บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => โคลง-กาพย์-ฉันท์-ร่าย-ลิลิต => ข้อความที่เริ่มโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, มิถุนายน, 2556, 12:24:49 PM



หัวข้อ: โคลงพิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, มิถุนายน, 2556, 12:24:49 PM

   
       โคลงพิจารณ์

  โคลงเป็นคำประพันธ์ที่กำหนดเสียงวรรณยุกต์อย่างมีแบบแผน เช่นเดียวกับฉันท์
ที่บังคับครุ ลหุ  หรือคณะฉันท์   โคลงนั้นมีหลายประเภท คือ โคลงสอง,โคลงสาม,
โคลงสี่,โคลงตรีพิธพรรณ,โคลงจัตวาทัณฑี,โคลงกระทู้เดี่ยว-สอง-สามและโคลงกระทู้สี่
ทั้งยังมีโคลงดั้นอีก ๖ ชนิด และโคลงโบราณ อีก ๘ ชนิด โคลงกลบท และกลโคลง ต่าง ๆ
 แต่โคลงที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบันมีไม่กี่ชนิด ที่นิยมกันมากที่สุดคือ โคลงสี่สุภาพ

     โคลงสี่สุภาพมีแผนผังดังนี้

        ๐  ๐  ๐  เอก  โท         ๐  (๐)  [สร้อย]
    ๐  เอก  ๐  ๐ (๐)            เอก {โท}   
    ๐  ๐  เอก  ๐ (๐)            ๐  เอก [สร้อย]
    ๐  เอก  ๐  ๐  {โท}         เอก  โท  ๐  ๐

    จากแผนผังจะเห็นได้ว่า  กำหนดให้มีคำเอก ๗ คำ คำโท ๔ คำ (..) สัมผัส (..)
{..} สัมผัส {..} คำสุภาพ คือไม่มีวรรณยุกต์ ๑๙ คำ  ทั้งบท ๓๐ คำ ไม่รวมสร้อย
โคลงแสดงคำ สุภาพ คำเอก และคำโท ในหนังสือจินดามณี ของพระโหราธิบดี ดังนี้

   ๑ สิบเก้าคำเสาวภาพแก้ว          กรองสนธ์
จันทรมณฑล                               สี่ถ้วน
พระสุริยะเสด็จดล                       เจ็ดแห่ง
แดงว่าพระโคลงล้วน                   เศษสร้อยมีสอง 

   สิบเก้าเสาภาพ = คำสุภาพ มี ๑๙ คำ   จันทรมณฑล   สี่ถ้วน = คำโทสี่แห่ง
พระสุริยะเสด็จดล    เจ็ดแห่ง  = คำเอก ๗ แห่ง

     คำสุภาพ คือคำที่ไม่มีวรรณยุกต์ใดกำกับ  ที่กำหนดไว้ว่ามี ๑๙ คือหลัก หากเมื่อแต่งแล้ว
คำที่ต้องการความหมายนั้นจะมีคำเอก หรือคำโท อยู่นอกเหนือจากจุดที่กำหนดก็ได้บ้าง
แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง  หรือถ้ามีก็มิควรมากจนเกินไป
     คำเอก คำที่มีมีวรรณยุกต์เอก ซึ่งสามารถใช้คำตายแทนได้
     คำโท คำที่มีวรรณยุกต์โท  ไม่มีคำอื่นใช้แทน
     เอกโทษ-โทโทษ คือเอาคำที่ผิดวรรณยุกต์มาเปลี่ยนอักษรเพื่อให้ได้วรรณยุกต์ตามแบบแผน 
เช่นช่วงที่ต้องการคำเอก  ในคำที่ต้องการคำว่า  (ข้าม)  ก็เขียนเป็น (ค่าม)  (ปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว)


หัวข้อ: Re: โคลงพิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, มิถุนายน, 2556, 12:26:25 PM

 
      การส่งรับสัมผัส  ท้ายวรรค ๒ ส่งสัมผัสไปยัง ท้ายวรรค ๓  และ ๕
ท้ายวรรค ๔  ส่งสัมผัสไปยัง ท้ายวรรค ๗  ดังมีโคลงบอกลักษณะสัมผัสโคลงดังนี้..

 ๑ ให้ปลายบาทเอกนั้น    มาฟัด
ที่ห้าบทสองวัจน์              ชอบพร้อง
บทสามดุจเดียวทัด           ในที่  เบญจนา
ปลายแห่งบทสองต้อง      ที่ห้าบทหลัง
 
      การส่ง รับสัมผัสระหว่างบท  คำท้ายบทแรก  ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓
ของวรรคแรกบทต่อไป   เมื่อตั้งใจให้โคลงต่อเชื่อมกันโดยมีร้อยสัมผัส  แต่ผู้ที่แต่งโคลง
ต่อกันไปหลายบทโดยไม่ส่ง – รับสัมผัสกันก็มี   ทั้งนี้มิได้ถือเป็นสิ่งผิดเช่นกลอน
   
      คำสร้อยจะเติมเมื่อความยังไม่สมบูรณ์ หรือไม่เติมก็ได้เมื่อได้ความสมบูรณ์แล้ว
 คำมักลงท้ายคำเดิมตามโบราณ เช่น คำที่ใช้ในลักษณะบอกกล่าวมี ... พ่อ, ... แม่, ... พี่, เช่น นาแม่ , แลพ่อ ฯ
คำที่ใช้ในลักษณะว่าต้องเป็นดังนั้น มี ... นา, ... นอ, ... เนอ, ...ฮา,   คำที่มีลักษณะ เรียกร้อง  ...เอย,
คำที่มีลักษณะ เชิงคำถาม ...ฤๅ,  ลักษณะหมายว่าต้องเป็นเช่นนั้น  ...แล ,  ...แฮ,
คำที่มีลักษณะบอกว่า เป็นทำนองเดียวกัน   ...ก็ดี,  คำที่มีลักษณะอยากให้คล้อยตาม  ...เฮย,   
นอกนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ใช้กันไม่มากเช่น  อา, ฮือ, ฮอ ฯ       

โคลงมีข้อจำกัดจำนวนคำ และข้อจำกัดของเสียงที่มิอาจให้จัดจ้านอย่างกลอนได้
จึงจำต้องเลือกสรรคำอย่างละเมียดพิถีพิถัน  เพื่อให้เกิดรสแห่งคำและความอันซาบซึ้ง
ได้ดีภายในข้อจำกัดดังกล่าว    ดังโคลงในหนังสือสามกรุง ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

     ๑ โคลงดีดีด้วยรจ            นานัย  ไฉนนอ
   ต้องจิตติดหฤทัย                เทิดถ้วน
   ไพเราะรศคำไพ                 เพราะรศ  ความเฮย
    สองรศพจนล้วน               พิทยล้ำจำรูญ

    ด้วยข้อจำกัดของคำ และเสียงดังกล่าวแล้ว  ผู้ที่จะอ่านโคลงให้ได้รส ดั่งผู้แต่งมุ่งหมาย
ทั้งได้ความซาบซึ้งตรึงใจไปพร้อมกันนั้น ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความหมายของคำได้ลึกซึ้งเช่นกัน
เพราะโคลงอาจไม่สะดวกในการที่จะอารัมภบท และขยายความได้เช่นดั่งกลอน


หัวข้อ: Re: โคลงพิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ธนุ เสนสิงห์ ที่ 23, มิถุนายน, 2556, 12:27:50 PM

 
         ลักษณะการแต่งโคลงสี่สุภาพ(ของโบราณ) มีดังนี้

  ๑ พจน์สุภาพสิบเก้า              วาที
เอกเจ็ดโทสี่มี                          แม่นไม้
สามสิบวากยวาจี                     ศิริเสร็จ   สารแฮ
ผิวขาดความให้                       ใส่สร้อยเสริมลง

  ๑ บทแรกจะใส่สร้อย            สมขบวน  แบบแฮ
โทถัดสี่คำควร                         เรียบร้อย
บทสามชอบเชิงชวน               เชิญใส่  สร้อยแฮ
บทสี่สุนทรถ้อย                       นับเก้าคำควร

  ๑ บทแรกที่เจ็ดนั้น                 มาจอง
กับที่ห้าบทสอง                        สบถ้า 
บทสามที่ห้ารอง                       เรียงรับ  กันแฮ
บทสี่ให้ที่ห้า                             ฟัดท้ายบทโท

  ๑ กกกดกบอีกทั้ง                    คำตาย
กึกิกุกะหมาย                             หมู่ไว้
แทนเอกอภิปราย                       แบบบอก  ไว้แฮ
แถลงลักษณ์โสลกโคลงให้       แก่ผู้แรกเรียน

                                                 ธนุ  เสนสิงห์ นำเสนอ


หัวข้อ: Re: โคลงพิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: กรกช ที่ 23, มิถุนายน, 2556, 12:47:10 PM

ขอบพระคุณ

ครูธนุ เสนสิงห์

ขอรับ


หัวข้อ: Re: โคลงพิจารณ์
เริ่มหัวข้อโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 25, มิถุนายน, 2556, 05:00:32 PM

ขอบคุณ"ธนุ"ท่านแล้    ปราณี
นำบทโคลงพาที         แจ่มแจ้ง
ประณตท่านฤดี           บรรเจิด
ดุจทิพย์ธารซับแล้ง      หล่อเลี้ยงรื่นรมย์
                    :a016:
                 ลิตเติลเกิร์ล