Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
 41 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอน ร้อยกรองหลากลีลา / Re: ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
 เมื่อ: 30, มิถุนายน, 2568, 11:20:57 AM 
เริ่มโดย คนเรียนไพร - กระทู้ล่าสุด โดย คนเรียนไพร
 
ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดย คนเรียนไพร

รุ้งกินน้ำ

     มุมสะท้อน ย้อนแสง แห่งความงาม
สร้างเกรงขาม ชวนติดตาม ธรรมวิถี
สัญญารักษ์ ชาติ-ศาสน์ พระภูมี
ไม่ยอมให้ ใครย่ำยี ก่นบีฑา
     ดุจสะพาน สายรุ้ง มุ่งความดี
เป็นสักขี สมนาม ปรารถนา
สามัคคี สืบสาน ชาวประชา
รู้รักษา อธิปไตย ในแดนดิน
     ทุรชน ครอบงำ กระทำชั่ว
ไม่เกรงกลัว ผลกรรม ช้ำถวิล
หวังคืนสุข สู่ประชา ดั่งใจจินต์
ทั่วทุกถิ่น ไม่สูญสิ้น ความเป็นไทย
     รุ้งกินน้ำ ตอกย้ำ ศุภฤกษ์
ใจบานเบิก เทพยดา พาขานไข
ทุรชน ต้องปลิดปลง จนบรรลัย
ทุกข์ห่างไกล เมื่อสิ้นมาร ผลาญแผ่นดิน

คนเรียนไพร
๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๘

 42 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม / Re: นรกภูมิ : ๑.มหานรก ๘ ขุม ~ ร่ายสุภาพ
 เมื่อ: 30, มิถุนายน, 2568, 07:55:34 AM 
เริ่มโดย แสงประภัสสร - กระทู้ล่าสุด โดย แสงประภัสสร
นรกภูมิ : ๕.เมื่อทำบาปจะได้รับผลอะไร

กาพย์ตุรงคธาวี

    ๑.ธรรมดา......มนุษย์ทราบนา.......ไหนคว้าดี,ชั่วแฉ
แม้ไม่มี....ใครรี่มาสอนแล....แตกต่างสัตว์....เห็นชัดไม่รู้เลย
ด้วยมนุษย์......จิตสำนึกรุด......ประทุษมิดีเผย
ผู้ถูกทำ....กระหน่ำโกรธแค้นเอย....พลอยอาฆาต....มุ่งมาดร้ายเราจริง

    ๒.เพราะสันดาน......เห็นแก่ตัวขาน......จะพานยึดตนยิ่ง
ทำบ่อยเข้า....ชอบเฝ้าทำชั่วดิ่ง....หาประโยชน์....ลืมโลดทำชั่วมัว
ทำบาปใด......แย้งชั่วดีไซร้.....จิตไวก้ำกึ่งกลัว
ทุกข์สะสม....บ่มในสันดานชั่ว....เศร้าหมองใจ....จิตไม่แจ่มใสเอย

    ๓.ขาดแจ่มใส......จะเกิดผลไซร้......ชีพไหวแปรเปลี่ยนเผย
ครานอนหลับ....กลับฝันร้ายทุกข์เอ่ย....ตื่นมาแล้ว....ต้องแคล้วจากสุขแล
อารมณ์เสีย......ถูกขัดใจเพลีย......พลาดเปลี้ยสิ่งรักแฉ
มิสามารถ....ยาตรตามเหตุผลแล้....ทาสเสพติด....ประชิดได้ง่ายนา

    ๔.คราเจ็บป่วย......กังวลกลัวม้วย......งงงวยอ่อนแอหนา
เจ้าอารมณ์....คิดซมซ้ำซากแล้....ระงับจิต....เลิกคิดมิได้เลย
คราวใกล้ตาย......."สุข"มิเฉียดกราย......ทุรายทุรนเผย
เพราะมักนึก....เวียนตรึกทำบาปเคย....ทำร้ายเขา....จึงเฝ้าทุกข์ระทม

    ๕.เพราะเหตุใด.......จึงทำบาปไป.......ทั้งใจรู้เลวขม
คนพาลนั้น....มีปัญญาทรามซม....ทำบาปอยู่...."ไม่รู้"วิบากกรรม
ทำบาปแล้ว.......จะมีผลใดแคล่ว.....แน่แน่วร้ายแรงหนำ
เขาทำบาป....ร้อนนาบไฟเผานำ....ตายแล้วตก....ไฟนรกเผาไหม้แล

    ๖.คนพาลคือ......ผิดศีลห้าลือ.....สิบชื่อ"อกุศลฯ"แฉ
"กายทุจริต"....ผิด"มโนฯ"สามแล้...."วจีฯ"สี่....พฤติรี่ทำบาปยง
บาปกรรมนั้น......มิให้ผลพลัน.....ยังดั้นรอก่อนบ่ง
คล้ายนมโค....โผล่เป็นนมเปรี้ยวส่ง....ใช้เวลา....จึงมาเปลี่ยนสภาพนา

    ๗.บาปกรรมทำ......ต้องให้ผลนำ.......ขอย้ำแน่นอนหนา
เขายังคง....ดำรงชีพสุขมา....เพราะอาศัย....กรรมในชาติก่อนไกล
เมื่อใดตาย......กายแตกแหลกวาย......อบายแน่นอนไข
ครานี้บ่ง....บาปส่งผลตามไว....เฝ้าผลาญเขา....ไหม้เผาเนื้อหนังเอย

    ๘.บาปชาตินี้......แม้ทำมากปรี่......แต่ชี้ผลน้อยเผย
เพราะขันธ์ห้า....มาด้วยกรรมดีเคย....จากชาติก่อน....จะป้อนคุ้มครองกาย
คราวตายมา......กรรมชาตินี้หนา.....พาสู่นรก,เปรตผาย
แล้วบาปนั้น....ตามทันมิได้คลาย....คอยเผาผลาญ....ทรมานไหม้แล

    ๙.พุทธ์เจ้าตรัส......'ถ้าบาปทำซัด......ผลชัดทันทีแฉ
ไม่มีใคร....กล้าไซร้ทำบาปแน่'....เมื่อทำบาป....รอตราบให้ผลนา
ความเรื่องนี้......พึงระวังรี่......ไม่ปรี่เผลอทำหนา
เหนี่ยวรั้งตน....พฤติพ้นชั่วช้าพา....ทั้งกาย,ใจ....วจีไซร้ต้องงาม

    ๑๐.โลกนี้เป็น......นรก,สวรรค์เด่น.....เรียกเน้นสองแหล่งผลาม
อีกโลกหน้า...."โอปปาฯ"ก็มีคาม....นรก,สวรรค์....ครันแท้จริงแน่เอย
พุทธ์เจ้ากล่าว.....ทรงเห็นนรกพราว......ชาวสวรรค์หลายเผย
สองแหล่งชู....เชื่อมอยู่ที่ต่อเอย...."อายตนะ"....ปะหกมนุษย์นา

       ๑๑.ตา,หู,ลิ้น.......จมูก,กาย,ใจสิ้น.......ชินสุขสววรค์หนา
ตา,ลิ้น,หู....จมูก,พรูกายพา....ใจเป็นทุกข์....เรียกรุกนรกแล
คุมหกทัน........อย่าก่อนรกดั้น.......อย่าให้มันเหนือแน่
อิทธิพล....หกพ้นเลิกเสียแล้....นรก,สวรรค์....พลันไร้ก็นิพพาน

    ๑๒.นรกนั้น.......มีแต่ทุกข์ดั้น......พลันไร้โอกาสขาน
พฤติพรหม์จรรย์....สวรรค์สุขสราญ....ทุกข์ไม่มี....ยินดีสนุกไว
จึงบำเพ็ญ.......พรหม์จรรย์มิเด่น.......เช่นโลกมนุษย์ไข
มีทั้งทุกข์....และสุขระคนไป....กัมมัฏฐาน....พานเหมาะสมยิ่งเลอ

 43 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / โคลง-กาพย์-ฉันท์-ร่าย-ลิลิต / Re: ...-๐ นานาเครื่องจิ้มไทย จัดสำรับ กาพย์ห่อโคลง ๐-...
 เมื่อ: 29, มิถุนายน, 2568, 09:59:28 PM 
เริ่มโดย Black Sword - กระทู้ล่าสุด โดย Black Sword

ขอบคุณรูปภาพต้นแบบจาก Internet

-๐ หลนไตปลา ๐-

     ๏   เข้มข้นหลนไตปลา      จัดจ้านคราลิ้มเพียงคำ
รสนี้ที่จดจำล้ำเลิศนักสลักทรวงถวิล
 
๏   หลนไตปลาว่าเข้ม-ข้นหลาย
รสจัดจ้านมิคลายอ่อนลิ้น
คำหนึ่งจดใจหมายสลักมั่น
ตรึงติตทรวงมิสิ้นเลิศล้ำเลอเหลือ ๚ะ๛
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

• กลับสู่สารบัญ นานาเครื่องจิ้มไทย จัดไว้ในกาพย์ห่อโคลง คลิก

 44 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอน ร้อยกรองหลากลีลา / Re: ..ขอบาทเดียว..
 เมื่อ: 29, มิถุนายน, 2568, 09:55:39 PM 
เริ่มโดย บ้านกลอนน้อย - กระทู้ล่าสุด โดย Black Sword

มิงั้นปรับค่าปรับเป็นเลขดัง    สามตัวหน้าและหลังรีบบอกมา
 

 45 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม / Re: อภิธรรมปิฎก : ๑.พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ~ กาพย์ทัณฑิกา
 เมื่อ: 29, มิถุนายน, 2568, 03:31:20 PM 
เริ่มโดย แสงประภัสสร - กระทู้ล่าสุด โดย แสงประภัสสร

(ต่อหน้า ๑๙/๑๙) ๑.พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์

สัททรูป ๑=คือ รูปที่ไม่(สามารถ)แยกกันได้เด็ดขาด ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่า รูปธาตุในโลกนี้จะต้องมี อวินิพโภครูปเป็นส่วนประกอบ รูปธาตุที่ใหญ่กว่าหรือมีองค์ประกอบร่วมกันของอวินิพโภครูป จะเรียกว่า วินิพโภครูป แปลว่ารูปที่แบ่งแยกได้ รูปทั้ง ๘ จะต้องอยู่ร่วมกัน ต่างรูป ต่างอยู่เป็นไม่มีเลย หรือ มีอีกชื่อว่า สุทธัฏฐกลาป
ปริจเฉทรูป ๑=หมายเอาช่องว่างที่คั่นระหว่างหมวดหมู่ของรูปกายต่อหมวดหมู่ของรูป กายนั่นเอง สิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายซึ่งเกิดจากจิตเป็นปัจจัย
จิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้มี ๗๕ ดวงเท่านั้น เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปวิบาก ๔ (จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป เพราะจิตในขณะปฏิสนธิกาลมีกำลังอ่อน จุติจิตของพระอรหันต์ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป เพราะเป็นความสิ้นสุดของสังสารวัฏฏ์ หมดความสืบต่อของนามและรูปทั้งปวง)
- อวินิพโภครูป ๘, ปริเฉทรูป ๑, เกิดได้จากสมุฏฐานทั้ง ๔
- วิการรูป ๓ เกิดได้จากสมุฏฐาน ๓ (เว้นกัมมสมุฏฐาน)
- วิญญัติรูป ๒ เกิดได้จากจิตตสมุฏฐานอย่างเดียว
- สัททรูป เกิดได้จาก ๒ สมุฏฐาน คือ จิตตสมุฏฐาน และอุตุสมุฏฐาน

 46 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอน ร้อยกรองหลากลีลา / Re: ..ขอบาทเดียว..
 เมื่อ: 29, มิถุนายน, 2568, 12:19:47 PM 
เริ่มโดย บ้านกลอนน้อย - กระทู้ล่าสุด โดย ขวัญฤทัย (กุ้งนา)

รีบหยิบกล้องถ่ายรูปจุดธูปบอก   ให้ผีกรอกข้อมูลบุญก่อนหลัง 

 47 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม / Re: อภิธรรมปิฎก : ๑.พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ~ กาพย์ทัณฑิกา
 เมื่อ: 29, มิถุนายน, 2568, 09:35:05 AM 
เริ่มโดย แสงประภัสสร - กระทู้ล่าสุด โดย แสงประภัสสร

(ต่อหน้า ๑๘/๑๙) ๑.พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์

นตฺถิปจฺจโย ~ ธรรมที่ไม่มีเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่มีคือธรรมที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัย อุดหนุนธรรมเช่นเดียวกันให้เกิดขึ้น สืบต่อไปในลำดับ ดังที่กล่าวแล้วในอนันตรปัจจัย เช่นจิต เจตสิกดวงที่ ๑ ดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ดวงที่ ๒ เกิดสืบต่อไปในลำดับ ถ้าดวงที่ ๑ ไม่ดับ ดวงที่ ๒ ก็เกิดขึ้นมิได้ เหมือนอย่างแสงสว่างกับความมืด เมื่อแสงสว่างดับไป ความมืดจึงปรากฎขึ้นได้
วิคตปจฺจโย ~ ธรรมที่ปราศจากไปเป็นปัจจัย ธรรมที่ปราศจากไป คือธรรมที่ถึงความดับ เป็นปัจจัยอุดหนุนธรรมเช่นเดียงกันให้เกิดขึ้นในลำดับเช่นเดียวกับนัตถิปัจจัย
อวิคตปจฺจโย ~ ธรรมที่ไม่ปราศจากไปเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่ปราศจากไป คือธรรมที่ยังไม่ถึงความดับ เป็นปัจจัยอุปการะที่ยังมีอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับ อัตถิปัจจัย
วัตถุ ๖=รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น มี เรียกว่า วัตถุรูป ๖ คือ
(๑)จักขุปสาทรูป ๑ เป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง
(๒)โสตปสาทรูป ๑ เป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง
(๓)ฆานปสาทรูป ๑ เป็นฆานวัตถุ เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง
(๔)ชิวหาปสาทรูป ๑ เป็นชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง
(๕)กายปสาทรูป ๑ เป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง
(๖)หทยรูป ๑ เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เว้นเฉพาะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงเท่านั้น
ชวนะจิต =คือจิตที่แล่นไปโดยเร็ว ซึ่งเป็นจิตที่เป็นชาติกุศล หรืออกุศล หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ และวิบากจิตที่เป็นโลกุตตระ ที่เรียกว่า ชวนจิต ก็เรียกจิตตามกิจหน้าที่ จิตใดที่ทำชวนกิจ ก็เรียกว่า ชวนจิต
กัมมชรูป =หรือ กฏัตตารูป เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน หมายความว่า รูปที่เกิดในขณะนั้นทุกรูปในกลุ่มนั้น เกิดเพราะกรรมทั้งหมด กลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ประมวลแล้ว มีทั้งหมด ๙ กลุ่ม
(๑)จักขุทสกกลาป คือ กลุ่มของจักขุปสาทรูปซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๒)โสตทสกกลาป คือ กลุ่มของโสตปสาทรูปซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ โสตปสาทรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๓)ฆานทสกกลาปคือ กลุ่มของฆานปสาทรูปซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ฆานปสาทรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๔)ชิวหาทสกกลาปคือ กลุ่มของชิวหาปสาทรูปซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ชิวหาปสาทรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๕)กายทสกกลาปคือ กลุ่มของกายปสาทรูปซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ กายปสาทรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๖)อิตถีภาวทสกกลาปคือ กลุ่มของอิตถีภาวรูปซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ อิตถีภาวรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๗)ปุริสภาวทสกกลาปคือกลุ่มของปุริสภาวรูป ซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ปุริสภาวรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๘)หทยทสกลาปคือ กลุ่มของหทยรูปซึ่งมี รูป รวม ๑๐ รูปคือ อวินิพโภครูป ๘ หทยรูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑
(๙)ชีวิตนวกกลาปคือกลุ่มของชีวิตรูปซึ่งมี รูป รวม ๙ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ชีวิตินทริยรูป ๑
จิตตชรูป=จิตฺต (จิต) + ช (การเกิด) + รูป (สภาพที่ไม่รู้อารมณ์)
รูปที่เกิดจากจิต หมายถึง รูป ๑๕ รูป คือ
อวินิพโภครูป ๘=อวินิพโภครูป คือ รูปที่ไม่(สามารถ)แยกกันได้เด็ดขาด ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่า รูปธาตุในโลกนี้จะต้องมี อวินิพโภครูปเป็นส่วนประกอบ รูปธาตุที่ใหญ่กว่าหรือมีองค์ประกอบร่วมกันของอวินิพโภครูป จะเรียกว่า วินิพโภครูป แปลว่ารูปที่แบ่งแยกได้ รูปทั้ง ๘ จะต้องอยู่ร่วมกัน ต่างรูป ต่างอยู่เป็นไม่มีเลย หรือ มีอีกชื่อว่า สุทธัฏฐกลาป
วิการรูป ๓=เป็นอาการพิเศษของรูปที่เกิดจาก กรรม จิต อุตุ และอาหาร เป็นสมุฏฐานรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า นิปปผันนรูป วิการรูป ไม่มีรูปโดยเฉพาะ เป็นอาการพิเศษของนิปปผันนรูปที่เกิดขึ้นนั่นเอง
วิญญัติรูป ๒=คือ อาการพิเศษที่เกิดอยู่ในการเคลื่อนไหวทางร่างกาย และการพูดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นรูปที่ทำให้ผู้อื่นรู้ถึงความประสงค์ของผู้แสดง เช่น เมื่อต้องการให้อีกฝ่ายเข้ามาหาก็แสดงกิริยากวักมือ หรือเปล่งวาจาเรียก อาการพิเศษที่รวมอยู่ในความเคลื่อนไหวทั้งกายและวาจา

 48 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอน ร้อยกรองหลากลีลา / Re: ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
 เมื่อ: 29, มิถุนายน, 2568, 07:09:09 AM 
เริ่มโดย คนเรียนไพร - กระทู้ล่าสุด โดย คนเรียนไพร
 
ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดย คนเรียนไพร

สยามสมาสัย

     ได้เวลา เปลี่ยนโฉมหน้า ประเทศไทย
ให้ก้าวไกล ยั่งยืนนาน กาลเทศา
ต้องปรับเปลี่ยน พากเพียร เวียนมรรคา
บูรณา สารพัด อรรถคดี
      ทรัพยากร ธรรมชาติ ต้องฟื้นฟู
ให้คงอยู่ อุดม สมศักดิ์ศรี
ผืนพนา รักษาไว้ เขียวขจี
ไทยทวี สุขสม ภิรมย์ไพร
     สิ่งแวดล้อม เพียบพร้อม ความสมดุล
ร่วมเกื้อหนุน กายใจ ไร้เงื่อนไข
พัฒนา สุขภาพ อนามัย
ให้กว้างไกล ทั่วถิ่นแคว้น แดนแหลมทอง
     ได้เวลา ทบทวน เรื่องกวนเมือง
สร้างขุ่นเคือง ทั่วไทย ให้หม่นหมอง
จิตละโมบ โศกเศร้า เข้าครอบครอง
ทุกข์มากมาย ก่ายกอง นองน้ำตา
     เศรษฐกิจ สังคม ล่มจมทั่ว
สร้างเมามัว ไร้สุข ทุกสาขา
ทั้งข้าวยาก หมากแพง ทั่วพารา
แสนไร้ค่า พาระทม ขื่นขมใจ
     ถึงเวลา ไทยทั้งผอง ต้องปรับเปลี่ยน
หยุดเบียดเบียน สุขประชา สมาสัย
ร่วมพลิกฟื้น คืนอุดม ให้สมใจ
เพื่อคงความ ยิ่งใหญ่ ไทยประชา

คนเรียนไพร
๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๘

 49 
 ห้องเรียน / ห้องศึกษา กาพย์ โคลง ร่าย / - กาพย์เต้นกำ ๑๖ -
 เมื่อ: 28, มิถุนายน, 2568, 10:22:57 PM 
เริ่มโดย Black Sword - กระทู้ล่าสุด โดย Black Sword


- กาพย์เต้นกำ ๑๖ -

          กาพย์เต้นกำ ๑๖   เป็นกาพย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยท่านศิวกานท์  ปทุมสูติ  ที่บันดาลใจจากเพลงเต้นกำรำเคียว (เต้นกำย่ำหญ้า) ซึ่งเป็นกลอนหัวเดียวของกลอนเพลงพื้นบ้านภาคกลาง  โดยนำใช้ครั้งแรกในกวีนิพนธ์  “เสียงปลุกยามค่ำคืน”  ปี ๒๕๔๑  และในงานกวีนิพนธ์ต่าง ๆ ต่อมา

๑.)  รูปแบบของกาพย์เต้นกำ ๑๖ (ดูผังด้านบนประกอบ)

         ๑.๑)  จำนวนคำ

                กาพย์เต้นกำ ๑๖   หนึ่งบทจะมี ๔  วรรค  วรรคละ ๔ คำเสมอกันหมด

               วรรคแรกมี  ๔  คำ ............. วรรคที่สองมี  ๔  คำ
               วรรคที่สามมี  ๔  คำ .......... วรรคที่สี่มี  ๔  คำ

               (รวมเป็น ๑๖ คำในหนึ่งบท)

๒.)  ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)

          ๒.๑)   สัมผัสสำคัญภายในบท

- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒   ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓

อนึ่ง หากว่าเนื้อความอำนวย
ในท้ายวรรคที่ ๑  สามารถส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๒ (หรือ ๑)  ของวรรคที่ ๒  ได้เช่นกัน (พึงสังเกตจากตัวอย่างคำประพันธ์ด้านล่าง)

          ๒.๒)   สัมผัสระหว่างบท

หากแต่งมากกว่า ๑ บท
ให้คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า   ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๔  ของบทต่อไป

 
          - ตัวอย่างคำประพันธ์บางส่วน -

- กาพย์เต้นกำ ๑๖ -
  (ภาพสองมิติ)

   ตำลึง/ไต่รั้ว                   ถั่วร้าน/ไต่คอก
เทพธิดา/ผมดอก              เดินหิ้ว/ตะกร้า
   องค์หญิง/วิ่งเล่น            กบเต้น/กระเหย่ง
หยุดคว้า/กระเตง              หิ้วตาม/เทพธิดา
   ยอดนั้นก็ดี                    ฝักนี้ก็สวย
แกงด้วยต้มด้วย                นะคุณแม่ขา
   ตำลึงเริงรั้ว                     ฝักถั่วเริงร้าน
องค์หญิงสำราญ               สุขสันต์เทพธิดา
   ยอดอวบฝักอ่อน            ครึ่งค่อนกระเตง
องค์หญิงร้องเพลง             ก้าวกระเหย่งไปมา
................ ฯลฯ ................
                                 (เสียงปลุกยามค่ำคืน : ศิวกานท์ ปทุมสูติ  (๒๕๔๑))

- กาพย์เต้นกำ ๑๖ -
  (สุ่มปลา)

และแล้วนักสุ่ม                 ก็ดุ่มหนองน้ำ
สุ่มแรกลงนำ                    สุ่มตามเต็มหนอง
สุ่มเดินดาหน้า                  สุ่มสามัคคี
ไม่ปล่อยพื้นที่                   ให้ปลาแถกท่อง
ปีกซ้ายเข้ารา                    ปีกขวาเข้ารุม
ต้อนปลาเข้ามุม                เข้าสุ่มเข้าซอง
พอครอบสุ่มลง                 ได้ตรงตัวปลา
คนสุ่มรุ้ท่า                        ปลาถูกปลาถอง
มือสุ่มมือดี                       ไม่มีเดาสุ่ม
ก็ควานมือกุม                   จับปลาใส่ข้อง
................ ฯลฯ ................
แม้อุปสรรค                      ต้องพักสุ่มบ้าง
นักสุ่มทุกนาง                   ก็ยังลุยหนอง
หมดหน้าหนึ่งมา               เอาหน้าหนึ่งใหม่
สุ่มห้อมล้อมไป                 สุ่มได้ใส่ข้อง
พอหม้อพอแกง                 พอแรงอ่อนล้า
กลับเหย้าเคหา                 ลูกผัวอิ่มท้อง
นัดหมายบ่ายพรุ่ง             ลงทุ่งอีกครา
อ้ายดุกตัวกล้า                  อีมุกมันจอง...
................ ฯลฯ ................
                                 (เสียงปลุกยามค่ำคืน : ศิวกานท์ ปทุมสูติ  (๒๕๔๑))

- กาพย์เต้นกำ ๑๖ -
 (เพลงเงียบ)

ดวงเดือนนอนฝัน             ดวงตะวันนอนหลับ
ดวงดาวเข้าหับ                 ไม่รู้ไม่เห็น
ขุนทองตายแล้ว                นกแก้วป่วยไข้
จักจั่นเป็นใบ้                    ไม่ร้อนไม่เย็น
ใบไม้ไม่ไหว                      พระพายไม่วก
แมงมุมกุมอก                   แอบกายซ่อนเร้น
กบก็ไม่ร้อง                       เขียดก็ไม่เริง
ร่างผอมซุกเพิง                  ภายค่ำลำเค็ญ
................ ฯลฯ ................
                                 (ข้าวเม่ารางไฟ : ศิวกานท์  ปทุมสูติ : (๒๕๔๔))

บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
 - Black Sword -
 (หมู มยุรธุชบูรพา)

                              
                                    • กลับสู่หน้า สารบัญ กาพย์ คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์  คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก
                              

 50 
 คำประพันธ์ แยกตามประเภท / กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม / Re: .. ๙๐๐ สุภาษิต-คำโบราณ ขานไว้ ..
 เมื่อ: 28, มิถุนายน, 2568, 10:08:23 PM 
เริ่มโดย รินดาวดี - กระทู้ล่าสุด โดย Black Sword

-๐ งงเป็นไก่ตาแตก ๐-

เมื่อไก่ชนชนกันขั้นตาแตก
เจ็บซอนแทรกงุนงงหลงทิศเคลื่อน
หมุนเคว้งคว้างกลางลานสุดลานเลือน
ฟกฟั่นเฟือนเกินกว่าเก็บอาการ

ดั่งผู้พบเหตุการณ์กระชั้นชิด
สุดคาดคิดเกินตรองสมองด้าน
ทำอะไรไม่ถูกอยู่เนิ่นนาน
ท่านเทียบทานถ่องถ้วน.. สำนวนกล ฯ
:
.
- Black Sword -
 (หมู มยุรธุชบูรพา)

• กลับสู่สารบัญ กลอนสุภาษิต - สำนวนไทย คลิก


หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.121 วินาที กับ 17 คำสั่ง
กำลังโหลด...