บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, มีนาคม, 2558, 08:22:31 PM



หัวข้อ: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, มีนาคม, 2558, 08:22:31 PM
ได้ความรู้เพิ่มเติมมาจากท่าน"คอนพูธน" ที่เวบ "บ้านกลอน" ว่า

"...เมื่อก่อน อำ ไอ ใอ เอา เคยเป็น ลหุ ปัจจุบันกลับใจมาเป็น ครุ แล้ว อิอิ
ปัจจุบัน ลหุ นิยมเขียนกันโดยใช้คำสระเสียงสั้นทีไม่มีตัวสะกด
แต่ใครยังเขียน อำ ไอ ใอ เอา เป็น ลหุ อยู่ก็ไม่ถือว่าผิด เพราะยังเขียนแบบเดิม
แต่นักกลอนปัจจุบันไม่นิยมเขียน  เหมือนกลอนสัมผัสเกิน ไม่ผิด
แต่ปัจจุบันไม่นิยมเขียน.....เนาะ"

http://www.baanklon.com/index.php?topic=5505.msg24407;topicseen#msg24407

ก็เลยเกิดอยากจะวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกลุ่มคำ ที่วางในตำแหน่ง "ครุ-ลหุ" ของฉันท์ในสมัยอยุธยา
ภายใต้สมมติฐานที่ว่า "ฉันท์สมัยอยุธยา เคร่งฉันทลักษณ์เหมือนกันกับฉันท์ในสมัยปัจจุบัน"
โดยผมจะเอาเรื่อง "สมุทรโฆษคำฉันท์" มาทำการวิเคราะห์

แห่ ๆ ขอย้ำทั้งหมดที่จะนำเสนอต่อไปเป็นเพียงความเห็น
ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ

ด้วยจิตคารวะ

ศรีเปรื่อง
๑๘ มี.ค. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, มีนาคม, 2558, 09:12:08 PM
[ดำเนินเรื่องและไหว้ครูเล่นหนัง]

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

ค ค ล ค ค        ล ล ค ล ค ค
ค ค ล ค ค        ล ล ค ล ค ค

อนี้จะชี้นิต-             ติดำเนียรดำนานสาร
โดยบรรพเบาราณ    ครุครูอันสั่งสอน

ไหว้เทพดาอา-       รักษทั่วทิศาดร
ขอสวัสดิขอพร        ลุแก่ใจดั่งใจหวัง

ทนายผู้คอยความ    เร่งตามได้ส่องเบื้องหลัง
จงเรืองจำรัสทัง      ทิศาภาคทุกพาย

จงแจ้งจำหลักภาพ  อันยงยิ่งด้วยลวดลาย
ให้เห็นแก่ทั้งหลาย  ทวยจะดูจงดูดี

วิเคราะห์:-

ผมจะหยิบยกมาเฉพาะคำที่ไม่นับเป็นคำครุ-ลหุในปัจจุบันนะครับ

คำครุ
 อนี้ [อะ-นี้], ทนาย [ทะ-นาย]  --> สระ อะ

คำลหุ
 ๑. อัน,รัก(ษ) --> สระ อะ มีตัวสะกด
 ๒. แก่,เร่ง --> คำเอก
 ๓. ผู้ --> สระ อู
 ๔. ตาม --> สระ อา มีตัวสะกด
 ๕. ส่อง --> สระ ออ มีตัวสะกด และ ยังเป็น คำเอก ด้วย
 ๖. (ทิ)ศา --> สระ อา
 ๗. ยง,จง --> สระ โอะ มีตัวสะกด
 ๘. ทวย --> สระ อัว มีตัวสะกด

มาถึงตรงนี้ ผมขอสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับคำครุ-ลหุ ในสมัยกรุงเก่าว่า
 ๑. สระ อะ เป็น ครุ ได้
 ๒. คำเอก เป็น ลหุ ได้
 ๓. สระ อู เป็น ลหุ ได้
 ๔. สระ อะ แม้มีตัวสะกด ก็เป็น ลหุ ได้
 ๕. สระ โอะ แม้มีตัวสะกด ก็เป็น ลุห ได้
 ๖. สระ อา, สระ ออ และ สระ อัว ยังไม่แน่ใจ (ต้องรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม)

เปรื่อง
๑๘ มี.ค. ๒๕๕๘  


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 18, มีนาคม, 2558, 10:50:51 PM

    ว่าฉันท์ในสมัยกรุงเก่านั้น ครุ ลหุ ส่วนหนึ่งกำหนดโดยการออกเสียงของผู้ขับนั้น (สมัยก่อนสัมผัสความไพเราะด้วยหู โดยการขับและการฟัง) จึงทำให้ ครุ ลหุ แตกต่างจากปัจจุบัน ดังเช่นข้อความตรงนี้

  "เนื้อเรื่องสมุทรโฆษนั้น เป็นการดัดแปลงมาจากสมุทรโฆษชาดก ในปัญญาสชาดก กล่าวคือเป็นชาดกที่มิได้มีอยู่ในพระไตรปิฎก แต่เนื้อหาในเรื่องที่พระราชครูแต่งนั้น แตกต่างไปจากชาดกอยู่บ้าง ทว่าเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงแต่ง พระองค์ได้ดำเนินตามปัญญาสชาดกจนจบเรื่อง

คำประพันธ์[แก้]
คำประพันธ์ในสมุทรโฆษคำฉันท์ ระบุไว้ในชื่อของหนังสือเล่มนี้อยู่แล้ว ว่าเป็น คำฉันท์ นั่นคือ ประกอบด้วยฉันท์ และกาพย์

กวีทั้งสามได้แต่งฉันท์ตามขนบฉันท์โบราณ กล่าวคือ เสียงหนักเบา (ครุ ลหุ) มิได้กำหนดจากเสียงสระเสียงยาวหรือเสียงสั้นอย่างในชั้นหลัง หากแต่เน้น “หนักเบา”จากเสียง ฉันท์ทั้งหมดนี้ขึ้นเพื่อการอ่านทำนองเสนาะ ที่มีจังหวะจะโคนไพเราะ โดยมีการใช้เลขกำกับจำนวนคำในแต่ละบาทของฉันท์นั้น"

จากลิงค์นี้ครับผม

    คลิก==>สมุทรโฆษคำฉันท์ - วิกิพีเดีย (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%86%E0%B8%A9%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C)

ต่อมาในขณะที่การเดินทางของภาษาจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ ครุ-ลหุ จึงถูกกำหนดโดยมีหลักภาษาที่ชัดเจนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะใช้ ตา สามารถพิจารณาดูได้ง่ายขึ้นนั่นเอง ต่างจากสมัยก่อนที่ใช้ เสียงจริง(หู) เป็นตัวกำนด (เหมือนกลอน ที่สมัยก่อน สระเสียงสั้น สามารถสัมผัสกับสระเสียงยาวได้ และยังมีความไพเราะเช่นกัน)


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:00:37 AM
ผมเห็นด้วยกับคุณหมูครับ เรื่อง ครุ-ลหุ มิได้กำหนดจากสระเสียงยาวหรือเสียงสั้นอย่างในปัจจุบัน
แต่พิจารณาจากความหนัก-เบาของเสียง

ผมได้อ่านเรื่อง "สมุทรโฆษคำฉันท์" เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว
ทีแรกก็คิดว่าจะหาแบบแผนไม่ได้ แต่พอท่าน "คอนพูธน" ชี้ประเด็นเรื่อง "อำ ไอ ใอ เอา"
ผมก็เลยกลับมาอ่านดูอีกรอบ ปรากฎว่าเห็นอะไรชัดขึ้นครับ

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

กรรณาคือกลีบกมลโก-        มลกามแกล้งผจง
ทรงกาญจนกุณฑลยรรยง     มณิพรายพิราราม

นาสาลำยองคือขอคำนวณ    กลควรคือขอกาม
แก้มปรางประโลมรสยำยาม   คนใดต้องก็ติดใจ

ลำขาคือกาญจนกทลี          และลำเพ็ญลำพาลใส
สองนมชชิดวิจิตรใน            อกอาสน์แก้วโฉมเฉลา

(ชุดนี้อ่านยาก ขอเขียนคำอ่านไว้ด้วยนะครับ)

กัน-นา/ คือ-กลีบ/ กะ-มน-ละ-โก           มน-ละ-กา/ มะ-แกล้ง-[ผะ-จง]
ซง-กาน/จะ-[นะ-กุน]/ ทน-ละ-ยัน-ยง     มะ-นิ-พราย/ พิ-รา-ราม

นา-สา/ ลำ-ยอง/ คือ-ขอ-คำ-นวน          กน-ละ-ควน/ คือ-ขอ-กาม
แก้ม-ปราง/ประ-โลม/รด-สะ-ยำ-ยาม       คน-ใด-ต้อง/ ก็-ติด-ใจ

ลำ-ขา/ คือ-กาน/ จะ-นะ-กะ-[ทะ-ลี]       และ-ลำ-เพ็น/ ลำ-พาน-ใส
สอง-นม/ชะ-ชิด/ วิ-จิด-ตระ-ใน              อก-อาด-แก้ว/ โฉม-ฉะ-เหลา

แบบว่า ไหน ๆ สระ โอะ มีตัวสะกด (กมล, มล, กล, รส) ก็เป็นลหุได้ ขออ่านเต็มคำเลยนะครับ

วิเคราะห์:-

คำครุ
 ฉะ (เฉลา) --> สระ อะ

คำลหุ
 ๑. คือ --> สระ อือ
 ๒. ยรร [ยัน] --> สระ อะ มีตัวสะกด
 ๓. ขอ --> สระ ออ
 ๔. คน,อก --> สระ โอะ มีตัวสะกด
 ๕. ใด --> สระ ใอ
 ๖. อาสน์ [อาด] --> สระ อา มีตัวสะกด (แล้วก็เป็น "คำตาย" ด้วย)
 ๗. โฉม --> สระ โอ มีตัวสะกด

สรุป
 ๑. สระ อะ, สระ โอะ แม้มีตัวสะกด ก็เป็น ลหุ ได้ (สรุปไปแล้วก่อนหน้านี้)
 ๒. สระ อือ เป็น ลหุ ได้
 ๓. สระ ออ จะเป็น ลหุ ได้
 ๔. สระ ไอ เป็น ลหุ ได้
 ๕. สระ อา, สระ โอ ยังไม่แน่ใจ (รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม)

เปรื่อง
๑๘ มี.ค. ๒๕๕๘
 


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:12:02 AM
โตฎกฉันท์ 12

ล ล ค ล ล ค        ล ล ค ล ล ค
ล ล ค ล ล ค        ล ล ค ล ล ค

ฤคือท้าวทศจันทร์   วรอรรคอุมา
อรเล่นสุขสา-          ทรถีนพนสณฑ์

ฤคือวิษณุเทพ         วรเสพยอรญ
นิทรแนบนฤมล        ศุภลักษณลักษมี


วิเคราะห์:-

ชุดก็เจอ สระ อือ และ สระ อะ มีตัวสะกด ในตำแหน่งลหุ อีกแล้วครับ

เปรื่อง
๑๙ มี.ค. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:16:25 AM

   ผมเองเคยสงสัยคำ ครุ ลหุ เช่นกันครับ ตอนที่ผมเขียน "กลบท ตะเข็บไต่ขอน" เพราะในวรรณกรรมศิริวิบุลกิตติ์ ของหลวงศรีปรีชา  (เชื่อกันว่าเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยา) กับพระราชนิพนธ์ของ ร.๓ (สมัยรัตนโกสินทร์) ก็ได้เห็นความแตกต่างของการใช้เช่นกันครับ คือของหลวงศรีปรีชา (อยุธยา) อย่างคำว่า "ให้  เห็น ช่าง รส ชม ทั้ง" ต่างตกในตำแหน่ง ลหุ ได้ทั้งสิ้นน่ะครับ ซึ่งในพระราชนิพนธ์ (รัตนโกสินทร์) กลับใช้ ครุ ลหุ อย่างชัดเจนขึ้นเหมือนในปัจจุบัน

คลิก==>กลบทตะเข็บไต่ขอน (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=1807.msg5130#msg5130)

ซึ่งถ้าออกเสียงคำว่า "ให้  เห็น ช่าง รส ชม ทั้ง" ต่างเป็นเสียงสั้นได้ทั้งสิ้นเวลาออกเสียงจริง (ช่าง อาจออกเสียงให้เป็น ชั่ง ได้) หรือคำเสียงยาวบางคำอาจใช้เพื่อรักษาความหมายในการดำเนินเรื่องไว้ แต่ใช้ลีลาของผู้ขับในการออกเสียงช่วยเวลาขับจริงนั่นเอง


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:20:24 AM
อินทรวิเชียรฉันท์ 12 11

ดูรูปนานา                   ดู ปักษาประอรเอียง
ฟังสารสำเนียงเสียง      นุ ประเภทนานา

นางนกและนกผู้           สอง หากรู้เสนหา
จรรจวนโดยภาษา        สัตวเล่นหลากหลายกล
                         อ่านเป็น สัด-วะ หรือ สะ-ตะ-วะ (ถ้าเป็นผมจะอ่านเป็น "สะ-ตะ" โดย รวบ "วะ" ไปชิดกับ "เล่น")

นกผู้ต่างรวงรัง             และประนังกันแข่งขน
เหยื่อป้อนปากเมียตน    และตระเหิรตระหวลกัน


วิเคราะห์:-

คำลหุ
  1. ดู --> สระ อู
  2. ปัก, กัน --> สระ อะ มีตัวสะกด
  3. โดย --> สระ โอ มีตัวสะกด
  4. ต่าง --> คำเอก
  5. ปาก, หาก, หลาก ---> สระ อา มีตัวสะกด
  6. สอง --> สระ ออ มีตัวสะกด

เปรื่อง
๑๙ มี.ค. ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:27:38 AM
ให้  เห็น ช่าง รส ชม ทั้ง

ให้ --> อำ ไอ ใอ เอา
เห็น --> หอ-เอะ-นอ --> เห็น --> สระ เอะ มีตัวสะกด
ช่าง --> คำเอก
รส --> รอ-โอะ-ดอ --> รด --> สระ โอะ มีตัวสะกด
ชม --> ชอ-โอะ-มอ --> ชม --> สระ โอะ มีตัวสะกด
ทั้ง --> ทอ-อะ-งอ ไม้ โท --> ทั้ง --> สระ อะ มีตัวสะกด

ในความเห็นของผม ไม่ใช่ว่าทุกคำจะบังคับอ่านเสียงสั้น แล้วจะไพเราะได้หรอกนะครับ
แต่มันจะต้องมีโครงสร้างที่จะอ่านให้สั้นได้ด้วย


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:31:41 AM

  เช่นนั้นเลยครับผม อาจโดยใช้ตัวสะกดและวรรณยุกต์ต่าง ๆ เข้าช่วย หรือมีหลักอื่นอีก (ซึ่งต้องพิเคราะห์ต่อไป)


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:43:19 AM
คุณหมู...วันนี้ไม่ไหวแล้ว...วันหน้าจะมาลงเพิ่มนะครับ


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: Black Sword ที่ 19, มีนาคม, 2558, 12:44:54 AM

 เช่นกันครับ รอเก็บเกี่ยวความรู้ครับผม
            :a013:


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: คอนพูธน ที่ 19, มีนาคม, 2558, 06:17:41 PM
แจมด้วยเนาะ  ในฐานะโดนพาดพุง เอ๊ย พาดพิง อิอิ
ขอบคุณคุณศรีฯ เปิดประเด็นใหม่สมัยกรุงศรีอยุธยา 5555
จาก คห. ทั้งสองท่านผมว่าเป็นไปได้ทั้งหมดครับ
ทั้งหมดทั้งเพผมว่านี่แหละคือเสน่ห์  ของภาษาไทย  ชวนให้ติดตามค้นหา
ตอนแรกที่ลองศึกษาบทประพันธ์สมัยโบราณ ผมคิดว่าต้องมีการผิดพลาดบ้างล่ะ
เพราะสมัยโบราณ  คนที่อ่านออกเขียนได้มีน้อย  การเรียนรู้จะมีแต่ในรั้วในวัง
จะเห็นได้ว่ามีแต่เจ้าขุนมูลนายที่เขียนหนังสือ

           ดังนั้นจึงอาจจะมีผิดพลาด  ไม่ว่าจะจากต้นฉบับ  หรือ สื่อสารส่งต่อกันมา
จากสมัยเมื่อ 3-4 ร้อยปีที่แล้ว (ถ้าผิดขออภัยเกิดไม่ทัน) ยกตัวอย่างที่คุณศรีฯหยิบมา
อินทรวิเชียรฉันท์ 12

ดูรูปนานา                   ดู ปักษาประอรเอียง
ฟังสารสำเนียงเสียง      นุ ประเภทนานา

นางนกและนกผู้           สอง หากรู้เสนหา
จรรจวนโดยภาษา        สัตวเล่นหลากหลายกล
                         อ่านเป็น สัด-วะ หรือ สะ-ตะ-วะ (ถ้าเป็นผมจะอ่านเป็น "สะ-ตะ" โดย รวบ "วะ" ไปชิดกับ "เล่น")

นกผู้ต่างรวงรัง             และประนังกันแข่งขน
เหยื่อป้อนปากเมียตน    และตระเหิรตระหวลกัน
...................................................
จากสำนวนนี้ น่าจะเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
............................................................................
           ข้อ2.เหมือนที่คุณตั้งสมมติฐาน  สระอะ  สระอู หรืออีกบางคำ ที่เป็นได้ทั้ง
ลหุ และ ครุ ความเห็นส่วนตัวผม คนโบราณอาจจะกำหนดไว้จริงๆ ซึ่งมีเขียนให้
เห็นมากมาย  แต่ด้วยความที่เราไม่แน่ชัดในฉันทลักษณ์โบราณ 
หากมีผิดบ้าง  เราก็ไม่อาจชี้ชัดได้
ซึ่งผมคิดว่าคนเขียนสมัยโบราณ คงงง คงแปลกใจทำไมเป็นได้ทั้ง
ครุ  และ ลหุ  จึงเกิดเป็นการเดินทางของภาษา  แก้ไข  พัฒนาจนมาปัจจุบัน และ
           ข้อ3.ขอบคุณ คห.คุณหมูทำให้ผมคลายข้อกังขาเรื่องการเขียนผิด
ของบทประพันธ์โบราณลงได้บ้าง  ที่สมัยก่อนฟังการออกเสียงและขับ นึกได้ว่า
ไม่เฉพาะเพียงฉันท์  ขนาดโคลงสมัยโบราณในแต่ละบาท เขาก็จะนับที่การออกเสียง
จังหวะการขับ  ซึ่งบางทีเหมือนคำเกินบ้าง  เอกไม่ตรงตำแหน่งบ้าง
จึงกลายเป็นที่มาของ โคลงสี่ลีลา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนรา
ธิปประพันธ์พงศ์  ข้อนี้เป็นไปได้สูงมาก
                        ปัจจุบันมีฉันทลักษณ์ที่แน่นอน  แต่ใครจะยึดโบราณ
เป็นการอนุรักษ์ ก็ไม่ว่ากันเด้อ  มีสิ่งดีๆ มากมายที่โบราณกาลฝากไว้ ค่อยมาต่อเนาะ

ด้วยความขอบคุณ
เคารพทุกความคิด
นายคอนฯ
............................................................


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 20, มีนาคม, 2558, 10:53:24 AM
 :055: อุ๊ย! รีบไปหน่อยครับ

เป็น อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ นั่นแหละครับ
เหตุเกิดเพราะไป copy ข้อความต้นแบบมาจาก โตฎกฉันท์ 12
มันก็เคยผิดพลาดครับ

ขอบคุณ ท่านคอนพูธน มากครับที่ชี้จุดผิดพลาด

เปรื่อง


หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 20, มีนาคม, 2558, 11:23:56 AM
โคลงสี่ลีลา ที่ท่านคอนพูธน กล่าวถึงนี่
ผมเคยได้อ่านมาบ้างเป็นบางบท แต่ก็ไม่แน่ใจประเด็นเรื่องเอกไม่ตรง (แต่เอกเกินนี่ มีเป็นเรื่องปกติธรรมดา)

ถ้าท่านคอนพูธนมีตัวอย่าง บทที่เอกไม่ตรงตำแหน่ง
รบกวนหยิบยกมาวางเป็นตัวอย่างสักบทสองบท จะได้ศึกษาร่วมกันต่อไปครับ

ขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูง

เปรื่อง




หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: คอนพูธน ที่ 21, มีนาคม, 2558, 11:04:17 AM
พอสังเขปนะคุณศรีฯ ผิดพลาดประการใดขออภัย ผมก็ลอกเขามา อิอิ
สุขเกษมเปรมหน้าเหลือบ       ลืมหลัง
แสนสนุกปลุกใจหวัง             วิ่งหรี้
เดิรร่ายผายผันผัง                ชายป่า……..บาทนี้คำที่ ๓ ผาย
หวัวร่อรื่นชื่นชี้                     ส่องนิ้วชวนแล

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง
………………………………………
๏ รามาธิราชใช้.................................พานร
โถกนสมุทรวายาม............................ย่านฟ้า
จองถนนเปล่งศิลปศร.......................ผลาญราพ (ณ์)
ใครอาจมาขวางฆ่า............................ก่ายกอง.....บาทนี้โคลงดั้นคำที่ ๔-๕ โทคู่
กำศรวลศรีปราชญ์ อีกบทนะ

๏ เท่าบาแส้วไส้หย้อน.......................ในนาง ไซ้แม่..บาทนี้ไม่มีเอก
ครางอยู่ฮือฮือตา...............................เลือดไล้
เท่าบาจากอกคราง............................ครวญแม่
รยมท่าวหววใจให้..............................แม่ดิ้นโดยดู..บทนี้ก็โคลงดั้นไม่มีโทคู่
.............................
๏ จักวิงวอนว่าฟ้า.........................ฝากสงวน
เกรงพระพายชายนวล...................ชอกเนื้อ
จักฝากวลาหกครวญ......................ครึมคร่ำ...บาทนี้คำที่ ๓ วลา หรือเป็น ลหุ
กลัวแต่โฉมกามเกื้อ.......................ชุ่มชื้นเสียศรี

๏ เจียรจากวันหนึ่งเพี้ยง.................พันปี
จากแต่เทียมราตรี..........................ยิ่งร้อย
ไป่เห็นแลทีที..................................พันคาบ...บาทนี้คำที่ ๓ แล หรือเป็น ลหุ
จากแม่ปูนปีสร้อย...........................โศกเพี้ยงแสนกัลป์

โคลงนิราศทวาย
……………………………………….
โคลงสี่ลีลา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (๑)

๏ ฟ้าลั่นครั่นกระหึ่มก้อง................นภากาศ ก็ดี
กรีดดีดสีปี่พาทย์............................ขับครึ้ม
สะดิ้งฤดีเฉกกวีวาท.......................ไพเราะ ไฉนรา
พจะนาทสาวสวาทพรึ้ม..................เพราะเพี้ยงนิพนธ์หรือ ๚

๏ การเวกหรือวิเวกร้อง...................ระงมสวรรค์
เสนาะมิเหมือนเสนาะฉันท์............เสนาะซึ้ง
ประกายฟ้าสุริยาจันทร์....................แจร่มโลก ไฉนฤๅ
เมฆพยับอับแสงสะอึ้ง......................อร่ามแพ้ประพนธ์เฉลย ๚

โคลงสองบทนี้เล่ากันว่า กรมพระนราธิปฯ เคยส่งประกวดแต่ไม่ได้รับรางวัลใดๆ
เข้าใจกันว่ากรรมการในสมัยนั้นเห็นว่าโคลงสองบทนี้ไม่ใช่โคลงที่ถูกต้องตามแบบ

จากทั้งหมดที่ยกมา ผมก็ไม่ทราบตกทอดมากี่รุ่น บางทีพิมพ์หลายๆครั้ง
เอาเป็นว่า ตามอัธยาศัยเด้อจร้า..
นายคอนฯ

ต่อไป  >>> (http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=5622.msg18967#msg18967)          



หัวข้อ: Re: ฉันท์สมัยกรุงเก่า
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 21, มีนาคม, 2558, 06:41:25 PM
ขอบคุณคุณคอนพูธนมากครับ

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง กับ กำสรวลสมุทร (หรือ กำสรวลศรีปราชญ์) นี่เป็นงานกรุงเก่า
โคลงนิราศทวาย ก็เป็นงานยุคต้นรัตนโกสินทร์
ซึ่งจุดที่คุณคอน ฯ ยกมาก็ผิดไปจากฉันทลักษณ์ปัจจุบันจริง ๆ

ส่วนโคลงสี่ลีลา นี่ผมว่าเอก-โทบังคับไม่ผิดตำแหน่งนะครับ
เพียงแต่แทรก "ลหุ" มากไปจนงง นับคำไม่ถูก อีกอย่างก็รกเอกรกโทด้วย

ฟ้า-ลั่น-ครั่น-กระหึ่ม-ก้อง...........นภา-กาศ [ก็ดี]
กรีด-ดีด-สี-ปี่-พาทย์..................ขับ-ครึ้ม
สะดิ้ง-ฤดี-เฉก-กวี-วาท..............ไพ-เราะ [ไฉนรา]
พจะ-นาท-สาว-สวาท-พรึ้ม......... เพราะ-เพี้ยง-นิพนธ์-หรือ ๚

กา-รเวก-หรือ-วิเวก-ร้อง.............ระงม-สวรรค์
เสนาะ-มิ-เหมือน-เสนาะ-ฉันท์......เสนาะ-ซึ้ง
ประกาย-ฟ้า-สุ-ริยา-จันทร์...........แจร่ม-โลก [ไฉนฤๅ]
เมฆ-พยับ-อับ-แสง-สะอึ้ง............อร่าม-แพ้-ประพนธ์-เฉลย ๚

ขอบคุณอีกครั้งครับที่เอาความรู้มาแชร์กัน

เปรื่อง