บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 05, ตุลาคม, 2556, 06:50:01 AM



หัวข้อ: ฉันท์ Tip ตอนที่ ๒: การวางเสียงตามฉันทลักษณ์ (วสันตดิลกฉันท์ ๑๔)
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 05, ตุลาคม, 2556, 06:50:01 AM
ฉันท์ Tip ตอนที่ ๒: การวางเสียงตามฉันทลักษณ์

นอกจาก อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ แล้ว วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ก็เป็นฉันท์อีกชนิดหนึ่งที่คุณครูนิยมให้น้อง ๆ นักเรียนแต่ง

สำหรับเทคนิคที่ผมใช้ ก็มาจากหลักการเดิมที่ได้กล่าวไปแล้วใน ฉันท์ Tip ตอนที่ ๑ คือ "ทำความเข้าใจลักษณะของฉันทลักษณ์ และวิเคราะห์ทางเลือกที่เป็นไปได้ในการวางคำลหุ"

และเพื่อให้ง่ายในการวิเคราะห์ ผมก็ได้จัดคำที่ให้เสียง ลหุ ออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ คำโดดลหุ, คำธรรมชาติ และ คำประยุกต์เสียง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ฉันท์ Tip ตอนที่ ๑: การวางเสียงตามฉันทลักษณ์ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑) (http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,2039.0.html)

กรณีศึกษาแนวทางการวิเคราะห์ที่จะเสนอต่อไปนี้ อาจมีรายละเอียดบางจุดที่แตกต่างจากการวิเคราะห์ในฉันท์ Tip ตอนที่ ๑ บ้าง แต่โดยหลักการและวิธีคิดแล้ว ก็ยังเป็นเหมือนเดิม คือ การเอา คำ ทั้งสามกลุ่ม (คำลหุโดด, คำธรรมชาติ และ คำประยุกต์เสียง) มาจัดลงในตำแหน่ง "ลหุ" ตามฉันทลักษณ์ โดยอาจใช้ คำลหุโดดผสมกันอย่างเดียว, คำลหุโดดผสมคำธรรมชาติหรือคำประยุกต์เสียง และ คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์เสียงผสมกัน

กรณีศึกษา

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

ค ค ล ค ล ล ล ค            ล ล ค ล  ค ค

ในวรรคหน้า มีจุดที่ต้องดู ๒ จุด คือ
            ๑) ตำแหน่งเสียงที่ ๓ (เหมือน อินทรวิเีีชียรฉันท์)
            ๒) ตำแหน่งเสียงที่ ๕-๗

ในวรรคหลัง มีจุดที่ต้องดู ๒ จุด คือ
            ๑) ตำแหน่งเสียงที่ ๑ และ ๒ (เหมือน อินทรวิเชียรฉันท์)
            ๒) ตำแหน่งเสียงที่ ๔ (เหมือน อินทรวิเชียรฉันท์)


จะเห็นว่า ตำแหน่งที่ต้องพิจารณา มีเพียงในวรรคหน้า ตำแหน่งเสียงที่ ๕-๗ เท่านั้นที่ไม่เหมือนอินทรวิเชียรฉันท์
ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตนำเสนอการวิเคราะห์ทางเลือกเฉพาะจุดนี้เท่านั้น

การวิเคราะห์ทางเลือกการวางคำ

วรรคหน้า: ตำแหน่งคำที่ ๕,๖ และ ๗

ทางเลือกที่ ๑: คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์เสียง ๑ คำ (ลหุ ๓ เสียง) เช่น สถิร, พยัคฆ์ (พะ-ยะ-คะ)

              แน่วแน่หทัยสถิรเพียง    
              อย่างเราน่ะต้องพยัคฆ์สิงห์    

ทางเลือกที่ ๒: คำโดด "ลหุ" ผสมกับ คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์
                    ๒.๑ คำโดดลหุ ๑ คำ + คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์เสียง ๑ คำ เช่น ฮึ! ทินะ, ลุอัมพร (ลุ-อะ-มะ-พอน), สุร ณ...

                           ตั้งจิตะจง ฮึ! ทินะพรุ่ง
                            จีบทั่วพิภพลุอัมพร
                           เอ็งหล่อซะกว่าสุร ณ สรวง  

                    ๒.๒ คำโดดลหุ ๑ คำ + คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์เสียง ๒ คำ เช่น วายุก็กระหน่ำ, สมัคระและสนอง (สะ-มัก-คระ-และ-สะ-หนอง)
                          
                           เขาไม่สมัคระและสนอง
                          
                     ๒.๓ คำโดดลหุ ๒ คำ + คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์เสียง ๑ คำ เช่น ก็เพราะอนงค์, พายุก็มิ...

                          เหน็บหนาวระร้าวก็เพราะอนงค์
                          ถูกโถมเพราะพายุก็มิเอน
                          
ทางเลือกที่ ๓: คำธรรมชาติหรือคำประยุกต์เสียง ๒ คำ เช่น วิภาษะดนุ (วิ-พาด-สะ-ดะ-นุ), วทะสหาย
              เพื่อนฝูงวิภาษะดนุเขลา  
              ตกดึกก็ตรองวทะสหาย  


ตัวอย่าง

แน่วแน่หทัยสถิรเพียง                                สิริเนียงมิเบี่ยงเบน
ถูกโถมเพราะพายุก็มิเอน                             ครุดั่งศิขรเขา

เหน็บหนาวระร้าวก็เพราะอนงค์                      ยุพยงค์มิสนเรา
เพื่อนฝูงวิภาษะดนุเขลา                              สติบ๊องส์สมองกลวง

"เขาไม่สมัคระและสนอง                             ก็มิต้องระกำทรวง
เอ็งหล่อซะกว่าสุร ณ สรวง                           ฤ จะห่วงบ่มีหญิง"

ตกดึกก็ตรองวทะสหาย                               อุบ๊ะ! คล้ายจะใช่จริง
อย่างเราน่ะต้องพยัคฆ์สิงห์                           ชำนิเกี้ยววิไลอร

ตั้งจิตะจง ฮึ! ทินะพรุ่ง                                ก็จะมุ่งตระเวนจร
จีบทั่วพิภพลุอัมพร                                    ชิชะ! หล่อนจะเสียดาย

ศรีเปรื่อง
๕ ต.ค. ๒๕๕๖