพระองค์ด้วง  นักพระองค์ด้วงจะได้ครอบครองบ้านเมืองเขมรให้อยู่เย็นเป็นสุขสำราญ  ไพร่บ้านพลเมืองเขมรและญวนจะได้ไปมาค้าขายทำมาหากินเป็นปรกติตามภูมิลำเนา  แต่ให้นักพระองค์ด้วงรีบแต่งราชทูตขึ้นไปกรุงเว้โดยเร็ว”

           ญวนพูดจาชี้แจงดังนี้แล้วก็ลากลับไปค่ายกะพงหลวงโดยทางเรือรบที่มานั้นลำหนึ่ง.......”

(https://i.ibb.co/KrSG3mL/Untit5le54d-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** ญวนเห็นท่าว่าหากใช้ไม้แข็งยกกำลังเข้าข่มขืนเขมรจะไม่ชนะได้ง่ายแน่ ๆ  เพราะมีไทยเป็นกำลังหลักของเขมรอยู่อย่างมั่นคง  จึงเปลี่ยนวิธีเป็นการเจรจาทางไมตรี  พยายามขอร้องอ้อนวอนให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตแต่งราชสาส์นไปหาพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี  ความพยายามขององเฮากุนจะสำเร็จหรือไม่  ไว้ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 31, ตุลาคม, 2564, 11:06:22 PM
(https://i.ibb.co/b1QsCDF/Untitledsd-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๖๐ -

นักองค์ด้วงส่งศุภอักษร
ขอญวนถอนทัพกล้าน่าเกรงขาม
เขมรญวนควรสุขเลิกคุกคาม
เจ้าเวียดนามอภัยโทษโปรดปรานี

ญวนจึงสั่งผันผ่อนรื้อถอนค่าย
พาไพร่นายล่าถอยกลับทุกที่
พานักเทศแม่องค์ด้วงมอบโดยดี
สานไมตรีมิตรหมายให้เหมือนเดิม


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   องต๋าเตียนกุนแม้จะมีร่างกายแข็งแรงดีแล้วแต่ก็มีสติวิปลาสคลุ้มดีคลุ้มร้าย  รักษาตัวอยู่ในค่ายที่เมืองพนมเปญสงบอยู่  ไม่ได้สั่งการรบแต่อย่างใด  ฝ่ายองเฮากุนแม่ทัพรองนั้นตั้งค่ายอยู่ ณ กะพงหลวง  ทำการแทนองต๋าเตียนกุนอยู่  ก็มิได้จัดทัพญวนเข้าโจมตีย่ำยีเขมรแม้แต่ประการใด  หากแต่ส่งองญวนนายทัพเข้าพบเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ ค่ายเมืองอุดงคฦๅไชย  ขอให้สั่งนักพระองค์ด้วงมีราชสาส์นไปถึงองต๋าเตียนกุนขอให้กราบบังคมทูลพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระราชทานเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์พร้อมนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงพร้อมญาติพี่น้องให้แก่นักพระองค์ด้วง  เจ้าพระยาบดินทรเดชาฟังคำกล่าวของญวนแล้วนิ่งเสีย  ไม่อยู่เชื่อถือด้วยเกรงญวนจะมาหลอกลวงให้หลงเชื่อแล้วประทุษร้ายไทยอีก  ญวนพยายามส่งนายทัพนายกองมารบเร้าแม่ทัพใหญ่ไทยและนักพระองค์ด้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แม่ทัพใหญ่ไทยก็ยังคงนิ่งอยู่  จนครั้งล่าสุดให้องยุงยานมาหานักพระองค์ด้วง  แจ้งว่าบัดนี้พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีมีรับสั่งให้องเลโปเสนาผู้ใหญ่มีท้องตรามาถึงองต๋าเตียนกุนและองเฮากุน  ความว่า  ทรงพระราชทานอภัยโทษให้แก่พระยาพระเขมรนายกองที่ก่อการจลาจลแก่กองญวนแต่ก่อนนั้น  และจะประทานยกโทษให้นักพระองค์ด้วงทั้งสิ้น  แล้วจะพระราชทานเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์กับนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงให้มาอยู่พร้อมมูลกับนักพระองค์ด้วง  จึงขอให้นักพระองค์ด้วงรีบแต่งราชทูตขึ้นไปกรุงเว้โดยเร็ว  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....

(https://i.ibb.co/NpKwgxY/Unsdftitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายนักพระองค์ด้วงจึงนำถ้อยคำญวนมาแจ้งต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้นักพระองค์ด้วงมีหนังสือเป็นศุภอักษรเขมร  ใช้ให้พระยามโนเสน่หา  พระพิทักษ์โยธา  หลวงสุจริตภักดี  เป็นทูตถือศุภอักษรไปให้องคำซายกายท่านและองกำทันท่าน  ขุนนางข้าหลวงกรุงเว้ซึ่งมาสำเร็จราชการอยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน  เป็นใจความในศุภอักษรนั้นว่า

            “อักษรสาส์นราชไมตรีในนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรผู้สำเร็จราชการ ณ เมืองเขมร  มาถึงองญวนผู้ใหญ่ทั้งสอง ณ เมืองไซ่ง่อน  ได้ทราบด้วย เดิมพระยา,พระเขมรทั้งปวงเกิดอริวิวาทแก่แม่ทัพญวนแต่ในปีก่อนนั้น  พวกพระยา,พระเขมรทั้งปวง  จึงได้มีใบบอกเข้าไปในกรุงเทพฯ  กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตัวเราออกมาเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เราออกมาเป็นเจ้าเป็นนายบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองเขมร  และทำนุบำรุงพระยา,พระเขมรและอาณาประชาราษฎรเขมรทั้งปวงให้อยู่เย็นเป็นสุข  ปราศจากความเดือดร้อนด้วยยุคเข็ญแก่พวกเขมร  ฝ่ายเราก็ตั้งใจจะบำรุงราษฎรเขมรและญวนให้ไปมาค้าขายทำมาหากินโดยสะดวกก็ไม่สมที่คิดไว้  เพราะเกิดการทัพศึกกันเนือง ๆ มาไม่เว้นว่าง  บัดนี้เราเห็นมีช่องโอกาสอันดี  จึงได้มีหนังสือมาขอสติปัญญาญวนผู้ใหญ่ทั้งสอง  ซึ่งมาสำเร็จราชการอยู่ ณ เมืองไซ่ง่อน  ช่วยทำนุบำรุงเรา  ขอให้ท่านกราบทูลพระเจ้าเวียดนามให้หยุดเลิกการทัพศึกเสียเถิด  เราจะได้พึ่งพระบารมีกรุงเวียดนามและกรุงเทพฯ ทั้งสองพระมหานคร  ราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเขมรจะได้อยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้า  แต่พระยา,พระเขมรหัวเมืองทั้งปวงที่ประพฤติพาลทุจริตต่อรบกับญวนนั้น  เพราะเป็นคนโฉดเขลาหารู้ความผิดและชอบไม่  ขอรับพระราชทานโทษพระยา,พระเขมรหัวเมืองเสียสักครั้งหนึ่ง  ศุภอักษรมา ณ วันพุธเดือนสามขึ้นสิบค่ำปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ ปี“

            องญวนผู้ใหญ่ ณ เมืองไซ่ง่อนมีหนังสือตอบมาว่า

             “ถ้าเช่นนั้นแล้วจะมีหนังสือบังคับให้องเฮากุนแม่ทัพที่ค่ายกะพงหลวงรื้อถอนค่ายที่ท่ากะพงหลวงและค่ายปากคลองพระยาลือกับค่ายที่เกาะจีน  ทั้งสามตำบลให้รื้อถอนถอยเลิกลงไปตั้งยับยั้งฟังราชการอยู่ ณ เมืองพนมเปญ

            ครั้น ณ วันเดือนสามแรมสิบสามค่ำ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งพระยานรินทรสงครามเขมร  กับพระสุระเดชะเขมร  คุมไพร่พลเขมร ๒๐๐ คน  ลงไปตรวจว่าญวนจะรื้อค่ายทั้งสามตำบลจริงดังหนังสือหรือไม่จริง  พระยา,พระเขมรกลับมากราบเรียนว่า

(https://i.ibb.co/CQJTLkX/Untitxled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

             “เห็นญวนรื้อค่ายกะพงหลวง  ค่ายเกาะจีน  ค่ายปากคลองพระยาลือ  ทั้งสามตำบลนั้นสิ้นแล้ว  ข้าวในยุ้งฉางนั้นญวนขนไปจนหมด”

            ครั้น ณ วันอังคารเดือนสิบเอ็ดแรมแปดค่ำปีมะเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๒๐๘ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร  ครั้งนั้นองโดยองกายนายทัพนายกองญวน  พานักเทศมารดานักพระองค์ด้วง  กับหม่อมกลีบภรรยานักพระองค์ด้วง  และนักเทพบุตรหญิงนักพระองค์ด้วง  รวมสามคน  กับเขมรบ่าวข้าคนใช้รวม ๓๔ คน  กลับคืนมาส่งให้นักพระองค์ด้วงที่เมืองอุดงคฦๅไชย  แล้วองโดยองกายแจ้งความต่อนักพระองค์ด้วงว่า

             “เจ้าหญิงทั้งสามนั้นยังอยู่ที่เมืองพนมเปญ  ยังไม่มีคำสั่งเสนาบดีกรุงเว้ให้ส่งมา  ถ้านักพระองค์ด้วงอยากได้เจ้าหญิงผู้หลานทั้งสามองค์  หรือญาติพี่น้องพวกพ้องฝ่ายเขมรทั้งหมดแล้ว  ก็ให้นักพระองค์ด้วงมีพระราชสาส์นแต่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูตขึ้นไปกรุงเว้  ขอให้องเลโปเสนาบดีกราบทูลขอเจ้าหญิงเขมรต่อพระเจ้าเวียดนาม  พระเจ้าเวียดนามก็จะพระราชทานให้เป็นแน่”

             ฝ่ายนักพระองค์ด้วงเกรงพระราชอาชญากรุงเทพฯ จึงมิได้รับคำตอบญวนว่าจะแต่งทูตไป  เป็นแต่พูดตอบญวนว่า

              “ขอปรึกษาหารือพระยา,พระ เขมร ให้เห็นตกลงพร้อมเพรียงกันก่อน  ถ้าพระเจ้าเวียดนามจะโปรดให้เมืองเขมรเป็นข้าขอบขัณฑเสมา  เหมือนครั้งสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี  เจ้ากรุงกัมพูชาเก่าซึ่งเป็นบิดาเราดังครั้งนั้น  ก็เห็นทีพอจะมีราชสาส์นแต่งทูตไปได้บ้าง”

             แล้วองโดยองกายญวนพูดกับนักพระองค์ด้วงว่า

              “ญวนจะขอครัวแขกครัวญวนรวม ๔๔ คน  ที่เขมรจับมาแต่เมืองพระตะพัง  เมืองประมวญสอ  เมืองป่าสัก”

             นักพระองค์ด้วงตอบญวนว่า

              “ครัว ๔๔ คนนั้นหาได้อยู่ที่เมืองเขมรไม่  ได้ส่งเข้าไปในกรุงเทพมหานครแต่ก่อนนานแล้ว  จะต้องมีหนังสือเข้าไปถึงท่านเสนาบดีไทยให้กราบบังคมทูลขอต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว  ถ้าโปรดพระราชทานออกมาก็จะส่งไปให้แก่ญวน”

              ญวนถามว่า      “เมื่อไรจะรู้ความจะได้ไม่ได้”
 
              นักพระองค์ด้วงตอบว่า “ขอผลัดสามเดือนจะให้รู้ความ”

              แล้วองโดยองกายก็ลากลับไป........

(https://i.ibb.co/g7qKNZQ/Untitlfweed-3.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ความพยายามขององเฮากุนประสบความสำเร็จ  เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกให้นักพระองค์ด้วงทำหนังสือเป็นศุภอักษรถึงญวน  แต่แทนที่จะส่งหนังสือไปถึงองต๋าเตียนกุน  กลับมีไปถึงผู้สำเร็จราชการญวนที่เมืองไซ่ง่อน  ผู้สำเร็จราชการจึงมีท้องตราบังคับให้องเฮากุนรื้อถอนค่ายทั้งหมดกลับไปตั้งรอฟังราชการอยู่ที่เมืองพนมเปญ  ต่อมาก็ได้ได้ส่งนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงพร้อมหม่อมภรยาและบุตรีนักพระองค์ด้วงมาให้ที่เมืองอุดงคฦๅไชย  ส่วนเจ้าหญิงทั้งสามองค์อยู่ที่เมืองพนมเปญ  ญวนยังไม่ยอมส่งมา  แต่เล่นแง่ให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปกรุงเว้  ทูลขอเจ้าหญิงเขมรทั้งสามต่อพระเจ้าเวียดนาม  เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร  ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ าศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, พฤศจิกายน, 2564, 10:42:56 PM
(https://i.ibb.co/nMZQ50D/Usnddtitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๖๑ -

เศรษฐกิจตกสะเก็ดคือเหตุใหญ่
เขมรใต้เฟื่องฟูญวนชูเสริม
เขมรเหนือไร้สุขได้ทุกข์เติม
จึงได้เริ่มชื่นชมนิยมญวน

แม่ทัพไทยเห็นเลศนัยเหตุแพ้
จึ่งรีบแก้แนวทางอย่างเร่งด่วน
สั่งองค์ด้วงมิต้องตรองใคร่ครวญ
แต่งทูตทวนความคิดเปลี่ยนทิศทาง


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกให้นักพระองค์ด้วงมีศุภอักษรไปถึงผู้สำเร็จราชการ ณ เมืองไซ่ง่อน  จากนั้นผู้สำเร็จราชการก็มีท้องตราบังคับให้องเฮากุนรื้อค่ายสามค่ายจากท่ากะพงหลวง  ปากคลองพระยาลือ  และเกาะจีน  ลงไปตั้งคอยฟังข่าวราชการอยู่ที่เมืองพนมเปญ  ต่อมาองญวนก็พานักเทศมารดานักพระองค์ด้วง  หม่อมกลีบภรรยานักพระองค์ด้วง  นักเทพบุตรีนักพระองค์ด้วง  พร้อมบ่าวไพร่จากพนมเปญมาบอบให้นักพระองค์ด้วงที่เมืองอุดงคฦๅไชย  ส่วนเจ้าหญิงเขมรสามองค์ยังอยู่เมืองพนมเปญ  ฝ่ายญวนบอกให้นักพระองค์ด้วงมีพระราชสาส์นแต่งเครื่องราชบรรณาการให้ทูตนำขึ้นถวายพระเจ้าเวียดนามแล้วทูลขอต่อไป  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....

(https://i.ibb.co/K55bfy0/Untit-led-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้นถึงเดือนยี่  องโดยกายก็มาเตือนนักพระองค์ด้วงอีกว่า

           “บัดนี้ถึงกำหนดครบสามเดือนแล้ว  เมื่อไรจะได้คน ๔๔ คน”

          นักพระองค์ด้วงว่า

           “ยังใช้ให้ขุนนางเขมรถือหนังสือเข้าไปนานแล้วยังไม่กลับออกมา  จะได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้เป็นแน่ลงได้  บัดนี้จะต้องให้พระยายมราชเขมร  พระยาราชมนตรีเขมรเข้าไปวิงวอนท่านเสนาบดีไทยให้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ขอพระราชทานคน ๔๔ คน ออกมาให้จงได้”

          องโดยกายจึงพูดว่า

           “ถ้าเช่นนั้นแล้ว  ในเดือนสามข้างไทย  เป็นปีใหม่ฝ่ายญวน ให้นักพระองค์ด้วงแต่งราชทูตเชิญพระราชสาส์น  กับเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีพระองค์ใหม่  แล้วให้ราชทูตเขมรที่ขึ้นไปเฝ้านั้น  กราบทูลขอพระราชทานโทษพระยา พระเขมรที่ทำผิดต่อญวนแต่ก่อนนั้น  กับให้เขมรเป็นเมืองขึ้นแก่ญวนตามอย่างธรรมเนียมเดิมสืบต่อไป  พระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่นี้ก็จะทรงพระเมตตาโปรดยกโทษให้  ถ้าถึงเดือนสามนักพระองค์ด้วงไม่แต่งทูตขึ้นไปกรุงเว้แล้ว  องต๋าเตียนกุนและองเฮากุนให้ตระเตรียมกองทัพบกและเรือไว้ให้พร้อม  จะยกมาตีเมืองเขมรอีกคราวหนึ่งให้ได้  คราวนี้ญวนได้จัดทัพไว้ถึงอย่างคือ  ทัพบกเดินเท้า ๑  ทัพบกช้าง ๑  ทัพเรือใหญ่น้อย ๑  ถ้านักพระองค์ด้วงไม่เชื่อให้ถามเขมรที่ถือหนังสือลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้นเถิด”

          นักพระองค์ด้วงก็ถามเขมรผู้ถือหนังสือ  เขมรผู้ถือหนังสือตอบว่า

           “เมื่อลงไปเมืองไซ่ง่อนนั้น  ได้เห็นญวนจัดเรือรบไว้มากจริง  กับได้เห็นญวนฝึกหัดช้างรบอยู่ประมาณร้อยเศษ  เมื่อกลับมาแต่เมืองไซ่ง่อนได้เห็นช้างเพิ่มเติมเดินมาตามทางเนือง ๆ  จะเป็นช้างมากน้อยเท่าใดหาทราบไม่”

          นักพระองค์ด้วงจึงนำข้อความทั้งนี้ไปแจ้งท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดว่า

(https://i.ibb.co/gw51tRw/Untditled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ทัพญวนมาคราวนี้องต๋าเตียนกุนเป็นแม่ทัพใหญ่  องเฮากุนเป็นแม่ทัพรอง  จะตั้งค่ายคูก็ดูชอบมาพากลแหลมหลักนัก  หรือจะตั้งด่านทางทุกด้านทุกตำบลก็มั่นคงแข็งแรงดีกว่าครั้งองเตียนกุนแม่ทัพเก่า  ชั้นแต่เขมรพวกเราจะไปลาดตระเวน  จับกุมผู้คนญวนมาไต่ถามสืบราการทัพศึกบ้างก็ไม่ได้  เพราะนายทัพนายกองญวนรักษาด่านทางช่องคูโดยสามารถดียิ่งนัก  คิดดูว่าถ้าองต๋าเตียนกุนหายป่วยแล้วเมื่อไร  คงจะได้ทำศึกใหญ่กันอีกเมื่อนั้น”

           แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งให้ขุนสวัสดิ์นครินทร์กับหลวงอภัยคงคาเป็นข้าหลวงกำกับพระยา พระเขมร คุมไพร่เขมรลอบไปดูกองทัพเรือญวนตามลำแม่น้ำใหญ่  กลับมาแจ้งความว่า

(https://i.ibb.co/crC2LNT/Untitleasd-6.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ได้เห็นเรือรบญวนศีรษะป้อมทอดขวางแม่น้ำใหญ่อยู่ประมาณ ๑๐๐ ลำ  เห็นกำลังตั้งฝึกหัดทหารยิงปืนใหญ่อยู่ทุกลำ  กับเรือเล็ก ๆ ก็หัดแจวและซ้อมทำการรบเพลงอาวุธอยู่พร้อมกัน  ประมาณเรือรบเล็ก ๒๐๐ ลำ  และได้เห็นญวนนำเรือลำเลียงบรรทุกข้าวสารและเกลือ  ขึ้นมาส่งยังกองทัพเมืองพนมเปญถึงสี่เที่ยว  เที่ยวละ ๑๙๘ ลำ  แต่เรือใหญ่ทั้งสิ้น  จะเป็นข้าวเกลือเสบียงอาหารเท่าไรหาทราบไม่”

            กองอาทมาตไปสืบราชการทัพญวนกลับมาแจ้งความว่า

             “ได้ไปลอบดูอยู่ในป่า  เห็นญวนนำช้างมาทอดเลี้ยงในป่ากะพงกะสังและป่าพนมเปญ  ต่อกับเขตป่ากะพงหลวงนั้น  มีช้างเต็มทุกป่าประมาณ ๓๐๐ เศษ  มีกองทัพรักษาแข็งแรง”

            แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงพูดกับนักพระ

องค์ด้วงว่า

(https://i.ibb.co/WnBD4rJ/Untiftled-9.jpg) (https://imgbb.com/)

             “เดี๋ยวนี้คาดคะเนใจและดูกิริยา พระยา พระ เขมรฝ่ายเราก็ย่นย่อครั่นคร้ามกลัวญวนไปหมดแล้ว  หากล้าหาญเข้มแข็งเหมือนแต่ก่อนไม่  ครั้นจะกดขี่ข่มขืนให้ไปรบกับญวน  ก็พากันกำเริบเป็นขบถขึ้น  เหมือนเมื่อครั้งปีมะเส็งเบญจศกครั้งแรกนั้น  ครั้นเราจะไม่เห็นไมตรีกับญวนในคราวนี้  ก็เห็นทีว่า  พระยา พระ เขมรและไพร่บ้านพลเมืองเขมร  จะกลับใจไปเข้าด้วยญวนเสียหมด  เพราะว่าที่บ้านเมืองเขมรมีความอดอยากข้าว เกลือ มาหลายปี  ไม่มีที่ซื้อหาแลกเปลี่ยนกันกิน  ฝ่ายเมืองเขมรข้างญวนอยู่นั้นอุดมไปด้วยเสบียงอาหารทุกอย่าง  เพราะญวนยอมให้ลูกค้าชาวทะเลมาค้าขายที่เมืองพนมเปญ  เมืองพนมเปญใกล้เมืองญวน  ญวนก็จัดการให้บริบูรณ์ด้วยเสบียงพอซื้อหาแลกเปลี่ยนกันกินได้ถูก ๆ  ไม่แพงเหมือนที่เมืองเขมรฝ่ายเรา  เพราะฉะนั้นเขมรฝ่ายเราก็จะนิยมไปอยู่กับญวนและเข้าไปอยู่กับญวนเสียหมด  เราก็จะเสียทีเป็นที่อัปยศแก่นานาประเทศไปชั่วฟ้าและดิน   อีกประการหนึ่งเล่าพวกเขมรฝ่ายเราก็ได้อาศัยลูกค้าญวนและเขมรข้างญวนนำเกลือและสิ่งของต่าง ๆ อย่างทะเลขึ้นมาขายให้พวกเขมรฝ่ายเรา   เราจะได้รับประทานเกลือและของใช้สอยมาแต่พวกลูกค้าฝ่ายใต้  ดังนี้ก็เป็นที่ให้เขมรพวกเราจะอยากให้ญวนมาครอบงำบ้านเมืองฝ่ายเราด้วย  ทุกวันนี้ที่เมืองพนมเปญและเมืองกะพงหลวงทั้งสองตำบลนั้น  ญวนก็ตั้งตลาดซื้อขายสินค้าสดคาวและของแห้งทุกอย่างสนุกสานบริบูรณ์มาก  เขมรฝ่ายข้างญวนก็เบิกบานสบายใจ  เพราะมีที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกินกันได้  ไม่อดอยากเหมือนเขมรฝ่ายเรา   เราจะไปมาค้าขายซื้อของกินที่ตลาดเมืองพนมเปญและที่ท่ากะพงหลวงนั้น   ก็ได้ทั้งสองตำบล  ญวนก็ไม่ห้ามปรามขัดขวางจับกุมเขมรพวกเรา  พวกเราก็ได้อาศัยซื้อขายในตลาดญวนด้วย  ญวนทำอาการทอดเทตีสนิทเหมือนพวกเดียวกัน  เพื่อญวนจะเกลี้ยกล่อมล่อน้ำใจเขมรฝ่ายเราด้วย  การเป็นเช่นนี้จึงเห็นว่าเขมรข้างเราก็จะมีใจแปรปรวนผันแปรเป็นอื่นไปเสีย  ก็จะเสียท่วงทีและเสื่อมเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพมหานครไปด้วย”

(https://i.ibb.co/9snLQ2n/csd2.jpg) (https://imgbb.com/)

             เพราะฉะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงบังคับให้นักพระองค์ด้วงรับปากกับญวนว่า  จะมีหนังสือตอบลงไปให้องต๋าเตียนกุนแม่ทัพรู้  แล้วนักพระองค์ด้วงก็มีหนังสือตอบไปใจความว่า

              “จะมีศุภอักษรให้ทูตานุทูตคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามพระองค์ใหม่  ให้ถึงกรุงเว้ ณ เดือนสามขึ้นหกค่ำปีใหม่ฝ่ายญวนให้ได้เป็นแน่”

             ญวนก็ตอบมาว่า      “ถ้าเช่นนั้นให้รีบมา  จะให้ขุนนางญวนพาไปให้ถึงกรุงเว้โดยความผาสุกมีการรับรองเป็นเกียรติยศ“

(https://i.ibb.co/qmqdYJq/Unretitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

              ** ความคิดเห็นของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชาถูกต้อง  เขมรฝ่ายเหนือกำลังถูกญวนแย่งชิง พระยา พระ ไพร่พล ประชาราษฎร์ไปครอบครอง  เขมรฝ่ายเหนือเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจที่มีแต่ทรุดโทรมลง  เขมรฝ่ายใต้เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีญวนเป็นผู้ค้ำจุน  จึงเป็นวิธีการแก้ไขดีที่สุดคือ  นักพระองค์ด้วงยอมมีพระราชสาส์นแต่งราชทูตนำเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี  เขมรฝ่ายนักพระองค์ด้วงและไทยจะได้ไม่เสียท่วงทีแก่ญวน  จึงถือได้ว่า  เจ้าพระยาบดินทรเดชาตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว  ไว้ค่อยมาอ่านเรื่องต่อครับ  อีกเพียง 5 ตอนก็จะจบแล้ว.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, พฤศจิกายน, 2564, 10:18:10 PM
(https://i.ibb.co/jWcDsYB/Untitl-ed-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๖๒ -

พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม
ทรงมีความดำริที่เห็นต่าง
ญวนมากมีพฤติกรรมเล่ห์อำพราง
เป็นการวางกลงำกัมพูชา

ทรงแนะให้ตอบญวนแบบชวนแลก
ต่างปลดแอกอำนาจวาสนา
ให้เขมรเป็นสุขทุกเวลา
สองมหานครรุมช่วยอุ้มชู


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   ญวนมาเร่งเร้าให้นักพระองค์ด้วงติดต่อขอญวน ๔๔ คนจากรุงเทพฯ ส่งคืนให้ญวน  และให้แต่งทูต  มีพระราชสาส์นพร้อมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี  หากพ้นปีใหม่ญวนแล้ว   นักพระองค์ด้วงยังนิ่งเฉยอยู่  องต๋าเทียนกุน  องเฮากุน  จะยกทัพใหญ่สามทัพตีเอาเมืองเขมรให้จงได้  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้พิจารณาสถานการณ์และไตร่ตรองดูอย่างรอบคอบแล้ว  เห็นว่าฝ่ายไทยเขมรมีความเสียเปรียบญวนทุกอย่าง  จึงให้นักพระองค์ด้วงมีศุภอักษรญวนไปว่า  จะมีศุภอักษรให้ทูตานุทูตคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนาม ณ กรุงเว้ ทันปีใหม่ญวนเป็นแน่  ฝ่ายญวนก็ดีใจบอกว่าจะจัดการรับรองอย่างเต็มที่  วันนี้มาอ่านกันต่อครับ

           “ ครั้งนั้น  พอหลวงสวัสดิ์นคเรศร์เชิญท้องตราตอบหนังสือบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไป  มาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาใจความว่า

(https://i.ibb.co/2qN8xGM/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “แม่ทัพญวนยกกองทัพใหญ่ขึ้นมาครั้งนี้  มาตั้งฝึกหัดซ่อมทหารเรือ  ทหารช้าง  และทหารเดินเท้า  ก็มากอยู่ที่เมืองพนมเปญ  และองญวนแม่ทัพที่มาใหม่ใช้ให้ญวนมาบอกกับนักพระองค์ด้วงว่า  ให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตขึ้นไปกรุงเว้  แล้วให้มีศุภอักษรไปสารภาพผิด  และยอมขอขึ้นกับพระเจ้าเวียดนามใหม่ต่อไป  แล้วพระเจ้าเวียดนามจะยอมส่งเจ้าหญิงญาติพี่น้องมาให้พร้อมมูลกัน  แล้วในใบบอกก่อนนั้นว่า  การนี้เป็นการใหญ่  เหลือสติปัญญาเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงได้บอกขอพระราชทานกระแสพระราชดำริ  จะโปรดเกล้าฯ ให้ประนีประนอมไปตามทางไมตรีกับญวนนั้น  หรือจะโปรดเกล้าฯ เป็นประการใดก็แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดแจ้งอยู่ในใบบอกฉบับก่อนนั้นแล้ว”

           บัดนี้ทรงพระราชดำริแล้วโปรดให้ตอบว่า

            “ถ้าจะให้คิดติดตามไปตามการที่เป็นไปแล้ว  ทรงเห็นว่า  นิสัยน้ำใจญวนไม่มีความสุจริตต่อมิตรไมตรี  เป็นคนยกตนข่มท่าน  มีแต่จะเอารัดเอาเปรียบเลียบเลียมรู้มากทุกครั้งทุกที  ถ้าจะคิดไปถึงการเก่า ๆ แต่ครั้งแผ่นดินต้นพระพุทธเจ้าหลวง ( คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)นั้น เจ้าเวียดนามยาลวงต้นราชวงศ์นี้ ก็ขอเมืองบันทายมาศของไทยไปครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งแผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมในพระโกษฐ์ (คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพรพุทธเลิศหล้านภาลัย) นั้น  เจ้าเวียดนามมินมางบิดาเจ้าเวียดนามเทียวตรีทุกวันนี้  ก็เกียดกันบ้านเมืองเขมรฝ่ายไทยไปเป็นสิทธิ์ของญวนเสียครั้งหนึ่งไม่ใช่หรือ  ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เมื่อเราได้ผ่านพิภพใหม่ ๆ  (คือ  ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) นั้น  เจ้าเวียดนามมินมางก็เกียดกันเมืองลาว  ปลายเขตแดนเมืองเวียงจันทน์ไปเป็นเขตแดนของญวนเสียก็มาก ๆ   ครั้งนี้ญวนแม่ทัพใหญ่ใช้ให้คนมาพูดแทะโลมไทยและเขมร ชักชวนเป็นทางไมตรีนั้นด้วยเหตุอันใดเล่า  คิดยังไม่เห็นสมกับการต้นที่รบราฆ่าฟันกันมาก  จนได้ความอับอายล้มตายลงเป็นสาหัสสากันดังนั้น  แล้วก็จะหันหน้ากลับมาเป็นไมตรีดีกันโดยเร็วฉะนี้  เมื่อกำลังรบพุ่งกันอยู่ก็จะดีกันเฉย ๆ  จะอย่างไรอยู่กระมัง  ให้คิดโดยรอบคอบเสียก่อน  อย่าเพิ่งด่วนได้ใจเร็ว  หรือจะเป็นกลอุบายญวนมาพูดจาหลอกลวงล่อให้หลงลม  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเสียทั้งคมทั้งสันไปหลายชั่วอายุ  หรือว่าญวนสู้รบฝีมือทแกล้วทหารไทยไม่ได้  ญวนจึงได้มาชักชวนเป็นไมตรีก่อน  ให้คิดให้เห็นตกลงตลอดข้อความเหล่านั้นทั้งสิ้นเสียก่อนจึงทำทางไมตรีตามเหตุที่ควรจะทำเพราะการจำเป็น  ข้อที่แม่ทัพหรือเจ้าแผ่นดินญวนส่งนักมารดา บุตร ภรรยาเจ้าองค์ด้วงให้มานั้น  คาดคะเนดูใจญวนเห็นว่า  ถ้าญวนจะยึดมารดา  บุตร  ภรรยาเจ้าองค์ด้วงไว้ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไร  กลับจะต้องเสียข้าวปลาผ้าเกลือให้เสมอ  ทั้งจะต้องจ่ายแปะเป็นเบี้ยเลี้ยงด้วย  เปลืองเปล่า ๆ  หาต้องการไม่  ญวนจึงส่งมาให้เจ้าองค์ด้วงเสียดีกว่า  ญวนส่งมารดาญาติมาให้เจ้าองค์ด้วงทั้งนี้  ก็เพราะญวนจะผูกพันน้ำใจให้เจ้าองค์ด้วงรักใคร่นับถือญวน  ญวนจะได้ชักชวนไปขึ้นไปออกแก่บ้านเมืองญวน  ทั้งญวนจะได้มีบุญคุณต่อเขมร  แล้วจะได้เป็นทางพูดจาทวงบุญคุณกับเขมรต่อไปภายหน้า  การเป็นไปดังนี้แล้ว  เขมรก็จะได้เห็นความดีของญวนว่า  เจ้าเวียดนามเทียวตรีองค์ใหม่นี้  น้ำใจในคอไม่มีความพยาบาทอาฆาตต่อเขมรเลย  การทั้งนี้เห็นว่าเป็นความคิดขึ้นใหม่ของเสนาบดีฝ่ายญวน  ญวนจะนำความดีใหม่นี้มาล้างความชั่วเก่าของญวน  ซึ่งเจ้าเวียดนามมินมางองค์ก่อนทำแก่เขมรยับเยินป่นปี้มากหนัก  จนเขมรแตกร้าวกับญวนไปเสียครั้งหนึ่งนั้นไม่ใช่หรือ  ข้อซึ่งแม่ทัพญวนใช้ให้คนมาบอกกับเจ้าองค์ด้วง  ให้มีศุภอักษรแต่งทูตขึ้นไปกรุงเว้  ขอเจ้าหลานหญิงต่อเจ้าเวียดนามองค์ใหม่  เจ้าเวียดนามองค์ใหม่ก็จะให้มานั้น  ความข้อนี้ทรงพระราชดำริไม่เห็นด้วยเลย  ว่าญวนจะให้เจ้าหญิงมายังเมืองเขมรง่าย ๆ  อย่านึกเลย  ทรงเห็นแต่ว่าเจ้าเวียดนามและเสนาบดีจะยึดเจ้าหญิงทั้งสามองค์ไว้ในเขตแดนญวน  ญวนจะได้เอาไว้เป็นหุ่นแย่งชิงแผ่นดินเขมรเล่นไม่ดีหรือ  ถ้าญวนส่งเจ้าหญิงทั้งสามองค์มาให้เจ้าองค์ด้วงแล้ว  ก็เหมือนญวนยกมอบแผ่นดินเขมรให้แก่เจ้าองค์ด้วงเสียเหมือนกัน  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  ก็เห็นได้ว่าญวนจะคิดปลอบโยนเกลี้ยกล่อมเจ้าองค์ด้วงต่อภายหลังอีกกระมัง  แต่เห็นว่าญวนเป็นอันไม่ให้เจ้าหญิงมาแน่  เพราะญวนได้ผลประโยชน์ในบ้านเมืองเขมรเสมอเป็นอันมากทุกปี  ด้วยญวนรักเมืองเขมรจึงสู้ลงทุนลงรอนทดลองเสบียงอาหารกระสุนดินดำ  ให้ไพร่พลขึ้นมารักษาเขตแดนติดตามสู้รบกับไทย  ก็เพราะจะอยากได้แผ่นดินเขมรคืนไปให้อยู่ในอำนาจญวนเหมือนแต่ก่อน  เพราะฉะนั้น  ญวนจึงสู้เสียกระสุนดินดำและเรือรบเรือไล่มาแตกแตนเสียมาก  และไพร่พลก็มาล้มตายหายจากเป็นอันมากหนักหนาแล้ว  ญวนจึงมีทิฐิมานะเสียทุนรอนมาก  เพราะจะต้องการเมืองเขมรให้ได้คุ้มค่าโสหุ้ยที่เสียไปแต่ก่อนโดยมากนั้น  ญวนจะให้เจ้าหญิงมาง่าย ๆ ที่ไหนเล่า   ข้อซึ่งเจ้าองค์ด้วงพูดไปกับญวนว่าจะมีหนังสือเข้ามาขอญวนแขกเชลย ๔๔ คนนั้น  ยังถามท่านเสนาบดีไทยดูก่อน  ถ้าโปรดให้ก็จะได้อกมา  ถ้าไม่โปรดให้ก็จะให้รู้ในสามเดือนนั้น  ถ้าถึงกำหนดครบสามเดือนแล้ว  ญวนคงจะมาฟังความอีก  ถ้าเจ้าองค์ด้วงจะพูดจากับญวนต่อไปอีกก็ให้พูดว่า   เจ้าองค์ด้วงได้มีศุอักษรเข้าไปยังท่านเสนาบดีไทยแล้ว   ท่านเสนาบดีมีท้องตราตอบอกมาว่า  ถ้าญวนส่งเจ้าผู้หญิงมาให้อยู่พร้อมเพรียงญาติกันกับเจ้าองค์ด้วงแล้ว  และเจ้าองค์ด้วงได้จัดการบ้านเมืองเขมรให้ไพร่พลอยู่เย็นเป็นสุขเหมือนเมื่อครั้งนักพระองค์เอง สมเด็จพระนารายณ์รามาเจ้ากรุงกัมพูชาซึ่งเป็นบิดาเจ้าองค์ด้วงนั้นแล้ว  อย่าว่าแต่ญวนแขกเชลย ๔๔ คนเลย  ถึงญวนเชลยที่ได้มาแล้วส่งเข้าไปไว้ในกรุงเทพฯ มากน้อยเท่าใด  ท่านเสนาบดีไทยก็จะคืนให้ทั้งสิ้น  ประการหนึ่งกองทัพไทยอยู่ที่เมืองเขมรนั้น  ขัดสนเสบียงอาหารลงแล้ว  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ไม่มีใบบอกเข้ามา ณ กรุงเทพฯ  กลับไปบอกขอเสบียงอาหารที่เมืองจันทบุรี  เมืองสาคราธ  หัวเมืองเหล่านั้นจะมีข้าวเกลือมาเลี้ยงกองทัพไทยได้หรือ  บัดนี้ได้โปรดให้พระยาเกษตรรักษา คุมไพร่ถ่ายลำเลียงอกไปส่งที่ท่าเมืองกบินทร์บุรีแล้ว  ให้มีท้องตราบังคับเจ้าเมืองกรมการทางตะวันออก  ส่งต่อ ๆ ไปจนถึงเมืองอุดงคฦๅไชยให้ทันราชการ”

             (ท้องตราฉบับนี้ไม่ได้ตัดรอน  กล่าวไว้ตามต้นร่างฉบับเดิม  เพราะจะให้ท่านผู้อ่าน ผู้ฟัง ทราบกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงตลอดจนจบท้องตรา  มิใช่สำนวนถ้อยคำพระยาศรีสิงหเทพ (ทองเพง)   พระยาศรีสิงหเทพ เป็นแต่ผู้เขียนเท่านั้น)

(https://i.ibb.co/VTLk1v6/Untditled-46.jpg) (https://imgbb.com/)

            ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราดังนั้นแล้ว  จึงให้นักพระองค์ด้วงแต่งพระยามหาเทพ ๑  พระยาสุภาธิราช ๑  พระยาวงศาธิราช ๑  หลวงไชยสงครามล่ามญวน ๑  ขุนสนิทเสน่หาล่ามญวน ๑  รวมห้าคน  ให้เป็นพระยาพระเขมรคนรับใช้ของนักพระองค์ด้วง  ไปหาองต๋าเตียนกุนที่ค่ายเมืองพนมเปญ โดยเป็นการไปเยี่ยมเยือนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายญวนตามทางไมตรี  แล้วมีหนังสือฝากไปฉบับหนึ่งใจความว่า

(https://i.ibb.co/cbs6P1Q/Untitledfgd-6-0.jpg) (https://imgbb.com/)

             “ศุภอักษรบวรศรีสวัสดิ์พิพัฒนไมตรีศรีสุนทรหัทยาศรัย  ในนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรผู้สำเร็จราชการ ณ กรุงกัมพูชา  แจ้งความมาถึงท่านองเป็นใหญ่แม่ทัพญวน ณ เมืองพนมเปญได้ทราบ   ด้วยเราได้มีศุภอักษรเข้าไปในกรุงเทพฯ ถึงท่านเสนาบดีไทย  ใจความว่า  ขอญวนแขกเชลย ๔๔ คนออกมา  ท่านเสนาบดีก็มีท้องตราตอบอกมาว่า  ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบแล้ว  มีรับสั่งว่า  ถ้าแม่ทัพญวนทำนุบำรุงเมืองเขมรซึ่งเป็นเมืองน้อย  ให้ได้พึ่งเมืองใหญ่ฝ่ายไทยและญวนทั้งสองพระมหานคร  ทั้งสองพระมหานครปกครองเมืองเขมรให้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนเมื่อครั้งนักพระองค์เองบิดานั้นแล้ว  อย่าว่าแต่ญวนแขกเชลย ๔๔ คนเท่านี้เลย  ถึงญวนเชลยที่เขมรจับได้ส่งเข้าไปถวายไว้ในกรุงเทพฯ มีมากน้อยเท่าใด  จะพระราชทานคืนกลับอกมาให้ทั้งสิ้นก็จะได้เป็นไรมี  แต่ญวนแขก ๔๔ คนรายนี้  ยังไม่มีรับสั่งให้ส่งออกมาเพราะเหตุประการใดหาทราบไม่  แล้วให้พระยายมราช  พระยาราชไมตรี  เขมรทั้งสองคนเข้าไปเฝ้า ณ กรุงเทพฯ  ทูลขอญวนแขก ๔๔ คนอีก  ถ้าพระยาพระเขมรทั้งสองคนได้ญวนแขก ๔๔ คนออกมาเมื่อใด  ก็จะให้คนมาบอกองเป็นใหญ่ ณ เมืองพนมเปญให้แจ้ง”

(https://i.ibb.co/SvC1m5k/Untitlefd-2.jpg) (https://imgbb.com/)

             ** อ่านความในท้องตราที่ตอบเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว  ซึ้งในพระราชดำริอันลึกซึ้งกว้างไกลไปรอบด้าน  พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเปี่ยมไปด้วยเหตุผล  ข้อเสนอต่อรองกับญวนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนพระองค์  ต่างจากญวนมาก  ทางฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชากับนักพระองค์ด้วง  เมื่อได้ทราบความในท้องตราดังกล่าวแล้ว  จะนำมาปรับปรุงพลิกแพลงใช้กับญวนอย่างไรต่อไป   ค่อยมาอ่านกันครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, พฤศจิกายน, 2564, 10:40:34 PM
(https://i.ibb.co/fYq2Kg9/Untitlhjfed-6.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๖๓ -

เหมือนไม่เต็มใจรับทูตเขมร
จึงละเว้นปฏิบัติเคยทำอยู่
เลี้ยงโต๊ะจีนจัดแสดงงิ้วให้ดู
กลับไม่รู้ไม่ชี้ที่เคยวาง

เล่ห์กลญวนล้วนร้ายอุบายมาก
คนคบยากอย่างญวนควรไกลห่าง
ทูตเขมรถูกเมินจึงเดินทาง
กลับมาอย่างมือเปล่าหงอยเหงาใจ


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯโปรดฯให้มีท้องตราตอบใบบอกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงเรื่องที่ญวนส่งนักเทศมารดานักพระองค์ด้วงพร้อมภรรยาบุตรีนักพระองค์ด้วงมาให้  และขอเชลยแขกญวน ๔๔ คนจากไทยคืนไป  กับขอให้นักพระองค์ด้วงแต่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี  ทูลขอเจ้าหญิงเขมรสามองค์คืนมา  ถ้าพ้นปีใหม่ญวนแล้วนักพระองค์ด้วงไม่ทำตามที่ญวนกล่าวมานั้น  ญวนก็จะยกทัพใหญ่สามทัพมาตีเขมรยึดครองแผ่นดินกัมพูชาให้จงได้  พระบาทสมเด็จพร้ะจ้าอยู่หัวทรงแนะแนวทางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาโต้ตอบญวน  ดังเป็นที่ทราบแล้วนั้น  วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....

(https://i.ibb.co/Jt127BL/Untifdtled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ครั้นถึง ณ เดือนสามขึ้นหกค่ำ  นักพระองค์ด้วงแต่งทูตไปกรุงเว้  ให้พระยาราชเดชะเป็นราชทูต ๑  พระยาบวรนายกเป็นอุปทูต ๑  พระยาธนาธิบดีเป็นตรีทูต ๑  พระนเรนทรไมตรีล่ามญวน ๑  หลวงภักดีพจนะสุนทรล่ามญวน ๑  ขุนสนิทเน่หาล่ามญวนและจีนพูดได้สองภาษา ๑  ทูตานุทูตเขมรหกคน เชิญศุภอักษร กับเครื่องบรรณาการขึ้นไปเจริญทางพระราชไมตรีกรุงเว้  แต่เครื่องบรรณาการนั้นคือ  ช้างพลายสูง ๔ ศอกคืบสองเชือก  งาช้างสองกิ่งหนัก ๕๐ ชั่ง  ขี้ผึ้งหนัก ๕๐ ชั่ง  ผลเร่วหนัก ๕๐ ชั่ง  นอระมาดสองยอดหนัก ๒ ชั่ง ๑๕ ตำลึง  บรรณาการตามธรรมเนียมแบบอย่างนักพระองเองสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีผู้เป็นบิดานักพระองค์ด้วงจัดแจงตกแต่งทำมาแต่ก่อนอย่างไร  นักพระองค์ด้วงก็ทำตามอย่างบิดาต่อไป  ทูตานุทูตเขมรไปถึงเมืองโจดกแล้วแม่ทัพญวนก็ส่งทูตเขมรขึ้นไปถึงกรุงเว้

           ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา แต่งหนังสือบอกข้อราชการบ้านเมืองเขมรให้พระยาไชยวิชิต (ขำ) ผู้รักษากรุงเก่าถือเข้ากรุงเทพฯ  ครั้งนั้นให้พระยายมราชเขมร ๑  พระยาราชไมตรีเขมร ๑  เข้าไปด้วย  หนังสือบอกนั้นใจความว่า  

(https://i.ibb.co/PhMFfsG/Untit-ldsfed-32.jpg) (https://imgbb.com/)

           ซึ่งมีหนังสือบอกไปขอข้าวเกลือที่เมืองจันทบุรี  และเมืองสาคราธนั้นก็เพราะมีกระแสรับสั่งไว้แต่เดิม  ครั้นจะบอกขอข้าวเกลือเข้าไปในกรุงเทพฯ นั้น  ก็เห็นว่าเป็นระยะทางห่างไกลกับเมืองจันทบุรี  อนึ่งซึ่งราชการทัพศึกญวนเขมรครั้งนี้เป็นปลายมรสุมศึกสงคราม  นายทัพเก่าก็ไม่มีแล้ว  มีแต่คนใหม่ ไม่สู้ชำนาญการทัพศึก  ครั้นจะให้คนใหม่ ๆ เข้าสู้รบกับญวน  จะหักโหมด้วยกำลังนายทัพนายกอง  ทแกล้วทหารใหม่ ๆ นั้นเล่า  ก็เห็นว่าจะสู้คนเก่าไม่ได้  คนเก่าที่เคยทัพเคยศึกมาด้วยกัน  ก็ล้มหายตายจากไปเสียมากแล้ว  มีแต่คนใหม่ ๆ ไม่สู้เคยทัพศึก  ก็จะเสียราชการไปเหมือนเมื่อครั้งที่เมืองพนมเปญ  เพราะคนใหม่จึงแตกยับเยินมาหมด  อีกประการหนึ่งเล่าเสบียงอาหารเป็นกำลังสำคัญแก่การณรงค์สงคราม  ก็ไม่พอจะแจกจ่ายเลี้ยงไพร่พลที่กะเกณฑ์มามาก  กับพวกพระยา พระ เขมรและราษฎร ไพร่พลเขมร รู้ว่าองต๋าเตียนกุนแม่ทัพญวนมาใหม่  ยกกองทัพขึ้นมาคราวนี้  รี้พลช้างม้าเรือรบเรือไล่ก็มากมายเหลือล้นกว่าครั้งก่อนหลายเท่า  พวกเขมรนายไพร่ก็ตื่นตกใจกลัวญวน  พากันอพยพครอบครัวลงเรือบ้าง เดินบ้าง หนีเข้าป่าดงเป็นอันมากแล้ว  บ้างก็หนีเข้าไปหาญวน  ขอข้าวรับประทานเพราะความอดอยากก็มี  เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่ากำลังศึกเขมรหย่อนลงกว่าญวน

           อนึ่งพระยาเขมรผู้ใหญ่ในเมืองและหัวเมืองหลายสิบคนเข้าชื่อกันทำเรื่องราวร้องทุกข์ว่า   “ไพร่บ้านพลเมืองไม่ได้ทำไร่นาหากินมาช้านาน  เพราะมีการทัพศึกกับญวน  เดี๋ยวนี้เขมรอดโซยากแค้นยิ่งนัก  ขอให้นักพระองค์ด้วงเป็นทางไมตรีกับญวนเถิด  ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะได้ทำไร่นาไปมาค้าขายหากินบ้าง  พอจะได้เป็นสุขปราศจากความทุกข์เดือดร้อนเหมือนแต่ก่อน”

           ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรึกษาหารือกับนักพระองค์ด้วงและพระยาเพชรบูรณ์เห็นว่า

            “ถ้าจะไม่รับเป็นทางไมตรีกับญวนแล้ว  ก็คงจะได้ทำมหายุทธนาการรบพุ่งกับญวนเป็นศึกใหญ่ยิ่งกว่าเก่าหลายเท่า  เพราะว่าแม่ทัพญวนใหม่คนนี้ ท่วงทีดีกว่าแม่ทัพเก่า  แต่ไพร่พลเขมรที่จะเป็นกำลังอุดหนุนในการทัพศึกนั้นก็ย่อท้อไปเสียมากแล้ว  ไม่เหมือนแต่ก่อน ๆ  ถ้าจะข่มขืนให้สู้กับญวนต่อไปอีก หากว่าเสียท่วงทีแก่ญวนลงก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพฯอยู่ชั่วฟ้าและดิน  ทั้งพระยา พระเขมรและราษฎรเขมรและนานาประเทศก็จะหมิ่นประมาทอำนาจไทยได้  ถ้านักพระองค์ด้วงแต่งราชสาส์นให้ทูตถือไปอ่อนน้อมแก่ญวนโดยดี  ตามที่ญวนมาชักชวนเป็นทางไมตรีนั้น  ถ้าว่าพระเจ้าเวียดนามไม่ตั้งอยู่ในความสุจริต  โดยทศพิธราชธรรมตามธรรมเนียมพระมหากษัตริย์ราชเจ้า  ไม่ส่งเจ้าผู้หญิงมาให้นักพระองค์ด้วงตามที่ญวนพูดสัญญาไว้นั้น  พระเจ้าแผ่นดินและเสนาบดีญวนก็ตกเป็นผู้อสัจธรรม  เสียความสัตย์สัญญาลงแล้วเมื่อใด  พระยา พระเขมรและไพร่พลเมืองเขมรก็จะโกรธญวน  ว่าญวนพูดไม่จริง  เขมรก็จะมีใจกำเริบกล้าหาญเข้ารับอาสาต่อสู้กับญวนแข็งแรงต่อไปอีก  เพราะจะอยากได้เจ้านายผู้หญิงกลับมาบ้านเมืองเขมรของตน  กำลังศึกสงครามก็จะกล้าแข็งขึ้นยิ่งกว่าเก่าหลายเท่า   ข้าพระพุทธเจ้าจะได้อาศัยไพร่พลเขมรเป็นกำลังศึกทำราชการฉลองพระเดชพระคุณได้เต็มมือโดยถนัด  เดี๋ยวนี้ญวนก็แต่งคนมาพูดจาชักโยงเป็นทางไมตรี  เกลี่ยไกล่เป็นการแต่พอให้แล้วไปได้ครั้งหนึ่ง  ก็ต้องคิดผันแปรไปตามกาลตามสมัย  เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ให้นักพระองค์ด้วงมีศุภอักษรแต่งทูตเขมรขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามใหม่ ณ กรุงเว้

           อนึ่ง ญวนแขกเชลย ๔๔ คนนั้นได้รับปากว่าจะให้แก่ญวนแม่ทัพแล้ว  ขอพระราชทานให้ออกมาด้วย  อย่าให้เสียวาจาที่พูดไปแก่ญวนเลย”

           ลุจุลศักราช ๑๒๐๙ ปีมะแมนพศก เป็นปีที่ ๒๔ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ  พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า  ถือใบบอกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ  เจ้าพนักงานนำเข้าเฝ้าถวายหนังสือบอก  ได้ทรงทราบแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชเสนามีตราตอบออกไปใจความว่า

(https://i.ibb.co/ZNZLrh6/Unti-tl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

            “ทรงพะราชดำริว่า  เจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ใกล้ญวนใกล้เขมร  เมื่อเห็นการจะทำอย่างไรดีเป็นที่เย็นแก่ราษฎรไม่เดือดร้อนแก่บ้านเมืองเขมรแล้ว  ก็ให้ผันผ่อนปรนไปตามกาลตามสมัยเถิด  กับได้พระราชทานญวนแขกเชลย ๔๔ คน  ให้พระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า  และพระยายมราชเขมร  พระยาราชมนตรีเขมรคุมออกมาแล้ว”

(https://i.ibb.co/MBRBXTd/se7.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงให้นักพระองค์ด้วงแต่งพระยานรามนตรีเขมร คุมญวนแขกเชลย ๔๔ คน  ลงเรือไปส่งให้องต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ  องโปโฮขุนนางนายทัพผู้ใหญ่รับญวนแขก ๔๔ คนไว้  แล้วมีใบประทับตราให้มาด้วย  แต่องโปโฮบอกพระยานรามนตรีเขมรว่า  องต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่หายแล้ว  แต่ยังไม่ปกติอย่างเดิม  เพราะฉะนั้นพระยานรามนตรีเขมรจึงมิได้พบองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่  แล้วพระยานรามนตรีถามองโปโฮว่า

            “เมื่อทูตเขมรมาทางนี้  ได้พบกับองต๋าเตียนกุนหรือเปล่า?”    องโปโฮตอบว่า    “ได้พบกันแล้ว”

(https://i.ibb.co/0CMJ7S1/Chuy.jpg) (https://imgbb.com/)

           ฝ่ายพระยาราชเดชะ  พระยาธนาธิบดี  พระยาบวรนายกทูตเขมรเชิญศุภอักษรคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปกรุงเว้ครั้งนั้น  เจ้าพนักงานญวนให้พาทูตานุทูตเขมรเข้าเฝ้าพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีในท้องพระโรงหลวง  พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าอยู่ในที่ประชุมใหญ่ประมาณพันเศษ  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ญวน  เสด็จออกมานั่งบนพระแท่นทองคำประดับพลอยสูงสามศอกเศษ  ทูตานุทูตเขมรเฝ้าอยู่ห่างพระแท่นสิบศอก  ไม่ได้ยินตรัสปราศรัยไต่ถามด้วยทูตแต่สักคำหนึ่ง  เสด็จออกอยู่ครู่หนึ่งก็เสด็จขึ้นเข้าไปข้างในพระมณเฑียร  ทูตานุทูตออกมารับพระราชทานของลี้ยง  เลี้ยงที่เก๋งจีนในสวนในพระราชวัง  เจ้าพนักงานกรุงเว้รับรองทูตเขมรครั้งนี้ตามธรรมเนียมเสมออย่างเล็กน้อย  ไม่เหมือนทูตเขมรไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามมินมางแต่ก่อน ๆ  เคยมีงิ้วให้ทูตดู  แล้วขุนนางผู้ใหญ่เชิญทูตไปเลี้ยงโต๊ะหลายแห่ง  รับรองทูตเขมรครั้งก่อนแข็งแรงยิ่งนัก  แต่ครั้งนี้รับรองไม่แข็งแรง  งิ้วก็ไม่มีให้ดู  การเลี้ยงโต๊ะที่บ้านขุนนางก็ไม่มี

           ครั้น ณ วันจันทร์เดือนห้าขึ้นสิบสี่ค่ำ  ปีมะแมนพศก  องเลโปเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศกรุงเว้  ใช้ให้คนรับใช้มาเรียกทูตเขมรไปที่บ้านองเลโป  องเลโปว่า

            “สิ้นราชการทูตแล้วทูตจะกลับไปบ้านเมืองเขมรก็ได้  จะให้คนไปส่งให้ถึงเมืองไซ่ง่อน

           ทูตก็ลาองเลโป  องเลโปก็ใช้ให้ขุนนางพนักงานพาทูตมาส่งถึงไซ่ง่อน  แล้วองเลโปมีหนังสือมาถึงนักพระองค์ด้วงฉบับหนึ่งใจความว่า

            “ถ้าถึงกำหนดสามปี  ทูตเขมรจะขึ้นไปจิ้มก้องกรุงเว้นั้นอย่าให้ขึ้นไปเลย  ให้ไปส่งเครื่องบรรณาการและราชสาส์นกับจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเถิด”

           ทูตก็มาถึงเมืองอุดงคฦๅไชย ณ วันเดือนหก ขึ้นสามค่ำ.......”

          ** แล้วญวนก็แสดงเล่ห์เหลี่ยมลวดลายเลวร้ายออกมาให้เห็น  ทูตานุทูตเขมรไม่ได้รับเกียรติจากญวนกรุงเว้ดังนี้  ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาและนักพระองค์ด้วงจะดำเนินการต่ออย่างไร  ไว้มาอ่านกันต่อ  อีก ๒ ตอนก็จะจบแล้วครับ.

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, พฤศจิกายน, 2564, 11:06:46 PM
(https://i.ibb.co/jhJtn63/Untitffled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

- อานามสยามยุทธ ๑๖๔ -

ญวนเปลี่ยนไปในทางที่สร้างสรรค์
เลิกรบราฆ่าฟันกันเสียได้
สั่งตั้งนักองค์ด้วงเลิกลวงไทย
ยอมเขมรเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

มอบเจ้าหญิงคืนเรือนสิ้นเงื่อนไข
มิทันไรเจ้าเวียดนามนั้นชนม์สิ้น
โอรสเยาว์เจ้ายวมญวนยลยิน
ยกเป็นปิ่นประเทศเขตเวียดนาม


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   ทูตานุทูตเขมรซึ่งมีพระยาราชเดชะเป็นหัวหน้าคณะเชิญศุภอักษรคุมเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าเวียดนามเทียวตรี ณ กรุงเว้  เมื่อไปถึงแล้วพนักงานญวนได้พาเข้าเฝ้าพระเจ้าเวียดนามในท้องพระโรงท่ามกลางขุนนางใหญ่น้อยจำนวนมากถึงพันเศษ  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ญวน  เสด็จออกนั่งบนพระแท่นทองคำประดับพลอย  ทูตานุทูตไม่ได้ยินว่าตรัสว่าอย่างไรบ้าง  เพราะให้เข้าเฝ้าอยู่ห่างไกลพระแท่นประมาณสิบศอก  ไม่ได้ตรัสปราศรัยทูตานุทูตเลยสักคำเดียว  ประทับอยู่ครู่หนึ่งก็เสด็จขึ้นเข้าไปในพระราชมณเฑียร  คณะทูตออกมารับพระราชทานของเลี้ยงที่เก๋งจีนในสวนดอกไม้ในพระราชวัง  พนักงานกรุงเว้รับรองทูตเขมรตามธรรมเนียมอย่างเล็กน้อย  ไม่เหมือนทูตเขมรที่ไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามมินมาง  ครั้งนั้นมีการรับรองใหญ่โต  จัดแสดงงิ้วให้ทูตชม  และขุนนางพาไปเลี้ยงโต๊ะจีนรับรองตามบ้านด้วยหลายแห่ง  แต่ครั้งนี้ไม่มีงิ้วให้ดู  ไม่มีโต๊ะจีนเลี้ยงตามบ้านขุนนาง  องเลโปเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศให้คนรับใช้เรียกคณะทูตไปพบที่บ้านแล้วบอกว่า  สิ้นราชการทูตแล้วจะกลับไปบ้านเมืองเขมรก็ได้  จะให้คนไปส่งถึงไซ่ง่อน  ทูตเขมรจึงลากลับ  นำหนังสือองเลโปมามอบให้นักพระองค์ด้วงฉบับหนึ่งใจความว่า    “ถ้าถึงกำหนดสามปี  ทูตเขมรจะขึ้นไปจิ้มก้องกรุงเว้นั้น  อย่าให้ขึ้นไปเลย  ให้ไปส่งเครื่องบรรณาการและราชสาส์นกับจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดกเถิด”    วันนี้มาอ่านความกันต่อไปครับ....

(https://i.ibb.co/wKnzxkj/Un56titled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ ครั้น ณ วันเดือนหกขึ้นสิบค่ำ  ขุนนางญวนมาแต่ค่ายเมืองพนมเปญ มาหานักพระองค์ด้วงแล้วแจ้งความว่า

           “องต๋าเตียนกุนให้มาบอกนักพระองค์ด้วงว่า  บัดนี้พระเจ้าเวียดนามใช้ให้องเภอขุนนางนายทหารรักษาพระองค์ถือท้องตราลงมาให้องต๋าเตียนกุน  ซึ่งพักอยู่ที่ค่ายเมืองพนมเปญ  ในท้องตรานั้นโปรดตั้งนักพระองค์ด้วงให้เป็น   “เกามันก๊วกเวียง”  (แปลเป็นภาษาไทยว่า  เจ้าเมืองเขมรอยู่ก๊กหนึ่ง)  กับให้ส่งเจ้าผู้หญิงทั้งสามองค์และครอบครัวเขมรของเจ้านายให้นักพระองค์ด้วงด้วย  ให้นักพระองค์ด้วงไปรับตราตั้งและเครื่องยศเสื้อหมวกกางเกงสำรับหนึ่ง  เป็นยศอย่างญวน  และดวงตราสำหรับประทับพระราชสาส์นขึ้นไปจิ้มก้อง ณ กรุงเว้สองดวง”  

          นักพระองค์ด้วงให้รางวัลแก่ขุนนางญวนที่มาบอกพอสมควร  แล้วญวนก็ลากลับไป

          แล้วนักพระองค์ด้วงก็ไปด้วยเรือรบใหญ่  มีขุนนางเขมรแห่ห้อมล้อมไปเป็นยศบริวารโดยมาก  ถึงเมืองพนมเปญ ณ เดือนหกแรมสามค่ำ  นักพระองค์ด้วงได้ไปรับตราและเครื่องยศฝ่ายญวนต่อองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ในค่ายที่เมืองพนมเปญ  องต๋าเตียนกุนพูดจาปราศรัยไต่ถามทุกข์สุขกับนักพระองค์ด้วงสี่ห้าคำ  ก็ลุกเข้านอนเสียในห้อง  นักพระองค์ด้วงก็ลาองเฮากุนและองญวนนายทัพผู้ใหญ่  นายทัพผู้ใหญ่ก็ทำคำนับรับรองนักพระองค์ด้วงตามธรรมเนียม  เจ้านายที่มีบรรดาศักดิ์สูงตีม้าล่อและจุดประทัดรับส่งจนลงเรือ  นักพระองค์ด้วงก็พาเจ้าผู้หญิงหลานสามองค์กับพระยา พระเขมรเก่า และครัวเขมรในค่ายญวนพนมเปญ  ลงเรือกลับเมืองอุดงคฦๅไชย  นักพระองค์ด้วงเห็นรูปพรรณองต๋าเตียนกุนผิดปรกติมนุษย์  นัยน์ก็ยังขวางไม่หายสนิทดี  พูดจายังเลื่อน ๆ ลอย ๆ  และรูปก็ซูบผอมไปมาก  พวกเขมรบอกว่า     “คุ้มดึคุ้มร้ายยังไม่หายบ้าสนิท  ยังบอ ๆ อยู่”

(https://i.ibb.co/jkdtfcF/h1-ndft.jpg) (https://imgbb.com/)

          ครั้น ณ วันเดือนเจ็ดขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  นายทัพนายกองและไพร่พลญวนซึ่งตั้งอยู่ในค่ายองต๋าเตียนกุนที่เมืองพนมเปญ  และท่ากะพงหลวงกับท่าเมืองกะพงกะสัง  ก็ยกเลิกถอนไปหมดสิ้นทุกตำบล  ญวนเลิกไปครั้งนั้น  ขนข้าวในยุ้งฉางในค่ายไปหมด  ราชการทัพศึกเขมรกับญวนก็เป็นอันเลิกแล้วแก่กัน  เป็นอันสำเร็จเด็ดขาดเรียบร้อยปรกติ  ปราศจากการศึกสงครามเสร็จสิ้น  ตั้งแต่ ณ วันเดือนเจ็ด ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ ปี

           (เสร็จศึกสงครามญวนกับไทยแต่เพียงนี้)

(https://i.ibb.co/mrndjbn/Untdseitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

          เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ตั้งชื่อเมืองอุดงคฦๅไชย  เปลี่ยนเป็นชื่อเมืองอุดงค์มีไชย  แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชากับนักพระองค์ด้วงก็ส่งพระยาราชเดชะ  พระยาธนาธิบดี  พระยาบวรนายก  ทูตเขมรทั้งสามที่ไปกรุงเว้กลับมานั้น  ส่งเข้ามา ณ กรุงเทพฯ  เพื่อจะได้แจ้งข้อราชการบ้านเมืองญวนถวายให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย

          ครั้นภายหลังจ๋งต๊กเจ้าเมืองโจดก  ส่งหนังสือองเลโปเสนาบดีกรุงเว้มาถึงนักพระองค์ด้วงใจความว่า

(https://i.ibb.co/1fszgx1/Untitl-ed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           “พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีทรงพระประชวรเป็นไข้พิษ  ทิวงคตเมื่อ ณ วันเดือนสิบเอ็ด  แรมสิบสองค่ำ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ ปี  เมื่อได้ผ่านพิภพครองราชย์สมบัติพระชนมายุได้ ๑๖ ปี  อยู่ในราชสมบัติได้ ๗ ปี  เมื่อทิวงคตนั้นพระชนม์ได้ ๒๓ ปี  มีพระราชบุตราบุตรีรวม ๑๔ พระองค์  เสนาบดีผู้ใหญ่และขุนนางนายทัพผู้ใหญ่ได้เชิญพระราชโอรสผู้ใหญ่ทรงพระนามว่า  เจ้ายวม  มีพระชนมายุได้เจ็ดปี  ขึ้นผ่านพิภพครองราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป  ตั้งการอภิเษกในกรุงเว้เมื่อ ณ วันเดือนสิบสอง ขึ้นสามค่ำ  เสนาบดีถวายพระนามตั้งยี่ห้อว่า   “พระเจ้าเวียดนามตือตึกเดือดว่างเด้”   เจ้าเตียนวานพระเจ้าปู่น้อยซึ่งเป็นพระอนุชาพระเจ้ามินมาง  และเป็นผู้ช่วยประคับประคองว่าราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีนั้น  บัดนี้เจ้าเตียนวานพระเจ้าปู่น้อย  พระเจ้าตือตึกพระองค์ใหม่นี้  ได้ช่วยประคับประคองว่าราชการแผ่นดินแทนต่อไปอย่างแต่ก่อน  ราชการบ้านเมืองก็เป็นปรกติเรียบร้อย  ให้นักพระองค์ด้วงแต่งราชทูตสองสำรับไปเยี่ยมพระศพสำรับหนึ่ง  ไปถวายคำนับพระเจ้าเวียดนามตือตึกพระเจ้าแผ่นดินใหม่สำรับหนึ่งตามธรรมเนียม”

           นักพระองค์ด้วงก็แต่งพระยา พระเขมรเป็นทูตไปกรุงเว้สองสำรับ  ตามอย่างธรรมเนียมไม่ให้เสียทางพระราชไมตรี....”

(https://i.ibb.co/RCwXvsg/Ufdfntitled-4.jpg) (https://imgbb.com/)

          ** ในที่สุดการศึกสงครามระหว่างไทย-ญวน  ที่ดำเนินมายาวนานนั้นก็สิ้นสุดลง ณ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ ปี  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรี มีท้องตราประกาศตั้งให้นักพระองค์ด้วงเป็น  “เกามันก๊วกเวียง”  คือเจ้าเมืองเขมรอยู่ก๊กหนึ่ง  ให้ส่งคืนเจ้าหญิงเขมรทั้งสามองค์  และเลิกทัพทั้งหมด  ครั้นถึงวันแรมสิบสอง ในเดือนปีเดียวกันนั้น  ก็ประชวรหนักจนทิวงคต  ด้วยพระชนมายุเพียง ๒๓ พรรษา ปีจุลศักราช ๑๒๐๙  อันเป็นปีสิ้นสุดศึกสงครามไทย-ญวนนั้น คือปี พุทธศักราช ๒๓๙๐ เรื่องจะจบลงในตอนต่อไปแล้ว  จบอย่างไร  อย่าลืมอ่านตอนอาวสานของเรื่องต่อไปนะครับ.


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg49403#msg49403)                 ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg51022#msg51022)



เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต


หัวข้อ: Re: - อานามสยามยุทธ -
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, ธันวาคม, 2564, 10:07:44 PM
(https://i.ibb.co/fYRG3Bd/Untfditled-3.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12540.msg50321#msg50321)                                                             .

- อานามสยามยุทธ ๑๖๕ (ปิดฉากสงครามอานามสยามยุทธ) -

ศึกสงบจบเรื่องเลิกเคืองแค้น
ต่างอยู่แดนดินตนไม่พ้นข้าม
นักองค์ด้วงครองประเทศทั่วเขตคาม
เจ้าสยามสถาปนาอย่างปรานี

เจ้าพระยาบดินทร์สิ้นศึกแล้ว
“ขุนพลแก้ว” พร้อมพรักด้วยศักดิ์ศรี
มีเวลาอยู่บ้านนานสองปี
แล้วชีวีปิดม่าน “อสัญกรรม”


          อภิปราย ขยายความ ..........................

          ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่...   พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีมีท้องตราสั่งบังคับมาย้งองต๋าเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนที่เมืองพนมเปญ  แต่งตั้งให้นักพระองค์ด้วงเป็นเจ้าเมืองเขมรอยู่ก๊กหนึ่ง  ส่งคืนเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามนางพร้อมขุนนางเก่าเขมรและครอบครัว  นักพระองค์ด้วงลงเรือรบขนาดใหญ่ไปรับตราและเครื่องแบบที่พระเจ้าเวียดนามประทานมา ณ ค่ายองต๋าเตียนกุน เมืองพนมเปญ  จากนั้นญวนรื้อเลิกค่ายทั้งหมด  ราชการทัพศึกเขมรกับญวนเลิกแล้วแก่กัน  เป็นอันเสร็จสิ้นตั้งแต่ วันขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนเจ็ด ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐)    จากนั้นมาอีกประมาณ ๑๗ วัน  คือวันแรมสิบสองค่ำ เดือนเจ็ด ปีเดียวกันนั้น  พระเจ้าเวียดนามเทียวตรีก็ถึงแก่ทิวงคตด้วยไข้พิษ  พระญาติและขุนนางผู้ใหญ่พร้อมใจกันยกเจ้าชายยวมราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นครองราชสมบัติด้วยวัยเพียงเจ็ดปี  ตั้งพระนามยี่ห้อว่า   พระเจ้าเวียดนามตือตึกเดือดว่างเด้   ให้ปู่น้อยคือ  เจ้าเตียนวานอนุชาพระเจ้ามินมาง  เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สืบไปตามเดิม  วันนี้มาอ่านเรื่องกันต่อในตอนจบครับ.....

(https://i.ibb.co/rQMtzwQ/Untitl25258ed-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           “ฝ่ายที่กรุงเทพฯ  พระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล (ชื่อเสือ)  ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยารัตนพิพิธ (สน) ที่สมุหนายกในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ  โปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็น  พระยาเพชรพิไชย  จางวางกรมล้อมพระราชวัง

(https://i.ibb.co/WBZ23DQ/Un56titled-3.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ วันเดือนยี่ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ในปีมะแมนพศก  โปรดให้พระยาเพชรพิไชย (เสือ) เป็นข้าหลวงที่หนึ่งต้นรับสั่ง  กับเจ้าพนักงานทุกตำแหน่งคุมเครื่องราชอิสริยยศกับสุพรรณบัฏจารึกพระนามพระเจ้ากรุงกัมพูชาองค์ใหม่  ให้ออกไปเมืองเขมรให้พร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา  จัดการอภิเษกนักพระองค์ด้วงเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา  พระยาเพชรพิไชยเชิญกระแสพระราชดำริออกไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทร์เดชาให้ตั้งการอภิเษกนักพระองค์ด้วง ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี่ ขึ้นสี่ค่ำ ปีมะแม นพศก ทรงพระนามว่า      “ สมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี  ศรีสุริโยปพันธุธรรมิกวโรดม  บรมศิรอินทรบวรมหาจักรพรรดิ  ราชพิลาศนารถบพิตร  สถิตยเป็นอินทรกัมพูรัตนราช  วโรภาษชาติวรวงศ์  ดำรงกัมพูชามหาประเทศราช  บวรพิพัฒนาดิเรก  เอกอัครมหาเขมราธิบดินทร  นรินทรวิสุทธิอุตมวโรดม  บรมบพิตรพระเจ้ากรุงกัมพูชา”

(https://i.ibb.co/r4JQLQC/Untidsatled-1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้น  องค์พระหริรักษ์ก็จัดเครื่องพระราชบรรณาการ  แต่งให้พระยา พระเขมร คุมเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ณ กรุงเทพฯ ตามอย่างตามธรรมเนียมทุกปีมิได้ขาด  บรรณาการที่ส่งเข้ามากรุงเทพฯนั้นคือ  แพรเขมร ๕๐ ผืน  ผ้าขาวเขมร ๒๐๐ ผืน  ขี้ผึ้งหนักหาบหนึ่ง  ผลเร่วหนักหาบหนึ่ง  ผลกระวานหนักหาบหนึ่ง  ครั่งหนักหาบหนึ่ง  รงค์หนักหาบหนึ่ง  น้ำรัก ๕๐ กระออม  เป็นแบบอย่างตามธรรมเนียมสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักพระองค์เอง) บิดา ดังนี้  แล้วองค์พระหริรักษ์คิดถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร  จึงได้จัดพะราชบรรณาการเพิ่มเติมขึ้นอีก  ผลกระวานหนักห้าสิบหาบ  น้ำรัก ๑๐๐ กระออม  บางปีถวายของแปลก ๆ บ้าง

           ครั้น ณ เดือนห้า ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ ปี  เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร  เจ้าพระยาบดินทรเดชาและพระยาเพชรพิไชย จัดการอภิเษกองค์พระหริรักษ์ฯ เสร็จแล้วกลับกรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/56Hsw50/Untitled-5.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้งนั้นองค์พระหริรักษ์ฯ ให้นักองค์ราชาวดีราชบุตรผู้ใหญ่เข้ามาทำราชการอยู่ ณ กรุงเทพฯ  ให้เข้ามาด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็กลับเข้ามาถึงเมืองฉะเชิงเทรา ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นสิบสี่ค่ำ ในปีวอกสัมฤทธิศก  พอพบกองทัพกรุงเทพฯ ออกไปต่อรบด้วยจีนตั้วเฮียที่เมืองฉะเชิงเทรา  เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นแม่ทัพ  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ชื่อช่วง) บุตรใหญ่เจ้าพระยาพะคลังนั้นเป็นทัพหน้า  เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ยกเข้าช่วยเจ้าพระยาพระคลังตีพวกตั้วเฮียจีนกบฏแตกหนีหายไปสิ้น เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้า แรมห้าค่ำ  กองทัพเจ้าพระยาพระคลังจับได้ตัวนายจีนตั้วเฮีย  คือ จีนหัวเสียวตั้วเฮีย ๑  จีนเฮียงยี่เฮีย ๑  จีนตูยี่เฮีย ๑  จีนโปยี่เฮีย ๑  จีนแสงซาเฮีย ๑  จีนเกา ๑  จีนกีเฉาเฮีย ๑  และจีนโผ ๑  จีนลัก ๑  จีนหลงจู๊อะ ๑  จีนกีเถ้าแก่สวนอ้อยด้วย ๑  ส่งเข้ามา ณ กรุงเทพฯ

(https://i.ibb.co/bsNdnhp/Unsdtitled-2.jpg) (https://imgbb.com/)

           เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังเสร็จการศึกแล้วก็กลับเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเดือนหก ขึ้นสามค่ำ ในปีวอกสัมฤทธิศก  ทันการฉลองวัดพระเชตุพน  มีการมหรสพเป็นอย่างใหญ่  มีโขนอุโมงค์โรงใหญ่ชักรอกกรมหลวงรักษ์รณเรศร์  โรงใหญ่สนุกเหลือที่จะพรรณนา  แล้วถวายพระไตรแพร  จีวรเมล็ดพริกไทย  สบงแพรเขมร  ผ้ากราบพระแพรเขมรที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดมาทูลเกล้าฯ ถวาย รวมไตรแพร ๕,๐๐๐ ไตร  และเครื่องบริขารต่าง ๆ เป็นอันมากห้าพันสำรับ

(https://i.ibb.co/x8c42J0/5f486b8e3a750319.jpg) (https://imgbb.com/)

           ครั้น ณ ปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ ปี เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร  เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายกอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่  ป่วยเป็นไข้ป่วงใหญ่  ถึงอสัญกรรม ณ วันเดือนเจ็ด แรมเก้าค่ำ ปีระกา เอกศก  โปรดเกล้าฯ ให้ทำการฌาปนกิจพระราชทานเพลิงเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมรุวัดสระเกศ........

            (ถ้าจะคิดตั้งแต่ไทยได้เป็นศึกกับญวนเมื่อปีมะเส็งเบญจศกเป็นครั้งแรก  มาถึงเลิกการศึกเสร็จกัน เมื่อปีมะแมนพศก  รวมปีระหว่างไทยรบกับญวนนั้น ๑๔ ปี  จึงสำเร็จเสร็จสิ้นการศึกสงครามเป็นไมตรีกัน)

(https://i.ibb.co/6ZSHVpR/CINOZX2-Us-AAQBJ1.jpg) (https://imgbb.com/)

           ** เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้วในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพมหานคร  ถึงแก่อสัญกรรมลงในปีพุทธศักราช ๒๓๙๒  หลังจากเสร็จศึกสงครามไทย-ญวน ได้ ๒ ปี  และต่อมาอีก ๒ ปี  คือ  พุทธศักราช ๒๓๙๔  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ ก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔  หลังจากเสร็จศึกสงครามไทย-ญวน ได้ ๔ ปี  คงเหลือแต่เรื่องวีรกรรม  “อานามสยามยุทธ”  ไว้ให้อนุชนไทยศึกษากันต่อไป........

(https://i.ibb.co/3vrX8Vy/2054154-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต