บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

ห้องเรียน => ห้องเรียนฉันท์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, ธันวาคม, 2555, 08:15:30 AM



หัวข้อ: ภาษาไทย "ภาษาแห่งการสื่อเสียง"
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, ธันวาคม, 2555, 08:15:30 AM
เรียน พี่น้องชาวบ้านกลอนทุกท่าน

       ก่อนที่ผม "ศรีเปรื่อง" จะเอาความรู้ที่พอมีอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องฉันท์ มานำเสนอผ่านทางเว็บบ้านกลอนน้อย ฯ แห่งนี้ ผมขออนุญาตย้อนกลับไกลสักเล็กน้อย เพื่อจะให้ทุกท่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวงานกวีของไทยมากขึ้น
       
       ภาษาไทย เป็นภาษาที่มีความวิจิตรพิสดารอย่างอัศจรรย์พันลึก ไม่เพียงแต่จะสื่อความหมายระหว่างบุคคลเท่านั้น ยังสามารถสื่อถึงลักษณะของเสียงที่ซับซ้อนที่เราจะต้องเปล่งออกมาได้อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการมีวรรณยุกต์ และกฎเกณฑ์แปลก ๆ ที่ยากต่อการทำความเข้าใจอยู่หลายเรื่อง เช่น คำเป็น-คำตาย ครุ-ลหุ และ อักษรสูง-กลาง-ต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ แทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสื่อความหมายเลยแม้แต่น้อย...
   ...แต่มันเป็นเรื่องของเสียง ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานกวีล้วน ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า “ภาษาไทย เป็นศาสตร์และศิลปะแห่งการใช้เสียง” ครับ

       การประพันธ์บทกวีนั้น มีเป้าหมายสำคัญอยู่สองอย่าง คือ
      ๑) แสดงความหมายของสารที่ต้องการจะสื่อ ซึ่งอาจมีทั้งโดยตรง หรือ โดยนัย และ
      ๒) แสดงศิลปะของเสียงและท่วงทำนอง ซึ่งอาจประเมินเบื้องต้นได้จากความถูกต้องของแบบแผนการเขียน หรือ ที่เราเรียกกันว่า "ฉันทลักษณ์" แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ มันไม่ใช่ฉันทลักษณ์ แต่เป็นเสียงและท่วงทำนองที่จะเกิดขึ้นจากการอ่านหรือการขับกวีนั้น ๆ ต่างหาก
 
      เปิดเรื่องไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วจะเข้ามาเล่าต่อ  :014:  :014:  :014:


ด้วยจิตคารวะ

ศรีเปรื่อง

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕


หัวข้อ: Re: ภาษาไทย "ภาษาแห่งการสื่อเสียง"
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, ธันวาคม, 2555, 02:28:43 PM
ต่อครับ...

       "ฉันทลักษณ์" หรือ ที่ต่อไปจากนี้ ผมจะเรียกว่า "แบบแผนการเขียน" เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อเสียงจากผู้เขียนไปยังผู้อ่าน
       แต่อย่างไรก็ตาม แบบแผน ฯ เหล่านี้ ก็ไม่สามารถสื่อถึงลักษณะเสียงของงานกวีได้อย่างครบถ้วน เฉกเช่นกับความรู้ของมนุษย์เรา มีบางอย่างที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือได้ และมีบางอย่างที่ทำได้ยากหรืออาจทำไม่ได้เลย
       ดังนั้น หากเราต้องการจะเขียนงานกวีให้ออกมาไพเราะ เราควรจะพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้หรือสิ่งที่นอกเหนือไปจาก “แบบแผนการเขียน” เหล่านั้นด้วย  ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าอะไรดี ก็เลยขออนุญาตตั้งชื่อขึ้นมาเองว่า “แบบแผนการขับ” ( :014:  :014:  :014: ที่เรียก ฉันทลักษณ์ ว่า แบบแผนการเขียน ก็เพราะอยากให้มันคล้องกันครับ)


       ผมได้ทำการแจกแจงองค์ประกอบต่าง ๆ ของงานกวีไทย ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนการเขียน และแบบแผนการขับ ตามความสามารถที่ผมพอจะทำได้ ดังนี้
      
องค์ประกอบที่เกี่ยวกับแบบแผนการเขียน
๑.   คณะหรือจำนวนเสียง >> จำนวนเสียงในวรรค บาท และ บท
๒.   ความคล้องจองระหว่างเสียง >> สัมผัส, นอก-ใน, สระ-อักษร
๓.   ระดับความสูง-ต่ำของเสียง >> วรรณยุกต์, คำเอก-คำโท (คำตาย ถือ เป็นคำเอก)
๔.   ความยาว-สั้นของเสียง >> ครุ (แปลว่าหนัก แต่จริง ๆ มันคือเสียงยาว) – ลหุ (แปลว่าเบา แต่มันคือเสียงสั้น)

      สำหรับใน ๓ ข้อแรก ผมขอไม่ลงในรายละเอียด แต่จะเกริ่นแนะนำไว้เฉพาะข้อ ๔ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฉันท์
      ครุ คือ เสียงยาว ส่วน ลหุ คือ เสียงสั้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในงานกวีประเภทฉันท์ รูปแบบของเสียงยาว-สั้นที่แตกต่างกันไปของฉันท์แต่ละประเภท จะทำให้ได้งานกวีที่คล้ายกับเสียงกลอง (มาณวก >> ชื่อ ชึ่ ชึ่ ชื่อ ชื่อ ชึ่ ชึ่ ชื่อ; ปมาณิก >> ชึ่ ชื่อ ชึ่ ชื่อ ชึ่ ชื่อ ชึ่ ชื่อ)

      สำหรับแบบแผนการขับ ขอค้างไว้ก่อนนะครับ แล้วครั้งหน้าจะมาเล่าต่อ  :015:  :015:  :015:

ศรีเปรื่อง

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕

ปล.

ขอแก้ไข ข้อ ๔ จาก "ความหนัก-เบาของเสียง" เป็น "ความยาว-สั้นของเสียง" ครับ


หัวข้อ: Re: ภาษาไทย "ภาษาแห่งการสื่อเสียง"
เริ่มหัวข้อโดย: ศรีเปรื่อง ที่ 18, ธันวาคม, 2555, 09:38:53 PM
สำหรับแบบแผนการขับที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ผมเรียบเรียงขึ้นจากสังเกต มิได้อ้างอิงตำราเล่มใด และหากมีข้อบกพร่องประการใด ก็มาแชร์ความรู้กันได้นะครับ

องค์ประกอบด้านแบบแผนการขับ ที่ผมแจกแจงขึ้นมีดังนี้ครับ

๑.   การแบ่งวรรคอ่าน
    โดยทั่วไปแล้ว ในขับกวีจะแบ่งวรรคอ่านประมาณ ๒-๓ เสียง แต่สำหรับงานกวีประเภทฉันท์ที่มีคำลหุต่อเนื่องกันเยอะ ๆ ก็อาจจะมากกว่านั้น

๒.   ลักษณะการให้เสียงและการเอื้อน
    ๑)   เสียงที่ต้นของวรรคอ่าน
        มีความพิเศษสำหรับเสียงที่เป็น อักษรสูง, คำเป็น และไม่มีวรรคยุกต์ (มีองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน) โดยจะให้เสียงเป็นเสียงตรี
        เช่น ถึ๊งหน้าวัง – ดังหนึ่ง – ใจจะขาด
              ส๊ายลม – ปะทะกาย
             (จริง ๆ อักษรสูงไม่มีรูปตรี แต่ที่ใส่ไว้เพื่อสื่อถึงเสียงเท่านั้นครับ)
    ๒)   เสียงที่ท้ายของวรรคอ่าน
        มีความพิเศษสำหรับเสียงที่เป็น อักษรสูง, คำเป็น และไม่มีวรรคยุกต์ (มีองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน) โดยจะให้เสียงโดยไต่ไปที่เสียงตรีแล้วม้วนลงมาหาจัตวา (จริง ๆ รูปสามัญของอักษรสูง จะเป็นเสียงจัตวาอยู่แล้ว) และต้องมีการไล่เสียงขึ้นไปตั้งแต่คำก่อนหน้า เพื่อให้ระดับของเสียงไปรับกันอย่างลงตัว)
        เช่น มุ่งร้าย-และหมายขวัญ
              มะนะมั่น-จะหักจะหาญ
             (สังเกตสีฟ้านะครับ)
             แฮ่ ๆ อธิบายได้เต็มที่แค่นี้ ยังไงลองฟังตัวอย่างใน link นะครับ
            
             ตัวอย่างที่ ๑
             เป็นวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ของครูพรายม่าน ลักษณะเสียงท้ายจะล้อมาจากกลอนสุภาพ
             คือ วรรคที่ ๒ นิยมเสียงจัตวา แต่จริง ๆ ฉันท์ไม่ได้จำกัดเสียงท้ายของแต่ละวรรค
             แต่ที่จะไพเราะก็คือ สามัญ และ จัตวา ครับ

             http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,1081.0.html (http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,1081.0.html)

            ตัวอย่างที่ ๒
             เป็นมาณวกฉันท์ ๘ ของผมเอง มีผิดแผกจากงานประพันธ์ดั้งเดิมอยู่หนึ่งจุด ที่วรรคแรก "นั่ง ณ ลำเรือ"
             ปกติแล้ว สระอำ จะใช้เป็นลหุ เมื่อไม่ใช่คำโดด เช่น อำนวย ชำเลือง (ประกอบกับคำอื่นจึงมีความหมาย)
             แต่ผมแหกกฎ  :014:  
            
             ลองสังเกตท่อน "เอื้อมหัตถา" นะครับ
            
             http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,914.0.html (http://www.homelittlegirl.com/index.php/topic,914.0.html)

    ๓)   การเอื้อน (ผมจะให้ความสำคัญเฉพาะการเอื้อนที่ท้ายของวรรคครับ)
        -   คำเป็นจะเอื้อนยาว ส่วนคำตายจะเอื้อนสั้น
        -   คำที่มีเสียงวรรณยุกต์เอก จะเอื้อนสั้นกว่าวรรณยุกต์อื่น ๆ
        -   การเอื้อนที่ท้ายวรรคใหญ่ หรือ วรรคตามฉันทลักษณ์ จะเอื้อนยาวกว่าวรรคอ่านธรรมดา

๓.   จังหวะในการขับ
    การควบคุมจังหวะในการขับนั้นมีหลักที่ต้องพิจารณา ๒ ประการ คือ
    ๑)   ความสม่ำเสมอ
        แต่ละวรรคขับควรมีความสม่ำเสมอ แต่อาจจะมีเร่งขึ้นหรือช้าลงได้ตามอารมณ์ของเนื้อหา
    ๒)   อารมณ์
        แบ่งออกเป็น
        - อารมณ์ตามเนื้อหา และ
        - อารมณ์ตามประเภทการประพันธ์ เช่น มาณวกฉันท์ เวลาขับจะค่อนข้างเร็วกว่าฉันท์ประเภทอื่น
          เพราะเป็นฉันท์แนวสนุก

ศรีเปรื่อง
๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕


หัวข้อ: Re: ภาษาไทย "ภาษาแห่งการสื่อเสียง"
เริ่มหัวข้อโดย: รินดาวดี ที่ 19, ธันวาคม, 2555, 07:37:59 PM

(http://upic.me/i/1f/atoon45.jpg)