บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล

คำประพันธ์ แยกตามประเภท => กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม => ข้อความที่เริ่มโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 03:23:39 PM



หัวข้อ: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 03:23:39 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑  นกแขกเต้าสองพี่น้อง
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** มีนิทานชาดกยกมาเล่า
เรื่องของนกแขกเต้าในไพรสณฑ์
ตัวที่หนึ่งลมพัดจรดล
สู่วังวนโจรไพรใจทมิฬ

** อีกตัวหนึ่งพึงตกหมู่ฤๅษี
ถูกสั่งสอนให้ดีไม่ใจหิน
แตกต่างกันที่คนดังยลยิน
จะดีเลวเพราะเคยชินคบกันมา

** วันหนึ่งเจ้าผู้ครองพระนคร
เสด็จจรประพาสไพรพฤกษา
ทรงล่าเนื้อหลงไปในพนา
จนเหนื่อยล้าเข้าพักใต้ร่มไทร

** ลมเอื่อยเอื่อยพัดมาพาให้ง่วง
ใบไม้ร่วงดังเสียงกล่อมให้หลับใหล
หลับตาลงจินตนาพาไปไกล
ไม่เท่าใดเริ่มเลือนรางย่างนิทรา

** เป็นดินแดนที่นกอยู่กับโจร
ใจหยาบโลนยิ่งนักร้ายหนักหนา
เจ้านกน้อยเมื่อเห็นจอมพารา
ด้วยสันดานนกป่าเหมือนโจรไพร

** จึงพูดว่าต้องฆ่าเอาทรัพย์สิน
ตื่นบรรทมได้ยินไม่ไถล
เสด็จหนีโดยพลันในทันใด
ให้ห่างไกลนกพาลสันดานทราม

** ได้พบนกที่อยู่กับนักบวช
อย่างเร็วรวดต้อนรับมิหยาบหยาม
มีสัมมาคารวะแสนงดงาม
พระราชาชื่นชมความเป็นนกดี

** นกทั้งสองพี่น้องท้องเดียวกัน
แต่แตกต่างเพราะผูกพันคนละที่
นกที่อยู่กับโจรมีราคี
นกที่อยู่กับฤๅษีมีน้ำใจ

** คบคนพาลที่สันดานเขาหยาบช้า
แย่เสียกว่ายาเสพติดพิษยิ่งใหญ่
ยอมจะมีนิสัยชั่วตามเขาไป
คบผู้ใดก็จะเป็นเช่นผู้นั้น

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 03:37:18 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๒  ประโยชน์ของการคบมิตร
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** ในอดีตกาลที่ผ่านมา
สมเด็จพระศาสดาเปล่งรัศมี
ทรงปรารภเรื่องมิตรจิตอารี
จึงทรงมีพระธรรมเทศนา

** พระราชอุทยานในกาลนั้น
ต่างก็มีสุขสันต์ชื่นหรรษา
โพธิสัตว์บังเกิดเป็นเทวดา
ประจำกอหญ้าคาในอุทยาน

** ได้เป็นมิตรเทวราชผู้ใหญ่ยิ่ง
ซึ่งพักพิงไม้มงคลมหาศาล
เกิดอาเพสมีเหตุพิสดาร
เสาปราสาทราชฐานไหวขึ้นมา

** ทรงรับสั่งให้ช่างรีบปรับเปลี่ยน
พวกนายช่างต่างเพียรเที่ยวเสาะหา
เมื่อพบไม้มงคลจึงหมายตา
ขออนุญาตพระราชาเพื่อจัดการ

** ทรงอนุมัติตามขอไม่รอช้า
เทวราชถึงคราน่าสงสาร
กอดคอลูกร้องไห้แทบวายปราณ
ใครหนอจะกล้าหาญมาช่วยเรา

** โพธิสัตว์บอกว่าข้าจะช่วย
ไม่ต้องตัดไม้ด้วยอย่าโศกเศร้า
ถึงเวลาฝ่ายช่างไม่ดูเบา
จึงรีบเข้าไปตัดในทันที

** โพธิสัตว์แปลงร่างเป็นกิ้งก่า
วิ่งนำหน้าเร็วไวอย่างด่วนจี๋
เข้าไปในต้นไม้โดยทันที
เปรียบประหนึ่งว่ามีโพรงข้างใน

** ฝ่ายนายช่างต่างเห็นเหตุการณ์นั้น
จึงพากันยกเลิกตัดต้นใหม่
เทวราชจึงอยู่สืบต่อไป
กล่าวสรรญสริญด้วยใจที่ช่วยตน

** บุคคลที่เสมอกันหรือสูงกว่า
ควรคบหาเอาไว้ไม่หมองหม่น
แม้ต่ำกว่าก็คบได้ไม่อับจน
มิตรทุกคนมีน้ำใจมากไมตรี

** คบมิตรดีล้วนมีแต่ความสุข
ห่างจากทุกข์ใดใดไม่หมองศรี
คบบัณฑิตปิดนรกชั่วชีวี
หนุนให้มีความสุขทุกคืนวัน

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 09:43:20 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๓  นายสุมนะมาลาการ
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** ในสมัยพุทธกาลกล่าวขานไว้
เป็นตัวอย่างเพื่อให้ได้ศึกษา
ขอเชิญชวนทุกท่านผู้ศรัทธา
ล้อมวงมาฟังกันขอบรรยาย

** ณ กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ
ซึ่งงามงดโสภางค์อย่างเหลือหลาย
มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย
กระทาชายสุมนะมาลาการ

** ทำหน้าที่เป็นผู้จัดดอกไม้
เพื่อมอบให้พระเจ้าพิมพิสาร
ทำอย่างนี้ติดต่อมาเนิ่นนาน
พระราชทานเงินทองของตอบแทน

** จนวันหนึ่งได้พบพระพุทธองค์
พร้อมพระสงฆ์สาวกอีกเนืองแน่น
เกิดศรัทธาเลื่อมใสไม่คลอนแคลน
หมายวังแดนสวรรค์อันรื่นรมย์

** จึงถวายดอกไม้ให้เป็นทาน
เริ่มด้วยการแบ่งส่วนอย่างเหมาะสม
สองกำแรกโยนขึ้นไปตามลม
น่าชื่นชมได้กลายเป็นเพดาน

** สถิตอยู่เบื้องบนพระศาสดา
อีกสองกำต่อมาก็ประสาน
อยู่เบื้องหลังดูแลงามตระการ
ช่างเป็นเหตุพิสดารเกิดขึ้นมา

** ครั้งที่สามปรากฏอยู่เบื้องซ้าย
ครั้งที่สี่ก็ย้ายมาเบื้องขวา
มวลดอกไม้ลอยตามดูงามตา
เหล่าประชาโห่ร้องก้องกังวาล

** สุมนะปลื้มปิติเป็นที่ยิ่ง
ยอมทุกสิ่งแม้จะถูกประหาร
เพราะไม่มีดอกไม้ให้ภูบาล
หมือนดังวันวานและทุกวัน

** จึงเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าเหนือหัว
ไม่เกรงกลัวแม้ภัยใหญ่มหันต์
รีบกราบทูลให้ทราบมิช้าพลัน
บังคมคัลพร้อมรับกับอาญา

** พระราชาจึงตรัสว่า “สาธุ”
จงบรรลุสิ่งพึงปรารถนา
แล้วมอบเงินทองของนานา
ทั้งช้างม้าวัวควายให้เขาไป

** การบูชาผู้ที่ควรบูชา
ย่อมได้มาซึ่งสินทรัพย์นับไม่ไหว
และย่อมเกิดความสุขเหนืออื่นใด
ทำให้ใจหายขุ่นมัวชั่วนิรันดร์

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 09:53:41 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๔  พระโมคคัลลานะ   พระสารีบุตร
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** เมื่อสมัยพุทธกาลแสนนานนัก
สองเพื่อนรักสาบานเป็นสหาย
ให้สัญญารักกันจนวันตาย
เกิดเบื่อหน่ายกามคุณวุ่นโลกีย์

** คนที่หนึ่งคือโมคคัลลานะ
อุตสาหะดิ้นรนพ้นวิถี
อีกคนหนึ่งสารีบุตรชายชาตรี
อยากหลีกลี้หนีทุกข์ให้สุดไกล

** จับมือกันเป็นศิษย์สญชัยเฒ่า
ตั้งใจเฝ้าศึกษาหาสิ่งใหม่
ได้เรียนจบหลักสูตรในเร็วไว
เจ้าสำนักตั้งให้เป็นอาจารย์

** คอยสั่งสอนรุ่นน้องให้ท่องบ่น
และฝึกฝนวิชาพาอาจหาญ
ไม่สมปรารถนาที่ต้องการ
อยากพบพานผู้รู้โมกขธรรม์

** จึงขอลาอาจารย์ออกเสาะหา
ให้สัจจะวาจาไม่แปรผัน
แม้นใครพบผู้รู้จะบอกกัน
เป็นพันธะผูกพันตลอดไป

** ครั้นวันหนึ่งสารีบุตรสุดโชคดี
พบสมณะผู้มีกายผ่องใส
คือพระอัสสชิมิใช่ใคร
เป็นหนึ่งในกลุ่มปัญจวัคคีย์

** จึงเข้าไปสนทนาวิสาสะ
เพื่อศึกษาธรรมะพระชินศรี
จึงนิมนต์ให้แสดงธรรมวาที
จงเอื้อนเอ่ยวจีเป็นสำเนา

** พระอัสสชิบอกว่าตัวข้านี้
ผู้บวชใหม่ยังมีความโง่เขลา
พระบรมศาสดาครูของเรา
จะสั่งสอนให้เจ้าได้เข้าใจ

** สารีบุตรนมัสการกล่าวขานว่า
ขอจงโปรดเมตตาจะได้ไหม
บอกข้อธรรมเบื้องต้นเป็นสายใย
พอทำให้ก่อเกิดภูมิปัญญา

** อัสสชิภิกษุพระผู้น้อย
จึงเอ่ยถ้อยกล่าวไปไม่กังขา
อันว่าธรรมเหล่าใดย่อมไหลมา
มีตัณหาเป็นเหตุเกิดเภทภัย

** ผลของมันย่อมทำให้เกิดทุกข์
ไร้ความสุขโศกาอย่าสงสัย
ละตัณหาสิ้นทุกข์สุขฤทัย
มีโชคชัยไร้กิเลสเหตุเกิดพลัน

** สารีบุตรปล่อยใจใฝ่ธรรมะ
จิตลดละอกุศลผลเกินฝัน
จนที่สุดบรรลุโสดาบัน
ในวันนั้นด้วยธรรมองค์สัมมา

** รีบกลับไปแจ้งข่าวแก่เพื่อนรัก
แล้วชวนชักสญชัยเพื่อไปหา
กราบบังคมสมเด็จพระศาสดา
แต่สญชัยบอกว่าไม่เป็นไร

** สองสหายเข้าเฝ้าจอมโมลี
ได้ขอบวชทันทีมิหวั่นไหว
เพียรบำเพ็ญกัมมัฏฐานฝึกจิตใจ
ครั้นที่สุดก็ได้บรรลุธรรม

** สารีบุตรนั้นเลิศทางปัญญา
โมคคัลลาเลิศทางฤทธิ์จิตคมขำ
เป็นอัครสาวกองค์ผู้นำ
เพราะได้ทำคุณงามสร้างความดี

** ทั้งสองท่านประสบความสำเร็จ
ประหนึ่งเพชรส่องประกายฉายแสงสี
เป็นเพราะประเทศนั้นบังเกิดมี
พุทธศาสน์เป็นที่หลอมศรัทธา

** อันการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม
เป็นอุดมมงคลดีหนักหนา
ประดุจดังวิมานเทพเทวา
มีความสุขทุกทิพาราตรีกาล


สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 10:02:26 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๕  ควาญช้างได้เป็นพระมหากษัตริย์
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** อดีตกาลผ่านมาเวลาผ่าน
แสนเนิ่นนานขอกล่าวเล่าความหลัง
เรื่องเกิดที่พาราณสีนครัง
นิทานังได้ฤกษ์เริ่มเบิกโรง

** ชายคนหนึ่งอาชีพตัดฟืนขาย
สุขสบายแม้จะไม่โอ่โถง
เป็นอาชีพสุจริตไม่คิดโกง
รับรองโปร่งไม่มีที่นอกใน

** ณ วันหนึ่งจึงออกไปในป่า
หวังจะตัดไม้มาไม่เหลวไหล
นำไปขายทำกินในถิ่นไพร
เพื่อจะได้ยังชีพเช่นทุกวัน

** ไม่เกียจคร้านซื่อตรงต่อหน้าที่
เป็นคนมีมานะและขยัน
ตื่นแต่เช้าเข้าป่ามิช้าพลัน
นิจนิรันดร์สุขใจไม่อาทร

** ตัดไม้เพลินเกินเวลากว่าจะกลับ
ตะวันลับขอบฟ้าพาสังหรณ์
ถ้าประตูเมืองปิดคงร้าวรอน
จึงรีบจรกลับมายังหน้าเมือง

** ถึงเวลานายประตูรู้หน้าที่
จึงรีบปิดทันทีใช่ทำเขื่อง
ปฏิบัติตามกติกาอย่าขุ่นเคือง
ไม่ใช่เรื่องเสแสร้งหรือแกล้งใคร

** คนตัดฟืนมาถึงจึงได้รู้
ว่าประตูเพิ่งปิดไปใหม่ใหม่
จึงจำเป็นจะต้องตัดสินใจ
ไม่เป็นไรยอมนอนนอกกำแพง

** ครั้นใกล้รุ่งสะดุ้งเพราะเสียงไก่
เถียงกันสนั่นไหวอวดกำแหง
อันสาเหตุทะเลาะกันรุนแรง
ไก่ตัวบนผิดสำแดงถ่ายลงมา

** ให้บังเอิญถูกหัวไก่ตัวล่าง
ความบาดหมางจึงวิ่งเข้ามาหา
เกิดโอ้อวดเถียงกันจำนรรจา
ต่างก็ว่าตัวเก่งไม่เกรงกัน

** ไก่ตัวล่างบอกว่าตัวข้านี้
มีของดีประเสริฐเกินเสกสรร
อันเนื้อข้ามีคุณนับอนันต์
ใครได้กินมีเงินพันในทันใด

** ไก่ตัวบนบอกว่าข้าแน่กว่า
เมื่อกินเนื้อของข้าจะสดใส
เป็นพระมหากษัตริย์ในเร็วไว
เป็นมเหสีหรือไม่เป็นขุนคลัง

** คนตัดฟืนได้ฟังไม่รอช้า
รีบลุกมาพร้อมกับมีความหวัง
เป็นราชาที่เข้มแข็งมีพลัง
ได้ครอบครองเวียงวังอันโอฬาร

** จึงจับไก่ตัวบนเอามาฆ่า
นำไปให้ภรรยาทำอาหาร
เล่าเรื่องราวที่เกิดแก่นงคราญ
เยาวมาลย์จะได้เป็นยอดนารี

** เมื่อเสร็จแล้วจึงบอกให้ทราบว่า
อาบน้ำก่อนดีกว่าจะเป็นศรี
จงได้นำอาหารเท่าที่มี
ไปยังริมนทีชำระกาย

** ขณะนั้นเกิดมีพายุใหญ่
พัดอาหารลอยไปเกินคาดหมาย
ลอยละล่องในธาราอย่างท้าทาย
คนตัดฟืนเสียดายอดได้กิน

** เป็นเพราะวาสนาสร้างมาน้อย
โชคจึงลอยล่องไปไกลสูญสิ้น
บุญกาลก่อนไม่ได้สร้างจึงโบยบิน
โอ้ชีวินไร้คุณค่าแทบบ้าตาย

** โชคชะตาวาสนาของควาญช้าง
ที่ได้สร้างเอาไว้ไม่สูญหาย
ขณะที่นำช้างเยื้องย่างกราย
ไปริมฝั่งของสายมหานที

** มีถาดไก่ลอยมากลางสายน้ำ
จึงได้จ้ำว่ายไปอย่างเร็วรี่
รีบคว้าเอาถาดไก่ไว้ทันที
เป็นโชคดีได้อาหารกลับบ้านตน

** ฝ่ายดาบสอาจารย์ของควาญช้าง
ญาณพิเศษนำทางไม่สับสน
รู้เรื่องราวของไก่เป็นมงคล
จรดลหาควาญช้างอย่างเร็วไว

** นายควาญช้างจึงรีบบอกภรรยา
รีบนำอาหารมาแล้วมอบให้
ฝ่ายดาบสจึงรับอาหารไป
จัดการอย่างรู้ใจให้ทุกคน

** แบ่งสันในให้แก่นายควาญช้าง
บุญบารมีที่สร้างทางกุศล
จะได้เป็นราชาของหมู่ชน
ภายใต้นพปฏลเศวตทอง

** ฝ่ายภรรยาดาบสให้สันนอก
เพื่อจะบอกชาตินี้ไม่มีหมอง
ได้เป็นมเหสีผู้ครอบครอง
ราชธานีดังปองคู่ราชา

** ส่วนดาบสเลือกเนื้อติดกระดูก
จะพันผูกรับใช้เสน่หา
เป็นเสนาบดีมีศักดา
คู่พระทัยกษัตราครองธานี

** อีกสามวันข้าศึกมาประชิด
รอบทุกทิศของกรุงพาราณสี
จอมกษัตริย์ผู้ซึ่งครองบุรี
จึงได้มีดำรัสสั่งลงมา

** ให้ควาญช้างแต่งตัวเป็นกษัตริย์
อนุมัติให้ออกศึกคึกหนักหนา
พระองค์เองเป็นทหารออกตรวจตรา
โดนธนูยิงมาถึงสิ้นใจ

** ควาญช้างเปลี่ยนอุบายการต่อสู้
เอาชนะศัตรูให้จงได้
นำทรัพย์สินเงินทองจากคลังใน
จะมอบให้แก่ผู้ออกสู้รบ

** ในที่สุดก็ได้ชัยชนะ
แต่นี้จะเกิดมีความสงบ
การกระทำแบบนี้เพิ่งเคยพบ
นายควาญช้างสยบพวกมาเยือน

** ชาวเมืองยกให้เป็นวีรบุรุษ
ยอดมนุษย์เก่งกล้าหาใครเหมือน
จึงสถาปนาไม่แชเชือน
เป็นกษัตริย์เชือดเฉือนด้วยศักดา

** ด้วยผลบุญทำไว้ในปางก่อน
จึงสะท้อนให้มีวาสนา
ดำรงศักดิ์ยิ่งใหญ่ในพารา
ทั้งสามีภรรยาและอาจารย์

** รีบสร้างบุญกันไว้ในชาตินี้
จะได้มีต้นทุนในสงสาร
เกิดชาติใดไม่ทุกข์ทรมาน
สั่งสมบุญบันดาลให้สุขใจ

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 10:14:39 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๖  โกสิยะผู้ตระหนี่
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** จะขอเล่านิทานในกาลก่อน
เพื่อสะท้อนการทำดีที่สร้างสรรค์
และส่งเสริมละความชั่วอย่าผูกพัน
ใช่จะเพ้อจำนรรจ์เพียงลมลม

** ในกาลนั้นที่กรุงพาราณสี
ท่านเศรษฐียิ่งใหญ่ไม่ขื่นขม
มีทรัพย์สินเงินทองเอกอุดม
น่าชื่นชมจิตใจใสละมุน

** ตั้งโรงทานหกแห่งเพื่อช่วยเหลือ
มีจิตใจเอื้อเฟื้อช่วยเกื้อหนุน
แก่คนจนยากไร้ได้พึ่งบุญ
ต่อชีวิตเป็นทุนก้าวต่อไป

** สี่โรงทานตั้งอยู่ในสี่ทิศ
ใกล้เคียงชิดกับสี่ประตูใหญ่
มีผู้คนมากมายทั้งใกล้ไกล
พวกเขาได้อาศัยในโรงทาน

** อีกแห่งหนึ่งกลางเมืองดูเรืองรุ่ง
คนยากไร้ต่างมุ่งรับอาหาร
อีกหนึ่งแห่งตั้งอยู่หน้าเรือนชาน
พร้อมให้บริการทุกทุกวัน

** การสร้างบุญทำให้จิตผ่องใส
เมื่อตายแล้วจะได้ไปสวรรค์
ท่านเศรษฐีก็เป็นเช่นเดียวกัน
เมื่อตายพลันไปเกิดเป็นพระอินทร์

** ฝ่ายลูกชายก็ได้สละทรัพย์
เช่นเดียวกับเศรษฐีเป็นนิจสิน
ทำจิตใจให้ผ่องใสไร้ราคิน
ละชีวินไปเกิดเป็นพระจันทร์

** ส่วนหลานชายได้รับมรดก
ก็หยิบยกปฏิปทามาสานฝัน
ดำเนินการทุกสิ่งให้เหมือนกัน
ไปตามที่ปู่นั้นท่านทำมา

** ครั้นสุดท้ายถึงกาลสิ้นชีวิต
ไปสถิตเทวโลกโชคหนักหนา
ชื่อพระอาทิตย์ผู้ทรงมหิทธา
เพราะบุญญาที่สร้างอย่างถาวร

** อีกหลายรุ่นผ่านไปไม่เปลี่ยนผัน
คงยึดมั่นในทานไม่ถ่ายถอน
จนกระทั่งคนสุดท้ายก็คลายคลอน
ยกเลิกสิ่งเก่าก่อนแม้โรงทาน

** โกสิยะเป็นคนที่ตระหนี่
ไม่เคยมีเมตตาและสงสาร
คิดว่าคนรุ่นเก่าโง่ดักดาน
การให้ทานสิ้นเปลืองเลิกเสียที

** การเป็นอยู่ของเขาช่างแสนเข็ญ
ทำตัวเป็นยากไร้ให้เสื่อมศรี
ใช้เสื้อผ้าเก่าเก่าคลุมกายี
การเป็นอยู่เหลือที่น่าเวทนา

** บริโภคปลายข้าวเช้าเที่ยงค่ำ
ชีวิตแสนชอกช้ำเพราะบาปหนา
เนื่องจากความตระหนี่เกินอัตรา
จึงได้พาให้คิดผิดทำนอง

** เช้าวันหนึ่งโกสิยะจะเข้าเฝ้า
เหนือหัวเจ้าพาราณสีเพื่อสนอง
นโยบายต่าง ๆ ดังใจปอง
เพื่อรับใช้ผู้ครองราชธานี

๑๓๔. ** จึงแวะหาเศรษฐีเพื่อนผู้น้อง
ซึ่งเป็นคู่ปรองดองไม่หน่ายหนี
เขาทานข้าวปายาสอยู่พอดี
ได้ชวนชี้โกสิยะทานด้วยกัน

** ความอยากทานบังเกิดอย่างจับจิต
แต่นิ่งคิดเกรงกลัวจนตัวสั่น
เราจะต้องตอบแทนเขาสักวัน
ความเสียดายเกินขั้นจะพรรณนา

** กลับถึงบ้านความอยากก็มากขึ้น
ต้องนั่งกลืนน้ำลายให้โหยหา
กลัวจะเสียทรัพย์สินจึงรอรา
จนกายาผ่ายผอมสุดตรอมตรม

** อาการไข้ได้ป่วยก็กำเริบ
เพราะอยากเปิบข้าวปายาสไม่สุขสม
จะนั่งนอนโศกเศร้าเร้าระทม
ภรรยาคู่ภิรมย์คอยปลอบใจ

** สอบถามว่าต้องการสิ่งใดหรือ
จะปรนปรือจัดให้อย่างยิ่งใหญ่
อันทรัพย์สินเรามีออกถมไป
ถ้าอยากได้จะรีบจัดหามา

** โกสิยะจึงแจ้งให้เมียรู้
เรื่องที่ข้าคิดอยู่และปรารถนา
อยากกินข้าวปายาสเพียงสักครา
ภรรยารีบตอบว่าตกลง

** ถ้าอย่างนั้นจะสั่งคนรับใช้
ให้เตรียมของเอาไว้ไม่ลืมหลง
พรุ่งนี้จะได้หุงอย่างมั่นคง
เจตน์จำนงให้ทุกคนได้รับทาน

** ท่านเศรษฐีบอกว่าไม่จำเป็น
มันสิ้นเปลืองเห็นเห็นจะร้าวฉาน
มีแต่เราไม่เปลืองงบประมาณ
คนในบ้านเขาคงไม่อดตาย

** ภรรยากล่าวว่าถ้าอย่างนั้น
ท่านกับฉันสองคนคงสมหมาย
หุงข้าวปายาสกินอย่างสบาย
ไม่มีใครวุ่นวายกับสองเรา

** โกสิยะว่าเจ้าไม่อยากกิน
ทำมากก็สูญสิ้นเสียเปล่าเปล่า
ข้าคนเดียวไม่มากพอทำเนา
ขอให้เจ้าจงได้รีบจัดการ

** เราจะไปหุงกันที่ในป่า
จะไม่มีใครมาช่วยล้างผลาญ
ทำให้เราเจ็บใจและร้าวราน
ข้าจะได้รับประทานอย่างสุขใจ

** ร้อนถึงบรรพบุรุษในชั้นสรวง
เขาทั้งปวงปรึกษากันจะแก้ไข
ความตระหนี่ถี่เหนียวโดยเร็วไว
มิฉะนั้นสิ้นใจลงอบาย

** เนรมิตกายามาเป็นพราหมณ์
ที่อุตส่าห์พยายามด้วยกระหาย
หวังส่วนแบ่งข้าวปายาสเพื่อเลี้ยงกาย
จึงทุรนทุรายมาขอกิน

** โกสิยะเสียดายไม่อยากให้
ปฏิเสธไม่ได้ดังถวิล
จำต้องยอมแบ่งให้ใจรวยริน
ต้องสูญสิ้นบางส่วนชวนเสียดาย

** แต่น่าแปลกประหลาดคาดไม่ถึง
อาหารพึงไม่พร่องหรือสลาย
โกสิยะรู้สึกหิวอย่างมากมาย
จึงมุ่งหมายรีบตักอาหารกิน

** ปัญจะสิขะเทพผู้เป็นพ่อ
ไม่รีรอแปลงร่างอย่างใจหิน
เป็นสุนัขฉี่ใส่ในหม้อดิน
โกสิยะเลยสิ้นโอกาสทาน

** จึงลุกขึ้นวิ่งไล่เจ้าสุนัข
เพราะความแค้นสุดจักจะสมาน
หวังจะตีให้เข็ดไปอีกนาน
สุนัขพาลกลายร่างเป็นพาชี

** แล้วกลับมาแสดงความดุร้าย
มุงหน้าหมายมาไล่ท่านเศรษฐี
ให้หันหลังวิ่งไปในทันที
เพราะกลัวมีอันตรายมาใกล้ตน

** พราหมณ์ทั้งห้าแสดงตัวตามฐานะ
กลับกลายเป็นเทวะใจกุศล
สั่งสอนให้ก้าวพ้นความอับจน
เป็นมงคลทำให้สุขสำราญ

** พรรณนาถึงผลความตระหนี่
ทำให้มีแต่ทุกข์ในสงสาร
จงทำดีเลื่อมใสในผลทาน
เทวโลกสถานอันพึงไป

** โกสิยะเข้าใจในคำสอน
กราบขอพรเริ่มต้นชีวิตใหม่
สร้างโรงทานสานฝันอันเกรียงไกร
ตามบรรพบุรุษน้อยใหญ่ได้ทำมา

** เมื่อละโลกไปเกิดในวิมาน
สุขสราญรมย์รื่นชื่นหรรษา
การตั้งตนไว้ชอบย่อมนำพา
ให้ชีวิตสูงค่าสุขสบาย

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 28, เมษายน, 2559, 10:20:20 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๗  บุรุษง่อยนักดีดก้อนหิน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** อดีตกาลผ่านมาช้านานแล้ว
 ณ เมืองแก้วชื่อว่าพาราณสี
บุรุษง่อยคนเก่งและแสนดี
เลี้ยงชีวีด้วยศิลป์ดีดหินกิน

** ทุกทุกเช้าพวกเด็กลูกชาวบ้าน
ได้พาไปสร้างงานดีดก้อนหิน
ให้กระทบใบไม้งามโสภิณ
จะเกิดภาพตามจินตนาพลัน

** เป็นวัวควายช้างม้านานาสัตว์
สาระพัดรูปร่างช่างสร้างสรรค์
คนที่ผ่านไปมาชื่นชมกัน
มอบเงินเป็นรางวัลกำนัลมา

** ครั้นวันหนึ่งกษัตริย์ทรงประพาส
พร้อมอำมาตย์น้อยใหญ่ใจปรารถนา
จะออกไปล่าสัตว์ในพนา
เมื่อผ่านมาได้เห็นเป็นสำคัญ

** เห็นรูปสัตว์ต่างต่างช่างงามนัก
เป็นประจักษ์ศิลปะหฤหรรษ์
เมื่อได้พบชายง่อยค่อยจำนรรจ์
จึงเสกสรรค์ตรัสถามเนื้อความไป

** ปุโรหิตของเราเขาพูดมาก
เราจึงอยากให้ช่วยจะได้ไหม
บุรุษง่อยรีบตอบในทันใด
คงจะพอช่วยได้นะพระองค์

** พระราชาจึงพาคนง่อยเปลี้ย
ไม่ให้เสียเวลาตามประสงค์
ทรงยกเลิกเที่ยวป่าดังจำนง
จึงมุ่งตรงกลับไปยังในวัง

** พระองค์ทรงรับสั่งให้เจาะม่าน
เพื่อให้ชายพิการอยู่ข้างหลัง
มีผ้าม่านเป็นส่วนที่ปิดบัง
จัดที่นั่งปุโรหิตตรงพอดี

** ถึงเวลาราชาประทับนั่ง
ที่เหนือราชบัลลังก์คชสีห์
ปุโรหิตอำมาตย์มุขมนตรี
ต่างกล่าวราชสดุดีองค์ราชัน

** องค์ราชาเริ่มมีพระดำรัส
พระทรงตรัสราชกิจจิตสุขสันต์
ปุโรหิตพูดมากเหมือนทุกวัน
ทุกคนต่างพากันเอือมระอา

** กล่าวฝ่ายชายพิการผู้มีศิลป์
ในการดีดก้อนหินชื่นหรรษา
เมื่อได้รับมูลแพะจากราชา
นั่งหลังม่านบังตาดำเนินการ

** ครั้นท่านปุโรหิตอ้าปากพูด
จึงดีดคูถของแพะดังกล่าวขาน
เป็นศิลปะที่มีความชำนาญ
เข้าในปากของท่านโดยทันที

** ปุโรหิตรู้ตัวนึกอับอาย
ไม่กล้าคายออกมาหน้าเช่นผี
จึงต้องกลืนมูลแพะแต่โดยดี
จนอิ่มท้องเต็มที่สุดพรรณนา

** พระราชาตรัสว่าปุโรหิต
ท่านจงคิดให้ดีด้วยเถิดหนา
เนื่องจากท่านได้เอ่ยเผยวาจา
จนเกินกว่าพอดีที่ควรเป็น

** ในท้องท่านจึงเต็มด้วยมูลแพะ
ขอชี้แนะอย่าทนความทุกข์เข็ญ
จงรีบทำในสิ่งที่จำเป็น
คือดื่มน้ำเย็นเย็นสำรอกมัน

** นับแต่นั้นปุโรหิตสงบเสงี่ยม
รู้จักเจียมกายใจไม่หุนหัน
จะพูดเฉพาะเรื่องที่สำคัญ
ไม่พูดมากเหมือนวันที่ผ่านมา

** พระราชาขอบใจชายพิการ
พระราชทานรางวัลมากนักหนา
มอบหมู่บ้านสี่ตำบลไม่รอรา
ทั้งเงินทองของมีค่านับอนันต์

** อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว
แต่ให้เชี่ยวชาญเห็นเป็นมิ่งขวัญ
ศิลปะเป็นมงคลนิจนิรัดร์
นานกัปกัลป์มีคุณค่ากว่าสิ่งใด

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 29, เมษายน, 2559, 11:03:05 AM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๘  นิทานเรื่องเสนกะบัณฑิต
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** ขอย้อนกล่าวถึงพระโพธิสัตว์
ครั้งเสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ใหญ่
ชื่อว่า “เสนกะ” ผ่องอำไพ
เรียนรู้จากแดนไกลตักสิลา

** รับราชการที่กรุงพาราณสี
ทำหน้าที่อนุศาสน์ไขปัญหา
ได้ขยายอรรถธรรมแก่ราชา
บรรยายธรรมแก่บรรดาเหล่าปวงชน

** มีพราหมณ์แก่ขอทานเลี้ยงชีวิต
หากินสุจริตไม่หมองหม่น
เดินขอไปในย่านของผู้คน
ได้เงินมาเหลือล้นเกินรำพัน

** จึงหวนกลับเคหาเคยอาศัย
แสนอาลัยหนักหนาพาไหวหวั่น
ต้องจากไปขอทานเสียนานครัน
เพื่อครอบครัวสุขสันต์ทุกวันวาร

** ระหว่างทางแวะเข้าใต้ต้นไม้
เพื่อจะได้หยุดพักทานอาหาร
หยิบข้าวตังออกมารับประทาน
แล้วลนลานรีบออกไปล้างมือ

** จนทำให้เขาลืมปิดปากถุง
จิตใจมุ่งติดถึงบ้านประสาซื่อ
งูพิษร้ายได้กลิ่นหอมกระพือ
เป้าหมายคือถุงผ้าของขอทาน

** ฝ่ายพราหมณ์แก่กลับมาไม่ได้คิด
จึงรีบปิดถุงผ้ากลับถิ่นฐาน
ทันใดนั้นมีเสียงก้องกังวาน
เพื่อบอกให้ขอทานระวังตัว

** ถ้าวันนี้หยุดพักระหว่างทาง
ชีพจะต้องวายวางใช่พูดมั่ว
ถ้าถึงบ้านเมียตายอย่างน่ากลัว
ดีหรือชั่วสร้างไว้ได้แน่นอน

** พราหมณ์แก่ได้ทราบเรื่องเดินร้องไห้
มีใครบ้างช่วยได้ช่วยถ่ายถอน
ให้พ้นจากทุกข์ภัยใจสั่นคลอน
แสนอาวรณ์ต่อชีวิตอนิจจัง

** จนกระทั่งถึงเมืองพาราณสี
เห็นผู้คนมากมีต่างมุ่งหวัง
ได้มุ่งหน้าไปสู่พระราชวัง
เพื่อรับฟังธรรมบรรยายให้สุขใจ

** จึงเดินตามฝูงชนไปห่างห่าง
จะฟังธรรมนำทางจิตผ่องใส
เพื่อบรรเทาความเศร้าที่ภายใน
คิดหาใครมาช่วยคงไม่มี

** เสนกะมองเห็นขอทานแก่
ก็รู้แน่มีทุกข์ไม่สุขี
จึงรีบถามเรื่องราวในทันที
รู้ได้ดีมีเหตุให้ร้อนรน

** เริ่มสอบถามเรื่องราวสาวสาเหตุ
เพื่อสังเกตพื้นฐานไม่สับสน
ที่ในถุงมีข้าวตังใส่ปะปน
เป็นเสบียงยามจนต้องทนเอา

** ขอทานเฒ่ารีบตอบว่าถูกต้อง
เป็นครรลองยามเดินทางที่เงียบเหงา
ทานอาหารหรือไม่จงบอกเรา
ที่ในกลางลำเนาตอนเดินทาง

** จึงบอกว่าได้ทานที่กลางป่า
ใต้พฤกษาต้นใหญ่ยามฟ้าสาง
ก่อนดื่มน้ำล้างมือให้สะอาง
ปิดปากถุงที่เปิดกว้างหรือไม่เอย

** จึงตอบว่าข้านี้ไม่ได้ปิด
เสนกะครุ่นคิดแล้วเฉลย
อสรพิษได้กลิ่นลมรำเพย
หอมจังเลยเลื้อยเข้าถุงข้าวตัง

** ถ้าหากท่านกินอาหารในเย็นนี้
จะต้องสิ้นชีวีตามคาดหวัง
เป็นเพราะถูกงูพิษกัดอย่างจัง
แต่ถ้าถึงเคหังจะรอดตาย

** ภรรยาจะเป็นผู้ถูกงูกัด
เพราะย่อมจัดของในถุงดังมุ่งหมาย
ให้ขอทานวางถุงบนพื้นทราย
ใช้วิธิง่ายง่ายคอยไล่งู

** ใช้ไม้เคาะเบาเบาที่ถุงผ้า
มันจึงเลื้อยออกมาส่งเสียงขู่
แผ่พังพานแล้วร้องดัง ฟู  ฟู
บอกให้รู้เข้ามาข้ากัดจริง

** เมื่อจัดการเรื่องงูสำเร็จแล้ว
ใจขอทานผ่องแผ้วเป็นสุขยิ่ง
เกิดศรัทธาเสนกะไม่ประวิง
มอบทุกสิ่งที่ได้มาบูชาคุณ

** พร้อมทั้งเงินเจ็ดร้อยกหาปณะ
เสนกะไม่ขอรับอย่าเคืองขุ่น
เพิ่มให้อีกสามร้อยเพื่อทำบุญ
ครบหนึ่งพันเป็นทุนให้ขอทาน

** แล้วถามว่ามีใครให้ไปขอ
ไม่รีรอรีบตอบเพื่อไขขาน
ภรรยาโฉมงามแม่นงคราญ
โฉมสราญให้ไปขอพอมีกิน

** เสนกะรู้ว่าเธอยังสาว
จึงได้บอกเรื่องราวดังถวิล
จงเก็บเงินนอกบ้านเป็นอาจิณ
อย่าปล่อยให้ยุพินได้รับรู้

** มิฉะนั้นคู่นอนของโฉมศรี
จะเอาเงินที่มีไม่อดสู
พราหมณ์ขอทานเชื่อฟังคำของครู
เก็บเงินแล้วเดินสู่ประตูเรือน

** ตะโกนเรียกเมียสาวเจ้าอยู่ไหน
มัวแต่ทำอะไรใยเชือดเฉือน
ไม่สนใจผัวเจ้าเฝ้าแช เชือน
ที่ผัวกลับมาเหมือนไม่สนใจ

** ฝ่ายภรรยาเริงร่าอยู่กับชู้
ครั้นพอรู้ผัวมาพาวุ่นใหญ่
จึงบอกชู้จงรีบไปปิดไฟ
แล้วจงรีบหนีไปค่อยย้อนมา

** รีบออกมารับหน้าสามีไว้
แล้วถามไถ่เรื่องเงินที่ไปหา
เงินอยู่ไหนเร็วไวเผยวาจา
จงรีบเอาเงินมาอย่ารอรี

** เฒ่าขอทานกล่าวว่าอยู่ข้างนอก
เอ่ยปากบอกถึงที่ฝังอย่างถ้วนถี่
ฝ่ายชายชู้รีบไปในทันที
ขุดเอาเงินที่มีเป็นของตน

** เช้าขึ้นมาจึงรู้ว่าเงินหาย
แสนเสียดายหนักหนาพาหมองหม่น
จึงไปพบเสนกะในบัดดล
เพื่อจะแจ้งยุบลเรื่องเงินทอง

** เสนกะครั้นรู้เรื่องทั้งหมด
ให้รู้สึกรันทดและหม่นหมอง
จึงได้แจ้งอุบายให้ไปลอง
ตามทำนองคนดีมีปัญญา

** ตามเนื้อหาของอุบายให้เริ่มต้น
เชิญผู้คนทั้งสองฝ่ายให้มาหา
เพื่อกินเลี้ยงทุกวันหนึ่งสัปดาห์
โดยต้องลดอัตราลงมาพลัน

** ฝ่ายละหนึ่งพึงลดงดเชิญต่อ
แล้วจงรอครบเวลาใครขยัน
จะพึงมีหนึ่งคนมาทุกวัน
จงพาคนผู้นั้นมาหาเรา

** ครั้นได้ตัวรีบไปหาเสนกะ
เพื่อชำระความผิดคิดร้ายเขา
ขโมยเงินขอทานพาลมัวเมา
จงนำเอาเงินมาคืนให้ครบพัน

** เสนกะลงโทษกับชายชู้
ตามกระทู้กระบวนความอย่างกวดขัน
คนทำดีได้ดีเป็นรางวัล
คนทำชั่วโทษทัณฑ์ติดตามมา

** คนอ่านมาก  ฟังมาก  ย่อมรู้มาก
เป็นผลจากการตั้งใจใฝ่ศึกษา
คือพื้นฐานอันประเสริฐเกิดปัญญา
วัฒนารุ่งเรืองประเทืองบุญ

** ดังเช่นกับตัวท่านเสนกะ
ใช่ว่าจะมีฤทธามาช่วยหนุน
แต่เป็นเพราะสังเกตเป็นต้นทุน
ช่วยเจือจุนสมมุติฐานการควรเป็น

** นี่คือผู้ที่เป็นพหูสูต
มิใช่คิดและพูดเพียงได้เห็น
ต้องมีเหตุมีผลเกิดประเด็น
พิจารณาจากที่เป็นข้อเท็จจริง

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 29, เมษายน, 2559, 11:25:35 AM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๙  นกกระจาบแตกสามัคคี
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** จะขอยกนิทานในการก่อน
อุทาหรณ์น้อมนำคำเฉลย
มาเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนเช่นเคย
ติดตามเลยจะรู้ว่าค่าอนันต์

** พุทธองค์ได้ประทับกบิลพัสดุ์
ณ ที่วัดโครธารามงามเกินฝัน
ทรงปรารภพระญาติทะเลาะกัน
จึงเลือกสรรค์นิทานมาแสดง

** ณ กาลนั้นยังมีฝูงกระจาบ
หวังบินคาบหาเหยื่อเสาะแสวง
นับจำนวนหลายพันล้วนแข็งแรง
รวมเป็นแก็งกลุ่มใหญ่ในพนา

** นกหัวหน้าเป็นห่วงจึงบอกกล่าว
ถ้าถึงคราวติดบ่วงของพรานป่า
ให้จงรีบเอาหัวสอดเข้ามา
ที่ในช่องตาข่ายของนายพราน

** แล้วออกแรงบินขึ้นพร้อมพร้อมกัน
เอาตาข่ายไปพันอย่างอาจหาญ
กับต้นไม้ต้นใหญ่ไม่ร้าวราน
แล้วบินผ่านลงต่ำจำเอาไว้

** ถ้าทุกท่านมีวินัยไม่ตายแน่
สามัคคีช่วยแก้วิกฤตได้
จงรักกันช่วยกันด้วยห่วงใย
อันตรายใดใดไม่กล้ำกราย

** ฝ่ายนายพรานดักนกเป็นอาชีพ
จึงได้รีบจัดการวางตาข่าย
เกณฑ์ชะตาของนกไม่ถึงตาย
ปฏิบัติตามนัดหมายจึงปลอดภัย

** แต่อยู่อยู่วันหนึ่งจึงเกิดเหตุ
เป็นอาเพศแล้วหนาพาสงสัย
ความแตกแยกกัดกินสิ้นอาลัย
ถึงสมัยต้องพินาศอนาถครัน

** เหตุเพราะว่าขณะกินอาหาร
มีเหตุการณ์เกิดขึ้นดังอาถรรพ์
นกตังหนึ่งบินโผลงมาพลัน
ไปเหยียบหัวเพื่อนกันไม่เจตนา

** นกถูกเหยียบโวยวายสนั่นทุ่ง
พวกเพื่อนเพื่อนต่างมุ่งเข้ามาหา
แบ่งออกเป็นสองฝ่ายไม่รอรา
ต่างต่อว่าอีกฝ่ายน่าอายจริง

** จึงกลายเป็นน้ำผึ้งเพียงหยดเดียว
มาขับเคี่ยวกันไปในทุกสิ่ง
สามัคคีมลายคลายประวิง
อันวินัยถูกทิ้งไม่ไยดี

** นกหัวหน้าพูดจาคอยเกลี้ยกล่อม
ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอ้างศักดิ์ศรี
นกหัวหน้าเห็นว่าไม่เข้าที
ความพินาศจักมีอย่างแน่นอน

** จึงได้พาสมาชิกที่เป็นกลาง
หลีกหนีห่างออกไปใจทอดถอน
แม้นจากไปมิใช่ไม่อาวรณ์
แสนเร้ารอนจากไปจำใจลา

** ครั้นเวลาผ่านไปไม่นานนัก
นายพรานวางข่ายดักหมู่ปักษา
กระจาบติดตาข่ายดังเจตนา
ของพรานป่าเพื่อนำไปฆ่าแกง

** ฝ่ายกระจาบต่างเถียงกันและกัน
พวกเจ้านั้นเก่งกาจอาจกำแหง
อย่าชักช้านะเจ้ารีบแสดง
จงออกแรงดันตาข่ายให้พ้นไป

** เอาแต่เกี่ยงไม่สนใจในภาระ
ขาดธรรมะสามัคคีนี่ไฉน
ตกเป็นเหยื่อเป็นอาหารของพรานไพร
ขาดอะไรก็ไม่ร้ายเท่าขาดธรรม

** พรานจึงกล่าวคาถาว่าดังนี้
เมื่อเจ้ามีความร่าเริงช่างคมขำ
ก็สามารถดันตาข่ายได้ประจำ
ต่างก็ทำได้ดังใจไม่ร้อนรน

** แต่เมื่อใดที่พวกเจ้าเฝ้าทะเลาะ
เหมือนมีเคราะห์บาปกรรมอกุศล
ต้องเป็นเหยื่อของข้าพาอับจน
ขาดมงคลขาดใจในทันที

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 29, เมษายน, 2559, 11:35:12 AM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๐  วาทศิลป์
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** อดีตกาลผ่านมาพระโพธิสัตว์
ได้อุบัติในตระกูลที่สุขสันต์
เป็นบุตรของเศรษฐีชื่นชีวัน
มีสินทรัพย์อนันต์สุขสบาย

** ครั้นวันหนึ่งจึงออกไปเดินเล่น
เพื่อรับลมเย็นเย็นกับสหาย
อีกสามคนที่รักกันมากมาย
เพื่อผ่อนคลายอารมณ์สมอุรา

** ขณะนั้นนายพรานบรรทุกเนื้อ
มากมายเหลือนำไปใจปรารถนา
เพื่อจะขายให้แก่ชาวพารา
จึงมุ่งหน้าตรงไปภายในเมือง

** สี่สหายเมื่อเห็นนายพรานป่า
จึงหันมาปรึกษาดำเนินเรื่อง
การใช้วาทศิลป์จินต์ประเทือง
ว่าใครจะปราดเปรื่องยิ่งกว่ากัน

** คนที่หนึ่งจึงเดินเข้าไปหา
นายพรานป่าด้วยหวังอย่างแม่นมั่น
แล้วจึงเริ่มเจรจาโดยเร็วพลัน
เฮ้ย ! พรานจงแบ่งปันเนื้อให้เรา

** นายพรานจึงร้องตอบออกไปว่า
ช่างหยาบคายหนักหนานะคนเขลา
เปรียบได้กับพังผืดตามทำเนา
จงรับเอาพังผืดอย่ารีรอ

** คนที่สองลองเอ่ยเผยวจี
นี่แนะ ! พี่จงแบ่งเนื้อนะเราขอ
ไปประกอบอาหารให้เพียงพอ
แก่ครอบครัวเถิดหนอโปรดเห็นใจ

** นายพรานจึงเอ่ยว่าคำว่าพี่
ฟังแล้วไพเราะดีจะมีไหน
ซึ่งเป็นส่วนประกอบมนุษย์ไง
ใช้เรียกขานทั่วไปในสังคม

**  คำพูดท่านเป็นเหมือนส่วนประกอบ
เราจะมอบเนื้อให้ตามเหมาะสม
คือเนื้อส่วนประกอบน่ารื่นรมย์
ตามคารมที่เอ่ยเผยออกมา

** คนที่สามมุ่งหมายได้ร้องขอ
พูดว่าพ่อให้เนื้อบ้างเถิดหนา
ตามที่เห็นสมควรจะกรุณา
โปรดเมตตาเถิดท่านวานแบ่งปัน

** นายพรานจึงพูดว่าคำว่าพ่อ
น่าชื่นใจยิ่งหนออกไหวหวั่น
ได้ยินคำว่าพ่อพอใจครัน
นิจนิรันดร์สุขใจหาใดปาน

** วาจาท่านนั้นเป็นเช่นน้ำใจ
เราจะให้ตอบแทนแสนไพศาล
ได้แก่เนื้อหัวใจใสตระการ
มอบให้ท่านรับไว้ได้อิ่มเอม

** คนสุดท้ายได้แก่โพธิสัตว์
ปฏิบัติด้วยใจอันเกษม
ภารกิจที่นับว่าเป็นเกม
เยื้องงกรายดังหงส์เหมชวนให้มอง

** จึงเอื้อนเอ่ยวาจาว่าเพื่อนเอ๋ย
อย่าช้าเลยโปรดได้ตอบสนอง
ให้เรานี้มีเนื้อเพื่อครอบครอง
เป็นเจ้าของสักนิดจิตเปรมปรีดิ์

** นายพรานฟังวาจาพาขนลุก
มีความสุขเกินคิดจิตผ่องศรี
วาจาโพธิสัตว์ฟังเข้าที
เอ่ยวจีกล่าวคาถาช่างน่าฟัง

** บ้านใดไม่มีเพื่อนเหมือนกับป่า
อันวาจาท่านนี้มีความหวัง
เปรียบได้เหมือนสมบัติทั้งเวียงวัง
โปรดจงฟังนะสหายให้หมดเลย

** อันเนื้อที่มีอยู่เราให้ท่าน
เพื่อนำกลับไปบ้านอย่างเปิดเผย
จงไปยังบ้านข้าอย่าละเลย
รีบขึ้นเกวียนเพื่อนเอ๋ยไปด้วยกัน

** เมื่อถึงแล้วโพธิสัตว์จึงจัดการ
พานายพรานไปบ้านของเขานั่น
พร้อมทั้งบุตรธิดามิช้าพลัน
อาศัยอยู่ด้วยกันทุกวันมา

** แล้วจึงให้ละเลิกการฆ่าสัตว์
สร้างแต่บุญเป็นวัตรดีหนักหนา
เกื้อกูลกันและกันมั่นสัญญา
ความเป็นเพื่อนเหนือกว่าจะบรรยาย

** ทั้งหมดนี้ที่เล่ากล่าวมานั้น
เพื่อที่จะยืนยันด้วยมุ่งหมาย
ว่าวาจาสุภาษิตดีมากมาย
ท่านทั้งหลายลองคิดดูจะรู้ดี

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 29, เมษายน, 2559, 11:47:20 AM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๑  นกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** ณ หมู่บ้านชื่อว่า “สาลินทิยะ”
เศรษฐีมีภาระทำนาสวน
ได้จ้างให้คนทำตามกระบวน
ถึงเวลาอันควรก็งอกงาม

** ชื่อว่า “โกสิยะ” ทำนาข้าว
ประมาณราวพันไร่ไว้หาบหาม
ข้าวเจริญเติบโตทุกโมงยาม
ท่ามกลางฟ้าสีครามเขียวขจี

** ไม่ไกลจากทุ่งนาเป็นป่าเขา
ภูมิลำเนาของสัตว์เช่นปักษี
นับเป็นที่อาศัยปลอดภัยดี
อีกลิงค่างชะนีมีมากมาย

** อันพระโพธิสัตว์ถือกำเนิด
จุติลงมาเกิดเลิศเหลือหลาย
เป็นพญานกแขกเต้าเพริดพราวพราย
บริวารมากมายหลายร้อยตัว

** พญานกแขกเต้ามีพ่อแม่
ต้องดูแลและเทิดไว้เหนือหัว
มีลูกน้อยกลอยใจไม่หมองมัว
ต้องเลี้ยงดูจนทั่วทุกตัวตน

** คาบรวงข้าวมาฝากแม่และพ่อ
อีกลูกน้อยที่รอไม่หมองหม่น
แม้จะยากจะเหนื่อยก็สู้ทน
จิตใจช่างงามล้นเกินบรรยาย

** ครั้นวันหนึ่งพญานกแขกเต้า
ได้พาเหล่าบริวารสิ้นทั้งหลาย
มุ่งหน้าสู่ท้องนาอย่างสบาย
เพราะมีข้าวมากมายให้จิกกิน

** จึงบินลงที่นาของเศรษฐี
มองเห็นมีอาหารดังถวิล
นับจากนั้นก็มาเป็นอาจิณ
ทั้งจิกกินและคาบเอากลับไป

** คนเฝ้านามองเห็นตะโกนก้อง
ส่งเสียงร้องดังลั่นสนั่นไหว
เพื่อให้นกทั้งสิ้นรีบบินไป
แต่นกไพรไม่หนีดังที่คิด

** ในที่สุดยอมแพ้แก่ฝูงนก
แสนวิตกหนักหนาพาหงุดหงิด
จึงแจ้งแก่เศรษฐีให้พินิจ
แก้เหตุการณ์วิกฤตให้คืนดี

** ฝ่ายเศรษฐีทราบเรื่องขุ่นเคืองยิ่ง
ช่างเจ็บใจจริงจริงไม่สุขี
จึงได้มีคำสั่งในทันที
จงจับนกเหล่านี้มาให้เรา

** ลูกจ้างจึงรีบไปจัดการ
หมู่นกที่คอยผลาญเม็ดข้าวเขา
วางกับดักจับนกเพื่อบรรเทา
ภัยจากนกแขกเต้าเข้ารุกราน

** เป็นวาระโชคร้ายพญานก
เกิดดวงตกก้าวล่วงบ่วงสังหาร
ติดบ่วงดิ้นไม่หลุดสุดทรมาน
เพราะผลกรรมบันดาลให้เป็นไป

** ด้วยภาวะผู้นำจำทนนิ่ง
นึกเกรงกริ่งบริวารจะหวั่นไหว
หากรู้ว่าบัดนี้เกิดอะไร
คงจะบินหนีไปเพราะความกลัว

** จึงปล่อยให้พวกนกกินอาหาร
จนอิ่มหนำสำราญกันถ้วนทั่ว
ต่างพากันสดใสไม่หมองมัว
ให้สัญญาณทุกตัวรู้ถึงภัย

** บรรดานกตกใจรีบบินหนี
อย่างเร็วรี่เพื่อกลับที่อาศัย
พญานกก้มหน้าทอดอาลัย
ห้วงหทัยร้อนเร่าเฝ้ากังวล

** คนเฝ้านามาจับพญานก
เอาขึ้นมาแนบอกแล้วลูบขน
นำไปให้เศรษฐีมิวกวน
ดีใจล้นได้ขจัดเหล่าศัตรู

** โกสิยะจับนกแล้ววางไว้
แล้วจึงได้เอ่ยถามไม่ข่มขู่
มาคุยกันดีดีทดลองดู
เราอยากรู้ตอบได้จะปล่อยไป

** ทำไมหรือเจ้าจึงโลภมากหนอ
กินไม่พอยังคาบเอาไปไหน
หรือมียุ้งเพื่อเก็บตุนเอาไว้
เจ้าจึงได้คาบกลับไปรวงรัง

** พญานกจึงตอบว่าท่านเอ๋ย
ยุ้งข้าวไม่มีเลยตามคาดหวัง
ไม่โลภมากอยากได้เกินกำลัง
โปรดจงฟังเถิดหนอขอสาธยาย

** ประการหนึ่งพึงทราบเพื่อใช้หนี้
ประการสองนั้นมีจุดมุ่งหมาย
ให้เขากู้วันหน้าจะสบาย
ประการสามจะขยายเนื้อนาบุญ

** นำเอาไปฝังไว้เป็นขุมทรัพย์
เพื่อผลลัพธ์เบื้องหน้ามาอุดหนุน
จะมีผลยิ่งใหญ่ได้เจือจุน
นับเป็นการลงทุนที่สุนทร

** โกสิยะบอกว่าไม่เข้าใจ
จงรีบเผยเงื่อนไขอย่าหลอกหลอน
ฟังง่ายง่ายรู้เรื่องขออ้อนวอน
เป็นขั้นตอนว่ามาอย่ารีรอ

** จึงเอื้อนเอ่ยวจีมีความว่า
ท่านเจ้าขาโปรดฟังดังร้องขอ
ท่านผู้ให้กำเนิดได้เกิดก่อ
คือแม่พ่อมีคุณเจือจุนมา

** เวลาผ่านท่านก็แก่ลงมาก
ออกหากินลำบากยากหนักหนา
ต้องเลี้ยงดูตอบแทนตอนชรา
ข้าเรียกว่าใช้หนี้ผู้มีคุณ

** ส่วนลูกน้อยคอยพ่อรออาหาร
ต้องจัดการสรรหามาเกื้อหนุน
นำอาหารไปให้ด้วยการุณ
หวังพึ่งบุญตอนแก่และใกล้ตาย

** ข้าจึงได้เรียกการกระทำนี้
ว่าก่อหนี้มิใช่เรื่องเสียหาย
เป็นเรื่องดีมีคุณอย่างมากมาย
จะสบายได้พึ่งพาคราอ่อนแรง

** ยังมีนกชราและป่วยไข้
ข้าจึงได้เที่ยวไปเสาะแสวง
หาอาหารไปฝากอย่าเคลือบแคลง
เพื่อแสดงน้ำใจและไมตรี

** ได้ชื่อว่าขุมทรัพย์ที่ฝังไว้
หวังจะได้เป็นทุนบุญราศรี
การสั่งสมซึ่งบุญเป็นสิ่งดี
ส่งให้มีความสุขทุกวันคืน

** โกสิยะได้ฟังถึงนั่งอึ้ง
เกิดซาบซึ้งน้ำตาไหลไม่อาจฝืน
นกตัวนี้มีธรรมเป็นจุดยืน
เลี้ยงพ่อแม่และนกอื่นไม่เหมือนใคร

** โกสิยะกล่าวว่าต่อแต่นี้
ข้าวในนาที่มีเรายกให้
ลงมากินและจัดการเอาตามใจ
คาบกลับไปดังปรารถนาและต้องการ

** พญานกกล่าวตอบว่าขอบคุณ
ที่ค้ำจุนช่วยเหลือดังกล่าวขาน
ขอให้ท่านไร้ทุกข์สุขสำราญ
เป็นที่พึ่งอันเบิกบานและรื่นรมย์

** นกแขกเต้าปลอดภัยในครั้งนี้
เป็นเพราะคุณความดีที่สั่งสม
เลี้ยงบิดามารดาน่าชื่นชม
ให้ทุกคนในสังคมพึงสังวรณ์

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 29, เมษายน, 2559, 11:56:58 AM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๒  ตำราเลือกลูกเขย
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** อดีตกาลมีนิทานนำมาเล่า
เป็นเรื่องเก่าการเลือกคู่ดูเหมาะสม
จะอยู่ดีกินดีเอกอุดม
แสนสุขสมชื่นใจหาใดปาน

** ครั้งนั้นสมเด็จพระโพธิสัตว์
ได้อุบัติเป็นครูที่เรียกขาน
ว่าทิศาปาโมกข์ชำนาญการ
ผู้เชี่ยวชาญศิลปะวิทยา

** พราหมณ์คนหนึ่งมีลูกสาวสี่ใบเถา
งามเทียบเท่านางสวรรค์ชื่นหรรษา
ชายใดเห็นเป็นต้องถูกชะตา
อยากได้มาสมสู่เป็นคู่ครอง

** ในบรรดาชายหนุ่มที่รุมล้อม
หวังดมดอมเชยชมภิรมย์สอง
พราหมณ์ผู้พ่อจับตาเฝ้าคอยมอง
เลือกคู่เคียงประคองให้ลูกตน

๓๕๑. ** มีชายหนุ่มสี่คนน่าสนใจ
คุณสมบัติต่างกันไปตามกุศล
เคยทำดีได้ดีมีมงคล
เคยทำชั่วไม่พ้นผลไม่ดี

** คนที่หนึ่งรูปหล่อเป็นยิ่งนัก
ช่างน่ารักงามสง่ามีราศี
ทั้งกิริยาวาจาก็เข้าที
เอ่ยวจีอรรถรสปรากฏไกล

** คนที่สองผ่านโลกมาหลายฝน
อายุพ้นวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่
สัมผัสสุขและทุกข์ผลัดเปลี่ยนไป
สุดหาใครเป็นคู่ครองอกหมองตรม

** คนที่สามร่ำรวยลูกเศรษฐี
ตระกูลดีเป็นผู้ที่เหมาะสม
เป็นคู่ครองสาวสาวร่วมภิรมย์
คงสุขสมฤดีมิเสื่อมคลาย

** คนที่สี่มีศีลธรรมแสนล้ำเลิศ
ก่อให้เกิดกุศลผลมากหลาย
งามสง่าอำไพทั้งใจกาย
หญิงมากมายหมายจองครองคู่กัน

** พราหมณ์พ่อไม่สามารถเลือกใครได้
เพื่อจะให้ลูกสาวร่วมสร้างฝัน
เป็นเพื่อนคิดคู่ใจไปนานวัน
สายสัมพันธ์มั่นคงยิ่งยืนนาน

** จึงไปหาอาจารย์ท่านปาโมกข์
ผู้เข้าใจเรื่องโลกโชคไพศาล
เริ่มปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญ
เล่าเหตุการณ์ทั้งหลายให้ได้ฟัง

** หลังจากนั้นจึงถามถึงความเห็น
ควรเลือกเฟ้นคนใดจึงสมหวัง
ผู้ที่ควรครองคู่อยู่จีรัง
โปรดแนะนำสักครั้งเป็นพระคุณ

** ฝ่ายพระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า
แม้รูปร่างร่างกายาเป็นส่วนหนุน
ให้ดูดีมีค่ามาเจือจุน
แต่ขาดศีลเป็นทุนก็สิ้นงาม

** ถ้าเป็นเราจะเลือกคนมีศีล
เป็นไทยจีนก็สูงค่าน่าเกรงขาม
กลิ่นของศีลหอมฟุ้งทุกโมงยาม
ไม่ผลีผลามยามเดินและนั่งนอน

** แล้วจึงเอ่ยวจีเป็นคาถา
เจตนาให้ฟังดังคำสอน
รูปสวยตระกูลดีมีคลายคลอน
ถ้ามีศีลถาวรปราศจากภัย

** พราหมณ์ได้ฟังชอบใจไม่รอช้า
รีบกลับคืนเคหาที่อาศัย
ครั้นถึงจึงบอกสี่อรทัย
เรื่องคู่ครองทรามวัยโดยเร็วพลัน

** พราหมณ์จึงยกสี่สาวที่สดใส
ให้คนมีศีลไปด้วยใจมั่น
ต้องอยู่ดีมีสุขชั่วนิรันดร์
ทุกคืนวันก้าวหน้าพาเพลิดเพลิน

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 29, เมษายน, 2559, 12:13:05 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๓  พญาเนื้อทอง
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** ณ ชายป่ายังมีพญาเนื้อ
ผิวดังทองงามเหลือหาใครเหมือน
มีกวางสาวเนื้อเย็นเป็นขวัญเรือน
อยู่เคียงคู่เป็นเพื่อนที่รู้ใจ

** ครอบครองบริวารราวแปดหมื่น
คอยหยิบยื่นสิ่งดีดีมีมอบให้
รักบริวารเท่ากันทุกตัวไป
มีจิตใจเป็นธรรมไม่ลำเอียง

** ครั้นวันหนึ่งจึงได้พาลูกน้อง
ที่ปกครองไปหากินในถิ่นเสี่ยง
ปากเล็มหญ้าตาจ้องคอยมองเมียง
หูฟังเสียงต่างต่างอย่างจริงจัง

** ด้วยผลกรรมทำไว้ในกาลก่อน
กลับมาย้อนส่งผลดังมนต์ขลัง
กินใบไม้เพลินไปไม่ระวัง
ก้าวสู่ฝั่งวังวนบ่วงนายพราน

** เผลอก้าวเท้าเข้าบ่วงพรานดักไว้
รู้ตัวได้ถึงภัยใจร้าวฉาน
รีบสลัดให้หลุดสุดทรมาน
น่าสงสารเจ็บปวดรวดร้าวกาย

** จึงร้องบอกพวกพ้องทั้งน้องพี่
ที่แห่งนี้มีภัยรีบผันผาย
จงหนีไปให้ไกลก่อนวางวาย
มีความตายรอท่าอย่าช้าพลัน

** อันตัวเราติดบ่วงของพรานแล้ว
ไม่คลาดแคล้วชีวาต้องอาสัญ
เป็นอาหารพรานไพรใจฉกรรจ์
อย่าห่วงฉันรีบหนีไปไวไว

** เหล่าบริวารตกใจไม่ยั้งคิด
ต่างก็รักชีวิตกว่าสิ่งไหน
ไม่คิดหน้าคิดหลังให้ยาวไกล
ทิ้งหัวหน้าเอาไว้เพียงตัวเดียว

** ฝ่ายนางกวางภรรยาบ่ายหน้าหนี
เพื่อรักษาชีวีไม่เฉลียว
ถึงกวางผู้สามีสักนิดเทียว
จึงปล่อยให้เปล่าเปลี่ยวอย่างเดียวดาย

** เมื่อหนีไปนิดหนึ่งพึงสังหรณ์
นึกอาวรณ์ถึงสามีที่เงียบหาย
ไม่ติดตามกันมาหรือว่าตาย
จึงย่างกรายกลับไปใจไม่ดี

** มองเห็นกวางสามีที่ยืนอยู่
จึงได้รู้ไม่ตายให้สุขี
เข้าไปใกล้แล้วเอ่ยเผยวจี
เหตุไฉนหนอพี่จึงไม่ไป

** พญากวางจึงเผยเอ่ยวาจา
อันตัวพี่นี่หนาไปไม่ได้
ขาของพี่ติดบ่วงของพรานไพร
เมื่อเข้าใจอย่าช้าจะอันตราย

** นางกวางน้อยจึงตอบขอบคุณพี่
ตัวน้องนี้ไม่กลัวภัยทั้งหลาย
จะขออยู่ที่นี่กับพี่ชาย
ถ้าต้องตายขอตายไปด้วยกัน

** ไม่ช้านานพรานป่าก็มาถึง
นางกวางจึงเอ่ยถ้อยค่อยเสกสรร
ขอจงได้เมตตาอย่าฆ่าฟัน
โปรดเถอะไว้ชีวันพญากวาง

** ถ้าจะฆ่าโปรดจงฆ่าเราก่อน
ให้ม้วยมรณ์สิ้นใจไม่ขัดขวาง
แล้วค่อยฆ่าสามีให้วายวาง
ชีพอับปางดับไปไม่เสียดาย

** พรานป่าฟังน้ำคำชื่นฉ่ำนัก
เป็นความรักยิ่งใหญ่สมใจหมาย
กล่าววาจาจับใจไม่เสื่อมคลาย
แม้ความตายไม่หวั่นพรั่นพรึงเลย

** ไม่เคยเห็นมีใครในโลกนี้
ยอมสละชีวีหน้าตาเฉย
เพื่อผัวที่ตนรักจักเสบย
จึงได้เอ่ยวาจาน่าชื่นใจ

** พรานป่าชอบจึงตอบวจีว่า
เราไม่ฆ่าเจ้าทั้งสองหยุดร้องไห้
จะปล่อยเจ้าทั้งสองเข้าป่าไป
ขอจงได้สุขสันต์นิรันดร์กาล

** นางกวางป่าจึงตอบขอบคุณมาก
ก่อนลาจากอยากขอจงสงสาร
อย่าทำร้ายสัตว์ป่าให้ร้าวราน
จงหยุดการฆ่าฟันให้บรรลัย

** ก่อนจากไปพญากวางจึงมอบแก้ว
ให้พรานแล้วจึงได้เอ่ยปราศรัย
เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้อภัย
ตลอดอายุขัยจงทำดี

** หมั่นทำทานรักษาศีลภาวนา
มีเมตตาเอื้อเฟื้อเพื่อสุขศรี
จงเอาแก้วที่ให้เลี้ยงชีวี
ทำบุญตามที่มีโอกาสทำ

** ขอลาทีวันนี้ขอลาแล้ว
ทำให้ใจแน่แน่วอย่าถลำ
แล้วตั้งตนตั้งใจมั่นในธรรม
ละเวรกรรมห่างอบายได้สุขเลย

** การสงเคราะห์แก่กันพลันเกิดสุข
ห่างจากทุกข์ดังที่ได้เปิดเผย
เรื่องของกวางทั้งคู่ชื่นชูเชย
ต่างก็ไม่ละเลยความสัมพันธ์

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 30, เมษายน, 2559, 05:55:54 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๔  การทำงานไม่ถูกขั้นตอน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** สมัยหนึ่งที่องค์พระศาสดา
เสด็จยังพาราสาวัตถี
ประทับที่เชตวันอันโสภี
แล้วทรงมีดำรัสตรัสเรื่องราว

** ทรงปรารภภิกษุผู้เกียจคร้าน
จึงได้ยกตำนานที่อื้อฉาว
ในกาลก่อนก็เกียจคร้านมานานยาว
โดยบอกกล่าวเป็นนิทานเล่าขานมา

** ในเมืองตักศิลาคราครั้งก่อน
มีผู้สอนศิลปะเก่งหนักหนา
คือทิศาปาโมกข์ยอดวิทยา
ผู้เก่งกล้าวิชาเชี่ยวชำนาญ

** มีลูกศิษย์ประมาณห้าร้อยคน
คอยสั่งสอนฝึกฝนจนแตกฉาน
จนขึ้นชื่อลือชาวิชาการ
ผู้อาจารย์ชื่นสุขทุกทิวา

** ครั้นวันหนึ่งบรรดาสานุศิษย์
จึงได้คิดร่วมใจกันเข้าป่า
เพื่อเก็บผักหักฟืนไม่รอรา
รีบมุ่งหน้าเข้าไพรดังใจปอง

** เมื่อถึงป่าต่างพากันเก็บฟืน
อย่างราบรื่นสดใสไม่หม่นหมอง
ต่างส่งเสียงล้อกันอย่างคะนอง
บ้างก็ร้องเพลงเล่นไม่เป็นภัย

** อีกนายหนึ่งซึ่งเป็นคนเกียจคร้าน
หลบหลีกการทำงานเป็นนิสัย
ในวันนี้ทิ้งเพื่อนไม่อาลัย
อีกสมัยที่แอบหนีไปนอน

** ตกเย็นเพื่อนมัดฟืนขึ้นใสบ่า
ได้เดินมาสะดุดเข้าคิดว่าขอน
สะดุ้งตื่นขึ้นมาพาร้าวรอน
ใจอาวรณ์ไม่มีฟืนยืนเศร้าตรม

** ตะลีตะลานปีนป่ายขึ้นต้นกุ่ม
ดังไฟสุมร้อนเร่าเศร้าขื่นขม
รีบดึงกิ่งมาหักไม่รื่นรมย์
กิ่งกลมกลมดีดตาพาบอดเลย

** ได้กิ่งไม้สดสดมาหน่อยหนึ่ง
แล้วรีบบึ่งกลับสำนักไม่อยู่เฉย
ความเกียจคร้านพาลเสียเหมือนเช่นเคย
จะขอเผยฉากสุดท้ายให้ได้ฟัง

** เย็นวันนั้นอาจารย์ได้รับเชิญ
นับเป็นเหตุบังเอิญแต่หนหลัง
ต้องรีบทานข้าวเช้าเพิ่มพลัง
จึงได้สั่งแม่ครัวฝีมือดี

** พรุ่งนี้เช้าจงรีบทำอาหาร
เราจะต้องรีบทานอย่างด่วนจี๋
ก่อนจะไปประกอบกิจพิธี
เพื่อให้มีมงคลไม่ลนลาน

** ครั้นรุ่งเช้าแม่ครัวรีบก่อไฟ
เพื่อจะได้ประกอบมวลอาหาร
จึงหยิบฟืนที่นำมาเมื่อวาน
ของลูกศิษย์ที่เกียจคร้านไม่รอรา

** ก่ออย่างไรแต่ไฟไม่ยอมติด
เป็นเพราะฟืนทำพิษสร้างปัญหา
เพราะฟืนสดทำให้จนปัญญา
จนเวลาผ่านไปไม่ได้กิน

** ศิษย์ผู้ที่เกียจคร้านในกาลนั้น
คือภิกษุปัจจุบันถูกติฉิน
ว่าเกียจคร้านการงานเป็นอาจิณ
เกิดมลทินงานอากูลอาดูรเกิน

** ต้องขยันอย่าเกียจคร้านงานทั้งหลาย
ได้สบายนับอนันต์ชนสรรเสริญ
จะก้าวหน้าพบแต่ความเจริญ
และเพลิดเพลินอุดมผลเป็นมงคล

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 30, เมษายน, 2559, 06:06:47 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๕  ยอดทาน
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** สมัยหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
หวังให้ชาวประชามีสุขสันต์
เสด็จมาประทับ ณ เชตวัน
สาวัตถีจอมราชันพระทรงชัย

** ในครั้งนั้นยังมีอุบาสิกา
ชื่อ “นันทมารดา” พิสมัย
ได้ถวายทักษิณาทานมัย
โดยไม่ต้องสงสัยเพราะศรัทธา

** เป็นทานที่ประกอบด้วยองค์หก
จึงได้ยกพระธรรมเทศนา   (เทศนา  อ่านว่า  เทด-สะ-หนา)
แสดงแก่ภิกษุที่ได้มา
ณ ธรรมสภาพร้อมหน้ากัน

** ภิกษุเอ๋ย....จงฟังเราจะกล่าว
ถึงเรื่องราวทักษิณาอย่าไหวหวั่น
แบ่งออกเป็นสองส่วนที่สำคัญ
ส่วนประกอบย่อยนั้นมีหกองค์

** ส่วนประกอบที่หนึ่งคือ “ผู้ให้”
เรียกง่ายง่ายว่า “ทายก” ผู้ประสงค์
จะแบ่งปันส่วนที่มีโดยจำนง
แบ่งเป็นองค์ย่อยย่อยสามประการ

** หนึ่ง “ก่อนให้เป็นผู้ที่จิตใจดี”
เอื้ออารีเมตตามาประสาน
ปราศจากอกุศลคนใจพาล
การทำทานเป็นมงคลผลอุดม

** สอง “ขณะให้มีจิตใจที่เลื่อมใส”
ประกอบไปด้วยศรัทธาอันเหมาะสม
เชื่อมั่นในความดีน่านิยม
เป็นปฐมของการให้ได้ผลบุญ

** สาม “ปลื้มใจในการที่ได้ให้”
กุศลที่ทำไว้ได้อุดหนุน
การสั่งสมความดีย่อมมีคุณ
คอยเจือจุนส่งให้ได้วิมาน

** ส่วนประกอบที่สองคือ “ผู้รับ”
“ปฏิคาหก” เป็นศัพท์ที่เรียกขาน
มีผู้ให้ขาดผู้รับก็ป่วยการ
สองประสานจึงเกิดผลดังใจ

** อันผู้รับนั้นมีสามส่วนย่อย
ดูเหมือนน้อยแต่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่
ลองศึกษากันดูเรื่อยเรื่อยไป
แล้วจะได้รู้ว่าค่ามากมาย

** หนึ่ง “เป็นผู้ปราศจากตัวราคะ”
หรือโลภะตัณหาพาฉิบหาย
ความกำหนัดยินดีในรูปกาย
หรือความหมายกรงขังทางปัญญา

** สอง “เป็นผู้ปราศจากตัวโทสะ”
คือความโกรธมักจะสร้างปัญหา
ทุจริตทั้งใจกายวาจา
ขาดเมตตาการุณและปราณี

** สาม “เป็นผู้ปราศจากตัวโมหะ”
คือความหลงไม่ละพาหมองศรี
ความมัวเมายึดมั่นเป็นราคี
ล้วนไม่ดีมีกิเลสเหตุงมงาย

** ภิกษุเอ๋ย...ทักษิณาที่ว่านี้
ย่อมจะมีคุณค่าดังมุ่งหมาย
มีความสุขสงบทั้งใจกาย
ทั้งผลบุญมากมายเกินประมาณ

** เปรียบดังน้ำในห้วงมหาสมุทร
มันมากสุดที่จะบวกลบคูณหาร
ดุจดังผลของทักษิณาทาน
แม้จักรวาลไม่อาจเปรียบเทียบผลบุญ

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 30, เมษายน, 2559, 06:19:24 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๖  ผู้ประเสริฐ
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
ไม่หมองเศร้าประทับ ณ สาวัตถี
เชตวันพระวิหารแห่งความดี
สมเด็จพระชินศรีทรงเบิกบาน

** ณ วันหนึ่งคิดจะชำระกาย
เพื่อให้สุขสบายสรงสนาน
จึงชวนพระอานนท์ลงสู่ธาร
บุพพะโกฏฐกะทรงสำราญสบายใจ

** ครั้นสรงเสร็จเสด็จขึ้นสู่ฝั่ง
ด้วยทรงหวังผึ่งกายให้สดใส
มีสายลมพัดผ่านคอยแกว่งไกว
จึงทำให้สดชื่นรื่นกมล

** ขณะนั้นมีพญาคชสาร
ของภูบาลปเสนทิโกศล
จะขึ้นจากท่าน้ำริมฝั่งชล
โกลาหลอื้ออึงเสียงตึงตัง

** เสียงดนตรีประโคมดังสนั่น
เหล่าฝูงชนจ้องกันทั้งสองฝั่ง
ต่างชื่นชมว่าช้างดีมีพลัง
ช่างประเสริฐเสียจังดูงามดี

** ต้องเป็นคชสารที่ดีเลิศ
แสนประเสริฐวิไลในทุกที่
ช่างงามงดสดใสไร้ราคี
น่าศรัทธาเกินที่จะพรรณนา

** พระกาฬุทายีฟังคำขาน
ของชาวบ้านเรื่องช้างยังกังขา
ยกย่องว่าประเสริฐและศรัทธา
จึงกราบทูลพระศาสดาขยายความ

** พระพุทธองค์ทรงตรัสพระวัจนะ
เป็นธรรมะคลายข้องใจในคำถาม
ชนผู้ใดไม่ทำชั่วสิ่งเลวทราม
มีความงามภายนอกและภายใน

** เราจะเรียกผู้นั้นว่าประเสริฐ
ซึ่งล้ำเลิศหนักหนากว่าสิ่งไหน
ละความชั่วทางกายวาจาใจ
ละโลกไปสุคติเป็นที่ปอง

** การประพฤติธรรมนี้นั้นดีแน่
จะมีแต่สุขใจไม่เศร้าหมอง
ทั้งโลกนี้โลกหน้าจะสมปอง
ธรรมคุ้มครองเสวยสุขทุกคืนวัน

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 04, พฤษภาคม, 2559, 02:53:03 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๗  วิฑูฑภะ
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** พุทธองค์ทรงปรารภวิฑูฑภะ
ผู้ประสบหายนะน่าสงสาร
น้ำท่วมตายพร้อมกับบริวาร
ริมฝั่งธาร “อจิรวดี”

** ท้าวเธอเป็นเชื้อสายศากยะ
โอรส “วาสภะ” มเหสี
ในปเสนทิโกศลจอมธานี
แห่งกรุงสาวัตถีบุรีรมย์

** เป็นหลานของพระเจ้ามหานามะ
มารดา “วาสภะ” แสนขื่นขม
เกิดจากนางทาสีเปรียบโคลนตม
ไม่เหมาะสมจะยกย่องให้รองเรือง

** ในสมัยที่เป็นราชโอรส
ได้กำหนดเยี่ยมพระญาติให้ฟูเฟื่อง
กบิลพัสดุ์สว่างไสวไปทั่วเมือง
งามดังคำลือเลื่องระบือไกล

** ครบกำหนดเสด็จกลับสาวัตถี
ทิ้งความหลังไว้ที่บุรีใหญ่
ญาติวงศ์ศากยะสุดทำใจ
ชาติกำเนิดห่างไกลกว่าพวกตน

** ศากยะรับสั่งให้ทาสี
ทำการล้างสถานที่ทุกแห่งหน
ที่โอรสประทับสุดจักทน
เพราะเป็นอัปมงคลกาลีเมือง

** วิฑูฑภะทราบเรื่องสุดเคืองแค้น
ได้เป็นใหญ่ต้องตอบแทนให้รู้เรื่อง
ซึ่งหนี้แค้นที่ทำระคายเคือง
ล้างให้สิ้นลือเลื่องทั่วโลกา

** สิ้นสมัยปเสนทิโกศล
ได้ครองราชย์เป็นมงคลเกินจักหา
รวมพลมหาศาลยกกันมา
กบิลพัสดุ์พาราดังหมายปอง


** ถึงกลางทางได้พบพระศาสดา
เสด็จมาด้วยความหวังจะสนอง
คุณพระญาติตามสมควรแก่ครรลอง
เป็นกิจของผู้ทรงธรรมเขาทำกัน

** จึงยกพัพกลับราชนิเวศน์
อาณาเขตสาวัตถีมิได้พรั่น
เราต้องทำสำเร็จเข้าสักวัน
เก็บเอาความอัดอั้นไว้เต็มทรวง

** วิฑูฑภะยกพลถึงสามครั้ง
แต่ก็ต้องหยุดยั้งพลใหญ่หลวง
พระศาสดาเป็นเหตุเรื่องทั้งปวง
ไม่สามารถลุล่วงปณิธาน

** ครั้งที่สี่พุทธองค์จึงทรงคิด
ตามที่ทรงนิมิตเป็นหลักฐาน
เป็นเพราะกรรมศากยะมาร้าวราน
บุรพกรรมเป็นมารจ้องทำลาย

** ศากยะสร้างกรรมในปางก่อน
เบื่อปลาให้ม้วยมรณ์สิ้นสลาย
ต้องใช้กรรมในชาตินี้ชีวาวาย
ถึงคราวตายเพราะกรรมที่ทำมา

** วิฑูฑภะไม่มีใครขัดขวาง
ได้ยกพลเดินทางดังปรารถนา
ครั้นถึงกบิลพัสดุ์ไม่รอรา
สั่งให้ฆ่าเอาเลือดล้างนคร

** ครั้นหมดแค้นยกพลเดินทางกลับ
เมื่ออาทิตย์จะลับยอดสิงขร
จึงหยุดพักริมฝั่งชลาธร
“อจิรวดี” สาครอย่างสบาย

** ขณะนั้นบังเอิญฝนตกหนัก
น้ำทะลักท่วมป่าน่าใจหาย
วิฑูฑภะและไพร่พลจมน้ำตาย
ชีพวางวายเพราะวิบากผลของกรรม

** พระพุทธองค์ทรงตรัสพระคาถา
ใจความว่าบุคคลย่อมถลำ
สู่ความตายด้วยปัจจัยที่น้อมนำ
เกิดจากการกระทำที่เจตนา

** เจตนาดีทำดีย่อมมีผล
ให้บุคคลได้ดีที่ใฝ่หา
เจนาชั่วทำชั่วตัวอัปรา
ย่อมชักพาสู่ห้วงแห่งโลกันต์

สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)


หัวข้อ: Re: นิทานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: สมพงศ์ ชูสุวรรณ ที่ 04, พฤษภาคม, 2559, 03:02:15 PM
(http://www.mx7.com/i/95b/Wss6Xi.jpg) (http://www.mx7.com/view2/yWWNU1iwZ94LTVFi)

นิทานธรรม
เรื่องที่ ๑๘  พระก็ทำนา
โดย  สมพงศ์  ชูสุวรรณ
***************************
** ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระศาสดา
ได้เสด็จผ่านมาไม่คาดหมาย
ถึงหมู่บ้านกสิพราหมณ์ผู้งมงาย
ตอนเวลาคล้อยบ่ายใกล้สายัณห์

** ขณะนั้นเป็นฤดูการทำนา
ต่างตั้งหน้าตั้งตาขมีขมัน
ปลูกข้าวและดำกล้าแข่งตะวัน
เพื่อจะให้เสร็จทันตามเวลา

** พระพุทธองค์ประทับทอดพระเนตร
กสิพราหมณ์ถือเป็นเหตุไม่กังขา
เอ่ยปากกล่าวต่อว่าองค์สัมมา
ไม่เลื่อมใสไม่ศรัทธาในพระองค์

** พวกข้านี้ไถนาและปลูกข้าว
มายืนยาวด้วยมีจุดประสงค์
เพื่อจะเลี้ยงชีวิตให้ยืนยง
ชีวิตเรามั่นคงเพราะมือตน
** ส่วนพวกท่านเอาแต่เที่ยวเดินขอ
น่าอนาถจริงหนอแสนหมองหม่น
ลองทำนาหว่านดำจำใจทน
คงมีคนชื่นชมสาธุการ

** พระพุทธองค์จึงตรัสกสิเอ๋ย
ฟังนะจะเฉลยเอ่ยไขขาน
เราทำนาเช่นกันทุกวันวาร
ดังที่ท่านแนะนำจำนรรจา

** ท่านนะหรือที่ทำไม่เคยเห็น
อุปกรณ์ซ่อนเร้นอยู่ไหนหนา
ข้าเห็นมีแต่บาตรที่อุ้มมา
สำหรับขอข้าวปลาชาวบ้านกิน

** ขอจงฟังเราก่อนนะกสิ
อย่ามุ่งแต่ตำหนิและติฉิน
ตถาคตทำนาเป็นอาจิณ
ไม่ใช่พูดเล่นลิ้นให้วกวน

** นาเรามีศรัทธาเป็นพืชหลัก
มีความเพียรฟูมฟักเป็นน้ำฝน
มีปัญญาเป็นแอกแทรกซ้อนปน
ส่วนหิริหน้ามลเป็นงอนไถ    (ไถ  เป็นเสียงจัตวา  ห้ามใช้ในวรรคที่ ๔)

** มีสติเป็นผาลคอยไถถาก
มีใจเป็นเชือกลากไม่หวั่นไหว
มีคำสัจคอยดายหญ้าทุกคราไป
กายวาจาห่างไกลเครื่องรัดรึง

** ข้าวซึ่งเกิดจากนาดังว่านี้
มีผลดีชนิดคิดไม่ถึง
ทานแล้วจะสิ้นทุกข์สุขตราตรึง
บริโภคครั้งหนึ่งอิ่มจนตาย

** กสิพราหมณ์ฟังจบเกิดเลื่อมใส
แบ่งอาหารถวายไปดังใจหมาย
พระศาสดาไม่รับแล้วอธิบาย
เพื่อขยายเรื่องราวให้ได้ยิน

** เราไม่สามารถจะรับอาหาร
ที่เป็นทานจากการกล่าววาทศิลป์
ของตัวเองเพราะว่ามีราคิน
ไม่บริสุทธิ์หมดสิ้นความสำคัญ

** กสิพราหมณ์เกิดศรัทธาอย่างยวดยิ่ง
ตั้งใจจริงเลื่อมใสไม่เหหัน
ขอถึงพระรัตนตรัยทุกคืนวัน
และตั้งมั่นในธรรมสร้างกรรมดี


สมพงศ์  ชูสุวรรณ
บ้านกัลปังหา  
(http://www.mx7.com/i/c45/OiOraL.gif) (http://www.mx7.com/view2/ySULYD5rESrRA8tu)