บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: Black Sword ที่ 07, เมษายน, 2563, 03:51:58 PM



หัวข้อ: ตำนานสามปลา : โดยคุณวินทร์ เลียววาริณ
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 07, เมษายน, 2563, 03:51:58 PM
(https://i.ibb.co/Mh7qkVL/image.png) (https://imgbb.com/)


-  ำ  ตอน ตำนานสามปลา -

-----------------------------------------------

-1-


ปลาตะเพียนสานเป็นงานฝีมือที่ใช้ใบลานตากแดดทำเป็นเส้นยาว ๆ
สานเป็นรูปปลาตะเพียน  แล้วลงสีให้สวยงาม

ช่างทำปลาตะเพียนสานสองแบบ  แบบเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย  สำหรับชาวบ้าน
และแบบวาดลวดลายบนตัวปลาสำหรับคนมีฐานะ

ต่างจากงานจักสานทั่วไป  ปลาตะเพียนสานมีความหมายเชิงสัญลักษณ์

เมืองไทยอุดมสมบูรณ์
ในคลองและแม่น้ำอุดมด้วยปลาตะเพียนซึ่งโตเต็มที่ช่วงเดียวกับข้าวตกรวง
ปลาตะเพียนสานจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์  ฐานะร่ำรวย
เงินทองไหลมาเทมา  มั่งมีศรีสุข  ทำมาค้าขึ้น

บางคนก็ใช้ปลาเป็นเครื่องราง  เพื่อให้การค้าขายสำเร็จ
โดยตัดแผ่นโลหะทองและเงินเป็นรูปปลาตะเพียน
ตัวหนึ่งเป็นปลาตะเพียนทอง  ตัวหนึ่งเป็นปลาตะเพียนเงิน
ลงอักขระเมตตามหานิยม  ติดตามร้านค้า  หาบเร่  คล้ายนางกวักหรือแมวกวัก

ปลาตะเพียนสานยังเป็นสัญลักษณ์ของความขยันหมั่นเพียร  อุตสาหะ
อาจเพราะปลาตะเพียนดูแลลูกปลาทั้งฝูง

นอกจากนี้ก็มีความเชื่อว่า  ฝูงปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี

มีความเชื่อว่า  การแขวนปลาตะเพียนสานเหนือเปลเด็กเป็นสิริมงคลอย่างหนึ่ง
ช่วยให้เด็กสุขภาพแข็งแรง  ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องเล่นชิ้นแรกของเด็ก
พ่อแม่นิยมแขวนปลาตะเพียนสานเหนือเปลให้เด็กดูเล่น  จะได้ไม่ร้องงอแงรบกวน
โดยแขวนปลาตะเพียนในระดับที่สายตาเด็กสามารถมองเห็นชัดเจน

ญี่ปุ่นก็มีงานฝีมือรูปปลาและเกี่ยวข้องกับเด็กเช่นกัน
ออกแบบเป็นธงปลาคาร์พหลากสีสัน  แขวนไว้ที่สูง
เมื่อลมพัด  ปลาจะ  ‘ว่าย’  กลางท้องฟ้า  ดูสวยงาม
เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวันเด็ก  วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี
เพื่อให้บุตรเติบโตแข็งแรง

ปลาตะเพียนสานมีที่มาอย่างไร?
มันเกี่ยวกับธงปลาคาร์พของญี่ปุ่นหรือไม่?



ผมรู้เรื่องนี้มาจากอาจารย์ศุภกิจ นิมมานนรเทพ

อาจารย์ศุภกิจเป็นอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
และอดีตรองอธิบดีกรมทะเบียนการค้า  กระทรวงพาณิชย์
เป็นบรรณาธิการคนหนึ่งที่ช่วยตรวจต้นฉบับของผม
มีความรู้รอบตัวสูงมาก  ผมรู้เกร็ดแปลก ๆ มากมายจากแก

อาจารย์ว่า  “ต้นกำเนิดของปลาตะเพียนสานไม่ใช่อยู่ดี ๆ ชาวบ้านทำรูปปลาตะเพียน”

“แล้วมีอะไรครับ?”

“เชื่อว่าปลาตะเพียนสาน
น่าจะมีกำเนิดในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระแห่งอยุธยา
พระเจ้าท้ายสระหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ครองราชย์ พ.ศ. 2252-2275  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอยุธยา
ทรงเป็นพระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา”

“องค์สุดท้ายคือพระเจ้าเอกทัศใช่ไหมครับ?”

“ใช่  ราชวงศ์นี้สิ้นสุดเมื่อปี พ.ศ. 2310  คราวเสียกรุงครั้งที่สอง
พระเจ้าท้ายสระทรงเป็นโอรสของพระเจ้าเสือ
และเป็นพระเชษฐาของพระเจ้าบรมโกศ  ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเสือ
ครองราชย์ยาวนานถึง 23 ปี”

“ขออภัย  ทำไมเรียกว่าพระเจ้าท้ายสระครับ?”

“พระนามพระเจ้าท้ายสระ
มาจากการที่พระองค์ทรงประทับอยู่พระที่นั่งบรรยงก์รัตพาสน์ข้างสระน้ำท้ายวัง”

อาจารย์เล่าว่า  “รัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ
เช่น  จีน  ฮอลันดา  อังกฤษ  มีการขุดคลองสำคัญเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคม
คือคลองมหาไชย และคลองเกร็ดน้อย”

“แล้วปลาตะเพียนสาน?”

“พระเจ้าท้ายสระทรงโปรดเสวยปลาตะเพียนมาก
จนถึงขั้นออกกฎมณเฑียรบาลห้ามราษฎรจับหรือกินปลาตะเพียน
ผู้ฝ่าผืนจะถูกปรับโทษสินไหม  เป็นเงิน 5 ตำลึง
พระองค์ทรงโปรดการตกปลามาก
ทำให้พระองค์ทรงมีอีกพระนามว่า  ขุนหลวงทรงปลา”

“ไม่น่าเชื่อ”

“ปลาตะเพียนกลายเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับชาวบ้าน
เมื่อกินปลาตะเพียนไม่ได้  ก็ทำปลาตะเพียนสานขึ้นมาดูเล่น
คล้ายเตือนใจชาวบ้านว่า  ‘กินไม่ได้ ได้แต่ดู’...”

ไม่นึกว่าความอร่อยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของชาติได้!


(https://i.ibb.co/Q9Xdsrj/Carp-flag-festival-culture.jpg) (https://imgbb.com/)

-2-


ก็มาถึงประวัติธงปลาคาร์พของญี่ปุ่น

เชื่อไหมว่าธงปลาคาร์พของญี่ปุ่นวิวัฒนาการมาจากปลาตะเพียนสานของไทย
ทั้งสองเกี่ยวข้องกับเด็กเหมือนกันทุกประการ

สยามกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา
และชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มีบทบาทสานความสัมพันธ์ก็คือ  ยามาดะ นากามาสะ

ชื่อเต็มของเขาคือ  ยามาดะ นินซาเอมอนโมโจ นากามาสะ
เกิดที่เมืองนูมาสุ  ทางเหนือของคาบสมุทรอิสุ  แคว้นชิซูโอกะ
ตำนานเล่าว่าสมัยหนุ่ม  ยามาดะมีเรื่องทะเลาะวิวาทจนต้องหลบหนีการจับกุม
เขาลอบอาศัยเรือสินค้าญี่ปุ่นเดินทางหนีไปถึงเกาะไต้หวัน
แล้วเข้าร่วมกับพวกโจรสลัดวาโกะ
ต่อมาก็เดินทางถึงเมืองสยาม

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า  ยามาดะเคยทำงานค้าขายอยู่ระยะหนึ่ง
ต่อมาเป็นคนหามเกี้ยวของ โอคุโบะ จิเอมอง ทาดาซะ  ไดเมียวแห่งแคว้นซุนชู
แล้วเดินทางมาเมืองสยาม

ยามาดะเข้ารับราชการในราชสำนักสยาม  ก้าวหน้าขึ้นไปตามลำดับ
จนในที่สุดได้รับตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข ครองเมืองนครศรีธรรมราช

เขาได้รับราชโองการให้ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น
เขาผูกสัมพันธ์กับข้าราชการชั้นสูงในญี่ปุ่น
โดยนำปลาตะเพียนสานของสยาม
ไปมอบเป็นของกำนัลแก่บุตรหลานของข้าราชการที่นั่น
เป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ
เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีปลาตะเพียน  จึงดัดแปลงใช้ปลาคาร์พแทน
พัฒนาต่อมาจนกลายเป็นธงปลาคาร์พ
แต่ความหมายยังดำรงอยู่  คือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เด็ก


(https://i.ibb.co/QNpTxBf/unnamed.jpg) (https://imgbb.com/)

-3-
 

ตำนานปลาตะเพียนสานทำให้ผมนึกถึงตำนานปลาอีกชนิดหนึ่ง
ที่กลายเป็นปลาต้องห้ามเช่นกัน  ไม่ใช่เพราะความอร่อยของเนื้อปลา
แต่ที่ไข่ของมัน

นั่นคือไข่คาเวียร์

คาเวียร์เป็นชื่อที่นักเขียน  ’รงค์ วงษ์สวรรค์'
บอกว่าเป็นอีกคำหนึ่งที่คนไทยชอบเรียกผิด ๆ
เราชอบเรียกว่า “ไข่ปลาคาเวียร์”

ที่ผิดเพราะคาเวียร์ไม่ใช่ชื่อปลา
ปลาที่ออกไข่คาเวียร์คือปลาสเตอร์เจียน

ที่ถูกคือ  ไข่คาเวียร์

ใครไปเข้าภัตตาคารหรูแล้วสั่ง  “ไข่ปลาคาเวียร์”  เท่ากับปล่อยไก่ตัวใหญ่

ไข่คาเวียร์ตามความหมายของคนทั่วไป
หมายถึงไข่ปลาสเตอร์เจียนในทะเลแคสเปียนและทะเลดำ
แต่มันก็อาจเป็นไข่ปลาชนิดอื่นด้วย
เช่น  แซลมอน  เทราต์  และตระกูลอื่น ๆ ของสายพันธุ์สเตอร์เจียน

เชื่อว่าพวกเปอร์เซียนอาจเป็นพวกแรกที่ชมชอบไข่คาเวียร์
คำว่าคาเวียร์ก็น่าจะมีรากศัพท์มาทางเปอร์เซีย
แต่มันกลายเป็นอาหารของชนชั้นสูง  เมื่อซาร์แห่งรัสเซียยกมันเป็นอาหารวัง
เมื่อคาเวียร์ไปถึงยุโรป  ก็กลายเป็นอาหารชนชั้นสูง

ที่แผ่นดินอังกฤษ  กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทรงโปรดคาเวียร์มาก
จนทรงออกกฎห้ามชาวบ้านจับปลาสเตอร์เจียน
ปลาชนิดนี้เป็นของหลวง
ใครจับไปกินหรือทำคาเวียร์  มีบทลงโทษ

ไม่นึกว่าความอร่อยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของชาติได้!

แต่จะว่าไปแล้ว ประวัติศาสตร์ของชาติไหน ๆ
ก็มักเกี่ยวข้องกับความอร่อยเสมอ
เมื่อผู้ครองอำนาจกิน ‘ปลาตะเพียน’ แห่งอำนาจแล้วติดใจ  สั่งห้ามคนอื่นกิน

เพราะเมื่อเสพอำนาจแล้ว  มักไม่ยอมแบ่งให้คนอื่น



อำ หรือ ไม่อำ

ตอน 1 เป็นเรื่องจริง
ตอน 2 เป็นเรื่องอำ
ตอน 3 เป็นเรื่องจริง


ขอบคุณบทความจาก

วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

16 กุมภาพันธ์ 2562