
คลายข้อสงสัย คนกรุงศรีอยุธยา “หน้าตา” เป็นอย่างไร?
อธิบายยาก แต่มีข้อสังเกตว่าควรคล้ายพระพักตร์พระพุทธเจ้า
รูปแบบ “อู่ทอง” คือ หน้าเหลี่ยม ริมฝีปากหนา เป็นต้น
ประเด็นนี้มีข้อยืนยันอยู่ในบันทึกของลาลูแบร์บอกว่า
"วงหน้าของชาวสยามทั้งชายและหญิง กระเดียดไปข้างรูปขนมเปียกปูน (หรือข้าวหลามตัด)
มากกว่าที่จะเป็นรูปไข่ ใบหน้ากว้าง ผายไปทางเหนือโหนกแก้ม
แล้วทันใดก็ถึงหน้าผากอันแคบ รวมเข้าเป็นรูปมนเหมือนปลายคาง
อนึ่งนัยน์ตาซึ่งหางตาค่อนข้างจะยกสูงขึ้นไปข้างบนนั้นเล็ก
และไม่สู้แจ่มใสไวแววนัก และตาขาวซึ่งควรจะขาวนั้นก็ออกเหลือง ๆ
แก้มของพวกเขานั้นตอบ ค่าที่โหนกแก้มสูงเกินไปนั่นเอง
ปากนั้นกว้าง ริมฝีปากซีด ๆ และฟันดำ ผิวนั้นหยาบ สีน้ำตาลปนแดง”
ที่ลาลูแบร์บอกว่า ชาวบ้านยุคอยุธยาทั้งผู้หญิงและผู้ชายฟันดำทั้งนั้น
ข้อนี้เป็นรสนิยมของผู้คนยุคนั้นอย่างแท้จริงว่า เป็นสเน่ห์อย่างยิ่ง
ที่ว่าฟันดำอย่างสีนิลนี้ไม่ใช่ย้อมสีดำ แต่เพราะกินหมากกินพลูเป็นประจำ
นิยมเคี้ยวหมากพลูกันตั้งแต่รุ่นสาวรุ่นหนุ่มจนถึงแก่เฒ่า
ชาวอยุธยายกย่องคนมีใบหูใหญ่ด้วยเชื่อว่าอายุยืน
ลาลูแบร์รู้สึกประหลาดที่ชาวสยามในอยุธยามีใบหูใหญ่ จึงเขียนบันทึกว่า
"ชาวสยามนั้นมีจมูกสั้นและปลายมน และใบหูนั้นใหญ่กว่าใบหูของพวกเรา
คนมีใบหูใหญ่มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องกันมากขึ้นเท่านั้น
ด้วยว่าเป็นรสนิยมของชาวต่างชาติบ้างบูรพทิศ
สังเกตได้จากตุ๊กตากระเบื้องหรือวัสดุอย่างอื่นที่ได้มาจากภูมิภาคนั้นเถิด
แต่การนิยมมีใบหูใหญ่นี้ ยังมีทรรศนะแตกต่างกันอยู่ในหมู่ชาวตะวันออก
บางพวกก็นิยมดึงติ่งหูให้ยืดยาวลงมาโดยมิได้เจาะติ่งหูด้วยหมุดให้กว้าง ๆ ขึ้น
โดยเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นไปทีละน้อย

ในประเทศลาวนั้นนิยมเบิกหูกันให้กว้างจนแทบว่าจะเอากำปั้นยัดเข้าไปได้
และติ่งหูนั้นย้อยยืดลงมาจรดบ่า ชาวสยามมีใบหูใหญ่กว่าของพวกเราเล็กน้อย
แต่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ หาได้มีการดัดแปลงไม่"ที่มา : นิตยสารศิลปวัฒนธรรมออนไลน์