บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม => ข้อความที่เริ่มโดย: แสงประภัสสร ที่ 28, มีนาคม, 2567, 09:44:14 AM



หัวข้อ: มุตโตทัย : ๒๕.การทำจิตให้ผ่องใส ~ ภุชงควิเชียรฉันท์ ๑๒
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 28, มีนาคม, 2567, 09:44:14 AM

(https://i.ibb.co/ZfBwytG/Screenshot-20240224-114400-Chrome.jpg) (https://ibb.co/mR9YQ1b)

มุตโตทัย: ๒๕.การทำจิตให้ผ่องใส

ภุชงควิเชียรฉันท์ ๑๒

 ๑.กระทำจิตสว่างไว้
นยใฝ่พระพุทธ์ฯสอน
กิเลสหมดและทุกข์รอน
พหุพุทธะกล่าวขาน

 ๒.บรมศาสดาเน้น
ก็ติเฟ้น"หทัย"กานต์
"วจี" "กาย"สติสาร
ปฎิบัติเจาะ"กายา"

 ๓.ฤทัยช่วยวิจารณ์กาย
พิทะปราย ณ กายหนา
ก็"กายาฯ"จะค้นคว้า
วตภาวนาแล

 ๔."สติสัมฯ"ระลึกพร้อม
มนน้อมสมาธิ์แปล้
หทัยรวม"ฐิตีฯ" แน่
"ขณิกาสมาธิ์ฯ" นำ

 ๕.ณ "อัปฯ"แน่วเผดิมฌาน
ธุวะมาน"ฐิติธรรม"
ลุ"เอกัคคตา" ด่ำ
ธิติจิตจิรวมหนึ่ง

 ๖.ตริ"เอกัคฯ"ประพฤติจิต
พิระนิตย์สงบพึ่ง
เจาะคำสอนพระพุทธ์ฯถึง
อธิจิตลุฌานเลิศ

 ๗.พิจารณ์กายกระทำแจ้ง
พระฯแสดงสิบรรเจิด
มุ"กายา"ฤ "มูลฯ"เถิด
จะริเฝ้าเซาะ"หนัง"วาย

 ๘.กะ"ผม,ขน"และ"เล็บ,ฟัน"
จรผันและเปลี่ยนกลาย
ผิ"ธรรม์จักรฯ" "ชรา" หน่าย
มร,เกิดแหละทุกข์ตรม

 ๙.ผิเกิดแล้วมโนกล่อม
"ปนะฯ"ยอมประพฤติชม
พระธรรมนั้น"อกา"สม
จะผลินซิทุกครา

 ๑๐.ณ "อาโล"กระจ่างเจตน์
ปฏิเวธลุญาณพา
ปะ"วิชชา" และ"ปัญญา
รุจิจ้ามิปิดบัง ฯ|ะ
 
แสงประภัสสร

ที่มา: มุตตโตทัย พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (พระญาณวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร เรียบเรียง)

พระพุทธฯ=พระพุทธเจ้า
พุทธะ=พระพุทธเจ้า
ติ=สาม หมายถึง กาย วาจา ใจ
สติสัมฯ=สติสัมโพชฌงค์ คือความระลึกได้,สำนึกพร้อมอยู่
ฐิติ=ฐีติ จิตดั้งเดิมที่ไม่มีกิเลส
ขนิกสมาธิ์ฯ=ขณิกสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตชั่วขณะ,สมาธิชั้นต้น
อัปปนาฯ=อัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่ถึงความแนบแน่น พ้นจาก รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
เอกัคคคตา= ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว,มีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว
กายานุปัสฯ=กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการใช้สติกำหนดกาย ให้เห็นกายในกาย คือเห็นตามความเป็นจริงของกาย ว่าเป็นเพียงการรวมตัวกันของธาตุทั้ง ๔(มหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ) เมื่อจับธาตุต่างๆแยกออกจากกัน สิ่งที่เรียกว่ากายจะหายไป
มูลฯ=มูลกรรมฐาน คือกรรมฐานเบื้องต้นที่พระอุปัชฌาย์สอนภิกษุบวชใหม่ โดยพิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่มีความเปลี่ยนแปลงมองเห็นสังขารไม่เที่ยง ไม่ควรยึดติด มีสติรู้ทันจนพัฒนาสู่สมถะ และ วิปัสสนา
ธรรมจักรฯ=ธัมมจักรกัปวัตนสูตร คือปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์
ปนะ=โอปนยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้าไว้ในใจ เพิ่อยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ
อกาฯ=อกาลิโก คือพระธรรมคำสอนจะให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติไม่จำกัดกาลเวลา
อาโล=อาโลโก คือญาณ ปัญญา วิชชา และแสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
ปฏิเวธ=ลุล่วงผลการปฏิบัติ
วิชชา=ความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔

(ขอบคุณเจ้าของภาพจาก อินเทอร์เน๊ต)


หัวข้อ: Re: มุตโตทัย : ๒๕.การทำจิตให้ผ่องใส ~ ภุชงควิเชียรฉันท์ ๑๒
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 30, มีนาคม, 2567, 03:14:22 PM

มุตโตทัย: ๒๖.วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก

อัศนีฉันท์ ๑๔

 ๑.พหุเรียนวินัยสิหลาย
ก็อุบายกระจายอุฬาร
ตะมิเชี่ยวกะจิตประสาน
จิตะไหวมิรวมสนิท

 ๒.เพราะฉะนั้นวิชาริซ่อน
ก็ริก่อนริฝึกกะจิต
มห"สติ,ปัญญะ"คิด
และกำหนดริรู้และทัน

 ๓.มห"สมฯ"กะ"บัญฯ"นิยม
จิตะบ่มก็รู้ประชัน
ผิวะเป็นอะไรจะสรรค์
ก็ ณ โลกหทัยกระจ่าง

 ๔.ปฏิบัติสิมากจะใฝ่
"สมุทัย"และทุกข์มิพราง
ผิวะรู้ละเอียดสว่าง
จิตะรวมและนิ่งประสงค์

 ๕.นยจิตมุปัญญะบ่ม
มห"สมฯ"สติผจง
ตริระลึกกะ"ทุกข์"พะวง
"สมุทัย"เจริญระดาษ

 ๖.จิฉลาดและรวมเหมาะจิต
ก็ประชิดสิมรรคพิลาส
จะประจักษ์กะใจมิคลาด
เพราะสมาธิ์กะศีลและปัญฯ

 ๗.เพราะสถิตย์ ณ กายกะจิต
มุติคิด"อกาฯ"ลุพลัน
ผิวิจารณ์กะกายมิหวั่น
เจาะอสุภสิเปื่อยและเน่า

 ๘.ปฏิบัติสิตนจะรู้
สวชูก็"ปัจฯ"มิเพลา
ผิประดุจเพาะข้าวเสลา
จะกระทำ ณ นาสลิล

 ๙.ปฏิเวธประดุจซิผล
พหุดลสมาธิ์ประทิน
ทวิปัญญะศีลมิสิ้น
จะดำรง ณ กายฤทัย ฯ|ะ

แสงประภัสสร

ที่มา: มุตตโตทัย พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (พระญาณวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร เรียบเรียง)

อุบาย=วิธีการแยบคาย,ชั้นเชิง
มหาสติ,มหาปัญญา=หัดสติ และปัญญา ให้เป็น มหาสติ,มหาปัญญา กำหนดรู้เท่าทัน มหาสมมติ,มหานิยม ที่ตั้งไว้เป็นอันนั้นอันนี้ เป็นวันเดือนปี อากาศ ดาว และสาระพัดทั้งปวงที่จิตออกไปบัญญัติไว้ เมื่อรู้ทันแล้วว่าอะไรคือทุกข์  และเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)แล้ว จิตจะรวมเป็นหนึ่งได้
สมฯ=สมมต สิ่งที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คำนึงถึงสภาพแท้จริง
บัญฯ=บัญญัติ คือกำหนดขึ้นมาเอง
ทุกข์=ความยากลำบาก,ไม่สบายกายและใจ,สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
สมุทัย=คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ได้แก่ตัณหา ๓ อย่าง ๑)กามตัณหา ความอยากได้ในกาม,อยากได้ในกามารมณ์ ๒)ภวตัณหา ความอยากในภพ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ ๓)วิภวตัณหา ความไม่ยากเป็นโน่นเป็นนี่,ไม่อยากในภพ
มรรค=มรรค คือทางเดินไปสู่การดับทุกข์มี ๘ ประการ
อกาฯ=อกาลิโก คือพระธรรมคำสอนจะให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติไม่จำกัดกาลเวลา
อสุภ=ซากศพ
ปัจฯ=ปัจจัจตัง คือพระธรรมอันผู้บรรลุ จะพึงรู้กับใจตนเอง
ปฏิเวธ=ลุผลการปฏิบัติ,เข้าใจตลอด,ทะลุปรุโปร่ง


หัวข้อ: Re: มุตโตทัย : ๒๕.การทำจิตให้ผ่องใส ~ ภุชงควิเชียรฉันท์ ๑๒
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 31, มีนาคม, 2567, 01:24:55 PM

มุตโตทัย: ๒๗.ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ

อาขยานิกาฉันท์ ๒๒

 ๑.ผู้คนเจริญพรต
วตหมดละปัญหา
หทัยและกายมา
นมะรับประพฤติตาม

 ๒."โอปาฯ"ซิข้อวัตร
ธุวชัดริลี้กาม
ตริกายและใจขาม
ก็"อกาฯ"ลุผลพาน

 ๓."อาโลฯ"สว่างจ้า
รุจิหล้าตลอดกาล
ลุมรรคเหมาะ "ปัจฯ"ขาน
"อริยา"เฉพาะตน

 ๔.พุทธ์องค์กะ"อร์หันต์ "
เพราะกระทำฉะนี้ล้น
มิเลือกซิแห่งหน
ขณะไหนอุบัติมี

 ๕.ผู้เพียรจะได้ทราบ
ตนุบาป ฤ ชั่วดี
ก็ตนจะรู้รี่
ระดะมากสิทั้งผอง

 ๖.ตัวอย่างนิกรหนุ่ม
ตะละกลุ้มกสิณลอง
เกาะอยู่ ณ "รูปฯ"ครอง
และ"อรูปฯ"มิก่อเถิน

 ๗.พุทธ์องค์แนะใจ,กาย
วุฒิกรายสิปัญฯเดิน
เลาะ"กามภพ"เผิน
และ"อรูปฯ"ณ เบื้องบน

 ๘.แล้วถอยอดีตล่าง
ขณะกลางก็"ปัจฯ"ยล
ปะหน้า "อนาฯ"ผล
เจาะริพิศดูกาย

 ๙.เบื้องบนตะเท้าโผล่
และอโธตะผมปลาย
ริขวางก็กลางผาย
เจาะพิจารณ์สิตนตัว

 ๑๐."ปัจจัตฯ"จะรอบรู้
ดนุอยู่กระจ่างทั่ว     
ลิแคลงก็หมดมัว
มิเสาะหา ณ แห่งไหน ฯ|ะ

แสงประภัสสร

ที่มา: มุตตโตทัย พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (พระญาณวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร เรียบเรียง)

พรต=ผู้ปฏิบัติธรรม
โอปาฯ=โอปนยิโก คือสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาไว้ในจิตใจ เพื่อยึดถือเป็นหลักในการดำรงชีวิต
อกาฯ=อกาลิโก คือพระธรรมคำสั่งสอนให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติไม่เลือกกาลเวลา
อาโลฯ=อาโลโก หมายถึง ญาณ,ปัญญา, วิชชา และแสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
ปัจฯ=ปัจจัตตัง คือพระธรรมอันผู้บรรลุจะพึงรู้กับใจตนเอง
อริยา=พระอริยะ คือ ผู้บรรลุธรรมสูงสุดในพุทธศาสนา มี ๔ เริ่มตั้งแต่ขั้นต้น พระโสดาบันขึ้นไป จนถึงสูงสุดคือพระอรหันต์
อร์หันต์=พระอรหันต์
นิกร=กลุ่มคน ในที่นี้หมายถึง มานพ ๑๖ คน ที่เป็นศิษย์ของ พาวรีพราหมณ์
กสิณ=การเจริญ สมถะกรรมฐาน
รูปฯ=รูปภพ คือภพของผู้ที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ จะได้รูปฌาน ๔
อรูปฯ=อรูปภพ เป็นที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีรูป มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ สำเร็จอรูปฌาน ๔
กามภพ= เป็นที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้อง, เสพกามอยู่ รวม ๑๑ กามภูมิได้แก่ อบายภูมิ ๔(นรกภูมิ,ติรัจฉานภูมิ,เปรตวิสัยภูมิ,อสุรกายภูมิ);มนุษยโลก ๑; และสวรรค์ ๖ ชั้น(จาตุมหาราชิกา,ดาวดึงส์,ยามา,ดุสิต,นิมมานรดี,ปรนิมมิตวสวัตตี)
ปัจฯ=ปัจจุบัน
อนาฯ=อนาคต
อโธ=เบื้องต่ำ
ปัจจัตฯ=ปัจจัตตัง พระธรรมอันผู้บรรลุจะรู้ได้เฉพาะตน


หัวข้อ: Re: มุตโตทัย : ๒๕.การทำจิตให้ผ่องใส ~ ภุชงควิเชียรฉันท์ ๑๒
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 04, เมษายน, 2567, 10:01:00 AM

มุตโตทัย: ๒๘.ได้ฟังธรรมทุกเมื่อ

สุทธวิราชิตาฉันท์ ๑๐

 ๑.ข้อวัตรผู้ปฏิบัติ
จะชัดอุบาย
ฟังธรรมเทศน์สุตะฉาย
กำหนดหทัย

 ๒.ทุกวันคืนริตระหนัก
ประจักษ์กะใจ
"ตา,หู,กายะ"ก็ใฝ่
"จมูก"และ"ลิ้น"

 ๓.รูปธรรมล้วนรติสด
กะ"รส"และ "กลิ่น"
"สัมผัส,เสียง"มธุยิน
จะลิ้มจะดม

 ๔.จิตยังรับมติตรึก
ฤ คึกระทม
ความเสื่อมกายะก็หล่ม
แสดงมิเที่ยง

 ๕.ใบไม้เหลืองระดะหล่น
มิพ้นจะเลี่ยง
ความไม่เที่ยงตะจะเหวี่ยง
เพราะธรรมชาติ

 ๖.หมู่ชนผู้พิริจิต
พิสิษฐ์ฉลาด
ใช้ปัญญาสติมาด
อุบายฉะนี้

 ๗.ชื่อว่าได้สุตะหนา
วิชาทวี
ทั้งคืนวันพลิชี้
เจริญพระธรรม |ะฯ
 
แสงประภัสสร

ที่มา: มุตตโตทัย พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (พระญาณวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร เรียบเรียง)

อุบาย=วิธีการอันแยบคาย
มธุ=น้ำหวาน,น้ำผึ้ง


หัวข้อ: Re: มุตโตทัย : ๒๕.การทำจิตให้ผ่องใส ~ ภุชงควิเชียรฉันท์ ๑๒
เริ่มหัวข้อโดย: แสงประภัสสร ที่ 06, เมษายน, 2567, 02:28:36 PM
มุตโตทัย: ๒๙. ปริญเญยยธรรม

อุปฏฐิตาฉันท์ ๑๑

 ๑.ตรึกธรรม"บริกรรม"
จะกระทำฤทัยจด      
แน่ใจริจรด
จิตะนิ่งภวังค์เกิด  
                              
 ๒.เข้าสู่"ฐิติธรรม"
ธิตินำสะพรั่งเทิด
ถึงขั้น"อุปะฯ"เชิด
ก็ละออกสมาธิ์ใส
                                  
 ๓.ปรากฏ"อสุภาฯ"
ระดะกล้าและเกลื่อนใกล้
เรียกชื่อ"อุคะฯ"ไว
ริวิเคราะห์ซิซากพอ
                          
 ๔.ปล่อยวางจิตะยั้ง
ณ ภวังค์และนิ่งรอ
ถึงขั้น"ฐิติฯ"ก่อ
จะดำรงอุบัตินาน
                                      
 ๕."เอกัคคะฯ" สงบ
ธุวครบฤทัยคราญ          
เรียก"อัปฯ"ชวสาร
หทยาดำรงทรง
                                          
 ๖.เห็นภาพซิเผดิม
"ขณิฯ"เริ่มปฐมตรง  
"อุคคาหะ"จะส่ง
"ปฏิภาคฯ"ซิตามท้าย
                                                        
 ๗.ฐานจิต ฤ ภวังค์
ธุระยังจะผันผาย
"ภาวังคะฯ"จะกราย
ปะทะสูงลุหล่นต่ำ
                                    
 ๘."ภวังคจฯ"เกี่ยว
จรเที่ยวและเพลินพร่ำ
ตกสูงมิถลำ
บริสุทธิ์สราญใจ
                                                  
 ๙."ภาวังคุฯ" ริจริง
วสดิ่งลุฌานใฝ่
กำลังสิไสว
เจาะเจริญ"วิปัสฯ"ธรรม
                                                
 ๑๐.พากเพียรตริสงบ
ลุปะพบสงัดนำ
หยั่ง"ฌานะ"ปะด่ำ
มหฌานมลังดล
                                                          
 ๑๑.ปัญญาอติหาญ
ตริวิจารณ์ภวังค์ก่น
บังเกิด"ฐิติฯ"ผล
และภวังค์มลายไป

 ๑๒.เกิดญาณ"ฐิติฯ"กิจ
มุตะจิตผละภพไกล
ภพหน้านิรไขว่
ละ"ติภพ"ซิพ้นหนี ฯ|ะ
 
แสงประภัสสร

ที่มา: มุตตโตทัย พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (พระญาณวิริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร เรียบเรียง)

บริกรรมฯ=บริกรรมสมาธิ หรือ ขณิกสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตชั่วขณะ,สมาธิชั้นต้น
อสุภา=อสุภะ คือ ซากศพ
อุคฯ=อุคคหนิมิต คือนิมิตติดตาที่กำหนดเห็นจนแม่นยำ หลับตาก็มองเห็น
ภวังคจิค=จิตที่ไม่รู้สึกตัว
อุปะฯ=อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่สงบจากอกุศล เป็นระยะที่จวนจะแน่วแน่ใกล้ อัปปนาสมาธิดั้งเดิมที่ผ่องใส ยังไม่มีกิเลส
เอกัคคะฯ=เอกัคคตา คือ มีจิตแน่วแน่ในอารมณ์เดียว ได้แก่ สมาธิ
อัปฯ=อัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่ถึงความแนบแน่น พ้นจาก รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
บริฯ=บริกรรมนิมิต คือนิมิตขั้นเตรียม ได้แก่สิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการทำสมาธิ เช่นเพ่งดูดวงกสิณ,เพ่งดูลมหายใจ
อุคคาหะฯ=อุคคหนิมิต คือบริกรรมนิมิตที่เพ่งจนติดตา หลับตาก็ยังมองเห็น
ปฏิภาคฯ=ปฏิภาคนิมิต คือนิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิต แต่จะขยายหรือย่อส่วนได้ มีความสงบของจิตมากกว่า อุคคหนิมิต และมีความผ่องใสกว่าร้อยเท่าพันเท่า
ภวังค์ฯ=ภวังคบาท คือ ขณะแรกที่จิตวางอารมณ์เข้าสู่ฐานเดิมของตน
ภวังคจฯ=ภวังคจลนะ คือ ขณะที่จิตเริ่มไหวตัวเพื่อขึ้นสู่อารมณ์อีก
ภาวังคุฯ=ภวังคุปัจเฉทะ คือขณะที่จิตเคลื่อนจากฐาน ขึ้นสู่อารมณ์
ชาติ=การเกิด
ญาณฐิติฯ=ฐีติญาณ คือความรู้ตัดสินว่า ภพเบื้องหน้าไม่มีอีกแล้ว
ติภพ=สามภพ ได้แก่ ๑)กามภพ(เป็นที่อยู่ของผู้ที่ยังเสพกามคุณ ๕ ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน  มนุษย์ และเทวดา ๒)รูปภพ เป็นที่อยู่ของพรหมที่มีรูป  ๓) อรูปภพ เป็นที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีรูป)