บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => ห้องนั่งเล่นพักผ่อน => ข้อความที่เริ่มโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 08, กุมภาพันธ์, 2557, 09:26:02 PM



หัวข้อ: แม่อิ่มกว่า..(เรื่องสั้นเพื่อสังคม)
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 08, กุมภาพันธ์, 2557, 09:26:02 PM
:AddEmoticons00941: :AddEmoticons00916:

  
                                                          แม่อิ่มกว่า

           มันเป็นคำคมที่เป็นสัจธรรม "ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน" เด็กชายสุทิพย์ซึ่งเป็นเด็กชนบทก็เข้าทำนองนี้

          เมื่อปี 2505 เป็นปีที่ชาวใต้ไม่เคยลืมเลือน ปีแห่งความวิปโยคของชาวใต้ ปีที่เกิดวาตภัยครั้งร้ายแรง โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่อยู่ริมฝั่งทะเล แหลมตะลุมพุกของอำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราชเสียหายที่สุด มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

          จริง ๆ ทางกรมอุตุนิยมก็ได้ประกาศเตือนชาวเรือให้งดออกหาปลา ผู้ที่อยู่ริมฝั่งทะเลให้อพยพ แต่ด้วยเหตุที่ไม่เคยมีเภทภัยเช่นนี้ชาวบ้านจึงไม่ใส่ใจในเรื่องนี้สักเท่าไร การเน้นย้ำ ของกรมอุตุนิยม เป็นเรื่องที่ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

           สุทิพย์ไม่ได้อยู่อำเภอปากพนัง เขาอยู่ที่อำเภอท่าศาลา ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราชทุกอำเภอจะถูกวาตภัย มากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

           "ลูก แม่จะส่งเสียให้ลูกเรียนได้อย่างไรนี่ ยาง(พารา) มันโค่นราบไปทั้งแปลงแล้ว แม่ว่าลูกต้องออกจากโรงเรียน" แม่พูดด้วยน้ำตา

            สุทิพย์กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ช่วงปลายภาคเรียนที่สอง (สามภาคเรียน) ของโรงเรียนสามัญศึกษาขณะนั้น โรงเรียนประจำอำเภออย่างโรงเรียนสามัญศึกษษต้องสอบเข้าเรียน เปิดเรียนตั้งแต่ ประถมศึกษาปีที่ห้า ถึงชั้นประถมปีที่เจ็ด สุทิพย์เป็นนักเรียนเรียนดีคนหนึ่ง  แม่ และพ่อถึงห่วงใยเขาในเรื่องการที่จะศึกษาต่อในชั้นสูงไม่น้อย  สุทิพย์เองเขาก็มีนิสัยที่รักเรียนมาก ๆ

            "ครับ" เป็นการตอบที่ฝืนความรู้สึก แม่รู้ดีกว่าใคร

            ความเข้าอกเข้าใจของแม่เท่านั้น จึงมีคำถามนี่อีก

           "ลูก..ลูก ออกนะ" มันไม่ใช่คำถามเพื่อต้องการคำตอบ น้ำเสียง แววตา ของแม่ ช่วยตอบคำตอบของลูกอย่างหมดสิ้นในหัวใจ เพียงลูกหันมาสบตาแม่ แม่ก็รู้ สายตาต่อสายตาตอบคำถามได้ถึงก้นใจ ทั้งสองต่างกอดกันแน่น

         ตอนนั้นยางพารากิโลกรัมละประมาณ 4 ถึง 5 บาท ก็ถือว่าไม่น้อย เพราะตอนนั้นทองคำบาทละ 350 บาท ข้าวราดแกงในชนบทจานละ 50 สตางค์ ในตลาดจานละ 1 บาท (ขายผู้ใหญ่ ขายเด็ก จานละ 25 สตางค์ หรือ 50 สตางค์ )

        แม้ก่อนวาตภัยซึ่งยางพารายังไม่ถูกทำลาย สุทิพย์ก็ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด เพราะรู้ดีว่าเงินสมัยนั้นหายาก ยิ่งตอนนี้ยางพาราไม่มีก็ยิ่งหายากขึ้นอีก ไหนแม่ต้องปลูกผัก เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น ภาพต่าง ๆ ในเรื่องของครอบครัวที่เขาประสบทั้งในอดีต และปัจจุบัน ช่วยเตือนความจำเขาเสมอ

        "ลูกจะจ่ายพอรึ อาทิตย์ละ 4 บาท" แม่รู้ดีว่าค่าใช้จ่ายอาหารมื้อกลางวัน แต่ละวันต้องเป็น 1 บาท เช้าเย็นไม่ต้องจ่ายเพราะกินอยู่กับครอบครัวของน้า
    
        "พอครับแม่ ตอบอย่างมั่นใจ"

       "ข้าว 50 สตางค์ ขนมหวาน ถ้วยละ 25 สตางค์" แม่แกล้งแจงค่าใช้จ่าย

       "อย่าดื้อแม่นะ เอาไป 5บาท" แม่ส่งให้แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้ง

         ความสงสัยห่วงใยของแม่ไม่ได้จบสิ้นในเรื่องการใช้จ่ายของลูก วันนี้แม่แอบมาดูเหตุการณ์ที่โรงเรียน ค้นหาลูกจนทั่วก็ไม่เห็น สอบถามเพื่อน ๆ ของลูก รู้ว่าไปทานอาหารเที่ยงที่วัดกับเพื่อนซึ่งเป็นเด็กวัด แม่เฝ้ารอจนลูกกลับมาที่โรงเรียน

        " แม่ตามหาอยู่ตั้งนาน ลูกได้ทานอาหารเที่ยงแล้วยัง" แม่แกล้งถาม

        "ครับแม่" เสียงตอบใสแจ๋ว พร้อมรอยยิ้มที่บ่งบอกถึงความดีใจที่ได้พบแม่

        "ลูกอิ่มแล้วยัง" แกล้งทำว่ากังวล

        "ครับแม่" ชั่งใจแม่ได้จนหมดใจ ว่าแม่ห่วงใยขนาดไหน

        "อิ่มครับแม่" เหลือบสายตามองเพื่อนเด็กวัดอย่างเข้าใจกัน

        "แม่ล่ะ ทานข้าวแล้วยังครับ"

        "แม่ยังไม่ได้ทานหรอกลูก แต่แม่อิ่มกว่าลูก ..ลูกคนดีของแม่" น้ำเสียงที่อัดอ้นตันใจ พร้อมน้ำตาที่คลอเป้า

      
ประทีป  วัฒนสิทธิ์
29 ตุลาคม 2556

         :AddEmoticons00926: :AddEmoticons00925: