หัวข้อ: - โคลงห้าพัฒนา - เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 14, มกราคม, 2565, 10:54:21 PM (http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/u5.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1661) โคลงห้าพัฒนา โคลงห้าพัฒนา เป็นโคลงที่มีลักษณะเข้มขลังเฉียบฉับไว ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้า โดยการต่อยอดจากโคลงห้าแบบโองการแช่งน้ำ (จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าโองการแช่งน้ำเป็นรูปแบบของโคลงห้าอย่างวรรณคดีล้านช้างเรื่องท้าวฮุ่ง) นำปรับ “พัฒนา” จัดระเบียบคำและสัมผัสขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับรสนิยมของหูคนไทยในยุคนี้ (คมทวน คันธนู มักเรียกโคลงห้าพัฒนานี้ว่า “โคลงจิตรลีลา” โดยให้เหตุผลไว้ว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่จิตร ภูมิศักดิ์) โคลงห้าพัฒนา - บทหนึ่งมี ๒๐ คำเป็นหลัก อันยังไม่นับรวม "สร้อยโคลง" ที่เพิ่มได้อีกสองแห่ง แห่งละสองคำ ในท้ายบาทที่ ๑ และท้ายบาทที่ ๓ ซึ่งใช้สร้อยโคลงแบบทั่วไป (ส่วนบาทที่ ๔ ก็ใส่สร้อยได้ แต่เป็นสร้อยซ้ำคำแบบโคลงดั้นอันจะค่อยกล่าวถึงต่อไป) คณะของโคลงห้าพัฒนา - โคลงห้าพัฒนา ในหนึ่งบทนั้นมี ๔ บาท แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค ประกอบด้วยวรรคหน้า ๓ คำ และวรรคหลังอีก ๒ คำ (รวมเป็น ๕ คำในหนึ่งบาท) ทั้งสี่บาทจึงมี ๒๐ คำเป็นหลักดังกล่าว และในการแต่งโคลงห้าพัฒนานั้น มีจุดต้องใช้คำสุภาพ (คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์) อยู่ ๔ แห่ง คือ คำที่ ๕ ในบาทแรก ,คำที่ ๓ ในบาทที่สองและบาทที่สาม และ คำที่ ๕ ในบาทที่สี่ (ดังผังประกอบ) ************************************** - การแต่งโคลงห้าพัฒนา - ๑. สัมผัสบังคับ (ดูผังด้านบนประกอบ) การสัมผัสในบทของโคลงห้าพัฒนามีจุดบังคับรับ-ส่ง สัมผัสสระภายในบทเหมือน โคลงสี่สุภาพคลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6280.msg21577#msg21577) ตามตำแหน่งที่โยงเส้นดังแสดงไว้ในผัง คือ - คำสุดท้ายของบาทแรก (คำที่ ๕) ให้ส่งสัมผัสสระไปยังคำที่ ๓ ของบาทที่สองและบาทที่สาม - คำสุดท้ายรูปโทของบาทสอง (คำที่ ๕) ส่งสัมผัสสระไปยังคำที่ ๓ รูปโทของบาทที่สี่ เช่น ๐ กรุงเทพฯคลุ้ง คาวหืน ควันกามกลืน กลบไหม้ คาวกลางคืน คลุมทาบ เมืองร้องไห้ เหือดขวัญ ฯ (จิตร ภูมิศักดิ์) ๒. คำเอก คำโท (ดูผังด้านบนประกอบ) ในหนึ่งบทของโคลงห้าพัฒนานั้น มีการกำหนดบังคับใช้คำรูปวรรณยุกต์เอกไว้ ๔ แห่ง และรูปโท ๔ แห่งดังผังประกอบ โดยคำรูปเอกนั้น ใช้คำตายแทนได้เช่นเดียวกับโคลงทั่วไป เช่น ๐ ชัยจักแย้ม ยังดิน แสงสูรย์ริน เรื่อฟ้า ชุบชีวิน วามชื่น งามล้ำหน้า หลากสวรรค์ (จิตร ภูมิศักดิ์) ๓. การสลับตำแหน่งคำเอก-คำโท ในโคลง ในโคลงห้าพัฒนานั้น ตำแหน่งคำเอก คำโท ในโคลงที่บังคับไว้นั้น สามารถสลับที่กันได้หนึ่งแห่งเหมือนโคลงทั่วไป นั่นคือ คู่คำเอก-โท ในคำที่ ๒-๓ ของบาทแรก นั่นเอง หมายเหตุ : คำโทคู่ในบาทที่ ๔ อาจอยู่แยกกันได้ เช่น “ ฟ้าโรจน์ร้อง ............. ร่ำหา “ ๔. การใช้เอกโทษ-โทโทษ รายละเอียดเรื่องคำเอกโทษ คำโทโทษที่ใช้ในโคลง คลิกอ่านได้ ที่นี่ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6280.msg21581#msg21581) ๕. คำสร้อย โคลงห้าพัฒนานั้น ในบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ หากกระแสความยังไม่สิ้น สามารถใส่สร้อยได้อีกสองคำเหมือนโคลงสี่ทั่วไป รายละเอียดเรื่องคำสร้อยที่ใช้ในโคลง คลิกอ่านได้ ที่นี่ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6280.msg21579#msg21579) หมายเหตุ : คำสร้อย นอกเหนือจากบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓ แล้ว ในบาทที่ ๔ ก็สามารถใส่คำสร้อยอีกสองคำต่อท้ายได้เช่นกัน แต่ใช้สร้อยแบบโคลงดั้น กล่าวคือ เป็นคำสุภาพ (ไม่มีรูปเอกโท, ไม่เป็นคำตาย) และต้องสัมผัสพยัญชนะกับสองคำสุดท้ายของบาทที่สี่ โดยเฉพาะคำสุดท้ายจะต้องซ้ำคำเดียวกัน เช่น “ ฟ้าโรจน์ร้อง ........... ร่ำหา รนหา ” หรือ “ กามร้อนไล้ ……..... ลูบเมือง โลมเมือง ” อย่างนี้นั่นเอง สำหรับโคลงห้าพัฒนาคงอธิบายไว้เพียงคร่าว ๆ ดังนี้ ด้านล่างต่อไปเป็นตัวอย่างโคลงห้าพัฒนาบางส่วนจากวรรณกรรมต่าง ๆ อ้างอิง บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย (ทีปกร (จิตร ภูมิศักดิ์)) ศิลปิน, นักรบประชาชน ชมรมหนังสือแสงตะวัน (๒๕๑๙) หัวข้อ: Re: โคลงห้าพัฒนา เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 14, มกราคม, 2565, 10:56:24 PM ตัวอย่างโคลงห้าพัฒนาบางส่วน แสดงคำเอก คำโท, คำสร้อย, คำสัมผัสภายในบท โคลงห้าพัฒนา (คาวกลางคืน : จิตร ภูมิศักดิ์) ๐ กรุงเทพ ฯ คลุ้ง ........ คาวกาม เปลวเขียวคราม .............. คลอกไหม้ อากรุงราม ...................... โรยร่วง แล้วฤๅ กามร้อนไล้ ..................... ลูบเมือง โลมเมือง ๐ ไทยไป่แล้ง ............... พลังใจ วิญญาณไทย .................. แกร่งกล้า ผีกามไกล ....................... กลืนชาติ มีฤๅ สู้เย้ยฟ้า .......................... ฝากนาม (คาวกลางคืน : จิตร ภูมิศักดิ์) โคลงห้าพัฒนา (โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา : จิตร ภูมิศักดิ์) ๐ คนนั้นค่า ................ คือคน เกียรติดำกล ................... เกริกหล้า ใครอย่ายล .................... หยามเหยียด ฤทธิ์ล้นฟ้า ..................... จักคะมำ ๐ คนย่อมท้า .............. ธรณี เทอดศักดิ์ศรี .................. เสียดฟ้า ใครย่ำยี ......................... ยืนหยัด ล้มฟุบหน้า ..................... จึ่งยอม (โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา : จิตร ภูมิศักดิ์) โคลงห้าพัฒนา (เขียนแผ่นดิน : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ๐ ผาพืดเพี้ยง ............. กำแพง ภูผาแดง ......................... ดาดด้าว ไฟเริงแรง ....................... ลามทุ่ง เนิบไม้น้าว ..................... วินาศภู ๐ ภูพืดนี้ ..................... ภูวัว แว่วกระดึงรัว ................... ร่ำร้อย สนธยามัว ....................... พยับเมฆ ควายต้อยต้อย ................ ไต่ตาม ๐ ตามน้ำตก ............... ตาดสะแนน เจ็ดสีแสน ....................... สว่างรุ้ง ขัวหินแขวน .................... ขวางโขด ข้ามห้วยคุ้ง .................... ช่วงธาร ๐ ธารห้วยย่ำ ............. ตีนภู ไม้กรายกรู ..................... แกร่งกร้าน พิสดารดู ........................ ดงดึก ดำบรรพ์เวย ไพรด้าวด้าน ................... ด่านโขง (เขียนแผ่นดิน : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) โคลงห้าพัฒนา (ยืนต้านพายุ : สถาพร ศรีสัจจัง) ๐ ไกลแต่นี้ ................. ต่อนาน ชนจักจาร ...................... ชื่อซร้อง วีรกาล ........................... กู้ถิ่น กู้ต่อต้อง ........................ ต่อมาร (ยืนต้านพายุ : สถาพร ศรีสัจจัง) โคลงจิตรลีลา (จตุรงคมาลา : คมทวน คันธนู) ๐ กาลเคลื่อนแล้ว ....... ถอยหลัง สอนแล้วหวัง ................. ศิษย์ไหว้ ตายแล้วยัง .................... อยากเกิด บ้าแน่ไซร้ ....................... ส่อเห็น ๐ ดาวเด่นไร้ ............... รังสี คนดีดี ............................ ค่าด้อย คนผีผี ............................ ผุดผ่อง ขี้เถ้าพร้อย ..................... พร่างหาว ๐ ปวดร้าวโลก ............ แลไฉน ถึงสาไถย ........................ ถูกต้อง ถึงเลื่อนไหล .................... ลืมสติ คล้องเหนี่ยวคล้อง ........... ครอบผล ๐ บนห่วงห้วง ............. ตัณหา มีหมอกหนา ................... แน่นอุ้ม บังหูตา ........................... ตายสนิท คลุ้มเคลื่อนคลุ้ม .............. คลั่งแสวง ๐ แสงหนึ่งจ้าน ............ จัดฉาย ใช่ธรรมราย ..................... โรจน์รุ่ง ใช่สูรย์สาย ...................... สาดส่อง ใช่เหลื้อมรุ้ง ..................... รัศมี ๐ แสงนี้ก่อ ................. เกิดแสง อันร้อนแรง ..................... รอบด้าน อันฝังแฝง ....................... ฝากใฝ่ มวลล้านล้าน .................. หล่อหลอม (จตุรงคมาลา : คมทวน คันธนู) หมายเหตุ : บางคราคมทวน คันธนู มักเรียกโคลงห้าพัฒนานี้ว่า “โคลงจิตรลีลา” โดยระบุไว้ว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่จิตร ภูมิศักดิ์ โคลงห้าพัฒนา สังเกตว่าแม้จิตร ภูมิศักดิ์ผู้เป็นต้นประพันธ์นั้นจะไม่ได้ร้อยโคลงหรือระบุไว้ แต่กวีที่สืบสานตามนั้นมักจะทำการร้อยโคลงคลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6280.msg21588#msg21588) ด้วยเวลาประพันธ์นั้นเสมอ ๆ บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/AJ.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1468) • กลับสู่หน้า สารบัญ โคลง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14132.msg51411#msg51411) • กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14135.msg51426#msg51426) • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=15216.msg55729#msg55729) • กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14138.msg51433#msg51433) • กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14615.msg53012#msg53012) • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6688.msg22950#msg22950) • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=6689.msg22951#msg22951) • กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=7715.msg27482#msg27482) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/AJ.png) (http://www.homelittlegirl.com/uppic/index.php?mod=show&id=1468) |