บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อย ที่ 11, ตุลาคม, 2558, 11:56:31 AM



หัวข้อ: กบในหม้อน้ำ โดยคุณ วินทร์ เลียววาริณ
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อย ที่ 11, ตุลาคม, 2558, 11:56:31 AM

(http://upic.me/i/ko/thinking-frog-in-hot-water-2.png) (http://upic.me/show/56952194)

                  กบในหม้อน้ำ

สิงโตออกคำสั่งให้สัตว์ทั้งหลายในป่ามาเล่าเรื่องขำขันกัน
เจ้าป่าประกาศว่า สัตว์แต่ละตัวต้องเล่าขำขันหนึ่งเรื่อง
ถ้ามีสัตว์ผู้ฟังแม้ตัวเดียวที่ไม่หัวเราะ แสดงว่าขำขันเรื่องนั้นสอบไม่ผ่าน
ผู้เล่าจะถูกสิงโตฆ่าตาย โทษฐานไม่ขำ

ลิงเป็นตัวแรกที่ลุกขึ้นเล่า ขำขันของลิงตลกมากจนสัตว์ทุกตัวหัวเราะงอหาย
ยกเว้นเต่าซึ่งมองลิงด้วยความงง สายตาไม่มีแววขำเลยสักนิด
ดังนั้นสิงโตจึงฆ่าลิงเสีย โทษฐานเล่าเรื่องไม่ตลก

ม้าลายเป็นรายถัดไป พอมันเล่าเรื่องจบ สัตว์ทั้งหลายก็โพล่งหัวเราะด้วยความขบขันอย่างยิ่ง
ขำขันของม้าลายยอดเยี่ยมมาก แต่กระนั้นเต่าก็ยังไม่เห็นว่าเรื่องนั้นขำ สิงโตจึงฆ่าม้าลายเสีย

นักเล่ารายต่อไปคือยีราฟ แก๊กของมันตลกมากเช่นกัน แต่กระนั้นมันก็หนีไม่พ้นความตาย
เพราะดูเหมือนมาตรฐานความขำของเต่าสูงเกินไป

กวางเป็นนักเล่าตัวถัดมา มันเล่าเรื่องขำขันที่ครอบครัวของมันเล่าต่อกันมาหลายชั่วรุ่นแล้ว
ทุกครั้งที่เล่าก็ขำกันทั้งวงไม่เคยพลาด แต่กวางก็ไม่รอด เพราะเต่าไม่ขำเลยสักนิด

รายต่อไปคือกระรอก มันเล่าขำขันของมันไปไม่ทันจบเรื่อง
เต่าก็โพล่งหัวเราะออกมาด้วยความขบขันเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายมองตากันด้วยความงุนงง
เพราะเรื่องที่กระรอกเล่ายังไม่จบและยังไม่ถึงจุดตลก แลเห็นเต่าหัวเราะขำกลิ้ง
ร้องว่า “โอ้ย! สุดยอด! ขำมาก ขำจริงๆ...”

สิงโตถามเต่าว่า “ขำอะไรวะ? กระรอกยังเล่าไม่จบเลย”

เต่าตอบว่า “โอ้ย! ขำขันของลิงนี่ขำจริงๆ!”

เรื่องข้างต้นนี้น่าจะเข้าข่าย ‘ตลกโหด’ เพราะความรู้สึกช้าของเต่าทำให้เพื่อนสัตว์ตายไปหลายตัว
แต่ในโลกของความจริง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ บ่อยครั้งความรู้สึกช้าของบางคน
หรือบางองค์กรก็ทำให้มีคนตายและหรือองค์กรล้มได้เช่นกัน!

เราคงเคยได้ยินเรื่องของพนักงานที่ทำงานดี ขยัน ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา แต่จู่ๆ ก็ตกงาน
เพราะใครคนนั้นมีความรู้สึกช้า ตามความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกไม่ทัน
ยังมีวิธีคิดและทำงานแบบเดิมอยู่ เช่นกัน องค์กรจำนวนมากทั้งเล็กและใหญ่ล้มครืน
เพราะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

เพียงยี่สิบปีที่ผ่านมา เราพบเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ
ยกตัวอย่างเช่น ฟลอปปีดิสก์ขนาด 8 นิ้วถูกแทนที่ด้วยฟลอปปีดิสก์ขนาด 5¼ นิ้ว
ซึ่งก็ถูกแทนที่ด้วยฟลอปปีดิสก์ขนาด 3½ นิ้ว แล้วฟลอปปีดิสก์ทั้งหมดก็สูญพันธุ์

เมื่อเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาแทนที่อนาล็อก บริษัทฟิล์มถ่ายรูปบางแห่งสามารถปรับตัวทำกล้องดิจิตัล
ที่ปรับตัวไม่ทันก็สูญพันธุ์ไป

เราเปรียบคนที่รู้สึกตัวช้าเหมือนกบที่ถูกจับใส่ในหม้อน้ำบนเตาไฟ
ถ้าน้ำในหม้อเดือดปุด ๆ กบจะสะดุ้งแล้วกระโจนหนีออกไปทันท่วงที
แต่หากใส่กบในหม้อน้ำเย็นปกติ แล้วค่อยๆ ติดไฟอ่อนๆ กบจะยังคงรู้สึกสบายในหม้อน้ำ
กว่าจะรู้ว่าน้ำเดือด ก็อาจกลายเป็นกบสุกไปแล้ว

มองไปรอบตัว ทั้งปัจเจกและองค์กรจำนวนมากเป็นเช่นกบในหม้อน้ำที่ติดไฟอ่อน ๆ
องค์กรหลายแห่งเป็นอย่างนี้ เมื่อยอดขายยังดีอยู่ ก็ไม่คิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร
รู้ตัวอีกทีก็ถูกบังคับให้ปิดกิจการเสียแล้ว แม้แต่ในระดับรัฐบาลหรือประเทศก็เช่นกัน
สภาวะรัฐล้มเหลวจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ ว่าก็ว่าเถอะ
เราเสียกรุงครั้งที่สองก็เพราะความรู้สึกช้าไม่ใช่หรือ?

การทำงานดีอย่างเดียวจึงไม่พอ สินค้าและบริการดีอย่างเดียว ก็ไม่พอ
ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติล้นเหลือก็ยังไม่พอ ต้องมีวิสัยทัศน์ด้วย
รู้ว่าโลกภายนอกเปลี่ยนไปอย่างไร และเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนั้น
ถ้าทำตัวเป็นเต่าขำช้าหรือกบที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ก็อาจเดือดร้อน
และที่สำคัญ ยิ่งรู้สึกตัวช้ายิ่งจ่ายราคาแพง

ความรู้สึกช้ามักเกิดจาก ‘ความชาด้าน’ สิ่งที่ทำให้ชาด้านจนรู้สึกตัวช้ามีหลายอย่าง เช่น
ความสุขสบายทางกาย ความมั่นคงของตำแหน่งการงาน รายได้ที่มาอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
ทำให้เชื่อว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว แต่ทุกคนตกงานได้เสมอ ทุกองค์กรล้มได้เสมอ ใครประมาทก็ตายก่อน

นี่เป็นโลกของการแข่งขัน มันเป็นไฟท์บังคับ ไม่ว่าชอบหรือไม่ก็ตาม เราถูกบังคับให้ต้องแข่งขันโดยอัตโนมัติ

โชคดีที่ความรู้สึกช้ารักษาได้ หลักการง่าย ๆ คือไม่ประมาท และมีวิสัยทัศน์

ไม่ประมาทคือเตรียมตัวให้พร้อม ทันโลก อัพเกรดตัวเอง ทำให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

มีวิสัยทัศน์คือมองกว้างมองไกล อ่านสถานการณ์ออก แม้ในช่วงที่เหตุการณ์ทุกอย่างเป็นปกติอย่างที่สุด

แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ!

คนจำนวนมากตกงานตอนแก่เพราะใจเย็น คิดว่าไม่เป็นไร งานมั่นคงแล้ว
เราซื่อสัตย์กับองค์กรมาโดยตลอด ตัวเองปลอดภัยแล้ว ไม่เคยคิดอัพเกรดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง
ไม่เคยเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมา

องค์กรและประเทศที่ประสบความสำเร็จในโลกคือพวกที่มองไกลออกไปนับ 20-50 ปี
บางประเทศวางรากฐานการศึกษาล่วงหน้าหลายสิบปี สร้างโครงสร้างพื้นฐานรอไว้ก่อน
นี่คือวิสัยทัศน์หรือการมองการณ์ไกล ที่เรียกหรูๆ ว่า vision

องค์กรชั้นนำทุ่มทรัพยากรไปกับการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำรอไว้ก่อน
เมื่อความจำเป็นมาถึง ก็เป็นรายแรกที่สามารถตอบสนองความต้องการนั้น

สิงคโปร์สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่สมัยที่การจราจรยังไม่ติดขัด
ขยายสนามบินตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีความจำเป็น สร้างแคมปัสใหม่ ๆ
เชื่อมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ให้ทุนเด็กเก่งๆ จากทุกประเทศแล้วมอบสถานะพลเมืองให้ ฯลฯ
ทั้งนี้เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงต้องคิดไกลไว้ก่อน

อิสราเอลซึ่งตั้งอยู่กลางดงศัตรูต้องมีแผนล่วงหน้ารับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงทุกเมื่อ
ทั้งการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ

พวกที่ประมาทคือพวกที่รอจนเกิดปัญหาค่อยแก้ไข เช่น รู้ว่าทุกปีน้ำหลาก
ก็รอจนน้ำมาก่อน แล้วค่อยแก้ไปทีละปี มีป่าก็ตัดไปเรื่อยๆ โดยไม่มองไปไกลๆ ว่า
หากไม่มีป่า มันจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศอย่างไร

ในสเกลใหญ่ระดับโลก หลายประเทศยังแกล้งปิดตาตัวเองบอกว่าโลกร้อนเป็นเรื่องโกหก
เพียงเพราะไม่ต้องการเสียเงินแก้ไขปัญหาของวันนี้ โดยไม่มองไปไกลๆ ว่า
เมื่อสิ่งแวดล้อมของโลกจุดใดจุดหนึ่งถูกทำลาย โลกทั้งใบจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน
และราคาของการแก้ไขปัญหาในวันนั้นจะแพงกว่าวันนี้หลายสิบเท่า หรืออาจแก้ไขไม่ได้เลย

ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังมี vision แค่ไม่กี่ปีข้างหน้า โลกเรามีคนกลุ่มหนึ่งที่มองไกลออกไปนับร้อยๆ ปี
ยกตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์-นักเขียน อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก สมัยที่ยังหนุ่ม
เขามองไกลเห็นโลกที่สื่อสารด้วยดาวเทียม และมันกลายเป็นจริง
เขามองเห็นการส่งยานไปลงดวงจันทร์ มันก็กลายเป็นจริง

ในบทที่ 9 ของนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง 2001 : A Space Odyssey
ที่คลาร์กเขียนในปี 1964 เขาบรรยายอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ตัวละคร
ดร. เฮย์วูด ฟลอยด์ ใช้ เรียกว่า Newspad มันก็คือไอแพดนั่นเอง!

ยังมีวิสัยทัศน์ของคลาร์กที่ยังไม่กลายเป็นความจริงอีกมากมาย เช่น ‘เครื่องบินอวกาศ’
เครื่องบินพาณิชย์ที่ใช้เวลาเดินทางสั้นมาก เพราะทะยานขึ้นชั้นอวกาศแล้วร่อนลงไปที่จุดหมาย
เราสามารถบินจากกรุงเทพฯไปอังกฤษราวสองชั่วโมง, การทำเหมืองจากทะเลและดาวเคราะห์น้อย,
เทคโนโลยีควบคุมดินฟ้าอากาศ, ลิฟต์อวกาศ, เครื่องแปลภาษาสัตว์ ฯลฯ

เราอาจรู้สึกว่าคนพวกนี้ “คิดไกลไปหรือเปล่า?” แต่หากปราศจากวิสัยทัศน์ไกลตัวเหล่านั้น
ป่านนี้มนุษย์เราก็ยังถือขวานหินล่าสัตว์อยู่

แน่ละ ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสามารถมองเห็นอนาคตไกลขนาดนี้ได้ สำหรับปัจเจกอย่างเราๆ
เพียงแค่ไม่ประมาทและถ่างตาออกกว้าง ก็ช่วยได้มากแล้ว

โลกของกบในหม้อน้ำล้อมรอบด้วยกำแพง มองไม่เห็นโลกภายนอก
แต่หากกบตัวนั้นปรับปรุงความรู้สึกตัวเองให้ไวขึ้น
ก็จะสามารถสัมผัสความแตกต่างของอุณหภูมิในหม้อ
และกระโดดหนีทันท่วงทีก่อนที่จะถูกต้มสุก

ขอบคุณบทความจากคุณ

วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

21 มิถุนายน 2557



หัวข้อ: Re: กบในหม้อน้ำ โดยคุณ วินทร์ เลียววารินทร์
เริ่มหัวข้อโดย: Orion264(มือขวา) ที่ 11, ตุลาคม, 2558, 05:45:26 PM



ได้อ่านนิทานแล้วทีแรกผมคิดว่าเต่ามันคงฉลาดไม่ยอมหัวเราะเพื่อให้สิงโตได้กินสัตว์ตัวอื่นๆ

จนอิ่มไปก่อนแล้วตัวมันเองก็จะรอดแต่....คิดผิด   :a016:

ส่วนทฤษฎีกบในหม้อน้ำที่ฝรั่งคิดค้นขึ้นมานี้

ผมมีความคิดว่าสามารถอธิบายสำนวนไทยที่ว่า น้ำร้อนปลาเป็นน้ำเย็นปลาตาย ได้ดี ทำให้มองเห็นภาพได้ชัด


 :049: :049: