บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สิ้นสมเด็จพระพี่นาง -
เกิดเรื่องเศร้าเจ้านายฝ่ายในที่- สองพระพี่นางเจ้าจอมสยาม สิ้นพระชนม์น้องหนีแล้วพี่ตาม จึงสร้างความเศร้ารุมสุมเวียงวัง
เกิดเพลิงไหม้“สำเพ็ง”จีนเจ๊งมาก สาเหตุจากอะไรไร้เบื้องหลัง มีเรื่องราวในพงศาวดารดัง เล่าให้ฟังเพียงย่อพอรู้กัน |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่พม่าออกข่าวว่าจะยกมาตีเมืองไทยอีก ทางฝ่ายไทยก็ตั้งท่าคอยรับพม่า แต่แล้วพม่าก็ไม่ยกมาตามข่าว วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระต่อไปครับ * “ความในพระราชพงศาวดารบันทึกเรื่องราวไว้ว่า ในปีมะแม จุลศักราช ๑๑๖๑ (พ.ศ. ๒๓๔๒)นั้น กรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางพระองค์น้อยทรงพระประชวร แล้วสิ้นพระชนม์ในวันอาทิตย์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘
ต่อมากรมพระเทพสุดาวดีสมเด็จพระเจ้าพี่นางพระองค์ใหญ่ก็ทรงพระประชวร แล้วสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ในปีเดียวกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำพระโกศ ๘ เหลี่ยมยอดมณฑปทำด้วยไม้จำหลักลายกุดั่น ๒ พระโกศ บรรจุพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางทั้งสองพระองค์ เรียกว่ากุดั่นใหญ่พระโกศ ๑ กุดั่นน้อยพระโกศ ๑
โปรดให้มีตราออกไปถึงเจ้าอนัมก๊กขอซื้อเสน ทองอังกฤษ กระดาษทอง กระดาษเงิน ใช้ในการพระศพ ฝ่ายเจ้าอนัมก๊กทราบความดังนั้น จึงจัดขี้ผึ้งหนัก ๓ หาบ น้ำตาลทรายหนัก ๑๐ หาบ เข้าร่วมสดับปกรณ์ในการพระศพ
กับส่วนถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกระลำพักหนัก ๑๐ ตำลึง ผ้าปัดสะตูสีเขียว ๒๐ พับ สีม่วง ๑๒ พับ เสนหนัก ๕ บาท ทองอังกฤษ ๒๓๐ ม้วน กระดาษเงินใหญ่ ๑๕,๐๐๐ กระดาษเงินเล็ก ๓๐,๐๐๐ สิ่งของทั้งหมดนั้นส่งเข้ามาถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย
ต่อมาถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือน เดือน ๓ ปีเดียวกันนั้น องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กส่งปืนบาเหรี่ยม ๑๐ บอกเข้ามาถวาย และมีศุภอักษรขอจัดซื้อเหล็กหล่อไปหล่อกระสุนปืน ขอกองทัพลาว กองทัพเขมร ออกไปตีเมืองแง่อาน (ลาวเรียกเมืองนี้ว่าล่าน้ำ) เพื่อหน่วงไว้ทำให้พวกไกเซินพะว้าพะวังหลัง เจ้าอนัมก๊กจะได้ทำศึกโดยสะดวก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานดินประสิวตอบแทนออกไป ๕๐๐ หาบ และให้องทุงซายเซินจัดซื้อเหล็กหล่อได้ตามความปรารถนา ส่วนกองทัพลาวเขมรนั้นทรงตอบไปว่า จะให้ออกไปเกณฑ์ในแล้งนี้ กว่าผู้คนจะพรักพร้อมพอเข้าฤดูฝนเสียแล้ว จะยกไปเมืองแง่อานก็เป็นทางไกลกันดารไพร่พลจะเจ็บป่วยมาก จะให้แต่เขมรไปช่วยเจ้าอนัมก๊กตีเมืองกุยเยินก่อน
จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีตราไปถึงสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ(ปก) ให้จัดทัพไปช่วยเจ้าอนัมก๊กตีเมืองกุยเยิน เจ้าฟ้าทะละหะรับทราบแล้วจึงให้พระยาวังเป็นแม่ทัพคุมไพร่พล ๕,๐๐๐ ยกไปเมืองลำกวน แต่พระยาวังกดคนไว้ไม่อยู่ ไพร่พลในกองทัพหนีเสียเป็นอันมาก เจ้าฟ้าทะละหะจึงให้เอาตัวพระยาวังฆ่าเสีย แล้วเกณฑ์คนได้ ๕,๐๐๐ มอบให้พระยากลาโหม (พรหม) ยกไปช่วยเจ้าอนัมก๊กตอไป
** ความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้มิได้บอกเล่าถึงผลการรบระหว่างองเชียงสือกับญวนไกเซินในครั้งนี้ จึงไม่ทราบผลการรบระหว่างองเชียงสือ(ญวนใต้) กับเจ้าไกเซิน(ญวนเหนือ) แต่พระราชพงศาวดารฉบับนี้กลับกล่าวถึงเรื่องราวในกรุงเทพมหานครดังต่อต่อไปคือ
“ในปีวอกจุลศักราช ๑๑๖๒ (พ.ศ.๒๓๔๓) วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ เวลา ๕ โมงเศษ ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่วัดสามปลื้ม แล้วลุกลามไหม้ตลอดไปจนถึงตลาดน้อยวัดสามเพ็ง”
*** ท่านผู้อ่านครับ ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงฯทรงชำระ กับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มีความตรงกันทั้งหมด ให้แต่เพียงเรื่องย่อ ๆ ไม่มีรายละเอียดของเรื่องการจัดงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค์ ว่ามีการตั้งพระเมรุพระราชทานเพลิงที่ใดหรือไม่อย่างไร
สงครามการรบระหว่างองเชียงสือกับญวนไกเซินมีผลลงเอยเป็นเช่นไร กองทัพเขมรที่พระยากลาโหม(พรหม)ยกไปตีเมืองแง่อานนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีรายละเอียดในพระราชพงศาวดารนี้เช่นกันครับ
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔๓ เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชนชาวจีน ตั้งแต่วัดสามปลื้ม(จักรวรรดิราชาวาส) ลามไปถึงวัดสำเพ็ง (คงคาราม=ปทุมคงคาราม) ตลาดน้อยนั้น ไม่มีรายละเอียดเช่นกัน แม้เรื่องนี้ไม่มีรายละเอียดในพระราชพงศาวดารฯ แต่ก็มีตำนานบอกเล่าถ่ายทอดสืบกันมาปากต่อปากพิสดารพันลึกมาก ย่านชุมชนชาวจีนตั้งแต่วัดสามปลื้มไปถึงสำเพ็งตลาดน้อย อาคารบ้านเรือนร้านค้าสวนใหญ่ทำด้วยไม้จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดเพลิงไหม้ลุกลามใหญ่โต การดับเพลิงที่ทำกันได้อย่างดีที่สุด คือการช่วยกันเอาน้ำมาสาดใส่กองเพลิง แล้ว “น้ำน้อยแพ้ไฟ” ชนชาวจีนพากันอุ้มลูกจูงหลาน แบกขนข้าวของเท่าที่จะเอาไปได้ พากันหนีไฟอย่างโกลาหล สับสนอลหม่านจนเกิดที่มาของคำว่า “เจ๊กตื่นไฟ” แต่นั้นมา
เรื่องราวในพระราชพงศาวดารจะมีอะไรอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาเปิดอ่านกันต่อครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กลอน123, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- บูรณะวัดโพธาราม -
ทรงบูรณะวัดโพธิ์ขึ้นโตใหญ่ อยู่ด้านใต้พระราชวังนั่น ถือได้ว่าเป็นอาวาสอัศจรรย์ ราวสวรรค์บนดิน ณ ถิ่นไทย |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์ในเวลาไร่เรี่ยกัน ทรงโปรดให้สร้างพระโกศ ๘ เหลี่ยมยอดมณฑปทำด้วยไม้ ๒ พระโกศ ชื่อกุดั่นใหญ่ ๑ กุดั่นน้อย ๑ ในการพระศพนี้เจ้าอนัมก๊กจัดถวายเครื่องในการพระศพ จากนั้นโปรดให้เขมรจัดกองทัพไปช่วยองเชียงสือรบญวนไกเซิน รุ่งขึ้นปี พ.ศ. ๒๓๔๓ เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ เริ่มต้นเพลิงที่วัดสามปลื้มแล้วลามไปถึงวัดสำเพ็ง ตลาดน้อย วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารกันต่อไปครับ
* “ แล้วความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวย้อนกลับไปถึง “เมื่อปีระกา จุลศัก ราช ๑๑๕๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรเห็นวัดโพธารามเก่าชำรุดปรักหักพังเป็นอันมาก จึงทรงมีพระราชศรัทธาจะสร้างให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า พื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น ทรงให้ขอแรงคน ๑๐,๐๐๐ เศษ ช่วยกันขนดินมาถมจนเต็มแล้ว รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบลุ่มไป จึงให้ซื้อมูลดินถม สิ้นพระราชทรัพย์ ๒๕๐ ชั่ง ๑๕ ตำลึง จึงให้ปราบที่พูนมูลดินเสมอดีแล้ว ถึงวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี ฉลู จุลศักราช ๑๑๕๕ ทรงให้จับการปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุล้อมรอบ พื้นในกำแพงแก้วระหว่างพระระเบียงชั้นในก่ออิฐ ๕ ชั้น แล้วดาดปูนทำพระระเบียงล้อม ๒ ชั้น ผนังระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุ ผนังห้องพระระเบียงเขียนลายแย่ง มุมพระระเบียงนั้นเป็นจัตุรมุขทุกชั้น มีพระวิหาร ๔ ทิศ บรรดาหลังคาพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง สีเขียวสิ้น ตรงพระวิหารทิศตะวันตกออกไป ให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก ดอกเข็มเอาอิฐหักกระทุ้งให้แน่น แล้วเอาไม้ตะเคียนยาว ๙ วา หน้าศอกจตุรัส เรียงระดับประกับกันตาราง ๒ ชั้น แล้วจึงเอาเหล็กดอกเห็ดใหญ่ยาว ๒ ศอก ตรึงตลอดไม้แกงแนง ๒ ชั้น หว่างช่องแกงแนงนั้นเอาอิฐหักทรายถมกระทุ้งให้แน่นดี
รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตโหราจารย์ มายังที่ลานพระมหาเจดีย์ จึงให้ชักชะลอพระพุธปฏิมากรทรงพระนามพระศรีสรรเพชญซึ่งชำรุด รับมาแต่กรุงเก่า เข้าวางบนราก ได้ศุภฤกษ์ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางคดนตรีพิณพาทย์ เสด็จทรงวางอิฐทอง อิฐนาก อิฐเงิน ก่อราก ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงก็ระดมกันก่อฐานกว้าง ๘ วา ถึงที่บรรจุ จึงเชิญพระบรมธาตุ และฉลองพระเขี้ยวแก้วองค์ ๑ พระเขี้ยวทององค์ ๑ พระเขี้ยวนากองค์ ๑ บรรจุในห้องพระมหาเจดีย์ แล้วก่อสืบไปจนสำเร็จ ยกยอดสูง ๘๒ ศอก ทำพระระเบียงล้อม ๓ ด้าน ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกียรติ์ จึงถวายนามว่าพระเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ ตามพระนามพระพุทธปฏิมากรซึ่งฝังไว้ในพระเจดีย์นั้น
และพระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชญนี้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช ๘๓๒ ปี เ ป็นพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มทองคำทั้งองค์ ประดิษฐานไว้ในพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงเก่า เมื่อกรุงเสีย พม่าลอกทองคำที่หุ้มพระองค์ไปหมด ภายหลังพระอารามนั้นทิ้งร้าง พระวิหารพังทับพระพุทธปฏิมากรศรีสรรเพชญแตกหักบุบสลายมาก เมื่อทรงสร้างวัดพระเชตุพน โปรดให้เชิญลงมา หมายจะทรงปฏิสังขรณ์ให้เป็นรูปดีดังเก่าอย่างพระโลกนาถ แต่พระศรีสรรเพชญชำรุดมากนัก จะปฏิสังขรณ์ให้คงตามรูปเดิมไม่ได้ จึงทรงพระราชดำริจะเอาทองรวมหลอมหล่อพระพุทธรูปขึ้นใหม่ ครั้นมีพระราชปุจฉาแก่พระสงฆ์ราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน พร้อมกันถวายพระพรว่า ที่จะเอาทองอันเป็นพระพุทธรูปอยู่แล้วกลับหลอมหล่อใหม่เห็นไม่สมควร จึงโปรดให้เชิญเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ และในวงพระระเบียงรอบพระอุโบสถชั้นในมีพระมหาธาตุ ๔ ทิศ นอกพระระเบียงชั้นนอกหว่างพระวิหารคดนั้น มีพระเจดีย์ฐานเดียว ๕ พระองค์ ๔ ทิศ ๒๐ พระองค์ รวมกันทั้งพระมหาเจดีย์ใหญ่พระมหาธาตุเป็น ๒๕ พระองค์ บรรจุพระบรมธาตุสิ้นทุกพระองค์ และมีพระวิหารคด ๔ ทิศ กำแพงแก้วคั่น ประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบ ๒ ประตู มีรูปสัตว์ประตูละคู่
ทำหอไตรมุงกระเบื้องหุ้มดีบุก ฝาและเสาปิดทองลายรดน้ำ และตู้รูปปราสาทไว้คัมภีร์พระปริยัติไตรปิฎกทำการเปรียญ หอระฆัง พระวิหารน้อยซ้ายขวา สำหรับทายกไหว้พระพุทธรูป ขุดสระน้ำ ปลูกพรรณไม้ ศาลาราย ๕ ห้อง ๗ ห้อง ๙ ห้อง เป็น ๑๗ ศาลา เขียนเรื่องพระชาดก ๕๕๐ ชาติ ตั้งตำรายาและฤๅษีดัดตนไว้เป็นทาน ทำกำแพงแก้วล้อมรอบนอก มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องถ้วย ๔ ประตู มีรูปอสูรประจำประตูละคู่ มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบ ๙ ประตู ทั้งประตูกำแพงคั่น ๒ เป็น ๑๑ ประตู มีรูปสัตว์ประตูละคู่ เป็นรูปสัตว์ ๒๒ รูป แล้วทำตึกและกุฎีสงฆ์หลังละ ๒ ห้อง ๓ ห้อง ๔ ห้อง ๕ ห้อง ๖ ห้อง ๗ ห้อง ฝากระดานพื้นกระดานมุงกระเบื้อง เป็นกุฎี ๑๒๙ หลัง ทำหอฉัน หอสวดมนต์ ศาลาต้มกรัก ตากผ้า สระน้ำ ทำกำแพงล้อมกุฎีอีกวง ๑ และริมฝั่งน้ำนั้นมีศาลา ๓ หน้า ต้นสะพานพระสงฆ์สรงน้ำ ทำเว็จ กุฎี ๔ หลัง ในพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น เชิญพระพุทธปฏิมากรหล่อด้วยทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ ซึ่งชำรุดปรักหักพังอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองลพบุรี กรุงเก่า วัดศาลา ๔ หน้า กรุงเทพฯ ใหญ่น้อย ๑,๒๔๘ พระองค์ ลงให้ช่างต่อหล่อพระศอ พระเศียร พระหัตถ์ พระบาท แปลงพระพักตร์พระองค์ให้งาม แล้วประดิษฐานไว้ตามที่อันสมควร…”
* * ท่านผู้อ่านครับ ผมยกรายละเอียดเรื่องการปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือวัดพระเชตุพนฯให้อ่านทั้งหมด ท่านอ่านแล้วมองเห็นความยิ่งใหญ่อลังการของวัดนี้ไหมครับ เฉพาะในเขตพุทธาวาสนั้น มีสิ่งที่เรียกว่า พิเศษ ก็เห็นจะเป็นตำรายาและรูปปั้นฤๅษีดัดตน ซึ่งให้คุณประโยชน์แก่สาธารชนตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาจนถึงกาลปัจจุบัน และน่าจะถือได้ว่าเขตพุทธาวาสของวัดโพธารามนี้เป็นเสมือน “กรุพระพุทธรูป” ใหญ่ที่สุดของประเทศก็ว่าได้ เพราะเก็บรวบรวมพระพุทธรูปองค์สมบูรณ์และองค์ชำรุดต่าง ๆ มาซ่อมแซมตั้งไว้จำนวนมากถึง ๑,๒๔๘ องค์ทีเดียว ในเขตสังฆาวาสก็ใหญ่โต เพราะมีกุฏีสงฆ์มากถึง ๑๒๙ หลัง บริเวณที่เรียกว่า “ท่าเตียน” ในปัจจุบันนั้น มีศาลา ๓ หน้าสำหรับพระสงฆ์ใช้เป็นที่พักลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เรื่องของวัดโพธิ์ยังไม่จบ วันพรุ่งนี้ผมจะนำความในพระราชพงศาวดารฯนี้มาให้อ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, กลอน123, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พระพุทธรูปวัดโพธิ์มีที่มา -
ให้ซ่อมแซมบูรณะพระพุทธรูป ทั้งก่อกูบกุฏิ์สงฆ์หลังน้อยใหญ่ เป็นอารามงามตระการเบิกบานใจ แก่ผู้ได้พบเห็นเป็นบุญตา
|
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงตอนที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม แล้วรวบรวมพระพุทธรูปองค์ที่สมบูรณ์และองค์ที่ชำรุดไปไว้ในวัดโพธาราม โดยองค์ที่ชำรุดนั้นก็จัดการบูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์ องค์ที่ซ่อมไม่ได้มีอยู่องค์เดียวคือ พระศรีสรรเพชญจากกรุงเก่า ทรงนำลงฝังไว้ใต้พระเจดีย์ศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปต่าง ๆ นั้นทรงนำไปจาก พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย ลพบุรี กรุงเก่าอยุธยา หลายองค์มีประวัติที่น่าศึกษาจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระดังต่อไปนี้
* “พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลา ๔ หน้า หน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว เชิญมาปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่า พระพุทธเทวปฏิมากร และผนังพระอุโบสถเขียนเรื่องทศชาติ ทรมานท้าวมหาพรหมและเทพชุมนุม
พระพุทธรูปยืนสูง ๒๐ ศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนาถศาสดาจารย์ ปรักหักพัง เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชญกรุงเก่า ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลังบรรจุพระบรมธาตุด้วย ผนังเขียนพระโยคาวจรพิจารณา อศุภ ๑๐ และอุปมาญาณ ๑๐
พระพุทธรูปวัดเขาอินทร์ เมืองสวรรคโลก หล่อด้วยนาก หน้าตัก ๓ ศอกคืบ หากรมิได้ เชิญลงมาปฏิสังขรณ์ด้วยนาก เสร็จแล้วประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้มหาโพธิ์ มี ต้นพระมหาโพธิ์ด้วย และผนังนั้นเขียนเรื่องมารผจญ
พระพุทธรูปหน้าตัก ๔ ศอก ๕ นิ้ว เชิญลงมาแต่กรุงเก่า ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศใต้ ถวายพระนามว่าพระพุทธเจ้าเทศนาพระธรรมจักร มีพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วย และผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักร และเทศนาดาวดึงส์
พระพุทธรูปหน้าตัก ๓ ศอกคืบ ๔ นิ้ว เชิญมาแต่เมืองลพบุรี ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตก บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่าพระนาคปรก มีพระยานาคแผลงฤทธิ์เลิกพังพาน มีต้นจิกด้วย และผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกศธาตุ
พระพุทธรูปหล่อใหม่สูง ๘ ศอก ๕ นิ้ว ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศเหนือ บรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่าพระปาเลไลยก์ มีช้างถวายคณฑีน้ำ มีวานรถวายรวงผึ้ง และผนังนั้นเขียนไตรภูมิ มีเขาพระสุเมรุราช และเขาสัตตบริภัณฑ์ ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ และ เขาพระหิมพานต์สระอโนดาดและปัญจมหานที
พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่า หน้าตัก ๔ ศอก เชิญเข้าประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในการเปรียญ แล้วจัดพระพุทธรูปไว้ในพระระเบียงชั้นในชั้นนอก และพระวิหารคด เป็นพระพุทธรูปมาแต่หัวเมืองชำรุด ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ๖๘๙ พระองค์ พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูนสำหรับพระอารามชำรุดอยู่ ๑๘๓ พระองค์ รวมกันเป็นพระพุทธรูปและพระอรหันต์ ๘๗๒ พระองค์ ลงรักปิดทองสำเร็จ เหลือนั้นข้าทูลละอองธุลีพระบาทสัปบุรุษชายหญิงรับไปบูรณะไว้ในพระอารามอื่น
การฐาปนาพระอาราม ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงสำเร็จ สิ้นพระราชทรัพย์แต่ที่จำได้ คิดค่าดินถม อิฐ ปูน ไม้ขอนสัก ไม้แก่น เหล็ก กระเบื้อง พื้นไม้ จากทำโรงงาน ร่างร้าน เรือนข้าพระ เสา กระดาน กุฎี น้ำอ้อย น้ำมันยาง ชัน ดีบุก ทองเหลือง ทองแดง ขี้ผึ้งหล่อฐาน และกระจก น้ำรัก ทองคำ กระดาษ ชาด เสน เครื่องเขียน รง ดินแดง พระราชทานช่าง เลี้ยงพระสงฆ์ เลี้ยงช่าง ช่วยคนชายฉกรรจ์ ๑๖ สำมะโนครัว ๑๒๔ คน เป็นเงิน ๙๕ ชั่ง ๑๑ ตำลึง สักแขนขวาถวายเป็นข้าพระขาดไว้ในพระอาราม
ตั้งหลวงพิทักษ์ชินสีห์เจ้ากรม ขุนภักดีรสธรรมปลัดกรม ควบคุมข้าพระและรักษาพระอาราม รวมพระราชทรัพย์ทั้งสิ้นที่สร้างและช่วยคนเป็นเงินตรา ๓,๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง
แล้วทรงพระกรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่งทรงพระพุทธรูปในพระวิหารทิศ พระระเบียงพระวิหารการเปรียญพระมหาธาตุ พระเจดีย์ใหญ่น้อย สิ้นแพร ๑๐๐ พับ แต่พระพุทธเทวปฏิมากรในพระอุโบสถ ทรงผ้าสีทับทิมชั้นใน ตาดชั้นนอก”
** อ่านพระราชพงศาวดารฯมาถึงตรงนี้แล้วได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปต่าง ๆ มาจาก เมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) สุโขทัย พิษณุโลก ลพบุรี กรุงเก่าอยุธยา เป็นจำนวนมาก ด้วยในยามนั้นเมืองดังกล่าวมีสภาพเป็นเมืองร้างไร้คนทะนุบำรุงรักษาดูแล มีองค์หนึ่งอัญเชิญจากวัดศาลาสี่หน้า คือวัดคูหาสวรรค์ กรุงธนบุรี คือองค์ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
พระพุทธรูปที่ชำรุดก็โปรดให้ช่างทำการบูรณะซ่อมแซมให้บริบูรณ์ เช่นพระโลกนาถศาสดาจารย์ยืน สูง ๒๐ ศอก เชิญมาจากวัดพระศรีสรรเพชฌ์กรุงเก่า พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย เนื้อหล่อด้วยนาก จากวัดเขาอินทร์ เมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก) พระพุทธรูปปางนาคปรก เชิญมาจากลพบุรี เป็นต้น
รวมพระพุทธรูปที่โปรดให้อัญเชิญมาแล้วปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญ พระระเบียงชั้นใน ชั้นนอก พระวิหารคดรวม ๖๗๙ องค์ พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูน ชำรุดอยู่ ๑๘๓ องค์ รวมกันเป็นพระพุทธรูปและพระอรหันต์ ๘๗๒ องค์ ลงรักปิดทองสำเร็จ ประดิษฐานไว้ในวัดโพธาราม เหลือนั้นอีกจำนวนมาก มอบให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและสัปบุรุษชายหญิงรับไปบูรณะไว้ในอารามอื่น
ทรงสิ้นพระราชทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปเป็นเงินตรา ๓,๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง
พรุ่งนี้มาอ่านความกันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขนานนามวัดพระเชตุพนฯ -
สร้างเสร็จสรรพจับการงานสมโภช แล้วทรงโปรดตั้งนามอารามสง่า “พระเชตุพนวิมลมังคลา- ราม”สมญาวัดโพธิ์อันโอฬาร |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดร้างในเมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก) สุโขทัย ลพบุรี กรุงเก่าศรีอยุธยา มาประดิษฐานไว้วัดโพธาราม องค์ที่ชำรุดก็โปรดให้ช่างทำการบูรณะซ่อมแซมจนสมบูรณ์งดงาม ประดิษฐานไว้ในวัดโพธารามรวม ๘๗๒ องค์ ที่เหลือนอกนี้อีกจำนวนมาก มอบให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและสัปบุรุษรับไปบูรณะไว้ในอารามต่างทั่วกรุงเทพมหานคร ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อการนี้รวมทั้งสิ้น ๓,๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ
* “ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ ให้ตั้งการฉลอง อาราธนาพระราชาคณะฐานานุกรม อธิการอันดับ ฝ่ายคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ๑,๐๐๐ รูป พร้อมกันในพระอุโบสถ เวลาบ่ายแล้ว ๔ โมง ๕ บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช พระราชวงศานุวงศ์ เสนาพฤฒามาตย์ ราชปโรหิตาจารย์ มายังพระอุโบสถ ทรงสมาทานพระอุโบสถศีลแล้ว หลั่งอุทิโสทกลงเหนือพระหัตถ์พระพุทธปฏิมากร ถวายพระอารามตามบาลีแก่พระสงฆ์ มีองค์พระพุทธปฏิมากรเป็นประธาน และพระราชทานนามพระอารามว่า “วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม” มอบถวายสมเด็จพระวันรัตน พิพัฒนญาณ อดุลยสุนทรนายก ปิฎกธรามหาคณิศร บวรทักขิณาคณะสังฆาราม คามวาสี สถิตในวัดพระเชตุพน แล้วถวายแด่พระพุทธปฏิมากร แพรยกไตร ๑ บาตรเหล็ก เครื่องอัฐบริขารพร้อมย่ามกำมะหยี่ เครื่องย่ามพร้อมพัดแพร ร่มแพร เสื่ออ่อน โอเถา โอคณะ กาน้ำ ช้อนมุก ขวดแก้วเต็มด้วยน้ำผึ้ง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันยา กลัก ธูป เทียน สิ่งละ ๑๐๐ ไม้เท้า สายระเดียง พระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูปได้รับไทยทานทั่วกันทุกรูป
ครั้นจบพระบาลีที่ทรงถวายพระสงฆ์รับสาธุพร้อมกัน ประโคมดุริยางคดนตรีแตรสังข์ฆ้องกลอง สนั่นไปด้วยศัพทสำเนียงกึกก้องโกลาหล พระสงฆ์รับไทยทานแล้วไปสรงน้ำ ครองผ้าไตร มาสวดพระพุทธมนต์เวลาเย็นวันละ ๑,๐๐๐ รูป ปฏิบัติสงฆ์ฉันเช้า เพล ๓ วัน ๑,๐๐๐ รูป ถวายกระจาดทุกองค์ ให้มีพระธรรมเทศนาบอกอานิสงส์ทุกวัน แล้วปฏิบัติพระสงฆ์ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนตรัย ฉันเช้าทั้ง ๗ วัน เป็นพระสงฆ์ ๖๒๔ รูป ถวายผ้าสบงทุกองค์ ถวายบาตรเหล็กซึ่งพระสงฆ์ไม่มีครอง แล้วถวายกระจาด เสื่อ ร่ม รองเท้า ธูป เทียน ไม้เท้า แล้วให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง แลมีโขนอุโมงค์โรงใหญ่ หุ่น ละคร มอญรำ ระบำ โมงครุ่ม คุลาตีไม้ ปรบไก่ งิ้วจีน ญวนหกคะเมน ไต่ลวด ลอดห่วง รำแพน นอนหอก นอนดาบ โตล่อแก้ว และมวย
เวลากลางคืนประดับไปด้วยประทีปแก้ว ระย้าแก้ว โคมพวง โคมราย และดอกไม้รุ่งสว่างไปทั้งพระอาราม แล้วให้มีหนังคืนละ ๙ โรง มีดอกไม้เพลิงคืนละ ๒๐๐ พุ่ม ระทาใหญ่ ๘ ระทา พลุ ประทัด พะเนียง ดอกไม้ม้า ดอกไม้กระถาง ดอกไม้กลต่าง ๆ และมังกรล่อแก้ว ญวนรำโคม เป็นที่โสมนัสบูชาโอฬารึกวิเศษ เป็นพระราชทรัพย์ทิ้งทาน ต้นกัลปพฤกษ์ ฉลากพิกัดราคา พระราชบุตรา และพระราชบุตรี พระราชภาคิไนยราช และนางพระสนม ราชกุญชร อัสดร นาวา ฉลากละ ๕ ชั่ง ๔ ชั่ง ๒ ชั่ง เป็นเงินตรา ๓๓๘ ชั่ง เงินเข้าผลมะนาว ๑๖๘ ชั่ง รวมกับเงินทิ้งทานเป็นเงินตรา ๕๐๖ ชั่ง คิดทั้งเงินราคาผ้าทรงพระ ค่าดอกไม้สดบูชา เลี้ยงพระสงฆ์กระจาด และโรงฉ้อทาน เครื่องไทยทาน ทำเครื่องโขน โรงโขน เครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ พระราชทานการมหกรรมสมโภชและถวายระย้าแก้ว โคมแก้วบูชาไว้ในพระอาราม เป็นเงินตราในการฉลอง เงิน ๑,๙๓๐ ชั่ง ๔ ตำลึง คิดรวมกันทั้งสร้างเป็นพระราชทรัพย์ เงิน ๕,๘๑๑ ชั่ง
ครั้นเสร็จการฉลองพระอารามแล้ว ภายหลังทรงพระกรุณาให้เชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ ซึ่งสถิตในพระวิหารฝ่ายทักษิณทิศ และประจิมทิศนั้น ขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วให้เชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ซึ่งเชิญมาแต่เมืองสุโขทัย หน้าตัก ๖ ศอกคืบกับนิ้ว ๑ เท่ากัน พระองค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระพุทธชินราช ประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารทักษิณทิศ พระองค์ ๑ ทรงพระนามพระพุทธชินสีห์ประดิษฐานไว้แทนที่ฝ่ายประจิมทิศคงดังเก่า”
**ท่านผู้อ่านครับ อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาจบลงตงนี้พร้อมกับปัญหาเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อฉลองวัดพระเชตุพนฯเสร็จแล้ว โปรดให้เชิญพระพุทธเจ้าเทศนาธรรมจักรในพระวิหารทิศใต้ และ พระนาคปรกในพระวิหารทิศตะวันตก ไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์(คือวัดมหาธาตุฯปัจจุบัน) แล้วเชิญพระพุทธรูปจากสุโขทัย ๒ พระองค์ คือ พระพุทธชินราช เข้าประดิษฐานในพระวิหารทิศใต้ เชิญพระพุทธชินสีห์เข้าประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันตก แทนที่ทั้ง ๒ องค์ที่เชิญออกไป
ปัญหาก็เกิดขึ้นว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ นั้น เป็นพระพุทธรูปประจำอยู่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดใหญ่พิษณุโลก ไม่ใช่พระพุทธรูปจากสุโขทัย ถ้าถือเอาความตามนี้ก็เป็นอันว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปอยู่เมืองสุโขทัย ถูกอัญเชิญลงไปประดิษฐานไว้ในวัดพระเชตุพนฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้วถ้าอย่างนั้นท่านกลับขึ้นมาอยู่พิษณุโลกได้อย่างไร เมื่อไร ?? ปัญหานี้ผมจนปัญญาจะหาคำตอบได้ ใครรู้ช่วยบอกเอาบุญด้วยเถิด.
พรุ่งนี้มาอ่านความกันต่อไปนะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- องเชียงสือได้ครองบัลลังก์ -
องเชียงสือเป็นสิงห์ยิ่งกว่าเสือ เป็นใหญ่เหนือญวนแจ้งทุกแห่งหน ยึดกุยเยิน,เว้,ตังเกี๋ยหมดญวนบน ประกาศตนตั้งวงศ์ว่า“ยาลอง”
เป็นพระเจ้าแผ่นดินปิ่นประเทศ อาจเป็นเหตุให้ยิ่งหยิ่งผยอง เคยขอโน่นให้นี่ที่สมปอง ดอกไม้ทองเงินใดไม่ส่งเลย |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบูรณะวัดโพธารามจนเสร็จสิ้น ได้ฉลองมหรสพสมโภชและพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม” วันนี้มาดูความพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันต่อไปครับ
ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ เวลายามเศษ ได้เกิดเพลิงไหม้พระมณฑปวัดพระศรีสรรเพชญ์ (คือวัดมหาธาตุฯปัจจุบัน) เหตุเพราะสามเณรจุดดอกไม้เพลิงเล่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จด่วนเข้าช่วยดับเพลิง สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงพระพิโรธมาก หลังจากได้สอบสวนคดีแล้ว ทรงให้สึกสามเณรแล้วจะประหารชีวิตเสีย สมเด็จพระสังฆราชถวายพระพรขอชีวิตไว้ ก็โปรดยกโทษพระราชทานให้ ภายหลังเติบโตขึ้นอุปสมบทแล้ว ได้ไปเป็นพระครูอยู่วัดเมืองสมุทรปราการ ส่วนพระมณฑปนั้นก็โปรดให้ทำเป็นหลังคา จัตุรมุขมิได้ทำเครื่องยอดตามเดิม
* “ปีจอ จุลศักราช ๑๑๖๔ (พ.ศ. ๒๓๔๕) เจ้าอนัมก๊กมีราชสาส์นเข้ามาฉบับ ๑ ใจความว่า พระยากลาโหมเขมร ซึ่งยกกองทัพไปช่วยตีกองทัพไกเซินที่ล้อมเมืองกุยเยินนั้น องเชียงสือได้จัดให้พระยากลาโหมตั้งค่ายล้อมอยู่กอง ๑ หาได้ใช้ให้รบพุ่งกันเหมือนกองทัพญวนไม่ มีขุนนางเขมรพวกพระยากลาโหมหลายคนแจ้งแก่เจ้าอนัมก๊กว่า พระยากลาโหมไม่ซื่อตรงต่อเจ้าอนัมก๊ก มีหนังสือลับไปถึงวิตีเขาดึง วิตีโดยวง ขุนนางพวกไกเซินซึ่งล้อมเมืองกุยเยิน เจ้าอนัมก๊กทราบแล้วก็ไม่อาจทำอะไรได้ ครั้นตีได้เมืองกุยเยินแล้ว งุยทำดกเวียนที่ถูกจับตัวได้บอกว่า เมื่อคราวที่พระยากลาโหมมีหนังสือลับไปถึงวิตีเขาดึง วิตีโดยวง นั้น งุยทำดกเวียนเป็นผู้แปลหนังสือลับ ก็สอดคล้องต้องกันกับคำเขมรที่แจ้งความแก่เจ้าอนัมก๊ก เมื่อพระยากลาโหม เขมรมีชื่อ ยกกองทัพกลับมานั้น เจ้าอนัมก๊กก็ได้จัดเงินทองแจกจ่ายแก่พระยากลาโหมและเขมรมีชื่อด้วย แต่พระยากลาโหมคุมกองทัพกลับเมืองเขมรเสีย
ความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสให้พระยาพระคลังมีหนังสือตอบไปถึงเจ้าอนัมก๊กใจความว่า ซึ่งเจ้าอนัมก๊กมีหนังสือเข้าไปว่า ได้ยกทัพบก ทัพเรือ ไปตีเมืองกุยเยินได้ แล้วบัดนี้จะยกกองทัพไปตีเมืองตังเกี๋ย เมืองเว้ นั้น ถ้าราชการหนักเบาประการใดจงบอกเข้ามาให้แจ้ง และซึ่งพระยากลาโหมเขมรมิได้ซื่อตรงต่อเจ้าอนัมก๊ก ความข้อนี้ นักเตียง นักเภา เขมรมีชื่อ ๕ คนในกองทัพพระยากลาโหม หนีเข้ามาให้กราบบังคมทูลกระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าอนัมก๊กจับพระยากลาโหม ว่าพระยากลาโหมมีหนังสือลับถึงแม่ทัพไกเซิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่าจริงหรือไม่จริง
เขมรมีชื่อกราบทูลว่าจริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบอยู่แล้ว ถึงพระยากลาโหมจะเข้ามากราบทูลประการใดก็หาทรงเชื่อไม่ อย่าให้เจ้าอนัมก๊กวิตกเลย และพระยากลาโหมทำทั้งนี้โทษผิดหนักหนา เจ้าอนัมก๊กอดออมไม่ถือโทษแล้ว ซ้ำให้เงินทองแก่พระยากลาโหมเขมรมีชื่ออีกนั้น ขอบพระทัยเจ้าอนัมก๊กยิ่งนัก เมื่อพระยากลาโหมเข้ามาแจ้งราชการ ณ กรุงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทำโทษ
ในปีนั้นเจ้าอนัมก๊กมีราชสาส์นส่งมาทางเวียงจันทน์อีกฉบับ ๑ บอกว่า ได้เมืองเว้เมื่อ ณ เดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑ ได้เมืองตังเกี๋ย เมื่อ ณ เดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ ยกตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ใช้ยี่ห้อว่า ยาลองปีที่ ๑ ลงชื่อในพระราชสาส์นว่า ดึกกวางเทือง ตั้งแต่นั้นก็มิได้ส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามาเหมือนแต่ก่อน”
* ท่านผู้อ่านครับ ชื่อ “ท่าช้าง” อันเป็นท่าเรือริมน้ำเจ้าพระยาอยู่เหนือท่าราชวรดิตถ์นั้น เห็นทีว่าจะได้มาจากการที่ได้นำช้างพังเผือกจากป่าภูเขียวใส่แพ ล่องลงมาตามลำน้ำป่าสัก ออกเจ้าพระยามาถึงกรุงเทพมหานคร แล้วขึ้นบกตรงท่าน้ำนี้เอง ช้างพังเผือกเชือกนี้ได้รับพระราชทานนามไพเราะมากทีเดียว โดยขนานนามว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมเรศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลเฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์วิลัยลักษณเลิศฟ้า ไม่ไกลจากท่าช้างนัก คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือวัดมหาธาตุฯในปัจจุบัน อันเป็นพระอารามประจำพระองค์ในสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เกิดเพลิงไหม้พระมณฑป หลังจากรับและสมโภชนางพระยาช้างเผือกได้ไม่นาน
องเชียงสือที่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯตรัสในคราวที่หนีจากกรุงเทพมหานครไปนั้นว่า บุคคลผู้นี้ไว้วางใจมิได้ก็เริ่มจะเห็นลายแล้ว กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ นั้น องเชียงสือเจ้าอนัมก๊กซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครในการทำศึกกับญวนไกเซินตลอดมา จนรบชนะไกเซิน ยึดครองเมืองกุยเยิน เมืองเว้ เมืองตังเกี๋ยได้ แล้วตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินญวน เป็นใหญ่สมตามความประสงค์จากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่ได้ส่งต้นไม้ทองเงินและเครื่องบรรณาการมากรุงเทพมหานครอีกเลย ก็เป็นอันวาทางเมืองญวนก็เรียบร้อยองเชียงสือไปแล้ว แต่ทางเมืองไทยยังไม่เรียบร้อย เพราะพม่าข้าศึกคู่รักคู่แค้นของไทยเริ่มก่อสงครามอีกแล้ว เรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, กลอน123, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, น้ำหนาว, , ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ศึกพม่าเริ่มอีกแล้ว -
พม่ายกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ เป็นทัพใหญ่เจ็ดกอง อย่างเปิดเผย ตั้งค่ายล้อมพร้อมรบครบอย่างเคย ไทยอยู่เฉยอย่างไรเมื่อภัยมา
กรมพระราชวังบวรฯทรงร้อนรุ่ม เร่งควบคุมกองทัพอันแกร่งกล้า เสด็จถึงเมืองเถินเกิดโรคา พักรักษาวรกายไปไม่ทัน
สั่งลูกทัพเดินทางอย่างเร่งด่วน ทุกกระบวนทัพขออย่าย่อยั่น ไล่พม่าอริราชพินาศพลัน อย่าให้มันราวีย่ำยีไทย |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนี้ ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ องเชียงสือได้ฟ้องมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามว่า พระยากลาโหมมิได้ช่วยรบ หากแต่ไปเข้าข้างญวนไกเซิน ทรงให้ตอบไปว่าจะจัดการลงโทษพระยากลาโหมตามควร จากนั้น องเชียงสือมีหนังสือมากราบทูลว่า ได้ยกกองทัพไปตีละยึดเมืองกุยเยิน เมืองเว้ และ ตังเกี๋ย ได้ทั้งหมดแล้ว และได้ยกตนขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ใช่ยี่ห้อว่า ยาลอง ปีที่ ๑ ลงชื่อในพระราชสาส์นว่า ดึกกวางเทือง และตั้งแต่นั้นมา องเชียงสือ หรือ ยาลอง ดึกกวางเทือง ก็มิได้ส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงสยามอีกเลย วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) ต่อไปครับ
* “ ครั้น ณ เดือน ๑๒ พม่าแต่งทูตถือหนังสือเสนาบดีเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีว่า จะขอเจริญทางพระราชไมตรีให้ติดสนิทดุจเป็นทองแผ่นเดียวกันกับกรุงเทพ พระมหานครศรีอยุธยา จึงมีพระราชดำรัสว่า ซึ่งพม่ามีหนังสือมาเจรจาความเมืองว่าจะขอเจริญทางพระราชไมตรีนั้น เห็นจะไม่จริง มาเจรจาครั้งไรในปีนั้นก็มีศึกพม่ามาทุกครั้ง จะไว้ใจมิได้ ก็ให้พระยากาญจนบุรีไล่เสีย มิให้เข้ามาเห็นบ้านเมือง และให้แต่งกองอาทมาตออกไปสืบราชการ
ในปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๖๔ (พ.ศ. ๒๓๔๕) ปีนั้น พระยาเชียงใหมมีใบบอกลงมาว่า ได้แต่งกองทัพไปโจมตีเอาเมืองสาก จับได้ตัวราชาจอมหงส์เจ้าเมือง กับลูกชายชื่อไหมขัติยะคน ๑ ครอบครัวเมืองสาก ๕,๐๐๐ เศษ และจับได้สุริงมะนีพม่า ซึ่งเจ้าอังวะแต่งให้ถือหนังสือราชสาส์นไปเมืองตังเกี๋ย กับหนังสือญวนประทับตรามาถึงพระเจ้าอังวะ ๒ ฉบับ พระยาเชียงใหม่ให้คุมเอาตัวราชาจอมหงส์ ไหมขัติยะ สุริงมะนี อ้ายจเรพม่ากับหนังสือญวนลงมา พระยาเชียงใหม่กาวิละมีหนังสือบอกซ้ำลงมาอีกว่าสืบได้ความว่า พม่ายกกองทัพจะมาตีตีเมืองเชียงใหม่
ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทราบตามหนังสือบอกแล้ว ทรงพระราชดำริราชการพร้อมกันว่า ควรจะเกณฑ์กองทัพไปรักษาเมืองเชียงใหม่ จึงดำรัสสั่งให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช คุมคนเมืองเหนือ ๘ หัวเมือง ทัพ ๑ เจ้าอนุรุธคุมพลลาวเวียงจันทน์ ทัพ ๑ รวมกัน ๒ ทัพ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็เสด็จยกทัพขึ้นไปด้วย
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ สด็จไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรพระโรคนิ่ว พระอาการมาก เวลามีพิษร้อนถึงต้องลงแช่อยู่ในพระสาคร เสด็จขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่หาได้ไม่ จึงรับสั่งให้เจ้าบำเรอภูธรซึ่งเป็นกรมขุนสุนทรภูเบศร์เป็นแม่ทัพ พระยาเสน่หาภูธรซึ่งว่าที่กลาโหม พระยามหาวินิจฉัยซึ่งว่าที่พระยาจ่าแสนยากร ยกขึ้นไปด้วยพระยาไกรภพ พวก ๑๐ หมู่ แลกองกลางในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมกันยกขึ้นไปกอง ๑ และทัพสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ยกขึ้นไปทางเมืองลี้ทางนั้นเป็นทางที่พม่ามาได้ และกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราช ยกรีบเร่งขึ้นไป ผู้คนในกระบวนทัพหาพร้อมกันไม่ จึงรั้งรอกระบวนทัพอยู่ให้คงลงมาเร่งกองทัพให้รีบยกขึ้นไป พอกองทัพมาพร้อมมูลกัน จึงยกขึ้นไป
ที่เมืองเชียงใหม่นั้น พระยากาวิละเจ้าเมืองรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้มั่นคง พม่ายกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น อินแซะหวุ่นเป็นแม่ทัพ ชิดชิงโป่กอง ๑ ปะไลโวกอง ๑ มะเดมะโย โกงดอรักกอง ๑ ตองแพกะเมียวุ่นกอง ๑ มะยอกแพกะเมียวุ่นกอง ๑ รวม ๗ ทัพ ล้อมเมืองเชียงใหม่รอบทั้ง ๔ ด้าน เสาค่ายพม่าซึ่งล้อมเมืองนั้นใหญ่ ๓ กำ ยาว ๘ วา ลงดิน ๔ ศอก ไว้หลังดิน ๘ ศอก มีเอ็นร้อยตลอดกัน ๓ ชั้น มีกรอบกันปืนและแผงบังตา สนามเพลาะสูง ๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก ลึก ๓ ศอก มีช่องปืนรายๆรอบค่ายไป”
** ท่านผู้อ่านครับ พระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้รายละเอียดกองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้มาก เพียงแค่ชื่อแม่ทัพนายกองต่าง ๆ ก็น่าตื่นเต้นแล้ว ยังมาให้รายละเอียดถึงการตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่ของพม่าอีกเล่า ขนาดของไม้ทำเสาค่ายทั้งใหญ่และยาว ฝังเสาลึกเท่าไหร่ ขันสนามเพลาะ ลึกและกว้างเท่าไหร่ ให้รายละเอียดยิบเลย
ในขณะที่อินแซะหวุ่นแม่ทัพพม่ายกมาตั้งค่ายรายล้อมเมืองเชียงใหม่อย่างหนาแน่นนั้น กองทัพไทยจากกรุงเทพฯก็เกิดมีปัญหา สมเด็จพระอนุชาธิราชยกมาถึงเมืองเถินแล้วพระองค์ก็เกิดทรงพระประชวรด้วยพระโรคนิ่วอย่างหนัก เสด็จต่อไปไม่ได้จึงตรัสให้เจ้าบำเรอภูธรนำทัพแทนพระองค์ กระบวนทัพเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อย จนทำให้เกิดความล่าช้า เหตุการณ์ทางเมืองเชียงใหม่นั้น เข้าสู่สถานการณ์ที่เรียกได้คับขั้นยิ่งแล้ว ๗ กองทัพของพม่าที่รายล้อมเชียงใหม่ดังกล่าวนี้จะยกเข้าโจมตีเชียงใหม่อย่างไร กองทัพเมืองใต้จะยกเข้าช่วยอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, กลอน123, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ตีทัพพม่าแตกยับเยิน -
อีกครั้งหนึ่งพม่ามาพ่ายแพ้ ถูกกระหน่ำย่ำแย่สุดแก้ไข กองทัพแตกที่ตายก็ตายไป เหลือรอดได้คั่งแค้นแสนบอบช้ำ |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้รับรู้ถึงตอนที่อินแซะหวุ่นแม่ทัพพม่า ยกกองทัพใหญ่มาตั้งค่ายรายล้อมเมืองเชียงใหม่รอบเมืองรวม ๗ ค่าย กองทัพจากกรุงเทพฯยกขึ้นไปช่วย เดินทัพถึงเมืองเถิน สมเด็จพระอนุชาธิราชฯทรงประชวรหนักด้วยพระโรคนิ่ว เสด็จนำทัพขึ้นไปไม่ได้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านความต่อครับ
* “ พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่รักษาเมืองครั้งนั้นองอาจแข็งแรง เวลาบ่ายออกเลียบเมืองตรวจตามเชิงเทิน กองทัพลาวตามพระยาเชียงใหม่ ๑,๐๐๐ เศษเสมอทุกวัน ครั้นพระยาเชียงใหม่ทราบว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงพระประชวรเสด็จประทับรักษาพระองค์อยู่ ณ เมืองเถิน พระยาเชียงใหมจึงให้ท้าวมหายักษ์ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแจ้งข้อราชการ เวลากลางคืนท้าวมหายักษ์ออกมาทางประตูน้ำที่พม่าล้อมไว้มั่นคงนั้น ออกมาได้แล้วท้าวมหายักษ์เขียนหนังสือปักไว้ว่า “กูชื่อท้าวมหายักษ์ พระยาเชียงใหม่ใช้กูลงไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แจ้งข้อราชการแล้วก็จะกลับเข้ามาทางประตูนี้ให้เองคอยอยู่จับกูเถิด”
ท้าวมหายักษ์ลงมาเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เมืองเถิน แจ้งข้อราชการว่า ค่ายพม่าตั้งล้อมอยู่ ๗ ค่าย ในคำพระยาเชียงใหม่สั่งลงมาให้กราบทูลพระกรุณานั้น พระยาเชียงใหม่จะรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้คอยท่ากองทัพกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาขึ้นไปช่วย ขอให้ทรงพระเมตตากรุณาแก่ชาวเชียงใหม่ข้าแผ่นดิน ให้เร่งรีบยกกองทัพขึ้นไปช่วยให้ทัน
จึงโปรดให้มีตราให้ท้าวมหายักษ์ถือขึ้นไปให้พระยาเชียงใหม่ว่า ได้ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือกอง ๑ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยาเสนหาภูธร คุมกองทัพในพระราชวังบวรสถานมงคลกอง ๑ เจ้าอนุคุมทัพเมืองเวียงจันทน์กอง ๑ รวมเป็กันเป็น ๓ ทัพ ยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ และให้พระยาเชียงใหม่รักษาเมืองเชียงใหม่ไว้คอยท่าทัพกรุงให้จงได้ ท้าวมหายักษ์ได้รับแล้วกราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ เข้าทางประตูน้ำที่ออกมา พม่าก็จับไม่ได้
และกองทัพสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช และกองทัพกรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยาเสนหาภูธร กองทัพในพระราชวังบวร ยกขึ้นไปถึงเมืองลำพูนแล้ว พระยาเสนหาภูธรบอกลงมากราบทูลสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า พระยาจ่าแสนยากรเป็นคนอ่อนแอไป ขอรับพระราชทานพระไกรภพ(บุญรอด)เป็นที่พระยาจ่าแสนยากร โปรดให้มีตราขึ้นไปให้ตั้งพระไกรภพเป็นพระยาจ่าแสนยากรตามขอแล้ว กองทัพไทยก้เข้าตีเมืองลำพูน พม่าที่รักษาเมืองลำพูนสู้รบกองทัพกรุงไม่ได้ ก็แตกหนีกองทัพกรุงกลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่
กองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช จับได้ตัวเยสิดองปลัดทัพพม่ากับไพร่หลายคน เยสิดองคนนี้เป็นลูกไทยชาวกรุงเก่า บ้านบิดามารดาอยู่บางกระจะริมวัดพนัญเชิง เมื่อพม่าตีกรุงเก่าได้นั้น เยสิดองชื่อตัวชื่อมาก พม่าได้เป็นเชลยไปใช้สอยคุ้นเคยมา เมื่อยกมาตีเมืองเชียงใหม่ได้เป็นเยสิดองปลัดทัพมาด้วย
ฝ่ายที่กรุงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบว่า กรมพระราชวังบวรฯประชวรอยู่ที่เมืองเถิน เสด็จขึ้นไปเชียงใหม่ไม่ได้ จึงโปรดให้กรมพระราชวังหลัง ยกกองทัพตามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นไป กรมพระราชวังหลังเสด็จยกขึ้นไปถึงเมืองเถิน เห็นทรงพระประชวรอาการหนักมาก กรมพระราชวังหลังทรงพระกันแสง และสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ตรัสแก่กรมพระราชวังหลังว่า จะขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่นั้นเห็นจะไม่ได้แล้ว ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์เถิด จึงพระราชทานพระแสงดาบให้กรมพระราชวังหลังขึ้นไปด้วยองค์ ๑ แล้วให้มหาดไทยร่างตราใจความนั้นว่า ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ ถ้ากรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึงกองทัพกรุงแล้ว ให้เร่งระดมเข้าตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนให้จงได้ อย่าให้คิดว่าพี่น้อง เอาแต่การแผ่นดินตามอาญาทัพศึก
เมื่อกรมพระราชวังหลังจะทูลลากรมพระราชวังบวรสถานมงคลออกจากเมืองเถินนั้น เห็นพระองค์ทรงพระประชวรซูบผอมพระอาการมากอยู่ ก็ทรงพระกันแสงมิใคร่จะเสด็จไป จึงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตรัสแก่กรมพระราชวังหลังว่า เจ็บไข้ยังไม่เป็นไรดอก เอาชีวิตไว้คอยท่าให้ได้ เร่งยกขึ้นไปถิด
และที่เมืองเชียงใหม่นั้น อินแซะหวุ่นแม่ทัพได้ยินเสียงปืนที่เมืองลำพูนยืดยาวแน่นหนามาก ก็คิดว่าทัพกรุงยกขึ้นมาช่วยเมืองลำพูน จะชักคนลงมาช่วยลำพูนซึ่งตีได้ไว้ก็ชักไม่ออก ด้วยค่ายประชิดเมืองเชียงใหม่อยู่ จึงกำชับนายทัพนายกองให้ตระเตรียมจะเข้าปล้นเอาเมืองเชียงใหม่ให้ได้เสียก่อนกองทัพกรุงจะมาช่วย สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และกองทัพกรมขุนสุนทรภูเบศรร์ ก็เร่งยกกองทัพออกจากเมืองลำพูนขึ้นไปเชียงใหม่ ตั้งค่ายล้อมพม่าไว้ และกรมพระราชวังหลังทูลลากรมพระราขวังบวรสถานมงคลจากเมืองเถินแล้ว ก็รีบยกขึ้นไปเชียงใหม่ ไปทางริมแม่น้ำ ไปถึงกองทัพที่ตั้งอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่
กรมพระราชวังหลังให้หานายทัพนายกองมาพร้อมกันแล้ว เชิญท้องตรารับสั่งอ่านให้ฟังแล้ว กรมพระราชวังหลังจึงมีพระบัญชาสั่งนายทัพนายกอง ให้ตีพม่าให้แตกแต่ในเวลาพรุ่งนี้ ไปกินข้าวเช้าในเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ ถ้าผู้ใดย่อท้อจะเอาโทษตามพระอัยการศึก นายทัพนายกองพร้อมกันทั้งทัพกรมพระราชวังหลัง และทัพในพระราชวังหน้า ทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ ก็ยกระดมคนเข้าตีค่ายพม่า ซึ่งล้อมเมืองเชียงใหม่แต่เวลา ๓ ยาม และพม่านายทัพนายกองเอาคนออกมาวางงตามสนามเพลาะนอกค่าย ให้ยิงปืนตับกราดไว้ พวกนายทัพไทยก็กรูเข้าไปจะแหกค่าย เห็นปืนพม่ายิงหนานัก ต้องแอบอยู่ตามคันนา ต่างคนต่างยิงกัน
พอสว่างขึ้น พระยาพิชัย (โต) เป็นคนกล้าหาญจึงร้องว่า “ไล่ฟันไล่แทงเถิดแตกดอก” พระยาพิชัยก็นำกองทัพเข้าไส่บุกบั่นฟันแทงเข้าไปก่อน นายทัพนายกองทั้งนั้นก็ตามกองทัพพระยาพิชัยเข้าไป ไล่ฟันไล่แทงพม่า ๆ สู้ไม่ได้วิ่งหนีเข้าค่ายบ้าง เข้าค่ายไม่ทันวิ่งเลยไปบ้าง กองทัพไทยก็ปีนค่ายพังค่ายพม่าเข้าไปได้ทุกค่ายพม่าก็แตกไป อินแซะหวุ่นแม่ทัพใหญ่หนีไปได้แล้ว พระยาเชียงใหม่จัดพวกชาวเชียงใหม่ ๑,๐๐๐ เศษ ให้ตามพม่าติดไปทีเดียว ฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายพระยาเสนหาภูธรก็เรียกเอาตัวเยสิดองมาจากกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ บอกส่งตัวมา ณ ค่ายหลวงเมืองเถิน พร้อมกับใบบอกข้อราชการเมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่”
** ก็เป็นอันว่า พม่าต้องพ่ายแพ้ไทยยับเยิน ซมซานหนีกลับไปด้วยความบอบช้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วนะ จบศึกพม่าแล้วจะมีเรื่องอะไรในพระราชพงศาวดารฉบับนี้อีก พรุ่งนี้มาเปิดอ่านต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิะธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ตั้งกาวิละเป็นเจ้าเชียงใหม่ -
พระยากาวิละมีความชอบ จึงทรงมอบยศใหญ่มิให้ต่ำ ตั้งเป็นเจ้าเชียงใหม่ให้เลิศล้ำ ฐานผู้นำล้านนาเลิศบารมี |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงพระประชวรหนักอยู่ที่เมืองเถินไม่อาจนำทัพขึ้นไปเชียงใหม่ได้ จึงให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เป็นผู้นำทัพขึ้นไปแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบอาการพระประชวรสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังหลังยกทัพขึ้นไปช่วย กรมพระราชวังหลังยกทัพไปถึงเมืองเถินแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราชตรัสมอบพระราชอำนาจแม่ทัพใหญ่ให้รีบยกทัพขึ้นไปช่วยเชียงใหม่โดยเร็ว เมื่อกองทัพกรมพระราชวังหลังยกขึ้นไปถึงเชียงใหม่แล้ว จึงตรัสให้เร่งระดมตีคายพม่าทั้ง ๗ ทันที ค่ายพม่าทุกค่ายถูกตีแตกในเวลาอันรวดเร็ว อินแซะแม่ทัพพม่าหนีรอดกลับไปได้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป เปิดอ่านพระราชพงศาวดารกันต่อครับ
* “ ครั้นมาถึง ณ เดือน ๓ สมเด็จฟ้าทะละหะพานักองจันท์ นักองสงวน เข้มากรุงเทพฯ เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า นักองพิมถึงแก่พิราลัยเมื่อปีมะแม เอกศกแล้ว พระยากลาโหม (พรหม) ซึ่งกลับแต่ทัพ มีความผิดก็จับเข้ามาด้วย โปรดเกล้าให้พระยากลาโหม (พรหม) ไว้ในทิมตำรวจ ให้ตั้งหลวงเพ็ชรดาพิจิตร (เมือง) ขึ้นเป็นพระยากลาโหม ครั้น ณ เดือน ๔ ข้างแรม สมเด็จพระทะละหะ นักองจันท์ นักองสงวน ก็กราบถวายบังคมลากลับไป
ลุจุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) ปีกุน เบญจศก เป็นปีที่ ๒๒ ในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาสน์แต่งทูตเข้ามาถึง เมื่อ ณ เดือน ๖ เบญจศก ลงวันในพระราชสาสน์เดือน ๕ แรม ๕ ค่ำ ใจความในพระราชสาสน์ ว่า เมื่อปีจอ จัตวาศก ยกทัพบกทัพเรือไปตีเมืองตังเกี๋ย จับได้วังเกริดพี่น้องขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก และเมืองขึ้นกับเมืองตังเกี๋ย ๑๓ เมืองนั้น ก็มาขึ้นด้วย ครั้น ณ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พระเจ้าเวียดนามยกกองทัพมา ณ เมืองเว้ เดือนอ้ายข้างขึ้น พระเจ้าเวียดนามให้แต่งเครื่องสักการบูชาพระอัยกา พระชนก พระชนนี พระญาติวงศา ซึ่งสิ้นพระชนม์ชีพแต่ก่อนแล้ว เอาวังเกริดพี่น้องวังเกริดกับขุนนางผู้ใหญ่ พวกวังเกริดที่เป็นกบฏมาประหารชีวิตเสียที่หน้าโต๊ะเครื่องบูชา พลีกรรมสนองคุณพระญาติวงศ์ที่พวกกบฏทำลายชนมชีพเสียนั้น
ครั้นเสร็จการสนองพระคุณแล้ว พระเจ้าเวียดนามคิดถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพรพะราชวังบวรฯ ที่ได้พระราชทานปืนกระสุนดินดำ สุพรรณถัน เหล็กก้อน เหล็กหล่อ ดีบุกดำ ดีบุกขาว ศาลาปากนก และฝาง ออกไปพระราชทานบ้าง โปรดให้จัดซื้อไปได้บ้าง เป็นกำลังสงคราม จึงได้ทำการศึกสำเร็จ จัดได้สิ่งของเข้ามาทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทองคำ ๑๐ แท่ง เงิน ๑๐๐ แท่ง ง้าวเล่ม ๑ ขี้ผึ้งหนัก ๖ หาบ น้ำตาลทรายหนัก ๖๐ หาบ แพรญวนต่างสี ๒๕๐ พับ
ส่วนถวายในสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทองคำ ๕ แท่ง เงิน ๕๐ แท่ง ขึ้ผึ้ง ๔ หาบ น้ำตาลทราย ๔๐ หาบ แพรญวนต่างสี ๑๕๐ พับ จึงโปรดให้พระยามหาเทพเชิญท้องตรา บอกข่าวราชการและพระราชสาสน์พระเจ้าเวียดนามกับสิ่งของขึ้นไปพระราชทานสมเด็จพระอนุชาธิราช และฟังข่าวราชการและพระอาการด้วย สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงมีพระราชบัณฑูรให้มีใบบอกข้อราชการ และมอบตัวเยสิดองให้พระยามหาเทพพาลงมา ณ กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายเจ้าอนุเวียงจันทน์ยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่หาทันไม่ พม่าแตกไปเสียก่อนได้ ๗ วันแล้ว ทัพเมืองเวียงจันทน์จึงไปถึงเมืองเชียงใหม่ พอสงบราชการเรียบร้อยแล้ว กรมพระราชวังหลัง กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยาเชียงใหม่และท้าวพระยาก็ลงมาเฝ้า เยี่ยมพระประชวรกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ณ เมืองเถิน กราบทูลข้อราชการเมืองเชียงใหม่ให้ทรงทราบ จึงรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราชทัพ ๑ ทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ทัพ ๑ ทัพเมืองนครลำปางทัพ ๑ ทัพเมืองน่านทัพ ๑ กับเมืองเชียงใหม่ทัพ ๑ ยกตามขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนที่พม่าแตกไปอาศัยอยู่นั้นให้จงได้ พอพระโรคค่อยคลายขึ้น กรมพระราชวังบวรฯ กรมพระราชวังหลัง ก็เสด็จยกกองทัพกลับลงมาถึงกรุงในปีกุนนั้น
ครั้นรุ่งเวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ดำรัสว่าทรงผ่ายผอมมากทีเดียว ตรัสถามพระอาการเสร็จแล้ว ก็ตรัสถามเรื่องราชการต่อไป กรมพระราชวังบวรก็กราบทูลกล่าวโทษว่า กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ยกกองทัพขึ้นไปเชียงใหม่ ไปถึงทางเมืองลี้ทางนั้นพม่ามาได้ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ก็ถอยกองทัพมาตั้งอยู่ใต้เมืองลี้ ต่อกองทัพวังหน้าขึ้นไปถึงลำพูนแล้วจึงได้ยกขึ้นไป และกองทัพซึ่งยกขึ้นไปตีพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น พวกกองทัพวังหน้าตีได้ก่อนทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ และทัพเมืองเวียงจันทน์นั้นก็มาไม่ทัน จึงปรับโทษกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ให้ไปตีเมืองเชียงแสนกับด้วยเจ้าอนุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองกรมพระราชวังหลังว่า ตีพม่าแตกแล้วไม่รีบยกติดตามไปกระทำเสียให้ยับเยิน กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงกราบทูลแก้ไขว่า กรมพระราชวังหลังเห็นว่าข้าพระพุทธเจ้าป่วยมากอยู่ พอตีทัพแตกก็รีบกลับลงมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงหายขัดเคืองกรมพระราชวังหลัง
* ตามพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ว่าในคราวนี้ พระยากาวิละมีความชอบ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนเกียรติยศให้เป็นเจ้าขัณฑสีมา มีนามว่า “พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ อินทรสุริยศักดิ์สมญา มหาขัติยราชชาติราไชสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี เป็นใหญ่ในลานนา ๕๗ เมือง”
* * ก็เป็นอันว่ากองทัพพม่าโดยการนำของอินแซะหวุ่นที่ยกมาตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น ถูกกองทัพไทยจากกรุงเทพมหานครยกขึ้นไปช่วยพระยากาวิละตีพม่าแตกพ่ายไปอยู่เมืองเชียงแสน กรมพระราชวังบวรฯตรัสให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์กับพวกยกกองทัพไปตีเชียงแสน ขับไล่พม่าต่อไป
พระยากาวิละมีความดีความชอบยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปูนบำเหน็จความชอบ ด้วยการสถาปนาพระยากาวิละขึ้นเป็นเจ้าต้นพระราชวงศ์กาวิละ มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏ ดังความข้างต้นนี้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กรมพระราชวังบวรฯสวรรคต -
กรมพระราชวังบวรสวรรคต พระโอรสสององค์ทรงสิ้นศรี ถูกถอดยศแล้วประหารเสียทันที อ่านเรื่องนี้แล้วเล่าแสนเศร้าใจ |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงตอนที่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระยากาวิละขึ้นเป็นเจ้าปกครองพระนครเชียงใหม่ราชธานี เป็นใหญ่ในล้านนา ๕๗ เมือง พระราชพงศาวดารฉบับนี้จะกล่าวถึงเรื่องอะไรต่อไป วันนี้มาอ่านไปพร้อมๆกันครับ
* “ และเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน จับช้างได้ที่เพนียดช้าง ๑ สูง ๖ ศอก สีตัวเป็นสีทองแดง ฝึกหัดเชื่องราบแล้ว ส่งมาถึงกรุง เมื่อ ณ เดือน ๙ สมโภชแล้วพระราชทานชื่อขึ้นระวาง เป็นพระบรมฉัตทันต์สุพรรณรัศมี ศรีศุภลักษณ์ อรรคทศคชาพงศ์ มงคลเลิศฟ้า
ครั้นถึง ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเพ็ชรปาณีศรีสุนทรเป็นราชทูต หลวงราชนาคนราราชมนตรีเป็นอุปทูต นายเสน่ห์มหาดเล็กเป็นตรีทูต ขุนศรีเสนาประชาบาลท่องสื่อ เชิญพระราชสาสน์คุมสิ่งของเครื่องสำหรับกษัตริย์ ออกไปพระราชทานพระเจ้าเวียดนาม พระมาลาเบี่ยงองค์ ๑ พระภูษาเข้มขาบคลุมประทมปักมีกรวยเชิง ๑ พระภูษาเข้มขาบคลุมประทมปักมีสังเวียน ๑ พระภูษาคลุมประทมปักหน้าดอกไม้ ๑ รวม ๓ ผืน เข้มขาบทำเสื้อริ้วแย่ง พับ ๑ เกล็ดพิมเสน พับ ๑ ริ้วมะลิเลื้อย พับ ๑ คดกฤช พับ ๑ รวม ๔ พับ ตาดทองทำเสื้อริ้วปัดตร่า ม้วน ๑ ตากตั๊กแตน ม้วน ๑ สุจหนี่พื้นทองปักไหม ผืน ๑ ส่านหน้าดอกไม้สีแดง ผืน ๑ สีแสดผืน ๑ แพรมังกรลายทอง ๔ ม้วน พระยานุมาศ ๑ พระกรดคัน ๑ เครื่องสูง ๑๐ บุงสูรย์คัน ๑ บังแทรก ๖ แล้วพระเจ้าเวียดนามมีพระราสาสน์ตอบขอบพระเดชพระคุณ ให้พระเพ็ชรปาณีศรีสุนทรราชทูตเข้ามาว่า พระมาลานั้นเป็นของสูงไม่เคยสวมขอถวายคืน ของทั้งปวงนั้นได้รับไว้แล้ว
* กรมพรระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรพระโรคนิ่วตั้งแต่เสด็จขึ้นไปเมืองเถิน พระอาการค่อยคลายขึ้นคราวหนึ่งแล้ว ครั้น ณ เดือน ๘ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ. ๒๓๔๖) พระโรคกลับมีพิษกำเริบขึ้น พระอาการประชวรก็หนักลงโดยลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรพระอาการหนัก จะเสด็จขึ้นไปทรงพยาบาล ครั้นข้าราชการวังหลวงจะขึ้นไปล้อมวงตามธรรมเนียม เห็นกิริยาพวกข้าราชการวังหน้ากระด้างกระเดื่อง จะเกิดวิวาทกันขึ้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ต้องเสด็จขึ้นไปพร้อมด้วยเจ้าพระยารัตนาพิพิธ และพระยายมราช เดินยืดไปสองข้างพระเสลี่ยง ไปทรงจัดการล้อมวงเอง จึ่งเป็นการเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปประทับแรม ทรงพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่ที่ในพระราชวังบวรฯ ถึง ๖ ราตรี
ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เบญจศก เวลา ๒ ยามเศษ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตในพระที่นั่งบูรพาภิมุข พระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา เสด็จดำรงเกียรติยศ อยู่ในที่มหาอุปราช ๒๑ ปี ๔ เดือน ๕ วัน
จึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก เจ้านายฝ่ายพระบรมมหาราชวังขัดดาบทุก ๆ พระองค์ตามเสด็จเข้าไปสรงและทรงเครื่องพระศพเสร็จแล้ว เชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศไม้ ๑๒ ซึ่งทรงพระราชดำริให้จัดไว้เมื่อประชวรหนัก โปรดให้รื้อเอาทองคำที่หุ้มพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อย ที่ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้ง ๒ นั้น มาหุ้มพระโกศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระโกศกุดั่นใหญ่กุดั่นน้อยนั้น โปรดให้ลงรักปิดทองประดับกระจก ไว้สำหรับพระศพเจ้านายเชิญพระศพไว้ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน โปรดให้มีหมายประกาศให้โกนผมทั้งแผ่นดิน เว้นแต่คนผมมวย ผมเปีย ผมจุก
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งพระนามปรากฏต่อมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระองค์นี้ ประสูติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ คำ ปี กุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๐๕ (พ.ศ. ๒๒๘๖)
ได้ทรงปฏิบัติราชการในครั้งกรุงเก่าเป็นตำแหน่งนายสุจินดาหุ้มแพร มหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ เมื่อกรุงเสียแก่พม่าข้าศึก เสด็จออกไปอาศัยอยู่เมืองชลบุรี ครั้นเมื่อเจ้าตาก (สิน) ตั้งมั่นได้ที่เมืองจันทบุรีแล้ว จะยกเข้ามาปราบปรามข้าศึก พระองค์ได้ทรงคุ้นเคยมากับเจ้าตาก (สิน) แต่ครั้งกรุงเก่า จึงขอเข้าทำราชการด้วยเจ้าตาก (สิน) ได้เป็นตำแหน่งพระมหามนตรีเจ้ากรมพระตำรวจ ทำการศึกสงครามมีความชอบ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับเป็นที่พระยาอนุชิตราชา แล้วเลื่อนเป็นพระยมราชในปีขาล โทศก จุลศักราช ๑๑๓๒
ในปีนั้น เจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปปราบปรามเจ้าพระฝาง พระองค์ได้เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปก่อนทัพหลวง ตีได้หัวเมืองฝายเหนือตลอดจนเมืองฝาง มีความชอบได้เป็นตำแหน่งที่เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรอยู่ข้างฝ่ายเหนือแต่นั้นมา พระเดชานุภาพเลื่องลือจนพวกพม่าข้าศึกเรียกพระนามว่า พระยาเสือ ในครั้งนั้นได้ทรงช่วยสมเด็จพระเชษฐาธิราชทำการศึกสงครามตั้งแต่แรกมาตลอดเวลากรุงธนบุรี จนได้เถลิงพระราชมณเฑียรเป็นพระมหาอุปราชา เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔”
* * ท่านผู้อ่านครับ ในที่สุดสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขุนพลผู้กล้าสองแผ่นดิน ก็สวรรคตด้วยพระโรคนิ่ว ในพระชนมายุ ๖๐ พรรษา พระราชพงศาวดารฯ ได้นำเอารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของกรมพระราชวังบวรฯ เช่นวังต่าง ๆ เป็นต้น มาแสดงไว้ ผมขออนุญาตไม่ยกมาให้อ่านในที่นี้นะครับ แต่ว่ามีเรื่องที่ควรได้อ่านและรับรู้ไว้ คือ เรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัด ที่พระราชพงศาวดารฯจดบันทึกไว้หลังการสวรรคตของกรมพระราชวังบวรฯ มีความดังต่อไปนี้
“เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระประชวรมากนั้น ความปรากฏว่า แต่ก่อนมาได้มีพระราชบัณฑูรประภาษเป็นนัยอุบายแก่พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัด ซึ่งเป็นพระโอรสใหญทั้ง ๒ พระองค์ ให้คิดการแผ่นดิน มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปากว่า เมื่อครั้งกรมพระรราชวังบวรฯ ทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น มีรับสั่งว่า พระที่นั่งนั้น ๆ ได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมาย เป็นของประณีตบรรจงงามดี ทรงพระประชวรนาน ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นรอบคอบเลย จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จึงให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยแล้ว เชิญเสด็จไปรอบพระที่นั่ง เมื่อเสด็จไปนั้น ทรงบ่นว่าของนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ ก็ครั้งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นครั้งนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น ภายหลังเมื่อทรงพระประชวรพระอาการมากแล้ว ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงเสด็จออกมาวัดมหาธาตุ รับสั่งว่า จะนมัสการพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ มีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้เป็นราวเทียน ครั้นเจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสง ทำเป็นพุทธบูชาครู่หนึ่งแล้ว ทรงปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ ครั้งนั้นพระองค์เจ้าลำดวนเข้าปล้ำปลุกแย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ ทรงพระโทมนัสลดพระองค์ลงทรงพระกันแสง ด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนต่าง ๆ เจ้านายเหล่านั้นก็พากันเข้าปล้ำปลุกเชิญเสด็จขึ้นทรงพระเสลี่ยงแล้ว เชิญเสด็จกลับเข้าพระราชวังบวรฯ เมื่อเสด็จมากลางทางก็ทรงขัดเคืองพระองค์เจ้าเหล่านั้นต่าง ๆ ว่าพากันขมเหงท่าน
ภายหลังอีกมีพระราชดำรัสว่า สมบัติทั้งนี้พระองค์พระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นได้ ก็เพราะพระองค์ ทั้งสิ้น ไม่ควรจะให้สมบัติตกไปแก่ลูกหลานวังหลวง ผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด แต่นั้นมาพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัด ก็มีความกำเริบ จึงไปร่วมคิดกับพระยากลาโหม (ทองอิน) เป็นคนแข็งทัพศึก กรมพระราชวังบวรฯก็โปรดปรานไว้พระทัย ตรัสว่ารักเหมือนบุตรบุญธรรม พระยากลาโหม (ทองอิน) กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัด ตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน ถ้าพลั้งพลาดล้มตายลงก็ฝังเสียในกำแพงวังเป็นหลายคน จนความนั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ครั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตแล้ว จะชำระจับกุมก็ยังไม่มีโจทก์ จึงแต่งข้าราชการที่สัตย์ซื่อคิดไปเข้าเกลี้ยกล่อมกับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัด จึงได้ความจริงมากราบทูลทรงทราบทุกประการ ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ ก็ให้จับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัดมาชำระ รับเป็นความสัตย์ ซัดถึงพระยากลาโหม (ทองอิน)
ครั้นถึง ณ วันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ จับพระยากลาโหม (ทองอิน) กับพรรคพวกได้สิ้น ให้การว่า วันถวายพระเพลิงเป็นวันจะลงมือทำการประทุษร้าย ได้ความจะแจ้งแล้วจึงโปรดให้ถอดยศพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัด จากยศพระองค์เจ้าแล้ว เอาหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัดไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ อ้ายทองอินกลาโหมกับพวกทั้งนั้น ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสียกับด้วย พระยาเกษตราธิบดี (บุญรอด) ที่เป็นคนยุยงสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าให้เอาปืนขึ้นป้อมจะทำยุทธสงคราม และหม่อมวันทาพระสนมเอกโปรดปรานมาก มิได้มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณ ทำชู้ด้วยอ้านทองอินกลาโหม ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสียด้วย”
* ต้องขออภัยทุกท่านที่ใช้มือถือ อ่านยาวจนตาลายลายเลยนะครับ เรื่องวันนี้ยาวจบยากก็เลยลากยาวมาหน่อย พรุงนี้อ่านต่อใหม่นะ อย่าเพิ่งเข็ดเสียเลยครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ทัพลาวตีเชียงแสนได้ -
การล้อมตีทัพพม่าเมืองเชียงแสน แม่ทัพแล่นล่าถอยคิดเหลวไหล ทัพล้านนาล้านช้างมิล้างไกล เป็นเหตุให้ชาวเชียงแสนแล่นเข้ารวม
ทัพพม่าล่าหนีสู้มิได้ ล้านนาไล่ตีดะไม่หละหลวม ยิงปืนฟันแทงใส่ไม่กำกวม จนเลือดท่วมสนามรบกลบแดนดิน |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันอย่างยืดยาวถึงตอนที่ หลังจากสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯสวรรคตแล้ว มีการจับกุมพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัด พระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ ข้อหาเป็นกบฏ ชำระคดีแล้วได้ความเป็นสัตย์จริง จึงโปรดฯให้ถอดยศแล้วให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ และพระยากลาโหม(ทองอิน)ผู้ร่วมก่อการและพรรคพวก กับทั้งพระยาเกษตราธิบดี(บุญรอด) ผู้ยุยงสมเด็จพระอนุชาธิราชให้เอาปืนขึ้นป้อมจะทำยุทธสงคราม ก็ให้ประหารเสียในคราวเดียวกัน วันนี้มาอ่านความในระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ
* “ และในปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๖๕(พ.ศ. ๒๓๔๖) นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงเสนานุรักษ์ และตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย เป็นกรมขุนพิทักษ์มนตรี
ฝายสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ปรึกษาด้วยเจ้าอนุเวียงจันทน์ พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ว่า เราจะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน กำลังนี้เป็นเทศกาลฝนผู้คนก็ผู้บอบช้ำอยู่แล้ว จะต้องปล่อยไปทำไร่นาเสียก่อน ต่อตกฤดูแล้งลง จึงนัดหมายให้มาพร้อมกัน นายทัพนายกองไทย ลาว ก็เห็นพร้อมกัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ก็พักอยู่เมืองเหนือ ครั้นถึง ณ เดือน ๔ ก็กะเกณฑ์ผู้คนนัดกองทัพหัวเมืองลาวมาพร้อมกันแล้ว
ลุจุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวด ฉศก (พ.ศ. ๒๓๔๗) เป็นปีที่ ๓๓ ใน รัชกาลที่ ๑ เมื่อเดือน ๕ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช นายทัพนายกอง ไทย ลาว ก็ยกขึ้นไปเมืองเชียงแสน พม่ามิได้ออกสู้รบ เป็นแต่รักษาเมืองมั่นอยู่ กองทัพเข้าตั้งล้อมเมืองเดือนเศษจะหักเอามิได้ ด้วยพม่าอยู่ประจำรักษาหน้าที่และบนกำแพงเมืองเป็นสามารถ และกองทัพก็ขัดเสบียงอาหาร แล้วได้ข่าวว่ากองทัพเมืองอังวะจะยกมาช่วยเมืองเชียงแสน ครั้นเดือน ๖ ข้างแรม เป็นเทศกาลฝนตกประปรายลงมา แผ่นดินก็ร้อนขึ้น ผู้คนในกองทัพป่วยเจ็บมาก จะอยู่สู้รบพม่าก็เห็นว่าผู้คนเจ็บไข้มาก เสบียงอาหารก็น้อยลง จะทำการปีไปมิได้ กรมหลวงเทพหริรักษ์ก็ให้ล่าทัพลงมา ยังแต่ทัพลาว พวกลาวในเมืองเชียงแสนอดเสบียงอาหาร ฆ่าโค กระบือ ช้าง ม้า กินจนสิ้น พวกลาวชาวเมืองก็ยอมออกสวามิภักดิ์แก่กองทัพเมืองลาว
เมื่อกองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์เลิกถอยมาแล้ว โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าเห็นพลเมืองออกหาแม่ทัพลาว เหลือที่จะกดขี่ห้ามปรามไว้ได้ ก็ยกทัพหนีไปบ้าง กองทัพลาวก็ไล่ตีพวกพม่าแตกหนีไป โปมะยุง่วนแม่ทัพถูกปืนตายในที่รบ นาขวาที่พม่าตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน ก็พาครอบครัวอพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงเข้าแดนพม่าไป กองทัพได้ครอบครัว ๒๓,๐๐๐ เศษ ก็รื้อกำแพงเผาบ้านเมืองเสีย แล้วแบ่งปันครอบครัวกันเป็น ๕ ส่วน ให้ไปเมืองเชียงใหม่ส่วน ๑ เมืองนครลำปางส่วน ๑ เมืองน่านส่วน ๑ เมืองเวียงจันทน์ส่วน ๑ อีกส่วนหนึ่งถวายลงมา ณ กรุงเทพฯ โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง แบ่งไปอยู่เมืองราชบุรีบ้าง แต่ทัพกรุงนั้นกลับมาเปล่ามิได้ราชการสิ่งใด ก็ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก ตรัสว่าไม่รู้เท่าลาว ให้ลงพระราชอาชญาจำกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราชไว้ที่ทิมดาบชั้นนอกตรงหลังศาลาลูกขุนฝ่ายซ้าย ไว้ ๔ วัน ๕ วัน ก็โปรดให้พ้นโทษ
การพระเมรุกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ทรงพระราชดำริโดยทรงพระโทมนัสในเรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัด จึงตรัสว่ากรมพระราชวังบวรฯรักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนถึงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว เสนาบดีข้าราชการหลายนายช่วยกันกราบทูลทัดทานว่า ซึ่งจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงนั้นไม่ควร ด้วยราษฎรและหัวเมืองเป็นอันมาก ที่ทราบก็จะมี ที่ไม่ทราบก็จะมี จะติเตียนต่าง ๆ ไป จึงรับสั่งว่า ขุนนางจะให้เผาก็จะเผา แต่จะทำพระเมรุนั้นจะทำบูชาพระบรมธาตุ เมื่อสมโภชพระบรมธาตุแล้วจึงจะเผาต่อภายหลังกันความนินทา
ครั้นมาถึง ณ เดือน ๗ ปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ (พ.ศ.๒๓๔๗) การพระเมรุแล้ว จึงเชิญพระบรมธาตุซึ่งประดิษฐานระย้ากินร ออกไปสมโภชเวียนเทียนแล้ว จึงได้เชิญพระศพไปยังพระเมรุ ได้มีการมหรศพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน แล้วเสด็จพระราชทานเพลิง มีการสมโภชพระอัฐิอีกวัน ๑ กับคืน ๑ เป็นคำรบ ๘ วัน ๘ คืน แห่พระอัฐิกลับ”
* * พม่ามายึดครองเมืองเชียงแสนอยู่เป็นเวลานาน เมื่อพ่ายแพ้ไปจากเชียงใหม่ ก็หนึไปตั้งมั่นอยู่เมืองเชียงแสน กองทัพผสม ไทย ลาวเวียงจันทน์ เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ยกไปตีตามคำสั่งสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมกระราชวังบวรฯ โดยมีสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพ แต่ท่านแม่ทัพพระองค์นี้เป็นผู้อ่อนแอ นำทัพไปตั้งล้อมเมืองเชียงแสนอยู่เดือนเศษตีหักเอาเมืองมิได้ ทราบข่าวว่าอังวะยกทัพมาช่วยเชียงแสน ประกอบกับกองทัพขาดเสบียง และไพร่พลเจ็บป่วย จึงล่าทัพกลับมา ส่วนกองทัพของพระยากาวิละเมืองเชียงใหม่ กองทัพนครลำปาง กองทัพเมืองน่าน กองทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ (พระราชพงศาวดารฯเรียกรวมว่า ทัพลาว) ยังคงตั้งล้อมและโจมตีเมืองเชียงแสนอยู่ ภายในเมืองเชียงแสนยามนั้นก็ขาดเสบียงอาหารอย่างหนัก ชาวเมืองพากันออกมาเข้ากับกองทัพพระยากาวิละและพรรคพวก จนโปมะยุง่วนสะกดไม่อยู่ จึงพากองกำลังของตนหนีออกจากเมืองเชียงแสน กองทัพพระยากาวิละและพวกตามตีไม่ลดละ โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าถูกปืนตายในสนามรบ จุดจบของผู้รุกรานเป็นที่น่าอนาถนะ พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไท เมืองสุโขทัย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, กลอน123, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 อนุสาวรีย์พระเจ้าอนุวงศ์ - ตั้งเจ้าอนุครองเวียงจันทน์ -
ตั้งเจ้าหญิงแม่ลาวเป็นเจ้าฟ้า พระอัยกาเวียงจันทน์นั้นด่วนสิ้น ตั้งอนุเวียงจันทน์แทนพี่อินทร์ ครองธานินทร์ล้านช้างที่เวียงจันทน์ |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ ขับไล่กองกำลังพม่าพ้นไปจากเมืองเชียงแสน โปมะยุง่วนแม่ทัพพม่าถูกปืนตายในขณะที่พากำลังหนีจากเมืองเชียงแสน จากนั้นจึงมีการจัดงานพระเมรุศพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) กันต่อไปนะครับ
* “ครั้นมา ณ เดือน ๘ ราชทูตญวนเข้ามาถึง พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาสน์แต่งให้กวานเทียงดาว กำซาบเจือง คุมสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย และช่วยในการพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช ส่วนของถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทองคำ ๕ ลิ่ม เงิน ๕๐ ลิ่ม แพรต่างสี ๑๐๐ พับ ผ้าขาว ๑๐๐ พับ ส่วนสดัปกรณ์พระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯ ขี้ผึ้ง ๕ หาบ ผ้าขาว ๑๐๐ พับ น้ำตาลกรวด ๕ หาบ นำตาลทราย ๓๐ หาบ น้ำตาลปึก ๕ หาบ กับมีพระราสาสน์เตือนพระสติเข้ามาด้วยฉบับ ๑ ว่า สมเด็จพระอนุชาธิราช ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรฯสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระชราลงทุกวัน ยังแต่พระเจ้าลูกยาเธอ มีกำลังเสมอกันอยู่ การข้างหน้ากลัวจะไม่เรียบร้อย ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมกรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นดำรงที่เป็นกรมพระราชวังบวรฯ จะได้มีกำลังและพาหนะมากขึ้น บ้านเมืองจะเรียบร้อย ทูตเข้ามาครั้งนั้นไม่ทันการพระศพ ได้สดัปกรณ์แต่พระอัฐิในพระราชวังบวรฯ เสร็จการแล้ว ทูตจะกราบถวายบังคมลากลับไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้จัดสิ่งของพระราชทานตอบแทนพระเจ้าเวียดนาม พระแสงปืนคาบศิลาเครื่องทองคำ บอก ๑ เครื่องนากบอก ๑ ปืนแฝดบอก ๑ คลุมประทมปักทองมาแต่เมืองเทศผืน ๑ พระธำมรงค์เพชรมณฑปถมยาราชาวดีองค์ ๑ จุฑาเพชรรังแตน ๒ องค์ กุณฑลเพชรรังแตน ๒ พลอยเพชรใหญ่ ๓ พลอยเพชรน้อย ๕๐ พลอยไพฑูรย์เม็ดใหญ่ ๑ พลอยสำหรับประดับเครื่องรัดพระองค์ ๕ สุจหนี่เทศพื้นแดงแกมไหม ๑ ของส่วนในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ปืนคาบศิลาเครื่องเงินประดับพลอยเพชร บอก ๑ กำมะหยี่หุ้มเปลปักทองขวางผืน ๑ ลายทอง ๒ ผืน ทองคำเปลว ๕,๐๐๐ แผ่น เป็นของทรงยินดีต่อพระเจ้าเวียดนาม ครั้น ณ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ราชทูตกราบถวายบังคมลาไป
ในเดือน ๙ นั้น โปรดเกล้าฯให้มีตราไปเกณฑ์ทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ กับให้เกณฑ์กองทัพเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร เมืองพิชัย ให้หนุนทัพลาวขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้ง และเมืองลาวฟากโขงตะวันออกแดนพม่า ให้ถึงพร้อมกันในฤดูแล้ง
ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินลงไปทรงลอยพระประทีป พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงองค์ ๑ ปรากฏพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี พระชนม์ได้ ๖ พรรษา ตามเสด็จลงไปที่ตำหนักแพ เมื่อเวลาจุดดอกไม้รับสั่งว่าประชวรพระเนตรอยู่ ให้กลับขึ้นไปพระราชวังเสียก่อน พระองค์เจ้าหญิงนั้นก็เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกัน พลาดตกลงน้ำหายไป พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น คนทั้งปวงตกใจพากันลงน้ำเที่ยวค้นหา จึงพบพบพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นเกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายน้ำ หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์ จึงมีพระราชโองการตรัสว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรีเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก แต่พระชนม์พระองค์เจ้าได้ ๕ พรรษา ไม่มีมารดา ทรงพระกรุณามาก พระองค์เจ้านี้อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่ ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๓ ค่ำ จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม พระราชทานพระสุพรรณบัฏเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แล้วมีงานสมโภชอีก ๓ วัน
ในปีนั้น เจ้านครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างชื่ออินทร์ ซึ่งเป็นอัยกาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ป่วยถึงแก่พิราลัย ณ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ครองเมืองได้ ๑๐ ปี โปรดให้ข้าหลวงเชิญศุภอักษรและพระราชทานโกศ และสิ่งของพระราชทานเพลิงขึ้นไปปลงศพ เสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรด ตั้งเจ้าอนุผู้น้องให้ครองนครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างต่อไป
ครั้นถึง ณ เดือน ๔ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเลียบ ภายหลังพระราชทานนามว่า วัดราชบูรณะ”
** พระราชพงศาวดารฯ ได้บันทึกความสั้น ๆ เป็นทำนองจดหมายเหตุด้วยเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญมากนัก อย่างไรก็ดี เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็เป็นเกร็ดความรู้ที่น่ารู้ไม่น้อย อย่างเช่นพระเจ้าเวียดนาม(องเชียงสือ) บังอาจเตือนพระสติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงรีบตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้น อีกเรื่องเกณฑ์กองทัพไปตีเชียงตุง เชียงรุ้ง ให้เรารู้ว่ามีกองทัพจากเมืองใดบ้าง การสถาปนาพระองค์เจ้าหญิงจันทบุรีขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทำให้เราทราบว่าพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้มีนามว่า “จันทบุรี” เพราะมีเจ้าจอมมารดาเป็นพระธิดาของเจ้าประเทศราชศรีสัตนาคนหุต ซึ่งมีจันทบุรี (เวียงจันทน์) เป็นเมืองหลวง พระอัยกานามว่า อินทร์ เป็นพระเชษฐาของเจ้าอนุเวียงจันทน์ หลังจากพระนัดดาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าไม่นานก็ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าอนุเป็นเจ้าครองศรีสัตนาคนหุตสืบแทน พระเจ้าอนุเวียงจันทน์พระองค์นี้ คนไทยรู้จักกันในนาม “เจ้าอนุวงศ์” ท่านผู้นี้มีเรื่องราวก่อเกิดสงครามกับไทยพัวพันไปถึง ญวน เขมร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ (ร. 3) ซึ่งจะนำมาบอกเล่ากันต่อไปในโอกาสอันควร ......พรุ่งนี้พบกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ได้เมืองเชียงตุง, เชียงรุ้ง -
ทัพผสมลาวไทยไปรบพุ่ง ตีเชียงรุ้งแหล่งรวมเจ้าเมืองนั่น หลายเจ้าเมืองหลบมาอาศัยกัน เห็นคับขันจึงยอมอ่อนน้อมดี
เจ้าเชียงตุงมุ่งมาสวามิภักดิ์ ไม่สู้ศึกฮึกฮักอวดศักดิ์ศรี ด้วยระย่อพระเดชาบารมี องค์จักรีศรีสยามนามเกริกไกร |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่าน ถึงเรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯโปรดเกล้าฯให้มีตราไปเกณฑ์ทัพหัวเมืองฝายเหนือและเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ยกไปตีเมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้งและเมืองลาวฟากโขงตะวันออกแดนพม่า จากนั้นกล่าวถึงเรื่องการตั้งเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ตั้งเจ้าอนุครองเมืองเวียงจันทน์ และกรมหลวงเทพหริรักษ์สิ้นพระชนม์ วันนี้มาอ่านความพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปครับ
* “ ปีจุลศักราช ๑๑๖๖ ( พ.ศ. ๒๓๔๗) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ในฝ่ายพุทธจักรนั้น พระไตรปิฎกซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ต่อมาได้ฟั่นเฟือนวิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอันมาก ยากที่จะเล่าเรียนเป็นอายุพระพุทธศาสนาสืบไป ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ประชุมกันกระทำสังคายนายชำระพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนผ่องใสขึ้น ได้เป็นที่เล่าเรียนง่ายใจแก่กุลบุตรสืบไปภายหน้า เป็นพุทธการกกรรมกองการกุศลอันประเสริฐแล้ว และในฝ่ายอาณาจักรนี้ กษัตริย์ผู้ดำรงแผ่นดินนั้นอาศัยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมายพระอัยการ อันกษัตริย์แต่ก่อนบัญญัติไว้ได้เป็นบรรทัดฐาน จึงพิพากษาตราสินเนื้อความราษฎรทั้งปวงได้โดยยุติธรรม และพระราชกำหนดบทพระอัยการนั้น ก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันเป็นอันมาก ด้วยคนอันโลภหลงหาละอายแก่บาปมิได้ ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิพากษา ให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นดินก็มีบ้าง
ด้วยพระราชดำริดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรด จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญา คือ ขุนสุนทรโวหาร ว่าที่พระอาลักษณ์ ๑ ขุนสารประเสริฐ ๑ ขุนวิเชียรอักษร ๑ ขุนวิจิตรอักษร ๑ รวมเป็นกรมพระอาลักษณ์ ๔ นาย
ขุนหลวงไกรสีห์ ๑ พระราชพินิศจัยราชปลัด ๑ หลวงอัธยา ๑ รวมเป็นลูกขุน ๓ นาย
หลวงมหาวิชาธรรม ๑ ขุนศรีโวหาร ๑ นายพิมพ์ ๑ นายด่อนเปรียญ ๑ รวมเป็นราชบัณฑิต ๔ นาย
ให้ร่วมกันชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกต้องตามบาลี และเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเป็นหมวดหมู่เป็นเหล่าเข้าไว้ ทรงพระอุตสาหะชำระดัดแปลงบทอันวิปลาสนั้น ๆ ให้ชอบโดยยุติธรรมไว้ ครั้นชำระแล้วให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึก ๓ ฉบับ ไว้ห้องเครื่องฉบับ ๑ ไว้หอหลวงฉบับ ๑ ไว้ศาลหลวงสำหรับลูกขุนฉบับ ๑ ปิดตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ ตราบัวแก้ว ทุกเล่มเป็นสำคัญ
จุลศักราช ๑๑๖๗ ปีฉลู ได้ช้างเล็บครบมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช ๑ ช้าง ได้ช้างกระมาแต่เมืองเวียงจันทน์ ๑ ช้าง โปรดให้ขึ้นระวาง ช้างเมืองนครศรีธรรมราชนั้นพระราชทานนามว่า "พระบรมนัขมณี ศรีรัตนคเชนทร บวรวิษณุพงศ์ ว งศ์คชพรรค์ อนันตคุณ สมบุรณเลิศฟ้า" และช้างเมืองเวียงจันทน์พระราชทานนามว่า "พระบรมคชลักษณ์ อัครคเชนทร์ สุเรนทร์ฤทธิ์ สิทธิสมพงศ์ มงคลเลิศฟ้า"
* ในเดือน ๖ ปีเดียวกันนั้น มีหนังสือจากเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองแพร่ บอกลงมาว่า กองทัพยกไปถึงเมืองยอง ในเดือน ๔ ข้างขึ้น ปีชวด พระยายองมิได้ต่อสู้ ออกมาอ่อนน้อมขอเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว แต่เมืองเชียงตุงนั้น เจ้าเมืองยอมเข้าสวามิภักดิ์จึงมิได้ยกเข้าตี พระยาเชียงตุงลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ โดยให้มหาขนานผู้น้องอยู่รักษาเมือง คนในเมืองยองซึ่งยกออกหากองทัพเมืองเชียงใหม่ นครลำปาง แพร่ นั้น เป็นคนชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๑๐,๐๐๐ เศษ ได้ปืนใหญ่น้อย ๑,๐๐๐ ช้างม้าเป็นอันมาก ฝ่ายหัวเมืองที่ขึ้นกับเมืองยองก็เข้าหากองทัพทั้งสิ้น แต่ว่ายังหาได้จำนวนคนและปืนช้างม้ามากน้อยเท่าใดไม่ กองทัพยังจะยกเข่าตีเมืองแรมต่อไปอีก
ฝ่ายกองทัพเมืองน่าน เมืองหลวงพระบาง ก็บอกลงมาว่า ได้ยกทัพไปถึงเมืองหลวง เมืองภูคา เจ้าเมืองภูคาออกมาหากองทัพ แต่เจ้าเมืองหลวงนั้นขึ้นไปอยู่เมืองมาง แขวงเมืองพง ยังหากลับมาไม่ ครั้นกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองพง เจ้าเมืองพงก็หนีขึ้นไปอยู่เมืองนูน เมืองรำ และเจ้าเมืองนูน เจ้าเมืองรำ กับเจ้าเมืองพง เจ้าเมืองขอน เจ้าเมืองล่า พากันหนีขึ้นไปอยู่เมืองเชียงรุ้งทั้งสิ้น ครั้นยกขึ้นไปตีเมืองเชียงรุ้ง ด้วยเดชะพระบารมีพระบรมราชกฤษฎานิหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เจ้าเมืองเชียงรุ้งมิได้ต่อสู้ แต่งให้นามวงศ์กับพระยาคำลือเจ้าเมืองล่า พระยาพาบเจ้าเมืองพง และเจ้าเมืองนูนเจ้าเมืองขอน เจ้าเมืองรำ ซึ่งหนีไปอยู่เมืองเชียงรุ้งนั้น ถือหนังสือมาเข้าด้วยกองทัพ ขอสวามิภักดิ์เป็นข้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพึ่งพระบรมเดชานุภาพสืบไป”
** ก็เป็นอันได้ความแล้วว่า กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือนำโดย พระเจ้ากาวิละเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นไทยใหญ่ ไทยยอง ไทยขึน ล้วนเป็นสายเลือด (เชื้อชาติ) เดียวกันได้หลายเมือง เมืองใหญ่ ๆ ที่สำคัญคือ เชียงตุง เชียงรุ้ง ก็ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระจ้ากรุงสยามสิ้นแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทบ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กรุงสยามยิ่งใหญ่ไพศาล -
กองทัพเหนือเชื้อไทยยกไปเยี่ยม ญาติยังเปี่ยมไมตรีที่ยิ่งใหญ่ มีสู้รบนบญาติรวมชาติไทย เข้าอยู่ในกรุงสยาม..ความยินดี
ไทยทางเหนือมีชื่ออยู่อื้อฉาว เรารียก“ลาว”และรับนับน้องพี่ ทั้ง“พุงดำ,พุงขาวลาวลื้อ”มี “ยอง,ขืน”นี้รากเหง้าเผ่าไทยเดิม |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงเรื่องราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้มีการชำระกฎหมายไทยที่ใช้มาแต่กรุงสุโขไท กรุงศรีอยุธยา ให้เกิดความยุติธรรมแก่อาณาประชาราษฎร เป็นที่ยุติธรรมดีแล้ว ในปีนั้นได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ๒ ช้าง ส่วนกองทัพไทยที่ทรงตรัสให้หัวเมืองต่าง ๆ นำโดยพระเจ้ากาวิละยกไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ในฝ่ายเหนือนั้นก็มีข่าวดีลงมาถวายเนือง ๆ วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวดารฯกันต่อไปนะครับ
* “ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงแขงรู้ว่าเจ้าเมืองเชียงรุ้งออกหากองทัพแล้ว กลัวกองทัพจะไปตีเมืองของตน จึงคิดฆ่าพม่าซึ่งอยู่ในเมืองเชียงแขงเป็นอันมาก แล้วมีหนังสือมาขอสวามิภักดิ์ด้วยกองทัพอีกเมืองหนึ่ง กองทัพเจ้าฟ้าเมืองน่านยกขึ้นไปครั้งนี้ ตีได้เมืองใหญ่น้อยสิบเอ็ดสิบสองหัวเมือง ได้ครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยประมาณสี่ถึงห้าหมื่นเศษ กับปืนใหญ่น้อยเครื่องศัสตราวุธช้างม้าเป็นอันมาก
เมืองลาวฟากตะวันออกแม่น้ำโขงซึ่งขึ้นแก่พม่านั้น ได้ถูกกองทัพเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงยกขึ้นไปตีได้ทั้งสิ้น เป็นเมืองใหญ่น้อยรวม ๔๐ เมือง ได้ครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๖–๗๐,๐๐๐ เศษ พระยาเชียงตุงนั้นจะกลับเมืองก็มิได้ ด้วยพม่ายกมารักษาอยู่ ตั้งมหาขนานผู้น้องเป็นเจ้าเมืองเสียแล้ว จึงต้องตกอยู่เมืองเชียงใหม่ ศึกครั้งนี้พม่ามีเหตุสิ่งใดก็ไม่แจ้ง จึงมิได้ยกมาช่วยเมืองขึ้นของตน โดยปล่อยให้กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยยกขึ้นไปตียึดเอาตามใจชอบ
* พระยามหาอุปราชเมืองเชียงใหม่เลิกทัพกลับมาถึงเชียงใหม่แล้ว ก็พาเจ้าแสนหวีฟ้า ท้าวพระยาเมืองสิบสองปันนา กับหัวเมืองลาวที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีทั้งหมด ลงมากรุงเทพมหานคร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องราชบรรณาการช้างม้าสิ่งของต่าง ๆ ขอเป็นเมืองขึ้นถวายต้นไม้ทองเงิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอุปโภคบริโภคท้าวพระยาลาวเป็นอันมากแล้วทรงพระราชดำริว่า
“หัวเมืองเหล่านี้ถึงจะสวามิภักดิ์ได้ไว้เป็นเมืองขึ้นก็คงรักษาไว้ไม่ได้ ด้วยใกล้เคียงเมืองพม่า เมืองจีนนัก มีการศึกมาแล้วจะยกไปช่วยก็ไม่ทันท่วงทีราชการ ถ้าพม่าและจีนยกมาก็คงจะกลับใจไปขึ้นดังเก่า ครั้นจะเอาครอบครัวไว้ในบ้านเมืองเราเขาก็ไม่มีความผิดสิ่งไร ไม่ได้สู้รบยอมสวามิภักดิ์โดยดี จะทำดังนั้นก็เป็นอันธพาลไป หาเป็นยุติธรรมไม่”
ทรงพระราชดำริดังนั้นแล้วจึงโปรดให้ปล่อยเจ้าแสนหวีฟ้า และท้าวพระยาเจ้าเมืองต่าง ๆ กับครอบครัวกลับขึ้นไปบ้านเมืองทั้งสิ้น
ครั้งนั้นพระเกียรติยศพระเจ้ากรุงสยามก็แผ่ผ้านไปทั้ง ๔ ทิศ มีเมืองประเทศราชลาวพุงดำ ลาวลื้อ ลาวพุงขาวทั้งสิ้น มาจนถึงเขมรกัมพูชา เมืองแขก เมืองปักษ์ใต้ พระราชอาณาจักรกว้างขวางยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า เว้นแต่เมืองทวาย เมืองตะนาว เมืองมะริด ที่ได้มาแล้วกลับคืนไปเสีย
มาถึงข้างแรม เดือนยี่ ปีเดียวกันนั้น พระเจ้ากรุงเวียดนามแต่งให้ฮาเตียนถูคำซาย ซึ่งเป็นที่พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศ เป็นทูตเชิญพระราชสาส์นเข้ามาถึง มีใจความสำคัญเพียงกล่าวถวายพระพรพร้อมกับถวายสิ่งของต่าง ๆ ครั้นพระยาราชาเศรษฐีกราบบังคมลากลับ ก็ทรงตอบพระราชสาส์นพร้อมมอบสิ่งของถวายตอบแทนตามพระราชประเพณี”
* * ท่านผู้อ่านครับ ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนนี้ สรุปความสำคัญได้ว่า กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือมีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นหัวหน้า ยกขึ้นไปตีเมืองใหญ่น้อยในการยึดครองของพม่า ซึ่งคนในหัวเมืองเหล่านั้นล้วนมีเลือดเนื้อเชื้อไทย ที่คนไทยในภาคกลางสยามประเทศเรียกพวกเขาว่า ลาว การสงครามจึงไม่ดุเดือดรุนแรงเหมือนในการรบกับพม่าซึ่งเป็นคนละเชื้อชาติกับไทย
หัวเมืองฝ่ายเหนืออตั้งแต่เมืองยอง หรือมหิยังครัฐ ขึ้นไปถึงสิบสองปันนาเชียงรุ้ง ส่วนใหญ่ไม่ยอมสู้รบ หากแต่เข้ามาสวามิภักดิ์อยู่ในพระบรมโพธิสมภารแห่งพระเจ้ากรุงสยามแต่โดยดี ครั้นเจ้ามหาอุปราชเชียงใหม่พาเจ้าเมืองที่สวามิภักดิ์เหล่านั้นเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้กลับไปปกครองบ้านเมืองตามเดิมทั้งหมด ด้วยทรงพระราชดำริว่า เป็นหัวเมืองที่อยู่ไกลกรุงเทพฯ ใกล้พม่าและจีน เป็นการยากที่จะรักษาไว้ได้ ถ้าพม่าและจีนบกเข้ามายึดครอง อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นถือได้ว่าพระราชอาณาเขตสยามประเทศกว้างไกลกว่ายุคใด ๆ ทั้งสิ้น
สมัยกรุงสุไทเป็นราชธานีไทย อาณาเขตของประเทศทางภาคเหนือเว้นลำพูน เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย เชียงแสนไว้ มีเมืองในปกครองคือ แพล น่าน เซ่า(หลวงพระบาง) ทางด้านตะวันออก ข้ามโขงไปเวียงคำ เวียงจันทน์ ส่วนตะวันออกเฉียงใต้ เว้นเมืองตั้งแต่ละโว้ อโยธยาเป็นต้นไป ส่วนทางใต้ลงไปถึงสิงคโปร์ ทางตะวันตกถึงหงสาวดี ตกมาถึงยุคกรุงศรีอยุธยา มีอาณาเขตแคบเข้ามา เกือบทุกทิศทาง มีเพียงทางทิศตะวันออกเท่านั้น ที่ไปปกครองถึงกัมพูชา
มาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แม้ทางทิศตะวันตกจะถูกพม่ายึดครองเมืองที่เคยขึ้นกับไทยไปหมด แต่ทางเหนือ ล้านนาประเทศทั้งหมด รวมไปถึงหัวเมืองที่เป็นคนเชื้อสายเดียวกับไทย ซึ่งมีเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เป็นศูนย์กลาง ก็เข้ามาขึ้นกับกรุงสยามทั้งหมด ล้านช้าง กัมพูชา ก็มาขึ้นกับกรุงสยามทั้งหมด ทางใต้ รวมเมืองรัฐตานี มลายู ก็มาขึ้นกับกรุงสยาม สรุปได้ว่า กรุงสยามสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์ มีอาณาเขตกว้างไกลที่สุด
ในช่วงนี้เป็นปลายรัชการที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์จะมีและเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามอ่านกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- นักองค์จันทร์ครองกัมพูชา -
กัมพูชาอยู่อย่างว่างกษัตริย์ สตวรรษหนึ่งผ่านแล้วสานเสริม ฟ้าทะละหะดูแลมาแต่เดิม รู้ตัวเริ่มชราภาพจึงกราบลา
ทรงโปรดเกล้าฯตั้งกษัตริย์ในบัดนั้น นักองจันทร์วัยตกสิบหกพรรษา อภิเษกเป็น”พระอุทัยราชาฯ” เป็นมหากษัตริย์มีบัดดล |
อภิปราย ขยายความ.......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯ มาให้ทุกท่านได้อ่านกันถึงตอนที่ กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือแห่งสยามประเทศ ยกขึ้นไปตีเอาหัวเมืองใหญ่น้อยซึ่งเป็นชนเชื้อชาติไทยในปกครองของพม่า ได้ตั้งแต่เมืองยองไปจนถึงสิบสองปันนาเชียงรุ้ง มาขึ้นกับสยามประเทศ ทำให้อาณาจักรแห่งกรุงสยามในยามนั้นมีอาณาเขตกว้างขวางมากกว่ายุคใด ๆ วันนี้มาอ่านเรื่องราวในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กันต่อไปครับ
* “ จุลศักราช ๑๑๖๘ ปีขาล (พ.ศ. ๒๓๔๙) พระยารัตนากาศ พระยาสุริยวงศา กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า นายคำเทพ นายขนานมหาวงศ์ ตกไปอยู่เมืองทันมาช้านานแล้ว จะขอให้ลงมาทำราชการ ณ กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาเชียงเงินขึ้นไปรับ พระยาเชียงเงินขึ้นไปถึงก็ชักชวนครอบครัวเมืองทัน ๑๐๐ คนเศษลงมาด้วย ญวนจึงยึดตัวพระยาเชียงเงินไว้ แล้วองเลโบมีหนังสือฟ้องพระยาเชียงเงินส่งเข้ามาทางเมืองเขมร จึงได้ทรงทราบว่าพระยาเชียงเงินขึ้นไปทำการเกินรับสั่ง เกรงว่าพระเจ้าเวียดนามไม่รู้ความก็จะสงสัยว่า พระยาเชียงเงินไปกวาดครอบครัวแดนเมืองญวนนั้นเพราะกรุงเทพฯ ใช้ไปกระทำการ
ดังนั้นจึงรับสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปจำพระยาเชียงเงินลงมา และให้ครอบครัวเมืองทันนั้นกลับคืนไป แล้วทรงจัดทูตออกไปแจ้งความแก่พระเจ้าเวียดนามให้สิ้นสงสัยโดยเร็ว ด้วยพระราชดำริว่า หากจะให้ราชทูตไปทางเรือดูจะไม่เหมาะ เพราะว่า ทะเลในเดือน ๗ เดือน ๘ นั้นเป็นเทศกาลคลื่นลมกล้า ควรให้ไปทางบก จึงให้แต่งพระราชสาส์นให้พระยาจักราราชมนตรี พระยาราชวังสัน นายเสน่ห์มหาดเล็ก เชิญพระราชสาส์นไปทางบก ราชทูตถวายบังคมลาออกเดินทาง ณ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๖๘
คณะราชทูตไทยทั้งไพร่นาย ๙๕ คน เดินบกไปทางเมืองลาว มีลาวเมืองเวียงจันทน์เป็นล่ามไปด้วย ๑๖ คน รวมเป็นคณะราชทูตทั้งสิ้น ๑๑๑ คน เมื่อเดินทางไปถึงด่านกำโล เจ้าเมืองกวางตีบอกไปกรุงเวียดนาม เจ้าพนักงานจึงจัดเรือให้ขุนนางและไพร่ขึ้นไปรับลงมากรุงเวียดนาม ณ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง คณะราชทูตอยู่ที่กงกวนเกิดไข้ป่าติดไป ทำให้ทูตป่วยตาย คือ พระยาจักราราชมนตรี ราชทูต ๑ นายเสน่ห์มหาดเล็ก ตรีทูต ๑ และไพร่ ๑๔ คน กับลาวเวียงจันทน์อีก ๗ คน รวมเป็นผู้ป่วยตาย ๒๓ คน เหลือที่รอดตาย คือ พระยาราชวังสัน ๑ ขุนหมื่น ๖ ไพร่ ๗๒ ลาวเมืองเวียงจันทน์ ๙ คน รวมเป็น ๘๘ คน
เมื่อความไข้สงบแล้ว พระเจ้าเวียดนามมีพระราชสาส์นให้พระยาราชวังสันเข้าเฝ้าเมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ครั้นอ่านพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พระเจ้าเวียดนามก็มิได้มีความสงสัยใด ๆ จึงมีหนังสือไปให้ปล่อยตัวหมื่นศรี เพี้ยจันอาสา กับไพร่ที่ยึดไว้ ณ เมืองซือหงีนั้น ให้กลับไปบ้านเมืองทันที เมื่อคณะทูตเดินทางกลับนั้น พระเจ้าเวียดนามให้จัดเรือส่งกลับกรุงเทพฯ ส่วนคนลาวนั้นให้เดินกลับในทางบกตามทางเดิม
กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ซึ่งทรงพระประชวรมาแต่เดือน ๑๑ นั้น ได้ถึงแก่ทิวงคต ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑ ด้วยพระชนมายุได้ ๖๑ พรรษา ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าน้อย ได้พระราชทานนามวัดอมรินทราราม ๑ วัดเชิงเลนอีกวัดหนึ่ง ได้พระราชทานนามวัดบพิตรพิมุข
ในปีขาล จุลศักราช ๑๑๖๘ นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ เมืองเขมร เห็นว่าตนเองมีอายุมาก ชราลงแล้ว นักองค์จันทร์อายุได้ ๑๖ ปี นักองค์สงวนอายุได้ ๑๓ ปี สมควรที่จะว่าราชการแผ่นดินได้แล้ว จึงพาเจ้าทั้ง ๒ องค์มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบทูลว่า “ได้ว่าราชการมาถึง ๑๐ ปีแล้ว ก็ชราลง แล้วเคลิบเคลิ้มไป ขอให้ตั้งนักองค์จันทร์ขึ้นเป็นเจ้าเมืองกัมพูชา จะได้รักษาแผ่นดินต่อไป” ครั้นอยู่มาสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะก็ป่วยถึงแก่กรรมลงเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ แรก ในปีเดียวกันนั้น รวมอายุได้ ๖๕ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทำการศพสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ
ครั้นถึงวันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง จึงทรงพระกรุณาตั้งนักองค์จันทร์เป็น “สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนาถบพิตร สถิตเป็นอิศวรกัมพุชชรัฐราชโอภาศ ชาติวรวงศ์ ดำรงกรุงกัมพูชาธิบดี ศรียโสธร นครอินปัต กุรุรัฐบุรีรมย์ อุดมมหาสถาน เจ้ากรุงกัมพูชา” แล้วพระราชทานชฎาเครื่องยศเครื่องสูง ตามอย่างเจ้าประเทศราช โปรดให้ไปครอบครองบ้านเมืองต่อไป แล้วโปรดให้ทำการเกศากันต์นักองค์สงวนด้วย และโปรดให้พระยาจักรี(แบน) พระยากลาโหม(เมือง) เป็นผู้ใหญ่ทำนุบำรุง สมเด็จพระอุทัยราชากับพระยาเขมรกราบถวายบังคมลาไปเมื่อเดือน ๙ ในปีเดียวกัน”
** ท่านผู้อ่านคงยังจำได้นะครับว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงโปรดเกล้าฯราชาภิเษกให้นักองเอง โอรสกษัตริย์กัมพูชาที่ทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ไปเป็นเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงกัมพูชา เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ โดยขอแบ่งดินแดนส่วนหนึ่งคือเมืองพระตะบองและเสียมราฐมาขึ้นกับกรุงสยาม ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ปกครองดูแล ต่ออีก ๔ ปี สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีสวรรคต มีพระราชโอรส คือ นักองจันทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะปกครองดูแลกรุงกัมพูชา และอภิบาลนักองจันทร์เรื่อยมา จนนักองจันทร์มีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชฯ ปกครองกัมพูชาสืบไป จึงเป็นอันว่าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงตั้งพระเจ้าแผ่นกรุงกัมพูชาปกครองเขมร ถึง ๒ พระองค์ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ความในพงศาวดารเขมร -
กัมพูชาว่าไว้คล้ายไทยว่า กัมพูชาน้อมรับไม่สับสน กษัตริย์ใหม่กัมพูชาหนุ่มหน้ามน ได้เริ่มต้นฟื้นฟูกัมพูชา
“เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์” เหมือนมีเจตน์จำนงใดในเบื้องหน้า นำนางเทพนารีผู้ธิดา ถวายพระราชาเพิ่มบารมี |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฯมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน ถึงเรื่องราวที่ว่ากรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) ทรงพระประชวรแล้วสวรรคตด้วยพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ในปีเดียวกันนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าทะหะละ ผู้ปกครองดูแลประเทศกัมพูชา ได้นำพานักเองจันทร์ นักองสงวน เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งด้วยอ้างว่าชรามากแล้ว ขอให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนักองจันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกัมพูชาต่อไป ยังไม่ทันที่จะกลับไปกัมพูชา สมเด็จฟ้าทะละหะก็ถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดการศพให้ ณ ที่วัดสระเกศ จากนั้นทรงประกาศสถาปนาให้นักองจันทร์เป็น สมเด็จพระอุทัยรารชาธิราช รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ... เสด็จจากกรุงเทพฯ ไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกัมพูชาในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ นั้นเอง วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ
ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับนักองค์นพรัตน แม้จะมีเนื้อความในทำนองเดียวกัน แต่ก็มีความต่างกันอยู่บ้าง ดังต่อไปนี้
* “ลุ ณ วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน อ้าย ปี ฉลู ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๔๘) เจ้าฟ้าทะละหะได้ตามเสด็จนักองค์จันทร์ ซึ่งเป็นพระราชบุตรองค์ใหญ่เข้าไปกรุงเทพฯ เฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถึง ณ วันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปี ขาล ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) เจ้าฟ้าทะละหะป่วยมีอาการหนักลง ครั้นถึงวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือนแปดปฐมาสาธ ปีขาล ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) เจ้าฟ้าทะละหะก็ถึงแก่อนิจกรรมลง ณ ที่พักในกรุงเทพฯ อายุได้ ๖๕ ปี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการปลงศพเจ้าฟ้าทะละหะตามควรแก่เกียรติยศแลตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ฯ
ลุ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ทุติยาสาธ ปีขาล ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อภิเศกนักองค์จันทร์ซึ่งเปนพระราชบุตรองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราช กรุงกัมพูชา มีพระชันษาได้ ๑๖ ปี ขึ้นทรงราชย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระอุไทยราชาธิราช มหาจักรพรรดิราช บรมนาถ พระบาทบรมบพิตร สถิตย์เปนอิศระยอดรัฐราษฎร์ โอภาษชาติวงษ์ ดำรงกัมพูชาธิบดี ศรียโสธร นครอินปัต กุรุรัฐราชธานี บุรีรมย์ อุดมมหาสถาน แล้วพระราชทานเครื่องยศ พระพัตรภูษาอันประเสริฐ แลโปรดเกล้าฯ ให้จัดการส่งเสด็จพระบาทบรมบพิตร ออกจากกรุงเทพมหานครมาเมื่อข้างขึ้นเดือนเก้า ปีขาล ๑๑๖๘ ถึงเมืองบันทายเพ็ชร เสด็จขึ้นประทับบนพระราชมณเฑียร เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาลนั้น”
* ท่านผู้อ่านครับ ราชสำนักกรุงกัมพูชาอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลานติดต่อกันมาหลายปี เห็นจะตั้งมั่นได้ตั้งแต่นักองค์จันทร์ได้รับการอภิเษกเป็นสมเด็จพระอุทัยราชาธิราช ครองราชสมบัติกรุงกัมพูชา ในปีพุทธศักราช ๒๓๔๙ นี้เอง เมื่อได้พระเจ้าแผ่นดินครองราชย์ใหม่แล้ว เหตุการณ์ในกรุงกัมพูชาจะเป็นอย่างไรต่อไป ดูความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา กันนะครับ
“ลุถึงเดือนอ้ายในปีขาลนี้ เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (เจ้าฟ้าทะละหะ) ซึ่งอยู่เมืองพระตะบอง ได้นำบุตรีชื่อนักนางเทพมาถวายพระบาทผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระอุไทยราชา ผู้ทรงราชย์ ในครั้งนั้นสมเด็จพระไอยกีพระนามเดิม นักองค์อี เปนพระศรีสุชาดากระษัตรี ซึ่งเป็นบุตรีในสมเด็จพระแก้วฟ้านั้น ได้เสด็จมาจากพระตะบองพร้อมกับเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ด้วย เสด็จมาประทับอยู่ที่พระตำหนักตำบลโพธิกำโบ (โพธิปูน) กับนักองค์เภาซึ่งเป็นพระบุตรี
ลุ ณ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ในปีขาลนั้น นักท้าวมหากษัตรี ผู้เปนพระมารดาเลี้ยงป่วยมีอาการหนัก แล้วถึงอนิจกรรม อายุได้ ๖๗ ปี
ถึงข้างแรมเดือน ๓ ปีขาล เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ ได้ทูลลากลับคืนไปเมืองพระตะบอง”
* * ท่านผู้อ่านครับ เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ คือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นเจ้าเมืองพระตะบองอันมีเมืองเสียมราบเป็นบริวาร ตามที่ได้ตกลงแบ่งปันเขตแดนกันดังกล่าวมาแล้ว ความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาระบุว่า เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ได้นำธิดาของตนนามว่า เทพ ถวายแด่สมเด็จพระอุทัยราชา เป็นความที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารไทย ซึ่งก็น่าจะจริงตามความในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา เพราะว่าพระยาอภัยภูเบศรมีเชื้อชาติเขมรมาถือสัญชาติไทย และเป็นขุนนางในราชสำนักไทย ก็ย่อมมีใจฝักใฝ่ในราชสำนักเขมรอยู่บ้างเป็นเรื่องธรรมดา
ความในพงษาวดารฉบับนี้ยังกล่าวต่อไปว่า นักนางเทพ ธิดาพระยาอภัยภูเบศรซึ่งเป็นพระเทพีในสมเด็จพระอุทัยราชานั้น มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งนามว่านักองค์แป้น ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้นป่วยหนักถึงแก่อนิจกรรมในปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๗๑ (พ.ศ. ๒๓๕๒) อันเป็นปีเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร. ๑)เสด็จสวรรคต และต่อมาสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร. ๒)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ ออกญาวิบุลราช แบน เป็นเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ ปกครองพระตะบองแทนคนเก่า เรื่องนี้จะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไปภายหน้า
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|