บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา => ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม => ข้อความที่เริ่มโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, กรกฎาคม, 2566, 11:12:06 PM



หัวข้อ: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, กรกฎาคม, 2566, 11:12:06 PM
(https://i.ibb.co/Gpgct1M/309560429-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เนื่องจากกระทู้ - คำให้การของนักบวช - คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)
ก่อนหน้านี้ดำเนินมาถึง ๒๐๐ ตอนแล้ว
ตั้งแต่ตอนที่ ๒๐๑ เป็นต้นไป จนถึงตอนสุดท้ายของเรื่องนี้นั้น
ผู้โพสต์จึงขอยกมาไว้ในกระทู้นี้แทนครับ

 
<<< ตอนก่อนหน้า (ตอนที่ ๒๐๐) (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg54539#msg54539)                                                             .

 • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)
 • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)


เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
ตอนที่  - ๒๐๑ -
          พวกเรากลับจากกระทิงลายบางละมุงเข้าอยู่วัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ตามเดิม  ทางมูลนิธิฯ เตรียมการที่จะมอบวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวพระหน่วยพัฒนาการทางจิตแก่พวกเรา  โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ (จวน อุฏฐายี) ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ  ขณะรอเวลาที่จะรับวุฒิบัติและบัตรประจำตัวนั้นก็ปล่อยให้พวกเราพักผ่อนกันตามอัธยาศัย  ข้าพเจ้าจึงไปเที่ยวเยี่ยมเยือนเพื่อนตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ บ้าง  ไปเยี่ยมเยือนเพื่อนนักกลอนตามสถานีวิทยุที่เขาจัดรายการกลอนกันบ้าง  สถานีวิทยุที่อยู่ใกล้วัดมหาธาตุฯ คือ สทร. ตั้งอยู่ในพื้นที่สโมสรทหารเรือติดกับท่าช้าง  ที่นี่ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร  ส.เชื้อหอม และ กรองแก้ว เจริญสุข จัดรายการกลอนอยู่  จึงนำกลอนหลายสำนวนที่เขียนไว้ไปให้พวกเขาอ่านกัน  มีกลอนสำนวนหนึ่งเขียนเรื่องการเข้ารับการอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  ข้อความยาวหน่อย  ข้าพเจ้าไม่ให้อ่านออกอากาศ  แต่เอาไปลงในหนังสือรุ่นของพระหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ทางมูลนิธิฯ จัดพิมพ์แจกพวกเราเป็นที่ระลึก

          มีการประชุมแนะนำแนวทางในการจัดตั้งหน่วยพัฒนาการทางจิตประจำจังหวัด  และให้ลำดับเลขที่ประจำหน่วยต่าง ๆ  ในกลุ่มของข้าพเจ้านั้นจังหวัดพิจิตรเป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๖  พิษณุโลกเป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗  สุโขทัยเป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘  อุตรดิตถ์เป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๙  สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์นี้  เจ้าคณะจังหวัดมิได้ส่งพระเข้ารับการอบรม  จึงให้ข้าพเจ้าเลือกพระในส่วนกลางที่เข้ารับการอบรมพร้อมกันองค์ใดองค์หนึ่งเป็นหัวหน้าหน่วย  ข้าพเจ้าเลือกเอาพระมหาบุญช่วย โอวาทกาโม วัดเกาะ ดอนเมือง ไปเป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๙  และให้เลือกพระในหน่วยที่ไร้สังกัดไปอยู่ช่วยงานตามความพอใจ

          ก่อนถึงวันรับวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวหนึ่งวัน  ก็มีการซ้อมวิธีการรับจากพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชเพื่อความถูกต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย  ทางมูลนิธิอภิธรรมฯถวายผ้าไตรสีกรักและย่ามปักตรามูลนิธิฯ ชื่อหน่วยพัฒนาการทางจิต  พร้อมหนังสือรุ่นเป็นที่ระลึก  และปัจจัยเป็นค่าเดินทางกลับวัดครบทุกองค์  เรื่องปัจจัยนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ตลอดเวลาหกเดือนที่พวกเราเข้ารับการอบรมนี้  ไม่ได้รับกิจนิมนต์ใด ๆ เลย  เงินที่เคยมีตัวตัวมาบ้างก็ใช้จ่ายจนหมดสิ้นแล้ว  จริง ๆ แล้วก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากหรอก  อาหารหวานคาวเราก็กินฟรี  สำหรับข้าพเจ้าแล้ว  มีรายจ่ายสำคัญคือ  ซื้อบุหรี่สูบประจำวันละ ๑ ซอง  เพราะติดบุหรี่มาตั้งแต่เป็นเด็ก-เณรจนบวชพระ  เคยเลิก ๒ ครั้งแล้วแต่เลิกได้ไม่นาน  กลับมาติดอีก  และหนักกว่าเดิมอีกด้วย  อาจารย์มหาอ่อนท่านเล่าว่าเคยติดบุหรี่งอมแงมมาก่อนเหมือนกัน  ต่อมาท่านต้องการเลิกหลายครั้งแต่เลิกได้ไม่เด็ดขาด  จนถึงวันหนึ่งตั้งใจจะเลิกให้เด็ดขาด  จึงโยนบุหรี่ครึ่งมวนสุดท้ายลงตรงหน้าสุนัขข้างกุฏิแล้วบอกว่า

           “วันนี้กูตัดขาดกับมึงเสียที  ขอให้หมาเป็นพยานด้วย”

          เวลาอยากสูบท่านก็คิดถึงบุหรี่ครึ่งมวนสุดท้ายที่โยนทิ้งต่อหน้าสุนัข  ทำให้คิดว่าถ้าสูบอีกก็อายหมามัน  จึงเลิกสูบได้แต่นั้นเป็นต้นมา  ข้าพเจ้าก็คิดจะเอาอย่างอาจารย์มหาอ่อนเหมือนกัน  แต่ยังไม่ถึงเวลา (แฮ่ ๆ)

          อาจารย์กิตติวุฑโฒ กับอาจารย์ พระครูประกาศสมาธิคุณ  ท่านไม่หยิบจับเงินทอง  แต่ก็มีคนหยิบจับแทนท่าน  มีคนบอกข้าพเจ้าว่าคนที่รับเงินบริจาคเข้ามูลนิธิฯ วัน ๆ เป็นแสนเป็นล้าน  อาจารย์กิตติฯ ไม่ได้รับเอง  เจ้าหน้าที่รับบริจาคหลายคนรับแทนทั้งหมด  บางคนรับแล้วไม่นำเข้าบัญชีบ้าง  เข้าเพียงครึ่งหนึ่งบ้าง  จนคนรับบริจาคที่ไม่ซื่อสัตย์ร่ำรวยไปตาม ๆ กัน  ข้าพเจ้าสังเกตดูแล้วเห็นว่าน่าจะจริงอย่างเขาว่า  ศิษย์อาจารย์ พระครูประกาศฯ ก็เหมือนกัน   เมื่อมีคนถวายเงินอาจารย์ท่านก็ไม่หยิบจับ  ถ้าศิษย์ไม่อยู่ท่านก็บอกให้เขาใส่พานไว้หน้าห้อง  ศิษย์กลับจึงเก็บไปเข้าบัญชี  เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง  ศิษย์ก็สบายไป  ท่านรู้ก็ไม่ว่ากล่าวตำหนิติเตียน  ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไปเสียอย่างนั้น

          พวกข้าพเจ้า ๓๐๐ องค์เข้ารับการประทานวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวจากสมเด็จพระสังฆราช  เป็นพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตโดยสมบูรณ์ ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ  และวันนั้นเองพระอาจารย์กิตติวุฑโฒ แจ้งให้พวกเราทราบว่า  โครงการเปิดโรงเรียนสอนสามเณรตามที่พวกเราเสนอนั้น  บัดนี้สมเด็จพระวันรัต (สมเด็จป๋า) ประธานฯของเราเห็นชอบด้วยแล้ว  และให้เร่งดำเนินการในปีนี้  ขอให้พวกเรากลับไปคัดเลือกเด็กและจัดการบรรพชาเป็นสามเณรแล้วส่งให้ทางมูลนิธิอภิธรรมของเราได้เลย  ทางมูลนิธิฯ ได้ตกลงกับเจ้าของที่ดินบริเวณกระทิงลายเป็นที่ตั้งโรงเรียนตามโครงการแล้ว  ข่าวนี้เป็นข่าวดี  และเป็นงานชิ้นแรกของพวกเรา

          วันรุ่งขึ้นพวกเราก็ถือหนังสือองค์สมเด็จพระวันรัตประธานพระหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ท่านมีไปถึงเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด  ฝากให้ช่วยสนับสนุนดูแลพระหน่วยพัฒนาการทางจิตด้วย  แล้วเราก็แยกย้ายกันเดินทางกลับวัดในจังหวัดของตน  ข้าพเจ้า  พระมหาคำสิงห์  พระไพฑูรย์ เดินทางโดยรถไฟพร้อมกับ พระธรรมธรสำลี  พระสมุห์ประจวบ  พระดำรง ไปจังหวัดพิษณุโลก  เมื่อถึงพิษณุโลกแล้วนั่งรถเมล์ประจำทางต่อไปสุโขทัยโดยสวาดิภาพ/๒๐๑

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ ตุลาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, กรกฎาคม, 2566, 11:33:45 PM
(https://i.ibb.co/yWzSmZq/309700060-3550405855182955-4639864643353874259-n-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๒๐๒ -
           เมื่อกลับมาอยู่วัดราชธานีตามเดิมแล้วครูเหรียญชัย จอมสืบ  ก็เอาเรื่องยุ่งยากมาให้ข้าพเจ้าทำ คือรายการกลอน  “สายธารใจ”  ทางวิทยุ ป.ช.ส.ตาก (ปัจจุบันชื่อ สวท.ตาก) ที่เขาทำหน้าที่อ่านกลอนอยู่นั้นโอนมาให้ข้าพเจ้าดำเนินรายการ  ทั้งรวมกลอน  อ่านกลอน  บันทึกเสียงลงเทปส่งไปให้ทางสถานี  บางครั้งเขามาร่วมอ่านกลอนกับข้าพเจ้าด้วย  มีคนเขียนกลอนส่งเข้าร่วมรายการในระยะแรก ๆ นั้นไม่มากนัก  ข้าพเจ้าจึงต้องเขียนเองโดยตั้งนามปากกาขึ้นมาใช้มากมายจนจำไม่ได้  เฉพาะนามที่ใช้ดำเนินรายการนั้นใช้   “เพลิน พจน์มาลย์”  ที่ใช้มาตั้งแต่เขียนกลอนเล่นกันทางรายการกวีสวรรค์ ของ จทล.ลพบุรีแล้ว  เป็นนามคนเขียนกลอนมาจัดรายการกลอนอีกคนหนึ่ง  วิธีจัดรายการค่อนข้างจะยุ่งยากสักหน่อย  ทางสถานีเขาส่งเทปเปล่าเป็นม้วนขนาดใหญ่มาให้  ครูเหรียญชัยจัดหาเครื่องบันทึกเสียงมาไว้ประจำที่กุฏิของข้าพเจ้า  เราพูด, อ่านกลอนกันด้วยเสียงเปล่า ๆ ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ  เว้นระยะไว้ให้ทางเจ้าหน้าที่สถานีเปิดเสียงดนตรีเพลงไทยเดิมคลอเสียงอ่านบทกลอนและคั่นเสียงพูด  ดนตรีไทยเพลงไทยเดิมนั้น  เป็นเสียงเครื่องสายบ้าง  มโหรีบ้าง  ปี่พาทย์บ้าง  ตามแต่เจ้าหน้าที่ทางสถานีวิทยุจะเลือกใช้

           ดำเนินรายการไปได้เกือบ ๑ เดือน  ก็มีคนเขียนกลอนส่งเข้าร่วมรายการมากขึ้นจนข้าพเจ้าไม่ต้องเขียนกลอนเอง  แต่ต้องแก้ไขตกแต่งกลอนของแฟนรายการที่เขียนส่งมา  ซึ่งส่วนมากเขาเขียนไม่ถูกฉันทลักษณ์  บางคนเขียนหนังสือไม่ถูกต้องใช้ภาษาพูดแบบชาวบ้าน (นอก) เพราะเขามีการศึกษาน้อย  แต่มีวิญญาณกลอนอยู่ไม่น้อย  ข้าพเจ้าบอกไปทางอากาศว่าขอให้ทุกท่านแจ้งที่อยู่อย่างชัดเจนมากับบทกลอนด้วย  หากต้องการสงวนชื่อและที่อยู่ก็จะไม่อ่านออกอากาศ ทุกคนที่แจ้งทีอยู่มาข้าพเจ้าก็ยอมเสียเวลา และแสตมป์  เขียนด้วยพิมพ์ดีดอธิบายให้เขารู้ว่าเขียนกลอนผิดอย่างไร  อย่างไรจึงจะถูกต้อง  แล้วส่งไปรษณีย์ไปให้เขา  มีหลายคนส่งซองจดหมายจ่าหน้าถึงตนเองพร้อมติดแสตมป์ส่งมากับบทกลอนของเขาด้วย  ครูเหรียญชัยเสนอแนะว่าเราควรพูดอธิบาย (สอน) เขาทางอากาศดีกว่าไหม  ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย  เพราะเสียเวลาในการฟังสำนวนกลอนของผู้ฟัง  และสร้างความอับอายแก่คนเขียนผิดด้วย

           มีแฟนรายการคนหนึ่งใช้นามว่า  “เปีย ขายผัก”  ที่อยู่คือตลาดสดเมืองตาก  เธอเขียนหนังสือผิด ๆ ถูก ๆ  แต่สำนวนลีลาดี  เนื้อหาสาระดี  ข้าพเจ้าช่วยเกลาบ้างเล็กน้อย  เธอบอกว่าเรียนจบแค่ ป.สี่  เป็นพี่คนโตจึงเสียสละให้น้อง ๆ เรียนต่อโดยตัวเธอมาทำอาชีพเป็นแม่ค้าขายผักหาเงินส่งน้อง ๆ เรียน  ตรงข้ามกับอีกคนหนึ่งใช้นามว่า “รัชนี”  ที่อยู่ว่า “บ้านร้างใจ”  อ.แม่พริก จ.ลำปาง  เขียนหนังสือลายมือสวยงาม  เขียนกลอนดีไม่น้อย  ส่งกลอนมาทีละหลายสำนวน  คนนี้ครูเหรียญชัยสนใจเป็นพิเศษ  สันนิษฐานว่าคงจะเป็นครูสาวสวย  จึงใช้วิชา ”จอมสืบ” ของเขาเดินทางไปแอบดูตัวจริง  แล้วกลับมาด้วยความผิดหวัง  เพราะตัวจริงของเจ้าของนามนี้   เป็นครูเก่าเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้วและเป็นหม้ายด้วย  จึงเป็นเรื่องฮาอีกเรื่องหนึ่งในวงการสนทนาของพวกเรา

           ครูเหรียญชัยคิดการใหญ่ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง  คือการสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง  เสนอในที่ชุมนุมสมาชิกชมรมกวีศาลาลายสือไทย  ทุกคนเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์  ท่านสุธรรม วงศ์โดยหวัง  ปลัดจังหวัด  ประธานชมรมนำเรื่องนี้ไปเสนอ นายสมาส อมาตยกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ท่านเห็นด้วย  แต่ติดปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ  เมื่อปลัดสุธรรมนำความมาแจ้งให้พวกเราทราบ  จึงออกหัวคิดกันหลายอย่างแล้วสรุปว่า  ให้ออกข่าวรณรงค์หาทุนสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง  โดยขอให้คนที่รู้หนังสือไทย (อ่านออกเขียนได้) บริจาคเงินคนละ ๑ บาท  เพื่อเป็นการบูชาคุณพ่อขุนรามฯ ผู้ให้กำเนิดลายสือไท  เรื่องนี้ทางการให้ความสนับสนุน  ทางรัฐบาลจึงให้กรมศิลปากรออกแบบอนุสาวรีย์  เขียนภาพออกมาว่าพ่อขุนรามคำแหงมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร  เป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักวิชาการกรมศิลปากรมาก  ถึงกับมีการเข้าทรงดูรูปร่างหน้าตาพ่อขุนรามคำแหงกันเลยทีเดียว  ที่สุดก็ได้รูปร่างหน้าตาพ่อขุนรามคำแหงดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

           เมื่อได้รูปแบบเป็นที่ยุติแล้ว  ทางรัฐบาลเห็นว่าการเรี่ยไรเงินคนละบาทจากคนรู้หนังสือไทยคงไม่ประสบความสำเร็จ  จึงให้จัดสร้างเหรียญรูปพ่อขุนรามคำแหงให้ประชาชนเช่าบูชาเหรียญละ ๓ บาท  โดยตั้งให้พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิระวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงมหาดไทยเป็นประธานดำเนินงาน  พร้อมกันนั้นทางชมรมกวีศาลาลายสือไท  ก็จัดประกวดกลอนสุภาพในหัวข้อ  “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง”  ใช้รายการสายธารใจทางวิทยุ ป.ช.ส.ตากเป็นสื่อเท่านั้นยังไม่พอ  ครูเหรียญชัยไปขอเวลาทางสถานีวิทยุพล ๔ (ว.พล ๔) ของกองทัพภาคที่ ๓ พิษณุโลก จัดรายการกลอนชื่อ  “แจกันใจ”  อีกรายการหนึ่ง  รายการนี้ก็มอบให้เป็นภาระแก่ เพลิน พจน์มาลย์ อีกนั่นแหละ

           ข้าพเจ้าต้องจัดรายการกลอนทางวิทยุ ๒ แห่ง  รายการธรรมวิจารณ์ทางวิทยุ ทหารอากาศ ๐๑๐ นั้น  จึงไม่มีเวลาไปเทศน์ออกอากาศอีกแล้ว  ให้พระเกรียงศักดิ์  พระสอน วัดเขาสมอแครงจัดทำกันต่อไป  ระยะหลังนี้ได้พระอีกองค์หนึ่งมาร่วมงานด้วย ท่านชื่อ กรองสร้อย  เทศน์ได้ดีไม่แพ้ใครเลย

           รางวัลการประกวดกลอนชนะที่ ๑ เป็นถ้วยทองคำหนัก ๑๐ บาท  เราตกลงกันว่าให้เป็นถ้วยรางวัลจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี  ดังนั้นครูเหรียญจึงต้องเข้าทำเนียบฯ ไปขอรางวัลนี้จากท่านจอมพลถนอม  แทนที่จะเอาคนอื่นไปเป็นเพื่อนเขากลับขอให้ข้าพเจ้าไปด้วย  ให้เหตุผลว่าเอาพระไปจะทำให้เขาเกรงใจ  ตอนนั้นเป็นเวลาพรรษา  วันที่เข้าทำเนียบรัฐบาลเพือพบจอมพลถนอมนั้น  ต้องผ่านด่านสำคัญหลายด่านจนลุล่วงไปถึงหน้าห้อง  “ชอบ หัศบำเรอ”  ถามข้าพเจ้าว่าในพรรษาอย่างนี้ท่านมาได้อย่างไร  พรรษาไม่ขาดหรือ  ข้าพเจ้าตอบว่า  รับกิจนิมนต์โยมย่านฝั่งธนบุรี  จึงทำสัตตาหะมาฉลองศรัทธาโยม   ท่านร้องอ้อ...รอเดี๋ยวนะครับ  เข้าไปในห้องจอมพลถนอมแล้วออกมานำพวกเราเข้าไปพบท่าน  จอมพลถนอมเป็นเรียบร้อยนุ่มนวล  โอภาปราศรัยอย่างเป็นกันเอง  เมื่อทราบจุดประสงค์แล้วท่านบอกว่า  เรื่องนี้ไม่มีปัญหา  ยินดีให้  ขอให้ดำเนินการได้เลย  ทำถ้วยให้สวย ๆ หน่อยก็แล้วกันนะ  เสร็จแล้วมาเก็บเงินจากคุณชอบก็แล้วกัน  จะอนุมัติไว้ให้  คุยกันเรื่องพ่อขุนรามคำแหงพอสมควรแล้วเราก็ลาท่านด้วยความดีใจที่สมความปรารถนา

           พอประกาศว่ารางวัลการประกวดกลอนในหัวข้อ  “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง”  ชิงรางวัลถ้วยทองคำหนักสิบบาทของจอมถนอม นายกรัฐมนตรี เท่านั้นเอง  มีเพื่อนนักกลอนเขียนกลอนประกวดเข้ามามากมาย  ข้าพเจ้าคัดเลือกสำนวนที่ไม่ผิดฉันทลักษณ์ทยอยอ่านออกอากาศทางรายการสายธารใจและแจกันใจ เป็นลำดับ  ทางชมรมกวีศาลาลายสือไทยตั้งคณะกรรมการรับ  คัดเลือก  และตัดสินกลอน  โดยกรรมการตัดสินนั้นจัดเป็นรอบแรก รอบสอง และรอบสาม ตัดสินเด็ดขาด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ ตุลาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, กรกฎาคม, 2566, 11:02:14 PM
(https://i.ibb.co/v34tXyv/n-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ศาลพระแม่ย่า

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐๓ -
           ยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น  พวกเรายังคิดหาเงินสมทบทุนสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงอีก  โดยเสนอโครงการให้ทางจังหวัดสุโขทัยจัดสร้างพระเครื่องศิลปะสุโขทัยคือ  พระลีลาถ้ำหีบ  พระนางเสน่ห์จันทน์  พระร่วงหลังรางปืน  และที่สำคัญคือเหรียญพระแม่ย่า (เป็นรุ่นแรก)  นายสมาส อมาตยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้ครูเหรียญชัยประสานงานหาช่างทำพระเครื่องและพระแม่ย่าตามที่เสนอนั้น  สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องพระเครื่องพระบูชาแล้วได้ข้อมูลว่า  นายบุญชู ทิมเอม  อยู่ที่เมืองเก่าเป็นช่างทำพระเครื่องพระบูชาได้ดีที่สุดในสมัยนั้น  เย็นวันหนึ่งครูเหรียญชัยจึงชวนข้าพเจ้าไปติดต่อนายบุญชูที่เมืองเก่าตามคำแนะนำของผู้รู้ดี

           อาคารไม้เก่า ๆ เป็นห้องแถวตั้งอยู่ริมถนนหลวง  ด้านทิศใต้ระหว่างวัดเจดีย์สูง-ตระพังทองหลางคือที่อยู่ของบุญชู ทิมเอม  เราได้พบเขาพร้อมภรรยาสาวสวย (ชื่อน้ำค้าง) ได้บอกเล่าเรื่องการสร้างพระเครื่องดังกล่าวให้เขาทราบ  เขารับว่าทำได้ทั้งหมด  สำหรับพระลีลาถ้ำหีบ  พระเสน่ห์จันทน์  พระร่วงหลังรางปืน ไม่ยากนัก  ใช้องค์จริงกดพิมพ์แล้วแต่งพิมพ์เล็กน้อยก็ใช้ได้แล้ว  แต่พระแม่ย่าออกจะยากหน่อย  เพราะไม่มีองค์จริงกดพิมพ์เป็นแบบ  ต้องออกแบบแกะพิมพ์ใหม่ทำบล็อก  สรุปว่าเขายินดีรับทำให้ทั้งหมด   โดยขอเงินมัดจำเป็นค่าดำเนินงานสร้างแบบและพัสดุบ้าง  เพราะเขาไม่มีทุนเลย   ส่วนราคาองค์ละเท่าไรยังกำหนดไม่ได้  ขอเวลาสัก ๗ วันจึงจะแจ้งให้ทราบได้

           การที่จัดสร้างพระลีลาถ้ำหีบและพระนางเสน่ห์จันทน์  เพราะพระสองพิมพ์นี้งดงามที่สุด  พระลีลาเป็นศิลปะเอกลักษณ์ของสุโขทัยที่สร้างขึ้นสมัยพญาลิไท  นัยว่าพญาลิไทโปรดให้สร้างพระพิมพ์หรือพระเครื่องเนื้อดินเผาบรรจุไว้ในเจดีย์วัดถ้ำหีบ  ในแดนอรัญญิกเมืองสุโขทัย  จึงเรียกกันว่าพระถ้ำหีบ  ส่วนพระพิมพ์นางเสน่ห์จันทน์นั้น  พระนางศรีธรรมราชมาตา  มเหสีพญาลิไทสร้างบรรจุไว้ในเจดีย์วัดต้นจันทน์จึงเรียกว่าพระนางเสน่ห์จันทน์  แม้ต่อมาพบในเจดีย์วัดตาเถรขึงหนังอีกก็รวมเรียกว่าพระนางเสน่ห์จันทน์เช่นกัน

           พระแม่ย่าเป็นเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสุโขทัย  ชาวสุโขทัยเชื่อกันว่าเป็นรูปพระนางเสืองราชมารดาพ่อขุนรามคำแหง  ทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์  พี่มหาประเสริฐ นุตาลัย  เป็นผู้นำในการค้นคว้ารวบรวมเรื่องพระแม่ย่าได้มา  แล้วนำลงพิมพ์ในหนังสือสุโขทัยสาร  มีความว่าเป็นเทวรูปสตรีแกะสลักด้วยหิน  ราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๗  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงพยายามค้นหาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเขตเมืองเก่าสุโขทัย  โดยเปรียบเทียบกับศิลาจารึกหลักต่าง ๆ โดยเฉพาะ  "หลักที่ ๑"  ซึ่งมีข้อความกล่าวถึง  "เทพารักษ์ประจำเมือง"  ที่สถิตปกปักรักษาอยู่ ณ เขาหลวง ปรากฏชื่อในศิลาจารึกว่า  "พระขะพุงผี"  ดังปรากฏความว่า

           "เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้...มีพระขะพุงผี  เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้  ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้  ไหว้ดีพลีถูก  เมืองนี้เที่ยง  เมืองนี้ดี  ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก  ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง..เมืองนี้หาย"

           ในคราวที่ค้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนี้นั้น  สมเด็จฯ ก็ได้พบ  "เทวรูปเทวสตรี"  สลักจากหิน  อยู่ในลักษณาการยืน ซึ่ งสร้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ  และเนื่องจากไม่สามารถค้นหาเทวรูปอื่นในเทือกเขาหลวงได้อีกเลย  ประกอบกับชาวบ้านแถบนั้นเคารพนับถือเทวรูปสตรีดังกล่าวมาก  จึงเชื่อว่าเทวรูปสตรีที่ค้นพบคือ  พระขะพุงผี  ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของชาวสุโขทัย

           ความเกี่ยวพันกับตำนานความเชื่อที่ว่า  เทวรูปดังกล่าวเป็นเทวรูปที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงยกให้เป็นผีที่เหนือผีทั้งหลาย  ชาวสุโขทัยจึงเชื่อว่าเทวสตรีดังกล่าวก็คือ  "นางเสือง"  ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพ่อขุนบานเมืองและพ่อขุนรามคำแหง  ทรงเป็นเอกอัครมเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัย  และทรงเป็นพระขนิษฐาของพ่อขุนผาเมืองแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถม  ผู้ช่วยกันกับพระสหายกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากอำนาจของขอมอีกด้วย  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงดำริให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย  ไม่เช่นนั้นอาจจะสูญหายได้  พระยารามราชภักดีเจ้าเมืองสุโขทัยในเวลานั้นจึงได้อัญเชิญองค์เทวรูปองค์นี้มาเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัด  โดยมีชาวเมืองสุโขทัยช่วยกันแห่อย่างเนืองแน่น  เกิดฝนตกหนักเป็นอัศจรรย์  เพราะขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง  ไม่ใช่ฤดูฝน  และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อจังหวัดสุโขทัยถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดสวรรคโลก  รูปเคารพพระแม่ย่าก็ถูกย้ายไปประดิษฐานในศาลากลางจังหวัดสวรรคโลกในระยะหนึ่ง  จนเมื่อจังหวัดสวรรคโลกเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดสุโขทัยตามเดิม  รูปเคารพพระแม่ย่าจึงกลับมาอยู่ ณ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยอีกครั้ง  และเรียกนามสืบต่อกันมาว่า  "พระแม่ย่า"  อันหมายถึง  สตรีที่มีฐานะสูงสุด  เป็นทั้งพระมารดาและพระอัยยิกาแห่งเมืองสุโขทัย
 
           เพราะเทวรูปสตรีที่ชาวสุโขทัยเชื่อว่าเป็นรูปพระนางเสืองพระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหง  ดังนั้นเมื่อเรียกขุนรามคำแหงว่า  “พ่อ”  จึงเรียกนางเสืองพระมารดาของท่านว่า  “พระแม่ย่า”  ในทางโบราณคดีเชื่อว่า  เทวรูปสตรีนี้คือ  “พระขะพุงผี....”  ตามความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นแน่แท้  องค์เทวรูปสตรีนี้เป็นศิลปะขอมโบราณ  น่าจะมีอายุสมัยปาปวน (พ.ศ.๖๐๐) เป็นต้นมา  ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในศาลพระแม่ย่าริมแม่น้ำยม  หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย /๒๐๓

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, กรกฎาคม, 2566, 11:15:46 PM
(https://i.ibb.co/x86JgKJ/310402177-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐๔ -
           ครูเหรียญชัย จอมสืบ  เป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้จริง ๆ  คนที่ไม่ชอบเขาก็จะเรียกกันลับหลังเขาว่า  เหรียญชัย จอมเสือก บ้าง  วุ่นวายจังหวัดบ้าง  เรื่องที่เขาคิด (ให้คนอื่นทำ) นั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมไม่น้อย  ข้าพเจ้ารับร่วมงานกับเขาก็เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมนี่แหละ  งานทางด้านสื่อสารของเขานอกจากเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์รายวันส่วนกลางหลายฉบับแล้ว  เขายังมีโครงการขยายเครือข่ายงานข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโดยเชื่อมเครือข่ายสุโขทัย-พิษณุโลกเข้าด้วยกัน  หนังสือพ์ท้องถิ่นสุโขทัยมีฉบับเดียวคือ  “เสียงชนบท”  ของสุเทพ เสาวแสง  พิษณุโลกมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับ เช่น  “ตระกูลไทย”,  “เผ่าไทย”  ของพี่น้อง ประเสริฐ-ศักดิ์ รัตนาคม   “อิสระ” ของสมพงษ์ พลวัย  และ  “ประชากร”  ของ วิทูรย์ กวยปาณิก

            “ประชากร”  หนังสือพิมพ์ของวิทูรย์เป็นหนังสือพิมพ์ออกใหม่  พี่วิทูรย์ผู้เจ้าของเป็นหนุ่มใหญ่ไฟแรง  อายุรุ่นราวคราวเดียวกับครูเหรียญชัย  และเขาเป็นเพื่อนรักกัน  จึงจับมือกันทำข่าวในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก แพงเพชร ลงพิมพ์ในเสียงชนบท และ ประชากร  พร้อมส่งเข้าเป็นข่าวรายวันส่วนกลาง  พี่วิทูรย์เป็นนักข่าวภูธรของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งแต่นั้นมา  ในเชิงข่าวแล้วพี่วิทูรย์จะเข้มคมมากกว่าครูเหรียญชัย  เดิมหนังสือพิมพ์ประชากรไม่มีคอลัมน์กวี  เมื่อครูเหรียญชัยเข้าไปเกี่ยวข้อง  จึงเปิดบัญชรกลอนขึ้น  เป็นสนามกลอนของคนรักกลอนอีกแห่งหนึ่ง  ข้าพเจ้าเป็นตัวหลักที่เขียนกลอนลงในคอลัมน์กลอนในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

           เท่านั้นยังไม่พอ  ครูเหรียญชัยยังหาทุนจัดตั้งโรงพิมพ์ของตนขึ้นที่เมืองสุโขทัย  ตั้งอยู่ในห้องแถวไม้ริมถนนสิงหวัฒน์  พิมพ์หนังสือสุโขทัยสารของจังหวัด  ไม่ต้องหอบต้นฉบับไปพิมพ์ที่พิษณุโลกอีกต่อไป  โรงพิมพ์สมัยนั้น  แท่นพิมพ์เป็นแบบที่เรียกกันว่า  “แท่นฉับแกละ”  ต้องใช้มือป้อนแผ่นกระดาษเข้าแท่นพิมพ์ทีละใบ  ตัวอักษรเป็นตัวที่ทำด้วยตะกั่วหลายขนาด  สระ  พยัญชนะ  วรรณยุกต์  ใส่เคสในกระบะไม้ไว้ให้ช่างเรียงจับเรียงทีละตัว  การเรียงพิมพ์ไม่ใช่เรื่องง่าย  ช่างต้องมือไว  ตาดี  เหมือนช่างพิมพ์ดีดนั่นแหละ  ครูเหรียญชัยไม่ออกหนังสือพิมพ์ของตนเอง  เพราะเกรงใจพี่มหาสุเทพเจ้าของเสียงชนบท  เขารับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ทั่วไป เช่น  การ์ด ใบปลิว ซองฎีกากฐิน ผ้าป่า และหนังสือยก (เป็นเล่ม)  เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในกิจการโรงพิมพ์ เช่น ค่ากระดาษ หมึกพิมพ์ และค่าจ้างช่างพิมพ์ ช่างเรียงพิมพ์ เป็นต้น

           สมัยนั้นหนังสือการ์ตูนเป็นที่นิยมอ่านกันไม่น้อย  ครูเหรียญชัยนึกสนุกอะไรของเขาก็ไม่รู้  ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนกลอนเรื่องศรีธนนชัยให้  แล้วขอให้ครูประพันธ์ผู้เป็นครูสอนศิลปะ รร.วัดคูหาสุวรรณช่วยเขียนภาพประกอบคำกลอน  เขาบอกว่าจะพิมพ์ขายเอาเงินมาแบ่งกันใช้  ข้าพเจ้าไม่สนใจรายได้ดอก  แต่เขียนกลอนให้เพราะนึกสนุกและชอบความเจ้าเล่ห์เพทุบายเจ้าศรีธนนชัยนั่นแหละ  สำนวนกลอนที่เขียนก็ไม่ไพเราะเพราะพริ้งอะไร  เนื้อเรื่องเน้นความเจ้าเล่ห์แสนกลให้อ่านอย่างสนุก ๆ เท่านั้น  ครูประพันธ์วาดภาพดีมากเลย

           ยุคนั้นการพิมพ์ภาพต้องทำบล็อกเป็นแบบพิมพ์  เมื่อครูประพันธ์วาดภาพประกอบคำกลอนเสร็จแล้ว  ครูเหรียญชัยก็หอบภาพการ์ตูนเรื่องศรีธนนชัยนั้นเข้ากรุงเทพฯ  ให้ร้านทำบล็อกย่านวงเวียน ๒๒ กรกฎา ทำบล็อกให้  เมื่อได้บล็อกแล้วก็พิมพ์เป็นเล่มหนังสือการ์ตูนเล่มขนาดดัด ๑๖ (คือ  ๑๖ หน้ายก)  เขาเน้นขายให้นักเรียนตามโรงเรียน  เล่มละเท่าไหร่ข้าพเจ้าไม่ได้จำ

           แม้จะถูกครูเหรียญชัยชักนำออกสู่สังคมฆราวาสมากหน่อย  ข้าพเจ้าก็มิได้ทอดทิ้งหน้าที่การเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม  วัดราชธานียังคงสอนวิชาธรรมะตามเดิม  แต่เพิ่มชั้นสอนขึ้น  กล่าวคือในปีแรกที่เปิดสอนนักธรรมชั้นตรีนั้น  ส่งนักเรียนเข้าสอบความรู้สนามหลวง ๑๑ องค์  สอบได้ ๙ องค์  ปีที่ ๒ จึงเปิดสอนนักธรรมชั้นโทขึ้น  ให้นักเรียนเก่าเลื่อนชั้นขึ้นมาเรียนต่อ  และก็ยังสอนวิชาธรรมวิภาค  อันวิชาธรรม วิภาคนักธรรมชั้นโทนี้สอนยากกว่าชั้นตรี  อาจารย์องค์อื่นไม่กล้าสอน  แต่ข้าพเจ้ากล้าสอนทุกชั้นเลย

           ปีนั้นมีปัญหาทางโรงเรียนปริยัติธรรมวัดไทยชุมพล  คืออาจารย์ผู้สอนวิชาพุทธประวัติเหลือเพียงองค์เดียว  สอนทั้งชั้นตรี ชั้นโท ไม่ไหว  หลวงพี่พระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์) จึงขอร้องให้ข้าพเจ้าไปช่วยสอนวิชาพุทธประวัตินักธรรมชั้นตรี  จึงต้องแบ่งเวลาไปสอนให้ตามคำขอ  ซึ่งก็ไม่เป็นการยุ่งยากอะไรนัก  วัดราชธานี วัดคูหาสุวรรณ วัดไทยชุมพล  อยู่ไม่ห่างไกลกันเท่าไหร่  เดินไปมาหาสู่กันได้สบายอยู่แล้ว/๒๐๔

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, กรกฎาคม, 2566, 11:05:38 PM
(https://i.ibb.co/mXGCXwf/309852589-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐๕ -
           งานของพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตในแต่ละจังหวัดแม้จะมีแนวทางเดียวกัน  แต่ในรายละเอียดไม่เหมือนกัน  เป็นไปตามกาลเทศะคือเวลาและสถานที่  บางจังหวัดถูกต่อต้านอย่างเงียบ ๆ จากพระผู้ใหญ่ชั้นปกครอง  คือท่านไม่ขัดขวางห้ามปราม  แต่ไม่สนับสนุนส่งเสริม  ปล่อยให้พวกเราทำงานกันไปตามลำพัง  บางหน่วยบางองค์ไม่รู้จะเริ่มต้นทำอะไรดีก็อยู่เฉย ๆ ไปก่อน  ส่วนหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘ ของข้าพเจ้านั้น  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยก็ให้พวกข้าพเจ้าทำอะไรก็ทำไป  มีอะไรจะให้ช่วยก็บอกมา  ข้าพเจ้าจึงใช้เวทีแสดงธรรมเป็นงานเผยแผ่ตามแนวของหน่วยพัฒนาการทางจิตของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย  งานเพื่อสังคมสงเคราะห์งานแรกคือ  คัดเลือกสามเณรน้อยได้สององค์ซึ่งเป็นลูกศิษย์ข้าพเจ้าที่โยมพ่อแม่เห็นชอบแล้ว  ส่งไปให้มูลนิธิฯ ตามที่ตกลงกันไว้

           นายสมาส อมาตยกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยจัดทำโครงการพบปะประชาชนในอำเภอต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัด  โดยนำคณะข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวงทบวงกรมไปพบประชาชน  ให้ความรู้แก่ประชาชน  รับฟังและแก้ไขปัญหาประชาชน  ในการนี้ท่านนิมนต์ข้าพเจ้าในนามพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตไปด้วย  เพื่อให้แสดงปาฐกถาธรรมอบรมประชาชนตามแนวทางของหน่วยพัฒนาการทางจิต  ข้าพเจ้าจึงมีผลงานของหน่วยพัฒนาการทางจิตจากโครงการพบปะประชาชนของท่านผู้ว่าฯ สมาสนี้เอง

           วิธีการพบปะประชาชนของท่านผู้ว่าฯ สมาสคือ  ให้นายอำเภอ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  นัดประชาชนในปกครองของตนมารวมกันที่ห้องประชุมใดห้องประชุมหนึ่งตามที่เห็นสมควร  การประชุมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา ๒.๓๐ น. เป็นต้นไป (ในเวลาราชการ)  นายสมาส อมาตยกุล ในนามผู้ว่าฯเป็นผู้กล่าวเปิดประชุม  ชี้แจ้งข้อราชการต่าง ๆ พอสมควรแก่เวลา  แล้วนิมนต์ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรม  ข้าพเจ้าเลือกหัวข้อธรรมที่เห็นว่าควรแสดงให้ประชาชนฟังเตรียมไว้หลากหลาย  เมื่อถึงเวลาพูดก็เลือกเรื่องที่เห็นว่าเหมาะแก่สถานการณ์สถานที่  และกลุ่มบุคคลผู้ฟัง  เวลาพูดก็สังเกตดูอากัปกิริยาผู้ฟังว่าพอใจหรือไม่อย่างไร  เมื่อเห็นคนฟังไม่ค่อยสนใจฟัง  ก็ออกมุกคำพูดขำขันให้พวกเราหันมาสนใจฟัง  เห็นเขาง่วงก็เล่านิทานสนุก ๆ ที่จำมาจากอาจารย์มหาอ่อน บุญพันธ์  แก้ง่วงให้เขา  วิธีการเล่านิทานธรรมะแบบตลก  ข้าพเจ้าจดจำลีลาอาจารย์มหาอ่อนได้มากจนเพื่อน ๆ เรียกข้าพเจ้าว่า  “มหาอ่อนน้อย”  ดังนั้นการแสดงปาฐกถาของข้าพเจ้าจึงเป็นที่พอใจของประชาชนและข้าราชการที่ได้ฟัง  ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนเรื่องเปลี่ยนแนวไม่ให้ซ้ำกัน  มีนายอำเภอคนหนึ่งท่านจำมุกตลกในการพูดและนิทานธรรมะสนุก ๆ ของข้าพเจ้าไว้ได้มาก  และนำไปพูดที่ทั่วไป

           วันหนึ่งจังหวัดสุโขทัยจัดโครงการพบปะประชาชนในท้องที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม  ผู้ว่าฯสมาสให้คนเอารถมารับข้าพเจ้าแต่เช้า  เดินทางไปถึงสถานที่ประชุมทันเวลาพอดี  หลังจากผู้ว่าฯ กล่าวเปิดประชุมชี้แจงข้าราชการแล้ว  ก็นิมนต์ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรมตามปกติ  ชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยมส่วนใหญ่เป็นชาวไทยล้านนาเคลื่อนย้ายมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง  วันนั้นข้าพเจ้าพูดเรื่อง  ศาสนากับวัฒนธรรมประเพณี  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าติดตามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยม  ได้พบเห็นวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับศาสนาของชาวทุ่งเสลี่ยมดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนหน้านี้  เหตุการณ์ที่รับนิมนต์ไปสวดมนต์ฉันเช้ายังฝังใจอยู่  คิดว่าในโอกาสนี้ควรพูดในเชิงวิพากย์วิจารณ์เรื่องนั้น

           เริ่มต้นก็กล่าวยกย่องชมเชยที่ชาวทุ่งเสลี่ยมมีความรักสมัครสมานสามัคคีกันดี  รักษาวัฒนาธรรมประเพณีของล้านนาไทยไว้อย่างมั่นคง  จากนั้นก็กล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นลักษณ์เอกราชของชาติ  แยกวัฒนธรรมออกเป็นส่วน ๆ คือ  วัฒนธรรมด้านภาษา  วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย  วัฒนธรรมด้านกิริยามรรยาท  วัฒนธรรมด้านอาหารการกิน  เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นชนเชื้อชาติใด  ถ้าหากขาดวัฒนธรรมเหล่านี้แล้วจะรู้ไม่ได้ว่าเป็นชนชาติใด  ส่วนเรื่องประเพณีคือเรื่องที่กระทำสืบต่อกันมาอันเป็นส่วนประกอบของวัฒนธรรมนั้นก็สำคัญ  ประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อบางอย่างก็ดี  บางอย่างก็ไม่ดี  พูดถึงตรงนี้ก็วกเข้าเรื่องการทำบุญ  ควรศึกษาให้เข้าใจว่าการทำอย่างไรเป็นบุญ  ทำอย่างไรไม่เป็นบุญ  มิใช่แต่จะทำตาม ๆ กันไป  พอเห็นคนฟังชักจะง่วงเหงาหาวนอนก็เล่านิทานของอาจารย์มหาอ่อน  เรื่องปลดหางกระเบนกราบพระรับศีล  พอจบประโยคที่ว่า  ** “ไอ้เซ่อ  ไม่ปลดหางกระเบนแล้วศีลมันจะเข้าทางไหนเล่า”   เท่านี้ก็เรียกเสียงฮาครืนหายง่วงไปเลย (**อ่านทวนได้ในตอนที่ ๑๘๒)

           ครั้นเสียงหัวเราะสงบลงแล้ว  ก็พูดถึงการทำบุญถวายทานตอนเช้ามีพิธีกรรมยึดยาดเยิ่นเย้อเกินไป  การกล่าวคำไหว้พระด้วยภาษาบาลีแล้วแปลเป็นภาษาไทย (ล้านนา)  การกล่าวชุมนุมเทวดาแทนพระก็ดีอยู่  แต่การแปลความในบทชุมนุมเทวดา (สัคเค กาเม....) ยาวเกินไป  ครั้นพระสวดถวายพรพระจบแล้วแทนที่จะถวายอาหาร  แต่กลับกล่าวคำถวายทาน  โดยเริ่มที่  ชุมนุมเทวดา  อีก  แปลทั้งบทชุมนุมเทวดาและคำถวายสังฆทานยืดยาวมาก  พระท่านหิวจนท้องร้องจ๊อก ๆ แล้วก็ยังกล่าวคำถวายไม่จบ  ประเพณีอย่างนี้ไม่ดี  แทนที่จะเป็นบุญกลับเป็นบาป  เพราะทำให้ความหิวมันทรมานท้องพระมาก  แล้วสรุปว่าทำบุญอยากได้บุญต้องทำให้ถูกวิธี  ถูกเวลาและสถานที่ (กาลเทศะ)  ขอฝากความคิดเห็นนี้ไว้ให้พิจารณาด้วยด้วย

           แสดงปาฐกถาจบแล้วลงจากโพเดียมเดินออกไปนอกห้องประชุม  เห็นท่านผู้ว่าสมาสนั่งคุยอยู่กับเถ้าแก่คนหนึ่งกลางสนามหญ้า  มีเก้าอี้ว่างอยู่จึงเดินไปหา  ท่านนิมนต์ให้นั่งสนทนาด้วย  เถ้าแก่คนนั้นยกมือไหว้แล้วกล่าวว่า  ท่านเทศน์ดี  แต่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่  สำหรับรุ่นผมต้องเทศน์ทำนองแบบ  “คาบลูกคาบดอก”  ข้าพเจ้าก็ตอบว่า  อาตมาเทศน์ให้คนรุ่นใหม่ฟัง  รุ่นโยมนี่อาตมาไม่ถนัดที่จะเทศน์ให้ฟังเลย  เถ้าแก่ก็นิ่งไป  ผู้ว่าฯ คุยเสไปเรื่องอื่นสักครู่หนึ่ง ชั ยวัฒน์ ลิมปะพันธุ์ ก็ขับรถจี๊ปเข้ามา  เถ้าแก่นั้นก็ยกมือไหว้กล่าวว่าผมลาก่อนนะครับ  พอเขาขึ้นรถไปแล้วท่านผู้ว่าฯ ก็พูดว่า   “ท่านกล้าพูดกับขุนเพ่งอย่างนั้นเชียวหรือ”   ข้าพเจ้าค่อนข้างตกใจร้อง  อ้าว...คนนี้น่ะหรือคือขุนเพ่ง  อาตมาไม่เคยรู้จักตัวเขามาก่อนเลย  ได้ยินแต่ชื่อเท่านั้นเอง

           วันต่อมาได้พบ ชัยวัฒน์ ลิมปพันธุ์  จึงสอบถามถึงเรื่องราวของขุนเพ่งจนได้ข้อมูลย่อ ๆ ว่า  เดิมท่านชื่อ เพ่งอัน แซ่ลิ้ม  เป็นน้องชายพ่อของชัยวัฒน์  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน  มีนามว่า  ขุนเพ่งจีนานุเคราะห์  สมัยสงคามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๘๘ ญี่ปุนเข้ายึดไทย  มีการตั้งขบวนเสรีไทยขึ้นต่อต้าน  ขุนเพ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองสวรรคโลกอยู่  ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยระดับแนวหน้าด้วยคนหนึ่ง  เมื่อสิ้นสงครามแล้วท่านเล่นการเมืองระดับชาติ  ประมาณปี ๒๔๙๑ ได้เป็น สส.สุโขทัย  มีชื่อเสียงโด่งดังพอสมควร /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ ตุลาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กรกฎาคม, 2566, 11:07:51 PM
(https://i.ibb.co/kGvQpJg/6352231680629100001-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐๖ -
           เรื่องการคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยที่ค้างคาอยู่เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากคือ  เรื่องของพระมุนินทรานุวัตต์  อดีตเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัย  เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (พระปรางค์) พระอารามหลวงชั้นเอก  ต้องอธิกรณ์ในข้อหาปฐมปาราชิก  แล้วถูกพักตำแหน่งไว้ในขณะดำเนินคดี  ทางคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยยังมิอาจตัดสินได้เป็นเวลานานหลายปีแล้ว  จะแต่งตั้งพระภิกษุเข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ใหม่ก็มิได้  เพราะเจ้าอาวาสเดิมถูกพักคาตำแหน่งอยู่  จะแต่งตั้งพระภิกษุเป็นเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัยก็มิได้  เพราะเจ้าคณะอำเภอองค์เดิมถูกพักตำแหน่งคาอยู่  เรื่องนี้เป็นอุปสรรคในการบริหารงานปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยไม่น้อยเลย

           พระครูสมุห์แถวเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยนำเรื่องนี้มาปรึกษาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  หลวงพ่อเจ้าคุณเรียกข้าพเจ้าและทนายความประจำตัวท่าน ๓ คน เข้าร่วมปรึกษาหารือกัน  เอกสารเรื่องนี้มีอยู่เป็นแฟ้มใหญ่  เปิดอ่านสำนวนการสอบสวนแล้วดูวกวนสับสนมาก  เรื่องนี้เกิดขึ้นจากแม่ชีคนหนึ่งฟ้องร้องว่าเจ้าคุณมุนินทรฯ ล่วงละเมิดทางเพศเธอ  เจ้าคุณมุนินทรฯ จึงฟ้องศาลยุติธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ว่าแม่ชีหมิ่นประมาทใส่ความ  แม่ชีต่อสู้คดีด้วยพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว  ศาลเห็นว่าแม่ชีมิได้ใส่ความจึงยกฟ้องให้พ้นคดีหมิ่นประมาทและใส่ความในที่สุด

           เรื่องในสำนวนสอบสวนของคณะกรรมการสงฆ์ที่เจ้าคณะจังหวัด (องค์ก่อน) ตั้งให้สอบสวนตัดสินคดี  ได้กล่าวถึงมูลเหตุว่า  เจ้าคุณมุนิทรานุวัตต์เปิดสอนพระปริยัติธรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  โดยภาคปฏิบัตินั้นมีการอบรมการปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐาน  มีฆราวาสชายหญิงเข้าร่วมศึกษาอบรมมาก  เฉพาะหญิงที่เข้าร่วมการอบรมนั้นมีทั้งสาวและแก่  และส่วนหนึ่งก็บวชเป็นแม่ชีอยู่ประจำในวัดเพื่อปฏิบัติธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน  ที่พักแม่ชีเรียงรายอยู่ในป่าละเมาะของวัด  เจ้าคุณมุนินทรฯ เดินตรวจตราเป็นประจำทุกคืน  แล้วแม่ชีคนหนึ่งก็ฟ้องร้องว่าเจ้าคุณฯ ล่วงละเมิดทางเพศ  โดยทางคณะกรรมการสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานใดประกอบสำนวน  คณะทนายที่ปรึกษาของหลวงพ่อเจ้าคุณอ่านสำนวนการสอบสวนแล้วก็บอกว่า  สำนวนการสอบสวนบกพร่องมาก

           ข้าพเจ้าไปนอนคุยกับพระครูบวรธรรมนุศาสน์เจ้าอาวาสวัดหาดเสี้ยวบ่อย ๆ  ถามถึงประวัติเจ้าคุณมุนินทรฯ ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน  ทราบว่า  เจ้าคุณมุนินทรฯเป็นชาวหาดเสี้ยว  เข้าไปอยู่วัดสามพระยากรุงเทพฯ เมื่อสอบได้นักธรรมและเปรียญได้จนเป็นที่พอใจแล้วจึงกลับมาอยู่บ้านเกิด  ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหาดเสี้ยว  และเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัย  มีสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูมุนินทรานุวัตต์  ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ได้เลื่อนสมณะศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระมุนินทรานุวัตต์  เมื่อถามเรื่องคดีที่เกิดขึ้น  พระครูบวรฯ ตอบแบ่งรับแบ่งสู้ (ภาคเสธ) ก็เลยไม่ได้ข้อมูลอะไร  ทราบแต่เพียงว่าขณะเกิดเรื่องขึ้นท่านไม่ค่อยอยู่วัด  มักเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปพักอยู่วัดสามพระยานานเป็นเดือน ๆ  จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าท่านเข้าไปขอพึ่งบารมีของท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาบดี (ฟื้น ชุตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ผู้เป็นอาจารย์  ซึ่งสมัยนั้นท่านเจ้าคุณฟื้นเป็นพระมหาเถระผู้มีอิทธิพลทางการปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมาก (ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ขุตินฺธโร) จึงอยู่รอดมาจนถึงปีที่ข้าพเจ้าไปอยู่วัดราชธานีสุโขทัย

           ในการปรึกษาหาทางออกของเรื่องนี้  เพื่อให้มีการตั้งพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์องค์ใหม่  และเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัยองค์ใหม่บริหารงานปกครองคณะสงฆ์ต่อไปได้  ข้าพเจ้าเสนอให้ทางหวัดมีคำสั่งตัดสินเจ้าคุณมุนินทรานุวัตต์พ้นความผิดกลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิม  แล้วยกขึ้นเป็นเจ้าอาวาส  เจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์เสีย  และตั้งพระภิกษุองค์ใหม่เข้าดำรงตำแหน่งแทน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้  นอกจากทางออกนี้  ยังมองไม่เห็นทางออกอื่นเลย  พระครูสมุห์แถวไม่เห็นด้วย  ท่านอ้างว่าเจ้าคุณมุนินทรฯ ล่วงอาบัติปฐมปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุไปแล้ว  หลักฐานคือคำสั่งศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่แม่ชีกล่าวหาเจ้าคุณมุนินทรฯ ว่าเสพเมถุนเธอ   เจ้าคุณมุนินทรฯ ฟ้องว่าหมิ่นประมาทใส่ความ  เมื่อสืบพยานกันในศาลแล้ว  เจ้าคุณมุนินทรฯ แพ้ความ  ศาลเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงตามที่แม่ชีกล่าว  จึงยกฟ้อง  แม่ชีไม่ผิด  เจ้าคุณมุนินทรฯ จึงเสพเมถุนจริงตามคำกล่าวหาของแม่ชี  คำค้านของพระครูสมุห์แถว  พวกเราต้องอึ้งไปอย่างปราศจากข้อโต้แย้ง  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกให้รอเรื่องนี้ไว้ก่อนก็แล้วกัน

           เจ้าคุณมุนินทรานุวัตต์ มีความรู้ด้านประวิศาสตร์โบราณคดีเป็นอย่างมาก  ท่านได้รวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้วพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง  “ตำนานเมืองสวรรคโลก”  เล่มหนึ่ง  เป็นเรื่องน่ารู้มากทีเดียว   ข้าพเจ้ามารู้เรื่องของท่านเมื่อได้พบรู้จักกับพันเอกสุดใจ กิจประมวญ  นายทหารสารบรรณกระทรวงกลาโหม  ท่านเล่าว่าเคยเป็นเพื่อนกับเจ้าคุณมุนินทรฯ สมัยเป็นพระแล้วลาสิกขาออกไปสมัครเป็นอนุศาสนาจารย์  ต่อเมื่อเจ้าคุณมุนินทร์ฯ มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นจึงมาหาท่านปรึกษาทางแก้ไข  ท่านจึงขอร้องหลวงจบกระบวนยุทธ (พ่อตาจอมพลถนนอม) แล้วพากันไปขอพบท่านเจ้าคุณวัดสามพระยา  บอกเล่ารายละเอียดให้ท่านทราบเพื่อหาทางแก้ไข  ท่านเจ้าคุณฟื้นทราบรายละเอียดแล้ว  บอกว่าช่วยอะไรไม่ได้หรอก  “ขอให้ไปพิจารณาตัวเอง”   เรื่องจึงหยุดอยู่แค่นั้น  พ.อ.สุดใจบอกว่า  “มหามุนินท์พิจารณาตนเองแล้วเห็นว่าตัวเองไม่ผิดจึงขออยู่ในบรรพชิตเพศต่อไป”  ข้าพเจ้าก็ถึงบางอ้อว่า  เป็นอย่างนี้นี่เอง/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, กรกฎาคม, 2566, 10:53:38 PM
(https://i.ibb.co/LtJtLYW/311330177-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐๗ -
           เรื่องดี ๆ ของพระภิกษุมีมากมายแต่ไม่เป็นข่าว  เพราะเรื่องดี ๆ เป็นเรื่องปกติ  แต่เรื่องไม่ดี (ร้าย) ของพระภิกษุเป็นเรื่องผิดปกติ  จึงมักเป็นข่าวอยู่เสมอ  ท่านที่อ่านคำให้การฯ นี้มาแต่ต้นคงจำได้ว่า  ข้าพเจ้าเคยช่วยนายทหารอากาศยศพันจ่าอากาศเอกคนหนึ่งออกจากห้องขังโรงพักตำรวจ  แล้วจัดการบวชให้เป็นพระ  หลวงพ่อห้อมผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ส่งไปอยู่วัดศรีสังวร (ท่าช้าง)  พระองค์ดังกล่าวคือพระคารพ คารโว  ท่านเกิดและโตในตระกูลผู้ดีมีการศึกษาดี (แต่มีความประพฤติไม่ค่อยดี)  จึงเป็นพระที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยได้ในด้านระเบียบกฎหมาย  ใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไรก็ไปปรึกษาท่านให้ช่วยแก้ไข  เช่นเรื่องการไฟฟ้าจะเดินสายไฟเชื่อมต่อระหว่างเมืองสุโขทัย-อำเภอศรีสำโรง ปักเสาไฟฟ้าในที่ของชาวบ้านโดยพลการ  ชาวบ้านไม่ยอมจึงปรึกษาพระคารพ  ท่านก็ออกหน้าเจรจา  ขอให้ปักเสาไฟฟ้าในเขตทางหลวง  ถ้าจะปักนอกเขตทางหลวงเข้าไปในที่ชาวบ้านต้องเสียเงินให้เจ้าของที่ตามกฎหมาย  เรื่องนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านมาก  พระคารพเป็นที่เคารพนับถือยำเกรงของชาวบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ

           พระผู้รักษาการเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุมากประมาณ ๕๐ ปีแล้ว  มีความประพฤติไม่ค่อยเรียบร้อย  พระคารพเคยบอกถึงพฤติกรรมของ รก.เจ้าอาวาสว่า  แอบสูบกัญชาและดื่มสุรา  ข้าพเจ้าเคยไปว่ากล่าวตักเตือนขอให้เลิกพฤติกรรมนั้นเสีย  ท่านโต้เถียงว่า  ดื่มสุราเป็นอาบัติเพียงแต่ปาจิตตีย์  แสดงอาบัติเสียก็พ้นโทษได้  ข้าพเจ้าก็ว่าจริงดังนั้น  แต่มันเป็นโลกวัชชะ  คือชาวโลกติเตียน  โทษโลกวัชชะนี้ปลงอาบัติไม่ได้  จะติดตนไปจนตาย  ท่านรับปากว่าจะเลิกเสพทั้งกัญชาและสุรา  ต่อมาท่านคงทนความอึดอัดใจไม่ได้จึงลาออกจาก รก.เจ้าอาวาส  ไปอยู่วัดพระพายหลวง เมืองเก่า  เป็นลูกวัดของพระอาจารย์สายัณห์  ทางเจ้าคณะตำบลจึงตั้งพระคารพเป็น รก.เจ้าอาวาสแทน

           อยู่มาวันหนึ่ง  ข้าพเจ้ากลับจากไปวัดคูหาสุวรรณ  เดินผ่านซุ้มกระดังงาจะเข้ากุฏิ  พบนายตำรวจแต่งเครื่องแบบติดยศร้อยตำรวจโทนั่งอยู่ในลักษณะเมาสุรา  ก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก  พอจะเข้ากุฏิ พระศิษย์ข้าพเจ้าองค์หนึ่งก็มาบอกว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกหา  จึงเดินเลยไปพบท่านที่อาคารโรงเรียนวินัยสาร  พบพระองค์หนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก คือพระชัย นั่งอยู่  หลวงพ่อคุณเห็นข้าพเจ้าเข้าไปหาก็บอกว่า   “แกไปกะข้าเดี๋ยวนี้เลย”   ถามท่านว่าไปไหนครับ  ท่านว่าไปจับพระกินเหล้า  ข้าพเจ้านั่งลงแล้วถามเรื่องราวที่จะไปทำกัน  ได้ความว่า  พระชัยไปแจ้งความที่โรงพักกองเมืองว่า  พระคารพจัดเลี้ยงสุราอาหารแก่พระลูกวัด  ถามว่าทั่นรู้ได้อย่างไร  เขาบอกว่าเคยร่วมวงกับพระคารพมาหลายครั้งแล้ว  ถามว่าทั่นก็ดื่มกินกับเขาด้วยใช่ไหม   “ผมไม่กินเหล้ากินแต่กับ”   ฟังคำตอบแล้วก็รู้ได้ว่าพระชัยเคยร่วมวงดื่มเหล้ากับพระคารพมาหลายครั้ง  คราวนี้คงจะผิดใจกันจึงมาแจ้งให้ตำรวจไปจับ

           ข้าพเจ้าไม่คิดจะไปจับพระคารพสึกตามความต้องการของพระชัย จึงถามอีกว่า  เหล้าที่เอามาดื่มกินกันนั้นเป็นเหล้าเถื่อนหรือเหล้าโรง  เขาตอบว่าเป็นเหล้าโรงอย่างดี  ข้าพเจ้าจึงเรียนหลวงพ่อเจ้าคุณว่า  เหล้าโรงเป็นเหล้าไม่ผิดกฎหมาย  พระดื่มก็ผิดเฉพาะวินัยสงฆ์  ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง  จับเขาสึกไม่ได้หรอก  พระชัยว่า  ตอนนี้ตำรวจมานั่งรออยู่แล้วไปกันเถิดครับ  ข้าพเจ้าก็ว่าตำรวจร้อยโทใต้ต้นกระดังงานั่นหรือ  ก็เห็นเขาเมาเหล้าอยู่เหมือนกันนะ  หลวงพ่อเจ้าคุณฟังดังนั้นก็ก็ร้อง  ฮะ ตำรวจก็เมาเหรอ  งั้นข้าไม่ไปละ  แกไปกันเองเถอะ  ว่าแล้วท่านเปลื้องจีวรออกแล้วนั่งนิ่งเฉยเสีย  ข้าพเจ้าก็กลับเข้ากุฏิโดยไม่สนใจพระชัยกับตำรวจอีกต่อไป

           ได้ทราบเรื่องในวันรุ่งขึ้นว่า  พระชัยพา “หมวดวิเชียร” และตำรวจจำนวนหนึ่งเดินทางไปวัดท่าช้าง  พอเข้าไปในวัดพระคารพก็เปิดไฟฟ้าสว่างพรึบขึ้นเป็นการต้อนรับ  แล้วติดเครื่องกระจายเสียงประกาศให้ชาวบ้านทราบว่ามีตำรวจบุกรุกเข้ามาในวัดยามวิกาล  ชาวบ้านได้ยินเสียงประกาศก็พากันเข้าวัดกันจำนวนมาก  เขาว่าตอนนั้นหมวดวิเชียรหายเมาเป็นปลิดทิ้ง  ยกมือไหว้ขอโทษแล้วรีบกลับโรงพักทันที  เรื่องไม่จบลงเพียงแค่นั้น  เพราะวันรุ่งขึ้นพระคารพเข้าพบผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย  ขอให้สอบสวนดำเนินคดีหมวดวิเชียรและพวกที่บุกรุกเข้าไปในวัดยามวิกาล  ด้วยอ้างว่าพระคารพจัดเลียงสุราอาหาร  ซึ่งไม่เป็นความจริง  หมวดวิเชียรและพวกเป็นตำรวจกองเมืองไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจค้นวัดศรีสังวรซึ่งอยู่ในท้องที่ของ สภ.อ.ศรีสำโรง  และที่สำคัญคือ  หมวดวิเชียรเมาสุราทั้ง ๆ ที่แต่งเครื่องแบบติดยศนายร้อยตำรวจโท

           ๓ วันต่อมา  ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัยเข้าไปพบข้าพเจ้าที่วัด  ขอยอมรับผิดที่หมวดวิเชียรและพวกทำลงไปด้วยความเขลา  ตามคำฟ้องของพระคารพนั้น ทางตำรวจไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ  ขอให้ข้าพเจ้าช่วยประนีประนอมเรื่องนี้ด้วย  โดยทางกองกำกับการฯ จะลงโทษทางวินัยต่อไป  ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจตำรวจ  จึงนัดวันให้ทางตำรวจมาพบกับพระคารพพูดจากันต่อหน้าพลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  หมวดวิเชียรนำดอกไม้ธูปเทียนมาพร้อมที่จะทำการขอขมาโทษ  หลวงพ่อเจ้าคุณกล่าวตำหนิและสั่งสอนหมวดวิเชียรและคณะได้ดีมาก  พวกเขากล่าวยอมรับผิดทุกประการ  หลวงพ่อจึงกล่าวแก่พระคารพว่า

            “เป็นพระที่ดีต้องมีเมตตาแก่คนทั่วไปไม่ว่าเขาจะเป็นคนชั่วหรือคนดี  ดังนั้น  จงอภัยโทษให้แก่พวกเขาเถิด”

           เรื่องจึงยุติลงด้วยดี/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กรกฎาคม, 2566, 10:54:46 PM
(https://i.ibb.co/41pHLmD/311582631-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๒๐๘ -
          ภาษาพระที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เพราะคนชอบพูดกันมากคือศรัทธาที่แปลว่า  ความเชื่อ  ประสาทะ  แปลว่าความเลื่อมใส  และมักจะพูดควบว่า ศรัทธาประสาทะ  แปลว่า ความเชื่อความเลื่อมใส  ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าศรัทธากับประสาทะ (สัทธา ปสาทะ) เป็นอันเดียวกัน  ในปัจจุบันเราใช้คำว่า  “ศรัทธา”  ในความหมายว่าความเชื่อซึ่งเป็นคำกลาง ๆ มิได้หมายถึงความดีหรือความชั่ว  แต่คำว่าศรัทธาที่เป็นคำพระ (ภาษาธรรม) หมายถึงความเชื่อที่ดีมี ๔ ประการ คือ

           “กัมมสัทธา  เชื่อกรรม  เชื่อกฎแห่งกรรม  เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม  คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป  การกระทำไม่ว่างเปล่า  และเชื่อว่าผลที่ต้องการ  จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ  มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น

          วิปากสัทธา  เชื่อวิบาก  เชื่อผลของกรรม  เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง  คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล  และผลต้องมีเหตุ  ผลดีเกิดจากกรรมดี  ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว

          กัมมัสสกตาสัทธา  เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน  เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ  จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก  เป็นไปตามกรรมของตน

          ตถาคตโพธิสัทธา  เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  มั่นใจในองค์พระตถาคต  ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ  ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ  ตรัสธรร ม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี  ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า  มนุษย์ คือเราทุกคนนี้  หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด  บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้”

          ข้าพเจ้าแปลความหมายของ  ศรัทธาประสาทะ  ว่าความเชื่อที่ซาบซึ้ง  แล้วสรุปง่าย ๆ ว่า  งมงาย  ซึ่งก็เป็นได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว  ไม่ตรงตามความหมายของศรัทธา ๔ ประการที่ยกมากล่าวข้างต้น  ศรัทธาของชาวบ้านที่ไม่ใช่ชาวพุทธแท้เป็นศรัทธาประเภท  “มงคลตื่นข่าว”  คือเชื่อเรื่องที่ได้ยินได้ฟังโดยไม่มีเหตุผล  เช่น  เชื่อว่าควายออกลูกเป็นวัว  หมูออกลูกเป็นหมา  ต้นตะเคียนให้เลขหวยเบอร์  นั้นนี้  ศักดิ์สิทธิ์ให้โชคให้ลาภ  เป็นต้น

          เรื่องศรัทธาประสาทะแบบบ้าน ๆ ของชาวบ้านเป็นเรื่องแก้ไขยาก  เพราะเขาเชื่ออย่างปักใจลงจนยากที่จะถอน  อย่างความเชื่อในตัวพระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง  แม้พระองค์นั้นจะทำผิดพระวินัยอย่างร้ายแรงะถึงขั้นปาราชิก  เขาก็ยังเชื่อมั่นว่าพระองค์นั้นเป็นพระดีไม่มีความผิด  จึงปรากฏในสังคมชาวพุทธยุคปัจจุบันว่ามี  “ภิกษุทุศีลมียศมีตำแหน่งอยู่ในหมู่สงฆ์ ”เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนไม่น้อย

          ที่กล่าวแบบ  “ขี่ม้าเลียบค่าย” มายืดยาวก็เพื่อจะเข้าเรื่องจริงที่ข้าพเจ้าสัมผัสด้วยตนเองสมัยเป็นพระภิกษุอยู่ในจังหวัดสุโขทัย  ในฐานะเป็นพระนักเทศน์เผยแผ่ธรรมะ  ข้าพเจ้าชอบเทศน์ธรรมะล้วน ๆ มากกว่าจะเทศน์แบบสมมุติเป็นตัวละครธรรมะ  และ  “คาบลูกคาบดอก”  คือกล่าวธรรมะผสมการร้องแหล่เป็นทำนอง  แต่คนฟังเทศน์ในภาคเหนือตอนล่างคือ สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร  ส่วนมากเขาชอบฟังเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก  พระบางองค์เทศน์คาบลูกคาบดอกเหมือนนักแสดงตลกโปกฮา  บางองค์ก็เทศน์สุภาพเรียบร้อยได้สาระดี

          พระนักเทศน์แบบคาบลูกคาบดอกที่มีชื่อเสียงในจังหวัดสุโขทัยสมัยนั้น  มีพระครูอุดมธรรมปฏิภาณ เจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก องค์หนึ่ง   พระอาจารย์สำราญ บ้านสวน เมืองสุโขทัยองค์หนึ่ง  สำหรับพระครูอุดมธรรมปฏิภาณนั้นเป็นพระผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือมาก  ท่านมีนามเดิมว่า  สำเภา  เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าทอง เจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก  ข้าพเจ้าเคยเทศน์คู่กับท่านหลายครั้ง  ครึ่งหนึ่งไปเทศน์ที่วัดคลองแห้ง  เมืองบางขลัง  ต้องเดินลัดตัดท้องทุ่งไปกลับ  คิดว่าท่านคงจะเดินไม่ไหว  เพราะมีวัยถึงกลางคนแล้ว  แต่ท่านกลับเดินได้เร็วกว่าข้าพเจ้ามากเลย  ท่านเทศน์คาบลูกคบดอกเก่ง  ร้องเสียงดี  เมื่อข้าพเจ้าตอบคำถามอธิบายความหมายของข้อธรรมใด  ท่านก็จะนำความไปใส่ทำนอง  ร้องแหล่สั้น ๆ  คนฟังพากันยกมือสาธุทุกครั้ง  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านเป็นนักร้องที่เชี่ยวชาญชำนาญมาก

          พระนักเทศน์คาบลูกคาบดอกอีกองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงมากไม่น้อย  คือพระอาจารย์สำราญ  ท่านผู้นี้ไม่มียศตำแหน่ง  เพราะท่านบวชแล้วสึกหลายครั้ง  ความประพฤติไมค่อยดี  แต่ก็มีคนเลื่อมใสศรัทธาไม่น้อย  นัยว่าในปีที่ข้าพเจ้ามาอยู่วัดราชธานีนั้น  ท่านบวชเป็นครั้งที่สามแล้ว  หลังพรรษาปีนั้น (๒๕๐๙) พระอาจารย์สำราญต้องคดีฆ่าคนตาย  เรื่องมีอยู่ว่า  อดีตพระปลัดยก ชาวบ้านสวนถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต  ตำรวจจับมือปืนได้  เขาซัดทอดว่ามีคนจ้างวานเป็นทอด ๆ มา  ตัวการใหญ่ผู้จ้างวานคือ  พระอาจารย์สำราญ  สืบหาสาเหตุได้ว่า  พระอาจารย์สำราญมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสีกาใกล้วัด  อดีตพระปลัดยกรู้เห็นเข้าก็ว่ากล่าวตักเตือน  อาจารย์สำราญโกรธจึงจ้างคนมายิงทิ้งเสีย  พ.ต.ต.สุภรณ์ ผดุงชีวิตร ผู้กองเมืองสุโขทัยจึงจับกุมตัวมาดำเนินคดี

          ข่าวการจับกุมตัวอาจารย์สำราญแพร่ไปอย่างรวดเร็ว  คุณนายสมบุญ (บ้านใหญ่) ผู้เป็นญาติจึงให้คนไปนิมนต์ท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนมุนี (แช่ม) วัดใหญ่พิษณุโลก  ซึ่งมีตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ  หลวงอาแช่มรีบมาหาข้าพเจ้าที่กุฏิชวนขึ้นไปปรึกษากันที่ชั้นบน  ขณะที่คิดหาทางช่วยเหลือกัน  ยังหาทางออกไม่ได้นั้น  ผู้กองสุภรณ์ก็นำตัวผู้ต้องหามา  ข้าพเจ้าพาหลวงอาแช่มลงมานั่งในที่ประชุมห้องชั้นล่าง  มีหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณและคนจากบ้านใหญ่นั่งอยู่ด้วยหลายคน  พอผู้กองนำตัวผู้ต้องหามาถึง  อาจารย์สำราญก็รีบเข้ากราบเท้าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณพร้อมกับร้องให้เสียงดัง  กล่าวพรรณนาความดีของตน  ที่สุดก็ขอร้องว่าขอให้นุ่งขาวห่มขาวเถิด  อย่าเอาตัวผมเข้าคุกเลย  หลวงอาแช่มเห็นเช่นนั้นก็หันมามองข้าพเจ้าพูดเบาๆว่า

           “มันรับสารภาพตำรวจไปหมดแล้ว  เราจะช่วยอะไรมันได้เล่า”

          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็บอกคุณเล็กให้หาผ้าขาวมา  แล้วพูดกับอาจารย์สำราญว่า

           “แกพ้นโทษออกมาแล้วข้าจะเอาไตรแพรมาแล้วบวชให้แกใหม่ก็แล้วกัน”

          ผู้กองสุภรณ์นำตัวผู้ต้องหานุ่งขาวห่มขาวกลับไปดำเนินคดีต่อ  หลวงอาแช่ม (พระราชรัตนมุนี) บอกว่า  “เป็นกรรมของเขา”

          หลังจากอาจารย์สำราญถูกจับสึกปรากฏว่ามีคนบ้านสวน  ตาลเตี้ย  บ้านหลุม  ถูกยิงตายหลายคนโดยตำรวจยังจับมือปืนไม่ได้  ผู้กองสุภรณ์มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า

           “คนสุโขทัยนี่แปลกนะครับท่าน  มีหญิงวัยกลางคนหลายคนไปขอเยี่ยมนายสำราญที่ห้องขังโรงพัก  บางคนยกมือไหว้แล้วร้องไห้  บางคนก็กราบ  ถามว่าไปกราบทำไม เขาเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย  ไม่ใช่พระนะ  คนพวกนั้นก็บอกว่า  คนนี้เทศน์เสียงดีมากค่ะ  คดีนี้เห็นจะยุ่งยากมาก  พยานปากสำคัญ ๆ ถูกยิงตายไปหลายคนแล้ว  เป็นการฆ่าปิดปากอย่างแน่นอน  ถ้าคดีนี้ศาลยกฟ้อ ง ผมจะเลิกจับกุมคนร้ายไม่ทำคดีใดอีกต่อไป”
          คดีนี้จบลงด้วยศาลยกฟ้องเพราะหาพยานหลักฐานไม่ได้  ผู้กองสุภรณ์ขอย้ายไปรับราชการที่อื่น  จากนั้นไม่ได้พบกับข้าพเจ้าอีกเลย  ส่วนอาจารย์สำราญนั้นพ้นข้อกล่าวหาแล้วก็กลับมาบวชเป็นพระนักเทศน์คาบลูกคาบดอกต่อไป/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กรกฎาคม, 2566, 11:16:46 PM
(https://i.ibb.co/MDH1KRJ/310918177-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๐๙ -
          ในสมัยนั้นวิชาธรรมกายของหลวงพ่อสดวักปากน้ำ ภาษีเจริญ  กำลังแผ่ขยายไปในท้องถิ่นต่างๆมากขึ้นเรื่อย ๆ  ที่จังหวัดสุโขทัยมีผู้นำมาเผยแผ่ในเมืองสุโขทัย  เป็นแม่ชีท่านหนึ่งชื่อ  แม่ชีจันทร์  มาอย่างไรข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องเดิม  ทนายบุญมี (สันต์ อัมพวะศิริ) ที่ปรึกษาคนหนึ่งของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  นำพาแม่ชีจันทร์พร้อมทนายมหากร่ะจ่าง เข้าพบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  แนะนำให้รู้จักแม่ชีจันทร์ว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ  มาเผยแผ่วิชาธรรมกาย  และขออนุญาตใช้อุโบสถวัดราชธานีเป็นที่ฝีกอบรมวิชาธรรมกาย  หลวงพ่อเจ้าคุณบอกว่าอุโบสถเป็นที่ฝึกอบรมสมถะ วิปัสสนา ของพระผู้เฒ่าในวัดราชธานี  โดยมีพระอภินันท์เป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่  ต้องปรึกษาและขออนุญาตเขาก่อนนะ  ทนายบุญมีจึงนิมนต์ข้าพเจ้าไปพบแม่ชีจันทร์ที่รออยู่ต่อหน้าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเพื่อปรึกษากัน

          แม่ชีจันทร์วันนั้นอายุประมาณ ๕๐ เศษ  ข้าพเจ้าเรียกเขาว่า  “โยมพี่”  แม่ชีบอกว่าสำเร็จวิชาธรรมการได้ดวงธรรมแล้ว  ตั้งใจมาสอนชาวสุโขทัยให้บรรลุวิชาธรรมกายบ้าง  ข้าพเจ้าซักถามเรื่องธรรมกายแล้วได้ความว่า  ท่านใช้คำว่า  “สัมมา อะระหัง”  เป็นองค์ภาวนาในการทำสมาธิจนเกิดดวงธรรมเป็นดวงแก้วใสสะอาด  และเห็นกายหยาบกายละเอียด  แม่ชีอธิบายยืดยาว  ข้าพเจ้าฟังแล้วเห็นว่าไม่ใช่ สมถะ-วิปัสสนากรรมฐาน ตามหลักปริยัติที่เล่าเรียนมา  จึงบอกว่า “เป็นคนละแนวทางที่ฉันสอนพระของฉันนะโยมพี่  เห็นจะอนุญาตให้มาฝึกปฏิบัติที่วัดนี้ไม่ได้หรอก”  ทนายบุญมีถามว่าถ้าอย่างนั้นจะได้สถานที่ใดฝึกอบรมได้เล่า  จึงแนะนำว่า  วัดพระพายหลวงเมืองเก่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุด  ลองไปหาหลวงตาสายัณห์ขอใช้สถานที่นั้นเถิด

          เรื่องราวของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำนี้ข้าพเจ้าเคยได้ทราบมาบ้าง  พระอาจารย์กิตติวุฑโฒดูเหมือนจะเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อสด  ตามประวัติหลวงพ่อมรณภาพปีพ.ศ. ๒๕๐๒  อันเป็นที่ข้าพเจ้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุพอดี  พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระกล่าวกันว่าหลวงพ่อสดท่าน  “เพี้ยน”  ไปแล้ว  เพราะการพิจารณาให้เห็นกายในกายตามมหาสติปัฏฐานนั้น  มิใช่เห็นดวงแก้วดวงธรรมอะไรเลย  อย่างไรก็ดีหลวงพ่อสดก็เป็นพระที่มีคนเชื่อและเคารพนับถือมากทีเดียว  ท่านมีประวัติที่พอกล่าวโดยย่อได้ดังต่อไปนี้

           “พระมงคลเทพมุนี มีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย  เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จ.ศ. ๑๒๔๖  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นบุตรคนที่สองของนายเงินและนางสุดใจ มีแก้วน้อย  มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน  อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๔๙ ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  มีฉายาว่า จนฺทสโร   พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์  คู่สวดทั้งสองรูปอยู่วัดเดียวกัน คือ วัดสองพี่น้อง  เริ่มปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนากับพระอนุสาวนาจารย์ นับแต่วันบวช  แล้วต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า  ได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา  เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  เพื่อศึกษาด้านคันถธุระต่อ  ขณะที่ท่านเรียนทางด้านคันถธุระอยู่นั้น  วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ท่านก็มักไปแสวงหาครูสอนฝ่ายปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนาอยู่เสมอ ๆ  โดยการศึกษากับพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสำนักต่าง ๆ เช่น พระสังวรานุวงษ์ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)  พระครูฌานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพน  พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ  จนได้ผลการปฏิบัติเป็นที่พอใจของพระอาจารย์  เมื่อได้ศึกษาภาวนาวีธีจนมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งจากพระอาจารย์  ทั้งจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ  มีมูลกัจจายน์ ธรรมบททีปนี และสารสังคหะ เป็นต้น  ท่านจึงแสวงหาที่หลีกเร้น  มีความวิเวกเป็นสัปปายะต่อการปฏิบัติธรรม  ในพรรษาที่ ๑๒ จึงได้กราบลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ  เพื่อไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

          วันที่ได้ดวงธรรมนั้นท่านเล่าว่า  “วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว  เข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในอุโบสถ  ขณะนั้นเวลาประมาณ ๘ โมงเศษ ๆ ก็เริ่มทำความเพียร  โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล  จะไม่ยอมลุกจากที่  เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้ว  ก็หลับตาภาวนา  "สัมมา อะระหัง"  ไปเรื่อย ๆ  จนกระทั่งความปวดเมื่อย  และอาการเหน็บชาค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อย ๆ  และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่า  กระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ  เกือบจะหมดความอดทน  ความกระวนกระวายใจก็ตามมาอย่างไม่เคยเป็นมาแต่ก่อน  คิดว่าไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย  พอตั้งสัจจะลงไปว่า  ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่  เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้  ผิดกว่าครั้งก่อน ๆ ที่นั่งภาวนา  เมื่อไรหนอ กลองเพลจึงจะดังสักที  คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งและซัดส่ายมากขึ้น  จนเกือบจะเลิกนั่งหลายครั้ง  แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะไปแล้วก็ต้องทนนั่งต่อไป  ในที่สุดใจก็ค่อย ๆ สงบลงทีละน้อย  แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน  เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่  ในใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก  ความปวดเมื่อยหายไปไหนไม่ทราบ  ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลองเพลก็ดังขึ้น  ตั้งแต่วันนั้นมาดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ตรงศูนย์กลางกายตลอดเวลา  วันหนึ่งหลังจากได้ร่วมลงฟังพระปาติโมกข์กับเพื่อนภิกษุ  แล้วก็เข้าไปในพระอุโบสถตั้งสัตยาธิษฐานว่า   "แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป  เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที  ถ้านั่งลงไปแล้ว  ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น  จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต"

          เมื่อตั้งความปรารถนาแล้ว  ก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนาได้ประมาณครึ่งหรือค่อนคืน  เมื่อใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน  ก็มองเห็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งยังติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายจากเมื่อเพล  ยิ่งมองยิ่งใสสว่างมากขึ้น  และขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์  ดวงใสยังคงสว่างอยู่อย่างนั้น  ท่านไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป  เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน  ขณะที่ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น  ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากจุดกลางดวงนั้นว่า  "มัชฌิมาปฏิปทา"  แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึก  ก็เห็นจุดเล็ก ๆ เรืองแสง สว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้น  เสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม  ความสว่างของจุดนั้นสว่างกว่าดวงกลมรอบ ๆ  จึงมองเรื่อยไป  พลางคิดในใจว่า  นี่กระมังทางสายกลาง  จุดเล็กที่เราเพิ่งจะเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี  ลองมองดูซิจะเกิดอะไรขึ้น  จุดนั้นค่อย ๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิม  ดวงเก่าหายไป  มองไปเรื่อย ๆ ก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่  เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กันนั่นแหละ  ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นกว่าดวงเดิม  ในที่สุดก็เห็นกายต่าง ๆ ผุดซ้อนกันขึ้นมาจนถึงธรรมกาย  เป็นรูปพระปฏิมากร  เกตุดอกบัวตูม  ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใด  เสียงพระธรรมกายกังวานขึ้นมาในความรู้สึกว่า  "ถูกต้องแล้ว"  เท่านั้นแหละ  ความปีติสุขก็เกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน.....”

          นี่คือที่มาของวิชาธรรมกายของหลวงพ่อสุด  แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์สำคัญคนหนึ่งของหลวงพ่อสดได้วิชานี้แล้วสอนใคร ๆ ให้ได้ตามเป็นหลายคน  เมื่อข้าพเจ้าปฏิเสธมิให้เปิดสอนในโบสถ์วัดราชธานี  แม่ชีแสดงความไม่พอใจออกมาให้เห็นชัดเจน  ทนายบุญมีกับทนายมหากระจ่างพาไปวัดพระพายหลวงตามคำแนะนำของข้าพเจ้า  พระอาจารย์สายัณห์ที่ชอบวิชาธรรมกายอยู่แล้วจึงรับแม่ชีจันทร์ไว้ให้เปิดการสอนอบรมวิชาธรรมกายที่วัดพระพายหลวงทันที  ผลเป็นอย่างไรบ้างข้าพเจ้ามิได้ติดตามดูแล  เพราะไม่เห็นด้วยกับวิชานี้/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กรกฎาคม, 2566, 12:46:49 AM
(https://i.ibb.co/zbdwTkd/311118925-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๐ -
          พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระพุทธศาสนา  มีตำนานที่มาของการสร้างพระพุทธรูปว่า  “เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระพุทธมารดา  ค้างอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น  พระเจ้าปเสนชิต (ปเสนทิ) กรุงโกศลราฐ  มิได้เห็นพระพุทธองค์ช้านาน  มีความรำลึกถึง  จึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทน์แดง  ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ  ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ  พระแก่นจันทน์ลุกขึ้นทำปฏิสันถารพระพุทธองค์ด้วยปาฏิหาริย์  แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้พระแก่นจันทน์กลับไปยังที่ประทับ  เพื่อรักษาไว้เป็นตัวอย่างพระพุทธรูป  ซึ่งสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว”  ถ้าจริงตามตำนานนี้  พระแก่นจันทน์แดงก็เป็นพระพุทธรูปองแรกในโลก

          ต่อมามีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นอีกหลายยุคหลายสมัยและหลายรูปแบบ  เช่น

          ศิลปะแบบคันธาระ  สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๗๐๐  พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชจากกรีกเข้ามาครอบครองอาณาจักรคันธาระในอินเดีย,  ศิลปะแบบมถุรา เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๗๕๐ เมืองมถุราอยู่บริเวณที่ลุ่มน้ำยมนา  ตอนเหนือของอินเดีย  และเป็นเมืองขึ้นของแคว้นคันธาระ

          ศิลปะแบบคุปตะ ยุคราชวงศ์คุปตะอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๘๐๐-๑๑๐๐ ถือเป็นยุคทองของศิลปะอินเดีย นิยมสร้างเป็นรูปสลักขนาดใหญ่ แสดงภาพเต็มตัว พระพักตร์มีลักษณะกลมอิ่ม สีพระพักตร์สงบค่อนข้างขรึม พระโอษฐ์อิ่ม พระนาสิกไม่โด่งเหมือนพระพุทธรูปที่สร้างสมัยแรก

          ศิลปะแบบปาละ-เสนะ  สร้างในยุคราชวงศ์ปาละและราชวงศ์เสนะ ประมาณ พ.ศ.๑๔๐๐-๑๘๐๐ ในสมัยนี้มีลักษณะอ้วนเตี้ย พระเศียรใหญ่ พระพักตร์อูม

          ศิลปะแบบอานธระ-อมราวดี  ราชวงศ์อานธระ (หรือศาตวาหนะ) เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๓๒๓

          ศิลปะแบบปาลวะ  ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐  เนื่องจากกษัตริย์ปาลวะมีอำนาจอยู่ในอินเดียตอนใต้  แผ่อำนาจทางทะเลไปถึงศรีลังกา  เลยไปถึงชวาและสุวรรณภูมิ  ในประเทศไทยจะปรากฏพระพุทธรูปศิลปะแบบปาลวะอยู่ทั่วไป เช่น ทางภาคใต้ที่ตะกั่วป่า ไชยา นครศรีธรรมราช  ภาคกลางที่นครปฐม อยุธยา  ในประเทศใกล้เคียงก็ปรากฏศิลปะแบบปาลวะ เช่น กัมพูชาและเวียดนามใต้

          ศิลปะแบบโจฬะ  ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐-๒๐๐๐ กษัตริย์แห่งแคว้นโจฬะทรงให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาก  ทำให้เกิดศิลปะแบบโจฬะ  เนื่องจากแคว้นโจฬะอยู่ใกล้เกาะลังกา (อยู่บริเวณใกล้เมืองมัทราสในปัจจุบัน) ทำให้ศิลปะนี้มีอิทธิพลต่อศิลปะในศรีลังกา
 
          พระพุทธรูปองค์แรกของไทยเห็นจะเป็น  พระพุทธรูปสลักบนผนังถ้ำที่เรียกว่าถ้ำฤๅษี  เป็นรูปแบบประทับห้อยพระบาท  พระหัตถ์ขวาอยู่ในปางแสดงธรรม  พระหัตถ์ซ้ายวางในพระเพลา  เป็นต้นแบบพระพุทธรูปในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ และอีกหลายองค์  ซึ่งเรียกกันว่าศิลปะทวาราวดี  พระองค์นี้นักประวัติศาสตร์ไทยมิได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร  นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้วก็เกิดพระพุทธรูปในเมืองไทยอีกหลายยุคสมัย  เช่นสุวรรณภูมิ อู่ทอง เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น  ว่ากันว่าพระพุทธรูปที่สร้างในเมืองไทย  พุทธศิลป์แบบสุโขทัยงดงามที่สุด  มีพระพุทธชินราชเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกเล่าให้ฟังว่า  เมืองเก่าสุโขทัยตอนที่ท่านมาอยู่สุโขทัยใหม่ ๆ นั้นเป็นป่าเป็นดง  มีบ้านเรือนไม่มากนัก  ตามวัดต่าง ๆ เหลือแต่ซากโบสถ์ วิหาร เจดีย์ พระพุทธรูป (ปูนปั้น) ปรักหักพังด้วยความเก่าตามธรรมชาติบ้าง  ถูกเจาะ ขุด ทำลาย หาทรัพย์สมบัติบ้าง  ท่านเห็นแล้วสลดใจ  จึงซ่อมแซมตามกำลังความสามารถที่จะทำได้  ต่อมาได้พระหนุ่มศิษย์ท่านองค์หนึ่งมีฝีมือในทางช่างปูนปั้น  จึงแต่งตั้งเป็นฐานนานุกรมของท่าน (เจ้าคณะอำเภอเมือง) ที่ พระปลัด  ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดตระพัง ซึ่งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่เพียงวัดเดียว (สมัยนั้น)  พระปลัดบุญธรรมเป็นกำลังสำคัญในการซ่อมแซมพระพุทธรูปเนื้อปูนปั้น ต่อเศียร ต่อแขน ต่อขา  องค์ใดหาเศียรไม่พบก็ปั้นเศียรใหม่มีลักษณะศิลปะสุโขทัยให้มากที่สุด  พระปลัดบุญธรรมใช้พระพุทธรูปเก่า ๆ ของสุโขทัยเป็นแบบบูรณะซ่อมแซมองค์ที่ชำรุดให้สมบูรณ์จนดูเหมือนของเดิม

          เมื่อทางการเข้ามาควบคุมดูแลโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย  พระปลัดบุญธรรมลาสิกขามีครอบครัวแล้ว  ยึดอาชีพรับจ้างปั้นพระพุทธรูปให้วัดและชาวบ้านทั่วไป  มีร้านค้าอยู่ใกล้ประตูเข้าวัดราชธานีด้านทิศใต้  ข้าพเจ้าได้รู้จักและทำความคุ้นเคยกับท่าน  ซึ่งคนทั่วไปเรียกท่านว่าปลัดบุญธรรม  ท่านเล่าให้ฟังว่า  เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะเมืองเก่าสุโขทัย  ได้ว่าจ้างท่านให้ทำการซ่อมแซมพระพุทธรูปทั้งหมดในและนอกกำแพงเมืองสุโขทัย  โดยเฉพาะหลวงพ่ออจนะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในมณฑปวัดศรีชุม

          พระอจนะวัดศรีชุมองค์เดิมชำรุดเสียหายมาก  มีประวัติการซ่อมแซมบูรณะของกรมศิลปากรว่า   “เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๙ หรือตรงกับสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อันเป็นระยะเวลาของการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย ได้มีการบูรณะวัดศรีชุมเป็นการใหญ่ มีการซ่อมแซมพระพระพุทธรูป (พระอจนะ) โดย อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ เป็นผู้เขียนแบบ ตามแบบอย่างพระพุทธรูปสำริดศิลปะสุโขทัย และได้ว่าจ้าง นายบุญธรรม พูลสวัสดิ์ เป็นช่างฝีมืองานบูรณะ”   ข้าพเจ้าถามโยมปลัดบุญธรรมว่าองค์เดิมมีรูปลัษณะอย่างไร  ท่านบอกว่าองค์เดิมพระพักตร์ชำรุดจนดูไม่ออกว่าเป็นแบบใด  สังฆาฏิเห็นเลา ๆ ว่าสั้นแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง  แต่ไม่ใช่  น่าจะเป็นแบบสุวรรณภูมิมากกว่า  อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ผู้ออกแบบ วาดภาพเป็นเขียงแสน กับสุโขทัยยุคกลาง  คณะกรรมการเลือกเอาแบบสุโขทัยดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  เราเป็นช่างปั้นรับจ้างก็ต้องปั้นตามใจผู้ว่าจ้าง/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กรกฎาคม, 2566, 10:49:16 PM
(https://i.ibb.co/FndgwrR/17436327-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๑ -
          พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยยุคต้นที่งดงามซึ่งถือว่าเป็นแบบครูนั้น  พบในกรุวัดตระกวน  มีคำอธิบายของกรมศิลปากรว่า

           “วัดตระกวนมีการค้นพบพระพุทธรูปสุโขทัยแบบหนึ่งที่ลักษณะทางศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะเชียงแสนกับศิลปะสุโขทัย เรียกว่า พระพุทธรูปแบบหมวดวัดตระกวน หรือหมวดเบ็ดเตล็ด  ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปหมวดนี้คือ  ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร  มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์  หนึ่งในศิลปะล้านนา อันได้รับอิทธิพลมาจากวิวัฒนาการของพระพุทธรูปปาละ  ผ่านมาทางพุกามของพม่า  และเข้ามาในศิลปะหริภุญชัยและล้านนา ลักษณะที่สำคัญคือขัดสมาธิเพชร เห็นฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้าง พระพักตร์กลมอมยิ้ม ขมวดพระเกศาใหญ่ รัศมีเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระถัน อายุของพระพุทธรูปหมวดวัดตระกวนมีผู้สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะสุโขทัย เนื่องจากมีอิทธิพลจากศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก”

          ส่วนพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่ถือว่างดงามที่สุดคือยุคกลางสุโขทัย เรียกกันว่า  “สุโขทัยบริสุทธิ์”  เป็นยุคสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชา (ลิไท) ปางประทับนั่งสมาธิราบงามที่สุดคือพระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีห์, พระพุทธศาสดา  ปางประทับยืนคือพระพุทธลีลา (องค์ที่อยู่วัดเบญจมบพิตร)  งดงามอย่างไรเห็นจะไม่ต้องพรรณนา เพราะงดงามเกินถ้อยคำพรรณนา

          ช่างประติมากรรมพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยฝีมือดีออกจะหายากอยู่สักหน่อย  แม้ในกรมศิลปากรสมัยนั้นก็ดูเหมือนไม่มี  ดังนั้นทางกรมศิลปากรจึงว่าจ้าง บุญธรรม พูลสวัสดิ์  ช่างชาวบ้านทำการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปในเมืองเก่าสุโขทัย  รวมทั้งองค์พระอจนะวัดศรีชุมด้วย  โยมปลัดบุญธรรมบอกว่าในการซ่อมพระในเมืองเก่านั้นมีผู้ช่วย (ลูกมือ) หลายคน  แต่ที่มีฝีมืออยู่ในขั้นใช้ได้คือนายโหน่งกับนายสด  ทั้งสองคนนี้ต่อมาก็รับจ้างปั้นพระพุทธรูปทั่วไป

          ทนายสันต์ อัมพวะศิริ (บุญมี) เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  พระพุทธประทานพรกลางวัดราชธานีนี้เป็นฝีมือการปั้นของปลัดบุญธรรม พูลสวัสดิ์  ที่ตรงนั้นเดิมเป็นสระน้ำขนาดเล็กมีพระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์อยู่กลางสระ  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณให้ถมสระนั้นแล้วสร้างพระพุทธประทานพรหุ้มองค์พระปาลิไลยก์  ปลัดบุญธรรมเป็นนายปติมากรรมปั้นพระพุทธประทานพรโดยไม่มีแบบให้ดู  ขณะปั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณกับทนายสันต์เฝ้าดูและคอยติโน่นตินี่ (ช่างติ) อยู่ตลอดเวลา  โดยเฉพาะตรงพระโอษฐ์พระนั่นแหละ  ต้องทุบปั้น ๆ เป็นหลายครั้ง  ปั้นเสร็จแล้วเราดูก็เห็นเป็นเหมือนปากคุณประทินภรรยาปลัดบุญธรรม  แปลกจังเลย  เราติให้แก้กันจนอ่อนใจก็เลยปล่อยไปอย่างที่เห็น  อย่างไรก็ตาม  โดยภาพรวมแล้วพระพุทธประทานพรองค์นี้ก็ดูงดงามกว่าองค์ที่มีอยู่ทั่วไป

          วัดราชธานีนอกจากมีพระพุทธประทานพรที่งดงามเป็นสง่าแก่วัดแล้ว  ยังมีพระพุทธรูปเก่าในอุโบสถอีกหลายองค์  หลวงพ่อโตองค์ใหญ่เนื้อสัมฤทธิ์ในวิหารก็งามมาก  พระพุทธเนื้อสัมฤทธิ์ในสุโขทัยสมัยนั้นไม่มีองค์ใดใหญ่กว่าหลวงพ่อในวิหารวัดราชธานี  ส่วนพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสุโขทัยคือ  หลวงพ่อเป่า หรือหลวงพ่อเป๋า (เรียกตามสำเนียงคนสุโขทัย) พระพุทธรูปองค์นี้หลวงพ่อเจ้าคุณเคารพนับถือมาก  เป็นพระปางมารวิวัยขัดสมาธิราบ  ศิลปะสุโขทัย  มีลักษณะผิดจากพระพุทธรูปทั่วไปคือ พระโอษฐ์ (ปาก) จู๋ มีรูลึกเข้าไปภายใน  เป็นลักษณะเป่าปาก  ว่ากันว่ามีคนบนบานขออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วสำเร็จตามที่ขอ  จึงนำบุหรี่มาแก้บน  บางคนจุดบุหรี่แล้วเอาทางก้นมวนบุหรี่ใส่ในรูปากนั้น  แล้วมีคนทำตามกันเรื่อย ๆ มา  จนเชื่อกันว่าหลวงพ่อเป่าชอบสูบบุหรี่  ศิษย์ฆราวาสหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณที่มอบหมายให้ดูแลวิหารหลวงพ่อเป่าเป็นคนติดกัญชา-บุหรี่  ไม่ต้องซื้อบุหรี่สูบเพราะมีคนนำมาแก้บนทุกวัน  บางวันก็มีหลายซอง  เขาเอามาถวายข้าพเจ้าก็หลายครั้ง

          ถามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณถึงความเป็นมาของหลวงพ่อเป่า  ท่านบอกว่าพระองค์นี้ได้มาจากวัดสวะ ตำบลเมืองบางยม สวรรคโลก  ท่านเลาให้ฟังว่าตอนนั้นวัดสวะเป็นวัดร้าง  ไม่มีพระสงฆ์  โบสถ์วิหารปรักหักพัง  เวลานั้นท่านกำลังเที่ยวไปเก็บโบราณวัตถุตามสถานที่ต่าง ๆ มารวบรวมไว้ที่วัดราชธานี  ทราบว่ามีพระพุทธรูปถูกทอดทิ้งอยู่ที่วัดสวะ (ปัจจุบันคือบ้านสวะหมู่ ๓ ต.เมืองบางยม)  จึงไปดู  พบพระพุทธรูป (หลวงพ่อเป่า) หลงเหลืออยู่สองสามองค์  ทราบว่าองค์งาม ๆ ท่านเจ้าสังวรกิจโกศล วัดหนองโว้งเอาไปไว้ที่วัดท่าน  เหลืออยู่แต่องค์ไม่งาม  จึงลำเลียงมาไว้วัดราชธานี  พระพุทธรูปวัดสวะที่เจ้าคุณสังวรเอาไปก็น่าจะได้แก่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดหนองโว้ง  คือหลวงพ่อสองพี่น้องกระมัง  ส่วนที่เอามาไว้วัดราชธานี  ก็คือหลวงพ่อเป่าพระศักดิ์สิทธิ์นี้เอง

          เจ้าคุณพระสังวังกิจโกศล วัดหนองโว้ง ต.เมืองบางยม ท่านมีนามเดิมว่า ทองคำ แจ้งการ  เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู จ.ศ. ๑๒๑๕ ตรงกับวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ณ บ้านหนองป่าตอ ตำบลท่าทอง (อำเภอวังไม้ขอน จังหวัดสวรรคโลก ในอดีต) อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย  อายุประมาณ ๑๘ ปีเข้ากรุงเทพฯบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)  แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่วัดปทุมคงคาราม  กลับมาอุปสมบทที่วัดเกาะ อ.ศรีสำโรง สุโขทัย  ได้รับฉายาว่า ยสสุวณฺโณ  เรียนจบนักธรรมชั้นเอกแล้วไม่ศึกษาต่อ  จึงกลับมาอยู่วัดหนองโว้ง  พระทองคำ ยสสุวณฺโณ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโว้ง  ต่อมาได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูอรรถกิจโกศล  และเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระสังวรกิจโกศล  ผลงานสาธารณะประโยชน์ของท่านคือ   เป็นประธานจัดสร้างโรงพยาบาลศรีสังวร,  เป็นประธานจัดสร้างวัดศรีสังวร,  เป็นผู้อุปถัมภ์จัดสร้างอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก,  เป็นผู้อุปถัมภ์จัดสร้างอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลสุโขทัย,  อุปถัมภ์สร้างโรงเรียนวัดหนองโว้ง (อรรถกิจวิทยาคาร)  ว่ากันว่าท่านเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมาร มัทรี ไพเราะนัก  เสียดายที่ข้าพเจ้าขึ้นมาอยู่จังหวัดสุโขทัยไม่ทันพบเห็น  เพราะท่านมรณภาพไปก่อนแล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กรกฎาคม, 2566, 11:21:19 PM
(https://i.ibb.co/wdwDwzf/306091237-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๒ -
          พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗ จังหวัดพิษณุโลก  เริ่มเคลื่อนไหวด้วยการจัดทำโครงการ “ปริวาสกรรม”  ข้าพเจ้าจากสุโขทัย  พระมหาบุญช่วยจากวัดท้ายตลาด อุตรดิตถ์  เดินทางเข้าร่วมปรึกษาหารือกันที่วัดท่ามะปรางค์ เมืองพิษณุโลก  อันเป็นที่ตั้งของหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗  หลวงพี่พระธรรมธรสำลี วัดท่ามะปรางเป็นหัวหน้าหน่วยนี้   ผลการปรึกษาหารือเป็นที่ตกลงกันว่า  จะปริวาสกรรมกัน ๑๕ วัน  ใช้ป่าไผ่หลังวัดจันทร์ตะวันตกเป็นสถานที่ให้พระภิกษุอยู่กรรม  พระสมุห์ประจวบ เจ้าอาวาสวัดจันทร์ตะวันออก (อยู่ฝั่งแม่น้ำน่านด้านตะวันออกตรงกันข้ามกับวัดจันทร์ตะวันตก) เป็นผู้รับผิดชอบด้านสถานที่  พระธรรมธรสำลี กับพระดำรง วัดท่ามะปรางรับผิดชอบด้านเสบียงอาหารเลี้ยงดูพระภิกษุที่อยู่กรรม  ข้าพเจ้ากับพระมหาบุญช่วยรับผิดชอบด้านวิชาการ สวดมานัตต์ อัพภาน ฝึกอบรมด้านสมถะ-วิปัสสนา  ให้ประกาศไปทั่วจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร ตาก รับพระภิกษุที่ประสงค์จะเข้าอยู่ปริวาสกรรมตามโครงการ

          เมื่อถึงวันเปิดโครงการอยู่ปริวาสกรรม  ปรากฎว่ามีพระภิกษุแจ้งความจำนงขอเข้าอยู่ปริวาสกรรม ๗๒ รูป  บางองค์มีกลดมา  บางองค์ไม่มีกลดแต่มีมุ้งมา  พระสมุห์ประจวบผู้รับผิดชอบด้านสถานที่ก็จัดให้ ปักกลด ทำซุ้ม พักแรมด้วยความเรียบร้อย  ป่าด้านตะวันตกวัดนั้นมีไม้ใหญ่ให้ร่มเงาอย่างดีอยู่หลายต้น  ใต้ร่มไม้เป็นลานกว้างเหมาะสำหรับเป็นที่ประชุมฟังคำบรรยายและเป็นที่นั่งปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนา  ถัดจากลานร่มไม้ใหญ่ไปเป็นป่าไผ่ ป่าช้าเก่าของวัด  พิธีเปิดการอยู่ปริวาสกรรมของเรา  ไม่มีพระผู้ใหญ่มาเป็นประธานเปิด  เพราะแต่ละองค์ท่านไม่ว่างจากภาระ  มีแต่พระครูเจ้าคณะอำเภอเมืองแม้ไม่ติดภาระใด แต่ท่านก็ไม่ยอมมา  เพราะไม่เห็นด้วยกับการอยู่ปริวาสกรรม

          ดังนั้นจึงนิมนต์ท่านจ้าอาวาสวัดจันทร์ตะวันตก (ซึ่งเป็นคนเงียบหงิม) ในฐานะเจ้าของสถานที่กล่าวต้อนรับพระภิกษุที่มาอยู่ปริวาสกรรม  ข้าพเจ้ากล่าวปฐมนิเทศชี้แจงความเป็นมาของการอยู่ปริวาสกรรม  และวัตถุประสงค์ของการจัด  แจ้งให้ทราบวิธีปฏิบัติหลังจากพระภิกษุทุกองค์ขอมานัตต์แล้ว  ภาคกลางวันหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว  ประชุมฟังคำบรรยายเรื่องสมถะ-วิปัสสนาและธรรมะอื่น ๆ ทั้งเช้าและบ่าย  ตอนพลบค่ำเข้าประชุมทำวัตรสวดมนต์ในโรงอุโบสถ  หลังการทำวัดค่ำ เจริญสมถะ-วิปัสสนา ที่กลดหรือซุ้มของตนก็ได้  ที่ลานธรรมในร่มไม้ก็ได้  โดยจะมีอาจารย์องค์หนึ่งเป็นผู้นำในการปฏิบัติ  ก่อนรุ่งอรุณตื่นแล้วลุกขึ้นเดินจงกรมโดยมีอาจารย์เป็นผู้นำ  แล้วเข้าโรงอุโบสถทำวัตรเช้า กติกานี้ให้ถือเป็นกิจวัตรประจำวัน

          วัดจันทร์ตะวันตก  เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน  ในตำบลในเมือง  อำเภอเมืองพิษณุโลก  จังหวัดพิษณุโลก  ตั้งอยู่บริเวณสะพานสุพรรณกัลยา  อยู่ตรงข้ามกับวัดจันทร์ตะวันออก   มีประวัติว่า  “วัดจันทร์ตะวันตกตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐  เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านที่เป็นป่าดง  ในอดีตมี  "วัดรังเงิน"  ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาก  คงสร้างมาพร้อมการสร้างเมืองพิษณุโลก  ต่อมาชาวลาวจากเวียงจันทน์ได้อพยพมาอาศัย  จนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้เผาผลาญบ้านเรือนของผู้อุปถัมภ์วัดที่อยู่รอบ ๆ วัดก็ได้รับความเสียหาย  ไม่สามารถดับไฟได้เพราะในหมู่บ้านมีแต่บ่อน้ำที่ขุดใช้เอง  ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอที่สู้ภัยจากไฟได้  อีกทั้งหมู่บ้านอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำน่าน  ชาวบ้านจึงเห็นสมควรว่าหาที่ตั้งวัดใหม่ที่อยู่ติดแม่น้ำ  นายเทศ  นางทองคำ  มีจิตศรัทธาได้มอบที่ดินของตนให้กับวัดจำนวน ๑๖ ไร่ ๓ งาน  เหตุผลที่ตั้งชื่อว่าวัดจันทร์เพราะมีตันจันทน์ใหญ่อยู่ ๑ ต้น แ ละต้นจันทน์เล็ก ๆ อีกหลายต้นขึ้นอยู่ในวัด  วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐”

          ปี ๒๕๑๐ ที่ข้าพเจ้าไปจัดปริวาสกรรมนั้น  มีกุฏิสงฆ์ไม่เกิน ๕ หลัง  ศาลาการเปรียญเก่าหลังไม่ใหญ่โตนัก  อุโบสถกลางเก่ากลางใหม่  ไม่มีกำแพงล้อมวัด  มีถนนสายเล็ก ๆ เลียบริมแม่น้ำน่านจากสะพานนเรศวรล่องลงมา  สะพานข้ามแม่น้ำไม่มี  ต้องใช้เรือในการข้ามฝั่งแม่น้ำน่าน  ข้าพเจ้าเดินมาข้ามเรือตรงโรงสี  ญาติโยมในเมืองและที่ต่าง ๆ เดินทางมาถวายอาหารพระอยู่กรรม  ก็ต้องใช้เรือข้ามแม่น้ำน่านเช่นกัน  ซึ่งก็ไม่ลำบากนัก

          เย็นวันหนึ่งหลังจากพระทำวัดสวดมนต์แล้ว  ข้าพเจ้าออกมานั่งลานหญ้าหน้าโบสถ์  มีญาติโยมมานั่งล้อมวงสนทนากันหลายคน  ข้าพเจ้าปรารภว่าพระพุทธรูปประธานในโบสถ์ไม่งามเท่าที่ควร  พระพักตร์แบน ตาโตหูกาง  เวลากราบแล้วเงยหน้ามองท่านรู้เสียวหลังวาบทุกครั้งที่กราบ  โยมสายทองสมุห์บัญชีโรงเหล้าที่อยู่เหนือวัดจันทร์ตะวันตกบอกว่า

           “ผมก็มีความรู้สึกเหมือนอาจารย์นั่นแหละ  คิดจะสร้างใหม่ แต่หาช่างยาก  อาจารย์หาช่างอย่างคนที่ปั้นพระพุทธรูปในเมืองเก่าได้ไหม  ถ้าได้ผมยินดีออกเงินค่าจ้างให้เอง“

           ข้าพเจ้าก็รับปากว่าได้  เพราะคนที่ปั้นพระอัจนะวัดศรีชุมคือโยมปลัดบุญธรรมยังอยู่ดี  เล่าเรื่องโยมปลัดบุญธรรมให้เขาฟัง  เขาดีใจมากบอกให้รีบไปพามาเลย  จึงกลับสุโขทัยแล้วติดต่อพาตัวโยมปลัดบุญธรรมไปวัดจันทร์ตะวันตก  ให้เขาเจรจาตกลงว่าจ้างกันเอง  ตกลงว่าจ้างกันในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท  โดยทุบบางส่วนขององค์พระ  ตั้งศูนย์ใหม่  ปั้นพระพักตร์ พระพาหาใหม่  โยมปลัดบุญธรรมบอกว่า  องค์เดิมเป็นฝีมือปั้นของช่างลาวล้านช้าง

          เวลาล่วงเลยมานานแล้ว  วัดจันทร์ตะวันตกมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก  ไม่ทราบเหมือนกันว่าพระพุทธรูปประธานในโบสถ์ที่โยมปลัดบุญธรรมปั้นใหม่จะยังคงอยู่หรือไม่ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กรกฎาคม, 2566, 09:46:00 AM
(https://i.ibb.co/pLrgf9r/306087182-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๓ -  
          ในปีนั้นพระครูปลัดสวงวัดบางคลอง ชาวจังหวัดอ่างทอง  บ้านเดียวกันกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  และเป็นพระครูปลัดฐานานุกรมของหลวงพ่อคุณพระราชประสิทธิคุณ  ได้รับการแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูอุทัยสุชวัฒน์  ผู้ครองตำแหน่งพระครูปลัดจึงว่างลง  พระครูสมุห์แถวขอครองตำแหน่งนี้  โดยจะตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นพระครูสมุห์แทนท่าน  แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมรับ  พอดีในช่วงเวลานั้นกรรมการวัดบ้านขวางหลายคนมาขอให้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณส่งข้าพเจ้าไปเป็นเจ้าอาวาสที่ว่างอยู่  ข้าพเจ้าไม่ยอมไป  ขอให้พระมหาคำสิงห์  พระหน่วยพัฒนาการทางจิตไปแทน  แต่พระมหาคำสิงห์ไม่ยอมไป  ข้าพเจ้าจึงเกลี้ยกล่อมพระธูปที่อยู่คณะศาลาการเปรียญวัดราชธานี  ขอให้เขาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขวาง  โดยขอยศพระครูสมุห์ฐานานุกรมของพระราชประสิทธิคุณให้ท่าน  พระธูปจึงยอมรับเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขวางพร้อมยศพระครูสมุห์แทนข้าพเจ้า  กรรมการวัดบ้านขวางก็พอใจในการจัดการของข้าพเจ้า

          พระมหาคำสิงห์ที่เคยเล่าให้ฟังว่าจะไม่ยอมไปร่วมฝึกอบรมภาคปฏิบัติที่บางละมุง  เพราะสีกาสาวชาวบ้านขวางมีจดหมายไปหานั่นแหละ  แต่เอาเข้าจริงท่านกลับเปลี่ยนแนวคิด  ให้เป็นสมภารวัดบ้านขวางใกล้บ้านสีกาสาวที่ต้องใจคนนั้น  กลับไม่ยอมรับตำแหน่งสมภารวัดนี้  แต่จะขอไปอยู่วัดวังทองแดงแดนกันดาร  ที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองมาก  ถามเหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงคิดไปอยู่ในแดนกันดารอย่างนั้น  ท่านว่าในคราวไปอบรมพระหน่วยพัฒนาการทางจิตด้วยกันนั้น  ช่วงท้าย ๆ ที่ทางหน่วยพาไปชมวัดหลวงพ่อเต๋ คงทอง ที่นครปฐมแล้ว  รู้สึกประทับใจที่หลวงพ่อเต๋ทำป่าให้เป็นเมืองได้  คิดอยากจะทำอย่างหลวงพ่อเต๋บ้าง  เชื่อว่าจะทำให้วัดวังทองแดงเจริญได้แน่นอน  ข้าพเจ้าก็ได้แต่อนุโมทนา

          ในกาลนั้นทางหน่วยพัฒนาการทางจิตได้ส่งพระภิกษุที่อบรมรุ่นต่อจากข้าพเจ้าขึ้นมาอยู่สุโขทัยองค์หนึ่งให้ข้าพเจ้าช่วยดูแล  พระองค์นี้มีอายุ ๕๐ เศษแล้ว  ชื่อพระปั้น  ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าหลวงน้าปั้น  ท่านแจ้งความจำนงว่าจะไปอยู่สำนักสงฆ์คลองตะคร้อ  อำเภอบ้านด่านลานหอย  เป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้าไม่รู้จักเลย  หลวงน้าปั้นบอกว่าอยู่ริมถนนหลวงสายสุโขทัย-ตาก  มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่มากแล้ว  และมีโรงเรียนด้วย  ชาวบ้านขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์มีกุฏิและศาลาที่ทำบุญแล้ว  ก่อนเข้ารับการอบรมเป็นพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตท่านเคยอยู่ที่นี่  และตั้งใจจะกลับมาพัฒนาสำนักสงฆ์ให้เป็นวัดต่อไป  ข้าพเจ้าตามหลวงน้าปั้นไปดูสำนักสงฆ์แห่งนี้  เห็นว่าสมควรให้เป็นวัด  เพราะในย่านนั้นไม่มีวัดเป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธเลย

          ปัญหาสำคัญของวัดนี้คือ หลวงน้าปั้นและกรรมการสำนักสงฆ์บอกว่า  ทางป่าไม้ไม่อนุญาตให้สร้างเป็นวัด  ข้าพเจ้าจึงรับเรื่องมาประสานงานกับทางจังหวัด  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกป่าไม้จังหวัดมาเจรจาหาทางออก  ป่าไม้จังหวัดบอกว่าที่บริเวณนั้นเป็นที่อยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้  เห็นว่าไม่อาจให้ตั้งเป็นวัดได้  ข้าพเจ้าก็แย้งว่า  มีชาวบ้านปลูกบ้านเรือนอยู่ประมาณร้อยหลังคาเรือน  มีบ้านเลขที่ถูกต้องตามกฎหมาย  และที่สำคัญมีโรงเรียนประชาบาลที่เปิดทำการสอนมานานเกือบสิบปีแล้ว  ทำไมป่าไม้จึงอนุญาตได้  คำแย้งของข้าพเจ้าป่าไม้จังหวัดตอบไม่ได้  ท่านผู้ว่าฯ (สมาส อมาตยกุล) จึงขอให้ป่าไม้หาทางออกเพื่ออนุญาตให้ตั้งเป็นวัดได้  ป่าไม้ก็รับดำเนินการให้จนลุล่วงไปด้วยดี  วัดและโรงเรียนนี้สมัยนั้นชื่อว่า  “คลองตะคร้อ “  ปัจจุบันข้าพเจ้าผ่านไปมาเห็นชื่อเป็น  “วังตะคร้อ”  ไม่ทราบว่าใครเป็นคนเปลี่ยนชื่อให้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่เมื่อไร

          เป็นอันว่าพระหน่วยพัฒนาการทางจิตของข้าพเจ้า  มีความมุ่งมั่นจะทำป่าให้เป็นเมืองสององค์คือ  พระมหาคำสิงห์วัดวังทองแดง อำเภอเมือง   พระปั้น วัดคลองตะคร้อ อำเภอบ้านดานลานหอย  ข้าพเจ้าก็ได้แต่เอาใจช่วยอยู่ตลอดเวลา  หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขตามกำลังความสามารถแห่งตน

          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๔๒๔   อายุท่านครบ ๘ รอบ  คือ ๘๔ ปี  เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๐ ข้าพเจ้าจึงจัดฉลองอายุครบ ๘ รอบให้ท่านแบบเรียบง่าย  ไม่มีการจัดมหรสพสมโภช  ไม่มีการทำวัตถุมงคลแจกจ่าย  มีแต่การทำบุญตามธรรมดา  ข้าราชการผู้ใหญ่และศิษยานุศิษย์ประชาชนที่เคารพนับถือถวายเครื่องสักการะ  แสดงมุทิตาจิตในการมีอายุเจริญยืนนานของท่านเท่านั้น /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕

(https://i.ibb.co/cTfND6c/309617271-1.jpg) (https://imgbb.com/)


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กรกฎาคม, 2566, 10:40:03 PM
(https://i.ibb.co/FWXN7sq/f5d4b48c-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๔ -
          ข้าพเจ้ากลายเป็นพระนักเทศน์  นักปาฐกถา  นักสอน  ที่มีชื่อเสียงในท้องที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร  ด้วยการพูดถึงของพระที่เข้าอยู่ปริวาสกรรมส่วนหนึ่ง  และในแวดวงสถานศึกษาส่วนหนึ่ง  กับนักฟังธรรมอีกส่วนหนึ่ง  กิจนิมนต์แสดงธรรมจึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ  เฉพาะการสอนเด็กนักเรียนนั้น  ที่โรงเรียนวัดคูหาสุวรรณยกเลิกไป เพราะให้เด็กมาเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แล้ว  ปีนั้นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี (นางสาวจำรูญรัตน์ ชมภูมิ่ง) มานิมนต์ให้ไปเปิดอบรมศีลธรรมนักเรียนที่โรงเรียนนี้  โดยขอให้ไปสอนสัปดาห์ละครั้ง  ทางโรงเรียนมีโครงการตั้งสมาคมยุวพุทธขึ้นเป็นแบบถาวร  ข้าพเจ้ารับไปตามคำนิมนต์นั้นโดยไม่ลังเล

          อาจารย์ใหญ่ (สมัยนั้นยังไม่เรียกผู้อำนวยการ) เป็นอาจารย์หญิงสาวโสดนิสัยดี  กิริยามรรยาทเรียบร้อย  เพราะเป็นธิดาที่เกิดในตระกูลผู้ดี  โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณีเป็นระดับมัธยมศึกษา  เดิมน่าจะมีเด็กหญิงเรียนกันล้วน ๆ เหมือนโรงเรียนอุอมดรุณีของสุโขทัย  วันแรกที่เปิดอบรมวิชาพุทธศาสนามีปัญหาด้านการใช้เครื่องขยายเสียง  จนถึงเวลาพูดแล้วช่างเสียงก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จ  ข้าพเจ้าจึงขอพูดโดยไม่มีเครื่องขยายเสียง  ห้องประชุมของโรงเรียนวันนั้นมีเด็กนักเรียนนั่งกันเต็ม  ดูจะไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน  ข้าพเจ้าเคยเทศน์ในศาลาวัดหลังใหญ่ ๆ โดยไม่มีเครื่องขยายเสียงมาไม่น้อยแล้ว  การพูดในห้องประชุมวันนั้นจึงพูดตั้งแต่ต้นจนจบ  เด็กฟังกันได้ยินเสียงพูดอย่างชัดเจน  พวกเขาฟังกันอย่างไม่ง่วง  เพราะข้าพเจ้าแทรกมุกตลกในบทพูดบ้าง  เล่านิทานตลกบ้าง  จบรายการแล้ว  อาจารย์จำรูญรัตน์ ชมพูมิ่ง กล่าวชื่นชมว่า

           “ท่านอาจารย์พูดได้ดี  เสียงดังฟังขัดมาก  ทำไมอาจารย์เสียงดังจังเลย  สัปดาห์หน้าเครื่องเสียงคงไม่เสียอีกแล้วค่ะ”

          เมื่อลากลับ ท่าน อจญ.ให้อาจารย์ชายของโรงเรียนพาส่งขึ้นรถเมล์ประจำทางกลับสุโขทัย  โดยเอาปัจจัยใส่ย่ามให้เป็นค่ารถด้วย

          ครั้งต่อ ๆ มาเครื่องเสียงไม่มีปัญหา  ข้าพเจ้าขอให้ทางโรงเรียนจัดไมค์มีขาตั้งไว้กลางห้องประชุม  เพื่อให้นักเรียนถามข้อสงสัยในเรื่องที่ข้าพเจ้าพูดด้วย  ตอนท้ายของการแสดงปาฐกถา  เปิดโอกาสให้นักเรียนถามว่า

           “ใครสงสัยอะไรในเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถามได้เลยนะ”

          เมื่อเด็กเงียบไม่มีใครถาม  ก็บอกว่า  “ถามเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำบรรยายวันนี้ก็ได้เอ้า”

          เมื่อนักเรียนยังเงียบอยู่ก็กล่าวย้ำอีก  “หนู ๆ ไม่กล้าพูดก็ผิดหลักการของนักปราชญ์นะ  หลักนักปราชญ์มีอยู่ว่าคนจะฉลาดต้อง  “ฟังคนอื่นพูด  ฟังแล้วก็ต้องคิดหาเหตุผลว่าเขาพูดจริงหรือเท็จ  คิดแล้วก็ต้องถามข้อที่สงสัย  ถามแล้วก็ต้องจดจำเอาไว้  ไม่ต้องกลัว  ไม่ต้องอาย  ถามผิดก็ไม่มีโทษเสียหายอะไร  ถือเสียว่าเรามาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดความเห็นกันนะ”

          คะยั้นคะยอหนัก ๆ เข้าก็มีคนกล้าพูดกล้าถามมากขึ้นเรื่อย ๆ  การอบรมศีลธรรมนักเรียนของข้าพเจ้าก็เริ่มมีสีสันสนุกขึ้น  เด็ก ๆ คิดหาเรื่องมาถามเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหลากหลายเรื่อง

          ระยะใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว  ข้าพเจ้าขอให้พระมหาบุญช่วยหัวหน้าหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๙ วัดท้ายตลาด เมืองอุตรดิตถ์ มาร่วมรายการด้วย  ให้เขาตอบปัญหาธรรมของเด็ก ๆ ที่บางคนฉลาดถามมาก  สัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าพรรษาข้าพเจ้ากล่าวอำลาท่านผู้อำนวยการโรงเรียน  และเด็กนักเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี  ขอมอบให้พระมหาบุญช่วยรับงานแทนข้าพเจ้าต่อไป  ดูท่าว่าพระมหาบุญช่วยกับนางสาวจำรูญรัตน์ อาจารย์ใหญ่ และเด็ก ๆ จะไปกันได้ด้วยดี  ไม่น่าเป็นห่วง

          ออกพรรษาแล้วนัดพระหน่วยพัฒนาการทางจิตในกลุ่มของข้าพเจ้าพบปะวางแผนงานจัดปริวาสกรรมครั้งต่อไป  พบพระมหาบุญช่วยก็ถามเขาว่า  งานตั้งยุวพุทธโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี  ดำเนินไปถึงไหนแล้ว  ท่านบอกว่า   “เลิกล้มไปแล้ว“   สาเหตุเพราะวันหนึ่งมีงานสำคัญของทางราชการ  รับนิมนต์จากผู้ว่าฯ ไปร่วมทำพิธีสงฆ์ด้วย  ขณะเดินผ่านข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายที่นั่งอยู่เป็นแถว  เห็นอาจารย์จำรูญรัตน์นั่งอยู่ในกลุ่มนั้น ก็กล่าวทักทายท่านว่า  “อ้อ อาจารย์ก็มาด้วยเหมือนกันรึ”  เท่านั้นแหละ  อาจารย์เขาโกรธ  หาว่าเราไม่มีมรรยาท  อันที่จริงพระมหาบุญช่วยท่านเป็นคนภาคอีสาน  มีนิสัยใจคอเรียบง่ายชอบเป็นกันเอง  คำทักทายของท่านก็ซื่อ ๆ ตามแบบคนอีสาน  แต่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนท่านไม่คุ้นกับมรรยาทแบบอีสาน  คำทักที่ว่า  “อาจารย์ก็มาด้วยเหมือนกันรึ ” ฟังแล้วชวนให้คิดว่า  “งานอย่างนี้อาจารย์ก็สะเออะมากะเขาด้วยหรือ”  อะไรทำนองนั้น

          การทักทายในงานพิธีสำคัญ ๆ เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย  มักจะทักทายกับคนที่รู้จักคุ้นเคยและไม่คุ้นเคย  ทำกันแต่เพียงเห็นหน้าแล้วยิ้มให้กันบ้าง  พยักหน้าให้กันบ้าง  ค้อมหัวให้กันเชิงคำนับบ้าง  ยกมือไหว้เฉย ๆ บ้าง  เท่านั้นก็พอ  แต่พระมหาบุญช่วยท่านไม่รู้กาลเทศะ  จึงกล่าวคำทักออกไปอย่างนั้น  อาจารย์จำรูญรัตน์ท่านเห็นว่าพระมหาบุญช่วยไม่มีมรรยาท  เป็นอันว่าโครงการดี ๆ ของท่านผู้อำนวยการโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี  ต้องล้มเลิกไปเพียงเพราะคำทักทายอันไร้มรรยาทของพระมหาบุญช่วยนี่เอง  ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าแบกหน้าไปพบเพื่อปรับความเข้าใจกับท่าน  และก็ไม่ได้พบกับท่านในสถานที่ใดอีกเลย  เป็นเรื่องน่าเสียดายจริง ๆ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, กรกฎาคม, 2566, 10:52:05 PM
(https://i.ibb.co/5G5bLRy/310311042-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๕ -
          ในวัดราชธานีมีพระพุทธรูปเก่า ๆ ศิลปะสมัยสุโขทัยเนื้อทองสำริดหลายขนาดหลายองค์ที่มิได้นำไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงเมืองเก่าสุโขทัย  ยังคงอยู่ในอุโบสถและหน้าอุโบสถ  องค์หนึ่งที่หน้าอุโบสถนั้นว่ากันว่าเป็นพระกินคน  จึงไม่มีใครกล้าเข้าใกล้  ข้าพเจ้าถามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณว่า  พระพุทธรูปองค์ที่มีชาดทาปากแดงนั้นกินคนจริงหรือ  ท่านหัวเราะก่อนตอบว่าเป็นเรื่องหลอกเด็กไม่ให้เข้าไปเล่นจนพระพุทธรูปเกิดการเสียหายน่ะ

          พระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนี่งอยู่ในวิหารเก่าอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอุโบสถ  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  เนื้อทองสำริด ศิลปะสุโขทัย  มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๐๙ ซม. สูง ๒๙๐ ซม. ชาวบ้านเรียกกันว่า  "หลวงพ่องาม"  เพราะมีพุทธลักษณะงดงามมาก  นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของสุโขทัย  ได้ถูกอันเชิญจากเมืองสุโขทัย  เข้าประดิษฐาน ณ วัดราชธานีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖  วิหารที่ประดิษฐานพระองค์นี้ปีที่ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดราชธานีถูกปิดตาย  ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๙ หลังจากที่กลับจากการอบรมเป็นพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตแล้ว  ปรึกษากับพระครูสมุห์แถวเรื่องการจัดระเบียบศาสนสมบัติของวัด  ได้เปิดวิหารดูเห็นพระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่และงดงามมาก  จึงขอให้หลวงพ่อเจ้าคุณอนุญาตเปิดวิหารทำความสะอาดองค์พระและภายในวิหาร  ให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้บูชา  กำหนดเปิด-ปิดวิหารตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. ทุกวัน

          ส่วนศาสนสมบัตินอกวัดนั้นคือ  อาคารพาณิชย์  ซึ่งเป็นบริษัท, ห้าง, ร้าน ที่เอกชนเช่าทำฌธุรกิจการค้าอยู่รายรอบวัด  การเก็บค่าเช่าไม่เป็นระเบียบ  ไวยาวัจกรทำอะไรอย่างไรทางเจ้าอาวาสไม่ทราบ  พระครูสมุห์แถวกับข้าพเจ้าจึง  “ยึดอำนาจไวยาวัจกร”  มาดำเนินการจัดเก็บผลประโยชน์ (ค่าเข่า) กันเอง  เดิมทีนั้นไม่มีเงินในบัญชีวัด  เราจึงเชื่อกันว่าไวยาวัชกรเก็บเงินเข้าบัญชีของตนมากกว่าเข้าวัด  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ “เสียรู้” ไวยาวัจกรด้วยความซื่อของท่าน  หลังจากเราจัดการเก็บผลประโยชน์ก็มีเงินเข้าบัญชีวัดเป็นหมื่นเป็นแสน

          สำหรับอุโบสถวัดราชธานีนั้น  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณกล่าวว่าสร้างมาแต่สมัยรัชกาบที่ ๕  ข้าพเจ้าถ่ายภาพไว้แต่ตัวโรงอุโบสถโดยมิได้เก็บรายละเอียดไว้  มีรายงานการบูรณะของกรมศิลปากรให้รายละเอียดว่า   “อุโบสถเก่าก่ออิฐถือปูน  ตัวอาคารมีมุขหน้า-หลัง  มีประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกด้านละ ๒ ประตู  หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา  ประกอบด้วยชั้นลดสามชั้น  ชั้นละสี่ตับ  ส่วนชั้นหลังคาของมุขโถงหน้า-หลังนั้นมีเพียงสามตับล่าง  โดยหน้าบันเป็นชุดของหลังคาชั้นถัดขึ้นไป  ดังนั้น หน้าบันกับหลังคามุขหน้าหลังจึงเป็นหลังคาคนละชุด  ภายในอุโบสถปูพื้นด้วยกระเบื้องเคลือบลวดลายพันธุ์พฤกษา  มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป  ตัวอาคารล้อมรอบด้วยพนักระเบียงซึ่งมีพื้นปูนเป็นทางเดินรอบ  พนักระเบียงมีบันไดทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๒ ช่อ ง โดยมีประติมากรรมสิงห์ปูนปั้นประดับที่เชิงบันไดทั้ง ๒ ข้าง  ซุ้มเสมา หลักฐานจากภาพถ่ายเก่าพบว่า  เป็นซุ้มเสมาทรงกูบตั้งอยู่ทั้ง ๘ ทิศ   จากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่  สันนิษฐานว่า  อาคารหลังนี้น่าจะก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์”

          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านมองการณ์ไกล  จึงจัดการถมดินรอบโรงอุโบสถสูงประมาณ ๓ เมตรเห็นจะได้  ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่มีอำนาจใดจะคัดค้านท่านได้  เพียงกล่าวกับท่านว่า  หลวงพ่อถมดินสูงกว่าพื้นโบสถ์มากมายอย่างนี้  ไม่กลัวว่าฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงท่วมพื้นโบสถ์หรือ  ท่านก็ว่า  กลัวอะไร  เราก็สูบน้ำออกซี  ไม่เห็นจะยากอะไรเลย  ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับท่านโดยดุษฎี  หลังจากนั้นประมาณ ๕-๖ เดือน  มีท่านขุนจากกรุงเทพฯ นำผ้าป่าขึ้นมาทอดที่วัดศรีสังวร (ท่าช้าง)  ท่านขุนผู้นี้ชื่อ ขุนศิริวัฒนาทร  ทราบว่าเป็นอาของพระคารพที่ข้าพเจ้าจัดการบวชให้ดังกล่าวมาแล้ว  ท่านขุนมาแวะที่วัดราชธานีกราบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  นิมนต์ให้ไปเป็นประธานรับองค์ผ้าป่าที่ท่านนำเงินมาบำรุงวัดศรีสังวรที่พระหลานชายรักษาการเจ้าอาวาสอยู่  แต่ไม่ไว้วางใจพระหลานชายจึงขอให้หลวงพ่อเจ้าคุณไปเป็นประธานรับผ้าป่าเพื่อให้พระคารพยำเกรง  ไม่กล้าเอาเงินไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก

          ท่านขุนผู้นี้นัยว่าเป็นนักประวัติศาสตร์โบราณคดี  จึงรู้จักหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  เห็นหลวงพ่อเจ้าคุณถมดินรอบโบสถ์ก็กล่าวชมว่า   “ท่านเจ้าคุณแลการณ์ไกลนัก”   นิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณเทศน์อานิสงส์การทอดผ้าป่าด้วย  แต่ท่านให้ข้าพเจ้าเทศน์แทน  ท่านขุนรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นคนเอาตัวพระคารพออกจากห้องขังแล้วจัดการบวชให้ก็ชื่นชม  ท่านว่าพระหลานชายองค์นี้เป็นลูกของพี่ชายที่มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง  ยศทหารอากาศเป็นเรืออากาศโท  พระคารพเรียนเก่งแต่นิสัยเกเร  หวังว่าเขาคงบวชไม่สึกเพราะได้บทเรียนจากความเกเรมามากแล้ว  วันนั้นข้าพเจ้าเทศน์อานิสงส์การทอดผ้าแล้วแว้งเข้าอบรมสั่งสอนพระคารพไปด้วย  ท่านขุนศิริวัฒนาทรชอบใจมาก  หลังจากท่านขุนกราบลาไปแล้ว  หลวงพ่อเจ้าคุณหันมากล่าวกับข้าพเจ้าว่า   “นั่นไง  เห็นไหม  ขุนศิริวัฒน์ยังชมว่าข้าถมดินรอบโบสถ์ดีแล้ว  แกมองยังไงว่าไม่ดี”  ข้าพเจ้าก็ยกมือไหว้พร้อมกล่าวว่า  ”ผมยอมแล้วครับ” /
 
           ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54619#msg54619)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, กรกฎาคม, 2566, 11:44:15 PM
(https://i.ibb.co/PrdWjkt/pngtree-hand-painted-e-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54735#msg54735)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๖ -

          ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังสนุกอยู่กับการทำงานศาสนาและสังคมอยู่นั้น  ก็มีเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แทรกเข้ามาโดยไม่รู้ตัว  มารู้ภายหลังว่าโยมปวารณาคนหนึ่งเป็นหญิงม่ายอายุ ๖๐ เศษแล้ว  โยมคนนี้รักข้าพเจ้าเหมือนลูกชายคนหนึ่ง  นางมีลูกชายสองคนอยู่แล้วเป็นข้าราชการตำรวจและมีอายุมากกว่าข้าพเจ้า  เย็นวันหนึ่งโยมหญิง (ขอสงวนนาม) คนนั้นเข้ามาหาที่กุฏิแสดงอาการท้อแท้  กล่าวกับข้าพเจ้าว่า  “โยมหมดปัญญาแล้วลูกพระ”  จึงถามว่ามีเรื่องอะไรหรือโยม  นั่นแหละโยมแม่ก็เล่าให้ฟัง  เป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าตกใจมาก

          เรื่องมีอยู่ว่า  หลวงตาสอน พระสูงอายุวัยเจ็ดสิบเศษอยู่กุฏิด้านใต้โรงเรียนวินัยสาร  ไม่รู้หลวงตานึกสนุกอะไรขึ้นมา  แกเห็นโยมหญิงปวารณาเข้ามาหาข้าพเจ้าเป็นประจำจึงบอกว่า   “ลูกพระจะสึกแล้ว  หาเมียให้ลูกพระสักคนนะ”   โยมหญิงฟังดังนั้นก็ไม่ได้ถามข้าพเจ้าว่าจะสึกจริงหรือไม่  นางไปเที่ยวติดต่อหญิงสาวในตลาดเมืองสุโขทัยหลายคน  แต่ละคนที่นางไปทาบทามแล้วนำไปบอกหลวงตาสอนนั้นให้ถามข้าพเจ้าว่าชอบไหม  หลวงตาสอนเก็บเรื่องไว้สองสามวันจึงบอกนางว่าคนนี้ลูกพระไม่ชอบ นางก็ไปทาบทามคนใหม่แล้วมาบอกหลวงตาสอน  หลวงตาบอกว่าคนนี้ลูกพระก็ไม่ชอบ  เป็นอย่างนี้หลายคน  จนนางมาบอกข้าพเจ้าว่า   “โยมหมดปัญญาแล้ว”   เมื่อฟังเรื่องราวที่นางบอกเล่าหลังจากหายตกใจแล้วก็บอกนางว่า  ไม่รู้เรื่องที่หลวงตาสอนก่อขึ้นเลย  และยังไม่เคยคิดจะสึกด้วย  ขออย่าได้ไปติดต่อทาบทามใครให้ลูกพระเสียหายอีกนะ

          หญิงสาวที่โยมปวารณาไปติดต่อนั้น  บางคนข้าพเจ้าก็รู้จักหน้าค่าตาแต่ไม่เคยสนทนาวิสาสะด้วย  บางคนก็ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเธอเลย  รู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกันที่ทุกครั้งเมื่อพบหน้าหญิงสาวบางคนเธอมักจะยิ้มให้ในอาการขวยเขิน  ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร  พอมารู้เรื่องที่โยมปวารณาไปติดต่อทาบทามเธอ  จึง  “ถึงบางอ้อ”   อย่างเช่นสาวใหญ่เจ้าของร้านทองคนหนึ่ง  เธอมีอายู่รุ่นเดียวกับพี่สาวของข้าพเจ้า  จึงเรียกเธอว่าพี่  ทุกเช้าที่เดินออกบิณฑบาตต้องผ่านหน้าร้านเธอ  ระยะหลัง ๆ เธอจะรอใส่บาตรข้าพเจ้าทุกวัน ทุกวันพระตอนเช้าก็จะปิดร้านขึ้นไปทำบุญและฟังข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรมบนศาลาไม่ยอมขาด  โยมปวารณาบอกข้าพเจ้าว่าสาวเจ้าของร้ายทองคนนี้เขารักลูกพระมาก  สึกเมื่อไหร่ไปอยู่กับเขาได้เลย  บอกโยมหญิงไปว่าลูกพระยังไม่คิดเรื่องอย่างนั้น  ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องนี้กับเขานะ

          ดูเหมือนโยมหญิงของข้าพเจ้าประสาทไม่ปกติ  วันหนึ่งนางมาบอกข้าพเจ้าอีกว่า

           “คนโน้นก็ไม่ชอบ  คนนี้ก็ไม่ชอบ  งั้นลูกพระรอหน่อยนะ  รอให้หลานหมูเรียนจบก่อน  เอาหลานสาวโยมก็แล้วกัน”

          จะไปกันใหญ่แล้วโยมเรา  หลานสาวโยมคนนั้นเป็นนักเรียนมัธยมกำลังเป็นสาววัยใส  ปกติมักจะนำอาหารใส่ปิ่นโตมาถวายข้าพเจ้าที่กุฏิ  ระยะหลัง ๆ เธอถวายปิ่นโตโดยไม่มองหน้าข้าพเจ้า  เห็นจะเป็นเพราะโยมหญิงซึ่งเป็นคุณย่าของเธอบอกเรื่องว่าเรียนจบแล้วจะให้เป็นภรรยาข้าพเจ้านี่เอง  เธอคงอายหรือไม่พอใจก็ได้  ด้วยเกรงว่าเรื่องจะไปกันใหญ่  วันหนึ่งเมื่อเธอนำปิ่นโตมาถวายตามปกติ  ข้าพเจ้าบอกให้นั่งรอก่อน

           “หลวงอามีเรื่องที่จะต้องพูดกับเธอนะ  โยมย่าพูดกับเธอหลังจากเรียนจบจะให้มีคู่ครองแล้วใช่ไหม”

          เธอก้มหน้านิ่ง จึงกล่าวต่อไปว่า  “หลวงอาไม่เคยคิดกับเธอในเรื่องอย่างนั้นเลยนะ  อย่าไปฟังคุณย่า  ขอให้ตั้งใจเรียนจนจบด้วยดีแล้วแต่งงานกับคนที่เธอชอบ  เพราะการแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต  ต้องคิดให้รอบคอบ  รักใครชอบใครก็รักด้วยเหตุผล  ชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่  หลวงอายังไม่คิดจะสึก  เธอไม่ต้องกังวลในหลวงอา  หลวงอามีความรู้สึกจริง ๆ ว่าเธอคือหลานสาวคนหนึ่งไม่เคยคิดเป็นอื่น  เรื่องที่พูดกับเธอวันนี้ขออย่าไปบอกกับโยมย่าและใคร ๆ นะ” /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, กรกฎาคม, 2566, 10:46:27 PM
(https://i.ibb.co/x3h5kcp/10-1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดตระพังทอง

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๗ -

          ที่คณะศาลาการเปรียญวัดราชธานีมีพระภิกษุพิการทางสายตาองค์หนึ่งชื่อพระเพ็ญ อายุ ๓๐ ปีเศษ  เดิมเป็นคนชาวบ้านขวาง  อายุพรรษาได้เกณฑ์เป็นเจ้าอาวาสได้แล้ว  แต่เพราะเป็นผู้พิการทางสายตา  จึงไม่เป็นที่ยอมรับของกรรมการวัดบ้านขวาง  ท่านเล่าว่าสมัยเด็กสายตาดีเหมือนคนทั่วไป  ต่อเมื่อบวชเป็นพระแล้วสายตาเริ่มพร่ามัว  หลังจากสอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วสายตายพร่ามัวมากจนอ่านหนังสือไม่ได้  หัดเทศน์มหาชาติตั้งแต่บวชได้ ๒ พรรษา  กัณฑ์ที่ถนัดคือ  กุมาร  มหาพน  นอกนั้นก็เทศน์ได้ทุกกัณฑ์  ท่านแหล่กัณฑ์มหาพนได้โดดดิ้นดีนัก  มีผู้มานิมนต์ไปเทศน์ตามวัดต่าง ๆ ทั่วไป  จนชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนชอบฟังเทศน์แหล่ในสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์  ข้าพเจ้าบอกให้ท่านหัดเทศน์ธรรมะแบบคาบลูกคาบดอกบ้าง  เทศน์เรื่องสมมุตติเป็นตัวละครบ้าง  ท่านก็พยายามทำตามคำแนะนำ  ข้อเสียของท่านคือสายตาพิการ  เดินเหินไม่สะดวกนัก  ต้องมีคนคอยช่วยในการเดินผ่านกลุ่มคนที่นั่งในศาลาไปขึ้นธรรมาสน์เทศน์  ไม่อย่างนั้นจะเดินสะดุดสำรับกับข้าวและผู้คน

          ในพรรษาปี ๒๕๑๐ นั้น  พระมหาธวัชวัดตระพังทองจัดเทศน์มหาชาติ ๖ ธรรมาสน์ที่เรียกกันว่า  “หกกษัตริย์”  นิมนต์พระเทศน์ในเมืองสุโขทัยทั้งหมด  มีพระครูอุทัยสุขวัฒน์ (สวง) วัดบางคลอง  พระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์) วัดไทยชุมพล  พระครูใบฎีกาประคอง วัดกำแพงงาม (บ้านกล้วย)  อาจารย์เพ็ญ และ ข้าพเจ้า วัดราชธานี  กับพระมหาธวัชด้วยเป็น ๖ องค์  กำหนดเทศน์ในเวลากลางคืน  ก่อนเทศน์ก็ตกลงแบ่งตำแหน่งหน้าที่กัน  พระครูสุภัทรธีรคุณ เป็นพระเวสสันดรและพรานเจตบุตร  พระครูอุทัยสุขวัฒน์ เป็นพระพระเจ้ากรุงสญชัยและพระอินทร์แปลง  พระครูใบฎีกาประคอง เป็นพระนางผุสดี และพราหมณ์ที่รับฝากทองของชูชก  พระมหาธวัช เป็นพระนางมัทรี  พระอาจารย์เพ็ญ เป็นชาลี-กัณหา และนางอมิตตดา   ในที่สุดข้าพเจ้าก็หนีไม่พ้นตำแหน่งชูชก  ซึ่งเขาว่ากันว่าเป็นตัวเอกของเรื่อง

          เป็นความบังเอิญหรืออย่างก็ไม่ทราบ  คืนนั้นโรงหนังที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดตระพังทองมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายตรงกับเวลาที่พวกเราเทศน์กันพอดี  เสียงโฆษณาชวนเชิญชมภาพยนตร์จากโรงหนังดังเข้ามาในวัดเหมือนเขาจงใจชวนคนในวัดออกไปดูหนังในโรงของเขา  ทางวัดตระพังทองก็บรรเลงเพลงปี่พาทย์ออกเครื่องกระจายเสียงประชันกับเสียงโฆษณาหนัง  พอได้เวลาเทศน์พวกเราขึ้นธรรมาสน์  ทางโรงหนังเขาก็ได้เวลาฉายหนังจึงปิดเสียงภายนอกโรง  เสียงจากวัดไม่ปิด  ข้าพเจ้าเริ่มดำเนินเทศนาอานิสงส์หน้าธรรมาสน์และสมมุติตำแหน่งหน้าที่  จากนั้นก็เข้าเรื่องเทศน์ตามตำแหน่งหน้าที่ต่อไป  เสียงพูดเสียงร้องแหล่ด้วยเครื่องกระจายเสียงดังไปทั่วบริเวณ  พอเรื่องดำเนินถึงกัณฑ์ชูชก  ทั้งเพื่อนพระเทศน์และคนฟังขอให้ชูชกร้องเพลงขอทาน  จริง ๆ แล้วข้าพเจ้าร้องไม่เป็น  จึงขอให้อาจารย์เพ็ญร้องนำ  เขาร้องไปได้หน่อยก็ขอให้ข้าพเจ้าร้องต่อ  ข้าพเจ้าก็เกิดหน้าด้านขึ้นมา  แทนที่จะร้องเพลงขอทานกลับร้องเพลงหนังตะลุงมโนราห์  คราวนี้พวกเราทุกคนบนธรรมาสน์ก็ร้องตะลุง โนราและขอทานกันสนุกสนาน  เสียงดังเข้าไปในโรงหนัง  คนดูหนังไม่ทันจบเรื่องก็ทยอยกันออกจากโรงหนังมาดู (ฟัง) พระเทศน์แทบหมดโรง

          เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าพระเทศน์จะชนะภาพยนตร์ได้  โดยที่พวกเราไม่คิดจะเอาชนะเลย  วันนั้นพวกเราเทศน์กันสนุกจนลืมตัวขาดสมณะสารูปอย่างไม่ตั้งใจ

          วันต่อมาได้พบกับกำนันจิตร พ่วงแผน  เจ้าของโรงหนัง  เขาต่อว่าพระเทศน์อะไรกันอย่างนั้น  ดีที่ขายตั๋วโรงหนังเก็บเงินหมดแล้ว  หาไม่ทางโรงหนังก็ขาดทุนยับเยินแน่ ๆ  ต่อไปจะไม่เอาหนังเข้าโรงตรงกับวันที่พระเทศน์อีกแล้ว

          ขอกล่าวถึงวัดตระพังทองอีกครั้ง   “วัดนี้ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๔๔ ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๕ เส้น ๑๐ วา ทิศใต้ยาว ๓ เส้น ๑๐ วา ติดต่อกับสวนป่ากล้วยของชาวบ้าน ทิศตะวันออก ยาว ๘ เส้น ติดต่อกับหมู่บ้านประชาชน ทิศตะวันตกยาว ๘ เส้น ติดต่อกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และมีสระน้ำโบราณหลายสระบริเวณพื้นที่วัดตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่า สภาพแวดล้อมเป็นหมู่บ้าน ประชาชนและมีถนนหนทางติดต่อคมนาคมสะดวก อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถ หอสวดมนต์ กุฎีสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” เป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย รอยพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้ว ยาว ๖ ฟุต ๘ นิ้ว สลักบนแผ่นหินศิลาเป็นรอยพระบาทเบื้องขวาที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก ภายในเป็นรูปชาดกต่าง ๆ ผู้สร้างคือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ และมีเจดีย์ทรงลังกาขนาดฐานกว้าง ๘ วา สูง ๑๒ วา ศิลปะการก่อสร้างเป็นสกุลช่างสมัยสุโขทัย”   ความนี้คัดย่อ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

          ข้อมูลที่ว่า  “รอยพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้ว ยาว ๖ ฟุต ๘ นิ้ว สลักบนแผ่นหินศิลาเป็นรอยพระบาทเบื้องขวาที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก  ภายในเป็นรูปชาดกต่าง ๆ ผู้สร้างคือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒”  นั้น  เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน  ที่จริงรอยพระพุทธบาทนี้  พระยาเลอไทธรรมิกราช พระราชโอรสพ่อขุนรามคำแหง ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๔๒ – ๑๘๖๖ นาน ๒๔ ปี  ทรงให้ช่างชาวสุโขทัยไปขอจำลองรอยพระพุทธบาทจากเขาสุมนกูฏลังกามาประดิษฐานบนยอดเขาพระบาทใหญ่  เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย  ต่อมาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอัญเชิญลงมาประดิษฐานบนเกาะกลางตระพังทอง เมืองเก่า  มีเอกสารและสื่อต่าง ๆ เข้าใจผิดว่า พระยาลิไท กับ พระยาเลอไท เป็นองค์เดียวกัน จึงว่าพระมหาธรรมราชาลิไทสร้างรอยพระบาทนี้ ที่จริงพระยาลิไทเป็นพระราชโอรสในพระยาเลอไท  เมื่อทรงครองราชย์แล้วโปรดให้ช่างทำการจำลองรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาพระบาทใหญ่ (สุมนกูฏ) ของพระราชบิดา  แล้วนำประดิษฐานที่ต่าง ๆ เช่น  เขาอินทร์ ศรีสัชนาลัย ๑  วัดพระบาทน้อย ในแดนอรัญญิก ๑  เมืองบางพาน ๑ (กำแพงเพชร)  บนเขากบ เมืองพระบาง ๑ (ริมน้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานเดชาฯเมืองนครสวรรค์)  และอีกหลายแห่ง

          รอยพระพุทธบาทในมณฑปเกาะลอยวัดตระพังทอง  เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระยาเลอไทธรรมิกราชให้ช่างไปจำลองมาจากลังกา  มิใช่รอยที่พระยาลิไทสร้างขึ้นเมื่อปี ๑๙๐๒  วัดตระพังทองที่ข้าพเจ้ามารู้จักนั้น  มิได้มีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน  การจะเช้าไปในเกาะลอยต้องเดินตามสะพานไม้แคบ ๆ  ตรงกลางลานวัดมีศาลาการเปรียญ  ด้านตะวันออกเฉียงเหนือศาลาการเปรียญ เป็นตลาดของวัด ขายสินค้าเหมือนนตลาดทั่วไป ชาวเมืองเก่าซื้อของกินของใช้ในตลาดนี้ ท้ายพื้นที่ของวัด(ด้านใต้)เป็นหมู่กุฏิสงฆ์ นอกเขตวัดด้านตะวันออกเป็นหมู่บ้านเรือนประชาชน  ด้านใต้เป็นหมู่บ้านเรือนประชาชน  ด้านตะวันตกเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง  โบราณสถานและบ้านเรือนประชาชน ด้านเหนือเป็นถนนหลวง (ชื่อจรดวิถีถ่อง) ริมถนนถนนเป็นอาคารร้านค้าและโรงมหรสพ และหมู่บ้านเรือนประชาชน  ปัจจุบันสภาพที่กล่าวนี้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว/ /๒๑๗

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, กรกฎาคม, 2566, 10:45:53 PM
(https://i.ibb.co/cgTB0jH/1.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อปี้  วัดลานหอย

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๘ -  
          จังหวัดสุโขทัยมีพระเกจิ อาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังองค์หนึ่งชื่อมีแปลกคือ  “หลวงพ่อปี้”  วัดลานหอย  เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทมีพระราชทินนามว่า พระครูสุวิชานวรวุฒิ  ท่านมีประวัติความเป็นมาพิสดารพอจะสรุปได้ว่า  พระครูสุวิชานวรวุฒิ มีนามเดิมก่อนบวชว่า ปี้ ชูสุข (คำว่า "ปี้" หมายถึง เงินตราสมัยโบราณ) เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๔๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ณ ตำบลลานหอย อำเภอเมืองสุโขทัย (ต่อมาตั้งเป็นอำเภอบ้านด่านลานหอยเมื่อปี ๒๕๐๖) อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๕ ณ พัทธสีมาวัดสังฆาราม ตำบลบ้านด่าน  มีพระครูวินัยสาร (ทิม ยสฺทินโน) วัดราชธานี เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย เป็นพระอุปัชฌาย์  พระอธิการน้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ทินโน  เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเชิงคีรี ตำบลลานหอย แล้วย้ายไปอยู่วัดลานหอย  ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชาวสุโขทัย ที่มีวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ  มีประวัติการเดินทางธุดงค์เป็นเวลาหลายปีในหลายจังหวัด คือ เมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า ปาดังเบซา ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

          ข้าพเจ้ามาอยู่วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย หลังจากกิ่งอำเภอบ้านด่านลานหอยยกขึ้นเป็นอำเภอบ้านด่านลานหอยแล้ว ๑ ปี  ทางฝ่ายบ้านเมืองมีนายอำเภอแล้วแต่ทางฝ่ายการปกครองคณะสงฆ์ยังไม่มีการแต่งตั้งพระภิกษุเป็นเจ้าคณะอำเภอ  ขณะนั้นหลวงพ่อปี้เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านด่านลานหอย กิติศัพท์หลวงพ่อปี้เป็นที่ได้ยินเลื่องลือไปทั่วประเทศ  มีคำบอกเล่าว่าท่านเลี้ยงสัตว์ป่าไว้ในวัดลานหอยหลากหลายชนิด เสือ หมี เก้ง กวาง นกนานา ไก่ป่า ไก่ฟ้า และอื่น ๆ มากมาย  ท่านเข้ามาพักที่วัดราชธานีอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบ่อยจนรู้จักคุ้นเคยกับข้าพเจ้า  ความขลังของท่านว่ากันว่าทางอยู่ยงคงกระพันศักดิ์สิทธิ์นัก  “ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก”  อะไรทำนองนั้น

          ยามมีเวลาว่างข้าพเจ้ามักไปนอนคุยกับท่านที่วัดลานหอย  ซึ่งเวลานั้นสัตว์เลี้ยงประเภทเสือ หมี เก้ง กวาง ไม่มีเหลืออยู่แล้ว  มีข่าวลือกันว่าหลวงพ่อปี้  “สรงน้ำในขวดโหล”  บางคราวข้าพเจ้าไปนอนค้างคืนที่กุฏิท่านนานถึง ๕ วัน  ไม่เคยเห็นท่านสรงน้ำ (อาบน้ำ) เลย  จึงคอยจับตาดูว่าท่านจะแอบสรงน้ำในขวดโหลดังข่าวลือหรือไม่  ก็ไม่เคยเห็น  วันหนึ่งจึงถามท่านว่าหลวงพ่ออาบน้ำในขวดโหลจริงไหม  ท่านหัวเราะแล้วกล่าวว่า   “ชิบผาย ใครจะเข้าไปอาบน้ำในขวดได้ มันลือกันส่งเดชไปเอง”   ยังสงสัยชื่อของท่านอยู่ว่าจริงหรือ  คำว่า "ปี้" หมายถึง เงินตราสมัยโบราณ ดังที่ว่ากัน  เมื่อถามเจ้าตัวท่านก็ว่า  “ปี้”  เป็นภาษาล้านนา  หมายถึง  “พี่”  ไม่ใช่อาการของไก่ นก มันปี้กัน หรือ เงินตราอะไรหรอก  และเงินโบราณเขาก็เรียกกันทั่วไปว่า ”เบี้ย”  นี่นา  ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๒  แต่นั่งอุปัชฌาย์เพียงปีละครั้งเดียว  มีการบวชนาคที่วัดก็มักจะนิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปนั่งพระอุปัชฌาย์ตลอดมา  ถึงสมัยที่ข้าพเจ้ามาวัดราชธานี  ทุกครั้งที่นิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปเป็นพระอุปัชฌาย์ก็นิมนต์ข้าพเจ้าไปเป็นพระคู่สวดด้วย  ข้าพเจ้าถามว่า  ทำไมหลวงพ่อไม่ยอมเป็นพระอุปปัชฌาย์เอง (ภาษาวัดเรียกว่านั่งอุปัชฌาย์) ท่านตอบว่า   “ชิบผาย  หนังอุปัชฌาย์นานเป็นฉัวโมงได้ยี่ซิบส่ามซิบบาท  เป๋าหั่วทีเดียวได้เป็นร้อยเป็นพัน  กูเป๋าหั่วดีกว๋า”   ท่านพูดเป็นสำเนียงสุโขทัยว่าอย่างนั้น  ฟังอย่างนั้นข้าพเจ้าก็ได้แต่ร้อง  อ้อ....

          หลวงพ่อปี้ใช้คาถาอาคมเสกเป่าได้เงินทองมาก็สร้างวัดวาอารามและสาธารณกุศลต่าง ๆ  ไม่เก็บสะสมเงินทองไว้เป็นสมบัติของตน  สิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์สำคัญชิ้นหนึ่งของท่านคือ  อาคารตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลสุโขทัย (ตึกสุวิชานวรวุฒิ)  ทางคณะสงฆ์สุโขทัยก็ร่วมกันระดมทุนสมทบทุนของหลวงพ่อปี้สร้างขึ้นมา  มิใช่อาคารเท่านั้น หากแต่อุปการการแพทย์ด้วย  หลวงพ่อปี้เป็นหนึ่งใน ๑๐๘ เกจิอาจารย์ที่เข้าร่วมนั่งบริกรรมในพิธีปลุกเสกพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ  แต่ความภูมิใจของท่านคือคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อ  ๒๕ มกราคม ๒๕๐๗  ดังที่ปรากฏในข้อมูลของกรมศิลปากรว่า

          "...เวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. อธิบดีกรมศิลปากรนำเสด็จออกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานฯ ทรงพระราชดำเนินโดยพระบาทไปตามถนนระหว่างพิพิธภัณฑ์สถานฯ ไปยังวัดมหาธาตุ มีประชาชนเฝ้าอยู่เนืองแน่นสองฟากถนน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียน สักการะพระมหาธาตุเสร็จแล้ว พระครูสุวิชานวรวุฒิ (ปี้) ถวายพระพิมพ์แบบซุ้ม ก. จำนวน ๙๙๙ องค์ ทรงรับแล้ว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร..."

          ในระยะหลัง ๆ หลวงพ่อปี้เจ็บป่วยบ่อย  มานอนรักษาในโรงพยาบาลสุโขทัย  อาการดีขึ้นก็มาพักฟื้นอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณผู้เป็นพระอุปัชฌายาจารย์  เวลานั้นข้าพเจ้ามีพระศิษย์ใกล้ชิดองค์หนึ่ง  ชื่อพระเกี๊ยก  ลูกชายพ่อค้าชาวจีนในตลาด  จึงมอบหน้าที่ให้ปฏิบัติดูแลหลวงพ่อปี้  พระเกี๊ยกกลั่นแกล้งหลวงพ่อปี้ด้วยการอุ้มเข้าห้องน้ำจัดการอาบน้ำให้  ท่านร้องโวยวาย   “ปล่อยกู ๆๆๆ ชิบผาย...ปล่อยกู”  ท่านมีคำพูดติดปากว่า  “ชิบผาย”  ซึ่งเราถือว่าเป็นคำด่าที่หยาบ  หลวงพ่อเจ้าคุณก็มีคำพูดติดปากอยู่คำหนึ่งว่า  “ไอ้เหี้ย”  คราวหนึ่งข้าพเจ้านั่งอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  มีข้าราชการแต่งเครื่องแบบติดขีดเหลืองที่บ่าสามขีดใหญ่ (เป็นเครื่องหมายชั้นเอก) พร้อมภรรยาเข้ามาพบ  ขณะท่านผู้นั้นกราบ  หลวงพ่อเจ้าคุณก็เพ่งมองและพูดว่า  ใครหว่า ๆๆ  พอเขากราบเสร็จก็จำได้ ร้องว่า  “ไอ้เหี้ยนี่เอง”  ภรรยาที่มาด้วยฟังดังนั้นแล้วสีหน้าไม่ดีเลย  หลังจากเขาลากลับไปข้าพเจ้าก็ถามว่าหลวงพ่อไปด่าเขาว่าไอ้เหี้ยทำไม  เขาเป็นข้าราชการผู้ใหญ่นะ  ท่านตอบว่า  ไอ้นี่เป็นศิษย์ใกล้คนหนึ่งมันเกเรมาก  ก็ดีใจที่มันได้ดิบได้ดีไปแล้ว

          วันหนึ่งกำลังฉันอาหารเพลกันอยู่  หลวงพ่อปี้ไม่ได้ฉันร่วมวงด้วย  นั่งข้างหลังหลวงพ่อเจ้าคุณ  พูดคำด่าคำกับพระเกี๊ยก  หลวงเจ้าคุณโบราณคงจะรำคาญก็พูดว่า  พระครูปี้นี่นิสัยไม่ดี  พูดคำด่าคำ  หลวงพ่อปี้ย้อนว่า  “ผ่มเป็นซิดหล่วงพ้อก๋อน  หล่วงผอด๋าเก๋งผ่มก็ต้องด๋าเก๋งเหมื่อนหล่วงผอก๋อน” (ผมเป็นศิษย์หลวงพ่อนะ  หลวงพ่อด่าเก่งผมก็ต้องด่าเก่งเหมือนหลวงพ่อ)  หลวงพ่อเจ้าคุณหันไปค้อน  แล้วนิ่งไป  ฉันเพลเสร็จแล้วก็นั่งคุยกันต่อ  หลวงพ่อปี้บ่นว่าไม่อยากเป็นเจ้าคณะตำบล  เหนื่อยงานปกครองมันมีแต่ความยุ่งยาก  บอกข้าพเจ้าให้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล (ชั้นตรี)  “ผ่มไม่เอาแล้วยศถาบรรดาศักดิ์  ลาออกแล้วผ่มจะเข้าป่า  ไล่ให้ข้าพเจ้ารีบไปพิมพ์ใบลาที่ห้องเลขาเจ้าคณะจังหวัด  พระครูปลัดแถวถามว่าเขาจะลาออกจริง ๆ หรือ  หาพระแทนยากมากนะ  ข้าพเจ้าก็ว่ามีตัวแทนอยู่แล้ว  คือพระจงวัดบ้านด่านศิษย์หลวงพ่อปี้นั่นแหละ

          พิมพ์ใบลาเสร็จจึงเอาไปให้ก็พบหลวงพ่อห้อมมานั่งคุยกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอยู่  หลวงพ่อปี้ถามว่าพิมพ์เสร็จแล้วหรือเลข่าเอามานี่  หลวงพ่อห้อมถามว่าอะไรนั่นน่ะ  ข้าพเจ้าบอกว่าใบลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล  หลวงพ่อปี้จะลาออกจากตำแหน่ง  หลวงพ่อห้อมบอกว่า  อย่าเพิ่งส่งใบลา  กำลังส่งเรื่องขอเลื่อนสมณะศักดิ์ขึ้นเป็นพระครูชั้นโท  ถ้าลาออกตอนนี้เขาจะไม่เลื่อนยศให้  รอให้มีคำสั่งเลื่อนเป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโทออกมาก่อน  จึงค่อยลาออก  หลวงพ่อปี้ได้ฟังดังนั้นก็ร้อง  อ้อ...เอาไว้ก๋อนเลข่า เอาไว้ก๋อน  หลวงพ่อคุณโบราณหัวเราะหึ ๆ   และในปลายปีนั้นเองมีคำสั่งเลื่อนสมณะศักดิ์พระครูสุวิชานวรวุฒิ เป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโทในนามเดิม  ใบลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบ้านด่านลานหอยที่พิมพ์รอไว้ท่านก็เซ็นชื่อส่งเจ้าคณะอำเภอ และจังหวัด  แต่ข้าพเจ้าเรียนต่อเจ้าคณะจังหวัดว่า  ควรขอยกพระครูสุวิชานวรวุฒิขึ้นเป็นเจ้าตำบลกิตติมศักดิ์ดีกว่าให้พ้นไปจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล   ดังนั้นหลวงพ่อปี้จึงเป็นเจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ เป็นต้นไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตท่าน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, กรกฎาคม, 2566, 10:50:20 PM
(https://i.ibb.co/3rVz0Tj/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๙ -
          เรื่องดี ๆ ของพระมีมาก  แต่เรื่องไม่ดีก็มีไม่น้อย  วัดราชธานีเป็นวัดใหญ่ในเมืองสุโขทัย  ผ่านความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงยุคเสื่อมโทรมลงตามกฎธรรมะที่ว่า  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  เปลี่ยนแปร  แตกดับ  ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดนี้ในช่วง “ขาลง” ของวัด  จึงต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงเพื่อจะให้ดีขึ้น  พระหลวงตาหลายองค์เป็นปัญหาที่ต้องค่อย ๆ แก้  ส่วนมากท่านดื้อรั้น  เราเป็นเด็กจะว่ากล่าวตักเตือนท่านด้วยถ้อยคำแรง ๆ ก็ไม่เหมาะไม่ควร  บางองค์มีลูกหลานญาติพี่น้องและคนเคารพนับถือท่านมาก  ทำให้ไม่กล้าทำอะไรรุนแรงกับท่าน  บางองค์เช่น  อดีตพระครูเปลี่ยน  เป็นหลวงตาที่น่ารักน่านับถือ  แม้จะเคยมีอดีตเป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอมาแล้ว  แต่ท่านก็สุภาพอ่อนน้อมนุ่มนวลประพฤติปฏิบัติชอบ  และหลวงตาอีกหลายองค์ก็เป็นผู้ว่าง่าย

          มีข้าราชการสรรพสามิตจังหวัดสุโขทัยคนหนึ่งนำบิดาอายุประมาณ ๗๐ ปีเห็นจะได้  เป็นอดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต  มาขอให้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบวช  แต่บิดาเขาไม่ขอบวชเป็นพระ  อ้างว่ามีสิกขาวินัยมากเกินไป  เกรงจะประพฤติปฏิบัติตามสิกขาวินัยของพระไม่ไหว  เพราะอายุมากแล้วความจำหลง ๆ ลืม ๆ  จึงขอบวชเป็นเพียงสามเณรซึ่งมีศีลน้อย  ทำอะไรพลาดพลั้งไปจนศีลขาดก็ต่อใหม่ได้  หลวงพ่อเจ้าคุณก็บวชให้เป็นสามเณรอยู่ในความดูแลของข้าพเจ้า  สามเณรกรมีอุปนิสัยใจคอดี  สุภาพเรียบร้อย  ไม่มีพระเณรองค์ใดรังเกียจความเป็นสามเณรเฒ่าของท่าน

          เวลากลางคืนหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านมิได้จำวัดที่โรงเรียนวินัยสาร  แต่ไปจำวัดอยู่ที่วิหารหลวงพ่อ่เป่า  กล่าวคือ วิหารหลวงพ่อเป่านั้นมีขนาดใหญ่  ปีกวิหารด้านเหนือเป็นห้องเก็บของ  ด้านใต้ที่ที่นอนของหลวงพ่อเจ้าคุณ  ที่ว่างระหว่างวิหารหลวงพ่อเป่ากับวิหารหลวงพ่องามเป็นที่โยมปลัดบุญธรรมขออนุญาตหลวงพ่อเจ้าคุณทำเป็นโรงปั้นพระพุทธรูป  ด้านหลังวิหารหลวงพ่อเป่าเป็นบ่อปลามีทางเดินเป็นถนนคอนกรีตไปถึงวิหารหลวงพ่องาม  ด้านหน้าวิหารหลวงพ่อเป่าเป็นถนนราชธานี  คืนวันหนึ่งเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม  หลวงพ่อเจ้าคุณให้คนมาตามข้าพเจ้าไปพบที่ห้องท่าน (วิหารหลวงพ่อเป่า) ข้าพเจ้าไปถึงก็พบนายตำรวจหนุ่มยศร้อยโทกับนายสิบตำรวจสองคน  และพระหนุ่มองค์หนึ่ง พอเห็นข้าพเจ้าเข้าไปในห้องท่านก็บอกว่า

           “ทั่นนันท์จัดการเรื่องนี้ที  ตำรวจเขาจับไอ้ทั่นนี่มา”

          ข้าพเจ้านั่งพิจารณาดูสารูปของพระ  “ไอ้ทั่นนี่”  ที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณว่า  เห็นเขายังห่มจีวรคลุมไหล่อยู่  นั่งก้มหน้านิ่งไม่พูดไม่จาอะไร  นายตำรวจเจ้าของเรื่องกล่าวรายงานว่า

           “ผมร้อยตำรวจโทประยุทธ์  วันนี้เป็นร้อยเวร  ขณะทำงานในหน้าที่ร้อยเวรอยู่ที่โรงพัก  มีประชาชนไปแจ้งความว่าเห็นพระนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านอาหารโรงแรม  จึงมาพบเห็นแล้วควบคุมตัวมาให้เจ้าคณะจังหวัดสึกเพื่อนำตัวไปทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไปครับ”

          จึงถามว่าพระนี้ชื่อไรล่ะ  หมวดตอบว่ายังไม่ทราบชื่อ  เพิ่งเอาตัวมาสึกก่อนสอบสวน  ข้าพเจ้าให้ตำรวจค้นย่ามพระดูว่ามีหนังสือสุทธิ (เป็นเสมือนบัตรประจำตัวประชาชน) และของผิดกฎหมายหรือไม่  พบหนังสือสุทธิ  ผ้าเช็ดหน้า แปรง และยาสีฟัน กับเงินห้าร้อยบาทเศษ  หนังสือสุทธิระบุชื่อ  สมพงศ์  จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นชาวจังหวัดสนะบุรี  บวชเป็นพระได้ ๓ พรรษาแล้ว  ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายใด ๆ ในย่ามท่านเลย

          ถามว่ามาอย่างไร  จะไปไหนอย่างไร  ทำไมจึงมาดื่มเหล้าอยู่ในโรงแรม  คราวนี้เขาเงยหน้าขึ้นตอบคำถามทั้งหมดได้ความว่า  อยู่วัดหนองโดนสระบุรีจะไปหาเพื่อนที่จังหวัดตาก  นั่งรถไฟมาลงที่พิษณุโลก  รถเมล์ต่อไปจังหวัดตากไม่มี  เพราะหมดเวลาแล้ว  จึงนั่งรถเมล์มาลงสุโขทัย  กะว่าพรุ่งนี้จึงค่อยต่อไปจังหวัดตาก  ยอมรับว่าดื่มสุราบ่อย ๆ  ได้ความดังนั้นจึงบอกหมวดยุทธ์ให้ตรวจสอบว่าเคยมีประวัติต้องคดีอะไรอะไรที่ไหนมาบ้างไหม  คดีดื่มสุราไม่ผิดกฎหมายยังจับสึกไม่ได้  แต่เขาผิดวินัยบัญญัติเป็นอาบัติปาจิตตีย์  พอพูดเท่านี้เขาลุกขึ้นเปลื้องจีวรที่ห่มคลุม  แล้วห่มเฉวียงบ่านั่งคุกเขาลงตรงหน้าข้าพเจ้าพร้อมกล่าวว่า

           “กระผมเป็นอาบัติปาจิตตีย์  ขอแสดงอาบัติครับ”   แสดงความเป็นคนหัวหมอความขึ้นมาทันที  ข้าพเจ้าห้ามว่าไม่ได้  คุณกำลังเมาสุราอยู่  สติไม่สมบูรณ์  แสดงอาบัติขณะเมาไม่ได้  ต้องรอให้หายเมาก่อน  หมวดยุทธ์จึงกล่าวว่าขอเวลาตรวจสอบประวัติก่อนว่าเขามีคดีอาญาอะไรอยู่บ้างไหม  คืนนี้ผมขอฝากตัวไว้ที่วัดก่อน  โดยจะให้ตำรวจมาคอยดูแลไม่ให้เขาหลบหนีไปได้   คืนนั้นข้าพเจ้าจึงให้เขานอนที่โรงเรียนวินัยสารโดยมีตำรวจสองนายนั่งเฝ้าประตูเข้าออก  ตอนสายของวันรุ่งขึ้น  หมวดยุทธ์จึงให้ตำรวจมาบอกว่าพระสมพงศ์ไม่มีประวัติต้องคดีจึงปล่อยตัว  ก่อนจากไปเขาเข้าไปกราบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  หลวงพ่อก็ให้โอวาทอบรมสั่งสอนพอสมควร  เขารับปากกว่าจะเลิกดื่มสุราตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป

          เรื่องพระสมพงศ์ผ่านพ้นไปได้ไม่ถึง ๗ วัน  ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งสนทนาลูกชายของสามเณรกรอยู่ในห้องทำงานหน่วยพัฒนาการทางจิต  หลวงตาคำจากคณะศาลาฯเดินสะเปะสะปะเข้ามา  มีกลิ่นเหล้าคลุ้งเลย  จึงถามว่ามาทำไมหลวงตา  แกบอกว่าจะมาหาเณรปลาย  ซึ่งอยู่ด้านข้างกุฏิ  ลูกชายสามเณรกรเห็นดังนั้นแสดงอาการตกใจที่พบพระเมาเหล้า  หายตกใจแล้วรีบออกไปกราบหลวงพ่อเจ้าโบราณเรียนให้ทราบว่ามีพระเมาเหล้า  หลวงพ่อจึงเรียกให้ข้าพเจ้าพาหลวงตาคำไปพบ  แล้วถามว่า

           “แกกินเหล้าหรือ”

          หลวงตารับว่า    ”จริงครับ  ไม่กินไม่ได้เพราะผมไม่สบายต้องกินเหล้ารักษาโรค”

          หลวงพ่อก็ด่าด้วยคำชินปากว่า  “ไอ้เหี้ย...”    แล้วอบรมสั่งสอน  วันนั้นท่านพูดถึงโทษสุราดีมาก  หลวงตาคำฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งจนถึงกับหมอบกราบใกล้ตักท่าน  ตอนท้ายท่านกล่าวเน้นว่า  พระพุทธเจ้าของเราสอนว่า     “พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ  พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต  พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ (ศีล)”   หลวงคำร้องไห้โฮ กล่าวคำสาบานว่าจะยอมตายโดยไม่ดื่มเหล้าอีก  ขอรักษาศีลไปตลอดชีวิต

          หลวงตาคำองค์นี้ท่านเป็นคนชาวเขมร  มาจากทางบุรีรัมย์หรือสุรินทร์โน่นแหละ  นอกจากแกจะดื่มสุราเป็นประจำแล้ว  ความประพฤติอื่นใดไม่มีเสียหาย  หลังจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอบรมสั่งสอนวันนั้นแล้ว  ท่านก็งดดื่มเหล้าได้อย่างเด็ดขาด  อยู่มาจนถึงปีที่ไฟไหม้เมืองสุโขทัยแล้วท่านหายไป  เข้าใจว่าคงกลับบ้านเดิมของท่าน  เพราะวัดราชธานีถูกไฟไหม้พระเณรอยู่กันลำบากแล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, กรกฎาคม, 2566, 10:54:07 PM
(https://i.ibb.co/XY5gK3D/187137820-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ขอบคุณรูปภาพต้นแบบจาก Internet
Cr. Photo By สวนผลไม้บ้านดงย่าปา คลิก (https://web.facebook.com/people/สวนผลไม้บ้านดงย่าปา/100068133092410/)


เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๐ -
          ครูเหรียญชัย จอมสืบ  เที่ยวซอกแซก  คือ  ดั้นด้น  ไปทุกหนทุกแห่งที่ไม่น่าไปตามนิสัย “จอมสืบ”  ของเขา  จนไปพบสวนป่าไม้ผลแห่งหนึ่ง  เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้นานา  โดยเฉพาะทุเรียน  ลางสาด  ป่าแห่งนั้นชื่อ  “ดงย่าปา”  อยู่เชิงเขาที่เป็นเขตแดนกันระหว่างเมืองลับแลกับศรีสัชนาลัย  อยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านตึก  ถ้าเดินจากหมู่บ้านนี้ข้ามภูเขาลงไปก็เป็นเขตพื้นที่เมืองลับแล  ที่เป็นสวนป่าไม้ผลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทุเรียน  ลวงสาด  และไม้ผลนานา  ครูเหรียญชัยนำเรื่องที่ไปพบสวนป่าทุเรียน  ลางสาด  ดงย่าปา มาแจ้งให้นายสมาส อมาตยกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยทราบ  ท่านผู้ว่าฯ สนใจมากจึงวางกำหนดการที่จะไปเยี่ยมราษฎรและชมสวนผลไม้ดงย่าป่า

          สมัยนั้น (ปี ๒๕๑๐) การเดินไปบ้านดงย่าปาเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมาก  ทางเป็นถนนดินลูกรังขนาดเล็ก  บางตอนถนนขาดหายกลายเป็นทางล้อทางเกวียน  บางตอนมีสะพานไม้เก่า ๆ ข้ามลำห้วย  ครูเหรียญชัยบอกเล่าสภาพทางไปดงย่าปาให้ท่านผู้ว่าฯ ทราบ  ท่านจึงสั่งให้ทำการบูรณะเส้นทาง  ตรงไหนเป็นหลุมเป็นบ่อก็ให้เอาดินลูกรังไปลง  สะพานไม้ที่จะพังแหล่มิพังแหล่ก็ให้เร่งซ่อมแซมจนแข็งแรงพอที่รถจะข้ามได้อย่างปลอดภัย

          ลุกาลปลายปีสิ้นฝนแล้ว  ผู้ว่าฯ สมาสให้นัดหมายราษฎรตำบลบ้านตึกไปประชุมรับฟังข้าราชการที่โรงเรียนบ้านดงย่าปา  ท่านพร้อมด้วยคณะข้าราชการกรมการจังหวัด  ซึ่งมีข้าพเจ้าร่วมคณะด้วย  เดินทางโดยการนำพาของครูเหรียญชัยออกจากเมืองสุโขทัยแต่เช้า  ผ่านศรีสำโรง  สวรรคโลก  ศรีสัชนาลัย  เลยบ้านหาดเสี้ยวไปตามถนนสายสุโขทัย-แพร่  แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังสู่ดงย่าปา  ถึงโรงเรียนกลางป่าซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  มีราษฎรมารอพบคณะผู้ว่าฯ อยู่หนาตา  เป็นชาวบ้านดงย่าปาเละหมู่บ้านใกล้เคียงกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบลบ้านตึก  และข้าราชการจากที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย  เมื่อผู้ว่าฯ เปิดการประชุมแจ้งข้อราชการแก่ราษฎรแล้ว  ก็นิมนต์ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรมเหมือนเคย  วันนั้นท่านให้หัวหน้าส่วนราชการที่พูดกับราษฎรเพียงคนเดียวคือเกษตรจังหวัด  

          เมื่อหมดวาระสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับราษฎรแล้ว  ท่านผู้ว่าฯ พร้อมคณะเดินเที่ยวชมสวนผลไม้นานา ทุเรียน ลางสาด เหมือนกับของลับแลเพราะพื้นที่ภูมิอากาศไม่ต่างกัน  แต่มีทุเรียนต้นหนึ่งไม่เหมือนใคร  เป็นทุเรียนต้นใหญ่มีอายุเกือบร้อยปีแล้ว  เนื้อทุเรียนต้นนี้ก็ไม่เหมือนใคร  ทุเรียนลับแลและดงย่าปาสมัยนั้นมีผลเล็ก  เมล็ดโตเนื้อน้อยเรียกกันว่าทุเรียนปลาร้า   หมอนทอง ก้านยาว ซึ่งมีเนื้อมากเมล็ดเล็กยังไม่มีขึ้นไปปลูกในพื้นที่นั้น  แต่ทุเรียนต้นใหญ่ของดงย่าปา  ชาวบ้านเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า  “พันธุ์ตะเข้”  เป็นทุเรียนยักษ์พันธุ์โบราณ  มีเนื้อมากเมล็ดไม่โต  รสชาติหวานมัน  ชื่อ “ตะเข้” น่าจะคือ “ตะเฆ่”  หมายถึงเครื่องทุ่นแรงสำหรับลากเข็นของหนัก  รูปเตี้ย ๆ มีล้อตั้งแต่ ๒-๔ ล้อ  แต่เพี้ยนเป็นจระเข้ไปแล้ว  ทุเรียนต้นนี้อยู่ที่บ้านห้วยตมติดกันกับดงย่าปา  มีความเป็นมาจากการบอกว่าเล่าต่อ ๆ กันมาพอสรุปได้ว่า    “นายมูล ไหวคิด  ชาวบ้านหมู่ ๗ ต.บ้านตึก เป็นคนเอามาปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๐  โดยได้เมล็ดพันธุ์มาจากในป่าพื้นที่ชายแดนเขตติดต่อพม่าในช่วงที่นายมูลรับราชการเป็นทหารเกณฑ์  แล้วระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ไปเจอลูกทุเรียนตกหล่นอยู่ใต้ต้น  จึงได้ลองแกะกิน  และพบว่าเนื้อในหนา  สีเหลือง  รสชาติหอม  หวาน มัน อร่อย กลิ่นไม่แรง  จึงได้เก็บเอาเมล็ดพันธุ์กลับมาปลูกที่สวนดังกล่าว”     จากข้อมูลนี้  ทุเรียนตะเฆ้ต้นนี้ก็มีอายุเกือบ ๒๐๐ ปีทีเดียว

          เป็นที่น่าเสียดายว่าเวลาที่คณะผู้ว่าฯ สมาสไปดงย่าปานั้นหมดหน้าทุเรียนแล้ว  จึงไม่ได้ลิ้มรสชาติทุเรียนตะเฆ่  และทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง  แม้ลางสาดก็ไม่มี  ท่านผู้ว่าฯ สั่งให้เกษตรจังหวัดช่วยอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์ตะเฆ่ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์แปลกนี้ไว้ให้ดี  ในท้องที่ตำบลบ้านตึกทางแถบบ้านดงย่าปา บ้านห้วยตม และใกล้เคียง  ดินดีอากาศดี  เหมาะแก่การปลูกพืชผักไม้ผลนานาพันธุ์  ท่านผู้ว่าฯ จึงสั่งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องพัฒนาถนนหนทาง  เพื่อให้ชาวบ้านนำผลิตผลทางการเกษตรออกไปจำหน่ายในเมืองศรีสัชนาลัยและที่อื่น ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย  ในเวลาต่อมาปรากฏว่าพืชผักผลไม้จากชาวบ้านแถบนี้ออกสู่ตลาดมากขึ้น  ทุเรียนพันธุ์หมอนทองเริ่มเข้ามาปลูกมากขึ้น  แต่พันธุ์ตะเฆ่ไม่เติบโตเท่าที่ควร /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, กรกฎาคม, 2566, 11:07:41 PM
(https://i.ibb.co/3Rf0sq9/12471642-1.jpg) (https://imgbb.com/)
พระครูไกรลาศสมานคุณ (ย่น ฑิสฺสโร)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๑ -

          อาบัติหนักถึงขั้นปาราชิกของพระภิกษุมี ๔ อย่างคือ

          - เสพเมถุน  แม้กับสัตว์เดรัจฉาน (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์ แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น) ๑
          - ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้  มาเป็นของตน  จากบ้านก็ดี  จากป่าก็ดี (ขโมย) ได้ราคา ๕ มาสก ๑
          - พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)  แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง  หรือจ้างวานฆ่าคน  หรือพูดพรรณาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย (โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) ไม่เว้นแม้แต่การแท้งเด็กในครรภ์ ๑
          - กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง  อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ  อย่างสามารถ  น้อมเข้าในตัวเองว่า  เรารู้อย่างนี้  เราเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง  แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง) ยกเว้นเข้าใจตัวเองผิด ๑

          ปาราชิก (เป็นผู้พ่าย) ทั้ง ๔ ข้อนี้   คนส่วนมากเพ่งเล็งคอยจับผิดพระภิกษุที่ทำผิดในข้อที่ ๑ มากกว่าผิดในข้ออื่น ๆ ด้วยเห็นว่าการเสพเมถุนเป็นเรื่องเสียหายมาก  ส่วนเรื่องลักทรัพย์  ฉ้อโกงทรัพย์  ฆ่ามนุษย์  และพูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนนั้นเป็นเรื่องเสียหายไม่มากเท่าเสพเมถุน

          ดังนั้นจึงมี  “ข่าวคาว”  ของพระกับสีกาออกทางสื่อต่าง ๆ มากมาย  พระธรรมดา (ผู้น้อย) ไม่ค่อยเป็นข่าวนักเพราะคนสนใจน้อย  แต่พระที่มียศตำแหน่งเป็นพระผู้ใหญ่ (มิใช่พระธรรมดา) อยู่ในสายตาของคนหมู่มาก  ถ้ามีอะไรกับสีกาจะเป็นข่าวดังขึ้นมาทันที  บางองค์ไม่ถึงขั้นปาราชิก  เพียงถูกเนื้อต้องตัวหญิงถูกก็หาว่าศีลขาด (ปาราชิก) แล้ว  เรื่องนี้เป็นเรื่องทำให้พระฝ่ายปกครองปวดหัวไม่น้อยทีเดียว  ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัยพบกับเรื่องทำนองนี้หลายเรื่อง  อย่างเรื่องที่จะให้การวันนี้เรื่องหนึ่ง

          เรื่องเกิดจากที่  พระครูไกรลาสสมานคุณ (ย่น)  เจ้าคณะอำเภอกงไกรลาศ  มีคำสั่งปลดพระครูอ๋อยออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลบ้านกร่าง  เพราะถูกร้องเรียนว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสีกา (หญิงม่าย) คนหนึ่ง  พระครูอ๋อยเป็นพระครูชั้นประทวน  เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกร่างซึ่งเป็นวัดใหญ่  และมีชื่อเสียงโด่งดังจากหลวงพ่ออุย อดีตเจ้าอาวาสที่เป็นพระเกจิอาจารย์ทางคงกระพันชาตรี  พระครูอ๋อยเป็นศิษย์หลวงพ่ออุย  จึงมีคนเคารพนับถือมากพอสมควร  พระครูย่น (ไกรลาศสมานคุณ) เคยบวชอยู่วัดนี้และเป็นเพื่อนกับพระครูอ๋อยก่อนย้ายไปอยู่วัดกงไกรลาศ  และได้เป็นเจ้าคณะอำเภอกงไกรลาศ  ท่านสอบสวนตามคำร้องเรียนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล  จึงสั่งปลดพระครูอ๋อยออกจากตำแหน่งหมดทุกตำแหน่ง  พระครูอ๋อยจึงออกจากวัดบ้านกร่างไปพำนักอยู่วัดพระพายหลวง  เมืองเก่าสุโขทัย

          การปลดพระครูอ๋อยออกจากตำแหน่งจนท่านต้องย้ายออกจากวัดไป  ทำให้ชาวบ้านศิษยานุศิษย์พระครูอ๋อยไม่พอใจ  จึงชุมนุมเรียกร้องให้พระครูอ๋อยกลับมาดำรงตำแหน่งดังเดิม  พระครูไกรลาศสมานคุณ นำเรื่องเข้าปรึกษาหารือเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  โดยมีพระครูปลัดแถวเลขาฯ และข้าพเจ้าร่วมรับฟัง  หลวงพ่อย่นเล่าว่าท่านเชื่อว่าพระครูอ๋อยมีความสัมพันธ์กับหญิงม่ายคนนั้นจริง  ได้ว่ากล่าวตักเตือนในฐานเพื่อนเก่าให้เลิกรา  พระครูอ๋อยกลับโกรธท่านไม่ยอมเชื่อฟัง  จึงต้องมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งเพื่อรักษาพระธรรมวินัยและศาสนา

          ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับพระครูอ๋อยดี  เพราะเขาไม่ยอมรับ  หญิงม่ายคนนั้นก็ไม่ยอมรับ  ถ้าหญิงนั้นยอมรับและเป็นโจทก์ก็จะจัดการพระครูอ๋อยได้ง่ายขึ้น  การมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงโดยการสมยอมยินดีทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องส่วนตัว  แม้จะผิดพระวินัย  แต่ก็ไม่ผิดกฎหมาย  ถ้าภิกษุข่มขืนกระทำชำเราหญิงจึงผิดกฎหมายตำรวจจับกุมดำเนินคดีให้สึกเสียได้  ข้าพเจ้าคิดหาทางออกยังไม่เห็น  พอดีวันรุ่งขึ้น  “โกเต้า”  เต้า รูปสุวรรณ   กำนันตำบลกง  ซึ่งเป็นคนดังของกงไกรลาศ  นำพาชาวบ้านเดินทางมาเกือบร้อยคน  เรียกร้องให้เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยแต่งตั้งพระครูอ๋อยกลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิม  หลังจากเจรจากันกันอยู่นานพอสมควรแล้วตกลงกันว่าอีกสองวันเจ้าคณะจังหวัดจะเดินทางไปประชุมชาวบ้านที่วัดบ้านกร่างเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้

          ถึงวันนัด  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณพร้อมด้วยพระครูปลัดแถว  ข้าพเจ้า  พระไพฑูรย์  พระมหาคำสิงห์  ร่วมเดินทางไปวัดบ้านกร่าง   กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านกร่างพร้อมด้วยกรรมการวัดและชาวบ้านรวมตัวกันอยู่ในศาลาการเปรียญประมาณ ๒๐๐ คนเศษ  ข้าพเจ้ากระซิบถามโยมผู้ชายกรรมการวัดคนหนึ่งว่า  คนที่มาทั้งหมดนี้เป็นฝ่ายพระครูอ๋อยใช่ไหม  เขาตอบว่าไม่ใช่ทั้งหมดหรอก  เป็นฝ่ายพระครูอ๋อยไม่ถึงครึ่ง  ดังนั้นเมื่อเริ่มการประชุม หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณกล่าวนำแล้วให้พระครูปลัดแถวอ่านระเบียบการถอดถอนและแต่งตั้งพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสเจ้าคณะตำบลให้ที่ประชุมฟัง  แล้วสรุปว่าเป็นอำนาจของเจ้าคณะอำเภอไม่ใช่อำนาจของเจ้าคณะจังหวัด  กำนันเต้าซึ่งเป็นคนนอกเขตตำบลบ้านกร่างขออนุญาตถามว่า  เจ้าคณะจังหวัดจะสั่งให้เจ้าคณะอำเภอเพิกถอนคำสั่งถอดถอนได้ไหม  หลวงพ่อหันมาทางข้าพเจ้ากล่าวว่า   “ท่านนันท์ชี้แจงแทนข้าทีซิ”  

          ข้าพเจ้ากล่าวว่า  จังหวัดสั่งให้อำเภอเพิกถอนคำสั่งถอดถอนได้  ถ้าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม  แต่เรื่องนี้จังหวัดได้ดูเรื่องเหตุที่มีคำสั่งถอดถอนแล้ว  เห็นว่าอำเภอได้ให้เหตุผลในการถอดถอนตำแหน่งของพระครูอ๋อยในเรื่องละเมิดจริยาพระสังฆาธิการร้ายแรง  คือเป็นผู้ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบธรรม  ข้อนี้สมควรถูกถอดออกจากตำแหน่งได้แล้ว  อีกข้อหนึ่งคือ  พระครูอ๋อยถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับมาตุคาม (หญิง) คนหนึ่ง  มีพยานหลายปากที่ควรเชื่อถือได้ยืนยัน  จึงให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อการสอบสวนดำเนินคดีทางวินัยร้ายแรงต่อไป  เมื่อเป็นเช่นนี้จังหวัดจึงไม่อาจสั่งให้เจ้าคณะอำเภอเพิกถอนคำสั่งถอดถอนนั้นได้

          กรรมการวัดคนหนึ่งถามว่า  เอาพระครูอ๋อยกลับมาเป็นสมภารไม่ได้  ตอนนี้วัดว่างสมภารจะทำยังไงครับ  ข้าพเจ้าตอบว่าให้เลือกพระองค์ใดองค์หนึ่งของวัดนี้เป็นสมภารองค์ใหม่  เขาก็บอกว่ามีแต่พระใหม่ ๆ เป็นสมภารไม่ได้สักองค์เดียว  มีเสียงโยมหญิงคนหนึ่งดังขึ้นว่า  ขอองค์ที่พูดนี่มาเป็นสมภารแทนพระครูอ๋อยได้ไหม หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยกมือขึ้นโบกพร้อมพูดว่า   ไม่ได้ องค์นี้ต้องอยู่ทำงานกับข้า  ข้าพเจ้าจึงแนะนำว่า  พระหนุ่มอีกสององค์นี่เป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  คือพระมหาคำสิงห์  กับพระไพฑูรย์  เป็นพระมีความรู้ดี  เลือกเอาเป็นสมภารสักองค์หนึ่งไหม  พระมหาคำสิงห์กับพระไพฑูรย์รับปฏิเสธพัลวัน  จึงเสนอต่อไปว่าตามระเบียบการปกครองคณะสงฆ์เมื่อยังหาพระเป็นเจ้าอาวาสไม่ได้  ก็ให้เจ้าคณะตำบลรักษาการแทน  วัดบ้านกร่างนี้เจ้าอาวาสว่าง  เจ้าคณะตำบลก็ว่าง  ดังนั้นเจ้าคณะอำเภอก็ต้องหาพระมารักษาการเจ้าอาวาสองค์หนึ่ง  รักษาการเจ้าคณะตำบลอีกองค์หนึ่ง  เมื่อยังหาไม่ได้ เจ้าคณะอำเภอก็ต้องรักษาการเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลเอง

          วันนั้นตกลงว่าให้พระครูไกรลาสสมานคุณ (ย่น) รักษาการเจ้าคณะตำบลบ้านกร่างและเจ้าอาวาสวัดบ้านกร่างไปพลางก่อน  โดยทางจังหวัดจะสรรหาพระมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่ให้ในเร็ววัน   เรื่องจึงยังไม่จบสิ้นครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, สิงหาคม, 2566, 12:48:20 AM
(https://i.ibb.co/gz3dvKz/312941568-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๒ -

          พระครูไกรลาศสมานคุณ (ย่น ติสฺสโร) บอกเล่าความเป็นมาของท่านว่า  สถานะเดิมชื่อ  นายย่น บุญสิงห์  บิดาชื่อ นายพล บุญสิงห์  มารดาชื่อ นางสุดใจ บุญสิงห์  เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘ ณ บ้านวังแร่ ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก  อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ พัทธสีมาวัดบ้านกร่าง  ตำบลบ้านกร่าง  อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย  โดยมีพระครูวิมลปรีชา (มา) เป็นพระอุปัชฌาย์   พระปลัดยิ้ม เป็นพระกรรมวาจาจารย์   พระหมวดเณร เป็นพระอนุสาวนาจารย์   มีฉายา ดิสฺสโร   บวชอยู่วัดบ้านกร่างระยะหนึ่งแล้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดกงไกรลาศ  ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  วัดกง  เป็นวัดที่สร้างมานานตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๔  มีเนื้อที่ ๔๑ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา  ผู้ขออนุญาตวัดครั้งแรก คือ  คุณพระกงไกรลาศ  นายอำเภอคนแรกของกงไกรลาศ  แล้วคงจะเอานามของท่านมาตั้งเป็นชื่อวัด เพื่อเป็นที่ระลึก  วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๑  เป็นวัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต (วิหารลอย) ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนอำเภอกงไกรลาศและคนทั่วไป

          พระครูไกรลาศสมานคุณ (ย่น)  ถือได้ว่าเป็นพระที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบที่น่าเคารพนับถือองค์หนึ่ง  แม้ภายนอกดูท่านจะเงอะ ๆ งะ ๆ เก้ ๆ กังๆ แบบบ้านนอกไปหน่อย  แต่ก็ไม่น่าเกลียด  การพูดการกระทำของท่านค่อนไปทางข้างโบราณ  ในความรู้สึกของข้าพเจ้าเห็นว่าน่ารักดี  พระผู้ใหญ่ของสุโขทัยระดับเจ้าคณะอำเภอเรียกท่านว่า  “พญากง”  เป็นการล้อเลียนว่าท่านเป็นพระโบราณอะไรทำนองนั้น  งานเอกสารคิดต่อทางราชการคณะสงฆ์ของท่านไม่มีอะไรบกพร่อง  มีเพียงคำเดียวที่ท่านแก้ไขไม่ได้คือ  คำว่า  “กราบเรียน”  ท่านจะพิมพ์ว่า  “กลาบเรียนเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย”  เสมอ   ข้าพเจ้าขอให้ท่านแก้เป็น  “กราบเรียน”  ท่านก็รับปากว่าจะจำไว้  แต่เวลาใช้จริง ๆ ท่านก็ยังคงพิมพ์ว่า  “กลาบเรียน”  อยู่นั่นแหละ

          เรื่องคดีพระครูอ๋อยท่านยังทำอะไรไม่ได้  จึงเกิดความเบื่อหน่ายในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอของท่าน  วันหนึ่งมีหนังขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอส่งมาจังหวัด  พระครูปลัดแถวเอามาให้ข้าพเจ้าดูก่อนส่งให้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  และปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี  ข้าเจ้าเห็นว่ายังไม่ควรอนุมัติให้ลาออก  เพราะหากลาออกจะหาพระมาแทนท่านไม่ได้  อีกอย่างหนึ่งท่านก็เป็นพระที่ดีมากองค์หนึ่ง  หากให้พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอก็จะเสียสิทธิ์การเป็นพระอุปัชฌาย์นอกวัดท่าน  รอไว้ให้หาพระมาเป็นเจ้าคณะอำเภอแทนท่านก่อน  จึงค่อยเสนอเรื่องยกท่านขึ้นเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ดีกว่า  จึงเก็บหนังสือลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอของท่านไว้

          ส่งหนังสือลาออกมาเป็นเดือนแล้วทางจังหวัดยังไม่ตอบรับ  พระครูไกรลาศสมานคุณจึงเข้ามาพบเลขานุการเจ้าคณะเจ้งหวัดเพื่อติดตามเรื่อง  พระครูปลัดแถวถามข้าพเจ้าว่าจะเอายังไงกันดี  จึงเรียนด้วยวาจากับท่านพระครูไกรลาศฯว่า  ท่านพระครูอย่าลาออกจากตำแหน่งเลย  ถ้าลาออกแล้วจะไปนั่งอุปัชฌาย์ตามวัดต่าง ๆ ในอำเภอกงฯ ไม่ได้  นั่งได้เฉพาะในวัดกงเท่านั้น  ผมอยากให้ท่านพระครูรักษาสิทธิ์การเป็นพระอุปัชฌาย์ไว้เพื่ออนุเคราะห์กุลบุตรชาวอำเภอกงไกรลาศต่อไป  กำลังจะเสนอขอให้ท่านพระครูเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์  เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอต่อไป   ท่านแย้งว่า  ผมเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ได้หรือ  ข้าพเจ้าว่าได้แน่  เพราะคุณงามความดีของท่านพระครูมีมากพอที่จะเป็นได้  เมื่อได้รับคำรับรองดังนั้นท่านก็กลับไปรอฟังข่าวด้วยอาการสงบ

          ยังไม่ทันที่จะยกพระครูไกรลาศฯ ขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์  พระครูอ่อยคูกรณีของท่านก็ลาสิกขาเมื่อรู้ว่าไม่มีสิทธิ์ได้กลับคืนไปอยู่ในตำแหน่งเดิมได้แล้ว พระครูอ๋อยเป็นใครข้าพเจ้าไม่รู้จักพบเห็นท่านเลย  รู้แต่เรื่องที่พระครูไกรลาศฯ บอกเล่าให้ฟังเท่านั้น   ต่อมาข้าพเจ้าปรึกษาท่านพระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย  ว่าจะเอาใครในอำเภอเมืองไปเป็นเจ้าคณะอำเภอกงฯ ดี  เพราะพระผู้ใหญ่ในอำเภอกงฯ หาตัวผู้ที่เหมาะสมไม่ได้แล้ว  คิดกันอยู่หลายวันจึงตกลงใจว่าให้แต่งตั้งพระครูวิมลกิจโกศล (เกียว โกวิโท) วัดคุ้งยางใหญ่ บ้านสวน  เป็นเจ้าคณะอำเภอกงไกรลาศ  หลังจากขอยกพระครูไกรลาสสมานขึ้นเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์แล้ว

          ต่อมาพระครูไกรลาศสมานคุณผู้ว่างจากงานปกครองคณะสงฆ์แล้ว  ท่านก็มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมในด้านอื่น ๆ   เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อมาก  พระเกจิชื่อดังของจังหวัดสุโขทัย  มีคาถาอาคมศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงด้านการหุงน้ำมันสุมนไพรรักษาโรคต่าง ๆ  ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธามาก  ท่านจึงดำเนินตามรอยของอาจารย์  จนชื่อเสียงหลวงพ่อย่นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะพระเกจิอาจารย์องค์หนึ่งแห่งลุ่มลำน้ำยม /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, สิงหาคม, 2566, 10:33:27 PM
(https://i.ibb.co/6nSznjt/Untirestled-1-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๓ -
          พระนักเทศน์มีไม่น้อยที่รับนิมนต์เทศน์ด้วยหวังได้เงินกัณฑ์เทศน์เป็นสำคัญ  โดยมิหวังให้ความรู้เรื่องสาสนธรรมแก่ผู้ฟังนัก  ในวงการเพื่อนนักเทศน์ของข้าพเจ้าก็มีเช่นนั้น  สำหรับข้าพเจ้าแล้วมิได้มุ่งหวังได้เงินกัณฑ์เทศน์มากไปกว่าได้แสดงธรรมให้ผู้ฟังได้ความรู้ความเข้าใจในสาสนธรรม  แสดงธรรมตามความถูกต้องพูดตรง ๆ อย่าง “ไม่เอาใจ” ผู้ฟัง  ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ช่างใคร  ทุกครั้งที่เจอคู่เทศน์พูดจาเอาอกเอาใจประจบประแจงผู้ฟังแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียน  บางครั้งก็สะกิดเตือนเขาว่า  “อย่าประจบประแจงญาติโยมมากนักมันจะเข้าข่าย  “กุลทูสก”  ความหมายของคำนี้คือ  “กุลทูสก (อ่านว่า กุ-ละ-ทู-สก, กุ-ละ-ทู-สะ-กะ) แปลว่า  "ผู้ประทุษร้ายตระกูล"  เป็นภาษาพระวินัย  หมายถึงภิกษุผู้ประจบเอาใจคฤหัสถ์ที่ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือผู้มียศศักดิ์ด้วยอาการที่ผิดพระวินัย  เพื่อให้เขาศรัทธาในตัว  เพื่อหวังลาภผลจากเขา  เช่นให้ของกำนัล  ทำสวนดอกไม้ไว้ให้เขาชื่นชม  พูดประจ๋อประแจ๋  อุ้มลูกเขา  ยอมตัวให้เขาใช้สอย  รับเป็นหมอรักษาไข้  รับฝากของต้องห้าม เป็นต้น  กุลทูสกเป็นผู้ทำลายศรัทธา  ทำให้เขาดูหมิ่นเสื่อมถอยในพระรัตนตรัย  และทำให้เขาพลาดจากบุญกุศล  เพราะมัวหลงชื่นชมต่อสิ่งที่ได้รับ  ไม่หาโอกาสบำเพ็ญบุญอย่างอื่น  จึงเรียกผุ้ประทุษร้ายตระกูล  หรือผู้ทำร้ายตระกูล”   ภิกษุประจบคฤหัสถ์ผิดพระวินัยบัญญัติเป็นอาบิสังฆาทิเสสข้อที่ ๑๓   ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นโทษได้

          วันหนึ่งข้าพเจ้ามีกำหนดแสดงธรรมปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรม  ฉลองพระบวชใหม่ที่บ้านบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก  จึงไปนอนค้างที่วัดท่ามะปราง หน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗   ซึ่งอยู่ใกล้กับกุฏิเจ้าอาวาส (พระครูนิยมสีลาจารย์ – เอียง)  ท่านพระครูเจ้าอาวาสเห็นข้าพเจ้าไปที่วัดก็ถามว่าจะไปเทศน์ที่ไหนหรือ  ข้าพเจ้าตอบว่าพรุ่งนี้ไปเทศน์ที่บางแก้วครับ  ท่านก็บอกว่า  แลกกันดีไหม  พรุ่งนี้ผมไปบางแก้วแทนท่าน  ท่านเทศน์ที่วัดท่ามะปรางนี่แหละไม่ต้องเดินทางไกลดี  ข้าพเจ้าก็ตอบตกลง พระดำรงหัวหน้าหน่วยพัฒนาการทางจิตเพื่อนคู่หูข้าพเจ้าบอกว่า  ท่านไปแลกสถานที่เทศน์กับพระครูเอียงทำไม  เมื่อซักถามรายละเอียดแล้วได้ความว่า  วัดบางแก้ว ตำบลท่างาม บางระกำนั้น  พระนักเทศน์พิษณุโลกล้วนอยากไปเทศน์กัน  เพราะที่นั่นเขาติดกัณฑ์เทศน์แพงมาก  บางทีก็ติดเป็นพันบาทเลย  อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐  ในที่ทั่วไปติดกัณฑ์เทศน์ร้อยสองร้อย อย่างมากไม่เกินสามร้อย  พระครูเอียงอยากได้เงินกัณฑ์เทศน์มาก ๆ จึงขอไปบางแก้ว  ด้วยเห็นว่าที่วัดท่ามะปรางจะได้กัณฑ์เทศน์ไม่เกินสามร้อยบาท  เพราะเขาจัดงานศพกันอย่างเงียบ ๆ  ไม่มีมหรสพ  แม้ปี่พาทย์ก็ไม่มี  ข้าพเจ้าก็บอกเพื่อนว่า  ไม่เป็นไรหรอก  ผมเทศน์โดยไม่หวังได้เงินกัณฑ์เทศนากมายอะไร  เขาถวายค่ารถเดินทางกลับวัดได้พอใจแล้ว

          งานศพวัดท่ามะปรางวันนั้น  ก่อนเทศน์ข้าพเจ้าถามญาติผู้ตายได้ความว่า  ผู้ตายมีอดีตเป็นนายอำเภอเกษียณอายุราชการมาได้สิบปีเศษจึงเสียชีวิต  ก่อนตายท่านสั่งว่าขอจัดการทำศพอย่างเงียบ ๆ  ไม่ต้องทำเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพ  ญาติจึงเก็บศพไว้ร้อยวันแล้วเอาออกมาทำบุญมีเทศน์แจงในวันนี้  เขาตั้งศพสวดพระอภิธรรมคืนเดียว  ตอนเช้าถวายอาหารพระสงฆ์  ตอนบ่ายมีเทศน์แจง ๑ ธรรมาสน์  นิมนต์พระนั่งอันดับแจง ๕๐ รูป  ทำแบบเรียบง่ายจริง ๆ

          ข้าพเจ้าเทศน์แจง (ปฐมสังคีติกถา) ธรรมาสน์เดียว  ก่อนเข้าเรื่องปฐมสังคายนาก็กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของผู้ตาย  แล้วอนุโมทนาเจตนารมณ์ของผู้ตายและญาติที่จัดงานแบบเรียบง่าย  ทั้งที่ผู้ตายมีฐานะทางการเงินดี  มีเกียรติสูง  พอที่จะจัดงานศพอย่างใหญ่โตได้  เรื่องนี้ควรแก่การเป็นตัวอย่างของการจัดงานศพที่ดี  ด้วยเป็นบุญกุศลล้วน ๆ แก่ผู้ตายและญาติผู้จัดการศพ  เคยพบเห็นงานศพมาหลายงานที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านและที่วัดเป็นหลายวัน  มีการเลี้ยงเหล้ายาและเล่นพนันกันในงานอย่างไม่เกรงกลัวบาปกรรม  แทนที่จะเป็นบุญบริสุทธิ์อุทิศให้ผู้ตาย  กลับเป็นได้บาปให้ผู้ตายไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

          จากนั้นก็ดำเนินเรื่องกล่าวถึงการทำปฐมสังคายนาตั้งแต่ต้นจนจบ  แล้วสรุปว่า  ผู้เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการเทศน์แจงเรื่องปฐมสังคายนานี้เชื่อว่าเป็นการช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา  เพราะพระไตรปิฎกที่ได้จากการทำปฐมสังคายนานั้น  เป็นหลักหรือธรรมนูญแห่งพระพุทธศาสนา  พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ในโลกตั้งแต่ พ.ศ. ๑ มาจนถึง พ.ศ.นี้  นานถึงสองพันห้าร้อยกว่าปี  เพราะมีพระไตรปิฎกนี้เป็นหลักให้ยึดถือของชาวพุทธ  คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกที่รวมอยู่ในพระไตรปิฎกนี้มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยชาวพุทธช่วยกันบำรุงรักษา

          หลังจบการเทศน์ลงจากธรรมาสน์ เจ้าภาพนำขันกัณฑ์เทศน์มาถวายบนอาสนสงฆ์  ทายกรวบรวมจตุปัจจัยในขันกัณฑ์เทศน์ห่อผ้ากราบที่เอาปูรองรับประเคนจากโยมหญิง  แล้วใส่ย่ามข้าพเจ้า  เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์นำศพลงจากศาลาการเปรียญขึ้นสู่เมรุ  ข้าพเจ้าถือสายสิญจน์เดินนำหน้าขบวนจูงศพเวียนรอบเมรุ  เจ้าภาพนิมนต์ชักผ้าบังสุกุล  วางดอกไม้จันทน์ประชุมเพลิงในที่สุด  เสร็จพิธีแล้วไปพักอยู่ในสำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิต  รอพระดำรงกลับจากบางแก้ว  เอาห่อผ้าที่ทายกใส่ย่ามออกมาคลี่ดู  เห็นมีซองใส่เงิน ๑ ซอง  มีแบ๊งค์ร้อยแบ๊งค์ยี่สิบนับได้สี่ร้อยบาทเศษ  เปิดดูในซองมีเงินหนึ่งพันห้าร้อยบาท  รวมแล้วเงินติดกัณฑ์เทศน์วันนั้นเกือบสองพันบาท

          ใกล้ค่ำแล้วพระครูเอียงกับพระดำรงที่ไปเทศน์วัดบางแก้วกลับมา  ทราบว่าเขาได้เงินติดกัณฑ์มาคนละห้าร้อยบาท  ข้าพเจ้านึกสมน้ำหน้าพระครูเอียงที่โลภมากในลาภ  พอรู้ว่าเงินกัณฑ์เทศน์ที่วัดท่ามะปรางมากกว่าวัดบางแก้วก็บ่นเสียดาย

          ทำความรู้จักวัดวัดท่ามะปรางกันหน่อยครับ  วัดนี้เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก  สันนิษฐานว่าชื่อนี้กร่อนมาจาก   "ท่าพระปรางค์"   จากจารึกหรือการเขียนชื่อวัดลงในภาชนะหรือของใช้  เช่น  โอ่งดินเผาสีแดงที่สมบูรณ์จารึกชื่อบนขอบโอ่ง ว่า  "…ปี พ.ศ. ๒๔๙๖  วัดท่าพระปรางค์"   อีกทั้งป้ายไม้สักทองก็แกะสลักว่าชื่อวัดท่าพระปรางค์  รวมถึงวัดพระปรางค์โบราณที่อยู่คู่มาแต่ดั้งเดิม  น่าจะสร้างในสมัยสุโขทัย  บริเวณอุโบสถ์เดิมน่าจะมีความเก่าสมัยสุโขทัยตอนปลาย  มีการขุดใต้อุโบสถ  พบอิฐครึ่งวงกลมหนา ๓ นิ้ว กว้าง ๑๔ นิ้ว  น่าจะเป็นอิฐของเสายุคเดิม  และบริเวณกำแพงแก้วพบกระเบื้องเคลือบที่มีการเคลือบที่ไม่เหมือนสมัยสุโขทัย  น่าจะเก่ากว่า  มีนัยว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๐

          เมื่อปี ๒๕๐๙ พระธรรมธรสำลี  พระดำรง  แห่งหน่วยพัฒนาการทางจิต  ขออนุญาตเจ้าอาวาสจัดสร้างพระพิมพ์ทามะปรางเนื้อดินเผา (พิมพ์เงี้ยวทิ้งปืน) ขึ้น  โดยข้าพเจ้าเข้าร่วมด้วย  วันทำพิธีพุทธาภิเศกได้นิมนต์พระอาจารย์  พระครูประกาศสมาธิคุณ จากวัดมหาธาตุกรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าพิธี   วัตถุประสงค์ในการสร้างพระพิมพ์นี้  เพื่อหาเงินสร้างโรงอุโบสถที่ทรุดโทรงลงมากแล้ว  การทำพระพิมพ์ท่ามะปรางให้ประชาชนเช่าบูชาสำเร็จด้วยดี  จึงทำการสร้างอุโบสถหลังใหม่ทับหลังเก่าสำเร็จในปี ๒๕๑๒/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, สิงหาคม, 2566, 11:04:34 PM
(https://i.ibb.co/FD5wx51/2d98-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๔ -
          วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดใหญ่พิษณุโลก สมัยนั้นมีพระนักเทศน์อยู่หลายรูป  รุ่นใหญ่ก็มีท่านเจ้าคุณพระราชรัตนมุนี หรือหลวงอาแช่มของข้าพเจ้า  พระครูวิธานเรขกิจ (ตุ๊)  รุ่นรองลงมาอยู่ในรุ่นข้าพเจ้าก็มี  พระมหาเกษม  พระมหาสุรศักดิ์  พระมหาสว่าง  พระมหาชมพู  และพระมหาธีรพงศ์   สำหรับมหาธีรพงศ์  เดิมอยู่วัดไทยชุมพล เมืองสุโขทัย  ย้ายไปอยู่สำนักวัดเบญจมบพิตรฯกรุงเทพฯ  เพื่อนพระที่อยู่วัดทองย้ายจากฝั่งธน คือพระมหาบำรุงกลับมาอยู่วัดใหญ่  มหาธีรพงศ์จึงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดเบญจะ-วัดใหญ่-วัดไทยชุมพล  เขาจึงเป็นตัวเชื่อมให้ข้าพเจ้ารู้จักคุ้นเคยกับพระมหาบำรุง, สุรศักดิ์, เกษม, ชมภู แห่งวัดใหญ่ไปด้วย  พระมหาบำรุงอยู่ในฝ่ายท่านเจ้าคุณพระพิษณุบุราจารย์ (แพ) เจ้าอาวาสวัดใหญ่และเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก  จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก  เป็นศูนย์กลางของพวกเราไปโดยปริยาย

          สำหรับพระมหาสว่างนั้น  ท่านเป็นชาวปักษ์ใต้  ไม่ค่อยสมาคมกับพวกพระมหาบำรุง  จึงไม่คุ้นเคยกับพวกเรา  เขาว่าพระมหาองค์นี้เทศน์เก่งมาก  ถ้าเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาแล้วมักจะหักหน้าเอาชนะคู่เทศน์จนไม่มีใครอยากเทศน์ด้วย  ข้าพเจ้าไม่เคยเทศน์กับท่านและไม่เคยฟังท่านเทศน์ด้วย  ดูเหมือนว่าอายุของท่านจะแก่กว่าข้าพเจ้าสักปีหรือสองปีกระมัง  พระครูวิธานเรขกิจ หรือพระครูตุ๊  เป็นนักเทศน์ที่พระเทศน์ในพิษณุโลกให้ความยำเกรงกันมาก  ท่านแม่นยำในตำราจนพรรคพวกเรียกกันว่า  “พระไตรปิฎกเคลื่อนที่”  เขาว่าเคยเทศน์กับมหาสว่างยังถูกมหาสว่างถามจนตอบไม่ได้มาแล้ว  มหาศรี (ชื่อเดิมของพระมหาธีรพงศ์) เคยพูดขู่ว่า   “อย่างนี้ต้องเจอกับอภินันท์สักทีแล้วจะเข็ดจนตาย”   หมายความว่า  พรรคพวกนักเทศน์ของข้าพเจ้ายกย่องกันว่าข้าพเจ้าเทศน์เก่งกว่าพวกเขา  ความจริงก็ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น  ว่าโดยความรู้แล้วข้าพเจ้าจะอ่อนด้วยกว่าพวกเขา  ด้านไหวพริบปฏิภาณโวหารการโต้ตอบพวกเขาสู้ข้าพเจ้าไม่ได้เท่านั้นเอง

          พรรคพวกอยากให้ข้าพเจ้าพบกับมหาสว่างบนธรรมาสน์เทศน์สักครั้งก็ไม่ได้พบกันสักที  จนอยู่มาวันหนึ่ง  พระครูวิธานเรขกิจนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์ที่วัดกระทุ่มยอดน้ำ ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ  วัดนี้อยู่ที่ไหน  ไปอย่างไร  ข้าพเจ้าไม่รู้เลย  แต่ก็ไม่เป็นการยุ่งยากอะไร  ท่านบอกให้เดินทางไปพร้อมกับท่าน  เมื่อถึงวันเทศน์ข้าพเจ้าไปพบท่านที่วัดใหญ่แต่เช้า  จึงพร้อมกันไปขึ้นรถเมล์สายบางระกำเพื่อจะลงเรือต่อไปวัดกระทุ่มยอดน้ำ  ข้าพเจ้าเพิ่งได้ทราบว่า  คู่เทศน์อีกองค์หนึ่งคือพระมหาสว่าง  ซึ่งเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว  ท่านพระครูวิธานฯ ไม่บอกให้รู้ก่อนว่าต้องเทศน์กับมหาสว่าง  แต่พวกมหาเกษม, สุรศักดิ์ รู้ก่อนแล้ว  เพราะเดิมเขานิมนต์องค์ใดองค์หนึ่งในกลุ่มนี้  แต่เขาขอให้พระครูวิธานฯ นิมนต์ข้าพเจ้าไปแทน  เพื่อต้องการให้พบกับมหาสว่าง  มหาศรีพูดขู่มหาสว่างว่า

          ”พรุ่งนี้แหละหว่างเอ๋ยได้พบอภินันท์แน่  อวดเก่งนักต้องเจอดีซะบ้าง”

          ท่านพระครูวิธานฯ บอกเล่าให้ให้ข้าพเจ้าฟังระหว่างเดินทางไปวัดกระทุ่มยอดน้ำ

          ถึงวัดกระทุ่มยอดน้ำได้เวลาฉันเพลงพอดี  พระมหาสว่างไปนั่งฉันอาหารอยู่กับพระที่เขานิมนต์มาสวดแจง  ไม่ยอมมานั่งฉันรวมกับเรา  พระครูวิธานฯ กล่าวกับข้าพเจ้าว่า

          ”มันตั้งท่าจะเล่นงานเราแล้วหละ”

          ข้าพเจ้าก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่ตื่นเต้นอะไร  เพราะเคยเทศน์กับพระเก่ง ๆ มามากแล้ว  หลังฉันเพลแล้วมหาสว่างก็มานั่งรวมกับเรา  ก่อนขึ้นเทศน์ก็แบ่งหน้าที่ตำแหน่งกัน  พระครูวิธานฯ ถามถึงอายุพรรษาของพระมหาสว่างกับข้าพเจ้าว่าใครแก่อ่อนกว่ากัน  ข้าพเจ้าอ่อนกว่ามหาสว่าง ๒ ปี  ท่านก็ว่าถ้าอย่างนั้นคนอาวุโสสูงสุดต้องเป็นพระอานนท์  อาวุโสน้อยกว่าเพื่อนเป็นพระมหากัสสป  ดังนั้นมหาสว่างจึงต้องเป็นพระอุบาลี  ดูเหมือนพระครูวิธานฯ จงใจให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ถาม  มหาสว่างเป็นผู้ตอบเรื่อ่งในวินัยปิฎก  ส่วนท่านจะตอบในพระสุตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  มหาสว่างก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะซักถามอะไรได้

          เมื่อเริ่มเทศน์  ข้าพเจ้าให้ศีลจบแล้วพระครูวิธานฯ แสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์  และสมมติองค์แสดงในตำแหน่งหน้าที่ตามที่ตกลงกันไว้  ข้าพเจ้าในตำแหน่งพระมหากัสสปดำเนินเรื่องปฐมสังคายนาด้วยสำนวนโวหารตามแบบแผนที่พระผู้ใหญ่ว่าไว้  ปรารภเรื่องอันเป็นเหตุให้ทำสังคายนา จนเริ่มสังคายนาพระวินัยเป็นอันดับแรก  แล้วถามพระอุบาลีตามแบบที่เทศน์กันทั่วไปว่า   “ปะฐะมัง  ปาราชิกัง  ปฐมปาราชิกสิกขาบทองค์สมเด็จศรีสุคตทรงตรัสบัญญัติ ณ ที่ใดนะขอรับ”

          พระมหาสว่างผู้เป็นพระอุบาลีอบว่า   “อันตะรา จะ ราชะคะหัง อันตะรา จะ นาลันทัง “

          พระครูวิธานฯ ร้อง  “อ๊าว....เอาคำของพระอานนท์ไปตอบ  เดี๋ยวพระมหากัสสปมาถามผม  ผมจะเอาอะไรที่ไหนไปตอบได้เล่า”

          เท่านั้นเองคนฟังหัวเราะกันฮาครืนเลย  มหาสว่างนั่งอึ้งด้วยรู้ตัวว่าตอบผิดไปแล้ว  ที่ถูก้องตอบว่า   “เวสาลิยัง ภันเต”   ท่านคงประหม่าหรือไรก็ไม่รู้นะ  เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็กลบเกลื่อนว่า  ขอถามใหม่ว่า  อาบัติปาราชิกข้อแรกที่พระพุทธทรงบัญญัติ ณ เมืองเวลสาลีนั้นปรารภถึงใคร  เรื่องอะไร  พระคุณเจ้าช่วยบอกเล่าให้ทราบหน่อยเถิด   ท่านได้สติแล้วจึงตอบเรื่องพระสุทินเสพเมถุนกับภรรยาเก่า  มีผู้โจษจันกันมาก  พระพุทธองค์ทรงทราบจึงบัญญัติเป็นวินัยห้าม  จากนั้นข้าพเจ้าก็ถามเรื่องพระวินัยให้ท่านอธิบายพอสังเขปแล้วสรุปจบไป

          เมื่อมาถึงหน้าที่พระอานนท์จะต้องตอบเรื่องพระสูตรพระอภิธรรม  ข้าพเจ้ากล่าวตลก ๆ กับพระครูวิธานฯว่า   กระผมจะไม่ถามว่า  พรหมชาลสูตรว่าพระพุทธองค์ตรัสที่ไหนปรารภถึงใคร  ความว่าย่างไร  เพราะคำตอบนั้นถูกพระอุบาลีหยิบยืมไปแล้ว (คนฟังส่งเสียงฮา...)

          พระครูวิธานฯ ก็รับมุกว่า  “อ้าว..จบกัน  งั้นก็ลงธรรมาสน์กลับวัดได้ละซิ”

          ไม่ได้นะเรื่องยังไม่จบ  พระอภิธรรมไงล่ะ  เรื่องพระอภิธรรมนี่ส่วนมากพระไม่ค่อยได้เทศน์กัน  มัวเทศน์กันแพระวินัย  พระสูตร จนหมดเวลา   วันนี้กระผมขอถามเรื่องพระอภิธรรมว่า  อภิธรรมคืออะไร  พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร  ที่ไหน  เมื่อไร

          พระครูวิธานฯ ตอบว่า  “แหม  ถามยังกะออกข้อสอบนักธรรมเลยเชียว”   แล้วนท่านก็อบว่า  อภิธรรม  แปลว่า  ธรรมอันยิ่งและพิเศษ  เป็นปรมัตถ์ธรรมคือธรรมอันสูงสุด ทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ในพรรษาที่ ๗ หลังการตรัสรู้  ใช้เวลาแสดง ๓ เดือนจึงจบ  พระพุทธมารดาได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน  แทนค่าน้ำนมได้สิ้น
 
          ข้าพเจ้าถามลึกเข้าไปอีกว่า  ใจความสำคัญของพระอภิธรรมมีเท่าไร  อะไรบ้าง

          ท่านตอบว่า  ความสำคัญมี ๔ คือ จิ เจ รุ นิ...

          ตอบชัด ๆ ให้ฟังรู้เรื่องหน่อยซีครับ...

          ฟังนะ  จิ คือจิต  เจ คือเจตสิก  รุ คือรูป  นิ คือนิพพาน....

          จิตคืออะไร  เจสิกคืออะไร  ตอบให้แจ้งหน่อยครับ....

          จิต  คือสภาพที่รู้สึกนึกคิด  รับรู้อารมณ์  สั่งสมอารมณ์   เจตสิกคือสภาพที่เกิดพร้อมกับจิตดับพร้อมดับจิต  ใจก็เรียก  วิญญาณก็เรียก  จิตนี้ในพระอภิธรรมว่ามีจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง...

          ข้าพเจ้าแย้งว่า  ไม่จริงละมั๊ง  คนอะไรมีหัวใจมากมายอย่างนั้น....

          จิตกับหัวใจเป็นคนละอย่างกันนะ  หัวใจเป็นรูป  เรียกว่าหทัยรูป  ไม่มีความรู้สึกนึกคิด  อะไร  ทำหน้าสูบฉีดโลหิตบำรุงเลี้ยงร่างการอย่างเดียว  แต่จิตหรือใจ  ไม่มีรูป  มีหน้าที่รับรู้อารมณ์สั่งสมอารมณ์  เมื่อเจตสิกเข้ามาประกอบแล้วทำให้จิตเป็นกุศลจิต  อกุศลจิต  รู้สึกเป็นบาป  รู้สึกเป็นบุญ  เป็นดีเป็นชั่วแตกแยกออกไปมากมาย...

          ที่เขาพูดกันว่า  ฉันมีใจเดียว  คุณเป็นคนหลายใจ  นั่นจริงไหมครับ...

          อ๋อ  ว่าตามหลักอภิธรรมนี้  ใจเดียวน่ะไม่จริงหรอก  หลายใจนั่นแหละถูกต้องเลย ฯลฯ

          วันนั้นข้าพเจ้าเทศน์กันเรื่องพระอภิธรรมสนุกมาก  คนฟังชอบอกชอบใจ  หลังลงจากธรรมาสน์รับขันกัณฑ์มีโยมทายกหลายคนเข้ามาบอกว่า  วันนี้ฟังเทศน์ได้ความรู้จุใจ  ท่านเทศน์เรื่องพระอภิธรรมได้รู้เรื่องดีมาก  ไม่เคยฟังเรื่องพระอภิธรรมมาก่อนเลย  มีแจงคราวหน้าจะขอนิมนต์มาเทศน์เรื่องพระอภิธรรมต่อนะครับ   มหาสว่างไม่พูดไม่จา เมื่อรับกัณฑ์แล้วก็เดินลงจากศาลามารอเรืออยู่ท่าน้ำ  แล้วลงเรือลำเดียวกันกันกลับวัดอย่างเงียบขรึม    มหาศรีเล่าให้ฟังว่า  เย็นวันนั้นพรรคพวกนั่งรอดูมหาสว่างอยู่ที่กุฏิปากทางเข้าวัด เห็นท่านเดินก้มหน้าเข้าวัดไม่ยอมเงยหน้ามองดูใคร  มหาสุรศักดิ์  ร้องบอกเพื่อน ๆ ว่า   “เฮ้ย  พวกไปเจอดีมาแล้วโว้ย !”  แล้วก็พากันหัวชอบอกชอบใจ  มหาศรีไปถามพระครูวิธานฯ ว่ามหาสว่างโดนคำถามอะไรที่ตอบไม่ได้หรือ  พระครูวิธานฯก็เล่าให้ฟัง  มหาศรีก็มาเล่าต่อให้เพื่อน ๆ ฟัง  มหาสุรศักดิ์บอกว่า   “ควายเอ๊ย  หญ้าปากคอกก็ไม่รู้จักกิน” /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, สิงหาคม, 2566, 12:35:14 AM
(https://i.ibb.co/tJRkcST/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๕ -
          พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้าแม้จะถูกอบรมนานถึง ๖ เดือน  วิชาการด้านพระวินัย  พระสูตร  พระอภิธรรม  การแสดงธรรม  และความรู้ด้านสังคมการเมือง อัดลงในสมองมากมาย  แต่ก็มีพระภิกษุไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ๓๐๐ นั้นจะแสดงธรรมในแบบเทศน์เดี่ยวเทศน์คู่ได้เหมือนเช่นข้าพเจ้า  ส่วนมากท่านจะถนัดงานด้านทำกิจกรรมนานา  เช่นสร้างวัดวาอาราม เป็นต้น  พระในกลุ่มข้าพเจ้ามีเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาที่เรียกว่าพอใช้ได้  ก็มีพระดำรง วัดท่ามะปราง  พระสมุห์ประจวบ วัดจันทร์ตะวันออก  พระไพฑูรย์ วัดราชธานี  พระมหาบุญช่วย วัดท้ายตลาด อุตรดิตถ์  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีกิจนิมนต์เทศน์มากกว่าเพื่อน

          วันหนึ่งข้าพเจ้ารับนิมนต์ไปเทศน์วัดหนองนา  ตำบลบ่อทอง อำเภอบางระกำ  ตามกำหนดต้องเทศน์คู่กับพระดำรง วัดท่ามะปราง  แต่พระดำรงมีเหตุขัดข้องไปเทศน์ไม่ได้  จึงให้พระมหาสมนึก  พระนักเทศน์ใหม่ที่กำลังฝึกหัดเทศน์ไปแทน  พระองค์นี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านจะเป็นคนเบลอ ๆ กิริยาอาการเชื่องช้า  พูดไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำ  ก็นึกหนักใจที่จะต้องเทศน์กับท่าน  พระดำรงบอกว่า   “ช่วยประคับประคองน้องใหม่ด้วยนะ”   ท่านก็มีอัธยาศัยดีกล่าวฝากเนื้อฝากตัวด้วยความนอบน้อม

          การเดินทางไปวัดหนองนาสมัยนั้นต้องไปทางเรือ  ล่องลำน้ำยมลงไป  เพราะยังไม่มีถนนหลวงตัดผ่านอย่างเช่นปัจจุบัน  ลงเรือหางยาวจากบางระกำผ่านวังเป็ดไปเล็กน้อยก็ขึ้นบกเดินเท้าต่อไปไม่ไกลนัก  วัดนี้อยู่ในตำบลบ่อทอง  ส่วนวัดหนองนาอีกวัดหนึ่งนั้นอยู่ตำบลหนองกุลาที่ข้าพเจ้าเคยเดินจากวัดบางระกำไปเทศน์มาแล้ว  วัดหนองนาบ่อทองนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านกลางทุ่งนา  ดูสภาพวัดเห็นว่ามีอายุไม่เก่าเกิน ๕๐ ปีเป็นแน่  ศาลาการเปรียญสูงโปร่งคงสร้างเสร็จใช้งานมาไม่เกิน ๓ ปี  เจ้าอาวาสเป็นคนพื้นบ้านบ่อทอง อายุประมาณ ๔๐ เห็นจะได้  ท่านร่วมฉันเพลกับพระเทศน์แล้วขอตัวจำวัด (นอน) ก่อน  เพราะเมื่อคืนนี้ไม่ได้นอน  ด้วยต้องดูแลวัดที่จัดงานมีมหรสพแสดงกันจนค่อนแจ้ง

          วันนั้นเราเทศน์กันด้วยธรรมะง่าย ๆ ว่าด้วยบันไดไต่ไปสวรรค์ คือ  ทาน ศีล ภาวนา  ข้าพเจ้าเป็นผู้ถาม  พระมหาสมนึกเป็นผู้ตอบ  การเทศน์ปุจฉา-วิสัชนานี้สำคัญที่องค์ปุจฉา (ถาม) เป็นผู้ดำเนินเรื่อง  ตั้งคำถามที่คิดว่าคนอยากรู้อยากฟัง  เทศน์ไปเดาใจผู้ฟังไปด้วย  เคยเทศน์กับนักเทศน์ใหม่ ๆ เขาขอเป็นผู้ถาม  เพราะกลัวว่าเป็นผู้ตอบแล้วจะจนคำตอบ  ข้าพเจ้าก็ยอมให้เขาเป็นผู้ถาม  คำถามของเขาค่อนข้างจะไร้สาระไม่เข้าประเด็นของเรื่อง  บางทีถูกข้าพเจ้า  “ปฏิปุจฉา”  คือถามย้อนเข้าบ้างก็ตอบไม่ได้ คู่เทศน์ของข้าพเจ้าหลายองค์รู้เชิงกัน  ถามแบบมีลูกล่อลูกชน  ตอบแบบมีลูกล่อลูกชน  คนฟังไม่ง่วง  คนเทศน์ก็สนุก

          ขณะที่ข้าพเจ้าถามเรื่องทานให้มหาสมนึกตอบแยกแยะประเภทของทานอยู่นั้น  ปรากฏว่ามีชายขี้เมาคนหนึ่งอายุสักสามสิบปีเศษ  เขาถือปืนลูกซองยาวเข้ามาในวัดแล้วยิงปืนขึ้นฟ้าในที่ใกล้ ๆ ศาลาซึ่งมีคนฟังเทศน์อยู่ไม่น้อย  ทุกคนตกใจ  โยมหญิงร้องวี๊ดว๊าย  พระมหาสมนึกทำท่าขยับจะลงจากธรรมาสน์หลบภัย  ข้าพเจ้าบอกให้เขานั่งนิ่ง ๆ คอยดูทาทีอยู่  มีทายกใจกล้าลงจากศาลาวิ่งไปที่กุฏิเจ้าอาวาสท่ามกลางเสียงปืนยิงขู่ขึ้นฟ้าอีกสองนัด  ข้าพเจ้าก็บอกให้ทุกคนบนศาลานั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องตื่นตกใจกลัวไป  สมภารวัดถูกทายกไปปลุกให้ตื่นขึ้น  พอรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นก็เอาจีวรคาดเอวรีบลงจากกุฏิ  เดินตรงแน่วเข้าหามือปืนขี้เมาคนนั้นอย่างไม่เกรงกลัว  พอไปถึงก็ตบหน้าขี้เมาฉาดใหญ่  เจ้าขี้เมานั่งลงวางปืนแล้วกราบแทบเท้าด้วยความเกรงกลัว  ท่านก็ลากตัวไปที่กุฏิเพื่ออบรมสั่งสอนตามระเบียบ

          เหตุการณ์สงบลงแล้วข้าพเจ้าก็ดำเนินการเทศน์ไปจนจบ  ต้องขออภัยด้วยที่กำลังให้การอยู่นี้ นึกชื่อสมภารคนเก่งนั้นไม่ออก (ดูเหมือนท่านจะชื่อทองหล่อ) เพราะเวลาผ่านมานานเกือบห้าสิบปีแล้ว  จากการเทศน์ที่ปากกระบอกปืนแล้วขอพาไปเทศน์ประชันลิเกกลางวันในจังหวัดพิษณุโลกอีกวัดหนึ่ง  พระดำรงวัดท่ามะปรางพาขึ้นรถไฟไปวัดท่านา ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม  ลงจากรถไฟเดินทางต่อไปไม่ไกลนัก   วันนี้เทศน์ ๒ ธรรมาสน์คู่กับพระดำรง วัดท่ามะปราง  เนื่องในงานประจำปีของวัด

          ทางวัดเขามีการแสดงลิเกตอนกลางวันด้วย  ลิเกเริ่มแสดงตอนพระฉันเพล  ถึงตอนบ่ายโมงพระก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์  แม้โรงลิเกอยู่ห่างไกลศาลาการเปรียญที่พระเทศน์ก็จริง  แต่เสียงการแสดงลิเกก็ดังถึงศาลาเทศน์  แม้จะหันปากดอกลำโพงไปทางอื่น  เสียงก็ยังดังแข่งเสียงพระเทศน์อยู่ดีแหละ  เทศน์เข้าเรื่องได้หน่อยหนึ่ง  การแสดงลิเกก็ถึงตอนที่มีการลุยไฟ  คนฟังเทศน์บนศาลาได้ยินเสียงลิเกว่าจะทำการลุยไฟ  ก็ผละการฟังเทศน์  ทยอยลงจากศาลาไปดูลิเกลุยไฟ  จนเหลือคนฟังเทศน์แก่ ๆ อยู่สามสี่คนเท่านั้นเอง  ข้าพเจ้าเห็นดังนั้นก็สรุปการแสดงพระธรรมเทศนา  เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

          เคยเทศน์ชนะการฉายภาพยนตร์ในโรงหนังที่เมืองเก่าสุโขทัยมาแล้ว  วันนี้มาเทศน์แพ้ลิเกลุยไฟอย่างหมดรูปเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, สิงหาคม, 2566, 11:34:56 PM
(https://i.ibb.co/PGmN2by/1413981-img-vkm6ls-2hx5h-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๖ -
          ชื่อบ้านนามเมืองโบราณของไทยส่วนมากฟังดูแปลก ๆ  คนรุ่นใหม่หาความหมายไม่ได้  และเห็นว่าไม่เป็นมงคลก็เปลี่ยนชื่อเสียใหม่มากมายหลายแห่ง  ข้าพเจ้าชอบชื่อบ้านแปลก ๆ มากกว่าชื่อใหม่ ๆ  เพราะว่า แม้จะไม่รู้ความหมายก็ฟังดูขลังดี  จังหวัดพิษณุโลกมีวัดและบ้านชื่อแปลกอยู่หลายวัด  เช่น วัดสะอัก เป็นต้น  มีวัดหนึ่งชื่อว่าท้อแท้ อยู่ในเขตอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก   พระมหาบำรุงวัดใหญ่ (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาส  เจ้าคณะจังหวัด  รองเจ้าคณะภาค ๕ สมณะศักดิ์สุดท้ายเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระพรหมวชิรเจดีย์) นิมนต์ข้าพเจ้าให้ไปเทศน์ที่วัดท้อแท้  แนะนำว่าเดินทางโดยรถไฟไปลงที่สถานีบ้านแควน้อย  จะมีคนนำรถมอเตอร์ไซค์มารับไปวัดนี้สะดวกรวดเร็วว่าที่จะเดินทางโดยรถยนต์  เพราะถนนสายพิษณุโลก-วัดโบสถ์ถนนสร้างใหม่เป็นดินลูกรัง  มีฝุ่นมาก  และมีรถเข้าออกน้อย  หากรอไปรถยนต์ต้องตอนบ่ายแก่ ๆ จึงจะมีรถ  และต้องไปนอนค้างคืนก่อนวันเทศน์

          ข้าพเจ้าไม่ชอบเดินทางไปนอนค้างวัดที่เทศน์ก่อนวันเทศน์  จึงตกลงทำตามคำแนะนำของเพื่อน  โดยนั่งรถไฟไปลงที่สถานีบ้านแควน้อย  ซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแควน้อย  พอลงจากรถไฟก็มีชายหนุ่มเข้ามายกมือไหว้ถามว่า  หลวงพี่จะไปเทศน์ที่วัดท้อแท้ใช่ไหม  พยักหน้ารับว่าใช่  เขาก็นิมนต์ให้นั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์  ข้าพเจ้าไม่เคยนั่งซ้อนท้ายรถอย่างนี้มาก่อนก็รู้สึกเกร็งมาก  เขาออกจากสถานีรถไฟไปตามทางลูกรังเลียบริมแม่น้ำแควน้อยด้วยความเร็วเลี้ยวลดคดโค้งไปมาตามความคดโค้งของแม่น้ำแควน้อยพร้อมร้องบอกว่าหลวงพี่เกาะแน่น ๆ นะครับ  จึงต้องนั่งเกร็งตัวไปจนถึงวัดท้อแท้  ถึงแล้วก็นั่งตัวแข็งอยู่บนอานรถเพราะขยับตัวลงเดินไม่ได้  มันแข็งชาไปหมดทั้งตัว  เจ้าคนขับรถต้องจับลงจากอานรถประคองขึ้นบนกุฏิ  นอนแผ่หลาให้ทายกช่วยกันนวดขานวดแขนอยู่เป็นนาน

          วัดท้อแท้  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย  ห่างไกลจากตัวอำเภอวัดโบสถ์ประมาณ ๕ กม.  เขาว่าเป็นสนามแข่งเรือยาวไทยที่มีชื่อเสียงใน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก  วัดนี้มีตำนานกล่าวขานสืบต่อหลายชั่วอายุคนว่า  ในอดีตการเดินทางแสนลำบาก  ทางบกใช้เดินด้วยเท้า  ดีที่สุดคือขี่ม้านั่งเกวียน  ทางน้ำใช้เรือพายตามลำน้ำ  กาลครั้งหนึ่งเจ้าเมืองพิษณุโลกจะเดินทางไปที่บ้านท่าสาวงาม (ปัจจุบันคือตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์) โดยทางเรือ  ตามลำน้ำน่านแล้วแยกเข้าแควน้อย  แบบพายเรือทวนกระแสน้ำ  การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก  จนเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย  ข้าวปลาอาหารที่นำไปก็เกิดบูดเน่าจึงได้หยุดพัก  ท้องถิ่นที่หยุดพักให้ชื่อหมู่บ้านตำบลว่าท้อแท้  คำท้อแท้มีคนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่ไพเราะ  พยายามเปลี่ยนใหม่  แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม  จึงคงเปลี่ยนเฉพาะชื่อวัด  จากวัดท้อแท้เป็นวัดทองแท้  แม้กระนั้นชื่อวัดท้อแท้ก็ไม่เลือนหายไป

          พระคู่เทศน์ของข้าพเจ้าวันนั้นเป็นนักเทศน์ประเภท  “คาบลูกคาบดอก”  ชื่ออาจารย์โปรย  ท่านบอกว่าอยู่วัดใหญ่  แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักมาก่อน  เราตกลงกันว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ถาม  อาจารย์โปรยเป็นผู้ตอบ  ถามเขาว่าจะให้ถามเรื่องอะไรบ้าง  เขาก็ว่าถามเรื่องที่ผมแหล่ได้ก็แล้วกัน  ถามแหล่อะไรได้บ้างล่ะ  เขาว่าแหล่เรื่องขันธ์ห้า  จึงตกลงว่าจะเทศน์เรื่องขันธ์ห้า  คิดว่าเขาคงอธิบายเรื่องขันธ์ห้าได้แน่จึงไม่นัดแนะว่าจะถามอย่างไรให้ตอบอย่างไร

          ครั้นได้เวลาขึ้นธรรมาสน์เทศน์  ข้าพเจ้าก็เหนื่อย  เพราะต้องแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์เองแทนที่องค์ตอบจะแสดงตามธรรมเนียม  อาจารย์โปรยบอกก่อนขึ้นธรรมาสน์ว่าขอให้ข้าพเจ้าว่าอานิสงส์แล้วดำเนินเรื่องเข้าถามเลย  นี่แสดงว่าเขาเป็นมวยประเภทมวยสากล  พอขึ้นเวลาไม่ต้องไหว้ครูก็ชกเลย  พระนักเทศน์ในภาคเหนือตอนล่างส่วนมากเป็นอย่างนั้น  เทศน์กันอย่างไร้แบบแผน  ไม่มีลีลาโวหารอะไร  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงร่ายยาวไปจนถึงตอนที่ปุจฉาว่า  ขันธ์คืออะไร  มีเท่าไร  อะไรบ้าง  เป็นการถามแบบคำถามในการสอบธรรมสนามหลวง  ไม่มีลีลาอะไร  อาจารย์โปรยแทนที่จะตอบคำถามตรง ๆ  ท่านกลับแหล่เรื่องขันธ์ห้าทันที  ความในแหล่นั้นพอสรุปได้ว่า  คนที่จะมาเกิดนั้นต้องไปขอขันธ์ห้าจากพระอินทร์  พระอินทร์ประทานขันธ์ห้าให้จึงได้มาเกิดเป็นตัวเป็นตน....  เมื่อจบแหล่ข้าพเจ้าถามย้ำอีกว่า  ขันธ์ห้าที่พระอินทร์ให้มานั้นมีอะไรบ้าง เ ขาตอบอึก ๆ อัก ๆ ว่า  ก็คือขาแขนเนื้อตัวนี้แหละ...  เอากะพ่อซี

          แสดงว่าเขาไม่รู้จักขันธ์ห้า  ข้าพเจ้าจึงต้องอธิบายกลบเกลื่อนว่า   ...อ้อ  ขาแขนเนื้อตัวนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ห้าอย่างนี้รวมเป็นขันธ์ห้าใช่ไหม  รับว่าใช่แล้ว  เมื่อเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ซักถามอะไรอีก  เพราะรู้ชัดว่าเขาไม่มีความรู้ในหลักปริยัติธรรมเท่าที่ควร  จึงอธิบายความหมายของขันธ์ห้าให้ญาติโยมฟังจนสมควรแก่เวลาแล้ว...  เอวัง   ก็มีด้วยประการฉะนี้

          เป็นความซวยของข้าพเจ้าทีไปเทศน์วัดท้อแท้  ท้อแท้ในการเดินทางยังไม่พอ  ยังต้องท้อแท้กับคู่เทศน์อีก  เทศน์จบแล้วกลับไม่ได้  ต้องนอนค้างที่วัดท้อแท้รอรถจากวัดโบสถ์เข้าเมืองผ่านมายามเช้าวันรุ่งขึ้น  ทราบว่าเดี๋ยวนี้ทั้งวัดทั้งหมู่บ้าน ตำบล ท้อแท้  กระทรวงมหาหาดไทยเปลี่ยนชื่อให้เป็นทองแท้แล้ว  ส่วนจะเป็นทองเหลืองทองแดงทองคำอย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 05, สิงหาคม, 2566, 10:59:45 PM
(https://i.ibb.co/cyj23z8/image.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๗ -
          งานเทศน์จะมีมากในช่วงเดือน ๓-๖  เป็นงานประจำปีของวัดบ้าง  งานแจงรวมญาติบ้าง  งานบวชนาคบ้าง  งานศพที่เก็บไว้ ๑๐๐ วันบ้าง  งานแจงรวมญาติและงานศพที่เก็บไว้นาน ๆ เอามาตั้งบำเพ็ญบุญ  โดยจัดให้มีเทศน์แจงนี้ภาษาพระนักเทศน์เราเรียกกันว่า  “แจงแห้ง”

          ครั้งหนึ่งพระดำรงวัดท่ามะปรางรับนิมนต์เทศน์แจงรวมญาติที่วัดนาอิน  เจ้าภาพเจาะจงให้นิมนต์ข้าพเจ้าองค์หนึ่ง  อีกองค์หนึ่งแล้วแต่พระดำรงจะจัดให้  จึงนิมนต์พระสมุห์ประจวบ วัดจันทร์ตะวันออกอีกองค์หนึ่ง  เป็นครั้งแรกที่พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตได้เทศน์ร่วมกัน  พวกเราเดินทางโดยรถไฟไปลงที่สถานีพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์  แล้วต่อรถยนต์สองแถวไปนอนค้างคืนวัดที่จะเทศน์ในวันรุ่งขึ้น

          เป็นการเดินทางอย่างวิบากอีกครั้งหนึ่ง  รถยนต์ที่นั่งเก้าอี้ยาวแบบสองแถวเป็นรถโดยสารระหว่างนายาง นาอิน – เมืองพิชัย  รับคนโดยสารออกจากนายาง นาอิน ในช่วงเวลาเช้า  แล้วจอดรอรับคนกลับนาอิน นายาง ในเวลาบ่ายแก่ ๆ  ระยะทางประมาณ ๒๒ กม.  ถนนเป็นดินลูกรัง  บางตอนเป็นดินธรรมดา  เป็นหลุมเป็นบ่อมากไปด้วยฝุ่น  วัดที่จะไปเทศน์คือวัดนาอิน  อยู่ตอนใต้วัดนายาง  วัดนาอินมีหลักฐานว่าตั้งขึ้นแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕  ยังไม่มีอุโบสถ  พวกเรานั่งรถลุยฝุ่นไปถึงวัดในตอนเย็น  คลี่จีวรสะบัดฝุ่นออกแล้วอาบน้ำพักผ่อนตามอัธยาศัย

          ได้พูดคุยกับกรรมการวัด  เขาบอกเล่าความเป็นมาของพื้นที่ นาอิน นายาง ว่า  ตรงนาอินนี้  “ในสมัยพระพุทธกาล  นางมัทรีได้เสด็จตามองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านมา  และได้มานั่งอิงแผ่นหินบริเวณนี้  ชาวบ้านจึงเรียกว่า  “นางอิง”  ได้เพี้ยนมาเป็น  “นาอิน”  และได้เรียกตาม ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้  ส่วนนายางที่อยู่ตอนเหนือนาอิน  ก็มีความเป็นมาว่า  เดิมชื่อ  “นางยั้ง ” ตามประวัติเล่าว่า  เมื่อสมัยพุทธกาล  พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับที่เขาวงกต  ซึ่งอยู่ในเขตรอบอำเภอพิชัยกับอำเภอตรอน  พระนางมัทรีได้เสด็จพระราชดำเนินตามและได้มาพักบริเวณป่าที่มีความร่มรื่น  ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า  “นางยั้ง”  ได้เพี้ยนมาเป็น  “นายาง”  และได้เรียกขานมาจนถึงปัจจุบัน”  ฟังคำบอกเล่าแล้วก็รู้สึกขำขัน ไม่รู้เขานำเอานางมัทรีไปเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

          จากคำบอกเล่าพอรู้ได้ว่า  แต่เดิมนั้น  นาอินกับนายางอยู่ในเขตปกครองเดียวกันเรียกว่า  นาอินนายาง  เป็นบ้านเมืองเก่าแก่มีซากอิฐเครื่องปั้นดินเผาจมดินอยู่ไม่น้อย  ดูเหมือนว่าจะเป็นเมืองร้างจมดินอยู่จนกลายเป็นป่าเป็นดง  ต่อมาผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายมาจากทางฝั่งลาวหลวงพระบาง  หักล้างถางพงสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยทำไร่ทำนาดำรงชีพสืบต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว  ฟังภาษาสำเนียงของชาวบ้านที่นี่คล้าย ๆ กับชาวหล่มเก่า ด่านซ้าย นครไทย ที่เคยได้ฟังมา

          วันนั้นเป็นงานแจงรวมญาติ  เราเทศน์กันอย่างไม่เร่งร้อนรวบรัด  เพราะรู้อยู่แล้วว่าอย่างไรเสีย  คืนนั้นก็ต้องนอนค้างที่วัดนาอินอีกคืนหนึ่ง  เพราะตอนเย็นไม่มีรถยนต์ออกไปเมืองพิชัย  ต้องรอตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  ดังนั้นจึงเทศน์กันอย่างสบาย ๆ  ข้าพเจ้าเป็นพระมหากัสสปซักถามเรื่องพระวินัยกับพระดำรงที่เป็นพระอุบาลี  เฉพาะเรื่องปาราชิกเราถามตอบกันอย่างละเอียดลออ  เรื่องพระสุทินเสพเมถุนกับภรรยาเก่าแล้วผลเป็นอย่างไร  พระเทศน์ไม่ค่อยได้ให้รายละเอียด  เรื่องนี้ในรายละเอียดมีอยู่ว่า  บิดามารดาและภรรยาเก่าของพระสุทินต้องการมีบุตรสืบสกุล  จึงอ้อนวอนพระสุทินขอให้เสพเมถุนกับภรรยาเก่า  หลังจากเสพเมถุนแล้วภรรยาเก่าก็ตั้งครรภ์สมใจ  ชาวบ้านพากันโจษจันนินทา พระภิกษุนำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้า  จึงทรงบัญญัติของห้ามเป็นวินัยข้อแรก  ต่อมาภรรยาเก่าพระสุทินคลอดลูกเป็นชายจึงได้ชื่อว่า  พีชะ  แปลว่าพืช  ส่วนพระสุทินนั้นคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า  เป็นอาบัติปาราชิก  ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น  เพราะท่านเสพเมถุนก่อนที่พระพุทธเจ้าจะบัญญัติข้อห้าม  จึงไม่ต้องอาบัติปาราชิก  แต่ท่านก็เป็นเศร้าหมอง

          ข้าพเจ้าซักถามเรื่องนี้อย่างละเอียด  ให้ทราบว่าการเสพเมถุนที่ต้องเป็นอาบัติปาราชิกมิใช่แต่เสพทางอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น  แม้เสพเมถุนกับหญิงและชายทางทวารหนัก ทางปาก อวัยวะล่วงเข้าไปเพียงเมล็ดงาเดียวก็เป็นอาบัติปาราชิก  ไม่เสพในมนุษย์แต่เสพในสัตว์เดรัจฉานก็เป็นอาบัติปาราชิกเช่นกัน  ต่อจากเรื่องเสพเมถุนก็ว่าด้วยเรื่องลักของเขา  ภาษาวินัยว่า  ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้มีราคา ๕ มาสก (๑ บาท)  ก็เป็นอาบัติปาราชิก  หมายถึงว่าทรัพย์สินเงินทองคนอื่นที่เขามิได้ให้  ภิกษุถือเอาด้วยการลักขโมยชิงปล้นฉ้อโกงเขา  ได้ของที่มีมูลค่า ๑ บาทต้องเป็นอาบัติปาราชิก  ขาดจากความเป็นพระภิกษุ  ศีลข้อนี้พระภิกษุไม่ค่อยเข้าใจ  บางองค์ไปตัดไม้ในป่ามาสร้างกุฏิ ศาลา  บางองค์ทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอจังหวัด  เจ้าหน้าที่ป่าไม้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อนุญาต  พระศีลขาดเพราะเรื่องนี้มานักต่อนักแล้ว  เพราะไม้บางชนิดป่าไม้ไม่มีสิทธิ์อนุญาต  เช่นไม้สัก  ต้องเสนอเรื่องขอต่อรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรีอนุมัติจึงจะได้  ไม่อย่างนั้นถือว่า  “ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้”  ผิดสิกขาบทที่ ๒ ของอาบัติปาราชิก

          กว่าจะซักถามกันเรื่องวินัยบัญัติจบก็เป็นเวลานาน  จากนั้นก็ถามพระสมุห์ประจวบที่เป็นพระอานนท์  เรื่องพรหมชาลสูตรตามแบบที่เทศน์กันทั่วไป  ข้าพเจ้าไม่ซักเรื่องนี้มากนัก  ไปซักเรื่องพระอภิธรรม  เรื่อง จิต เจสิก พอสังเขป  ซักถามเรื่องรูปเป็นพิเศษ  ตั้งแต่มหาภูตรูป  คือรูปใหญ่ที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่ได้แก่  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  แยกแยะให้เห็นว่าธาตุดินมีลักษณะอย่างไร  ธาตุน้ำมีลักษณะอย่างไร  ธาตุลมมีลักษณะอย่างไร  ธาตุไฟมีลักษณะอย่างไร   อุปาทายรูปคือรูปอาศัยนั้น  ได้แก่อะไร  มีอะไรบ้าง  เรื่องนี้พระสมุห์ประจวบไปอบรมพระอภิธรรมมาด้วยกันจึงตอบได้อย่างชัดเจน  เราเทศน์กันจนถึงบ่ายสี่โมง  จึง เอวัง ก็มี.....ด้วยประการฉะนี้

          หลังจบเทศน์ลงจากธรรมาสน์มานั่งบนอาสนสงฆ์รับประเคนขันกัณฑ์เทศน์  โยมชายหลายคนเข้ามายกมือไหว้กล่าวชื่นชมว่า  ท่านเทศน์กันดีเหลือเกิน  พวกผมไม่เคยฟังเรื่องราวละเอียดอย่างนี้มาก่อนเลย  ข้าพเจ้าก็กล่าวว่าพวกอาตมาเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะให้ญาติโยมรู้และเข้าใจในเรื่องที่แสดงเป็นสำคัญ  โยมสงสัยอะไรหลังการเทศน์ก็ซักถามได้เลยนะ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, สิงหาคม, 2566, 10:39:47 PM
(https://i.ibb.co/ZGXCY6G/313437833-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๘ -
          ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์ในอำเภอพิชัยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่วัดนาอิน-นายาง ตามที่ให้การไปแล้ว  แต่เป็นวัดกองโค ตำบลคอรุม  ทั้งนี้เนื่องมาจากการไปเทศน์ที่วัดนาอิน  มีคนที่วัดกองโคไปฟังแล้วชอบใจ  ครั้นวัดกองโคมีแจงรวมญาติเขาจึงเสนอให้กรรมการวัดนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์ด้วยองค์หนึ่ง  คราวนี้ต้องเทศน์กับพระนักเทศน์รุ่นใหญ่คือ  เจ้าคุณพระพิศาลธรรมภาณี วัดกระบังมังคลาลาม (อาจารย์ของพระมหาบำรุง)  ซึ่งเป็นนักเทศน์ที่เก่งมากจนเป็นที่เคารพยำเกรงของพระนักเทศน์ทั่วไปในภาคเหนือตอนล่าง  อีกองค์หนึ่งคือท่านเจ้าคุณพระมุนินทรานุวัตต์ วัดพระปรางค์ ศรีสัชนาลัย  ท่านทั้งสองนี้ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน

          วัดกองโคตั้งอยู่ริมแม้น้ำน่าน บ้านกองโค หมู่ที่ ๓ ต.คอรุม  ฟังชื่อแล้วพอจะรู้ได้ว่าวัดนี้เป็นที่ชุมนุมของโค  เมื่อเดินทางโดยรถไฟลงที่สถานีพิชัยไปถึงวัดแล้วได้พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในวัด  จึงทราบข้อมูลว่าที่นี้   “เป็นกลุ่มชุมชนกองโค  ที่มีเฉพาะหมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๖ ของตำบลคอรุม  เป็นชุมชนลาวที่ได้อพยพมาจากเวียงจันทน์ จึงมีวัฒนธรรม  ภาษาพูดที่ใช้ในท้องถิ่นตำบลคอรุมเหมือนกันเฉพาะสองหมู่บ้านนี้เท่านั้น  จึงทำให้วิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง  และภายในชุมชนมีเจ้าอาวาสวัดกองโค  ผู้มีใจรักและเห็นคุณค่าความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น  จึงนำชาวบ้านอนุรักษ์และส่งเสริมไม่ให้สูญหาย  ทำการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านขนบธรรมเนียม  ประเพณี  ทั้งการพูดและการเขียนภาษากองโคให้เด็ก ๆ”   จึงรู้แล้วว่าคนฟังเทศน์วันนี้ส่วนใหญ่เป็นคนลาวเวียงจันทน์

          ก่อนขึ้นเทศน์ก็สนทนาวิสาสะกับคู่เทศน์ตามธรรมเนียม  ท่านเจ้าคุณมุนินท์ไม่ค่อยพูดคุยนัก  แต่ท่านเจ้าคุณพิศาลเมื่อทราบว่าข้าพเจ้าเป็นเพื่อนกับพระมหาบำรุงศิษย์รักของท่าน  ก็พูดคุยด้วยอย่างเป็นกันเอง  การกำหนดตำแหน่งหน้าที่ในการเทศน์นั้น  เจ้าคุณมุนินท์ขอเป็นพระมหากัสสป  ให้เจ้าคุณพิศาลเป็นพระอุบาลี  ข้าพเจ้าเป็นพระอานนท์  และแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ (อานิสงส์หน้าธรรมาสน์ก็เหมือนลิเกกออกแขกนั่นแหละ) ก็ไม่มีปัญหาอะไร

          การแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์วันนั้น  ข้าพเจ้ากล่าวชมเชยชาวบ้านในชุมชนกองโคที่รักษาขนบธรรมเนียม  วัฒนธรรมประเพณีชาวลาวสืบทอดสู่อนุชนรุ่นต่อรุ่นไว้ได้เป็นอย่างดี  หวังว่าขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามนี้จะดำรงคงอยู่กับชาวกองโคตลอดไปนานเท่านาน  ผู้รักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่ตกทอดมาแต่บรรพชนได้ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน  บุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าเป็นคนดี  เพราะความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี อย่างเช่น การจัดให้มีแจงรวมญาตินี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ควรแก่การรักษาไว้เช่นกัน  ครั้นแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้ว  ก็มอบหน้าที่ให้ท่านคุณมุนินท์ดำเนินเรื่องต่อไป

          เจ้าคุณมุนินท์ในตำแหน่งพระมหากัสสปท่านเทศน์แบบไม่มีลีลาอะไร  เล่าเรื่องการทำสังคายนาย่อ ๆ แล้วก็ถามเจ้าคุณพิศาลเรื่องวินัยทันที (แบบจู่โจม)  ท่านคงจะอวดภูมิความเป็นมหาเปรียญจึงขอให้เจ้าคุณพิศาลตอบว่า  วินัยแปลว่าอะไร  ขอให้ตั้งวิเคราะห์ศัพท์ด้วย   เจ้าคุณพิศาลแม้ไม่ได้เป็นมหาเปรียญท่านก็เรียนภาษาบาลีมาเหมือนกัน  จึงตั้งวิเคราะห์ศัพท์วินัยได้อย่างไม่ผิด  เจ้าคุณมุนินท์ถามต่อไปว่า  วินัยกับศีลเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร  เจ้าคุณพิศาลตอบว่า  วินัยคือกฎข้อบังคับ  ระเบียบแบบแผน  การจัดระเบียบระบบ  ก็เรียกว่าวินัย  ตัวระเบียบระบบ  หรือตัวกฎนั้น  ก็เรียกว่าวินัย  การฝึกคนให้ตั้งอยู่ในระบบระเบียบ  ก็เรียกว่าวินัย   ส่วนศีลนั้นแปลว่า ปกติ  กล่าวคือ เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย  จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา  คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเรียกว่า  ศีล  มีกาย วาจา เรียบร้อยเป็นปกติ  เช่นกายไม่ฆ่าสัตว์  ไม่ลักทรัพย์  ไม่ประพฤติผิดในกาม  ไม่ดื่มน้ำเมา  วาจาไม่พูดเท็จ  ไม่พูดส่อเสียด  ไม่พูดคำหยาบ  ไม่พูดสำรากเพ้อเจ้อ  วินัย เป็นเหตุ  ศีล เป็นผล
 
          ได้ฟังคำตอบอย่างนั้นแล้วเจ้าคุณมุนินท์หันมาถามข้าพเจ้าว่า

           “ท่านอานนท์  ศีลที่เป็นจุลศีล  มัชฌิมศีล  มหาศีล  นั้นอย่างไร”

          เจ้าคุณพิศาลค้านว่า   “อ้าว....ท่านเจ้าคุณถามเรื่องในพระวินัยปิฎกกับผมยังไม่จบเลย  ทำไมข้ามไปถามพระสูตรกับพระอานนท์เล่า  จะคิดรังแกเด็กหรือไง  เทศน์ไปโดยลำดับอย่าตัดลัดให้ขาดข้อความสิครับ”

          เจ้าคุณมุนินท์นั่งอึ้ง  ข้าพเจ้าจึงว่า   “ไม่เป็นไรดอกครับ  เรื่องจุลศีล  มัชฌิมศีล  มหาศีลในพรหมชาลสูตรนี่ผมยังแบบได้อยู่ครับ”

          เจ้าคุณพิศาลก็ว่า  “ควรเทศน์ตามระเบียบแบบแผนนะ  ว่าไงครับท่านเจ้าคุณ  ไม่ถามเรื่องปฐมปาราชิกสิกขาบทหรือ”

          เจ้าคุณมุนินท์เหมือนได้สติ จึงว่า  “เอางั้นก็ได้  ท่านอุบาลีช่วยอธิบายเรื่องต้นบัญญัติปาราชิกทั้งสี่สิกขาบทมาให้ฟังโดยละเอียดหน่อยซิ”

          เจ้าพิศาลฯ ก็กล่าวถึงบุคคลที่เป็นต้นบัญญัติอาบัติปาราชิกทั้งสี่ข้อ  อธิบายถึงปฐมปาราชิกมากหน่อย  และดูเหมือนจะกระแนะกระแหนเจ้าคุณมุนินท์กลาย ๆ  จากนั้นกล่าวถึงอาบัติอื่น ๆ คือสังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ นิสสัคคีย์ฯ  ทุกกฎ ..  ไปจนจบเสขิยวัตร  เมื่อจบแล้วก็ขออนุญาตกล่าวถึง  จุลศีล  มัชฌิมศีล  มหาศีล  ด้วยอ้างว่านับเนื่องเข้าในพระวินัย  ว่าแล้วท่านก็อธิบายเรื่องจุลศีล  มัชฌิมศีล  มหาศีล เสียยืดยาว  จนสรุปธรรมขันธ์ของพระวินัยปิฎก  เจ้าคุณมุนินท์ไม่คิดจะถามอะไรข้าพเจ้าต่อ  ขอให้อธิบายความในพระสูตร  พระอภิธรรมไปจนจบ  ข้าพเจ้าอธิบายเรื่องพรหมชาลสูตรโดยเน้นถึงโลกธรรมแปดประการ  และพระสูตรอื่น ๆ พอสังเขป  แล้วอธิบายเรื่องพระอภิธรรมตามแนวอภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์  คือเรื่อง  จิต  เจตสิก  รูป  นิพพาน  อธิบายความค่อนข้างละเอียดด้วยเจตนาจะอวดภูมิแก่เจ้าคุณมุนินท์  มองดูนาฬิกาพกที่วางไว้บนธรรมาสน์  เห็นเป็นเวลาใกล้บ่ายสี่โมงแล้วจึงสรุป... เอวัง ก็มี  ด้วยประการฉะนี้

          จบการเทศน์แล้ว  ข้าพเจ้านั่งรถไฟกลับพร้อมกับเจ้าคุณพิศาลธรรมภาณี  จึงได้คุยกับท่านบนรถไฟ  ท่านพูดถึงเจ้าคุณมุนินท์ว่าเป็นนักเทศน์แบบ  “มวยวัด”  คงโกรธที่ถูกผมหักหน้าบนธรรมาสน์  ก็ช่างเถอะจะได้รู้เข็ดรู้จำบ้าง  คุณปลัดลีลาโวหารดี ต่อไปจะเป็นนักเทศน์ที่ดีมากองค์หนึ่ง  เราคุยกันได้ไม่มาก  เมื่อรถไฟถึงสถานีบ้านแควน้อยท่านก็ลงเข้าวัดกระบังมังคลารามของท่านไป/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, สิงหาคม, 2566, 11:11:24 PM
(https://i.ibb.co/gydThHr/313422137-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๙ -
          วัดที่ข้าพเจ้าไปเทศน์ในเขตอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกอีกวัดหนึ่งหลังจากไปเทศน์ประชันลิเกและแพ้ลิเกจากวัดท่านามาแล้ว  วัดนี้ชื่อเนินกุ่มอยู่เลยวัดท่านาไปทางทิศตะวันออกอยู่ในกลุ่มวัดตายม  พระเกรียงศักดิ์คู่เทศน์วิทยุของข้าพเจ้าเป็นผู้รับนิมนต์  โดยทางวัดเจาะจงให้เอาตัวข้าพเจ้าไปเทศน์ให้จงได้  จะนั่งรถไฟไปลงที่สถานีบางกระทุ่มก็ได้แต่ไม่สะดวก  ข้าพเจ้าเลือกเดินทางโดยรถยนต์จากวังทองไปทางวัดตายม  เพราะว่าพอดีในช่วงนั้นมีวันว่างงานทางสุโขทัยอยู่ ๕ วัน  จึงถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนชาววังทองด้วย  ไปนอนค้างแรมที่วังทองคืนหนึ่งแล้วเดินทางต่อไปวัดเนินกุ่ม  เหตุที่ไม่เข้าไปนอนค้างคืนที่วัดเขาสมอแครงก็เพราะไม่พอใจพระสอน เพื่อนที่ให้เขาเป็นเจ้าอาวาสอยู่  ทราบว่าระยะหลังจากที่เป็นสมภารวัดแล้วมีสีกาช่างเสริมสวยในเมืองไปตีสนิทชิดใกล้  พระสอนนำเงินทุนสร้างพระพุทธชินราชจำลองให้นางใช้  เคยกล่าวเตือนแล้วเขายังเฉยเมย  จึงตัดความสัมพันธ์ไปในที่สุด

          วันนั้นไปถึงวัดเนินกุ่มแล้วพักผ่อนก่อนได้เวลาฉันเพลโดยไม่ได้พูดคุยกับญาติโยม  เพราะเห็นพวกเขาไม่ค่อยสนใจข้าพเจ้านัก  ครั้นถึงเวลาฉันเพลข้าพเจ้ากับพระเกรียงศักดิ์ก็เข้านั่งในที่เขาจัดให้พระเทศน์นั่ง  ขณะฉันอาหารกรรมการวัดก็บ่นว่า

           “จนป่านนี้แล้วพระอภินันทะภิกขุยังมาไม่ถึง  คงไม่มาเสียละกระมัง”

          พระเกรียงศักดิ์ก็ว่า   ท่านอภินันท์มาแล้วนั่งฉันข้าวอยู่นี่ไงล่ะ

          อีกคนหนึ่งแย้งว่า  องค์นี้ใช่หรือ  ไม่ใช่หรอก คงเป็นตัวแทนละซี

          ข้าพเจ้าฟังแล้วก็หัวเราะบอกว่า  โยม อาตมาไม่มีตัวแทนหรอกนะ  เขาก็ยังทำท่าแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  อีกคนหนึ่งกล่าวว่า  พระอภินันท์น่าจะมีอายุมากกว่านี้  องค์นี้ดูยังหนุ่มอยู่เลย  อันที่จริงพระเกรียงศักดิ์มีอายุน้อยกว่าข้าพเจ้า ๑ ปี  แต่ดูหน้าตาเขาแก่กว่าข้าพเจ้ามาก  ข้าพเจ้าอายุมาก (ตอนนั้น ๒๙ ปี) แล้ว  แต่หน้าตาดูยังเป็นเด็กหนุ่มในวัยเบญจเพส  ให้ใคร ๆ เข้าใจผิดอยู่เสมอมา

          ถามพะระเกรียงศักดิ์ว่า  ตอนไปนิมนต์เขากำหนดเรื่องเทศน์ไว้ด้วยหรือเปล่า  / ไม่ได้กำหนด/  งั้นเราเทศน์เรื่องธรรมนิยามก็แล้วกันนะ  วันนี้เปลี่ยนหน้าที่กัน  ผมจะเป็นผู้วิสัชนา  ทั่นเป็นผู้ปุจฉา  ผมให้ศีล  ทั่นว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้วดำเนินเรื่อง  พระสักวาทีเข้าหาพระปรวาทีเลยก็แล้วกัน /

          ครั้นได้เวลาเทศน์พวกเราขึ้นธรรมาสน์  มรรคนายกกล่าวอาราธนาศีล  ข้าพเจ้าให้ศีล  พอเสียงดังออกจากไมค์ผ่านเครื่องกระจายเสียงออกไป  โยมที่บ่นว่าพระอภินันท์ไม่มาเทศน์ได้ยินเสียงแล้วร้องว่า  ใช่แล้ว  องค์นี้คือพระอภินันท์  เขาจำเสียงที่เคยฟังทางวิทยุได้  เสียงข้าพเจ้าคงจะเหมือนเสียงคนแก่  พอเห็นตัวจริงยังไม่แก่จึงคิดว่าไม่ใช่เจ้าของเสียงที่เคยฟังทางวิทยุ  เป็นไปได้นี่เอ้า!

          พระเกรียงศักดิ์แสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้วสมมติตำแหน่งหน้าที่  กล่าวยืนยันตัวตนว่าวันนี้  พระอภินันทะ ภิกขุ กับ กิตฺติวัณณะ ภิกขุ  เป็นตัวจริง เสียงจริง  โยมอย่าสงสัยว่าเป็นตัวปลอมเลย  ก็เรียกเสียงฮือฮา ๆ ได้พอสมควร  เริ่มเข้าเรื่องเทศน์  พระเกรียงศักดิ์ถามว่าหายไปไหนมาเสียนาน/  ไปเข้ารับการอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิตมาแล้วมีงานเยอะแยะยั้วเยี้ยวไปหมด  จนไม่มีเวลาร่วมเทศน์ทางวิทยุเลย/  วันนี้ผมมาเข้าพบท่านพร้อมด้วยความสงสัยในธรรมะหลายประการ  ขอให้ท่านช่วยคลี่คลายความสงสัยให้จะได้ไหม  คือว่า อ้า.../  ไม่ต้องอ้า ถามได้เลย/  อ้อ ไม่อ้าปากจะถามได้ไง/  เอ้อ จริงซี/   คือ สงสัยว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีอะไรจริงแท้แน่นอนบ้าง/  อ้อ...ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน/  เอ๊ะ ไม่รู้แล้วจะเป็นนักเทศน์ได้ไง/  ได้ซี  ก็เทศน์ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้นี่แหละ/  ท่านไม่รู้แล้วใครจะรู้ได้เล่า/  มีสิผู้รู้น่ะ  คือพระศาสดาของเราไงล่ะ/  อ้อ พระพุทธเจ้าของเรารู้หรือ  พระองค์รู้ว่าอย่างไรครับ/  ทรงรู้ว่าในโลกนี้มีสิ่งจริงแท้แน่นอนคืออนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  มีชื่อเรียกว่าธรรมฐิติ  หรือ ธรรมนิยาม  เป็นธรรมประจำโลกแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง

          พระเกรียงศักดิ์ก็ซักถามเรื่องอนิจจังที่แปลว่าไม่เที่ยงนั้นไม่เที่ยงอย่างไร  ข้าพเจ้าตอบชี้แจงหลายประเด็น  แล้ววกเข้าหานิทานว่า  หากจะให้อธิบายธรรมะล้วน ๆ เรื่องอนิจจังนี้คนฟังก็จะง่วง  โยมบางคนอาจะหลับไปเลย  ท่านเองก็อาจจะหลับจนลืมถาม  ขอยกนิทานเป็นตัวอย่างของอนิจจังให้ฟังก็แล้วนะ  จะฟังมั้ย/  ฟังซีครับ ไหนลองเล่ามาซิ/  ฟังนะ  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้และโลกไหนล้วนแตตกอยู่ในอนิจจัง  ไม่เที่ยงตรงคงมั่น  เชื่อไหมว่า  แม้ความรักความใคร่ก็เป็นอนิจจัง/  อ้อ  ความรักความใคร่เป็นอนิจจังยังไง/

          คือยังงี้  นานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา  เขามีลูกสามคน  เป็นหญิงล้วนอย่างที่เรียกว่าสามใบเถา  คนโตเริ่มเป็นสาวอายุราว ๆ สิบเจ็ดสิบแปดกำลังงามเหมือนดอกบัวแรกแย้ม  มีชายหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่มาติดพันหลายคน  เธอตกลงปลงใจกับเจ้าหนุ่มคนหนึ่ง  เมื่อพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้วก็จัดการแต่งให้เป็นสามีภรรยากัน  อยู่มาภรรยาตั้งครรภ์แล้วคลอดบุตร  ความรักใคร่ในภรรยาของเจ้าหนุ่มนั้นก็เริ่มเป็นอนิจจังไม่คงที่  ในขณะที่น้องเมียคนรองกำลังโตเป็นสาวสวยอวบอั๋น  เจ้าหนุ่มนั้นมองภรรยาสุดที่รักของตนไม่สวยงามเหมือนก่อนเก่าแล้ว  พอมีลูกเธอก็ปล่อยเนื้อปล่อยตัว  ผมเผ้าไม่สะสาง  ปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้โทรมลง  หันไปมองน้องเมียที่เหมือนกุหลาบแรกแย้ม  คิดว่าทำไงจะได้เชยชมน้องเมียคนนี้หนอ  ความรักใคร่มันเป็นอนิจจังเลื่อนลงไปหาน้องเมีย  แล้วในที่สุดก็ใช้เล่ห์เพทุบาย  เอาน้องเมียเป็นเมียเสียงจนได้  พ่อตาแม่ยายไม่รู้จะทำย่างไร  เมื่อเห็นว่าข้าวสารมันเป็นข้าวสุกไปแล้ว  ก็ให้มันอยู่ด้วยกันแบบเลยตามเลย

          อยู่มาไม่นานเมียคนที่สองตั้งท้องแล้วคลอดลูก  ความรักใคร่ของเจ้าหนุ่มนั่นก็เป็นอนิจจังเลื่อนลงไปหาน้องเมียคนที่สามที่กำลังโตเป็นสาว  ใช้เล่ห์กลเอาน้องเป็นเมียเสียอีกคน  คราวนี้พ่อตาแม่ยายทนไม่ไหว  ขับไล่ทั้งสองออกไปจากบ้าน  เขาจึงพากันไปอยู่บ้านเจ้าหนุ่มนั่น  พอเมียที่สามคลอดลูก เลี้ยงลูกจนโต เดินได้แตะพูดจาอ้อ ๆ แอ้ ๆ กำลังน่ารัก  เมียที่สามก็พาลูกไปเยี่ยมพ่อแม่และพี่ ๆ  พ่อตาแม่ยายก็รักหลาน  อยากให้หลานมาอยู่ด้วย  จึงรับลูกสาวลูกเขยกลับเข้าบ้าน  หนึ่งผัวสามเมียอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไม่นานนัก  ความรักใคร่ของเจ้าหนุ่มก็เป็นอนิจจังตามกฎของมัน  คราวนี้มันเลื่อนขึ้น  แม่ยายอายุยังไม่ถึงหกสิบปี  เขามองดูแม่ยายด้วยความคิดอยากรู้อยากลองว่า  สาว ๆ ก็รู้แล้วว่ารักใคร่เป็นอย่างไร  แต่คนแก่นี่สิมันเป็นอย่างไรหนอ  เขาพยายามตีสนิทชิดใกล้ตัวแม่ยาย  เดินกระทบไหล่บ้าง  จับมือบ้าง  จับแขนบ้าง  หนักเข้าไปเรื่อย ๆ  ฝ่ายแม่ยายนั้นอยู่ในสภาพที่เรียกว่า  “ยังไม่แก่เกินแกง”  เมื่อหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวบ่อย  ก็มีอารมณ์  ความรักใคร่ของแม่ยายก็เป็นอนิจจังเลื่อนลงมาหาลูกเขย  แล้วในที่สุดก็เสร็จลูกเขยเจ้าเล่ห์  ฝ่ายพ่อตารู้ความจริง  อดรนทนไม่ได้ก็หนีออกจากบ้าน  ไปบวชเป็นพระอยู่วัดในตำบลที่ห่างไกลบ้านไม่ให้ใครรู้เห็น

          อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนของพ่อตาที่ถูกลูกเขยเล่นบทพระยาเทครัวนั้น  เดินทางไปถึงวัดที่เพื่อนบวชอยู่นั้นด้วยธุระอย่างหนึ่ง  พบเพื่อนมาบวชอยู่ที่วัดนี้  จึงทักทายกันแล้วต่อว่า  ทำไมท่านจึงหนีมาบวชอยู่ที่นี่เล่า/  อ้าว  มึงไม่รู้หรือไอ้ลูกเขยระยำของกูน่ะ/   รู้ซี ใครก็รู้ว่ามันเอาลูกสาวท่านเสียหมดทั้สามคนน่ะ/  แล้วเมียกูอีกคนล่ะ / นี่ก็รู้  แล้วก็แล้วไปแล้ว  ท่านไม่น่าจะหนีมาเงียบ ๆ นี่นา/  ไอ้นี่มึงไม่รู้อะไรจริง/  ทำไมล่ะ/  ก็ถ้ากูไม่หนีมาบวช  มันก็ล่อกูอีกคนน่ะซี/

          เล่ามาจบตรงนี้คนฟังพากันหัวเราะฮาครืนเลย  พระเกรียงศักดิ์คู่เทศน์ถึงกับปล่อยเสียงหัวเราะก้ากใหญ่!

          ความไม่เที่ยงแท้แปรเปลี่ยนที่เรียกว่า  อนิจจัง นี่แหละเป็น  “นิจจัง”  ดำรงอยู่ในสามโลก  เป็นธรรมะประจำโลกทั้งสาม  พระพุทธทรงค้นพบธรรมะข้อนี้พร้อมกับ ทุกขัง  คือสภาพที่ทนอยู่ได้ยาก  และอนัตตา คือความไม่มีตัวตน  เมื่ออธิบายมาถึงตรงนี้พระเกรียงศักดิ์ก็ซักถามเรื่องของตัวตน  ข้าพเจ้าตอบอธิบายโดยแยกส่วนประกอบของร่างกายออกเป็นชิ้น ๆ  ให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน  แต่เราสมมติให้เป็นตัวตน  แม้สิ่งของต่าง ๆ ก็ล้วนสมมติให้เป็นให้สิ่งของเท่านั้น  การเทศน์วันนั้นก็จบลงด้วยดีเมื่อเวลาบ่าย ๔ โมง/๒๒๙

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, สิงหาคม, 2566, 11:09:25 PM
(https://i.ibb.co/6rxhRq4/flame-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๐ -
          ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๑๐ หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (เจ้าคุณโบราณ) เริ่มมีอาการเจ็บป่วย (อาพาธ) ด้วยโรคชรา  ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย ๆ  งานด้านบริหารการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดส่วนใหญ่ก็มอบหมายให้พระครูสุขวโรทัย (หลวงพ่อห้อม) รองเจ้าคณะจังหวัดทำการแทน  พระครูปลัดแถว เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดก็เป็นงานมากขึ้นจนข้าพเจ้าไม่ต้องเข้าไปช่วยแล้ว  งานด้านสังคมชาวบ้านที่ข้าพเจ้าถูกครูเหรียญชัยดึงเข้าไปช่วยยังค้างคาอยู่คือ การจัดประกวดกลอน  “บารมีพ่อขุนรามคำแหง”   ปิดรับบทกลอนไปแล้ว  มีกลอนที่กำลังพิจารณาตัดสินรอบที่ ๒ อยู่เกือบร้อยสำนวน  ครูเหรียญชัยไปติดต่อร้านทองเพื่อให้ทำถ้วยรางวัลด้วยทองคำหนัก ๑๐ บาท  ทางร้านทองบอกว่า  ทองคำหนัก ๑๐ บาท  แม้จะตีทองคำเป็นแผ่นบาง ๆ ก็ทำเป็นถ้วยได้ใบเล็กว่านิ้วก้อยเสียอีก  ค่าจ้างแพงหน่อยนะจะเอามั้ย  ครูเหรียญชัยกลับมาปรึกษากับชาวชมรมกวีศาลาลายสือไทยว่าจะเอายังไงกันดี  จะว่าเป็นความโง่ของครูเหรียญชัยกับข้าพเจ้าก็ได้  ที่คิดว่าทองคำหนัก ๑๐ บาทจะเป็นก้อนโต  ที่แท้ก็เล็กนิดเดียวเอง  พี่มหาประเสริฐออกความคิดเห็นว่า  ใช้ทองเหลืองทำถ้วยกะไหล่ทองแล้วเอาทองคำหนัก ๑๐ บาททำเป็นรูปพ่อขุนรามคำแหงแปะติดถ้วยรางวัลดีมั้ย  ความคิดนี้พวกเราเห็นด้วย  แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการอะไร

          กาลลุล่วงเข้าไปในเดือนมีนาคม ๒๕๑๑  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณมีอาการอาพาธหนักขึ้น  จึงเดินทางไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ  แล้วเหตุอันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย  กล่าวคือ ค่ำคืนนั้นเวลาประมาณ ๔ ทุ่มเห็นจะได้  ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะเข้านอน  ก็มีเสียงคนเอะอะโวยวายตะโกนว่า  ไฟไหม้ ๆๆๆ  จึงลงจากกุฏิมาดูเหตุการณ์  ทราบว่าเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ร้านค้าริมถนนนิกรเกษมทางทิศใต้วัดราชธานี  จึงกลับเข้ากุฏิเอาจีวรจีบพาดบ่าแล้วใช้ผ้าอาบเคียนเอวทับจีวร  เดินออกจากวัดหวังจะไปช่วยชาวบ้านร้านค้าเท่าที่จะช่วยได้  เพลิงลุกโชติโชนเผาไหม้อาคารร้านค้าอย่างรวดเร็วมาก  เพราะอาคารร้านค้าเป็นอาคารไม้เก่าแก่แห้งจนไร้ยางจึงติดไฟง่าย  ยามนั้นผู้คนแตกตื่นวุ่นวายแบบที่เรียกว่า “เจ๊กตื่นไฟ” เพลิงลุกลามขึ้นทางเหนือ  แล้วแผ่ความร้อนระอุเปลวเพลิงแลบข้ามถนนนิกรเกษมไปเผาไหม้อาคารร้านค้าฝั่งตะวันตกบริเวณริมแม่น้ำยม  อาคารบ้านเรือนร้านค้าทั้งหมดบริเวณนั้นล้วนเป็นอาคารไม้เก่าแก่เช่นกัน  ทางฝั่งตะวันออกเพลิงเผาไหม้ลามขึ้นถึงถนนจรดวิถีถ่องบริเวณหน้าวัดราชธานี  เปลวเพลิงร้อนแรงมาก  ไม่น่าเชื่อว่าความร้อนจะแรงถึงกับแผดข้ามถนนไปเผาไหม้อาคารร้านค้าที่อยู่ฝั่งวัดราชธานีได้

          เมื่อเห็นเพลิงไหม้ร้านค้าทางฝั่งวัดราชธานี  ข้าพเจ้าตกใจมาก  คิดว่าจะต้องลามถึงกุฏิพระเป็นแน่  จึงวิ่งออกทางประตูเหนือวัด  ตั้งใจจะไปเกณฑ์สามเณรศิษย์ข้าพเจ้าที่วัดไทยชุมดพลมาช่วยดับไฟ  ขณะวิ่งบ้างเดินบ้างไปวัดไทยชุมพลนั้น  เห็นชาวตลาดพากันขนของหนีไฟ  เจ้าของร้านขายจักรเย็บผ้าคนหนึ่งเอาจักรใส่บ่าข้างละตัว  อีกสองตัวเข็นไปข้างหน้า  มีคนหนึ่งแบกโอ่งมังกรกึ่งวิ่งกึ่งเดิน  ทุกคนมุ่งหน้าไปทางวัดไทยชุมพล  ข้าพเจ้าพาเณรมาถึงวัดราชธานีในขณะที่เพลิงเผาไหม้กุฏิพระแล้ว จึงวิ่งออกไปทางประตูวัดทิศใต้  ซึ่งไฟโทรมลงด้วยไหม้ร้านค้าตลาดวัดและห้องแถวด้านนั้นสิ้นแล้ว  พบรถดับเพลิงของ สภ.อ. กงไกรลาศมาถึงบริเวณนั้นพอดี  จึงขอร้องให้เข้าไปช่วยดับเพลิงในวัด  ผู้กองที่ควบคุมรถดับเพลิงด้วยตนเองไม่ยอมเอารถเข้า  ท่านอ้างว่ากลัวเครื่องยนต์รถถูกความร้อนแล้วจะระเบิด  เพราะไฟกำลังไหมวิหารหลวงพ่องามอยู่ ข้าพเจ้าจึงแนะนำว่าเอาท่อดับเพลิงฉีดน้ำนำเข้าไปซี่  ท่านก็ทำตามจนนำรถเข้าไปได้อย่างปลอดภัย  ให้ท่านนำรถไปจอดริมบ่อปลา  สูบน้ำในบ่อขึ้นใช้  ฉีดน้ำเลี้ยงวิหารหลวงพ่อเป่าไว้ให้จงได้  รถดับเพลิงตั้งหลักสูบน้ำในบ่อปลาขึ้นฉีดเลี้ยงวิหารหลวงพ่อเป่าได้แล้ว  จึงไปยืนพักเหนื่อยอยู่หน้าพระประทานพร  หลวงพ่อห้อมลงมาจากศาลาการเปรียญพบกับข้าพเจ้าด้วยเนื้อตัวเปียกน้ำมอมแมม  เพราะท่านช่วยพระเณรสาดน้ำรักษาหมู่กุฏิและศาลาการเปรียญ  ถามว่าเณรกรอยู่ไหน  ข้าพเจ้าจึงนึกได้ว่าสามเณรกรยังอยู่ในกุฏิ  ข้าพเจ้าจึงวิ่งนำหลวงพ่อห้อมไปในขณะที่เพลิงกำลังไหม้หมู่กุฏิใกล้จะถึงกุฏิข้าพเจ้าแล้ว

          สามเณรกรผู้เฒ่าเดินจับโน่นจับนี่อยู่ในกุฏิ  ข้าพเจ้าบอกให้รีบหนีไป  ไฟกำลังจะไหม้กุฏิเราแล้ว  ท่านไม่ยอมไป  หลวงพ่อห้อมเข้ามาจับแขนกระชาก   “ไปเร็วไฟมาถึงกุฏิแล้ว”   เณรเฒ่าบอกว่าไปไม่ได้หลวงพ่อเจ้าคุณสั่งให้ดูแลของในกุฏินี้  หลวงพ่อห้อมดุด้วยเสียงตะโกน   “ไอ้แก่ไฟจะไหม้ตายอยู่แล้วยังจะห่วงอะไรอีกรีบหนีเร้ว”   ตอนนั้นไฟไหม้กุฏิพระครูปลัดแถวสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดแล้วลามเข้ากุฏิข้าพเจ้า  เณรเฒ่าจับโน่นหยิบนี่ใส่ห่อผ้าจีวรออกจากกุฏิพร้อมกับหลวงพ่อห้อมและข้าพเจ้าไปยืนหอบแฮ่ก ๆ อยู่หน้าพระประทานพร  ซึ่งเป็นที่ปลอดภัยที่สุดเวลานั้น

          โรงเรียนวินัยสารและกุฎีสกลพลากรอาคารไม้สองชั้นใหญ่ที่สุดในวัดถูกเพลิงเผาผลาญวอดวาย  ตอนที่เพลิงลุกโชติโชนชั้นบนกุฏิข้าพเจ้านั้น  ลูกไฟจากการปะทุไหม้กระจายไปถึงหน้าจั่วหลังคาอุโบสถ  ทำให้เกิดเพลิงไหม้รังนกนกพิราบแล้วลุกลามอย่างรวดเร็ว  เพลิงได้ลุกลามเผาผลาญบ้านเรือนร้านค้ารอบวัดราชธานีจนสิ้น  บริเวณประตูวัดด้านเหนือมีบ้านหมอเฉิน  หมอเปลื่องทำฟั น อาจารย์ผึ่ง ญาณโสภณ  มหาสงวน ศรีม่วง  คนคุ้นเคยกับข้าพเจ้าก็ถูกเผาผลาญเรียบ  สำหรับหมอเฉิน ศรีสุคนธ์ นั้น  กำลังป่วยติดเตียง  ญาติ ๆ จึงหามเตียงออกมาวางไว้ที่แท่นของพระประทานพร  ข้าพเจ้าเกรงว่าวิหารหลวงพ่อเป่าจะไหม้  จึงให้คนเอาพระปางอุ้มบาตรเนื้อเงินที่ใช้เป็นประธานในขบวนแห่เทโวฯ ออกมาตั้งไว้ที่แท่นพระประทานพร  เปลวเพลิงร้อนแรงจากฝั่งวัดขามถนนประพนธ์ไปเผาไหม้โรงหนังประพนธ์และอาคารบ้านเรือนในฝั่งเหนือ  ทางด้านะวันออกเฉียงเหนือวัดนั้น  เพลิงได้ข้ามถนนไหม้จากวงเวียนหอนาฬิกา  จากร้านพี่มหาเลื่อน อินทรโชติ (โรงพิมพ์สกุลไทย) ขึ้นเหนือไปตลอดแนว  จนถึงเวลาประมาณตีสามเศษ  ตลาดเมืองสุโขทัยไม่มีเหลือให้เพลิงเผาผลาญอีกแล้ว

          ข้าพเจ้ายืนตรงหน้าพระประทานพร  มองไปข้างหน้า ขวา ซ้าย เห็นแต่เสาอาคารบ้านเรือนติดไฟส่งแสงเหลืองอร่ามงามดั่งทอง  เป็นภาพงามบนความพินาศ  ที่หาดูที่ไหนไม่ได้อีกเลย/

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54735#msg54735)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, สิงหาคม, 2566, 01:17:08 AM
(https://i.ibb.co/Ln4J1z8/314050536-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54619#msg54619)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54842#msg54842)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๑ -
          ควรจะถือได้ว่าสุโขทัยเป็นเมืองเดียวในประเทศไทย  ที่ถูกเพลิงไหม้เผาผลาญอาคารร้านค้าแทบจะหมดทั้งเมืองในคราวเดียว  ในกลางซากปรักหักพังเถ้าถ่านนั้นยังมีหลงเหลืออยู่เพียงศาลาการเปรียญและกุฏิรายรอบศาลา  วิหารหลวงพ่อเป่าในวัดราชธานี  และบ้านไม้หลังหนึ่งซึ่งเป็นบ้านของปลัดพจน์ เกิดผล   นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลธานี  มีเสียงโจษจันกันว่าบ้านปลัดพจน์ไม่ถูกไฟไหม้เพราะปลัดพจน์สั่งให้รถดับเพลิงช่วยฉีดน้ำเลี้ยงบ้านตัวเองไว้  เท็จจริงอย่างไรข้าพเจ้าไม่รู้  ส่วนศาลาการเปรียญนั้นรอดจากถูกเพลิงเผาผลาญได้เพราะหลวงพ่อห้อมว่ายน้ำข้ามมาจากวัดคูหาสุวรรณ  สั่งพระเณรพังฝากุฏิทุกหลังแล้วระดมตักน้ำในแม่ยมขึ้นมาช่วยกันสาดทั่วกุฏิศาลาให้เปียกชื้นจึงพ้นจากเพลิงผลาญได้ในที่สุด  วิหารหลวงพ่อเป่ารอดพ้นจากการเป็นเหยื่อเพลิงกาฬได้เพราะรถดับเพลิงของสถานีตำรวจภูธรอำเภอกลไกรลาศ  ที่ข้าพเจ้านำเขาให้ช่วยสูบน้ำในบ่อปลาฉีดเลี้ยงวิหารไว้  แต่มีเสียงเล่าลือกันถึงความศักดิ์ของหลวงพ่อเป่าว่า  ท่านปัดเป่าเปลวเพลิงให้พ้นไปจากวิหาร  ทำให้วิหารรอดพ้นจากเพลิงเผาไหม้  ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ไม่แก้ข่าวด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยให้ความขลังศักดิ์หลวงพ่อเป่าเพิ่มมากขึ้นไปอีกมาก  บอกกับผู้กองกงไกรลาศให้คิดว่า  “ปิดทองหลังพระ”  ก็แล้วกันนะ

          สำรวจตัวเองยามนั้นมีสบงนุ่งผืนหนึ่ง  อังสะตัวหนึ่ง  จีวรผืนหนึ่ง  ผ้าอาบน้ำผืนหนึ่ง  ที่ติดตัวอยู่  ยังดีตอนที่วิ่งไปเอาเณรเฒ่าออกมาจากกุฏินั้นได้คว้าย่ามประจำตัวติดมือมาด้วย  ในย่ามมีเงินไม่มากนัก  เณรเฒ่าคลี่ห่อผ้าที่หยิบจับสิ่งของใส่ห่อจีวรมา  มีกาน้ำชากับที่เขี่ยบุหรี่ของข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย  สมบัติของข้าพเจ้าเหลื่อเพียงเท่านั้นจริง ๆ  ที่เสียไปอย่างน่าเสียดายคือ  เครื่องบันทึกเสียงและม้วนเทปรายการกลอน  บทกลอนจากเพื่อน ๆ นักกลอน  และกลอนประกวด  “บารมีพ่อขุนรามคำแหง”  ที่เข้ารอบสองกลายเป็นเหยื่อเพลิงไปสิ้น  โครงการประกวดกลอนชิงถ้วยทองคำหนัก ๑๐ บาทต้องยกเลิกไปโดยปริยาย  มีคำถามว่ า ทองคำหนักสิบบาทที่จอมพลถนอมให้มาทำถ้วยรางวัลประกวดกลอนนั้น  เอาไปทำอะไรต่อไปหรือ  ตอบได้ว่า  ทองคำนั้นจอมพลถนอมอนุมัติให้ว่า  จัดทำถ้วยเสร็จแล้วนำใบเสร็จไปยื่นขอรับเงินได้เลย  เมื่อยังไม่ได้ทำถ้วยทองก็ไม่มีใบเสร็จไปยื่นรับเงิน  มีแต่เรื่องยกเลิกประกวดกลอนไปแจ้งให้ท่านรับทราบเท่านั้นเอง

          ทรัพย์สินของวัดสูญเสียไปที่สำคัญคือโรงอุโบสถโบราณที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัยหลายองค์  วิหารเก่าที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสำริดองค์ใหญ่ที่เรียกชื่อว่าหลวงพ่องาม  หลวงพ่อถูกเพลิงเผาจนแตกเป็นเสี่ยง ๆ (ชิ้นส่วนพระองค์นี้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณให้มหาสงวน ศรีม่วง  เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์นำไปฝากเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง) สรุปคร่าว ๆ ว่า  โบสถ์ วิหาร พระพุทธรูป โรงเรียน กุฏิสงฆ์  ถูกเผาไหม้สูญหายไปโดยประเมินค้ามิได้

          เมื่อเพลิงมอดหมดแล้ว  ก็เร่งซ่อมแซมกุฏิรายรอบศาลาที่พังฝาออกตอนเพลิงกำลังลุกไหม้นั้นให้คืนสู่สภาพเดิม  ข้าพเจ้าขึ้นไปอยู่กุฏิหลังเล็กข้างหอระฆังด้านหน้าศาลาการเปรียญ  พระครูปลัดแถวปรับปรุงปีกวิหารหลวงพ่อเป่าด้านเหนือเป็นที่อยู่และสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  ทางฝ่ายบ้านเมืองนั้น  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสมาส อมาตยกุล) ประชุมกรมการจังหวัดหาทางช่วยเหลือประชาชน  เริ่มจากการแจกอาหาร  ไปจนถึงสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวรายเรียงตั้งแต่โรงเรียนอุดมดรุณีถึงหน้าวัดไทยชุมพล  ข้าพเจ้ารายงานขอความช่วยเหลือไปยังมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยในนามของพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิต  สิ่งของที่ต้องการด่วนคือหนังสือเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา พร้อมเครื่องเขียนและเครื่องแบบนักเรียน  ทดแทนที่ถูกไฟไหม้จนหมดสิ้นนั้น  โดยขอเป็นสิ่งของ  หากให้เงินไปก็หาซื้อไม่ได้

          พระอาจารย์กิตติวุฑโฒ รับเรื่องแล้วเร่งประกาศรับบริจาคทางรายการวิทยุของท่านทุกรายการ  หลังสงกรานต์ปีนั้นได้สิ่งของตามต้องการแล้ว  ท่านนำขึ้นมาด้วยตนเองแจกให้ทุกครอบครัวที่ถูกไฟไหม้โดยไม่ตกหล่น  ไม่ลืมที่จะนำผ้าไตรจีวรมาถวายพระวัดราชธานีทุกองค์ด้วย  พระหน่วยพัฒนาการทางจิตที่วัดราชธานีเหลือข้าพเจ้าเพียงองค์เดียว  เพราะพระมหาคำสิงห์ออกไปอยู่วัดวังทองแดง  เพื่อทำป่าให้เป็นเมืองตามอุดมการณ์ของท่าน  พระไพฑูรย์ลาสิกขาเมื่อออกพรรษาปี ๒๕๑๐ ไปทำงานอยู่กับมหาบุญเรืองที่ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอศรีสำโรง  แล้วตั้งบริษัทแหลมทองทำธุรกิจเกี่ยวกับการฌาปนกิจศพ  เขาทั้งสองจึงถือได้ว่าโชคดีที่ไม่ถูกไฟไหม้เหมือนข้าพเจ้า  แต่ก็ยังดีที่ไม่ถูกทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยทอดทิ้ง  ญาติโยมผู้อุปถัมภ์บำรุงมูลนิธิและพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิต  ได้ร่วมกันบริจาคเงินให้เจ้าหน้าที่มูลนิธินำขึ้นมาช่วยหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘ ของข้าพเจ้าเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, สิงหาคม, 2566, 11:06:28 PM
(https://i.ibb.co/TBtSvfz/437491803-1.jpg) (https://imgbb.com/)
ภาพร่องรอยจากไฟไหม้ตลาดสุโขทัย
และบริเวณตรงวัดราชธานี จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2511

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๒ -
          ไฟไหม้เมืองสุโขทัยวัดราชธานีเสียหายมากที่สุด  กล่าวคืออาคารพาณิชย์ที่ให้เอกชนเช่าทำการค้าสองข้างถนนนิกรเกษม  กับถนนจรดวิถีถ่อง  และฝั่งหนึ่งของถนนประพนธ์บำรุง  อีกทั้งตลาดในวัดราชธานีทั้งหมด  ไม่รวมกุฎิสงฆ์  โรงเรียน  อุโบสถ  วิหาร  พระพุทธรูป  ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่า  ต้นเพลิงเกิดจากร้านค้าใดแน่  เป็นอุบัติเหตุหรือจงใจวางเพลิงเผาร้านตนเอง  และหรือมีคนลักลอบเผากันแน่  ที่แน่ ๆ คือจะต้องสร้างอาคารพาณิชย์ขึ้นมาใหม่  ทางการจึงวางผังเมืองใหม่ในบริเวณที่ถูกเพลิงไหม้  มีการตัดถนนใหม่ ๒ สาย  ผ่านในที่ของวัด  และจัดทำสวนสาธารณะด้านสะพานพระร่วงริมถนนนิกรเกษม  ที่ถนนสายตัดใหม่กับสวนสาธารณะ  จะต้องออกกฎหมายเวนคืนและจ่ายเงินเป็นค่าผาติกรรมแก่วัดราชธานี  เป็นเงินประมาณ ๓ ล้านบาทเศษ

          เมื่อวางผังเมืองเสร็จแล้วจึงมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์สองฟากฝั่งถนน  ขั้นตอนนี้แหละยุ่งยากมาก  ทางวัดมอบให้ทางจังหวัดเป็นผู้ออกแบบอาคารพาณิชย์ในที่ดินของวัด  โยธาธิการจังหวัดออกแบบเป็นอาคาร ๒ ชั้น  สรรพากรจังหวัดเป็นผู้กำหนดราคาค่าเช่า  เมื่อประกาศแบบและราคาออกมาก็มีเสียงร้องคัดค้านเฉพาะเรื่องราคาว่าแพงเกินไป  มีการชุมนุมกันที่ศาลาการเปรียญของวัด  ซึ่งยามนั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณหายจากการอาพาธกลับมาอยู่วัดแล้ว  นั่งฟังเสียงชาวบ้านชาวเมืองด้วยอาการสงบ  ทนายความชื่อดังคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของผู้ร้องกล่าวย้ำ ๆ ว่า

           “หลวงพ่ออย่าให้ทางผู้ว่าฯ ดำเนินการเลยนะ  ถ้าเขาดำเนินการตามประกาศนี้  ชาวบ้านร้านค้าเหล่านี้ไม่มีเงินเช่าซื้อร้านค้าได้หรอก  พวกเขาทำบุญวัดนี้ควรให้เขาอยู่ในที่วัดต่อไป  ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไปทำบุญที่วัดอื่น”

          พอได้ยินประโยคสุดท้าย  ข้าพเจ้าเกิดความโมโหจนลืมตัวจึงกล่าวว่า

           “คนจะทำบุญที่วัดนี้ต้องจ้างให้อยู่ในที่ด้วยหรือ”

          หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยกมือขึ้นโบกไปมาแสดงอาการปฏิเสธและกว่าว่า

           “ข้ามอบให้ทางราชการเขาดำเนินการแล้ว  ถูกแพงอย่างไรพวกแกก็ไปเจรจากับเขาเถิด”

          ทนายความกับอดีตนายกเทศมนตรี (ขอสวนนาม) ก็พาชาวบ้านชาวเมืองเฮกันไปชุมนุมที่หอประชุมจังหวัด

          วันรุ่งขึ้นท่านผู้ว่าราชการจังหวัด (สมาส อมาตยกุล) มาพบข้าพเจ้าที่วัดกล่าวว่า

           “งานสร้างอาคารพาณิชย์ผมขอคืนให้วัดดำเนินการเอง  ทางจังหวัดจะทำเฉพาะถนนกับสวนสาธารณะอันเป็นส่วนของทางราชการเท่านั้นนะครับ”

          ข้าพเจ้าถามถึงเหตุผล  ท่านเล่าให้ฟังว่า  เมื่อวานนี้เขาไปชุมนุมคัดค้านเรื่อราคาค่าเช่า (หมายถึงค่าสิทธิ์ในการเช่า) ว่าแพงเกินไป  ทางจังหวัดบอกว่าราคานี้เป็นราคาประเมินของสรรพากร  ถ้าเห็นว่าแพงก็ต่อรองกันได้เขาก็ไม่ยอมต่อรอง  กลับกล่าวหาว่าผู้ว่า  ”จะโกงจะกิน”  อย่างเดียว  จึงบอกเลิกไปแล้ว  เมื่อทางจังหวัดบอกเลิกทางวัดก็ขอแบบที่โยธาออกไว้แล้วนั้นเพื่อหาคนมาก่อสร้างตามแบบต่อไป

          มีผู้รับเหมาหลายรายวิ่งเต้นติดต่อขอเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์  แต่ยังตกลงกันไม่ได้  ขณะนั้น พระครูปลัดแถวปรึกษาว่าจะเอาเงินที่เก็บจากค่าเช่าร้านค้าสองปีที่แล้วมาสร้างกุฏิใหม่ในบริเวณวิหารหลวงพ่องามดีไหม  ข้าพเจ้าเห็นด้วยจึงกราบเรียนขออนุญาตจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  ท่านไม่ขัดข้อง  จึงดำเนินการปรับพื้นที่ขุดลอกพื้นคอนกรีต  รื้อฐานพระแล้วพบมาว่ามีพระพุทธรูปเนื้อสำริดฝังไว้ตรงใต้ฐานพระเป็นอันมาก  บางองค์ชำรุดบางองค์สมบูรณ์ดี  ลำเลียงไปเก็บไว้ในห้องพระครูปลัดแถวแล้วทำบัญชีคุมไว้  ปรับพื้นที่เสร็จแล้วก็ว่าจ้างช่างทำการสร้างกุฏิเป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้นได้ ๓ หลัง  ให้พระที่ยังไม่มีที่อยู่ซึ่งอาศัยซึ่งนอนรวมกันอยู่บนศาลา ลงมาอยู่กุฏิที่สร้างใหม่จนหมดสิ้น  ส่วนข้าพเจ้าขอพักอยู่ที่เดิมเพราะชอบกุฏิไม้มากกว่าคอนกรีต

          มีผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่งในเมืองพิษณุโลก  ชื่อนายนาค  เข้ามาติดตามรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  ข้าพเจ้าพูดกะพระครูปลัดแถวว่า  จับตาดูให้ดี  คนนี้แหละคือผู้ที่จะได้สิทธิ์ในการสร้างอาคารพาณิชย์ของวัดเรา  และก็เป็นจริงดังที่ข้าพเจ้าพูด  ไม่นานนักเขาได้รับสิทธิ์สร้างอาคารพาณิชย์ของวัดทั้งหมด  หลังจากเจรจาตกลงกับชาวตลาดที่เคยเช่าอาศัยอยู่ในที่ดินของวัดมาก่อนเกิดไฟไหม้  เงื่อนไขที่ตกลงทราบคร่าว ๆ ว่า  สร้างอาคารพาณิชย์ตามแบบที่โยธาเขียนไว้  โดยนายนาคเป็นผู้ลงทุนเอง  เมื่อสร้างเสร็จอาคารทั้งหมดตกเป็นของวัดตามกฎหมาย  ผู้เข้าอยู่ในอาคารต้องจ่ายเงินให้นายนาคในราคาตามที่ตกลงกัน  ค่าเช่าจะจ่ายเป็นรายเดือนรายปีอย่างไรเท่าไรแล้วแต่จะตกลงกับทางวัดผู้เป็นเจ้าของอาคาร  ก็เป็นอันว่าเรื่องนี้  “หวานคอนายนาค” ไป

          ข้าพเจ้าค่อย ๆ ปล่อยวางมือ  จากเรื่องราวของวัดราชธานี  เพราะมีความเหนื่อยหน่ายเต็มที  เวลานั้น  จ่าตำรวจเกษม สุทธาจารเกษม (ภายหลังเปลี่ยนเป็น  สร้อยเพชรเกษม)  คนที่ร่วมกับข้าพเจ้าจัดการบวชให้พระคารพตามที่ให้การมาแล้วนั้น  ไม่ทราบว่าเกษียณอายุราชการแล้วหรือยัง  แต่ว่าเวลานั้นจ่าเข้ามาอยู่ในเมืองสุโขทัยและไป ๆ มา ๆ ระหว่างสุโขทัย-หาดเสี้ยวบ้านของจ่า  วันหนึ่งจ่าถือถุงใหญ่ใส่เม็ดพระศกพระพุทธรูปเนื้อปูนขาวมาหาที่กุฏิ  ชักชวนข้าพเจ้าทำพระพิมพ์  ด้วยรู้ว่าหลังไฟไหม้นั้นข้าพเจ้ามักชอบเอาพระเครื่องมากดทำพิมพ์แล้วเอาพระเนื้อดินที่หัก ๆ มาตำเป็นผงกดพิมพ์แก้เหงา  จ่าบอกว่าเม็ดพระศกขนาดใหญ่นี้เก็บมาจากวัดสังฆราชาวาส  เมืองเก่า  เรามาช่วยกันทุบตำเป็นผงทำพระกันเถอะ  จึงร่วมมือกับจ่า  ทุบเม็ดพระศกปูนขาวแตกแล้ว  ปรากฏในกลางเม็ดพระศกนั้นกลวง  มีก้อนอะไรสีขาวผ่องขนาดไข่จิ้งจกอยู่ ๑ เม็ด ก็ไม่ได้สงสัยอะไร เอาบดรวมกันเป็นผงทำพระไปหมด

          แบบพิมพ์ก็ขอยืมพระองค์จริงเป็นพระถ้ำหีบและพระอื่น ๆ ที่เห็นงามมาดกพิมพ์กับปูนซิเมนขาวบ้าง  ปูนพาสเตอร์บ้าง  ภายหลังพระครูประคอง (สุธรรมโกวิท) วัดกำแพงงามมาเห็นเข้า  เล่าให้ฟังถึงเรื่องเม็ดขาว ๆ ในเม็ดพระศก  ท่านบอกว่าเป็นพระสารีริกธาตุนะ  ทุบเม็ดต่อ ๆ มาพบเม็ดขาว ๆ นั้นทีไรจ่าเกษมเก็บใส่กล่องกลับบ้านหมด  เมื่อเม็ดพระศกหมดจ่าเกษมก็ไปเที่ยวเก็บมือ แขน ขา อก พระปูนขาวที่ตกหล่นอยู่ทั่ว ๆ ไปตามวัดเก่า ๆ มาช่วยกันตำเป็นผงพิมพ์พระได้มากมาย  ยามมีหัวหน้าคณะลิเกคนหนึ่งอยู่ทาง อ.พรานกระต่าย  เอาแบบพระกำแพงศอกเป็นหินเขียวมีรอยร้าวมาจำนำจ่าไว้  จ่าจึงเอามาให้ข้าพเจ้าใช้พิมพ์เป็นพระกำแพงศกสวยงามได้ ๑๐ องค์  จ่าเอาไปบ้าน ๘ องค์  เหลือให้ข้าพเจ้า ๒ องค์  วันเข้าพรรษาปีนั้นข้าพเจ้ารวบรวมพระพิมพ์ทั้งหมดใส่บาตรเต็ม ๕ บาตร  ไปมอบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  ฝากให้ท่านปลุกเสกตลอด ๓ เดือน  บอกว่าวันออกพรรษาจะมารับคืน

          เสียดายจัง  วันออกพรรษาไปรับพระคืนที่วิหารหลวงพ่อเป่า  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกว่า   “แจกเขาไปหมดแล้ว”   อ้าว....หลวงพ่อแจกเขาไปได้ไง  ท่านหัวเราะหึ ๆ บอกว่า   “ก็ใครมามันขอแต่พระ  ของข้าแจกหมดแล้ว  ก็ต้องเอาของแกแจกละซี่”   โฮ่....หลวงพ่อนะหลวงพ่อ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, สิงหาคม, 2566, 10:45:09 PM
(https://i.ibb.co/9bJt0Wf/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๒๓๓ -

          ทางราชการได้เวนคืนที่ดินวัดราชธานีไปทำถนนและสวนสาธารณะดังกล่าวแล้ว  การเวนคืนมิใช่จะเอาไปได้ตามใจชอบ  เพราะที่ดินของวัดได้ชื่อว่าเป็นของสงฆ์  มิใช่ของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  หรือของกรรมการวัดคนใดคนหนึ่ง  มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า  “ของสงฆ์มิใช่ของเสื่อม”  หมายความว่า  ของสงฆ์หรือของวัดเป็นของที่ใคร ๆ จะเอาเป็นของตนมิได้  พระภิกษุในวัดนั้นทุกองค์มีสิทธิ์เป็นเจ้าของคุ้มครองดูแลมิให้ใคร ๆ ถือเอาเป็นของตนเอง  พระภิกษุในวัดนั้นย้ายออกไปอยู่ที่อื่นได้  มรณภาพได้  แต่ของสงฆ์วัดนั้นจะคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง  เว้นแต่ได้มีการกระทำผาติกรรม

          คำว่า  “ผาติกรรม”  แปลว่าการทำให้เจริญ  ใช้ในวินัยว่า  การจำหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์  อย่างใดอย่างหนึ่ง  โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์  เช่น  เอาที่วัดไปทำอย่างอื่น  แล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้  หรือเวนคืนที่วัดเพื่อสร้างทางสาธารณะแล้วจ่ายเงินทดแทนเป็นค่าผาติกรรม  การผาติกรรมที่ดินวัด  คือการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินวัด  ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ ให้แก่ส่วนราชกา ร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินวัดในการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำ ถนนหลวง คลองชลประทาน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ  โดยการผาติกรรมดังกล่าวนี้ต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ให้หน่วยราชการนั้น ๆ  หรือมีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งค่าทดแทนที่ดินที่ถูกส่วนราชการใช้นั้นหากเป็นเงินก็เรียกว่า  “เงินค่าผาติกรรม”

          เงินค่าผาติกรรมที่ดินของวัดราชธานีเป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องกันอีรุงตุงนัง  กล่าวคือ  นายนาคผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ของวัดราชธานี  ทราบว่าทางวัดจะได้เงินเป็นค่าเวนคืนที่ดิน  ซึ่งทางวัดได้ทำผาติกรรมให้ทาง  ทางการให้เงินด่าเชยสามล้านบาทเศษ  เขาจึงขอยืมเงินสามล้านบาทนั้นมาเป็นทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้วัด  ทางวัดเห็นว่าเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง  ด้วยนายนาคใช้วิธีที่เรียกว่า  “เนื้อมันยำมัน”  หรือ  “เนื้อเต่ายำเต่า”  เอาเงินวัดสร้างอาคารพาณิชย์ให้วัดแล้วเก็บค่า  ”เซ้งห้อง”  เป็น  “แป๊ะเจี๊ยะ”  ไปอย่างสบายมือ  เขาเป็นคนเก่งในการติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่  เข้าหาเจ้าคณะภาค ๕ ที่ปกครองการคณะสงฆ์ในภาคเหนือตอนล่าง  ให้ช่วยจัดการรับเงินค่าผาติกรรมแล้วให้เขายืมมาลงทุนสร้างอาคารดังกล่าว

          ปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย  โดยนายสมาส อมาตยกุล พ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ  นายรังสรรค์ รังสิกุล มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยแทน  ผู้ว่าฯ คนใหม่ทันเกมของผู้รับเหมาก่อสร้าง  วันที่ทางกระทรวงการคลังโอนเงินค่าผาติกรรมมาให้คลังจังหวัดสุโขทัยนั้น  นายนาคไปนิมนต์เจ้าคณะภาค ๕ จากวัดยานนาวา กรุงเทพฯ นั่งเครื่องมาพิษณุโลก  พามารับเงินค่าผาติกรรมแทนวัดราชธานี  แต่เมื่อถึงศาลากลางเขาก็พบความผิดหวัง  เพราะท่านผู้ว่าฯ รังสรรค์ รับเงินแทนวัดและโอนเงินเข้าบัญชีวัดราชธานีไปเรียบร้อยแล้ว

          เงินค่าผาติกรรมนี้มีกฎระเบียบอยู่ว่า  ให้นำเงินฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มั่นคง  ห้ามมิให้นำเงินค่าผาติกรรมไปใช้จ่ายในกิจการใด ๆ  อนุญาตให้ใช้ได้แต่เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น  เงินค่าผาติกรรมก้อนนั้นถือว่าเป็นของสงฆ์วัดราชธานี  ที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งนำไปใช้จ่ายได้  นายนาคเป็นคนหัวหมอ  เขาพยายามตื้อจะเอาให้ได้

          โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดราชธานีปิดตายหลังจากถูกไฟไหม้แล้ว  ข้าพเจ้าไปเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดไชยชุมพลอย่างเต็มตัว  ในปีนั้นพระปลัดฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอเมืองว่างลงด้วยผู้ดำรงตำแหน่งองค์ก่อนลาสิกขา  พระครูสุภัทรธีรคุณ เจ้าคณะอำเภอจึงขอให้ข้าพเจ้ารับการแต่งตั้งเป็นพระปลัดแทนองค์ที่ลาเพศไป  ใจจริงข้าพเจ้าไม่อยากมียศศักดิ์อะไร  ถ้าอยากมีก็เป็นพระครูฐานุกรมเข้าคณะจังหวัดสุโขทัยไปแล้ว  จึงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับยศพระปลัดของเจ้าคณะอำเภอ  แต่พรรคพวกในวงการนักเทศน์ด้วยกัน  เช่นพระครูสวง (อุทัยสุขวัฒน์)  พระครูประคอง (สุธรรมโกวิท)  พระครูเกียว (วิมลกิจโกศล) เป็นต้น  ท่านให้เหตุผลว่าพวกเรามีสมณะศักดิ์กันทุกองค์  ท่านก็ต้องมีสมณะศักดิ์บ้างจึงควร  ในที่สุดก็ยอมรับสมณะศักดิ์เป็นที่ พระปลัดฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย

          ปลายปี ๒๕๑๑ นั้น  พระเพื่อน ๆ ในกรุงเทพฯ นำโดยพระมหาอุดมวัดใหม่อมตรสบางขุนพรหม  จัดผ้าป่าขึ้นกองหนึ่งนำมาทอดถวายเจาะจงให้ข้าพเจ้านำเงินเป็นทุนดำเนินงานตามโครงการหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘  สิ่งที่ถูกใจข้าพเจ้ามากมิใช่เงินก้อนหนึ่ง  หากแต่เป็นเครื่องพิมพ์ดีดแบบกระเป๋าหิ้ว  กับเครื่องบันทึกเสียง (เทป) อย่างละเครื่อง  รุ่งขึ้นปี ๒๕๑๒ ข้าพเจ้าย้ายจากวัดราชธานีไปอยู่ในสำนักวัดไทยชุมพล  ท่านพระสุภัทรธีรคุณยกกุฏิหลังหนึ่งให้เป็นที่ตั้งสำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘  และมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินงานปรับปรุงโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  ที่ทางยุวพุทธิกสมาคมสุโขทัยทิ้งไปแล้ว  ข้าพเจ้าไปขอระเบียบแบบแผนและหลักสูตรโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์วัดมหาธาตุ มาใช้กับโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพล  และขอเป็นสาขาของมหาจุฬาฯ ด้วย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, สิงหาคม, 2566, 11:18:07 PM
(https://i.ibb.co/pxdQf1V/313433561-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๒๓๔ -
          โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของยุวพุทธิกสมาคมสุโขทัย  ดำเนินงานแบบ  “สุกเอาเผากิน”  มาจนถึงปี ๒๕๑๑  หลังไฟไหม้เมืองสุโขทัยก็ขาดผู้เป็นหลักในการดำเนินงาน  ด้วยนายสำราญ พร้อมมูล ตัวตั้งตัวตีของสมาคมนี้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดอื่นแล้วไม่มีใครรับงานต่อ  พระครูสุภัทรธีรคุณ เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัยผู้เป็นกำลังหลักของฝ่ายสงฆ์  ไม่อยากให้โรงเรียนนี้ต้องล้มเลิกไป  ปรึกษากับข้าพเจ้าว่าทางพระเราควรรับช่วงมาทำต่อในนามของวัดเลยจะดีไหม  ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย  จึงเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ยุวพุทธิกสมาคม  เป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพล  ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารงานโดยมีพระครูสุภัทรธีรคุณเป็นประธาน  ข้าพเจ้าเป็นเลขานุการคณะกรรมการ  โรงเรียนนี้รับเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าเรียนกันทุกวันอาทิตย์  เพราะเหตุที่ร่วมจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์นี้เอง  ทำให้ข้าพเจ้าต้องย้ายจากวัดราชธานีเข้าอยู่ในสำนักวัดไทยชุมพล  เพื่อทำงานได้อย่างเต็มตัว

          ข้าพเจ้าขอหลักสูตรและแบบเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของมหาจุฬาฯ จากวัดมหาธาตุมาทั้งหมด  การแต่งกายของนักเรียนกำหนดให้นักเรียนชายใส่เสื้อสีขาว นุ่งกางเกงขาสั้นสีขาว  นักเรียนหญิงใส่เสื้อสีขาวนุ่งกระโปรงสีชมพู  จะติดโบว์หูกระต่ายสีชมพูก็ได้ไม่ติดก็ได้  วิชาที่เรียนจะเริ่มที่ศาสนพิธี  การแสดงความเคารพด้วยการไหว้การกราบ ที่ถูกต้องและสวยงาม  การจุดเทียนธูป  การกล่าวคำนมัสการ  การกล่าวคำอาราธนาศีล  อาราธนาธรรมอาราธนาพระปริตร  และการใช้กิริยามรรยาท เป็นต้น วิชาพระพุทธศาสนาภาคธรรมะจะเน้นในส่วนแห่งคิหิปฏิบัติ  คือข้อประพฤติปฏิบัติของขาวบ้าน,  ความรู้เรื่องพระพุทธประวัติและพระสาวก  และประวัติศาสนาพุทธศาสนา  เด็ก ๆ ที่สมัครเข้าเรียนด้วยตนเองและที่ปกครองนำมาสมัครเข้าเรียน  ส่วนมาเป็นเด็กระดับชั้นประถมฯปลายและมัธยมต้น  “เป็นไม้อ่อน”  ที่เหมาะแก่การอบรมสั่งสอน  แม้พวกเขาจะซนไปบ้างก็ไม่เป็นไร  ครูอาจารย์ที่ทำการสอนส่วนใหญ่เป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดไทยชุมพล  มีจากต่างวัดบ้างเช่นพระครูสวง (อุทัยสุขวัฒน์) วัดบางคลอง เป็นต้น  อาจารย์ทุกองค์จะต้องทำบันทึกการสอนตามระเบียบ

          สมัยนั้นคณะสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ เริ่มตื่นตัวในการเปิดสอนนักเรียนพุทธศาสนาวุนอาทิตย์กันไม่น้อย  มีการจัดทำเอกสารเผยแผ่ในรูปแบบวารสารรายเดือน  รายสามเดือน  วารสารนั้นส่วนมากไม่ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม  เพราะค่าจัดพิมพ์มีราคาแพงเกินกำลังเงินของวัด  จึงจัดทำเป็นรูปเล่มแบบฉบับโรเนียวอย่างที่เรียกว่า  “วรรณกรรมพิมพ์ดีด”   ของวัดไทยชุมพลก็จัดทำแบบฉบับโรเนียว  โดยข้าพเจ้าเป็นผู้พิมพ์เองทั้งหมดด้วยเครื่องพิมพ์ดีดประจำตัว  ทางวัดมีกระดาษไข  เครื่องโรเนียวสำหรับใช้งานของเจ้าคณะอำเภออยู่แล้ว  คนที่เป็นกำลังในการผลิตก็คือลูกศิษย์ของข้าพเจ้า  ซึ่งเป็นเด็กระดับชั้นมัธยมหลายคน  เด็กคนหนึ่งชื่อทุเรียน สุขสำราญ  คนนี้เป็นมือถ่ายโรเนียว  คนอื่น ๆ ช่วยเรียงหน้ากระดาษและเย็บเล่ม  เสร็จแล้วแจกอ่านกันเองบ้าง  ให้ผู้ปกครองบ้าง  จัดส่งไปยังโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์จังหวัดต่าง ๆ บ้าง  หลายโรงเรียนที่ทำวารสารเขาก็จัดส่งมาให้เราเช่นกัน

          งานที่ยังติดตัวจนยากจะแกะทิ้งคือ  การจัดรายการกลอนทาง ป.ช.ส. ตาก   ครูเหรียญชัยไม่มีเวลาช่วยข้าพเจ้าเลย  จะเลิกจัดเสียก็ไม่ได้  ทางสถานีขอร้องให้จัดต่อด้วยเป็นรายการที่คนฟังมีมาก  นักกลอนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ต้องบันทึกเสียงลงเทปที่สำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิตแล้วส่งไปทางไปรษณีย์  ทางสถานีเขาก็จัดส่งม้วนเทปมาให้ไม่ขาด  ดีหน่อยคือเด็กที่เป็นศิษย์คนเก่งของข้าพเจ้าคือทุเรียน สุขสำราญ (ซึ่งกำลังโตเป็นสาวรุ่น) มีแววในการใช้ภาษาไทยได้ดี  จึงให้เธอช่วยอ่านกลอนลงเทป  เบาแรงข้าพเจ้าไปมาก

          งานเทศน์มีมากก็จริง  แต่ไม่ทำให้งานด้านโรงเรียนพุทธศาสนาเสียหาย  คนส่วนมากมองว่าข้าพเจ้าต้องมีเงินมากเพราะเทศน์มาก  แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น  เงินกัณฑ์ไม่มากมายอะไร  ข้าพเจ้าไม่คิดจะสะสมเงินทองด้วยคิดว่าเงินที่เขาถวายนั้นส่วนมาก  เขากล่าวคำถวายว่า  “ถวายสงฆ์”  ไม่ได้กล่าวว่าถวายข้าพเจ้า  ดังนั้นเมื่อรับมาแล้วก็สละไปโดยการนำมาใช้จ่ายในกิจการโรงเรียนวันอาทิตย์บ้าง  ให้สามเณรลูกศิษย์ที่เรียนนักธรรมบ้าง  บางรายเขาถวายผ้าไตร (ในการเทศน์แจง) พอกลับมาถึงวัดก็เปลื้องออกให้เณรที่ขาดแคลนไป  เด็กนักเรียนบางคนก็อ้อน  “ขอตังค์กินหนมบ้างอาจารย์”  ก็ให้เธอไปซื้อขนมแจกกัน  เด็ก ๆ ส่วนมากจึงรักพระอาจารย์องค์นี้

          โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพลมีกิจกรรมบ้างเหมือน  อย่างเช่นวันปิยมหาราช  สมัยนั้นทางการจัดเป็นงานใหญ่ในการถวายความเคารพ  โรงเรียนต่าง ๆ จัดทำพวงมาลาแห่ไปถวายบังคมพระบรมรูปที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด  การนี้โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพลก็จัดทำพวงมาลาโดยฝีมือเด็ก ๆ ทำกันทั้งคืน  รุ่งเข้าก็เอาขึ้นรถแห่ไปเข้าขบวนกับเขา  นักเรียนของเราแต่งเครื่องแบบขาวชมพูอันเป็นสีประจำพระองค์สมเด็จพระปิยมหราช  แปลกกว่าโรงเรียนอื่น ๆ   และในวันสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนาเช่นวันมาฆบูชา  วิสาขบูชา  อาสาฬหบูชา  นักเรียนก็ร่วมกิจกรรมเวียนเทียนกับพุทธศาสนิกชน

          เฉพาะวันมาฆบูชานั้น  วัดไทยชุมพลจัดเป็นงานใหญ่ประจำปีของวัด  กล่าวคือ วัดในเมืองสุโขทัยมี ๓ วัด  วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็มี ๓ วัน  จึงตกลงกันไว้ว่า  งานมาฆบูชาให้วัดไทยชุมพลจัดงานเวียนเทียน  วันวิสาขบูชา วัดราชธานีจัดงานเวียน  วันอาสาฬหบูชา วัดคูหาสุวรรณจัดงานเวียนเทียน  ถือกันเป็นประเพณีสืบมายาวนานแล้ว  แต่วัดราชธานีกับวัดคูหาสุวรรณมิได้จัดงานใหญ่เหมือนวัดไทยชุมพล  วัดไทยชุมพลจัดเป็นงานไหว้พระพุทธบาทจำลองในวิหาร  พระพุทธรูปชื่อหลวงพ่อโตในอุโบสถ  และหลวงพ่องามในวิหาร  สำหรับรอยพระพุทธบาทในวิหารนั้น  มีความเป็นมาสับสนอยู่  บ้างก็ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่ยอดเขาสุมณกูฏ (เขาพระบาทใหญ่) ถูกอัญเชิญลงมาไว้ที่วัดไทยชุมพล  บ้างก็ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พรญาลิไททรงสร้างไว้ที่เขาน้อยในแดนอรัญญิก  แล้วถูกอัญเชิญมาไว้ที่วัดไทยชุมพล  แต่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยืนยันว่ารอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสมณกูฏนั้น  ท่านอัญเชิญลงมาไว้ในเกาะวัดตระพังทองด้วยตนเอง  ไม่ใช่รอยที่วัดไทยชมพล  อย่างไรก็ตามรอยพระพุทธบาทในวิหารวัดไทยชุมพลก็มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า ๖๐๐ ปีเศษแล้ว

          นักเรียนพระพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ของเราจัดแสดงกิจกรรมบนเวที  การแสดงในงานประจำปีของวัดไทยชุมพลได้เป็นที่ชื่นชมของผู้ปกครองและผู้ชมได้ไม่น้อย  การร้องรำทำเพลงที่เด็ก ๆ แสดงกันนั้น  ข้าพเจ้ามิได้สอนดอก  หากแต่มีครูอาจารย์ฆราวาสเข้าช่วยฝึกสอนให้เป็นพิเศษ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 13, สิงหาคม, 2566, 11:13:52 PM
(https://i.ibb.co/yhtkYG2/4311587-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๕ -
          งานบริหารการปกครองคณะสงฆ์เป็นงานยาก  ข้าพเจ้ามองเห็นความยากจึงไม่ยอมรับตำแหน่งทางการปกครอง  เห็นว่าพระเณรที่อยู่ในปกครองมาจาก  “คนร้อยพ่อพันแม่”   นิสัยใจคอต่างกัน  ชาติตระกูลต่างกัน  ระดับการศึกษาอบรมต่างกัน  จึงยากในการปกครองดูแล  แม้จะมีพระวินัยให้ยึดถืออย่างเดียวกัน  ก็ยากที่จะให้เขาประพฤติปฏิบัติตนตามพระวินัยทั้งหมดได้  และแม้จะมีกฎระเบียบคณะสงฆ์ออกมาใช้บังคับให้เอื้อต่อพระวินัย  ก็ยังยากที่จะใช้บังคับได้  เวลานั้นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองเก่าว่างลง  หาพระภิกษุที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งไม่ได้  หลวงพ่อห้อม และหลวงพี่มหาดำรง  ซึ่งเป็นพระผู้บังคับบัญชาช่วยกันเกลี้ยกล่อมให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่งนี้  จึงรับด้วยความจำใจ  แต่มีข้อแม้ว่า  ขอรับเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลไปพลางก่อน  จนกว่าจะหาตัวเจ้าคณะตำบลองค์ใหม่ได้แล้ว  จะขอพ้นจากตำแหน่งนี้

          การมียศมีตำแหน่ง  หลายคนชอบที่จะมี  แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบมีด้วยเห็นว่า  “ยศช้าง ขุนนางพระ”  กล่าวคือ  การอวยยศให้ช้างเหมือนอวยยศขุนนางให้พระ  หาประโยชน์อันใดมิได้  พระบางองค์มียศมีตำแหน่งไว้อวดคนเล่นโก้ ๆ  การงานในตำแหน่งไม่ทำ (ทำไม่เป็น) ข้าพเจ้าเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบข้อบังคับของคณะสงฆ์  จึงเข้มงวดกวดขันในพระสังฆาธิการระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาส  รองเจ้าอาวาส  และเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในปกครองดูแลของข้าพเจ้า  ให้ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์และระเบียบแบแผนต่าง ๆ

          ในเวลาที่ข้าพเจ้ารักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองเก่านั้น  มีคดีสำคัญเกิดขึ้นแก่พระเจ้าอาวาสในปกครองคดีหนึ่ง  คือ  มีคนร้ายลอบใช้อาวุธปืนยิงพระมหาธวัช เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง  กระสุนปืนถูกขาขวาบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส  หัวกระสุนฝังใน  ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุโขทัย  แพทย์ทำการผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออกแล้วให้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ๑๕ วัน  เจ้าหน้าที่จับกุมตัวมือปืนได้  เขารับสารภาพว่ายิงเพื่อสั่งสอน  ด้วยไม่พอใจที่พระมหาธวัชยุ่งเกี่ยวกับภรรยาเขาในทำนองชู้สาว  ส่วนชาวบ้านเมืองเก่าก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา  บ้างก็ว่าสมภารวัดเป็นชู้กับเมียชาวบ้านจริง  บ้างก็ว่าเจ้ามือปืนคนนั้นเป็นคนรักและหึงหวงเมีย  เมื่อเห็นเมียเข้าไปสนทนาปราศรัยกับสมภารบ่อย ๆ ก็เกิดความหึงหวงจนถึงกับใช้ปืนยิงดังกล่าว  ข้าพเจ้าไปสดับฟังเสียงจากปากชาวบ้าน  และไปถามสีกาที่เป็นต้นเหตุ  ว่าพระมหาธวัชเคยมีเพศสัมพันธ์กับเธอไหม  เธอปฏิเสธว่าไม่เคยเลย  จึงรอให้พระมหาธวัชออกจากโรงพยาบาลแล้วจึงจะทำการสอบสวนดำเนินคดีทางวินัยต่อไป

          หลักการสอบสวนทางวินัยข้าพเจ้าใช้  “อนิยต”  คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภทกึ่งกลางระหว่างครุกาบัติหรือลหุกาบัติที่เรียกว่า  อาบัติอนิยต  ซึ่งอาบัตินี้ขึ้นอยู่กับว่าพระวินัยธรจะวินิจฉัยว่าควรจะให้ปรับอาบัติแบบไหนตามแต่จะได้โทษหนักหรือเบาอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งมีทั้งหมด ๒ ประการดังนี้

          ๑. ภิกษุนั่งในที่ลับตากับสตรีสองต่อสอง  มีบุคคลที่ควรเชื่อได้กล่าวต้องอาบัติปาราชิก  สังฆาทิเสส  ปาจิตตีย์  อย่างใดอย่างหนึ่ง  ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น  หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น

          ๒. ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับสตรีสองต่อสอง  มีบุคคลที่ควรเชื่อได้กล่าวว่าต้องอาบัติ  สังฆาทิเสส  หรือ ปาจิตตีย์  อย่างใดอย่างหนึ่ง  ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น  หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น

          คำว่า  อนิยต  แปลว่า  อาบัติที่ไม่แน่นอน  ว่าจะให้ปรับเป็นอาบัติปาราชิก,  สังฆาทิเสส  หรือปาจิตตีย์  กล่าวคือเมื่อมีผู้พบเห็นหรือได้ยินว่าพระภิกษุอยู่กับสตรีด้วยกันสองต่อสองโดยที่ไม่มีบุคคลที่สาม (ชายผู้ที่รู้เดียงสา) อยู่ด้วย  จึงได้ไปรายงานต่อพระวินัยธรให้ได้รับทราบ  จากนั้นพระวินัยก็จะทำการไต่สวนกับพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา  หากพระภิกษุนั้นยอมรับสารภาพว่าได้กระทำใด ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งกับสตรีที่อยู่ด้วยกันตามที่โจทก์คฤหัสถ์ได้กล่าวหา  ทางพระวินัยธรก็จะทำการวินิจฉัยว่าควรจะให้ปรับอาบัติแบบไหน  ตามแต่หนักหรือเบาตามทางของพระวินัยอย่างใดอย่างหนึ่ง  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าพระภิกษุยอมรับว่าเสพเมถุนกับสตรี  จึงให้ปรับอาบัติเป็นปาราชิก  ถ้าพระภิกษุยอมรับว่าแตะต้องหรือพูดจาเกี้ยวพาราสีกับสตรี  จึงให้ปรับอาบัติเป็นสังฆาทิเสส  ถ้าพระภิกษุไม่ได้กระทำใด ๆ กับสตรี  แต่อยู่ด้วยกันสองต่อสอง จึ งให้ปรับอาบัติเป็นปาจิตตีย์

          ข้าพเจ้ามิได้ทำการสอบสวนมหาธวัชอย่างเป็นทางการ  แต่สอบสวนอย่างเพื่อนพี่น้อง  กล่าวคือ  ไปปิดห้องคุยอย่างกันเองในฐานะที่เคยร่วมเทศน์ด้วยกันมาหลายธรรมาสน์แล้ว  ขอให้เปิดอกพูดกันตรง ๆ  ท่านเล่าว่า  สีกาคนนั้นบ้านอยู่ในเขตวัด  มีฐานะไม่ค่อยดีนัก  นางมารับใช้ทำความสะอาดปัดกวาดกุฏิเป็นประจำ  ท่านก็ให้เงินใช้เลี้ยงลูกและครอบครัวบ้าง  สารภาพว่าเคยจับเนื้อต้องตัวถึงขั้นกอดจูบเธอบ้าง  แต่ไม่เคยเสพเมถุนเธอเลย  ข้อนี้สาบานได้   ในที่สุดข้าพเจ้ากล่าวกับท่านว่า

           “ผมเชื่อว่าหลวงพี่ไม่ได้เสพเมถุน  เพราะสีกาก็ยืนยันว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์ถึงขั้นนั้น  แต่อย่างไรก็ดี  หลวงพี่อาบัติหนักตามปากชาวบ้าน  เป็นโลกวัชชะ  ที่แก้ไขไม่ได้แล้ว  ทางพระวินัยนั้นขอปรับท่านเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  ให้ไปอยู่กรรมตามพระวินัยบัญญัติเสีย  และ ผมขอเสนอให้หลวงพี่ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส  แล้วย้ายไปอยู่วัดใดวัดหนึ่งที่ไกลปากและตาหูชาวบ้านเมืองเก่าเถิด”

          พระมหาธวัชเชื่อและทำตามข้อเสนอของข้าพเจ้า  ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส  เข้าอยู่ปริวาสกรรม  และไปอยู่กับหลวงพ่อไซร้ วัดจูงนาง อ.เมืองพิษณุโลก  เรื่องฉาวโฉ่ของท่านก็เงียบหายไปจากเมืองสุโขทัย  หลวงพ่อห้อม กับหลวงพี่มหาดำรงค์ชอบใจที่ข้าพเจ้าจัดการเรื่องนี้ได้เรียบร้อยดี   ส่วนคดีทางฝ่ายบ้านเมืองนั้นข้าพเจ้าไม่ได้ติดตามข่าวว่า  ผลของการดำเนินคดีกับมือปืนนั้นเป็นอย่างไร/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, สิงหาคม, 2566, 10:58:16 PM
(https://i.ibb.co/G766DZT/313377669-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๖ -
          ขอกล่าวถึงพระเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าที่วัดจันทร์นอก บางคอแหลม ๓ องค์  คือ พระลิขิต  พระมหาเฉลิม  พระมหาบุญหนา  ทุกองค์เป็นชาวตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) พระลิขิตเคยมาพักอยู่เขาสมอแครงพร้อมกับข้าพเจ้า  จะให้เขาเป็นเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่งในอำเภอวังทอง (ที่ว่างเจ้าอาวาสอยู่) เขาไม่ยอมรับแล้วกลับไปกรุงเทพฯ  ต่อมาได้ลาสิกขาออกไปมีครอบครัว,  พระมหาบุญหนาเรียนจบปริญญาจากมหามงกุฎราชวิทยาลัย (มมร.)  ต่อมาสิกขาสอบเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ,  ยังเหลือแต่พระมหาเฉลิม กุสลธมฺโม เขาเรียนจบมหาจุฬาฯ (มจร.)  แต่ยังไม่ได้รับปริญญา  นัยว่าต้องให้ทำงานตามระเบียบของมหาวิทยาลัย ๒ ปีจึงได้สิทธิ์รับปริญญา  และกำลังหาที่ปฏิบัติงานตามเงื่อนไขอยู่  มหาเฉลิมบอกกับข้าพเจ้าอย่างนั้น  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้เขามาอยู่วัดไทยชุมพล  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม  และนักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์  เป็นการทำงานตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย

          กุฏิสงฆ์วัดไทยชุมพลสมัยนั้นเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้มีห้องน้ำในตัว  ปลูกเรียงเป็นแถวสองแถว (ตะวันออก-ตก) แถวเหนือ ๔ หลัง  แถวใต้ ๔ หลัง  ตรงกลางแถวเป็นกุฏิใหญ่สองชั้น  ชั้นล่างทำเป็นหอฉัน  ชั้นบนแต่เดิมนั้นเป็นที่อยู่ของเจ้าอาวาส  พระครูสุภัทรฯ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนั้น ท่านอยู่กุฏิทรงไทยประยุกต์แถวเหนือ  ส่วนกุฏิหลังใหญ่นั้นจัดไว้เป็นที่พักพระผู้ใหญ่ซึ่งมาเป็นแขกของวัด   พระมหาเฉลิม จากกรุงเทพฯ มาอยู่วัดไทยชุมพล  ข้าพเจ้าให้เขาอยู่กุฏิข้าพเจ้าชั้นบน  ข้าพเจ้าลงมาอยู่ชั้นล่างที่เป็นสำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิต  และโรงเรียนพุทธสานาวันอาทิตย์  โดยให้ช่างไม้ต่อตู้ใส่หนังสือขนาดใหญ่ตั้งกั้นกลางห้อง  หน้าตู้หนังสือเป็นที่ทำงาน  ด้านหลังตู้มีเตียงนอนสำหรับข้าพเจ้า  ในตู้หนังสือที่ทำเป็นชั้น ๆ นั้นเป็นที่เก็บเอกสารชั้นหนึ่ง  นอกนั้นข้าพเจ้าใช้เงินที่ได้จากผ้าป่าซึ่งพระมหาอุดมนำมาถวายตอนที่อยู่วัดราชธานี  จัดซื้อหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสารคดีต่าง ๆ ใส่ไว้จนเต็มตู้เลย

          พระมหาเฉลิมไม่เคยสอนนักเรียนและไม่เคยเทศน์มาก่อน  ข้าพเจ้าต้องเหนื่อยกับการแนะนำเขาในเรื่องการสอนนักธรรมและนักเรียนวันอาทิตย์  ให้เขาฝึกเทศน์ในงานเล็ก ๆ เช่น อานิสงส์หน้าศพไปถึงการเทศน์แจงธรรมาสน์เดียว  จนถึงการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา  รู้สึกว่าเขาเก่ง  “ธรรมาสน์เตี้ย”  คือคุยกับญาติโยมเก่ง แต่พอขึ้นธรรมาสน์เทศน์แล้วกลับตรงกันข้าม  ข้าพเจ้าไม่กล้าให้เขาไปเทศน์ต่างถิ่นโดยไม่มีข้าพเจ้าไปด้วย  เพราะเกรงคู่เทศน์ต่างถิ่นจะทำให้เขาเสียหน้า  เขามาอยู่วัดไทยชุมพลได้ปีเศษ  พระมหาทองสุข เลขานุการเจ้าคณะอำเภอลาสิกขาไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู  ตำแหน่งเลขาฯ จึงว่างลง  พระครูสุภัทรฯ จะตั้งข้าพเจ้าเป็นเลขาฯ แทน  ข้าพเจ้าขอให้ท่านตั้งพระมหาเฉลิมแทน  ตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอมีนิตยภัตต์ (เงินเดือน)  พระมหาเฉลิมได้รับเงินเดือนจากจากวัดไทยชุมพลอยู่แล้วเดือนละ ๗๐๐ มาได้จากตำแหน่งเลขาฯ อีกทางหนึ่ง  รวมแล้วเขามีเงินเดือนพันกว่าบาท

          มีกฎระเบียบที่ออกตาม พรบ. คณะสงฆ์ให้ทุกวัดทั่วประเทศจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดและให้จังหวัดรวบรวมบัญชีนั้นส่งไปยังเจ้าคณะภาค  เจ้าคณะภาคส่งต่อเจ้าคณะหน  เจ้าคณะหนนำเข้าสู่มหาเถรสมาคมต่อไป  เรื่องนี้เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับสมภารเจ้าวัด  เจ้าคณะตำบล  เจ้าคณะอำเภอเป็นอย่างมาก  มีวัดในปกครองของข้าพเจ้าวัดหนึ่ง  เจ้าอาวาสเป็นพระครูสัญญาบัตรผู้เฒ่า  ทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่งข้าพเจ้าไม่ถูกต้อง  ข้าพเจ้าให้ไปทำใหม่  ท่านก็เอาไปให้ครูที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนใกล้วัดช่วยทำให้แล้วส่งมา  ตรวจดูแล้วก็ไม่ถูกต้องอีก  ทางอำเภอ  จังหวัดก็เร่งให้ส่ง  เพราะใกล้เวลาที่จะต้องส่งไปให้ภาคแล้ว  ข้าพเจ้าก็เรียกเอาตัวมาเพื่อช่วยทำบัญชีให้ถูกต้อง  ถามถึงรายรับว่า  รายนี้รับมาจากไหน  ท่านบอกว่าจำไม่ได้  รายจ่ายนี้จ่ายไปไหน  ก็บอกว่าไม่รู้  ซักไปซักมาท่านตอบวนเวียนจนข้าพเจ้าโมโหมากถึงกับจับคอท่านเค้น เด็กลูกศิษย์นักเรียนวันอาทิตย์ต้องเข้าห้ามแกะมือออก  หลวงพ่อห้อม รองเจ้าคณะจังหวัดผู้ทำงานแทนหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ (ที่อาพาธรักษาตัวอยู่กรุงเทพฯ)  บอกให้ข้าพเจ้าเสนอเรื่องถอดถอนพระครูองค์นี้ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส  ข้าพเจ้ารีบทำเรื่องเสนอถอดถอนผ่านอำเภอขึ้นไปถึงมือหลวงพ่อห้อม  ท่านเก็บเรื่องเงียบอยู่ ๗ วัน  จึงไปตามเรื่อง  ท่านบอกว่า   “อย่าเพิ่งถอดออกเลย  สงสาร  มันแก่มากแล้ว  ถอดออกจากตำแหน่งมันก็จะอายเขา”   ข้าพเจ้าฟังแล้วพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเลย

          กลับมานอนคิดอยู่สามวันสามคืน  จึงตัดสินใจทำใบลาออกจากรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองเก่า  ให้เหตุผลว่าจะเข้าไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ  ข้าพเจ้าจะเรียนต่อจริง ๆ  คราวนี้ไม่คิดจะเรียนบาลีดอก  แต่จะเรียนวิชาการทางโลก  ด้วยตอนนั้นไม่มีวุฒิการศึกษาทางโลกกะเขาเลย  ตั้งใจจะไปเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม  ติดต่อพระมหาอุดมไว้แล้วว่าจะเข้าอยู่สำนักวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม  ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามวัดอินทรวิหาร/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, สิงหาคม, 2566, 02:32:14 AM
(https://i.ibb.co/9qwndjG/1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดใหม่อมตรส (วัดบางขุนพรหม)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๗ -
          วัดใหม่อมตรส (อ่านว่า อะมะตะรด)ที่ข้าพเจ้าจากวัดไทยชุมพล เมืองสุโขทัย  เข้าไปอยู่นี้มีประวัติความเป็นมาย่อ ๆ ว่า  “วัดใหม่อมตรส หรือ วัดบางขุนพรหม  เป็นวัดราษฎร์  สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๒ แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร  มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา  สร้างขึ้นสมัยกรุงธนบุรี  ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๑ ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ เดิมทีนั้นวัดมีชื่อว่า  วัดวรามะตาราม  แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น  วัดอำมาตยรส  หรือ  วัดอมฤตยรสในปี พ.ศ. ๒๔๖๐   ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑–๒๔๑๓  ได้ทำการก่อสร้างปฎิสังขรณ์วัดใหม่เริ่มดำเนินการโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)  ว่ากันว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี  และอยู่บนที่ดอนห้อมล้อมไปด้วยเรือกสวนและไร่นา  เข้าใจว่าเป็นวัดที่ประชาชนในละแวกนั้นช่วยกันสร้างและบูรณะสืบต่อ ๆ กันมา  เมื่อปีจอ พุทธศักราช ๒๓๒๑  เจ้าอินทรวงศ์ราชโอรสในพระเจ้าธรรมเทววงศ์  ผู้ครองนครศรีสัตนาครหุต  ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี  ต่อมาครั้นสร้างกรุงเทพมหานครเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่ทว่าวัดบางขุนพรหมไม่เคยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เลยสักครั้งเดียว  สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้ปรักหักพังลง  สืบต่อมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕  เสมียนตราด้วง พร้อมกับชาวบ้านในย่านบางขุนพรหมและท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ร่วมใจกันบริจาคจตุปัจจัยจัดการสร้าง  และซ่อมแซมวัดบางขุนพรหมขึ้นมาใหม่ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  นอกจากนั้นแล้วยังได้จัดสร้างพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ประดิษฐานไว้ที่หน้าวัดบางขุนพรหมเป็นพิเศษอีกด้วย

          พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างถนนวิสุทธิกษัตริย์ผ่านกลางวัด จึงกลายเป็น ๒ วัด คือวัดบางขุนพรหมใน (วัดใหม่อมตรส) และวัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร)   วัดใหม่อมตรสมีชื่อเสียงในด้านวัตถุมงคล คือ พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม รับเป็นประธานในการจัดสร้าง  พระพิมพ์สมเด็จ (พระเครื่อง) ที่สร้างจากผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห และมหาราช  ตามที่เสมียนตราด้วง ต้นตระกูล ธนโกเศศ ได้ขออนุญาตจัดสร้างขึ้น  เพื่อบรรจุในองค์เจดีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓–๒๔๑๕ โดย  เจ้าประคุณสมเด็จได้โขลกตำผง  ผสมผงวิเศษ  และอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง”

          วัดที่อยู่ในกลุ่มวัดใหม่อมตรสซึ่งพระเดินบิณฑบาตถึงกัน  ทางด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือก็มี  วัดตรีทศเทพ (ธรรมยุติ)  วัดปรินายก (มหานิกาย)  วัดมงกุฏกษัตริยาราม (ธรรมยุติ)  ทางด้านเหนือก็มีวัดอินทรวิหาร (มหานิกาย)  วัดนรนาถสุนทริการาม (ธรรมยุติ)  ทางด้านใต้ก็มีวัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุติ)  วัดชนะสงคาม (มหานิกาย)  ทางด้านตะวันตกก็มี  วัดเอี่ยมวรนุช (มหานิกาย)  วัดสามพระยา (มหานิกาย)  วัดสังเวชวิศยารามหรือวัดบางลำพู (มหานิกาย)  แม่น้ำลำคลองก็มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางด้านตะวันตก  คลองบางลำพูอยู่ทางด้านใต้  คลองผดุงกรุงเกษมอยู่ทางด้านเหนือ  ถนนสายสำคัญก็มีถนนสามเสนอยู่ทางด้านตะวันตก  ถนนวิสุทธิกษัตริย์ และกรุงเกษมอยู่ทางด้านเหนือ  ถนนประชาธิปไตยอยู่ทางด้านตะวันออก  มีซอยสำคัญ ๆ อยู่ทางด้านใต้วัด ๓ ซอย  คือซอยวรพงศ์ ซอยพระสวัสดิ์ ซอยนานา และยังมีซอย/ตรอก ซอกเล็กซอกน้อยอีกหลายตรอกซอกซอย

          ปีพ.ศ. ๒๕๑๓ ที่ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดใหม่อมตรสนั้น  วัดนี้ว่างเจ้าอาวาสด้วยพระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง) มรณภาพลงในปี ๒๕๑๒  เจ้าคณะตำบลได้ตั้งพระครูสังฆรักษ์ลำภูผู้เป็นพระอายุพรรษาสูงสุดในวัดนั้นให้รักษาการเจ้าอาวาส  พระครูบริหารคุณวัตร (ชม สิรินธโร) ผู้มีบทบาทสำคัญในวัดนี้จัดให้ข้าพเจ้าอยู่กุฏิไม้สองชั้นรูปทรงแบบโบราณ  ซึ่งเป็นกุฏิพระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง) อดีตเจ้าอาวาส  ชั้นล่างที่เคยเป็นห้องอยู่ประจำของอดีตเจ้าอาวาสว่าง  ยังไม่มีใครกล้าเข้าอยู่แทนอดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปไม่นาน  ข้าพเจ้าจึงเข้าอยู่แทนอดีตท่านเจ้าอาวาสนั้น  ชั้นบนมีพระบำรุงเพื่อนข้าพเจ้าจากวัดจันทร์นอก  กับพระมหาอุดม  จากวัดประดู่ฉิมพลี (องค์เป็นน้องเณรของพระเต็มสมัยอยู่วัดหัวเวียง)  อยู่ด้วยกันสององค์  สำหรับพระครูเส็ง (อมรคณาจารย์) เจ้าของกุฏิผู้ล่วงลับแล้วนั้น  ทราบว่าท่านเป็นชาวเขมรมาจากเมืองพระตะบองสมัยเดียวกันกับนายควง อภัยวงศ์/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, สิงหาคม, 2566, 01:47:35 AM
(https://i.ibb.co/K23g6Ph/102814784-1.jpg) (https://imgbb.com/)
พระครูบริหารคุณวัตร (ชม สิรินฺธโร)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๘ -
          รอบ ๆ กุฏิที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น  ทางด้านตะวันออกคือกุฏิสงฆ์ที่อยู่ของพระชาวอยุธยามีพระครูสังฆรักษ์ลำภู  รักษาการเจ้าอาวาสเป็นประธานกลุ่ม  ด้านเหนือเป็นศาลาสำหรับตั้งศพบำเพ็ญกุศลและเมรุเผาศพ, อุโบสถ  ด้านตะวันตกเป็นศาลาการเปรียญ  และกุฏิสงฆ์เป็นตึกสองชั้นสองแถว  พระเณรที่อยู่ด้านนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวอีสาน  ด้านใต้เป็นกำแพงวัดกั้นบ้านเรือนชาวชุมชนวัดใหม่อมตรส  และกุฏิหลังใหญ่ติดกับกุฏิของข้าพเจ้าเป็นที่อยู่ของพระครูบริหารคุณวัตร (ชม)  ศาลาการเปรียญเป็นอาคารตึกสองชั้นมีชานและหลังคาติดเชื่อมกันกับกุฏิของข้าพเจ้า  และเป็นที่ตั้งของสมาคมแพทย์แผนโบราณที่แยกมาจากวัดโพธิ์ท่าเตียน

          พระครูบริหารคุณวัตร (ชม) เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา (เพื่อนกันกับหลวงพ่อคูณ)  ที่ข้าพเจ้าว่าท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในวัดนี้มากก็เพราะ  ท่านในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส (พระครูอมรคณาจารย์(เส็ง)  เป็นผู้ดำเนินการเปิดกรุสมเด็จบางบางขุนพรหมเมื่อปี ๒๕๐๐  ท่านเล่าให้ฟังว่า  ด้วยมีคนร้ายลอบขุดเจาะเจดีย์ซึ่งเป็นกรุพระพิมพ์สมเด็จฯ หลายครั้งแล้ว  จนถึงปี ๒๕๐๐ มีการขุดเจาะทำให้องค์เจดีย์เสียหายมาก  จึงตัดสินใจทำการเปิดกรุ  โดยเชิญพลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรงมหาดไทยมาเป็นประธาน  นำพระสมเด็จทั้งองค์ที่สมบูรณ์และที่แตกหักให้ประชาชนเลือกเช่าบูชา  รายได้ทั้งหมดสมทบทุนสร้างอุโบสถของวัดขึ้นใหม่  เงินรายได้ไม่มากพอ  จึงคิดจัดทำพระพิมพ์สมเด็จขึ้นมาใหม่  โดยใช้พิมพ์เดิมส่วนผสมเนื้อตามสูตรท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  แล้วใช้พระสมเด็จที่แตกหักจากกรุเจดีย์ของวัดนั้นผสมเพื่อความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เริ่มสร้างพระพิมพ์สมเด็จแต่ปี ๒๕๐๑ เป็นต้นมา  พร้อมกับการก่อสร้างอุโบสถ  และบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์กรุพระสมเด็จฯ มาแล้วเสร็จในปี ๒๕๐๘ ทั้งอุโบสถ เจดีย์และพระพิมพ์สมเด็จฯ ๑๒ พิมพ์ รวม ๑๖๘,๐๐๐ องค์

          ครั้นการสร้างทุกอย่างเสร็จแล้ว  จึงกำหนดการพิธีพุทธาภิเศกและผูกพทธสีมาอุโบสถขึ้นตามกำหนดการดังนี้:

          - วันอังคารที่ ๔ มกราคม พ. ศ . ๒๕๐๙ เวลา ๑๕.๕๕ น. พล. อ. ประภาส จารุเสถียร จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พล .ท. กฤษณ์ สีวะรา อ่านรายงานและประธานกล่าวตอบ  พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เวลา ๒๐.๒๗ น. พระสงฆ์ ๔ รูป เริ่มสวดพุทธาภิเศก พระคณาจารย์นั่งปรกบริกรรมปลุกเสก
          วันพุธที่ ๕ มกราคม ทำการแจกสมนาคุณ พระรูปฯ และพระพิมพ์ให้ประชาชนร่วมบูชาทำบุญ  ทั้งนำบรรจุกรุ  และนำบูชาติดตัวกลับบ้าน
          วันพฤหัสบดี ที่ ๖ - 8 มกราคม พ .ศ. ๒๕๐๙ บำเพ็ญกุศลปิดทองลูกนิมิต  พร้อมทั้งให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคบูชาพระพิมพ์
          วันอาทิตย์ ที่ ๙ มกราคม เวลา ๑๖.๔๐ น. อันเชิญศิลาจารึกพระปรมาภิไธย  และพระฤกษ์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประดิษฐาน ณ พระอุโบสถแล้วประกอบประกอบพิธีเททองหล่อ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตัก ๑๖ นิ้ว จำนวน ๑ องค์ รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หน้าตัก ๑๖ นิ้ว จำนวน ๑ องค์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว จำนวน ๑๐๙ องค์
          วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม เวลา ๑๙.๓๐ น. พระสงฆ์ ๘๔ รูป  เจริญพระพุทธมนต์ภายในอุโบสถ เวลา ๒๑.๐๑ น.  สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ ประกอบพิธีผูกพันธสีมา

          พระสมเด็จทั้ง ๑๒ พิมพ์ที่สร้างใหม่นี้  บรรจุไว้ในเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์  อีก ๘๔,๐๐๐ องค์จัดจำหน่ายให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อหารายได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญหลังใหม่  ในเวลาไม่กี่ปีก็ได้เงินสร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง  กุฏิสงฆ์เป็นตึกห้องแถวสองชั้น  สองแถว  และยังมีส่วนสมทบทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดใหม่อมรสอีกด้วย

          พระครูชม (บริหารคุณวัตร) เป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีดี  จึงมีผู้คนเคารพนับถือมาก  ในวงการพระสงฆ์มีเพื่อนสนิทกันหลายองค์  เช่น   พระครูถาวรวรคุณ (ม.ล.ประดิษฐ์ ศิริวงศ์) เจ้าอาวาสวัดเอี่ยมวรนุช   พระครูวิริยานุวัตร (ฟุ้ง นรสาโร) วัดบางขัน อ .คลองหลวง   และพระครูแจ่ม วัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น   ท่านพระครูวัดเอี่ยมวรนุช เป็นต้นสื่อให้พระครูชมได้รู้จักคุ้นเคยกับพระครูทิม วัดช้างให้ ปัตตานี  ผู้สร้างหลวงพ่อทวดจนโด่งดัง  ท่านเข้ากรุงเทพฯทุกครั้งก็มาพักกับพระครูวัดเอี่ยม  มาคุยกับพระครูชมบ้าง  พระครูชมไปคุยกับท่านที่วัดเอี่ยมบ้าง  และเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้รู้จักมักค้นกับท่านไปด้วย  นอกจากท่านจะรู้จักคุ้นเคยกับพระผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว  ยังรู้จักข้าราชการพลเรือน  ทหารตำรวจผู้หลักผู้ใหญ่มากมาย  ข้าพเจ้ากับท่านก็ถูกอัธยาศัยกันดี  เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าไม่ขาดเอกลาภ  ข้าราชการ  พ่อค้า  มีงานทำบุญอะไร ๆ ก็มานิมนต์พระครูชม  และมักจะมีข้าพเจ้าติดไปด้วยเสมอ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, สิงหาคม, 2566, 11:03:50 PM
(https://i.ibb.co/NC9jFXn/unnamed-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๙ -
          กุฏิของข้าพเจ้ามีห้องน้ำอยู่ด้านนอก  ข้างห้องน้ำด้านเหนือมีกุฏิเล็กอีกหลังหนึ่งเป็นอาคารไม้  ไม่มีพระอยู่ประจำจึงให้เด็กที่เป็นศิษย์พระบำรุงจากพรหมพิราม พิษณุโลก  กับศิษย์พระมหาอุดมจากหัวเวียง อยุธยา เข้าอยู่อาศัย  เด็กสองคนนี้เรียนระดับ ป.ว.ช. ในสถานที่เดียวกันคือช่างกลบางซ่อน  ข้าพเจ้าทั้งสามองค์ฉันอาหารรวมกันที่หน้าห้องกุฏิที่อยู่  ยามเช้าพวกเราออกเดินรับอาหารบิณฑบาต  โดยต่างคนต่างเดินไปคนละสายทางตามอัธยาศัย  ไม่มีศิษย์ติดตาม  เพราะเด็กทั้งสองต้องไปโรงเรียนกันแต่เช้า  เมื่อกลับจากเดินรับบิณบาตรก็เอาอาหารที่ได้มารวมกัน  ฉันเช้าแล้วเก็บบางส่วนไว้ฉันเพล  ฉันเพลแล้วส่วนที่เหลือเก็บไว้ให้เด็กลูกศิษย์  พวกเขากลับจากเรียนก็กินอาอาหารที่เหลือจากพวกเรา  จัดการล้างบาตรและภาชนะที่ใส่อาหารเรียบร้อยทุกวัน

          ดังได้กล่าวแล้วว่ากุฏิของข้าพเจ้าเป็นอาคารไม้รูปทรงโบราณหลังใหญ่  กว้างสองห้องยาวสองห้อง  สูงสองชั้น  ชั้นล่างห้องหน้าปล่อยโล่งเป็นที่รับแขกและที่ฉันอาหาร  ห้องหลังทำฝาไม้กระดานกั้นเป็นห้องนอน  ในห้องนี้มีตู้ชั้วตั้งกั้นห้องทางด้านเหนือมีเตียงนอน  ด้านใต้มีโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือและที่วางกาน้ำชา  มีบันไดขึ้นชั้นบนตรงประตูเปิดปิดเข้าออก  พรรคพวกเรียกกันว่า  กุฏิสีฟ้า  เพราะทาสีฟ้าทั้งหลัง  ข้าพเจ้านอนบนเตียงที่พระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง) อดีตเจ้าอาวาสเคยนอนประจำ  มีบางคนถามว่าไม่กลัวผีพระครูเส็งหรือ  ข้าพเจ้าก็ว่าไม่เคยเจอผีมาก่อนจึงไม่กลัว  ถึงแม้จะเจอผีก็ไม่กลัว  อยากเจออยู่เหมือนกัน

          การกลับเข้าอยู่กรุงเทพฯ อีกครา  ข้าพเจ้าได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนนักกลอนมากขึ้น  และได้รู้จักตัวจริงของนักกลอนระดับแนวหน้ามากขึ้น  เพื่อนนักกลอนในรายการกวีสวรรค์หลายคนที่จากภูธรเข้าอยู่กรุงเทพฯ  เขาเป็นพระบ้าง  เป็นฆราวาสบ้าง  รู้จักแต่ชื่อและผลงานของเขาทางรายการกวีสวรรค์  และรายการกลอนอื่น ๆ โดยไม่เคยรู้จักตัวตนกันมาก่อน  ผู้ที่ถือว่าเป็นเพื่อนรักที่ไม่รู้จักหน้าค่ากันจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็มี อรัญ สิทธิศรี จากสิงห์บุรี   จิตรกร เมืองสวรรค์ จากนครสวรรค์   อรัญ สิทธิศรี เป็นพระมหาอยู่วัดโบสถ์ สามเสน   จิตรกร เมืองสวรรค์ (มังกร แพ่งต่าย) ลาสิกขาและมีครอบครัวอยู่ที่ราษฎร์บูรณะ  วัดโบสถ์สามเสนอยู่ไม่ไกลจากวัดใหม่อมตรสนัก  มีรถเมล์ประจำทางจากสนามหลวง  ตามถนนสามเสนขึ้นไปทางเหนือหลายสาย  ข้าพเจ้านั่งรถเมล์จากบางขุนพรหมไปวัดโบสถ์สามเสนได้อย่างสะดวกสบาย  จึงไปหาพระมหาอรัญบ่อยมาก

          การไปหาอรัญ สิทธิศรี บ่อย ๆ ทำให้รูจักคุ้นเคยกับนายทหารชั้นประทวนที่ชอบกลอนเช่นเดียวกัน  ซึ่งทำงานอยู่สวนรื่นฤดีหลายนาย  เป็นเหตุให้รวมตัวกันจัดตั้งชมรมกลอนขึ้นอีกชมรมหนึ่งตอนแรกชื่อว่า  “รื่นฤดีศรีวรรณศิลป์”  ที่ชื่ออย่างนั้นเพราะพวกนายทหารชั้นประทวนเหล่านั้น มี จ่าเอกสมพงษ์  จ่าเอกวิจิต  สิบเอกสุขสันต์  สิบเอกบุญส่ง  และอีกหลายคน  ทำงาน กอ.รมน. อยู่ในสวนรื่นฤดี  จึงขอใช้ชื่อนี้มาเป็นชื่อชมรมกลอนของเรา  ที่สำคัญคือเราใช้เครื่องมือเช่นพิมพ์ดีด  กระดาษ  กระดาษไข  เครื่องโรเนียว  ของ กอ.รมน.ผลิตสื่อของพวกเรา  ข้าพเจ้าได้รู้จักนายทหารผู้ใหญ่ใน กอ.รมน. สองท่าน คือ พ.อ. (พิเศษ) หาญ พงศิฏานนท์  และ พ.อ.นิวัติ สุนทรภู่  ท่านนิวัตินี้เป็นชาวอำเภอศรีสำโรงจังหวัดสุโขทัย  นายทหารทั้งสองท่านนี้เองที่  “ไฟเขียว” ให้เราใช้วัสดุอุปการณ์ของทางราชการได้  โดยท่านทำไม่รู้ไม่เห็นเสีย

          ประธานชมรื่นฤดีวรรณศิลป์คนแรกยกให้อรัญ สิทธิศรี เป็นไปอย่างไร้คู่แข่ง  เพราะเขาเขียนกลอนเก่งและดีกว่าทุกคนในพวกเรายามนั้น  อรัญ แต่งกลอนรักหวานมาก  ชื่อเสียงของเขาโด่งดังจากคอลัมน์กลอนชื่อ  “ประกายเพชร,  เกล็ดดาว”  ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้แต่งกลอนลงในคอลัมน์นี้  เพราะไม่ถนัดแต่งกลอนขนาดสั้นอย่างพวกเขา  ถนัดแต่กลอนยาว ๖ บทขึ้นไป

          “รื่นฤดีศรีวรรณศิลป์”  แม้จะเป็นชมรมนักกลอนที่ตั้งขึ้นใหม่แต่เติบโตเร็ว  จ่าเอกวิจิตร  กับจ่าเอกสมพงษ์  และ สิบเอกสุขสันต์  เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดทำวารสารรื่นฤดีศรีวรรณศิลป์ฉบับโรเนียวแจกจ่ายให้สมาชิกและชมรมกลอนต่าง ๆ เป็นรายเดือน  นักเขียนของเรามีหลายคน (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) จึงไม่มีปัญหาในเรื่องต้นฉบับ
 
          ในปีเดียวกันนั้น (๒๕๑๓) ได้เข้าร่วมงานกับคณะสงฆ์ตำบลบางพลัด-บางอ้อเขต ๒  อ.บางกอกน้อย จ.ธนบุรี  ได้จัดทำโครงการสอน  “นักเรียนชั้นนวกภูมิ“ ขึ้น  โดยพระครูรัตโนภาสสุนทร เจ้าอาวาสวัดฉัตรแก้วจงกลนี (บางอ้อ)  เจ้าคณะตำบลบางพลัด-บางอ้อ เขต ๒ เป็นผู้อำนวยการ  พระครูกิตติสุนทร (สมนึก) เจ้าอาวาสวัดเทพากรเป็นอาจารย์ใหญ่  “นวกะ” เป็นชื่อเรียกพระภิกษุผู้บวชใหม่  วัดต่าง ๆ ในเขตตำบลนั้นได้ส่งพระบวชใหม่ในพรรษานั้นเข้าเรียน  คือ วั ดฉัตรแก้วจงกลณี ๒๓ รูป วั ดบางพลัด ๑๙ รูป  วัดเทพนารี ๑๒ รูป  วัดเทพากร ๖ รูป  วัดภาณุรังสี ๖ รูป  วัติวิมุตยาราม ๖ รูป  วัดนอกเขตที่ส่งเข้าเรียนสมทบ คือ วัดแก้วฟ้า ๑๑ รูป  วัดเชิงกระบือ ๒ รูป  รวม ๘๒ รูป  สามเณร ๑ รูป  เป็น ๘๓ รูป

           ก็แล้วข้าพเจ้าอยู่ต่างวัดต่างถิ่น  เข้าไปร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร  ไว้วันพรุ่งจะเล่าให้ฟังครับ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, สิงหาคม, 2566, 10:46:46 PM
(https://i.ibb.co/4tRt9Fm/bangkok-1128314-640-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๐ -
          การที่ข้าพเจ้าข้ามฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากตะวันออกไปตะวันตก  ข้ามจังหวัดกรุงเทพฯ ไปกรุงธน  เพื่อสอนพระนวกะนั้นก็เพราะพระครูกิตติสุนทร (สมนึก ป.ธ.๕) เจ้าอาวาสวัดเทพากร บางพลัด เป็นผู้ชักนำไป  พระครูกิตติสุนทร เป็นศิษย์เจ้าคณะภาค ๕ ที่ปกครองดูแลวัดในภาค ๕ (จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง) ท่านเคยติดตามเจ้าคณะภาคขึ้นไปตรวจการคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัย  จึงรู้จักกับข้าพเจ้าและคบหาสมาคมกันในฐานะนักเทศน์เรื่อยมา  จนเมื่อท่านเจ้าคุณไสว (พระเทพวิริยาภรณ์) เจ้าคณะภาค ๕ ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดยานนาวา  พระมหาสมนึกจึงเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพากรแทนท่านเจ้าคุณอาจารย์  ครั้นทราบว่าข้าพเจ้าย้ายเข้ามาอยู่วัดใหม่อมตรส จีงติดต่อชักชวนเข้าร่วมงาน  “โครงการสอนนักเรียนชั้นนวกภูมิ”  ของคณะสงฆ์ตำบลบาพลัด-บางอ้อ  ที่ท่านเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้น  ด้วยรู้ฝีมือในการสอนพระปริยัติธรรม  และนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของข้าพเจ้าที่สุโขทัยดีอยู่แล้ว

          ก่อนจะเปิดโครงการสอนพระนวกะ (พระบวชใหม่)  พระครูกิตติสุนทรกับข้าพเจ้าได้พบกันในงานวัดแห่งหนึ่งที่วังน้อย อยุธยา  โดยมีผู้นิมนต์ทั้งพระครูกิตติสุนทรและข้าพเจ้าไปเทศน์  ท่านปรารภกับข้าพเจ้าว่าใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว  พระบวชใหม่ที่จะเอา (จำ) พรรษามีน้อยเหลือเกิน  เปิดสอนนักธรรมในแต่ละวัดก็มีนักเรียนแค่ไม่กี่องค์  ดูโหรงเหรง  ไม่มีกำลังใจทั้งผู้เรียนและผู้สอน  อยากจะชวนหัววัดต่าง ๆ ในตำบลบางพลัด-บางอ้อ เขต ๒ เอาพระนวกะเข้ารวมเรียนในที่เดียวกันจะเป็นไปได้ไหม  ข้าพเจ้าก็เห็นดีเห็นงามด้วย  เพราะเคยทำที่วัดไทยชุมพลมาแล้วได้ผลดีมาก  ดังนั้นเมื่อกลับจากเทศน์  ท่านก็ไปปรึกษากับพระครูรัตโนภาสสุนทร  เจ้าคณะตำบลบางพลัด-บางอ้อ เขต ๒  ท่านจึงประชุมเจ้าอาวาสในปกครองของท่าน  ชักชวนให้นำพระนวกะเข้าร่วมเรียนกันในวัดฉัตรแก้วจงกลณีของท่าน  พระครูกิตติสุนทรจึงขอให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมโครงการนี้  ข้าพเจ้าว่างงานสอนอยู่แล้วจึงรับทำงานด้วยความเต็มใจ

          พระครูกิตติสุนทรกับข้าพเจ้าร่วมกันวางโครงการสอนพระนวกะใช้ชื่อว่า  “นักเรียนชั้นนวกภูมิ”  รวมพระภิกษุผู้บวชใหม่จำพรรษาในวัดต่าง ๆ (ดังได้กล่าวแล้วเมื่อวันวานนี้)  วิชาที่สอนก็เลือกเอามาจากนักธรรมชั้นตรี  ชั้นโท  ชั้นเอก  ในส่วนที่ควรให้พระบวชใหม่เพียงพรรษาเดียวได้เรียนรู้กัน  คณะอาจารย์ผู้สอนประกอบด้วย

          พระครูกิตติสุนทร  ทำหน้าที่สอนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม  และ ธรรมะ  โดยเน้นเรื่องมงคลสูตร
          วิชาพุทธประวัติ  พระปลัดอภินันท์ นาคเขโม ทำหน้าที่สอน เริ่มเรื่องแต่ชมพูทวีปและประชาชนก่อนพุทธกาล  จนเข้าสู่ยุคปฐมโพธิกาล  มัชฌืมกาล  ปัจฉิมกาล  ให้รู้เรื่องวงศ์ศากยะ-โกลิยะ การประสูติ ออกผนวช บำเพ็ญความเพียร ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า  การบำเพ็ญพุทธกิจ  จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน  และประวัติศาสตร์พุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน
          วิชาวินัย พระปรีชา เขมจิตฺโต วัดเทพากร ทำหน้าที่สอน พระองค์นี้มีความรู้ทางกฎหมาย  จบ น.บ. จากม.ธรรมศาสตร์แล้วมาบวชเรียนจบ น.ธ.เอก  จึงนำเรื่องกฎหมายทางบ้านเมืองมาเปรียบเทียบกับพระวินัยบัญญัติได้เป็นอย่างดี
          วิชาธรรมะภาคคิหิปฏิบัติและศาสนพิธี พระมหาประยงค์ สุวโจ วัดบางพลัด ทำหน้าที่สอน   นอกนี้ยังมีผู้ช่วยอาจารย์ คือ พระครูวิมุตยาภรณ์ (สง่า ป.ธ. ๕) วัดวิมุตยาราม   พระมหาพิกุล ธมฺมรํสี ป.ธ. ๖ วัดเทพากร   พระมหาผล กมโล ป.ธ.๖ วัดบางพลัด  ทำหน้าที่สอนในช่วงเวลาที่อาจารย์ประจำไม่ว่างมาสอนได้

          การเดินทางไปสอนนักเรียนนวกภูมิของข้าพเจ้า  นั่งรถเมล์ประจำทางจากบางขุนพรหมไปลงที่เกียกกาย  เดินต่อไปไม่ไกลนัก  ลงเรือข้ามฟากที่ท่าน้ำวัดแก้วฟ้าจุฬามณีซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดฉัตรแก้วจงกลณี  การสอนนักเรียนพระนวกะที่นี่ไม่หนักเหมือนสอนพระเณรที่สุโขทัย  เพราะพระนักเรียนที่นี่มีระดับความรู้ใกล้เคียงกัน  อย่างต่ำท่านก็เรียนจบชั้นมัธยมต้น  มีบ้างที่จบชั้นปริญญาตรีแล้ว  ข้าพเจ้าปรับระดับการสอนให้สูงขึ้นกว่าที่เคยสอนมาเพื่อให้เหมาะแก่คุณวุฒิของผู้เรียน  แทนที่จะสอนแบบจ้ำจี้จ้ำไชในแบบเรียน  ก็เป็นสอนแบบบรรยายเป็นช่วง ๆ ให้นักเรียนซักถามเป็นระยะ ๆ การสอนการเรียนวิชาพุทธประวัติของข้าพเจ้าจึงสนุก  ถูกอกถูกใจของนักเรียน  พวกเขาซักถามเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่ได้ยินได้ฟังมาไม่ตรงกับที่ข้าพเจ้าบรรยาย ว่า   “อย่างนั้นจริงมั้ย  อย่างนี้จริงมั้ย”   เป็นต้น   ปรากฏว่าในวันที่ข้าพเจ้าสอนวิชาพุทธประวัติจะไม่มีนักเรียนขาดเรียนเลย

          การทำงานร่วมกันคราวนี้เป็นสายใยโยงให้เราผูกพันกันใกล้ชิดมากขึ้น  จนกลายเป็นเพื่อนคู่เทศน์อีกคูหนึ่งในวงการพระนักเทศน์  “แห่งลุ่มเจ้าพระยา” (ว่าเข้าไปนั่น)  ท่านพระครูกิตติสุนทรเป็นชาวอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี  จึงมีสนามเทศน์อยู่ในแถบตั้งแต่ชัยนาทลงมาสิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี  ข้าพเจ้ากับท่านได้วนเวียนเทศน์อยู่ในท้องถิ่นดังกล่าว  พระครูกิตติสุนทรถนัดเทศน์แบบสมมุติเป็นตัวละครในเรื่องชาดกต่าง ๆ และนิทานธรรมบท  ถ้าว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ ท่านไม่ค่อยถนัดนัก  เวลามีใครนิมนต์ท่านเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ธรรมะล้วน ๆ ท่านจะรับแล้วขอให้ข้าพเจ้าไปแทนเสมอ  เพราะข้าพเจ้าไม่เกี่ยงที่จะเทศน์ทุกรูปแบบอยู่แล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, สิงหาคม, 2566, 10:47:13 PM
(https://i.ibb.co/pfFYCcg/sanamluang-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๑ -
          ณ ปากตรอกวัดอินทรวิหารตรงข้ามกับวัดใหม่อมตรส  มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่ง  เป็นร้านกาแฟดัง  เพราะเป็นที่ชุมนุมนักกลอนอาวุโสเช่น  อนันต์ สวัสดิพละ  สนธิกาญน์ กาญจนาศน์  สำรอง สิทธิแพทย์  เป็นต้น  ท่านใช้ชื่อชมรมนี้ว่า  “จิบน้ำชาวันอาทิตย์”  ข้าพเจ้าเป็นนักกลอนรุ่นเยาว์สำหรับพวกท่านเหล่านั้น  มีบางวันที่ข้าพเจ้า  “เอี้ยง”  เข้าไปในชมรมนี้  ไม่กล้าเข้าไปบ่อย ๆ  เพราะชื่อชมรมที่ว่า  “จิบน้ำชา”  แต่ความจริงคือการจิบสุรา  เป็นที่อโคจรสำหรับพระภิกษุ  เมื่อได้สมาคมกับนักกลอนเมืองกรุงมากเข้า ข้าพเจ้าก็เริ่มแต่งกลอนสั้นขนาด ๒-๓ บทได้เหมือนเพื่อน ๆ  จึงมีชื่อกำกับบทกลอนในคอลัมน์ประกายเพชร (กลอน ๒ บท)  เกล็ดดาว (กลอน ๓ บท)  ของหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ

          สถานที่พบปะสังสรรค์ของนักกลอนที่ข้าพเจ้าไปบ่อย ๆ คือ  หน้าห้องส่งกระจายเสียงสถานีวิทยุ ป.ช.ส. ๗  อยู่ใต้สะพานพุทธฝั่งธนบุรี  ที่นั้นคุณพี่นเรศ นโรปกรณ์  นักกลอนนักหนังสือพิมพ์ใหญ่  ไปปักหลักจัดรายการกลอนชื่อ   “จักรวาลกวี”   รวมกับ  กิจจา ปุรณัน กับเพื่อนนักกลอน  ที่นี่ข้าพเจ้าได้รู้จักนักกลอนรุ่นใหญ่  รุ่นกลาง  รุ่นเล็ก  ทั้งพระและฆราวาสหลายท่าน  พี่นเรศจัดสมุดเล่มใหญ่ไว้ให้นักกลอนที่ไปเยี่ยมเยือยแต่งกลอนต่อสัมผัสผันในชื่อว่า  “เกลียวกลอน”  (สมุดเล่มนี้ดูเหมือน  เวทิน ศันสนียเวศน์ จะเก็บไว้)  การที่ข้าพเจ้าไปที่นี่บ่อย ๆ มิใช่แต่ไปพบปะสังสรรค์เพื่อนนักกลอนเท่านั้น  แต่ไป  “นั่งโขกหมากรุก”  เพราะมีกระดานหมากรุกให้เล่นกันด้วย

          ที่นี่ย้อนหลังไป   “ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๐  นเรศ ร่วมกับเพื่อน ๆ  คือ  คุณกิจจา ปูรณัน  คุณกรองแก้ว เจริญสุข  และคุณวันเพ็ญ วงศ์สวัสดิ์  จัดรายการจักรวาลกวี  ที่สถานีวิทยุ ปชส.๗  ซึ่งเป็นแหล่งรวมของนักกลอนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ในยุคนั้น  เช่น  คุณปิยะพันธุ์ จำปาสุต  คุณเอนก แจ่มขำ  คุณประเสริฐ จันดำ  คุณสุรชัย จันทิมาธร เป็นต้น”   ตอนที่ข้าพเจ้าไปที่นี่ก็เป็นช่วงตอนปลาย ๆ แล้ว

          อีกแห่งหนึ่งคือ  แผงขายหนังสือเก่า  ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมสนามหลวงตรงบริเวณพระแม่นางธรณีบีบผมมวย  แผงขายหนังสือของคุณพี่ประทุม กลัดอ่ำ  จะมีนักกลอนไปชุมนุมพบปะกันที่นี่มาก  เพราะพี่ประทุมเป็นนักกลอนผู้มีอัธยาศัยไมตรีดีมาก  รู้ว่าข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือที่พิมพ์แจกในงานศพ  เมื่อมีใครไปงานศพผู้หลักผู้ใหญ่ได้หนังสือที่ระลึกมาก็มักเอามาขายให้แผงหนังสือ  พี่ประทุมจะซื้อเก็บไว้ให้ข้าพเจ้าเสมอ

          สถานที่ข้าพเจ้าชอบไปและไปบ่อย ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับวงการกลอน  แต่เป็นที่ชุมนุมของนักพู ดนักคิด นักโต้วาที  ที่นั่นคือ  “ลานอโศก”   ในวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์  ที่แห่งนี้เริ่มมีมาแต่สมัยที่ข้าพเจ้าเข้ารับการอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต  ดังที่ได้ให้การไปแล้ว  ข้าพเจ้าชอบไปฟังเขาพูดแสดงความคิดเห็น  ตีความธรรมะ  โต้วาที  บางคนพูดดี  ความคิดเห็นดี  บางคนก็ไม่เอาไหน  บางวันข้าพเจ้าก็เข้าวงแสดงความคิดเห็นสนับสนุนและโต้แย้งความคิดเห็นของบางคน  จนกลายเป็นนักพูดนักโต้วาทีไม่ด้อยกว่าใครเหมือนกัน

          นักพูดแสดงความคิดเห็นที่นี่ส่วนมากเป็นฆราวาสที่เป็นนักบวชเก่าบ้าง  ไม่ใช่นักบวชแต่เป็นผู้ศึกษาศาสนธรรมบ้าง  มีพระภิกษุสามเณรบ้าง  ในบรรดานักคิดนักพูดนักโต้วาทีเหล่านั้น  มีท่านผู้หนึ่งเป็นฆราวาส  คนในลานอโศกรู้จักกันในนามว่า  “โพธิรักษ์”  ทุกครั้งที่เขาไปร่วมแสดงความคิดเห็นและโต้วาที  จะแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงสีขาว  เขาแสดงความคิดเห็นในเรื่องธรรมะแบบแปลก ๆ  แปลคำบาลีเป็นคำไทยตามใจชอบ  เช่นว่า  ปาณา  ก็แปลว่าปลาในนา  ไม่ใช่ปลาทะเล  เป็นต้น  (คำนี้ที่ถูกต้องแปลว่า  “สัตว์มีลมปราณ)  ก่อนที่จะเข้าร่วมวงสนทนาธรรมลานอโศก  นัยว่าเขาเป็นดาราและทำงานประจำอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ย่านบางขุนพรหม  เป็นนักแต่งเพลง  มีเพลงดังเช่น  “ผู้แพ้”  และอีกหลายเพลง

          วันหนึ่งเขากล่าวว่า  “ผมสำเร็จแล้ว”  ข้าพเจ้าถามว่า  สำเร็จอะไรหรือ  เขาเล่าว่า   “เมื่อเย็นวานนี้ผมเข้าห้องน้ำถ่ายปัสสาวะ  เสร็จแล้วรูดซิปปิดเป้ากางเกง  พอรูดซิปสุด  สมองก็สว่างโล่งจนรู้สึกว่าสำเร็จธรรมแล้ว”   หลายคนฟังแล้วก็หัวเราะ  อีกหลายคนฟังแล้วก็รู้สึกทึ่ง พากันอึ้งไป  ข้าพเจ้ากล่าวแบบประชดเขาไปว่า   “เมื่อสำเร็จแล้วก็ไปบวชเป็นพระเสียซี  อย่ามัวนุ่งขาวห่มขาวกินข้าวค่ำอยู่ทำไม”   นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าคำพูดประชดของข้าพเจ้ า ทำให้เขาตัดสินใจออกบวช  ทราบว่าไปขอบวชเป็นพระที่วัดอโศการาม สมุทรปราการ  ซึ่งเป็นพระธรรมยุติ  หลังจากนั้นชีวิตความเป็นพระของท่านก็มีสภาพระหกระเหิน  จนสุดท้ายมาเป็นสมณะโพธิรักษ์  อยู่นอกกฎหมายคณะสงฆ์ไทย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, สิงหาคม, 2566, 11:17:09 PM
(https://i.ibb.co/xXKdcFR/1.jpg) (https://imgbb.com/)
ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี
อดีตนางเอกยอดนิยมละครโทรทัศน์หนังทีวีจอแก้วเมืองไทย

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๒ -
          การกลับเข้าอยู่กรุงเทพฯ ของข้าพเจ้ามีจุดประสงค์สำคัญคือเรียนวิชาการทางโลกหรือที่เรียกว่า  วิชาสามัญ  ในโรงเรียนผู้ใหญ่วัดอินทรวิหาร (ปัจจุบันเรียกการศึกษานอกโรงเรียน เรียกย่อว่า กศน.) เพราะไม่มีพื้นฐานจึงต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับ ๓ เป็นต้นไป  การเรียนไม่สม่ำเสมอ  เพราะมีกิจที่ต้องขึ้นไปสุโขทัยบ่อย ๆ  ส่วนใหญ่ก็ไปเทศน์ตามที่ทางเจ้าภาพเจาะจงนิมนต์ให้ขึ้นไปเทศน์  การเดินทางสุโขทัย-กรุงเทพฯ สมัยนั้นแม้จะมีรถ บ.ข.ส.ประจำทางก็ไม่สะดวกนัก ข้ าพเจ้าเลือกใช้การรถไฟสายเหนือจากกรุงเทพฯ ถึงพิษณุโลก  แล้วต่อรถเมล์ประจำทางไปสุโขทัย  ค่าโดยสารรถไฟข้าพเจ้าไม่ต้องเสีย  เพราะมีหนังสือยกเว้นค่าโดยสารจากกองงานพระธรรมทูต (ข้าพเจ้าเป็นพระธรรมทูตภายในประเทศ)  ยื่นหนังสือยกเว้นค่าโดยสารให้นายสถานีรถไฟ  เขาก็รับเอาไปเก็บเงินจากกองงานพระธรรมทูตตามระเบียบราชการ  เพื่อนพระนักเทศน์จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกจะรับรายการเทศน์ไว้ให้ข้าพเจ้าไปเทศน์เหมือนสมัยที่ยังอยู่สุโขทัย  บางเที่ยวก็ไปแค่พิษณุโลก  เทศน์หมดรายการแล้วก็กลับเข้ากรุงเทพฯ เรียนหนังสือต่อ  เป็นอย่างนี้เสมอ

          ชุมชนชาววัดใหม่อมตรสด้านใต้วัดมีตรอกทางเดินเลียบกำแพงวัดที่มีบ้านเรือนหนาแน่น  ตรงข้ามกุฏิข้าพเจ้าเป็นบ้านดาราดังหลังใหญ่ตั้งอยู่  เจ้าของชื่อ  แฉล้ม บัวเปลี่ยนสี   เป็นบ้านครอบครัวดาราก็ว่าได้  ข้าพเจ้ากับโยมแฉล้ม บัวเปลี่ยนสีคุ้นเคยกัน  เพราะเข้ามาสนทนากันเป็นประจำที่กุฏิพระครูชม  ตอนนั้นเขาอายุมากแล้ว  เป็นตาแก่ผมขาวโพลน  พูดเสียงสั่น  มือสั่น  เหมือนคนแก่อายุ ๘๐ ปีขึ้นไป  ได้ทราบว่าโยมแฉล้ม บัวเปลี่ยนสี (สกุลเดิม ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา)  เป็นอดีตดาราภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิก พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๕๐๐  พระเอกหนังบู๊คนแรกของเมืองไทย (ซึ่งเริ่มแสดงหนังและละครเวทีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖)  ข้าพเจ้าเรียกเขาว่า โยม เพื่อความสะดวกปาก  โยมแฉล้ม มีลูก ๖ คน  คนสุดท้องเป็นหญิงชื่อ ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี  นางเอกยอดนิยมละครโทรทัศน์หนังทีวีจอแก้วเมืองไทย  และนางรองหนังไทยแสดงภาพยนตร์คู่กันกับ เพชรา เชาวราษฎร์ หลายสิบเรื่องด้วยกัน  ลูกสาวอีกคนหนึ่งเป็นภรรยาของดารานักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง พฤหัส บุญหลง ผู้นำขวัญตา บัวเปลี่ยนสี น้องภรรยาเข้าสู่วงการแสดงจนโด่งดัง  ดาราดังอีกคนหนึ่งเป็นลูกสาวนักการเมืองจากจังหวัดนครสวรรค์  รุ่นเดียวกับขวัญตา  โยมแฉล้มรักเหมือนลูกสาวคือเยาวเรศ นิสากร  จึงเอามาเลี้ยงดูอยู่ในบ้านนี้  เยาวเรศมีสามีชื่อ สมชาย จันทวังโส  นักถ่ายภาพมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมช่างภาพ  คนนี้อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า  และชอบพอคุ้นเคยกับข้าพเจ้าพอสมควร

          โยมแฉล้มมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับพระสมเด็จบางขุนพรหม  โดยเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการเปิดกรุพระสมเด็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐  เป็นคนมองการณ์ไกล  จึงเช่าบูชาพระสมเด็จบางขุนพรหมไว้มาก  ยิ่งไปกว่านั้น  ยังขอเช่าบูชาพระสมเด็จองค์ที่ชำรุด  บิ่น  หัก  กู้เงินของธนาคารโดยเอาบ้านไปค้ำประกัน  นำเงินมาเช่าบูชาพระสมเด็จที่แตกหักไปทำการบูรณะซ่อมแซมจนเป็นองค์สมบูรณ์  ในการจัดสร้างพระสมเด็จบางขุนพรหมใหม่ที่เรียกกันว่าสมเด็จบางขุนพรหม ๐๙ นั้น  โยมแฉล้ม ช่วยแกะทำแม่พิมพ์ด้วยหลายพิมพ์   สมัยนั้นพระสมเด็จบางขุนพรหมมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นิยมของคนทั่วไปมาก  พระสมเด็จบางขุนพรหมที่โยมแฉล้มซ่อมแซมจนเป็นองค์สมบูรณ์หารอยต่อไม่ได้นั้น  มีคนขอเช้าบูชาไปหมดสิ้นในเวลารวดเร็ว  ไถ่ถอนบ้านดาราจากธนาคารคืนมาในเวลาไม่ถึงสองปี  เงินที่เหลือ เป็นกำไรสร้างความร่ำรวยให้แก่โยมแฉล้มไม่น้อย  สมัยนั้นฝีมือการซ่อมพระสมเด็จโยมแฉล้มเป็นที่หนึ่งไม่มีมีใครสู้  รอยเชื่อมต่อของพระแกใช้ผงเก่าบางขุนพรหมเป็นตัวเชื่อมจึงดูเก่าเป็นเนื้อเดียวกัน

          ทุกครั้งที่รู้ว่าข้าพเจ้าจะเดินทางขึ้นสุโขทัย  โยมแฉล้มจะเข้ามาสั่งให้ถือน้ำผึ้งสุโขทัยติดมือกลับไปฝากด้วย   แกชอบกินนำผึ้งมาก  และรู้เสียด้วยว่าน้ำผึ้งสุโขทัยดีที่สุด  ข้าพเจ้าเอาอกเอาใจด้วยหวังได้พระสมเด็จที่แกซ่อมสมบูรณ์ดีแล้วสักองค์  จึงถือน้ำผึ้งติดมือกลับไปฝากแกเสมอ  แต่ก็ไม่เคยได้พระสมเด็จสักองค์  ได้เพียงเศษเสี้ยวพระสมเด็จทีละเล็กทีละน้อยเก็บสะสมไว้  ตาแกคนนี้ขี้เหนียวชะมัดเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, สิงหาคม, 2566, 11:11:04 PM
(https://i.ibb.co/HttqNZ2/315639667-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๓ -
          มีนักกลอนรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งชื่อ พิชัย สันตภิรมย์  รู้จักกับข้าพเจ้าครั้งแรกที่ศาลาลอยหน้ากุฏิสุนทรภู่ คณะ ๖  วัดเทพธิดาราม  ตั้งแต่สมัยที่ข้าพเจ้ายังอยู่วัดราชธานี สุโขทัย  ทุกครั้งที่ล่องลงกรุงเทพฯ จะแวะเยือนกุฏิสุนทรภู่อันเป็นที่ชุมนุมนักกลอนเสมอ  ดูเหมือนว่า พิชัย สันตภิรมย์ จะเป็นทนายความหรือทำงานเกี่ยวกับด้านกฎหมายอะไรนี่แหละ  เขาเป็นคนสนใจเรื่องศิลาจารึกสุโขทัยมาก  ตอนนั้นข้าพเจ้ากับครูเหรียญชัย จอมสืบ  จัดประกวดกลอนและรณรงค์หาเงินสร้างพระอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  พิชัย สันตภิรมย์ คนนี้ให้การสนับสนุนเต็มที่  ดูเหมือนว่าตอนนั้นเขากำลังจัดตั้งชมรมนักกลอนแห่งประเทศไทย  และตัวเขาเองได้เป็นประธานชมรมนี้ด้วย  ในช่วงเวลาที่หลังจากไฟไหม้สุโขทัย  ข้าพเจ้เหินห่างว่างเว้นการติดต่อกับท่านผู้นี้ไป

          ครั้นกลับเข้าอยู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง  ก็เป็นเวลาที่ท่านเพลามือจากวงการกลอนแล้ว  สำนักงานหรือร้านค้าของท่านชื่อ พิมลชัยศึกษาการณ์  ร้านของเล่น  อยู่ริมถนนประชาธิปไตย  ข้างวัดมงกุฎกษัตริยาราม  ไม่ไกลจากวัดใหม่อมตรสนัก  ข้าพเจ้าจึงเดินจากวัดไปพบท่านที่ร้านนี้บ่อย ๆ  ในร้านของท่านจะตั้งหลักศิลาจารึกสุโขทัยจำลองหลักที่ ๑ ไว้ดูเด่นเป็นสง่า  ได้สนทนากับท่านแล้วเพิ่มพูนความรู้แก่ข้าพเจ้ามากขึ้น  ท่านเล่าว่าแต่ก่อนนี้พูดไม่คล่อง  ตะกุกตะกักเหมือนคนติดอ่าง  จึงเข้าร่วมในชมรมฝึกพูดเพื่อหัดพูดและวางท่าทางบุคลิกลักษณะ  สมาชิกในชมรมเป็นกรรมด้วยผู้ร่วมฝักหัดด้วย  คือทุกคนต้องเป็นผู้ฝึกหัดเหมือนกันหมด  เวลาเราฝึกหัดทุกคนจะนั่งดูผู้ที่จะเริ่มฝึกหัดพูด  คอยจับผิดตั้งแต่ลุกยืน  เดินจากที่จนถึงจุดที่กำหนดให้ยืนพูด  การยืนพูด  การใช้เสียงพูด  การพูดนั้นมีเอ้อ  มีอ้า  กี่คำ  เมื่อพูดจบแล้วก็ให้สมาชิกกล่าวตำหนิว่ามีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข  คำชมไม่ต้องกล่าว  หลายคนที่เข้าฝึกหัดในชมรมนี้กลายเป็นนักพูดที่มีชื่อเสียงหลายคน  เช่น  ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เป็นต้น  ท่านพิชัยเองก็หายอาการติดอ่างแต่นั้นมา

          สมัยนั้นมีการตั้งชมรมฝึกหัดการพูดขึ้นหลายแห่ง  ทั้งในวัดและในสถาบันการศึกษา  จึงปรากฏว่ามีนักพูดเก่ง ๆ บุคลิกดีหลายท่าน  ข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมชมรมฝึกหัดการพูดกับเขาด้วย  เมื่อถึงคิวพูดข้าพเจ้าก็เดินสู่โพเดียมแบบธรรมดาเหมือนที่เคยเดินขึ้นธรรมาสน์เทศน์  เวลาพูดก็พูดแบบที่เคยแสดงปาฐกถาธรรมเหมือนอย่างท่านอาจารย์ปัญญานันทะ  พูดจบแล้วได้รับคำตำหนิจากสมาชิกที่เป็นกรรมการน้อยที่สุด  อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกหัดพูดถามว่าท่านเคยฝึกหัดพูดที่ไหนมาก่อนหรือ  ข้าพเจ้าตอบว่าไม่เคยเลย  เคยแต่เทศน์และแสดงปาฐกถาตามวัดตามบ้านตามโรงเรียนเท่านั้น  อาจารย์ร้องอ้อ... แล้วว่า  ต่อไปนี้ท่านไม่ต้องฝึกหัดกับเขาแล้ว  ขอนิมนต์มาเป็นผู้ควบคุมการฝึกหัดพูดเถิด

          ข้าพเจ้าจับจุดได้ว่าการพูดในที่ชุมชนทั่วไป  สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ เตรียมเรื่อง แนวทางพูดไว้ในใจ  แล้วพูดด้วยความเชื่อมั่นในความคิดเห็นของตนเอง  พูดโดยไม่ต้องกลัวผิด  ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนชอบหรือไม่ชอบ  คนที่ฝึกหัดการพูดบางคนเดินสู่โพเดียมที่ยืนพูดด้วยลักษณะอาการขาแขว่งเหมือนคนเมากัญชายาฝิ่น เพราะใจขลาดหวาดกลัว  ขาดความองอาจสง่าผ่าเผย  เวลาพูดก็วางระดับเสียงไม่ถูก  บางคนส่งเสียงดังแบบตะโกน  บางคนพูดเสียงเบาแบบกระเส่า  พูดเอ้อ ๆ อ้า ๆ เป็นคนติดอ่าง  คิดอะไรไม่ออก  บอกอะไรไม่ถูก  พระนักเทศน์จะผ่านอาการเหล่านั้นมาแล้ว  เมื่อมาฝึกหัดการพูดจึงไม่มีปัญหาอะไรนัก

          น้อง ๆ นักกลอนย่านวัดพระยาไกร ยานนาวา  จัดตั้งชมรมฝึกหัดการพูดที่วัดราชสิงขร  ขอให้ข้าพเจ้าไปเป็นวิทยากรประจำ  ที่นี่มีสมาชิกเข้าฝึกหัดการพูดทั้งพระ เณร และนักเรียนนักศึกษาเกือบร้อยคน  หลังจากเปิดอบรมฝึกหัดกันได้เดือนกว่า ๆ  สมาชิกค่อย ๆ หดหายไปทีละคนสองคน  สอบถามเพื่อน ๆ ที่ยังอยู่แล้วได้ความว่า  พวกเขาพิจารณาตัวเองแล้วเห็นว่าจะเอาดีทางการพูดไม่ได้  จึงเลิกราไป  นี่ก็เพราะการเป็นนักพูดที่ดีนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, สิงหาคม, 2566, 11:51:49 PM
(https://i.ibb.co/dJNDLbM/582c51c-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๔ -
          มีนักกลอนอาวุโสท่านหนึ่งที่ควรเรียกได้ว่า  “เป็นปูชนียบุคคลของชาวนักกลอน”  เมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน  ท่านคือคนที่พวกเราเรียกกันด้วยความเคารพรัก  นามว่า  “สถิตย์ เสมานิล”  ข้าพเจ้าพบและรู้จักมักคุ้นท่านที่ศาลาลอยของสุนทรภู่ในวัดเทพธิดาราม  ซึ่งตอนนั้นท่านมีอายุมากแล้วคะเนดูว่าใกล้จะ ๗๐ ปีกระมัง  ท่านมักจะไปนั่งที่ศาลาลอยหน้าห้องพักนอนของสุทรภู่  มีนักกลอนหนุ่มสาว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปนั่งรายล้อมสนทนาปราศรัยรับความรู้นานาจากท่าน  เท่าที่ยังจำได้ก็มี  ทวีสุข ทองถาวร   ถาวร บุญปวัตน์   เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์   นิภา บางยี่ขัน   ดวงใจ รวิปรีชา   วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์   นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นต้น  นอกจากนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์แล้ว  ก็มีจาก ม.จุฬาฯ เช่น  จินตนา ปิ่นเฉลียว  และอีกหลายคน  นักกลอนนอกรั้วมหาวิทยาลัย  เท่าที่จำได้ก็มี  ส.เชื้อหอม   กรองแก้ว เจริญสุข   ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร   นุกูล บัวทอง   ยุรี คุณกิตติ   วัลภา พาทยกุล   นิรันดร์ แสงจันทร์   มนัส แช่มเชี่ยวกิจ   เจตน์ อติจิต ผันวงษ์ดี  เป็นต้น

          วันใดที่พวกหนุ่มสาวนักกลอนจากรั้วมหาวิทยาลัยติดการเรียน  ไม่ได้ไปที่ศาลาลอยนั้น  ข้าพเจ้าก็จะมีโอกาสได้สนทนากับท่านได้อย่างเต็มอิ่ม  ประวัติชีวิตของท่านเป็นมาอย่างไรท่านไม่เคยบอกเล่า  จึงรู้แต่เพียงว่าท่านเป็นนักเขียน  นักหนังสือพิมพ์อาวุโส  เวลานั้นท่านประจำอยู่หนังสือพิมพ์ชาวไทย  เป็นนักคิดนักเขียนที่มีคุณภาพมาก ข้อเขียนของท่านที่มีการพิมพ์รวมเป็นเล่มคือ  วิสาสะ ๑-๒  ที่นักอ่านคุ้นกันดี  ข้าพเจ้าชอบฟังท่านเล่าเกร็ดวรรณดคีเรื่องต่าง ๆ  เช่นขุนช้างขุนแหน  อิเหนา เป็นต้น  เฉพาะเรื่องอิเหนานั้น  ท่านเล่าตอนที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  แต่งบทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษาเล่นธารตามรับสั่งพระราชบิดา  ความตอนหนึ่งว่า

            “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว              ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว
           นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร                 ตูมตั้งบังใบอรชร”

          เมื่อทรงแต่งเสร็จแล้ว  ตอนเย็นวันนั้นก็นำไปให้ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) อ่านทานแก้ไขดูก่อนที่จะนำขึ้นถวายในที่ประชุมกวีในวันพรุ่ง  ขณะนั้นสุนทรภู่ร่ำสุราเข้าไปจนเมาได้ที่  อ่านบทกลอนทั้งหมดแล้ว  ถูกใจตรง ๔ วรรคนี้มาก  ถึงกับตบเข่าฉาด  กล่าวชมว่าตรงนี้ไพเราะมาก  เห็นภาพชัดแจ๋วเลย  วันรุ่งขึ้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นำกลอนละครสำนวนนี้เข้าสู่ที่ประชุมกวีต่อหน้าพระพักตร์  ทรงอ่านถึงตรงที่ว่า  ”น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”  สุนทรภู่ทักว่า  “เห็นตัวอะไร”  พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับคำทักนั้น  จึงเปลี่ยนความเสียใหม่ว่า  “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา  ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงโกรธสุนทรภู่มาก  กลอนละครเรื่องอิเหนาตอนบุษยาเล่นธารหรือบุษบาลงสรงจึงมีความเต็ม ๆ ว่าดังนี้

            “นางจึงสรงสนานในสระศรี            กับกำนัลนารีเกษมศานต์
           หอมกลิ่นโกสุมปทุมมาลย์              อายอบชลธารขจรไป
           น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา                ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว
           นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร                       ตูมตั้งบังใบอรชร
           ดอกขาวเหล่าแดงสลับสี                  บานคลี่ขยายแย้มเกสร
           บัวเผื่อนเกลื่อนกลาดในสาคร          บังอรเก็บเล่นกับนารี
           นางทรงหักห้อยเป็นสร้อยบัว           สวมตัวกำนัลสาวศรี
           แล้วปลิดกลีบปทุมมาลย์มากมี        เทวีลอยเล่นเป็นนาวา
           ลางนางบ้างกระทุ่มน้ำเล่น               บ้างโกรธว่ากระเซ็นถูกเกศา
           บ้างว่ายน้ำแซงแข่งเคียงกันไปมา      เกษมสุขทุกหน้ากำนัลใน ฯ”

          อันที่จริงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงแต่งกลอนหมายใจให้ออกรสกวีเป็นนารีปราโมทย์  เพื่อคนอ่านจินตนาการเห็นนางบุษบากับนางกำนัลเปลือยกายลงเล่นน้ำในสระศรีที่เต็มไปด้วยกอบัว  น้ำในสระใสจนมองเห็นตัวนางบุษยาและนางกำนัลว่ายแหวกกอบัวกันอยู่  แลเห็นปทุมถันที่ปริ่มน้ำบ้าง  โผล่ขึ้นพ้นน้ำบ้าง (มีทั้งบัวตูมบัวบาน)  เป็นที่น่าทัศนายิ่งนัก  แต่เมื่อถูกสุนทรภู่ทักจนต้องเปลี่ยนไปเป็นเห็นตัวปลาแทนตัวนาง  กลอนก็แปรรสนารีปราโมทย์เป็น  เสาวรจนี  คือการพรรณนาธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย

          อาจารย์สถิตบอกเล่าเกร็ดอิเหนาตรงนี้แล้วก็สรุปว่า   “ผมชอบต้นฉบับที่กรมหมื่นเจษฎาฯ ทรงแต่งมากกว่าฉบับที่แก้ไข  หรือท่านเห็นอย่างไร”  ข้าพเจ้าก็คล้อยตามว่า  อาตมาเห็นด้วยกับอาจารย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, สิงหาคม, 2566, 10:36:34 PM
(https://i.ibb.co/QkGSgvZ/vedsandhon-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๕ -
          ข้าพเจ้าอยู่กรุงเทพฯ โดยไม่ตัดขาดสุโขทัย  จึงมีสภาพเป็น  ”พระสองวัด”  ว่างจากการเรียนก็ขึ้นไปอยู่วัดไทยชุมพลเมืองสุโขทัย  ช่วยงานท่านพระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์)  ซึ่งระยะหลัง ๆ นี้พระมหาเปรียญศิษย์ท่านที่ช่วยงานอยู่ได้สึกหาลาเพศไปเกือบหมดแล้ว  ส่วนทางวัดราชธานีนั้นเกิดเรื่องไม่ดีหลายอย่าง  กล่าวคือ  พระพุทธรูปที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดินตรงวิหารหลวงพ่องามและเก็บรวมไว้ในห้องพระครูปลัดแถว  อันเป็นสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดด้วยนั้น  ถูกคนร้ายงัดแงะในขณะที่พระครูปลัดแถวลงไปทำธุระในกรุงเทพฯ  พระพุทธรูปองค์งาม ๆ นับสิบองค์หายไปอย่างไร้ร่องรอย  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็มีอาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ  บางคราวป่วยหนักจนต้องนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช  ทราบว่าในการดูแลเรื่องการเจ็บป่วยของท่านนั้น  นายนาคผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์องวัดคือผู้รับเป็นธุระจัดการทั้งหมด

          กลับจากสุโขทัยไปเยี่ยมไข้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ  ท่านเห็นหน้าข้าพเจ้าแล้วดีใจมาก  ในการสนทนาถึงเรื่องราวของวัดราชธานีตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า

           “แกกลับไปอยู่วัดราชธานีตามเดิมเถอะ  วัดเราไม่มีใครจัดการดูแลได้ดีกว่าแกแล้ว  เมื่อสิ้นข้าเสียคนหนึ่งคงจะวุ่นวายมาก”

          ข้าพเจ้าบอกท่านว่า  “ผมมีโครงการจะสึกในไม่นานนี้แล้วครับ  คงกลับไปอยู่วัดราชธานีไม่ได้หรอก  แต่จะช่วยดูแลอยู่ห่าง ๆ ก็แล้วกัน  หลวงพ่อไม่ต้อเป็นห่วง  ขอให้ทำใจสบาย ๆ อาการป่วยจะได้หายเร็วขึ้น”  พอนายนาคโผล่เข้าไปในห้องผู้ป่วย  ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านกลับวัด  เพราะไม่ชอบหน้านายนาคนัก  การที่บอกกับท่านว่ามีโครงการลาสิกขาก็เพื่อให้ท่านหมดหวังที่จะเอาตัวข้าพเจ้ากลับไปอยู่วัดราชธานีนั่นเอง

          รายการเทศน์ของข้าพเจ้ามีมากขึ้นกว่าเดิม  เพราะสนามเทศน์มีทั้งสุโขทัย  พิษณุโลก  แล้วเพิ่มในพื้นที่ภาคกลางอีก  โดยพระคู่เทศน์ในกรุงเทพฯ มีหลายองค์  เช่น  พระครูกิตติสุนทร (สมนึก) วัดเทพากร  พระมหาบำรุงวัดชนะสงคราม  พระมหาสวัสดิ์วัดเลียบ  และ พระมหาวิรัติ ป.ธ.๙ วัดพระเชตุพนฯ  เป็นต้น  พระกลุ่มนี้มีรายการเทศน์มาก  คู่เทศน์ที่ถูกคอกันมีน้อย  จึงนับข้าพเจ้าเข้ากลุ่มด้วย   พระมหาบำรุงเป็นชาวจังหวัดพิจิตรจึงรับเทศน์ในจังหวัดพิจิตรด้วย  คราวหนึ่งท่านรับเทศน์หกกษัตริย์ (พระเวสสันดร) ที่วัดเทวประสาท อ.ตะพานหิน  เรื่องนี้เทศน์แบบสมมุติเป็นตัวละครต้องใช้พระเทศน์ ๖ องค์  กำหนดตัวไว้จากกรุงเทพฯ ๓ องค์  คือพระมหาวิรัตน์ วัดโพธิ์   พระมหาบำรุง วัดชนะสงคราม   พระมหาสวัสดิ์ วัดเลียบ   จากสุโขทัย ๓ องค์ มี  ข้าพเจ้า  พระครูประคอง  พระอาจารย์เพ็ญ  พระสองคณะนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ และพิษณุโลกไปเจอกันที่ตะพานหินตามนัด

           “วัดเทวประสาท ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร   เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หลวงพ่อโต ปางประทานพร ขนาดใหญ่  ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า  "พระพุทธเกตุมงคล"  ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง  หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตร  เฉพาะองค์พระสูง ๓๐ เมตร  แท่นสูง ๔ เมตร  รวมความสูงทั้งสิ้น ๓๔ เมตร  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓  นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามได้สัดส่วนและใหญ่ที่สุดของจังหวัดพิจิตร”   พระพุทธรูปใหญ่องค์นี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าไปเทศน์ที่วัดนี้ไม่นานนัก  ดูเหมือนว่าทางจัดจัดเทศน์หกกษัตริย์ขึ้นเพื่อฉลองหลวงพ่อโต “พุทธเกตุมงคล”  เป็นอีกแบบหนึ่งของพระพุทธรูปปางประทานพร  ที่พบเห็นทั่วไปจะเป็นแบบพระพุทธรูปประทับนั่งหรือยืน  ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นในท่าประทานพร  แต่หลวงพ่อโตวัดเทวประสารทนี้  ประทับนั่งสมาธิราบ  วางพระหัตถ์ขวาแบบนพระเพลา  พระมหาวิรัติพูดหยอกเย้าพระมหาบำรุงว่า  พระประทานพรของพิจิตรดูเหมือน “พระขอพร ไม่ใช่ให้พร” นะเนี่ย

          เทศน์วันนั้นหลังจากจัดสรรตำแหน่งหน้าที่กันแล้ว  พระมหาวิรัติ เป็นพระเวสสันดร  พระมหาบำรุงเป็นพระนางมัทรี  พระครูประคองเป็นพระเจ้ากรุงสญชัย  พระมหาสวัสดิ์เป็นพระนางผุสดี  พระอาจารย์เพ็ญเป็นชาลีกัณหา  ข้าพเจ้าหนีไม่พ้นตำแหน่งชูชก  พระครูประคองบอกว่าไม่มีใครเป็นชูชกได้ดีกว่าข้าพเจ้า  สำหรับพระมหาวิรัตินั้นท่านเป็นรุ่นพี่ข้าพเจ้า  จากลูกคนจีนชาวอำเภอบางเลน  สายตาสั้นใส่แว่นสายตาหนาเตอะ  ถ้าถอดแว่นแล้วมองอะไรไม่ค่อยเห็น  จำหน้าใครไม่ได้  เป็นคนขยันเรียน  บวชเป็นเณรเรียนนักธรรม บาลี จนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค  ความจำดี  เทศน์ดี  เพราะเป็นสมาชิกสภาธรรมกถึกวัดพระเชตุพนฯ  การเทศน์วันนั้นอยู่ในความควบคุมของท่านทั้งหมด

          หลังจากข้าพเจ้าแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แบบย่อและสมมุติตำแหน่งหน้าที่แล้ว  พระมหาวิรัติก็ดำเนินเรื่องตั้งแต่กัณฑ์ทศพรจนเข้าเรื่องทานกัณฑ์  กัณฑ์นี้พระมหาบำรุงผู้เป็นพระนางมัทรีแหล่เรื่องหญิงม่ายทั้งแหล่นอกแหล่ในได้ดีมาก  จากทานกัณฑ์ผ่านวันประเวศที่ไม่มีลูกเล่นอะไร  พระมหาวิรัติจึงบรรยายความผ่าไปเข้าสู่กัณฑ์ชูชก  ในกัณฑ์ชูชกนี้เรามีลูกเล่นกันมากหน่อย  พระอาจารย์เพ็ญเป็นนางอมิตดาอีกตำแหน่งหนึ่ง  เขาแหล่ตอนชูชกพานางได้ดีมากทีเดียว  เรื่องดำเนินไปจนถึงชูกชกขอชาลีกัณหาได้แล้วก็พาเดินป่ากลับเมือง  ในกัณฑ์มหาราชที่ชูชกพาสองกุมารรอนแรมในป่า  ชูชกที่ฉุดกระชากลากตีสองกุมารจากอาศรมมาถึงกลางป่าแล้วเอาเถาวัลย์ผูกมัดชาลีกัณหาไว้โคนไม้  ตนเองเองขึ้นไปผูกแปลนอนเอกเขนกอยู่บนคาคบไม้  ตอนนี้อาจารย์เพ็ญที่เป็นกัณหาก็แหล่นอกในความที่กัณหาคร่ำครวญหวนไห้อย่างน่าสงสาร  คนฟังที่เป็นหญิงใจอ่อนถึงกับร้องไห้โฮ  แล้วตะโกนด่าชูชกด้วยความโกรธแค้น

          หลังจบเทศน์มหาวิรัติชอบใจมาก  บอกว่าข้าพเจ้ากับอาจารย์เพ็ญแสดงเข้าถึงบทบาทได้ดีจนคนฟังเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวแล้ว  โธ่....ข้าพเจ้าไม่คิดจะให้คนเกลียดชูชกซักกะหน่อย /

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54619#msg54619)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54842#msg54842)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, สิงหาคม, 2566, 10:49:38 PM
(https://i.ibb.co/Gn1R0p9/kulavaka-10-1.jpg) (https://imgbb.com/)

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54735#msg54735)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54938#msg54938)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๖ -
          ประสบการณ์ในการเทศน์ของข้าพเจ้ามีเรื่องขำขันมากมาย  วันนี้จะเล่าให้ฟังพอเป็นสังเขปสักเรื่องหนึ่ง  คือรับนิมนต์เทศน์เรื่องมฆมาณพที่วัดคลองโป่ง ในตำบลสามเรือน อ.ศรีสำโรง สุโขทัย  วัดนี้เป็นวัดที่เคยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังชื่อ  “หลวงพ่อเอม” (พระครูธรรมภาณโกศล)  พระองค์นี้มีประวัติชีวิตพอที่จะสรุปได้ว่า  ท่านมีนามเดิมว่า  เอม สนทิม  เป็นชาวศรีสำโรงโดยกำเนิด  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕ ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕  เป็นบุตรคนสุดท้องของโยมบิดาชื่อ  สน  โยมมารดาชื่อ  ทิม  เมื่ออายุประมาณ ๑๗ ได้ปีบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดคลองโป่ง  แล้วเข้าไปอยู่สำนักวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ เพื่อเรียนนักธรรม บาลี  อายุครบบวชเป็นพระจึงกลับมาอุปสมบทอยู่ที่วัดคลองโป่ง และอยู่มาจนถึงปีที่เจ้าอาวาสวัดคลองโป่งมรณภาพ  จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดคลองโป่ง  ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะแขวง (อำเภอ) ศรีสำโรง  และเป็นพระอุปัชฌาย์  เป็นพระครูสัญญาบัตรมีพระราชทินนามว่า  ”พระครูธรรมภาณโกศล”  ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย (อายุ ๕๐ ปี)  ต่อมาจังหวัดสุโขทัยถูกยุบไปรวมกับจังหวัดสวรรคโลกในปี พ.ศ.๒๔๗๔  ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ซึ่งพระครูธรรมภาณโกศล (เอม) ครองอยู่นั้น  จึงถูกยุบไปด้วย  หลวงพ่อเอมเป็นพระนักปกครอง  นักเทศน์  และเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านยกย่องกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศรีสำโรง  หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเล่าถึงหลวงพ่อเอมว่าเคยขี่ม้าไปเทศน์ด้วยกันหลายครั้ง  ท่านเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูกชกได้ดีไม่มีใครเทียมทัน

          วันที่ข้าพเจ้ารับนิมนต์ไปเทศน์ที่วัดคลองโป่งนั้น  หลวงพี่ยกศิษย์วัดไทยชุมพลซึ่งไปเป็นสมภารวัดนี้เจาะจงนิมนต์ไปเทศน์ร่วมกับหลวงพ่อพระครูจันทโรภาส  วัดป่าข่อย และ  พระใบฎีกาวิโรจน์ วัดท่าทอง อ.สวรรคโลก  หลวงพ่อพระครูจันทโรภาสองค์นี้เห็นจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณและหลวงพ่อเอม (พระครูธรรมภาณโกศล)  เป็นชาวอำเภอสวรรคโลก  บวชอยู่วัดอนงคาราม (วัดเดียวกับเจ้าคุณโบราณ)  ท่านสุภาพเรียบร้อยเป็นที่เคารพนับถือของชาวสวรรคโลกและที่ใกล้เคียง  ข้าพเจ้าไม่เคยเทศน์กับท่านมาก่อนเลย  ส่วนพระใบฎีกาวิโรจน์นั้นเป็นศิษย์พระครูอุดมธรรมปฏิภาณ (เภา) วัดท่าทองที่เคยเทศน์กับข้าพเจ้ามาหลายครั้งแล้ว  พระใบฎีกาวิโรจน์เป็นพระเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก  ยังไม่เคยเทศน์กับข้าพเจ้าเลยเช่นกัน

          การเทศน์วันนั้นเราตกลงแบ่งตำแหน่งหน้าที่กันว่า  พระครูจันทโรภาส (จันทร์) เป็นมฆมาณพ (พระเอก)  ข้าพเจ้าเป็นคามโภชก (กำนัน ตัวโกง)  พระใบฎีกาวิโรจน์ เป็นเจ้าเมืองผู้ตัดสินคดี  เมื่อข้าพเจ้าแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์สมมุติตำแหน่งหน้าที่แล้ว  พระครูจันทโรภาส ก็ดำเนินเรื่อง  กล่าวถึงเรื่องราวของมฆมาณพสร้างความดีงามร่วมกับเพื่อน ๓๒ คน  และชักชวนให้ชาวบ้านในตำบลนั้นพากันรักษาศีลห้าจนหมู่บ้านอยู่ในความสงบเรียบร้อย  ไร้โจรขโมย  ไม่มีคดีฟ้องร้องให้คามโภชก (กำนัน)ชำระความ  ถึงหน้าที่ซึ่งข้าพเจ้าต้องแสดงความคดโกงออกมา  เมื่อไม่มีคดีฟ้องร้องมาถึงผู้บริหารปกครองหมู่บ้าน (กำนัน) จึงไม่มีโอกาสกินสินบนเหมือนแต่ก่อน  พิจารณาเห็นว่าเป็นเพราะมฆมาณพกับเพื่อน ๆ เป็นตัวการชักชวนชาวบ้านถือศีลห้านั่นเอง

          คามโภชกหาทางกำจัดมฆมาณพกับพวกด้วยวิธีการนานา  จนถึงสุดท้ายนำความขึ้นฟ้องร้องต่อเจ้าเมือง (พระราชา) ว่า  มฆมาณพและเพื่อน ๆ รวมหัวกันยุยงให้ชาวบ้านเป็นขบถ ไม่อยู่ในกฎหมายบ้านเมือง  ข้าพเจ้าสรรหาคำเท็จเพ็ดทูลเพื่อให้เจ้าเมืองลงโทษมฆมาณพและเพื่อน  เจ้าเมืองก็หูเบาเชื่อคำเท็จของกำนันที่ปั้นขึ้นมากล่าวหามฆมาณพ  ตรงนี้แหละโยมหญิงผู้เฒ่าเกิดอารมณ์โกรธกำนันขึ้นจนลืมตัว  ถึงกับลุกขึ้นกลางศาลาชี้หน้าข้าพเจ้าส่งเสียงดังว่า

           “โกง  กำนันขี้โกง  อย่างนี้ต้องเอาตะบันหมาก.....”  

          คนฟังในศาลาหัวเราะฮาครืน  เพื่อน ๆ จึงจีบตัวนางกดให้นั่งลง  พระครูจันทโรภาสกล่าวปรามว่า

           “โยม...นี่เป็นเรื่องเทศน์ไม่ใช่เรื่องจริง  ในตำนานเรื่องจริงนั้น  กำนันมันโกงมฆมาณพยิ่งกว่าที่พระเทศน์เสียอีกนะ”

          โยมหญิงคนนั้นได้สติ  กล่าวว่า  “อีชั้นกราบขอโทษที่ลืมตัวไปเจ้าค่ะ”

          พระครูจันทร์ท่านก็สรุปเรื่องมฆมาณพว่าเมื่อพ้นโทษแล้วได้เป็นกำนันคนใหม่แทนคนเก่าที่ถูกถอดถอน  แล้วสร้างถนนหนทาง ศาลา สระน้ำ ทำสิ่งสาธารณะประโยชน์นานา  เมื่อสิ้นอายุไขก็ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  แล้วเป็นพระอินทร์ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ในที่สุด

          ข้าพเจ้าเทศน์สมมุติเป็นตังละครตามเรื่องทีไรไม่เคยได้บทเป็นพระเอกนางเอกกับเขาสักที  ต้องรับตำแหน่งตัวโกงอยู่เรื่อย  เพราะเพื่อน ๆ เขาว่าข้าพเจ้าโกงเก่ง  เทศน์ที่วัดคลองโป่งเกือบโดนตะบันหมากยายแก่ขี้โมโหเสียแล้ว  ก็คงเพราะโกงเก่งนั่นเอง/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 26, สิงหาคม, 2566, 10:56:09 PM
(https://i.ibb.co/89s7zxH/1.jpg) (https://imgbb.com/)
พระครูบริหารคุณวัตร (ชม สิรินฺธโร)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๗ -
          วัดในกรุงเทพฯ ทุกวันพระจะมีญาติโยมผู้สูงวัยเข้าไปรักษาอุโบสถศีลกันมากบ้างน้อยบ้าง  ที่วัดใหม่อมตรสก็เช่นกัน  มีโยมชายหญิง (ส่วนมากเป็นหญิง) อย่างน้อย ๕ คนเข้าไปรักษาอุโบสถอยู่ในโบสถ์  ทางวัดจึงจัดพระแสดงธรรมให้ผู้รักษาอุโบสถฟังเป็นกิริยาบุญ  พระที่เป็นองค์แสดงธรรมมีอยู่ไม่กี่องค์  แต่ละองค์จะอ่านคัมภีร์เทศน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานที่ร้าน ส.ธรรมภักดี พิมพ์จำหน่ายทั่วไป  คำเทศน์ส่วนใหญ่เป็นชาดกซึ่งแต่งโดยพระผู้ใหญ่ที่ถนัดเขียนเรื่อง เช่น ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี (เจีย เขมิโก ป.ธ. ๙)  มหาปุ้ย แสงฉาย เป็นต้น  ครั้นข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดนี้เป็นปีที่ ๒ จึงมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแสดงธรรมขึ้นโดยข้าพเจ้าเอง

          ปีนั้นมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่  เจ้าคณะอำเภอพระนคร (วัดพระเชตุพนฯ)  เจ้าคณะตำบล (วัดสังเวชวิศยาราม)  มาประชุมพระที่วัดใหม่อมตรสเพื่อทำการเลือกตั้งเจ้าอาวาส  ข้าพเจ้าทราบอยู่แล้วว่าทางพระผู้ใหญ่ต้องการให้พระครูบริหารคุณวัตร (ชม) เป็นเจ้าอาวาส  ถึงเวลาเลือกตั้ง  ท่านทำไม่ถูกระเบียบปฏิบัติ  กล่าวคือท่านเจ้าคุณเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้เสนอชื่อพระครูชมให้ที่ประชุมลงมติเลือก  ข้าพเจ้าจึงยกมือค้าน  ท่านถามว่าคุณจะเสนอองค์อื่นมาเป็นคู่แข่งหรือ  ข้าพเจ้าตอบว่า  ไม่เสนอคู่แข่ง  แต่ขอคัดค้านการดำเนินงานของท่านเจ้าคณะอำเภอที่ทำไม่ถูกต้อง  เกรงว่าจะเป็นโมฆะ  ท่านถามว่าไม่ถูกต้องอย่างไร  ข้าพเจ้าเคยเป็นเจ้าคณะตำบลมาแล้วจึงรู้และจำระเบียบได้ดี อธิบายวิธีการเลือกตั้งเจ้าอาวาสให้ท่านฟังว่า

           “เจ้าคณะอำเภอ  เจ้าคณะตำบลมีหน้าที่เรียกประชุมพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาของวัดนั้นร่วมประชุม  อ่านระเบียบข้อบังคับในการเลือกตั้งผู้สมควรเป็นเจ้าอาวาส  คือภิกษุมีอายุพรรษา ๕ ขึ้นไปที่อยู่ในวัดนั้น  จากนั้นจึงให้ที่ประชุมเสนอชื่อพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือหลายรูป ให้ที่ประชุมลงมติเลือกเป็นเจ้าอาวาส  เจ้าคณะอำเภอ  เจ้าคณะตำบล  ซึ่งมิได้เป็นพระภิกษุในวัดนั้นไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อพระภิกษุรูปใด ๆ เป็นเจ้าอาวาส  ดังนั้นการที่ท่านเจ้าคณะอำเภอเสนอชื่อพระภิกษุให้ที่ประชุมลงมติเลือกนั้นเป็นการทำผิดระเบียบนี้  ต้องให้พวกเราเป็นผู้เสนอครับ”

          ท่านเจ้าคณะอำเภอหันไปปรึกษากับเจ้าคณะตำบลแล้วสั่งปิดการประชุม  นัดเปิดประชุมใหม่ภายใน ๗ วัน (ในกรณีนี้มีข้อแม้อยู่ว่า  ถ้าพระในวัดนั้นไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเจ้าอาวาส  เช่น  มีอายุพรรษาไม่ถึง ๕  ก็ให้นำพระจากวัดอื่นย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสก็ได้)

          ข่าวการคัดค้านวิธีการเลือกตั้งเจ้าอาวาสของข้าพเจ้าดังไปถึงสมเด็จป๋า (สมเด็จพระวันรัต) วัดโพธิ์  ท่านหัวเราะชอบใจ กล่าวว่า

           “เจ้าคุณองค์นี่โง่อวดฉลาด  ให้เด็กมันถอนหงอกเสียบ้างก็ดีแล้ว”

          หลังจากนั้นอีก ๖ วันก็มีการเรียกประชุมใหม่  คราวนี้เจ้าคณะอำเภอเป็นมวยขึ้นแล้ว  หลังจากกล่าวเปิดประชุมแล้วถามว่า  ท่านใดจะเสนอใครเป็นเจ้าอาวาสก็เสนอมา  ข้าพเจ้ายกมือ  ท่านเห็นแล้วกล่าวติดตลกว่า  ท่านนั่นจะค้านอีกรึ  ข้าพเจ้าตอบว่า  ไม่ค้านขอรับ  แต่ขอเสนอชื่อพระครูบริหารคุณวัตรเป็นเจ้าอาวาสครับ  ท่านถามว่ามีใครสนับสนุนไหม  ที่ประชุมก็ยกมือสนับสนุนกันพรึบเกือบทั้งหมดในที่ประชุม  ท่านถามต่อไปว่ามีใครจะเสนอองค์อื่นอีกไหม  ทุกคนเงียบ  ศิษย์พระครูสังฆรักษ์ลำภูมีจำนวนน้อยเห็นว่าหากเสนอชื่ออาจารย์เข้าแข่งก็แพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์  จึงพากันนิ่งเสีย  ท่านจึงถามอีกทีว่า  ใครเห็นด้วยว่าให้พระครูบริหารคุณวัตรเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรสเป็นองค์ต่อไปยกมือขึ้น  ทุกคนยกมือพรึบอีกครั้ง  พระครูชมจึงได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่โดยไม่มีเสียงค้าน

          หลังจากพระครูชมได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่ฯ แล้ว  พระเพื่อน ๆ ของท่านต่างวัดมาแสดงความยินดีกัน  และบอกให้พระครูชมตั้งข้าพเจ้าเป็นรองเจ้าอาวาส  ข้าพเจ้ารู้เข้าก็รีบไปห้ามไม่ให้ท่านทำเรื่องเสนอให้ข้าพเจ้าเป็นรองเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ  อ้างว่ามีโครงการจะลาสิกขา  ท่านบอกว่าให้ข้าพเจ้าเป็นรองเจ้าอาวาสนอกทำเนียบพระสังฆาธิการก็แล้วกัน  จึงตกลงกันตามนั้น  หลังจากนั้นท่านมอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้าคอยดูแลให้ความสะดวกสบายแก่ญาติโยมที่มาทำบุญรักษาศีลในวัด  ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนวิธีการเทศน์ในให้ผู้รักษาอุโบสถฟังเสียใหม่  ถามพระในวัดว่าใครจะเทศน์โดยปฏิภาณของตนให้โยมรักษาอุโบสถฟังได้บ้าง  เมื่อไม่มีใครกล้าเทศน์ข้าพเจ้าจึงทำหน้าที่นี้เสียเอง  วันพระใดที่ข้าพเจ้าไม่อยู่วัดก็ให้พระที่เคยอ่านคัมภีร์เทศน์อ่านคัมภีร์ให้โยมฟัง  วันพระใดข้าพเจ้าอยู่วัดก็จะเทศน์ตามแบบของข้าพเจ้า

          มีพระนักเทศน์หลายองค์เคยบ่นให้ฟังว่า  ไปเทศน์ที่นั่นที่โน่นมีคนฟังน้อยกว่าเสาศาลาเสียอีก  ไม่อยากไปเทศน์อีกเลย  คนฟังน้อยไม่มีกะใจจะเทศน์  ข้าพเจ้าแย้งว่าลองคิดย้อนไปถึงสมัยพุทธกาลซี  พระพุทธเจ้าศาสดาจารย์ของเราท่านแสดงธรรมไม่เลือกบุคคลและสถานที่  มีคนฟังแค่คนเดียวพระองค์ก็เทศน์  เราเป็นศิษย์ตถาคตควรเอาอย่างพระองค์  ความคิดเห็นนี้ข้าพเจ้ายึดถือมาโดยตลอด  ไปเทศน์ที่ไหนมีคนฟังน้อยมากอย่างไรไม่สนใจ  คิดแต่จะแสดงธรรมให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังเท่านั้น  มีคนฟังเพียงคนเดียวข้าพเจ้าก็เคยเทศน์ให้เขาฟังมาแล้ว  ดังนั้นคนรักษาศีลอุโบสถในโบสถ์วัดใหม่แม้มีเพียง ๓-๕ คน  ข้าพเจ้าก็เทศน์ให้เขาฟัง  บางครั้งเมื่อเขากล่าวคำอาราธนาธรรมแล้ว  ข้าพเจ้าตั้งนโมเป็นการนอบน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาค  แล้วไม่กล่าวธรรมิกถา  หากแต่หยุดพนมมือแล้วกล่าวกับโยมที่นั่งฟังอยู่ว่า

           “วันนี้เรามาสนทนาธรรมกันดีไหมโยม  ใครมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับข้อธรรม  หรือ  สงสัยเกี่ยวกับศาสนพิธีกรรมใด  ก็ขอให้โยมนำมาถามได้เลย  ถือว่าแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันนะ  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  การสนทนาธรรมเป็นมงคล  ดังนั้นวันนี้เรามาสนทนาธรรมสร้างสิ่งอันเป็นมงคลกันบ้างเถิด”  

          การเทศน์แบบนี้ได้ผลดีไม่น้อย  โยมอุบาสกอุบาสิกาถามปัญหากันหลากหลาย  วิธีนี้ข้าพเจ้านำ  “ลานธรรมลานอโศก”  ในวัดมาธาตุมาปรับใช้  ทำให้คนเข้ามารักษาอุโบสถในโบสถ์วัดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจ  ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีเทศน์สลับกับการสนทนาธรรมไปเรื่อย ๆ /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, สิงหาคม, 2566, 11:00:49 PM
(https://i.ibb.co/bgk9yhz/1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๘ -
          วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร  เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา  ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง  เดิมเรียกว่าวัดกลางนา  ต่อมายกสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร  วัดนี้อยู่ไม่ไกลจากวัดใหม่อมตรสนัก  พระสองวัดนี้เดินบิณฑบาตถึงกัน  ออกจากวัดใหม่ฯ จากซอยวรพงศ์ (สามเสน ๖) เลี้ยวขวาเดินตามฟุตบาทถนนสามเสนผ่านซอยพระสวัสดิ์ (สามเสน ๔)  ซอยนานา (สามเสน ๒)  พ้นเขตถนนสามเสนข้ามสะพานบางลำพูเข้าเขตถนนจักรพงษ์  ข้ามถนนพระสุเมรุ บางลำพู ไปหน่อยเดียวก็ถึงวัดชนะสงครามแล้ว  วัดนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังนี้:-

           “เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี  มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด  วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่  ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม  โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดกลางนาเป็นวัดตองปุ  และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ  เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา  เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘  สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙  และสงครามที่นครลำปาง ป่าซาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐  ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง  โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า  วัดชนะสงคราม  เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง ๓ ครั้ง”

          ได้ความว่าวัดนี้เดิมชื่อวัดกลางนา  เปลี่ยนชื่อเป็นตองปุ  แล้วเปลี่ยนเป็นชนะสงคราม  ใช้นามนี้มาจนถึงปัจจุบัน  คำว่า  “ตองปุ”  เป็นภาษามอญแปลว่า  “ที่ชุมนุมพลก่อนออกรบ”  สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นวัดสำหรับพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญโดยเฉพาะ  ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย  เจ้าอาวาสและพระลูกวัดไม่จำเป็นต้องเป็นชาวรามัญ (มอญ) เท่านั้น  วัดชนะสงครามเป็นวัดที่สวยงามมากอีกวัดหนึ่งของกรุงเทพฯ  สิ่งสำคัญคือพระอุโบสถของวัดนี้แปลกแตกต่างจากพระอุโบสถวัดอื่น ๆ  กล่าวคือ เป็น  “พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า  แบ่งเป็น ๑๓ ห้องเสา  ไม่มีพาไล  ฐานพระอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้ว  หลังคาทำเป็นชั้นลด ๓ ชั้น  มุงกระเบื้องเคลือบสี  ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์  หน้าบันเจาะเป็นช่องหน้าต่าง  บานหน้าต่างเป็นลายเทพพนมเหนือบานหน้าต่างเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑ  ลวดลายพื้นหน้าบันแตกต่างกันคือ หน้าบันด้านหน้าลายพื้นเป็นลายเทพพนม  ส่วนหน้าบันด้านหลังลายพื้นเป็นลายก้านแย่งใบเทศ  ประดับกระจกสีปิดทอง  ซุ้มประตู  หน้าต่างซ้อนสองชั้น  เป็นลายก้านขดปูนปั้นบานหน้าต่างด้านในเป็นภาพเขียนทวารบาล  บานประตูด้านนอกเป็นไม้แกะสลักปิดทองลายก้านแย่ง  บานหน้าต่างด้านนอกลงรักสีดำ  ไม่มีลวดลาย  ด้านหลังพระอุโบสถข้างหลังพระประธานเป็นเฉลียงกั้นห้องทำเป็นคูหาที่บรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล  เจาะเป็นช่อง ๆ มีคันทวยรองรับชายคา  โดยรอบพระอุโบสถเป็นลวดลายเถาวัลย์พันตลอดคันทวย  ใบเสมาพระอุโบสถจะติดที่ผนังตรงมุมด้านนอกทั้ง ๔ มุมและผนังด้านใน  นอกจากใบเสมาติดผนังแล้วยังมีใบเสมาตั้งบนแท่นอีก ๑ แห่ง  หลังพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  ใบเสมานี้เป็นใบคอดตรงเอว  มีลายที่กลางอก ๔ ใบ  ตั้งบนฐานแก้วรองรับด้วยฐานบัวอีกชั้นหนึ่ง”

          พระมหาบำรุงเป็นพระเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดแสดงธรรมโปรดญาติโยมที่เข้าไปรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ  มีพระเปลี่ยนเวรกันเทศน์เช้า-กลางวัน  พระที่เทศน์ประจำคือพระอาจารย์ลอย  พระอาจารย์ลอยรูปนี้นัยว่าเทศน์ธรรมะเก่ง  โดยเฉพาะเรื่องพระอภิธรรม  เคยเทศน์กับพระมหาบำรุงและ  “ไล่พระมหาบำรุงจน”  มาแล้ว  วันพระหนึ่งพระมหาบำรุงนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์ปุจฉา-วิสัชนากับพระอาจารย์ลอย  เจาะจงให้เทศน์พระอภิธรรม  บอกว่าญาติโยมที่รักษาอุโบสถในวัดชนะสงครามชอบฟังเทศน์ธรรมะมากกว่าชาดก  จึงรับไปเทศน์โดยไม่คิดอะไร

          ในโรงอุโบสถอันกว้างใหญ่สวยงามของวัดชนะสงครามวันนั้นมีอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลจำนวนมาก  คะเนดูแล้วไม่ต่ำกว่า ๕๐ คน  พระอาจารย์ลอยอยู่ในวัยกลางคนอายุประมาณ ๕๐ เศษ  ข้าพเจ้าเรียนท่านว่าหลวงพี่  ก่อนเทศน์ก็ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้ถามใครเป็นจะผู้ตอบ  หลวงพี่ลอยขอทำหน้าที่เป็นผู้ถาม  ข้าพเจ้าก็ไม่เกี่ยงที่จะเป็นผู้ตอบ  หลวงพี่ลอยท่านไม่ถามอภิธรรมตามแนวของอภิธรรมสังคหะ  แต่ถามตามแนวอภิธรรม ๗ คัมภีร์เริ่มที่  กุสลา ธัมมา... ด้วยคำถามตื้น ๆ ว่า  ท่านแปลว่าอะไร  ก็ตอบแบบตื้น ๆ ว่า  แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล  ถามอีกว่า ธรรม  คำนี้หมายถึงอะไร   ตอบว่าหมายะถึงสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่   ถามว่า ได้แก่อะไร   ตอบว่า กุศล อกุศล   ถามว่า กุศลคืออะไร   ตอบว่าคือฉลาด ถามว่า   ฉลาดยังไง   ตอบว่า ไม่โง่   ถามว่า โง่คืออะไร   ตอบว่า โมหจิต   ถามไล่มาถึงตรงนี้หลวงพี่นิ่ง  ข้าพเจ้าจึงถามย้อน (ปฏิปุจฉา) ว่า ท่านอาจารย์รู้จักจิตไหมครับ  ท่านตอบว่า  รู้จัก   ถามว่า คืออะไร มีเท่าไร   ตอบว่า จิตคือใจหรือหัวใจ มีสี่ห้อง   คำตอบนี้แสดงว่าท่านไม่ได้เรียนอภิธรรมสังคหะ  จึงตอบพลาดไป

          เมื่อเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าจึงร่ายยาว  คืออธิบายความหมายของจิตคือสภาพที่รู้สึกนึกคิด  รับรู้อารมณ์  สั่งสมอารมณ์  เรียกภาษาชาวบ้านว่าใจ  จิตหรือใจ  ประกอบกับเจสิกที่เกิดและดับพร้อมกับจิต  สภาพของมันเกิดดับ ๆๆๆ  ตลอดกาล  เป็น  กุศลจิต  และอกุศลจิต  จิตกับหัวใจต่างกัน  เพราะจิต เป็นนาม  ส่วนหัวใจเป็นรูป เรียกว่า หทัยรูป  หัวใจสี่ห้องนั้นไม่มีหน้าที่ในการรู้สึกนึกคิด  แต่มีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตเลี้ยงร่างกาย  เมื่อข้าพเจ้อภิปรายความยาวอย่างนี้  หลวงพี่ลอยถามต่อไปไม่เป็นเลย  ขอให้ข้าพเจ้าอธิบายความต่อแล้วสรุปพระธรรมเทศนา  เอวัง....

          พระมหาบำรุงรับฟังข่าวจากโยมชายที่ชอบพอกันไปเล่าให้ฟังถึงการเทศน์ของข้าพเจ้าในวันนั้นแล้วหัวเราะชอบใจ  กล่าวว่า   “อาจารย์ลอยของเราตกม้าตายเสียแล้ว”   ข้าพเจ้าไม่เจตนาจะให้หลวงพี่ลอยจนทางออก  เรื่องเทศน์ธรรมะอย่างนี้หลวงพี่ไม่เป็นมวย  อันที่จริงมีลูกเล่นมากมายให้เล่น ท่ านถามไล่มาตั้งแต่ต้น  ข้าพเจ้าแกล้งตอบให้มีแง่เพื่อท่านซักถาม  ท่านก็ไม่เข้าแง่  โดยเฉพาะ โมหจิต  ที่ตอบนั่นท่านก็ไม่ซักต่อ   ข้าพเจ้าจึงแย็ปเล่น ๆ จนท่านพลาดท่าไปในที่สุด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 28, สิงหาคม, 2566, 11:01:50 PM
(https://i.ibb.co/MZ6bhJt/316278610-1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดสุทัศน์เทพวราราม

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๔๙ -
          คราวหนึ่งพระครูกิตติสุนทร (สมนึก) วัดเทพากรแจ้งให้ทราบว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมวิสุทธาจารย์ (เสงี่ยม) เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม  ให้พระครูสมนึกจัดพระนักเทศน์รุ่นเดียวกันไปเทศน์ ๓ ธรรมาสน์เรื่องนางวิสาขาในพระวิหารวัดสุทัศน์  จึงกำหนดตัวเทศน์ไว้ คือ  พระครูสมนึก  พระมหาบำรุง  พระปลัดอภินันท์  เสนอชื่อไปให้ท่านเจ้าคุณแล้ว  จึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ไปเทศน์ในวัดใหญ่ที่มีเจ้าอาวาสเป็นพระนักเทศน์รุ่นเดียวกับหลวงพ่อไวย์อุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า

          ท่านเจ้าคุณธรรมวิสุทธาจารย์  เป็นพระนักเทศน์มีชื่อเสียงที่คนในกรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรีและทุกจังหวัดในภาคกลางรู้จักกันดี  ท่านมีประวัติย่อ ๆ ดังนี้ :-

          มีนามเดิมว่า เสงี่ยม วิโรทัย เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นบุตรของนายเขียว-นางประกอบ วิโรทัย  ภูมิลำเนาอยู่ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้เข้าอยู่กับพระอาจารย์ทอง คณะ ๕  วัดสุทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐  อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔  วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๖ มีสมณะศักดิ์เริ่มที่ พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระครูปลัดซ้าย ที่ พระครูจุลคณานุสาสน์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)   พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นพระครูปลัดขวา ที่ พระครูมหาคณานุสิชฌน์ ฐานานุกรมใน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)   ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีสมโพธิ แล้วเลื่อนขึ้น เป็น พระราชาคณะเสมอชั้นราช,ชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม  และ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวิสุทธาจารย์สุทัศนวิหารกิจบริรักษ์ อัครวโรปการ ธรรมภาณคุณธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี (สมณะศักดิ์ครั้งสุดท้ายองท่านคือ  สมเด็จพระพุฒาจารย์)

          ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม (ธรรมวิสุทธาจารย์) กำหนดเรื่อ่งให้พวกเทศน์เรื่องนางวิชาขามหาอุบาสิกาด้วยท่านมีเจตนาใดเราไม่ทราบ  เรื่องนี้มีอยู่ในธัมมปทัฏฐกถาได้กล่าวถึงประวัตินางวิสาขาไว้ว่า  นางวิสาขาเป็นบุตรสาวของธนญชัยเศรษฐี (บุตรคนโตของเมณฑกเศรษฐี) กับนางสุมนาเทวี (ธิดาอนาถบิณฑิกเศรษฐี)  ภูมิลำเนาอยู่ภัททิยนคร  แคว้นอังคะ  มีน้องสาวคนหนึ่งชื่อสุชาดา (คนละคนกับนางสุชาดา มารดาพระยสะ)  เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ  ปู่ของท่านได้มอบหมายให้ท่านและบริวาร ๕๐๐ คนไปต้อนรับพระพุทธเจ้า  พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนนางวิสาขาและบริวารทั้งหมดได้บรรลุโสดาบัน  ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จมาหาพระเจ้าพิมพิสาร  ทูลขอเศรษฐีคนหนึ่งไปอยู่ประจำแคว้นโกศล  พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้ธนัญชัยเศรษฐีย้ายตามพระเจ้าปเสนทิโกศลไป  เมื่อถึงสถานที่เหมาะสมแห่งหนึ่งซึ่งห่างจากกรุงสาวัตถี ๗ โยชน์  เศรษฐีได้กราบทูลพระเจ้าโกศลว่า  กรุงสาวัตถีคับแคบไป  ขอตั้งเมืองอยู่ที่นี่  พระเจ้าโกศลจึงให้สร้างเมืองสาเกตพระราชทานแก่ธนญชัยเศรษฐี  ทางเมืองสาวัตถีมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อมิคาระ  ประสงค์จะหาคู่ครองให้ปุณณวัฒนะบุตรชายของตน  ปุณณวัฒนะขอให้หาหญิงสาวที่เพียบพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี  มิคารเศรษฐีจึงส่งพราหมณ์ ๘ คน ไปหาหญิงสาวที่มีคุณสมบัติตามนั้น  แล้วฝากพวงมาลัยทองคำไปเป็นของหมั้น  เมื่อพวกพราหมณ์ได้พบนางวิสาขามีคุณสมบัติตามที่ตามหา  จึงได้มอบมาลัยทองคำและเดินทางไปสู่ขอนางวิสาขากับธนญชัยเศรษฐีจนเป็นที่ตกลง  พระเจ้าโกศลและมิคารเศรษฐีจึงเดินทางไปรับนางวิสาขามาอยู่เมืองสาวัตถี

          กาลมิคารเศรษฐียังมิได้นับถือพระพุทธศาสนา  จึงวันหนึ่งเกิดเรื่องทะเลาะกันกับนางวิสาขาจนถึงขั้นฟ้องขับไล่นางออกจากตระกูลสามี  เหตุเกิดเมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งมายืนอุ้มบาตรอยู่หน้าบ้าน  ขณะมิคารเศรษฐีกำลังรับประทานอาหารอยู่  นางกระซิบกับภิกษุรูปนั้นให้ไปโปรดข้างหน้า  เพราะพ่อนาง (บิดาสามี) กำลัง “กินของเก่า” อยู่  โกสิยอำมาตย์ผู้พิจารณาความตัดสินว่านางไม่มีความผิด  เพราะตามคำอธิบายของนาง  “กินของเก่า”  หมายถึง  กินบุญเก่า  มิใช่คำหยาบหรือด่าว่าเสียดสีแต่ประการใด  บิดาสามีก็ยอมไม่เอาเรื่องต่อไป  การณ์กลับเป็นว่า  หลังจากนั้นไม่นาน  บิดาสามีกลับมีความเลื่อมใสในตัวลูกสะใภ้มากขึ้น  จนถึงกับหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามลูกสะใภ้   ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาได้สมญานามคล้าย ๆ สร้อยนามเพิ่มขึ้นว่ า วิสาขามิคารมาตา (นางวิสาขาผู้เป็นมารดาแห่งมิคารเศรษฐี)

          ถึงวันพระอุโบสถที่กำหนดให้เทศน์เรื่องนี้  พวกเราไปพร้อมกันที่กุฏิท่านเจ้าคุณธรรมวิสุทธาจารย์  เพื่อกราบคาราวะท่านตามธรรมเนียม  พระครูสมนึกเรียนถามท่านว่าจะให้พวกกระผมเทศน์กันอย่างไร  กราบเรียนขอคำแนะนำด้วยครับ  ท่านหัวเราะแล้วกล่าวว่า  นักเทศน์รุ่นนี้ยั้งต้องมาขอคำแนะนำอีกรึ  ก็ว่าไปตามความถนัดของพวกท่านเถิด  เราก็ปรึกษาแบ่งตำแหน่งหน้าที่กันต่อหน้าท่านเจ้าคุณ  ได้เวลาเทศน์ก็เดินเข้าสู่พระวิหารหลวงพ่อโต (พระศรีศากยมุนี)  เห็นมีเก้าอี้ตั้งเรียงรายอยู่รอบพระวิหารไม่มีคนนั่ง  เข้าไปในพระวิหารเห็นมีอุบาสกอุบางสิกานั่งกันอยู่บางตา  กราบพระแล้วเราก็มองหน้ากัน  พระมหาบำรุงกล่าวเสียงเบา ๆ ว่า  “มีคนฟังน้อยจัง”  ข้าพเจ้าพูดปลอบใจว่า  อย่าสนใจว่ามีคนฟังมากหรือน้อยเลย  เราเทศน์กันให้ดีที่สุดก็แล้วกันนะ  พระครูสมนึกสนับสนุนว่า ปลัดอภินันท์พูดถูกแล้ว

          วันนั้นข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นมิคารเศรษฐี กับทำหน้าที่แสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์  สมมุติตำแหน่งให้พระครูกิตติสุนทรเป็นนางวิสาขา  พระมหาบำรุงเป็นโกสิยอำมาตย์และธนัญชัยเศรษฐีกับปุณณะวัฒนะอีกตำแหน่งหนึ่ง  การแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ไม่ยืดเยื้อเพราะจะต้องใช้เวลาในเนื้อเรื่องให้มากหน่อย  ใจจริงอยากจะเป็นตัวนางวิสาขา (นางเอก) ให้พระครูสมนึกเป็นมิคารเศรษฐี (ตัวโกง)  แต่ท่านไม่ยอม  ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นตัวโกงอึกตามเคย

          เราเทศน์ออกลูกเล่นกันสองตอน  คือตอนที่ปุณณะวัฒนะจะยอมมีภรรยาต่อเมื่อหาหญิงงามตามความต้องการของตนได้เสียก่อน  กับตอนที่ มิคารเศรษฐีทะเลาะกับนางวิสาขา  เราถกกันว่าการมีคู่ครองนั้นสำคัญอย่างไร  หญิงงามพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี อย่างไร  มีอะไรงามบ้าง  แล้วออกลูกเล่นในการให้พราหมณ์ ๘ คน  เที่ยวแสวงหาหญิงงามด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี  เมื่อพบนางวิสาขาแล้วจึงมีการอาวาหะมงคล คือเชิญเจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว (ส่วนวิวาหะมงคลคือเจ้าบ่าวไปอยู่บ้านเจ้าสาว)  ตอนนี้เราเล่นกันสนุกไม่น้อย

          ตอนพ่อผัวกับลูกสะใภ้ทะเลาะกันตอนนี้ถือเป็นตอนสำคัญ  เมื่อนางวิสาขากล่าวกับพระภิกษุว่าขอให้ไปโปรดข้างหน้าเถิด  พ่อสามีดิฉันกำลังกินของเก่าอยู่  ข้าพเจ้าแสดงอาการโกรธกริ้ว  ด่าว่านางวิสาขาด้วยคำหยาบนานาแล้วขับไล่นางออกจากตระกูล  โดยไปฟ้องร้องให้โกสิยอำมาตย์ชำระคดี  ตรงนี้ข้าพเจ้ากล่าวหานางวิสาขาด้วยเรื่องไม่ดีไม่งามนานา  เช่นหาว่าเป็นชู้กับพระภิกษุ  คอยเอาอาหารให้พระภิกษุทุกเช้า  และกระซิบกระซาบกันอย่างน่าเกลียดน่าชัง  นางวิสาขาแก้ข้อกล่าวหาหลุด  ข้าพเจ้าก็ตั้งข้อกล่าวหาอื่นอีกข้อแล้วข้อเล่า จนมีเสียงโยมหญิงคนหนึ่งพูดว่า  “เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นพ่อผัวรังแกลูกสะใภ้อย่างนี้”  ข้าพเจ้าได้ยินแว่ว ๆ จึงกล่าวข้อหาสุดท้าย  ที่นางวิสาขาหาว่า  “กินของเก่า”  นางก็แก้ว่า  หมายถึงคุณพ่อกินบุญเก่า  ด้วยชาติปางก่อนได้ทำคุณงามความดีไว้มาก  เกิดมาชาตินี้ผลบุญเก่าบันดาลให้ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองเป็นมหาเศรษฐี  อย่างนี้เรียกว่า  “กินของเก่า”  จนลืมทำของใหม่  ในตอนนี้การแสดงของพวกเราเข้มข้นมาก  เรียกว่าแสดงกันถึงบทบาทจริง ๆ

          หลังจบการแสดงท่านเจ้าคุณเข้ามาในพระวิหารกล่าวกับญาติโยมว่า  เป็นไงพระเทศน์ชุดนี้ใช้ได้ไหม  โยมหญิงหลายคนกล่าวว่าถูกใจมากค่ะ  ท่านบอกว่าได้เกณฑ์พระเณรของวัดมานั่งฟังอยู่รอบ ๆ พระวิหาร  ให้เขาฟังและจำเอาไว้เป็นแบบอย่างของการเทศน์ที่ดีนั้นเป็นอย่างนี้  พวกเราฟังแล้วก็ถึงบางอ้อ... เป็นเช่นนี้เอง/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต



หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 29, สิงหาคม, 2566, 10:42:33 PM
(https://i.ibb.co/WvDgxHj/12-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๐ -
          เพราะเป็น  “นักกลอนบ้านนอก”  คำร้อยกรองของข้าพเจ้าจึงขาดความอ่อนหวานละมุนละไม  คารมไม่คมคายขาดศิลปะวาที  ไม่เหมือนนักกลอนเมืองกรุงที่เขาได้รับการศึกษาอบรมเป็นอย่างดี  ครั้นได้คบค้าสมาคมกับนักกลอนเมืองกรุงมากหน้าหลายตา  ข้าพเจ้าได้ปรับปรุงตนเองด้านความรู้ความเข้าใจในการแต่งคำร้อยกรองมากขึ้น  แผงขายหนังสือสนามหลวงเป็นเหมือนขุมทรัพย์ของข้าพเจ้า  นอกจากได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักกลอนทุกรุ่นทุกเพศทุกวัยแล้ว  ยังได้หนังสือตำรับตำราเก่าใหม่มาอ่านอีกมากมาย  ส่วนใหญ่ก็ได้จากแผงขายหนังสือของพี่ประทุม กลัดอ่ำ  ปกติข้าพเจ้าเป็นคนชอบอ่านหนังสือชนิดที่เรียกกันว่า  “หนอนหนังสือตัวหนึ่ง”  อ่านเร็วและจำแม่นทั้งทำความเข้าใจได้เร็วอีกด้วย

          แต่เดิมมาก็แต่งแต่กลอน  ส่วนโคลง  ฉันท์  กาพย์  ร่าย  ไม่ประสีประสาเอาเสียเลย  มีนักกลอนรุ่นพี่หลายคนแนะนำว่า  ควรจะหัดแต่งโคลง ฉันท์ บ้าง  จึงเริ่มหัดแต่งโคลงโดยนำหนังสือ  โคลงนิราศนรินทร์  เป็นแบบ ทำ ความเข้าใจในฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพ  โคลงสี่สุภาพ  ที่มีลักษณะสัมผัสคำและบังคับให้ใช้  วรรณยุกต์  อย่างไรบ้าง  อย่างร่ายสุภาพนั้น  ส่งคำสัมผัสด้วยวรรณยุกต์อะไรต้องรับคำสัมผัสด้วยวรรณยุกต์นั้น  เป็นต้น   ส่วนโคลงสี่สุภาพก็ต้องจำให้แม่นว่า  กำหนดให้วางวรรณยุกต์  เอก  โท  ลงตรงไหนบ้าง  และยังต้องเรียนรู้วิธีการอ่านให้ถูกจังหวะทำนองด้วย

          อ่านคำโคลงนิราศ (กำสรวล) ศรีปราชญ์  นิราศนรินทร์  นิราศพระยาตรัง แล้วเปรียบเทียบดู  ศรีปราชญ์ท่านใช้คำโบราณมาก  บางคำอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจความหมาย  ส่วนนิราศนรินทร์  พระยาตัง  ใช้คำไม่โบราณมากนัก  จึงเข้าใจความหมายได้ไม่ยาก  อ่านไป ๆ ก็ชักจะชอบคำโคลงมากกว่าคำกลอน  เพราะว่าโคลงใช้คำรวบรัดชัดเจน  ไม่ฟุ่มเฟือยเหมือนกลอน  แต่ละคำอมความหมายไว้ลึกซึ้ง  ให้จินตนาการบรรเจิดจ้า

           เช่นบทครวญยามจากนางของนายนรินทร์ธเบศร์ (อิน) เริ่มต้นก็กินใจเหลือหลายว่า

           ๏ แถลงปางบำราศห้อง              โหยครวญ
           เสนาะเสน่ห์กำสรวล                  สั่งแก้ว
           โอบองค์ผอูนอวล                      ออกโอษฐ์ อรเอย
           ยามหนึ่งฤๅแคล้วแคล้ว              คลาดคล้ายขวบปี ฯ

          อ่านแล้วมองเห็นภาพชัดเลยว่า  นายอินมหาดเล็กหุ้มแพรนอนกับภรรยาในคืนก่อนจากไปราชการสงครามนั้น  เขานอนกอดภรรยาที่รักแล้วร่ำรำพันคำสั่งเสีย  ข้าพเจ้าชอบคำว่า   “โอบองค์ผอูนอวล”  มาก  ตอนแรกอ่านแล้วไม่รู้ความหมายของคำว่า  “ผอูน”  ก็รู้สึกเฉย ๆ  มารู้ทีหลังว่า  ผอูน  คือน้องหญิง  จึงได้ความว่า  กอดกายน้องหญิงที่หอมกรุ่น ก็ฝันเตลิดไปเลย

          บทที่ซาบซึ้งตรงใจยิ่งนัก  คือ:-

                ๏ โอ้ศรีเสาวลักษณ์ลํ้า          แลโลม โลกเอย
           แม้ว่ามีกิ่งโพยม                        ยื่นหล้า
           แขวนขวัญนุชชูโฉม                   แมกเมฆ ไว้แม่
           กีดบ่มีกิ่งฟ้า                              ฝากน้องนางเดียว ฯ

                ๏ โฉมควรจักฝากฟ้า            ฤๅดิน ดีฤๅ
           เกรงเทพไท้ธรณินทร์                 ลอบกลํ้า
           ฝากลมเลื่อนโฉมบิน                 บนเล่า นะแม่
           ลมจะชายชักชํ้า                        ชอกเนื้อเรียมสงวน ฯ

                ๏ ฝากอุมาสมรแม่แล้            ลักษมี เล่านา
           ทราบสยมภูวจักรี                      เกลือกใกล้
           เรียมคิดจบจนตรี                       โลกล่วง แล้วแม่
           โฉมฝากใจแม่ได้                        ยิ่งด้วยใครครอง ฯ

                ๏ บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง     เตียงสมร
           เตียงช่วยเตือนนุชนอน               แท่นน้อง
           ฉุกโฉมแม่จักจร                         จากม่าน มาแฮ
           ม่านอย่าเบิกบังห้อง                   หับให้คอยหน ฯ

          ข้าพเจ้าเรียนโรงเรียนผู้ใหญ่ระดับ ๔ อาจารย์สอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนนี้เป็นเจ้าของโรงเรียนด้วย  ท่านชื่ออาจารย์กราย  เขาว่าท่านเก่งภาษาไทยมาก  ตามหลักสูตรของชั้นเรียนนี้มีการเรียนเรื่องนิราศนรินทร์  อาจารย์สอนตอนที่มีความว่า

                ๏ โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น      ไพหาร
           ธรรมาสน์ศาลาลาน                   พระแผ้ว
           หอไตรระฆังขาน                        ภายค่ำ
           ไขประทีปโคมแก้ว                     ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์ ฯ

          ท่านแปลคำ  “พระแผ้ว”  ว่า  “ผ่องแผ้วบริสุทธิ์”  ตามแบบที่แปลกันสืบมา  ข้าพเจ้าแย้งว่า  คำว่าพระแผ้วไม่น่าจะแปลว่า  ผ่องแผ้วบริสุทธิ์  ท่านถามว่า  แล้วท่านแปลว่าอย่างไร  ข้าพเจ้าตอบด้วยความมั่นใจว่า   “พระปัดกวาดทำความสะอาดโบสถ์ระเยียงมณฑปพิหารธรรมาสน์ศาลาลานวัด”  ท่านพูดอย่างไม่พอใจว่า แปลยังงั้นได้ไง   ข้าพเจ้าก็ว่า  “ดูบริบทแล้ว  เห็นว่าพื้นโบสถ์  ระเบียง  มณฑป  วิหาร  ธรรมาสน์  ศาลากาเปรียญ  ลานวัด  เป็นตัวถูกกระทำ  คำว่าพระแผ้ว  เป็นตัวกระทำ  พระก็คือภิกษุ  แผ้ว คือถากถางปัดกวาด  ทำความสะอาด  ถ้าหากจะใช้คำว่า  “ผ่องแผ้วบริสุทธิ์”  ท่านก็น่าจะใช้คำโคลงว่า  “เพริดแพร้ว”  ไม่ผิดฉันทลักษณ์และได้ความไพเราะด้วย”

          ฟังคำตอบประกอบเหตุผลแล้วอาจารย์โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง  กล่าวว่าผมสอนทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอย่างนี้มานานแล้ว  ไม่เห็นมีใครค้าน  ถ้าออกข้อสอบท่านตอบอย่างนี้ผมจะให้ตกเลย  เอากะท่านซี/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 30, สิงหาคม, 2566, 10:53:01 PM
(https://i.ibb.co/wYRJ9qF/316675054-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๑ -
          ว่ากันว่าเมืองใดไม่มี  “โสเภณี”  เมืองนั้นถือว่ายังไม่เจริญ  เห็นจะจริงดังว่า  ด้วยในชมพูทวีปสมัยโบราณก่อนพุทธกาลมาแล้ว  มีการตั้งหญิงงามให้เป็นโสเภณี  เมืองใหญ่ ๆ ต้องมีหญิงโสเภณีไว้ประดับเมืองเรียกว่า “นครโสเภณี”   สืบค้นตำนานดูแล้วพบว่า “โสเภณี” คือหญิงงามเมืองสมัยโน้น  จะแต่งตั้งโดยพระราชาผู้ครองแคว้น  มิใช่ชาวบ้านชาวช่องจะตั้งกันเองได้  นางโสเภณีจะต้องมีความสวยงามทั้งกิริยาวาจา  และเชี่ยวชาญชำนาญในการร้องรำทำเพลงบรรเลงคนตรีให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่แขกบ้านแขกเมือง  มีนางงามเป็นบริวารเรียกว่านางคณิกา  ถ้าเทียบกับเมืองไทยก็คือ  โสเภณีได้แก่แม่แม่เล้า  นางคณิกาได้แก่ กะหรี่ อีตัว ผู้ให้บริการทางเพศ อะไรทำนองนั้น  สำหรับในเมืองไทยมีบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของโสเภณีไว้พอสรุปได้ดังนี้:-

           “ในอดีตสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีหรือพระเจ้าอู่ทองเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๙๐๔  อาชีพค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์  ได้มีการจดทะเบียนนครโสเภณี  สามารถเก็บภาษีและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ  ในนามของ  ‘ภาษีบำรุงถนน’  จนกระทั่งเกิดโรคระบาด  ‘กามโรค’  หรือ  ‘โรคบุรุษ’  จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค พ.ศ. ๒๔๕๑  โดยมีการกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพโสเภณีทั้งหญิงไทย จีน และชาติอื่น ๆ  ต้องมาจากความสมัครใจ  ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ  สถานบริการทางเพศ หรือ  ‘ซ่อง’  ก็ต้องจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย  อีกทั้งให้ควบคุม ดูแล โสเภณีต้องมีการตรวจโรค ๓ เดือนครั้ง  เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อและให้บริการเอง  แต่ก็ไม่วายพบปัญหาที่ยากต่อการปราบปรามการซื้อขายบริการตามท้องถนนอย่างยาวนาน  จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออก ‘พระราชบัญญัติการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓’  จึงทำให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกทำให้เป็นอาชญากรรม (criminalization) หรือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย  ห้ามมีการค้าประเวณี  มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับแก่ผู้ให้บริการ  นายหน้า  และเจ้าของสถานประกอบการ  อีกทั้งเมื่อผู้ให้บริการพ้นโทษแล้วต้องเข้ารับการรักษาและฝึกอบรมอาชีพไม่เกิน ๑ ปีหลังพ้นโทษ”

          ที่  “กล่าวความยาวสาวความยืด”  มาข้างต้นนั้น  เพื่อจะบอกว่า  สมัยที่ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดใหม่อมตรสนั้น  เหมือน  “เข้าอยู่ในดงโสเภณี”  ก็ปานกัน  ยุคนั้นธุรกิจการค้าขายบริการทางเพศกำลังเฟื่องฟู  ในย่านบางขุนพรหมมีโรงแรมหลายโรง เช่น  โรงแรมสุขสวัสดิ์, นครพิงค์, มิตรไพศาล, จูไล, จูน เป็นต้น  แต่ละโรงแรมชั้นล่างเปิดเป็น “ม่านรูด” ชั้นบนเป็นที่พักแรมคืนและชั่วคราว  มีนางคณิกาให้บริการทางเพศโรงละหลายสิบคน  บางโรงเป็นร้อย  ชุมชนรายรอบวัดมีสำนักโสเภณีหรือ ซ่อง ประมาณ ๑๓ ซ่อง  เจ้าของซ่องผู้ชายเรียกว่า “พ่อเล้า” ผู้หญิงเรียกว่า “แม่เล้า”  ชายผู้คุมซ่องเรียกว่า “แมงดา”  ในความหมายว่าเกาะผู้หญิงหากินอะไรทำนองนั้น

          ที่ข้าพเจ้ารู้ค่อนข้างละเอียดก็จากคำบอกเล่าของคนรอบวัดนั้นเอง  ตัวเองก็เข้าซ่องด้วยนะ  ไม่ได้เข้าไปเที่ยวหญิงคณิกา (กะหรี่) ดอก  แต่เพราะว่าบรรดาพ่อเล้าแม่เล้าเขาจะมีการทำบุญประจำปีของเขาทุกซ่อง  ในฐานะที่เขาเป็นพุทธศาสนิกชน  จึงนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์และเลี้ยงอาหารเพลรพระในซ่องของเขา พระครูชมเจ้าอาวาสวัดท่านไม่ไป  แต่มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นประธานสงฆ์  นำภิกษุในวัดไปฉลองศรัทธาพวกเขาทุกซ่องที่ทำบุญกัน  ก็ต้องทำใจโดยคิดว่าสมัยพุทธกาลพระภิกษุก็รับนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในสำนักโสเภณี  เช่น  นางสิริมา  หญิงงามเมืองแห่งกรุงราชคฤห์  นางผู้นี้  เป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัทร  ภายหลังได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดมรรคผลเป็นพระโสดาบัน  นอกจากนางสิริมาแล้วก็มี  นางอัมพปาลี, นางวิมลา, นางอัฒกาสี ,นางปทุมวดี  ทั้ง ๔ คนนี้หลังจากเลิกอาชีพโสเภณีแล้วหันหน้าเข้าวัด  ออกบวชเป็นภิกษุณีบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

          ได้ความรู้จากเจ้าสำนักโสเภณีย่านบางขุนพรหมว่า  สาวในซ่องส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือของไทย  มาเป็นโสเภณีด้วยความสมัครใจบ้าง  มาด้วยความจำใจบ้าง  พวกที่มาด้วยความจำใจนั่นเพราะพ่อแม่นำมาขายซ่อง  พวกนี้เมื่อมอบเงินให้พ่อแม่ไปแล้วต้องค้นตัวไม่ให้มีเงินติดตัว  ไม่อย่างนั้นนางจะหลบหนีไป  บางนางแม้ไม่มีเงินติดตัวก็หนีไปได้  เพราะพ่อแม่นัดแนะไว้ว่าเมื่อหนีออกมาได้แล้วให้ไปพบกันที่นั่นที่นี่  จนทางสำนักเสียเงินฟรี  ตอนนั้นวิธีการ  “ตกเขียว”  มีมาก  กล่าวคือทางเจ้าสำนักเดินทางขึ้นไปทางภาคเหนือ  ติดต่อชาวบ้านในชนบทที่มีลูกสาวอายุน้อย ๆ  ชักชวนให้เข้ามาขายบริการทางเพศในกรุงเทพฯ เมื่อโตจนใช้การได้แล้ว  มีการวางมัดจำครึ่งหนึ่งบ้าง  จ่ายเต็มจำนวนตามที่ตกลงกันบ้าง  แล้วก็ทำสัญญากู้เงินผูกมัดไว้

          ทุกครั้งที่พระฉันอาหารและอนุโมทนาแล้ว  เจ้าสำนักจะให้พระผู้เป็นหัวหน้าคณะ (ก็ข้าพเจ้าน่ะแหละ) ประพรมน้ำพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล  โดยผู้คุมซ่อง (แมงดา) ถือบาตรน้ำมนต์เดินนำหน้าไปตามห้องต่าง ๆ ให้ข้าพเจ้าใช้มัดใบหญ้าคาจุ่มน้ำมนต์ในบาตรซัดไปทั่วห้อง  หมดทุกห้องเป็นอันเสร็จพิธี

          มีคราวหนึ่งข้าพเจ้าเดินตามผู้คุมซ่องพรมน้ำมนต์เรื่อยไปถึงห้องหนึ่ง  พอเขาเปิดประตูห้อง  ข้าพเจ้ายกมือค้างพรมน้ำมนต์ไม่ได้  เพราะบนเตียงนอนเบื้องหน้านั้นมีร่างหญิงสาวนอนเปลือยกายล่อนจ้อนร่างขาวโพลนอยู่  แมงดาบอกว่าอาจารย์หลับตาซัดน้ำมนต์ไปเลย  นางนี่เป็นเด็กใหม่เมื่อคืนรับแขกทั้งคืนมันคงไม่ตื่นขึ้นมาดอก  ว้าว..../

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กันยายน, 2566, 12:55:28 AM
(https://i.ibb.co/DYBwDwz/1.jpg) (https://imgbb.com/)
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๒ -
          หากจะพูดว่าในช่วงเวลาก่อนถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  เป็นยุคที่การกลอนของไทยฟูเฟื่องที่สุดก็ว่าได้  มีการจัดตั้งกลุ่มชุมนุมชมรมกลอนทั้งในกรุงและต่างจังหวัดมากมาย  จนจำชื่อไม่หวาดไหว  ส่วนใหญ่จะตั้งในวัด  และโรงเรียนระดับมัธยม  สมาชิกของชมรมเป็นพระเณรและนักเรียนระดับมัธยมเสียเป็นส่วนมาก  สื่อหรือสนามประลองฝีมือคือหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์  คลื่นเสียงวิทยุ  คนแต่งกลอนสมัยนั้นเขียนกันโดยมิได้หวังค่าจ้างรางวันเป็นเงินตรา  มากไปกว่าความสุขใจที่ได้เผยแผ่งานฝีปากฝีมือของตนสู่สาธารณชน

          มีการจัดประกวดกลอนชิงถ้วย  โล่  แถมด้วยเงินรางวัลค่าเดินทางเล็กน้อย  นาน ๆ จึงมีการประกวดชิงรางวัลเป็นเงินก้อนใหญ่อย่างเช่น  รางวัลชนะเลิศ  ในการประกวดบทประพันธ์ชิงรางวัลทางวรรณคดี  ของมูลนิธิ จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งประเทศไทย   ประจำปี ๒๕๑๔  บทประพันธ์ที่ชนะเลิศชื่อ  “บรรพชาปวัตน์คำกลอน”  เงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท  ซึ่งพระมหาทองย้อย วรกวินโท (แสงสินชัย)  เป็นผู้แต่งส่งเข้าชิงรางวัล  ปีนั้นชื่อเสียงของพระมหาทองย้อยจึงโด่งดังในวงการกลอนมาก  ท่านผู้นี้มีผลงานร้อยกรองมากมาย  เฉพาะกาพย์เห่เรือของท่านที่แต่งต่างวาระนั้นยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน

          แต่ละชมรมกลอนนิยมจัดกิจกรรมด้วยการแข่งขันกลอนสดประเภทวง  และประกวดกลอน  ในการแข่งขันกลอนสดประเภทวงนั้นไม่จำกัดเพศ-วัยของผู้เข้าแข่งขัน  ชมรมรื่นฤดีของข้าพเจ้ายามนั้นมีสมาชิกเป็นพวกรุ่นใหญ่อย่าง อรัญ สิทธิศรี, ข้าพเจ้า และนายทหารชั้นประทวนในสวนรื่นจึงไม่สะดวกในการเข้าร่วมการแข่งขัน  ได้ไปร่วมงานและรับเป็นกรรมการตัดสินเท่านั้น  ต่อมามีเด็กนักเรียนระดับ ม.ปลายจาก รร. สตรีนนทบุรีเข้ามาเป็นสมาชิกหลายคน  จึงส่งพวกเธอเข้าร่วมแข่งจันกลอนสดประเภทวงกับเขาบ้าง  ผลงานของพวกเธอก็พอใช้ได้  กล่าวคือตกรอบแรกบ้าง  เข้ารอบ ๑-๒ บ้าง  เข้ารอบสุดท้ายได้รางวัลรองชนะเลิศบ้าง  เท่านี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว

          รายการกลอนทางวิทยุสมัยนั้นแม้มีมาก  แต่ที่ข้าพเจ้าเล่นสนุกที่สุดคือ  “ชั่วโมงโคลงกลอน”  ทางวิทยุ ท.ท.ท. สี่แยกคอกวัว  จัดโดย นคร มงคลายน  ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูโคลง ฉันท์ คนหนึ่ง  ท่าน “เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๖๘ ในย่านบางรัก พระนคร  บิดาเป็นชาวจีนชื่อ  นายบ๊วยอุ่ยดี้ แซ่จิว  มารดาชื่อนางนวม มงคลายน (สู่สวัสดิ์) ที่บ้านมีอาชีพทำโรงยาฝิ่น  จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษารุ่นโตโจ (ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ )  เคยหันเหชีวิตไปเล่นละครเร่อยู่หลายปี  จากนั้นก็เริ่มหันมาเล่นตลกละครเวที  แต่งเพลง  ร้องเพลงแปลง  เต้นรำ  เนื่องจากครูนครเป็นคนที่มีอารมณ์ดี  สนุกสนานเฮฮา  จึงมีเพื่อนฝูงมาก  และทุกคนต่างรักครูนครทั้งนั้น  ในด้านแต่งเพลง  ครูนครมีความสามารถแต่งเพลงได้หลายแนว  ตัวเองก็นิยมร้องเพลงตลก  หากเป็นแนวอื่นก็แต่งให้นักร้องชื่อดังในขณะนั้นร้อง  อย่างเช่น  สุเทพ วงศ์กำแหง  เพ็ญศรี พุ่มชูศรี  สวลี ผกาพันธ์  ชาญ เย็นแข  จินตนา สุขสถิต  เป็นต้น”   เป็นศิลปินที่หากินมารุ่นราวคราวเดียวกับครูพยงค์ มุกดา  อายุอานามก็ใกล้เคียงกัน  พูดถึงความสามารถเฉพาะตัว  สมัยก่อนยากจะหาใครมาทัดเทียม  หรือแม้แต่สมัยนี้จะหาศิลปินที่มีทุกอย่างในตัวคนเดียวก็ใช่จะหาได้ง่าย  มองแทบไม่เห็นเอาซะเลย”

          ครูนครสู่วงการวิทยุโดยได้ไปจัดรายการวิทยุที่สถานีวิทยุ ว.พ.ท. และ อสมท ชื่อรายการว่า  "หนุ่มน้อยฝอยข่าว"  สร้างชื่อเสียงให้แก่ครูนคร มงคลายน มาก  เพราะผู้ฟังต่างชื่นชอบในการพูดคุยเรื่องข่าวชาวบ้านที่มีมุขตลกผสมผสานไปด้วยตามถนัด  ดังนั้นคนส่วนมากจึงรู้จักท่านในนามนักแสดงและนักแต่งเพลง นักพูด ดังกล่าวมากว่าจะรู้จักว่า  ครูนครเป็นนักกวีที่เก่งทางกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย  อย่างหาตัวจับยาก

          รายการ  “ชั่วโมงโคลงกลอน”  ที่ท่านจัดทางวิทยุ ท.ท.ท. (คือ อสมท. ในปัจจุบัน)  เป็นรายการที่ท่านจัดได้สนุกและให้ความรู้ความบันเทิงมากมาย  มีคนเขียนบทร้อยกรองส่งเข้าร่วมรายการทั้งคนเก่าคนใหม่  พวกมือใหม่หัดเขียนที่เขียนไม่ถูกฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ชนิดใด  ท่านก็จะพูดแนะนำ (สอน) ให้ทุกคน  ข้าพเจ้าเขียนฉันท์ได้หลายอย่างจากรายการนี้  มีบางคืนข้าพเจ้านำฉันท์ที่หัดแต่งไปรอพบท่านที่สถานีวิทยุ (บางขุนพรหมกับสี่แยกคอกวัวอยู่ไม่ไกลกันนัก)  ท่านก็อ่านและติชมแนะนำให้ด้วยความเมตตา

          นักกลอนรุ่นลายครามท่านหนึ่งใช้นามปากกาว่า  “พลายท่อก”  ครูนครไม่ยอมเปิดเผยชื่อจริงท่านผู้นี้  พลายท่อกออกมายืนท้าชนกันในสนามชั่วโมงโคลงกลอน  อีกนามหนึ่งคือ  “เอราพต”  ข้าพเจ้าฟังสำนวนลีลานกลอนแล้วเชื่อแน่ว่าเป็นคนเดียวกันกับ  พลายท่อก  พวกนิยมช้างพลาย  ช้างพัง  ทั้งหลาย   ออกมาประคารมกับพลายท่อก เอราพต  อย่างสนุกสนาน  ข้าพเจ้าใช้นามปากกาล้อเลียนท่านว่า  “แท่ก โทงเทง”  แต่งกลอนโต้ตอบกัน  ค้นหาคำที่เป็นไวพจน์ของช้างออกมาแสดง  ทำให้รู้จักชื่อของช้างอีกหลากหลาย   พลายท่อก ขยันเขียนกลอนมาก  จึงเผลอใช้นามจริงอกมาว่า  “ลุงฟัก ปากช่อง”  เราจึงรู้กันว่าพลายท่อก เอราพต คือลุงฟัก (ไม่ทราบนามสกุล)

          มีนักกลอนในรายการชั่วโมงโคลงกลอนท่านหนึ่ง  อายุใกล้ ๖๐ แล้ว  เป็นพระภิกษุชื่อบุญเลี้ยง  ท่านแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เก่งไม่น้อย  ทราบว่าอยู่วัดแถว ๆ ราษฎร์บูรณะ  นั่งรถเมล์สายพระประแดง-บางขุนพรหม มาหาข้าพเจ้าบ่อย ๆ  ก็มานั่งเขียนกลอนโต้ตอบกับลุงฟักนั่นแหละ  ระยะหลัง ๆ ท่านเข้ามาในห้องข้าพเจ้าพร้อมกลิ่นสุรา  จึงรู้ชัดว่าท่านดื่มสุราเป็นประจำด้วยข้ออ้างว่าถ้าไม่ดื่มจะคิดอะไรไม่ออก  จึงถูกข้าพเจ้าอบรมสั่งสอนตามระเบียบ  สั่งว่ามาหาผมคราวต่อไปขออย่าให้มีกลิ่นเหล้าติดตัวมาอีกเป็นอันขาด  ไม่อย่างนั้นจะถูกจับสึก  หลังจากนั้นทราบว่าไม่ได้ถูกใครจับสึกหรอก  แต่ท่านสึกของท่านเอง  แล้วหายไปเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 01, กันยายน, 2566, 10:50:20 PM
(https://i.ibb.co/sbnfyhk/316249967-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๓ -
          มีคำกล่าวสืบ ๆ กันมาว่า ”ฝนจะตก ขี้จะแตก พระจะสึก”  ห้ามกันไม่ได้  คำกล่าวนี้เป็นเรื่องจริงที่เถียงมิได้  วันหนึ่งข้าพเจ้าเลิกเรียนแล้วไปหาพระมหาอรัญ  ที่วัดโบสถ์สามเสนตามปกติ  คุยกันตามประสาคนคุ้นเคย  ตอนหนึ่งมหาอรัญกล่าวว่า  “หลวงพี่ครับ  ผมคงอยู่เป็นพระต่อไปไม่ได้แล้ว/  อ้าว  เกิดอะไรขึ้นหรือ/  เกิดความเบื่อหน่ายความเป็นพระครับ/  มีสีกามาชวนสึกหรือ/  ก็มีบ้าง  แต่คนที่มาชวนสึกนั้นไม่ถูกใจเลยสักคนเดียว  ผมไม่คิดสึกเพราะสีกาหรอก  แต่มันเบื่อความเป็นพระอย่างไรบอกไม่ถูก  จึงอยากจะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นฆราวาสบ้าง”   เราพูดคุยกันเรื่องเป็นพระดีอย่างไร  เสียอย่างไร  เป็นที่ยุติว่าออกพรรษาแล้วพระมหาอรัญลาสิกขาแน่นอน  ข้าพเจ้าเชื่อในคำที่ว่า  “พระจะสึก ฝนจะตก ขี้จะแตก”  ห้ามกันไม่ได้  จึงไม่ห้ามการสึกของพระมหาอรัญ  เพราะถึงห้ามก็ห้ามไม่ได้แน่นอน

          ครั้นมหาอรัญเปลื้องผ้าเหลืองพ้นตัวลาสิกขาไปแล้ว  ตำแหน่งประธานชมรมรื่นดีศรีวรรณศิลป์เขาก็ปล่อยวางพ้นมือไปด้วย  ภาระจึงตกมาอยู่กับข้าพเจ้า  นักกลอนในชมรมรื่นฤดีขอร้องแกมบังคับให้ข้าพเจ้ารับเป็นประธานชมรมคนต่อไป  สำนักงานหรือที่ประสานงานของชมรมจึงย้ายจากกุฏิมหาอรัญวัดโบสถ์มาเป็นกุฏิพระปลัดอภินันท์วัดใหม่อมตรส  กุฏิของข้าพเจ้ากว้างขวางกว่ากุฏิมหาอรัญ  จึงใช้เป็นที่ประชุมพบปะสังสรรค์ของนักกลอนทั้งที่เป็นสมาชิกของชมรมรื่นฤดีและจากขมรมอื่นได้เป็นอย่างดี  ข้าพเจ้าเสนอในที่ประชุมใหญ่ขอเปลี่ยนชื่อชมรมรื่นฤดีศรีวรรณศิลป์  โดยตัดคำว่า  ”ศรี”  ทิ้งไป  ให้เป็น  “ชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์”  ที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์  นอกจากเปลี่ยนชื่อดังกล่าวแล้วยังมีมติให้ทำตราประจำชมรมเป็นรูปคนธรรพ์ดีดพิณอีกด้วย

          ในเวลานั้นกุฏิของข้าพเจ้ามีผู้คนคึกคัก  มิใช่เพราะมีนักกลอนไปเยี่ยมเยือนพบปะสังสรรค์กันเท่านั้น  แต่คึกคักเพราะคนไข้หลากหลายอาชีพจากจาตุรทิศเดินทางมาเข้ารับการรักษาโรคด้วยวิธีการปักเข็ม  ทั้งนี้เนื่องจากสมาคมแพทย์แผนไทยจากวัดโพธิ์มาขอใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสำนักงานและเปิดการเรียนการสอนวิชาแพทย์แผนโบราณทั้งแผนกเภสัชโบราณและเวชโบราณ  นัยว่านายกสมาคม (เป็นทหารยศพันเอก) ท่านเป็นโรคอัมพฤกษ์  รักษาตามแผนโบราณและแผนปัจจุบันไม่หาย  ได้ข่าวว่ามีหมอจีนแดงมารักษาโรคด้วยวิธีการปักเข็มอยู่ในประเทศลาว  จึงให้คนแอบไปเชิญหมอจีนแดงเข้ามาอย่างลับ ๆ  หมอจีนปักเข็มรักษาอัมพฤกษ์ได้ไม่นานก็หาย  จึงขอให้หมอจีนเปิดสอนการปักเข็ม (แบบลับๆ) ที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญวัดใหม่ฯ  มีนักเรียนสมัครเรียนกันเกือบร้อยคนโดยมีข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย

          ตำราเรียนปักเข็มชื่อ  “จำกู่เก็ง”  แต่คนไทยเรียกว่า  “ฝังเข็ม”  ซึ่งไม่ตรงความจริง  ที่จริงเขาใช้เข็มเงินปักลงตรงขุดต่าง ๆ ของร่างกาย  ปักลงไปแล้วถอนออก  มิได้ปักฝังเข้าไว้ในร่างกาย  ข้าพเจ้าเป็นโรคไซนัสมานานปี  ขอให้หมอแดง (จีน) ปักเข็มรักษาให้ในระหว่างการเรียนการสอนนั้น  เดือนกว่าไซนัสก็ทุเลาลงจนหายในที่สุด  หมอแดง (เราเรียกกันอย่างนั้น) เปิดการสอนตั้งแต่เล่าประวัติความเป็นมาของวิชาปักเข็มครั้งสมัยโบราณไม่น้อยกว่าสองพันปี  ท่านบรรยายเป็นภาษาจีน (เพราะพูดไทย ลาว ไม่ได้)  มีคนแปลเป็นภาษาไทย  นายแพทย์ไทยท่านหนึ่งจาก รพ. ศิริราช (ขณะให้การนี้ลืมชื่อท่านเสียแล้ว) สมัครเข้าเรียนด้วย  ท่านบอกว่าได้เรียนแพทย์แผนไทยในส่วนเวชศาสตร์มาแล้ว  จึงมาเรียนวิชาปักเข็มของจีน  ต้องการประยุกต์วิชาเส้นสายต่าง ๆ ของไทยเข้ากับจุดประสาทต่าง ๆ ของจีน  วิชาปักเข็มของจีนสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้จุดประสาทต่าง ๆ ในร่างกาย  และเส้นสายต่าง ๆ ในร่างกาย  จำตำแหน่งให้แม่นยำเพื่อมิให้ปักเข็มลงไปถูกเส้นเลือด  เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้  “จุดฝังเข็ม (输穴 ซู่เซฺวีย) คือ  ตำแหน่งบนร่างกายที่เลือดและชี่จากอวัยวะภายในไหลเวียนมาเพิ่มเติมและกระจายออก  โดยอาศัยการทำงานของระบบเส้นลมปราณ  ในทางเวชปฏิบัติ  จุดฝังเข็ม  หมายถึง  จุดที่แพทย์จีนใช้ฝังเข็มหรือกระตุ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อการรักษาโรค  จุดฝังเข็มส่วนใหญ่เรียงรายอยู่บนเส้นลมปราณต้น ๑๔ เส้น  ซึ่งอยู่ลึกระดับใต้ผิวหนัง  หรือเอ็นและกล้ามเนื้อ  จุดฝังเข็มมีตำแหน่งแน่นอน  ซึ่งสามารถใช้ฝังเข็มได้อย่างปลอดภัย  การรักษาของแพทย์จีนในการกระตุ้นจุดฝังเข็มด้วยวิธีการที่เหมาะสม  สามารถใช้ในการรักษาโรค  บรรเทาอาการผิดปกติ  เสริมสร้างสุขภาพ  เสริมภูมิคุ้มกันโรค  และปรับสมดุลการทำงานของร่างกายได้อย่างน่าอัศจรรย์”

          หมอแดงนำหุ่นร่างคนที่ทำด้วยยางมีเครื่องหมายจุดประสาทต่าง ๆ  และสายเส้นเลือดทั้งหมดมาตั้งประกอบการสอน  เมื่อนักเรียนพอจำได้แล้วก็เปลี่ยนเป็นหุ่นยางที่ไม่มีเครื่องหมายให้นักเรียน  ทดลองปักเข็มลงตามจุด่าง ๆ ที่ท่านบอกชื่อออกมา  เช่น  หะเกาะ  อุ่ยตง  เป็นต้น  ถึงตอนนี้สนุกมากเลย  ข้าพเจ้าลองปักจุดตามคำบอกบ้าง  แต่ไม่มากนัก  เปิดโอกาสให้นักเรียนในบัญชีเขาฝึกหัดกัน  เพื่อนำวิชานี้ไปรักษาโรคต่อไป

          หมอแดงสอนครบตามกำหนดแล้วก็ลากลับไปอยู่ในประเทศลาว  ปรากฏว่านักเรียนเกือบร้อยคนนั้น  มีผู้สามารถปักเข็มรักษาโรคได้ดีจริง ๆ ไม่เกิน ๒๐ คน  หนึ่งในนั้นคือ  หมอมานะ ไทยวิบูลย์วงศ์  ผู้จัดการโรงเรียนแพทย์โบราณของสมาคมฯ  หลังจากหมอแดงไปแล้ว  หมอมานะก็เปิดรักษาโรคนานาด้วยวิธีปักเข็มที่ชั้นบนของศาลาการเปรียญ  ส่วนชั้นล่างเปิดสอนวิชาแพทย์แผนไทยโบราณตามปกติต่อไป

          เพราะหมอมานะเปิดรักษาโรคด้วยวิธีปักเข็มหรือฝังเข็นนี่แหละ  หน้ากุฏิข้าพเจ้าจึงมีคนไข้และญาติคนไข้มาชุมนุมกันมากมาย  มีเรื่องสนุกเกิดขึ้นมาก  เอาไว้แล้วจะเล่าให้ฟัง /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 02, กันยายน, 2566, 10:54:19 PM
(https://i.ibb.co/hmbFL6X/316426637-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๔ -
          คำกล่าวที่ว่า “ปากคนยาวยิ่งกว่าปากกา”  นี้หมายถึงปาก (คำพูด) ของคนยาวยิ่งกว่าปาก (นก) กา  เพราะคำพูด  “ปากต่อปาก”  (เสียงลือเสียงเล่าอ้าง)  ส่งข่าวไปได้ยาวไกลกว่าเสียงร้องของกา  อีกคำหนึ่งว่า  “ปากคนยาวไม่เท่าปากกา”  นี้หมายถึงคำพูดของคนยาว (ดัง) ไม่เท่าปากกาที่เขียนเป็นลายอักษรบอกเล่าเรื่องราวนานา

          การเปิดเรียนวิชาปักเข็มและการเปิดรักษาโรคด้วยวิธีปัก (ฝัง) เข็มแบบจีนที่วัดใหม่อมตรส  ไม่มีการเผยแผ่ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์  เพราะต้องการปิดไว้เป็นความลับ  ด้วยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย  วงการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ให้การยอมรับ  แม้กระนั้นก็หนีไม่พ้นพุทธวจนะที่ว่า “ชื่อว่าที่ลับไม่มีในโลก”  ข่าวการเปิดรักษาโรคนานาด้วยวิธีฝัง (ปัก) เข็มที่วัดใหม่อมตรส  แพร่ออกไปจากปากต่อปากเป็น  “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง”  คนที่ได้ยินได้ฟังข่าวจากปากต่อปากจึงพากันมาขอรับการรักษาโรคนานาที่วัดใหม่อมตรสเป็นอันมาก

          ระยะเวลานั้น (ปีพ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๘) คนเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ พากันไปขอรับการรักษาตามแบบแพทย์แผนจีนที่วัดวัดใหม่ฯ เป็นจำนวนมาก  โรคที่คนไข้มาขอรับการรักษาก็มีโรคปวดหัว ปวดแขนขา อัมพฤกษ์ อัมพาต เหน็บชา เป็นต้น  ผลการฝังเข็มรักษาบางคนอาการทุเลาลง  บางคนอาการที่เป็นนั้นหายไปเลย  หมอมานะจัดหาเตียงสำหรับคนไข้นอนฝังเข็มบนศาลาการเปรียญหลายเตียง  คนไข้ฝังเข็มเสร็จแล้วก็กลับไปแล้วมาใหม่ตามนัด  พวกนี้ไม่มีปัญหา  แต่ผู้ป่วยจากต่างจังหวัดที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต  พวกนี้มีปัญหาเรื่องที่พัก  ข้าพเจ้ายอมให้พวกเขานอนที่ชานกุฏิ  ศาลา  จนดูระเกะระกะไปหมด

          คนไข้หลายคนที่ป่วยเป็นอัมพาต  ญาติหามร่างร่องแร่งเข้ามาขอการรักษา  พอปักเข็มได้ ๒-๓ วัน ร่างกายก็เริ่มเคลื่อนไหวได้  ภายเวลา ๗ วันเขาก็ลุกเดินได้และกลับไปพักฟื้นที่บ้านตนเอง  บางคนใช้เวลารักษาอยู่นานเป็นเดือนก็หายแล้วกลับบ้านได้  บางคนก็ไม่ดีขึ้น  จึงมีคนไข้นอนอยู่ระเบียงข้ากุฏิข้าพเจ้าไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน  ตอนค่ำ ๆ ข้าพเจ้ามักจะไปนั่งคุยกับผู้ป่วยอัมพาตที่พอพูดจากันรู้เรื่อง  ถามถึงการเป็นอัมพาตในระยะเริ่มต้น  เป็นความรู้ไว้เพื่อบอกต่อไปยังคนที่ไม่เป็นโรคนี้ให้เขาระวังเนื้อระวังตัว ป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้

          ผู้ป่วยบางคนนอนปัสสาวะ  อุจจาระ ไหลไม่รู้ตัว  ผู้ปฏิบัติดูแลต้องคอยเช็ดคอยล้างทำความสะอาด  ข้าพเจ้าเห็นสภาพแล้วสลดใจมาก  เคยกล่าวกับบางคนที่นอนป่วยว่า  “ถ้าเป็นฉันป่วยอย่างนี้นะโยม  ฉันจะไม่ทนทรมานหรอก  ต้องฆ่าตัวตายแน่ ๆ”  โยมคนนั้นก็กล่าวตอบว่า  “ตอนที่ไม่ป่วย  เห็นคนอื่นเขาป่วยก็คิดอย่างท่านนี่แหละ  แต่พอเป็นเข้าจริง ๆ  ก็คิดว่ายังมีความหวังว่าจะรักษาให้หายได้  จึงเป็นอยู่อย่างที่ท่านเห็นนี่แหละ”  ฟังเขากล่าวอย่างนั้นก็ต้องกล่าวขอโทษเขา  เป็นบทเรียนให้จำมาสอนคนต่อไปว่า  ชีวิตของคนทุกคนควรมีความหวัง  ไม่ควรท้อแท้ทอดทิ้งความหวัง  ชีวิตคนเราอยู่ได้ก็ด้วยความหวังนี้เอง

          กุฏิของข้าพเจ้ากาลนั้นเป็นที่รวมของสมาชิกนักกลอนชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์  คนที่มาประจำอยู่คือ  เจ้าช่อตำแย  จักรกฤษ หรือประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย  ตามด้วย  สุขสันต์ จึงสง่า  ประสิทธิ์ ครองเพชร  จิตกร เมืองสวรรค์ (มังกร แพ่ง่าย)  ส. เชื้อหอม  ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร  สมพงษ์ โหละสุต  สำหรับ อรัญ สิทธิศรี  หลังจากลาเพศไปแล้วทำตัวค่อนข้างลึกลับ  นาน ๆ โผล่มาที (ดูเหมือนมีปัญหาในการดำรงชีพ)

          ส่วนเด็กสาวก็มี  อักษร ธัญญะวานิช  พริ้มเพรา จิวสกุล  ชูศรี จันทรพิชัย  สิน สมุทรสกุลเปี่ยม  เมธินี หอมไกล  สุวภี ผิวชื่น  เก๋ แก่นใจ  อัฎฐพร พร้อมเพรียงพันธุ์  ทิพย์วัลย์ สอนนวม  กุลพรรณ ชัยบุตร เป็นต้น  สมพงษ์ โหละสุต ขณะนั้นมียศเป็นจ่าเอก  สนใจเรื่องการรักษาโรคด้วยวิธีปักเข็มมาก  จึงสมัครเข้าเรียน  ซึ่งยามนั้นทางสมาคมเปิดสอนวิชานี้โดยมีลูกศิษย์หมอแดงหลายคนมีความรู้มากพอที่จะเป็นครูสอนแทนหมอแดงได้  จ่าสมพงษ์ไม่ได้สมัครเรียนคนเดียว  เขายังชักชวนเจ้านาย (ผู้บังคับบัญชา) ของเขาคือ พ.อ.(พิเศษ) หาญ พงศิฏานนท์  มาร่วมเรียนด้วย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 03, กันยายน, 2566, 10:52:25 PM
(https://i.ibb.co/0Z764HY/1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๕ -
          นักกลอนในรั้วอารามยุคนั้น  รุ่นใหญ่ก็มี  พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี)  พระธรรมทัศนาธร (ทองสุก สุทสฺโส)  พระเถระทั้งสองรูปนี้มีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน  ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ชอบ) ชาวอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี  เป็นราชบัณฑิตภาคีสมาชิกสาขาวิชากวีนิพนธ์  ประเภทวิชาวรรณศิลป์  ท่านประพันธ์เรื่องทั้งร้อยแก้วร้อยกรองไว้หลายเรื่องในนามปากกาว่า ธรรมสาธก   เดิมเป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี  ต่อมามียศตำแหน่งสูงขึ้นจึงกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์  อันเป็นวัดที่ท่านอุปสมบท ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนพระศิษย์ใกล้ชิดท่านจึงได้รู้จักกับท่านด้วย,  ท่านเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร (ทองสุก) เป็นชาวอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง  ท่านผู้นี้ข้าพเจ้าไม่รู้จักมักคุ้นเป็นส่วนตัว  แต่รู้จักผลงานการประพันธ์บทกวีของท่านที่แต่งเป็นกลอนธรรมะสอนใจได้ดียิ่ง

          พระเณรนักกลอนที่อยู่ในรุ่นเดียวและใกล้เคียงกับข้าพเจ้าที่ยังพอจำได้ก็มี  เสถียรพงษ์ วรรณปก, เวทิน ศันสนียเวศน์, มังกร แพ่งต่าย, ทองเลี่ยม มาละลา, วิน อยู่ยอด, สมโพธิ ผลเต็ม, ทองย้อย แสงสินชัย, อรัญ สิทธิศรี, สมหวัง สารภะ, ประสิทธิ์ ครองเพชร, สุธี พุ่มกุมาร, ภูวดล กมลมาลย์, ทวน ธารา (ประทวน เกาะแก้ว), ทายาท เพชรงาม, บุญชู คำเมืองปลูก, อุทัย เนาว์โนนทอง, สมปอง (ตุ้ม) พ้นภัย, ไพศาล คัมภิรานนท์, พีรพัชร คงเพ็ชร, ธรรณพ ธนะเรือง, และ สวรรค์ แสงบัลลังค์ เป็นต้น  พระนักกลอนดังกล่าวนี้ลาสิกขาแล้วบางท่านก็เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน  เช่น  ทองย้อย แสงสินชัย  รับราชการในกองทัพเรือ  เป็นอนุสาสนาจารย์  เกษียณอายุราชการที่ยศนาวาเอก (พิเศษ)  ต่อมาทางกองทัพเห็นผลงานกาพย์เห่เรืออันทรงคุณค่ายิ่ง  จึงเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลเรือตรี,  สมโพธิ์ ผลเต็ม รับราชการในกองทัพอากาศ  เป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพอากาศ  เกษียณอายุราชการตรงยศที่นาวาอากาศเอก,  เสถียรพงษ์ วรรณปก ท่านผู้นี้เป็นนักวิชาในตำแหน่งต่าง ๆ คือ  เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาปรัชญาศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร  เป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาศิลปากร, จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  และเป็นอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและจริยธรรมตามสถาบันต่าง ๆ  ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ เป็นนักเขียนมีผลงานมากมาย

          นักกลอนที่เราเรียกกันว่าเป็น  “นักล่ารางวัล”  สมัยนั้นมีหลายคน  เมื่อมีการจัดประกวดกลอน (ที่เราเรียกกันว่า “กลอนแห้ง”)  มีรางวัลงาม ๆ นักกลอนมือดีอย่าง ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร, ส. เชื้อหอม, นนท์ ภราดา, สันติ ชนะเลิศ, ณรงค์ อิ่มเย็น มักไม่พลาด  การแข่งขันกลอนสดประเภททีม (หรือวง) สมัยนั้น  “วงรถไฟ”  ดูจะเกรียงไกรกว่าใครหมด  วงนี้เป็นนักกลอนที่ทำงานอยู่การรถไฟไทย  ประกอบด้วย ประสิทธิ์ โรหิตเถียร, เจตน์ อติจิต, ผัน วงษ์ดี, ประเวศ ขำแตร, ฝีมือพวกเขาฉกาจฉกรรจ์นัก  วงที่ไม่น้อยหน้าใคร ๆ คือวงของชมรมเทพศรีกวีศิลป์ ที่มี นาถ กิตติวรรณกร เป็นประธาน  ยามนั้นตั้งอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส  ใช้ศาลากวีเนรมิตเป็นที่ทำกิจกรรม (ข้าพเจ้าเคยไปร่วมกิจกรรมของเขา) นักกลอนคนสำคัญคือ สันติ ชนะเลิศ  นงนุช นพคุณ  อิทธิเทพ รอดผึ้งผา  ชมรมนี้มีการพัฒนาไม่หยุดยั้ง  ในขณะที่ชมรมอื่น ๆ ล้มหายสลายไป  แต่ชมรมนี้พัฒนาขึ้นเป็นสมาคมและอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน

          ที่กุฏิของข้าพเจ้าซึ่งเป็นสำนักศูนย์ประสานงานชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์จะเปิดไว้ทุกวัน  วันที่ข้าพเจ้าไปเทศน์ต่างบ้านต่างเมือง  ประตูห้องก็ไม่ปิด  จะเปิดไว้ให้นักกลอนมาพบปะกันตลอดเวลา  โดยขอให้พระมหาอุดม (แดน เวียงเดิม) ช่วยดูแล  ที่โต๊ะเขียนหนังสือมุมห้องริมหน้าต่างด้านใต้จะมีสมุดสำหรับให้นักกลอนมาเขียนต่อกลอนกันเล่น สมุดกลอนนั้นเล่มแรกตั้งชื่อว่า  “พันใจ”  จบแล้วต่อด้วย  “ไขคำ”  –“จ้ำจี้”  วันหนึ่งกลับจากสุโขทัยเปิดสมุดเล่มที่ชื่อจ้ำจี้อ่านดูพบกลอนของ  “ปีเตอร์ซุง”  เขียนในนามจริงไว้ว่า

            “เล่นจ้ำจี้จ้ำไช...ต้องใช้นิ้ว
           ถ้าเล่นหิ้วพ้าทเน่อร์มีเบอร์ง่าย
           อย่ามัวไปใช้นิ้ว..หิ้วสบาย
           เอาเชิงชายเชี่ยวช่ำจ้ำจี้เลย

           อยากยืมเงินหลงพี่ไปตีห....
           กลัวบาปก่อบุญกุดสุดจะเอ่ย
           เป็นมนุษย์กุดหมดก็อดเชย
           ของที่เคยเล่นจำจี้มีแต่ตอ

           โอ้ก้มหน้าลากลับอาภัพนัก
           จำต้องพักเรื่องจ้ำจี้ไว้ทีหนอ
           เพียงเขียนเล่นเค้นเรื่องกระเดื่องคอ
           ที่ละไว้...อ่านว่าหม้อก็แล้วกัน !!
                                 ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร”

          นี่เป็นกลอนของนักกวีฝีมือชั้นครู  ในสมุดกลอนนี้ยังมีกลอนที่เพื่อนนักกลอนเขาเขียนต่อสัมผัสตอบโต้กันสนุก ๆ หลายสำนวนหลากหลายอารมณ์  เดี๋ยวจะเลือกคัดลอกมาให้อ่านกัน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 04, กันยายน, 2566, 10:53:41 PM
(https://i.ibb.co/H7CV95X/317504520-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๖ -
          สมาชิกชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์คนที่ไปประจำอยู่กุฏิของข้าพเจ้ามากกว่าใคร ๆ คือ ประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย  หลานชายของ ส. เชื้อหอม (แม่เขาเป็นพี่สาวแท้ ๆ ของ ส.) ใช้นามปากกาว่า  จักรกฤษณ์ สิทธิกรทวีชัย  เขียนกลอนเก่งและขยันเขียนมาก  จึงต้องใช้นามปากกาอีกหลายนามจนเจ้าตัวก็จำนามปากกาของตนไม่ได้ (เช่นเดียวกับข้าพเจ้านี่แหละ) เขาเคยไปทำงานโรงพิมพ์อยู่จังหวัดนครพนมหลาย  กลับเข้ากรุงเทพมีครอบครัวและตั้งโรงพิมพ์เป็นของตนเองย่านบางซื่อ  จำไม่ได้ว่าเข้าร่วมชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์เมื่อไร  จำได้แต่ว่าเป็นแขกขาประจำของข้าพเจ้า  เขามีความคิดทางการเมืองในแนวของ อนันต์ เสนาขันธ์  จึงร่วมงานหนังสือพิมพ์ชื่อ  “ชนวน”  ของอนันต์ เสนาขันธ์ ที่โด่งดังในช่วงเวลานั้น

          นักคิดนักเขียนในหนังสือชนวนนั้น  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกเขาเป็นพวก  “หัวเอียงซ้าย”  ไปหน่อย  ส่วนประจักษ์จะเอียงซ้ายด้วยหรือไม่ก็ไม่ทราบ  เพราะเขามากุฏิข้าพเจ้าอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๔-๕ ครั้ง  ไม่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกมาทั้งการเขียนกลอนและการสนทนากันเลย  มีแต่เรื่องกลอนตามประสา  “คนบ้ากลอน”  ดังความที่เขาเขียนลงในสมุด  “ไขคำ”  ของข้าพเจ้าไว้ว่า

              “อ่านกลอนนักการเมืองคุยเรื่องโก้
              มิใช่โม้แต่ให้เปรียบได้แจ๋ว
              เปรียบเป็นพืชที่ปลูก...ถูกแนว
              ฟังแว่วแว่วใจเราว่าเข้าที
              เรื่องการเมืองพูดมากไม่อยากมุ่ง
              เรื่องการมุ้งเก่าใหม่แล้วไม่หนี
              รู้นะมุ้งบ้านใครดีไม่ดี
              มุ้งหลวงพี่อภินันท์ยุงมันกลัว (ครับ)
                                        “ช่อตำแย”

          กลอนนี้เขาแต่งต่อสัมผัสกลอนที่ข้าพเจ้าเขียนถึงประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ที่เขาว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน  ฟ้าสีทองผ่องอำไพประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินอะไรนั่นแหละ  ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นว่า

               “โอ้ประชาธิปไตยของไทยเอ๋ย
              พอเริ่มเผยให้ชนยลโฉมหน้า
              ชีวิตเลือดเนื้อหลายคนปนน้ำตา
              ถูกเซ่นสรวงบูชาบารมี
              ปลูกประชาธิปไตยมิให้เผือด
              รดด้วยเลือดน้ำตาคนบ้าจี้
              เนื้อเป็นปุ๋ยให้ความงอกงามดี
              ชีพเป็นที่เพาะปลูกก็ถูกแล้ว
                                        “อาว์”

          วันหนึ่งเขาบอกข้าพเจ้าว่า   “หลวงพี่ครับ ผมจะบวช ช่วยจัดการให้ทีนะ”   ข้าพเจ้าไม่ถามเหตุผลในการจะบวชของเขา  แต่ก็รับเป็นธุระให้  โดยกำหนดวันเวลาสถานที่ นิมนต์พระอุปัชฌาย์  พระคู่สวด  พระอันดับ ให้เรียบร้อย  งานบวชเขาจัดแบบเงียบ ๆ มีแต่คนในครอบครัวกับญาติใกล้ชิด  และบุคคลสำคัญของเขา คือ พ.ต.ต. อนันต์ เสนาขันธ์ มาร่วมงาน  ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวตนของอนันต์ เสนาขันธ์ มากขึ้นว่า  เขาเป็นคนเคร่งครัด ประเภท  “ตึงเกินไป”  กำชับไม่ให้พระประจักษ์ฟังวิทยุ  ดูทีวี  อ่านหนังสือพิมพ์  ไม่สนทนาสมาคมกับใคร ๆ  พระประจักษ์จึงต้องปฏิบัติธรรมอยู่ในโบสถ์จนครบ ๗ วันแล้วลาสิกขา

          เพื่อน ๆ ในชมรมรื่นฤดีเรียกเขาอีกชื่อหนึ่งว่า  “พ่อปลาไหล”  ในความหมายว่าเขาลื่นจนจับไม่อยู่  นัยว่ามีหญิงสาวและไม่สาวหลายคนพยายามจับเขาแต่ไม่สำเร็จ  แต่จริง ๆ แล้วข้าพเจ้ารู้ว่าเขาเป็นคนรักเมีย  และเกรงใจเมียมาก  แม้จะไม่มีลูกด้วยกันเขาก็รักและซื่อสัตย์ต่อภรรยา  เคยมีเพื่อนชวนเข้าซ่องย่านบางขุนพรหมเขาก็ปฏิเสธ  หากชวนกินเหล้าแล้วเขาไม่ปฏิเสธเลย  มีกลอนในสมุดไขคำ  ที่ประจักษ์เขียนหยอกล้อกับเพื่อนอยู่ตอนหนึ่ง  เพื่อนคนนี้ชื่อจริงเขาคือ ฉลอง ผาสุกธรรม  ใช้นามปากกาหลายนาม  นัดเจอประจักษ์ที่กุฏิข้าพเจ้าแล้วผิดนัดกันอย่างไรไม่ทราบ  จึงเขียนกลอนต่อว่าเพื่อนไว้ในสมุดนี้ว่า

               “อุตส่าห์รีบเกือบตายหมายมาหา
              นัดกันว่า“เจอที่วัด”อรรถาเผย
              เราก็รีบเร่งงานเสร็จการ(เหมือน)เคย
              แล้วเพื่อนเอ๋ยอุตส่าห์มานั่งรอ
              จาก(บ่าย)สองโมงมานี่สี่โมงแล้ว
              เพื่อไม่แน่วแน่มาหาเลยหนอ
              เรามานั่งเหงาเหงาเศร้าจนพอ
              จึงต้องขอลากลับไปหลับนอน
              เสียใจ(จริงแฮะ)ที่เพื่อนมาลวงหลอ
              เอ่ยปากบอกแล้วไม่มาไม่น่าหลอน
              คนเดียวตั้งใจมาจึงอาวรณ์
              ก่อนจะย้อนกลับ(อยากว่า)ไม่น่าทำ (กันเลย)
                                        พิณ พิษณุ

               “ ทำใจน้อยน้อยใจทำไมเพื่อน
              แหมหน้าเจื่อนเต๊ะท่าทำตาคว่ำ
              บ่นเป็นหมีกินผึ้งถึงงุมงำ
              ไอ้ต้มยำปากม้าเดี๋ยวด่าเลย
              ที่รอแฟนรอได้ไม่เคยบ่น
              แหมเพียงหนรอเพื่อนทำเอื้อนเอ่ย
              อย่างงี้ต้องซ้ายขวาให้หน้าเงย
              ท้ายสุดเฮ้ย “ไอ้หลอง” ต้องยึดเมีย
                                         “ช่อมะไฟ”

          นามปากกาของประจักษ์ในสมุดกลอนรับแขกของข้าพเจ้ามีอีกหลายนาม  “ช่อตำแย”  ก็ใช่  เพราะเขาชอบเขียนเย้าแหย่คนโน้นคนนี้อยู่เรื่อย  อีกนามหนึ่งคือ  “จักรกฤษณ์ ยอดแก้ว”  เขาเขียนต่อกลอนเรื่องสุรามรัยในสมุดไขคำไว้ว่า

               “วันนี้ชักหิวเหล้าเลยเมาดิบ
              จะวางหยิบสิ่งใดใจละห้อย
              ขื่นอารมณ์ก่อนอำลาทำตาปรอย
              อยากจะย่อยเขียนต่อก็บ้อแรง
              เพราะนัดกับวิจิตรก่อน(เขา)ติดคุก
              ไปสนุกตามประสาคนหน้าแห้ง
              ต่างคนก็ต่างกลุ่มสุมแทรกแซง
              เฮ้อ เราแข่งกินเหล้าแข่งเมาเทอะ !
                                        จักรกฤษณ์ ยอดแก้ว

               “ห่า ! จักรกฤษณ์คิดบอเขียน”ค”(ขวด)เหล้า
              กำลังเมามันสะกิดเลยคิดเปรอะ
              เขียนไขคำกำ(ไข่)กวมกลัวไหลเลอะ
              ประเดี๋ยวเหอะหกหมดอด,เมาเรีย....
              โอ้แรงฤทธิ์ความคิดถึงซึ้งดวงจิต
              คิดถึงมิตรทุกคนจนละเหี่ย (อย่าเสือกเติมไม้โท)
              คิดถึงวันหวานหวามบนความเพลีย
              ซึ่งต่างเสีย-สละรวมร่วมจัดงาน (ที่วัดเทพฯ)
              ถ้าหากเราเข้าใจกันไม่ยาก
               “วันลาจาก”คงไม่เอ่ยไขขาน
              มีแต่คำพร่ำว่าจักรัก(กัน)นานนาน
              หวานรักหวานเติมรักสามัคคี
              โอ้ว่าวันนั้นยังฝังซึ่งจิต
              และจะคิดถึงไว้มิหน่ายหนี
              เทพโปรดอุ้มสมชื่น-“รื่นฤดี
              ให้เพื่อนพี่-น้องสนิท...มิตรสัมพันธ์
                                         “หลวงพบสุราคลาน”

           “หลวงพบสุราคลาน”  เป็นนามที่คอเหล้ามอบให้แก่ มังกร แพ่งต่าย  นามในทีมนี้มี หลวงแสวงลาดตระเวน(หาเหล้า)  หลวงเจนสุราจบ  หลวงพบสุราคลาน  ขุนบานกงสี  เขาว่ามังกร แพ่งต่าย หรือ จิตรกร เมืองสวรรค์   กร แภ้วไทย  คนนี้คออ่อนมากกว่าเพื่อน  ดื่มเหล้าทีไรเป็นต้องคลานทีนั้น  ฟังแต่เขาว่าข้าพเจ้าไม่เคยร่วมวงก๊งสุรากะเขาสักที /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, กันยายน, 2566, 12:02:44 AM
(https://i.ibb.co/DV7p8D2/main-1.png) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๗ -
          เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  วัดใหม่ฯ เหมือนอยู่ในสมรภูมิรบ  คนไข้อัมพฤกษ์อัมพาตที่นอนรักษาตัวอยู่ข้างกุฏิข้าพเจ้าต่างหวาดกลัวกันมาก  ข่าวการเผาสถานที่ราชการแถวถนนราชดำเนินเขย่าขวัญชาววัดใหม่ฯ  กลัวว่าเขาจะมาเผาสำนักงานสื่อสารตำรวจที่อยู่ไม่ไกลนัก  ขณะที่ ฮ. บินร่อนตรวจการณ์อยู่บนท้องฟ้ามีข่าวว่าคนถูกกระสุนปืนจาก ฮ. ยิงลงมาที่สะพานบางลำพู  สังกะสีหลังคากุฏิข้าพเจ้ามีลูกปืนตกใส่ด้วยเหมือนกัน  การสื่อสารสมัยนั้นยังไม่ดีนัก  ทั้งวัดใหม่ฯ มีโทรศัพท์ใช้เพียง ๒ เครื่อง  คือที่กุฏิพระครูชมเจ้าอาวาสกับกุฏิพระครูสังฆรักษ์ลำพู  ญาติคนไข้จากสุโขทัย นครสวรรค์ มีเบอร์โทร.ของเจ้าอาวาส  พวกเขาโทร.มาขอพูดกับข้าพเจ้าเพื่อสอบถามความปลอดภัยของญาติเขาวันละนับ ๑๐ ครั้ง  ทำให้ข้าพเจ้าขึ้น ๆ ลง ๆ กุฏิข้าพเจ้ากับกุฏิเจ้าอาวาสจนเหนื่อยมาก  เรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาเป็นอย่างไร  จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้นะครับ

          ในปีที่เป็นประธานชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์อยู่นั้น  ดูเหมือนข้าพเจ้าจะขยันคิดเขียนกลอนมากทีเดียว  กลอนของข้าพเจ้ามีตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคอลัมน์   “ประกายเพชร,  เกล็ดดาว”  ทุกสัปดาห์  ยังมีกลอนยาว ๖ บทลงในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์  รายเดือน  อีกหลายฉบับ  คู่คิดของข้าพเจ้ายามนั้นก็คือประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย นี่แหละ  บางวันเราก็คิดหาคำผวนแปลก ๆ มาใช้กัน  คำผวนนี้สำนักงานราชบัณฑิตท่านว่า   “เป็นการเล่นทางภาษาอย่างหนึ่งในภาษาไทยที่ใช้วิธีการสลับคำหรือสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะ  เสียงสระ  และเสียงวรรณยุกต์ของคำ  ตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไปเพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้  เรียกว่า การผวนคำ  โดยมีจุดประสงค์หลักให้เกิดความสนุกสนาน  คำที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะออกเสียงคล้องจองกับเสียงของคำในรูปเดิม  เช่น  คึกฤทธิ์-คิดลึก    สวัสดี-สะวีดัด  การผวนคำเป็นการบริหารสมองทั้งสองซีก  คือซีกซ้ายจะทำหน้าที่สลับตำแหน่งของเสียงหรือคำไปในรูปแบบต่าง ๆ  ส่วนซีกขวาจะทำหน้าที่ตกแต่งเสียงและความตามต้องการ  เช่น  มาแลดูกัน-มาลันดูแก   แจ๊วหลบ-จบแล้ว”

          การเล่นคำผวน (กลับคำ) อย่างสุภาพ เช่น  เรอทัก-รักเธอ  นั้นเล่นไม่สนุก  นักเล่นคำผวนจะชอบเล่นสนุก ๆ แบบ  “สรรพลี้หวน”  เช่นว่า  “...นครรังยังมีเท่าผีแหน  กว้างยาวแสนหนึ่งคืบสืบยศถา  เมืองห้างกวีรีหับระยับตา  พันหญ้าคาปูรากเป็นฉากบัง”  ที่มาของคำผวนนี้ดูเหมือนว่า  จะมาจากรั้วอาราม  พระท่านว่าเป็นคำบาลีหวน  เช่นว่า  “โสติง=สิงโต”  เจ้าคุณอาจารย์ข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังว่า  พระสมัยก่อนถ้ามีชื่อเดิมลงท้ายด้วยสระอี  เรียนบาลีแล้วสอบได้เป็นพระมหา  มักจะขอเปลี่ยนชื่อไม่ให้ลงท้ายด้วยสระอี  พระลูกศิษย์เจ้าคุณเจียวัดโพธิ์องค์หนึ่งชื่อมณี  พอสอบบาลีได้เป็นพระมหา  เจ้าคุณอาจารย์ชอบเรียกท่านว่า  “มหานี”  จนท่านสึกไปรับราชการแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น  ธวัช  วันหนึ่งไปเยี่ยมอาจารย์  กล่าวก่อนอาจารย์จะเรียกชื่อเดิมว่า  อาจารย์ครับ  กระผมเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว/  เออ ชื่ออะไรล่ะ/  ธวัชครับ/  อื้อ ธวัชแปลว่าธงใช่ไหม/  ใช่ครับ /  เอ้อ...แล้วมันเป็น  ธงจริงหรือ  “ธงหลอก”  ล่ะ/  โธ่..อาจารย์  เอาผมอีกจนได้นะครับ

          คำผวนดังกล่าวประจักษ์กับข้าพเจ้าเห็นร่วมกันว่าเป็นคำผวน  “ชั้นเดียว”  ไม่ต้องคิดมากก็รู้ความหมาย  เช่น  มหานี  ธงหลอก  โสติง  แจ๊วหลบ  เป็นต้น   คำผวนสองชั้น  เช่น  มาลันดูแก  ถือบากันช่อง  อย่างนี้ก็รู้ได้โดยไม่ต้องคิดมาก  เราคิดคำผวนแบบสามชั้นกันออกมาได้หลายคำ  เช่น  สีลอยลม  คำนี้มาจากคำผวนชั้นเดียวและสองชั้นที่วา  สีเหย  สีระเหย  คำว่าลอยลมก็หมายถึง  ระเหย  นั่นเอง  คำผวนส่วนใหญ่ประจักษ์เป็นคนคิดได้ก่อนเพราะเขาหัวไวกว่าข้าพเจ้า

          เพราะคิดถึงคำผวนชั้นเดียวสองชั้นสามชั้นดังกล่าวเนี่ย  เป็นผลดีและผลเสีย  คือทำให้ได้ความหมายของคำที่นำมาร้อยกรองมากขึ้น  เช่น  คำว่า ลอยคอ-รอคอย  เป็นต้น  ทำให้ระวังระแวงการใช้คำในบทกลอนมากจนไม่กล้าเขียนคำที่เป็นคำผวนแบบหยาบ  เช่น  “หนีหาย”  เป็นต้น  เราได้ข้อมูลว่า  คำที่ใช้ ส,ศ,ษ, ช.ซ,  นำหน้า อักษร ห,ฮ. ไม่ควรใช้สระอีที่อักษรนำนั้น  เพราะมันจะผวนเป็นคำหยาบ

          เวลานั้นข้าพเจ้าคิดแบบกลอนกลบทได้หลายแบบ  พอคิดได้แล้วก็เปิดตรากลอนกลบทดูว่าแบบที่คิดขึ้นมานั้น  ตรงกับกลบทใดของท่านโบราณาจารย์หรือไม่  เมื่อเห็นว่าไม่ซ้ำแบบครู  ก็คิดตั้งชื่อขึ้นมาใหม่  ยังจำได้ว่ากลอนบทแรกที่คิดแบบขึ้น  กลบทวิหคคืนคอน คลิก (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=8478.msg30572#msg30572)   แต่งความว่า

               “กลับมาแล้วแก้วจิตขนิษฐา
              เอาใจมามอบสมรวอนถนอม
              ขอหนุนตักพักชีวาถ้านุชยอม
              อดีตหอมหวานล้วนหวนกลับมา

              จากไปนานปานไหนไม่ลืมหลง
              ใจยังคงซื่อสึงคะนึงหา
              ด้วยความรักหนักมนัสซื่อศรัทธา
              ตราบชีวาวายซากมิจากไป”

          ข้อบังคับของกลบทนี้ไม่ยาก  คือบังคับให้ใช้สองคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔  เป็นคำเดียวกับสองคำแรกของวรรคที่ ๑ เช่น  “กลับมา”  แบบนี้คิดได้แล้วยังไม่ตั้งชื่อ  รอให้ประจักษ์มาหาก่อนจึงปรึกษาว่าควรตั้งชื่ออะไรดี  คิดกันหลายชื่อแล้ว  ตกลงให้ใช้ว่า  “วิหคคืนคอน”  ซะเก๋ไปเลย/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 06, กันยายน, 2566, 10:59:46 PM
(https://i.ibb.co/8dKsrKp/317714813-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๒๕๘ -
          อยู่วัดใหม่ฯ บางขุนพรหมกาลนั้น  นอกจากจะสนุกกับการแต่งกลอนและสมาคมกับเพื่อนนักกลอนแล้ว  ข้าพเจ้ายังสนุกกับการได้อ่านหนังสือนิยายจีนประเภทกำลังภายในอีกด้วย  มีร้านจำหน่ายและให้เช่าหนังสืออยู่ในซอยนานาแถวหน้าโรงหนังบางลำพูที่เคยเป็นวิกลิเกคณะหอมหวลนั่นแหละ  หนังสือนิยายจีนดังกล่าวเขาให้เช่าอ่านเล่มละ ๕๐ สตางค์  หนังสือใหม่จะออกวางแผงตอนบ่าย ๓-๔ โมง  ข้าพเจ้าเดินจากวัดไปตอนเย็น  เช่ามาอ่านที่กุฏิตอนกลางคืน  เย็นวันรุ่งขึ้นก็เอาไปคืนร้าน  และเช่าเล่มใหม่มาอ่าน  เป็นอย่างนี้ทุกวัน  ตอนนั้นนิยายจีนกำลังภายในจากบทประพันธ์ของโกวเล้งเป็นที่ถูกอกถูกใจข้าพเจ้ามาก  ผู้แปลเป็นภาษาไทยก็มี  ว.ณ เมืองลุง  กับ  น.นพรัตน์  สำนวนการแปลของ ว. จะละเมียดละไม (คลาสสิก) ให้อารมณ์กวีดีนัก  เหมาะกับคนใจเย็นวัยสูงหน่อย  ส่วนสำนวนการแปลของ  น.นพรัตน์  จะตรง โผงผาง ไม่อ้อมค้อม  เหมาะกับคนใจร้อนแบบวัยรุ่น  แต่ข้าพเจ้าก็ชอบอ่านทั้งสองสำนวนนั่นแหละ

          รายการกลอน  “สายธารใจ”  ทางวิทยุ ป.ช.ส.ตาก  ข้าพเจ้าก็ยังต้องจัดอยู่  ส่งเทปที่บันทึกเสียงแล้วส่งไปทางการบินไทย  ซึ่งทางสถานีเขามีงบประมาณค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด  ไปขอใช้ห้องบันทึกเสียงของ ว.ป.ถ. ๑๔ แถวลุมพินีซึ่งมี บุญส่ง แก้วน้อย  สมาชิกรื่นฤดีเป็น จนท. อยู่ที่นั่นบ้าง  บันทึกเสียงที่ห้องนอนในกุฏิของข้าพเจ้าบ้าง  ในการบันทึกเสียงที่กุฏิข้าพเจ้านั้น  บางวันก็ได้เด็กสาวสมาชิกชมรมรื่นฤดีคนหนึ่งช่วยอ่านกลอน  เธอเป็นนักเรียนหญิงชั้น ม.ปลาย รร. สตรีนนทบุรี  ชื่อพริ้มเพรา  ข้าพเจ้าตั้งฉายาเธอ ตามตัวนิยายจีนว่า  “เฮกหงส์”  เพราะเธอเป็นคนผิวคล้ำ (ดำสวย)  เฮกหงส์ เขียน อ่าน ภาษาไทยได้ดี  แต่งกลอนดี  จึงไม่ยากที่จะอ่านกลอนในรายการของข้าพเจ้าได้ดี  เด็กอีกคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อตามนิยายจีนว่า  “แป๊ะหงส์”  เป็นคู่กันกับเฮกหงส์ (หงส์ขาว, หงส์ดำ)

          แป๊ะหงส์  มีผิวสีขาว  ลูกคนจีนย่านสำโรง สมุทรปราการ  เด็กคนนี้น่าสงสารที่เธออยากจะเรียนต่อสูง ๆ แต่เตี่ยไม่ยอมให้เรียน  เธอเล่าว่าทางครอบครัวมีโรงงานทำรถจักรยานจำหน่าย  มีรายได้ดี  ฐานะดี  เรียนจบชั้น ป.๗ ตามภาคบังคับแล้วเตี่ยไม่ให้เรียนต่อ  อ้างว่าเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูง  ให้พี่ชาย  น้องชาย  เรียนสูง ๆ ได้ทุกคน  เธออยากเรียนข้าพเจ้าจึงแนะนำให้แอบไปเรียนในโรงเรียนผู่ใหญ่ (สมัยนี้เรียก กศน.) อย่างที่ข้าพเจ้าเรียน  เธอก็ทำตามคำแนะนำของข้าพเจ้า   สิน สมุทรสกุลเปี่ยม  หรือแป๊ะหงส์ของข้าพเจ้ามาที่ทำการชมรมรื่นฤดีทุกอาทิตย์  จึงรู้จักชอบพอสนิทนมกับ  “เฮกหงส์”  พริ้มเพรา จิวสกุล   “เหมยเหวิน” อักษร ธัญญะวานิช  (แมว, ชะแอว)  สามสาวรุ่นนี้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน  ข้าพเจ้ารักพวกเธอเหมือนน้องแท้ ๆ ทีเดียว
 
          น้องแมว (อักษร) เป็นเด็กสาวจากฉะเชิงเทรา  เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์ ม.จุฬาลงกรณ์ (ปีนั้นอยู่ปี ๑)  น้องพริ้มเพรา เป็นเด็กชาวบ้านสวนใหญ่ เมืองนนท์  เรียนอยู่ชั้น มศ.๕  มุ่งมั่นตามรอยน้องแมวและสอบเข้าเรียนครุศาสตร์จุฬาฯ สมความมุ่งหมาย   ส่วนน้องสิน ก็แอบเรียนศึกษาผู้ใหญ่จนสำเร็จการศึกษาในที่สุด  น้องอีกคนหนึ่งแม้จะมากุฏิข้าพเจ้ามากกว่าน้องทุกคน  แต่เธอไม่ค่อยสนิทสนมกับเพื่อน ๆ นัก  เป็นคนค่อนข้างเงียบขรึมและเป็นนักกลอนที่ไม่ยอมเข้าสังกัดชมรมใด  เป็นคนนครศรีธรรมราช  เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดูเหมือนจะเป็นคณะบัญชีหรือไรนี่แหละ  ในสมุดกลอนรับแขกของข้าพเจ้าทุกเล่มจะมีกลอนของเธออยู่หลายสำนวน  ส่วนมากจะเป็นกลอนเศร้าๆ อย่างเช่น

         “ถ้าหากว่าลืมกันแล้วขวัญสุข        ถึงจะทุกข์มหันต์ฉันทนได้
        จะหนีหน้าอยู่อย่างคนห่างไกล       สักวันใจคงแข็งแกร่งชาชิน
        *ฉันก็ยังเป็นฉันแม้วันหน้า             อาจปวดปร่ารันทด...หวังหมดสิ้น
        อาจทนทุกข์ทรมาน้ำตาริน             เมื่อไม่ใช่คนใจหิน....ใช่สิ้นคิด
        * เธอ..........                                 รักเสมอทั้งที่ใจฉันไร้สิทธิ์
        แต่ก็ไม่ยอมแพ้รอยแผลพิษ            ทางชีวิตฉันอยู่ได้...แม้ไร้เธอ
                                                                              เมธินี หอมไกล

          ข้าพเจ้าถามเธอว่า  เม  เขียนกลอนอยู่แนวเดียวอย่างนี้ไม่คิดเบื่อบ้างเลยหรือ  เธอตอบว่า  “ไม่เบื่อหรอกค่ะ  หนูไม่เหมือนหลวงพี่นี่นา  หลายใจจังเลย  เขียนกลอนไปได้ไม่รู้กี่แนวทาง”   อ้าว..แว้งด่าหลวงพี่เข้าให้แล้ว

          การแต่งกลอนของข้าพเจ้า  “เหมือนเป็ด”  คือ  เป็ดขันอย่างไก่ก็ได้ แต่เสียงไม่เหมือนไก่   บินอย่างนกก็ได้ แต่ไม่ไปไกลเหมือนนก  ว่ายน้ำดำน้ำอย่างปลาก็ได้ แต่ไม่เก่งเหมือนปลา  ข้าพเจ้าแต่งกลอนได้ทุกแนว  แต่ไม่ดีสักแนวเดียว  คงจะจริงอย่างที่น้องเมธินีเธอว่า  “หลวงพี่หลายใจจัง เลยเขียนกลอนไปได้ไม่รู้กี่แนว”  นั่นแหละ/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 07, กันยายน, 2566, 10:57:42 PM
(https://i.ibb.co/XZ1LrPj/1.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อห้อม อมโร

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๕๙ -
          ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องของพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน)  เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  ในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่วัดใหม่ฯ บางขุนพรหมนั้น  ไม่ค่อยได้พบท่านนัก  เวลาขึ้นไปเทศน์ที่สุโขทัยท่านก็ไม่ค่อยได้อยู่สุโขทัย  เพราะเข้าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ บ้าง  ไปดูงานก่อสร้างพระพุทธรูปปางประทานพรวัดมหาดไทย เมืองอ่างทอง บ้านของท่านบ้าง  ครั้งล่าสุดได้พบกัน  เมื่อท่านนิมนต์ไปเทศน์ฉลองพระพุทธรูปปางประทานพรของท่านที่วัดมหาไทย  เจาะจงให้ให้พระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์) วัดไทยชุมพล   พระครูอุทัยสุขวัฒน์ (สวง) วัดบางคลอง  และข้าพเจ้า ไปเทศน์ร่วมกัน  หลังจากพบกับท่านที่วัดมหาหาดไทยนี้แล้วก็ไม่ได้พบกันอีกเลย

          ทราบข่าวหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณว่า  อาการป่วยของท่านเป็นบ้างหายบ้างตลอดมา  ด้วยปีนั้นมีอายุได้ ๘๙ ปีแล้ว  ต่อมาได้ข่าวว่าเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓  ท่านเดินทางจากสุโขทัยเข้ากรุงเทพฯ  ประสงค์จะไปโรงพยาบาลศิริราช  ได้แวะไปเยี่ยมบ้านอ่างทองก่อน  พักอยู่วัดมหาดไทย ๒ วัน ถึงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓  ในขณะที่กำลังฉันอาหารเช้า  ท่านเกิดเป็นลมจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ  บรรดาญาติโยม ศิษยานุศิษย์ ได้ช่วยกันจัดการตั้งศพสวดที่วัดมหาดไทย จังหวัดอ่างทอง เป็นเวลา ๓ คืน  และศิษยานุศิษย์ทางจังหวัดสุโขทัย  ได้ลงมานำศพของท่านกลับขึ้นไปตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดราชธานี จังหวัด สุโขทัย เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๓  ตั้งศพบำเพ็ญกุศลครบ ๗ วันแล้วเก็บศพไว้รอกำหนดพระราชเพลิงศพต่อไป

          ครั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณมรณภาพแล้ว  เจ้าอาวาสวัดราชธานีว่างลง  พวกกรรมการวัดและพระผู้ใหญ่ต้องการให้ข้าพเจ้ากลับไปเป็นเจ้าอาวาสแทนหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณตามที่ท่านเคยปรารภไว้  ข้าพเจ้าปฏิเสธอย่างเด็ดเดี่ยว  ทางพระผู้ใหญ่ปรึกษาหารือกันในการสรรหาผู้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้  โดยจะขอให้พระครูอุทัยสุขวัฒน์ วัดบางคลอง  ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกับเจ้าคุณโบราณมาแทน  ท่านไม่ยอมมา  ขอให้พระครูวิมลกิจโกศล จากวัดคุ้งยางใหญ่บ้านสวนมาท่านก็ไม่ยอม  สุดท้ายจึงให้พระมหาเฉลิม กุสลธมฺโม วัดไทยชุมพล เลขาฯเจ้าคณะอำเภอเมืองฯ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดราชธานีตามคำเสนอของข้าพเจ้า  ทำให้ข้าพเจ้ารอดตัวจากการเป็นสมภารวัดราชธานี  แต่ไม่รอดตัวจากการที่ต้องจัดงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ

          ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยสืบต่อจากพระราชประสิทธิคุณไม่น่าจะมีปัญหา  เพราะพระครูสุขวโรทัย (ห้อม อมโร) มีตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดอยู่แล้ว  แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นจนได้  เหตุเพราะนายนาคผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ของวัดราชธานี  อ้างว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอนุญาตให้เขายืมเงินค่าผาติกรรมของวัดไปเป็นทุนก่อสร้างอาคารดังกล่าว  ทางวัดไม่ยินยอม  เขาจงวิ่งเต้นให้พระผู้ใหญ่ (เจ้าคณะภาค) ช่วยเจรจา  ทางพระผู้ใหญ่ยื่นข้อเสนอให้หลวงพ่อห้อม รักษาการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย บีบบังคับให้ทางวัดยอมให้นายนาคนำเงินวัดไปสร้างอาคารพาณิชย์  ถ้าหลวงพ่อห้อมไม่ทำตามจะไม่ตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัด  หลวงพ่อห้อมปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมือง  เจ้าคณะตำบลธานี  เจ้าอาวาสวัดราชธานี  แล้วตกลงกันว่าไม่ยอมทำตามข้อเสนอนั้น  ท่านผู้ใหญ่ดังกล่าวจึงตั้งให้พระครูเจ้าคณะอำเภอคีรีมาศเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย  แล้วให้ใช้อำนาจบีบบังคับเจ้าอาวาสวัดราชธานียอมตามต้องการของผู้รับเหมานั้น

          ครั้นทางวัดไม่ยอมทำตามความต้องการดังกล่าว  จึงมีคำสั่งออกมาให้พักตำแหน่งพระครูสุภัทรฯ เจ้าคณะอำเภอเมือง  พระสมุห์วรรณา เจ้าคณะตำบลธานี  พระมหาเฉลิม เจ้าอาวาสวัดราชธานี   คราวนี้ก็เกิดคดีความกันยาวนานเลย  ผู้รับเหมาฟ้องศาลให้วัดจ่ายเงินตามคำอนุมัติอดีตเจ้าอาวาส  ทางวัดจึงไปขอให้สำนักงานทนายเสนีย์ ปราโมช ส่งทนายความมาว่าความให้วัด  คุณชายเสนีย์จึงส่งนายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล  มาเป็นทนายให้วัด  ครั้นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสถูกสั่งพักตำแหน่ง  ทางวัดจึงให้ทนายไพฑูรย์ฟ้องศาลว่าผู้ออกคำสั่งนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เรื่องนี้ร้อนถึงข้าพเจ้าต้องพาผู้ถูกสั่งพักตำแหน่งทุกองค์เข้าขอพึ่งบารมี “สมเด็จป๋า” (สมเด็จพระวันรัต ปุน) “ วัดพระเชตุพนฯ  กราบเรียนเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ  สมเด็จป๋าเรียกเจ้าคณะภาคมาพบ  แล้วสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเสียทั้งหมด  ยกเว้นตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด  เมื่อตั้งแล้วก็ให้แล้วกันไป

            เสร็จเรื่องการที่พระผู้ใหญ่ใช้อำนาจโดยมิชอบแล้ว  หลวงพ่อห้อมก็หันมาจับงานเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณต่อไป  งานนี้มีกรมศิลปากรเข้ามาเกี่ยวข้องอด้วย  เพราะหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณมีคุณูปการต่อกรมศิลปากรเป็นอย่างมาก  ผู้แทนกรมศิลปากรมีนายมะลิ โคกสันเทียะ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เข้าร่วมดำเนินการด้วย  โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือศิลาจารึกสุโขทัยแจกในงานพระราชเพลิงศพ  ทางวัดจัดทำเหรียญรูปเหมือนพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) แจกในงานนี้  หลวงพ่อห้อม กับพระครูสุภัทรฯ มอบหมายให้ข้าพเจ้าดำเนินการจัดทำเหรียญดังกล่าว  และให้ติดต่อนิมนต์พระผู้ใหญ่มาเป็นประธานและเทศน์ในงานพระราชทานเพลิงศพนี้  ซึ่งมีกำหนดวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๑๕ ด้วยวัดราชธานีตอนนั้นยังไม่มีเมรุเผาศพ  จึงให้หาเมรุลอยมาติดตั้ง  เยื้อง ๆ หน้าพระพุทธประทานพร  หลังจากได้ผู้รับทำเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อโบราณแล้ว  ข้าพเจ้าต้องไปว่าจ้างเจ้าของเมรุลอยที่วัดหัวเวียง อ.เสนา ไปตั้งที่วัดราชธานีด้วย

          สำหรับพระผู้ใหญ่ที่จะมาเทศน์และเป็นประธานงานพระราชทานเพลิงศพดังกล่าวมีปัญหาไม่น้อย  ทีแรกจะนิมนต์สมเด็จป๋าวัดโพธิ์  แต่ปีนั้นท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  เวลาใกล้ถึงงานแล้วจึงตัดสินใจเข้ากราบเรียนอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสโก) วัดสังเวชวิศยาราม ใกล้ ๆ กับวัดใหม่ฯบางขุนพรหมนั่นเอง  ท่านเพิ่งได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัตแทนสมเด็จป๋าในปีนั้นเอง  สมเด็จองค์นี้ท่านมีนามเดิม ทรัพย์ สุนทรัตต์  เป็นชาวตำบลวัดร้อยไร่  อำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ปกตินิสัยเป็นคนดุ  ข้าพเจ้าใจกล้าไม่กลัวถูกดุ  เข้าไปกราบเรียนนิมนต์ท่านแบบ  “ทำใจดีสู้เสือ”  หะแรกท่านก็ดุว่าเป็นพระเด็ก ๆ มาทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร  จึงต้องเล่าเรื่องความเป็นมาอย่างยืดยาว  ท่านนั่งฟังนิ่ง ๆ  สุดท้ายบอกท่านว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อไวย์เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย  ท่านร้องอ้อ  เพราะรู้จักหลวงพ่อไวย์ดี  จึงยอมรับนิมนต์

          งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณสำเร็จได้ด้วยดี  เสร็จพิธีแล้วข้าพเจ้าไม่มีเวลาสำรวจความสำเร็จ  เพราะวันรุ่งขึ้นจะต้องสอบเพื่อจบชั้นเรียนระดับ ๓ รร.ผู้ใหญ่วัดอินทร์  จึงขอติดรถพระผู้ใหญ่วัดอนงคารามที่ไปงานศพ  กลับถึงกรุงเทพฯ ก็ดึกมากแล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 08, กันยายน, 2566, 10:47:19 PM
(https://i.ibb.co/F3z7Hnt/1.jpg) (https://imgbb.com/)
นายประจวบ ไชยสาส์น

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๐ -
          เรื่องของวัดราชธานีเมืองสุโขทัยหลังจากสิ้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณแล้วยุ่งมากเลย  นายนาคผู้รับเหมาคนนี้พยายามจะเอาเงินค่าผาติกรรมของวัดมาเป็นทุนสร้างตึกให้ได้  จึงมีการฟ้องร้องกันอีรุงตุงนัง( อีนุงตุงนัง)  ทางฝ่ายพระครูสุภัทรฯ เจ้าคณะอำเภอเมืองก็หนุนให้ทางวัดสู้อย่างเต็มที่  กรรมการวัดราชธานีคนสำคัญสองสามคน (ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) เข้ากรุงเทพฯ ขอให้ข้าพเจ้าช่วยวางแนวทางในการต่อสู้  มีนายทหารยศพันเอกท่านหนึ่งเป็นอดีตมหาเปรียญชาวอยุธยา  และเป็นเขยสุโขทัย ชื่อ  สุดใจ กิจประมวญ  ขณะนั้นประจำอยู่กระทรวงกลาโหม  เดิมมหาสุดใจ (ป.ธ.๖) สอบบรรจุเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพบก  ครั้นได้ยศเป็น พ.ท.แล้ว โอนเข้าไปอยู่กระทรวงกลาโหม  ด้วยเส้นสายของหลวงจบกระบวนยุทธ (พ่อตาจอมพลถนอม)  ท่านผู้นี้นับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญอีกคนหนึ่งของวัดราธานี  ข้าพเจ้ากับกรรมการวัดราชธานีไป  “สุมหัวคิด”  กันที่บ้าน พ.อ.สุดใจ  ร่างหนังสือเล่าเรื่องของวัดราชธานีหลังไฟไหม้แล้วเกิดขัดแย้งกับพระผู้ใหญ่ที่เข้ากับฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้าง  ข่มเหงรังแกพระระดับผู้น้อยเมืองสุโขทัย  ครั้นร่างข้อความเสร็จแล้วอ่านทบทวนกันเป็นที่พอใจ  นำให้พลวงพ่อห้อม กับพระครูสุภัทรฯ อ่านดูเป็นที่พอใจแล้ว  พ.อ.สุดใจ ใช้อุปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม  พิมพ์กระดาษไข  โรเนียว  ข้อความนั้นจัดส่งไปยังเจ้าคณะจังหวัด  เจ้าคณะอำเภอทั่วประเทศ  และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

          เรื่องก็เลยดังไปทั่วประเทศ

          เอกสารที่นายนาคนำมาแสดงว่าพระราชประสิทธิคุณ  ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชธานี  อนุมัติให้นายนาคยืมเงินค่าผาติกรรมสามล้านบาทนั้น  ทางวัดว่าเป็นหนังสือปลอม  เพราะลายเซ็นนั้นไม่ใช่ลายมือของพระราชประสิทธิคุณ  เรื่องนี้ก็ต้องพิสูจน์กันนานทีเดียว  ข้อเท็จจริงก็คือ  นายนาคจับมือหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเซ็นตอนที่นอนป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช  ลายเซ็นจึงผิดเพี้ยนไป

          ในช่วงเวลาที่ทางวัดราชธานีกับผู้รับเหมาก่อสร้างต่อสู้คดีความกันทางศาลยุติธรรมอยู่นั้น  มีการเลือกตั้งซ่อม สส. สุโขทัยขึ้นในปี ๒๕๑๔  ด้วยนายทองสุข แสนโกศิก ส.ส.สุโขทัย สิ้นชีวิตลง  ข้าพเจ้าถูกกระแสการเมืองดึงเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยไม่รู้ตัว  กล่าวคือ ครูเหรียญชัย จอมสืบ  สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคแนวประชาธิปไตย ของ ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน  การไปเทศน์ตามวัด บ้าน ต่าง ๆ ในสุโขทัย  ครูเหรียญชัยจะตามไปด้วยเพื่อแนะนำตัวให้ชาวบ้านชาววัดรู้จัก  เวลาเทศน์ข้าพเจ้าก็จะเปิดโอกาสให้คนฟังถาม  ถ้าเขาไม่กล้าถามก็ให้บอกคำสงสัยของตนให้ครูเหรียญชัยถาม  ทำอย่างนี้หลายครั้งหลายคราจนคนสุโขทัยส่วนมากรู้จักครูเหรียญชัยมากขึ้น  ครั้นเขาสมัคร สส.  ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้ว  เขาก็เที่ยวแจกใบปลิวและกล่าวปราศรัยในที่ต่าง ๆ ซึ่งเคยไปกับข้าพเจ้านั้น ๆ

          ครูเหรียญชัยมีกระแสเสียงตอบรับดีมาก  เพราะเขาเป็นคนพูดเก่งและดี  คอการเมืองเห็นพ้องกันว่าเลือกตั้งงวดนั้นเขาต้องชนะอย่างแน่นอน  คู่แข่งในสนามเลือกตั้งนี้ของเขาคือ  คุณหมอทัศนัย แสนโกศิก บุตรชายของ สส. ทองสุขนั่นเอง  หมอคนนี้ไปเรียนแพทย์ที่ประเทศรัสเซียเพิ่งกลับมาไม่นาน  ยังเป็นแพทย์ตามระเบียบของการแพทย์ไทยไม่ได้  เพราะยังไม่ได้ใบรับรองการเป็นแพทย์ไทย  อะไรทำนองนั้นแหละ  หมอทัศนัยไม่ได้ออกหาเสียงเหมือนครูเหรียญชัย  แต่คนในพรรครัฐบาล (จอมพลถนอม กิตติขจร) ซึ่งมีพล.ต.ต.สง่า กิตติขร มาตั้งกองบัญชาการเลือกตั้งของพรรครัฐบาลอยู่ที่เมืองตาก  มาช่วยหาเสียงให้คุณหมอทัศนัยกันอย่างคึกคัก  ใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  พรรคแนวประชาธิปไตยได้กำหนดการจัดปราศรัยใหญ่ขึ้นที่สนามวัดไทยชุมพล เมืองสุโขทัย ในวันอาสาฬหบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ )

          ในการปราศรัยใหญ่นั้นมีกำหนดการว่า ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน จะมาเป็นเป็นผู้นำในการปราศรัย  มีการอภิปรายก่อนปราศรัย  ครูเหรียญชัยขอร้องให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมการอภิปรายด้วย  ข้าพเจ้าบ่ายเบี่ยงว่าไม่เหมาะที่พระจะขึ้นเวทีอภิปรายทางการเมือง  แต่เขาเสนอหัวข้อการอภิปรายว่าใช้ชื่อแบบวัดก็ได้  ข้าพเจ้าจึงคิดหัวข้อว่า  “ศาสนากับการเมือง”  เป็นหัวข้อกว้าง ๆ  มีผู้ร่วมอภิปรายคือ  ข้าพเจ้า  ครูเหรียญชัย  และนายประจวบ ไชยสาส์น  สำหรับประจวบ ไชยสาส์น ผู้นี้เป็นชาวอุดรธานี  ตอนนั้นเขาเรียนจบรัฐศาสตร์บัณฑิต  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาหมาด ๆ  เรียกว่า  “กำลังร้อนวิชา”  เลยทีเดียว

          วันนั้นครูเหรียญชัยเป็นผู้นำอภิปราย  ให้ประจวบ ไชยสาส์น อภิปรายเรื่องการเมือง  เขากล่าวถึงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการได้ดีทีเดียว  ครูเหรียญยชัยกล่าวสรุปคำอภิปรายของประจวบแล้วให้ข้าพเจ้าอภิปรายเรื่องศาสนา  ข้าพเจ้ากล่าวถึงความสำคัญของศาสนาว่ามีความสำคัญต่อสังคมและประเทศชาติอย่างไร  สังคมของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์จะขาดศาสนามิได้  เมื่อกล่าวถึงศาสนาโดยภาพรวมแล้วก็หันมากล่าวถึงการเมืองที่ประจวบอภิปรายว่า  มีระบอบเผด็จการ  กับ  ประชาธิปไตย  ข้าพเจ้ากล่าวถึงคำว่า  “อธิปไตย” (ความเป็นใหญ่) ว่าในพุทธศาสนาเรา  พระพุทธเจ้าตรัสถึงอธิปไตยคือความเป็นใหญ่มี ๓ ระบอบ  คือ  อัตตาธิปไตย  ถือเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่  อย่างที่เรียกในปัจจุบันว่าเผด็จการ ๑   โลกาธิปไตย ถือเอาเสียงคนหมู่มากเป็นใหญ่ อย่างที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ๑   ธรรมาธิปไตย ถือเอาเหตุผล (คือธรรม) เป็นใหญ่ ๑  ทรงยกย่องธรรมาธิปไตยว่าเป็นดีกว่าเผด็จการและประชาธิปไตย  แล้วสรุปว่า  พวกอัตตาธิปไตยหรือเผด็จการ  ถ้าเอาธรรมะคือเหตุผลเข้าไปประกอบด้วย  เผด็จการนั้นก็จะดี  พวกประชาธิปไตยถ้าเอาธรรมะคือเหตุผลเข้าไปประกอบด้วย  ประชาธิปไตยนั้นก็จะดี  ทั้งเผด็จการและประชาธิปไตยไม่มีธรรมะคือเหตุผล  อธิปไตยนั้นก็จะเสียหายไร้ความดี

          แล้วข้าพเจ้าก็กล่าวถึงนักการเมืองว่า  นักการเมืองส่วนมากไม่ค่อยมีธรรมะในใจ  แสดงว่าเหินห่างศาสนา  นักเผด็จการก็ไร้เหตุผล (ธรรมะ) นักประชาธิปไตยก็ไร้เหตุผล (ธรรมะ)  เราจึงพบเห็นว่ากฎหมายที่นักการเมืองเขียนออกมามีข้อบกพร่องมากมายไม่เอื้อประโยชน์ต่อสงคมมนุษย์  ในการอภิปรายของพวกเรามีรายละเอียดมากกว่าที่นำมาเขียนให้การนี้  หลังจบการอภิปราย ดร.ไพฑูรย์กล่าวปราศรัย  ตอนหนึ่งท่านว่า  ”ผมอยากนิมนต์พระองค์นี้ไปเทศน์ในสภาฯ จังเลย ไอ้พวก “สส. ฝักถั่ว”  จะได้หูตาสว่างขึ้นมาบ้าง”

          เสร็จสิ้นงานแล้ว สส. ชวินทร์ สระคำ  ขับรถไปส่งข้าพเจ้าที่พิษณุโลกขึ้นรถไฟขบวนเที่ยงคืนเข้ากรุงเทพเพื่ออธิษฐานจำพรรษา  ขณะนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ นั้นมีสส. จังหวัดขอนแก่นที่ไปช่วยหาเสียงให้หมอทัศนัย  และไปฟังการอภิปราย-ปราศรัย ที่วัดไทยชุมพล มาในขบวนรถเดียวกัน  เข้ามาไหว้และขอนั่งคุยด้วย  ท่านชื่อวิญญู  จำนามสกุลไม่ได้  หลังจากวันนั้นเพียงสัปดาห์เดียวก็มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  ผลปรากฏว่าครูเหรียญชัยได้คะแนนเสียงแพ้หมอทัศนัยไปพันกว่าคะแนน  ข่าวว่ามีการโกงคะแนนกัน  เขาโกงอย่างไรข้าพเจ้าไม่รู้หรอก  ทราบว่าทางพรรคแนวประชาธิปไตยของ ดร.ไพฑูรย์ ไม่ยอมรับผลการลงคะแนนจึงมีการฟ้องร้องกันอย่างยืดเยื้อ  ยังไม่รู้ผลการฟ้องร้องก็มีการยุบสภาฯ เรียบร้อยโรงเรียนจอมพลถนอมไป/

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54735#msg54735)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54938#msg54938)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 09, กันยายน, 2566, 11:09:27 PM
(https://i.ibb.co/G0HnT7m/1.jpg) (https://imgbb.com/)
คุณไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล

 
<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54842#msg54842)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg55042#msg55042)                   .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๑ -
          ทนายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล ทำหน้าที่ว่าความให้วัดราชธานีได้ดีเป็นที่พอใจของพระผู้ใหญ่  และยังรับว่าความให้เอกชนได้รับความเป็นธรรมหลายคดี  ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง  พระผู้ใหญ่ในจังหวัดสุโขทัยนำโดยหลวงพ่อห้อม พระครูสุภัทรธีรคุณ  ขอร้องให้ทนายไพฑูรย์ลงสนามเลือกตั้งสมัครเป็น สส. สุโขทัยในนามพรรคประชาธิปัตย์  เขาไม่กล้ารับ  เพราะเป็นคนใหม่ของสุโขทัย  ไม่มีฐานคะแนนเสียงเหมือนคนเก่า ๆ  แต่พระผู้ใหญ่รับรองว่าพระส่วนใหญ่ของจังหวัดจะเป็นฐานคะแนนเสียงให้  เขาจึงรับลงสมัครตามคำขอของพระ  ปีนั้นทางพรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้ นายเพ่ง ลิมปะพันธ์ อดีต สส. สุโขทัยนักการเมืองรุ่นลายครามมีอิทธิพลทางการเมืองมาก  เป็นผู้คัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์  ขุนเพ่งไม่ยอมรับทนายไพฑูรย์  ท่านว่า

          “ไอ้ตี๋คนนี้หิ้วกระเป๋ามาจากกรุงเทพฯ  ไม่เหมาะที่จะสมัครเป็นสส. สุโขทัย”

          เมื่อถูกขุนเพ่งปฏิเสธดังนั้น  พระผู้ใหญ่เมืองสุโขทัยจึงทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ปชป. ขอให้ส่งทนายไพฑูรย์ลงสมัคร สส.สุโขทัย  โดยพระเจ้าอาวาสทุกวัดในจังหวัดนี้จะสนับสนุน  ถ้าทางพรรคไม่ส่งทนายไพฑูรย์ลงสมัคร  พระทั้งหมดจะไม่สนับสนุนพรรค ปชป.  คุณชายเสนีย์จึงรับทำตามความต้องการของพระดังกล่าว

          จังหวัดสุโขทัยสมัยนั้นมี สส.ได้ ๓ คน  ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเพียงเขตเดียว  พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัคร ๓ คน  ประกอบด้วย นายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล, นายเยื้อน มหาปัญญาวงศ์, นายธวัช สุรินทร์คำ เป็นคนหน้าใหม่ในวงการเมืองทั้งหมด  ผู้สมัครต้องหาเสียงทั้งจังหวัด  สนามการเมืองนี้มีอดีต สส. ที่อยู่ยืนยงมานานถึง ๓ คน  คือ นายบุญธรรม ชุมดวง  นายสำรวย ธรรมสุนทรา  นายพจน์ เกิดผล  ผู้สมัครของพรรค ปชป. เป็นเด็กหน้าไหม่  จึงต้องออกเดินหาเสียงกันอย่างหนัก  ดีที่มีพระหัววัดช่วยกันหนุนหลัง  ขอให้ญาติโยมลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายช่วยกันลงคะแนนให้ด้วย  เวลานั้นเพื่อนทนายความของไพฑูรย์จากสำนักเสนีย์คนหนึ่งคือ นายชวน หลีกภัย  ไปลงสมัคร สส. จังหวัดตรัง  ได้เป็น สส. หนุ่มที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะปราศรัยเก่ง  ครั้นนายไพฑูรย์ลงสมัคร สส. สุโขทัย  เขาจึงขึ้นมาช่วยปราศรัยหาเสียงให้ด้วย

          สมัยนั้นชาวบ้านยังศรัทธาในคำพูดของพระอยู่มาก  ดังนั้นผลการเลือกตั้งสุโขทัยครั้งนั้นจึงพลิกสภาพที่เป็นรองให้กลับเป็นผู้ชนะ  พรรค ปชป. ไม่เคยมีที่นั่ง สส. ในจังหวัดสุโขทัยมาก่อนเลย

          ผลการเลือกตั้งปีนั้น  ปรากฏว่าคนของ ปชป. ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ๒ คน คือ นายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล, นายธวัช สุรินทร์คำ ส่วนนายเยื้อน มหาปัญญาวงศ์ (เปรียญ) แพ้ให้แก่นายพจน์ เกิดผล (คนหาดเสี้ยวบ้านเดียวกัน) ไปอย่างน่าเสียดาย  แม้กระนั้นก็ถือได้ว่า นายไพฑูรย์ นายธวัช ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่พรรค ปชป. ที่มี สส. สุโขทัยเป็นครั้งแรก

          ก่อนหน้านั้น สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าคณะใหญ่หนเนือ ได้เรียกหลวงพ่อห้อมไปพบที่วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ  ท่านไปพักที่วัดใหม่ฯ บอกว่าไม่รู้ผู้ใหญ่ท่านเรียกมาพบเพื่ออะไร  วันนัดพบข้าพเจ้าเป็นห่วง  จึงขอติดตามไปด้วย  พบว่าในที่นัดพบนัดนั้นมีท่านเจ้าคุณพระเทพวิริยาภรณ์ เจ้าคณะภาค  นายนาคผู้รับเหมาก่อสร้าง  และเจ้าหน้านี้ของกรมการศาสนานั่งอยู่  ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สอบถามเรื่องวัดราชธานีตามข้อมูลของเจ้าคณะภาคและนายนาคหลายเรื่อง  หลวงพ่อห้อมตอบปฏิเสธด้วยคำว่า  “ไม่ทราบ  ไม่รู้”  เมื่อถามว่าจะยอมให้นายนาคยืมเงินไหม  ท่านก็ยันว่า  “ไม่”  นายนาคกล่าวคำอ้อนวอนว่า

           “เมตากระผมเถิดขอรับใต้เท้า  กระผมหมดเนื้อหมดตัวแล้ว”

          ข้าพเจ้านั่งฟังนานเป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง  อดรนทนไม่ไหวจึงยกมือขอพูดบ้าง  สมเด็จฯ ถามว่าท่านเป็นใคร  มาจากไหน  จึงกราบเรียนว่า

           “เกล้ากระผมพระปลัดอภินันท์ นาคเขโม  มากับท่านพระครูสุขวโรทัย  เคยเป็นเลขาส่วนตัวของพระราชประสิทธิคุณเจ้าอาวาสวัดราชธานี  เกล้ากระผมทราบเรื่องราวเหล่านี้ดีพอสมควร  ขอโอกาสให้กระผมกราบเรียนรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ไหมขอรับ”

          เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ อนุญาต  ข้าพเจ้าก็กล่าวตั้งแต่ไฟไหม้เมืองเมืองสุโขทัยแล้วทางการจัดทำผังเมืองใหม่ขอเวนคืนที่ดินของวัด  โดยให้เงินผาติกรรมอันเป็นที่มาของการฟ้องร้องกัน  เมื่อกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ แล้วก็สรุปว่า  เงินค่าผาติกรรมนี้ทราบว่ามีระเบียบกฎหมายห้ามมิให้ใช้จ่ายในกิจการใด  ให้ใช้ได้แต่เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น  การที่จะบังคับให้พระครูสุขวโรทัยเซ็นยินยอมนั้น  เป็นไปไม่ได้  เพราะท่านไม่ใช่พระวัดราชธานีและไม่มีอำนาจ  พระวัดราชธานีและกรรมการวัดกับประชาชนชาววัดนี้คงไม่ยินยอม  ทางที่ดีควรไปประชุมที่วัดราชธานีแล้วขอมติสงฆ์และประชาชนชาววัดนี้จึงจะควร  สมเด็จ ฯ นั่งฟังนิ่งมาโดยตลอด  ถึงตรงนี้ท่านกล่าวว่า

           “เออ ท่านนี่พูดดีแล้ว”

          หันไปสั่งเจ้าหน้ากรมการศาสนาว่า  “ไปบอกมหาปิ่น (พ.ท.ปื่น มุทุกันต์) อธิบดีกรมดการศาสนาให้ไปจัดประขุมเรื่องนี้ที่วัดราชธานี  ตามข้อเสนอของพระปลัดองค์นี้เถิด”

          เรื่องวันนั้นจบลงตรงที่ยังไม่จบเรื่องคดีความ เรื่องลากยาวต่อมานานเป็นปี

          อาจจะเป็นเพราะไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล ทนายความของวักราชธานี  ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. จังหวัดสุโขทัยนั้นเอง  ทางผู้รับเหมาก่อสร้างที่เป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่ จึงได้ขอเจรจาประนีประนอมยอมความกัน  หลวงพ่อห้อมไปนอนค้างปรึกษาหารือข้าพเจ้าที่วัดใหม่ฯ  ข้าพเจ้าก็เห็นว่าทั้งวัดและนายนาคเป็นความกันมาอย่างยาวนานจนอ่อนเปลี้ยไปทั้งคู่แล้ว  จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายนาคที่ให้ประนีประนอมยอมความกัน  โดยไม่มีใครแพ้ใครชนะ  เรื่องของวัดราชธานีจึง เอวัง  ก็มีด้วยประการฉะนี้ /๒๖๑

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 10, กันยายน, 2566, 11:06:29 PM
(https://i.ibb.co/pn9tG6w/20220713-1.jpg) (https://imgbb.com/)
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
Cr. Photo By บ้านกลอนน้อยฯ

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๒๖๒ -
          ข้าพเจ้าเป็นประธานชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์อยู่เพียงปีเดียว  สมาชิกมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากชื่อเสียงชมรมปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ที่สมาชิกส่งกลอนไปลงพิมพ์  คนอ่านพบเห็นแล้วถูกใจจึงติดต่อขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก  เมื่อเห็นว่าชมรมเข้ารูปเข้ารอยดีแล้ว  จึงขอวางมือ  ให้จ่าสมพงษ์ โหละสุต รับหน้าที่เป็นประธานชมรมแทน  โดยข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษาให้  สถานที่ตั้งชมรมก็ใช้กุฏิของข้าพเจ้านั้นต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง  มิใช่แต่วางมือจากตำแหน่งประธานชมรมเท่านั้น  ยังติดต่อทาบทามแฟนรายการ  “สายธารใจ”  หลายคนขอให้เขารับจัดทำรายการนี้แทนข้าพเจ้า  ได้ครูล้วน สาลี  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสามเงารับทำงานนี้  จึงแจ้งให้ทางสถานี ป.ช.ส. ตาก ทราบและอนุญาตให้ครูล้วนจัดรายการสายธารใจต่อไป  ครูล้วน ร่วมกับอาจารย์สมชาย นทีประสิทธิพร, อาจารย์สุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี ที่อยู่ในเมืองตาก  อาจารย์เหล่านี้เกิดในวงการกลอนได้ด้วยรายการ  “สายธารใจ”  เขารักรายการนี้มาก  จึงร่วมกันรักษาไว้ให้เป็นสนามกลอนของชาวเมืองตาก  โดยเฉพาะเด็กนักเรียนระดับมัธยมของโรงเรียนผดุงปัญญาและตากวิทยาคมต่อไป

          เมื่อปลดภาระงานกลอนออกได้แล้ว  ข้าพเจ้าถือว่าว่างงานจึงไปสมัครเรียนภาษาอังกฤษที่วัดพระเชตุพนฯ  ซึ่งเปิดสอนเฉพาะพระเณรเท่านั้น  มีนักเรียนประมาณ ๕๐ คน  ข้าพเจ้าแก่กว่าเพื่อน  พวกพระเรียกหลวงพี่  พวกเณรเรียกหลวงน้าหลวงอา  เรียนกับเด็กนี่ก็สนุกดี  อาจารย์ผู้สอนสอนมีคนเดียวชื่อ อาจารย์ผ่อง  เป็นคนอารมณ์ดี  สอนสนุก  อาจารย์ผ่องไม่ได้เรียนจบปริญญาอะไร  ท่านบอกว่าเรียนจบแค่ ม.๖ (เดิม) เท่านั้น  ความรู้ด้านภาอังกฤษของท่านได้จากทหารอเมริกัน  โดยท่านเข้าไปทำงานในกองทัพอเมริกาซึ่งมาตั้งฐานทัพอยู่ที่อุดรธานี  เพื่อรบกับคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม เขมร ลาว  อยู่ฐานทัพนี้ต้องพูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา  เพราะพวกทหารพูดไทยไม่ได้  อาจารย์ผ่องจึงต้องเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนมีความรู้ถึงระดับเป็นล่ามได้ดี

          ภาษาอังกฤษของอาจารย์ผ่องเป็นแบบอเมริกัน  ไม่ยึดติดในไวยากรณ์อังกฤษ  สอนเน้นให้พูดกับฝรั่งได้รู้เรื่องเท่านั้น  จึงมีคำสแลงต่าง ๆ มาสอนให้นักเรียนสนุกไม่รู้เบื่อ  เวลาเณรทะเลาะกันในห้อง  ด่ากันด้วยคำหยาบ ๆ อาจารย์จะบอกว่า  อย่าด่าอย่างนั้นไม่ดี  ต้องด่าด้วยภาษาอังกฤษว่าอย่างนี้ ๆ  พวกเราก็จดจำกันไว้ด่ากันอย่างสนุกสนานไปเลย

          ในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนี้  มีพระญวนจากวัดวัดคั้นเยิงตื่อ (วัดอุภัยราชบำรุง) อยู่ที่หลังตลาดน้อย (ริมถนนเจริญกรุง) ในอำเภอสัมพันธวงศ์ มาเรียนด้วยองค์หนึ่ง  คำว่าญวนคือเวียดนามในปัจจุบัน  ความเป็นมาของพระญวนมีอยู่ว่า  “ในช่วงแรกที่ชาวญวนอพยพเข้ามาในประเทศไทย  ได้มีการสร้างวัดเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลของพวกตน  ชาวญวนนั้นได้รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาจากประเทศจีน  ชาวจีนให้การนับถือ  เพราะอยู่ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานด้วยกัน  จึงมีการนิมนต์พระญวนมาทำพิธีต่าง ๆ ด้วยกัน เช่น พิธีกงเต๊ก  พิธีเชิญเจ้าในช่วงกินเจ  ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ มีความคล้ายพระสงฆ์จีน  ต่างกันแค่เพียงบทสวดมนต์  ที่จะเป็นภาษาเวียดนาม  และการแต่งกายเสื้อของพระสงฆ์ญวนจะเป็นกระดุมเรียงตรงลงมาจากด้านบนลงล่าง  ต่างจากพระสงฆ์จีนสาบเสื้อจะเฉียงไปผูกด้านข้างลำตัว  พระสงฆ์จีนเรียกว่าจีนนิกาย  พระสงฆ์ญวนเรียกว่า  อนัมนิกาย  คณะสงฆ์อนัมนิกายในประเทศไทย  ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติต่างจากพระสงฆ์ในเวียดนามไปมาก  โดยมีการหันมาใช้ข้อปฏิบัติตามอย่างพระสงฆ์ไทย  เช่น  การถือสิขาบทไม่ฉันอาหารในยามวิกาล  ครองผ้าสีเหลืองแต่เพียงสีเดียว  อีกทั้งยังมีการออกบิณฑบาตเสมือนพระสงฆ์ไทย  แทนการฉันอาหารเจ  แต่ยังคงอัตลักษณ์ไว้ในแบบพระญวน  คือการไม่โกนคิ้ว  และนุ่งกางเกงแทนสบงแต่ครองจีวรแบบพระสงฆ์ไทย”

          วันหนึ่งหลังเลิกเรียนก่อนแยกย้ายกันกลับวัด  พระอนัมนิกายองค์นั้น  จับมือข้าพเจ้าจูงไปทางที่ตั้งศิวลึงค์  บอกว่า

           “ขอปรึกษาหลวงพี่หน่อยครับ”/
           “มีอะไรก็ว่ามา”  ข้าพเจ้าเปิดการสนทนา

          “หลวงพี่ช่วยปิดเป็นความลับด้วยนะครับ”

          ข้าพพยักหน้ารับคำ เขาก็บอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของเขาว่า

           “ผมเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามา ก คิดว่าจะบวชไม่สึก  ก่อนบวชจึงได้ตัดองคชาติทิ้งไปด้วยคิดว่าเจ้าองคชาตินี่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นพระของผม  ครั้นบวชมานานได้ ๕ ปีกว่า ๆ  ผมมีความทุกข์ทรมานใจมาก  ด้วยอารมณ์ทางเพศเกิดขึ้นอย่างรุนแรง  คิดจะสึกออกไปมีครอบครัวก็ทำไม่ได้  เพราะ “ไอ้นั่น” ของผมเหลือแต่ตอ  จะให้ผมทำอย่างไรดีครับ”  (ว้าว....เรื่องอย่างนี้ก็มีด้วย)

          ข้าพเจ้าฟังแล้วก็อึ้งไปนาน  เพราะคิดไม่ออกบอกไม่ถูก  จนกระทั่งเขาจับแขนข้าพเจ้าเขย่าแล้วย้ำคำถามว่า

           “บอกหน่อย  ผมจะทำอย่างไรดี”

          ข้าพเจ้าตอบปลอบใจเขาแล้วว่า

           “เรื่องสึกไปมีครอบครัวผมแนะนำไม่ได้  เพราะไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน  แต่หากจะให้คลายความกำหนัดในกามพอจะมีวิธีแนะนำได้บ้าง  คือเมื่อท่านเห็นรูปสวยงามของสตรีแล้วเกิดความกำนัดขึ้น  ขอให้เจริญอสุภกรรมฐาน  คือพิจารณาให้เห็นร่างกายสตรีนั้นเป็นของสกปรกตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ...... แยกส่วนออกมาพิจารณา  ให้เห็นเป็นของบูดเน่า  หนังเนื้อก็จะเหี่ยวย่น  ผุพังไปตามธรรมดาของสังขาร  เมื่อพิจารณาไป ๆๆ ความกำหนัดก็จะคลายลงไปได้”

          ข้าพเจ้าเทศน์ให้เขาฟังเสียกัณฑ์ใหญ่  เขายกมือไหว้กล่าวขอบคุณว่าจะทำตามคำแนะนำ
 
          พระเณรศิษย์อาจารย์ผ่อง  เรียนภาษาอังกฤษพอรู้เพียง  “งู ๆ ปลา ๆ”  ส่วนมากก็จะหัดพูดกับฝรั่งมังค่าที่เข้ามาเดินเที่ยวในวัดโพธิ์  บางคนเห็นฝรั่งเหมือนเด็กเห็นขนมหวาน  รีบเข้าหาทักทาย  ฝรั่งบางคนนิสัยดีพอพระเณรพูดผิดเขาก็จะสอนคำที่ถูกต้องให้  บางคนนิสัยร้ายก็ด่าว่าด้วยความรำคาญ  เรื่องนี้ต่อมาทางวัดออกประกาศห้ามไม่ให้พระเณรไปเที่ยวพูดจากับฝรั่งนักท่องเที่ยว  สร้างความรำคาญให้แก่นักท่องเที่ยวเหล่านั้น  แต่ก็ยังมีพระเณรละเมิดข้อห้ามนั้นอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกัน /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ ธันวาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 11, กันยายน, 2566, 10:54:34 PM
(https://i.ibb.co/tMY7dnG/1.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๓ -
          ในบรรดาพระเครื่อง (หรือพระพิมพ์) ด้วยกัน  พระสมเด็จที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมฺรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม (บางหว้าใหญ่) เป็นพระที่มีเสน่ห์มหานิยมแรงที่สุด  สังเกตรู้ได้จากการที่เอาพระพิมพ์นานามาวางเรียงกันไว้ในแผงพระ  คนที่นิยมพระเครื่องจะสนใจดูและหยิบจับพระสมเด็จวัดระฆังมากกว่าพระพิมพ์อื่น  พระสมเด็จจึงเป็นที่ต้องการของคนนิยมพระเครื่องทั่วไป  จนกลายเป็นพระของเก่าที่หายากยิ่ง  มีการหาเช่าบูชากันในราคาแพงจนคนระดับกลางระดับล่างเอื้อมไม่ถึง  ดังนั้นจึงมีการสร้างพระพิมพ์สมเด็จใหม่ ๆ ในวัดทั่วไป  มิหนำยังมีการสร้างปลอมขึ้นมาอีกมากมายเสียด้วยซ้ำไป

          พระสมเด็จบางขุนพรหมทั้งกรุเก่ากรุงใหม่หายากยิ่งพอ ๆ กันกับสมเด็จวัดระฆัง  แม้สมเด็จบางขุนพรหมที่ทางวัดสร้างเมื่อปี ๒๕๐๙ ก็หายากยิ่งแล้วเหมือนกัน  ในวาระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มรณภาพครบ ๑๐๐ ปี  วัดระฆังโฆสิตารามได้จัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จเพื่อเป็นอนุสรณ์  ทางวัดใหม่ก็ไม่ยอมน้อยหน้า  จึงจัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จเพื่อเป็นอนุสรณ์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ด้วยเช่นกัน  ทางวัดระฆังนั้นดำเนินการได้รวดเร็ว  พระสมเด็จ ๑๐๐ ปีวัดระฆังจึงสร้างเสร็จตามกำหนดในปี ๒๕๑๖  ทางวัดใหม่อมตรสดำเนินการช้าไปหน่อย  จึงเสร็จในปี ๒๕๑๗  ช้ากว่าวัดระฆัง ๑ ปี

          การสร้างพระพิมพ์สมเด็จบางขุนพรหม (ทุกแบบพิมพ์)  ทางวัดมีวัตถุประสงค์ที่นอกเหนือเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบ ๑๐๐ ท่านประประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แล้ว  ยังเป็นการหารายได้สร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนวัดใหม่อมตรสอีกด้วย  ใช้ห้องบริเวณด้านหลังกุฏิเจ้าอาวาส (พระครูบริหารคุณวัตร์) เป็นโรงงานผลิตพระพิมพ์ดังกล่าว  พระครูชม (เจ้าอาวาส) มอบหน้าที่ให้พระบำรุงเป็นหัวหน้างาน  สามเณรเจริญ เป็นผู้ช่วย  พระเณรเด็กวัดที่ว่างจากเรียนและงานช่วยกันในการโขลก  ตำผงที่ใส่ส่วนผสมครบแล้ว  ในการโขลกตำผงมิใช่งานเบาเลย  ส่วนผสมที่ใช้ทำเนื้อพระพิมพ์สมเด็จใช้ปูนเปลือกหอยเป็นหลัก  ตัวเชื่อมส่วนผสมใช้กล้วยน้ำว้าบ้าง  กล้วยหอมบ้าง  น้ำอ้อยบ้าง  น้ำมันตังอิ๊วบ้าง  กว่าจะโขลกตำจนผงนั้นเหนียวแน่นเป็นเนื้อเดียวกันได้ต้องใช้เวลานาน  ผู้โขลกตำต้องภาวนาด้วยบทพุทธคุณตลอดเวลา  เมื่อเนื้อแข็งจวนได้ที่แล้ว  พระครูชมก็จะนำผงพระเก่ากรุมาใส่ผสมลงไปก่อนจะนำใส่แม่พิมพ์กดเป็นองค์พระ  แม่พิมพ์แรก ๆ นั้นนายช่างเกษม มงคลเจริญ (เป็นจ่าทหารเรือ) ใช้วัตถุที่ทำเหงือกฟันปลอมมาทำ  แต่กดพิมพ์พระไปนาน ๆ ก็สึกหรอ  ต้องเปลี่ยนแม่พิมพ์บ่อย ๆ  ระยะหลังเขาเอาทองเหลืองแกะเป็นแบบพิมพ์และทำเครื่องปั๊ม  พิมพ์พระออกมาคมชัดสวยงามมากกว่าเดิม  บางวันข้าพเจ้าไปช่วยโขลกตำผงและกดพิมพ์พระด้วย

          เริ่มดำเนินงานสร้างพระสมเด็จร้อยปีบางขุนพรหมตั้งปี ๒๕๑๖  มาสร้างเสร็จในปี ๒๕๑๗  จึงกำหนดการทำพิธีพุทธาภิเศกขึ้นในวันที่ ๒๖  ตุลาคม ๒๕๑๗ ณ อุโบสถวัดใหม่อมตรส  มีคณาจารย์ (เกจิอาจารย์) ร่วมปลุกเสกหลายรูปด้วยกัน  อาทิ  หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี  หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี  หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง  หลวงปู่เทียม วัดกษัตรา  หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์  อาจารย์นอง วัดทรายขาว  และ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่เป็นต้น  พระที่จัดสร้างมี ๑๓ แบบแม่พิมพ์ คือ  พิมพ์ใหญ่, พิมพ์เส้นด้าย, พิมพ์ทรงเจดีย์ , พิมพ์เกศบัวตูม, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์ปรกโพธิ์, พิมพ์ฐานคู่,พิมพ์ฐานแซม, พิมพ์อกครุฑ, พิมพ์ไสยาสน์, พิมพ์คะแนน, พิมพ์จันทร์ลอย, และ พิมพ์รูปเหมือนสมเด็จโต  ทางวัดไม่ได้ทำตำหนิหรือโค้ตอะไรในพระทุกพิมพ์นั้นเลย  ที่ปรากฏว่ามีจุดต่าง ๆ อยู่ในพิมพ์พระนั้น  เป็นเพราะแม่พิมพ์ที่ทำใช้ตอนแรก ๆ บางพิมพ์เป็นรอย (แม่พิมพ์ไม่สมบูรณ์) เมื่อกดผงลงไปในแม่พิมพ์นั้น ๆ จึงปรากฏเป็นจุด ๑-๓ จุดดังที่เซียนพระทั้งหลายเอามาเล่นกัน

       วันทำพิธีพุทธาภิเศก  ท่านพระครูชมมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นคนจัดสถานที่ตั้งวางวัตถุมงคล และจัดอาสนะให้พระคณาจารย์นั่งปลุกเสก  วันนั้นทางวัดได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถระ) วัดราชบพิตรมาเป็นองค์ประธานในพิธิพุทธาภิเศก บรรดาพระคณาจารย์ทุกองค์เข้านั่งประจำที่อยู่พร้อมแล้ว  สมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จมาประทับที่รอเพื่อทำพิธีอยู่ แต่อาสนาที่ตรงกันข้ามกับหลงปู่โต๊ะนั้นยังว่าอยู่ พระครูชมให้ข้าพเจ้ารีบไปตามหลวงพ่อคูณที่กุฏิท่านมาเร็ว ๆ

          กาลนั้นหลวงพ่อคูณ (เพื่อนพระครูชม) ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก  ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เรื่องของท่านมาก่อน  ไปตามตัวที่กุฏิพระครูชมเห็นท่านกำลังนั่งดูมวยทางทีวี.  ท่านนุ่งสบงและใส่อังสะตัวเดียวเชียร์มวยอย่างสนุก  ข้าพเจ้าเข้าไปบอกว่า

           “หลวงพ่อครับไปร่วมพิธีปลุกเสกได้แล้ว  พระสังฆราชกำลังรออยู่”

          ท่านพูดโดยไม่หันมามองดูข้าพเจ้าว่า  “รอก็ช่างมันประไร  กูจะดูมวย”

          ข้าพเจ้ารีบกลับไปบอกพระครูชมตามนั้น  พระครูจึงให้ข้าพเจ้ากลับไปยกคัทเอ้าท์ไฟฟ้าหลังกุฏิดับไฟทีวี. เสีย  เมื่อทำตามคำสั่งพระครูชม ทีวี. ดับแล้วท่านก็ลุกขึ้นห่มจีวรพร้อมบ่นงึมงำว่า   ”มึงเล่นแกล้งกูนี่หว่า”  ข้าพเจ้าเดินนำหน้าพาท่านเข้าไปนั่งประจำที่ตรงข้ามกับหลวงปู่โต๊ะเรียบร้อยแล้วพิธีกรรมจึงเริ่มขึ้น  และดำเนินไปจนจบ

          ขณะพระสวดพุทธาภิเศก  พระเกจิอาจารย์นั่งภาวนา  ครั้นพระสวดจบเป็นตอน ๆ แล้วพระเกจิบนอาสนะท่านเปลี่ยนอิริยาบถกันเป็นระยะ ๆ  มีอยู่องค์เดียวที่นั่งนิ่งโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลยคือหลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี  ท่านนั่งนิ่งยืดตัวตรงดูเหมือนหุ่นปั้น  ว่ากันว่าท่านเคร่งครัดในระเบียบวินัยยิ่งนัก  เวลาเดินไปไหนท่านจะเดินแลไปข้าหน้าไม่เหลียวหลัง  เวลานั่งในพิธีใด ๆ ก็จะนั่งนิ่งด้วยอาการสำรวม  เสร็จพิธีเมื่อเวลาใกล้เที่ยงคืนวันนั้น  ก่อนออกจากอุโบสถหลวงพ่อคูณเดินผ่านมาถึงข้าพเจ้าเจ้าแล้วหยุดยืนมองหน้า  และล้วงมือลงไปในย่าม  กำเหรียญรูปเหมือนของท่านยื่นให้บอกว่า

           “เอ้า มึงเอาไป”

          ข้าพเจ้ายกมือไหว้แล้วรับไว้  พวกพระชาวโคราชหลายองค์รู้เข้าก็มาขอไปคนละ ๑ เหรียญ  พวกเขาเลื่อมใสหลวงพ่อคูณกันมาก  แต่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกอะไรนัก  ภายหลังทราบว่าเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นปี ๒๕๑๗ โด่งดังมีราคาแพงมาก  คงจะเป็นเพราะพระคณาจารย์ที่มาร่วมปลุกเศกพระสมเด็จบางขุนพรหมช่วยอธิฐานจิตใส่เหรียญหลวงพ่อคูณด้วยกระมัง  เสียดายว่าเหรียญหลวงพ่อคูณที่ท่านให้มากับมือนั้น  ข้าพเจ้าแจกไปหมดแล้ว/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 12, กันยายน, 2566, 11:01:57 PM
(https://i.ibb.co/zhWBkGj/1098196-img-t96832-2-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๔ -
          ยาสูบที่ปลูกในภาคเหนือของไทยมี ๒ พันธุ์ คือ  พันธุ์เวอร์จิเนียกับพันธุ์เบอร์เลย์  ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จะปลูกพันธุ์เตอร์กิช  ซึ่งใบยาสูบทั้ง ๓ สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ทางโรงงานยาสูบ (ของไทย) จะรับซื้อไปผสมกัน  มวนเป็นบุหรี่ไทยตราต่าง ๆ เช่น ตราฆ้อง ตราพระจันทร์ ตราเกล็ดทอง เป็นต้น  ก่อนจะกล่าวถึงใบยาสูบในไทย  ขอย้อนไปดูเรื่องราวความเป็นมาของยาสูบโลกหน่อยเป็นไร  เรื่องต่อไปนี้คัดมาจาก “วิกิพีเดีย” ในกูเกิล

          “ยาสูบ (อังกฤษ: common tobacco ชื่อวิทยาศาสตร์: Nicotiana tabacum L.) มีแหล่งกำเนิดในบริเวณตอนกลางของทวีปอเมริกา  แม้มนุษย์จะรู้จักใบยาสูบมาประมาณสองพันปีแล้ว  แต่ไม่ได้สูบกันอย่างจริงจังจนเป็นนิสัย  จนกระทั่งพวกอินเดียนแดง  ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของอเมริกา (American Indian) รู้จักใช้ยาสูบกันอย่างแพร่หลาย  จึงได้มีการทำไร่ยาสูบกันทั่วไป  การบันทึกประวัติของยาสูบมีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๐๓๕  เมื่อโคลัมบัส (Christopher Columbus) ขึ้นฝั่งที่ซานซัลวาดอร์ (San Salvador) ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก  เห็นชาวพื้นเมืองเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมามวน  จุดไฟตอนปลาย  แล้วดูดควัน  ตามบันทึกกล่าวว่า  ชาวพื้นเมืองมวนยาสูบด้วยใบข้าวโพด  สเปน เรียกยามวนนี้ว่า ซิการา (cigara)  ต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่า ซิการ์ (cigar)  แต่คนบางคนก็ใช้คำว่า ซิการา อยู่  จากการขุดพบซากปรักหักพังของเมืองเก่าของพวกมายาในเม็กซิโก  ได้พบกล้องยาสูบสมัยโบราณ  ซึ่งตรงโคนสำหรับดูดแยกออกเป็นสองง่าม  สำหรับอัดเข้าไปในจมูก  ด้วยเหตุนี้  ชาวอเมริกัน (American) โบราณสูบยากันทางจมูก  กล้องชนิดนี้คนพื้นเมืองเรียกว่า ตาบาโก (tabaco) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า  โทแบกโก (tobacco)  การเพาะปลูกยาสูบในแหล่งอื่น ๆ ได้เริ่มที่เฮติ (Hiti) เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๔  โดยได้เมล็ดพันธุ์จากเม็กซิโก  และขยายไปยังหมู่เกาะข้างเคียง  จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๑๒๓ จึงได้เริ่มปลูกในคิวบา  และต่อไปจนถึงกายอานา และบราซิล ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ แพร่หลายไปยังทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา  มีหลักฐานแสดงว่า  มนุษย์ในสมัยโบราณรู้จักการปลูกยาสูบ  เพื่อนำใบไปซอยและมวนสูบ  นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันว่า  ยาสูบมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่ดีอย่างหนึ่งด้วย

          ประเทศแรกในทวีปเอเชียที่เริ่มปลูกยาสูบคือ  ฟิลิปปินส์  แล้วแพร่หลายต่อไปยังอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย  สำหรับประเทศไทยไม่มีหลักฐานว่า  ใครเป็นผู้นำเข้ามา และมาถึงเมื่อใด  มีเพียงบันทึกของหมอสอนศาสนาว่า  เมื่อเขาเข้ามาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นพบว่า  คนไทยสูบยากันทั่วไปแล้ว  และจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เรื่องบุหรี่  ทรงกล่าวว่า  เมอร์สิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๑๑ ได้เขียนเล่าเรื่องประเทศสยามว่า  คนไทยชอบใช้ยาสูบอย่างฉุน  ทั้งผู้ชาย  และผู้หญิง  ใบยาที่ใช้กันในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น  ได้จากกรุงมะนิลา (Manila) บ้าง  จากเมืองจีน (China) บ้าง  และที่ปลูกในประเทศไทย (Thailand) บ้าง”


          การปลูกยาสูบขายกันในสุโขทัยมีมาตั้งแต่เมื่อใดข้าพเจ้าไม่ทราบ  มาพอทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการปลูกยาพันธุ์เบอร์เลย์กันมากในเขตท้องที่อำเภอศรีสำโรงหลายตำบลแล้ว  ตอนนั้นนายอำเภอศรีสำโรงชื่อนายเกรียง คชรัตน์  ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการปลูกยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์อย่างจริงจัง  มีครูเหรียญชัย จอมสืบ เป็นผู้วิ่งเต้นประสานงาน เช่น หาเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำยมขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นยาสูบ เป็นต้น  พื้นที่การเพาะปลูกยาสูบขยายจากเขตศรีสำโรงเข้าสู่เขตอำเภอเมืองสุโขทัยอย่างรวดเร็ว  ชาวไร่ยาสูบส่วนมากสร้างฐานะจนอยู่ดีกินดีจากการปลูกยาสูบขายให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยรายใหญ่ตามกลไกของการค้า  พ่อค้าแม่ค้าใบยาก็ร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น  ข้าพเจ้าอยู่กรุงเทพฯ จึงไม่ได้สัมผัสกับชาวบ้านทางสุโขทัยเหมือนก่อน  อยู่มาครูเหรียญชัย ไปหาข้าพเจ้าที่วัดใหม่ฯ  ขอใช้เครื่องพิมพ์พิมพ์เรื่องร้องเรียนกล่าวหานายอำเภอศรีสำโรงทุจริตในการสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ยาสูบ  ส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยหลายครั้งหลายครา  ข้าพเจ้าไม่รู้รายละเอียดอะไร  รู้แต่ว่าเขาเป็นคู่หูกันกับนายอำเภอแล้วเกิดแตกคอกัน  คาดว่าคงเป็นเรื่องผลประโยชน์นั่นแหละ

          ดังได้ให้การไปแล้วว่า  ข้าพเจ้าเป็นคนติดบุหรี่  เริ่มสูบควันหลงจากบ้องกัญชาของพ่อมาตั้งแต่ดินได้เตาะแตะ ๆ  แล้วพัฒนาจากควันหลงเป็นสูบบ้อง  จนอายุ ๑๘ ปี  บวชเป็นเณรแล้วเลิกกัญชาและสูบบุหรี่เรื่อยมา  เคยเลิกสูบมาแล้วสองครั้งเลิกได้ไม่เด็ดขาด  กลับมาสูบหนักกว่าเดิม  อยู่มาจนถึงปีที่มีอายุ ๓๒ จึงเลิกได้เด็ดขาด !

          วันที่เลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดคือวันที่ไปเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์ ที่วัดทุ่ง ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง กลางดงยาสูบนั่นเอง  วันนั้นเทศน์ธรรมะล้วน ๆ กับพระที่มาจากจังหวัดอุตรดิตถ์  ท่านมีวัยอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า  เป็นพระที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยดีมาก  ท่านไม่สูบหรี่  ไม่กินหมาก  ขณะเทศน์กันอยู่เวลาท่านอธิบายความธรรมะตอบคำถามของข้าพเจ้านั้น  ข้าพเจ้าฟังไปคิดไปถึงเรื่องสุรายาเสพติดนานา  ตัดสินใจว่าวันนี้จะต้องเลิกสูบบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาด  ก่อนเทศน์จบลงธรรมาสน์จึงสูบบุหรี่มวนสุดท้ายได้ครึ่งมวนแล้วทิ้งลงกระโถน  ซองบุหรี่ที่เหลือในพานก็ไม่หยิบใส่ยามเหมือนเคย

          กลับถึงวัด (ไทยชุมพล) แล้ว เก็บบุหรี่ทั้งหมดที่มีอยู่ในกุฏิใส่ถุงไปถวายหลวงตา  ที่ท่านยังสูบบุหรี่อยู่  ตั้งใจมั่นว่าตั้งแต่วันนั้นจนตราบวันตายจะไม่ขอสูบบุหรี่อีกเด็ดขาด  ผลของหารเลิกสูบยุหรี่วันแรก ๆ มันมีความหงุดหงิดใจมาก  คอยแต่ยกมือที่เคยคีบมวนบุหรี่ขึ้นมาดมอยู่เรื่อย ๆ  ยามหลับนอนก็มักฝันว่าสูบบุหรี่  ในฝันบางทีก็เสียใจว่าตนเองเสียสัจจะที่หันมาสูบบุหรี่อีก  กว่าอาการหลอนดังกล่าวจะหายไปก็เป็นเวลาเดือนเศษแล้วทีเดียว

          ตอนที่สูบบุหรี่อยู่ไม่ค่อยมีใครถวายบุหรี่นัก  ส่วนมากต้องควักย่ามซื้อเอง  ครั้นเลิกสูบบุหรี่แล้วมีคนถวายบุหรี่กันมาก  ข้าพเจ้าต้องรับแล้วก็วางเฉยเสีย  ใจก็คิดว่านี่มารมันมาผจญเราอีกแล้ว  มาหลอกล่อให้เรากลับเข้าไปติดบ่วงมันอีกละซี  เมินเสียเถอะ  ฮึ่ม ! /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 14, กันยายน, 2566, 11:53:31 PM
(https://i.ibb.co/QYqXtr2/1.jpg) (https://imgbb.com/)
หลวงปู่โต๊ะ

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๕ -
          เนื่องมาจากการสร้างพระพิมพ์สมเด็จบางขุนพรหมปี ๒๕๑๗ นั้นเอง  หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลีพอใจเนื้อพระที่ทางวัดใหม่ฯ ทำกันมาก  จึงให้พระมหาไพโรจน์ศิษย์กันกุฏิของท่านติดต่อพระมหาอุดมวัดใหม่ฯ (มหาอุดม จากวัดหัวเวียงมาอยู่วัดประดู่กับหลวงปู่โต๊ะก่อนมาอยู่วัดใหม่ฯ)  ขอว่าจ้างให้ทำพระพิมพ์เนื้อผงให้ท่านบ้าง  พระมหาอุดม กับพระบำรุง (อยู่ชั้นบนของกุฏิข้าพเจ้า)  จึงร่วมมือกันรับทำพระผงตามความต้องการหลวงปู่โต๊ะ  ให้ทำพระปิดตา  พระนางสามเหรี่ยมขาโต๊ะ  พระสมเด็จปรกโพธิ์  โดยขอให้ทางผู้รับจ้างออกแบบด้วย  พระมหาอุดมขอให้ข้าพเจ้าออกแบบทำแม่พิมพ์พระดังกล่าว  จึงได้ไปว่าจ้างร้านเอนก ชโลธร หน้าวัดมหรรณพฯ ให้ออกแบบและทำแม่พิมพ์ให้  พระบำรุงทำเรื่องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดใหม่ฯ ใช้สถานที่ทำพระให้วัดประคู่ฉิมพลี  ท่านก็ยินดีอนุญาต  แถมยังมอบผงเก่าบางขุนพรหมให้ใส่ผสมผงใหม่ด้วย

          วัดประดูฉิมพลีอยู่ที่ไหนมีความเป็นมาอย่างไร  มีคำตอบย่อ ๆ ดังนี้

          :- วัดประดู่ฉิมพลีเดิมมีชื่อว่า  “ วัดฉิมพลี ” (เพราะมีต้นงิ้วมาก)  ตั้งอยู่ในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร  เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย  สร้างขึ้นในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  และเสร็จสมบูรณ์ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔   ใช้เวลา ๘  ปีจึงเสร็จบริบูรณ์  โดยมีพระศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) เป็นประธานดำเนินการ

          ประวัติหลวงปู่โต๊ะมีอยู่ว่า  เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๐  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นบุตรของนายพลอย และนางทับ รัตนคอน  มีพี่น้องอยู่ร่วมกัน ๒ คน  ในวัยเด็กได้เข้าเรียนวิชาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว สมุทรสงคราม ใกล้บ้านเกิดของท่าน  เมื่อมารดาถึงแก่กรรม  พระภิกษุแก้ว จึงได้พาเด็กชายโต๊ะ  มาฝากอยู่กับพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น  ท่านได้มาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลีอยู่เป็นเวลาอยู่ ๔ ปี  จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี พ.ศ. ๒๔๔๗  เล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลี  จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี  เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี  โดยมีพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายาว่า  อินฺทสุวณฺโณ  อยู่มาจนพระอธิการคำ เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีมรณภาพลง  ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖  ท่านได้ออกธุดงค์จาริกไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย  และเรียนพุทธาคม  โดยฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์รูปสำคัญหลายรูป  เช่น หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ  หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน  เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชสิทธาราม  ส่วนสหธรรมิกของท่านที่มีชื่อเสียงได้แก่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค  หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ  หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง  หลวงพ่อกล้าย วัดหงส์รัตนาราม และอีกหลายท่านด้วยกัน

          หลวงปู่โต๊ะมีสมณศักดิ์ โดยเริ่มที่พระครูสังฆวิชิตฐานานุกรมในสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ต่อด้วยเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูวิริยกิตติ์  แล้วเลื่อนขึ้นเป็นชั้นโท  ชั้นเอก  ชั้นพิเศษ  ในพระราชทินนามเดิม พ.ศ. ๒๕๑๖  เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสังวรวิมลเถร  และสมณศักคิ์สุดท้ายคือ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวราภิมณฑ์ โสภณภาวนานุสิฏฐ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

          พระพิมพ์ที่จ้างพระมหาอุดม พระบำรุงทำให้นั้น  ข้าพเจ้าไม่ทราบจำนวนและค่าจ้าง  เพราะจัดทำแบบพิมพ์ให้แล้วก็ไม่ได้ติดตามงานของเขา  ด้วยเวลานั้นมีงานจรคือเดินสายไปเทศน์ตามจังหวัดต่าง ๆ ค่อนข้างมาก  หลังจากทำพระเสร็จแล้วพระมหาอุดมนำเครื่องบันทึกเสียง (เทป) ยี่ห้อดีชนิดสองหัวมาให้ข้าพเจ้าเครื่องหนึ่ง  บอกว่าเป็นค่าจ้างทำแม่พิมพ์พระให้  พระมหาไพโรจน์วัดประดู่ฉิมพลีขอนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์เดี่ยวหาเงินสร้างวัดที่บ้านเกิดท่านในจังหวัดนครนายกวันหนึ่ง  ไปเห็นสภาพวัดค่อนข้างโทรมแล้ว  หลังเทศน์ข้าพเจ้าจึงมอบเงินกัณฑ์เทศน์ทั้งหมดเข้าวัดไปเลย  พระมหาไพโรจน์ชอบใจจึงเอาพระพิมพ์และเหรียญรุ่นต่าง ๆ ของหลวงปู่โต๊ะมาให้ข้าพเจ้ามากมาย  ข้าพเจ้ารับแล้วก็แจกจ่ายไปเรื่อย ๆ จนหมดมือไม่มีเหลือเลย  ภายหลังขอท่านอีกก็ไม่ได้  ท่านว่าหมดแล้ว

          สมัยนั้นพระพิมพ์และเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่โต๊ะเป็นที่ต้องการของนักนิยมพระเครื่องมาก  แต่ทราบว่าพระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ที่ข้าพเจ้าทำพิมพ์ให้นั้น  ท่านเก็บไว้ก่อน  เพราะพิมพ์คล้ายกับสมเด็จปรกโพธิ์ของวัดใหม่  พระเครื่องหลวงปู่โต๊ะรุ่นปี ๒๕๑๘ จึงไม่เหมือนรุ่นอื่น ๆ ที่ดังไม่มีตกเลย  ทราบต่อมาว่าท่านปลุกเสกพระสมเด็จปรกโพธิ์พิมพ์นี้นานถึง ๖ ปี  จึงนำออกมาให้บูชากัน  และก็กลายเป็นของหายากมากที่สุด/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 15, กันยายน, 2566, 10:53:42 PM
(https://i.ibb.co/zH3tGb4/1.jpg) (https://imgbb.com/)
ปราสาทเมืองต่ำ  อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~  
- ๒๖๖ -

          พระที่บวชนานมีอายุพรรษามากขึ้นย่อมต้องมีภาระในการบริหารงานงานปกครองมากขึ้นเป็นธรรมดา  ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๗  ข้าพเจ้ามีอายุพรรษาอยู่ในขั้นพระเถระแล้ว  เห็นว่าถ้าไม่หลบหนีสังคม “ปลีกวิเวก” เข้าไปอยู่ตามป่าตามถ้ำแล้ว  ก็ต้องรับภาระตำแหน่งสมภารเจ้าวัดแน่นอน  ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์นี้ข้าพเจ้าไม่นิยมชมชอบเลย  หลบหนีมาตลอดเวลา  ตัดสินใจว่าจะลาสิกขาตรงปีที่ ๒๐  ของการครองเพศเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาเสียที

          ประมาณเดือนมีนาคมปีนั้น  พระมหาวิรัตน์ ป.ธ. ๙ วัดพระเชตุพนฯ จัดรายการเทศน์แบบผสมผสานขึ้นที่วัดกลางประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์  ที่ว่า  “ผสมผสาน”  นั้นก็คือ  มีพระไทยภาคกลาง ๓ องค์  พระไทยโคราช ๑ องค์  พระเขมรบุรีรัมย์(เขมรสูง) ๒ องค์  เทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก (หกกษัตริย์)  พระภาคกลางคือ พระมหาวิรัตน์ อุนนาทรวรางค์กูร วัดพระชุตุพนฯ  พระมหาบำรุง จันทร์เชื้อ วัดชนะสงคราม  พระปลัดอภินันท์ วัดใหม่อมตรส  พระไทยโคราช คือพระมหาสวัสดิ์ ชาวโคราช ที่เข้ามาอยู่ประจำที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ)  พระชาวเขมรสูง ๒ องค์  นัยว่าเป็นพระนักเทศน์ชื่อดังในแถบบุรีรัมย์ สุรินทร์  ข้าพเจ้าจำชื่อของท่านไม่ได้แล้ว

          พวกเราเดินทางไปบุรีรัมย์โดยรถไฟไทย (ร.ฟ.ท.)  ออกจากหัวลำโพงยามพลบค่ำแล้วไปถึงเมืองบุรีรัมย์เวลาประมาณตีสี่เห็นจะได้  จากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ไปประโคนชัยต้องนั่งรถยนต์ ๖ ล้อ  ซึ่งเป็นรถสำหรับบรรทุกข้าวของโรงสีข้าวประโคนชัยที่มาจอดรอรับอยู่  ดูเหมือนว่าไม่มีรถยนต์รับจ้างประจำทาง  หรือมีแต่ก็น้อยนัก  รถบรรทุกข้าวพาพวกเราออกจากเมืองบุรีรัมย์ไปตามทางดินลูกรัง  บางตอนเป็นทางล้อเกวียน  ถึงโรงสีไฟเวลาประมาณ ๖ โมงเช้ากว่า ๆ  เจ้าของโรงสีจัดอาหารเช้าถวายเป็นข้าวต้มทรงเครื่องอย่างดี  ฉันข้าวต้มเรียบร้อยแล้วจึงนั่งรถคันเดิมไปวัดที่จะเทศน์  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงสีไฟนั้นนัก  ถึงวัดแล้วข้าพเจ้าขอนอนสักงีบ  เพราะนั่งหลับนกในรถไฟทั้งคืน  ง่วงมากเลย

          อำเภอประโคนชัยอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองบุรีรัมย์มีความเป็นมาดังนี้:-

           “เดิมคือเมืองตะลุง  อยู่ที่บ้านตะลุงเก่า  ตำบลโคกม้า  ย้ายมาอยู่บริเวณเนินกลางทุ่งประโคนชัย  และก่อตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐  เป็นชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งเมือง  มีคลองน้ำธรรมชาติได้แก่ห้วยตะโก  และห้วยด้ามมีดล้อมรอบเนินบริเวณนี้  คำว่า  "ตะลุง"  หมายถึง  เสาใหญ่  หรือ  เสาหิน  สำหรับผูกช้าง (ซึ่งเชื่อกันว่า ร.๑ ทรงผูกช้าง  หลังกลับจากการทำสงครามกับเขมร ณ บริเวณวัดโคน อำเภอประโคนชัย)  เมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ เมืองตะลุงได้ตั้งเป็นอำเภอชื่อ อำเภอประโคนไชย ในปี ๒๔๖๐  เปลี่ยนเป็น อำเภอตะลุง  ต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็น  อำเภอประโคนชัย  คำว่าประโคนชัย  เพี้ยนมาจากคำว่า  "ปังกูล"  ในภาษาเขมรที่แปลว่า  เสาหิน  ในปี ๒๔๘๒ ในท้องที่อำเภอนี้มีโบราณสถานที่สำคัญคือ “ปราสาทหินเมืองต่ำ“  ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก  ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ ง ปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู  ศิลปะขอมโบราณ  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗  มีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ ๕ องค์  ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน  ปราสาททั้ง ๕ จะล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีทับหลังและซุ้มประตูแกะสลักด้วยหินทรายอย่างงดงาม มีสระน้ำ หรือบาราย กรุด้วยศิลาแลง ทั้ง ๔ ทิศ  มุมสระมีพญานาคหินทราย ๕ เศียร  ทอดตัวยาวรอบขอบสระน้ำ ชั้นนอกปราสาทมีกำแพงศิลาแลงอีกชั้น”

          ได้เวลาฉันเพลข้าพเจ้ากับพระมหาบำรุงตื่นนอน  ล้างหน้าล้างตาเตรียมฉันอาหาร  เห็นอาหารคาวหวานแบบบ้าน ๆ  มีแปลกตาอย่างหนึ่งคือข้าวสุก  เป็นข้าวเมล็ดเล็กสีแดงเหมือนดอกมะขาม  ดูแล้วไม่น่ากินเลย  กระซิบถามมหาบำรุงว่า  “ข้าวอะไรเนี่ย จะกินไหวรึ”  มหาบำรุงบอกว่า  “ไม่รู้ซี  ก็ต้องลองดู”  พอตักข้าวใส่ปากแล้วรู้สึกผิดคาดมาก  ข้าวนั้นมีกลิ่นหอม  เนื้อนุ่ม  ไมแข็งกระด้างอย่างที่คิด  รสชาติอร่อยอย่างบอกไม่ถูก  หันไปถามพระมหาวิรัตน์ว่า  “นี่ข้าวอะไรครับหลวงพี่”  ท่านตอบว่า  “ข้าวหอมประโคนชัย  มีเพาะปลูกที่ประโคนชัยนี้แห่งเดียว”  พวกญาติโยมที่นั่งล้อมรอบพระฉันเพลนั้นพูดคุยกันด้วยภาษาเขมรที่ฟังไม่รู้เรื่องเลย  ฟังแล้วใจหาย  ถามพระมหาวิรัตน์อีกว่า  พวกเขาเป็นเขมรพูดเขมรจะฟังเทศน์ของเราได้อย่างไรนี่  ท่านหัวเราะบอกว่าเขาพูดไทยได้  ฟังไทยรู้เรื่อง  แต่เวลาเขาพูดคุยในหมู่พวกเขาจะใช้ภาษาของเขา  ไม่ต้องห่วงหรอกเราเทศน์กันได้อย่างเต็มที่

          ก่อนขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็แบ่งสรรตำแหน่งหน้าที่กันตามระเบียบ  ข้าพเจ้าไม่พ้นที่จะต้องเป็นชูชกอีกตามเคย  การเทศน์วันนั้นไม่สนุกอย่างที่พระมหาวิรัตน์หวังไว้  คนฟังแน่นศาลาเลยก็จริง  แต่เวลาพระไทยพูด (เทศน์) พวกเขาจะนั่งฟังนิ่งด้วยความเคารพ  พอพระเขมรพูด (เป็นภาษาเขมร) พวกเขาจะหัวเราะกันครืน....เลย  พระไทยจึงไม่มีกะจิตกะใจจะเทศน์  หลังจากเทศน์จบแล้ว  ทายกทายิกาพากันเอาของเครื่องกัณฑ์เทศน์เข้าประเคนพระเทศน์ทุกองค์  มีหมอนนั่งอิง (หมอนสามเหลี่ยมหรือหมอนขวาน)  หมอนนอน (หนุน)  เส้นด้ายไหมสีต่าง ๆ เป็นมัด ๆ  และอื่น ๆ อีกมาก  ข้าพเจ้ารับแล้วจะถวายให้วัด  พวกเขาไม่ยอมขอให้นำเข้ากรุงเทพฯ ด้วย  มหาวิรัตน์กระซิบว่า  “ท่านไม่เอาผมจะเอาเอง  ขอให้รับไว้ก่อนเถอะ”

          เสียดายเหลือเกินที่ไม่ได้ไปเที่ยวชมโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำและปราสาทพนมรุ้งที่เขาว่าสวยงามนัก  เพราะเย็นวันนั้นทางเจ้าของโรงสีให้รถบรรทุกพาพวกเรากลับเข้าเมืองนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯเลย  มารู้ภายหลังว่า  เจ้าของโรงสีนั้นกับพระมหาวิรัตน์คุ้นเคยกัน (เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเหมือนกัน)  ลูกสาวเถ้าแก่โรงสีชื่อ  วัจนา  จดที่อยู่พระเทศน์ทุกองค์ไว้  แล้วมีจดหมายมาคุยกับข้าพเจ้าด้วย  หลังจากนั้นไม่ถึงปีมหาวิรัตน์ก็ลาสิกขา  และแต่งงานกับอาหมวยวัจนาลูกสาวเถ้าแก่โรงสีประโคนชัย  นั้นแล/

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๙ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 16, กันยายน, 2566, 10:57:31 PM
(https://i.ibb.co/h7Qr5Rx/1.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๗ -
          การเขียน (หรือแต่ง) กลอนของข้าพเจ้าส่วนมากเป็นกลอนตลาด (หรือกลอนสุภาพ) ความยาวตามความนิยมสมัยนั้น คือ ๖ บทกลอน  และหากส่งลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะยาว ๒-๓ บทกลอน  เคยแต่งเป็นกลอนยาวครั้งแรกสำนวนหนึ่ง คือ  นิราศสงขลา  เริ่มตั้งแต่หัวลำโพงกรุงเทพฯ ไปจบที่วัดชัยมงคล เมืองสงขลา  กลอนยาวกี่บทจำไม่ได้แล้ว (เพราะต้นฉบับก็หายหมดแล้ว)  คุณประยูร กั้นเขต อ่านในรายการกวีสวรรค์คืนละ ๖ บท ตั้งหลายเดือนจึงจบ   ครั้งที่ ๒ แต่งเป็นกวีวัจนเทศนา  เขียนและแสดงในงานพระศพสมเด็จพระสังฆราช  ด้วยชมรมนักกลอนฯ โดย กรองแก้ว เจริญสุข ประธานชมรมและคณะร่วมกันบำเพ็ญบุญเป็นทักษิณานุสรณ์อุทิศถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ มหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  องค์อุปถัมภ์ชมรมนักกลอนผู้สิ้นพระชนม์ครบ ๕๐ วัน  ณ หอประชุมสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.

          ในเวลานั้นชมรมนักกลอนกำลังดำเนินการก่อตั้งเป็นสมาคมนักกลอน  โดยมีสมเด็จป๋า (พระสังฆราช ปุ่น) เป็นผู้อุปถัมภ์มาแต่แรกเริ่มจนใกล้จะมีการยื่นขอจดทะเบียนเป็นสมาคมตามกฎหมายแล้ว  พระองค์ก็มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน  คุณกรองแก้ว เจริญสุข ประธานชมรมนักกลอนได้ปรึกษาหารือสมาชิกชมรมแล้วเห็นพ้องต้องกันให้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระองค์เนื่องในวาระครบ ๕๐ วัน  ในการบำเพ็ญบุญปัญญาสมวารนั้นจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาด้วย  พระที่จะขอให้แสดงธรรมในงานนี้ขอให้เป็นพระนักกลอน  และเทศน์เป็นกลอน  เวลานั้นมีพระเณรนักกลอนหลายองค์  เป็นพระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยคก็มี  แต่ทางชมรมคิดเรื่องนี้ในเวลากระทันหัน  นิมนต์พระแต่งกลอนและแสดงไม่ทันการณ์  กรองแก้วจึงมาขอร้องแกมบังคับให้ข้าพเจ้าแต่งคำเทศน์เป็นบทร้อยกรองและนำไปแสดงงานนี้ด้วย

          ข้าพเจ้าจำต้องรับไว้  ใช้เวลาแต่งคำเทศน์เป็นบทกวีวจนะ  ชื่อว่า  “กวีวัจนเทศนา”  เขาให้เวลาแต่ง ๑๐ วัน  ข้าพเจ้าแต่ง ๗ วันจบ  อ่านทบทวนตรวจทานอยู่ ๒ วันจนเป็นที่พอใจ  จึงพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีตลงกระดาษพับสอดใบลานเพื่อนำไปอ่านตามวันเวลาที่กำหนด  คำร้อยกรองที่แต่งเทศน์วันนั้น  เริ่มด้วยร่ายสุภาพ  ต่อด้วยโคลงสี่สุภาพ  ฉันท์  กาพย์  และกลอน  รวมกันเป็นบทกวีวัจน์  ใช้เวลาอ่าน (เทศน์) ๓๐ นาทีเศษ   เทศน์จบแล้ว  “หลวงเตี่ย”  ให้คนมาขอต้นฉบับเทศน์นั้นไปเก็บไว้ (เพื่ออะไรข้าพเจ้าไม่ทราบ)  ยังดีที่ข้าพเจ้ามีสำเนาเก็บไว้ที่กุฏิ  ความในบทกวีวัจน์นั้นมีอย่างไรบ้าง  ในที่นี้จะขอนำความทั้งหมดมาทยอยลงในหน้าเว็ปนี้ให้ท่านผู้สนใจได้อ่านกันดังต่อไปนี้ :- .........


                                         - กวีวัจนเทศนา -
(ร่ายสุภาพ)
            ...ณ โอกาสบัดนี้  จะชี้แจงเทศนา  เสริมศรัทธาชาวกลอน  สอนสัมมาทิฐิ  ให้ตริแต่ทางบุญ  หนุนให้เนากุศล  ดลให้ทำสิ่งถูก  ปลูกความดีในใจ  พาตนไกลความชั่ว  กิเลสยั่วไม่ตาม  อยู่ในความสุจริต  ให้ญาติมิตรชื่นชม ทำตนสมชาวพุทธ  มีมนุษยธรรม  ประจำในดวงกมล  เป็นมงคลแก่ชาติ  พระศาสนารุ่งเรือง  ทั้งบ้านเมืองเจริญงาม  สมสยามเมืองยิ้ม  ลิ้มรสสุขสงบ  พบวิธีหนีทุกข์  ลุกขึ้นสู่อาธรรม์  เทศน์วันนี้มีเรื่อง  โดยสืบเนื่องกันแล้ว  คุณกรองแก้ว เจริญสุข  เป็นพระมุขของงาน  บริวารชนพร้อม  ต่างนอบน้อมเคารพ  ในพระศพสมเด็จ  ผู้เป็นเพชรวงวรรณ  สู่สวรรคาลัย  ชาวกลอนใจอาดูร  เกินจะทูลทักท้วง  ต่างตกห้วงโศกา  จึ่งศรัทธาบำเพ็ญ  กุศลเป็นกองบุญ  บูชาคุณพระองค์  อุทิศสงฆ์ถวาย หมายวิบากบุญญา  ทักษิณานุสรณ์  ถึงอมรมาศสถาน  น้อมสักการสมเด็จฯ  ให้สำเร็จดั่งจินต์  โดยถวิลดังกล่าว  ข่าวกุศลคนกลอน  ไป่ถูกรอนแจ้งแล้ว  คุณกรองแก้วนำมิตร  มาสถิตแหล่งนี้  คอยฟังคำนำชี้  เรื่องล้วนทางธรรม แลนา....

(โคลงสี่สุภาพ)
                 เทศนาในบัดนี้                   ทำนอง
            คำกล่าวเป็นร้อยกรอง              ทั่วถ้วน
            พากเพียรแต่งมาสนอง             เสริมส่ง ศรัทธา
            ผิดตกใดใดล้วน                       โง่แล้ววานอภัย

                 ไม่เคยเทศน์ต่อถ้อย            เป็นกลอน
            โดยที่กรองแก้ววอน                 วากย์ให้  
            กวีวัจน์เพื่อนุสรณ์                    “สมเด็จ ป๋า”เฮย
            ควรแต่งคำเทศน์ไว้                   เชิดเชื้อชูกวี

                 มีปัญญาอยู่น้อย                ในตน
            ตรองแต่งโคลงฉันท์ปน             ร่ายด้วย
            กาพย์กลอนก็กังวล                  เวียนกล่าว
            ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย          ใส่ท้องเลยเทียว

                 เชี่ยวชาญกานท์กว่านี้         จำนรรจ์
            คงไม่งกเงิ่นงัน                         ดั่งนี้
            ฟังเถิดท่านคำอัน                     จักกล่าว
            ลำดับข้อคำชี้                           เรื่องล้วนควรแถลง

(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘)
                 การบำเพ็ญบุญ                  เป็นคุณแก่ตน
            ทั้งยังแผ่ผล                             ทุกหนทุกแห่ง
            วันนี้ชาวกลอน                        อ่อนน้อมรอมแรง
            สามัคคีแจ้ง                             แต่งบุญสุนทร

                 เครื่องหมายคนดี                กาลนี้ปรากฏ
            ชาวกลอนทั้งหมด                    ลดหลั่นผันผ่อน
            งดการงานมา                           ศรัทธาแน่นอน
            ยกค่าอาวรณ์                           ซ้อนบุญหนุนทาน

(กาพย์ยานี ๑๑)
                 บูชาพระคุณใน                   จอมสงฆ์ไทยผู้วายปราณ
            แม้ไม่ได้นิพพาน                      ท่านก็หลามล้นความดี
                 ฟังก่อนชาวกลอนใหม่         เข้าสู่ในวงการนี้
            นับได้ไม่นานปี                         มิรู้ชัดประวัติเดิม
                 “ชมรมนักกลอน”นี้              นับแต่ปีที่แรกเริ่ม
            ได้“ป๋า”เมตตาเสริม                   ส่งไม่ละอุปถัมภ์
                 นาม “ป๋า”มีอาถรรพ์             รู้จักกันแล้วมั่นจำ
            เรียกกันนานฉนำ                      สม่ำเสมอหลายสมัย
                 ขอกล่าวความเป็นมา           ให้รู้ว่า “ป๋า”คือใคร
            รู้จริงแล้วนิ่งไว้                           คนไม่รู้เชิญรู้ตาม .......

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 17, กันยายน, 2566, 11:10:41 PM
(https://i.ibb.co/gZNpF12/1.jpg) (https://imgbb.com/)
คุณกรองแก้ว เจริญสุข

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๘ -
กวีวัจนเทศนา / ๒

(กลอนสุภาพ)
     ๐ ท้องทุ่งนาสวนไร่ไพรทั้งผอง
แผ่นดินทองในเขตประเทศสยาม
เมืองสุพรรณคนซื่อดุลือนาม
ทุกเขตคามมองเห็นความเป็นไทย
กล่าวเฉพาะที่มาของ“ป๋า”เถิด
ถิ่นกำเนิดริมชลตำบลใหญ่
สองพี่น้องท้องนาห่างป่าไกล
อยู่ตอนใต้เขตขัณฑ์สุพรรณบุรี
ชาวนาไทยสมบูรณ์ตระกูลหนึ่ง
ฐานไม่ถึงวิเศษขั้นเศรษฐี
เป็นชาวบ้านไร้หนี้สินอยู่กินดี
เรียกว่ามีอันจะกินในถิ่นนั้น
พ่อบ้าน“เน้า”หนึ่งคำชื่อจำง่าย
สมชาติชายมากมานะแข็งขยัน
มีแม่บ้านคนซื่อชื่อว่า“วัน”
สกุลสรรค์ “ศุขเจริญ”ดำเนินมา

      “วันอังคารเดือนสี่ปีวอก”ตก
พุทธศก“สองสี่สามเก้า”หนา
วันที่สามสิบพอดีเดือนมีนาฯ
เป็นเวลายี่สิบสี่นอเศษแล้ว
เด็กชายหนึ่งตกฟากจากครรภ์แม่
ภายหลังแปรเปล่งปลั่งดั่งดวงแก้ว
“เน้า”บิดาใจเย็นมองเห็นแวว
จึ่งวางแนวที่ถูกให้ลูกตน
“วัน”มารดากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงด้วยรัก
คอยฟูมฟักกายใจเหนื่อยไม่บ่น
พ่อแม่ให้นามลูกผูกกมล
เป็นมงคลว่า“ปุ่น”คุณนาม

     วัยหกขวบบิดาสอนหนังสือ
เริ่มฝึกปรือปัญญาไว้ไม่แบกหาม
แบบเรียนเร็วสองเล่มจบครบข้อความ
แล้วก็ตามต่อไปในโรงเรียน
อยู่โรงเรียนหนึ่งปีวิชาฉาน
จึงจากบ้านจากมิตรชีวิตเปลี่ยน
เข้าอยู่วัดสองพี่น้องลำพองเพียร
เพลินอ่านเขียนอักษรากับอาจารย์
ทั้งบาลีแลขอมเรียนพร้อมด้วย
พระให้ช่วยสอนเด็กวัดหัดเขียนอ่าน
“มูลบทบรรพกิจ”ชิดชำนาญ
“ประถมกอกา”ชาญสอนผ่านเลย
ต่อสวดมนต์หนังสือค่ำตามลำดับ
อาจารย์รับต่อให้ไม่นิ่งเฉย
ความรู้“ปุ่น”เด็กบ้านนอกงามงอกเงย
เสียงหยันเย้ยจากใครใครย่อมไม่มี

     วัยสิบห้า“อาจารย์หอม”ไม่ยอมสอน
แม้“ปุ่น”อ้อนเรียนต่อไม่ท้อหนี
“อาจารย์หอม”ยอมแพ้แก่เด็กดี
มิรู้ที่จะสอนเนื่องต่อเรื่องใด
จึงพาจากสองพี่น้องล่องเมืองหลวง
พ่อแม่ห่วงก็จะทำไฉน
เพื่อลูกรักรู้ดีปรีชาไว
ยินยอมให้เข้ากรุงมิยุ่งกวน
ณ วัดมหาธาตุอาวาสใหญ่
“ปุ่น”อาศัยอยู่กะพระชื่อ “ป่วน”
ครบหนึ่งปีย้ายวัดใหม่ไม่เรรวน
เข้าสู่ส่วนวัดพิเศษ“เชตุพนฯ”
มี“หลวงอา”พระเป็นญาติผู้ปราศยศ
ชื่อ“พระสด”กายใจไม่หมองหม่น
รับหลานไว้ในสำนักพักรวมตน
“ปุ่น”ไม่ซนเรียนร่ำรักตำรา

     วัยสิบหกกลับบ้านที่สองพี่น้อง
หวังฟูฟ่องเป็นปราชญ์ในศาสนา
ให้“พระครูเหนี่ยง”ท่านบรรพชา
ถือสิกขาเป็นเชื้อเนื้อนาบุญ
บวชเป็นเณรไม่นานสงสารแม่
พ่อก็แก่งานก็หนักเรื่องชักวุ่น
ด้วยมีความกตัญญูมากรู้คุณ
สามเณรปุ่นจงลาสิกขาไป
ช่วยพ่อแม่ทำนารักหน้าที่
เพียงหนึ่งปีกลับเป็นสามเณรใหม่
จากสองพี่น้องอีกครั้งโดยตั้งใจ
เข้าอยู่ในวัดโพธิ์หรือเชตุพนฯ
เรียนบาลีหวังจะเป็น “มหา”
ความปรารถนาเพียรนำสำเร็จผล
สอบประโยคสามได้ดั่งใจตน
กลายเป็นคนค่ามากไม่ยากเลย

     พอเป็น“สามเณรมหา”ท่าทางโก้
ญาติมิตรโอ๋เอาใจไม่เมินเฉย
ความสำคัญมากมีที่คุ้นเคย
ล้วนลงเอยทุกอย่างต่างเปลี่ยนแปร ฯ


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 18, กันยายน, 2566, 11:02:38 PM
(https://i.ibb.co/0MXk1GQ/20220713-134758-1-1.jpg) (https://imgbb.com/)
วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
Cr. Photo By บ้านกลอนน้อยฯ

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๖๙ -
กวีวัจนเทศนา / ๓

     อายุยี่สิบสองจึงถึงกำหนด
อุปสมบทฉลองบุญคุณพ่อแม่
ณ วัดสองพี่น้องบ้านเดิมนั่นแล
ญาติมิตรแห่แหนช่วยด้วยศรัทธา
อุปสมบทแล้วก็แคล้วคลาด
จากหมู่ญาติมิตรที่มีทั่วหน้า
เข้ากรุงเทพฯ เรียนเพิ่มเติมวิชา
จำพรรษาวัดโพธิ์อู่เคยอยู่เดิม
สอบเปรียญได้หกประโยคแล้ว
ละจากแนวบาลีมิมีเพิ่ม
ภาษาจีน, อังกฤษคิดเรียนเติม
ทั้งริเริ่มศาสนกิจอนันต์
เป็นครูสอนบาลีที่สามารถ
เฉลียวฉลาดทรงคุณไม่หุนหัน
“พระมหาปุ่น ปุณณสิริ”พลัน
เป็นสำคัญเด่นชัดในวัดโพธิ์

     บำเพ็ญกิจศาสนามหาศาล
หากจะจารก็จักแสนอักโข
ผลงานงามหนุนทวีให้ “ดีโต”
ภาพย์ภิญโญโยงใยไม่เสื่อมทราม
สอนภิกษุสามเณรอยู่เป็นนิตย์
สานุศิษย์สับสนมีล้นหลาม
เป็น“ คณาจารย์เอก”เสกธรรมงาม
ประสบความสำเร็จทางเทศน์ธรรม์

     เป็น“ กรรมการแปลวินัย”ไตรปิฎก
เหมือนได้ยกย่องความเก่งตามขั้น
การคณะสงฆ์เล่าเข้าผูกพัน
เป็นพระชั้นเชี่ยวชาญการปกครอง
เป็น“ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์” ก่อน
นับเป็นตอนเริ่มต้นที่ถูกต้อง
แล้วเป็น“เจ้าคณะภาค” งานมากกอง
บูรพาแล้วภาคสองสนองงาน
เป็น“ สมาชิกสังฆสภา”ต่อ
ไม่ทอดท้อกิจหนักอัครฐาน
จนเป็น“สังฆมนตรี”โดยมินาน
และ“สมภารวัดโพธิ์”ที่โสภณ
เกียรติที่ก่อยอเยียดให้เกียรติยศ
เป็นตามกฎของกรรมดีนำผล
“พระมหาปุ่น”ที่ถูกดีดล
เปลี่ยนชื่อตนตามที่ความดีนำ

     สมณศักดิ์ “เจ้าคุณ”ชั้นสามัญก่อน
นาม“อมรเวที”มิต้อยต่ำ
เลื่อนเป็น “ราชสุธี” ปรีชาธรรม
แล้วเลื่อนล้ำ “เทพเวที” ปิฎกคุณ
เลื่อนอีกที่เป็น “พระธรรมดิลก”
ความดียกนำหน้าปรีชาหนุน
แล้วขึ้นสู่ “หิรัญบัฏ” จรัสบุญ
นามละมุน“พระธรรมวโรดม”
เป็นชั้นรองสมเด็จพิเศษศักดิ์
มิใช่จักด่วนประสงค์ดำรงสม
เพราะความดีมีธรรมตามอบรม
นามนิยมตามฐานันดร์จึงผันเยือน
อีกครั้งหนึ่งเลื่อนขึ้นชั้น “สุพรรณบัฏ”
ซึ่งจำกัดตำแหน่งนี้มิมีเกลื่อน
หากจะเปรียบก็ดาวใหญ่ใกล้ดวงเดือน
หรือเสมือนทายาทกษัตรา
คือ“สมเด็จพระวันรัต” นั่น
เป็นศักดิ์ชั้นสูงสาดล้อวาสนา
โดยที่ “พระมหาปุ่น” มีบุญญา
จึ่งนำพาถึงได้ไม่ยากเย็น
สมณศักดิ์เลื่อนหยุดครั้งสุดท้าย
สูงสุดสายศักดิ์แท้ให้แลเห็น
“สมเด็จพระสังฆราช” ผู้อาจเป็น
ต้องบำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้ว

     สามัญชนจากที่สองพี่น้อง
ได้ขึ้นครองศักดิ์เด่นเป็นยอดแก้ว
ประมุสงฆ์วงศ์สยามงามเพริดแพร้ว
ชูเชื้อแถวเด่นชัดจรัสจรูญ
บารมีดีงามความศักดิ์สิทธิ์
สิงสถิตไม่ลับลอยดับสูญ
มีแต่วันสรรค์เสริมสุขเพิ่มพูน
ยกประยูรญาติมิตรติดตามตน
ในตำแหน่งสมเด็จพิเศษสงฆ์
ได้ดำรงบรรลุด้วยกุศล
เหมือนจอมทัพธรรมไทยคุมไพร่พล
เป็น“สกลมหาสังฆปรินายก”
มีพระเมตตาธรรมประจำจิต
บรรพชิตคฤหะสถ์ไม่ขาดตก
ผู้ดีไพร่ใหญ่ชราหรือทารก
แม้ยาจกพระเมตตาเอื้อปรานี
ไม่เคยถือพระองค์ว่าทรงศักดิ์
ถึงแม้จักทรงยศสูงสดศรี
วางพระองค์ธรรมดาอยู่ตาปี
ไม่ยินดียินร้ายในฐานันดร์......


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 19, กันยายน, 2566, 10:59:58 PM
(https://i.ibb.co/vsh3nRR/image.jpg) (https://imgbb.com/)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
ประทานผ้าไตรแด่สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 เมื่อเสด็จเยือนสำนักวาติกัน

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๐ -

กวีวัจนเทศนา / ๔

     จากพระมหาเป็นเจ้าคุณบุญสำเร็จ
ถึงสมเด็จสูงสุดดุจความฝัน
มี“เมมิตกนาม”เรียกตามกัน
“ป๋า”สำคัญเนาเนียนไม่เปลี่ยนแปลง
“เจ้าคุณป๋า”เป็นพิเศษ“สมเด็จป๋า”
ยืนยันว่าพระทัยท่านปานพ่อแม่
รักลูกศิษย์มิตรญาติสะอาดแท้
ไม่มีแม้เสี้ยวพระจิตจะคิดร้าย
พระเกิดมาเพื่อรับระงับโศก
บำรุงโลกสร้างสุขดับทุกข์หาย
เป็นบุญชาวพุทธล้ำบาปสำราย
ทุกนิกายสงฆ์ดื่นต่างชื่นชม

      “วัดพระเชตุพนฯ”แต่หนหลัง
มี“พระสังฆราช”ปราชญ์ปฐม
เป็นองค์ที่เจ็ดแจ้งแสดงอุดม
ทรงสะสมกวีปราชญ์แห่งชาติไทย
“กรมสมเด็จพระปรมานุชิต-
ชิโนรส”นักสิทธิ์บัณฑิตใหญ่
พระนามหอมจอมกวีปรีชาไว
ผลงานได้ทรงอยู่คู่แผ่นดิน
จอมสงฆ์องค์ที่เจ็ดเสด็จสวรรค์
วัดโพธิ์พลันซบเซาเหมือนเสาหิน
ร้อยปีกว่ายังอยู่คู่ธานินทร์
แต่ว่าปิ่นสงฆ์ไทยยังไกลวัด
มีการตั้งสังฆราชอยู่วัดอื่น
วัดโพธิ์ยืนทุกยามด้วยความขัด
เหมือนไร้บุญวาสนาอาภัพชัด
แม้กระษัตริย์สร้างนำบำรุงมา
วัดคู่เมืองเบื้องบรรพ์มาชั้นหนึ่ง
อดีตซึ้งใจตัวปราชญ์ทั่วหน้า
อนาถหนอรอผู้มีบุญญา
เข้าเสริมค่าให้เด่นเช่นก่อนกาล

     ต่อเมื่อ“สมเด็จพระวันรัต-
ติสสะทัตต”ผู้มีปรีชาฉาน
ยอ“พระมหาปุ่น”เด่นเป็นอาจารย์
จากนั้นผ่านดีเริ่มเพิ่มเจริญ
สังฆาวาสพุทธาวาสสะอาดสะอ้าน
เป็นสถานที่คนก่นสรรเสริญ
นักท่องเที่ยวต่างนิยมชมเพลิดเพลิน
วัดงามเกินที่จะพรรณนา
“ป๋า”สร้างและบูรณะพระอาวาส
ด้วยฉลาดรู้หลักเสริมรักษา
ปวงชาวพุทธชูช่วยด้วยศรัทธา
ปมปัญหายุ่งมีมากคลี่คลาย
นามวัดโพธิ์จึงแซ่แผ่ทั่วทิศ
ศิลป์ประสิทธิ์ทุกอย่างต่างแพร่หลาย
เขาเรียก“เมืองตักสิลา”วิชาปราย
เหมือนนิยายยุคทองของโบราณ
เรียนวิชาสารพัดในวัดนี้
โรงเรียนมีประจักษ์หลายหลักฐาน
ใครจะสอนใครจะเรียนสับเปลี่ยนวาร
“ป๋า”ให้การสนับสนุนและจุนเจือ
ประสบการงานดี “ป๋า” มีมาก
เพราะได้ตรากตรำตนมาล้นเหลือ
ความดีเด่นเห็นได้ไม่คลุมเครือ
เป็นดั่ง“เกลือรักษาเค็ม”อยู่เต็มตัว
เกียรติคุณ “ป๋า” ได้แผ่ไพเศษ
ต่างประเทศพากันสรรเสริญทั่ว
ศีลคุณบุญกุศลไม่หม่นมัว
ภัยพาลกลัวเกรงผละจากพระองค์

      “ป๋า”ออกสู่โลกกว้างอันว้างเวิ้ง
ก่อนเถลิงตำแหน่งประมุขสงฆ์
คือการไปต่างประเทศโดยเจตน์จง
จะเสริมส่งมิตรแลแผ่ใบบุญ
ไป “อินเดีย,ลังกา,พม่า,เขมร”
นำเรื่องเด่นทำลายความวายวุ่น
สู “เนปาล” ไม่เปะปะชุลมุน
เพราะว่าทุนซึ่งถือคือความดี
เยือน“อังกฤษ,เนเธอร์แลนด์”แดนยุโรป
เขาอ้อมโอบรับรองกันขมันขมี
“ฝรั่งเศส,สวิสส์,อิตาลี
เยอรมันนี,เบลเยี่ยม”ก็เยือนแล้ว
“สหรัฐ”ศรัทธา “ป๋า”มากล้น
จึงนิมนต์เยือนบ้างอย่างแน่แน่ว
อเมริกาที่ว่าเลิศงามเพริดแพร้ว
“ป๋า”มิแคล้วคลาดเคลื่อนไปเยือนยล
“อุปทูตวาติกัน”ยกสรรเสริญ
เข้าชวนเชิญเยือน“สำนักโรม”สักหน
“ป๋า”ยินดีเยือนได้ไม่กังวล
รับนิมนต์โดยมิอ้างว่าทางไกล
ในฐานะ “สมเด็จพระวันรัต”
ตำแหน่งชัดชี้เห็นจะเป็นใหญ่
ประมุขสงฆ์องค์พุทธสุดวิไล
เขาจึงได้รับรอง “ป๋า” เป็นตราตรู
“พระสันตะปาปาปอล”ทรงต้อนรับ
ชิดกระชับสัมพันธ์ให้ได้คงอยู่
เกียรติสงฆ์ไทยได้“ป๋า”พาเชิดชู
ชาวโลกรู้คุณค่าพากันชม
การเยือนย่างต่างประเทศ “สมเด็จป๋า”
เหมือนราชาหวังไว้จะได้สม
เป็น “จักรพรรดิราชเจ้า” เนาภิรมย์
จึ่งปรายพรมพระเดชาบารมี
เมื่อกลับจากกรุงโรมไม่ซมโศก
ไปรอบโลกล้า “ป๋า” เลิศราศี
องค์พระประมุขชาติประกาศพิธี
สดุดีสถาปนามิช้านาน
ขึ้นเป็นพระสังฆราชประภาสศรี
นับองค์ที่สิบเจ็ดวิเศษสาร
สมยศสมศักดิ์สมหลักการ
ทั้งชาวบ้านชาววัดมีใจปรีดา
ชาวสุพรรณบุรีสองพี่น้อง
ต่างแซ่ซร้องสาธุการกันทั่วหน้า
จัดสมโภชโอฬารธารศรัทธา
หลั่งสู่ “ป๋า” พร่างพรูมิรู้วาย.....

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 20, กันยายน, 2566, 11:08:00 PM
(https://i.ibb.co/yhTNR3m/319832741.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๑ -
                  กวีวัจนเทศนา / ๕

(กาพย์ยานี)
                 อ้าองค์สงฆ์พิเศษ                บารเมศร์ล้ำบรรยาย
            ความดีมีมากมาย                    ถ่ายทอดไว้ในโลกา
                 จากงานด้านปกครอง          ที่ร้อยกรองเรื่องราวมา
            ไม่ถึงครึ่งเลยหนา                    “ป๋า”ความดีมีเกินนั้น
                 ในงานด้านศึกษา               ทรงเห็นค่าความสำคัญ
            ส่งเสริมสารพัน                        สรรค์สร้างเห็นคนเป็นคน
                 ในส่วนพระองค์นั้น             งานประพันธ์ทรงนิพนธ์
            ร้อยแก้วแววปราชญ์ปน            ผลงานเห็นดีเป็นนิตย์

(สุรางคณางค์)
                                                          เขียนบทความก่อน
            โดยนำคำสอน                         พุทธสรรค์บัณฑิต
            สำคัญวันใด                             เขียนไว้ให้คิด
             “เดลิเมล์”ติด-                          ต่อตามนำลง

                                                          นาม “ป.ปุณณะ-
            สิริ”บอกพระ                            ประจักษ์ตามตรง
            อีก “สันติวัน”                          “ศรีวัน”ยรรยง
             “ป๋า”ใช้ไม่หลง                         วงบรรณบูชา

                                                          เรื่องที่แต่งไว้
            ดีรึงตรึงใจ                               ใน “เกียรติการดา”
             1“เบื้องหลังชีวิต”                     ไม่ปิดปัญหา
            เบื้องหลังนานา                         จี้ตาตำใจ

                                                          “คุณนายชั้นเอก”
            เรื่องช่างสรรเสก                        เฉกเห็นเป็นได้
             “พุทธชยันตี”                           “อ้ายตี๋”อีกไซร้
             “พรสวรรค์”เขียนไว้                   ไม่อ่อนหย่อนดี

                                                          “หนี้กรรมหน้าเวร”
            สันทัดจัดเจน                            เด่นแท้เมธี
             “ลิขิตสมเด็จฯ”                        เรื่องเท็จไป่มี
            สร้างคำนำชี้                             ที่แท้แน่นอน

                                                          เรื่องแน่นแก่นสาร
             “อภินิหาร-                              อาจารย์แก้ว”สอน
            น่าทำตามได้                            ถ้าใจไม่อ่อน
            ทางบุญสุนทร                          จรได้ไป่ทราม

                                                          เรื่องราวกล่าวแล้ว
            เป็นถ้อยร้อยแก้ว                      แพร้วอยู่คู่สยาม
            มีค่าไม่น้อย                             ทั้งถ้อยทั้งความ
            ชวนจิตติดตาม                         ยามอ่านผ่านตา

                                                          “ป๋า”เป็นปราชญ์ชัด
            เรื่องบ้านเรื่องวัด                       สันทัดทุกท่า
            พระนิพนธ์ “สอง”                     “ร้อยกรอง”ฟ่องค่า
            จักขอยกมา                              เนื่องหนุนสุนทร

(พระนิพนธ์)
             “ชมรมนักกลอนแจ้ง               วจะแปลงริกาพย์กลอน
            กรองแก้วเผดียงวอน                ดนุให้ประพันธ์ฉันท์
            จึ่งเริ่มประเดิมเรื่อง                   ระยะเนื่องติดต่อกัน
            ชมรมนักกลอนขันธ์                 ขณะเริ่มและก่อการณ์
            วันเดือนลุเป็นวัส                      ทสะพัสประสบกาล
            นักกลอนริเริ่มงาน                    อนุสรสุมงคล
            บำเพ็ญกุศลสืบ                       วรกิจวิบูลผล
            บูชิตบูชายญ                           กวิขาติฉลาดกลอน
            จึงเร่งประดิษฐ์เขียน                  วิระเวียนประสิทธิพร
            ก้มเกล้าและกล่าววอน             วระพุทธพิสุทธิศิล
            สรวมเดชพระเมตตา                 กรุณาทยาจิณ
            เทเวศร์และเทวินทร์                  มหะศักดิเดชา
            ขอโปรดถนอมรัก-                    ษะพิทักษ์คณานา
            นักกลอนผดุงกา-                     ยะนิโรคนิราศภัย
            พรรณผ่องพิมลจิต                    ประไพพิศรพีไข
            ชาญเชี่ยวประจักษ์ใจ                ผิจะโต้ฤตอบตาม
            เจริญสุขจรูญศักดิ์                    อุฬารทรัพย์ระบือนาม
            สรวมเดชมเหศร์สาม                 รตนาทิคุณคุณ
            รุ่งโรจน์ประพันธ์กิจ                  ประสบสิทธิ์ประสิทธิ์สุนทร์
            เฉลิมเกียรติกวีกุล                     ดุจะธุชประเทืองพงษ์
            ทวยทั่วคณาญาติ                     ปิยะมาดอันใดจง
            สมดังดนูปลง                           มนะเอื้ออำนวยเทอญฯ”

(ภุชงค์ฯ ฉันท์)
            พจีแจ้งประจักษ์ปราชญ์            กวีวาทสดับเพลิน
            จะจำนรรจ์สิสรรเสริญ               เจริญพจน์มิหมดดี
            ประจักษ์ผลนิพนธ์พจน์            ก็รื่นรสสุวาที
            ประเมินค่า ธ “ป๋า”มี                 อเนกขันธ์อนันต์คุณ
            กวีชาติมิขาดสาย                     จะเริ่มวายก็รับหนุน
            ประกายก่องฉลองบุญ              เฉลิมชาติเพราะปราชญ์นำ
            กระนี้ “ป๋า” มหาสงฆ์                พระเสริ่มส่งมิให้ต่ำ
            กวีวรรณประวีณคำ                   จรัสรุ่งจรุงใจ
            ประเทศชาติผิขาดกาพย์           ประชาหยาบมิสดใส
            มนัสหมองมิยองใย                  กระนี้แจ้งมิแกล้งวอน.......

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 21, กันยายน, 2566, 10:59:04 PM
(https://i.ibb.co/9hN3KMW/4-40-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๒ -

กวีวัจนเทศนา / ๖

(กลอนสุภาพ)
      การกวีศรีศักดิ์หลักภาษา
“สมเด็จป๋า”ยกยอไม่ย่อหย่อน
“อุปถัมภ์ชมรมนักกลอน”
นับแต่ตอนเริ่มต้นด้วยหวังดี
“ชมรมนักกลอน”กระฉ่อนชื่อ
คนร่วมมือร้อยกรองฉันน้องพี่
ตั้งประจำตำหนักวาสุกรี
ตราบวันนี้ยังอยู่คู่วัดโพธิ์
จากปีหนึ่ง,สอง,สามตามลำดับ
เดือน,ปีลับล่วงผ่านมานานโข
การกวีก็ได้ใหญ่ภิญโญ
ความเติบโตของชมรมฯ ไม่ซมเซา
สิบสี่ปีที่“ป๋า”เมตตาหนุน
ประธานหมุนเวียนตั้งทั้งใหม่เก่า
ด้วยใจรักหนักสู้มิดูเบา
ทนรับเอาความยุ่งยากซ้ำซากไว้
ประธานคนปัจจุบันมั่นหมายมาก
ทนลำบากเสริมสานสร้างงานใหญ่
เพื่อชมรมนักกลอนแห่งประเทศไทย
ตั้งอยู่ในฐานะ “สมาคม”
เป็น“สมาคมร้อยกรอง”ไม่ข้องขัด
ทะเบียนจัดจดให้ได้เสร็จสม
“ป๋า”แนะให้ประกาศตั้งดังนิยม
เปลี่ยนชมรมเป็นสำคัญ“วันจักรี”
แต่ “ป๋า” อยู่ไม่ทันถึงวันตั้ง
เห็นความหวังสำเร็จแล้วแววริบหรี่
องค์ผู้เด่นเป็นหลักนักกวี
ถึงกาลที่วางละสิ้นพระชนม์

      ดั่งเดือนดับลับดวงจากห้วงหาว
ประดาดาวล้วนหรี่แสงสีหม่น
ฟ้าวงบรรณวรรณกวีเคยมีมนต์
จลาจลเมื่อเดือนเลือนร้างลา
“ป๋า”เป็นปราชญ์เสริมศรีกวีสยาม
เหมือนเพชรงามน้ำหนึ่งซึ่งมากค่า
เฉกมิ่งขวัญคนยาก “โลกปากกา”
ดั่งดวงตราวรรณกรรมที่ลำยอง
เป็นที่รวมศรัทธาสักการะ
ชาวพุทธะบริษัทใจกลัดหนอง
เมื่อพระชนม์“ป๋า”สิ้นจากถิ่นทอง
ทุกข์เข้าครองใจคนไทยหม่นมัว
เสียงที่ดังฟังชัดไม่ขัดหู
เห็นยิ้มอยู่ผุดผาดปราศเยาะยั่ว
เป็นสมบัติของ “ป๋า” เหมือนตราตัว
คนทั่วทั่วรู้จักรักเคารพ
นับแต่นี้ต่อไปจักไม่เห็น
ทุกอย่างเป็นร้างละพร้อมพระศพ
เหลือความดีมีไว้ให้นอบนบ
ไม่รู้จบจางจนคือผลงาน

      นับแต่วันสิ้นพระชนม์จนบัดนี้
ประชาชีมากมายหลายถิ่นฐาน
ต่างมาร่วมจงรักเทิดสักการ
จับจองวารไม่เว้นบำเพ็ญบุญ
ลางคนกราบพระศพแล้วซบหน้า
ปล่อยน้ำตาหลั่งไหลใจคิดวุ่น
เคารพรักรัดรึงซึ้งพระคุณ
อาลัยรุนรุดหน้าลุยอาวรณ์
ไม่มีแล้วแก้วเกศ “สมเด็จป๋า”
เหลือเพียงค่าสูงสุดอนุสรณ์
นับแต่นี้ศรัทธาของนาคร
ก็จะร่อนเร่ไกลไปนานวัน
ดูโกศทองรองรั้งตั้งพระศพ
ใจท่าวทบวิปโยคแสนโศกศัลย์
โอ้...”ป๋า”เอ๋ยเคยเด่นดุจเพ็ญจันทร์
สู่สวรรค์ทิ้งโลกโศกมัวมน
พระคุณ“ป๋า”ดำรงวงการนี้
เรารู้ดีเห็นค่ามาแต่ต้น
พระองค์เป็น “บุพการีบุคล”
พระทศพลตรัสว่าหายากเย็น.......

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 22, กันยายน, 2566, 11:27:23 PM
(https://i.ibb.co/df949r8/paragrap.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๓ -

กวีวัจนเทศนา / ๗

      ในวันนี้ชาวกลอนไม่นอนนิ่ง
ทั้งชายหญิงต่างพร้องความตรองเห็น
รู้คุณค่า “ป๋า” มีดีบำเพ็ญ
จึงร่วมเป็นเอกฉันท์ “กตัญญู”
“กตเวที”ทำกรรมกุศล
ถวายผลบุญแม้จักไม่อักขู
แต่ก็เต็มกำลังที่หวังชู
ทำตามทางอย่างผู้ที่รู้คุณ
อันคนดีที่เห็นเป็นส่วนมาก
ดีขึ้นจากเงินทองกองเกื้อหนุน
การศึกษาเกียรติยศทดเป็นทุน
อีกสกุลมูลนายถ่ายทอดมา
ดีเพราะรูปงามสมขำคมสัน
การจำนรรจ์หวานประจบชวนคบหา
และดีเพราะลักษะถูกชะตา
ดีเพราะว่าอ่อนไหวตามใจตน
คนดีงามตามพระพุทธพจน์
มีกำหนดสังเกตด้วยเหตุหล
ศักดิ์ตระกูลเกียรติทรัพย์ประดับตน
มิอาจยลแล้วยันว่านั่นดี
คนที่พูดอ่อนหวานคล้อยตามเพื่อน
ใจเลอะเลือนไม่รักในศักดิ์ศรี
การศึกษาสูงรุดสุดดีกรี
จิตอาจไพร่ไม่มีความดีงาม
ตนที่ทำพูดคิดรับผิดชอบ
อยู่ในเขตขอบคลองของข้อห้าม
เว้นการเบียดเบียนใครให้ร้อนลาม
ระวังความทุกข์ที่จะกระทบใคร
การพูดทำย้ำให้ใครเดือดร้อน
ต้องสังวรมิละเมิดปล่อยเกิดได้
เขาแหละคือ “คนดี”มิมีภัย
ควรคบไว้เคียงเรานานเท่านาน
แต่การดูคนดีนี้แสนยาก
เนื่องมาจากไม่ประจักษ์แจ้งหลักฐาน
มายาคนพ้นกำหนดจดประมาณ
พวกคนพาลปลอมเป็นดีมีมากมาย

      เครื่องพิสูจน์พุทธองค์ทรงชี้ไว้
คนดีให้ดูเนื่องในเครื่องหมาย
“คนที่รู้คุณคน”ทั้งต้นปลาย
และขวนขวายโดยชอบ “ทำตอบแทน”
การรู้และแทนคุณบุญสนอง
เครื่องหมายของคนดีมีฝากแขวน
เป็นคนดีเกินผู้คนดูแคลน
เขาหนักแน่นในบุญคุณธรรม
ตัวอย่างดีอุดม “สมเด็จป๋า”
เทิด “หลวงอาสด”ไม้มิให้ต่ำ
ส่งไปเป็น “เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ”
และคอยค้ำจุนทวีชั่วชีวิต
อีก “สมเด็จพระวันรัต-เผื่อน”
เทิดเสมือนบิดาตนสูงพ้นผิด
เพราะสมเด็จองค์นี้มีความชิด
“ป๋า”เป็นศิษย์แต่ครั้งยังเป็นเณร
กัญญูกตเวที “ป๋า” มีอยู่
ถ่ายทอดสู่ศิษย์ซ่านถึงหลานเหลน
มีข้อวัตรปฏิบัติอยู่ชัดเจน
มิได้เกณฑ์ผู้คนทนทำตาม

      อนุชนเมื่อเห็นถือเป็นแบบ
มิได้แอบปลดแอกแหกข้อห้าม
สมัครใจเอออวยด้วยเห็นงาม
ประกาศความดีเลิศเกิดโดยตรง
“จดหมายสองพี่น้อง”ของ “ป๋า”นั้น
ยืนกตัญญูเด่นไม้เร้นหลง
การอยู่ในพรหมจรรย์อย่างมั่นคง
เป็นการปลงใจปองสนองคุณ...


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 23, กันยายน, 2566, 10:58:21 PM
(https://i.ibb.co/PrwTFxX/U1452194-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๔ -

กวีวัจนเทศนา / ๘

      ที่ชาวกลอนรวมกันมั่นประกอบ
กุศลนอบน้อมถวายหมายเกื้อหนุน
ดวงพระวิญญาณ “ป๋า” ผู้การุณย์
เสวยบุญสมบัติตามศรัทธา
ชื่อว่ามี “กตัญญู” รู้คุณยิ่ง
ไม่เนานิ่งเหมือนผู้มิรู้ค่า
ทดแทนคุณแด่ผู้...ตนบูชา
เห็นชัดว่าทุกคนเป็นคนดี
คุณความดีมีประโยชน์ไร้โทษแท้
ร่มเงาแผ่ปกปักสุขศักดิ์ศรี
ผู้หวังความเจริญไว้ในชีวี
เข้าวิถี “กตัญญู” ถูกลู่ทาง
ชีวิตสัตว์อุบัติแล้วแน่วที่สุด
ล้วนไปหยุดตรงตายสลายร่าง
อำลาโลกโยกย้ายกระจายจาง
มีตัวอย่างเห็นซ้ำอยู่จำเจ
เมื่อคนตายลายมีเป็น “ดี,ชั่ว”
อยู่แทนตัว..วิญญาณลอยหันเห
ร่างกายสูญมิอาจชมสมคะเน
จมทะเลโลกีย์ธารสีดำ
ผม,ขน,เล็บ,ฟัน,หนัง,เนื้อ,เอ็น,กระดูก
เป็นที่ปลูกสิเนหาอาลัยร่ำ
เมื่อวิญญาณซานไกลไปตามกรรม
ร่างก็คว่ำฟาดป่นอยู่บนดิน
ไม่มีเหลือเนื้อหนังให้หวังหวง
ทุกสิ่งร่วงล่วงลับดับไปสิ้น
เหลือดีชั่วกลั้วไว้ให้ยลยิน
สมวาทินปราชญ์กวีท่านชี้แจง...

       “ พฤษภกาษร           อีกกุญชรอันปลดปลง
 โททนต์เสน่งคง               สำคัญหมายในกายมี
 นรชาติวางวาย                มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
 สถิตทั่วแต่ชั่วดี                ประดับไว้ในโลกา
 ความดีก็ปรากฏ              กฤยศฤๅชา
 ความชั่วก็นินทา              ทุรยศยินขจร..”

“กฤษณาสอนน้อง”  ความถ่องแท้
ไม่ต้องแปลก็ประจักษ์ตามอักษร
มิใช่มุ่งหมายนำคำสุนทร
เหนี่ยวอาวรณ์อาลัยล่อใจคน
โคกระบือช้างทั้งหลายล้มตายแล้ว
เหลือวี่แววแทนร่างไม่ร้างผล
งา.เขา,หนังยังประโยชน์ไร้โทษปน
อยู่ให้ยลแทนซากที่จากไป
คนเมื่อตายใจหมุนตามบุญ,บาป
ชั่ว,ดีทาบติดโลกาหาสูญไม่
กฎความจริงแจ้งแท้อยู่แก่ใจ
หมั่นตรึกไว้เถิดชาวเราแก้เมามัว

       “สมเด็จป๋า”สิ้นพระชนม์เหมือนคนอื่น
แต่ภพพื้นภูมิดีไม่มีชั่ว
พระองค์วายตายแน่ก็แต่ตัว
ความดีทั่วท่วมใจชนไม่ตาย
“กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม”
นี่พระนาม“ป๋า”ระบือฤๅแล้งหาย
ในสำนึกโดยจริงจิตหญิงชาย
“ป๋า”ไม่วายเว้นพรากจากห้วงจินต์.....


เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 24, กันยายน, 2566, 10:56:20 PM
(https://i.ibb.co/J7pf4mR/319558405-1.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๕ -

กวีวัจนเทศนา / ๙

       ขออนุโมทนาบรรดาท่าน
ที่ร่วมการกุศลจนเสร็จสิ้น
วอนพระวิญญาณ “ป๋า” มายลยิน
รับระบิลบุญวิบากจากชาวกลอน
“สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์”
เป็นสมบัติ “ป๋า” พึงเข้าถึงก่อน
เสวยสวรรค์พิมานมาศปราศอาทร
มีอมรแห่ห้อมน้อมบูชา
บุญกุศลที่คนกลอนวอนถวาย
“ป๋า”โปรดถ่ายเทเติมลงเพิ่มค่า
ให้วิบากมากคุณยิ่งบุญญา
เป็น “มหาโพธิสัตว์” ในบัดดล

       อาวสานการเทศน์พิเศษนี้
ขอผู้ที่มารวมร่วมกุศล
น้อมดวงจิตรวมลงเป็นมงคล
ดำรงตนในวารกตัญญู
อุทิศส่วนพระกุศลพิมลค่า
ถวาย “ป๋า” ด้วยจิตไม่ผิดลู่
พระวิญญาณ “ป๋า” เห็นแล้วเอ็นดู
อวยพรผู้ “กตเวทิตามัย”
ขออานุภาพยิ่งใหญ่แห่งไตรรัตน์
มาบำบัดทุกข์โศกโรคน้อยใหญ่
ความอัปมงคลต้นเหตุภัย
จงเสื่อมสิ้นภินท์ไปในเร็วพลัน
พร้อมสร้างสรรค์บันดลมงคลให้
ประสบชัยโชติช่วงดวงชีพฉัน (พุ่งออกไป)
อยู่ในร่มเย็นระรื่นทั้งคืนวัน
บาปอาธรรม์ถอยพ้นหมดมลทิน
ขออำนาจความดีมีต่างต่าง
ซึ่งท่านสร้างเสริมงามตามถวิล
มี “ให้ทาน-ฟังธรรม”ชื่นฉ่ำจินต์
รักษาสินศีลงามตามกำลัง
“กตัญญูกตเวที”สองนี้ด้วย
ร่วมกันช่วยสร้างผลมงคลขลัง
ให้“ชาวกลอน”กระฉ่อนชื่อระบือดัง
ผลงานยั่งยืนยงติดวงวรรณ
เจริญชนม์มากพลังปลั่งวรรณะ
มากพันธะสนุกแสนสุขสันต์
ธนสารสมบัติมีมากนิรันดร์
ปัญญาชั้นเมธีที่เกรียงไกร
ประสงค์ใดสมหวังดังประสงค์
ความคิดตรงพูดตามทำดีได้
เว้นจากการส่อเสียดเบียดเบียนใคร
ทั้งกายใจชอบธรรมกระทำการ

       สมดังได้ชี้แจงแสดงแล้ว
พอเป็นแนวเน้นหนักตามหลักฐาน
เทศนาดำเนินมาเนิ่นนาน
ก็ถึงวารที่หวัง.....เอวังเอยฯ

   “พป.อภินันท์ นาคเกษม”
     ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗

<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54842#msg54842)                 ต่อไป  >>> (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg55042#msg55042)

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 25, กันยายน, 2566, 10:55:45 PM
(https://i.ibb.co/KN8v7Lp/306087182-3-1.jpg) (https://imgbb.com/)


<<< ก่อนหน้า (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54938#msg54938)                                                             .

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๖ -

          ข้าพเจ้าเป็นนักสวดก่อนที่จะเป็นนักเทศน์  กล่าวคือเริ่มสวดพระอภิธรรมสังคหะดังที่ให้การไปในตอนต้นแล้ว  หลังจากเป็นนักเทศน์แล้วก็ไม่ได้รับนิมนต์สวดอภิธรรมสังคหะอีกเลย  การเป็นนักเทศน์ของข้าพเจ้านั้นถือได้ว่าการเทศน์เป็นคำร้อยกรอง  “กวีวัจนเทศนา”  งานบำเพ็ญพระกุศลถวายองค์สมเด็จพระสังฆราช  เป็นจุดสูงสุดในชีวิตการเป็นพระภิกษุของข้าพเจ้า  หลังจากนั้นไม่ค่อยได้เทศน์มากนัก  แต่กลับไปเป็นนักสวดอีกครั้งหนึ่ง

          การเป็นนักสวดครานี้มิใช่สวดพระอภิธรรมสังคหะ  แต่เป็นการสวดพุทธาภิเศกในการปลุกเสกพระพุทธรูปและวัตถุมงคลซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น  ผู้ที่ชักนำให้เข้าสู่วงการสวดพุทธาภิเศกคือ  พระมหาอุดม  พระรุ่นน้องของข้าพเจ้านั่นเอง  มหาอุดมมีพระเป็นญาติกันอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ  ท่านเป็นพระ “พิธีธรรม” นอกจากสวดในงานศพพิธีหลวงแล้วยังสวดพุทธาภิเศกทั่วไปอีกด้วย  เมื่อมีพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลตามวัดต่าง ๆ ก็จะนิมนต์พระมหาอุดมและข้าพเจ้าเข้าร่วมชุดเป็นพระสวดพุทธาภิเษกด้วย  การหัดสวดพุทธาภิเศกก็ไม่ยากอะไร  เพราะฟังมาจนคุ้นหูแล้ว

          พิธีปลุกเสกพระบูชา  พระเครื่อง  วัตถุมงคลต่าง ๆ ในสมัยนั้นมีมากจนพระสวดรับสวดกันไม่หวาดไหว  นั่นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าถูกพระมหาอุดมขอร้องให้ข้าพเจ้าร่วมเป็นคณะพระนักสวดด้วย  ทำให้ได้รูจักพระเกจิอาจารย์หลากหลายรูป  บางองค์เป็นพระดีที่น่าเคารพกราบไหว้  บางองค์กราบไหว้แล้วรู้สึกตะขิดตะขวงใจ (ไม่อยากสาวไส้ให้กากิน)  อย่างคราวหนึ่ง  ไปสวดพุทธาภิเษกที่วัดวังกรด อ.บางมูลนาก (ขี้นาก) จ.พิจิตร  วัดนี้เป็นวัดเก่ามีอายุไม่น้อยกว่าร้อยปีแล้ว  ว่ากันว่า  ชาวตำบลวังกรดมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ  และเป็นเคารพนับถือกราบไหว้บูชาก็คือ  "พระพุทธชินวงษ์"  ซึ่งมีความเป็นมาตามคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า  เป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณ  ด้วยโลหะทองเหลือง  ปางมารวิชัย อายุ ๑๐๐ ปีเศษ   การที่พระพุทธชินวงษ์มาประดิษฐาน ณ วัดวังกรดนั้น   จากคำบอกเล่าว่า  สมัยนั้นได้มีการนำพระพุทธชินวงษ์และพระพุทธชินสีห์  จากบางขี้นาก (อำเภอบางมูลนาก)  ล่องเรือมาตามลำคลองบุษบง  จะนำพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ไปที่ไหนไม่รู้ได้  พอมาถึงบริเวณป่าช้าบ้านหนองเต่า  ซึ่งเป็นทางแยกสามแพร่ง ลำคลองห้วยกรวด  ลำคลองบุษบง  และลำครองวังกรด   เรือที่นำพระพุทธชินวงษ์มาไม่ยอมเคลื่อนที่ต่อไป  ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่เคลื่อนไหว  ต่างก็มีความประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินวงษ์ไปประดิษฐานที่วัดของตน    “แต่ด้วยยายง้วย  อินทร์แป้น (เป็นย่าของ ย่าวันดี  บุญต้อ) ได้จุดธูปอัญเชิญพระพุทธชินวงษ์และรับรองว่าชาวบ้านวังกรด  จะทำนุบำรุงวัดได้เป็นอย่างดี  หลังกล่าวเสร็จปรากฏว่า  เรือที่นำพระพุทธชินวงษ์มาก็เคลื่อนตัวไปตามลำคลองวังกรด  ไปจนถึงวัดวังกรด ในเดือน ๑๐”

          วัดวังกรดเดิมชื่อวัดวังกลม  มีประวัติความเป็นมาว่า   “บริเวณชุมชนวังกรดแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า  “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า”  ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น  “ชุมชนวังกลม”  ที่เรียกชื่อนี้เนื่องจากเป็นชื่อของห้วยน้ำที่มีลักษณะการหมุนเป็นวงกลมอยู่ใกล้บริเวณวัดวงกลม  ต่อมาเมื่อมีการสร้างสถานีรถไฟวังกลมขึ้น  ปรากฏว่าชื่อสถานีวังกลมนี้มีชื่อเหมือนกับสถานีรถไฟหนึ่งของภาคอีสาน  เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจึงเปลี่ยนชื่อสถานีนี้เป็นสถานีรถไฟวังกรด  และได้เปลี่ยนชื่อชุมชน-วัด  ตามชื่อสถานีรถไฟเป็นวังกรดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

          วันนั้นทางวัดจัดพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องและวัตถุมงคลเนื่องในโอกาสอะไรข้าพเจ้าไม่ทราบ  เพราะไปทำหน้าที่สวดร่วมคณะของพระมหาอุดมเท่านั้น  พระเกจิอาจารย์ผู้เป็นเจ้าพิธี (ขออนุญาตไม่เอ่ยนามท่าน) ทราบว่ามาจากจังหวัดกาญจนบุรี  มีนัยตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่าท่านเก่งในทางเสกให้น้ำมนต์เดือดได้  เรื่องการทำน้ำมนต์เดือดนี่ข้าพเจ้าไม่เชื่อถือนัก  เพราะเคยประสบสมัยเป็นสามเณรออกเดินทางประพฤติธุดงค์  เจอกับอาจารย์ใช้เล่ห์ทำน้ำมนต์เดือดดังที่ได้ให้การมาแล้วตอนต้นเรื่องนี้

          เขาจัดที่นั่งพระสวดพุทธาภิเษกใกล้กับพระเกจิผู้เป็นประธานทำพิธีนั้น  ข้าพเจ้าสวดไปสอดสายตาสังเกตกิริยาอาการของพระเกจิดังองค์นั้นไป  สักครู่หนึ่งเห็นน้ำในขันน้ำมนต์ขนาดใหญ่ที่ตั้งตรงหน้าพระอาจารย์กระเพื่อมเคลื่อนไหวเป็นคลื่นน้อย ๆ  แลลงไปทางก้นขันที่ตั้งติดกับปลายเท้าของหลวงพ่อ  เห็นท่านทำปลายเท้ากระดิก ๆ  จึงรู้ชัดว่าน้ำในขันนั้นกระเพื่อมเคลื่อนไหวก็เพราะท่านเอาปลายเท้าสะกิดขันนั้นนั่นเอง  ผู้คนที่อยู่ไกลไม่เห็นอาการกระดิกปลายเท้าของท่าน  เห็นแต่น้ำในขันกระเพื่อมก็พากันเชื่อว่า  “น้ำมนต์เดือดแล้ว”  ยกมือท่วมหัว สาธุ  กันสลอนไปเลย

          เสร็จพิธีแล้วชาว “มงคลตื่นข่าว” ทั้งหลาย  แย่งกันเช่าบูชาวัตถุมงคลที่ปลุกเสกนั้นด้วยความศรัทธาเลื่อมใสเป็นล้นพ้น  ทางวัดจัดพระเครื่องวัตถุมงคลใส่ถุงถวายพระสวดองค์ละ ๑ ถุง  ข้าพเจ้ารับใส่ย่ามมาโดยมารยาทของผู้ดี  โดยใจไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาเลย /

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕


หัวข้อ: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เริ่มหัวข้อโดย: บ้านกลอนน้อยฯ ที่ 27, กันยายน, 2566, 12:46:53 AM
(https://i.ibb.co/51CqvYm/2564-1855663754604690-2807704574072901663-n.jpg) (https://imgbb.com/)

เรื่องราวในแวดวง  “ดงขมิ้น”  ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๗๗ -

          ชีวิตใน “ดงขมิ้น” ของข้าพเจ้าเริ่มคลายความสุขสนุกสนานเมื่ออายุผ่านเลข ๓ แล้ว  งานที่ชอบคือการสอนนักธรรมสอนศีลธรรมนักเรียนในโรงเรียน  และการเทศน์ กลายเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย  ไม่สนุกเหมือนก่อน  พระภิกษุสามเณรนักเรียนทุกระดับชั้นไม่ท่องจำบทเรียน  พากันไปอ่านหนังสือเฉลยปัญหา  คือถาม-ตอบปัญหาที่มีพิมพ์จำหน่ายกันเกร่อไป  เวลาใกล้สอบธรรมสนามหลวงก็เก็งข้อสอบจดจำไว้ตอบในสนามสอบ  แล้วพวกเขาก็สอบได้เป็นนักธรรมชั้นตรี, โท, เอก  โดยไม่มีภูมิธรรมเป็นพื้นฐานเท่าที่ควร  นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเบื่อหน่ายในการสอนนักธรรม

          การเทศน์เดี่ยวเทศน์คู่ทั้งบุคลาธิฐานและธรรมาธิษฐานเริ่มมีคนฟังน้อยลง  และคนฟังนั้นก็ชอบฟังแต่คำเทศน์ที่ใช้มุกตลกโปกฮามากกว่าที่จะฟังเพื่อเอาความรู้ความเข้าใจในข้อธรรมที่นำมาแสดงนั้น  พระนักเทศน์ที่เป็นคู่เทศน์มักไม่ค่อยเข้าใจในข้อธรรมที่นำมาแสดง  พระคู่เทศน์ที่ถูกคอกันหลายองค์มรณภาพไปบ้าง  ลาสิกขาไปเสียบ้าง  พระมหาวิรัตน์  พระมหาบำรุง  พระมหาสมนึก (พระครูกิตติสุนทร) ลาสิกขาไปก่อนข้าพเจ้า  ส่วนพระคู่เทศน์ทางสุโขทัย-พิษณุโลกที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายองค์  เช่นพระดำรงวัดท่ามะปราง  พระสมุห์ประจวบวัดจันทร์ตะวันออก  พระมหาสุรศักดิ์  พระมหาเกษม วัดใหญ่พิษณุโลก  พระมหาธีรพงศ์ วัดไทยชุมพล  ก็ล้วนลาสิกขาไปแล้ว  ระยะหลัง ๆ นี้ต้องเทศน์กับพระนักเทศน์ใหม่ ๆ แบบที่ต้องฝึกหัดให้เขาเทศน์  จึงเกิดความเบื่อหน่ายในการเทศน์ทุกรูปแบบ  คิดว่า  “ไม่รู้จะเทศน์ไปเพื่ออะไร”

          เรื่องการกลอนก็ชักจะเซ็ง ๆ  หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แนวทางกลอนเปลี่ยนไป  เป็นกลอนที่เรียกกันว่า  “กวีเพื่อชีวิต”  รสกวีออกมาในแบบ  “พิโรธวาทัง”  เสียเป็นส่วนมาก   ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร บอกว่าเบื่อในการแต่งกลอนจึงเปลี่ยนไปแต่งร้อยแก้วแนวการเขียนเป็นนิยาย  เรื่องแรกที่พี่เขาแต่งเป็นเรื่องบู๊  ไปนั่งพล็อตเรื่องที่กุฏิข้าพเจ้า  เรื่องที่แต่งตั้งประเด็นสำคัญที่พระเครื่องอันเลื่องชื่อของพระนครศรีอยุธยา  คือพระกริ่งคลองตะเคียน  ที่ขลังทางอยู่ยงคงกระพัน  พี่เขาเขียนเค้าโครงเรื่องแล้วขอให้ช่วยต่อเติม  แล้วก็แต่งเป็นเรื่องราวในชื่อว่า  “เสาร์ ๕”  ตอนแรกส่งไปหนังสือบางกอกรายสัปดาห์ บก.ชอบใจ  จึงนำลงพิมพ์และขอให้เร่งส่งต้นฉบับให้ต่อไป  พี่เขาหายไปจากวัดใหม่ฯ นานเป็นเดือน  ไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ไหน  เห็นแต่  “เสาร์ ๕” งานเขียนนิยายบู๊ของเขาตีพิมพ์แผ่หลาอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอก  เขากลับมากุฏิข้าพเจ้าอีกทีก็ตอนที่นิยาย  “เสาร์๕”  ของเขาดังในวงการนักอ่านนิยายบู๊ล้างผลาญแล้ว  ถามว่าหายไปไหนมา  พี่เขาว่าไปเช่าโรงแรมซุ่มตัวแต่งเรื่อง “เสาร์ ๕” ให้หนังสือพิมพ์บางกอก  ไม่บอกใครเพราะต้องการความสงบเงียบ  จากนั้นประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ก็กลายเป็นนักแต่งนิยายบู๊ในนาม  “ดาเรศร์”  ที่สมเด็จป๋าตั้งให้  นาน ๆ จึงจะแต่งกลอนออกมาสักสำนวนหนึ่ง

          ข้าพเจ้าคงหมดบุญวาสนาที่จะอยู่ในบรรพชิตเพศต่อไป  เพราะเกิดความเบื่อหน่ายอย่างบอกไม่ถูก  เวลาเดินบิณฑบาตก็คิดว่า  “ทำไมเราต้องมาเที่ยวเดินขอเขากิน ?”  เวลาไปงานทำบุญพิธีต่าง ๆ ก็คิดว่า  “ทำไมเราต้องมารับจ้างร้องเพลงให้เขาฟัง ? ” เวลาขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็คิดว่า  “ทำไมเราต้องมากล่าวคำตลกให้เขาฟัง ?”  ทำอะไร ๆ แบบพระก็เห็นว่าไม่ดีไปหมด  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าต้องลาสิกขาแน่นอน

          ปีนั้น (๒๕๑๘)  พอดีกับที่หลวงพ่อไวย์พระอุปัชฌายาจารย์ของข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และเข้ามาพักอบรมอยู่ที่วัดสามพระยา ตรงข้ามกับวัดใหม่ฯ  ข้าพเจ้าจึงเข้าไปกราบท่านเพื่อแสดงความยินดี  และขอกราบลาออกจากบรรพชิตเพศด้วย  ท่านว่าเสียดายนะกำลังจะติดต่อให้ไปช่วยงานที่วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหารที่ท่านย้ายไปอยู่ที่นั่น  ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านว่า  กระผมหมดบุญที่จะอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์เสียแล้วครับ  ท่านก็อวยพรให้เจริญรุ่งเรืองในชีวิตของฆราวาส

          นับแต่ข้าพเจ้าบรรพชาเป็นสามเณรแล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อมาจนถึงปีที่ลาสิกขา  เป็นเวลาที่อยู่แวดวงดงขมิ้นได้ ๒๐ ปี  พระเพื่อน ๆ ที่ลาสิกขาออกสู่ฆราวาสวิสัยแต่ละคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน  เช่นสึกออกไปทำงานตามที่ต้องการ  เป็นครูบาอาจารย์  เป็นทหาร  ตำรวจ  เป็นข้าราชการพลเรือนต่าง ๆ  ส่วนข้าพเจ้าสึกโดยไม่มีเป้าหมายอย่างนั้น  แต่สึกเพราะเบื่อในความเป็นพระภิกษุ  โดยไม่รู้ว่าสึกแล้วจะทำมาหากินอย่างไร  จะกลับไปทำนาทำไร่ตามอาชีพเดิมก็คงไม่ไหวแล้ว  คิดอย่างเดียวว่า  “ไปตายเอาดาบหน้า”  ก็แล้วกัน

          ปิดฉากชีวิตในแวดวงดงขมิ้นของข้าพเจ้าลงเมื่อพรรษาที่ ๒๐  จากนั้นใช้ชีวิตล้มลุกคลุกคลานอยู่ในโลกียวิสัย  แหวกว่ายสายธารน้ำหมึก  เรื่อยมาจนถึงวันที่นั่งให้การอยู่ขณะนี้แล....

          อภินันท์ (เต็ม) นาคเกษม
          ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

                                 ............. – จบคำให้การแล้ว  ขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านครับ - .............

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕

• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14585.msg52866#msg52866)
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐ คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14833.msg53773#msg53773)
• อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๒๐๑ - ตอนสุดท้าย คลิก (https://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=14948.msg54544#msg54544)