บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 01, ตุลาคม, 2556, 07:25:32 PM



หัวข้อ: ฉันท์ Tip ตอนที่ ๑: การวางเสียงตามฉันทลักษณ์ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 01, ตุลาคม, 2556, 07:25:32 PM
ฉันท์ Tip ตอนที่ ๑: การวางเสียงตามฉันทลักษณ์

เทคนิคส่วนตัวที่ผมใช้อยู่ ก็คือ ทำความเข้าใจลักษณะของผังฉันทลักษณ์ และวิเคราะห์ทางเลือกที่เป็นไปได้ในการวางคำลหุ ในแต่ละวรรค

โดยก่อนอื่น ผมขอจำแนกคำที่จะนำมาให้เสียง ลหุ ออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่

๑. คำโดดลหุ
    ผมหมายถึง คำที่มีเสียงเดียว และเป็น ลหุ เช่น กะ, ก็, จะ, ณ, ฤ, บ่ และขอรวม ผิว์ (ผิว่า) เข้าไปด้วย
    โดยส่วนใหญ่แล้ว คำพวกนี้มักจะเป็น คำเชื่อม ครับ
    (ดูเพิ่มเติมในกระทู้ คำเชื่อม! ผมคิดไม่ออก...ช่วยผมด้วยครับ... (http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,1981.0.htmlคำเชื่อม! ผมคิดไม่ออก...ช่วยผมด้วยครับ...))
    
๒. คำธรรมชาติ
    ผมหมายถึง คำที่มีมากกว่าสองเสียง และเสียง ลหุ ปะปนอยู่ด้วยตามธรรมชาติ เช่น สหาย, ยุพา, กระลาพิน

๓. คำประยุกต์เสียง
    ผมหมายถึง คำที่แต่เดิมไม่มีเสียง ลหุ ที่เราต้องการ แต่เราปรับปรุงโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น แผลงสระ,
    แยกเสียง หรือ เพิ่ม อะ ที่ท้าย เช่น จิตะ (จิด-ตะ หรือ จิ-ตะ), พักตระ (พัก-ตระ หรือ พัก-ตะ-ระ)
    (ดูเพิ่มเติมในกระทู้ ลหุ...เจ้าตัวยุ่ง (http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,1966.0.html))

กรณีศึกษา

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

ค ค ล ค ค         ล ล ค ล ค ค

วรรคหน้า
มีจุดที่ต้องดูที่เดียว คือ เสียง ลหุ ที่อยู่ตรงกลางวรรค

ทางเลือกที่ ๑: คำโดดลหุ เช่น ธ ณ ผิว์ ก็ ฤ

       บัดเดี๋ยวก็ยินเสียง

ทางเลือกที่ ๒: คำธรรมชาติ ลหุ อยู่หน้า เช่น  สหาย กระลาพิน พะงางอน ยุพา

       หัตถายุพางาม

ทางเลือกที่ ๓: คำธรรมชาติ ลหุ อยู่ท้าย เช่น วายุ วัตถุ ชำนิ

       ครั้นวายุโชยผ่าน

ทางเลือกที่ ๔: คำธรรมชาติ ลหุ อยู่กลาง เช่น ข้าพเจ้า, นงพะงา, ทัศนา, มิตรภาพ

       โอ้ข้าพเจ้าอาย

ทางเลือกที่ ๕: คำประยุกต์เสียง เช่น เลิศะ, พักตระ (พัก-ตระ)
                  
        ปะทะพักตระยอดชาย   (แฮ่ ๆ ขอเอาวรรคหลังมาเป็นตัวอย่างนะครับ)

วรรคหลัง
มีจุดที่ต้องดู ๒ จุด จุดที่ ๑ คือ ลหุ สองตัวติดกันที่อยู่หน้าวรรค และจุดที่ ๒ คือ ลหุ ที่อยู่ตำแหน่งเสียงที่ ๔ ของวรรค

จุดที่ ๑: ลหุ สองตัวติดกันที่อยู่หน้าวรรค
ทางเลือกที่ ๑: คำโดด ลหุ ๒ คำต่อกัน เช่น ก็มิ, ก็บ่, ผัวะเผียะ

         ผัวะเผียะเปรี้ยงสนั่นคาม

ทางเลือกที่ ๒: คำโดด ลหุ ๑ คำ + คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์ที่มี ลหุ อยู่หน้า ๑ คำ เช่น ก็สะท้าน, ณ ธะนิน (จาก ธานิน)

         ก็สะท้านสรีร์กาย

ทางเลือกที่ ๓: คำธรรมชาติ ๑ คำ (มี ลหุ ๒ ตัวติดกัน) เช่น ปะทะ, อุบ๊ะ!, ชิชะ!, ตะละ, กวะ, สุริยา

        ปะทะพักตระยอดชาย

ทางเลือกที่ ๔: คำประยุกต์เสียง ๑ คำ เช่น นุช (นุ-ชะ), จิตะ (จิ-ตะ), สุขะ (สุ-ขะ), ดุจะ (ดุ-จะ)

        นุชะร้ายซะเหลือทน

จุดที่ ๒: ลหุ ที่อยู่ตำแหน่งเสียงที่ ๔ ของวรรค
ทางเลือกที่เป็นไปได้ ก็ไม่แตกต่างกับกรณีของวรรคหน้าครับ

ตัวอย่าง (เมดเล่ย์ทางเลือก)

บัดเดี๋ยวก็ยินเสียง          ผัวะเผียะเปรี้ยงสนั่นคาม
หัตถายุพางาม               ปะทะ พักตระยอดชาย

ครั้นวายุโชยผ่าน            ก็สะท้านสรีร์กาย
โอ้ข้าพเจ้าอาย              นุชะร้ายซะเหลือทน


สรุป

ในมุมมองของผม การทำความเข้าใจลักษณะของฉันทลักษณ์ และวิเคราะห์ทางเลือกการวางคำ จะทำให้เราปิ๊งและเกิดไอเดียประเจิดในการวางคำ

สิ่งที่ผมนำเสนอไปนั้น "ไม่ใช่สูตรตายตัว" แต่เป็นแค่ "แนวทาง" ซึ่งเพื่อน ๆ อาจพัฒนารูปแบบขึ้นใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับตนเองที่สุดครับ


ศรีเปรื่อง
๑ ต.ค. ๒๕๕๖