บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม => ข้อความที่เริ่มโดย: แสงประภัสสร ที่ 19, กรกฎาคม, 2567, 08:44:55 AM



หัวข้อ: ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก: ๓๐.ธรรมที่เป็นจิตและไม่ใช่จิต ~รการวิปุลลาฉันท์ ๓๒
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 19, กรกฎาคม, 2567, 08:44:55 AM

(https://i.ibb.co/dLbzhk0/Screenshot-20240604-170835-Chrome.jpg) (https://ibb.co/ZYHkZc6)

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก : ๓๐.ธรรมที่เป็นจิต และ ไม่ใช่จิต

รการวิปุลลาฉันท์ ๓๒

  ๑.จิตสภาพธรรมเป็นประธานรู้
เห็นและได้ยินอยู่กะสิ่งหลาย
จิตก็นามธรรมเยี่ยง"ติลักษณ์"คล้าย
เกิด"อนิจจัง"จักมิเที่ยงหนา

  ๒."ทุกขะ"ทนอยู่คงมิได้เลย
เกิดซิต้องดับเอย ณ โลกหล้า
อีก"อนัตตา"เล่ามิใช่ว่า
ใครจะควบคุมได้เพราะไป่ตน

  ๓.ธรรมสิเป็นจิตคิดอะไรบ้าง
ธรรมสกลหกอย่างประจักษ์ดล
จิต ฤ "วิญญาณ"รู้จะแจ้งผล
เช่นมิหวาน,เค็ม,ขื่นกำหนดซ่าน

  ๔."จักขุวิญญาณ"หนึ่งอุบัติเห็น
รูปกระทบตาเด่นเจาะสันฐาน
"โสตวิญญาณ"สองก็เสียงผ่าน
หูจะได้ยินดังกระซิบเบา

  ๕."ฆานวิญญาณ"สามจมูกรู้
สูดและดมกลิ่นอยู่เสมอเฝ้า
"ชิวหะวิญญาณฯ"สี่มิรู้เซา
รสกระทบลิ้นไวนะลิ้มลอง

  ๖."กายะวิญญาณ"ห้ากุด้วยโผฏ-
ฐัพพะสัมผัสโลดกะกายปอง
หก"มโนวิญญาณ"คะนึงผอง
ใจปะ"ธรรมารมณ์"ก็เกิดรู้

  ๗.ธรรมะที่ไม่ใช่สิเป็นจิต
ปัญจะห้าอย่างชิดซิมีอยู่
"เวทนาขันธ์,สัญญะ,รูป"พรู
นิพฯและสังขารขันธ์ริน้อมมา

  ๘.เวทนาขันธ์,หนึ่งก็รู้สึก
สุขและทุกข์พลางตรึกกระทบพา
ผัสสะสัมผัสกับทวารห้า
"ตา,จมูก,ลิ้น,กาย,หทัย"ตรง

  ๙."สัญญะขันธ์",สองการระลึกได้
ส่วนประกอบชีพไซร้ริรู้บ่ง
รู้อะรมณ์ใดผ่าน ฉ ทางส่ง
"ตา,จมูก,หู,ลิ้น,ฤทัย,กาย"

   ๑๐.สามก็"สังขารขันธ์"ริปรุงแต่ง
จิตตะคิดดีแปลง รึ ชั่วร้าย
"เจตนา"ตัวนำจิตลุดังหมาย
เป็นกุศลดีหรือริชั่วฉล

  ๑๑.ส่วนประกอบชีพ,สี่ก็"รูป"กาจ
เป็นสสารหรือธาตุกุร่างดล
เช่นเจาะเนื้อ,หนัง,เอ็นและฟัน,ขน
รวมสิของแข็ง,เหลวคละอื่นนับ

  ๑๒."นิพฯ"ก็ธรรมไม่เกิดลิปัจจัย
ปรุงละทิ้งหมดไกลกิเลสดับ
นิพฯจะพ้นจากขันธ์ซิห้าจับ
กายะ,จิตเกิดขึ้นมิได้เลย ฯ|ะ

แสงประภัสสร

ที่มา : อภิธรรมปิฎก สังคณี ๓๔/๓๖๗
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๘๐

ติลักษณ์=ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(เป็นทุกข์) อนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน)
จิต หรือวิญญาณ=การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหก คือ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ
เพราะอะไรจึงเรียกวิญญาณ=เพราะรู้แจ้งจึงเรียกวิญญาณ
ธรรมารมณ์=อารมณ์ที่เกิดทางใจ,อารมณ์ที่ใจรู้จริง,สิ่งที่ใจนึกคิด
เวทนาขันธ์=ความรู้สึกต่างๆ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาทสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สัญญะขันธ์=สัญญาขันธ์ คือส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นความจำได้,หมาย,รู้ กำหนดรู้อาการ ลักษณะต่างๆอันเป็นเหตุของอารมณ์นั้นๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ปัญจะ=ปัญจ แปลว่า ห้า
ฉ=หก
สังขารขันธ์=ส่วนประกอบของชีวิต อันเป็นคุณสมบัติของจิตที่ปรุงแต่งให้คิดดี คิดชั่ว หรือคิดเป็น กลางๆ อาศัยเจตนา เป็นตัวนำที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลและอกุศล
รูป=ส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นสสารหรือธาตุๆ เช่น ส่วนที่เป็น เนื้อ หนัง โลหิต น้ำเหลือง
นิพฯ=นิพพาน เป็นอสังขตธรรม เป็นธรรมที่ไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และมิใช่ขันธ์ เพราะพ้นจากขันธ์ไปแล้ว(ขันธวิมุตติ)

(ขอขอบคุณเจ้าของภาพจาก อินเทอร์เน๊ต)



หัวข้อ: Re: ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก: ๓๐.ธรรมที่เป็นจิตและไม่ใช่จิต ~รการวิปุลลาฉันท์ ๓๒
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 20, กรกฎาคม, 2567, 01:38:35 PM

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก : ๓๑.ธรรมที่เป็นเจตสิก และ ไม่ใช่เจตสิก

กลอนแปดสุภาพ

  ๑."เจตสิก"ธรรม์ชาติปราดปรุงจิต
เสริมให้คิดทำบุญกรุ่นบาปผล
"เกิด,ดับ"พร้อม"วัตถุ"ลุเคียงดล
อารมณ์ยลเดียวกันกับจิตเอย

   ๒.เหมือนไฟฟ้า,แสงสว่างอาศัย
ตัวหลอดไฟใช้ติดเสร็จกิจเผย
ขาดสิ่งใดแค่หนึ่งจึงพลาดเชย
โอกาสเลยไม่มีมืดมนลง

  ๓.จิตธรรม์ชาติกาจรู้อารมณ์นุง
เจต์สิกปรุงแต่งจิตรู้ประสงค์
จิตเห็นพระเดินบิณฑ์เจต์สิกตรง
แต่งจิตส่งอยากใส่บาตรทันที

  ๔.นับจิตใหญ่ประธานเพราะเห็นก่อน
เจต์สิกร่อนคิดใส่บาตรตามปรี่
เจต์สิกจึงอาศัยจิตเกิดมี
อารมณ์ที่ต่างกันครันมากมาย

  ๕.เหมือนพี่น้องสองคนหนึ่งเมตตา
กรุณาทำดีคลี่บุญผาย
อีกคนตรงกันข้ามยิงนกวาย
จิตใจร้ายกรายบาปบุญหนีไกล

  ๖.จิตทั้งสองเจต์สิต่างปรุงแต่ง
ฝ่ายดีแจ้งหรือเลวตามจิตไข
คนใจบุญเจต์สิกฝ่ายดีไว
คนใจบาปชั่วไซร้เจต์สิกตาม

  ๗.ธรรมที่เป็น"เจต์สิก"มีสามตรึก
"เวทนาขันธ์"รู้สึกสุข,ทุกข์หวาม
"สัญญาขันธ์"ระลึกนึกจำลาม
"สังขารขันธ์"ปรุงกามย่ามทุกครา

  ๘."เวทนาขันธ์",หนึ่งรู้รสอารมณ์
แยก"สุข"บ่มตรม"ทุกข์,อุเบกขา"
"โสมนัส,โทมนัส,ชอบ,เศร้า"พา
ผ่านลิ้น,ตา,จมูก,กาย,ใจตรง

  ๙."สัญญาขันธ์",สองตรองหมายรู้ใน
อารมณ์ไซร้จำรูปจำเสียงบ่ง
จำสัมผัส,จำรส,จำกลิ่นยง
ใจบันทึกความตรงคงพบมา

  ๑๐.สังขารขันธ์สามปรุงเจต์นานึก
จิตจึงตรึกดี,ชั่ว,กลางๆหนา
ผ่านทางกาย,วาจา,ใจต่อมา
ทำกรรมเกิดทุกข์หาพารุมนาน

  ๑๑.ธรรมไม่ใช่เจต์สิกมีใดบ้าง
"จิต,รูป"วาง"นิพพาน"สามธรรมขาน
หนึ่ง"จิต"รู้อารมณ์เช่น"ยิน"พาน
เจต์สิกคลาน"โลภ,โกรธ,หลง"นาม์ธรรม

  ๑๒.โลภ,โกรธ,หลงจึงมิใช่จิตเผย
แต่เกิดเคยพร้อมดับกับจิตด่ำ
เจต์สิกปรุงจิตแปรหลากแท้ทำ
"แปดสิบเก้า"ดวงพร่ำเหตุปัจจัย

  ๑๓.สอง"รูป"เป็นธรรม์ชาติแตกสลาย
ด้วยความเย็น,ร้อนร้ายวายวอดไข
กายคน,สัตว์ชัดรูปมีหลายไว
"ยี่สิบแปดรูป"ไซร้ตายทุกกาล

  ๑๔.สาม"นิพพาน"ธรรม์ชาติปราศเครื่องรัด
กิเลสปัดหลุดพ้นการเกิดพล่าน
แยกสอง"อนุปาฯ"ฆ่าขันธ์ราน
จะหยุดการสืบต่อสิ้นชีวี

  ๑๕."สอุปาฯ"พาคงขันธ์ห้าอยู่
ดังเช่นพุทธ์องค์สู้ปูธรรมคลี่
เกิดอร์หันต์ดั้นนิพพานมากมี
พุทธ์ศาสน์ฯชี้รุ่งเรืองประเทืองไกล

  ๑๖.นิพพานเน้นเป็นจุดหมายรุดเร้า
หมู่ชนเข้าถึงทางสว่างใส
ได้ชื่อพุทธสาวกทายาทไกล
ผู้รับไซร้มรดกธรรมยง ฯ|ะ

แสงประภัสสร

ที่มา : อภิธรรมปิฎก สังคณี ๓๔/๓๖๗
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๘๑

เจตสิก=เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นในจิตใจคน ช่วยปรุงแต่งจิตในการทำบุญ,บาป ธรรมชาตินี้เกิดพร้อมกับจิต,ดับพร้อมกับจิต, มีอารมณ์เดียวกับจิต,อาศัยวัตถุเดียวกับจิต เจตสิกมีจำนวน ๕๒ ดวง แบ่ง ๓ กลุ่มคือ ๑)เข้าปรุงแต่งจิตใจในคนทั่วไป ๑๓ ดวง ๒)เข้าปรุงจิตใจของคนทำบาป ๑๔ ดวง ๓)เข้าปรุงแต่งจิตใจของคนทำบุญ ๒๕ ดวง
จิต=คือธรรมชาติทำหน้าที่ เห็น,ได้ยิน,รับกลิ่น,รับรส,รับสัมผัส ตลอดจนธรรมชาติที่ทำให้เกิดการนึก,คิด,รู้อารมณ์ทั้ง รูป,เสียง,กลิ่น,รส และเรื่องราวต่างๆ สภาวะของจิตแบ่งได้ ๘๙ ประเภทหรือเรียกกันว่าดวง
รูป=ส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นสสารหรือธาตุๆ เช่น ส่วนที่เป็น เนื้อ หนัง โลหิต น้ำเหลือง
ธรรมที่เป็นเจตสิกมี ๓ อย่าง=ได้แก่ ๑)เวทนาขันธ์ เป็นองค์ประกอบในขันธ์ห้า คือการเสวยอารมณ์,ความรู้สึก,รสของอารมณ์ เช่น สุข,ทุกข์,โสมนัส,โทมนัส,อุเบกขา ๒)สัญญาขันธ์ ความจำได้,หมายรู้,ความทรงจำมี ๖ คือ จักขุสัญญา,โสตสัญญา,ฆานะสัญญา,ชิวหาสัญญา,กายสัญญา-สิ่งทรงจำทางกายคือประสาทสัมผัส,มนสัญญา-สิ่งทรงจำทางใจ ๓)สังขารขันธ์ คือสภาพการปรุงแต่ง,สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง
 แบ่ง ๓ ได้แก่ กายสังขาร-เจตนาทางกาย;วจีสังขาร-เจตนาทางวาจา;มโนสังขาร-เจตนาทางใจ
ธรรมที่ไม่ใช่เจตสิก=มี ๓ คือ ๑)รูป ธรมชาติที่แตกดับสลาย เช่นคน,สัตว์มีรูปประชุมกันอยู่ ๒๘ รูป ๒)จิต ๓)นิพพาน =ธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด พ้นจากการเวียนตาย,เกิด มี ๒ ประเภท คือ อนุปาทิเสสนิพพาน(นิพพานที่ไม่มีขันธ์ห้า จิต,เจตสิก,รูปจะหยุดการสืบต่อ สิ้นชีพลง); สอุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานที่ยังดำรงขันธ์ห้าอยู่ ยังมีการสืบต่อ ยังไม่สิ้นชีวิต