Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 27   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -  (อ่าน 230278 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #120 เมื่อ: 12, มกราคม, 2562, 09:58:05 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

อนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช : พระธาตุหลวง : ลาว
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.photoontour9.com



<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>                   .

- พระไชยเชษฐาธิราช -

"พระอุปโยวราช"จากล้านช้าง
ทรงเดินทางช้าเกินเหมือนเดินย่อง
ประทับที่เชียงแสนดินแดนทอง
นานแล้วล่องลงเวียงพักเชียงราย

จากเชียงรายข้ามเขาเข้าเชียงใหม่
ทรงเป็นใหญ่"ล้านนา"ตามเชื้อสาย
แทน"จิรประภา"เพ็ญผู้เป็นยาย
อยู่สบายไร้หมองเพียงสองปี

เสด็จกลับเป็นใหญ่ในล้านช้าง
พระทรงสร้างลาวดำรงทรงศักดิ์ศรี
ย้ายเมืองหลวงลงเวียงจันทน์ขวัญบุรี
พร้อมกับมีพันธมิตรชื่นชิดไทย.....


          อภิปราย ขยายความ............

          ในปี พ.ศ. ๒๐๘๙ มีเหตุเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาและล้านนา  กล่าวคือ  สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต  พระยอดฟ้าราชโอรสได้ครองกรุงศรีอยุธยาต่อไป  ทางฝ่ายล้านนานั้น  ปรากฏว่า  พระไชยเชษฐาอุปโยวราชล้านช้าง  ซึ่งพระโพธิสารราชประทานให้ตามที่ราชสำนักนครพิงค์เชียงใหม่ทูลขอมาเป็นมหาราชล้านนา  ได้เสด็จราชดำเนินมาประทับที่เมืองเชียงแสน ณ วันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะเมีย  จุลศักราช ๙๐๘  พุทธศักราช ๒๐๘๙  ประทับอยู่เชียงแสน ๒๑ วัน  แล้วเสด็จลงประทับ ณ เชียงราย ๙ วัน  จึงเสด็จสู่นครพิงค์เชียงใหม่  ประทับ ณ พลับพลาหมื่นขอม  ตำบลหนองแก้ว

          เจ้าแสนพิงไชยแก้ว  เจ้าหมื่นสามล้านอ้าย  และคณะมุขมนตรีเมืองเชียงใหม่  จัดเครื่องราชูปโภคและเครื่องสำหรับกษัตริย์ออกไปต้อนรับ  เชิญเสด็จเข้าประทับ ณ วัดเชียงยืน  กระทำสักการะพระพุทธสัพพัญญู  แล้วเสด็จเข้าทางประตูช้างเผือกสู่ราชมณเฑียร  ยามค่ำเสด็จไปนมัสการพระพุทธมหามณีรัตน ณ หอพระแก้ว  รุ่งขึ้น  ทรงสรงมุรธาภิเษก ณ สวนแร  แล้วอภิเษกราชธิดาทั้งสองของพระเจ้าเชียงใหม่  คือ  พระนางตนทิพ  และ  พระนางตนคำ  ตั้งไว้ในที่เป็นมเหสีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย

          รุ่งอีกวัน  เสด็จไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ  แล้วทรงตั้ง  เลื่อน  ยศตำแหน่งข้าชการทุกหมู่เหล่า  เช่น  ให้แสนพิงไชยแก้ว  เป็นพระยาแสนหลวงสิทธิราชปกรณ์  ให้หมื่นสามล้านอ้าย  เป็นพระยาสามล้านฦๅไชย  เสนาบดีกินเมืองเชียงราย  เป็นต้น

          สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชพระองค์นี้  เป็นพระราชนัดดาของพระนางเจ้าจิรประภา  โดยพระราชมารดาของพระองค์คือ  พระนางยอดคำทิพ (พระนางหอสูง)  เป็นพระราชธิดาพระเมืองเกษเกล้า  และพระนางจิรประภาเทวีได้อภิเษกกับพระโพธิสารราชแห่งล้านช้าง  พระนางจิรประภาจึงเป็นพระเจ้ายายของพระองค์  ทรงเป็นราชโอรสองค์โตของพระโพธิสารราช  พระนามเดิมว่า  "เชษฐวงศ์"  มีพระอนุชาและขนิษฐา  คือ  ท้าวท่าเรือ ๑  ท้าววรวงษ์ ๑  นางแก้วกุมารี ๑  นางคำเหลา ๑

          พระไชยเชษฐาธิราชเสวยราชสมบัติ ณ นครพิงค์เชียงใหม่  เป็นมหาราชล้านนาอยู่ได้เพียง ๒ ปี  ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางล้านช้างขึ้น  กล่าวคือ  พระโพธิสารราชสิ้นพระชนม์ลงด้วยอุบัติเหตุจากการคล้องช้่าง  ล้านช้างเกิดแตกแยก  โดยฝ่ายหนึ่งยกท้าวท่าเรือขึ้นเป็นใหญ่ในหลวงพระบาง  อีกฝ่ายหนึ่งยกท้าววรวงษ์  เป็นใหญ่ในนครเวียงจันทน์  เมื่อล้านนาแตกออกเป็น ๒ ฝ่ายเช่นนั้น  พระไชยเชษฐาธิราชจึงทรงละทิ้งนครพิงค์เชียงใหม่  กลับไปปราบปรามพระอนุชาทั้งสอง  เพื่อสร้างชาติลาวให้เป็นปึกแผ่นต่อไป

          ในการเสด็จกลับคืนล้านช้างนั้น  พระไชเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากร  แก้วมรกต  พระจันทรัตน  แก้วขาวกรุงละโว้ (น่าจะเป็นพระพุทธบุษยรัตน์)  พระพุทธสิหิงค์  พระแทรกคำ  และอื่น ๆ ไปสู่หลวงพระบางด้วย  โดยเสด็จจากเชียงใหม่ ณ วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เหนือ (คือเดือน ๑๐)  จุลศักราช ๙๑๐ ปีวอก (พ.ศ. ๒๐๙๑)

          เมื่อเสด็จกลับถึงหลวงพระบางและทรงปราบปรามพระอนุชาทั้งสองแล้วขึ้นเถลิงราชสมบัติกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบแทนพระราชบิดา  เฉลิมพระนามว่า  "พระอุภัยพุทธบวรไชยเชษฐาธิราช  พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง”

          พระเจ้าแผ่นดินล้านช้างพระองค์นี้  มีความใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยามาก  ดังจะได้พบเรื่องราวของพระองค์อีกในคราวต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, มดดำ, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #121 เมื่อ: 13, มกราคม, 2562, 10:18:19 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- แม่ยั่วศรีสุดาจันทร์ -

เกิดเรื่องลับอัปยศปรากฏอยู่
น่าอดสูกับหญิงผู้ยิ่งใหญ่
ราชสำนักกรุงศรีฯมีเป็นไป
สิ้นพระไชยราชาฟ้ามืดมัว

เหตุเพราะ"ศรีสุดาจันทร์"สนมเอก
กลายเป็นเมฆบังสุรีย์มืดสลัว
เธอคบชู้สู่ชายไม่รักตัว
เป็น"แม่ยั่วเมือง"ทำเรื่องต่ำทราม

วางแผนฆ่าลูกไม่ให้คนรู้
เชิดชูชู้เป็นวิบัติกษัตริย์สยาม
ประวัติศาสตร์สับสนจนยาวความ
ชวนให้ตามเรียนรู้ดูความจริง....


          อภิปราย ขยายความ..........

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเหตุการณ์หลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตลงในปี พ.ศ.๒๐๘๙ ว่า........

          "ศักราช ๙๑๐  วอกศก (พ.ศ.๒๐๙๑)  วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕  เสด็จออกสนามให้ชนช้าง  และงาช้างพระยาไฟนัั้นหักเป็น ๓ ท่อน  อนึ่ง  อยู่สองวันช้างต้นพระฉันทันต์ไล่ร้องเป็นเสียงสังข์  อนึ่ง  ประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์  เถิงวันอาทิตย์  ขึ้น ๕ ค่ำ ดือน ๘  สมเด็จพระเจ้ายอดฟ้าเป็นเหตุ  จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ ๔๒ วัน  และขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ  จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ  ทรงพระนาม  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  และครั้นเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน  พระยาหงสาปังเสวกียกพลมายังพระนครศรีอยุธยาในเดือน ๔ นั้น  เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าเสด็จออกไปรบศึกหงสานั้น  สมเด็จพระมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี  เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย  และเมื่อได้รบศึกหงสานั้น  ทัพหน้าแตกมาประทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่  และสมเด็จพระมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น  ได้รบด้วยข้าศึกเถิงสิ้นพระชนม์กับคอช้างนั้น  และศึกหงสาครั้งนั้น  เสียสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  และสมเด็จพระราเมศวรไปแก่พระยาหงสา  และจึงเอาพระยาปราบและช้างต้นพระยานุภาพตามไปส่งพระยาหงสาเถิงเมืองกำแพงเพชร  และพระยาหงสาจึงส่งพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  สมเด็จพระราเมศวรเจ้า  มายังพระนครศรีอยุธยา"

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์  บันทึกเหตุการณ์บอกเล่าเรื่องไว้เพียงย่นย่อ  ไม่มีรายละเอียดเรื่องราวพระยอดฟ้า  และ  คุณท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกในสมเด็จพระไชยราชา  กับขุนวรวงศาธิราช  เบื้องหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์  ความเป็นมาของสมเด็จพระมหาธรรมราชา  กับทั้งเรื่องสมเด็จพระศรีสุริโยทัยด้วย

          เรื่องสืบเนื่องของประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้คือ  เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตแล้ว  พระราชกุมารอันประสูติแต่คุณท้าวศรีสุดาจันทร์  พระสนมเอกในสมเด็จพระไชยราชา  ได้รับการอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา  โดยมีคุณท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ (ผู้ทรงพระเยาว์)

          และในปีที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเสด็จจากเชียงใหม่กลับไปหลวงพระบางนั้น  เป็นปีเดียวกันกับที่สมเด็จพระยอดฟ้าเยาวกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาถูกปลงพระชนม์  แล้วขุนชินราชชู้รักแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา  เรื่องราวตรงนี้ควรถือว่าเป็นความอัปยศของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าจึงไม่บันทึกรายละเอียดไว้  และรายละเอียดของเรื่องนี้มีอย่างไร ?

          ....พรุ่งนี้ค่อยนำมาบอกเล่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, มดดำ, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #122 เมื่อ: 14, มกราคม, 2562, 10:34:16 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- ศรีสุดาจันทร์ฆ่าลูก -

พระนาม"ศรีสุดาจันทร์"ฟังหวานหู
เธอเล่นชู้แสนกลสับสนยิ่ง
ยอมฆ่าลูกของตนคนชังชิง
จึงฆ่าทิ้งนางบาปไม่รับรอง


          อภิปราย ขยายความ...........

          ศรีสุดาจันทร์  หนึ่งในสี่พระสนมเอกในสมเด็จพระไชยาราชาธิราชทรงมีบทบาทมาก  เพราะมีพระราชโอรส ๒ พระองค์  ส่วนพระสนมเอกอีก ๓ พระองค์  คือ  ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ท้าวอินทรสุเรนทร  ท้าวอินทรเทวี  ไม่ปรากฏว่ามีพระราชโอรสราชธิดา  ท้าวศรีสุดาจันทร์อยู่ในฐานะที่จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเอกอัครมเหสี  ราชินีแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา  แต่ยังมิได้สถาปนา  ด้วยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จสวรรคตลงเสียก่อน

          พระนางศรีสุดาจันทร์มีที่มาไม่ธรรมดา มีนัยว่าพระนางเป็นเชื้้อสายราชวงศ์ละโว้อโยธยา  เช่นเดียวกันกับที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์มีเชื้อสาย (เจ้าหญิง)  ราชวงศ์สุโขทัย  ท้าวอินทรสุเรนทรมีเชื้อสายราชวงศ์ศรีวิชัย  ท้าวอินทรเทวีมีเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ

          วันวลิต  บันทึกเรื่องศรีสุดาจันทร์  พระราชมารดาสมเด็จพระยอดฟ้าไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  ต่างไปจากพงศาวดารฉบับอื่นน่าสนใจว่า

          ..."พระยอดฟ้าเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๕  แห่งสยามเสวยราชย์อยู่ ๓ ปี  พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระชัยราชา  ขึ้นเสวยราชย์เมื่อพระชนม์ ๒๐ พรรษา  ทรงพระนามว่า  พระยอดฟ้าเจ้า  พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายที่มีอนาคตไกล  ทุก ๆ คนเชื่อว่าจะเจริญรอยตามพระราชบิดาทุกอย่าง  เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏแน่ชัดในบุุคลิกและพระราชกรณียกิจประจำวันของพระองค์  ดังเช่นพระองค์ทรงนิยมล่าสัตว์เป็นอย่างยิ่ง  ทรงม้าท่องเที่ยวไปทั่วป่า  ทุ่งหญ้า  และทุ่งนา  การทำยุทธหัตถี  และฝึกอาวุธเยี่ยงขุนพลทั้งหลาย...."

          ......."อย่างไรก็ดี  พระองค์เสวยราชย์อยู่ได้เพียง ๓ ปีเท่านั้น  ก็ถูกแม่สีดาเจ้า (ควรเป็นศรีสุดาเจ้า ตรงกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์)  สนมพระราชบิดาใช้เวทย์มนตร์และวางยาพิษพระองค์.."

          ......."พระสนมองค์นี้มีความสนิทชิดชอบกับหมอผี  ซึ่งเข้าแปลนิทานเก่าแก่และประวัติศาสตร์ต่างประเทศเป็นภาษาราชสำนัก  เพื่อที่จะช่วยให้หมอผีได้รับตำแหน่งก้าวหน้าขึ้นไปอีก  พระสนมได้สมรู้ร่วมคิดกับหมอผี  ใช้เวทย์มนตร์สะกดพระเจ้าแผ่นดิน  และลอบปลงพระชนม์  ทุกวันพระสนมจะนำหมอผีไปยังห้องพระบรรทม  และขออยู่ลำพังกับพระเจ้าแผ่นดิน  โดยอ้างว่าจะขออ่านนิทานสนุก ๆ  และข้อควรจดจำให้พระเจ้าแผ่นดินสดับ  และเมื่อหมอผี ด้ใช้เวทย์มนตร์คาถาสะกดพระเจ้าแผ่นดินได้แล้ว  พระสนมก็นำยาพิษมาถวาย  โดยกล่าวว่า  เป็นพระโอสถรักษาพระองค์  ดังนั้น  พระเจ้าแผ่นดินก็สิ้นพระชนม์ลง ท่ามกลางความโศกเศร้าของพสกนิกรทั้งปวง...."

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าเอ่ยพระนามคุณท้าวศรีสุดาจันทร์ว่า  แม่ยั่วศรีสุดาจันทร์  คำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า  ศรีสุดาจันทร์  แต่วันวลิตเรียกว่า  ศรีดาสุดาเจ้า  ในที่ต่าง ๆ เรียกว่า  ท้าวศรีสุดาจันทร์  บ้าง แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์บ้าง  ในที่ทั่วไปกล่าวว่าพระนางเป็นพระสนมสมเด็จพระไชยราชา  มีเพียงคำให้การชาวกรุงเก่าแห่งเดียวเท่านั้น  กล่าวว่า  เป็นมเหษีฝ่ายซ้ายสมเด็จพระปรเมศวร  ผู้สืบบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระพันวษา  อย่างไรก็ตาม  ที่สุดแล้วพระนางก็ถูกคณะก่อการประหารชีวิตอย่างเอน็จอนาถ  ดังจะได้กล่าวถึงในวันพรุ่งนี้

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพจากภาพยนตร์เรื่องนี้


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กอหญ้า กอยุ่ง, รพีกาญจน์, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #123 เมื่อ: 15, มกราคม, 2562, 09:53:09 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- วรวงศาธิราช -

สองคู่ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์
มีเชื้อชาติให้เห็นไม่เป็นสอง
วงศ์ละโว้อโยธยามาลำพอง
นัยเกี่ยวข้องโดยอาจเป็นญาติกัน

ซึ่ง"บุญศรี"มีตำแหน่งมิต้อยต่ำ
เป็นผู้ทำหน้าที่พิธีสวรรค์
ปุโรหิตอิทธิพลคนสำคัญ
รอบรู้สรรพ์วิทยาประเพณี

การขึ้นครองบัลลังก์อย่างสกปรก
ไม่ควรยกย่องไว้ในศักดิ์ศรี
จึงดำรงราชย์ได้ไม่ถึงปี
ดับชีวีอย่างอนาถในบัดดล......


          อภิปราย ขยายความ.......................

          เรื่องราวของขุนวรวงศาธิราชนี้  พระพราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์มิได้ให้รายละเอียดไว้  กล่าวแค่เพียง "พาดพิง" ว่า "....ขุนชินราชได้สมบัติ ๔๒ วัน  และขุนชินราชและแม่ยั่วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ  จึงเชิญสมเด็จพระเธียรราชาธิราชเสวยราชสมบัติ"....." แต่วันวลิตได้ให้รายละเอียดในการครองราชย์ของขุนชินราชว่า........." หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว  หมอผีก็อยู่ในวังนั้นเอง  และด้วยความช่วยเหลือของพระสนม  ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ทรงพระนามว่าพระขุนชินราช  ซึ่่งขัดความประสงค์ของขุนนางและประชาชน...."

          วันวลิตเรียกขุนชินราชว่า  "หมอผี"  ซึ่่งทึ่จริงแล้ว  เขาทำหน้าที่เป็นพราหมณ์ปุโรหิต  มีหน้าที่ทำพิธีกรรรมต่าง ๆ ในราชสำนัก  เป็นนักการศาสนาผู้มีความรู้วัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นอย่างดี  ในพงศาวดารฉบับปลีกย่อยอื่น ๆ  กล่าวถึงเขาว่า  เดิมชื่่อบุญศรี  เป็นข้าหลวงเดิม  และมีเชื้อสายเป็นราชนิกูลในราชวงศ์ละโว้อโยธยา (คือทวาราวดี)  นัยว่าเป็นพระญาติ (ลูกพี่ลูกน้อง) กับศรีสุดาจันทร์อีกด้วย

          ศรีสุดาจันทร์มีพระราชโอรส ๒ พระองค์  คือ  พระยอดฟ้า  กับพระศรีศิลป์  หลังจากพระยอดฟ้าขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว  พระนางได้รับการยกย่องให้เป็น  "แม่อยู่หัว" (แม่หยัว  หรือ  แม่ยั่ว)  ว่าราชการแผ่นดินแทนพระราชโอรส

          เหตุที่จำต้องลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระยอดฟ้านั้น  นัยว่า  เพราะพระนางทรงครรภ์กับนายบุญศรีปุโรหิต  เกรงว่าเรื่องจะแดงขึ้น  จึงวางอุบายลอบปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน  พร้อมกับแต่งตั้งยศนายบุญศรีให้เป็น  "ขุนชินราช"  มีตำแหน่งในราชสำนักสูงขึ้นด้วย

          ครั้นสมเด็จพระยอดฟ้าสิ้นพระชนม์ (ด้วยการถูกลอบปลงพระชนม์) แล้ว  แม่อยู่หัวผลักดันให้ขึ้นครองราชย์เฉลิมพระนามว่า  "ขุนวรวงศาธิราช"  ข้าราชสำนักและประชาชนไม่พอใจในพฤติกรรมแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์  และขุนวรวงศาธิราชเป็นอย่างยิ่ง

          ครานั้น  ขุนพิเรนทรเทพ  กรมพระตำรวจ  ผู้มีเชื้อสายเป็นเจ้าชายในราชวงศ์สุโขทัย (พระญาติเจ้าหญิง  "คุณท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชไว้วางพระทัยมาก  จนมีข้าราชการในราชสำนักให้ความเคารพยำเกรงเสมอมา)  จึงปรึกษาวางแผนลับ ๆ กับข้ราชการในราชสำนักผู้ใกล้ชิด  ลอบปลงพระชนม์ขุนชินราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เสีย

          วันวลิตให้รายละเอียดในการลอบปลงพระชนม์ทั้งสองคนนี้โดยสรุปใจความได้ว่า....  ขุนชินราช (วรวงศาธิราช) ถูกลวงให้ไปยังโรงช้างแล้วถูกลอบยิงด้วยปืนสิ้นพระชนม์  แล้วโยนร่างให้สุนัขกิน  ส่วนศรีสุดาจันทร์นั้นถูกฆ่าด้วยดาบแล้วโยนร่างลงน้ำทิ้งไป..... แต่  คำให้การชาวกรุงเก่า  กล่าวว่า  ถูกลวงให้ไปคล้องช้างเผือก ณ เมืองสรรคบุรี  เสด็จลงเรือไปทางชลมารคพร้อมด้วยศรีสุดาจันทร์  และพระะธิดาที่ประสูติใหม่  เมื่อไปถึงที่ซุ่มของขุนพิเรนทรเทพกับพวก  ก็ถูกกองซุ่มพายเรือพุ่งเข้ารุมฟันด้วยดาบสิ้นพระชนม์ทั้งสามพระองค์ ณ ที่นั้น

          หลังจากปลงพระชนม์ขุนวรวงศาธิราชแล้ว  ขุนพิเรนทรเทพกับคณะผู้ก่อการก็เข้าเฝ้าพระเฑียรราชา (หรือเธียรราชา)  ซึ่งทรงพระผนวชและประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษ  ขอให้ลาพระผนวช  แลัวอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา  เฉลิมพระนามว่า  "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช"

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, กอหญ้า กอยุ่ง, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #124 เมื่อ: 16, มกราคม, 2562, 10:12:36 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ)

- จักรพรรดิวรราชาธิราช -

เรื่อง"เสียกรุงครั้งแรก"ยากแยกแยะ
มี"ตัดแปะ"ประวัติศาสตร์ขาดเหตุผล
"วันวลิต,ชาวกรุงเก่า"เล่าปะปน
จึงต้องค้นคว้ามาสรุปความ

"เฑียรราชา"ครองราชสมบัติใหม่
มิทันไรศึกมาน่าเกรงขาม
คือพม่ารามัญบุกมาคุกคาม
ทำสงคราม"ชนช้าง"สร้างวีรกรรม

"วีรสตรี"ปรากฏพระยศยิ่ง
พม่าชิงได้ชัยไม่เหยียบย่ำ
เอาตัวประกันฉันทะถือกระทำ
ไทยตกต่ำวุ่นวายอยู่หลายปี...


          อภิปราย ขยายความ........

          ประวัติศาสตร์ชาติไทยช่วงตอนนี้แม้เวลาไม่ยาวไกลจากปัจจุบันนัก  แต่ก็มีความสับสนอยู่ไม่น้อย  ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  คำให้การชาวกรุงเก่าและพงศาวดารปลีกย่อย  รวมทั้งตำนาน  มีความขัดแย้งกันอยู่มาก

          พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวันวลิต  กล่าวว่า  พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๗ แห่งสยาม  เป็นลูกพี่ลูกน้อง  หรือเป็นหลานของพระยอดฟ้าเจ้า  ครองราชสมบัติเมิ่อมีพระชนม์ ๔๒ พรรษา

          คำให้การชาวกรุงเก่า  กล่าวว่า  พระเฑียรราชาเป็นโอรสสมเด็จพระปรเมศวร  พระเชษฐาสมเด็จพระไชยราชา  มีพระมารดาเป็นมเหษีฝ่ายขวาในสมเด็จพระปรเมศวร  นามว่า  จิตรวดี  ซึ่งเป็นคำให้การที่เลอะเลือนมาก

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐฯ  ที่สมเด็จเด็จพระนารายณ์โปรดให้บันทึกไว้นั้น  มีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด  กล่าวว่า  พระเธียรราชาเป็นพระอนุชาสมเด็จพระไชยราชา  ขณะที่เกิดเหตุวุ่นวายในราชสำนักนั้น  ทรงปลีกพระองค์ออกทรงผนวชอยู่วัดราชประดิษ  ขุนพิเรนทรเทพและคณะเข้าเฝ่้าหลังจากก่อการสำเร็จแล้ว  กราบทูลขอให้ลาสิกขาแล้วขึ้นครองราชสมบัติ  เฉลิมพระนามว่า  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิวรวราชาธิราชเจ้า  หลังจากครองราชได้เพียง ๗ เดือน  พระเจ้าหงสาวดีนามว่า  ปังเวกี  ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  พระมเหสีกับพระราชธิดาทรงช้างออกร่วมรบ  และชนช้างกับข้าศึกจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์

          ย้อนกลับไปในช่วงตอนที่พระราชพงศาวดารกรุงเก่ามิได้จดบันทึกไว้  คือหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นนั่งบัลลังก์แล้วมิได้มีการปูนบำเหน็จความชอบแก่ผู้ก่อการเลย  ซึ่งขัดต่อความเป็นจริง

          มีความปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า  ที่ให้การแก่พระเจ้ากรุงอังวะว่า  สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ  ทรงปูนบำเเหน็จแก่ผู้ก่อการไว้ว่าดังนี้

          ...." แล้วตรัสว่า ขุนพิเรนทรเทพเล่า  บิดาเป็นราชวงศ์พระร่วง  มารดาไซร้  เป็นราชวงศ์แห่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า  ขุนพิเรนทรเทพ  เป็นปฐมคิด  เอาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  ให้รับพระบัณฑูรครองเมืองพระพิษณุโลก  จึงตรัสเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราช  ถวายพระนามพระวิสุทธิกษัตรี  เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีเมืองพระพิษณุโลก  พระราชทานเครื่องราชาบริโภคให้ตำแหน่งศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือน  เรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง  และเครื่องราชกุธภัณฑ์ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป"

          จึงได้ความชัดเจนว่า  ขุนพิเรนทรเทพนั้น  มีบิดาเป็นเจ้าชายในราชวงศ์พระร่วงสายมหาธรรมราชาบรมปาล  มีมารดาเป็นเจ้าหญิงในราชสำนักสมเด็จพระไชยราชาธิราช  เชื้้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ-สุโขทัยจึงมิใช่สามัญชนที่ขึ้นมาครองยศตำแหน่ง  เมื่อปูนบำเหน็จความชอบแก่ทุกคนในคณะผู้ก่อการตามสมควรแก่ฐานานุรูปแล้ว  ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า  เป็นการคืนตำแหน่ง  "มหาธรรมราชา"  แก่ราชวงศ์พระร่วง  หลังจากถูกสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรง "ดอง" เก็บไว้เป็นเวลานานแล้ว  มิใช่เพียงเท่านั้น  ยังทรงพระราชทานพระสวัสดิราช  ซึ่งเป็นราชธิดาพระองค์หนึ่งในหลายพระองค์ให้เป็นพระชายา  แล้วสถาปนาพระนางให้เป็น  สมเด็จพระวิสุทธิกษัตรี  อัครมเหสีแห่งเมืองพระพิษณุโลกอีกด้วย

          สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก่อนผนวช  ทรงมีพระชายาและพระโอรสธิดาหลายพระองค์  มิใช่มีหลังจากลาพระผนวชแล้วตามที่มีบางท่านเข้าใจ  และสงสัยว่า  ในเมื่อทรงพระผนวชอยู่  จะมีพระชายาและโอรสธิดาได้อย่างไร

          ความจริงพระองค์ทรงพระผนวชอยู่ในระยะเวลาไม่นานนักจะเรียกว่า  "บวชการเมือง"  ก็ได้  เรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีให้บอกเล่ามากมาย  พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบตุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กอหญ้า กอยุ่ง, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #125 เมื่อ: 17, มกราคม, 2562, 09:48:08 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- พระบรมดิลกวีรสตรี -

ศึกพม่าครานั้นรู้กันทั่ว
ต้อง"มอบตัวประกัน"อยู่หวั่นไหว
เริ่มการรบดุเดือดเลือดนองไทย
จารึกไว้รูปนามคุณความดี

"วีรสตรี"ที่เชิดชูโลกรู้จัก
คือโฉมยงองค์อัครมเหสี
"สุริโยทัย"งามปลอดยอดสตรี
พระทรงพลีพระชนม์ชนช้างศัตรู

พระธิดาหนึ่งองค์ทรงกล้าหาญ
ทรงคชาทะยานประจัญสู้
ไสช้างศึกฮีกหาญต้านริปู
ยอดพธูสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

ธ พระนามควรชม"บรมดิลก"
ไทยควรยกย่องชูโลกรู้บ้าง
วีรสตรีกตัญญูผู้วายวาง
เป็นแบบอย่างไทยล้วนควรจดจำ


          อภิปราย ขยายความ...........

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าเรียกพระนามพระเจ้ากรุงหงสาวดีว่า  "ปังเสวกี"  แต่ในที่ทั่ว ๆ ไปเรียกพระนามว่า  "ตะเบงชเวตี้"  ศึกหงสาวดีครั้งนี้  วันวลิตมิได้บันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขา  ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์  ก็บันทึกไว้เพียงย่นย่อ  แต่ว่ามีพงศาวดารตำนานอื่นให้รายละเอียดไว้  โดยเฉพาะ  "คำให้การชาวกรุงเก่า"  ที่ให้การแก่พระเจ้ากรุงอังวะเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐  ได้ให้รายละเอียดไว้อย่าน่าสนใจมากว่าดังต่อไปนี้

          ....."พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  โดยเข้ามาทางเมืองระแหง (ตาก)  พระมหาจักรพรรดิยกออกรับทัพ  และรบกันที่ทุ่งมโนรมย์ (เมียนมาร์เรียก มโนรัมมา)  ทั้งสองทัพรบกันเป็นสามารถ  ไพร่พลล้มตายลงเปนอันมาก  ขณะยังไม่รู้แพ้ชนะกันนั้น  พระเจ้าหงสาวดีทรงดำริว่า  ขืนรบกันต่อไปก็จะมีผู้คนล้มตายมากขึ้นทั้งสองฝ่าย  ไม่เป็นการสมควรเลย  "เราคิดอุบายรบกันแต่สองต่อสองเถิด"  จึงท้าพระมหาจักพรรดิชนช้างกันในอีก ๗ วันข้างหน้า  พระมหาจักรพรรดิทรงรับคำท้า  แล้วต่างฝ่ายก็หย่าทัพ  เตรียมตัวจะทำยุทธหัตถีกัน ณ ทุ่งมโนรมย์ต่อไป

          ....ครั้นครบกำหนดนัด  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดทรงพระประชวรมากจนไม่สามารถออกทำยุทธหัตถีได้  ฝ่ายพระมหาเทวีผู้เป็นพระมเหสีจึงประชุมพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงปรึกษาหารือกันว่าจะทำประการใดดี  ในขณะนั้น  พระบรมดิลก  ราชธิดาผู้มีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา  จึงทูลว่า  "พระราชบิดาได้ทรงทำสัญญาไว้กับพระเจ้าหงสาวดีแน่นหนามาก  ถ้าไม่ออกไปทำยุทธหัตถีในวันนี้  ก็จำจะต้องยกราชสมบัติให้แก่เขาตามสัญญา  คราวนี้ไม่มีใครที่จะออกต่อสู้ด้วยข้าศึกแล้ว  กระหม่อมฉันจะขอรับอาสาออกไปชนช้างกับพระเจ้าหงสาวดี  ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชบิด า ถึงแม้กระหม่อมฉันจะเสียชีวิตในท่ามกลางข้าศึก  ก็มิได้คิดอาลัย  จะไว้ชื่่อให้ปรากฏในแผ่นดินชั่วกัลปาวสาน"

          ....พระมหาเทวีทรงห้ามปรามอย่างไรพระบรมดิลกก็ไม่ฟัง  ในที่สุดก็ทรงยอมให้พระนางออกไปกระทำยุทธหัตถี  พระบรมดิลกทรงแต่งพระองค์เป็นชาย  แล้วถวายบังคมลาออกทรงช้างต้นบรมฉัททันต์ที่กำลังคลั่งมันอยู่  เมื่อทั้งสองฝ่ายออกสู่ทุ่งมโนรมย์พร้อมกันแล้ว  ก็ยกธงเป็นสัญญา  ต่างก็เข้าทำยุทธหัตถี  ชนช้างกัน  พระบรมดิลกเป็นสตรีไม่ชำนาญการขับขี่คชาธาร  ก็เสียทีแก่พระเจ้าหงสาวดี  ช้างต้นบรมฉัททันต์เบนท้ายให้แก่พระเจ้าพระเจ้าหงสาวดี  พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระแสงง้าวฟันถูกพระบรมดิลกตกจากช้างทรง  พระบรมดิลกร้องได้คำเดียวก็สิ้นพระชนม์ ...

          ....พระเจ้าหงสาวดีได้ทรงฟังเสียงจึงทราบชัดว่าเปนสตรีปลอมออกมาทำยุทธหัตถีกับพระองค์  ก็เสียพระทัย  ทั้งละอายแก่ไพร่พลทั้งปวง  จึงตรัสในที่ประชุมว่า  "ครั้งนี้เราเสียทีเสียแล้ว ด้วยเราไม่พิจารณาให้แน่นอน  หลงทำยุทธนาการกับสตรีให้เสื่อมเสียเกียรติยศ  กิตติศัพท์จะลือชาปรากฏไปชั่วกัลปาวสานว่า  เราเปนคนขลาดจึงมาทำยุทธนาการสู้รบกับสตรี"  เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตรัสดังนี้แล้วก็ให้รวบรวมผู้คนช้างม้ายกกลับคืนพระนคร"

          .....จากนั้นแม่ทัพนายกองก็อัญเชิญพระศพของพระบรมดิลกกลับเข้าพระนคร  พระมหาจักรพรรดิ  พระมหาเทวี  พระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนชาวพระนครศรีอยุธยาพากันโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง  หลังจากตั้งพระศพและให้มีการมหรสพสมโภชแล้วพระราชทานพระเพลิงศพ  ทรงให้ก่อเป็นพระเจดีย์และบรรจุพระอัฐิพระบรมดิลก ณ พระเมรุที่ถวายพระเพลิงศพนั้น  ที่นั้นจึงได้นามว่า  "เนินเจ้า"  สืบมา ....."

          คำให้การชาวกรุงเก่าที่ยกมาแสดงนี้ขัดแย้งกับความในพงศาวดารฉบับอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง  เฉพาะการทำยุทธหัตถีนั้น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ของสมเด็จพระนารายณ์กล่าวว่า  สมเด็จพระศรีสุริโยทัยและพระราชธิดาแต่งพระองค์เป็นชายตามเสด็จ  เมื่อทัพแตกมาปะทะกันเป็นโกลาหล  สมเด็จพระศรีสุริโยทัยกับพระราชธิดาได้ชนช้างกับข้าศึก  และสิ้นพระชนม์ทั้งคู่

          .........เรื่องนี้ยังจบไม่ลงครับ เพราะหมดเวลาสำหรับวันนี้เสียแล้ว

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบตุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, กอหญ้า กอยุ่ง, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #126 เมื่อ: 18, มกราคม, 2562, 10:36:47 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ไทย & พม่า สัญญาสงบศึก -

ชาวกรุงเก่าให้การตำนานหนึ่ง
ได้กล่าวถึงศึกสงบ"รบระส่ำ"
สองกษัตริย์ละวางการสร้างกรรม
ด้วยการทำสัญญาย้ำไมตรี

หนึ่งเบื้องหลังค่อนลึกศึกหงสา
ฝ่ายพม่า"ตะเบงชเวตี้"
ต้องการ"ช้างเผือก"เสริมบารมี
ด้วยกรุงศรีอยุธยามีมากมาย


          อภิปราย ขยายความ..........

          ชาวกรุงเก่าให้การว่า  พระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรหนักไม่อาจออกทำยุทธหัตถีได้  "พระบรมดิลก"  พระราชธิดาวัย ๑๖ พรรษา  จึงอาสาออกรบแทนพระราชบิดา  แล้วถูกพระเจ้าหงสาวดีใช้ง้าวฟันตกหลังช้างสิ้นพระชนม์  พระเจ้าหงสาวดีทราบความจริงทรงเสียพระทัย  จึงยกทัพกลับคืน  ในคำให้การนี้ไม่มีสมเด็จพระศรีสุริโยทัยออกรบด้วย

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ของสมเด็จพระนารายณ์บันทึกไว้ว่า  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงช้างออกศึก  โดยมี  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  อัครมเหสีพร้อมพระราชธิดาแต่งพระองค์เป็นชายโดยเสด็จด้วย แล้วถูกข้าศึกฟันจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์

          ความน่าจะเป็นตามบันทึกของพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  แต่สิ่งที่ขาดหายจากพระราชพงศาดารนี้คือ  รายละเอียดของเหตุการณ์รบ  และพระนามของพระราชธิดาไม่ปรากฏ

          พงศาวดารฉบับปลีกย่อยซึ่งเกิดภายหลังพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ต่างก็มุ่งที่จะถวายพระเกียรติยศสมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ให้เป็นวีรสตรีไทยที่โดดเด่นอยู่ในประวัติศาสตร์  จึงให้รายละเอียดเฉพาะเรื่องของพระนาง  โดยมิได้สนใจในพระราชธิดาซึ่งสิ้นพระชนม์พร้อมกันเลย

          สรุปข้อเท็จจริงตอนนี้ได้ว่า  ศึกหงสา  หรือ  "สงครามช้างเผือก"  ครั้งแรกนี้  ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาสูญเสียบุคคลสำคัญไป ๒ พระองค์  คือ  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย  กับ  พระบรมดิลกราชธิดา

          ชาวกรุงเก่าให้การถึงการสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ  ดังต่อไปนี้............."ครั้นจุลศักราช ๙๒๓ ปี (พ.ศ.๒๑๐๔)  พระเจ้าหงสาวดียกทัพมีจำนวนพล ๙๐๐,๐๐๐  มาตีกรุงศรีอยุยาอีก  ตั้งทัพที่ทุ่งมโนรมย์"

          พระเจ้าตะเบงชเวตี้  ยกทัพมาเป็นครั้งที่ ๒  คราวนี้มีกำลังพลมหาศาล  ชาวกรุงเก่า  บอกเล่าว่ามาตั้งทัพที่ทุ่งมโนรมย์ (ทุ่งมะขามหย่อง ?)  ทางกรุงศรีอยุธยาตั้งรบเป็นสามารถ  ไม่แพ้ชนะกัน  ฝ่ายพระมหาจักรพรรดิ  ทรงจัดทหารผู้เข้มแข็ง ๔๐๐ คนติดตามช้างพระที่นั่ง  โดยให้เอาสุรากรอกช้างพลายวิไชยซึ่งเป็นคชาธารกำลังคลั่งมันอยู่ให้มึนเมา  เอาเกลือกเหล็กกันขวากหนามสวมใส่เท้าทั้ง ๔  เอาปลอกเหล็กเกราะโซ่  สวมงาทั้งสองและงวง  เมื่อแต่งช้างเสร็จแล้ว  ลอบเข้าจู่โจมค่ายพระเจ้าหงสาวดี  ขณะทหารไม่ทันรู้ตัว  จึงแตกตื่นวุ่นวายหนีตายเป็นจ้าละหวั่น  พระเจ้าหงสาวดีเห็นดังนั้นจึงรีบขึ้นช้างทรงหนีออกจากค่าย  โดยพระบาทของพระองค์มีพระโลหิตไหล  บาดเจ็บเล็กน้อย  นายช้างเอาผ้าพันไว้  และเมื่อตั้งสติได้แล้วทรงรวบรวมพลกลับเข้าค่ายตามเดิม

          ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งสองฝ่าย  เห็นว่าการรบจะยึดเยื้อไปนาน  ยากที่จะรู้แพ้ชนะแก่กัน  จึงปรึกษาหาทางเป็นพระราชไมตรี  และนำความขึ้นกราบทูลพร้อมกันทั้งสองฝ่าย  พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ทรงเห็นชอบ  จึงนัดเจรจาสงบศึก  โดยตั้งพลับพลา ณ ทุ่งมโนรมย์  เมื่อถึงเวลานัด  ทั้งสองพระองค์เสด็จออกพร้อมกัน ณ พลับพลาที่ประทับ  ห้ามมิให้ใครนำอาวุธยุทธภัณฑฺเข้ามาในที่นั้น

          เมื่อทำสัตย์ต่อกันแล้วพระมหาจักรพรรดิจึงตรัสว่า  " แต่ก่อนเราทั้ง ๒ เปนศัตรูกัน  มาบัดนี้เปนไมตรีมีพระราชอาณาจักรเปนทองแผ่นเดียวกันแล้ว  ธรรมดาช้างทั้งหลายย่อมเกิดสำหรับบุญของกษัตริย์ผู้มีบุญ  เราตั้งใจว่านอกพระองค์แล้วจะไม่ยอมให้ใครเลย  บัดนี้จะถวายแก่พระองค์ช้าง ๑ "  ตรัสดังนี้แล้วจึงถวายช้างบรมฉัตทันต์แก่พระเจ้าหงสาวดี

          ครั้นแล้วทั้ง ๒ กษัตริย์ก็ให้ทำจารึกศิลาประกาศทางพระราชไมตรีมีใจความว่า.... "พระเจ้ากรุงหงสาวดีกับพระพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา  มีพระราชไมตรีต่อกันแล้ว  ตั้งแต่นี้ไปให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวง  รักษาไมตรีต่อกัน  ที่สุดแต่หญ้าเส้น ๑  ก็อย่าให้ใครล่วงเกินกันเลย"  ดังนี้  เมื่อจารึกแล้วก็ให้ยกเสาศิลาปักไว้ในที่แดนต่อแดน  พระเจ้าหงสาวดีก็ยกทัพกลับพระนครหงสาวดี พระมหาจักรพรรดิก็คืนเข้าพระนคร

          ...คำให้การของชาวกรุงเก่าดังกล่าวนี้ควรถือได้ว่าเป็นความรู้ใหม่ของนักประวัติศาสตร์ไทย

          ...โดยความเป็นจริงแล้วศึกหงสาวดีครั้งนี้มิได้จบลงง่าย ๆ ดังนั้น  มีรายละเอียดการรบติดพันกันอยู่นาน  ก่อนที่จะเสียกรุงให้แก่หงสาวดี  พรุ่งนี้ว่ากันต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พืพืธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบตุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #127 เมื่อ: 19, มกราคม, 2562, 10:03:09 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "สุริโยไท"

- พระเจ้าช้างเผือก -

"พระนารายณ์"ให้ทำลำดับเรื่อง
ความต่อเนื่องกันไว้มิให้หาย
ศึกพม่าครั้งแรกแตกเรื่องราย
ต่างขยายความกันอย่างบันเทิง

ยุทธหัตถีมีจริงเจ้าหญิงสิ้น
เจ้าแผ่นดินรบพุ่งกันยุ่งเหยิง
ไทยพลาดท่าพ่ายเพลียเสียชั้นเชิง
"ม่าน"ระเริงชัยโยโห่กลับไป


          อภิปราย ขยายความ........

          คำให้การชาวกรุงเก่าเล่าเรื่องการทำสัญญาสงบศึกในปีจุลศักราช ๙๒๓  ตรงกับพุทธศักราช ๒๑๐๔ นั้น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่าของสมเด็จพระนารายณ์  บันทึกไว้ว่า  เกิดเรื่องราวขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ตรงกับคำให้การชาวกรุงเก่า  ทั้งนี้้เพราะชาวกรุงเก่าลำดับเรื่องข้ามความสำคัญตรงนี้ไป  เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีดังกล่าวนี้คือ

          "ศักราช ๙๒๓ ระกาศก (พ.ศ. ๒๑๐๔)  พระศรีศิลป์บวชอยู่วัดมหาธาตุ  แล้วหนีออกไปอยู่ตำบลม่วงมดแดง  และพระสังฆราชวัดป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์ให้เข้ามาพระราชวัง ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘  ครั้งนี้พระยาสีหราชเดโชเป็นโทษรับพระราชอาญาอยู่  และพระยาสีหราชเดโชจึงให้ไปว่าแก่พระศรีศิลป์ว่า  ครั้นพ้นวันพระแล้วจะให้ลงพระราชอาชญา  ฆ่าพระยาสีหราชเดโชเสีย  และขอให้เร่งยกเข้ามาให้ทันแต่ในวันพระนี้  และพระศรีศิลป์จึงยกเข้ามาแต่ในวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘  เพลาเย็นมาแต่กรุง  ครั้นรุ่งขึ้นวันพระนั้น  พระศรีศิลป์เข้าพระราชวัง  ครั้งนั้นได้พระศรีศิลป์มรณภาพในพระราชวังนั้น  ครั้นแลรู้ว่าพระสังฆราชป่าแก้วให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลป์เป็นแม่นแล้วไซร้  ก็ให้เอาพระสังฆราชป่าแก้วไปฆ่าเสีย"

          ได้ความจากบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าตอนนี้ว่า  พระศรีศิลป์  โอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระไชยาราชาธิราช  กับ  พระนางศรีสุดาจันทร์  ซึ่งถูกบังคับให้ผนวชอยู่ ณ วัดมหาธาตุนั้น  เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นครองราชย์  และหลังจากพระเจ้าหงสาวดียกมาตีกรุงศรีอยุธยาได้ชัยกลับไปแล้ว  พระศรีศิลป์คิดการขบถ  หมายปลงพระชนม์สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสีย  จึงหนึออกจากวัดมหาธาตุไปซุ่มอยู่ที่ตำบลม่วงมดแดง  สะสมกำลังแล้วลอบเข้าเมือง  และเข้าในวังได้  แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบ  จึงประหารพระศรีศิลป์สิ้นพระชมน์ในวังนั้นเอง

          สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้พระโหราเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๑  ไว้ดังต่อไปนี้
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๒ ได้ช้างเผือกพลายจากป่าตะนาวศรี  ให้ชื่อ  ปัจจัยนาเคนทร์  และให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุธยา
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๓ ทำการพระราชพิธีปฐมกรรม ณ ตำบลท่าดินแดง
          .....พ.ศ. ๒๐๙๕ ให้แปลงเรือแชเป็นเรือชัยและหัวสัตว์
          ..... พ.ศ ๒๐๙๖ ทำพิธิมัธยมกรรม ณ ตำบลชัยนาทบุรี
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๗ เสด็จไปบางละมุง  ได้ช้างพลายพัง ๖๐ ช้าง  เดือน ๑๒  ปีเดียวกันนั้น  ได้ช้างเผือกจากป่ากาญจนบุรี  ให้ชื่อว่า  พระคเชนทโรดม
          ..... พ.ศ.๒๐๙๘ ได้ช้างเผือกพลายจากป่าเพชรบุรี  ให้ชื่อ  พระแก้วทรงบาศ
          ..... พ.ศ. ๒๐๙๙ แต่งทัพไปละแวก  ให้พระยาสวรรคโลกเป็นทัพหลวง  พระมหามนตรีถืออาญาสิทธิ์  พระมหาเทพถือเกวียน  ฝ่ายทัพเรือให้พระยาเยาวเป็นนายกอง  ครั้งนั้นลมพัดจัด  ทัพเรือไปมิทันทัพบก  พระยารามลักษณ์เข้าบุกทัพในกลางคืนแล้วแตกพ่ายมาประทัพใหญ่  ครั้งนั้นเสียพระยาองค์สวรรคโลกนายกองและช้างม้ารี้พลมาก
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๐ เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังมาก  ให้ทำการพะราชพิธีอาจาริยาภิเษกและอินทราภิเษกในวังใหม่  พระราชทานสัตดกมหาทาน  พร้อมให้ช้างเผือกเป็นทาน  จากนั้น  เสด็จไปวังช้าง  ตำบล โตรกพระ  ได้ช้างพัง ๖๐ ช้าง
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๒ ไปวังช้างตำบลแสนตอ  ได้ช้างพลายพัง ๔๐ ช้าง
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๓ เสด็จไปวังช้างตำบลวัดไก่  ได้ช้างพลายพัง ๕๐ ช้าง  และได้ช้างเผือกซึ่งตาช้างนั้นมิได้เป็นเผือก  มีลูกติดมาด้วยตัวหนึ่ง
          ..... พ.ศ. ๒๑๐๔ พระศรีศิลปืเป็นขบถ.......

          ความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกเรื่องราวตั้งแต่พระเธียรราชาขึ้นครองราชสมบัติ  ทรงพระนามว่า  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  อยู่ได้ ๗ เดือน  พระเจ้าหงสาปังเสวกี (ตะเบงชเวตี้)  ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระมเหสีพร้อมพระราชธิดาออกรบด้วยแล้วสิ้นพระชนม์ทั้งคู่  พระเจ้าหงสาวดีจับตัวสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและพระราเมศวรเจ้าไปเป็นตัวประกัน แล้วปล่อยกลับคืนเมื่อเสด็จไปถึงกำแพงเพชรแล้ว

          หลังจากนั้น  กรุงศรีอยุธยาว่างศึกอยู่หลายปี  สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิทรงเสด็จไปคล้องช้างได้ช้างพลายช้างพังมากมาย  และช้างเผือกอีกหลายเชือก  ในช่วงเวลานั้นมีการศึกเพียงครั้งเดียว  คือให้พระยาองค์สวรรคโลก  ราชบุตรบุญธรรม (เป็นชาวกัมพูชา)  ยกไปตีเมืองละแวก  แต่เสียทัพกลับมา  พระยาองค์สวรรคโลกตายในที่รบ

          ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๑๐๔ หลังจากปราบขบถพระศรีศิลป์ลงแล้ว  พระเจ้าหงสาวดีจึงยกทัพใหญ่มาอีกครั้ง

          ...พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัยธานี
๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #128 เมื่อ: 20, มกราคม, 2562, 10:54:43 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- สงครามช้างเผือก -

ศึกพม่าคราเว้นเป็นช่วงว่าง
เรื่องราวทางพม่านั้นผันแปรใหญ่
บุเรงนองครองแผ่นดินปราบสิ้นภัย
ตั้งวงศ์ใหม่เดชาบารมี

"สิบสี่ปี"ที่ไทยเกิดหลายเรื่อง
ความขัดเคืองร้าวฉานจนพาลหนี
เหมือน"น้ำผึ้งหยดเดียว"แค่ตบตี
กลายเป็นกรีธาทัพสัประยุทธ์

"มหาธรรมราชา"ทรงล่าหนี
เข้าหงสาวดีเป็นที่สุด
"บุเรงนอง"รับไว้ไม่ซ้ำทรุด
เหมือนการจุดไฟสงครามลุกลามมี


          อภิปราย ขยายความ........

          เรื่องที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย  แต่มีอยู่ใน "พงศาวดารกระซิบ" และเอกสารต่างประเทศ  กล่าวว่า  พระเจ้าตะเบงชเวตี้  มิได้ยกทัพกลับไปด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระองค์  หากแต่ทรงบาดเจ็บเนื่องจากทรงปืนใหญ่ด้วยพระองค์เอง  หมายยิงถล่มกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาให้พินาศ  แต่กระบอกปืนใหญ่เกิดแตกเมื่อพระองค์ทรงจุดชนวนปืน  เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บมาก  จึงสั่งล่าทัพกลับไป  และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อเข้าเหยียบแผ่นดินของพระองค์

          หลังจากพระเจ้าหงสาวดีปังเสวกี  หรือ  ตะเบงชเวตี้สวรรคต  แผ่นดินพม่าเกิดความแตกแยก  บรรดาเมืองต่าง ๆ ตั้งตนเป็นใหญ่  บุเรงนองขุนศึกคู่พระทัยของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ต้องใช้เวลาในการปราบปรามหัวเมือง  ชนเผ่าต่าง ๆ  มี  มอญ  กะเหรี่ยง  ไทยใหญ่  เป็นต้น  เมื่อปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ  ได้สิ้นแล้ว  จึงปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงหงสาวดี  ปกครองประเทศต่อไป

          ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น  พระมหาจักรพรรดิทรงเสด็จคล้องช้างในที่ต่าง ๆ  ได้ช้างพลายช้างพัง  พร้อมช้างเผือกทั้งพลายและพัง  เป็นจำนวนมาก  ยามนั้นมีราชวงศ์กัมพูชาองค์หนึ่งหนีมาสวามิภักดิ์  ทรงรับไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรมแล้วตั้งให้ครองเมืองสวรรคโลก  ต่อมาโปรดให้นำทัพไปปราบพญาละแวก  และสิ้นพระชนม์ในสงคราม  ดังกล่าวมาแล้วนั้น

          ในช่วงเวลา ๑๔ ปี นั้น  เกิดความไม่สงบขึ้นภายในราชสำนักพระพิษณุโลก  จนทางกรุงศรีอยุธยาต้องยกกำลังขึ้นไปจะจับพระมหาธรรมราชาลงโทษ  แต่พระมหาธรรมราชาทรงหลบหนีไปเมืองหงสาวดี  ขอพึ่งพระโพธิสมภารพระเจ้าบุเรงนอง  อันเป็นเหตุให้พม่ายกแสนยานุภาพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง  สงครามครั้งนี้  นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่า  "สงครามช้างเผือก"  ไทยต้องเสียกรุงเป็นครั้งแรก

          เบื้องหลังหรือสาเหตุที่พระมหาธรรมราชาหนีไปพึ่งระเจ้าบุเรงนอง  ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย  แต่มีความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ วันวลิต  เขียนไว้  เป็นเรื่องน่าเรียนรู้ไว้

          พรุ่งนี้จะนำความของวันวลิตมาแสดงครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๖ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #129 เมื่อ: 21, มกราคม, 2562, 10:07:45 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง : เมียนมาร์

- "บุเรงนองลั่นกลองรบ" -

"วันวลิต"บอกเล่าเจ้าพิษณุโลก
ทรงเผลอ"โขกพระเศียรมเหสี"
พระโลหิตไหลแล้วพระเทวี
ใช้สำลีซับถ้วยทองฟ้องบิดา

เจ้ากรุงศรีจัดกำลังหวังลงโทษ
จึงหลบโลดฝ่าดงไปหงสา
"บุเรงนอง"รับช่วยด้วยเมตตา
ยกทัพมากรุงศรีรบมีชัย

ได้ช้างเผือกตัวประกันอันต้องจิต
ชนะหมดทศทิศสิทธิ์ยิ่งใหญ่
"มหาราชเอเซีย"นามเกริกไกร
มิใช่ใครคือคนเก่ง"บุเรงนอง"


          อภิปราย ขยายความ...........

          หลังจากที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกทัพกลับหงสาวดีแล้วสวรรคต  พม่าแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า  บุเรงนองขุนพลคู่พระทัยตะเบงชเวตี้ใช้เวลา ๑๐ ปีเศษจึงปราบปรามได้หมดสิ้นแล้วขึ้นครองบัลลังก์  จากนั้นยกทัพใหญ่มาโจมตีกรุงศรีอยุธยา  เบื้องหลังที่พระเจ้าบุเรงนองยกทพมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น  วันวลิต  บอกเล่าไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอย่างน่าสนใจว่า....

          ......." พระเทียนราชาได้พระราชทานพระธิดาให้อภิเษกกับออกญาพิษณุโลก (Oija Poucelouck)  แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก  ชีวิตสมรสจึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งและไม่ลงรอยกัน

          ในการทะเลาะครั้งหนึ่ง  ออกญาพิษณุโลกได้ตีพระเศียรพระราชธิดาแตก  พระราชธิดาจึงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็ดพระโลหิตใส่ถ้วยทองไปถวายพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา  พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นทูลฟ้องว่าถูกพระสวามีทารุณเพียงใด

          ด้วยเหตุนี้  พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงพิโรธพระราชบุตรเขยเป็นอย่างมาก  มีรับสั่งให้ทหารยกกำลังไปฆ่าออกญาพิษณุโลก

          ออกญาพิษณุโลกได้ทราบข่าว  ก็ไม่รอให้กองทัพจากกรุงศรีอยุธยามาถึง  ทิ้งบ้านเมืองหนีไปยังพะโค

          พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคทราบข่าวว่า  ออกญาพิษณุโลกหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  ก็ทรงต้อนรับอย่างดี  เมื่อออกญาพิษณุโลกเห็นเช่นนั้นก็ดีใจ  ขอร้องให้พระเจ้าแผ่นดินพะโค  ยกทัพไปทำสงครามกับสยาม

          แต่พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคปฏิเสธ  และตรัสว่า  "พระเจ้าแผ่นดินสยามไม่ได้มีข้อหมองใจกับเรา  และเราเองก็ไม่ต้องการที่จะไปทวงสิทธิ์อะไรจากอาณาจักรสยามด้วย"

          ** วันวลิตได้ให้รายละเอียดไว้อีกอย่างยืดยาว  พอสรุปใจความสำคัญได้ว่า  พระมหาธรรมราชาพยายามหาเหตุผลมาหนุนให้พระเจ้าแผ่นดินพะโค  หรือหงสาวดี  คือพระเจ้าบุเรงนอง  ยกกองทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา  และแล้วก็ได้อุบายหนึ่ง  คือ  ทูลพระเจ้าบุเรงนองว่า  พระมหาจักรพรรดิทรงคล้องช้างมาก  ได้ช้างเผือกถึง ๗ เชือก  ในจำนวนช้างเผือกเหล่านั้นมีเชือกหนึ่งทรงได้ไปจากดินแดนพม่า  พระเจ้าบุเรงนองควรได้ช้างเผือกเชือกนั้นมาไว้ในพระบารมี  พระเจ้าบุเรงนองได้ฟังดังนั้นทรงเห็นชอบด้วยจึงส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา  "ทูลขอช้างเผือก สอง หรือ สาม เชือก"

          สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงปฏิเสธแล้วไล่ทูตกลับไป  จึงเป็นเหตุให้พระเจ้า "บุเรงนองลั่นกลองรบ"  โดยทรงรวบรวมกำลังทั้งหมด  รวมทั้งเกณฑ์ประชาชนให้ติดอาวุธออกรบ  และทรงแต่งตั้งให้มหาธรรมราชาแห่งพิษณุโลกเป็นแม่ทัพทหารราบ  ยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทันที

          ......การรบเป็นอย่างไรบ้าง  วันวลิต  ให้รายละเอียดไว้  ว่ามีไส้ศึกคนสำคัญในกรุงศรีชนิดที่เราคิดไม่ถึงเลยครับ

          ......พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อก็แล้วกันนะ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, กอหญ้า กอยุ่ง, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #130 เมื่อ: 22, มกราคม, 2562, 10:00:21 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ปัตตานีขบถกลางสงคราม -

พลพม่า”เก้าแสน”ย่ำแดนสยาม
ครั้นทราบความจักรพรรดิคิดขัดข้อง
จะสละราชบวชปวดใจปอง
ถูกขอร้องให้อยู่สู้ศึกยาว

เสียงกลองศึกตูมตูมมารุมเร้า
เหมือนผีเข้าเป็นไข้ให้ร้อนหนาว
พระจักรพรรดิราชันทรงสั่นทาว
ร้อง”ถึงคราวโชคร้ายยอมตายแล้ว”

จึงสั่งสู้ข้าศึกแม้นึกหวั่น
ให้เร่งวันเดินทางอย่าตรงแน่ว
บอก“พระยาปัตตานี”รีบรี่แจว
ทัพเรือแกล้วแกร่งกล้ามาช่วยรบ

สถานการณ์ตอนนั้นขั้นวิกฤต
ฝุ่นทั่วทิศรอบกรุงฟุ้งตลบ
ปัตตานียกทัพเรือเพื่อสมทบ
ครั้นมาพบเจ้ากรุงศรีมีประชวร

จึงคิดการณ์ใหญ่เกินประเมินพลาด
โดยบังอาจเป็นขบถทำปั่นป่วน
ถูกต้านตีแตกไปไม่เป็นขบวน
เพราะกรุงล้วนคนดีมีฝีมือ...


          อภิปราย ขยายความ............

          แสนยานุภาพของพระเจ้าบุเรงนองเคลื่อนพลเข้ามายึดหัวเมืองฝ่ายเหนือ  อันเป็นแคว้นสุโขไทเดิมไว้ได้ทั้งหมดอย่างง่ายดาย  เพราะพระมหาธรรมราชา  พระเจ้าแผ่นดินพระพิษณุโลก  ทรงนำทัพมาเอง หัวเมืองต่าง ๆ จึงไม่มีการต่อต้าน  กองทัพเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยาได้ในเวลาอันรวดเร็ว

           “วันวลิต” กล่าวว่า  ครั้นข่าวศึกยกมาประชิดติดพระนคร  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงถอดพระทัยในการสู้รบ  จึงขอสละราชสมบัติออกผนวช  แต่พระประยูรญาติและเสวกามาตย์ราชบริพารมนตรีทั้งหลาย พากันทัดทาน  กราบวิงวอนให้พระองค์ทรงสู้ศึก  จึงจำพระทัยต้องประกาศสู้  มีรับสั่งให้แจ้งข่าวไปยังพระยาปัตตานี  ให้รีบยกพลเดินทางมาโดยทางเรือ  เพื่อช่วยทำศึกครั้งนี้ด้วย  ในขณะนั้น  ทรงพระประชวรออด ๆ แอด ๆ  พระเจ้าบุเรงนองทุ่มกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเป็นสามารถก็มิอาจปล้นเอาเมืองได้

           “วันวลิต” บันทึกเรื่องราวตามคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยา  เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๒  เป็นเวลาหลังจากสิ้นสงครามช้างเผือกไปแล้ว ๗๖ ปี  ค่อนชั่วอายุคนทีเดียว  เรื่องราวจึงไม่น่าจะคลาดเคลื่อนจากความทรงจำของชาวกรุงศรีอยุธยามากนัก  เขาได้บันทึกเรื่องราวต่อไปอีกว่า

          ......ชั่วเวลาไม่นานนัก  พระเจ้าแผ่นดินแห่งปัตตานี  ก็ปรากฏพระองค์ในกรุงศรีอยุธยา  พร้อมทั้งกองทัพที่มีทหารอยู่ในวัยหนุ่มแน่น

          ......เวลานั้นเอง  พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงพระประชวรกระเสาะกระแสะ  และไม่มีความหวังเลยว่าจะทรงหายเป็นปกติ  ข่าวลือก็ระบาดไปทั่วว่า  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ลง  พระราชโอรสที่ไม่สามารถก็จะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน

          เมื่อเห็นสถานการณ์เหมาะเช่นนั้น  ทหารปัตตานี ๓๐๐ คนจึงฉวยโอกาส (มีพระเจ้าแผ่นดินรวมอยู่ด้วย) เข้าไปที่พระราชวัง  ตั้งใจจะบุกเข้าไปและฆ่าพระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรสเสีย  เพื่อจะช่วยให้ชาวปัตตานีได้ครองตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินสยาม

          คณะขุนนางเห็นพวกปัตตานีที่โหดร้ายใกล้เข้ามา  จึงปิดประตูวัง  และยืนหยัดสู้ด้วยตนเอง  พร้อมทั้งส่งพวกแขนลาย (brasprintdos ทาสของพระเจ้าแผ่นดิน)  ออกไปทางหลังวัง  และฆ่าพวกปัตตานีในกรุงศรีอยุธยาไม่เหลือแม้แต่คนเดียว”

          ....ความวรรคท้ายที่ว่า  ทหารของปัตตานีถูกฆ่าตายหมดจนไม่เหลือแม้แต่คนเดียวนั้น  เห็นจะไม่จริง  เพราะพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  บันทึกไว้ว่า  พระยาตานีนั้นลงเรือสำเภาหนีรอดไปได้

          .......ศึกสงครามยังไม่สิ้น  แต่วันนี้หมดเวลาบอกเล่าให้ฟังแล้วนะครับ

          .......พรุ่งนี้มาฟังกันต่อไปใหม่  เพื่อให้รู้ว่าไทยพม่ารบกันอย่างไร

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, กอหญ้า กอยุ่ง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #131 เมื่อ: 23, มกราคม, 2562, 10:01:20 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

พระธาตุศรีสองรัก : เลย

- ล้านช้างถวายราชธิดา? -

โอรสธิดามหาจักรพรรดิ
พระนามชัดทั้งหมดปรากฏชื่อ
“บรมดิลก”รบพม่านามระบือ
พระนางคือ“วีรสตรีไทย”

พระโอรสคือ“พระมหินทราธิราช”
ครองอำนาจอยุธยาหานานไม่
“บุเรงนอง”บังคับจับตัวไป
แล้วสิ้นในระหว่างทางที่จร

อีกโอรส“พระศรีเสาว”ผู้ห้าวหาญ
พม่าม่านครั่นคร้ามยามตีต้อน
แต่“มหินท”เห็นว่าล้ำหน้าร้อน
จึงบั่นทอนชีวิตจนปลิดปลง

พระธิดานาม“เทพกษัตรี”
พระองค์นี้ปานยูงทองสูงส่ง
“พระไชยเชษฐาธิราช”ผู้อาจอง
มีจำนงทูลขอเป็นชายา....


          อภิปราย ขยายความ.....................

          ก่อนศึกหงสาหรือสงครามช้างเผือกจะสิ้นสุดลง  มีเรื่องเกิดขึ้นในราชสำนักสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  กล่าวคือ  สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งศรีสัตตนาคนหุต  ผู้ซึ่งย้ายราชสำนักลาวมาอยู่ที่มหานครเวียงจันทน์  ทรงทราบถึงวีรกรรมของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ที่ชนช้างกับพระเจ้าตะเบงชเวตี้  จนสิ้นพระชนม์จึงเกิดความเลื่อมใส  ทราบว่าพระนางมีพระราชธิดานามว่า  “เทพกษัตรี”  อยู่อีกพระองค์หนึ่ง  จึงส่งราชทูตมาทูลขอสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  เพื่ออภิเษกเป็นพระราชชายา  มีความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

           “ศักราช ๘๒๖ ชวดศก (พ.ศ. ๒๑๐๗)  พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีลงมายังพระนครศรีอยุธยา  และว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกษัตรเจ้านั้น  และจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง  ครั้งนั้นพระเจ้าหงสารู้เนื้อความทั้งปวงนั้น  จึงแต่งทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง  และออกชิงเอาสมเด็จพระเทพกษัตรเจ้าได้ไปถวายพระเจ้าหงสา......”

          เป็นบันทึกที่ขาดความชัดเจน  นัยว่า  สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงทูลขอสมเด็จพระเทพกษัตรี  พระมหาจักรพรรดิยินดีพระราชทานให้  แต่เมื่อถึงกำหนดส่งตัวสมเด็จพระเทพกษัตรีทรงพระประชวรหนัก  ไม่อาจเดินทางไปล้านช้างได้  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  จึงทรงเปลี่ยนตัว  ให้พระแก้วฟ้า  ราชธิดาอีกพระองค์หนึ่งไปแทน  สมเด็จพระไชยเชษฐาทรงทราบเช่นนั้น  จึงส่งพระแก้วฟ้าคืน  แล้วยืนยันขอสมเด็จพระเทพกษัตรี ดังเดิม  เรื่องจึงปรากฏดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าข้างต้นนั้น  ในเรื่องเดียวกันนี้  ชาวกรุงเก่าให้การแก่พระเจ้าอังวะไว้อีกอย่างหนึ่งเป็นความตรงกันข้าม  ดังต่อไปนี้

           “ ครั้นต่อมาพระเจ้าล้านช้างได้ทราบว่า  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีช้างเผือก ๗ เชือก  เปนผู้มีบุญญาธิการมาก  ปรารถนาจะเปนสัมพันธมิตรสนิทกับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา  จึงแต่งราชธิดาซึ่งมีรูปลักษณเปนอันงามมีนามว่า  รัตนมณีเนตร  กับเครื่องราชบรรณาการ  ให้ทูตจำทูลพระราชสาส์นเจริญทางพระราชไมตรีเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา  ถวายพระราชธิดา  ใจความในพระราชสาส์นนั้นทูลขอช้างเผือกด้วยเชือกหนึ่ง  เพื่อเอาไปเป็นศรีพระนคร  พระมหาจักรพรรดิก็มีพระทัยยินดีรับพระราชธิดาพระเจ้านครล้านช้าง  แล้วจึงพระราชทานช้างเผือกพังให้  กิตติศัพท์อันนั้นทราบไปถึงพระเจ้าหงสาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธ  ตรัสว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่อยู่ในยุติธรรม  ไปผูกไมตรีกับพระเจ้าล้านช้าง  ให้ช้างเผือกพังไปแก่พระเจ้าล้านช้าง  เมื่อทำสัตย์สาบานกับเรานั้น  ว่านอกจากเราแล้วจะไม่ให้ใครเลย  ตรัสแล้วก็ให้พวกพลทหารไปคอยซุ่มสกัดทาง คอยแย่งชิงช้างซึ่งพระมหาจักรพรรดิพระราชทานแก่พระเจ้าล้านช้าง  เมื่อทูตเมืองล้านช้างพาช้างไปถึงที่พวกหงสาซุ่มอยู่  พวกหงสาวดีก็ออกสกัดฆ่าฟันพวกล้านช้างแย่งชิงเอาช้างเผือกพังไปได้  นำไปถวายพระเจ้าหงสาวดี”

          ชาวกรุงเก่าให้การไว้  ความขัดกับพระราชพงศาวดาร  คือแทนที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะทูลขอพระราชธิดาพระมหาจักรพรรดิ  กลับเป็นการส่งพระราชธิดานามรัตนมณีมาถวายพระเจ้ามหาจักรพรรดิพร้อมทูลขอช้างเผือก  และกล่าวอีกว่าพระเจ้าหงสาวดีทรงพิโรธที่พระมหาจักรพรรดิผิดสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะไม่ให้ช้างเผือกแก่ใครนอกจากพระองค์  ความจริงแล้ว  พระมหาจักรพรรดิผิดสัญญาต่อพระเจ้าตะเบงชเวตี้ผู้ล่วงลับ  มิใช่พระเจ้าบุเรงนอง

          ความน่าจะเป็นตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า  คือพระไชยเชษฐาทูลขอพระราชธิดานามพระเทพกษัตรีจากพระมหาจักรพรรดิ  เมื่อส่งพระแก้วฟ้าไปพระราชทาน  พระไชยเชษฐาทรงส่งคืนยืนยันจะเอาพระเทพกษัตรีพระองค์เดียว  ทั้งนี้เพราะพระนางเป็นราชธิดาสมเด็จพระศรีสุริโยทัยวีรสตรี  ส่วนพระแก้วฟ้านั้นเป็นราชธิดาประสูติแต่พระราชชายาพระองค์อื่น  มิใช่เชื้อไขวีรสตรีไทย

          อย่างไรก็ตาม  พระมหาจักรพรรดิกับพระไชยเชษฐาธิราชก็ได้เป็นไมตรี  ทรงพบและทำสัตย์สาบานกันที่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน  แล้วสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีสองรักขึ้นไว้เป็นสักขีพยาน (ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย)

          สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  นัยว่ามีพระราชชายาหลายพระองค์  พระโอรส  ธิดา  อันประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยนั้นมี ๔ พระองค์  คือ  พระราชธิดานาม บรมดิลก  ทรงออกชนช้างแล้วสิ้นพระชนม์  สมเด็จพระวิสุทธิกษัตรีย์มเหสีพระมหาธรรมราชาธิราช  สมเด็จพระมหินทราธิราช  และพระเทพกษัตรี  ส่วนพระศรีเสาว (ภาคย์) พระแก้วฟ้านั้น  ประสูติแต่พระราชชายาพระองค์อื่น

          เรื่องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังไม่จบครับ  เพราะยังมีเบื้องหลัง  สาเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกให้กล่าวถึงอยู่อีกมาก  พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, กอหญ้า กอยุ่ง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #132 เมื่อ: 24, มกราคม, 2562, 10:09:45 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- ไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา -

อยุธยาอ่อนเปลี้ยเสียกรุงศรี
เหตุเพราะมี“ไส้ศึก”ควรศึกษา
“พระสุวัฒน์”เป็นใหญ่ในพารา
ช่วยพม่าบรรลุตามอุบาย

ให้“พระยาจักรี”ทำทีสู้
ถูกศัตรูจับตัวได้โดยง่าย
นำความลับบอกริปูรู้มากมาย
แสร้งหนีค่ายใหญ่พม่ากลับมาเมือง

“พระมหินทร์”เชื่อใจให้คุมทัพ
คอยต้านรับพม่ามาต่อเนื่อง
ได้โอกาสสลับสับฟันเฟือง
กระทำเรื่องเลวร้ายทำลายไทย


          อภิปราย ขยายความ ...............

          พระราชพงศาวดารกรุงเก่าบันทึกเรื่องราวตอนใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พระเจ้าบุเรงนองไว้ดังต่อไปนี้

          ........ “ศักราช ๙๓๐ มะโรงศก (พ.ศ.๒๑๑๑)  ในเดือน ๑๒ นั้น  พระเจ้าหงสายกพลมาแต่เมืองหงสา  ครั้นเถิงวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑  พระเจ้าหงสามาเถิงกรุงพระนครศรีอยุธยา  ตั้งทัพตำบลหล่มพลี เมื่อเศิกหงสาเข้ามาล้อมพระนครศรีอยุธยานั้น  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าทรงพระประชวรนฤพาน  และครั้งนั้นพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราชตรัสมิได้นำพาการเศิก  แต่พระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้น  ตรัสเอาพระทัยใส่  และเสด็จไปบัญชาการที่จะรักษาพระนครทุกวัน  ครั้นแลสมเด็จพระมหินทราธิราชตรัสรู้ว่าพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวเสด็จไปบัญชาการเศิกทุกวันดังนั้น  มิไว้พระทัย  ก็ให้เอาพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวนั้นไปฆ่าเสีย ณ วัดพระราม”

          .........ในยามที่พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระประชวรหนักจนถึงกับสวรรคต  ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหินทร์ราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติสืบแทน  แต่ว่าสมเด็จพระมหินทราธิราชมิได้สนพระทัยในราชการ  ขณะที่พระศรีเสาว (ภาคย์)  ราชอนุชาต่างพระมารดาทรงสนทัยในการทำสงครามกับพม่ายิ่งนัก  ทรงออกบัญชาการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับไพร่พล  ต่อต้านข้าศึกป้องกันเมืองเป็นสามารถทุกวัน  ความทราบถึงสมเด็จพระมหินทราธิราช  จึงทรงระแวง  ไม่ไว้วางพระทัย  เกรงว่า  พระอนุชาจะแย่งราชสมบัติจากพระองค์  จึงให้เอาตัวไปประหารเสียที่วัดพระราม  ครั้นสิ้นพระศรีเสาว (ภาคย์)  ผู้บัญชาการทัพอันเข็มแข็งเสียแล้ว  กรุงศรีอยุธยาก็อ่อนกำลังลงเป็นลำดับ  ขุนทหารส่วนมากไม่พอใจที่สมเด็จพระมหินทราธิราชประหารพระศรีเสาว (ภาคย์)  จนไม่มีแก่ใจจะทำการรบพุ่งข้าศึกเลย

          .... วันวลิต  ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า  "พระนหิน (มหินทร์) มิได้สนพระทัยในเรื่องใดเลย  เอาแต่ “เสพสุราและนารี”  พระเจ้าบุเรงนองทุ่มกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแล้วถูกต่อต้านจนชะงักหลายครั้ง  ไม่พอพระทัย  มหาธรรมราชาแม่ทัพหน้า  พระมหาธรรมราชาเกรงว่าพระเจ้าบุเรงนองจะขัดเคืองจนถึงกับประหารตนเองเสียได้  จึงหลบหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ที่พะเนียด  จนกระทั่งพบคนไทยจึงฝากหนังสือไปถึงพระสุวัฒน์ (Prae Souwat)  ซึ่งอาศัยอยู่ในราชสำนัก  คร่ำครวญถึงความลำบากยากเข็ญ  และขอร้องให้มีหนังสือบอกเล่าสถานการณ์ในเมืองให้ทราบ  พระสุวัฒน์สงสารจึงมีหนังสือติดต่อกันเป็นหลายครั้ง  มหาธรรมราชา  จึงมีหนังสือกราบทูลพระเจ้าบุเรงนอง  ติดต่อขอรับการอภัยโทษ  ในที่สุดก็ได้กลับเข้าตำแหน่งเดิมในกองทัพพม่า

          ........พระเจ้าบุเรงนองขาดเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์  คิดจะเลิกทัพกลับไป  เป็นเวลาเดียวกันที่  พระสุวัฒน์มีหนังสือกราบทูลให้ทรงอดทนอยู่อีกสักหน่อย  ภายในเมืองกำลังขาดแคลนอาหารมาก คงทนอยู่ได้ไม่นาน  มิใช่เพียงกราบทูลเท่านั้น  พระนางยังได้ทำอุบายเอากระสุนดินดำใส่ในโลงศพแล้วส่งไปให้พระมหาธรรมราชาเป็นจำนวนมากอีกด้วย  โดยพระนาง  “สมรู้คบคิดกับออกญาจักรี”  แม่ทัพสยาม วางแผนให้ออกรบแล้วถูกพม่าจับตัวได้  เมื่อนำตัวเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองและมหาธรรมราชาแล้ว  พระยาจักรีจึงบอกอุบายให้ทรงทราบทุกประการ  แล้วแสร้งหลบหนีออกมาทั้ง ๆ ที่มือเท้าจำตรวน  พระมหินทราธิราชดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้  จึงตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการรบศึกต่อไป

          ........พระเจ้าบุเรงนอง  กับ  มหาธรรมราชา  เร่งกำลังพลเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีกครา  พระยาจักรีบัญชาการรบอย่างไม่เต็มกำลัง  ปืนน้อยใหญ่ทุกกระบอกบรรจุกระสุนดินดำแต่น้อย  ยิงไปไม่ถึงข้าศึก  บางกระบอกก็แสร้งลืมใส่กระสุน  ดังนั้นกองกำลังพม่าจึงเข้าประชิดกำแพงเมืองได้  พระยาจักรีได้โอกาสจึงเปิดประตูเมือง  ให้ข้าศึกกรูกันเข้าเมือง

          .....ในขณะข้าศึกเข้ามาในเมืองจนเต็มไปหมดแล้ว  สมเด็จพระมหินทร์ยังไม่ทราบ  ทรงยืนดูกีฬาชนไก่อยู่อย่างสนุก  พระสุวัฒน์จึงจับพระหัตถ์จูงหลบหนีข้าศึกไปซ่อนให้ห้องหนึ่งของพระราชวัง  และวางยาพิษปลงพระชนม์เสียในที่นั้น

          .......วันวลิต  ได้บรรยายให้เห็นภาพการเสียกรุงศรีอยุธยา  ดังได้สรุปย่อมาแล้วนั้น  เป็นแง่มุมหนึ่ง  ยังมีอีกมุมหนึ่งที่ควรต้องรับฟังไว้เหมือนกัน  คือ  มุมมองของ  ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของเขา  ตอนที่เกี่ยวกับสยามหลายตอน  เฉพาะตอนเสียกรุงนี้เขาเขียนว่าอย่างไร  พรุ่งนี้จะนำมาแสดงต่อไปครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #133 เมื่อ: 25, มกราคม, 2562, 10:34:24 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- เมียนมาร์มองไทย -

ก่อนวันไทยเสียเมืองเรื่องสับสน
เล่าปะปนกันอยู่เลือกรู้ได้
บ้างว่าจักรพรรดิทรงลี้ภัย
เข้าอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์

แล้วกลับลาสิกขามาสู้ศึก
เบื้องหลังลึกแค่คิดแล้วติดขัด
การบวชมีจริงไหมยังไม่ชัด
แต่จะปัดทิ้งไปก็ไม่ควร

ประวัติศาสตร์เมียนมาร์ก็ว่าไว้
เกี่ยวกับไทยรบพม่าน่าสืบสวน
“หม่อง ทินอ่อง”เขียนไว้ให้ทบทวน
ขอประมวลมาแสดงเพื่อแจ้งใจ..


          อภิปราย ขยายความ........

          พงศาวดารกรุงเก่า  ไม่มีเรื่องพระมหาจักรทรงพระผนวชในระหว่างสงคราม  แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  กลับมีการบันทึกไว้ว่า.....  “การเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาดูท่าจะเป็นเรื่องยากสำกรับสมเด็จพระมหินทราธิราชเสียแล้ว  จึงอาราธนาสมเด็จพระมหาจักพรรดิ  ซึ่งผนวชอยู่ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์  ให้ลาผนวชกลับมาเสวยราชสมบัติอย่างเดิม  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชออกมาครองราชย์ใหม่”

          มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่ากล่าวว่า  ครั้งนั้นพระราเมศวรได้ไปกับกองทัพพม่าเพื่อไปรบยังเมืองแห่งหนึ่ง  แต่ต้องสิ้นพระชนม์ในการศึก  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ซึ่งอยู่ที่หงสาวดี) จึงขอลาพระเจ้าบุเรงนองผนวช  และขออนุญาตพาครอบครัวของพระราเมศวรเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองก็อนุญาต โดยส่งนายทหารอารักขากลับกรุงศรีอยุธยา  แต่ระหว่างทางนายทหารได้ลอบเป็นชู้กับพระชายาหม้ายของพระราเมศวร  สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงทราบ  จึงส่งข่าวกลับมายังกรุงหงสาวดี  พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทหารไปจับกุมนายทหารชายชู้นั้นฆ่าเสีย  เปลี่ยนนายทหารคนใหม่อารักขาไปส่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจนถึงกรุงศรีอยุธยา  เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังไม่ทรงหายแค้น  ได้ลาผนวชแล้วขึ้นครองราชย์สมบัติใหม่  ดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่า”

          ความพระราชวงษ์พงศาวดารพม่า  บอกว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่งนามว่า  พระราเมศวร  ถูกพม่าเอาตัวไปหงสาวดีพร้อมกับพระมหาจักรพรรดิ  พระราเมศวรออกรบร่วมกับกองทัพพม่า  แล้วถูกข้าศึกฆ่าตายในสนามรบ  พระมหาจักรพรรดิจึงขออนุญาตพระเจ้าบุเรงนองผนวช  แล้วกลับกรุงศรีอยุธยา  เรื่องนี้เท็จจริงอย่างไร  ข้าพเจ้าไม่กล้ารับและปฏิเสธ

          สาเหตุการยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา  ดร.หม่อง ทินอ่อง  เขียนไว้ในประวัติศาสตร์พม่าพอสรุปได้ว่า  พระเจ้าบุเรงนองครองราชสมบัติสืบแทนพระเจ้าตะเบงชเวตี้  แล้วทรงขยายอาณาจักรครอบคลุมไทยใหญ่ทั้งหมดแล้วยังยึดครองแคว้นล้านนาได้  ในการไปตีเชียงใหม่นั้น  เพราะว่า  พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างบุกเข้าเชียงใหม่แล้วร่วมกับไทยใหญ่หมายตั้งเป็นสหพันธรัฐ  และในปี พ.ศ. ๒๑๐๒ นั้นยังได้ทำไมตรีกับศัตรูเก่า (ของพม่า) คือไทย  เห็นว่าถ้าไทยใหญ่  ล้านนา  ล้านช้าง  และไทยรวมกันเป็นสหพันธรัฐที่เข้มแข็งได้ก็จะเป็นภัยอันใหญ่หลวงแก่พม่า  ดังนั้นจึงต้องเร่งกำจัดเสีย  พระเจ้าบุเรงนองอ้างเรื่องที่ไทยเคยส่งบรรณาการให้พระเจ้าตะเบงชเวตี้  จึงเรียกร้องให้ไทยส่งช้างเผือกเป็นบรรณาการ  พระมหาจักรพรรดิได้รับหนังสือจากพระเจ้าบุเรงนองแล้ว  ส่งพระราชสาส์นตอบไปแบบกำกวม  ความว่า

          .... “ราชมิตร  ช้างเผือกนั้นเกิดขึ้นแต่เฉพาะกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่  ผู้ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความยุติธรรม  กษัตริย์พม่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจปกครองแผ่นดินด้วยความยุติธรรม  ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพระองค์อาจจะเป็นเจ้าของในเวลาอันสมควรได้”

          พระเจ้าบุเรงนองได้รับพระราชสาส์นอ่านทราบความแล้วทรงพระพิโรธ  จึงยกทัพข้าแม่น้ำสาลวินอีกครั้งหนึ่ง  เตรียมกองทัพตีกรุงศรีอยุธยา  ตีเมืองสำคัญ  คือกำแพงเพชรและสุโขทัยได้ง่ายดาย  ขณะนั้นเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองราชบุตรเขยกรุงศรีอยุธยายอมอ่อนน้อม  จึงยินยอมให้ครองตำแหน่งต่อไป  บุเรงนองตัดสินพระทัยเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านหน้า  และยิงปืนใหญ่  ปืนคาบศิลา  จากหอคอยไม้พิเศษที่สร้างขึ้น  กองทหารไทยออกสู้รบก็ถูกระดมยิงอย่างหนักจึงต้องถอยกลับไป  ในที่สุดไทยก็ยอมแพ้

          พระเจ้าบุเรงนองเว้นที่จะเข้าปล้นเมือง  และมิได้ฆ่าฟันผู้คนเล่นเคย  กษัตริย์ไทยและพระมเหสี  เจ้าชายองค์รอง  และพระยาจักรีเสนาบดีถูกจับไปเป็นเชลย  ทรงตั้งเจ้าชายรัชทายาทไว้เป็นอุปราช  และจัดการอพยพช่างฝีมือ  ช่างแกะสะบัก  นักดนตรี  นักแสดง  นักเขียนไปยังเมืองพะโค  มีวอบรรรทุกพระพุทธรูปทองคำนำหน้าขบวนไป  พร้อมด้วยโคเทียมเกวียนอีกหลายร้อยตัวบรรทุกทรัพย์สินมีค่าไปเป็นจำนวนมาก  ติดตามด้วยช้างอีก ๒,๐๐๐ เชือก ......”

          เรื่องในประเด็นนี้ยังจบไม่ลงครับ พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อไป

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขร้ผึ้งไทย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), รพีกาญจน์

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #134 เมื่อ: 26, มกราคม, 2562, 10:32:41 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

- มหาธรรมราชาคืนบัลลังก์ -

บุเรงนองผู้ชนะทั้งสิบทิศ
ทรงเดชฤทธิ์เลิศหล้าจะหาไหน
เก็บกวาดทรัพย์สินเก่าของเราไป
พร้อมคนในครอบครัว“ตัวประกัน”

หนึ่ง“สุพรรณกัลยา”ธิดาเจ้า
มีเรื่องเล่าของพระนางช่างโศกศัลย์
แม้เป็นอัครมเหสีที่สำคัญ
ถูกฟาดฟันสิ้นพระชนม์กลางมณเฑียร

สอง”นเรศ”ราชกุมารผู้หาญกล้า
ถูกนำพาไปเลี้ยงเยี่ยง“ลูกเสี้ยน”
ภายหลังเป็น“จระเข้,เสือ”เร่เวียน
จนปรับเปลี่ยนเป็นศัตรูคู่ศึกเลย

“มหาธรรมราชาธิราช”เล่า
ตั้งเป็นเจ้าครองไทยให้“เป็นเต้ย”
ราชวงศ์สุโขทัยได้งอกเงย
เริ่มเสวยอำนาจราชบัลลังก์....


          อภิปราย ขยายความ........

          ดร.หม่อง ทินอ่อง  กล่าวว่า  “อดีตกษัตริย์ไทยได้รับอนุญาตให้ทรงผนวช  และอนุญาตให้กลับไปนมัสการวัดที่กรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งสุดท้าย  เพราะทรงพระชราแล้ว”  แต่เมื่อกลับถึงไทยแล้วทรงลาผนวชกลับขึ้นครองบัลลังก์พร้อมกับชักชวนให้พระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยร่วมมือในการรบกับพม่า  แต่ราชบุตรเขยไม่ยอมร่วมมือ  อ้างว่า  “เป็นบุรุษต้องรักษาเกียรติที่ได้ถวายคำสัตย์สาบานไว้ต่อกษัตริย์พม่า”  กษัตริย์ไทยทรงโกรธจึงเตรียมโจมตีพิษณุโลก

          พระเจ้าบุเรงนองยกทัพใหญ่มาผ่านเมาะตะมะแล้วตรงเข้าเมืองพิษณุโลกที่ถูกกองทัพอยุธยาล้อมอยู่  กองทัพที่ยกมาคราวนี้  หม่อง ทินอ่อง  กล่าวว่า  กำลังพลจากพม่า ๕๐๐,๐๐๐  จากเชียงใหม่สมทบอีกรวมเป็น ๙๐๐,๐๐๐  และยังมีทหารอาสาจากโปรตุเกสอีกกว่า ๑,๐๐๐  เป็น “กองทัพใหญ่ที่สุดที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยมีมาแต่ก่อน”  เมื่อยึดกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว  ทรงตั้งพระมหาธรรมราชา  “เป็นผู้รักษาพระนครแทน”  แล้วยกทัพต่อไปเมืองลาว  แต่ไม่อาจจับตัวการ คือ พระไชยเชษฐาธิราชได้

          ดร.หม่อง ทินอ่อง  มิได้บอกว่า  นอกจากสมบัติมีค่ามากมายที่พระเจ้าบุเรงนองเก็บกวาดขนไปพม่าแลัว  ทรงนำตัวประกัน  คือ  พระสุพรรณกัลยา  และพระนเรศไปด้วยหรือไม่  แต่มีความในคำให้การชาวกรุงเก่าให้รายละเอียดไว้  ดังต่อไปนี้

          พระเจ้าหงสาวดี  จึงให้เก็บทรัพย์สินเงินทองปืนใหญ่ปืนน้อย  ผู้คน  ช้างม้า  กับช้างเผือก ๕ เชือก  ทั้งรูปหล่อต่าง ๆ ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองที่อยู่ในหอพระ  คือ  รูปคน  รูปพรหม  รูปช้างเอราวัณ  รูปม้า  รูปราชสีห์  รูปคชสีห์  รูปนรสิงห์  รูปแกะ  รูปวัวธนู  รูปหงส์  รูปนกกะเรียน  รูปนกใหญ่  รูปนกยูงตัวผู้  รูปนกยูงตัวเมีย  เหล่านี้พระเจ้าหงสาวดีก็เอาไปด้วย  แล้วมอบราชสมบัติให้  “พระสุธรรมราชา” (มหาธรรมราชา)  พระมหินทร์กับพระสุวรรณกัลยาแลพระนเรศวรนั้น  พระเจ้าหงสาวดีเอาไปด้วย  พระยาจักรีซึ่งเปนไส้ศึกนั้น  พระเจ้าหงสาวดีก็ปูนบำเหน็จรางวัลเปนอันมาก  อยู่ประมาณเจ็ดวันก็ทรงเห็นว่าพระยาจักรีนี้ไม่ซื่อตรงต่อเจ้านายของตน  เจ้านายชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์ถึงเพียงนั้น  แล้วยังคิดร้ายเปนไส้ศึก  ถ้าจะเลี้ยงพระยาจักรีไว้อีกก็จะเปนไส้ศึกต่อไป  จึงรับสั่งให้เอาตัวพระยาจักรีไปประหารชีวิตเสีย  แต่พระมหินทร์นั้น  พระเจ้าหงสาวดีให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์เสมอ  เมื่อเสด็จถึงเมืองสระถุง  พระมหินทร์ไม่ยำเกรง หยาบช้าต่อพระเจ้าหงสาวดี ๆ ทรงพระพิโรธ  จึงสั่งให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย  เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเสด็จไปถึงเมืองหงสาวดีแล้ว  ก็ปูนบำเหน็จทแกล้วทหารเปนอันมาก  นางสุวรรณกัลยาราชธิดาของพระสุธรรมราชานั้น  พระเจ้าหงสาวดีทรงตั้งให้เปนอัครมเหษี  พระนเรศวรนั้นก็โปรดปรานเหมือนพระราชบุตรในอุทร”

          คำให้การขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ตรงกันกับคำให้การชาวกรุงเก่าว่า  พระเจ้าบุเรงนองทรงนำพาพระมหินทร์  พระนางสุวรรณกัลยา  พระนเรศวร  ไปหงสาวดีด้วย  แต่พระมหินทร์นั้น กระด้างกระเดื่องหยาบคาย  พระเจ้าบุเรงนองจึงให้ประหารชีวิตเสียกลางทาง  พระนางสุวรรณกัลยา  กับ  สุพรรณกัลยา  เป็นคนเดียวกัน  พงศาวดารหลัก เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า เป็นต้น  ไม่กล่าวถึงพระนามราชธิดาพระองค์นี้เลย  คงมีแต่ในคำให้การชาวกรุงเก่า  กับ  คำให้การขุนหลวงหาวัด  และ  พงศาวดารฉบับพิสดารปลีกย่อยบางฉบับเท่านั้น.....

<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลมหนาว ในสายหมอก, รพีกาญจน์, ฟองเมฆ

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 27   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.481 วินาที กับ 328 คำสั่ง
กำลังโหลด...