บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- จัดทัพรับศึกพม่า -
พระเจ้าปดุงมุ่งหน้ามาเก้าทัพ ไพร่พลนับเรือนแสนแน่นเถื่อนแถว ฝ่ายสยามจัดทัพรับทุกแนว แม้ทแกล้วทหารน้อยไม่ถอยเลย |
อภิปราย ขยายความ...............................
เมื่อวันวานนี้ได้พูดถึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามดำรัสให้ก่อสร้างพระที่นั่งดุสิตพระมหาปราสาท อัญเชิญพระแก้วมรกตเข้าประดิษฐาน ณ พระราชวังใหม่ ให้ก่อกำแพงพระนครและขุดคลองมหานาคและคลองอื่น ๆ เมื่อสร้างพระนครเสร็จแล้วจัดให้การฉลอง และขนานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร มหินทรอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" ในขณะที่ไทยสร้างพระนครเสร็จใหม่ ๆ นั้น พระเจ้าปดุงแห่งพม่าก็จัดกองทัพใหญ่เก้ากองยกมารุกรานไทย วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่จะเก็บความมาบอกเล่าดังต่อไปนี้
 - “กองทัพที่ ๕ ซึ่งเป็นทัพหลวงนั้น พระเจ้าปดุงทรงเป็นแม่ทัพคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ ให้อแซวังมูเป็นกองหน้า กับ จาวาโบ ๑ ยะไข่โบ่ ๑ ปกันหวุ่น ๑ ลอกาซุงถ่องหวุ่น ๑ เมจุหวุ่น ๑ รวมเป็นหกนาย ปีกขวานั้นให้มหยอกวังมู เป็นแม่กอง กับ อำมลอกหวุ่น ๑ ตวนแซงหวุ่น ๑ แลจะลอพวา ๑ ยัดจอกโบ่ ๑ งาจุหวุ่น ๑ เป็นหกนาย ปีกซ้ายนั้นให้ตองแวมูเป็นแม่กอง กับ แลกรุยกีมู ๑ แลแซงหวุ่น ๑ ญวนจุหวุ่น ๑ เยกีหวุ่น ๑ สีบอจอพวา ๑ เป็นหกนาย กองทัพหลังนั้นให้อหนอกแวงมูเป็นแม่กอง กับ รวาลักหวุ่น ๑ ออกกะมาหวุ่น ๑ โมกองจอพวา ๑ โมเยียงจอพวา ๑ โมมิกจอพวา ๑ เป็นหกนาย รวมทั้ง ๕ ทัพเป็นพล ๕๕,๐๐๐ คน ยกมาทางกาญจนบุรีทางหนึ่ง
 - ส่วนทางเมืองตากนั้น ชุกตองเวละจอแทงเป็นแม่ทัพ กับ ชุยตองนรทา ๑ ชุยตองสิริยจอพวา ๑ ถือพล ๓,๐๐๐ เป็นกองหน้า ให้จอข่องนรทาถือพล ๒,๐๐๐ เป็นกองหนุน ทั้งสองทัพเป็นคน ๕,๐๐๐ ยกมาทางหนึ่ง
 และทางเชียงใหม่นั้นให้สะโดะมหาสิริยอุจนาเจ้าเมืองตองอูเป็นโบชุกแม่ทัพ กับนายทัพนายกองเป็นหลายนายยกมาทางหนึ่ง ครั้นสะโดะมหาสิริยอุจนายกมาถึงเชียงแสนแล้ว จึงบังคับให้เนมโยสีหชุยะเป็นแม่ทัพ กับ ปันญีจองโบ่ ๑ ลุยลันตองโบ่ ๑ ปลันโบ่ ๑ มัดชุมรันโบ่ ๑ มิกอุโบ่ ๑ แยจอนรทา ๑ สาระจอชู ๑ เป็นแปดนาย ถือพล ๕,๐๐๐ ยกแยกมาตีเมืองสวรรคโลกทางหนึ่ง เมืองสุโขทัยทางหนึ่ง เมืองพระพิษณุโลกทางหนึ่ง
 ทางแจ้ห่มนั้นแต่งให้อาปรกามนี เจ้าเมืองเชียงแสนเป็นแม่ทัพ กับ พระยายอง ๑ พระยาไชย ๑ เชียงกเล ๑ เป็นห้านาย ถือพลพม่า ๓,๐๐๐ เป็นกองหน้า ตัวสโดะมหาสิริยอุจนาเป็นแม่ทัพ กับ แจกแกโบ่ ๑ อดุงหวุ่น ๑ อุติงแจกกะโบ่ ๑ เนมโยยันตมิก ๑ พระยาแพร่ ๑ เป็นหกนาย ถือพล ๑๕,๐๐๐ ทั้งสองทัพเป็นคน ๑๘,๐๐๐ ยกมาตีเมืองนครลำปาง
 ในการจัดทัพของพระเจ้าปดุงครั้งนี้เป็นกองทัพใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา คือมีกำลังพลทั้งหมดถึง ๑๐,๓๐๐๐ คน มีช้างม้าเครื่องศัสตราวุธพร้อมสรรพ ให้ยกมาพร้อมกันทุกทิศทุกทาง พระเจ้าปดุงมอบให้อินแซะมหาอุปราชบุตรผู้ใหญ่อยู่รักษาพระนคร แล้วพระองค์ก็ยกทัพบกทัพเรือมาอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ แล้วเร่งให้ทัพหน้าที่หนึ่งยกมาตั้งอยู่ที่เมืองสมิ แล้วเดินทัพล่วงหน้าเข้ามาถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ก่อนทัพอื่น ๆ”
 ** ท่านผู้อ่านครับ ในปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๘ นั้น พระเจ้าปดุงจัดทัพใหญ่ยกมาตีสยามประเทศ เดินทัพเข้าทุกทิศทุกทางดังกล่าวแล้ว วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ พวกมอญออกไปตระเวนด่านกลับมาเข้ากราบทูลว่า ได้ข่าวพม่ายกกองทัพมาตั้งอยู่ ณ เมืองสมิ จะยกเข้ามาตีพระนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวศึกดังนั้น จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับทั้งท้าวพระยาเสนาบดีมุขมนตรีทั้งหลาย ปรึกษาราชการสงครามอยู่เป็นหลายเพลา ในขณะนั้นก็มีหนังสือบอกจากเมืองชุมพร เมืองถลาง เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองนครลำปาง บอกข้อราชการศึกว่าพม่ายกทัพมาเป็นหลายทัพหลายทาง
 “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพหลวงไปรับทัพพม่าทางเมืองกาญจนบุรี ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน ต้นตระกูล สนธิรัตน์) ผู้ว่าราชการ ณ ที่สมุหนายก คุมทัพท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายพระราชวังหลวง และทัพหัวเมืองทั้งปวง โดยเสด็จพระราชดำเนินอีกทัพหนึ่ง ให้เจ้าพระยาธรรมาธิบดี กับ เจ้าพระยายมราช เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปรับทัพพม่า ณ เมืองราชบุรีกองทัพหนึ่ง ทางเหนือนั้นมีพระราชดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง กับ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ และเจ้าพระยาเสนาบดีศรีสมุหกลาโหม เจ้าพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรม และท้าวพระยาข้าราชการในกรุงฯ และหัวเมืองทั้งปวง ยกไปตั้งรับพม่า ณ เมืองนครสวรรค์ทัพหนึ่ง”
* ไทยจะรับศึกพม่าไหวไหมพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปนะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, น้ำหนาว, เฒ่าธุลี, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- การรบยกแรกที่ลาดหญ้า -
และแล้วสองทัพใหญ่เผชิญหน้า ณ ลาดหญ้าทันใดไม่เอื้อนเอ่ย เข้ารบลุกบุกตะบันกันอย่างเคย สองฝ่ายเผยธาตุแท้ให้แก่กัน
คือสู้อย่างทรหดไม่ลดละ ฝ่ายไทยปละมือปล่อยล่าถอยยั่น กรมพระราชวังบวรฯทรงกริ้วพลัน สั่งให้บั่นหัวนายทัพเสียบประจาน
ประกาศว่าใครถอยไม่ปล่อยยก จับใส่ครกโขลกแหลกสิ้นสงสาร รบเพื่อชาติศาสน์พร้อมยอมวายปราณ ต้องเหี้ยมหาญเหิมสู้ริปูมิกลัว |
อภิปราย ขยายความ..................................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงตอนที่ พระเจ้าปดุงแห่งพม่าจัดทัพยกมาตีกรุงเทพมหานครฯ ๔ ทาง คือ
มาทางด่านสิงขร ประจวบคีรีขันธ์ ทางหนึ่ง ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี ทางหนึ่ง ทางล้านนา เชียงแสน เชียงใหม่ ทางหนึ่ง ทางด่านแม่ละเมา แม่สอด จังหวัดตาก ทางหนึ่ง
 จัดเป็นกองทัพใหญ่น้อยรวมได้ ๙ ทัพ กำลังพลจำนวนแสนเศษ โดยพระเจ้าปดุงเป็นแม่ทัพหลวง ยกมาตั้งที่เมาะตะมะ เตรียมเดินทัพเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบข่าวศึกจึงตรัสให้จัดกองทัพรับศึกทางเหนือ ใต้ และตะวันตก เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป เชิญอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อนะครับ
“สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ถวายบังคมลาเสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิปิดทองทึบ พระที่นั่งสวัสดิชิงชัยประกอบพื้นดำทรงพระชัยนำเสด็จ พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเสด็จเป็นอันมาก ดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงจากกรุงเทพฯ โดยทางชลมารค
 ดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร เป็นกองหน้า ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้ว่าที่สมุหนายกเป็นเกียกกายทัพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎา เป็นยกกระบัตรทัพ มีพระยามนเทียรบาลเป็นกองหลัง มีพลทหารในกองทัพทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐ คน ดำเนินไปทั้งทางบกทางเรือถึงตำบลลาดหญ้าเหนือเมืองกาญจนบุรี จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้หยุดทัพหลวงอยู่ที่นั้น ให้กองหน้ากองหนุนตั้งค่ายรายกันอยู่เป็นหลายค่าย โดยชักปีกกาถึงกันทุก ๆ ค่าย ค่ายหลวงนั้นตั้งห่างค่ายหน้าลงมาในระยะทางห้าเส้น ให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมเสร็จ
 แล้วดำรัสให้พระยามหาโยธาคุมกองมอญ ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งค่ายขัดทัพอยู่ ณ ด่านกรามช้าง ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาธิบดี เจ้าพระยายมราช ถือพล ๕,๐๐๐ ยกออกไปตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองราชบุรีเป็นหลายค่าย ส่วนกองทัพกรมพระราชวังหลังและกรมหลวงนรินทร์รณเรศ ถือพล ๑๕,๐๐๐ คนนั้นก็ยกไปตั้งทัพหลวงอยู่ ณ เมืองนครสวรรค์ ให้เจ้าพระยามหาเสนาเป็นกองหน้าไปตั้งค่าย ณ เมืองพิจิตร ให้เจ้าพระยาพระคลัง และ พระยาอุทัยธรรมเป็นกองหลัง ตั้งค่ายอยู่เมืองชัยนาท ระวังพม่าจะยกมาทางเมืองอุทัยธานี
 กองทัพพระเจ้าปดุงซึ่งยกมาทางเมืองเมาะตะมะ ทัพหน้าที่ ๑ ล่วงเลยเข้ามาทางด่านกรามช้าง เข้าตีค่ายพระยามหาโยธาแตกพ่ายเข้ามา แล้วพม่าก็เดินทัพตามเข้าจนถึงตำบลลาดหญ้าที่กองทัพหลวงของไทยตั้งอยู่
 พร้อมกันนั้นทัพที่ ๒ ของพม่ามีพล ๑๕,๐๐๐ คนก็ยกหนุนเข้ามาสมทบทัพที่ ๑ เมี้ยนหวุ่นกับเมี้ยนเมหวุ่นแม่ทัพทั้งสองกอง ก็ให้นายทัพนายกองของตนเกณฑ์พลทหารตั้งค่ายรายกันเป็นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกัน ไล่เรี่ยกันนั้นตะแคงกามะ ทัพที่ ๓ ก็ยกหนุนมาตั้งค่ายอยู่ ณ ท่าดินแดง ตะแคงจักกุ ทัพที่ ๔ ก็ยกตามมาตั้งค่ายอยู่ ณ สามสบ
 ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงยกตามมาตั้งค่ายหลวงอยู่ ณ ด่านพระเจดีย์สามองค์แดนต่อแดนเพื่อคอยฟังข้อราชการจากกองหน้า แล้วให้เกณฑ์รี้พลกองลำเลียงขนเสบียงอาหารส่งกองหน้ามิได้ขาด
 สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เห็นพม่ายกทัพมาตั้งค่ายรายเรียงอยู่ดังนั้น จึงมีพระราชบัณฑูรให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ยกกำลังออกโจมตีค่ายพม่าทันที พม่าก็ต่อรบเป็นสามารถ ทั้งไทยและพม่ายิงปืนโต้ตอบใส่กันราวห่าฝนจนเกิดล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ทัพไทยก็ไม่สามารถตีหักเอาค่ายพม่าได้จึงล่าถอยกลับเข้าค่าย
 ยามนั้นจึงมีพระบัณฑูรให้ทำครกทำสากไว้ในค่ายสามสำรับ แล้วให้ประกาศแก่นายทัพนายกองและทหารทั้งปวงว่า “ถ้าผู้ใดถอยหนีข้าศึก จะเอาตัวลงใส่ในครกโขลกเสีย” แล้วดำรัสให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรี ทั้งสามเป็นนายทัพกองโจร พระยารามคำแหง พระเสนานนท์ เป็นปลัดทัพ ถือพล ๕๐๐ ยกออกลัดป่าไปคอยสกัดตีตัดกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ช่องแคบ อย่าให้พม่าส่งลำเลียงกันได้
 พระยาสีหราชเดโชนำกำลังกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชดำรัส จับพม่าได้บ้างก็ส่งไปยังทัพหลวง แต่แล้วก็เกิดย่อท้อต่อข้าศึก จึงหลีกหนีไปตั้งซุ่มทัพอยู่ที่อื่น ขุนหมื่นในกองทัพมาฟ้องกล่าวโทษให้ทรงทราบ จึงดำรัสให้พระยามนเทียรบาลและข้าหลวงหลายนายยกกำลังไปจับตัวพระยานายทัพกองโจรทั้งสามนายประหารชีวิตเสีย ตัดศีรษะนำมาถวาย ส่วนปลัดทัพนั้นให้เอาดาบสับศีรษะคนละสามเสี่ยง
พระยามนเทียรรับพระราชบัณฑูรแล้วดำเนินการตามดำรัสได้ทุกประการ เอาศีรษะใส่ชะลอมนำมาถวาย ณ ค่ายหลวง มีพระราชบัณฑูรให้เอาศีรษะทั้งหมดเสียบประจานไว้หน้าค่าย ประกาศว่าอย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างต่อไป”
** ท่านผู้อ่านครับ การรบระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกาญจนบุรีเริ่มจะเข้มข้นขึ้นแล้ว พรุ่งนี้มาดูกันว่า ผลการรบจะลงเอยอย่างไรครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ใช้อุบายลวงพม่าให้เสียขวัญ -
ตั้งนายกองโจรใหม่แทนคนเก่า “พระองค์เจ้าขุนเณร”เป็นนายหัว เสบียงพม่ามาปรากฏปล้นหมดครัว ทั้งจับตัวเป็นตายได้ทุกวัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนึกกลัวชนะช้าพม่าหยัน เสด็จด่วนสู่ด่านเมืองกาญจน์พลัน ปลุกปลอบขวัญทหารกล้าพม่าคร้าม
กรมพระราชวังบวรเจ้า ทรงถือเอากลศึกอุบายสยาม “ถ่ายกำลัง”ลวงพม่าตื่นเต้นตาม แล้วเกิดความท้อแท้แพ้กลลวง |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ถึงพระเจ้าปดุงแห่งกรุงอังวะกรีธาทัพใหญ่มารุกรานไทย ทั้งทางใต้ทางเหนือ โดยพระองค์ยกทัพหลวงมาทางตะวันตก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เป็นแม่ทัพยกพลไปรับทัพพม่า ณ เมืองกาญจนบุรี ทรงตั้งค่ายหลวง ณ ตำบลลาดหญ้า และได้รบกับกองทัพหน้าของพระเจ้าปดุง วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อไปครับ
 “เมื่อพระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรี นายทัพกองโจรทั้งสามเกิดความย่อท้อต่อข้าศึกไม่ปฏิบัติตามพระราชบัณฑูร จนถูกพระยามนเทียรบาลนำข้าหลวงทั้งปวงไปจับตัวประหารชีวิต ตัดศีรษะใส่ชะลอมมาถวาย ณ ค่ายหลวงตามพระราชบัณฑูรแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงดำรัสให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรเป็นนายทัพกองโจรกับข้าหลวงหลายนาย คุมทหาร ๑,๐๐๐ ยกไปบรรจบกับกองโจรเดิมเป็นคน ๑,๕๐๐ คอยก้าวสกัดตีกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุไคร้ดังก่อน พระองค์เจ้าขุนเณรยกกำลังไปกระทำตามรับสั่งอย่างแข็งขัน จับได้พม่าและช้างม้าโคต่าง ๆ แล้วส่งมาถวายเนือง ๆ
 ฝ่ายเมี้ยนหวุ่นกับเมี้ยนเมหวุ่นแม่ทัพพม่าทั้งสองนายก็ให้แต่งหอรบขึ้น ณ ค่ายหน้าเป็นหลายแห่ง เอาปืนใหญ่ขึ้นหอรบแล้วระดมยิ่งใส่ค่ายไทย สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้เอาปืนลูกไม้ครั้งพระเจ้าตาก เข็นออกไปตั้งหน้าค่าย แล้วให้ระดมยิงค่ายพม่าและหอรบจนหักพังลงเป็นหลายตำบล พลพม่าในค่ายถูกกระสุนปืนที่ทำด้วยไม้ล้มตายและบาดเจ็บลำบากเป็นอันมาก มิอาจยกออกนอกค่ายได้จึงรักษามั่นอยู่แต่ในค่าย อีกทั้งยังขัดเสบียงอาหารจนถอยกำลังลง ยามนั้นสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการสงครามให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ณ กรุงเทพมหานคร
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบในข้อราชการสงครามดังนั้นก็ทรงปริวิตก เกรงว่าจะเอาชัยชนะในข้าศึกโดยเร็วไม่ได้ ถึง ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาลประกอบพื้นแดง พระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์ประกอบพื้นดำ ทรงพระชัยนำเสด็จพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทร่วมเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นอันมาก มีพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวง ๒๐,๐๐๐ ยาตรานาวาพลพยุหะจากกรุงเทพฯ โดยทางชลมารคถึงเมืองกาญจนบุรี
 สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงทราบก็รีบเสด็จพระราชดำเนินลงมาถวายบังคมรับเสด็จ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงช้างพระที่นั่งพังเทพลีลาผูกกูบทองพร้อมด้วยเครื่องกรรภิรมย์ และธงชัยราชกระบี่ธุชพระครุฑพาหนะแห่โดยขนาด พลโยธาหาญล้วนสวมใส่เสื้อสักหลาดแดง หมวกแดง พรั่งพร้อมด้วยพลสินธพและธงทวนกระบวนปืนนกสับสรรพอเนกวิวิธาศัสตราวุธแหนแห่แลไสว ประโคมฆ้องชัยเบญจดุริยดนตรีแตรสังข์กลองชนะโครมครึกกึกก้อง เสียงพลทหารโห่ร้องบันลือศัพท์กาหลตลอดทาง เสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงจวบจนถึงค่ายหลวง เมื่อประทับ ณ พลับพลาเรียบร้อยแล้วจึงปรึกษาราชกิจการสงครามด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า
 กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลพระกรุณาว่าทัพพม่าข้าศึกจวนจะแตกอยู่แล้ว ขออย่าได้ทรงพระวิตกเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชธุระอาสาในราชการสงครามเอาชัยชำนะปัจจามิตรฉลองพระเดชพระคุณให้จงได้ อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนยังพระนครเถิด เพื่อจะได้ทรงพระราชดำริจัดการต่อสู้อริราชดัสกรในทางอื่น ๆ สืบไป สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามคำกราบทูล ครั้นเพลาค่ำวันนั้นจึงยาตราทัพหลวงกลับมาโดยกระบวนราบถึงเมืองกาญจนบุรี แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งดำเนินพยุหนาวาทัพกลับคืนพระนคร
 ในยามที่กองทัพหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จดำเนินจากเมืองกาญจนบุรีสู่ค่ายหลวง ณ ตำบลลาดหญ้าอย่างอึกทึกกึกก้องดังกล่าวข้างต้นนั้น ฝ่ายพม่าได้ยินเสียงรี้พลช้างม้าฆ้องกลองกึกก้องสนั่นไปทั้งป่าจึงขึ้นดูบนหอรบ เห็นทัพหลวงยกหนุนเนื่องมาดังนั้นก็พากันครั่นคร้ามขามเดชานุภาพเป็นกำลัง แม่ทัพทั้งสองนายให้เก็บเอาลูกปืนไม้ที่ยิงไปตกในค่ายนั้น ให้ตอญากับไพร่นำไปถวายพระเจ้าอังวะกราบทูลว่า ไทยเอาไม้เป็นลูกปืน ต่อไม้หมดสิ้นทั้งป่าจึงจะสิ้นกระสุนปืนเขา เมื่อใดไม้ในป่าจะสิ้น ซึ่งจะตีเอาเมืองไทยให้ได้นั้นเห็นเป็นเหลือกำลัง ทั้งกองโจรไทยก็มาตั้งซุ่มสกัดตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะส่งกันก็ขัดสน รี้พลก็อดอยากถอยกำลังลงทุกวัน ๆ จะขอพระราชทานล่าทัพ พระเจ้าปดุงทรงเห็นด้วยจึงให้มีหนังสือตอบถึงแม่ทัพว่า ให้รั้งรอดูท่วงทีก่อน ถ้ารี้พลอิดโรยหนักเห็นจะทำการไม่สำเร็จจึงค่อยล่าทัพถอย อย่าให้เสียทีแก่ข้าศึก แม่ทัพได้แจ้งในหนังสือรับสั่งดังนั้นก็รั้งรออยู่ต่อรบแต่ในค่าย โดยมิยอมออกรบนอกค่าย
 สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงพระราชดำริเป็นกลศึก โดยเพลากลางคืนให้ผ่อนช้างม้ารี้พลลงมายังค่ายเมืองกาญจนบุรีอย่างเงียบเชียบ ครั้นเพลาเช้าก็ให้ยกกลับไปยังค่ายหลวงอย่างอึกทึกครึกโครม ให้เดินพลและช้างม้าเรี่ยรายกันเนื่องขึ้นไปอย่าให้ขาดตั้งแต่เช้าจดเย็น ลวงให้พม่าแลเห็นกองทัพยกหนุนขึ้นมาเป็นอันมาก ทรงให้กระทำดังนี้ทุก ๆ วันพม่าขึ้นดูบนหอรบเห็นดังนั้นก็สำคัญว่ากองทัพไทยยกมาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ก็ยิ่งย่อท้อกลัวเกรงเป็นอย่างมาก และในยามนั้นในค่ายพม่าก็บังเกิดไข้ทรพิษทำให้รี้พลพม่าเจ็บป่วยลำบากและล้มตายลงก็มาก ทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสนกำลังศึกถอยลงทุกประการ”
 * ท่านผู้อ่านครับ สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงตั้งให้พระองค์เจ้าขุนเณร เป็นนายกองโจรคนใหม่แทนพระยาสีหราชเดโชและพวกที่ถูกตัดหัวเสียบประจานไปแล้ว พระองค์เจ้าขุนเณรผู้นี้เป็นใครมาจากไหน ไม่ปรากฏรายละเอียดในพระราชพงศาวดาร ทรงเป็นหัวหน้ากองโจรที่เก่งกล้าสามารถยิ่งนัก และอยู่มาจนถึงสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์สมัยรัชกาลที่ ๓ ในตำแหน่งหัวหน้ากองโจรนี้แหละครับ
 เราก็ได้ทราบกันจากพระราชพงศาวดารนี้แหละนะครับว่า ลูกกระสุนปืนสำคัญที่สุดของไทยในยามนั้นคือ “กระสุนไม้” ท่านตัดไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นลูกกระสุนปืนยิงใส่ค่ายพม่า กระสุนไม้นี้เริ่มใช้มาแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว ทรงจัดทำไว้มากแต่ยังใช้ไปไม่มาก เพราะพม่าล่าถอยกลับไปเสียก่อน คราวนี้นำออกมาใช้ทำลายค่ายพม่า และทำลายชีวิตทหารในค่าย จนพม่าย่อท้อ แม่ทัพถึงกับกราบทูลพระเจ้าประดุงว่า “ไม้ยังไม่หมดป่า ลูกปืนของไทยที่ยิงพม่าก็ไม่หมด”
ตอนนี้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงใช้กลอุบาย “ถ่ายกำลัง” ลวงพม่าให้เข้าใจว่ามีกองกำลังจากกรุงเทพมหานครยกไปสมบทหนุนเนื่องทุกวัน ในค่ายพม่าเกิดไข้ทรพิษ และขาดเสบียงอาหาร นายทัพนายกองเกิดความรู้สึกท้อแท้ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจะทรงเผด็จศึกพม่าได้อย่างไรหรือไม่ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณธ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, ปิ่นมุก, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่ายอมแพ้ถอยทัพกลับ -
แล้วแม่ทัพนายกองของพม่า ล้วนเห็นว่าทัพไทยแสนใหญ่หลวง หากขืนสู้ต่อไปตายทั้งปวง จึงสิ้นห่วงชัยชนะอันจะมี
รีบย้ายแยกแหกค่ายไม่รบรับ สลายทัพทยอยเร่งถอยหนี ไทยเข้าค่ายพม่านั้นยึดทันที ไล่ตามตีพม่าตายเกลื่อนรายทาง
พระเจ้าปดุงถอยทัพกลับเมาะตะมะ ไทยชนะเด็ดขาดลาดหญ้าว่าง ยังเหลือทัพราชบุรีมิละวาง จึงทรงย่างยาตรามาจัดการ |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาบอกเล่าถึงตอนที่ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า มีหนังสือกราบบังคมทูลรายงานการสู้รบที่ลาดหญ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวิตกว่า การรบจะยืดเยื้อ ได้ชัยชนะพม่าช้าไป จึงเสด็จพยุหยาตราโดยทางชลมารคสู่สมรภูมิรบที่ลาดหญ้า สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ กราบบังคมทูลให้เสด็จกลับพระนคร เพื่อเตรียมการรบทางอื่นต่อไปไม่ต้องทรงห่วงทางกาญจนบุรี ทรงยืนยันว่าจะเอาชนะพม่าให้ได้โดยเร็ววัน
ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนครแล้ว สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯทรงใช้กลอุบาย “ถ่ายกำลังพล” ให้พม่าเห็นว่ามีกองทัพจากพระนครยกมาหนุนวันละเป็นจำนวนมาก ทำให้พม่าพากันย่อท้อเสียขวัญหมดกำลังใจในการสู้รบ รออยู่แต่ในค่ายเท่านั้น เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร อ่านพระราชพงศาวดารต่อไปนี้ครับ
 “ถึง ณ วันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ยกพลทหารออกระดมตีค่ายพม่าทุกทัพทุกกอง ให้เอาปืนใหญ่ลากล้อออกยิงค่ายพม่าทุก ๆ ค่าย ทำให้ค่ายและหอรบหักพังทำลายลงเป็นหลายตำบล ฝ่ายพม่าก็ต่อรบด้วยการยิงปืนใหญ่น้อยตอบโต้ตั้งแต่เช้าจนค่ำ
 ครั้นเวลาประมาณทุ่มเศษ แม่ทัพพม่าเห็นเหลือกำลังจะสู้รบต่อไปได้ ก็แตกฉานออกจากค่ายหนีไป พลทหารไทยก็เข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้นจับได้ผู้คนทั้งดีและเจ็บป่วยกับเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงมีพระราชบัณฑูรให้กองทัพทั้งปวงยกติดตามพม่าไปจนถึงปลายแดน จับพม่าที่หนีไม่ได้กับช้างม้าเครื่องศัสตราวุธอีกเป็นอันมาก
 ขณะนั้นกองโจรพระองค์เจ้าขุนเณรได้แจ้งว่าพม่าแตกหนีแล้วก็ยกออกก้าวสกัดตีตามกลางทาง จับได้ผู้คนและเครื่องศัสตราวุธช้างม้าก็มากและส่งลงไปถวาย ณ ค่ายหลวง แล้วยกติดตามไปจนถึงท่าดินแดงและสามสบ
 ฝ่ายตะแคงกามะแม่ทัพที่ ๓ ทราบชัดแล้วว่าทัพหน้าของพม่าแตกแล้ว ก็แต่งหนังสือให้ม้าใช้รีบไปแจ้งแก่ตะแคงจักกุแม่ทัพที่ ๔ และกราบทูลพระเจ้าอังวะ แล้วก็เร่งเลิกทัพกลับไป พระเจ้าอังวะทรงทราบว่ากองทัพหน้าแตกแล้วก็เสียพระทัย สั่งให้เลิกทัพทั้งปวงกลับไป ณ เมืองเมาะตะมะโดยเร็ว
 เมื่อมีชัยต่อพม่าปัจจามิตรสำเร็จราชการสงครามแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ จึงดำรัสให้ข้าหลวงถือหนังสือบอกเข้าไปกราบทูล ณ กรุงเทพมหานคร แล้วให้กองทัพพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร ยกทัพลงมาทางด่านเมืองราชบุรี ส่วนพระองค์เสด็จลงเรือพระที่นั่งเคลื่อนทัพหลวงลงมาโดยกระบวนนาวาพยุหทางชลมารคมายังเมืองราชบุรี
 กล่าวถึงกองทัพพม่าที่ยกมาจากเมืองทวายนั้น เดินทัพช้าและไม่พร้อมกัน ต่อเมื่อทัพทางลาดหญ้านั้นแตกพ่ายกลับไปเมาะตะมะแล้วจึงเพิ่งเดินทางมาถึงด่านเจ้าขว้าว ทัพเจ้าเมืองทวายกองหน้ายกล่วงเข้ามาตั้งค่ายอยู่นอกเขางูแดนเมืองราชบุรี ทัพจิกสินโบ่กองหนุนยกมาถึงด่าน ทัพอนอกแผกดิกหวุ่นแม่ทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณ ท้องชาตรี
 ไพร่พลพม่ากองหน้าลอบเข้ามาเก็บผลหมากมะพร้าวของสวนในแขวงเมืองราชบุรีเอาไปยังกองทัพ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาธรรมา แม่ทัพซึ่งตั้งด่านอยู่ ณ เมืองราชบุรีนั้นมีความประมาท มิได้จัดแจงแต่งกองลาดตระเวนไปสืบราชการศึก จึงหาได้รู้ว่ากองทัพพม่ายกเข้ามาตั้งอยู่ ณ ที่ใดไม่"
 * ท่านผู้อ่านครับ ศึกสงครามระหว่างไทย-พม่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มการรบครั้งแรกที่ตำบลลาดหญ้า กาญจนบุรี พม่าต้องแตกพ่ายหนีไปเพราะความเหี้ยมหาญเด็ดขาดและกลอุบายอันแยบยลของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ทัพหลวงของพม่าล่าถอยกลับไปแล้ว แต่ยังมีทัพราชบุตรของพระเจ้าปดุงที่ยกมาทางทวายเข้าตั้งค่าย ณ บริเวณเขางู และทางเชียงแสนซึ่งเป็นทัพใหญ่อีกสองทัพ
เบื้องต้นเราทราบแล้วว่าแม่ทัพไทยที่ยกไปรับศึกทางเมืองราชบุรีนั้นมีความประมาทเลินเล่อ กองทัพพม่าเข้ามาถึงเมืองราชบุรีแล้วยังไม่รู้เรื่องเลย แต่ทางเหนือซึ่งกรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไปตั้งรับพม่าที่เมืองนครสวรรค์นั้นยังห่างไกลพม่าข้าศึกอยู่มาก ผลการรบทางเมืองราชบุรีและทางเมืองเหนือจะเป็นอย่างไร อ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, เฒ่าธุลี, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ทรงเริ่มปราบพม่าเหนือ-ใต้ -
ไล่พม่าราชบุรีไม่ที่เหลืออยู่ ปราบริปูหดหายไปหนึ่งด้าน ใต้กับเหนือเหลืออยู่เป็นหมู่มาร ทรงคิดอ่านขับไล่ไมรอรี
จึงให้พระอนุชาธิราชเจ้า ทรงเร่งเร้าจัดทัพขมันขมี เป็นทัพเรือลงใต้ในทันที ระดมตีพม่าจนพ้นชุมพร
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมตัวขึ้นเหนือเหมือนเมื่อก่อน ทัพพม่ามากมายหลายนคร สั่งเร่งต้อนตีไล่พ้นไปพลัน |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวไทยรบพม่าที่ตำบลลาดหญ้า ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ถึงตอนที่ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯทรงใช้กลอุบายเอาชนะแก่ทัพหน้าพม่า จนทัพหลวงของพระเจ้าปดุงต้องล่าถอยกลับไปเมืองเมาะตะมะ แล้วกรมพระราชวังบวรฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินทัพกลับทางเมืองราชบุรี เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อครับ
 พระยากลาโหมราชเสนา กับ พระยาแสนยากร รับพระราชบัณฑูรยกกองทัพอ้อมป่ามาทางบกพบค่ายพม่าตั้งอยู่นอกเขางูเมืองราชบุรี จึงขับพลเข้าโจมตีหักเอาค่าย เจ้าเมืองทวายนายทัพกองหน้าก็ต่อรบเป็นสามารถ ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันอยู่ตูมตาม ทหารไทยของพระยากลาโหมราชเสนากำลังฮึกเหิมห้าวหาญ จึงปีนค่ายเย่อค่ายแล้วเข้ารบกันถึงขั้นตะลุมบอน พลพม่าต้านทานกำลังมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีเป็นอลหม่าน
 พลทัพไทยไล่ติดตามไปจนถึงด่าน กองหน้าทหารพม่าที่แตกหนีไปนั้น ไปปะทะกับกองหนุนซึ่งตั้งอยู่ที่ด่าน ซึ่งกองหนุนหน้าด่านพากันแตกหนีไปโดยมิได้ต่อรบ ส่วนทัพไทยที่ไล่ตามไปจับได้ไพร่พลพม่าและเครื่องศัสตราวุธ แล้วแม่ทัพทั้งสองก็แต่งหนังสือบอกข้อราชการซึ่งได้ชัยแก่ข้าศึก มอบเชลยพม่าและศัสตราวุธที่ยึดได้นั้นให้นายไพร่นำมาถวายสมเด็จพระอนุชาธิราช ณ เมืองราชบุรี
 สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทราบความในหนังสือบอกดังนั้นก็ทรงพิโรธ ให้ลงพระราชอาชญาจำเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาธรรมา สองแม่ทัพและนายทัพนายกองทั้งปวงไว้ ณ ค่ายเมืองราชบุรี แล้วบอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครว่า จะขอพระราชทานประหารชีวิตแม่ทัพทั้งสองนั้นเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีตราตอบบอกไป ขอชีวิตเจ้าพระยาทั้งสองไว้ เพราะมีความชอบมาแต่ก่อน ให้ทำแต่โทษประจานตามพระอัยการศึกก็พอแล้ว
 สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงทราบในท้องตรารับสั่งแล้ว จึงให้ลงพระราชอาชญาแก่เจ้าพระยาทั้งสอง โดยให้โกนศีรษะสามแฉกแล้วให้ตระเวนรอบค่าย และถอดเสียจากฐานาศักดิ์ นายทัพนายกองทั้งปวงนั้นให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนเสียทั้งสิ้น
 จากนั้นให้เลิกทัพกลับเข้าพระนคร และขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช กราบทูลแถลงข้อราชการสงครามทั้งปวง แล้วทั้งสองพระองค์จึงดำรัสปรึกษาราชการแก่กันว่า กองทัพพม่าซึ่งยกมาตีหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตกนั้น ยังหาทันได้แต่งกองทัพออกไปต่อตีช่วยหัวเมืองทั้งปวงไม่ ด้วยศึกติดพันกันอยู่ทางใกล้พระนคร ต้องต่อรบทางที่ใกล้เสียก่อน บัดนี้ราชการสงครามทางใกล้ก็สำเร็จแล้ว จึงมีพระราชโองการดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ายาตรานาวาทัพหลวงออกไปทางทะเล ให้ปราบปรามราชดัสกรหัวเมืองปากใต้ฝ่ายตะวันตก
 ส่วนสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็จะเสด็จพระราชดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงไปปราบอริราชไพรีทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ครั้นตรัสปรึกษาตกลงกันแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าก็ให้จัดแจงเรือรบเรือทะเลเป็นอันมาก ประกอบด้วยเครื่องศัสตราวุธพร้อมเสร็จ
 ณ วันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ได้มหาพิชัยฤกษ์ จึงสมเด็จพระอนุชาธิราช ถวายบังคมลาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ ยาตรามหานาวาพยุหทัพหลวงออกจากกรุงเทพมหานครไปโดยทางท้องทะเลหลวง มีพลรบพลแจว ๒๐,๐๐๐ เศษล้วนแต่เป็นข้าหลวงพระราชวังหน้าทั้งสิ้น ใช้ใบเรือรบทั้งปวงไปยังเมืองชุมพร
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้เอาพลพม่าเชลยทั้งหลายซึ่งจับเป็นได้นั้นจำใส่คุกไว้ทั้งสิ้น แล้วโปรดให้พระยาสุเทพสุดาวดีเจ้ากรมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอตำหนักใหญ่ ถือท้องตรารับสั่งขึ้นไปถึงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลังว่า .....
 “บัดนี้ราชการศึกทางเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราทัพหลวงไปปราบปัจจามิตรได้ชัยชำนะเสร็จแล้ว และราชการสงครามข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือแม้นกรมพระราชวังหลังกระทำไม่สำเร็จ พระเศียรก็จะมิได้อยู่กับพระกายเป็นแท้ และบัดนี้ทัพหลวงก็จะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาโดยเร็วอยู่แล้ว”
 ** อ่านพระราชพงศาวดารมาถึงตรงนี้แล้วได้เห็นจุดอ่อนของไทยชัดเจน หลายครั้งที่ทหารไทยรบแล้วพ่ายแพ้แก่ข้าศึกอย่างไม่ควรจะแพ้ สาเหตุคือความประมาทเลินเล่อ ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัย ล่าสุดก็เห็นทหารใหญ่ระดับแม่ทัพ บรรดาศักดิ์เป็นถึง “เจ้าพระยา” คือ เจ้าพระยายมราช กับ เจ้าพระยาธรรมา ที่ตั้งค่ายรับทัพพม่าอยู่ ณ เมืองราชบุรี แต่กองทัพพม่าเขามาตั้งค่ายอยู่ไม่ไกลกันนักกลับไม่รู้เรื่องเลย สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงใช้ความเด็ดขาดจะสั่งประหารชีวิตเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา ด้วยเห็นว่าเป็นผู้มีความดีความชอบมาก่อน จึงทรงขอไว้ ให้เปลี่ยนโทษประหารเป็นอย่างอื่น สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯจึงทรงให้ ”โกนหัวสามแฉก” แห่ตระเวนไปรอบค่ายแล้วให้ถอดยศปลดตำแหน่ง เฆี่ยนหลังประจาน
 เสร็จศึกสงครามลาดหญ้าทางด้านตะวันตกแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงปรึกษาวางแผนขับไล่ทัพพม่าทางใต้ที่เข้ามาตีชุมพร และทางเหนือที่เข้ามาตีเชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก แล้วตกลงแบ่งหน้าที่ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชยกทัพลงไปไล่พม่าทางใต้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกทัพขึ้นไปขับไล่พม่าทางเหนือ เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อ พรุ่งนี้มาอ่านกันอีกนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี่ผึ้งไทย ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, กลอน123, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระยากาวิละเริ่มตั้งตัว -
ขอกลาวถึงพระยากาวิละ ได้เป็น“พระยาวิเชียรปราการ”นั่น ตำแหนงเจ้าเชียงใหม่เมืองสำคัญ ณ กาลนั้นร้างเห็นเป็นป่าดง
กาวิละสะสมกำลังสร้าง “เวียงป่าช้าง”เป็นศูนย์สมประสงค์ กะเหรี่ยงยางต่างบ้านลุ่มน้ำคง ต่างขึ้นตรงกาวิละร่วมภักดี |
อภิปราย ขยายความ................
เมื่อวันวานก่อนนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาแสดงถึงตอนที่สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงขับไล่พม่าข้าศึกทางด้านตะวันตกของไทยล่าถอยกลับไปหมดแล้ว เสด็จกลับพระนคร ทรงปรึกษาราชการกับพระเชษฐาธิราชแล้ว ตกลงยกทัพแยกกันเป็นสองฝ่าย คือ พระอนุชาธิราชยกไปขับไล่พม่าทางภาคใต้ พระเชษฐาธิราชยกไปขับไล่พม่าทางภาคเหนือ วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ
* “ครั้น ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ได้มหาพิชัยฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรี ลายรดน้ำพื้นแดง พระที่นั่งมณีจักรพรรดิ ลายรดน้ำพื้นดำ ทรงพระชัยนำเสด็จพร้อมเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้น้อยผู้ใหญ่โดยเสด็จ มีพลโยธาหาญสามหมื่น สรรพเครื่องสรรพยุทธชิงชัย ยาตรานาวาพยุหทัพหลวง จากกรุงเทพมหานคร ประทับรอนแรมไปทางชลมารค ถึงเมืองอินทรบุรี ให้ตั้งค่ายและพระตำหนักพลับพลาชัยประทับอยู่ ณ ที่นั้น
 ยามนั้นเชียงใหม่มีสภาพเป็นเมืองร้าง ด้วยพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองคนเก่านั้นยกครอบครัวหนีพม่าลงมาอยู่เมืองสวรรคโลกตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าตาก ยังไม่ทันได้กลับไปเชียงใหม่ก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ครอบครัวทั้งปวงของพระยาวิเชียรปราการก็กลับไปอยู่นครลำปางทั้งสิ้น
 กองทัพพม่าฝ่ายเหนือที่มีสโดะมหาสิริยอุจนานั้นเมื่อยกมาถึงเชียงแสนแล้วจึงเดินทัพล่วงเลยเมืองเชียงใหม่ที่กลายเป็นเมืองร้างแล้ว มุ่งตรงเข้าตีนครลำปางเลยทีเดียว พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางจึงเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่ามิอาจแหกหักเอาเมืองได้ก็ตั้งมั่นล้อมเมืองไว้
 ส่วนกองทัพเนมโยสีหชุยะถือพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาทางเมืองสวรรคโลก พระยาสุโขทัย พระยาพิษณุโลก เห็นข้าศึกมากเหลือกำลัง และครั้งนั้นไพร่พลหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นมีน้อย เพราะผู้คนยับเยินเสียแต่ครั้งทัพอะแซหวุ่นกี้นั้นเป็นอันมาก ที่ยังเหลืออยู่นั้นเบาบางนัก เจ้าเมืองทั้งปวงจึงมิได้ต่อรบพม่า ต่างก็ยกครอบครัวหนีเข้าป่าเสีย ทัพพม่าจึงยกล่วงเลยเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย ลงมาตั้งค่ายอยู่ ณ ปากน้ำพิงฝั่งตะวันออก”
-------------------------
* ท่านผู้อ่านครับ อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้ เห็นควรหยุดพักไว้ก่อน เพราะเรื่องราวมีความเกี่ยวพันกับล้านนาไทยแล้ว จึงควรย้อนกลับไปกล่าวความตามพงศาวดารโยนกที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) รวบรวมและเรียบเรียงไว้ มีความสืบต่อจากเรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่พระยากาวิละได้ถวายตัวเป็นข้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้วมีความดังต่อไปนี้
“ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก (พ.ศ.๒๓๒๕) เจ้ากาวิละซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเลื่อนยศให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าประเทศราช เมื่อกลับจากกรุงเทพฯมาถึงเมืองนครลำปางแล้วก็รวบรวมสมกำลังบ่าวไพร่ได้ ๓๐๐ คน ยกจากนครลำปางไปตั้งอยู่ ณ ตำบลวังสะแคงปากน้ำแม่ลี้ (เมืองเถิน ?) ที่พระยาจ่าบ้านเคยไปตั้งอยู่ก่อน รวบรวมกำลังพลในที่นั้นได้อีก ๒๐๐ คนรวมเป็น ๕๐๐ คน ก็พาครัวอพยพไปตั้งอยู่ ณ เวียงป่าช้าง (เมืองป่าซาง หรือ เวฬุคาม) รวมสองฝั่งฟากน้ำแม่ทา ฝั่งหนึ่งเรียกป่าช้างน้อย ฝั่งหนึ่งเรียกป่าช้างหลวง ยามนั้นล้านนาไทยประเทศร่วงโรยด้วยเหตุพม่าข้าศึกมาย่ำยีจนย่อยยับ บ้านกลายเป็นป่า นากลายเป็นพงรกร้าง เป็นด่านช้างดงเสือ หากำลังไพร่พลเมืองมิได้ พระยาวชิรปราการ ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกนามท่านว่าพระยากาวิละ ได้ร่วมกับหมู่ญาติพี่น้องสืบเสาะซ่องสุมแสวงหากำลังพลมาตั้งบ้านเมือง
 พระยาวชิรปราการทราบว่าอุปราชก้อนแก้วที่พระยาเชียงใหม่จ่าบ้านฆ่าเสียนั้น มีทหารที่ยังจงรักภักดีเหลืออยู่ จับกลุ่มเป็นหมู่โพกหัวแดง แล้วพากันหนีไปอยู่ทางเมืองปอน เมืองยวม ท่าตาฝั่ง ท่าสีทอ ท่าสีแท บ้านแม่ ปะผากู่ (ริมฝั่งแม่น้ำชาลวิน) และเมืองทลาง (ผาปูน)
ดังนั้น ในปี ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) พระยาวชิรปราการจึงแต่งให้พระยาสามล้านกับไพร่ ๓๐ คน เอาถ้วยงามชามดี ๔๐ ใบ ไปกำนัลให้ยางก๊างหัวตาด นายด่านกะเหรี่ยงยางแดง เกลี้ยกล่อมให้สวามิภักดิ์แล้ว พระยาสามล้านกับขุนมีชื่อคุมไพร่พลลอบเข้าไปตีได้บ้านตองโผะเป็นอันดับแรก ได้เชลยมาสู่เมือง
จากนั้นพระยาวชิรปราการแต่งหนังสือเป็นคำเกลี้ยกล่อมฟ้าน้อยหมวดเมืองทลางฉบับหนึ่ง จัดถ้วยงามชามดี ๓๐ ใบ เสื้อแพรผืนหนึ่ง ใช้ขุนมีชื่อไปกำนัลและเกลี้ยกล่อมยางก๊างแสนหลวงหัวด่านกะเหรี่ยงฟากตะวันตกแม่น้ำคง ยางก๊างแสนหลวงยอมสมัคร
แล้วส่งหนังสือไปให้ฟ้าน้อยหมวด ฟ้าน้อยหมวดก็ยอมสวามิภักดิ์ จึงพาฟ้าน้อยหมวดมาพบพระยาวชิรปราการที่เมืองป่าช้างครั้งหนึ่ง
ในปีเดียวกันนั้นก็แต่งให้นายจันทราชาผู้เป็นหลานกับขุนมีชื่อ คุมกำลังบ่าวไพร่ไปตีบ้านท่าตาฟากตะวันตกน้ำแม่คง ได้ตัวพ่อเมืองทุ พ่อเมืองกิติ พ่อเมืองยาน อาจารย์นันโท กวาดครัวอพยพมาสู่เมือง
แล้วแต่งให้แสนราชโกฐคุมรี้พลไปตีได้บ้านแม่ปะ ได้ตัวแสนขัตติยหมื่นชมภู กวาดครัวอพยพมาสู่เมือง
จากนั้นให้น้อยชิณาขวา น้อยชิณาดำ ถือหนังสือไปเกลี้ยกล่อมพระยามลาเมืองจวาด เมืองจวาดก็ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี”
** ท่านผู้อ่านครับ งานกู้บ้านกู้เมืองของพระยาวชิรปราการ หรือเจ้ากาวิละเป็นงานหนัก ยังมิทันที่จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้มั่นคง พม่าก็ยกทัพใหญ่มาโจมตีแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กาวิละปักหลักที่ป่าซาง -
พระยากาวิละรบพม่า ป้องล้านนาลำปางอย่างเต็มที่ ปักหลักอยู่“ปาซาง”สามัคคี ยกไปตีเมืองนานามาครอบครอง |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้พักเรื่องราวทางกรุงเทพมหานครไว้ กลับไปกล่าวถึงพระยากาวิละตามความในพงศาวดารโยนกว่า หลังจากได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ปกครองล้านนาอย่างประเทศราชขึ้นต่อกรุงสยามแล้ว กลับคืนนครลำปาง เริ่มสะสมพลเมืองล้านนา โดยยกไปตั้ง ณ เวียงป่าช้าง หรือ ป่าซาง(เวฬุคาม) (คืออำเภอปาซาง จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) แล้วกวาดต้อนหมู่บ้านต่าง ๆ ในลุมน้ำแม่ทา สาละวิน(แม่น้ำคง) ได้ยาง กะเหรี่ยง เข้ามาเป็นพวกจำนวนมาก วันนี้มาดูความในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจวรจักร(แช่ม บุนนาค) ต่อไปนะครับ
“ ลุศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรงนักษัตรฉอศก วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปะคานแมงกี่ แม่ทัพพม่าคุมรี้พล ๔๐,๐๐๐ เศษ ยกมาล้อมเมืองนครลำปาง พระยากาวิละ ได้ละเมืองป่าช้างไว้ให้ฟ้าชายแก้วผู้บิดา กับพระยาอุปราชและนายน้อยธรรมผู้น้อง อยู่รักษา ส่วนตนนั้นจัดได้กำลัง ๑,๐๐๐ คน สู้รบกับพม่ารักษาเมืองนครลำปาง แล้วใช้ให้แสนสุลวะถือหนังสือบอกข้อราชการทัพไปยังกรุงเทพฯ ขอกองทัพขึ้นมาช่วย
ฝ่ายกองทัพพม่าก็แยกกองกันไปตีเมืองแพร่ เมืองเถิน เมืองตาก พม่าจับได้พระยาแพร่ พระยาเถิน พระยาเชียงเงิน และกวาดต้อนครัวพลเมืองไปเป็นอันมาก ฝ่ายฟ้าชายแก้วผู้รักษาเมืองปาช้างนั้น เห็นว่ากองทัพพมายกมามากนักเห็นจะรักษาเมืองป่าช้างไว้มิได้ ก็คิดจะถอยไปอยู่เมืองสวรรคโลก ครั้นไปถึงเมืองลี้ ทราบข่าวพม่ายกมมาทางระแหงตลอดถึงสวรรคโลก ฟ้าชายแก้วก็กลับคืนมาอยู่เวียงปาช้างดังเก่า
ฝ่ายพระยากาวิละต่อสู่พม่ารักษาเมืองนครลำปางโดยฝีมือเข้มแข็งสามารถ พม่ายกเข้าหักหาญหลายครั้งก็หาได้ไม่ สู้รบกันมาได้ถึงสองเดือนกับยี่สิบหกวัน กองทัพกรุงเทพฯขึ้นมาถึงมีรี้พล ๓๐,๐๐๐ ยกเข้าตีทัพพม่าที่ตั้งล้อมเมืองนครลำปางแตกหนึไปในวันอังคาร เดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ
ครั้นกองทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองนครลำปางแตกไปแล้ว พระยากาวิละจึงเขียนหนังสือใช้ม้าเร็วถือไปถึงพระยาอุปราชผู้น้องยังเวียงป่าช้างให้เร่งรีบยกกองทัพไปตีเมืองจวาดโดยเร็ว พระยาอุปราชแจ้งหนังสือแล้วก็จัดพละกำลัง ๕๐๐ คน ยกจากเมืองป่าช้างไปในวันพฤหัสบดี เดือน ๗ เหนือ แรม ๕ ค่ำ ไปถึงเมืองจวาดแรม ๑๓ ค่ำ ในเดือนนั้น ขณะนั้นพระยาจวาดต้องเกณฑ์เข้ากองทัพพม่ามาตีเมืองนครลำปาง กลับไปยังไม่ทันถึงเมืองจวาด กองทัพพระยาอุปราชเข้าตีเมืองจวาด เมืองทา เมืองแหน ได้ ก็กวาดครัวอพยพลงมาเสียสิ้น ครั้นพระยาจวาดกลับไปถึงเมืองมีแต่เมืองเปล่า ก็ติดตามลงมาหาบุตรภรรยา และยอมสวามิภักดิ์ต่อพระยากาวิละ ณ เมืองป่าช้าง
ครั้นว่างศึกแล้ว พระยากาวิละก็พาตัวพระยามลาเจ้าเมืองจวาด ล่องไปกรุงเทพฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วพระยากาวิละกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานครัวชาวเมืองเถิง เมืองระแหง ซึ่งพากันหนีพม่าลงมาอยู่บ้านป้อมกรุงเก่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากาวิละเอากลับขึ้นไปตั้งเมืองตาก เมืองเชียงทอง เมืองเถิน ตามเดิม พระยากาวิละก็กราบถวายบังคมลากลับไปรักษาบ้านเมือง
ครั้นพระยากาวิละไปถึงเมืองปาช้างแล้ว จึงแต่งพระยาอุปราช นายคำมูล ยายวอน คุมไพร่ ๑๐๐ เศษ ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมนาขวาเมืองเชียงแสน เพราะเวลานั้นกองทัพพม่าเลิกจากเมืองเชียงแสนหมดแล้ว นาขวาก็ปลงใจด้วย จึงได้ตัวพระยาแพร่ พระยาเถิน ซึ่งพม่าจับไปไว้เมืองเชียงแสนนั้น ได้คืนพร้อมทั้งครอบครัวของพระยาแพร่พระยาเถิน ให้ส่งล่วงหน้ามายังเวียงป่าช้างก่อน แล้วพระยาอุปราชให้นายคำมูล นายวอนน้อยกาวิละไปเกลี้ยกล่อมพระยาเชียงตุง พระยาเชียงตุงกลัวพม่ามิอาจลงใจด้วย นายคำมูล นายวอนน้อยกาวิละจึงพากันเลยไปเมืองยอง เกลี้ยกล่อมพระยายอง พระยายองปลงใจด้วย จึงคุมพวกเข้ารบพม่าซึ่งรักษาเมืองยอง ครั้นไม่ชนะพม่า พระยาเมืองยองกับนายคำมูล นายวอนน้อยกาวิละ ก็พากันหนีมาทางเมืองโกเมืองไชย มาเมืองหลวงภูคา
ฝายทางเมืองฝางนั้น พระยาสุรินทร์กับพระยาเมืองพร้าว มีสัญญาอาณัติถึงเมืองเชียงราย พระยาเมืองสาด พ่อเมืองปุ ท้าวหาวทาแสนยอด พร้อมใจกันเป็นขบถต่อรบพม่าทุกบ้านทุกเมือง
ลุศักราช ๑๑๔๙ ปีมะเมียนพศก พระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระยาสุรินทร์เมืองฝาง พระยาเมืองพร้าว พระยาเมืองเชียงราย พระยาเมืองสาด พ่อเมืองปุ ท้าวหาวทาแสนยอด พาครัวอพยพหนีพม่าเข้ามาเมืองนครลำปาง กองทัพพม่ายกตามล้อมเมืองนครลำปางไว้ ฝ่ายข้างเชียงใหม่นั้น กองทัพพม่ายกข้ามท่าตา ฝั่งแม่น้ำคงมามาทางเมืองยวม ทัพพม่ามากันหนักแน่น รบไม่หวาดไหว ก็ลาดถอยมาตั้งรับที่ตำบลบ่อพระแวนพักหนึ่ง ครั้นแตกจากบ่อพระแวนถอยเข้าเวียงป่าช้าง พระยาเชียงใหม่แต่งให้พระยาอุปราช พระยาบุรีรัตนะ กับกองทัพหัวเมืองเมืองกำแพงเพชร เมืองสวรรคโลก ยกออกรับทัพพม่า ได้สู้รบกันสองวัน ไม่ชนะก็ล่าถอยมา กองทัพพม่าติดตามเข้าตั้งล้อมเวียงป่าช้างไว้ พระยาเชียงใหม่กาวิละแต่งการป้องกันเมือง สู้รบพม่าเป็นสามารถ แล้วให้ท้าวแก้วเชิญศุภอักษร ลงไปขอกองทัพกรุงเทพฯขึ้นมาช่วย
ครั้นกองทัพไทยยกไปถึง ก็เข้ารบพม่าแตกพ่ายไปในวันจันทร์ เดือน ๖ เหนือ (คือเดือน ๔) แรม ๖ ค่ำ กองทัพไทยตั้งพักอยู่ ๗ วันก็ยกกลับไปกรุงเทพมหานคร ครั้นพม่าแตกไปแล้ว นายคำมูล นายวอน นายน้อยกาวิละ จึงกลับมาถึงเมืองป่าช้าง
ลุศักราช ๑๑๕๐ ปีวอก สัมฤทธิศก พระยาเชียงใหม่กาวิละให้พระยาบุรีรัตน นายพุทธวงศ์ นายจันทร์ราชา นายคำมูล นายนันทเสน นายน้อยกาวิละ คุมไพรลำฉกรรจ์ ๒๐๐ เศษยกไปตีเมืองปั่น เมืองตองกาย ได้ฟ้าหน่อคำเมืองปัน และแสนพ่อเมืองตองกาย ครอบครัวเชลยมาสู่เมือง แล้วพระยาเชียงใหม่พร้อมด้วยพระยาเมืองนคร เมืองแพร่ เมืองน่าน ยกกองทัพระดมกันไปรบพม่าเมืองเชียงแสน รบไม่ชนะก็พากันล่าทัพกลับมา แล้วพระยาเชียงใหม่กับพระยานครลำปาง ยกกองทัพไปตีพม่าซึ่งตั้งอยู่บ้านลองเมืองฝางแตกไป
ลุศักราช ๑๑๕๑ ปีระกา เอกศก วันพฤหัสบดี เพ็ญเดือน ๖ พระยาเชียงใหม่กับพี่น้องได้ยกฉัตรยอดเจดีย์ดอยสุเทพ”
* * ท่านผู้อานครับ ให้อ่านพงศาวดารโยนกมาถึงตรงนี้แล้วเราจะเห็นได้ว่า ในขณะที่บรรพบุรุษไทยทางกรุงเทพฯรบทัพจับศึก ต่อสู้พม่าข้าศึกป้องกันแผ่นดินไทยจนไม่มีเวลาว่าง ไทยล้านนานำโดยพระยาวชิรปราการ หรือพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ กับพี่น้องและชาวล้านนาไทยก็เหน็ดเหนื่อยกับการ “สร้างบ้านแปงเมือง” รบกับพม่าข้าศึกแทบไม่มีเวลาว่างเว้นเช่นกัน
ตอนนี้พระยากาวิละได้ละเมืองนครลำปางไว้ ยกไปปักหลักอยู่ที่เวียงปาช้าง หรือ เมืองป่าซาง (เวฬุคาม) กำลังจัดการบ้านเมืองได้ไม่เข้ารูปเข้ารอย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุงนี้มาอ่านพงศาวดารโยนกกันตอนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ฟื้นฟูนครเชียงใหม่ได้สำเร็จ -
ขับพม่าล่าเมืองขึ้นอย่างแข็งขัน เร่งคืนวันสร้างตนจนฟูฟ่อง เวลาสิบสี่ปีเศษเสร็จสมปอง พาพี่น้องบริพารครองนคร |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้คัดลอกความพงศาวดารโยนกที่ พระประชากิจกรจักร(แช่ม บุนนาค) ได้รวบรวมเรียบเรียงไว้ ถึงตอนที่ หลังจากที่กองทัพพม่าถูกกองทัพไทยจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นไปช่วยพระยากาวิละเข้าตีจนแตกพ่ายหนีไปแล้ว พระยากาวิละได้ให้พระยาบุรีรัตน นายพุทธวงศ์และพรรคพวกยกไปตีเมืองปั่น เมืองตองกาย จากนั้นพระยากาวิละพร้อมด้วยพระยาเมืองนคร เมืองแพร่ เมืองน่าน ยกกองทัพไปรบพม่าเมืองเชียงแสน ครั้นรบไม่ชนะจึงล่าถอยมา แล้วยกไปตีพม่าที่บ้านลองเมืองฝางแตกไป รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง พระยากาวิละพร้อมด้วยน้อง ๆ “เจ้าเจ็ดตน” รวมกันทำพิธียกยอดฉัตรพระมหาเจดีย์บรมธาตุดอยสุเทพ จากนี้เรื่องอะไรจะเกิดขึ้นในล้านนาอีกบ้าง อ่านพงศาวดารฉบับนี้ต่อไปครับ
 “ ลุศักราช ๑๑๕๒ ปีระกา เอกศก วันพฤหัสบดี เดือน ๗ (คือเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๓๓) แรม ๑๓ ค่ำ พระยาอุปราช พระยาบุรีรัตนะ ยกรี้พลพันหนึ่งขึ้นไปรบพม่าซึ่งตั้งอยู่เมืองต่วน เดินทางสิบห้าวันถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๘ (คือเดือน ๖) แรม ๑๓ ค่ำ จึงเข้าตีพม่ายานแควงศรีโป่ มีรี้พล ๓,๐๐๐ มารักษาอยู่เมืองต่วน ห้วยยอด เมืองจาย แม่แกน สู้รบกันอยู่สามวัน ยานแควงศรีโป่แม่ทัพพม่าถูกปืนตาย กองทัพพม่าก็แตกกระจัดกระจายไป
 แล้วจึงแต่งให้นายจันทราชา นายกาวิละน้อย คุมพล ๑๐๐ เศษยกข้ามแม่น้ำคง ไปตีได้บ้านชมชิดฟากตะวันตกแม่น้ำคง(สาละวิน) แล้วนายจันทราชา ท้าวสิทธิ์ ท้าวขุนมีชื่อคุมกำลัง ๓๕๐ คน ขึ้นไปตีบ้านสต๋อย สอยไร บ้านวังลุ วังกาศ ได้ทุกตำบล ได้ตัวแสนศิริและครัวเชลยเป็นอันมาก ก็กวาดต้อนส่งมาเมืองป่าช้างเชียงใหม่ ครั้นปราบปรามพม่าข้าศึกอันมาตั้งอยู่เมืองต่วน ห้วยยอด เมืองจาย แม่แกน แตกไป มีชัยชนะแล้ว พระยาอุปราช พระยาบุรีรัตน กับนายทัพนายกอง ก็เลิกทัพกลับมาเมืองป่าช้าง
อยู่มิช้า พระยาเชียงใหม่กาวิละก็พานายน้อยสุภา นายน้อยเชาวนะบุตร ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร กราบบังคมทูลพระกรุณาข้อราชการทั้งปวง แล้วขอรับพระราชทานนายน้อยสุภา นายน้อยเชาวรัตนะบุตร ให้รับราชการ ณ เมืองตาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนายน้อยสุภาเป็นพระยาวิชิตชลธี ผู้ว่าราชการเมืองตาก ตั้งนายน้อยเชาวนะบุตรเป็นพระยาอินทคีรีผู้ช่วยราชการเมืองตาก ตั้งท้าวชมพูเป็นพระยาจันทบุรี ผู้ว่าราชการเมืองเถิน
ครั้นแล้วพระยาเชียงใหม่และพระยาหัวเมืองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลา พากันกลับไปรักษาราชการบ้านเมือง
ลุศักราช ๑๑๕๓ ปีกุน ตรีศก (พ.ศ. ๒๓๓๔) พระยาเชียงใหม่กาวิละพาหมู่ญาติวงศา แสนท้าวพระยาไพร่พลยกขึ้นไปตั้ง ณ เมืองนพบุรีศรีพิงค์ไชยเชียงใหม่เป็นปฐม อยู่ได้เดือนเศษหาได้ไม่ เหตุด้วยคนน้อยไม่พอแก่นครอันใหญ่ และรกร้างมานาน เหลือกำลังที่จะแผ้วถาง ก็พากันกลับคืนมาอยู่เวียงป่าช้างดังเก่า
 ในปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ นั้น กองทัพพม่าชื่อสุระจอแทงโป่ คุมรี้พลโยธา ๓,๐๐๐ ยกมาตั้งอยู่เมืองฝาง ถึง ณ วันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๔ (พ.ศ. ๒๓๓๕) ปีชวดจัตวาศก ก็ยกไป เดินทางสิบแปดวัน ถึงวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ ได้รบกับกองทัพพม่า สุระจอแทงโป่ ซึ่งออกตั้งค่ายรับนอกเมืองฝางถอยเข้าเมือง จึงเข้าตั้งค่ายประชิดเมือง สู้รบกันได้หนึ่งเดือนกับสี่วัน ปล้นเอาเมืองฝางมิได้ ก็ถอยทัพกลับคืนมา
 ลุศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉอศก วันอังคาร เพ็ญเดือน ๕ คือเดือน ๓) พระยาทั้งสามพี่น้องคือ พระยาเชียงใหม่ พระยาอุปราช พระยาเมืองแก้ว พร้อมกันสร้างวิหารวัดอินทขิล (คือวัดเจดีย์หลวงหรือกุฎาคารวิหาร) แล้วสถาปนาพระสวาธุเจ้าวัดผาขาวเป็นพระสังฆราชาในเมืองเชียงใหม่ และให้แผ้วถางซ่อมแปลงปฏิสังขรณ์อารามเก่าใหม่ในเมือง ครั้นการทั้งปวงสำเร็จแล้วมีการฉลองอารามต่าง ๆ และสมโภชนนครพร้อมกัน เป็นการรื่นเริงเอิกเกริก แก่ประชาชนชาวเมืองเป็นอันมาก
ในปีศักราช ๑๑๕๖ ปีขาล ฉอศก นั้น ฝายพระยานครลำปางคำโสมป่วยถึงแก่กรรม ครองเมืองนครลำปางได้ ๙ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราหาตัวพระยาอุปราชดวงทิพ พระยาราชวงศ์หมูล่า นายขนานไชยวงศ์ ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งพระยาอุปราชดวงทิพเป็นพระยานครนครลำปาง พระยาราชวงศ์หมูล่า เป็นพระยาอุปราช นายขนานไชยวงศ์ผู้เป็นบุตรพระยานครคำโสม เป็นพระยาราชวงศ์เมืองนครลำปาง
พระราชทานเครื่องยศฐานาศักดิ์ แล้วพระยานครลำปางกับพระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ ก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นมารักษาราชการเมืองนครลำปาง
 ครั้นลุศักราช ๑๑๕๘ ปีมะโรง อัฐศก เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ พระยาเชียงใหม่กาวิละกับญาติพี่น้องบุตรหลานแสนท้าวพระยาทั้งปวง ก็ยกกรีธาพลากรราษฎรชายหญิงทั้งปวง ออกจากเวียงป่าช้าง ค่อยเคลื่อนคลาไคล ไปโดยระยะมรรคาได้ ๗ วัน ถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ยามเช้า ก็ลุถึงเมืองนครพิงค์เชียงใหม่มหานคร กระทำปทักษิณรอบนครแล้วเวลาจวนเที่ยง ก็เข้าประตูช้างเผือกอันเป็นประตูด้านทิศอุดร ไปพักพล ณ วัดเชียงมั่น อันเป็นที่ชัยภูมิแห่งนคร แรมในที่นั้นราตรีหนึ่ง รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาสาย จึงเข้าสู่นิเวศสถานที่อยู่อันสร้างไว้ภายในนครนั้น ฝ่ายเสนาท้าวพระยาไพร่พลทั้งปวงต่างก็เข้าตั้งเคหะ สถานบ้านเรือนอยูทั่วไปในนคร เมืองนครเชียงใหม่ซึ่งร้างแล้วนั้นจึงกลับคงคืนเป็นนครดังแต่ก่อนมา
ตั้งแต่พระยากาวิละได้เป็นเจ้าเจ้าเมืองนครเชียงใหม่ ไปตั้งอยู่เวียงป่าช้างได้ ๑๔ ปี กับ ๔ เดือน ๒๑ วัน จึงได้ยกมาตั้งในเมืองนครพิงค์เชียงใหม่”
** ท่านผู้อานครับ กว่าจะเข้าอยู่ในนครพิงค์เชียงใหม่ได้ พระยากาวิละต้องใช้เวลาขับไล่พม่าล่าเมืองขึ้นอยู่นานถึง ๑๔ ปีเศษ จึงยกครัวจากเวียงป่าซางเข้าอยูในนครพิงค์เชียงใหม่ได้สำเร็จ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่าตีเชียงใหม่ ทัพใต้ช่วยทัน -
พม่ายกมาล้อมตีขยี้ซ้ำ ยิ่งตรากตรำเหนื่อยหนักไม่พักผ่อน เดชะ“กรมพระราชวังบวร” ยกมาต้อนตีพม่าล่าถอยไป |
อภิปราย ขยายความ.............
เมื่อวันวานนี้ได้คัดลอกความในพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร มาให้อ่านจบลงตงที่พระยากาวิละพาครัวพร้อมยศบริวารยกจากเวียงป่าช้างเข้าอยูในนครพิงค์เชียงใหม่เมื่อปีจุลศักราช ๑๓๕๘ วันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง อัฐศก ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๙ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านพงศาวดารโยนกกันต่อเถิดนะครับ
“ครั้นอยู่มาได้สิบเดือนกับห้าวัน ลุศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง นพศก วันพุธ เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ กองทัพพม่ายกมา แม่ทัพพม่าชื่ออึ้งแซะโป่ และ ซิตซิงโป่ มีรี้พล ๙๐,๐๐๐ เศษ เข้าตั้งล้อมเมืองนครเชียงใหม่ไว้ พระยากาวิละเจ้าเมืองนครเชียงใหม่แต่งพี่น้องบุตรหลานถือพลออกต่อสู้ รบกับกองทัพพม่าทุกทิศทุกด้านหลายกอง พม่ามิอาจหักเอาเมืองนครเชียงใหม่ได้ ก็ตั้งล้อมรบกันอยู่ พม่าแตกแล้วกลับคืนมาเล่า หลายครั้งหลายคราว เพราะกองทัพฝ่ายพม่ามีกำลังมากกว่า พระยากาวิละเจ้าเมืองนครเชียงใหม่จึงให้ตั้งมั่นรักษาเมืองไว้ แล้วแต่งให้แสนศิริอักษรอัญเชิญศุภอักษร และคุมเชลยพม่าที่รบจับได้ ลงไปทูลเกล้าฯถวายแถลงการณ์ ณ กรุงเทพพระมหานคร
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยาตราพยุหโยธาทัพหลวงขึ้นไปเมืองนครเชียงใหม่ เสด็จโดยทางชลมารคจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองตากแล้วเสด็จดำเนินทัพบก กองทัพหลวงเดินทางลำปาง ให้พระเจ้าลูกยาเธอลำดวนอินทปัตถ์ถือพล ๕,๐๐๐ เดินทางเมืองลี้ ตีขนาบทัพพม่าอึ้งแซะโป่แตกพายไป จับได้อุปคองโป่และไพร่พม่าเป็นอันมาก
พม่าล้อมเมืองเชียงใหม่ปางนั้นนานได้ ๒ เดือน ๒๘ วัน กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จงานราชการสงคราม ณ เชียงใหม่ครั้งนี้ เมื่อเสด็จกลับได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไป ณ กรุงเทพพระมหานคร
อนึ่ง ในปีนี้พระยาเชียงใหม่ให้สร้างวิหารวัดละโว้เมืองลำพูนไชย
ลุศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก แสนศิริพ่อเมืองปุ พาครัวอพยพหนีพม่ามาขอสวามิภักดิ์ พึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระยาเชียงใหม่พาตัวแสนศิริลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งแสนศิริเป็นพระยาศิริปุวดีศรีสุนทร พระราชทานให้กลับขึ้นไปรับราชการยังเมืองเชียงใหม่ ครั้นพระยาเชียงใหม่และพระยาศิริปุวดีกราบถวายบังคมลากลับถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว พระยาเชียงใหม่แต่งให้ท้าวศรีท้าวบุญเรืองคุมกำลัง ๓๐๐ ยกไปตีพม่าโป่ศิริหมอนทา ซึ่งมาตั้งทัพอยู่เมืองสาด แสนเมืองมาน้อยวงเมืองแจด และครัวเชลยท่าวัว เมืองกิง เมืองกูล ได้เชลยเป็นอันมาก ได้ช้างพลาย ๑ เชือก นางงาม ๑ คน ชื่อมิคอง ส่งมาถวายพระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่
แล้วให้นายคำมูลคุมกำลัง ๓๐๐ ขึ้นไปตีฟ้าคำเครื่อง ซึ่งมาตั้งอยู่เมืองปุ ฟ้าคำเครื่องถูกปืนตายในที่รบ นายคำมูลตีเมืองปุได้แล้ว ก็ยกข้ามฟากน้ำแม่คงไปฝั่งตะวันตก เข้าตีบ้านสต๋อย บ้านสอยไร บ้านวัวลาย บ้านท่าช้าง บ้านนา ทุ่งอ้อ ได้ตัวหมื่นขาววัวลายกับภรรยาฟ้าคำเครื่อง และเชลยเป็นอันมาก แล้วก็เลิกทัพกลับมาเมืองเชียงใหม่
ลุศักราช ๑๑๖๒ ปีวอก โทศก พระยาเชียงใหม่ให้ท้าวมหายศ คุมกำลังยกข้ามแม่น้ำคง ไปตีบ้านปากแม่เทง ได้หมื่นพรหมนายบ้านกับลูกบ้าน กวาดครัวอพยพมาสู่เมือง
อนึ่ง ในปีวอก โทศก นั้น พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้ประกาศตั้งนามเมืองนครเชียงใหม่ว่า “เมืองรัตนติงษาอภินวบุรี”
วันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ก่อรูปช้างเผือกหนึ่งคู่ไว้ทางหัวเวียง นอกประตูช้างเผือก และก่อรูปกุมภัณฑ์หนึ่งคู่ รูปฤๅษีหนึ่งตน ไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงกลางนคร
ศักราช ๑๑๖๓ ปีระกา ตรีศก วันจันทร์ เดือน๔(ยี่) ขึ้น ๑๒ ค่ำ ก่อรูปสิงหนึ่งคู่ ไว้ ณ ข่วงสิงห์เหนือเมือง ต่อขวงช้างเผือกขึ้นไปหนเหนือ เพื่อให้เป็นสิงหนาทแก่บ้านเมือง และตั้งศาลพระเสื้อเมืองศรีเมืองขึ้นในปีนั้น
ในสมัยนั้น ฝ่ายข้างพม่าก็จัดให้เจ้าฟ้าเมืองไทยใหญ่ทั้งหลาย แต่งคนเข้ามาตั้งบ้านเมืองในเขตแขวงเมืองฟากตะวันออกน้ำแม่คง ที่รุร้างนั้น ความทราบถึงพระยาเชียงใหม่ พระยาเชียงใหม่จึงแต่งให้ท้าวอินทศิริคุมพล ๕๐๐ เป็นกองโจรยกขึ้นไปตีเมืองปุ ได้พระยาเมืองปุและไพร่พลไทยกวาดมาเมืองเชียงใหม่ แล้วกองทัพเลยไปตีเมืองแจด เมืองกิง เมืองกูล ท่าอ้อ ท่าแจด ได้เป็นอาณาเขตรัฐเมืองเชียงใหม่ทุกตำบล”
** ท่านผู้อ่านครับ พระยากาวิละเข้าอยู่เมืองเชียงใหม่ไม่ทันถึงปี พม่าก็ยกทัพใหญ่มาตีไม่ทันให้ตั้งตัว ดีที่กำลังพลของพระยากาวิละกรำศึกสงครามมามาก จึงตั้งรับยันทัพพม่าอยู่นานถึง ๒ เดือนเศษ ว่ากันว่าในระหว่างที่รอทัพจากกรุงเทพฯยกขึ้นไปช่วยนั้น คนในเมืองเชียงใหม่อดอยากเพราะขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก หิวจนถึงขนาดที่ต้องกินเนื้อเชลยชาวพม่าที่จับได้มากมาย กินเนื้อแล้วเอากระดูกถมลงในสระที่ใกล้วัดเชียงมั่นกลางเมืองนั้น เดชะบุญที่สมเด็จกรมกระราชวังบวรสถานมงคลทรงยกทัพจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปชวยไว้ทันทวงที
เมื่อเสด็จคืนพระนคร สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงขออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ได้จากลังกามาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย แล้วถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในที่หลายแห่ง สุดท้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรฯ อัญเชิญกลับลงกรุงเทพฯ และประดิษฐานไว้ ณ พระราชวังบวรสถานมงคลมาจนถึงกาลปัจจุบัน
ส่วนชื่อเมืองเชียงใหม่ที่พระยากาวิละตั้งขึ้นใหม่ว่า “เมืองรัตนติงษาอภินวบุรี” นั้น เ ห็นจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน นามนี้จึงไม่ปรากฏใตกาลต่อมา
พรุ่งนี้มาอ่านพงศาวดารฉบับนี้ติดตามเรื่องราวกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาใช้ประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, เฒ่าธุลี, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขุนทัพไทยตื่นนกกระทุง -
กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ แม่ทัพเขตเหนือนั้นพลันเร่งใหญ่ ตีพม่าล้างบางอย่างฉับไว ทรงตัดใจสั่งประหารทหารตน
พระยาสระบุรีนั้นขี้ขลาด สั่งถอยลาดลงมาโกลาหล ด้วยฝูงนกกระทุงเห็นเป็นฝูงคน จึงถอยร่นไม่สู้ดูให้ดี
ค่ายปากพิงแตกยับพม่าย้าย ลงแหวกว่ายน่านน้ำหวังข้ามหนี จมน้ำตายหลายร้อยพร้อมพาชี จนซากผีเน่าลอยเกลื่อนกลาดธาร |
อภิปราย ขยายความ................
เมื่อวันวานนี้ได้ยกความในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) มาแสดงถึงตอนที่พระยากาวิละยกจากเวียงป่าช้างเข้าอยู่ในนครพิงค์ไม่ทันถึงปี พม่าก็ยกพลเป็นกองทัพใหญ่มาตีหมายปล้นเอาเมือง พระยากาวิละระดมสรรพกำลังเท่าที่มีน้อยกว่านักนั้นต่อสู้อย่างทรหด พร้อมกับขอกองทัพจากกรุงเทพฯขึ้นไปช่วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพขึ้นไปช่วย และเข้าตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปสิ้น คราเสด็จกลับคืนกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐาน ณ กรุงเทพฯด้วย วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไป
------------------------------------------------------
ขออนุญาตพักความในพงศาวดารโยนกไว้ก่อน จะพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปสู่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แต่ก่อนจะเข้าในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าว ขอแวะดูในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรณวงศ์ (ขำ บุนนาค) ก่อน เพื่อให้ความต่อเนื่องฉบับพระราชหัตถ์เลขา ตอนที่ว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์แบ่งหน้าที่กับขับไล่พม่า โดยสมเด็จพระอนุชาธิราชฯทรงยกกองทัพเรือลงไปปราบพม่าทางใต้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยกทัพขึ้นปราบพม่าทางเหนือ ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
“ในปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๔ (พ.ศ. ๒๓๒๘) นั้น ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้มหาพิชัยอุดมฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องสีลายรดน้ำพื้นแดง พระที่นั่งมณีจักรพรรดิ์ลายรดน้ำพื้นเขียว ทรงพระชัยนำเสด็จพร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลาย โดยเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนพยุหยาตราหน้าหลัง และพหลโยธาหาญ ๓๐,๐๐๐ สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธ ให้ยาตรานาวาทัพจากกรุเทพมหานคร ประทับแรมไปโดยทางชลมารคถึงเมืองอินทบุรี ให้ตั้งค่ายและพระตำหนักพลับพลาไชย เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น
 ส่วนกองทัพสะโดะมหาสิริยอุจจนายกมาถึงเมืองนครลำปางให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ เหตุกองทัพพม่าไม่ยกเข้าล้อมตีเชียงใหม่ ก็เพราะเชียงใหม่ในยามนั้นได้กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว เนื่องด้วยพระยาวชิรปราการได้พาครัวหนีพม่าลงมาอาศัยอยู่เมืองสวรรคโลกแต่ครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี และถึงแก่กรรมลง ครอบครัวและชาวเมืองทั้งปวงได้พากันไปอยู่เมืองนครลำปางเสียสิ้น เมื่อถูกกองทัพสะโดะมหาสิริยอุจจนาล้อมตีเมืองนครลำปางอยู่นั้น พระยากาวิละกับน้อง ๆ “เจ้าเจ็ดตน” ได้สู้รบป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่ามิอาจตีหักเข้าปล้นเอาเมืองได้ ก็ตั้งมั่นล้อมเมืองไว้
 แล้วพม่าแบ่งกำลังสวนหนึ่งจำนวน ๕,๐๐๐ ยกลงมาทางเมืองสวรรคโลก พระยาสวรรคโลก พระยาสุโขทัย พระยาพิษณุโลก เห็นข้าศึกยกมามากจนเหลือกำลังจะต้านทาน ด้วยไพร่พลเมืองเหลืออยู่น้อย เนื่องจากสูญเสียไปแต่ครั้งศึกอะแซหวุ่นกี้เสียมาก เจ้าเมืองทั้ง ๓ จะพากันหลบหนีเข้าป่าซุ่มรอดูสถานการณ์อยู่ กองทัพพม่าจึงเดินทางมาถึงตอนใต้เมืองพิษณุโลก แล้วตั้งค่ายอยู่ ณ ปากน้ำพิงตะวันออก ฝายซุยตองเวรจอแทง ทั้งทัพหน้าทัพหนุนพล ๕,๐๐๐ ก็ยกเข้ามาทางเมืองตาก พระยาตาก พระยากำแพงเพชร เห็นเหลือกำลังสู้รบจึงหลบหนีเข้าป่าไปเช่นกัน พม่าจึงยกมาตั้งค่าย ณ บ้านระแหง แขวงเมืองตาก
 ฝ่ายกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ได้ทราบในสารตรารับสังก็กลัวเกรงพระราชอาชญาเป็นกำลัง มีรับสั่งให้กองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองพิจิตร ให้ยกขึ้นไปตีค่ายพม่า ณ ปากน้ำพิง เจ้าพระยามหาเสนาจึงแต่งให้กองทัพพระยาสระบุรีเป้นกองหน้า ล่วงขึ้นไปก่อน แล้วเจ้าพระยามหาเสนาก็ยกหนุนขึ้นไป และทัพกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กับ กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์ ก็ยกทัพตามเจ้าพระยามหาเสนาขึ้นไปภายหลัง
 ฝ่ายกองทัพพระยาสระบุรีกองหน้ายกขึ้นไปตามริมฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออก แต่เวลาเช้าตรู่แลเห็นฝูงนกกระทุงข้ามแม่น้ำมาเห็นตะคุ่ม ๆ ไม่ทันเห็นถนัด และพระยาสระบุรีนั้นนั้นเป็นคนขลาด สำคัญว่าพม่ายกข้ามลำน้ำมา จึงสั่งให้รี้พลล่าถอยเป็นอลหม่าน ต่อฟ้าสว่างแล้วจึงเห็นชัดตาว่าเป็นฝูงนกกระทุงมิใช่พม่า กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์และเจ้าพระยามหาเสนา ได้ทราบว่าพระยาสระบุรีตื่นฝูงนกกระทุงจนถอยทัพมา จึงให้เอาตัวพระยาสระบุรีไปประหารชีวิตเสีย เอาศีร์ษะเสียบประจานไว้ที่หาดทราย
 ทัพหลวงก็เสด็จพระราชดำเนินหนุนขึ้นไป ดำรัสให้กองสมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์ ยกไปบรรจบกับทัพพระยาพระคลัง พระยาอุทัยธรรม ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชัยนาท ให้ยกขึ้นไปทางปากน้ำโพ ตีทัพพม่าซึ่งมาตั้งค่ายยู่ ณ บ้านระแหง (ตัวเมืองตากปัจจุบัน) ให้แตกโดยเร็ว แล้วทัพหลวงก็จะเสด็จขึ้นค่ายใหญ่อยู่ ณ บางข้าวตอก ให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่งกองทัพกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ และเจ้าพระยามหาเสนา ให้ยกเข้าตีค่ายพม่า ณ ปากน้ำพิงให้แตกแต่วันเดียว แม้นเนิ่นช้าไปจะเอาโทษถึงประหารชีวิต
 กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กับเจ้าพระยามหาเสนา ได้แจ้งในรับสั่งดังนั้นก็รีบเร่งตรวจเตรียมทหารทุกทัพทุกกองพร้อมเสร็จ ครั้นถึง ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๒๘) เวลาเช้า ก็ยกพลทั้งปวงเข้าโจมตีค่ายพม่าทุก ๆ ค่าย พม่าต่อรบเป็นสามารถ ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้ง ๒ ฝ่าย รบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ พอเวลาทุ่มหนึ่งทัพพม่าก็แตกฉาน พ่ายหนีออกจากค่ายทุก ๆ ค่าย กองทัพไทยไล่รุกรบพม่าติดพัน พวกพม่าต้องลงน้ำหนีไปฟากตะวันตก (แม่น้ำน่าน) แต่พม่าจมน้ำตายทั้งคนทั้งม้าประมาณ ๘๐๐ เศษ ศพลอยเต็มแม่น้ำ (น่าน) จนน้ำกินมิได้ พลทัพไทยไล่ติดตามจับเป็นได้ก็มาก กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ และ เจ้าพระยามหาเสนา จึงให้ม้าใช้รีบลงมากราบกราบทูลพระกรุณา ณ ค่ายหลวงบางข้าวตอกว่า ได้ตีทัพพม่าแตกพ่ายไปแล้ว”
 * ท่านผู้อ่านครับ กองทัพพม่าในสงครามเก้าทัพนี้ เราได้อ่านพงศาวดาร พระราชพงศาวดาร แล้วได้ข้อคิดหลากหลายดีนะครับ สมัยนั้นการสื่อสารยังไม่ดีพอ ทัพใหญ่ของพม่าที่ยกมาทางทางด้านตะวันตก พ่ายกลับไปอยู่เมืองเมาะตะมะแล้ว ทัพทางใต้กับทางเหนือดูเหมือนจะไม่รู้จึงยังยกเข้ามารบไทยอยู่ เฉพาะทางเหนือเป็นการรบที่กระจายในหลายหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง ยกจากกรุงเทพฯขึ้นไปตั้งค่ายหลวง ณ บางข้าวตอก แขวงเมืองพิจิตร สงครามที่บ้านปากพิงแขวงเมืองพิษณุโลกดุเดือดมาก ทหารพม่าแตกทัพข้ามน้ำหนี จมน้ำตายลอยเกลื่อนแม่น้ำน่านประมาณ ๘๐๐ ศพทีเดียว
 ที่สลดใจปนขำขันก็คือ แม่กองทัพไทยนาม พระยาสระบุรี เป็นทัพหน้าในกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ยกขึ้นไปปากพิงยามค่อนคืน ถึงตอนใกล้รุ่งเห็นเงาตะคุ่ม ๆ ของฝูงนกกระทุงว่ายน้ำสวนทางมา เข้าใจผิดคิดว่ากองกำลังพม่าบุกลงมาแล้ว จึงสั่งทหารถอยเป็นอลหม่าน ครั้นฟ้าแจ้งแล้วจึงเห็นว่าเป็นฝูงนกกระทุง กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์แม่ทัพทรงเห็นเป็นเรื่องอัปยศที่ทหารหาญรับมิได้ จึงสั่งประหารชีวิตเสีย แล้วตัดหัวเสียประจานไว้ ณ หาดทรายเหนือเมืองพิจิตรนั้น แม่ทัพขลาด และไร้ความรอบคอบ รบกี่ครั้ง ๆ ก็พ่ายแก่ศัตรูครับ
พม่าที่พ่ายจากเมืองพิษณุโลก เหลืออยู่จำนวนเท่าไรก็พากันหนีไปสมทบกองทัพใหญ่ที่ตั้งล้อมพระยากาวิละอยู่ ณ นครลำปาง กองทัพไทยต้องไล่ตามตีขึ้นไปช่วยพระยากาวิละ ผลจะเป็นอย่างไร อ่านกันต่อวันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ตั้งกรมพระราชวังหลัง -
ทัพพม่าบ้านระแหงแหยงสยาม รับรู้ความพ่ายยับทัพแตกฉาน เมื่อทัพไทยถึงกำแพงกลัวลนลาน หนีไปด่านแม่ละเมาทางที่มา
ทรงเลื่อนยศตำแหน่งปูนบำเหน็จ โดยสมเด็จกรมหลวงฯแม่ทัพหน้า เป็นกรมพระครองวังหลังราชา เลื่อนพระยาเป็นใหญ่อีกหลายคน |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรกวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้อ่านถึงตอนที่กองทัพหน้าซึ่งมี กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปตีค่ายใหญ่พม่า ที่ปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก พม่าแตกค่ายพ่ายหนี บางส่วนว่ายแม่น้ำน่าน หนีไม่รอดจมน้ำตายทั้งม้าทั้งคนจำนวน ๘๐๐ เศษ ที่หนีรอดไปได้ ก็รีบขึ้นไปสมทบกองทัพใหญ่ที่ตั้งล้อมนครลำปางอยู่ กรมหลวงอนุรักเทเวศร์ จึงให้ม้าเร็วลงมากราบบังทูลพระกรุณา ณ ค่ายหลวงบางข้าวตอก แขวงเมืองพิจิตร วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ
 “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา แยกกองทัพออกจากทัพหลวง ยกขึ้นไปบรรจบทัพเจ้าพระมหาเสนา ณ ปากน้ำพิง ให้ยกติดตามทัพพม่าซึ่งแตกขึ้นไปช่วยเมืองนครลำปาง ตีทัพพม่าซึ่งตั้งล้อมเมืองนครลำปางอยู่นั้นให้แตกฉานจงได้
 แล้วดำรัสสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปเชิญเสด็จกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์ ลงมาเฝ้า ณ ค่ายหลวง กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์ ก็ให้เลิกทัพลงมาตามพระราชกำหนด ให้คุมเอาพม่าเชลยซึ่งจับได้นั้นส่งมาถวาย จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เลิกทัพหลวงลงมาตั้งประทับอยู่ ณ ค่ายเมืองนครสวรรค์ รอฟังขาวราชการทัพซึ่งไปตีพม่าทางระแหงนั้น
 ฝ่ายกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ ยกขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร จึงให้ทัพพระยาพระคลัง พระยาอุไทยธรรม เป็นนายกองหน้ายกขึ้นล่วงหน้าไปก่อน ยังมิทันถึงค่ายพม่า ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านระแหงนั้น ซุยตองเวระจอแทงแม่ทัพพม่า ครั้นได้แจ้งข่าวว่ากองทัพทางค่ายปากน้ำพิงแตกไปแล้ว และกองทัพไทยยกล่วงขึ้นมาถึงเมืองกำแพงเพชร มุ่งเข้าตีค่ายบ้านระแหง ก็มิได้คิดจะสู้รบ รีบเลิกทัพหนีไปทางด่านแม่ละเมา (แม่สอด) พระยาพระคลัง พระยาอุไทยธรรม แต่งกองตระเวนไปสืบรู้ว่าทัพพม่าเลิกหนีไปแล้ว ก็บอกลงมาทูลกรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมหลวงเทพหริรักษ์ก็บอกลงมากราบทูลพระกรุณา ณ เมืองนครสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบศึกสิ้นไปแล้วก็ดำรัสให้ข้าหลวงไปหากองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับมายังเมืองนครสวรรค์ แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงกลับยังกรุงเทพมหานคร
ฝ่ายกองทัพ เนมโยสีซุย ซึ่งแตกไปแต่ค่ายปากน้ำพิงถึงค่ายล้อมเมืองนครลำปาง จึงแจ้งความแก่สะโดะมหาสิริยอุจจนา ซึ่งเป็นโบซุกแม่ทัพใหญ่ว่า ได้รบกับทัพไทยเสียทีมา และกองทัพไทยก็ติดตามขึ้นมาจวนจะถึงเมืองนครลำปางอยู่แล้ว
 พอกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา และ กรมหลวงจักรเจษฎา ยกขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง ก็ให้นายทัพนายกองทั้งปวง ยกพลเข้าระดมตีค่ายพม่าซึ่งล้อมเมือง ฝายสะโดะมหาสิริยอุจจนา กับ อาประกามะนี ก็ให้พลพม่าออกรบ ทั้งสองฝ่ายได้รบกันแต่เช้าจนเที่ยง แล้วทัพพม่าก็ก็แตกฉานทิ้งค่ายเสีย พ่ายหนีไปตั้งรวบรวมกันอยู่ ณ เมืองเชียงแสน
 พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางมีฝีมือเข้มแข็ง สู้รบพม่ารักษาเมืองอยู่ตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือนสี่ ทัพพม่าตั้งล้อมเมืองอยู่ถึงสี่เดือนจะหักเอาเมืองมิได้ จนกระทั่งกองทัพจากกรุงขึ้นไปช่วยจึงแตกพ่ายหนีไป
 กรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนาก็บอกลงมากราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครว่า ได้ตีทัพพม่าซึ่งล้อมเมืองนครลำปางนั้นแตกพ่ายหนีไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอกก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับมายังพระนคร แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบำเหน็จแก่นายทัพนายกองทั้งปวงโดยสมควรแก่ความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็น กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ดำรงพระเกียรติยศในที่ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข รับพระบัญชาตามแบบกรมพระราชวังหลังแต่ก่อนมา
 และให้พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป้นพระยายมราช แล้วโปรดให้พระยาพิพัฒนโกษา (ทองดี) เลื่อนที่เป็นพระยาธรรมาธิกรณ์ แล้วทรงพระราชดำริถึงเจ้าพระยาธรรมา พระยายมราชนอกราชการ ซึ่งเป็นโทษในการสงคราม(ที่ราชบุรี)ถูกถอดเสียนั้น ว่าเป็นข้าราชการเก่ารู้ขนบธรรมเนียมมาก จึงโปรดตั้งพระยาธรรมาเก่า เป็นพระยาศรีธรรมาธิราชจางวางกรมวัง โปรดตั้งพระยายมราชเก่า เป็นพระยามหาธิราช ช่วยราชการกรมเมือง
พอพระยาเพ็ชรพิไชย(หงส์)ถึงแกกรรมลงจึงโปรดพระยาราชสงคราม(เป้า) บุตรพระยาราชสงครามซึ่งชะลอพระนอนวัดป่าโมกข์ครั้งกรุงเก่า เลื่อนที่เป็นพระยาเพ็ชรพิไชย พระราชทานพานทองทั้งสิ้นด้วยกัน”
* * ท่านผู้อานครับ ก็เป็นอันว่าพม่าข้าศึกทางเหนือถูกขับไล่หนีไปรวมกันอยูที่เมืองเชียงแสนแล้ว กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ แม่ทัพฝ่ายเหนือทรงได้รับปูนบำเหน็จเลื่อนที่เป็นกรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ตำแหน่งกรมพระราชวังหลัง
ส่วนกองทัพพม่าทางใต้นั้น สมเด็จพระอนุชาธิราชฯจะทรงปราบปรามอย่างไร พรุ่งนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่ายึดได้หัวเมืองปักษ์ใต้ -
ทางปักษ์ใต้ไทยแย่แพ้พม่า ทั้งชุมพรไชยาถูกเผาป่น พระยานครถอดใจไม่อดทน แพ้เล่ห์กลพม่าเข้าป่าไป
แต่สตรีภูเก็ตใจเด็ดนัก นางปักหลักรบพม่ากู้หน้าได้ มหาช่วยพัทลุงยอดสงฆ์ไทย ศูนย์รวมใจสู้พม่าน่าเชิดชู |
อภิปราย ขยายความ................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาบอกเล่าถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจัดทัพและเสด็จขึ้นไปรบพม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ พม่าที่มาทางด่านแม่ละเมา (แม่สอด)หนีกลับไปโดยไม่สู้รบ เพราะทราบข่าวว่ากองทัพใหญ่ที่ยกมาตีเมืองลำปางและพิษณุโลกนั้น แตกพ่ายย่อยยับยกกลับไปรวมตัวอยู่ที่เมืองเชียงแสนหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนครแล้วแล้ว ทรงปูนบำเหน็จแก่แม่ทัพนายกองทั้งปวง โดยโปรดเกล้าฯ เลื่อนกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ขึ้นเป็นที่ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ เป็นต้น
 ขอพักเรื่องราวทางฝ่ายเหนือไว้ก่อนนะครับ วันนี้จะขอย้อนกลับไปดูเรื่องราวการรบกับพม่าทางภาคใต้บ้าง ดูกันว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ทรงรับพระราชบัญชายกกองทัพลงไปรบไล่พม่าทางภาคใต้นั้นจะเป็นเช่นไร ขอนำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้อานกันดังต่อไปนี้
 “ฝ่ายกองทัพพม่าที่พระเจ้าอังวะให้ยกลงไปตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตกตามชายทะเลนั้น ก็ยกทัพบกทัพเรือลงไปพร้อมกันอยู่ ณ เมืองมะริด แต่เดือนอ้ายปีมะเส็ง สัปตศก(พ.ศ. ๒๓๒๘) แกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพใหญ่จึงให้ยี่วุ่นเป็นนายทัพถือพล ๓,๐๐๐ กับนายทัพนายกองทั้งปวงยกทัพเรือลงไปทางทะเล ไปตีเมืองถลาง (ภูเก็ต) แล้วให้เนมโยคุงนรัดเป็นทัพหน้า กับนายทัพนายกองทั้งปวงถือพล ๒,๕๐๐ ยกมาทางเมืองกระบุรี เมืองระนอง เข้าตีเมืองชุมพร
 ตัวแกงวุ่นแมงยี่แม่ทัพใหญ่ถือพล ๔,๕๐๐ ยกหนุนมา ทั้ง ๒ ทัพเป็นคน ๗,๐๐๐ และเมื่อทัพหน้ายกเข้ามาถึงเมืองชุมพร เจ้าเมืองกรมการเมืองมีไพร่พลสำหรับเมืองน้อยนัก เห็นจะต่อรบมิได้ก็อพยพพาครัวหนีเข้าป่า ทัพพม่าก็เผาเมืองชุมพรเสีย แล้วกองหน้าก็ยกล่วงลงไปตีเมืองไชยา โดยแม่ทัพตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชุมพร และในเวลานั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังหาได้ยกลงไปถึงไม่ ด้วยราชการศึกยังติดพันกันอยู่ทางเมืองกาญจนบุรี เจ้าเมืองไชยาได้รับการแจ้งข่าวว่าเมืองชุมพรเสียแก่พม่าแล้วก็มิได้อยู่สู้รบ อพยพครอบครัวหนีเช้าป่าไปสิ้น (เช่นเดียวกันกับเจ้าเมืองชุมพร) ทัพพม่าเข้าเผาเมืองไชยาแล้วก็ยกออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช
 ขณะเมื่อทัพพม่ายกออกไปนั้น เจ้าพระยานครพัดได้รับแจ้งข่าวว่าเมืองชุมพร เมืองไชยา เสียแก่พม่าแล้ว จึงแต่งกรมการกับไพร่ ๑,๐๐๐ เศษ ยกมาตั้งค่ายขัดตาทัพอยู่ ณ ท่าข้ามแม่น้ำหลวงต่อแดนเมืองไชยา
 ทัพพม่าจับไทยชาวเมืองไชยาได้ ให้ไทยร้องบอกลวงพวกกองทัพเมืองนครว่า “เมืองบางกอกเสียแล้ว พวกเอ็งจะมาตั้งสู้รบเห็นจะสู้ได้แล้วหรือ ให้เร่งไปบอกเจ้านาย มาอ่อนน้อมยอมเข้าโดยดีจึงจะรอดชีวิต แม้นยังขัดแข็งอยู่จะฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมือง แต่ทารกก็มิให้เหลือ” พวกกองทัพเมืองนครนำเอาเนื้อความไปแจ้งแก่เจ้าพระยานคร เจ้าพระยานครพิจารณาดู ก็เห็นสมคำพม่า ด้วยมิได้เห็นกองทัพกรุงยกออกไป่ช่วย เห็นว่ากรุงจะเสียแก่พม่าแล้วหาที่พึ่งมิได้ จึงพาบุตรภรรยาญาติวงศ์สมัครพรรคพวกทั้งปวง หนีออกจากเมืองไปอยู่ ณ ป่านอกเขาข้างตะวันตก บรรดากรมการและไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวง ก็ยกครอบครัวหนีไปอยู่ตำบลต่าง ๆ
 ทัพพม่ายกไปถึงเมือง เข้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ ให้เที่ยวจับผู้คนและครอบครัวได้เป็นอันมาก และให้ไทยชาวเมืองนครนำพม่าไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนและครอบครัวซึ่งหนีไปอยู่ตามตำบลต่าง ๆ บ้าง พม่าออกหาเองได้มาบ้าง ที่ไม่เข้าเกลี้ยกล่อมหนีเข้าป่าดงไปก็มาก และพวกไทยซึ่งได้ตัวมานั้น บรรดาชายพม่าฆ่าเสียเป็นอันมาก เอาไว้แต่ผู้หญิงกับทารก และเก็บเอาเงินทองทรัพย์สิ่งของทั้งปวง หาผู้ใดคิดอ่านสู้รบพม่ามิได้ กลัวอำนาจพม่าเสียทั้งสิ้น พม่าก็ตั้งอยู่ในเมือง คิดจะยกออกไปตีเมืองพัทลุง สงขลาต่อไป
 ฝ่ายยี่วุ่นแม่ทัพเรือพม่าก็ยกทัพเรือลงไปตีตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งแตก แล้วยกลงไปถึงเกาะถลาง (ภูเก็ต) ให้พลทหารขึ้นบก เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้เป็นหลายค่าย และเมื่อกองทัพพม่าไปถึงเมืองนั้น พระยาถลางถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว ยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ไม่ และจันท์ภรรยาพระยาถลาง กับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุก คิดอ่านกับกรมการทั้งปวง เกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ และตัวภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงนั้น องอาจกล้าหาญมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึก เกณฑ์กรมการเมืองกับพลทหารทั้งชายหญิง ออกระดมยิงปืนใหญ่น้อยนอกค่ายสู้รบกับพม่าทุกวัน ทัพพม่าจะหักเอาเมืองมิได้ แต่สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษ พม่าขัดเสบียงอาหารลงจะหักเอาเมืองมิได้ก็เลิกทัพลงเรือกลับไป
 ข้างฝ่ายเมืองพัทลุงได้รับแจ้งข่าวว่า เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่พม่าแล้ว เจ้าเมืองกรมการเมืองทั้งปวงจะยกครอบครัวหนีเข้าป่า ขณะนั้นพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่งชื่อ มหาช่วย เป็นเจ้าอธิการอยู่ในอารามแขวงเมืองพัทลุง มีความรู้วิชาการดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงลงตะกรุด ประเจียด มงคล แจกคนทั้งปวงเป็นอันมาก พวกกรมการนายแขวงนายบ้านทั้งหลาย ชักชวนไพร่พลเมืองมาขอเครื่องรางของขลังมงคลพระหาช่วย แล้วคิดกันจะยกเข้ารบพม่าผู้คนเข้าด้วยกันประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ ตระเตรียมเครื่องศาสตราวุธพร้อมแล้ว ก็เชิญพระมหาช่วยอาจารย์ขึ้นคานหามมาด้วยในกองทัพยกมาจากเมืองพัทลุง มาตั้งค่ายอยู่กลางทางคอยจะรบทัพพม่าซึ่งจะยกออกไปแต่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น”
** ท่านผู้อ่านครับ ขอพักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ ร่ายยาวเกินไป ผู้ใช้มือถือไม่สะดวกในการอ่าน ไว้พรุ่งนี้ค่อยอ่านต่อก็แล้วกันครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขับไล่พม่าหมดภาคใต้ -
ทัพหลวงลงไปถึงชุมพรแล้ว ไร้วี่แววพม่ารอหน้าอยู่ ทรงจัดการบ้านเมืองให้ฟื้นฟู แล้วล่องสู่ไชยาไมรารอ
ทัพพม่ามารบละเลงเลือด ไชยาเดือดทั้งวันไม่ยั่นย่อ ฝนตกใหญ่ปืนด้านพวกม่านท้อ แหกวงป้อแป้ไปไม่รบพลัน
ทรงจัดการบ้านเมืองไม่เชื่องช้า ไปสงขลาตั้งทัพประทับมั่น มหาช่วยได้“พระยา”เป็นรางวัล ต่อจากนั้นเป็นอย่างไรตามไปดู |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าเพระยาทิพากรวงศ์( บุนนาค) มาให้อ่านกันถึงตอนที่ พม่ายกทัพมาเข้ายึดเมืองชุมพร เมืองไชยา ได้โดยง่าย เพราะเจ้าเมืองเห็นตนมีกำลังน้อยจึงไม่คิดสู้รบ พาครัวหลบหนีเข้าป่าไปสิ้น พม่าเผาเมืองทั้ง ๒ แล้วยกลงไปตีเมืองนคร เจ้าเมืองนครทราบว่า เมืองชุมพร เมืองไชยาเสียแก่พม่าแล้ว ไม่เห็นกองทัพกรุงเทพฯ ยกลงไปช่วยก็หมดกำลังใจในการสู้รบ พาครัวหนีเข้าป่าไป พม่าจึงยึดเมืองนครได้โดยง่าย
 พม่าอีกกองหนึ่งยกทัพเรือไปตีเมืองถลาง ยามนั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรมยังมิได้ตั้งคนใหม่ จันท์ ภรรยาอดีตเจ้าเมือง กับมุก ผู้เป็นน้องสาว ไม่ยอมแพ้พม่า จึงร่วมกับกรมการการเมืองปลุกเร้าชาวเมืองขึ้นสู้พม่า จนพม่าล่าถอยไป
 ส่วนทางเมืองพัทลุงนั้น เจ้าเมืองทราบว่าพม่ายึดเมือนครศรีธรรมราชได้แล้วก็หมดใจจะสู้ศึก ขณะกำลังจะพาครัวหนีเข้าป่านั้น ก็พอดีมีนายบ้านรวมตัวกันตั้งกองกำลังสู้พม่า นิมนต์พระมหาช่วยเจ้าอธิการวิชาอาคมขลังเสกตระกรุดลงยันต์ผ้าประเจียดแจกชาวบ้าน ยกกองกำลังออกตั้งรอทัพพม่าอยู่ชายแดน โดยนิมนต์พระมหาช่วยนั่งคานหามมาในกองทัพประชาชนด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร อ่านความกันต่อไปครับ
 “ ฝ่ายกองทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยาตรานาวาทัพไปทางท้องทะเลใหญ่ถึงเมืองชุมพร จึงให้ตั้งค่ายหลวงและตำหนักที่ประทับ เสด็จขึ้นประทับอยู่ ณ ที่นั้น แล้วดำรัสให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร กองหน้ายกทัพบกล่วงออกไปตั้งอยู่เมืองไชยาเป็นหลายค่าย
 ฝ่ายกองทัพพม่าได้รับแจ้งข่าวกองทัพกรุงเทพฯ ยกออกมา และแกงวุ่นยี่แม่ทัพจึงให้ เนโยคุงนะรัด นายทัพนายกอง กองทัพหน้าเข้ามาต่อรบทัพกรุงเทพมหานคร แล้วแม่ทัพก็ยกทัพใหญ่หนุนมา และกองหน้าพม่ามาปะทะทัพไทย ณ เมืองไชยา ยังมิทันจะตั้งค่าย ทัพไทยก็เข้าล้อมไว้รอบ ขุดสนามเพลาะรบกันกลางแปลงตั้งแต่เช้าจนค่ำ
 พอฝนห่าใหญ่ตกยิงปืนไม่ออก ทัพพม่าก็แหกหนีไปได้ แต่ตองพยุงโบนายทัพคนหนึ่งต้องปืนตายในที่รบ พลทหารไทยติดตามพม่าไปในเวลากลาคืน ฆ่าฟันพม่าเสียเป็นอันมาก พม่ามิได้รั้งรอต่อรบแตกกระจัดพลัดพรายกันไปสิ้น ที่จับเป็นได้ก็มาก และแม่ทัพซึ่งยกหนุนมา รู้ว่าทัพหน้าแตกแล้ว ก็มิได้ยกมาสู้รบ เร่งรีบบากทางหนีไปข้างตะวันตก กองทัพไทยได้ชัยชำนะแล้วก็บอกมากราบทูลยังค่ายหลวง ณ เมืองชุมพร แล้วส่งพม่าเชลยทั้งปวงมาถวาย
 ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงซึ่งหนีพม่าไปนั้น ก็กลับมาเฝ้าทั้งสิ้น จึงมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้รวบรวมราษฎรหัวเมืองและครอบครัวเดิม ซึ่งแตกฉานซ่านเซ็นหนีพม่าไปนั้น ให้กลับมาอยู่บ้านเมืองตามภูมิลำเนาเดิมดุจก่อน และให้เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงอยู่รักษาเมืองตามตำแหน่งทุก ๆ เมือง แล้วดำรัสให้เอาพม่าเชลยจำลงเรือรบไปด้วย จึงเสด็จยาตรานาวาทัพหลวงจากเมืองชุมพรไปประทับเมืองไชยา ให้ทัพหน้าเดินพลไป ณ เมืองนครศรีธรรมราชโดยทางบก แล้วเสด็จทัพหลวงไปโดยทางชลมารค
 ถึงเมืองนครศรีธรรมราชเสด็จขึ้นประทับอยู่ในเมือง ให้ชาวเมืองพาข้าหลวงไปสืบเสาะตามหาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ตัวมาจะให้ลงพระราชอาชญา แล้วทรงพระราชดำริเห็นว่าศึกเหลือกำลังจะสู้รบ จึงภาคทัณฑ์ไว้ รับสั่งให้อยู่รวบรวมราษฎร์รักษาบ้านเมืองดังเก่า แล้วเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงทั้งทางชลมารคสถลมารคไปประทับ ณ เมืองสงขลา
 ฝ่ายพระยาแก้วเการพพี่ชายพระยาพัทลุง หลวงสุวรรณคีรีเจ้าเมืองสงขลา และกรรมการทั้ง ๒ เมืองมาเฝ้าพร้อมกัน จึงดำรัสถามว่า ผู้ใดคิดสู้พม่าบ้าง พระยาพัทลุงกราบทูลว่า กองทัพเมืองพัทลุงได้ยกไปรบพม่า เพราะได้พระมหาช่วยเป็นอาจารย์คุ้มครองไปในกองทัพ ยังหาทันได้สู้รบกันไม่ ด้วยพม่ามิได้ยกออกไปตีเมืองพัทลุง ก็ถอยกลับไปเมืองนครศรีธรรมราชเสีย
 จึงดำรัสยกความชอบพระมหาช่วยว่า เป็นใจด้วยราชการมีความชอบมาก และพระมหาช่วยสมัครปริวัตร (ลาสิกขา สึก) ออกจากสมณะเพศ จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็น พระยาทุกขราษฎร์ ช่วยราชการเมืองพัทลุง พระราชทานบำเหน็จรางวัลโดยสมควรแก่ความชอบ”
 ** ท่านผู้อ่านคิดไหมครับว่า การปราบพม่าภาคใต้ของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ช่างง่ายดายเหลือเกิน การรบกับพม่าในภาคใต้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ ทัพหน้าต่อทัพหน้ารบกันที่เมืองไชยา ยิงปีนใส่กัน เข้าตีรันฟันแทงกันกลางแจ้ง เพราะพม่ายกมาจากเมืองนครไม่ทันตั้งค่าย ก็ถูกทัพหน้าไทย นำโดยพระยากลาโหมราชเสนา เข้าล้อมโจมตีในทันที การรบกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดยังไม่มีใครแพ้ชนะ ก็มีกรรมการเข้ามาห้ามทัพ คือ ฝนห่าใหญ่ตกลงมา (ฝนทางภาคใต้มักตกลงมาโดยไม่มีการตั้งเค้า) ดินปืนเปียกชื้นจุดไฟไม่ติด ปืนยิงไม่ออก พม่าก็เลยถือโอกาสตีแหกวงล้อมออกไปแบบทุลักทุเล ทหารไทยไล่ตามตีในยามค่ำมองไม่ค่อยเห็นตัว แต่ก็ฆ่าฟันพม่าล้มตายและบาดเจ็บเป็นอันมาก กองทัพใหญ่พม่าที่ยกหนุนมาทราบว่าทัพหน้าแตกพ่ายไปแล้ว ก็ไม่คิดสู้รบ บากหน้าหนีไปทางด้านตะวันตกไม่มีหลงเหลือ
 สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จพระราชดำเนินเข้าเมืองนครศรีธรรมราช จัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ทรงยกทัพลงไปประทับ ณ เมืองสงขลา ทราบเรื่องการจัดทัพรอรับรบพม่า กองกำลังนั้นมีพระมหาช่วยเป็นหัวหน้ากองกำลังสำคัญ ทรงตรัสยกย่องความชอบพระมหาช่วย ครั้นพระมหาช่วยยินดีลาสิขาออกมารับราชการ จึงทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ช่วยว่าราชการเมืองพัทลุง
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปติดตามกันในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ปราบได้เมืองมลายู -
เมืองตานีเป็นเมืองหลักของปักษ์ใต้ เมื่อสมัยอยุธยาเคยมาอยู่- ในขอบขัณฑสีมาไทยอุ้มชู มลายูถ้วนทั่วทุกหัวเมือง
เมื่อกรุงแตกแยกออกไม่บอกเล่า อนุชาธิราชเจ้าจึงเอาเรื่อง ยกกองทัพลงไปไม่สิ้นเปลือง ใครทำเขื่องปราบสิ้นทุกดินแดน |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้นำข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้อ่านถึงตอนที่สมเด็จพระอนุชาธิราชกรีธาทัพลงไปขับไล่พม่าทางภาคใต้ ทรงจัดการบ้านเมือง เมืองชุมพร ไชยา นครศรีธรรมราช เสร็จเรียบร้อยแล้วยกทัพเลยลงไปประทับ ณ เมืองสงขลา ทรงตั้งพระมหาช่วย เจ้าอธิการเมืองพัทลุงที่ลาสิกขาออกมา ให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ช่วยราชการเมืองพัทลุง แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไร อ่านพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ
 “ครั้นเสร็จการศึกพม่าแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระดำริว่า เมืองมลายูเคยเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแต่ครั้งกรุงเก่า ครั้นกรุงเก่าเสียแก่พม่าแล้ว พวกเมืองมลายูก็พากันกระด้างกระเดื่อง เจ้ากรุงธนยังหาได้ปราบปรามหัวเมืองมลายูให้เรียบร้อยไปดังแต่ก่อนไม่ และครั้งนี้ได้เสด็จลงไปรบพุ่งพม่าข้าศึกแตกฉานไปแล้ว กองทัพกรุงเทพฯ ก็มีกำลังพรักพร้อมกันอยู่ที่เมืองสงขลา สมควรจะปราบปรามหัวเมืองมลายู ให้มาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังแต่ก่อน จึงดำรัสให้ข้าราชการเป็นข้าหลวงเชิญรับสั่งออกไปยังหัวเมืองแขกมลายู ให้เข้ามาอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังแต่ก่อน
 สุลต่านเจ้าเมืองตานี ได้ทราบรับสั่งแล้วขัดแข็งอยู่ไม่ยอมมาอ่อนน้อม จึงดำรัสให้กองหน้ายกไปตีเมืองตานี ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไป ด้วยเดชะบารมีพระราชกฤษฎาธิการ บันดาลพวกแขกทั้งปวงให้พ่ายแพ้พลข้าหลวงทั้งสิ้น ที่สู้รบปราชัยก็มีบ้าง ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง ที่มาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง และเมืองตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่ ได้ปืนทองใหญ่ในเมือง ๒ บอก ทรงพระกรุณาให้เข็นลงในสำเภา และได้เครื่องสรรพศาสตราวุธต่าง ๆ กับทรัพย์สิ่งของทองเงินเป็นอันมาก
 บรรดาเจ้าเมืองกรมการเมืองแขกมลายูทั้งปวงนั้น ที่สู้ตายในที่รบบ้าง จับได้บ้าง ที่หนีไปได้บ้าง ที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีก็มิได้ลงโทษบ้าง และพระเดชานุภาพก็ผ้านแผ่ไปในมลายูประเทศทั้งปวง
 ครั้งนั้นพระยาไทร ๑ พระยากลันตันซึ่งขึ้นแก่เมืองตรังกานู ๑ พระยาตรังกานู ๑ ก็เกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชาธิการ ก็แต่งเครื่องราชบรรณานำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯต่อไป จึงมีพระราชบัณฑูรดำรัสให้แต่งหนังสือบอกข้าราชการ ซึ่งได้ชัยชนะแก่พม่าปัจจามิตร และเสด็จไปปราบปรามหัวเมืองแขกปราชัย ได้เมืองตานีและเมืองอื่นที่มาขอขึ้นก็หลายเมือง ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า ยังกรุงเทพมหานคร ข้าหลวงซึ่งถือหนังสือบอกข้อราชการทัพเมืองตานีเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสสรรเสริญพระกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า แล้วโปรดให้มีตราตอบออกไป แจ้งข้อราชการซึ่งเด็จพระราชดำเนินทัพหลวง ขึ้นไปปราบอริราชไพรี ณ หัวเมืองฝ่ายเหนือ พม่าปราชัยไปสิ้นแล้ว ให้เชิญสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า เสด็จยาตราพยุหทัพกลับคืนมายังพรระนคร
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงดำรัสให้กวาดครอบครัวแขกเชลยที่ตีทัพ จับบรรทุกลงเรือรบ เก็บทั้งทรัพย์สิ่งของทองเงิน แลเครื่องศาสตราวุธต่าง ๆ ซึ่งได้ในการสงคราม และให้แบ่งครอบครัวแขกสำหรับบ้านเมืองบ้าง ทุก ๆ เมือง แล้วโปรดตั้งพระจะหนะซึ่งมีความชอบในการสงครามครั้งนั้นเป็นเจ้าเมืองอยู่รักษาหัวเมืองตานีซึ่งตีได้นั้น
 อนึ่ง ทรงทราบว่าธัญญาหารในกรุงยังไม่บริบูรณ์ จึงดำรัสให้ขนข้าวในเมืองแขกลงบรรทุกในเรือกองทัพทุก ๆ ลำ เสร็จแล้วจึงให้เลิกกองทัพกลับมาทางบกทางเรือถึงกรุงเทพมหานครในเดือน ๑๑ ปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ (พ.ศ. ๒๓๒๙) เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า กราบทูลถวายปืนใหญ่ยาว ๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วกึ่ง กระสุน ๑๑ นิ้ว บอก ๑ ยาว ๕ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว กระสุน ๓ นิ้วกึ่ง บอก ๑ ซึ่งได้มาแต่เมืองตานี
และกราบทูลถวายครอบครัวแขก และพม่าเชลย กับทั้งเครื่องศาสตรวุธตาง ๆ ซึ่งไปได้มา และพม่าเชลยซึ่งจับได้มานั้นโปรดให้จำไว้ ณ คุกทั้งสิ้น
 ปืนใหญ่พญาตานี (พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหมปัจจุบัน) ปืนบอกใหญ่ที่ได้มาแต่เมืองตานีนั้น ก็โปรดให้แก้ไขตกแตงลวดลายท้ายสังข์ขัดสีเสียใหม่ ให้จารึกนามลงไว้กับบอกปืนว่า พระยาตานี แล้วให้ทำโรงไว้ที่ข้างหน้าศาลาลูกขุนในฝ่ายขวา
 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานคิดหล่อปืนขึ้นอีกบอก ๑ ให้เป็นคู่กันกับปืนที่ชื่อว่าพระยาตานี และเมื่อจะหล่อปืนนั้นเกณฑ์ทองข้าราชการ ทองบุม้า ฬ่อไม่เอา เอาแต่ทองเหลืองทองแดงตามเบี้ยหวัดตั้งแต่ ๑๐ ตำลึงขึ้นไป เบี้ยหวัดชั่ง ๑ ก็เอา น้ำหนักทองชั่งหนึ่งเท่ากับเงิน ให้เกณฑ์เอาทองมาส่งตามเบี้ยหวัด ตั้งกองรับทองส่งทองที่โรงละครใหญ่ ที่หล่อปืนนั้นหล่อที่หน้าโรงละครข้างทิศตะวันตก ริมถนนประตูวิเศษไชยศรี
 เมื่อสุมพิมพ์เวลาบ่ายนั้น โปรดให้จัดพวกโขนข้าหลวงเดิม กับพวกละครสมทบเข้าบ้าง ให้เล่นโขนละครกลางแปลงตั้งแต่เวลาบ่ายจนค่ำ เสด็จทอดพระเนตรอยู่จนโขนละครเลิก
 ปืนใหญ่นารายณ์สังหาร (พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหมปัจจุบัน) รุ่งขึ้นเวลาเช้าจึงหล่อปืน ครั้งนั้นหล่อทีเดียวก็ได้บริสุทธิ์ พระราชทานชื่อ "นารายณ์สังหาร" คู่กับพระยาตานี

 ปืนใหญ่ทั้ง 6 กระบอก (พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณหน้ากระทรวงกลาโหมปัจจุบัน) แล้วโปรดให้หล่ออีก ๖ บอก ชื่อมารประไลย ๑ ไหวอรนพ ๑ พิรุณแสนห่า ๑ พลิกพระสุธาหงาย ๑ พระอิศวรปราบจักรวาล ๑ พระกาฬผลาญโลก ๑ ทำโรงขึ้นไว้เป็นคู่ ๆ กัน ข้างถนนประตูวิเศษไชยศรี”
** ท่านผู้อ่านครับ สมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองปัตตานีและเมืองบริวารในมลายูประเทศขึ้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทย ครั้นเสียกรุงให้แก่พม่า บรรดาหัวเมืองในมลายูประเทศได้แยกตัวเป็นอิสระอยู่ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตกมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงลงไปตี แล้วยึดกลับมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงสยามอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๙ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้อ่านกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต - ตั้งท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร -
ทรงตั้ง“ท้าวเทพสตรีท้าวศรีสุนทร” สองบังอรเมืองถลางช่างกล้าแสน กรมการเมืองเป็นพระยาถลางแทน ไม่ขาดแคลนเจ้าเมืองแต่นั้นมา
ทรงยกทัพไปตีทวายบ้าง เพื่อลบล้างรอยแค้นของพม่า ทนทุรกันดานในมรรคา ทหารกล้าไม่ท้อต่อการเดิน
|
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ยกทัพลงไปปราบหัวเมืองมลายู ข้าขอบขัณฑสีมาไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วแยกตัวเป็นอิสระ ทรงปราบเมืองตานีและหัวเมืองมลายูทั้งปวงได้ราบคาบ แล้วนำปืนใหญ่จากเมืองตานีมากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จารึกชื่อว่า พระยาตานี แล้วโปรดให้หล่อปืนใหญ่ชื่อนารายณ์สังหาร ให้เป็นคู่กัน พร้อมกับให้หล่อปืนใหญ่ขึ้นอีก ๖ บอกแล้วนั้น วันนี้มาอ่านเรื่องราวในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ
 “ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นทัพพม่าถอยไปแล้ว ได้ข่าวกองทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณา ขณะเมื่อทัพหลวงยังเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสงขลาฉบับ ๑ บอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครฉบับ ๑ และขณะเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับเข้ามาถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการ โปรดให้มีตราออกไปยังเมืองถลาง
 ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งจันท์ภรรยาพระยาถลางเก่าซึ่งออกต่อรบพม่านั้น เป็นท้าวเทพสตรี โปรดตั้งมุกผู้น้องหญิงนั้น เป็นท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คนตามสมควรแก่ความชอบในการสงครามนั้น แล้วโปรดตั้งให้หลวงสุวรรณคีรีเป็นพระยาสงขลา ให้ยกเมืองนั้นเป็นเมืองตรี ขึ้นกรุงเทพมหานคร แล้วให้เมืองตานี เมืองจะหนะ และเมืองเทพา ทั้งหัวเมืองประเทศราชมลายู ขึ้นเมืองสงขลา
ต่อมาในปีมะเมียนั้น โปรดให้สร้างวังขึ้นริมคลองคูพระนคร เยื้องปากคลองหลอดข้าม ครั้นทำเสร็จจึงโปรดให้นักองเองกับญาติวงศ์ ย้ายจากบ้านที่คอกกระบือมาอาศัยอยู่ที่วังนั้น จึงได้เรียกว่า วังเจ้าเขมร แต่นั้นมา
 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า เสด็จขึ้นไปจัดแจงบ้านเมืองในล้านนาไทย โดยให้เอาพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง ไปเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯก็เสด็จขึ้นไปจัดการบ้านเมืองในล้านนาไทยตามพระราชดำรัสทันที
 * ในขณะที่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จขึ้นไปจัดการบ้านเมืองในล้านนาไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริจะเสด็จดำเนินทัพหลวงไปตีเมืองทวาย ดำรัสให้เตรียมทัพไว้ให้พร้อมสรรพ ครั้นถึงวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปลายปีมะแม นพศกนั้น เวลา ๓ โมงเช้าเศษ ได้เวลามหาพิชัยฤกษ์ ก็เสด็จยกพยุหยาตรานาวาทัพหลวงจากกรุง เทพมหานครโดยทางชลมารค มีพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวงนั้น ๒๐,๐๐๐ เศษ มีเรือพระราชวงศานุวงศ์และเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยเป็นอันมาก
ดำรัสให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ(สน) เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยายมราช เป็นกองหน้า เจ้าพระยาพระคลังเป็นเกียกกาย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทรเป็นยกกระบัตร สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นทัพหลัง
เสด็จประทับรอนแรมไปตามระยะทางชลมารคถึงท่าตะกั่วแม่น้ำน้อย จึงเสด็จประทับ ณ ตำหนักค่ายที่กองทัพหน้าตั้งไว้รับเสด็จ ให้กองหน้ากองหนุนคน ๑๐,๐๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน
 การยกทัพไปครั้งนั้นต้องเดินทัพไปทางเขาสูงข้ามเขาไปลงด่านวังปอ ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินตามไป โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างต้นพังเทพลีลาเป็นพระคชาธารผูกพระที่นั่งกูบทอง ประดับด้วยเครื่องพระกรรภิรมย์แห่โดยขนาด พรั่งพร้อมด้วยพลสารดั้งกันแทรกแซงเป็นขนัด พลอัสดรดุรงค์เรียบเรียงโดยพยุหยาตราหน้าหลัง คับคั่งด้วยพลบทจรเดินเท้าแปดพันเศษ ล้วนสวมใส่สรรพยุทธอาภรณ์ กรกุมอเนกวิธอาวุธ ส่งเสียงโห่ร้องกึกก้องท้องทุรัถยาพนาสณฑ์ เคลื่อนทัพไปโดยลำดับ ทรงให้ตั้งค่ายและพลับพลาหยุดประทับร้อนแรมไปตามทางนั้น
* ทางฝ่ายเมืองทวายนั้น พระเจ้าอังวะตั้งแมงแกงซาบุตรเมฆราโบลงมาเป็นเจ้าเมือง และกองทัพซึ่งเคยยกลงไปทางเมืองมะริดแต่ครั้งก่อนนั้นก็ยังอยู่พร้อมกันที่เมืองทวายทั้งสิ้น
 ทวายหวุ่นกับแก่งหวุ่นแมงญี แม่ทัพและนายทัพนายกองทั้งปวงได้ทราบว่ากองทัพไทยยกมาทางด่านวังปอเขาสูง จะเข้าตีเมืองทวาย แม่ทัพจึงให้นัดมิเลงถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ วังปอทัพหนึ่ง ให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวายถือพล ๔,๐๐๐ ยกมาตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองกลิอ่องเหนือเมืองทวายทัพหนึ่ง ให้ตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่งทางซึ่งจะมาแต่เมืองกลิอ่องถึงเมืองทวาย เกณฑ์ให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกพล ๕,๐๐๐ ออกไปตั้งรับอยู่อีกตำบลหนึ่ง แล้วจัดแจงพลทหารทั้งพม่าและทวายชาวเมือง ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ ตัวแก่งหวุ่นแมงญีแม่ทัพนั้นตั้งมั่นรักษาอยู่ในเมือง จัดแจงป้องกันเมืองเป็นสามารถ พร้อมกับมีหนังสือบอกขึ้นไปทูลพระเจ้ากรุงอังวะให้ทราบว่าพระเจ้ากรุงสยามยกทัพหลวงมาตีเมืองทวาย”
** ท่านผู้อ่านครับ คราวนี้ไทยเป็นฝ่ายรุกบ้าง หลังจากเป็นฝ่ายตั้งรับมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว การยกทัพไปตีทวายคราวนี้จะมีผลเป็นประการใด ตามไปอ่านต่อกันในตอนต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|