บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 16, พฤษภาคม, 2568, 09:26:38 AM



หัวข้อ: ღ อิคคิวซัง เป็นใคร ღ
เริ่มหัวข้อโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 16, พฤษภาคม, 2568, 09:26:38 AM



(https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/---0137fa289b0835c8ab.jpg)

"อิคคิวซัง" คือบุคคลที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะเณรญี่ปุ่นที่มีสติปัญญาหลักแหลม
จากการ์ตูนเรื่อง "เณรน้อยเจ้าปัญญา" แต่รู้หรือไม่ว่า "อิคคิวซัง" คือบุคคลในประวัติศาสตร์
ที่มีตัวตนอยู่จริง เพียงแต่ตัวจริงอาจจะไม่เหมือนกับในการ์ตูนนัก
อยากจะบอกว่า ตอนนั้น เราติดการ์ตูนเรื่องอิคคิวซัง งอมแงม เลยแหละ  :014:

(https://img2.pic.in.th/pic/---02-1f567e53445f16b21.jpg)

ต้นแบบของอิคคิวซัง คือพระนิกายเซนที่ชื่อ อิคคิวโซจุน
เกิดเมื่อปี 1394 ยุคมุโรมาจิ ที่เกียวโต กล่าวกันว่าเป็นราชบุตรของจักรพรรดิโกะโคมัตสึ
ด้วยเหตุผลทางการเมืองในตอนนั้น ทำให้อิคคิวซังถูกแยกจากแม่ตอนอายุ 6 ขวบ
และมาบวชเป็นเณรที่วัดอันโคคุจิ เหมือนในการ์ตูน

ต่อมาอิคคิวซังย้ายไปอยู่ที่วัดไซคงจิ และได้รับชื่อว่าโซจุน
อิคคิวซังมีความสามารถด้านบทกลอนและมีไหวพริบปัญญาเฉียบแหลม
จนสามารถแก้ปริศนาธรรมที่หลวงพ่ออาวุโสตั้งได้ และได้รับสมญานาม “อิคคิว”

(https://img2.pic.in.th/pic/---03.jpg)

อิคคิว แปลว่าอะไร

ตอนที่หลวงพ่อตั้งชื่อให้ว่าอิคคิว ก็ได้ถามว่ารู้ไหมว่าอิคคิวหมายถึงอะไร
อิคคิวซังจึงตอบเป็นบทกลอนว่า "ขอพักสักครู่ระหว่างทางจากโลกียะถึงโลกุตตระ
หากฝนจะตกก็ตกเถิด หากลมจะพัดก็พัดเถิด"
ซึ่งหมายความว่า ชีวิตนี้คือการพักระหว่างการเดินทางสู่โลกหน้า
ไม่ว่าลมหรือฝนล้วนไม่ใช่เรื่องที่ควรใส่ใจ
โดยคำว่าอิคคิว แปลว่าการพักครู่หนึ่งนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นิสัยของอิคคิวซังตัวจริงออกจะต่างจากเณรน้อยอิคคิวซังผู้น่ารักที่เรารู้จัก
ทั้งที่เป็นพระ อิคคิวซังก็ดื่มเหล้า กินเนื้อ และทำผิดธรรมเนียมสงฆ์หลายข้อ
แม้จะมีผู้ต่อต้านพฤติกรรมของท่านไม่น้อย แต่ว่ากันว่าอิคคิวซังเกลียดการใช้อำนาจโดยมิชอบ
จึงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้มีอำนาจอย่างเปิดเผย
นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการสั่งสอนผู้คนในแบบเฉพาะตัว
จนทำให้อิคคิวซังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้าน

(https://img2.pic.in.th/pic/---04-1645888f2b0d3b28a.jpg)

ในช่วงบั้นปลายชีวิต อิคคิวซังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดไดโทคุจิ
แต่เจ้าตัวกลับอาศัยอยู่ที่วัด ที่ต่อมาเรียกกันว่าอิคคิวจิ
จนมรณภาพด้วยโรคมาลาเรียในปี 1481 ด้วยอายุ 87 ปี
ซึ่งนับว่าอายุยืนมากในสมัยนั้น ทั้งหลุมศพและรูปปั้นของอิคคิวซังก็อยู่ที่วัดนี้นี่เอง

(https://img2.pic.in.th/pic/---05.png)

ตัวอย่างเชาน์ปัญญาของอิคคิวซัง

ในการ์ตูน เราจะเห็นอิคคิวซังประลองปัญญากับท่านโชกุนและคนอื่น ๆ อยู่หลายครั้ง
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีเค้าความจริง โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักอย่างดีได้แก่

(https://img2.pic.in.th/pic/---06-17ed6b68abde22bd5.jpg)

จับเสือในฉากกั้น

โชกุนอาชิคางะเป็นผู้ตั้งโจทย์นี้ โดยบอกว่า
“เสือที่เป็นภาพวาดในฉากกั้นจะออกอาละวาดตอนกลางคืน จึงอยากให้จับเสือตัวนั้น”
อิคคิวซังจึงตอบว่า “เอาเสือออกมาจากฉากก่อนสิ แล้วจะจับให้”


(https://img2.pic.in.th/pic/---07.jpg)

ห้ามข้ามสะพานนี้

สะพานแห่งหนึ่งปักป้ายที่เขียนว่า “ห้ามข้ามสะพานนี้” เอาไว้
แต่อิคคิวซังกลับเดินผ่ากลางสะพานเดินข้ามไปหน้าตาเฉย
เรื่องนี้อาศัยการเล่นคำพ้องเสียง โดยคำว่าสะพานหรือ ฮาชิ นั้นมีหลายความหมาย
อาจหมายถึงสะพาน หรือขอบ ก็ได้ อิคคิวซังจึงบอกว่าท่านเดินกลางสะพาน
ไม่ได้เดินตรงขอบ จึงไม่ผิด

(https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/---08.jpg)

นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมบทกลอนและคำกล่าวของอิคคิวซังไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า เคียวอุนชู อีกด้วย

เห็นทีเราต้องหาซื้อมาอ่านแล้วละ เพื่ออัพเดทสมอง เนาะ ๆ

ถ้าได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ จะเห็นว่าท่านโชกุนที่ชอบหาเรื่องแกล้งอิคคิวซัง
มีต้นแบบมาจากโชกุนอาชิคางะ โยชิมิทสึ  
แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าโชกุนตัวจริง ชอบทดสอบปัญญาของอิคคิวซังอย่างในการ์ตูน

คำที่เราติดหู ติดปาก ขณะดูการ์ตูน อิคคิวซัง

"ใช้หมอง นั่งสมาธิ"
"จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักเดี๋ยวหนึ่งสิครับ"  เนาะ ๆ

ทั้งนี้และทั้งนั้น เราก็หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตมาแบ่งปันกันนะเธอ
ผิดพลาด หรือขาดไม่ครบตรงไหน ก็ขออภัยด้วยนะคะ  :061




หัวข้อ: Re: ღ อิคคิวซัง เป็นใคร ღ
เริ่มหัวข้อโดย: ลิตเติลเกิร์ล ที่ 22, พฤษภาคม, 2568, 03:24:59 PM



ตุ๊กตาไล่ฝน คืออะไร

ตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทะรุเทะรุโบสุ ถ้าจำแนกคำออกมาจะมีความหมายว่า หัวล้านแดดออก
เป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ ทำจากผ้าสีขาว หัวกลมโต วาดหน้าตาไว้อย่างง่าย ๆ
นิยมแขวนไว้นอกหน้าต่างหรือหน้าประตูบ้าน
เด็ก ๆ ญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ในวันก่อนที่จะมีวันสำคัญ ๆ เช่น วันออกทัศนศึกษา วันงานกีฬาสี ฯลฯ

และถ้าหากว่าวันต่อมาฝนไม่ตกจริง ๆ ล่ะก็
จะต้องแขวนกระดิ่งหรือเทสาเกให้กับตุ๊กตาไล่ฝน เพื่อเป็นการขอบคุณด้วยนะเธอ

(https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/--01-10f5646cda57fbed2.jpg)


ตำนานตุ๊กตาไล่ฝน

ที่ประเทศญี่ปุ่นในสมัยโบราณ มีพระสงฆ์อยู่รูปหนึ่งที่สามารถทำพิธีปัดเป่า
บันดาลให้ฝนหยุดตกได้ ไดเมียว (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ในสมัยนั้น
จึงได้นิมนต์ท่านมาทำพิธีปัดเป่าให้ฝนหยุดตก แต่ปรากฏว่าท่านไม่สามารถทำให้ฝนหยุดตกได้
ไดเมียวจึงสั่งลงโทษพระสงฆ์รูปนั้นด้วยการตัดคอ แล้วนำผ้าสีขาวห่อศีรษะเอาไว้แล้วนำไปแขวน
แต่บางตำนานก็เล่าว่าไม่ได้นำตัดคอ แต่ถูกจับห่อผ้าสีขาวแล้วแขวนคอ
และอาจเป็นที่มาของชื่อ เทะรุ เทะรุ โบสุ ที่สามารถแยกคำออกมาได้ว่า
“เทะรุ แปลว่า แดดออก” และ “โบสุ แปลว่า หัวล้าน” หรืออาจจะหมายถึงพระสงฆ์ก็ได้เช่นเดียวกัน

 นอกจากนั้นตุ๊กตาไล่ฝนยังถือว่าเป็นเครื่องรางสำหรับพกติดตัว
ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่า “ตุ๊กตาไล่ฝนจะนำความสดใส ปลอดโปร่งมาให้กับผู้เป็นเจ้าของ”
ตรงข้ามกับตำนานที่สุดแสนจะโหดร้ายของเจ้าตุ๊กตาไล่ฝนนี้เลยจะบอกให้

(https://img2.pic.in.th/pic/--02-18b3cfac2db5c62ed.jpg)

สมัยก่อนเราก็เคยหาซื้อมาแขวนตามชายคาบ้านด้วยละ  
ส่วนตัวเรามองว่า น่ารักดี มีกระดิ่งห้อยกระดาษไว้ เวลาลมพัดอ่อน ๆ
ก็จะมีเสียง กิ๊ง ก๊อง บรรยากาศเหงาดี ว่าป่าว
แต่พอเราศึกษาดู ตุ๊กตาไล่ฝนเป็นเหมือนปีศาจ เราเลยไม่ได้เอามาห้อยอีก

                      :t17:

ในเรื่องอิคคิวซัง ตุ๊กตาไล่ฝนเป็นเสมือนตัวแทนของแม่ที่อิคคิวซังได้แขวนไว้กับกิ่งไม้
เพื่อเป็นตัวแทนความรักความผูกพันที่ใช้ดูต่างหน้าแทนแม่ที่อยู่ห่างไกล
เมื่อไรที่อิคคิวซังคิดถึงแม่ ก็จะมานั่งดูตุ๊กตาไล่ฝน ที่แม่เป็นคนให้ไว้
อิคคิวซังก็จะมานั่งคุยกับตุ๊กตาไล่ฝน เหมือนได้นั่งคุยกับแม่
ถ้าตอนไหนมีฉากนี้ เราก็จะเศร้าไปกับอิคคิวซังด้วยทุกครั้งแหละนะ

(https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/--03-1.jpg)


ประเทศไทยเราไม่มีตุ๊กตาไล่ฝน มีแต่แห่นางแมวขอฝน
สมัยก่อนทางอิสานเขาแห่กันค่อยข้างบ่อย ใช้แมวสีสวาด
แต่สมัยนี้ ไม่ค่อยได้เห็นกันละ อาจจะเป็นเพราะ
ความเชื่อเรื่องนี้ ค่อยจางหายไป และการแห่แมว
ดูเหมือนทารุณแมวด้วยแหละ เราว่า  
คนปัจจุบันหันมารักแมวเอ็นดูมากขึ้น
การแห่นางแมวก็โหดไปป่ะ เอาแมวใส่กระบุง มีคานหาบ
แล้วเอาน้ำสาดแมวให้แมวร้อง ยิ่งร้องดัง ก็จะทำให้ฝนตก
นี่คือความเชื่อในสมัยก่อน ต่อไปภายหน้า เราขอให้ความเชื่อนี้
สูญหายไปเถอะ เนาะ ๆ

(https://img2.pic.in.th/pic/--04-1cccba85bbed88012.jpg)