บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลบท => ข้อความที่เริ่มโดย: Black Sword ที่ 22, มิถุนายน, 2563, 11:25:34 AM



หัวข้อ: กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง...-๐ เคียงข้าง ๐-
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 22, มิถุนายน, 2563, 11:25:34 AM
(https://i.ibb.co/QHmLGKL/1390449221.jpg) (https://imgbb.com/)

- กลบท ลิ้นตะกวดคะนอง -

-๐ เคียงข้าง ๐-

๑. ยามหนักเหนื่อยอ่อนล้าพาหมองเศร้า
มีสองเราร่วมฤดีมิหวั่นไหว
ประคองรักเพียงว่าอย่าปันใจ
ทางนั้นไกลยังสู้อยู่เคียงคง

๒. ยามหยดหยาดน้ำตาคราอ่อนโหย
ยามร้อนโรยเกินปลีกหลีกเลี่ยงหลง
ยามเหน็บหนาวคราวท้อขอเพียงจง-
ให้เที่ยงตรงอย่าห่างร้างรวนรา

๓. ร้อยพานพบอุปสรรคจักผ่านพ้น
มิลานลนผูกพันมั่นหวนหา
ยังยิ้มสู้ย้อนย้ำคร่ำครวญครา
เฝ้าชวนฝ่าชื่นชมสมดวงแด

๔. มือจับมือสื่อใจให้แน่นเหนียว
เป็นแกนเกลียวก่อสานป่านห่วงแห
ไม่ทอดทิ้งถมทับลับลวงแล
ดั่งพ่วงแพผูกไว้.. ให้ยืนยาว ๚ะ๛

...-๐ เมื่อตะกวดพลิกลิ้นกลับ จะอ่านได้อีกแบบว่า ๐-...

๑. ยามหนักเหนื่อยอ่อนล้าพาเศร้าหมอง
มีเราสองร่วมฤดีมิไหวหวั่น
ประคองรักเพียงว่าอย่าใจปัน
ทางไกลนั้นยังสู้อยู่คงเคียง

๒. ยามหยดหยาดน้ำตาคราโหยอ่อน
ยามโรยร้อนเกินปลีกหลีกหลงเลี่ยง
ยามเหน็บหนาวคราวท้อขอจงเพียง-
ให้ตรงเที่ยงอย่าห่างร้างรารวน

๓. ร้อยพานพบอุปสรรคจักพ้นผ่าน
มิลนลานผูกพันมั่นหาหวน
ยังยิ้มสู้ย้อนย้ำคร่ำคราครวญ
เฝ้าฝ่าชวนชื่นชมสมแดดวง

๔. มือจับมือสื่อใจให้เหนียวแน่น
เป็นเกลียวแกนก่อสานป่านแหห่วง
ไม่ทอดทิ้งถมทับลับแลลวง
ดั่งแพพ่วงผูกไว้.. ให้ยาวยืน ๚ะ๛


- Black Sword -

  (มยุรธุชบูรพา)

ขอขอบคุณภาพจากต้นแบบจาก Internet

๐-----------------------๐



กลบท  ลิ้นตะกวดคะนอง คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=2197.0)

ข้อบัญญัติ : บัญญัติพิเศษเพิ่มจากกลอนทั่วไปคือ

   ๑.) ให้สองคำท้ายของวรรคต้น สัมผัสสระกับ คำที่ ๒-๓ ของวรรคที่ ๒
   ๒.) ให้สองคำท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสสระกับ สองคำท้ายของวรรคที่ ๓ และ คำที่ ๒-๓ ของวรรคที่ ๔
   ๓.) สัมผัสระหว่างบทคือ ให้สัมผัสสระระหว่างสองคำท้ายของบทแรก (วรรคที่ ๔) กับ สองคำท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป

หมายเหตุ : คำคู่สัมผัสสองคำนั้นต้องสามารถอ่านสลับไปมาหน้าหลังได้

** ด้วยข้อกำหนดนี้ ทำให้กลบทนี้ สามารถอ่านพลิกสลับไปมาได้เหมือนลิ้นตะกวดที่มีสองแฉก  ฉะนั้น คำสองคำคู่ที่อยู่ในข้อบัญญัติ เวลาอ่านสลับไปมาแล้วต้องได้ความหมายและยังคงรูปแบบเนื้อหาของกลอนไว้ได้ด้วยหากไม่สามารถอ่านพลิกแพลงได้ ไม่อาจถือเป็น กลบทลิ้นตะกวด ฯ

** อ้างอิง : กลบทนี้มีปรากฏที่มาทั้งในตำรากลบท  "ศิริวิบุลกิตติ์" คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=2197.0)   โดย หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ผู้คิดประดิษฐ์กลบทนี้ขึ้นมา
, และตำรากลบท "จารึกวัดพระเชตุพนฯ" โดยพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓