บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => ห้องนั่งเล่นพักผ่อน => ข้อความที่เริ่มโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 17, กันยายน, 2556, 07:49:09 PM



หัวข้อ: รวมข้อคิดเพื่อธรรมชาติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 17, กันยายน, 2556, 07:49:09 PM

คนเหนือ-คนทุ่ง-คนทะเล

         คนเหนือ คนทุ่ง คนทะเล หรือคนอยู่ริมทะเล เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่อาศัยตามพื้นที่นั้น ๆ คำเรียกนี้นำมาใช้เมื่อ 40 ปี ก่อนของชาวใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ยินคำนี้อีกเลย ด้วยสภาพพื้นที่ของฝั่งทะเลตะวันออกอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ด้านทิศตะวันออกจะอยู่ติดชายฝั่งทะเล จากชายฝั่งเข้ามาประมาณ 5 - 8 กิโลเมตรจัดเป็นคนกลุ่มทะเล ถัดมาพื้นที่จะเป็นที่ราบเหมาะสมที่จะทำนา ความกว้างมากกว่าบริเวณทะเล กว้างประมาณ 10 - 20 กิโลเมตร เราเรียกผู้ที่อยู่แถบนี้ว่าชาวทุ่ง และถัดไปจากพื้นที่ทำนาจะเป็นที่ราบสูงเล็กน้อย สภาพพื้นที่จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงแนวภูเขา ความกว้างของพื้นที่มีมาก เราเรียกผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี่ว่าพวกเหนือ

        สมัยก่อนคนเหนือ คนทุ่ง และคนทะเลมีความรู้จักมักคุ้นกันอย่างดี ไปมาหาสู่กันเนืองนิตย์ ทั้งในหมู่ญาติพี่น้อง และหมู่มิตรสหาย การผูกมิตรที่กระชับของคนสมัยก่อนคือการเป็นเกลอกัน พ่อแม่นิยมให้บุตรหลานมีเพื่อนเกลอต่างหมู่บ้าน ดังนั้นคนเหนือจึงมีเพื่อนเกลอเป็นชาวทุ่ง และอาจจะมีเพื่อนเกลอชาวทะเล ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ต่อกันจึงมีมาก การไปมาหาสู่สมัยนั้นมักจะไปพักแรมอยู่กินติดต่อกันหลาย ๆ วัน แม้จะอยู่กินเป็นเวลานานก็ไม่ทำความเดือดร้อนแก่กัน เพราะต่างก็ไม่มีภาระงานอะไรมากนัก

        ขอกล่าวเรื่องงานหรือภาระของคนสมัยนั้น (40 ปีก่อน) คนเหนือส่วนใหญ่ปลูกพืชผลไว้รับประทาน จะจำหน่ายบ้างก็ส่วนน้อย เช่น เงาะ ทุเรียน ลางสาด มังคุด ปลูกข้าวไว้รับประทาน ซึ่งเป็นข้าวไร่ แต่มักไม่เพียงพอที่จะใช้รับประทานในรอบปี หลังจากปลูกข้าวนิยมปลูกผักไว้รับประทาน นี่คือภาระของคนเหนือ สมัยนั้นบริเวณแถบนี้มีของป่าสมบูรณ์พวกผลไม้ป่าหลายชนิดมีชุกชุม น้ำผึ้ง ผักที่ได้จากป่า รวมทั้งสัตว์ป่าก็ยังมีชุกชุมเช่นกัน

        คนทุ่งทำนาไว้รับประทานได้ตลอดปี ส่วนที่จะจำหน่ายก็เพียงเล็กน้อย หลังจากเสร็จหน้านาต่างก็มีเวลาว่างอย่างยาวนาน

        สำหรับชาวทะเลส่วนใหญ่ทำประมงเพื่อเลี้ยงครอบครัว ที่เหลือนำไปจำหน่ายบ้างก็เพียงเล็กน้อย แถบชายฝั่งมีมะพร้าวมาก ชาวทะเลเกือบทุกครอบครัวทำน้ำตาลมะพร้าวจากต้นมะพร้าว

         สภาพความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นไม่ต้องดิ้นรนหาเงินหาทองสักเท่าไร เพราะทำเพื่อบริโภคภายในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งนิยมระบบการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันแทบจะไม่ต้องใช้เงินเป็นสื่อกลางเลย

        การมาเยี่ยมเยียนญาติ เยี่ยมเกลอแต่ละครั้งจะต้องมีของฝากติดไม้ติดมืออย่างพะรุงพะรัง คนทะเลมี กะปิ ปลาแห้ง ปลาสด ปลาย่าง น้ำตาลมะพร้าว มาฝาก ขณะเดียวกันก็จะได้รับของฝากจากเจ้าถิ่น เช่น ถ้าคนทะเลมาหาคนทุ่งก็จะได้ ข้าวสาร กล้วยย่าง กะละเม ปลาแห้ง (ปลาน้ำจืด) เนื้อย่าง (เนื้อวัว หรือเนื้อควาย) ติดไม่ติดมือกลับไป ถ้ามาหาญาติมิตรที่เป็นคนเหนือก็จะได้ ผัก ผลไม้ เนื้อย่าง(เนื้อสัตว์ป่า) ทุเรียนกวน น้ำผึ้ง เหล่านี้เป็นต้น การแลกเปลี่ยนอาหาร หรือสิ่งของแบบประเพณีนิยมอย่างนี้ทำกันได้ตลอดปี

       การได้มาเยี่ยมเยียน และการนำข้าวของมาแลกเปลี่ยนเป็นความสุขทางด้านจิตใจเป็นเยี่ยม ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นับญาตินับมิตรให้สนิทสนมกันยิ่งขึ้น การมาเยี่ยมเยียนแต่ละครั้งส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว เด็ก ๆ ของแต่ละฝ่ายได้ทำความรู้จัก และสนิทสนมกันยิ่งขึ้น เป็นการผูกมิตรที่ยั่งยืน การอยู่ร่วมกันเป็นเวลาหลาย ๆ วัน บางโอกาส บางครั้งอาจจะได้ช่วยเหลือในการงานกันบ้าง ยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมยิ่งขึ้น

       จากการที่ครอบครัวของคนเหนือ คนทุ่ง และคนทะเลมีความสัมพันธ์เช่นนี้มาตลอดเมื่อมีงานแต่งงาน งานบวช งานศพ ขึ้นบ้านใหม่ หรืองานอื่น ๆ จะมีการช่วยเหลือเจือจุนกันยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน และข้าวของ งานจึงสำเร็จลุล่วงด้วยดีเพราะร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างพร้อมเพรียง ประเพณีแบบนี้ได้ทั้งงาน และได้ทั้งน้ำใจ น้ำใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด น้ำใจเป็นพื้นฐานด้านอื่น ๆ ในการอยู่ร่วมกัน

        การมีน้ำใจในการอยู่ร่วมของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จากการมีน้ำใจทำให้คุณธรรมอื่น ๆ ตามมาหลายประการ การมีน้ำใจเอื้ออารี การไม่เอารัดเอาเปรียบ การไม่อิจฉาริษยา การไม่โลภ การไม่ฉ้อโกง รู้ความเดือดร้อนผู้อื่น รู้จักการให้ มีความเมตตา รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน คุณธรรมอื่น ๆ อีกนานัปการที่ตามมา การอยู่ร่วมของมวลมนุษยชาติในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งควรค่าที่สุดที่มนุษย์พึงมี พึงเสาะหา พึงรักษาเอาไว้ เรายึดศีลธรรมเป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วม กฎหมายไร้ค่า เมื่อธรรมมาแนบใจ

       ปัจจุบันนี้น้ำใจของเพื่อมนุษย์กำลังจืดจางลงไป และถึงกับขาดน้ำใจ เนื่องจากการแข่งขันด้านธุรกิจเป็นเหตุ การเอาเงินทองอยู่เหนือค่าของน้ำใจจิตใจ การเอาวัตถุมาอยู่เหนือจิตใจ การเอารัดเอาเปรียบจึงเกิดขึ้น การเห็นแก่ตัวตามมา เพราะการมุ่งหวังผลประโยชน์คือหลักชัยสำคัญ คุณธรรมที่เคยมี บาปบุญคุณโทษที่เคยตระหนัก ค่อย ๆ เลือนราง และหายไป สังคมจึงมีแต่ความวุ่นวาย ศีลธรรมที่เคยยึดเป็นกฎก็ค่อยหดหาย กฎหมายก็กลายเป็นตัวหนังสือในหนังสือพิมพ์รายวัน เพราะคนใช้ขาดคุณธรรม

      หากเรามาช่วยกันคิดในการบริหารจัดการในการอยู่ร่วมของสังคมมนุษย์โดยใช้หลัก คนเหนือ คนทุ่ง คนทะเล น่าจะทำให้การอยู่ร่วมกลับมาเหมือนเดิมได้ และดีกว่าเดิมเพราะเรามีการวางแผน มีความรู้ด้านวิชาการสาขาต่าง ๆ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้ดีขึ้น

      จากแนวคิดนี้ขอยกตัวอย่างของการอยู่ร่วมของชาวเขาในภาคเหนือ และการอยู่ร่วมของชุมชนชาวอีสาน ที่ยังเหลือให้เห็นอยู่บ้างถึงทุกวันนี้ จะขอกล่าวโดยละเอียดในเรื่อง "การอยู่ร่วมของชาวเขา-ชาวอีสาน" อีกครั้ง

ได้ยินหลายคนมักบ่นในเรื่องสังคมปัจจุบันในหลาย ๆ ด้าน กระผมผู้ประสานงานรู้สึกดีใจว่าหากได้ป้อนแนวคิดให้ท่านได้ขบคิดบ้าง บางทีท่านอาจจะเห็นแนวคิดที่ดีกว่า หรือมีส่วนเพิ่มเติมช่วยเสริม ชี้แนะ สนับสนุนให้ "ธรรมชาติธรรม" ไปถึงความฝันอันสูงสุดโดยการที่เราร่วมถอยหลังอย่างมีกระบวนการ ขอกราบขอบพระคุณครับ

http://www.naturedharma.com/data-1429.html


  


หัวข้อ: Re: ข้อคิดเพื่อธรรมชาติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 27, กันยายน, 2556, 05:45:01 AM



การอยู่ร่วมของชาวเขา-ชาวอีสาน

       เรื่องของคนเหนือ-คนทุ่ง-คนทะเลได้นำข้อเท็จจริงมาบอกกล่าวไปแล้ว เป็นเรื่องการอยู่ร่วมของคนทางถิ่นใต้เมื่อ 40 ปีก่อน มีลักษณะเด่นในเรื่องการพึ่งพาซึ่งกันและกัน สำหรับของชาวเขาทางภาคเหนือ และชาวอีสานมีจุดเด่นในเรื่องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

      สมัยเมื่อ 30 ปีก่อนคนทางภาคอีสานยังอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อย่างเหนียวแน่น ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ส่วนชาวดอย ชาวเขาทางภาคเหนือยังตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้านอย่างเห็นได้ชัด

      การอยู่ในลักษณะเช่นนี้การเป็นอยู่ยังใช้ระบบพึ่งพาอาศัยกันส่วนใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้ค่าครองชีพจึงต่ำ เพราะต่างก็ยังช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยังใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อกันบ้าง ซึ่งผิดกันราวหน้ามือเป็นหลังมือกับเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต ที่มีค่าครองชีพสูง คนดอยอาจ
จะนำของป่าของพื้นบ้านมาจำหน่ายให้กับพวกเดินทางนักท่องเที่ยวตามริมถนนบ้างเพื่อนำเงินเหล่านั้นใช้จ่ายในของจำเป็นที่ทำไม่ได้เองบางส่วน ซึ่งเริ่มหาความสะดวกสบายขึ้นบ้าง

       ชาวดอยจะตั้งถิ่นฐานที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นหมู่บ้าน พื้นที่รอบนอกจะทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก ลักษณะการเป็นอยู่เช่นนี้ที่ "ธรรมชาติธรรม"
เห็นว่าควรยึดไว้ เพียงแต่ให้การพัฒนาด้านสาธารณสุข การกำหนดพื้นที่ทำกินอย่างเหมาะสมเพียงพอ การกำหนดจำนวนครัวเรือน ระยะห่างของแต่ละกลุ่ม หมู่บ้าน การคมนาคมควรใช้วิธีใด ซึ่งเรื่องนี้มีการวิจัยหาข้อมูลกันต่อไป

       แนวทางอยู่อย่างสันติสุขไม่ใช่เรื่องยาก การจะหวนกลับมาแบบเก่าเป็นเรื่องง่าย เมื่อเราเข้าใจ เห็นดีเห็นงาม บรรดาพวกกลุ่มนายทุนทั้งหลายให้การสนับสนุน เห็นความสุขแท้จริงของการอยู่รวมพอกิน พอใช้ ไม่ต้องสะสม ไม่ต้องกักตุน ไม่มีเจ้าของ แบ่งหน้าที่ทำงานร่วมกัน เหมือนตัวอย่างสัตว์สังคมอื่น ๆ

       มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คือต้องอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราไม่ได้อยู่อย่างสัตว์สังคมที่ถูกต้อง คือไม่อยู่อย่างธรรมดา ไม่อยู่อย่างธรรมชาติ ด้วยผลประโยชน์ด้านธุรกิจเข้าเกี่ยวข้อง ทำให้เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ความวุ่นวายต่าง ๆ ก็ตามมาไม่รู้จักจบสิ้น เนื่องจากธุรกิจยิ่งเพิ่มใหม่ขึ้น เติบโตขึ้น ล้วนส่งผลต่อการคุกคามธรรมชาติอย่างไม่มีวันจบ เพิ่มมลพิษไปทุกด้าน

        สัตว์สังคมยังอยู่กันได้อย่างดีมีความสุขเพราะสัตว์พวกนั้นดำรงชีพตามวิถีชีวิตตามธรรมดา ตามธรรมชาติ เช่น ปลวก ผึ้ง ตัวต่อ ยังแบ่งหน้าที่กันเช่นเดิม ไม่เอาผลประโยชน์ธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง การเอารัดเอาเปรียบจึงไม่มี การเป็นอยู่ก็อยู่อย่างปกติธรรมดา ความวุ่นวายจึงไม่เกิดขึ้น พวกสัตว์เหล่านี้จึงอยู่อย่างมีสุข ถ้าไม่มีสุขก็คงสืบสาเหตุจากมนุษย์เรานั้นเอง

        การค้นหาหลักสัจธรรมเพื่อนำมาใช้ในการอยู่ร่วม โดยศึกษาระบบธรรมชาติให้เข้าใจถึงแก่นแท้ ความต้องการของมนุษย์ที่พึ่งมีตามขอบเขต โดยอาศัยหลักความเป็นธรรมดา ธรรมชาติเข้าเกี่ยวข้อง รวมทั้งนำหลักธรรมของศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวแทนกฎหมาย การอยู่ร่วมกันคงมีความสันติสุขแท้จริง และยั่งยืน
 


หัวข้อ: Re: ข้อคิดเพื่อธรรมชาติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 28, กันยายน, 2556, 03:17:42 PM




http://www.naturedharma.com/data-1431.html
     ความเจริญ
                     มอง อย่างแนว "ธรรมชาติธรรม"

       การตีค่าความเจริญของบ้านเมืองจากคนส่วนใหญ่ในยุคนี้เขาเอาความเจริญด้านวัตถุเป็นเครื่องชี้วัด นี่เพราะค่านิยมด้านวัตถุฝังหัวอย่างเหนียวแน่น ผมเคยเดินทางร่วมกับคณะเพื่อนร่วมงาน ไปเที่ยวต่างจังหวัด ขณะผ่านหมู่บ้านที่อยู่แถบชนบทมักจะได้ยินเพื่อน ๆ แสดงความรู้สึกจากความคิดของเขาว่า "ที่นี่ไม่เจริญ" เมื่อผ่านทุ่งน่า ป่าเขา พบสภาพบ้านเรือนเป็นกระต๊อบ เป็นขนำ ก็ให้ความรู้สึกว่า "ที่นี่ไม่เจริญ" เมื่อผ่านตัวเมืองก็จะมักจะมีการเปรียบเทียบว่าเมืองนี้เจริญกว่าเมืองนั้น เมืองนั้นเจริญกว่าเมืองนี้ เช่น เมื่อผ่านเมืองนครศรีธรรมราช ก็บอกว่า "เมืองนครเจริญน้อยกว่าหาดใหญ่"เมื่อผ่านตัวเมืองลำพูน ก็บอกว่า "เมืองเชียงใหม่เจริญกว่าเมืองลำพูน" นี่เพราะเหตุผลที่นำวัตถุส่วนหนึ่งความคับคั่งของผู้คนส่วนหนึ่งมาเป็นตัวชี้วัด มาเปรียบเทียบ ความคิดเช่นนี้คิดว่า คนส่วนใหญ่ไม่ว่าคน
ในบ้านเมืองเรา หรือคนต่างชาติคงจะมีแนวคิดอย่างนี้เป็นส่วนใหญ่ นี่เพราะ "ค่านิยมด้านวัตถุฝังหัว"

       ขอนำบทกลอนเพื่อสังคม (กลอนสอนศิษย์ ) ฝากเป็นแนวคิด สลับ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ

                                         โลกจะสั้นวัดกันหลักเศรษฐกิจ
                                  พอพ่นพิษเร็วรุดสุดสะสาง
                                  แม้ไม่พ่นแต่วิ่งสู่ลู่อับปาง
                                  มิละวางเอาชนะสารพัน

                                        สร้างโรงงานการกิจผลิตวัตถุ
                                   มุทะลุเดือดดาลการแข่งขัน
                                  ธรรมชาติถูกทำลายเป็นรายวัน
                                   กลุ่มหมอกควันปล้นฆ่าปฐพี

                                       ทะเลห้วยหนองบึงถึงจุดจบ
                                  ปลาหลีกหลบมิวายกลายเป็นผี
                                  สัตว์จะพึ่งต้นไม้ก็ไม่มี
                                  ต่างพลีชีพด้วยฆ่าตัวตาย

                                       สารเคมีวิ่งพล่านทุกการกิจ
                                  โทรมชีวิตก่อนโลกล่มสลาย
                                  นี้ใช่เพ้อควรคิดอย่างแยบคาย
                                  ความหลากหลายขายคิดจงติดใจ

        การมองความเจริญตามแนว "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" ตรงข้าม หรือผิดแผกไปบ้าง กับการมองความเจริญที่กล่าวมาข้างต้น   ทั้งนี้เพราะไม่ได้ยึดเอาความเจริญด้านวัตถุมาเป็นตัววัด    หรือตัวเปรียบเทียบ แต่จะยึดเอาความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมชาติมาวัด คือนำหลักสัจจะธรรมเป็นเครื่องมือชี้วัด

        ที่กล่าวว่านำหลักสัจจะธรรมเป็นเครื่องชี้วัด เพราะถือว่าความเจริญทางด้านวัตถุเป็นเรื่องของความจอมปลอม ผู้คนที่อยู่ในสภาพสังคมเช่นนี้มีแต่เรื่องรุ่มร้อน ดิ้นรน แสวงหาอย่างไม่จบสิ้น คดีต่าง ๆ เกิดเพิ่มขึ้น ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยยิ่งมีมากขึ้น (น่าจะกล่าวว่าช่องว่างระหว่างนายจ้าง กับทาสแรงงาน) สังคมมีแต่ความวุ่นวายไม่จบสิ้น แต่ละชีวิตเหน็ดเหนื่อยดิ้นรนกันถึงแก่เฒ่า หากอยู่ร่วมกันโดยยึดความเป็นธรรมดา ความเป็นธรรมชาติ อย่างแนวทางของ "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" การอยู่ร่วมของมนุษย์ย่อมมีความสันติสุข และยั่งยืน มีความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความสุขจอมปลอมจึงถือว่าได้ยึดหลักสัจจะธรรมในการอยู่ร่วม

                 ขอนำบทเพลงเพื่อสังคม จาก "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" สนับสนุน

                                                     ความพอดี

                                           เนื้อร้อง ประทีป วัฒนสิทธิ์
                                           ทำนอง ประทีป วัฒนสิทธิ์

                                อยู่กันอย่างผิดผิด             ชีวิตมีแต่ความวุ่นวาย
                                อยู่กินอย่างไม่สบาย          จนเฒ่าแก่ตาย
                                อยู่อย่างวุ่นวายเรื่อยมา      (ซ้ำ)

                                อยู่กันเกินพอดี                  หนี้สินมากมีล้นฟ้า
                                วุ่นวายกับวัตถุเงินตรา        เสียดายเวลา
                                ที่ปล่อยให้ฆ่าจิตใจ            (ซ้ำ)

                                อยู่กันอย่างพอดี               พอมีพอกินพอใช้
                                กักตุนกันไปทำไม             หยุดโลภหลงงมงาย
                                สุขกายสบายใจแน่นอน      (ซ้ำ)

                                อยู่กันอย่างพอเพียง         โรคร้ายหนี้ไกลจากจร
                                ความทุกข์เร้าร้อนไม่มี       (ซ้ำ)

                                อยู่กันอย่างธรรมชาติ          จิตใจสะอาดสดสี
                                ไม่เปรอะเปื้อนราคี               งดงามสง่าราศี
                                อยู่ด้วยดีเพราะคุณธรรม      (ซ้ำ)

          ถามว่า  "ผิดหรือไม่ การที่เอาวัตถุมาวัดความเจริญ"    ถ้าตอบตามแนวของ "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" ถือว่าผิด และผิดอย่างมหันต์ เพราะโลกที่วุ่นวายอย่างรุนแรง และเพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆด้าน ก็สืบเนื่องมาจากการนิยมวัตถุนั่นเอง การแข่งขันด้านธุรกิจจนไม่ลืมหูลืมตาต่างมุ่งเอาตัวรอด มุ่งเอาความได้เปรียบ เพียงเพื่อการมีอำนาจทางด้านสินทรัพย์ และเงินทอง ทำให้ปัญหาตามหลังมามากมาย

         การที่ต่างคน ต่างกลุ่ม มุ่งหวังเพื่อได้มาซึ่งสินทรัพย์ เงินทอง ต่างก็หาหนทางเชิงได้เปรียบในการครอบครอง ในการแย่งชิงเป็นของตัว ของกลุ่ม แข่งขันกันทุกระดับ จนถึงระดับประเทศและยังป่าวประกาศก้องไปถึงระดับภูมิภาค ผีธุรกิจเข้าสิงสู่จนลืมหลักสัจจะธรรม ในการอยู่ร่วมของมนุษย์อย่างมีความสันติสุขที่แท้จริง และยั่งยืน การชิงไหวพริบในการได้เปรียบในทุกเรื่อง ทุกอย่างย่อมทำให้มนุษย์ขาดคุณธรรม ยากที่จะมองเห็นสัจจะธรรมได้ในทุก ๆ แง่มุม

          ขอนำบทกลอนเพื่อสังคม (คำกลอนสอนศิษย์) เสริมข้อคิด และเปลี่ยนบรรยากาศ


                               ดำรงชีพเหนือธรรมชาติขาดสติ
                           อุตริผิดผิดจิตถลำ
                           เพราะวัตถุนิยมเกิดกงกรรม
                           ถูกกระหน่ำภัยธรรมชาติมิขาดวัน


                              คนพึ่งพาธรรมชาติดังทาสหลัก
                           แต่ไร้รักษ์มุ่งประโยชน์โฉดมหันต์
                           มีแต่ทำลายล้างอย่างเมามัน
                           ถูกลงทัณฑ์ย้อนหลังยังน้อยไป

          การแข่งขันด้านธุรกิจนับวันแต่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และรุนแรง บางคน บางกลุ่มประสบความสำเร็จ บางคน บางกลุ่มไม่ประสบความสำเร็จ

          ผู้ประสบความสำเร็จอย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่น่ายกย่อง ความสำเร็จในบางครั้ง บางเวลา บางโอกาสไม่ใช่เรื่องดีมีคุณธรรมเสมอไป ขณะที่ตนเอง กลุ่มของตนได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนก็ได้ความสำเร็จในเชิงการได้เปรียบ ด้วยไหวพริบคือการเอาเปรียบสังคม เอาเปรียบเพื่อมนุษย์ด้วยกันอาจจะสร้างปัญหาตามมา เช่น สร้างโรงงานในกิจการใดกิจการหนึ่ง ปฏิกูลที่เกิดจากโรงงาน ไหนโรงงานพ่นควันพิษ ไหนโรงงานถ่ายเทน้ำเสีย ไหนโรงงานปล่อยสาตะกั่วฯลฯ ผู้ที่อยู่ในรัศมีอันใกล้ หรือไกลก็ตาม อาจจะได้รับพิษภัยจากมลภาวะเหล่านี้ การดำรงชีพของพวกเขาเหล่านั้นจึงประสบแต่การเสี่ยงภัย และรับพิษภัยตลอดเวลา ผู้กระทำ ผู้เสวยสุขควรได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จได้แล้วหรือ

        ความสำเร็จอย่างที่กล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อบุคคล ชุมชน หรือ อาจจะกระทบต่อสภาพแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศ หรือการทำลายล้างธรรมชาติ และ ยิ่งนานวันยิ่งขยายวงกว้าง ส่งผลกระทบไปทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้เพราะความแวดล้อมในโลกทั้งมวลมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน

                ขอนำบทกลอนเพื่อสังคม (คำกลอนสอนศิษย์) เสริมข้อคิด และเปลี่ยนบรรยากาศ

                                โรงงานเร่งเครื่องแรงเพื่อแข่งขัน
                          ผลิตภัณฑ์ออกใหม่ให้งามหรู
                          ก๊าซคาร์บอนร่อนฟ้ากันน่าดู
                          พวกสารหนูตะกั่วรั่วลงทะเล

                                อากาศเน่าน้ำบูดสูตรโลกล่ม
                          เร่งวันจมสารพันพลันจบเห่
                          มนุษย์โง่โง่มนุษย์สุดคะเน
                          เล่นลิเกทั่วโลกาไม่ช้าตาย

          สำหรับบุคคล หรือกลุ่มที่ไม่ประสบความสำเร็จ ย่อมมีความเดือดร้อน มีพันธะผูกพันต่าง ๆ เกิดขึ้น ต้องดิ้นรน นำความเดือนร้อนสู่ครอบครัว บุตรหลาน และอาจจะตกทอดเป็นเวลานาน ที่ต้องรับกรรม บางครั้งถึงกับล้มละลาย ใครคือผู้ถูกผู้ผิดไม่ต้องหาต้นตอ แต่ที่สำคัญเขาเกิดมาร่วมโลกกับเราทุก ๆ คน เขาก็อยากอยู่อย่างมีความสุขเช่นเดียวดั่งความปรารถนาของทุกคนที่เหมือน ๆ กัน
ทำไมเมื่อเกิดมาแล้วถึงต้องถูกลงโทษอย่างหนักกับชีวิตเช่นนี้

          อย่างไรก็ดีทั้งผู้สำเร็จ และผู้ไม่สำเร็จต่างก็เหน็ดเหนื่อย ในช่วงชีวิติที่ตนดำรงชีพอยู่อย่างไม่มีวันจบสิ้น จนบางครั้ง บางคน แทบหาความสุขไม่ได้เลย ไม่มีวันได้พักผ่อน เพราะยุ่งกับพันธะต่าง ๆ ที่ตนไปผูกเอาไว้ ความเจริญด้านวัตถุจึงไม่เป็นคุณเลยในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อย่างสันติสุข และยั่งยืน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งการแข่งขันด้านธุรกิจเพิ่มขึ้นเท่าไรก็ยิ่งทำลายฐานที่อยู่กิน
ฐานที่ดำรงชีวิตไปเรื่อย ๆ ไหนธรรมชาติหดเหี้ยนไป ไหนสารเคมีเพิ่มขึ้น ไหนเพิ่มภาวะโลกร้อนไหนทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ฯลฯ และที่จะกล่าวถึงไม่ได้คือเรื่องสุขภาพจิต ในภาวะที่ต้องแย่งชิง ภาวะที่ชิงความได้เปรียบ ภาวะที่ต้องสูญเสีย ภาวะที่ไม่มีความมั่นคง แน่นอน ย่อมทำให้เกิดแต่ทางลบของสภาพจิตไม่มีวันจบสิ้น แล้วเราจะรับความเจริญด้วยวัตถุนั้นได้อย่างภาคภูมิใจเช่นนั้นหรือ

        การแข่งขันด้านวัตถุ ด้านธุรกิจมากเท่าไรสังคมก็ก็มีรอยร้าวเพิ่มขึ้น แบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งสีกันมากขึ้น ทำให้เกิดความไม่สงบสุขของกลุ่มชน สังคมเดียวกันเมื่อเกิดการแบ่งแยกอาจส่งผลไปถึงการบริหารประเทศ คือเข้าไปถึงระบบสภา การแตกแยกในทางความคิดเกี่ยวกับหลักการบริหาร ว่ามีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ นั้นพอที่ประชาชนรับได้ แต่หากความแตกแยกเกิดจากกลุ่มผล
ประโยชน์เป็นเรื่องที่น่ากลัว และถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะถ้าคนกลุ่มนี้เข้าไปมีอำนาจในการบริหารประเทศ จะเกิดอะไรขึ้น หากขึ้นชื่อว่ากลุ่มผลประโยชน์เข้าครอบครอง เข้าครอบงำ ก็ย่อมเกิดการเอารัดเอาเปรียบ เพียงเพื่อประโยชน์ของตนของกลุ่มให้สูงสุด จึงไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของคนในชาติ   (ยกเว้นหากพวกเขาเปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม)

        สาเหตุที่เกิดกลุ่มผลประโยชน์ขึ้นนั้นก็เนื่องจากการแข่งขันนั้นเอง กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพิงนักการเมือง และในที่สุดกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ลงเล่นการเมือง หรือถ้าไม่ลงเล่นการเมืองต่างก็ถ้อยที่ถ้อยอาศัยกับนักการเมือง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน หากพวกเหล่านี้เข้าไปอยู่ในรัฐบาล อยู่ในฝ่ายบริหารประเทศแล้ว แน่นอนที่สุดการมุ่งเน้นงานเพื่อประชาชนจริง ๆ จะลดน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ยกเว้นพวกเขาเปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม)

        นี่คือผลพวงของความเจริญด้านวัตถุ หรือระบบค้าขายอย่างเสรี (สังคมเสรีทางการค้า) พวกเหล่านี้จะยึดเอาการค้า การแข่งขันทางธุรกิจเป็นหลัก ยิ่งถูกประเทศมหาอำนาจใช้นโยบายที่แยบยลเพื่อการค้าเพื่อการได้เปรียบ พวกเหล่านี้ก็ยิ่งถูกปั่นหัวจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เหนือกว่าอีกชั้น หรือไม่ก็คิดว่าได้ผ]ประโยชน์ร่วมกัน เขาจะไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ หวังอย่างเดียวคือการได้เปรียบ ในที่สุดประชาชนชั้นล่างเป็นผู้รับกรรมคือผู้ที่ควรเรียกว่า "ทาสแรงงานของกลุ่มนายทุน" ความเดือนร้อนจึงตกอยู่ที่ผู้ใช้แรงงานโดยไม่รู้ตัว คนที่เสี่ยงภัยในโรงงาน คนที่ทำงานหนักแต่ค่าตอบแทนไม่ค่อยจะคุ้มค่าคือชนชั้นล่างนั้นเอง เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้ ทุกฝ่ายก็ควรจะคิดหาแนวทางถอยหลังมาเข้าสู่ระบบ"ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก"เราควรจะถอยได้แล้วยัง เรามาอยู่อย่างธรรมดา อย่างธรรมชาติ โดยยึดหลักสัจจะธรรมเป็นสำคัญ

        เราถอยหลังกลับหันมาดำเนินชีวิตอย่างแบบพอกิน พอใช้ กลุ่มชนที่อยู่ร่วมกับเรามีพอกินอย่างพอเพียงในแต่ละวัน นำผักสด ปลาสด ผลไม้สดจากแหล่งผลิตที่ปลอดสารพิษ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแช่ตู้เย็นให้สิ้นเปลืองพลังงาน และยังไม่ให้เสียรสชาติ เรามาดื่ม มาทานด้วยกัน (จะพูดเรื่องการกินอยู่อย่างละเอียดเฉพาะเรื่องอีกครั้ง)

        เราถอยหลังกลับมาใช้สิ่งของที่จำเป็น เสื้อผ้าที่ด้วยมือ (ทอหูก) ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงงานเรามีเวลาเพราะเราไม่ใช้เวลาในการแข่งขัน เรานำสีจากธรรมชาติ เช่นขมิ้น เปลือกไม้ หรืออื่น ๆ ดังที่ภูมิปัญญาชาวบ้านเคยสืบทอดมาใช้ ไม่ต้องใช้สีแบบสารเคมีจากโรงงาน เราทำได้อย่างที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมา เมื่อเราทำได้โรงงานทอผ้าก็ไม่จำเป็น สารพิษจากสารเคมีก็ไม่มาแปดเปื้อน น้ำเสียจากโรงงานก็ไม่มีให้ไหล สารตะกั่วก็ไม่ลงทะเลให้แปดเปื้อนปลา ปลาที่นำมารับประทานก็บริสุทธิ์ หมอกควันจากโรงงานก็ไม่พ่นพิษ โลกก็เย็นสบาย (ไม่มีภาวะโลกร้อน) สิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ล่ะหากเราวางแผนเช่นเดียวกับเรื่องของเสื้อผ้า ลองนึกวาดภาพดู มีสิ่งดี ๆ อะไรบ้างที่ติดตามมา

       ขอนำบทกลอนเพื่อสังคม (กลอนสอนศิษย์) เป็นข้อคิด และเปลี่ยนบรรยากาศ

                                  ยกเรื่องสารเคมีเป็นที่ตั้ง
                              เพื่อสอนสั่งคู่สิ่งอื่นมีดื่นถม
                              ทาสวัตถุปัญหาเหลือปรารมภ์
                              ค่านิยมเพิ่มปัญหาสารพัน

                                  สารเคมีมีไว้จำหน่ายคล่อง
                              รัฐคุ้มครองเพียงนิดผิดมหันต์
                              สารเคมีเร่งใช้เป็นรายวัน
                              อันตรายมลายแล้วเมืองไทยเรา

                                  ทั่วท้องทุ่งคุ้งคลองหนองนาไร่
                              เขาก็ใช้กันวุ่นถึงขุนเขา
                              ป่าคอนกรีตนึกว่าน่าบางเบา
                              ไม่สร่างเซาเพิ่มมหันต์อันตราย

           อาจจะมีผู้ถามว่า นี่จะถอยหลังเข้าคลองหรืออย่างไร วิทยาการสมัยใหม่มีไว้ทำไม ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์จะเอาไปไว้ที่ไหน จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร นี่มันยุคคอมพิวเตอร์ใช่ไม่ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ขอตอบและขยายความอย่างสังเขปดังนี้

         การที่นำความเจริญความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการแข่งขันถือเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงนี่คือการหยิบยื่นมหันตภัยให้มวมนุษยชาติการสร้างโรงงานเพื่อผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่ากับปล่อยโรคร้ายมาฆ่าผู้คนโดยตรงยิ่งมีโรงงานผุดกันเกลื่อนรอบมุมเมืองโรคร้ายก็ยิ่งเพิ่มนายทุนต่างชาตินำโรงงานมาฝากไว้ในบ้านเมืองเราท่านภูมิใจได้ไหม พูดได้เต็มปากหรือไม่ว่าเรามีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมในเรื่องนั้น เรื่องนี้ ประเทศไทยเราเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุด อะไรทำนองนี้ ผู้ที่พูดได้อย่างเต็มปาก และชื่นชม คือพวกกลุ่มทุนผลิตเท่านั้น ที่เขาหวังความร่ำรวย หวังทรัพย์สิน มุ่งหวังเงินทอง จนคลั่งค่านิยมวัตถุอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่สำหรับผู้เข้าใจ หรือผู้มองหาสัจจะธรรมในการดำรงชีพที่ควรจะเป็น คงไม่ใยดีกับโรงงานประเภทนี้เลย

       ทำไมปัจจุบันรถมากมายเต็มถนนจนเกิดปัญหารถติดในเมืองใหญ่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุเรื่องนี้ มาจากหลายด้าน เมื่อมีสินค้าจากโรงงานก็ต้องใช้รถในการขนส่ง ขนส่งระดับภูมิภาค ขนส่งระหว่างประเทศ (ขนส่งทางน้ำ ทางอากาศ ก็เพิ่มทวี) วุ่นวายตามกันไป ผู้คนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าก็วุ่นวายกับการขนส่งรายเล็ก แม้ไม่ขนส่งก็ยังใช่รถเป็นพาหนะในการติดต่อ ชาวบ้านร้านตลาดส่งลูกเข้าเรียนในตัวเมือง ในต่างจังหวัดก็วุ่นวายกับการไปเยี่ยมเยียนติดต่อก็ต้องใช้รถ ล้วนแต่จำเป็นเพื่อความสะดวก เพื่อการบริหารจัดการที่ดี นี่สืบเนื่องจากสาเหตุการแข่งขันด้านธุรกิจทั้งนั้น

       แม้แต่เรื่องการเรียนก็มีเรื่องธุรกิจแอบแฝงอยู่ คือเป็นธุรกิจในอนาคต พ่อแม่ต่างมุ่งหวังให้บุตรหลานได้ประกอบอาชีพที่ต้องการ ต่างดิ้นรนหาที่เรียน บางครั้งถึงกับส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเมืองนา(ให้อ่านเรื่อง ปริญเอ๋ยปริญญา ในหัวข้อ "ข้อคิดข้อเขียน")

       ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์นำมาใช้ผลิตอาวุธสงความถูกต้องแล้วหรือ ทำไมต้องมีสงครามทำไมต้องมีกองทัพ มีอะไรแอบแฝงอยู่ในเรื่องความมั่นคง หากเราพิจารณาด้วยสติปัญญากันบ้างความสว่างแห่งจิตย่อมผุดขึ้นมาบ้าง และพอถึงวันเด็กคงไม่นำเด็กไปดูอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วบรรยายให้เยาวชนฟัง ด้วยความภาคภูมิใจต่าง ๆ นานา ในเรื่องอานุภาพอันร้ายแรงของอาวุธ หรือในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสงคราม ขอถามสั้น ๆ ว่า "นี่หรือคือความเจริญ"

        "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" ขอนำความเจริญวิทยาศาสตร์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันที่เห็นเด่นชัดในเรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือนำความรู้ด้านวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในทางที่สร้างสรรค์ก็มาก เช่น ด้านสาธรณสุข ด้านการเกษตร โครงการนาซ่า หรือด้านการวิจัยอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีพของมนุษย์ เหล่านี้ ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก ส่งเสริม และมุ่งมั่นเรื่องนี้
โดยเฉพาะอย่างจริงจัง (ขอกล่าวโดยละเอียดเฉพาะเรื่องอีกครั้ง) การวิทยาการสมันใหม่มาใช้อย่างถูกวิธี คือ "ความเจริญที่แท้จริง"

        ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเหตุเป็นผลที่เห็นประจักษ์กันทั่วไป เพื่อค้นหา "ความเจริญ" ขอได้นำข้อคิดข้อเสนอเหล่านี้มาพิจารณาด้วยความเป็นธรรมจะได้ช่วยกันหาแนวทางที่ดีที่ควรเพื่อการอยู่ร่วมของมวลมนุษยชาติที่จะส่งผลให้เกิดความสันติสุขอย่างแท้จริง และยั่งยืน


http://www.naturedharma.com/data-1431.html




หัวข้อ: Re: ข้อคิดเพื่อธรรมชาติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 29, กันยายน, 2556, 06:12:54 PM


                     ขอฝากเพลงเพื่อชีวิต
 
                                                ความพอดี
 
                               อยู่กันอย่างผิดผิด ชีวิตมีแต่ความวุ่นวาย
                               อยู่กันอย่างไม่สบาย
                               จนเฒ่าแก่ตาย อยู่อย่างวุ่นวายเรื่อยมา (ซ้ำ)

          อยู่กันเกินพอดี หนี้สินมากมีล้นฟ้า
          วุ่นวายกับวัตถุเงินตรา
          เสียดายเวลา ที่ปล่อยให้ฆ่าจิตใจ (ซ้ำ)

                               อยู่กันอย่างพอดี พอมีพอกินพอใช้
                               กักตุนกันไปทำไม
                               หยุดโลภงมงาย สุขกายสบายใจแน่นอน (ซ้ำ)

         อยู่กันอย่างพอเพียง ไม่เสี่ยงและไม่รุ่มร้อน
         กายใจได้พักผ่อน
         โรคร้ายไกลจากจร ความทุกข์เร่าร้อนไม่มี (ซ้ำ)

                               อยู่กันอย่างธรรมชาติ จิตใจสะอาดสดสี
                               ไม่เปรอะเปื้อนราคี
                               งามสง่าราศี อยู่ด้วยดีเพราะคุณธรรม (ซ้ำ)
 
                                            


หัวข้อ: Re: รวมข้อคิดเพื่อธรรมชาติธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 11, พฤศจิกายน, 2556, 09:29:57 AM


 ระบบทาสที่ซ้อนเร้นหากคิดละเว้น ต้องเปลี่ยนเป็น "ธรรมชาติธรรม"

      ผลประโยชน์คือต้นตอของระบบทาส กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ว่ากลุ่มเล็กหรือใหญ่ผู้เป็นเจ้าของคือนายจ้าง ผู้รับใช้คือลูกจ้าง ถ้าเรามองผิวเผินก็คือการมีประโยชน์ร่วมกัน แต่ถ้ามองอย่างละเอียดรอบคอบ นายจ้างคือนายทาส ลูกจ้างคือลูกทาส

      ความรู้สึกของผู้ที่ได้รับเข้ามาเป็นลูกจ้างจะถือว่านายจ้างมีพระคุณใหญ่หลวง เป็นผู้อุปการคุณทำให้เขามีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ช่วยให้เขามีงานทำ ไม่ตกงาน นี่เป็นความจริงเพราะระบบสังคมต้องใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ทุกคนต้องทำงานเพื่อเงิน ระบบตรงนี้เองที่เกิดนายจ้างและลูกจ้าง และที่สำคัญคือเกิดมีระบบทาสที่ซ้อนเร้นขึ้น

       นายจ้างก็คือนายทุน เมื่อมีนายทุนก็มีลูกจ้าง เมื่อมีลูกจ้างก็มีระบบทาสทันที เมื่อมีทาสการเอารัดเอาเปรียบจึงเกิดขึ้น ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ

       สมัยก่อนไม่มีนายทุน หรือไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ ทาสก็ไม่มี เรื่อง "ลงแขก" เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ลงแขกคือร่วมแรงเพื่อบ้านมาช่วยกันทำงานให้ลุล่วงเร็วขึ้นโดยไม่รับค่าจ้าง และผลัดเปลี่ยนช่วยกันไปตามความจำเป็น เช่น ลงแขกไถนา เก็บข้าว ทำบ้าน ฯลฯ การลงแขกจึงไม่มีนายจ้าง ไม่มีนายทุน การเอารัดเอาเปรียบจึงไม่มี ระบบทาสก็ไม่มี

       ขอยกตัวอย่างนายจ้างที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนายจ้างขนาดเล็ก แม้รับเหมาก่อสร้างบ้านของชาวบ้านที่ต้องการเป็นที่อยู่อาศัยทั่ว ๆ ไป งานเล็ก ๆ ขนาดนี้ก็จริง แต่ผู้รับเหมาจัดเป็นนายจ้าง จัดเป็นนายทุน คือต้องมีทุนจึงจะดำเนินงานได้ จะได้ทุนโดยวิธีใดก็แล้วแต่ เช่นกู้จากชาวบ้านโดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละห้าบาทต่อเดือน กู้ธนาคารร้อยละ สิบหกบ้านต่อปี หรือไม่ต้องกู้แต่ทำสัญญากับเจ้าของร้านวัสดุ เอาวัสดุมาก่อนค่อยผ่อนที่หลัง ส่วนดอกเบี้ยตกลงระหว่างกันตามความเหมาะสม

      ที่มาของทุนคือภาระของนายจ้างที่ต้องแบกรับดอกเบี้ย ภาระดอกเบี้ยมาตกที่ลูกจ้างทันที ถูกนายจ้างเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งแบ่งจากส่วนกำไรของตน หากต้นทุนของการลงทุนสูง คือดอกเบี้ยสูง ลูกจ้างก็ได้รับค่าจ้างน้อยลง น้อยผู้รับเหมาที่จะยอมเหนื่อย ยอมขาดทุนหรือได้กำไรแต่น้อย เพื่อมีความเอื้ออารีกับลูกจ้าง ทั้ง ๆ ที่เขาอาจจะมีจิตสำนึกตรงนี้ แต่ภาระที่อยู่ข้างหลังเป็นตัวกำกับอีกทีหนึ่ง

      ทำไมลูกจ้างจึงต้องทำทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผลตอบแทนไม่เป็นธรรม ไม่คุ้มค่า บางครั้งเพราะไม่มีงาน บางครั้งมีข้อผูกพันกับนายจ้าง เช่น หยิบยืมเงินมาใช้ก่อนล่วงหน้า ถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้เหมาะสมหรือไม่ ถ้าพิจารณาให้ไม่มีความเหมาะสมเลย

      ขอย้อนกลับเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมอีกนิด จะเห็นว่าการลงทุนโดยวิธีใด ก็แล้วแต่ ผู้รับเหมาจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายออกมาอย่างละเอียด ต้องรู้ว่าดอกเบี้ยจากที่มาของเงิน หรือวัสดุว่ามีมูลค่าเท่าไร ต้องจ่ายค่าคนงานเท่าไร เมื่อคิดออกมาแล้วก็ตกลงราคากับเจ้าของบ้าน ราคาที่ตกลงเป็นราคาที่ผู้รับเหมาได้กำไรมากหรือน้อยตามความต้องการ ตามความเหมาะสม

       เมื่อเราพิจารณาอย่างรอบคอบเจ้าหนี้คือเสือนอนกิน แหล่งที่มาของเงินคือเสือนอนกิน
เช่น ธนาคาร นายทุนเงินกู้ทั่วไป ร้านวัสดุ โยงไปถึงผู้ผลิต ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนายทุนใหญ่ โอกาสขาดทุนน้อย เขามีเกราะคุ้มกันหลายหลาก เช่นบริษัทประกันต่าง ๆ หรือวิธีการอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นวงจรที่สอดคล้องกันทุกระบบ โอกาสที่จะขาดทุนแทบไม่มี พูดง่าย ๆ จะล้มยาก หรือล้มก็ล้มบนฟูกอย่างที่รู้กัน ล้มบนฟูกก็คือเกราะกำบังเช่นกัน นี้ก็เข้าหลักการซ้อนเร้นในรูปแบบหนึ่ง

       ผู้ใช้แรงงานคือผู้ที่ถูกกำหนดค่าจ้าง ถามว่าค่าจ้างมีความเหมาะสมหรือไม่ ใครเป็นผู้กำหนด กำหนดอย่างซ้อนเร้นหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องเที่ยงตรง ซึ่งจะขอชี้แจงรายละเอียดต่อไป แต่ก่อนอื่นขอยืนยันก่อนว่า บรรดาลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร พวกเขาทั้งหลายคือ "ทาส" ที่สรุปว่าทาส หรือเรียกให้แคบลงไปอีกคือทาสแรงงาน ทำงานให้นายจ้าง นายจ้างเอากำไรจากค่าแรงงานตรงนี้เอง ค่าแรงงานขั้นต่ำจึงกำหนดไว้ โดยเผื่อกำไรไว้สำเร็จในตัว ระบบเช่นนี้ไม่ได้ทำเพื่อการแบ่งปันที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ความถูกต้อง ความเป็นธรรมจึงไม่เกิดขึ้น นายจ้างจึงเป็นนายทาสที่แท้จริง ลูกจ้างคือลูกทาสอย่างแท้จริง

      ความซ้อนเร้นอีกอย่างหนึ่งที่จะเจียระไนให้เห็น นายทุนผู้ผลิตอาหารสัตว์ วัตถุดิบที่ซื้อจากเกษตรกร พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งอาจจะถูกกำหนดอีกครั้งจากบริษัทที่เป็นผู้ผลิต สมมุติว่าซื้อปลาป่น ผู้ซื้อคำนวณละเอียดว่าค่าขนส่งถึงโรงงานเท่าไร ไปขายให้กับบริษัทในราคาเท่าไร จากนั้นต่อรอง หรือกำหนดราคาจากเรืออวนลาก คนที่มีสินค้าในมือแทบไม่มีโอกาสกำหนดราคาเอง หากสู้น้ำมันไม่ไหวก็หยุดกันไปเอง วัตถุดิบอื่น ๆ ก็เช่นกัน เช่น ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ นี่คือเรื่องจริงเห็นตัวอย่างกันอยู่เสมอ

      เมื่อโรงงานผลิตอาหารสัตว์เสร็จ โรงงานก็จะเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งแน่นอนไม่มีโอกาสที่จะขาดทุน

      เมื่อเกษตรกรเลียงสัตว์ ไม่ว่ากุ้ง ปลา หมู ไก่ ฯลฯ ได้ผลผลิตพร้อมที่จะจำหน่าย เกษตรกรก็ไม่มีโอกาสได้กำหนดราคา ว่าลงทุนอาหารเท่านี้ ค่าแรงงานเท่านี้ ราคาที่ควรจำหน่ายเท่านั้นเท่านี้ กลับเป็นพ่อค้าคนกลางกำหนดราคาอีกเช่นเดิม ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นกับเกษตรกร โอกาสขาดทุนมีมากกว่ากำไร ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจึงเป็นทาสรับใช้นายทุนอย่างไม่รู้จักจบสิ้น การอยู่ในระบบนี้จึงหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ หรือมีบ้างก็เพียงบางกลุ่มการอยู่อย่าง "ธรรมชาติธรรม" เท่านั้น ที่จะร่วมทุกข์ ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง

      ขอยกกลอนสอนศิษย์ เนื้อความยังติดอยู่ที่ความเป็นธรรมของแรงงาน แต่หากเข้าสู่ระบบ "ธรรมชาติธรรม" เราไม่มีลูกจ้าง เราไม่มีนายทุน

      เราเกิดมาต่างพาถ้อยอาศัย
หากว่าใครเดียวดายไร้สุขสันต์
ผมเก่งอย่างคุณเก่งอย่างแตกต่างกัน
ควรแบ่งบันเทียมเท่าจงเข้าใจ

      สมมุติคุณนายธนาคารกอปรการกิจ
นั่งออฟฟิศดูสง่าหน้าสดใส
ผมภารโรงธนาคารของคุณไง
ผ่านปีไปเทียบเงินตราค่าตอบแทน

      ผมรวมรับเงินเดือนเรือนแสนเก้า
ส่วนคุณเล่าเงินเดือนเรือนเก้าแสน
ตลอดปีผมเศร้ากระเป๋าแบน
คุณยิ้มแป้นสบายใจไร้กังวล

      ผมทำงานแทนคุณคงวุ่นแน่
คุณคงแย่ทำงานด้านแบกขน
ผมก็หนักคุณก็เมื่อยเหนื่อยเหลือทน
อาจไม่พ้นเสียหายให้องค์กร

      ด้วยหลักที่แท้จริงงานทุกงานมีความสำคัญเท่ากัน ที่พูดเช่นนี้เพราะความสามารถในการทำงานไม่เหมือนกัน งานบางประเภทใช้แรงงาน งานบางประเภทใช้ความรู้ ใช้ความคิด
จะไปตีค่าว่างานที่ใช้ความรู้มีค่าสูงกว่าก็คงไม่ถูกต้องนัก ยกตัวอย่าง งานก่อสร้าง งานก่อสร้างประกอบด้วยช่างหลายช่าง ช่างปูน ช่างไม้ ช่างสี ช่างปูกระเบื้อง ช่างเหล็ก ช่างไฟฟ้า จัดทำม่าน จัดสวน ฯลฯ ขาดผู้ชำนาญใดชำนาญหนึ่งงานก็ไม่เดิน งานไม่สมบูรณ์ อย่ามองข้ามคนงานที่ผสมปูน หิ้วปูนเป็นอันขาด ทุกงานมีความสำคัญเท่ากัน คนที่รับเหมาจบวิศวกรรมการก่อสร้าง คือผู้ที่มีความรู้ด้านวิชาการ ไม่ต้องใช้แรงงาน แต่หากรับเหมางานได้แล้ว ไม่มีคนงานตามช่างต่าง ๆ ที่กล่าวมา ก็ไม่สามารถจะดำเนินงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้งานทุกงานจึงมีความสำคัญ เท่า ๆ กัน

      ขอยกกลอนสอนศิษย์เสริม อย่างไรก็ดีเมื่อเราเข้าสู่ระบบ "ธรรมชาติธรรม" เราจะไม่มีนายทาส ลูกทาส เราอยู่อย่างธรรมดา อยู่อย่างธรรมชาติ ซึ่งเป็นความสงบสุขที่แท้จริง

      งานทุกงานประสานไปคล้ายกลจักร
ตอนใดหักร้าวสะปั้นนั้นเดือดร้อน
เครื่องยนต์หยุดทำงานนั้นแน่นอน
ขาดวงจรตอนใดไม่ทำการ

     มาระบบอวัยวะของมนุษย์
เปรียบประดุจเครื่องจักรประสมประสาน
ต่างระบบต่างกิจกรรมต่างทำงาน
แบ่งเป็นด้านเป็นฝ่ายมากมายมี

     ทุกระบบสัมพันธ์กันใกล้ชิด
ภารกิจร่วมฉันท์น้องพี่
ระบบงานสัมพันธ์กันด้วยดี
เป็นอย่างนี้ไม่ยากเย็นเป็นธรรมดา

      แต่หากว่าระบบใดเสื่อมสลาย
อันตรายทุกระบบพบปัญหา
ค่อยเร่งเสื่อมเร่งทรุดผุดตามมา
มิเนิ่นช้าล่มสลายตายแน่เชียว

      ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา บวกกับคุณธรรม แล้วเราต้อง ยอมรับและผ่อนผัน ผ่อนสั้น ผ่อนยาวกันได้ ทุกชีวิตต่างก็เกิดมาเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเราผ่อนผันกันได้เราเริ่มเดิมเข้าสู่ธรรมชาติธรรม เมื่อถึงขั้นสุดเรามาอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน

      ขอตั้งคำถามอีกประเด็นว่า คนรวย กับคนจนมีความต้องการอาหารเหมือนกันหรือไม่ คำตอบก็คือเหมือนกัน คือมนุษย์เราต้องบริโภคอาหารตามหลัก และครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ถ้าพูดกันจริง ๆ ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมในการกินอาหาร ต้องไม่มีเพื่อนมนุษย์บนโลกคนใดที่ต้องขาดแคลน อดอยากในเรื่องอาหาร ถ้าอดอยาก ถ้าขาดแคลนก็ต้องเหมือนกัน ด้วยสาเหตุเดียวกัน นี่คือความเป็นธรรมในสังคม ถามว่าสังคมของมนุษย์มีสิ่งนี้หรือยัง ตอบว่ายัง และยิ่งเกิดช่องว่างห่างไปเรื่อย ๆ หากเราอยู่ในสังคมที่แข่งขันด้านธุรกิจ แข่งขันด้านวัตถุ

      ขอตั้งคำถามที่เกี่ยวกับการกินอยู่อีกประเด็นหนึ่ง คือ คนรวย กับคนจนกินเนื้อหมูในราคาเท่ากันหรือไม่ คำตอบก็คือเท่ากัน วันนี้หมู่เนื้อแดงราคา 120 บาท มหาเศรษฐีซื้อก็ราคา 120 บาท ตาสีตาสาซื้อก็ราคา 120 บาท

      ที่ยกมาสองประเด็นคือ ทั้งคนจนคนรวยต่างก็ต้องการอาหารเหมือนกัน และราคาเดียวกัน หากคนจนถูกกดขี่ อยู่อย่างลูกทาส สังคมปฏิบัติถูกต้องแล้วยัง สังคมมีความเป็นธรรมแล้วยัง เมื่อเราอยู่อย่างมีสุขบนความทุกข์ของคนอื่น ถามว่า เราคือใคร เราคืออะไร
เมื่อมีคำตอบ สักวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีเพราะเราต่างมุ่งสู่ระบบการเป็นอยู่อย่าง "ธรรมชาติธรรม"

      ขอยกกลอนสอนศิษย์ ประกอบ

      ปัจจัยสี่เรื่องใหญ่ในชีวิต
ใช่เรื่องนิดเรื่องใหญ่ใคร่แถลง
โดยเฉพาะอาหารการต้มแกง
แม้ถูกแพงต้องมีใช้ได้มีกิน

      ใช่แบ่งชั้นวรรณะค่าครองชีพ
ถึงปากกัดตีนถีบก็ต้องดิ้น
จะถูกแพงจำใจจ่ายใช้ชาชิน
แม้เป็นหนี้มีสินเสาะกินกัน

      เห็นเหตุผลต้นสายทั้งปลายเหตุ
คงเบิกเนตรใส่สว่างทางสวรรค์
คงซาบซึ้งตรึงจิตคิดแบ่งปัน
ความเท่าทันเสมอภาคฝากสังคม

      หยุดกดขี่คนบริการอยู่ฐานล่าง
ยกลูกจ้างเคียงนายให้เหมาะสม
มองแรงงานเห็นค่าน่าชื่นชม
เร่งคลายปมเอาเปรียบโดยเฉียบไว

      เห็นเพื่อนยากเพื่อนทุกข์สุขที่เกิด
แสนประเสริฐลบโศกโลกไสว
เห็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากจากจริงใจ
ความเป็นไทคืนมนุษย์สุดเปรมปรีดิ์

     มองทางไหนเห็นใครก็ยิ้มแย้ม
จิตใจแจ่มดูสง่าสมราศี
ทุกมุมเมืองรู้รักสามัคคี
หยุดกดขี่ทุกระบบอย่างครบครัน

     ต่างอ้าปากลืมตาเมื่อฟ้าเปิด
สัตว์ประเสริฐรู้ซึ้งถึงสวรรค์
ต่างเห็นเดือนเห็นดาราเห็นตะวัน
ขอความฝันเป็นจริงทุกสิ่งเอย

      เมื่อเรายึดหลักการอยู่ร่วมแบบ "ธรรมชาติธรรม" สิ่งเหล่านี้จะไม่มี เพราะเรากินอย่างพอเพียง เราช่วยกันทำแบ่งกันกิน เราไม่ธุรกิจ เราไม่มีนายจ้าง เราไม่มีลูกจ้าง ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ยึดธรรมะแทนกฎหมาย รัฐบาลยึดนโยบายอย่างประชาชน พรรครัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่คือพรรคของประชาชน

     คนของรัฐบาลได้เปิบข้าวหอมมะลิจากประชาชนของท่าน รัฐบาลหาทางคิดค้นพันธุ์ข้าวมะลิที่ดีที่สุดของโลก รัฐบาลจัดระบบน้ำให้ราษฎรปลูกพืชผล คนของรัฐได้กินพืชผลจากราษฎร คนในหมู่บ้านได้เปิบข้าวหอมมะลิอย่างคนของรัฐ คนในหมู่บ้านที่ถูกจัดเป็นโซนอย่างมีระบบได้รับประทานผลไม้ปลอดสารพิษเหมือนกับคนของรัฐทุกคน ระบบดี ๆ ต่าง ๆ จะตามมา เพราะความฝันอันสูงสุดคือ การอยู่ร่วมของมวลมนุษยชาติอย่างสันติสุข และยั่งยืน ตามวิถีทางของธรรมชาติธรรม

      ขอยกบทกลอนสอนศิษย์ ประกอบ

      เอาวัตถุวัดค่าคนตั้งต้นผิด
มีความคิดไกลกว่าสมัยหิน
หากความคิดจิตใจไร้ศาสตร์ศิลป์
เมืองพังภินท์ขาดธรรมะมาค้ำจุน

      ค่านิยมเงินทองคือกองกิเลส
ต้นตอเหตุแข่งขันกันว้าวุ่น
ท่าทางดีใจบาปคราบนักบุญ
ล้วนกองทุนทำลายร้ายอนันต์

      ลูกหลานเหลนทำอย่างแนวทางชั่ว
ฤๅรู้ตัวต่างเห็นเป็นสวรรค์
ดังโดมิโนลุกลามติดตามกัน
คอยเร่งวันโสมมสังคมทราม

      เห็นคนจนจ้องตีนปีนขึ้นหัว
เยี่ยงเขาชั่วเขาชังตั้งเหยียดหยาม
ไร้ศึกษาโง่งมสมรูปนาม
ใคร่จะถามมึงเกียจคร้านการทำไม

      นั่งงอมืองอเท้าแทบเช้าค่ำ
นอนขนำท้องนาป่าท้องไร่
มึงข้นแค้นแสนเข็ญเห็นแก่ใจ
รู้ยากไร้ทั้งปีไม่มีกิน

      สมองมีมิได้ใช้ความคิด
สร้างการกิจคิดเติมเพิ่มทรัพย์สิน
พวกนรกรกสังคมเหยียบจมดิน
ชวนหยามหมิ่นน่าชังพวกซังตาย

      ผมจะบอกให้รู้หูตาสว่าง
ชนชั้นล่างต่างดิ้นรนต่างขวนขวาย
อุปสรรคหลายหลากมีมากมาย
ฤๅเบาคลายยิ่งเพิ่มซ้ำเติมเรา


     เปรียบชาวนากระดูกสันหลังของชาติ
โอ้อนาถคิดไปใจแสนเศร้า
เมื่อยกระดูกทุกเวลามิซาเพลา
มันผุแล้วผุเล่าจงเข้าใจ

     น้ำมันแพงแรงทำนามันล้าลด
ต้องหยุดรถหยุดการเรื่องหว่านไถ
ปุ๋ยก็แพงเวรกรรมร่ำเรื่อยไป
ช่องกำไรล้างหนี้ไม่มีเลย

     ยิ่งเช่านาเขาทำกรรมซ้ำสอง
จักคอยต้องจ่ายเช่าเจ้าคุณเอ๋ย
เงินสำรองหดเหี้ยนเตียนดังเคย
นอนมือเกยหน้าผากยากยอมทน

     ผลผลิตปีนี้ดีเหลือคุ้ม
ถูกมรสุมรุมปลิดผลิตผล
ถูกน้ำท่วมจมเน่าเข้าตาจน
หลีกไม่พ้นขาดทุนตามบุญกรรม

     มีไหมใครดูแลแก้ปัญหา
คนพึ่งพาเช้าสายบ่ายกึ่งค่ำ
เอาใจใส่เป็นนิจเป็นกิจกรรม
คอยอุปถัมภ์ช่วยเหลือเข้าเจือจุน

     แทนหยาดเหงื่อเผื่อพึ่งถึงปากท้อง
ทุนสำรองครอบครัวส่งเกื้อหนุน
เสริมสินทรัพย์เงินทองกองเป็นทุน
ส่งผลบุญลูกหลานกอปรการดี

     ยิ่งอดอยากปากแห้งให้แหว่งวิ่น
นับอาจิณถาวรนอนกอดหนี้
ต่างดิ้นรนค้นแค้นแสนทวี
ตลอดปีตลอดชาติออนาถครัน

     คุณเปิบข้าวหอมมะลิซิใจชื่น
รสระรื่นรวยรินกลิ่นสวรรค์
อิ่มเอมเกษมสุขกันทุกวัน
ผลิตภัณฑ์หยาดเหงื่ออยู่เหนือจาน

     กว่ามาเป็นเม็ดข้าวขาวสะอาด
ลองนึกวาดภาพชาวนาน่าสงสาร
กระดูกสันหลังแม้ผุพังยังบริการ
ทรมานทนทำจากจำเป็น

     ในสังคมที่เรากำลังเดินหน้าด้วยความลุ่มหลง คิดว่านี้คือหนทางแห่งความสุข การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เหยียบย่ำ เห็นผู้แพ้ผู้ชะนะ แล้วมีความสบายใจ นึกกระหยิ่มยิ้มย่อง นึกลำพองตัวเองว่าตัวเรามีความเหนือกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า จนมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะทะเยอทะยานหวังได้เปรียบไม่มีสิ้นสุด จนบ้างครั้งเราลืมนึกไปว่า คนจนก็กินไก่ที่มีสารพิษตกค้าง เราคนรวยอย่างตัวเองก็กินไก่มีสารพิษตกค้าง ที่พูดเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า เราแข่งขันกันจนไม่รู้บาปบุญคุณโทษอะไรเลย ไม่มองหน้า มองหลัง ไม่ได้วิเคราะห์ ไม่ได้พิจารณา สิ่งที่ได้ตอบแทนจึงไม่มีค่าอะไรเลย มิหนำซ้ำยังเป็นพิษเป็นภัยกับตัวเอง และสังคม

      บางครั้งเราทำตัวของเราให้ตกเป็นทาส ยกตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด เช่น ทาสยาเสพติด ทาสสุรา ทาสการพนัน เราไปรับใช้มัน ตกในอำนาจของมัน ลงผลสุดท้ายก็เหมือนกับถูกบีบบังคับให้ทำตาม เราจึงเรียกว่าเป็นทาสของสิ่งนั้น ๆ ตัวอย่างจากที่พบเห็นจริงต่อไปนี้ขอได้ใคร่ครวญพิจารณาในบางส่วน แล้วลองสรุปดูว่า จะตกอยู่ในลักษณะของทาสได้หรือไม่

     ขอยกตัวอย่างที่ผู้เขียนเห็นชีวิตจริงของบุคคล มีแม่ค้าคนหนึ่งเป็นเจ้าของร้านขายอุปกรณ์การประมง ในตัวเมืองของจังหวัด ขายมาตั้งแต่อายุ 15 ปี บัดนี้อายุย่างเข้า 85 ปี ก็ยังขายอยู่อย่างเดิม กิจการรุ่งเรืองมาตลอด มีเงินฝากหลายสิบล้าน

     เนื่องจากมีลูกค้ามากต้องเปิดบริการในวันอาทิตย์ด้วย ตลอดช่วงชีวิตที่เป็นแม้ค้าแทบไม่ได้พักผ่อนเลย ปิดร้านเพื่องานพิเศษ หรือกิจธุระของตนเองเกือบจะนับวันได้ ถามว่าเขามีความสุขกับงานหรือไม่ อาจจะตอบว่ามีความสุขเพราะประสบความสำเร็จ การปฏิบัติตนเช่นนี้เป็นทาสเงินหรือไม่ ถามต่อไปว่าเงินทองที่สะสมไว้คุ้มค่ากับชีวิตแล้วยัง คำถามสุดท้าย "เราเกิดมาทำไม" คำถามสุดท้ายตอบยากที่สุด แต่หากเราเข้าใจ "ธรรมชาติธรรม" คำตอบก็ค่อยกระจ่างขึ้น และตอบง่ายที่สุด

     ขอยกอีกตัวอย่าง ที่ผู้เขียนได้เห็นจากสภาพความจริงในชีวิตอีกเรื่อง นายแพทย์ท่านหนึ่งมีชื่อเสียงในการรักษาผู้ป่วย ทำงานที่โรงพยาบาลของรัฐ นอกเวลาราชการเปิดคลินิกเป็นส่วนตัว หลังจากเกษียณก็ยังเปิดคลินิกต่อ ขณะนี้อายุย่าง 80 ปีก็ยังสู้งานไม่ถอย หันไปมองเรือนร่างของคุณหมอ จะพบว่าแขนของท่านลีบเล็ก ผิวของท่านขาวผุดผ่องเพราะไม่เคยต้องแดดเลยก็ว่าได้ ท่านมีเงินมีทองมากมาย ในแง่อุทิศเวลาเพื่อคนป่วยถือว่าเป็นเยี่ยมถามว่าการทำงานอยู่เช่นนี้ถูกต้องมากน้อยเพียงใด หรือคุณหมอไปติดกับทาสเงิน

      อย่างเพิ่งคิดว่าหน่วยงานใดที่จ่ายค่าจ้าง หรือเงินเดือนสูงเป็นสิ่งที่ดี เรามองว่าดีในส่วนของผู้ได้เข้าทำงานในหน่วยงานนี้เท่านั้น การที่หน่วยงานสามารถจ่ายเงินค่าตอบแทนสูง ก็สืบเนื่องจากผลกำไร ผลกำไรเหล่านั้นได้มากจากผู้บริโภคนั้นเอง ดังนั้นภาระที่หนักคือผู้ใช้บริการ หรือผู้บริโภค ถ้าลดค่าจ้างของพนักงานหน่วยงานเหล่านี้ จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการ หรือผู้บริโภคมีความเป็นธรรมมากขึ้น จะเห็นว่า หน่วยงาน องค์กร หรือ บริษัท ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้บริการ ผู้บริโภคทั้งหมด เช่น ไฟฟ้า บริษัทด้านพลังงาน อาหาร ฯลฯ หากเรามองให้ลึกซึ้ง จะพบว่า คนส่วนใหญ่ จะอยู่ในฐานะเป็นทาสรับใช้อย่างซ่อนเร้น ขอชี้แจงเป็นข้อมูลเบื้องต้นไว้ก่อน จะนำเรื่องนี้เขียนให้ละเอียดในเรื่องนี้เฉพาะอีกครั้ง

     การใช้ระบบเงินผ่อนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เมื่อสี่สิบก่อนเราต่อต้านเงินเชื่อ ปัจจุบันถูกปั่นให้เห็นคุณค่าของเงินเชื่อ วงการธุรกิจคิดแบบสินเชื่อให้หลากหลาย และธุรกิจประเภทนี้มีเพิ่มเหมือนดอกเห็ด ผู้ใช้ระบบสินเชื่อได้สิ่งที่ปรารถนาอย่างทันอกทันใจ ธุรกิจที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงรุ่งเรื่องมากในระบบที่มีการแข่งขันด้านธุรกิจ การหลงค่านิยมวัตถุ ผู้ที่ติดในบ่วงของสินเชื่อต้องทำงานตัวเป็นเกลียว ก็ไม่ผิดอะไรกับทาสแรงงาน เพราะเขาเอากำไรจากลูกค้า และเป็นกำไรก้อนโตเสียด้วย เป็นการซ้อนเร้นระบบทาสแรงงานอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร กลุ่มนานทุนเท่านั้นที่นั่งสุขสบาย เขาเอาเงินจากน้ำพักน้ำแรงของลูกหนี้ไปบำเรอความต้องการ ซึ่งเป็นผลพวงให้ผลักดันทำธุรกิจประเภทฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ตามมาอีก ล้วนเพิ่มการทำลายธรรมชาติเกินความจำเป็น เพิ่มภาวะโลกร้อน เพิ่มสารเคมีในน้ำ ในอากาศ ในดิน อันส่งผลต่อระบบของธรรมชาติ และสร้างมลพิษให้เกิดกับโลกอย่างไม่จบสิ้น

      ผู้เขียนเองก็ยังตกอยู่ในวังวนของระบบเงินผ่อน และมีจำนวนที่ยังอึดอัดใจพอสมควร
คิดว่าเกษียณราชการจึงจะหมดหนี้สิน นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีความคิดผลักดัน เรื่อง "ธรรมชาติธรรม" เพื่อแก้ปัญหาที่จะตามมากับลูกหลานของเรา ตั้งใจอย่างแน่วแน่เพื่อความสุขของคนรุ่นหลัง

      จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการแสดงเหตุผลให้พิจารณา ท่านอาจจะฟังไม่ขึ้น หรือท่านมีแนวคิดอย่างไรบ้าง กรุณาแสดงความคิดเห็น ไปยังธรรมชาติธรรม ขอกราบขอบพระคุณอย่างยิ่ง