บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 03, มิถุนายน, 2556, 11:31:54 AM



หัวข้อ: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 03, มิถุนายน, 2556, 11:31:54 AM
สุขกมลจนดนู                 อยากจะกู่ "วู้ห์" ตะโกน
ด้วยประสบพบโผอน       โดนสเปคเฉกประสงค์

เนตระคมผมก็ขลับ          แวววะวับน่าประจง-
จูบนลาฏนาถอนงค์          เกศะเหน่งเหม่งวิไล

ผิวอล่องฉ่องสะอาด         โฉมพิลาศบาดหทัย
ทำตะลึงอึ้งอะไป             ปานไถงในนภา

ขอประกาศต่อนิกร           นวลสมรนี่น่ะข้า ฯ
มาดจะเป็นภรรยา            ใครก็อย่ามาระราน

หากมิเชื่อกันล่ะไซร้          เดี๋ยวเถอะได้หัวกระบาล
แตกยะเยินเกินประมาณ     ด้วยสนับมือประเคน

ศรีเปรื่อง
๓ มิ.ย. ๒๕๕๖

ปล.

โผอน (ผะ-โอน) = น้องหญิง
ไถง (ถะ-ไหง) = ตะวัน
วะวับ จาก วับวับ
อึ้งอะ จาก อึ้งอึ้ง
ยะเยิน จาก ยับเยิน


หัวข้อ: Re: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 03, มิถุนายน, 2556, 04:02:51 PM
ผังฉันทลักษณ์ศรีประเทือง ฯ ครับ   :a016:

(http://www3.picturepush.com/photo/a/13220666/640/13220666.bmp) (http://picturepush.com/public/13220666)


หัวข้อ: Re: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: กรกช ที่ 04, มิถุนายน, 2556, 12:48:07 PM

เรียนถาม ท่านศรีเปรื่อง และท่านผู้รู้ทั้งหลาย

การเขียนฉันท์ มีบังคับอะไรบ้าง
เท่าที่เห็นมี บังคับครุลหุ กับสัมผัสวรรค สัมผัสบท

ไม่ทราบว่า เพื่อความไพเราะ ต้องตรงฉันทลักษณ์แล้ว
สัมผัสซ้ำ หรือ การให้เสียงวรรณยุกต์
แบบที่กลอนสุภาพ มีอยู่ แต่ไม่ได้เขียนรูปแบบให้ดู
เช่น ท้ายวรรคสอง ห้ามเสียง สามัญ ตรี
ท้ายวรรคสาม ห้ามเสียง เอก โท จัตวา เป็นต้น
เช่นนี้ มีบังคับหรือข้อควรปฏิบัติอย่างไร

และคำตาย แม่ กก กด กบ นับเป็น ครุ หรือ ลหุ
คำสระเสียงสั้นที่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น น่ะ จ๊ะ เป็นต้น
ต้องห้ามหรือไม่ นิยมใช้ในฉันท์หรือไม่ เป็นลหุใช่หรือไม่

หลายคำถามหน่อย
รอความกระจ่างจากครูนะขอรับ
ขอคารวะ

กรกช


หัวข้อ: Re: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 04, มิถุนายน, 2556, 02:05:34 PM
เรียน ท่านกรกช

แฮ่ ๆ ท่านกรกช อย่าเรียกครูเลยนะครับ
จริง ๆ เรื่องทฤษฎีเขียนนี่ผมไม่แม่นเท่าไหร่หรอกนะครับ
แต่บังเอิญตอนเด็ก ๆ ผมเคยประกวดอ่านฉันท์ จึงพอรู้จังหวะและท่วงทำนองของฉันท์อยู่บ้าง

ข้อ ๑. สัมผัสซ้ำ
จริง ๆ แล้วฉันท์ที่มาจากชมพูทวีปเดิม กำหนดเฉพาะ ครุ-ลหุ ไม่ได้กำหนดสัมผัส แต่พอมาถึงไทย ก็ค่อย ๆ เพิ่มความยากขึ้นทีละนิด ๆ จนกลายมาเป็นฉันท์ที่มีลักษณะสัมผัสอย่างในปัจจุบัน
ทีนี้ฉันท์มีข้อห้ามเกี่ยวกับสัมผัสซ้ำหรือเปล่า ขอตอบว่าเมื่อก่อน "ไม่มี" แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่า มีใครเพิ่มเติมเข้าไปหรือเปล่า (จริง ๆ แค่หา ครุ-ลหุ ให้ลงตัวก็แทบกระอักแล้วครับ)

ตัวอย่าง

ยังมีกษัตริย์นิษธราษฎร์    นลราชสมัญญา
ลือฃามพระนามนลนรา-    ธิปทั่วไผทศรี   (วสันตดิลก)

ที่มา: พระนลคำฉันท์

ข้อ ๒. เสียงท้าย
อันนี้ไม่ก็ไม่แน่ใจครับ แต่จากการสังเกตุพบว่า

วรรคที่ ๑ มีเกือบทุกเสียง
วรรค ๒, ๓ และ ๔ มักอยู่รูปสามัญ (เสียงสามัีญ หรือ จัตวา) แต่ผมก็มีแอบใช้เสียง โท และ ตรี ที่ท้ายวรรค ๒ และ ๓ อยู่บ้าง มันก็พอเอื้อนได้นะครับ แต่ไม่เพราะเท่าไหร่
และไม่ค่อยนิยมคำตายที่เสียงท้าย เพราะเวลาอ่านจะเอื้อนไม่ไป (แต่ก็มีให้เห็นอยู่บ้างครับ)
(เวลาผมแต่ง ผมมักอ่านไปด้วย ถ้าเอื้อนไม่ได้ ก็จะหาคำใหม่ จนเจอคำที่ลงตัวที่สุดครับ)

ตัวอย่าง

ตรึกเสร็จก็ตรัสสั่ง    กิจดังมนานุสร
เสนาพลากร          สุมนัสก็จัดปัน     (อินทรวงศ์)

ที่มา: พระนลคำฉันท์

แต่ มาณวกฉันท์ จะแปลกกว่าเพื่อนหน่อย เท่าที่สังเกตุผมพบว่า คำท้ายของบท (วรรค ๘) จะเป็นรูปสามัญเกือบทั้งหมดครับ ส่วนวรรคอื่น ๆ โดยเฉพาะ ๑, ๒, ๓ และ ๕ เห็นเกือบทุกเสียง

ตัวอย่าง

วาสรหนึ่ง    ถึง ณ กระท่อม
อันธุลิห้อม   ริมมรคา
จึ่งนรนาถ    ราชภริยา
สู่ ณ สภา    พักวรกาย

ที่มา: พระนลคำฉันท์

จริง ๆ ยังมีฉันท์ประเภท ๓ วรรค เช่น มาลินี ๑๕, สัททุลลวิกกีฬิต ๑๙ แล้วก็ อีทิสัง ๒๑ ซึ่งผมไม่ถนัดครับ (แต่จากที่สังเกตุ คำท้ายจะมีรูปสามัญทั้งสามวรรคครับ)

ข้อ ๓. คำตาย (ก บ ด)
แม้เสียงของคำตายจะสั้นกว่าคำเป็น แต่มีตัวสะกดจึงเป็น ครุ ครับ
ทุกคำที่มีตัวสะกดเป็น ครุ
คำที่ไม่มีตัวสะกดอาจเป็น ครุ หรือ ลหุ ขึ้นกับลักษณะเสียง ถ้ายาวเป็น ครุ ถ้าสั้นเป็น ลหุ (พวก อะ อุ อิ อึ ฤ)

ข้อ ๔. น่ะ จ๊ะ ไม่ห้าม ใช้ได้ แต่ควรจะเหมาะสมกับบริบทของงานครับ


ไม่ทราบผมตอบคำถามท่านกรกชครบถ้วนรึเปล่าครับ


ศรีเปรื่อง
๔ มิ.ย. ๒๕๕๖

ปล.

หากมีท่านใดเห็นว่า สิ่งที่ผมแถลงไปไม่ถูกต้อง อย่ารีรอที่จะชี้แนะและท้วงติงกันนะครับ


หัวข้อ: Re: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 04, มิถุนายน, 2556, 02:53:33 PM
มีพยานแล้ว ว่าเสียง โท ที่ท้ายวรรค ๒ อาจทำได้ (แต่ ตรี ยังหาไม่พบครับ)

เสวกมาตย์อาจจะทราบยุบล      วุฒิกลเจ็ดถ้วนล้วนประพฤติต้อง
ตามคติอภิปรายก็หลายลบอง     ถูกทำนองหกสัตย์นุวัต์วิธี        (เวตาฬียชาติฉันท์)

ที่มา: ชุมนุมตำรากลอน ฉบับ หอพระสมุดวชิรญาณ

ที่นำมาเป็นฉันทมาตราพฤติ (โปรดอย่าถามว่าอ่านอย่างไร เพราะอ่านไม่เป็นเหมือนกันครับ  :a016:)

ศรีเปรื่อง
๔ มิ.ย. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: กรกช ที่ 04, มิถุนายน, 2556, 03:11:49 PM

กระจ่างแจ้ง แถลงครบ
ประณตจบ ณ เศียรเหนือ
ผิว่าเกิด สิโจทย์เหลือ
จะถามใหม่ ละกันครู
ก็เลยขอ จะแจ้งข่าว
ลุถึงคราว จะไปสู่
และห่างหาย นะสักครู่
คระไลรวม สิสิบวัน


เช่นเดิมมือใหม่ ไม่รู้ฉันท์ใด ด้นไปใจฉัน

พบแล้วถามกู๋ กู๋บอกกู๋รู้ ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ ไง

บ๋าย บาย ไปก่อนเน้อออ...

ขอขอบคุณท่านศรีเปรื่อง ที่แนะนำแก้ไขเพื่อความไพเราะ


หัวข้อ: Re: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 05, มิถุนายน, 2556, 09:39:02 AM
มีที่ปรากฎเสียงเอก ที่วรรค ๓ ด้วยครับ

วรรคหนึ่งวรรคสามอัก-       ษรห้าสดวกดี
วรรคสองกับวรรคสี่            กำหนดหกอักษรแสดง

ที่มา: ประชุมลำนำ (ถึก จิตรกถึก)

ที่นำมามิใช่ฉันท์จริง ๆ ครับ แต่เป็น ลำนำ ๑๑ เทียบอินทรวิเชียรฉันท์ โดยในตำรากล่าวว่า มีระเบียบอย่างฉันท์ แต่ไม่ได้กำหนดครุ-ลหุ ซึ่งก็แปลว่า น่าจะนำมาใช้เทียบเคียงกับฉันท์ได้ครับ

จะสังเกตุพบว่า วรรคที่ ๑ และ วรรคที่ ๒ ไม่สัมผัสกัน
(งานของกวีแทบทุกท่านที่แต่งฉันท์ยาว ๆ จะปรากฎ ลักษณะเช่นนี้ในบางบท เข้าใจว่าเป็นตำหนิที่พอรับได้ครับ)

ศรีเปรื่อง
๕ มิ.ย. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: อย่า... (ศรีประเทืองเปรื่องวิทิตฉันท์ ๑๒)
เริ่มหัวข้อโดย: ๛นักเดินทาง๛ ที่ 31, ตุลาคม, 2559, 05:51:11 PM
 :057:
เยี่ยมเยี่ยมมะเลืองมอง สองตาจ้องคลองวิถี
เยี่ยมยุทธกาพย์กวี     หาใครมีมาเทียบเทียม
ได้เป็นความรู้ยิ่ง        ประหนึ่งสิ่งมากค่าหลาย
ได้ทราบจนกลับกลาย  เป็นกวีศรีนิพนธ์
ขอบคุณท่านสอนสั่ง   เป็นเช่นดั่งทางถนน
เดินง่ายไม่ทุกข์ทน    กราบกมลด้วยวันทา
๛นักเดินทาง๛