
โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์
พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มา : หนังสือบทละครเรื่อง เงาะป่า และ ประชุมโคลงสุภาษิต
๐ ปราชญ์แสดงดำริด้วย ไตรยางค์
โสฬศหมดหมวดปาง ก่อนอ้าง
เป็นมาติกาทาง บัณฑิต แสวงเอย
หวังสวัสดิ์ขจัดทุกข์สร้าง สืบสร้องกุศล ฯ
สามสิ่งควรรัก
ความกล้า, ความสุภาพ, ความรักใคร่
๑. ควรกล้ากล้ากล่าวถ้อย ทั้งหทัย แท้แฮ
สุวภาพพจนภายใน จิตพร้อม
ความรักประจักษ์ใจ จริงแน่ นอนฤๅ
สามสิ่งควรรักน้อม จิตให้สนิทจริง ฯ
สามสิ่งควรชม
อำนาจปัญญา, เกียรติยศ, มีมารยาทดี
๒. ปัญญาสติล้ำ เลิศญาณ
อำนาจศักดิ์ศฤงคาร มั่งขั้ง
มารยาทเรียบเสี่ยมสาร เสงี่ยมเงื่อน งามนอ
สามสิ่งจักควรตั้ง แต่ซ้องสรรเสริญ ฯ
สามสิ่งควรเกลียด
ความดุร้าย, ความหยิ่งกำเริบ, อกตัญญู
๓. ใจบาปจิตหยาบร้าย ทารุณ
กำเริบเอิบเกินสกุล หยิ่งก้อ
อีกหนึ่งห่อนรู้คุณ ใครปลูก ฝังแฮ
สามสิ่งควรเกลียดท้อ จิตแท้อย่าสมาน ฯ
สิ่งควรรังเกียจติเตียน
ชั่วเลวทราม, มารยา, ริษยา
๔. ใช่ชั่วชาติต่ำช้า ทรชน
ทุจริตมารยาปน ปกไว้
หึงส์จิตคิดเกลียดคน ดีกว่า ตัวแฮ
สามส่วนควรเกลียดใกล้ เกลียดซ้องสมาคม ฯ
สามสิ่งควรเคารพ
ศาสนา, ยุติธรรม, ความประพฤติเป็นประโยชน์ทั่วไปไม่เฉพาะตัวเอง
๕. ศาสนาสอนสั่งให้ ประพฤติดี
หนึ่งยุติธรรมไป่มี เลือกผู้
ประพฤติเพื่อประโยชน์ศรี สวัสดิ์ทั่ว กันแฮ
สามสิ่งควรรอบรู้ เคารพเรื้องเจริญคุณ ฯ
สามสิ่งควรยินดี
งาม, ตรงตรง, ไทยแก่ตน
๖. สรรพางค์โสภาคย์พร้อม ธัญลักษณ์
ภาษิตจิตประจักษ์ ซื่อพร้อม
เป็นสุขโสตตนรัก การชอบ ธรรมนา
สามสิ่งควรชักน้อม จิตให้ยินดี ฯ
สามสิ่งควรปรารถนา
ความสุขสบาย, มิตรสหายที่ดีดี, ใจสบายปรุโปร่ง
๗. สุขกายวายโรคร้อน รำคาญ
มากเพื่อนผู้วานการ ชีพได้
จิตแผ้งผ่องสำราญ รมย์สุข เกษมแฮ
สามสิ่งควรจักให้ รีบร้อนปรารถนา ฯ
สามสิ่งควรอ้อนวอนขอ
ความเชื่อถือ, ความสงบ, ใจบริสุทธิ์
๘. ศรัทธาทำจิตหมั้น คงตรง
สงบระงับดับประสงค์ สิ่งเศร้า
จิตสะอาดปราศสิ่งพะวง วุ่นขุ่น หมองแฮ
สามส่วนควรใฝ่เฝ้า แต่ตั้งอธิษฐาน ฯ
สามสิ่งควรนับถือ
ปัญญา, ฉลาด, มั่นคง
๙. ปัญญาตรองตริล้ำ ลึกหลาย
ฉลาดยิ่งสิ่งแยบคาย คาดรู้
มั่นคงไม่คืนคลาย คลอนกลับ กลายแฮ
สามสิ่งควรกอบกู้ กับผู้นับถือ ฯ
สามสิ่งควรจะชอบ
ใจอารีสุจริต, ใจดี, ความสนุกเบิกบานพร้อมเพรียง
๑๐. สุจริตจิตโอบอ้อม อารี
ใจโปร่งปราศราคี ขุ่นข้อง
สิ่งเกษมสุขเปรมปรี- ดาพรั่ง พร้อมแฮ
สามสิ่งสมควรต้อง ชอบต้องยินดี ฯ
สามสิ่งควรสงสัย
ยอ, หน้าเนื้อใจเสือ, กลับกลอก
๑๑. คำยอยกย่องเที้ยร ทุกประการ
พักตร์จิตผิดกันประมาณ ยากรู้
เร็วรักผลักพลันขาน คำกลับ พลันฤๅ
สามส่วนควรแล้วผู้ พะพ้องพึงแคลง ฯ
สามสิ่งควรละ
เกียจคร้าน, วาจาฟั่นเฝือ, หยอกหยาบแลแสลงหรือขดคอ
๑๒. เกียจคร้านการท่านทั้ง การตน ก็ดี
พูดมากเปล่าเปลืองปน ปดเหล้น
คำแสลงเสียดแทงระคน คำหยาบ หยอกฤๅ
สามสิ่งควรทิ้งเว้น ขาดสิ้นสันดาน ฯ
สามสิ่งควรทำให้มี
หนังสือดี, เพื่อนดี, ใจเย็นดี
๑๓. หนังสือสอนสั่งข้อ วิทยา
เว้นบาปเสาะกัลยาณ์ มิตรไว้
หนึ่งขาดปราศโทษา คติห่อ ใจเฮย
สามสิ่งควรมีให้ มากหยั้งยืนเจริญ ฯ
สามสิ่งควรจะหวงแหนหรือต่อสู้เพื่อรักษา
ชื่อเสียงยศศักดิ์, บ้านเมืองของตน, มิตรสหาย
๑๔. ความดีมีชื่อทั้ง ยศถา ศักดิ์เฮย
ประเทศเกิดกุลพงศา อยู่ยั้ง
คนรักร่วมอัธยา- ศัยสุข ทุกข์แฮ
สามสิ่งควรสงวนไว้ ต่อสู้ผู้เบียน ฯ
สามสิ่งควรต้องระวัง
กิริยาที่เป็นในใจ, มักง่าย, วาจา
๑๕. อาการอันเกิดด้วย น้ำใจ แปรฤๅ
ใจซึ่งรีบเร็วไว ก่อนรู้
วาจาจักพูดใน กิจสบ สรรพแฮ
สามสิ่งจำทั่วผู้ พิทักษ์หมั้นครองระวัง ฯ
สามสิ่งควรเตรียมรับ
อนิจจัง, ชรา, มรณะ
๑๖. สิ่งใดในโลกล้วน เปลี่ยนแปลง
หนึ่งชราหย่อนแรง เร่งร้น
ความตายติดตามแสวง ทำชีพ ประลัยเฮย
สามส่วนควรคิดค้น คติรู้เตรียมคอย ฯ
๐ จบสารสิบหกเค้า คะเนนับ หมวดแฮ
หมวดละสามคิดสรรพ เสร็จสิ้น
เป็นสี่สิบแปดฉบับ บอกเยี่ยง อย่างแฮ
ตามแบบบขาดวิ่น เสร็จแล้วบริบูรณ์ ฯ
- จบโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ -
โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์
พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มา : หนังสือบทละครเรื่อง เงาะป่า และ ประชุมโคลงสุภาษิต