บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องฟัง การขับ เสภา และอื่น ๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 15, พฤศจิกายน, 2556, 02:48:18 AM



หัวข้อ: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 15, พฤศจิกายน, 2556, 02:48:18 AM
https://www.youtube.com/watch?v=x5XiTIhf3CU

ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย

เหตุผลไม่ใช่เรื่องความไพเราะ แต่เพราะกลัวเสียงเพี้ยนครับ

ดังตัวอย่าง

"ไว้" รูปโท แต่ให้เสียงตรี
เมื่อวางไว้ท้ายวรรค ๒ ของกลอน
เวลาอ่านทำนองเสนาะเราอาจได้ยินเป็น "ไหว" หรือ "หวาย" ได้ครับ ( :014: ไม่รู้ว่าคนอ่านอ่านเพี้ยน หรือ คนฟังฟังเพี้ยน)

ศรีเปรื่อง
๑๕ พ.ย. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: ทำกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 15, พฤศจิกายน, 2556, 07:43:12 AM
สวัสดีครับ

  เรื่องนี้ผมติดใจมานาน  ผมเองแต่งกลอนลงท้ายด้วยเสียงตรีในบาทสองไว้มาก เรื่องกฎตรงนี้มีอยู่หลายตำรา  ผมเองยังคงยึดหลักเก่าจาก  หนังสือหลักภาษาของพระยาอุปกิจศิลปสาร และด้วยเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ตำราของท่านก็ยึดหนังสือหลักภาษาของพระยาอุปกิจศิลปสารไว้เป็น   มีกฎไว้คังนี้

  1. วรรคสลับ
  
สามัญ  ไม่นิยม
เอก   ได้
โท    ได้
ตรี     ได้
จัตวา   นิยม
          
     2. วรรคครับ
  
สามัญ  ห้าม
เอก   ได้
โท    ได้
ตรี    ไม่นิยม
จัตวา   นิยม

 3. วรรครอง

สามัญ  นิยมมาก
เอก   ไม่นิยยม
โท    ได้
ตรี    ได้
จัตวา   ห้าม

 4. วรรคส่ง

สามัญ  นิยมมาก
เอก   ไม่นิยม
โท     ไม่นิยม
ตรี    นิยม
จัตวา   ห้าม

ข้อมูล ภาษาไทย 311 การเขียน  อาจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  พิมพ์ ปี 2522 ไทยวัฒนาพานิช


    หลังจากนั้นมาพบในเว็บกลอนต่าง ๆ ที่บอกว่าบางตำรา ห้ามใช้เสียงตรี ในวรรครับ  ด้วยที่เคยยึดตามมาจนชินจึงรู้สึกไม่สนใจเท่าไรนัก  และยังคงใช้เสียงตรีในวรรคนี้อยู่บ้าง (ไม่นิยม)

    ตามแนวคิดของคุณศรีเปรื่อง ว่าเสียงนี้เพี้ยนไปตามที่ว่าก็เรื่องหนึ่ง  แต่ขอเสริมว่า เสียงตรีมีความสูงพอจะอ่านเอื้อนลากให้เสียงสูงได้ไม่แพ้เสียงจัตวา (นี่ถ้ายึดการอ่านเพื่อความเสนาะ)

    ผมคิดว่า  แม้เสียงตรีจะไม่นิยมในวรรคนี้  แต่หากเนื้อความของกลอนต้องใช้เสียงตรีคำนี้ตรงนี้  ผมคิดว่าน่าจะอนุโลมได้เพื่อการสื่อเป็นสำคัญ

     ประทีป  วัฒนสิทธิ์
       15 พ. ย. 2556


      

  


หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 15, พฤศจิกายน, 2556, 10:24:20 AM
เรียน ท่านประทีป

เรื่องเสียงตรี นี่ก็เป็นเรื่องที่คาใจผมอยู่เหมือนกัน
ด้วยว่าผมชอบอ่านทำนองเสนาะ เคยเห็นกลอนเก่า ๆ ที่ลงท้ายด้วยเสียงตรีอยู่เหมือนกัน
แล้วในด้านการขับ ก็ไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหาแต่อย่างใด

จนกระทั่ง ผมเริ่มมาเขียนกลอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ถึงได้รู้ว่าเขาห้ามกัน
บอกตรง ๆ ครับ "คาใจ" เลยพยายามหาคำตอบ
สุดท้ายไปเจอที่เวบอะไรสักอย่างจำไม่ได้ ว่า

ห้ามเพราะ "กลัวเสียงเพี้ยน" ไม่ได้ห้ามเพราะ "ไม่เพราะ"

ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า "ไม่น่าจะถึงกับห้าม" เพียงให้ระวังในการใช้
โดยดูลักษณะคำและบริบทของกลอนสักนิด ว่ามีโอกาสให้คนฟังฟังเพี้ยนไปจากที่เราเจตนาหรือเปล่า

ดังในกลอนตัวอย่างที่ผมยกมา

ถึงปวดร้าว...ปานหทัย...ถูกใครม้าง
ก็ขอขว้าง...รักเก่า...มิเอาไว้
แล้วออกดั้น...เดินป่า...พนาไพร
ประจากสาว...แก้มใส...แต่ใจดำ

"ไว้" อาจ ฟังเพี้ยนเป็น ไหว และ หวาย ได้
แล้วเนื้อหากลอนมันดันไปเกี่ยวกับป่ากับดงด้วย
บางทีคนฟังกำลังสลึมสลือ สะดุ้งตื่นขึ้นมาได้ยินเนื้อหาตรงช่วงนี้พอดี
เขาก็อาจเข้าใจเป็น "ไม่เอาหวาย" ก็เป็นได้  :evil:


แล้วอีกตัวอย่างครับ

ไม่รักแล้ว...แน่ะ! ยังหมั่น...มากลั่นแกล้ง
น้ำใจแล้ง...ดั่งอิสาน...กาลกระโน้น
เขียดอีโม่-กบ-ตะปาด...ขาดแรงโจน
เกาะบนโพน...ทดท้อ...รอความตาย

"กระโน้น" อาจ ฟังเพี้ยนเป็น "กระโหนน" แต่ก็ไม่มีนัยอะไร เพราะ "กระโหนน" มันไม่มีความหมาย
คนจึงไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่น นอกจาก "กระโน้น" ได้

ยินดีมากครับ ที่ได้แลกเปลี่ยนกับท่านประทีป

ด้วยจิตคารวะยิ่ง

ศรีเปรื่อง
๑๕ พ.ย. ๒๕๕๖


หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: นายประทีป วัฒนสิทธิ์ ที่ 15, พฤศจิกายน, 2556, 10:47:45 AM


เรียน  คุณศรีเปรื่องที่เคารพรัก
 
  ผมรู้สึกสบายใจมากในปัญหา  คิดว่านักกลอนเก่านักกลอนใหม่น่าจะนำวิเคราะห์ และคิด  เรื่องของการแต่งกลอนในข้อปัญหา  หรืออย่าคิดว่าเป็นปัญหาเลย  คิดว่าคนละตำรา  และขอช่วยวิเคราะห์กันต่อก็น่าจะดี

   หากได้นำเรื่องของ "กลบท" มาเกี่ยวข้องด้วย ผมคิดว่า "เสียงตรี" ที่ตำราหลักภาษาไทย ของท่านพระยาอุปกิจ ฯ หรือการเขียน 311 ของท่านอาจารย์สุทธิวงศ์ ก็ดีที่ผมยกมาอ้าง ก็น่าจะอนุโลมกันได้อย่างแน่นอน  ไม่ใช่ว่าห้ามเด็ดขาด  ก็บอกแล้วว่า "ไม่นิยม"  แต่หากเราต้องการสื่อความหมายให้ได้เนื้อหาสาระผมว่าควร  "อนุโลม"
อย่างยิ่ง

    และที่คุณศรีเปรื่องยกตัวอย่างมาบทกลอนมา  หากผมอ่านทำนองเสนาะผมจะอ่านไม่ให้เพี้ยนแม้แต่นิด  วิธีการก็โดยการลากเสียงยาวพริ้วขึ้น  เสียงจัตวาก็อายจะบอกให้ครับ

    วันนี้ผมมีเพื่อนทุกข์ใจอย่างผม ผมค่อนคลายทุกข์ใจลงบ้าง  ครับก็ขอฝากความคิดเห็นไว้
ด้วยมีความเคารพในกติกาอยู่บ้างเช่นกัน  แต่ด้วยเหตุผลบ้างครั้งแหกกฎ หรืออนุโลมบ้าง อย่างเช่นบทกวีของ "อังคาร กัลยาณพงศ์" ก็น่าจะใช่อุปสรรค์ในเรื่องนี้

     ผมมีแนวคิดว่า "วรรณศิลป์"   "วรรณกรรม"  ก็มีแนวเดียวกับศิลปกรรมด้านอื่น ๆ ย่อมมีการปรับปรุงเปลี่ยนแลง เพื่อหาความเหมาะสมให้เข้ากับสถานการณ์ ในรูปแบบต่าง ๆ ตามควมเหมาะสมที่ควรจะเป็น ที่ควรจะกระทำ  กฏธรรมดาหรือกฏธรรมชาติเป็นสูตรตายตัวก็ว่าได้  สำหรับกฎที่มนูษย์สร้างใหม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ในหลายกรณี


         ประทีป  วัฒนสิทธิ์
             15 พ.ย.2556


หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: วรรณดี ที่ 15, พฤศจิกายน, 2556, 03:00:49 PM
 :035: :035: :035: :035:


หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: ปลายฝน คนงาม ที่ 16, พฤศจิกายน, 2556, 08:23:16 AM

พี่ศรีเปรื่องอ่านทำนองเสนาะได้ไพเราะมากเลยค่ะ
เสียดาย อ่านเพียงบทเดียว อยากฟังยาว ๆ ค่ะ

:057:


หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: ขวดเก่า ที่ 16, พฤศจิกายน, 2556, 09:42:21 AM

อยากแต่งกลอนหวังให้อ่านได้คล่อง
เน้นเรื่องความคล้องจองต้องมีไว้
บ้างเขียนคำขัดกันอย่างมั่นใจ
เสียงโทจบกลอนใส่เคยใช้แน่

เสียงตรีเลยต้องมักเป็นวรรครับ
ถูกกำกับเข้าใส่ไร้ข้อแม้
ตรีจำกัด-จัตวามาดูแล
เสียงเอกแท้จบกลอนเคยป้อนใส่

เสียงโทจึงต้องมักเป็นวรรครับ
ถูกกำกับเรื่องราวเอาไว้ให้
โทจำกัด-จัตวามาแทนไป
ทำนองไม่เสนาะเป็นเพราะขวด

บ้างกลอนจบคำตายตอนท้ายบท
เพราะไร้กฏเกณฑ์ใดให้ร้าวรวด
พยายามหาคำนำมาอวด
แต่อาจปวดใจร้องทำนองเสนาะ

แต่ผมว่ากลอนของผมร้องทำนองเสนาะได้นะครับ
แต่งกลอนจบผมแอบลองร้องดูแล้ว
ผมนึกว่าร้องไม่ได้ เพราะผมตั้งใจแต่งให้ร้องไม่ได้น่ะครับ


หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 16, พฤศจิกายน, 2556, 04:02:02 PM
เสริมท่าน ขวดเก่า ครับ

กลอนที่ลงท้ายด้วยเสียง เอก ที่วรรค ๓ และ ๔ อ่านทำนองเสนาะได้ครับ
หากเลือกใช้คำที่มีเสียงเหมาะสม ก็เหมือนคำตายดี ๆ นี่เองครับ

ที่ผมจะวิพากษ์ต่อไปนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวและไม่ได้อ้างอิงตำราเล่มไหน
คือ ผมได้จากการสังเกต ลักษณะเสียง ซึ่งหากผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยด้วยนะครับ

ผมอ่านเจอในเวบหลายเวบ ที่กล่าวว่า ลักษณะเสียงท้ายที่ใช้กันในปัจจุบัน มีแนวทางมาจากกลอนของท่าน "สุนทรภู่" ซึ่งกลอนของท่านนั้น มีการใช้ "คำตาย" เป็นคำท้ายในวรรค ๓ และ ๔ อยู่บ่อย ๆ
ทำให้นักกลอนทั้งหลาย เห็นไปในทางเดียวกันว่า "คำตาย" ใช้เป็นคำท้ายในวรรค ๓ และ ๔ ได้ แม้ว่าจะไม่ไพเราะสักเท่าใดก็ตาม โดยลักษณะพิเศษของคำตายนั้น ก็คือ มีเสียงสั้น ซึ่งก็จะเป็นคำที่สะกดด้วยแม่ กก กบ กด
และก็พวกสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด (ซึ่ง กลุ่มคำพวกนี้ ก็เทียบเคียงได้กับคำ ลหุ นั่นเอง)

ทีนี้ เครื่องไม้เครื่องมือ ในการทำให้เสียงสั้นในภาษาไทยนั้น มีอยู่หลายอย่าง
ซึ่งจากการสังเกตของผม พอสรุปได้ดังนี้

๑. ไม้ไต่คู้
    เปน  ใส่ไม้ไต่คู้   >>  เป็น

๒. วรรณยุกต์เอก
    เปิน  ใส่วรรณยุกต์เอก  >> เปิ่น    (ลองอ่านดูนะครับ จะเห็นว่าเสียงสั้นลงอย่างชัดเจน)

๓. คำตาย (ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น)

๔. คำลหุ (ดูลิงค์นี่แล้วกันนะครับ http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=1985.0)

การที่ "โคลง" ยอมรับให้เอาคำตายและคำลหุ มาแทน คำเอก ได้ ก็น่าจะมาจากลักษณะเสียงที่สั้น คล้าย ๆ กันนี่เอง

แล้วทำไม เราจะเอา "คำเอก" ไปใช้แทน "คำตาย" ไม่ได้ล่ะ ?
ยิ่งถ้าเราเลือก "คำเอก" ที่เป็นพยางค์ปิด (คำที่มีตัวสะกด) ใช้สระที่เสียงสั้นซักหน่อย เช่น ส่ง ก่น จุ่ง ข่ม
เมื่ออ่านเป็นทำนองเสนาะ มันก็คล้าย ๆ กับคำตายนั่นแหละครับ


ตัวอย่าง

ผมเจอะสาวไฉไล...ใกล้นางฟ้า
ทรวดสง่า...ทรงสะอาง...เปรียบนางหงส์
รีบกระทำตาขยิบ...วิบวิบส่ง
หมายอนงค์เจ้าเอี้ยว...มาเหลียวแล

ศรีเปรื่อง
๑๖ พ.ย. ๒๕๕๖

ปล.

แล้วจะอ่านให้ฟังนะครับ
 




หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 17, พฤศจิกายน, 2556, 06:52:31 AM
ตามสัญญาครับ

เปรียบเทียบกลอน ที่ลงท้ายด้วยคำตายและคำเอกในวรรคที่ ๓

ศรีเปรื่อง
๑๗ พ.ย. ๒๕๕๖

https://www.youtube.com/watch?v=GgOTbjaKWxU

ปล.

ขออนุญาตนำกลอนของท่านสุนทรภู่ มาใช้เป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ด้วยครับ


หัวข้อ: Re: ทำไมกลอนวรรค ๒ จึงห้ามเสียงตรีที่คำท้าย
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, พฤศจิกายน, 2556, 11:52:35 PM
แถมท้ายด้วยเสภาที่วรรค ๓ ลงท้ายด้วยคำเอก

ลองพิจารณากันดูนะครับ

ศรีเปรื่อง
๑๘ พ.ย. ๒๕๕๖

https://www.youtube.com/watch?v=NvuMCot_C-0