บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนรู้คำประพันธ์ ประเภทกลอน => ข้อความที่เริ่มโดย: รินดาวดี ที่ 11, กรกฎาคม, 2555, 08:54:34 AM



หัวข้อ: เคล็ดลับการเขียนกลอนแปด โดย: คุณระนาดเอก
เริ่มหัวข้อโดย: รินดาวดี ที่ 11, กรกฎาคม, 2555, 08:54:34 AM

~"เคล็ดลับการเขียนกลอนแปด?"~



๐ กำหนดจิตสู่ธรรมนำประทีป
บานเป็นกลีบบัวรับกานท์อักษร
อัญเชิญจิตบรมคุณท่านสุนทร
พร่างคำกลอนดุจคล้ายสายธารา

๐ เป็นไอเย็นอ่อนอุ่นละมุนถ้อย
ใครยินคล้อยหลงใหลไอภาษา
ดั่งปี่แก้วพระอภัยฯร่ายมนตรา
เชิญท่านมาดื่มด่ำทิพย์คำกลอน..

๐ แต่งให้บ่อยน้องพี่ดีที่สุด
เพราะคือจุดสำคัญกว่าการสอน
ยิ่งจะคิดเขียนงานกานท์บวร
ถ้านิ่งนอนที่ไหนใครจะเป็น

๐ เขียนเยอะเยอะเขียนไว้มันไม่เสีย
ไม่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงแจ้งให้เห็น
เพียงเขียนกลอนรู้ไว้ใจเย็นเย็น
ลองเคี่ยวเข็ญความเก่งเบ่งบานมา

๐ เพียงแต่เราปล่อยอารมณ์จะสมจิต
มิยึดติดคำใดเอาไว้หนา
หากเช่นนั้นจะเวียนเศียรทันตา
เพราะรอท่าแก้คำแค่คำเดียว

๐ การเล่นคำมีมากอยู่หลากหลาย
แต่ความหมายต่างกันพลันเฉลียว
หากงงงันเปิดตำราอย่าช้าเชียว
อย่าได้เที่ยวใช้คำนอกตำรา

๐ สื่อกฎเกณฑ์ความหมายจะได้รู้
มิให้ใครหยามหลู่สู่ภาษา
สรรพนามครั้งใดใช้ทุกครา
ทั้งขึ้นหน้าลงท้ายต้องคล้ายกัน

๐ เพราะบางคนขึ้นฉันลงท้ายผม
ใส่ผสมเขียนมาช่างน่าขัน
ควรสังเกตให้ดีชี้ให้ครัน
เวลาสรรค์งานได้ไม่อายคน

๐ เวลาแต่งคิดเรื่องให้หลากหลาย
แต่งบรรยายเรื่องราวเคล้าเหตุผล
ควรสร้างงานเป็นเอกเฉกของตน
อย่าไปสนลอกใครนั้นไม่ดี

๐ หากได้ดูผลงานของท่านอื่น
มาปรับฟื้นงานตนจะถูกที่
ดูเป็นแนวพัฒนาอย่ารอรี
จะทวีฝีมือระบือไกล

๐ ถ้าหากย่ำรอยเท้าเก่ากับที่
เหมือนชีวีมิก้าวเข้าใจไหม
แต่งก็วนเรื่องก็วนทนอ่านไป
เดี๋ยวก็ได้ปิดฉากจากบทกลอน

๐ ด้วยจะเป็นกวีนี้ควรคิด
เพียงอยู่ติดเรื่องฝันนั้นไว้ก่อน
หากกวีขาดฝันพลันม้วยมรณ์
แต่งทุกตอนจะกร่อยด้อยค่าลง

๐ เหมือนครูกลอนสุนทรภู่ดูเป็นหลัก
คิดผูกยักษ์รักคนชนใหลหลง
แนวกวีมีวิญญาณงานบรรจง
เยี่ยมที่ตรงคิดได้แล้วร่ายกานท์

๐ แต่งไปเถอะมานะจะสนุก
น้องจะสุขในทิพย์หยิบความหวาน
หนึ่งในร้อยน้อยใครได้พบพาน
แต่ผู้จารงานกลอนพบก่อนใคร?"



ระนาดเอก

(http://upic.me/i/72/khonkaenlinkcom11558.gif) (http://upic.me/show/172212)


หัวข้อ: Re: เคล็ดลับการเขียนกลอนแปด โดย: คุณระนาดเอก
เริ่มหัวข้อโดย: รินดาวดี ที่ 08, ตุลาคม, 2555, 02:30:46 PM


..ผมอยากให้สมาชิกทุกท่าน..ที่มีความสนใจในการเขียนกลอนสุภาพ(กลอนแปด)..
..ได้เข้ามาตักตวงความรู้จาก ข้อมูลตรงนี้ครับ..
..ซึ่งข้อมูลทั้งหลายที่ผมนำมาเผยแพร่นี้..
..เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์..เหมาะสำหรับ..ทุกๆท่านที่มีความสนใจในการเขียนกลอนแปด..ซึ่งเป็นกลอนตลาดเขียนกันอย่างแพร่หลาย..
..แต่หลายๆท่านในที่นี้ บางท่านก็อาจหลงลืมกฎเกณฑ์ในการเขียน..เช่น เกล็ดเล็กๆน้อยๆในการเขียน..
..ประเภท.."สัมผัสซ้ำ" , "ชิงสัมผัส" หรือ "สัมผัสเลือน" ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานแรกของ การเขียนกลอนแปด ที่ทุกๆท่านควรจะทราบครับ..
..เนื้อหาดังกล่าวนี้..ก็เป็นข้อมูลพื้นฐาน ที่ถือว่าเป็นมาตราฐานของทางวงการกลอนไทย..
..และก็เป็นมาตราฐานหนึ่ง..ซึ่งทางสมาคมฯหรือทางชมรมต่างๆ ในวงการกลอน..
..ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินผลงานกลอนที่ได้ส่งเข้าประกวด..ตลอดจนนิตยสารบางเล่ม ที่พิจารณาผลงานของทุกๆท่านเพื่อลงตีพิมพ์ด้วยครับ..

..ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมาจาก..หนังสืออ้างอิง:
๑. "เรียงร้อยถ้อยคำ" โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ วาณิช จรุงกิจอนันต์
๒. "กลอนสัมผัสใจได้อย่างไร" โดย วาสนา บุญสม..ครับ!


กลอนสุภาพ

ผมสังเกตเห็น นักกลอนสมัครเล่น รุ่นใหม่ๆ หลายๆคน ที่เมื่อเริ่มต้น เขียนกลอนแปด มักจะลืมเลือน หรือไม่ทราบถึง กฏเกณฑ์ทางฉันทลักษณ์ และไม่สามารถแยกแยะ เสียงกับจังหวะ ของกลอนสุภาพ ที่ถูกต้องได้ จึงได้ทำการค้นคว้า และรวบรวม เป็นข้อเสนอแนะ สำหรับนักกลอนรุ่นใหม่ๆ ให้อ่าน และทำความเข้าใจ ถึงลีลาและชั้นเชิงใน การเขียนกลอนสุภาพ ให้ไพเราะ และสัมผัสใจคนอ่าน โดยจะพยายาม อ้างอิงจาก ท่านผู้รู้ในเชิงกลอน ให้มากที่สุด

ข้อบังคับในกลอนสุภาพ

๑ คณะ กลอนสุภาพแต่ละบท จะมี ๒ บาท แต่ละบาทจะมี ๒ วรรค แต่ละวรรค จะมี ๘ คำ (ตามปกติ ให้ใช้คำได้ ระหว่าง ๗ - ๙ คำ) ดังตัวอย่าง

กลอนสุภาพแปดคำประจำบ่อน                <-  วรรคสดับ
อ่านสามตอนทุกวรรคประจักษ์แถลง        <-  วรรครับ
ตอนต้นสามตอนสองสองแสดง                <-  วรรครอง
ตอนสามแจ้งสามคำครบจำนวน              <-  วรรคส่ง

     บาทที่ ๑ เรียกว่า บาทเอก มี ๒ วรรค คือ วรรคสดับ(วรรคสลับ) และวรรครับ
     บาทที่ ๒ เรียกว่า บาทโท  มี ๒ วรรค คือ วรรครอง และวรรคส่ง

๒ สัมผัส มี ๒ อย่างคือสัมผัสนอก และสัมผัสใน สัมผัสนอกนั้น เป็นข้อบังคับที่ต้องใช้ ดังรูป ส่วนสัมผัสใน ใช้เพื่อ ให้กลอนนั้น มีความไพเราะ มากขึ้น

การใช้ สัมผัสนอก เป็นเรื่องที่ทุกคน ทราบดี อยู่แล้ว เพียงแต่ ที่เคยเห็น นักกลอนมือใหม่ บางคน มักจะไม่ส่งสัมผัส ระหว่างบท คือส่งจาก คำสุดท้าย ในวรรคสุดท้าย ไปยังคำสุดท้ายในวรรคที่สอง ของบทต่อมา  และสัมผัสนอกนั้น จะใช้สัมผัสสระ ที่เป็นเสียงเดียวกัน ความผิดพลาด ที่มักจะพบเห็น คือใช้สัมผัสสระ เสียงสั้นกับเสียงยาว ทำให้กลอน บทนั้นเสียไปทันที เช่น ไม้ สัมผัสกับ วาย  , สันต์ สัมผัสกับ วาร  เป็นต้น..

ส่วนการใช้สัมผัสใน มีได้ทั้งสัมผัส สระและอักษร การใช้สัมผัสใน อันไพเราะ ตามแบบอย่าง ของสุนทรภู่ มักจะใช้ ดังตัวอย่าง

๐ เหมือนหนุ่มหนุ่มลุ่มหลงพะวงสวาท
เหลือร้ายกาจกอดจูบรักรูปเขา
ครั้นวอดวายตายไปเหม็นไม่เบา
เป็นหนอนหนองพองเน่าเสียเปล่าดาย..
               "สุนทรภู่" สิงหไตรภพ

สังเกตได้ว่า สุนทรภู่ มักจะใช้ สัมผัสใน ที่คำที่ ๓-๔ และคำที่ ๕-๗ และมักจะใช้ รูปแบบเช่นนี้ เป็นส่วนมาก ในบทประพันธ์  
บางตำแหน่งที่ไม่สามารถใช้สัมผัสสระได้ ก็อาจจะใช้สัมผัสอักษรแทน

๓ เสียง คำสุดท้าย ในแต่ละวรรค ของกลอน มีข้อกำหนด ในเรื่องเสียง ของวรรณยุกต์  เป็นตัวกำหนดด้วย การกำหนดเรื่องเสียงนี้
ถือว่าเป็นข้อบังคับ ทางฉันทลักษณ์ อย่างหนึ่ง ของกลอนแปด หรือกลอนสุภาพ อันมีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้..

๑. คำสุดท้ายวรรคที่ ๑ (วรรคสดับ) ใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่ค่อยนิยมใช้เสียงสามัญ
๒. คำสุดท้ายวรรคที่ ๒ (วรรครับ) ต้องใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา นิยมใช้เสียงจัตวา ห้ามใช้เสียงสามัญและตรี
(บางท่านก็อนุโลมให้ใช้เสียงตรีได้แต่ไม่นิยม)
๓. คำสุดท้ายวรรคที่ ๓ (วรรครอง) ต้องใช้เสียงสามัญ หรือเสียงตรี  ที่นิยมที่สุดคือเสียงสามัญ ห้ามใช้เสียง เอก โท และจัตวา
๔. คำสุดท้ายวรรคที่ ๔ (วรรคส่ง) ต้องใช้เสียงสามัญหรือตรี ที่นิยมมากที่สุดคือเสียงสามัญ ห้ามใช้เสียงเอก โท และจัตวา..

สิ่งที่พึงระวัง ในการใช้สัมผัส มากเกินไป จนลืมความหมาย สำคัญหลัก อันเป็นเรื่องราว ของกลอนนั้นๆ
ก็จะทำให้ กลอน ดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่มีความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ
ท่านอาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าหลงใหลถือเคร่งกับสัมผัสคำมากเกินไป ก็ทำให้เกิด คำด้าน ขึ้นมาได้"
"คำด้าน" คือสำนวนที่มีแต่ "สัมผัสคำ" แต่ไม่ "สัมผัสใจ" นั่นเอง..

๔ จังหวะ ในกลอนสุภาพมักจะแบ่งกลุ่มคำออกเป็น ๓ ช่วงจังหวะ คือ ooo oo ooo เป็นกลุ่มแบบ ๓-๒-๓  
บางท่าน อาจจะแบ่ง เป็นอย่างอื่น ก็ได้เช่น oo oo ooo (๒-๒-๓) , oo ooo ooo (๒-๓-๓) , ooo ooo oo (๓-๓-๒)  
หรือใช้หลายๆแบบที่กล่าวมานี้ผสมกัน แต่รูปแบบ ๓-๒-๓ เป็นมาตรฐานที่นิยมกันมากที่สุด ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ
โดยเฉพาะในกลอนของ สุนทรภู่ ดังตัวอย่าง

๐ เมื่อเคราะห์ร้าย-กายเรา-ก็เท่านี้
ไม่มีที่-พสุธา-จะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บ-เจ็บแสบ-คับแคบใจ
เหมือนนกไร้-รังเร่-อยู่เอกา..

การยึดจังหวะ เช่นนี้รวมกับ การใช้สัมผัสใน แบบท่านสุนทรภู่ เป็นหลักการ มาตรฐาน ที่มักจะ ทำให้กลอน ไพเราะ สละสลวย ได้โดยง่าย
แต่ก็พึงระวัง การแบ่งจังหวะ แบบที่ฝืน จนต้องฉีกคำ เช่น เที่ยวสวนส-นุกอ-เนกประสงค์ ซึ่งทำให้กลอนนั้น อ่านไม่ได้จังหวะ ดังที่ต้องการ
และอาจทำให้ กลอนเสีย ทั้งบทได้

๕. ข้อควรหลีกเลี่ยงในการเขียนกลอน

ข้อควรหลีกเลี่ยงนี้ เป็นเพียง ข้อแนะนำ (ส่วนตัว) มิใช่กฏเกณฑ์ ตายตัว ที่ต้องปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด
เพียงแต่ ถ้าสามารถ ปฏิบัติตาม ข้อควรระวัง เหล่านี้แล้ว จะทำให้กลอน ดูสละสลวย และถูกต้อง ตามความนิยม ของกวีสมัยก่อนๆ
และมิใช่วิธีการ ในการประเมิณค่า ของบทประพันธ์ แต่อย่างใด ถ้าใครสามารถ ยึดถือไว้ เป็นหลัก ในการแต่งกลอน ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

    ๕.๑ ไม่ควรใช้คำไม่สุภาพ, คำหยาบต่างๆ  มาใช้ เช่น เสือก, ตูด, ถุย ฯลฯ, คำแสลงเช่น มหา'ลัย, แม่ง ฯลฯ  เป็นต้น

    ๕.๒ ไม่นำคำเสียงสั้น กับเสียงยาว มาสัมผัสนอกกัน  อย่างที่เคย กล่าวมาแล้ว ในเรื่องสัมผัส การกระทำ เช่นนี้
ถือว่าเป็นความผิดพลาด ทางฉันทลักษณ์โดยตรง โดยให้ดูที่รูปสระนั้นๆ เป็นหลักเช่น รัก สัมผัสกับ มาก, ใจ สัมผัสกับ วาย,
คน สัมผัสกับ โดน  , เก้า สัมผัสกับ ท้าว, เก็น สัมผัสกับ เขน  ฯลฯ เป็นต้น ดังตัวอย่าง..

๐ ศึกสิงห์เหนือเสือใต้ในวันนี้
ขอสตรีร่วมบทบาทชาติสุขศานต์
ตาร้อยคู่ตาคู่เดียวเกี่ยวร้อยกัน
สงครามนั้นจักสงบเลิกรบรา..

    ๕.๓ ไม่ชิงสัมผัสก่อน  ในการใช้คำสัมผัสนอกกันนั้น พึงระวังมิให้มีคำที่เป็นเสียงสระเดียวกัน กับคำที่จะใช้สัมผัสปรากฏก่อน คำสัมผัส ในวรรคเดียวกัน
เช่น..

๐ จะไหวตัวกลัวเชยเลยลองนิ่ง
เขากลับติงว่านั่น มันเชยใหญ่
อะไรอะไรก็ตะบันไป
ทำฉันใดหนอพ้นเป็นคนเชย..

การกระทำเช่นนี้ จะทำให้กลอนด้อย ความไพเราะ ในเชิง คำสัมผัส เพราะมีการ ชิงสัมผัส กันก่อน

    ๕.๔ ไม่สัมผัสเลือน  มักปรากฏอยู่ในวรรค รับ (ที่ ๒) และวรรคส่ง (ที่ ๔) คือมีการใช้คำ สัมผัส ภายในวรรค เดียวกัน ในคำที่ ๓, ๕ และ ๘ เช่น

๐ ถึงฤกษ์เรียงเคียงหมอนเมื่อตอนดึก
กลับรู้สึกหนาวสั่นขันไหมเล่า?
ใครไม่เคยเข้าหออย่าล้อเรา
ถึงตัวเข้าบ้างคงหนาวเหมือนกล่าวเอย..

จะเห็นได้ว่า คำว่า หนาว กับ กล่าว นั้น เป็นสัมผัสใน ที่ถูกต้องแล้ว แต่ดันไปสัมผัส กับคำว่า เข้า ก่อนหน้านี้อีก จึงติดเงื่อนไข การใช้สัมผัสเลือนไป..

    ๕.๕ ไม่สัมผัสซ้ำ มี ๒ ประเภทคือ

    ก. สัมผัสซ้ำแบบ "พ้องรูปและเสียง" คือเป็นการใช้คำสัมผัส เป็นคำเดียวกัน ซ้ำภายในบทกลอนบทดียวกัน  หรือบทติดๆกัน เช่น..

๐ ช่างกำเริบเสิบสานทหารชั่ว
อย่างเป็นผัวนางนี่ร้อยตรีสาว
วันัยอ่อนหย่อนดื้อแถมมือกาว
พบนายสาวไม่คำนับเข้าจับตัว..

    ข. สัมผัสซ้ำแบบ "พ้องเสียง" คือเป็นการใช้คำสัมผัส เป็นคำพ้องเสียง ซ้ำภายในบทกลอนบทดียวกัน  หรือบทติดๆกัน เช่น..

๐ ชีวิตเลือกเกิดมิได้ใครก็รู้
ต้องดิ้นรนต่อสู้อุปสรรค
ทำให้ดีที่สุดอย่าหยุดพัก
ทางสู่ศักดิ์ศรีแม้ไกลเหมือนใกล้กัน..

    ๕.๖ ไม่ควรใช้คำศัพท์โบราณ มาใช้มาก เกินความจำเป็น   เนื่องจากคำเหล่านี้ ต้องแปลความหมาย ซึ่งคนส่วนมาก ไม่ทราบความหมาย เหล่านั้น ทำให้กลอน อ่านแล้ว ทำความเข้าใจ ได้ยากขึ้น เช่น..

๐ สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์
ผ่องประภัศร์พลอยหาวพราวเวหา
พริ้งไพเราะเสนาะกรรณวัณณนา
สมสมญาแห่งสวรรค์ชั้นกวี
๐ อิ่มอารมณ์ชมสถานวิมานมาศ
อันโอภาสแผ่ผายพรายรังสี
รัศมีมีเสียงเพียงดนตรี
ประทีปทีฆะรัสสะจังหวะโยนฯ..

    ๕.๗ ไม่นำคำเฉพาะที่เป็นคำคู่ มาสลับหน้าหลังกัน  เพราะจะทำให้ ความหมายเปลี่ยนไป หรือ สูญสิ้นความหมาย ของคำนั้นๆไปได้  เช่น..

ขุกเข็ญ เขียนเป็น เข็ญขุก  
งอกงาม เขียนเป็น งามงอก  
ลิดรอน เขียนเป็น รอนริด
หุนหัน เขียนเป็น หันหุน  
ว้าเหว่ เขียนเป็น เหว่ว้า  
ย่อยยับ เขียนเป็น ยับย่อย
ทักทาย เขียนเป็น ทายทัก  
บดบัง เขียนเป็น บังบด  
งมงาย เขียนเป็น งายงม  
ร่ำรวย เขียนเป็น รวยร่ำ
ชั่วช้า เขียนเป็น ช้าชั่ว  

การใช้คำสลับกันเช่นนี้ อาจจะทำให้กลอน ที่ไพเราะ ด้อยคุณค่า ลงได้ เช่น..

๐ แค้นมีหนอนบ่อนไส้ใจไม่ซื่อ
เป็นเครื่องมือเบียนเบียดช่วยเหยียดหยาม
มันขายชาติช้าชั่วมิกลัวความ
หายนะรุกรามเข้าทำลาย..

    ๕.๘ ไม่ควรให้คำสัมผัสนอก  ซ้ำภายในวรรคเดียวกัน  เช่น..

พวกเราเหล่าทหารชาญสนาม
ไม่ครั่นคร้ามใครว่าหรือมาหยาม
จะยืนหยัดซัดสู้ให้รู้ความ
ดังนิยามเชิงเช่นผู้เป็นชาย..

    ๕.๙ ไม่ลอกเลียนหรือละเมิดลิขสิทธิ์ บทประพันธ์ของผู้อื่น  นอกจาก จะผิดกฏหมาย พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์แล้ว ยังเป็นการผิด จรรยาบรรณ อีกด้วย จึงควรระวัง ไม่ลอกบทประพันธ์ ของผู้อื่นอย่างจงใจ เช่น..

กลอนที่ชื่อว่า "ขอ" ของ เอก หทัย เขียนไว้ว่า..

๐ ขอเธอมีรักใหม่อย่าให้รู้
และถ้าอยู่กับใครอย่าให้เห็น
ให้ฉันเถอะ  ขอร้องสองประเด็น
แล้วจะเป็นผู้แพ้อย่างแท้จริง..

มีผู้นำไปแปลงใหม่ แล้วให้ชื่อว่า "วันนี้ที่รอคอย" ดังนี้..

๐ ขอเธอมีผัวใหม่บอกให้รู้
และเลือกคู่หล่อกว่าพี่อย่างที่เห็น
พินัยกรรมใบหย่าอย่าลืมเซ็น
แล้วจะเป็นโสดตอนแก่อย่างแท้จริง..



*** หนังสืออ้างอิง:
๑. "เรียงร้อยถ้อยคำ" โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ วาณิช จรุงกิจอนันต์
๒. "กลอนสัมผัสใจได้อย่างไร" โดย วาสนา บุญสม


--------------------------------------------------------------------------------

..จากใจระนาดเอกครับ..
 :005:


หัวข้อ: Re: เคล็ดลับการเขียนกลอนแปด โดย: คุณระนาดเอก
เริ่มหัวข้อโดย: รินดาวดี ที่ 08, ตุลาคม, 2555, 02:34:48 PM

(http://www.klonthaiclub.com/pic/bar_008.gif)

๐ วันที่พ่อชมกลอนแล้วป้อนแหย่
ถ้อยหวานแต่คารมไม่คมสัน
ดั่งลิเกออดอ้อนกลอนรำพัน
คำรักนั้นไม่ขลังช่างเลื่อนลอย

๐ กลอนแกว่งไปแกว่งมาหน้าตาสวย
ข้างในป่วยบางคราเนื้อหาด้อย
เดินเรื่องโยก..วกวน!คนอ่านพลอย
งงในถ้อยขบขันฝันชอบกล

๐ เขียนเดินหน้านะลูก?..ผูกเรื่องไว้
สร้างโยงใยพร้อมเกริ่นดำเนินผล
หยิบทุกคำมาเรียงเยี่ยงใจตน
คิดแทนคนนั่งอ่านงานของเรา

๐ เหมือนชมนกชมไม้ไปเรื่อยเรื่อย
ค่อยค่อยเลื้อยมัดใจใครใครเขา
เพียรสอดแทรกแจกคำพร่ำบางเบา
กลอนจะเข้าสู่จิตผู้พิศงาน

๐ อย่าเพ้อเจ้อนอกทางที่วางไว้
จะตัดทอนกลอนได้ในความหวาน
บรรยายเรื่องอย่าขัดวัตรแห่งกานท์
เกี่ยวสมานด้วยศิลป์จินตนา

๐ พรรณนาเรื่องใดจับให้มั่น
ยึดแล้วกลั่นตามแนวแพรวคุณค่า
รักก็รักให้หวานซ่านอุรา
เศร้าก็เศร้าจนคว้าผ้าเช็ดนัยน์

๐ แล้วอย่าโยงล้นหลากจนมากเรื่อง
ปล่อยคำเปลืองนุงนังพลั้งเหลวไหล
ถ้อยประดิษฐ์จะหม่นผลเปลี่ยนไป
หากเราไม่คุมเรื่องก็เปลืองแรง..

ระนาดเอก

 :004: