บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม => ข้อความที่เริ่มโดย: แสงประภัสสร ที่ 22, ตุลาคม, 2567, 02:53:14 PM



หัวข้อ: ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก: ๗๑.กำลัง ๕ ของสตรี~โคลงดั้นสินธุมาลา
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 22, ตุลาคม, 2567, 02:53:14 PM


(https://i.ibb.co/yPDYHhm/Screenshot-20241006-111432-Chrome.jpg) (https://ibb.co/MSbGF8y)

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก : ๗๑.กำลัง ๕ ของสตรี

โคลงดั้นสินธุมาลา

  ๑.ภิกษุดูก่อนแล้.............................กำลัง
หญิงเด่นครองเรือนดัง......................แม่นแล้ว
กำลังแบ่งปัญจ์ฟัง.............................ตรองยิ่ง
มีเรี่ยวแรงห้าแผ้ว..............................ก่อสูง

    ๒.จูง"รูป"กายสื่อเอื้อ.....................วังชา
มี"ทรัพย์"มากหมายหนา....................เยี่ยมแท้
"ญาติ"เสริมเกี่ยวพันมา......................ครบเพื่อน
มี"บุตร"จะดั้นแล้................................มั่นคง

  ๓."ศีล"ตรงพาแกร่งกล้า..................ใจหาญ
ปัญจ์ก่อครบจะพาน..........................เฟื่องล้ำ
จะปราดเปรื่องสราญ.........................เรือนใหญ่
และครอบงำชี้ค้ำ...............................ภัสดา

  ๔.คราหญิงมีครบห้า.........................แข็งแรง
ญาติหยั่งหญิงควรแจง........................สถิตย์บ้าน
มี"ศีล,รูป"ทรามแคลง...........................พึงอยู่
"ศีล"ส่ง"โภค"ด้อยกว้าน.......................อยู่คง

  ๕.เหตุตรงหญิงเมื่อคล้อย...................ชีวิต
ครันไพล่สวรรค์ปิด..............................ปกเกล้า
"รูป,โภค,ญาติ,บุตร"ชิด........................เหตุก่อ
ศีลอย่างเดียวสู้เคล้า............................สวรรค์

  ๖.ครันหญิงจะอยู่เหย้า.......................สมรส
ราบรื่นครองเรือนจด............................สุขช้อย
เบญจ์ศีลพร่ำทุกกฏ.............................คงมั่น
บุญส่งนำแผ้วคล้อย.............................เนิ่นนาน

  ๗.กาลสตรีพลาดพลั้ง........................ทำบุญ
สภาพยากจะหนุน................................สิ่งห้า
อยากขอเกิดสกุล................................พอเหมาะ
ไปสู่สกุลแปล้คว้า................................แต่งงาน

  ๘.การครองเรือนมุ่งย้ำ.......................เมียเดียว
มีบุตรจงปราดเปรียว............................เพื่อพร้อม
มีอำนาจเหนือเจียว...............................ภรัสดาษ
สำเร็จยากแท้ค้อม................................พลาดบุญ

  ๙.คุณถึงหญิงมาดแม้น.......................ศีลพูน
ทำง่ายเสร็จวิบูลย์................................หมดห้า
ขอกำเนิดตระกูล..................................พอเหมาะ
หวังสู่สกุลพริ้งหล้า...............................คล่องเรือน

  ๑๐.เตือนสามีไม่แย้ม..........................อื่นนรี
ขอบุตรเกริกทวี....................................เกียรติ์คลุ้ง
ขอบังคับสามี.......................................คุมยิ่ง
สตรีก่อบุญตั้งฟุ้ง..................................ง่ายหนา ฯ|ะ

แสงประภัสสร
 
ที่มา : สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๓๐๕
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๑๒๑

(ขอบคุณเจ้าของภาพจาก อินเทอร์เน็ต)


หัวข้อ: Re: ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก: ๗๑.กำลัง ๕ ของสตรี~โคลงดั้นสินธุมาลา
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 23, ตุลาคม, 2567, 11:39:11 AM

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก : ๗๒.บุรุษประกอบด้วยอะไรจึงครอบงำสตรีได้

กาพย์เสือคะนอง ๑๙

  ๑.ดูก่อนภิกษุบุรุษมีกำลังข้อเดียวไซร้
ก็ครอบงำหญิงไว................................แน่นอน

  ๒.ข้อเดียว"อิสส์ริยะพละ,ความเป็นใหญ่"ขจร
หญิงพบแล้วสุดถอน............................จำยอม

  ๓.กำลังห้าหญิงมีมิต้านทานอำนาจต้องน้อม
ทำใจพร้อมประนอม.............................ทันที

  ๔.เมื่อถูกความเป็นใหญ่ควบคุม"กำลังรูป"สตรี
มิอาจขวางหนี......................................ได้เลย

  ๕.แม้"กำลังทรัพย์,ญาติตน,บุตร,ศีล"มิหยุดยั้งเผย
ต้องประคองตนเอย...............................รับเอา

  ๖.กำลังห้าหญิงมีจะครองเรือนเหนือสามีเนา
เว้นภัส์ดาใหญ่เพรา................................เหตุกลาย

  ๗.เช่นสามีเป็นกษัตริย์ใหญ่อิสสรชนฉาย
ภริยาถูกงำวาย.......................................กำลัง ฯ|ะ

แสงประภัสสร
 
ที่มา : สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๓๐๕
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๑๒๑

อิสส์ริยะพละ=อิสสริยะพละ คือผู้เป็นใหญ่
ภัส์ดา=ภัสดา
อิสสรชน=ผู้เป็นใหญ่


หัวข้อ: Re: ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก: ๗๑.กำลัง ๕ ของสตรี~โคลงดั้นสินธุมาลา
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 24, ตุลาคม, 2567, 09:06:22 AM

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก : ๗๓.ของแก้กันอย่างละ ๓

กาพย์เสือคำรณ ๑๕

  ๑.ภิกษุตรองธรรมมี.....................ของแก้กัน
ทำแล้วละได้ครัน...........................แก้ไข
ของแก้อย่างละสาม.......................สิบชุดไคล
จงพากเพียรทำไว..........................เพื่อละ

   ๒.หนึ่ง"ราคะ,โทสะ"....................."โมหะ"เมา
เพ่ง"อสุภฯ"บรรเทา.........................ราคะ
ราคะชอบสิ่งงาม.............................ก็เน่านะ
เป็นจริงแท้ราคะ..............................สลาย

  ๓.ตรึก"เมตตา"พิชิต......................"โทสะ"ราน
หวังให้เขาสุขมาน...........................โกรธหาย
ตรองปัญญารู้จริง...........................โมหะวาย
รู้แจ้งหลงทลาย..............................ฉลาดมา

  ๔.สองพฤติ"กายสุจริต"................เลิกทุจริต
"วจีสุจริต"ปิด.................................ชั่วหนา
"มโนสุจริต"ละ................................ใจเลวพา
คิด,ทำ,พูดดีครา.............................ทรามผลาญ

  ๕.สาม,ก่อ"เนกขัมฯ"คิด................ออกจากกาม
ละ"กามวิตก"คิดทราม....................กล้าหาญ
"อัพยาฯ"ไม่ปองร้าย.......................ฆาตละปราณ
"อวิหิงฯ"เบียดพาล..........................เบียนปลง

  ๖.สี่"เนกขัมสัญญาฯ"....................ผละกามหมาย
"อัพสัญญ์ฯ"งดปองร้าย...................เลิกสงค์
"อวิสัญญ์ฯ"งดเบียน........................ผู้อื่นตรง
คิดบีฑาทะนง..................................สิ้นสูญ

   ๗.ห้าทำ"เนกขัมม์ธาตุฯ"................ออกจากกาม
เพื่อละ"กามธาตุ"ทราม.....................วิบูลย์
รูป,เวท์นา,สัญญา.............................สังขารพูน
และวิญญาณวิทูร.............................หมดไป

  ๘.เจริญ"อัพยาธาตุฯ".....................ไม่มุ่งร้าย
"พยาปาทธาตุ"วาย..........................สิ้นไกล
มุ่ง"อวิหิงธาตุ"..................................งดเบียนใคร
"วิหิงสาธาตุ"ไว................................หยุดแถ

  ๙.หกเพ่ง"อนิจสัญญ์ฯ"..................พิศขันธ์ห้า
ไม่เที่ยง,รูป,เวท์นา...........................ต้องแปร
"อัสสาททิฏฐิ"ตัว.............................เห็นผิดแย่
เลิกยึดขันธ์,กามแล.........................ลดมัว


หัวข้อ: Re: ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก: ๗๑.กำลัง ๕ ของสตรี~โคลงดั้นสินธุมาลา
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 24, ตุลาคม, 2567, 09:32:34 AM
(ต่อหน้า ๒/๓) ๗๓.ของแก้กันอย่างละ ๓

  ๑๐.ตรึก"อนัตต์สัญญา".................ไม่ใช่ตน
"อัตตาทิฏฐิฯ"ยล.............................ของตัว
เห็นถูกแล้ว"อัตตาฯ"........................หยุดพันพัว
ขันธ์ห้าไป่ตนนัว..............................ยึดปลง

  ๑๑.พิศ"สัมมาทิฏฐิ".......................ความเห็นชอบ
แนวคิดถูกรอบคอบ.........................ธรรมส่ง
"มิจฉาทิฏฐิฯ"เห็นผิด.......................ละได้ตรง
กลับเชื่อคำสอนคง..........................ธรรมหนา

  ๑๒.เจ็ดพฤติ"มุทิตา"......................พลอยยินดี
"อรติ"เร็วรี่.......................................ริษยา
หรือมิยินดีใคร.................................เฝ้าอิจฉา
อรติหายพา.....................................พอใจ

  ๑๓.ทำ"อวิหิงสา"...........................ไม่เบียดเบียน
"วิหิงสา"จึงเตียน.............................ไถล
เคร่ง"ธัมม์จริยา".............................พฤติธรรมไว
ละ"อธัมม์ฯ"นำไป............................ถูกทาง

  ๑๔.แปดทำ"สันตุฏฐิฯ"...................ความสันโดษ
เพียงยินดีของตนโลด......................โลภพราง
"อสันตุฏฐิฯ"พลอย...........................ตัดลงจาง
เหลือแค่ตนพอวาง...........................โลภหาย

  ๑๕.ตรอง"สัมปชัญญะ"..................คงรู้ตัว
"อสัมปชัญญ์"มัว..............................ตัดวาย
เร่ง"อัปปิจฉ์ฯ,อยากน้อย".................กำหนดหมาย
"อยากมาก,มหิจฉ์ฯ"คลาย................ลดลง

  ๑๖.เก้า"โสวัสส์ฯ,ว่าง่าย"................ควรบำเพ็ญ
"โทวจัสส์ฯ,ว่ายาก"เด่น.....................หมดคง
มุ่ง"กัลยามิตต์ฯ"...............................เพื่อนดีบ่ง
"ปาปมิตต์ฯ,เพื่อนชั่ว"หลง.................ทิ้งไป

  ๑๗."อานาปน์สติฯ".........................เพียรกำหนด
หายใจเข้า-ออกจด...........................จิตไสว
"เจตะโสฯ"จิตวุ่น...............................จะครรไล
สงบสว่างใส.....................................ลุฌาน

   ๑๘.สิบ"สมถะ"ตั้งมั่น......................ใจแน่วแน่
"อุทธัจจ์ฯ"ละลดแล..........................ฟุ้งซ่าน
"สังวระ,สำรวม"................................ระวังมาน
"อสังวระ"ราน...................................ทันที

  ๑๙.เจริญ"อัปปมาทะฯ"....................ไม่ประมาท
มีสติมิคลาด.....................................ความดี
"ปมาทะ,ประมาท".............................ละเลยชี้
ควรตัดทิ้งเร็วรี่..................................สติคืน ฯ|ะ

แสงประภัสสร
 
ที่มา : ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๙๕ และ ๒๒/๔๕๙-๔๙๘
พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๑๒๒-๑๒๓


หัวข้อ: Re: ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก: ๗๑.กำลัง ๕ ของสตรี~โคลงดั้นสินธุมาลา
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 25, ตุลาคม, 2567, 10:02:12 AM

(ต่อหน้า ๓/๓) ๗๓.ของแก้กันอย่างละ ๓

ราคะ=ความกำหนัดยินดี
โทสะ=ความคิดประทุษร้าย
โมหะ=ความหลง
อสุภฯ=อสุภะ ความกำหนดหมายถึงสิ่งที่ไม่งาม
เมตตา=ไมตรีจิตคิดจะให้ผู้อื่นเป็นสุข
กายสุจริต=ความประพฤติชอบทางกาย มี ๓ อย่าง ๑)ไม่ฆ่าสัตว์ ๒)ไม่ลักทรัพย์ ๓)ไม่ประพฤติผิดทางกาม
วจีสุจริต=ความประพฤติชอบทางวาจา มี ๔ อย่าง  ๑)เว้นพูดเท็จ ๒)เว้นพูดส่อเสียด ๓)เว้นพูดคำหยาบ ๔)เว้นพูดเพ้อเจ้อ
มโนสุจริต=ความประพฤติผิดทางใจ มี ๓ อย่าง ๑)ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น ๒)ความไม่พยาบาท ๓)ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
เนกขัมฯ=เนกขัมวิตก-ความตรึกในการออกจากกาม
อัพยาฯ=อัพยาปาทวิตก-ความตรึกในการไม่ปองร้ายผู้อื่น
กามวิตก=ความตรึกในกาม
อัพยาฯ=อัพยาปาทวิตก-ความตรึกในการไม่ปองร้ายผู้อื่น
อวิหิงฯ=อวิหิงสาวิตก-ความตรึกในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น
วิหิงสาวิตก=ความตรึกในการเบียดเบียนผู้อื่น
เนกขัมสัญญาฯ=เนกขัมมสัญญา-ความกำหนดหมายในการออกจากกาม
อัพสัญญ์ฯ=อัพยาปาทสัญญา-ความกำหนดหมายในการไม่ปองร้าย
อวิสัญญ์ฯ=อวิหิงสาสัญญา-ความกำหนดหมายในการไม่เบียดเบียน
วิหิงสาธาตุ=ธาตุคือการเบียดเบียน
เนกขัมม์ธาตุ=เนกขัมมธาตุ-ธาตุคือการออกจากกาม
กามธาตุ=ธาตุคือกาม
อัพยาธาตุฯ=อัพยาปาทธาตุ-ธาตุคือการไม่คิดปองร้าย
พยาปาทธาตุ=ธาตุคือการคิดปองร้าย
อวิหิงธาตุฯ=อวิหิงสาธาตุ-ธาตุคือการไม่เบียดเบียน
วิหิงสาธาตุ=ธาตุคือการเบียดเบียน
อนิจจ์สัญญ์ฯ=อนิจจสัญญา-ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง
อัสสาททิฏฐิ=ความเห็นด้วยความพอใจ
อนัตต์สัญญา=อนัตตสัญญา-ความกำหนดหมายไม่ใช่ตัวตน
อัตตาทิฏฐิฯ=อัตตานุทิฏฐิ-ความตามเห็นว่าตัวตน
สัมมาทิฏฐิ=ความเห็นชอบ
มิจฉาทิฏฐ์=มิจฉาทิฏฐิ-ความเห็นผิด
มุทิตา=ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อรติ=ความไม่ยินดีหรือความริษยา
อวิหิงสา=ความไม่เบียดเบียน
วิหิงสา=ความเบียดเบียน
ธัมม์จริยา=ธัมมจริยา-การประพฤติธรรม
อธัมม์ฯ=อธัมมจริยา -การประพฤติไม่เป็นธรรม
สันตุฏฐิฯ=สันตุฏฐิตา -ความสันโดษ คือยินดีเฉพาะของตน
อสันตุฏฐิ=อสันตุฏฐิตา -ความไม่สันโดษ
สัปชัญญะ=ความรู้ตัว
อสัมปชัญญะ=ความไม่รู้ตัว
อัปปิจฉ์=อัปปิจฉตา-ความปรารถนาน้อย
มหิจฉ์=มหิจฉตา-ความปรารถนามาก
โสวัสส์ฯ=โสวจัสสตา-ความเป็นผู้ว่าง่าย
โทวจัสส์=โทวจัสสตา-ความเป็นผู้ว่ายาก
กัลยามิตต์ฯ=กัลยาณมิตตา-ความเป็นผู้คบเพื่อนดีงาม
ปาปมิตต์ฯ=ปาปมิตตตา -ความเป็นผู้คบเพื่อนชั่ว
อานาปาน์สติ=อานาปานสติ  -สติกำหนดลมหายใจเข้า ออก
เจตะโสฯ=เจตโส วิกเขปะ คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
สมถะ=การทำใจให้ตั้งมั่น
อุทธัจจ์=อุทธัจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน
สังวระ=ความสำรวมระวัง
อสังวระ=ความไม่สำรวมระวัง
อัปปมาทะ=ความไม่ประมาท
ปมาทะ=ความประมาท