หัวข้อ: สโมสรปาตาปุม เริ่มหัวข้อโดย: กรกช ที่ 02, ตุลาคม, 2567, 08:35:45 PM (https://img2.pic.in.th/pic/campusstar-6-1.jpg) (https://pic.in.th/image/campusstar-6-%281%29.1vGvsT) สโมสรปาตาปุมและห้องประชุมในตู้เสื้อผ้าของ ร.๘ และ ร.๙ ในวัย ๑๐ พรรษา สโมสรปาตาปุม (Club Patapoum) เป็นสโมสรที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช มีพระชนมายุประมาณ ๑๐ พรรษา ได้ทรงก่อตั้งขึ้น ก่อนที่จะเสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยทั้งสองพระองค์น่าจะทรงได้แนวพระราชดำริในการตั้งสโมสรดังกล่าว มาจากหนังสือการ์ตูนที่ทรงอ่าน หนังสือการ์ตูนเหล่านั้น มีเด็กเป็นตัวละครสำคัญ และชอบรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสโมสร (Club) สโมสรปาตาปุมนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า (https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/ofgjcmop5mldh9MWc5l-o-1.jpg) พระองค์ทรงได้รับจดหมายจากสโมสรปาตาปุม ในจดหมายนั้นระบุชื่อกรรมการที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสโมสรเป็นจำนวนมาก แต่กรรมการที่มีตัวตนจริงคงมีเพียงสองพระองค์นั่นเอง โดยทรงใช้พระนามที่แตกต่างกันระบุในตำแหน่งจริงและตำแหน่งรอง สลับกันไปมาระหว่างสองพระองค์ และทรงเล่าต่อไปอีกว่า พระองค์ไม่ทรงทราบว่าสโมสรนี้ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด แต่คงตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่สโมสร หาความสนุกอย่างเด็กๆ และในขณะเดียวกันก็เป็นการทำบุญด้วย รายได้ของสโมสรปาตาปุมได้มาจากค่าสมาชิกและการหารายได้พิเศษ ค่าสมาชิกก็คือเงินส่วนหนึ่งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานทุกสัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงได้รับเงินมากกว่าเนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุกว่า จึงต้องทรงเสียค่าสมาชิกมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงระหว่างสองพระองค์ว่า ถ้าพระองค์ใดทรงได้รับเงินเป็นของขวัญ จะต้องทรงเสียภาษีให้แก่สโมสรด้วย หากทรงมีรายได้พืเศษ จะต้องเก็บภาษีร้อยละ ๕๐ ได้เป็นรายได้สำหรับคนจน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงได้รับสมมติเป็น "รัฐบาล" ทรงทำกล่องไว้สำหรับสองพระองค์ทรงบริจาคเงินสำหรับทำบุญไว้ด้วย หากพระองค์ใดมีพระราชประสงค์จะทรงทำบุญก็จะทรงนำเงินไปใส่กล่องเอง (https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/Club-Patapoum-19-1.jpg) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เคยกราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เกี่ยวกับรายได้ของสโมสรปาตาปุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า สโมสรปาตาปุมนี้ร่ำรวยมากขึ้นเมื่อคราวเสด็จฯ นิวัติประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าขยายไว้น่าสนใจ เห็นควรนำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ นิวัติประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ นั้น วันหนึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่วังสระปทุม ทั้งสองพระองค์ยังใฝ่พระราชหฤทัยในการหารายได้เข้าสโมสรอยู่ มีพระราชประสงค์ได้เงินพระราชทานจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ครั้นจะกราบบังคมทูลขอพระราชทานตรงๆ ง่ายๆ ก็หาใช่พระอุปนิสัยไม่ มีพระราชดำริที่จะทรงหาเงินโดยมิต้องออกพระโอษฐ์กราบบังคมทูลขอพระราชทาน กล่าวคือ ทรงทำพระอาการว่า โปรดจะทอดพระเนตรเงินไทย จึงกราบบังคมทูลถามว่า เงินใบละบาทมีไหม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ารับสั่งว่ามี ทั้งสองพระองค์ก็กราบบังคมทูลต่อไปว่า ขอดูหน่อย สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็โปรดให้ข้าหลวงประจำพระองค์ ไปนำเงินมาถวายให้ทอดพระเนตร ทั้งสองพระองค์ทรงถือโอกาสว่า สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระราชทานเงินนั้นแล้วก็ทรงกราบ แล้วรับสั่งถามถึงธนบัตรราคาอื่น ตั้งแต่ราคา ๑ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท เมื่อข้าหลวงนำเงินมาถวายให้ทอดพระเนตร สองพระองค์ก็จะทรงกราบขอบพระทัยทุกครั้ง ครั้นสองพระองค์รับสั่งถามถึงธนบัตรฉบับละ ๕๐ บาท สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ารับสั่งตอบว่า ไม่มี ก็รับสั่งถามต่อไปอีกว่า แล้วธนบัตรฉบับละ ๑๐๐ บาท มีไหม ถึงตอนนี้ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพอจะเข้าพระทัยในพระราชดำริของพระราชนัดดา แม้ว่าจะทรงพระเมตตา แต่ก็ไม่โปรดคนที่เอาเปรียบคนอื่น เมื่อทรงทราบทันพระราชนัดดา ก็รับสั่งตอบไปว่า "มี แต่จะต้องตัดในบัญชีของหลาน" ถึงตอนนี้ทั้งสองพระองค์จึงได้ทรงหยุด ไม่กราบบังคมทูลขอต่อไปอีก สโมสรปาตาปุมนี้ มีการประชุมด้วย โดยใช้ตู้เก็บฉลองพระองค์ ในห้องพระบรรทมของสองพระองค์เป็นสถานที่ประชุม เนื่องจากสองพระองค์ทรงพระเจริญเร็ว จึงมีฉลองพระองค์ในตู้ไม่มากนัก ทำให้พอที่จะเสด็จเข้าไปประทับประชุมลับกันได้ การประชุมสโมสรนี้ก็มักเป็นเรื่องตกลงว่าจะนำเงินสโมสรไปซื้ออะไร สโมสรปาตาปุมนี้ หากมีเงินเก็บมากก็จะนำไปฝากธนาคารไว้ นอกจากเงินแล้ว ยังมีทรัพย์สินอื่น คือ เหรียญทองสวิสที่ทรงซื้อเก็บสะสมทีละเล็กละน้อย กับหนังสือ ซึ่งมีทั้งหนังสือส่วนพระองค์ หนังสือส่วนสโมสร และหนังสือความรู้ที่ "รัฐบาล" ทรงซื้อให้ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า สโมสรปาตาปุมนี้ได้ส่งจดหมายมาถึงพระองค์อีก ๒-๓ ครั้ง ฉบับหนึ่งเป็นลายพระราชหัตถ์ (ลายมือ) ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงเป็นภาษาฝรั่งเศสล้อเลียนงานเขียนของนักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง และทรงเล่าว่า สโมสรปาตาปุมยังได้สงเคราะห์พระองค์เมื่อครั้งประชวรอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติเจนีวา ทรงได้รับกล่องบรรจุไก่ย่างตัวเล็ก ช็อกโกแลต สิ่งของอื่นๆ และมีหนังสืออวยพรขอให้หายป่วยเร็วๆ กล่องนี้ระบุว่าส่งมาจากสโมสรปาตาปุม และมี ป.ล.ด้วยว่า 'สโมสรปาตาปุม เป็นผู้จ่ายเงิน ไม่ใช่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี' สโมสรปาตาปุมได้ยุติลงเมื่อต้องเสด็จฯ นิวัติประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ กระนั้น การเล่นสโมสรของยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ทรงรู้จักการเสียภาษีและการเก็บออมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภาษีหรือเงินที่ทรงเสียให้สโมสรนั้นก็ได้นำไปทำบุญหรือบริจาคในทางสาธารณประโยชน์ นับว่าเป็นการเล่นที่สะท้อนพระราชอัธยาศัยได้เป็นอย่างดี ทั้งยังส่งผลสืบเนื่องมาสู่พระบรมราโชบายและพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรตลอดมา ข้อมูลและภาพจาก หนังสือเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ หนังสือทำเป็นธรรม ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เรียบเรียง |