บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม => ข้อความที่เริ่มโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:17:34 PM



หัวข้อ: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:17:34 PM
 
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
(http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
ตอนกำเนิดมงคล

** จะขอกล่าวเรื่องราวอุดมผล
คือ "มงคล" ให้ได้คิดจิตผ่องใส
ครั้งสมัยพุทธกาลนานเหลือใจ
มีเหตุการณ์ยิ่งใหญ่มาถกกัน

** อันคนเราเกิดมาจากที่ไหน
เมื่อตายแล้วจะไปที่ไหนนั่น
ทำอย่างไรจะมีสุขทุกคืนวัน
ต่างมุ่งมั่นพูดจาพาวุ่นวาย

** มีหลายคนจึงมีหลายความคิด
ถูกหรือผิดมีมากหลากความหมาย
เวลาผ่านจึงเกิดขึ้นมากมาย
แต่อรรถาธิบายไม่ได้เลย

** พระพุทธองค์ผู้ทรงตรัสรู้
ประทับอยู่ "เชตวัน" อันผ่าเผย
เทพบุตรทูลถามจึงภิเปรย
ทรงเฉลยเหตุผลจนครบครัน

** พระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างอาจหาญ
มีสามสิบแปดประการไม่แปรผัน
สาธุชนจงรับฟังดังจำนรรจ์      
ตั้งใจมั่นปฏิบัติด้วยศรัทธา

** รีบจูงมือย่างย่องจองที่นั่ง
จะได้ฟังให้กระจ่างอย่างหรรษา
โปรดสดับรับรู้ความเป็นมา
จะได้เกิดปัญญาเป็นขั้นตอน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:22:52 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑ การไม่คบคนพาล
(อเสวนา จ พาลานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** มงคลที่หนึ่งไม่พึงคบคนพาล
มีสันดานหยาบช้าพาทอดถอน
ทำความชั่วเรื่อยไปไม่อาทร
หลีกให้ไกลไว้ก่อนจะปลอดภัย

** การคบคือไปมาเพื่อหาสู่
อีกทั้งอยู่พึ่งพาและอาศัย
มีความรักต่อกันมั่นฤทัย
เมื่อจากกันอาลัยใฝ่คำนึง

** ลักษณะคนพาลสันดานชั่ว
เห็นแก่ตัวมัวเมาด้วยโกรธขึ้ง
อีกโลภมากอยากได้ให้ตราตรึง
ความลุ่มหลงมากจึงใฝ่อบาย

** การพูดจาโน้มเอียงข้างต่ำทราม
มีพูดจาหยาบหยามไร้ความหมาย
ทั้งโกหกหลอกลวงไม่เสื่อมคลาย
อีกเพ้อเจ้องมงายล้วนไม่ดี

** ด้วยสาเหตุภัยเกิดจากคนพาล
ถูกกิเลสเผาผลาญสิ้นศักดิ์ศรี
อุปสรรคมากมายจะเกิดมี
จงหลีกหนีให้ไกลไปโดยเร็ว

** การไม่คบคนพาลสันดานหยาบ
ห่างจากบาปเป็นมงคลพ้นจากเหว
อนาคตสดใสไกลความเลว
ชีวิตไม่แหลกเหลวเป็นมงคล

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทาน เรื่องนกแขกเต้า

** มีนิทานชาดกยกมาเล่า
เรื่องของนกแขกเต้าในไพรสณฑ์
ตัวที่หนึ่งลมพัดจรดล
สู่วังวนโจรไพรใจทมิฬ

** อีกตัวหนึ่งพึงตกหมู่ฤๅษี
ถูกสั่งสอนให้ดีไม่ใจหิน
แตกต่างกันที่คนดังยลยิน
จะดีเลวเพราะเคยชินคบกันมา

** วันหนึ่งเจ้าผู้ครองพระนคร
เสด็จจรประพาสไพรพฤกษา
ทรงล่าเนื้อหลงไปในพนา
จนเหนื่อยล้าเข้าพักใต้ร่มไทร

** ลมเอื่อยเอื่อยพัดมาพาให้ง่วง
ใบไม้ร่วงดังเสียงกล่อมให้หลับใหล
หลับตาลงจินตนาพาไปไกล
ไม่เท่าใดเริ่มเลือนรางย่างนิทรา

** เป็นดินแดนที่นกอยู่กับโจร
ใจหยาบโลนยิ่งนักร้ายหนักหนา
เจ้านกน้อยเมื่อเห็นจอมพารา
ด้วยสันดานนกป่าเหมือนโจรไพร

** จึงพูดว่าต้องฆ่าเอาทรัพย์สิน
ตื่นบรรทมได้ยินไม่ไถล
เสด็จหนีโดยพลันในทันใด
ให้ห่างไกลนกพาลสันดานทราม

** ได้พบนกที่อยู่กับนักบวช
อย่างเร็วรวดต้อนรับมิหยาบหยาม
มีสัมมาคารวะแสนงดงาม
พระราชาชื่นชมความเป็นนกดี

** นกทั้งสองพี่น้องท้องเดียวกัน
แต่แตกต่างเพราะผูกพันคนละที่
นกที่อยู่กับโจรมีราคี
นกที่อยู่กับฤๅษีมีน้ำใจ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:25:28 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒ การคบบัณฑิต
(ปณฺฑิตานัญฺ จ เสวนา  เอตมงฺคลมุตฺตมํ)

 ** ผู้ที่ทำประโยชน์ให้บังเกิด
แสนประเสริฐนักหนาพาผ่องใส
ทั้งประโยชน์โลกนี้หรือโลกใด
เป็น "บัณฑิต" ยิ่งใหญ่ในโลกา

** "การรู้จักประโยชน์ในชาตินี้"
ดูแลทรัพย์บรรดามีไร้ปัญหา
รักษาเกียรติ เงินทองที่ได้มา
เป็นคนดีมีค่าต่อสังคม

** "การรู้จักประโยชน์ในชาติหน้า"
มีศรัทธาเลื่อมใสไม่ขื่นขม
อีกจาคะจะพาให้รื่นรมย์
และสั่งสมพูนเพิ่มเสริมปัญญา

** ขั้นสุดท้ายทำจิตให้ผ่องใส
รู้จักหลีกให้ไกลเหตุปัญหา
รู้สภาพความจริงอนิจจา
เมื่อเกิดมาตั้งอยู่แล้วดับไป

** บัณฑิตย่อมแนะนำให้ทำดี
และบอกชี้แนวทางสวรรค์ให้
ทั้งแนะนำทุกสิ่งด้วยจริงใจ
ทำสิ่งใดคิดดูรู้อุบาย

** การคบกับบัณฑิตย่อมมีผล
จะห่างพ้นความชั่วสมดังหมาย
คบบัณฑิตย่อมสดใสทั้งใจกาย
จะเกิดสุขมากมายทุกข์ไม่มี

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องประโยชน์ของการคบมิตร

** ในอดีตกาลที่ผ่านมา
สมเด็จพระศาสดาเปล่งรัศมี
ทรงปรารภเรื่องมิตรจิตอารี
จึงทรงมีพระธรรมเทศนา

** พระราชอุทยานในกาลนั้น
ต่างก็มีสุขสันต์ชื่นหรรษา
โพธิสัตว์บังเกิดเป็นเทวดา
ประจำกอหญ้าคาในอุทยาน

** ได้เป็นมิตรเทวราชผู้ใหญ่ยิ่ง
ซึ่งพักพิงไม้มงคลมหาศาล
เกิดอาเพสมีเหตุพิสดาร
เสาปราสาทราชฐานไหวขึ้นมา

** ทรงรับสั่งให้ช่างรีบปรับเปลี่ยน
พวกนายช่างต่างเพียรเที่ยวเสาะหา
เมื่อพบไม้มงคลจึงหมายตา
ขออนุญาตพระราชาเพื่อจัดการ

** ทรงอนุมัติตามขอไม่รอช้า
เทวราชถึงคราน่าสงสาร
กอดคอลูกร้องไห้แทบวายปราณ
ใครหนอจะกล้าหาญมาช่วยเรา

** โพธิสัตว์บอกว่าข้าจะช่วย
ไม่ต้องตัดไม้ด้วยอย่าโศกเศร้า
ถึงเวลาฝ่ายช่างไม่ดูเบา
จึงรีบเข้าไปตัดในทันที

** โพธิสัตว์แปลงร่างเป็นกิ้งก่า
วิ่งนำหน้าเร็วไวอย่างด่วนจี๋
เข้าไปในต้นไม้โดยทันที
เปรียบประหนึ่งว่ามีโพรงข้างใน

** ฝ่ายนายช่างต่างเห็นเหตุการณ์นั้น
จึงพากันยกเลิกตัดต้นใหม่
เทวราชจึงอยู่สืบต่อไป
กล่าวสรรญสริญด้วยใจที่ช่วยตน

** บุคคลที่เสมอกันหรือสูงกว่า
ควรคบหาเอาไว้ไม่หมองหม่น
แม้ต่ำกว่าก็คบได้ไม่อับจน
มิตรทุกคนมีน้ำใจมากไมตรี

** คบมิตรดีล้วนมีแต่ความสุข
ห่างจากทุกข์ใดใดไม่หมองศรี
คบบัณฑิตปิดนรกชั่วชีวี
หนุนให้มีความสุขทุกคืนวัน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:27:30 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓  การบูชาผู้ที่ควรบูชา
(ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** บูชาคือยกย่องและกราบไหว้
เชิดชูไว้ด้วยศรัทธาพาสุขสันต์
มีการมอบสิ่งของสารพัน
นับถือกันด้วยใจใฝ่สิ่งดี

** การบูชามีอยู่สองชนิด
จงได้คิดใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่
หนึ่งบูชาด้วยสิ่งของที่ตนมี
เรียกสิ่งนี้ว่า “อามิสบูชา”

** สองปฏิบัติคุณธรรมที่พร่ำสอน
ละนิวรณ์สำรวมอินทรีย์ห้า
ละความโลภโกรธหลงไม่นำพา
เป็น “ปฎิบัติบูชา” ด้วยจิตใจ

** ผู้ที่ควรยกย่องและนับถือ
นั่นก็คือพุทธองค์ทรงเป็นใหญ่
อีกพระธรรมพระสงฆ์ก่อนใครใคร
เหนืออื่นใดมารดาบิดาเรา

** ทั้งครูบาอาจารย์ท่านสอนสั่ง
สร้างความหวังกำจัดความโง่เขลา
ต้องนับถือบูชาอย่าดูเบา
ขีวิตเราก้าวหน้าหาใดปาน

** ผลที่เกิดจากการกระทำนี้
จะมั่งมีโภคทรัพย์นับไพศาล
เกียรติยศเกิดขึ้นดังบันดาล
มีความสุขทุกวันวารไร้โรคา

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องนายสุมนะมาลาการ

** ในสมัยพุทธกาลกล่าวขานไว้
เป็นตัวอย่างเพื่อให้ได้ศึกษา
ขอเชิญชวนทุกท่านผู้ศรัทธา
ล้อมวงมาฟังกันขอบรรยาย

** ณ กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ
ซึ่งงามงดโสภางค์อย่างเหลือหลาย
มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย
กระทาชายสุมนะมาลาการ

** ทำหน้าที่เป็นผู้จัดดอกไม้
เพื่อมอบให้พระเจ้าพิมพิสาร
ทำอย่างนี้ติดต่อมาเนิ่นนาน
พระราชทานเงินทองของตอบแทน

** จนวันหนึ่งได้พบพระพุทธองค์
พร้อมพระสงฆ์สาวกอีกเนืองแน่น
เกิดศรัทธาเลื่อมใสไม่คลอนแคลน
หมายวังแดนสวรรค์อันรื่นรมย์

** จึงถวายดอกไม้ให้เป็นทาน
เริ่มด้วยการแบ่งส่วนอย่างเหมาะสม
สองกำแรกโยนขึ้นไปตามลม
น่าชื่นชมได้กลายเป็นเพดาน

** สถิตอยู่เบื้องบนพระศาสดา
อีกสองกำต่อมาก็ประสาน
อยู่เบื้องหลังดูแลงามตระการ
ช่างเป็นเหตุพิสดารเกิดขึ้นมา

** ครั้งที่สามปรากฏอยู่เบื้องซ้าย
ครั้งที่สี่ก็ย้ายมาเบื้องขวา
มวลดอกไม้ลอยตามดูงามตา
เหล่าประชาโห่ร้องก้องกังวาล

** สุมนะปลื้มปิติเป็นที่ยิ่ง
ยอมทุกสิ่งแม้จะถูกประหาร
เพราะไม่มีดอกไม้ให้ภูบาล
หมือนดังวันวานและทุกวัน

** จึงเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าเหนือหัว
ไม่เกรงกลัวแม้ภัยใหญ่มหันต์
รีบกราบทูลให้ทราบมิช้าพลัน
บังคมคัลพร้อมรับกับอาญา

** พระราชาจึงตรัสว่า “สาธุ”
จงบรรลุสิ่งพึงปรารถนา
แล้วมอบเงินทองของนานา
ทั้งช้างม้าวัวควายให้เขาไป

** การบูชาผู้ที่ควรบูชา
ย่อมได้มาซึ่งสินทรัพย์นับไม่ไหว
และย่อมเกิดความสุขเหนืออื่นใด
ทำให้ใจหายขุ่นมัวชั่วนิรันดร์

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:31:01 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๔  การอยู่ในประเทศที่สมควร
(ปฏิรูปเทสวาโส จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** สถานที่คนดีอาศัยอยู่
คนทุกผู้ย่อมมีความสุขสันต์
สะดวกการทำกินเป็นสำคัญ
ปลอดภัยจากภยันอันตราย

** มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตจิตผ่องใส
ย่อมทำให้รื่นรมย์สมใจหมาย
การเดินทางไปมาก็สบาย
ไม่วุ่นวายเป็น “ประเทศที่สมควร”

** อานิสงส์เกิดแก่เราทั้งหลาย
มีมากมายย้อนถึงคำนึงหวน
ประสบแต่ความสุขทุกกระบวน
ทั้งกายใจก็ล้วนสงบลง

** ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์ญาติธรรมะ
รู้จักละกิเลสเหตุความหลง
ตั้งมั่นในคุณธรรมดังจำนง
สืบเผ่าพงศ์ความดีที่ยงยืน

** อีกโพยภัยทั้งหลายไม่กรายกล้ำ
มีความสุขเลิศล้ำกว่าที่อื่น
การทำมาหากินทุกวันคืน
จะราบรื่นสวัสดีมีโชคชัย

** การที่อยู่ในถิ่นอันเหมาะสม
จะอุดมทรัพย์สินถิ่นอาศัย
ทั้งเจริญก้าวหน้าไปตามวัย
ชื่นฤทัยสมหวังทั้งใจกาย

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง พระโมคคัลลานะ   พระสารีบุตร

** เมื่อสมัยพุทธกาลแสนนานนัก
สองเพื่อนรักสาบานเป็นสหาย
ให้สัญญารักกันจนวันตาย
เกิดเบื่อหน่ายกามคุณวุ่นโลกีย์

** คนที่หนึ่งคือโมคคัลลานะ
อุตสาหะดิ้นรนพ้นวิถี
อีกคนหนึ่งสารีบุตรชายชาตรี
อยากหลีกลี้หนีทุกข์ให้สุดไกล

** จับมือกันเป็นศิษย์สญชัยเฒ่า
ตั้งใจเฝ้าศึกษาหาสิ่งใหม่
ได้เรียนจบหลักสูตรในเร็วไว
เจ้าสำนักตั้งให้เป็นอาจารย์

** คอยสั่งสอนรุ่นน้องให้ท่องบ่น
และฝึกฝนวิชาพาอาจหาญ
ไม่สมปรารถนาที่ต้องการ
อยากพบพานผู้รู้โมกขธรรม์

** จึงขอลาอาจารย์ออกเสาะหา
ให้สัจจะวาจาไม่แปรผัน
แม้นใครพบผู้รู้จะบอกกัน
เป็นพันธะผูกพันตลอดไป

** ครั้นวันหนึ่งสารีบุตรสุดโชคดี
พบสมณะผู้มีกายผ่องใส
คือพระอัสสชิมิใช่ใคร
เป็นหนึ่งในกลุ่มปัญจวัคคีย์

** จึงเข้าไปสนทนาวิสาสะ
เพื่อศึกษาธรรมะพระชินศรี
จึงนิมนต์ให้แสดงธรรมวาที
จงเอื้อนเอ่ยวจีเป็นสำเนา

** พระอัสสชิบอกว่าตัวข้านี้
ผู้บวชใหม่ยังมีความโง่เขลา
พระบรมศาสดาครูของเรา
จะสั่งสอนให้เจ้าได้เข้าใจ

 ** สารีบุตรนมัสการกล่าวขานว่า
ขอจงโปรดเมตตาจะได้ไหม
บอกข้อธรรมเบื้องต้นเป็นสายใย
พอทำให้ก่อเกิดภูมิปัญญา

** อัสสชิภิกษุพระผู้น้อย
จึงเอ่ยถ้อยกล่าวไปไม่กังขา
อันว่าธรรมเหล่าใดย่อมไหลมา
มีตัณหาเป็นเหตุเกิดเภทภัย

** ผลของมันย่อมทำให้เกิดทุกข์
ไร้ความสุขโศกาอย่าสงสัย
ละตัณหาสิ้นทุกข์สุขฤทัย
มีโชคชัยไร้กิเลสเหตุเกิดพลัน

** สารีบุตรปล่อยใจใฝ่ธรรมะ
จิตลดละอกุศลผลเกินฝัน
จนที่สุดบรรลุโสดาบัน
ในวันนั้นด้วยธรรมองค์สัมมา

** รีบกลับไปแจ้งข่าวแก่เพื่อนรัก
แล้วชวนชักสญชัยเพื่อไปหา
กราบบังคมสมเด็จพระศาสดา
แต่สญชัยบอกว่าไม่เป็นไร

** สองสหายเข้าเฝ้าจอมโมลี
ได้ขอบวชทันทีมิหวั่นไหว
เพียรบำเพ็ญกัมมัฏฐานฝึกจิตใจ
ครั้นที่สุดก็ได้บรรลุธรรม

** สารีบุตรนั้นเลิศทางปัญญา
โมคคัลลาเลิศทางฤทธิ์จิตคมขำ
เป็นอัครสาวกองค์ผู้นำ
เพราะได้ทำคุณงามสร้างความดี

** ทั้งสองท่านประสบความสำเร็จ
ประหนึ่งเพชรส่องประกายฉายแสงสี
เป็นเพราะประเทศนั้นบังเกิดมี
พุทธศาสน์เป็นที่หลอมศรัทธา

** อันการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม
เป็นอุดมมงคลดีหนักหนา
ประดุจดังวิมานเทพเทวา
มีความสุขทุกทิพาราตรีกาล

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:33:34 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๕  การทำบุญไว้ในกาลก่อน
(ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ปุพเพ จะ กะตะปุญญตา
หมายความว่าสร้างบุญเป็นพื้นฐาน
ได้สั่งสมความดีมี ศีล ทาน
ภาวนา แต่กาลชาติก่อนมา

** คนที่เคยทำบุญชาติก่อนนั้น
เรียกสั้นสั้นคนมีวาสนา
มีผิวพรรณงดงามทั่วกายา
เสียงไพเราะดังนกการะเวกดง

** มีจิตใจสะอาดและสงบ
ใครได้พบจะพากันลุ่มหลง
ในคุณงามความดีที่มั่นคง
เจตน์จำนงละความชั่วตัวโสมม

** การสั่งสมบุญไว้ในการก่อน
ผลจะย้อนให้มีแต่สุขสม
ไม่มีทุกข์โรคภัยให้โศกตรม
โลกทั้งโลกน่าชื่นชมงดงามตา

** ในชาตินี้จงสร้างแต่กุศล
เพื่อเป็นผลตามไปในชาติหน้า
ละความโลภโกรธหลงไม่นำพา
อีกความชั่วนานาหลีกให้ไกล

** นี่คือผลของบุญที่สร้างไว้
ในชาติก่อนก่อนได้มาเกิดใหม่
นับตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป
เรื่องใดใดปล่อยวางอย่างจริงจัง

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องควาญช้างได้เป็นพระมหากษัตริย์

** อดีตกาลผ่านมาเวลาผ่าน
แสนเนิ่นนานขอกล่าวเล่าความหลัง
เรื่องเกิดที่พาราณสีนครัง
นิทานังได้ฤกษ์เริ่มเบิกโรง

** ชายคนหนึ่งอาชีพตัดฟืนขาย
สุขสบายแม้จะไม่โอ่โถง
เป็นอาชีพสุจริตไม่คิดโกง
รับรองโปร่งไม่มีที่นอกใน

** ณ วันหนึ่งจึงออกไปในป่า
หวังจะตัดไม้มาไม่เหลวไหล
นำไปขายทำกินในถิ่นไพร
เพื่อจะได้ยังชีพเช่นทุกวัน

** ไม่เกียจคร้านซื่อตรงต่อหน้าที่
เป็นคนมีมานะและขยัน
ตื่นแต่เช้าเข้าป่ามิช้าพลัน
นิจนิรันดร์สุขใจไม่อาทร

** ตัดไม้เพลินเกินเวลากว่าจะกลับ
ตะวันลับขอบฟ้าพาสังหรณ์
ถ้าประตูเมืองปิดคงร้าวรอน
จึงรีบจรกลับมายังหน้าเมือง

** ถึงเวลานายประตูรู้หน้าที่
จึงรีบปิดทันทีใช่ทำเขื่อง
ปฏิบัติตามกติกาอย่าขุ่นเคือง
ไม่ใช่เรื่องเสแสร้งหรือแกล้งใคร

** คนตัดฟืนมาถึงจึงได้รู้
ว่าประตูเพิ่งปิดไปใหม่ใหม่
ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจ
ไม่เป็นไรจะนอนนอกกำแพง

** ครั้นใกล้รุ่งสะดุ้งเพราะเสียงไก่
เถียงกันสนั่นไหวอวดกำแหง
อันสาเหตุทะเลาะกันรุนแรง
ไก่ตัวบนผิดสำแดงถ่ายลงมา

** ให้บังเอิญถูกหัวไก่ตัวล่าง
ความบาดหมางจึงวิ่งเข้ามาหา
เกิดโอ้อวดเถียงกันจำนรรจา
ต่างก็ว่าตัวเก่งไม่เกรงกัน

** ไก่ตัวล่างบอกว่าตัวข้านี้
มีของดีประเสริฐเกินเสกสรร
อันเนื้อข้ามีคุณนับอนันต์
ใครได้กินมีเงินพันในทันใด

** ไก่ตัวบนบอกว่าข้าแน่กว่า
ใครได้กินตัวข้าจะสดใส
เป็นพระมหากษัตริย์ในเร็วไว
เป็นมเหสีหรือไม่เป็นขุนคลัง

** คนตัดฟืนได้ฟังไม่รอช้า
รีบลุกมาพร้อมกับมีความหวัง
เป็นราชาที่เข้มแข็งมีพลัง
ได้ครอบครองเวียงวังอันโอฬาร

** จึงจับไก่ตัวบนเอามาฆ่า
นำไปให้ภรรยาทำอาหาร
เล่าเรื่องราวที่เกิดแก่นงคราญ
เยาวมาลย์จะได้เป็นยอดนารี

** เมื่อเสร็จแล้วจึงบอกให้ทราบว่า
อาบน้ำก่อนดีกว่าจะเป็นศรี
จงได้นำอาหารเท่าที่มี
ไปยังริมนทีชำระกาย

** ขณะนั้นเกิดมีพายุใหญ่
พัดอาหารลอยไปเกินคาดหมาย
ลอยละล่องในธาราอย่างท้าทาย
คนตัดฟืนเสียดายอดได้กิน

** เป็นเพราะวาสนาสร้างมาน้อย
โชคจึงลอยล่องไปไกลสูญสิ้น
บุญกาลก่อนไม่ได้สร้างจึงโบยบิน
โอ้ชีวินไร้คุณค่าแทบบ้าตาย

** โชคชะตาวาสนาของควาญช้าง
ที่ได้สร้างเอาไว้ไม่สูญหาย
ขณะที่นำช้างเยื้องย่างกราย
ไปริมฝั่งของสายมหานที

** มีถาดไก่ลอยมากลางสายน้ำ
จึงได้จ้ำว่ายน้ำอย่างเร็วรี่
รีบคว้าเอาถาดไก่ไว้ทันที
เป็นโชคดีได้อาหารกลับบ้านตน

**ฝ่ายดาบสอาจารย์ของควาญช้าง
ญาณพิเศษนำทางไม่สับสน
รู้เรื่องราวของไก่เป็นมงคล
จรดลหาควาญช้างอย่างเร็วไว

** นายควาญช้างจึงรีบบอกภรรยา
รีบนำอาหารมาแล้วมอบให้
ฝ่ายดาบสจึงรับอาหารไป
เพื่อจัดการแบ่งให้กับทุกคน

** แบ่งสันในให้แก่นายควาญช้าง
บุญบารมีที่สร้างทางกุศล
จะได้เป็นราชาของหมู่ชน
ภายใต้นพปฏลเศวตทอง

** ฝ่ายภรรยาดาบสให้สันนอก
เพื่อจะบอกชาตินี้ไม่มีหมอง
ได้เป็นมเหสีผู้ครอบครอง
ราชธานีดังปองคู่ราชา

** ส่วนดาบสเลือกเนื้อติดกระดูก
จะพันผูกรับใช้เสน่หา
เป็นเสนาบดีมีศักดา
คู่พระทัยกษัตราครองธานี

** อีกสามวันข้าศึกมาประชิด
รอบทุกทิศของกรุงพาราณสี
จอมกษัตริย์ผู้ซึ่งครองบุรี
จึงได้มีดำรัสสั่งลงมา

** ให้ควาญช้างแต่งตัวเป็นกษัตริย์
อนุมัติให้ออกศึกคึกหนักหนา
พระองค์เองเป็นทหารออกตรวจตรา
โดนธนูยิงมาถึงสิ้นใจ

** ควาญช้างเปลี่ยนอุบายการต่อสู้
เอาชนะศัตรูให้จงได้
นำทรัพย์สินเงินทองจากคลังใน
จะมอบให้แก่ผู้ออกสู้รบ

** ในที่สุดก็ได้ชัยชนะ
แต่นี้จะเกิดมีความสงบ
การกระทำแบบนี้เพิ่งเคยพบ
นายควาญช้างสยบพวกมาเยือน

** ชาวเมืองยกให้เป็นวีรบุรุษ
ยอดมนุษย์เก่งกล้าหาใครเหมือน
จึงสถาปนาไม่แชเชือน
เป็นกษัตริย์เชือดเฉือนด้วยศักดา

** ด้วยผลบุญทำไว้ในปางก่อน
จึงสะท้อนให้มีวาสนา
ดำรงศักดิ์ยิ่งใหญ่ในพารา
ทั้งสามีภรรยาและอาจารย์

** รีบสร้างบุญกันไว้ในชาตินี้
จะได้มีต้นทุนในสงสาร
เกิดชาติใดไม่ทุกข์ทรมาน
สั่งสมบุญบันดาลให้สุขใจ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:36:10 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๖  การตั้งตนไว้ชอบ
(อตฺตสมฺมาปณิธิ  จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** มงคลหกขอยกเอามากล่าว
เป็นเรื่องราวบอกแจ้งแถลงไข
ให้ชาวพุทธได้เรียนรู้คู่กันไป
เพื่อพี่น้องคนไทยผู้ใฝ่บุญ

** การตั้งตนไว้ชอบประกอบด้วย
ความศรัทธาจะช่วยสนับสนุน
อีกบริจาค ความเพียร ล้วนเป็นคุณ
ช่วยค้ำจุนให้ใจไร้ราคี

** ความละอายต่อบาปโปรดทราบว่า
จะนำพาพ้นทุกข์มีสุขศรี
การตั้งตนคือตั้งใจใฝ่ความดี
เป็นสิ่งมีคุณค่าหาใดปาน

** ตั้งใจดีการกระทำก็ล้ำค่า
ไม่เสียทีที่เกิดมาในสงสาร
ตั้งตนชอบมั่นใจในบุญทาน
ละวิตกจิตพาลให้ห่างไกล

** ตั้งจิตผิดย่อมนำเกิดความเสื่อม
เป็นตัวเชื่อมชั่วร้ายให้หวั่นไหว
ตั้งจิตถูกวิธีดีกว่าใคร
จะสดใสก้าวหน้าพารุ่งเรื่อง

** การตั้งตนไว้ชอบประกอบกิจ
รู้ถูกผิดคิดดูจะฟูเฟื่อง
ตั้งตนดีมีค่าจะประเทือง
เกียรติยศลือเลื่องชั่วชีวัน

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องโกสิยะผู้ตระหนี่


** จะขอเล่านิทานในกาลก่อน
เพื่อสะท้อนการทำดีที่สร้างสรรค์
และส่งเสริมละความชั่วอย่าผูกพัน
ใช่จะเพ้อจำนรรจ์เพียงลมลม

** ในกาลนั้นที่กรุงพาราณสี
ท่านเศรษฐียิ่งใหญ่ไม่ขื่นขม
มีทรัพย์สินเงินทองเอกอุดม
น่าชื่นชมจิตใจใสละมุน

** ตั้งโรงทานหกแห่งเพื่อช่วยเหลือ
มีจิตใจเอื้อเฟื้อช่วยเกื้อหนุน
แก่คนจนยากไร้ได้พึ่งบุญ
ต่อชีวิตเป็นทุนก้าวต่อไป

** สี่โรงทานตั้งอยู่ในสี่ทิศ
ใกล้เคียงชิดกับสี่ประตูใหญ่
มีผู้คนมากมายทั้งใกล้ไกล
พวกเขาได้อาศัยในโรงทาน

** อีกแห่งหนึ่งกลางเมืองดูเรืองรุ่ง
คนยากไร้ต่างมุ่งรับอาหาร
อีกหนึ่งแห่งตั้งอยู่หน้าเรือนชาน
พร้อมให้บริการทุกทุกวัน

** การสร้างบุญทำให้จิตผ่องใส
เมื่อตายแล้วจะได้ไปสวรรค์
ท่านเศรษฐีก็เป็นเช่นเดียวกัน
เมื่อตายพลันไปเกิดเป็นพระอินทร์

** ฝ่ายลูกชายก็ได้สละทรัพย์
เช่นเดียวกับเศรษฐีเป็นนิจสิน
ทำจิตใจให้ผ่องใสไร้ราคิน
ละชีวินไปเกิดเป็นพระจันทร์

** ส่วนหลานชายได้รับมรดก
ก็หยิบยกปฏิปทามาสานฝัน
ดำเนินการทุกสิ่งให้เหมือนกัน
ไปตามที่ปู่นั้นท่านทำมา

** ครั้นสุดท้ายถึงกาลสิ้นชีวิต
ไปสถิตเทวโลกโชคหนักหนา
ชื่อพระอาทิตย์ผู้ทรงมหิทธา
เพราะบุญญาที่สร้างอย่างถาวร

** อีกหลายรุ่นผ่านไปไม่เปลี่ยนผัน
คงยึดมั่นในทานไม่ถ่ายถอน
จนกระทั่งคนสุดท้ายก็คลายคลอน
ยกเลิกสิ่งเก่าก่อนแม้โรงทาน

** โกสิยะเป็นคนที่ตระหนี่
ไม่เคยมีเมตตาและสงสาร
คิดว่าคนรุ่นเก่าโง่ดักดาน
การให้ทานสิ้นเปลืองเลิกเสียที

** การเป็นอยู่ของเขาช่างแสนเข็ญ
ทำตัวเป็นยากไร้ให้เสื่อมศรี
ใช้เสื้อผ้าเก่าเก่าคลุมกายี
การเป็นอยู่เหลือที่น่าเวทนา

** บริโภคปลายข้าวเช้าเที่ยงค่ำ
ชีวิตแสนชอกช้ำเพราะบาปหนา
เนื่องจากความตระหนี่เกินอัตรา
จึงได้พาให้คิดผิดทำนอง

** เช้าวันหนึ่งโกสิยะจะเข้าเฝ้า
เหนือหัวเจ้าพาราณสีเพื่อสนอง
นโยบายต่าง ๆ ดังใจปอง
เพื่อรับใช้ผู้ครองราชธานี

** จึงแวะหาเศรษฐีเพื่อนผู้น้อง
ซึ่งเป็นคู่ปรองดองไม่หน่ายหนี
เขาทานข้าวปายาสอยู่พอดี
ได้ชวนชี้โกสิยะทานด้วยกัน

** ความอยากทานบังเกิดอย่างจับจิต
แต่นิ่งคิดเกรงกลัวจนตัวสั่น
เราจะต้องตอบแทนเขาสักวัน
ความเสียดายเกินขั้นจะพรรณนา

** กลับถึงบ้านความอยากก็มากขึ้น
ต้องนั่งกลืนน้ำลายให้โหยหา
กลัวจะเสียทรัพย์สินจึงรอรา
จนกายาผ่ายผอมสุดตรอมตรม

** อาการไข้ได้ป่วยก็กำเริบ
เพราะอยากเปิบข้าวปายาสไม่สุขสม
จะนั่งนอนโศกเศร้าเร้าระทม
ภรรยาคู่ภิรมย์คอยปลอบใจ

** สอบถามว่าต้องการสิ่งใดหรือ
จะปรนปรือจัดให้อย่างยิ่งใหญ่
อันทรัพย์สินเรามีออกถมไป
ถ้าอยากได้จะรีบจัดหามา

** โกสิยะจึงแจ้งให้เมียรู้
เรื่องที่ข้าคิดอยู่และปรารถนา
อยากกินข้าวปายาสเพียงสักครา
ภรรยารีบตอบว่าตกลง

** ถ้าอย่างนั้นจะสั่งคนรับใช้
ให้เตรียมของเอาไว้ไม่ลืมหลง
พรุ่งนี้จะได้หุงอย่างมั่นคง
เจตน์จำนงให้ทุกคนได้รับทาน

** ท่านเศรษฐีบอกว่าไม่จำเป็น
มันสิ้นเปลืองเห็นเห็นจะร้าวฉาน
มีแต่เราไม่เปลืองงบประมาณ
คนในบ้านเขาคงไม่อดตาย

** ภรรยากล่าวว่าถ้าอย่างนั้น
ท่านกับฉันสองคนคงสมหมาย
หุงข้าวปายาสกินอย่างสบาย
ไม่มีใครวุ่นวายกับสองเรา

** โกสิยะว่าเจ้าไม่อยากกิน
ทำมากก็สูญสิ้นเสียเปล่าเปล่า
ข้าคนเดียวไม่มากพอทำเนา
ขอให้เจ้าจงได้รีบจัดการ

** เราจะไปหุงกันที่ในป่า
จะไม่มีใครมาช่วยล้างผลาญ
ทำให้เราเจ็บใจและร้าวราน
ข้าจะได้รับประทานอย่างสุขใจ

** ร้อนถึงบรรพบุรุษในชั้นสรวง
เขาทั้งปวงปรึกษากันจะแก้ไข
ความตระหนี่ถี่เหนียวโดยเร็วไว
มิฉะนั้นสิ้นใจลงอบาย

** เนรมิตกายามาเป็นพราหมณ์
ที่อุตส่าห์พยายามด้วยกระหาย
หวังส่วนแบ่งข้าวปายาสเพื่อเลี้ยงกาย
จึงทุรนทุรายมาขอกิน

** โกสิยะเสียดายไม่อยากให้
ปฏิเสธไม่ได้ดังถวิล
จำต้องยอมแบ่งให้ใจรวยริน
ต้องสูญสิ้นบางส่วนชวนเสียดาย

** แต่น่าแปลกประหลาดคาดไม่ถึง
อาหารพึงไม่พร่องหรือสลาย
โกสิยะรู้สึกหิวอย่างมากมาย
จึงมุ่งหมายรีบตักอาหารกิน

** ปัญจะสิขะเทพผู้เป็นพ่อ
ไม่รีรอแปลงร่างอย่างใจหิน
เป็นสุนัขฉี่ใส่ในหม้อดิน
โกสิยะเลยสิ้นโอกาสทาน

** จึงลุกขึ้นวิ่งไล่เจ้าสุนัข
เพราะความแค้นสุดจักจะสมาน
หวังจะตีให้เข็ดไปอีกนาน
สุนัขพาลกลายร่างเป็นพาชี

** แล้วกลับมาแสดงความดุร้าย
มุงหน้าหมายมาไล่ท่านเศรษฐี
ให้หันหลังวิ่งไปในทันที
เพราะกลัวมีอันตรายมาใกล้ตน

** พราหมณ์ทั้งห้าแสดงตัวตามฐานะ
กลับกลายเป็นเทวะใจกุศล
สั่งสอนให้ก้าวพ้นความอับจน
เป็นมงคลทำให้สุขสำราญ

** พรรณนาถึงผลความตระหนี่
ทำให้มีแต่ทุกข์ในสงสาร
จงทำดีเลื่อมใสในผลทาน
เทวโลกสถานอันพึงไป

** โกสิยะเข้าใจในคำสอน
กราบขอพรเริ่มต้นชีวิตใหม่
สร้างโรงทานสานฝันอันเกรียงไกร
ตามบรรพบุรุษน้อยใหญ่ได้ทำมา

** เมื่อละโลกไปเกิดในวิมาน
สุขสราญรมย์รื่นชื่นหรรษา
การตั้งตนไว้ชอบย่อมนำพา
ให้ชีวิตสูงค่าสุขสบาย

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:38:16 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๗ ความเป็นพหูสูต
(พหุสจฺจญฺ  จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “พาหุสัจจะ”  แปลว่าพหูสูต
ขอโอกาสได้พูดเพื่อขยาย
ให้ท่านผู้ใฝ่รู้อีกมากมาย
ได้ฟังคำบรรยายพอเข้าใจ

** พหูสุตคือการศึกษามาก
ซึ่งเกิดจากรับฟังสิ่งใหม่ใหม่
ทั้งค้นคว้าเรียนรู้ทั่วทั่วไป
อีกทั้งใฝ่สัมมนาฝึกอบรม

** พยายามท่องจำทุกคำสอน
จนจำได้ทุกตอนอย่างเหมาะสม
นำไปใช้พัฒนาทางอารมณ์
เลี้ยงชีวิตให้อุดมและสมบูรณ์

** จะตั้งในความดีความถูกต้อง
ตามครรลองกุศลผลไม่สูญ
เพราะละเว้นความชั่วตัวอาดูร
จึงเพิ่มพูนศรัทธาบารมี

** พึงเป็นที่เคารพสักการะ
ใช้ธรรมะส่องใจใฝ่ศักดิ์ศรี
มีความรู้ใช้ความรู้เพื่อชีวี
เป็นวิถีนำทางสร้างสังคม

** นำความรู้ที่ร่ำเรียนเพียรศึกษา
สร้างปัญญาให้เกิดเป็นประถม
ชีวิตไม่ลำเค็ญเป็นมัธยม
ส่วนอุดมมีสุขทุกข์ห่างไกล

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องเสนกะบัณฑิต

** ขอย้อนกล่าวถึงพระโพธิสัตว์
ครั้งเสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ใหญ่
ชื่อว่า “เสนกะ” ผ่องอำไพ
เรียนรู้จากแดนไกลตักสิลา

** รับราชการที่กรุงพาราณสี
ทำหน้าที่อนุศาสน์ไขปัญหา
ได้ขยายอรรถธรรมแก่ราชา
บรรยายธรรมแก่บรรดาเหล่าปวงชน

** มีพราหมณ์แก่ขอทานเลี้ยงชีวิต
หากินสุจริตไม่หมองหม่น
เดินขอไปในย่านของผู้คน
ได้เงินมาเหลือล้นเกินรำพัน

** จึงหวนกลับเคหาเคยอาศัย
แสนอาลัยหนักหนาพาไหวหวั่น
ต้องจากไปขอทานเสียนานครัน
เพื่อครอบครัวสุขสันต์ทุกวันวาร

** ระหว่างทางแวะเข้าใต้ต้นไม้
เพื่อจะได้หยุดพักทานอาหาร
หยิบข้าวตังออกมารับประทาน
แล้วลนลานรีบออกไปล้างมือ

** จนทำให้เขาลืมปิดปากถุง
จิตใจมุ่งติดถึงบ้านประสาซื่อ
งูพิษร้ายได้กลิ่นหอมกระพือ
เป้าหมายคือถุงผ้าของขอทาน

** ฝ่ายพราหมณ์แก่กลับมาไม่ได้คิด
จึงรีบปิดถุงผ้ากลับถิ่นฐาน
ทันใดนั้นมีเสียงก้องกังวาน
เพื่อบอกให้ขอทานระวังตัว

** ถ้าวันนี้หยุดพักระหว่างทาง
ชีพจะต้องวายวางใช่พูดมั่ว
ถ้าถึงบ้านเมียตายอย่างน่ากลัว
ดีหรือชั่วสร้างไว้ได้แน่นอน

** พราหมณ์แก่ได้ทราบเรื่องเดินร้องไห้
มีใครบ้างช่วยได้ช่วยถ่ายถอน
ให้พ้นจากทุกข์ภัยใจสั่นคลอน
แสนอาวรณ์ต่อชีวิตอนิจจัง

** จนกระทั่งถึงเมืองพาราณสี
เห็นผู้คนมากมีต่างมุ่งหวัง
ได้มุ่งหน้าไปสู่พระราชวัง
เพื่อรับฟังธรรมบรรยายให้สุขใจ

** จึงเดินตามฝูงชนไปห่างห่าง
จะฟังธรรมนำทางจิตผ่องใส
เพื่อบรรเทาความเศร้าที่ภายใน
คิดหาใครมาช่วยคงไม่มี

** เสนกะมองเห็นขอทานแก่
ก็รู้แน่มีทุกข์ไม่สุขี
จึงรีบถามเรื่องราวในทันที
รู้ได้ดีมีเหตุให้ร้อนรน

** เริ่มสอบถามเรื่องราวสาวสาเหตุ
เพื่อสังเกตพื้นฐานไม่สับสน
ที่ในถุงมีข้าวตังใส่ปะปน
เป็นเสบียงยามจนต้องทนเอา

** ขอทานเฒ่ารีบตอบว่าถูกต้อง
เป็นครรลองยามเดินทางที่เงียบเหงา
ทานอาหารหรือไม่จงบอกเรา
ที่ในกลางลำเนาตอนเดินทาง

** จึงบอกว่าได้ทานที่กลางป่า
ใต้พฤกษาต้นใหญ่ยามฟ้าสาง
ก่อนดื่มน้ำล้างมือให้สะอาง
ปิดปากถุงที่เปิดกว้างหรือไม่เอย

** จึงตอบว่าข้านี้ไม่ได้ปิด
เสนกะครุ่นคิดแล้วเฉลย
อสรพิษได้กลิ่นลมรำเพย
หอมจังเลยเลื้อยเข้าถุงข้าวตัง

** ถ้าหากท่านกินอาหารในเย็นนี้
จะต้องสิ้นชีวีตามคาดหวัง
เป็นเพราะถูกงูพิษกัดอย่างจัง
แต่ถ้าถึงเคหังจะรอดตาย

** ภรรยาจะเป็นผู้ถูกงูกัด
เพราะย่อมจัดของในถุงดังมุ่งหมาย
ให้ขอทานวางถุงบนพื้นทราย
ใช้วิธิง่ายง่ายคอยไล่งู

** ใช้ไม้เคาะเบาเบาที่ถุงผ้า
มันจึงเลื้อยออกมาส่งเสียงขู่
แผ่พังพานแล้วร้องดัง ฟู  ฟู
บอกให้รู้เข้ามาข้ากัดจริง

** เมื่อจัดการเรื่องงูสำเร็จแล้ว
ใจขอทานผ่องแผ้วเป็นสุขยิ่ง
เกิดศรัทธาเสนกะไม่ประวิง
มอบทุกสิ่งที่ได้มาบูชาคุณ

** พร้อมทั้งเงินเจ็ดร้อยกหาปณะ
เสนกะไม่ขอรับอย่าเคืองขุ่น
เพิ่มให้อีกสามร้อยเพื่อทำบุญ
ครบหนึ่งพันเป็นทุนให้ขอทาน

** แล้วถามว่ามีใครให้ไปขอ
ไม่รีรอรีบตอบเพื่อไขขาน
ภรรยาโฉมงามแม่นงคราญ
โฉมสราญให้ไปขอพอมีกิน

** เสนกะรู้ว่าเธอยังสาว
จึงได้บอกเรื่องราวดังถวิล
จงเก็บเงินนอกบ้านเป็นอาจิณ
อย่าปล่อยให้ยุพินได้รับรู้

** มิฉะนั้นคู่นอนของโฉมศรี
จะเอาเงินที่มีไม่อดสู
พราหมณ์ขอทานเชื่อฟังคำของครู
เก็บเงินแล้วเดินสู่ประตูเรือน

** ตะโกนเรียกเมียสาวเจ้าอยู่ไหน
มัวแต่ทำอะไรใยเชือดเฉือน
ไม่สนใจผัวเจ้าเฝ้าแช เชือน
ที่ผัวกลับมาเหมือนไม่สนใจ

** ฝ่ายภรรยาเริงร่าอยู่กับชู้
ครั้นพอรู้ผัวมาพาวุ่นใหญ่
จึงบอกชู้จงรีบไปปิดไฟ
แล้วจงรีบหนีไปค่อยย้อนมา

** รีบออกมารับหน้าสามีไว้
แล้วถามไถ่เรื่องเงินที่ไปหา
เงินอยู่ไหนเร็วไวเผยวาจา
จงรีบเอาเงินมาอย่ารอรี

** เฒ่าขอทานกล่าวว่าอยู่ข้างนอก
เอ่ยปากบอกถึงที่ฝังอย่างถ้วนถี่
ฝ่ายชายชู้รีบไปในทันที
ขุดเอาเงินที่มีเป็นของตน

** เช้าขึ้นมาจึงรู้ว่าเงินหาย
แสนเสียดายหนักหนาพาหมองหม่น
จึงไปพบเสนกะในบัดดล
เพื่อจะแจ้งยุบลเรื่องเงินทอง

** เสนกะครั้นรู้เรื่องทั้งหมด
ให้รู้สึกรันทดและหม่นหมอง
จึงได้แจ้งอุบายให้ไปลอง
ตามทำนองคนดีมีปัญญา

** ตามเนื้อหาของอุบายให้เริ่มต้น
เชิญผู้คนทั้งสองฝ่ายให้มาหา
เพื่อกินเลี้ยงทุกวันหนึ่งสัปดาห์
โดยต้องลดอัตราลงมาพลัน

** ฝ่ายละหนึ่งพึงลดงดเชิญต่อ
แล้วจงรอครบเวลาใครขยัน
จะพึงมีหนึ่งคนมาทุกวัน
จงพาคนผู้นั้นมาหาเรา

** ครั้นได้ตัวรีบไปหาเสนกะ
เพื่อชำระความผิดคิดร้ายเขา
ขโมยเงินขอทานพาลมัวเมา
จงนำเอาเงินมาคืนให้ครบพัน

** เสนกะลงโทษกับชายชู้
ตามกระทู้กระบวนความอย่างกวดขัน
คนทำดีได้ดีเป็นรางวัล
คนทำชั่วโทษทัณฑ์ติดตามมา

** คนอ่านมาก  ฟังมาก  ย่อมรู้มาก
เป็นผลจากการตั้งใจใฝ่ศึกษา
คือพื้นฐานอันประเสริฐเกิดปัญญา
วัฒนารุ่งเรืองประเทืองบุญ

** ดังเช่นกับตัวท่านเสนกะ
ใช่ว่าจะมีฤทธามาช่วยหนุน
แต่เป็นเพราะสังเกตเป็นต้นทุน
ช่วยเจือจุนสมมุติฐานการควรเป็น

** นี่คือผู้ที่เป็นพหูสูต
มิใช่คิดและพูดเพียงได้เห็น
ต้องมีเหตุมีผลเกิดประเด็น
พิจารณาจากที่เป็นข้อเท็จจริง

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:40:06 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๘  มีศิลปะ
(สิปฺปญฺ  จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ศิลปะหมายถึงฉลาดทำ
เพื่อน้อมนำเป็นอาชีพที่ใหญ่ยิ่ง
คือนำเอาศิลปะมาอ้างอิง
ทำให้เกิดเป็นสิ่งน่านิยม

** ศิลปะแบ่งออกเป็นสองสถาน
หนึ่งเป็นงานของคฤห้สถ์จัดสั่งสม
คือฉลาดหากินให้อุดม
จนสังคมยอมรับนับว่าดี

** สองเป็นกิจสำหรับบรรพชิต
ที่ต้องคิดสร้างศิลป์ปิ่นศักดิ์ศรี
พระอานนท์คือตัวอย่างปรากฏมี
ออกแบบจีวรเป็นยอดนิยม

** ความเป็นศิลปะย่อเป็นสาม
ซึ่งมีตามคัมภีร์ดีเหมาะสม
คือช่างคิดช่างทำดูขำคม
และช่างพูดรื่นรมย์สุขสมใจ

** มีศิลปะเป็นมงคลอุดมผล
จะเลิศล้นก้าวหน้าพาสดใส
เกิดประโยชน์สามประการเลิศวิไล
ขอกล่าวไว้เป็นเบื้องต้นชนพึงฟัง

** อัตถะประโยชน์ตนและคนอื่น
หิตะยื่นเกื้อกูลพูนความหวัง
สุขะอำนวยสุขเพิ่มพลัง
ให้จิรังยั่งยืนพันหมื่นปี

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องบุรุษง่อยนักดีดก้อนหิน

** อดีตกาลผ่านมาช้านานแล้ว
ณ เมืองแก้วชื่อว่าพาราณสี
บุรุษง่อยคนเก่งและแสนดี
เลี้ยงชีวีด้วยศิลป์ดีดหินกิน

** ทุกทุกเช้าพวกเด็กลูกชาวบ้าน
ได้พาไปสร้างงานดีดก้อนหิน
ให้กระทบใบไม้งามโสภิณ
จะเกิดภาพตามจินตนาพลัน

** เป็นวัวควายช้างม้านานาสัตว์
สาระพัดรูปร่างช่างสร้างสรรค์
คนที่ผ่านไปมาชื่นชมกัน
มอบเงินเป็นรางวัลกำนัลมา

** ครั้นวันหนึ่งกษัตริย์ทรงประพาส
พร้อมอำมาตย์น้อยใหญ่ใจปรารถนา
จะออกไปล่าสัตว์ในพนา
เมื่อผ่านมาได้เห็นเป็นสำคัญ

** เห็นรูปสัตว์ต่างต่างช่างงามนัก
เป็นประจักษ์ศิลปะหฤหรรษ์
เมื่อได้พบชายง่อยค่อยจำนรรจ์
จึงเสกสรรค์ตรัสถามเนื้อความไป

** ปุโรหิตของเราเขาพูดมาก
เราจึงอยากให้ช่วยจะได้ไหม
บุรุษง่อยรีบตอบในทันใด
คงจะพอช่วยได้นะพระองค์

** พระราชาจึงพาคนง่อยเปลี้ย
ไม่ให้เสียเวลาตามประสงค์
ทรงยกเลิกเที่ยวป่าดังจำนง
จึงมุ่งตรงกลับไปยังในวัง

** พระองค์ทรงรับสั่งให้เจาะม่าน
เพื่อให้ชายพิการอยู่ข้างหลัง
มีผ้าม่านเป็นส่วนที่ปิดบัง
จัดที่นั่งปุโรหิตตรงพอดี

** ถึงเวลาราชาประทับนั่ง
ที่เหนือราชบัลลังก์คชสีห์
ปุโรหิตอำมาตย์มุขมนตรี
ต่างกล่าวราชสดุดีองค์ราชัน

** องค์ราชาเริ่มมีพระดำรัส
พระทรงตรัสราชกิจจิตสุขสันต์
ปุโรหิตพูดมากเหมือนทุกวัน
ทุกคนต่างพากันเอือมระอา

** กล่าวฝ่ายชายพิการผู้มีศิลป์
ในการดีดก้อนหินชื่นหรรษา
เมื่อได้รับมูลแพะจากราชา
นั่งหลังม่านบังตาดำเนินการ

** ครั้นท่านปุโรหิตอ้าปากพูด
จึงดีดคูถของแพะดังกล่าวขาน
เป็นศิลปะที่มีความชำนาญ
เข้าในปากของท่านโดยทันที

** ปุโรหิตรู้ตัวนึกอับอาย
ไม่กล้าคายออกมาหน้าเช่นผี
จึงต้องกลืนมูลแพะแต่โดยดี
จนอิ่มท้องเต็มที่สุดพรรณนา

** พระราชาตรัสว่าปุโรหิต
ท่านจงคิดให้ดีด้วยเถิดหนา
เนื่องจากท่านได้เอ่ยเผยวาจา
จนเกินกว่าพอดีที่ควรเป็น

** ในท้องท่านจึงเต็มด้วยมูลแพะ
ขอชี้แนะอย่าทนความทุกข์เข็ญ
จงรีบทำในสิ่งที่จำเป็น
คือดื่มน้ำเย็นเย็นสำรอกมัน

** นับแต่นั้นปุโรหิตสงบเสงี่ยม
รู้จักเจียมกายใจไม่หุนหัน
จะพูดเฉพาะเรื่องที่สำคัญ
ไม่พูดมากเหมือนวันที่ผ่านมา

** พระราชาขอบใจชายพิการ
พระราชทานรางวัลมากนักหนา
มอบหมู่บ้านสี่ตำบลไม่รอรา
ทั้งเงินทองของมีค่านับอนันต์

** อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว
แต่ให้เชี่ยวชาญเห็นเป็นมิ่งขวัญ
ศิลปะเป็นมงคลนิจนิรัดร์
นานกัปกัลป์มีคุณค่ากว่าสิ่งใด

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:41:44 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๙ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว  
(วินโย จ สุสิกฺขิโต เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** อันวินัยย่อมนำให้สูงส่ง
จะมั่นคงในความดีที่ยิ่งใหญ่
สร้างสังคมสุขสันต์ทุกวันไป
ฝึกกายวาจาใจได้อย่างดี

** วินัยนี้แบ่งออกได้เป็นสอง
หนึ่งเป็นของคฤหัสถ์วัตรเป็นศรี
ทั้งศีลห้าศีลแปดบรรดามี
เป็นเครื่องชี้คุณค่าน่าชื่นชม

** สองเป็นศีลสำหรับพระภิกษุ
เพื่อบรรลุความดีที่เหมาะสม
ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ดเพชรแห่งพรหม
เลิศอุดมความดีมีในตน

** ได้ศึกษาเรียนรู้ผู้ละเว้น
ประพฤติเป็นแบบอย่างทางกุศล
เมื่อศึกษาดีแล้วเป็นมงคล
ย่อมจะพ้นหายนะและอบาย

** อานิสงส์พึงมีแสนดีนัก
เป็นที่รักแห่งชนคนทั้งหลาย
เพราะกิริยางดงามอย่างมากมาย
ความไม่ดีมลายสิ้นหายไป

** มีความก้าวหน้าในกุศลธรรม
ไม่เปื้อนกรรมมลทินสิ้นเงื่อนไข
อยู่ร่วมกับสังคมอย่างสุขใจ
ผู้อยู่ในศีลนี้ดีนักเอย

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องนกกระจาบแตกสามัคคี

** จะขอยกนิทานในการก่อน
อุทาหรณ์น้อมนำคำเฉลย
มาเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนเช่นเคย
ติดตามเลยจะรู้ว่าค่าอนันต์

** พุทธองค์ได้ประทับกบิลพัสดุ์
ณ ที่วัดโครธารามงามเกินฝัน
ทรงปรารภพระญาติทะเลาะกัน
จึงเลือกสรรค์นิทานมาแสดง

** ณ กาลนั้นยังมีฝูงกระจาบ
หวังบินคาบหาเหยื่อเสาะแสวง
นับจำนวนหลายพันล้วนแข็งแรง
รวมเป็นแก็งกลุ่มใหญ่ในพนา

** นกหัวหน้าเป็นห่วงจึงบอกกล่าว
ถ้าถึงคราวติดบ่วงของพรานป่า
ให้จงรีบเอาหัวสอดเข้ามา
ที่ในช่องตาข่ายของนายพราน

** แล้วออกแรงบินขึ้นพร้อมพร้อมกัน
เอาตาข่ายไปพันอย่างอาจหาญ
กับต้นไม้ต้นใหญ่ไม่ร้าวราน
แล้วบินผ่านลงต่ำจำเอาไว้

** ถ้าทุกท่านมีวินัยไม่ตายแน่
สามัคคีช่วยแก้วิกฤตได้
จงรักกันช่วยกันด้วยห่วงใย
อันตรายใดใดไม่กล้ำกราย

** ฝ่ายนายพรานดักนกเป็นอาชีพ
จึงได้รีบจัดการวางตาข่าย
เกณฑ์ชะตาของนกไม่ถึงตาย
ปฏิบัติตามนัดหมายจึงปลอดภัย

** แต่อยู่อยู่วันหนึ่งจึงเกิดเหตุ
เป็นอาเพศแล้วหนาพาสงสัย
ความแตกแยกกัดกินสิ้นอาลัย
ถึงสมัยต้องพินาศอนาถครัน

** เหตุเพราะว่าขณะกินอาหาร
มีเหตุการณ์เกิดขึ้นดังอาถรรพ์
นกตังหนึ่งบินโผลงมาพลัน
ไปเหยียบหัวเพื่อนกันไม่เจตนา

** นกถูกเหยียบโวยวายสนั่นทุ่ง
พวกเพื่อนเพื่อนต่างมุ่งเข้ามาหา
แบ่งออกเป็นสองฝ่ายไม่รอรา
ต่างต่อว่าอีกฝ่ายน่าอายจริง

** จึงกลายเป็นน้ำผึ้งเพียงหยดเดียว
มาขับเคี่ยวกันไปในทุกสิ่ง
สามัคคีมลายคลายประวิง
อันวินัยถูกทิ้งไม่ไยดี

** นกหัวหน้าพูดจาคอยเกลี้ยกล่อม
ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอ้างศักดิ์ศรี
นกหัวหน้าเห็นว่าไม่เข้าที
ความพินาศจักมีอย่างแน่นอน

** จึงได้พาสมาชิกที่เป็นกลาง
หลีกหนีห่างออกไปใจทอดถอน
แม้นจากไปมิใช่ไม่อาวรณ์
แสนเร้ารอนจากไปจำใจลา

** ครั้นเวลาผ่านไปไม่นานนัก
นายพรานวางข่ายดักหมู่ปักษา
กระจาบติดตาข่ายดังเจตนา
ของพรานป่าเพื่อนำไปฆ่าแกง

** ฝ่ายกระจาบต่างเถียงกันและกัน
พวกเจ้านั้นเก่งกาจอาจกำแหง
อย่าชักช้านะเจ้ารีบแสดง
จงออกแรงดันตาข่ายให้พ้นไป

** เอาแต่เกี่ยงไม่สนใจในภาระ
ขาดธรรมะสามัคคีนี่ไฉน
ตกเป็นเหยื่อเป็นอาหารของพรานไพร
ขาดอะไรก็ไม่ร้ายเท่าขาดธรรม

** พรานจึงกล่าวคาถาว่าดังนี้
เมื่อเจ้ามีความร่าเริงช่างคมขำ
ก็สามารถดันตาข่ายได้ประจำ
ต่างก็ทำได้ดังใจไม่ร้อนรน

** แต่เมื่อใดที่พวกเจ้าเฝ้าทะเลาะ
เหมือนมีเคราะห์บาปกรรมอกุศล
ต้องเป็นเหยื่อของข้าพาอับจน
ขาดมงคลขาดใจในทันที

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:44:18 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๐ วาจาสุภาษิต  
(สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** สุภาษิต  คือคำพูดที่ดีแล้ว
แสนเพริดแพรวเปรียบตะวันเปล่งรัศมี
ประกอบด้วยลักษณะอันควรมี
เป็นวจีห้าประการสราญใจ

** หนึ่งคำพูดถูกกาลสถานที่
หนึ่งล้วนมีความจริงสิ่งขานไข
หนึ่งสุภาพเอื้อนเอ่ยเผยออกไป
หนึ่งประโยชน์เหนืออื่นใดในวาจา

** หนึ่งเมตตาปราณีมีคุณยิ่ง
พูดความจริงพูดดีมีสง่า
ผู้ที่ฟังชื่นใจเกิดศรัทธา
คือคุณค่าสุภาษิตลองคิดดู

** เอ่ยวาจาพาทีที่ดีนั้น
เมื่อได้ฟังสุขสันต์ไม่หดหู่
ไม่มีภัยและไร้ซึ่งศัตรู
เป็นที่รักเชิดชูของผู้ฟัง

** การเว้นจากวจีทุจริต
ปราศจากพิษแสนดีมีมนต์ขลัง
เป็นวาจาสุภาษิตมากพลัง
ให้ผู้ฟังรักใคร่และชื่นชม

** อันคำพูดแม้เพียงประโยคหนึ่ง
ฟังซาบซึ้งใจสงบไม่ขื่นขม
นับว่ามีคุณค่าน่านิยม
มากกว่าเล่ห์คารมเป็นหมื่นพัน

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องวาทศิลป์สามัคคี

** อดีตกาลผ่านมาพระโพธิสัตว์
ได้อุบัติในตระกูลที่สุขสันต์
เป็นบุตรของเศรษฐีชื่นชีวัน
มีสินทรัพย์อนันต์สุขสบาย

** ครั้นวันหนึ่งจึงออกไปเดินเล่น
เพื่อรับลมเย็นเย็นกับสหาย
อีกสามคนที่รักกันมากมาย
เพื่อผ่อนคลายอารมณ์สมอุรา

** ขณะนั้นนายพรานบรรทุกเนื้อ
มากมายเหลือนำไปใจปรารถนา
เพื่อจะขายให้แก่ชาวพารา
จึงมุ่งหน้าตรงไปภายในเมือง

** สี่สหายเมื่อเห็นนายพรานป่า
จึงหันมาปรึกษาดำเนินเรื่อง
การใช้วาทศิลป์จินต์ประเทือง
ว่าใครจะปราดเปรื่องยิ่งกว่ากัน

** คนที่หนึ่งจึงเดินเข้าไปหา
นายพรานป่าด้วยหวังอย่างแม่นมั่น
แล้วจึงเริ่มเจรจาโดยเร็วพลัน
เฮ้ย ! พรานจงแบ่งปันเนื้อให้เรา

** นายพรานจึงร้องตอบออกไปว่า
ช่างหยาบคายหนักหนานะคนเขลา
เปรียบได้กับพังผืดตามทำเนา
จงรับเอาพังผืดอย่ารีรอ

** คนที่สองลองเอ่ยเผยวจี
นี่แนะ ! พี่จงแบ่งเนื้อนะเราขอ
ไปประกอบอาหารให้เพียงพอ
แก่ครอบครัวเถิดหนอโปรดเห็นใจ

** นายพรานจึงเอ่ยว่าคำว่าพี่
ฟังแล้วไพเราะดีจะมีไหน
ซึ่งเป็นส่วนประกอบมนุษย์ไง
ใช้เรียกขานทั่วไปในสังคม

**  คำพูดท่านเป็นเหมือนส่วนประกอบ
เราจะมอบเนื้อให้ตามเหมาะสม
คือเนื้อส่วนประกอบน่ารื่นรมย์
ตามคารมที่เอ่ยเผยออกมา

** คนที่สามมุ่งหมายได้ร้องขอ
พูดว่าพ่อให้เนื้อบ้างเถิดหนา
ตามที่เห็นสมควรจะกรุณา
โปรดเมตตาเถิดท่านวานแบ่งปัน

** นายพรานจึงพูดว่าคำว่าพ่อ
น่าชื่นใจยิ่งหนออกไหวหวั่น
ได้ยินคำว่าพ่อพอใจครัน
นิจนิรันดร์สุขใจหาใดปาน

** วาจาท่านนั้นเป็นเช่นน้ำใจ
เราจะให้ตอบแทนแสนไพศาล
ได้แก่เนื้อหัวใจใสตระการ
มอบให้ท่านรับไว้ได้อิ่มเอม

** คนสุดท้ายได้แก่โพธิสัตว์
ปฏิบัติด้วยใจอันเกษม
ภารกิจที่นับว่าเป็นเกม
เยื้องงกรายดังหงส์เหมชวนให้มอง

** จึงเอื้อนเอ่ยวาจาว่าเพื่อนเอ๋ย
อย่าช้าเลยโปรดได้ตอบสนอง
ให้เรานี้มีเนื้อเพื่อครอบครอง
เป็นเจ้าของสักนิดจิตเปรมปรีดิ์

** นายพรานฟังวาจาพาขนลุก
มีความสุขเกินคิดจิตผ่องศรี
วาจาโพธิสัตว์ฟังเข้าที
เอ่ยวจีกล่าวคาถาช่างน่าฟัง

** บ้านใดไม่มีเพื่อนเหมือนกับป่า
อันวาจาท่านนี้มีความหวัง
เปรียบได้เหมือนสมบัติทั้งเวียงวัง
โปรดจงฟังนะสหายให้หมดเลย

** อันเนื้อที่มีอยู่เราให้ท่าน
เพื่อนำกลับไปบ้านอย่างเปิดเผย
จงไปยังบ้านข้าอย่าละเลย
รีบขึ้นเกวียนเพื่อนเอ๋ยไปด้วยกัน

** เมื่อถึงแล้วโพธิสัตว์จึงจัดการ
พานายพรานไปบ้านของเขานั่น
พร้อมทั้งบุตรธิดามิช้าพลัน
อาศัยอยู่ด้วยกันทุกวันมา

** แล้วจึงให้ละเลิกการฆ่าสัตว์
สร้างแต่บุญเป็นวัตรดีหนักหนา
เกื้อกูลกันและกันมั่นสัญญา
ความเป็นเพื่อนเหนือกว่าจะบรรยาย

** ทั้งหมดนี้ที่เล่ากล่าวมานั้น
เพื่อที่จะยืนยันด้วยมุ่งหมาย
ว่าวาจาสุภาษิตดีมากมาย
ท่านทั้งหลายลองคิดดูจะรู้ดี

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:46:01 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๑ การบำรุงมารดาบิดา    
(มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** อันมารดาบิดามีคุณมาก
สุดแสนยากจะบรรยายให้ถ้วนถี่
เขาเรียกว่าผู้เป็นบุพการี
จะกี่เดือนกี่ปีมิเปลี่ยนแปลง

** ชีวิตนี้พลีอุทิศให้ลูกรัก
แม้เหนื่อยนักก็ไม่บ่นหรือหน่ายแหนง
รักลูกดั่งดวงใจไม่เคลือบแคลง
บริสุทธิ์ดุจแสงแห่งดวงเดือน

** พุทธองค์ทรงยกย่องคุณแม่พ่อ
ผู้เกิดก่อดวงชีวาหาใดเหมือน
เป็นหนึ่งในทิศหกยกมาเตือน
อย่าลืมเลือนเทิดพระคุณบุญบารมี

** ปุรัตถิมาทิส  ได้แก่ทิศเบื้องหน้า
คือมารดาบิดาผู้เป็นศรี
ผู้เป็นแสงส่องทางของชีวี
แม่พ่อนี้คือบุคคลที่สำคัญ

** บุญคุณของแม่พ่อผู้ก่อเกิด
ให้กำเนิดชีวิตคิดรังสรรค์
ท่านเป็นครู  เป็นพรหม  พร้อมพร้อมกัน
อีกทั้งพระอรหันต์สุดยอดคน

** แม่และพ่อประเสริฐเลิศที่สุด
คือมนุษย์ผู้มีใจเป็นกุศล
ทำเพื่อลูกเหน็ดเหนื่อยก็ยอมทน
ไม่ยอมบ่นลูกไร้ทุกข์ก็สุขใจ

** หน้าที่บุตรพึงปฏิบัติต่อพ่อแม่
คอยดูแลไม่หลีกลี้หนีไปไหน
บำรุงท่านให้มีสุขทุกข์ห่างไกล
มีสิ่งใดทำได้ไม่รีรอ

** "ท่านเลี้ยงเราเราต้องเลี้ยงท่านตอบ"
ต้องรอบคอบเอาใจใส่ให้มากหนอ
อุปการะเลี้ยงดูอยู่เคลียคลอ
คอยบำรุงแม่พ่อทุกวี่วัน

** "ช่วยทำกิจของท่าน" ให้ผ่านพ้น
เป็นอุดมมงคลเกินเสกสรร
ท่านมอบหมายกิจใดรีบทำพลัน
เมื่อท่านนั้นเจ็บป่วยช่วยดูแล

** "ดำรงวงศ์สกุล" ตอบแทนท่าน
คอยประสานญาติมิตรชิดกระแส
ทั้งโอบอ้อมเอื้อเฟื้อและเทคแคร์
ญาติพี่น้องที่พ่อแม่เคยแลดู

** "ประพฤติตนเป็นคนควรรับมรดก"
ขอหยิบยกมาขานไขใจต้องสู้
ต้องรอบคอบการได้เสียและฟื้นฟู
นำไปสู่ความเจริญเพลิดเพลินใจ

** "เมื่อท่านล่วงลับทำบุญให้แก่ท่าน"
ทำบุญบริจาคทานส่งไปให้
สร้างสาธารณะสถานมองการไกล
รักษาศีลอุทิศไปตามสมควร

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทานเรื่องนกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่

** ณ หมู่บ้านชื่อว่า “สาลินทิยะ”
เศรษฐีมีภาระทำนาสวน
ได้จ้างให้คนทำตามกระบวน
ถึงเวลาอันควรก็งอกงาม

** ชื่อว่า “โกสิยะ” ทำนาข้าว
ประมาณราวพันไร่ไว้หาบหาม
ข้าวเจริญเติบโตทุกโมงยาม
ท่ามกลางฟ้าสีครามเขียวขจี

** ไม่ไกลจากทุ่งนาเป็นป่าเขา
ภูมิลำเนาของสัตว์เช่นปักษี
นับเป็นที่อาศัยปลอดภัยดี
อีกลิงค่างชะนีมีมากมาย

** อันพระโพธิสัตว์ถือกำเนิด
จุติลงมาเกิดเลิศเหลือหลาย
เป็นพญานกแขกเต้าเพริดพราวพราย
บริวารมากมายหลายร้อยตัว

** พญานกแขกเต้ามีพ่อแม่
ต้องดูแลและเทิดไว้เหนือหัว
มีลูกน้อยกลอยใจไม่หมองมัว
ต้องเลี้ยงดูจนทั่วทุกตัวตน

** คาบรวงข้าวมาฝากแม่และพ่อ
อีกลูกน้อยที่รอไม่หมองหม่น
แม้จะยากจะเหนื่อยก็สู้ทน
จิตใจช่างงามล้นเกินบรรยาย

** ครั้นวันหนึ่งพญานกแขกเต้า
ได้พาเหล่าบริวารสิ้นทั้งหลาย
มุ่งหน้าสู่ท้องนาอย่างสบาย
เพราะมีข้าวมากมายให้จิกกิน

** จึงบินลงที่นาของเศรษฐี
มองเห็นมีอาหารดังถวิล
นับจากนั้นก็มาเป็นอาจิณ
ทั้งจิกกินและคาบเอากลับไป

** คนเฝ้านามองเห็นตะโกนก้อง
ส่งเสียงร้องดังลั่นสนั่นไหว
เพื่อให้นกทั้งสิ้นรีบบินไป
แต่นกไพรไม่หนีดังที่คิด

** ในที่สุดยอมแพ้แก่ฝูงนก
แสนวิตกหนักหนาพาหงุดหงิด
จึงแจ้งแก่เศรษฐีให้พินิจ
แก้เหตุการณ์วิกฤตให้คืนดี

** ฝ่ายเศรษฐีทราบเรื่องขุ่นเคืองยิ่ง
ช่างเจ็บใจจริงจริงไม่สุขี
จึงได้มีคำสั่งในทันที
จงจับนกเหล่านี้มาให้เรา

** ลูกจ้างจึงรีบไปจัดการ
หมู่นกที่คอยผลาญเม็ดข้าวเขา
วางกับดักจับนกเพื่อบรรเทา
ภัยจากนกแขกเต้าเข้ารุกราน

** เป็นวาระโชคร้ายพญานก
เกิดดวงตกก้าวล่วงบ่วงสังหาร
ติดบ่วงดิ้นไม่หลุดสุดทรมาน
เพราะผลกรรมบันดาลให้เป็นไป

** ด้วยภาวะผู้นำจำทนนิ่ง
นึกเกรงกริ่งบริวารจะหวั่นไหว
หากรู้ว่าบัดนี้เกิดอะไร
คงจะบินหนีไปเพราะความกลัว

** จึงปล่อยให้พวกนกกินอาหาร
จนอิ่มหนำสำราญกันถ้วนทั่ว
ต่างพากันสดใสไม่หมองมัว
ให้สัญญาณทุกตัวรู้ถึงภัย

** บรรดานกตกใจรีบบินหนี
อย่างเร็วรี่เพื่อกลับที่อาศัย
พญานกก้มหน้าทอดอาลัย
ห้วงหทัยร้อนเร่าเฝ้ากังวล

** คนเฝ้านามาจับพญานก
เอาขึ้นมาแนบอกแล้วลูบขน
นำไปให้เศรษฐีมิวกวน
ดีใจล้นได้ขจัดเหล่าศัตรู

** โกสิยะจับนกแล้ววางไว้
แล้วจึงได้เอ่ยถามไม่ข่มขู่
มาคุยกันดีดีทดลองดู
เราอยากรู้ตอบได้จะปล่อยไป

** ทำไมหรือเจ้าจึงโลภมากหนอ
กินไม่พอยังคาบเอาไปไหน
หรือมียุ้งเพื่อเก็บตุนเอาไว้
เจ้าจึงได้คาบกลับไปรวงรัง

** พญานกจึงตอบว่าท่านเอ๋ย
ยุ้งข้าวไม่มีเลยตามคาดหวัง
ไม่โลภมากอยากได้เกินกำลัง
โปรดจงฟังเถิดหนอขอสาธยาย

** ประการหนึ่งพึงทราบเพื่อใช้หนี้
ประการสองนั้นมีจุดมุ่งหมาย
ให้เขากู้วันหน้าจะสบาย
ประการสามจะขยายเนื้อนาบุญ

** นำเอาไปฝังไว้เป็นขุมทรัพย์
เพื่อผลลัพธ์เบื้องหน้ามาอุดหนุน
จะมีผลยิ่งใหญ่ได้เจือจุน
นับเป็นการลงทุนที่สุนทร

** โกสิยะบอกว่าไม่เข้าใจ
จงรีบเผยเงื่อนไขอย่าหลอกหลอน
ฟังง่ายง่ายรู้เรื่องขออ้อนวอน
เป็นขั้นตอนว่ามาอย่ารีรอ

** จึงเอื้อนเอ่ยวจีมีความว่า
ท่านเจ้าขาโปรดฟังดังร้องขอ
ท่านผู้ให้กำเนิดได้เกิดก่อ
คือแม่พ่อมีคุณเจือจุนมา

** เวลาผ่านท่านก็แก่ลงมาก
ออกหากินลำบากยากหนักหนา
ต้องเลี้ยงดูตอบแทนตอนชรา
ข้าเรียกว่าใช้หนี้ผู้มีคุณ

** ส่วนลูกน้อยคอยพ่อรออาหาร
ต้องจัดการสรรหามาเกื้อหนุน
นำอาหารไปให้ด้วยการุณ
หวังพึ่งบุญตอนแก่และใกล้ตาย

** ข้าจึงได้เรียกการกระทำนี้
ว่าก่อหนี้มิใช่เรื่องเสียหาย
เป็นเรื่องดีมีคุณอย่างมากมาย
จะสบายได้พึ่งพาคราอ่อนแรง

** ยังมีนกชราและป่วยไข้
ข้าจึงได้เที่ยวไปเสาะแสวง
หาอาหารไปฝากอย่าเคลือบแคลง
เพื่อแสดงน้ำใจและไมตรี

** ได้ชื่อว่าขุมทรัพย์ที่ฝังไว้
หวังจะได้เป็นทุนบุญราศรี
การสั่งสมซึ่งบุญเป็นสิ่งดี
ส่งให้มีความสุขทุกวันคืน

** โกสิยะได้ฟังถึงนั่งอึ้ง
เกิดซาบซึ้งน้ำตาไหลไม่อาจฝืน
นกตัวนี้มีธรรมเป็นจุดยืน
เลี้ยงพ่อแม่และนกอื่นไม่เหมือนใคร

** โกสิยะกล่าวว่าต่อแต่นี้
ข้าวในนาที่มีเรายกให้
ลงมากินและจัดการเอาตามใจ
คาบกลับไปดังปรารถนาและต้องการ

** พญานกกล่าวตอบว่าขอบคุณ
ที่ค้ำจุนช่วยเหลือดังกล่าวขาน
ขอให้ท่านไร้ทุกข์สุขสำราญ
เป็นที่พึ่งอันเบิกบานและรื่นรมย์

** นกแขกเต้าปลอดภัยในครั้งนี้
เป็นเพราะคุณความดีที่สั่งสม
เลี้ยงบิดามารดาน่าชื่นชม
ให้ทุกคนในสังคมพึงสังวรณ์

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:47:43 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๒  การสงเคราะห์บุตร    
(ปุตฺต สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “บุตร” หมายถึงลูกชายและลูกสาว
ผู้ที่ต้องบอกกล่าวและสั่งสอน
คอยสงเคราะห์ดูแลด้วยอาทร
ต้องพร่ำสอนแนะนำให้ทำดี

** ผู้เป็นแม่เป็นพ่อได้ก่อเกิด
ให้กำเนิดบุตรมาพาสุขี
เลี้ยงดูด้วยเมตตาและปราณี
มิให้มีโพยภัยมารบกวน

** อันมารดาบิดามีหน้าที่
ต้องเลี้ยงดูบุตรนี้ให้ทั่วถ้วน
เอาใจใส่ดูแลไม่แปรปรวน
คอยชักชวนให้ลูกดีมีศีลธรรม

** ประการหนึ่ง "พึงห้ามทำความชั่ว"
ให้หมองมัวคึกคะนองจนถลำ
คบเพื่อนชั่วมัวหมองต้องระกำ
ผิดศีลธรรมเลวร้ายให้ช้ำทรวง

** ประการสอง "สอนให้ทำความดี"
เพื่อได้มีความสุขสันต์อันใหญ่หลวง
รู้จักบาปรู้จักบุญคุณทั้งปวง
ไม่ก้าวล่วงความชั่วมั่วอบาย

** ประการสาม "ให้ศึกษาศิลปะ"
มุมานะเรียนรู้สู่จุดหมาย
ตามสมควรแก่วัยไม่เสื่อมคลาย
ตอนสุดท้ายจักได้เลี้ยงดูตน

** ประการสี่ "หาคู่ครองที่ดีให้"
เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมอุดมผล
สืบสกุลและเผ่าพันธุ์มั่นกมล
ดำรงตนดำรงศักดิ์รักตระกูล

** ประการห้า "มอบมรดกและทรัพย์สิน"
ให้มีกินมีใช้ไม่หายสูญ
เป็นต้นทุนเริ่มต้นพ้นอาดูร
ได้เพิ่มพูนสินทรัพย์นับอนันต์

** การสงเคราะบุตรจัดเป็นมงคล
แสนเลิศล้นจะมีแต่สุขสันต์
ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ดีพลัน
บุตรธิดาพากันเฝ้าชื่นชม

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ตำราเลือกลูกเขย  จาก คหปติชาดก

** อดีตกาลมีนิทานนำมาเล่า
เป็นเรื่องเก่าการเลือกคู่ดูเหมาะสม
จะอยู่ดีกินดีเอกอุดม
แสนสุขสมชื่นใจหาใดปาน

** ครั้งนั้นสมเด็จพระโพธิสัตว์
ได้อุบัติเป็นครูที่เรียกขาน
ว่าทิศาปาโมกข์ชำนาญการ
ผู้เชี่ยวชาญศิลปะวิทยา

** พราหมณ์คนหนึ่งมีลูกสาวสี่ใบเถา
งามเทียบเท่านางสวรรค์ชื่นหรรษา
ชายใดเห็นเป็นต้องถูกชะตา
อยากได้มาสมสู่เป็นคู่ครอง

** ในบรรดาชายหนุ่มที่รุมล้อม
หวังดมดอมเชยชมภิรมย์สอง
พราหมณ์ผู้พ่อจับตาเฝ้าคอยมอง
เลือกคู่เคียงประคองให้ลูกตน

** มีชายหนุ่มสี่คนน่าสนใจ
คุณสมบัติต่างกันไปตามกุศล
เคยทำดีได้ดีมีมงคล
เคยทำชั่วไม่พ้นผลไม่ดี

** คนที่หนึ่งรูปหล่อเป็นยิ่งนัก
ช่างน่ารักงามสง่ามีราศี
ทั้งกิริยาวาจาก็เข้าที
เอ่ยวจีอรรถรสปรากฏไกล

** คนที่สองผ่านโลกมาหลายฝน
อายุพ้นวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่
สัมผัสสุขและทุกข์ผลัดเปลี่ยนไป
สุดหาใครเป็นคู่ครองอกหมองตรม

** คนที่สามร่ำรวยลูกเศรษฐี
ตระกูลดีเป็นผู้ที่เหมาะสม
เป็นคู่ครองสาวสาวร่วมภิรมย์
คงสุขสมฤดีมิเสื่อมคลาย

** คนที่สี่มีศีลธรรมแสนล้ำเลิศ
ก่อให้เกิดกุศลผลมากหลาย
งามสง่าอำไพทั้งใจกาย
หญิงมากมายหมายจองครองคู่กัน

** พราหมณ์พ่อไม่สามารถเลือกใครได้
เพื่อจะให้ลูกสาวร่วมสร้างฝัน
เป็นเพื่อนคิดคู่ใจไปนานวัน
สายสัมพันธ์มั่นคงยิ่งยืนนาน

** จึงไปหาอาจารย์ท่านปาโมกข์
ผู้เข้าใจเรื่องโลกโชคไพศาล
เริ่มปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญ
เล่าเหตุการณ์ทั้งหลายให้ได้ฟัง

** หลังจากนั้นจึงถามถึงความเห็น
ควรเลือกเฟ้นคนใดจึงสมหวัง
ผู้ที่ควรครองคู่อยู่จีรัง
โปรดแนะนำสักครั้งเป็นพระคุณ

** ฝ่ายพระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า
แม้รูปร่างร่างกายาเป็นส่วนหนุน
ให้ดูดีมีค่ามาเจือจุน
แต่ขาดศีลเป็นทุนก็สิ้นงาม

** ถ้าเป็นเราจะเลือกคนมีศีล
เป็นไทยจีนก็สูงค่าน่าเกรงขาม
กลิ่นของศีลหอมฟุ้งทุกโมงยาม
ไม่ผลีผลามยามเดินและนั่งนอน

** แล้วจึงเอ่ยวจีเป็นคาถา
เจตนาให้ฟังดังคำสอน
รูปสวยตระกูลดีมีคลายคลอน
ถ้ามีศีลถาวรปราศจากภัย

** พราหมณ์ได้ฟังชอบใจไม่รอช้า
รีบกลับคืนเคหาที่อาศัย
ครั้นถึงจึงบอกสี่อรทัย
เรื่องคู่ครองทรามวัยโดยเร็วพลัน

** พราหมณ์จึงยกสี่สาวที่สดใส
ให้คนมีศีลไปด้วยใจมั่น
ต้องอยู่ดีมีสุขชั่วนิรันดร์
ทุกคืนวันก้าวหน้าพาเพลิดเพลิน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:49:29 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๓  การสงเคราะห์ภรรยา (หรือสามี)  
(ทารสฺส สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ภรรยาคือคู่คิดที่ชิดใกล้
คอยดูแลเอาใจไม่ห่างเหิน
จะสุขทุกข์อย่างไรร่วมใจเดิน
พร้อมเผชิญร่วมกันไม่หวั่นเลย

** ส่วนสามีมีหน้าที่พึงบำรุง
คอยผดุงความถูกต้องไม่มองเฉย
ทำหน้าที่ให้ดีจนคุ้นเคย
จะเฉลยไขขานให้ท่านฟัง

** "ด้วยยกย่องนับถือเป็นภรรยา"
ตามโบราณกล่าวมาแต่หนหลัง
โดยให้เกียรติมอบสิทธิ์ไม่ปิดบัง
มอบความรักให้ดังวิญญูชน

** "ไม่ดูหมิ่น" เหยียดหยามประณามด่า
ไม่ดูถูกบ่นว่าพาสับสน
มอบความรักความเมตตาไม่อับจน
การครองเรือนสุขล้นผลเกิดมี

** "ไม่ประพฤตินอกใจ" ให้เดือดร้อน
ไม่ยอกย้อนคบหญิงใหม่ให้บัดสี
ไม่ทำตนนอกใจใฝ่ราคี
มีรักเดียวอุทิศพลีให้แก่เธอ

** "มอบความเป็นใหญ่ให้" ไม่รอรั้ง
เป็นพลังคอยแลดูอยู่เสมอ
มอบทุกสิ่งด้วยใจใฝ่บำเรอ
ยกให้เธอเป็นใหญ่ในบ้านเรือน

** "มอบให้เครื่องแต่งตัว" ด้วยแผ่เผื่อ
คอยช่วยเหลือแนะนำเปรียบดังเพื่อน
เรื่องความสวยจงดูแลอย่าแชเชือน
คอยพร่ำเตือนให้ใส่ใจในความงาม

** ภรรยามีหน้าที่อนุเคราะห์
ให้พอเหมาะกับสามีมิหยาบหยาม
เป็นความดีที่เหมาะสมทุกโมงยาม
ชนทุกนามสรรเสริญเจริญคุณ

** ประการหนึ่ง " จัดการทำงานดี"
ทุกทุกเรื่องที่มีคอยเกื้อหนุน
ทั้งงานครัวงานบ้านและงานบุญ
พร้อมให้ความอบอุ่นแก่ทุกคน

** ประการสอง "ต้องสงเคราะห์คนเคียงข้าง"
เป็นการสร้างน้ำใจไม่หมองหม่น    
เอื้ออารีเผื่อแผ่แก่เหล่าชน  
ไม่พร่ำบ่นญาติพี่น้องของสามี

** ประการสาม " ไม่ประพฤตินอกใจเขา"
ตามทำเนาของศีลห้าทุกวิถี
แม้นทำไปจะถูกด่าว่ากาลี
ทั้งสามีทั้งภรรยาพากันอาย

** ประการสี่ "รักษาทรัพย์ที่ได้มา"
ช่วยดูแลช่วยรักษาอย่าให้หาย
ทำให้เกิดเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ช่วยกันเก็บและใช้จ่ายแบบพอเพียง

** ประการห้า "ต้องขยันทำการงาน"
เพียรประกอบกิจการไม่หลีกเลี่ยง
ร่วมกันทำร่วมกันสร้างอยู่ข้างเคียง
ใจโน้มเอียงน้อมนำไม่ย่ำยี

** ภรรยาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
เป็นพลังหนุนเกื้อให้สุขี
มีความรักมอบให้กันชั่วชีวี
สงเคราะห์ดีบำรุงดีมีต่อกัน

** อนุเคราะห์สามีหรือภรรยา
ดังกล่าวมาทำให้มีสุขสันต์
โภคทรัพย์บริบูรณ์นับอนันต์
ความสัมพันธ์ยืนยาวคู่ดาวเดือน

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทาน เรื่องพญาเนื้อทอง  

** ณ ชายป่ายังมีพญาเนื้อ
ผิวดังทองงามเหลือหาใครเหมือน
มีกวางสาวเนื้อเย็นเป็นขวัญเรือน
อยู่เคียงคู่เป็นเพื่อนที่รู้ใจ

** ครอบครองบริวารราวแปดหมื่น
คอยหยิบยื่นสิ่งดีดีมีมอบให้
รักบริวารเท่ากันทุกตัวไป
มีจิตใจเป็นธรรมไม่ลำเอียง

** ครั้นวันหนึ่งจึงได้พาลูกน้อง
พี่และน้องหากินในถิ่นเสี่ยง
ปากเล็มหญ้าตาจ้องคอยมองเมียง
หูฟังเสียงต่างต่างอย่างจริงจัง

** ด้วยผลกรรมทำไว้ในกาลก่อน
กลับมาย้อนส่งผลดังมนต์ขลัง
กินใบไม้เพลินไปไม่ระวัง
ก้าวสู่ฝั่งวังวนบ่วงนายพราน

** เผลอก้าวเท้าเข้าบ่วงพรานดักไว้
รู้ตัวได้ถึงภัยใจร้าวฉาน
รีบสลัดให้หลุดสุดทรมาน
น่าสงสารเจ็บปวดรวดร้าวกาย

** จึงร้องบอกพวกพ้องทั้งน้องพี่
ที่แห่งนี้มีภัยรีบผันผาย
จงหนีไปให้ไกลก่อนวางวาย
มีความตายรอท่าอย่าช้าพลัน

** อันตัวเราติดบ่วงของพรานแล้ว
ไม่คลาดแคล้วชีวาต้องอาสัญ
เป็นอาหารพรานไพรใจฉกรรจ์
อย่าห่วงฉันรีบหนีไปไวไว

** เหล่าบริวารตกใจไม่ยั้งคิด
ต่างก็รักชีวิตกว่าสิ่งไหน
ไม่คิดหน้าคิดหลังให้ยาวไกล
ทิ้งหัวหน้าเอาไว้เพียงตัวเดียว

** ฝ่ายนางกวางภรรยาบ่ายหน้าหนี
เพื่อรักษาชีวีไม่เฉลียว
ถึงกวางผู้สามีสักนิดเทียว
จึงปล่อยให้เปล่าเปลี่ยวอย่างเดียวดาย

** เมื่อหนีไปนิดหนึ่งพึงสังหรณ์
นึกอาวรณ์ถึงสามีที่เงียบหาย
ไม่ติดตามกันมาหรือว่าตาย
จึงย่างกรายกลับไปใจไม่ดี

** มองเห็นกวางสามีที่ยืนอยู่
จึงได้รู้ไม่ตายให้สุขี
เข้าไปใกล้แล้วเอ่ยเผยวจี
เหตุไฉนหนอพี่จึงไม่ไป

** พญากวางจึงเผยเอ่ยวาจา
อันตัวพี่นี่หนาไปไม่ได้
ขาของพี่ติดบ่วงของพรานไพร
เมื่อเข้าใจอย่าช้าจะอันตราย

** นางกวางน้อยจึงตอบขอบคุณพี่
ตัวน้องนี้ไม่กลัวภัยทั้งหลาย
จะขออยู่ที่นี่กับพี่ชาย
ถ้าต้องตายขอตายไปด้วยกัน

** ไม่ช้านานพรานป่าก็มาถึง
นางกวางจึงเอ่ยถ้อยค่อยเสกสรร
ขอจงได้เมตตาอย่าฆ่าฟัน
โปรดเถอะไว้ชีวันพญากวาง

** ถ้าจะฆ่าโปรดจงฆ่าเราก่อน
ให้ม้วยมรณ์สิ้นใจไม่ขัดขวาง
แล้วค่อยฆ่าสามีให้วายวาง
ชีพอับปางดับไปไม่เสียดาย

** พรานป่าฟังน้ำคำชื่นฉ่ำนัก
เป็นความรักยิ่งใหญ่สมใจหมาย
กล่าววาจาจับใจไม่เสื่อมคลาย
แม้ความตายไม่หวั่นพรั่นพรึงเลย

** ไม่เคยเห็นมีใครในโลกนี้
ยอมสละชีวีหน้าตาเฉย
เพื่อผัวที่ตนรักจักเสบย
จึงได้เอ่ยวาจาน่าชื่นใจ

** พรานป่าชอบจึงตอบวจีว่า
เราไม่ฆ่าเจ้าทั้งสองหยุดร้องไห้
จะปล่อยเจ้าทั้งสองเข้าป่าไป
ขอจงได้สุขสันต์นิรันดร์กาล

** นางกวางป่าจึงตอบขอบคุณมาก
ก่อนลาจากอยากขอจงสงสาร
อย่าทำร้ายสัตว์ป่าให้ร้าวราน
จงหยุดการฆ่าฟันให้บรรลัย

** ก่อนจากไปพญากวางจึงมอบแก้ว
ให้พรานแล้วจึงได้เอ่ยปราศรัย
เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้อภัย
ตลอดอายุขัยจงทำดี

** หมั่นทำทานรักษาศีลภาวนา
มีเมตตาเอื้อเฟื้อเพื่อสุขศรี
จงเอาแก้วที่ให้เลี้ยงชีวี
ทำบุญตามที่มีโอกาสทำ

** ขอลาทีวันนี้ขอลาแล้ว
ทำให้ใจแน่แน่วอย่าถลำ
แล้วตั้งตนตั้งใจมั่นในธรรม
ละเวรกรรมห่างอบายได้สุขเลย

** การสงเคราะห์แก่กันพลันเกิดสุข
ห่างจากทุกข์ดังที่ได้เปิดเผย
เรื่องของกวางทั้งคู่ชื่นชูเชย
ต่างก็ไม่ละเลยความสัมพันธ์

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:51:09 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๔ การงานไม่อากูล  
(อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** การงานไม่คั่งค้างไม่เสียหาย
คือความหมายไม่อากูลเพราะขยัน
เอาความเพียรและปัญญามารวมกัน
เพื่อสร้างสรรค์ให้งานผ่านด้วยดี

** อันสาเหตุทำให้งานคั่งค้าง
มีหลายอย่างขอกล่าวให้ถ้วนถี่
ไม่รู้ค่าเอาเวลามาย่ำยี
ปล่อยโอกาสดีดีให้เสียไป

** ไม่รู้จักการจัดลำดับงาน
ไม่ขยันเกียจคร้านงานน้อยใหญ่
งานที่ควรรีบทำไม่สนใจ
กลับฝักใฝ่อบายมุขเที่ยวซุกซน

** ขาดปัญญาความเพียรเป็นที่ตั้ง
ถือฤกษ์ยามเป็นความหวังต้องหมองหม่น
การงานจึงอากูลพาอับจน
ความทุกข์ทนเข้าครอบครองหมองวิญญา

** ต้องมีอิทธิบาทสี่ประการ
ทั้งหน้าที่การงานจะก้าวหน้า
ความสำเร็จต่างต่างจะตามมา
ขอจงได้ศึกษาจะสำราญ

** อิทธิบาทสี่มีคุณค่าน่าเรียนรู้
บรมครูตรัสไว้เด่นเป็นหลักฐาน
ให้ทุกคนได้ยึดถือเป็นหลักการ
เพื่อการงานพัฒนาก้าวหน้าไกล

** หนึ่ง "ฉันทะ" หมายความว่ามีใจชอบ
จะประกอบกิจการงานน้อยใหญ่
เติมความรักความเชื่อมั่นอันจริงใจ
ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่เกิดมี

** สอง "วิริยะ" คือขยันหมั่นเพียรมาก
จะลำบากสักเพียงใดไม่หน่ายหนี
ตั้งใจสู้ไม่ย่อท้อไม่รอรี
ต้องได้ดีเพราะขยันเป็นมั่นคง

** สาม "จิตตะ" มีมานะเอาใจใส่
ดูแลไปให้ถ้วนทั่วอย่ามัวหลง
มองข้อเสียข้อดีมิพะวง
แล้วบรรจงสร้างงานเบิกบานทรวง

** สี่ "วิมังสา" ตริตรองมองให้ทั่ว
มองดูตัวมองกิจการงานใหญ่หลวง
ใช้ปัญญาพิจารณางานทั้งปวง
จะลุล่วงประสบชัยในเร็ววัน

**คุณธรรมทั้งสี่นี้ดีเลิศ
แสนประเสริฐควรใส่ใจไว้ให้มั่น
จะประสบความสำเร็จนับอนันต์
จงขยันกันเถิดหนาอย่าเฉยเมย

** การงานไม่อากูลพูนสวัสดิ์
ท่านจึงจัดเป็นมงคลดังเฉลย
งานสำเร็จเป็นที่รักน่าชมเชย
พี่น้องเอ๋ยรีบศึกษาอย่าช้าที

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
นิทาน เรื่องการทำงานไม่ถูกขั้นตอน  

** สมัยหนึ่งที่องค์พระศาสดา
เสด็จยังพาราสาวัตถี
ประทับที่เชตวันอันโสภี
แล้วทรงมีดำรัสตรัสเรื่องราว

** ทรงปรารภภิกษุผู้เกียจคร้าน
จึงได้ยกตำนานที่อื้อฉาว
ในกาลก่อนก็เกียจคร้านมานานยาว
โดยบอกกล่าวเป็นนิทานเล่าขานมา

** ในเมืองตักศิลาคราครั้งก่อน
มีผู้สอนศิลปะเก่งหนักหนา
คือทิศาปาโมกข์ยอดวิทยา
ผู้เก่งกล้าวิชาเชี่ยวชำนาญ

** มีลูกศิษย์ประมาณห้าร้อยคน
คอยสั่งสอนฝึกฝนจนแตกฉาน
จนขึ้นชื่อลือชาวิชาการ
ผู้อาจารย์ชื่นสุขทุกทิวา

** ครั้นวันหนึ่งบรรดาสานุศิษย์
จึงได้คิดร่วมใจกันเข้าป่า
เพื่อเก็บผักหักฟืนไม่รอรา
รีบมุ่งหน้าเข้าไพรดังใจปอง

** เมื่อถึงป่าต่างพากันเก็บฟืน
อย่างราบรื่นสดใสไม่หม่นหมอง
ต่างส่งเสียงล้อกันอย่างคะนอง
บ้างก็ร้องเพลงเล่นไม่เป็นภัย

** อีกนายหนึ่งซึ่งเป็นคนเกียจคร้าน
หลบหลีกการทำงานเป็นนิสัย
ในวันนี้ทิ้งเพื่อนไม่อาลัย
อีกสมัยที่แอบหนีไปนอน

** ตกเย็นเพื่อนมัดฟืนขึ้นใสบ่า
ได้เดินมาสะดุดเข้าคิดว่าขอน
สะดุ้งตื่นขึ้นมาพาร้าวรอน
ใจอาวรณ์ไม่มีฟืนยืนเศร้าตรม

** ตะลีตะลานปีนป่ายขึ้นต้นกุ่ม
ดังไฟสุมร้อนเร่าเศร้าขื่นขม
รีบดึงกิ่งมาหักไม่รื่นรมย์
กิ่งกลมกลมดีดตาพาบอดเลย

** ได้กิ่งไม้สดสดมาหน่อยหนึ่ง
แล้วรีบบึ่งกลับสำนักไม่อยู่เฉย
ความเกียจคร้านพาลเสียเหมือนเช่นเคย
จะขอเผยฉากสุดท้ายให้ได้ฟัง

** เย็นวันนั้นอาจารย์ได้รับเชิญ
นับเป็นเหตุบังเอิญแต่หนหลัง
ต้องรีบทานข้าวเช้าเพิ่มพลัง
จึงได้สั่งแม่ครัวฝีมือดี

** พรุ่งนี้เช้าจงรีบทำอาหาร
เราจะต้องรีบทานอย่างด่วนจี๋
ก่อนจะไปประกอบกิจพิธี
เพื่อให้มีมงคลไม่ลนลาน

** ครั้นรุ่งเช้าแม่ครัวรีบก่อไฟ
เพื่อจะได้ประกอบมวลอาหาร
จึงหยิบฟืนที่นำมาเมื่อวาน
ของลูกศิษย์ที่เกียจคร้านไม่รอรา

** ก่ออย่างไรแต่ไฟไม่ยอมติด
เป็นเพราะฟืนทำพิษสร้างปัญหา
เพราะฟืนสดทำให้จนปัญญา
จนเวลาผ่านไปไม่ได้กิน

** ศิษย์ผู้ที่เกียจคร้านในกาลนั้น
คือภิกษุปัจจุบันถูกติฉิน
ว่าเกียจคร้านการงานเป็นอาจิณ
เกิดมลทินงานอากูลอาดูรเกิน

** ต้องขยันอย่าเกียจคร้านงานทั้งหลาย
ได้สบายนับอนันต์ชนสรรเสริญ
จะก้าวหน้าพบแต่ความเจริญ
และเพลิดเพลินอุดมผลเป็นมงคล

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:53:03 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๕  การบริจาคทาน  
(ทานญฺ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ขอเชิญชวนมวลมิตรจิตผ่องใส
มาร่วมมือร่วมใจสร้างกุศล
บริจาคทรัพย์สินส่วนของตน
เป็นมงคลสำคัญหมั่นบำเพ็ญ

** คำว่า “ทาน” นั้นแปลว่าการให้
จำแนกได้ห้าวิธีชี้ให้เห็น
จะขอนำมากล่าวเปิดประเด็น
พอได้เป็นตัวอย่างสร้างความดี

** “อามิสทาน” คือการให้สิ่งของ
เพื่อแบ่งปันพวกพ้องได้สุขี
ทั้งเสื้อผ้าอาหารเท่าที่มี
เพื่อชีวีสุขสันต์ทุกวันคืน

** “ธรรมทาน” คือการให้ธรรมะ
เพื่อลดละกิเลสเหตุสุดฝืน
สร้างคนให้เป็นคนผลยั่งยืน
ให้สิ่งอื่นไม่ประเสริฐเท่าให้ธรรม

** “อภัยทาน” คือการไม่ถือโกรธ
พร้อมยกโทษไม่ติดใจให้ระส่ำ
เมื่ออภัยแล้วปราศจากผลกรรม
อีกยังทำให้ใจแสนเบิกบาน

** “ปัตติทาน” คือการที่แบ่งผล
ส่วนกุศลที่ทำนำประสาน
ให้แก่สรรพสัตว์ในจักรวาล
ได้รื่นเริงสำราญเป็นสุขใจ

** “อนุโมทนาทาน” การชมชื่น
ความดีของผู้อื่นนั้นยิ่งใหญ่
เขาทำดียินดีด้วยตลอดไป
ชื่นชมในความดีที่เขาทำ

** บริจาคทานเป็นมงคลผลล้ำเลิศ
บุญย่อมเกิดพอกพูนไม่ตกต่ำ
ละกิเลสความตระหนี่ที่น้อมนำ
ให้จิตใจถลำสู่อบาย

** กิตติศัพท์ความดีก็เรืองรุ่ง
จะหอมฟุ้งไปไกลดังใจหมาย
เป็นที่รักของคนอย่างมากมาย
โภคทรัพย์ทั้งหลายบังเกิดมี

** บริวารล้อมหน้าและล้อมหลัง
ด้วยพลังบุญญาสง่าศรี
เมื่อถึงคราวละไปจากโลกนี้
สุคติเป็นที่ได้พักพิง

** การให้ด้วยเมตตาและปราณี
เป็นเรื่องที่ทำให้มีสุขยิ่ง
เป็นบ่อเกิดสามัคคีที่ดีจริง
นับเป็นสิ่งประเสริฐเลิศอนันต์

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่องยอดทาน

** สมัยหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
หวังให้ชาวประชามีสุขสันต์
เสด็จมาประทับ ณ เชตวัน
สาวัตถีจอมราชันพระทรงชัย

** ในครั้งนั้นยังมีอุบาสิกา
ชื่อ “นันทมารดา” พิสมัย
ได้ถวายทักษิณาทานมัย
โดยไม่ต้องสงสัยเพราะศรัทธา

** เป็นทานที่ประกอบด้วยองค์หก
จึงได้ยกพระธรรมเทศนา   (เทศนา  อ่านว่า  เทด-สะ-หนา)
แสดงแก่ภิกษุที่ได้มา
ณ ธรรมสภาพร้อมหน้ากัน

** ภิกษุเอ๋ย....จงฟังเราจะกล่าว
ถึงเรื่องราวทักษิณาอย่าไหวหวั่น
แบ่งออกเป็นสองส่วนที่สำคัญ
ส่วนประกอบย่อยนั้นมีหกองค์

**ส่วนประกอบที่หนึ่งคือ “ผู้ให้”
เรียกง่ายง่ายว่า “ทายก” ผู้ประสงค์
จะแบ่งปันส่วนที่มีโดยจำนง
แบ่งเป็นองค์ย่อยย่อยสามประการ

** หนึ่ง “ก่อนให้เป็นผู้ที่จิตใจดี”
เอื้ออารีเมตตามาประสาน
ปราศจากอกุศลคนใจพาล
การทำทานเป็นมงคลผลอุดม

** สอง “ขณะให้มีจิตใจที่เลื่อมใส”
ประกอบไปด้วยศรัทธาอันเหมาะสม
เชื่อมั่นในความดีน่านิยม
เป็นปฐมของการให้ได้ผลบุญ

** สาม “ปลื้มใจในการที่ได้ให้”
กุศลที่ทำไว้ได้อุดหนุน
การสั่งสมความดีย่อมมีคุณ
คอยเจือจุนส่งให้ได้วิมาน

** ส่วนประกอบที่สองคือ “ผู้รับ”
“ปฏิคาหก” เป็นศัพท์ที่เรียกขาน
มีผู้ให้ขาดผู้รับก็ป่วยการ
สองประสานจึงเกิดผลดังใจ

** อันผู้รับนั้นมีสามส่วนย่อย
ดูเหมือนน้อยแต่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่
ลองศึกษากันดูเรื่อยเรื่อยไป
แล้วจะได้รู้ว่าค่ามากมาย

** หนึ่ง “เป็นผู้ปราศจากตัวราคะ”
หรือโลภะตัณหาพาฉิบหาย
ความกำหนัดยินดีในรูปกาย
หรือความหมายกรงขังทางปัญญา

** สอง “เป็นผู้ปราศจากตัวโทสะ”
คือความโกรธมักจะสร้างปัญหา
ทุจริตทั้งใจกายวาจา
ขาดเมตตาการุณและปราณี

** สาม “เป็นผู้ปราศจากตัวโมหะ”
คือความหลงไม่ละพาหมองศรี
ความมัวเมายึดมั่นเป็นราคี
ล้วนไม่ดีมีกิเลสเหตุงมงาย

** ภิกษุเอ๋ย...ทักษิณาที่ว่านี้
ย่อมจะมีคุณค่าดังมุ่งหมาย
มีความสุขสงบทั้งใจกาย
ทั้งผลบุญมากมายเกินประมาณ

** เปรียบดังน้ำในห้วงมหาสมุทร
มันมากสุดที่จะบวกลบคูณหาร
ดุจดังผลของทักษิณาทาน
แม้จักรวาลไม่อาจเปรียบเทียบผลบุญ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 01:55:13 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๖  การประพฤติธรรม  
(ธมฺมจริยา จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

*** มงคลที่สิบหกยกมากล่าว
ถึงเรื่องราวประพฤติธรรมเนื่องนำหนุน
ประพฤติชอบประพฤติดีที่ค้ำจุน
ไม่ว้าวุ่นเศร้าโศกโลกงดงาม

** พัฒนาจิตใจให้สะอาด
บริสุทธิ์ผุดผาดด้วยองค์สาม
ละความโลภโกรธหลงที่คุกคาม
ปฏิบัติตามครรลองของพุทธา

** หนึ่ง “ประพฤติเป็นธรรม” คำสอนสั่ง
มโนตั้งมั่นในพระศาสนา
ปรับตัวเข้าหาธรรมพระศาสดา
ดังคำว่าเข้าถึงธรรมน้อมนำใจ

** สอง “ปฏิบัติตามธรรม” คำสั่งสอน
ของสมเด็จชินวรผู้เป็นใหญ่
เบญจศีลเบญจธรรมย่อมนำไป
บรรดาลให้หลุดพ้นผลแห่งกรรม

** ธรรมจริยาอริยสาวก
ขอหยิบยกมาอ้างช่างคมขำ
เพื่อพุทธศาสนิกได้น้อมนำ
ประพฤติเป็นประจำตามแนวทาง

** ปฏิบัติดีปฏิบัติตรงอย่างคงมั่น
หมั่นกระทำทุกวันไปไม่เหินห่าง
ปฏิบัติควรและเหมาะสมไม่เว้นวาง
คือหนทางของธรรมอันจำรูญ

** ผลของการประพฤติธรรมแสนล้ำเลิศ
สุดประเสริฐทำไว้ไม่เสื่อมสูญ
ย่อมส่งผลความดีทวีคูณ
จะเพิ่มพูบุญญาบารมี

** อันธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติ
เพื่อเหนี่ยวยึดจิตใจไม่หมองศรี
ทั้งเป็นการสร้างสุขเพื่อชีวี
ป้องกันภัยในโลกนี้มาบีฑา

** อีกทำให้ไม่เกิดความประมาท
มีความสุขทุกชาติดังปรารถนา
ผลของการประพฤติธรรมองค์สัมมา
ย่อมนำพาสู่มรรคผลพ้นทุกข์ภัย

** จงหันมาตั้งมั่นในธรรมะ
เลิกลดละอกุศลทุกสมัย
ตั้งมั่นในองค์พระรัตนตรัย
ชนทุกวัยห่างทุกข์สุขเกิดมี

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง ผู้ประเสริฐ

** สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
ไม่หมองเศร้าประทับ ณ สาวัตถี
เชตวันพระวิหารแห่งความดี
สมเด็จพระชินศรีทรงเบิกบาน

** ณ วันหนึ่งคิดจะชำระกาย
เพื่อให้สุขสบายสรงสนาน
จึงชวนพระอานนท์ลงสู่ธาร
บุพพะโกฏฐกะทรงสำราญสบายใจ

** ครั้นสรงเสร็จเสด็จขึ้นสู่ฝั่ง
ด้วยทรงหวังผึ่งกายให้สดใส
มีสายลมพัดผ่านคอยแกว่งไกว
จึงทำให้สดชื่นรื่นกมล

** ขณะนั้นมีพญาคชสาร
ของภูบาลปเสนทิโกศล
จะขึ้นจากท่าน้ำริมฝั่งชล
โกลาหลอื้ออึงเสียงตึงตัง

** เสียงดนตรีประโคมดังสนั่น
เหล่าฝูงชนจ้องกันทั้งสองฝั่ง
ต่างชื่นชมว่าช้างดีมีพลัง
ช่างประเสริฐเสียจังดูงามดี

** ต้องเป็นคชสารที่ดีเลิศ
แสนประเสริฐวิไลในทุกที่
ช่างงามงดสดใสไร้ราคี
น่าศรัทธาเกินที่จะพรรณนา

** พระกาฬุทายีฟังคำขาน
ของชาวบ้านเรื่องช้างยังกังขา
ยกย่องว่าประเสริฐและศรัทธา
จึงกราบทูลพระศาสดาขยายความ

** พระพุทธองค์ทรงตรัสพระวัจนะ
เป็นธรรมะคลายข้องใจในคำถาม
ชนผู้ใดไม่ทำชั่วสิ่งเลวทราม
มีความงามภายนอกและภายใน

** เราจะเรียกผู้นั้นว่าประเสริฐ
ซึ่งล้ำเลิศหนักหนากว่าสิ่งไหน
ละความชั่วทางกายวาจาใจ
ละโลกไปสุคติเป็นที่ปอง

** การประพฤติธรรมนี้นั้นดีแน่
จะมีแต่สุขใจไม่เศร้าหมอง
ทั้งโลกนี้โลกหน้าจะสมปอง
ธรรมคุ้มครองเสวยสุขทุกคืนวัน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:00:20 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๗  การสงเคราะห์ญาติ  
(ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** คำว่า “ญาติ” หมายถึงคนรู้จัก
สายใยรักมักคุ้นการุณมั่น
เช่นพ่อแม่พี่น้องเกี่ยวข้องกัน
หรือสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทใจ

** พึงแบ่งญาติออกเป็นสองชนิด
หนึ่งญาติสายโลหิตที่ชิดใกล้
มีสายเลือดผูกพันกันเอาไว้
ต่างเกี่ยวเนื่องกันไปเป็นตระกูล

** สองเป็นญาติทางธรรมเพราะรู้จัก
ผูกสมัครด้วยใจไม่เสื่อมสูญ
แบ่งย่อยย่อยเป็นสองตามข้อมูล
ต่างเพิ่มพูนเยื่อใยผูกไมตรี

** หนึ่งเกิดจากใกล้ชิดสนิทสนม
ต่างชื่นชมในจิตไม่คิดหนี
เช่นเพื่อนฝูงมากมายที่เรามี
ลักษณะเช่นนี้เป็นญาติกัน

** สองเกี่ยวข้องกับญาติสายโลหิต
ไปผูกมิตรเป็นคู่ตุนาหงัน
ญาติของเขาเป็นญาติเราโดยนัยพลัน
เป็นญาติธรรมจำนรรจ์ดังกล่าวมา

** ญาติเหล่านี้เป็นผู้ต้องสงเคราะห์
ตามที่เหมาะที่ควรไม่กังขา
ยึดสังคหวัตุด้วยเมตตา
เป็นหลักธรรมนำพาให้ชื่นทรวง

** หนึ่งคือ “ทาน” การให้การแบ่งปัน
คอยจัดสรรสิ่งของให้ไม่หวง
เสียสละเพื่อประโยขน์ญาติทั้งปวง
เพื่อก้าวล่วงความทุกข์สุขทันที

** “ปิยวาจา” การพูดที่ไพเราะ
กับญาติแสนเสนาะสมศักดิ์ศรี
ทั้งอ่อนหวานสุภาพอาบไมตรี
ประสงค์ดีเอื้อเฟื้อเหนือสิ่งใด

** “อัตถจริยา” มุ่งประโยชน์
ไร้ซึ่งโทษทุกอย่างช่างสดใส
พร้อมช่วยเหลือเกื้อกูลตลอดไป
ด้วยหัวใจมิตรดีที่ยืนยง

** “สมานัตตตา” แปลว่าวางตัวดี
จนเป็นที่ชื่นชมสมประสงค์
เสมอต้นเสมอปลายอย่างมั่นคง
ช่วยดำรงสังคมให้เจริญ

** อันมงคลของการสงเคราะห์ญาติ
ผลเกินคาดตามมาน่าสรรเสริญ
มีหมู่ญาติมากหน้าพาเพลิดเพลิน
สามัคคีดีเกินในญาติตน

** เป็นที่รักที่พึ่งญาติทั้งหลาย
พัฒนาใจมากมายคลายหมองหม่น
เป็นหลักการปฏิบัติของทุกคน
ความดีคือมงคลผลยืนนาน

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง วิฑูฑภะ

** พุทธองค์ทรงปรารภวิฑูฑภะ
ผู้ประสบหายนะน่าสงสาร
น้ำท่วมตายพร้อมกับบริวาร
ริมฝั่งธาร “อจิรวดี”

** ท้าวเธอเป็นเชื้อสายศากยะ
โอรส “วาสภะ” มเหสี
ในปเสนทิโกศลจอมธานี
แห่งกรุงสาวัตถีบุรีรมย์

** เป็นหลานของพระเจ้ามหานามะ
มารดา “วาสภะ” แสนขื่นขม
เกิดจากนางทาสีเปรียบโคลนตม
ไม่เหมาะสมจะยกย่องให้รองเรือง

** ในสมัยที่เป็นราชโอรส
ได้กำหนดเยี่ยมพระญาติให้ฟูเฟื่อง
กบิลพัสดุ์สว่างไสวไปทั่วเมือง
งามดังคำลือเลื่องระบือไกล

** ครบกำหนดเสด็จกลับสาวัตถี
ทิ้งความหลังไว้ที่บุรีใหญ่
ญาติวงศ์ศากยะสุดทำใจ
ชาติกำเนิดห่างไกลกว่าพวกตน

** ศากยะรับสั่งให้ทาสี
ทำการล้างสถานที่ทุกแห่งหน
ที่โอรสประทับสุดจักทน
เพราะเป็นอัปมงคลกาลีเมือง

** วิฑูฑภะทราบเรื่องสุดเคืองแค้น
ได้เป็นใหญ่ต้องตอบแทนให้รู้เรื่อง
ซึ่งหนี้แค้นที่ทำระคายเคือง
ล้างให้สิ้นลือเลื่องทั่วโลกา

** สิ้นสมัยปเสนทิโกศล
ได้ครองราชย์เป็นมงคลเกินจักหา
รวมพลมหาศาลยกกันมา
กบิลพัสดุ์พาราดังหมายปอง

** ถึงกลางทางได้พบพระศาสดา
เสด็จมาด้วยความหวังจะสนอง
คุณพระญาติตามสมควรแก่ครรลอง
เป็นกิจของผู้ทรงธรรมเขาทำกัน

** จึงยกพัพกลับราชนิเวศน์
อาณาเขตสาวัตถีมิได้พรั่น
เราต้องทำสำเร็จเข้าสักวัน
เก็บเอาความอัดอั้นไว้เต็มทรวง

** วิฑูฑภะยกพลถึงสามครั้ง
แต่ก็ต้องหยุดยั้งพลใหญ่หลวง
พระศาสดาเป็นเหตุเรื่องทั้งปวง
ไม่สามารถลุล่วงปณิธาน

** ครั้งที่สี่พุทธองค์จึงทรงคิด
ตามที่ทรงนิมิตเป็นหลักฐาน
เป็นเพราะกรรมศากยะมาร้าวราน
บุรพกรรมเป็นมารจ้องทำลาย

** ศากยะสร้างกรรมในปางก่อน
เบื่อปลาให้ม้วยมรณ์สิ้นสลาย
ต้องใช้กรรมในชาตินี้ชีวาวาย
ถึงคราวตายเพราะกรรมที่ทำมา

** วิฑูฑภะไม่มีใครขัดขวาง
ได้ยกพลเดินทางดังปรารถนา
ครั้นถึงกบิลพัสดุ์ไม่รอรา
สั่งให้ฆ่าเอาเลือดล้างนคร

** ครั้นหมดแค้นยกพลเดินทางกลับ
เมื่ออาทิตย์จะลับยอดสิงขร
จึงหยุดพักริมฝั่งชลาธร
“อจิรวดี” สาครอย่างสบาย

** ขณะนั้นบังเอิญฝนตกหนัก
น้ำทะลักท่วมป่าน่าใจหาย
วิฑูฑภะและไพร่พลจมน้ำตาย
ชีพวางวายเพราะวิบากผลของกรรม

** พระพุทธองค์ทรงตรัสพระคาถา
ใจความว่าบุคคลย่อมถลำ
สู่ความตายด้วยปัจจัยที่น้อมนำ
เกิดจากการกระทำที่เจตนา

** เจตนาดีทำดีย่อมมีผล
ให้บุคคลได้ดีที่ใฝ่หา
เจนาชั่วทำชั่วตัวอัปรา
ย่อมชักพาสู่ห้วงแห่งโลกันต์

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:02:28 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๘  การงานไม่มีโทษ  
(อนวชฺชานิ กมฺมานิ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** การเกิดมาเป็นมนุษย์สุดแสนยาก
กิจการหลายหลากสร้างความฝัน
ต้องทำงานไม่เบื่อเพื่อชีวัน
แสนสุขสันต์เพราะงานดีมีคนชม

** การงานดีคืองานไม่มีโทษ
เกิดประโยชน์มากมีที่เหมาะสม
เป็นคนดีมีค่าน่านิยม
ไม่เศร้าตรมมีสุขสนุกสบาย

** การงานที่ไม่มีโทษหมายความว่า
ไม่ถูกด่าถูกตำหนิมิเสียหาย
ทั้งทางโลกทางธรรมไม่เสื่อมคลาย
แต่ขวนขวายช่วยเหลือเพื่อเป็นบุญ

** การรักษาซึ่งศีลอุโบสถ
จะงามงดหนักหนามาช่วยหนุน
ปลูกต้นไม้สวนป่าใจการุณ
นับเป็นคุณดีแท้แก่สังคม

** การกระทำเหล่านี้มีประโยชน์
เป็นการงานไม่มีโทษอย่าทับถม
สร้างความดีเอาไว้ไม่ทุกข์ตรม
จะรื่นรมย์สุขสันต์นิรันดร์กาล

** ลักษณะการงานต่อไปนี้
ถ้าหากมีหนีให้ไกลไม่ประสาน
ผิดกฎหมายประเพณีมีมานาน
ลักษณะการงานที่ไม่งาม

** อีกผิดศีลผิดธรรมโปรดจำไว้
หนีให้ไกลเพราะคนเขาเหยียดหยาม
จะต้องถูกกล่าวหาว่าเลวทราม
ถูกประณามหยามเหยียดและเกลียดชัง

** อานิสงส์การงานไม่มีโทษ
ชัชวาลช่วงโชติดังมนต์ขลัง
สี่ประการมีคุณค่ามากพลัง
โปรดจงฟังจดจำคำของครู

** สร้างความสงบร่มเย็นและเป็นสุข
จะพาให้ไร้ทุกข์โลกสวยหรู
พัฒนาสังคมให้น่าดู
ช่วยเชิดชูชีวิตเพราะคิดดี

** ไม่ต้องโทษเพราะเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์
เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์เกษมศรี
ปราศจากราคินสิ้นราคี
ความเดือดร้อนไม่มีมากล้ำกราย

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง พระก็ทำนา

** ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
ได้เสด็จผ่านมาไม่คาดหมาย
ถึงหมู่บ้านกสิพราหมณ์ผู้งมงาย
ตอนเวลาคล้อยบ่ายใกล้สายัณห์

** ขณะนั้นเป็นฤดูการทำนา
ต่างตั้งหน้าตั้งตาขมีขมัน
ปลูกข้าวและดำกล้าแข่งตะวัน
เพื่อจะให้เสร็จทันตามเวลา

** พระพุทธองค์ประทับทอดพระเนตร
กสิพราหมณ์ถือเป็นเหตุไม่กังขา
เอ่ยปากกล่าวต่อว่าองค์สัมมา
ไม่เลื่อมใสไม่ศรัทธาในพระองค์

** พวกข้านี้ไถนาและปลูกข้าว
มายืนยาวด้วยมีจุดประสงค์
เพื่อจะเลี้ยงชีวิตให้ยืนยง
ชีวิตเรามั่นคงเพราะมือตน

** ส่วนพวกท่านเอาแต่เที่ยวเดินขอ
น่าอนาถจริงหนอแสนหมองหม่น
ลองทำนาหว่านดำจำใจทน
คงมีคนชื่นชมสาธุการ

** พระพุทธองค์จึงตรัสกสิเอ๋ย
ฟังนะจะเฉลยเอ่ยไขขาน
เราทำนาเช่นกันทุกวันวาร
ดังที่ท่านแนะนำจำนรรจา

** ท่านนะหรือที่ทำไม่เคยเห็น
อุปกรณ์ซ่อนเร้นอยู่ไหนหนา
ข้าเห็นมีแต่บาตรที่อุ้มมา
สำหรับขอข้าวปลาชาวบ้านกิน

** ขอจงฟังเราก่อนนะกสิ
อย่ามุ่งแต่ตำหนิและติฉิน
ตถาคตทำนาเป็นอาจิณ
ไม่ใช่พูดเล่นลิ้นให้วกวน

** นาเรามีศรัทธาเป็นพืชหลัก
มีความเพียรฟูมฟักเป็นน้ำฝน
มีปัญญาเป็นแอกแทรกซ้อนปน
ส่วนหิริหน้ามลเป็นงอนไถ  (ไถ  เป็นเสียงจัตวา  ห้ามใช้ในวรรคที่ ๔)

** มีสติเป็นผาลคอยไถถาก
มีใจเป็นเชือกลากไม่หวั่นไหว
มีคำสัจคอยดายหญ้าทุกคราไป
กายวาจาห่างไกลเครื่องรัดรึง

** ข้าวซึ่งเกิดจากนาดังว่านี้
มีผลดีชนิดคิดไม่ถึง
ทานแล้วจะสิ้นทุกข์สุขตราตรึง
บริโภคครั้งหนึ่งอิ่มจนตาย

** กสิพราหมณ์ฟังจบเกิดเลื่อมใส
แบ่งอาหารถวายไปดังใจหมาย
พระศาสดาไม่รับแล้วอธิบาย
เพื่อขยายเรื่องราวให้ได้ยิน

** เราไม่สามารถจะรับอาหาร
ที่เป็นทานจากการกล่าววาทศิลป์
ของตัวเองเพราะว่ามีราคิน
ไม่บริสุทธิ์หมดสิ้นความสำคัญ

** กสิพราหมณ์เกิดศรัทธาอย่างยวดยิ่ง
ตั้งใจจริงเลื่อมใสไม่เหหัน
ขอถึงพระรัตนตรัยทุกคืนวัน
และตั้งมั่นในธรรมสร้างกรรมดี

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:04:17 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๑๙  งดเว้นจากการทำบาป  
(อารตี วิรตี ปาปา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** บาปคือเลวหยามช้าพาเศร้าหมอง
ผู้เกี่ยวข้องร้อนรนหม่นหมองศรี
ตายแล้วตกนรกอเวจี
เป็นผู้มีแดนเกิดอันโสมม

** บาปเกิดได้ด้วยวิธีมีอยู่สาม
ขอกล่าวตามบรมครูดูเหมาะสม
ผู้ที่ละบาปได้น่านิยม
จะเป็นที่ชื่นชมของหมู่ชน

** หนึ่ง “กายกรรม“ บาปนั้นเกิดทางกาย
ฆ่าสัตว์ตายด้วยใจอกุศล
การฉ้อโกงลักทรัพย์อัปมงคล
ผิดประเวณีมีผลสู่อบาย

** สอง “วจีกรรม” บาปเกิดทางวาจา
พูดโกหกหยาบช้าชั่วเหลือหลาย
พูดส่อเสียดน่าเกลียดเกินบรรยาย
พูดเหลวไหลน่าเบื่อหน่ายและชิงชัง

** สาม ”มโนกรรม” บาปนั้นเกิดทางใจ
ความโลภมากอยากได้สุดเสียงสั่ง
พยาบาทมุ่งร้ายเป็นกำลัง
ความเห็นผิดไม่อินังเวรกรรมเลย

** การงดเว้นจากบาปที่หยาบช้า
คือการฆ่ากิเลสอย่างเปิดเผย
ความเร่าร้อนจะหมดไปไม่เหมือนเคย
น่านิยมชมเชยในศรัทธา

** สามวิธีที่จะงดเว้นบาป
จงเรียนรู้เพื่อป้องปราบตัวตัณหา
จะได้สุขสมหวังดังเจตนา
สมคุณค่าที่เกิดมาเป็นคน

** “สมาทานวิรัติ” คือรับเอา
มาปฏิบัติไม่มัวเมาเป็นกุศล
เหมือนรับศีลจากพระรักษาตน
ปฏิบัติตัวให้พ้นศีลด่างพร้อย

** “สัมปัตตวิรัติ” การงดเว้น
สิ่งที่เป็นเรื่องบาปแม้นิดหน่อย
ไม่ยินดียินร้ายให้เป็นรอย
แห่งมลทินที่คอยเผาไหม้ไกล

** “สมุทเลขาวิรัติ” ตัดให้ขาด
จากบ่วงบาศแห่งกรรมผู้เป็นใหญ่
หมดกิเลสและตัณหาจะพาไป
ตกนรกหมกไหม้ชั่วกัปกัลป์

** เว้นจากบาปเป็นมงคลผลใหญ่ยิ่ง
คือเรื่องจริงไม่ใช่จะเสกสรร
จะเป็นผู้ห่างไกลบาปนับอนันต์
ไม่ร้อนใจชั่วนิรันดร์อนันตกาล

** อีกเจริญด้วยบุญและกุศล
หลีกหนีพ้นทุคติทุกสถาน  
ที่แสนจะต่ำช้าและสามานย์
เป็นที่ไปของคนพาลยามวายชนม์

** เรื่องสุดท้ายไม่ทำผิดกฎหมาย
เป็นสาเหตุวุ่นวายและหมองหม่น
ไม่ผิดศีลซึ่งจะทำให้อับจน
เกิดมงคลผลกรรมดีที่บำเพ็ญ

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง ฟังธรรมแล้วถูกฆ่า

** จะขอยกเรื่องราวคราวอดีต
มาเขียนขีดเป็นกลอนวอนให้เห็น
ถึงเรื่องราวอุบาสกยกประเด็น
ผู้ตกเป็นเหยื่อกรรมที่ทำมา

** สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงยกเอามหากาลเป็นปัญหา
ทรงปรารภการตายมาพูดจา
ในธรรมสภาตามเป็นจริง

** มหากาลสำเร็จโสดาบัน
ยึดถือสิ่งสำคัญที่ใหญ่ยิ่ง
ทุกวันธัมมัสสวนะไม่ประวิง  (ธัมมัสสวนะ  อ่านว่า ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ)
มีศีลแปดพักพิงก่อนจะตาย

** หมายความว่าถือศีลอุโบสถ
อย่างงามงดไม่ด่างพร้อยเสื่อมสลาย
จะถือมั่นจนกว่าชีวาวาย
อุทิศกายวาจาใจไม่จืดจาง

** ณ เชตวันมหาวิหาร
มหากาลฟังธรรมใกล้รุ่งสาง
รู้สึกปวดเมื่อยตัวทั่วสรรพางค์
จึงเยื้องย่างพักกายใกล้ศาลา

** ในคืนนั้นมีโจรขโมยของ
ที่บ้านช่องเศรษฐีมีเงินหนา
ครั้นเจ้าบ้านรู้ตัวมิรอรา
รีบหนีมาพบกับมหากาล

** เมื่อจวนตัวจึงได้ทิ้งของไว้
ตรงใกล้ใกล้ศาลาพาร้าวฉาน
เจ้าของตามมาทันมิช้านาน
จึงติดว่ามหากาลเป็นขโมย

** จับตัวมาทุบตีด้วยความแค้น
มหากาลเจ็บแสนร้องหวนโหย
จนกระทั่งสิ้นใจไม่โอดโอย
สายลมโชยพลิ้วมาวิญญาณ์จร

** พวกภิกษุมาพบในตอนเช้า
จึงได้นำไปเล่าเป็นอนุสรณ์
มหากาลฟังธรรมจนเร้ารอน
ชีวิตต้องม้วยมรณ์ไม่ควรเลย

** จึงได้กราบทูลพระศาสดา
พระพุทธองค์ได้ตรัสว่าภิกษุเอ๋ย
ในชาตินี้เขาตายไม่เสบย
แต่ชาติก่อนเขาเคยตายสมควร

** ทรงแสดงอดีตมหากาล
ที่มีมายาวนานระลึกหวน
ทรงเริ่มต้นจินตนาคราทบทวน
จัดให้เป็นกระบวนสาธยาย

** อดีตกาลผ่านมาคราครั้งก่อน
จะขอย้อนนำเรื่องมาขยาย
มีพวกโจรดักทำอันตราย
ผู้ไปมาค้าขายปล้นเงินทอง

** มีราชภัฏพระเจ้าพาราณสี
มีหน้าที่รับจ้างคนทั้งผอง
เอาใจใส่ดูแลและคุ้มครอง
รับส่งพ้นเขตของพวกคนร้าย

** “ราชภัฏ” ที่แน่แน่ย่อมแปลว่า
คนของพระราชาเข้าใจง่าย
คือข้าราชการอย่างมงาย
ท่านทั้งหลายจงเข้าใจในเรื่องราว

** ครั้นวันหนึ่งชายหนุ่มเข้ามาหา
ราชภัฏของราชาพร้อมหญิงสาว
ผู้ที่เป็นภรรยาสวยแพรวพราว
ให้ช่วยเหลือสักคราวนำเดินทาง

** ราชภัฏเห็นสาวสวยรวยเสน่ห์
คิดใช้เล่ห์ถ่วงเวลารอฟ้าสาง
ตอนนี้ใกล้ค่ำแล้วปิดระวาง
อันตรายต่างต่างมีมากมาย

** ชายหนุ่มจึงขอร้องต้องรีบเร่ง
ขืนชักชาหวั่นเกรงผิดนัดหมาย
ถ้าไม่ทันจะเกิดความวุ่นวาย
พรรณนาผลร้ายให้เขาฟัง

๕๖๐. ** ราชภัฏยืนกรานไปไม่ได้
ที่พักเราจัดไว้ตั้งหลายหลัง
อีกอาหารอย่างดีมีพลัง
อย่าชิงชังเชิญพักผ่อนก่อนสักคืน

** สองสามีภรรยาน้ำตาไหล
เมื่อคิดไปทุกข์หนักสุดจักฝืน
มองทางไหนอับจบทนกล้ำกลืน
คงไม่มีทางอื่นต้องจำทน

** ในคืนนั้นราชภัฏจัดวางแผน
เพื่อใส่ร้ายแย่งแฟนให้หมองหม่น
นำมณีไปซ่อนทำเล่นกล
ที่เกวียนหนุ่มหน้ามลคนเมียงาม

** แล้วจึงแกล้งโวยวายให้ดังลั่น
เสียงอื้ออึงสนั่นตอนตีสาม
มีขโมยช่วยด้วยช่วยติดตาม
อ้ายคนทรามจงไปจับตัวมัน

** จึงได้สั่งให้คนค้นให้ทั่ว
แล้วจับตัวคนโฉดโหดมหันต์
นำตัวมาแล้วฆ่าอย่าช้าพลัน
โทษฐานมันทำชั่วตัวกาลี

** ขณะนั้นชายหนุ่มเตรียมสิ่งของ
เพราะว่าต้องรีบไปอย่างเร็วรี่
พวกคนงานค้นเกวียนเขาทันที
ก็ได้พบมณีของเจ้านาย

** รีบนำตัวมาพบราชภัฏ
ขอรวบรัดว่าถูกฆ่าน่าใจหาย
ครั้นเวลาราชภัฏถึงคราวตาย
ต้องเวียนว่ายในนรกอเวจี

** นี่คือบุรพกรรมหากาล
จะต้องถูกทรมานเพื่อใช้หนี้
ตายแล้วเกิดเวียนวนจนพันปี
ถูกทุบตีเพื่อใช้กรรมจงนำพา

** พระพุทธองค์ได้ตรัสพระวัจจนะ
เป็นข้อความธรรมะดีหนักหนา
บาปอันตนทำไว้กาลก่อนมา
จะบีฑาให้เดือดร้อนไม่ผ่อนปรน

** ทั้งชาตินี้ชาติไหนไม่ว่างเว้น
จึงสมควรหลีกเร้นอกุศล
ตั้งใจทำความดีมีมงคล
จะช่วยดลให้สุขาสถาพร

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:05:54 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๐  สำรวมจากการดื่มน้ำเมา  
(มชฺชปานา จ สญฺญโม เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “สำรวม” มีความหมายเป็นสองส่วน
สิ่งอันควรเรียนรู้คำครูสอน
หนึ่ง “สำรวมระวัง” ไม่ร้าวรอน
สอง “งดเว้น” เอาไว้ก่อนอย่ารอรี

** ขอยกเป็นตัวอย่างพอได้เห็น
หรือมองเป็นบรรทัดฐานแห่งสักขี
สำรวมการนั่งนอนจะดูดี
งดเว้นในการมีสิ่งเลวทราม

** น้ำเมาคือสุราและเมรัย
เป็นสองนัยฟังให้ดีมีล้นหลาม
ขืนเสพถูกตราหน้าว่าไม่งาม
มีโรคภัยคุกคามเสียเงินทอง

** “สุรา” คือน้ำเมาที่กลั่นแล้ว
เมื่อดื่มไม่ผ่องแผ้วจะเศร้าหมอง
“เมรัย” ยังไม่กลั่นตามครรลอง
เป็นเพียงแค่แช่ดองจนถูกใจ

** ดื่มน้ำเมาไม่ดีมีโทษมาก
ช่างหลายหลากจะชี้แจงแถลงไข
จำแนกมาให้เห็นเป็นดังไฟ
คอยเผาผลาญจนมอดไหม้ทำลายลง

** “เสียทรัพย์” นับอนันต์จากการดื่ม
ต้องเดือดร้อนอย่าลืมถ้ามัวหลง
เงินทองมลายไปไม่มั่นคง
ทุกคนคงเดือดร้อนไม่ผ่อนคลาย

** “ก่อการทะเลาะและวิวาท”
ทั้งอาฆาตบาดหมางไม่รู้หาย
เที่ยวรุกรานเพราะสติถูกทำลาย
อาจฆ่าฟันกันตายเพราะน้ำเมา

**”บังเกิดโรค” โรคามาทำร้าย
อาจถึงตายพิษสุรามาแผดเผา
ต้องอมโรคไม่มีสุขทุกข์ไม่เบา
เพราะความเขลาตกเป็นทาสอนาถจัง

** “ถูกติเตียน” ว่าไม่ดีผีสุรา
จึงขวางหูขวางตาน่าผิดหวัง
ขาดสติดูฮึกเหิมเพิ่มพลัง
เกิดพลาดพลั้งเพราะสุราช่างน่าอาย

** “ไม่รู้จักอาย” ย่อมทำเรื่องอื้อฉาว
ตกเป็นข่าวก็ไม่กลัวล่มสลาย
อาละวาดไม่เกรงอันตราย
ความอับอายหายไปไม่เหลือดี

** “ย่อมบั่นทอนปัญญา” พาอับจน
เสียสติหมองหม่นหมดศักดิ์ศรี
คอยกระทำแต่กรรมชั่วตัวอัปรีย์
ทั้งหมดนี้เพราะสุรามันพาไป

** การสำรวมจากน้ำเมาเป็นมงคล
ไม่หลงตายหลงตนว่ายิ่งใหญ่
มีสติปัญญาดีมิเหมือนใคร
ปิดกั้นความประมาทได้ใจรื่นรมย์

** อีกทรัพย์สินคงอยู่และเพิ่มพูน
ไม่อาดูรด้วยโรคาพาสุขสม
ห่างไกลความเป็นบ้าพาระทม
ความอุดมสมบูรณ์พูนทวี

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง หลานอนาถะบิณฑิกะเศรษฐี

** ได้ยินมาว่าหลานอนาถะ
บิณฑิกะแห่งเมืองสาวัตถี
ผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินแก้วมณี
ทั้งทาสีเงินทองมากนองเนือง

** ได้ทำการผลาญเงินสี่สิบโกฏิ
โดยไม่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดเงินหมดต้องฝืดเคือง
อันสาเหตุสิ้นเปลืองเพราะสุรา

** ในที่สุดกลับมาหาเศรษฐี
ผู้เป็นตาแสนดีเพื่อปรึกษา
มอบเงินพันกหาปณะให้ทันตา
เพื่อทำการขายค้าเลี้ยงชีพตน

** เงินหมดไปเพราะสุราเหมือนคราก่อน
จึงได้ย้อนกลับมาหาอีกหน
อนาถบิณฑิกะเป็นยอดคน
จำใจทนสงเคราะห์เพราะเห็นใจ

** จึงมอบเงินให้อีกหนึ่งวาระ
ห้าร้อยกหาปณะเริ่มต้นใหม่
ด้วยหวังว่าค้าขายได้กำไร
เลี้ยงชีพไปตามประสาพารื่นรมย์

** ได้เงินมาแทนที่จะค้าขาย
กลับแกล้งผลาญทำลายอย่างสาสม
ดื่มแต่เหล้าไม่หยุดสุดระทม
ต้องล่มจมหายนะแสนสามาลย์

** ครั้นเขาเป็นเช่นนี้หลายหลายครั้ง
จึงยับยั้งเยื่อใยไม่สงสาร
คนที่ใจมืดมนอนธกาล
และขับไล่จากบ้านไม่อาลัย

** เขาจึงกลายเป็นคนอนาถา
ต้องไร้ที่พึ่งพาและอาศัย
ไม่มีเพื่อนไร้ญาติขาดเมรัย
ต้องดับดิ้นในวัยไม่สมควร

** พวกชาวเมืองจึงได้ลากเอาศพ
ที่ได้พบไปทิ้งเป็นสัดส่วน
ยังนอกเมืองด้วยใจที่คร่ำครวญ
เมื่อได้หวนนึกถึงเรื่องผ่านมา

** อนาถะบิณฑิกะเศรษฐี
รีบแต่งตัวเร็วรี่เพื่อไปหา
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ที่มหาวิหารเชตวัน

** เมื่อไปถึงจึงได้กราบบังคม
พระบรมโลกนาถผู้สร้างสรรค์
ทรงสั่งสอนหมู่สัตว์นับอนันต์
ให้หลุดพ้นชั่วกัปกัลป์ตลอดไป

** พระพุทธองค์จึงได้เริ่มตรัสถาม
ท่านเศรษฐีเล่าความตามเงื่อนไข
ถึงเรื่องราวหลานชายในทันใด
ว่าทำไมจึงชั่วช้าสารเลว

** พระพุทธองค์ได้ตรัสบุรพกรรม
ที่หลานชายได้ทำตัวแหลกเหลว
จึงต้องละโลกนี้ไปโดยเร็ว
ดังตกเหวกว้างลึกช่วยไม่ทัน

** ในอดีต ณ กรุงพาราณสี
โพธิสัตว์จอมบดีมีสุขสันต์
บังเกิดเป็นเศรษฐีที่โจษจัน
มีเงินมากมายครันพร้อมเพชรทอง

** สืบเนื่องด้วยมีใจเป็นกุศล
สละทรัพย์ของตนไม่หม่นหมอง
บริจาคให้เป็นทานดังใจปอง
เมื่อตายไปได้ครอบครองทิพย์วิมาน

** เกิดเป็นท้าวสักกะเทวราช
ได้เป็นใหญ่มีอำนาจวาสนา
ส่วนลูกชายปลูกปรำดื่มสุรา
แสนสนุกทุกทิวาราตรีกาล

** เพลินกับอบายมุขทุกประเภท
ซึ่งเป็นเหตุให้เสียทรัพย์เกินขับขาน
เงินและทองหมดไปในไม่นาน
ต้องอดอยากร้าวรานไม่มีกิน

** ท้าวสักกะทราบเหตุสมเพชมาก
เสด็จจากดาวดึงส์ซึ่งเป็นถิ่น
ที่อยู่อาศัยมาจนเคยชิน
สู่ยังภาคพื้นดินอันโสภา

** มอบหม้อมหาสมบัติให้แก่ลูก
ด้วยความรักพันผูกมากหนักหนา
จะใช้สอยอะไรไม่นำพา
ขอเพียงจงรักษาไว้ให้ดี

** จงใส่ใจดูแลเท่าชีวิต
และอย่าคิดทำลายให้ป่นปี้
ตราบใดที่หม้ออยู่คู่ชีวี
จะไม่มีอับจนหม่นหมองใจ

** เมื่อสั่งเสร็จได้เสด็จทิพย์สถาน
สถิตยังวิมานอันสดใส
ส่วนลูกชายดื่มสุราเฮฮาไป
เคยเป็นมาอย่างไรไม่เปลี่ยนเลย

** ในวันหนึ่งเมื่อเมาสุรามาก
พร้อมกับเพื่อนหลายหลากไม่อยู่เฉย
นำหม้อมาโยนเล่นแสนเสบย
นิจจาเอ๋ยช่างโชคร้ายให้เกิดเป็น

** รับหม้อพลาดตกดินแตกกระจาย
ขุมทรัพย์ถูกทำลายกลับยากเข็ญ
ต้องขอทานเขากินแสนลำเค็ญ
ชีวิตนี้ช่างยากเย็นเสียจริงจริง

** แล้วก็ถึงอวสานกาลสิ้นสุด
ล้วนแต่ถูกสมมุติขึ้นทุกสิ่ง
เมื่อเกิดขึ้นต้องดับไปไม่ประวิง
ข้ออ้างอิงอนิจจังดังตรัสไว้

** เป็นอันว่าลูกชายท้าวสักกะ
ไม่พ้นภัยมรณะต้องมอดไหม้
ในกองฟอนของกิเลสเหตุแห่งไฟ
ที่เผาผลาญจิตใจให้วอดวาย

** พระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถา
เพื่อฉลองศรัทธาดังมุ่งหมาย
แก่เศรษฐีผู้มีทรัพย์อย่างมากมาย
แบ่งคาถาออกได้สามประการ

** นักเลงเหล้าได้หม้อชื่อกูฏะ
แต่ปราศธรรมะน่าสงสาร
รักษาดีมีสุขทุกวันวาร
ชีวิตจะสำราญเบิกบานหทัย

** เมื่อใดที่เขาเมาและประมาท
ทำหม้อแตกจะถึงฆาตอย่าสงสัย
จะยากไร้ทุกสิ่งยิ่งอาลัย
ไม่ถึงวัยควรตายก็ต้องตาย

** ผู้ประมาทชื่อว่าปัญญาทราม
ย่อมเดือดร้อนทุกยามพาฉิบหาย
ใช้ทรัพย์สินที่ได้มาอย่างท้าทาย
เหมือนคนติดเหล้าทำลายหม้อทิพย์ตน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:07:57 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๑  ความไม่ประมาทในธรรม  
(อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ไม่ตั้งมั่นในธรรมะชื่อประมาท
ชีวิตขาดที่พึ่งจึงหมองหม่น
ธรรมะช่างประเสริฐเลิศมงคล
ไม่ประมาทจะหลุดพ้นจากทุกข์ภัย

** คนประมาทในเหตุสามชนิด
มีชีวิตอนาถอย่าสงสัย
วันคืนผ่านเป็นการทำลายวัย
อายุขัยไร้ค่าอนิจจัง

** หนึ่ง “ไม่ทำเหตุคิดแต่จะเอาผล”
ดูมันช่างพิกลไม่มีหวัง
เช่นคนไม่ทำงานการจีรัง
อยากร่ำรวยเป็นดังคนมีเงิน

** สอง “ทำเหตุเสียแต่จะเอาผลดี”
คงไม่มีผู้ใดจะสรรเสริญ
ทำความชั่วแต่หวังความเจริญ
คนไม่เดินแต่หวังถึงซึ่งปลายทาง

** สาม “ทำเหตุน้อยคอยหวังผลที่มาก”
เห็นจะยากมิใช่จะถากถาง
เปรียบหิ่งห้อยแสงน้อยเพียงเลือนราง
แต่อยากให้แสงสว่างดังจันทรา

** ความประมาทในธรรมย่อมนำทุกข์
ห่างจากสุขเกินใจจะใฝ่หา
ต้องตั้งมั่นในธรรมองค์สัมมา
ชั่วชีวามีแต่สุขทุกข์ไม่มี

** เหตุสำคัญที่ไม่ควรประมาท
เพราะสามารถทำให้ไม่ถ้วนถี่
ความเป็นคนสิ้นไปทุกนาที
อเวจีเป็นที่หมายเมื่อตายไป

** หนึ่ง “ประมาทการเลิกกายทุจริต”
ปล่อยชีวิตลอยล่องต้องหมองไหม้
ละเลยกายสุจริตไม่ใส่ใจ
จะผิดถูกอย่างไรก็ช่างมัน

** สอง “ประมาทเลิกวจีทุจริต”
ช่างเป็นคนสิ้นคิดเกินเสกสรร
ปล่อยวจีสุจริตผ่านไปพลัน
ต้องจาบัลย์โศกเศร้าเฝ้าบั่นทอน

** สาม ”ประมาทเลิกมโนทุจริต”
ในดวงจิตโสมมสุดถ่ายถอน
ละทิ้งมโนสุจริตจิตร้าวรอน
จากกองฟอนต้องไปสู่โลกันต์

** สี่ “ประมาทการเลิกมิจฉาทิฐิ”
มีดำริชั่วโฉดโหดมหันต์
ละสัมมาทิฐิชั่วชีวัน
โทษอนันต์เพราะประมาทขาดคุณธรรม

** ปัจจัยแห่งความประมาทขาดสติ
ซึ่งเป็นเรื่องน่าตำหนิเพราะถลำ
สู่วังวนหนทางที่สร้างกรรม
เพราะได้ทำตัวตนไม่พ้นมาร

** หนึ่ง “เกียจคร้านไม่ใส่ใจ” จะตรวจตรา
ให้รอบคอบทุกเวลาดังกล่าวขาน
คอยปล่อยปละละเลยไม่เอาการ
จึงทำให้การงานต้องพังภินท์

** สอง “ความประพฤติไม่ดี” จึงเสียหาย
ไม่ถูกต้องทำลายทุกสิ่งสิ้น
เดินทางผิดคิดชั่วตัวราคิน
จึงประมาทเป็นอาจิณสิ้นหนทาง

** สาม “ประพฤติย่อหย่อน” ไม่จริงจัง
ทำให้งานต้องพังเกินสะสาง
เกิดเสียหายวายวอดจึงอับปาง
ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย

** สิ่งที่ไม่ควรประมาทปราชญ์ได้กล่าว
จงเรียนรู้เรื่องราวก่อนจะสาย
ปฏิบัติตามมีประโยชน์อย่างมากมาย
โปรดย่างกรายตามมาจะรู้ทัน

** “ไม่ประมาทในเวลา” มีค่านัก
พึงตระหนักรีบเดินตามความฝัน
อย่าปล่อยให้ล่วงไปวันวัน
โดยไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเลย

** “ไม่ประมาทในชีวิต” คิดให้หนัก
จงประจักษ์สัจธรรมอย่าทำเฉย
หนีไม่พ้นความตายนะเพื่อนเอย
อย่าเฉยเมยรีบทำดีมีกำไร

** “ไม่ประมาทในกิจการงาน” ทั้งหลาย
จะทำมาค้าขายหรืองานไหน
มีความรับผิดชอบอย่างจริงใจ
ทุ่มเทเวลาให้อย่างจริงจัง

** “ไม่ประมาทในเรื่องการศึกษา”
ต้องเรียนรู้ค้นคว้าอย่าโอหัง
คอยหมั่นเพียรเพื่อเสริมเพิ่มพลัง
พึงมุ่งหวังวิชาพัฒนาตน

** “ไม่ประมาทในเรื่องของธรรมะ”
ปฏิบัติเพื่อละอกุศล
ทั้งกิเลสตัณหาจะห่างตน
ปรากฏผลเลิศล้ำธรรมะครอง

** สิ่งที่ไม่มีใครประกันได้
กล่าวเอาไว้สี่ชนิดคิดสอดส่อง
ไม่มีใครที่ไหนกล้ารับรอง
เป็นเรื่องของสัจธรรมคำของครู

** “ไม่มีใครกล้าประกันว่าไม่แก่”
สังขารไม่เที่ยงแท้เกินจะสู้
ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนไปคล้ายฤดู
จะไม่มีวันอยู่อย่างยั่งยืน

** “ไม่มีใครกล้าประกันเรื่องเจ็บไข้”
พระพุทธองค์ตรัสไว้ไม่อาจฝืน
ความเจ็บไข้ได้ป่วยสุดกล้ำกลืน
ไม่อาจจะขัดขืนจำใจทน

** “ไม่ใครกล้ารับประกันว่าไม่ตาย”
ชีวิตนี้ต้องวอดวายทุกแห่งหน
พบเกิดแก่เจ็บตายกันทุกคน
เป็นวังวนของสังขารไม่จีรัง

** “ไม่มีใครกล้าประกันวิบากกรรม”
ว่ากระทำความชั่วไร้ทุกขัง
กิเลสและตัณหามีพลัง
ย่อมจะยังผู้กระทำสู่อบาย

** ที่กล่าวมาก็คือความประมาท
ตัวร้ายกาจจะสร้างความฉิบหาย
ถ้ามัวหลงอยู่ในความงมงาย
ต้องวอดวายหายนะตลอดกาล

** ไม่ประมาทคือยอดอุดมผล
เป็นมงคลยิ่งใหญ่แสนไพศาล
ย่อมจะถึงอริยมรรคในไม่นาน
สำเร็จเรื่องการงานโดยเร็ววัน

**ถ้าเป็นการศึกษาก็สำเร็จ
กลเม็ดความสมหวังตั้งใจมั่น
เจริญในกุศลธรรมเป็นสำคัญ
รับประโยชน์นับอนันต์เกินพรรณนา

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง บันเทิงบุญ

** วิสาขาอุบาสิกาใหญ่
ตั้งใจให้หลานสาวใกล้ศาสนา
รับผิดชอบเรื่องพระด้วยศรัทธา
เพราะเหตุว่าอายุกาลผ่านเลยไป

** กลายเป็นผู้สูงวัยในวันนี้
อันกำลังที่มีสู้ไม่ไหว
เชื่อมั่นตัวหลานสาวมากกว่าใคร
จึงมอบให้จัดการแทนตนเอง

** อนาถะบิณฑิกะเศรษฐี
จึงเห็นดีที่ลูกสาวจึงรีบเร่ง
มอบลูกสาวคนโตไม่หวั่นเกรง
นางก็เก่งทำได้เป็นอย่างดี

** นางปฏิบัติงานได้ไม่นานนัก
มีคนรักออกเรือนสมศักดิ์ศรี
ผู้เป็นพ่อจำต้องเปลี่ยนอีกที
ให้นารีลูกคนรองมาทำแทน

** ลูกคนรองทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม
อย่างทัดเทียมพี่สาวไปตามแผน
ท่านเศรษฐีภูมิใจไม่คลอนแคลน
รักลูกสาวแนบแน่นเปี่ยมศรัทธา

** เวลาผ่านโฉมงามมีความรัก
มอบใจภักดิ์ต่อกันมั่นหนักหนา
ครั้นความรักงอกงามตามเวลา
จึงเข้าสู่วิวาห์ครองคู่กัน

** ท่านเศรษฐีจึงต้องเปลี่ยนคนใหม่
มอบนวลใยสุมนาล้างอาถรรพ์
เธอเป็นน้องสุดท้องงามผ่องพรรณ
วิลาวัณย์โสภากว่าทุกคน

** นางเต็มใจยอมรับหน้าที่นี้
เพราะนางมีน้ำใจเป็นกุศล
อยากทำบุญสุนทานบันดาลดล
ให้หน้ามลบรรลุโมกขธรรม

** จึงหลีกห่างความชั่วตัวร้ายกาจ
ไม่ประมาทปล่อยใจให้ถลำ
สู่อบายเพราะผลของเวรกรรม
ทุกเช้าค่ำมุ่งใจใฝ่แต่บุญ

** ทำหน้าที่ได้ดีกว่าพี่สาว
งานก้าวหน้าเพริดพราวราวเทพหนุน
ทุกอย่างสำเร็จดีมีบุญคุณ
เกื้อการุณศาสนาให้ถาวร

** ครั้นวันหนึ่งฟังพระธรรมเทศนา
ได้ดวงตาเห็นธรรมตามคำสอน
ของสมเด็จพระพุทธชินวร
โฉมบังอรบรรลุธรรมในทันที

** คุณธรรมที่ได้นั้นสูงกว่า
ในบรรดาคุณพ่อและพี่พี่
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเรื่องแปลกดี
ดังจะเอ่ยวจีให้ท่านฟัง

** กาลผ่านไปสุมนาเกิดป่วยไข้
อยากจะได้พบพ่อจนแทบคลั่ง
พวกทาสีที่คอยเฝ้าระวัง
รีบตามท่านมายังเรือนของนาง

** พอเห็นพ่อรีบเอ่ยเผยวจี
รีบเข้ามาหาพี่อย่าหมองหมาง
การเจ็บป่วยครานี้มิอำพราง
คงจะต้องวายวางอย่างแน่นอน

** โธ่ลูกเอ๋ยเจ้าคงอาการหนัก
จึงได้เพ้อยิ่งนักถึงกับหลอน
เอ่ยเรียกพ่อว่าพี่เพราะนิวรณ์
น่าสงสารบังอรเกินประมาณ

** สุมนาพูดว่าข้าไม่หลง
เป็นเรื่องจริงอย่าพะวงจึงเรียกขาน
ท่านเป็นน้องของข้าอย่าร้าวราน
นางยืนยันจนลมปราณนางสิ้นไป

** ท่านเศรษฐีทูลถามพระพุทธองค์
ถึงเรื่องราวจึงทรงแถลงไข
เพื่อเศรษฐีและทุกคนได้เข้าใจ
เพราะเหตุใดนางจึงเรียกอย่างนั้น

** อนาถะบิณฑิกะเศรษฐี
เป็นผู้ที่ใฝ่ธรรมอย่างกวดขัน
ท่านบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน
ส่วนนางสำเร็จขั้นสกทาคามี

** อันนี้คือสาเหตุเรื่องทั้งหมด
นางจึงได้กำหนดตัวเป็นพี่
และเรียกพ่อว่าน้องเมื่อพาที
ด้วยการที่มีธรรมสูงกว่ากัน

** พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า
บัดนี้สุมนาสู่สวรรค์
ในชั้นดุสิตวิลาวัณย์
จนชั่วนิจนิรันดร์สุขารมย์

** พระพุทธองค์จึงตรัสพระคาถา
ว่าด้วยบุญจะพาให้สุขสม
ทั้งโลกนี้โลกหน้าพาชื่นชม
เอกอุดมเพราะกรรมดีที่ทำไว้

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:23:50 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๒  ความเคารพ  
(คารโว จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ความเคารพแปลว่าความตระหนัก
ในความดีเป็นประจักษ์ที่ยิ่งใหญ่
มีปัญญามองเห็นว่าสิ่งใด
ควรเคารพนบไหว้เป็นมงคล

** ในพุทธศาสนาว่ามีหก
จึงขอยกมาแสดงให้ท่องบ่น
และประพฤติเป็นนิสัยไม่วกวน
เพื่อเหล่าชนที่รักจักได้ดี

** หนึ่งเคารพในพระพุทธเจ้า
ทุกค่ำเช้าระลึกคุณไม่หน่ายหนี
ที่สั่งสอนแนะนำธรรมมากมี
เพื่อโลกนี้โลกหน้าสถาพร

** สองมีความเคารพในพระธรรม
ที่พุทธองค์ทรงนำมาสั่งสอน
ให้ละชั่วทำดีมิร้าวรอน
ละนิวรณ์หลีกพ้นวังวนกรรม

** สามมีความเคารพในพระสงฆ์
ผู้มั่นคงในวินัยใจชื่นฉ่ำ
ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกอปรด้วยธรรม
และน้อมนำมาเผยแพร่แก่ปวงชน

** สี่มีความเคารพการศึกษา
ซึ่งจะพาให้ฉลาดไม่พลาดป่น
เป็นคนดีมีคุณค่าสมเป็นคน
ไม่อับจนก้าวหน้าพารุ่งเรือง

** ห้าเคารพในความไม่ประมาท
จะแคล้วคลาดจากผองภัยใจฟูเฟื่อง
คนที่ไม่ประมาจะประเทือง
ไปด้วยเรื่องดีดีมีโชคชัย

** หกเคารพในการต้อนรับแขก
ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอย่าสงสัย
ต้อนรับด้วยไมตรีเหมาะกับวัย
ตามสมัยนิยมที่สมควร

** อารยธรรมการแสดงความเคารพ
มีนอบนบกราบไหว้ให้ถูกส่วน
รวมห้าแบบขอกล่าวตามกระบวน
จึงเชิญชวนใส่ใจไม่อำพราง

** “อัญชลี” การยกมือประกบกัน
นิ้วมือนั้นแนบชิดทั้งสองข้าง
ยกขึ้นระหว่างอกแขนไม่กาง
ตอนฟังเทศน์อย่าเลือนรางหรือสวดมนต์

** “วันทา” การเลื่อนมือจากหว่างอก
แล้วจึงยกหัวแม่มืออย่าสับสน
ไว้ระหว่างทั้งสองคิ้วของตน
ใช้สำหรับผู้คนเคารพกัน

** “อภิวาท” นั่นหรือคือการกราบ
ศิโรราบจรดพื้นพิถีพิถัน
มือทั้งสองต้องวางลงไปพลัน
ระยะนั้นต้องห่างหนึ่งฝ่ามือ

** “อุฏฐานะ” การลุกรับด้วยนอบนบ
เมื่อได้พบผู้ใหญ่ที่นับถือ
ด้วยนอบน้อมกายใจใฝ่ฝึกปรือ
พร้อมจับมือประสานให้สวยงาม

** “สามีจิกรรม” ทำการคารวะ
เพื่อให้เหมาะตามวาระมิวางก้าม
เช่นอ่อนน้อมถ่อมตนไม่วู่วาม
ปฏิบัติตามประเพณีมีมานาน

** ความเคารพนับเป็นมงคลยิ่ง
เพราะเป็นสิ่งประเสริฐหลายสถาน
มีคนรักคนเมตตาตลอดกาล
สุคติคือวิมานเป็นที่ไป

** เป็นผู้ที่มีจิตเป็นกุศล
นำพาตนให้ก้าวหน้าพาสดใส
มีกัลยาณมิตรทั้งใกล้ไกล
ชีวิตไม่อับจนพ้นอบาย

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง ลำดับอาวุโส

** สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ทรงปรารภ
เกี่ยวเนื่องความเคารพเมื่อตอนสาย
ณ ธรรมสภาสาธยาย
ให้ภิกษุทั้งหลายได้สังวร

** เหตุเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
จอมโมลีทรงคิดจะสั่งสอน
พฤติกรรมฉัพพัคคีย์มิอาทร
ความเดือดร้อนใดใดไม่นำพา

** อนาถะบิณฑิกะผู้ใจบุญ
สร้างวิหารบูชาคุณศาสนา
ถึงเวลาจะถวายพระศาสดา
ได้นิมนต์พระองค์มาพร้อมบริวาร

** ฉัพพัคคีย์จึงให้ลูกศิษย์ตน
รีบดั้นด้นไปจองที่ยังวิหาร
เพื่อพวกพ้องจะได้สุขสำราญ
จนเป็นที่เบิกบานทั่วหน้ากัน

** ฝ่ายพระสารีบุตรมาถึงช้า
นอนโคนไม้อนาถาดูน่าขัน
พวกภิกษุทั้งหลายต่างโจษจัน
การกระทำอย่างนั้นเลวสิ้นดี

** พระศาสดาประชุมสงฆ์แล้วตรัสว่า
ภิกษุสงฆ์ทรงสิกขามีศักดิ์ศรี
พึงกระทำอภิวาทอัญชลี
ต่อผู้ที่แก่กว่าทุกคราไป

** อันก้อนข้าวและน้ำอันเลอเลิศ
ที่นั่งนอนประเสริฐกว่าสิ่งไหน
ควรแก่ผู้อาวุโสกว่าใครใคร
ดังขานไขจงฟังตั้งปณิธาน

** จึงนำเอาเรื่องราวมาสาธก
ได้หยิบยกเรื่องสามสัตว์มาประสาน
เป็นเรื่องราวเมื่อคราวอดีตกาล
มาเล่าขานโปรดฟังอย่างตั้งใจ

** ในป่าหิมพานต์กาลครั้งนั้น
มีสามสัตว์อยู่ด้วยกันกลางดงใหญ่
ลิงช้างนกกระทาพาไฉไล
ต่างยึดเอาต้นไทรเป็นที่นอน

** ต่างคนต่างก็ไม่เกรงใจกัน
พัลวันวุ่นวายสุดถ่ายถอน
อยากจะเคารพกันถูกขั้นตอน
จึงเริ่มต้นกันก่อนสืบเรื่องราว

** ท่านรู้จักต้นไทรนี้กันเมื่อไหร่
ขอจงได้ชี้แจงแถลงข่าว
เพียงสั้นสั้นได้ใจความไม่ยืดยาว
โปรดบอกกล่าวกันเถิดหนาอย่าช้าที

** ช้างจึงได้รีบเอ่ยเฉลยถ้อย
ตอนที่เป็นช้างน้อยด้อยรัศมี
ต้นไทรสูงแค่ท้องของข้านี้
ดังวจีกล่าวขานวานคิดดู

** ฝ่ายลิงจึงได้เอ่ยเฉลยบ้าง
ต่อจากช้างทันทีมิหลบหลู่
จะขอร่วมรังสรรค์และเชิดชู
เคารพผู้แก่กว่าน่าชื่นชม

** นับย้อนหลังเมื่อคราวครั้งยังเป็นเด็ก
ตัวเล็กเล็กวิ่งเล่นเสียงดังขรม
ไทรต้นนี้ยังเป็นหน่อรอรับลม
ช่างเหมาะสมกับการหักเล่นจัง

** นกกระทาก็พร้อมจะบอกกล่าว
ถึงเรื่องราวที่ผ่านมาคราหนหลัง
สหายเอ๋ยท่านจงตั้งใจฟัง
ก่อนนี้ต้นไทรยังไม่มีเลย

**ตัวเรานี้เป็นผู้กินลูกไทร
จากต้นใหญ่เราจะขอเฉลย
มาถ่ายไว้ตรงนี้นะท่านเอย
มันงอกเงยเติบใหญ่ในวันนี้

** สรุปความลำดับอาวุโส
พี่คนโตนกกระทาอย่าหน่ายหนี
น้องคนรองคือลิงมิ่งโมลี
ช้างตัวโตโก้ดีเป็นสุดท้อง

** แต่นั้นสัตว์ทั้งสามไม่หวั่นไหว
เคารพในอาวุโสไม่หม่นหมอง
เชื่อฟังกันเคารพกันตามครรลอง
ต่างปรองดองน้องพี่ที่ป่าไพร

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:25:41 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๓  ความถ่อมตน  
(นิวาโต จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** การถ่อมตนคือคนไม่เย่อหยิ่ง
ละอวดดีเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่
ปรารภถึงความดีที่ถ่อมใจ
มิลำพองกับใครให้วุ่นวาย

** อันสาเหตุที่ทำให้ผยอง
จงหมั่นมองไม่ทำให้เสียหาย
นับเป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่ากล้ำกราย
หลีกให้ไกลห่างกายและห่างตน

** “โกธะ” คือความโกรธความเดือดดาล
เป็นสัญชาติคนพาลจิตตกหล่น
“อุปหานะ” ผูกโกรธโหดสุดทน
ไม่อภัยเพราะคนคิดเกลียดชัง

** “มักขะ” การลบหลู่คุณความดี
ของผู้อื่นทุกที่อย่าพึงหวัง
“ปลาสะ” ตีเสมอไม่อินัง
เป็นคู่แข่งลองพลังที่สำคัญ

** ถัมภะ” ดื้อกระด้างอย่างร้ายกาจ
ทำวางมาดว่าดีอย่างเข้าขั้น
“อติมานะ” คือตัวชั่วมากครัน
ดูหมิ่นเขาแต่เรานั้นน่าอับอาย

** ธรรมะที่ส่งเสริมการถ่อมตน
ที่ทุกคนควรถือมั่นสู่จุดหมาย
ความเป็นคนน่ารักไม่งมงาย
มีมากมายเจ็ดข้อขอชี้แจง

** “สัทธา” ความเชื่อความเลื่อมใส
ด้วยจริงใจในคำสอนทุกแขนง
ในบุคคลสถานที่มิเปลี่ยนแปลง
เปรียบดังแสงตะวันและจันทรา

** “อโทสะ” ไม่ดุร้ายไม่ขึ้งโกรธ
ไม่ปองร้ายมีโทษมากหนักหนา
ไม่เบียดเบียนไม่คิดร้ายทุกเวลา
ใจเยือกเย็นยิ่งกว่าน้ำแช่เย็น

** “มุทิตา” มีความหมายบันเทิงใจ
พลอยยินดีเมื่อเขาได้พ้นยากเข็ญ
อีกเจริญก้าวหน้าไม่ลำเค็ญ
ไม่ริษยาเมื่อเห็นเขาได้ดี

** “มุทุตา” ความอ่อนโยนในดวงจิต
ไม่กระด้างเป็นมิตรกันทุกที่
ความละมุนละม่อมย่อมเกิดมี
ความอ่อนน้อมด้วยวจีใจและกาย

** “เมตตา” ปรารถนาให้เป็นสุข
ปราศจากทุกข์บรรดาสัตว์ทั้งหลาย
เอื้ออารีสงสารไม่รู้คลาย
ไม่อาฆาตมาดร้ายให้โศกตรม

** “สติ” ระลึกได้ไม่พลั้งเผลอ
ไม่หลงเพ้อไม่หวั่นไหวให้ขื่นขม
กำหนดรู้การเคลื่อนไหวไม่ระทม
มีสติสังคมไม่วุ่นวาย

** “ปัญญา” ความรอบรู้บุญและบาป
รู้จักละกิเลสหยาบให้สลาย
อีกทั้งกรรมที่ควรเว้นมีมากมาย
ไม่งมงายเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

** การถ่อมตนเป็นมงคลที่ดีแน่
ไม่พ่ายแพ้เป็นทาสของความชั่ว
กำจัดความกระด้างที่ในตัว
กายและจิตสงบทั่วไร้ศัตรู

** เป็นที่รักของสัตว์และมนุษย์
มีความสุขที่สุดไม่หดหู่
จิตตั้งมั่นอ่อนโยนน่าชื่นชู
คุณความดีมีอยู่คู่โลกา

** คนที่แข็งกระด้างหยิ่งเพราะชาติ
หยิ่งเพราะทรัพย์อำนาจวาสนา
ดูหมิ่นญาติพี่น้องของอาตมา
หายนะถามหาทุกนาที

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง ยอดชายนายมานะ

** มียอดชายนายหนึ่งถือตัวจัด
ใจผูกพันร้อยรัดในทุกที่
จะยกมือไหว้ใครไม่เคยมี
ทั้งพ่อแม่น้องพี่ไม่มีเลย

** อีกครูบาอาจารย์ก็ไม่ไหว้
เก็บมานะเอาไว้ใคร่เปิดเผย
จึงชื่อนายมานะผู้เฉยเมย
เพราะไม่เคยไหว้ใครในชีวี

** ครั้นวันหนึ่งเดินผ่านธรรมสภา
องค์สมเด็จพระสัมมาชินศรี
ทรงแสดงเทศนาอยู่พอดี
จึงทำทีเข้าไปนั่งดังจำนรรจ์

** เข้าไปนั่งใกล้พระพุทธองค์
แต่ก็คงไม่ไหว้คล้ายเย้ยหยัน
ด้วยมานะสมชื่อเขาลือกัน
เพราะยึดมั่นทิฐิมิจืดจาง

** ตั้งใจว่าถ้าไม่มีผู้ใดทัก
เราก็จักหลีกไปให้ไกลห่าง
ครั้นเวลาผ่านไปเหมือนเป็นลาง
ต้องอ้างว้างหาคนทักไม่มี

** ขยับกายหมายจะลุกออกไป
พระพุทธองค์ทรงรู้ใจว่าจะหนี
จึงรีบตรัสทักทายในทันที
ในโลกมีคนถือตัวชั่วนักเอย

** ผู้ใดเห็นประโยชน์จากอะไร
จงสนใจในสิ่งนั้นอย่าพลันเฉย
ทำให้ดีที่สุดอย่าละเลย
มานะเอ๋ยเธอจงฟังดังกล่าวมา

** นายมานะตะลึงเหมือนถูกมนต์
ที่มีคนรู้ใจแทบผวา
ความเย่อหยิ่งจองหองเต็มอุรา
สูญสิ้นไปทันตามอดมลาย

** รีบคลานเข้าไปหาพระพุทธเจ้า
ความอวดดีที่รุมเร้าสิ้นสลาย
ก้มลงจูบพระบาทไม่เขินอาย
ทำให้ชนทั้งหลายต่างแปลกใจ

** ข้าแต่ท่านผู้เจริญเชิญบอกกล่าว
ถึงเรื่องราวที่อยากรู้จะได้ไหม
เราไม่ควรเย่อหยิ่งกับผู้ใด
ควรเคารพยำเกรงใครช่วยบอกที

** พระพุทธองค์ตรัสว่ามานะเอ๋ย
อย่าเย่อหยิ่งอวดดีเลยในทุกที่
พ่อแม่ครูอาจารย์อย่ารอรี
อีกน้องพี่ผู้มีคุณการุณเรา

** ท่านเหล่านี้สมควรจะเคารพ
ทั้งบูชาน้อมนบในตัวเขา
จงทำลายมานะให้แบ่งเบา
แล้วยึดเอาการอ่อนน้อมและถ่อมตน

** นายมานะกราบทูลตถาคต
ว่าเข้าใจทั้งหมดไม่หมองหม่น
ขอเข้าถึงพระรัตนตรัยอีกสักคน
แต่วันนี้ไปจนชั่วชีวัน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:27:35 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๔  มีความสันโดษ  
(สนฺตุฏฺฐี จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ความสันโดษหมายถึงความพอใจ
กับสิ่งของน้อยใหญ่ดังหมายมั่น
ซึ่งเป็นของของตนที่มีพลัน
นอกจากนั้นไม่สนใจของใครเลย

** ลักษณะของสันโดษมีกล่าวไว้
ขอจงได้รับฟังคำเฉลย
เมื่อทราบแล้วจงอย่าทำเฉยเมย
รีบปฏิบัติกันเลยในทันที

** หนึ่ง “ยินดีตามมี” เป็นของเรา
ไม่อยากได้ของเขาเสื่อมราศี
เฝ้าชื่นชมกับสิ่งที่เรามี
ทำอย่างนี้มีสุขทุกคืนวัน

** สอง “ยินดีตามกำลัง” ที่หาได้
ผลประโยชน์น้อยใหญ่ที่สร้างสรรค์
ในทุกเรื่องทุกราวดังจำนรรจ์
จะสุขสันต์รื่นเริงตลอดไป

** สาม “ยินดีตามควร” ส่วนสันโดษ
เกิดประโยชน์ขั้นสูงรุ่งสดใส
เป็นมหาสันโดษเรืองโรตน์ไกล
กุศลที่ยิ่งใหญ่จักตามมา

** การยินดีตามสมควรประมวลกล่าว
เป็นเรื่องราวสามประการวานศึกษา
รายละเอียดจงได้พิจารณา
ด้วยศรัทธาบริสุทธิ์ดุจดังทอง

** หนึ่ง “ควรแก่ฐานะ” อันควรเป็น
ไม่ลำเค็ญยากไร้ไม่หม่นหมอง
รู้ฐานะของตัวดีมิลำพอง
ดังนั้นต้องเข้าใจคำว่าพอ

** ไม่ทำตัวใฝ่สูงจนเกินศักดิ์
ถือดีเด่นเป็นหลักอยากจะขอ
เอาแต่สุขสบายหมายพนอ
เพราะความทุกข์นั้นรอให้ผลกรรม

** สอง “ควรแก่กำลัง” สมรรถภาพ
หมายถึงทราบความสามารถไม่ถลำ
เกินกำลังของตนอย่าริทำ
เป็นสื่อนำความยากไร้อย่าหมายปอง

** สาม “ควรแก่ศักดิ์ศรี” ที่มีอยู่
เราต้องรู้รักษาอย่าให้หมอง
อย่าให้ความมักมากเข้ามาครอง
เกียรติยศเป็นของต้องคำนึง

** ความสันโดษเป็นมงคลที่สูงค่า
จะหมดสิ้นตัณหาพาเข้าถึง
โลกุตตรธรรมจงรำพึง  (โลกุตตรธรรม อ่านว่า  โล-กุด-ตะ-ระ-ทำ)
เป็นประหนึ่งสิ่งของที่ต้องตา

** เป็นมงคลเพราะถึงความสิ้นทุกข์
มีความสุขสมใจดังใฝ่หา
ไม่เดือดร้อนเพราะบาปมาบีฑา
แต่เจริญก้าวหน้าด้วยความดี

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง พญานกแจกเต้าผู้สันโดษ

** คราเมื่อครั้งจอมปราชญ์พระศาสดา
ประทับที่พาราสาวัตถี
เชตวันพระวิหารอันรูจี
จึงทรงมีคำตรัสพระวัจนา

** ธรรมดาสมณะเมื่อมาถึง
เสนาสนะอันพึงปรารถนา
เป็นที่สุขสบายหมายพึ่งพา
พักกายาให้รื่นรมย์สมใจปอง

** ไม่ควรโลภโภชนาภักษาหาร
รู้สันโดษต่อการกิจทั้งผอง
พึงพอใจตามมีมิลำพอง
บำเพ็ญธรรมตามครรลองของพุทธา

** ทรงหยิบยกเรื่องราวคราวหนหลัง
นำมาเล่าให้ฟังสิ้นกังขา
กาลครั้งหนึ่งที่แนวไพรในพนา
อยู่ริมฝั่งคงคามหานที

** เป็นป่าไม้มะเดือมากเหลือล้น
มีลูกดกเต็มต้นหลากหลายสี
เป็นอาหารนกแขกเต้าได้อย่างดี
ซึ่งได้มีมากมายหลายแสนตัว

** ฤดูแล้งผลมะเดื่อก็หดหาย
นกทั้งหลายพากันเดือดร้อนทั่ว
ขาดอาหารมองไปใจมืดมัว
ด้วยหวาดกลัวความตายให้ร้อนรน

** จึงพากันหลีกหนีไปที่ใหม่
หวังจะได้อาหารไม่ขัดสน
แม้จะต้องเดินทางไกลก็ยอมทน
เพื่อผจญโชคชะตาดีกว่าตาย

** แต่ยังมีพญานกแขกเต้า
ไม่อาวรณ์โศกเศร้าเหมือนสหาย
ถือสันโดษคงมั่นไม่เสื่อมคลาย
ถึงชีวิตจะมลายก็ตามที

** ผลมะเดื่อหมดไปไม่เดือดร้อน
กินใบเปลือกหน่ออ่อนอย่างถ้วนถี่
แม้กระทั่งสะเก็ดเท่าที่มี
เป็นเครื่องเลี้ยงชีวีไปวันวัน

** ร้อนไปถึงท้าวสักกะเทวราช
ที่มีอาสน์กระด้างอย่างมหันต์
เมื่อตรวจดูก็รู้สาเหตุพลัน
ต้องยับยั้งภยันอันตราย

** จึงบันดาลต้นมะเดื่อตายสนิท
เพื่อทดลองความคิดก่อนผันผาย
ลงไปช่วยพญานกไม่ดูดาย
ก่อนที่จะวางวายลงไปพลัน

๗๔๘. ** ต้นมะเดื่อตายสิ้นในถิ่นป่า
มีผงไหลออกมาช่างอาถรรพ์
ตามช่องแตกของต้นไม้มากมายครัน
เป็นอาหารหวานมันของนกไพร


๗๔๙. ** จนสุดท้ายต้นไม้เหลือเพียงตอ
พญานกไม่ท้อหนีไปไหน
ยังถือมั่นสันโดษอย่างเกรียงไกร
เกาะตอไม้ด้วยใจที่เบิกบาน

๗๕๐. ** ท้าวสักกะแน่ใจพญานก
ไม่โกหกหลอกลวงไร้แก่นสาร
ถือสันโดษมักน้อยพอประมาณ
ไม่ซมซานหนีไปไกลที่เดิม

** จึงแปรงร่างเป็นหงส์ลงมาหา
โดยไม่ช้าด้วยหวังจะส่งเสริม
ผู้ที่มีคุณธรรมใช่ซ้ำเติม
มีสุขเพิ่มเป็นตัวอย่างสร้างความดี

** แล้วกล่าว่านี่แน่ะพญานก
จะวิตกทำไมกับที่นี่
จงหลีกไปยังที่อาหารมี
เพื่อชีวีมีสุขทุกวันคืน

** นกแขกเต้าตอบว่าพญาหงส์
ท่านนี่คงคิดว่าข้าทนฝืน
แต่ที่จริงสุขดีมิกล้ำกลืน
จะนั่งนอนเดินยืนก็สุขใจ

**  แต่เมื่อยามเพื่อนทุกข์สุขได้หรือ
คำคนจะเล่าลือกันไปใหญ่
ต้นมะเดื่อเป็นเพื่อนดีมาแต่ไร
มีทั้งผลดอกใบให้เรากิน

** เป็นทั้งญาติและเพื่อนที่ใกล้ชิด
ถ้าเราคิดหนีไปก็ใจหิน
เพียงเพราะผลไม่มีเลี้ยงชีวิน
ประโยชน์สิ้นเราหนีไม่ดีเลย

** พญาหงส์เข้าใจในความคิด
โอ้ช่างมีไมตรีจิตสุดทนเฉย
เราให้พร้อมตามปรารถนาน่าชมเชย
สหายเอ๋ยจงเลือกเอาตามต้องการ

** พญานกกล่าวว่าข้าอยากขอ
ให้ต้นไม้ชูช่อผลหอมหวาน
มีชีวิตปกติอันยาวนาน
เป็นที่พึ่งวงศ์วานเหล่านกกา

** พญาหงส์ตอบว่าจงสุโข
พึงสำเร็จดังมโนปรารถนา
เมื่อกล่าวจบก็กลับคืนกายา
เป็นมหาเทวราชชาติจอมชน

** แสดงอานุภาพแห่งสักกะ
เป็นวาระต้นไม้แห่งไพรสณฑ์
กลับคืนชีพสดใสในบัดดล
เป็นมงคลแก่นกกาน่าอัศจรรย์

** พญานกแขกเต้าจึงกล่าวว่า
ข้าแต่จอมเทวาจงสุขสันต์
พร้อมวงศาคณาญาติถ้วนหน้ากัน
จอมเทวัญกลับคืนสู่วิมาน

** ความสันโดษดีตลอดเป็นยอดทรัพย์
พระพุทธองค์ทรงยอมรับในคำขาน
จึงทรงมีมธุรสพจมาน
ความสันโดษเป็นการประมาณตน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:29:40 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๕  มีความกตัญญู  
(กตญฺญุตา  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** จะกล่าวถึงมงคลยี่สิบห้า
มีชื่อว่ากตัญญูรู้เหตุผล
เป็นคุณธรรมที่ประเสริฐของปวงชน
ช่างดีล้นหนักหนากว่าสิ่งใด

** ในโลกนี้มีบุคคลหาได้ยาก
มีไม่มากสองประการขอขานไข
ทำประโยชน์โดยไม่ได้หวังอะไร
เป็นผู้มีจิตใฝ่ตอบแทนคุณ

** “บุพการี” คือผู้มีบุญคุณมาก
ออกมาจากหัวใจใฝ่เกื้อหนุน
คือพ่อแม่ผู้ดูแลและเจือจุน
ครูอาจารย์เกื้อการุณสั่งสอนเรา

** “กตัญญูกตเวทิตา”
รู้บุญคุณแล้วมาตอบแทนเขา
ปฏิบัติตามคำสอนไม่ดูเบา
เมื่อแก่เฒ่าเลี้ยงดูผู้ชรา

** คุณธรรมสองประการกล่าวขานไว้
ถ้าทำได้แสนดีมีสง่า
เป็นบุคคลหาได้ยากดังกล่าวมา
ขอบูชาเทิดไว้เหนือฟ้าดิน

** บุคคลที่ควรกตัญญูรู้เอาไว้
แบ่งออกได้สามประเภทดังถวิล
ล้วนแต่เป็นบุพการีชั่วชีวิน
จงน้อมจินต์ทดแทนแสนงดงาม

** หนึ่งบิดามารดาสูงค่ายิ่ง
นับเป็นสิ่งประเสริฐหนึ่งในสาม
ได้เกิดกายเลี้ยงดูอยู่ทุกยาม
จะสุขทุกข์ก็ตามเฝ้าห่วงใย

** หนึ่งคุณครูผู้สอนสั่งเปรียบดังบุตร
ไม่เคยหยุดเมตตาเล็กจนใหญ่
ตั้งแต่เริ่มขีดเขียนพากเพียรไว้
จวบจนได้ปริญญามาครอบครอง

** หนึ่งรัตนะทั้งสามแสนประเสริฐ
ช่างล้ำเลิศเป็นหนึ่งไม่มีสอง
ได้เข้าใจเรื่องทุกข์สุขสมปอง
ใจผุดผ่องบริสุทธิ์ดุจมณี

** อีกทั้งผู้มีคุณการุณรัก
พึงประจักษ์คุณค่าบุญราศี
ผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลบรรดามี
ท่านเหล่านี้พึงกตัญญูรู้พระคุณ

** กตัญญูเป็นมงคลกุศลส่ง
มีธรรมะมั่นคงไม่ว้าวุ่น
คำสรรเสริญมีมาเพราะว่าบุญ
มีสวรรค์เป็นทุนเมื่อตอนตาย

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง ช้างยอดกตัญญู

** คราครั้งหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
เสด็จมาเพื่อโปรดสัตว์ทั้งหลาย
ประทับที่เชตวันพรรณราย
ผู้ใฝ่ธรรมมากมายเฝ้าพระองค์

** ทรงปรารภภิกษุผู้ถือสัจ
ปฏิบัติมารดาคุณสูงส่ง
นำนิทานมาสาธกโดยบรรจง
จุดประสงค์เป็นตัวอย่างสร้างความดี

** กาลครั้งหนึ่งบรมโพธิสัตว์
ทรงอุบัติเป็นช้างเผือกตามวิถี
บริวารแปดหมื่นในพงพี
เลี้ยงดูมารดาที่พิการตา

** นำบริวารออกไปหาอาหาร
ต่างชื่นบานสดใสในพฤกษา
มีอาหารมากมายสุดพรรณนา
เป็นเพราะว่าอุดมและสมบูรณ์

** กินอาหารอิ่มหนำสุขสำราญ
แสนเบิกบานหัวใจไม่เสื่อมสูญ
เตรียมอาหารให้แม่แผ่เกื้อกูล
เพื่อเพิ่มพูนบุญญาบารมี

** แล้วมอบให้บริวารนำไปส่ง
แต่มันไม่ซื่อตรงกลับพาหนี
เอาไปกินเสียเองไม่เข้าที
ทราบเรื่องแล้วพาแม่หนีจากโขลงไกล

** อาศัยอยู่ในถ้ำสองแม่ลูก
ด้วยพันผูกเกินกว่าจักหาไหน
คอยเลี้ยงดูด้วยรักจากหัวใจ
ไม่ยอมให้แม่อดสักเวลา

** ครั้นวันหนึ่งพรานไพรใจฉกาจ
เกิดพลั้งพลาดหลงทางที่กลางป่า
นั่งร้องห่มร้องไห้ในพนา
ไม่รู้ว่าทำอย่างไรในป่านี้

** พญาช้างได้ยินไม่รอช้า
จึงรีบเข้าไปหาอย่างเร็วรี่
ด้วยเมตตาจึงช่วยไม่รอรี
นำพรานไพรไปส่งที่ริมชายแดน

** ฝ่ายพรานไพรใจโฉดโหดหนักหนา
ครั้นเมื่อพ้นออกมาคิดวางแผน
ทูลราชาเพื่อหวังของตอบแทน
เป็นทรัพย์สินสุดแสนชื่นชีวัน

** วาระนั้นภายในพระราชฐาน
ช้างมงคลถึงกาลต้องอาสัญ
มาล้มลงทำให้องค์ราชัน
ต้องป่าวร้องประกาศลั่นสนั่นกรุง

** ท่านผู้ใดมีช้างรูปร่างสวย
ขอได้ช่วยนำมาดังหมายมุ่ง
จะมีรางวัลให้เป็นกระบุง
ชีวิตจะเรื่องรุ่งไปอีกนาน

** นายพรานไพรได้ทีไม่รอช้า
เฝ้ากราบทูลราชาเอ่ยคำขาน
มีช้างเผือกอาศัยในดงดาน
ลักษณะดีเป็นวงศ์วานช้างมงคล

** ขอพระองค์ทรงส่งนายควาญช้าง
ข้าจะขอนำทางเข้าไพรสณฑ์
เพื่อจะจับพญาช้างอย่างแยบยล
นำมาเป็นช้างต้นคู่ธานี

** พระราชาอนุมัติตามที่ขอ
ควาญช้างไม่รีรอขมันขมี
พบพญาช้างที่ริมฝั่งนที
กำลังดื่มวารีอยู่ริมธาร

** พญาช้างเห็นพรานก็รู้ว่า
คงมีภัยตามมาไม่พ้นผ่าน
ตั้งสติไม่คิดโกรธนายพราน
สงบนิ่งไม่ระรานคนทั้งปวง

** ควาญช้างจึงได้นำพญาช้าง
จากกลางป่าเดินทางเข้าวังหลวง
พญาช้างชอกช้ำระกำทรวง
คิดเป็นห่วงมารดาเอกากาย

** นับแต่นี้ใครจะใส่ใจแม่
คอยดูแลแม่บ้างไม่ห่างหาย
คงอดน้ำอดอาหารจนวางวาย
แม่ต้องตายแน่แน่ในเร็วไว

** มารดาพญาช้างโศกเศร้าหนัก
อนิจจาลูกรักเจ้าอยู่ไหน
พระราชาหรือว่ามีใครใคร
มาจับตัวเจ้าไปให้เศร้าตรม

** นับจากนี้กลางป่าจะสดใส
ไม้อ้อยช้างไม้อื่นใดจะสุขสม
ไม้มูกมันไม้ช้างน้าวไม่ระทม
ขาดพญาช้างรื่นรมย์จักงอกงาม

** ฝ่ายควาญช้างส่งสาสน์ถึงราชา
ตกแต่งเมืองให้สง่าดูวาบหวาม
เพื่อต้อนรับช้างเผือกให้ลือนาม
และเพื่อความเป็นสิริที่ยาวนาน

** อีกประพรมน้ำหอมให้หอมฟุ้ง
กลิ่นจรุงอบอวนทั่วราชฐาน
ทั้งประดับเครื่องทรงอลังการ
แล้วจึงนำคชสารเข้าสู่เรือน

** พระราชานำอาหารมีรสเลิศ
ที่หวานหอมประเสริฐหาใดเหมือน
ด้วยตัวของพระองค์ไม่แชเชือน
เปรียบดังเพื่อนรู้ใจมอบไมตรี

** พยายามอ้อนวอนด้วยคำหวาน
ว่าพ่อเอ๋ยลองทานอาหารนี่
อย่าชักช้าอยู่เลยเอ่ยวจี
เพราะยังมีงานต้องทำร่วมกัน

** พญาช้างจึงพูดลอยลอยว่า
นางช้างผู้กำพร้าคงโศกศัลย์
ด้วยตาบอดมองไม่เห็นเดือนตะวัน
ต้องล้มลุกเข้าขั้นชวนเวทนา

** พระราชาตรัสถามว่าท่านเอ๋ย
นางช้างที่ได้เอ่ยพร่ำบ่นหา
เป็นอะไรกับท่านจงบอกมา
เผยวาจาบอกกล่าวเล่าให้ฟัง

** พญาช้างจึงเอ่ยเฉลยถ้อย
เป็นมารดาข้าน้อยรอความหวัง
ทั้งอาหารและน้ำเพิ่มพลัง
เลี้ยงชีวังกันตายอยู่ชายดง

** พระราชราได้ฟังตรัสสั่งว่า
จงปล่อยช้างเข้าป่าดังประสงค์
ได้เลี้ยงดูมารดาดังจำนง
ธ ทรงปลงสังเวชในเหตุการณ์

** พญาช้างดีใจเป็นยิ่งนัก
ได้ประจักษ์น้ำพระทัยอันไพศาล
จึงได้เปล่งวาจาพาเบิกบาน
เป็นธรรมทานเลิศค่ากว่าอะไร

** ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาท
จงอย่าขาดสติที่ฝันใฝ่
แล้วกราบลาราชันดั้นด้นไป
ยังพงไพรหาแม่ผู้แก่กาย

** เมื่อไปถึงเอาน้ำไปรดแม่
ผู้นอนแผ่เพราะว่าความกระหาย
อดอาหารเจ็ดวันอันตราย
จะย่างกรายมองไม่เห็นลำเค็ญจัง

** ช้างมารดาเข้าใจว่าฝนตก
โอ้หัวอกของเราหมดความหวัง
ฝนคงตกผิดฤดูดอกกระมัง
เราคงต้องระวังดูแลตน

** พญาช้างจึงบอกว่าตัวข้าเอง
ไม่มีใครข่มเหงอย่าหมองหม่น
พระราชาปล่อยลูกมาอย่ากังวล
จะรักแม่ท่วมท้นทุกคืนวัน

** นางช้างจึงชื่นชมพระราชา
ช่างใจดีหนักหนางามเฉิดฉัน
จงรุ่งเรืองก้าวหน้านิจนิรันดร์
ขอให้องค์ราชันทรงพระเจริญ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:31:33 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๖  การฟังธรรมตามกาล  
(กาเลน ธมฺมสฺสวนํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** การฟังธรรมตามกาลตามวาระ
คือการฟังทุกวันพระน่าสรรเสริญ
ทุกแปดค่ำสิบห้าค่ำอย่าหมางเมิน
วันว่างว่างขอเชิญฟังธรรมกัน

** พระพุทธองค์ได้ตรัสพระวัจจนะ
ทรงมุ่งผลธรรมะเพื่อสร้างสรรค์
มีอยู่สามประการคุณอนันต์
ขอจำนรรจ์เอ่ยอ้างสร้างศรัทธา

** ทรงมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ในโลกนี้
อีกยังมีประโยชน์ในโลกหน้า
พร้อมทั้งสิ่งสำคัญติดตามมา
คือหลุดพ้นจากตัณหามาแผ้วพาน

** ผู้มีธรรมะย่อมละซึ่งกิเลส
อันเป็นเหตุหมองเศร้าเข้าเผาผลาญ
ไม่เดือดร้อนใจกายให้ร้าวราน
เพราะอานิสงส์ของการได้ฟังธรรม

** ผู้ฟังธรรมที่ดีมีดังนี้
เป็นผู้ที่มีเมตตาอย่าเหยียบย่ำ
ไม่ดูหมิ่นผู้พูดให้ระกำ
ไม่ดูหมิ่นเรื่องที่นำมาแสดง

** ฟังด้วยจิตสงบไม่ฟุ้งซ่าน
ตรึกตรองตามด้วยดวงมานเสาะแสวง
ไม่คิดว่าปัญญาน้อยคอยเคลือบแคลง
การฟังธรรมเปรียบดังแสงส่องนำทาง

** การฟังธรรมเป็นมงคลเลิศล้นนัก
จะประจักษ์เมื่อได้พบแสงสว่าง
จิตใจย่อมผ่องใสไม่เลือนราง
ความทุกข์จางสิ้นไปไม่ร้อนรน

** ทั้งบังเกิดความเห็นที่ถูกต้อง
ตามทำนองคลองธรรมเป็นกุศล
บรรเทาความสงสัยในกมล
ได้เรียนรู้เพื่อหลีกพ้นแหล่งอบาย

** ขอเชิญชวนมวลมิตรจิตหรรษา
มาฟังธรรมเทศนาดังมั่นหมาย
สำรวมจิตสำรวมใจไม่รู้คลาย
จวบจนชีพวางวายสุขสำราญ

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง จะเทศนาต้องดูนิสัยคน

** กาลครั้งหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
ประทับใกล้นาลันทาอัครฐาน
ปาวาริกะอัมพวันอันตระการ
สนทนากับนายบ้านอสิพันธ์

** อสิพันธ์ถามว่าข้าแต่พระองค์
ท่านย่อมทรงเกื้อกูลเป็นแม่นมั่น
แก่สัตว์โลกทั้งหลายทั่วหน้ากัน
โดยไม่แบ่งชนชั้นของผู้คน

** พระพุทธองค์ตรัสว่าถูกต้องแล้ว
เรายึดถือเป็นแนวไม่สับสน
เพื่อสงเคราะห์เวไนยสัตว์พ้นอับจน
ขจัดความหมองหม่นจากภายใน

** อสิพันธ์ถามว่าถ้าอย่างนั้น
พระองค์ทรงเลือกสรรเหตุไฉน
ไม่แสดงธรรมบางคนเพราะเหตุใด
ข้าพระองค์ไม่เข้าใจในพระองค์

** พระพุทธองค์ตรัสว่าอสิพันธ์
ถ้าอย่างนั้นขอถามตามประสงค์
ใช่หรือไม่ ตอบได้ดังจำนง
ตอบตรงตรงตามที่คิดพิจารณา

** ธรรมชาติของนาสามชนิด
ตามแนวคิดมาตรฐานนานหนักหนา
คือนาดีนาปานกลางอ้างกันมา
ทั้งนาเลวที่ไร้ค่าพาล่มจม

** ท่านคิดว่าชาวนาควรหว่านไถ
ในที่นาอย่างไรเป็นปฐม
เพื่อได้ผลที่ดีน่าชื่นชม
และเป็นที่นิยมของผู้คน

** นายบ้านจึงกราบทูลพระศาสดา
คิดว่าพวกชาวนาในทุกหน
คงหว่านไถในนาดีมิวกวน
เพราะได้ผลคุ้มค่ากว่าแปลงใด

** พระศาสดาตรัสว่าถูกต้องแล้ว
อันนาดีเปรียบดังแก้วที่สดใส
เป็นสิ่งที่ต้องการของใครใคร
เพราะทำไปย่อมได้ผลที่ดี

** อันตัวเราก็เหมือนกับชาวนา
เลือกแสดงเทศนาให้ถูกที่
จึงเกิดผลประโยชน์ที่พึงมี
ด้วยเหตุนี้จำเป็นต้องเลือกคน

** อสิพันธ์เข้าใจในอุบาย
จึงมอบกายด้วยใจหวังเกิดผล
เป็นอุบาสกในศาสนาจนวายชนม์
เพื่อหลีกพ้นกิเลสเหตุหมองมัว

** อานิสงส์การฟังธรรมนั้นดีเลิศ
แสนประเสริฐหนักหนาละความชั่ว
มีความสุขทุกข์ไกลไม่พันพัว
หลงเกลือกกลั้วอบายให้อาดูร

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:34:17 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๗  ความอดทน  
(ขนฺตี จ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “ขันติ” แปลว่าความอดทน
เป็นคุณธรรมเลิศล้นไม่เสื่อมสูญ
ทำให้คนทุกคนสุขสมบูรณ์
อีกเพิ่มพูนความดีงามตามสมควร

** ขันตินี้แบ่งเป็นสี่ประเภท
ตามลักษณะของเหตุเป็นส่วนส่วน
จะขอกล่าวให้เข้าใจในกระบวน
จึงเชิญชวนจงรับฟังอย่างตั้งใจ

** หนึ่งอดทนความลำบากความตรากตรำ
ต้องระกำเหนื่อยยากก็ทนไหว
หิวกระหายหนาวร้อนไม่เป็นไร
ประกอบการงานไปสำเร็จพลัน

** สองอดทนต่อทุกข์เวทนา
เมื่อถึงคราเจ็บไข้ไม่โศกศัลย์
ไม่ทุรนทุรายเป็นสำคัญ
ถ้าอดทนจะสุขกันในบั้นปลาย

** สามอดทนความเจ็บใจไม่เดือดร้อน
ใครขอดค่อนไม่ถือสาจะเสียหาย
ใครด่าว่าช่างเขาเราสบาย
คงไม่ตายเพราะนินทาอย่าร้อนรน

** อดทนต่อกิเลสเหตุเศร้าหมอง
ไม่ใส่ใจใฝ่ปองอกุศล
ละรักโลภโกรธหลงเป็นมงคล
บังเกิดผลเป็นสุขทุกข์ห่างไกล

** สิ่งทำลายความอดทนให้ป่นปี้
ฟังให้ดีไม่ใช่เรื่องเหลวไหล
มีโทสะความโกรธโปรดหลีกไป
โลภะความอยากได้ร้ายพอกัน

** โกสัชชะเกียจคร้านงานทั้งหลาย
ความมักง่ายเหี้ยมโหดโทษมหันต์
โมหะความลุ่มหลงมีโทษทัณฑ์
ใครตกเป็นท่าสมันต้องวอดวาย

** ความอดทนเป็นมงคลที่ยิ่งใหญ่
เป็นสาเหตุทำให้มีสหาย
เป็นที่รักของมวลมิตรไม่เสื่อมคลาย
ไม่หลงตายมีสติคอยตริตรอง

** สุคติเป็นที่ไปในวันหน้า
อีกเวรภัยไม่มาคอยเกี่ยวข้อง
มีความสุขปลอดภัยสมใจปอง
บุญสนองสู่สวรรค์ชั้นวิมาน

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ความโกรธเหมือนรอยขีด

** ภิกฺขเว   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  (ภิกฺขเว อ่านว่า พิก-ขะ-เว)
อันผู้คนมากมายมหาศาล
ที่อาศัยในพื้นจักรวาล
แบ่งได้สามประการพึงสังวร

** หนึ่งบุคคลเหมือนรอยขีดในหิน
มีความโกรธนิจสินสุดถ่ายถอน
ความโกรธนั้นฝังใจไม่คลายคลอน
ถึงม้วยมรณ์ไม่เหือดหายคลายโกรธเลย

** เหมือนรอยขีดในหินย่อมลำบาก
ลบแสนยากหนักหนาจะเฉลย
น้ำจะเซาะลมจะพัดก็เฉยเมย
ขอเปิดเผยไม่มีทางจะล้างมัน

** สองบุคคลเหมือนรอยขีดในดิน
 ย่อมลบเลือนสูญสิ้นดังใฝ่ฝัน
กระแสน้ำหรือลมลบได้พลัน
ไม่นานวันริ้วรอยจะน้อยลง

** เปรียบความโกรธของเหล่าชาวมนุษย์
ย่อมสินสุดหมดไปดังประสงค์
ไม่คงทนถาวรและยืนยง
ดังรอยขีดไม่มั่นคงยืนยาวนาน

** สามบุคคลเหมือนรอยขีดในน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนถูกไฟเผาผลาญ
ไร้ร่องรอยให้เห็นเพื่อประจาน
ร่องรอยมีไม่นานเหมือนสิ่งใด

** บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมเป็นสุข
ปราศจากทุกข์มีแต่ความสดใส
ย่อมมีสุขทั้งร่างกายและจิตใจ
โปรดจงไขปริศนาอย่าช้าที

** พระพุทธองค์กล่าวพระคาถา
ใจความว่าฆ่าความโกรธโชติรัศมี
นอนเป็นสุขทุกทิวาและราตรี
ความโกรธนี้เป็นมลทินสิ้นกาลนาน

** ดูก่อนพราหมณ์พระอริยะย่อมสรรเสริญ
ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ฆ่าความโกรธลงได้อย่างแหลกลาญ
ไม่เศร้าโศกตลอดกาลนิจนิรันดร์

 (http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง ความโกรธของราชสีห์คน

** ครานั้นพระพุทธองค์เสด็จมา
ถึงกูฏาคาลศาลาริมไพรสัณฑ์
ณ ที่ป่าชื่อว่ามหาวัน
เวสาลีนครันทรงพักกาย

** ทรงปรารภลูกชายช่างตัดผม
ผู้ระทมอกหักรักสลาย
เกิดน้อยใจขึ้นมาฆ่าตัวตาย
เป็นเบื้องต้นสาธยายเรื่องผ่านมา

** ขอย้อนกลับนับกาลนานมาแล้ว
โพธิสัตว์ผ่องแผ้วสุดหรรษา
จุติเป็นราชสีห์ชื่นชีวา
อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์

** สถิตในถ้ำทองกับน้องรัก
มีความสุขยิ่งนักสมัครสมาน
ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันมานาน
พารื่นรมย์สำราญกว่าใครใคร

** มีน้องชายน้องสาวรวมเจ็ดตัว
เป็นครอบครัวราชสีห์สมัยใหม่
มีหน้าที่รับผิดชอบแบ่งกันไว้
พี่พี่ให้น้องสาวเฝ้าถ้ำทอง

** พวกพี่พี่เป็นผู้หาอาหาร
ให้น้องรับประทานไม่หม่นหมอง
วันนี้พี่ออกป่าตามครรลอง
เพื่อปากท้องน้องพี่ที่รักกัน

** ที่ใกล้ใกล้ถ้ำทองมีถ้ำแก้ว
งามเพริดแพรวสวยดีมีสีสัน
หมาจิ้งจอกอาศัยมานานวัน
หวังผูกพันสิงห์สาวเฝ้าเคลียคลอ

** เมื่อสิงห์พี่ออกไปยังไพรพฤกษ์
จึงทำใจเหิมฮึกเข้าไปขอ
ความรักจากราชสีห์มิรีรอ
หวังพะนออิงแอบแนบกายา

** สาวน้อยเอ๋ยฟังวจีพี่จะกล่าว
เราเป็นสัตว์สี่เท้าอย่าถือสา
ว่าใครสูงใครต่ำในพสุธา
จงยอมเป็นภรรยาข้าเถิดเอย

** นางสิงห์สาวผู้หยิ่งในศักดิ์ศรี
ฟังพูดจาพาทีที่เฉลย
น่าน้อยอกน้อยใจเสียจริงเอย
มาภิเปรยหยามเหยียดน่าเกลียดจัง

** อยากจะฆ่าตัวตายเสียยิ่งนัก
อ้ายจิ้งจอกมาบอกรักหวังฝากฝัง
ช่างดูถูกเหยียดหยามเกินกำลัง
แต่ต้องคิดยับยั้งรอพี่ชาย

** ฝ่ายจิ้งจอกเห็นนางไม่ตอบรับ
หันหลังกลับถ้ำแก้วแพรวเฉิดฉาย
เพื่อพำนักพักใจและพักกาย
ตามสบายเคยเป็นเช่นก่อนมา

** ราชสีห์ทั้งหกเมื่ออิ่มแล้ว
ก็คิดถึงน้องแก้วในคูหา
ได้เนื้อสัตว์รีบพากันไคลคลา
เพื่อไปพบกัลยาน้องสาวตน

** เมื่อมาถึงน้องสาวก็เล่าเรื่อง
แสนขุ่นเคืองหนักหนาอุราหม่น
ถามน้องสาวถึงที่อยู่หมาจอมซน
ด้วยความโกรธเหลือล้นจะฆ่ามัน

** น้องสาวบอกว่าอยู่กลางแจ้ง
ไม่เคลือบแคลงกระโจนไปด้วยโทสัน
ถลาวิ่งจากถ้ำมิช้าพลัน
ชนถ้ำแก้วแพรวพรรณคอหักตาย

** ตกตอนเย็นพี่ใหญ่ไม่รอช้า
รีบกลับมาถ้ำทองผ่องเฉิดฉาย
รู้เรื่องที่น้องสาวกล่าวบรรยาย
ไม่งมงายเริ่มวิเคราะห์ให้เหมาะดี

** อันจิ้งจอกไม่ชอบอยู่กลางแจ้ง
ต้องกำบังแอบแฝงอย่างถ้วยถี่
คงอยู่ในถ้ำแก้วกลางพงพี
ใกล้ถ้ำทองเรานี้อย่างแน่นอน

** จึงมุ่งหน้าไปยังที่เชิงเขา
เห็นศพเหล่าน้องชายให้ทอดถอน
อยู่อยู่ต้องตายไปใจอาวรณ์
อกเร้ารอนโศกเศร้าร้าวดวงมาลย์

** คงเป็นเพราะขาดปัญญาชีวาสิ้น
ต้องด่าวดิ้นชีวันสิ้นสังขาร
ด้วยโมหะพาให้ต้องแหลกลาญ
จึงกล่าวขานเป็นคาถามาเตือนใจ

** การงานย่อมจะเผาซึ่งบุคคล
ผู้ร้อนรนไม่พิจารณาว่าเล็กใหญ่
หยาบละเอียดยากง่ายหรืออย่างไร
รีบทำไปเพียงตัดความรำคาญ

** เปรียบของร้อนรีบใส่เข้าในปาก
มันคงยากที่จะรู้รสคาวหวาน
ถูกลวกเผารู้สึกทรมาน
เหมือนทำงานขาดปัญญาพาให้พัง

** เมื่อกล่าวจบขึ้นไปที่ปากถ้ำ
เพื่อตอกย้ำร้องคำรามตามที่หวัง
เสียงกึกก้องกัมปนาทหวาดเสียวจัง
ด้วยพลังเจ้าป่าหูตามัว

** ฝ่ายจิ้งจอกผวาพาใจหวั่น
เสียงคำรามร้องลั่นดังไปทั่ว
หัวใจวายตายไปด้วยความกลัว
ใครทำชั่วได้ชั่วมาตอบแทน

** ราชสีห์กลับไปหาน้องสาว
พูดปลอบใจยืดยาวด้วยห่วงแสน
อย่าคิดมากอย่าหวั่นไหวไม่คลอนแคลน
เราหวงแหนชีวิตไว้จะได้บุญ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:35:56 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๘  เป็นผู้ว่าง่าย  
(โสวจสฺสตา  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** คนว่านอนสอนง่ายนั้นดีนัก
มีคนรักคนเมตตาบุญญาหนุน
สถาพรก้าวหน้าชนการุณ
มีผู้คอยค้ำจุนสุขสบาย

** คนว่าง่ายมีอยู่สองประเภท
แบ่งตามเหตุสมควรต้องขวนขวาย
หนึ่งต้องการอามิสที่มากมาย
หนึ่งว่าง่ายเพราะอยากเป็นคนดี

** การทำตนเป็นคนที่ว่าง่าย
คนทั้งหลายชื่นชมไม่ข่มขี่
มีลักษณะสามประการขอพาที
ดังวจีที่จะเอ่ยเผยให้ฟัง

** หนึ่งรับคำสอนด้วยใจที่มุ่งหมาย
น้อมใจกายนั่งนอนตามสอนสั่ง
รับรู้แล้วปฏิบัติอย่างจริงจัง
คอยระวังไม่เกลือกกลั้วมั่วสิ่งเลว

** สองรับทำความดีหนีสิ่งชั่ว
ให้ห่างไกลไม่มั่วความแหลกเหลว
ลดละเลิกอกุศลอย่างรวดเร็ว
หนีจากเหวอบายตายทั้งเป็น

** สามรับรู้คุณของผู้ให้โอวาท
มีโอกาสจะตอบแทนแม้แสนเข็ญ
คิดถึงคุณที่มีทุกเช้าเย็น
ชีวิตมิลำเค็ญเพราะน้ำใจ

** การว่านอนสอนง่ายเป็นมงคล
จะมีผลแสนดีที่ยิ่งใหญ่
มีแต่ได้กับได้ไม่ว่าใคร
เป็นกำไรที่สูงค่าน่านิยม

** การเป็นคนว่านอนและสอนง่าย
เป็นมงคลมากหลายจะสุขสม
เป็นความดีสูงค่าน่าชื่นชม
จะรื่นรมย์สุขใจในบั้นปลาย

** มีจิตพร้อมสำหรับธรรมขั้นสูง
เป็นที่รักของฝูงมิตรสหาย
อีกทั้งผู้ใกล้ชิดอย่างมากมาย
ชนทั้งหลายเมตตาและปรานี

** ได้รับรู้วิทยาศิลปะ
ทั้งธัมโมธัมมะเป็นวิถี
แห่งการเดินตามครรลองของชีวี
สิ่งเหล่านี้ได้มาเพระไร

** เพราะว่านอนสอนง่ายไม่ใช่หรือ
ผลมันคือความสุขใช่หรือไม่
ไม่เป็นคนกระด้างเหนืออื่นใด
และยอมรับความจริงได้ทุกกรณี

** นับได้ว่าการสอนง่ายช่างดีล้น
อุดมผลยิ่งนักในทุกที่
ละใฝ่ต่ำริษยากันเสียที
ทั้งโอ้อวดตระหนี่คิดปิดบัง

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง พระราธเถระ

** เอกัง สะมะยัง สมัยหนึ่ง
ตถาคตทรงรำพึงถึงเบื้องหลัง
พระราธะเถระผู้ชรัง
เมื่อคราวครั้งที่ท่านยังครองเรือน

** เคยเป็นพราหมณ์เข็ญใจอาศัยพระ
เพื่อเลี้ยงดูอาตมะเพราะขาดเพื่อน
ช่วยปัดกวาดพระวิหารไม่แชเชือน
เปรียบเสมือนหน้าที่ตนอดทนทำ

** พระพุทธองค์ทอดพระเนตรอุปนิสัย
พระอรหันต์ฉัตรชัยใจชื่นฉ่ำ
ทรงพูดจากับพราหมณ์ด้วยน้ำคำ
ที่น้อมนำให้สุขสันต์ในบั้นปลาย

** พระราธะจึงทูลว่าข้าฯ อยากบวช
แต่คงชวดคิดไปแล้วใจหาย
ไม่มีใครสงเคราะห์เพราะวุ่นวาย
ข้าฯ คงตายจากไปในไม่นาน

** พระพุทธองค์ทรงให้ประชุมสงฆ์
เพื่อหาองค์อุปถัมภ์ค้ำประสาน
ให้ราธะได้บวชตามต้องการ
จึงตรัสถามทุกท่านโดยทันที

** ท่านผู้ใดคิดถึงอุปการะ
ของท่านพราหมณ์ราธะบ้างไหมนี่
จะมีใครไหนบ้างหรือไม่มี
โปรดจงเอ่ยวจีพจมาน

** ในครั้งนั้นพระอัครสาวก (อัครสาวก อ่านว่า อัก-คะ-ระ-สา-วก)
ได้หยิบยกเรื่องราวมากล่าวขาน
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นประธาน
ราธะท่านเคยให้ข้าวหนึ่งทัพพี

** แก่ตัวข้าพระองค์ในกาลก่อน
คราวเมื่อตอนบิณฑบาตในกรุงศรี
ในครั้งนั้นท่านพราหมณ์ฐานะดี
บุญคุณนี้ข้าพระองค์ไม่ลืมเลย

** ถ้าอย่างนั้นดีล่ะสารีบุตร
เป็นเรื่องดีที่สุดกล้าเปิดเผย
รับภาระการบวชอย่าเฉยเมย
เพื่อราธะที่เคยอุดหนุนมา

** ฝ่ายราธะพราหมณ์แก่แม้ได้บวช
ไม่เย่อหยิ่งโอ้อวดริษยา
มีขันติคารวะและศรัทธา
มีเมตตาเป็นธรรมค้ำจุนตน

** เป็นคนที่ว่านอนและสอนง่าย
น้อมใจกายเพื่อละอกุศล
ยอมรับฟังคำแนะนำของทุกคน
ครั้นไม่นานผ่านพ้นสุขโลกีย์

** ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ชั่วกัปกัลป์ไร้ทุกข์เป็นสุขี
อาสวะสิ้นไปไกลราคี
ความเศร้าหมองไม่มีช่างดีเกิน

** ครั้นเวลาผ่านไปในครั้งนั้น
พวกภิกษุพากันกล่าวสรรเสริญ
ว่าราธะอ่อนน้อมจึงจำเริญ
ได้เพลิดเพลินในธรรมองค์สัมมา

** อีกทั้งพระสารีบุตรสุดประเสริฐ
กตัญญูเป็นเลิศดีหนักหนา
ประกอบกับกตเวทิตา
ตอบคุณบูชาราธะพราหมณ์

** พระพุทธองค์ได้ตรัสพระวัจจนะ
เป็นธรรมะจากโอษฐ์อย่ามองข้าม
ผู้ใดเป็นบัณฑิตจงติดตาม
พยายามคบหาสมาคม

** จงมองเห็นเช่นคนบอกขุมทรัพย์
ที่มีคุณคณานับไม่ทับถม
ไม่มีโทษใดใดให้หมองตรม
จะรื่นรมย์เพราะบัณฑิตนิจนิรันดร์

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:38:35 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๒๙  การเห็นสมณะ  
(สมนานญฺ จ ทสฺสนํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** สมณะแปลว่าความสงบ
ซึ่งประสบทางสว่างที่สร้างสรรค์
สำรวมกายวาจาใจไม่ผูกพัน
กับกิเลสนับอนันต์ในโลกา

** อันการเห็นคือการที่เคารพ
เมื่อได้พบน้อมกายใจเข้าไปหา
การบำรุงการระลึกด้วยศรัทธา
ฟังวาจาแนะนำธรรมคุณ

** สมณะมีลักษณะต่อไปนี้
เป็นผู้ที่ไม่ว่าร้ายให้เคืองขุ่น
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นคอยค้ำจุน
เป็นบรรพชิตจิตการุณอบอุ่นใจ

** รู้จักประมาณในปัจจัยสี่
ทั้งยินดีความสงัดวัตรยิ่งใหญ่
หมดกิเลสทั้งปวงสิ้นห่วงใย
หนีความชั่วห่างไกลอย่างยืนยง

** เห็นสมณะควรจะนอบน้อมไหว้
นิมนต์ให้แสดงธรรมตามประสงค์
พึงถวายสิ่งของดังจำนง
อุปถัมภ์มั่นคงด้วยศรัทธา

** อานิสงส์มากมีที่พึ่งได้
เกิดจากความสงบใจควรใฝ่หา
ได้ทำบุญสร้างกุศลผลตามมา
ทั้งชาตินี้ชาติหน้าชั่วกัปกัลป์

** ได้รับการอบรมและสั่งสอน
ละนิวรณ์หลีกอบายหมายสวรรค์
ละความชั่วทำความดีชั่วชีวัน
มีความสุขนิรันดร์ไม่สั่นคลอน

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง คุณธรรมอันทำให้เป็นสมณะ

** ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระชินศรี
ทรงเกิดมีพระประสงค์จะสั่งสอน
ให้เหล่าพระภิกษุได้สังวร
จะยืนเดินนั่งนอนต้องสำรวม

** จึงตรัสว่าพวกเธอเป็นสมณะ
ต้องเป็นผู้สมถะไม่หละหลวม
ทั้งหิริโอตตัปปะอย่ากำกวม  (กำกวม = คลุมเครือ)
เธอจงสวมหัวใจใส่ด้วยธรรม

** สมณะต้องเป็นผู้มีสัจจะ
ยึดถือธรรมของสมณะจะคมขำ
เราบอกแล้วพวกเธอต้องจดจำ
เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติตัดบ่วงมาร

** อันข้อความธรรมหมวดนี้ที่จะกล่าว
คือเรื่องราวดีเด่นเป็นรากฐาน
การประพฤติปฏิบัติมาช้านาน
พวกเธอจงสืบสานให้ยืนยาว

** หนึ่ง “กายสมาจาร” การระวัง
ไม่ให้กายพลาดพลั้งต้องอื้อฉาว
จะรักษาให้บริสุทธิ์ประดุจดาว
ที่ผ่องใสสุกสกาวไร้ราคิน

** ประพฤติตนเป็นคนที่เปิดเผย
ไม่มีช่องใดเลยให้ติฉิน
สำรวมกายไร้ตำหนิเป็นอาจิณ
งามผ่องใสสูญสิ้นคำนินทา

** สอง “วจีสมาจารบริสุทธิ์”
งามผ่องผุดกล่าวขานไม่มุสา
ไม่ส่อเสียดไม่เพ้อเจ้อให้ระอา
มีปิยวาจาชั่วฟ้าดิน

** สาม “มโนสมาจารบริสุทธิ์”
ระวังใจประดุจไข่ในหิน
ไม่ยกตนข่มท่านจะเคยชิน
เกิดเป็นรอยมลทินสิ้นความอาย

** สี่ “อาชีวะบริสุทธิ์” ดุจผ้าขาว
ที่ไม่เปื้อนราคีคาวงามเหลือหลาย
การเลี้ยงชีพสุจริตไม่กล้ำกราย
พาตัวห่างหนีหายการโกงกิน

**  ห้า “สำรวมอินทรีย์หก” ไม่หมกมุ่น
ไปติดในกามคุณจะถูกหมิ่น
ถ้าเผอเรอศีลขาดธรรมพังภินท์
สติบินหนีไปไกลจากกาย

** ไม่ยินดียินร้ายให้ไหวหวั่น
เมื่อตานั้นเห็นรูปงามเฉิดฉาย
เมื่อหูได้ยินเสียงทั้งหญิงชาย
ไม่งมงายสำรวมใจไว้เร็วพลัน

** จมูกได้รับกลิ่นทั้งเหม็นหอม
ก็ไม่ยอมหวั่นไหวใจตั้งมั่น
หรือลิ้นได้รับรสทั้งหวานมัน
ไม่ผูกพันยินดีและปรีดา

** หก “รู้จักประมาณการบริโภค
เพราะความหิวเป็นโรคต้องรักษา
ด้วยอาหารที่เราหาได้มา
แต่จงอย่าติดใจในรสเลย

** ทานอาหารเพื่อขจัดอาการหิว
ไม่ใช่เพื่อประเทืองผิวขอเฉลย
ไม่ใช่เพื่อมัวเมานะเธอเอย
เพื่อพรหมจรรย์ขอเอ่ยจงจดจำ

** เจ็ด “ประกอบความเพียรอยู่เสมอ”
ไม่เลยละเผอเรอจนระส่ำ
ไม่เห็นแก่หลับนอนให้ระกำ
เพียรบำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ร่ำไป

** แปด “มีสติสัมปชัญญะ”
เป็นธรรมมีอุปการะที่ยิ่งใหญ่
ระลึกได้ว่าเคยทำซึ่งสิ่งใด
รู้สึกตัวว่าอะไรกำลังทำ

** เก้า ”อยู่ในเสนาสนะอันสงัด”
เพื่อขจัดกิเลสที่กระหน่ำ
มีนิวรณ์ทั้งห้าพาชอกช้ำ
ละเสียได้จะนำความสุขมา

** ใจบริสุทธิ์ผ่องใสไม่เศร้าหมอง
ดุจนำโซ่ที่คล้องนานหนักหนา
ออกจากคอทรมานทุกเวลา
รู้สึกเบากายาหาใดปาน

** ละนิวรณ์ได้แล้วผ่องแผ้วยิ่ง
เป็นความสุขแท้จริงขอกล่าวขาน
ทำฌานสี่ให้เกิดทุกประการ
ถึงอาสวักชยยานสำเร็จพลัน  (อาสวักขยญาณ = อา-สะ-วัก-ขะ-ยะ-ยาน)

** หมดตัณหาสิ้นกิเลสเหตุแห่งทุกข์
พบความสุขได้ชื่อว่าพระอรหันต์
นี่แหละธรรมที่สมณะประพฤติกัน
สุขนิรันดร์นั่นหรือคือนิพพาน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:40:50 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๐  การสนทนาธรรมตามกาล  
(กาเลน ธมฺมสฺสากจฺฉา  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** สนทนาธรรมตามกาลบันดาลให้
เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ไพศาล
เรื่องไม่รู้จะได้รู้อย่างเบิกบาน
ไม่หดหู่ฟุ้งซ่านจนร้อนรน

** หลักการสนทนาธรรมจำเอาไว้
แบ่งออกได้สามชนิดจิตกุศล
จะได้บุญจุนเจือเป็นมงคล
มีสุขล้นเพลิดเพลินเกินพรรณนา

** หนึ่ง “สนทนาในธรรม” คำของพระ
เรื่องที่จะพูดคุยหรือปรึกษา
จะต้องเกี่ยวกับธรรมของศาสดา
จึงสมควรนำพามาจำนรรจ์

** สอง “สนทนาด้วยธรรม” จำเถิดหนา
ผู้ที่จะพูดจามีธรรมมั่น
เช่นสัมมาคารวะสร้างสัมพันธ์
กราบไหว้กันตามฐานะจะอำนวย

** สาม “สนทนาเพื่อธรรม” นำมาใช้
เพื่อจะได้สุขใจเพราะธรรมช่วย
จะศึกษาเรียนรู้ไม่งงงวย
พ้นความซวยด้วยธรรมช่วยนำทาง

** เรื่องที่ควรสนทนานำมากล่าว
เป็นเรื่องราวของธรรมะเพื่อสะสาง
ทั้งกิเลสและตัณหาให้จืดจาง
จะพบทางสว่างอย่างแน่นอน

** หนึ่ง “คุยกันในเรื่องความมักน้อย”
เพื่อปลดปล่อยความอยากได้ให้ถ่ายถอน
ทั้งเอารัดเอาเปรียบก็แคลนคลอน
ต้องม้วยมรณ์เพราะมักน้อยคอยกีดกัน

** สอง “คุยกันในเรื่องความสันโดษ”
เพราะฟุ้งเฟ้อมีโทษอย่างมหันต์
ไม่ดิ้นรนอยากได้ทรัพย์อนันต์
ใช้ชีวิตประจำวันแบบพอดี

** สาม “คุยกันในเรื่องความสงัด”
เพื่อขจัดอกุศลหม่นหมองศรี
ความสงบเป็นบ่อเกิดบารมี
หนทางชี้พ้นอบายคลายกังวล

** สี่ “คุยกันในเรื่องไม่คลุกคลี”
เป็นวิธีให้เกิดบรรลุผล
คลุกคลีกันจะทำให้วกวน
โลภโกรธหลงที่ร้อนรนจะตามมา

** ห้า “คุยกันในเรื่องทำความเพียร”
เพื่อขจัดสิ่งเบียดเบียนคือตัณหา
และกิเลสทั้งปวงในโลกา
ให้เบาบางร้างราลดน้อยลง

** หก “คุยกันในเรื่องรักษาศีล”
ไม่ต้องปีนต้นงิ้วดังประสงค์
พ้นนรกทุกขุมเมื่อปลดปลง
ศีลมั่นคงอบายอย่าหมายเลย

** เจ็ด “คุยกันในเรื่องสมาธิ”
ตั้งจิตมั่นมีสติอย่านิ่งเฉย
ประพฤติธรรมภาวนาอย่าเฉยเมย
ให้คุ้นเคยเป็นนิสัยไปชั่วกาล

** แปด “คุยกันในเรื่องของปัญญา”
เพื่อนำพาให้รอบรู้กัมมัฏฐาน
โลกธรรมวิปัสสนาญาณ  
ได้พบพานความจริงสิ่งไม่ตาย

** เก้า “คุยกันในเรื่องของวิมุตติ”
ใจผ่องผุดสมหวังดังจันทร์ฉาย
สิ้นตัณหาไร้กิเลสเหตุวุ่นวาย
เมื่อหลุดพ้นสบายทั้งกายใจ

** สิบ “คือเรื่องภาวะการพ้นทุกข์”
ใจเกษมคือสุขที่ยิ่งใหญ่
ปราศจากมลทินสิ้นเยื่อใย
ละโลกไปสุคติมีแน่นอน

** การพูดคุยเป็นเบื้องต้นพ้นอาสวะ
แต่ผลจะบังเกิดด้วยการถอน
ทั้งกิเลสทั้งตัณหาและนิวรณ์
ปฏิบัติไม่ขาดตอนมองเห็นธรรม

** สนทนาธรรมเป็นมงคลผลที่ได้
จะทำให้จิตผ่องใสใจอิ่มหนำ
ขจัดข้อสงสัยใจน้อมนำ
ไม่ให้หลงในทางต่ำจิตสำราญ

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ทางเสื่อม – ทางเจริญ

** ในสมัยที่องค์พระศาสดา
เสด็จมาเชตวันพระวิหาร
สาวัตถีพาราทรงเบิกบาน
ท่ามกลางบริวารของพระองค์

** ในครั้งนั้นเมื่อล่วงปฐมยาม
เทวดารูปงามร่างระหง
มาเข้าเฝ้าด้วยเหตุเจตจำนง
เพื่อเจาะจงถามปัญหาพระภูมี

** บังคมแล้วยืนในที่อันควร
ซึ่งเป็นส่วนที่เหมาะสมก้มเกศี
ประณมมือขึ้นทำอัญชลี
บังคมแล้วเอ่ยวจีทูลถามมา

** ภนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  (ภนฺเต  อ่านว่า พัน-เต)
ตัวข้าน้อยบังเอิญมีปัญหา
จึงใคร่ที่จะขอความเมตตา
โปรดทรงวิสัชนาตามเห็นควร

** อะไรที่เป็นทางของคนเสื่อม
ซึ่งจะเชื่อมสู่อบายได้หลายส่วน
อีกทั้งความเจริญไม่เรรวน
โปรดใคร่ครวญสงเคราะห์ตามเหมาะเทอญ

** พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงสาเหตุ
แยกประเภทด้วยลีลาดังหงส์เหิน
เหล่าพุทธบริษัทฟังกันเพลิน
ใคร่ชวนเชิญมวลประชามาฟังกัน

** คนจะเสื่อมเพราะประมาทขาดธรรมะ
ทั้งทอดทิ้งธุระละเรื่องขันธ์
ไม่สำรวมอินทรีย์ทุกวี่วัน
ขอจำนรรจ์สาธกยกถ้อยคำ

** “ผู้ชังธรรม  ผู้รู้ชั่ว” พามัวหมอง
เป็นครรลองของอบายหมายกระหน่ำ
ความเสื่อมทรามถามหาพาระกำ
ต้องชอกช้ำทุกข์โหมโทรมใจกาย

** ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ”
จะยื้อยุดปัญญาพาเสียหาย
ความชั่วร้ายจะคลอบคลุมซุ่มทำลาย
ความสุขหายกิเลสหนาพาร้อนรน

** “คนชอบนอนเกียจคร้านและโกรธง่าย”
ตกเป็นเหยื่อแพ้พ่ายให้หมองหม่น
อกุศลกรรมนำพาให้อับจน
เกิดเป็นคนมีธรรมะจะรุ่งเรือง

** “ไม่เลี้ยงบิดามารดา” ชั่วช้านัก
ไม่คิดถึงความรักอันฟูเฟื่อง
ที่มอบให้ทั้งชีวิตจิตประเทือง
ทั้งสิ้นเปลืองข้าวปลาหาให้กิน

** “คนที่ลวงสมณะ” มุสาวาท
ทำลายปราชญ์รอบรู้ผู้ทรงศีล
การพูดปดตกนรกเป็นอาจิณ
มีมลทินติดกายจนวายปราณ

** “ผู้ตระหนี่” ไม่มีมิตรสหาย
เหมือนทำลายทางชีวิตติดสงสาร
ความตระหนี่คือพิษจิตเป็นพาล
ละสันดานตระหนี่เถิดสุขเกิดมา

** “นักเลงหญิงหรือสุรา” จะพาวุ่น
มีความทุกข์เป็นทุนเศร้าหนักหนา
เสียทรัพย์สินเงินทองหมองอุรา
สิ้นชีวาไฟนรกหมกไหม้ตัว

** “ไม่พอใจในภรรยาสามีตน”
เที่ยวซุกซนกับใครใครเขาไปทั่ว
หลงระเริงลูกเมียเขาเพราะเมามัว
เดินทางผิดจึงชั่วสร้างกรรมเวร

** “เป็นคนทะยานอยากมากตัณหา”
คือเหตุพาอับอายชั่วหลานเหลน
ใช้ชีวิตในทางเสื่อมไร้กฎเกณฑ์
นับเป็นเดนสังคมจมโลกันต์

** ส่วนข้อธรรมตรงกันข้ามตามที่กล่าว
เป็นเรื่องราวทางเจริญเดินสู่ฝัน
ที่ยิ่งใหญ่ในโลกาค่าอนันต์
มีสวรรค์เป็นแดนเกิดเลิศธาตรี

** ผู้รู้ดีมีบัณฑิตเป็นที่รัก
มีความเพียรยิ่งนักขมันขมี
เลี้ยงบิดามารดาเป็นอย่างดี
มีปิยะวจีเป็นพลัง

** มีจิตใจเอื้อเฟื้อและเผื่อแผ่
ไม่ท้อแท้หยิ่งยโสหรือโอหัง
รักสันโดษมักน้อยอย่างจริงจัง
ปลูกสำนึกให้ฝังอย่างมั่นคง

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:45:14 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๑  การบำเพ็ญตบะ  
(ตโป จ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “ตปะ” แปลว่าการเผาบาป
กรรมที่หยาบให้หมดไปไม่ไหลหลง
ทำให้ใจบริสุทธิ์ด้วยการปลง
ปล่อยวางลงจะสว่างห่างอบาย

** ความหมายของการบำเพ็ญตบะ
คือการใช้ธรรมะเผาสลาย
ซึ่งกิเลสเหตุพาให้วุ่นวาย
กิเลสสิ้นทุกข์คลายสบายใจ

** ตบะธรรมในพุทธศาสนา
ขอยกมาให้รู้แจ้งแถลงไข
เป็นแนวทางปฏิบัติขจัดไฟ
ที่เผาไหม้ในอุรามานานครัน

** คือ “อินทรีย์สังวร” อ้อนเฉลย
ขอเปิดเผยสิ่งจะมารังสรรค์
ช่วยประหารอภิชฌามาโรมรัน
คอยฟาดฟันทำลายให้ร้อนรน

** “อาตาปี” คือความเพียรและมุ่งมั่น
ช่างขยันทำงานไม่หมองหม่น
คอยกำจัดความเกียจคร้านให้อับจน
ชีวิตไม่มืดมนและหมองมัว

** “ขันติ” ความอดทนเพื่อพ้นทุกข์
เมื่อผลสุกจะสลายซึ่งความชั่ว
คือย่อท้ออ่อนแอและความกลัว
ปิดรอยรั่วของใจที่ไหวเอน

** ธุดงค์วัตร” จะขัดเกลากิเลส
ซื่งเป็นเหตุมักมากอยากดังเด่น
ธุดงค์จะทำให้ไม่เหลือเดน
จะป้องกันกรรมเวรให้ห่างไกล

** “ศีล” รักษาซึ่งกายและวาจา
ให้สงบดูสง่าและสดใส
อีกหมดจดจากทุจริตผ่องอำไพ
อกุศลใดใดไม่เกี่ยวพัน

** “สมาธิ” ความตั้งมั่นแห่งดวงจิต
จะพิชิตนิวรณ์ห้ามาขวางกั้น
ไม่ให้บรรลุความดีนิจนิรันดร์
ตกนรกปิดสวรรค์และนิพพาน

** “วิปัสสนาปัญญา” ความรู้รอบ
ส่วนประกอบที่สำคัญของสังขาร
มีเกิดแก่เจ็บตายไปตามกาล
จะเผาผลาญความเห็นเป็นอัตตา

** การบำเพ็ญตบะมีอานิสงส์
ให้มั่นคงในพุทธศาสนา
ป้องกันบาปและกำจัดบาปนานา
บรรลุฌานสิ้นตัณหามาครอบงำ

** พร้อมทำให้รู้แจ้งอริยสัจ
เป็นธรรมะปรมัตถ์อันดื่มด่ำ
จะทำลายความทุกข์ความระกำ
ที่ล่วงล้ำจิตใจผู้ใฝ่ดี
(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
เรื่อง การบำเพ็ญตบะ

** เมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้ประทับ
ณ ที่บรรพตาพาสุขี
ชื่อภูเขาคิชฌกูฏขุนคีรี
ราชคฤห์ธานีที่งดงาม

** สันธานคหบดีมีศรัทธา
ได้มุ่งหน้าไปเฝ้าเพื่อทูลถาม
ข้อสงสัยในธรรมที่ลุกลาม
เพื่อลดความร้อนรนกระวนกระวาย

** เมื่อเดินถึงปริพาชการาม
ของนิโครธผู้ลือนามกับสหาย
ร่วมประชุมคุยกันอย่างมากมาย
จึงแวะเข้าทักทายเชื่อมไมตรี

** พวกนิโครธต่างสรวลเสและเฮฮา
คำพูดจาชวนให้น่าบัดสี
หาสาระสักนิดก็ไม่มี
เห็นสันธานคหบดีหยุดคุยกัน

** สันธานจึงได้เอ่ยเผยวจี
ปริพาชกนี้ช่างขยัน
พูดคุยไร้สาระทุกวี่วัน
เสียงดังลั่นโวยวายคล้ายคนพาล

** ส่วนองค์สมเด็จพระโคดม
น่าชื่นชมชอบสงบได้ประสาน
ความสงัดวิเวกเป็นประธาน
เป็นความสุขสำราญของพระองค์

** นิโครธปริพาชกจึงกล่าวว่า
พระศาสดาทรงมีจุดประสงค์
จะหลบหลีกผู้คนอย่างเจาะจง
เพราะท่านคงไร้ปัญญามาพูดคุย

** ถ้าพระองค์ทรงอยู่ในที่นี่
จะต้อนให้หัวหมุนจี๋จนหลุดลุ่ย
เหมือนหม้อเปล่าถูกหมุนจนกระจุย
เราจะลุยจนพระองค์ทรงเหนื่อยแรง

** พระพุทธองค์ทรงสดับสนทนา
ด้วยทิพย์โสตอภิญญาไม่หน่ายแหนง
รู้เรื่องราวทั้งหมดไม่เคลือบแคลง
อยากแสดงให้เห็นความเป็นจริง

** จึงเสด็จมาจงกรมริมสระน้ำ
ที่งามล้ำสดใสไปทุกสิ่ง
ชื่อสุมาคธาน่าพักพิง
ทั้งค่างลิงสัตว์นานาระเริงไพร

** นิโครธได้มองเห็นจึงสั่งศิษย์
เลิกคุยโววิปริตเรื่องเหลวไหล
พระพุทธองค์จึงได้ทรงคลาไคล
เสด็จไปที่ประชุมกลุ่มสัมพันธ์

** สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสถาม
ถึงเนื้อความที่ปรึกษาเฮฮาลั่น
นิโครธจึงเล่าถวายไปโดยพลัน
ทุกถ้อยคำที่จำนรรจ์กับบริวาร

** ปริพาชกทูลถามซึ่งปัญหา
กับสมเด็จพระศาสดาอย่างอาจหาญ
ว่าทรงสอนสาวกให้เบิกบาน
ในพรหมจรรย์อันโอฬารด้วยธรรมใด

** พระองค์จึงได้ตรัสพระวัจจนะ
ว่าธรรมะที่สอนนั้นยิ่งใหญ่
แม้เราบอกพวกท่านไม่เข้าใจ
เพราะลัทธิต่างไปคนละทาง

** เรามาคุยในเรื่องที่ท่านรู้
เราคิดดูเหมาะสมกันทุกอย่าง
เพราะท่านรู้ท่านเข้าใจไม่ระคาง
จะได้ไม่ต้องอ้างถูกรังแก

** อันพวกเราพอใจรังเกียจบาป
บำเพ็ญตบะเพื่อปราบสิ้นกระแส
จึงอยากทราบความคิดเห็นที่แน่แท้
อย่างไรแน่สมบูรณ์ไม่สมบูรณ์

** พระพุทธองค์ตรัสว่าฟังนะท่าน
อันว่าการล้างบาปให้สิ้นสูญ
เป็นสิ่งที่ประเสริฐเจิดจำรูญ
จะเพิ่มพูนซึ่งบุญอันสุนทร

** ตบะที่พวกท่านนั้นบำเพ็ญ
ไม่ว่าเป็นเปลือยกายให้ล่อนจ้อน
ไร้มารยาทเลียมือเฝ้าอ้อนวอน
ให้คนจรสนใจใคร่ศรัทธา

** ไม่กินเนื้อไม่กินปลาอดอาหาร
ทรมานนอนบนหนามให้กังขา
ในบรรดาตบะที่กล่าวมา
ท่านคิดว่าสมบูรณ์แล้วหรือยัง

** ฝ่ายนิโครธตอบว่าสมบูรณ์แล้ว
เพราะเป็นแนวรังเกียจบาปที่ฉมัง
แต่เราว่ายังบกพร่องโปรดจงฟัง
ท่านจงนั่งเราจะอรรถาธิบาย

** พระพุทธองค์ทรงกล่าวเป็นข้อข้อ
ครั้นบำเพ็ญไม่ทำต่อเพราะเบื่อหน่าย
จึงยึดมั่นตบะละใจกาย
เพราะมั่นหมายว่าสำเร็จตามต้องการ

** ยกตนข่มผู้อื่นเพราะหลงผิด
มัวหลงคิดมัวเมาเป็นกิ่งก้าน
ติดในลาภสักการะเป็นสันดาน
ติดรสชาติอาหารจนเมามัว

** บำเพ็ญตบะเพียงให้คนเคารพ
แล้วประจบเอาหน้าพายิ้มหัว
คอยรุกรานสมณะให้เกรงกลัว
กล่าวโอ้อวดไปทั่วตบะเรา

** ไม่ยอมรับในเรื่องที่ควรรับ
มักผูกโกรธประกอบกับความโง่เขลา
ลบหลู่คุณถือตัวจัดไม่ขัดเกลา
ยึดถือเอาความตระหนี่มีมายา

** นิโครธเอ๋ยสิ่งที่เรากล่าวมานี้
ตัวบ่งชี้อุปกิเลสเหตุปัญหา
ของผู้บำเพ็ญตบะในโลกา
ที่เรียกว่าความเศร้าหมองใช่หรือไร

** ฝ่ายนิโครธฟังจบสงบนิ่ง
ก้มหน้ารับความจริงว่าใช่ใช่
บางคนมีอุปกิเลสทุกอย่างไป
แล้วแต่ใครจะฝึกฝนให้พ้นมัน

** ดูกรนิโครธโปรดฟังเถิด  (ดูกร=คำทักทาย  อ่าน ดู-กะ-ระ)
จะได้เกิดความเข้าใจไม่ไหวหวั่น
ยึดตบะแต่บริสุทธิ์มีเหมือนกัน
อุปกิเลสไม่มีวันเศร้าหมองเลย

** เช่นสาวกของเราเป็นตัวอย่าง
มีสังวรคอยขัดขวางขอเปิดเผย
ได้แก่ความระวังจนคุ้นเคย
ความเศร้าหมองถูกสังเวยด้วยคุณธรรม

** สังวรสี่มีฤทธามหาศาล
กำจัดมารทำหน้าที่อุปถัมภ์
แก่ผู้บำเพ็ญตบะเป็นประจำ
ได้ชื่นฉ่ำบริสุทธิ์ดุจเดือนเพ็ญ

** หนึ่ง “งดเว้นจากการฆ่าหมู่สัตว์
เที่ยวประหัตประหารเป็นของเล่น
ไม่ดีใจเมื่อผู้อื่นต้องลำเค็ญ
ทุกข์ทรมานแสนเข็ญทั้งใจกาย

** สอง “ไม่ลักทรัพย์หรือใช้ให้ลักทรัพย์”
เป็นการทำที่นับว่าเสียหาย
ไม่ยินดีพฤติกรรมน่าอับอาย
ผิดศีลธรรมอย่างเลวร้ายในสังคม

** สาม “ไม่พูดปดหรือใช้ให้พูดปด”
พูดเพ้อเจ้อจะรันทดพาขื่นขม
ตกนรกอบายให้โศกตรม
เว้นเสียได้น่าชื่นชมสุขกายใจ

** สี่ “ไม่เสพกามหรือใช้ให้เสพกาม”
ดูไม่งามจะหมกมุ่นและฝันใฝ่
อยู่ในกามตัณหาอยู่ร่ำไป
เป็นสาเหตุทำให้เกิดมลทิน

** เมื่อเกิดมีสังวรทั้งสี่แล้ว
ดวงจิตจะผ่องแผ้วเป็นนิจสิน
พึงเสพความสงัดอยู่อาจิณ
ชำระจิตตัดสิ้นจากนิวรณ์

** จิตสงบตั้งอยู่ในพรหมวิหาร
ครบทั้งสี่ประการไม่ทอดถอน
คือเมตตากรุณาครบวงจร
และคำสอนอุเบกขามุทิตา

** ธรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำสอน
เป็นขั้นตอนเริ่มต้นแสวงหา
โมกขธรรมอันล้ำเลิศของศาสดา
สอนสาวกเรื่อยมาทั่วหน้ากัน

** ธรรมเหล่านี้ที่เราใช้สอนสั่ง
ให้สาวกลุกนั่งหฤหรรษ์
ทุกคนจึงสดใสในพรหมจรรย์
มีคืนวันล่วงไปอิ่มในบุญ

** ถึงตอนนี้สันธานได้ไต่ถาม
ที่นิโครธลวนลามให้เคืองขุ่น
ว่าพระพุทธองค์ไร้ปัญญามาเจือจุน
จะแกล้งให้หัวหมุนจนเสียคน

** นิโครธได้ประจักษ์อย่างแน่วแน่
พุทธองค์เป็นเพชรแท้ไม่มัวหม่น
ทรงเลิศด้วยปัญญาในสากล
ผู้หลีกพ้นสังสารวัฏตัดบ่วงมาร  (สังสารวัฏ อ่านว่า สัง-สา-ระ-วัด)

** จึงได้เอ่ยวาจาขมาโทษ
ขอจงโปรดอโหสิที่กล่าวขาน
ได้ล่วงเกินเพราะความโง่ดักดาน
ขอพระองค์ทรงประทานความเมตตา

** พระพุทธองค์ตรัสว่าช่างมันเถิด
เรื่องที่เกิดผ่านไปไม่ถือสา
จงลืมมันเถอะนะอย่านำพา
แล้วเสด็จไคลคลาไม่ช้าพลัน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:46:56 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๒  การประพฤติพรหมจรรย์  
(พรฺหฺมจริยญฺจ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** พรหมจรรย์คือความประพฤติอันประเสริฐ
เป็นแดนเกิดของพรหมในสวรรค์
คือความดีน่าสรรเสริญเกินจำนรรจ์
และหนทางสร้างสวรรค์สู่นิพพาน

** พรหมจรรย์นั้นมีความหมายว่า
ปรมัตถโชติกาได้กล่าวขาน
ขุททกนิกายคือตำนาน
มีอยู่สี่ประการโปรดจงฟัง

** หนึ่ง “เมถุนวิรัติ” จัดว่างาม
เว้นจากการเสพกามอย่างขึงขัง
แม้ภรรยาของตนอย่างจีรัง
ไม่อินังในกลกามโลกีย์

** สอง “สมณธรรม” เป็นธรรมที่สดใส
เหมืออื่นใดคือคำสอนพระชินศรี
ปฏิบัติธรรมสมณะไร้ราคี
เจริญกัมมัฏฐานนั่นดีไม่ขุ่นมัว

**สาม “ศาสนา” คือคำสอนพระพุทธองค์
ปฏิบัติตรงปฏิบัติดีหนีความชั่ว
จิตผ่องใสใจสงบค้นพบตัว
กิเลสที่พันพัวถูกฆ่าพลัน

** สี่ “อริยมรรค” คือหนทางที่ยิ่งใหญ่
เพื่อเดินไปสู่นิพพานอันสุขสันต์
ความเห็นชอบดำริชอบคุณอนันต์
อรหันต์สุดท้ายพึงหมายปอง

** ส่วนในมังคลัตถทีปนี
กล่าวว่ามีสิบข้อขอสนอง
เป็นความรู้เสริมศรัทธาให้เรืองรอง
พรหมจรรย์ไม่บกพร่องจนเสียการ

** “ทาน” คือการเสียสละและแบ่งปัน
เพื่อมนุษย์ด้วยกันเพราะสงสาร
ทั้งสิ่งของความรู้มาเจือจาน
ให้อภัยเป็นทานด้วยเมตตา

** “เวยยาวัจจะ” คือการขวนขวาย
ทำประโยชน์หลากหลายไม่กังขา
ให้บังเกิดแก่ผู้อื่นด้วยเจตนา
เพื่อสังคมล้ำค่าทุกข์ไม่มี

** “เบญจศีล” ตั้งอยู่ในศีลห้า
จะควบคุมกายวาจาให้ถ้วนถี่
ไม่ลักทรัพย์ฆ่าสัตว์ตัดชีวี
ไม่เบียดเบียนด้วยวจีให้ร้อนรน

** “อัปปมัญญา” แผ่เมตตาแก่หมู่สัตว์
ในสังสารวัฏทุกแห่งหน
ไม่จำเพาะเจาะจงตัวบุคคล
แบ่งส่วนบุญและกุศลด้วยเต็มใจ

** “สทารสันโดษ” โปรดเมียตน
พอใจไม่ดิ้นรนไปมีใหม่
มีรักเดียวใจเดียวตลอดไป
ไม่เยื่อใยใฝ่หามาครอบครอง

** เมถุนวิรัติ” เว้นจากเสพเมถุน
กามคุณจะทำให้เศร้าหมอง
อย่าเอาแต่สนุกควรไตร่ตรอง
เพราะผลของสนุกจะทุกข์นาน

** “วิริยะ” ทำความเพียรชำระบาป
ที่แสนหยาบชั่วช้ามาเผาผลาญ
ให้ใจใสสะอาดตลอดกาล
อกุศลวายปราณจบสิ้นลง

** “อุโบสถ” รักษาศีลอุโบสถ
ที่กำหนดข้อห้ามปรามโลภหลง
ให้มีกายวาจามั่นดำรง
อยู่ในองค์ความดีที่ยงยืน

** อริยมรรค” คือแนวทางที่ใหญ่ยิ่ง
เป็นความจริงเพื่อหลุดพ้นอันราบรื่น
คือการเดินสายกลางไม่หวนคืน
สุขอื่นอื่นเทียบไม่ได้หาไม่มี

** “ศาสนา” คือปฏิบัติธรรมทุกข้อ
ไม่ย่อท้อตั้งมั่นเพื่อสุขี
ปฏิบัติตามคำสอนองค์ภูมี
ไม่ให้ทุกข์ย่ำยีจงตริตรอง

** ทั้งหมดนี้ข้าศึกพรหมจรรย์
ที่ห้ำหั่นทำให้ใจเศร้าหมอง
สามประการสำคัญหมั่นยึดครอง
คอยจ้องมองทำลายให้ยับเยิน

** “กามตัณหา” คือความทะยานอยาก
เกิดยินดีมักมากต่อสรรเสริญ
ทั้งรูปเสียงกลิ่นรสจนเพลิดเพลิน
หลงมัวเดินในวังวนจนหลงทาง

** “ปมาทะ” ประมาทในวัยเวลา
ด้วยคิดว่ายังหนุ่มสาวราวฟ้าสาง
ยังอีกนานชีวิตจึงวายวาง
บุญกุศลไม่สร้างปล่อยว่างฟรี

** “โกธะ” ความขัดเคืองและอึดอัด
ที่ต้องถูกจำกัดเฉพาะที่
ให้อยู่แต่ในกรอบของความดี
สุดแสนที่จะรำคาญบ่นพึมพำ

** จงฟังก่อนเถิดภิกษุทั้งหลาย
มีมนุษย์มากมายที่ถลำ
ปล่อยให้อวิชชาเข้าครอบงำ
ดังม่านดำบังตาให้มืดมน

** เห็นสิ่งที่ไม่ดีว่าเป็นดี
ปัญญามีเหมือนไม่มีขาดเหตุผล
เสมือนทารกน้อยที่ซุกซน
หลงเข้าป่าผจญอันตราย

** อันมนุษย์ในโลกของเราไซร้
ดูร่าเริงสดใสมีความหมาย
แต่ส่วนลึกของใจแสนวุ่นวาย
ว้าเหว่และเดียวดายสักปานใด

** ถ้าหากว่าว้าเหว่ในชีวิต
ไม่มีสิ่งจะยึดติดเป็นหลักให้
เหมือนไม้หลักปักเลนที่เอนไกว
เป็นที่พึ่งไม่ได้โปรดจงฟัง

** ธรรมคือสิ่งสำคัญมากที่สุด
ในชีวิตมนุษย์สุดจะหยั่ง
จะเพศใดภาวะใดมั่นจิรัง
ประดุจดังเกราะหุ้มคุ้มกันภัย

** แม้ว่าจะประสบความทุกข์ยาก
จะลำบากหมดสิ้นที่อาศัย
ไม่ทิ้งธรรมทิ้งคำสอนหมดอาลัย
ทุกเพศและทุกวัยจงจดจำ

** พรหมจรรย์เป็นมงคลที่ดลให้
เมื่อตายไปก็เกิดในสวรรค์
เป็นปัจจัยเพื่อบรรลุธรรมสำคัญ
อนาคตปัจจุบันตลอดกาล

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:48:36 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๓  การเห็นอริยสัจ  
(อริยสจฺจาน ทสฺสนํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** “อริยสัจ” เป็นปรมัตถ์ธรรมชั้นสูง
เครื่องลากจูงมีค่ามหาศาล
คือสภาวะเป็นจริงอันยาวนาน
จะกล่าวขานพอเข้าใจในเนื้อความ

** การเห็นอริยสัจต้องใช้ญาณ
มีทั้งหมดมาประสานรวมเป็นสาม
จงตั้งใจเรียนรู้อย่าวู่วาม
จะรู้เห็นเป็นไปตามกฎความจริง

** “สัจจญาณ” รู้ความจริงอริยสัจ
อย่างเด่นชัดแต่ละข้อหมดทุกสิ่ง
เช่นรู้ว่ามีทุกข์คอยพักพิง
จะเดือดร้อนอย่างยิ่งเมื่อทุกข์มา

** “กิจจญาณ” รู้หน้าที่จะพึงทำ
ควรเว้นควรน้อมนำควรใฝ่หา
กำหนดรู้เรื่องทุกข์ทุกเวลา
รู้แจ้งนิโรธพาให้สุขใจ

** “กตญาณ” รู้ว่ากิจเหล่านั้น
ได้ทำมันให้สำเร็จดังฝันใฝ่
พยายามทำตามขั้นตอนลุล่วงไป
ไม่มีส่วนใดขาดตกบกพร่องแล้ว

** อริยสัจมีอยู่สี่ประการ
สามารถตัดบ่วงมารให้ผ่องแผ้ว
หมดกิเลสสิ้นตัณหาพาเพริดแพรว
ปราศจากวี่แววของมลทิน

** หนึ่ง  “ทุกข์” ความเดือดร้อนใจและกาย
ทรมานมากมายไม่จบสิ้น
ต้องทุรนทุรายเป็นอาจิณ
จะนั่งนอนเดินกินก็กังวล

** อันทุกข์นั้นมีอยู่สองสถานะ
องค์พุทธะตรัสไว้อย่าสับสน
ขอนำมาเผยแพร่แก่ปวงชน
จะได้ยลและเข้าใจไปนานวัน

** “สภาวะทุกข์” คือทุกข์ของสังขาร
มีเกิดแก่วายปราณคอยห้ำหั่น
เป็นปัจจัยปรุงแต่งและผูกพัน
ไม่มีวันที่ใครจะหนีพ้น  

** “ปกิณณกะทุกข์” คือทุกข์จร
ที่เข้ามาหลอกหลอนให้หมองหม่น
เช่นผิดหวังเศร้าใจและร้อนรน
ทั้งท้อแท้เกินทนจนร้อนใจ

** สอง “สมุทัย” เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ไร้ความสุขโศกเศร้าไม่สดใส
เกิดจากความทะยานอยากอยู่ภายใน
เรียกเสียใหม่ว่าตัณหามาครอบครอง

** อกุศลมูลนิวรณ์และกิเลส
ก็เป็นเหตุทำให้ทุกข์หม่นหมอง
อีกมลทินทุจริตผิดทำนอง
เป็นเหตุของการเกิดทุกข์อีกมากมาย

** ตัณหาแบ่งเป็นสามประเภท
จะนำเอาขอบเขตมาขยาย
เพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่งมงาย
ขอบรรยายวิสัชนาจะหายงง

** “กามตัณหา” หมายความว่าความอยากได้
คือปัจจัยทำให้เกิดความหลง
ในโลกีย์วิสัยอย่างมั่นคง
โดยเจาะจงกามคุณหมกมุ่นกาม

** “ภวตัณหา” คือความอยากเป็น
ที่พึงมีพึงเห็นในโลกสาม
อยากเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ทุกยาม
อยากคงอยู่ไม่เป็นตามอนิจจัง

** “วิภวตัณหา” ไม่อยากเป็น
ดังเฉกเช่นไม่อยากพบความผิดหวัง
ไม่อยากแก่ไม่อยากตายอย่างจิรัง
ไม่เจ็บป่วยไม่ภินท์พังจนชั่วกาล

** สาม “นิโรธ” การดับทุกข์ที่รุกเร้า
มาคลอเคล้าให้สิ้นไม่เผาผลาญ
ด้วยทำลายสมุทัยเจ้าตัวการ
ตัดรากฐานของตัณหาทุกข์วอดวาย

** สี่ “มรรค” คือหนทางการดับทุกข์
ให้เกิดสุขชั่วฟ้าดินสูญหาย
คือนิพพานไม่เกิดแก่เจ็บตาย
เป็นการดับสลายนิรันดร์กาล

** “สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นชอบ
ตามระบอบอริยมรรคเป็นแก่นสาร
มีปัญญาเป็นตัวตั้งในหลักการ
และประสานกับความจริงดียิ่งนัก

** “สัมมาสังกัปปะ” ดำริชอบ
ต้องประกอบด้วยคิดดีที่ตระหนัก
ไม่พยาบาทออกจากกามจงประจักษ์
ไม่เบียดเบียนแต่รักซึ่งความดี

** “สัมมาวาจา” เจรจาชอบ
ให้รอบคอบวาจางามตามวิถี
การพูดเท็จพูดคำหยาบต้องไม่มี
พูดส่อเสียดเป็นที่น่าชิงชัง

** “สัมมากัมมันตะ” การงานชอบ
อยู่ในกรอบของธรรมที่ไหลหลั่ง
เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวัง
การฉ้อโกงไม่อินังเพราะเลวทราม

** สัมมาอาชีวะ” เลี้ยงชีวิตชอบ
ต้องนอ้มนอบจิตกุศลคนไม่หยาม
ไม่ผิดธรรมผิดวินัยน้ำใจงาม
ปฏิบัติตามคำสอนองค์สัมมา

** “สัมมาวายามะ” ความเพียรชอบ
จงรอบคอบระวังบาปที่หยาบหนา
ไม่ให้เกิดและละบาปที่เกิดมา
เพียรรักษากุศลกรรมไม่ย่ำยี

** “สัมมาสติ” การระลึกชอบ
เพื่อรู้รอบสติปัฏฐานให้ถ้วนถี่
ว่าร่างกายต้องเน่าเปื่อยไปทุกที
ความสุขทุกข์เกิดมีเป็นอารมณ์

** “สัมมาสมาธิ” ความตั้งใจชอบ
ตามเขตขอบของฌานสี่ให้เหมาะสม
เพื่อวิตกวิจารณ์พาลระทม
ผลาญให้จมเข้าสู่ฌานเบิกบานจริง

** การเห็นอริยสัจเป็นมงคล
เป็นเรื่องที่เลิศล้นกว่าทุกสิ่ง
เข้าถึงเรื่องสังขารไม่ประวิง
ใช้อ้างอิงเรียนรู้ธรรมให้ชำนาญ

** ทำให้ได้เป็นพระอริยะเจ้า
ไม่หมองเศร้าด้วยกิเลสมาเผาผลาญ
เพราะเข้าถึงความดับคือนิพพาน
ทั้งกำจัดตัวมารเกิดแก่ตาย

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ใบประดู่ลายในมือ

** สมัยหนึ่งสมเด็จจอมโมลี
ได้ทรงมีพระทัยอย่างมั่นหมาย
ในการจะเสด็จเยื้องย่างกราย
โกสัมพีเพื่อผ่อนคลายแห่งอารมณ์

** ทรงประทับ ณ สีสปาวัน
ในการนั้นทรงมีแต่สุขสม
จึงประสงค์แสดงธรรมอันอุดม
ให้เป็นที่ชื่นชมตลอดกาล

** ครั้นจะทรงเปรียบเทียบธรรมที่สั่งสอน
ในบวรศาสนามาไขขาน
กับธรรมที่ตรัสรู้มาเนิ่นนาน
ว่าอย่างไหนปริมาณมากกว่ากัน

** ทรงหยิบใบประดู่ลายมาสองใบ
มาวางไว้บนพระหัตถ์หฤหรรษ์
แล้วตรัสถามความเห็นเป็นสำคัญ
กับภิกษุเหล่านั้นในทันที

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจงฟังเรา
เปรียบเทียบเอาใบไม้ในมือนี่
กับใบไม้บนต้นเขียวขจี
ที่ไหนมีมากกว่าจงยืนยัน

** ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่ต้นมีมากเกินจะเสกสรร
บนพระหัตถ์น้อยกว่าเป็นร้อยพัน
ขอจำนรรจ์กราบทูลความที่ถามมา

** อย่างนั้นเหมือนกันภิกษุทั้งหลาย
เราตรัสรู้ธรรมหลากหลายมากหนักหนา
แต่ที่นำมาสั่งสอนทุกเวลา
มีน้อยกว่าที่เรารู้อีกมากมาย

** เพราะเหตุใดจึงไม่นำมาสอนเล่า
เพราะไม่เร้าให้เกิดความเบื่อหน่าย
อีกทั้งความกำหนัดก็ไม่คลาย
ความสงบไม่ย่างกรายมาให้ครอง

** ไม่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้
ไม่ตั้งอยู่เพื่อนิพพานตอบสนอง
เพื่อความรู้ที่ใหญ่ยิ่งสิ่งควรปอง
ตามครรลองความหลุดพ้นผจญมาร

** ดูก่อนบรรดาภิกษุทั้งหลาย
เรามุ่งหมายนำธรรมมาประสาน
ให้ได้รู้นี่คือทุกข์อันร้าวราน
อีกทั้งการดับทุกข์ให้สิ้นไป

** นี่คือทางให้ถึงความดับทุกข์
เกิดความสุขชั่วนิรันดร์อันยิ่งใหญ่
นี้คือสิ่งที่เราสอนอย่างตั้งใจ
ให้ใครใครได้เรียนรู้อยู่ทุกวัน

** เพราะเหตุใดเราจึงเอาสิ่งเหล่านี้
มาแนะชี้เพราะหวังให้สุขสันต์
ได้ก้าวสู่เบื้องต้นพรหมจรรย์
เพื่อรู้ยิ่งสิ่งสำคัญคือดับทุกข์

** ดูก่อนบรรดาภิกษุทั้งหลาย
เราก็ได้อธิบายเพื่อสร้างสุข
เพื่อให้เธอเข้าใจไม่เจ่าจุก
เลิกสนุกละตัณหาจะพ้นภัย

** เมื่อรู้แล้วขอให้จงได้คิด
บำเพ็ญเพียรจนติดเป็นนิสัย
ละกิเลสตัณหาไม่อาลัย
สู่เส้นชัยแห่งชีวิตคือนิพพาน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:50:11 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๔  การทำให้แจ้งพระนิพพาน  
(นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** การออกจากตัณหาเครื่องร้อยรัด
เหมือนการตัดพ้นจากเครื่องประหาร
จะร่มเย็นเป็นสุขนิรันดร์กาล
เรียก “นิพพานสัจฉิกิริยา”

** คือการทำนิพพานให้รู้แจ้ง
รู้ถึงแหล่งของทุกข์ที่โถมถา
รู้วิธีการดับทุกข์ที่เกิดมา
ด้วยคำสอนพระศาสดาของปวงชน

** ลักษณะของนิพพานกล่าวขานไว้
เพื่อจะได้เข้าใจไม่สับสน
ขออนุญาตนำเสนอแก่ทุกคน
ตามที่ได้สืบค้นและเล่าเรียน

** หนึ่ง “ความสิ้นตัณหา” ทะยานอยาก
ซึ่งเกิดจากอยากได้คุมบังเหียน
ความอยากเป็นไม่อยากเป็นที่หมุนเวียน
มาเบียดเบียนทำลายให้ร้าวราน

** สอง “จุดจบของความทุกข์” ที่รุกเร้า
เกิดถูกเผาให้มอดไหม้ไร้รากฐาน
ด้วยนิโรธตัวดับทุกข์ให้วายปราณ
ดังตัณหาถูกเผาผลาญสิ้นเชื้อไฟ

** สาม “ความดับแห่งภพชาติ” ไม่มีเหลือ
หมดสิ้นเชื้อการตายแก่และเกิดใหม่
ดับจนสิ้นไม่เหลือแม้เยื่อใย
ครั้นผ่านไปสังขารได้สลายลง

** ภาวะของผู้บรรลุนิพพานแล้ว
มีดวงจิตผ่องแผ้วไม่ไหลหลง
มีสติเป็นพื้นฐานที่มั่นคง
จะดำรงยึดพระรัตนตรัย

** “ภาวะทางปัญญา” สามารถมอง
สิ่งทั้งผองตามเป็นจริงไม่สงสัย
รู้เท่าทันเรื่องสังขารและโพยภัย
ไร้เลศนัยเห็นข้อดีว่าเป็นดี

** “ภาวะทางจิต” มีอิสระ
จากกิเลสที่จะมาเสียดสี
ไม่เป็นทาสของอารมณ์ที่ยวนยี
ไม่หวั่นไหวดุจเสาทีมั่นแข็งแรง

** “ภาวะทางการดำเนินชีวิต”
รักษาศีลเป็นนิจในทุกแห่ง
ให้สมบูรณ์ไม่เสียหายไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เคลือบแคลงเพราะกิเลสเป็นเหตุนำ

** การที่ทำให้แจ้งแห่งนิพพาน
เป็นมงคลในจักรวาลที่คมขำ
ทำให้พ้นจากทุกข์ไม่ระกำ
ปราศจากสิ่งมาตอกย้ำหรือย่ำยี

** เป็นผู้ไม่มีเวรกับใครใคร
ชีวิตดำเนินไปอย่างสุขี
ไม่มีความประมาทในชีวี
สิ้นภพไปไม่มีเกิดแก่ตาย

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ความสงบ

** ภิกษุทั้งหลายฟังเรานะ
ในบรรดาธรรมะที่หลากหลาย
ไม่มีความสุขใดจะมากมาย
ที่จะคล้ายหรือเสมอ “สงบ” เลย

** ความสุขนี้มีอยู่ในตัวเรา
เพราะความเขลาจึงทิ้งไปเฉยเฉย
เอาแต่วุ่นวิ่งหาเพราะคุ้นเคย
นิจจาเอ๋ยไม่เคยจะไล่ตามทัน

** จะไม่พบความสุขที่แท้จริง
เพราะมัววิ่งตามอารมณ์เป็นอาถรรพ์
วุ่นกับกามกับกินและเกียรติกัน
จนลืมเรื่องสำคัญคือจิตตน

** ดวงจิตที่ผ่องใสหรือผ่องแผ้ว
ดุจดังแก้วเจียระไนไม่หมองหม่น
สามารถให้ความสุขแก่ทุกคน
ไม่ต้องมัววิ่งวนคอยไล่ตาม

** ผู้มองแต่ความเจริญของวัตถุ
ในใจร้อนระอุอย่างล้นหลาม
ไม่สงบเยือกเย็นเพราะไฟลาม
จมในความเหม็นคาวของโลกา

** เปรียบดังผู้ที่แบกซึ่งของหนัก
วิ่งโดยไม่หยุดพักเหนื่อยหนักหนา
เท้าวิ่งไปปากบ่นไปจนระอา
แต่ไม่วางลงมาเพื่อผ่อนปรน

** ดูกรบรรดาภิกษุทั้งหลาย
ในโลกนี้ที่วุ่นวายและสับสน
ใส่หน้ากากหลอกกันอลวน
โลกหมองหม่นเพราะพิษร้ายจนเรื้อรัง

** ดังอาคารดุจปราสาทแห่งกษัตริย์
มีลมพัดเย็นสบายทั่วทั้งหลัง
มีดนตรีเสียงเพลงกล่อมให้ฟัง
ไพเราะดังคนธรรพ์คอยบรรเลง

** ผู้คนที่อาศัยใจเร่าร้อน
ดุจนั่งนอนในกองไฟด้วยรีบเร่ง
ไม่มีสุขระแวงภัยให้หวั่นเกรง
ใจตัวเองหวาดผวาพาลุกลน

** ไม่สงบจิตใจไม่มีสุข
ต้องเจ่าจุกในปราสาทไร้กุศล
ผู้สงบอยู่โคนไม้ไม่ร้อนรน
มีความสุขมากล้นหาใดปาน

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:51:58 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๕  จิตไม่หวั่นไหว  
(ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** คำ “จิตตะ” แปลว่านึกหรือคิด
ถ้าคิดถูกคือสุจริตดีไพศาล
ถ้าคิดผิดคือไม่ดีเหมือนมีมาร
คอยล้างผลาญให้โศกเศร้าร้าวระบม

** อันจิตนี้มีหน้าที่สามประการ
ตามหลักฐานบอกไว้อย่างเหมาะสม
มาเถิดหนาศึกษากันและชื่นชม
เพื่อเพาะบ่มจิตใจให้ใฝ่ดี

** หนึ่งทำหน้าที่นึกคิดหรือปรุงแต่ง
ตามวัตถุที่แสดงเป็นสักขี
เช่นสวยหรือไม่สวยที่เกิดมี
มาย่ำยีดวงจิตนิจนิรันดร์

** สองรับรู้อารมณ์ที่ผ่านมา
ทั้งทางหูทางตาพาไหวหวั่น
อีกทั้งลิ้นกายใจก็เหมือนกัน
สัมผัสพลันรับรู้ได้ทันที

** อันอารมณ์ทั้งหกยกมากล่าว
เป็นเรื่องราวต้องสัมผัสในทุกที่
คือรูปรสกลิ่นเสียงที่ยวนยี
โผฏฐัพพะมีธรรมารมณ์มา

** สามสั่งสมหรือเก็บสิ่งที่ทำ
พูดคิดเป็นประจำมากหนักหนา
ทั้งอารมณ์ต่างต่างชั่วชีวา
เก็บสะสมทุกคราตลอดกาล

** “โลกธรรม” ทำให้จิตหวั่นไหว
ซึ่งใครใครหลีกไม่ได้ในสงสาร
มีประจำกับชีวิตมาเนิ่นนาน
เวลาผ่านยังอยู่คู่โลกา

** โลกธรรมมีอยู่รวมแปดข้อ
แต่เมื่อย่อจะเป็นสองต้องศึกษา
คือฝ่ายที่ต้องการทุกเวลา
ภาษาธรรมเรียกว่า “อิฏฐารมณ์”

** คืออารมณ์ที่พีงปรารถนา
แยกออกมาสี่ประการล้วนสุขสม
คือได้ลาภได้ยศน่าชื่นชม
สรรเสริญสุขยอดนิยมของทุกคน

** “อนิฏฐารมณ์” คือธรรมตรงกันข้าม
เรียกตามตามกันว่าอกุศล
คือเสื่อมลาภเสื่อมยศรันทดทน
ถูกนินทาตกทุกข์จนเดือดร้อนใจ

** ธรรมเหล่านี้มีสภาพที่ไม่เที่ยง
ย่อมแปรปรวนสุดจะเลี่ยงไปทางไหน
ไม่แน่นอนแปรผันทุกวันไป
แล้วแต่ใครจะยอมรับกับความจริง

** ท่านผู้ใดมีสติมีปัญญา
ยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้ทุกทุกสิ่ง
ย่อมแปรเปลี่ยนไม่คงอยู่ให้พักพิง
ไม่หยุดนิ่งเป็นธรรมดาอย่ากังวล

** เมื่อใดที่อนิฏฐารมณ์มากระทบ
ก็สยบมันได้ไม่หมองหม่น
มีจิตไม่หวั่นไหวให้ร้อนรน
เรียกว่าคนมีจิตที่ฝึกแล้ว

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
หมาจิ้งจอกขี้เรื้อน

** สมัยหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
เสด็จมาประทับอย่างผ่องแผ้ว
ณ พระเชตวันอันเพริดแพรว
ในเมืองแก้วสาวัตถีที่มั่นคง

** ทรงปรารภเรื่องลาภสักการะ
ซึ่งครอบงำหมู่พระภิกษุสงฆ์
ยกตัวอย่างหมาจิ้งจอกโดยจำนง
ซึ่งมันแก่ตัวลงที่เชตวัน

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเอ๋ย
เห็นไหมเอ่ยหมาจิ้งจอกที่ยืนนั่น
อาศัยอยู่ที่นี่มานานครัน
ตัวของมันเป็นขี้เรื้อนเปื้อนทั่วกาย

** มันเป็นสัตว์ที่ดูน่าสงสาร
ยืนตัวสั่นสะท้านน่าใจหาย
เมื่อมันอยู่ลานดินไม่สบาย
จึงได้ย้ายที่นอนเพื่อผ่อนปรน

** ไปอาศัยนอนอยู่โคนต้นไม้
หวังจะให้ดีขึ้นคงได้ผล
แต่ปรากฏว่าคิดผิดที่ดิ้นรน
สุดจะทนเหมือนกันกับวันวาน

** แม้จะเปลี่ยนที่นอนไปหลายที่
ก็ไม่มีที่ใดไม่ร้าวฉาน
ความเจ็บปวดไม่สบายทรมาน
มาก้าวร้าวรุกรานอยู่เหมือนเดิม

** เหมือนภิกษุบางรูปในศาสนา
ใช้ชีวิตกันมาอย่างฮึกเหิม
ติดในลาภสักการะจนเหิมเกริม
ไม่ฝึกเพิ่มความเพียรสิ่งควรทำ

** ผู้ที่ถูกลาภสักการะย่ำยีแล้ว
ก็ไม่แคล้วถูกตัณหามากระหน่ำ
จะนั่งนอนที่ไหนก็ระกำ
ต้องชอกช้ำเพราะทุกข์บุกทำลาย

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเอ๋ย
อย่ามัวเฉยให้ชีวิตล่มสลาย
ลาภสักการะทารุณและหยาบคาย
เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรม

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:53:45 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๖  จิตไม่โศก  
(อโสกํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** จิตไม่โศกคือจิตไม่แห้งผาก
มีความชุ่มชื้นมากจนเย็นฉ่ำ
ไม่หดหู่ระทมด้วยผลกรรม
เพราะไม่ทำความชั่วตัวอัปรีย์

** จิตไม่โศกคือจิตที่หลุดพ้น
จากวังวนของวัฏฏะมาเสียดสี
ปราศจากราคะสิ้นราคี
ทั้งโทสะที่มีก็สิ้นไป

** อีกโลภะก็สละมันจนสิ้น
ไม่มีเหลือให้เกาะกินเกิดหวั่นไหว
จะไม่ติดในกามตัดสายใย
อกุศลบาปใดใดไม่ข้องมัน

** แม้อารมณ์ต่างต่างไม่เกี่ยวข้อง
ปล่อยให้ลอยละล่องไม่ใฝ่ฝัน
ละกิเลสละตัณหาสารพัน
ดังคำภควันต์ได้ตรัสมา

** ผู้ถึงธรรมไม่เศร้าโศกถึงความหลัง
ไม่ฝันเพ้อสิ่งที่ยังอยู่ข้างหน้า
คืออนาคตมองไม่เห็นอยู่ไกลตา
อยู่กับปัจจุบันดีกว่าอย่าดิ้นรน

** อีกนัยหนึ่งความโศกเกิดจากรัก
ถ้าห้ามหักเสียได้ไม่หมองหม่น
ผู้บรรลุนิพพานบันดาลดล
ให้หลุดพ้นจากรักที่ปักใจ

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
น้ำตามากกว่าน้ำทะเล

** พระพุทธองค์ทรงประทับอย่างสุขสันต์
ณ พระเชตะวันวิหารใหญ่
ที่กรุงสาวัตถีเรืองวิไล
เพื่อจะได้แสดงธรรมเสริมปัญญา

** ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
โลกนี้ช่างวุ่นวายเสียหนักหนา
สัตว์ทั้งหลายต้องใช้กรรมที่ทำมา
ไปจนกว่าจะหมดกำหนดกรรม

** สังสารวัฏของสัตว์โลก
มีทั้งโศกทั้งสุขทุกข์ร้องร่ำ
ต้องวนเวียนเปลี่ยนไปเป็นประจำ
ล้วนแต่เป็นสัจธรรมไม่ว่าใคร

** สังสารวัฏยาวไกลตั้งเหลือหลาย
ไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาอยู่ที่ไหน
เพราะสรรพสัตว์เกิดตายมีทั่วไป
นับไม่ได้ว่ากี่ชาติกี่ภพกัน

** ภิกษุทั้งหลายพวกเธอคิดอย่างไร
น้ำตาของสัตว์ที่ไหลเพราะโศกศัลย์
ต้องคร่ำครวญร้องไห้อยู่ทุกวัน
ในแต่ละชาตินั้นมีมากมาย

** มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร
อันกว้างใหญ่ที่สุดไร้จุดหมาย
ซึ่งเกิดจากความทุกข์มากล้ำกราย
เพราะการเจ็บการตายเป็นตัวการ

** พวกข้าพระองค์เคยได้ศึกษา
ตามพระองค์สั่งสอนมาเป็นพื้นฐาน
ว่าน้ำตาสรรพสัตว์ในจักรวาล
มีมากเกินประมาณจะคำนวณ

** ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเกิดแล้วต้องตายสุดถ่ายถอน
เสียน้ำตาเพราะพ่อแม่มาม้วยมรณ์
มากกว่าน้ำในสาครทั่วโลกา

** อีกทั้งญาติหลายหลากก็ไม่น้อย
ที่พวกสัตว์ต้องคอยละห้อยหา
เมื่อพวกเขาละโลกเศร้าโสกา
ก็ต้องเสียน้ำตาด้วยอาลัย

** นอกจากนี้ยังมีอีกนานับ
ความทุกข์โศกที่ได้รับเกินสงสัย
มากัดกินรุมเร้าในฤทัย
จนตลอดอายุขัยไม่สร่างเซา

** ความเสื่อมลาภโรคภัยมาเบียดเบียน
อุตส่าห์เพียรค้าขายก็เงียบเหงา
จะทำไร่ไถนาสุดบรรเทา
เป็นรากเหง้าของการเสียน้ำตา

** ภิกษุเอ๋ย  รู้แล้วไฉนหนอ
จึงไม่หยุดไม่พอเสน่หา
ในสังสารวัฏที่เกิดมา
เพราะมันพาให้หลงวงเวียนมาร

** ด้วยเหตุนี้ควรที่สัตว์ทั้งหลาย
ควรคิดจะเบื่อหน่ายในสังขาร
ที่เกิดเกิดตายตายอีกแสนนาน
อีกกี่ชาติจึงพ้นผ่านทุกข์ทั้งปวง

** จิตไม่โศกเป็นมงคลผลดีนัก
จะประจักษ์ได้ด้วยใจไม่ต้องห่วง
รับรองว่าดีจริงจริงมิใช่ลวง
มีผลพวงอีกมากมายเล่าให้ฟัง

** ทำให้จิตมั่นคงดุจดังเขื่อน
ความทุกข์เลือนการเกิดสิ้นดังที่หวัง
ด้วยกิเลสต้นเหตุเกิดมาภินท์พัง
ผลของมันถูกยับยั้งให้สิ้นเชื้อ

** เป็นที่สักการะและเคารพ
แก่ผู้ที่ได้พบอย่างล้นเหลือ
อีกทั้งเทวดาไม่คลุมเครือ
เพราะเขาเชื่อความหมดจดของจิตใจ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:55:10 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๗  จิตหมดธุลี  
(วิรชํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** ธุลี คือกิเลสเหตุหมองเศร้า
คอยรุมเร้าให้เดือดร้อนนอนไม่ไหว
ต้องร้อนรุ่มทั้งภายนอกและภายใน
คอยลวกไหม้จนวอดวายตายทั้งเป็น

** ทีสำคัญมีอยู่สามประการ
จะไขขานยกมาให้ได้เห็น
หลีกให้พ้นหนีให้ไกลไม่ลำเค็ญ
ก็จะเป็นผู้หมดจดจากธุลี

** หนึ่ง “โลภะ ความโลภ” หรืออยากได้
ซึ่งทรัพย์สินน้อยใหญ่เป็นเศรษฐี
อันความโลภความอยากได้เมื่อเกิดมี
จะรวมตัวเป็นธุลีคอยกัดกิน

** สอง “โทสะ ความโกรธ” พยาบาท
ความเจ็บแค้นอาฆาตและหยามหมิ่น
คิดปองร้ายเดือดดาลเป็นอาจิณ
ทำลายสิ้นความดีที่เคยทำ

** สาม “โมหะ ความหลง” ความเห็นผิด
เป็นยาพิษตัวร้ายคอยกระหน่ำ
ความถือตัวความฟุ้งซ่านเกิดประจำ
ความไม่รู้สัจธรรมเฝ้ารุกราน

** ใจหมดธุลีคือใจหมดกิเลส
ซึ่งเป็นเหตุทำลายหลายสถาน
ให้หมดสิ้นเปรียบได้ดังตัวมาร
สามประการข้างต้นให้พ้นไป

** การปฏิบัติเพื่อกำจัดธุลี
ต้องศึกษาให้ดีเพราะเรื่องใหญ่
ถ้าทำได้กิเลสหนีไปไกล
คงเหลือไว้ความผ่องแผ้วในกมล

** ไตรสิกขาคือข้อธรรมต้องศึกษา
เพื่อนำมากำจัดจะได้ผล
ธุลีจะหมดไปไม่ร้อนรน
เชิญทุกคนลองมาศึกษากัน

** ไตรสิกขามีอยู่รวมสามข้อ
เป็นรากฐานตัดตอได้คงมั่น
ความวุ่นวายภายในสิ้นไปพลัน
คงมีสุขทุกวันตลอดกาล

** “ศีล” ทำให้กายวาจานั้นเรียบร้อย
ไม่ด่างพร้อยด้วยมลทินสิ้นร้าวฉาน
ชีวิตจะมีสุขทุกวันวาร
เพราะตัวการไม่กล้ามารบกวน

** ศีลสามารถกำจัดกิเลสหยาบ
ไม่ให้มาจ้วงจาบจนผันผวน
ไม่มีศีลกายวาจาถูกลามลวน
ด้วยกิเลสคอยกวนไม่เบิกบาน

** “สมาธิ” คือภาวะจิตที่สงบ
จะได้พบความจริงของสังขาร
ว่าเป็นทุกข์ไม่เที่ยงไม่ยืนนาน
ภาวะกาลไม่แน่นอนเปลี่ยนได้ไว

** ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองไม่ร้อนรุ่ม
คอยควบคุมกิเลสอย่างกลางได้
จะอิ่มเอิบร่าเริงสิ้นเยื่อใย
และอยู่ในภาวะที่สมดุล

** “ปัญญา” ความรอบรู้อริยสัจ
รู้วิธีการตัดความเคืองขุ่น
อีกทั้งตัดกิเลสขาดเป็นจุณ
เป็นธรรมที่ให้คุณกับทุกคน

** ปัญญาขจัดกิเลสอย่างละเอียด
ไม่ให้เฉียดเข้าใกล้ในทุกหน
เพราะรู้เห็นตามเป็นจริงไม่วกวน
จะหลุดพ้นจากกิเลสเหตุรัดรึง

** จิตปราศจากธุลีแสนดีนัก
จะประจักษ์โมกขธรรมที่ยากถึง
เป็นผู้ไม่หวั่นไหวไม่พรั่นพรึง
คอยทำลายเครื่องรัดรึงอันตรธาน

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ที่ใดมีความรักที่นั่นมีทุกข์

** ครั้งเมื่อองค์สมเด็จพระชินศรี
ประทับที่บุพพารามพระวิหาร
ใกล้นครสาวัตถีเมื่อมินาน
พร้อมด้วยบริวารติดตามมา

** ในกาลนั้นอุบาสิกาใหญ่
เป็นผู้มีน้ำใจชื่อวิสาขา
เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระศาสดา
ด้วยใบหน้าเศร้าโศกวิโยคครวญ

** เนื่องด้วยหลานรักถึงตักษัย
ประสพภัยเจ็บไข้อาลัยหวน
ยังตัดใจไม่ได้ให้รัญจวน
โอ้เนื้อนวลจากไปไม่กลับคืน

** พระพุทธองค์ตรัสถามเนื้อความว่า
ดูก่อนวิสาขาเธออย่าฝืน
ชีวิตของคนเราไม่ยั่งยืน
เวลาย่อมจะกลืนชีวิตคน

** ได้ยินว่าเธอมีความปรารถนา
ให้ลูกหลานเกิดมาเป็นห่าฝน
มีจำนวนมากมายหลายหมื่นคน
เท่าจำนวนประชาชนในนคร

** ใช่เจ้าค่ะ พระองค์โปรดทรงทราบ
ข้าพระองค์ขอกราบช่วยสั่งสอน
พระองค์โปรดพิจารณาเป็นขั้นตอน
อย่าอาทรความนึกคิดข้าพระองค์

** พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูก่อนวิสาขาเธออย่าหลง
เธอทราบไหมจำนวนคนที่ปลดปลง
ในนครต้องตายลงวันเท่าไร

** วิสาขากราบทูลพระศาสดา
ในพาราสาวัตถีทั้งไกลใกล้
ต้องพบความเศร้าโศกและเสียใจ
เพราะมีคนตายไปทุกทุกวัน

** พระพุทธองค์จึงตรัสวิสาขา
ตามที่เธอกล่าวมาถูกแล้วนั่น
เธอต้องซับน้ำตาชั่วนิรันดร์
เพราะลูกหลานเธอนั้นต้องมาตาย

** เมื่อรักมากความทุกข์ก็มีมาก
ความพลัดพรากเกิดทุกข์ความสุขหาย
ถ้ารักร้อยทุกข์ร้อยไม่ผ่อนคลาย
รักมลายหายสิ้นทุกข์ภินท์พัง

** คนผู้ใดไม่มีสิ่งเป็นที่รัก
ผู้นั้นจักไม่มีทุกข์เป็นบ่อฝัง
ให้ติดในสังสารวัฏทรงพลัง
เป็นทาสของอนิจจังอนัตตา

** เรากล่าวว่าไม่มีทุกข์ไม่เศร้าโศก
เปรียบดังโลกได้รับการรักษา
หมดกิเลสดุจธุลีชั่วชีวา
ทั้งโลกนี้โลกหน้าสุขสำราญ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 02:56:41 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
 (http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
มงคลที่ ๓๘  จิตเกษม  
(เขมํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ)

** จิตเกษม คือปลอดภัยจากกิเลส
ซึ่งเป็นเหตุให้ผ่องใสไม่เผาผลาญ
เพราะกิเลสถูกทำลายจนแหลกลาญ
ด้วยโยคะสี่ประการถูกตัดไป

** โยคะคือเครื่องผูกให้สังขาร
ต้องวนเวียนทรมานในห้วงใหญ่
คือวัฏฏะสงสารที่กว้างไกล
ต้องขจัดให้ได้จะร่มเย็น

** “กามโยคะ” เครื่องผูกคือความใคร่
หรือพอใจกามคุณวุ่นเหลือเข็ญ
มีความอยากในรูปรสทุกประเด็น
และกลิ่นเสียงก็ไม่เว้นอีกมากมาย

** “ภวโยคะ” เครื่องผูกคือความยินดี
เพราะอยากเป็นอยากมีอย่างเหลือหลาย
ติดในภพคือเกิดแก่และตาย
ต้องวุ่ยวายวนเวียนเปลี่ยนไปมา

** “ทิฏฐิโยคะ” เครื่องผูกคือความเห็น
เห็นผิดเป็นเรื่องถูกเศร้าหนักหนา
ตัวอย่างเช่นเห็นสังขารเป็นอัตตา
หรือเห็นว่าสังขารเที่ยงแน่นอน

** “อวิชชาโยคะ” คือความบอด
ขาดปัญญาพาวายวอดสุดทอดถอน
ไม่รู้เหตุไม่รู้ผลทนร้าวรอน
ชีวิตต้องสั่นคลอนนอนไม่ลง

** โยคะนี้เปรียบได้เชือกสี่เกลียว
ผูกรัดอย่างแน่นเหนียวให้ไหลหลง
ในโลกีย์วิสัยอย่างมั่นคง
หนีจากวงล้อมของภัยไม่ได้เลย

** ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น
จวบสูญฟ้าสิ้นดินอย่านิ่งเฉย
รีบตัดขาดจากโยคะจะเสบย
หวังเกาะเกยสวรรค์ชั้นวิมาน

** จิตเกษมเป็นมงคลกุศลนัก
ปราศจากทุกข์สุขประจักษ์ทุกสถาน
เป็นสาวกที่สมบูรณ์ควรกราบกราน
เป็นแบบอย่างของวงศ์วานองค์พุทธา

** หมดเหตุและปัจจัยแห่งการเกิด
เป็นสิ่งที่ประเสริฐเกินจักหา
พบขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ในโลกา
สูงคุณค่าที่สุดดุจจักรวาล

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ธรรมะมีค่าดังทอง


** อดีตกาลผ่านมาหลายพันปี
ณ กรุงพาราณสีอันไพศาล
มีชาวนาคนขยันทำการงาน
ไม่ปล่อยเวลาผ่านอย่างเลื่อนลอย

** ได้จับจองที่ดินซึ่งรกร้าง
เป็นที่ดินปล่อยว่างไม่ใช้สอย
เพื่อถากถางเป็นที่นาไว้รอคอย
ปลูกข้าวกล้าพอได้พลอยอาศัยกิน

** อันที่ว่างแห่งนี้มีประวัติ
ปรากฏชัดของเศรษฐีดังถวิล
ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบนที่ดิน
จวบจนได้ย้ายถิ่นเมื่อก่อนนั้น

** ชายหนุ่มได้ออกไปเพื่อไถนา
เป็นประจำทุกวันมาอย่างมุ่งมั่น
ครั้นวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์
ผานไถชะงักงันหยุดทันที

** คล้ายกับติดท่อนไม้ที่ฝังอยู่
เพราะอยากรู้รีบขุดอย่างเร็วรี่
พบแล้วจึงรีบคว้าไม่รอรี
เอ๊ะ....มันทองหรือนี่น่าแปลกจัง

** ตามประวัติกล่าวว่าทองคำนี้
เป็นของท่านเศรษฐีในหนหลัง
ด้วยกลัวจะไม่ปลอดภัยต้องระวัง
จึงได้ฝังเอาไว้ให้ไกลตา

** ชายชาวนาตั้งใจเอากลับบ้าน
แต่แท่งใหญ่เกินการราวหินผา
จึงแบ่งเป็นสี่ส่วนด้วยเจตนา
จะจัดสรรให้คุ้มค่าตามสมควร

** ส่วนที่หนึ่งขายนำทรัพย์มาเลี้ยงตัว
พร้อมทั้งเลี้ยงครอบครัวอย่างครบถ้วน
ส่วนที่สองฝังไว้ไม่เรรวน
ยามขัดสนได้หวนเอาไปกิน

** ส่วนที่สามเป็นทุนเพื่อค้าขาย
หากำไรใช้จ่ายเพิ่มทรัพย์สิน
ส่วนที่สี่ทำบุญล้างราคิน
ให้ตระหนี่สูญสิ้นหมดจากใจ

** ชายชาวนาไม่บอกให้ใครรู้
การเป็นอยู่ก็เหมือนเดิมไม่หลงใหล
ไม่ลืมตัวใช้จ่ายผ่องอำไพ
จนใครใครคิดว่ารวยด้วยทำงาน

** พระพุทธองค์จึงตรัสพระคาถา
ใจความว่าชนใดมีพื้นฐาน
บำเพ็ญธรรมเป็นกุศลอย่างสำราญ
จิตเบิกบานสดใสและร่าเริง

** ชนนั้นพึงบรรลุสิ้นสังโยชน์
เป็นประโยชน์จิตเกษมอย่ามัวเหลิง
อีกโยคะทั้งหลายเปรียบดังเพลิง
จะมอดไหม้สิ้นเชิงหมดเชื้อไฟ

            
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)


หัวข้อ: Re: มงคลชีวิต ๓๘ ประการคำกลอน
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 22, มีนาคม, 2559, 03:04:01 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)
มงคล ๓๘ ประการคำกลอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
(http://www.mx7.com/i/adb/fNaSbv.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYXkt2qg5xHkBz0H)
บทส่งท้าย  

** หลังจากที่องค์สมเด็จพระศาสดา
จบการแสดงเทศนาทรงผ่องใส
รัศมีแผ่ดังทองเป็นยองใย
เป็นที่พึ่งของเวไนยสัตว์ทั้งปวง

**อันหมู่เทวดาและมนุษย์
รับประโยชน์สูงสุดอย่างใหญ่หลวง
ได้กระทำมงคลชื่นฉ่ำทรวง
จนสำเร็จลุล่วงมีในตน

** จึงเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในทุกที่
กิเลสตัณหาไม่มีเป็นกุศล
จิตสะอาดผ่องใสไร้กังวล
ความมืดมนเพราะโอฆะก็มลาย

** ถึงความสุขสดใสในชีวิต
ปลอดภัยจากมลพิษบาปทั้งหลาย
เจริญธรรมสั่งสมบุญไม่วุ่นวาย
นรกไม่กล้ำกรายหมายนิพพาน

** ทั้งหมดนี้ประโยชน์ของมงคล
จะให้ผลสูงค่ามหาศาล
แสนประเสริฐเลิศล้นจักรวาล
พระพุทธองค์ทรงประทานเพื่อโลกา

** พระพุทธองค์ได้ตรัสเพื่อทิ้งท้าย
การที่สัตว์ทั้งหลายปรารถนา
ได้กระทำมงคลดังกล่าวมา
เป็นผู้ปราบปัจจาให้พ่ายแพ้

** ถึงความสวัสดีทุกสถาน
จะชนะหมู่มารได้แน่แน่
มีความสุขเริงรื่นชื่นดวงแด
เป็นเพชรแท้ของชาวโลกโชคอำนวย

** ขอขอบคุณที่อ่านผลงานนี้
ดีไม่ดีชมว่าสละสลวย
ขอให้ท่านผู้อ่านจงร่ำรวย
อุดมด้วยธรรมะพระพุทธองค์

** ปรารถนาสิ่งไหนได้สิ่งนั้น
สำเร็จพลันตามที่ใจประสงค์
มีฐานะการงานที่มั่นคง
เงินทองจงมากมีตามที่ปอง

** ตั้งมั่นในองค์ธรรมคำสั่งสอน
ของบวรพุทธศาสนาอย่าเป็นสอง
ให้แสงธรรมนำส่องใจใสเรืองรอง
บรรดาผองชาวไทยจงไพบูลย์

(http://www.mx7.com/i/a0c/HIl7Y4.gif) (http://www.mx7.com/view2/yYWShne27AafyYN6)
ธรรมะมีค่าดังทอง
           
สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา
(http://upic.me/i/wz/5ssom.gif) (http://upic.me/show/54281492)